เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 03, 17:28



กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 03, 17:28

ศีรามศีโรตม์น้อม.................วันทนา
เจ้าเศวตเบญจคชา...............เลิศแล้ว
พูนผลเพิ่มพุทธคยา..............ยังชาติ ศูนย์แฮ
เลี้ยงโลกสุขสวัสดิ์แผ้ว...........ผ่องน้ำใจเกษม

ประณตบทบาทเบื้อง.............บัณฑูร
พ่างสุริยเรืองรังสูรย์..............ส่องหล้า
ทรงธรรมเทศนหวังพูน..........พระโพธิ
ส่องพระยศยืนฟ้า...................ดับร้อนนรชน


จาก
โคลงปราบดาภิเษก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์


มหาเจษฎาราชเจ้า เป็นพระสมัญญาที่ทางราชการถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 3    สอดคล้องตามพระนามเดิมเมื่อทรงกรมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน  ตั้งแต่ทางด้านการค้า การปกครอง  การศาสนา วรรณคดี  เกินกว่าจะบรรยายได้หมดในกระทู้เดียว  

วันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 215 ปีวันประสูติ   ดิฉันขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ ที่หาอ่านได้ยากในปัจจุบัน  มาลงให้ประจักษ์ถึงพระปรีชาทางด้านนี้ค่ะ


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 01 เม.ย. 03, 19:23
 เข้ามารายงานตัวครับ

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ท่านเป็นผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายๆ ด้าน แต่ไม่รู้อย่างไร พระราชกิตติคุณในทางพระปรีชาสามารถของท่านไปตกลับอยู่พักหนึ่ง คนไทยเราไม่ค่อยพูดถึงกันมาก ยกเว้นแต่ในวงการเฉพาะ จนเมื่อไม่นานมานี้เอง ไม่เกินสิบห้าปี ที่มีการพูดถึงพระราชกรณียกิจกันในวงกว้างมากขึ้นอย่างมาก และทางราชการได้เฉลิมพระราชสมัญญาภิไธยถวายเป็นพระเกียรติยศเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: ฝอยฝน ที่ 01 เม.ย. 03, 23:44
 ขอมาร่วมน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรื่อง "ถุงแดง" ค่ะ

พระองค์ท่านทรงจัดแต่งเรือสำเภาบรรทุกสินค้าจากผลผลิตในประเทศไปค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้ทรงมีรายได้มาก และเก็บราชทรัพย์นี้ไว้ใน ถุงแดง เมื่อใกล้สวรรคต เงินในถุงแดงของพระองค์มีเหลือถึง 4 หมื่นชั่ง ทรงขอไว้สำหรับเป็นส่วนของการทำนุบำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดที่ยังทรงทำค้างอยู่ 1 หมื่นชั่ง อีก 3 หมื่นชั่ง พระราชทานให้เป็นเงินจับจ่ายใช้สอยในราชการแผ่นดินต่อไป

เงินจำนวนดังกล่าว เก็บไว้จนถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อเกิดกรณีพิพาท ร.ศ. 112 จึงโปรดให้นำเงินในถุงแดงใช้เป็นค่าปรับแก่คู่พิพาทไป  เงินในถุงแดงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กลับมาช่วยกู้อิสรภาพแห่งแผ่นดินจังหวัดจันทบุรีที่คู่พิพาทบุกยึดไว้ ก็เมื่อเจ้าของเงินท่านเสด็จสวรรคตไปแล้วถึง 42 ปี


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 02 เม.ย. 03, 01:03
 ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยครับ
สำหรับผมนั้นนับถือและยกย่องในพระปรีชาสามารถของพระองค์มาก ที่ผมนับถือมากที่สุดคือ พระองค์ไม่ทรงหวงราชสมบัติไว้ยกให้ลูกหลานของพระองค์เอง แต่กลับปล่อยให้ราชสมบัติกลับคืนสู่น้องของท่าน ที่จริง ๆ แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิในราชสมบัติมากกว่าพระองค์ท่านเองซะอีก


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 02 เม.ย. 03, 18:09
 ขอเรียนถามว่า  มหาเจษฎาแปลว่าอะไรครับ


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 03, 09:19
 เจษฎา   พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ ให้ความหมายไว้ ๒ อย่าง คือ
๑   ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด
๒   ความตั้งใจ
มหาเจษฎา  แปลได้ว่า ความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่   หรือผู้ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง
ค่ะ


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 08, 18:09
ครบ ๒๒๐ ปี แล้วค่ะ


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 08, 18:33
ครบรอบ วันที่ 31 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 220 ปีวันประสูติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   ขอรำลึกด้วยการเล่าถึงราชินิกูลรัชกาลที่ 3 (บางส่วน)ค่ะ

คือสกุลทางฝ่ายพระชนนี  สมเด็จพระศรีสุราไลย( สะกดตามหนังสืออ้างอิง  "ราชินิกูลรัชชกาลที่ ๓  พระนิพนธ์ในสมเด็จพระราชปิตุลา  บรมพงศาภิมุขฯ  เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๑)

สมเด็จพระศรีสุราไลย (หรือเจ้าจอมมารดาเรียม) พระชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  เป็นธิดาของพระยานนทบุรี(จัน) และท่านเพ็ง
ท่านจันเป็นคนไทย  บิดามารดาชื่อใด ไม่มีหลักฐานปรากฏ   ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่บางเชือกหนัง  ธนบุรีใต้ 
ต่อมาเมื่อท่านได้เป็นเจ้าเมืองนนทบุรี ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นนทบุรี มีเชื้อสายสืบสกุลต่อมา เรียกกันว่า " สกูลเมืองนนท"


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 08, 18:54
ส่วนท่านเพ็ง ภรรยาพระยานนทบุรี เป็นลูกสาวของพระยาราชวังสัน(หวัง) สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาจักรีแขก ชื่อตัวว่า "หมุด"  ซึ่งเคยเป็นหัวหมื่นมหาดเล็กสมัยปลายอยุธยา  เชื้อสายแขกสุหนี่

(กรุณาอ่านบทความ สุลต่านสุไลมานกับราชวงศ์จักรี ประกอบ ค่ะ)

ท่านเพ็ง หรือถ้าเป็นสมัยรัชกาลที่ ๕ ควรเรียกว่าคุณหญิงนนทบุรี  เป็นลูกสาวคนโตของพระยาราชวังสัน
มีน้องสาวอีก ๒ ท่านด้วยกัน ชื่อ ปล้องและรอด   
ท่านรอด ต่อมาคือพระนมรอด ในพระบาทพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นภรรยาพระยาศรีสรราช (เงิน)
ส่วนท่านปล้อง   สมรสกับพระยาพัทลุง(ทองขาว)  สกุลแขกสุหนี่
พระยาพัทลุง เลื่อนขึ้นเป็นพระยาแก้วเการพพิไชย  เจ้าเมืองพัทลุง  ลูกหลานใช้นามสกุลว่า ณ พัทลุง




กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 31 มี.ค. 08, 20:39
เข้ามาน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านครับ

โดยเฉพาะทางด้านศาสนา ทรงบำรุงพระบวรพุทธศาสนาโดยทางศิลปะ

ทำให้เกิดยุคทองของศิลปกรรม ที่แตกต่างไปจากสมัยอยุธยาหรือรัชกาลที่ 1 และ 2

เรียกว่าสามารถสังเกตได้ และมีความงามมิยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 01 เม.ย. 08, 06:56
ผมลองไปค้นคำว่า "เจษฎา" ได้ความมาดังนี้ครับ

ในคำสันสกฤต มีอยู่สองคำคือ

1. สันสกฤต: เชฺยษฺฐ [เทวนาครี: ज्येष्ठ; โรมัน: jyeshṭha] แปลว่า พี่ชายคนโต หรือ ผู้เป็นเลิศกว่าทุกคน ต่อมาคำนี้ก็เพี้ยนเป็นภาษาอื่นๆ ดังนี้ครับ

บาลี: เชฏฐ [โรมัน: Jeṭṭha] ; ทมิฬ: เจฏฏนฺ [โรมัน: cēṭṭaṉ], เชฺยษฺฏนฺ [โรมัน: jyēṣṭaṉ]

ฮินดี: เชษฺฏ [जेष्ट ; jeshṭ], เชฐ [जेठ ; jeṭh], เชฐา [जेठा ; jeṭhā], เชฐฺรา [जेठरा ; jeṭhrā], เชษฺฐ [जेष्ठ ; jeshṭh]

ไทย: เชษฐา, เจษฎา ; เขมร: ชีตา (รูปคำปริวรรต)

แต่มาเลย์เรียก abang  ;D คำว่า อาบัง ก็คงมาจากภาษามาเลย์นี่เอง คือแปลว่า "พี่" ทำนองเดียวกับคำจีนว่า เจ็ก - เจ๊ก ซึ่งก็แปลว่าพี่เช่นกัน


2. สันสกฤต: เจษฺฏา [เทวนาครี: चेष्टा ; โรมัน: ćeshṭā] แปลว่า การขยับกาย, การประพฤติ

ถ้าในความเห็นของผมนะครับ พระนามของรัชกาลที่ ๓ นี้ น่าจะมีต้นเค้ามาจากการที่พระองค์ทรงเป็นพระโอรสองค์แรก ของรัชกาลที่ ๒ จึงได้รับพระราชทานพระนามด้วยคำว่า "เจษฎา" ที่แปลว่า พี่ชายคนโต แต่อย่างไรก็ตาม คำว่าเจษฎานี้ ได้กลายเป็นภาษาไทยไปแล้ว ดังนั้น ถ้าจะแปลตามที่ อาจารย์เทาชมพูว่าไว้ก็ได้เช่นเดียวกันครับ

คำนี้ เป็นคำที่แปลกอยู่คำหนึ่ง เข้าใจว่า คำไทยคงเขียนขึ้นมาเสียงที่ได้ยินจากปากของพราหมณ์ที่ใช้ภาษาสันสกฤต

เสียง "ชฺย" ของสันสกฤต ไ้ด้เพี้ยนเป็น "จ" (ในภาษาทมิฬก็เช่นกัน จาก jy เป็น c)
ส่วน "ฐ" ของสันสกฤต ก็กลายเป็น "ฎ" (เลื่อนจาก "ฏ" อีกที)


กระทู้: ๒๑๕ ปี มหาเจษฎาราชเจ้ารำลึก
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 01 เม.ย. 08, 08:19
เพิ่มเติมอีกนิดครับ

ดังนั้น คำว่า "เจษฎา" (ที่เพี้ยนมาจาก "เชฺยษฐ") ในภาษาไทยอาจไม่ได้รับมาจากพราหมณ์อินเดียเหนือ แต่อาจรับมาจากพราหมณ์อินเดียใต้ ที่ใช้ภาษาทมิฬเป็นหลัก เพราะผมดูรูปศัพท์ของทมิฬแล้ว มีเค้าของคำว่า "เจษฎา" ชัดเจนมาก คือ "เชฺยษฺฏน" คือ แค่เปลี่ยน "ชฺย" เป็น "จ" และตัด "-นฺ" ที่เป็นวิภัติของภาษาทมิฬออก

เชฺยษฺฏนฺ => เจษฺฏ => เจษฎ

ถ้าเป็นไปตามนี้ แสดงว่า ราชสำนักไทยสมัยก่อนน่าจะ "นำเข้า" พราหมณ์จากทมิฬนาฑู มากกว่าพราหมณ์จากแถบอื่นๆ ของประเทศอินเดีย

จำได้เลาๆ ว่า ในวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี ก็ได้บรรยายถึงพราหมณ์เดินทางกลับไปยังเมืองต่างๆ และ บทโคลง ๓๒ ชนชาติ ในส่วนที่พูดถึงแขกอินเดีย ก็พูดถึงพราหมณ์จากเมืองต่างๆ ด้วยเช่นกัน