เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 11, 20:53



กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 11, 20:53
ผมไม่ใช่นักอ่านหนังสือนวนิยาย แต่มีประสบการณ์กับการใช้ชีวิตในป่าเขามาพอควร เลยขอแทรกสิ่งที่ประสบมาในบางเรื่อง ซึ่งคิดว่าคงจะมีการกล่าวถึงอยู่บ้างในวรรณกรรมหลายเรื่อง

การใช้ชีวิตอยู่ในป่านั้น นอกเหนือจากรับผิดชอบในภาระหน้าที่การงานแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบคนในคณะที่ทำงานร่วมกันด้วย สิ่งสำคัญที่สุึดก็คือความสำเร็จของงานและความอยู่รอดอย่างปลอดภัย เราจะทำได้ดีและมีผลสำเร็จก็ต่อเมื่อรู้จักธรรมชาติจริงๆและรู้จักตัวเราจริงๆ

คุณสมบัติสำคัญประจำตัวที่ต้องสร้างให้มี คือ การสังเกต การเรียนรู้ การมีความละเอียด การมีความเข้าใจ และการยอมรับ

เรื่องแรก ระหัสไพรมีจริงใหม มีครับ เป็นเสียงดังเหมือนการเคาะไม้ ดังเป็นระยะต่อเนื่องผ่านที่ที่เราอยู่ แล้วก็ผ่านไป มักจะเกิดในตอนกลางคืน กลางวันก็มี

แล้วมีอะไรเกิดขึ้นใหม มีครับ ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นตลอดคืน เงี่ยหูฟังก็จะได้ยินเสียงสัตว์เหยียบไม้บ้าง ส่งเสียงบ้่าง ตอนเช้าออกไปเดินสำรวจดู ก็จะพบรอยสัตว์เดินอยู่ห่างจากที่พักไม่มากนักหรือไม่พบอะไรเลย บางครั้งเป็นช้างสีดอ ช้างหนุ่มที่เริ่มมีงาออกมาเป็นขนายที่ถูกกันออกจากฝูง (โขลงช้างของไทยมีตัวผู้ได้ตัวเดียว) สีดอเข้าอยู่ร่วมโขลงไม่ได้ แต่จะเดินอยู่ใกล้ๆกับโขลงรอบๆโขลง บางครั้งเป็นเสือ กวาง เก้ง หรืออีเห็น หรือลิงลม

แล้วใครเป็นผู้ทำเสียง ตอบตรงๆว่าไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าเป็นนก อาจจะเป็นนกหัวขวานที่เจาะโพรงไม้อาศัยอยู่ บางทีก็เป็นเสียงเหมือนไม้เสียดสีกันในช่องทางที่ลมพัดผ่านวูบหนึ่ง

ขนาดพอจะคุ้นเคย แต่ได้ยินทีไรก็ขนลุกซู่ทุกที

กลัวใหม แรกๆก็กลัว ต่อมาก็ทำใจให้สะบาย เพราะเหมือนมีเจ้าที่เจ้าทางคอยเตือนเรา อย่างน้อยมันก็เกิดอะไรก็ไม่ทราบฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก ทำให้เรารู้สึกตื่นใวต่อเสียงต่างๆที่เข้ามาใกล้ ทั้งๆที่หลับอย่างสะบาย         





กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 17 ก.ย. 11, 08:22
เรียนคุณ atsk ครับ

   ผมเองเป็นอีกคนหนึ่งที่ติดล่องไพร ของท่านน้อย อินทนนท์ แต่ถ้าหากจะให้เลือกว่าตอนไหนเข้มข้น ตื่นเต้น ดุเดือด แฟนตาซีสุดๆ ผมขอเลือกตอน “เทวรูปชาวอินคา” ครับ

ขออนุญาตเรียนถามคุณnaitang_ ครับ

   อ่านเรื่องเล่าประสบการณ์ของคุณแล้ว อดระทึกตื่นเต้นตามมิได้เลย อยากรู้จังครับ ตอนกลางคืนในป่า เคยได้ยินเสียงแปลกๆ เช่น เสียงซึ่งฟังคล้ายคนหัวเราะ หรือเห็นภาพอะไรก็ไม่รู้ยืนตะคุ่มๆ พอฉายไฟดูก็ไม่มีบ้างไหมครับ
 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 11, 10:37
เสียงเหมือนคนหัวเราะไม่เคยได้ยินครับ

เคยแต่ได้ยินเสียงโหยหวนเหมือนคนเจ็บใกล้ตาย เป็นเสียงของบ่างยักษ์ (บ่างตัวใหญ่) ได้ยินในป่าของกาญจนบุรี ย่านห้วยขาแข้งช่วงล่างและป่าทางตะวันตกของไทรโยค บ่างเป็นสัตว์หากินกลางคืน ลองนึกดูซิครับ เสียงนี้คนไม่เคยได้ยินจะรู้สึกน่ากลัวมาก
 
เสียงอีกเสียงที่ได้ยินแล้วน่ากลัว คือเสียงของเขียดแลว (กบทูต) ที่อยู่ในห้วยบริเวณที่มีน้ำแฉะๆ มีน้ำไหลรินเอื่อยๆ และมีทรายกับกรวด เขาจะทำเเป็นอ่างน้ำเล็กๆขนาดไม่เกินสองฝ่ามือ ร้องเรียกคู่ เสียง คือ อืดๆๆๆๆ ก็รู้ว่าเป็นอะไรแต่หากนั่งอยู่เงียบๆแล้วได้ยินเสียงนี้ บางทีก็ขนลุกเหมือนกัน ทำเอาหันหน้าวอกแวกเลย

เสียงของนกเค้าแมวใหญ่ (นกถึดทือ) ที่เกาะหาเหยื่ออยู่บนรากไม้ริมห้วยตามคุ้งน้ำก็น่ากลัว เสียงของมันก็เหมือนกับชื่อของมัน เวาลาเดินตามห้วยตอนกลางคืน ฉายไฟฉายไปบางที่เห็นตาเป็นคู่ๆเรียงกัน สองสามคู่ ก็ทำให้ตกใจได้เหมือนกัน นกพวกนี้พบแถวห้วยขาแข้งค่อนข้างมาก ไม่ค่อยจะพบในป่าอื่นๆ
 
เสียงอื่นๆค่อยเล่าให้ฟังครับ ขอไปทำธุระก่อน


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 17 ก.ย. 11, 11:06
หนูดีดี เคยเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวค่ะ  ;D
ยิ่งเดินสูงขึ้นไป ยิ่งรู้สึกว่าตัวเราเป็นอะไรที่เล็กลง เล็กลง เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
ยิ่งตอนที่ปีนขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของยอดดอยได้ มีความรู้สึกว่าเราทำได้ เราภูมิใจ เรายิ่งใหญ่ เราเป็นผู้พิชิตยอดดอยได้
แต่ความรู้สึกเหล่านั้นอยู่ได้เพียงแว๊บเดียว
พอเรามองวิวไปรอบๆ มีแต่ภูเขา อีกมากมายหลายยอด ทอดตัวไกลจนสูดลูกหูลูกตา ท้องฟ้าก็กว้างใหญ่ไพศาล
รู้สึกเลยว่าตัวเราเป็นเพียงแค่อณูเล็กๆ สิ่งที่เราภูมใจนักหนาว่าเป็นผู้พิชิตนั้น เป็นเพียงจุดเล็กๆ จุดหนึ่งในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
ยิ่งตอนกลางคืนนะคะ ออกมานอนดูดาวนอกเต้นท์ ดาวเยอะมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต และอยู่ใกล้เหมือนจะเอื้อมมือจับได้
ธรรมชาติคือผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง...
บนยอดดอย มีแต่เสียงลมพัดค่ะ บางช่วงก็เป็นเสียงหวีดหวิว รุ่นพี่บอกว่าเสียงลมพัดลงไปในหุบเขาแล้วสะท้อนก้องขึ้นมา..


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 17 ก.ย. 11, 11:53
กระผมกราบขอบพระคุณคุณ naitang เป็นอย่างยิ่งครับ สำหรับส่ำสำเนียงในป่าที่กรุณาถ่ายทอดผ่านตัวอักษรให้รับฟังกัน อยากรู้อีกแล้วครับ เสียงเสือคำราม ตามโสตประสาทของคุณ naitangนั้นดังอย่างไรครับ เคยอ่านพบในเพชรพระอุมา ท่านพนมเทียนเขียนไว้ รู้สึกจะเป็น “อ้าว....ฮึ่ม” แต่ก็มีวรรณกรรมบางเรื่อง (ผมจำมิได้แน่ว่าล่องไพร หรือลูกไพร ของท่านครูมาลัย ชูพินิจ) เขียนเป็น “ฮะอูม ฮะอูม (แบบกระหึ่ม)” ครับ

   อ่านเสียงสายลมพัดที่คุณดีดีได้ยินบนยอดเขาแล้ว นึกถึงเพลง “ภูพานแห่งการปฏิวัติ” ของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมาทันทีครับ

   “ธงพรรคเด่นแดงเพลิงสะบัดโบกพลิ้วเหนือภู
สู้พายุโหมหวิวหวูไม่เคยหวั่นไหว”


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 17 ก.ย. 11, 12:11
ส่งเพลง ภูพานแห่งการปฏิวัติ มาให้ฟังค่ะ... ;D
http://www.youtube.com/watch?v=mV8TfcFM6u4

แต่อารมณ์ที่ได้ยินเสียงลมพัดบนยอดดอด ไม่ใช่อารณ์แบบนี้ค่ะ
มันวังเวง สงบ มีแต่เรา กับธรรมชาติ บรรยายไม่ถูกค่ะ...


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 17 ก.ย. 11, 17:01
ถ้าความรู้สึกของคุณดีดีเป็นเช่นที่กล่าวมา ผมขอนำบทกวีชื่อ “เขาใหญ่” ในหนังสือ “เขียนแผ่นดิน” ของท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาฝากครับ คิดว่าอารมณ์คงละม้ายๆกันบ้างไม่มากก็น้อย

เขาใหญ่
นิพนธ์โดย ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

   หมอกเคล้าเล้าโลมขุนเขา
เผยเงางำฟ้าผาใหญ่
เป็นทิวเป็นเทือกถัดไป
ครึ้มไม้ครึ้มเมฆหมอกมัว

   แดดไล้ลงทอทาทาบ
อบอาบไอลอยเลือนสลัว
ช้าเชือนชวนผาพลิกตัว
ตื่นทั่วเทือกทิวลิ่วลึก

   โชยฉ่ำชื่นฟ้าป่าเขา
คล้ำเงาเคล้าพงดงดึก
เย็นเยียบเงียบงำสำนึก
รู้สึกชีวิตนิดน้อย

   สัตว์ใหญ่ป่าเหย้าเขาใหญ่
ไม้ไล้ลมริ้วปลิวปล่อย
ฟ้ากว้างป่ากว้างคว้างลอย
เพชรพลอยแผ่นดินถิ่นงาม

   (จากหนังสือ “เขียนแผ่นดิน” บทที่ ๘)






กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 17 ก.ย. 11, 17:41
ท่านเนาวรัตน์ แต่งได้ไพเราะสมกับที่เป็น กวีซีไรท์ และศิลปินแห่งชาติค่ะ  ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 11, 19:02
....เสียงเสือคำราม ตามโสตประสาทของคุณ naitangนั้นดังอย่างไรครับ เคยอ่านพบในเพชรพระอุมา ท่านพนมเทียนเขียนไว้ รู้สึกจะเป็น “อ้าว....ฮึ่ม” แต่ก็มีวรรณกรรมบางเรื่อง (ผมจำมิได้แน่ว่าล่องไพร หรือลูกไพร ของท่านครูมาลัย ชูพินิจ) เขียนเป็น “ฮะอูม ฮะอูม (แบบกระหึ่ม)” ครับ...

ที่ว่าจะเล่าต่อก็เสียงเสือนี่แหละครับ ตอบกันตรงๆ ไม่เคยได้ยิน  น่าจะเป็นลักษณะเสียงคล้ายแมวกรนมากกว่ากระมัง ถ้าได้ยินเสียงเสือก็คงแย่แล้วละครับ แสดงว่าอยู่ใกล้มากๆ และผมคิดว่าคงจะไม่มีใครอยากจะได้ยินหรอก อีกอย่างหากตั้งแคมป์กันเป็นกลุ่มแบบคนกรุง คือรถเข้าถึง เพื่อเอาสัมภาระลง แสดงว่ายังไม่เป็นป่าลึกเท่าไร อาจจะเป็นเพียงชายป่าละเมาะที่อยู่ลึกหน่อย หากจะมีเสือก็คงหนีไปไกล ไม่มาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ยกเว้นแต่จะออกไปนั่งห้างอยู่คนเดียว ป่าที่จะมีเสือก็คือป่าที่มีสัตว์ประเภทเก้ง กวาง เนื้อทราย ละมั่ง ละอง กระจง อาหารของมัน แต่บริเวณที่เป็นละเมาะและมีทุ่งหญ้าอาหารของอาหารเสือของไทยนั้นมันมีขนาดเล็ก ผมไม่เคยเห็นที่เป็นพื้นที่บริเวณกว้างมากๆสักแห่ง พอที่จะเป็นพื้นที่ไล่ล่าแบบในอัฟริกา การไปนั่งห้างก็จะไปนั่งในบริเวณริมโป่งที่มีแ่อ่งน้ำ (โป่งน้ำซับ) หรือไม่มีก็ได้ (โป่งดิน) หรือริมห้วยบางตอนที่มีดินโป่ง สัตว์ที่เป็นอาหารเสือส่วนมากก็จะออกหากินในทุ่งตอนบ่ายแก่ๆ หรือช่วงเริ่มมืดสนิท ช่วงดึกสงัดมักจะไปกินดินโป่ง และช่วงก่อนฟ้าสางก็ลงโป่งที่มีน้ำ จากนั้นก็จะหลบนอนหลบแดดตามชายทุ่ง ไม่หลบนอนอยู่บริเวณชายบริเวณที่เป็นโป่ง เสือก็จะออกหากินช่วงที่สัตว์เหล่านี้ออกหากิน ผมเกือบจะไม่เคยเห็นซากสัตว์ที่เสือกินนอกเขตที่เป็นโป่งเลย ช่วงเวลาที่สัตว์ออกหากินนี้ยังขึ้นกับความสว่างของพระจันทร์ด้วย การส่องสัตว์จึงต้องทำในเดือนมืด ไม่ใช่เดือนหงาย เดือนหงายก็ได้แต่ต้องรอเวลาให้มืดแสงพระจันทร์เสียก่อน การส่องสัตว์ด้วยรถยนต์ก็คงจะไม่ได้ยินเสียงเสือ การเดินส่องก็มีเสียงพอที่จะทำให้เสือหลีกไปหรือเสืออยู่นิ่งๆและเงียบเสียง จะไล่เหล่า (ตีเกราะเคาะไม้) ไล่ให้สัตว์ออกจากที่ซ่อนในตอนกลางวัน เพื่อที่จะล่าก็เป็นการไล่สัตว์ทุกอย่างให้วิ่งออกจากที่ซ่อนกระเจิดกระเจิงไปหมด ก็คงจะไม่ได้ยินเสียงเสือ การไปนั่งห้างนั้นผมว่าทุกคนก็คงไม่ประสงค์จะยิงเสือ คิดแต่จะยิงสัตว์ที่นำมากินได้ หากยิงไม่ตายกลายเป็นเสือลำบากจะยุ่งกันไปใหญ่ (ไว้ค่อยเล่าครับ) การล่าเสือในเมืองไทย เท่าที่เห็นจะเป็นการยิงสัตว์ที่เป็นอาหารเสือทิ้งไว้เป็นเหยื่อล่อ แล้วก็ไม่เห็นเหยื่อล่อเป็นสัตว์ที่เนื้ออร่อยเราเอามากินกัน ที่เห็นก็เป็นกระทิง คือได้ทั้งกระทิงและได้ทั้งเสือ
สรุปว่า เคยได้ยินเสียงเสือกันจริงๆหรือเปล่า ???
ขอหยุดเอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ ค่อยมาเล่าต่อ 
     
ผมมีประสบการณ์กับเสือไม่ค่อยมาก แต่ก็มากพอสมควร ครั้งแรกก็ที่แถวๆตีนเขามอโกจู อยู่ทางตะวันตกของกำแพงเพชร ข้ามไปก็อุ้มผางของตาก ตั้งเต็นท์นอนอยู่บนที่ราบเล็กๆริมห้วยกับคณะสำรวจอีก 2 เต็นท์ พวกผมออกไปฟันปลาในห้วยเพื่อเอามาทำอาหาร โดยเดินลุยน้ำ ใช้ไฟฉายส่อง แม้ว่าครีบปลาจะยังไหวอยู่ แต่หากปลาอยู่นิ่งๆ ก็แสดงว่านอนหลับ เราก็เอามีดฟันเอา ไม่ต้องแรงขนาดขาดสองท่อนหรอกครับ ชั่วไม่นานก็จะได้ปลามาสักครึ่งกระแ็ป็งได้ ผมหาปลามากินโดยวิธีนี้ เอาวิธีมาจากกะเหรี่ยง ง่ายกว่าตกเบ็ดเยอะ ปลาก็เป็นพวกปลาใบไม้ ปลากั้ง (ลักษณะปลาช่อน ตัวสั้นกว่าเมื่อเทียบสัดส่วน หัวโต ครีบหลังแดง ตัวขนาดไม่เกิน 2-3 นิ้วมือ) แต่ต้องระวังจะฟันเอาหัวงูทีซุกตัวอยู่ริมตลิ่ง พอกลับไปที่เต็นท์ เพื่อนคนหนึ่งนอนอยู่ในเต็นท์เฝ้าแค้มป์อยู่คนเดียว ไม่อยากออกไปเปียกน้ำด้วยเพราะเป็นหน้าหนาว ก็บอกว่า เห็นเงาสัตว์เดินผ่าน เราก็เอาไฟฉายไปส่องดูรอย ปรากฎว่าเป็นรอยเสือครับ ตัวคงเขื่องอยู่ทีเดียว รอยขนาดฝ่ามือได้ ตั้งแต่นั้นมา ผมไม่เคยนอนในเต็นท์อีกเลย จะใช้ผ้าใบผืนหนึ่งปูพื้น อีกผืนหนึ่งทำเป็นหลังคา และอีกผืนเล็กปูเพื่อนั่งทำกับข้าวกินข้าวกินเหล้ากัน


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 11, 10:41
อ่านแล้วสนุกเหมือนอ่านเพชรพระอุมาตอน ไพรมหากาฬ    มีฉากรพินทร์พาดารินไปนั่งห้าง  ยิงกระทิงด้วย
คุณตั้งคงคุ้นเคยกับป่ามากพอสมควร      เคยได้เห็นหรือได้ยินอะไรแปลกๆ  เหมือนนิทานริมกองไฟไหมคะ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 ก.ย. 11, 11:01
เพชรพระอุมา ก็ต้อง ผีกองกอย...ผีโขมด... ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 11, 19:06
อ่านแล้วสนุกเหมือนอ่านเพชรพระอุมาตอน ไพรมหากาฬ    มีฉากรพินทร์พาดารินไปนั่งห้าง  ยิงกระทิงด้วย
คุณตั้งคงคุ้นเคยกับป่ามากพอสมควร      เคยได้เห็นหรือได้ยินอะไรแปลกๆ  เหมือนนิทานริมกองไฟไหมคะ

ผมเริ่มรู้จักและเข้าป่าเมื่อยังเด็กๆ ไปกับคุณพ่อ เมื่อเรียนจบ งานที่ทำก็ต้องเข้าป่าทุกๆปี แล้วก็ทำต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี ครับ จะด้วยความเฮงหรือซวย (ขอโทษครับแต่มันได้ความหมายดี) ก็ไม่ทราบ ผมได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในพื้นที่ที่ค่อนข้างจะลำบากและทุรกันดานสุดๆ เป็นพื้นที่ที่แทบจะไม่มีคนอยู่อาศัย ไม่มีถนน เดินอย่างเดียว เป็นป่าใหญ่ ไข้มาลาเรียชุกชุม (เป็นมา 8 ครั้ง มีอยู่ปีหนึ่งเป็น 2 ครั้ง) อยู่ในเขต ผกค. ฯลฯ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบความเป็นอิสระ ชอบผจญ ชอบสัมผัสและเรียนรู้ความแปลกใหม่ ฯลฯ เลยทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความสนุกและพอใจอย่างยิ่ง

มีอยู่สามสิ่งที่ผมถือปฏิบัติเมื่อทำงาน คือ สัจจะ ทำให้กับแผ่นดิน และพอเพียง เท่านี้เองแหละครับที่ทำให้อยู่รอดปลอดภัยมาตลอด แม้จะประสบกับเรื่องอันตรายใดๆก็มีอันเป็นไปให้ร้ายกลายเป็นดีทุกครั้ง สิ่งที่ได้มาจึงคือเรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

ขออภัยเป็นอย่างยิ่ง กรุณาอย่าจะคิดว่าเป็นการคุยโอ้อวด ผมเพียงเพื่อต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ที่น้อยคนจะมีโอกาศ และถ่ายทอดภาพความเป็นจริงในอดีต

ผมติดค้างคำถามเรื่องเงาทะมึนของคุณ atsk และเรื่องนิทานริมกองไฟของคุณเทาชมพู

ก่อนจะไปเรื่องทั้งสองนี้ขอเล่าเรื่องของเสือต่ออีกนิดหน่อยครับ

ครั้งหนึ่ง ได้ตั้งแคมป์นอนอยู่บนหาดทรายในห้วยขาแข้ง แถวบ้านกรึงไกรหรือเกริงไกร (น้ำเขื่อนศรีฯ ท่วมไปแล้วครับ) ด้วยความหนาวในช่วงฤดูหนาว (จำไม่ได้ว่าเป็นช่วงเดือนมกราฯหรือกุมภาฯ) อุณหภูมิลงไปถึงประมาณ 6-7 องศา เราก็สุมกองไฟ หาได้เฉพาะไม้ขอนขนาดเล็กๆ เป็นปกติที่ช่วงประมาณตีสามตีสี่ ไฟก็จะมอดอาจจะเหลือส่วนที่เป็นถ่านคุอยู่เล็กน้อย คืนนั้นนอนกันสะบายมาก ในเต็นท์ผ้าใบสามผืนดังที่เล่ามาแล้ว ตื่นมาก็ช่วงประมาณตีสี่ด้วยความหนาวจัด ไฟมอดสนิทด้วยน้ำค้างแรงมาก ทุกคนก็ตื่นมาช่วยติดไฟกันใหม่จากเศษขอนไม้ที่เหลือ พอรุ่งสางสว่างพอทำจะอะไรกันได้ ก็ได้เห็นรอยตีนเสือเดินผ่านเหยียบขี้เถ้าของกองไฟ ไม่มีใครรู้สึกตัวเลยว่ามีสัตว์เดินผ่าน ตกใจหรือไม่ ไม่ครับ รู้สึกกลัวหรือไม่ อืม นิดหน่อย แต่เชื่อมั่นในความตั้งใจทำงานให้แผ่นดิน ป่าเขารู้ครับ ทุกคนจึงสงบและเฉยๆ เพียงแต่คุยกันว่า คงจะเป็นเพราะว่าเราคิดดีทำดี เลยไม่มีปัญหาใดๆ แล้วเราก้ย้ายแคมป์เดินทำงานต่อไป

ลักษณะงานของผม ทำให้ไม่สามารถตั้งแคมป์ได้ถาวร คือ เปลี่ยนที่ไปทุกวัน ผมเข้าป่าทำงานครั้งละประมาณ 20 วัน อย่างน้อยประมาณ 7 -15 วันในทุกครั้งที่ออกทำงาน จะไปในพื้นที่ที่ไม่มีคนเคยเดิน     

     


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 11, 19:43
เพื่อจะเป็นการสลับการตอบคำถาม

ขอไปเรื่องเงาตะคุ่มๆในป่าที่ส่องไฟแล้วไม่เห็นมีอะไร
ตอบได้เลยครับ มีครับ แต่ส่วนมากจะมาจากจินตนาการของเราเอง จากจิตที่ไม่นิ่ง จากใต้สำนึกที่แม้ใจจะบอกว่าไม่คิดไม่จริงแต่จิตทำให้เห็น ผมคิดว่าบางครั้งก็เป็นลักษณะของการเปิดของจิตและสัมผัสที่ห้า เคยเจอผีไหมครับ ผมเคยเจออย่างน้อยก็สองสามครั้งพร้อมกับเพื่อนที่ยืนยันได้ ผมคิดว่าหลายคนเคยเจอ แต่ส่วนมากจะเป็นสัมผัสจากจิตหลอน

ในป่านั้น เมื่อค่ำแล้วก็จะมืดและเงียบสงัด มีแต่เสียงเรไรและเสียงจากกบเขียดแมลงต่างๆ ลองนึกดูสิครับ บางจังหวะเสียงก็จะหยุดไปพร้อมๆกันช่วงอึดใจหนึ่ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ด้วยสัญชาติญาณก็จะเงี่ยหูฟังทันทีว่ามีอะไรเข้ามาทำให้เสียงนั้นหยุดไป ตอนนี้แหละครับ ใจและจิตอยากจะนึกอยากจะเห็นอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เงาต้นไม้จากแสงจันทร์ แสงสะท้อนจากกลุ่มใบไม้ เสียงไม้เสียดสีกัน ตาที่ยังไม่คุ้นกับความมืดอย่างเต็มที่ ล้วนหลอนได้ทั้งนั้น ผมเองแม้จะคุ้นเคยกับป่าและสภาพต่างๆยังขนลุกในบางครั้ง

แต่ ต้องรอบคอบนะครับ หลายๆครั้งเป็นของจริง โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีโขลงช้างป่า ผมเจอมาหลายครั้งในหลายพื้นที่     


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 20 ก.ย. 11, 10:23
ผู้คุ้นเคยกับพงไพรตัวจริงมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ผมก็หูผึ่งซีครับ ขออนุญาตทิ้งคำถามไว้เพื่อรอคุณnaitang มาแถลงไข  นานเพียงไรก็จะรอครับ

   ว่าด้วยเรื่อง “ช้าง” คุณnaitang เคยเผชิญกับโขลงพญาคชสารแบบจังหน้าไหมครับ
รสชาติมันเป็นแบบไหน และมีวิธีเอาตัวรอด หรือเตรียมรับกับภยันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้างครับ
 





กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 11, 16:11
คุณตั้งเจอการบ้านเข้าไป 3 ข้อแล้ว
ค่อยๆตอบก็ได้ค่ะ    ขอฟังไปเรื่อยๆ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 11, 22:00
ทราบดีอยู่แล้วครับว่า น่าจะต้องมีเรื่องอยากจะทราบค่อนข้างมาก ปัญหาของผม คือ จะเรียงเรื่องอย่างไรดี

เอาเป็นว่า ครั้งนี้จะเป็นเรื่องของนิทานริมกองไฟผนวกกับเรื่องของเสียงและเสือ

ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่คนอ่านนวนิยายแล้วมีข้อสงสัยมากๆ คือ เรื่องของเสือสมิง
 
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ผมอ่านนวนิยายน้อยมาก แต่เท่าที่ได้ยินกล่าวถึงกัน รวมทั้งนิทานริมกองไฟที่มักคุยกันระหว่างตั้งแคมป์ สรุปได้ว่า เสือสมิงนั้นหลอกกินคนได้ สามารถทำเสียงต่างๆได้เพื่อให้คนตายใจ ออกเดินไปให้ถูกขย้ำกิน อะไรทำนองนั้น
จริงหรือไม่ ผมไม่ลบหลู่ ผมไม่แน่ใจ ผมเคยประสบจริงเพียงครั้งเดียว บนเส้นทางเดินเลาะริมหวยขาแข้ง ประมาณครึ่งทางระหว่างปากลำขาแข้งกับบ้านเกริงไกร ในห้วยขาแข้ง เมื่อปี พ.ศ.2515 อันนี้เป็นเรื่องค่อนข้างยาวซึ่งผมคิดว่าสัมพันธ์กัน (ในเชิงของอาถรรพ์ป่า)

จะด้วยเหตุบังเอิญอะไรก็ไม่ทราบได้ ผมได้พบเพื่อนเก่าเรียนโรงเรียนเดียวกันในงานแต่งงานแห่งหนึ่งใน กทม. ก็ถามสารทุกข์สุขดิบกันตามธรรมเนียม พอเขารู้ว่าผมทำงานในป่าเขาก็สนใจอยากลองติดตามไปเที่ยวด้วย ผมจัดให้ได้เพราะกำลังแผนจะเดินทางไปทำงานพอดี คณะผมเล็ก มีรถคันใหญ่ (รถ Unimog) มีที่นั่งสบาย ไม่รบกวนใคร และไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายใดๆ ก็เลยรับ

ออกเดินทางตอนกลางคืนจากลาดหญ้า (ต.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี) เพื่อหลบความร้อนและหลบรถลากซุง ช่วงนั้นมีการให้สัมปทานทำไม้บริเวณป่าบ้านนาสวน มีรถลากซุงมาก ปีนั้นเป็นปีแรกที่เริ่มมีการทำไม้ การเดินทางกลางคืนส่วนหนึ่งก็เพื่อส่องดูสัตว์ด้วย เนื่องจากเป็นเส้นทางเปิดใหม่ผ่านกะเหรี่ยงบ้านน้ำพุ (แถวๆถ้ำลอด) ไม่มีการล่าสัตว์นะครับ (จำได้ใหมครับว่า 3 หลักที่ผมถือคืออะไร) ระยะทางก็ประมาณ 80 กม. ใช้เวลาประมาณ 12 ชม. หากเดินทางกลางวันก็หมายความว่าจะต้องตากแดดทั้งวัน แถมไปถึงตอนเย็นหรือค่ำมืดก็ตั้งแคมป์ลำบากอีกด้วย ทางสุดโหดครับ ข้ามน้ำห้วยเดียวกลับไปกลับมาหลายสิบครั้ง (คิดว่าจำได้ว่าเคยนับได้ไม่น้อยกว่า 70 ครั้ง) จำชื่อห้วยไม่ได้แล้วครับ

พอไปถึงตอนเช้า ก็หาคนนำทางรวมทั้งจัดหาคนงานร่วมคณะ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือเพื่อนเดินทาง ซึ่งผมต้องใช้เนื่องจากในยุคนั้นมีคนหลบหนีคดีไปอยู่แถวนั้นมาก รวมทั้งไอ้เสือที่ปล้นบ้านคนด้วย การเป็นคนแปลกหน้าเข้าไปอยู่ในย่านนั้นไม่ใช่เรื่องที่พึงกระทำเลย จำเป็นต้องมีคนในท้องที่เดินอยู่ด้วยเสมอ เพื่อช่วยอธิบายว่าเราเป็นใคร มาทำอะไร ฯลฯ

ตั้งแคมป์เตรียมตัวเดินตลอดวันเพื่อเข้าป่าลึก รุ่งเช้าอีกวันก็เดินทำงานโดยใช้ช้าง 2 ตัวของกะเหรี่ยงบ้านนาสวน เจ้าของคนหนึ่งชื่อ ทุกกะโพ่ อีกคนหนึ่งชื่ออะไรนึกไม่ออก (ตอนหลังในช่วง พ.ศ.2528 เป็นผู้ใหญ่บ้านนาสวน) กะว่าไปตั้งแค้มป์ที่ริมห้วยนอกบ้านเกริงไกร ช้างนี้ไม่ได้ใช้ขี่นะครับ ใช้บรรทุกของเท่านั้นคือพวกเครื่องครัวและเครื่องนอน  ค่อยไปเล่าเรื่องเกี่ยวกับช้างๆๆๆๆ ต่อภายหลังครับ

เดินจากปากห้วยขาแข้งไปถึงสะพานเจ็ด ก็ข้ามเขาไป 1 ลูก ใช้เวลาขึ้นและลงประมาณ 2 ชั่วโมง พอลงเขา ผมก็แยกไปทำงาน 4 คน ให้คณะเดินทางไปตั้งแคมป์รอที่ที่นัดหมาย กะว่าจะเดินลัดไปพบเส้นทางหลักแล้วเดินไปแค้มป์ ระยะทางการเดินช่วงปากลำขาแข้งถึงบ้านเกริงไกรก็ประมาณ 4 ชม.สำหรับคนเดิน ประมาณ 6-7 ชม.สำหรับช้างเดิน พอประมาณ 2 โมงเย็นก็รู้แล้วว่าหลงเส้นทางเดินลัด จึงเริ่มหาอาหาร หานกได้ 2 ตัวเก็บตุนไว้ก่อน เดินย้อนกลับมาขึ้นทางหลัก เดินได้พักเดียวก็ได้ยินเสียงฝูงลิงเจี๊ยวจ๊าว ผมกับคนของผมอีกคนหนึ่งมีปืนคนละกระบอก ลูกซองแฝดกับไรเฟิ้ล 30.06 ก็แยกออกจากทางไปหาฝูงลิง ให้คนอีกสองคนเดินต่อไปยังแคมป์ ก็กะว่าน่าจะพบอะไรเอามาทำอาหารได้ เพราะลิงตามปกติจะไม่ส่งเสียงทั้งฝูง (ตามปกติผมจะมีอาหารตุนไว้เพียงพอสำหรับสองวันแรกที่เข้าป่า วันอื่นๆหากินเอาตามทาง สำหรับวันนั้นที่แคมป์จะไม่มีอาหารอะไรนอกจากข้าวกับบรรดาเครื่องปรุง มีของกันเหนียวอยู่อย่างเดียว คือ กุนเชียง  1 กก.)

เดินออกจากทางไม่เท่าไรก็พบเก้งตาย สดๆใหม่ๆอยู่ใกล้กอไผ่ขนาดใหญ่ ท้องกลวงโบ๋ ไม่มีลำใส้ พิจารณาอย่างรวดเร็วก็พบว่าที่คอมีรอยขย้ำ ด้วยความรู้ที่มี รู้ได้ทันทีว่าเป็นเสือกัด แต่พอเห็นก้นก็งงเพราะก็มีรอยกัดเหมือนกัน (หมาป่าหรือหมาในจะกัดที่ก้น เสือจะกัดที่คอ) ถามกันในทันทีว่าเอาใหม แล้วก็เกือบจะพร้อมกันก็ตัดสินใจเอา แต่ก็ขอให้แน่ใจอีกนิดว่าโดนอะไรกัดตาย สำรวจรอบๆโดยรวดเร็วก็พบว่ามีรอยใบไม้ถูกกวาดเป็นรูปหยดน้ำขนาดประมาณหนึ่งศอกอยู่หนึ่งรอย ก็รู้เลยว่ามิน่าเล่าทำไมลิงจึงร้อง พิจารณากันว่าเสือกำลังนั่งจะหลอกกินลิง โดยหลอกลิงใ้ห้ลงมาเล่นหางที่แกว่งไปมาเหมือนหางแมวตอนนั่ง ลิงฝูงนี้อยู่แถวๆนั้น ผมเคยเดินสำรวจตามเส้นทางนี้มาก่อนแล้วสองครั้ง ครั้งหนึ่งก็เจอลิงฝูงนี้ลงมาเดินตาม พอหันไปดูก็ทำหน้าหลอก ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ จะไล่ก็กลัวถูกทั้งฝูงทำร้ายเอา ก็ได้แต่ระวังให้มากที่สุด

คนของผมก็เอาปืนลูกซองมาให้ผมถือระวังเสือ ส่วนเขาก็ไปเอาเก้งออกมา สองคนช่วยกันยกเก้งเดินไปขึ้นทางหลัก จากนั้นก็เอามีดทื่อๆเลาะกิ่งไผ่ที่หักอยู่บนพื้น ทำเป็นคานหาม สองคนหาม รู้สึกว่าหนักมาก เขาเริ่มไม่ไหวผมก็ให้ร่นเก้งมาทางผมมากขึ้น ระยะทางไม่มากนักหรอกครับที่จะเดินไปถึงแคมป์ ก็ประมาณอีกสักชั่วโมงหนึ่ง แต่ผมสองคนเหนื่อยมาก เดินได้สัก 50 เมตรก็ต้องพักครั้งหนึ่ง อะไรจะหนักปานนั้นก็ไม่ทราบ เลยตัดสินใจหั่นห้วทิ้ง พอไม่ใหวอีกก็หั่นเอาส่วนอกและขาหน้าออกไป เหลือสองขาหลังก็ยังหามกันอีกแล้วก็ยังรู้สึกหนักมากๆ ในที่สุดก็มืด ต้องพัก ติดไฟได้ก็เอานกสองตัวมาย่างกิน ผมให้เขากินหมดเพราะสภาพเขาแย่มากๆ กะว่านอนดีกว่าที่จะเดินต่อไป ไฟฉายก็ไม่มี พรุ่งนี้เช้าค่อยว่ากันใหม่

ประมาณสักสองทุ่มได้ ก็ได้ยินเสียงเก้งเขก คือ ร้องเสียงคล้ายๆ เก็กๆหรือเป็บๆ เก้งไทยเขาจึงเรียกว่า Barking deer ก็ด้วยเหตุนี้เองแหละครับ เสียงดังรอบตัวเลยและอยู่ใกล้ๆด้วย เขียนมานี้ยังขนลุกเลย คนของผมเขาแก่กว่าผมประมาณ 10 ปี และเคยอยู่ป่าล่าสัตว์มาก่อน เขาบอกว่าระวังคืนนี้ให้ดี ช่วยกันอย่าให้กองไฟมอด เสียงเก้งลักษณะนี้ผิดปกติ น่าจะมีเสียงเสือปนอยู่ด้วย เสือออกเสียงหรอกเป็นเก้งเพื่อจะำได้กินเก้ง หรือหลอกเราให้ออกไปยิงเก้งมาเป็นอาหาร จะจริงเท็จประการใดไม่ทราบ แต่เมื่อตั้งใจฟังเสียงจริงๆแล้ว มันก็ดูจะมีความต่างกัน โชคดี ไม่นานคนที่แคมป์ก็ส่งกะเหรี่ยงเดินตามหาพวกผม พบกัน แล้วกะเหรี่ยงก็ยังเดินไปเอาเก้งส่วนขาหน้าที่แขวนไว้กลับมาอีก กะเหรี่ยงหิ้วเก้งทั้งสองส่วนลอยเลยแบบเบามากๆ ก็ตัวเท่าหมาน้อยเท่านั้นเอง แถมไม่มีตับไตใส้พุงอีก จะไม่ให้เบาได้อย่างไร

รุ่งขึ้นเช้าเพื่อนผมไปฉี่ที่ต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงเอาำไม้ไปพาดพิงไว้หลังจากทำพิธีต่างๆ พอถอยออกมาก็ชักเลย อย่างเดียวที่ทำได้ก็คือหามออก ระยะเดินประมาณ 2 ชม. ใช้เวลาตั้งแต่ประมาณ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น พอเข้าบ้านกะเหรี่ยงได้ ผมก็ถามหาหมอผีให้ไล่ผีเลย แต่ห้ามไม่ให้กินอะไร พอเขาทำพิธีเสร็จ เพื่อนผมก็หายชักไปทั้งคืน ผมให้ต่อแพไม้ไผ่ 15 ลำเอาเพื่อนผมล่องออกมาตาให้วยขาแข้ง เพราะหากจะเดินข้ามเขามาที่รถคงไม่ไหวแน่ พอพ้นบ้านกะเหรี่ยงก็ชักอีกจนถึงเย็นเอาขึ้นรถได้ไปส่งโรงพยาบาล จ.กาญจนบุรี ถึงเช้าพอดี ชักตลอดทางเลยครับ น่ากลัวมาก
สรุปได้ความว่า หมอผีกะเหรี่ยงบอกว่าที่ชักนี้มีทั้งเป็นโรคประจำคัวและมีทั้งผีเข้า เขาไล่ได้เฉพาะผี ส่วนที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าเป็นโรคทางสมอง หากมาช้าอีกนิดเดียวก็จะเสียชีวิต

ผมกลับเข้าป่าไปใหม่ด้วยห่วงงานและลูกน้อง กลับไปทำงานแล้วคุยกับชาวบ้านทั้งหลาย วิเคราะห์เหตุการณ์แล้วสรุปได้ว่า ทำผิดไปหมดเลย เริ่มตั้งแต่ไปแย่งอาหารเสือ แทนที่จะยกเก้งออกมาก็ไปลากออกมา คานไม้ไผ่ที่หามก็ไม่ไ่ช่เรื่อง คือใช้ไม้ที่ยังอยู่ในลักษณะเป็นต้น ไม่เหลาเป็นคานให้เรียบร้อย ที่ตั้งแคมป์ก็ไม่อยู่ในที่โปร่งแต่อยู่ในที่อับใกล้ต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านเขาถือ ไปฉี่รดต้นไม้อีกด้วย  เอาเรื่องนี้มาเล่าให้หมอหนั่น (ตาเกิ้น) ที่เคยพูดถึงตอนแรกๆ ท่านก็คิดว่า ก็เป็นอย่างที่คิดอย่างที่วิเคราะห์นั้นแหละ 

ที่เล่ามาทั้งหมดค่อนข้างละเอียดนี้ ก็เพื่อให้วิเคราะห์กันเองว่า เสือสมิงมีจิงหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ เหตุการณ์ใกล้ตัวที่สุดก็เป็นดังที่เล่ามานี้       

       

 
   

     


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 11, 23:31
คุณตั้งยังไม่เห็นเสือสมิงจังๆ.  แต่ได้ยินเสียงเสือเลียนเสียงเก้ง.  เป็นความรู้ใหม่ว่ามันเลียนเสียงได้
ในเพชรพระอุมา. มีแต่งูจงอางทำเสียงกระต๊ากได้เหมือนไก่ป่าตัวเมีย

เพื่อนของคุณตั้งรอดตายมาได้นับว่าทรหดมาก.   จากที่อ่าน. เขาชักอยู่นานกว่า 12 ชั่วโมงทีเดียวค่ะ.   เขาคงไม่คิดจะเข้าป่าอีกละมังคะ

คุณตั้งกลับไปสำรวจป่าอีกหรือเปล่าในระยะหลังๆนี้.    อยากจะรู้ว่าป่าเปลี่ยนแปลงมากไหมในระยะ 20 ปี


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 22 ก.ย. 11, 09:51
เรื่อง เสือสมิง มีบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสต้นที่จันทบุรี ด้วยค่ะ  ;D

...เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ลัดเลาะไปตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ไปถึงจันทบุรี
ตอนนั้นจันทบุรีเป็นป่าเสียมากกว่าเป็นเมืองและสวนผลไม้อย่างเดี๋ยวนี้ มีสัตว์ป่าชุกชุมทั้งช้าง ม้าป่า และเสือ โดยเฉพาะเสือถือว่ามีมากเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าทางกรุงเทพต้องการเสือก็ต้องมาดักเอาที่นี่ เพราะเป็นสินค้าที่ต่างประเทศต้องการมาก เพราะเหตุนี้ เจ้าเมืองจันทบุรีนอกจากจะต้องดูแลราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณแล้วยังมีหน้าที่คล้ายๆรพินทร์ ไพรวัลย์ คือต้องคอยปราบเสือไม่ให้มารังควานชาวบ้านอีกด้วย
นอกจากเสือจริงแล้วชาวบ้านยังขวัญเสียหวาดผวา เสือสมิง ด้วยดังในพระราชนิพนธ์ ที่ทรงบันทึกไว้ว่า

"...ราษฎรชาวเมืองเชื่อถือกลัวเสือสมิงกันมาก เล่ากันว่าที่เมืองเขมรมีอาจารย์ทำน้ำมันเสือสมิงได้ ศิษย์ได้ลักน้ำมันนั้นทาตัวเข้า กลายเป็นเสือสมิงไปถึง ๓ คน พลัดเข้ามาในแขวงเมืองจันทบุรี ตัวหนึ่งเป็นเสือดุร้าย เที่ยวขบกัดคนตายที่พลิ้ว ๒ คน ที่ปากจั่น ๑ คน ที่ป่าสีเซ็น ๒ คน รวม ๕ คน อาจารย์เที่ยวตาม ได้บอกชาวบ้านว่าศิษย์สามคนลักน้ำมันเสือสมิงทาตัวเข้า กลายเป็นเสือไปทั้งสามคน บิดามารดาของศิษย์นั้นเขาจะเอาลูกของเขา จึงมาเที่ยวตามหา แล้วสั่งไว้ว่าใครพบปะเสือนี้แล้วให้เอาไม้คานตี ฤๅมิฉะนั้นให้เอากะลาครอบรอยเท้าเสือนั้น ก็จะกลับเป็นคนได้ แต่วิธีจะแก้นี้ทำได้ก็แต่เมื่อเสือนั้นยังไม่ทันกินคน รังควานทับเสียแล้ว ถึงจะทำวิธีที่บอกก็ไม่อาจกลับเป็นคนได้"

"...เหมือนเมื่อครั้งก่อนเรามาสัตหีบครั้งหนึ่ง น้ำจืดในเรือหมด ต้องเกณฑ์ให้ทหารขึ้นไปตักน้ำที่หนองบนบกไกลฝั่งประมาณ ๓ เส้น พวกชาวบ้านบอกว่าที่นี่มีเสือสมิงมาเที่ยวอยู่ พระสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์มาติดตามเวลากลางคืน แล้วก็ไปนั่งอยู่ที่ใต้ต้นตาลริมหนองน้ำนั้น คอยจะแก้ศิษย์ซึ่งกลับเป็นคน ในเวลานั้นก็ยังอยู่ พวกทหารพากันกลัว กลับมาเล่าจนเรารู้ เราอยากจะให้ไปตามตัวลงมาให้เห็นหน้าอาจารย์สักหน่อยหนึ่ง ก็เป็นเวลาดึกเสียแล้ว ครั้นเวลาเช้าก็ไปเสียจากสัตหีบ ท่านขรัวอาจารย์นั้นป่านนี้เสือมันจะเอาไปกินเสียแล้วฤๅอย่างไรก็ไม่รู้ "


หนังสือเกี่ยวกับเสือสมิง มีหลายเล่มค่ะ
- เสือสมิงจำแลง โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
- เสือสมิง โดย สิริ พัฒนกำจร
- เสือสมิงสิงร่าง โดย พลเรือตรีหญิง จันทนา ศิริสวัสดิบุตร
- ล่าเสือสมิง โดย ฉลอง เจยาคม


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 11, 20:33
คุณตั้งยังไม่เห็นเสือสมิงจังๆ.  แต่ได้ยินเสียงเสือเลียนเสียงเก้ง.  เป็นความรู้ใหม่ว่ามันเลียนเสียงได้
ในเพชรพระอุมา. มีแต่งูจงอางทำเสียงกระต๊ากได้เหมือนไก่ป่าตัวเมีย
เพื่อนของคุณตั้งรอดตายมาได้นับว่าทรหดมาก.   จากที่อ่าน. เขาชักอยู่นานกว่า 12 ชั่วโมงทีเดียวค่ะ.   เขาคงไม่คิดจะเข้าป่าอีกละมังคะ
คุณตั้งกลับไปสำรวจป่าอีกหรือเปล่าในระยะหลังๆนี้.    อยากจะรู้ว่าป่าเปลี่ยนแปลงมากไหมในระยะ 20 ปี

ใช่ครับ ชักอยู่มากกว่า 12 ชม.ครับ ชักประมาณ 1-2 นาทีก็หยุดครั้งหนึ่ง เว้นไป 5-10 นาทีก็ชักอีก เป็นลักษณะอย่างนี้ครับ หากชักต่อเนื่องผมว่าคงแย่ไปแล้ว น่ากลัวมากนะครับ ต้องคอยดู เอาช้อนใส่ปากตอนชักเพื่อกันกัดลิ้น แล้วก็ลุ้นว่าจะหยุดเมื่อไร หยุดชักแล้วก็ต้องลุ้นต่อว่ายังหายใจอยู่นะ นั่นแหละครับระยะทางเดิน 2 ชม. ก็กลายเป็น 10 ชม.
ผมเพิ่งนึกชื่อบ้านออกว่า เดินจากบ้านสะพานเจ็ดไปบ้านไก่เกียง ระยะเดินจากบ้านไก่เีกียงถึงบ้านเกริงไกรประมาณ 2-3 ชม. แล้วก็ทำให้นึกชื่อของกะเหรี่ยงอีกคนที่เป็นเจ้าของช้าง เขามีชื่อเป็นไทยว่า จรูญ  กะเหรี่ยงทั้งสองคนนี้ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ที่อันตรายต่างๆ (ในระดับถึงชีวิต) จากคนในพื้นที่ เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี

ขอพักเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับเสือไว้ก่อน แล้วจะขอต่อไปในเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับช้าง แล้วก็ขอเว้นวรรคไปตอบคำถามเรื่องป่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดครับ การบ้านที่มีสะสมมาก็จะค่อยๆตอบครับ

ผมไม่ได้กลับเข้าไปทำงานในป่าไปอีกเลยตั้งแต่ประมาณปี 2530 เนื่องจากเปลี่ยนลักษณะงานที่ทำ อย่างไรก็ตามก็พอจะตอบได้ในลักษณะที่ไม่ใช่กำปั้นทุบดินว่าก็ต้องเปลี่ยนไปซิ

สำหรับผม ป่าเปลี่ยนไปนั้น มาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ จากตัวป่าเอง จากฝีมือคน และจากผลกระทบที่เป็นลูกคลื่นต่อเนื่องมาถึง ซึ่ง (ผมคิดว่า)ก็เคยเห็นทั้งสามแบบ และขอยกเป็นตัวอย่าง ดังนี้

การเปลี่ยนโดยธรรมชาติของตัวป่าเอง ไม่ต้องมีคนไปกระทำเลย ลักษณะนี้เห็นอยู่ 2 ป่า คือป่าแถวบ้านไก่เกียง ในห้วยขาแข้ง และแถวบ้านกีตี้หรือคลิตี้ ในเขต อ.ศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี
ป่าแรกแถวบ้านไก่เกียง คือ ป่าไผ่ หรือที่เราเรียกว่า ป่าชัฏ หรือชัฏป่าไผ่ เป็นป่าของไผ่หนาม หนามก็ขนาดตำทะลุรองเท้าได้ ครั้งแรกที่ประสบและต้องเดินผ่านไปทำงาน เดินแทบจะไม่ทะลุ ป่ากินพื้นที่กว้างมาก ผมคิดว่าหลายร้อยไร่ เรียกว่าใช้เข็มทิศเดินกะว่าจะออกพ้นไปที่จุดหนึ่ง กลับออกไปอีกจุดหนึ่ง เกือบจะหลงเอาทีเดียว แต่ขอใช้คำว่าหลุดแทน ต่อมาในครั้งที่สอง ห่างกันประมาณ 3 เดือน เดินเฉียดไป อ้าวไผ่ออกดอก มีแต่ขุยไผ่เต็มไปหมด พบไก่ป่ามากมาย แถวชายขอบป่าก็พบไก่ฟ้าพระยาลอด้วย พ้นฤดูสำรวจ กลับไปในอีกปีต่อไป ไม่เหลือความเป็นป่าชัฎอีกเลย โล่งไปหมด เห็นแต่ไผ่เพ็กต้นเล็กๆกำลังเกิดใหม่ (เมื่อไผ่ออกดอกออกขุยก็จะตายยกป่าเลย) ได้เห็นมีต้นไม้บางอย่างที่ไม่ใช่ต้นไผ่เติบโตขึ้น คิดว่าป่านี้ก็คงจะเปลี่ยนไปเป็นป่าเบ็ญจพันธุ์ต่อไป เสียดายที่ไม่ได้กลับเข้าไปทำงานอีกก็เลยไม่ทราบ อันนี้ช่วงปี 2514-2515

อีกป่าหนึ่งบนเส้นทางก่อนเข้าบ้านคลิตี้ ตามปกติที่เคยผ่านจะเป็นสภาพของป่าค่อนข้างทึบ น่าจะเรียกว่าเป็นลักษณะของป่าดิบแล้ง มีอยู่ปีหนึ่งกลับไปทำงาน พบว่าป่าได้เปลี่ยนไปเป็นลักษณะของป่าละเมาะ ครั้งแรกก็นึกว่ามีการตัดไม้ขนาดใหญ่ เดินเข้าไปสำรวจดูก็พบว่ามีร่องรอยการตัดไม้เพียงเล็กๆน้อยๆตามปกติเท่านั้น ป่านี้น่าจะยังคงสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วดังที่พบในปัจจุบัน

สำหรับกรณีป่าเปลี่ยนโดยคนนั้น คงไม่ต้องกล่าวถึง มีมากมายไปหมด ที่ผมได้สัมผัสและน่าทึ่งที่สุดคือป่าทางตะวันตกของถนนสายนครสวรรค์-กำแพงเพชร บริเวณบ้างยางสูง ประสบการณ์ก็คือ เดือนมกราคมเข้าไปทำงานในพื้นที่ป่านั้น มองไม่เห็นเดือนเห็นตะวันเลย มีแต่ต้นยางและต้นมะค่าขนาดใหญ่ใบปกคลุม พื้นดินชื้นเปียกแฉะ ในเดือนมีนาคมต่อมาก็เข้าไปอีก คราวนี้โล่ง มีถนนทางลากซุงเต็มไปหมดจนหลง พื้นดินแห้ง มองทะลุไปหมด เป็นป่าที่ได้อนุญาตให้ทำไม้ครับ

อีกป่าหนึ่งก็คือทับเสลา อุทัยธานี โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่าซับฟ้าผ่าที่ตั้งสำนักงานรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่เดิมนั้นเป็นป่าดิบชื้น ในช่วงปี 2514-2515 มองไม่ทะลุไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน (ทับเสลาและซับฟ้าผ่าคือช่องเขาที่จะเดินเข้าไปในห้วยขาแข้ง) หลังจากเิริ่มมีการตัดถนนทำเส้นทางยุทธศาสตร์ ก็มีการบุกรุกถางป่าตามมาอย่างมากมาย ผมคงไม่ต้องบรรยายว่าเป็นอย่างไรในปัจจุบัน ไอ้ที่น่าห่วงก็คือ ผมเข้าไประยะหลังอีกครั้ง จนท.บอกว่าบริเวณห้วยทับเสลานี้แต่ก่อนนั้นมีนกยูงด้วย ผมสะอึกเลย นกตัวใหญ่ปานนั้นมันต้องการที่วิ่งเพื่อจะบิน (Take off) ไม่มีหรอกครับในพื้นที่เช่นนั้น นกยูงฝูงใหญ่อยู่ที่หาดปะนา (หาดควายในภาษาไทย) อยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ (น้ำเขื่อนศรีฯ ท่วมไปแล้ว) เป็นที่ราบ โล่ง และพื้นดินชุ่มชื้น มีน้ำแฉะเป็นบางจุด สนใจจะให้ขยายอีกสักเล็กน้อยใหมครัย ??

สำหรับป่าที่เปลี่ยนไปเนื่องจากได้รับผลกระทบนั้น ขอยกตัวอย่างป่าแม่วงค์ทางตะวันตกของนครสวรรค์ ป่านี้เป็นบริเวณของต้นน้ำห้วยขาแข้ง ห้วยแม่วงค์และอื่นๆ เดิมเมื่อปี 2513 นั้น ป่านี้เป็นที่ป่ามีความชุ่มชื้นเย็นฉ่ำตลอดทั้งปี ไม่ร้อน มีแดดรำไร น่าจะเป็นป่าที่เป็นป่าสำหรับความรู้สึกของคนโดยทั่วไป มีไม้ใหญ่เรือนยอดสูงอยู่มาก มีไม้เรือนยอดระดับกลางไม่มากนัก ไม้พื้นล่างมีมากมายและที่มีมากคือต้นกระชาย มีนกเงือก (นกกก นกกาฮัง) นกแกง (นกเงือกเล็ก) บินว่อนอยู่หลายคู่จำนวนมาก ผมมีประสบการณ์กับเสือในพื้นที่นี้สองสามครั้ง รวมทั้งหมี ช้าง ค่าง ฯลฯ เรียกว่าเป็นป่าในจินตนาการของคนที่ไม่คุ้นกับป่า ส่วนขอบรอบชายของป่านี้เป็นพื้นที่ให้ตัดทำไม้ มีต้นยางใหญ่และไม้มะค่า รวมทั้งปมมะค่า มีมากมาย หลังจากระดมทำไม้กันเรียบร้อยแล้ว ไม่นาน (สองสามปี) ผมก็ได้มีโอกาสกลับไปเห็นอีกครั้ง โอ้ ไม่น่าเชื่อเลย ภาพป่า(ส่วนใน)ที่สวยงามของผมไม่มีอะไรเหลือเลย กลายเป็นป่าแพะ ร้อน ไม่มีนกเงือก ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร

จุดที่ป่าที่เริ่มเปลี่ยนไปนั้น ผมคิุคว่าน่าจะเริ่มในช่วงประมาณปี พ.ศ.2515 เป็นต้นมา หลายป่าที่ตามหลักวิชาการเขาว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมก็เริ่มมีการถางปลูกใหม่ก็เริ่มในช่วงนี้ เคยเห็นป่าทีผมคิดว่ายังคือป่า ถูกถางและปลูกต้นสักก็ประมาณในช่วงนี้

เลยไม่ได้เข้าเรื่องช้างเลยครับ   

           

     

   


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 23 ก.ย. 11, 14:05
เรียนคุณ chupong   ชอบตอนเดียวกับผมเลยครับ


เทวรูปชาวอินคา  ตื่นเต้น อลังการมากครับในความรู้สึกตอนที่อ่านเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเรื่องเลย


ชอบ อะวาโม  แม่เฒ่าผมขาว ผู้มีแต่เสียงไม่เคยเห็นตัวจริง จนกระทั่งตอนจบนางสิ้นใจอยู่ข้างกายของนางเอก 

เกลียด เฒ่าเตเป๊ก    เกลียด ๆๆๆๆๆๆ    อิอิอิ


อินมากไปหน่อยครับ  แหะๆๆๆๆๆๆๆๆ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 11, 10:44
อ้างถึง
นกยูงฝูงใหญ่อยู่ที่หาดปะนา (หาดควายในภาษาไทย) อยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ (น้ำเขื่อนศรีฯ ท่วมไปแล้ว) เป็นที่ราบ โล่ง และพื้นดินชุ่มชื้น มีน้ำแฉะเป็นบางจุด สนใจจะให้ขยายอีกสักเล็กน้อยใหมครัย ??
อยากให้ขยายค่ะ
คุณตั้งเข้าไปเที่ยวป่าอีกบ้างหรือเปล่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา     ยังเหลือป่าไหนเป็นป่าอยู่บ้างคะ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 11, 22:16
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ผมไม่มีโอกาศเข้าไปเดินเที่ยวในป่าใหนเลยครับ ได้แต่ขับรถผ่าน แต่ก็ได้สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมาก เช่น ตามเส้นทางศรีสัชนาลัย-เด่นชัย เนื่องจากเว้นระยะไม่ได้สัมผัสมานานมากพอสมควร ภาพที่จำได้แถวๆบริเวณประมาณครึ่งทาง คือบริเวณห้วยแม่สิน จากเดิมที่เป็นป่าจริงๆ วันนี้โล่งกลายเป็นสวนผลไม้ไปหมด ที่ผมว่าเป็นป่าจริงๆในสมัยก่อน ก็คือ เมื่อเดินแยกไปตามห้วยไปทางทิศตะวันออกไม่เท่าไรก็ยังพบช้างป่า ผมเคยเดินขึ้นเขาจากห้วยนี้ขึ้นไปทางเหนือ ข้ามเขาที่ชื่อดอยพญาพ่อเืพื่อลงไปหา อ.เด่นชัย บนสันดอยยังพบรังนอนของหมี ทั้งบนง่ามไม้และรอยนอนบนพื้นดิน หากลงร่องน้ำผิด ก็จะโผล่ทางรถไฟสายเหนือบริเวณสถานีปางต้นผึ้ง ซึ่งปัจจุบันนี้บริเวณสถานีนี้เป็นหมู่บ้านและชุมชน ป่าก็โล่งไปหมด ขนาดที่มีน้ำป่าท่วมและดินโคลนถล่ม

สำหรับป่าที่ยังเป็นป่าอยู่นั้น ผมคิดว่าน่าจะยังพอมีให้เห็นอยู่้บ้างนะครับ ซึ่งหากประมวลจากองค์ประกอบหลายๆอย่างแล้ว ผมคิดว่า
  - ป่าในระหว่างเส้นทางห้วยซงไท้ (ที่ทำการและด่านของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร) ไปจนถึงบริเวณที่เรียกว่าปะชิก่่อนขึ้นเขาเข้าสู่พื้นที่ราบทุ่งใหญ่นเรศวร น่าจะยังคงสภาพป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ แถบนี้น่าจะยังพอจะพบกระทิงและช้างป่า
  - ป่าบริเวณต้นน้ำบีคลี่ (หนึ่งในแม่น้ำสามสายที่มารวมกันในเขต อ.สังขละบุร๊ กลายเป็นแม่น้ำแควน้อย) ซึ่งมีต้นน้ำในพื้นที่เดียวกันกับบริเวณที่เรียกว่าปิเต่ง (อยู่ทางทิศเหนือของหมู่เหมืองปิล็อก) ในป่านี้น่าจะยังคงมีหมีขอพอให้เห็นได้
  - ป่าบริเวณใกล้เขตแดนไทยพม่าแถวห้วยเต่าดำ อยู่ทางตะวันตกของแก่งระเบิด (เหนือ อ.ไทรโยค) บางทีอาจจะพบวัวแดง
  - ป่าบริเวณเหนือสุดอ่างน้ำของเขื่อนเจ้าเณร เข้าไปในส่วนที่เป็นแม่น้ำแควใหญ่ ช่วงที่เริ่มเข้าเขตโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ไปจนเลยบริเวณที่เรียกว่าโป่งหอม ในป่านี้อาจจะพบสมเสร็จ
  - ป่าด้านเหนือของห้วยองค์ทั่ง (ห้วยสาขาของแควใหญ่) ตั้งแต่ทุ่งมะขามป้อมเข้าไป ป่านี้ ดีไม่ดีอาจพบนกยูงที่อพยพไปจากหาดปะนาก็ได้
  - ผมมิได้กล่าวถึงป่าที่คนชอบไป เช่น เขาใหญ่ คลองสก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าหากอยากจะทราบว่าป่าที่เราเข้าไปนั้นยังเป็นป่าเดิมๆอยู่หรือไม่ ก็น่าจะลองถาม จนท.ดูว่า อาทิ
  ในเรื่องของต้นไม้ -มีไม้ร่มม้าหรือไม่ หากมีก็ถามต่อว่าแล้วยังเห็นค่างหรือไม่  -มีไม้ขานางบ้างใหม  -มีไม้ไผ่ผากหรือไม่ หากมีก็ถามต่อว่าแล้วมีช้างหรือไม่ ตัวอย่างเหล่านี้แสดงถึงความเป็นป่าที่ยังไม่ถูกรบกวนมากนัก แต่หากถามว่า ป่านี้มีต้นปอมากใหม แล้วได้คำตอบว่ามี ก็แสดงว่าเป็นป่าที่ถูกบุรุกไปแล้ว
  ในเรื่องของสัตว์ -มีพญากะรอกหรือบ่างใหญ่ใหม  -มีหมูหริ่งหรือหมาหริ่งหรือไม่  -มีนกกุลุมพูใหม -มีนกเงือก นกแกงใหม เป็นต้น
ส่วนสัตว์หายากอื่นๆ เช่น สมเสร็จ เม่นหางพวง หมีขอ ชะมดแผง (เห็นแผง) ไก่ฟ้า นกยูง ลิงลม วัวแดง กระทิงข้อเหลือง เหล่านี้ อาจจะพบในบางป่าเท่านั้น   
   

 
 

     


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 11, 22:55
ขอขยายความเรื่องนกยูงสักนิดนะครับ

ในประสบการณ์เดินป่าของผม ผมไม่เคยพบบริเวณที่มีนกยูงเลย ยกเว้นที่หาดปะนา อยู่เหนือปากห้วยขาแข้งขึ้นไป ซึ่งเป็นเนินที่ราบอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ น่าจะมีเนื้อที่ระหว่าง 5-10 ไร่ มีหญ้าสูงประมาณเกือบๆเข่า พื้นที่แฉะเป็นหย่อมๆ นกยูงฝูงนี้น่าจะจัดได้ว่าเป็นฝูงค่อนข้างจะใหญ่มาก หรืออาจจะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ก็ได้ เลยมารวมตัวกันอยู่มาก

สวยมากครับ  ดูเขาอยู่กันเป็นฝูง ผมคิดว่าเขากำลังหากินกัน มีการเกี้ยวกันบ้างระหว่างตัวผู้หางยาวกับตัวเมีย คงจังหวะไม่ดีจึงไม่เห็นมีการรำแพนหาง ผมคิดว่าเขาเห็นเรา แต่ไม่ตกใจ ในสมัยที่ผมเดินทำงานนั้น สัตว์แทบจะไม่รู้จักคนเอาเลยทีเดียว (แล้วค่อยทะยอยเล่าให้ฟังถึงความน่ารักต่างๆครับ) พอพวกผมเดินเข้าไปใกล้อีกหน่อย เพราะต้องใช้เส้นทางเดินผ่านที่ราบนั้น พวกนกยูงบางส่วนก็ออกบิน ส่วนที่เหลือก็ค่อยๆบินตามกันไป คะเนดูว่าน่าจะมีไม่น้อยกว่า 30 ตัว ตอนบินนี้ทำให้เห็นว่ามีนกยูงบางตัวมีสีสรรเหมือนตัวผู้ จำได้ว่ามีสีไม่จัดจ้านมากนักและไม่มีพวงหาง ก็ได้ความรู้จากคนนำทาง (เพื่อนร่วมทางในพื้นที่) ว่านกพวกนี้เป็นตัวผู้ที่ไม่มีหางเป็นพวง เขาเรียกว่าพวกสีดอ ชาวบ้านทั่วไปที่เที่ยวป่าแถบนั้นจะไม่ยิงนกยูง เขาว่าหากพลาดไปยิงเอาเจ้าสีดอเข้า จะทำให้ชีวิตตกอับ ครอบครัวแตกแยก แตกแยกกับเพื่อนฝูง ก็เลยไม่มีใครทำอะไรกับนกยูง ที่จริงแล้ว ชาวบ้านป่าจะถือมากเรื่องการยิงหรือฆ่านกขนาดใหญ่ เช่น นกเงือก นกแกง เพราะนกเหล่านี้ มีผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต หากตัวหนึ่งตายอีกตัวก็จะตายตาม (ค่อยทะยอยเล่าให้ฟังครับ)

ผมไม่เคยเห็นที่ใหนอีกเลยครับ ยกเว้นในสวนสัตว์



กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 11, 15:28
อยากเห็นภาพนกยูงบินจากไปกันทั้งฝูง  คงงามตามาก   กวาดอินทรเนตรหา ยังไม่พบภาพแบบนี้  มีแต่ภาพจับกลุ่มกันอยู่บนพื้นดิน  เลยเอามาลงแก้ขัดไปก่อนค่ะ
ไม่เคยได้ยินชื่อนกยูงสีดอ   รู้จักแต่ช้างสีดอ คือช้างพลายที่ไม่มีงา     ฝากถามคุณเพ็ญชมพูว่าฝรั่งเขาเรียกว่าอะไร    อยากเห็นรูปบ้าง

นานหลายปีมาแล้ว   เพื่อนเอาหางนกยูงมาให้กำใหญ่ สำหรับปักแจกันในห้องรับแขก    บอกว่าได้มาจากฝั่งพม่า   แต่ปักไม่ลง  เลยบริจาคไป   เพราะรู้ว่าได้หางมาก็แปลว่าเจ้าของหางเรียบร้อยโรงเรียนพม่าไปแล้ว   
เสียดายนกแสนสวยพวกนี้ ถ้าจะต้องมาถูกฆ่าเพื่อเอาหางไปประดับแจกัน     ไม่รู้ว่าพรานเขายิงเพื่อกินเนื้อกันด้วยหรือเปล่า


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.ย. 11, 15:48
ไม่เคยได้ยินชื่อนกยูงสีดอ    รู้จักแต่ช้างสีดอ คือช้างพลายที่ไม่มีงา     ฝากถามคุณเพ็ญชมพูว่าฝรั่งเขาเรียกว่าอะไร    อยากเห็นรูปบ้าง

นานหลายปีมาแล้ว   เพื่อนเอาหางนกยูงมาให้กำใหญ่ สำหรับปักแจกันในห้องรับแขก    บอกว่าได้มาจากฝั่งพม่า   แต่ปักไม่ลง  เลยบริจาคไป   เพราะรู้ว่าได้หางมาก็แปลว่าเจ้าของหางเรียบร้อยโรงเรียนพม่าไปแล้ว   
เสียดายนกแสนสวยพวกนี้ ถ้าจะต้องมาถูกฆ่าเพื่อเอาหางไปประดับแจกัน     ไม่รู้ว่าพรานเขายิงเพื่อกินเนื้อกันด้วยหรือเปล่า

๑. ไม่เคยได้ยินชื่อ "นกยูงสีดอ" เช่นกัน

๒. ช้างสีดอ = mukna (http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%AD)

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/359/359/images/Elephen/IMG_0108.jpg)

๓. นกยูงเมื่อถึงเวลามันจะสลัดขนหางอันเก่าออกไป แล้วจะมีขนหางอันใหม่ขึ้นมาแทน ไม่เหมือนงาช้างดอก ไม่เชื่อถามคุณตั้งดูได้

 ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 11, 17:58
^
หางนกยูงเก่าที่ร่วงไปตามธรรมชาติ กับหางนกยูงที่ตัดมาสดๆจากซาก   ดูเหมือนกันไหมคะ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 11, 18:31
เรื่องนกยูงสีดอนั้น ชาวบ้านป่าเขาเรียกกัน ในความหมายของเขาคือ นกยูงตัวผู้ที่ไม่มีหางเป็นพวงยาว คล้ายกับช้างสีดอครับ

เท่าที่เคยทราบนั้น นกยูงตัวผู้จะทิ้งหางหลังจากฤดูผสมพันธุ์แล้ว ผมไม่ทราบว่าทิ้งจนโกร๋นเลยหรือทิ้งเป็นบางส่วน เคยเห็นแต่พวงหางที่เขาเอามาเสียบเป็นแจกันแล้ว ซึ่งมีมีความยาวหลายขนาด (ในพม่า) ผมเองไม่เคยพบเศษหางนกยูงในป่าเลย ในช่วงเวลาที่พบฝูงนกยูงนั้นจำไม่ได้แม่นครับ แต่อยู่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นฝูงของสัตว์นั้นมักจะเป็นช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์  

กรณียิงนกยูงเพื่อกินเนื้อหรือไม่นั้น ตอบได้เลยครับว่า ไม่มี ชาวบ้านป่าเกือบจะไม่กินเนื้อนกขนาดใหญ่เลย เว้นแต่จะอดอยากจริงๆ สังเกตุใหมครับว่า คนจะเลือกกินสัตว์ปีกที่มีเนื้อค่อนมีสีอ่อนเป็นส่วนใหญ่  เนื้อของสัตว์ปีกที่มีสีเข้ม (แดงหรือน้ำตาลแดงเข้ม) มักจะไม่กินกัน ซึ่งสัตว์ปีกที่มีเนื้อสีเข้มนั้น ส่วนมากจะเป็นพวกกินแมลงเป็นอาหารหลักมากกว่าธัญพืช ซึ่งสัตว์ปีกขนาดใหญ่ส่วนมากก็มักจะมีเนื้อสีเข้มไม่น่ากิน ยกเว้นบางชนิด เช่น ไก่งวงและห่าน เป็นต้น

 

  


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 11, 18:43
ขอหารือท่านสมาชิกครับ
 
เรื่องที่ผมเขียนในกระทู้ "เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม" นี้ ยังคงอยู่ในสารัตถะของกระทู้นี้หรือไม่

รู้สึกไม่สบายใจครับ เสมือนหนึ่งว่าเอาเรื่องประสบการณ์จริงมาปนกับเรื่องของจินตนาการในวรรณกรรมต่างๆ

ควรจะยกไปตั้งเป็นกระทู้ใหม่หรือไม่ครับ เป็นกระทู้ในบริบทของเรื่องเกี่ยวกับ สัมผัสกับป่าในอดีต


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 11, 18:50
ตกลงแยกกระทู้ตั้งแต่ค.ห. 36   เมื่อคุณตั้งเริ่มเล่าถึงป่าที่ไปประสบมาด้วยตนเอง
มาเริ่มกระทู้ใหม่ อยู่ในห้องประวัติศาสตร์  นะคะ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 ก.ย. 11, 09:06
ส่งภาพป่า ที่ยังพอจะหลงเหลืออยู่ในประเทศไทยมาประกอบ ให้ได้บรรยากาศ..ค่ะ  ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 28 ก.ย. 11, 11:55
ผมขออนุญาตเข้ามาทิ้งคำถามเกี่ยวกับนกยูงที่ยังคาใจครับ

๑.   เสียงร้องของนกยูงนั้น เท่าที่ปรากฏในเพลงเขมรไทรโยคก็ดี หรือวรรณกรรมบางเรื่อง (เท่าที่ผมเคยฟัง) ก็ดี มักเป็น “กระโต้งฮง” ขอเรียนถามคุณตั้งครับ ว่าจริงๆแล้วดังอย่างนั้นหรือเปล่า
๒.   จากนวนิยายเพชรพระอุมา (อีกแล้ว) มีการกล่าวถึงเมนูอาหารชื่อ “นกยูงอบ” รู้สึกดารินจะเคยสั่งมากินด้วย เรียนถามท่านนักชิมและท่านผู้รู้ทุกๆท่านขอรับ นกยูงอบนี่สมัยนั้นมีให้ชาวนาครกินกันจริงๆหรือไร? และต้องเป็นภัตตาคารระดับแพงลิบเท่านั้นหรือเปล่า กระผมถามมิใช่อยากลิ้มลองหรอกนะครับ ตรงข้าม รู้สึกเสร้าสังเวชมากกว่าครับ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 12:34
อยากให้นายตั้งเล่าเรื่องที่ไปเห็นวิธีที่หมูป่าเอากล้วยทั้งเครือลงมากิน


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 11, 13:59
ตอบคุณชูพงศ์ เรื่องนกยูงอบ
เคยได้ยินว่าชาวยุโรปสมัยก่อนสักสี่ห้าร้อยปีมาแล้ว เขากินนกยูงอบ     เป็นอาหารหรูหราในราชสำนักหรือปราสาทขุนนางใหญ่โต  ไม่ใช่อาหารตามบ้านเรือนหรือภัตตาคาร
ใช้อินทรเนตรส่องหาก็เจอวิธีทำ แสดงว่ายังกินกันอยู่ แต่เป็นอาหารจานพิเศษ ไม่มีกินกันทั่วๆไปค่ะ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 28 ก.ย. 11, 14:29
อ่านความรู้จากท่านอาจารย์เทาชมพูแล้ว ต้องอุทาน “คุณพระช่วย!”  ครับ นี่แสดงว่า นกยูงยังถูกล่าอีกหรือ มนุษย์หนอมนุษย์ เขาอนุรักษ์สัตว์กันทั่วโลก ก็ยังมีมารจ้องทำลายมิวายเว้น น่าอเนจอนาถจริงๆครับอาจารย์
 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 29 ก.ย. 11, 11:44
ขอเข้ามารับฟังและเล่าประสพการณ์ ด้วยคนครับ
ชีวิตเมื่อก่อนของผมเข้าป่าครั้งแรกประมาณปี 2525 ด้านจังหวัดกาญจนบุรี เขตอำเภอไทรโยค   ตอนนั้นมาเที่ยวข้ามเข้าไปเที่ยวที่ บ้องตี้ แล้วลัดเลาะไปที่เหมืองเต่าดำ  ด้วยรถ jeep เก่าๆ  สภาพป่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก สัตว์ป่ายังมีอยู่มาก    ประมาณปี 2532  กลับมาสร้างสนามกอล์ฟที่นี่อีก ป่าที่เคยเห็นเปลี่ยนไป  แต่อาชีพที่นี่ยังคงไม่เปลี่ยน คือหาของป่ามาขาย  ตัดไม้   ไม้มะค่านี่ผมเห็นมากที่สุด  มาขายเป็น"ยก" (เป็นอีกหน่วยวัดที่ชาวบ้านใช้กัน)

ประสพการณ์ของกระผมเอง คงจะไม่ค่อยมีเท่าไหร่  ได้แต่ฟังจากผู้ที่มีอาชีพพรานที่นั่นเล่าให้ฟัง ตอนที่ไปนอนห้างกับเขา ถึงเรื่องของอำนาจของป่า   ถึงครั้งหนึ่ง ที่พวกเขา 2 คนเข้าไปดักรอยิงสัตว์ที่โป่งแห่งหนึ่งในเขตใกล้ชายแดน  ว่าในขณะรอดักยิงสัตว์ป่าที่มากินโป่ง ในความรู้สึกตรงนั้น เขาบอกว่าได้ยินเสียงฝีเท้า ของฝูงช้างป่า วิ่งใกล้เข้ามาประมาณว่าจะวิ่งดาหน้าเข้ามาตรงจุดที่เขาซุ่มรออยู่  ราวกับว่าจะเข้าบดขยี้เขาให้จมดิน  พรานหนุ่มอีกคนหนึ่ง เข้าใจว่าตั้งสติไม่ได้ ได้วิ่งหนีหายไปอีกทางหนึ่ง  จนเสียงดังกล่าวเงียบไป  ทุกอย่างเงียบสงัด จึงออกตามหาพรานหนุ่มคนนั้น ปรากฏว่าไปพบว่าได้ปีนหนีขึ้นไปบนต้นอะไรผมจำไม่ได้ สูงมากและมีหนาม กว่าจะลงมาได้เนื้อตัวมีแต่บาดแผลเต็มไปหมด      พรานใหญ่บอกผมว่าในป่าถ้าจิตใจไม่มั่นคง หรือควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจถึงขั้นประสาทเสียได้   

      ทุ่งใหญ่ นเรศวร ที่คุณ naitang กล่าวมาคือผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดที่ผมเคยเข้ามา  เป็นผืนป่าที่มีเรื่องเล่ามากมายครับ



(http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/174255410103.jpg)       



กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 11, 21:03
ขอบคุณคุณ rin51 ที่ให้ภาพเส้นทางและที่ตั้งของหน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตทุ่งใหญ่ครับ
แสดงว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างน้อยเขตก็ขยายต่ำลงมาถึงทินวย ย่านต่ำลงมากว่าซงไท้นั้น ในสมัยที่ผมทำงานเป็นพื้นที่สัมปทานตัดไม้ ออกจากทินวยก็มีทางลากไม้ไปแยกไปทางขวาจนถึงแม่น้ำแควใหญ่ ตั้งแต่จะแก พุจือทางรถแทบจะไม่เป็นทางรถ ต้องเข้าไปทางสะเนพ่อง ซึ่งอย่างมากไปไกลสุดก็ถึงทิไล่ป้า
หากป่าไม่เปลี่ยนไปมากนะครับ เราก็น่าจะยังคงมีโอกาสเห็นกระทิงตามถนนในร่องเขาห้วยช่วงซงไท้-ซงซ่ง โดยเฉพาะในบริเวณโป่งยิบซั่ม และก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นเก้งหม้อและเสือในช่วงห้วยดงวี่ด้วย

 



 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 11, 21:43
อยากให้นายตั้งเล่าเรื่องที่ไปเห็นวิธีที่หมูป่าเอากล้วยทั้งเครือลงมากิน

เรื่องนี้ผมได้รับฟังมาจากคนชาวเย้าคนหนึ่ง สมัยเด็กๆประมาณ พ.ศ.2500 (สมัยนั้นอยู่เชียงราย) ว่าหมูป่าใช้วิธีกระโดดชนต้นกล้วยให้ล้มลง แล้วจึงกินกล้วยทั้งเครือ พอมาเดินป่าเข้าจริงๆ ก็พบว่าหมูป่านั้น ใช้วิธีขุดคุ้ยกินรากไม้ตามปกติของหมูและดันต้นกล้วยป่าให้ล้มลงเพื่อจะกินผลกล้วย ผมไม่เห็นตอนที่มันทำ เห็นแต่ร่องรอยที่มันทำ เรื่องนี้เห็นในป่าบริเวณใกล้ปากห้วยองค์ทั่ง ริมแม่น้ำแควใหญ่ครับ (น้ำเขื่อนท่วมไปแล้ว)

หมูป่าของไทย เท่าที่เคยเห็นในประสบการณ์ ไม่ค่อยเห็นเป็นฝูง ส่วนมากจะพบร่องรอย (รอยเท้า) หากินเพียงหนึ่งหรือสองตัว ไม่เหมือนในอัฟริกาที่เดินตามชูหางกันเป็นทิว ที่เห็นเป็นฝูงหน่อยก็ช่วงบ้านตีนตกไปหาบ้านนาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ และช่วงเลยจากบ้านบ้องตี้ตามเส้นทางไปเหมืองห้วยเต่าดำ จ.กาญจนบุรี มีฝูงอยู่ประมาณ 5-6 ตัว อันนี้เห็นอยู่ในที่ๆเขาพักนอนกัน เป็นที่แฉะๆใต้พงเถาวัลย์ จะว่าไปหมูป่าของเราก็เห็นได้ยากนะครับ ส่วนมากจะออกหากินในช่วงเย็นหรือกลางคืน ใกล้ๆโป่งที่มีน้ำ หรือบริเวณที่มีซับน้ำ เช่นซับน้ำด้านตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านเกริงกราเวีย กาญจนบุรี
ด้วยความที่มัน Charge สวนลูกปืนได้ ดังนั้นในการจะยิงแต่ละครั้งจึงต้องอยู่ด้านข้าง เพื่อยิงเข้ารักแร้แดง (จุดเข้าขั้วหัวใจ) หากยิงตรงหน้าจะอันตรายมาก ผมไม่เคยยิงมันหรอกครับ แต่เคยพบชาวบ้านที่ถูกมัน Charge จนเป็นแผลเหวอะหวะ เห็นแผลเป็นของเขายังน่ากลัวเลย ทั้งขา แขนและลำตัวส่วนบน การยิงหมูป่านั้นชาวบ้านจึงมักใช้ปืนลูกโดด (ลูกซองเม็ดเดียวขนาดลูกปืนใกล้กับหัวแม่มือ) หรือใช้กับดักโดยใช้ปืนแก็บที่ไกปืนผูกกับเชือกที่ขึงกั้นทางเดินของหมูป่า ระดับยิงประมาณน่องของเรา การเดินป่าในบางพื้นที่จึงต้องระวังมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับภาคตะวันตกนั้นไม่ค่อยนิยมทำวิธีการนี้มากนัก
ผมนึกชื่อวิธีการนี้ไม่ออกครับ มันมีชื่อเฉพาะของมัน         


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 30 ก.ย. 11, 16:17
....  เอามาฝากอีกนิด  ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ของทุ่งใหญ่นเรศวร คือผืนป่าที่ใหญ่และครอบคุมพื้นที่หลายจังหวัด
(http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/map_tungyai_m.jpg)

  ผมเองเคยเข้าแต่ทางด้านทินวย  สำหรับทางด้านสเนพ่อง ยังไม่เคยเข้า คาดว่าถ้าปีหน้าสุขภาพดีจะเข้าทุ่งใหญ่นเรศวรอีกสักครั้งให้ได้   
  ..จากช่วง ทิคอง ไปยัง ซ่งไท้  จะผ่านป่า "ปรง" ซึ่งถือว่าเป็นต้นไม้ยุคดึกดำบรรพ์ ขึ้นอยู่เต็มไปหมด ขับรถผ่านกว่าจะหมดใช้ระยะเวลาพอสมควร  เดี๋ยวผมหารูปเจอจะเอามาให้ดู นะครับ

    การเข้าทุ่งใหญ่นเรศวร จะต้องขออนุญาติก่อนล่วงหน้า เพราะเขาจะจำกัดจำนวนรถที่จะเข้าต่อวัน และอนุญาติให้พักตั้ง กางเต๊นท์ได้เฉพาะ ภายในหน่วยเท่านั้น    เวลาขับรถ ไม่ควรออกนอกเส้นทาง เพราะมีสัตว์ที่ทำอันตรายเราอยู่


     (http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/DSC_0328.jpg)

         เห็นระยะทางไม่เท่าไหร่  แต่กว่าจะไปถึงแต่ละจุด ปวดเมื่อยไปทั้งตัวล่ะครับ
         ปีที่แล้วมีพรรคพวกเข้าหน้าฝน ระยะทาง 70 km  ใช้เวลาร่วม 15 ชั่วโมง
         
 
     


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 11, 18:39
คุณ rin51 ครับ

จะรอดูรูปต้น "ปรง" ครับ มันนานเต็มทีแล้วผมจำไม่ได้แม่น จำได้ว่ามันเป็นต้น "เป้ง" ครับ

สำหรับเรื่องของระยะทางกับเวลาที่ใช้ในการเดินทางนั้น พวกผมสื่อสารกันด้วยระยะเวลามากกว่าระยะทาง เพราะแต่ละฤดูกาลใช้เวลาไม่เท่ากัน ผมเลือกทำงานในระหว่างกลางหรือปลายเดือนตุลาคม (ได้รับงบประมาณ) ก็คือปลายๆฝน ไปถึงช่วงประมาณเดือนมิถุนายน หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนกรกฎาคม ก็เข้าช่วงฤดูฝน  เส้นทางต่างกันมาก ช่วงแล้งในบางพื้นที่มีฝุ่นหนาขนาดต้องใส่เกียร์สโลว์ก็เคย ช่วงฝนไม่ต้องถาม วินช์ตลอดทาง ผูกผ้าขาวม้ารอบเอว เอาตะขอวินช์เกี่ยวหลังเดินหาต้นไม้เพื่อวินช์ เดินนำรถเป็น กม.ๆ ก็เคย ทั้งลำบากและเหนื่อยครับ
เข้าใจเลยครับว่า ระยะ 70 กม.ใช้เวลา 15 ชม.  สมัยก่อนช่วงลาดหญ้าไปบ้านท่าเสา (น้ำตกเขาพัง,ไทรโยคน้อย) ระยะทางประมาณ 60 กม. ก็ใช้เวลาร่วมๆ 18 ชม.เหมือนกัน จากลาดหญ้าไปห้วยบ้านเก่าบนเส้นทางไปสองท่อและลำเขางู ก็ทั้งวันเหมือนกัน จากแก่งระเบิดไปห้วยเต่าดำ ระยะประมาณ 40 กม.ก็ทั้งวัน หรือบางทีข้ามคืนเลยครับ

มันก็มีกลเม็ดในการเดินทางเหมือนกันนะครับ ตามปกติคนเราจะมีความรู้สึกว่าไม่ควรขับรถ (ในป่า) ขณะฝนตก หรือรอให้ฝนหยุดถึงค่อยเดินทางต่อ แท้จริงแล้วรอให้ฝนตกหนักๆแล้วค่อยออกเดินทางในระหว่างนั้นจะสะบายมากกว่า เนื่องจากถนนจะไม่เป็นโคลน แต่จะเป็นเลนเละมากๆจนดินไม่ติดล้อรถ ซึ่งน้ำฝนจะช่วยชะดินออกไปจากล้อรถได้ง่ายมาก ทำให้ล้อไม่ติดโคลนหนาเปอะและลื่น และล้อรถก็สามารถกดลึกลงไปถึงพื้นที่เป็นดานไม่หมุนฟรี ปลอดภัยมากกว่าด้วยครับ 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 11, 18:57
ผมขออนุญาตเข้ามาทิ้งคำถามเกี่ยวกับนกยูงที่ยังคาใจครับ
๑.   เสียงร้องของนกยูงนั้น เท่าที่ปรากฏในเพลงเขมรไทรโยคก็ดี หรือวรรณกรรมบางเรื่อง (เท่าที่ผมเคยฟัง) ก็ดี มักเป็น “กระโต้งฮง” ขอเรียนถามคุณตั้งครับ ว่าจริงๆแล้วดังอย่างนั้นหรือเปล่า

เท่าที่เคยได้ยินทั้งในป่า สวนสัตว์และที่เพาะเลี้ยง ผมไ่ม่เคยได้ยินเสียงใกล้เคียงกับ "กระโตงฮง" เลยครับ ได้ยินแต่เสีงคล้ายๆ "แกก...",  "กแวก..." , "กเว้า..." หรือ "กโฮ้ง.." เสียงเหล่านี้บางครั้งก็เหมือนกังวาลอยู่ในลำคอ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 11, 19:18
ตอบคุณชูพงศ์ เรื่องนกยูงอบ
เคยได้ยินว่าชาวยุโรปสมัยก่อนสักสี่ห้าร้อยปีมาแล้ว เขากินนกยูงอบ     เป็นอาหารหรูหราในราชสำนักหรือปราสาทขุนนางใหญ่โต  ไม่ใช่อาหารตามบ้านเรือนหรือภัตตาคาร
ใช้อินทรเนตรส่องหาก็เจอวิธีทำ แสดงว่ายังกินกันอยู่ แต่เป็นอาหารจานพิเศษ ไม่มีกินกันทั่วๆไปค่ะ

ผมเคยกินครับ ที่เวียนนา ร้านในย่านกลางเมือง แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเนื้อนกยูงหรือไม่ ไม่ได้คิดอยากจะเสาะแสวงหากินหรอกครับ งานนี้เขาเลี้ยง รมต. ผมเพียงเข้าร่วมโต๊ะ ก็มีเมนู Peafowl ก็เลยลอง มาในจานชิ้นประมาณครึ่งฝ่ามือ เป็นลักษณะการทำแบบทอดอกเป็ด ไม่มีสิ่งใดประทับใจเลยครับ เนื้อหยาบกว่าไก่งวง ไม่ขาวเหมือนไก่งวง ก็งั้นๆแหละครับ
ผมเคยทราบว่ามีการเพาะนกยูงในหลายแห่ง ในสหรัฐก็เป็นแห่งหนึ่งที่มีฟาร์มนกยูง แต่ไม่ทราบว่าเพื่อวัตถุประสงค์อันใดเป็นหลัก เพื่อกินหรือเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งถ้ามีการเพาะเลี้ยงในระดับเป็นฟาร์ม ก็คงต้องมีการขายเพื่อกินเนื้อเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจแน่นอน ผมไม่เคยได้สังเกตว่าในซุบเปอร์มาเก็ตว่ามี Peafowl แช่แข็งขายกันบ้างหรือไม่   



กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ก.ย. 11, 21:50
ผมเคยทราบว่ามีการเพาะนกยูงในหลายแห่ง ในสหรัฐก็เป็นแห่งหนึ่งที่มีฟาร์มนกยูง แต่ไม่ทราบว่าเพื่อวัตถุประสงค์อันใดเป็นหลัก เพื่อกินหรือเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง

วัตถุประสงค์หนึ่งคงเพื่อรวบรวมขนแพนหางสำหรับทำเครื่องประดับ

ภาพนี้เป็นผลผลิตจาก ฟาร์มนกยูงที่จีน (http://www.telegraph.co.uk/news/picturegalleries/picturesoftheday/8719801/Pictures-of-the-day-24-August-2011.html?image=10)

 ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 22:00
^
โอ้ยโหย โอ้โห  อื้อหือ ไอ้หยา


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 11, 07:13
ผมขออนุญาตเข้ามาทิ้งคำถามเกี่ยวกับนกยูงที่ยังคาใจครับ
๑.   เสียงร้องของนกยูงนั้น เท่าที่ปรากฏในเพลงเขมรไทรโยคก็ดี หรือวรรณกรรมบางเรื่อง (เท่าที่ผมเคยฟัง) ก็ดี มักเป็น “กระโต้งฮง” ขอเรียนถามคุณตั้งครับ ว่าจริงๆแล้วดังอย่างนั้นหรือเปล่า

เท่าที่เคยได้ยินทั้งในป่า สวนสัตว์และที่เพาะเลี้ยง ผมไ่ม่เคยได้ยินเสียงใกล้เคียงกับ "กระโตงฮง" เลยครับ ได้ยินแต่เสีงคล้าย ๆ "แกก...",  "กแวก..." , "กเว้า..." หรือ "กโฮ้ง.." เสียงเหล่านี้บางครั้งก็เหมือนกังวาลอยู่ในลำคอ


การส่งเสียงร้องของนกยูงนั้น จะมีขึ้นตลอดทั้งวันและดังก้องทั่วผืนป่า โดยมันจะเริ่มส่งเสียงร้องตั้งแต่เช้ามืด ประมาณตี ๕ และร้องถี่ขึ้นในช่วงเวลา ๐๖.๓๐ - ๐๗.๓๐ น. ก่อนที่จะบินลงจากคอนหากิน ในเวลากลางวันและบ่าย จะได้ยินเสียงร้องของนกยูงอยู่บ้าง แต่จะร้องถี่มากขึ้นอีกครั้ง ในช่วงเวลาเย็นตั้งแต่ ๑๘.๐ - ๑๙.๐๐ ส่วนเวลากลางคืน นกยูงจะไม่ส่งเสียงร้อง นอกจากเมื่อตกใจ จะร้อง " โต้ง โฮ้ง " เพียงครั้งเดียว

เสียงร้องของนกยูงมีหลายเสียง ซึ่งจะขึ้นกับลักษณะพฤติกรรมในช่วงนั้น ๆ คือ

เสียง " โต้ง โฮ้ง โตังโฮ้ง .... "  เป็นเสียงร้องทั่วไปของนกยูงตัวผู้ ที่ใช้ร้องทั้งวัน อันเป็นการร้อง เพื่อประกาศเขตแดนทั่ว ๆ ไป แต่ในระยะผสมพันธุ์ เสียงร้องดังกล่าว จะเพี้ยนต่างไปเล็กน้อย โดยลากเสียงยาวมากขึ้น และลงท้ายคล้ายเสียงแมวร้อง ทำให้ได้ยินเป็นเสียง " โต้งโฮ้ง โต้งโฮ้ง โต้งโฮ้ง เมี้ยว "

เสียง " ตั๊ก ..ตั๊ก "สั้น ๆ ดังขึ้นเป็นช่วง ๆ เป็นเสียงร้องเตือนภัย เมื่อเห็นศัตรู หรือ เกิดความสงสัย

เสียง "กอก กอก กอก ... " ติดต่อกันเป็นเวลานานเมื่อตกใจ หรือ บางครั้งอาจร้อง " โต้งโฮ้ง " เพียงครั้งเดียว

เสียง " อ้าว อ้าว .." หรือ " อ่า ฮาก... " เป็นเสียงนกยูงตัวผู้ขณะรำแพนหาง หรือขณะลงกินโป่ง เพื่อเรียกหาตัวเมีย หรือเชิญชวนให้นกตัวเมียเข้ามาใกล้ จะได้รำแพนหางออก หรือบางครั้งอาจใช้ในเวลาตื่นตกใจหนีไปคนละทิศละทาง

เสียง " ก -รอก...ก ก-รอก...ก " รัวเบา ๆ เป็นการเรียกหากันให้กลับมารวมฝูง หลังจากตื่นตกใจหนีไปคนละทิศละทาง

ข้อมูลจาก เว็บปัญญาไทย (http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/นกยูง)

 ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 01 ต.ค. 11, 12:56
....ไปค้นหารูปต้นปรงมาฝาก ครับ


               (http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/DSC_0596.jpg)


(http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/DSC_0595.jpg)

   ที่เห็นเป็นเขตป่าปรง ต้นไม้ยุคโลกล้านปีเป็นช่วงระหว่างเส้นทางก่อนถึง ซ่งไท้ ครับ 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 01 ต.ค. 11, 13:04
   (http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/IMG_4070.jpg)

    ลักษณะ เป็นแบบนี้ล่ะครับ  ส่วนต้น"เป้ง"   ไม่แน่ใจแต่เคยได้ยินชื่ออยู่เหมือนกัน
    ต้นปรงที่นี่มีขนาดสูงหลายเมตร ผมประมาณอายุไม่ถูก แต่ถ้านับตามวงรอบต้นล่ะก็ เป็นร้อยๆปีแน่นอน  ครับ


       ผมถ่ายรูปตรงป่าปรงมาเยอะ แต่เครื่องคอมฯโดนไวรัสรับประทานเกลี้ยง คงเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้นเองครับ  


       


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 01 ต.ค. 11, 13:09
(http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/indexCA6OB3HV.jpg)

      เอาอีกรูปของป่าทุ่งใหญ่มาฝาก     

(http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/DSC_0591.jpg)

      ช่วงเส้นทางไปซ่งไท้  รถของผมเป็นคันแรก เห็นพุ่มไม้ไหวๆไปเป็นแนว ไม่รู้ตัวอะไร  เห็นแต่รอยเท้าแบบนี้ล่ะครับ
       
 

 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: kaew.ratana ที่ 01 ต.ค. 11, 13:34
ที่ยูนนานเพื่อนบ้านเรามีการท่องเที่ยวที่ใช้นกยูงเป็นจุดขายค่ะ มีภาพมาให้ดูระหว่างเจ้าของกระทู้ยังไม่มา...


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: kaew.ratana ที่ 01 ต.ค. 11, 13:44
มีแหล่งท่องเที่ยวที่เลี้ยงนกยูงไว้เป็นฝูง มีอาคารอยู่ติดกับป่าไผ่ พอถึงเวลาให้อาหาร

สาวสวยแต่งชุดพื้นเมืองจะเป่านกหวีด ...สัก 2-3 ครั้ง จะสังเกตว่ามีนกยูงบินออกมาจากป่าไผ่

ทีแรกก็แค่ ตัว สองตัว เป็นการเบิกทาง สักครู่ก็มีเสียงกระพือปีกเบาๆจากมุมโน้น

 มุมนี้ตามมาไม่ขาดสาย เรียกเสียงฮือฮา ตื่นเต้นจากผู้ชมที่ยืนดูด้วยความตื่นตาตื่นใจ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: kaew.ratana ที่ 01 ต.ค. 11, 13:52
ขอโทษที่รูปที่ส่งไปต่อกันเป้นหางว่าวแบบนั้น ความจริงอยากวางเป็น 2 คู่
แต่ยังจัดไม่เป็นค่ะ

มีการเอานกยูงตัวจริงสีขาวสะอากตา กับสีเขียว ที่เลี้ยงดูอย่างดี

ขนและแววหางไม่มีตำหนิเลยมาเกาะที่ฉากเตี้ยๆ ให้คนมาถ่ายรูปด้วย


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: kaew.ratana ที่ 01 ต.ค. 11, 13:57
[img][/imgผู้หญิงก็จะทำเครื่องประดับจากแววหางนกยูง

เรียกว่านกยูงเป็นสัญญลักษณ์ ของเมืองนี้ก็ได้


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: kaew.ratana ที่ 01 ต.ค. 11, 14:09
มีการแสดงระบำนกยูงในภัตตาคาร  หรือการแสดงบนเวทีใหญ่ตระการตา

พิธีกรก็จะแต่งชุดที่ประดับด้วยแววหางนกยูง เหมือนเธอเป็นราชินีนกยูงทีเดียว

เสียดายที่หาภาพเหล่านี้ไม่เจอค่ะ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 11, 18:52
เรื่องเสียงร้องของนกยูงตามที่คุณเพ็ญชมพูได้กรุณาค้นมานั้น ก็คงเป็นเช่นนั้นเมื่อมีการศึกษา เฝ้าดูพฤติกรรม และฟังบ่อยครั้งมากๆเข้า

ส่วนเสียง ตั็กๆ ก..รอกๆ และกอกๆ นั้น ผมว่าเป็นเสียงค่อนข้างปกติสำหรับพวกสัตว์ปีกปากเหมือนไก่ตัวเขื่องๆประเภทที่หากินบนพื้นดิน





กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 11, 19:58
กรณีภาพต้นไม้ของคุณ rin51 นั้น

ผมพิจารณาดูภาพแล้วว่าน่าจะมีทั้งต้นปรงและต้นเป้ง ครับ

ต้นปรงจะมีใบออกสองข้างของก้าน ส่วนเป้งจะมีใบออกทั้งสองข้างและด้านบนและด้านล่างของก้าน ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ต้นปรงจะออกผลที่โคนใบ รองรับโคนใบ ส่วนต้นเป้งจะออกผลอยู่ที่ยอด เหนือโคนใบ (โคนใบหุ้ม) จะถูกผิดอย่างไรท่านผู้มีความรู้ทางพฤษศาสตร์ช่วยด้วยครับ แต่ที่เกือบจะเสมอไป คือ มีมดดำมาอาศัยอยู่เป็นรัง 

เห็นภาพป่าใหญ่แ้ล้วก็ชื่นใจนะครับ สังเกตจากภาพ จะเห็นต้นไม้ที่มีลำต้นสีขาวๆ สูงชะลูด เด่นอยู่ ต้นไม้พวกนี้มักจะเป็นต้นมะค่าโมง บางต้นก็ถูกต้นไทรเกาะขึ้นไปชูกิ่งก้านสาขา ออกผล ทำให้มีนกหลากชนิดมาเกาะมากินผล พวกนกหัวโต (นกกก นกแกง) ชอบกินผลของต้นไทรนี้ บนต้นไทรนี้และบริเวณรอบๆก็มักจะมีนกเขาเปล้ายืนเกาะกิ่งไม้เรียงตัวเป็นแถวบางครั้งถึงประมาณ 10 ตัวที่เดียว เท่าที่เห็นส่วนมากจะไม่น้อยกว่า 5 ตัวขึ้นไป

สำหรับต้นไม้สีขาวนวลสูงชะลูดเป็นต้นตรงอีกอย่างหนึ่งในป่าใหญ่ คือ ต้นขานาง ซึ่งพบไม่มากนัก ผิวเปลือกของต้นไม้นี้จะขาวนวลเหมือนขาของผู้หญิง (เนียนคล้ายถุงน่องสีเนื้อของผู้หญิง) ต้นไม้นี้บ่งบอกถึงป่าที่มีความสมบูรณ์มากๆ

ในภาพจะเห็นต้นไม้สีขาวสูงๆที่เห็นแต่กิ่ง พวกนกกุลุมพู (เหมือนนกพิราบขนาดใหญ่ ขนาดไก่กระทงเลยทีเดียว) จะชอบเกาะอยู่ใกล้ๆยอด

หากได้ยินเสียงชะนีช่วยกันร้องเพลงในช่วงบ่ายๆ ลองเดินเข้าไปในร่องห้วย ก็อาจจจะพบว่ามีค่างกำลังหากินอยู่ในบริเวณนั้น ผมก็ไม่ทราบว่าเพาะเหตุใด ชะนีถึงไม่ชอบค่าง ค่าง..ค่อนข้างจะมีมากในป่าด้านตะวันตกบริเวณรอยต่อระหว่างนครสวรรค์กับกำแพงเพชร (ป่าแม่วงค์และส่วนต้นน้ำของห้วยขาแข้ง ที่เรียกว่าขาแข้งแห้ง) ในหุบเขาเหล่านี้มักจะมีต้นร่มม้า ซึ่งค่างชอบกินผล หากเป็นแหล่งที่ค่างชอบและอยู่มาก เมื่อเดินเข้าไปก็จะได้กลิ่นหอมอบอวลของขี้ค่าง จริงๆนะครับ มันไม่เหม็นเหมือนของสัตว์โลกอื่นๆ ผมคิดว่ามันเป็นปฎิกริยาทางอินทรีย์เคมีเฉพาะกับผลต้นร่มม้า ไม่เชื่อก็ลองไปถามคนเก่าคนแก่ แถวบ้านตลุกข่อยหนาม บ้านนาบ่อดิน บ้านศาลเจ้าไก่ต่อ และหนองเบน จ.นครสวรรค์ ดูครับ (หากมีช่องก็จะได้เล่าขยายความเกี่ยวกับค่างต่อนะครับ)

รู้สึกว่าผมจะมีเรื่องติดค้างเพิ่มขึ้นอีกเรื่องเล้ว       

 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ต.ค. 11, 20:42
ต้นปรงจะมีใบออกสองข้างของก้าน ส่วนเป้งจะมีใบออกทั้งสองข้างและด้านบนและด้านล่างของก้าน ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ต้นปรงจะออกผลที่โคนใบ รองรับโคนใบ ส่วนต้นเป้งจะออกผลอยู่ที่ยอด เหนือโคนใบ (โคนใบหุ้ม) จะถูกผิดอย่างไรท่านผู้มีความรู้ทางพฤษศาสตร์ช่วยด้วยครับ แต่ที่เกือบจะเสมอไป คือ มีมดดำมาอาศัยอยู่เป็นรัง  

รอยอินท่านว่าไว้ดังนี้

เป้ง ชื่อไม้พุ่ม ๓ ชนิดในสกุล Phoenix วงศ์ Palmae ก้านใบมีหนาม คือ

๑. เป้งทะเล Phoenix  paludosa Roxb. ขึ้นตามชายทะเล

(http://www.plantapalm.com/vpe/photos/Species/Pics/phoenix_paludosa.JPG)

๒. เป้งดอย Phoenix  humilis Royle ขึ้นตามป่าดอน

(http://www.desert-tropicals.com/Plants/Arecaceae/Phoenix_humilis.jpg)

๓. เป้งบก หรือ ปุ้มเป้ง Phoenix acaulis Ham. ขึ้นในป่าเต็งรัง

(http://www.desert-tropicals.com/Palm/Phoenix_acaulis.jpg)

 ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 11, 21:32
กรณีภาพรอยสัตว์ของคุณ rin51 นั้น

เมื่อพิจารณาดูจากภาพแล้ว ผมมีความเห็นว่าน่าจะเป็นรอยกวาง

ผมจะลองเล่าความละเอียดที่พึงมีของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าโดยทั่วๆไปเพื่อทราบ จากภาพนี้ ดังนี้

รอยนี้เป็นของสัตว์กีบแน่นอน น่าจะเป็นลักษณะของเท้าหน้าด้านซ้าย เนื่องจากกีบส่วนเล็กอยู่ด้านในและมีรอยดินถูกลากหรือเตะจากเท้าหลังมาปิดทับ เป็นรอยที่ค่อนข้างใหม่ อาจะไม่เกินหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ใหม่เอี่ยมแน่นอน เนื่องจากโคลนที่ติดอยู่กับเศษไม้ที่วางพาดรอยนั้นเริ่มแห้ง (เปลี่ยนสี) เป็นลักษณะของการเดินอย่างไม่รีบเร่งหรือกระโดด กระโจน เนื่องจากรอยเท้าไม่พุ้ยดินไปด้านหลัง และน่าจะเป็นกำลังเดินขึ้นเนินดินต่างระดับเล็กน้อย เมื่อดูขนาดเทียบกับใบไผ่ที่อยู่ด้านขวาของรอยแล้ว น่าจะเป็นกวาง และคาดว่าน่าจะยังไม่โตเต็มวัย แต่ก็น่าจะมีเขาพอสมควรเนื่องจากมีรอยเท้าจิกไปด้านหน้า (ด้วยน้ำหนักของเขา) รอยเท้ากวางเป็นลักษณะแบบนี้ รอยเท้ากระทิงจะมนคล้ายควายและจมลึกในดินเนื่องจากน้ำหนักมาก รอยเท้าหมูจะออกรีกว่านี้ ส่วนรอยเท้าเก้งจะรียาว เล็กและเบากว่านี้ รอยเท้ากระจงจะเหมือนเก้งแต่รอยเบามากเพราะตัวเล็ก จะเป็นไปได้มากที่สุดก็เป็นของสัตว์อยู่สองชนิด คือกวางหรือกระทิงขนาดไม่โตเต็มวัย

เอาละครับ คราวนี้ก็ตามรอยได้ไม่ยาก หากพบลักษณะแบบนี้ คิดว่าน่าจะเดินตามได้ทันในเวลาสูงสุดไม่เกินชั่วโมงครึ่ง แต่อย่าล่าเขาเลย ตามไปชมเขาดีกว่านะครับ  




กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 09:19
กรณีภาพรอยสัตว์ของคุณ rin51 นั้น

เมื่อพิจารณาดูจากภาพแล้ว ผมมีความเห็นว่าน่าจะเป็นรอยกวาง

ผมจะลองเล่าความละเอียดที่พึงมีของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าโดยทั่วๆไปเพื่อทราบ จากภาพนี้ ดังนี้

รอยนี้เป็นของสัตว์กีบแน่นอน น่าจะเป็นลักษณะของเท้าหน้าด้านซ้าย เนื่องจากกีบส่วนเล็กอยู่ด้านในและมีรอยดินถูกลากหรือเตะจากเท้าหลังมาปิดทับ เป็นรอยที่ค่อนข้างใหม่ อาจะไม่เกินหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ใหม่เอี่ยมแน่นอน เนื่องจากโคลนที่ติดอยู่กับเศษไม้ที่วางพาดรอยนั้นเริ่มแห้ง (เปลี่ยนสี) เป็นลักษณะของการเดินอย่างไม่รีบเร่งหรือกระโดด กระโจน เนื่องจากรอยเท้าไม่พุ้ยดินไปด้านหลัง และน่าจะเป็นกำลังเดินขึ้นเนินดินต่างระดับเล็กน้อย เมื่อดูขนาดเทียบกับใบไผ่ที่อยู่ด้านขวาของรอยแล้ว น่าจะเป็นกวาง และคาดว่าน่าจะยังไม่โตเต็มวัย แต่ก็น่าจะมีเขาพอสมควรเนื่องจากมีรอยเท้าจิกไปด้านหน้า (ด้วยน้ำหนักของเขา) รอยเท้ากวางเป็นลักษณะแบบนี้ รอยเท้ากระทิงจะมนคล้ายควายและจมลึกในดินเนื่องจากน้ำหนักมาก รอยเท้าหมูจะออกรีกว่านี้ ส่วนรอยเท้าเก้งจะรียาว เล็กและเบากว่านี้ รอยเท้ากระจงจะเหมือนเก้งแต่รอยเบามากเพราะตัวเล็ก จะเป็นไปได้มากที่สุดก็เป็นของสัตว์อยู่สองชนิด คือกวางหรือกระทิงขนาดไม่โตเต็มวัย

เอาละครับ คราวนี้ก็ตามรอยได้ไม่ยาก หากพบลักษณะแบบนี้ คิดว่าน่าจะเดินตามได้ทันในเวลาสูงสุดไม่เกินชั่วโมงครึ่ง แต่อย่าล่าเขาเลย ตามไปชมเขาดีกว่านะครับ  

(http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/DSC_0591.jpg)

๑. รอยเท้ากวาง


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 09:35
๒. รอยเท้ากระทิง


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 09:47
๓. รอยเท้าควาย


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 09:55
๔. รอยเท้าหมูป่า


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 10:11
๕. รอยเท้าเก้ง


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 10:20
๖. รอยเท้ากระจง


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 11, 11:30
ตามรูปรอยเท้าสัตว์ที่คุณเพ็ญชมพูได้กรุณาค้น นำมาลงนั้น

ตกลงว่าเมื่อเทียบกับภาพแล้ว ดูน่าจะเป็นของกระทิงมากกว่า ที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นกวางก็เพราะกีบทางด้านขวามันเล็ก เป็นรอยลึกคม มีผนังดินชัน ชัดเจนมากกว่ารอยกีบด้านซ้ายซึ่งผนังดินเหมือนกับปลิ้นออกไป
ตามปกติแล้ว เมื่อพิจารณารอยเท้าสัตว์ในป่า จะดูอีก 2-3 รอยประกอบกันเพื่อเป็นการยืนยันครับ

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งระหว่างของจริงที่พบในธรรมชาติกับของที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ ในความเป็นจริงแล้วพรานและชาวบ้านป่ามักจะไม่ได้พิจารณารอยเท้าอย่างละเอียด แต่ได้ใช้องค์ประกอบอื่นๆมาพิจารณาบอกว่าเป็นรอยอะไร ซึ่งได้แก่ลักษณะของป่าว่าควรจะมีสัตว์อะไรอาศัยอยู่หรือเดินผ่านในพื้นที่นั้นๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่จะถกกันเสมอเมื่อพบรอยเท้า รอยเท้าที่พบในโป่งยิ่งสนุกครับเพราะมีคละกันไปหมด 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 04 ต.ค. 11, 14:03
ขอบพระคุณรูปรอยเท้าสัตว์ต่างๆ จากคุณ เพ็ญขมพู มากครับ
ทำให้ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่ม   ถ้ารอยเท้าที่เห็นเป็นกระทิง จริงๆ โชคดีที่ผมไม่ไได้เดินตามเข้าไปดู (มีหวังโดนขวิด ไส้ไหลแน่ๆ)  และโชคดีที่ป่าผืนนี้ได้เป็นที่อาศัยของสัตว์อนุรักษ์ประเภทนี้ 

ครั้งที่ยังอยู่ในเขตไทรโยค  ได้พบเห็นการซื้อขายสัตว์ป่า อยู่บ่อยมาก เขากระทิงก็เป็นหนึ่งในของหายากและมีราคาแพง  เคยมีคนมาขายให้ราคา 7000 เป็นเขากระทิงจริงๆ ไม่ใช่เขาไฟเบอร์ที่หลอกนักท่องเที่ยว แต่ผมไม่นิยมสะสมสิ่งเหล่านี้ พลางคิดในใจอยู่ว่าสักวันสัตว์เหล่านี้คงจะสูญพันธ์อย่างแน่นอน

เคยเข้าไปดู โป่งจริงตามธรรมชาติมาเหมือนกัน รอยเท้าสัตว์สับสนมากจริงๆ
พักหลังไม่มีโอกาศ ไปดูของจริงอีก แต่ก็ยังได้ทำ โป่งเทียมร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้   รู้สึกเป็นสุขทุกครั้งที่คืนสู่ป่า ครับ

  หมายเหตุ...ต้นขานางที่เห็นเป็นต้นขาวๆ เวลาอยู่ในป่า ที่คุณ naitang กล่าวไว้เวลาส่องไฟโดนต้นไม้ทีไร ทำเอาตกใจเหมือนกันครับ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 16:21
ขอบพระคุณรูปรอยเท้าสัตว์ต่างๆ จากคุณ เพ็ญขมพู มากครับ
ทำให้ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่ม   ถ้ารอยเท้าที่เห็นเป็นกระทิง จริงๆ โชคดีที่ผมไม่ไได้เดินตามเข้าไปดู (มีหวังโดนขวิด ไส้ไหลแน่ๆ)  และโชคดีที่ป่าผืนนี้ได้เป็นที่อาศัยของสัตว์อนุรักษ์ประเภทนี้ 


กระทิงที่ทุ่งใหญ่นเรศวรนี่แหละเป็นปฐมบทแห่งเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%A1)

 ;D



กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 06 ต.ค. 11, 08:38
...ใช่แล้วครับ  ปฐมเหตุ 14 ตุลาคม 2516  ก็เพราะซากกระทิง ในเฮลิคอปเตอร์ ที่ตกที่ นครปฐม นั่นเอง

    กระทิงสัตว์ป่าอนุรักษ์..ยังคงมีให้เห็นอีกหลายๆที่ในเขตป่าอนุรักษ์  แต่ที่ๆเห็นได้อย่างชัดเจน น่าจะเป็นที่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา นะครับ




กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 11, 13:06
ผมอยู่ในพื้นที่ทำงานแถบนั้นพอดีในช่วงเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก กำลังทำงานสำรวจอยู่แถวๆห้วยบ้านเก่า บ้านพุเตย สองท่อ และลำเขางู สำหรับบ้านพุเตยนี้ ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านภูเตย บริเวณบ้านนี้มีพุน้ำซับ แล้วก็มีเขาหินปูนลูกเล็กๆโดดๆอยู่ลูกหนึ่งที่มีต้นเตยผาเกิดอยู่ จะเรียกชื่ออย่างไรก็คงไม่ผิด แต่ไปเปลี่ยนชื่อจากที่เขารู้จักกันแต่เดิมนั้น ผมคิดว่าไม่ค่อยจะสมควร ที่เขาเรียกพุเตยนั้นก็เพราะชาวบ้านเขาให้ความสำคัญกับความเป็นแอ่ง เป็นที่ราบเล็กๆ เป็นแหล่งน้ำซับสำหรับการเดินทาง ไปใช้ชื่อภูเตยเลยไปแสดงถึงความเป็นพื้นที่ภูเขา มีความแห้ง และเดินทางลำบาก ให้ภาพที่แตกต่างกันมาก

เพื่อให้ได้รับทราบรายละเอียดเล็กๆน้อยๆประกอบเรื่อง จะขอเล่าเสริมเรื่องดังนี้ครับ

ก่อนที่จะเกิดเรื่อง ในขณะที่กำลังเตรียมสะเบียงอาหารอยู่ในเมืองกาญจนบุรี และไปบรรทุกของเตรียมตัวเดินทางที่บ้านลาดหญ้า ก็ได้เห็นรถทหารขนถังน้ำมันขนาดสองร้อยลิตร วิ่งอยู่แถวถนนหน้าค่ายกองพล 9  ดูไม่ใช่เรื่องปกติเท่าใดนักเพราะไม่เคยเห็น แต่ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร พอเข้าไปทำงานในพื้นที่ก็ได้ทราบว่ามีรถเข้าไปทุ่งใหญ่หลายคัน ก็รู้สึกแปลกใจ คิดว่าคงจะเป็นขบวนล่าสัตว์ของคนกรุงเทพฯ และคงจะต้องเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจพอสมควร เพราะเหมืองแร่เขาห้ามผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไปใช้ทางของเหมืองและยังมีการตั้งด่านไว้ที่บริเวณที่ชาวเหมืองเรียกว่าช่องแคบศรีสวัสดิ์และที่คลิตี้ต้นเส้นทางเข้าสู่ทุ่งใหญ่อีกด้วย พอได้ฟังวิทยุว่าเครื่องเฮลิคอปเตอร์ตกพร้อมรายงานต่างๆ ก็นึกออกในทันทีและสามารถต่อภาพได้อย่างชัดเจน

ขอเว้นวักไปทำธุระสักหน่อยก่อนครับ 

 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 11, 17:23
ต่อครับ
ผมรู้สึกในขณะนั้นว่าเหตุการณ์จะไม่ค่อยดี เพราะเราเป็นส่วนราชการใช้รถราชการ อาจจะถูกลากเข้าไปเกี่ยวพันได้ ก็เลยรีบออกจากป่า วิ่งออกมายังไม่ทันจะถึงช่องแคบศรีสวัสดิ์เลย ก็สวนกับรถบรรทุกของทหาร 2 คัน มีคนนั่งอยู่เต็ม สักพักก็ตามมาด้วยรถของกรมป่าไม้ มีนักเขียนของหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั่งมาด้วย ช่วงนั้นผมกำลังจอดรถหาชิ้นส่วนของเพลากว้าน (Winch) ที่หลุดตกหายไป
คำถามแรกของนักหนังสือพิมพ์ท่านนั้นก็คือ เข้ามาทำอะไร เข้ามาล่าสัตว์หรือเปล่า ผมก็อธิบายไปว่ามาทำอะไร แต่ดูท่าทางแล้วเหมือนจะไม่ค่อยเชื่อ ซักใหญ่เลยว่า มาทำงานแล้วทำไมถึงมีปืนด้วย ผมก็ตอบไปว่ามีไว้ป้องกันสัตว์ร้าย เป็นปืนของหลวงอีกด้วย ยิงไปแล้วก็ต้องเก็บปลอกกระสุนคืนและทำรายงานด้วย ไม่ใช่เรื่องสนุกเลยที่จะไปเที่ยวล่าสัตว์ ในตอนนั้นผมนึกอย่างไรไม่ทราบก็เลยกลับรถย้อนกลับเพื่อไปหาชิ้นส่วนที่หลุดอยู่ตามทาง
ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝนเริ่มตกแล้วและทางบางส่วนก็แย่มากๆ แต่ในที่สุดก็ไปทันรถทหารทั้งสองคันเิพิ่งจะรอดจากการติดหล่มแถวๆบ้านพุเตย ส่วนรถของกรมป่าไม้นั้นแซงล่วงหน้าไปแล้ว พลขับของรถทหารไม่เคยมาในเส้นทางนี้ก็ถามผมถึงสภาพของเส้นทางข้างหน้า เพื่อประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า แล้วก็ทำให้ผมทราบว่าบนรถทหารนั้นมีนักศึกษา และมีนายพรานใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนั่งอยู่ด้านหน้ารถด้วย
รถทหารก็ติดหล่ม รถผมก็ติดหล่ม ช่วยกันดึงช่วยกันกระชากลากกันไป จนเริ่มมืด ท่านพรานใหญ่ผู้นั้นดูจะไม่ค่อยพอใจ หาว่ารถผมมาถ่วงการเดินทาง ทั้งๆทีผมช่วยแก้ไขปัญหาให้กับรถทหารหลายครั้ง ทหารก็ไม่ฟังเพราะต้องการเพื่อนเดินทางที่รู้จักพื้นที่ ในที่สุดก็ถึงเหมืองคลิตี้ตอนประมาณสัก 3 ทุ่ม ก็หุงหาอาหารกินกัน ผมได้มีโอกาสร่วมวงสนทนากับนายพรานใหญ่ด้วย แล้วก็ต้องทึ่งมากเพราะข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสัตว์หลายอย่างที่พรานใหญ่เล่าให้ฟังในวงนั้น ขัดกับของจริงที่ผมประสบมาและของชาวบ้านด้วย ผมแย้งไปสองสามเรื่องแล้วก็หลบฉากไปนอนดีกว่า
รุ่งขึ้นก็เข้าสู่ทุ่งใหญ่ ถึงตอนบ่ายต้นๆ จากนั้นก็โกลาหลเลยครับ ไม่ทราบเป็นความคิดของใคร บรรดาผู้ใหญ่และนักศึกษาบางคนก็ได้ใช้บริการรถของป่าไม้วิ่งปุเลงไปดูสัตว์ที่โป่ง วิ่งไปโป่งนั้นที โป่งนี้ที แดดขนาดนั้นจะมีสัตว์อะไรไปลงโป่งครับ แล้วก็นัดกันอีกว่าพอประมาณ 2-3 ทุ่มก็จะออกไปส่องสัตว์กัน ช่วงนั้นเดือนหงาย พระจันทร์สว่างโร่เลย สัตว์มันคงไม่ออกมาเดินหรอกครับ ต้องรอให้พระจันทร์ตก มืดแสงเสียก่อนถึงค่อยไปส่อง ผมติดตามด้วยความรู้สึกประหลาด แล้วก็ตัดสินใจว่าผมคงจะไม่ได้ทำงาน กลับดีกว่า เพราะด้วยคำพูด ด้วยคำถาม เหมือนถูกเฝ้าดูและแคลงใจอยู่ว่าผมก็คงแอบเอาสมบัติหลวงไปหาความสุขกับการเที่ยวป่าล่าสัตว์ นอนอยู่คืนเดียวก็กลับเลยครับ ก็ยังนึกขุ่นเคืองอยู่ในใจว่า เที่ยวมาว่าแต่เราไม่ย้อนนึกดูตัวเองที่ก็ใช้ของหลวง เขาก็กลับมาออกมาในวันเดียวกับผม พบกันที่ห้วยปะชิ เพราะรถของผมกำลังติดหล่มขึ้นห้วยไม่ได้ กำลังหาทางแก้ไข รถทหารจึงช่วยดึงขึ้นแล้วก็ลาจากกันไป ผมก็เลยทำงานตามเส้นทางต่อไป แล้วน้ำมันก็ไปหมดก่อนจะเข้าบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ นอนอยู่คืนหนึ่ง อาหารก็ไม่มีแล้ว แล้วค่อยเล่าประสบการณ์นี้เมื่อโอกาสมาถึงนะครับ

หลังจากเหตุการณ์ทุ่งใหญ่นี้ ก็เกิดด่านของกรมป่าไม้ที่เข้มงวดห้ามทุกคนเข้าออกผ่านทุ่งใหญ่ ก็เกิดการกินแหนงแคลงใจกันกับคนเหมืองซึ่งเป็นผู้ทำเส้นทางนี้และใช้เส้นทางนี้มานานมากแล้ว อีกทั้งยังมีกฎเข้มห้ามยิงสัตว์ตลอดเส้นทางอีกด้วย หากเหมืองเขาไม่ห้ามและเข้มงวดกับเส้นทางนี้มาก่อน สัตว์ก็คงจะไม่เหลือให้เห็นอย่างมากมาย
ผลที่ตามมาของความเข้มงวดนี้ ก็คือป๋าถูกตัดจากโลกภายนอก ผกค.จากเดิมที่ไม่มี ก็เข้ามาอยู่อย่างสบายแฮ ขยายลงมาจากทางอุ้มผาง ลงมาปะละทะ ม่องควะ แม่จันทะ เลตองคุ แถมมีคนเฝ้าปากทางด้านใต้ให้ด้วย ทราบว่านักศึกษาหลายคนที่เข้าป่าก็มาอยู่ในพื้นที่นี้ ผมเคยเห็นบ้านพัก หลุมขวาก กับดัก และความสะบายที่พึงมีค่อนข้างจะดี           

 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 11, 19:12
เห็นรูปหน้าปกหนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่เป็นรูปของช้างตายทั้งตัว ใบบัวปิดไม่มิด ก็เลยของเข้าเรื่องช้างนะครับ

ช้างเป็นสัตว์น่ารักมาก ในขณะเดียวกันก็น่ากลัวมากเช่นกัน

ผมใช้ช้างในการทำงานในป่า ไม่ใช่ใช้ขี่หรือนั่งนะครับ แต่ใช้บรรทุกสัมภาระในระหว่างเดินทำงาน คนในคณะมาจากเมืองก็มี 3 คน (ผม ผู้ช่วย และคนขับรถ) จ้างช้าง 2 ตัว จ้างชาวบ้านระหว่าง 2-4 คน 
งานของผมคือการสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยา ข้อมูลที่สำคัญ ก็คือ ตัวหิน ลักษณะการวางตัวและความสัมพันธ์ระหว่างหินต่างชนิด ดังนั้น สถานที่ๆพบหินโผล่มากที่สุดก็คือในห้วย งานส่วนมากจึงเป็นการเดินอยู่ในห้วย จะเดินขึ้นเขาพิชิตยอดดอยก็เฉพาะเมื่อมีความจำเป็น ลักษณะงานทำให้เกือบจะไม่มีการตั้ง Base camp ดังนั้นจึงเป็นการเดินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ค่ำใหนนอนนั่น จะพยายามไม่เดินย้อนกลับทางเดิม และจะพยายามเดินตัดแนวการวางตัวของหินให้ได้มากที่สุด ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาประมวลแล้วจัดทำเป็นแผนที่
ผมพบว่าระยะเวลาที่ทำงานอยู่ในป่าลักษณะนี้ ครั้งละประมาณ 20 วันกำลังดี ด้วยองค์ประกอบหลายประการ ที่สำคัญ คือ เครื่องอาหารแห้งหมดพอดี (กะปิ หอม กระเทียม พริก เกลือ น้ำปลา ฯลฯ) ข้าวสารประมาณ 5-7 วันต่อถัง (ที่เหลือหาซื้อจากชาวบ้านป่า ซึ่งจะพบประปราย) น้ำมันตะเกียงหมดพอดี เหนื่อยล้าพอดี เดินเป็นวงรอบได้ข้อมูลมากกำลังพอดีที่จะใช้ในการวางแผนเดินในพื้นที่อื่นครั้งต่อไป และได้ตัวอย่างหินที่หนักกำลังพอดี

ผมใช้ช้าง 2 ตัว ตัวหนึ่งบรรทุกพวกเครื่องครัว (ของแห้ง กะทะ จาน ฯลฯ) อีกตัวหนึ่งบรรทุกเรื่องเครื่องนอน (Sleeping bag เสื้อผ้า ฯลฯ) ได้เล่ามาแล้วนะครับว่าผมไม่ใช้เต๊นท์ แต่ใช้ผ้าเต็นท์สามผืน (ทำหลังคา ปูนอน ปูนั่ง) นอนรวมกัน นั่งรวมกัน

ช้างเป็นสัตว์ที่มีน้ำหนักมาก สามารถดึง ลากน้ำหนักได้หลายตัน แต่บรรทุกของได้ไม่มาก อาจจะได้ถึง 200 กก.ในระยะเวลาสั้นๆ แต่หากใช้บรรทุกเดินทุกวันๆละหลายชั่วโมง น้ำหนักบรรทุกที่ไม่มากเกินไปก็คือประมาณ 100 กก. (ข้าวสารกระสอบเดียว) มิฉะนั้นหลังจะเสีย ผมให้ช้างเดินตั้งแต่ประมาณ 8 โมงเช้าถึงประมาณบ่าย 3 โมงเย็น ไม่เกินนั้น ซึ่งหมายความว่าช้างจะไม่ได้กินอาหารอย่างเป็นเรื่องเป็นราวประมาณ 7-8 ชม. พอเอาของลงเสร็จ ควาญช้างก็จะรีบเอาช้างไปปล่อยในป่า เืพื่อให้กินอาหาร ตำแหน่งที่ผมเลือกพักนอนจึงต้องมีความสัมพันธุ์กับบริเวณที่มีอาหารของช้างด้วย เมื่อหลายวันเข้าและมีโอกาสพบดงกล้วยป่า ก็จะพักในบริเวณใกล้ๆนั้นทันที ตำแหน่งที่พักแรมที่เรานอนก็จะต้องมีแอ่งน้ำ เพื่ออาบน้ำช้างในตอนเช้าก่อนจะใส่แหย่ง มิฉะนั้นดินทรายก็จะกัดผิวหนังช้าง ตัวช้างก็จะสกปรกอีกด้วย

ที่เล่ามานี้เป็นอารัมภบทนะครับ เืพื่อที่จะได้เล่าถึงความน่ารักและน่ากลัวของช้างบ้านและช้างป่าต่อไป   
       


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ต.ค. 11, 19:56
ขออนุญาตต่อเรื่องพรานล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเศวรก่อน

บทกวีจากหนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ต.ค. 11, 20:06
ต่อด้วยเรื่อง ช้าง

กำเนิดช้างแต่ดั้งเดิมเริ่มที่ป่า
ถูกจับมาฝึกหัดดัดนิสัย
จนเก่งกล้าสามารถอาจเกรียงไกร
สันดานไพรยังมีเหลือเมื่อ "ตกมัน"

เขียนไว้ประมาณมัธยมปลาย

 ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 07 ต.ค. 11, 08:21
ไปค้นเจอมมา.เลยนำภาพมาฝาก ครับ

                    (http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/Tungyai2516.jpg)


   ยังรอฟังเรื่องราวในป่าอยู่ตลอด ครับ   


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 11, 19:55
ขอเริ่มด้วยด้านความน่ารักของช้างก่อนนะครับ แล้วค่อยสลับเรื่อง

ตามที่เล่าว่า ผมได้ว่าจ้างใช้ช้างสองตัวในการทำงาน ได้ตัวหนึ่งเป็นตัวเมีย อีกตัวหนึ่งเป็นตัวผู้ ตัวเมียมีอายุมากว่าตัวผู้

 (((เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เมื่อใดเราจะนับช้างเป็น "เชือก" เมื่อใดจะนับเป็น "ตัว" หรือใช้ได้แต่ เชือก หรือเมื่อได้ฝึกและใช้งานได้แล้วจึงนับเป็น..เชือก ??? และนับช้างป่าว่าเป็น..ตัว ??? พรานยิงช้างป่าตายนับเป็นจำนวน..ตัว แต่ช้างที่ตายในระว่างการจับเพื่อมาฝึกนับเป็นจำนวน..เชือกหรือนับเป็นตัว ??? แถมยังมีศัพท์เรียกช้างเพศผู้ว่า "พลาย" และเรียกช้างเพศเมียว่า "พัง")))
   
ผมขอใช้การนับจำนวนเป็น ตัว และใช้คำว่า ตัวผู้และตัวเมีย ในการเล่าเรื่องต่อๆไปนะครับ

เมื่อบรรทุกของเสร็จ ออกเดิน เอาช้างตัวผู้เดินนำ ไม่ไปใหนไกลเลยครับ ช้างตัวผู้จะคอยเหลียวหลังกลับมาดูช้างตัวเมีย เดินช้าอิดออด ในที่สุดควาญช้างก็พบว่าต้องเอาช้างตัวเมียเดินนำ คราวนี้ก็เป็นเรื่องสุนทรีย์ละซิครับ ช้างตัวผู้จะพยายามเดินตามอย่างชิดใกล้ ตามติดต้อยๆ คอยใช้งวงดมก้น ใช้งวงล้วงลอดใต้ขา บางที่พอมีจังหวะให้เดินเคียง ก็ใช้งวงล้วงไปจับนมช้างตัวเมียเล่น ช้างตัวเมียก็ต้องคอยพะวง เมื่อรู้สึกทนไม่ได้ก็หันมามองหรือฝึดฝัดเพื่อปราม พอถึงจุดที่ต้องหยุดเพื่อควาญต้องตัดกิ่งไม้ที่ระกับแหย่ง ตังผู้ก็จะได้ที แหย่มากขึ้น เป็นภาพที่น่ารักน่าเอ็นดูมากใช่ใหมครับ

ผมมีวิทยุธานินท์ ควาญช้างขอเปิดฟังระหว่างเดิน นั่งอยู่บนคอช้าง มันเป็นอะไรที่ทุกคนมีความสุขมากๆ ผมมิได้โฆษณาให้นะครับ แต่วิทยุธานินท์ดังทุกแห่งหน นี่แหละฝีมือคนไทยแท้ๆ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ต.ค. 11, 22:31
(((เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เมื่อใดเราจะนับช้างเป็น "เชือก" เมื่อใดจะนับเป็น "ตัว" หรือใช้ได้แต่ เชือก หรือเมื่อได้ฝึกและใช้งานได้แล้วจึงนับเป็น..เชือก ??? และนับช้างป่าว่าเป็น..ตัว ??? พรานยิงช้างป่าตายนับเป็นจำนวน..ตัว แต่ช้างที่ตายในระว่างการจับเพื่อมาฝึกนับเป็นจำนวน..เชือกหรือนับเป็นตัว ??? แถมยังมีศัพท์เรียกช้างเพศผู้ว่า "พลาย" และเรียกช้างเพศเมียว่า "พัง")))

รอยอิน  (http://www.royin.go.th/th/profile/index.php?PageNo=6&PageShow=362&SystemModuleKey=265) ท่านว่าไว้เรื่องลักษณนามของช้าง

ช้างป่า         -   ตัว

ช้างบ้าน        -  เชือก

ช้างขึ้นระวาง   -  ช้าง

ขึ้นระวาง รอยอินท่านอธิบายเพิ่มเติมว่าหมายถึงเข้าทําเนียบ, เข้าประจําการ, (ใช้แก่พาหนะของหลวง คือ ม้า ช้าง รถ และเรือ).

ต่อด้วยเรื่อง ช้าง

กำเนิดช้างแต่ดั้งเดิมเริ่มที่ป่า
ถูกจับมาฝึกหัดดัดนิสัย
จนเก่งกล้าสามารถอาจเกรียงไกร
สันดานไพรยังมีเหลือเมื่อ "ตกมัน"

เขียนไว้ประมาณมัธยมปลาย

กลอนนี้เขียนบรรยายภาพช้างศึก

กำเนิดช้างแต่ดั้งเดิมเริ่มที่ป่า  ตอนนี้เรียกช้างว่า "ตัว"   ถูกจับมาฝึกหัดดัดนิสัย เรียกว่า "เชือก" (เรียกตามอุปกรณ์การจับช้าง) จนเก่งกล้าสามารถอาจเกรียงไกร เป็นช้างศึกก็ต้องขึ้นระวางแล้ว เรียกว่า "ช้าง"  สันดานไพรยังมีเหลือเมื่อ "ตกมัน" ไม่ว่าจะเป็น ตัว, เชือก หรือช้าง ก็ยังคงเป็นคงเป็นช้างอยู่นั่นเอง

 ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 11, 22:43
ครับผม  ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 11, 19:28
กล่าวถึงช้างตกมัน ก็มีเรื่องเล่าครับ

ที่เคยได้ฟังจากการเล่าโดยทั่วๆไป ช้างตกมันเป็นช้างตัวผู้ที่ต้องการผสมพันธุ์ แต่เคยอ่านพบว่ามันอาจจะไม่เกี่ยวกันเลย ช้างตัวเมียก็ตกมันได้เหมือนกัน อาการหลักของการตกมันก็คือ ความฉุนเฉียวก้าวร้าว เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด เห็นช้างตัวเท่ามด (ไม่ทราบว่าจะมีคำพังเพยอะไรที่ดีกว่านี้ครับ) ชนดะ เหยียบดะ ผมเคยเห็นอยู่สองสามครั้ง คุยกับเจ้าของและควาญช้าง เขาก็บอกว่า การตกมันนั้นใม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และแม้จะไม่ตกมัน มันก็มีการผสมพันธุ์กันตามปกติ

ครั้งหนึ่งกำลังนั่งรถเข้าไปทำงาน ทราบมาล่วงหน้าแล้วว่ามีช้างที่เขาใช้ทำงานลากไม้ตัวหนึ่งกำลังตกมัน เขาให้ระวังด้วย ตามปกติเจ้าของหรือควาญช้างเขาจะล่ามโซ่ไว้อย่างแน่นหนา และตีปลอกด้วย (ผูกข้อเท้าทั้งคู่หน้าและคู่หลังเพื่อไม่ให้สามารถเดินไปได้เร็วหรือวิ่งได้ ในกรณีที่หลุดจากการล่าม) วันนั้น รถของผมกำลังหยอดหลุมข้ามห้วยเล็กๆ รถช้าจนเกือบจะหยุด พลันก็หันไปเห็นหัวช้างโผล่มาจากพุ่มไม้ทางด้านคนขับรถ อาการตกใจที่เรียกว่า หัวใจตกไปอยู่หัวแม่ตีน (ขอประทานโทษที่เป็นคำไม่สุภาพ ใช้เพียงเพื่อให้ได้อรรถรส) ก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสัญชาติญาณของการหนีเอาตัวรอด ก็ร้องสั่งคนขับรถในทันที่ว่า เหยียบ คือ สั่งให้เหยียบคันเร่งเพื่อเร่งความเร็วรถ ฝ่ายคนขับก็ไม่ทราบและไม่เห็นช้าง มัวแต่พะวงในการขับรถไปข้างหน้า แทนที่จะเร่งเครื่องก็หันมามองหน้าผม และโดยที่ทำงานเป็นคู่หูด้วยกันมานานก็ทราบว่าคงมีอะไร หันไปทางขวา เห็นช้างเข้าก็ตกใจเหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถเร่งเครื่องรถให้เคลื่อนที่ไปได้เร็ว เนื่องจากว่าล้อหน้ากำลังหยอดลงหลุมพอดี นึกเอาเองนะครับว่าอาการของการตกใจจะเป็นอย่างไร โชคดีครับ ที่ช้างก็คงตกใจเหมือนกัน เลยยืนหยุดนิ่งมองดู พอรถพ้นหลุมก็โกยเลยครับ แต่ไม่ได้เร็วสักเท่าไรหรอก เพราะทางรถในป่าไม่อำนวยให้ เรียกว่าหากช้างคิดจะลุยละก็ คงไม่ต้องวิ่งไล่มากมายอะไรเลย

ขับเลยเข้าไปอีกไม่นานก็พบรถลากซุงที่เรียกกันว่ารถจี๊บใหญ่ (รถ Chevrolet หน้าตัดสูงโย่ง สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เหลือแต่หน้าตาว่าเป็นของเดิม เครื่องในทั้งหมดเป็นของใหม่ลูกผสมไปทั้งหมดแล้ว) เห็นหน้าหม้อรถพังยับเยิน ก็หยุดคุยกันเผื่อจะช่วยเหลือกันได้บ้างตามธรรมเนียมของคนเข้าป่า ได้ทราบว่า เมื่อตอนบ่ายวันวานที่ผ่านมานี้เอง ขณะที่กำลังผูกรัดซุงเพื่อชักลาก ก็มีเจ้าช้างตกมันตัวนี้ เกิดมาพบเข้า ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมเลย วิ่งชนหน้าหม้อรถเลย คนก็แตกระเจิง กลับมาก็พบว่าหน้าหม้อรถยุบ หม้อน้ำแตก ต้องรอซ่อมก่อนจึงจะออกไปได้ ก็โชคดีที่ช้างมันพิศวาศหน้ารถ หากชนด้านข้าง รถก็คงต้องพลิก ซุงก็ต้องหล่นระเนระนาด ผมโชคดีที่รอดมา ปรากฎเรื่องราวว่า ตอนที่ช้างตัวนี้เริ่มจะตกมัน เจ้าของไม่ได้สังเกต จึงผูกล่ามไว้ตามปกติ ด้วยแรงมหาศาลช้างก็สามารถกระชากโซ่ขาดและเป็นอิสระได้ ช่วงนั้นทุกคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่นั้นอยู่อย่างไม่ค่อยจะปกติสุขเท่าใดนัก จนกว่าเขาจะจับช้างได้และล่ามมันไว้

ผมก็ได้ความรู้จากพวกควาญช้างว่า การจับช้างตกมันนั้น เขาจะต้องใช้หมอช้างและใช้คาถาอาคม วิธีการก็คือ เขาจะไปหาไม้ชนิดหนึ่ง นำมาทำเป็นลูกดอก ยิงเข้าไปที่โคนขาหลัง ไม้นี้จะขยายตัว ทำให้เกิดอาการเจ็บมาก ช้างเดินไม่ได้สะดวกและไม่ว่องไว จึงสามารถจะเข้าไปล่ามโซ่และตีปลอกได้ แผลนั้นจะหายเอง และก็จะล่ามช้างใว้จนหายอาการตกมัน ไม่มีการทรมานด้วยการให้อดอาหารและน้ำนะครับ   
       

 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 18, 18:00
เหตุเกิดที่ทุ่งใหญ่นเรศวร

พ.ศ. ๒๕๑๖  ฆ่ากระทิง
กระทิงที่ทุ่งใหญ่นเรศวรนี่แหละเป็นปฐมบทแห่งเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ (http://oknation.nationtv.tv/blog/alone-win/2008/10/15/entry-1)

พ.ศ. ๒๕๖๑ ฆ่าเสือดำ เจ้าหน้าที่จับนายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัทอิตาเลียนไทย เข้าป่าแอบล่าเสือดำ ถลกหนัง แหล่งข่าวระบุเข้าในจุดห้ามเข้า แต่เป็นแขกของกรมอุทยานฯ

https://news.thaipbs.or.th/content/269968

ฤๅประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย  ;)


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 ก.พ. 18, 18:07
ซ้ำรอยไหนครับ ถ้าซ้ำรอยว่าเป็นชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองผมว่าคงไม่ แต่ถ้าซ้ำรอยแบบลูกกระทิงแดง ว่าวิถีมหาเศรษฐีย่อมอยู่เหนือระบบกฎหมายไทย อันนี้ผมว่าเป็นไปได้ เพราะข่าวออกมาชักจะเป็นยังงั้นแล้ว


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 18, 18:57
Just wait and see.


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 18, 19:19
 :(


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 ก.พ. 18, 20:47
วันนี้กลายเป็นข่าวดังทุกสื่อไปแล้ว ว่าแต่ประเทศไทยมีเสือดาวไหมครับ หรือมีแต่ดำมักกะสัน


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 18, 21:37
คุณ superboy คงจะหมายความว่า ประเทศไทย เหลือ เสือดาวบ้างไหม ใช่ไหมคะ
รอคุณตั้งมาตอบค่ะ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 18, 18:26
เกือบจะลืมกระทู้นี้ไปเลยครับ แถมยังเป็นแบบเล่าความไม่สุดอีกด้วย ก็ต้องขออภัยจริงๆครับ สาเหตุก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องมีความกังวล


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 18, 20:13
ผมไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ป่าผืนนี้มานานมากแล้ว ป่าคงจะเปลี่ยนไปเยอะมาก ซึ่งเป็นได้ทั้งในแบบเป็นป่าโปร่งขึ้น หรือแบบเป็นป่าทึบมากขึ้น (ทั้งในรูปของผลจากเรือนยอดของไม้ใหญ่หรือจากความหนาแน่นของไม้ชั้นล่าง) 

มาตามอ่านในตอนหลังจึงได้รู้ว่า เสือดาวกับเสือดำนั้นเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน เพียงแต่เม็ดสีที่ผิวหนังเพี้ยนไปจึงทำให้เสือดาวกลายเป็นเสือดำ

เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ในพื้นที่นั้น เมื่อเรา(ชาวบ้านในพื้นที่)พูดถึงเสือกัน เราจะหมายถึงเสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอนซึ่งเป็นเสือตัวเดียวกัน    จะใช้คำว่าเสือโคร่งในลักษณะของการจำแนกชนิดของเสือ (เสือปลา เสือไฟ เสือดาว เสือดำ) และจะใช้คำว่าลายพาดกลอนในลักษณะของเสือที่เป็นอันตรายต่อชีวิต   เสือปลาและเสือไฟนั้นเป็นเสือที่ชาวบ้านพบบ่อยมากกว่าเสืออื่นๆ  ส่วนเสือดาวและเสือดำนั้นมีการพูดถึงชื่อของมัน แต่เกือบไม่เคยได้ยินว่ามีใครได้พบเห็นตัวมันที่ใหนและในช่วงเวลาใด


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 07 ก.พ. 18, 22:29
ย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวที่ทุ่งใหญ่อีกครั้ง สงสัยเหลือเกินว่านายพรานใหญ่คือใครกันหนอ คิดไม่ออกจริง ๆ


ผมอ่านล่องไพรโดยข้ามตอนเทวรูปชาวอินคาไป เพราะคิดว่าอยู่ต่างแดนคงไม่สนุกล่ะมั้ง ต้องหาเวลาอ่านตอนนี้อย่างเร่งด่วน  ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 18, 09:54
วันนี้กลายเป็นข่าวดังทุกสื่อไปแล้ว ว่าแต่ประเทศไทยมีเสือดาวไหมครับ หรือมีแต่ดำมักกะสัน

เสือดำที่เพิ่งถูกล่า ถลกหนัง ชำแหละเนื้อในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นชนิดเดียวกับเสือดาวอินโดจีน หรือ Indo-chinese leopard (Panthera pardus delacouri) ซึ่งเป็นชนิดย่อยหนึ่งของเสือดาว เสือดาวอินโดจีนเคยกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปเฉพาะในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก ทั้งโลกเหลือแค่ราว ๒,๐๐๐ ตัว ส่วนในประเทศไทยคาดว่าเหลืออยู่ไม่กี่ร้อยตัว

เสือดาวชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้วจากสิงคโปร์ และคาดว่าน่าจะหมดไปแล้วจากลาวและเวียดนาม ส่วนในจีน และกัมพูชา ก็ถูกล่าจนแทบจะสูญพันธุ์แล้วเช่นกัน เหลือแค่ประเทศไทย มาเลเซียและพม่าที่น่าจะยังมีประชากรเสือดาวชนิดนี้อยู่เพียงพอในการขยายพันธ์ุ

ผืนป่าที่ยังเป็นความหวังสำคัญที่สุดในการอนุรักษ์เสือดาวชนิดนี้ คือผืนป่าตะวันตกโดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าแก่งกระจานในประเทศไทย และป่าอนุรักษ์ในคาบสมุทรมาเลเซีย

ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดคือขบวนการล่าเพื่อการค้าสัตว์ป่าผิดกฏหมาย ส่วนปัจจัยคุกคามอื่น ๆ ได้แก่ การลดลงของเหยื่อเนื่องจากปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ การทำลายและรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัย และโรคระบาด

นักวิจัยได้แนะนำให้มีการประเมินสถานภาพเสือโคร่งอินโดจีนอย่างเป็นทางการในฐานข้อมูลชนิดพันธ์ุที่ถูกคุกคามของ IUCN Red List of Threatened Species และควรจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง มีเนื้อที่กว่า ๔ ล้านไร่ ครอบคลุมจังหวัดอุทัยธานี  กาญจนบุรี และตาก ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก ตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นป่าอนุรักษ์ในกลุ่มป่าตะวันตก ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุด ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทยในปี ๒๕๓๔

สัตว์ป่าที่พบในเขตรักษาป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ประกอบไปด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย ๑๒๐ ชนิด นก ๔๐๐ ชนิด สัตว์เลี้อยคลาน ๙๖ ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ๔๓ ชนิด และปลาน้ำจืด ๑๑๓ ชนิด อาจมีสัตว์หลายชนิดมากกว่านี้ที่ยังรอการสำรวจและยืนยันอย่างเป็นทางการ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ นับว่าเป็นป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ใกล้สูญพันธุ์ของโลกหลายชนิด  เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่งประมาณ ๑๐๐ ตัว เสือดำ เสือดาว ประมาณ ๑๐๐-๑๓๐ ตัว เสือลายเมฆ สมเสร็จ  เป็นต้น

ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/sunshine.sketcher/posts/1530249530357926

ภาพเสือดำถ่ายบริเวณเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยคุณปริญญา ผดุงถิ่น


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 18, 10:31
    ตอนเด็กๆ รู้ว่ากระโหลกเสือเลี่ยมด้วยโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน และนาก  ถูกตั้งเอาไว้ในห้องรับแขกเศรษฐี ไว้เป็นที่เขี่ยบุหรี่อย่างโก้    พรมหนังเสือโคร่งปูที่พื้นเอาไว้เป็นพรมหรูพอๆกับของแบรนด์เนม     เขากวางตอกประดับผนังเอาไว้แขวนหมวก 
    เคยไปดูพิพิธภัณฑ์บ้านของมอลลี่ บราวน์ที่เดนเวอร์     ห้องรับแขกมีพรมถลกมาจากหนังสัตว์ใหญ่ทั้งตัว นอนแผ่อยู่เกือบเต็มพื้นหน้าชุดรับแขก    เป็นหมีขาวหรือสิงโตจำไม่ได้แล้วค่ะ  ผืนเบ้อเริ่มเลย
    ดาราฮอลลีวู้ดสาวๆ อย่างลิซ เทเลอร์  สวมเสื้อเฟอร์ขนมิ้งค์ทั้งตัว  เวลาเดินทาง
    แต่นั่นเป็นรสนิยมเศรษฐีเมื่อต้นศตวรรษที่ 20      เมื่อโลกพบว่าสัตว์ป่าร่อยหรอลงไปจนเกือบสูญพันธุ์เพราะมือมนุษย์   แฟชั่นแบบนี้ก็หายไปจากสังคม   นักนิยมไพรที่เมื่อก่อนถือไรเฟิลเข้าป่าก็เปลี่ยนเป็นถือกล้องถ่ายรูปหรือกล้องวิดีโอ   รักษาสัตว์ป่าไว้ให้อยู่อย่างสงบและปลอดภัย   มีความรู้สึกนึกถึงใจเขาใจเรา   สัตว์ป่ามันอยู่ตามประสามันแท้ๆ เราต่างหากบุกรุกเข้าไปในถิ่นของมัน   ก็ควรจะอยู่กันอย่างสันติที่สุดเท่าที่จะทำได้
    พอมีข่าวนี้ ความรู้สึกแรกคือตกตะลึง ไม่นึกว่าคนระดับที่ควรจะรู้คิดยิ่งกว่าชาวบ้านหาของป่ามาขาย กลับทำเหมือนไม่รู้อะไร นอกจากความพอใจส่วนตัว     แถมยังมีข่าวกระเซ็นกระสายมาว่า ได้รับความร่วมมือในระดับสูงที่จะเข้าไปทำให้อุทยานแห่งชาติกลายเป็นซาฟารีส่วนตัวเสียด้วย
   


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 18, 10:35
 :'(


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.พ. 18, 20:26
จากข้อมูลตามข่าวปรากฎชื่อสถานที่อยู่ 4 ชื่อ คือ ทินวย ทิคอง มหาราช และต่อมาก็มีชื่อ ปะชิ   ชื่อทั้งหมดนี้คือบริเวณพื้นที่ๆตามเส้นทางถนนเข้าสู่ทุ่งใหญ่ฯ ที่เริ่มจากหมู่บ้านคลิตี้ (หรือหมู่บ้านทุ่งเสือโทน)   

ผมเคยขับรถแลนด์กลับจากทำงานลงจากพื้นที่ทุ่งใหญ่ฯแบบไม่มีเบรคลงมาจนถึงห้วยปะชิ แล้วจอดทำการซ่อมชั่วคราวอยู่กลางห้วยนั้นแหละ  โดยสภาพป่าแล้ว แถวปะชิน่าจะมีสัตว์ป่าค่อนข้างมาก เพราะมีแอ่งน้ำขังอยู่ในห้วยสำหรับสัตว์มาดื่มกิน แล้วก็เคยได้ฟังว่าเป็นพื้นที่ๆชาวบ้านต้องระวังเสือเมื่อเดินผ่านพื้นที่นี้  เมื่อมีเสือก็ต้องมีเก้ง เก้งที่เคยเห็นแถวนี้เป็นชนิดที่ชาวบ้านเรียกว่าเก้งหม้อ มันมีสีเข้มกว่าเก้งที่เห็นกันตามปกติในพื้นที่ป่าโปร่ง   


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 18, 20:31
เก้งหม้อ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 18, 20:34
เอาภาพไก่ฟ้าหลังเทามาให้ดูค่ะ
สัตว์แสนสวยประเภทนี้ ไม่น่าจะต้องมาสังเวยเนื้อของมันให้คนที่มีเงินพอจะซื้อไก่เนื้อกินได้ทั้งโลกเลย


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 18, 21:02
คนหากิน  สัตว์หากิน
เราไม่เบียดเบียนกันและกัน
ต้นไม้งาม  คนงดงาม
งามน้ำใจไหลเป็นสายธาร
ชุบชีวิตทุกฝ่ายเบิกบาน
มีคน  มีต้นไม้  มีสัตว์ป่า


ชีวิตสัมพันธ์ - คาราบาว

https://youtu.be/9BIO6NIuOCo


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.พ. 18, 10:39
จากไทยโพสต์ออนไลน์


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 ก.พ. 18, 18:02
เอาภาพไก่ฟ้าหลังเทามาให้ดูค่ะ
สัตว์แสนสวยประเภทนี้ ไม่น่าจะต้องมาสังเวยเนื้อของมันให้คนที่มีเงินพอจะซื้อไก่เนื้อกินได้ทั้งโลกเลย

เวรกรรมไม่ต้องรอชาติหน้า  ต่อจากนี้ไป แม้จะมีเงินล้นฟ้าแต่ไม่รู้จะบากหน้าอยู่ในสังคมได้ยังไง เป็นศัตรูกับคนทั้งสังคมได้ขนาดนี้ ไปไหนก็มีแต่อับอายขายหน้า สมน้ำหน้าจริงๆ ครับ


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.พ. 18, 19:39
ประมวลภาพสัตว์ป่าที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลงนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัสแต่เก่าก่อนย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเดินทำงานอยู่ในพื้นที่ป่าทางด้านตะวันตกของไทย    

จากภาพก็ดูจะยังเป็นป่าที่สมบูรณ์เหมือนเดิม   พื้นที่ป่าทางตะวันตกของเราส่วนมากจะเป็นป่าที่ดูแห้งๆโปร่งๆแต่อุดมไปด้วยต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อย    ในบางบริเวณก็เป็นป่าที่ดูชื้นมีสภาพคล้ายดงดิบ มีต้นหวาย เถาวัลย์ มีต้นไม้ใบหนา และไม้มีหนาม ซึ่งในป่าลักษณะนี้มักจะมีต้นอบเชย และก็อาจจะพบต้นแม่ช้อยนางรำที่บริเวณชายป่าที่เป็นที่เปิดและมีแดดส่องถึง    ในบางบริเวณก็เป็นพื้นที่ของต้นไผ่ เป็นป่าไผ่ที่เรียกกันว่าชัฎป่าไผ่ ซึ่งก็พอจะจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ป่าไผ่หนาม ป่าไผ่รวก และป่าไผ่ผาก   ซึ่งหากเป็นพื้นที่บนตะพักลำห้วย (stream terrace) หรือพื้นที่น้ำเอ่อท่วมถึงตามลำห้วย ก็จะมีพวกไผ่บง ไผ่หก และพวกทีี่เราเรียกว่าว่าน เช่น ค้างคาวดำ    ในพื้นที่ป่าผืนใหญ่ก็ยังมีพื้นที่ๆเปิดโปร่งในลักษณะของทุ่งโล่งเป็นหย่อมๆ ซึ่งก็มีทั้งแบบที่เป็นป่าไม้เหียงไม้พลวง เป็นทุ่งหญ้า หรือเป็นละเมาะ    สภาพป่าผืนใหญ่ที่มีความหลากหลายเช่นนี้ก็จึงย่อมจะมีความสมบูรณ์ทาง ecosystem  มีความหลากหลายทางชีวภาพและในเชิงของ ecology


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 11 ก.พ. 18, 10:20
เห็นเสือดาวชัดเจนมาก ขอบคุณครับ  ;D


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.พ. 18, 19:51
จะขอขยายความเล็กน้อยกับคำว่า ecosystem กับ ecology ตามความรู้ความเข้าใจน้อยๆของผม   

ecosystem นั้นว่าด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อม และความสัมพันธ์ทั้งมวลระหว่างกันเองของสิ่งมีชีวิตในโลกของ Biosphere และกับโลกของธรรมชาติไม่มีชีวิต (Geosphere)     สำหรับ ecology นั้นว่าเกือบจะจำกัดวงเฉพาะเรื่องในหมู่ Biosphere ด้วยกันในสภาพแวดล้อมหนึ่งๆ   


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 18, 20:51
ภาพของป่าผืนใหญ่โดยทั่วๆไปที่เราเห็นกันนั้น มักจะเป็นภาพที่ถ่ายจากมุมสูง หรือเป็นภาพที่ถ่ายจากเครื่องบิน เป็นลักษณะของการถ่ายภาพในมุมเอียง (Oblique photography) เพื่อจะให้ได้ภาพที่สื่อได้ถึงความกว้างใหญ่/กว้างไกลโดยใช้ทิวขอบฟ้าหรือทิวเขาเป็นส่วนอ้างอิง ภาพในลักษณะนี้ทำให้เราเห็นป่าเป็นพรืดเดียวกันหมด   

ในวิถีการทำงานทางวิชาชีพของผม พวกผมใช้ภาพถ่ายทางอากาศควบคู่ไปกับแผนที่ภูมิประเทศเป็นพื้นฐานแรกเริ่มของข้อมูลในกระบวนการการทำงานต่อๆไป  แต่เป็นการใช้ภาพถ่ายทางอากาศในระบบถ่ายตั้งตรงกับผืนดิน (Vertical aerial photograph) เป็นภาพถ่ายที่ถ่ายบันทึกสภาพจริงของพื้นผิวดินในขนาดมาตราส่วน 1:50,000 และใช้ควบคู่กับแผนที่ภูมิประเทศ (Topographic map) มาตราส่วนเดียวกัน   ภาพถ่ายทางอากาศในลักษณะนี้สามารถบ่งบอกถึงข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับชนิดของหิน โครงสร้างการวางตัว ความสัมพันธ์ระหว่างหินกับหิน หินกับกระบวนการทางธรรมชาติ รวมทั้งกับพืชพันธุ์ต่างๆ และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย    เป็นการใช้ความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งต่างๆในธรรมชาติเพื่อนำพาไปสู่การให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ประสงค์จะแสวงหา     ภาพป่าของผมจึงมีความแตกต่างออกไปเพราะมันจะมีเนื้อหาในทาง correlative เข้ามาร่วมด้วย


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 18, 20:40
ภาพถ่ายทางอากาศที่ใช้นั้นเป็นภาพขาวดำ ซึ่งถ่ายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ส่วนมากจะในช่วงปี ค.ศ.1953) แล้วนำภาพที่ถ่ายเหล่านั้นไปผ่านกระบวนการทาง Photogrammetry  ทำออกมาเป็นแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1: 50,000 ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
รวมทั้งประมวลข้อมูลทำเป็นแผนที่มาตราส่วน 1: 250,000 ที่ใช้เป็นแผนที่สำหรับการบินของอากาศยานต่างๆในปัจจุบัน     

ในการใช้งานของผมก็จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Stereoscope (ชนิด Mirror หรือชนิด Pocket) เพื่อให้เห็นภาพ 3 มิติ แล้วก็แปลความหมายเป็นข้อมูลทางธรณีวิทยาเบื้องต้นก่อนที่จะออกไปเดินในพื้นที่ป่าเขาเพื่อสำรวจหาข้อเท็จจริงและความเป็นจริงต่างๆ   ภาพในมาตราส่วนขนาดนี้ ไม่ละเอียดถึงระดับที่จะบอกถึงชนิดของป่าและพืชพันธุ์ไม้ได้ (ต้องใช้ภาพในมาตราส่วนประมาณ 15,000 +/- จึงจะเริ่มพอบอกได้)   แต่ด้วยที่กลุ่มหรือชนิดของพืชพันธุ์ไม้นั้นมีความผูกพันธุ์กับภูมิประเทศ (Topography) ธรณีสัณฐาน (Geomorphology) และในเชิงธรณีเคมีของพื้นที่ (Geochemistry) ซึ่งยังผลให้พืชพันธุ์ในพื้นที่นั้นๆพอจะสะท้อนความไม่เหมือนกัน/แตกต่างกันออกไปเป็นหย่อมๆ

เอาละครับ ลอยไปเรื่อยจนจะหาสนามบินลงไม่เจอแล้ว     เอาเป็นว่าเรามีช่องทางที่จะรู้จักป่าลึกลงไปในรายละเอียดได้มากกว่าเพียงคำกล่าวแต่เพียงว่า เป็นป่าที่มีไม้สมบูรณ์หลากหลาย เป็นป่าที่มีสัตว์ป่าอยู่มากมาย
 


กระทู้: สัมผัสกับป่าในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 18, 19:18
ผมเคยเดินทำงานในป่าในหลายพื้นที่ ได้เห็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ไม้และสัตว์ต่างๆ  ต่อมาในภายหลังได้มีโอกาสเดินทางผ่านบางผืนป่าเหล่านั้น ก็ได้เห็นป่าที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  ที่จริงแล้วได้เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเกือบจะสิ้นเชิงในช่วงระยะเวลาเพียงสองสามเดือนก็มี      ป่าใหญ่ที่เปลี่ยนไปเกือบทั้งหมดจะเริ่มมาจากการสัมปทานทำไม้ จากสภาพป่าที่ทึบแสงหรือแสงส่องถึงพื้นรำไร ก็จะเกิดสภาพคล้ายเกิดชันนะตุที่ศีรษะแล้วก็ลุกลามไปจนผมบาง   ที่เริ่มจากชาวบ้านนั้นก็จะคล้ายกับเรื่องของสิว เดี๋ยวก็ผุดเดี๋ยวก็หาย ซ้ำที่บ้างเปลี่ยนที่บ้าง และก็จะเป็นในพื้นที่ป่าไผ่เสียเป็นส่วนมากหรือตามตีนพื้นที่ลาดเชิงเขาเพื่อการปลูกข้าวไร่   ก็จนกระทั่งเข้าสู่ยุคปรัชญาการค้าแบบ monopoly นั่นแหละ ยังกับใช้ปัตตาเลี่ยนไถจนหัวโล้น เตียนสนิทไปหมด