เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 10, 10:11



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 10, 10:11
กระทู้นี้แยกมาจากกระทู้ ๒
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3082.0
คุยกันเรื่องชาติพันธุ์ฝรั่งในพระอภัยมณี     ค้นพบว่า เงือกน้อยของพระอภัย ก็น่าจะมีเชื้อสายฝรั่งด้วย

ส่วนกระทู้นี้ตั้งขึ้นเพื่อคุยเรื่องชาติพันธุ์อมนุษย์  (หมายถึงตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์) เนื่องจากมีอยู่หลากหลายในพระอภัยมณี
ในกระทู้ ๒  กล่าวถึงนางผีเสื้อและนางเงือกไปแล้ว    ดิฉันจะขอประเดิมด้วยพระโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดาร


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ม.ค. 10, 14:58
แต่โยคีมีมนต์อยู่ตนหนึ่ง                                   อายุถึงพันเศษถือเพศไสย
อยู่เกาะแก้วพิสดารสำราญใจ                              กินลูกไม้เผือกมันพรรณผลา
พวกเรือแตกแขกฝรั่งแลอังกฤษ                            ขึ้นเป็นศิษย์อยู่สำนักนั้นหนักหนา
ด้วยโยคีมีมนต์ดลวิชา                                      ปราบบรรดาภูตพรายไม่กรายไป


พ่อเงือก อายุ ๕๘๐ เศษ  ทูลพระอภัย

สงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า ทำไมจึงขี่คอเงือก   น่าจะเป็นหลังมากกว่า

คนที่ติดเกาะอยู่มี จีนจามพราหมณ์แขกไทยชวา  วิลันดาฝรั่ง

เมื่อพระอภัยขี่เงือกหนีนางผีเสื้อสมุทรมา  เกิดเสียงคลื่นมากระทบเขา  ชลาเลื่อนลั่นสนั่นดัง
พระโยคีก็ชวนลูกศิษย์ลงไปที่ชายหาด  ถือไม้เท้าไปด้วย  คงจะเป็นอันที่มอบให้สุดสาครไป

นางยักษ์ไม่สามารถจะเข้ามาที่ชายหาดได้เพราะฤาษีลงเลขเสกทำไว้สำเร็จ

ไม่แน่ใจเรื่องลงเลข แต่คงเป็นการเขียนคาถา  แล้วลบเป็นผง  โรยลงบนผิวทราย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ม.ค. 10, 15:08
นางยักษ์ก็ชวนพระอภัยมณีกลับไปด้วยกัน

พระอภัยมณีตอบอย่างอ่อนโยนว่า คิดถึงบ้านเมืองพระบิดาพระมารดาและน้อง เพราะไม่ได้พบกันนานแล้ว

แม้นไปได้ก็จะพาแก้วตาไปด้วย                        นี่จนใจเสียด้วยนางต่างตระกูล


พระโยคีค่อย ๆ สอนนางผีเสื้อสมุทรว่า  สิ้นวาสนาแล้ว  อย่าคิดโกรธเลย


นางผีเสื้อโกรธมาก   ศอกกลับไปว่า  ผัวเมียแม่ลูกพูดกัน  ยื่นหน้ามาสอนทำไม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ม.ค. 10, 15:24
พระโยคีโมโห  เพราะที่นางผีเสื้อสมุทรพูดว่า ไม่ใช่กิจของผู้ถือศีล   กระทบอารมณ์เหมือนกัน

สุนทรภู่จึงถือโอกาสร่ายกลอนผ่านพระโยคี ด่านางยักษ์ ว่า

อียักษ์ตาโตโมโหมาก                                   รูปก็กากปากก็เปราะไม่เหมาะเหม็ง
นมสองข้างอย่างกระโปรงดูโตงเตง                    ผัวของเองเขาระอาไม่น่าชม

จึงหนีมาอาศัยกูให้อยู่                                   มิใช่กูรู้เห็นเท่าเส้นผม
มาตรีชาว่ากูผิดในกิจกรม                               จะให่สมน้ำหน้าสาแก่ใจ


ตรีชา  แปลว่า  ติฉิน นินทา  ดูถูก  (เห็นแว่บๆ ในขุนช้างขุนแผน)

ว่าแล้วก็เสกทรายขว้าง        นางผีเสื้อก็หนีไป


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ม.ค. 10, 15:58
เวลาผ่านไปเจ็ดเดือน
สินสมุทรได้โอกาสเรียนเวทมนต์     

เมื่อพระอภัยมณีและสินสมุทรติดเรือนางสุวรรณมาลีออกจากเกาะ  พระโยคีได้อ่านมนต์ปิดตานางยักษ์แยู่หลายวัน




บทบาทของพระนักสิทธิ์กลับมาใหม่เมื่อนางเงือกคลอดสุดสาคร  พระโยคีเลี้ยงมาตั้งแต่เกิด จึงรักสุดสาครมาก
สมบัติคู่กายไม่มีอะไรนอกจากไม้เท้าก็ยกให้สุดสาครไป   สอนให้จับม้ามังกร


เมื่อสุดสาครมาลาจะไปตามพ่อ

ทั้งสุดสาครและพระฤาษีพูดกันอึก ๆ อัก ๆ ด้วยความอาลัย

สุดสาคร
เข้ากราบเท้าเจ้าตาด้วยอาลัย                                   หลานจะไปกังวลด้วยชนนี
พระเจ้าปู้ดูแลแม่ฉันด้วย                                         จะเจ็บป่วยเป็นตายอย่าหน่ายหนี

ทั้งตาและปู่เลยสุดสาคร

พระสิทธาจารย์ว่า
ที่มารดาตาจะรับช่วยดับเข็ญ                                     ให้อยู่เย็นตามประสาอัชฌาสัย
จงหักจิตปลิดปละสละไป                                          อย่าห่วงใยโยมอยู่กับปู้แล้ว


ท่านคงเหงา เพราะทั้งเกาะไม่มีใครตอนนั้น   ตาก็ได้ปู่ก็ดี พระฤาษีไม่ว่าอะไร


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ม.ค. 10, 16:12
เมื่อสุดสาครไปรบกับผีที่เมืองท้าวปักกาอยู่เจ็ดวัน
สุดสาครนึกถึงพระฤาษี

มีเสียงระฆ้งเหง่งหง่าง  พระโยคีขี่เมฆมาช่วย


เมื่อสุดสาครโดนชีเปลือยผลักตกเหว ก็นึกถึงพระเจ้าตา
พระเจ้าตาเปลี่ยนพาหนะเป็น รุ้ง  และได้สั่งสอนสุดสาครและเด็กนักเรียนชาวไทยนับล้านว่า

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์                ....................................




นักเรียนผู้มีปัญญาเฉียบแหลมคนหนึ่ง  ได้อ่านกลอนแล้ววิจารณ์ว่า
พระโยคี อ้วน
และไม้เท้าชื่อ เถิด

ใครอย่ารับสมอ้างนะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ม.ค. 10, 09:30
อ้างถึง
นักเรียนผู้มีปัญญาเฉียบแหลมคนหนึ่ง  ได้อ่านกลอนแล้ววิจารณ์ว่า
พระโยคี อ้วน

         นึกถึงเรื่องสั้นชุดชาวเขื่อน ของคุณมนันยา ครับ   ตัวละครตอบตอนสัมภาษณ์เข้างานว่า
โยคีในเรื่องพระอภัยมณีแปลกแตกต่างจากเรื่องอื่นตรงเป็นโยคีที่อ้วน
           เพราะพระอภัย ฉบับที่เขาเรียนตอนโยคีขี่รุ้งมาช่วยสุดสาครนั้นพิมพ์ว่า

           เห็นโยคีขี่รุ้งพุงออกมา

           


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ม.ค. 10, 10:21
เรื่องเดียวกันค่ะ คุณศิลา

ตอนที่เล่าว่า  จงคิดตามไปเอาไม้เท้าเถิด          นับถือในความคิดเลย ๕๕๕


ตอนเริ่มเก็บหนังสือพงศาวดารจีน  ดิฉันมีสตังค์แค่เก็บฉบับคุรุสภา  เล่มละ ๘ บาท และปกแข็ง ๑๒ บาท
นั่งอ่านกลับไปกลับมา    จำได้คล้าย ๆ ว่าอ่านมาแล้วในพระอภัยมณีหลายตอน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ม.ค. 10, 10:43
ทิศาปาโมกษ์โลกเชษฐ์ นับถือพระฤาษีเกาะแก้วพิสดารว่าเป็นครู

ข้ามีครูรู้เรียนจุกเทียนชัย                                    ออกชื่อไปก็จะรู้ถึงหูกัน
อันโยคีที่เป็นครูอยู่ที่เกาะ                                    เธอรู้เหาะเหินเวทวิเศษขยัน


เมื่อพระโยคีมานั้น

พออากาศฟาดเปรี้ยงเสียงสนั่น                             เป็นหมอกควันมืดมิดทุกทิศา
พวกรบสู้ดูเหมือนไม่มีตา                                    ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด
ประเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งเสียงเครงครึก                        ลั่นพิลึกโลกาสุธาไหว
เป็นฝนฟุ้งทุ่งท่าพนาลัย                                     ทุกนายไพร่หนาวทั่งทุกตัวคน

......................................
......................................

เพลิงสว่างต่างอุ่นเห็นมุนี                                    พระโยคีนั่งอยู่ในกองไฟฮือ

          อื้อฮือ....ผู้บังคับน้ำ ลม และไฟ    ขี่รุ้ง(นิยายรักจีนโบราณ) และขี่เมฆ(วิธีเดินทางเซียนพวกหนึ่ง)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ม.ค. 10, 11:10
บทบาทท้ายสุดของพระฤาษีคือไปตามสุดสาครมารับแม่
ท่านไปไหนมาไหนด้วยการขี่เมฆเหมือนเดิม

พวกต้นหนคนชวากะลาสี                             เสียงอึงมี่คลี่ใบดังใจหวัง
แล่นออกจากปากน้ำด้วยกำลัง                       พระนักสิทธิ์จิตตั้งในทาง
เกิดเป็นลมอุตานาวาเรื่อยญาณ                      แล่นฉ่ำเฉื่อยเร็วรัดฉัดฉัดฉาน
ราวกับเหาะเหินไปได้สำราญ                         บนคัคนานต์เร็วรี่ต่างปรีดา

พอตอนไปส่งนางสุพรรณมัจฉา  พระเจ้าตาเปลี่ยนมาเป็นเมฆ

พอเวลาสายัณห์เย็นพยับ                              อาทิตย์ลับเขาไม้ในไพรสานต์
เมฆก็เลื่อนลงจากคัคนานต์                            อำนาจญาณพระโยคีมีกำลัง
มาเป็นอาสน์รับองค์พระทรงศีล                       แกก้าวขึ้นเมฆินดัางใจหวัง
เป็นลมเรื่อยเฉื่อยโชยโดยกำลัง                       พัดไปยังเภตราสุดสาคร


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 09:03
ส่วนกระทู้นี้ตั้งขึ้นเพื่อคุยเรื่องชาติพันธุ์อมนุษย์  (หมายถึงตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์) เนื่องจากมีอยู่หลากหลายในพระอภัยมณี
ในกระทู้ ๒  กล่าวถึงนางผีเสื้อและนางเงือกไปแล้ว    ดิฉันจะขอประเดิมด้วยพระโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดาร

พระโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดารเป็นอมนุษย์  

ไม่น่าจะใช่  

โยคี น. นักบวชผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ, ฤษีพวกหนึ่ง. (ป.; ส. โยคินฺ ว่า ผู้ปฏิบัติ ตามลัทธิโยคะ).
 
ยังคิดว่าพระโยคีตนนี้มีประวัติความเป็นมาเหมือนอย่างชีเปลือยหรือไม่ คือเป็นพราหมณ์มาจากอินเดีย แล้วเดินทางมาปลีกวิเวกอยู่บนเกาะแก้วพิสดาร

 ???


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ม.ค. 10, 09:34
เอ...แล้ว ย่องตอด  เข้าข่ายพิจารณาว่าเป็นอมนุษย์ด้วยหรือไม่  เพราะต้นกำเนิดเป็นคน  แต่ต่อมาไปอยู่ในร่วมกับฝูงภูตผีปีศาจ  เลยไม่แน่ใจว่าจะนับเข้าพวกอมนุษย์ด้วยหรือเปล่า :-\

ส่วนโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดาร   ไม่น่าจะนับเข้าพวกอมนุษย์  เพราะกำเนิดท่านเป็นมนุษย์ ต่อมาได้บำเพ็ญพรตจนได้โลกียฌาน (อันทำให้สามารถเหาะเหินเดินอากาศ และสำแดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้)  อย่างนี้น่าจะเรียกว่าเป็นผู้วิเศษมากกว่า   หรือว่าจะจัดท่านเป็นพวกวิทยาธร (ซึ่งก็มีอิทธิฤทธิ์อย่างนักพรตบำเพ็ญภาวนาจนได้โลกียฌาน  เพียงแต่กำเนิดวิทยาธรเป็นกึ่งๆเทวดา) ก็คงนับว่าเป็นอมนุษย์ได้กระมัง   ???


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 09:44
ตั้งใจจะเข้ามาเพิ่มเติมความเห็นพอดี   คุณเพ็ญเข้ามาเสียก่อน :D

โยคี ฤๅษี ทั่วไป  เป็นมนุษย์สามัญ  ส่วนใหญ่ก็เคยครองเรือนมาก่อนแล้วละจากบ้านไปบำเพ็ญพรตในป่า

แต่พระโยคีที่สุนทรภู่สร้าง   อายุพันกว่าปี  สำเร็จวิชาปุถุชนฤทธิ์อย่างหนึ่งละ  อีกอย่างเวลาเทศน์ห้ามทัพผลึกและลงกา ก็เหมือนกับบรรลุโสดาบันแล้วอย่างน้อย  อาจจะถึงขั้นสูงกว่านั้น
คุณเพ็ญจะเอาโยคีชาวบ้านทั่วไปมาเป็นมาตรฐานไม่ได้      ต้องเอาเจตนาของกวีเป็นหลัก
ดูจากเจตนาแล้วเห็นว่า สุนทรภู่กำหนดให้พระเจ้าตาของสุดสาคร   เป็นผู้วิเศษ   ไม่มีที่มา   แต่ที่ไป  คือรู้ตัวว่าวันหนึ่งก็จะต้องดับสังขาร
ข้อหลังนี้แม้แต่พระอรหันต์เองก็ยังนิพพานกันทุกองค์    ไม่มีใครอยู่ยั่งยืนอย่างเซียน
แต่คุณสมบัติอื่นๆของพระโยคี น่าจะยืมมาจากเซียน อย่างที่คุณวันดีเล่า   ขี่รุ้ง ขี่เมฆ  ถือไม้เท้า นี่บรรยากาศเซียนออกมาเห็นๆ

พูดถึงนักบวชของอินเดียแล้วก็นึกได้ว่า  มีเรื่องราวของพระวสิษฎ์ และพระวิศวามิตร สนุกมาก ที่เสฐียรโกเศศเคยเล่าไว้
พระวสิษฐ์เป็นลูกของเทวดา คือพระพฤหัส  จึงไม่ใช่มนุษย์  มีฤทธิ์สูงมาก อยู่ในวรรณะพราหมณ์  
ส่วนพระวิศวามิตรมีกำเนิดในวรรณะกษัตริย์    แต่มานะบากบั่นบำเพ็ญบารมีจนได้เป็นพรหมฤาษี  เท่าเทียมกับพระวสิษฎ์ผู้เป็นคู่แข่ง    
เคยสู้รบกันจนสะเทือนไปทั้งสามโลก
ในรามเกียรติ์ร. ๑  บอกว่าทั้งสององค์เป็นอาจารย์ของพระราม  

พูดถึงความหมายของคำ    ฤๅษี  โยคี และมุนี   สุนทรภู่ใช้ในความหมายเดียวกัน  
แต่ดิฉันจำได้รำไรว่าฤๅษี นุ่งหนังสือ มีชฎาหนังเสือ  พวกนี้ดูเหมือนจะบูชาไฟ    ส่วนโยคี นุ่งขาวห่มขาว มุ่นมวยผม  ไม่มีชฎา   มุนี มีลักษณะเฉพาะอย่างไรจำไม่ได้แล้วค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 09:47
ย่องตอด  ก็น่าปวดหัวว่าเป็นประเภทไหน   เพราะกำเนิดเป็นมนุษย์แต่กลายพันธุ์เป็นอะไรแปลกๆ    คล้ายๆผีดิบ
ถือว่าโอนสัญชาติไปแล้ว   
ดิฉันก็เลยจัดเข้าอมนุษย์   เพราะจะให้อยู่ประเภทเดียวกับตัวละครมนุษย์ ก็ไม่เข้ากันเลยละค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 10, 10:08
สงสัยอะไรอย่างหนึ่งมานานแล้วค่ะ      กุศลหนหลังหนุนจริง ๆ เลย  มาเจอคุณเพ็ญชมพูและคุณหลวงเล็กเข้า

ดิฉันคิดมานานแล้ว ว่าพระโยคีเกาะแก้วพิสดาร นี่ไปไหนมาไหนมีเสียงระฆังแว่ว   สุนทรภู่ยืมมาจาก ซานตาครอส หรือไม่หนอ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 10:29
Oh! You better watch out,
You better not cry,
You better not pout,
I'm telling you why:
พระโยคี is coming to town!

He's making a list,
Checking it twice,
Gonna find out who's naughty or nice.
 พระโยคี is coming to town!

He sees you when you're sleeping,
He knows when you're awake.
He knows if you've been bad or good,
So be good for goodness sake!

Oh! You better watch out,
You better not cry,
You better not pout,
I'm telling you why:
พระโยคี  is coming to town


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ม.ค. 10, 11:18
นั่นไง :o...คุณวันดีชี้ช่องให้คุณเทาชมพูตบมุขเข้าให้เหมาะเจาะเลย  งานนี้ก็ฮาสิครับ  (แหมถ้ากระทู้นี้ตั้งเสียก่อนคริสต์มาสที่ผ่านมาจะฮามากกว่านี้) ;D

พระโยคี ในพระอภัยมณี  ท่านออกจะมีอิทธิฤทธิ์อย่างพวกเซียนนักพรตในพงศาวดารจีนนะครับ  อาจจะมีบทดุบ้างก็ช่วงประทะคารมกับนางผีเสื้อสมุทร  แต่พอหลังจากนั้นดูจะเป็นผู้ทรงศีลที่มีเมตตากรุณา  บทบาทโยคีอย่างนี้  อาจจะยืมรูปโยคีอินเดียในวัฒนธรรมไทย  แต่บุคลิกตัวละครมาจากพวกเซียนในพงศาวดารจีน  :-\ 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ปัญหาคือ ในช่วงที่สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณี  มีพงศาวดารจีนเรื่องอะไรบ้างที่ท่านสุนทรภู่น่าจะได้อ่านหรือรู้จัก (นอกจากสามก๊ก ไซ่ฮั่น เลียดก๊ก  ห้องสิน)  ทราบแต่ว่า ในช่วงรัชกาลที่ ๓ การแปลพงศาวดารจีนในราชสำนักเป็นที่รุ่งเรืองมากกว่าสมัยรัชกาลที่ ๑-๒ อาจจะเป็นเพราะการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น  อิทธิพลวัฒนธรรมจีนในไทยจึงขยายตัว  บางทีสุนทรภู่อาจจะไม่ได้อ่านพงศาวดารจีนแต่ท่านอาจจะซึมซับเรื่องจีนมาจากภาพวาด หรือการแสดงงิ้ว  มาก่อนก็ได้

แต่ความเห็นของคุณวันดีที่ว่าพระโยคี ยืมบุคลิกมาจากซานตาครอส ก็น่าสนใจนะครับ  เพียงแต่ยังสงสัยว่า  ซานตาครอสที่เราเห็นและรู้จักกันปัจจุบันนี้  กับซานตาครอสที่เข้ามาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นแบบเดียวกันหรือไม่ :(


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 11:35
ในรัชกาลที่ ๓   ดิฉันค้นไม่พบว่ามีวรรณคดีแปลจากจีนเรื่องไหน      ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๒ มีสามก๊ก ไซ่ฮั่น  ห้องสิน เลียดก๊ก   แล้วข้อมูลก็หายไป   มาพบว่ามีการแปลจากจีนอีกครั้งในรัชกาลที่ ๔

ถ้าหากว่าไม่มีการแปล "เพื่อประโยชน์ของราชการแผ่นดิน" ก็อาจเป็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคร่งครัดในเรื่องศาสนาและการปกครอง   มุ่งความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นหลัก 
ไม่โปรดการละเล่นบันเทิงเริงรมย์  เห็นได้จากในวังหลวง  ความบันเทิงต่างๆจึงลดน้อยลงจากสมัยรัชกาลที่ ๒  เช่นการละครและวรรณคดี 
ละครในวัง ก็ย้ายออกจากวังมาเกิดใหม่ตามบ้านขุนนางผู้ใหญ่    วรรณคดีมีน้อยลง   กวีอย่างสุนทรภู่ไม่ได้รุ่งเรืองอย่างแผ่นดินก่อน    งานวรรณกรรมแปลก็คงจะยิ่งลดบทบาทลงไปเหลือศูนย์ ก็เป็นได้     จึงไม่ปรากฏว่ามีการแปลวรรณคดีหลวงจากเรื่องจีนในสมัยนี้
     อย่างไรก็ตาม  ในรัชกาลที่ ๓ นี้เอง   เป็นระยะแรกของการแปลรูปแบบใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่วรรณคดีจากพระราชดำริ     แต่เป็นการแปลหนังสือจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เป็นครั้งแรกในประเทศไทย   
สืบเนื่องมาจากสาเหตุทางศาสนา   ตามที่ปรากฏหลักฐานจากหนังสือ   Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828-1928   จัดพิมพ์โดยนายแพทย์ยอร์ช แมคฟาแลนด์ (พระอาจวิทยาคม) ระบุว่า  แหม่มแอนนา ยัดสัน  แปลคำสอนศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ 
และส่งไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของคริสตศาสนา นิกายแบปติสต์ ณ เมืองกัลกัตตา  ประเทศอินเดีย   นับว่าเป็นหนังสือแปลภาษาอังกฤษเล่มแรกที่แปลเป็นภาษาไทย   แต่ไม่มีหลักฐานต้นฉบับหรือฉบับที่พิมพ์หลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน   

        ตามประวัติกล่าวว่า แหม่มแอนนา ยัดสันเป็นมิชชันนารีอเมริกันไปทำงานสอนศาสนากับสามี ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖  นางยัดสันได้เรียนภาษาไทยจากเชลยไทยในพม่า  และได้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลออกมาเป็นภาษาไทย 
อีกทั้งได้หล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยด้วยเพื่อจัดพิมพ์   แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒  เกิดภาวะคับขันในพม่า  ครอบครัวยัดสันจึงเดินทางไปอยู่กัลกัตตา พร้อมกับนำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาต่างๆไปด้วย   งานพิมพ์หนังสือไทยเล่มแรก จึงพิมพ์ขึ้น ณ เมืองกัลกัตตา นั้นเอง

        ส่วนประวัติมิชชันนารีในไทย  มีอยู่ว่ามิชชันนารีชาวอเมริกัน เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ศาสนา เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๔   มิชชั่นนารีคนแรกแห่งคณะอเมริกันบอร์ดมีนามว่า เดวิด อาบีล   
ต่อมา  เมื่อ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๓๗๘  นายแพทย์แดนบีช  แบรดลีย์     หรือออกเสียงเป็นไทยว่า   " บรัดเลย์ " เดินทางเข้ามาในประเทศไทย  โดยนำเอาแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทยติดเข้ามาด้วยจากเมืองสิงคโปร์ 
มาตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดเกาะ พิมพ์วรรณคดีและหนังสือศาสนา  ต่อมาออกหนังสือพิมพ์ถึง ๖ ฉบับ   มีนายแพทย์บรัดเลย์เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเสีย ๕ ฉบับ  อีกฉบับหนึ่งนาย เจ.เอช. แชนด์เลอร์ เป็นบรรณาธิการ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 12:02
อ้างถึง
แต่ความเห็นของคุณวันดีที่ว่าพระโยคี ยืมบุคลิกมาจากซานตาครอส ก็น่าสนใจนะครับ  เพียงแต่ยังสงสัยว่า  ซานตาครอสที่เราเห็นและรู้จักกันปัจจุบันนี้  กับซานตาครอสที่เข้ามาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นแบบเดียวกันหรือไม่

ไม่เหมือนค่ะ  ซานตาคลอสเสื้อแดงตัวอ้วน   อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน   เพิ่งเกิดตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙
ก่อนหน้านี้ ซานตาคลอสยังมีส่วนผสมของเซนต์นิโคลัสอยู่มาก   เป็นชายชราร่างผอม ถือไม้เท้า
อย่างรูปที่เอามาให้ดูเป็นซานตาคลอสแบบศตวรรษที่ ๑๘  ของอเมริกัน     ถ้าหมอบรัดเลย์หรือมิชชันนารีมีหนังสือรูปซานตาคลอสติดมาด้วย   ก็หน้าตาแบบนี้ละ

พระโยคีของเรา ไม่น่าจะอ้วน    เพราะกินมังสวิรัติ    ผลไม้บนเกาะก็คงไม่มีทุเรียน หรืออะไรที่น้ำตาลสูงมาก
กินเนื้อมะพร้าว   แต่ไม่คั้นเป็นกะทิ  คงไม่อ้วนเท่าไร


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 10, 12:58
นับถือคำตอบ ในคคห ๑๒   ครอบคลุมกว้างขวาง
 

เรื่องแหม่มจัดสันนั้นเท่าที่เคยอ่านจดหมายของมิชชันนารีที่เขียนไปถึงบ้าน
เธอพึ่งรู้จักสามีไม่นาน   ทางโบสถ์แนะนำให้ว่าเป็นกุลสตรีที่ดี แน่วแน่ในพระศาสนา  สุขภาพดี
อยากมารับใช้เผยแพร่พระศาสนาในต่างแดน

เธอเป็นสาวสวยที่งามทั้งกิริยามารยาทวาจา  สวยที่สุดในสังคมมะละแหม่มยุคนั้นก็แล้วกัน
แหม่มคนหนึ่งเขียนไปบอกทางบ้านว่า  สีผมของแหม่มจัดสันนั้นทองสกาว ไม่ว่าจะยกมือ เอี้ยวตัว หรือนั่งลงก็งาม

หลายปีมาแล้วเคยค้นเรื่องครูสมิทค่ะ   อ่านหนังสือเยอะมาก

ทีนี้ชาวบ้าน  ขออภัย  นายทหารอังกฤษก็มาเยี่ยมคำนับกันตลอด
มีตาคนหนึ่งช่วยคิดหล่อตัวอักษรไทยให้  อ่านแล้วถ้าไม่คิดก็เพียงว่า เป็นผู้ต้องเสน่ห์

ต่อมาเกิดสงสัยว่า  ทางกองทัพอังกฤษ  เตรียมตัวทำประกาศภาษาไทยหรือจะพิมพ์หนังสือไทยเพื่อประโยชน์ของกองทัพหรือ

การหล่อตัวอักษรนั้น  ไม่ง่าย  ยุ่งยากและซับซ้อน
ผู้เชี่ยวชาญการพิมพ์ยังร้องอู้(ในที่นี้ แปลว่า เหนื่อยมาก)

ชอบพอกันเฉยๆ  คิดหล่อตัวพืมพ์ภาษาไทยให้   ไม่ธรรมดา
เข้าใจว่า ดีบุก แพง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 10, 13:15
ตอนนี้โล่งใจไปหนึ่งเรื่อง  หลังจากได้เล่าเรื่องซานตาครอสไปแล้ว


ขอวกกลับมาที่พระโยคีเกาะแก้วพิสดารนะคะ

ไม้เท้าที่สุดสาครถืออยู่นั้น  เมื่อนางสุลาลีวรรณบุกสุดสาคร


เห็นเมินนิ่งยิ่งล้อขอไม้เท้า                                ขยับเข้าแย่งยุดพระฉุดชิง
เดชะฤทธิ์สิทธารักษาไม้                                  ครั้นหญิงใกล้กลับเป็นงูไล่ผู้หญิง
ดูยาวเฟื้อยเลื้อยมาน่ากลัวจริง                           นางหวีดวิ่งวุ่นวายกลับหายวับ


ไม้เท้ากลับไปเกาะแก้วพิสดารด้วยตนเอง  หรืออะไรทำนองนั้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 13:17
โชคดีจริง  หารูปของแหม่มยัดสัน( หรือปัจจุบันออกเสียงว่า จัดสัน อย่างคุณวันดีเรียก)มาได้
สวยจริงๆเสียด้วย
หาประวัติมาให้อ่านค่ะ

Ann Hasseltine Judson
(b. Bradford, Mass., Dec. 22, 1789; d. Amherst, Burma, Oct. 24, 1826). American missionary to India; wife of Adoniram Judson.
Ann (“Nancy”) became a Christian when she was 16. In June, 1810, she attended a missionary meeting at the Bradford Congregational Church when four young students from Andover Theological Seminary petitioned to be sent as foreign missionaries. One of these young men was Adoniram Judson, who was invited to dine in the Hasseltine home. On Feb. 5, 1812, Judson and Ann Hasseltine were married, and they sailed for India Feb. 19. During the voyage they studied the question of baptism and were convinced that the Baptist position was scriptural. Arriving at Calcutta, they were baptized by one of the associates of William Carey. Being ordered by the East India Company to leave India, they were permitted to go to the Isle of France, thence to Madras. When forced to leave Madras, they boarded the only ship in harbor ready to sail, which was bound for Rangoon, Burma; they arrived at that port July 13, 1813. They were in Burma six years before the first convert was baptized. In the bitter conflict between the British and Burmese armies, Judson was imprisoned many months and would have died had not Mrs. Judson, despite her own illness, managed to get food to him. After his release and their removal to Amherst, Mrs. Judson was stricken while her husband was absent on a mission to Ava, and she died Oct. 24, 1826.
--------------------------------------------------------------------------------
Biographical sources:
Bubbard, Ethel Daniels. Ann of Ava, 1913.
Knowles, James D. Memoir of Mrs. Ann H. Judson, late missionary to Burma.
Simmons, Dawn Langley. Golden boats from Burma, 1961

คนสวยของคุณวันดี  จากไปเมื่ออายุ 37 เท่านั้นเอง   สามีก็ไม่ได้อยู่เคียงข้างเพื่อดูใจเสียด้วย เมื่อเธอสิ้นลม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ม.ค. 10, 13:46
ขอบคุณ คุณเทาชมพูค่ะ  รูปนี้ไม่เคยเห็น




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 13:59
ตัวพิมพ์ไทยครั้งแรก
เหมือนลายมือเขียนเลยค่ะ   ได้ลายมืออาลักษณ์คนไหนหนอมาเป็นแบบ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 10, 19:14
สังเกตไหมว่าทั้งเซนต์นิโคลัส และพระโยคี ก็มีไม้เท้าคู่กาย เหมือนกัน 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 07:51
ไป ย่องตอด กันนะคะ



เรื่องย่องตอดนี้   น่าสนใจทั้งชื่อ  และที่มา


ย่องตอดเป็นชาวบ้านด่านสิงหล   เป็นคนขี้อายและโง่เขลา  แต่เป็นลูกเศรษฐี

วันหนึ่งจะปลำ้เมียของตนเอง  ผู้หญิงสู้

ทั้งถีบถูกลูกตาข้างขวาบอด                                     อ้ายย่องตอดเต็มโกรธกระโดดหนี
เสียดายนักควักออกมาว่าตานี้                                  เป็นของดีกว่าอื่นเอากลืนไว้  



จึงหนีไปอยู่ในถำ้กลำพัน ในป่ากาลวัน  เพราะอายชาวบ้าน
ปีศาจมาสอนความรู้ให้(เพราะปีศาจคงเหงาเหมือนกัน)

เที่ยวกินเนื้อเสือสีห์เหมือนผีดิบ                         ตาไม่กระพริบเหมือนยักษ์มักกะสัน


เมื่อครูสมิทพิมพ์พระอภัยมณี   ชาวบ้านทั้งหลายที่ยังไม่เคยอ่าน สามก๊ก ของ บรัดเล  ตื่นเต้นหวาดเสียวกันมาก
ครูสมิทเลยพิมพ์ สามก๊ก ขึ้นมาอีก   เป็นหนังสือหายากบรม
เจ้าของสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่งยังไม่ทราบว่ามี สามก๊กฉบับครูสมิท  ได้อบรมดิฉันอยู่เป็นเวลานานสามชั่วโมง ว่าไม่แน่น ไม่แม่น
ตอนนั้นดิฉันกำลังตรวจหนังสือของเขาทั้งห้องสมุด  จึงเก็บปากไว้ชั่วคราว

ขุนวิศิษฐ์ระเบียนการ  บิดาของ คุณ ลาวัณย์  โชตามระ  เล่าไว้จ้ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 09:21
เมื่อนางละเวงนั่งรถเทียมม้าผ่านมากับ ยุพาผกากับสุลาลีวรรณได้จอดรถพักผ่อน
ย่องตอดจับม้ามากินทั้ง  ๑๒ ตัว  ที่กินเหลือเอาไปฝากผีในถ้ำ

นางละเวงมีตราราหูคุ้มครองจึงไม่หลับ  ได้ต่อสู้กัน  พอตีย่องตอดสลบ ยุพาผกาและสุลาลีวรรณก็ตื่นมาช่วย

สามนางดู ย่องตอด

ต่างพิศดูผู้ตายคล้ายคุลา                                 มีแต่ตาข้างเดียวดูเขี้ยวโง้ง
ทั้งหน้าลายรายเรี่ยรอยเมียข่วน                         ผมแต่ล้วนผีผูกจมูกโด่ง
ใบไม้นุ่งรุงรังสันหลังโกง                                  ดังผีโป่งปากเหม็นเช่นกุมภา

คุลา   คือคนชาติหนึ่ง  ตัวมันดำ  ฟันมันขาวคล้ายกับกลาสี
(อักขราภิธานศรับท์   อาจารริย์ ทัด  คัดแปล   บรัดเลพิมพ์)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 09:36
เรื่องตราพระราหูนั้น     กาญจนาคพันธุ์ เล่าไว้ ในภุมิศาสตร์สุนทรภู่ ว่า

มาร์โคโปโลผู้เคยมาอยู่ในราชสำนัก คุบลายข่าน เล่าว่า
กษัตริย์ผู้ครองเมืองลังกามีทับทิมซึ่งงามและใหญ่ที่สุดในโลก

ทับทิมนั้นยาวเท่าฝ่ามือ  หนาเท่าลำแขนคน  ปราศจากตำหนิไฝฝ้าราคี
มีสีแดงรุ่งโรจน์เหมือนไฟ

กบัตริย์ผู้ครองเกาะสุมาตรามีทับทิมใหญ่เหมือนกัน  ดวงโต
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ นิ้ว  เป็นของทนไฟ
เวลากลางคืนส่องแสงสว่างดุจดวงใต้

คลีโอพัตราก็ถือดวงแก้วดวงใหญ่  ส่งกลิ่นหอม  ทำให้พระวรกายหอมอยู่เสมอ


กาญจนาคพันธ์

"สุนทรภู้จะรู้เรื่องเหล่านี้บ้างไหมหนอ      แต่จะรู้หรือไม่  สุนทรภู่ก็ควรได้รับความยกย่องว่า เป็นอัจฉริยะเท่า ๆ กัน
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประหลาดมหัศจรรย์อยู่ในเรื่อง พระอภัยมณี

ถ้าสุนทรภู่รู้ก็รู้อย่างเยี่ยม

หากไม่รู้เพียงคิดก็คิดอย่างยอด"


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 10:12
ประการหนึ่งซึ่งตราพระราหู                   เป็นของคู่ขัตติยาเทวาถวาย
เป็นตราแก้วแววเวียนวิเชียรพราย           แต่เช้าสายสีรุ้งดูรุ่งเรือง
ครั้นแดดแขงแสงขาวดูพราวพร้อย           ครั้นบ่ายคล้อยเคลือบสีมณีเหลือง
ครั้นค่ำช่วงดวงแดงแสงประเทือง            อร่ามเหลืองรัศมีเหมือนสีไฟ
แม้นเดินหนฝนตกไม่ถูกต้อง                  เอาไว้ห้องหับแห่งตำแหน่งไหน
ไม่หนาวร้อนอ่อนอุ่นลมุนละไม               ถ้าชิงไชยแคล้วคลาศซึ่งศาสตรา
แต่ครั้งนี้ท้าวมิได้เอาไปศึก                    เพราะท้าวนึกห่วงพระแม่แน่นักหนา
ด้วยเป็นหญิงทิ้งไว้จึงให้ตรา                  ไว้รักษาสารพรรณอันตราย

ตราพระราหูของสุนทรภู่ มีคุณสมบัติพิเศษเติมเข้ามาอีกหลายอย่าง   ไม่ใช่แค่ทับทิมเม็ดใหญ่อย่างของลังกาและสุมาตรา
นึกชมอีกอย่างว่า ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนดีมาก    เขียนอะไรมีเหตุผลประกอบ แม้แต่เรื่องเล็กน้อย
เพราะตราวิเศษใช้ป้องกันอันตรายได้     ถ้าไม่ออกตัวเสียก่อนว่าเจ้าลังกาทิ้งไว้คุ้มครองลูกสาว   ก็คงจะมีคนถามว่า มีตราวิเศษขนาดนี้แล้วไปแพ้รบกรุงผลึกถึงตายได้ยังไง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 11:04
ซานตาคลอสเสื้อแดงตัวอ้วน   อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน   เพิ่งเกิดตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙
ก่อนหน้านี้ ซานตาคลอสยังมีส่วนผสมของเซนต์นิโคลัสอยู่มาก   เป็นชายชราร่างผอม ถือไม้เท้า
อย่างรูปที่เอามาให้ดูเป็นซานตาคลอสแบบศตวรรษที่ ๑๘  ของอเมริกัน  

ซานตาคลอสแบบที่เรารู้จักเกิดในคริสตศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง (ค.ศ. ๑๙๓๐) โดยเป็นถูกโคคาโคลาจับตัวมาเป็นพรีเซนเตอร์ใส่ชุดสีเดียวกับสินค้า (รูปบน)

ก่อนหน้านั้น (ค.ศ. ๑๙๐๒)  บนปกหนังสือ The Night Before Christmas วาดโดบ W. W. Denslow  ลุงซานต้ายังใส่ชุดสีเขียวอยู่เลย (รูปล่าง)

 ;D

 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 11:15
ย่องตอดทูลนางละเวงว่า หาสัตว์ไปให้อาจารย์เชือดสูบกินกลิ่นโลหิต
ตัวเองกินเนื้อเสือเหลือง   ใครฆ่าไม่ตาย

ยุพาผกา สุลาลีวัน ซึ่งเรียนรู้มาจากบาดหลวงปีโปแล้ว   แนะนำให้รับเป็นทหารเนื่องจากเป็นระหว่างศึก

นางละเวงจึงไปไล่ผีที่ถ้ำกลัมพัน   ไม่ได้เหนื่อยยากอะไรเพราะผีรีบหนีไปก่อน


นางละเวงตั้งศาลขึ้นมาเพื่อให้ปกครองบริเวณนั้น   ในการนี้สุนทรภู่ให้นางละเวงฟ้อนถวายพร้อมกับลูกบุญธรรมทั้งสอง
(ละม้ายว่าฟ้อนผีในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ)

เจ้าที่มารับการบูชา
เป็นแสงงรุ้งพลุ่งสว่างขึ้นกลางศาล                                     เห็นพระกาลกายแดงดังแสงครั่ง
รับสังเวยเนยนมขนมปัง                                                 ทั้งหน้าหลังลักษณาเหมือนวานร

ศาลขื่อว่า ศาลพระกาฬ
เขานั้นเลยชื่อ เขาเจ้ารำ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 11:26
จากประวัติและรูปลักษณ์ของย่องตอด ดูจะมีส่วนคล้าย Gollum แห่ง The Lord of the Rings ของ  J. R. R. Tolkien อยู่หลายส่วน

http://th.wikipedia.org/wiki/กอลลัม (http://th.wikipedia.org/wiki/กอลลัม)

ฤๅ Tolkien จะเคยรู้จักย่องตอดแห่งพระอภัยมณี

 ;)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 11:32
ฝ่ายลังกาส่งย่องตอดไปสะกดทัพและจับตัวนายมา

ย่องตอดไปจับสามพราหมณ์
และกลับไปรบกับสินสมุทร

สงครามขยายวง  รบกันทั้งคืน
ย่องตอดหลบไปนอน  ตอนเช้าก็ไปหา รำภาสะหรี ยุพาผกา และ สุลาลีวัน

นางทักทายอย่างดีเพื่อมิให้น้อยใจ ว่า  พี่ไปไหนมาเมื่อคืนน้องรบทั้งคืน

ย่องตอดบอกว่าหลับไป เหนื่อยนี่นา  แม่ทัพอีกฝ่าย(สินสมุทร)เก่ง จับตัวมันแล้ว มันมึนและหมดแรง

หลังจากนี้ชื่อย่องตอดก็หายไปเพราะเปลี่ยนนโยบายรบเป็นรัก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 12:10
ที่มาของย่องตอด

คือ  แฮหัวตุ้นใน สามก๊ก

แฮหัวตุ้นชูทวนขับม้าล่าตัว โกซุ่น
โจเส็งลอบยิงเกาทัณฑ์ไปถูกตาซ้ายของแฮเฮีย

คัดลอกมาจาก สามก๊กฉบับแปลใหม่ของ วรรณไว พัธโนทัย พิมพ์ครั้งที่ ๓       ๒๕๔๑
สำนักพิมพ์ธรรมชาติ     ชุดละ ๑,๒๕๐ บาท  หน้า ๒๙๓

"แฮหัวตุ้นร้องออกมาด้วยเสียงอันดัง     แล้วรีบใช้มือดึงลูกเกาฑัณฑ์ออก   ลูกเกาทัณฑ์ติดลูกตาออกมาด้วย

แฮหัวตุ้นร้องตะโกนว่า  ลูกตาเป็นของประเสริฐของพ่อ  เลือดเป็นแม่  กูจะทิ้งเสียมิได้

ว่าแล้วก็กลืนลูกตาลงท้องไป"



แฮหัวตุ้น เป็นคนดี มีความสามารถ  ใจบริสุทธิ์  ไม่เคยคิดฉ้อราษฎร์บังหลวง
ร่วมรบกับโจโฉปราบตั๋งโต๊ะ
โจโฉเคารพ แฮหัวตุ้นมาก  ตั้งให้เป็นพระยา


เมื่อเอ่ยถึงพงศาวดารจีนและกำลังภายในแล้ว   รู้สึกชอบอยู่หลายเรื่อง
ในเรื่องจีนเรื่องหนึ่ง  มีเสียงร้องขึ้นมาว่า
"อันร่างกายของข้า  บิดามารดาถือกำเนิดมา  ใครจะมาตัดสินมิได้"
(จะมีใครอ่านบ้างหนอ...)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 13:03
ยี่เอ๋ง หรือเปล่าคะ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 15:39

แหะ ๆ    อุ้ยเซียวป้อ ค่ะ    คุณเทาชมพู




ยี่เอ๋งนั้นตีฝีปากตำหนิคนได้ทั่ว

วิจารณ์กับโจโฉว่า คนอย่างซุนฮก ควรใช้ไปเยี่ยมคนเจ็บใกล้ตาย และไปคารวะศพ

เคาทูเหมาะสำหรับเลี้ยงม้า

ซุนฮิวต้องใช้ไปเฝ้าป่าช้า

เกียวเลี้ยวต้องใช้ตีกลอง

กุยแกเอาไว้สวดมนตร์

เทียหยกเอาไว้ปิดประตูหน้าต่าง

ยี่เอ๋งโฆษณาตัวเองต่อไปว่า  ตัวข้าพเจ้านั้นรู้แจ้งสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร  เชี่ยวชาญในตำราพระศาสนาทั้งสาม  ตลอดจนปรัชญาทั้งเก้า ฯลฯ

(อ่านมาจาก  สารานุกรมสามก๊ก    ของ โกวิท  ตั้งตรงจิตร  ๒๕๕๒  สำนักพิมพ์ พิมพ์คำ   ราคาเล่มละ ๓๒๐ บาท)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 16:01
ตัวเอกต่อไปขอเสนอ นางสุนีค่ะ


สาวน้อยมากับสายฟ้าฟาดในยามจวนรุ่งเช้าหน้าค่ายพระมังคลา  บุตรนางละเวงกับพระอภัยมณี

ในบริเวณเป็นสีรุ้งสว่างไปหมด    เมื่อสิ้นแสงแล้ว

.............................                            เห็นแต่นางเนื้อเหลืองย่างเยื้องกราย
เส้นเกศานารีเหมือนสีชาด                             แลประหลาดหลากยิ่งหญิงทั้งหลาย
ใส่คราบงูดูดังเสื้อเรืองเรื่อราย                         จักขุซ้ายขวาดำดังน้ำนิล
ยังเยาว์อยู่ดูซักสิบขวบเศษ                             ............................


เข้าใกล้นางกางนิ้วกลายเป็นนาค                     หลุดออกจากหัตถาทั้งห้าหัว
ล้วนยาวเฟื้อยเลื้อยไล่นายไพร่กลัว

นางมาครำ่ครวญ ว่าอยากเจอเจ้าดาวศีรษะจรเข้


เรื่องที่มาของนางสุนีนี้ต้องขอเชิญคุณเพ็ญหารูปสวย ๆ มาลง       นึกไม่ออกว่านางมาจากไหน     เทพนิยายกรีกกระนั้นหรือ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 10, 16:11
พระมังคลาก็ปรึกษาขุนนาง

จดหมายเหตุโหรแจ้งไว้ว่าเมื่อนางละเวงท้องได้ฝันว่ากลืนดาวจระเข้
ขอให้รับนางไว้เป็นทหาร  เพราะดูจะสูงกว่า ย่องตอด ทหารเอก


พระมังคลาก็รับไว้เป็นพนักงานเชิญพระแสง



เรียนถามคุณเทาชมพู  คุณเพ็ญชมพู  คุณหลวงเล็ก และท่านที่สนใจตามอ่านว่า   พนักงานพระแสงซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดและวางใจอย่างยิ่ง
เป็นนางห้ามใช่หรือไม่       หรือเป็นคุณจอมพนักงาน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 22:13
พนักงานเชิญพระแสง  เป็นคุณพนักงานค่ะ   ไม่ใช่เจ้าจอม
คุณพุ่ม  บุษบาท่าเรือจ้างก็เป็นพนักงานเชิญพระแสงในรัชกาลที่ ๓  แต่ไม่ได้เป็นเจ้าจอม
มิฉะนั้นคงจะกราบบังคมลาไปเป็นหม่อมของกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไม่ได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 10, 22:19
เคยวาดภาพย่องตอดคล้ายๆเวตาล แต่ไม่มีปีกค้างคาว   ตัวสีน้ำตาล  ไม่สวมเสื้อ อาจจะนุ่งผ้าเตี่ยว หรือไม่นุ่งก็ได้  หน้าตาแหลมๆ
พอมาเจอกอลลั่ม   ใช่เลย   น่าจะลูกหลานเจ้าย่องตอดนี่แหละ 
พ่อคุณเอ๋ย  พลัดไปอยู่กับ Tolkien ให้เขาเอามาออกโรงได้ยังไงนะ  ไม่จ่ายค่าตัวให้สุนทรภู่บ้างเลยหรือ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 10, 03:12
"เขาทำเจ้ายับเจ้ากลับมาไย"

คิดถึงซาลอนเรือนแพขึ้นมาเพราะสองสามวันนี้ได้เห็นประวัติสกุลท่านยาวเหยียดค่ะ




กลับมาที่นางสุนี

นางละเวงอภิเษกมังคลาขึ้นครองเมืองผลึก    บาดหลวงแนะนำให้ไปเอาโคตรเพชรคืน
โดยตีเมืองการะเวก

สงครามขยายวง  พระญาติพระวงศ์เข้าร่วมรบเพื่อช่วยนางสุสรรณมาลีและท้าวทศวงค์

เมื่อมังคลาแพ้ในการรบ  นางสุนีได้แบกมังคลาหนี
พระมังคลาจึงคิดเลื่อนตำแหน่งให้นางสุนีเป็นสนมทั้งๆที่นางตัวเล็กเหมือนเด็ก ๑๐ ขวบ

นางเล่าให้มังคลาฟังว่า

ด้วยองค์พระมหาสุราลัย                                         บัญชาให้ฉันเกิดมาเป็นทารก
ช่วยธุระของพระองค์ให้คงชีพ                                    แล้วให้รีบกลับไปรักษาพลาหก
แม้มีผัวชั่วช้าอุลามก                                              จะต้องตกอยู่แผ่นดินสุดสิ้นฤทธิ์

วันรุ่งขึ้นนางผู้ทรงพลังแบกมังคลาไปอีกเต็มวัน  จนมาพบกองทัพ

บทบาทของนางหยุดลง   ไม่ได้เขียนต่อ

สุนทรภู่คงได้เห็นรูปนางผมแดงจากหนังสือ  ที่พ่อค้าแขกนำติดตัวมา      


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 08:29
พระอภัยมณี เจนเนอเรชั่นสอง  สุนทรภู่แต่งเองหรือว่าลูกศิษย์ลูกหาช่วยกันแต่งต่อคะ
ท่าทีว่ามังคลาจะเป็นพระเอก
เสียดายว่านางสุนีก็หายสูญไปเฉยๆในตอนจบ   เหมือนคนแต่งจบไม่ลง
เลยคิดว่าสุนทรภู่ไม่ได้เป็นคนแต่ง   เพราะท่านจะแต่งแบบมีที่มาที่ไป ให้ตัวละครสำคัญทุกคน

ชื่อมังคลา   อดคิดไม่ได้ว่า มาจาก ไมเคิล

คุณวันดีจะเล่าถึงประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่) และคุณพุ่มไหมคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ม.ค. 10, 09:21
พนักงานเชิญพระแสง  เป็นคุณพนักงานค่ะ   ไม่ใช่เจ้าจอม
คุณพุ่ม  บุษบาท่าเรือจ้างก็เป็นพนักงานเชิญพระแสงในรัชกาลที่ ๓  แต่ไม่ได้เป็นเจ้าจอม
มิฉะนั้นคงจะกราบบังคมลาไปเป็นหม่อมของกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไม่ได้

คงตอบตามที่คุณเทาชมพูตอบนี่แหละครับ  แต่...ถ้าพระองค์โปรดคุณพนักงานคนนั้น  คุณพนักงานก็อาจจะเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าจอมได้เหมือนกัน  กรณีคุณพุ่มคงเป็นแต่คุณพนักงาน   (นึกไม่ออกว่าเคยอ่านประวัติคุณพุ่มตอนถึงแก่กรรมจากหนังสืออะไร)

มีประวัติขุนนางฝ่ายในบางท่านที่ชื่อ พุ่ม ที่เคยอ่านเจอแล้วจดไว้ ขอนำเสนอเล็กน้อย

เจ้าจอมเถ้าแก่พุ่ม  ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าพระยาโกษาธิบดี ว่าที่พระคลัง (หน) (หรือที่เรียกกันว่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน)) เป็นเจ้าจอมอยู่งานในสมัยรัชกาลที่ ๒ - รัชกาลที่ ๓ พอรัชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าจอมเถ้าแก่  พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ออกนอกราชการเพราะชราภาพ ท่านถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุได้ ๗๐ ปีเศษ

อีกท่าน ชื่อ พุ่ม เหมือนกัน คือ หม่อมพุ่ม พนักงานพระศรี เป็นบุตรีหลวงพิฦกโยธา (โนรี) เข้ารับราชการเป็นหม่อมพนักงานพระศรีในสมัยรัชกาลที่ ๓ รับราชการมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ รับราชการมาได้อายุ ๖๓ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ม.ค. 10, 09:28
อ้างถึง
สุนทรภู่คงได้เห็นรูปนางผมแดงจากหนังสือ  ที่พ่อค้าแขกนำติดตัวมา     
ก็ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เคยมีกระจกใหญ่ที่ใส่รูปนางฝรั่งเข้ามาเมืองไทยแล้วไม่ใช่หรือ  อยู่ในเสภาขุนช้างขุนแผนตอนที่ ๑๗ ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   ความว่า

กระจกใหญ่ใส่รูปฝรั่งนั่ง       นัยน์ตาตั้งค้อนคมดูสมหน้า

เสียดายที่ไม่ได้บอกว่า ฝรั่งในกระจก ผมแดงด้วยหรือเปล่าเท่านั้นเอง ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 10, 10:08
เรื่องคุณพุ่มต้องคอยให้คุณเพ็ญ คุณหลวง และคุณเทาชมพู ช่วยคิด  เพราะเรื่องข้อมูลคงมีพอ ๆ กัน


ตอนนี้จำไม่ได้ว่าอ่านมาจากไหนที่พระองค์เจ้าหญิงจากพระบรมมหาราชวังเสด็จไปเฝ้าที่วังหน้า
ท่านทอดพระเนตรเห็นหญิงลาวและญวน ในชุดแต่งกายประจำชาติสวยมากหลายคน
"เด็จอา" รับสั่งว่าอย่าไปกราบทูลนะ  ไม่งั้นอาไม่หาของสวยๆมาฝาก



เรื่องบิดาคุณพุ่ม  มีอยู่ในสยามประเภทค่ะ  รายละเอียดยาวพอใช้

ก.ศ.ร. กุหลาบเรื่องประวัติขุนนางนี่ไม่มีเสียงบ่นเหมือนราชพิธีต่างๆ
ในหลายแห่งท่านก็ลอกประกาศรัชกาลที่ ๔ มาครบถ้วน  เรียกได้ว่าตีกิน

ความลำบากใจอยู่ที่ว่า มี สยามประเภทไม่กี่เล่ม
ไปโอดครวญที่ไหน  ก็ได้รับคำตอบมาว่า ก็มีพอ ๆ กัน  คือเล่ม ๑ - ๔

คนที่เขียนประวัติก.ศ.ร. สามคนก็ประกาศว่า  หนังสือสยามประเภทตอนหลังเชื่อไม่ได้
เท่าที่ดูอ้างอิงแล้วก็ไม่เห็นใครมีเล่ม ๕  ขึ้นไป
ไม่รู้จักคนที่มีสยามประเภทเล่มหลัง ๆ สักคน
แต่เคยเห็นรูปถ่ายว่ามีถึงเล่ม ๑๐ ค่ะ เป็นชุดหายาก
คงไปอยู่กับนักสะสมนานแล้วค่ะคุณหลวง


ก.ศ.ร.กุหลาบตั้งใจว่าจะทำรวมเล่มถึงเล่ม ๑๕  แต่ลดลงเหลือเล่ม ๑๒
สาเหตุที่ไม่มีใครเห็น   ความเป็นไปได้  คิดว่า   ลดจำนวนพิมพ์ลงมาก  จนไม่เหลือไปทำรวมเล่ม
เรื่องหนังสือโบราณนั้นต้องมีตัวเล่มอยู่ในมือจึงจะหาญกล้าพูดออกมาได้ว่าได้พิมพ์ออกมาจริง

คนที่ไม่เคยเห็น  แล้วร้องปาว ๆ ว่า ไม่มี  ไม่จริง    หึหึ.....นักอ่านรุ่นหลังยิ้มมุมปากค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 10:25
ข้อมูลเรื่องคุณพุ่ม  ดิฉันมีไม่มาก   เป็นข้อมูลธรรมดาๆที่ใครๆก็รู้กัน  ไม่ได้เจาะลึก
คิดว่าคุณเพ็ญกับคุณหลวงคงจะมีมากกว่าค่ะ
ที่อยากอ่านคือผลงานคุณพุ่ม ค่ะ  ฝีปากเธอเหลือร้ายมากๆ   เรียกว่าผู้ชายถอยไม่เป็นกระบวน
จำได้คร่าวๆตอนหนึ่งว่า
"อย่าเป็นเมียเลยคะหม่อมยอมเป็นแม่                 ฉันก็แก่รุ่นราวกับคราวป้า"

จะว่าไปชีวิตคุณพุ่ม สีสันเป็นดราม่ามากนะคะ    ส่วนตัวเอกฝ่ายชายคือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็พระเอกวรรณคดีแบบอิเหนา  ชัดๆ
ถ้าจะเล่าก็ตั้งเป็นกระทู้ใหม่ดีกว่าค่ะ  ใครก็ได้ช่วยตั้งหน่อย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 10:35
ขอเล่าถึงอมนุษย์ อีกตัวหนึ่ง คือม้านิลมังกร

พระนักสิทธิ์พิศดูเป็นครู่พัก                   หัวร่อคักรูปร่างมันช่างขัน
เมื่อตัวเดียวเจียวกลายเป็นหลายพันธุ์     กำลังมันมากนักเหมือนยักษ์มาร
กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้                      มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดรฉาน
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน   ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน
เจ้าได้ม้าพาหนะตัวนี้ไว้                        จะพ้นภัยภิญโญสโมสร
ให้ชื่อว่าม้านิลมังกร                             จงถาวรพูนสวัสดิ์แก่นัดดา

รูปข้างล่างนี้ คือ“ม้านิลมังกร” ในงาน "ศิลป์แผ่นดิน" จำหลักไม้ประดับเกล็ดด้วยนิล ขอบเกล็ดเลี่ยมเพชร เขี้ยวเพชร กนกหน้า เครา คาง พรายปาก ครีบหลัง และหาง จำหลักทองประดับเพชร จำหลักขึ้นตามที่ปรากฏในเรื่อง “พระอภัยมณี” ม้านิลมังกรเป็นม้าวิเศษ พาหนะของสุดสาครโอรสพระอภัยมณี ในวรรณคดีของสุนทรภู่ ถึงเป็นงานชิ้นที่เล็กๆ ในบรรดา 10 ชิ้น แต่ก็ใช้ผู้ทำทั้งสิ้น 11 คน ใช้เวลาทำ 2 เดือน จึงแล้วเสร็จ

http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=14891

ถ้าถามว่าม้านิลมังกรมาจากไหน  มีอยู่ในเรื่องไคเภ็ก

"...ในแผ่นดินพระเจ้าฮอกฮี มีคนเห็นสัตว์ประหลาดในแม่น้ำเม๋งจิ๋น พระเจ้าฮอกฮี จึงเสด็จไปทอดพระเนตร ขณะนั้นก็เกิดคลื่นขึ้นในแม่น้ำ มีสัตว์เหมือนม้ามีเกล็ดมีปีก  ปรากฎบนคลื่น คลื่นลมจึงสงบจึงเรียกสัตว์นั้นว่าเล่งเบ้ แปลเป็นไทยว่าม้ามังกร "

สุนทรภู่อาจจะได้ฟังเรื่องนี้จากพวกจีน  โดยเฉพาะศัพท์ "เล่งเบ๊"  เพราะเรื่องไคเพ็กนั้น หลวงพิพิธภัณฑพิจารณาแปลเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๐ ..."


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 10:36
คุณพุ่มเป็นผู้หญิงเก่ง และช่างเหน็บแนม

แม้แต่เมื่อกล่าวถึงสุนทรภู่ที่นับถือเป็นครู ยังเหน็บถึงเรื่องพระอภัยมณี

ครั้งแผ่นดินอยุธพระพุทธเลิศ                 ช้างเผือกเกิดกับสยามถึงสามสาร
เป็นพาหนะพระที่นั่งอลังการ                  เกิดอาจารย์ท่านครูภู่สุนทร
แกก็แต่งพระอภัยขึ้นไว้ขาย                  เรื่องนิยายขี้ปดสยดสยอน

พระอภัยมณี = นิยายขี้ปดสยดสยอน ?

เห็นฝีปากของเธอแล้วไหมล่ะ

 ;)




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 10, 10:43
พระอภัยมณี ภาคสมบูรณ์ คือตอนที่ ๖๕ - ๑๓๒

ก้าวหน้าพิมพ์ก่อนสำนักพิมพ์อื่น  ออกจำหน่ายใน ๒๕๐๘

แพร่พิทยา  พิมพ์ตามใน ๒๕๑๕   ๑,๐๐๐ เล่ม


เรื่องนางสุนีมีอยุ่ในเล่มสอง ตอน ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา   กับ ตอน ๕๗ สุดสาครรบกับมังคลา  นางสุนีพามังคลาหนี ค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ม.ค. 10, 11:06
อ้างถึง
พระอภัยมณี = นิยายขี้ปดสยดสยอน ?

เห็นฝีปากของเธอแล้วไหมล่ะ

แน่ล่ะครับ  เพราะคุณพุ่มเป็นนักกลอนสักวา  เวลาแต่งสักวาโต้กันก็เหมือนเวลาชาวบ้านเล่นเพลงปฏิพากย์กันนั่นแหละ ฝ่ายหนึ่งแรงมา อีกฝ่ายก็ต้องแรงไป  ความสนุกก็เกิดตรงนี้เพราะต่างฝ่ายก็จะเปิดแผลนักกลอนสักวาฝ่ายตรงข้ามมาว่ากัน  ไม่เชื่อลองหาหนังสือประชุมกลอนสักวามาดูก็ได้  

ส่วนเรื่องพระอภัยมณีที่คุณพุ่มว่าเป็นนิยายขี้ปดสยดสยอนนั้น   ก้ไม่เกินความจริงเลยดังที่คุณพุ่มว่าเลย  เพราะพระอภัยมณีเป็นเรื่องที่สุนทรภู่แต่งโดยอาศัยวัตถุดิบจากหลายแหล่ง  เป็นนิยายมหัศจรรย์ และยังไม่ก้าวล่วงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ เสียทั้งหมด  กระนั้นก็มีลักษณะความสมจริงหลายอย่าง ที่เรื่องประโลมโลกอย่างเก่าไม่มี   สิ่งที่สุนทรภู่ทำอาจจะเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่คนในสมัยนั้นบางคนอาจจะไม่คุ้นเคย   จึงมีทั้งคนที่อ่านพระอภัยมณีแล้วชอบและไม่ชอบ  (รับได้และรับไม่ได้)  อย่างคุณพุ่มท่านคงไม่ประทับใจพระอภัยมณีของสุนทรภู่มากนัก  จึงว่าเป็นนิยายขี้ปดสยดสยอน  ทั้งที่พระอภัยมณีของสุนทรภู่นั้น  สุนทรภู่คิดเรื่องเองใหม่หมด  โดยไม่ได้เอาเรื่องที่มีอยู่แล้วมาแต่งเติมรายละเอียดใหม่ลงไปอย่างที่แล้วมาหรืออย่างที่กวีคนอื่นทำ (เช่นที่ท่านแต่งเรื่องลักษณวงศ์ เป็นต้น)   อาจจะเป็นเพราะท่านคงเบื่อเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ที่มีอยู่ดาษดื่น  เนื้อเรื่องซ้ำๆ ซากๆ  กรณีอย่างนี้ทำให้นึกถึงเรื่องสนุกนิ์นึกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร   ด้วยความที่เป็นงานเงียนแบบใหม่ที่ใช้ฉากสถานที่ในเรื่องจริง  แต่เนื้อเรื่องกับตัวละครสมมติ   คนอ่านบางท่านคิดว่าเป็นเรื่องจริงเกิดลือกัน จนเป็นเหตุให้คนไม่พอใจพระนิพนธ์ดังกล่าว  สุนทรภู่ท่านก็คงโดนอย่างนี้เหมือนกัน  เพียงแต่ว่าไม่หนักเท่ากรณีสนุกนิ์นึก  

(หรือเทียบกับอีกกรณีหนึ่งคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงพระนิพนธ์บทความวิจารณ์หนังสือ ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ ปรากฏว่าเจ้าของหนังสือที่ทรงวิจารณ์ รับไม่ได้  จึงเกิดโต้กันขึ้น) ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 11:18
อ้างถึง
หรือเทียบกับอีกกรณีหนึ่งคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงพระนิพนธ์บทความวิจารณ์หนังสือ ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ ปรากฏว่าเจ้าของหนังสือที่ทรงวิจารณ์ รับไม่ได้  จึงเกิดโต้กันขึ้น

อ่านรายละเอียดได้ที่
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1477.15
ตั้งแต่ค.ห.ที่ 20  ค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 11:36
เรื่องพระอภัยมณีนี้อิงบุคคลที่มีอยู่จริงในสมัยนั้น  คุณพุ่มอาจจะเดาได้ว่าคนที่ใกล้ตัวเธอคือ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในนิยายขี้ปด (ตามความเห็นของเธอ) คือ อุศเรน

อุศเรนในเรื่องเป็นคนรักเดียวใจเดียวไม่เหลียวแลใคร

แต่อุศเรนที่เธอรู้จักในชีวิตจริงช่างแตกต่างเหลือเกินจากในนิยาย

จนความสัมพันธ์ของคนทั้งสองจบลงดังที่รัชกาลที่ ๓ ทรงเย้าเอาว่า

เจ้าช่อมะกอก         เจ้าดอกมะไฟ
เจ้าเห็นเขางาม        เจ้าตามเขาไป
เขาทำเจ้ายับ          เจ้ากลับมาไย
เขาสิ้นอาลัย          เจ้าแล้วฤๅเอย

จุดนี้แหละคือเรื่องขี้ปดในเรื่องพระอภัยมณี

 ;)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 15:14
มาต่อเรื่องม้านิลมังกร

ในเรื่อง สุนทรภู่อธิบายลักษณะว่า

พอพบม้าหน้าเหมือนมังกรร้าย
แต่กีบกายนั้นเป็นม้าน่าฉงน
หางเหมือนอย่างหางนาคปากคำรณ
กายพิกลกำยำดูดำนิล

...........................

ก็รู้ว่าม้ามังกรสมจรกัน
ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ
ตัวตีนต่อจะเหมือนแม่ช่างแปรผัน
หางเป็นนาคมาข้างพ่อตามต่อพันธุ์
พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน

สุนทรภู่บอกไว้อีกแห่งหนึ่งว่าม้ามังกรตัวนี้เป็นกะเทย คือไม่สามารถผสมพันธุ์มีลูกต่อไปได้อีก   แสดงว่าเข้าใจหลักการผสมข้ามชนิดของสัตว์ได้ดี อย่างม้ากับลาผสมออกมาเป็นล่อ ก็ไม่มีลูกต่อไปอีก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 15:49
เกาะกาวินถิ่นผีเสื้อยักษ์

เสียงว้าวุ่นผลุนออกมานอกห้อง         มันโฉบสองอนุชาพาไปได้
สุดสาครร้อนอกตกพระไทย             ฉวยได้ไม้เท้าโลดกระโดดมา
ขึ้นขี่หลังมังกรก็ถอนถีบ                 ลงน้ำรีบตามติดกนิษฐา
ไล่ผีเสื้อเงื้อไม้เท้าของเจ้าตา            ร้องเหวยว่าสักเท่าใดก็ไม่วาง

อมนุษย์ตัวต่อไปเห็นจะได้แก่ ผีเสื้อยักษ์

 :D




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 16:20
อ่านคำบรรยายเรื่องผีเสื้อ   ที่เกาะกาวิน   หน้าตาคงเป็นยักษ์ เพราะเรียกว่า "ผีเสื้อพาลพวกยักษ์มักกะสัน"  แต่มีปีกเป็นผีเสื้อ
แต่ในสารบัญ  เรียกว่าผีเสื้อค้างคาว   ไม่รู้ว่าคำว่าค้างคาวมาจากไหน  อ่านไม่เจอค่ะ

ถ้าเป็นผี(เสื้อ) ค้างคาวละก็   ตัวนี้แน่เลย 
ชื่อ  gargoyle 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 20:12
มี อมนุษย์เล็กๆน้อยๆ  ที่น่าจะทำแอนนิเมชั่น
สุนทรภู่บรรยายไว้ตอนสุดสาครออกจากเมืองการะเวก  นั่งเรือออกทะเลไปตามหาพ่อ

แล้วชวนดูหมู่สัตว์ปฏิสนธิ์                         หัวเป็นคนข้างท้ายกลายเป็นหอย
เที่ยวเก็บกินดินสลุตขึ้นผุดลอย                  พระน้องน้อยชมเพลินเจริญใจ
บ้างมีหางอย่างปลาหน้าเหมือนเงาะ             ต่างหัวเราะร้องว่าปลาไปไหน
มันพูดอย่างข้างเราไม่เข้าใจ                      พระหน่อไททิ้งอาหารให้ทานกิน
มีต่างต่างบ้างพิกลกันเป็นสาย                    ขึ้นเรียงรายกลางมหาชลาสินธุ์
มีแต่กายสายหยั่งกระทั่งดิน                       เที่ยวจับกินกุ้งปลาในสาชล
เห็นกำปั่นมันร้องออกก้องเสียง                   ให้แล่นเลี่ยงหลีกทางไปกลางหน
จะถูกสายตายสิ้นมันดิ้นรน                         เสียงเหมือนคนแต่ข้างเราไม่เข้าใจ

ตัวอะไร นึกไม่ออกสักอย่างเดียวว่าเป็นสัตว์ทะเลชนิดไหน     ครึ่งคนครึ่งหอย  หน้าเหมือนเจ้าเงาะแต่หางเป็นปลา  สองอย่างนี้นึกไม่ออก
แต่ที่มีแต่ร่างกายเป็นสายหยั่งยาวๆลงไปใต้ทะเล   นึกไปถึงแมงกะพรุนยักษ์   หรือไม่ก็ปลาหมึกยักษ์   octopus
แต่พอบอกว่าร้องเหมือนคน  ก็จนปัญญา  ไม่รู้ว่าตัวอะไร


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 10, 06:43
สุดสาครกำลังจะพาเสาวคนธ์กับหัสไชยหนี

พออากาศฟาดเปรี้ยงเสียงสุนี                                เห็นคนดีถือขวานผ่านหน้าเรือ
แล้วร้องว่าอย่าเพ่อไปจะได้ลาภ                              ช่วยกันปราบอสุรีพวกผีเสื้อ

เทวดาบอกว่า ขอให้ไล่ผีเสื้อที่อยู่ในถ้ำออกมา  เทวดาจะจัดการเอง  แก้วแววตาของผีเสื้อเป็นของวิเศษ
จะมีเรี่ยวแรง  คง ทน และถ้าจับคนผู้นั้นก็จะอ่อนกำลัง

สุดสาครนั้น ทรงเกาทัณฑ์คันเขาควาย    น่าจะแข็งเกินไป

ได้แก้วตามาแล้วก็ยกให้น้องสองคน




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 20:52
สัตว์พาหนะในพระอภัยมณี  พอจะอนุโลมว่าเป็น "อมนุษย์" ได้  นอกจากม้ามังกร สัตว์ในจินตนาการ
สุนทรภู่หาสัตว์ต่างประเทศมาใส่ไว้ในเรื่องนี้ด้วย คือสิงโต
สิงโตในพระอภัยมณี อาศัยอยู่บนเกาะ  ตัวใหญ่กว่าเสือ   ดุร้าย ว่ายน้ำเก่ง    เห็นคนเข้าก็ว่ายน้ำจากเกาะมาเล่นงานถึงในทะเล
สินสมุทปล้ำจับเท่าไรเอาไม่อยู่ ต้องเสกปลาให้กิน มันถึงเชื่อง

มันลามเลียเคลียเคล้าด้วยเมามัว                  แต่ละตัวตาช่วงดังดวงดาว
ลูกทั้งคู่ตัวเมียเตี้ยตุบหลุบ                          มาหมอบฟุบฟอกสีสำลีขาว
ตัวพ่อแม่แลลายดูพรายพราว                      ล้วนเล็บยาวเป็นทองแดงยิ่งแรงครัน

สงสัยว่าสุนทรภู่เคยเห็นสิงโตจริงๆหรือเปล่า    น่าจะเป็นสิงโตในจินตนาการ  แบบสิงโตจีนหรือไม่
สิงโตนั้นดูปนๆกันอยู่ระหว่างสิงโตแอฟริกากับสิงโตจีน
 พอสิงโตโฮ่โฮกกระโชกไล่                        ทั้งสูงใหญ่มหิมายิ่งกว่าเสือ
ตรงนี้เหมือนสิงโตแอฟริกา

แต่บทนี้ มีส่วนผสมสองแบบ
ตาถลนขนหุ้มดูคลุมเครือ                            ....................
ขนหุ้ม อาจเป็นสิงโตแอฟริกา  แต่  ตาถลน คือสิงโตจีนแน่นอน   สิงโตแอฟริกาตาไม่ถลน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 10, 10:44
กลับไปคิดอีกที    สิงโตที่สุนทรภู่บรรยาย  น่าจะคล้ายตัวนี้ค่ะ  ไม่ใช่สิงโตฝรั่งในสวนสัตว์
เพราะตัวลายเป็นดอกดวง  ตาถลน