เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: prasit ที่ 30 ก.ย. 09, 14:07



กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: prasit ที่ 30 ก.ย. 09, 14:07
อาจจะขอมากไป แต่ผมว่าท่านๆในบอร์ดต้องมีแน่นอน และก็หวังไว้ลึกด้วย เพราะวันที่ 1 นี้ผมจะเอา Morning talk เพื่อน
ร่วมงาน หลายวันแล้วที่ผม Morning talk เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่วันที่ 1 อยากได้แบบเรียนนำเสนอ


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ก.ย. 09, 14:31
หาในห้องสมุดจะง่ายกว่าครับ
ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่มีสำนักพิมพ์เอามาถ่าย plate ไว้

http://gotoknow.org/file/thaipoet/view/248586

ลองเปิดลิงค์ด้านบนดูนะครับ
แล้วหาเวบห้องสมุดใน google ดูว่าคุณพอจะไปที่ไหนสะดวก
และระยะนี้เขาเปิดบริการถึงเวลาเท่าไหร่
(เช่น ถ้ายังไม่ปิดเทอมและใกล้สอบ
ผมเข้าใจว่าหอสมุดจุฬาจะเปิดถึงเที่ยงคืน เป็นต้น)

แล้วเอารายละเอียดที่เห็นบนปกหนังสือไปหาในเวบห้องสมุด
(เวลาค้นเลือกที่ "คำค้น" หรือ "Keyword" จะได้ผลง่ายที่สุด)
แล้วกรุณาเจียดเวลาซัก 1 - 2 ชั่วโมง และค่าบำรุงห้องสมุด
ไปเปิดค้นดูว่าหนังสือเล่มที่ว่าเป็นยังไง



ถ้าจะพูดถึงหนังสือซักเล่มที่คุณไม่รู้จัก โดยไม่มีพื้นฐานมาก่อน
มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่คุณจะทำความเข้าใจได้โดยไม่ได้เปิดดูก่อน
ต้องขอโทษด้วยที่ผมจุ้นจ้าน เข้ามาบอกวิธีการกับคุณ
เพราะโดยส่วนตัวคิดอยู่เสมอว่าการถ่ายทอดข้อมูลไปผิดๆ มั่วๆ เป็นบาปอย่างหนึ่ง


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 14:45
มาเพิ่มเติมจากติบอ

อ่านกระทู้นี้  ไม่ค่อยเข้าใจจุดมุ่งหมาย  ได้แต่เดาว่าคุณประสิทธิ์คงอยากให้ใครสักคนสแกนหน้าปก และตัวอย่างบางหน้า ของหนังสือจินดามณีไปให้ดู
ประกอบ morning talk (ซึ่งไม่เข้าใจว่าในที่นี้คืออะไร)

จินดามณีมี 4 ฉบับ
  1.  จินดามณีฉบับพระโหราธิบดีหรือ ประถมจินดามณี เล่ม 1
  2.  จินดามณีฉบับสมัยพระเจ้าบรมโกศ
  3.  จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท หรือประถมจินดามณี เล่ม 2
  4.  จินดามณีฉบับหมอบรัดเล

ไม่ทราบว่าคุณประสิทธิ์หมายถึงฉบับไหนคะ?
แต่ยังไงก็ลองค้นตามที่ติบอแนะนำดูก่อน ก็น่าจะดี


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ก.ย. 09, 17:56

"ถ้าจะพูดถึงหนังสือซักเล่มที่คุณไม่รู้จัก โดยไม่มีพื้นฐานมาก่อน
มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่คุณจะทำความเข้าใจได้โดยไม่ได้เปิดดูก่อน"


รินน้ำชาจีนร้อนๆ คำนับคุณติบอ หนึ่งถ้วยค่ะ


ดิฉันจำได้ลางๆว่ามีการพิมพ์ใหม่บ้างแล้วนะคะ


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ก.ย. 09, 20:41
ขอบพระคุณ สำหรับชาจีนร้อนๆของ คุณ Wandee ครับ
ผมมีคุกกี้มาฝากครับ








ภาพจาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=beebie&date=05-11-2006&group=2&gblog=22 ครับ


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ก.ย. 09, 21:19
ขอบคุณค่ะ  ขอหยิบรูปหัวใจเคลือบน้ำตาล
ธรรมดาเป็นคนเค็ม..เอ้ย..กินเค็มค่ะ


ไปตามหา จินดามณี  มา
ฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท  จำได้ว่ามีรวมอยู่ในหนังสือปกอ่อนเล่มหนึ่ง
นิพนธ์ในปี ๒๓๙๒
ปนกันอยู่ค่ะ    แนวโน้มที่จะหาเจอโค้งต่ำ
ชื่อ จินดามุนี


จินดามณีมีอยู่หลายฉบับอย่างที่คุณเทาชมพูเล่าไว้


ฉบับพระโหราธิบดี   เรียบเรียงไว้เป็นตำราเรียนหนังสือไทยในสมัยพระนารายณ์มหาราช
ว่าด้วยระเบียบของภาษา  อักขรวิธีเบื้องต้น       
เนื่องจากพระโหราธิบดีเป็นกวี  หนังสือของท่านอธิบายวิธีแต่งกาพย์  กลอน  โคลง  ฉันท์
เน้นหนักให้ฝึกหัดเป็นกวี
   
ฉบับความสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส

ฉบับพระยาธิเบศ   

ฉบับนายมหาใจภักดิ์



กว่าจะฟังทันว่ามีทั้ง จินดามุนี   จินดามณี   และจินดามนี     ก็ใช้เวลาหลายปีค่ะ
เพราะอ่านไม่ออก  ยากเกินความสามารถ
เห็นอยู่สองสามเล่มเอง


จำของบรัดเลได้   เรื่อง  กข   กกา   ที่ว่า

ปลาทูอยู่ทเล              ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี

ซื้อเขาเบาราคา           ปลาขี้ค่า(รักษาตัวสะกดเดิม)ใช่ผู้ดี
กกาว่าเท่านี้               ดูต่อไปมีใน  กก


(หนังสือวัดเกาะที่หายากทั้งหมดแล้วตอนนี้  มีเรื่อง ปลาทูสุริยวงศ์ อยู่เรื่องหนึ่ง
ตัวละครเป็นปลาทั้งหมด
พระเอกเป็นปลาทูค่ะ
ทั้งชุดรู้สึกว่าจะมีอยู่ สิบกว่าเล่ม   ขยายความไปถึงการผจญภัยของลูกและหลานของเจ้่าชายปลาทู)


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: prasit ที่ 01 ต.ค. 09, 10:15
ขอบคุณหลายๆความเห็นครับ ได้ความรู้ขึ้นมาเยอะเลย หากจะกรุณาเพิ่มประวัติของศรีปราชญ์ได้ไหมครับ


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ต.ค. 09, 15:21
ศรีปราชญ์   ทำไมจะเลือกเรื่องที่ยังเถียงกันอยู่ล่ะคะ


น่าจะเลือกรามเกียรติ์ 

ถ้าได้อ่าน พระราชนิพนธ์ บ่อเกิดรามเกียรติ์  ตามด้วย
ชุดรามเกียรติ์ศึกษา  โดยเสถียรโกเศศและนาคะประทีป ๓ เล่ม
คือ อุปกรณ์รามเกียรติ์   สมญาภิธานรามเกียรติ์  และ ประชุมเรื่องพระราม
ตอนไหนก็ได้ไม่มีจะผิดพลาดได้

เลือกตอนหนึ่งตอนใดก็คงพอเหมาะกับวงผู้ฟัง  เพราะความกตัญญู ความกล้าหาญ นั้นใช้เป็นกำลังใจได้ทุกวงการ

มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นสุภาพสตรีเยอะไหมคะ
ลองเสนอตอนมณโฑเทวีคร่ำครวญเมื่อเสียอินทรชิต

อ่านไปแปลไปเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ยากค่ะ
ความรักของแม่นั้น    คนทั้งโลกเข้าใจ


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: prasit ที่ 01 ต.ค. 09, 17:33
ยังงัยครับ K. wandee พอดีพึ่งเข้ามาใน Board ไม่นาน ไม่คิดว่าสิ่งที่เราแย้งกันอยู่คงไม่ถึงกับต้องเว้น หรือว่ามีใน board เก่าอยู่แล้ว
ถ้างั้นผม Find หาเอาดีกว่า ขอบคุณทุกความเห็นและข้อมูล


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ต.ค. 09, 19:51
ขออภัยนะคะ  ดิฉันอาจจะเขียนสั้นไป


ตามที่ดิฉันเข้าใจ   เรื่องศรีปราชญ์ ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่
ว่าตัวตนที่แท้จริงเป็นใคร
ประวัติความเป็นมาก็ยังไม่ชัดแจ้ง   วรรณกรรมก็เรื่องเล่าอยู่ในบางประเทศแถบนี้


เรื่องนี้ก็คงต้องขอฟังคุณเทาชมพูเป็นหลัก
เพราะเคารพความเป็นนักวิชาการของเธอ
ดิฉันมาจากกลุ่มนักอ่านค่ะ


ดิฉันสนใจกลุ่มนักอ่านมากค่ะ  เท่าที่เห็นมาก็มีแต่กลุ่มเล็กๆที่จัดขึ้นในองค์การระหว่างประเทศ
หรือสถานทูตบางแห่งในประเทศไทย    

กลุ่มนักอ่านที่ดิฉันรู้จัก   พบกันตอนอาหารกลางวันค่ะ  นำอาหารมาเอง
แล้วก็สนทนากัน   มีโอกาสได้พูดเรื่องหนังสือไทยหลายครั้งทีเดียว


ดิฉันเห็นว่ารามเกียรติ์มีข้อมูลสนับสนุนหลายเล่มน่ะค่ะ
คงหาจุดที่น่าสนใจได้มาก





กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 01 ต.ค. 09, 20:48
ถ้าวัดจากความเข้าใจของผม ที่จริงรามายณะ หรือ ตำนานศรีปราชญ์
ก็มีเรื่องให้ถกเถียงเยอะไม่แพ้กันครับ คุณ Wandee
ศรีปราชญ์ มีปัญหาเรื่อง "ตัวตน" ของศรีปราชญ์
เพราะดูเหมือนว่าพอมีชื่อ "ศรีปราชญ์" ติดหูคนขึ้นมา
งานเขียนที่หาที่มาไม่ได้สมัยอยุธยาหลายชิ้น
นักประวัติศาสตร์บ้าง นักวรรณคดีบ้างก็ยัดเยียดให้ศรีปราชญ์ไป
เหมือนที่วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นบางชิ้น
เคยโดนยัดเยียดให้สุนทรภู่มาแล้วเหมือนกัน

ทุกวันนี้เลยมีคนเสนอไว้ต่างๆนานา เช่นว่า
ถ้าดูจากรูปภาษาแล้ว กำสรวลสมุทรน่าจะเป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น
หรือว่า "จินดามณี" น่าจะเป็นงานเขียนสมัยพระนารายณ์มากกว่า
ข้อสันนิษฐานพวกนี้ก็ต้องดูกันเป็นรายๆไปว่าคนพูดเอาหลักฐานอะไรมาอ้าง
เช่น ถ้าเอาภาษาของงานเขียนชิ้นอื่นๆสมัยเดียวกันมาเทียบกัน
แล้วสรุปว่ารูปประโยคหรือความหมายของคำใกล้เคียงกัน... อันนี้ก็พออนุโลม

แต่ถ้าสรุปว่า "ตอนต้นของวรรณกรรมบอกไว้ว่าเขียนสมัยไหน"
แล้วเอาไปบอกว่าเป็นงานเขียนสมัยนั้น เหมือนที่กรมศิลป์พิมพ์ "วรรณคดีสมัยสุโขทัย"
แต่ดันเอาไตรภูมิโลกวินิจฉัยคาถาที่คัดลอกสมัย พ.ศ. 2310กว่าๆไปใส่...
แบบนี้น่าเหนื่อยใจครับ เพราะมันห่างจากสุโขทัยลงมามากเกินไปแล้ว

เพราะ "การคัดลอก" ยิ่งทำล่าลงมามากเท่าไหร่ ภาษาที่ก็ยิ่งเปลี่ยนไป
ตัวบทของวรรณคดีก็ต้องถูกแก้ไขไปตามความเข้าใจของสังคมมากขึ้นเท่านั้น
การ "คัดลอกให้เหมือนเดิม" เป็นความคิดแบบสมัยใหม่ในสังคมที่มีวัตถุดิบเหลือเฟือแล้ว
สมัย 2300 กว่าๆ สมุดข่อยทำมือไม่ใช่ของหาง่ายแน่ คงมีอย่างมากวัดละไม่เกิน 1 หรือ 2 ฉบับต่อเรื่อง
พระท่านก็ต้องคัดไปปรับสำนวนใหม่ไป "เพื่อให้อ่านเข้าใจ" เพราะต้องเอาไว้ใช้อ่านใช้สอนกัน
ไม่ใช่มานั่งลอกของเดิม "ไว้ให้นักวิชาการรุ่นหลังได้มาอ่านสำนวนสุโขทัย" นี่ครับ


ส่วนที่เป็นสีกรมท่าตรงนี้ผมขอบ่นหน่อยครับ
ที่แย่ที่สุดสำหรับสังคมไทย คือ หนังสือ "วรรณคดีสุโขทัย" ยังถูกใช้เป็นแบบเรียน
ในการสอนวรรณคดีสมัยสุโขทัยในระดับอุดมศึกษา(เกือบ)ทั่วประเทศ
ทั้งๆที่นักวิชาการก็ท้วงกันมาเป็นสิบปีแล้วว่าทั้งไตรภูมิโลกวินิจฉัยฯ
และตำรับนางนพมาศ เป็นวรรณกรรมรัตนโกสินทร์!!!

ผมเคยลองถามดูคนสอนบางคนอ้างว่า "มันคงมีเค้าโครงเดิมจากวรรณกรรมสมัยสุโขทัยอยู่"
เออ.... คุณไปหาวรรณกรรมสมัยสุโขทัยอย่างอื่นมาสอนไมได้เหรอ
จารึกสมัยสุโขทัยน่ะ มีเป็นสิบๆหลัก ภาพชาดกที่วัดศรีชุมทั้งชุดสภาพก็สมบูรณ์มาก
มีภาพประกอบให้ตรวจสอบกับคำแปลด้วยซ้ำ ว่าแต่ละเรื่องเล่าว่าอะไรบ้าง
ทำไมไม่เลือกอะไรที่มัน "ไม่โดนแก้แน่ๆ" มาใช้ล่ะ ? คนสอนจะได้ไม่สับสนด้วย
(หรือว่ามัน "สั้น" และ "อ่านง่าย" มากเกินไปจนเหมือนหนังสือนิทานภาพเหรอครับ ?)




กับรามายณะที่เป็น "วรรณคดีสร้างชาติ" ทั้งของคนไทยและต้นตำรับอย่างอินเดีย
ปัญหากลับไปอยู่ที่ "ความห่าง" ทั้งเรื่อง "สังคม" และ "เวลา" ระหว่างตัวบทกับเรา
รามเกียรติ์ฉบับธนบุรี-รัตนโกสินทร์ น่าจะมีที่มาจากรามเกียรติ์ฉบับอยุธยาอยู่แล้ว
แล้วรามเกียรติ์ฉบับอยุธยาจะมีที่มาจากไหน ?? จากอินเดียโดยตรงจริงๆเหรอ ?
แล้วถ้ามาจากอินเดีย จะเอาฉบับไหนมาล่ะ ? ฉบับวาลมิกิเลยรึเปล่า ? หรือฉบับอื่น ?

หลักฐานภาพสลักเรื่องรามเกียรติ์น่ะเจอทั่วอินเดีย - southeast asia เต็มไปหมดครับ
แล้วภาพสลักชุดที่เก่าที่สุดที่ยืนยันกับเราได้ว่าอยุธยามีรามเกียรติ์นั่นน่ะ
ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านิดหน่อยเลยนะครับ ยังแต่งตัวแบบเขมรซะด้วย...
รามเกียรติ์ไทยจะมาจากแขกจริงๆหรือ ? แล้วถ้าเอามาจากอินเดียจริง จะเอามาสมัยไหน ?
วรรณกรรมในศาสนาพราหมณ์จะพร้อมใช้สำหรับสังคมพุทธเถรวาทแบบไทยมั้ย ?
ถ้าไม่ได้มาจากอินเดีย จะมาจากที่ไหน ? เคยถูกแก้มั้ย ? แก้ไปในทางไหน ?
แล้วเคยมีการเอาฉบับอินเดียมาสอบเทียบบ้างรึเปล่าตอนแก้ ?


ถ้าคุณ Wandee ยังไม่เหนื่อยกับการอ่านไปซะก่อน
ก็มีเรื่องสนุกๆสำหรับนักอ่านอย่างอีกเยอะแยะเลยครับ


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ต.ค. 09, 21:14
การอ่านไม่มีวันจบสิ้น  ยังอ่านและพบเรื่องที่น่าสนใจได้อีกเรื่อยๆ


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 01 ต.ค. 09, 21:18
สำหรับคนที่นั่งอ่านประวัติศาสตร์เขมรเตรียมสอบมา 4 วันแล้วยังไม่จบซักเล่มอย่างผม
คำคมของคุณ Wandee ฟังแล้วคมจนกรีดหัวใจมากผิดปรกติครับ   :'(


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 02 ต.ค. 09, 11:14
ปลาทูอยู่ทะเล นี่ผมทันได้เรียนครับ ผมดีใจที่ได้ความรู้ใหม่ว่ามีกลุ่มนักอ่านในเมืองไทย อยากขอความกรุณา อยากได้ข้อมูลนิดเดียวแหละครับ ว่าผมจะเข้ากูเกิล ไปหาที่ไหน หรือหาอ่านที่ห้องมุดได้ว่า รำไทยที่เขาว่าพัฒนามาจากการรำของอินเดียน่ะครับ ผมติดใจมากกกกกเลยครับ (ขอโทษด้วยนะครับไม่ทราบจะไปถามที่กระทู้ไหนดี เอากระทู้นี่แหละครับ)
มานิต


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 09, 14:13
กำศรวลศรีปราชญ์เป็นเรื่องที่เคยคุยกันในเรือนไทยมาก่อนแล้ว
กรุณาคลิก ค้นหา ใส่คำว่า ศรีปราชญ์   ลงไป มีหลายกระทู้ค่ะ

โดยส่วนตัว ดิฉันคิดว่า ศรีปราชญ์อย่างที่เรารู้ๆกัน  เป็นตัวละครในตำนาน ไม่มีตัวจริง    อยู่ในหนังสือ "ตำนานศรีปราชญ์" เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)
เจ้าคุณปริยัติฯ น่าจะได้เค้ามาจากชื่อ ศรีปราชญ์  ที่ระบุไว้ในนิราศนรินทร์   นายนรินทร์ธิเบศร์เรียกผู้แต่งโคลงนิราศชื่อ กำศรวล ว่า ชื่อศรีปราชญ์  ตามคำเรียกของกวีในโคลงกำศรวล ที่เรียกตัวเองว่า "ศรี"
ทำให้โคลงนิราศเล่มนั้นเรียกกันว่า  กำศรวลศรีปราชญ์  ตามโคลงของนายนรินทร์ฯ

ส่วนผู้แต่งตัวจริง เป็นใครก็ยังเถียงกันอยู่  แต่ที่แน่ๆ  เห็นจะไม่ใช่สามัญชน  อาจจะเป็นถึงกษัตริย์อยุธยาสมัยก่อนสมเด็จพระนารายณ์





กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ต.ค. 09, 15:20
จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี  ที่ว่าแต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์  เท่าที่อ่านดูอย่างละเอียด 
มีเนื้อความบางตอน น่าจะแต่งโดยคนอื่นที่ไม่ใช่พระยาโหราธิบดี  และเนื้อความบางตอน อาจจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระโหราธิบดีอาจจะเป็นผู้แต่งเนื้อความบางตอน และได้รวบรวมเอาเนื้อความที่มีผู้แต่งไว้แล้วมาลำดับให้เป็นหนังสือชื่อจินดามณี 

จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี  มีฉบับตัวเขียนที่หอสมุดแห่งชาติและหอสมุดอื่นๆทั้งนอกและในประเทศไทย ตลอดจนที่เป็นของส่วนบุคคล เป็นจำนวนมาก แต่ละฉบับก็มีเนื้อความเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง  สุดแต่ผู้จดผู้จารจะใส่เนื้อหาอะไรลงไปเพิ่มเติม นอกจากนี้ บางฉบับเรียงลำดับเนื้อหาไม่เหมือนกับฉบับที่พิมพ์เผยแพร่ก็มี  ถือว่าเป็นตำราไวยากรณ์ภาษาไทยที่แพร่หลายมากในสมัยก่อน 

ถ้าสนใจเรื่องจินดามณี ใคร่แนะนำให้อ่านหนังสือวัตนาการของแบบเรียนภาษาไทย ของ ศ.ดร.นิยะดา  เหล่าสุนทร ซึ่งทำการศึกษาจินดามณีไว้ละเอียดดีทีเดียว


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 05 ต.ค. 09, 22:00
....................ส่วนหนังสือจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศนั้น ต้นฉบับสมุดไทยเก็บรักษาอยู่ที่ Royal Asiatic Society กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ได้ขอถ่ายสำเนาไมโครฟิล์มนำมาเผยแพร่ในประเทศไทย.......

เป็นส่วนหนึ่งของคำนำหนังสือ จินดามณี ที่สำนักพิมพิ์บรรณาคารขออนุญาตกรมศิลปากร จัดพิมพิ์เผยแพร่.....พิมพิ์ครั้งแรก(ของสำนักพิมพิ์นี้???) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕       ครั้งที่ ๑๐  พ.ศ. ๒๕๔๔  หนังสือชื่อ จินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมโกศ

บังเอิญเพิ่งได้เล่มนี้มาเมื่อกลางเดือนที่แล้ว.  จากร้านหนังสือใน CT ลาดพร้าว  .......จึงนำ  “หน้าตา”  และ ส่วนเสี้ยวของ “เนื้อหา” มาให้ดู  ...


คุณประสิทธิ์รีบไปซื้อซะ...ก่อนหมด...เพราะราคาแค่มูลค่ายาดม ๕ หลอด   ฮิฮิฮิ.........๕๐ บาทครับผม ปกแข็งอีกซะด้วย...


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 ต.ค. 09, 04:52
พอดีเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กำลังดำเนินงานโครงปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่น ตอนนี้กำลังปริวรรตวรรณกรรมของวัดท่าพูด จังหวัดนครปฐมอยู่ หนึ่งในนั้นมีแบบเรียนจินดามณีด้วยครับ เชิญ ดาวน์โหลดมาอ่านได้ที่นี่ครับ (pdf file) วรรณกรรมที่วัดนี้ มีเยอะครับ ทางศูนย์ฯ คงทะยอยนำออกมาเผยแผ่เรื่อยๆ แต่คงค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะมีคนปริวรรตอยูคนเดียว (มั้ง อิอิ)

http://www.sac.or.th/web2007/article/index.php?p=watthapood


กระทู้: อยากดูหน้าตา และเนื้อหา แบบเรียนจินดามณี
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 10 ต.ค. 09, 06:52
แวะไปอ่านมาแล้วครับ...เยี่ยมมาก..มีแหล่งเรียนรู้เพิ่มอีกแล้ว...ขอบคุณคุณ hotacunus  ;D มากครับ