เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: คนชื่นชอบนิยาย nchot@thaimail.com ที่ 09 มี.ค. 01, 10:49



กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: คนชื่นชอบนิยาย nchot@thaimail.com ที่ 09 มี.ค. 01, 10:49
คือ...สงสัยนะคะ ว่านวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรค่ะ ใครรู้ช่วยตอบให้ด้วยนะคะ


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 06 มี.ค. 01, 09:33
ถ้าให้เดาตามประสาคนอ่านนิยายเยอะเช่นกันก็ต้องบอกว่า นิยาย อิงประวัติศาสตร์ นั้นย้อนยุคแน่นอน แต่ว่า เนื้อเรื่องในนิยายจะใช้ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้น เป็นฉากในเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องจริงหรือถูกต้องทั้งหมด อย่าง เรื่อง พระศรีสุริโยทัย สายโลหิต นี่เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดยตัวละคร อาจจะมีทั้งตัวละครที่มีชื่อจริงในประวัติศาสตร์หรือสมมุติขึ้นมาก็ได้
ส่วนนิยายย้อนยุค ก็ คือ อย่างเช่นเรื่องปริศนา เข้าใจว่าย้อนยุคนะ เพราะคนแต่งอยู่ในยุคปัจจุบัน ตัวละครสมมุติขึ้นมาทั้งหมด แล้วก็ไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์อะไรในประวัติศาสตร์ นอกจากแค่ ใช้บรรยากาศในสมัยนั้น เป็นฉากซะมากกว่า


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ปะกากะออม ที่ 06 มี.ค. 01, 10:34
เรื่องปริศนา ผู้แต่ง คือ ท่านหญิงวิภาวดี (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) ในนามปากกา ว.ณประมวลมารค ถ้าจำไม่ผิดท่านทรงแต่งเมื่ออายุยังน้อยมาก ประมาณ 15-16 เท่านั้น  เรื่องราวในนิยายเป็นช่วงเวลาเดียวกับท่าน  จึง ไม่น่าจะย้อนยุคนะคะ  เป็นปัจจุบันของผู้แต่งเลย  คนทำละครสมัยปัจจุบันต่างหากที่หยิบบทประพันธ์เก่าขึ้นมาทำเป็นละครย้อนยุคตามเรื่องราวในบทประพันธ์นั้น  
 
อันที่จริงแล้ว เรื่องปริศนา มีคุณค่าในตัวเองยิ่งกว่านิยายอิงประวัติศาสตร์ หรือย้อนยุค เพราะผู้แต่งเขียนจากประสบการณ์ในช่วงเวลาของตัวเอง  จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี  แม้ตัวละครจะสมมติขึ้น  และดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์อะไรในประวัติศาสตร์  แค่ใช้บรรยากาศสมัยนั้นเป็นฉากนี่แหละค่ะ  ที่ทำให้เราเข้าใจถึงยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี  

ตัวอย่างเช่น การไปเที่ยวหัวหินของตัวละคร บอกเล่าบรรยากาศของการเดินทางไปตากอากาศได้อย่างมีสีสัน และที่สำคัญตรงกับความรู้สึกที่แท้จริงของคนในยุคสมัยนั้น


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 06 มี.ค. 01, 11:03
ผมก็ว่าแล้วว่าจะต้องหน้าแตกดังเพล้ง ถ้ายกตัวอย่างเรื่องปริศนา เพราะรู้สึก ๆ เหมือนกันว่า อาจจะไม่ถือว่าเป็นนิยายย้อนยุค แต่เรียกว่าละครย้อนยุคได้ และก็เรียกว่า ละคร recylcle ได้ด้วย เพราะสร้างกันหลายภาคหลายตอนแต่ก็ยังมีคนดูเรื่อย ๆ


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 01, 20:53
มันไม่มีเส้นขีดคั่นที่ชัดเจนนักค่ะ แต่พอมองเห็นความแตกต่างได้

ถ้าคุณเจ้าของกระทู้เขียนนิยายขณะคุณอยู่ในปี ๒๐๐๑  แต่นิยายของคุณใช้ฉากหลังว่าเป็นเหตุการณ์ในยุคสมัยซึ่งจบสิ้นลงไปแล้ว อย่างในรัชกาลที่ ๖
คุณเขียนพอให้ได้บรรยากาศ  โดยไม่ได้อ้างอิงเหตุการณ์บ้านเมืองมากนัก  อาจจะเป็นแค่เหตุการณ์ในครอบครัวไหนสักแห่ง  มีฉากหลังของสังคมยุคนั้นเพียงคร่าวๆ  
อย่างนี้เรียกว่าย้อนยุค
คือ "ย้อน" ไปถึง "ยุค " เก่า  ไม่ใช่ยุคที่นักเขียนเจ้าของเรื่องกำลังเขียนอยู่
ละครอย่าง" อาญารัก "เข้าข่ายละครย้อนยุค แต่ไม่ใช่อิงประวัติศาสตร์

แต่ถ้าคุณเจ้าของกระทู้  ตั้งใจหยิบเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุคใดยุคหนึ่ง (หรือหลายยุคต่อเนื่องกัน) มาเป็นหลัก
แล้วสร้างตัวละคร กับเหตุการณ์ในชีวิตตัวละคร เข้าไปผสมผสานกับเหตุการณ์ใหญ่ทางประวัติศาสตร์  โดยมีรายละเอียดต่างๆสอดคล้องอย่างสมจริง    อย่างนี้คือนิยายอิงประวัติศาสตร์
ส่วนอิงมากอิงน้อย อิงถูกอิงผิด  อิงจริงอิงไม่จริง -นั่นอีกเรื่อง

คำว่า อิงประวัติศาสตร์ ให้ความรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ จริงจัง และมีสาระเนื้อหา หนักกว่า ย้อนยุค ค่ะ


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 01, 21:06
ขอแย้งคุณปะกากะออมหน่อยนะคะ เรื่องปริศนา
ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนสังคมไทยในสมัยใกล้ๆสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรอกค่ะ
สังคมในเรื่องเป็นสังคมของคนหยิบมือเดียว คือคนชั้นศิวิไลซ์ของสังคม  เป็นชนระดับสูง ไม่ใช่แม้แต่คนชั้นกลาง
มีรายละเอียดบางอย่างค่อนข้างผิวเผิน อย่างการตากอากาศที่หัวหิน สปอร์ตคลับ  การเต้นรำในวังศิลาขาว
คนในสังคมไทยแม้แต่คนในกรุงเทพ มีนับคนได้ที่อยู่กันอย่างตัวละครในเรื่องปริศนา  ตั้งแต่ท่านชายพจน์  ที่มีรถสปอร์ต และรถเบนท์ลีย์    รตีซึ่งมีชุดราตรีจากฟิลิปปินส์ไปงานเต้นรำไม่หยุดหย่อน  ตลอดจนแม่ม่ายค่อนข้างจนอย่างคุณนายสมรแม่ของปริศนา ก็มีคนใช้ถึง ๕ คน และลูกสาวเข้าสังคมชั้นสูงอย่างหรูหลายต่อหลายครั้ง  
พวกเธอไม่ได้อยู่อย่างผู้หญิงไทยระดับปานกลางค่อนข้างจนทั่วไป
อยู่แบบไหน  ดิฉันว่าอยู่อย่าง  high society ค่ะ และเป็น high societyที่เกือบจะเรียกได้ว่าในฝัน สำหรับคนไทยทั่วไป
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตอาจเคยประสบพบด้วยองค์เอง แต่ก็นับว่าค่อนข้างหายาก แม้แต่ในหมู่เจ้านายที่จะอยู่ได้อย่างโก้หรูเหมือนท่านชายพจน์
ถ้าอยากรู้ว่าคนไทยที่ค่อนข้างรวยในกรุงเทพ อยู่กันอย่างไร ขอให้อ่าน "วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย"ของดอกไม้สด เป็นเหตุการณ์สมจริงในสงครามมหาเอเชียบูรพา
อีกเรื่องที่ออกจะหาอ่านยาก แต่ให้ภาพสมจริงในสังคมยุคเดียวกับปริศนา คือ "รสลิน" ของศุภร บุนนาค


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: คนชื่นชอบนิยาย ที่ 07 มี.ค. 01, 00:04
ขอถามต่อไปค่ะ ถ้าอย่างนวนิยายคู่กรรมน่าจะออกแนวย้อนยุคมากกว่าอ้างอิงประวัติศาสตร์หรือเปล่าค่ะ แล้วอย่างนวนิยายที่กล่าวถึงเหตุการณ์ 16 ตุลา ถือว่าเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หรือเปล่าค่ะ คือ ลองมาคิดในแง่กลับกันค่ะ เหตุการณ์ 16 ตุลา เพิ่งผ่านมา 20 กว่าปี จะจัดว่าเป็นประวัติศาสตร์ได้ไหมค่ะ เราต้องศึกษาในแง่ของระยะเวลาหรือเปล่าค่ะ  ขอบคุณทุกท่านที่ข่วยไขคำกระจ่างให้ค่ะ.....


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 01, 08:56
สำหรับดิฉัน นิยายเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะเรียกว่าย้อนยุคหรืออิงประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้เขียนและเนื้อหาสาระของเรื่องด้วย
ดิฉันจัดคู่กรรมเป็นนิยายย้อนยุค ไม่ใช่ประวัติศาสตร์  เพราะเห็นว่าผู้เขียนใช้เพียงฉากสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ไม่ใช่เหตุการณ์บ้านเมืองในภาพรวม
นวนิยายที่กล่าวถึงเหตุการณ์ ๑๖ ตุลา จะเป็นย้อนยุคหรืออิงประวัติศาสตร์ก็ได้ แล้วแต่เรื่องค่ะ
ถ้าตั้งใจจะเขียนให้อิงประวัติศาสตร์ก็ได้   หากว่ากล่าวถึงข้อใหญ่ใจความของเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ อย่างจริงจัง ทั้งความเป็นมา  ตัวเหตุการณ์ และผลที่ตามมา ด้วยความสมจริงเชิงประวัติศาสตร์
แต่คู่กรรม ๒ ดิฉันยังถือว่าย้อนยุคอยู่นะคะ   ฉากหลังของการเมืองน้อยมากค่ะ

ขอมีหมายเหตุอีกอย่างว่า นิยายอิงประวัติศาสตร์ historical novelของฝรั่ง โดยมาก มักจะย้อนไปไกลมาก ร่วมศตวรรษแน่ะค่ะ


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: sweet orange ที่ 08 มี.ค. 01, 01:38
how about "Mae ploy" la kha? ? is it historical novel or only back to the old trend novel?


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 01, 07:49
สี่แผ่นดิน นิยายอิงประวัติศาสตร์ค่ะ


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 08 มี.ค. 01, 09:22
ยกตัวอย่างสามก๊กว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ได้ไหมครับ
เพราตัวละครมีตัวตนจริงๆ ในพงศาวดารจีน
และเหตุการณืจริงน่าจะอย่างน้อยก็ 30 เปอร์เซนต์ของเรื่อง
แต่ 70 เปอร์เซนต์ที่เหลือ แต่งขึ้นเอง

ดังนั้นคงไม่ใช่ตำราประวัติศาสตร์ น่าจะเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 01, 10:03
สามก๊กเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ค่ะ
ภาษาอังกฤษฉบับของบริวิตต์-เทเลอร์ เรียกว่า Romance of the Three Kingdoms
เราเรียกว่าเรื่องอิงพงศาวดาร  แต่ส่วนที่เป็นกลศึกเราถือว่าเป็นจริง  จึงถือว่าเป็นเรื่องตำราพิชัยสงคราม


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 08 มี.ค. 01, 20:56
ขอขัดคอนิดเดียวแหละครับ แต่เห็นมีผู้ใช้พลาดโดยพลั้งเผลอหรือโดยสับสนอยู่หลายราย เกี่ยวกับวันที่ในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทยเราเอง

เหตุการณ์ที่นักศึกษาประชาชนลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมนั้น คือเหตุการณ์วันที่ 14 คุลาคม 2516 เป็นวันที่มีการเรียกกันว่า วันมหาวิปโยค (เรียกตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมีพระราชกระแสรับสั่งผ่านทางโทรทัศน์ในวันนั้น ผมยังเด็กอยู่มากๆ แต่ก็ยังจำสีพระพักตร์ได้ติดตาจนเดี๋ยวนี้) ที่ว่าเป็นมหาวิปโยคก็เพราะ มีการใช้ความรุนแรงกันกลางเมืองในหมู่คนไทยกันเอง
เหตุการณ์เดียวกันนี้วันนี้ มีบางฝ่ายเรียกว่า วันมหาปิติหรือวันประชาปิติ มีเหตุผลว่า ถึงแม้จะต้องสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตไปบ้าง แต่ผลที่ได้คือรัฐบาลทหารที่กุมอำนาจขณะนั้นต้องยอมลงจากอำนาจไป และเปิดทางให้เริ่มต้นประชาธิปไตยอีกครั้งในเมืองไทย
หลังจากนั้นมาอีก 3 ปี เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้นอีกเนื่องจากความขัดแย้งกันของกลุ่มที่ผมเรียกเอาง่ายๆ ว่า ขวาและซ้าย ก็แล้วกัน ผลที่สุด คณะทหารคณะหนึ่งทำการ "ปฏิรูป" การปกครองแผ่นดิน มีการปะทะกับนักศึกษาอย่างรุนแรงอีกในวันนั้น จนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายที่กลับขึ้นมากุมอำนาจ ทั้งที่เป็นคอมมิวนิสต์และไม่ใช่ ต้องหนีเข้าป่า หนีไปต่างประเทศกันหลายราย ดูเหมือนกลุ่มฝ่ายซ้ายบางท่านเรียกว่า 6 ตุลา วันฆ่านกพิราบ

ผมไม่ได้ตั้งใจจะคุยเรื่องของเหตุการณ์เดือนตุลาทั้ง 2 ครั้งในรายละเอียด เพราะถ้าจะคุยจริงๆ ก็คุยได้อีกยาวมากๆๆ ถกกันได้เยอะมากๆ เป็นแต่ขอเรียนว่า ครั้งแรก 14 ตุลา 2516 ครับ และครั้งสอง 6 ตุลา 19 ครับ ไม่ใช่ "16 ตุลา"  ซึ่งรู้สึกจะเป็นการผสมตัวเลขวันเวลาของ 2 เหตุการณ์เข้าด้วยกัน

ที่เกี่ยวกับกระทู้อยู่หน่อยก็คือว่า บทบาทของคุณทมยันตีในช่วงระหว่าง 2516-2519 นั้น ผมยังจำได้ แม้จะยังเด็กอยู่ตอนนั้น แต่ก็พอจำได้ และเมื่อโตขึ้นมาเรียนทางนี้ด้วย ศึกษาย้อนไป มันทำให้ผมเกิดความรู้สึกส่วนตัวขึ้นมาอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผมอ่านนิยายเรื่อง คู่กรรม 2 ของป้าทมไม่สนุกเท่าไหร่ครับ ผมเข้าใจดีว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นของตนเองและป้าทมก็คงมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาใดช่วงหนึ่ง ที่ผมก็เคารพในสิทธิที่ป้าทมจะมีได้ แต่ผมก็มีความเห็นทางการเมืองของผมอยู่เหมือนกัน ผลสะท้อนก็คือว่า ทำให้ผมเลยไม่สนุกกับงานทางวรรณกรรมของป้าทมบางเรื่องไปด้วย

เรากำลังพูดถึงนิยายอิงประวัติศาสตร์ หรืออิงพงศาวดาร เข้าใจว่าจะเป็น นมส. ที่ทรงกล่าวไว้ว่า พงศาวดารคือ การเมืองในกาลก่อน การเมืองก็คือพงศาวดารปัจจุบัน ยิ่งในกรณีประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ เส้นกั้นระหว่างการเมืองกับประวัติศาสตร์ยิ่งบางใหญ่ครับ


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Linmou ที่ 08 มี.ค. 01, 22:23
เอ่อ...ถึงจะไม่เคยอ่านสามก๊ก แต่เคยถามจากรุ่นพี่ที่เคยอ่านทั้งสามก๊กและสนใจประวัติศาสตร์สมัยนั้นเป็นพิเศษ(นอกเหนือจากวิชาเอกของเขาเองซึ่งเป็นสมัยราชวงศ์หมิง)ว่า นิยายสามก๊ก มีความเป็นจริงอยู่ประมาณเท่าไร?
เขาตอบว่า ๗๐% ค่ะ

แล้วเรื่อง "ระย้า" นี่ จะเรียกเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ได้ไหม?
รู้สึกว่าเรื่องนี้จะสะท้อนสภาพสังคมไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ดีกว่าเรื่องคู่กรรมที่มองญี่ปุ่นในแง่ดีสุดๆแน่ๆ

จะว่าไปก็แปลก ทั้งๆที่ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมาก แต่ข้าน้อยกลับไม่ชอบและไม่เคยคิดอยากเรียนภาษาญี่ปุ่นเลย


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 08 มี.ค. 01, 22:29
"ระย้า"  เป็นอีกเรื่องที่พูดถึงเหตุการณ์ช่วงนั้น เรื่อง "ดิน น้ำ และดอกไม้"  ก็พูดไว้เหมือนกัน


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 09 มี.ค. 01, 07:01
แฮะๆ ผมเองก็ไม่ใช่ปราชญ์สามก๊กครับ ประวัติศาสตร์จีนก็ทราบเพียงเล็กน้อย
ที่บอกไปว่า สามก๊ก เป็นเรื่องจริง 30 เรื่องแต่ง 70 นั้น รู้สึกว่าจะอ่านพบมาจาก
หนังสือวิจารณ์เรื่องสามก๊ก น่าจะชื่อ ขุนพลสามก๊ก ของ ทองแถม นาถจำนง
ซึ่งเขียนวิจารณ์มุมมองเรื่องนี้ไว้น่าฟัง พอดีผมหาหนังสือเล่มนั้นไม่เจอ
เลยไม่แน่ใจว่าผมจำ 30 สลับที่กับ 70 หรือเปล่า

เท่าที่จำได้รู้สึกว่าเรื่องนี้แต่งต่อเติมหลายครั้ง โดยศิลปินหลายท่าน
ถ้านับเอาแต่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ล้วนๆ ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นความจริงเกิน 70เปอร์เซนต์ครับ
แต่ถ้ารวมเอาบุคลิคของตัวละครเข้าไปด้วยล่ะก็ ผมไม่แน่ใจครับ
เพราะคนแต่งหลายคน และมีคำวิจารณ์ว่าฉบับที่เจ้าพระยาพระคลังหน
นำมาแปล ซึ่งเป็นฉบับที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนั้น ผู้ประพันธ์ค่อนข้าง
จะเข้าข้างเล่าปี่มากไปหน่อย

อย่างไรก็ตาม อ่านสามก๊กทีไร ก็สนุกจนวางไม่ลงทุกทีครับ


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 มี.ค. 01, 08:18
แล้ว "คนไททิ้งแผ่นดิน" ล่ะครับ


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ปะกากะออม ที่ 09 มี.ค. 01, 22:31
เพิ่งกลับมาตอบคุณเทาชมพูค่ะ  ไม่มีอะไรแย้งนะคะ   เพราะก็เห็นด้วยว่า "ปริศนา" ไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของสังคมไทยในยุคสมัยนั้น    แต่ที่บอกว่ามีคุณค่า  เนื่องจากเป็นงานเขียนของบุคคลในสมัยเดียวกัน   อย่างน้อยความรู้สึกที่ผู้เขียนถ่ายทอดก็เป้นส่วนหนึ่งที่มาจากตัวตนจริงในยุคสมัย  และเมื่อแยกแยะส่วนที่เป็นภาพเพ้อฝันออกไป  ก็ย่อมจะมีส่วนตรงกับความเป็นไปในสมัยนั้นแฝงอยู่บ้าง  นี่ไม่ได้หมายถึงการอ่านแบบ "นวนิยาย" นะคะ  คงต้องเป็นงานวิจัยเสียมากกว่า


สำหรับเรื่อง "อิงประวัติศาสตร์"   จะพบว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นการหยิบข้อมูลจากหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีอยู่มาใช้   คงมีน้อยรายที่ศึกษาค้นคว้าจริงจังก่อนการเขียน  
ส่วนเนื้อหาของประวัติศาสตร์ทีถูกหยิบมาใช้จะน่าเชื่อถือแค่ไหน ก็เป็นอีกประเด็นที่ยืดยาว


กระทู้: นวนิยายอิงประวัติศาสตร์กับนวนิยายแนวย้อนยุคแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 01, 22:49
ความสมจริงของนิยาย  มี ๒ อย่าง
๑) ความสมจริงเชิงรูปธรรม  อย่างใช้สถานที่จริง  ใช้ค่าของเงินจริงๆ  เสื้อผ้าแฟชั่นจริงๆในยุคนั้น
สิ่งเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่การจงใจของคนเขียน แต่เป็นไปเองตามสภาพที่ประสบอยู่
ปริศนา ก็มีความสมจริงเหล่านี้ตามยุคสมัยอยู่บ้าง
๒)ึความสมจริงเชิงนามธรรม   คือความคิดเห็นที่สอดคล้องกับยุคสมัย  บรรยากาศ  ความคิดอ่าน ภูมิปัญญา ค่านิยม  
แบบนี้ลึกกว่าอย่างแรก  และต้องอาศัยสติปัญญาความเข้าใจของคนเขียนด้วย
งานของดอกไม้สด เป็นตัวอย่าง

นิยายอิงประวัติศาสตร์ทุกเรื่อง เป็นเพียงภาพในจินตนาการของผู้เขียน   ไม่ว่าจะค้นมากน้อยแค่ไหนก็ตาม  ไม่มีคำว่าจริงค่ะ
เพราะประวัติศาสตร์เอง ก็เป็นเพียงภาพที่นักประวัติศาสตร์วาดขึ้นจากการประมวลหลักฐานนั่นเอง