เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 12, 08:24



กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 12, 08:24

       หลายวันที่ผ่านมา   หยิบหนังสือของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์มาอ่าน   ท่านเขียนเรื่อง

สวนโมกข์  และเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่สวนโมกข์

        "ในพ.ศ. ๒๔๘๑(ถ้าผมจำไม่ผิด) เป็นครั้งแรกที่ผมมีบุญไปถึงสวนโมกข์พลาราม พุมเรียง  ไชยา

(สวนโมกข์เก่า)  ผมจำได้ว่า  ขณะนั้นผมทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

วันหนึ่ง  ผมจำได้   เราเดินเล่นรอบสระน้ำใหญ่    มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง  นุ่งกางเกงขาสั้น  คาดผ้าขาวม้าแดง   

เดินตามเราไปห่าง ๆ โดยตลอด   ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นบุตรศึกษาธิการอำเภอ    ผมได้โอกาสเข้าไปทำความรู้จัก

เขาบอกว่าชื่อ  วิลาศ  มณีวัต        ผมพบเขาอีกทีเมื่อเขาเป็นนิสิตปีที่สี่  คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

เขาเป็นเจ้าของคำซึ้ง ๒ ความ  ซ่งผมยังจำได้จนบัดนี้คือ  "ถูกซ่อนตู้อุด  ถูกขุดหลุมฝัง"

       (ความเต็มก็คือ
         "ของดีดีเด็ด                         เหมือนเพ็ชรเหมือนทอง
          ถึงซ่อนตู้อุด                         ถึงขุดหลุมฝัง
          ยังมีวันปลั่ง                          อลั่งฉั่งชูเอย"

          คุณ ส.ม. เล่าไว้ว่า  ถ้าจำไม่ผิดดูหมือนจะเป็นคำของ  ท่านโอมาร์ คัยยัม   ซึ่งเสด็จในกรมนราธิปพงศ์ประพันธ์  ทรงแปลเป็นไทยไว้)           

        ในวันแรกชองงานหนังสือปีนี้  พาสมาชิกผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ของชมรมนักอ่านหนังสือเก่า  ไปเดินในซอยหนังสือเก่า  เพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงิน
เนื่องจากที่ปรึกษาบ่นว่า  ใช้จ่ายเกินตัวนัก     

ได้ตะครุบหนังสืออนุสรณ์มาหลายเล่มในราคาไมตรีจิต

เล่มหนึ่งที่ได้มา คือ  อัลบั้มชีวิต  วิลาศ  มณีวัต


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 12, 09:12


หนังสือหนา  ๓๙๔  หน้า      อ่านอย่างจุใจ     หลายเรื่องนั้นก็ได้อ่านมาแล้วหลายครั้ง

แต่เรื่องส่วนตัวของท่านไม่เคยอ่านมาก่อน


        เรื่องเราพบกันที่เตรียมอุดม  หน้า ๑๕๓ - เขียนโดย "นิตา"  ถึง "วิว"  และต่อด้วยเรื่องชิวิตนักเรียน

สำนวนของคุณวิลาศ มณีวัตเองอีกสองสามเรื่อง

อ่านแล้วก็แน่นิ่งในมหัศจรรย์ของอำนาจของภาษาของคุณ"วิว"  ที่คุณ "นิตา"  กรุณาเล่า

จึงนำมาเล่าต่อ

       "นิตายังจำได้  ภาพเด็กชายวัยสิบสี่  ที่ผอมสูงโย่ง   ยืนอยู่ในกลุ่มเพื่อนนักเรียนชายด้วยกัน  หัวเราะเสียงดัง

อันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัววิว  แต่วันแรกที่เห็นหน้ากัน  จนกระทั่งช่วงสุดท้ายของชีวิต"


       "นักเรียนชาย  แต่งเครื่องแบบยุวชนทหาร  เพราะระยะนั้นรัฐบาลต้องการให้ประชาชนรักชาติ   ทางยุโรปลัทธิชาตินิยมนาซี

ของฮิตเล่อร์ในเยอรมันนี  และฟาสซิสต์ของมุสโซลินีในอิตาลีกำลังผยอง         พวกนักเรียนชายในเมืองไทยทุกคนต้องเป็นยุวชนทหาร

โรงเรียนไหนใกล้น้ำก็เป็นลูกเสือสมุทรเสนา    นักเรียนชายของโรงเรียนเตรียม  จึงต้องแต่งเครื่องแบบเป็นยุวชนทหาร  ฝึกแถวและอาวุธทุกอาทิตย์

เครื่องแบบยุวชนทหารเชิร์ตและกางเกงขาสั้น  เป็นสีกากีแกมเขียว  หมวกแก๊ปสีเขียว

       อาจารย์ประจำชั้นเราคืออาจารย์ประไพ  ณ ป้อมเพชร(ท่านผู้หญิงประไพ  สุมิตร)   สวย  น่ารัก เป็นที่สุด

       วันนั้นหลังจากที่ท่านจับพวกเราซึ่งทั้งหน้าตาตื่น  ทั้งวุ่นวาย  เข้านั่งโต๊ะเรียนกันได้อย่างลงตัว   แล้วก็ให้แต่ละคนยืนขึ้นแนะนำตัว 

โดยขานชื่อตนเองและโรงเรียนที่สำเร็จมา

        แน่นอน...ไม่มีใครจำคนอื่นได้หรอก   นอกจากชื่อเพื่อนที่นั่งโต๊ะเดียวกัน

        แต่ชื่อวิว  ไม่ใช่เช่นนั้น

         เมื่อขานชื่อแล้ว    อาจารย์ประไพท่านถามย้ำให้ทวนซ้ำ   และดูจะเขม้นมองนานกว่าคนอื่น    แถมเมื่อหมดเวลาช่วงเช้า  ปล่อยให้นักเรียนไปพัก

นักเรียนผอมสูงคนนั้นไท่รู้จะคุยอะไรกับเพื่อนหัวเราะเสียงดัง   จนอาจารย์ต้องทำ "เสียงเย็น" ปราม

        "วิลาศ  เบา ๆ หน่อย"

          นิตาแอบนึกว่าอาจารย์จำชื่อได้เร็วจัง        แต่ภายหลังจึงเข้าใจว่า   ตอนที่อาจารย์ท่านถามย้ำให้ทวนชื่อนั้น   ท่านคงหมายตา "ลูกศิษย์"  คนนี้

ไว้แล้ว   นี่แหละ  วิลาศ  มณีวัต

        ถูกแล้ว   วิลาศ  มณีวัต  ที่ขึ้นชื่อลือชาทั้งโรงเรียนเตรียมอุดม     ว่าในจำนวนนักเรียนชาย - หญิงร่วมหมื่นคนจากทั่วประเทศ   

ที่มาสมัครสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนเตรียม   ผู้ที่สอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งนั้น  ชื่อ  วิลาศ  มณีวัต

       อาจารย์ต่าง ๆ  ต่างมาขอดูตัว   แม้แต่อาจารย์ผู้ปกครอง  ที่นักเรียนกลัวกันจนหัวหดอย่างง อาจารย์ ม.จ. วงศ์มหิป  ชยางกูร

อาจารย์เล็ก  ไทยง   ท่านก็เรียกดูตัว "วิลาศ" ด้วย



กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 12, 10:34
             

        "อาจารย์สงวน  เล็กสกุล  สอนหลักภาษาไทยและเรียงความ

ท่านเริ่มชั่วโมงแรกของเรียงความ   โดยให้ทุกคนแต่งเรื่อง  "เรื่องของข้าพเจ้า"   นับเป็นกุศโลบายอย่างดีเยี่ยม

ที่ท่านได้ "รู้จัก" พื้นภูมิของลูกศิษย์ทุกคน   รวมทั้งบางคนอาจจะวาดฝันถึงอนาคตให้อาจารย์ได้รับรู้   และช่วยชี้แนะต่อไปด้วย

   
     อาทิตย์ต่อมา   อาจารย์ท่านนำตัวอย่าง  บางบทบางตอนของ "เรื่องของข้าพเจ้า"  ที่เขียนส่งไปให้ท่านมาวิจารณ์ในชั้นเรียนอย่างสนุกสนาน

ฝันของคนแค่อยากได้เข้าโรงเรียนเตรียมอุดม  ให้ได้สวมหมวกกะโหล่   คนนี้แน่นอนต้องเป็นเด็กผู้หญิง  เพราะมีแต่เครื่องแบบนักเรียนหญิงเท่านั้น  ที่มีหมวกกะโล่

       ทำไมต้องอยากสวมหมวกกะโหล่    ท่านถามเสียงดัง   หมวกกะโหล่...ไม่ใช่หมวกกะโล่หรอกรึ?


       เสียงฮาครืนเพราะอาจารย์ทำเสียงกะโหล่  ลากยาว   แล้วท่านก็ตามด้วยคำติงที่ว่า  เขียนภาษาไทยต้องระวังที่ตัวสะกด  การันต์ให้ถูกต้อง 

ไม่ใช่ระวังแต่ชั่วโมงหลักภาษา  คนไทยเขียนภาษาไทยไม่รู้จักวรรณยุกต์ทั้งห้าก็เปล่าประโยชน์


       ท่านหยิบมาวิจารณ์หลาย "เรื่องของข้าพเจ้า" ให้ได้ฮากัน          ใครเป็นเจ้าของเรื่อง  ก็พยายามเก็บปาก  เก็บหน้า  ทำไม่รู้ไม่ชี้  ไม่ให้เพื่อนรู้ว่า  กำลังถูก "ชำแหละ"

เรื่องสุดท้าย   อาจารย์สงวนท่านยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง  อ่านให้ฟังว่า


       "พุทธศักราชล่วงไปได้สองพันสี่ร้อยหกสิบเจ็ดปี   ลุวันเพ็ญ เดือนหกอันตรงกับวิสาขปุรมีมาส   ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประสูติ  ตรัสรู้ 

และปรินิพพาน   กุมารน้อยผู้หนึ่ง  ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้   ณ  ลุ่มน้ำตาปี  อำเภอบ้านดอน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี   ตรงกับวันทางสุริยทิน

วันที่ ๑๖  พฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๔๖๗   ....สองพันสี่ร้อยหกสิบเจ็ดปีหลังจากที่พระพุทธิงค์   ทรงเข้าสู่ปรินิพพาน..."



        ทุกคนในห้องฮือฮากันหมด     หลังจากที่อาจารย์ถามว่า  "เป็นไง...?"         ยังไม่ทันที่จะมีใครออกความเห็น   ท่านก็กล่าวต่อไปยิ้ม ๆ 

"เปิดเรื่องได้ดีมาก          ชวนให้สนใจอ่านต่อไป..."          เสียงฮือฮาก็ยังไม่จบ             อาจารย์สงวนท่านกลัว "กุมารน้อย"  จะเหลิง   

จึงตบท้ายเบาะ ๆ ว่า   "พ่อคนนี้ทำตัวจะเทียบพระพุทธเจ้าเจียวนะ..."


       ความจริง  ระยะนั้น   เป็นเวลาหลังจากเปิดเทอมแรกมาเพียง ๒ อาทิตย์   ยังไม่มีใครจะทันรูว่า  เพื่อนเราเกิดเมื่อไร  มาจากไหน   แต่การที่อาจารย์ทำหน้ายิ้ม ๆ

มองเพื่อนชายของเราคนหนึ่ง   ซึ่งแม้จะทำไม่รู้ไม่ชี้  แต่สีหน้าก็ดูปูเลี่ยน ๆ ชอบกล   เราจึงพอเดาได้ว่า  "พ่อคนนี้" เป็นใคร

ใช่จ้ะ   เขาละ   วิลาศ  มณีวัต!


       ภายหลัง  หลายปีเมื่อเราคุ้นกันมากขึ้น   นิตาอดถามเรื่องวันเกิดนี้ไม่ได้          วิวหัวเราะอาย ๆ สารภาพว่า   วันที่ ๑๖​พฤษภคม 

ไม่ได้ตรงกับวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำหรอก   แต่ก็เฉียดไป...ขึ้น ๑๔ ค่ำเท่านั้น

       "ไม่เขียนอย่างนั้น  อาจารย์จะสนใจหรือ"


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 12, 13:46


       อาจารย์สายสวาท  หงสกุล (รัตนทัศนีย์) สอนลิลิตตะเลงพ่าย    อาจารย์ทองพูลศรี  ศรหิรัญ(โปษะกฤษณะ)สอนมหาเวสสันดรชาดก

บางตอนในกัณฑ์กุมาร  กัณฑ์มัทรี  กัณฑ์จุลพล  มหาพน  บางทีเราก็ท่องได้   บางทีก็ท่องไม่ได้หมด   แต่วิวดูจะจดจำได้เป็นพิเศษ

ว่าปากเปล่าได้เป็นฉาก ๆ ไป   จึงไม่น่าแปลกใจที่วิวจะเป็นที่รักของอาจารย์ภาษาไทยทุกคน   โดยเฉพาะอาจารย์ทองพูนศรี...!


        ไม้มีใครกล้าแย่งตำแหน่งลูกศิษย์คนโปรดจากวิว     

        ก้อ  วันหนึ่ง   ที่มีประกาศผลสอบซ้อมประจำเทอม  ของนักเรียนเตรียมชั้นปีหนึ่ง     ทั้งโรงเรียนคนหนึ่งที่ได้ top  ภาษาไทยถึง ๙๗%

        ใช่จ้ะ...เขาละ    วิลาศ  มณีวัต !


         เกรียวกราวกันไปทั้งโรงเรียน   เพราะปกติคะแนนที่จะขึ้นไปถึง ๙๐ % มีแต่วิชาคำนวณและิทยาศาสตร์   ทางด้านภาษาไทย

หรือภาษาอังกฤษไม่มีสิทธิเลย   ทางอังกฤษอาจจะได้แปดสิบกว่า  เฉียด เก้าสิบบ้าง   แต่ภาษาไทยจะได้ถึงแปดสิบก็ทั้งยาก    ที่จะมาได้

เกือบเต็มร้อยเช่นนี้ยังไม่เคยมี          อาจารย์คำนวณหลายคนถึงกับขอดูข้อสอบ        อาจารย์ทองพูนศรีท่านอวดกระดาษคำตอบ

ของลูกศิษย์คนโปรด  แล้วแถมบอกว่าความจริงอยากจะให้เกินร้อยด้วยซ้ำ


        ที่ว่า เกรียวกราวกันทั้งโรงเรียน นั้น  ไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินเลยไปแม้นแต่น้อย   เพราะโรงเรียนเตรียมอุดมนั้น   มีระบบปิดประกาศผลสอบทุกชั้น

และทุกคณะพร้อมกันหมด    ทุกคนไม่ว่าจะเรียนอยู่ตึกหนึ่ง  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนเตรียมอุดมปีที่หนึ่ง(ซึ่งเป็นตึกเพิ่งสร้างเสร็จรับพวกเราเป็นรุ่นแรกเข้ามาเรียน ณ ตึกนี้)

เป็นห้องเรียนของนักเรียนเตรียมปีหนึ่งปนอยู่ประปราย         คะแนนดี -  ไม่ดี   เก่ง  ไม่เก่ง  คะแนนมันฟ้องเจ้าของอยู่ในใบประกาศผลบนกระดานดำ   

ที่มีศีรษะสลอนมุงดูกันแน่น

                  อ้ายบ้า...มันทำได้ยังไงวะ   ภาษาไทยเก้าสิบเจ็ด


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 เม.ย. 12, 06:23


คึกฤทธิ  ปราโมช   เขียน คำนำในหนังสือ "โฉมหน้าอันแท้จริงของญี่ปุ่น"    ลงวันที่ ๙ กันยายน  ๒๔๙๕


        "คุณวิลาศ  มณีวัต   ได้มาขอให้ผู้เขียน  เขียนคำนำหนังสือเล่มนี้    ซึ่งผู้เขียนก็ยินดีเขียนให้ด้วยความเต็มใจว่า

ในกระบวนหนังสือที่ผู้เขียนชอบอ่านแล้ว   จะมีหนังสือใดเกินไปกว่าหนังสือท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ เห็นจะไม่มี


        หนังสือประเภทนี้ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่เพิ่งจะมาเริ่มทำกันในยุคหลังในเมืองไทยเรานี้   ผิดกับในต่างประเทศ

ซึ่งเขานิยมทำกันมานานเป็นร้อยเป็นพันปีมาแล้ว       คนไทยเราแต่ก่อนขณะที่เดินทางไปยังสถานที่แปลกถิ่น   

ก็มักจะนิยมบรรยายภาพภูมิประเทศและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเดินทางไว้เหมือนกัน        แต่รสนิยมของคนโบราณ

ชอบไปในทางกาพย์  กลอน   และให้มีเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆสอดแทรกเข้าไว้ด้วย   เราจึงมักจะพบแต่หนังสือนิราศเป็นพื้นในวรรณคดีไทย   

ไม่มีการบรรยายภาพภูมิประเทศและเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมาและมักจะมีการบ่นพร่ำ ๆ  เพ้อถึงเมียบ้าง   ถึงผู้หญิงคนรักบ้าง 

อยู่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนน่าเบื่อ         ภาพต่าง ๆ ที่ผู้แต่งนิราศได้เห็นระหว่างเดินทางก็มักจะเปรียบเทียบเข้าไปกับ  ความรักความรันทดใจ 

ที่ต้องจากคนรักมากมายเกินไป   ทำให้ของจริงที่เห็นหมดความสำคัญ   และในบางกรณีถึงกับไม่น่าเชื่อว่าเป็นของจริง   เพราะผู้แต่งอาจจะ

วาดภาพนั้นขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบรรยายอารมณ์รักที่ตนประสงค์จะบรรยายนั้นก็ได้   เป็นต้นว่าชมดงเพลิดเพลิน   เห็นต้นไม้

และดอกไม้ต่าง ๆ ที่มีชื่อหรือลักษณะอันพอจะนำมาเปรียบเทียบกับอวัยวะต่าง ๆ หรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของหญิงที่ตนรัก

ทำให้ผู้อ่านบังเกิดความรู้สึกว่า   สิ่งที่ตนอ่านอยู่ไม่ใช่ของจริง   แต่เกิดขึ้นจากคารมโวหาร   เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว   ผู้อ่านก็ย่อม

จะเบื่อหน่ายและอ่านข้ามไปเสีย        ในบรรดาผู้แต่งนิราศที่ค่อยยังชั่ว   ไม่เพ้อเจ้อคิดถึงลูกถึงเมียฝ่ายเดียวเห็นจะได้แก่สุนทรภู่

และหม่อมราโชทัย(กระต่าย)     เพราะท่านทั้งสองนี้...คนแรกเพ่งเล็งข้อเท็จจริง  และเปรียบเปรยข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้เห็นนั้นกับความจริง

ในชีวิตที่ตนได้ประสพพบเห็นมา        โดยมุ่งหวังจะให้ข้อเขียนของตนเป็นสุภาษิต  หรือมีคติสอนใจ       ส่วนท่านที่สองเป็นข้าราชการ

ได้ไปราชการในต่างประเทศ    จึงได้นำระเบียบราชการอันเกี่ยวกับจดหมายเหตุ   รายงานภูมิประเทศและเหตุการณ์ที่ตนได้เห็นมาใส่ไว้ในนิราศ       

ท่านทั้งสองนี้หากจะพรรณาถึงความรักและความคิดถึงคนรัก  ก็เป็นแต่เพียงในตอนขึ้นต้นและลงท้ายและจะมีประปรายบ้างในตอนกลาง         

ส่อให้เห็นว่ากระทำขึ้นเพื่อรักษาธรรมเนียมการประพันธ์มากกว่าที่จะมุ่งหมายเอาเป็นจัดสำคัญในการประพันธ์


        พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมหาราช   นับว่าเป็นนักเขียนคนไทยคนแรกที่ไม่ยอมแต่งนิราศ   แต่บรรยายความจริงเท่าที่ได้เห็น

และสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวของผู้แต่งอันเกิดจากการที่ได้ประสพพบเห็นนั้นไว้อย่างน่าฟัง       พระราชนิพนธ์แบบเช่นที่ว่ามานี้มีอยู่

มากมายหลายเล่ม   เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดานักอ่าน     จะพรรณาไว้ในที่นี้อีกก็จะยืดยาวไป     แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่แบบฉบับ

การแต่งหนังสือท่องเที่ยว     ที่พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงเริ่มไว้      ก็ได้มีนักเขียนไทยแต่งหนังสือประเภทเดียวกันนี้ต่อมาอีกมากมายหลายเล่ม

ล้วนแล้วแต่มีสาระน่ารู้น่าอ่าน          จึงทำให้หนังสือประเภทท่องเที่ยวได้รับความนิยมแพร่หลายมาจนบัดนี้


        หนังสือที่แต่งโดยคุณวิลาศ  มณีวัต  เล่มนี้   ก็เป็นหนังสือประเภทนี้อีกเล่มหนึ่ง       ซึ่งแต่งโดยวิธีเขียนอันเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว

ในบรรดาผู้ที่ชอบอ่านหนังสือ         ผู้เขียนรู้สึกยินดีมากที่คุณวิลาศได้ตัดความจำเป็นที่จะต้องเขียนนิราศออกได้อย่างแนบเนียน

วิธีนั้นก็ง่ายนิดเดียว   คือเมื่อคุณวิลาศไปญี่ปุ่น    คุณวิลาศก็พาคุณนิตยา  นาฎยะสุนทรไปด้วย      ไม่ปล่อยให้มีวัตถุใดอันจะ

เป็นจุดเรียกร้องความคิดถึงหรือความพร่ำเพ้อละเมอฝันให้ตกค้างอยู่ทางนี้          ทำให้ผู้อ่านได้รับความโล่งใจเสียแต่แรกเริ่ม"


(บทความยังมีต่ออีกสองย่อหน้าค่ะ  ที่พอหาอ่านได้ตามที่เล่ามาโดยลำดับ      ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกเป็นอันมากที่จะนำมาฝากต่อไป)


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 เม.ย. 12, 10:13

ขอข้ามข้อความบางตอนไปเพราะหลายตอนก็เป็นที่รู้จักดีกันอยู่แล้ว     ขอไปยังบทความที่ไม่เคยอ่าน

ที่คิดว่าน่าอ่านมาก  เรียกว่าตอนจุฬาฮาเฮ    คุณวิลาศ  เขียน



        "พอสอบผ่านโรงเรียนเตรียม ฯ ของท่านอาจารย์ ม.ล. ปิ่น  มาลากุล  เราก็ขึ้นมหาวิทยาลัยได้ในฉับพลันทันที   

ไม่มีการสอบเข้าอีก

        เราจึงเรียกว่า "ขึ้นจุฬา"   ไม่ใช่ "เข้าจุฬา"

        พอเราขึ้นปีสอง   อาจารย์เจ้าคุณไชยยศก็บอกเราว่า   ปีใหม่นี้พวกเธอจะได้อาจารย์ดีมาสอนวิชาการค้าระหว่างประเทศ

(International Trade)  เก่งมากนะอาจารย์คนนี้


        อาจารย์คนนี้...!  คือ  อาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ  ปราโมช       ซึ่งระยะนั้นเป็นสมัยสงคราม  น้ำมันขาดแคลน   รถราไม่ค่อยจะมีน้ำมันใช้

ท่านจึงมักจะเดินเข้าไปในจุฬา ฯ ...   สูง  สง่า  และหล่อ


        มาดแต่งตัวงี้...พวกลูกศิษย์ทั้งหญิงและชายซี้ดปากกันหมด      แล้วเวลาสอนท่านมักจะมีข้อสังเกตแปลก ๆ วิจารณ์การบ้านการเมืองแถมพกให้

เราฟังเสมอ     ใบหน้าท่านเฉย  เรียบสนิท   เราฟังเพลิน   ประเดี๋ยวเดียวก็นึกแง่ขำขึ้นได้   หัวเราะกันครืน    ท่านจะทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้อยู่สักระยะหนึ่ง

จึงค่อย ๆ ยิ้ม...เห็นลักยิ้มบุ๋มเชียว

        แอบกระซิบกันว่าอาจารย์ทำหน้าตายเก่งจัง

        ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นนักการเมือง   ยังไม่มีใครรู้จักว่าจะเป็นนักพูดปากตะไกรหรือนักเขียนอะไรซักอย่าง   ไม่เคยสอนหนังสือที่ไหนมาก่อน

เราโชคดีที่ได้เป็นศิษย์รุ่นแรกของท่าน










กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 เม.ย. 12, 10:56
        จำได้ว่าห้าปีภายหลังจนผมและสุรีพันธุ์เริ่มเขียนหนังสือกันแล้ว    ไปขอเรื่องท่าน

ท่านว่าท่านเขียนไม่เป็น      ผมก็อ้อนวอนเซ้าซี้คะยั้นคะยอท่านมาก ๆ เข้าว่า  ไม่ต้องมีแบบแผนอะไรหรอก

เขียนอย่างที่ท่านพูดนั้นก็เหลือกินแล้ว...    วิเศษที่สุดแล้ว

        
        แรก ๆ ท่านปฎิเสธ     ไป ๆ มา ๆ   ทนแรงศิษย์ออดเซ้าซี้เข้าไม่ไหว    ท่านก็ยอมเขียนให้เรื่องหนึ่ง

บอกว่า   "คุณวิลาศช่วยเอาไปขายให้ผมด้วย...    ได้เงินมาจะพาไปเลี้ยง"


        เรื่องสั้นเรื่องแรกของท่านนั้น  ชื่อ "กบกายสิทธิ์"   ผมตรงรี่ไปขายให้กับ น.ส.พ. "สยามสมัย"  ซึ่งมีประหนัด  ศ. นาคะนาท

เป็นบรรณาธิการ    คุณประหยัดดีใจจนเนื้อเต้น

        ได้ค่าเรื่องมาให้ท่านหนึ่งร้อยยี่สิบบาท!       ท่านก็พาผมกับสุรีย์พันธ์ุไปเลี้ยงฉลองกันที่ภัตตาคารที่หรูที่สุด  แพงที่สุดในยุคนั้น  คือ "เชล์ชีฟ"

อยู่แถวสี่พระยา...   ท่านหมดไปหลายร้อย!


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 เม.ย. 12, 23:19


ครั้งหนึ่งในชีวิต


       "วิวเคยเล่นลิเก  กับคณะลิเกกิตติมศักดิ์ครั้งหนึ่ง        ในนามของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ณ  สมาคมพ่อค้าไทย

ถนนราชบพิธ  เมื่อเดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๔๙๔

        ลิเกนั้นชื่อว่า  หลวิชัยกับคาวี

        โดยมีดาราแสดงนำสองท่าน  คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช  แสดงเป็นหลวิชัย  และคุณประยูร  จรรยาวงษ์(ศุขเล็ก) เป็นคาวี

ดาราสมทบคือ อบ ไชยวสุ(ฮิวเมอริสต์) เป็นพระเจ้าตา   พร้อมด้วยนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีก    เช่น  ประหยัด  ศ. นาคะนาท (นายรำคาญ)

ถนอม  อัครเศรณี ("ศิราณี" กับนายกล้าหาญ)   รัตน์  ศรีเพ็ญ(ศรีเข้)   วิลาศ  มณีวัต(หมวกเบอร์เจ็ด)   และชัช  วงศ์สงวน  ผู้ร้องรำออกแขกราวกับลิเกอาชีพ


        กลอนออกแขกว่า   ฮัลเลวังกา - เห่ - เฮ - เฮ - เฮ้   วันนี้ก็เป็นวันเสาร์ ---พรุ่งนี้เช้าก็วันอาทิตย์---พวกเราต่างมาฮาเฮ ---มาเล่นยี่เกกับหม่อมคึกฤทธิ์

--- ฮา---ฮา ---เฮ้

        ไม่ต้องบอกว่าคนดูจะล้นหลาม  สนุกสนานกันเพียงไร   เพราะกลอนของหลวิชัย  และคาวี นั้น  เกี่ยวพันไปในการเมืองสมัยนั้นอย่างถึงพริกถึงขิง  แสบ ๆ  คัน ๆ"



กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 เม.ย. 12, 06:49

ขึ้นจุฬา  ฮาเฮ         

        คุณสุรีพันธุ์  เล่าเรื่องครูบาอาจารย์ของท่านในมหาวิทยาลัยด้วยความเคารพอย่างสูง

เพราะท่านเหล่านี้ได้นำความรู้จากสถาบันการศึกษาที่เลิศแล้วของโลกมาสอน  และท่านเหล่านี้ได้ก้าวต่อไปเป็น

หลักของประเทศในทางต่าง ๆ

        คุณวิลาศ  ได้เขียนถึงอาจารย์หลายต่อหลายท่าน    จนยากที่จะนำมาเล่าได้ทั่วถึง      เรื่องหนึ่งที่

ไม่เคยได้ยินเลยคือเรื่อง อาจารย์ บุญมา  วงศ์สวรรค์


        "นักเรียนนอกอีกท่านหนึ่งที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ  พอลงจากเครื่องบินก็ไปสอนเราเลย

คืออาจารย์บุญมา   วงษ์สวรรค์  เพิ่งสด ๆ ซิง ๆ  มาจาก LSE  (ลอนดอน สกูลออฟ  อิคอนอมิคส์)

ของมหาวิทยาลัยลอนดอนอันเลื่องชื่อ      ท่านไปสอน "ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น"   ยังหนุ่มฟ้อ  ปราดเปรียว  ว่องไว

ทั้งการพูดและอิริยาบทเดินเหิน       ตอนหยุดพักกลางวันชอบไปประลองฝีมือกับเพื่อนที่เป็นแชมป์ของเรา  คือ ปฎิพัทธ์  และ  ประสิทธิ์   สิงหพันธ์

ทั้งสองเสือนี่เห็นฝีมือ "ตบ"  และ "ลูกตัด"  ของท่านแล้วงงไปหมด           สุดท้ายจึงหายงง  เมื่อทราบว่า   ท่านเคยแข่งปิงปองระดับโลก

มาแล้วที่อังกฤษ...   เป็นที่หกของโลก"


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 เม.ย. 12, 07:26

เรียนท่านผู้อ่านที่นับถือ

        วันนี้ และ พรุ่งนี้     ข้าพเจ้ามีกิจต้องนำ คณะนักอ่านหนังสือเก่าชั้นอนุบาล  ไปซื้อหนังสือที่ งานหนังสือ

ซึ่งก็คงเป็นการจับปูใส่กระด้งเป็นแน่แท้   ได้นัดดีลเล่อร์ระดับเดินถนนทุกวันให้นำหนังสืออนุสรณ์

มาให้ชมด้วยในราคาที่ต่ำกว่าราคาตามบู้ธเล็กน้อย     มีท่านผู้เชี่ยวชาญในวิทยาการพิเศษ(สมาชิกใหม่ของ "เรือนไทย")ตามมาด้วย

คณะพรรคมิมีการขัดข้องเลย  เพราะขนมของกินที่ท่านผู้เชี่ยวชาญเอื้อเฟื้อเคยนำมานั้น  อร่อยมาก  จนคณะพรรค

แย่งกันหลังจากเก็บส่วนแจกของตนเข้าใส่ถุงย่ามไปแล้ว

        เราจะไปตามราชกิจจา ฯ  ชุดสีแดง ของสำนักพิมพ์ต้นฉบับที่บางเล่มขาดตลาดไปแล้ว(ขนาดคณะอนุบาลนะเนี่ย)

ดังนั้น กระทู้นี้จะหายว่อบ ๆ แว่บ ๆ ไป   ในวันนี้และพรุ่งนี้

        สำหรับข่าวลือที่ว่า  งานหนังสือไม่มีหนังสือดี  นั้น   ไม่ถูกต้อง

หนังสือวิเศษหลายเล่มและหลายชุดได้ปรากฎตัวขึ้น  ในกล่องกระดาษที่เจ้าของร้านซ่อนไว้ใต้ผ้าคลุม  ฮ่ะ ๆ


       กำลังจะคัดลอกที่ คุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  เล่าเรื่อง  โฉมหน้า  วิลาศ  มณีวัต  เชียว     เกรงว่าจะไม่จบง่าย ๆ

จึงเรียนมา   เพราะเรื่องสนุก ๆนั้นจะเก็บไว้ได้คนเดียวอย่างไรได้


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 เม.ย. 12, 07:37

เรียนท่านผู้อ่านที่นับถือ

        วันนี้ และ พรุ่งนี้     ข้าพเจ้ามีกิจต้องนำ คณะนักอ่านหนังสือเก่าชั้นอนุบาล


นึกถึงการจับปูใส่กระด้ง  ;D


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 12, 07:51
^

ท่านเคยห้ามปาด แต่นี่มีปาดอยู่ข้างบนตัวนึงแล้ว ต้องมีเขียดตามไปเป็นเพื่อน

เข้ามาเรียนว่าสนุกมากครับ อย่าหยุด อย่าหยุด โก โก โก


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 12, 08:52
มาลัยกรอง  จากพี่น้องผองเพื่อน

สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  เขียน เมื่อ  ๓๑ มีาคม  ๒๕๔๗


        "ผมจำได้ว่า  เมื่อลมหนาวใกล้สิ้นปีเริ่มมาเยือน   บรรดาหนอนหนังสือในยุคนั้นจะเริ่มแคะกระปุกออมสิน

เตรียมเงินไว้เลือกซื้อหนังสือลดราคาปีละครั้ง       ถ้าหากไม่ไปซื้อที่งานวชิราวุธ  วังสราญรมย์   ก็ต้องไปตระเวณเดินแถวร้านหนังสือวังบูรพา

ผมเริ่มต้นสะสมหนังสือเล่มปกแข็งของนักคิดนักเขียนไทยมาก็ตั้งแต่ครั้งนั้น   รวมทั้งเริ่มซื้อพ็อคเก็ตบุ๊คของนักเขียนต่างประเทศในราคา

"แบกระดิน"  ที่ร้านหนังสือเก่า  สนามหลวง  ริมคลองหลอด      จำไม่ผิดก็ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา         หนังสือเล่มปกแข็งของ

นักเขียน  นักแปล  ที่นำมาขายลดครึ่งราคา   และผมซื้อสะสมมาตั้งแต่ช่วงนั้น  ก็มี  

ล่องไพร  ของน้อย  อินทนนท์      

ช่อประยงค์ ของ  อุษณา  เพลิงธรรม      

หนาวผู้หญิง  ของ  'รงค์  วงษ์สวรรค์

เรื่องสั้นแปลของ  กีย์  เดอ  โมปัสซังค์  และ  โอ เฮนรี  ที่ อาษา เป็นผู้แปล

นวนิยายแปลของเพิร์ล  เอส. บัค  ที่ สันตสิริ เป็นผู้แปล

และหนังสือในดวงใจอีกเล่มหนึ่งที่ผมจำได้ไม่เคยลืม  คือหนังสือปกแข็งของสำนักพิมพ์คลังวิทยา  ที่ลดราคาแล้วเหลือ ๑๕​ บาท

หนังสือเล่มนี้ชื่อ โฉมหน้านักประพันธ์  เขียนโดย  ผู้ใช้นามว่า  วิลาศ  มณีวัต  เป็นหนังสือหนา ๕๔๔ หน้า   พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖   และถือเสมือนเป็นโลกใหม่ทางวรรณกรรมที่ "ลัดเวลา"  ให้ผมได้รู้จักกับรักคิด  นักเขียน  นักประพันธ์

และนักหนังสือพิมพ์  ทั้งของไทยและต่างประเทศที่ค่อนข้างเป็นระบบเป็นครั้งแรก         ทำให้เด็กโรงเรียนบ้านนอกเริ่มรู้จักชื่อและผลงานของ

นักคิดนักเขียนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 12, 10:55

       

เวลาไปเดินดูหนังสือเก่าที่ร้าน "แบกะดิน" สนามหลวง   ก็จะพยายามจดจำชื่อของนักเขียน  นักประพันธ์ 

ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือปกแข็งของ  วิลาศ  มณีวัต เล่มนี้เพราะถือว่าอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วย "ลัดเวลา" 

ให้รู้จักกับโลกของการอ่านที่ยกระดับขึ้นจากเดิม   และจากหนังสือปกแข็งลดราคาเล่มนี้เอง   

ที่ทำให้ผมได้รับรู้ว่า   ในบรรณพิภพของไทยนั้น    ยังมีนักเขียนนักประพันธ์

ที่ผมยังไม่ค่อยคุ้นเคยอีกมาก  อย่างเช่น  ม.จ. อากาศดำเกิงฯ   กุหลาบ  สายประดิษฐ์   ฮิวเมอริสต์   ยาขอบ

เสถียรโกเศศ  คึกฤทธิ์  ปราโมช   อิงอร   ก. สุรางคนางค์    เสนีย์  เสาวพงศ์  ฯลฯ       และในบรรณพิภพของ

นักเขียนนักประพันธ์ต่างแดน   หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมได้พบกับชื่อแปลก ๆที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน  อย่างเช่น  ลีโอ  ตอลสตอย,

กุสต๊าฟ  โฟลแบร์,  บาลซัค,  เฮนรี  ฟิลดิ้ง,   อาร์โนด์  เบ็นเน็ต,  เอช.จี.แวลล์,  โธมัส  มันน์,   โจเซส  คอนราด,

เออร์เนสต์  เฮมิงเวย์,   วิลเลียม  ซาโรยัน  ฯลฯ   


ผมซื้อนิยายพ็อคเก็ตบุ้คฝรั่งเล่มแรก ๆ ในชีวิต  คือ Heart of Darkness  ของโจเซฟ  คอนราด   A Farewell to Arms

เออเนสต์  เฮมิงเวย์   ก็เพราะเห็นชื่อมาจากการอ่านหนังสือปกแข็งของ  วิลาศ  มณีวัต  เล่มนี้       ตอนนั้นประมาณ ๒๕๐๗

ผมเพิ่งอายุ ๑๙ เท่านั้น   และสอบภาษาอังกฤษตกมาตั้งแต่เทอมแรกของการ "หลง" เข้าไปเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย



กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 12, 11:15



        บนเส้นทางของโลกหนังสือที่เราได้พบกัน    ทำให้ผมอบอุ่น  มั่นคงต่อคำว่า  "อำนาจของศิลปะ"

และ "อำนาจของวรรณกรรม"     ไม่ว่าอำนาจแบบนี้ของเราจะเริ่มต้นมาแบบใด

หากเรามั่นคงกับมันอย่างจริงแท้        ถึงที่สุดแล้วมันก็ลงเอยให้เราได้เป็นมิตรกันและได้รำลึกถึงกัน"


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 12, 15:42

ขึ้นจุฬาฮาเฮ

บางเสี้ยวแห่งชีวิต  วิลาศ  มณีวัต     เขียน


       "สำหรับรุ่นพี่ ๆ นั้น  ผมรักใคร่ใกล้ชิดและบูชามากอยู่คนเดียว  คือ  คุณบุญมาก  รุนสำราญ  เพราะท่านแต่งกลอนเก่ง

เหลือหลาย   ตอนนั้นผมอยากจะแต่งกลอนให้ได้อย่างคุณบุญมากบ้าง  จึงเที่ยวได้ค้นดูจากหนังสือ "มหาวิทยาลัย"  ฉบับย้อนหลัง 

เห็นนักกลอนยอด ๆ นอกจากบุญมาก  รุนสำราญ  ก็มี  ประเสริฐ  ทรัพย์สุนทร  และ  ศุภร  ผลชีวิน


        พวกพี่ ๆ  เขาเห็นผมชอบแต่งกลอน  อยากจะเป็นกระวีกระวาด   เขาจีงเอากลอนใต้ดินมาให้ดู       เด็ดจริงๆครับ

ที่ผมเรียกว่า "กลอนใต้ดิน"  ก็เพราะคุณบุญมากแอบเขียนแก้ง่วงตอนที่อาจารย์ อาภรณ์  กฤษณามาระ   กำลังสอนอยู่    ไม่ใช่ว่าท่านสอนไม่ดี 

แต่ท่านเคราะห์ร้ายต้องสอนชั่วโมงบ่าย  หลังจากที่คุณบุญมากกินมื้อกลางวันเข้าไปจนอิ่ม  หนังท้องตึง  หนังตาก็เลยหย่อนทำท่าจะหลับเอา

ก็เลยเขียนกลอนชมโฉมเพื่อนฝูง

              เฉลิม  เมือง  ประสิทธิ์  ประเสริฐ  นั้นเฉิดฉัน
         เผด็จ  อรัณ  จันทรคุปต์  ทุบกันมี่
         ตริน  บุนนาคอยากจะนอนในตอนนี้
         เหลียวอีกทีชมสาวชาวจุฬา

        ...............................
        ...............................

        อันที่จริงกลอนสำนวนนี้อะไรอะไรก็ดีหมด        เสียอย่างเดียวไม่ยอมบอกชื่อคนแต่ง   กลัวจะถูกเพื่อนหญิงรุมหยิกเอากระมัง

จะให้สมบูรณ์ดีแน่แท้จริง  ก็จะต้องต่อไปอีกหน่อยว่าดังนี้

        จบอักษร  กลอนประตู  แต่งแสนยาก
    ผมบุญมาก  รุนสำราญ  คนขานไข
    แม้นเกินบาท  พลาดพลั้ง  ขออภัย
    มิใช่ใคร  เพื่อนกัน  ทั้งนั้นเลย

        เมื่อผมแต่งกลอนส่งไปให้   ได้ความว่าคุณบุญมากยิ้มลูกเดียว       มิได้วิจารณ์ว่าอย่างใด  หรือจะวิจารณ์  แต่คนเล่าไม่กล้าบอกผมก็ไม่ทราบ"             



กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 เม.ย. 12, 05:04

กลกระแจะจุณเจิม....เจิดเกล้า

ก.  สุรางคนางค์   เล่าถึงเบบี๋

        "เราผูกพันกันยิ่งกว่าญาติ   ตอนนั้นบ้านดิฉันขายหนังสืออยู่ที่ถนนดินสอ      คุณวิลาศเขายังเป็นนักเรียนสวนกุหลาบอยู่

เขาต้องเดินผ่านทุกวัน ๆ        เขาแวะดูหนังสือก็เลยพูดคุยกัน    เขาถามอะไรต่อมิอะไร      คุยกันถูกใจ

เขาถามประโยคหนึ่งว่า   คนแต่งเรื่องหญิงคนชั่วเป็นผู้หญิงใช่ไหม   ก็บอกว่าใช่  เป็นผู้หญิง   เขาถาม ...ทำไมผู้หญิงถึงได้รู้อะไรต่ออะไร(หัวเราะ)

ก็บอกเขาว่านักเขียนฝรั่งที่เขียนเร่ื่องไปนรกไปสวรรค์น่ะ   เขาก็ไม่เคยไปกัน   ทำไมเขาเขียนได้

        ดิฉันย้ายร้านเล็กมาอยู่ร้านใหญ่ตรงข้ามเฉลิมกรุง  แล้วก็ออกหนังสือพิมพ์เมืองทอง -  หนังสือพิมพ์รายวัน   ตอนนั้นเกิดสงครามแล้ว

ก็ตั้งเป็นสำนักงานวรรธนะสิน   สั่งหนังสือต่างประเทศเข้ามา   แล้วก็ออกหนังสือพิมพ์รายวัน   เขาก็มาช่วยทำหนังสือพิมพ์

อยู่ไม่นานระเบิดมันลง  ก็เก็บแท่นพิมพ์ไปบ้านที่ฝั่งธน   เขาก็ตามไปเยี่ยมเรา   ลูกระเบิดมันลงเขาก็ย้ายจากถนนดินสอ  ไปอยู่ฝั่งธน

ก็บอกเขาว่า    อย่าเพิ่งออกจากบ้านไปเลย  เพราะลูกระเบิดมันลง   ก็เลยอยู่ด้วยกันมา   ทีนี้เขาก็เลยติดตามมาเรื่อย   เขาชอบคุณปกรณ์มาก

        ตอนดิฉันย้ายบ้านจากถนนหลังสวนไปอยุ่ดงหัวโขด   ซึ่งเป็นสวนไผ่ตงที่ปราจีณบุรี   เขาก็ไปอยู่ด้วยพักหนึ่ง    สงครามยังไม่สงบ

วิลาศก็กลับไปบ้านดอนเพราะมหาวิทยาลัยปิด           ระหว่างสงคราม  พวกเราในกรุงเทพฯ ต้องอพยพหนีระเบิด         คุณสด  กูมะโรหิต

คุณเนียน  ไปอยู่บางเลนซึ่งเป็นคลองเล็กๆ  แยกจากบางใหญ่          พวกเรานักเขียนหลายครอบครัวก็อพยพไปอยู่ด้วยกันแถวคลองนั้น

เป็นคลองลัดอ้อมออกเมืองนนท์ได้        คุณวิลาศกลับจากบ้านดอนก็ไปอยู่ด้วย


        เราอยู่ที่ไหน   คุณวิลาศก็ไปอยู่ด้วย   จากบ้านฝั่งธนมาบ้านหลังสวน  ซึ่งอยู่ไม่นานนัก   เราขายบ้านหลังสวน  เอาเงินไปซื้อไร่หน่อไม้ไผ่ตง 

ที่ดงหัวโขด ปราจีณบุรี   คุณวิลาศก็ไปอยู่กับเรา   อยู่ที่ไหนเขาก็ตามไป   คือเราผูกพันยิ่งกว่าญาติ        โดยมากเขาติดคุณปกรณ์  เรื่องหนังสือเรื่องอะไร

เขาก็คุยกับคุณปกรณ์   เขาเป็นเด็กสำหรับเราเสมอ        ทำให้ดิฉันเรียกเขาว่า  'เบบี๋'  ติดปากมาจนทุกวันนี้"   


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 เม.ย. 12, 05:22

เรื่องราวของวงการนักอ่านหนังสือเก่า


        หนังสืออนุสรณ์คุณปกรณ์  บูรณปกรณ์ เป็นที่ต้องการของนักอ่านเสมอมา

วันหนึ่ง   สหายเจ้าของร้านหนังสือมือสอง  ขนหนังสือโบราณมาให้หลายกล่อง

มีหนังสือเล่มนี้ปนมาด้วย    จึงตะครุบแยกไว้ด้วยความยินดี    วันต่อมาสหายมาติดต่อ

ขอคืนเพราะเพิ่งนึกออกว่าไม่น่าปล่อยหนังสือมาเลย         จึงขอความยินยอม  ถ่ายเอกสารไว้สองฉบับ   หลังจากนั้นมาชีวิตก็

วุ่นวายไประยะหนึ่งเพราะมีข่าวออกไปว่าดิฉันครอบครองหนังสือเล่มนี้      นักสะสมก็มีงอนนิด ๆ  คิดว่าดิฉันอาจให้เขาได้

นักอ่านแทบทุกคนก็พอใจเพียงที่ได้อ่านเท่านั้น

        รายละเอียดที่ ก. สุรางคนางค์ เล่าถึง เบบี๋  นี้  ละเอียดมากทีเดียว

        เป็นที่ยินดีของสหายที่เก็บประวัติการพิมพ์เป็นที่ยิ่ง


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 เม.ย. 12, 05:50

กลกระแจะจุลเจิมเจิดเกล้า

เมื่อยาขอบจะขอยืมคำของน้อง


        "เมื่อพี่โชติ  (แพร่พันธ์) ของเรา  วิวและนิตา  หรือยาขอบ  พญาอินทรี  ผู้ผงาดเด่นอยู่บนคัคนัมพร

บรรณพิภพไทย  ด้วยบทประพันธ์อมตะ  "ผู้ชนะสิบทิศ"  จะเขียนคำไว้อาลัย  'พี่เริ่ม'  หรือ ร.จันทพิมพะ  เพื่อนนักเขียน

ของท่านที่จากไป    พี่โชติผู้เป็นเศรษฐีแห่งสำนวนหวาน   กลับกล่าวสั้น ๆ   ตอนสรุปบทอาลัยของพี่โชติว่า

        "ร. จันทพิมพะ...ชั่วระยะเวลาอันสั้น   เพียงที่เข้ามาใช้การเขียนหนังสือเป็นวิชาชีพจริงจังของเธอ   เขียนหนังสือไว้มากมายเอาการ

บทประพันธ์จากขวัญใจแห่งวงการประพันธ์เมืองไทยคนหนึ่งผู้นี้   ดีชั่วก็ได้ประจักษ์  และมีผู้พูดถึงกันไม่น้อยแล้ว"     


และพี่โชติก็ตบท้ายว่า

"ป่วยการกล่าวไปใยอีกให้ยาก   จะขอยืมคำคุณวิลาศ  มณีวัต  ที่เคยใช้สั้น ๆ   ต่อหนังสือเรื่องหนึ่งของข้าพเจ้า (คือ  ยาขอบ) มาใช้  คือ

'ไม่มีประโยชน์ที่จะจุดไม้ขีดก้านหนึ่งเพื่อหวังจะช่วยเพิ่มความโชติช่วงให้แก่แสงจันทร์'  เท่านี้พอ


        วิวจ๋า  เป็นเกียรติ  เป็นประดุจกระแจะจุณเจิม  อันบรรเจิดแก่เศียรเกล้าของนักเขียนรุ่นน้อง  สุดจะกล่าวนะจ๊ะ"


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 เม.ย. 12, 04:20

ก่อนที่เราจะพบกัน

        "วิวเล่าว่า  วิวเป็นเด็กปักษ์ใต้  เกิดที่บ้านดอน  สุราษฎร์ธานี  เมื่อวันพระจันทร์เกือบเต็มดวง   คือวันขึ้น ๑๔ ค่ำ  เดือนหก

ปีชวด  ตรงกับวันที่ ๑๖​ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๗  หนึ่งวันก่อนวันพระขึ้น ๑๕​ค่ำ  ซึ่งเป็นวันวิสาขบุรมีมาส  อันถือเป็นวันประสูติ

ตรัสรู้  และปรินิพพาน  ของสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธิเจ้าแห่งชาวพุทธเรา   ความที่เป็นลูกชายคนแรก  เกิดในวาระซึ่งเกือบเป็นเดือนเพ็ญ   

เวลาตกฟากก็เป็นยามรุ่งสาง   ตรงกับเวลาพระภิกษุออกบิณฑบาตโปรดสัตว์      คุณพ่อถือเป็นแก้วมณีที่หยาดมาจากฟ้า   จึงให้ชื่อลูกชายว่า

"มณีหยาดฟ้า"      ซึ่งพอวิวโตได้สักหน่อยก็ออกอายว่า  ดูจะเป็นพระเอกลิเก     ท่านจึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น "วิลาศ"   โดยนำเอาอักษรชื่อย่อ  ว.ล.  มาจากชื่อ วัลลภ

ชื่อของคุณพ่อมาตั้งให้ลูกชายว่า  "วิลาศ"
 


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 เม.ย. 12, 05:02

จากบางเสี้ยวของชีวิต  โดย  วิลาศ  มณีวัต


        "ผมเลิกเขียนบันทึกประจำวัน   หันกลับไปแสวงหาความสุขในเวิ้งนาครเกษมอย่างเก่าอีก    ตอนนั้น

ไปพบ "ดวงประทีป" ซึ่ง หลวงวิจิตรวาทการ รับเหมาเขียนคนเดียวทั้งฉบับเกือบจะตลอดทั้งฉบับ   ผมพยายามตามเก็บมา

รวบรวมไว้  เพราะเห็นว่าอ่านง่ายและให้ความรู้ดี

        แล้ววันที่ตื่นเต้นที่สุดก็มาถึง

        วันนั้น   เจ้าของร้านในเวิ้งฯ   ซึ่งเป็นหนุ่มจีน   ชื่อเป็นไทยว่า "ทรวง"  หรือจะเป็นภาษาจีนก็ไม่ทราบ  เพราะคนไทยคงไม่ชื่อว่า "นายทรวงอก" เป็นแน่       

แต่นายทรวงอกคนนั้นแหละมาถามผมว่า

        "เคยอ่านเล่มนี้ไหม"

        แล้วก็ยื่นหนังสือเล่มนั้นให้ดู   ที่หน้าปกมีข้อความว่า "ละครแห่งชีวิต"  โดย ม.จ. อากาศดำเกิง  รพีพัฒน์

        ผมเฉย ๆ ไม่เคยได้ยินชื่อ  ม.จ. อากาศดำเกิงมาก่อน    บอกตรง ๆ  ว่าผมกลัวเจ้า   มีเจ้าดีอยู่องค์เดียวเท่านั้น  คือ ม.จ. วงษ์มหิป  ชยางกูร

       "เล่มนี้ดีนา  ผมอ่านไม่เบื่อเลย"

        ผมทนคำรบเร้าของคุณทรวงอกไม่ได้ก็เลยซื้อมา

        ยังนึกขอบคุณเขาอยู่จนเดี๋ยวนี้   เพราะคืนนั้นผมอ่านหนังสือเล่มนั้นอยู่จนตีห้า...   วางไม่ลงจริง ๆ

        อ่านจบแล้วก็อยากจะเป็นอย่าง  วิสูตร  ศุภลักษณ์  ในนิยายเรื่องนั้น       ในบรรดาหนังสือที่เคยอ่านมาแล้วทั้งหมด   ไม่มีเล่มไหนจะสู้กับเล่มนั้นได้

ในหนังสือได้ลงพิมพ์ภาพผู้แต่ง  คือ ม.จ. อากาศดำเกิงไว้ด้วย   และภาพนั้นติดตาผมอยู่หลายปี

        เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตผม  พอ ๆ กับ "สงครามชีวิต"  ของ "ศรีบูรพา"

        เมื่อโรงเรียนปิดภาคหน้าร้อน   ผมก็เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่สุราษฎร์    ไม่ลืมที่จะติดเอา "สงครามชีวิต"  และ "ละครชีวิต"  ลงไปอ่านที่บ้านด้วย

หนังสือสองเล่มนั้นทำให้ผมมองเห็นโลกกว้างขึ้น   และเกิดความคิดที่อยากจะทำประโยชน์ให้แก่โลกและเพื่อนมนุษย์"



กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 เม.ย. 12, 10:26

บางเสี้ยวของชีวิต

เทือกเถาเหล่ากอฝ่ายพ่อ  โดย  วิลาศ  มณีวัต


        "ปู่ของผมเป็นจีนมาจากสิงคโปร์  ชื่อ วั่นสุย     มาค้าขายแถวสุราษฎร์์์ธานี    ก็เลยมาชอบพอกับสาวไทย

ชื่อร่วง    มีบุตรด้วยกันถึง ๙ คน   และคนสุดท้องก็คือ  พ่อของผม

        เดิมพ่อผมชื่อ  "วันล่อง"   ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนเป็น "วัลลภ"

        ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่หก   เมื่อเริ่มมี พ.ร.บ. นามสกุล   พ่อซึ่งเป็นลูกคนสุดท้อง  เป็นคนจัดการขอนามสกุล

แทนที่ผู้เป็นพี่ ๆ  จะเป็นผู้ขอพระราชทานนามสกุล  เพราะพวกพี่ ๆ เห็นว่า พ่ออยู่ฝ่ายศึกษาธิการ   ซึ่งสมัยโน้นเรียกว่ากระทรวงธรรมการ

มีความชำนาญในเรื่องนี้"

        "ผมเกิดที่ริมฝั่งแม่น้ำตาปี  ทางฟากที่เจริญของแม่น้ำตาปี  คือตัวจังหวัด   ฟากตรงกันข้ามเป็นป่าโกงกางและต้นจาก    เรียกกันว่าในบาง

บางที่ผมคุ้นที่สุดคือบางใบไม้        ผมจึงได้เขียนเรื่อง "ยุวกวีแห่งบางใบไม้"   ลงใน  "นิกรวันอาทิตย์"

                      บางเอ๋ยบางใบไม้

                      ตัวข้าได้กำเนิดเกิดที่นี่

                      จะแทนคุณบางนั้นฉันใดดี

                      จึงจะมีชีวิตชื่นและยืนนาน"


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 14:18

        "เมื่อพี่โชติ  (แพร่พันธ์) ของเรา  วิวและนิตา  หรือยาขอบ  พญาอินทรี  ผู้ผงาดเด่นอยู่บนคัคนัมพร

บรรณพิภพไทย  ด้วยบทประพันธ์อมตะ  "ผู้ชนะสิบทิศ"  จะเขียนคำไว้อาลัย  'พี่เริ่ม'  หรือ ร.จันทพิมพะ  เพื่อนนักเขียน

ของท่านที่จากไป    พี่โชติผู้เป็นเศรษฐีแห่งสำนวนหวาน   กลับกล่าวสั้น ๆ   ตอนสรุปบทอาลัยของพี่โชติว่า

        "ร. จันทพิมพะ...ชั่วระยะเวลาอันสั้น   เพียงที่เข้ามาใช้การเขียนหนังสือเป็นวิชาชีพจริงจังของเธอ   เขียนหนังสือไว้มากมายเอาการ

บทประพันธ์จากขวัญใจแห่งวงการประพันธ์เมืองไทยคนหนึ่งผู้นี้   ดีชั่วก็ได้ประจักษ์  และมีผู้พูดถึงกันไม่น้อยแล้ว"
     


และพี่โชติก็ตบท้ายว่า

"ป่วยการกล่าวไปใยอีกให้ยาก   จะขอยืมคำคุณวิลาศ  มณีวัต  ที่เคยใช้สั้น ๆ   ต่อหนังสือเรื่องหนึ่งของข้าพเจ้า (คือ  ยาขอบ) มาใช้  คือ

'ไม่มีประโยชน์ที่จะจุดไม้ขีดก้านหนึ่งเพื่อหวังจะช่วยเพิ่มความโชติช่วงให้แก่แสงจันทร์'
  เท่านี้พอ

คุณวันดีพอจะมีประวัติของ ร. จันทพิมพะ เพิ่มจากที่คุณ วิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3._%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B0) แนะนำไหมหนอ

 ;D


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ส.ค. 12, 15:27


รู้จักคุณพิมพา  น้องท่านค่ะ

ประวัติของท่านต้องเขียนขึ้นใหม่เอง

อาจจะมีเอกสารจากหนังสือเก่าบางเล่มค่ะ

หนังสืออนุสรณ์ไม่มีค่ะ


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 15:59
ที่ถามถึงเพราะเห็นว่าคุณมะตูมอาจจะสนใจ

ส่วน ร.จันทพิมพะ เกิด ปี พ.ศ.2452 ดังนั้นใน พ.ศ. 2473 ท่านจึงมีอายุ 21 ปี เริ่มทำงานเขียนพ.ศ. 2483 และมีชื่อเสียงตั้งแต่นั้น

ได้ภาพวาดหน้าปกจากหนังสือรวมเรื่องสั้นเกียรติยศของนักเขียนสุภาพสตรี ร. จันทพิมพะ

บรรยายภาพปกว่า เขียนจากภาพถ่ายตัวจริง โดย จิตรกร

หน้าตาท่านสวยทีเดียว

 ;D


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Matoom ที่ 28 ส.ค. 12, 17:00
คุณเพ็ญชมพู ขอบคุณยิ่ง
ผมเจอคำตอบแล้วครับ ขนลุกซู่เลย
อยู่ที่นี่...

http://kb.tsu.ac.th/jspui/handle/123456789/372


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 17:23
ยินดีกับความสำเร็จของคุณมะตูม

 ;D


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 ส.ค. 12, 17:27

เรียนท่านผู้อ่านที่นับถือ

        วันนี้ และ พรุ่งนี้     ข้าพเจ้ามีกิจต้องนำ คณะนักอ่านหนังสือเก่าชั้นอนุบาล  ไปซื้อหนังสือที่ งานหนังสือ

ซึ่งก็คงเป็นการจับปูใส่กระด้งเป็นแน่แท้   ได้นัดดีลเล่อร์ระดับเดินถนนทุกวันให้นำหนังสืออนุสรณ์

มาให้ชมด้วยในราคาที่ต่ำกว่าราคาตามบู้ธเล็กน้อย     มีท่านผู้เชี่ยวชาญในวิทยาการพิเศษ(สมาชิกใหม่ของ "เรือนไทย")ตามมาด้วย

คณะพรรคมิมีการขัดข้องเลย  เพราะขนมของกินที่ท่านผู้เชี่ยวชาญเอื้อเฟื้อเคยนำมานั้น  อร่อยมาก  จนคณะพรรค

แย่งกันหลังจากเก็บส่วนแจกของตนเข้าใส่ถุงย่ามไปแล้ว

        เราจะไปตามราชกิจจา ฯ  ชุดสีแดง ของสำนักพิมพ์ต้นฉบับที่บางเล่มขาดตลาดไปแล้ว(ขนาดคณะอนุบาลนะเนี่ย)

ดังนั้น กระทู้นี้จะหายว่อบ ๆ แว่บ ๆ ไป   ในวันนี้และพรุ่งนี้

        สำหรับข่าวลือที่ว่า  งานหนังสือไม่มีหนังสือดี  นั้น   ไม่ถูกต้อง

หนังสือวิเศษหลายเล่มและหลายชุดได้ปรากฎตัวขึ้น  ในกล่องกระดาษที่เจ้าของร้านซ่อนไว้ใต้ผ้าคลุม  ฮ่ะ ๆ


       กำลังจะคัดลอกที่ คุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  เล่าเรื่อง  โฉมหน้า  วิลาศ  มณีวัต  เชียว     เกรงว่าจะไม่จบง่าย ๆ

จึงเรียนมา   เพราะเรื่องสนุก ๆนั้นจะเก็บไว้ได้คนเดียวอย่างไรได้


อยากติดสอยห้อยท้ายไปด้วย แต่ไม่ทราบว่าที่ไหน เวลาใด ... พอจะขานไขให้ทราบบ้างได้ไหมครับ



กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ส.ค. 12, 21:27


ระหว่างงานหนังสือก็จะประจำอยู่แถวซอยหนังสือเก่าค่ะ     

แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อน ๆ

นำหลาน ๆ ไปซื้อหนังสือที่สำคัญ ๆ  ควรมีไว้ประจำตู้หนังสือ

ต่อรองราคาให้นักอ่านหน้าใหม่

คอยดักนักสะสมที่ผ่านทางมาเพื่อนัดหมายไปยืมหนังสือที่บ้านหรือโกดัง

คัดลอกคำนำของหนังสือเก่า   นำไปเขียนต่อหรือหักล้างประวัติการพิมพ์ที่ลอกต่อ ๆ กันมา

ขว้างยิ้มให้นักสะสม   ดั่งนี้เป็นต้นค่ะ


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 29 ส.ค. 12, 13:40
ปู่ของผมเป็นจีนมาจากสิงคโปร์  ชื่อ วั่นสุย     

มาค้าขายแถวสุราษฎร์์์ธานี

คุณวิลาสบอกไหมว่าคุณปู่เป็นจีนอะไร 


กระทู้: อัลบั้มชีวิต วิลาศ มณีวัต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ส.ค. 12, 14:18


ขอประทานโทษเป็นอย่างสูงค่ะ     หาหนังสืออนุสรณ์ไม่เจอค่ะ

กำลังทำความสะอาดหนังสือโบราณชุดหนึ่งอยู่    ไม่ใช่ชุดปกสวย 

หนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง   ปกกระดาษแข็ง  สันกระดาษแข็งยกเป็นข้อ ๔ ข้อ  ซึ่งธรรมดาสันกระดาษทำไม่ได้

มีคลิปสังกะสีขนาดกว้างเกือบสอง ซม.  สองชิ้น   เสียบปกอยู่ด้านบนและล่าง  ล้อคไม่ให้เปิดตัวเล่มได้

หนังสือหนา ๕๘๘ หน้า

เป็นหนังสือพระไตรปิฎกพิมพ์โดย ก.ศ.ร. กุหลาบ และ ต.ว.ส. วัณณาโภ  ปี ๑๒๓

พิมพ์ ๑๐๐ ฉบับ