เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: pattarapong ที่ 02 ต.ค. 10, 19:20



กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: pattarapong ที่ 02 ต.ค. 10, 19:20
คือ ผมอยากทราบเรื่องของ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ใน ร.6 เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ ผมทราบเพียงว่าพระนางเธอฯทรงมีวัง อยู่ที่หัวมุมถนนพญาไท และก็ทรงถูก ปลงพระชนม์ ในปี 2504 ท่านใดมีข้อมูลก็โปรดช่วยเหลือผมทีครับ ?


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 10, 20:47
ขอเชิญคุณ V_Mee ค่ะ

(http://www.reurnthai.com/rtimages/RW2078x74.jpg)

คุณลองเสิชในเรือนไทย ที่คำว่า ค้นหา  ในกระทู้เก่าๆมีเอ่ยถึงไว้บ้าง


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 03 ต.ค. 10, 11:21
พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาพระองค์ที่ 14 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด มนตรีกุล ประสูติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า “ติ๋ว”

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล สนพระทัยด้านวรรณกรรม และทรงพระนิพนธ์โคลงกลอนอยู่เสมอ เมื่อชันษา 21 ปี ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนไปแสดงละครในวังหลวง และโปรดให้แสดงเป็นนางเอกในพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น เป็นเจ้าหญิงอันโดเมดราในเรื่อง “วิวาหพระสมุท” นับเป็นสตรีท่านแรกที่ได้รับบทนางเอกในละครพูด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่แก่พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2463 ดังนี้

หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี
หม่อมเจ้าหญิงวิมลวรรณ พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้าหญิงวรรณีศรีสมร
หม่อมเจ้าหญิงพิมลวรรณ พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้าหญิงนันทนามารศรี
หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ
หม่อมเจ้าหญิงวัลลีวรินทร์ พระราชทานนามใหม่ว่า หม่อมเจ้าหญิงศรีสอางค์นฤมล
หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2464[1] ขณะพระชันษาได้ 22 ปี และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส ในภายหน้า ดังพระบรมราชโองการว่า

"ศุภมัสดุ พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ปัจจุบันกาล สุริยคตินิยม กันยายนมาศ อัฏฐมาสาหคุณพิเศษ บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังมีความแจ่มแจ้งอยู่ในประกาศพบรมราชโองการ ลงวันที่ ๔ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ นั้นแล้ว บัดนี้ได้ทรงพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส ณ เบื้องหน้า จึงเป็นการสมควรยกย่องพระเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านั้น มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญ "
 
หนังสือพิมพ์รายงานข่าวการสิ้นพระชนม์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 แต่เนื่องจากพระนางเธอลักษมีลาวัณ มิได้มีรัชทายาทได้ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์จึงมิได้อภิเษกสมรสกัน และทรงตัดสินพระราชหฤทัยแยกกันอยู่

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงแยกอยู่ตามลำพัง ณ พระตำหนักในซอยพร้อมพงศ์ ริมคลองแสนแสบ ทรงใช้ชีวิตอย่างสงบ และทรงใช้เวลาว่างในการทรงพระนิพนธ์ร้อยกรอง บทละคร และนวนิยายไว้เป็นจำนวนมาก โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า ปัทมะ วรรณพิมล และ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงดำเนินกิจการคณะละครปรีดาลัย ที่พระบิดาได้ทรงริเริ่มไว้ คณะละครปรีดาลัยในพระอุปถัมภ์ ได้สร้างศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มารุต, ทัต เอกทัต, จอก ดอกจันทน์

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงย้ายไปประทับที่ พระตำหนักลักษมีวิลาศ ถนนศรีอยุธยา และทรงพระนิพนธ์บทกวี และนวนิยาย เช่น ชีวิตหวาม เรือนใจที่ไร้ค่า ยั่วรัก โชคเชื่อมชีวิต ภัยรักของจันจลา และ เสื่อมเสียงสาป

 สิ้นพระชนม์
วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 คนสวนที่ถูกพระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ออกไปคนหนึ่ง เห็นว่าทรงเจ้านายสตรี ทรงพระชรา และทรงอยู่ตามลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคา ก็กลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ สี่แยกพยาไท และย่องเข้ามาทางข้างหลังใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียรขณะประทับพรวนดินอยู่จนสิ้นพระชนม์ แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นเลย

ชายคนสวนผู้นั้นจำนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยไม่รู้จัก เจ้าของโรงรับจำนำเห็นผิดสังเกตจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชายคนสวนผู้นั้นรับสารภาพถึงการฆาตกรรม และกล่าวว่าตนทราบแต่เพียงว่าพระนางทรงเป็นเจ้านาย ไม่คิดว่าจะทรงเป็นเจ้านายใหญ่ถึงเพียงนั้น

ครั้งนัน พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 เวลา 15.30 น. ว่าตนไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถ พระชนมายุรวม 62 ชันษา


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: pattarapong ที่ 03 ต.ค. 10, 18:29
แล้ววังของท่าน อยู่ฝั่งไหนของสี่แยกพญาไท ครับ


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ต.ค. 10, 10:29
อยู่ประมาณหัวมุมสี่แยกพญาไทค่ะ ปัจจุบันรู้สึกว่ารื้อถอนไปแล้ว.....

มีผลงานพระนิพนธ์เพลงมาฝากค่ะ
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9470000002480

       ผลงานเพลงอันเป็นบทพระนิพนธ์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ที่พวกเราคุ้นหูคือ "เพลงแนวหลัง" ซึ่งวงดนตรีกรมโฆษณาการ ของ "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" เป็นผู้บรรเลง ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล เป็นคนแรก แต่เมื่อบันทึกเสียง กลับเป็น บุษยา รังสี ซึ่งยังคงความอมตะตราบจนถึงทุกวันนี้
     
      เพลงแนวหลัง
      คำร้อง พระนิพนธ์ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
     
       ขอสหายชายหญิง อย่านิ่งช้า โปรดคิดหาเงินช่วยหน่วยทหาร
       พวกเราได้อยู่เป็นสุขสนุกสำราญ เพราะทหารกันภัยไว้แทนเรา
       ทหารเหนื่อยเมื่อยล้าแสนสาหัส ราษฎร์ควรจัดสิ่งของสนองเขา
       ทหารรบทหารต้องสู้มิรู้เซา ราษฎร์ควรเอาทรัพย์ช่วยทุกหน่วยกอง
       ทหารเป็นแนวหน้ารักษาเขต ราษฎร์แนวหลังระวังเหตุทั่วทั้งผอง
       เราร่วมจิตคิดสมัครรักปรองดอง เพื่อพี่น้องชาวไทยสบชัยเอย


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ต.ค. 10, 10:52
ภาพปกหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระนางเธอฯ ค่ะ


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ต.ค. 10, 11:04
คุณ pattarapong คะ
ไปได้ข้อมูลเกี่ยวกับพระที่นั่งศรีสุทธินิวาส ในพระราชวังพญาไท มาค่ะ ปัจจุบันอยู่ในโรงพยาบาลพระมงกุฏค่ะ

"พระที่นั่งศรีสุทธินิวาส ชื่อเดิมว่า พระที่นั่งลักษมีพิลาส ซึ่งตั้งตามพระนามของ พระนางเธอลักษมีลาวัณ อดีตพระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูนสูง ๒ ชั้น ประกอบด้วยหอคอยที่มียอดแหลมตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมแบบอิงลิช กอธิค (ENGLISH GOTHIC) บริเวณเพดานประดับลวดลายจิตรกรรมแบบอาร์ต นูโว และผนังเป็นภาพเขียนสีน้ำมันในแบบตะวันตก แต่การตกแต่งภายนอกและภายในทำอย่างเรียบๆ ภายในมีการตกแต่งเพดานด้วยภาพเขียนสีเป็นลายดอกไม้ แต่ในห้องสำคัญจะมีภาพเป็นภาพชายหญิงแบบตะวันตก ซึ่งไม่พบที่อื่น พระที่นั่งองค์นี้ในอดีตใช้เป็นที่รับรองสำหรับเจ้านายฝ่ายใน"


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ต.ค. 10, 11:24
มีพระฉายาลักษณ์ พระนางเธอฯ เมื่อพระชนมายุ 60 พรรษามาฝากค่ะ

สำหรับเรื่องวังของพระนางเธอฯ หรือพระตำหนักลักษมีวิลาส ยังสับสนอยู่ค่ะ
บาง web บอกว่าถูกรื้อถอนไปแล้วปัจจุบันเป็นอาคารวรรณสรณ์ ที่เป็นสถานที่กวดวิชาขนาดใหญ่
บาง web บอกว่า พระตำหนัก อยู่ฝั่งที่เป็นคณะแบ๊บติสท์ในปัจจุบัน
บาง web บอกว่า อยู่ที่พระราชวังพญาไท

ก็เลยสับสน..ค่ะ ขอท่านผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยนะคะ


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ต.ค. 10, 16:36
พระที่นั่งศรีสุทธนิวาสในพระราชวังพญาไทนั้น  เดิมพระราชทานชื่อว่า พระที่นั่งลักษมีวิลาส  เมื่อโปรดให้ต่อเติมพระที่นั่งพิมานจักรีเบื้องบูรพาภิมุขเป็น ๓ ชั้นแล้ว  ได้พระราชทานนามพระที่นั่งพิมานจักรีเบื้องบูรพาภิมุขนั้นเป็น พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน  และในคราวเดียวกันนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระที่นั่งลักษมีวิลาสเป็นพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส  ส่วนนาม "ลักษมีวิลาส" นั้น  พระนางเธอลักษมีลาวัณซึ่งแยกไปประทับที่ตำหนักใหม่ริมถนนพญาไท  ได้ขอพระราชทานไปใช้เป็นชื่อตำหนักที่ประทับ


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: XT ที่ 04 ต.ค. 10, 17:43
สำหรับเรื่องวังของพระนางเธอฯ หรือพระตำหนักลักษมีวิลาส ยังสับสนอยู่ค่ะ
บาง web บอกว่าถูกรื้อถอนไปแล้วปัจจุบันเป็นอาคารวรรณสรณ์ ที่เป็นสถานที่กวดวิชาขนาดใหญ่
บาง web บอกว่า พระตำหนัก อยู่ฝั่งที่เป็นคณะแบ๊บติสท์ในปัจจุบัน
บาง web บอกว่า อยู่ที่พระราชวังพญาไท


สวัสดีค่ะ จากที่อ่านข้อมูลของคุณดีดีแล้ว ทำให้นึกย้อนไปปี พ.ศ.2547 ตรงหัวมุมสี่แยกพญาไทตอนนั้นดิฉันเห็นบ้านโบราณหลังคากระเบื้องว่าว หลังไม่ใหญ่มาก แต่บริเวณโดยรอบพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ก็ได้แต่คิดว่าในย่านใจกลางเมืองแบบนี้ก็ยังเหลือของดีมีคุณค่าให้ได้เห็น  แต่คิดแบบนั้นได้ไม่ทันถึงเดือน นั่งรถผ่านอีกที เห็นสิ่งก่อสร้างทั้งหมดลงมากองรวมกัน และวันต่อๆ มา ก็เห็นรถแทรคเตอร์ แล้วก็อะไรต่อมิอะไร...จนกระทั่งพื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นอาคารวรรณสรณ์ไปในที่สุด  แต่ดิฉันก็ไม่ทราบว่าตรงนั้นจะใช่ พระตำหนักลักษมีวิลาสรึเปล่านะคะ


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: pattarapong ที่ 04 ต.ค. 10, 22:05
ขอบคุณทุกๆท่านนะคับ ที่มาให้ความรู้ เรื่องของ พระนางเธอฯนั้น ผมรู้สึกสนใจในตัวพระองค์มาก เพระ ทรงเป็นถึงพระชายา ในล้นเกล้า ร.6 ไม่น่ามีจุดจบของชีวิต แบบนั้ หากท่านผู้ใดที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของวังลักษมีวิลาศ กรุณาช่วยชี้แจงให้ผมทราบด้วยนะครับ ขอบคุณทุกท่านครับ  :) :) :) :) :) :)


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ต.ค. 10, 15:02
บ้านของชาวแขกซิกซ์ ที่มุมถนนพญาไท  สำหรับตำหนักลักษมีวิลาส คุณป้าผมและแม่ก็บอกว่า กลายเป็นโบสถ์ไปแล้วครับ


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ต.ค. 10, 15:18
มุมตรงบ้านของจมื่นมานิตนเรศร์หัวมุมแยกพญาไท เปลี่ยนมือของเศรษฐีอินเดีย ต่อมาถูกปล่อยทิ้งร้าง และปัจจุบันคือตึกวรรณสรณ์ของอ.อุ๊คนดัง

ส่วนตำหนักลักษมีวิลาศ ของ พระนางเธอลักษมีลาวัณ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอาคารวรรณสรณ์ ปัจจุบันเป็นอาคารศูนย์รวมนักศึกษาแป๊บติสต์

ประวัติพื้นที่ดินบริเวณนี้ผู้ที่เป็นเจ้าของดั้งเดิมคือ พระยาคชนันทน์นิพัทธพงศ์ (ล้วน คชนันทน์) ข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 6 ครอบครองตั้งแต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นมานิตนเรศร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 ซึ่งบนที่ดินแปลงนี้มีบ้านเก่าอยู่ 1 หลัง ต่อมาภายหลังทั้งบ้านและที่ดินแปลงนี้ได้ตกเป็นของครอบครัวนายรัชชปาลซิงห์ นารูลาและญาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 และบ้านหลังนี้ยังเคยให้เช่าเป็นที่ตั้งของสถานทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย อยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาได้เกิดปัญหา การแบ่งทรัพย์ที่ดินแปลงนี้จนเป็นความในชั้นศาลได้พิจารณานำทรัพย์ออกขายทอดตลาดผ่านกรมบังคับคดี ในวันที่ 28 ธันวาคม 2548 ซึ่ง นายอนุสรณ์ ศิวะกุล และนางอุไรวรรณ ศิวะกุล เป็นผู้ประมูลได้ เพื่อนำมาสร้าง อาคารวรรณสรณ์ (ในวันรับมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สภาพของบ้านทรุดโทรมมากไม่มีหลังคา และพื้นอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ครอบครองอยู่เดิมได้รื้อถอนออกไปจนหมด)


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: chinamimi ที่ 12 ต.ค. 10, 12:57
แล้ววังของท่าน อยู่ฝั่งไหนของสี่แยกพญาไท ครับ

 :P


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ต.ค. 10, 15:45
เรียนคุณ  pattarapong


       ไม่ค่อยกล้าแนะนำหนังสือให้ใครอ่าน  เพราะไม่ทราบจริตของท่านผู้ที่สนทนาด้วย

(จริตในที่นี้หมายความว่าอ่านหนังสือได้เร็วไหม  อ่านในที่มีเสียงรบกวนได้ไหม)

ในเรื่อง พระนางเธอลักษมีลาวัณ  นี้    อยากให้หาข้อมูลเรื่อง

เจ้าจอมมารดาเขียน

กรมพระนราธิปและงานประพันธ์ของท่าน

ตอนเด็กๆ  กรมพระนราธิปหกล้มป้าป   ท่านวิ่งไปฟ้องเจ้าจอมมารดา   แหม!  สนุกมากตอนนี้  อยู่ในเล่มไหนก็ลืมไปแล้ว
จำได้ลาง ๆ  ว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงต้องให้การด้วยว่า   ไม่มีใครผลักจ้ะ  หกล้มเองจ้ะ
ก็คงพระประวัติตรัสเล่า มั๊ง

อ่านประวัติท่าน ว่าท่านมีพระโอรสธิดาถึง ๒๗  องค์   ดูในสมุดพระรูป พระราชโอรส  
พระราชธิดาและพระราชนัดดาในรัชกาลที่ ๔  ของตาเจฟฟรีซิคะ

ดู หม่อมกลวงตาด  มนตรีกุล
ดู หม่อมอินทร์
ดูหม่อมสุ่น


ต่อไปหาคดีพระยาระกามาอ่าน  ถ้าหาสยามสมัยเล่มโตมาอ่านด้วยก็จะดีมาก  เพราะปูเรื่องให้เกิดจนได้

อ้อ    อ่านหนังสือที่หม่อมเจ้าหญิง ฤดีวรรณ ทรงเขียนด้วย


กาญจนาคพันธุ์ ก็เขียนเรื่อง ในวังและละครไว้พอควร


พระนางเธอทรงแปลหนังสือไว้หลายเรื่อง  พอหาได้ในงานหนังสือ   อ่านแล้วจะทราบว่าเป็นงานแปล


กรมพระนราธิป ฯ นั้น  งานชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็ล้ำเลิศ    ลองหาอ่านดูนะคะ

อย่าสนใจเพียงวังเลย    

จากนักอ่านหนึ่งคน ถึง คนที่น่าจะเป็นนักอ่านที่ดีได้      ขออภัยที่บังอาจแนะนำมา


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ต.ค. 10, 16:12

ถนนศรีอยุธยาสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  เป็นถนนที่สงบร่มรื่นมาก

หลายบ้านปลูกจามจุรีไว้ในบ้าน

มีต้นมะฮอกกานี  ต้นสูง ลำต้นใหญ่สองข้างทาง     คนจีนหาบผลไม้ขายจะหยุดสอยใบมะฮอกกานี

มาคลุมผลไม้   ขั้วของผลจะแตกออกเป็นกังหันลอยลงมาให้เด็ก ๆ แย่งกัน

สองข้างทางเป็นคลองที่ตอนเช้าน้ำขึ้น  และตอนบ่ายน้ำลง  ปลูกบัวสีชมพูไว้ฝั่งขวา  และบัวหลายสีไว้ฝั่งซ้าย

สถานทูตอินเดียย้ายที่ตั้งสองครั้งจริง

นอกนั้นจำไม่ได้ค่ะ        นอกจากเรื่องวังสวนผักกาด  และร้านขนมของหม่อมหลวงเติบที่เปิดอยู่ในซอย

เรื่องร้านขายขนมนี้จำได้ดีเป็นพิเศษ  เพราะสตางค์ ๕ บาท  ซื้อได้ ๕ ชิ้น  และหม่อมหลวงเติบจะกรุณา

ถามเสมอว่าอยากได้หน้าอะไร  เช่นหน้าเชอรี่(หั่น)ทำเป็นดอกทูลิป มีใบยาว ๆ

เรื่องวังสวนผักกาดนั้น  ติดตามศิลปินไปหลายครั้ง   ตัวจ๋องมาก  เพราะเกรงบารมีคุณท่านเป็นที่สุด

นักอ่านหนังสือเก่ามีทักษะในการกินขนมมาก  เพราะต้องนั่งและตะแคงตัวเป็นเวลานาน

ใครเรียกจะไม่ขานเป็นอันขาด   จนกว่าจะหิวอีกที



กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 ต.ค. 10, 18:09
คุณวันดีท่านเล่าถึงลูกมะฮอกกานีได้เห็นภาพชัดเลยครับ
จำได้ว่าตอนเป็นนักเรียนเวลาจะเดินแถวไปถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าหรือรับเสด็จ  จะต้องไปตั้งแถวกันที่หน้าหอประชุมโรงเรียน  ที่มีต้นมะฮอกกานีที่ท่านเจ้าคุณบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์) เป็ผู้เพาะชำและนำมาปลูก  แล้วเวลาผลมะฮอกกานีแตก  ฝักที่อยู่ในเปลือกแข็งๆ นั้นจะควงสว่านลงมาดูสวยจริงๆ ครับ  พวกเด็กๆ ก็จะพากันไปเก็บฝักมะฮอกกานีมาเสียบที่หมวกหนีบเพื่อน  บ้างก็แกะเนื้อในของฝีกมะฮอกกานีออกยัดปากเพื่อน  ให้ขมปากเล่น  ขมขนาดไหนก็นึกุงบอระเพ็ดที่ยังไม่ได้แช่อิ่มเอาแล้วกันครับ   


กระทู้: พระนางเธอลักษมีลาวัณ
เริ่มกระทู้โดย: pattarapong ที่ 16 ต.ค. 10, 22:56
ขอบคุณคุณ wandee มากๆนะครับ ไว้ผมจะไปลองหาๆๆมาศึกษาเพิ่มเติมดู