เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 17, 19:19



กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 17, 19:19
วันหนึ่ง ไปเดินตลาดสดตอนเช้าของชุมขนตามปกติ ก็ได้พบหนังสือเก่าที่ชำรุดเพียงเล็กน้อย แต่โดยรวมยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี    ด้วยที่ตนเองชอบสะสมอยู่บ้างก็เลยซื้อมา

หน้าปกเขียนว่า       
                          "ปาถกถาทางวิทยุ
                                  ของ
                   ข้าราชการกะซวงการต่างประเทส
                                ชุดที่ 1
 
              พิมพ์ไช้ไนราชการกะซวงการต่างประเทส
                                2485"


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 17, 19:24
ปกหลังเขียนว่า

             "พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันท พระนคร
                 นายสนั่น บุนยสิริพันธุ์ ผู้พิมพ์
                        ผู้โคสนา
                           17/11/2485"


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 17, 20:04
ได้อ่านเพียงปกหน้าและปกหลังเท่านั้นก็ได้เกิดความน่าสนใจเป็นอย่างมากแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของการสะกดคำที่ปรากฎอยู่ ซึ่งได้แก่คำว่า  ปาถกถา  กะซวง  ประเทส  ไช้  ไน  พระจันท และ โคสนา 

คำเหล่านี้มีการสะกดคำต่างออกไปในปัจจุบันเป็นอย่างมาก  ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้   แต่ที่นึกไม่ออกเลยก็คือในเรื่องของการใช้ไม้ม้วนกับการใช้ไม้มลาย   เพราะว่าอีกสัก 10+ปี ต่อมา ก็เปลี่ยนไปถึงระดับที่ต้องท่องบทอาขยานเรื่องของการใช้ไม้ม้วน "ผู้ใหญ่ หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ ใช้คล้องคอ ...."   


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 17, 20:10
ยุค "วัธนธัม" แม่นแล้วค่ะ
เรื่องไม้ม้วนกับไม้มลาย  เดิมออกเสียงกันคนละอย่าง   จึงสะกดคนละแบบ    ยังทิ้งร่องรอยไว้ในภาษาถิ่นทางเหนือ
แต่พอภาคกลางรับเข้ามา  ออกเสียงเป็นเสียงเดียวกัน  ก็เลยต้องมาท่องกันว่าคำไหนสะกดด้วยไม้ม้วน ค่ะ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 17, 20:21
เมื่อพลิกเข้าไปอ่านเนื้อเรื่อง ก็ยิ่งได้พบกับการสะกดคำที่น่าสนใจอีกมากมาย  เลยคิดว่าน่าหยิบยกเอาเรื่องนี้มาเป็นกระทู้เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์และได้รับความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยเพิ่มพูนขึ้นสำหรับทุกๆคน


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 17, 18:56
ยุค "วัธนธัม" แม่นแล้วค่ะ
เรื่องไม้ม้วนกับไม้มลาย  เดิมออกเสียงกันคนละอย่าง   จึงสะกดคนละแบบ    ยังทิ้งร่องรอยไว้ในภาษาถิ่นทางเหนือ
แต่พอภาคกลางรับเข้ามา  ออกเสียงเป็นเสียงเดียวกัน  ก็เลยต้องมาท่องกันว่าคำไหนสะกดด้วยไม้ม้วน ค่ะ

ขอความกรุณา อ.เทาชมพู ช่วยอธิบายขยายความเรื่องของการออกเสียงที่ต่างกัน และร่องรอยที่ยังอยู่ในภาษาถิ่นทางเหนือด้วยครับ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 17, 19:20
ในระหว่างที่รอการอธิบายขยายความ ก็จะขอนำคำอื่นที่สสะกดไม่เหมือนกันมาเพิ่มเติม

ในหน้า สารบาน   เรื่องที่ 7 การประกาสสงคราม  เรื่องที่ 8 การแลกเปลี่ยนคนพายหลังประกาสสงคราม  และเรื่องที่ 9 เสถสงคราม

โดยรวมก็มีคำว่า สารบาน  ประกาส พายหลัง และ เสถ

สำหรับคำว่า เสถ นี้ ลองเดากันนะครับว่าคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร ในปัจจุบันนี้เขียนอย่างไร


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 17, 19:38
คุณตั้งเข้าไปอ่านตามลิ้งค์นี้นะคะ

ทำไมสระไอถึงต้องมีทั้ง ไม้ม้วน (ใ) และ ไม้มลาย (ไ) - ภาษาลาวมีคำตอบ!
https://pantip.com/topic/30913141


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 17, 20:58
ขอบพระคุณครับ  เพิ่งรู้เหตุผลนี่เอง 

ผมเคยได้ยินการพูดสำเนียงนี้เมื่อแรกเข้าทำงานไปอยู่แถว บ.หาดเสี้ยว (อ.ศรีสัชนาลัย) เมื่อช่วงปลายปี 2512  แล้วก็ใช้เรียกกันในระหว่างคนทำงานด้วยกันว่าพวก ไปกะเร้อ มากะเร้อ ไปหาผู้เย้อ   ในสมัยนั้น ผ้าสิ้นตีนจกที่สวยงามของหาดเสี้ยวนี้ก็เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายพอสมควรแล้ว  หลังจากนั้นก็ได้ยินภาษานี้อีกหลายพื้นที่ในภาคอิสาน(ด้านมุมทางตะวันออกเฉียงเหนือ) ในภาคเหนือ และภาคกลางแต่ไม่ต่ำไปกว่าเพชรบุรี 


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มิ.ย. 17, 07:33
ประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการเขียนอักษรไทยให้มีความง่าย เพื่อที่ต้องการจะเผยแพร่อักษรไทยสู่เยาวชน ในปี 2485
ที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/035/1137.PDF


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มิ.ย. 17, 07:35
ประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการเขียนอักษรไทยให้มีความง่าย เพื่อที่ต้องการจะเผยแพร่อักษรไทยสู่เยาวชน ในปี 2485
ที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/035/1137.PDF


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มิ.ย. 17, 07:39
และผ่านไปประมาณได้สองปี คือในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2487 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ออกประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ยกเลิกการปรับปรุงอักษรไทย
ที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/068/1042.PDF


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 14 มิ.ย. 17, 09:32
ในระหว่างที่รอการอธิบายขยายความ ก็จะขอนำคำอื่นที่สสะกดไม่เหมือนกันมาเพิ่มเติม

ในหน้า สารบาน   เรื่องที่ 7 การประกาสสงคราม  เรื่องที่ 8 การแลกเปลี่ยนคนพายหลังประกาสสงคราม  และเรื่องที่ 9 เสถสงคราม

โดยรวมก็มีคำว่า สารบาน  ประกาส พายหลัง และ เสถ

สำหรับคำว่า เสถ นี้ ลองเดากันนะครับว่าคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร ในปัจจุบันนี้เขียนอย่างไร

ถ้าใช้มาถึงตอนนี้คงจะงงพิลึกนะครับ
แค่เรื่องที่ 8 ผมก็นั่งนึกอยู่นาน ว่า การประกาศสงครามนี่ จะต้องมี "คนพาย" ด้วยหรือ..หรือว่าไปประกาศกันบนเรือ แล้วทำไมประกาศแล้วต้องเปลี่ยนคน  ;D


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มิ.ย. 17, 09:46
ในหน้า สารบาน   เรื่องที่ 7 การประกาสสงคราม  เรื่องที่ 8 การแลกเปลี่ยนคนพายหลังประกาสสงคราม  และเรื่องที่ 9 เสถสงคราม

สารบาน = สารบาญ   ประกาส = ประกาศ   พายหลัง = ภายหลัง    เสถสงคราม = เศรษฐสงคราม


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มิ.ย. 17, 18:16
ถูกต้องแล้วครับ เสถสงคราม = เศรษฐสงคราม   

"หัวหน้ากองตะวันตก กรมเสถการ กะซวงการต่างประเทส บรรยายทางวิทยุกะจายเสียง 22 กรกดาคม 2485"  ได้บรรยายว่า "คำว่า เสถสงคราม คงไม่ไช่คำไหม่ เพราะใช้กันมานานมากแล้ว และตั้งไจไห้มีความหมายตรงกับคำฝรั่งที่ว่า "Economic Warfare" ซึ่งอธิบายหย่างง่ายๆก็คือเสถสงคราม เปนเรื่องคู่กับยุธสงคราม ยุธสงครามหมาถึงการจับอาวุธเข้าประหัดประหารกัน ส่วนเสถสงครามเปนการต่อสู้กันไนทางเสถกิจ ซึ่งเปนเรื่องสำคันยิ่งไนสงครามสมัยปัจจุบันนี้"

ก็มีคำเพิ่มเติม ได้แก่ เสถการ เสถกิจ กรกดาคม หย่าง ยุธสงคราม ประหัด สำคัน และ เปน


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มิ.ย. 17, 18:53
มีอีก"เสถ" หนึ่ง คือ "เสถบุตร" ผู้เป็นต้นสกุลนี้คือ เสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เศรษฐบุตร) ด้วยผลจากประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย เศรษฐบุตร ของท่านจึงต้องเปลี่ยนเป็น เสถบุตร และไม่ได้เปลี่ยนกลับเป็นสกุลเดิมอีกเลย

ผลงานของท่านยังคงมีค่าอยู่ในยุคนี้  ;D


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มิ.ย. 17, 19:25
ขออภัยครับ พิมพ์ตกตัว ย ไป เลยทำให้ "ยุธสงครามหมายถึงการจับอาวุธ... " กลายเป็น "ยุธสงครามหมา_ถึงการจับอาวุธ..."        


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มิ.ย. 17, 20:26
มีข้อสังเกตหนึ่งครับ
   
แต่ก่อนนั้นมีการใช้คำว่า เศรษฐการ/เสถการ  และ  เศรษฐกิจ/เสถกิจ   ในปัจจุบันนี้มีแต่การใช้คำว่าเศรษฐกิจ ส่วนคำว่าเศรษฐการหายไปเลย    เราเคยมีกระทรวงเศรษฐการ (Economic Affairs) แล้วก็พัฒนาเปลี่ยนไปเป็นกระทรวงพาณิชย์ (Commerce)


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 17, 18:45
คุณ siamese ได้กรุณานำสำเนาภาพของประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรื่องเกี่ยวกับการเขียนภาษาไทยมาลงไว้ ทั้งที่ให้เปลี่ยนแปลงเมื่อ 29 พฤษภาคม 2485 กับที่ให้ยกเลิกเมื่อ 2 พฤษจิกายน 2487   

ก็เลยย้อนกลับไปดูการเขียนภาษาไทยในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าก่อนหน้านั้นเป็นเช่นใร และหลังจากการยกเลิกแล้วเป็นเช่นใด  บังเอิญผมมีหนังสือเก่าที่พอจะสอบทานได้บ้าง เป็นของทางราชการ(?)เล่มหนึ่ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2475 (แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2) พิมพ์โดยเอกชนเล่มหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2476 เพื่อแจกในงานศพ และอีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเวนิสวาณิช พิมพ์ครั้งที่ 17 เมื่อ พ.ศ.2502



กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 17, 19:11
โดยคร่าวๆแล้ว การเขียนคำต่างๆเมื่อก่อน 2485 นั้น เกือบจะไม่ต่างไปจากในปัจจุบันนี้เลย    ที่ไม่เหมือนกันก็มี อาทิ ชื่อของพืชที่มีชื่อขึ้นต้นว่า "กระ..." แต่ก่อนนั้นเขียนว่า "กะ..."    พืชพวก "ว่าน" แต่ก่อนนั้นเขียนว่า "หว้าน"   "บุตร" เขียนว่า "บุตร์"   "อัปยศ" เชียนว่า "อัประยศ"  เป็นต้น


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มิ.ย. 17, 19:16
24 พรึสจิกายน 2485 ไบสำคัญการสมรส
ที่มา หนังสืองานศพ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มิ.ย. 17, 19:12
ประสงค์จะให้เขียนภาษาได้ง่ายขึ้น  แต่เขียนแล้วดูจะอ่านออกเสียงได้ไม่เหมือนเดิม  เดือนพฤศจิกายนและเดือนพฤษภาคม ที่คนส่วนมากเคยออกเสียงว่า พึด .. ก็จะกลายเป็นออกเสียงว่า พรึ...    หรือว่าในปัจจุบันนี้เราส่วนมากออกเสียงผิดเพี้ยนไป (มีหรือไม่มีเสียงควบกล้ำของ ร ?)


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มิ.ย. 17, 19:37
ย้อนกลับไปที่หนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พ.ศ.2475

หน้าแรกของหนังสือที่เราใช้หัวเรื่องกันว่า คำนำ บทนำ .... นั้น ในหนังสือเล่มนี้ใช้คำว่า "บานแพนก"  เมื่ออ่านไปก็พบคำที่เขียนต่างกันบ้าง แต่ที่แปลกใจก็คือ ชื่อของ "พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสวริยพิมาน" ซึ่งเขียนต่างไปจากปัจจุบัน "พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน"

พอจะทราบไหมครับว่า ด้วยเหตุใดจึงมีชื่อแตกต่างกัน หรือว่าเป็นพระที่นั่งคนละองค์กัน หรือว่าเป็นเพราะพัฒนการของภาษา


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มิ.ย. 17, 18:32
ค่อยๆอ่านไปก็ได้พบการเขียนคำที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาอีก

เมื่อ 2475 เขียน "พระบรมวงษานุวงษ์"  ถึง 2485 ให้เขียน "พระบรมวงสานุวงส์"  ถีง 2487 ให้กลับไปใช้การเขียนแบบเดิม แต่ 2502 จนถึงปัจจุบันเขียน "พระบรมวงศานุวงศ์" ซึ่งได้เปลี่ยนมาแต่เมื่อใดก็มิทราบ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มิ.ย. 17, 19:11
คำว่า "เฉพาะ" เขียนเมื่อ 2485 ว่า "ฉเพาะ" ซึ่งก็น่าจะเขียนเช่นนี้มานานแล้ว กระทั่งในหนังสือแบบเรียนเรื่องเวนิสวาณิชเมื่อ 2502 ก็ยังเขียนเช่นนั้น  แต่ในในปัจจุบันนี้เขียนว่า "เฉพาะ" 

คำว่า "ทำนุ.."  แต่เดิมก็เขียนว่า "ทะนุ..."  (ปรากฎอยู่ในใบสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ 2466 เกี่ยวกับการจัดพิมพ์เรื่องเวนิสวาณิชขึ้นเป็นครั้งแรก)


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มิ.ย. 17, 20:17
เมื่อได้อ่านหนังสือเก่าสองสามเล่มที่ได้กล่าวถึงนี้   อ่านไปอ่านมาก็ทำให้ได้รู้ว่าตัวเองมีความเขลาอยู่ไม่น้อยในเรื่องของภาษาไทย เพราะรู้แต่เพียงว่าเป็นพัฒนาการทางภาษา ไม่ได้เข้าถึงเรื่องของสารัตถะเลย     

เรียนมาในระบบวิธีการสอนภาษาไทยแบบเก่า  ฤๅเมื่อปี 2485 จะก้าวหน้าไปอิงกับระบบ phonetic methods (สอนกันในปัจจุบัน??)   


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 มิ.ย. 17, 23:51
คำว่า วงศ์ สมัยก่อนนิยมเขียน วงษ์ เขียนตัวสะกดการันต์อย่างบาลีเขา วงส์ ถ้าเป็นสันสกฤตจะเป็น วงศ์

สรุปได้ความว่าเมื่อก่อนนิยมใช้ วงษ์ กันมาอย่างผิดๆ สมัยจอมพล ป ยกเลิก ศ, ษ จึงเขียน วงส์ ส่วนปัจจุบันแก้ไขให้ถูกต้องโดยยึดตามอย่างสันสกฤต เขียนเป็น วงศ์ ครับ

ค่อยๆอ่านไปก็ได้พบการเขียนคำที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาอีก

เมื่อ 2475 เขียน "พระบรมวงษานุวงษ์"  ถึง 2485 ให้เขียน "พระบรมวงสานุวงส์"  ถีง 2487 ให้กลับไปใช้การเขียนแบบเดิม แต่ 2502 จนถึงปัจจุบันเขียน "พระบรมวงศานุวงศ์" ซึ่งได้เปลี่ยนมาแต่เมื่อใดก็มิทราบ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มิ.ย. 17, 08:05
คำว่า วงศ์ สมัยก่อนนิยมเขียน วงษ์

จริง ๆ แล้ว โบราณไม่นิยมใช้ไม้ทัณฑฆาตบนตัวการันต์ (อักษรที่ไม่ออกเสียง) เช่น พระสงฆ, พระยามนตรีสุริยวงษ, หลวงชาติสุรินทร, หลวงนิพัทธกุลพงษ, พระโทรเลขธุรานุรักษ ในตัวอย่างข้างล่าง

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4710.0;attach=23546;image)

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2427/011/92.PDF

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6789.0;attach=64850;image)


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 มิ.ย. 17, 09:40
เพิ่งมีพยานหลักฐานคำอธิบาย ยามเด็กเคยสงสัย ถามผู้ใหญ่ว่านามสกุลเราไม่ได้ออกเสียง นะ-วะ-รัต-ตะ-นะ หรือ ท่านยืนยันว่าไม่ใช่ อ่านว่า นะ-วะ-รัต

นี่จอมพล ป. ทำถูกหรือผิด ที่บังคับข้าราชการ หรือผู้ที่ต้องไปติดต่อขอเอกสารกับทางราชการ
ในกรณีย์เช่นนี้ให้ใส่การันต์หมด ทำให้ญาติส่วนใหญ่ต้องอนุโลมตาม


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มิ.ย. 17, 19:58
เรื่องการใช้ตัวการันต์นี้   ในหนังสือเมื่อ พ.ศ.2475 มีคำที่ใช้ตัวการันต์อยู่ไม่น้อย เท่าที่เปิดดูแบบเร็วๆก็พบคำ เช่น ปักษ์ วงษ์ บพิตร์ นิมิตร์ เพ็ชร์ จักร์ราศี ภูมิ์ เศวตรฉัตร์ จิตต์ อยู่เปนนิตย์ ศีร์ษะ  และคำอื่นนั้นเหมือนกับที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ในหนังสือเมื่อ 2485 มีคำที่ไม่ใช้ตัวการันต์อยู่เพียงสองสามคำ  กิติมสักดิ  ภูมิสาตร สัมพันธ

ในหนังสือเรียนเมื่อ 2502 ไม่น่าจะมีคำที่สะกดต่างไปจากปัจจุบัน พบอยู่คำเดียว เที่ยงธรรม์


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 17, 20:28
จริง ๆ แล้วทุกคำที่คุณตั้งยกมาไม่ว่าจะจากหนังสือ พ.ศ. ๒๔๗๕, ๒๔๘๕ หรือ ๒๕๐๒ ล้วนมีตัวการันต์ทั้งสิ้น เพราะว่า ตัวการันต์หมายถึงตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง

คนไทยส่วนมากมักเข้าใจว่า "การันต์" กับ "ทัณฑฆาต" เป็นอย่างเดียวกัน

นี่จอมพล ป. ทำถูกหรือผิด ที่บังคับข้าราชการ หรือผู้ที่ต้องไปติดต่อขอเอกสารกับทางราชการ
ในกรณีย์เช่นนี้ให้ใส่การันต์หมด ทำให้ญาติส่วนใหญ่ต้องอนุโลมตาม

ในหนังสือเมื่อ 2485 มีคำที่ไม่ใช้ตัวการันต์อยู่เพียงสองสามคำ  กิติมสักดิ  ภูมิสาตร สัมพันธ

ที่คุณตั้งรวมทั้งคุณนวรัตนกล่าวถึง "การันต์" ข้างบน คงหมายถึง "ทัณฑฆาต" (คือเครื่องหมายฆ่าเสียงของตัวอักษร) มากกว่า  ;D


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มิ.ย. 17, 07:31
อย่างน้อยการปรับปรุงภาษาไทยแบบใหม่นั้น กระทำล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว จึงค่อยประการให้ประชาชนใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2485
ลิงค์นี้จะชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการและการออกพจนานุกรม ฉบับปี 2485 แบบปรับปรุงภาษาใหม่เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบทั่วกัน
http://www.pisutshop.com/webboard3_detail.asp?TopicID=379


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มิ.ย. 17, 09:11
น่าสนใจตรงคำว่า "กกุธภันท" ซึ่งไม่มีไม้ทัณฑฆาตบนตัวการันต์ (ท) ปัจจุบันเขียนว่า "กกุธภัณฑ์"


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 17, 19:06
ตัวการันต์กับไม้ทัณฑฆาต ที่ได้กล่าวถึง  ทำให้รู้เลยว่าความรู้ภาษาไทยของตนมีความกระท่อนกระแท่นอยู่มาก แล้วความรู้ที่ได้เคยร่ำเรียนมาก็ได้เก็บใส่หีบส่งคืนคุณครูไปจนเกือบจะหมดแล้ว   

?? ไม่รู้ว่าที่เรียนภาษาไทยมาด้วยกระบวนการสอนแต่ก่อน กับ ที่เรียนมาในกระบวนการสอนแบบปัจจุบัน เมื่อถึงกาลเวลาหนึ่งแล้วจะเหลือความรู้ตกค้างอยู่ต่างกันเช่นใดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ   ในปัจจุบันนี้ ระหว่างปู่ย่าตายายกับหลานก็ยังมีเป็นงงซึ่งกันและกันอยู่บ่อยๆแล้ว


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 17, 19:45
มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องตัวการันต์กับไม้ทัณฑฆาตเช่นกันวา

เมื่อเราถอดการเขียนและการออกเสียงจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ   ก็มีคำเป็นจำนวนไม่น้อยในภาษาไทยที่คำนั้นๆมีตัวการันต์ จะมีหรือไม่มีไม้ทัณฑฆาตก็ตาม แต่จะไม่มีการออกเสียง  แต่เมื่อไปถอดเป็นภาษาอังกฤษกลับมีการเติมให้ออกเสียงเต็มยศเลย    ก็เลยมีเรื่องราวไม่น้อยที่เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เจ้าของชื่อหรือนามสกุลไม่รู้ว่าเป็นตนเองเมื่อได้ยินการเรียกขาน โดยเฉพาะเมื่อมี accent และ syllable stress อยู่ในเสียงที่เรียกขานนั้นๆ  คงไม่ต้องยกตัวอย่างนะครับ 


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 17, 19:35
คำว่า พุทธ  เราออกเสียงในลักษณะที่อักษร ธ เป็นตัวการันต์ คือไม่ออกเสียง  แต่ในภาษาอังกฤษเขียนว่า Buddha  คือมีการออกเสียงของตัว ธ หมายความว่าทั้งโลกเขาออกเสียงผิด หรือคนไทยเราออกเสียงผิด  หากจะถอดคำเป็นภาษาอังกฤษตามการออกเสียงของคนไทยตาม หลักที่กำหนด ก็จะต้องเขียนว่า Phut       ทั้งนี้ เราจะออกเสียงตัว ธ ก็ต่อเมื่อมีคำอื่นมาต่อท้าย และการเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ยังใช้ Buddha ไม่เขียนว่า Phutta

ผมรู้ว่ามีคำอธิบายในเรื่องเช่นนี้ แต่ผมเองไม่มีความรู้    ก็เป็นความสวยงามเรื่องหนึ่งในภาษาไทยของเรา   

ผมเชื่อว่าภาษาที่มีความสลับซับซ้อน (sophistication) เช่นของเรานั้น แสดงถึงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแข็งแกร่งของระบบสังคมที่เป็นลักษณะเปิดและเสรี  จึงมีสิ่งที่แสดงถึง assimilation และ dissemination ปรากฎอยู่มากมาย


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 17, 19:44
ตัวสะกด ph  ปกติถ้าเป็นภาษาอังกฤษ จะออกเสียง ฟ  ไม่ใช่ พ   เช่นชื่อ Philip   ก็จะออกเสียงว่า ฟิลิป  ไม่ใช่ พิลิป   pharmacy ออกเสียงว่าฟาร์มาซี  ไม่ใช่ พามาซี   
คำว่า ภูเก็ต เมื่อสะกด Phuket  ฝรั่งที่ไม่รู้สำเนียงไทยจึงมักจะเรียกว่า ฟูเค็ท  หรือ ฟูเก้ท์ (ถ้าเป็นชาวฝรั่งเศส)

การถอดตัวสะกดในพระไตรปิฎก ผ่านการออกเสียงและตัวสะกดแบบฝรั่ง  เป็นการถอดตัวโรมัน ไม่ใช่อังกฤษ   B = พ
 P นั่นต่างต่างหากไปเท่ากับ ป
และ  k = ค    ค่ะ
แม่น้ำคงคา  ชาวอินเดียออกเสียงว่า กังก้า ค่ะ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 17, 20:57
ขอบพระคุณ อ.เทาชมพู ครับ

ท่านรอยอินได้ออกประกาศเมื่อ 11 มค. 2542 เรื่องหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง ว่า  อักษร ผ พ ภ ให้ใช้ ph เพราะว่าเป็นเสียงธนิต ต่างกับตัว p ซึ่งเป็นเสียงสิถิล    เขาว่ายังงั้นก็ว่าตามเขา ไม่รู้เรื่องหรอกครับ

วัดพระพุทธฉาย ที่เขียนว่า "Wat Praputtachai" อ่านจากสะกดภาษาอังกฤษจะออกเสียงใกล้กับภาษาไทยมากที่สุด แต่หากจะสะกดให้ถูกต้องตามหลักของท่านรอยอิน ก็จะต้องเขียนว่า Wat Phaphuthachai

การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงนี้ยังดีกว่าของภาษาอื่น  ของจีนนั้นแทบจะอ่านออกเสียงไม่ได้เอาเลย


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 17, 21:16
อีกตัวที่ท่านรอยอินกำหนดตามอักษรโรมันให้อ่านจนฝรั่งที่ไม่ได้เป็นพวกโรมันเข้ารกเข้าพงไปก็หลายคน คือกำหนด ท = th
ผลจึงออกมาว่า Thewet  ไม่ได้อ่านว่า เดอะ เว็ท  แต่อ่านว่า  เทเวศร์ ค่ะ

เสียง th ในภาษาอังกฤษ ไม่มีในภาษาไทย    ออกเสียงได้ 2 แบบ อย่างหนึ่งคล้ายๆ เสียง ด  เช่นในคำว่า the  though  than
อีกเสียงออกคล้ายๆเสียง ท   เรามาออกเสียงเป็น ต บ้าง  ท บ้าง  เช่น think   thin  thought


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มิ.ย. 17, 08:12
การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงนี้ยังดีกว่าของภาษาอื่น  ของจีนนั้นแทบจะอ่านออกเสียงไม่ได้เอาเลย

เรื่องนี้ต้องถึงคุณ Wu Zetian (หลายคนก็ยังออกเสียงชื่อนี้ไม่ถูก) ;D


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 มิ.ย. 17, 09:37
หวู เสถียร


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มิ.ย. 17, 10:00
หากคุณนวรัตนและคุณตั้งศึกษาระบบพินอิน (拼音) สักประเดี๋ยว ก็น่าจะพออ่านได้ ;D

http://www.taiwanandi.com/chapter1-pinyin/


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มิ.ย. 17, 19:17
ผมก็คงจะออกเสียงให้ใกล้เคียงกับเสียงของเจ้าของภาษาได้ยากอยู่ดี เพราะการออกเสียงของเขาในหลายๆคำจำต้องใช้การผสมผสานส่วนของอวัยวะตั้งแต่ริมฝีปากไปจนถึงลำคอ   

คำว่า pinyin นั้น หากผมจะอ่านออกเสียงจากการสะกดคำตามอักษร ผมก็คงจะออกเสียงว่า พินยิน  แล้วก็คงจะดัดเสียงให้เป็นจีนสักหน่อยว่า ปิงยิง  ต่างไปจากการอ่านว่า พินอิน ตามที่คุณเพ็ญชมพูได้กล่าวถึง


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มิ.ย. 17, 20:27
ผมมีความแปลกใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือ สำเนียงเสียงของภาษาจีนที่ใช้กล่าวในเวทีระหว่างประเทศต่างๆนั้น ดูจะสอดคล้องกับการออกเสียงตามหลักพินอิน ซึ่งต่างไปจากสำเนียงเสียงที่คุ้นหูที่ประชาชนในปักกิ่งเขาใช้พูดคุยกัน 






กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มิ.ย. 17, 20:47
ผมมีความรู้เกี่ยวกับภาษาจีนจุ๋มจิ๋มมากเลยครับ   หากได้มีความเห็นและกล่าวถึงอย่างไรใดๆที่ไม่ถูกต้องก็ต้องขออภัยครับ

ที่พอจะมีความรู้อยู่บ้างเล็กๆน้อยๆก็เป็นเรื่องของความเข้าใจในความยุ่งยากในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อแสดงผลของความตกลงกับจีนในเรื่องต่างๆ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 มิ.ย. 17, 00:26
พินอินเป็นระบบการเขียนแทนเสียง "ภาษาจีนกลาง" ด้วย "อักษรโรมัน" ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตัวอักษรใดแทนเสียงใด ก็ใช้เขียนเพื่อสื่อสารกันได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดครับ จะเป็นคนจีนในปักกิ่งหรือที่ใดถ้าพูดจีนกลางเหมือนกัน ก็ถอดเสียงเขียนเป็นพินอินได้เหมือนกันครับ ส่วนสำเนียงจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องแน่นอนครับ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ห่างไกลกันจนฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเขาพูดด้วยภาษาจีนท้องถิ่นอื่นๆ ไม่ใช่จีนกลาง อย่างนั้นก็มีแนวโน้มว่าอาจจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ และเมื่อไม่ใช่จีนกลาง พินอินซึ่งออกแบบไว้สำหรับจีนกลางก็ไม่มีประโยชน์ แต่จีนท้องถิ่นอื่นๆหลายถิ่นเขาก็มีระบบการถอดเสียงด้วยอักษรโรมันของเขาเหมือนกันครับ ก็จะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นแตกต่างกันไปครับ

ระบบการใช้อักษรโรมันเขียนแทนเสียงแบบนี้ ตรงไปตรงมาและเรียนรู้ได้ง่ายกว่าภาษาอังกฤษมาก ยกตัวอย่างเช่น
p ตรงกับ พ ของไทย
b คือ ป หรือจะเป็น บ ก็ไม่ถึงกับผิดกติกา เพราะเขาไม่มีเสียง บ เราพูด บ ไป เขาก็ได้ยินเป็น ป ไม่แตกต่างกัน (อย่างที่คนไทยได้ยิน sh เป็น ช หรือ th เป็น ท หรือ ต ครับ)
n คือ น
บางเสียงไม่มีในภาษาไทย อย่าง sh, zh, ch, z ฯลฯ ถ้าเราออกเสียงเพี้ยนไปบ้าง ก็ไม่ถึงกับทำให้เขาไม่เข้าใจ อย่าง pinyin ถ้าเราอ่านว่าพินอินหรือพินยินก็ไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าออกเสียง p เป็น ป อันนี้ต้องมีปัญหาแน่ๆ บางคนอาจจะเดาออกว่าต้องการสื่อว่าอะไร แต่เชื่อว่าไม่ทุกคนนะครับ

ที่ว่าง่ายกว่าอังกฤษเพราะเป็นระบบชัดเจน ไม่เหมือนภาษาอังกฤษที่คนไทยคุ้นเคยซึ่งหาหลักเกณฑ์อะไรแน่นอนไม่ได้ ยกตัวอย่าง to กับ so
หรือลอง to, ton, tomb, tone หรือ so, son, some, chromosome บางคนถึงกับบอกว่าภาษาอังกฤษต้องจำเป็นคำๆไป ใช้เกณฑ์อะไรไปจับไม่ได้ เวลาสอนเลยต้องสอนให้ท่องจำเป็นคำๆ แถมพาลมาสอนภาษาไทยด้วยระบบนี้ไปด้วยจนเด็กไทยสะกดคำไม่เป็นกันค่อนประเทศอย่างทุกวันนี้ครับ



กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 17, 19:17
......แถมพาลมาสอนภาษาไทยด้วยระบบนี้ไปด้วยจนเด็กไทยสะกดคำไม่เป็นกันค่อนประเทศอย่างทุกวันนี้ครับ

ถูกต้องครับ ตั้งใจจะบ่นเช่นนี้มาในหลายกระทู้(อื่น)แล้ว   และก็อยากจะบ่นต่อไปในเรื่องของระดับ Post Grad อีกด้วยครับ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 17, 19:28
คุณตั้งกับคุณม้า อ่านกระทู้นี้ดูก่อนนะคะ

https://pantip.com/topic/36474061
ทำไมคำภาษาไทยที่เขียนยากๆหลายคำ ไม่มีการปรับรูปแบบให้เขียนง่ายขึ้น ทำไมลูกๆเราต้องเรียนคำยากๆ มีประโยชน์อะไรครับ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 17, 20:50
ด้วยข้อจำกัดในความรู้ทางภาษาศาสตร์ของผม ผมเข้าใจเอาเองว่า การสะกดคำต่างๆในภาษาเขียนนั้นเป็นการแปรรูปของการสื่อสารของมนุษย์จากเสียงที่พูดเปล่งออกมาไปอยู่ในรูปแบบของการเขียน ซึ่งกระทำอย่างมีระบบและมีระเบียบกฎเกณฑ์    เมื่อสังคมมีความสัมพันธ์และมีการสื่อสารกันมากขึ้น คำศัพท์ คำพูด คำเขียนก็ใช้ปะปนกัน ยืมกันไปยืมกันมา นานเข้าก็มีการสำรวจตรวจสอบแล้วก็จัดทำมาตรฐาน มีการอ้างอิงที่มาที่ไป ความหมาย การสะกดคำ ...ฯลฯ   ทุกภาษาในโลกนี้ก็คงเป็นไปในลักษณะเช่นนี้

เหมือนจะทำให้เกิดมี 4 หลักการ คือ สะกดคำใดๆตามเสียงเราพูดที่เปล่งออกมา  สะกดและออกเสียงคำใดๆตามที่ได้รับเอามา  สะกดคำใดๆแบบเขาแต่ออกเสียงแบบเรา  และเอาคำใดๆของภาษาหนึ่งมาบัญญัติเป็นศัพท์ด้วยอีกภาษาหนึ่งแต่ใช้คำอื่นแทนคำนั้นๆ      


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 มิ.ย. 17, 13:44
คุณตั้งกับคุณม้า อ่านกระทู้นี้ดูก่อนนะคะ

https://pantip.com/topic/36474061
ทำไมคำภาษาไทยที่เขียนยากๆหลายคำ ไม่มีการปรับรูปแบบให้เขียนง่ายขึ้น ทำไมลูกๆเราต้องเรียนคำยากๆ มีประโยชน์อะไรครับ


ยังอ่านไม่จบครับอาจารย์ ยาวมาก แต่ดูเหมือนว่าคุณ​จขกท.จะแพ้คะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์เลยนะครับ ซึ่งก็น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน

คคห. ในกระทู้นั้นก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน ตัดที่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเดียวโดยไม่อภิปรายหลักการ ตัดที่คุยผิดประเด็น ไปคุยเรื่องไวยากรณ์เรื่องราชาศัพท์แทนเรื่องระบบการเขียน ดูเหมือนจะเหลือ คคห. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ จขกท. ตั้งประเด็นขึ้นมาไม่มากนะครับ

จะว่าไประบบการเขียนของภาษาไทยก็มีความแปลกอยู่มาก มีตัวอักษรที่ออกเสียงซ้ำอยู่มากมาย จนเป็นที่มาของการปรับปรุงตัวอักสรไทยในยุควัธนธัม

โดยส่วนตัวผม ไม่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงนะครับ หากปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้วมีประโยชน์จริง คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องเสียไป เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาทำกันครับ (แต่ดูจาก คคห. ในกระทู้ที่อาจารย์ยกมาเห็นท่าว่าจะไม่รอด ใครกล้าเสนอคงได้จมดินเป็นแน่)

ผมขอยกกระทู้เก่าเกี่ยวกับอักษรไทยที่ผมเคยเสนอในเรือนไทยมาฝากไว้ก่อน จะกลับมาอภิปรายต่อเมื่อมีเวลานะครับ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2868.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2868.0)


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มิ.ย. 17, 21:30
โดยส่วนตัวผม ไม่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงนะครับ หากปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้วมีประโยชน์จริง คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องเสียไป เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาทำกันครับ

มี คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ๑๗๖ คำที่อาจต้องแก้ไขใหม่ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5391.0) ที่อาจารย์กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย เสนอ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

คำเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นคำไทยที่รับมาจากภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับที่คำไทยหลาย ๆ คำที่รับมาจากภาษาเขมร บาลีสันสกฤต

จุดประสงค์ของการปรับปรุงวิธีเขียนคำเหล่านี้ คงไม่ใช่เพื่อให้เขียนให้ออกเสียงตามวิธีออกเสียงของเจ้าของภาษา หากเพื่อให้ออกเสียงได้ถูกต้องตามวิธีทีคนไทยรับเอาคำเหล่านั้นมาแล้วออกเสียงแบบไทย ๆ

หากเปลี่ยนแปลงได้น่าจะมีประโยชน์มากทีเดียว ;D


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มิ.ย. 17, 21:50
หากยังคงเขียนคำทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันของท่านรอยอิน  คนไทยในอนาคตอาจจะอ่าน "บ้านทรายทองยุคอวกาศ" ทำนองนี้


บ้านทรายทองยุคอวกาศ

บทสนทนาแสนหวานระหว่างคุณชายกลางกับพจมาน  ด้วยการอ่านให้ตรงกับคำที่เขียนแบบเดิม

" พจมานจ๋า  วันอาทิตย์นี้  เราจะไป ไน-คลับ  หรือไปฟัง คอน-เสิด  กันดี"

" น่าเสียดายค่ะคุณชายขา   ได้ข่าวว่า ดี-เปรด-ชัน จะเข้า   อยากไป ปิก-นิก ยังอดเลย"

" งั้นก็เล่น แบด-มิน-ตัน  หน้าบ้านทรายทองละกันนะจ๊ะ"

" ไม่ไหวค่ะ  แดดร้อน พจกลัวรังสี อัน-ตรา-ไว-โอ-เลด  พื้น แกร-นิด  ก็ลื่นจะตาย   พจไม่อยากหกล้มหัวเข่าแตกอีก  แปะ ปลาด-สะ-เตอ จนหมดกล่องแล้ว"

"โธ่เอ๋ย!ทูนหัว   เจ็บแค่ไปทำแผลที่ คลิ-นิก   เธอพูดราวกับต้องให้ ออก-ซิ-เยน  เอก-ซะ-เร  แล้วกระดูกก็ไม่แตก ผ้า-กอด  ก็ไม่ต้องใช้  กิน แอด-ไพ-ริน  สองเม็ดก็หายปวด"

" เอางี้มั้ยคะ  คุณชายกลางไปหา คอด เล่น บาด-เกด-บอน  คนเดียวก่อน  หรือจะไปตี กอบ  ก็ตามใจเถอะค่ะ "

" น้อยใจแล้วนะ   ทำไงจะให้เธอ โค-ออ-ดิ-เนด  กะฉันมากกว่านี้ล่ะจ๊ะ   พจมาน"

" แหม  คุณชายขา  ก็แค่ให้ของเล็กๆอย่างแหวนเพชรสัก กะ-รัด  สอง กะ-รัด   พจไม่เอาของใหญ่ๆอย่าง แฟลด หรอกค่ะ  นะคะ นะคะ"

แหะ แหะ  ;D


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มิ.ย. 17, 07:49
เจตนารมณ์ของอาจารย์กาญจนาที่จะให้คำทับศัพท์โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเขียนตามเสียงซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ออก ได้ถ่ายทอดลงพจนานุกรมคำใหม่  เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถานเรียบร้อยแล้ว เชิญทัศนาโดยพลัน
 
http://www.ba.cmu.ac.th/wp-content/uploads/pdf/_grad/2/15.pdf


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มิ.ย. 17, 19:39
ลองเปิดพจนานุกรมคำใหม่เล่ม ๑  อ่านดูแล้วก็ชวนให้ผู้น้อยนึกถึงหลายเรื่อง

แรกสุดก็คือ นึกถึงว่าเล่มนี้ เป็นพจนานุกรม (Dictionary ?) เป็นปทานุกรม (Word Book ?) เป็น Lexicon ? เป็น สารานุกรม (Encyclopedia ?)
     ในความรู้สึกของ พจนานุกรม ว่า เป็นคำที่ยอมรับว่าใช้ได้ในภาษาไทยที่เป็น proper Thai language คือ เขียนให้ถูกต้องแบบนั้น มีความหมายเช่นนั้น และสามารถใช้ได้ในกาลโอกาสต่างๆ
     ในความรู้สึกของ ปทานุกรม ว่า เป็นคำที่ยอมรับและมีการใช้กันอย่างเป็นปกติในการสื่อสารในหมู่คนของสังคมหนึ่ง มีการเขียนแบบนั้น ใช้แบบนั้น ในความหมายเช่นนั้น
     ในความรู้สึกของ Lexicon ว่า เป็นคำศัพท์เฉพาะถิ่นที่ใช้กันอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทั้งการพูด การเขียน และในความหมายที่เข้าใจตรงกัน
     ในความรู้สึกของ สารานุกรม ว่า คำนั้นๆมีความหมายเช่นใด ใช้กันในเรื่องอะไร และมีที่มาที่ไปเป็นเช่นใด

ผมคงจะคิดแหกคอกเกินเลยออกไปในลักษณะของผู้ด้อยความรู้


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มิ.ย. 17, 11:21
(ต่อ)

พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม ๒

http://www.ba.cmu.ac.th/wp-content/uploads/pdf/_grad/2/16.pdf

พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม ๓

http://www.ba.cmu.ac.th/wp-content/uploads/pdf/_grad/2/17.pdf


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 มิ.ย. 17, 14:07
ผมลองไล่เรียงประเด็นในภาษาไทยที่คิดว่าควรพิจารณาได้หลายข้อดังนี้ครับ   

1. การปรับปรุงระบบการเขียนไทยเพื่อให้อ่านเขียนง่ายขึ้นควรทำหรือไม่ ถ้าทำจะทำในระดับเดียวกับยุค 2485 คือยกเลิกตัวอักษรเสียงซ้ำ (แต่สมัย 2485 ทำแบบหัวมังกุท้ายมังกร ทิ้ง ภ ธ เอาไว้ทำอะไรไม่ทราบ) หรือควรรื้อใหญ่ ยกเลิกระบบอักษรสามหมู่และปรับระบบวรรณยุกต์ให้รูปตรงกับเสียงไปด้วยกันเลย

2. การเขียนคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์เราสื่อสารกันข้ามวัฒนธรรมเป็นเรื่องปกติ หลายๆคนพูดไทยคำอังกฤษคำในชีวิตประจำวัน บางคำในพจนานุกรมคำใหม่ผมว่าใช้กันในวงแคบมาก จนน่าสงสัยว่าถ้าใช้เกณฑ์ว่ามีคนพูดแล้วต้องใส่ในพจนานุกรม ต่อไปอาจจะต้องขนพจนานุกรมอังกฤษลงมาใส่ค่อนเล่มเป็นแน่ และวิธีการเขียนแบบไม่ใส่วรรณยุกต์ที่ราชบัณฑิตท่านกำหนดอยู่ในปัจจุบันนี้เหมาะสมหรือไม่ หรือควรเป็นอย่างไร

3. การเขียนภาษาไทยด้วยอักษรโรมัน ระบบที่ราชบัณฑิตกำหนดขึ้นใช้งานได้ดีหรือไม่ การที่หลายตัวไม่สอดคล้องกับภาษาอังกฤษเป็นปัญหาหรือไม่ ข้อบกพร่องอื่นๆมีหรือไม่ ควรปรับปรุงในจุดใดบ้าง
 
4. ภาษาไทยในคอมพิวเตอร์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยจะหยิบยกขึ้นมาพูดนัก แต่ผมเห็นว่ามีปัญหาทั้งระบบการพิมพ์และการจัดเก็บข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องของสระ โดยเฉพาะสระที่วางไว้หน้าอักษรนำ (เอ แอ ไอ ใอ) และสระที่มีรูปซับซ้อน (อือ เอะ แอะ เอียะ เอีย เอือะ เอือ  อัวะ อัว โอะ เอาะ เอาะ เออ เอา) ซึ่งเรายึดแนวทางของเครื่องพิมพ์ดีดมาใช้กับคอมพิวเตอร์ สร้างปัญหาให้ระบบกับจัดเก็บข้อมูล การเรียงลำดับ และการสืบค้นมาถึงปัจจุบัน เช่นคำว่า เขา แทนที่จะเก็บว่า ข, เ-า กลับเก็บเป็น เ, ข, า อย่างเดียวกับที่พิมพ์เข้าไป ซึ่งน่าสังเกตว่าตรงกับระบบที่ให้เด็กเล็กท่องการสะกดภาษาไทยที่เป็นข่าว การเก็บข้อมูลแบบนี้ทำให้ลำดับการเก็บไม่สอดคล้องกับการจัดเรีอง เพราะถ้าไม่มีระบบเข้ามาจัดการเป็นพิเศษ เขา จะต้องถูกเรียงลำดับอยู่หลัง ขา นอกจากนี้เวลาสืบค้นข้อมูล จะหา เข แต่เจอ เขา มาด้วยตลอด ทั้งๆที่เป็นสระคนละตัวกันเลย

แต่ละประเด็นที่ยกมานี้แต่ละข้อมีความเกี่ยวพันกันไม่มากก็น้อย ควรได้รับการพิจารณาโดยองค์รวมครับ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 17, 18:47
ที่คุณ CrazyHOrse ไล่เรียงมานั้นเป็นเรื่องที่สมควรจะต้องมีการ take note ครับ  โดยเฉพาะในข้อ 4     

ผมเดาะใช้ภาษาฝรั่งตามที่คำนี้นิยมใช้กันในที่ประชุมนานาชาติ และกำลังเริ่มเป็นที่นิยมใช้กันในประเทศของเรา ซึ่งคงจะเป็นผลพลอยมาจากการที่เศรษฐกิจและสังคมของเรามีความเป็นนานาชาติมากขึ้น   โดยพื้นๆแล้ว คำนี้มีความหมายทั้งในเชิงของเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นและเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นแล้ว มีความหมายที่ดิ้นได้มากพอสมควร ครอบตั้งแต่ ได้ยิน รับทราบ ไปจนถึงการ(ควรจะ)ได้ถูกลงบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ) 


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 17, 19:35
ข้อ 4 นั้น ทำให้นึกถึงพจนานุกรมภาษาจีน ซึ่งจะต้องรู้ว่าอักษรตัวนั้นๆเกิดขึ้นจากการขีดเขียนขึ้นมาด้วยกี่เส้นปากกาเสียก่อน จึงจะสามารถเปิดพบอักษรตัวนั้นๆได้   

ก็ในทำนองว่า เมื่อการออกเสียงคำภาษาต่างประเทศที่เข้ามาผสมอยู่ในภาษาไทยนั้นแตกต่างกัน เช่น แกส กับ กาซ   อัลตร้า กับ อุลตร้า   วิตามิน กับ ไวตามิน  ...


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ค. 17, 10:59
ผมลองไล่เรียงประเด็นในภาษาไทยที่คิดว่าควรพิจารณาได้หลายข้อดังนี้ครับ ......

๕. มีหลายคำในภาษาไทยที่เขียนไม่ตรงกับการออกเสียง หรือออกเสียงไม่ตรงกับคำเขียน (การออกเสียงนี้หมายเฉพาะสำเนียงกรุงเทพเช่นเดียวกับคำอื่น ๆ ในพจนานุกรมคำใหม่ของราชบัณฑิตสถาน) ๓ กรณีคือ

     ๕.๑  คำเสียงสั้นที่ไม่กำกับด้วยไม้ไต่คู้ เช่น เพชร, เพชฌฆาต, เบญจ-,  เวจ,  อเนจอนาถ

     ๕.๒  คำที่ใช้สระเสียงสั้นแต่ออกเสียงยาว

มีตัวอย่างอีกหลายคำ

คำว่า                             ออกเสียงว่า

น้ำ                                น้าม
ไม้                                ม้าย
ไหว้                              ว่าย
ได้                                ด้าย
ใต้                                ต้าย
เก้า                               ก้าว
เช้า                               ช้าว
เปล่า                             ปล่าว

     ๕.๓ คำที่ใช้สระเสียงยาวแต่ออกเสียงสั้น นึกออกอยู่คำหนึ่งคือ ว่าว ออกเสียงว่า เว่า

ควรปรับปรุงให้เขียนตรงกับการออกเสียง (สำเนียงกรุงเทพ) หรือไม่  ;D


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ค. 17, 14:05
ครับคุณเพ็ญชมพู ยังมีแถมเรื่องคำที่มีพยางค์หน้าเป็นสระเสียงสั้นออกเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงสามัญ ไม่มีทางเขียนให้ตรงเสียงได้ด้วยระบบการเขียนแบบปัจจุบัน เช่นทะเบียน, ระเบียง, ขนม ฯลฯ คำพวกนี้เดิมอาจจะออกเสียงตรงรูปหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ปัจจุบันผมว่าน้อยคนที่ออกเสียงเป็น ทะ-เบียน, ระ-เบียง, ขะ-หนม พยางค์แรกกลายเป็นเสียงสามัญไปหมดแล้ว

ผมคุ้นๆว่าหลายปีก่อนเคยอ่านพบว่ามีอาจารย์บางท่านจัดกลุ่มเสียงแบบนี้ออกไปต่างหาก แต่หาไม่เจอเสียแล้ว หากมีอยู่จริงก็คงไม่ใช่แนวคิดกระแสหลักนะครับ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 17, 08:24
เร็วๆนี้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอคลิปพลทหารรายหนึ่ง กล่าวรายงานแสดงความรู้สึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพิธีต้อนรับทหารใหม่ ของหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก (นปอ.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา   หนุ่มพลทหารรายนี้กล่าวรายงานเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีสคริปต์ในมือ   พูดอังกฤษชัดเจนมาก
 ชาวเน็ตแห่ชมกว่า 4 แสนครั้ง เปิดวาร์ปเป็นหนุ่มลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ ดีกรีหนุ่มปริญญาโท ขอสมัครเป็นทหารกองประจำการ 6 เดือน   
http://manager.co.th/HotShare/ViewNews.aspx?NewsID=9600000067001


แต่คลิปของหนุ่มรายนี้ไม่เกี่ยวกับภาษาไทยในกระทู้นี้  ส่วนที่เกี่ยวคือความเห็นของผู้อ่านรายหนึ่ง พิมพ์ส่งมาด้วยภาษาไทย    พิสูจน์ให้เห็นวิธีสะกดที่คีบอร์ดมือถือเป็นตัวกำหนดทิศทาง    ไม่เกี่ยวกับความถูกต้อง  ความเป็นมา
 ฯลฯ ของภาษาอีกต่อไป



กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ค. 17, 09:53
เด็กไทยสี่จุดศูนย์       ต่างเทิดทูนนิยมกัน
ภาษาฝรั่งนั้น           ใครพูดได้ให้ชื่นชม

ครั้นพอภาษาไทย       ต่างหัวส่ายไม่นิยม
จริงแท้แม้อกตรม       วิบัติหนา "พาสาไท"



แบบฝึกหัดวิชา "พาสาไท" ในอนาคต  :o


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 02 ก.ค. 17, 12:56
เร็วๆนี้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอคลิปพลทหารรายหนึ่ง กล่าวรายงานแสดงความรู้สึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพิธีต้อนรับทหารใหม่ ของหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก (นปอ.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา   หนุ่มพลทหารรายนี้กล่าวรายงานเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีสคริปต์ในมือ   พูดอังกฤษชัดเจนมาก
 ชาวเน็ตแห่ชมกว่า 4 แสนครั้ง เปิดวาร์ปเป็นหนุ่มลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ ดีกรีหนุ่มปริญญาโท ขอสมัครเป็นทหารกองประจำการ 6 เดือน   
http://manager.co.th/HotShare/ViewNews.aspx?NewsID=9600000067001


แต่คลิปของหนุ่มรายนี้ไม่เกี่ยวกับภาษาไทยในกระทู้นี้  ส่วนที่เกี่ยวคือความเห็นของผู้อ่านรายหนึ่ง พิมพ์ส่งมาด้วยภาษาไทย    พิสูจน์ให้เห็นวิธีสะกดที่คีบอร์ดมือถือเป็นตัวกำหนดทิศทาง    ไม่เกี่ยวกับความถูกต้อง  ความเป็นมา
 ฯลฯ ของภาษาอีกต่อไป


เรือนไทยมี "เปิดวาร์ป" เจนบีบี จะตามไม่ทันแล้ว


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 17, 13:40
ฟินมั้ยคะ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 17, 18:31
ฟิน ??   ตกเวทีการใช้ภาษาไทยยุคใหม่ไปเรียบร้อยแล้วครับ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 02 ก.ค. 17, 18:47
เรียน+ใช้ "ภาษาโบราณ"มานานจนเข้าสายเลือด จะให้ฟอก(เลือด)ตอนนี้คงไม่ทันการแล้วครับ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 17, 19:24
เห็นคำว่า วาร์ป  ก็เลยนึกถึงการใช้ ร ในภาษาไทย

ทำให้เกิดความสนใจขึ้นมาว่า ในภาษาถิ่นเดิมที่ชาวบ้านเขาสนทนากันนั้น ไม่มีเสียงของ ร  มีแต่เสียงของ ล  ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าคำที่มีเสียง ร นั้นมิใช่คำในภาษาไทยมาแต่เดิม   ทั้งนี้ หากมีคำที่ต้องมีการออกเสียงแบบตัว ร ในภาษาไทยแต่เดิมแล้วละก็ ผู้คนก็น่าจะต้องสามารถออกเสียง ร ได้ชัดเจน     ตัว ร นั้นข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากทวีปอินเดียแน่นอน เรารับมาทั้งจากทางตรงและทางอ้อม (เขมร)   ก็จึงเป็นเรื่องปกติที่ในภาษาไทยของเราจะต้องออกเสียงและเขียนคำที่มีตัว ร เหล่านั้นตามที่มาของคำนั้นๆ   ทั้งนี้ ในทางวิชาการท่านก็พยายามจะทำการแก้ไขการสะกดคำให้มีความสอดคล้องและถูกต้องตามหลักของภาษาเดิมที่เราเอาคำและความหมายนั้นๆมาใช้ในภาษาของเรา

แต่..


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 17, 20:24
แต่..
ดูเหมือนว่าเรามีศัพท์ในภาษาไทยที่มิได้มีรากเง่ามาจากภาษาอื่น แต่ดอดใส่ตัว ร เข้าไป เช่น กระปี๋ กร๊วก กระจิบ กระจอก  และก็มีคำของภาษาอื่นที่เราเอามาใช้แล้วได้ออกเสียงและเขียนเป็นไทยเรียบร้อยแล้ว เช่น กิ๊บ (clip ?)   


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ค. 17, 18:17
ด้วยวิชาชีพและอาชีพของผม ทำให้ผมต้องเดินทางไปในหลายพื้นที่  จึงได้มีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับสังคม วัฒนธรรม สำเนียงเสียงภาษา ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆในระดับปัจเจกชุมขน  แน่นอนว่ามันก็ย่อมจะต้องมีความต่างกันไปบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งต่างก็มีเหตุผลหรือคำอธิบายที่เข้าใจได้หรือพอจะเข้าใจได้   แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ยังคงติดใจอยู่ก็คือเรื่องของสำเนียงในภาษาไทย


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ค. 17, 19:44
เรามีสำเนียงเฉพาะของภาษาภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเอกลักษณ์และมีศัพท์เฉพาะตัวของเขาที่คล้ายๆกัน  พอจะแยกขาดออกไปได้   

สำหรับในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้นั้น เราก็มีสำเนียงที่ต่างกันเช่นกันแต่จะมีการใช้ศัพท์ที่เกือบจะเหมือนๆกันทั้งหมด ความต่างก็มีแต่เพียงการออกเสียงไม่ครบพยางค์หรือตัดคำให้สั้นลง ที่น่าสนใจก็ตรงที่ สำเนียงที่เราเรียกว่าเหน่อนั้น มันปรากฎอยู่ในพื้นที่รอบๆกรุงเทพฯและเริ่มสัมผัสได้ในรัศมีระยะน้อยกว่า 100 กม.จากกรุงเทพฯนี้เอง แล้วจะเริ่มกลายเป็นสำเนียงและภาษาที่เราเรียกว่าภาษาทองแดง จากนั้นจึงเปลี่ยนไปเป็นสำเนียงภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ประจำภาค

ดังนั้น หากเรามองว่าสำเนียงกรุงเทพฯเป็นสำเนียงมาตรฐาน และสำเนียงในพื้นที่อื่นๆเป็นสำเนียงที่เพี้ยนออกไป  การกำหนดการสะกดคำเพื่อให้ออกเสียงตามสำเนียงกรุงเทพฯก็น่าจะถูกต้อง   แต่ถ้ามองในอีกภาพหนึ่งว่า บรรดาสำเนียงในพื้นที่รอบๆกรุงเทพฯที่เราว่าออกเสียงเหน่อนั้น เป็นสำเนียงดั้งเดิมของภาษาไทย มาตรฐานการสะกดคำให้ออกเสียงนั้นๆก็คงจะต้องเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง
   (บ้านเรือนและชุมชนดั้งเดิมในรัศมีระยะน้อยกว่า 100 กม.จากกรุงเทพฯนั้น น่าจะเกือบทั้งหมดได้อพยพหนีภัยมาตั้งแต่สมัยเสียกรุงโน่น และดูเหมือนว่าในมาตรฐานของคนกรุงเทพฯยุคปัจจุบัน ผู้คนเหล่านั้นก็จะพูดสำเนียงเหน่อไปหมด)

สำหรับผมนั้น สำเนียงภาษาไทยดั้งเดิม น่าจะเป็นสำเนียงที่เราบอกว่าเป็นเสียงเหน่อนั้นแหละ  ซึ่งอาจจะเป็นเอกลักษณ์ที่ฝังอยู่ในยีนส์ของเราก็ได้  เด็กๆนักเรียนจึงมักจะมีสำเนียงเสียงเหน่อหลงเหลือให้พอจับได้ในการสนทนาเสมอ แม้ว่าจะได้ถูกกำหนดให้อ่านตามคำสะกดที่ให้ออกเสียงเป็นสำเนียงกรุงเทพฯก็ตาม


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ค. 17, 09:25
เรามีสำเนียงเฉพาะของภาษาภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเอกลักษณ์และมีศัพท์เฉพาะตัวของเขาที่คล้ายๆกัน  พอจะแยกขาดออกไปได้   

สำหรับในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้นั้น เราก็มีสำเนียงที่ต่างกันเช่นกันแต่จะมีการใช้ศัพท์ที่เกือบจะเหมือนๆกันทั้งหมด ความต่างก็มีแต่เพียงการออกเสียงไม่ครบพยางค์หรือตัดคำให้สั้นลง

เฮฮาภาษาถิ่น              ยามยลยินยั่วยิ้มพราย
สำเนียงเสียงมากหลาย   แฝงชีวิตจิตวิญญาณ


https://youtu.be/PH6OORqWG5k

https://youtu.be/Z04wGmGk2zE

https://youtu.be/wD2tdh1-aOg

https://youtu.be/FOEWg9ymKKk


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 17, 20:42
ในเรื่องของสำเนียงนี้ก็มีเรื่องน่าสนใจ

ที่จริงแล้วในระยะประมาณ 100+ กม.จากกรุงเทพฯนั้น เป็นพื้นที่ๆมีผู้คนที่เราเรียกว่าลาวได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่มากมาย มีทั้งที่มาอยู่เนื่องจากถูกกวาดต้อนมาและที่ย้ายตามมา (สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี)  ซึ่งภาษาและคำที่ผู้คนเหล่านี้ใช้เป็นส่วนมากจะมีความ(เกือบจะ)เหมือนกันในด้านของคำศัพท์และสำนวน ที่จะต่างกันออกไปก็คือความต่างของการออกเสียงของแต่ละคำและสำเนียงของภาษาในองค์รวม ซึ่งในหมู่ของพวกเขาเองก็มีสำเนียงที่พวกเขาจัดว่าเป็นสำเนียงมาตรฐานและที่เป็นสำเนียงเหน่อ    ภาษาไทยในอิทธิพลของสำเนียงลาวดังกล่าวนี้ก็ยังมีเอกลักษณ์ที่พอจะแยกออกไปได้จากภาษาไทยที่เราจัดว่ามีสำเนียงเหน่อไปจากสำเนียงกรุงเทพฯ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 17, 21:07
เรื่องน่าสนใจต่อเนื่องก็คือ 

ภาษาไทยสำเนียงที่เหน่อมากๆนั้น เป็นสำเนียงที่เกือบจะเหมือนกันกับที่ผู้คนในภาคต่างๆเขาพูดกัน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดก้นได้ว่าเป็นคนภาคเดียวกัน   เท่าที่รู้และได้สัมผัสมา สำเนียงของผู้คนดั้งเดิมในพื้นที่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี นั้นเกือบจะไม่ต่างไปจากสำเนียงของภาษาใต้เลยทีเดียว  สำเนียงหนักๆของภาคเหนือ (แพร่) เมื่อเขาสนทนากันก็ทำให้คนใต้ส่งภาษาใต้มาร่วมสนมนาด้วย  ของอิสานก็มีแต่จำไม่ได้แล้วว่าที่ใหน   


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ส.ค. 17, 14:42
ผมเพิ่งจะทราบว่ารัชกาลที่ 6 ท่านทรงเคยทดลองปรับรูปแบบการเขียนไทยไว้ รายละเอียดอยู่ในนี้ครับ

การปรับรูปแบบการเขียนอักษรไทยโดยรัชกาลที่ 6 (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_6)

มีตัวอย่างที่หัวหนังสือดุสิตสมิตครับ


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ส.ค. 17, 18:41
ชื่อสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย และตราสัญญลักษณ์ ใช้ภาษาไทยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงพระราชดำริขึ้น มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์อยู่ในบรรทัดเดียวกันเหมือนภาษาพ่อขุนรามคำแหง  แต่หลังจากทดลองใช้แล้วไม่ได้รับความนิยมจากมหาชน จึงมิได้ทรงบังคับ (เครดิตภาพ วรชาติ มีชูบท)


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ส.ค. 17, 18:43
^


กระทู้: ภาษาไทยที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2485 กับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ส.ค. 17, 20:45
ลายพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายการใช้สระแบบใหม่

จาก การเปลี่ยนแปลงระบบการเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ (https://www.tci-thaijo.org/index.php/Wannawithat/article/viewFile/62304/51286) โดย  พรทิพย์ เฉิดฉินนภา อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์