เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 15, 19:40



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 15, 19:40
กระทู้นี้คงจะเป็นกระทู้สั้นๆ

ผมเพียงพยายามจะเล่าให้ภาพในอดีตของพื้นที่และสิงห์สาราสัตว์ในป่าที่เรียกว่าห้วยขาแข้ง ณ วันเวลาเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว
   
ซึ่งผมหวังว่าน่าจะเป็นข้อมูลเสริม เพิ่มเติมเล็กๆน้อยๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่นิยมธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เคยได้ไปเยี่ยมเยียนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง....ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 15, 20:07
มานั่งแถวหน้า พร้อมด้วยภาพประกอบกระทู้ค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 15, 20:34
ปีงบประมาณ 2513 ผมเดินสำรวจอยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย (แถว บ.หาดเสี้ยว บ.ห้วยแม่สิน) และพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ (แถว บ.ผาจุก บ.ผาเลือด)....ดงช้าง และหน่วยจรยุทธ      

2514 ก็เดินอยู่ในพื้นที่น้ำตกลานสาง จ.ตาก และ น้ำตกคลองลาน เขามอโกจู จ.กำแพงเพชร....ดงปืนและ ผกค.

2515 ก็รับผิดชอบสำรวจพื้นที่ตลอดลำห้วยขาแข้ง...ดงสัตว์ และเส้นทางจรยุทธ

หลังจากนั้นต่อมา ก็ตลอดพื้นที่แควน้อย แควใหญ่ จรดชายแดน    คร่ำหวอดอยู่ราวๆ 15+ ปี...ก็สรรพเรื่องเลยทีเดียว

ก็คิดว่าจะทะยอยบรรยายภาพในอดีตของพื้นที่เหล่านี้ ด้วยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้คนรุ่นหลัง  

ทั้งนี้ จะขอเริ่มด้วยเรื่องราวเกี่ยวกัยห้วยขาแข้งเสียก่อน..ครับ

  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 15, 20:55
อ.เทาชมพู มานั่งอยู่แถวหน้า ก็เลยเกิดอาการเกร็ง เลยต้องขยับถอยไปยืนอยู่ชิดผนังหน้าห้อง

เราย้ายวงเสวนาไปอยู่กลางแจ้ง ใต้ร่มไม้นะครับ ไปนั่งอยู่ใต้ร่มไทรไหญ่กัน อยู่ลึกเข้าไปจากปากลำห้วยไม่มากนัก  ซึ่งเราอาจจะได้เห็นนกหลากหลายพันธุ์และสัตว์อีกหลายชนิด มาเกาะกินลูกไม้ในขณะที่กำลังคุยกัน..ครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 06 ส.ค. 15, 21:49
ปีงบประมาณ 2513 ผมเดินสำรวจอยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย (แถว บ.หาดเสี้ยว บ.ห้วยแม่สิน) และพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ (แถว บ.ผาจุก บ.ผาเลือด)....ดงช้าง และหน่วยจรยุทธ      

2514 ก็เดินอยู่ในพื้นที่น้ำตกลานสาง จ.ตาก และ น้ำตกคลองลาน เขามอโกจู จ.กำแพงเพชร....ดงปืนและ ผกค.

2515 ก็รับผิดชอบสำรวจพื้นที่ตลอดลำห้วยขาแข้ง...ดงสัตว์ และเส้นทางจรยุทธ

หลังจากนั้นต่อมา ก็ตลอดพื้นที่แควน้อย แควใหญ่ จรดชายแดน    คร่ำหวอดอยู่ราวๆ 15+ ปี...ก็สรรพเรื่องเลยทีเดียว

ก็คิดว่าจะทะยอยบรรยายภาพในอดีตของพื้นที่เหล่านี้ ด้วยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้คนรุ่นหลัง  

ทั้งนี้ จะขอเริ่มด้วยเรื่องราวเกี่ยวกัยห้วยขาแข้งเสียก่อน..ครับ

  

   ...คร่ำหวอดอยู่ราวๆ15+ปี....

      ตัวจริงเสียงจริงเลย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 06 ส.ค. 15, 21:55
มารอฟังครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 15, 07:19
อ.เทาชมพู มานั่งอยู่แถวหน้า ก็เลยเกิดอาการเกร็ง เลยต้องขยับถอยไปยืนอยู่ชิดผนังหน้าห้อง

เราย้ายวงเสวนาไปอยู่กลางแจ้ง ใต้ร่มไม้นะครับ ไปนั่งอยู่ใต้ร่มไทรไหญ่กัน อยู่ลึกเข้าไปจากปากลำห้วยไม่มากนัก  ซึ่งเราอาจจะได้เห็นนกหลากหลายพันธุ์และสัตว์อีกหลายชนิด มาเกาะกินลูกไม้ในขณะที่กำลังคุยกัน..ครับ   

สงสัยว่าท่านนายตั้ง ขยับถอยหนีท่านอาจารย์เทาชมพูลึกเข้าไปในป่าห้วยขาแข้งมากไปหน่อย ป่านนี้ยังไม่สุดผนังห้อง ต้องกู่ให้กลับมาสักหน่อย

ววววววววววววววววววววู้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 15, 07:53
คุณตั้ง ถอยหลังไปถึงเชียงรายอีกแล้วละมังคะเนี่ย
ระดมกำลังชาวเรือนไทยมาช่วยกู่ด้วยค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 07 ส.ค. 15, 08:16
โหนกิ่งไทรใกล้ลำธาร เตรียมพร้อมรอฟังอยู่แล้วค่ะ  ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 15, 18:55
คุณตั้ง ถอยหลังไปถึงเชียงรายอีกแล้วละมังคะเนี่ย
ระดมกำลังชาวเรือนไทยมาช่วยกู่ด้วยค่ะ

ได้ยินเสียงกู่แล้วครับ   ก็เพียงจะถอยไปแถวๆป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ผืนป่าทางด้านเหนือของต้นน้ำห้วยขาแข้งเท่านั้นเองครับ.. ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 15, 19:28
ห้วยขาแข้ง เป็นห้วยที่ไหลอยู่ในร่องเขาที่ทอดตัวอยู่ในแนวทิศเหนือ - ใต้  มีความยาวแถวๆหลัก 100 +/- กม.

โดยทั่วๆไป คนชาวถิ่นที่เป็นนักท่องป่าหรือพรานไพรเขาจะแบ่งห้วยนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนตอนบน จากแถบพื้นที่ย่านสบห้วยทับเสลา เหนือขึ้นไปทางทิศเหนือ จะรู้จักและเรียกขานกันว่า ขาแข้งแห้ง   สำหรับส่วนตอนล่างของห้วย ก็เรียกกันว่า ห้วยขาแข้ง ตามปรกติ

ห้วยขาแข้งยังมีการเรียกขานกันในอีกชื่อหนึ่ง คือ ลำขาแข้ง   ชื่อนี้จะพบว่ามีการเรียกขานกันในเฉพาะย่านพื้นที่ อ.บ่อพลอย อ.หนองรี อ.หนองปรือ (ของ จ.กาญจนบุรี) และชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและหากินอยู่ตามลำน้ำแควใหญ่   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 15, 19:57
ด้วยคำว่า "ลำ" นำหน้าแทนที่จะใช้คำว่า "ห้วย" นำหน้า   

ผมก็เกิดความสนใจขึ้นมาว่า คำว่า "ลำ" นั้น ใช้กันในผู้คนที่อยู่ในพื้นที่อิสานเป็นหลัก ส่วนคำว่า "ห้วย" นั้นก็ใช้กันในภาคเหนือและภาคกลางเป็นหลัก ส่วนภาคใต้ก็ใช้คำว่า "คลอง"

ฤๅ จะบ่งบอกว่า ผู้คนทั้งหลายที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอ่างทอง-อยุธยานั้น จะมีพื้นเพเทือกเถาเหล่ากอและญาติโยมโยงใยกับผู้คนในพื้นที่อิสานตอนบน

ไม่ต่อเรื่องต่อไปนะครับ  คงเป็นเพียงมโนของผมเท่านั้นเอง   สำหรับตัวผมที่ลงไปคลุกอยู่กับผู้คนชาวถิ่น ก็เพียงได้รับรู้สัมผัสสิ่งที่คล้ายกันในด้านความนึกคิด ด้านสำเนียง ศัพท์ เสียงภาษา อาหารการกิน ฯลฯ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 15, 20:40
ประตูทางเข้าไปสู่ตัวลำห้วยขาแข้งนั้น มีอยู่สองบริเวณหรือสองพื้นที่เท่านั้น   

ได้แก่พื้นที่ส่วนปลาย คือ ปากลำห้วขาแข้ง กับพื้นที่ส่วนกลาง คือ แถบพื้นที่ตั้งที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ฯ

แต่เดิมนั้น เกือบจะกล่าวได้ว่าต้องเข้าทางปากลำห้วยเป็นหลัก เพราะว่าเส้นทางอื่นๆล้วนแต่เป็นการต้องเดินด้วยเท้าที่ทรหดจริงๆ  กระนั้นก็ตาม แม้จะเป็นการเพียงเดินทางไปให้ถึงปากลำห้วย หรือไปให้ถึงตีนเทือกเขาที่จะต้องเดินฝ่าเข้าไป ก็ลำบากเอาการอยู่ทีเดียว   แถมทั้งสองเส้นทางนี้ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงอีกโขเอาการเลยทีเดียว


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 15, 18:51
การเดินทางไปปากลำขาแข้งแต่ดั้งเดิมจริงๆนั้น เป็นการเดินทางด้วยเรือ จุดเริ่มต้นของการเดินทางจะอยู่ที่บ้านลาดหญ้า (ต.ลาดหญ้า อยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 17 กม.)  ท่าเรือก็อยู่ที่ตัวหมู่บ้านทางใต้ของวัดลาดหญ้าลงมาเล็กน้อย

ท่าเรือลาดหญ้านี้เป็นท่าเรือสำหรับการเดินทางไปยังหมู่บ้านและสถานที่ต่างๆในแม่น้ำแควใหญ่ เป็นเส้นทางคมนาคมหลักสำหรับชาวบ้านที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างตัวจังหวัด กับ อ.ศรีสวัสดิ์_ท่าสนุ่น    ส่วนท่าเรือที่หน้าตัวเมือง จ.กาญจนบุรีนั้น เป็นท่าเรือสำหรับการสัญจรในแม่น้ำแควน้อยระหว่างตัวจังหวัดกับ อ.ทองผาภูมิ_ท่าขนุน

เราสามารถเดินทางจากตัวเมืองไปยังทั้งสองอำเภอนี้ได้ด้วยทางรถเหมือนกัน 
ไป อ.ศรีสวัสดิ์ ก็หนึ่งวันเต็มๆ แล้วก็ต้องไปข้ามน้ำแควใหญ่ที่ตัวอำเภอ (ซึ่งต้องใช้เรือหรือแพ)  ผนวกด้วยการหลงทางบ้าง ผิดทางบ้างเล็กๆน้อยๆ เป็นเส้นทางที่ขึ้นเขาสูงและชันในช่วงแรกๆ แล้วก็เป็นป่าโปร่งๆ ร้อนระอุและดูแห้งแล้งมาก ฝุ่นตลบอบอวนไปหมด  ผู้ที่มีรถจึงนิยมเดินทางกันในช่วงกลางคืนที่จะมีอากาศเย็นสบายหน่อย ก็จึงเป็นเหตุที่ทำให้ผิดทางบ้าง หลงทางบ้าง   บรรดาสี หรือบาก หรือเครื่องหมายที่ทำใว้กับต้นไม้เพื่อการบอกทางนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะเปรอะไปหมด มีทั้งที่ถูกและที่ผิด (ที่คิดว่าถูกเมื่อแรกทำ)  คนนำทางหรือผู้ชำนาญเส้นทางก็ยังหลงได้เป็นปรกติ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 15, 19:07
ส่วนการเดินทางด้วยรถจากตัวเมืองไป อ.ทองผาภูมินั้น ใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน  วันแรกเป็นการเอาตัวรอดให้ได้เสียก่อนบนเส้นทางในระยะทางประมาณ 60 กม.  ใช้เวลา ความมานะ และความอึดเพื่อข้ามเขาสามชั้น เริ่มต้้งแต่แถวบ้านลุ่มสุ่มไปยังบ้านวังโพธิ์ (ที่ตั้งตัว อ.ไทรโยคในปัจจุบัน)  ผมเคยเริ่มเดินทางจากตัวเมืองเมื่อเวลาประมาณ 8 โมงเช้า ไปถึงท่าเสา (สถานีน้ำตก) เกือบ 5 ทุ่มโน่นนะครับ   

แล้วค่อยเล่าภาพเก่าๆสู่กันฟัง รวมทั้งความน่ารักของคนชาวรถไฟ (จักรไอน้ำ) ที่เดินจักรอยู่บนเส้นทางสายมรณะระหว่างสถานีกาญจนบุรีกับสถายนีน้ำตก (บ.ท่าเสา) นี้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 08 ส.ค. 15, 19:20
สภาพการเดินทางตามลำแควใหญ่ในคห.13 เป็นการเดินทางก่อนสร้างเขื่อนเจ้าเณรหรือเขื่อนศรีนครินร์ ที่เริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๑๖
ไม่แน่ใจว่าตอนนี้น้ำตกเอราวัณยังอยู่หรือหายไปแล้ว เคยไปทีนี่กับกลุ่มเพื่อนนักเรียนเมื่อปี ๒๕๑๐ ก็ไปลงเรือที่บ้านลาดหญ้านี่แหละครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 15, 19:30
กลับมาที่ บ.ลาดหญ้า เพื่อเตรียมการเดินทางไปปากลำขาแข้ง

เรื่องแรกคือการหาเรือ และซึ่งจำเป็นจะต้องเป็นเรือหางยาว  ซึ่งมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ ขนาดของเรือ และนายท้ายเรือที่รู้จักเกาะแก่งต่างๆเหนือเขตตัว อ.ศรีสวัสดิ์ ขึ้นไป    

ขนาดของเรือที่ว่าเป็นปัญหาก็คือ เรือหางเกือบทั้งหมดจะเป็นเรือหางขนาดใหญ่  ขนาดใหญ่แค่ใหนนะหรือครับ ก็ขนาดที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 6 สูบในการขับเคลื่อน ต้องมีหางเสือช่วยในการบังคับเรือ  (ลำที่ผมใช้อยู่นั้นใช้เครื่องยนต์ขนาด 90 แรงม้าที่ใช้กับรถลากไม้ซุงห้วแตงโม_รถเบ๊นซ์)  เรือหางขนาด 4 สูบก็มีครับ แต่มักจะเรือส่วนตัว ไม่รับจ้างใดๆ  

ครับ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นเรือหางขนาดเขื่องๆเลยทีเดียว  ลองนึกภาพขนาดของเรือที่สามารถเอาถังน้ำมันเหล็กขนาด 200 ลิตร 2 ถังวางไว้แบบขวางลำเรือที่ด้านหน้าเก้าอี้นั่งของนายทางเรือ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 15, 20:01
สภาพการเดินทางตามลำแควใหญ่ในคห.13 เป็นการเดินทางก่อนสร้างเขื่อนเจ้าเณรหรือเขื่อนศรีนครินร์ ที่เริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๑๖
ไม่แน่ใจว่าตอนนี้น้ำตกเอราวัณยังอยู่หรือหายไปแล้ว เคยไปทีนี่กับกลุ่มเพื่อนนักเรียนเมื่อปี ๒๕๑๐ ก็ไปลงเรือที่บ้านลาดหญ้านี่แหละครับ

น้ำตกเอราวัณยังคงอยู่เป็นปรกติดีอยู่ครับ 

น้ำตกเอราวัณนั้น เดิมเรียกกันว่าน้ำตกตาม่องล่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทางด้านต้นน้ำของห้วยตาม่องล่าย   เรือที่จะขึ้นล่องแควใหญ่ทั้งหลายจะให้ความเคารพกับห้วยนี้ คือต้องให้ความระวังกับน้ำป่าไหลที่หลากไหลลงมาอย่างพรวดพราดโผล่มาทางปากห้วยนี้ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 15, 20:33
คิดว่าผมเคยเล่าไว้ในกระทู้ของเรือนไทยว่า  ผู้ที่เริ่มเรียกน้ำตกตาม่องล่ายว่าน้ำตกเอราวัณ คือ แพทย์ประจำตำบลท่านหนึ่งชื่อ สนั่น พงษ์โชติ   ซึ่งจำได้เลาๆว่าก็เพราะท่านต้องนั่งรอให้น้ำหลากจากปากห้วยนี้ให้สงบเสียก่อนที่จะเดินทางต่อไปได้   และท่านผู้นี้ก็คือผู้ที่เล่าเรื่องราวของป่า (ช่วงเวลาหนึ่งคืนกับแสงสว่างหนึ่งดวงตะเกียง) ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของบทประพันธ์เรื่อง "ล่องไพร" อันโด่งดังของน้อย อินทนนท์ หรือ มาลัย ชูพินิจ

ผมได้มีโอกาสนั่งสนทนากับท่านหลายครั้ง จะว่าไปก็เกือบจะทุกครั้งที่กลับออกจากป่ามา ที่ห้องแถวบ้านของท่านบ้าง ที่ห้องแถวเช่าของคณะสำรวจของผมบ้าง อยู่ใกล้ๆกันในตลาดลาดหญ้านั้นเอง  ก็คุยและเปลี่ยนเรื่องป่าๆที่ได้ประสบพบกันมา ผมได้เรียนรู้หลากหลายเรื่องป่าๆจากท่านผู้นี้ ครับ
 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 08 ส.ค. 15, 21:36
ขอบคุณครับอาจารย์naitang
ตอนนั้นเป็นการเยือนบ้านลาดหญ้าเป็นครั้งแรก ก็ยังไม่ทราบว่าสมรภูมิลาดหญ้าอยู่ตรงไหน พวกเราทุกคนก็พนมมือคารวะวิญญาณวีรชนที่นั่น ถ้าพวกท่านยันกองทัพอริราชศัตรูไว้ไม่อยู่ที่จุดนั้น อาจมีชาวโยเดียกลุ่มใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์จะมีสภาพยังไงไม่ทราบได้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 15, 19:17
แม้จะมีเรืออยู่หลายลำ แต่ลำที่มีนายท้ายเรือมือดีๆที่รู้จักเกาะแก่งต่างๆในแม่นำแควใหญ่เหนือตัว อ.ศรีสวัสดิ์ขึ้นไปนั้น มีน้อยลำมาก  ซึ่งเกือบทั้งหมดของบรรดาเรือน้อยลำเหล่านี้ ก็จะรับงานไม่เหนือขึ้นไปจาก บ.นาสวน (คิดว่าปัจจุบันนี้เป็น ต.นาสวน ไปแล้ว) และก็มักจะเป็นงานเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งของงานบุญวัดถ้ำเขาองจุก ที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในถ้ำ

แม่น้ำแควใหญ่ส่วนเหนือจาก บ.นาสวน ขึ้นไปนี้ มีแก่งที่อันตรายอยู่หลายแก่งมาก  แก่งสุดท้ายที่เรือหางขนาดเครื่อง 6 สูบ สามารถผ่านไปได้ก็คือ แก่งยาว ซึ่งอยู่ก่อนถึงปากลำขาแข้งประมาณ 1 กม. ต่อจากปากลำขาแข้งขึ้นไปจะต้องใช้เรือขนาดเล็กลง เป็นเรือหางขนาดเครื่อง 4 สูบ (ขนาดเล็กกว่าที่เห็นกันในแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันเล็กน้อย) บวกกับฝีมือของนายท้ายและความชำนาญอย่างสูง ด่านแรกที่ต้องผ่านก็คือ แก่งหินตั้ง อยู่เหนือขึ้นไปจากปากลำห้วยขาแข้งประมาณสัก 1.5 กม. ซึ่งมีเรือน้อยลำนักที่จะกล้าผ่านขึ้นไป    ผ่านแก่งนี้ไปไม่ไกลก็มีแก่งอีกมากมาย  ในฤดูแล้งจึงถึงต้องใช้เรือขนาดเล็ก ขนาดนั่ง 3-4 คน เท่านั้น

ก็ด้วยสภาพอันตรายดังกล่าวนี้ เจ้าของเรือก็จึงไม่ค่อยกล้าที่จะเสี่ยงเสียเรือจากการที่เรือกระแทกหินในแก่ง แตก และจมลง   ทำให้หาเช่าเรือได้ยาก


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 15, 19:29
ชาวบ้านที่ใช้แควใหญ่เป็นเส้นทางคมนาคมสัญจรไปมาหาสู่กัน จะเรียกส่วนของแควใหญ่ที่อยู่เหนือขึ้นไปจาก บ.นาสวน ว่า "ขาแข้ง-แก่งยาว" แล้วก็เกือบจะไม่มีผู้ใดอยากจะเสี่ยงไปทำมาหากินในพื้นที่เหนือจาก บ.นาสวน ขึ้นไป  และเกือบจะทุกคนต่างก็กลัวการขึ้น-ล่องผ่านแก่งยาวกันทั้งนั้น


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 15, 20:16
เมื่อได้เรือพร้อมนายท้ายมือดีที่พร้อมเสี่ยงและพร้อมสู้ด้วยกัน ก็เริ่มเดินทางกันได้

เที่ยวแรกในการเดินทางไปห้วยขาแข้งของผม เกิดขึ้นในช่วงเกือบจะปลายเดือนพฤศจิกายน  ออกจาก บ.ลาดหญ้าประมาณ 8 โมงเช้า ถึงปากลำขาแข้งเวลาประมาณ 4 หรือ 5 โมงเย็น

สถานที่แรกที่ผ่านก็คือ ท่ากระดาน ที่บนฝั่งเป็นที่ตั้งวัดลาดหญ้าเก่า เป็นแหล่งที่พบพระเครื่องท่ากระดาน เนื้อชินแดง เกศคด   เป็นพื้นที่สนามรบใหญ่สมัยสงครามเก้าทัพ  มีเขาชนไก่เป็น landmark  มีลำตะเพิน (ห้วย) เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้

สำหรับนักนิยมพระเครื่องทรงยอดเกศคดนี้ ผมเคยเห็นแขวนอยู่บนคอชาวมอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปากนกแก้ว (เขตพม่า) บนเส้นทางคมนาคมสายเดิมระหว่าง อ.สังขละบุรี - ด่านเจดีย์สามองค์  ซึ่งเขาบอกว่าพบอยู่ในพม่า เป็นเนื้อดิน สีอิฐ ก็คงจะเป็นพระเก่าเพราะเนื้อแห้งเหมือนอิฐเก่า   

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 15, 18:23
จากท่ากระดานขึ้นไปก็ไล่เรียงผ่านสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการโยธาทัพของทั้งไทยและพม่า เช่น บ้านเก่า แก่งแคบ ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณหนึ่งที่กองทัพพม่าซึ่งเดินลัดจากแม่น้ำแควน้อย จากบริเวณ บ.ลุ่มสุ่ม บ.สุ้มสุ่ย มาตามช่องเขาผ่าน บ.ทับศิลา เลาะเชิงเขามาโผล่แควใหญ่ แถวๆ บ.ท่าทุ่งนา (ที่มีเขื่อนท่าทุ่งนาสร้างอยู่) ข้ามแม่น้ำแควใหญ่เรียบร้อยก็มาพักรวบรวมพลอยู่ที่แถว บ.ท่ามะนาว  ก่อนที่จะโยธาทัพไปยังเขาชนไก่ (land mark) ข้ามลำตะเพิน (พื้นที่ บ.วังด้ง) แล้วเข้าสู่สนามรบทุ่งลาดหญ้า 

บรรยายมายังกับตาเห็นและมีข้อมูลเต็มเพียบ  แท้จริงแล้วเป็นมโนของผมที่ฝังอยู่ในใจมานานแล้ว เป็นภาพที่เกิดขึ้นในใจของผมจากการที่ผมสำรวจอยู่ในพื้นที่นี้หลายปี เป็นภาพที่ผมมโนว่า หากตัวผมเป็นนายทหารที่ต้องโยธาทัพมาลุยกับกองทัพไทย ผมจะใช้เส้นทางใด เนื่องจากมีทั้งช้าง ทั้งม้า ทั้งไพร่พลกำลังคน จึงจำเป็นจะต้องมีแหล่งน้ำที่พอเพียง และระยะทางที่จะต้องไม่ไกลเกินไปกว่าที่ช้างและม้าจะอดน้ำได้ รวมทั้งจะต้องมีแหล่งอาหารทั้งสำหรับคนและสัตว์ที่ใช้ในการโยธาทัพครั้งนั้น

ผมทราบว่า มีบันทึกเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการรบที่ทุ่งลาดหญ้านี้ จึงขอความกรุณาจากท่านผู้รู้และที่สันทัดกรณีทั้งหลายได้ช่วยกรุณาเล่าเรื่องที่ถูกต้องด้วยครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 15, 18:42
จากนั้นก็ไปถึงปากห้วยตาม่องล่าย (ห้วยน้ำตกเอราวัณ)  เลยจากบริเวณนี้ไปไม่ไกล เส้นทางรถไป อ.ศรีสวัสดิ์ ก็จะหักขวาขึ้นเขาตับเต่า ก็สูงชัน สลับซับซ้อน น่ากลัวดี   ทุกวันนี้ก็ยังมีอุบัติเหตุรถแหกโค้งและตกเขาอยู่เสมอๆ     ส่วนเส้นทางเรือก็จะเข้าสู่บ้านเจ้าเณร บ.ม่องคอย บ.หม่องกะแทะ ? บ้านเรือนก็จะเว้นระยะอยู่ห่างกันออกไปมากขึ้น ผ่านปากห้วยแม่ละมุ่นทางขวามือ แล้วก็เข้าสู่เขต อ.ศรีสวัสดิ์

จำไม่ได้แล้วครับว่าเรือต้องผ่านกี่แก่ง จำได้แต่ชื่อแก่งรูแย้ เท่านั้นครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 15, 19:05
อีกพักใหญ่ๆก็ บ.ท่าสนุ่น (อ.ศรีสวัสดิ์) ซึ่งก็เป็น outpost ที่สำคัญอีกหนึ่งสถานที่ (โดยเฉพาะเพื่อการข่าวในสมัยช่วงต่อระหว่างอยุธยาตอนปลายกับรัตนโกสินทร์ตอนต้น) เพราะว่าเหนือจากพื้นที่นี้ขึ้นไป ก็เกือบจะกล่าวได้ว่าจะไม่มีผู้ใดเดินลัดจากแม่น้ำแควน้อยมายังแม่น้ำแควใหญ่
 
เส้นทางเชื่องระหว่าแควใหญ่กับแควน้อยที่ออกจาก อ.ศรีสวัสดิ์ คือ เดินทางขึ้นช่องเขาที่ช่องแคบ แล้วก็เดินในพื้นที่ค่อนข้างราบไปอีกสักสองสามชั่วโมง ก็จะข้ามช่องเขาลงไปยังแอ่งกะทะ (หรือหุบเขา) ที่เรียกว่า หนันยะ (แหล่งผลิตโลหะเงินเก่า) เดินไปทางทิศเหนือสักพักก็ตัดลงเขาไปตามห้วยดิโส ก็จะลงสู่แม่น้ำแควน้อย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 15, 19:18
นั่งเรือจาก บ.ลาดหญ้า ถึง อ.ศรีสวัสดิ์ ก็ใช้เวลาไปครึ่งค่อนวันแล้วครับ   

ช่วงระยะต่อจากศรีสวัสดิ์ขึ้นไปจนไปถึง บ.นาสวนนั้น จะกล่าวว่าไม่มีผู้คนออกมาหักล้างถางพงทำมาหากินก็คงพอจะได้ครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 15, 19:49
ใกล้จะถึงปากลำห้วยขาแข้งแล้วครับ  แต่ก็จะของเว้นวรรคนิดเดียวเพื่อไปขยายความเรื่องเรือหางที่วิ่งในแควใหญ่นี้ในสมัยโน้น

กติกาสำคัญแรกๆของชาวเรือทั้งในแควใหญ่และแควน้อย ก็คือ เรือขาขึ้นให้กอดโค้งด้านใน (ชิดชายหาด) ส่วนเรือขาล่องนั้นให้ตีโค้งในวงกว้าง    สำหรับกรณีลำน้ำทางตรงให้วิ่งชิดขวา - แซงซ้าย (ซึ่งเป็นกติกาสากลตามปรกติ) 

กติกาสำคัญสำหรับผู้โดยสาร คือ หากไม่รู้จักเส้นทาง ก็ให้นั่งนิ่งๆไม่ต้องโยกตัวในลักษณะเป็นการขืนเรือเมื่อเรือเอียง และไม่ต้องโยกตัวเพื่อช่วยเอียงเรือเมื่อเรือเข้าโค้ง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 10 ส.ค. 15, 21:05
เปิดแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหาร พบว่าน้ำตกเอราวัณอยู่ด้านใต้ Srinakharin Dam 5 กม.วัดตามลำน้ำแควใหญ่ คือตอนแรกคิดว่าตัวน้ำตกจมอยู่ในอ่างไปแล้ว เพราะไม่ค่อยมีใครพูดถึงน้ำตกนี้เท่าไหร่  ส่วนปากห้วยขาแข้ง เหนือบ้านนาสวน มองว่าจมอยูใต้อ่างไปแล้ว อันนี้ดูจากแผนที่น่ะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 10 ส.ค. 15, 21:52
ติดตามมาถึงตอนนี้ก็เริ่มมึนๆแล้วครับ คงเมาเรือที่วิ่งผ่านเกาะแก่งมามาก
จะให้ดี ใครช่วยหาแผนทีมาแปะให้ด้วยคงดีขึ้น จะได้มีแรงตามตอนขึ้นฝั่งครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 11 ส.ค. 15, 12:45
แผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 ต่อ 250 000 ระวางที่ ND47-07 แผ่น A

(เนื่องจากตัวภาพแผนที่นั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะแปะไว้ได้ จึงต้องขอทำเพียงแค่ระโยงไว้แทน ครับ)

ND47-07 section A อำเภอศรีสวัสดิ์ (http://911gfx.nexus.net/vietnam/maps/nd47-07/nd47_07a.html)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 15, 19:37
ขอบคุณคุณ ninpaat สำหรับแผนที่ครับ และก็ขอขอบคุณมากๆที่ได้กรุณาโพสต์แผนที่รุ่นเก่า ซึ่งเป็นรุ่นก่อนที่จะแสดงขอบเขตของน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนเจ้าเณร   

ในสมัยที่ผมทำงานในพื้นที่นี้ ผมใช้แผนที่รุ่นเก่ากว่านี้อีกหนึ่งรุ่น  เป็นรุ่น (series) ที่ใช้ข้อมูลการสำรวจภาคสนาม (เมื่อ ค.ศ.1947 _ พ.ศ.2490 ??) ร่วมกับแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ที่ผลิตออกมาใช้งานเมื่อ พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953)   

ซึ่งก็ต้องขออภัยมาล่วงหน้าหากข้อมูลเรื่องปีผิดพลาดครับ  ผมจำได้ไม่แม่นแล้ว และก็ซึ่งเนิ่นนานมามากแล้วครับ    อย่างไรก็ตามหากมีโอกาสและช่องว่างในกระทู้ ผมก็จะแทรกเกล็ดบางส่วนในกระบวนการผลิตแผนที่ภูมิประเทศรุ่นที่ผมใช้งานเพื่อได้ทราบกัน 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 15, 20:19
จะขอทำความกระจ่างหน่อยนึงครับ

ชื่อสถานที่ต่างๆตามลำน้ำแควใหญ่ตั้งแต่ บ.ลาดหญ้า (ต.ลาดหญ้า ในปัจจุบัน) ขึ้นไปจนถึงเขื่อนเจ้าเณร เป็นชื่อสถานที่เดียวกันกับในเส้นทางรถยนต์สายไปเขื่อนเจ้าเณรครับ   

สำหรับชื่อสถานตามเส้นทางรถยนต์ตั้งแต่เขื่อนเจ้าเณรขึ้นไปจนถึง อ.ศรีสวัสดิ์ นั้น    เฉพาะช่วงเขื่อนเจ้าเณรถึงห้วยแม่ละมุ่น จะมีความใกล้เคียงกับสถานที่ดั้งเดิม (ตามลำน้ำแควใหญ่)    แต่ตั้งแต่ห้วยแม่ละมุ่นขึ้นไป จะเป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ของหมู่บ้านที่ถูกน้ำในอ่างเก็บน้ำท่วม (ซึ่งมีการจัดการในลักษณะที่จะพยายามเรียงลำดับหมู่บ้านใกล้ไกลตามที่เคยตั้งอยู่ตามลำน้ำแควใหญ่)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 12 ส.ค. 15, 08:55
ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งและเต็มใจช่วยท่านอาจารย์ครับ

ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณ คุณ Jim Henthorn นายทหารผ่านศึกสงครามเวียตนาม กองทัพอากาศสหรัฐ
ผู้สแกนและจัดทำ ชุดแผนที่เดินอากาศของปี 2517 ทั้งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  นี้ขึ้นมา
อีกทั้งยังนำมาเผยแพร่ไว้ในอินเทอร์เนต เพื่อให้ทุกคนได้ใช้กันโดยสะดวก

และสำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลบนแผนที่ของป่าห้วยขาแข้งทั้งพื้นที่ ในสมัยสงครามเวียตนามใกล้ยุติ
ผมได้ทำระโยงไปที่เวปไซท์ ของคุณ Jim Henthorn เอาไว้ให้ด้านล่างแล้วครับ
โดยใช้ผืนป่าห้วยขาแข้ง เป็นหลักในการแบ่งภาพ เพื่อให้พอรู้ตำแหน่งอย่างคร่าวๆ

     ห้วยขาแข้ง ส่วนบนซ้าย (http://911gfx.nexus.net/mapnd4702.html)        ห้วยขาแข้ง ส่วนบนขวา
 (http://911gfx.nexus.net/mapnd4703.html)

     ห้วยขาแข้ง ส่วนล่างซ้าย (http://911gfx.nexus.net/mapnd4706.html)        ห้วยขาแข้ง ส่วนล่างขวา
 (http://911gfx.nexus.net/mapnd4707.html)

(ท้ายนี้ ผมขอแถม ด้วยระโยงของชุดแผนที่ ทั้งหมดของคุณ Jim Henthorn ครับ)

แผนที่เดินอากาศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2517 (http://911gfx.nexus.net/sea-ao.html)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 12 ส.ค. 15, 09:15
ขอบคุณคุณninpaatด้วยครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 12 ส.ค. 15, 10:35
อาจารย์naitangไม่ต้องเดี่ยวไมโครโฟนอยู่คนเดียวเหมือนกระทู้แล้วๆ
อย่างน้อยก็มีคนสนับสนุนด้านแผนที่แผนทางคนหนึ่งแล้ว


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 15, 18:54
ขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างมากครับ

ผมได้แปะ link สำหรับท่านผู้สนใจที่ต้องการแผนที่ภูมิประเทศทั่วโลกมาตราส่วนใหญ่ เช่น มาตราส่วน 1:500,000 (1 ซม.= 5 กม.), 1:250,000 (1 ซม.=2.5 กม.)

http://loadmap.net/en?qq=-2.5123%20106.2698&z=3&s=250000&c=3089&g=1 (http://loadmap.net/en?qq=-2.5123%20106.2698&z=3&s=250000&c=3089&g=1)    หรือ พิมพ์คำว่า loadmap ลงในกูเกิล ก็จะเห็นหัวข้อ map for the world  เข้าไปเลยครับ

เปิดเข้าไปได้แล้วก็ไปดูทางมุมขวาบน เลือก Category of maps เป็น US Army Map Service (for the world)  แล้วก็เลือก Scale เปลี่ยนจาก Auto เป็น 1 cm 2.5 km แล้วใส่เครื่องหมายเลือก Show content of map ในกล่องข้างๆ    จากนั้นก็เลือกพื้นที่ๆสนใจเอาตามสะดวกครับ  download มาดูได้ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 15, 19:46
สำหรับพื้นที่ส่วนปากลำขาแข้งจะอยู่ที่บริเวณมุมซ้ายบนของแผนที่ระวาง ND 47-7 ชื่อระวาง Suphan Buri 

ตัวลำห้วยขาแข้งส่วนที่เหลือทั้งหมดจะอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ใกล้กรอบด้านซ้ายของแผนที่ระวาง ND 47-3 ชื่อระวาง Nakhon Sawan

พื้นที่ทำงานในความรับผิดชอบของผมเมื่อครั้งนั้น คือ แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าแม่วงค์ของ จ.นครสวรรค์ และ กำแพงเพชร ไล่เรียงลงมาในพื้นที่สองฝั่งของพื้นที่รับน้ำลำห้วยขาแข้ง

จะเห็นว่า การจะเข้าไปถึงพื้นที่ทำงานนั้นยากมาก ต้องใช้เวลาเดินทาง (นับจากกรุงเทพฯ) ไม่ระหว่าง 2-4 วันจึงจะเข้าถึงในเขตรับผิดชอบก่อนที่จะได้เริ่มเดินทำงานสำรวจ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 15, 20:08
พวกผมใช้แผนที่ Edition นี้ในการทำงานสมัยนั้น    มันเป็นการทำงานเพื่อผลการแสดงข้อมูลธรณีวิทยาในระดับมาตราส่วน 1:250,000 (1 มม.=250 ม.) โดยใช้รายละเอียดพื้นฐานในระดับมาตราส่วน 1:50,000 (1 มม.=50 ม.)สำหรับการประมวลข้อมูล    ซึ่งกว่าจะหาข้อมูลมาปะติดปะต่อกันได้ก็ต้องสำรวจและรู้ลึกในระดับ Centimeter range (ทุก ซม.) และใช้ความรู้ในระดับ Millimeter range (ละเอียดระดับขนาดเม็ดทรายลงไป) หรือลงถึงระดับ Micro-millimeter range (ระดับกฎเกณฑ์พื้นฐานทางเคมีและฟิสิกส์)   

เวอร์ นะครับ



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 13 ส.ค. 15, 13:11
สำหรับพื้นที่ส่วน ปากลำขาแข้ง จะอยู่ที่บริเวณมุมซ้ายบนของแผนที่ระวาง ND 47-7 ชื่อระวาง Suphan Buri

ปากลำขาแข้ง (http://loadmap.net/en?qq=14.8902%2099.2663&z=13&s=250000&c=3089&g=1)

ผมหวังว่า คงจะแสดงภาพถูกที่นะครับ  :)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 15, 18:58
ไม่ต้องกังวลครับ  ถูกต้องครับ

ในแผนที่ๆคุณ ninpaat ได้แนบมานั้น  ปากลำขาแข้งจะอยู่ ณ จุดพบกันของเส้นสีฟ้า (ทางน้ำ) ตรงหัวจุดเลข 3 ของยอดเขา 643 (เขาองข่า) แม่น้ำแควใหญ่ (ในแผนที่เขียนว่าแม่น้ำแม่กลอง) มาทางซ้าย ส่วนลำขาแข้งจะมาทางขวา มาจากบ้านน้ำโจน-บ้านท่ากระได-บ้านไก่เกียง

จะใช้แผนที่ๆคุณ ninpaat นำเสนอ หรือที่ผมนำเสนอ จุดปากลำขาแข้งก็เป็น ณ จุดเดียวกันบนแผนที่ทั้งสอง ครับ

เสียดายที่ไม่สามารถหาและใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 มาแสดงได้ เพราะจัดเป็นแผนที่ทางความมั่นคงครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 15, 19:36
พื้นที่ที่ผมกล่าวถึงตามลำน้ำแควใหญ่ตั้งแต่เหนือเขื่อนเจ้าเณรขึ้นไป ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นชั้นความสูงประมาณ 180 ม.จากระดับน้ำทะเล จะถูกน้ำในอ่างท่วมหมดครับ พื้นที่ส่วนที่เป็นส่วนปากลำขาแข้งถูกน้ำท่วมหมดเช่นกันครับ   

หลายหมู่บ้านเรือนถูกย้ายขึ้นไปอยู่ในพื้นที่สูงขึ้น   บ้างก็อยู่ไกลจากพิกัดเดิมมาก เช่น อ.ศรีสวัสดิ์ และ บ.ท่าสนุ่น บ้างก็ขยับหนีพอพ้นน้ำลึกเข้าไปในห้วยบ้าง เช่น บ.ไก่เกียง และ บ.เกริงไกร หรือหากพอมีที่ตามเชิงเขาก็หนีขึ้นที่สูงขึ้นบ้าง เช่น บ.นาสวน (เดิมเรียกกันว่า ปากนาสวน) บ้างก็เปลี่ยนจากอยู่บนดินไปเป็นอยู่แพไม้ไผ่ลอยน้ำเช่น บ.องทั่ง  และหลายๆบ้านก็ล้มหายไปเลย

นำเสนอกระทู้นี้ขึ้นมาก็เพื่อบรรยายเรื่องราวของพื้นที่ในสมัยก่อนครับ เพราะส่วนหนึ่งนั้นผู้คนรุ่นหลังคงจะไม่มีโอกาสได้เห็นและสัมผัสอีกเลย เนื่องจากมันถูกปิดบังและจมอยู่ใต้น้ำ และอีกส่วนหนึ่งที่ยังจะได้เห็นแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งในรูปของ naturally และ intentionally 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 13 ส.ค. 15, 20:55
พื้นที่ที่ผมกล่าวถึงตามลำน้ำแควใหญ่ตั้งแต่เหนือเขื่อนเจ้าเณรขึ้นไป ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นชั้นความสูงประมาณ 180 ม.จากระดับน้ำทะเล จะถูกน้ำในอ่างท่วมหมดครับ พื้นที่ส่วนที่เป็นส่วนปากลำขาแข้งถูกน้ำท่วมหมด เช่นกันครับ

ภาพปากลำขาแข้งถูกน้ำท่วมหมด จาก Google Maps (https://www.google.co.th/maps/@14.9277348,99.1207461,2186m/data=!3m1!1e3!5m1!1e4)

ผมสังเกตเห็นว่า บนภาพมีวัดชื่อ วัดปากลำ ตั้งอยู่บนเขา จึงค่อนข้างแน่ใจว่าน่าจะถูกที่ แต่คงต้องให้ท่านอาจารย์ เข้ามาช่วยยืนยันอีกทีครับ



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ส.ค. 15, 21:52
คิดว่าจุดเดียวกับแผนที่ภูมิประเทศ ๑:๒๕๐,๐๐๐  ซึ่งตรงนี้เป็นรูปตัว X เหมือนกัน
ปากลำห้วยขาแข้งก่อนถูกน้ำท่วม อ่านพิกัดจากแผนที่ โดยประมาณ คือ
     E=    513,000
     N= 1,650,000


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 15, 19:49
ผมสังเกตเห็นว่า บนภาพมีวัดชื่อ วัดปากลำ ตั้งอยู่บนเขา จึงค่อนข้างแน่ใจว่าน่าจะถูกที่ แต่คงต้องให้ท่านอาจารย์ เข้ามาช่วยยืนยันอีกทีครับ

วัดปากลำเป็นวัดสร้างใหม่ หลังน้ำท่วมแล้วแน่นอน แต่จะเป็นเมื่อใดนั้น ผมไม่ทราบครับ 

สำหรับตำแหน่งที่อยู่ (ตามที่ผมได้ตรวจสอบกับแผนที่ภูมิประเทศแล้ว) วัดนี้ตั้งอยู่บนเชิงเขาที่อยู่ระหว่างปากลำห้วยขาแข้ง (ง่ามขวาบนของแอ่งน้ำ) กับปากลำแม่พลู หรือห้วยแม่พลู (ง่ามขวาล่างของแอ่งน้ำ)

ตำแหน่งของจุดที่ห้วยขาแข้งบรรจบกับแควใหญ่จริงๆ  ในกรณีที่จะอ้างอิงจากภาพ google map นั้น  หาได้ดังนี้ครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 15, 19:56
ให้ลากเส้นตรงจากวัดปากลำไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ไปทางมุมซ้าย) ไปยังจุดปลายร่องเขาที่อยู่ฝั่งซ้ายของพื้นน้ำ 

จุดบรรจบของห้วยขาแข้งกับแควใหญ่จะอยู่ ณ ประมาณจุดกึ่งกลางของเส้นที่ลากนี้ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 15, 20:06
คิดว่าจุดเดียวกับแผนที่ภูมิประเทศ ๑:๒๕๐,๐๐๐  ซึ่งตรงนี้เป็นรูปตัว X เหมือนกัน
ปากลำห้วยขาแข้งก่อนถูกน้ำท่วม อ่านพิกัดจากแผนที่ โดยประมาณ คือ
     E=    513,000
     N= 1,650,000

ถูกต้องเลยครับ

แสดงว่าน่าจะต้องเคยใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 มาก่อน เพราะใช้ระบบอ่านตำแหน่งแบบ Easting - Northing

ซึ่งผมจะขอขยายความเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์สำหรับนักท่องธรรมชาติคนจรจัดในพื้นที่ห่างไกลครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 14 ส.ค. 15, 21:50
http://[font=Verdana][font=Verdana]ขอบคุณทุกท่านครับ ทั้งแผนที่นักบิน นักสำรวจ
คงไม่ถึงกับต้องพิกัดไว้ตั้งยิงปืนหลอกครับ ไม่น่าเลย
ผมขอใช้ google map ครับ [/font][/font]


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ส.ค. 15, 19:43
โดยหลักสากลในการทำแผนที่ใดๆ    ด้านบนของแผนที่จะต้องเป็นทิศเหนือเสมอ 
   แต่ก็มีแผนที่ๆเป็นแผ่นพับเล็กๆที่แสดงเส้นทางไปยังที่ตั้งของร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว หรือ...ฯลฯ ซึ่งเกือบทั้งหมดมักจะไม่ใช้หลักสากลให้ด้านบนเป็นทิศเหนือ  แต่ก็มีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ยังคำนึงถึงความรู้สึกผู้ใช้ จึงมีการแสดงสัญลักษณ์เป็นภาพลูกศรชี้ว่าทิศเหนืออยู่ทางใหน 

โดยหลักของผู้ใช้ในสากล   ผู้ใช้ต้องการทราบทิศทางและระยะทางที่เป็นจริง โดยการวัดจากแผนที่  แผนที่นั้นๆจึงต้องมีมาตราส่วนกำกับว่าเป็นแผนที่ๆแสดงอยู่บนฐานของมาตราส่วนใด  ซึ่งจะแสดงเป็นตัวเลข หรือเป็น Bar scale
   ก็เกิดเป็นปัญหาว่า หากจะแสดงแผนที่ให้เป็นไปตามจริง ก็อาจจะต้องใช้กระดาษอีกหลายแผ่นมาต่อกัน ก็เลยต้องตัดย่อให้สั้นลง  ซึ่งผลก็คือ ในพื้นที่รอบๆใกล้ๆตัวเรา แผนที่ค่อนข้างจะมีความถูกต้อง แต่เมื่อขยับห่างออกไปอีกหน่อยเดียว  ทุกเรื่องก็เพี้ยนหมด   ความรู้สึก "ใกล้ตาแต่ไกลตีน" ก็จึงเกิดขึ้นเป็นปรกติกับนักท่องเที่ยวทั้งหลาย

แผนที่สำหรับการท่องเที่ยวที่ดีที่สุดจึงประกอบไปด้วยแผนที่ใดๆก็ได้ (Thematic map, Sketch map, Cartoon map,...ฯลฯ) ไม่ว่าจะเป็นมาตราส่วนใดๆหรือจะไร้มาตราส่วนก็ได้  ...เพียงใช้คู่กับปากของเราครับผม ถามไปเรื่อยๆครับ   

ซึ่งก็ด้วยการถามนี้แหละครับ ผมจึงได้รอดจากปากกระบอกปืนมาหลายครั้งหลานหนในพื้นที่น่ากลัว แม้กระทั้งในห้วยขาแข้ง 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ส.ค. 15, 20:45
แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วนมาตรฐานที่ใช้กันในระบบการบินของเครื่องบินปีกแข็ง (ซึ่งบินในระดับสองหมื่นสามหมื่นฟุตขึ้นไปนั้น) จะนิยมใช้แผนที่มาตราส่วน 1:500,000   ส่วนสำหรับเครื่องปีกหมุน ซึ่งปรกติบินอยู่ในระดับไม่เกิน 10,000 ฟุตนั้น จะใช้แผนที่มาตราส่วน 1:250,000 เป็นหลัก (ทุกเส้นชั้นความสูงในแผนที่จะต่างกัน 100 ม.)    (พวกนักบินเขาจะใช้แผนที่ๆเป็นแผ่นใหญ่แสดงต่อเนื่องกันหลายระวาง)

สำหรับคนทำงานด้านการพัฒนาทั้งหลาย จะใช้แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:250,000 เพื่อการวางแผนการทำงาน ดูความก้าวหน้า และการประเมินผลสัมฤทธิ์  ในขณะที่การปฏิบัติการและการทำงานในภาคสนามจะอิงอยู่กับแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 (ทุกเส้นชั้นความสูงในแผนที่จะต่างกัน 20 ม.)

ส่วนในด้านการปกครอง การบริหาร การจัดการชุมชน สิทธิ และกรรมสิทธิต่างๆ จะไม่นิยมใช้แผนที่ภูมิประเทศ  แต่จะใช้แผนที่มาตราส่วนใหญ่ในระดับ 1:25,000 ขึ้นไป เช่น เพื่อการพัฒนาที่ดิน เพื่อแสดงขอบเขตที่ดินในโฉนด (1:4,000) ฯลฯ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 15, 19:28
ก็มาถึงอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ จุดตำแหน่งในแผนที่ๆเรียกกันว่า พิกัด

พิกัด มีอยู่ 2 ระบบ คือ
  - ณ จุดตัดของเส้นละติจูด (เส้นรุ้ง) กับ เส้นลองติจูด (เส้นแวง) ฝรั่งใช้คำว่า Lat-Long coordinate
  - ณ จุดตัดของเส้นกริดแนวตั้งกับแนวนอนในแผนที่ ฝรั่งใช้คำว่า UTM coordinate

Lat-Long coordinate นั้นจะใช้ในเชิงของการบอกตำแหน่งคร่าวๆ ณ จุดใดๆบนโลก  ซึ่งมีทั้งบอกพิกัดแบบเต็มรูป (องศา ลิบดา ฟิลิบดา) และแบบบนฐานของเลขฐาน 10
ส่วน UTM coordinate นั้นจะใช้ในการบอกจุดใดๆบนแผนที่ๆสร้างขึ้นมาในระบบ Universal Transverse Mercator Projection ซึ่งเป็นระบบแผนที่มาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก    แผนที่ในระบบนี้แสดงความถูกต้องในเรื่องของทิศทางและรูปร่าง (direction and shape) แต่ไม่แสดงความถูกต้องในเรื่องของพื้นที่ (dimension and size _ area)

ในด้านความละเอียดแม่นยำนั้น ระบบพิกัด UTM จะมีความละเอียดและแม่นยำมากกว่าระบบ Lat-Long   แต่..ก็ขึ้นอยู่กับมาตราส่วนของแผนที่ๆใช้อ้างอิง    ก็..แผนที่มาตราส่วน 1: 250,000 นั้น 1 มม.=250 ม. (จุดดินสอหนึ่งบนแผนที่ ก็ใกล้เคียงที่จะหมายถึงพื้นที่ในรัศมีประมาณ 250 ม.)    ส่วนสำหรับแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ซึ่ง 1 มม.=50 ม. นั้น จุดดินสอหนึ่งก็จะแคบลงมาเป็นพื้นที่ในรัศมี 50 ม.)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 15, 19:58
แยกเล่าเรื่องนี้ออกมาก็เพียงเพื่อจะบอกกล่าวกันว่า มีข้อควรจะต้องระวังในการเดินทางโดยใช้แผนที่นำทาง หรือในการระบุตำแหน่งของตนเองในแผนที่   

เมื่อผนวกอัตราความเร็วในการเดินของคนคนเรา (กรณีเดินไปตามถนน จะอยู่ที่ประมาณ 3 - 4 กม.ต่อ ชม. แต่หากเดินดูนั่นดูนี่ มองซ้ายที-ขวาที ก็จะอยู่แถวๆ 1 กม.ต่อ ชม. หรือน้อยกว่า  และในกรณีเดินเร็วเพื่อไปยังจุดใดจุดหนึ่ง ก็จะอยู่ประมาณ 6 กม.ต่อ ชม.)   ก็คงจะพอประเมินได้นะครับว่า เรามีโอกาสจะบอกตำแหน่งของตนเองบนแผนที่มาตราส่วนต่างๆผิดไปได้มากน้อยเพียงใด
     
หลง หลุด จึงเป็นเรื่องปรกติสำหรับการเดินทางโดยใช้แผนที่

โดยวิชาชีพของผมที่มีอาวุธประจำกาย คือ แผนที่ภูมิประเทศ กับ เข็มทิศ และซึ่งต้องใช้เป็นประจำทุกวันกันนั้น ก็ยัง หลง/หลุด เป็นปรกติธรรมดา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 15, 19:06
สมัยผมทำงานอยู่นั้น ต้องอ่านแผนที่ให้ออก ใช้แผนที่ให้เป็น และใช้เข็มทิศให้เป็น   

เมื่อใช้เข็มทิศ sighting จนหาจุดที่ตนเองยืนอยู่ได้แล้ว ก็จุดลงบนแผนที่ แล้วก็อ่านตำแหน่งของจุดนั้นในระบบ UTM coordinate (Easting - Northing) คือ แบ่งช่องตารางกริดสี่เหลี่ยมในแผนที่ (ที่คลุมพื้นที่ของจุดนั้น) ออกเป็น 10 ส่วนในแนวตั้ง (เพื่ออ่านค่า easting) และ 10 ส่วนในแนวนอน (เพื่ออ่านค่า northing)  โดยอ่านค่าของจุดนั้นนับจากซ้ายไปขวาและล่างขึ้นบน จากกรอบของเส้นกริดในแผนที่ตามลำดับ   พิกัดนี้ก็คือตำแหน่งของเราที่ควรจะอยู่ในแผนที่ (เช่น ไปทางตะวันออกของเส้นกริดที่ 25 เป็นระยะ 3 ในสิบส่วนของช่องกริด และไปเหนือของเส้นกริดที่ 47 เป็นระยะ 5 ในสิบส่วนของช่องกริด  พิกัดนั้น จึงเป็น หมายเลขระวางแผนที่ +253475

ปัจจุบันนี้เราใช้เครื่อง GPS กัน   อ่านค่าได้ทั้ง Lat - Long และ UTM Coordinate    แล้วจึงค่อยไปจุดลงในแผนที่    ทั้งนี้ ก็ยังได้ตำแหน่งที่ผิดได้เหมือนเดิม ก็คืออาจจะผิดได้ในวงรัศมีประมาณ 50 เมตร หากว่าเครื่องนั้นมีค่าความแม่นยำที่มีอักษร SA กำกับอยู่ (ซึ่งเป็นเครื่องที่ขายกันโดยทั่วไป)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 15, 19:36
เอาละครับ มาถึง อ.ศรีสวัสดิ์ ด้วยความสวัสดิภาพปลอดภัยกันแล้ว   ก็ผ่านมาหลายแก่งแต่ไม่น่ากลัวนัก  นายท้ายเรือขับเรือกันในช่วงระยะทางเส้นนี้กันจนชำนาญ จนเกือบจะไม่รู้สึกเลยว่ามีแก่งใดบ้างที่น่ากลัว

ก่อนที่จะลืมไปครับ   แควใหญ่ นั้นมีความกว้างกว่าแควน้อย มีแก่งมากกว่าแควน้อย มีน้ำตื้นกว่าแควน้อย แต่สามารถใช้เรือหางยาวขนาดใหญ่ได้  ในขณะที่เรือหางยาวที่ใช้ในแควน้อยจะเป็นขนาดที่ย่อมกว่าและมีความสั้นกว่าที่เราเห็นกันในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ก็เพราะว่า แก่งในแควน้อยนั้นจะเป็นลักษณะของโขดหินใต้น้ำเป็นหลัก แม้แก่งจะมีระยะทางสั้นแต่เรือก็ต้องขับหลบซ้าย-ขวา  ต่างกับแก่งในแควใหญ่ที่มีระยะทางยาวกว่า  ค่อนข้างจะตรงมากกว่า แต่เป็นแก่งในลักษณะของพื้นท้องน้ำตื้นและน้ำไหลต่างระดับ (ระหว่างหัวแก่งกับท้ายแก่งมากกว่า 1-2 เมตรขึ้ันไป)   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 15, 19:01
อ.ศรีสวัสดิ์ เป็นเมืองหน้าด่านเก่าแก่ในสมัยที่ไทยกับพม่ายังรบกัน  ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะบอกว่าเมืองนี้ถูกตั้งขึ้นมาแต่เมื่อใด ที่รู้แน่ๆก็คือ ถูกตั้งให้เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญจุดหนึ่งในยุคสงครามเก้าทัพ   

ชื่อและจุดที่ตั้งดั้งเดิมของอำเภอนี้ คือ จุดเรียกว่า ด่านแม่แฉลบ ซึ่งอยู่เหนือน้ำขึ้นไปเล็กน้อยจากที่ตั้งตัวที่ทำการอำเภอศรีสวัสดิ์  เป็นเส้นทางเดิน (ด่าน) ไปทางตะวันตก ข้ามเขาลงไปก็จะเป็นแม่น้ำแควน้อย (แถวๆบ้านปลังกาสี หรือบ้านหินดาด)

สภาพของที่ตั้งตัว อ.ศรีสวัสดิ์ ในสมัยนั้น เป็นอะไรที่สุดๆเลยครับ มีถนนดินแบบฝุ่นตลบ แต่ก็โชคดีที่เกือบจะไม่มีรถยนต์วิ่งเลย มีแต่รถลากไม้ที่เรียกกันว่า จี๊บกลาง สองสามคัน  บ้านเรือนของชาวบ้านเป็นแบบเรือนยกพื้นสูงขนาดเดินลอดได้สบายๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นแบบลูกผสมระหว่างการใช้ไม้จริงกับไม้ไผ่ น่าสนใจก็ตรงที่เป็นยังเห็นโครงสร้างของเรือนที่มีความเป็นไทย (แบบภาคเหนือ หรืออิสาน)  แล้วก็พบว่ามีคนไทยจากหลายภาคมาอยู่อาศัย ก็จะมีเป็นพวกที่ตกค้างอยู่ตั้งแต่เก่าก่อนส่วนหนึ่ง มีพวกที่อพยพย้ายมาเพราะการทำป่าไม้ส่วนหนึ่ง ผมยังพบคนจาก จ.สุรินทร์ ที่พูดสำเนียงเขมรอีกด้วย ซึ่งสนิทกันมากพอที่จะแหย่กันด้วยประโยคว่า อะไรๆก็เลอะเทอะเปรอะหมด 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 15, 18:21
เลยจากท่าแฉลบไปไม่ไกลนัก ก็เริ่มเข้าสู่เขตแก่งที่อันตรายและอยู่ถี่มากขึ้นเรื่อยๆ น้ำก็ไหลแรงมากขึ้น   แต่ละครั้งที่เรือวิ่งผ่านแก่ง เรือก็จะกระโดดคล้ายกับนั่งรถบนถนนลูกรังโรยด้วยก้อนกรวด

เรือหางที่วิ่งในแควใหญ่ระหว่างลาดหญ้ากับศรีสวัสดิ์นั้น จะใช้คนเรือ 2 คน เป็นคนขับคนหนึ่งและเป็นคนยืนอยู่หัวเรืออีกคนหนึ่ง ซึ่งภาพเช่นนี้ ผมยังไม่เคยเห็นในที่อื่นใดนอกจากในแควใหญ่นี้เท่านั้น
   
ดังที่ได้เล่าไว้แล้วครับว่า เขาใช้เรือหางขนาดใหญ่  ต้องมีครีบหางเสือที่ท้ายเรือต่อจากกราบเรือออกไปทั้งสองข้างเพื่อช่วยในการเลี้ยวและเข้าโค้งคุ้งน้ำ แต่ก็ยังไม่พอที่จะขับเข้าคุ้งน้ำได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ก็เลยต้องมีคนช่วยโคลงเรือยืนอยู่ที่หัวเรืออีกคนหนึ่ง  คนๆนี้จะยืนดึงเชือกที่ผูกไว้ที่หัวเรือ และยืนใช้ก้นยันไว้กับหลังคาเรือ    ก็เพื่อกันตกจากเรือครับ
 
คนเรือทั้งสองนี้รู้จักแม่น้ำแทบจะทุกกระเบียดนิ้วเลยทีเดียว  รู้ว่า ณ จุดใด เมื่อใดจะต้องโคลงหรือไม่โคลงเรือ และจะต้องโคลงมากหรือโคลงน้อยเพียงใด     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 15, 18:52
ที่เล่ามานั้นก็คือสาเหตุที่คนเรือจะต้องขอให้ผู้โดยสารนั่งเฉยๆ ไม่ต้องช่วยโคลงเรือ ไม่ต้องช่วยลุ้นเมื่อเรือวิ่งเข้าคุ้งน้ำหรือวิ่งผ่านแก่ง เพราะการโคลงไม่ถูกจังหวะก็จะเท่ากับเป็นการขืน ซึ่งจะยังผลให้เรือแถออกนอกเกณฑ์ที่จะสามารถบังคับได้ ก็คือจะทำให้เรือแหกโค้งไปปะทะกับตลิ่งหรือโขดหิน

แต่ก็อย่างว่าแหละครับ มันก็เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ เมื่อเรือเอียงก็จะต้องขืนช่วยกันขืนเรือให้รักษาระดับเอาไว้ 

เที่ยวแรกของการเดินทางก็จึงมีแต่เสียงตะโกนบอกว่า นั่งเฉยๆนั่งเฉยๆ ไม่ต้องเอียงช่วย แล้วก็ไม่ต้องชะเง้อ อย่าขยับนั่งไปทางซ้ายทีทางขวาทีเพื่อดูตลิ่ง (เพราะหลังคามันบัง) 
แต่ที่สำคัญมากๆก็คือ การเคลื่อนไหวเหล่านี้มันไปบดบังทำให้คนขับเรือมองไม่เห็นทั้งสองฝั่งของกราบเรือ และก็เพราะมันมีการสื่อสารกับคนที่ยืนอยู่หัวเรือด้วยการสังเกตการขยับขาของเขา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 15, 19:02
ในแควใหญ่ เขาใช้คนยืนอยู่หน้าเรือ ลงน้ำหนักเหยียบซ้าย-ขวา เพื่อช่วยประคองเรือเมื่อเข้าคุ้งน้ำและผ่านแก่ง   ต่างกับในแควน้อยที่ใช้คนอยู่หน้าเรือเหมือนกัน แต่ใช้ลำไม้ไผ่ช่วยผลักหัวเรือให้พ้นโขดหิน

เรือในแควใหญ่จะเข้าแก่งด้วยความเร็ว เพราะต้องกระโจนในน้ำที่ไหลแรง  แต่เรือในแควน้อยจะเข้าแก่งด้วยความเร็วช้าๆ เพราะต้องหลบโขดหินใต้น้ำ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 15, 19:48
การเดินทางต่อจาก อ.ศรีสวัสดิ์ เหนือน้ำขึ้นไป จะเป็นเวลาช่วงบ่าย จะต้องผ่านเกาะแก่งมากมาย  คนเรือเองก็ไม่สันทัดเส้นทางมากนัก คนเดินทางไม่มีความรู้ใดๆในพื้นที่นี้เลย แต่ทุกคนรับรู้เหมือนๆกันว่า เป็นพื้นที่อันตรายทั้งจากธรรมชาติ คน และสัตว์  ทุกคนจึงก็ต้องช่วยกันดู ช่วยกันลุ้นด้วยความตื่นตัวตลอดเวลา

เรื่องที่ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำก็คือ เตรียมความพร้อมของตัวเองและของส่วนรวมเพื่อเอาตัวรอดจากทุกสถานการณ์เท่าที่จะนึกออกมาได้  ที่นอน? อาหารมื้อเย็น?  เรือแตก?  ถูกปล้น? ....ฯลฯ

นึกย้อนไปแล้วยังรู้สึกว่าเรานี้บ้าบิ่นไม่น้อยเมือนกันนะ     ...a boondoggle ??


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 15, 19:49
พ้นจาก อ.ศรีสวัสดิ์ ไปไม่นาน ก็แวะเช้าจอดเกยหาดทรายก่อนเข้าคุ้งน้ำ เพื่อพับเก็บหลังเรือคาลงให้เรียบร้อย เติมน้ำมันเรือโดยถ่ายออกจากถัง 200 ลิตร (ที่วางนอนไว้หน้าที่นั่งของนายท้าย) ไปเติมในถังน้ำมันของเรือ 

โดยภาพรวมๆก็คือ ยืดเส้นยืดสาย เตรียมความพร้อมของเรือและของตนเองเพื่อความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและอันตรายที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้    ที่จำได้ก็คือ การนัดแนะกันในกรณีเรือแตก ว่าจะทำอย่างไร จะพบกันได้อย่างไร   นำของสำคัญและที่จำเป็นมาติดตัวหรือวางไว้ในที่ๆสามารถคว้าได้ง่าย (เช่น เงิน ปืน)    จัดวางถังน้ำพลาสติกเปล่าให้กับคนที่ว่ายน้ำไม่แข็ง เหล่านี้เป็นต้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 15, 19:23
พร้อมแล้วก็ออกเดินทาง

นั่งเรือไม่มีหลังคาก็คล้ายกับนั่งรถสปอร์ตเปิดประทุน รับลมเย็นๆ เห็นท้องฟ้าโปร่งใส   

คนที่ยืนที่หัวเรือก็ยังคงอยู่ แต่ต้องนั่ง เพราะไม่มีขอบหลังคาให้ยันหรือพิง แล้วก็มีงานเพิ่มที่ต้องสังเกตอีกสองสามเรื่อง คือ คอยดูท่อนไม้ที่ลอยน้ำมาที่อาจจะปะทะกับเรือ  ดูว่ามีสัตว์ที่ลงมาเดินอยู่ริมน้ำหรือกำลังว่ายข้ามน้ำบ้าง (ดูเพื่อความเพลิดเพลินของจิตใจครับ)  และคอยกระโดดขึ้นฝั่งและดึงเชือกหัวเรือหรือผลักหัวเรือเมื่อต้องเกยหัวเรือเข้าฝั่งเมื่อยามคับขัน โดยเฉพาะเมื่อตอนเรือแตก 
 
มองออกไปทางหัวเรือที่ระดับสายตา ก็เห็นน้ำแควไหลพุ่งเข้าสู่หัวเรือ แตกกระจายเป็นฝอยกระเด็นเข้ามาในเรือเป็นระยะๆ หาดทรายตามริมตลิ่งที่เคยเห็นเป็นปกติก็หายไป กลายเป็นเนินทรายตามริมตลิ่งที่มีต้นไคร้น้ำขึ้นอยู่ พร้อมมีซากรากไม้ กิ่งไม้ ใบไม้แขวนห้อยอยู่ตามกิ่งก้านสาขา ซึ่งแสดงถึงความแรงของน้ำไหลและความสูงของระดับน้ำที่ไหลหลากในช่วงฤดูน้ำมาก ทั้งนี้ หากอยู่ในลำห้วย ก็จะแสดงถึงก็ระดับการทะลักของน้ำป่า   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 15, 19:30
เห็นภาพชัดมากค่ะ   เหมือนโดยสารเรือไปด้วย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 15, 19:48
เมื่อแหงนมองออกไปรอบตัวไกลๆ ก็จะเห็นแต่ขุนเขาและร่องเขาเป็นกำแพงยืนตระหง่านพร้อมกับผืนป่าไม้สีเทาเข้ม   บางจุดก็มีต้นไม้ที่สูงกว่าต้นอื่นๆที่เห็นได้เด่นชัด ซึ่งหากเป็นลำต้นตรงและมีสีขาวเด่นออกมา ก็คือต้นไม้ที่เขาเรียกชื่อว่า ไม้ขานาง  ซึ่งในทางป่าไม้จัดเป็นต้นไม้ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความบริสุทธิ์ของผืนป่า

บางครั้งก็เห็นนกบินโผเกาะยอดไม้อยู่ไกลๆ ก็น่าจะเป็น นกกุลุมพู  บางครั้งก็มีบินอยู่เดี่ยวๆ บินเฉื่อยๆโฉบเฉี่ยวอยู่ในท้องฟ้า ก็คงเป็นเหยี่ยวที่เรียกชื่อว่า เหยี่ยวอีลุ้ม   ในช่วงบ่ายแก่ๆ ก็เห็นฝูงนกแก้วบินเกาะกลุ่มกัน ส่งเสียงร้องดังจนต้องหันไปมอง   (ผมมิได้มีความรู้เรื่องชื่อนกมากมายในขณะนั้น ถามเขาครับ)  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 15, 20:03
ขอบพระคุณครับ อ.เทาชมพู


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 15, 21:02
ความรู้สึกในช่วงนั้น ก็คือ มันเป็นภาพที่แท้จริงของธรรมชาติ   เป็นความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่รู้สึกสัมผัสได้   เป็นธรรมชาติที่ยังเป็นธรรมชาติที่ยังไม่แปดเปื้อนกับการกระทำของคน   ธรรมชาติของแท้นั้นมันยิ่งใหญ่ นิ่ง สงบ เยือกเย็น เราเป็นเพียงตัวอะไรเล็กๆที่เข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในภูมิทัศน์อันสวยงามนั้นๆเท่านั้นเอง

หากเราเห็นภาพภูมิทัศน์ของ Alaska หรือ Rocky Mountain แล้วเกิดความรู้สึกสัมผัสกับความสวยงาม ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ความรู้สึกผ่อนคลาย ....ฯลฯ  ซึ่งฝรั่งเขาใช้คำว่า wilderness สำหรับภาพในลักษณะนั้น  นั่นแหละครับ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผม และซึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นกับหลายๆท่านที่ได้ไปเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่อ่างน้ำของเขื่อนเจ้าเณร ซึ่งท่วมพื้นที่ๆผมกำลังเล่าย้อนความหลังอยู่ในกระทู้นี้ 

สำหรับตัวผมนั้น มันก็คือจุดที่ทำให้ผมรู้จักและรักวิถีการดำรงชีวิตแบบ simplicity


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Arpharazon ที่ 21 ส.ค. 15, 22:08
ขอบคุณครับที่สละเวลาในการพิมพ์เล่าเรื่อง ผมขออนุญาตติดตามด้วยความตั้งใจครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 15, 07:48

หากเราเห็นภาพภูมิทัศน์ของ Alaska หรือ Rocky Mountain แล้วเกิดความรู้สึกสัมผัสกับความสวยงาม ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ความรู้สึกผ่อนคลาย ....ฯลฯ  ซึ่งฝรั่งเขาใช้คำว่า wilderness สำหรับภาพในลักษณะนั้น  นั่นแหละครับ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผม
ดิฉันมีโอกาสไปทำความรู้จักมักคุ้นกับเทือกเขาร็อคกี้ ตั้งแต่สมัยไปเรียน   ต่อมาลูกสาวคนเล็กไปเรียนใน U เดียวกับแม่ แม่ก็เลยได้คืนถิ่นเก่า  ไปเยี่ยมทุกปี  มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของเทือกเขาร็อคกี้ในรอบหลายทศวรรษ   
แม้ว่าทางรัฐรักษาสภาพป่าเขาต้นน้ำลำธารถนนหนทางไว้ได้     แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างน่าเสียดายมาก   คือความบริสุทธิ์ของป่าเขาถูกแทรกแซงด้วยรีสอร์ทใหญ่น้อย    มีโรงแรมบ้านพักกระจัดกระจายสองข้างทางถนนหนาตา   และเมืองบนเขาก็ขยายตัวออกกว้างขึ้นกว่าเก่า    รถวิ่งบนถนนบางสายบนภูเขา มองเห็นบังกะโลสองข้างทาง บังทิวทัศน์น่าเสียดาย
ด้วยเหตุที่ป่าถูกเมืองรุกพื้นที่ คนไปเที่ยวกันมากขึ้น  ผลพลอยเสียที่ตามมาคือไฟป่า     บางคนบอกว่าเกิดจากเหตุธรรมชาติเช่นฟ้าผ่าต้นไม้   แต่ดิฉันเชื่อว่ามาจากแคมป์ไฟร์นั่นแหละค่ะ
มีอยู่ปีหนึ่งไฟป่าลุกลามหนักมาก   โคโลราโดเกือบลุกเป็นไฟ เพราะเจอทั้งเหนือและใต้   คนตายไปหลายคนเพราะหนีไม่ทัน

คุณตั้งมีประสบการณ์แบบเดียวกันหรือเปล่าคะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 23 ส.ค. 15, 07:42
เมื่อแหงนมองออกไปรอบตัวไกลๆ ก็จะเห็นแต่ขุนเขาและร่องเขาเป็นกำแพงยืนตระหง่านพร้อมกับผืนป่าไม้สีเทาเข้ม   บางจุดก็มีต้นไม้ที่สูงกว่าต้นอื่นๆที่เห็นได้เด่นชัด ซึ่งหากเป็นลำต้นตรงและมีสีขาวเด่นออกมา ก็คือต้นไม้ที่เขาเรียกชื่อว่า ไม้ขานาง (http://www.biogang.net/upload_img/biodiversity/biodiversity-3618-1.jpg)  ซึ่งในทางป่าไม้จัดเป็นต้นไม้ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความบริสุทธิ์ของผืนป่า   

(http://www.biogang.net/upload_img/biodiversity/biodiversity-3618-1.jpg)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ส.ค. 15, 09:30
๏ ขานางพิศภาคแพ้      พิมพ์เพลา นุชนา
กลกล่อมสองปลีเยาว์      ยาตรเยื้อง
เล็บนางเล็บนุชเบา        บอกคึ่ง พี่ฤๅ
หลงปัดเล็บนางเปลื้อง     ปลาบเนื้อเรียมขนาง ฯ


นิราศนรินทร์ (http://www.reurnthai.com/wiki/โคลงนิราศนรินทร์)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 15, 10:47
เล็บนางเล็บนุชเบา        บอกคึ่ง พี่ฤๅ
คึ่ง = ขึ้ง(โกรธ)  สะกดแบบนี้เพราะคำนี้ลงในส่วนที่ต้องเขียนด้วยวรรณยุกต์เอกค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 15, 17:13
ขออภัยที่เว้นว่างไปหนึ่งวัน   ท้องมันวิ่งครับ มันไม่เดิน เลยต้องนอนเร็ว พักเอาแรงครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 15, 18:17
ดิฉันมีโอกาสไปทำความรู้จักมักคุ้นกับเทือกเขาร็อคกี้ ตั้งแต่สมัยไปเรียน   ต่อมาลูกสาวคนเล็กไปเรียนใน U เดียวกับแม่ แม่ก็เลยได้คืนถิ่นเก่า  ไปเยี่ยมทุกปี  มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของเทือกเขาร็อคกี้ในรอบหลายทศวรรษ   
แม้ว่าทางรัฐรักษาสภาพป่าเขาต้นน้ำลำธารถนนหนทางไว้ได้     แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างน่าเสียดายมาก   คือความบริสุทธิ์ของป่าเขาถูกแทรกแซงด้วยรีสอร์ทใหญ่น้อย........คุณตั้งมีประสบการณ์แบบเดียวกันหรือเปล่าคะ

มีครับ  คิดจะเล่าอยู่แล้วครับ ทั้งแบบป่าเปลี่ยนไปด้วยตนเอง และที่เปลี่ยนแบบเป็นลูกโซ่จากคน   

สำหรับส่วนของพื้นที่ส่วนล่างสุดของห้วยขาแข้งที่ผมกำลังเล่าอยู่นี้ ก็เปลี่ยนครับ เปลี่ยนโดยน้ำในอ่างน้ำของเขื่อนเจ้าเณร แต่ก็ยังคงรักษาภาพและสภาพของความบริสุทธิ์ และของความเป็นป่าใหญ่เอาไว้ได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะหากมองจากการนั่งเรือนะครับ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งๆเมื่อขึ้นเหนือเลยบริเวณปากลำห้วยขาแข้งขึ้นไป (เรือไปได้สุดทางที่จุดก่อนจะถึงสถานที่ๆเคยคิดจะสร้างเขื่อนน้ำโจน)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 15, 19:04
ขอบคุณ คุณ ninpaat สำหรับภาพประกอบต้นขานาง  แล้วก็กลอนจาก อ.เพ็ญชมพู ครับ

ต้นขานางนั้น ตามปรกติจะเกิดเป็นต้นเดี่ยวๆ ไม่เกิดแฝดดังภาพ เกิดกระจัดกระจายห่างๆกัน มีลำต้นสูงและตรง ขนาดวงรอบของต้นประมาณโอบกว่าๆ มีความเด่นมากตรงที่มีสีผิวของลำต้นขาวนวลคล้ายถุงน่องของผู้หญิง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 15, 19:56
ลืมเล่าไปว่า  ระหว่างจอดเรือเกยหาด พักเครืองเรือ ยืดเส้นยืดสาย และล้อมวงทานมื้อกลางวันกัน

ในระหว่างคุยกันเรื่องพระท่ากระดานเกศคด คนขับรถของทีมสำรวจของผม ซึ่งพื้นเพของเขาเป็นคนบ้านหลุมรัง (เลยตัว อ.บ่อพลอยไปหน่อยนึง) ก็หยิบข่าวคราวมาคุยกัน เรื่องมีนายตำรวจท่านหนึ่งยิงกับไอ้เสือคนหนึ่งในการติดตามและจะเอ๋กัน แถวๆ อ.ศรีสวัสดิ์นี้เอง ต่างคนต่างยิงใส่กัน คนหนึ่งถูกยิงตกจากเรือ แต่ยิงกันไม่เข้าทั้งคู่ ก็เลยคุยกันอย่างลูกผู้ชาย ขอให้เลิกเป็นโจร   ผมจำเรื่องไม่ได้ชัดเจนว่าตำรวจชื่ออะไร (ขุนพันธรักษ์ราชเดช ??) และผู้ร้าย (โจร) ชื่ออะไร (เสือมเหศวร เสือหวัด ??) เป็นเรืองแถวๆ พ.ศ.2490+/- โน่น      (ผมรู้จักพระเครื่องมเหศวร ก็จากเรื่องนี้นั่นเอง)   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 15, 20:03
ผมก็เลยได้ความรู้จากคนขับรถของคณะผม (อายุมากกว่าผมประมาณรอบกว่า) เรื่องของเสือใบ เสือดำ เสือมเหศวร ซึ่งเป็นพวกโจรคนดีสำหรับชาวบ้าน ปล้นคนมีฐานะ ดูแลและช่วยเหลือชาวบ้าน และไม่ทำร้ายคน   พื้นที่ทำการของเสือกลุ่มนี้อยุ่ในพื้นที่ราบด้านตะวันตกไปจนถึงทิวเขาทางตะวันตก  

ผมก็เลยได้รู้ว่าพื้นที่ทำงานของผมนั้น ตั้งแต่ป่าแม่วงก์ ของ จ.นครสวรรค์ เรื่อยลงมาแถบ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี จนในพื้นที่ๆกำลังเล่าความอยู่นี้ เคยเป็นดงไอ้เสือ และเป็นแหล่งกบดาน ซ่อนตัว หนีคดี    ซึ่งสำหรับพวกเสือดำ เสือใบ เสือมเหศวร นั้น เรื่องราวคงจบไปแล้ว  

ก็น่ากลัวอยู่ว่า ในพื้นที่ทำงานของผม จะยังมีรุ่นหลังๆ หรือยังมีพรรคพวกหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่  หรือมีคนอื่นอีกหรือไม่ ...แล้วก็มีครับ  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 24 ส.ค. 15, 21:54
..แสดงว่าน่าจะต้องเคยใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 มาก่อน เพราะใช้ระบบอ่านตำแหน่งแบบ Easting - Northing..

  ระหว่างอาจารย์naitangจอดพักเครื่องเรือ ขอแก้ตัวตามที่ท่านตั้งข้อสังเกต
  คือระบบงานที่เคยทำ  ต้องมีฝ่ายสำรวจออกไป survey สภาพภูมิประเทศของโครงการนั้นๆ เพื่อทราบข้อมูลกายภาพ เช่น ความลาดชัน ร่องน้ำธรรมชาติ พืชพันธุ์ไม้ในพื้นที่ ฯ  เมื่อทางฝ่ายสำรวจจัดทำแบบ(drawings)เรียบร้อยแล้ว ก็ส่งมอบแบบภูมิประเทศนั้นให้ฝ่ายออกแบ เพื่อเป็นbase drawings สำหรับออกแบบให้เหมาะสมต่อไป  ซึ่งแบบภูมิประเทศเหล่านี้จะตีตารางกริดไว้ด้วยเพื่อจะได้ทราบค่าพิกัดในพื้นที่นั้น  ค่าพิกัดที่ลงไว้จะเป็นระบบUTM คือ Easting, Northing คือ ระยะจากศูนย์กำเนิด(origin) หน่วยเป็น m กำกับด้วยอักษร E และ N
   สำหรับแผนที่มาตรฐาน มาตราส่วน 1:50,000 เคยเห็นส่วนงานออกแบบระบายน้ำ นำมาใช้ plot สันปันน้ำโดยพิจารณาจากเส้นชั้นความสูง เพื่อพิจารณาพื้นที่รับน้ำ(watershed) คำนวณบริมาตรน้ำ แล้วนำค่าไปใช้ออกแบบ ตัวอย่างคร่าวๆครับ ไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรง
    ก็เลยได้รู้จักระบบพิกัด ดังกล่าวและคุ้นเคยแผนที่ภูมิประเทศ 1:50,000 แต่ยังไม่เคยนำออกไปใช้ในสนามจริงๆอย่างนักเดินสำรวจป่าแบบอาจารย์


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 25 ส.ค. 15, 20:40
ผมก็เลยได้ความรู้จากคนขับรถของคณะผม (อายุมากกว่าผมประมาณรอบกว่า) เรื่องของเสือใบ เสือดำ เสือมเหศวร ซึ่งเป็นพวกโจรคนดีสำหรับชาวบ้าน ปล้นคนมีฐานะ ดูแลและช่วยเหลือชาวบ้าน และไม่ทำร้ายคน   พื้นที่ทำการของเสือกลุ่มนี้อยุ่ในพื้นที่ราบด้านตะวันตกไปจนถึงทิวเขาทางตะวันตก 

ผมขอนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ในเรื่องของ ผู้ที่อาจารย์ได้เอ่ยนามไว้ 4 ท่าน คือ
เสือใบ เสือดำ เสือมเหศวร และนายตำรวจมือปราบ ขุนพันธรักษ์ราชเดช มาขยายความคั่นรายการครับ
(จากสำนักข่าว ไทยรัฐออนไลน์ และ Mthai News)

รวมอิทธิฤทธิ์ ขุนโจรพันธุ์เสือ ตำนานโรบินฮู้ดเมืองไทย (http://www.thairath.co.th/content/501288)

ปิดตำนาน ‘เสือใบ’ สุภาพบุรุษขุนโจรเมืองสุพรรณ (http://news.mthai.com/hot-news/general-news/444794.html)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 15, 19:02
กลับมาขึ้นเรือแล้วครับ  ต้องขออภัยจริงๆครับ ท้องมันเดินมาราธอนไปหน่อย   พอชึ้นเรือแล้ว กำลังจะผลักหัวเรือออก ก็ต้องลงเรือวิ่งเข้าหลังพุ่มไม้ริมตลิ่งอีกหลา่ยครั้ง  ตอนนี้เป็นปกติแล้วครับ

ก็เลยจะขอขยายความกรณีเกิดเหตุนี้ในป่าดง จะทำเช่นใด

ผมนั้น ได้ความรู้จากคุณพ่อซึ่งเป็นหมอว่า  ปล่อยให้มันถ่ายไปจนมันหยุดเอง ซึ่งก็จะค่อยๆดีขึ้นจนเป็นปกติภายใน 2-3 วัน และในกรณีที่ไม่มียาอะไรเลย เพื่อป้องกันการเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายอย่างมากจนอาจถึงภาวะคางเหลือง (เจียนตาย) ก็จะต้องดื่มน้ำให้มากๆในช่วงที่ท้องเสียนั้น 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 15, 20:01
เนื่องจากเรื่องท้องเสียนี้ เป็นเรื่องปรกติสำหรับพวกเราคนเมืองที่ต้องกินอาหารผิดสำแดง ต้องกินอาหารที่ผิดแผกแตกต่างไปจากอาหารในเมืองที่เรากินกันทุกวัน  เรื่องโรคของท้องจึงเป็นพระเอกของการเจ็บป่วย 

รู้เช่นนี้แล้วก็ต้องมียาติดตัวและของคณะที่เดินทาง ผมก็จะเตรียมยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ยากฤษณากลั่น ยาซัลฟากัวนิดีน และเกลือแร่ผง

แต่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ก็เกือบจะไม่ต้องใช้ยาที่เตรียมมาเหล่านั้น  เพราะมันมียาอยู่ในก้นครัวของเรานั่นเอง 
  -กระชายที่เตรียมมาสำหรับปรุงเครื่องแกงป่าและแกงคั่ว ก็เป็นยาทั้งขับลมและแก้ท้องเสีย 
  -น้ำข้าวที่ได้มาจากการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ก็เป็นอาหารอ่อนที่เหมาะสำหรับการปรับท้องใส้ และยังอุดมด้วยวิตามิน
  -เกลือทะเลจากนาเกลือ ก็มีเกลือแร่ที่สามารถทดแทนเกลือแร่ที่เราสูญเสียจากการถ่ายออกไป ทั้งโซเดียม โปแตสเซียม รวมทั้ง
      แคลเซียม  แมกนีเซียม และเหล็ก

เอาเกลือใส่ลงไปในน้ำข้าวแล้วดื่ม เป็นสุดๆของอาหารและยาบรรเทาอาการท้องเสียและอาการอ่อนเพลียเลยครับ



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 15, 19:11
ก่อนจะไปต่อ ก็ต้องขอบคุณคุณ ninpaat ที่ช่วยขยายความเรื่องของเสือชื่อดังและมือปราบชื่อดังของไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

สำหรับผมนั้น  จากเรื่องเล่าของผู้คนในพื้นที่ จากการสัมผัสจริงกับผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ทำให้ผมได้เห็นภาพของความต่างอย่างสิ้นเชิงของคำว่า ไอ้เสือ โจร นักเลง และอันธพาล     บุคคลเช่น เสือดำ เสือใบ เสือมเหศวร และมือปราบขุนพันธ์ฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นบุคคลที่มีใจเป็นนักเลง 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 15, 20:27
แล้วก็ออกเดินทาง  แควใหญ่ที่เคยเห็นว่ากว้างและมีหาดทราย ก็เริ่มแคบลงอย่างเห็นได้ชัด มีแก่งอยู่มากมายและค่อนข้างจะถี่เอาการอยู่ทีเดียวเลยครับ 

สักพักใหญ่ๆก็มาถึงปากห้วยองก์จุ แล้วก็ถึงบ้านนาสวน (เดิมเรียกกันว่า บ.ปากนาสวน) ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์ในระดับที่ดีทีเดียว ก็คือ พอจะหาซื้อนมข้นหวานได้ หรือหาซื้อเหล้าโรงยกทั้งเทได้

เหล้าโรงในสมัยนั้น คือเหล้าขาวความแรงขนาด 28 ดีกรี ทำการบรรจุในลังไม้เพื่อส่งขายกระจายไปในที่ต่างๆ  แต่ละ 1 ลังไม้จะมีเหล้าอยู่ 32 ขวด เรียกว่า 1 เท    จนปัจจุบันนี้ ผมก็ยังไม่มีความรู้เรื่องที่มาที่ไปของคำว่า "เท" เลยครับ

ก็แปลกดีที่เหล้าสี (เหล้าแม่โขง, กวางทอง) ขนาดความแรง 35 ดีกรี  กลับบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ แต่ละ 1 กล่องจะมีเหล้าอยู่ 12 ขวด  เรียกกันว่า 1 โหลบ้าง  1 กล่องบ้าง หรือ 1 ลังบ้าง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 15, 19:41
ชาวกะเหรี่ยงบ้านนาสวนนี้พูดภาษาได้ค่อนข้างชัดเจน เขาเรียกตัวเองว่าเป็นพวกกะโพล่ว มิใช่พวกปากะญอ เขาบอกว่าชาวกะเหรี่ยงนั้นมีอยู่สี่พวก อีกสองพวกนั้นอยู่ในพม่า ทั้งหมดใช้ภาษาเดียวกันแต่ต่างกันที่การออกเสียงคำต่างๆ  เขาว่าพวกกะโพล่วเป็นพวกกะเหรี่ยงน้ำ เกือบทั้งหมดจะอาศัยอยู่ตั้งแต่พื้นที่ของ จ.กาญจนบุรี ลงมาทางใต้   ส่วนปากะญอนั้นเป็นพวกกะเหรี่ยงภูเขา และเป็นพวกที่เขาเรียกว่าพวกกะหร่าง เกือบทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของเรา   (ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าพวกกะเหรี่ยงทื่คนภาคเหนือเรียกว่า ยางแดง และ ยางขาว เป็นพวกใหน)

กะเหรี่ยงที่บ้านนาสวนนี้ แม้ว่าจะเข้าโรงเรียนและเรียนภาษาไทย แต่ก็มีการสอนภาษาของเขากันเอง เป็นตัวอักษรคล้ายกับอักษรพม่า (จะเรียกว่าเป็นอักขระเดียวกันก็น่าจะได้)  น่าสนใจก็ตรงที่เขามีสระและการออกเสียงคล้ายของภาษาไทย  และการเรียงคำเป็นประโยคก็คล้ายกับภาษาไทย ไม่เหมือนกับภาษาพม่า (เช่น กะเหรี่ยง...เหน่อ ดา กะช่อ แล่ = เธอ เห็น ช้าง ใหม   หรือ อ่อ มี่ = กินข้าว    แทนที่จะเป็นแบบพม่า...ทะเมน ซา = ข้าว กิน หรือ ทะเมน หมะ ซา = ข้าว ไม่ กิน (ซึ่งหมายถึง กินข้าว และ ไม่กินข้าว) 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 15, 19:32
จาก บ.นาสวน ขึ้นไป บรรยากาศของการเดินทางก็ค่อยๆเปลี่ยนไปสู่สภาพวิเวกอย่างแท้จริง ตลิ่งของล้ำน้ำเริ่มสูงชัน เกือบจะไม่มีช่องให้เอาห้วเรือเข้าเกยจอดได้เลย

แล้วก็เข้าสู่แก่งยาว ซึ่งเป็นแก่งที่คนเรือค่อนข้างจะมีความรู้สึกเกร็งๆ รู้สึกว่าต้องวัดดวงกันว่ารอดหรือไม่รอด   ซึ่งสำหรับขาทวนน้ำขึ้นนั้นจะมีความรู้สึกว่ารอดมากกว่าไม่รอด  แต่ขาล่องนั้นเป็นความรู้สึก 50/50 จริงๆ

พ้นจากหัวแก่งยาว ก็จะเห็นภูเขาโดดๆอยู่ทางขวามือ เรียกกันว่า เขาแม่พลู ซึ่งเป็นที่ๆชาวบ้านและคนเรือให้ความเคารพว่าเป็นเจ้าที่เจ้าทางประจำถิ่นของแก่งยาว  จากนั้นก็เข้าโค้งไปทางซ้ายอีกประมาณ 2 กม. ก็ถึงปากลำขาแข้งซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 15, 21:04
แก่งยาวเป็นลักษณะของ rapid จริงๆ คือ เป็นช่วงของแม่น้ำแคบ ท้องน้ำตื้น น้ำไหลแรง เป็นทางตรง มีความยาวประมาณ 200 ม. ผิวน้ำในช่วงของแก่งไหลเป็นลอนคลื่น ไม่ราบเรียบเหมือนผิวน้ำไหลตามปรกติ

แม้แก่งจะค่อนข้างตรงและดูเหมือนว่าจะนำเรือผ่านขึ้นไปได้ไม่ยากนัก   แต่ด้วยความที่น้ำไหลแรงและมีน้ำตบซ้ายตบขวามาก
  เรือขาขึ้นจึงต้องคอยปรับหัวเรือให้ตรง   ความเร็วของเรือจึงมีความสำคัญ เร็วมากไป หรือ เร็วน้อยไปก็บังคับทิศทางได้ยาก
  เรือขาล่อง ต้องล่องด้วยความเร็วที่เร็วกว่าความเร็วของน้ำไหล แล้วก็ไปให้แม่นๆต้องพรวดเดียว  หากไปชะงักอยู่กลางแอ่ง น้ำท้ายเรือก็จะทะลักเข้าเรือ ด้วยความเร็วตามน้ำที่ไหลแรงก็ทำให้บังคับหัวเรือยาก 

ที่แก่งยาวนี้แหละครับ ผมนั่งเรือครูดหินเกือบแตกมาครั้งหนึ่ง  แบบน้ำทะลักเข้าท้ายเรือครั้งหนึ่ง  แล้วก็เรือแตกอีกครั้งหนึ่ง                                                                                                           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 15, 19:15
นั่งเรือมาประมาณ 8+ ชม. ก็มาลุ้นกันที่แก่งยาวนี้แหละครับ ว่าจะรอดถึงปากลำขาแข้งด้วยความสวัสดีมีชัยหรือไม่ 

ก็คงจะพอเห็นภาพของความยากลำบาก ความไม่สะดวก ความเสี่ยง (ชีวิตและทรัพย์สิน) และค่าใช้จ่ายที่สูงต่างๆ   ซึ่งก็พอจะทำให้เห็นภาพแล้วนะครับว่า ด้วยเหตุใดนักนิยมไพรและพรานไพรทั้งหลายที่จะเข้าไปในห้วยขาแข้ง จึงนิยมไปใช้เส้นทางเดินเท้าเข้าทาง บ.ใหม่ บ.ทองหลาง อ.บ้านไร่ และทางห้วยทับเสลา กิ่ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

แท้จริงแล้ว เราก็สามารถเข้าถึงพื้นที่ปากลำขาแข้งได้โดยทางบกเหมือนกัน แต่มันไกลและต้องผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงหลายแห่ง ซึ่งอาจจะดูน่ากลัวและโหดเกินไปสำหรับพรานไพรจากพื้นราบ  หนึ่งในเส้นทางนั้นก็คือ จาก บ.หนองรี (อยู่บนเส้นทางรถระหว่าง อ.บ่อพลอย กับ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือย้อนลำตะเพินขึ้นไป (ห้วยตะเพินที่ผ่านเขาชนไก่ แหล่งฝึก รด.นั่นแหละครับ) จนถึงเขาพุช้างหมอบ ต่อไปยังเขาทุ่งสว่าง แล้วลงไปตามห้วยแม่วง ก็จะถึง บ.ไก่เกียง ซึ่งตั้งอยู่บนจุพบกับห้วยขาแข้ง 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 15, 20:12
เอาเรื่องทางเรือให้หมดก่อนนะครับ แล้วค่อยไปเดินท่องๆในห้วยขาแข้งกัน

คำว่า "เรือแตก" นั้นดูน่ากล้ว    ผมคิดว่าภาพที่เราๆท่านๆคิดกันตามปรกตินั้น น่าจะเป็นสภาพของเรือถูกฉีกออกเป็นชิ้นส่วนแยกออกจากกัน 

แต่เรือแตกในแควใหญ่หรือแควน้อยนั้น มิได้มีภาพของความรุนแรงดั่งนั้น  ผมไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินว่ามีกรณีเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นจากการชนกัน หรือจากการชนหินในเกาะแก่ง 

เรือแตกในแควใหญ่และแควน้อยนั้น เกือบทั้งหมดหมายถึงกรณีที่เรือครูดกับหินในแก่ง และส่วนมากก็จะเป็นกรณีเกิดที่บริเวณตะเข็บส่วนต่อระหว่างกราบเรือกับท้องเรือ โดยเฉพาะส่วนช่วงครึ่งท้ายของเรือ   ส่วนกรณีท้องเรือครูดกับหินจนทะลุนั้นมีน้อยมาก       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 15, 20:39
เรือแตก จึงมีความหมายถึง การที่น้ำรั่วเข้าเรือจนต้องเกยหัวเข้าฝั่งเพื่อจอดซ่อมแซม 

ก็ดูไม่น่ากลัวใช่ใหมครับ  แท้จริงมันก็น่ากลัวอยู่ในระดับหนึ่ง คือ สถานที่เรือแตกนั้นมันอยู่ในพื้นที่แก่ง ก็คงจะพอเห็นภาพได้นะครับว่ามันเกือบจะไม่มีช่องมีหาดให้เรือเกยหัวเข้าจอดได้เลย  และก็เนื่องจากแก่งเป็นบริเวณที่น้ำไหลเร็วและแรง ประกอบกับเรือต้องมีความเร็วกว่าน้ำไหลจึงจะสามารถบังคับทิศทางเรือได้   ทำให้การพุ่งหัวเรือเข้าเกยฝั่งเพื่อกันมิให้น้ำเข้าเรือจนจมนั้น หากหันหัวเรือเร็วเกินไปเรือก็จะถูกปัดไปขวางน้ำจนพลิกได้ และหากช้าไป น้ำก็อาจจะเข้าเรือจนจมได้

เรือทั้งหลายที่ขึ้นเหนือเลย อ.ศรีสวัสดิ์ ขึ้นไป จึงมีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์   ก็จะมีเข่งไม้ไผ่วางอยู่ท้ายเรือ ใส่หม้อ จานชาม กระทะ ข้าวสาร ผักสด และเครื่องปรุงสำคัญ (หอม กระเทียม น้ำมัน น้ำปลา น้ำตาล ฯลฯ) เตรียมพร้อมไว้    ที่ขาดไม่ได้ก็คือ สังกะสีแผ่นเรียบ ตะปู และไฟฉาย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: PATAMA.M ที่ 02 ก.ย. 15, 10:04
ขอบคุณอาจารย์สำหรับประสบการณ์สนุกๆ ที่นำมาเล่าสู่เพื่อเป็นความรู้และความบันเทิงค่ะ

อ่านไปลุ้นไปเหมือนนั่งอยู่บนเรือ..รอให้ถึงปากลำห้วยขาแข้ง แล้วเหตุการณ์จะเป็นยังงัยต่อไปคะ  :D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 15, 19:39
ขอบคุณที่ตามอ่านครับ   

ที่จริงแล้วมีเรื่องที่น่าจะเป็นความรู้รอบตัวและรู้รอดตัวแฝงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ   มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากทีเดียวที่ผมต้องละข้ามไป เช่น ในเรื่องของเรือ อาทิ เรื่องการเปลี่ยนใบจักรเรือ เรื่องอาการเรือสั่น เรื่องวิธีการจัดวางของและคนนั่งในเรือ เรื่องกติกาเรือต้องวิ่งชิดขวาและขาขึ้นกอดโค้งด้านใน ขาล่องเกาะโค้งด้านนอก ฯลฯ   ซึ่งเรื่องตามอาทิเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องรู้ เป็นเรื่องที่บ่งบอกความชำนาญการของนายท้ายเรือ บ่งบอกถึงสภาพและสถานะของเส้นทาง และเป็นเรื่องที่ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์และเตรียมการได้ล่วงหน้าในการเอาชีวิตรอด   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 15, 20:40
เรื่องสังกะสีและตะปูที่เตรียมติดเรือไว้นั้น คงรู้แล้วนะครับว่าใช้ในการปะ ปิด รอยแตกของเรือจากการกระแทกกับหิน   หลักการก็ง่ายๆครับ น้ำแควนั้นไม่ลึกมากนัก ตลอดลำน้ำก็มีหาดอยู่มากมาย ดังนั้น เราก็ปะรอยแตกของเรือเพียงพอที่จะไม่ให้น้ำทะลักเข้ามามากเกินกว่าความสามารถที่เราจะวิดน้ำออกจากเรือได้ทัน  ถ้าดูไม่ดีก็แวะข้างทางแล้วทำการอุดใหม่  กลับไปถึงบ้านแล้วจึงค่อยซ่อมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ส่วนไฟฉายนั้น อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติที่ต้องมีใว้ใช้ในเวลาลางคืน  แต่ชาวเรือเขาใช้ประโยชน์ในอีกลักษณะหนึ่งด้วย 
 
นายท้ายเรือทั้งในแควใหญ่และแควน้อยนั้นมีความชำนาญสูงมาก  เขาเหล่านั้นสามารถจะขับเรือในเวลากลางคืนได้โดยไม่ต้องมีไฟส่องทาง ก็อาจจะสงสัยว่า แล้วขับไปได้อย่างไรในแม่น้ำที่มีความคดเคี้ยวและมีแก่ง

ครั้งหนึ่ง ขาล่องจากห้วยขาแข้งกลับมา base camp ที่ บ.ลาดหญ้า  หลังจากไปเสียเวลาซ่อมเรือแตกอยู่ที่แก่งยาวอยู่นาน ก็ห้อเหยียดกลับมาให้ทันมืด แต่ไม่ทันดันมืดเสียก่อนช่วงระหว่าง อ.ศรีสวัสดิ์ กับ บ.ลาดหญ้า  จะแวะพักข้างทางก็ไม่ได้เสียแล้ว มันมืดเกินไปที่จะจัดการในเรื่องใดๆ   คนเรือบอกว่าไปต่อไปจนถึงปลายทางได้ ไม่ต้องห่วง  เอาก็เอาครับ แม้จะค่อนข้างกลัวอยู่ทีเดียว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 15, 18:37
คนเรือเขาขับเรือดั่งกลางวันเลยทีเดียว เพียงแต่ผ่อนเบาเป็นช่วงๆตอนเข้าพื้นที่แก่งและบางคุ้งน้ำ   

สักพักคนหัวเรือก็เอาไฟฉายส่องแวบมายังนายท้าย  ณ ทันใดนั้นนายท้ายเรือจะเบาเครื่องเรือในทันที  ในขณะเดียวกันกับที่คนนั่งหัวเรือทำการใช้ไฟฉายส่องกราดไปข้างหน้า วอบไปแวบมาทางซ้าย-ทางขวา  ครับแล้วก็มีไฟแวบย้อนกลับมาของเรืออีกลำหนึ่งที่วิ่งสวนทางมา  ก็มีเรือวิ่งสวนกันสามสี่ครั้ง

ว้าว  แล้วเขารู้กันได้อย่างไร เขาทำกันได้อย่างไร และการเดินทางในเวลาค่ำคืนนั้นเป็นเรื่องเกือบจะปรกติหรือไร     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 15, 19:08
มาถึงลาดหญ้าแล้ว ขนของขึ้นฝั่งหมดเรียบร้อยแล้ว ผมก็อดไม่ได้ที่จะต้องถามคนเรือว่าทำได้อย่าง มืดจนมองไปข้างหน้าไม่เป็นอะไรเลย

นี่คือคำตอบครับ

  - คนขับเรือเขาขับเรือขึ้น-ล่องจนมีความชำนาญมาก คือ รู้จักและจำสภาพพื้นที่ได้ทั้งหมด
  - ลองนึกถึงภาพที่ผมได้เล่ามาในตอนแรกว่า เรือแต่ละลำนั้นจะมีนายท้ายเรือและมีคนนั่งอยู่หัวเรือ  เมื่อเรือแต่ละลำจะมีประทุนครอบไว้ยาวตลอดลำเรือ (อย่างที่เห็นภาพชินตาของเรือหางยาวในแม่น้ำต่างๆ)  นายท้ายเรือจึงขับเรือด้วยการใช้ภาพที่เห็นจากองค์ประกอบต่างๆ  คือ มองออกไปข้างหน้าบ้าง ทางตลิ่งบ้าง มองยอดทิวเขาหรือทิวไม้บ้าง และดูสัญญาณจากคนที่นั่งอยู่หัวเรือบ้าง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ แผนที่เดินเรือที่อยู่ในสมองนั่นเอง
  - เมื่อจะต้องขับเรือตอนมืด เรื่องแรกที่ต้องทำคือ เก็บประทุนเรือ โดยการรวบเอาไปผูกไว้กลางๆเรือ เพราะนายท้ายเรือจะใช้วิธีดูยอดทิวเขาที่ดำทมึนตัดกับแสงของท้องฟ้าที่ไม่มืดสนิทนัก ว่าถึงที่ใหนแล้ว และซึ่งจะต้องบังคับหางเสือไปอย่างไรและมากน้อยเพียงใด


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 15, 19:24
สำหรับเรื่องเรือสวนกันนั้น เขารู้ได้จากเสียง resonance ของเครื่องยนต์เรือทั้งสองลำ นายท้ายเรืออาจจะได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง แต่คนหัวเรือได้ยินแน่นอน  เขาเก่งกันจริงๆนะครับ ไม่พลาดเลย   

เมื่อรู้แล้วก็จะเบาเครื่องเรือ ฝ่ายนั้นก็จะเบาเครื่องเรือเช่นกัน แล้วปฏิบัติตามกฏ คือ แล่นชิดขวา ขาขึ้นต้องเกาะโค้งด้านใน ขาล่องเกาะโค้งด้านนอก  ใช้ไฟฉายนั้นแหละครับสำหรับการสื่อสารกันระหว่างเรือทั้งสองลำ ว่าเราต่างคนต่างอยู่ในกฎเกณฑ์แล้วนะ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: PATAMA.M ที่ 04 ก.ย. 15, 09:07
ไม่ได้หายไปไหนนะคะ..ยังเฝ้าอยู่ค่ะ  ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 15, 19:05
ย้อนกลับไปนิดนึง   เรื่องของนายท้ายเรือที่ใช้วิธีการดูทิวเขาทิวไม้นั้น   

จริงๆแล้ว แม้กระทั่งในช่วงเวลากลางวันเขาก็ใช้วิธีนี้กันนะครับ ซึ่งก็คือการใช้ยอดเขาตะปุ่มตะป่ำบางยอด หรือช่องเขาระหว่างยอดเหล่านั้น เป็น landmark หรือ marker ว่า ณ ตำแหน่งนั้นๆจะต้องพุ่งหัวเรือให้ไปตรงกับจุดใด ซึ่งก็ใช้วิธีนี้กันทั้งในแควใหญ่และแควน้อย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 15, 19:41
ยังมีเรื่องของการใช้เรือเดินทางอีก แต่จะเป็นภาคอารัมภบทที่ยาวเกินไปจนน่าเบื่อ  ก็เอาเป็นว่า เลยจากแก่งยาว น้ำก็ราบเรียบแต่เห็นเลยว่าเรากำลังวิ่งสวนกับน้ำไหล   แล้วก็ถึงปากลำขาแข้ง

ณ ช่วงเวลานั้น ผมมีความรู้เกี่ยวกับห้วยขาแข้งน้อยมาก  รู้แต่จากในแผนที่ว่ามีความยาวประมาณ 100 กม. เป็นห้วยที่มีบ้านคนอยู่เฉพาะใกล้พื้นที่ปากห้วย คือ บ.ไก่เกียง บ.กะได แล้วก็ บ.เกริงไกร  เหนือจากนั้นขึ้นไป ก็มีแต่ป่าอย่างเดียว

เนื่องจากในการทำงานของผมจะมีการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อแปลความหมายทางธรณีวิทยา (ชนิดหิน ขอบเขตของชุดหิน และโครงสร้างต่างๆ)   ก็เป็นภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:50,000 เมื่อแถวๆปี ค.ศ. 1953 ที่ใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อทำแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 series L 708 (ขนาดระวาง 10 x 15 ลิปดา) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาใช้ series L 7017 (ขนาดระวาง 15 x 15 ลิปดา) ที่เห็นใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 15, 21:47
จากภาพถ่ายทางอากาศ โดยใช้ Mirror Stereoscope เห็นห้วยขาแข้งอยู่ในหุบเขาที่กว้าง แต่ตัวห้วยน้ำมีขนาดเล็ก มีน้ำตลอดทั้งสาย แล้วก็มีส่วนที่มีลักษณะเป็นแอ่งอยู่พอสมควร  สภาพการถากถางพื้นที่เพื่อทำไร่มีน้อยมาก   ความสมบูรณ์ของพื้นที่พอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ส่วนล่างเป็นพื้นที่หินปูน มีสภาพป่าสมบูรณ์ดี ส่วนกลางเป็นพื้นที่กลุ่มหินอัคนี มีสภาพป่าออกไปทางแห้งและค่อนข้างจะโปร่ง ส่วนด้านบนจนเขตป่าแม่วงก์ มีสภาพเป็นป่าทึบ   รู้ทันทีเลย งานนี้หนักแน่  เข้ายากออกยาก แต่ก็น่าจะสนุก เพราะดูจะเป็นพื้นที่แบบ virgin ดี ซึ่งก็จะได้สัมผัสกับความท้าทายหลายๆอย่าง

พอถึงสบห้วยขาแข้งกับแควใหญ่ ก็ได้เห็นปากห้วยขาแข้ง   ตัวหุบเขาที่รองรับร่องน้ำ มีความกว้างประมาณ 50 เมตร แต่ตัวลำห้วยที่มีน้ำไหลกว้างเพียงประมาณ 10 เมตร  มีหาดทรายริมห้วยพอตั้งแคมพ์นอนได้สัก 10 คน แล้วก็มีที่ราบที่เป็นตะพักดินทรายอยู่สูงขึ้นไป ประมาณ 2 เมตร เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา พอใช้ทำการเพาะปลูกได้   

ไม่ใหญ่อย่างที่คิดเลย แล้วน้ำห้วยก็ไม่แรงอย่างที่คิด  เห็นเศษกิ่งไม้ใบหญ้าแขวนสูงอยู่บนกิ่งไม้ริมตลิ่งอยู่เหนือน้ำประมาณ 2+ เมตร ก็พอทำให้รู้ว่า ห้วยนี้มีน้ำป่า ต้องระวังให้ดี


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 04 ก.ย. 15, 22:09
ติดตามอยู่ครับ ขอภาพเก่าๆประกอบด้วยครับ ขอบคุณ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 15, 18:49
เรื่องรูปประกอบนั้น ต้องขออภัยจริงๆครับ มีอยู่น้อยมาก เกือบทั้งหมดเป็นภาพของหินเพื่อประกอบรายงาน สำหรับรูปทิวทัศน์ สภาพพื้นที่และป่านั้นเกือบจะไม่มีเลย  ส่วนรูปตนเองนั้นพอมีอยู่บ้างนิดหน่อย ก็จะพยายามหาและลงให้นะครับ

ในช่วงเวลาที่ผมทำงานอยู่นั้น ตนเองยังไม่กำลังเงินพอเพียงที่จะหาซื้อกล้องถ่ายรูปเป็นของตนเอง จึงต้องใช้กล้องของทางราชการ ซึ่งก็มีจำนวนจำกัด ไม่พอเพียงสำหรับหน่วยสำรวจแต่ละหน่วย ต้องขอยืมมาและผลัดกันใช้ ขอยืมมาแล้วก็ต้องซื้อฟิลม์ ถ่ายรูปเสร็จแล้วก็ต้องล้างฟิล์มและอัดรูป หลวงท่านก็ให้เบิกได้นะครับ แต่ก็ต้องชี้แจงเหตุผลทุกครั้งและทุกใบเสร็จรับเงิน จะจ่ายซื้อฟิล์มเองล้างเองก็ได้ ก็หลายเงินอยู่และยังรู้สึกละอายใจที่จะใช้อย่างเลยเถิดนอกงานราชการ   ภาพที่ผมมีทั้งหมดที่พอจะเอามาแสดงได้จึงเป็นภาพเฟรมแรกหรือเฟรมที่สองเมื่อทดสอบการใสฟิล์มม้วนใหม่ หรือไม่ก็เป็นภาพเฟรมท้ายๆก่อนหมดม้วนฟิล์ม   

ท้ายที่สุดก็ไม่ค่อยประสงค์จะพกพากล้องถ่ายรูปเข้าป่า มันเป็นทรัพย์สินมีค่ามีที่ทำให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง หรือไม่ก็ต้องชดใช้เมื่อเกิดความเสียหายหรือหายไป (ถูกขโมย) 

เรื่องเล่าของผมก็เลยมีภาพประกอบน้อยมาก ดั่งนี้แล


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ก.ย. 15, 19:29
แอบตามอ่านกระทู้นี้ด้วยความอิจฉาครับ เมื่อก่อนผมชอบเดินป่า มีโอกาสได้เดินบ้าง แต่ไม่ได้มีโอกาสดีๆขนาดนี้เลยครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 15, 20:05
....เมื่อก่อนผมชอบเดินป่า มีโอกาสได้เดินบ้าง แต่ไม่ได้มีโอกาสดีๆขนาดนี้เลยครับ

โอกาสดีๆยังมีครับ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ห้วยขาแข้งอีกด้วย  ยังมีโอกาสที่จะได้เดินตามรอยเสือ ได้ยินเสียงเก้งเห่า ได้เห็นไก่ฟ้า ไก่ป่า อาจจะได้เห็นฝูงกระทิง และงูทางมะพร้าวสีสรรสดใสสุดสวย ฯลฯ

ครับ หาเช่าเรือหางยาวในอ่างเก็บน้ำเขื่อนเจ้าเณร  ให้เขาวิ่งขึ้นเหนือไปจนถึงแคมป์สำรวจ (ฐานสำรวจเขื่อนน้ำโจน) และสถานีวัดระดับน้ำของ กฟผ. ซึ่งในปัจจุบันนี้น่าจะกลายเป็นแคมป์ร้างไปแล้ว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 15, 18:48
ถึงแคมป์แล้วก็ลงเดินไปทางตะวันตกด้านหลังแคมป์ ก็จะเห็นทางรถ เดินตามทางรถขึ้นไป ก็วิเวกวังเวงดีทีเดียว แล้วก็จะพบทางรถเส้นหลักอีกเส้นหนึ่ง หากเลี้ยวขวาก็จะไปทุ่งใหญ่ หากเลี้ยวซ้ายลงใต้ก็จะไปถึงด่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่ห้วยซงไท่ และหากเกิดหลุดเส้นทางหลักก็หาทางเดินลงใต้ตามเส้นทางรถลากไม้เก่าๆ ก็น่าจะโผล่ทางด้านเหนือใกล้ๆ บ.คลิตี้

ในพื้นที่ของเส้นทางที่ผมกล่าวถึงนี้ ในสมัยที่ผมทำงานนั้นอุดมไปด้วยไก่ป่า ไก่ฟ้า เก้งหม้อ (ตัวใหญ่ ก้นดำ) กระทิง (ห้วยซงไท่ โป่งยิบซั่ม) หมีควาย ชะนี ค่าง หมูป่า ฯลฯ แต่ไม่เคยเห็นกวาง ส่วนสำหรับเสือนั้นเห็นแต่รอย

แล้วค่อยหาช่องเล่าต่อนะครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 15, 19:47
ถึงปากลำขาแข้งก็เอาหัวเรือเกยหาดทรายปากสบห้วย  แล้วก็เร่งขนของลงจากเรือเพื่อตั้งแคมป์ให้พอดูได้ (ที่หลับนอน ฟืนสำหรับเตาไฟให้พอทำอาหารได้) และรื้ออุปกรณ์ (gear) สำคัญๆออกมาเตรียมให้พอพร้อมใช้ก่อนที่ตะวันจะตกดินมืดสนิท (ไฟฉาย ถุงนอน ตะเกียง ฯลฯ)   คืนแรกก็ต้องขลุกขลักเป็นธรรมดา

บนตะพัก (terrace) ระดับสูงที่ปากห้วยนั้น มีบ้านชาวบ้านอยู่หลังหนึ่ง ที่เราพึงจะต้องไปแสดงตนว่ามาดี เราเป็นใคร มาจากใหน มาทำอะไร ฯลฯ     หัวหน้าใหญ่ของทีมสำรวจ 4 ทีมย่อย (ผมเป็นหนึ่งในหัวหน้าทีมย่อย) ที่รับผิดชอบสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาพื้นฐานมาตราส่วน 1:250,000 ระวางนครสวรรค์ จึงชวนผมและคนเรือขึ้นไปพูดคุยด้วย  ก็คงอยู่ในสถานะที่ทั้งฝ่ายผมและฝ่ายเจ้าบ้าน ต่างคนต่างก็คงไม่สามารถจะปฏิเสธหรือทำอะไรได้ดีมากไปกว่าการยื่นความเป็นมิตรให้แก่กัน  ซึ่งก็คงเป็นธรรมชาติตามปรกติของคนที่ต่างคนต่างก็คงไม่ใว้ใจกันมากนัก  คืนแรกก็นอนหลับไม่สนิททั้งสองฝ่าย ต่างคนต่างก็ต้องระวังตัวกัน   

สมัยนั้น (หรือแม้กระทั่งในสมัยนี้ก็ตาม) มันไม่มีช่องทางการสื่อสารที่จะติดต่อบอกกล่าวกันได้ล่วงหน้าเลย   ด้วยสภาพดังที่เล่ามา สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างไว้ใจกันได้ 100% และต่อๆไป ก็คือจิตใจ การแสดงออก และการกระทำบริบทของคำว่า ลูกผู้ชายและนักเลง 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 15, 18:58
บ้านหลังเดียวนี้ อยู่กันเป็นครอบครัวอบอุ่นเล็กๆ มีลูกอยู่สามคน ซึ่งมารู้ในภายหลังว่า จริงๆแล้วมีลูกทั้งหมด 8 คน  ลูกสามคนที่อยู่บ้านนั้นคนเล็กเพิ่งมีอายูประมาณ 6-7 ขวบเท่านั้น  อายุไล่เรียงกันเกือบจะปีต่อปีเลย

ก็ตามธรรมเนียมปฎิบัติของชาวถิ่น ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านคนไทยหรือชาวเขา มาถึงเรือนชานก็ต้องต้อนรับ    เขาก็ชวนเรากินข้าวด้วยกัน แต่คณะของเรามีหลายคน เราก็ต้องเป็นฝ่ายเชิญเขามาร่วมวง  สุดท้ายก็ต่างคนต่างกิน เพราะยังไม่พร้อมทั้งสองฝ่ายและประกอบกับเป็นเวลาโพล้เพล้มากแล้วด้วย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 15, 19:28
กลับลงมาที่พื้นที่ตั้งแคมป์   ต่างคนก็ไปสาละวนอยู่กับการกางเต็นท์ของตนเอง จัดถุงนอน ผ้าห่ม ฯลฯ จัดให้พอนอนข้ามคืนแรกไปได้   สำหรับพื้นที่ส่วนกลางก็ใช้วิธีเอาผ้าใบปูเพื่อใช้วางสิ่งของ นั่งล้อมวงกินข้าว และนั่งพูดคุยหารือกัน    หาขอนไม้แห้งแล้วจุดให้เป็นกองไฟสำหรับความอบอุ่นในยามค่ำคืนและหุงหาอาหาร    จุดตะเกียงเจ้าพายุ   จุดตะเกียงรั้ว (เอาไปแขวนที่ชายเขตบริเวณที่ตั้งแคมป์) 

ดูวุ่นวายดีนะครับ   สาละวนช่วยกันในเรื่องส่วนรวม เจียดเวลาเท่าที่จะพอมีไปจัดการเรื่องส่วนตน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 07 ก.ย. 15, 20:09
กลับลงมาที่พื้นที่ตั้งแคมป์   ต่างคนก็ไปสาละวนอยู่กับการกางเต็นท์ของตนเอง จัดถุงนอน ผ้าห่ม ฯลฯ จัดให้พอนอนข้ามคืนแรกไปได้   สำหรับพื้นที่ส่วนกลางก็ใช้วิธีเอาผ้าใบปูเพื่อใช้วางสิ่งของ นั่งล้อมวงกินข้าว และนั่งพูดคุยหารือกัน    หาขอนไม้แห้งแล้วจุดให้เป็นกองไฟสำหรับความอบอุ่นในยามค่ำคืนและหุงหาอาหาร    จุดตะเกียงเจ้าพายุ   จุดตะเกียงรั้ว (เอาไปแขวนที่ชายเขตบริเวณที่ตั้งแคมป์) 

ดูวุ่นวายดีนะครับ   สาละวนช่วยกันในเรื่องส่วนรวม เจียดเวลาเท่าที่จะพอมีไปจัดการเรื่องส่วนตน

ติดตามมาตั้งแต่ต้น ขอสารภาพว่าอ่านข้ามๆในช่วงที่อาจารย์เอ่ยถึงเรื่องพิกัด แผนที่ มาตราส่วนอะไรพวกนี้ เพราะไม่เข้าใจค่ะ แต่ชอบฟังอาจารย์เล่าเรื่องการดำเนินชีวิตในป่า เหมือนกำลังฟังนิทานผจญภัยเลยค่ะ
แล้วเรื่องน้ำดื่มล่ะคะ ที่ถามเพราะไม่เชื่อว่าน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติจะสะอาดพอที่จะดื่มได้ เหมือนอย่างในหนัง ตัวละครที่เป็นชาวกรุงไปเดินป่า แล้ววักน้ำจากลำธารขึ้นมาดื่ม คนไม่เคยดื่มน้ำแบบนั้น มิท้องเสียหรือคะ ถ้าเป็นชาวป่าก็แล้วไป เพราะเข้าใจว่าเคยชินมาตั้งแต่เกิด


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 15, 20:30
เช้าวันรุ่งขึ้น หัวหน้าใหญ่เห็นว่า นำคณะผมมาส่งถึงที่แล้ว ทุกอย่างน่าจะ OK ผมน่าจะลุยต่อไปได้  ก็เลยเอาเรือกลับไปเมืองกาญจน์เพื่อไปนำอีกหน่วยหนึ่งเข้าไปสู่พื้นที่ น่าจะเป็นแถบพื้นที่รอยต่อ จ.นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์  บอกว่าอีกประมาณ 15 วันจะมารับ  

สนุกละครับ รู้อยู่แต่ต้นแล้วว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่ผมและคณะก็มิได้คิดว่าจะเกิดได้เร็วปานนี้  หนักไปกว่านั้นครับ เมื่อกลับมาอีกรอบหนึ่ง คณะของผมเหลือคนที่มาจากกรมฯรวม 3 คนเท่านั้น  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ย. 15, 18:58
เรื่องน้ำดื่มนี้  ที่จริงได้เขียนลงไปแล้วว่า หลังจากก่อกองไฟได้ สิ่งแรกที่ทำก็คือต้มน้ำครับ แต่ก็ลบข้อความนี้ออก เพราะคิดว่าเรื่องน้ำกินน้ำใช้นั้นคงจะเล่าแทรกไป  แต่ก็ดีครับ แล้วก็ดีใจอีกด้วยที่ให้ความสนใจกับเรื่องในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ   

เดิมนั้นก็คิดว่าจะกล่าวถึงแต่เพียงความมีชีวิตชีวาของพื้นที่เท่านั้น    คุณ Anna ได้กระตุกให้ผมคิดได้ว่า คงจะต้องเล่าถึงลึกลงไปถึงรายละเอียดในบางเรื่องว่า จะทำอย่างไรและควรทำอย่างไร   

ครับผม ผมก็คงจะต้องขออนุญาตขยายขอบเขตของเรื่องราว โดยจะเล่าครอบคลุมไปถึงเรื่องของ survival ในบางเรื่องด้วย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 15, 19:23
ท่านที่เรียนจบมาในสาขาเคมีจะทราบดีว่า ด้วยลักษณะการจับตัวกันของไฮโดรเจนกับอ็อกซิเจนที่มีลักษณะจำเพาะ  ได้ทำให้น้ำมีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลาย (solvent) ของธรรมชาติที่ดีที่สุด โดยเฉพาะปฏิกริยากับสารประกอบทางอินทรีย์เคมี   ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกจึงต้องการน้ำในการดำรงชีวิต และน้ำก็เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตอีกหลากหลาย   นอกจากนั้น น้ำยังมีความสามารถในการอุ้มพาพลังรูปต่างๆของธรรมชาติ นำไปทำให้เกิดการทำลายหรือเกิดการสร้างสรรใดๆก็ได้ 

น้ำที่เราพบในธรรมชาติทั้งหลายที่ไหลซึมออกมาจากพื้นที่ป่าดงจนรวมตัวกันกลายเป็นห้วยและแม่น้ำลำคลองทั้งหลายนั้น จึงมิใช่น้ำบริสุทธิ์ มีทั้งสารเคมีที่ละลายอยู่ในน้ำ ทั้งตะกอนแขวนลอย ตะกอนดินทราย และสิ่งมีชีวิตขนาดจุลชีพ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 15, 19:43
จะทำอย่างไรดีครับ

เอาเรื่องง่ายก่อนนะครับ (แต่ดำเนินการทีหลัง)   หลักสำคัญก็คือ น้ำทั้งหลายที่จะผ่านคอลงไปยังกระเพาะของเรา จะต้องเป็นน้ำต้มสุกเท่านั้น และต้องเป็นแบบสุกๆด้วย (คือเดือดพล่านอย่างน้อยสองสามนาที) การต้มน้ำจะช่วยฆ่าหรือจำกัดการเจริญเติบโตของหลากหลายสิ่งมีชีวิตที่จะทำให้เราเจ็บป่วย

ในสมัยนั้น ได้มีอุปกรณ์ทำน้ำสอาดแบบพกพาแล้วนะครับ เป็นของทำจากเยอรมัน ลักษณะคร่าวๆก็คล้ายกับสูบจักรยานที่ใช้สูบน้ำแล้วอัดดันไปผ่านใส้กรองเซอรามิกส์ (ขนาดรูพรุนก็น่าจะอยู่แถวๆ 5-10 ไมครอน) เมื่อได้น้ำที่กรองได้มาแล้ว ก็เอาคลอรีนเม็ดใส่ลงไป   

คิดว่าพอจะไว้ใจในความสอาดและบริสุทธิ์ได้ใหมครับ??  ดื่มกินได้สนิทใจใหมครับ??


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 15, 20:23
สภาพจริงก็คือ กว่าจะกรองน้ำออกมาได้ 1 ลิตร ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน น้ำที่กรองออกมานั้นยังคงมีกลิ่นเหมือนเดิม แม้จะเบาบางกว่ามากก็ตาม  และที่อาจจะแย่ลงไปอีกก็คือ เมื่อกลิ่นนั้นได้ผสมกับกลิ่นของคลอรีนเม็ดที่ใส่ลงไป   

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ เรื่องของใส้กรองตันบ่อยมากๆ 

ผมเลิกเบิกมาใช้หลังจากที่ได้ลองเมื่อครั้งสำรวจอยู่แถว บ.ผาจุก บ.ผาเลือด จ.อุตรดิตถ์    แล้วหันกลับมาใช้ความรู้จากวิชา Sedimentation ที่เรียนมาทั้งเทอม ผนวกกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 15, 20:54
ดังนี้ครับ

แต่ดั้งเดิมนั้น เราจะใช้วิธีตักน้ำใส่ตุ่ม ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนจนใสแล้วจึงค่อยตักออกมาใช้  แต่หากต้องการใช้ค่อนข้างด่วน ก็จะใช้สารส้มกวนน้ำในตุ่ม น้ำก็จะใสเร็วขึ้น  คงเคยสังเกตนะครับว่า บรรดาบ้านเรือนคนไทยที่เป็นเรือนแพหรือตั้งอยู่บนตลิ่งริมน้ำจะมีตุ่มน้ำเสมอ ทั้งๆที่มีน้ำอยู่ใกล้ชิดติดตัว

ผมแบกตุ่มเข้าป่าไม่ได้ มีก้อนสารส้มก็ไม่มีตุ่มให้แกว่ง  จึงใช้ถังพลาสติกขนาด  20 ลิตร ตักน้ำเทใส่ลงไป ตั้งทิ้งไว้นิ่งๆประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วจึงค่อยๆเทน้ำออกมาใสกาน้ำเอามาต้มเพื่อใช้ดื่ม  หรือเอาไปใช้ในการหุงข้าวและทำอาหาร 

น้ำในภาชนะที่ตั้งอยู่นิ่งๆประมาณ 20 นาที จะทำให้ตะกอนดินทรายขนาดประมาณ 5-10 ไมครอน (fine silt sized particle) ตกตะกอนลงไปจนเกือบหมด มีความใสจนเห็นได้ชัด  แต่ทั้งนี้ก็จะต้องเลือกตักน้ำจากจุดที่เหมาะสมด้วย เพราะว่าหากน้ำนั้นอุดมไปด้วยเศษพืช ความขุ่นก็จะยังคงอยู่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 15, 17:50
ต้องขอแก้ตัวเลขนิดหน่อยนะครับ มัวแต่ปรับแต่งประโยคและทำให้พลาด  แก้เป็นดังนี้ครับ

น้ำในภาชนะที่ตั้งอยู่นิ่งๆประมาณ 20 นาทีนั้น จะทำให้ตะกอนขนาดประมาณ 20-30 ตกตะกอนไปจนเกือบจะหมด มีความใสจนเห็นได้ชัด เหลือเป็นตะกอนขนาดประมาณ 5-10 ไมครอนลอยอยู่ 

ก็ถือว่าเป็นน้ำที่พอนำมาใช้ได้ดื่มและทำอาหารได้อย่างดีแล้วครับ  ทั้งนี้ก็ต้องอย่าลืมว่า ต้องต้มให้เดือดสุดๆเสียก่อน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 15, 18:27
สำหรับจุดที่เลือกตักน้ำมาใช้นั้น พิจารณาดังนี้ครับ

ควรตักจากบริเวณทึ่น้ำที่ไหลริน มิใช่ไหลกราก   น้ำไหลกรากมีพลังสูงจึงอุ้มตะกอนอยู่ในตัวไว้มากกว่าน้ำไหลรินที่มีพลังต่ำกว่า

หากเป็นแอ่งน้ำนิ่งหรือไหลซึม ก็ควรขุดบ่อทรายและใช้น้ำในบ่อทราย

หากน้ำหมดขณะเดินหรือหลงป่า  กรณีเป็นป่าใหญ่ที่มีไม้ยาง ไม้มะค่า ต้นไทร เหล่านี้ ก็พอจะหาน้ำกินได้จากเถาวัลย์น้ำ ซึ่งจะดื่มคาต้นก็ได้
หรือจะตัดให้ขาดเป็นท่อน (ขนากยาวประมาณ 1 ม.) ก็ได้  ทั้งนี้จะต้องตัดส่วนล่างก่อนจะตัดส่วนบน ได้น้ำไหลโจ๊กเลยครับ

แต่หากเป็นป่าโปร่ง  ก็จะต้องใช้วิธีขุดบ่อในท้องห้วย เลือกขุดด้านที่มีตลิ่งสูง และเลือกบริเวณเช่นที่มีต้นไผ่ขนาดใหญ่สมบูรณ์ หรือบริเวณที่เห็นต้นไม้บางชนิด เช่น ค้างคาวดำ ขนุนดิน เป็นต้น


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 15, 19:01
กลับมาต่อเรื่องที่ปากลำขาแข้ง

คืนแรกก็อีหลุกขลุกขลักไปตามเรื่อง กางเต็นท์นอนได้สำเร็จเพียงสองเต็นท์ ที่เหลือก็นอนรวมกันบนผืนผ้าใบโล่งโจ้ง รวมทั้งผมด้วย    เมื่อไฟขอนไม้มอดเมื่อประมาณตีสาม (เพราะน้ำค้างแรง)  ทุกคนก็เริ่มกระดุกกระดิกตัวเพราะความหนาวเย็น ไม่นานนักประมาณตีสี่กว่าๆ ก็มีคนเริ่มลุกนั่ง เริ่มลุกเดินไปติดไฟใหม่ เอากาน้ำตั้งเพื่อต้มน้ำ แล้วทุกคนก็ตื่นมา   ไม่มีกาแฟ มีแต่ใบชาใส่ลงไปในกาน้ำต้มมันเลย กลบกลิ่นน้ำดีครับ  หุงข้าวด้วยหม้อหูใช้วิธีแบบขัดแตะเช็ดน้ำ ทำให้ได้น้ำข้าวมาดื่มแทนกาแฟได้คนละแก้วครึ่งแก้ว ใส่เกลือทะเลเม็ดลงไปเล็กน้อยก็จะได้รสเค็มปะแล่มๆ อร่อยดีแถมมีวิตามินและเกลือแร่อีกด้วย     

พอเริ่มสว่างก็ได้มีโอกาสสัมผัสและสดชื่นกับอากาศเย็นๆ รู้สึกได้ถึงความสอาดแบบ non pollute จริงๆ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 15, 19:24
ด้วยว่าปากลำห้วยขาแข้งล้อมรอบไปด้วยทิวขุนเขาสูงตระหง่าน พอแสงแดดเริ่มฉายแสงรำไร  ก็เริ่มได้ยินเสียงชะนีส่งเสียงคุยกันดังก้องไปทั่ว ประมาณ 30 นาทีหรือน้อยกว่าก็เงียบสงบลง   พอแสงแดดเริ่มสว่างสดใส ก็เห็นนกแก้วบินเกาะกลุ่มกันเป็นฝูงจากป่าเขาฝั่งตรงกันข้าม  พร้อมเสียงร้องคุยกันจ้อกแจ้กจอแจ  ก็เห็นอยู่สองสามฝูงๆละประมาณ 10-20 ตัวครับ  บินไปในทิศทางเดียวกัน คือเข้าสู่พื้นที่ห้วยขาแข้ง ภาพนี้คงมิได้บอกอะไรมากไปกว่าการมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ในป่าห้วยขาแข้ง   แล้วก็ยังมีเสียงที่สอดแทรกเข้ามาเป็นระยะๆ ก็คือเสียงของไก่ป่า   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ย. 15, 19:22
เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆที่จะเล่าต่อจากนี้ไป  เป็นเรื่องผมที่ได้ประสบพบจริงในช่วงการทำงาน และเป็นความรอบรู้พื้นบ้านของชาวบ้าน ชาวป่าชาวดงและพรานไพร ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าดงพงไพร  ซึ่งคงจะมีความแตกต่างไปจากที่มีอยู่ในตำราต่างๆ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ย. 15, 19:49
ชะนี เป็นสัตว์ที่ส่งเสียงร้องโหยหวนในเวลาเช้า โดยเฉพาะในช่วงประมาณเวลาเริ่มแดดรำไร  เสียงของมันดังมาก ได้ยินเป็นระยะทางไกลมาก จากอีกฝั่งหุบเขาเลยทีเดียว
   
เสียงชะนีร้องในตอนเช้าเป็นเรื่องปรกติ แต่หากเป็นการร้องในช่วงเวลาอื่น โดยเฉพาะในช่วงสายแก่ๆหรือช่วงบ่ายอ่อนๆ  จะเป็นการบ่งบอกว่ากำลังพบกับเรื่องผิดปรกติ   หากเป็นเสียงร้องของชะนีเพียงตัวสองตัว ก็จะบ่งบอกว่าได้พบสัตว์อื่นเข้ามาในพื้นที่หากิน  แต่หากเป็นเสียงร้องของชะนีหลายๆตัว จะบ่งบอกถึงการถูกบุกรุก โดยเฉพาะจากฝูงค่างที่เข้ามาหากินในพื้นที่
 
ในพื้นที่ของห้วยขาแข้งตอนล่างไม่พบว่ามีชะนีมากนัก แต่จะมีมากในหุบเขาของแม่น้ำแควใหญ่  อีกพื้นที่หนึ่งที่พบชะนีมากได้แก่ในพื้นที่ของห้วยขาแข้งตอนเหนือและในป่าแม่วงก์


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ย. 15, 20:32
ฝูงค่างที่หดหายไปครั้งละหลายตัว ก็มาจากเสียงของชะนีร้องผิดเวลานี้แหละครับ    คงจะขยายความในภายหลังนะครับ

ฝูงลิงก็ทำให้ชะนีร้องเหมือนกันครับ  แต่ดูเหมือนว่าชะนีจะรีบหนีไปให้ไกลเสียโดยเร็ว ก็คงจะเพาะฝูงลิงมากันครั้งละเป็นสิบๆ จึงมีความอันตรายที่จะอยู่ใกล้ๆ  (ชะนีนั้น นิยมอยู่เดี่ยวๆ แต่ในก็มีความเป็นกลุ่มในพื้นที่เดียวกัน)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 15, 19:07
พอเรือที่เช่าเหมามาของหัวหน้าใหญ่ หันหัวออกจากที่พักมุ่งกลับเมืองกาญจน์  ผมและพรรพวกอีกสองสามคนก็ขึ้นบ้านชาวบ้านหลังเดี่ยวที่ตั้งอยู่ที่ปากลำขาแข้งหลังนั้น  ก็เพื่อทำความรู้จักซึ่งกันและกัน   ประกอบกับที่เป็นครั้งแรกในการเข้าพื้นที่ จึงต้องหาข้อมูลและเตรียมการในบางเรื่องสำหรับการเดินสำรวจในครั้งต่อๆไป ตลอดทั้งปีสำรวจ ในพื้นที่ตลอดลำห้วย
   เรื่องของข้อมูลก็มีอาทิ สภาพของห้วยและน้ำห้วย สภาพป่าและความทุรกันดารของมัน  ผู้คนและหมู่บ้าน เส้นทางการติดต่อกับโลกภายนอก (เมือง) และอันตรายมีเรื่องใดบ้าง
   เรื่องของการเตรียมการก็ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ได้รับรู้ หลักๆก็คือ เรื่องของคนนำทางและคนงานรายวัน สัตว์ต่าง (ไว้ขนสัมภาระ) ที่จะต้องใช้ในช่วงการเดินสำรวจ และการแก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆที่มี   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 15, 20:32
เนื้อในของข้อมูลที่ได้รับรู้นั้น น่าสนใจและเป็นสภาพแวดล้อมในทางลบโดยรวมๆ

ห้วยขาแข้งวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ วิ่งตัดผ่านพื้นที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี  เป็นพื้นที่ป่าเขาที่ห่างไกลจากชุมชนมากพอที่จะกล่าวได้ว่าไม่มีผู้คนอยู่อาศัยเลย  โดยภาพก็คือเป็นตะเข็บรอยต่อของจังหวัดต่างๆ ที่เขตอำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองถูกจำกัด จะข้ามเขตกันมิได้  ไม่ต่างไปจากพื้นที่รอยต่อดังเช่น นครสวรรค์-พิจิตร-เพชรบูรณ์ หรือ อุตรดิตถ์-สุโขทัย-พิษณุโลก   จึงเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่หลบซ่อนของผู้กระทำผิดกฎหมายและผู้หลบหนีคดีความทั้งหลาย

ครับ ก็ต้องสังเกตกันหน่อยละครับว่าใครเป็นใคร สำหรับคนไทยที่ปักหลักฐานอยู่กินกับชุมชนกะเหรี่ยงทั้งหลาย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 15, 20:52
แล้วก็มีอยู่หนึ่งคนที่โด่งดังตั้งแต่เขต อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธาณี จนถึงปากลำขาแข้ง

ซึ่งคืนหนึ่ง ระหว่างที่ผมตั้งแคมป์อยู่ริมห้วยขาแข้ง ใกล้ๆ บ.เกริงไกร  คนนำทางก็กระซิบว่า ได้ยินข่าวว่าเขาบ่นว่ารู้สึกอดอยาก ไม่มีอะไรให้ปล้นเลย  ทำให้ผมกับพรรคพวกต้องนอนกอดปืนอยู่หลายคืน   ขึ้นลำ-ลดนก (บรรจุลูกกระสุนปืนไว้ในลำกล้อง ปล่อยเข็มแทงชนวนไปแตะอยู่ที่ก้นลูกปืน) ปลายกระบอกปืนหันไปทางปลายเท้า ต้องนอนเป็นเป้านิ่งอยู่บนผืนผ้าใบ

แล้วค่อยเล่าให้ฟังครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 15, 21:02
แล้วก็มีหน่วยจรยุทธของ ผกค.เดินขี้นล่องอยู่ในห้วยขาแข้งอีกด้วย

ผมและคณะได้เผชิญหน้าในลักษณะที่เขายกปืนประทับบ่าเล็งที่หัว ที่ในห้วยขาแข้งตอนบน บริเวณพื้นที่ๆเดินข้ามเขาจากห้วยทับเสลาเข้าไป ผมพบ 5 คน แต่คนที่เฝ้าแคมป์เจอเข้าไป 50 คน  ก็ต่างคนต่างเอาตัวรอดมาได้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 15, 21:10
ยังมีอีกครับ ถูกตามล่าก็มี ถูกท้ายิงก็มี 

แล้วค่อยๆเล่าในฟังครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 15, 21:26
ตื่นเต้นกว่าอ่านเพชรพระอุมาอีกนะเนี่ย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 15, 17:42
 ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 15, 18:21
อีกข้อมูลหนึ่งที่ก็เป็นเรื่องของยาเสพติด คือ ฝิ่นและกัญชา 

ที่บ้านหลังเดี่ยวที่ปากลำขาแข้ง ก็ยังปลูกต้นกัญชา แถมมีสุ่มไก่ครอบไว้อีกด้วย  ซักถามกันในเรื่องกัญชาก็เลยพาไปสู่เรื่องของฝิ่น  แล้วใครขนเอามาขาย ? ไม่มีหรอกครับ  โน่นแน่ะครับ ไปหาซื้อกันอยู่เขต อ.บ้านไร่ อุทัยธานี    เอาเป็นว่า ชาวบ้านในห้วยขาแข้งแทบจะทุกผู้คน (เว้นสตรีเพศ) เสพฝิ่น  ส่วนกัญชานั้นไม่ต้องพูดถึง แทบจะทุกคนเคยสูบ แต่เป็นไปในทางยารักษาโรคเสียมากว่ายาเสพติด

สภาพเช่นนี้ ก็คงจะพอเดาได้นะครับว่า ผมและคณะจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่อันตรายเพียงใด  คนติดยาเสพติดนั้นจิตใจเขาไม่นิ่งและยากที่จะคาดเดาอารมภ์ของเขา 

วู้...ขาแข้งที่ภาพภายนอกดูจะมีความบริสุทธิ์ (untamed) กลับดูจะมีความโหดเป็นเนื้อในกระนั้นเชียวหรือ ?   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 15, 19:18
ขอสาธยายความอีกสองสามเรื่องก่อนเดินเข้าห้วยขาแข้งกันนะครับ

คิดว่าคงจะมีข้อสงสัยกันแล้วว่า ทำไมจึงใช้สุ่มไก่ครอบต้นกัญชา ??? 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 15, 19:56
เป็นคำกล่าวแต่ดังเดิมของผู้ที่นิยมสูบกัญชาเชื่อกันว่า "ก้านไอ ใบสเลด เม็ดขี้ตา"  คนที่สูบกัญชาจึงนิยมที่จะใช้เฉพาะดอกของมัน (ที่เรียกว่า กะหรี่)    คำอธิบายที่ผมได้รับก็คือ การใช้สุ่มครอบก็มีสภาพคล้ายกับการ บอนไซ มัน  ก็เพื่อให้ทำให้มีดอกมากขึ้นและดอกมีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าปรกติ จะจริงเท็จอย่างไรก็ไม่รู้ครับ   อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรจะนำตนเข้าไปยุ่งเกี่ยวและกระทำการใดๆอันเป็นการเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฏหมายนะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 13 ก.ย. 15, 20:45
      เขาเล่าว่า ยุงร้ายกว่าเสือ จริงไหมครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ก.ย. 15, 20:57
ปี๑๔-๑๕ ยังไม่มีการรณรงค์ลดละเลิกสูบบุหรี่. นักสำรวจธรณีฯจากในเมืองต้องพกพาของพวกนี้เข้าป่าไปด้วยซักประมาณไหนในรอบการสำรวจรอบหนึ่ง หรือว่าถ้าหมดกลางทางก็หาสิ่งทดแทนตามหมู่บ้านชาวบ้านข้างหน้า


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ก.ย. 15, 21:02
หมายถึงบุหรี่ชาวบ้านน่ะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 15, 22:21
ตอบข้อนี้ก่อนนะครับ

...นักสำรวจธรณีฯจากในเมืองต้องพกพาของพวกนี้เข้าป่าไปด้วยซักประมาณไหนในรอบการสำรวจรอบหนึ่ง หรือว่าถ้าหมดกลางทางก็หาสิ่งทดแทนตามหมู่บ้านชาวบ้านข้างหน้า

การสำรวจทางธรณี  ในภาพกว้างๆนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
  - การสำรวจเพื่อหาข้อมูลและความรู้ความเข้าใจในพื้นที่ใดๆว่า มันมีอะไรบ้างในพื้นที่ที่ทำการสำรวจ แต่ละอะไรนั้นๆมันมีกำเนิดมาอย่างไรและเกิดมานานมาแล้วเพียงใด แต่ละอะไรนั้นมันมาอยู่ร่วมกันด้วยได้ด้วยความสัมพันธ์แบบใหน ตั้งแต่เมื่อใด และก่อนหลังกันอย่างไร  แต่ละอะไรนั้น มันมีคุณสมบัติเช่นใด บ่งชี้ในเรื่องอะไร และเมื่อมันมาอยู่ร่วมกันแล้วมันบ่งชี้ในเรื่องอะไรบ้าง    และอะไรทั้งหมดนั้นมันเล่าเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของโลกและสิ่งมีชีวิตในอดีตกาลของช่วงเวลานั้นๆว่าอย่างไร  ฯลฯ
  - การสำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบว่ามีสิ่งที่มีประโยชน์ต่อคน ต่อสังคม ต่อเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่เราหวังจะใช้ประโยชน์ ว่ามีอยู่หรือไม่และมีอยู่มากน้อยเพียงใด

ผมเป็นนักสำรวจพวกแรกครับ  เป็นนักคลำทาง ต้องลุยเข้าไปในพื้นที่ unknown area ทั้งในเชิงของการเข้าถึงและทางวิชาการ    ผลจากงานของพวกนักสำรวจพวกแรกจะถูกนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการสำรวจเพิ่มเติมของพวกที่สอง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 15, 22:45
วิธีการสำรวจจึงแตกต่างกัน   
  พวกแรกเดินดาหน้าดะไปเรื่อยๆต่อเนื่องไปทุกๆวัน แต่ละรอบของการสำรวจถูกจำกัดด้วยสภาพทางกายภาพของพื้นที่และความพร้อมของคน ซึ่งแต่ละรอบตามปรกติก็จะเป็นเวลาประมาณ 10 วัน  โดยใช้วิธีการเดินเป็นวงรอบ ไม่ย้อนกลับทางเดิม 
  พวกที่สองเขานิยมที่จะตั้ง base camp มีทั้งเครื่องมือ อุปกรณืต่างๆ และยานพาหนะ มีการติดต่อกับภายนอกและส่วนกลางตลอดเวลา เขาจึงอยู่นานได้เป็นเดือนๆ

พวกผมจึงเตรียมบุหรี่ โดยการซื้อคนละห่อ (carton) ซึ่งมี 10 ซอง และยาตั้ง (ใบยาสูบพื้นบ้าน) เพื่อสำรองกรณีไม่พอ   สำหรับผมนั้นจะซื้อเพิ่มอีกประมาณ 5 ซอง หรือไม่ก็อีกห่อหนึ่งเลยทีเดียว  ไม่ได้สูบมากมายอะไรปานนั้นหรอกครับ  มันเป็นบุหรี่สันติภาพ (คล้ายกับประเพณีของอินเดียนแดงในสหรัฐฯ) 

แต่หากไม่พอจริงๆ ก็ใช้ยาตั้งของชาวบ้านแก้ขัดไปพลางๆ แต่ก็ต้องเบาๆและบันยะบันยังหน่อย มันฉุนจัดครับ

แล้วค่อยขยายความเพิ่มเติมทีหลังนะครับ เช่น การใช้หูใบยาสูบในการจับปลา

   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 15, 23:03
      เขาเล่าว่า ยุงร้ายกว่าเสือ จริงไหมครับ

คงจะจริงเฉพาะในเขตชุมชนเมืองครับ    ตั้งแต่วันแรกที่ถึงปากลำขาแข้ง ผมก็เกือบจะไม่มีการกางมุ้งนอนอีกเลย

ยุงในป่าจะมีมากในช่วงเวลากลางวันขณะเดินทำงาน และในช่วงเย็นเวลาประมาณ 17-20 น. ยุงช่วงเย็นนี้แหละครับที่เป็นผู้ร้ายตัวจริงที่ทำให้เป็นไข้มาลาเรีย 

ผมเป็นมาลาเรียมา 8 ครั้ง ปีละครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2510 - 2516 มีอยู่ปีหนึ่งเป็น 2 ครั้ง

แล้วค่อยขยายความครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 15, 19:11
เรื่องกัญชา แล้วก็มาเรื่องยาฝิ่น

กัญชาและฝิ่นถูกจัดว่าเป็นยาเสพติด ซึ่งแม้อาการเมื่อขาดยาจะมีความรุนแรงต่างกัน แต่ทั้งคู่ก็ทำให้เกิดสภาพจิตใจและการกระทำในด้านไม่ดีได้พอๆกัน   หากพวกชาวบ้านซึ่งสูบกัญชาและฝิ่น ไม่สามารถหาซื้อได้จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม พื้นที่นี้คงน่ากลัวเอาทีเดียว

พอเดินทำงานจริงๆ ก็ไม่เห็นคนที่ติดฝิ่นและกัญชาอย่างจริงจังจริงๆเลย ได้สัมผัสแต่สภาพว่า หากมีก็ต้องขอให้ได้เสพ หากไม่มีก็แล้วไป การเสพในพื้นที่นี้มีแต่แบบสูบหมูและตีกล้อง ไม่มีแบบทิ้งดิ่งหรือฉีดเข้าเส้นดังที่ผมเคยเห็นในพื้นที่แควน้อย
 
อ้าว..แล้วมันเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีคนติดฝิ่นหรือกัญชาอย่างจริงๆจังๆ  คุณหมอทั้งหลายจะทราบเรื่องนี้ดีครับ มันเกี่ยวกับ curative medicine ที่เป็นยาสามัญที่สามารถซื้อขายได้ในช่วงเวลานั้น และเกี่ยวกับอาการติดยาที่เกิดจากทางสองแพร่ง (clinical dilemmas ??)   

กราบขออภัยคุณหมอทุกๆท่านครับ ที่ได้อุตริข้ามไปใช้ศัพท์ทางการแพทย์  ผมมิได้มีความรู้ลึกซึ้งใดๆกับคำศัพท์ทั้งสองนี้  เพียงแต่ต้องการจะสื่อว่าอะไรมันเป็นอะไรที่ผมมิอาจจะสาธยายได้   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 15, 20:02
เพื่อเป็นองค์ความรู้ในส่วนที่คงจะมีน้อยคนได้สัมผัสของจริง จึงจะขอเติมให้กับสมาชิกทุกท่านครับ  และซึ่งก็เนื่องจากมันเป็นเรื่องในอดีตที่ไม่สามารถกระทำกันได้ในปัจจุบันอีกแล้ว 

สมัยนั้น ค่าแรงงานต่อวัน คือ 20 บาท   ฝิ่น 1 ตัวราคา 5-15 บาท     
ฝิ่น 1 ตัว มาจากการเอาฝิ่นน้ำหนัก 1 ตำลึง ก็ขนาดประมาณก้อนสบู่ มาแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือสี่กั๊ก แต่ละกั๊กก็จะแบ่งปั้นออกมาได้เป็น 15 ตัว (เม็ดขนาดประมาณถั่วดำ)  ต้นทุนในพื้นที่ชายเขาเขต อ.บ้านไร่ อุทัยธานี ก็ตำลึงละ 180 บาท เอามาแบ่งเป็นตัวได้ 60 ตัว ขายตัวละ 5-15 บาท ได้กำไร ??  เห็นใหมครับว่าก็จึงต้องมีคนค้ายาแน่นอน

แล้วทำไมต้นทางจึงต้องที่ อ.บ้านไร่  ก็เพราะบนถนนพหลโยธินที่ บ.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษณ์ มีด่านถาวรทำการตรวจเข้ม เส้นทางเดินฝิ่นก็เลยต้องหลบไปอยู่ชายเขาทางตะวันตก (ตั้งแต่เขต จ.ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ผ่านอ่างทอง สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ต่อไปได้ถึงราชบุรี เพชรบุรี ประจวบฯ...)

เมื่อผนวกกับเรื่องการเข้าสูพื้นที่และการเดินทางในพื้นที่ดังที่ผมเล่าในกระทู้นี้  ก็จะเห็นว่าการปราบปรามของทางราชการมีข้อจำกัดอย่างมากจริงๆ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 14 ก.ย. 15, 20:05
อาจารย์คะ กระทู้นี้ท่าจะไม่สั้นดังที่อาจารย์เกริ่นไว้ซะแล้วซีคะ เพราะพออ่านๆไปคำถามก็ผุดขึ้นมาเป็นระยะ มีเรื่องอยากจะรู้ อยากจะถามอีกเพียบบบบ ;D  แต่ที่ยังไม่ถาม เพราะเกรงจะเป็นขัดจังหวะการเล่า  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 15, 21:00
ครับ  เดิมก็ว่าจะเป็นเรื่องของ ธรรมชาติกับสายลมและแสงแดด  เขียนไปๆก็เห็นว่า มีเรื่องที่ผู้คนรุ่นหลังน่าจะได้รับรู้กันว่า ก่อนจะเป็นรูปธรรมและนามธรรมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มันมีสภาพและเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับตัวมันอย่างไร

อยากจะทราบเรื่องใดเพิ่มเติมก็ถามมาเลยครับ  แต่ก็จะขออนุญาตไม่ลงลึกหรือไม่ตอบในเชิงของรายละเอียดในบางเรื่อง เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นอันตรายในมุมกลับที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 15 ก.ย. 15, 15:37
ฝูงค่างที่หดหายไปครั้งละหลายตัว ก็มาจากเสียงของชะนีร้องผิดเวลานี้แหละครับ    คงจะขยายความในภายหลังนะครับ

ฝูงลิงก็ทำให้ชะนีร้องเหมือนกันครับ  แต่ดูเหมือนว่าชะนีจะรีบหนีไปให้ไกลเสียโดยเร็ว ก็คงจะเพาะฝูงลิงมากันครั้งละเป็นสิบๆ จึงมีความอันตรายที่จะอยู่ใกล้ๆ  (ชะนีนั้น นิยมอยู่เดี่ยวๆ แต่ในก็มีความเป็นกลุ่มในพื้นที่เดียวกัน)

คิดว่าอาจารย์คงจะลืมไปแล้ว เลยมาเตือนน่ะค่ะ ว่ายังไม่ได้ขยายความตรงนี้เลยค่ะ  ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 15, 18:56
ไม่ลืมหรอกครับ ก็ว่าจะไปเล่าเอาตอนทำงานในขาแข้งตอนเหนือและในป่าแม่วงก์   เพราะว่าจะมีค่างอาศัยอยู่ค่อนข้างมากในพื้นที่นั้น (โดยเฉพาะในป่าแม่วงก์)  ก็เลยขอขยายความเสียเลยดังนี้ครับ

ก็อาจจะมีความสงสัยว่าด้วยเหตุใดจึงมีค่างเยอะในพื้นที่นั้น    ข้อสังเกตเปรียบเทียบของผมก็คือ มีลักษณะของผืนป่าที่แตกต่างกัน  ป่าในพื้นที่ช่วงล่างของห้วยขาแข้งหนักไปทางแห้งและแล้ง เป็นป่าที่มีหินปูนรองรับอยู่ ดินจึงเป็นพวกอุดมไปด้วยธาตุแคลเซียม (บวกกับแมกนีเซียม) ต้นไม้ที่ขึ้นเป็นพวกรากตื้น แม้จะมีต้นไม้เกิดอย่างหนาแน่นแต่ทรงพุ่มของเรือนยอดไม่กว้างมาก จึงเป็นป่าแบบป่าโปร่ง แสงแดดสามารถส่องลงถึงพื้นดินได้      ในขณะที่ห้วยขาแข้งส่วนบนหรือส่วนต้นห้วยเป็นป่าที่รองรับด้วยหินตะกอนหลายชนิด ทำให้ได้ดินที่มีแร่ดิน (clay minerals) หลากหลาย ผืนดินจึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุและมีความชุ่มชื้นสูง (จากความสามารถของแร่ดินสองสามชนิดที่มีความสามารถในการจับธาตุที่มีประโยชน์ไว้กับตัว และอุ้มน้ำไว้จนทำให้มันบวมพองตัวได้)  จึงเป็นป่าแบบมีไม้ใหญ่ทรงชะลูดที่หนาแน่นที่มีทรงพุ่มของเรือนยอดกว้างและซ้อนกันไปมา แดดส่องลงมาถึงพื้นดินได้ค่อนข้างน้อย   ใบไม้เยอะ ยอดไม้เยอะ แถมมีลูกไม้เยอะ จึงทำให้ค่างซึ่งเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างจะเลือกอาหารและนิยมกินใบอ่อน ยอดไม้ และผล มารวมอยู่กันเยอะ มีหลายฝูงมากๆเลยครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 15, 19:17
ค่างอยู่กันเป็นฝูง แต่ละฝูงมีมากกว่า 10 ตัว  ไม่ค่อยจะนิยมย้ายพื้นที่หากินมากนัก คือ วนเวียนกลับมาหากินในพื้นที่เดิม เมื่อใดที่มีผลไม้สุกก็จะปักหลักอยู่กินกันจนพื้นที่นั้นคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นมูลของมัน ก็ให้บังเอิญที่ลูกไม้หลายๆอย่างที่มันชอบมักจะอยู่ในหุบห้วย โดยเฉพาะมีลูกไม้อย่างหนึ่งที่มันชอบมาก ก็คือ ลูกของต้นร่มม้า  เราจึงไม่ค่อยพบค่างในป่าที่แห้งและในพื้นที่ๆเป็นสันเขา 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 15, 19:52
นั่นคืออุปนิสัยของค่าง   คราวนี้มาดูเรื่องของคน

ชาวบ้านไทยแต่โบราณมีความเชื่อกันอย่างหนึ่งว่า ยาอายุวัฒนะที่หาได้ยากยิ่งอย่างหนึ่งนั้นก็คือ ส่วนผสมของกระเพาะค่างเดือนห้า กระเพาะเม่น และอีกกระเพาะหนึ่ง (จำไม่ได้ นึกไม่ออกแล้วครับ คิดว่าเป็นของตัวนิ่มหรือตังอ้น ??)   

ก็ด้วยเหตุผลว่า ค่างเดือนห้าจะไม่ลงดิน จะกินแต่ยอดไม้ ก็ว่าทุกยอดของแต่ละต้นไม้นั้นล้วนเป็นยาทั้งนั้น    ส่วนเม่นนั้น ก็จะกินแต่รากไม้ ก็ว่ารากของแต่ละชนิดต้นไม้นั้นล้วนแต่เป็นยาทั้งนั้น

สำหรับค่างนั้น พบกันอยู่สองชนิด คือ ค่างเทา กับ ค่างแว่น 
และซึ่งเม่นนั้นก็พบอยู่สองชนิดเช่นกัน คือ เม่นใหญ่ (ต้วใหญ่ ขนกลมยาว) กับเม่นหางพวง (กะเหรี่ยงเรียกว่า ชะบา ตัวเล็ก ขนออกไปทางแบนและมีขนแข็งที่หาง)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ย. 15, 20:05
ตำรายาอายุวัฒนะของคุณตั้งตรงกับของเจ้ายอดศึก

เจ้ายอดศึกเล่าถึงตำรับยาบำรุงร่างกายแบบไทใหญ่โบราณที่นำเอาส่วนประกอบสำคัญ ๔ อย่าง อันได้แก่ แสนดอก แสนหมาก แสนหัว แสนใบ มาประชุมรวมกันปรุงเป็นยาวิเศษซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

“แสนดอก” คือ “น้ำผึ้ง” เพราะผึ้งสะสมน้ำหวานจากดอกไม้เป็นแสนมารวบรวมไว้

“แสนหมาก” หมายถึง “อีก้าง” อีก้างเป็นลิงชนิดหนึ่งกินผลไม้นานานับแสนชนิดซะทั่วป่า ทางไทยเรียกว่า “ค่าง” คนไทใหญ่จะใช้กระเพาะค่างมาตากแห้งบดให้เป็นผงไว้ผสมตัวยา

“แสนหัว” หมายถึงตัว “เม่น” ที่มีขนแหลม ๆ ทิ่มฉึกใส่เด็กเมื่อไหร่เป็นอันร้องไห้แง บางทีสาว ๆ เคย ใช้ขนเม่นทำปิ่นปักมวยผมก็มี เจ้ายอดศึกบอกว่าที่เรียกแสนหัวก็เพราะตัวเม่นจะคอยขุดหาคุ้ยกินรากไม้หัวไม้นานาสารพัด นี่ก็ใช้กระเพาะเม่นตากแห้งบดเป็นผงเช่นกัน

อย่างสุดท้ายคือ “แสนใบ” อันหมายถึงตัวเยิงที่เจ้ายอดศึกอธิบายว่า หมายถึงแพะป่า แพะภูเขา เมื่อมาสืบเสาะจากทางไทยแล้ว คนไทยภาคกลางโบราณและไทยภาคใต้มีตัว “เยือง” อันหมายถึงตัว “เลียงผา” ซึ่งก็คือสัตว์ชนิดเดียวกับตัวเยิงของไทใหญ่ เจ้ายอดศึกบอกว่าคนไทใหญ่แต่โบราณจะใช้กระเพาะตัวเยิงตากแห้งบดเป็นผง และนำสี่ส่วนประกอบนี้มาผสมให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อนยาลูกกลอน โดยมีแสนดอก (น้ำผึ้ง) ทำหน้าที่เป็นน้ำน้อก (น้ำผสม) ใช้กินบำรุงร่างกาย แก้โรคภัยไข้เจ็บได้หลากหลายนานา ทั้งยังใช้บำรุงปอดแก้โรคปอด บำรุงตับแก้โรคตับ แก้คัน บำรุง เลือด บำรุงร่างกาย ชะลอความแก่ และเจ้ายังบอกด้วยว่าถ้าไม่ทำเป็นยาลูกกลอนจะใช้แสนหมาก แสนหัว แสนใบผสมกันดองในแสนดอก (น้ำผึ้ง) ตากแดดกินก็ได้ คนโบราณไทใหญ่เรียกยาสูตรนี้ว่า “หญ้าแสนยา” ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นยาครอบจักรวาลเลยก็ว่าได้ เพราะเจ้าบอกว่าที่ได้ชื่อนี้มาเนื่องจาก “โรคทุกชนิดแสนโรค จะป่วยเจ็บอย่างไร ยาตัวนี้รักษาให้หายได้”

ตอนหนึ่งจาก อยู่ไม่(ยอม)ตายอย่างไทใหญ่ (http://salweennews.org/home/?p=3420) โดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 15, 20:41
เรื่องของกระเพาะสัตว์ที่เล่ามานั้น ก็พอรับได้ว่าพอมีเหตุผลที่จะรับฟังได้   แต่พอมาถึงเรื่องที่ว่า ค่างทั้งตัวนั้นเป็นยา (เช่นเดียวกับสัตว์อีกหลากหลายชนิดที่เราได้รู้ได้เห็นกัน) ซึ่งหลายท่านคงจะเห็นว่ามันก็ออกจะมากไปหน่อยแล้วนั้น   ในชีวิตจริงๆนั้นมันมีความเชื่อไปถึงระดับที่ว่า แม้กระทั่งอุจจาระของค่างก็ยังเป็นยาวิเศษ  

แกงค่างก็ต้องใส่ขี้ค่าง แล้วก็ต้องกินด้วยมือ ก็เพื่อว่า หลังจากล้างมือหลังกินข้าวแล้วก็ยังสามารถเอามือขึ้นมาดมกลิ่นหอมของขี้ค่างได้   ผมใช้คำว่ากลิ่นหอมของขี้ค่าง ครับก็เป็นดังนั้นจริงๆ      มื้อแรก (หากรู้) ก็จะกระดากปากกระดากมือพิลึก แต่หากไม่รู้ก็อาจจะ enjoy ได้เลย และมื้อหลังๆต่อมา ก็อาจต้องถามว่าใส่ขี้ค่างด้วยหรือเปล่า
    
ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจริงครับ ลองสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายที่อยู่ตลอดแนวพื้นที่ติดชายเขาด้านตะวันตกของไทยตั้งแต่นครสวรรค์ไปจนถึงกาญจนบุรีได้  

ครับหุบร่มม้าที่มีกลิ่นขี้ค่างจึงหอมตลบอบอวน ดึงดูดให้คนเข้าไปจัดการเอามันมาเป็นอาหารและยาอายุวัฒนะ  

ค่างก็เลยถูกตั้งใจตามล่ามากกว่าสัตว์อื่นๆอีกหลายชนิด  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: PATAMA.M ที่ 17 ก.ย. 15, 10:37

ผีกองกอย ซึ่งเป็นผีป่าที่เชื่อกันว่า จะดูดเลือดจากหัวแม่เท้าของผู้ที่สัญจรในป่าในเวลานอนหลับ มีรูปร่างคล้ายลิง ก็คือ ค่างที่แก่และไม่สามารถขึ้นต้นไม้ได้นั่นเอง ซึ่งค่างเหล่านี้มักมีร่างกายที่อ้วนแผละและมีเขี้ยวโง้งออกจากปากเห็นได้ชัดเจน ทำให้มีหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัว


ในแถบป่านี้มีมั้ยคะ หรือเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง  :D



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Arpharazon ที่ 17 ก.ย. 15, 14:16
...ติดตามอย่างสนใจครับอาจารย์...


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 15, 18:08
เมื่อวานนี้ผมไปงานครับ เลยไม่ได้เขียนอะไร    วันนี้ขอต่อเรื่องเดิมก่อนนะครับ แล้วจึงจะไปเรื่องค่างกับผีกองกอย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 15, 18:40
ค่างใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้เกือบตลอดเวลา เกือบจะไม่ลงดินเลย  เมื่อเห็นสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายเดินผ่านมา ค่างจะใช้วิธีนั่งแอบอยู่บนง่ามกิ่งไม้ (และกอดต้นไม้ไว้) โดยเฉพาะ ณ จุดที่มีใบไม้บังสายตาระหว่างตัวค่างกับสิ่งอันตรายที่เดินผ่านมา    เมื่อใดที่ได้เกิดการสบตากันขึ้น ค่างก็จะรีบกระโดดไปแอบหลบ ณ อีกที่แห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นต้นไม้เดียวกัน หรือไปอีกต้นไม้หนึ่งหรืออีกสองสามต้นก็ได้   

เท่าที่เคยเห็นมาในป่านะครับ   เมื่อต้องหนีภัย  ลิงจะใช้วิธีวิ่งไต่ไปบนกิ่งไม้ ใช้วิธีกระโดดจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง และใช้วิธีรูดตัวลงพื้นดิน และวิ่งมุดตัวไปใต้พุ่มไม้ที่รกรุงรัง  ชะนีจะใช้วิธีห้อยโหนกิ่งไม้ แกว่งโยนตัวไปตามกิ่งไม้ต่างๆ     ค่างจะใช้วิธีไต่ขึ้นที่สูงแล้วกระโดดไปยังกิ่งไม้อื่นๆและระหว่างต้นไม้ต่างๆ

วิธีการหนีภัยของสัตว์เหล่านี้  ได้กลายเป็นจุดอ่อนที่ใช้ในการตามล่าของคน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 15, 19:09
คงพอจะเห็นภาพแล้วนะครับว่า ด้วยเหตุใดจึงได้ลูกของมันมาเลี้ยงมาขายกัน   

การยิงสัตว์เหล่านี้ ชาวบ้านพรานไพรจะใช้ปืนลูกซอง (twelve gauge rifle) และใช้ลูกปราย (เช่น เบอร์ 4 , SG) ไม่มีการใช้ปืนลูกเดี่ยว (ปืนยาวยิงครั้งละนัด)  ทั้งนี้เพราะจะเป็นการยิงในขณะที่มันกำลังห้อยโหนกระโดดข้ามต้นไม้แต่ละต้น คือยิงขณะมันลอยอยู่กลางอากาศ เม็ดลูกปืนเป็นสิบเป็นร้อยเม็ดแผ่กระจายอยู่ พลาดยาก เหี้ยมนะครับ แล้วก็ไม่รู้หรอกว่ามันมีลูกเกาะติดอกอยู่หรือไม่    ผมรู้สึกสลดหดหู่ใจอย่างมากกับเรื่องนี้ เคยเห็นทั้งแบบตายทั้งแม่ทั้งลูก แม่ตายก่อนแล้วลูกจึงค่อยๆตายตามเพราะทนบาดแผลไม่ไหว แม่ตายลูกรอดแต่ก็ถูกหมาที่ตามมากัดตายทีหลัง

สองจิตสองใจว่าจะเขียนเรื่องเหล่านี้ในกระทู้นี้ดีหรือไม่  แต่ก็คิดว่า เพื่อเป็นองค์ความรู้ของคนรุ่นหลังว่าแต่เก่าก่อนนั้นอะไรมันเป็นอะไรกันมาบ้าง   



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 15, 19:59
เอาละครับ ตอนนี้ก็มาถึงเรื่องว่า ด้วยเหตุใดค่างจึงถูกล่าได้ครั้งละหลายๆตัว


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 15, 18:48
ได้กล่าวมาแล้วว่า พวกห้อยโหนนี้จะใช้วิธีหลบซ่อนโดยอาศัยใบไม้บังเอาไว้   จะมีก็แต่ลิงเท่านั้น ทั้งลิงกังหางสั้นและลิงวอกหางยาว ที่จะทำตนเป็นทองไม่รู้ร้อน นั่งลอยชายอยู่บนกิ่งไม้ ลิงกังนั้นมักจะพบอยู่เดี่ยวๆ (คล้ายชะนี)  แต่ลิงวอกนั้น มันก็วอกจริงๆ นั่งจ้องหน้าเราแถมทำหน้าหรอกเราอีก พวกนี้อยู่เป็นฝูง   แล้วค่อยเล่าครับ

ชะนีก็กระโดด ค่างก็กระโดดเมื่อใดที่ตาของมันกับของเราสบกัน   อุปนิสัยอันนี้เองที่นำพามันไปสู่การตาย 

ชาวบ้านนักล่าค่างหรือสัตว์อื่นๆนั้น มีอยู่สองพวก คือ พวกที่ล่าตามฤดูกาล พวกนี้เคารพต่อวัฎจักรและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ   และพวกที่ล่าแบบฆ่าดะ ซึ่งพวกนี้ก็มีอยู่ทั้งแบบเคารพต่อวัฎจักรและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและแบบจะเป็นสัตว์อะไรก็ได้ ขอให้ได้ยิงมาเป็นอาหารหรือเอาเนื้อมาขาย

อนึ่ง ก็เป็นความเชื่อของชาวบ้านป่าว่า ในแต่ละปีหนึ่งๆนั้น ควรจะได้กินเนื้อสัตว์ป่าชนิดนั้นๆสักครั้งหนึ่ง เป็นความเชื่อในเชิงของยา สุขภาพ และความแข็งแรงกำลังวังชา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 15, 19:24
เมื่อถึงฤดูและช่วงเวลาที่เหมาะสม   ชาวบ้าน 3-4 คนก็จะนัดแนะกันเข้าป่าเพื่อล่าค่าง อาจจะใช้ปืนลูกซองเพียงกระบอกเดียวก็ได้ แต่จะต้องมีสุนัขสัก 3-4 ตัว ที่ชอบเที่ยวป่า เห่าเก่งๆและยุขึ้น และก็เกือบจะเป็นปรกติที่จะต้องมีหมาหางด้วนอยู่ตัวหนึ่งเป็นอย่างน้อย

ที่หางหมามันด้วนก็มีที่มาที่ไปเหมือนกันนะครับ  ผมจะขอเสียเวลาเล็กน้อยเล่าเสียตอนนี้เลย     ชาวบ้านป่านั้นจะนิยมเลี้ยงสุนัขไว้เพื่อเป็นเพื่อนช่วยในการไล่สัตว์อันตราย  โดยเฉพาะในขณะที่ไปไร่ไปสวน หรือไปเก็บผักหญ้า กุ้ง หอย ปู ปลา  สุนัขพวกนี้มันจะเดินนำหน้า ซึ่งจะทำให้สัตว์มีพิษหลายชนิดหนีหลบไป     ก็จะมีสุนัขบางตัวที่ขี้เกียจ เอาแต่นอนขดตัว เรียกให้มันเดินตาม มันก็นอนเฉย    ไม่ยากเลยครับ เอามีดฟันฉับเข้าที่หางของมันเท่านั้นเอง สุนัขขึ้เกียจตัวนั้นก็จะต้องระวังตัวอย่างที่สุดเพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำสอง   ก็จึง alert ต่อเสียงของเจ้าของและกระฉับกระเฉงไปตลอดทั้งชีวิตของมัน   สังเกตดูนะครับ สุนัขหางด้วนของชาวบ้านนั้น มันมักจะมีหางด้วนที่สั้นบ้างยาวบ้าง นั่นแหละครับ มันโดนดัดสันดานมาแล้ว พวกนี้จะเห่าเก่ง กัดน้อย (คือไม่ค่อยดุครับ)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 15, 19:59
เอาเป็นว่าคณะล่าค่างก็จะมีปืนลูกซองกระบอกหนึ่ง มีคนในคณะ 3 คน มีสุนัข 3 ตัว

ก็อาศัยเสียงชะนี (ช่วงเวลาสายๆ) นำทางเข้าสู่บริเวณหากินของค่างและชะนี  เดินเข้าพื้นที่ป่าส่วนที่เป็นหุบร่องห้วยส่วนแยกที่มีใบไม้ตกทับถมค่อนข้างมากและรู้สึกสัมผัสว่าพื้นดินค่อนข้างชื้น ใช้จมูกดมกลิ่นขี้ค่าง ได้กลิ่นเมื่อใดก็เมื่อนั้นแหละว่ามีตัวค่างในพื้นที่ย่านนั้นแน่ๆ     

คราวนี้ก็แหงนมองกวาดสายตาไปยังโคนกิ่งไม้ที่อยู่สูงประมาณ 20+ ม. พอสบตากันมันก็จะกระโดดย้ายที่หลบซ่อน หรือไม่ก็ใช้สันมีดเคาะต้นไม้แล้วยุให้สุนัขเห่า  ค่างมันก็คงจะตกใจ ที่เกาะกลุ่มกันอยู่ก็กระโดดย้ายออกจากที่แอบซ่อนกระจายไปยังต้นไม้อื่นรอบๆ  คราวนี้ก็ซวยแล้วครับ เราก็จำต้นไม้ที่มันโดดไปแอบไว้  ใช้เสียงเคาะต้นไม้กับเสียงสุนัขเห่าไปแต่ละต้นที่มันเกาะอยู่ พอมันโดดลอยก็ยิง  ครับสามสี่ชั่วโมงก็หลายตัวเลยทีเดียว เกือบหมดฝูงไปเลย   

เอาหางมันมาพันคอมันแล้วสอดคานหาบ หามกันไปคนละสามสี่ตัว     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 15, 20:24
ชาวบ้านที่อยู่ประจำถิ่นพวกนี้จะไม่ล่ายิงจนหมดฝูง จะปล่อยให้มันไปออกลูกออกหลานเพื่อจะได้ไปล่าใหม่ในปีหน้า ถิ่นหากินของค่างก็ยังจะเป็นถิ่นเดิม ต้นไม้ก็ยังแทบจะเป็นต้นเดิม  (พวกชาวบ้านที่มาจากต่างถิ่น จะใช้วิธีตามล่าให้หมดฝูงไปเลยทีเดียว)   ก็เป็นหลักปฎิบัติของพรานไพรตัวจริงอย่างหนึ่ง ต่างจากคนที่เรียกตนเองว่าพราน แต่ประเภทชอบเข้าป่าแล้วยิงอย่างเดียว ยิงมันทุกชีวิตที่พบเจอแล้วก็ถ่ายรูปเอามาอวดกัน  พวกนี้ไม่มีสำนึกและความเคารพใดๆต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตร่วมโลกเลย     

ยุคนี้คงไม่มีภาพแบบนี้แล้วนะครับ  สมัยนั้น เห็นคนที่เดินเข้าป่า ด้วยลักษณะและองค์ประกอบ (อาทิ ปืน กระสุน สเบียง ฯลฯ) เราก็แทบจะบอกได้เลยว่าเขามาทำอะไร ล่าสัตว์ประเภทใหน ชนิดใด     เห็นรอยเท้า รอยตัดไม้ รอยหักไม้ ก้นบุหรี่ ฯลฯ เราก็พอรู้ว่าเป็นพวกชอบป่าดงหรือสมัครเล่นหรือห่ามเพียงใด


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 18 ก.ย. 15, 21:50
เมื่อถึงฤดูและช่วงเวลาที่เหมาะสม   ชาวบ้าน 3-4 คนก็จะนัดแนะกันเข้าป่าเพื่อล่าค่าง อาจจะใช้ปืนลูกซองเพียงกระบอกเดียวก็ได้ แต่จะต้องมีสุนัขสัก 3-4 ตัว ที่ชอบเที่ยวป่า เห่าเก่งๆและยุขึ้น และก็เกือบจะเป็นปรกติที่จะต้องมีหมาหางด้วนอยู่ตัวหนึ่งเป็นอย่างน้อย

ที่หางหมามันด้วนก็มีที่มาที่ไปเหมือนกันนะครับ  ผมจะขอเสียเวลาเล็กน้อยเล่าเสียตอนนี้เลย     ชาวบ้านป่านั้นจะนิยมเลี้ยงสุนัขไว้เพื่อเป็นเพื่อนช่วยในการไล่สัตว์อันตราย  โดยเฉพาะในขณะที่ไปไร่ไปสวน หรือไปเก็บผักหญ้า กุ้ง หอย ปู ปลา  สุนัขพวกนี้มันจะเดินนำหน้า ซึ่งจะทำให้สัตว์มีพิษหลายชนิดหนีหลบไป     ก็จะมีสุนัขบางตัวที่ขี้เกียจ เอาแต่นอนขดตัว เรียกให้มันเดินตาม มันก็นอนเฉย    ไม่ยากเลยครับ เอามีดฟันฉับเข้าที่หางของมันเท่านั้นเอง สุนัขขึ้เกียจตัวนั้นก็จะต้องระวังตัวอย่างที่สุดเพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำสอง   ก็จึง alert ต่อเสียงของเจ้าของและกระฉับกระเฉงไปตลอดทั้งชีวิตของมัน   สังเกตดูนะครับ สุนัขหางด้วนของชาวบ้านนั้น มันมักจะมีหางด้วนที่สั้นบ้างยาวบ้าง นั่นแหละครับ มันโดนดัดสันดานมาแล้ว พวกนี้จะเห่าเก่ง กัดน้อย (คือไม่ค่อยดุครับ)

      เป็นวิธีละลายพฤติกรรมที่สัมฤทธิ์ผลจริงๆ ::)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 15, 19:11
  ผีกองกอย ซึ่งเป็นผีป่าที่เชื่อกันว่า จะดูดเลือดจากหัวแม่เท้าของผู้ที่สัญจรในป่าในเวลานอนหลับ มีรูปร่างคล้ายลิง ก็คือ ค่างที่แก่และไม่สามารถขึ้นต้นไม้ได้นั่นเอง ซึ่งค่างเหล่านี้มักมีร่างกายที่อ้วนแผละและมีเขี้ยวโง้งออกจากปากเห็นได้ชัดเจน ทำให้มีหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัว
   ในแถบป่านี้มีมั้ยคะ หรือเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง  :D

จะว่าไป ผมไม่เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับผีในเชิงของการปรากฎตัวและการหลอกหลอนจากปากของชาวบ้านป่าเลย  มีแต่เรื่องของการอ้างถึงผีในลักษณะของการเป็นผู้เป็นเจ้าของ ผู้ครองอำนาจ หรือผู้มีอิทธิพลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ผีบ้าน ผีเรือน ผีป่า      เรื่องราวเกี่ยวกับความผิดปกติในป่าเขาที่เกิดขึ้น เช่น เสียง กลิ่น และการเคลื่อนไหวต่างๆที่รู้สึกสัมผัสได้ จะได้รับคำอธิบายไปในลักษณะของ สาง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของผี
   
สำหรับผีกองกอยนั้น ผมไม่เคยได้ยินชาวบ้านป่ากล่าวถึงหรือมีการเล่าขานใดๆเลยครับ  เคยได้ยินแต่จากผู้คนที่อยู่ชายขอบเขตชุมชนเมือง (กล่าวถึงอยู่บ้าง)  แต่ที่มีการกล่าวถึงในระดับที่มีเรื่องเล่าเป็นเรื่องเป็นราวเอาจริงกันเลยนั้น อยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 15, 19:29
สำหรับตัวผมนั้น คำว่า ผี ดูจะเป็นเรื่องที่เกิดในเมือง ส่วนคำว่า สาง ดูจะเป็นคำที่เหมาะสมกับพื้นที่ในป่าเขา

ตัวผมเองเคยประสพด้วยตนเองในเรื่องที่เป็นลักษณะของ ผี (ในเมือง กทม. นี้เอง) และที่เป็นลักษณะของ สาง (ในป่าหลายแห่ง) มีทั้งแบบพอจะอธิบายได้บ้าง กับแบบจนใจที่จะหาคำอธิบาย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 15, 19:59
สำหรับเรื่องของค่างแก่ อ้วน เขี้ยวโง้ง ขึ้นต้นไม้ไม่ไหว แล้วกลายมาเป็ยผีปอบนั้น คงจะมิใช่เรื่องจริง

ค่างไม่นิยมลงดินเลยครับ ค่างอ้วนก็ไม่เคยเห็นครับ ทั้งฝูงก็ดูจะมีขนาดเดียวกันหมดทั้งในเชิงของขนาดรูปร่าง หน้าตาและน้ำหนัก อีกทั้งค่างเป็นสัตว์ที่หากินในช่วงเวลากลางวัน และเป็นสัตว์พวกมังสวิรัติที่ค่อนข้างเคร่งครัด อาจจะจับแมลงกินบ้างเป็นครั้งคราว  กลางคืนจะนอนบนง่ามไม้ของกิ่งไม้ และจะนั่งตากฝนเมื่อเวลามีฝนตก(เช่นเดียวกับชะนี) 

ไอ้ที่มาสะกิดผิวหนังแล้วดูดเลือดในตอนกลางคืนขณะหลับสนิทนั้น อาจจะเป็นค้างคาวผีเสียมากกว่า   ประเทศไทยเราก็คงจะมีค้างคาวผี  แต่ผมไม่เคยมีประสพการณ์ แม้ว่าจะไม่นอนกางมุ้งในป่าตลอดมาเป็น 20+ ปี 

นึกออกว่า ตัวดูดเลือดที่สำคัญในป่าของบ้านเราจริงๆ ก็คือตัว ทาก  แต่ก็จะเกิดเหตุขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เข้าไปในป่าดงนั้นไม่ประสีประสากับเรื่องของป่าดงพงไพรจริงๆ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 15, 18:26
กลับมาต่อเรื่องที่ไปคุยกับชาวบ้านหลังเดี่ยวที่ปากลำห้วยขาแข้งนะครับ

ก็สรุปได้ว่า
  ตัวแกเองก็เคยเป็นตำรวจมาก่อน     
  ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง (ตอนล่างนี้) มีคนไทยอยู่หนึ่ง เป็นคนอิสาน ตั้งบ้านเรือนอยู่กับภรรยาชาวกะเหรี่ยง ไม่ทราบที่มาที่ไปว่าด้วยเหตุใดจึงเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าเขาลึกพื้นที่นี้   
  ก็มีคนไทยอีกคนหนึ่งที่เดินขึ้น-ล่องอยู่ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่าเสือ... แหล่งที่อยู่ประจำก็คือในพื้นที่ชายป่าตอนใต้ของเขต อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี   
  นอกนั้นก็มีคนไทยอีกคนที่ทำตนเป็นพรานล่าสัตว์ ใช้เรือเล็กขึ้นล่องอยู่ในลำน้ำแควใหญ่ช่วง บ.นาสวน และ น้ำโจน (ที่ กฟผ. จะสร้างเขื่อน)  ซึ่งเมื่อพบกันจริงๆ เขาก็เป็นเพียงคนหากินกับพวกของหายากในป่า เช่น เลียงผา ที่เอาชิ้นส่วนมาทำยา  คนนี้แหละที่วันหนึ่งเอาปืนยิงท้าให้ผมไปยิงกัน
  ในห้วยขาแข้งนั้น คงไม่มีชาวบ้านมารับจ้างแบกหามอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เพราะมีคนน้อยและมีบ้านอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน   ทางเดียวที่จะเดินสำรวจได้เป็นระยะเวลานานหน่อยก็คือ ต้องใช้ช้างต่างหรือม้าต่างบรรทุกอุปกรณ์และสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งม้าต่างนั้นคงต้องใช้หลายตัวและหายาก เพราะว่าเป็นสัตว์ต่างของชุมชนอื่นที่อยู่ในพื้นที่ในเขตของ อ.บ้านไร่   ส่วนช้างต่างนั้น พอจะมี และที่มีอยู่ใกล้ที่สุดก็คือที่ บ.นาสวน ซึ่งจะเดินเต็มเหยียดใช้เวลาเต็มวัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 15, 18:55
สรุปว่าใช้ช้างต่างจะดีที่สุด  ก็เลยขอให้พื่อดีต ตร.ผู้มีบ้านอยู่ปากลำขาแข้งนั้นช่วย  ก็ต้องติดต่อกับกำนันย่องเบอะ กำนันคนดังของ ต.นาสวน ซึ่งบังเอิญเดินทางมาในพื้นที่ บ.ไก่เกียง (เดินประมาณ 2+ ชม.)  กำนันรับปากว่าจะหาช้างให้ 2 เชือกและนัดเวลาพบกันอีกเดือนหนึ่งที่ปากลำขาแข้งนี้

กับช้าง 2 เชือกนี้ ได้ทำให้ผมได้รู้จักช้างในระดับก้นบึ้งในระดับหนึ่ง และได้สัมผัสกับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างช้างกับคน และโดยเฉพาะระหว่างช้างกับควาญของเขา

ก็คงจะต้องแว็บเลี้ยวเข้าซอยไปเล่าเรื่องของช้างอีกแล้ว   ถนนสายขาแข้งนี้มีซอยแยกเยอะมากเลยนะครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 15, 19:07
กำลังคิดอยู่ว่า จะต้องแยกกระทู้ออกไปหรือไม่  เป็นกระทู้สั้นๆเรื่อง ทำงานร่วมกับช้าง   

จะดีใหมครับ ??


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 20 ก.ย. 15, 19:47
กลับมาต่อเรื่องที่ไปคุยกับชาวบ้านหลังเดี่ยวที่ปากลำห้วยขาแข้งนะครับ

ก็สรุปได้ว่า
  ตัวแกเองก็เคยเป็นตำรวจมาก่อน     
  ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง (ตอนล่างนี้) มีคนไทยอยู่หนึ่ง เป็นคนอิสาน ตั้งบ้านเรือนอยู่กับภรรยาชาวกะเหรี่ยง ไม่ทราบที่มาที่ไปว่าด้วยเหตุใดจึงเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าเขาลึกพื้นที่นี้   
  ก็มีคนไทยอีกคนหนึ่งที่เดินขึ้น-ล่องอยู่ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่าเสือ... แหล่งที่อยู่ประจำก็คือในพื้นที่ชายป่าตอนใต้ของเขต อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี   
  นอกนั้นก็มีคนไทยอีกคนที่ทำตนเป็นพรานล่าสัตว์ ใช้เรือเล็กขึ้นล่องอยู่ในลำน้ำแควใหญ่ช่วง บ.นาสวน และ น้ำโจน (ที่ กฟผ. จะสร้างเขื่อน)  ซึ่งเมื่อพบกันจริงๆ เขาก็เป็นเพียงคนหากินกับพวกของหายากในป่า เช่น เลียงผา ที่เอาชิ้นส่วนมาทำยา  คนนี้แหละที่วันหนึ่งเอาปืนยิงท้าให้ผมไปยิงกัน
  ในห้วยขาแข้งนั้น คงไม่มีชาวบ้านมารับจ้างแบกหามอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เพราะมีคนน้อยและมีบ้านอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน   ทางเดียวที่จะเดินสำรวจได้เป็นระยะเวลานานหน่อยก็คือ ต้องใช้ช้างต่างหรือม้าต่างบรรทุกอุปกรณ์และสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งม้าต่างนั้นคงต้องใช้หลายตัวและหายาก เพราะว่าเป็นสัตว์ต่างของชุมชนอื่นที่อยู่ในพื้นที่ในเขตของ อ.บ้านไร่   ส่วนช้างต่างนั้น พอจะมี และที่มีอยู่ใกล้ที่สุดก็คือที่ บ.นาสวน ซึ่งจะเดินเต็มเหยียดใช้เวลาเต็มวัน

เรื่องนี้ต้องขยาย  ;D (ถ้าหากไม่เป็นการละลาบละล้วง และอาจารย์สะดวกใจที่จะเล่าน่ะค่ะ)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 20 ก.ย. 15, 19:53
กำลังคิดอยู่ว่า จะต้องแยกกระทู้ออกไปหรือไม่  เป็นกระทู้สั้นๆเรื่อง ทำงานร่วมกับช้าง   

จะดีใหมครับ ??

ยกมือเห็นด้วยทั้งสองแขน ปูเสื่อจองที่นั่งแถวหน้าด้วยค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 15, 19:36
เรื่องท้ายิงนั้น ขยายความแน่นอนครับ

สำหรับเรื่อง ทำงานร่วมกับช้าง ก็คงจะจัดให้เป็นกระทู้แยกออกมา  คิดว่าจะเป็นเรื่องรวมๆที่ผมได้ประสพมาหลายปี ทั้งช้างป่า ช้างปล่อย ช้างเลี้ยง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 15, 18:11
ต่อเรื่องขาแข้ง

สรุปได้ว่า มีข้อมูลเพียงพอทึ่จะวางแผนการทำงานได้ว่า แต่ละครั้งที่เข้ามาทำงานเดินสำรวจอยู่ในพื้นที่รับน้ำของห้วยขาแข้ง (catchment area) นี้

   - จะต้องเตรียมอะไรบ้าง  -- วัสดุอุปกรณ์สำรวจ? เครื่องนอน? เครื่องกิน? อุปกรณ์สำหรับยังชีพ? คนงาน? การสื่อสารกับโลกภายนอก? การจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุ?  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน? ฯลฯ   วู้..วววว     

สรุปง่ายๆว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้งานมากที่สุด ใช้เวลาน้อย ใช้เงินน้อยและคุ้มค่าที่สุด  และที่สำคัญคือจะต้องมีชีวิตรอดและปลอดภัย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 15, 19:05
   - เตรียมอย่างไร -- หลักๆก็อยู่บนเรื่องของการ packing    ฉายภาพให้เห็นง่ายๆว่า หากเป็นม้าต่าง จะต้องบรรทุกสัมภาระห้อยอยู่ด้านข้างของตัวม้า  หากเป็นช้างก็บรรทุกของบนหลัง หากเป็นคนงานก็ได้ทั้งแบก หาบ และหาม    รูปแบบของการจัดสิ่งของและปริมาณสิ่งของบรรทุกมีความแตกต่างกันมาก รวมไปถึงค่าใช่จ่ายที่แตกต่างกันด้วย 

หากใช้ม้า    packing ก็ควรจะมีลักษณะคล้ายกระเป๋าเสื้อผ้า ก็คงจะต้องมีจำนวนมากชิ้นและต้องใช้ม้าหลายตัว  จะต้องมีทีมของผู้ควบคุมม้าอย่างน้อยก็สองคน (หัวขบวน-ท้ายขบวน)    ม้ามีปัญหาเรื่องกิน จึงมีการใช้ในลักษณะของการขนของระหว่างจุดที่พักหนึ่งไปยังอีกจุดที่พักหนึ่ง ไม่เหมาะสำหรับใช้ในการเดินต่อเนื่องทุกๆวันเข้าไปในพื้นที่ป่าเขา     

ข้อสำคัญ คือ ม้าเป็นสัตว์ขี้ตื่น ตกใจง่าย เตลิดเปิดเปิงง่าย กลัวงูและไม่ถูกกับช้าง

เสียงของสัมภาระที่บรรทุกที่กระทบกันเสียงดังในขณะเดิน ก็ทำให้ม้ากลายเป็นม้าเต้นได้  ยิ่งขยับมาก เสียงกระทบกันก็ยิ่งดัง ยิ่งกระโดดเตะ (พยศ) ก็ยิ่งมีเสียงดังมากขึ้น เพื่อนๆม้าด้วยกันก็เลยช่วยกันผสมโรง ช่วยกันกระโดดเตะ ผลก็คือสิ่งของที่บรรทุกมาทั้งหมดนั้นก็บรรลัยยับเยิน  ให้ภาพทั้งขำและเซ็งไปพร้อมๆกัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 15, 19:39
   - เตรียมปริมาณเท่าใด --- หลักๆก็เป็นเรื่องของการกิน ก็จึงหนีไม่พ้นในเรื่องของข้าวสารอาหารแห้ง
   
ในการเข้าพื้นที่สำรวจของผมแต่ละครั้งนั้น เป็นพฤติกรรมปรกติของผมที่จะซื้อวัตถุดิบ เป็นเนื้อหมู เนื้อวัว อย่างละ 1-2 กก. เป็นพวกผักที่ใช้ในแกงเผ็ดชนิดละ 1 กก. และอื่นๆที่ใช้ทำอารหารสำหรับสองวันแรกที่เข้าไปถึงพื้นที่สำรวจ  จากนั้นก็หากินเองไปวันๆ สุดแท้แต่ว่าจะหาอะไรได้

ที่ไม่ลืมและต้องเตรียมทุกครั้งก็คือ เหล้าสี (แม่โขง 2-4 ขวด) บุหรี่ (กรุงทองหรือกรองทิพย์ 2 ห่อ, =20ซอง) เหล้ายาดองจีน 1 ขวด สำหรับพ่อครัวและลูกครัว  ของพวกนี้เป็นสื่อกลางของความเคารพและการยื่นความเป็นมิตรไมตรีต่อเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา กำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้มีทรงอำนาจในพื้นที่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 22 ก.ย. 15, 20:23
ต่อเรื่องขาแข้ง

สรุปได้ว่า มีข้อมูลเพียงพอทึ่จะวางแผนการทำงานได้ว่า แต่ละครั้งที่เข้ามาทำงานเดินสำรวจอยู่ในพื้นที่รับน้ำของห้วยขาแข้ง (catchment area) นี้

   - จะต้องเตรียมอะไรบ้าง  -- วัสดุอุปกรณ์สำรวจ? เครื่องนอน? เครื่องกิน? อุปกรณ์สำหรับยังชีพ? คนงาน? การสื่อสารกับโลกภายนอก? การจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุ?  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน? ฯลฯ   วู้..วววว     

สรุปง่ายๆว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้งานมากที่สุด ใช้เวลาน้อย ใช้เงินน้อยและคุ้มค่าที่สุด  และที่สำคัญคือจะต้องมีชีวิตรอดและปลอดภัย

เข้าใจว่าไม่มีหมอร่วมเดินทางไปด้วยใช่ไหมคะ อาจารย์ต้องมีความรู้ทางการแพทย์ด้วยใช่ไหมคะ เวลาป่วยในป่าจะได้รักษาตัวเอง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 15, 18:33
เรื่องเตรียมยานั้นมีแน่ๆครับ  แต่จะขอต่ออีกหน่อยแล้วค่อยขยายเรื่องยา

รู้ว่าจะต้องเตรียมการยังไงแล้ว  ก็มาถึงเรื่องการนัดแนะกันว่า เราจะเริ่มทำงานกันจริงๆเมื่อใด    ซึ่งจะกำหนดๆได้ก็ต่อเมื่อได้เดินไปทำความรู้จักกับชาวบ้านในพื้นที่นั้น อธิบายความว่าเราจะมาทำอะไร จะมาในรูปแบบใหน ฯลฯ ก็เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดแบบที่เคยโดนมาแล้ว

(ผมเคยถูกชาวบ้านเอาปืนจี้จับส่งตำรวจขณะเดินทำงานอยู่ในแม่น้ำยม ใกล้ๆกับ อ.วังชิ้น จ.แพร่   ฤๅจะต้องแยกเป็นอีกกระทู้เรื่อง ทำงานอยู่ในพื้นที่สีชมพูแก่ ?)

นอกจากไปพูดคุลกับชาวบ้านแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการจ้างคนงาน และการดูสภาพพื้นที่จริงว่ากันดารหรือสมบูรณ์ระดับใด

หลักๆในการเดินเข้าพื้นที่ครั้งแรกนี้ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งสิ้น      รู้จักคน รู้จักหน้าตา รู้จักสังคม/วิถีชีวิตประจำวัน อุปนิสัยใจคอ  หลักนิยมพื้นฐานของความคิด/วิธีปฎิบัติต่างๆ ฯลฯ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 15, 19:18
เอาละครับ กลับมาขยายความเรื่องของยา การเจ็บป่วย และโรคภัยต่างๆ

แท้จริงแล้วผมตั้งใจจะเรียนแพทย์   เพราะคุณยายก็เป็นแพทย์แผนโบราณ พ่อเป็นหมอแม่เป็นพยาบาล น้าและน้าสะไภ้ก็เป็นหมอกับพยาบาล ป้าก็ทำร้านขายยาแผนโบราณ     ผมสนุกกับชีวิตมากไปหน่อยเลยตกตั้งแต่วิชาพื้นฐานแรกๆเลย แต่ก็ยังมีความใฝ่รู้เรื่องทางแพทย์อยู่ลึกๆในใจ   ครับ..ก็เลยพอจะมีอะไรติดไม้ติดมืออยู่บ้างสำหรับการรักษาชีวิตให้รอดหรือมิให้รุนแรงมากไปกว่าที่ควรจะเป็น

ตัวผมนั้นคิดว่าในกรณีของการเดินทางไปต่างถิ่นใดๆนั้น ความเจ็บป่วยที่ค่อนข้างจะเป็นธรรมดาสำหรับคนทั่วๆไปนั้นมีอยู่ใน 3 เรื่อง คือ
   เกี่ยวกับท้อง ซึ่งหลักๆก็คือ ท้องเสีย กับ ปวดท้อง 
   เกี่ยวกับความเจ็บ ซึ่งหลักๆก็คือ ปวดหัว กับ ปวดเมื่อย
   เกี่ยวกับไข้ ซึ่งสำหรับกรณีการเข้าป่าก็คือ ไข้มาลาเรีย และไข้อื่นๆ

ผมใช้แนวคิดที่กล่าวมานั้นในการวินิจฉัยว่า serious หรือไม่ จะต้องถึงมือหมออย่างเร็วหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องดูแบบ holistic ด้วย   และซึ่งผมก็ใช้หลักนี้สำหรับการวางแผนเส้นทางการเดินสำรวจในป่าลึกทุกๆครั้ง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 15, 19:46
ยาที่ผมจะเตรียมไปจึงประกอบไปด้วย
   - ยาแก้ปวด APC (สมัยนั้น APC เป็นยาแก้ปวดหลักที่มีขายโดยทั่วไป)  ซึ่งอนุโลมใช้สำหรับกรณีมีอาการปวดต่างๆ  เท่าที่มีความรู้ในขณะนั้นคือ ยานี้กัดกระเพาะอาหาร ขับออกโดยไต จึงต้องกินในขณะที่ท้องไม่ว่างและให้ดื่มน้ำเยอะๆตาม
   - ยาเกี่ยวกับท้อง ได้แก่ ยาธาตุน้ำขาว แก้ท้องเสียและอาการปวดถ่าย  ยาถ่านกัมมันต์ ดูดพิษในลำใส้  และยาลดกรดในกระเพาะแบบเม็ด
   - ยา Qualaquin สำหรับกันไข้มาลาเรีย ทานครั้งละ 2 เม็ด สัปดาห์ละครั้ง

นอกจากยาเหล่านี้ ก็มีพวกยาสำหรับการทำแผลทั้งหลาย ก็มี ยาแดง ยาเหลือง ผ้า gauze และผ้าพันแผล แล้วก็ยาแก้ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ

ผมเห็นว่า ยาไม่กี่ชนิดดังกล่าวนี้แหละ คือ แก่นแท้ของยาสามัญประจำบ้านป่าตัวจริง  เดินป่ามาหลายปีก็ไม่หนียาเหล่านี้แหละครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 15, 18:29
ผู้คนตั้งแต่ยุคแรกเริ่มคอมพิวเตอร์ใช้ CPU 8086  คงเกือบจะไม่เคยได้ยินยาแก้ปวด APC เลย     ในปัจจุบันนี้ ยานี้ได้ลดส่วนผสมลงเหลือเพียง Aspirin ตัวเดียว และใช้เป็นยาหลักเกี่ยวกับเรื่องของลิ่มเลือดในหลอดเลือด     แต่ในอดีตนั้นมันเป็นยาแก้ปวดแก้ไข้ที่ชะงัดนักซึ่งมีการผลิตจำหน่ายในท้องตลาดใน 2 รูปแบบ คือแบบเม็ด และแบบผงอยู่ในซอง

ผมต้องซื้อทั้งสองแบบ แบบเม็ดนั้นไว้ใช้เอง ส่วนแบบผงนั้นจะซื้อแบบยกกล่อง ซื้อครั้งแรกก็เพียงครึ่งกล่อง ต่อมาต้องซื้อเป็นกล่อง จากหนึ่ง ก็เป็นกล่องครึ่งหรือสองกล่อง จำไม่ได้แล้วครับว่ากล่องหนึ่งมีกี่ซอง จำได้แต่ว่าร้านขายยาขายขายปลีกซองละ 25 สตางค์  ที่จริงแล้วยาทั้งสองลักษณะนี้ดูเหมือนจะมีส่วนผสมที่ต่างกัน ยาแบบซองนั้นไม่มีส่วนผสมของ P   มีแต่ A (Aspirin) กับ C (Caffeine)

ที่เอาเรื่องยานี้มาขยายความก็เพราะว่า มันมีความสำคัญในเชิงของการเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านป่า มันออกฤทธิที่ทำให้เขาเหล่านั้นมีความสุขในวันที่ได้รับยานี้ โดยเฉพาะในหมู่คนที่เสพฝิ่นและมีอาการแบบกึ่งติด  และซึ่งผมพบว่า มีการใช้ยานี้ในหมู่ชาวบ้านในเขตพื้นที่ป่าเขาด้านตะวันตกของไทยมากกว่าในพื้นที่ป่าเขาอื่นๆ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 15, 18:51
รู้มาแต่แรกๆเริ่มทำงานเมื่อปี 12 แล้วว่า ชาวบ้านในป่าดงชอบใช้ยานี้แก้อาการปวดเมื่อยต่างๆตามร่างกาย    ชาวบ้านในห้วยขาแข้งก็เช่นกัน มีแต่ถามถึงและขอยานี้  ผมก็ว่ามีแล้วก็ให้ไปสองสามซอง เจอะเจอกันเมื่อใดก็ขอ  แล้วก็เห็นวิธีเขากินกัน อย่างน้อยก็วันละซองในตอนเช้า หรืออีกซองหนึ่งในตอนเย็น  กินง่ายๆมากครับ ฉีกซองแล้วเทใส่ปากเลย แล้วตามด้วยน้ำ มีทั้งกินตอนท้องว่างและไม่ว่าง  (ผมก็เคยกินแบบเขาเพื่อแก้อาการปวดหัวอันสืบเนื่องมาจากการดื่มเหล้า มีรสเปรี้ยวๆ กินไปสองสามครั้งก็รู้สึกชินกับรสชาตินั้น)   

คนงานของผมก็กินแบบนี้ ซึ่งผมก็ได้เห็นเขามีความสุข มีความกระชุ่มกระชวยไปตลอดทั้งวันจนจรดเย็น


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 15, 19:16
อย่าไปคิดว่า aspirin เป็นยากล่อมประสาท หรือยาคลายเครียดใดๆนะครับ

ความจริงที่ผมได้พบเห็นก็คือ ในการเสพฝิ่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบใด จะมีการผสมผงยานี้ลงไปด้วยเสมอ และซึ่งเมื่ออาการขาดยาก็คืออาการปวด ยานี้จึงไปช่วยบรรเทา  มิน่าเล่า...เข้าใจนะครับ

ซึ่ง..ผลของการกินยานี้ และกินแบบผิดวิธี  ผลสุดท้ายก็คือที่เรียกว่า ลงแดงตาย ซึ่งโดยทั่วๆไปหมายถึงอาการขาดยาจนเกิดอาการช็อคตาย   แต่สำหรับผม ก็คือ เลือดออกในกระเพาะเพราะว่ากระพาะเป็นแผล หรือกระเพาะทะลุ  (คนที่ผมรู้จักหลายคนตายด้วยเหตุนี้)     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.ย. 15, 19:20
ยาเม็ด APC มีอีกชื่อหนึ่งคือ ยาเม็ดสีชมพู ตามสีของเม็ดยา

ที่เอาเรื่องยานี้มาขยายความก็เพราะว่า มันมีความสำคัญในเชิงของการเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านป่า มันออกฤทธิที่ทำให้เขาเหล่านั้นมีความสุขในวันที่ได้รับยานี้ โดยเฉพาะในหมู่คนที่เสพฝิ่นและมีอาการแบบกึ่งติด

แล้วก็เห็นวิธีเขากินกัน อย่างน้อยก็วันละซองในตอนเช้า หรืออีกซองหนึ่งในตอนเย็น  

ที่ทำให้ชาวบ้านติดยาก็เพราะ C - คาเฟอีน นั่นแล  ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 15, 19:57
ห้วยขาแข้งถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  

ด้วยชื่อก็เลยทำให้เราเห็นภาพแต่เพียงว่า มันก็เป็นพื้นที่ปิดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า แต่สำหรับผมแล้ว พื้นที่นี้มันมีเรื่องราวลึกๆภายในตัวของมันที่มีประโยชน์ในด้านการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ แม้กระทั่งในเชิงของสังคมและมานุษยวิทยา   น่าเสียดายที่พื้นที่นี้มันมีสภาพของ prejudice และ discrimination


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 15, 20:11
ยาเม็ด APC มีอีกชื่อหนึ่งคือ ยาเม็ดสีชมพู ตามสีของเม็ดยา

ที่เอาเรื่องยานี้มาขยายความก็เพราะว่า มันมีความสำคัญในเชิงของการเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านป่า มันออกฤทธิที่ทำให้เขาเหล่านั้นมีความสุขในวันที่ได้รับยานี้ โดยเฉพาะในหมู่คนที่เสพฝิ่นและมีอาการแบบกึ่งติด
แล้วก็เห็นวิธีเขากินกัน อย่างน้อยก็วันละซองในตอนเช้า หรืออีกซองหนึ่งในตอนเย็น 
ที่ทำให้ชาวบ้านติดยาก็เพราะ C - คาเฟอีน นั่นแล  ;D

ใช่เลยครับ  ก็ไม่ต่างไปจากคนติดกัญชาที่ไม่รู้ว่าติดยาเส้น (tobacco) หรือติดกัญชา (cannabis) ที่ซอยผสมกันอยู่บนเขียงไม้ข่อย พญามือเหล็ก กำแพงเจ็ดชั้น ฯลฯ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 15, 20:32
ก็มาขยายความต่อเรื่องของยากันไข้มาลาเรีย

ขอเริ่มด้วยความน่ากลัวว่า ยาป้องกันไข้มาลาเรียนั้นไม่มี มีแต่ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย ซึ่งก็คือฆ่ามันให้ตายเพื่อไม่ให้มันขยายกระจายพันธุ์ต่อไป

เชื้อมาลาเรียเป็นพวกเชื้อกาฝาก (parasite) ใช้เวลาประมาณ 14 วันในการฟักตัวอยู่ในเม็ดเลือดแดง (หลังจากที่ยุงก้นปล่องกัดและถ่ายเชื้อเข้าสู้ระบบไหลเวียนโลหิตของเรา)  พอเชื้อจุลชีพตัวนี้ (Plasmodium) โตเต็มที่ เม็ดเลือดแดงก็จะแตก มันก็จะไปวิ่งอาศัยอยู่ในอีกเม็ดเลือดแดงหนึ่ง ขยายต่อเนื่องไป  อาการหนาวสั่นของไข้มาลาเรียก็เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกไปมากๆนี้เอง ??


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: PATAMA.M ที่ 25 ก.ย. 15, 09:35
ผมต้องซื้อทั้งสองแบบ แบบเม็ดนั้นไว้ใช้เอง ส่วนแบบผงนั้นจะซื้อแบบยกกล่อง ซื้อครั้งแรกก็เพียงครึ่งกล่อง ต่อมาต้องซื้อเป็นกล่อง จากหนึ่ง ก็เป็นกล่องครึ่งหรือสองกล่อง จำไม่ได้แล้วครับว่ากล่องหนึ่งมีกี่ซอง จำได้แต่ว่าร้านขายยาขายขายปลีกซองละ 25 สตางค์  ที่จริงแล้วยาทั้งสองลักษณะนี้ดูเหมือนจะมีส่วนผสมที่ต่างกัน ยาแบบซองนั้นไม่มีส่วนผสมของ P   มีแต่ A (Aspirin) กับ C (Caffeine)

ที่เอาเรื่องยานี้มาขยายความก็เพราะว่า มันมีความสำคัญในเชิงของการเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านป่า มันออกฤทธิที่ทำให้เขาเหล่านั้นมีความสุขในวันที่ได้รับยานี้ โดยเฉพาะในหมู่คนที่เสพฝิ่นและมีอาการแบบกึ่งติด  และซึ่งผมพบว่า มีการใช้ยานี้ในหมู่ชาวบ้านในเขตพื้นที่ป่าเขาด้านตะวันตกของไทยมากกว่าในพื้นที่ป่าเขาอื่นๆ

แบบซองเป็นแบบนี้มั้ยคะ..

(แก้ไขขนาดรูปภาพค่ะ)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 25 ก.ย. 15, 16:55
ผมเคยถูกชาวบ้านเอาปืนจี้จับส่งตำรวจขณะเดินทำงานอยู่ในแม่น้ำยม ใกล้ๆกับ อ.วังชิ้น จ.แพร่   ฤๅจะต้องแยกเป็นอีกกระทู้เรื่องทำงานอยู่ในพื้นที่สีชมพูแก่ ?

ฟังดู...เหมือนอาจารย์ทำงานอยู่ท่ามกลางบรรยากาศสุดแสนจะโรแมนติคเลยนะคะ  ;D ;D ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 15, 18:31
.........แบบซองเป็นแบบนี้มั้ยคะ..
(แก้ไขขนาดรูปภาพค่ะ)

ใช่ครับผม  เพียงแต่ชาวบ้านคนไทยจะออกเสียงตามชื่อเดิมที่สะกดด้วยตัว น.หนู    ส่วนพวกกะเหรี่ยงนั้น ไม่ว่าจะสะกดด้วย น.หนู หรือ ม.ม้า ก็ออกเสียงเป็นตัวสะกด ม.ม้า  (ภาษากะเหรี่ยงไม่มีแม่กน)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 15, 18:36
ยาตัวนี้ แทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนติดฝิ่น เพราะมันไปบรรเทาอาการปวดเมื่อยที่เป็นผลจากการขาดสารเสพติด
 
ที่ออกจะแปลกไปก็คือ ยานี้มีการกระจายใช้อยู่ในหมู่พวกคนกะเหรี่ยงมากกว่าหมู่พวกชาวม้ง (แม้ว)   ก็คงไม่ต้องอธิบายนะครับ  ก็เพราะพวกหนึ่งใช้ของจริง อีกพวกหนึ่งใช้ของเทียม

แล้วก็อีกแปลกหนึ่ง  พวกใช้ของจริงมักมีร่างกายที่ค่อนข้างจะผอมแห้งแรงน้อย แต่มีภรรยาหลายคน  แต่พวกใช้ของเทียมกลับมีร่างกายที่ค่อนข้างกำยำ และมีคู่คนเดียว

คำอธิบายก็มีดั่งนี้ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 15, 19:24
คำอธิบายนี้ ได้มาจากคำบอกเล่าของคนกะเหรี่ยงชาวบ้านป่าในพื้นที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ซึ่งผมสรุปความได้ว่า

พวกแม้วนั้นฉลาด เมื่อได้ลี้ภัยพากันมาอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนบนเส้นทางระหว่าง อ.แม่สอด กับ อ.อุ้ผาง จ.ตาก   ก็หางานหาเงินเลี้ยงชีพโดยรับจ้างทำการหักล้างถางพงให้กับพวกกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนพื้นเดิมในพื้นที่นี้ ลูกจ้างก็ชวนนายจ้างนอนสูบฝิ่นด้วยกันเพื่อคลายอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไม่นานพวกกะเหรี่ยงก็ติดฝิ่น จากเดิมที่ต้องจ่ายค่าแรง ก็กลับตาลปัตรจากนายจ้างกลายเป็นลูกจ้างที่ต้องทำงานเพื่อให้ได้ยา (ฝิ่น)  ได้เสพยาบ้างไม่ได้เสพยาบ้าง แถมยาที่เสพนั้นยังมีส่วนผสมของเถ้าถ่านในบ้องฝิ่นและกระดาษสาที่ใช้ป้ายยางฝิ่น  มีเนื้อยาอยู่ในก้อนฝิ่นนั้นถึง 50% หรือเปล่าก็ไม่รู้

ส่วนฝ่ายนายจ้างใหม่(แม้ว)นั้น ในสังคมของเขาก็คือ ผู้ชายเป็นใหญ่ (แล้วก็ใหญ่จริงๆ) ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับควันแห่งความสุขจากฝิ่นที่มีเนื้อยาเกือบบริสุทธิ์  เมื่อฝ่ายหญิงหาเลี้ยงได้ไม่พอกิน ก็หาฝ่ายหญิงเพิ่มเป็นสองเป็นสามคน ในขณะที่ตัวเองก็ผอมแห้งแรงน้อยลงๆทุกวันด้วยควันแห่งความสุขอันเข้มข้นนั้น จนในที่สุดชีวิตก็ลอยไปกับควัน

ภาพต่างๆก็เป็นดังเช่นนี้ละครับ  เล่ามากกว่านี้ไม่ได้แล้วครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 15, 19:43
....ฟังดู...เหมือนอาจารย์ทำงานอยู่ท่ามกลางบรรยากาศสุดแสนจะโรแมนติคเลยนะคะ  ;D ;D ;D

ครับ ก็เป็นพื้นที่โรแมนติคจริงๆครับ เพราะเป็นสีชมพูกับสีแดง

ในสมัยนั้นทางราชการเขาจำแนกพื้นที่โรแมนติคของประเทศไทยออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับสีชมพู กับระดับสีแดง   
  พื้นที่สีชมพูก็มีปืนน้อยหน่อย พบหน้ากันก็ยังพอจะพูดคุยถามไถ่อะไรได้บ้าง อาวุธปืนก็ยังอยู่ในลักษณะไม่นำออกมาโชว์ให้เห็นกันจะๆ 
  พื้นที่สีแดงก็มีปืนมากหน่อย พบหน้ากันก็ยังพอพูดคุยกันได้ แต่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ปืนคุยกัน  ในพื้นที่นี้ใช้ปืนเป็นเครื่องประดับกาย 

พื้นที่ทำงานของผมอยู่ในพื้นที่สองสีนี้ ตั้งแต่สีอ่อนๆจนไปจนถึงสีเข้ม (แต่ยังไม่เข้มจัดเท่านั้น)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 15, 20:14
ก็อาจจะมีข้อสงสัยว่า ไม่กลัวหรือ?    คำตอบก็คือ ไม่รู้ซิครับ ไม่มีความคิดนี่อยู่ในสมองเลย ทั้งๆที่เป็นหน่วยจรลีแบบ free will movement (อิสระที่จะเข้าไปในพื้นที่ใดๆก็ได้เมื่อใดก็ได้) ต่างจากหน่วยอื่นๆที่ส่วนมากทำงานในลักษณะของ planned movement (เป็นไปตามแผนภายใต้ระบบที่วางไว้)

ทั้งนี้ก็อาจจะมาจากสาเหตุหลักๆว่า
  พวกผมมิได้มาจากหน่วยงานราชการที่ชาวบ้านเกลียดชัง 3 หน่วยงาน (ไม่มีทหารนะครับ) 
  พวกผมเข้ามาช่วยทำให้การดำรงชีพและวิถีชิวิตของชาวบ้านดีขึ้น อาทิ หาน้ำให้ใช้  ให้ความรู้ ช่วยสอนหรือช่วยปรับระบบ ปรับกระบวนการทางธรรมชาติบางอย่างในพื้นที่นั้นๆเพื่อช่วยแก้ปัญหา หรือทำให้ธรรมชาตินั้นๆเกิดเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมสำหรับพวกชาวบ้านในท้องที่นั้นๆ 
  ช่วยชีวิตคนป่วยที่มีอาการหนักๆ เมื่อถึงคราวที่จำเป็น   
  และที่สำคัญคือ เชื่อในความดีในสิ่งที่กำลังกระทำให้กับแผ่นดิน เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินที่จะปกป้องคนที่ทำดีคิดดี

  "ทั้งใต้ดินบนดินถิ่นของเรา หนักก็เอาเบาก็สู้ บูชาธรรม" 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 15, 19:23
รู้แล้วว่าจะต้องเตรียมการสำหรับการสำรวจต่อไปย่างไร  คราวนี้ก็มาถึงการเข้าไปทดลองสัมผัสกับสภาพจริง

เดินออกจากปากลำห้วยประมาณสักครึ่งชั่วโมง  ก็ถึงที่ตั้งชุมชนตั้งใหม่ ซึ่งเป็นปางหรือแคมป์ของหมู่ลูกจ้างในการทำไม้ของบริษัททำไม้ ซึ่งกำลังตัดถนนชักลากไม้เลาะเข้ามาตามห้วยแม่พลู   ก็ทำการแนะนำตัว เล่าถึงวัตถุประสงค์ที่เข้ามาสำรวจในพื้นที่นี้ และวิธีการทำงาน/การสำรวจ จนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้วก็กลับมาที่ปากห้วยขาแข้ง

ดูเหมือนง่ายนะครับที่ทำการชี้แจงแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน    แต่มิใช่ครับ..เพราะในความเป็นจริงแล้วทุกผู้ทุกคนต่างก็มีฐานคิดอยู่บนด้านผลประโยชน์  (ใครได้ ใครเสีย ถูกหลอก ขัดผลประโยชน์..)   ดังนั้น ใครจะไปเชื่อเล่าว่า ผมเข้ามาทำการสำรวจทำแผนที่หิน หาความสัมพันธ์ระหว่างหินต่างๆ ตลอดจนประวัติความเป็นมาของหินทั้งหลายตั้งแต่มันเกิดจนกระทั่งมันมาอยู่ร่วมกันในสภาพที่เราเห็นในปัจจุบันในพื้นที่หนึ่งใด  ในขณะที่ในช่วงเวลานั้น ผู้มีอันจะกินจำนวนมากกำลังจะพยายามเป็นเจ้าของเหมืองแร่สักแห่งหนึ่ง 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 15, 20:33
แน่นอนครับว่า การสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาพื้นฐานมาตรส่วน 1:250,000 นี้  ผลประสงค์ที่ต้องการก็คือ การนำไปสู่การค้นพบแหล่งทรัพยากรธรณีที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางด้านความมั่นคงของประเทศของเรา เช่น น้ำมัน ถ่านหิน น้ำบาดาล แร่ชนิดต่างๆที่ใช้ในด้านอุตสาหกรรมและในด้านเกษตรกรรม ฯลฯ

ก็แน่นอนว่า ผมก็ย่อมต้องสอบถามเรื่องว่ามีคนพบแร่อะไรบ้างหรือไม่ และมีกิจกรรมจ้างหาแร่ในพื้นที่นี้หรือไม่    ซึ่งก็ด้วยความสนใจในข้อมูลลักษณะนี้ จึงย่อมสร้างไม่มั่นใจฝ่ายชาวถิ่นแน่นอน  ความคิดที่เป็นเชิงของขัดกันในผลประโยชน์จึงย่อมเกิดขึ้น  นั่นแหละครับ จึงเป็นพื้นฐานที่ถูกปลูกฝังและเกิดเจริญงอกงามจนทำให้ผมต้องถูกท้ายิงบ้าง ถูกเฝ้าติดตามบ้าง ถูกข่มขู่บ้าง  ....ฯลฯ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 15, 21:10
ที่ผ่านมาทั้งวัน ไม่เห็นสัตว์ใดๆตลอดเส้นทางเดิน

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ก็เดินให้ไกลลึกเข้าไปอีก ต้องข้ามเขาเตี้ยๆ เดินขึ้นชั่งโมงนึง-เดินลงชั่วโมงนึง แล้วก็เดินเลาะตามห้วยขาแข้งจนถึงบ้านไก่เกียง ซึ่งเริ่มได้ความรู้สึกและสัมผัสได้แล้วว่าเข้าป่าที่เป็นป่าจริงๆแล้ว    ตลอดทางเดินไม่พบคน ไม่มีเสียงใดๆนอกจากเสียงนกและเสียงไพร

บ.ไก่เกียงนี้ เป็นหมู่บ้านที่มีชาวกะเหรี่ยงตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่กันมานานแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากพื้นที่ในหมู่บ้านที่เป็นลานสาธารณะต่อเนื่องกันระหว่างบ้านแต่ละหลัง มีความสะอาดราบเรียบทั้งหมู่บ้าน  ไม่มีตอไม้ ไม่มีรากไม้ ไม่มีใบไม้ร่วงหล่น ซึ่งแสดงว่ามีการช่วยกันดูแล 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 15, 19:37
ชาวบ้านที่ บ.ไก่เกียง ดูเป็นมิตรดีกับพวกผม ทุกคนยิ้มแย้มและยินดีจะพูดคุยด้วยในเรื่องต่างๆ กระทั่งได้ขึ้นไนั่งคุยกันบนบ้านและทานอาหารกลางวัน แต่ไม่มีผู้ใดยอมมาเป็นคนงาน/ร่วมเดินอยู่ในคณะของผม

ดูเป็นภาพที่ดีนะครับ แต่สำหรับผมนั้นมันแหม่งๆยังไงไม่รู้   ด้วยประสพการณ์ที่พอจะมีอยู่บ้างเล็กน้อย ก็พอจะสัมผัสรู้ได้ว่าคงจะเป็นพื้นที่ๆน่าจะต้องระมัดระวังเรื่องความความปลอดภัย  ทางแก้ที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ด้วยการเยี่ยมเยียนกันบ่อยหน่อย เปิดเผย จริงใจ โปร่งใส ช่วยเหลือ มีสัจจะ และหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ (รวมทั้งใจและวาจา) ที่จะทำให้เกิดภาพหรือความนึกคิดได้ว่าเป็นการเอาเปรียบ (ก็คือจะต้องเป็นลักษณะของการให้ที่มากกว่าการรับ)
   
แล้วก็จริงครับ พื้นที่นี้อยู่ในเขตอิทธิพลของ ผกค. แล้วก็มีการปะทะกันกับฝ่ายทหารอย่างดุเดือดในภายหลัง     

ในช่วงหลังปี 2535+ ผมก็ได้เข้าไปอีกครั้งหนึ่ง หมู่บ้านนี้ได้ย้ายหนีน้ำเขื่อนเจ้าเณรท่วมไปอยู่ในพื้นที่เหนือห้วยขึ้นไป ผมก็ได้พบกับคนที่ได้เคยเดินร่วมกันในห้วยขาแข้ง  ได้พูดคุยกันเรื่องของความหลัง เลยได้รู้ว่าเขานั้นได้ไปถือปืนเป็นหน่วยจรยุทธ แล้วก็ได้ช่วยไม่ให้ผมถูกเก็บอยู่หลายครั้ง ก็ด้วยเหตุเพราะว่าผมมีแต่ให้ ไม่มีเอา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 15, 20:31
กล่าวถึงคำว่าหน่วยจรยุทธ ก็เลยนึกย้อนกลับไปว่า คณะเดินสำรวจของพวกผมนั้น มันมีจำนวนคนใกล้เคียงกับหน่วยจรยุทธขฃองแท้ แถมยังเดินอยู่ในพื้นที่สีโรแมนติคอีกด้วย 
บนพื้นดินก็ต้องคอยระวังและเตรียมการรับมือกับหน่วยงานความมั่นคงภาคพื้นดินให้ดี แล้วก็ยังต้องระวังบนฟ้าอีก  หลังคารถแลนด์ก็ต้องพ่นสีข้อความว่า หน่วยสำรวจธรณีวิทยา   ในขณะเดิน เมื่อได้ยินเสียงเครื่องเฮลิคอปเตอร์ ก็ต้องหาที่หลบ กลัวถูกสอยหรือไม่ก็อาจจะถูกหน่วยพื้นดินตามจับ ผมไม่เคยถูกจับด้วยกรณีนี้ เคยแต่ต้องคอยหลบซ่อนไม่ให้เขาเห็น

ที่อึ้งไปเลยก็คือ พวกผมใช้รถแลนด์ที่มีตราพลั่วกับจอบ (แบบอีเตอร์) ไขว้กันในวงเฟืองจักรกล  ถูกชาวบ้านแจ้งฝ่ายความมั่นคงว่า เห็นรถมีตราฆ้อนกับเคียวมาวิ่งอยู่ในพื้นที่ ทำให้บางทีก็ลงท้ายด้วยทั้งแคมป์และคนเฝ้าแคมป์ถูกขนไปกองอยู่ที่สถานีตำรวจ    ครั้งหนึ่งคณะของผมกลับจากการสำรวจมาตอนเย็น  อ้าว แคมป์และคนเฝ้าอันตรธานหายไปใหน ต้องตามไปแสดงตนไถ่ออกมาจากสถานีตำรวจ    บางกรณีบ้างก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นในตอนเช้ามืดมาด้วยปากกระบอกปืน

เรื่องในอดีตครับ เรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ มีแต่เอามาคุยหยอกล้อสนุกสนานในพวกกันเอง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 28 ก.ย. 15, 20:36
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ติดภารกิจรวมญาติอยู่ในเก๋งจีน เพิ่งจะกลับขึ้นเรือนไทยมาวันนี้เองค่ะ เลยได้อ่านรวบยอด
ในค.ห.๑๘๕ อาจารย์เหมือนจะรู้เลยค่ะ ว่าเดี๋ยวยัยแอนนาต้องถามแน่ ;D เลยชิงเล่าให้ฟังก่อน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 15, 18:02
จากนั้นอีกหลายวันก็เดินไปกลับทุกวัน แต่เดินลึกเขาไป แยกซ้ายแยกขวาไปตามร่องห้วยต่างๆ เพื่อปูพื้น (orient) ตนเองทั้งในการบริหารจัดการหน่วยและวิชาการสำหรับปีการสำรวจนั้่น

ถึงวันนัด ลูกพี่ใหญ่ก็เอาเรือมารับ เป็นเรือหางยาวที่มีขนาดเล็กลง ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 4 สูบ   แต่ก่อนจะกลับก็จะลองขึ้นเหนือน้ำไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ เพื่อดูว่าการสำรวจต่อไปจะทำได้อย่างไรบ้างและจะมีข้อจำกัดเพียงใด 

เช้าก็ออกจากปากลำขาแข้งรวม 4 คนด้วยกัน คงจะสักประมาณ 20 นาทีเห็นจะได้ ก็ถึงแก่งหินตั้ง  สมชื่อจริงๆเลยครับ มองไปเห็นแต่หินโผล่อยู่เหนือน้ำ ขวางอยู่ระหว่างสองฝั่งน้ำ  คนเรือก็ใจสู้จริงๆ ไม่เคยไปเลยจากปากลำเหมือนกัน แต่ก็อยากลองดูว่าจะรอดใหม


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 29 ก.ย. 15, 18:22
ขออนุญาตขัดจังหวะการเล่าเรื่องครับ

ขอรบกวนสอบถามคุณ naitang ครับ รบกวนถามว่า เคยได้ยินตำนานหรือเรื่องเล่าของพราน(ไม่แน่ใจว่าชาติพันธุ์ไหน) ที่เดินจากอุ้มผาง(หรืออาจจะเป็นช่องทางที่เรียกว่า ช่องแป๊ะ)และน่าจะผ่านทุ่งใหญ่ลงมาที่ทองผาภูมิภายในวันเดียวบ้างไหมครับ  เนื่องจากคนรู้จักผมเขาเล่าตำนานนี้ให้ฟัง แต่ไม่มีรายละเอียด ผมจึงมาขอความกรุณารบกวนสอบถามครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 15, 18:40
ได้เรื่องซิครับ  
พ้นจากปากลำขึ้นไป พวกที่เข้ามาหากินในพื้นที่นี้ เขาใช้เรือเล็กขนาดสามคนนั่ง และใช้เครื่องยนต์เบนซินของรถยนต์ขนาดเล็ก แต่เรือของเราขนาดใหญ่กว่ามาก
    
คนเรือก็เก่งนะครับ  หาช่องที่น้ำไหลโกรก (ซึ่งแสดงว่าน้ำลึกพอ) ค่อยๆกระชุ่นเครื่องยนต์ให้เรือตั้งหัวสวนสายน้ำที่ไหลแรง เบี่ยงหัวเรือไปทางซ้ายทางขวา พยายามหาช่องน้ำไหล ตั้งหัวเรือให้ตรงกับร่องน้ำที่ต้องการ แล้วก็เร่งเครื่องกระโจนขึ้นข้ามไปเลย

สนุกดี ลุ้นดี เสียวดี แล้วก็ alert สุดๆ เพราะใม่รู้เลยว่าจะเจอะเจอกับสภาพและเหตุการณ์อะไรต่อไปบ้าง สิ่งของที่เป็นอุปกรณ์สำรวจก็ใส่เป้สะพายข้างแล้วเหน็บให้แน่นกับร่องของกราบเรือด้านใน  หากเรือแตกและจมลง ของก็ยังน่าจะพอติดอยู่กับซากเรือ เก็บกลับมาได้

ครับ..ก็ของหลวงทั้งนั้น ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ใหม้อยู่แล้วทั้งนั้น  ราคาของเหล่านี้ก็สูงเอาการอยู่ (ฆ้อนธรณี 1 อัน กับเข็มทิศ 1 อัน รวมราคาแล้วมันสูงกว่าเงินเดือนของผมอีก)
  
ตัวพวกผมไม่มีชูชีพ หลักการเอาชีวิตรอดมีอยู่วิธีเดียว คือ ห้ามว่ายน้ำ พยุงตัวเองให้ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ พยายามคัดตัวเองให้ไหลตามน้ำไปตามร่องน้ำ ให้ไหลไปจนพ้นพื้นที่แก่ง แล้วจึงค่อยกระเสือกกระสนเข้าหาฝั่งโดยพยายามเข้าไปอยู่พื้นที่ๆกระแสน้ำไหลวนกลับ (eddy current) ซึ่งน้ำจะลดความเร็วลงและหมุนวนพาเราเข้าสู่เขตน้ำตื้นของชายหาด เราก็จะไม่ต้องถูกพัดพาไปไกลจนเกินควร    


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 15, 19:30
ขออนุญาตขัดจังหวะการเล่าเรื่องครับ
ขอรบกวนสอบถามคุณ naitang ครับ รบกวนถามว่า เคยได้ยินตำนานหรือเรื่องเล่าของพราน(ไม่แน่ใจว่าชาติพันธุ์ไหน) ที่เดินจากอุ้มผาง(หรืออาจจะเป็นช่องทางที่เรียกว่า ช่องแป๊ะ)และน่าจะผ่านทุ่งใหญ่ลงมาที่ทองผาภูมิภายในวันเดียวบ้างไหมครับ  เนื่องจากคนรู้จักผมเขาเล่าตำนานนี้ให้ฟัง แต่ไม่มีรายละเอียด ผมจึงมาขอความกรุณารบกวนสอบถามครับ

เป็นไปไม่ได้ครับ  ระยะทางที่เป็นเส้นตรงตามไม้บรรทัดจากตัว อ.อุ้มผางถึงตัว อ.ทองผาภูมิก็ประมาณ 150+ กม. คนเราเดินได้ประมาณวันละ 40-50 กม.ในพื้นที่ราบลอนคลื่นเท่านั้น 

แต่หากจะเป็นการเดินจาก บ.แม่จันทะ (บนแม่น้ำแม่กลอง) หรือ บ.เลตองคุ (หมู่บ้านชายแดน) ซึ่งอยู่ในเขต อ.อุมผาง ซึ่งเป็นส่วนล่างใกล้เขตต่อ จ.ตาก กับ จ.กาญจนบุรี  มายัง บ.พุจือ ซึ่งอยู่ชายทุ่งใหญ่นเรศวรทางตะวันตกเฉียงเหนือและอยู่ในเขต อ.สังขละบุรี ของ จ.กาญจนบุรี ก็เป็นไปได้ครับ   แต่จะให้เลยมาถึงตัว อ.ทองผาภูมิ (หรือถึงเพียงชายเขต อ.ทองผาภูมิ แถว บ.วังปาโท่ หรือ เจดีย์บุอ่อง) ก็คงจะเป็นไปได้ยากมาก

คำว่าหนึ่งวันของชาวบ้านป่านั้น เช้าของพวกเขานั้นเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 4 น. และหมดวันที่เวลาประมาณดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า
ก็อยู่ในระยะเวลาประมาณ 12+ชม.นิดหน่อย  เราเดินแบบเร็วได้ประมาณ 6 กม./ชม. แต่เมื่อเฉลี่ยรวมกับช่วงเวลาพักด้วยแล้วก็อยู่แถวๆ 4 กม./ชม.ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 15, 20:04
กระดึบๆขึ้นมาได้ระยะทางประมาณ 30 ม.(ทางตรง) ก็มาถึงเกือบจะจุดสุดท้ายที่ฝั่งซ้ายของลำน้ำ   ตั้งหัวเรือได้ ก็เร่งเครื่อง หัวเรือเผินขึ้นพร้อมกับได้ยินเสียงเครื่องเรือกระหึ่มแบบเร่งเครื่องฟรี แล้วส่วนหัวเรือด้ายซ้ายก็ตกลงวางอยู่บนโขดหิน  นายท้ายเรือก็ตะโกนบอกว่าให้โดดลงแล้วดึงเชือกหัวเรือไปผูกไว้  เกือบไปละครับ เพียงก้าวลงออกจากเรือไปคนเดียว เรือก็ขยับจะหลุดจากที่เกย ก็เลยต้องช่วยกันมารวมกลุ่มลงน้ำหนักมิให้เรือหลุดลอยออกไปจนกว่าจะผูกเชือกเสร็จ

เรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ ใบจักรเรือไปฟันเข้ากับโขดหิน จนใบพัดหักไปทั้งหมด ไม่เหลือหรอเลย    แก้ไขไม่ยากครับ เพียงเปลี่ยนใบจักรเท่านั้นเองแต่ในสภาพที่ยากหน่อยเท่านั้นเอง (เรือทุกลำจะมีใบจักรสำรองไว้สองสามอันเสมอ)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 15, 21:05
เปลี่ยนใบจักรเสร็จก็ตามมาด้วยความเสียวใส้ที่แท้จริง

ก็ต้องลุ้นกันหน่อยว่าจะหันกลับเรือกลางแก่งน้ำเชี่ยวได้สำเร็จหรือไม่    แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น ก็ต้องคิดเสียก่อนว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้ขึ้นไปอยู่บนเรือก่อนที่จะปล่อยเชือกที่ผูกไว้  ใช้วิธีการย้อนทางเดิมครับ เอาคนขึ้นเรือแล้วร่วมกันลงน้ำหนักให้เรือมันวางอยู่บนหิน แล้วค่อยๆลดน้ำหนัก ณ จุดลงน้ำหนัก  พอเรือหลุดลอยออกมา ผู้โดยสารก็ต้องรีบกระจายน้ำหนักบนเรือ สัมพันธ์กับนายท้ายที่ต้องพยายามหันหัวเรือให้ไปตามทิศทางที่น้ำไหลโดยต้องเร่งเครื่องทำให้เรือมีความเร็วมากกว่าความเร็วของน้ำไหล (จึงจะบังคับทิศทางของเรือได้) และต้องเร็วมากพอที่จะทำให้น้ำมิให้น้ำไหลตบตูด (ตลบเข้าทางท้ายเรือ)    ลองนึกดูภาพของการขวางเรือในกระแสน้ำไหลและการใช้ความเร็วที่เหมาะสมสำหรับกรณีต่างๆ  วู้...

แล้ววันหนึ่ง ผมกับคณะก็ต้องเขย่งกองกอยลอยคอข้ามน้ำที่หัวแก่งนี้ พร้อมๆไปกับช้างต่าง แล้วก็ต้องข้ามกลับมาฝั่งปากลำขาแข้งเพื่อกลับแคมป์ ก็เป็นอีกหนึ่งระทึกครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 30 ก.ย. 15, 11:45
ขออนุญาตขัดจังหวะการเล่าเรื่องครับ
ขอรบกวนสอบถามคุณ naitang ครับ รบกวนถามว่า เคยได้ยินตำนานหรือเรื่องเล่าของพราน(ไม่แน่ใจว่าชาติพันธุ์ไหน) ที่เดินจากอุ้มผาง(หรืออาจจะเป็นช่องทางที่เรียกว่า ช่องแป๊ะ)และน่าจะผ่านทุ่งใหญ่ลงมาที่ทองผาภูมิภายในวันเดียวบ้างไหมครับ  เนื่องจากคนรู้จักผมเขาเล่าตำนานนี้ให้ฟัง แต่ไม่มีรายละเอียด ผมจึงมาขอความกรุณารบกวนสอบถามครับ

เป็นไปไม่ได้ครับ  ระยะทางที่เป็นเส้นตรงตามไม้บรรทัดจากตัว อ.อุ้มผางถึงตัว อ.ทองผาภูมิก็ประมาณ 150+ กม. คนเราเดินได้ประมาณวันละ 40-50 กม.ในพื้นที่ราบลอนคลื่นเท่านั้น 

แต่หากจะเป็นการเดินจาก บ.แม่จันทะ (บนแม่น้ำแม่กลอง) หรือ บ.เลตองคุ (หมู่บ้านชายแดน) ซึ่งอยู่ในเขต อ.อุมผาง ซึ่งเป็นส่วนล่างใกล้เขตต่อ จ.ตาก กับ จ.กาญจนบุรี  มายัง บ.พุจือ ซึ่งอยู่ชายทุ่งใหญ่นเรศวรทางตะวันตกเฉียงเหนือและอยู่ในเขต อ.สังขละบุรี ของ จ.กาญจนบุรี ก็เป็นไปได้ครับ   แต่จะให้เลยมาถึงตัว อ.ทองผาภูมิ (หรือถึงเพียงชายเขต อ.ทองผาภูมิ แถว บ.วังปาโท่ หรือ เจดีย์บุอ่อง) ก็คงจะเป็นไปได้ยากมาก

คำว่าหนึ่งวันของชาวบ้านป่านั้น เช้าของพวกเขานั้นเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 4 น. และหมดวันที่เวลาประมาณดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า
ก็อยู่ในระยะเวลาประมาณ 12+ชม.นิดหน่อย  เราเดินแบบเร็วได้ประมาณ 6 กม./ชม. แต่เมื่อเฉลี่ยรวมกับช่วงเวลาพักด้วยแล้วก็อยู่แถวๆ 4 กม./ชม.ครับ

ขอบพระคุณครับ สำหรับรายละเอียดเส้นทางผมไม่แน่ใจว่าจะมาถึงตัว อ.ทองผาภูมิหรือเปล่านะครับ เพราะตอนที่คุยไม่ได้คุยในรายละเอียดเท่าไรครับ ลักษณะฟังเป็นคำบอกเล่าเท่านั้นครับ  กลับไปคราวหน้า คงต้องหาโอกาสสอบถามผู้เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังถึงรายละเอียดอีกรอบครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 15, 19:08
นัดแนะกันดีแล้วในเรื่องช้าง 2 เชือก เรื่องคนงาน และวันเวลาที่จะพบกัน ก็เดินทางกลับเมืองกาญจน์  ออกจากปากลำก็มาระทึกที่แก่งยาวอีกเล็กน้อย    เรือบรรทุกหนักมากไปหน่อย เลยทำให้บังคับยากขึ้น ประกอบกับใบจักรที่เปลี่ยนเมื่อวานนี้เป็นใบจักรเก่าที่มีรอยบิ่นอยู่มากพอสมควรแถมยังขันน๊อตไม่แน่นพออีก เรือก็เลยอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์เต็มที่    เข้าร่องน้ำไหลเชี่ยวผิดจังหวะไปนิดเดียว เร่งความเร็วไม่ทันพอดี ก็เลยทำให้น้ำตลบตบท้ายเข้าทางท้ายเรือ   ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเร่งความเร็วประประคองเรือให้ลงพ้นแก่งไป แล้วจึงค่อยมาจัดการกับน้ำที่ทะลักเข้าเรือ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 15, 19:21
ใช้งานเรือในการสำรวจเป็นครั้งแรกของผมนี้ ได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับการทำงานทางน้ำเลยทีเดียว  ซึ่งต่อมาก็ได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการสำรวจในลุ่มแควน้อย 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 15, 19:59
จากนั้นมา ผมก็เดินสำรวจในสำรวจโดยใช้ช้าง 2 เชือกขนสัมภาระ หายเข้าป่าแต่ละช่วงแบบยาวๆไปเลย

ขนข้าวใส่เรือมากระสอบนึง ฝากไว้ที่บ้านที่ปากลำขาแข้ง เลิกใช้เต๊นท์นอนทั้งหมด ทั้งคณะใช้เพียงผ้าใบใหญ่ 2 ผืน ใช้ทำหลังคาผืนนึง ใช้ปูนอนผืนนึง และผ้าใบผืนเล็กอีกผืนนึงเพื่อปูเป็นพื้นที่ครัว   เครื่องนอนของพวกผมที่มาจากกรุงเทพฯก็มีเพียงถุงนอนคนละใบและผ้าห่มสักหลาดอีกผืนหนึ่ง เสื้อผ้าและเสื้อหนาวตามสมควร (ลักษณะง่ายๆก็คือ มีถุงทะเลคนละถุงสำหรับเครื่องใช้ของแต่ละบุคคล) 
อุปกรณ์ทำครัวก็มีกระทะ หม้อหูสำหรับหุงข้าว (แบบเช็ดน้ำ) และสำหรับทำแกงอย่างละใบ กาต้มน้ำใบนึง ถ้วยชาม แก้วน้ำ และช้อนตามสมควร แล้วก็เครื่องปรุงรสและของแห้งทั้งหลาย ทั้งหมดนี้บรรจุลงในปิ๊บ 2 ใบ (สั่งทำพิเศษ)  ถังน้ำพลาสติกขนาดประมาณ 20 ลิตรใบนึง ตะเกียงเจ้าพายุและตะเกียงรั้วอย่างละหนึ่ง 

หลักๆก็คงจะเป็นดังที่กล่าวถึงนี้  ซึ่งก็ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ช้างนั้นแต่ละตัวมีน้ำหนักแถว 4+/- ตัน ลากของที่มีน้ำหนักได้หลายๆตัน อาจจะบรรทุกของได้ช่วงสั้นๆครั้งละเป็นสองสามร้อยกิโลกรัม  แต่หากต้องใช้ในลักษณะงานบรรทุกทั้งวัน (ประมาณ 6-8 ชม./วัน) สำหรับงานหลายๆวัน น้ำหนักบรรทุกก็ไม่ควรจะเกิน 100 กก. เพราะมันก็เจ็บกระดูสันหลังของมันเหมือนกัน   



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 15, 18:10
เรื่องของการทำงานกับช้างนั้น จะได้ทำเป็นกระทู้แยกออกไปนะครับ มีความน่ารักที่แฝงอยู่ในความน่ากลัวอยู่มากมายในเพื่อนร่วมโลกตัวโตๆนี้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 15, 18:45
เมื่อประมวลข้อมูลต่างๆแล้วก็จะเห็นว่า สภาพกาณ์ในห้วยขาแข้งนั้นมีอันตรายจากคนค่อนข้างมากกว่าจากสัตว์  จะทำงานในพื้นที่นี้อย่างมีความปลอดภัยต่อชีวิตของผมและ จนท.ที่มาร่วมอยู่ในหน่วยสำรวจของผม และรวมถึงชาวบ้านทุกคนที่ผมจ้างมาเป็นคนงานในคณะสำรวจร่วมของผมนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีเกราะที่ดี มีหูตาเป็นสับปะรด และมีข้อมูลข่าวสารเชิงลึกที่ดี

คณะของผมที่ควรจะมีจำนวนคนน้อยก็เลยต้องมีหลายคน จ้างช้างมา 2 เชือก ก็กลายเป็นต้องบวกอีก 2 คนงาน คือ คนที่เราเรียกว่า ตีนช้าง ผ่านไปแต่ละหมู่บ้านก็ต้องจ้างคนในหมู่บ้านนั้นเพิ่มอีก 1 คน  ก็พอจะโชคดีที่คนที่เราจ้างจากหมู่บ้านที่ผ่านมานั้น เขาไม่นิยมที่จะเดินต่อไปไกลจากบ้านเขามากนัก   ครับ..ก็คล้ายกับการจ้างคนเดินนำพาไปส่งยังที่อีกแห่งหนึ่ง

ที่ผมต้องทำเช่นนี้ก็เพาะว่า เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและไว้ใจอย่างบริสุทธิ์ใจ และแสดงให้เห็นจริงว่า ผมมาสำรวจทำแผนที่เรื่องทางธรณีวิทยาจริงๆ ไม่มีเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆใด (แหล่งแร่ ไม้หายาก ล่าสัตว์ จับสัตว์ ...ฯลฯ)     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 15, 19:13
ซึ่งก็ได้ผลนะครับ  เมื่อซื่อต่อกัน ผมก็ได้รู้การเคลื่อนไหวต่างๆเกือบจะทุกเรื่อง รวมถึงการส่งคนมามาบอกว่า พื้นที่ใดเข้าไปเดินสำรวจได้หรือไม่ได้ เข้าไปได้ลึกเพียงใด ฯลฯ   

มันก็มีบางพื้นที่ๆมีความสำคัญจริงๆที่เราต้องเข้าไปสำรวจ เนื่องจากมันเป็นจุดที่จะทำให้เรื่องราวทางธรณีแยกไปซ้ายหรือขวาได้เลย ฝ่ายเขาก็อนุโลมนะครับ ซึ่งผมก็ได้ทำบ่อยครั้งในพื้นที่นี้และที่อื่นๆ  จนกระทั่งวันหนึ่ง ไปทำงานอยู่ที่ อ.สังขละบุรี (อีกสองปีต่อมา) เขาก็ส่งข่าวฝากมาว่า คราวนี้จะเอาจริงแล้วนะ  ครับ..ในพื้นที่ อ.สังขละฯ นี้ มีหมู่บ้านเลาะชายแดนทางทิศเหนือที่อยู่ในอิทธิพลของเขา ซึ่งต่อตลอดแนวชายแดนไปจนถึง อ.อุ้มผาง     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 15, 19:46
คำว่า "ห้วยขาแข้ง" ของกระทู้นี้  คงจะทำให้หลายท่านคิดว่าคงจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์หลากหลายชนิดและที่มีอย่างชุกชุม     อาจจะรู้สึกว่ายังไม่เห็นมีเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เลย   สำหรับผมนั้น ห้วยขาแข้งนั้นมันมีเรื่องราวในมิติอื่นๆอีกมาก มิใช่มีแต่เรื่องของสัตว์ป่าและความบริสุทธิ์ของผืนป่าแต่เพียงอย่างเดียว 

ครับ..ผมตั้งใจจะเล่าเรื่องที่เกี่ยวพันกับห้วยขาแข้งทั้งหมดเท่าที่จะนึกออก เดิมก็คิดว่าจะเป็นกระทู้สั้นๆ ตอนนี้รู้สึกจะยาวเสียแล้ว :-[

เรื่องที่เกี่ยวกับการเดินทางเข้าถึงโดยทางน้ำ (แควใหญ่) เพื่อเข้าถึงพื้นที่ส่วนปลายของห้วยขาแข้งนั้น  คิดว่าน่าจะพอเพียงแล้วนะครับ  จากนี้ไปก็คงจะขยับเป็นเรื่องอื่นๆ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 15, 19:50
จะขออนุญาตหายไปจากหน้ากระทู้นี้ไปจนถึงวันที่ 23 นี้นะครับ  ไป ตจว. ครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 15, 18:43
กลับเข้ามาเดินกระทู้ต่อครับ

แล้วผมก็ได้ช้างมา 2 เชือกเพื่อช่วยในการขนสัมภาระ  ตัวผู้อายุประมาณ 20++ ปี กับตัวเมียอายูประมาณ 40++ ปี   แล้วก็ได้คนงานเพิ่มขึ้นมาโดยปริยายอีก 4 คน เป็นควาญช้าง 2 คน เป็นตีนช้างอีก 2 คน 

ก็เพิ่งจะเข้าใจจากนั้นไม่นานว่า ด้วยเหตุใดจึงต้องมีคนเดินคู่ไปกับช้าง แม้ว่าจะมีควาญช้างนั่งอยู้่บนหัวช้างแล้วก็ตาม



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 15, 19:05
ห้วยขาแข้งช่วงพื้นที่ใกล้ปากห้วย โดยเฉพาะในแนวเขตระยะห่างจากตัวห้วยประมาณไม่เกิน 1 กม. เป็นพื้นที่ๆค่อนข้างจะมีการเคลื่อนไหวของมนุษย์อยู่เป็นประจำ จึงทำให้เป็นพื้นที่ๆไม่ค่อยจะพบสัตว์ป่าพวกสัตว์กีบใดๆ   สัตว์ที่พบเห็นเป็นหลักๆ ก็ได้แก่

   - พวกสัตวที่หากินอยู่ในระยะสูงจากพื้นดิน ซึ่งก็มี พวกฟันแทะ เช่น กระรอกธรรมดา พญากระรอกดำ บ่างเล็ก บ่างใหญ่ ลิงหางสั้น (ลิงกัง) ลิงหางยาว (ลิงวอก)  
   - พวกนกต่างๆ เช่น นกแกง นกแก้วแขก นกเขาสายพันธุ์ต่างๆ (เขาไฟ เขาเปล้า เขาเขียว เขาใหญ่) นกกุลุมพู เหยี่ยวอีลุ้ม เหยี่ยวนกเขา นกแสก ไก่ป่า นกกระทา นกคุ่ม ไก่ฟ้า (จำแนกสายพันธุ์ไม่ถูกครับ)    
   - พวกสัตว์หากินกลางคืน เช่น เม่นใหญ่ เม่นขนแบนหางพวง เห็นอ้ม เห็นลาย เห็นแผง (หางปล้อง) และพวกหริ่ง (หน้าหมูตีนหมาและ
หน้าหมาตีนหมู)
   - พวกสัตว์น้ำและครึ่งบกครึ่งน้ำก็มี เช่น กบทูต งูเหลือม ปลาเกล็ดชนิดต่างๆ_ปลาใบไม้ ตะโกก ตะเพียน ปลากั้ง ปลาแมลงภู่ ปลากดหมู


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 26 ต.ค. 15, 19:24
กลับเข้ามาเดินกระทู้ต่อครับ

แล้วผมก็ได้ช้างมา 2 เชือกเพื่อช่วยในการขนสัมภาระ  ตัวผู้อายุประมาณ 20++ ปี กับตัวเมียอายูประมาณ 40++ ปี   แล้วก็ได้คนงานเพิ่มขึ้นมาโดยปริยายอีก 4 คน เป็นควาญช้าง 2 คน เป็นตีนช้างอีก 2 คน 

ก็เพิ่งจะเข้าใจจากนั้นไม่นานว่า ด้วยเหตุใดจึงต้องมีคนเดินคู่ไปกับช้าง แม้ว่าจะมีควาญช้างนั่งอยู้่บนหัวช้างแล้วก็ตาม
[/u]

ขออนุญาตเข้าใจด้วยคนได้ไหมคะอาจารย์ ว่าด้วยเหตุใด ???


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 15, 19:39
อาจจะมีข้อสังเกตว่า มีชื่อสัตว์ (ที่มักจะกล่าวถึงชื่อแบบคล้องจองกัน) ตกหล่นไป

ก็เป็นสัตว์อีกหลายชนิดที่พบในพื้นที่ห่างจากระยะประมาณที่ผมได้กล่าวถึงครับ  ก็มีเข่น นกกก นกยูง นกถึดทือ โขลงช้างป่า งูหลาม สมเสร็จ (ผมเรียกว่าตัวสามกีบ) เก้งธรรมดา เก้งหม้อ กวาง เสือไฟ เสือปลา เสือโคร่ง (ลายพาดกลอน) ระทิงข้อ(เท้า)ขาวและข้อ(เท้า)เหลือง หมูป่า ตะกวด ลิงลม ....










กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 15, 19:58
แล้วก็มีสัตว์ที่สำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจมากๆ   คือ มหิงสา  หรือที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า ควายเพลิด  ซึ่งพบในพื้นที่บ้านเกริงไกร  แล้วซึ่งก็เป็นเหตุที่ทำให้คณะของผมถูกคณะของ จนท.ป่าไม้ติดตามด้วยความระมัดระวังอยู่เดือนนึง (เท่าที่รู้)  ด้วยเกรงว่าคณะของผมเป็นคณะนักล่าสัตว์ป่า  จนกลายเป็นว่าผมต้องออกไปตามพบพวกเขาที่ทับเสลา (ที่ทำการในปัจจุบัน) เพื่อบอกเล่าว่าเราเป็นใคร? เข้าป่ามาทำอะไร?

พบกันแล้วก็ได้เห็นภาพที่น่ากลัวนะครับ เขาใช้ปืนยิงเร็วแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติในคณะที่ติดตามคณะของผม      สภาพของพื้นที่ๆมีทั้ง ผกค. มีนักล่าสัตว์  มีไอ้เสือเอาวา  มีหน่วยจรยุทธไม่ทราบฝ่าย ฯลฯ เหล่านี้  เหตุการณ์อันมิคาดฝันก็จึงอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการตัดสินใจและการขยับที่ผิดที่ผิดเวลาเพียงนิดเดียว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 15, 18:51
ก็เพิ่งจะเข้าใจจากนั้นไม่นานว่า ด้วยเหตุใดจึงต้องมีคนเดินคู่ไปกับช้าง แม้ว่าจะมีควาญช้างนั่งอยู้่บนหัวช้างแล้วก็ตาม
[/u]

ขออนุญาตเข้าใจด้วยคนได้ไหมคะอาจารย์ ว่าด้วยเหตุใด ???

ว่าจะไปเล่ารวมอยู่ในกระทู้ตั้งใหม่เรื่องทำงานร่วมกับช้างครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 15, 19:32
พื้นที่ตอนล่างของห้วยขาแข้งนั้น เนื่องจากว่าเป็นส่วนของลำห้วยช่วงที่ใกล้จะบรรจบกับแม่น้ำ (แควใหญ่) พลังการกัดเซาะของน้ำไหลจึงปรับเปลี่ยนไปจากการกัดเซาะหนักไปลงไปทางลึก เป็นการกัดเซาะหนักออกไปในทางราบ (ซึ่งเป็นธรรมชาติตามปกติ)  ทำให้กลายเป็นพื้นที่หุบห้วยกว้างมากกว่าที่จะเป็นหุบห้วยแบบ V shape ในพื้นที่ตอนต้นน้ำ 

เมื่อประกอบกับดินตื้นๆที่รองรับด้วยดานหินปูนที่อยู่ไม่ลึก ป่าจึงเป็นพวกป่าแห้งๆ เป็นป่าเบ็ญจพรรณ หรือเป็นป่าดิบแล้ง ต้นไม้ส่วนมากจะมีขนาดไม่ใหญ่ (คือไม่เกินขนาดโอบรอบได้) ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เห็นเป็นหลักก็มี ต้นไทร ต้นมะค่าโมง และต้นยาง ต้นไม้ทั้งสามชนิดนี้มักจะพบเห็นว่ามีกระเช้าสีดาและรังผึ้งหลวงเกาะอยู่ แล้วก็ยังมีกล้วยไม้ป่าบางชนิดด้วย

นอกจากป่าในลักษณะดังกล่าวแล้ว ก็มีดงป่าไผ่หนาม (ชัดป่าไผ่) ที่เดินผ่าไปลำบากมาก  มีไผ่ที่เรียกว่าไม้บงที่ขึ้นทั้งในลักษณะเป็นกอใหญ่แซมอยู่บริเวณชายป่าไม้จริง  มีไผ่ที่เรียกว่าไผ่รวกขึ้นกระจัดกระจายในที่ๆมีหินโผล่เยอะๆและมีดินแห้งๆ  มีไผ่ที่เรียกว่าไม้ไร่   แล้วก็มีไผ่ที่เรียกว่าไผ่หก ซึ่งขึ้นในพื้นที่ชื้นตามร่องห้วยแยก มีลำต้นส่วนโคนขนาดโคนขาของเรา มีหน่ออ่อนๆสูงขนาดเอว ฟันกันเหนื่อยกว่าจะตัดมันออกมาได้ แถมหนักมากขนาดแบบคนเดียวเกือบจะไม่ไหว   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 15, 19:42
เมื่อเดินสูงขึ้นไปบนตลิ่งห้วย ไปจนถึงขอบของหุบ ก็อาจพบส่วนที่เป็นพื้นที่ๆโล่งๆคล้ายสนามหญ้า มีพวกต้นไม้ผล (มะกอกป่า มะขามป้อม และที่ไม่รู้จักชื่ออีก) อยู่ชายขอบที่สัตว์กีบมาเก็บผลกิน  เนื้อที่สนามหญ้านี้ก็คงอยู่ที่ประมาณ 10+ ไร่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 15, 22:38
พอจะเห็นสภาพทางภูมิประเทศและป่าไม้แล้วนะครับ    ก็เล่ามาเพื่อจะเอารายชื่อสัตว์ที่ได้กล่าวถึงมาก่อนหน้าแล้วนั้นใส่เข้าไป  เพื่อทำให้เป็นป่าที่มีชีวิต คือมีทั้งพืชและสัตว์ แถมด้วยคนที่เดินท่อมๆอยู่ในพื้นที่  ซึ่งทั้งสัตว์และคนต่างก็ทำมาหาเลี้ยงชีวิตไปตามวิถีของระบบนิเวศน์

ก่อนจะต่อเรื่องไป  ยังมีอีกสภาพหนึ่งที่เรามักจะคิดไม่ถึง คือ เมื่อเราเห็นว่ามีแม่น้ำสายใหญ่ และห้วยขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ เราก็มักจะนึกว่า พื้นที่ผืนป่านั้นจะมีความชุ่มชื้น เป็นป่าที่มีเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ปกคลุมปิดบังแสงแดด คล้ายกับเรากางร่มกันแดด จึงเป็นป่าที่ร่มเย็นสบาย   แท้จริงแล้ว สภาพป่าแบบที่กล่าวถึงนี้จะพบอยู่ทางภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีความชื้นสูงและฝนตกชุก และยังพบได้ตลอดทิวเขาตะนาวศรี  แต่พอลงจากทิวเขาตะนาวศรีเข้าสู่ที่ราบลอนคลื่น ก็จะเป็นพื้นที่ค่อนข้างแห้งเป็นส่วนมาก คงเหลือผืนป่าที่มีระดับความชื้นสูงไม่มากแห่งนัก

สำหรับพื้นที่ใน จ.กาญจนบุรี   พื้นที่ทั้งสองฝั่งของแควใหญ่และแควน้อย รวมทั้งของห้วยสาขาที่มีขนาดใหญ่ (เช่น ห้วยขาแข้ง ห้วยเขย่ง ห้วยบ้องตี้) เมื่อขึ้นฝั่งพ้นจากลำน้ำแล้ว กลายเป็นที่ๆแล้งไม่มีน้ำ    ครับ..ทำงานอยู่กับน้ำ แต่เมื่อขึ้นฝั่งแล้วขาดน้ำกินน้ำใช้   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 15, 22:55
สัตว์ป่าในห้วยขาแข้งเกือบทั้งหมดในสมัยที่ผมเดินทำงานนั้น ล้วนแต่ไม่กลัวคน เจอะเจอกันก็ยืนจ้องมองกัน เป็นสิ่งดีๆที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสและมีความประทับใจมาก  เป็นที่ๆเราจะเดินหลบสัตว์ เพื่อจะได้ไม่ทำให้เขาตกใจ และจะได้แอบสังเกตเขา  ขนาดนั่งทานข้าวกันในห้วย ก็ยังมีสัตว์มายืนเมียงเรา มากไปกว่านั้นก็ยังมีแบบเดินข้ามห้วยไปไม่ห่างจากที่เรานั่งทานข้าวกันมากนัก

จะค่อยๆพยายามเล่าเรื่องของสัตว์แต่ละชนิดไปนะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 15, 18:46
..ในน้ำมีปลา..

ห้วยขาแข้งเป็นห้วยน้ำไหลเกือบตลอดทั้งปี (running stream) มิใช่ไหลตามช่วงเวลา/ฤดูกาลของปี (intermittent stream) มีทั้งเกาะแก่งและวังน้ำเหมือนกับแม่น้ำแคว แต่เป็นแบบย่อส่วนทั้งในเชิงของขนาดและความรุนแรง  น้ำลึกตามแก่งก็ประมาณระดับหัวเข่า น้ำลึกในวังน้ำก็ประมาณเกือบๆท่วมหัว  บางช่วงก็มีน้ำใส บางช่วงก็น้ำขุ่น

ในบริเวณที่เป็นวังมีน้ำใสนั้น จะเห็นฝูงปลาต่างชนิดกันว่ายสวนทางกัน 3-4 ระดับเลยทีเดียว เป็นปลาเกล็ดสีขาวสะท้อนแสงทั้งนั้น   กล่าวได้ว่ามีปลาชุกชุมมากจริงๆ    ซึ่งสาเหตุที่มีปลาชุกชุมก็น่าจะมาจาก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก..ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นไม่นิยมจับปลา ที่จริงแล้วผมก็ไม่เคยเห็นอุปกรณ์ดักหรือจับปลา (ไซ ตุ้ม...อะไรพวกนี้) หรือเบ็ดตกปลา หรือตะครัดดักปลา(ตาข่าย)ตามบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้เลย    เรื่องที่สอง..มันเป็นพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนเมือง เป็นพื้นที่ๆมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนน้อยมาก และผู้คนในพื้นที่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างเพียงพอกับของที่มีและที่หามาได้ด้วยวิธีการแบบธรรมชาติ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 15, 19:06
อาจจะเกิดข้อสงสัยแล้วว่า แล้วกะเหรี่ยงไม่กินปลากันหรือไร  เขาก็กินปลากันครับ แล้วก็มีทั้งแบบต้ม แบบเผา และแบบแอบ (หมกไฟ) ไม่มีเพียงแบบทอดในน้ำมันเท่านั้นเอง (ไม่มีน้ำมันมากพอสำหรับการทอด)  อ้อ..แล้วก็ไม่มีแบบนึ่งอีกด้วย (ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการนึ่ง)

ตามมาด้วย  อ้าว..แล้วเขาจับปลากันอย่างไร    ก็มีอยู่สามวิธีด้วยกัน ได้แก่ การวิดปลา..(วิดน้ำออกจากแอ่งให้แห้งพอที่จะจับปลาได้) ซึ่งเกือบทั้งหมดจะทำในบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำตามแก่งต่างๆ เมื่อระดับน้ำในห้วยลดลง  วิธีที่สอง..การฟันปลา  วิธีการนี้เป็นการหาปลาตอนกลางคืน โดยเขาจะใช้คบเพลิงที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ เดินส่องไปตามริมห้วย เมื่อพบปลาก็จะใช้มีดฟันเอา  และวิธีที่สาม..การงัดก้อนหินตามพื้นท้องห้วย จับปลาที่ซ่อนหลบซ่อนอยู่ใต้ก้อนหินนั้น       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 15, 19:31
วิธีการแรก จะได้ปลาตัวเล็กๆ รวมทั้งปูตัวเล็กๆ  แล้วเอาไปทำแอบกินกัน   ทำไม่ยากและก็ง่ายมาก ส่วนผสมก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเกลือ พริก และผักที่หาได้จากริมห้วย (เช่น ผักกูด) เอามาห่อใบตองแล้วก็หมกขี้เถ้าร้อนๆใต้กองฟืนบริเวณสามขาที่ตั้งหม้อหุงข้าว

วิธีการที่สอง จะได้ปลาตัวใหญ่หน่อย ก็มักจะเป็นขนาดฝ่ามือขึ้นไป  ปลาที่ได้ทั้งหมดจะเป็นพวกปลาที่มีเกล็ดขาววาวและมีทรงคล้ายปลาตะเพียน (ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาตะโกก..)   ได้มาแล้วก็เอามาทำกินในสองเมนูง่ายๆ คือต้มใส่เกลือ ซดน้ำ กับเสียบไม้ย่างให้สุกและแห้งพอประมาณ แล้วแกะเอาเนื้อมาตำน้ำพริก

วิธีการที่สาม จะได้พวกปลากั้ง ลักษณะตัวคล้ายปลาช่อน มีหัวโต และซึ่งที่ปลายครีบหลังและปลายหางจะมีสีแดง    อาจจะได้ปลาดุกห้วยและปลากดห้วย (ปลากดหมู ?)   แต่กะเหรี่ยงไม่นิยมปลาหนัง ก็เลยเหลือแต่ปลากั้งที่จะเอาไปต้มหรือเสียบไม้ปิ้ง ทำเป็นเมนูต้มหรือน้ำพริก 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 15, 19:46
แต่สำหรับทีมผมนั้น วิธีการแรก จะไม่ใช้เลย ยกเว้นแต่เมื่ออดอยากแล้วไปพบว่ามีลูกอ๊อดของเขียดแลวหรือกบทูตอยู่ในแอ่งน้ำนั้นๆ  ซึ่งตัวมันนั้น เมื่อแก่ได้ที่ เริ่มมีขาโผล่ให้เห็นออกมา มันก็จะมีขนาดประมาณนิ้วหัวแม่โป้ง  ท้องใสจนเห็นใส้เป็นขดสีดำ   จับได้ไม่กี่สิบตัว ผ่าท้องบ้าง ไม่ผ่าบ้าง ก็พอหม้อแกงต้มยำน้ำใสแบบโฮกอือ จะเหลืออะไรล่ะครับ หากมีเหล้าก็ต้องเป็นได้เมากันแน่

     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 15, 20:16
สำหรับวิธีการที่สอง การฟันปลานั้น  ทีมของผมใช้บ่อยมาก  แต่ต่างไปจากแบบของพวกกะเหรี่ยงที่เดินตามริมน้ำ   แบบของพวกผมคือ เดินลุยไปในน้ำเลย คนหนึ่งหิ้วตะเกียงเจ้าพายุเดินนำหน้าช้าๆ ค่อยๆย่างไป อีกสองสามคน+ไฟฉาย เดินตามไปยังตำแหน่งที่เห็นปลา มือถือมีดให้มั่นพร้อมฟันอยู่ใต้ผิวน้ำ ใช้ไฟฉายส่องตัวปลา เห็นแก้มเหงือกปลาพะงาบๆ ครีบยังไหวโบกอยู่  เงื้อมมีดเข้าไปฟัดหัวฉับเลย ปลามันไม่ขยับหนีไปใหนก็เพราะมันหลับอยู่ครับ  สักชั่วโมงสองชั่วโมงก็ได้มากพอกินไปสองสามมื้อทีเดียว    ก็แปลกอยู่ประการหนึ่ง คือ ไม่เคยได้ปลาหนังเลย หรือพวกปลาหนังชอบซ่อนอยู่ตามหลืบ

ดูง่ายดีครับ แต่ก็มีอันตรายพอได้อยู่เหมือนกัน   จะฟันเอาหัวงูก็หลายครั้งอยู่พอควรเลยทีเดียว  งูมันก็ชอบซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินด้านผนังห้วย โผล่ให้เห็นมาแต่หัว ดูคล้ายกับพวกปลากั้ง  ไม่รู้ว่างูมันหลับหรือมันตื่นอยู่   รู้แต่ว่ามันเป็นหน้าที่ๆเราที่จะต้องหลบหลีกมัน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 15, 17:42
ส่วนวิธีการที่สาม งัดหินออกมาดูนั้น ผมก็งัดดูไปตามประสาความอยากรู้ว่ามีปลาหรือไม่เท่านั้น  ปลากั้งก็ไม่นิยมจับมาเป็นอาหาร ตัวมันผอมไม่สมส่วนกับหัวที่โตของมัน แถมยังมีคำขู่ของชาวพรานไพรผนวกไว้อีกด้วยว่า กินปลากั้งแล้วจะหัวสั่นหัวคลอน    ผมคิดว่า ชื่อดั้งเดิมของมันคงจะเรียกกันว่า ปลาก้าง เพราะมีเนื้อไม่มาก


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 15, 18:26
อีกวิธีการจับปลาบที่มีการกระทำที่บริเวณปากห้วยขาแข้ง คือ การระเบิดปลา ก็ทำโดยคนจากถิ่นเมืองที่เข้ามาทำไม้ในพื้นที่   

วิธีการระเบิดปลานั้น ดูจะเป็นวิธีการที่นิยมกระทำโดยคนจากต่างถิ่น ผมได้พบเห็นในทุกแม่น้ำในภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นวังน้ำที่มีน้ำลึกประมาณท่วมหัวคน  ใช้คนสองคนและมีทั้งการใช้เรือและใช้แพไม้ไผ่

ปลาที่ได้จากการระเบิดจะมีลำใส้และแตก กินไม่อร่อยหรอกครับ เพราะว่าปลาจะมีรสขมเพราะดีปลาแตกกระจาย  การระเบิดปลานี้เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างเด็ดขาด เพราะว่าปลาและสัตว์น้ำทั้งหลายในบริเวณที่ระเบิดจะตายหมด ซึ่งหมายความว่า ในวังน้ำนั้นเกือบจะไม่หลงเหลือสัตว์ใดๆเลย ยิ่งหากหย่อนระเบิดกันทุกวังน้ำ ก็หมายความว่า ทั้งห้วยนั้นก็จะไม่มีปลาเหลือให้กินอีกต่อไป    นอกจากนั้นแล้วเมื่อปลาตายลอยขึ้นมา ก็ยังตามจับปลาที่หงายท้องลอยไปตามน้ำไม่ค่อยจะทันอีกด้วย 

ผมเห็นที่ใหนก็ต้องขอร้องและพยายามอธิบายความเสียหายถาวรที่จะเกิดขึ้น ก็ได้ผลอยู่พอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเราเป็นราชการ หรือไม่เขาก็เข้าใจสิ่งที่เราอธิบาย     ตัวอย่างหนึ่งที่มักจะยกขึ้นมากล่าวถึงก็คือ เรื่องของพวกนักระเบิดปลาที่ชอบแกล้งกัน คือใช้เท้าถีบก้นคนหย่อนหรือโยนระเบิดให้ตกลงไปในน้ำพร้อมกับระเบิดที่โยนลงไป  ดูจะเป็นการแกล้งกันที่รุนแรงนะครับ ที่จริงแล้วก็ไม่หนักหนาสาหัสเพียงใด ด้วยว่าแท่งระเบิดที่ใช้และบรรจุในกระบอกไม้ไผ่นั้น ไม่ทำให้เกิดแรงอัดที่รุนแรงกับตับไตใส้พุงของคนมากนัก   เพราะใช้แท่งระเบิดท่อนสั้นๆที่ตัดแบ่งออกมาใช้   สมัยนี้ไม่มีแล้วครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 15, 19:03
เนื่องจากลักษณะงาน (สำรวจทำแผนที่ธรณีฯ) ของพวกผม ทำให้วิธีการทำงานต้องเคลื่อนที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ใกล้ๆกับลักษณะค่ำใหนนอนนั่น  ผมจึงไม่มี base camp  จะนอนซ้ำที่เดิมก็ไม่มากไปกว่า 3 วัน แล้วก็ย้ายแคมป์ต่อไป  เมื่อใดที่จะเดินออกห่างจากห้วยหลัก ก็จะเข้าไปในบริเวณที่ๆเกือบจะไม่มีแหล่งน้ำ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า แหล่งอาหารจะจำกัดมาก   ก็ต้องมีการเตรียมสะเบียงอยู่พอควรเลยทีเดียว

เมื่อประกอบกับในห้วยขาแข้งนั้น ความต่างของอุณหภูมิระหว่างเย็นกับอบอุ่นนั้น ห่างกันมาก  ช่วงเช้ามืด (ตีสาม ตีสี่) ปรอทลงไปถึง 4 องศาได้เลยทีเดียว ปรกติก็จะอยู่แถวๆ 7-10 องศา  พอเห็นแสงอาทิตย์รำไรใต้ทิวสันเขา อุณหภูมิก็จะสูงขึ้นพอที่จะเริ่มกิจกรรมต่างๆได้อย่างคล่องตัว   พอตกประมาณบ่าย 3 โมง แสงอาทิตย์เริ่มถูกบังด้วยสันเขา เท่านั้นเอง..ความเย็นก็เริ่มเยือน แล้วยังเย็นลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย    ช่วยกันตั้งแคมป์เสร็จก็อาบน้ำไม่ไหวแล้วครับ ไม่สะบายแน่ๆ   ก็เลยเป็นเรื่องปรกติที่จะฮัมเพลง 7 วันอาบน้ำหนเดียว 

ที่จริงก็เพียง 3-4 วันเท่านั้น ผมก็จะหยุดตั้งแคมป์แบบไม่ย้ายที่สัก 2-3 คืน ก่อนที่จะย้ายแคมป์เดินต่อไป   มิใช่หยุดทำงานนอนพักนะครับ แต่เป็นการหยุดด้วยหลายวัตถุประสงค์ คือ ซักผ้า (เพื่อลบรอยแผนที่บนผ้าแผ่นหลังเสื้อ)  ทำความสะอาดร่างกาย (ด้วยเหม็นสะสมกันมาหลายวัน) รวบรวมและประมวลข้อมูล (วิเคราะห์แล้วแผนว่าจะเดินไปทางใหนที่จะได้ข้อมูลมากที่สุดต่อไป) เดินสำรวจเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมรอบๆพื้นที่แคมป์ (วงรัศมีระหว่าง 5-10 กม.)   แล้วก็ตรวจสะเบียง เตรียมและสะสมสะเบียงสำหรับการเดินต่อไป   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 15, 19:39
สะเบียงสะสมที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งนอกจากข้าวแล้ว ก็คือปลา เพราะหาได้ง่ายและได้มาก

ทีมผมใช้ตะครัด (ตาข่าย) ขนาดตา(ข่าย)ประมาณ 2 นิ้วมือ  ปลาเล็กก็จะรอดไปได้ ปลาใหญ่ก็จะติด ก็ได้ตัวปลาขนาดประมาณฝ่ามือขึ้นไป 

ฤกษ์ลงตะครัดก็ประมาณ 9 โมงเช้า เพราะยังอยู่ในช่วงเวลาที่น้ำยังอมความร้อน อุณหภูมิของน้ำ (ตามหลักก็จะประมาณ 25+/- องศา) ซึ่งจะสูงกว่าอากาศที่เย็น  ทำให้เมื่อเราลงน้ำไปแล้วจะรู้สึกอุ่น แม้ว่าอากาศจะเย็นมากก็ตาม

จัดการคลี่ตะครัด เอาก้อนหินผูกปลายตีนตะครัดเป็นระยะ แล้วขึงทะแยงขวางลำห้วยขาแข้ง  ยังขึงไม่เสร็จเลย ปลาก็ติดตาข่ายแล้ว  ทุกคนก็สนุกล่ะ ต้องลงน้ำมาช่วยกันปลดปลาออกจากตาข่าย แล้วโยนขึ้นฝั่งบ้าง เดินเอาไปวางบนฝั่งบ้าง ต่างคนต่างก็ไม่ค่อยจะสันทัดกรณีการหากินแบบนี้  รู้เลยว่าปลดปลาแต่ละตัวได้ช้ามาก ช่วยกันปลดปลาอยู่จนใกล้เที่ยงก็ยังไม่หมด   คราวนี้ก็หนาวปากสั่นกันหมด  ก็เลยต้องตัดสินใจปลดตะครัด ลากขึ้นมาบนตลิ่ง  มาช่วยกันปลดปลาต่อ 

ได้ปลามาก็ไม่มากไม่น้อย หลายสิบตัวอยู่เลยทีเดียว กะเหรี่ยงมาดูก็แบ่งปันให้ไปทำกินกัน  ทำให้ได้มิตรมาอีกเยอะเลยทีเดียว แล้วข่าวความดีความไม่มีพิษภัยของคณะผมก็แพร่กระจาย ก็ทำให้ผมทำงานได้อย่างสะบายใจและเพิ่มหูตาสับปะรดให้กับผมอีก   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 15, 19:55
น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

บ้านโน้นของคุณ NAVARAT C. เขามีเรือแล้ว   ที่บ้านผมยังไม่มีเสือเลย    แล้วจะรอดไหมเนี่ย  ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 15, 18:52
ย้อนนึกไปถึงครั้งหนึ่ง ในแควใหญ่บริเวณน้ำค่อนช้างนิ่งละแวกปากลำขาแข้ง ได้ลองปล่อยเบ็ดตกปลาระหว่างนั่งทำบันทึกรวบรวมงานที่ได้จากการสำรวจมา ปลายสายเอ็นก็ผูกไว้กับขอนไม้ใหญ่  เบ็ดแรกเจอตัวยักษ์เข้าไปขนาดเอ็นขาดเลย ไม่รู้ว่าตัวอะไร ได้แต่เดาว่าน่าจะเป็นพวกปลาคัง (ผมเรียกขานว่า ไอ้คังหางแดง) หรืออาจจะเป็นปลาแค้ (ผมเรียกขานว่า ไอ้หลาม_ฉลาม_น้ำจืด) หรือไม่ก็ปลากรายตัวใหญ่

แล้วก็อีกครั้งหนึ่งในห้วยขาแข้งนั้นแหละ ลงไปอยู่กันในน้ำช่วยกันปลดปลา แล้วโยนปลาไปบนหาด  โยนปลาไปได้ไม่ถึง 10 ตัว ก็ถูกแมวขโมยโฉบลงมาจากฟ้า ใช้อุ้งเล็บจับปลาแล้วบินหนีขึ้นสูงไปสู่ยอดไม้เลย เป็นภาพที่ประทับใจผมและพรรคพวกมากๆ  ทุกคนได้แต่มองตามมันไป   ครับ เป็นเหยี่ยวอีลุ้ม ตัวก็ขนาดประมาณไก่ชนวัยกระเตาะ ก็เป็นนกเหยี่ยวที่ตัวใหญ่พอสมควร จัดเป็นพวกเจ้าพ่อในท้องฟ้าของถิ่นไกลปืนเที่ยงเหมือนกัน 

จะว่าไปแล้ว สำหรับเหยี่ยวอีลุ้มนี้ พื้นที่ๆผมได้พบเห็นมากที่สุดและบ่อยที่สุดก็คือพื้นที่ในห้วยขาแข้งและแควใหญ่ตอนบน  และรวมทั้งเหยี่ยวนกเขาด้วย    ซึ่งสำหรับเหยี่ยวนกเขานั้น พบได้ตลอดแอ่งลำขาแข้งและเหนือขึ้นไปจนในเขตป่าแม่วงก์


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 15, 18:58
แล้วก็เป็นภาพประทับใจมากๆเพิ่มขึ้นอีกก็เพราะ มันมีการโฉบลงมาเอาครั้งที่สอง แต่จะเป็นตัวเดิมหรือไม่นั้นไม่ทราบ และซึ่งการขโมยครั้งที่สองนี้ บินขึ้นไปแล้วซวย ปลาหลุดจากอุ้งเท้า หล่นตกลงมา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ต.ค. 15, 19:45
ไม่รู้จักนกชนิดนี้ อยากเห็นหน้า เลยไปค้นในกูเกิ้ล ได้ภาพนี้มาค่ะ ใช่ไหมคะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 15, 20:17
สัตว์ปีกทุกชนิดกระมัง?ครับ ที่ถูกไล่ล่านำมาเป็นอาหาร  แต่ก็มีข้อยกเว้น/ข้อห้ามที่ยึดถือกันในกลุ่มหมู่คนต่างๆ (ต่างชาติต่างภาษา) ว่าควรล่าหรือมิควรล่าสัตว์ปีกชนิดใด

สำหรับไทยเรานั้น ก็มีกลุ่มที่เชื่อว่า สัตว์ปีกตัวใหญ่บางพันธุ์นั้นมิควรจะไล่ล่านำมาเป็นอาหาร ด้วยเหตุผลต่างๆเยอะแยะ    แต่ก็มีเหตุผลพื้นฐานที่ต่างกัน 2 ประการคือ ความเชื่อในเชิงทางสังคมและวัฒนธรรม   และความเชื่อในเชิงของการนำมาทำอาหาร


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 15, 20:30
ไม่รู้จักนกชนิดนี้ อยากเห็นหน้า เลยไปค้นในกูเกิ้ล ได้ภาพนี้มาค่ะ ใช่ไหมคะ

มิใช่ครับ ภาพนั้นเป็นนกอีลุ้มครับ

สำนึกขึ้นมาได้ว่า มีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกมัน คือ เหยี่ยวอีรุ้ง  และที่ผมหมายจะกล่าวถึงจริงๆตามชื่อเรียกขานทางวิชาการจริงๆก็คือ เหยี่ยวอีรุ้งครับ 

ผมก็กลับไปค้นหาภาพในกูเกิ้ล  เหยี่ยวอีลุ้มหรืออีรุ้งที่ผมกล่าวถึง มีรูปร่างหน้าตาดังภาพครับ(http://)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 15, 20:36
http://www.oknation.net/blog/charlee/2012/03/27/entry-2 (http://www.oknation.net/blog/charlee/2012/03/27/entry-2)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 15, 18:29
เข้าไปหาข้อมูลเหยี่ยวอีลุ้มหรือเหยี่ยวอีรุ้งเพิ่มเติมใน net  ได้พบว่าเหยี่ยวอีลุ้มก็มีเหมือนกัน มีขนเนียนไปทั้งตัว?   เหยี่ยวที่ผมพูดถึงคือเหยี่ยวอีรุ้งครับ มีขนออกเป็นสีน้ำตาลและมีลายดอกสีขาว   ผมอาจจะฟังการออกเสียงของชาวบ้านสับสนหรือผิดไปเลยครับ  ขออภัยด้วย  :-[



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 15, 19:04
ย้อนกลับไปเรื่องนกขนาดใหญ่ที่มิควรไล่ล่ามาเป็นอาหาร

ความเชื่อว่ามิควรประการแรก คือ นกขนาดใหญ่นั้นมักจะมีคู่เป็นตัวเป็นตนเดียวตลอดชีวิต  การไล่ล่าทำให้ตัวหนึ่งตายลง จะทำให้อีกตัวหนึ่งต้องเกิดความเศร้าหมองและตายตามโดยเร็ว  เป็นความเชื่อที่เชื่อกันแม้ในหมู่ชาวบ้านป่า  จริงเท็จประการใดผมไม่ยืนยัน แต่เคยอยู่ในเหตุการณ์บางอย่าง

ประการที่สอง คือ มีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า ในงานเลี้ยงสังสรรใดๆ หากเราไปจับเป็ดหรือห่านที่เลี้ยงไว้มาทำอาหารเลี้ยงกัน อีกไม่นานก็จะต้องแตกคอกัน   ก็น่าฟังและดูจะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน

ประการที่สาม คือ นกขนาดใหญ่จะมีหนังเหนียว การนำมาทำอาหารจึงมักจะต้องถลกหนังเสียก่อน เป็นเรื่องของการเพิ่มความยุ่งยากเข้ามา นอกจากนั้นแล้วยังมีเนื้อสีก่ำ (สีคล้ำหรือสีแดง) ดูไม่น่ากิน     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 15, 19:52
นกหรือสัตว์ปีกที่ไม่ไล่ล่านำมาทำอาหารกินนั้น เท่าที่ผมพอจะมีความรู้และประสพการณ์นะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกกินสัตว์และแมลง เช่น นกกะปูด นกแซงแซว นกกางเขน เหยี่ยวทั้งหลาย นกหัวขวาน (พบมากในพื้นที่ ต.วังด้ง กาญจนบุรี)

ส่วนนกที่ไม่นิยมไล่ล่า ไม่เอาเนื้อมากิน แต่ก็มีทีเผลอหวังได้เงิน ก็ได้แก่ นกกก (นกกาฮัง นกเงือก) นกแกง นกยูง (ยกเว้นสีดอ)   

แล้วก็มีนกที่เมื่อเห็นแล้วชาวบ้านรู้สึกอยากอาหาร เปรี้ยวปากขึ้นมาทันที ก็มี อาทิ นกเขาเปล้า นกกระทาดง (นกคุ่ม) 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 15, 20:23
ขอย้อนกลับไปเรื่องปลาเพื่อจะได้จบเรื่องนะครับ

ปลาที่ได้มา ส่วนมากก็เอามาผ่าท้อง แล้วแล่ให้แยกออกเป็นสองฝา คลุกเกลือในกระแป๋งน้ำ เอาตอกร้อย แล้วก็แขวนตากกับราวไม้ไผ่

แล้วก็มีที่เอามาทำเป็นอาหารทั้งแบบกับแกล้มและอาหารสำรับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 15, 18:22
หายไปหลายวันครับ  กิจกรรมในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพทั้งนั้นครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 15, 18:23
เรียบร้อยดีนะท่านนายตั้ง สบายตัวมาละซี


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 15, 18:27
ก็เรียบร้อยสบายดีแบบกล้าๆกลัวๆ แต่ก็รอดมาได้ด้วยดีครับ  ยังไม่รู้ว่าอีกสองสัปดาห์จะตกบ่อตกหลุมอะไรหรือเปล่า  ???


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 15, 18:47
ต่อเรื่องทำอาหารจากปลานะครับ

ปลามีเกล็ดรูปทรงแบบปลาตะเพียนนั้น เป็นพวกปลาที่มีก้างแซมอยู่ในเนื้อทั้งนั้น และด้วยความรู้ของชาวถิ่น นัยว่าก็เป็นพวกปลากินพืชทั้งนั้น   
พ่อครัวสุมหัว (คนในคณะทั้งหมด) เห็นพ้องต้องกันว่ามีเมนูปลาที่ทำได้อยู่หลายเมนูเลยทีเดียว คือ เสียบไม้ปิ้ง (ย่างมอญ) วางปิ้งบนไม้บัดแตะห้อยบนเสาสามขา (รมควัน)  ลาบ และนึ่ง

ปลาที่จะนำมาทำเป็นเมนูที่กล่าวถึงเหล่านี้ ทั้งหมดจะต้องผ่าท้องเอาใส้พุงออก ส่วนการขอดเกล็ดนั้น จะทำเฉพาะกับปลาส่วนที่เอามาทำลาบเท่านั้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 15, 18:59
ด้วยที่เห็นว่า ปลาที่ได้มานั้นเป็นปลากินพืช  ตับไตใส้พุงของมันก็น่าจะกินได้ ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ ก็เลยเก็บรวบรวมไว้ สับๆพอให้ไม่รวมกันเป็นกระจุกเป็นพวง จากนั้นก็จัดการตั้งกระทะให้ร้อน คั่วพริกแห้งให้หอม เอาพริกคั่วออกมาโขลกให้เป็นพริกป่นหยาบๆ  เทน้ำมันลงกระทะร้อนๆเอาตับไตใส้พุงปลานั้นลงไปผัด ใส่เกลือลงไป ตามด้วยพริกคั่วที่ตำไว้ ชิมดูพอให้ออกรสเค็มและเผ็ด  ก็กลายเป็นน้ำพริกใส้ปลา กินกับผักที่ขึ้นตามห้วย ซึ่งก็มีอยู่ชนิดเดียว คือผักกูด เด็ดเอายอดอ่อนมาต้ม   ครับก็อร่อยพอซีดปากซีดคอกันได้  น้ำพริกนี้จะมีรสชาติออกขมนิดๆ เพราะว่ามันมีดีปลาที่ไม่สามารถจะทำการแยกออกได้มากนัก   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 15, 19:09
สำหรับทำปลาแบบย่างมอญนั้น ง่ายครับ  เหลาไม้ไผ่เสียบไปตามความยาวของตัวปลา ถ้าอยากจะให้ปลาที่ย่างนั้นแห้ง ก็เสียบเข้าทางปาก  แต่หากจะให้ได้ปลาที่เนื้อสุกแต่ชื้นฉ่ำ ก็เสียบเข้าทางหาง  เอาปลาที่เสียบไม้แล้วไปปักข้างๆกองไฟที่สุมเพื่อหุงข้าวและทำอาหาร

ปลาคนละตัว ต่างคนต่างแกะ ค่อยๆบรรจงแทะเล็ม ดูดเนื้อออกจากครีบและก้างฝอย จิ้มพริกป่นกับเกลือ ก็อร่อยเหลือหลายแล้วครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 15, 19:35
การย่างแบบวางบนแคร่ไม้ไผ่ขัดแตะที่ห้อยลงมาจากสามขาค้ำยัน ที่ผลเรียกว่ารมควันนั้น ชาวบ้านเขาไม่เรียกว่าเป็นการรมควัน เขาเรียกว่าย่างแห้งเฉยๆ ซึ่งก็คือการรมด้วยความร้อนอ่อนจนแห้ง ซึ่งจะมีกลิ่นควันไฟติดเข้าไปด้วย  เจ้าความหอมที่ต่างกันก็จะมาจากไม้ที่นำมาสุมไฟนั่นเอง

ในกรณีปลา เมื่อย่างแห้งดีแล้ว ก็เก็บเลย   แต่หากเป็นเนื้อสัตว์ ชาวบ้านจะตัดเป็นก้อนๆ ขนาดประมาณเท่ากับกำปั้น แล้วจึงย่างแห้ง  จะให้เก็บได้นานก็จะใช้เวลาย่างไม่น้อยกว่า 3 วัน  เมื่อคะเนว่าเนื้อสุกแต่ข้างในยังฉ่ำอยู่เหมาะดีแล้ว ก็จะราไฟจนเหลือขี้เถ้าร้อนๆ แล้วก็ตัดแคร่ให้ตกลงไปบนกองขี้เถ้าร้อนๆ  ก้อนเนื้อทั้งหลายก็จะคลุกกับขี้เถ้า เนื้อนั้นก็จะเก็บได้อย่างนานเลยทีเดียว   เมื่อใดจะกิน ก็เอามาปัดฝุ่นขี้เถ้า หรือจะล้างน้ำก็ได้   

ลืมบอกไปว่า ต้องคลุกเกลือลงไปด้วยนะครับ แต่ไม่มาก  ก็ประมาณเอาก็แล้วกันนะครับว่า เกลือก็หายาก เนื้อก็หายาก ความสมดุลย์จะอยู่ที่ปริมาณเท่าใด



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 15, 19:33
ก็มาถึงปลานึ่ง    อาจจะแปลกใจว่า ถึงขนาดเอาลังถึงเข้าป่ากันเลยหรือนี่     

ไม่หรอกครับ ก็ใช้หม้อหุงข้าว/หม้อแกงนั่นแหละครับ ทำได้ 2 วิธี คือ ตัดไม้ไผ่มารองก้นในหม้อ ใส่น้ำพอประมาณ ปิดฝาหม้อ แล้วก็ตั้งไฟ  หรือจะเพียงเอาปลาวางในหม้อ เอาน้ำใส่ระดับประมาณครึ่งตัวปลา (ระดับครีบหลัง) ตั้งไฟเลย     

สำหรับการปรุงรสนั้น ก็ตามสะดวก มีเครื่องปรุงอะไรอยู่บ้างก็ใช้ไป  จะใช้ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใส่ลงไป แล้วเอาเกลือโรยบนตัวปลา ก็จะได้ปลากลิ่นต้มยำ   

ดูท่าจะไม่ดีก็แปลงเมนูไปเลย เพิ่มน้ำ เพิ่มเกลือ เพิ่มข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใส่มะขามเปียกลงไปให้ออกรสเปรี้ยว   เตรียมชามแกงใส่น้ำปลาลงไป ใส่พริกแห้งเผา หรือบุบพริกขี้หนูใส่ก็ได้ หากมีมะกอกป่าก็ขวั้นแบ่งเป็นสองฝาใสลงไปทั้งเปลือกและทั้งเม็ด ตักปลาและน้ำใส่ชามแกง ก็หมดหม้อได้เหมือนกัน   

เราสามารถจะแปลงต่อไปได้อีกหลายกลิ่นหลายรสชาติเลยทีเดียว เช่น ด้วยใบกระเพรา ผักไผ่ ผักชีฝรั่ง หอมแดงเผา ผักกูด  ซึ่งจะช่วยระบายท้องดีครับ ก็ด้วยมะขามเปียกนั่นเอง     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 15, 19:37
ทำอาหารปลาดังที่เล่ามานั้น จะทำกับปลาหนังไม่ได้ เพราะจะคาว

สำหรับปลาหนังนั้น ต้องใช้วิธีต้มน้ำให้เดือดพล่านเสียก่อน ใส่เกลือลงไป แล้วจึงค่อยๆใส่ปลาลงไปโดยให้น้ำยังเดือดอยู่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 15, 16:49
แล้วก็ลาบปลา 

เมนูนี้ออกจะห่ามและอันตรายไปหน่อย   ขอดเกล็ดปลา ตัดหัว ควักเครื่องใน สับครีบหลังและครีบท้องออกไป แล่เนื้อออกไปข้างหนึ่ง จากนั้นเอาท่อนไม้ (สาก) ทุบด้านที่มีก้างกลางเพื่อใ้ห้ก้างแตก แล้วจึงเอามีดสับทุกอย่างให้ละเอียด เพื่อกำจัดก้างฝอยที่แซมเนื้ออยู่  ลาบได้ที่ดีแล้วก็ผ่ามะนาวสักลูกหนึ่งบีบลงไปเพื่อทำให้เนื้อปลาสุก (นัยว่าอย่างนั้น)  ซอยหอมแดงใส่ลงไป ใส่เกลือและพริกป่นลงไป คลุกให้เข้ากัน   มันก็อร่อยไปตามมีตามเกิด

ที่ว่าอันตรายก็เพราะมันจะไปทางดิบมากกว่าทางสุก พยาธิคงจะมากเอาการดูอยู่ทีเดียว  อาจจะพอโชคดีอยู่บ้างที่น้ำของห้วยขาแข้งในช่วงเวลานั้น ยังจัดอยู่ในระดับที่ยังเป็นไปตามธรรมชาติอยู่ ยังไม่มีการเจือปนของมลพิษที่มนุษย์นำมาใส่

และเมนูสุดท้ายก็คือน้ำพริกปลา ก็ไม่ยากอะไรเพราะว่าเครื่องปรุงมันก็ไม่ต่างไปจากเมนูนึ่งและลาบ เพียงปรับรสเสียหน่อย ทำให้มันข้นเป็นลักษณะของน้ำพริก ก็ใช้ได้แล้ว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 15, 17:04
เนื่องจากชาวบ้านและคนที่แอบเข้ามาล่าสัตว์ในห้วยขาแข้ง จะใช้เส้นทางเดินเลาะลำห้วยเป็นหลัก  เมื่อสัตว์ป่าเห็นเราเดินมาจึงมักจะหลบไป แต่ก็มิใช่ในลักษณะของการกระโดดโหยงแล้ววิ่งหนีไปด้วยความเร็ว    ดังนั้น เมื่อออกนอกเส้นทางเดินลึกเข้าไปในพื้นที่ตลิ่งทั้งสองฝั่ง เราก็จะเห็นสัตว์ป่ามากมายที่ไม่กลัวคน จะว่าเป็นลักษณะของการไม่รู้จักคนก็คงจะไม่ผิดไปนัก   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 15, 17:32
ไก่ป่า

ไก่ป่าในห้วยขาแข้งมีมากมายจริงๆ พบมากในบริเวณที่เป็นป่าไผ่และพื้นที่ชายขอบรอบๆป่าไผ่     

ป่าไผ่ที่กล่าวถึงนี้ เป็นต้นไผ่ชนิดมีหนาม ที่เรียกกันว่าไผ่ป่า ไผ่พวกนี้มีทั้งที่ขึ้นแบบแซมประปรายอยู่ในป่าเบ็ญจพรรณทั่วไป แบบเป็นกระจุกอยู่ตามตลิ่งห้วย และแบบเป็นดงกว้างและหนาแน่นจนเดินผ่านเกือบจะไม่ได้ ไผ่พวกนี้จะทิ้งใบร่วงอยู่บนดินจนคล้ายพรมที่ปูด้วยใบไผ่  ที่ไก่ป่าชอบก็เพราะใต้พรมใบไผ่นั้นจะมีพวกแมลงและหนอน คุ้นเขี่ยหากินได้  และที่สำคัญจะมีบางต้นบางกลุ่มที่ออกขุย (ออกดอกก่อนตาย) ซึ่งเป็นอาหารอย่างดีที่ทำให้พวกเขาทั้งหลายได้อิ่มหมีพีมัน อ้วนพีกัน   

อาจจะแปลกใจสักนิดว่า ไผ่ที่ออกขุยจึงไม่ตายยกดง   เท่าที่ผมเคยสัมผัสนั้น ก็มีทั้งแบบแยกกันตาย กับกอดคอกันตายยกดง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 15, 18:16
ไก่ป่าบินเก่ง นอนบนคอน (กิ่งไม้) ที่สูงจากผืนดินประมาณ 5 ม. ช่วงหัวค่ำจะมองพื้นดิน นัยว่ากลัวอีเห็นจะมาจับกิน ส่วนช่วงเช้ามืดจะมองฟ้า นัยว่าจะได้ตื่นมาส่งเสียงขันแข่งกัน   นิสัยนี้จึงทำให้มันตกอยู่ในอันตรายกับคนที่รู้เท่าทันมัน

ไก่ป่าชอบคุ้ยเขี่ยเหมือนกับไก่บ้าน มันจึงทิ้งร่องรอยไว้มากมาย ทำให้เรารู้ได้เลยว่ามีพวกมันอยู่ในพื้นที่และมีจำนวนมากน้อยเพียงใด

แม้ว่าเรามักจะเห็นไก่ป่าอยู่เดี่ยวๆในป่า และก็มักจะเป็นตัวผู้เสียอีกด้วย  แท้จริงแล้วมันก็มีฮาเร็มเหมือนกัน  แต่เป็นฮาเร็มแบบไม่หลายตัวเมียนัก ที่ผมเคยเห็นก็สามสี่ตัวกับลูกเจี๊ยบห้าหกตัว  เพียงแต่จะไม่ค่อยก้อร่อก้อติกคอยเบียดแบบไก่บ้าน   ยังกับไก่บ้านแบบเชื่องสุดๆเลยครับ อยู่เป็นฝูง ไม่หนี เดินเข้าไปจนเกือบประชิดตัวก็ไม่หนี  ลูกเจี๊ยบมีสีพื้นเป็นสีเหลืองนวลแต่มีลาย 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 08 พ.ย. 15, 20:54
เมื่อกี้แวบไปหาอากู๋ ขอดูไก่ป่า โอ้โฮ...บางตัวสวยยังกะภาพวาด อาจารย์โชคดีจังเลยค่ะ ได้เห็นไก่ป่าตัวเป็นๆ :D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 15, 18:27
ไก่ป่าพบเห็นได้ทั่วไป ในสวนในไร่ของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กับผืนป่าก็มีไก่ป่าลงมาหากินครับ   ปัจจุบันนี้ก็เห็นมีการเพาะเลี้ยงขายกันอยู่ทั่วไป     

ไก่ป่าตัวผู้นั้นสวย ตัวขนาดใหญ่กว่าไก่แจ้ไม่มากนัก ก็ขนาดประมาณไก่กระทงที่พ่อค้าเขาเอามาทำไก่ย่างทั้งตัว เช่น ไก่ย่างวิเชียรบุรี ไก่ย่างโคราช ไก่ย่างท่าพระ ไก่ย่างบางตาล ไก่ย่างท่าช้าง ...)   แต่ไก่ตัวเมียนั้นเรียกว่าลายพร้อยไปหมด คล้ายก้บลายนิยมผ้าถุงของผู้หญิงชาวบ้าน  ไก่ป่าตัวผู้ไม่ค่อยจะบิน นิยมที่จะวิ่ง เดินส่ายอาดๆ บินระยะสั้นๆพอพ้นภัย   ต่างกับไก่ป่าตัวเมียที่บินเก่ง นิยมที่จะบิน และบินเป็นระยะทางไกล เรียกว่าหนีภัยแบบไม่ต้องตามกันเลย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 15, 18:59
ไก่ป่าตัวผู้จะขันในตอนเช้าเมื่อตะวันเริ่มขึ้นปริ่มขอบฟ้า เสียงดังนะครับ อยู่กันคนละฝั่งหุบเขาก็ยังได้ยิน เราจะได้ยินเสียงขันเป็นจุดๆ เป็นระยะห่างกันไป   เขตใครก็เขตมันครับ เขตของข้าๆใหญ่แต่ผู้เดียวจริงๆ 

สำหรับเสียงไก่ตัวเมียที่ร้องกระต๊ากๆๆ..นั้น ได้ยินน้อยมาก ดูเหมือนว่าจะร้องเฉพาะเวลาตกใจสุดขีดเท่านั้น  ไก่ตัวเมียมักจะส่งเสียงร้องต๊อกๆๆๆ.. เท่านั้น

เมื่อไก่ตัวผู้มีฮาเร็มและมีเขตอาณาของตนเอง ก็หมายความว่า จะมีไก่ป่าตัวเมียมากกว่าตัวผู้   ไก่ป่าตัวเมียก็เลยตกอยู่ในภาวะอันตราย (โดยเฉพาะในช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์)  ชาวบ้านป่าเขาก็เลยล่าไก่ป่าตัวเมียมากกว่าไก่ป่าตัวผู้ ซึ่งเป็นการรักษาสมดุลย์ของธรรมชาติที่มีความเหมาะสม  ผู้ใดไปล่าเอาไก่ป่าตัวผู้มา จะได้รับการแสดงออกของผู้คนในลักษณะที่ดูแคลน หากเกิดขึ้นบ่อยๆ ผู้นั้นก็อาจจะถูกเว้นระยะห่างทางสังคมและการช่วยเหลือในด้านต่างๆ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 15, 19:38
ไก่ป่าตัวเมียนั้น เห็นตัวได้ยากกว่าไก่ตัวผู้ เพราะสีของมันกลืนไปกับสีของใบไม้แห้ง  ต่างกับไก่ตัวผู้ที่เห็นได้ง่ายกว่า   ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แม้ตัวเมียจะมีจำนวนมาก แต่ก็ไล่ล่าได้ยากกว่าไก่ตัวผู้

ไก่ป่าตัวผู้นั้น แม้ว่าจะถูกไล่ล่าน้อยกว่าตัวเมีย แต่มันก็พอมีอันตรายอยู่เหมือนกัน มันเห็นได้ง่ายกว่าตัวเมียแล้วมันก็ถูกหรอกได้ง่ายกว่า มันจึงถูกล่าทั้งเพื่อนำมาเป็นอาหารในช่วงฤดูการฟักไข่ของไก่ตัวเมีย และก็ถูกจับเป็นเพื่อเอาไปทำเป็นไก่ต่อ

เด็ดใบไม้มา 2 ใบ เอามาประกบกัน แล้วจัดวางไว้ระหว่างมือที่พนมไหว้ ให้ทอดยาวคร่อมระหว่างด้านข้างของหัวแม่มือทั้งสอง กับ เนินพระศุกร์ของอุ้งมือ  ลองเป่าดูครับ จะเห็นว่าทำได้ทั้งเสียง ต๊อกๆๆๆ... และเสียง กระต๊ากๆ...   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 15, 19:53
พอเห็นรอยขุดคุ้ยหลายๆรอยในป่าที่มีพรมใบไม้ใบหญ้าแห้ง   เสียง ต๊อกๆๆ.. นั้น แม้จะเบา เดี๋ยวไก่ตัวเมียก็ออกมาโชว์ตัว นัยว่าเข้ามาหาฝูง    แต่หากเห็นเป็นรอยขุดคุ้ยใหม่ๆ ก็ค่อนข้างจะแน่นอนว่า คงจะมีตัวผู้ออกมาโชว์ตัวก่อนตัวเมีย นัยว่าจะเข้ามาต้อนตัวเมียเข้าฮาเร็มเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับเสียง กระต๊ากๆๆ..นั้น  จะเป็นการเรียกตัวผู้ให้เข้ามา ตามประสานักเลงว่าเกิดอะไรขึ้น หรือ ใครเข้ามาทำอะไรในเขตฮาเร็มของฉัน   แต่หากว่าทำเสียงกระต๊ากดังเกินไป หรือแบบดังๆเพื่อให้ได้ยินไปไกล มันก็ไม่เป็นธรรมชาติ  ไก่ป่าก็จะหายไปหมด ไม่ย่องกรายเข้ามาเลยสักตัวเดียว แถมจะไล่ฮาเร็มอื่นๆให้หนีไปอีกด้วย 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ย. 15, 18:38
มาถึงเรื่องของไก่ต่อ

เมื่อใดที่เห็นชาวบ้านกระเตงตะกร้าทรงมนยาวรี แล้วเห็นไก่ตัวผู้ขนาดประมาณไก่กระทงอยู่ในนั้น  นั่นแหละครับ เขากำลังจะไปต่อไก่ด้วยไก่ต่อตัวที่สะพายบ่าไปนั้น  แต่หากไก่นั้นตัวใหญ่ มันก็คือไก่ชน 

เท่าที่ทำงานมาในหลายพื้นที่ ผมเห็นว่าคนนิยมใช้ไก่ต่อกันในพื้นที่ด้านตะวันตกของภาคกลางมากกว่าในพื้นที่อื่นๆ  ในพื้นที่ภาคเหนือมีน้อยมากและมักใช้วิธีดักจับด้วยแล้ว ในภาคอีสานส่วนมากจะเป็นการต่อนกคุ่มและนกกระทาดง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ย. 15, 19:05
ไก่ต่อนั้น มีทั้งการเลี้ยงไว้ในลักษณะเพื่อจับไก่ตัวอื่นมากิน และเลี้ยงไว้ในลักษณะสัตว์เลี้ยง ของหายาก ของที่ใช้อวดโชว์ และของที่มีค่า

ไก่ต่อแต่ละตัวจะมีลักษณะและมีความสามารถเฉพาะตัวในเรื่องต่างๆกัน คุณสมบัติเบื้องต้นที่มันต้องมีพอที่จะทำให้มันได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ก็คือ เสียงดี เสียงดัง เสียงใส มีสร้อยคอไม่ลาย นิ่ง (ไม่ตกใจกับเสียงดังใดๆ) 

เมื่อไปถึงที่ๆจะทำการต่อไก่ ซึ่งจะเป็นบริเวณที่ว่างโล่ง เนื้อที่เล็กๆ (ที่เด่น)  มันก็จะถูกนำออกมา เอาปลายเชือกด้านหนึ่งผูกขาข้างหนึ่งไว้ และอีกปลายหนึ่งผูกกับหลักไม้ที่ปักอยู่  พอเจ้าของหลบออกไปแอบเข้าซ่อนได้แล้ว ไก่ต่อมันก็จะทำหน้าที่ทันที บางตัวก็หนักไปทางขัน (บริเวณนี้ใครใหญ่ ขอดูตัวหน่อย) บางตัวก็มีสลับร้องต๊อกๆๆๆ (หนุ่มใหญ่รูปหล่อมาแล้วจ้า สาวๆทั้งหลาย)   บางตัวผู้ที่มาเยือนกลับมิใช่ไก่ แต่กลายเป็นเสือไปเสียฉิบ (ไก่พวกที่มีสร้อยคอลายพร้อยทั้งหลาย)     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ย. 15, 19:57
ไก่ต่อเก่งๆนั้น พอตัวผู้เจ้าของเขตอาณาเข้ามา  เคยเห็นบางตัวก็เป็นนักเลงใหญ่จริงๆ พอถูกท้าก็บินเข้ามาเลย    แต่ส่วนมากจะเป็นการเดินเข้ามา แบบช้าๆ มองซ้ายมองขวา นัยว่าถูกหรอกอะไรหรือไม่ พอได้ยินเสียงผิดปรกติเท่านั้นก็จะหันหลังกลับไปเลย  เจ้าไก่ต่อตัวที่เก่งๆจริงๆ ก็จะไม่รีรอให้ไปใหนไกล รีบขันเรียกเสียงขรม ท้าเหยงๆเลย  ทำเอาเจ้าถิ่นต้องกลับมาตามคำท้า  เป็นภาพที่น่าดูดีครับ

ไก่ต่อก็จึงกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่คนรัก คล้ายกับการเลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมว และสัตว์อื่นๆ  มันจึงมีมาตรฐานที่ชาวบ้านเขายอมรับกันเป็น norm ครับ ก็ไม่ต่างไปจากเรื่องของคนรักสัตว์อื่นๆ   ผมจำไม่ได้ว่าไก่ต่อดีๆจะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง ที่แน่ๆก็คือ ดังที่ผมเล่ามา แล้วก็มีเรื่องเดือย เรื่องสี เรื่องขนาด ฯลฯ เยอะเอาการอยู่ทีเดียว 

หากขับรถขึ้นเหนือเลยตัว จ.นครสวรรค์ ขึ้นไปจนถึง หนองเบน แยกซ้ายตามถนนเข้าไปสักพัก ก็จะถึงบ้านศาลเจ้าไก่ต่อ  ก็คงจะพอเห็นภาพนะครับว่า ไก่ต่อนั้นเป็นหนึ่งเรื่องที่สังคมของคนไทยในภาคกลางได้ให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 15, 20:19
อ่านแล้วอยากรู้ว่าไก่ต่อเป็นยังไง   เคยได้ยินแต่ "นกต่อ" ค่ะ
ไปหารูปมาจากครูกุ๊ก  ได้รูปนี้มา  สวยเชียวตัวนี้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 15, 20:21
มีเสียงไก่ต่อขันด้วยค่ะ
เหมือนอย่างที่คุณตั้งเคยได้ยินไหมคะ

 (http://www.youtube.com/watch?v=KVoastX6t2M[/url)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 15, 18:12
ภาพที่ อ.เทาชมพู นำมาลงนั้น แสดงว่าเจ้าของเขาคงชอบเลี้ยงไก่พวกนี้   ไก่ต่อมีความสวยสง่างามดังภาพครับ เราจะเห็นความสอาดและความคมเข้มในตัวของมันเปล่งประกายออกมา ไก่ต่อจะมีมาดขรึม เชื่องและไม่กลัวอะไร

ไก่ตัวนี้มีการเอื้อนเสียงเมื่อเปล่งเสียงขันอีกด้วย ผมก็เพิ่งเคยได้ยินการเอื้อนแบบนี้ เจ้าของเขาคงชอบเสียงเอื้อนนี้จึงเลี้ยงมันเพื่อความเพลิดเพลินมากกว่าที่จะนำไปต่อจริงๆครับ  เสียงขันของไก่ต่อที่ใช้งานจริงๆจะไม่มีลูกคอ ใส (ไม่แหบเหมือนมีสเลดอยู่ในลำคอ) เปล่งออกมาต่อเนื่องครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 15, 18:45
ไก่ต่อตัวที่เจ๋งจริงๆนั้น มันมีสมองคิดได้อีกด้วยนะครับ  มันรู้หน้าที่และสิ่งที่มันจะต้องทำ  ไก่ตัวที่ฉลาดพวกนี้เมื่อขันเรียกไก่ป่าอื่นออกมาให้แสดงตัวแล้ว มันก็จะพยายามกวักเรียกให้เข้ามาหาตัวมัน มันจะไม่เดินออกไปหา ไม่แสดงอาการกระเหี้ยนกระหือรือว่าจะต้องออกไปตีกับเขาให้ได้  ไก่ที่ถูกล่อมาก็คงงง ก็จะยืนนิ่งๆ เจ้าของไก่ต่อก็เลยสามารถจัดการกับเป้านิ่งได้อย่างสดวก เสียงปืนดังเปรี้ยง มัน (ไก่ต่อ) ก็จะคงยืนดูอยูเฉยๆ ไม่มีอาการตกใจใดๆ

ผมไม่รู้ว่า เมื่อเสือเข้ามาแทนที่จะเป็นไก่ พวกไก่ต่อจะมีอาการอย่างไร   ผมเดาเอาว่าน่าจะต้องแสดงอาการหงอ เงียบๆไม่ส่งเสียงใดๆ  อาศัยเหตุผลข้างๆคูๆจากเรื่องของนักเลงไก่ชนสมัยเก่าก่อนนั้นว่า เขาจะใช้น้ำมันเสือทางที่ตัวไก่ ซึ่งจะทำให้คู่ต่อสู้ลดความฮึกเหิมลงไป

น้ำมันเสือ จะมีมากน้อยเพียงใดก็ไม่ทราบนะครับ จะจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะเสือนั้นดูจะมีไขมันน้อย   แล้วจะได้มามากพอที่จะเอามาใช้เป็นน้ำมันตะเกียงที่ใช้ในการตีกล้อง (ดูด) ฝิ่นเชียวหรือ ?? (สำหรับพวกขี้ยาระดับผู้มั่งมี) 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 15, 18:59
ได้กล่าวถึงผู้แสดงซึ่งมีคนกับไก่แล้ว แล้วก็ได้กล่าวไปถึงเสือด้วย   

คราวนี้ก็ลองมาดูเรื่องราวที่โยงใยเกี่ยวพันกันระหว่าง คน ไก่ต่อ ไก่ป่า เสือ และสัตว์เลี้ยง (สุนัข วัว)   

เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผมทำงานในป่าในพื้นที่ป่าแม่วงก์


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ย. 15, 19:12
วันหนึ่งก็เดินทางเข้าพื้นที่ป่าแม่วงก์ ว่าจะตั้งแคมป์ 4-5 วันบนที่ราบริมห้วยแม่วงก์ เลยช่องเขาขาดลึกเข้าไป  ก็ไปพบแคมป์ของชาวบ้านจาก บ.ลาดยาว มีกันหลายคน มีเกวียน 2 เล่ม วัวก็ 4 ตัว และสุนัขอีกประมาณ 4 ตัว พวกเขาเข้าไปหาของป่ากัน   เนื่องจากพื้นที่จำกัด ก็เลยต้องตั้งแคมป์อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ห่างกันประมาณ 20 ม.

เมื่อทักทายกันพอรู้ความว่าต่างคนต่างจะมาทำอะไรกันในพื้นที่นี้  ผมก็ได้รับคำเตือนเลยว่า ให้ระวังเสือลำบาก เขาบอกว่าเมื่อ 2-3 วันมานี้ มีเสือได้รับบาดเจ็บอยู่ตัวหนึ่ง อยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้ๆนี้เอง  เอาละซีครับ ชาวบ้านเขามีตัวช่วยระวังภัยเป็นสุนัข และวัว แล้วพวกเขาก็นอนบนเกวียน  ส่วนพวกผม ก็ดังที่เล่ามา ใช้ผ้าเต็นท์ผืนหนึ่งปูพื้นนอนและอีกผืนหนึ่งทำหลังคา มีปืนลูกซองแฝดของหลวงอยู่กระบอกนึง แล้วก็พอมีความรู้อยู่ว่า เสือเป็นสัตว์หนังบาง ว่องไวและมีแรงปะทะสูง .....<censor>.... 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ย. 15, 19:51
ก็พอจะเดาได้ว่า ในพื้นที่ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะป่าเช่นนั้น เสือตัวนั้นน่าจะโดนยิงในลักษณะของการป้องกันตัวมากกว่าการไล่ล่าของพราน    (แม้ว่าการยิงด้วยปืนลูกเดี่ยวของชาวบ้าน_ปืนแก็ป_เพื่อให้เสือบาดเจ็บและล้มตายเอง จะเป็นวิธีการของการล่าเสืออีกวิธีการหนึ่งก็ตาม)    ในช่วงเวลานั้น เฉพาะราคาของหัวกะโหลกเสือที่มีฟันครบก็มีราคาไม่ต่างไปจากเงินเดือนของผมทั้งปีแล้วครับ

ตั้งแคมป์เสร็จ เตรียมการรับมือกับเสือลำบากเสร็จ (เท่าที่คิดได้ไปตามตรรกะ โดยไม่มีความรู้จริงว่าควรจะทำเช่นใด) ก็ไปคุยกับชาวบ้านหารายละเอียดเพิ่มเติม   ได้ความว่ามีการมาต่อไก่ป่ากัน จึงก็คงจะมาจากต้นเหตุนี้แหละ   

ครับ เรื่องต่อไก่ป่าแล้วเสือเข้านี้ ผมได้ยินเรื่องราวนี้ทั่วทั้งป่าทางตะวันตกของเรา เป็นเรื่องที่ได้ฟังทั้งจากผู้ที่ประสบจริงและที่เล่าขานเกี่ยวกับผู้หนึ่งผู้ใด  ทั้งหลายยืนยันเหมือนกันว่า ใช้ไก่ต่อสร้อยคอลายให้ระวังเสือเข้า   

ผมเคยไปกับชาวบ้านเพื่อดูการต่อไก่ ซึ่งก็มีแต่มีดกับปืนแก็ป (ผมเรียกว่า เสือตบตูด) เท่านั้นที่เขานำพาติดตัวไป   น่าจะเป็นเรื่องสนุกนะครับ เปล่าเลย เป็นไปในทางเครียดเสียมากกว่า เพราะดูคล้ายกับว่าต้องใช้ประสาทสัมผัสเท่าที่มีไปในการระวังเสือเสียมากกว่าการติดตามดูไก่ป่าที่จะเข้ามา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ย. 15, 20:11
ตกประมาณ 4 ทุ่ม เสือลำบากก็ย่างกรายเข้ามาจริงๆ แต่จะใกล้มากน้อยเพียงใดนั้นไม่รู้ครับ

เริ่มต้นด้วย วัวของชาวบ้านลุกขึ้นยืน หันก้นเข้ากลุ่มคน หันหน้าออกมองไปยังทิศหนึ่ง เสียงลมหายใจเสียงดังฟุดฟิด กระสับกระส่าย    สุนัขเดินหางตกมาอย่างรวดเร็วจากที่ตั้งเกวียนของชาวบ้าน เข้ามาอยู่ใต้ชายคาเต็นท์ของผม ร้องอี๊ดๆๆๆ แสดงความกลัวอะไรสักอย่าง  พวกผมก็จากเปลี่ยนจากท่านอน มาเป็นท่านั่ง แล้วก็ปรับมาอยู่ในท่าพร้อมที่จะเคลื่อนไหวไปในรูปแบบต่างๆ ในมือถือไฟฉาย  แล้วก็ขยับเข้าไปใกล้ๆกองไฟที่สุมเอาไว้   

ก็ทำอะไรได้ไม่มากไปกว่าที่เล่ามานี้หรอกครับ  ก็สับปะโงกกันไปมาจนรุ่งเช้าฟ้าสว่างรำไร


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: walai ที่ 14 พ.ย. 15, 07:52
อ่านตอนนี้จบแล้ว ..รำลึกนึกว่ากำลังอ่านเรื่อง..ล่องไพร..
กำลังสนุกค่ะ รอตอนต่อไป ขอบคุณนะคะ :o


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 14 พ.ย. 15, 08:44
รีบเข้ามาอ่าน นึกว่า  ห้วยขาแข้ง...เปิดรอบเช้าวันหยุด
ถ้าศักดิ์ สุริยัน กับระพินทร์ ไพรวัน มาช่วยกันเล่าเรื่องป่าดง ก็ยังไม่เห็นภาพและบรรยากาศเท่าอาจารย์naitangเล่านะ  ลีลาของอ.naitangสนุกคนละแบบกับท่านNAVARAT.C


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ย. 15, 19:34
ขอบคุณที่ได้ตามอ่านครับ

หากเป็นการเล่าเรื่องราวในวงสนทนา ก็น่าจะสนุกกว่านี้ครับ  เพราะไม่ต้องไปคอยพะวงกับการสื่อความและภาษา 

ผมพยายามเล่าเรื่องหลายเรื่องที่ปนเปกันอยู่ เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพในอดีตของไทยในมิติต่างๆ รวมทั้งวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ  จึงมีเรื่องของ survival เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย   ก็มีมากมายหลายเรื่องที่เล่าขานในทางสาธารณะไม่ได้ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 15, 19:40
มารอตอนต่อไปค่ะ คุณตั้ง ไพรวัลย์


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ย. 15, 20:03
ต่อครับ

ตกใกล้สว่าง ความตึงเครียดก็หมดไป สุนัขนอนนิ่ง วัวหยุดกระสับกระส่าย ก็น่าจะเป็นสัญญาณบอกได้ว่าเสือลำบากจากไปแล้ว แต่เราก็ยังคงเกรงอยู่   รอจนฟ้าสว่างแจ้ง พอมองเห็นได้ในระยะไกลแล้ว เราจึงเริ่มกิจกรรมประจำวัน คือเริ่มกระวนการหุงหาอาหาร เดินข้ามแคมป์ไปพูดคุยสอบถามกัน  ด้วยความไม่ค่อยจะมั่นใจของทั้งเราและชาวบ้าน ก็เลยตกลงจะเดินเข้าป่าด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ แล้วจึงค่อยแยกย้ายกันไป


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 15, 20:23
นึกภาพออกถึงอารมณ์เครียด     ถ่างตาอยู่ทั้งคืน เฝ้าระวังว่าเสือจะเยี่ยมกรายเข้ามาในนาทีไหน    แถมยังรู้ด้วยว่า ถ้าเสือมาจริงๆ อาวุธที่มี  ก็อาจจะไม่พอจัดการกับเสือ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ย. 15, 18:53
ใช่เลยครับ

หลักการป้องกันอันตรายเมื่อตั้งแคมป์ในป่าใหญ่ คือ
   หลักแรก ไม่ตั้งทับบนทางเดินของสัตว์ (ด่านสัตว์) เหตุผลสำคัญก็คือ ด่านสัตว์มักมีบริเวณที่ราบและกว้างพอจะตั้งเต็นท์หรือแคมป์ได้ และซึ่งก็มักจะเป็นด่านของสัตว์ใหญ่ ซึ่งก็มักจะเป็นด่านช้างเสียอีกด้วย  ช้างนั้นเป็นทั้งนักสร้างและนักทำลาย สัตว์ป่าทั้งหลายใช้ infrastructures ที่ช้างได้สร้างขึ้นมาทั้งนั้น    เราเองก็เช่นกัน พื้นที่ๆน่าจะตั้งเต็นท์หรือแคมป์เหล่านั้น (ที่ราบ มีน้ำไหล โปร่ง สวยงาม) แท้จริงแล้วจะมีด่านช้างอยู่ใกล้ๆเสมอ เพราะเป็นพื้นที่ๆช้างใช้เดินข้ามห้วย แวะชำระร่างกายในแอ่งน้ำ แล้วขึ้นจากน้ำมาประฝุ่นทรายก่อนที่จะเดินทางต่อไป ช้างก็รักสวยรักงามเหมือนกัน         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ย. 15, 19:14
หลักที่สอง คือ หาขอนไม้แห้งขนาดประมาณหมอนข้าง ยาวประมาณหนึ่งวา 1-2 ท่อน ลากเอามาแล้วสุมไฟให้ติดไฟแบบกรุ่นๆ มิใช่ให้โชติช่วงแบบแคมป์ไฟของลูกเสือ  แล้วก็ไปหาเศษกิ่งไม้ขนาดประมาณท่อนแขนของเรา เอามาตัดเป็นท่อนๆยาวประมาณไม้บรรทัด รวมทั้งกิ่งไม้แห้งประมาณขนาดนิ้วมือ และใบไม้แห้งพอประมาณ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหลายเพื่อเลยทีเดียว  เพื่อใช้ทำอาหารนั้นแน่นอน เพื่อให้ความอบอุ่นก็ใช่ เพื่อไล่ยุงและแมลงก็ใช่ (โดยใช้ใบกึ่งสด ก็จะได้ควัน) เพื่อให้แสงสว่างหรือใช้เป็น flare ไล่สัตว์ช่วงกลางคืนที่มืดสนิท  เป็นเชื้อไฟสำหรับการใช้ไฟที่รวดเร็วในครั้งต่อๆไป ........ คงนึกออกนะครับว่าทำอะไรได้อีกสารพัด

ที่อาจจะนึกกันไม่ออก ก็คือ ไม้ท่อนขนาดประมาณศอกของเรานั้น จะต้องไปหามาและเสียเวลาตัดให้มันสั้นขนากประมาณศอกของเราเอาไว้ทำไม


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ย. 15, 19:34
ก็เอาไว้จุดไฟคล้ายคบเพลิง แล้วเขวี้ยงไล่สัตว์ป่าที่มารบกวน (จะเข้ามาลุยแคมป์) ให้ถอยออกไป 

วิธีนี้ก็เป็นหนึ่งในการเตรียมการรับเสือลำบากที่ได้เล่ามา แต่จะไล่เสือได้สำเร็จหรือไม่นั้นไม่รู้ครับ    ก็เป็นวิธีการที่เอามาจากประสบการณ์ไล่ช้างหลายตัวที่พยายามจะเข้ามาลุยแคมป์ ก็เกือบทั้งคืนเช่นกัน ตั้งแต่ประมาณสองทุ่มไปจนประมาณตีสามเห็นจะได้ ในป่าห้วยแม่สิน เขตต่อสามอำเภอระหว่าง อ.เด่นชัย จ.แพร่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์  เรียกว่าผืนป่าแม่คะมึงครับ

อาวุธสำคัญก็มีเพียงไม้ท่อนที่จุดในลักษณะคบเพลิง กับไฟฉายคนละกระบอก สู้รบปรบมือกันได้สองสามคืน ก็ต้องยอมแพ้ครับ อดหลับอดนอนมากเกินไปที่จะมีแรงเดินทำงานในช่วงกลางวัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ย. 15, 19:01
เมื่อวานนี้ไปหาหมอครับ กลับมาค่ำแล้วก็เลยไม่ได้เขียนอะไร ถือโอกาสพักไปด้วยครับ



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ย. 15, 19:38
หลักที่สาม คือ ตามไฟไว้ตลอดทั้งคืนด้วยตะเกียงรั้ว แต่มิใช่เอาตะเกียงแขวนไว้ที่หัวเสาเต็นท์นอนนะครับ อันตรายครับ  ให้แขวนไว้ในด้านที่ค่อนข้างเปิด ห่างจากด้านปลายเท้าตัวเราประมาณ 4-5 เมตร  ไม่จำเป็นต้องตั้งไฟให้สว่างโร่ ให้สว่างพอมองเห็นได้รอบๆก็พอ

ตามไฟแบบนี้ อะไรเข้ามาก็เห็น แถมเมื่อมีกองไฟที่ติดไฟกรุ่นอยู่ตลอดเวลา สัตว์ใดๆก็ไม่อยากเข้ามาหรอกครับ  มันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่จะพยายามอยู่ห่างจากไฟ (และควันไฟ)  ก็ไฟป่านั้นไม่เข้าใครออกใครเลยทีเดียวใช่ใหมครับ   

สัตว์ที่ผมเห็นรีบโฉบเข้ามาในเขตไฟป่า ก็เห็นจะมีแต่นกเท่านั้น บินโฉบเฉี่ยวจับแมลงที่บินหนีไฟกันว่อนเลย นกมันเก่งนะครับ มันแยกออกระหว่างแมลงกับเถ้าถ่านที่ปลิวว่อน

สัตว์ที่น่าสงสารซึ่งหนีไฟได้ช้าที่สุด ก็เห็นจะเป็นเต่า  ผมเคยช่วยมันอยู่สองสามตัวเหมือนกัน คลานอยู่ในขี้เถาจากไบไม้ ต้วมเตี้ยมๆ ก็เอาเขาไปปล่อยริมห้วยจุดที่มีน้ำ เห็นท่าทางความดีใจของมันแล้วก็ชื่นใจ เอาห้วจุ่มน้ำ แล้วก็ชูคอสูงขึ้นมา แบบมีความสุขว่ารอดตาย    ที่จริงแล้วมันคงจะหนีไฟป่าได้ทันทุกตัว เพราะไม่เคยเห็นซากของมันในลักษณะที่ถูกไฟเผาเลย  เต่าที่ว่านี้มีอยู่สองพันธ์ุ คือเต่าหก กับอีกพันธุ์หนึ่ง นึกชื่อไม่ออกครับ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ย. 15, 20:08
ขอต่อเรื่องเสือลำบากตัวนี้ให้จบเรื่องเสียก่อน แล้วจะขอย้อนกลับไปเรื่องของไก่ให้จบเรื่อง แล้วคงย้อนกลับมากับเรื่องของเสืออีกครั้งนะครับ

เรื่องของเสือลำบากนี้ เป็นข่าวที่กระจายอย่างรวดเร็วและไกล  ก็มีทั้งคนที่กลัวซึ่งก็จะยังไม่เข้าไปหาของป่า ต้องรอจนกว่าจะรู้ว่าเสือได้ตายไปแล้วแน่ๆ  แล้วก็มีคนที่กล้า ขมีขมันที่จะเข้าป่าตามไปหามัน แต่ก็กล้าแบบต้องเข้าไปเป็นกลุ่มสามสี่คน   มิใช่เรื่องอะไรหรอก ไปเอาซากมาขาย ก็มันขายได้ทั้งตัวเลยนี่ ราคาออกสูงลิ่ว   ส่วนเนื้อและตับไตใส้พุงทั้งหลายนั้นก็ทิ้งไป   เนื้อเสีอเป็นหนึ่งในมังสา 10 อย่างที่มีพุทธบัญญัติห้ามบริโภคไว้

ที่ชาวบ้านเขาตามเข้าไปนั้น มิใช่ไปยิงซ้ำนะครับ เพียงแกะรอยตามไปหาจุดที่มันตาย   เขาว่าเสือที่มีแผลบาดเจ็บมันหรือเสือลำบากนั้นจะตายเองในระยะเวลาประมาณ 7 วัน  เพราะว่าเสือนั้นเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เรียกว่าใหญ่สุด มีอำนาจและความดุร้ายมากสุด แล้วก็ขี้รำคาญที่สุดเหมือนกัน   เมื่อมีแผลระดับแผลฉกรรจ์ เลือดออกแห้งเกรอะกรังเลอะเทอะ แมลงต่างๆก็มาตอมแผล เกิดความรำคาญก็งับแมลงบ้าง เกาที่แผลบ้าง แผลก็เลยเหวอะหวะมากขี้น จากนั้นก็ติดเชื้อ เน่าและถึงตายในที่สุด   ผมไม่เคยเห็นกับตานะครับ  แต่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น อีกสองสามวันต่อมา ชาวบ้านก็นมาบอกว่าเสือลำบากตัวนั้นมันตายแล้ว มีคนไปพบซากมันแล้ว ทุกคนก็เลยเดินป่าด้วยสบายใจ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 17 พ.ย. 15, 20:25
เฮ้อออ....โล่งอกไปด้วย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 15, 17:44
ครับ ก็โล่งอกไปเรื่องหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในพื้นที่เสือชุกชุมครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 15, 18:14
กลับมาต่อเรื่องไก่ป่านะครับ

โดยทั่วๆไปไก่ป่าที่เราพบมักจะเป็นตัวผู้  แต่ผมได้มีโอกาสอยู่กับฝูงตัวเมีย 4 ตัวที่มีลูกเจี๊ยบประมาณ 5-6 ตัว  คงพอจัดได้ว่าเป็นฝูงใหญ่  (ฝูงตัวเมียเท่าที่ผมเคยเห็นมา ตามปรกติจะมีเพียงสองสามตัวเท่านั้น)

วันนั้นคงจะเป็นเพราะต่างคนต่างไม่เห็น และต่างก็ไม่ระแวงภัย ก็เลยจะเอ๋กัน เราเห็นมีลูกเจี๊ยบก็สนใจที่จะเข้าไปจับดูเล่น ตัวลายๆน่ารักมากๆ ก็เดินเข้าไปประชิดกลุ่มไก่ แม่ไก่ก็ไม่เอะอะตกใจ แต่พอเราเริ่มย่อตัวลง แม่ไก่ทั้งหลายก็รีบเดินหนีไปแบบกึ่งวิ่ง ทิ้งลูกเจี๊ยบไว้ให้ดูต่างหน้า

พอแม่ไก่จากไป ลูกเจี๊ยบทุกตัวก็ทำการหมกซ่อนตัวอยู่ใต้ใบไม้แห้ง ก็เห็นๆอยู่นะครับว่าตำแหน่งของลูกเจี๊ยบแต่ละตัวอยู่ที่จุดใหน แต่เอามือคลำหาเพียงใดก็ไม่พบ ในที่สุดก็ลุกขึ้นยืนแล้วใช้เท้ากวาดเขี่ยไปมา ก็ยังไม่เห็น ไม่มีเสียงร้องจากมันเลย จนถูกเหยียบตายไปตัวหนึ่ง ก็เลยเลิก   

เล่ามาเพื่อให้เห็นภาพการพรางตัวด้วยสีขนของมัน วิธีการหลบภัยด้วยการทำตัวเป็นหนึ่งเดียวกับใบไม้ การพลิกไปพลิกมาตามใบไม้ และการไม่ส่งเสียงร้องใดๆ   ต่างกับกรณีไก่เลี้ยง เมื่อจะไปจับลูกเจี๊ยบของมัน แม่ไก่มันมักจะกางปีกไล่ ปกป้องลูกของมัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 15, 18:55
เขียนถึงลูกเจี๊ยบ ก็ต้องพูดถึงไข่ของมันด้วย    แม่ไก่ป่าจะเลือกสถานที่วางไข่ตรงจุดที่มีลักษณะเป็นแอ่ง ซึ่งมีทั้งที่เกิดจากกิ่งไม้ตวัดพันกันไปมา และตามขอนไม้ที่ผุ   เห็นไข่แล้วก็อย่าไปจับไข่ของมัน ว่ากันว่ามันจะไม่กลับมากกไข่อีกเลย  ดังนั้น หากพลั้งเผลอไปหยิบขึ้นมา  ก็ให้เก็บเอามาทั้งหมดเอามาทำอาหารเสียเลยจะดีกว่า

ผมเคยเห็นทั้งที่มีแต่รังไข่ ไม่มีตัวแม่ไก่ และทั้งที่มีแม่ไก่กำลังกกอยู่ แล้วทำให้มันตกใจบินหนีก็มี    ก็ไม่รู้ว่าที่มันทิ้งกองไข่ไว้นั้น หรือที่บินหนีไปนั้น มันจะกลับมากกต่อหรือไม่    แต่เมื่อใดที่มีไฟป่ากำลังลามแล้วไปพบไข่มันเข้า ก็จะเก็บเอามากินอย่างเดียวเลยครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 15, 19:15
จากเรื่องไก่ป่าก็ไปเรื่องไก่ฟ้า

ไก่ฟ้าหากินอยู่ในบริเวณที่มีพื้นดินค่อนข้างชื้นและบริเวณรอยต่อกับพื้นดินแห้งที่ไก่ป่าหากิน  ไก่ฟ้าคุ้ยเขี่ยหาแมลงกินเป็นหลัก ต่างจากไก่ป่าที่คุ้ยหาเมล็ดพืชกินเป็นหลัก

ไก่ฟ้าในห้วยขาแข้งพบได้ไม่บ่อยครั้งเท่ากับไก่ป่า ไม่เชื่องเท่ากับไก่ป่า แต่ก็ไม่หนีเมื่อเห็นคน และไม่สามารถเข้าใกล้ได้ 
นึกออกแต่ว่าเคยพบรังไข่ไก่ฟ้าอยู่ครั้งเดียว แต่จำเรื่องราวรายละเอียดไม่ได้แล้ว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 15, 19:40
ไก่ฟ้าเป็นสัตว์ที่ไม่มีคนยิงเอามาทำอาหาร  มีแต่ใช้วิธีการดักจับด้วยแล้วที่ทำขึ้นมาอย่างง่ายๆจากกิ่งไม้และบ่วงเชือก หรือใช้การขโมยไข่ของมันมาฟักเอง 

ที่จริงแล้ว ผมไม่เคยเห็นชาวบ้านพยายามหาไก่ฟ้ามาทำอาหารเลย  หากมันจะสูญพันธุ์จริงๆก็น่าจะเป็นเพราะคนกรุงเสียมากกว่า คือ ล่าดะด้วยความคะนองมือเท่านั้น

ชาวบ้านป่าและพรานไพรมีความเชื่อกันว่า หากเอาเนื้อนก (สัตว์ปีก) ขนาดใหญ่มากินกัน ก็จะแตกแยกกันในที่สุด มีแต่เรื่องอัปมงคลเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งก็พอจะมีเหตุผลอยู่ว่า บรรดานกขนาดใหญ่นั้น มักจะเป็นพวก monogamy (ผัวเดียวเมียเดียวทั้งชีวิต)      แล้วก็เชื่อกันว่าพวกนกกินเนื้อ/แมลง จะมีเนื้อสีแดง มีกลิ่นสาบ ไม่น่ากินเลย  ซึ่งก็พอมีเหตุผลอยู่บ้างที่ทำให้ไก่ฟ้าไม่ถูกล่า 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 15, 20:42
กูเกิ้ลโชว์ไก่ฟ้าไว้หลายสายพันธุ์    ดิฉันเลือกมาตัวหนึ่ง สวยกว่าเพื่อน
ไม่ทราบว่าเป็นไก่ฟ้าอย่างที่คุณตั้งเจอหรือเปล่า


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 15, 18:50
ขออภัยที่ไม่ได้เข้ามาตอบเมื่อวานนี้ครับ ไปผ่า Cyst บริเวณเอวมาครับ มันอักเสบและถุงค่อนข้างใหญ่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 15, 19:12
ไก่ฟ้าที่ผมเห็นไม่มีลายสีสวยอย่างนี้ เขาสวยแบบสีพื้นเรียบๆ  ผมคิดว่าเรียกกันว่า ไก่ฟ้าพญาลอ 

ก็พอรู้อยู่ว่าในไทยมีไก่ฟ้าอยู่หลายพันธุ์ พันธุ์ที่มีหน้าแดงๆนั้นก็ดูเหมือนว่าจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ที่เรียกว่า ไก่ฟ้าพญาลอ กับ ไก่ฟ้าหน้าแดง

ที่ผมเห็นนั้น ผมก็มิได้สังเกตอย่างละเอียดมากพอที่จะจำแนกได้ว่าแต่ละตัวต่างกันอย่างไรบ้าง แต่เท่าที่มีความรู้และเห็นจากภาพในสมัยนั้น ผมคิดว่าเป็น ไก่ฟ้าพญาลอ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 15, 19:36
กลับมาเรื่องของเสือนะครับ

ผมเดินทำงานในป่าเขามา 20+ ปี ไม่เคยเห็นตัวเสือเลยสักครั้งเดียวเลยครับ เห็นอยู่ครั้งเดียวก็เพียงแค่ปลายหางตอนที่มันเดินแยกจากห้วยขึ้นตลิ่งเท่านั้นเอง 

แต่ที่เห็นรอยนั้นไม่ต้องกล่าวถึง มีบ่อยครั้ง แล้วก็มีทั้งแบบรอยเก่า รอยใหม่ และรอยใหม่เอี่ยม รวมทั้งแบบเดินตามมัน กับมันเดินตามเรา  ก็เห็นบ่อยจนรู้สึกแต่เพียงว่า เมื่อพบรอยมัน ก็เพิ่มการสังเกตุและเพิ่มความระวังให้มากขึ้นเท่านั้น   

หากจะถามว่ากลัวใหม คำตอบก็คือ ก็ไม่ถึงขนาดกลัวเสียทีเดียว ด้วยเหตุผลบางประการ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 15, 20:05
ขออภัยที่ไม่ได้เข้ามาตอบเมื่อวานนี้ครับ ไปผ่า Cyst บริเวณเอวมาครับ มันอักเสบและถุงค่อนข้างใหญ่
ขอให้หายเป็นปกติในเร็ววันนะคะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 15, 20:07
 แก้ตัวด้วยภาพไก่ฟ้าพญาลอค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 20 พ.ย. 15, 20:16
กลับมาเรื่องของเสือนะครับ

ผมเดินทำงานในป่าเขามา 20+ ปี ไม่เคยเห็นตัวเสือเลยสักครั้งเดียวเลยครับ เห็นอยู่ครั้งเดียวก็เพียงแค่ปลายหางตอนที่มันเดินแยกจากห้วยขึ้นตลิ่งเท่านั้นเอง 

แต่ที่เห็นรอยนั้นไม่ต้องกล่าวถึง มีบ่อยครั้ง แล้วก็มีทั้งแบบรอยเก่า รอยใหม่ และรอยใหม่เอี่ยม รวมทั้งแบบเดินตามมัน กับมันเดินตามเรา  ก็เห็นบ่อยจนรู้สึกแต่เพียงว่า เมื่อพบรอยมัน ก็เพิ่มการสังเกตุและเพิ่มความระวังให้มากขึ้นเท่านั้น   

หากจะถามว่ากลัวใหม คำตอบก็คือ ก็ไม่ถึงขนาดกลัวเสียทีเดียว ด้วยเหตุผลบางประการ   

เกรงใจว่าอาจารย์กำลังป่วยอยู่ เลยนั่งอ่านเงียบๆไม่กล้าส่งเสียงรบกวน แต่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้แบบนี้ทำเอาต่อมอยากรู้ทำงานขึ้นมาทันทีเลยค่ะ ;D ;D ;D 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 15, 20:18
ประการแรก คือ ขณะเดินไปทำงานแยกไปจากคาราวานเดินทางหรือแคมป์ของผม จะมีคนในคณะประมาณ 3 คน เป็นชาวบ้านคนหนึ่งไว้ช่วยสะพายถุงตัวอย่างหินและช่วยในเรื่องอื่นๆ เช่น ถางทาง  อีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยสำรวจ อีกคนก็ตัวผมเอง ที่จริงทุกคนก็จะต้องสะพายตัวอย่างหินและช่วยกันทุกเรื่องทั้งนั้น   แต่ที่สำคัญที่สุด ผมพบว่าคนสามคนสามารถช่วยกันเอาตัวรอดได้ในเกือบจะทุกสถานการณ์ ทั้งในด้านการใช้ประสาทสัมผัส การใช้พลัง ฯลฯ

ด้วยคนจำนวนนี้ ความกลัวใดๆก็จะลดน้อยลงไป จะเรียกว่าพวกมากก็ได้  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 15, 20:40
ขออภัยที่ไม่ได้เข้ามาตอบเมื่อวานนี้ครับ ไปผ่า Cyst บริเวณเอวมาครับ มันอักเสบและถุงค่อนข้างใหญ่
ขอให้หายเป็นปกติในเร็ววันนะคะ

ขอบพระคุณครับ

เป็นไปตามวัยครับ  แต่ที่กำลังจะไม่ค่อยสนุกนักก็คือ ต้องไปทำแผลทุกวัน ประมาณ 5-7 วัน จะทำเองก็ไม่ได้เพราะว่าจุดที่เป็นมันอยู่คล้อยไปทางด้านหลัง จึงมองไม่เห็น ก็ต้องอาศัยพยาบาลทำให้ เรื่องมันก็อยู่ที่ว่า ก็ต้องมีการใช้พลาสเตอร์ ปิดแล้วลอกทุกวัน ก็จะเจ็บผิวหนังน่าดูเลยครับ ทั้งแดงและแสบในวันหลังๆที่ทำแผล   เนื่องจากพวก สว จะมีผิวหนังบาง ไม่หนังเหนียวเหมือนกับวลีเปรียบที่ว่า แก่หนังเหนียว


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 15, 20:55
ประการที่สอง ข่าวคราวเรื่องเสือกินคนในไทยนั้นเกือบจะไม่มีเลย แม้กระทั่งในเรื่องของการจู่โจมหรือการโจมตีใดๆก็มีอยู่น้อยมาก ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นเรื่องของเสือเข้ามาหารอาหาร (เนื้อที่คนล่ามาได้) แล้วจ๊ะเอ๋กับคนจึงกระโจนใส่     ครับ จึงมีอีกกติกาที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ อย่าแขวนเนื้อสัตว์ใดๆใว้หน้าเต็นท์นอน หรือใกล้ที่ๆเรานอน แขวนไว้ให้ห่างหน่อยนึงจะดีกว่า


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 15, 19:33
ประการที่สาม เสือพันธุ์เล็กในบ้านทั้งหลาย เป็นพวกหากินกลางคืน (น่าจะทั้งหมดนะครับ) เช่น เสือปลา เสือไฟ   แม้ว่ามันจะจะหากินในพื้นที่ๆฉ่ำน้ำ หรือที่เป็นแอ่งน้ำ ก็ต่างช่วงเวลากับเราที่ทำงานเดินห้วยในเวลากลางวัน เห็นหน้ากันยากหน่อย  ที่จริงแล้ว ผมยังไม่เคยเห็นในป่าเลย มีแต่พบรอยเท้าอยู่บ้างแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเสืออะไร 

เช่นกัน เสือพันธุ์ใหญ่ในบ้านเราก็คิดว่ามีอยู่พันธุ์เดียว ที่เรียกว่า เสือโคร่ง หรือ ลายพาดกลอน ซึ่งเสือโคร่งนี้ก็จะนอนกลางวันบริเวณตะเข็บรอยต่อระหว่างชายป่าที่มีใบไม้บังแดดให้ร่มเย็น กับพื้นที่ๆเปิดโล่งที่เรียกว่าทุ่งที่มีหญ้าขึ้นหนาแน่น  ส่วนช่วงเวลาหากินนั้น ก็เป็นช่วงก่อนดึกสงัด กับช่วงก่อนย่ำรุ่ง ซึ่งก็ต่างกับช่วงเวลาที่เราทำงาน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 15, 20:12
รอยเท้าเสือโคร่งที่เคยพบมาทั้งหมดจะเป็นรอยเท้าของเสือตัวเดียว มักจะเป็นขนาดกว้างประมาณ 1+/- คืบ ก็คาดกันว่าคงจะตัวขนาดประมาณ 6-7 ศอก  มีอยู่ครั้งเดียวที่มีสองรอยเดินตามผมในขณะที่ผมเดินตามอีกตัวหนึ่งที่เห็นหางมันนั่นแหละครับ แล้วค่อยขยายความครับ

ในห้วยขาแข้งตอนล่าง ผมคาดว่าน่าจะมีเสือจำนวนไม่มาก เพราะพบรอยน้อย  ส่วนช่วงตอนบนนั้นผมไม่แน่ใจนัก   แต่ในป่าแม่วงก์นั้นกลับค่อนข้างจะพบมากและค่อนข้างใหม่ ทำให้คงพอจะกล่าวได้ว่าน่าจะเป็นพื้นที่นิยมของพวกมัน (คงจะมีหลายตัว)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 15, 18:13
มีอยู่วันหนึ่ง ช่วงเวลาประมาณ 7+ โมงเช้า เดินออกไปทำงาน ได้เห็นแมวตัวหนึ่งนั่งอยู่ พอเห็นเราเดินมา มันก็เลยเดินหนีอย่างเร็ว    จนวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเป็นแมวบ้าน แมวป่า หรือพวกเสือพันธุ์เล็กใดๆ  สำหรับแมวบ้านนั้นคงจะตัดออกไปได้ ด้วยว่าคงไม่มีชาวบ้านผู้ใดอุ้มแมวเข้าป่าทำมาหากิน   ซึ่งตัวเองก็ยังมีความเชื่ออยู่ว่า น่าจะเป็นแมวป่า เพราะขนาดตัวพอๆกับแมวบ้านตัวใหญ่ๆ ซึ่งหากเป็นพวกเสือไฟ เสือปลา ตัวมันก็น่าจะใหญ่กว่าแมวทั่วๆไป  แต่ด้วยเหตุที่จุดที่พบอยู่ใกล้ริมห้วย จึงทำให้อาจจะเป็นพวกเสือก็ได้

วันที่เห็นแมวป่านี้ ไม่รู้ว่าเป็นทั้งวันดีหรือวันไม่ดีครับ  เดินนลึกเข้าไปในป่า ก็เกือบจะจ๊ะเอ๋กับฝูงช้างประมาณ 6 ตัว เป็นจุดที่มันหลับนอนเมื่อคืนที่ผ่านมา ด้วยเป็นช่วงปลายหนาว อากาศยังเย็นและมีหมอก ครับยังมีไออุ่นให้เห็นอยู่เลย  ทำอะไรไม่ได้มากหรอกครับ ทำได้เพียงใจเย็นสู้เสือเข้าไว้เท่านั้นเอง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 15, 18:36
วันหนึ่งในห้วยขาแข้งตอนล่าง  ครั้งนี้จะเป็นการเดินลึกเข้าไปมากกว่าที่เคยเดิน เป็นคณะค่อนข้างใหญ่ คน 8 คน กับช้าง 2 ตัวช่วยบรรทุกของ 

ระหว่างเดิน ผมก็จะทำงานไปด้วยเสมอ ครั้งนี้ก็จะเดินแยกออกไปเข้าไปในห้วยแยก แยกไปกัน 4 คน   อีก 4 (2 คนเป็นควาญช้าง) คนเดินตามช้างไป ด้วยเราเองมีแผนที่ก็จึงพอจะนัดแนะกันได้ว่าจะค้างแรมกันที่จุดใหนในห้วยหลักที่เราเดิน (ห้วยขาแข้ง)  กะว่าให้พวกเขาไปตั้งแคมป์รอ แล้วช่วยหาอาหารตามรายทางที่เดินไปด้วย  อาหารก็เหลือแต่พวกเครื่องปรุงเท่านั้น ก็กะว่าจะลงหาปลากันในวันรุ่งขึ้นเพื่อเป็นสะเบียงสำหับวันต่อๆไป

ทำงานเพลินไปหน่อยเพราะพบข้อมูลสำคัญ จนบ่ายคล้อยไปมากแล้ว จึงรีบเดินกลับมาขึ้นทางหลัก ระหว่างทางขากลับนั้นก็ได้นกมาตัวหนึ่งเพื่อเอาไปทำอาหาร     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 15, 19:02
พอขึ้นทางหลักได้พักเดียว ก็ได้ยินเสียงลิงพวกลิงหางยาวฝูงใหญ่ แล้วก็พบว่าฝูงลิงกำลังค่อยๆเคลื่อนพลห่างจากห้วยลึกเข้าไปในป่าเรื่อยๆ ที่น่าสังเกตก็คือว่า ลิงเกือบทั้งฝูงยังคงส่งเสียงและส่วนมากจะอยู่บนต้นไม้ พื้นที่บริเวณนั้นค่อนข้างโปร่ง จึงเห็นลิงบางส่วนอยู่บนพื้นดินด้วย

ด้วยความอยากรู้ ผมกับคนขับรถคณะสำรวจของผม (ซึ่งเคยขับรถลากไม้และใช้ชีวิตในป่ามาก่อน) จึงเดินแยกออกจากทางเข้าไปด้วยกัน สะพายปืนยาวคนละกระบอก ส่วนอีก 2 คน ก็ให้เขารีบเดินไปที่ตั้งแคมป์เพื่อช่วยจัดการเรื่องอาหารและที่พัก ระยะเดินก็ประมาณ 3 ชม.เห็นจะได้   

ก็เลยได้เรื่องที่เกิดขึ้นและอยู่ภายใต้สภาวะวิกฤติ เครียดดีครับ แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรมากมาย    เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบพัวพันกัน...คน เสือ ลิง เก้ง เจ้าที่เจ้าทาง หมอผี...


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 15, 19:25
ฝูงลิงป่าขนาดหลายสิบตัวนี้ก็น่ากลัวอยู่นะครับ ดีที่มันกำลังโยกย้ายฝูงเข้าป่าและอยู่ในสภาพหันหลังให้เรา เราก็เลยกล้าหน่อยที่จะค่อยๆเดินเข้าไป ลิงที่อยู่บนดินก็จ้องมอง ทำหน้าทะเล้น แต่ก็ค่อยๆเดินหลบไป คิดว่าคงจะกลัวปืนเพราะว่าเคยถูกล่ามาแล้ว หรือจะเห็นว่าเป็นไม้ท่อนยาวก็เลยกลัวก็เป็นได้ 

ที่จริงแล้วคนรถของผมกะว่าจะเอามันมาเป็นอาหารด้วย แต่บังเอิญไปพบว่ามีเก้งตัวขนาดสุนัขไทยนอนตายอยู่ที่โคนกอไผ่กอใหญ่ ส่วนท้องโหว่ ตับไตใส้พุงถูกกินไปหมดแล้ว ก็มองดูรอบๆ เห็นรอยใบไม้ถูกกวาดออกไปเหลือเป็นผิวดินคล้ายๆรูปหยดน้ำ ก็พอจะรู้แล้วละครับน่าจะเป็นเสือกำลังกินเก้ง และน่าจะกำลังล่อจะกินลิงอีก   ก็ลิงมันซนและชอบแหย่ เสือก็เลยใช้หางกระดุกกระดิกไปมาให้ลิงมาแหย่เล่น

ทีนี้มีสิ่งที่ต้องทำอย่างเดียวคือ ปลดปืนออกจากบ่า ขึ้นลำพร้อมยิง ตาก็ช่วยกันกวาดมองไปรอบๆว่าเสือมันจะอยู่ตรงใหน  ใผเป็นใผ เดี๋ยวก็ได้รู้กันแหละ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 15, 19:26
ปืนที่สะพายอยู่นั้น มิใช่เอาไว้ล่าสัตว์นะครับ มีไว้เพื่อป้องกันตัวจากสัตว์ป่าเป็นหลัก

กระบอกหนึ่งก็เป็นปืนลูกซอง ใช้ได้ดีกับบรรดางูร้ายทั้งหลาย โดยเฉพาะงูจงอาง ที่จะหวงไข่เป็นหนักหนาในช่วงประมาณเดือนเมษายน +/- เคยพบไล่รถครั้งหนึ่งแถว บ.วังลึก จ.ตาก   หรือใช้เมื่อจ๊ะเอ๋กับหมีในช่วงฤดูเดินคู่กันในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ +/-  ก็ไม่แน่ใจนักว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาหาคู่สืบพันธุ์หรือไม่ เคยจะเอ๋อยู่สองสามครั้ง ต่างคนต่างตกใจวิ่งกระเจิงกันทั้งสองฝ่าย ก็ยิงไปอย่างนั้นแหละ ถึงถูกก็ไม่เข้าหรอกครับ ขนและหนังมันหนา    อ้อ แล้วก็เสือเผื่อว่าจ๊ะเอ๋กับมัน

อีกกระบอกหนึ่งเป็นปืนลูกเดี่ยว โดยหลักก็คือ เอาชีวิตให้รอดหากถูกช้างป่าชาร์จเอา ทั้งที่ก็ไม่รู้ด้วยว่าจะสู้กับมันไหวใหม อย่างน้อยก็เอาไว้เป็นเพื่อนเพื่อความอุ่นใจครับ

เมื่อจะแยกออกจากทางแล้วให้อีกสองคนเดินล่วงหน้าไป ก็เลยเอาปืนมาไว้ที่พวกผมสองคน  ผมไม่ได้สะพายปืนทำงานหรอกครับ  ปืนพกที่เอวก็ยังมักจะฝากคนอื่นใว้ในขณะทำงาน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 15, 19:47
ด้วยมื้อเย็นยังไม่รู้ว่าจะมีกับข้าวอะไร คู่หูของผมก็สนใจเข้าไปดูเก้งให้ชัด เมื่อเห็นว่ายังสดใหม่อยู่มากๆ ก็เลยหารือกัน ตกลงว่าจะเอาไปเป็นอาหาร เขาก็จัดการลากออกมายังที่ๆไม่รก   นั่งพิจารณาดูซากเก้งกันว่ามันถูกล่าด้วยสัตว์อะไร เพราะว่าที่คอก็มีรอยขย่ำเป็นแผล ลักษณะนี้เป็นเสือกัดแน่ๆ   แต่เอ..ทำใมที่แก้มก้นทั้งสองข้างก็มีรอยงับเป็นแผลเหวอะเช่นกัน ลักษณะนี้มิใช่เสือแน่ แต่ควรจะเป็นการล่าโดยหมาป่า 

ตกลงเก้งตัวนี้ถูกล่าด้วยเสือหรือหมาป่ากันแน่   ก็เห็นตรงกันว่า หมาป่าคงจะเริ่มล่าก่อน ต่อมาถูกเสือแย่งเอาไปกิน โดยลากเอาไปใว้ที่กอไผ่ (ทั้งนี้หมาป่าคงจะได้กินตับใตใส้พุงไปแล้ว จึงไม่เห็นเลือดเปื้อนใบไม้แถวๆโคนกอไผ่)  ซึ่งระหว่างที่เสือกำลังจะลงมือกิน ก็เกิดมีฝูงลิงลงมาตอแยเสือ เสือก็เลยจะล่อจับลินกินอีก ก็พอดีผมและคู่หูเดินเข้าไป สัตว์ทุกฝ่ายก็เลยหลบฉากไป   

ทั้งหมดนี้เป็นภาพมโนที่ผมสองคนค่อนข้างจะเห็นตรงกัน 

เป็นภาพวิถีของสัตว์ที่เป็นธรรมชาติดีนะครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 15, 21:01
ดูท่าทีว่านะจะปลอดภัยจากเสือแล้ว (เสือไปแล้ว) ก็จัดการหาไม้ไผ่มาทำคานหาม มีดที่พกติดกระเป๋าในสมัยนั้นเป็นมีดที่เรียกว่ามีดโบวี่ ด้ามเขาสัตว์ ใบมีดยาวประมาณหนึ่งคืบ แต่ไม่มีความคมเอาเลย ฟันไม้ไผ่ก็ไม่เข้า ริตากิ่งไผ่ก็ไม่ออก  ไม่มีทั้งน้ำหนักและความคมเอาเสียเลย มารู้เอาตอนหลังว่า ฝรั่งเขาใช้ในเรื่องของการอยู่การกินเสียมากกว่า เขาไม่มีกิ่งไม้ต้องตัด ต้องถาง ต้องฟัน 

ครับ ตั้งแต่บัดนั้นมา ผมไม่เคยใช้มีดพกพาของฝรั่งอีกเลย  หันมาใช้มีดไทยทำ เป็นมีดพร้า รูปทรงแบบที่ชาวบ้านเขาใส่ฝักหวายเหน็บใว้ด้านหลังตัวเรา คาดรัดด้วยผ้าขะม้า มีดทรงนี้แหละครับดีที่สุดสำหรับการใช้งานแบบเอนกประสงค์  ส่วนสำหรับมีดเหน็บหรืออีเหน็บแบบไทยที่มีปลายแหลมขนาดเขื่องๆก็ใช้ได้ดีเหมือนกัน แต่ไม่ดีเท่ามีดพร้าหัวตัดธรรมดานี่แหละ

มีดโบวี่ที่มีอยู่นั้น แทบจะไม่ได้ช่วยเกลาลำไม้ไผ่ให้มีลักษณะเป็นคานหามเลย ยังคงมีกิ่งอยู่ระเกะระกะ ก็เพียงใช้มือหักให้มันสั้นลงเท่าที่จะทำได้เท่านั้น  จากนั้นก็หาเถาไม้มามัดขาเก้งคู่หน้าและคู่หลัง เอาคานสอดแล้วก็ช่วยกันหาม


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 15, 21:13
กระบวนการผิดผี และการกระทำที่มิถูกมิควรต่อเจ้าที่เจ้าทาง เทพยดาฟ้าดิน เทพาอารักษ์ และสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำถิ่นของผมสองคนได้สำเร็จสมบูรณ์ไปแล้ว   จากนี้ไปก็จะเป็นผลที่จะได้รับตามต่อมา (consequences)

ลองเดาดูนะครับว่ามีการกระทำใดที่ไม่ควรจะกระทำ มิบังควรจริงๆ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 15, 18:38
แบกหามกันมาได้ระยะทางประมาณค่อนสนามฟุตบอล ทั้งคู่ก็บ่นกันว่าทำไมมันจึงรู้สึกหนักมาก สลับคานหาบระหว่างไหล่ซ้ายกับไหล่ขวาไปๆมาๆได้สักพักเดียว คู่หูของผมก็บอกว่าหนักมาก ผมก็เลื่อนเก้งเข้ามาใกล้ตัวผม จนในที่สุดแทบจะจ่ออยู่ที่หน้า  สุดท้ายก็ต้องวางหาบ นั่งพักกัน แล้วก็ตัดสินใจลดน้ำหนัก ก็เอามีดทื่อๆนั้นแหละครับ บั่นคอเอาหัวแยกแขวนเอาไว้กับกิ่งไผ่ข้างทาง ว่าอาจจะเดินกลับมาเอาทีหลัง (ยังหวงก้างอยู่)

ค่อยเบาลงหน่อย แต่เรื่องก็ซ้ำรอยเดิม คราวนี้ บั่นมันครึ่งตัวเลย เอาส่วนอกและขาหน้าแขวนไว้กับกิ่งไผ่ข้างทางอีก   มีดทื่อๆนี้กว่าจะบั่นให้ขาดจากกันได้นี้ ต้องใช้เวลานานอยู่เหมือนกันเลยทีเดียว  แล้วก็เอาคานสอดสองขาหลังหามกันต่อไป เดินต่อไปได้อีกไม่ไกลนัก คู่หูของผมก็บอกว่าเหนื่อยมากไปไม่ไหวแล้ว ท้องฟ้าก็กำลังมืดลงอย่างรวดเร็ว

พอดี ณ จุดที่นั่งพักนั้นอยู่ติดกับตัวลำห้วยขาแข้ง ก็เลยคิดว่าคงจะต้องค้างคืนกันที่นี่ จะไปต่อก็คงจะไม่ไหว ไฟฉายก็ไม่มี 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 15, 18:57
ทั้งคู่มีไฟแช็กอยู่ เนื่องจากสูบบุหรี่กันทั้งสองคน  เขาน่ะม่อยกะรอกไปแล้ว คงหมดแรงจริงๆ  ผมก็จัดการหากิ่งไม้แห้งมาก่อกองไฟ และไปหาท่อนไม้แห้งท่อนใหญ่ๆเท่าที่จะพอหาได้ เอากองรวมเพื่อจะได้ใช้ได้ตลอดทั้งคืน และเผื่อไล่สัตว์ใหญ่ประเภทไม่กลัวใคร ครับ..ก็ช้างนั่นแหละ

รู้ว่ามีช้างก็เพราะเห็นรอยของมัน ซึ่งที่น่าหวาดเสียวก็คือมันเป็นรอยช้างตัวเดียว ครับ..สีดอครับ (ช้างตัวผู้รุ่นหนุ่มที่ถูกกันให้แยกออกจากโขลง) สีดอเป็นช้างตัวผู้ มีงาสั้น (ที่เรียกว่า ขนาย) เดินเดี่ยวๆ ไม่เกรงกลัวอะไร นิสัยออกไปทางเกเร การพบกับสีดอนี้อันตรายมากกว่าการพบกับช้างทั้งโขลง ช้างโขลงนั้นจะเดินหนีหรือยืนอยู่เฉยๆ แต่สีดอนั้นจะเดินเข้ามาหาเรา (มาหาเรื่อง) 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 15, 19:11
พอประมาณ 2 ทุ่ม ก็ได้ยินเสียงเก้งเขก (ส่งเสียงร้อง) อยู่รอบๆจุดที่นั่งพัก หลายตัวเลยทีเดียว  คราวนี้ก็พอจะแน่ใจได้แล้วว่าพื้นที่แถวนี้มีเสือแน่ๆ

แล้วก็ได้ยินเสียงหมาป่าส่งเสียงหอนรับต่อกันตามลำห้วย ซึ่งก็คงจะอยู่ห่างจากเราไปพอสมควร แต่ก็เสียวๆอยู่เหมือนกันว่า หากมันเข้ามาหาเราเป็นฝูงแล้วจะรับมือกับมันอย่างไรดี    เป็นครั้งเดียวในชีวิตเดินป่าเดินดงของผมที่ได้ยินเสียงหมาป่าหอนเสียงดังต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ จำได้ว่าเป็นวันที่พระจันทร์ใกล้เต็มดวง (หรือจะเต็มดวง ก็ไม่แน่ใจนัก)  ยังกะนิยายเลยนะครับ   เสียงหมาป่าหอนนี้ ผมรู้สึกว่ามันเขย่าขวัญได้มากเลยทีเดียว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 15, 19:26
นั่งอยู่ได้ราวๆชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงคนตะโกนเรียก ก็ยังไม่กล้าตะโกนตอบกลับ เพราะยังมีเรื่องเสือสมิงลึกๆอยู่ในใจ จนกระทั่งเห็นแสงไฟฉายวอบแวบ ก็รู้ในทันทีเลยว่าที่แคมป์เขาส่งคนมาตามหาเรา  เจอกันก็เล่าเรื่องให้ฟังว่ายังมีเก้งอีกส่วนหนึ่งแขวนไว้ขางทาง เขาก็เดินไปเอากัน ไม่นานก็กลับมา

คนที่มาตามเราเขาหิ้วเก้งด้วยมือข้างเดียวในความรู้สึกแบบเบา ในขณะที่ผมกับคู่หูช่วยกันหาม หนักแทบตาย   มันก็แปลกดีนะครับ

แต่ผลจากการกระทำของผมกับคู่หูยังไม่จบนะครับ พอรุ่งเช้าแต่ไก่โห่เลยก็เกิดอีกเรื่องหนึ่งอย่างระทึกต่อเนื่องมาอีก 24 ชม.


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 24 พ.ย. 15, 20:42
นั่งอยู่ได้ราวๆชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงคนตะโกนเรียก ก็ยังไม่กล้าตะโกนตอบกลับ เพราะยังมีเรื่องเสือสมิงลึกๆอยู่ในใจ จนกระทั่งเห็นแสงไฟฉายวอบแวบ ก็รู้ในทันทีเลยว่าที่แคมป์เขาส่งคนมาตามหาเรา  เจอกันก็เล่าเรื่องให้ฟังว่ายังมีเก้งอีกส่วนหนึ่งแขวนไว้ขางทาง เขาก็เดินไปเอากัน ไม่นานก็กลับมา

คนที่มาตามเราเขาหิ้วเก้งด้วยมือข้างเดียวในความรู้สึกแบบเบา ในขณะที่ผมกับคู่หูช่วยกันหาม หนักแทบตาย   มันก็แปลกดีนะครับ

แต่ผลจากการกระทำของผมกับคู่หูยังไม่จบนะครับ พอรุ่งเช้าแต่ไก่โห่เลยก็เกิดอีกเรื่องหนึ่งอย่างระทึกต่อเนื่องมาอีก 24 ชม.

 ??? :o


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 24 พ.ย. 15, 22:35
แต่ผลจากการกระทำของผมกับคู่หูยังไม่จบนะครับ พอรุ่งเช้าแต่ไก่โห่เลยก็เกิดอีกเรื่องหนึ่งอย่างระทึกต่อเนื่องมาอีก 24 ชม.

ทิ้งท้ายเหมือนละครโทรทัศน์"ล่องไพร" ช่อง4 บางขุนพรหม ยุค50กว่าปีโน้น (ผู้จัดคือคุณสรรพสิริ วิริยะศิริ)
กว่าจะได้ดูตอนต่อก็ต้องรอเดือนหน้ากันเลย เพราะจัดเดือนละหน
แต่ "ล่องไพร"ของนายตั้ง ค่อยยังชั่วหน่อย รอแค่ข้ามคืนเอง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 15, 17:50
ทิ้งท้ายเหมือนละครโทรทัศน์"ล่องไพร" ช่อง4 บางขุนพรหม ยุค50กว่าปีโน้น (ผู้จัดคือคุณสรรพสิริ วิริยะศิริ)
กว่าจะได้ดูตอนต่อก็ต้องรอเดือนหน้ากันเลย เพราะจัดเดือนละหน
แต่ "ล่องไพร"ของนายตั้ง ค่อยยังชั่วหน่อย รอแค่ข้ามคืนเอง

ขอบคุณที่ตามอ่านครับ  แล้วก็เข้าใจใช้กลยุทธในการเร่งให้เรื่องเดินดีครับ ชอบใจ  ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 15, 17:59
วันนี้วันลอยกระทง  คงจะมีสมาชิกเข้ามาในเรือนไทยน้อยกว่าปรกติ   ผมเองไม่ได้ออกไปใหนเพราะมีภาระดูแลหลาน แล้วก็ไม่รู้สึกอยากจะออกไปใหนด้วย ขยาดคนล้นหลามและรถติดครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 15, 18:18
พอฝ้าเริ่มสว่างพอมองเห็นกันได้ คนในคณะของผมคนหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วก็เดินไปฉี่ ก็ดันไปฉี่รดโคนต้นไม้ใหญ่หลายโอบ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พวกกะเหรี่ยงเอาไม้ไผ่ยาวประมาณ 3 เมตรนับเป็นสิบท่อนไปวางพิงไว้  แน่นอนว่าการกระทำของพวกกะเหรี่ยงชาวบ้านนั้นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าที่เจ้าทาง เทพาอารักษ์ แน่นอน และต้นไม้ต้นนี้ก็น่าจะต้องขลังเอาการอยู่เหมือนกัน

พอฉี่รดโคนต้นเท่านั้นเอง ก็ผงะถอยออกมา ทรุดตัวลงแล้วก็ชักเลยในทันใด  ทำอย่างไรดีละครับ กลางป่า ห่างไกลจากผู้คน   สิ่งแรกที่ทำก็คือ เอาช้อนใส้ปากเพื่อกันงับลิ้นตัวเอง ชักได้ประมาณ 5 นาทีก็หยุด แต่ยังไม่รู้ตัว

ที่คิดได้อย่างฉับไวก็คือ ต้องเอาออกจากป่าไปโรงพยาบาลให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องหามออกไปด้วย จะต้องไปกันกี่คน ? จะจัดการอย่างไรกับแคมป์ ? จะต้องขนย้ายหรือทิ้งร้างไว้ ? ข้าวปลาอาหารก็ต้องมีติดตัวไปด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะอดหมดแรงกันทั้งหมด จบเห่กันทั้งยวงแน่ๆ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 15, 18:45
ตั้งสติได้ก็เห็นทางเดิน   หม้อข้าวก็ตั้งอยู่บนสามขาสุมด้วยกองฟืนแล้ว กำลังร้อนใกล้จะเดือด ก็ให้รีบทำกับข้าวแบบฉุกเฉิน 

เรื่องกับข้าวฉุกเฉินนี้ ผมต้องเตรียมไว้เสมอ ประติก็จะมีกุนเชียง 1 กก. ปลากระป๋องสามสี่กระป๋อง  แฟง (ฟักลูกยาว) 1 ลูก นอกจากนั้นก็แล้วแต่ บางครั้งก็ปลาสลิดแห้ง แบบปลาสลิดหอมที่เขาเรียกกันในปัจจุบัน (คือทำโดยการหมักเกลือ แล้วตากหลายแดด) บางครั้งก็มีเครื่องกระป๋องของ อสร. (องค์การอาหารสำเร็จรูป) เช่น เนื้อกระเทียมพริกไทย ซึ่งทำคล้ายๆ corn beef (เอามายำอร่อยดีครับ) หรือแกงกระป๋อง ฯลฯ

ทุกคนต่างก็ช่วยกันคนละไม้ละมือในทุกเรื่อง  คน 7 คนนี้ ดูว่าจะมีหลายคนและมากก็จริง  แต่หากแยกกันแล้วก็จะทำอะไรไม่ได้เลย

ลองดูสภาพความเป็นจริงนะครับ ควาญช้าง 2 คนออกไปตามจับช้างเพื่อเอามาบรรทุกของ จะให้ควาญช้างเอาของขึ้นบรรทุกบนหลังช้างเองนั้นเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องใช้คนอีกอย่างน้อยสองคนช่วยในการส่งของขึ้นหลังช้าง  เก็บผ้าเต็นท์ผืนกว้างประมาณ 4x5 เมตร คนเดียวก็ไม่ไหว ต้องช่วยกันอย่างน้อยก็สองคน มีอยู่สองผืน ทำหลังคาผืนหนึ่ง ปูนอนผืนหนึ่ง  โชคดีที่มีผืนเล็กที่ใช้ปูนั่งทำครัวและกินข้าว ก็จะใช้ผืนนี้แหละทำเปลหาม  ก็ให้คนไปตัดไม้ไผ่มาทำเป็นคานหาม กะว่าจะใช้ 4 คนช่วยกัน แต่พอเดินเข้าจริงๆ ต้องใช้วิธีหาบสองคนเท่านั้น จะหามแบบเปลสนามด้วยคนสี่คนนั้น เดินไม่ได้เลยเพราะเป็นทางป่า   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 15, 19:06
ระหว่างทำอะไรต่อมิอะไรกัน  คนไข้ก็ชักขึ้นมาอีกเป็นระยะๆ ทุกๆประมาณ 10 นาที  หมดปัญญาที่จะช่วยเหลือใดๆ มีแต่ใช้ช้อนใส่ปากกันกัดลิ้นเท่านั้น คนไข้ก็หมดสติ นิ่งอย่างเดียว ทุกอย่างต้องเร่งมือและคับขันไปหมด  ก็พอจะรู้อยู่ว่าคนไข้อาจขาดอากาศหายใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร   กลัวใหม ? กลัวครับ กลัวจริงๆ น่ากลัวทีเดิยว คอยสังเกตอยู่ตลอดเวลาว่าเขายังหายใจอยู่หรือไม่

พอเรื่องเกี่ยวกับแคมป์พอจะเข้าที่ ก็เอาคนมา 4 คน มาพร้อมกับคนป่วย เหลืออีกสามคนอยู่กับช้างเดินตามหลังมา

ผลัดกันหามคนป่วยตั้งแต่เช้า จนบ่ายแก่ๆก็พบกะเหรี่ยงเดินสวนมา คำถามแรกของผมคือ อยู่หมู่บ้านใหน? มีหมอผีหรือไม่?  โชคดีที่กะเหรี่ยงคนนั้นเป็นหมอผีและอยู่บ้านไก่เกียง ก็เลยตกลงให้แกทำพิธีไล่ผี แต่ห้ามให้กินอะไรโดยเด็ดขาด  เราก็เราหามคนไข้เข้าบ้านไก่เกียง ส่วนผมกับอีกคนหนึ่งต้องเดินต่อไปอีกประมาณ 2 ชม.เพื่อไปหาพวกโอวัลติน ซึ่งโชคดีที่มีติดบ้านของคนนำทางที่ตั้งอยู่ปากลำขาแข้งนั้น แล้วก็ส่งคนเดินกลับมาหาคนป่วยเผื่อว่าจะพอกินอะไรได้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 15, 19:27
ตลอดช่วงเวลาที่หามมา คนป่วยชักเป็นระยะๆตลอดเลยครับ บ่อยมากจนน่ากลัวจริงๆ  พอเจอหมอผี เขาก็จับมือคนไข้ขึ้นมา จับที่นิ้งกลางสักพัก แล้วก็บอกว่ามีทั้งโรคประจำตัวและผีเข้า และแกยินดีจะทำพิธีไล่ผีให้ที่บ้านแกในตอนค่ำ   ก็แปลกนะครับ หลังจากนั้นคนไข้ก็ชักห่างขึ้น นานๆครั้ง

พอส่งคนไข้ถึงบ้านกะเหรี่ยงแล้ว ทุกคนก็กังวลว่า พรุ่งนี้เช้าจะหามคนไข้ข้ามเขาไหวหรือ เดินตัวเปล่ายังใช้เวลา 2 ชม. ผมก็เลยจ้างชาวบ้านให้เขาต่อแพให้ เป็นแพไม้ไผ่ 15 ลำ (10 ลำทำเป็นพื้น อีก 5 ลำทำเป็นแคร่วางบนไม้ขวาง) เพื่อจะได้ล่องมาตามห้วยออกปากลำขาแข้ง

   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 15, 18:42
ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุนี้ เป็นช่วงเวลาที่เพิ่งจะมีการตัดทางเพื่อการชักลากไม้ระหว่างพื้นที่ห้วยแม่พลู (ใกล้ปากห้วยขาแข้ง) กับเขาเหล็ก เขาโจด ผ่านหมู่บ้านตีนตก โดยใช้หมู่บ้านกะเหรี่ยงใกล้ปากลำขาแข้งเป็นแคมป์ใหญ่ปลายทาง   การเข้าพื้นที่ของผมจึงเปลี่ยนจากการใช้เรือซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากมาเป็นการใช้รถ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 15, 19:03
แม้ว่าจะเดินมาตลอดวัน และยังช่วยแบกหามคนป่วยเป็นระยะๆ  เหนื่อยมาก แต่ตลอดคืนนั้นก็นอนแบบหลับไม่สนิททั้งคืน

เช้าขึ้นมาก็สาละวนกับการเตรียมรถ   มันไม่มีทางติดต่อกับคณะคนป่วยเลย ไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ล่องแพได้ใหม คนป่วยเป็นอย่างไรบ้าง ฯลฯ     ก็รอด้วยความเครียด/ความกังวลอยู่ทั้งวันจนเกือบทุ่ม  แพคนป่วยก็มาถึงปากลำขาแข้ง จากนั้นก็ช่วยกันหามกันต่อไปขึ้นรถ กว่าจะออกรถได้ก็ประมาณ 2 ทุ่ม ลุยกันทั้งคืนอย่างเร่งด่วน ไปถึง รพ.พหลพลพยุหเสนา กลางเมือง จ.กาญจนบุรี ตอนประมาณ 6 โมงเช้า  หมอบอกว่ามาช้าไปกว่านี้อีกหน่อยเดียว ก็อาจเสียชีวิต  โล่งอกเลยครับ
ติดต่อญาติเขาได้ ให้มาดูแลต่อไป ในที่สุดก็กลับบ้านได้  (มารู้เอาทีหลังว่าเขาต้องกินยากันชักตลอด คิดว่าคงลืมเอาติดตัวเข้าไป)

ส่วนผมนั้น ไม่ได้พักหรอกครับ ทิ้งคนทิ้งแคมป์มา จึงรู้สึกเป็นห่วงพรรคพวกและเครื่องมืออุปกรณ์ของหลวงมากมายหลายชิ้น รวมทั้งเงินค่าจ้างแรงงานที่ไม่ได้เอาติดตัวออกมาด้วย  พอจัดการเรื่องราวได้ ก็เติมน้ำมันรถ จ่ายกับข้าว แล้วก็กลับเข้าป่าไปหาพรรคพวกเลยทีเดียว   



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 15, 19:24
แปลกนะครับ  คนในคณะเล่าว่า พอเข้าเขตบ้านไก่เกียง ช่วงเวลาที่คนป่วยจะชักก็ห่างออกไป พอไปถึงบ้านกะเหรี่ยงคนที่จะทำพิธีไล่ผี คนไข้ก็หยุดชัก พอทำพิธีเสร็จ ก็ไม่มีการชักอีกเลย กว่าจะต่อแพเสร็จก็เกือบครึ่งวัน ไก็ม่มีการชักเลย  จนกระทั่งเอาขึ้นแพแล้วล่องแพพ้นเขตบ้านไก่เกียงจึงเริ่มชักใหม่ แล้วก็ชักเป็นระยะๆตลอดไปจนถึงโรงพยายบาลเลย

โชคดีจริงๆที่ไม่มีเรื่องถึงการเสียชีวิต

ผมได้พบกับหมอผี เพื่อขอบคุณเขา  แล้วก็สอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าที่เจ้าทางที่มาแสดงอิทธิฤทธิ์  เขาบอกว่า มีสองสาเหตุที่ทำให้คนป่วยชัก คือ เป็นมาจากโรคส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมาจากผีเจ้าที่เจ้าทาง

ต่อมาก็เดินทำงานไปจนถึงต้นไม้ต้นนั้น แล้วก็ทำการขอขมา

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 15, 19:34
อยากจะทราบคาถาและคำบอกกล่าวที่ผมใช้กราบหมอนก่อนนอน และใช้ในเวลารับรู้สัมผัสที่ไม่ปรกติและช่วงเวลาคับขันใหมครับ
ผมได้มาตั้งแต่อายุประมาณ 15  ได้ใช้ตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้
จะขลังขนาดใหนคงจะบอกไม่ได้นะครับ
แต่สำหรับผมแล้วได้ทำให้ผมแคล้วคลาดและผ่านพ้นเรื่องอันตรายทั้งหลายทั้งจากคนและสัตว์ตลอดมา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 15, 18:39
หลังจากเหตุการณ์ไม่พึงปราถนาผ่านพ้นไป  ก็มาวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆกันและกับชาวบ้านด้วย   สรุปว่า มีการกระทำที่ไม่พึงกระทำมากมาย แทบจะทุกเรื่องเลย (เรียกว่าผิดผีก็แล้วกันนะครับ)

เริ่มตั้งแต่
   ไปแย่งอาหารของสัตว์ที่กำลังกินอยู่ โดยไม่มีการกล่าวขอขมา     
   แทนที่จะยกเก้งออกมาจากโคนกอไผ่ก็กลับใช้วิธีลากออกมา     แทนที่จะใช้คานหามที่เป็นคานหาม(ไม้กลมเรียบ) ก็เป็นต้นไผ่ที่ยังคงเป็นสภาพของต้นไผ่     
   แทนที่จะชำแหละเก้งให้เป็นเรื่องเป็นราว คือแยกเป็นชิ้นส่วน เช่น ขาหลัง 2 ขา...ฯลฯ ก็กลับใช้วิธีแบบดิบๆ ห่ามๆ คือตัดหัว ตัดครึ่งตัว ดูไม่เป็นการเคารพต่อมังสาหารเอาเสียเลย
   ชิ้นส่วนที่ตัด ก็ยังเอาแขวนไว้ และยังคิดว่าจะกลับมาเอาอีก ก็คือแย่งเขามาแล้วยังหวงก้างอีกนั่นแหละครับ                   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 15, 18:50
สำหรับเรื่องที่แคมป์ ก็มีอยู่สองเรื่อง คือ ที่ตั้งของแคมป์นั้นอยู่ในจุดที่อึมครึม ไม่โปร่ง  และอีกเรื่องก็คือไปฉี่รดต้นไม้ที่มีเทพาอารักษ์สถิตอยู่

เคยคิดกันไปถึงว่า ที่เก้งเขกอยู่รอบตัวในขณะที่นั่งพักอยู่นั้น ฤๅ พวกเขาจะมาตามมาส่งเพื่อน  และเสียงหมาป่าหอนส่งกันเป็นทอดๆนั้น พวกเขากำลังป่าวประกาศอะไรกันอยู่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 15, 19:15
ที่น่าสนใจ คือ เมื่อเข้าเขตหมู่บ้านกะเหรี่ยง อาการของคนป่วยก็เริ่มสงบ และสงบตลอดเวลาที่อยู่บริเวณที่ตั้งของบ้านชาวบ้าน   

เขตหมู่บ้านของกะเหรี่ยงจะกำหนดด้วยเสาไม้อยู่สองเสาที่มีคานวางพาดอยู่ แล้วก็มีจักสานเป็นรูปคล้ายตราของพวกชาวยิวแขวนอยู่  จักสานรูปนี้ พวกกะเหรี่ยงยังใช้ในการดูว่าจะมีโชค ว่าจะประสบผลสำเร็จในงานที่จะทำหรือไม่อย่างไร   เขาจะทำ (แอบทำ) การเสี่ยงทายในขณะที่กำลังนั่งสนทนากัน โดยจะหาก้านต้นหญ้าหรือตอกไม้ไผ่ เอามาหักมาสานด้านหลังตัว เมื่อเสร็จแล้วก็เอามาดูว่า สานได้สวยหรือไม่  หากสวยก็แสดงว่าจะโชคดี ทำอะไรก็บรรลุผลสำเร็จ

อีกเรื่องหนึ่งคือ ที่เสาเขตหมูบ้านและที่บ้านของกะเหรี่ยงทุกหลัง จะมีหนังส่วนจมูกของเม่นชิ้นประมาณฝ่ามือที่มีหนวดติดอยู่ แปะติดที่บริเวณประตูหรือกระไดของบ้าน  เขาว่าใช้ไล่ผี    ผมยังหาเหตุผลและความเชื่อมโยงไม่ได้ระหว่างหนังจมูกเม่นกับผีป่า ผีบ้าน และผีเรือน พอจะมีท่านใดทราบใหมครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 15, 19:30
อีกความเชื่อหนึ่งที่ดูน่ารักดี คือ เมื่อกะเหรี่ยงจะออกจากบ้านเพื่อเข้าไปหาของกินนอกเขตหมู่บ้าน เขาจะเอาขี้เถ้าป้ายที่แก้มทั้งสองข้าง นัยว่ากันผีและให้รู้ว่าเป็นมนุษย์ ซึ่งสำหรับพวกเด็กๆนั้นเห็นมีขี้เถ้าป้ายที่แก้มทุกคนเลย แม้ว่ากำลังวิ่งเล่นอยู่ที่ลานบ้านก็ตาม กล่าวได้ว่า ตื่นนอนมาก็ถูกป้ายขี้เถ้ากันแล้ว

ผมเป็นคนมีเชื้อแถวอยู่โคราช คุณพ่อเคยเล่าเรื่องที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนโน้นก็เอาขี้เถ้าป้ายหน้าเด็กเมือนกัน ซึ่งแสดงว่าคนไทยก็ทำเหมือนกัน

ครับ..พอจะมีท่านผู้ใดขยายความเรื่องของความเชื่อในเรื่องการเอาขี้เถ้าป้ายหน้าบ้างใหมครับ ?


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ย. 15, 19:07
พูดถึงเรื่องจมูกเม่น ก็มาเรื่องเม่นกัน 

ในห้วยขาแข้งช่วงล่างมีเม่นอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก  เม่นเป็นสัตว์ฟันแทะ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วนม หากินในตอนกลางคืนด้วยการขุดคุ้ยหาพวกพืชหัวและรากไม้มาเป็นอาหาร 

ที่ผมเคยเห็นมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ เม่นที่มีขนกลมแหลมคลุมตัวตั้งแต่ประมาณห้าอกลงไป ตัวใหญ่กว่าเม่นอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เม่นหางพวง (กะเหรี่ยงเรียกว่า ชะบา)  เม่นหางพวกจะมีขนที่ออกไปทางแบน ไม่กลมเหมือนเม่นใหญ่     แหล่งหากินของเม่นใหญ่มักจะอยู่ใกล้ๆโป่งน้ำซับ (โป่งที่มีดินชื้นฉ่ำ) ส่วนเม่นหางพวงมักจะอยู่ในละแวกของป่ากล้วยป่า

หนังหน้าส่วนจมูกของเม่นที่กะเหรี่ยงเอามาแปะติดแถวประตูเข้าบ้านนั้น จะเป็นของเม่นใหญ่ทั้งนั้น (ไม่ยืนยันนะครับ ตามเขาว่าอย่างนั้น)     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ย. 15, 19:36
เนื้อเม่นเอามาทำอาหารได้ ลักษณะเนื้อและสีเนื้อคล้ายเนื้อหมูสามชั้นที่มีมันน้อย มีหนังหนาประมาณครึ่ง ซม.  ซื่อ porcupine ที่ฝรั่งเขาเรียกกันจึงดูจะเหมาะกับตัวมันอย่างยิ่ง (คือหมูมีขนแหลมนั่นเอง ? )

กะเหรี่ยงนิยมล่าเม่นหางพวง (ชะบา) มากกว่าเม่นใหญ่ ซึ่งอาจะเป็นเพราะว่าพวกมันมีมากและหากินในละแวกดงกล้วยป่า ซึ่งจะเป็นป่าที่ไม่รกและไม่มีสัตว์ใหญ่มาหากินในดงกล้วย   สัตว์ใหญ่ที่หากินในดงกล้วยก็ตัวใหญ่จริงๆเลยทีเดียว คือ ช้าง ครับ มีตั้งแต่ตัวเดียว (สีดอ) ไปจนถึงทั้งโขลง (ระหว่าง 6 -10 ตัว)     
เม่นใหญ่หากินในบริเวณโป่งน้ำซับ หรือที่บริเวณตลิ่งห้วยที่ค่อนข้างจะชื้นฉ่ำ มีกอไผ่และดินร่วนซุย (ดินขุยไผ่) ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างเปิดกว้าง (คือมีตลอดลำห้วย) ไม่เหมือนกับดงกล้วยที่มีเป็นพื้นที่ๆมีขอบเขต   การพบตัวเม่นใหญ่จึงยากกว่าชะบา    อนึ่ง หากไปล่าเม่นใหญ่ที่บริเวณโป่ง ก็คงจะไม่ได้เม่นมา กลับกลายจะได้สัตว์กีบอื่นๆมาแทน  ดีไม่ดีจะจ๊ะเอ๋เสือเอาเสียด้วยซ้ำ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ย. 15, 20:23
เป็นเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่หาขนเม่นชนิดกลมได้ยากมากในหมู่บ้านกะเหรี่ยงเหล่านั้น มีแต่พวกขนแบนสั้นๆ ไม่รู้ว่าเขาเอาไปใหนกันหมด  ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องยืนยันว่า เขานิยมกินเนื้อชะบามากกว่าเนื้อเม่นใหญ่     

อ้อ..ที่ว่านิยมกินเนื้อชะบามากกว่าเนื้อเม่นใหญ่นั้น ก็พอจะมีเหตุผลอยู่บ้างครับ กล่าวคือ อาหารที่เม่นใหญ่กินนั้นบางครั้งมันก็ทำให้ทั้งตัวมันเป็นพิษจนเรากินแล้วจะเกิดอาการเมา เรื่องนี้เจอกับตัวเองเลย แถมมีอาการกันทุกคนทั้งแคมป์เลย     ครับ..อยู่ป่าก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกินเป็นธรรมดา ดังนั้น เราก็จึงต้องทำตนให้มีความไวต่อการสัมผัสต่างๆ  อาการเมาที่ว่านี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นคล้ายกับการกัดหมากพลูคำแรกของคนที่ไม่เคยเคี้ยวหมาก เป็นอาการคนกินหมากเขาที่เรียกว่า ยัน หรือ หมากยัน   
 
แล้วก็มีอีกเรื่องแปลกที่ผมหาคำอธิบายไม่ได้ คือว่า ครั้งหนึ่งไปพบขนเม่นกองอยู่โคนต้นไม้ กองอยู่ใต้กิ่งไม้ที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 2+ เมตร บางคนอธิบายว่า งูมันกินแล้วสำรอกออกมาโดยเอาหางพันไว้กันกิ่งไม้ จะเชื่อได้ใหมเนี่ย ?? 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 30 พ.ย. 15, 22:06
เมื่อกี้แวบไปหาอากู๋ ขอดูเม่นใหญ่ เลยได้ของแถมเป็นคลิปวีดีโอเสือดาวกำลังพยายามจะกินเม่น แต่สุดท้ายดูเหมือนมันล้มเลิกความตั้งใจเพราะกินลำบากมาก ทำให้คิดว่าแล้วงูจะกินเม่นไหวหรือคะ ???     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 15, 18:37
ผมก็สงสัยอยู่นะครับ   หากมันอยากจะกินมันก็คงจะกินได้อยู่หรอกครับ แต่ก็ อือ..ต้องทนเจ็บเอาเรื่องอยู่ทีเดียว

ปรกติงูจะสำรอกพวกกระดูกที่ย่อยไม่ได้ ซึ่งเท่าที่เคยเห็นตามที่ชาวบ้านชี้ให้ดู มักจะเห็นเศษกระดูกพวกนี้อยู่แถวๆโคนต้นไม้  แต่ก็ไม่เชื่อหรอกครับว่า มันจะต้องห้อยโหนเพื่อการสำรอกเศษกระดูก   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 15, 18:55
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเม่นสลัดขน   

เป็นเรื่องไม่จริงนะครับ  ผมเคยเห็นหมาของชาวที่ถูกขนเม่นทิ่มตำอยู่บริเวณหน้า ชาวบ้านต้องช่วยมัน ค่อยๆดึกออกทีละเส้น ขนเม่นทิ่มตำทะลุเข้าไปในหนังริมฝีปาก เป็นลักษณะของการกระแทกเข้าไปมากกว่าลักษณะของการถูกเหวี่ยงปาเข้ามา   

ภาพก็คงจะเป็นว่า หมาวิ่งตามเม่น พอได้จังหวะเหมาะเม่นก็จะหยุดทันใดพร้อมกางขน หมาเองก็คงจะนึกว่าหวานคอแร้งแล้ว ก็เสือกหน้าเข้าไปหวังงับ แต่ช้าไปแล้วต๋อย หยุดไม่ทัน หน้าก็ขมำจิ้มเข้าไปในดงขนเม่น  นั่นแหละครับขนเม่นจึงหลุดติดปากของมันมา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 15, 19:27
ก็มีสัตว์อีกสองชนิดที่มีเนื้อคล้ายเนื้อลูกหมู เป็นสัตว์ฟันแทะ และก็เป็นที่นิยมของชาวบ้านเช่นกัน คือ ตุ่น กับ อ้น ครับ

ทั้งตุ่นและอ้นใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน ขุดอุโมงค์เดินไปรอบๆแหล่งอาหาร ซึ่งก็ได้แก่ พวกรากไม้ทั้งหลาย โดยเฉพาะรากของต้นไผ่ที่อยู่กันเป็นกอใหญ่ๆ
ตุ่นและอ้นมีลักษณะตัวเหมือนกัน ตุ่นจะมีตัวเล็กกว่าอ้น ตุ่นตัวใหญ่ๆนั้นมีขนาดประมาณกำมือ แต่ส่วนมากตัวจะประมาณข้อมือ  ส่วนตัวอ้นนั้นมีขนาดประมาณแมวหง่าว
อ้นนิยมจะทำมาหากินอยู่ตามตลิ่งห้วยที่มีกอไผ่ขึ้น ในขณะที่ตุ่นนิยมอยู่ลึกเข้าไปจากห้วยในดงไผ่ที่มีดินชื้น เช่นดงไผ่บง ดงไผ่ผาก  ส่วนดงไผ่หนามที่เป็นป่าชัฎนั้น ไม่เป็นที่นิยม

สัตว์ทั้งสองชนิดนี้แม้ว่าจะพบได้ตลอดลำห้วยขาแข้ง แต่ที่พบมากจริงๆก็อยู่ในห้วยขาแข้งตอนล่าง  เพราะเป็นพื้นที่ๆดินที่มีต้นกำเนิดมาจากหินปูน  ทำให้ได้ดินเนื้อละเอียดและเนื้อร่วน ขุดอุโมงค์และทำรังได้ง่าย แถมพืชมีหัวมีรากอ่อนที่แสนอร่อยก็จะขึ้นอยู่มากในพื้นที่ลักษณะนี้
กล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของพวกมัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 15, 20:06
มันอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินแล้วเราจะจับมันได้อย่างไรครับ ?



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 15, 18:11
มีอยู่ 2 วิธี  คือ
   วิธีแรก  เอาจอบและเสียมขุดไปตามโพรงทางเดินของมันจนกระทั่งพบตัว ซึ่งใช้สำหรับตัวอ้น    ส่วนสำหรับตัวตุ่น จะใช้วิธีขุดเปิดปากทางให้กว้างเป็นหลุม แล้วก็ไปตักน้ำมาเทใส่ให้ท่วม เพื่อไล่ให้ตัวตุ่นโผล่ออกมา   

ครับ..เดินเข้าป่าเข้าดง หากเห็นหลุมขุดอยู่ตามริมตลิ่งห้วย อันนั้นเป็นหลุมจับตัวอ้น  แต่หากเห็นหลุมอยู่ในละแวกกอไผ่ อันนั้นเป็นหลุมจับตัวตุ่นครับ

ที่เล่ามาก็คงพอจะทำให้เห็นภาพได้บ้างนะครับ ว่าเนื้อของมันคงจะต้องกินอร่อย มิฉะนั้นก็งคงจะไม่อยากจะลงแรงให้เหนื่อยขนาดนั้น 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 15, 18:47
ไม่เคยเห็นทั้งตุ่นและอ้น   ไปถามอาจารย์กู๊กดู ได้ภาพมาตามนี้ค่ะ
เห็นแล้วคงกินไม่ลง  หน้าตามันเหมือนหนูตะเภา ขนฟูๆด้วย น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงมากกว่าสัตว์ป่านะคะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 15, 18:52
วิธีที่สอง  ใช้วิธีล่อ วิธีนี้ออกแรงน้อยมาก เป็นวิธีที่ไม่ค่อยจะมีคนที่รู้ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ได้    

ด้วยเขารู้ว่าอ้นและตุ่นเป็นสัตว์ที่มีเขตอาณาและหวงเขตอาณาในระดับหนึ่งอยู่พอสมควร รู้ว่ามันนิยมบริโภครากไม้ โดยเฉพาะเหง้าไผ่อ่อนๆที่อยู่ใต้ดิน  

อุปกรณ์สำคัญที่ต้องมีคือ มีดที่สามารถล้มต้นไผ่ได้เพียงเล่มเดียว    ครับ..เลือกต้นไผ่ที่ยังไม่แก่ (ไผ่แก่จะมีเนื้อในสีออกไปทางสีส้ม) ที่มีลำต้นโตขนาดประมาณแขนของเรา และที่มีปล้องแต่ละปล้องยาวประมาณ 30 ซม. ตัดเอามา 1 ปล้อง เปิดปลายด้านหนึ่งไว้คล้ายจะทำเป็นกระบอกเผาข้าวหลาม  เอามีดบั้งผิวของปล้องที่ตัดมานั้น ให้มีลักษณะคล้ายฟันเฟือง  แล้วก็ไปหาไม้มาเหลาให้เป็นทรงตะเกียบ

เอาปลายด้านเปิดของกระบอกไม้ไผ่จิ้มลงตรงจุดที่ดินเป็นขุย (ดินที่มันขุดออกมาจากรูทางเดินของมัน) ซึ่งก็คือปากรูของมัน   จากนั้นก็เอาไม้ตะเกียบค่อยๆครูดลงไปบนร่องที่บากไว้นั้น ความเร็วในการครูดก็เดาเอาครับ ก็พอๆกับเสียงแทะกรอดๆที่หนูหรือกะรอกแทะไม้

ครับ..เรากำลังทำการส่งเสียงให้ตุ้นที่อยู่ในโพรงได้รับรู้เสมือนหนึ่งว่า กำลังมีอีกตัวหนึ่งเข้ามาหากินอยู่ในพื้นที่ของมัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 15, 19:16
ทั้งตุ่นและอ้นเป็นสัตว์ที่ดูน่ารักครับ    ตัวอ้นนั้นค่อนข้างดุ ผมไม่เคยเห็นมีคนเอามาเลี้ยง  แต่ตัวตุ่นนั้น แม้ในระยะแรกๆที่จับมันได้จะขู่ฟอดๆและกัดเหมือนกัน แต่สักพักก็จะยอมและเชื่องขึ้น จึงมีคนเอามาเลี้ยงกัน ขนนุ่ม น่ารักมาก โดยเฉพาะพุง (ท้อง) ของเขานั้นจะเปล่งใส เห็นผิวหนังเป็นมันเลยทีเดียว     

สัตว์ทั้งสองชนิดนี้ (ที่จริงก็แทบจะทุกชนิดเลยก็ว่าได้) ชอบเกาท้อง ดังนั้น หากเราได้ลูบท้องมัน สักพักเดียวก็กลายเป็นมิตรครับ

สำหรับตัวอ้นนั้น ผมไม่รู้ว่ามันนิยมอยู่ตัวคนเดียวหรืออยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกเด็กเล็กแดง ??   เท่าที่เคยเห็นมาดูจะเป็นลักษณะของการอยู่เดี่ยวเสียมากกว่า     ต่างกับตุ่นที่มีโพรงอยู่กันเป็นครอบครัว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ เราจึงได้พบเห็นการนำลูกตุ่นมาขายในตลาด   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 15, 20:08
เสียงแกรกๆที่เราทำขึ้นนั้น จะคล้ายกับเสียงในขณะที่มันกำลังแทะรากไม้   มันก็จะรีบเดินมายังจุดที่มีเสียง  เราก็ใจเย็นๆไว้ ส่งเสียงล่อมันไปเรื่อยๆ ต้องใช้เวลาหน่อย เพราะว่ารูของมันมีความยาวและคดเคี้ยวไปมามาก (ตามสำนวนที่ว่า  ...ยังกับรูตุ่น)   

พอมันขึ้นมาถึงปากรูและเริ่มดันดิน เราก็จะรู้สึก  กะระยะให้ดี แล้วก็ใช้มีดปักลงไปตามทิศทางของรู ซึ่งจะมีโอกาสทั้งถูกตัวมันหรือปิดรูมัน   ในกรณีปิดรู มันถอยไม่ได้ มันก็จะต้องโผล่ออกมาจากรู จับมันไม่ได้นะครับ มันกัดเอา แผลจะเป็นอย่างไรก็คงจะประเมินได้จากฟันเหยินของมันในรูปใน ค.ห.ของ อ.เทาชมพูนะครับ   ไม่ยากเลย ชาวบ้านเขาเอามีดนั่นแหละครับตบไปที่หน้าของมัน ฟันมันก็จะหัก เลือดกลบปากเล็กน้อย คราวนี้ก็จับตัวได้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 15, 18:58
จับตัวได้แล้ว จะเอามาเลี้ยงก็ได้นะครับ อีกไม่กี่วันฟันมันก็จะงอกออกมาเท่าของเดิม

ครั้งหนึ่งเดินทำงานอยู่ในบริเวณที่กำลังมีการบุกเบิกเส้นทางทำถนน ซึ่งมีการใช้รถแทรกเตอร์ล้มกอไผ่ทั้งกอ   พอกอไผ่เอน รากถูกงัดโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดิน ก็เห้นคนขับรถแทรกเตอร์หยุดรถ ส่งเสียงตะโกน แล้วก็กระโดดลงรถ คว้าไม้ได้ท่อนหนึ่งแล้วตี  ทีแรกผมก็นึกว่าเป็นงู ไม่ใช่ครับ เป็นตัวอ้นตัวใหญ่เชียว   
ผมก็เดินทำงานต่อไป อีกสองสาม ชม.ก็เดินกลับมาผ่านจุดนั้นอีก  ได้เห็นอ้นตัวนั้นถูกเอาเชือกผูกขาหลังข้างหนึ่งแล้วห้อยไว้กับเสาไม้ไผ่  ผมเข้าไปดู เห็นเท้าของมันบวม เห็นแล้วก็สงสาร  นึกในใจว่าจะขอซื้อเขาเอาไปปล่อย เขาก็คงจะไม่ขาย เพราะมันคืออาหารเย็นอันโอชะ  ผมก็เลยใช้ขอเขาให้ปล่อยมันลงแล้วผูกไว้บนพื้นดินแทน เขาตกลง ผมก็ดำเนินการ อย่างน้อยก็ลดการทรมาณลงไปได้มากนะครับ   ตัวอ้นมันก็ดุตามประสาของมัน ส่งเสียงขู่ฟ่อๆอยู่ไม่กี่ครั้งก็หยุด   เนื่องจากฟันของมันหักไปแล้ว ผมก็เลยกล้าลูบตัวมัน แล้วก็เกาเบาๆที่ข้างตัวใกล้ๆท้องของมัน พักเดียวแหละครับ มันก็สงบ นิ่ง ไม่กระวนกระวาย  ช่วยอ้นตัวนั้นให้รู้สึกผ่อนคลายสบายๆตัวอยู่พักใหญ่ๆ ผมก็ต้องไป ใจของผมมันหดหู่มากเลยครับที่ช่วยให้เขามีชิวิตไม่ได้ตลอด   ภาพนั้นฝังอยู่ในใจของผมอยู่จนในทุกวันนี้     ภาพที่ อ.เทาชมพู เอามาลงนั้น ท่านทั้งหลายคงจะได้เห็นความน่ารักน่าเอ็นดูของมันนะครับ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 15, 19:20
ผมเคยเลี้ยงลูกตัวตุ่นอยู่ครั้งหนึ่ง ได้มาด้วยการขอมาจากชาวบ้าน  เลี้ยงไว้ในกล่องกระดาษ  พอมันแข็งแรงดี มันก็เริ่มไม่อยู่นิ่ง กัดกล่องทะลุ เดินไปแอบซ่อนที่ต่างๆ มันก็เชื่องดีมากๆ ขนนิ่มยังกับปุยฝ้าย ยอมนอนหงายนิ่งให้ลูบท้อง เป่าท้องเล่น   พอได้เวลาเข้าป่าทำงาน ได้ที่เหมาะๆผมก็ปล่อยเขาไป

ก็ขอให้ระวังกันด้วยนะครับ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด (ทุกชนิด ??) สามารถติดเชื้อโรคกลัวน้ำได้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 03 ธ.ค. 15, 19:51
ผมเคยเลี้ยงลูกตัวตุ่นอยู่ครั้งหนึ่ง ได้มาด้วยการขอมาจากชาวบ้าน  เลี้ยงไว้ในกล่องกระดาษ  พอมันแข็งแรงดี มันก็เริ่มไม่อยู่นิ่ง กัดกล่องทะลุ เดินไปแอบซ่อนที่ต่างๆ มันก็เชื่องดีมากๆ ขนนิ่มยังกับปุยฝ้าย ยอมนอนหงายนิ่งให้ลูบท้อง เป่าท้องเล่น   พอได้เวลาเข้าป่าทำงาน ได้ที่เหมาะๆผมก็ปล่อยเขาไป

ก็ขอให้ระวังกันด้วยนะครับ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด (ทุกชนิด ??) สามารถติดเชื้อโรคกลัวน้ำได้

ขออนุโทนาบุญกับอาจารย์ย้อนหลังค่ะ เคยเห็นคนเอาสัตว์ป่ามาเลี้ยง ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติและทรมานมันมาก ดูก็รู้ว่ามันไม่มีความสุข คนที่เอามันมาเลี้ยงก็ว่าตัวเค้าเป็นคนรักสัตว์ แต่จริงๆแล้ว เค้ารักตัวเองมากกว่า เอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็แค่สนองความอยากของตัวเองเท่านั้น :(


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 15, 20:19
สัตว์ฟันแทะที่หากินอยู่ใต้ดินหรือตามโคนต้นไม้  เท่าที่ผมพบเห็นมาก็มีดังที่ได้เล่ามา  

สำหรับสัตว์ฟันแทะอื่นๆในห้วยขาแข้งที่มีก็ไม่ต่างไปจากป่าอื่นๆ ก็มี กะรอก กะรอกบิน (ที่มักเรียกกันว่าบ่าง) กระแต บ่างใหญ่ และพญากะรอกดำ (แล้วก็น่าจะต้องมีหนูด้วย แต่ผมไม่เคยเห็นตัวมันสักครั้ง)     ที่ห้วยขาแข้งจะมีต่างออกไป ก็คือ ดูจะมีประชากรของ บ่างใหญ่ และพญากะรอกดำค่อนข้างจะมากกว่าที่มีอยู่ในป่าแห่งอื่นๆ

กะรอก หากินในตอนกลางวัน จึงเห็นตัวมันได้บ่อยมาก    กะรอกบิน หากินในตอนกลางคืน ผมไม่มีโอกาสได้เห็นตัวมันในป่าเลยสักครั้ง    กระแต หากินในตอนกลางวัน จับแมลงกินตามพื้นดินว่องไวมาก ผมไม่พบตัวมันมากนัก ก็อาจจะเป็นเพราะเราเดินเสียงดัง มันเลยเดินหลบไป     บ่างใหญ่ หากินในเวลากลางคืน ผมก็ไม่เคยเห็นตัวมันในป่าเช่นกัน เคยแต่ได้ยินเสียงร้องที่โหยหวนยังกะคนเจ็บใกล้ตาย สยิวดีครับ     พญากะรอกดำ หากินในตอนกลางวัน ตัวนี้เห็นค่อนข้างบ่อย ก็อาจจะเป็นเพราะตัวมันใหญ่ สีดำ เลยสังเกตเห็นได้ง่าย  

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 15, 21:08
ผมชอบไปเดินตลาดเช้าของท้องถิ่นที่มีชาวบ้านเอาของมาขาย พูดคุยกับแม่ค้าชาวบ้าน โดยเฉพาะกับแม่ค้าพ่อค้าที่สูงวัย ได้ความรู้เกี่ยวกับวิถีและปรัชญาในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น หลักนิยมหรือหลักคิดในเชิงรุกและเชิงรับ ฯลฯ     

ในตลาดลักษณะนี้ เราจะเห็นว่ามีการจับสัตว์เป็นๆมาขาย  ซึ่งผมมักจะเข้าไปสนทนาด้วยในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการจับได้มาอย่างไร  หากสัตว์ที่นำมาขายมีเพียงตัวเดียวหรือสองตัว ราคาไม่สูงเกินไป ผมก็จะซื้อ เอาใส่รถไปตามเส้นทางทำงาน พบที่ใหนเหมาะสมกับเขา ผมก็จะปล่อยเขาคืนสู่ธรรมชาติ  บางครั้งก็เลือกซื้อเฉพาะตัวที่มีลักษณะจำเพาะที่น่าจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดี     ก็มีอาทิ นกกระทาดง นกคุ่ม นกกวัก ปลาแค้ (ฉลามน้ำจืดของผม) ปลาเค้า เต่าดำ เต่าหก แย้ เป็นต้น

มีวิถีชีวิตแบบเข้าป่า เข้าดง กินอยู่ หลับนอนไม่ต่างไปจากชาวบ้านมากนัก ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการกระทำที่เป็นบาปเมื่ออยู่ในภาวะที่จำเป็น   ดังนั้น เมื่อโอกาสเปิดพอที่จะทำบุญได้บ้าง  ก็คงเป็นเรื่องที่พึงจะคิดกระทำใช่ใหมครับ   ไม่ต้องไปคิดว่าจะได้เอามาหักกลบลบหนี้กัน มันเป็นเรื่องคนละบัญชีกัน 



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 15, 21:12
ผมจะต้องขออนุญาตพักกระทู้ไว้ที่ตรงนี้   จะไป ตจว. 1 สัปดาห์ครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 15, 18:13
กลับมาเข้าห้องแล้วครับ   และก็จะต้องไปอีกครั้งหนึ่ง อีก 6 -7 วันในช่วงคริสมาส


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 15, 18:26
มาปูเสื่อฟังต่อค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 15, 18:38
ช่วงทำงานอยู่ในห้วยขาแข้งนี้ ผมได้กะรอกป่ามาตัวหนึ่ง ตั้งชื่อให้เขาว่า รอก

เช้าวันหนึ่ง กำลังนั่งทานอาหารเช้าอยู่เพื่อเตรียมตัวเดินทางทำงาน  ก็เห็นกะรอกน้อยตัวหนึ่งไต่อยู่บนต้นไผ่ลำหนึ่งที่โน้มเอียงลงมา ปลายเกือบจรดดิน มันเดินไต่แบบไม่ทุกข์ร้อนต้องระวังตัวใดๆเลย ด้วยความที่เป็นคนมีพื้นรักสัตว์ ก็เดินเข้าไปเขย่ากิ่งไผ่ มันก็หยุดนิ่ง เลยโน้มไผ่ลงมาพอที่จะจับมันๆได้  ครับมันก็ยอมให้จับตัวโดยดี ไม่กัดหรือทำอาการขัดขืนใดๆ  ช่วงนั้นอากาศหนาวมาก ตอนเช้าอุณหภูมิลงไปแถวๆ 4 - 7 องศา มันจะหนาวหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่มันก็ยอมอยู่นิ่งๆในอุ้งมือของผม ยังกับเคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาในภพก่อนๆ น่ารักมากจริงๆ

พออกเดินทำงาน ผมก็เอาเขาใส่กระเป๋าเสื้อแจ๊คเก็ตฟีลด์ (เสื้้อหนาวแบบทหาร) เขาก็นอนซุกอยู่ในกระเป๋าอย่างนั้น พอหยุดเดิน เขาก็โผล่หัวออกมา พอคุ้นกันหลายวันมากกว่านั้น เขาก็จะออกมาเดินไต่อยู่บนไหล่เสื้อหนาว ปีนดมไรผมข้างหู หรือฉี่รดบนไหล่เสื้อ วิ่งไปวิ่งมาอยู่บนไหล่นั่นแหละ พอออกเดินเขาก็จะเข้าซุกตัวอยู่ในกระเป๋าเสื้อ    ตอนนอนก็นอนด้วยกัน ช่วงแรกๆเขาก็จะหาที่ซุกในถุงนอน ช่วงหลังๆก็ไปซุกอยู่ที่ปลายถุงนอน ก็คงจะเป็นเพราะไม่ต้องคอยหนีการขยับตัวของผม      


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 15, 18:53
ขอบคุณครับ

กลัวจะเบื่อกันเพราะเรื่องเดินช้า แต่ก็นึกเสียว่า เพราะชีวิตในป่าเขาเป็นแบบ slow life อยู่แล้ว รายละเอียดจึงมีมากตามไปด้วย ซึ่งมีมากพอที่จะเล่าให้ได้ทั้งสภาพและสภาวะแวดล้อมต่างๆ และรวมถึงที่เรา(มนุษย์)คิด และที่เขา(สัตว์)คิด    ก็คงจะพอที่ทำให้จินตนาการได้ถึงภาพในอดีตเมื่อกว่า 40 มาแล้วได้บ้างครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 15, 19:11
เจ้ารอกตัวนี้เข้าออกป่าขาแข้งกับผมตลอดปีที่ทำงานอยู่นั้น  และอยู่กับผมต่อมาอีกประมาณ 12 ปี เขาจึงได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่บริเวณหน้าท้อง (ก้อน cysts สีดำ ขนาดประมาณเกือบหัวแม่มือ) ซึ่งเป็นโรคในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้่งหลาย   

เขานอนอยู่ในกรงก็ยังถูกหนูกัดที่หาง ผมก็ต้องพาไปหาสัตวแพทย์ ทำการตัดหางส่วนที่ถูกหนูกัดทิ้งไป เหลืออยู่ประมาณ 7-8 ซม. กลายเป็นกะรอกหางด้วน  เขาเป็นตัวเมีย อยู่กับผู้หญิงคนไหนก็ไม่กัด แต่แสดงอาการหึงหวงมากกับภรรยาผม ขู่และจะกัดอย่างเดียว  ตอนแก่ๆนั้นน่าสงสาร เพราะฟันเขางอกออกมาจนกุด ไม่พอที่จะแทะกินได้ตามปรกติ ผมต้องหาผลไม้อ่อนๆนิ่มๆให้เขาจนกระทั่งเสียชีวิตไป  เขาชอบให้ผมเม้มปากแล้วย้ำเบาๆที่หูของเขา ชอบให้ผมใช้จมูกเขี่ยเล่นที่พุงของเขา  ครับ เป็นการทักทายกันเมื่อพบกันหลังจากกลับจากทำงาน

ยังจำภาพ ยังนึกถึงเขาตลอดมาจนทุกวันนี้ ครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 15, 19:44
กะรอกนี้มิใช่อาหารของชาวบ้านป่า ตัวมันเล็ก ไม่อยู่นิ่ง จับ(ยิง)ยาก ได้มาเพียงตัวเดียวก็ไม่พอกินกันทั้งครอบครัว   แต่มันก็เป็นอาหารของพรานสมัครเล่น ที่ใช้ปืนยาวลูกกระสุนขนาดเล็ก (ลูกกรด) ซึ่งจะต้องทำให้ได้อย่างน้อยก็ 4 ตัว จึงจะพอนำมาทำอาหารกินกัน

ขนฟูของกระอกทำให้ดูว่าตัวมันใหญ่  เมื่อเอามาทำกินนั้น  เขาจะชุบน้ำทั้งตัวให้เปียก แล้วนำไปเผาบนไฟแรงๆ ขนก็จะไหม้ดำเกรียม จากนั้นก็ขูดขนที่ไหม้ พร้อมไปกับล้างทำความสะอาดผิว  ผ่าท้องเอาตับไตใส้พุงทิ้งไป ตัดหางทิ้งไป(เพราะมีแต่หนังหุ้มกระดูก) จากนั้นก็เอาไปผัดเผ็ด ไม่เอาไปทำอาหารแบบแกงกัน ก็เพราะคงจะความหาเนื้อในน้ำแกงไม่เจอ

ผัดเผ็ดก็ไม่ได้อร่อยจากรสเนื้อหรอกครับ เนื้อน้อยและก็ติดกระดูก ความอร่อยมาจากรสเครื่องปรุงเสียมากกว่า   กินแก้อดกันเท่านั้นแหละ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 15, 18:24
สำหรับพญากะรอกดำนั้น ไม่เคยเห็นว่ามีการจับมาทำอาหาร อาจจะเป็นเพราะว่ามันนิยมปีนป่ายอยู่สูงมาก แถมไม่ค่อนอยู่นิ่ง จึงยิงยาก


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 15, 18:52
สัตว์อื่นที่มีรูปทรงแบบสัตว์ฟันแทะที่ได้กล่าวถึงมา  ก็มีสัตว์ที่เราเรียกชื่อมันแบบนึกใด้ในทันใดเมื่อพบเห็นมันว่า อีเห็น ซึ่งบ้างก็เรียกให้สุภาพว่า นางเห็น หรือไม่ก็ เห็น สั้นๆคำเดียว   

มีอยู่หลายชนิด พบในทุกป่าที่ไม่แห้งแล้ง โดยเฉพาะในผืนป่าใหญ่ที่มีเรือนยอด(ต้น)ไม้ครบทั้งระดับสูง ระดับกลาง ระดับต่ำ และพืชคลุมดิน     ซึ่งเท่าที่ผมได้สัมผัสมา เห็นว่าค่อนข้างมีจะชุกชุมในผืนป่าใหญ่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ตั้งแต่เหนือปากลำห้วยขาแข้งขึ้นไป    ส่วนสำหรับในห้วยขาแข้งนั้น พบว่ามีสัตว์พวกนี้ตลอดลำห้วย แต่ก็ดูจะชุกชุมอยู่ในพื้นที่ใกล้ปากลำขาแข้ง       

สัตว์กลุ่มพวกนี้ก็มี เห็นข้างลาย เห็นอ้ม เห็นแผง (หางปล้อง) ชะมด หมูหรึ่ง หมาหรึ่ง   ทุกชนิดหากินกลางคืนทั้งนั้น และก็มีทั้งพวกหนักกินผลไม้ และพวกหนักกินสัตว์ตัวเล็ก ก็ตั้งแต่จิ้งหรีด เรไร ใส้เดือน กิ้งกือ ไปจนถึงไก่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 15, 19:07
เมื่อเดินป่าส่องไฟในเวลากลางคืน สัตว์ที่พบบ่อยครั้งมากที่สุด ก็จะเป็นพวกอีเห็นนี้แหละครับ  เมื่อใดที่ไฟส่องไปแล้วเห็นตาคู่หนึ่งใสเขียวนวล หันหน้าจ้องมองเรา และตาคู่นั้นมีระยะห่างกันประมาณสองสามนิ้วมือ ก็มักจะเป็นพวกมันนี้แหละ  แล้วก็ดูว่ามันไม่ค่อยจะกลัวเราเอาเลย จ้องแล้วก็เดินไต่ไม้ไปเรื่อยๆ ไม่พรวดพลาดหนีไป     ช่วงเวลาที่มันขยับหันข้างให้เรานี้ก็คือช่วงที่เราจะสามารถจำแนกได้ว่า จริงๆแล้วมันเป็นตัวอะไร

  (ที่ขีดเส้นใต้ไว้นั้น เพื่อกันลืมของตัวผม ก็เพื่อขยายความออกไปอีกหน่อยครับ)   

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 15, 19:33
ชนิดที่ถูกเอามาเป็นอาหารมากที่สุด ได้แก่ อีเห็นข้างลาย กับ อีเห็นอ้ม ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนักว่า มันจะเป็นตัวเดียวกันหรือไม่  ตามข้อมูลที่หาได้ในคุณกูเพื่อการสอบทานนั้น ก็ว่าเป็นชนิดเดียวกัน    แต่ที่ผมเคยเห็นนั้น ที่เขาเรียกว่า อีเห็นข้างลายนั้น ก็มีลายจริงๆ  ส่วนที่เขาเรียกว่า อีเห็นอ้มนั้น มันมีสีขนนวลไม่มีลาย 

สำหรับอีเห็นชนิดอื่น (เห็นแผงหางปล้อง) นั้น กลิ่นตัวแรงมาก ในระดับฉุนเลยทีเดียว  แม้กระทั่งเนื้อก็ยังขิ่วขนาดใช้เครื่องแกงกลบไม่ลงไม่หมดเลย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 15, 19:41
ชะมดนั้น ชาวบ้านหวังจะจับเป็นมากกว่าจับตาย เพราะว่าตัวมันมีราคา แถมไคลของตัวมันก็มีราคาสูงจัดอีกด้วย   ชะมดคงมีหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ร้านขายยาแผนโบราณเอามาเลี้ยงไว้นั้น เรียกกันว่า ชะมดเช็ด    มันก็จะเดินวนไปวนมาในกรงขนาดไม่ใหญ่นัก เดินเอาข้างตัวสีกับลูกกรง   พอเช้าขึ้นมาทุกวัน เจ้าของก็จะเอาไม้ไผ่ (เหลาเป็นทรงรูปพายของเรือ) ขูดที่ลูกรงแต่ละเส้น ปาดไคลนั้นกับตลับ เก็บสะสมไว้ เมื่อได้มากพอก็เอามาสะตุเพื่อใช้ทำยาหรือเครื่องหอมต่อไป


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 15, 20:23
เขียนถึงสัตว์พวกนี้ มีข้อผิดพลาดได้มากครับ  เพราะสัตว์กลุ่มนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ และในแต่ละพื้นที่แต่ละภาคก็ดูจะมีความต่างไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันอีกด้วย แถมมันยังมีชื่อแซ่ที่เรียกขานต่างกันไปในแต่ละถิ่น   กรณีเช่น เห็นแผงหางปล้อง ที่ผมเรียกมันนี้

สัตว์ตัวนี้ ผมได้เคยพบเห็นเพียงครั้งเดียว และก็ในช่วงเวลาที่แปลกมาก คือ ช่วงบ่ายแก่ๆ เดินเรียงแถวกันมา 4-5 ตัวในพื้นที่แห้งของท้องห้วยขาแข้ง ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องแปลกอีก เพราะมันน่าจะนิยมอยู่เป็นเอกเทศ (?)   

ชื่อเรียกของมันเท่าที่ผมพอจะรู้และเคยได้ยิน ก็มีตั้งแต่ เห็นหางปล้อง เห็นแผง เห็นแผงหางปล้อง เสือแผง ชะมดแผง ชะมดแผงหางปล้อง หมูสัง (?) ...(คงมีชื่ออื่นอีก)  จนปัจจุบันนี้ชื่อที่ถูกต้องทางการของมันคือชื่อใหน ผมก็ยังไม่รู้ หรือว่ามันมีความต่าง (variety) กันในแต่ละชื่อ

หรือกรณีชื่อเรียก เห็นหอม เห็นอ้ม เห็นข้างลาย และอีเห็น (ทั่วๆไป) ก็เช่นกัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 15, 21:05
อีเห็นเป็นสัตว์ที่เข้ามาหากินในพื้นที่ชายป่าใกล้บ้านคน เป็นสัตว์แมวขโมยชนิดหนึ่ง (ไก่เลี้ยงของชาวบ้านดูจะเป็นอาหารที่มันชอบ) เป็นสัตว์ที่ชาวบ้านคุ้น หาตัวได้ไม่ยากนัก แถมเอามาทำอาหารก็อร่อยพอได้เลยทีเดียว  ได้มาก็เอามาชุบน้ำให้เปียกทั้งตัว เผาไฟ ขูดขนให้เกลี้ยง ล้างน้ำให้สอาด ผ่าท้อง แล้วก็เอาไปย่างให้เนื้อพองฟู (พอเริ่มสุก) แล้วก็เอามาทำอาหารกิน

ด้วยเหตุที่เล่ามานี้ การเดินส่องสัตว์ของชาวบ้านในเวลากลางคืนในพื้นที่ชายป่าข้างๆหมู่บ้านจึงเป็นเรื่องปรกติ  ในทำนองเดียวกัน การเดินลึกเข้าไปในป่าเพื่อส่องอีเห็นและสัตว์อื่นๆก็เกิดขึ้นเป็นปรกติได้เช่นกัน  ด้วยความที่เป็นป่าในละแวกหมู่บ้านนี้เอง ชาวบ้านหลายคนก็จะนั่งพักหรือพักงีบพิงอยู่ขอนไม้หรือในร่องของรากต้นไม้ใหญ่ (โดยเฉพาะต้นมะค่าโมง) โดยไม่ปลดไฟฉายที่คาดไว้บนหัวออก 

ผลที่ตามมาก็คือ มักจะมีกรณีชาวบ้านที่ออกไปส่องสัตว์เช่นกัน พอดึกเข้าก็คงจะเริ่มตาลาย เมื่อไฟที่ส่องออกไปกระทบเข้ากับกรวยหัวไฟฉาย สะท้อนออกมา เห็นว่าเป็นตาสัตว์ ก็ยิงเข้าไปเลย จะเหลืออะไรล่ะครับ   เหตุการณ์เช่นนี้เกิดค่อนข้างจะบ่อยมาก    ผมได้ยินเรื่องทำนองนี้ในทุกป่าและในทุกพื้นที่ๆเข้าไปทำงาน 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 15, 18:44
สำหรับเรื่องระยะห่างของตาที่ได้กล่าวถึงใน คห.351 นั้น ก็เพื่อเป็นการจำแนกในเบื้องต้นว่าเป็นสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็ก ซึ่งจะสังเกตควบคู่ไปกับสีสะท้อนของดวงตา ซึ่งมีหลักง่ายๆสำหรับการวินิจฉัยแรกสุดอยู่ว่า พวกสัตว์ที่ตากระทบแสงไฟแล้วแววออกมาเป็นสีแดง จะเป็นพวกสัตว์ประเภทกินเนื้อ (มิใช่ 100% หรอกนะครับ) และสัตว์ที่ตาแววออกมาเป็นสีในโทนสีเขียวอ่อน จะเป็นสัตว์พวกประเภทกินพืช (ก็มิใช่ 100% เช่นกันนะครับ)

ก่อนจะลืม... การส่องสัตว์นั้นจะกระทำกันในเดือนมืดหรือในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นมาส่องแสงนะครับ ในคืนวันที่มีดวงจันทร์ส่องแสงสว่างไสวหรือในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์ส่องแสง จะไม่มีการออกไปส่องสัตว์กัน  เหตุผลง่ายๆก็คือ สัตว์มันเห็นเราอย่างชัดเจน มันจึงเลี่ยงหนีไป  ในขณะที่เรามองไม่เห็นมัน ...ก็มันเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน แต่เราเป็นพวกหากินในเวลากลางวันใช่ใหมครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 15, 18:54
คราวนี้ เมื่อเอาเรื่องการยิงผิดที่คิดว่าคนเป็นสัตว์มาพิจารณาดู   

ก็คงจะพอเห็นภาพรวมๆแล้วนะครับ ...คนเดินส่องสัตว์จนจันทร์สว่างแจ้ง ก็หาที่นั่งงีบ อีกคนหนึ่งส่องไฟมาเห็นแสงวาวคล้ายตาสัตว์ แถมแสงแววนั้นยังอยู่ในระดับความสูงของสัตว์ (เพราะคนนั่งเอนอยู่) กำลังจะหมดช่วงเวลาส่องสัตว์พอดี เข้าแก็บเลย จะเป็นโชคดีที่เป็นโชคร้ายอะไรได้ปานนั้นละครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 15, 19:21
หมาหริ่ง(หรึ่ง) และหมูหริ่ง(หรึ่ง) นั้น ผมเคยเห็นตัวมันเพียงครั้งเดียว เป็นตัวหมูหริ่ง ชาวบ้านเขายิงมาด้วยเหตุง่ายๆ คือ ไม่เคยเห็น ไม่รู้จัก ก็เลยยิงมาดู  ก็เป็นวิถีอย่างหนึ่งของชีวิตชาวป่า เป็นวิถีที่ไม่ค่อยจะสุนทรีย์กับสัตว์ร่วมโลกเลยนะครับ

ผมมักจะกล่าวถึงหมาหริ่งและหมูหริ่งว่า พวกปากหมาตีนหมูกับพวกปากหมูตีนหมา      พวกปากหมาตีนหมูนั้นหมายถึงหมาหริ่ง ซึ่งจริงๆแล้วปากหมาตีนหมูตรงกับตัวกระจง     ส่วนพวกปากหมูตีนหมานั้นหมายถึงหมูหริ่งซึ่งมีจมูกคล้ายหมู     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 15, 19:48
ก่อนจะขยับไปยังสัตว์ใหญ่ ขอไปยังตัว ET ประจำป่า

ลิงลม หรือ นางอาย  ซึ่งมีทั้งความน่ารักและอัปลักษณ์อยู่พร้อมๆกัน  เขาเป็นสัตว์หากินกลางคืน ประเภทเคลื่อนที่เชื่องช้าเอามากๆ แต่ความช้าของมันก็มิได้ทำให้เราพบตัวมันได้ง่ายๆ   

ขนของตัวมันมีสีขี้เถ้ากลมกลือนไปอย่างดีกับสีของเปลือกต้นไม้  ตัวมันใหญ่ขนาดประมาณกล่องกระดาษเช็ดหน้า แล้วก็ชอบเกาะกับต้นไม้ต้นขนาดพอๆกับตัวมัน  ไม่หันหน้าสู้ไฟฉาย มีแต่ก้มหน้าหลบแสง   แต่เราก็มีโอกาสส่องไฟเห็นหน้าของมัน  ก็จะเห็นตากลมโตสีแดง ตามด้วยการเคลื่อนไหวแบบเนิบๆเพื่อหลบแสง  เมื่อจะเข้าจับตัวมัน มันจะค่อยๆอ้าปากช้าๆ คล้ายกับจะทำการเปล่งเสียงออกมา แต่ไม่มีเสียงใดๆออกมา ทำท่าคล้ายกับจะกัดแต่ก็ไม่ทันงับ เพราะมือของเราที่จับขยับไปที่ใหม่เสียก่อน

ก็ตัว ET นั่นเองครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 15, 20:23
hog badger หมูหริ่ง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 15, 20:25
ลิงลม


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 15, 18:20
รูปลิงลมของ อ.เทาชมพู มีสีสันต่างจากที่ผมเคยเห็นในป่า ทำให้ผมต้องไปค้นคว้าเพิ่ม   

ก็พบว่ามันคงจะมีหลาย varieties   ซึ่งป่าผืนใหญ่ทางตะวันตกของไทยอาจจะเป็นถิ่นของพวกที่มีขนสีขี้เถ้าก็ได้นะครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 15, 19:04
ก็มีเล็กๆน้อยๆคั่นกลางเรื่องราวครับ

ในป่าที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น หรือแม้กระทั่งป่าที่ค่อนข้างโปร่ง ที่ภาษาชาวบ้านทางเหนือเรียกว่าป่าแดง หรือ ป่าแพะ นั้น แม้ในบางครั้งจะดูว่ามีทัศนวิสัยค่อนข้างดีและเห็นได้ในระยะไกล  แต่การเห็นตัวสัตว์ทั้งหลายกลับมักจะไม่ได้เป็นไปตามทัศนวิสัยนั้นๆ   ระยะที่เรามักจะเห็นตัวสัตว์จริงๆมักจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 ม.   ส่วนในพื้นที่ๆเป็นทุ่งหญ้านั้นก็อาจจะเห็นได้ใกล้ไกลตามแต่ความสามารถของสายตาของเรา     ระยะยิงสัตว์ทั้งหลายของพรานไพรชาวบ้านจึงมักจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ม. ซึ่งก็เป็นระยะหวังผลของปืนยาวที่ชาวบ้านผลิตเองที่เรานิยมเรียกว่าปืนแก็ป (ผมเรียกว่าปืนเสือตบตูบ)   

โดยภาพรวมๆก็คือ เห็นตัวสัตว์ในระยะประมาณ 20 ม. เดินย่องเข้าไปให้ใกล้สักหน่อยจนได้ระยะยิงหวังผลที่ประมาณ 10-15 ม. ระยะที่เหมาะสมนี้ยังขึ้นอยู่กับความอันตรายจากความเร็วของการสวนกลับของสัตว์ที่จะยิงและระยะที่เราจะวิ่งเข้าไปจับตัวมันในกรณีมันบาดเจ็บและหนีอีกด้วย    จากนั้นก็หาที่กำบัง แล้วก็ยิง      ซึ่งเป็นภาพที่ต่างไปจากในความคิดของนักนิยมไพรชาวกรุงมาก ที่มักจะนึกถึงการใช้ปืนยาวติดกล้องส่องเป้าทางไกล นึกถึงปืนขนาดลูกใหญ่ๆและรุนแรง หรือ นึกถึงปืนที่มีศูนย์เล็งแบบยิงเป้า ฯลฯ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 15, 19:17
เล่ามาก็เพื่อจะบอกว่า ชาวบ้านป่ากับป่าก็มีความสมดุลย์กันอยู่พอควร  ใช้ปืนแก็บล่าสัตว์ใหญ่ขนาดเก้งได้ก็ค่อนข้างยากแล้ว และยิ่งด้วยความแม่นยำของตัวปืน ก็ทำให้การล่าพลาดได้จนเป็นเรื่องปรกติ    สัตว์ใหญขนาดกวาง กระทิง วัวแดง เสือ เหล่านี้ ล้วนใช้ปืนล่าสัตว์สมัยใหม่ทั้งนั้น ก็คงพอจะเห็นภาพของผู้ล่านะครับ มาจากเมืองกันทั้งนั้น    สัตว์ป่าเบาบางลงไปก็เกิดมาจากฝีมือของคนจากเมืองเข้าป่ามากกว่าจะเป็นชาวบ้านป่าเป็นผู้กระทำ

ผมเห็นภาพเช่นนี้นะครับ         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 15, 18:20
การพบเห็นตัวสัตว์ในระยะที่ผมได้กล่าวถึงนี้ ดูใกล้จนอาจจะใช้คำว่า จ๊ะเอ๋ได้      แต่คำว่า จ๊ะเอ๋ ของผมหมายถึงการพบเห็นกันระหว่างคนกับสัตว์ในระยะใกล้กว่านี้และในลักษณะต่างตกใจ ไม่เขาก็เราหันหลังโกยหนีไป บางครั้งก็ต่างคนต่างหันหลังโกยหนีกัน  ส่วนมากก็ระหว่างเรากับหมีในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์  กับงูก็คงเป็นเรื่องปรกติ กับช้างก็มีบ้าง แต่กับช้างนี้เราต้องใจแข็งไม่โกยในทันที มิฉะนั้นมันจะไล่กระทืบเรา มีอยู่ครั้งหนึ่งมันตกใจหันหลังเป่าแตรโกยเลย เราก็ต้องรีบโกยตามในทันใดไปหาต้นไม้ใหญ่บัง โชคดีที่มันนึกไม่ได้ว่าคนตัวเล็กกว่ามันตั้งเยอะ จะหนีไปทำไม   ก็เป็นเรื่องที่ต้องรู้ว่า ที่เห็นช้างมันหันหนีไปนั้น แล้วมันก็มักจะกลับมาพร้อมกันอีกหลายตัวมาวิ่งไล่เรา 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 15, 18:50
ไปเรื่องของสัตว์ใหญ่บ้างนะครับ

สัตว์ใหญ่ประจำป่าของเมืองไทยเราที่พบเห็นได้ทุกผืนป่า ก็คือ หมูป่า และ เก้ง
   
สำหรับหมูป่านั้น ผมเห็นมีชุกชุมอยู่มากจนผิดปรกติในพื้นที่ห้วยเต่าดำ อ.ไทรโยค (พื้นที่เหนือช่องข้ามแดนของเส้นทางด่านบ้องตี้)   

ส่วนเก้งนั้น คงจะต้องแบ่งออกเป็น เก้งธรรดา และ เก้งหม้อ (ก้นดำ)    เก้งธรรมดาพบอยู่ในพื้นที่ๆค่อนข้างจะราบโดยทั่วๆไป และพบทั้งในป่าชื้นและป่าแล้ง (ป่าละเมาะ ป่าแดง ป่าแพะ)    ส่วนเก้งหม้อมักจะพบอยู่ในพื้นที่ป่าที่ค่อนข้างจะชื้นและเป็นพื้นที่เขา (ที่ระดับสูง) 
   
สำหรับกวางนั้น พบเป็นบริเวณๆไป ซึ่งในประสพการณ์ของผม ผมเห็นว่าหย่อมที่อยู่ที่หากินที่สำคัญของมันมีอยู่ 2 บริเวณ คือ ผืนป่าฝั่งตะวันตกของห้วยขาแข้งช่วงล่าง ต่อเข้าไปในเขตป่าต้นน้ำแควใหญ่ (ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร)   และอีกผืนป่าหนึ่งตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีโดยเฉพาะช่วงระหว่างหมู่เหมืองแร่ปิล๊อก เรื่องลงไปจนเข้าผืนป่าแก่งกระจาน



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 15, 19:11
กระทิง พบเห็นอยู่ในทุ่งหญ้าที่อยู่ในพื้นที่ห้วยทับเสลาที่แยงเข้าไปหาห้วยขาแข้งตอนช่วงกลาง

สมเสร็จ  ตัวสามกีบของผม เป็นสัตว์ที่นึกไม่ถึงเลยว่าจะได้พบเห็นในพื้นที่ห้วยขาแข้ง   ขัดกับความรู้ที่ฝังห้วผมมาตั้งแต่เด็ก (ที่ได้มาจากการเดินดูสัตว์ในเขาดิน) ว่าพบเห็นได้ในพื้นที่ทางภาคใต้ของเรา

แน่นอนว่าขาดช้างไม่ได้  มันเป็นพวกนักบุกเบิก เป็นผู้ทำทางเดิน (ด่าน) ที่สำคัญๆในผืนป่าต่างๆ  เป็นผู้เปิดโป่งน้ำซับทั้งหลายและก็เป็นผู้ทำให้โป่งเละไปอีกด้วย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 15, 19:27
แล้วก็มาถึงสัตว์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง   ..มหิงสา     ซึ่งได้พบเห็นมันก็เพราะมันเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆหมู่บ้านเกริงไกร มาติดควายตัวเมียของชาวบ้าน  บางวันก็เห็นยืนเป็นสง่าอยู่อีกฝั่งหนึ่งของลำห้วย บางคืนก็บุกเข้าคอกควายตัวเมียในหมู่บ้าน

เจ้าตัวนี้แหละที่ทำให้ จนท.ป่าไม้พร้อมปืนยิงเร็วหลายคน เดินตามหาตัวผมอยู่เป็นเดือน คิดว่าพวกผมเป็นพวกพรานชาวกรุงเข้ามาตามล่ามัน   

ค่อยๆขยายความต่อไปนะครับ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 15, 18:24
เรื่องของบุญรอดที่ไร่เล (ในกระทู้เรื่อง รู้จักกับคุณ NAVARAT.C) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพื้นที่ชายฝี่งทะเล  กับเรื่องของมหิสาห้วยขาแข้ง ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพื้นที่ป่าเขา มีผู้แสดงเป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน ทั้งคู่มีชื่อเรียกขานว่า ควาย เหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็อาจจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของสายพันธุ์

ผมชอบควาย โดยเฉพาะตัวที่อ้วนท้วน    ความที่มันอ้วนสมบูรณ์จึงทำให้มันมีตัวกลม ผิวหนังมัน มีเนื้อแน่นจนเห็นแผ่นหลังแบน หน้าอกช่วงใหล่มีเนื้อเต็ม เห็นแถบขนขาวที่ใต้คอระหว่างช่วงไหล่ได้ชัดเจน    ผมจึงสะสมตุ๊กตาควาย (แบบคนเลือกมากและเรื่องมาก) ก็มีทั้งแบบหล่อเป็นโลหะ เป็นเรซิน และเป็นปั้นเคลือบ   

ด้วยความชอบนี้เอง ทำให้ผมได้พบว่า ควายที่แกะสลักจากไม้นั้น  ไม่มีวางขายในอยู่ในตลาดใดในไทยเลย  ถึงจะมีก็มีสัดส่วนที่ไม่สัมพันธุ์กับรูปทรงของตัวควายจริงๆ และเกือบทั้งหมดก็จะเป็นควายการ์ตูนใช้ประดับสวน    ผมเคยจะว่าจ้างให้ช่างแกะสลักไม้ทำ ช่างเองก็บอกว่าขอลองทำก่อน ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม แล้วก็ได้ทำออกมาสองสามตัว แต่มันไม่ได้สัดส่วนของควาย ก็เลยไม่กล้าให้ดู     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 15, 18:33
ควายไม้ที่ผมมีอยู่ ได้มาจากเกาะโอกินาวา  ก็สวยดีนะครับ สวยและได้สัดส่วนพอได้ทีเดียว แต่ดันไปมีขายาวเกินไป   อย่างไรก็ตาม ก็เคยเห็นแบบแกะลอยทั้งตัว ตั้งวางอยู่ในร้านอาหารไทยในญี่ปุ่น ตัวขนาดใหญ่กว่าขวดน้ำอัดลมขนาดลิตรครึ่งเล็กน้อย  ถือว่าเป็นควายไม้แกะสลักที่สมบูรณ์และได้สัดส่วนตามจริงมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 15, 18:57
ด้วยความสนใจของผมดังที่เล่ามา ทำให้ผมเห็นว่า เรามีควายสายพันธุ์ไทยที่ตัวไม่ใหญ่นัก ขนาดประมาณถังน้ำมัน 200 ลิตร ซึ่งพบได้ค่อนข้างจะทั่วไปในภาคเหนือของไทยเรา (และในอีสาน ?)   ก็จากประมาณแนวตาก - อุตรดิตถ์ เหนือขึ้นไป  มีลักษณะเด่น คือ ตัวค่อนข้างกลม ไม่เห็นกระดูกสันหลังโปนออกมา รูปทรงออกไปทางจ้ำม่ำ ตัวตัน

แล้วเราก็มีควายสายพันธุ์ที่มีตัวขนาดใหญ่กว่า เป็นควายที่เราเห็นกันคุ้นตาในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง  ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ มีกระดูกสันหลังโปนออกมาเห็นได้ชัด ส่วนท้องจะออกไปทางห้อยบานออกไป (ไม่กลม)  ตัวมีลักษณะโครงใหญ่ เห็นกระดูกโปนออกมา โดยเฉพาะที่สะโพก

ทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัวของผมนะครับ ว่าไปโดยไม่มีความรู้และข้อมูลทางสัตวศาสตร์ใดๆมาสนับสนุนเลย     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 15, 20:12
มหิงสาในป่าขาแข้ง     ตัวของมันมีรูปทรงและลักษณะเป็นควายสายพันธุ์ไทยดังที่เล่ามา แต่ตัวของมันมีขนาดใหญ่กว่าค่อนข้างมาก

จำได้ว่า ชาวบ้านที่บ้านเกริงไกรเล่าว่า มันเป็นควายบ้านที่หลุดเข้าป่าไปนานแล้วจนเปลี่ยนสภาพไปเป็นควายป่า ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า ควายเพลิด    ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะด้วยความที่เห็นว่ามันเป็นควายบ้านที่หลุดเข้าป่าไปนี้เอง ชาวบ้านเขาก็เลยไม่ไปล่ามัน ไม่ยิงมัน  ซึ่งก็ดูจะมีข้อสนับสนุนอยู่เหมือนกันว่า ก็เพราะความที่มันคุ้นกับคนมาก่อน  พอมืดลง มันก็เลยกล้าแอบเข้าคอกควายตัวเมียของชาวบ้าน

ส่วนมันจะเป็นควายป่าจริงๆหรือไม่นั้น ก็เป็นไปได้เหมือนกัน  แต่ตัวผมเองมีความเห็นค่อนไปทางเป็นควายเพลิดเสียมากกว่า ด้วยมีข้อสงสัยที่ยังไม่กระจ่างหลายเรื่อง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ธ.ค. 15, 19:06
ในช่วงที่ผมเดินทำงานอยู่นั้น ไม่เคยได้ยินชาวบ้านผู้ใดพูดถึงควายป่าในพื้นที่อื่นๆ (ยกเว้นเฉพาะในพื้นที่ใกล้บ้านเกริงไกร ซึ่งเขาเข้ามาติดควายบ้านตัวเมีย) ไม่เคยได้ยินชาวบ้านบอกว่าได้เคยพบเห็นเป็นฝูงควายป่า (ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่เดินท่องอยู่ในห้วยขาแข้งที่อาศัยอยู่ทางย่าน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี หรือ ทางย่าน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี)  ชาวบ้านมีแต่พูดถึงกระทิงและสนใจที่จะล่ากระทิง ทั้งๆที่กระทิงนั้นดูจะล่าได้ยากกว่าควาย

อย่างไรก็ตาม   เหนือจากปากลำขาแข้งขึ้นไปตามแควใหญ่ จะมีสถานที่หนึ่งทางด้านขวาของลำน้ำ เรียกกันว่าหาดปะนา เป็นชื่อเรียกภาษากะเหรี่ยงที่แปลว่าหาดควาย สถานที่นี้เป็นที่ราบ มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้า มีน้ำซับชื้นแฉะ ก็จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเคยมีควายป่าเป็นฝูง และหาดปะนานี้ก็คงเป็นพื้นที่ในถิ่นอาศัยของควายป่า แต่ก็คงเป็นเรื่องในอดีตนานมาแล้วจนไม่มีชาวบ้านพูดถึงควายป่ากันอีก   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ธ.ค. 15, 19:40
นึกขึ้นได้ว่า ที่เกาะตะรุเตาก็มีควายป่าอยู่หลายตัว อยู่เป็นฝูงเหมือนกัน เดินหากินเอง ไม่มีสัตว์นักล่าและไม่มีคนตามล่า เลยทำให้มันเดินเร่ร่อนอยู่อย่างสบายใจ    จนท.อุทยานเขาคอยสำรวจติดตามจำนวนประชากรของมันอยู่ตลอดมา

ที่ผมเรียกว่าควายป่านั้น จริงๆไม่ใช่ควายป่านะครับ เป็นควายบ้านที่เอามาใช้งานในสมัยยังใช้เกาะตะรุเตาเป็นสถานที่กักกันนักโทษ   ผมไม่รู้ข้อเท็จจริงนะครับว่าควายพวกนี้หนีงาน ถูกทอดทิ้ง หรือถูกปล่อยเข้าป่าเมื่อมีการเลิกใช้สถานกักกันนักโทษที่นี้    มันก็ออกลูกออกหลานจนกลายเป็นฝูงใหญ่เหมือนกัน

ควายป่าในห้วยขาแข้งก็จึงอาจจะมีเรื่องราวคล้ายๆกัน   ทั้งนี้ จากช่วงเวลาที่ผมทำงานว่าเห็นตัวเดียว จนถึงปัจจุบันนี้ที่เขาว่ากันเห็นเป็นฝูง ก็แถวๆ 40 ปีมาแล้ว ก็คงจะไม่แปลกนักหากจะมีลูกหลานของมัน   

อาจจะข้องใจว่า แล้วมันไปเอาตัวเมียมาจากใหน  ที่จำได้ก็ว่ามันเข้ามาหาตัวเมียในคอก ชาวบ้านก็พยายามจะกักมันใว้ในคอก มันก็พังคอกแล้วพาควายสาววิวาห์เหาะ   

ผมได้เคยเล่าเรื่องในกระทู้เก่ากระทู้หนึ่งว่า คืนหนึ่งได้เดินจากบ้านเกริงไกรกลับแคมป์ที่ตั้งอยู่ริมห้วยขาแข้ง และได้พบกับควายตัวมหึมายืนนิ่งอยู่ นั่นแหละครับ ตอนนั้นมันเข้าคอกแต่ชาวบ้านแอบปิดคอกไม่ทัน   มันเข้ามาหาสาวหลายครั้งทีเดียว  ยังกับการย่องสาวของชายชาวกะเหรี่ยงเลย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ธ.ค. 15, 20:08
แทรกเรื่องนิดนึงครับ

ที่หาดปะนานี้ เป็นสถานที่ๆได้เห็นนกยูงเป็นฝูงเลยทีเดียว  ช่วงที่เห็นนั้นเป็นช่วงเวลาบ่ายแก่ๆแล้ว   

แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า เคยมี จนท.ที่อยู่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ฯห้วยทับเสลา บอกว่าที่ห้วยทับเสลาก็มีนกยูง  ผมก็เป็นงง   

...ผมก็เดินอยู่ในห้วยทับเสลา ข้ามเขาสี่กั๊ก เดินต่อตามห้วยเข้าห้วยขาแข้ง แล้วก็ไปจ๊ะเอ๋กับหน่วยจรยุธแบบประจันหน้า เอาปืนประทับบ่าส่องหัวพวกผม ใกล้ตายมากที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว  แล้วค่อยๆเล่าไปนะครับ...

นกยูงเป็นนกบินได้ขนาดใหญ่ แม้จะไม่นิยมการบินนัก แต่มันก็บินได้ดีทีเดียว ในความรู้ของผม เมื่อพวกนกใหญ่จะบินนั้น มันต้องการที่ราบสั้นๆเพื่อเป็น runway คือมันต้องการ glide plane ที่เอียงองศาหนึ่ง และพวกนกใหญ่ก็ไม่นิยมอยู่ในพื้นที่ๆรกทึบ   ซึ่งห้วยทับเสลาค่อนข้างจะรกมากนะครับ  จึงไม่น่าจะมีนกยูงอาศัยอยู่ที่นั่น แล้วก็ไม่เคยได้ยินชาวบ้านแถวนั้้นพูดถึงนกยูงเลยเช่นกัน     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ธ.ค. 15, 20:50
เมื่อเข้าเรื่องของสัตว์ใหญ่  ก็ต้องควบคู่ไปกับเรื่องของโป่ง  เพราะว่าโป่งนั้นเป็นเสมือนแหล่งยาอายุวัฒนะของสัตว์ใหญ่ทั้งหลาย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 15, 18:47
มีผู้สนใจอ่านอยู่เงียบๆหลายคนทีเดียว คงจะเก็บเกี่ยวแปรเรื่องเล่าไปเป็นข้อมูลเก็บสะสมไว้ได้เยอะแล้ว  ตอนนี้ก็คงจะเอามาสังเคราะห์กันแล้วว่า จริงหรือเท็จ หรือคิดว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ใดๆบ้าง

เผื่อว่า ประสพการณ์ของผมอาจจะเป็นประโยชน์ในทางวิชาการสำหรับการทำวิจัยแบบ Basic research  โดยมุ่งหวังให้มีความแตกต่างไปจากระบบทำ research ด้วยแบบสอบถามแล้วใช้วิธีการทางวิชาการสถิติวิเคราะห์สรุปผล     ผมก็จะขอใช้เรื่อง โป่ง แง้มประตูเข้าไปสู่การวิจัยแบบ basic research ของผู้ที่สนใจ ดังต่อไปนะครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 15, 19:10
โป่ง สื่อความหมายที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ
   - เป็นสถานที่ๆสัตว์เข้ามาแทะดินกินเพื่อเพิ่มเติมเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ
   - เป็นสถานที่เล็กๆที่มีความโดดเด่น ที่มีความแตกต่างไปจากสภาพแวดล้อมที่เป็น norm ในท้องที่นั้นๆ

สถานที่ๆเป็นโป่งที่มีสัตว์ลง ทั้งหมดจะเป็นจุดที่เป็นแอ่ง หรือเป็นเป็นหุบ หรือเป็นผนังห้วย  หรือเป็นหลุมยุบขนาดเล็กๆ    แต่ก็มีการใช้คำว่าโป่งที่หมายถึงสถานที่ๆเป็นจุดเปิดโล่งหรือมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าที่มีสัตว์ลงมาหากินในเวลากลางวัน    ซึ่งหากเป็นพื้นที่ๆอยู่บนเนิน ชาวบ้านก็จะใช้คำว่า ที่เป่ง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 15, 19:55
โป่งของไทยเรามีอยู่ 2 ประเภท คือ โป่งดิน และ โป่งน้ำ (หรือโป่งน้ำซับ)

ฝรั่งใช้คำว่า salt lick ที่หมายถึงโป่งดิน และใช้คำว่า spring หรือ seepage ที่หมายถึงโป่งน้ำหรือโป่งน้ำซับ

เนื่องจากจุดที่เป็นโป่งตั้งอยู่กระจัดกระจาย  โป่งต่างๆของไทยจึงมักจะมีชื่อประจำตน เป็นชื่อที่บอกลักษณะนาม เช่น โป่งหอม (ริมฝั่งแควใหญ่ตอนบน)   โป่งเหม็น (ริมฝั่งแควใหญ่ตอนบนเช่นกัน)   โป่งสอ (ดินสีขาว ในห้วยขาแข้ง  ) โป่งน้ำซับ โป่งกระทิง (ราชบุรี)  โป่งยิบซั่ม (ใกล้ที่ทำการด่านซงไท้ เส้นทางเข้าทุ่งใหญ่ฯ)  โป่งสะเหวะ (เกริงกราเวีย อ.ทองผาภูมิ) ฯลฯ

ฝรั่งใช้คำว่า salt lick เป็นการบ่งบอกว่า เป็นสถานที่ๆสัตว์มาเลียกินดินที่มีสภาพเป็นเกลือ   

เป็นที่น่าสังเกตบางประเด็น  อาทิ โป่งแต่ละแห่งดูคล้ายกับจะมีเฉพาะสัตว์บางกลุ่มลงมากิน  บางโป่งก็มีสัตว์หลากหลายชนิดลงมากินมากเป็นพิเศษ รวมทั้งนกด้วย จนเรียกกันว่า โป่งใหญ่     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ธ.ค. 15, 19:56
ผมทิ้งท้ายข้อปุจฉาไว้สองสามเรื่อง เพื่อนำพาไปสู่เรื่องราวของโป่งในมุมทางวิชาการ   ครับ..โป่งมันก็มีอัตลักษณ์ของมันมากกว่าที่เราจะเรียกมันแต่เพียงว่าโป่งในความหมายที่หมายถึงสถานที่ๆสัตว์ลงมากินดิน
 
ในทางวิชาการสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนมาทาง Med. หรือ Vet. อย่างผม    ผมเห็นว่ามีธาตุอยู่ไม่กี่ชนิดที่เป็น essential elements ที่ร่างกายของพวก mammals ต้องการใช้สำหรับการสร้างความแข็งแรง/ความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย   และก็มีธาตุหลายชนิดที่ร่างกายต้องการสำหรับกระบวนการสร้างสรรและรักษาความสมบูรณ์ของร่างกาย ซึ่งเป็นธาตุในปริมาณเพียงน้อยนิดจนเกือบจะวัดหาปริมาณไม่ได้ในระดับที่เรียกว่า trace elements 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ธ.ค. 15, 21:07
essential elements ที่สำคัญที่ร่างกายใช้สำหรับโครงสร้างและกลไกของร่างกายได้แก่ ธาตุโซเดียม (Na) ธาตุโปแตสเซียม (K) และธาตุแคลเซียม (Ca) ซึ่ง Ca นี้จะปรากฎตัวอยู่ร่วมกับธาตุแมกนีเซียม (Mg)      ธาตุเหล่านี้ ในทางอนินทรีย์เคมี อยู่ร่วมกันได้และสลับที่นั่งในสารประกอบต่างๆกันได้ในอัตราส่วนต่างๆกัน ขึ้นอยู่กับ Eh, pH, Temp., Press.  เรียกว่า Solid Solution และเป็นไปตาม Goldschmidt Rules

เรื่องที่กล่าวมานี้ สำหรับคนที่จบมาทางเคมีคงจะเข้าใจได้ง่าย และคงจะได้เรียนผ่านมาแล้วกันทั้งนั้น   สำหรับผู้อื่น อย่าเพิ่งท้อนะครับ ผมเล่ามาเพื่อปูทางไปสู่เรี่อง โป่งกับสัตว์ต่างๆ   และต้องขออภัยที่จะต้องลงไปในอีกพื้นฐานหนึ่ง ในเรื่องของแร่ประกอบหิน

ก็เพราะ...เรื่องของโป่งกับสัตว์ต่างๆนั้น เกี่ยวกับเรื่องของดิน (clay minerals)   หิน (feldspathic rocks)  และเรื่องทางเคมี (ทั้ง physical-chem. และ bio-chem.) 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ธ.ค. 15, 21:10
พักไว้ตรงนี้ 1 อาทิตย์นะครับ  ผมมีความจำเป็นต้องไป ตจว.ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 15, 18:48
กลับมาแล้วครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 15, 19:47
ทิ้งท้ายไว้ให้ดูน่ากลัว  แต่ผมคงไม่ลงไปลึกขนาดนั้น (และก็คงลงไปลึกๆไม่ได้)    นักวิชาการที่เรียนมาสายตรงทางเคมีและแร่ธาตุ และที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของสัตว์ป่า  เขาเหล่านั้นมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของโป่งลึกซึ้งมากกว่าผมเยอะแยะ      ผมเพียงแต่จะพยายามเล่าว่า ดินโป่งนั้นมันเป็นอย่างไร

ก็จะขอเริ่มต้นแบบสรุปง่ายๆว่า     ผลึกของแร่ชนิดต่างๆที่เราพบในหินต่างๆ(ที่เรียกกันว่าแร่ประกอบหิน)นั้น มีแร่อยู่ 2 ชนิดที่เราพบอยู่เป็นปรกติ ได้แก่ แร่ Quartz (ควอร์ทซ) ที่เราเรียกง่ายๆกันว่า ซิลิก้า (Silica) หรือในอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า เขี้ยวหนุมาณ    และแร่ feldspars (เฟลด์สปาร์) ที่เรียกกันว่าแร่ฟันม้า ที่หากเป็นชนิดที่สวยๆ ก็เอามาทำเป็นอัญมณีที่เรียกกันว่า มุกดาหาร (Moonstone)   

Quartz มีสูตรทางเคมีว่า SiO2  ซึ่งเป็นสารประกอบพื้นฐานของแร่เกือบทุกชนิดที่เป็นองค์ประกอบของหินชนิดต่างๆ และซึ่งตัว SiO2 เองก็สามารถอยู่อย่างเป็นอิสระ เกือบจะไม่ถูกทำลายให้หายไปจากการกระทำใดๆ เช่นที่เราพบพวกมันเป็นทรายที่อยู่ในเนื้อดิน และเป็นหาดทรายที่อยู่ตามชายหาดทั้งหลาย

Feldspars เป็นแร่ที่มีสารประกอบทางเคมีที่มีส่วนผสมผสานกันในอัตราส่วนต่างๆกันระหว่างธาตุ Sodium (Na), Calcium (Ca), และ Potassium (K), Alluminium (Al), Silicon (Si), และ Oxygen (O)  เช่น Potassium feldspar (K,Al, Al2Si3O8) (ที่เราเอามาทำน้ำยาเคลือบเงาเซรามิกส์ทั้งหลาย) หรือหากเปลี่ยนจาก K เป็น Na ก็อาจจะเหมาะสำหรับการปั้นขึ้นรูป


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 15, 20:40
Feldspars   เป็นแร่ที่ตกผลึกได้โดยตรงจากหินหลอมละลาย ทั้งในอุณหภูมิสูงและอุณหภูมิต่ำ  แถมผลึกของตนยังสามารถขยายขนาดเพิ่มเติมขนาดผลึกให้ใหญ่ขึ้นได้ในอัตราต่างๆในสภาพแวดล้อมต่างๆ   ปริมาณการผสมผสานของธาตุ K, Na, Ca โดยพื้นๆง่ายๆจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ  (อาทิ K มีมากหากตอนเกิดเป็นอุณหภูมิสูง ส่วน Na บ่งชี้ว่าเป็นเรื่องของอุณหภูมิต่ำ)   นั่นเป็นในด้านการกำเนิด   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 15, 19:06
Feldspar และแร่อีกหลายชนิดเหล่านั้น (อาทิ Mica ที่เห็นสะท้อนแสงว๊อบแว๊บในพื้นที่ทรายต่างๆ) เมื่อสภาพแวดล้อม (pH, Eh, P, T) ได้เปลี่ยนแปลงมากไปจากสภาพที่มันถือกำเนิดมามากๆ สารประกอบทางเคมีที่ประกอบกันเป็นแร่นั้น มันก็ขยับปรับต้ว เปลี่ยนแปลง (alteration) ไปเป็น Clay minerals (แร่ดิน)ได้

clay minerals มีอยู่หลากหลายแร่เช่นกัน แต่ผมจะขอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พวกที่ไม่อมน้ำ เช่น Kaolinite ที่เราเรียกว่าดินขาว ที่เราเอามาทำเครื่องเซรามิกส์ชั้นดีทั้งหลาย   และพวกที่อมน้ำ แล้วขยายตัวได้หลายเท่า เช่น กลุ่มแร่ Smectite ที่มีอยู่ในผืนดินที่มีการแตกระแหงมากๆในฤดูแล้ง

แล้วก็จะขอขยายความอีกนิดนึงว่า แร่ดินทั้งหลายนั้น มีโครงสร้างทางเคมีที่มีปลายเปิดพอที่จะจับกับธาตุต่างๆได้หลากหลายธาตุเลยทีเดียว   ครับ..ดินจึงมีสีได้ต่างๆ เช่น เหลือง แดง ดำ แถมยังจับเอาโลหะหนักมาเก็บไว้ในตัวได้ด้วย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 15, 19:15
ไม่ลงลึกไปกว่านี้แล้วครับ เดี๋ยวจะหลงป่าไปด้วยกัน 

ที่เล่ามา ก็คงเพียงพอที่จะทำให้เห็นภาพได้แล้วว่า ดินโป่ง หรือ salt lick นั้นอุดมไปด้วยแร่ธาตุได้อย่างใร และด้วยเหตุใดจึงทำให้สัตว์เลือกที่จะมากินกัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 15, 19:36
ก็คงจะพอเห็นภาพได้อีกว่า โป่งแต่ละโป่งจะมีความต่างกันได้อย่างไรบ้าง

ก็ด้วยการที่มีคุณสมบัติค่อนข้างจะจำเพาะ (ของแต่ละโป่งหรือไม่ก็ไม่รู้..เนาะ ?) จึงทำให้พบว่าโป่งมีได้ในป่าทุกประเภท   มีระยะทางของด่านสัตว์ (ทางเดิน) ที่มาลงโป่งต่างกัน (เป็นโรงหมอระดับเยี่ยม ?)   มีความกว้างของทางด่านและความไม่รกต่างกัน (เป็นด่านไหญ่ มีสัตว์หลากหลายชนิดมาลงเป็นประจำ)  ...เป็นต้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 15, 19:48
ก็มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลายที่เป็นแฟนประจำที่จะต้องเข้ามากินดินโป่ง ล้วนแต่เป็นสัตว์ประเภทกินพืช (herbivorous animals)   ก็จึงพอจะกล่าวได้ว่า  ดินโป่งเป็นอาหารเสริม (supplementary diet) ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ...คงไม่ผิดเนาะ...


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 15, 20:00
คราวนี้ก็คงมาถึงประเด็นที่คงพอจะมีคำตอบได้แล้วว่า ด้วยเหตุใดแต่ละโป่งจึงมีชนิดของสัตว์มาลงไม่เหมือนกัน หรือไม่ก็เป็นโป่งที่เกือบจะเป็นเฉพาะของสัตว์ (หรือกลุ่มของสัตว์ )บางชนิด


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 15, 18:38
พื้นที่ของโป่งหนึ่งๆ อาจจะกว้างหรือเล็กก็ได้  แต่ที่สัตว์มากัดแทะกินนั้น จะเป็นเพียงจุดๆหนึ่งในบริเวณนั้น ซึ่งจะเป็นดินที่มีเนื้อละเอียดมาก (ในระดับไม่ถึง 10 ไมครอน) จนพอจะกล่าวได้ว่า กัดกินแล้วไม่รู้สึกว่าเคี้ยวทรายกรอบแกรบ    ก็ขนาดคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังกัดกินได้อย่างอร่อยก็แล้วกัน 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 15, 19:00
ครับ...คนก็กินโป่งเหมือนกัน  เขาอาจจะไม่รู้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่เขารู้ว่ามันช่วยทำให้เขาหายจากอาการบางอาการ และทำให้รู้สึกว่าร่างกายสบายขึ้น  
 
สำหรับผมแล้ว การกินดินของชาวบ้านในอิสาน มิใช่เรื่องของความยากจนจนต้องกินดิน เขากินก็เพราะมันเป็นแร่ธาตุเสริมสำหรับความสมบูรณ์ของร่างกาย (เมื่อร่างกายขาดและเรียกร้อง) มันเป็นเหมือนกับ vitamin & mineral ที่เราคนกรุงกินประจำวัน ต่างกันก็แต่เพียงว่าของเขาเป็นของที่ธรรมชาติสร้างให้มา  

ดังที่เล่ามาแล้วว่า ดินโป่งมีธาตุหลักๆคือ แคลเซียม โปแตสเซียม และโซเดียม ผนวกด้วยธาตุอื่นๆส่วนน้อย (เช่น เหล็ก_Fe, แมงกานีส_Mn, แมกนีเซียม_Mg) และที่เป็น trace elements (เช่น สังกะสี_Zn, ทองแดง_Cu)

แล้วแร่ธาตุที่ได้กล่าวถึงมาเหล่านี้ ร่างกายของเรามีความต้องการตามที่ได้มีการศึกษาวิจัยกันในวงการสาธารณสุขหรือไม่ ??

ทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นความเห็นในทางวิชาการของตัวผมนะครับ    


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 15, 19:27
ไม่รู้ว่า มีการศึกษาเรื่องของโป่งในแนวที่ผมกล่าวถึบ้างหรือไม่  หรือว่ามีแล้ว (ผมเคยแนะให้ นศ.ท่านหนึ่งในสายงานที่เกี่ยวข้องทำวิทยานิพนธ์ ป.โท  แต่จะด้วยว่ามันเป็นสหวิชามากไป ยากไป หรือเคยมีการวิจัยกันแล้วก็ไม่รู้ได้ เขาจึงไม่ให้ความสนใจ) 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 15, 19:29
กลับมาต่อเรื่องสัตว์ลงโป่งในห้วยขาแข้งดีกว่านะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 15, 22:16
ดินที่มีแร่ธาตุ กินได้ทั้งสัตว์และมนุษย์ อย่างที่คุณตั้งอธิบาย ทำให้นึกถึง "ดินถนัน" หรือ "นมพระธรณี" ใน พระอภัยมณี  ที่นางละเวงได้กินเป็นยาอายุวัฒนะ
ตอนนั้นนางละเวงหนีพระอภัย เตลิดเปิดเปิงเข้าไปในป่า  ไปเจอเข้าโดยบังเอิญ   สุนทรภู่บรรยายไว้ ลักษณะเหมือนผลไม้ผุดขึ้นมาจากดิน

พอได้ยินดินลั่นเสียงครั่นครื้น                  สะเทือนพื้นภูผาป่าระหง
ประเดี๋ยวหนึ่งตึงสะดุ้งดังผลุงลง              กลิ้งอยู่ตรงหน้าเท่าน้ำเต้าทอง
เหลืองอร่ามงามงอมหอมระรื่น                ดูสดชื่นชูสีไม่มีสอง
สงสัยนักชักมีดออกกรีดลอง                  ขาดเป็นสองซีกไส้ข้างในแดง
นางชิมดูรู้ว่าโอชารส                          เหลือกำหนดในมนุษย์สุดแสวง
ทั้งหอมหวานซ่านเสียวมีเรี่ยวแรง             ที่ศอแห้งหิวหายสบายบาน

สรรพคุณของดินถนัน หรือนมพระธรณี คล้ายวิตามินแร่ธาตุผสมกับฮอโมนส์   ทำให้สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรค  บำรุงร่างกายผิวพรรณให้เป็นน้ำเป็นนวลคือ

ฝูงสัตว์ไพรได้ยินทั้งกลิ่นหอม                มาพรั่งพร้อมหมายจะกินถวิลหวัง
ด้วยหวานเย็นเห็นประเสริฐเลิศกำลัง         กำจัดทั้งโรคาไม่ราคี
อายุยืนชื่นชุ่มเป็นหนุ่มสาว                    ผิวนั้นราวกับทองละอองศรี
ถึงแก่เฒ่าเข้าเรือนสามร้อยปี                  ก็ไม่มีมัวหมองละอองนวล

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 15, 18:07
ขอบคุณครับ 

ดีใจมากที่อาจารย์เทาชมพูได้ไปพบบันทึกในบทกวีว่ามีการกินดินและดินที่กินนั้นเป็นยา     เป็นการช่วยยืนยันนะครับว่า ในดินที่คนเลือกนำมากินนั้นมีบรรดาแร่ธาตุที่ผมได้กล่าวถึงซึ่งเป็นที่ต้องการของร่างกายเรา เช่น แคลเซียมในเรื่องของกระดูก โปแตสเซียมในเรื่องของกล้ามเนื้อและสร้างสมดุลย์ (กับโซเดียม) ให้กับเซลล์ต่างๆของร่างกาย เหล็กในเรื่องของความแข็งแรงเม็ดเลือด...ฯลฯ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 15, 18:46
การกินดินของคนในสมัยก่อนๆนั้นคงจะไม่มีปัญหาในเรื่องของสุขภาพใดๆตามมา  ต่างกับในปัจจุบันที่มีโอกาสจะเกิดผลร้ายแรงตามมาเนื่องจากการปนเปื้อนของแร่ธาตุที่ไม่พึงปราถนา ทั้งในรูปของการมีปริมาณสูงเกินความต้องการมากๆหรือความเป็นพิษของธาตุุนั้นๆ

จะว่าไปแล้ว คนสมัยก่อนนั้นมีความละเอียดมากในการเลือกสรรสิ่งที่จะกลือนกินลงไป  อาทิ ดินที่จะกินก็จะต้องมีความละเอียด สะอาดขาวนวล ซึ่งลักษณะเช่นนี้ดูจะบ่งบอกถึงลักษณะของดินที่มีธาตุโปแตสเซียมสูง ต่างไปจากขาวด้าน_dull_และออกไปทางร่วน ซึ่งดูจะบ่งชี้ว่าเป็นดินที่มีโซเดียมสูง
     
สีของดินก็บ่งชี้ถึงธาตุที่เข้ามาปนเปื้อน อาทิ สีแดงจะส่อว่ามีเหล็ก+2 (ferrous)  หรือสีเขียวส่อว่ามีเหล็ก+3 (ferric) หรือสนิมทองแดง, สีส้มหรือแสดส่อว่ามีสนิมเหล็ก  หรือสีคล้ำออกไปทางดำก็ส่อว่าน่าจะมีแมงกานีสสูงหรือไม่ก็มีซากพืชปนเปื้อน...เป็นต้น 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 15, 19:23
สัตว์จะลงมากินดินโป่งในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในช่วงดึกที่มีแสงสว่างจากดวงจันทร์พอที่จะมองเห็นได้ซึ่งกันและกัน    แต่ก็มีข้อมูลหรือความรู้ที่ทำให้ผมงงอยู่เหมือนกัน   

ครับ..ครั้งหนึ่ง ก็มีทั้งเซียนแห่งพรานไพรและ จนท. ก็รีบพาคนไปดูสัตว์ลงโป่งช่วงเวลาประมาณบ่าย 3 โมง และจะส่องสัตว์ในช่วงเดือนหงายเกือบเต็มดวงในวันนั้น...ในป่าทุ่งใหญ่ครับ  คิดในแง่ดีก็คงเป็นการทำ PR (ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 15, 19:38
ในทางปฏิบัติ การเดินเพื่อไปดูโป่งใหญ่นั้นไม่ยากนัก  ก็เพียงแต่เดินไปตามทางด่านสัตว์ที่เรียบและค่อนข้างกว้าง (ประมาณ 1 เมตร) หรือที่เห็นเป็นทางชัดแจ้ง  แต่ต้องอาศัยตรรกะเล็กน้อยว่าจะตัดสินใจเดินไปในทางทิศใดดี คือหากตัดสินใจไม่ถูกก็จะเดินห่างออกไป หากถูกก็จะเดินเข้าหาโป่ง ก็เท่านั้นเอง

แต่หากจะบวกกับความเฮงหรือความซวย (ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพในภาษาเขียนครับ) ก็มีโอกาสจะได้พบกับผู้ยิ่งใหญ่ (ช้าง) ที่ไม่รู้จักคำว่าถอย หรือได้พบกับลูกบ้านขี้อายทั้งหลาย (เก้ง กวาง เป็นต้น)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 16, 06:36
สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2559

   ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดยังความสุขสวัสดีมีชัยในการดำเนินชีวิต ในหน้าที่การงาน ในความมั่งมีศรีสุข และสุขพลานามัย มาบังเกิดยังทุกท่านสมาชิกและทุกท่านที่เข้ามาแวะเวียนอ่านกระทู้ต่างๆในเรือนไทย ตลอดปี พ.ศ.ใหม่นี้และตลอดๆไป ครับ



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ม.ค. 16, 10:18
ขอบคุณในนามชาวเรือนไทยค่ะ คุณตั้ง
ขอให้คุณตั้งได้รับพรอันประเสริฐนี้เช่นกันค่ะ
อยู่เล่าเรื่องห้วยขาแข้งและเรื่องอื่นๆ ให้พวกเราได้ฟังกันตลอดไป


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 16, 17:40
สวัสดีปีใหม่ครับ อ.เทาชมพู

สวัสดีปีใหม่ครับ อ.ทั้งหลาย ผู้ทรงซึ่งความรู้แห่งบ้านเรือนไทยหลังนี้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 16, 18:09
ชาวบ้าน (กะเหรี่ยง) ในห้วยขาแข้งก็มีงานปีใหม่เหมือนกัน ผมไม่เคยไปร่วมงานกับเขา เพราะกลับมาอยู่บ้าน    อย่างไรก็ตาม ที่ บ.ไก่เกียง ชาวบ้านได้เคยจัดฟ้อนรำแสดงให้คณะของผมได้ชม เพื่อแสดงการต้อนรับอย่างเป็นมิตร (และเป็นการซ้อมไปด้วยในตัว)  ซึ่งก็เป็นการแสดงที่เป็นลักษณะ highlight ของงานรื่นเริงในวันปีใหม่

วันปีใหม่ของกะเหรี่ยงนั้น เท่าที่ผมรู้ก็คือ ไม่ตรงกับปฎิทินสากล แต่ก็เป็นเวลาใกล้ๆกัน เพราะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมเช่นกัน  เป็นลักษณะของงานรื่นเริงในวาระเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรประจำปี

รูปแบบและกระบวนพิธีของงานวันปีใหม่นั้นก็เหมือนๆกับงานของพิธีกรรมต่างๆ เพียงแต่เพิ่มเรื่องการฟ้อนรำเข้ามา       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 16, 18:34
ผมเคยได้รับการฟ้อนต้อนรับของกะเหรี่ยงหลายครั้ง ทั้งหมดเป็นการฟ้อนเป็นหมู่คณะ ไม่เคยเห็นการฟ้อนแบบเดี่ยวหรือเป็นคู่ ผู้ฟ้อนก็มีแต่สาววัยรุ่น มีกี่คนในหมูบ้านก็เท่านั้นแหละ ผมเข้าใจว่าจะต้องเป็นสาวที่ยังไม่มีคู่ครองเรือนเท่านั้นเสียอีกด้วย

ลักษณะการฟ้อนและการแต่งกายก็มีลักษณะออกไปทางพม่า ส่วนท่วงทำนองเพลงนั้นก็มาจากปากของเหล่าผู้เฒ่าทั้งหลายทั้งชายและหญิงที่ช่วยกันเปล่งเสียงออกมา   

ในบรรยากาศของแสงสว่างจากกองไฟ คบไฟ และฝุ่น  มันก็ให้ความสุนทรีย์ทางจิตใจและอารมณ์ดีนะครับ และอีกหนึ่งอย่างที่ดูจะเป็นเรื่องของการให้เกียรติกันอย่างมาก ก็คือ แขก (เกียรติยศ) จะนั่งดูอยู่บนชานเรือน แถวๆตรงห้วบันใดทางขึ้นบ้านที่พาดขอบชานเรือน     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 01 ม.ค. 16, 18:38
สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2559

   ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดยังความสุขสวัสดีมีชัยในการดำเนินชีวิต ในหน้าที่การงาน ในความมั่งมีศรีสุข และสุขพลานามัย มาบังเกิดยังทุกท่านสมาชิกและทุกท่านที่เข้ามาแวะเวียนอ่านกระทู้ต่างๆในเรือนไทย ตลอดปี พ.ศ.ใหม่นี้และตลอดๆไป ครับ



กราบสวัสดีปีใหม่อาจารย์naitang
ขอบพระคุณสำหรับคำอวยพรค่ะ :D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 16, 19:03
หลังจากการแสดงจบ แยกย้านกันกลับบ้านแล้ว     ก็คงจะเป็นอีกฉากหนึ่งต่อไป ครับ ก็คือการตามไปจีบสาวนักฟ้อนทั้งหลายของบรรดาหนุ่มๆ      

งานปีใหม่นี้ เท่าที่ผมรู้นะครับ แต่ละหมู่บ้านจะจัดไม่ตรงกัน ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องตามที่กล่าวมาในวรรคแรกว่า มันจะตามมาด้วยการตามไปหาสาว    

ด้วยว่า...โดยพื้นแล้ว แต่ละหมู่บ้านกะเหรี่ยงในป่าดงที่ไกลปืนเที่ยงมากๆนั้น จะเป็นหมู่บ้านเล็กและเล็กมากๆ อาจจะมีเพียง 5-10 หลังคาเรือน มีระยะเวลาเดินทางระหว่างกันตั้งแต่ไม่น้อยกว่า 2 ชม.จนถึง 2-3 วัน    

และด้วยว่า...ด้วยสัญชาติญาณของสรรพสัตว์ ที่ว่าการผสมข้ามเชื้อสายคือการสร้างเผ่าพันธุ์ให้มีความแข็งแรงและแข็งแกร่ง  

ครับ..ประเพณีและวัฒนธรรมก็ช่วยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของธรรมชาติ   ผม (ว่าเองนะครับ) เห็นกะเหรี่ยงในบางพื้นที่จึงมีตัวเล็กมาก ในขณะที่บางพื้นที่ก็ตัวใหญ่ใกล้เคียงกับเรา  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 16, 19:24
ผมเลยมีความเห็นเอาเองว่า ประเพณีย่องสาวของกะเหรี่ยงก็เป็นผลพวงตามมาจากประเพณีวันปีใหม่ที่เล่ามานั้น

ก็เมื่อหนุ่มจากต่างบ้านห่างไกลจะต้องนอนค้างแรมก่อนจะเดินกลับบ้านในอีกรุ่งวันหนึ่ง  ก็กะไรอยู่นะ จะมิใยไปหาสาวที่หมายปองอยู่หรือไร ??

ผมเองมิเคยไปย่องสาวด้วยตนเองแต่ผู้เดียว เคยแต่ไปกับผู้อื่นรวมกันสองสามคน แถมยังเคยต้องยืนรอพรรคพวกอยู่ที่หน้าบ้านสาว เตรียมพร้อมที่จะโกยหากเกิดความผิดพลาดใดๆขึ้นมา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ม.ค. 16, 18:22
เท่าที่รู้ สาวที่มาฟ้อนแม้จะตัวเล็ก แต่ก็เป็นสาวแรกรุ่นเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ก็คงมีอายุอยู่ในละแวก 15+ ปี  และยังไม่แต่งงานยังไม่มีคู่ครอง ซึ่งพวกนี้_ตามประเพณีของเขา_ยังคงแต่งตัวใช้ชุดถุงสีขาวทั้งตัว ต่างกับพวกที่แต่งงานแล้วซึ่งจะใช้ชุดผ้าลายทางสีแดง

ประเพณีย่องสาวก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าไปบ้านสาว ขึ้นบ้านเพื่อคุยกับสาวเจ้า ก็คือไปจีบสาวนั้นแหละ แต่จะเป็นตอนช่วงเวลาเริ่มมืดที่ต้องจุดตะเกียงให้แสงสว่างพอมองเห็นหน้ากันได้แล้ว มิใช่ขายขนมจีบกันได้ทั้งวันและทุกเวลาแบบคนในเมือง

ที่ดูว่าน่าจะระทึกสักหน่อยก็คือ มันเป็นการจีบสาวแบบมีพ่อแม่ของสาวเจ้านอนฟังอยู่  พ่อแม่ก็คงมีใจระทึกอยู่เหมือนกันว่าแต่ละ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ม.ค. 16, 18:24
ไปโดนอะไรไม่รู้ ส่งข้อความไปเลย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ม.ค. 16, 18:31
ครับ..พ่อแม่ก็คงระทึกใจอยู่ว่า shot ต่อไปจะเป็นอย่างไร     

แต่ตราบใดที่ยังไม่มีเสียงคำว่า ผะมึง เปล่งดังๆออกมาจากปากลูกสาว เรื่องราวก็ดูจะ OK  แต่หากมี ก็คงต้องลุกออกมาทำอะไรสักอย่าง

ส่วนเสียงกระแอมกระไอนั้น พ่อแม่มักจะทำอยู่เป็นระยะๆ  ซึ่งจะเป็นเรื่องของสเลดติดคอจริงๆหรือว่าเป็นการปรามก็ไม่รู้ได้ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ม.ค. 16, 18:50
บ้านเรือนของผู้คนชาวกะเหรี่ยงก็ไม่ต่างไปจากบ้านเรือนของชาวบ้านชนบททั่วๆไป (ไม่ว่าจะเป็นของชาติพันธุ์ใด)  คือ ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นชานเรือนนอกชายคา มีพื้นต่อเนื่องในระดับเดียวกัน (หรือยกระดับเล็กน้อย) ไปเป็นส่วนครัวอยู่ใต้หลังคา มีส่วนที่เป็นพื้นที่ว่างต่อจากครัวใช้เป็นที่เอนกประสงค์ (กินข้าว นั่งคุย และนอน)  แล้วก็มีการกั้นเป็นห้อง 1 ห้อง กั้นด้วยการขัดแตะไม้ไผ่

ครับ.. จะพูด จะคุย จะขยับเขยื้อนกายใดๆบนบ้านนี้ ก็เป็นอันว่ารู้กันทั้งบ้านก็แล้วกัน   เป็นเรื่องของไม้ไผ่มีรูอย่างแท้จริง มิใช่แบบหน้าต่างมีหูประตูมีช่อง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ม.ค. 16, 19:20
คงเห็นภาพแล้วนะครับ ว่าความระทึกมันเกิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง 

หากเลยเถิดไปมาก ก็จะถือว่าผิดผี ซึ่งก็จะเป็นการตัดสินใจของฝ่ายผู้ถูกกระทำว่าจะมีการผิดผีหรือไม่

หากถูกวินิจฉัยว่าผิดผี ก็จะต้องมีการแก้หรือการขอขมาด้วยระบบการเซ่นไหว้  ซึ่งก็แล้วแต่ว่าฝ่ายผู้ถูกกระทำจะกำหนดใว้เช่นใด 

เท่าที่เคยพบเห็นมา (ในพื้นที่ทางตะวันตกของเรา) ที่ถือว่าค่อนข้างจะแพงก็คือ หมูตัว ไก่ตัว เงิน 2 สลึง (โยนขึ้นหลังคาบ้านสลึงนึง โยนใส้ใต้ถุนบ้านสลึงนึง)   โดยปรกติก็มักจะเป็นการเรียกเงิน 2 สลึงนี้เท่านั้น


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 16, 17:40
สังคมและวัฒนธรรมดังที่เล่ามานี้ ก็คงจะพอทำให้เห็นคำตอบที่ว่า ด้วยเหตุใดเราจึงเห็นเด็กสาวกะเหรี่ยงชาวบ้านป่าวัยกะเตาะจึงมักจะมีเด็กอ่อนกระเตงติดบั้นเอวเดินไปใหนมาใหนอยู่ในหมู่บ้าน

แต่ก็มีสาวที่โตเต็มวัยหลงเหลืออยู่มากเหมือนกันนะครับ สวยเสียด้วยซิครับ ซึ่งพวกเธอเหล่านี้ หลายคนมีแฟนหรือมีสามีแล้ว ซึ่งแฟนหรือสามีเหล่านั้นมักจะเป็นคนที่ไปทำงานเป็นลูกจ้างของส่วนราชการในท้องถิ่น แล้วก็มีเยอะที่มีสามีเป็นคนไทยที่เป็นลูกจ้างของส่วนราขการเช่นกัน  แต่ที่น่าสนใจก็คือ สามีที่เป็นคนไทยเหล่านั้น ดูจะรักภรรยาและมีความรับผิดชอบมาก หลายคนลาออกจากลูกจ้างการเป็น แล้วมาอยู่กินกับภรรยาที่บ้านป่า ช่วยกันทำมาหากินและใช้ชีวิตแบบชาวดงทั่วไป 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 16, 18:04
ด้วยเรื่องที่เล่ามานี้ ผมจึงระวังตัวมาก ไม่ยอมนอนบนบ้านชาวบ้านใดทั้งนั้น ไปตั้งแคมป์นอนแยกให้ห่างออกไปสักครึ่งกิโลถึงสองกิโลเมตรจะปลอดภัยกว่ามาก     ไปนั่งกินเหล้า สร้างความสนิทสนม สร้างความเป็นพวก สอบถามข้อมูลเสร็จแล้วก็เดินกลับ ไม่ว่าจะดึกดื่นอย่างไร

ครับ..ก็เป็นข้าราชการหนุ่มนี่นา จับได้ก็สบายอีกไปนาน   ก็มีการโชว์ตัวสาวกันทุกบ้านที่ขึ้นไปทั้งนั้น ทั้งฝีมือทำอาหาร ทั้งการดูแลความเรียบร้อยของวงเหล้ามิให้ขาดตกบกพร่อง 

ครับ...ก็จึงต้องมีกฎกติกาของตนเองและของคณะสำรวจ
     ..เรื่องแรกคือ  ไม่นอนค้างบนบ้านเขา
     ..เรื่องที่สองคือ ไม่เบียดเบียนเขา ไม่ให้เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขนเอาไปให้เขาทำ เหลือก็ยกให้เขาเก็บเป็นสะเบียงต่อไป 
     ..เรื่องที่สามคือ ถือสัจจะ พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก เปิดเผยและให้เห็นว่ากระทำจริง
     ..เรื่องที่สี่คือ เป็นฝ่ายให้ ช่วยเขาเพื่อการพัฒนาในทุกเรื่องที่เรารู้และเท่าที่มีปัญญาจะคิดได้บนฐานความรู้ของเรา ฯลฯ
     ..อีกมากครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 16, 18:17
ท่านที่เคยเดินป่าไปตามหมู่บ้านชาวบ้านป่าทั้งหลาย คงจะเคยสังเกตหรือมีข้อสงสัยว่า ด้วยเหตุใดหลายหมู่บ้านจึงตั้งอยู่ห่างจากลำห้วย   จะต้องเดินมาตักน้ำ ขนเอาไปเก็บที่บนบ้าน จะอาบน้ำทีนึงก็ต้องเดินลงไป กลับมาถึงบ้านก็เหงื่อซึมตัวเหนียวอีกแล้ว

จะขอทิ้งไว้ให้ลองนึกคำอธิบายสักพักนะครับ  ผมจะข้ามไปเรื่องอื่น


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 16, 18:46
อุปกรณ์ที่ใช้ตักน้ำเอาไปใช้บนเรือนนั้นก็คือ กระบอกไม้ไผ่ที่มีช่วงข้อปล้องยาว ที่เห็นเป็นปรกติก็ยาวประมาณ 1 เมตร  แต่จะหาไผ่ช่วงข้อปล้องยาวๆนี้ก็หายากนะครับ  จะมีก็มักจะเป็นแบบมีเนื้อไม้หนาและเป็นท่อขนาดเล็ก (ขนาดที่ต้องการก็ประมาณน่องขาของเรา ไม่ต้องใส่น้ำก็หนักเอาเรื่องอยู่แล้ว)    หากหาไม่ได้ก็จะใช้วิธีปอกให้เนื้อมันบางลง

เย็นๆลงมาอาบน้ำในลำห้วย เสร็จแล้วก็เอาน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่ โงกันคนละกระบอกกลับบ้าน เขาไม่ใช้วิธีสะพายบ่า แต่ใช้วิธีเอาเชือกรัดที่หน้าผาก ดึงของที่จะขนแนบหลัง (หัวแข็ง คอแข็งจริงๆ) บ่ามีไว้สะพายย่ามอย่างเดียว   ที่บนบ้านก็ไม่มีตุ่มหรือภาชนะใส่น้ำใดๆ กระบอกนั้นแหละก็คือโอ่งเก็บน้ำเอง  เมื่อจะใช้ก็เทน้ำจากกระบอก ใช้จนหมดแล้วก็ไปเอามาใหม่ บ้านใหนมีหลายกระบอกก็พอจะเดาออกได้ว่าขยันหรือเป็นครอบครัวใหญ่

คนในเมืองไม่รู้  ขึ้นบ้านเขา ช่วยเขาทำอาหาร ล้างจาน นึกถึงแต่ความสอาดเป็นหลัก  ลืมนึกถึงไปว่ากว่าจะเขาขนน้ำมาได้ก็ทั้งหนักและเหนื่อยแทบตาย     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 16, 19:05
กระบอกไม้ไผ่ที่เราอาจจะดูว่าเป็นอะไรที่หาได้ง่ายๆและไม่มีราคา  เมื่อพิจารณาตามภาพที่ผมเล่ามาก็จะเห็นว่ามันมีค่ามากพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหนเมื่อคนเมืองมาแตะต้อง     

ครับ..ไปใหนมาใหนก็ลองสังเกตดูสักนิดนึงนะครับว่า มีไม้ไผ่ต้นอวบขนาดน่องขาของเราที่มีช่วงปล้องยาวสัก 60-70 ซม.ให้เห็นบ้างหรือไม่

สำหรับกระติกน้ำที่จะใช้พกติดตัวสำหรับการเดินห่างจากแหล่งน้ำเป็นระยะเวลานานนั้น อันนี้ง่ายครับ ก็ตัดไม้ไผ่เอาขนาดที่คะเนว่าพอเหมาะทั้งในปริมาณน้ำและน้ำหนัก ส่วนมากก็จประมาณ 1 ศอก เจาะรูแล้วเอาเถาวัลย์เส้นเล็กๆมาผูกหัวท้าย ก็ใช้เป็นกระติกน้ำสะพายติดตัวได้แล้ว  จะได้น้ำที่มีกลิ่นหอมและน่าดื่มเลยทีเดียว


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 16, 19:23
คงเห็นภาพแล้วนะครับ ว่าความระทึกมันเกิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง 

หากเลยเถิดไปมาก ก็จะถือว่าผิดผี ซึ่งก็จะเป็นการตัดสินใจของฝ่ายผู้ถูกกระทำว่าจะมีการผิดผีหรือไม่

หากถูกวินิจฉัยว่าผิดผี ก็จะต้องมีการแก้หรือการขอขมาด้วยระบบการเซ่นไหว้  ซึ่งก็แล้วแต่ว่าฝ่ายผู้ถูกกระทำจะกำหนดใว้เช่นใด 

เท่าที่เคยพบเห็นมา (ในพื้นที่ทางตะวันตกของเรา) ที่ถือว่าค่อนข้างจะแพงก็คือ หมูตัว ไก่ตัว เงิน 2 สลึง (โยนขึ้นหลังคาบ้านสลึงนึง โยนใส้ใต้ถุนบ้านสลึงนึง)   โดยปรกติก็มักจะเป็นการเรียกเงิน 2 สลึงนี้เท่านั้น

ขอถามตรงนี้อีกครั้งเพราะยังไม่ค่อยเข้าใจค่ะ
1  ผิดผี   รวมทั้งสมยอมและไม่สมยอม หรือเปล่าคะ 
เรียกว่าถ้ามีการล่วงเกินกันไม่ว่าสาวเจ้าจะยอมโดยดี หรือไม่พอใจขึ้นมา ก็นับเป็นผิดผีทั้งนั้น   ต้องจ่ายค่าหมูไก่และเงิน
2 ถ้าสมยอมกัน จะต้องลงเอยด้วยการร่วมหอลงโรงเท่านั้นใช่ไหม      ผู้ชายสามารถไม่สามารถหนีความรับผิดชอบได้   
3 ถ้าไม่ละเมิดสาวเข้า โดยที่ฝ่ายชายมีเมียเป็นตัวเป็นตนอยู่อีกแห่ง    หรือไม่มีแต่ไม่สมัครใจจะเป็นเขยชาวเขา    จ่ายค่าผิดผีแล้วจบลงไปได้หรือเปล่า


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 16, 20:43
อาจารย์มีข้อสงสัยถามมา ผมก็เลยต้องตอบโดยพลันด้วยความรู้สึกดีใจ ;D   

ย้อนไปอ่านที่ตัวเองเขียนแล้วก็ให้เห็นว่า ที่อาจารย์มีข้อสงสัยนั้น สมควรแล้วแก่เหตุครับ

ผมใช้คำว่า "ฝ่ายผู้ถูกกระทำ" โดยคิดเอาเองว่าน่าจะให้ความหมายที่ต่างไปจาก "ผู้ถูกกระทำ" ที่ไม่มีคำว่า "ฝ่าย" นำหน้า  และคงจะไม่จำเป็นต้องใส่คำว่า "ของ" ให้เป็นวลีว่า "ฝ่ายของผู้ถูกกระทำ"   

ผมต้องการจะสื่อออกไปในความหมายว่า "บรรดาผู้สูงวัยของฝ่ายหญิง ทั้งที่เป็นพ่อ แม่ และญาติ"   และขอขยายต่อว่า "รวมทั้งกลุ่มคนผู้อาวุโสในหมู่บ้าน (อาจจะเพียง 2-3 คน) ที่อาจจะได้ยิน ได้เห็นความเคลื่อนไหว หรือ ฯลฯ เอาเป็นว่ารู้เรื่องแล้วได้เห็นพ้องกันว่า มีการผิดผีหรือเป็นการกระทำที่ผิดผี ก็จะบอกคนในฝ่ายของผู้ถูกกระทำว่า "มีการผิดผีเกิดขึ้น"

เรื่องแบบนี้ก็จะมีการกระจายอย่างรวดเร็วตามปรกติ ในทำนองว่า ข่าวเรื่องร้ายกระจายได้เร็วดี ข่าวเรื่องดีกระจายได้ช้าจัง    เมื่อรู้กันทุกคน การขอขมาผีก็จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงที่จะไม่กระทำไม่ได้   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 16, 21:07
จะขอขยายความตามข้อสงสัยของ อ.เทาชมพู วันพรุ่งนี้นะครับ 

เรื่องจะผิดหรือไม่ผิดผีนี้  ผมคิดว่าน่าจะเทียบเคียงได้กับเรื่องของการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับ etiquette ในเรื่องต่างๆที่มีอยู่ในสังคมแต่ละสังคม  ซึ่งต่างก็มีการ response และการเกิด consequence ที่แตกต่างกัน ที่มีทั้งแบบเบาหรือแบบแรง และทั้งแบบ(ทำ)ให้รู้เอาเอง หรือทำ(แสดง)ให้รู้ไปเลย         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 16, 18:54
สำหรับคำตอบของคำถาม 3 ข้อ ที่จะตอบต่อไปนี้ จะต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าว่าอาจจะรู้สึกว่ายียวนกวนนะครับ

เรื่องแรก

1  ผิดผี   รวมทั้งสมยอมและไม่สมยอม หรือเปล่าคะ 
เรียกว่าถ้ามีการล่วงเกินกันไม่ว่าสาวเจ้าจะยอมโดยดี หรือไม่พอใจขึ้นมา ก็นับเป็นผิดผีทั้งนั้น   ต้องจ่ายค่าหมูไก่และเงิน

คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ของสาวเจ้าว่าจะพิจารณาเช่นใด  ก็หนุ่มสาวนั่งอยู่บนบ้าน จุดตะเกียงคุยกัน ไม่ว่าพ่อแม่จะนอนอยู่ในห้องหรือจะนั่งอยู่ริมเตาไฟที่ชานเรือน ก็ได้ยินหนุ่มสาวเขาพูดอะไรกันเกือบจะทั้งหมด   ดังนั้น สำเนียงและเสียงที่สนทนากันก็บ่งบอกได้อยู่แล้วว่าจะพอใจหรือไม่พอใจกันอย่างไร  หากสาวเจ้าไม่สบอารมณ์หรือพ่อแม่ไม่พอใจเจ้าหนุ่ม (ไม่ชอบ) ก็อาจจะมีเรื่องเกิดการผิดผีขึ้นมา แต่ก็ไม่แน่อีกแหละครับ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่และคนที่รู้เห็นว่าจะว่าเฉยๆหรือบอกว่าผิดหรือเปล่า       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 16, 19:39
เรื่องที่สอง

2 ถ้าสมยอมกัน จะต้องลงเอยด้วยการร่วมหอลงโรงเท่านั้นใช่ไหม      ผู้ชายสามารถไม่สามารถหนีความรับผิดชอบได้   

คำตอบคือ หากเจ้าหนุ่มมีเป็นคนมีรายได้ มีการงานดี (เช่น เป็นลูกจ้างทำไม้ สร้างทาง ฯลฯ) ก็ไม่จำเป็นครับว่าจะต้องลงเอยด้วยการอยู่กินกัน แต่งงานกัน ก็ทั้งพ่อแม่และสาวเจ้าต่างก็หวังจะได้เขยดีๆเหมือนกันนี่  และเท่าที่ผมรู้ก็มีทั้งกรณีที่ผิดผีและไม่ผิดผี  พวกกรณีที่ผิดผีก็ขอขมาผีตามประเพณีแล้วก็อยู่ด้วยกันไป   

จะว่าไปแล้ว ผมเองไม่เคยเห็นพิธีแต่งงานเลย ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ผมคุ้นเคยเหล่านั้นเป็นหมู่บ้านป่าที่แต่ละกลุ่มมีไม่กี่หลังคาเรือน   

สำหรับพวกที่กินอยู่ด้วยกันนั้น เคยเห็นครับ ซึ่งก็มักจะเป็นกรณีที่เจ้าหนุ่มก็ค่อยๆแยกตัวห่างออกไป ห่างไปเรื่อยๆตาม site งานที่เคลื่อนที่ห่างออกไป ผมไม่เคยเห็นกรณีที่สาวกะเหรี่ยงออกจากหมู่บ้านตามแฟนไปอยู่ตาม site งานต่างๆ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 16, 20:48
กรณีคู่หนุ่มสาวที่มีเจ้าหนุ่มเป็นชาวเมืองแล้วต้องไปทำงานห่างออกไป นานๆจะกลับมาทีนั้น ที่ยังเป็นภาพที่จดจำอยู่ก็อยู่ที่บ้านกะล้อทอ ในเขต อ.อุ้มผาง บ้านนี้ตั้งอยู่ในเขตไทยบริเวณใกล้รอยต่อกับเขตพม่าที่ปลายปากนกแก้ว บนเส้นทางลัดเข้าเขตพม่าของเส้นทางหลวงสาย อ.แม่สอด - อ.อุ้มผาง จ.ตาก  สาวเจ้าก็งามจริงๆ คิดว่ากำลังท้อง ที่รู้ก็เพราะกำลังนั่งทอผ้าขาว (เพื่อเตรียมตัดเป็นเสื้อเด็ก) ครับ ทอผ้าฆ่าเวลารอคอยว่าเมื่อไรแฟนจะกลับมา ซึ่งดูว่ารายนี้แฟนน่าจะเป็นคนดี ดูได้จากเครื่องมือและของใช้ประจำบ้าน

พิธีการแต่งงานที่น่าจะพอมีให้เห็น น่าจะอยู่ในพื้นที่แถบแม่สอด อุ้มผาง นี้แหละครับ   โดยปกติทั่วๆไปการมาอยู่ด้วยกันก็จะเป็นเพียงการเซ่นไหว้บอกผีบ้านผีเรือน   และดูเหมือนว่าจะไปต้องทำที่ประตู (เสาไม้หรือไม้ไผ่สองต้นที่มีไม้คาดอยู่ยอดเสา) เข้าเขตหมู่บ้าน (เขตผีบ้านผีเรือน ??) อีกด้วย

ที่บ้านกะล้อทอนี้เองที่ผมได้รับรู้และเรียนรู้วิธีการดำเนินการของโครงการอาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา น่าทึ่งและน่าสนใจมากที่โครงการมีความมั่นคงและยั่งยืน (sustainable) ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 7,000 บาท ซึ่งสามารถทำให้เด็กท้องอิ่มได้สำหรับอาหารมื้อกลางวัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 16, 21:00
เรื่องที่สาม


3 ถ้าไม่ละเมิดสาวเข้า โดยที่ฝ่ายชายมีเมียเป็นตัวเป็นตนอยู่อีกแห่ง    หรือไม่มีแต่ไม่สมัครใจจะเป็นเขยชาวเขา    จ่ายค่าผิดผีแล้วจบลงไปได้หรือเปล่า

จบครับ   

คำถามข้อนี้ทำให้ผมนึกคำที่นึกไม่ออกอยู่เป็นนานครับ ผมเลยไปใช้คำว่า "ขอขมา" แท้จริงเขาใช้คำว่า "เสียผี" ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 16, 20:06
คำตอบเรื่องที่สามนี้ดูว่าจบง่ายดีนะครับ  แต่คงจะต้องดูข้อเท็จจริงประกอบด้วยว่า การย่องสาวของคนบ้านเดียวกันนั้น ทุกคนในหมู่บ้านต่างก็รู้จักหัวนอนปลายเท้าซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี  ดังนั้น การเกิดกรณีข้อ 3 นี้ จึงเป็นไปได้ยาก   

จะมีที่เกิดขึ้นได้ก็ในกรณีของคนมาจากต่างถิ่น  ซึ่งเท่าที่ผมมีความคุ้นเคยกับคนกะเหรี่ยง ผมก็เห็นว่าเขาก็มีสำนึกในทางจริยธรรมสูง เรื่องเช่นนี้จึงคงจะเกิดขึ้นยาก อนึ่ง หนุ่มจากต่างหมู่บ้านที่จะมาย่องสาวของอีกหมู่บ้านนั้น ก็จะเป็นหนุ่มของหมู่บ้านที่อยู่ห่างกันเป็นระยะทางไม่ไกลนัก เท่าที่รู้จากการสัพยอกกัน ระยะทางเดินก็ประมาณ 2-3 ชม. ที่ไกลสุดเท่าที่เคยรู้ก็ใช้เวลาเดินกันเกือบเต็มวันเหมือนกัน

แต่ก็มีข้อยกเว้นนะ พ่อแม่เป็นใจไปนั่งคุยอยู่บ้านอื่นก็มีครับ แล้วก็ไม่มีการผิดผี/เสียผีอีกด้วย   ควาญช้างหนุ่มของคณะสำรวจของผมก็เป็นหนึ่งในกรณีนั้น     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 16, 20:57
ด้วยว่าสิ่งแวดล้อมในการจีบกับของหนุ่มสาวเป็นดังที่เล่ามา กล่าวคือมีบุคคลอื่นร่วมรับรู้อยู่ด้วย  บรรดาหนุ่มสาวเขาก็เลยคิดค้นภาษาเฉพาะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ฟังไม่ออก ไม่รู้เรื่องว่าเขาพูดอะไรกัน  ในเรื่องนี้ คนกะเหรี่ยงในคณะสำรวจของผมเล่าให้ฟัง จะจริงเท็จมากน้อยเพียงใดก็มิรู้ได้  ที่จำได้ก็คือ ยะแคะยาคาเลเคเซคื้อแล่ก้อ  และ ยะแคะยาคาเลคื้อแล่คื้อ   มีความหมายในทำนองว่าไปทำอะไรมา ไป่ไร่มา     

คล้าย ภาษาเล ที่เราเพิ่มคำว่า เล เข้าไปที่หน้าคำศัพท์แต่ละคำ แล้วผวนคำนั้นเสีย ใช้คุยเล่นกันในสมัยเด็กเพื่อไม่ให้ครูฟังออกว่าคุยอะไรกัน เช่น  ไลเปไหลเหนลาเม = ไปใหนมา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 16, 18:05
สำหรับเรื่องว่า ด้วยเหตุใดหมู่บ้านจึงตั้งอยู่ห่างจากลำห้วยนั้น

คำตอบก็คือ โดยหลักใหญ่ก็เป็นการหลบน้ำป่าครับ แล้วการไปอยู่บนที่เนินซึ่งเป็นพื้นที่ตะพักลำน้ำ (stream terraces) ก็เป็นสภาพแวดล้อมที่แห้งและโปร่ง เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย   ไม่ชื้นและรกหรือทึบเหมือนพื้นที่ริมห้วย ซึ่งเป็นสภาพที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยไม่สบายได้ง่ายและรวมทั้งอันตรายจากสัตว์มีพิษทั้งหลาย โดยเฉพาะแมลงป่องตัวดำใหญ่ที่ภาษาเหนือเรียกว่าแมงเวา ที่หลบซ่อนตัวอยู่ในเวลากลางวัน และออกคลานหาอาหารอยู่ตามพื้นดินในเวลากลางคืน  แล้วก็มีแมลงป่องตัวน้อยสีขาวที่ชอบแอบเข้ามาซุกอยู่ในผ้าห่มและเสื้อผ้าที่อับชื้น แมงเวานั้นต่อยเจ็บมากๆๆๆๆๆๆ ส่วนเจ้าตัวน้อยสีขาวก็ต่อยเจ็บเอาเรื่องอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว 

สมาชิกที่นิยม camping และเดินดง  เมื่อเข้าพื้นที่ไปชมป่าดงพงไพรในช่วงเข้าฤดูมีฝนตก  เมื่อเดินๆไปในห้วยต่างๆ ก็ขอได้โปรดมองสูงสังเกตดูกิ่งไม้ใบหญ้าที่มันติดค้างอยู่บนง่ามกิ่งไม้สองฝั่งห้วยด้วยนะครับ หากมันมีระดับความสูงพอๆกัน นั่นก็คือระดับน้ำป่าที่จะไหลหลากมาตามห้วยนั้นๆแหละครับ หากได้ยินเสียงดังโครมครามในร่องห้วย ก็ขอไห้รีบโกยขึ้นฝั่งห้วยที่มีระดับสูงกว่าระดับของกิ่งไม้ใบหญ้าที่สังเกตเห็นนั้นนะครับ  แล้วก็ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 16, 18:09
แล้วก็ระวังแมลงป่องสีขาวตัวน้อยที่ปลายถุงนอนด้วยนะครับ จะเปลี่ยนเสื้อผ้าก็สะบัดเสียหน่อย จะใส่รองเท้าก็เอาส้นรองเท้ากระแทกกับพื้นเสียหน่อย ก็พอจะปลอดภัยจากการเจ็บตัวได้มาทีเดียว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 16, 18:52
อ้อ แล้วก็ระวังด้วยว่าอาจจะมีปลวกมาแทะถุงนอน(พวกที่ทำด้วยผ้า)ที่ปลายเท้า    ตื่นเช้าขึ้นมา อ้าวพรุนไปหมดแล้ว   

เมื่อใดที่นอนๆอยู่แล้วได้ยินเสียงพรืดขึ้นมาแบบรู้สึกขนลุกซู่ตามไปด้วย  นั่นเป็นเสียงของปลวกที่มันกำลังสั่นตัวพร้อมๆกัน มันเป็นพฤติกรรมที่ผมไม่ทราบว่ามันทำเพื่ออะไร หลายคนได้ยินแล้วกลัวขนหัวลุกเลยทีเดียว    ครับ..ถ้ามันสั่นขนาดที่เราได้ยินเสียงจนกลัวได้ ก็หมายความว่าตรงนั้นจะต้องเป็นทีอยู่อาศัยของมันที่เป็น commune ขนาดใหญ่มากเลยทีเดียว  แล้วของที่มันกินได้ที่เราเอาไปไว้ตรงนั้นมันจะเหลืออะไรครับ ชั่วคืนเดียวก็พรุนไปหมดแล้ว

ปลวกป่ามันก็พอจะมีประโยชน์อยู่บ้างนะครับ    ปลวกมันจะต้องอยู่ในที่ชื้น เมื่อมันเดินจะไปหาแหล่งอาหาร มันเลยต้องทำอุโมงค์เป็นท่อดังที่เราเห็นกัน ก็เพื่อรักษาความชื้นที่พอเหมาะสำหรับตัวมัน แล้วปลวกก็ไม่อยู่ในที่ชื้นฉ่ำมากๆหรือที่ฉ่ำน้ำ  ดังนั้น จอมปลวกที่โผล่สูงขึ้นมาบนดินจึงมีส่วนแสดงว่าใต้ผืนดินในพื้นที่นั้นๆจะพบน้ำ (water table) อยู่ลึกหรือไม่ลึกอย่างไร     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 16, 19:22
เดินป่าก็ต้องรู้ระวังตัวให้มากนะครับ  ทากเข็ม ก็เป็นอีกหนึ่งสัตว์ที่น่าขยะแขยง  ทากอยู่ในที่ชื้น โดยเฉพาะพื้นที่ริมห้วยที่ๆมีใบไม้ตกมาทับถมกันหนา  ทากเป็นนักย่องเบา  ที่ใดชื้นฉ่ำละก็ เผลอแป๊บเดียวมีโอกาสได้เห็นมันขึ้นถึงง่ามขาเลยทีเดียว  มันขึ้นไปอยู่ตามใบไม้ก็มี พอสัตว์เดินผ่านมาก็ทิ้งร่มลงมาเกาะดูดเลือดกิน  เราก็โดนเหมือนกัน ถอดเสื้อให้เพื่อนช่วยดูบ้างก็จะดี โดยเฉพาะใต้เสื้อผ้าแถวบ่าและหลัง

หากเป็นห้วยน้ำมากๆ มีพวกไม้ตระกูลบอนขึ้นอยู่มาก (เช่น ต้นกระดาษ ต้นบอน ต้นทูน) ก็คงจะต้องระวังตัวกุ้นหรือคุ่น มีทั้งแบบตัวแดงและตัวดำ  ตัวมันเล็กมาขนาดประมาณจุดดินสอดำทื่อๆ บินกันเป็นหมู่แบบแมลงหวี่ กัดแล้วก็คันดี บางคนก็แพ้ขนาดหนัก  ดีอยู่อย่างหนึ่งคือมันมักจะไม่กัดสูงเกินกว่าหัวเข่า

หนีไปเดินบนที่แห้ง ที่โปร่ง ก็ต้องระวังอย่าไปเหยียบพวกท่อนไม้หรือขอนไม้ผุๆทั้งหลาย  ครับ..มันเป็นบ้านที่อยู่ของบรรดาเห็บ ที่กัดแบบไม่รู้สึกเจ็บอีกเหมือนกัน ส่วนมากเราจะแพ้เมื่อมันกัดดูดเลือดเรา อาการแพ้ที่สำคัญก็คือ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่   ครับ...หากเดินๆไปแล้วเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ ก็คงจะต้องแก้ผ้าแล้วช่วยกันหาว่ามันกัดอยู่ที่ใหน โดยเฉพาะที่ลับๆ แถวสะดือ (ภาษาเหนือว่า ขี้ปุ๋ม) มันก็ชอบ   ดึงมันออก อาการไข้ก็จะหายไปแบบปลิดทิ้งเลยทีเดียว  แต่..ก็อาจจะต้องรู้สักคันและต้องเกาจุดที่มันกัดต่อไปอีกนานทีเดียว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 16, 17:43
กลับมาต่อเรื่องโป่งครับ

ในเวลากลางวัน โป่งจะเงียบเหงามาก ไม่มีสัตว์ใดๆลงมาเดินเอาเสียเลย แม้กระทั่งเสียงนกก็พอจะกล่าวได้ว่าไม่มีเอาเลย ดูแห้งแล้ง ผิวดินไม่มีหญ้า มีแต่ฝุนดิน หากเป็นโป่งประเภทมีน้ำซับ แหล่งน้ำก็จะขุ่นข้นดูเป็นน้ำขี้โคลน มีกลิ่นเหม็นคละคลุ้งจนไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นฉี่หรือกลิ่นมูล

หากไปยืนอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่โป่ง เราจะเห็นมีด่านสัตว์เป็นเส้นทางชัดเจนจากชายขอบป่าละเมาะ โป่งใหญ่ก็จะเห็นหลายเส้นทางด่านรอบตัว  โป่งขนาดเล็กก็จะเห็นมีด่านเข้ามาเหมือนกัน ซึ่งมักจะมีสองเส้น ไม่เห็นเด่นชัดนัก คล้ายๆกับด่านเข้าทางออกทางอย่างนั้น


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 16, 18:10
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า แต่ละโป่งจะมีชนิดของสัตว์เข้ามากินไม่เหมือนกัน  พรานไพรจึงเลือกโป่งและสัตว์ที่จะไปนั่งห้างล่าเนื้อ แล้วก็ยังเลือกอีกด้วยว่าโป่งใหนอันตรายหรือไม่อันตรายมากน้อยต่างกันอย่างไรอีกด้วย คือเลือกให้เหมาะสมกับความสามาถของตัวหากต้องตกไปอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับ (defensive)

โป่งที่มีเก้งและสัตว์ขนาดย่อมเข้ามากิน ก็มักจะต้องมีเสือเข้ามาตามเก็บเกี่ยวอาหารด้วย    โป่งใหญ่ที่มีแอ่งน้ำหรืออยู่ใกล้ป่าที่มีอาหารของช้าง (ไผ่ผาก ดงกล้วยป่า ..) ก็จะมีช้างป่าเข้ามาเสมอๆ     โป่งเล็กๆที่แอบซ่อนอยู่เป็นหย่อมๆในป่าที่ชุ่มชื้น ก็มักจะมีสัตว์เช่นพวกเม่นใหญ่ หรือกระจงเข้ามา แล้วก็อาจจะมีสมเสร็จเข้ามาเที่ยวเล่นด้วย(หากอยุ่ใกล้น้ำ)  ตัวสมเสร็จนี้ก็เหมือนกับตัวน่ารังเกียจ ลงที่ใหนสัตว์อื่นก็หลบไปไม่อยู่ร่วมวงด้วย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 16, 18:34
โป่งเป็นสถานที่ๆเราเข้าไปดูในเวลากลางวันได้โดยเกือบจะไม่ต้องระวังตัวใดๆเลย แต่พยายามอย่าโฉบเข้าไปในช่วงบ่ายแก่ๆ ซึ่งก็ยังไม่อันตรายมากหรอกครับ เพียงแต่เราอาจจะมีการทิ้งสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ความเป็นธรรมชาติปรกติของพื้นที่นั้นเปลี่ยนไป ซึ่งก็อาจจะทำให้สัตว์ไม่ลงโป่งในคืนนั้นก็ได้

สัตว์มีสัมผัสที่ไวต่อกลิ่นมาก คนที่จะไปนั่งห้างล่าเนื้อนั้น จึงไม่อาบน้ำ ไม่ประแป้งแต่งตัว และไม่สูบบุหรี่ในขณะเฝ้ารอสัตว์   กลิ่นเสื้อผ้าเคล้าเหงื่อไคลและเคล้าฝุ่นในระหว่างทางที่เดินไปห้าง มันก็ฉุนพอได้กับกลิ่นตัวสัตว์นั่นแหละ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 16, 18:55
ในพื้นที่ขอบชายโป่งนั้น หากเรามองสูงที่ระดับประมาณ 3.5 - 4 เมตรจากพื้นดิน ก็มักจะเห็นว่ามีไม้ผูกคาดอยู่บนง่ามไม้ของต้นไม้ต้นที่เมื่อขึ้นไปนั่งแล้วจะมองเห็นโป่งและทางด่านที่สัตว์เดินเข้ามาลงโป่ง   บางห้างก็จะกว้างพอนั่งได้ บางห้างก็ใหญ่มากพอที่จะขดหลับได้ และบ้างห้างก็จะมีบังไพร ซึ่งก็คือม่านบังตัวเรานั่นเอง ทำด้วยไม้คาดปิดด้านหน้าพร้อมฟางหญ้า 

ห้างที่เราเห็นนั้น ก็พอจะบ่งบอกอะไรได้หลายอย่างเหมือนกัน  หากอยู่สูง ดูผูกแน่นหนา และเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ก็พอจะบอกว่าโป่งนั้นมีช้างเข้า ครับ..ช้างมันนักรื้ออยู่แล้ว ก็ต้องสูงให้พ้นงวงของมันสักหน่อย  แต่ก็อีกแหละ หากมันดันๆรุนๆต้นไม้ให้โยกไปโยกมาก็ตกห้างได้เหมือนกัน 
ผมไม่เคยได้ยินเรื่องช้างโยกต้นไม้จนคนที่ไปนั่งห้างตกลงมา เคยแต่ได้ยินว่ามันพยายามรื้อห้างเลย และเคยแต่ได้ยินเรื่องคนหนีช้างขึ้นต้นไม้แล้วถูกมันโยกให้ตกลงมา หรือว่าช้างจะไม่กระทำเช่นนั้นในเวลากลางคืนก็มิรู้ครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 07 ม.ค. 16, 19:46
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า แต่ละโป่งจะมีชนิดของสัตว์เข้ามากินไม่เหมือนกัน  พรานไพรจึงเลือกโป่งและสัตว์ที่จะไปนั่งห้างล่าเนื้อ แล้วก็ยังเลือกอีกด้วยว่าโป่งใหนอันตรายหรือไม่อันตรายมากน้อยต่างกันอย่างไรอีกด้วย คือเลือกให้เหมาะสมกับความสามาถของตัวหากต้องตกไปอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับ (defensive)

โป่งที่มีเก้งและสัตว์ขนาดย่อมเข้ามากิน ก็มักจะต้องมีเสือเข้ามาตามเก็บเกี่ยวอาหารด้วย    โป่งใหญ่ที่มีแอ่งน้ำหรืออยู่ใกล้ป่าที่มีอาหารของช้าง (ไผ่ผาก ดงกล้วยป่า ..) ก็จะมีช้างป่าเข้ามาเสมอๆ     โป่งเล็กๆที่แอบซ่อนอยู่เป็นหย่อมๆในป่าที่ชุ่มชื้น ก็มักจะมีสัตว์เช่นพวกเม่นใหญ่ หรือกระจงเข้ามา แล้วก็อาจจะมีสมเสร็จเข้ามาเที่ยวเล่นด้วย(หากอยุ่ใกล้น้ำ)  ตัวสมเสร็จนี้ก็เหมือนกับตัวน่ารังเกียจ ลงที่ใหนสัตว์อื่นก็หลบไปไม่อยู่ร่วมวงด้วย   

อาจารย์กรุณาขยายความหน่อยได้ไหมคะ ทำไมมันถึงเป็นที่รังเกียจของเพื่อนร่วมป่า


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 16, 18:46
เรื่องสมเสร็จลงโป่งแล้วสัตว์อื่นหลบไปหมดนี้  ผมไม่ทราบครับว่าเพราะอะไร  ผมเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ตรง มีแต่พรานป่าและชาวบ้านที่นิยมการนั่งห้างบอกเล่าให้ฟังตรงกัน   

ผมเองเคยเห็นแต่รอยเท้าที่ผมเรียกว่าตัวสามกีบนี้ยุบยับทับรอยสัตว์อื่นไปหมด ซึ่งก็อนุมาณได้ว่าเมื่อมันเข้ามา สัตว์อื่นก็หลีกไป สอดคล้องกันครับ    ยังเคยคิดเล่นๆให้รอยสามกีบนี้เป็นรอยเท้าของแรดที่ว่าหมดไปจากป่าของเมืองไทยนานแล้ว

รอยเท้าตัวสมเสร็จนี้ พบอยู่ในป่าทางตะวันตกห้วยขาแข้งช่วงปลาย  พบเห็นบ่อยครั้งในพื้นที่ของลุ่มห้วยองก์ทั่ง (เหนือปากลำขาแข้งขึ้นไปตามแควใหญ่)  แต่จะมีมากตัวหรือน้อยตัวผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 16, 19:24
การเข้าไปล่าเนื้อในโป่งใหญ่นั้นยังมีอีกวิธีการหนึ่ง ไม่ใช้การนั่งห้าง แต่ใช้การทำซุ้มบังตนอยู่บนผืนดินนั่นเอง ก็เรียกซุ้มนี้ว่า บังไพร เช่นกัน ก็มีให้เห็นไม่มากนัก

นักล่าที่ใช้วิธีการนี้ เราแทบจะบอกได้เลยว่าเป็นพวกพรานไพรชาวบ้านป่าที่ใจถึงจริงๆ คือต้องรู้จักกายภาพของโป่งนั้นๆเป็นอย่างดีในทุกมุมมอง และรู้ว่ามีสัตว์อะไรลงมาเข้าโป่งบ้าง  พรานพวกนี้จะยิงสัตว์ตรงบริเวณที่เรียกว่ารักแร้แดง ซึ่งก็คือบริเวณที่ตั้งของหัวใจของสัตว์  วิถีกระสุนจากปืนในท่านั่งหรือหมอบจะอยู่ในระดับเดียวกันกับระดับของรักแร้ (ขาหน้ากับทรวงอก) ตรงบริเวณหัวใจพอดี   ลักษณะนี้ตัวสัตว์จะยืนขวาง กลายเป็นเป้าขนาดใหญที่ยิงผิดได้ยากแม้จะพลาดจากจุดที่เล็งปืน

กรุณาอย่านำเรื่องที่เล่านี้ไปปฎิบัตินะครับ ในยุคปัจจุบันนี้เราคงไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่จะต้องไปทำร้ายเขา นอกเสียจากความสนุกเท่านั้น   แต่ก่อนนั้นมันเป็นเรื่องของ survival จริงๆ ซึ่งคนที่ทำไปเขาก็รู้จักและเข้าใจถึงความเหมาะสมและคำว่าพอ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 16, 19:55
ฟังเรื่องโป่งและการนั่งห้างแล้วก็อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นลานสังหารที่โหดเหี้ยมและน่ากลัว 

เอาเข้าจริงๆแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเลยครับ    การสังหารนั้นมีจริง แต่มันไม่ได้มีมากดังที่เราอาจจะได้คิดเลยไป    เพราะว่า..คนที่จะไปนั่งห้างที่โป่งนั้นจะต้องเป็นคนใจถึงจริงๆ ซึ่งก็มีไม่มากคนนักหรอกครับ และก็มีไม่มากคนที่จะมีความสามารถในการนั่งนิ่งๆเป็นเวลานาน ขยับกายเมื่อใดตัวห้างและกิ่งไม้ก็ไหวโยกและอาจมีเสียงดัง  ยุงก็มี อยากบุหรี่ก็อยาก ง่วงก็ง่วง ปวดฉี่อีกต่างหาก  ส่วนมากสัตว์ที่ได้มาจึงมักจะได้มาจากการเดินส่องไฟตามทางเดินกลับบ้าน      การไปนั่งห้างที่โป่งจึงมักจะเป็นการไปด้วยความรู้สึกคล้ายกับการอยากไปดูสัตว์ต่างๆในสวนสัตว์     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 16, 18:33
ยิงสัตว์ตายคาโป่ง แล้วก็ลงไปเก็บไม่ได้ ต้องรอถึงเช้า ยิ่งหากเป็นสัตว์ตัวใหญ่เกินกำลังที่จะแบกกลับมา ก็จะต้องเดินกลับมาตามเพื่อนไปช่วยกันหาม หรือไม่ก็ต้องแล่เนื้อ แบ่งเป็นชิ้นส่วนแล้วช่วยกันแบกกลับมาคนละชิ้นสองชิ้น ที่เอามาไม่หมดก็ไม่เคยเห็นกลับไปเอารอบสองสักครั้ง  สำหรับจำนวนคนที่เคยเห็นในขบวนไปแบกเนื้อก็จะอยู่ที่ประมาณ 7 คนเท่านั้น ก็ลองคิดดูนะครับว่า 7 คนจะได้อะไรบ้าง  หากเป็นกระทิงคนหนึ่งก็หัว อีกสองคนก็คู่ขาหลัง อีกสองคนก็ไหล่และขาคู่หน้า อีกสองคนก็เนื้อส่วนต่างๆ เท่านี้ก็แบกกันหลังแอ่นแล้ว  ลองนึกดูก็แล้วกันว่าจะแบกชิ้นส่วนสัตว์ตัวขนาดลูกวัววัยกำลังหนุ่มก็ยังขนกันแทบจะไม่หมดเลยใช่ใหมครับ

ไอ้ที่เหลือค้างไว้ก็จึงเป็นอาหารอันโอชะของสัตว์กินเนื้อและสัตว์กินซากอื่นๆ  แล้วก็ยังกลายเป็นเหยื่อล่อสำหรับล่าสัตว์อื่นที่มีค่าและมีราคาในตลาด โดยเฉพาะ เสือ ซึ่งก็ต้องเป็นพรานใจกล้าอีกนั่นแหละที่จะกล้าย้อนกลับไปเฝ้ายิงเสือ    ผมเคยเห็นชาวบ้านเดินเป็นทิวช่วยกันแบกเนื้อกระทิง และก็เคยเห็นซากกระทิงที่ชาวบ้านเขาตั้งใจยิงแล้วทิ้งซากไว้เพื่อล่าเสือ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 16, 18:52
ก็คงจะพอเห็นอีกภาพหนึ่งของการไปนั่งห้างที่โป่งนะครับ สัตว์ที่ชาวบ้านเขาจะเลือกยิงกันจึงเป็นพวกสัตว์ตัวขนาดย่อมๆ ซึ่งก็มักจะเป็นเก้ง ซึ่งในตอนเช้าเมื่อมีแสงสว่างพอมองเห็น ก็ลงจากห้างแล้วหาเถาวัลย์มาผูกรวบขาหลัง ขาหน้า แล้วก็เอาผ้าขะม้าผูกระหว่างขาคู่หน้าและหลัง สะพายหลังแบกกลับที่พัก บางคนก็เพียงผูกขาคู่หน้าแล้วโงกลับบ้าน   ครับ..ง่ายกว่าที่ยิงสัตว์ใหญ่แล้วจะต้องเดินกลับไปกลับมาสองสามรอบ 

ยิงสัตว์ได้ตัวหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องกลัวอะไรอีกแล้ว ระวังแต่เพียงคุดคู้หลับไม่ให้ตกห้างเท่านั้นก็พอ  เสียงปืนที่ดังมากก็ไล่สัตว์ใหญ่อื่นๆไม่ให้มาลงโป่งพอแล้ว เมื่อผนวกเข้ากับกลิ่นบุหรี่ที่สูบ กลิ่นฉี่ และเสียงดังยวบยาบของห้าง ก็คงไม่มีสัตว์อื่นใดเข้ามาอีกแล้ว ก็ถือว่าปลอดภัยพอได้เลยทีเดียว   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 16, 19:34
ลงมาเรื่องของปืนที่ชาวบ้านใช้กันซักเล็กน้อยนะครับ 

ปืนของชาวบ้านที่เราเกือบจะทุกคนรู้จักกันดีก็คงจะได้แก่ปืนแก๊บ ซึ่งเป็นปืนไทยประดิษฐ์ที่ทำเองโดยช่างปืนชาวบ้าน เป็นปืนที่ต้องอัดดินปืนด้วยตนเองแล้วใช้ลูกปืนที่ทำจากตะกั่ว (ซึ่งก็ทำเองอีกเช่นกัน)  เป็นปืนลูกเดี่ยวที่มีไม่มีความแม่นยำมากนัก ชาวบ้านแบกปืนชนิดนี้เข้าป่าหากินในเวลากลางวัน    สำหรับในเวลากลางคืน ประสิทธิภาพความแม่นของปืนแก็บอาจกล่าวได้ว่าใกล้ศูนย์  ชาวบ้านจึงมักมีปืนอีกกระบอกหนึ่งที่เราเรียกกันว่าปืนลูกซอง และก็เป็นชนิดลำกล้องเดี่ยว มิใช่ลำกล้องแฝดแบบที่คนเมืองผู้มีอันจะกินเขามีกัน   ลูกซองเป็นปืนชนิดที่ลูกกระสุนลูกหนึ่งของมันจะบรรจุลูกตะกั่วใว้หลายเม็ด มีลูกกระสุนหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น เบอร์ 4, ลูก SG, ลูก LG, และ Bug หรือ O Bug) แล้วก็ยังมีที่ชาวบ้านแคะเอาลูกปรายออกไปแล้วหลอมลูกตะกั่วใหม่ให้ใหญ่ขึ้นเท่ารูลำกล้องใส่แทนลงไป (ทำให้เป็นลูก Bug)   ชาวบ้านมักจะใช้ปืนลูกซองสำหรับเวลากลางคืน

เล่ามาก็เพื่อจะบอกว่า หากเดินในป่าแล้วเห็นชาวบ้านแบกปืน    เพียงเราเห็นว่าเป็นปืนอะไร เป็นปืนชนิดใหน  เมื่อเอามาพิจารณาร่วมกับสภาพป่า ช่วงเวลาที่พบปะ และทิศทางที่เขาเดินไปเท่านั้น เราก็แทบจะบอกได้ว่าเขาจะไปทำอะไร ??  จะไปยิงสัตว์ประเภทใหนและในแหล่งใด ?? จะเป็นป่าที่น่ากลัวด้วยสัตว์อะไร ?? และรวมทั้งการแสดงถึงสภาพความบริสุทธิ์ของป่าอีกด้วย

จะให้ขยายความใหมครับ ???         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 16, 19:51
เล่าเรื่องไป เล่าเรื่องมา จะกลายเป็นเรื่องของพรานไพรเสียแล้วครับ
 
ผมยังคงค้างว่าจะมีกระทู้ในเรื่องทำงานกับช้าง   แถมตอนนี้นึกออกอีกว่า อาจจะต้องมีอีกกระทู้ในเรื่องเล็กๆน้อยสำหรับนักนิยมไพร 

จะรอดใหมเนี่ย ??


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 16, 19:33
เงียบๆ...   

 ;D  ผมก็จะขอเล่าต่อนะครับ   อย่างน้อยก็น่าจะพอมีบ้างเล็กๆน้อยๆที่น่าจะเป็นจัดเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์อยู่บ้าง ว่าสภาพและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ไกลปืนเที่ยงในสมัยก่อนเป็นนั้นเช่นใด


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 11 ม.ค. 16, 19:51
เงียบๆ...   

 ;D  ผมก็จะขอเล่าต่อนะครับ   อย่างน้อยก็น่าจะพอมีบ้างเล็กๆน้อยๆที่น่าจะเป็นจัดเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์อยู่บ้าง ว่าสภาพและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ไกลปืนเที่ยงในสมัยก่อนเป็นนั้นเช่นใด


นักเรียนยกมือรายงานตัวว่าไม่เคยขาดเรียน ไม่เคยหลับในห้องเรียนเลยนะคะ แต่ที่เงียบ เพราะไม่กล้าขัดจังหวะน่ะค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 16, 20:24
ปืนยาวที่มีการจำหน่ายเพื่อการสะสมหรือเพื่อใช้ในการล่าเนื้อในตลาดปืนของไทยในสมัยนั้น ก็มี
   - ปืนขนาดใหญ่สุดเรียกันว่า .375 magnum  ซึ่งแรงเกินพอที่จะใช้ยิงหรือหยุดยั้งการ charge ของสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง กระทิง
   - ปืนขนาด 30.06 ที่เรียกกันว่าปืนไรเฟิล เป็นขนาดที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับขนาดของสัตว์ขนาดใหญ่ต่างๆในไทย ซึ่งใช้ลูกปืนขนาดเดียวกับปืน ปลยบ. 88 ของทหาร
   - ปืนขนาด .233 ซึ่งเป็นปืนยาวรุ่นใหม่ในสมัยนั้น ใช้ลูกปืนขนาดเดียวกับปืน M16 ของทหาร
   - ปืนขนาด .22 long หรือ .22 magnum ที่เรารู้จักกันในชื่อปืนลูกกรด ใช้กับสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ เช่น นก กระรอก ฯลฯ
   - ปืนขนาด 12 gauge caliber ที่เราเรียกกันว่าปืนลูกซอง ซึ่งมีทั้งแบบลำกล้องเดี่ยวและลำกล้องแฝด (แฝดคู่ขนาน และแฝดบนล่าง) ซึ่งเป็นปืนลูกปราย (ลูกกระจาย) ที่ใช้ทั้งในลักษณะของเพื่อการล่าและเพื่อการป้องกันตัว  
   - แล้วก็ ปืนแก๊ป (หรือปืนยาวที่ชาวบ้านทำเอง ซึ่งผมชอบเรียกว่า เสือตบตูด ที่ใช้การยิงด้วยเทคโนโลยีสมัยอยุธยาโน่น)      


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 16, 20:45
ขอบคุณครับ

ผมพอจะคุ้นเคยกับความเงียบในระหว่างการบรรยายในลักษณะนี้ดีพอสมควรครับ  :D    ...เพราะมันเป็นเรื่องในอีกมิติหนึ่ง(หรือในอีกวิถีของชีวิตหนึ่งที่ไม่ค่อยจะทราบกัน)ของชีวิตของคนที่ทำงานในภาคสนามที่เป็นงานผสมผสานระหว่างงานในมิติของ white collar กับงานในมิติของ blue collar


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 16, 21:03
ต้องรีบบอกว่า เรื่องปืนที่เล่ามานั้นก็เพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่า เพียงเราเห็นปืนกับคนที่อยู่กับมัน เราก็พอจะรู้ได้ว่าอะไรเะป็นอะไร 
 
ตัวชาวบ้านเองที่พอจะหาเงินซื้อปืนได้ ก็เกือบจะไม่เลือกซื้อปืนขนาดอื่นๆหรอกครับ เขาจะเลือกซื้อปืนลูกซองเดี่ยว (ที่ผมแทบจะบอกยี่ห้อได้เลย) มีไม่มากรายนักที่จะนิยมไปซื้อปืนลูกกรด  แม้ว่าลูกปืนลูกกรดมีราคาถูกกว่าลูกปืนลูกซองก็ตาม


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ม.ค. 16, 21:19
ไบคานหรือเปล่าเพ่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 16, 21:55
ละมั้ง ;D    ..ก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นที่นิยมและที่ไฝ่ฝันอยากจะมีกัน (ราคาพอจะกัดฟันสู้ได้) แล้วก็อื่นๆที่ราคาเอื้อมถึงได้ยาก  ..สุดท้ายก็มักจะลงเอยที่เป็นตราสัตว์

ย้อนกลับไปอ่าน สะกดผิดนะครับ   คำว่า Bug ใน คห.441 นั้นจะต้องสะกด Buck ครับ ขออภัยจริงๆ  เพลินไปหน่อย เลยเพี้ยนไปเป็นแมลง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 16, 18:29
ลูกปืนลูกซองที่ชาวบ้านผู้นิยมเข้าป่าเลือกซื้อก็จะต้องเป็นชนิดที่ใช้ปลอกพลาสติก เพราะว่ามันสามารถเอามาใช้ใหม่ได้ โดยการเปลี่ยนแก๊ปจุดระเบิดที่ก้นลูกที่ใช้แล้ว (ก็คือการ rebuilt แบบทำเองน่ะครับ) สำหรับดินปืนที่ใช้ขับลูกปืนก็เป็นดินปืนของปืนแก็ปแบบชาวบ้านนั่นเอง

กรณีชาวบ้านที่นิยมจะดำรงตนเป็นพราน  นอกจากจะพกพาลูกปืน rebuilt ที่ทำเองนี้แล้ว ก็จะพกลูกปืนขนาด SG (ไม่นิยมลูก LG) ลูกเบอร์ 4 (ไม่นิยมลูกเบอร์ 3) และลูกโดด อย่างน้อยก็ชนิดละ 1 ลูก    ลูก SG นั้นใช้สำหรับสัตว์ตัวใหญ่ที่มีหนังบางและป้องกันตัว (โดยเฉพาะกับเสือ)  ลูกเบอร์ 4 ก็ใช้สำหรับพวกสัตว์ปีกที่บินได้ทั้งหลายและป้องกันตัวโดยทั่วๆไป (เช่น พวกงู )  และลูกโดดก็ใช้สำหรับสัตว์ที่มีหนังหนาทั้งหลาย (เช่น หมูป่า กระทิง...)

ครับ.. ก็ลงลึกไปอีกหน่อยก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า  ภาพที่เราได้พบเห็นนั้นมันบอกเรื่องราวได้อย่างมากว่าอะไรเป็นอะไร ตั้งแต่ตัวชาวบ้านเองไปจนถึง connection ต่างๆที่เขามีกับคนภายนอก           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 16, 19:08
ผมจะไม่ลงลึกลงไปในรายละเอียดมากกว่านี้นะครับ 

สำหรับตัวผมเองนั้นทำงานอยู่ในพื้นที่ๆมีอันตรายค่อนข้างจะสูงมากทั้งจากคนและสัตว์ ความอยู่รอดของผมจึงอยู่บนหลักที่ว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง"   ตัวผมจึงเก็บรายละเอียดลึกลงไปในทุกๆเรื่องอย่างค่อนข้างจะละเอียดยิบ เช่น กรณีของเรื่องปืนนี้ ผมจะดูไปถึงยี่ห้อและรุ่นของปืน ดูไปถึงบุคคลที่ถือปืน (เช่น เสื้อผ้า การแต่งกาย บุหรี่ การสูบบุหรี่ การทิ้งขี้บุหรี่ ภาษา สำเนียง รอยพื้นรองเท้า.....) ฯลฯ    ซึ่งก็ได้ใช้และเป็นผลทำให้ผมอยู่รอดจากสถานการณ์ปากเหยี่ยวปากกามาได้ตลอดมา     นึกย้อนกลับไปแล้วก็ให้รู้สึกเสียวใส้อยู่เหมือนกัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 16, 19:33
กลับมาเรื่องของห้างต่ออีกสักนิดนึง

เล่าแต่ถึงเรื่องห้างที่ไปขัดอยู่บนต้นไม้ในพื้นที่โป่ง   ครับ..ก็ยังมีห้างที่ไปขัดเพื่อนั่งสัตว์อยู่ ณ ที่จุดอื่นๆอีกด้วย   ห้างพวกนี้ค่อนข้างจะพบได้บ่อยครั้ง  พบเห็นเมื่อใดก็ให้แหงนมองต้นไม้ที่มีห้างขัดอยู่นั้น หรือไม่ก็มองหาไปรอบๆใกล้ๆแถวๆนั้นว่า มีต้นไม้อะไรบ้างที่มีการออกดอกออกผล หรือไม่ก็มองลงดินว่ามีผลหรือเมล็ดของต้นอะไรตกอยู่บ้าง

ห้างแบบที่กล่าวถึงนี้ เกือบทั้งหมดจะเป็นห้างที่ขัดไว้ในบริเวณที่มีต้นมะกอกป่า และซึ่งก็จะมีจุดประสงค์เพื่อยิงเก้งและกวางเท่านั้น เพราะสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ชอบกินมะกอก 

บางครั้งเราก็อาจจะเห็นมีห้างที่ขัดไว้บนตัวต้นมะกอกนั่นเอง  ซึ่งการนั่งห้างบนต้นมะกอกนี้มักจะไม่ประสบผลสำเร็จในการยิงเนื้อ เพราะว่ามันเป็นการยิงในท่ายิงที่ไม่มั่นคง (ลักษณะของยิงกดลงใต้โคนต้นไม้) และเป้าในการยิงเป็นลักษณะของเป้าแคบ ซึ่งยิงพลาดได้ง่าย       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 16, 20:02
ภาพของห้างและต้นมะกอกที่ยังติดตาผมอยู่ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ก็คือพื้นที่ๆเรียกว่าทุ่งมะกอก   อยู่ทางฝั่งตะวันตกของห้วยขาแข้งในพื้นที่ของบ้านหนองม้า ?? (จำไม่แม่นเสียแล้วครับ)      เดินสูงขึ้นไปจนถึงขอบของสันแบ่งเขตพื้นที่รับน้ำ (catchment area)ระหว่างห้วยขาแข้งกับห้วยองก์ทั่ง    เมื่อข้ามสันแบ่งตรงประตูหิน (เป็นช่องทางด่านสัตว์ที่เดินผ่านระหว่างโขดหินสองด้าน) ก็จะเข้าสู่ทุ่งที่มีต้นมะกอกป่าอยู่หลายต้น

ทุ่งมะกอกนี้ทำให้ผมและคณะได้ลุ้นกับการหนีรอดจากสภาพของคำว่า ไฟลามทุ่ง  (ไม่วิกฤติหนอกครับ แต่ก็ต้องลุ้นกันน่าดู)   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ม.ค. 16, 20:58
เข้ามาอ่านทีไร ต้องไล่อ่านกระทู้นี้ครบทุกตอนทุกครั้งครับ ชอบมากครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 16, 18:40
ขอบคุณครับ

หากเป็นการนั่งสนทนากัน ผมคงเล่าในรายละเอียดแบบลงลึกได้มากกว่านี้อีก   ที่เขียนอยู่บนกระดานนี้ ผมต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างมาก เพราะเรื่องราวที่กล่าวถึงมันเป็นข้อสนเทศแบบ +ve สำหรับเหรียญทั้งสองด้าน คือมันเป็นบวกให้กับทั้งด้าน constructive และ กับด้าน destructive 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 16, 19:56
ไฟลามทุ่งที่กล่าวถึงนั้น เกิดมาจากความหวังดีของชาวบ้านป่าในคณะของผมนั่นเอง   

ครับ...ช่วงเวลาประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงประมาณต้นเดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาที่พื้นที่ในภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของไทยจะมีอากาศแห้งและปลอดฝน ชาวบ้านจะนิยมเผาหญ้าหรือเศษไม้ที่ถากถางในช่วงหนาวที่กองตากไว้จนแห้ง (ในพื้นที่ๆใช้สำหรับการเกษตร) ชาวบ้านเขาใช้ช่วงเวลานี้ก็เพราะว่า การเผานั้นจะต้องหมดเกลี้ยงไปในครั้งเดียว หากยังมีความชื้นหรือฝนตกลงมาจนทำให้การเผาได้ไม่เกลี้ยง กองเศษหญ้าเศษไม้นั้นก็จะตกค้างให้เห็นโทนโท่อยู่ข้ามปีไปเลย     

นี่แหละครับ คือต้นเหตุหนึ่งที่สำคัญของการเกิดสภาพท้องฟ้าครึ้ม ไม่มีแดดส่องทะลุ ที่เราเรียกกันว่า ฟ้าหลัว หมอกควัน หมอกแดด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Haze   

ภาพโดยรวมของช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นดังนี้ครับ  มันเป็นช่วงเวลาของสภาพอากาศในพื้นที่ๆยังคงมีความเย็น (ช่วงเช้าและเย็น)  ซึ่งหมายความว่ายังมีมวลของอากาศเย็นครอบคลุมอยู่      เมื่อมวลของอากาศเย็นซึ่งมีความหนาแน่นสูง(มากกว่ามวลของอากาศที่อุ่นกว่า)ยังคลุมอยู่ในพื้นที่  ก็หมายความว่าบรรดาฝุ่นควันที่ฟุ้งลอยอยู่นั้นไม่สามารถลอยทะลุขึ้นไปในชั้นอากาศที่สูงได้ ก็เลยคลุ้งอยู่อย่างที่เราเห็นเป็นหมอกควันนั้นแล   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 16, 20:34
ในปัจจุบันนี้ เรามักจะได้รับข่าวสาร(ในช่วงเดือนดังกล่าว)ว่า หมอกควันที่เกิดหนาแน่นในภาคเหนืออยู่นั้น เกิดมาจากการเผาป่า (รวมการเผาในไร่) และการเผาหญ้าและเศษไม้จากการถากถางทำไร่เลื่อนลอยเพิ่มเติม       

ในประสบการณ์ในการเข้าป่าเข้าดงในหลากหลายพื้นที่ของผม   เท่าที่ได้พบเห็นมา ผมเห็นว่า ในอดีตสมัยที่ผมยังต้องเดินป่าเดินดงอยู่นั้น เหตุดังกล่าวที่อ้างถึงนั้นนั้นเป็นเรื่องหลักและเป็นเรื่องจริง  แต่ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะแน่ใจนัก      ครับ...ก็ในเมื่อพื้นที่ป่าทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งหลายนั้น มันเป็นพื้นที่ป่าในเขตหวงห้ามของรัฐที่มีส่วนราชการเฉพาะทางเขาดูแลอยู่ มีทั้งหน่วยที่ตั้งอยู่ในพื้นทื่คอยดูแล  มีทั้ง จนท.ที่มีอาวุธทันสมัยคอยเดินตรวจตรา มีทั้งกฎหมาย(หลายฉบับ)ที่มีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาบังคับใช้ มีนักวิชาการที่ร่ำเรียนมาเฉพาะทางมากมาย  จะกระไรอยู่ที่จะปล่อยให้เกิดต้นเหตุแห่งหมอกควันดังที่ได้กล่าวอ้างถึงอยู่เสมอๆได้หรือ ??       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 16, 19:06
ที่ทุ่งมะกอกนั้น  เมื่อได้เห็นรอยเก้งเต็มไปหมดที่ใต้ต้นมะกอกต้นหนึ่ง ทุกคนในคณะก็นึกถึงเรื่องเดียวกันหมด คือ คงจะต้องจุดไฟเผาหญ้าที่สูงรกอยู่นั้นให้เตียน เพื่อเปิดโอกาสให้หญ้าระบัดแตกใบออกมาเมื่อมีฝนแรกโปรยลงมา เพื่อเก้งและสัตว์อื่นในพื้นที่แถวนั้นจะได้มีหญ้าอ่อนแทะเล็มกินกัน   

ก็รอจนกระทั่งช้างสองตัวที่บรรทุกของเดินข้ามทุ่งไปไกลจนใกล้จะถึงห้วยที่จะตั้งแคมป์นอนสำหรับคืนนั้น   ยังไงๆเสียไฟก็จะไม่ลามข้ามฟากห้วยแน่ๆ  พอได้เวลาที่พอเหมาะก็เริ่มจุดไฟเผาหญ้า แล้วก็รีบเดินตามช้างไป   

(ในความเห็นและสภาพจากสายตาของผมนะครับ)    อะฮ้า...ลืมนึกถึงภาษิตของชาวบ้านที่ว่า "ใกล้ตาแต่ไกลตีน"   ไอ้ร่องห้วยที่เห็นว่าไม่ไกลนักนั้น แท้จริงแล้วมันก็ไม่ใช่ ที่กะว่าช้างจะเดินไปถึงห้วยก่อนที่ไฟจะลามไปทันก็ดูท่าทางจะไม่เป็นจริงเสียแล้ว เราเดินหนีไฟตามไปจนทันช้างแล้วก็ยังไม่ถึงห้วย (แต่ก็ใกล้เต็มทีแล้ว) ไฟก็ใหม้ลามตามมาอย่างกระชั้นชิด เข้าสู่สภาพใกล้วิกฤติ   

แต่ชาวบ้านและควาญช้างก็ดูจะไม่รู้สึกทุกข์ร้อน  เขาก็ทำเพียงไสช้างให้มันเดินเร็วขึ้นอีกนิดนึง ไม่ให้มันโอ้เอ้ใช้งวงสำรวจตรวจสอบอะไรมากนัก


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 16, 19:45
จะว่าไปว่าดูเขาไม่ทุกข์ร้อนก็ไม่ได้เสียทีเดียว  เขาก็ลุ้นกันอยู่เหมือนกันว่าจะข้ามไปยังอีกฝั่งห้วยทันไฟที่จะลามมาหรือไม่

ผมเองซึ่งพอจะมีประสบการณ์และพอจะรู้จักกับภูมิปัญญาของชาวบ้านเป็นพื้นเดิมบ้างอยู่แล้ว  ก็ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า ที่ว่าชาวบ้านเขาทำการจุดไฟเผาป่านั้น เขามีการประเมินความเร็วของการลุกลามของไฟรวมทั้งพื้นที่ๆมันจะลุกลามไปถึงอีกด้วย  หรือในอีกนัยหนึ่ง คือ เขาจะมีการประเมินและจะจำกัดความรุนแรงและความเสียหายมิให้เกินขอบเขตจนเป็นอันตรายย้อนกลับมาถึงตัวเขาและทรัพย์สินของเขา

ลองพิจารณาดูนะครับ ทุ่งโล่งที่มีหญ้ายืนต้นตายกับทุ่งที่มีแต่หญ้าใบแห้ง , หรือพื้นที่ของดงไผ่รวก , ดงไผ่หนาม , ดงไผ่ผาก , ดงไผ่ข้าวหลาม , ดงไม้ไร่ ,  ดงไผ่เพ็ก ,  ดงที่ไผ่กำลังออกดอกออกขุย ,  พื้นที่ป่าไม้เหียง ไม้พลวง , ...ฯลฯ    เหล่านี้..จะให้ลักษณะของการลุกลามและความกว้างของพื้นที่แตกต่างกันไปอย่างใดบ้าง                       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 16, 20:31
ในอีกมุมหนึ่งการจุดไฟเผาป่าของชาวบ้านนั้น  เขากระทำแบบมีการเลือกจะกระทำ (selective) นะครับ  คือกระทำตามลักษณะจำเพาะ (criteria) ที่ถูกถ่ายทอดต่อๆมา (โดยไม่รู้ถึงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์)   

พื้นที่ป่าที่มีการเผาเป็นประจำ(เกือบจะ)ทุกปี เกือบจะทุกแห่งจะเป็นผืนดินที่ดินมีสภาพเป็นกรด   เถ้าถ่านจากการเผาทั้งหมดมีความเป็นด่าง  ดังนั้น เมื่อฝนตกโปรยลงมาก็จะทำให้เกิดการผสมระหว่างกรดกับด่าง ทำให้ผืนดินในองค์รวมเกิดสภาพใกล้เป็นกลาง  จึงเหมาะกับพืชไร่ที่ชาวบ้านในแถบละติจูดของเราปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารและเพื่อขายหารายได้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 16, 18:45
ด้วยวันนี้เป็นวันครู   วันนี้ผมจึงจะขอเว้นเรื่องราวของกระทู้นี้ไปหนึ่งวันนะครับ 

ผมจะขอไปเปิดกระทู้สั้นๆเพื้่อฉายภาพในอดีต (และที่ใกล้กับปัจจุบัน) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของครู และการศึกษาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง(หลายพื้นที่)เท่าที่ผมเคยประสบพบเห็นมา

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 16, 19:15
อาจจะสงสัยว่า แล้วรู้ได้อย่างไรว่าดินมีสภาพเป็นกรด    ก็จะขออธิบายอย่างง่ายนะครับ

ตัวเนื้อดินที่เราเหยียบย่ำกันนั้น ผสมผสานคละเคล้าไปด้วย_สารประกอบที่เป็นอนินทรีย์เคมี ที่มาจากหินและแร่ธาตุที่ถูกย่อยลงมาจนเป็นเม็ดเล็กๆ   และ_สารประกอบที่เป็นอินทรีย์เคมี ที่มาจากเศษซากของสิ่งมีชีวิต

ดินที่มีสภาพเป็นกรดนั้น โดยหลักก็คือดินทรายที่เกือบจะไม่ปรากฎเศษซากของสิ่งมีชีวิตปนอยู่ในเนื้อดิน  ดินพวกนี้มักจะมีความพรุน (porosity)สูง เทน้ำลงไปก็จะซึมผ่านหายไปอย่างรวดเร็ว (ดังเช่นดินในหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเรา)   ไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้จะเป็นพวกไม้มีเปลือก (bark) หนา      การดูดินว่ามีสภาพเป็นกรดหรือไม่ในเบื้องแรก จึงอาศัยการดูจากตัวเนื้อดินและลักษณะของต้นไม้ครับ     

ผมจะขอไม่เข้าไปในรายละเอียดในเรื่องของดินนะครับ  เพราะน่าจะมีข้อสงสัยตามมาเยอะเลยทีเดียว เช่น ในเรื่องสีต่างๆของดิน เรื่องของดินดีหรือไม่ดี ฯลฯ   ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายด้วยวิชาการทาง Geochemistry ที่อยู่บนพื้นฐานของกระบวนการทางเคมี 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 16, 19:01
กลับมาเรื่องโป่งอีกสักนิดนึงครับ 

โป่งเทียม  คิดว่าคงจะเคยได้ยินชื่อนี้กันนะครับ     ก็มีหลายคนคิดว่าทำง่ายๆด้วยการเอาเกลือไปโรยไว้บนดิน  นัยว่าเป็นการชักชวนให้สัตว์เข้ามากิน เพื่อจะได้เห็นตัวมันในเวลาค่ำคืน  หรือไม่ก็เป็นการสัพยอกกันในกลุ่มคนที่เดินป่าไปด้วยกัน คือไปฉี่ครับ

โป่งเทียมนั้น  ผมรู้แต่เพียงว่าในต่างประเทศเขาใช้แท่งเกลือวางไว้เพื่อให้สัตว์ได้เข้ามาแทะเล็ม โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะปกคลุมผืนดิน แต่ไม่รู้ว่าเขานิยมหรือเลือกใช้แท่งเกลือที่ทำขึ้นมา (artificial salt bar) หรือใช้แท่งเกลือหินที่ได้มาจากการทำเหมืองเกลือ (rock salt)     

แท่งเกลือทั้งสองชนิดนี้จะมีความแตกต่างกันอย่างมากเลยทีเดียว   ชนิดที่ทำขึ้นมานั้นจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมายนอกเหนือไปจากเกลือ (NaCl) ที่ให้แต่ธาตุโซเดียมและมีรสเค็มเพียงอย่างเดียว         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 16, 19:30
โป่งเทียมที่เราทำขึ้นนั้น มิใช่ว่าสัตว์จะลงมากินในคืนนั้นอย่างทันใด หรือต่อจากนั้นไปอีกนานเพียงใดที่มันจะมากิน   
มันมีองค์ประกอบหลายๆอย่างที่สัตว์จะแวะมาเลียกิน อาทิ สภาพป่า มีพืชหรือไม้มีผลในพื้นที่หรือไม่  ใกล้หรือไกลจากแหล่งน้ำ ใกล้หรือไกลจากทางด่านและทางด่านนั้นเป็นทางด่านหลักหรือทางด่านรองหรือของสัตว์พวกใหน ?? ...

ผมเองก็ทำไว้หลายแห่งในพื้นที่ๆเดินสำรวจ  มิได้หวังผลอะไรมากนัก  ก็เพียงหวังว่าจะมีสัตว์บางชนิดลงมาใช้ประโยชน์บ้างในภายหลัง ผมใช้เกลือทะเลแต่ละแห่งประมาณหนึ่งถึงสองกำมือเท่านั้น   

เกลือทะเลที่ผมขนเข้าไปในป่าด้วยนั้น เป็นปริมาณประมาณครึ่งกระสอบปุ๋ยเท่านั้น  ก็เอาไว้แบ่งปันให้ชาวบ้านที่เจอะเจอในระหว่างเดินในเส้นทางการสำรวจ   สมัยนั้น เกลือทะเลของ จ.สมุทรสงคราม ราคากระสอบ (ปุ๋ย) ละประมาณ 11 บาท  เพียงกำมือสองกำมือก็ใช้สร้างมิตรภาพได้แบบถึงรากถึงโคนอย่างมหาศาลเลยทีเดียวครับ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 16, 19:56
เกลือทะเลมีคุณค่ามากกว่าเกลือที่ได้มาจากหินเกลือมากมาย  เกลือทะเลได้มาจากการทำให้น้ำที่เป็นส่วนประกอบของน้ำทะเลระเหยไป คงเหลือสารประกอบที่เป็นแร่ตกตะกอนสะสมกันเป็นชั้นๆ   พื้นดินของนาเกลือจึงอุดมไปด้วยสารประกอบของธาตุ เหล็ก แม็กนีเซียม ส่วนกลางๆจะเป็นพวกสารประกอบโซเดียม (เกลือแกง)  ส่วนชั้นบนๆก็จะเป็นสารประกอบของโปแตสเซียม (อาทิ KCl_ปุยโปแตส) แคลเซียม (อาทิ CaSO4_ยิบซั่ม) โซเดียม และพวกธาตุ เช่น ฟอสฟอรัส ไอโอดีน..

ครับ จะทำโป่งเทียมก็น่าจะใช้เกลือทะเลนะครับ และก็ควรเป็นเกลือที่ไม่ผสมไอโอดีนเพิ่มเติมอีกด้วย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 16, 18:30
เดินข้ามทุ่งมะกอก ลงห้วย เดินลงตามลำห้วยไปบรรจบกับห้วยองก์ทั่ง แล้วก็จะถึง บ.องก์ทั่ง  หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่กี่หลังคาเรือน แต่เป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นระเบียบและสะอาด ชาวบ้านดูจะรักใคร่กลมเกลียวกันดี เห็นได้จากตามเส้นทางเข้าหมู่บ้านนั้นมีการตัดกิ่งไม้ใบหญ้าจนโปร่งและราบเรียบ

ผมนอนอยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้านนี้อยู่ 2 คืน  ทั้งทำงานและหาข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่าจะใช้เส้นทางใดกลับมายังปากลำขาแข้ง คือ เดินย้อน หรือลุยไปข้างหน้าลัดเลาะไปตามแควใหญ่    ซึ่งการเดินย้อนกลับทางเดิมนั้น เราก็ไม่น่าจะได้ข้อมูลใหม่ใดๆเพื่มเติม   

ครับ..ในสมัยที่ผมทำงานนั้น กล่าวได้อย่างไม่น่าผิดเพี้ยนเลยว่า พื้นที่เหล่านั้นเกือบจะไม่เคยมีนักสำรวจในสาขาวิชาการใดๆ หรือแม้กระทั่ง จนท.บ้านเมืองใดๆย่างกรายเข้าไปเลย      งานในความรับผิดชอบของตัวผมจึงเป็นทั้ง exploration และ expedition    ผมสนุกกับงานที่ทำก็เพราะเหตุดังที่กล่าวมานี้แหละครับ  แล้วก็ทำให้เข้าใจลึกซึ้งถึงคำว่า บริสุทธิ์ หรือ Virgin   ว่า..มันเป็นความสวยงามและทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของธรรมชาติ   ภาษิตของไทยก็ว่าไว้ในทำนองเปรียบเทียบว่า สะอาดบริสุทิธิ์ยังกับผ้าขาวที่พับไว้     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 16, 18:40
ทุกฤดูกาลสำรวจหรือทุกครั้งที่มีโอกาส ตัวผมเองจะต้องกำหนดเส้นทางเดินสำรวจเข้าไปในพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ใดเข้าไปถึง ชาวบ้านที่ผมจ้างทำงานอยู่ในคณะสำรวจก็ชอบ เพราะเขาก็จะได้เห็นอะไรใหม่ๆ แถมผู้นำทาง (ตัวผม) ก็มีทั้งเข็มทิศและแผนที่ ก็ไม่น่าที่จะเกิดการหลงป่าเลย   แต่เอาเข้าจริงๆก็หลุดเหมือนกัน     หลงน่ะไม่มีอะไรน่ากลัวหรอกครับ อาจจะตื่นเต้นนิดหน่อย   ใจเย็นๆครับ แล้วจะเล่าวิธีการให้   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 16, 18:40
เงื่อนไขที่ต้องตัดสินใจอีกประการหนึ่ง ก็คือ หากไม่เดินย้อนกลับทางเดิม ซี่งเป็นการเดินตามห้วย   ก็จะต้องเป็นการเดินข้ามเขาสูงหนึ่งลูก ซึ่งจะไม่มีแหล่งน้ำสำหรับทั้งคนและช้าง จะแวะลงแม่น้ำแควใหญ่ก็ไม่ได้เพราะมีหน้าผาสูงชันเดินลงไม่ได้   หรือก็จะต้องข้ามแควใหญ่ไปเดินอีกฝั่งแม่น้ำ แล้วข้ามกลับมายังฝั่งปากห้วยขาแข้งอีกทีหนึ่ง

เดินขึ้นเขาก็ไม่สนุก จะข้ามน้ำก็ดูจะมีอันตรายมาก น้ำไหลแรงแถมลึกเพียงใดก็ไม่รู้อีกด้วย

ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าไปทางขึ้นเขา  ขึ้นไปยังไม่ถึงหนึ่งในสี่ของทางเลย ก็จ๊ะเอ๋กับดงหนาม ขนาดช้างหนังหนาๆยังไม่สู้เลย แล้วเราจะไปเหลืออะไร แทนที่จะให้ช้างบุกผ่าดงไปเป็นทางสำหรับให้เราเดิน ก็กลับทางกัน เป็นฝ่ายคนต้องช่วยกันตัดเถาหนามและแกะเถาหนามที่เกี่ยวติดกับหนังช้าง 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 16, 19:00
จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ชื่อของเถาหนามนั้น   

ต้นของมันเป็นประเภทไม้เลื้อยที่มีลำต้นเป็นทรงสี่เหลียม ที่มุมของเหลี่ยมที่อยู่ฝั่งครงข้ามกัน จะมีหนามที่ลู่ไปในทางเดียวกัน  ครับ จะดึงไปหน้าไปหลังก็ติดทั้งนั้น แกะลำบากน่าดูเลยทีเดียว  แรกๆช้างก็เดินนำดีๆ ต่อมาก็หยุดไม่ยอมเดินต่อไไป   เราก็ต้องไปแกะเถาหนามที่มันติดอยู่กับหนังช้าง ทั้งแถบหูของมัน และตามข้างลำตัว  ขณะแกะหนามให้ช้าง คนก็โดนเข้าไปด้วย ในที่สุดก็ต้องตัดสินใจเดินย้อนกลับไปหาทางลงแม่น้ำเพื่อข้ามดีกว่า

แล้วจะข้ามตรงจุดใหนจึงจะดี จึงจะปลอดภัย ไม่ถูกน้ำพัด ข้าวของไม่เสียหาย   แถมค่อนข้างเสี่ยงมากเพราะเป็นการข้าม 2 ครั้ง   

ทิ้งเวลาให้คิดสักเล็กน้อยนะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ม.ค. 16, 18:47
สุภาษิตทั้งไทยทั้งเทศกล่าวเหมือนกันว่า น้ำนิ่งไหลลึก - still waters run deep  เป็นหลักที่ต้องยึดถือไว้เป็นอันดับแรก  เพราะว่าที่บริเวณน้ำค่อนข้างนิ่งๆนั้น เป็นบริเวณที่เป็นวังน้ำ น้ำจะลึกมากกว่าบริเวณที่มีน้ำไหล

หลักที่สองนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้ คือหาบริเวณที่ลำน้ำแคบ  แต่บริเวณที่แคบน้ำก็จะไหลแรง และหากแคบมากเกินไป ก็จะเป็นพื้นที่ของแก่ง ซึ่งก็ดีตรงที่น้ำจะตื้น แต่ก็อันตรายมากที่น้ำไหลแรงจนเราอาจจะทานไม่ไหว

หลักที่สาม คือ เราต้องข้ามทะแยง มิใช่ตัดตรงขวางลำน้ำ

หลักที่สี่ คือ ทำตัวให้เบา  ซึ่งก็คือปลดสัมภาระออกจากตัวให้ได้มากที่สุด แล้วเทินหัวหรือลอยมันตามเราไป

ทั้งสี่หลักนี้ คงจะเป็นมาตรฐานที่ทุกคนพอจะรู้อยู่บ้าง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ม.ค. 16, 19:27
ในการปฏิบัติจริง  คงจะต้องรู้อะไรเพิ่มเติมอีกสักหน่อย

เรื่องแรก ณ บริเวณที่แม่น้ำไหลเป็นเส้นตรง ระดับน้ำจะลึกที่สุดที่ประมาณกลางลำน้ำ   แต่หากเป็นบริเวณที่เป็นคุ้งน้ำ น้ำลึกจะอยู่ที่บริเวณฝั่งที่มีตลิ่งสูงชัน น้ำตื้นจะอยู่ฝั่งที่เป็นชายหาด

เรื่องที่สอง บริเวณใดที่น้ำไหลเอื่อยๆหรือดูนิ่ง พื้นท้องน้ำจะค่อนข้างเรียบ และมักจะเป็นดินทรายหรือโคลน แต่ก็อาจจะมีขอนไม้ นอนขวางอยู่ติดท้องน้ำ   แต่หากบริเวณใดเห็นผิวน้ำไหลเป็นริ้ว แสดงว่าน้ำค่อนข้างจะตื้น พื้นท้องน้ำจะเป็นพวกกรวดขนาดใหญ่ (cobble)   และหากเห็นผิวน้ำไหลเป็นรอนคลื่น ก็แสดงว่าใต้ท้องน้ำจะเป็นหินก้อนโตๆ (boulder)

เรื่องที่สาม ที่บริเวณหัวแก่งน้ำจะค่อนข้างตื้น พื้นท้องน้ำจะเป็นพวกกรวดก้อนขนาดใหญ่   ในบริเวณที่เป็นแก่ง น้ำจะไหลแรงมาก พื้นท้องน้ำจะเป็นโขดหินหิน    ที่ปลายแก่งน้ำจะลึก อาจมีกระแสน้ำวน หรือน้ำม้วนตัวกลับ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ม.ค. 16, 19:42
พิจารณาหลักคิดและข้อมูลที่พอมีแล้ว ก็คงนึกในใจได้แล้วว่าควรจะเลือกข้ามน้ำตรงบริเวณใหนถึงจะดี


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 16, 18:07
ผมกับคณะเลือกข้ามที่หัวแก่ง แม้ว่าน้ำอาจจะแรงไปบ้าง แต่ก็เพราะน้ำจะตื้นกว่าที่อื่น พื้นท้องน้ำมักจะเป็นหินก้อนใหญ่รูปทรงมน

ก็เดินย้อนเหนือน้ำขึ้นไปเลือกจุดลงน้ำ คะเนเอาว่าจากจุดลงน้ำนี้ ไม่ว่าจะค่อยๆเดิน หรือจะเขย่งเกงกอย หรือจะต้องลอยคอก็ตาม เราจะไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้ ณ จุดก่อนที่จะเข้าพื้นที่น้ำเริ่มเชี่ยวก่อนลงแก่ง

ว่าแล้วต่างคนต่างก็ปลดสัมภาระใส่บนแหย่งหลังช้างทั้งสองตัวที่ใช้บรรทุกเข้าของของคณะสำรวจ  ให้ช้างเดินลงน้ำข้ามไปก่อน เพื่อประเมินสภาพต่างๆ เมื่อไปถึงอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ก็ให้ควาญช้างเดินตามน้ำลงไปอีกหน่อย แยกกันยืนห่างกันเพื่อช่วยรับคนที่ข้ามไปถีง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 16, 18:24
แล้วก็ได้เห็นภาพที่น่ารักของช้าง และสิ่งที่น้อยคนจะได้รู้

ช้างเขาก็มีความกลัวเหมือนเรา พอเดินลงถึงชายน้ำ เขาก็จะค่อยๆก้าวเดิน เอางวงแตะพื้นดินนำหน้าไปก่อนที่จะเหยียบ(ลงน้ำหนักเท้า)ลงไป ก็เพื่อประเมินว่าพื้นมั่นคงดีพอใหม  เขาก็จะใช้งวงทำเช่นนี้ในขณะที่เดินไปเมื่อลงไปอยู่ในน้ำแล้วเช่นกัน  แต่กระทำในน้ำนั้นก็เพื่อหยั่งความลึกและสภาพผิวพื้นท้องน้ำ

ภาพที่น่ารักจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำที่เขาเดินลุยลงไปนั้นเริ่มลึกถึงระดับประมาณห้วเข่า หรือระดับน้ำใกล้แตะพุงเขานั่นแหละ ลักษณะตัวของช้างก็จะเปลี่ยนไป คือเขาจะเริ่มพองลม เราจะเห็นท้องเขาใหญ่ขึ้นและพองกลมขึ้น  อารมณ์ของเขาเองก็จะเปลี่ยนไป จากที่ดูจะเครียดๆ ก็กลายเป็นดูร่าเริง ชูงวงพ่นอากาศ ไม่สนใจอีกต่อไปว่าน้ำจะลึกหรือพื้นท้องน้ำจะเป็นอย่างไร     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 16, 18:48
ช้างหมดเรื่องลุ้นไปแล้ว แต่คนกำลังเริ่มลุ้นว่า..ช้างจะเล่นน้ำหรือไม่   ควาญช้างจะบังคับช้างอยู่หรือไม่   โธ่ ก็เดินมาเหนื่อยๆ ช้างก็จะขออาบน้ำสักตั้งจะเป็นอย่างไรเนาะ

ควาญเริ่มเสียงหลงเมื่อน้ำเริ่มถึงระดับท้องช้าง เลยระดับรักแร้แดงขึ้นมา เพราะช้างจะงอขาทรุดตัวลงไปให้ทั้งตัวอยู่ในน้ำ  ซึ่งหากจะเพียงเท่านี้ก็พอทน เพราะข้าวของเครื่องใช้ก็จะเพียงแต่เปียกชุ่มน้ำ แต่ช้างก็เป็นสัตว์ขี้เล่นอยู่พอสมควรทีเดียว เขาก็จะตะแคงตัวนอนแช่น้ำ คราวนี้ซิครับที่จะแย่ เพราะข้าวของเครื่องใช้ที่บรรทุกอยู่บนแหย่ง จะหลุดลอยหายไปเลย เหมือนกับการเทกระจาด

โชคดีที่ช้างทั้งสองตัวของคณะผมพอจะเชื่อฟังควาญของเขา มันก็เลยทำเพียงแต่จุ่มตัวให้มิดน้ำแต่ไม่ตะแคงตัวนอน กระนั้นก็ตาม ควาญเองก็ต้องยืนอยู่บนหัวช้าง แล้วคอยเลี้ยงตัวไม่ให้ตกลงไปในน้ำ ควาญตกน้ำเมื่อใดก็เมื่อนั้นแลที่จะได้เห็นข้าวของทั้งหลายหลุดตกน้ำอันตรธารหายไป   คนที่ซวย(ขออภัยทีหากเป็นคำไม่สุภาพนัก แต่มันให้อารมณ์ดี) ก็คือผม ก็ "ของหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้" นี่ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 16, 19:04
ข้ามน้ำครั้งแรกก็แบบหนึ่ง พอข้ามกลับก็อีกแบบหนึ่ง ขาข้ามกลับนี้ น้ำก็ลึกแถวๆเหนืออกพอๆกัน  แต่หากหลุดก็จะไหลไปเข้าแก่งยาว อันนี้เจ็บตัวแน่ๆ    ช้างกลับทำตัวดี ว่านอนสอนง่ายเอาทีเดียว เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเขาได้กลับบ้าน(ถิ่นที่เขารู้จัก)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 26 ม.ค. 16, 13:11
แล้วก็ได้เห็นภาพที่น่ารักของช้าง และสิ่งที่น้อยคนจะได้รู้

ช้างเขาก็มีความกลัวเหมือนเรา พอเดินลงถึงชายน้ำ เขาก็จะค่อยๆก้าวเดิน เอางวงแตะพื้นดินนำหน้าไปก่อนที่จะเหยียบ(ลงน้ำหนักเท้า)ลงไป ก็เพื่อประเมินว่าพื้นมั่นคงดีพอใหม  เขาก็จะใช้งวงทำเช่นนี้ในขณะที่เดินไปเมื่อลงไปอยู่ในน้ำแล้วเช่นกัน  แต่กระทำในน้ำนั้นก็เพื่อหยั่งความลึกและสภาพผิวพื้นท้องน้ำ

ภาพที่น่ารักจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำที่เขาเดินลุยลงไปนั้นเริ่มลึกถึงระดับประมาณห้วเข่า หรือระดับน้ำใกล้แตะพุงเขานั่นแหละ ลักษณะตัวของช้างก็จะเปลี่ยนไป คือเขาจะเริ่มพองลม เราจะเห็นท้องเขาใหญ่ขึ้นและพองกลมขึ้น  อารมณ์ของเขาเองก็จะเปลี่ยนไป จากที่ดูจะเครียดๆ ก็กลายเป็นดูร่าเริง ชูงวงพ่นอากาศ ไม่สนใจอีกต่อไปว่าน้ำจะลึกหรือพื้นท้องน้ำจะเป็นอย่างไร     

อาจารย์บรรยายจนเห็นภาพปรากฏอยู่ตรงหน้า เห็นช้างเคลื่อนไหวอย่างน่ารักเลยละค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ม.ค. 16, 17:35
ครับ ช้างมีความน่ารักอยู่ในตัวของเขามาก ควบคู่ไปกับความน่ากลัวที่มีแฝงอยู่


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ม.ค. 16, 18:07
ช้างข้ามน้ำได้ไม่ยาก แต่คนนะซีครับที่เสียวใส้หน่อย คะเนดูจากระดับน้ำที่ท้องช้างแล้ว น้ำลึกสุดก็ประมาณชายโครง ลึกในระดับที่ไม่ใช่เป็นการเดินข้ามแบบลุยน้ำธรรมดาๆเสียแล้ว คงต้องหาวิธีเดินไปโดยไม่ให้ล้ม มิฉะนั้นก็จะต้องหลุดลอยตามน้ำลงผ่านแก่งไป  ควาญช้างนั้นจะไปยืนอยู่อีกฝั่งเพื่อเป็นจุดเป้าหมายที่จะต้องพยายามไปให้ถึง ณ จุดนั้น

พอลงน้ำไปจริงๆ พื้นท้องน้ำเป็นพวกหินก้อนใหญ่ ใช้วิธีเดินสืบเท้าไปไม่ได้เสียแล้ว ต้องใช้วิธีใช้เท้าถีบให้ลอยตัวเล็กน้อยบังคับให้ไปในทิศทางที่ต้องการ เพราะว่าหากจะใช้วิธีเดินเหยียบไปบนก้อนหิน ก็มีโอกาสที่จะพลาดไปขัดร่อง ข้อเท้าแพลงได้ง่ายๆ  ลุยแล้วก็ต้องไปเลย ไปเร็วอย่างเดียว หยุดหรือย้อนกลับไม่ได้แล้ว ตายเอาดาบหน้าอย่างเดียว   

มีการนัดกันล่วงหน้าแล้วว่า ผู้ใดหลุดลอยลงแก่งไป ให้พยายามลอยคอพยุงตัวอย่างเดียว อย่าพยายามว่ายให้มาก จะหมดแรง แล้วก็หาทางคัดหางให้ไปขึจากน้ำบนฝั่งที่เราจะข้ามไปนั่นแหละ จะไปตามหากันเอง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ม.ค. 16, 19:13
ข้ามไปแล้วก็ข้ามกลับทั้งสองครั้งด้วยความปลอดภัยทุกประการครับ  แต่ก็ด้วยการลุ้นของทุกคนในแทบจะทุกนาทีที่อยู่ในน้ำ

ข้ามกลับแล้วเดินมาถึงปากลำห้วยขาแข้งได้ ก็ตั้งแคมป์บนหาดทรายปากลำนั่นเอง รอพบเรือที่นัดไว้ให้มารับในวันรุ่งขึ้น เสบียงต่างๆก็หมดเกือบเกลี้ยง เหลือปลากระป๋องอยู่กระป๋องหนึ่ง ก็เลยไปหาเก็บผักกูดและแกนหยวกกล้วยมาแกงส้มกินกัน    รอเรือในวันรุ่งขึ้นที่จะมาพร้อมกับกับข้าวและเหล้ายาแก้เหนื่อย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ม.ค. 16, 19:42
ช่วงเช้าผมก็เรียบเรียงข้อมูลและทำบันทึกตัวอย่างหินต่างๆ   แล้วก็เดินขึ้นบ้านคนที่อยู่ปากลำ ขึ้นไปคุยกับเขา คุยไปคุยมาถึงเรื่องของสัตว์ป่าแถวๆนั้น ได้ความว่า เคยมีสัตว์น้ำตัวใหญ่โผล่ขึ้นมาข้างลำเรือของชาวบ้าน ไม่รู้ว่าตัวอะไร ชาวบ้านก็เลยเอามีดฟันหัวมัน คงถูกที่สำคัญกระมัง มันก็เลยตายในเวลาต่อมา ต่อมาเจ้าของบ้านที่ผมขึ้นไปนั่งคุยด้วยก็ได้ไปเห็นซากหัวกะโหลกของมันที่มีรอยมีดฟันอยู่  เข้าใจว่าเป็นเจ้าตัวที่ถูกฟันหัวนั้นเอง เลยเก็บเอามา แล้วก็หยิบมาให้ผมดู  ผมไม่สันทัดเรื่องโคงกระดูกสัตว์เพียงได แต่ก็พอจะบอกหรือเดาได้ว่าน่าจะเป็นของตะพาบน้ำ เขาก็ว่าคงเป็นอย่างนั้น แต่จะถูกหรือผิดก็ไม่รู้ หากใช่ ตัวของมันก็คงจะใหญ่มากเลยทีเดียว ขนาดใกล้ๆลูกตะกร้อครับ ผมก็ไม่เคยเห็นตะพาบน้ำตัวขนาดมหึมาสักที แต่รู้แต่ว่ากระเบนน้ำจืดน่ะมีตัวใหญ่ถึงขนาดนี้แน่ แต่มันจะขึ้นมอยู่ถึงแถวปากลำเลยหรือ คะเนดูว่าตัวนี้น่าจะกว้างไม่น้อยกว่าเมตรเลยทีเดียว จนบัดนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นตัวอะไรครับ 

คิดเอาเข้าข้างตัวเองว่า ก็แควใหญ่นี่นา แถวนี้คนแทบจะมาหากินไม่ถึง คงยังหลงเหลือพวกสัตว์ตัวใหญ่ๆอยู่มากโข  ปลาแข้ก็ยังมีขนาดประมาณโคนขา ปลายี่สกก็ขนาดหามกันหางลากดิน ปลาแมลงภู่ก็ตัวขนาดน่อง ปลากาก็ใหญ่และหนักขนาดต้องอุ้ม     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ม.ค. 16, 20:03
ตกบ่าย เรือก็มาถึงพร้อมอาหารและเหล้าโรง 1 เท (32ขวด)   ตกเย็นก็ตั้งวงกินกันบนบ้านของคนที่ปากลำ  เป็นไปตามวิถีของการดำรงชีวิตให้รอดในต่างถิ่น 

พอตกมืด ก็เกิดเรื่องขึ้นมา  อยู่ดีๆก็มีคน 3 คน เดินตรงเข้ามายังกระใดบ้าน ยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นระยะๆ ตะโกนท้ายิงกัน

ต่อพรุ่งนี้ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 16, 18:07
พอเห็นหน้าก็ อ้าว..เคยพบกันมาก่อนสองสามครั้ง เป็นพวกคนหาแร่ฟลูออไรท์ (Fluorite) ที่คนกรุงกลุ่มหนึ่งจ้างให้ไปเดินขุดเคาะหินหาในพื้นที่แถบนั้น

แร่ฟลูออไรท์เป็นแร่ที่ใช้ในการถลุงเหล็กที่นักทำเหมืองในสมัยนั้นนิยมลงทุนทำกัน ผลิตส่งออกอย่างเดียว   

ในสมัยแต่เก่าก่อนโบราณกาลโน้น แถว อ.ลี้ อ.บ้านโฮ่ง อ.เถิน มีการใช้แร่นี้แกะสลักทำเป็นพระพุทธรูป และเรียกแร่นี้ว่าพลอยอ่อน  มีทั้งสีสีขาวใส สีเขียว สีม่วง และสีคละกัน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 16, 18:28
พวกผมกำลังนั่งตั้งวงอยู่บนเรือนชาน กินเหล้าด้วยกันอยู่รวมกัน 8 คน เป็นคนในคณะของผม 6 คน เป็นชาวบ้าน 2 คน    ปืนยาวที่เอาเข้าป่าก็วางเรียงอยู่บนเรือนชานนั่นเอง เพียงแต่ปลดลูกปืนออกหมด แยกไว้ต่างหาก   คนในคณะของผม 4 คนมีปืนสั้นวางอยู่ข้างตัวคนละกระบอก รวมทั้งตัวผมด้วย เป็นปืนลูกโม่ทั้งนั้น ยิงได้เลยโดยไม่ต้องขึ้นลำ

พอถึงตีนบันไดบ้าน เขาก็ยิงปืนขึ้นฟ้าท้าอีก  เจ้าของบ้านซึ่งรู้จักกับเขาดี (ด้วยเป็นคนที่หากินอยู่ในถิ่นนั้นเหมือนกัน) ก็ถามว่ามีเรื่องอะไร ขึ้นบ้านมาก่อน มาร่วมวงกัน พวกเราเพิ่งจะกลับมาจากห้วยองก์ทั่ง  เขาก็ยอมขึ้นบ้าน ลดปืนลง  แล้วก็มานั้งข้างซ้ายของผม  เขาแสดงท่าทางที่ผมพอจะเดาได้ว่าเขาท้าผมนั่นเอง

ผมอุ่นใจขึ้นเล็กน้อย เพราะเขาคงจะใช้ปืนยาวที่วางพาดหน้าตักกับตัวผมได้ไม่ถนัดนัก ต่างกับผมที่มีปืนสั้นวางอยู่กับพื้นข้างตัวด้านขวา หากเกิดอะไรขึ้น ผมก็เพียงหยิบขึ้นมาเหนี่ยวได้เลย   แต่ก็มีคิดขึ้นมาในทันใดว่า คงเละแฮะ พวกเรา 6 มีปืนอยู่ 4 พวกเขามี 2 + 3 ปืนยาวอยู่ทางฝั่งที่เขานั่ง   
 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 16, 18:51
ผมเป็นหัวหน้าคณะสำรวจ ทำความตกลงกับลูกทีมไว้แต่ก่อนออกสำรวจเสมอว่า หากผมไม่ขยับ ก็แสดงว่าผมพอรับสถานการณ์ได้ แต่ก็ขอให้พร้อมหากว่าเกิดพลาดขึ้นมา   ขออย่าได้ใจร้อนทำอะไรๆไปก่อนเพราะมันจะนำไปสู่สถานการณ์ที่แก้ยากมากขึ้น

ดูสภาพการนั่งล้อมวงแล้ว ก็เหมือนกับนั่งกันคนละซีก หากเกิดเรื่องขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าเจ้าบ้านจะอยู่ฝั่งเราหรืออยู่ฝั่งเขา ยังไงๆก็พอฟัดพอเหวี่ยงพอได้   ก็ตัดสินใจในทันใด เอามือจับเข่าคนที่ท้าผมยิง ถามว่าเรื่องอะไรหรือ คุยกันก่อน ยังไม่รู้เลยว่าเรื่องอะไรกันเลยนี่   เขาก็บอกว่า ได้ยินว่าผมไปท้าว่าอยากเจอเจ้านายของเขา  ผมนึกออกในทันใดเลยว่า ในขณะเดินสำรวจไปปากห้วยองก์ทั่งนั้น ได้พบกับชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งผมได้ถามไปว่ามาหาแร่ให้ใคร พอบอกชื่อมา ผมก็อ๋อ..ผมรู้จักบุคคลผู้นั้นดี ก็เลยถามไปว่าเขามาด้วยหรือเปล่า อยากเจอ  ก็เท่านั้นเองแหละครับที่เกิดเป็นเรื่องเลย

พอผมอธิบายให้เขาฟังว่ารู้จักกันดีอย่างไร อารมณ์เดือดดาลของเขาก็ลดลง เจ้าของบ้านก็ขอปืน แยกออกมาจากตัวเขา เอาไปวางเรียงกันกับที่วางอยู่แล้วที่ชานเรือน     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 16, 18:59
จากนั้น สถานการณ์ที่เครียดก็ค่อยๆดีขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็ดูผ่อนคลาย ถ้อยทีถ้อยอาศัยรินเหล้าส่งต่อกัน เวียนรอบวง รอบแล้วรอบเล่า  แต่ในใจลึกๆก็คงยังระแวงอยู่   เหล้าเข้าปากหนักเข้าไปจนเมา อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นนี่ครับ   

ก็คงจะเพราะยังระแวงกันอยู่ ทุกคนก็เลยพยายามตั้งตนให้มีสติแม้จะอยู่ในความมึนเมา คืนนั้นกินเหล้ากันเกือบจะหมดเทเลยทีเดียว   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 16, 19:11
คืนนั้นจบลงด้วยการเอาปืนยาวมายิงกันคนละนัดสองนัด  แล้วต่างคนต่างก็กลับที่พักของตน  ก็แปลกดีที่ไม่มีผู้ใดตกกระไดกันเลย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 16, 23:05
ตื่นเต้นระทึกใจยิ่งกว่าหนังไทยค่ะ  ;D
หัวหน้าที่คุณตั้งไปถามถึงกับลูกน้อง เป็นใครคะ  หัวหน้าโจร  เจ้าพ่อ หรือหัวหน้าผกค.ในถิ่นนั้น


คุณตั้งพูดถึงแร่ฟลูออไรท์ (Fluorite)  ดิฉันนึกว่ามันมีอยู่ในยาสีฟัน    สงสัยจะคนละชนิดกัน  ไปหารูปดูในกูเกิ้ล
พบว่าบนเทือกเขาร็อคกี้ส์ เขามีขายนักท่องเที่ยวเป็นกองพะเนิน    ให้ตวงเอาเองใส่ถุง   มีหลายสีหลายลาย  ใส่ในอ่างปลาจะดูสวยมากค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 16, 17:17
ขออภัยครับ  เมื่อวานนี้ไปพบหมอตามนัดทำ Colonoscopy ครับ กลับมาค่ำมากแล้วก็เลยไม่เข้ากระทู้ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 16, 17:42
ตื่นเต้นระทึกใจยิ่งกว่าหนังไทยค่ะ  ;D
หัวหน้าที่คุณตั้งไปถามถึงกับลูกน้อง เป็นใครคะ  หัวหน้าโจร  เจ้าพ่อ หรือหัวหน้าผกค.ในถิ่นนั้น

หัวหน้าของเขาเป็นผู้อาวุโส คนในกรมเดียวกันนั่นเอง ทำงานในหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจหาแหล่งแร่โดยตรง     ยุคนั้นไทยเรายังขายทรัพยากรธรรมชาติอยู่ครับ รายได้จากการส่งออกแร่อยู่ในระดับประมาณ 3% ของ GDP ไม่นับรวมว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องของมันที่ได้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้คนในท้องถิ่น และทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกันหลายระดับและหลายตลบ
 
สมัยนั้นเป็นเรื่องธรรมดามากๆที่ชาวบ้านจะพยายามเข้าป่าไปหาแร่ เอาตัวอย่างเอามาเสนอให้กับผู้ที่อยู่ในวงการเหมืองแร่ เผื่อว่าจะได้รับการตอบแทนที่สามารถทำให้ครอบครัวได้มีสุขสบายหรือมีกินมีใช้อย่างพอเพียง  ซึ่งการแสวงหาแหล่งแร่นี้กลายเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดพื้นที่ในอิทธิพลของผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งในระดับชาวบ้าน ระดับท้องถิ่น และในระดับที่สูงกว่านั้นจนถึงระดับนักการเมือง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 16, 18:13
งานโดยหน้าที่ของผมเป็นการสำรวจเพื่อทำแผนที่ธรณีวิทยา เพื่อแสดงว่ามีหินอะไรบ้าง อยู่ตรงใหน แผ่กระจายอย่างไร มันมาอยู่ ณ บริเวณนี้ได้อย่างไร มันมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในเชิงอายุ ในเชิงการกำเนิด ในเชิงของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่มันถือกำเนิดมา ฯลฯ    กล่าวได้สั้นๆว่า เพื่อจะรู้ว่าโลกในอดีต ณ พื้นที่นั้นๆ มันเป็นอย่างไร   

ความรู้ทางธรณีฯที่เป็นผลจากงานในลักษณะที่พวกผมทำ จะถูกนำไปวิเคราะห์ ประมวลข้อมูล ทำให้เห็นกระวนการและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ผลก็คือ ทำให้เราคาดได้ว่าจะพบแห่งทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าได้ที่ใหนบ้าง (เช่น แกส น้ำมัน ฯลฯ)  และทำให้เราทราบว่าพื้นที่ใดเปราะบางต่อการที่จะถูกดัดแปลงหรือถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยขน์(ดังที่เราต้องการ) และเกือบทั้งหมดจะรู้ต่อไปด้วยว่าแล้วมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร

อธิบายเรื่องงานที่ทำมาเสียยืดยาว เพียงเพื่อจะบอกว่า ที่พวกผมเดินเข้าไปทำงานอยู่นั้นน่ะ มีโอกาสเหยียบหัวแม่เท้าใครก็ได้ง่ายๆมาก   เพราะว่าคนคงจะเข้าใจได้ยากในการทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบุคคลใดๆ    ก็อย่างว่าแหละครับคงไม่มีคนบ้าที่จะออกมาเดินท่อมๆเข้าป่าเสี่ยงภัยโดยไม่คิดถึงผลตอบแทนใดๆ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 16, 18:38
เรื่องท้ายิงนี้เป็นเรื่องแรก  ผมยังเจอะเจอกับการบอกกล่าวในทำนองให้ระวังตัวว่าอาจถูกยิง ว่าอาจจะเข้ามาปล้น และรวมทั้งถูกปืนประทับเล็งที่หัวอีกด้วย ทั้งจากชาวบ้าน จากบุคคลที่เขาใช้คำว่าเสือนำหน้าชื่อ และจาก ผกค.    เรียกว่าครบทุกรสชาติเลยครับ

ครับ...บนเส้นทางของห้วยข้าแข้งที่ยังคงสามารถรักษาความเป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์ได้นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากสภาพความน่ากลัวที่ผมกำลังเล่าอยู่นี้เอง   คิดว่าจนหลังจากวันปืนดับไปแล้ว(หลังจากประมาณปี 2522) ส่วนราชการจึงได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการดูและรักษาพื้นที่อย่างจริงจัง     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 16, 19:32
คุณตั้งพูดถึงแร่ฟลูออไรท์ (Fluorite)  ดิฉันนึกว่ามันมีอยู่ในยาสีฟัน    สงสัยจะคนละชนิดกัน  ไปหารูปดูในกูเกิ้ล
พบว่าบนเทือกเขาร็อคกี้ส์ เขามีขายนักท่องเที่ยวเป็นกองพะเนิน    ให้ตวงเอาเองใส่ถุง   มีหลายสีหลายลาย  ใส่ในอ่างปลาจะดูสวยมากค่ะ

แร่ฟลูออไรท์ประกอบด้วยธาตุแคลเซียม (Ca) และธาตฟลูออรีน (F) มีสูตรทางเคมีว่า CaF2  ว่ากันอย่างง่ายๆก็คือเกิดจากกระบวนการที่แกสฟลูออรีนเข้ามาแทนที่คาร์บอเนต (CO3) ที่จับคู่อยู่กับธาตุแคลเซียม(ซึ่งเดิมทำให้เป็นตัวหินปูน)   แหล่งแร่ฟลูออไรท์จึงพบอยู่ในพื้นที่ๆเป็นเขาหินปูน

ฟลูออรีน เป็นธาตุที่เราพบอยูู่ร่วมกับพุน้ำร้อนทั้งหลาย  ก็พอจะกล่าวได้ว่าน้ำพุร้อนทั้งหลายจะมีปริมาณธาตุฟลูออรีนสูงมากกว่าปรกติ    ในทางการสาธาณสุข เขาว่าฟลูออรีนดีต่อความแข็งแรงของฟันและกระดูก จนมีการนำไฟผสมในยาสีฟัน หรือผสมในสารเคลือบฟัน    แต่การมีปริมาณฟลูออรีนมากเกินไปในร่างกายก็ไม่ดี   ก็มีกรณีที่มีผู้คนที่อาศัยในพื้นที่น้ำพุร้อนและใช้น้ำในลำธารที่ผสมด้วยน้ำจากน้ำพุร้อน ปรากฎว่าเป็นโรคกระดูก คือพบว่ามีแร่ฟลูออไรท์พอกที่กระดูกแขน   ได้ยินว่าถึงขนาดเชื่อมติดกันเลย แต่จะจริงเท็จประการใดไม่รู้??   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 16, 19:45
พูดถึงแร่ฟลูออไรท์กับหินปูน เลยทำให้นึกขึ้นได้อีกเรื่องหนึ่งว่า ก็แปลกอยู่นะที่บรรดาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหลายจะตั้งครอบคลุมบนพื้นที่ที่เป็นหินที่มีเนื้อปูน  และอุทธยานแห่งชาติที่สวยงามติดอันดับโลกเป็นจำนวนมากก็มักจะตั้งอยู่ในพื้นที่ๆเป็นหินที่มีเนื้อปูน  (หินที่มีเนื้อปูนของผมหมายถึง calcareous rocks ก็คือหินที่หยดกรดแล้วฟู่ คือมีเนื้อเป็นเม็ดปูน หรือเชื่อมติดกันด้วยปูน_CaCO3)



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 16, 19:52
ผมใช้คำว่า ก็แปลกอยู่นะที่......อยู่ในพื้นที่ๆเป็นหินที่มีเนื้อปูน      ครับ..ตั้งข้อสังเกตขึ้นมา เพื่อว่าเมื่อขยายความแล้ว อาจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่บ้าง

มีอยู่สามคำที่ไม่รู้ว่าจะใช้ภาษาไทยว่าอย่างไรดี     calcareous rocks, carbonates rocks, และ limestone     เอาเป็นว่าก็คือหินที่เมื่อเราหยดกรดลงไปที่ผิวแล้วมันจะเกิดมีปฎิกริยาเป็นฟองฟู่ให้เห็นก็แล้วกัน   

น้ำฝนในธรรมชาติมีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ หินพวกนี้จึงถูกกัดกร่อนได้ง่าย    บรรดาเป็นโพรง ถ้ำ และน้ำตกทั้งหลาย และรวมทั้งอ่าวที่สวยงามทั้งหลาบยเกือบทั้งหมดที่เรานิยมไปเที่ยวก็จะอยู่ในพื้นที่ของหินประเภทนี้นี่เอง     

น้ำที่ไหลผ่านหินพวกนี้จะมีสภาพเป็นด่างอ่อนๆ ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะแก่การตกตะกอนของแร่ธาตุและสารประกอบหลายชนิดทั้งที่เป็นสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์   ดินที่พบอยู่ในพื้นที่หินปูนจึงค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์และอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องการ

หากเป็นพื้นที่ๆมีความชุ่มชื้นค่อนข้างคงที่ ก็จะเห็นดินสีแดงบ้าง (ธาตุเหล็กเยอะ) ดินสีดำบ้าง (humus เยอะ) และจะเป็นพื้นที่ๆมีไม้หลากหลายชนิดขึ้นอยู่หนาแน่น มีสัตว์หลากหลายชนิดทั้งประเภทกินเนื้อ กินใบไม้ กินรากไม้ โดยเฉพาะพวกหากินกลางคืน    หากเป็นพื้นที่แห้งสลับชุ่มชืัน ก็จะมักจะเป็นละเมาะไผ่รวกและไม้ออกผล เป็นป่าโปร่งที่เหมาะกับสัตว์พวกนิยมกินผลไม้และพวกที่มีเขา       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 16, 20:21
เล่าเรื่องเดินข้ามน้ำ ทำให้นึกถึงภาพที่งดงามภาพหนึ่ง  เป็นภาพของเก้งว่ายข้ามน้ำแควใหญ่

วันหนึ่งช่วงบ่ายแก่ๆ กำลังเดินทางทวนน้ำขึ้นไปปากลำขาแข้ง    ช่วงที่น้ำไหลนิ่งๆระหว่างบ้านนาสวนกับแก่งยาว ก็ได้เห็นหัวของสัตว์ตัวหนึ่งกำลังลอยข้ามน้ำ เพ่งมองก็เห็นว่ากำลังพยายามว่ายข้ามน้ำอยู่  พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร นายท้ายเรือก็ชลอเรือหมุนหัวเรือกลับเรือ แล้วก็หมุนเรือกลับอีกครั้งหนึ่งมาตีขนาบอยู่ใกล้ๆ เพื่อดูว่าเป็นตัวอะไร    อ้อ..เก้งนั่นเอง   หลายคนบนเรือคิดถึงลาภปาก จะทุบ จะตี จะยิงมันก็ได้ทั้งนั้น ด้วยมันไม่มีหนทางใดๆที่จะหนีเลย  มันเองก็คงจะตกใจน่าดูเหมือนกัน แต่มันก็ทำได้อย่างเดียวคือก็พยายามว่ายต่อไปหรือพยุงตัวไม่ให้จมเพียงเท่านั้น    ด้วยสำนึกว่าคงเป็นเรื่องที่เราผู้เป็นมนุษย์ไม่ควรจะได้ทำร้ายเขา เอาชีวิตเขา หรือเอาเปรียบสัตว์โลกใดๆที่ไม่มีทางต่อสู้ใดๆโดยสิ้นเชิง แถมในลักษณะแบบหมาหมู่อีกต่างหาก  ก็เลยปล่อยเขาให้ว่ายน้ำข้ามฝั่งต่อไป   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 01 ก.พ. 16, 21:37
เล่าเรื่องเดินข้ามน้ำ ทำให้นึกถึงภาพที่งดงามภาพหนึ่ง  เป็นภาพของเก้งว่ายข้ามน้ำแควใหญ่

วันหนึ่งช่วงบ่ายแก่ๆ กำลังเดินทางทวนน้ำขึ้นไปปากลำขาแข้ง    ช่วงที่น้ำไหลนิ่งๆระหว่างบ้านนาสวนกับแก่งยาว ก็ได้เห็นหัวของสัตว์ตัวหนึ่งกำลังลอยข้ามน้ำ เพ่งมองก็เห็นว่ากำลังพยายามว่ายข้ามน้ำอยู่  พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร นายท้ายเรือก็ชลอเรือหมุนหัวเรือกลับเรือ แล้วก็หมุนเรือกลับอีกครั้งหนึ่งมาตีขนาบอยู่ใกล้ๆ เพื่อดูว่าเป็นตัวอะไร    อ้อ..เก้งนั่นเอง   หลายคนบนเรือคิดถึงลาภปาก จะทุบ จะตี จะยิงมันก็ได้ทั้งนั้น ด้วยมันไม่มีหนทางใดๆที่จะหนีเลย  มันเองก็คงจะตกใจน่าดูเหมือนกัน แต่มันก็ทำได้อย่างเดียวคือก็พยายามว่ายต่อไปหรือพยุงตัวไม่ให้จมเพียงเท่านั้น    ด้วยสำนึกว่าคงเป็นเรื่องที่เราผู้เป็นมนุษย์ไม่ควรจะได้ทำร้ายเขา เอาชีวิตเขา หรือเอาเปรียบสัตว์โลกใดๆที่ไม่มีทางต่อสู้ใดๆโดยสิ้นเชิง แถมในลักษณะแบบหมาหมู่อีกต่างหาก  ก็เลยปล่อยเขาให้ว่ายน้ำข้ามฝั่งต่อไป   

กดไลค์ให้ร้อยครั้งเลยค่ะ  ;D



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: walai ที่ 01 ก.พ. 16, 21:58
 ???เพิ่งจะทราบว่าเก้ง กวาง ก้อว่ายน้ำได้ ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยค่ะ เก้งน้อยโชคดีที่เจอะเจอคณะผู้มีใจเมตตา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 16, 19:07
เก้งเป็นสัตว์ที่มีความน่ารักอยู่ในตัวของมัน และก็เป็นสัตว์ที่ไม่ตื่นคนง่ายๆเช่นกัน   ผมเห็นตัวเขาบ่อยมากๆในแทบจะทุกป่าที่เข้าไปทำงาน  ในช่วงเวลาก่อนประมาณปี พ.ศ.2535 ผมยังได้พบเห็นเขานอนหลบแดดในเวลากลางวัน ไม่ต่างไปจากสุนัขเท่าใดนัก ระยะใกล้ที่สุดเท่าที่เคยเจอะเจอกันก็ประมาณ 5 -6 เมตรเท่านั้น เขาก็ลุกขึ้นยืนจ้องมอง ไม่กระโจนหนีในทั้นใด ชั่วครู่หนึ่งจึงจะเบนหัวแล้วกระโดดหยองๆอย่างเร็วหลบไป 

ผมใช้อาการตอบสนองของเก้งและของสัตว์อื่นๆเมื่อเราจ๊ะเอ๋กัน (เช่น ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกเขาเปล้า นกแก้วโมง นกกะรางหัวหงอก ฯลฯ) เพื่อบ่งบอกว่าป่าที่เราเข้าไปเดินอยู่นั้นมีความบริสุทธิ์อยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด   เมื่อสัตว์ไม่เคยถูกรบกวนจากคนที่เข้ามาล่า มาส่งเสียง มาทำกิจกรรมรบกวนโสตของมัน มาทำกิจกรรมที่เบียนมัน   มันก็จะยังคงเห็นคนเป็นเพื่อนสัตว์ร่วมป่าร่วมโลก (เพียงแต่มันจะเห็นเรามีรูปร่างประหลาดไม่เหมือนกับตัวมันเท่านั้นเอง กระมัง ??)  มันก็เลยไม่ตื่นตระหนกตกใจ เพียงแต่รู้สึกฉงนเท่านั้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 16, 19:20
ในเขตอาณาที่เรากล่าวว่าเป็นของห้วยขาแข้งนี้ ก็มีบริเวณพื้นที่ๆมีระดับของการเข้าถึงของคน (ไปกวนมัน) อยู่หลากหลายระดับ

ผมได้สัมผัสและได้เห็นทั้งพื้นที่แบบป่าบริสุทธิ์จริงๆและพื้นที่ป่าแบบเมื่อสัตว์เจอคนก็จะต้องรีบโกยหนีอย่างเดียว  ทั้งแบบโกยไปตั้งหลักอยู่ห่างๆ แอบดู และแบบโกยแน่บหนีไปให้สุดๆเลย 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 16, 19:52
ป่าที่เป็นธรรมชาติแบบบริสุทธิ์จริงๆนั้น  หนึ่งของป่านั้นก็คือห้วยขาแข้งนี้เอง
       {ป่าอื่นๆก็ก็มีอาทิ ป่าแม่วงก์ (รอยต่อ จ.ตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์) ป่าดอยแม่คะมึง (รอยต่อ จ.แพร่ สุโขทัย และอุตรดิตถ์) ป่าดอยพญาพ่อ (ตะเข็บ จ.แพร่ กับ อุตรดิตถ์) ป่าหนันยะ-บ่อน้อย (ตะเข็บ อ.ศรีสวัสดิ์ กับ อ.ทองผาภูมิ) ป่าตามเส้นทางห้วยซงไท้-ปะชิ-ทุ่งใหญ่นเรศวร  ป่าของพื้นที่ชายแดนไทยพม่าตั้งแต่ห้วยบีคลี่ (อ.สังขละบุรี กาญจนบุรี) ไปจนถึงพื้นที่ บ. บ้องตี้บน (ไม่แน่ใจว่าในปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดใด)...และอื่นๆ}

ระดับความบริสุทธิ์จริงๆนั้นเป็นอย่างไร?? 
ก็ขนาดเดินผ่าฝูงไก่ป่า (สองสามตัวเท่านั้นนะครับ) จนเหยียบลูกของมันตาย  หรือขนาดนั่งกินข้าวอยู่ในห้วยก็มีเก้งหรือกวางเดินลงมายืนดูอยู่ในห้วย  หรือนกกะรางหัวขวานบินลงมาตีดอกเห็ดโคน (เล่น) ใกล้ๆที่เรากำลังนั่งพัก ...ฯลฯ เป็นต้น       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 16, 17:40
ใจเร็วไปนิดนึงครับ พิมพ์เพลิน   นกกะรางหัวขวานไม่มีนะครับ มีแต่นกกะรางหัวหงอก  นกพวกนี้เห็นเห็ดโคนที่กำลังบานอยู่เป็นกลุ่มไม่ได้ ต้องมาลุย มาหลายตัวเสียด้วย ส่งเสียงลั่นป่าไปหมด   ก็ตีให้เห็ดกระเจิงจนราบไปเกือบหมดเลย   เราก็เลยเอามาเล่าเป็นเรื่องตลกไปว่า มันไม่ชอบคนที่ใส่หมวกทรงกุยเล้ยเอาเสียเลย  ทุกป่าเหมือนกันหมด 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 16, 18:11
มาต่อเรื่อง ข้อสังเกตเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของป่ากันอีกหน่อย

ความบริสุทธิ์ของป่าขนาดสัตว์ไม่รู้จักคน ขนาดไม่เคยเห็นคนเป็นผู้ล่า (และผู้ทำลายระบบนิเวศน์ที่สำคัญของห่วงโซ่อาหารของธรรมชาติ เข้าถึงที่ใหน บรรลัยที่นั่น)   ความบริสุทธิ์ในระดับนี้ ก็หมายความว่าป่านั้นยังคงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก 

สำหรับตัวผม ป่าประเภทนี้ จะใช้คำว่าเกือบจะไม่เคยเห็นก็น่าจะพอได้ กล่าวคือ ไม่เห็นต้นไม้ในกลุ่ม pioneer species ซึ่งก็คือพวกต้นไม้ที่มีใบใหญ่ๆที่ ขึ้นง่าย โตเร็ว เช่น ต้นปอ (ไม้ในตระกูลต้นหม่อนที่เอาใบมาเลี้ยงตัวไหมนั่นแหละ ??) หรือต้นเลี่ยน (ในพื้นที่ๆดินออกไปทางเป็นกรด)

ครับ..ตามปรกติ ป่าที่สมบูรณ์นั้น เราจะเห็นว่ามันมีต้นไม้ครบเกือบจะทุกระดับความสูง  แต่เมื่อใดที่บางส่วนของพื้นที่มีต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นลง มันก็จะเปิดให้แสงสว่างส่องลงมาถึงพื้น เปิดโอกาสให้ไม้บางชนิดแทรกตัวโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว    ครับ...หากขับรถผ่านเข้าไปในพื้นที่ๆมีการขยายทางหลวงให้กว้างขึ้น สังเกตดูก็จะเห็นต้นไม้ใบใหญ่ๆพวกนี้เกิดอยู่ตามสองฝั่งถนน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 16, 18:44
ป่าที่มีพวกต้นไม้ pioneer species อยู่ก็มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นป่าที่ไม่บริสุทธิ์เสมอไป  บางตำแหน่งพื้นที่ก็มีต้นไม้กลุ่มหนึ่งนัดกันตายเหมือนกัน  ผมเคยเห็นอยู่สองพื้นที่ คือ พื้นที่ก่อนจะเข้าถึงบ้านคลิตี้ อ.ศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี และ พื้นที่ระหว่างบ้านไก่เกียงกับบ้านเกริงไกรในห้วยขาแข้ง   

และอีกพื้นที่หนึ่ง ที่ต้นไม้มันนัดกันไม่เกิด ไม่โต พื้นที่นี้เรียกว่า ปอสามต้น  ดูสภาพ ณ ตำแหน่งไกลหน่อยก็คล้ายกับจะเป็นพื้นที่โป่งใหญ่ พื้นที่นี้ต้องลึกเข้าไปในห้วยบีคลี่ เข้าไปลึกเลยทีเดียว  ช่วงที่ผมเดินเข้าไปนั้น มีชาวบ้านหลายคนขอร่วมเดินเข้าไปด้วย ถามเขาก็ได้ความว่า ไม่เคยเข้าไปกัน ไม่กล้าเพราะเป็นป่าใหญ่ วังเวงน่ากลัว และกลัวหลง    (ห้วยบีคลี่เป็นแยกหลักของต้นน้ำแควน้อย ก่อนจะมารวมกับห้วยซองกาเรียและห้วยรันตี ที่ อ.สังขละบุรี กาญจนบุรี)  แต่ผมไม่อนุญาต ด้วยเห็นว่าคณะใหญ่เกินไป การกินการอยู่จะลำบาก และเพราะเป็นการหากินเอาดาบหน้าอีกด้วย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 16, 19:01
การเดินของผมในครั้งนี้ ไม่ได้ใช้ช้างช่วยขนของใดๆ   คณะมีด้วยกัน 8 คน ทุกคนต้องช่วยกันแบกสัมภาระและอาหาร  ซึ่งก็จะเอาตัวรอดได้ประมาณ 7 วัน   

ครับ...คณะคน 8 คน ช่วยแบกสัมภาระและอาหารเอง จะอยู่ได้อย่างค่อนข้างสุขสบายประมาณ 7 วัน  เป็นตัวเลขและระยะเวลาที่ดูจะเป็น norm สำหรับการทำงานที่ได้ผลงานดีที่สุด     ผมเคยอยู่นานกว่านั้น เหนื่อยเลยครับ พบว่าต้องใช้เวลาและสมาธิค่อนข้างมากไปในเรื่องของกิจกรรมเกี่ยวกับการหาอาหาร


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 16, 19:30
ได้กล่าวถึงเรื่องต้นไม้ใหญ่ที่ตายหรือไม่ขึ้นอยู่ในป่า จนกลายเป็นบริเวณพื้นที่โปร่ง    ซึ่ง..หลายกรณีเป็นเรื่องของการตั้งใจกระทำให้ต้นไม้นั้นๆตาย  ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความต้องการนำไม้ต้นนั้นมาใช้สอย หรือนำมาขาย   

เป็นเรื่องที่ใช้เวลาหน่อย เริ่มด้วยการพยายามทำให้มันตาย แล้วก็พยายามทำให้มันล้มคาอยู่ในป่า พอมันเริ่มเก่า กร่อนไปจนถึงระดับหนึ่ง จากนั้นก็ขออนุญาตชักลากนำไม้ตาย ไม้ค้างป่าออกมาใช้สอย

หลายกรณีก็เป็นเรื่องการโค่นต้นไม้เพื่อเอาตัวตะกวด (ตัวแลน) ที่มันหนีสุนัขขึ้นต้นไม้ไปนอนหลบอยู่บนง่ามไม้       

ตัวแลนนี้มันก็ฉลาดนะครับ  มันจะปีนต้นไม้ไปนอนอยู่บนง่ามไม้   ซึ่งชาวบ้านก็มีวิธีการเอาตัวมันลงมาทำอาหารกินสองแบบ คือ โค่นต้นไม้ หรือไม่ก็ยิงมัน แต่ก็อีกแหละ หากยิงมัน มันก็จะตายคาอยู่บนง่ามไม้นั้น ซึ่งก็ยังหนีการโค่นต้นไม้ไปไม่ได้   

(นกแก้วใช้วิธีใช้ปากเกี่ยวกิ่งไม้ไว้เมื่อถูกยิง ห้อยต่องแต่งจนกว่าลมจะพัดแรงๆจนหลุดตกลงมา  กรณีนกแก้วนี้ไม่มีการใช้วิธีโค่นต้นไม้ครับ)         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 16, 19:40
ตัวแลนนี้เอามาทำอาหารอร่อยนะครับ เนื้อขาวยังกะเนื้อไก่ แถมยัง chewy เหมือนเนื้อไก่บ้านอีกต่างหาก ไร้คาวพอที่จะหลอกได้ว่าเป็นเนื้อไก่บ้านได้ (หากไม่เห็นลายหนังของมัน)   เนื้อส่วนที่เป็นบ้องตัน (ส่วนหาง) เป็นส่วนที่ทุกคนจะชอบมากที่สุด   อาหารที่นิยมทำกันก็มีทั้งผัดเผ็ดและแกงเผ็ด    ผมเคยทำไปไกลถึงต้มเป็นแกงจืด   

ตัว Varanus ก็ไม่ต่างกันไปมากเท่าไรนักหรอกครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 09:18
ตัว Varanus ก็ไม่ต่างกันไปมากเท่าไรนักหรอกครับ  
Varanus วรานัส หรือ น้องวรนุชตามลิ้นของคนไทย ตัวนี้คุณตั้งคงหมายถึง ตัวเงินตัวทอง ความจริงตะกวดหรือแลนก็เป็นสมาชิกของสกุล "วรนุช" เหมือนกัน  ;D

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า สัตว์ในสกุลเหี้ย Varanus (http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2011/03/X10397369/X10397369.html) ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกัน ๖ ชนิด คือ

๑. เห่าช้าง  Varanus rudicollis
๒. เหี้ยดำ   Varanus salvator komaini
๓. เหี้ยลายดอก (ตัวเงินตัวทอง) Varanus salvator
๔. ตะกวด (แลน)  Varanus bengalensis
๕. ตุ๊ดตู่  Varanus dumerilii
๖. แลนดอน   Varanus flavescens

จะเอารูปมาประกอบ ก็เกรงใจท่านอาจารย์ใหญ่  ;)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 16, 18:23
ใช่ครับ  ตัวเหี้ยนั้นแหละครับ 

สำหรับตัวเห่าช้างนั้น เคยได้ยินชาวบ้านในพื้นที่ย่าน อ.ไทรโยค กล่าวถึงชื่อนี้เหมือนกัน แต่ผมไม่คิดว่าจะมีมันอยู่ในพื้นที่นี้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 16, 19:01
ตัวแลนนี้ พอจะใช้เป็นเครื่องวัดความบริสุทธ์ของป่าได้เหมือนกัน  หากเราเห็นมันยังคลานเอี้ยวไปเอี้ยวมาเมื่อได้ยินเสียงเรา ก็พอจะแสดงว่าเกือบจะไม่มีคนเข้ามาถึงในพื้นที่บริเวณนั้นเลย   ซึ่งตามภาพปรกติแล้ว ตัวแลนทั้งหลายจะโกยแนบขึ้นต้นไม้เมื่อรู้ว่าเราเข้ามาในพื้นที่ใกล้ตัวมัน   

ตัวแลนต่างกับตัวเหี้ย ตรงที่เราจะพบตัวแลนในพื้นที่ป่าแพะ (ป่าโปร่ง) พื้นที่เป็นเนิน เป็นเนินลาด ผืนดินเป็นดินปนหิน สภาพดินเป็นกรด ผืนดินดูแห้งแล้ง แดดร้อน มีร่มไม้น้อย       ในขณะที่เราจะพบตัวเหี้ยอยู่ตามริมห้วยขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดปี น้ำลึกระดับโคนขาขึ้นไป และมีวังน้ำตามคุ้งน้ำเป็นระยะๆ  เราจะเห็นตัวเหี้ยเดินป้วนเปื้ยนอยู่บริเวณชายน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีรากไม้ราน้ำอยู่ (รากต้นไคร้น้ำ เป็นต้น) เราจึงพบตัวเหี้ยเฉพาะบริเวณใกล้ปากลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี โดยเฉพาะบริเวณที่จะบรรจบกับแม่น้ำสายหลักที่มีน้ำตลอดปี

แต่ก็ดูแปลกดีที่ตัวเหี้ยในลำห้วยดูจะตื่นคนมากกว่าตัวแลนเสียอีก มันจะวิ่งหลบอย่างเดียว  และก็ต่างกับตัวเหี้ยตามคูคลองต่างๆในพื้นที่เมืองที่ดูจะชอบเดินส่ายอาดๆไม่เกรงกลัวอะไรใดๆเลย 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 16, 19:14
ฤๅ นั่นจะหมายความว่า ตัวเหี้ยในป่าก็ถูกล่าเอามากินเหมือนกัน ??

แท้จริงแล้ว เมื่อเอาทั้งสองสัตว์มาทำอาหาร หากไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าเป็นตัวอะไรบ้าง จะว่าเนื้อมันคาวต่างกันก็คงจะไม่ใช่   สัตว์ทั้งสองชนิดนี้กินอาหารที่มีลักษณะที่เหมือนกัน จะต่างกันก็ตรงที่อาหารนั้นเป็นของในพื้นที่ๆบนบกหรือเป็นของในพื้นที่ๆเป็นน้ำเพียงเท่านั้น   
     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 16, 19:44
ขั้นตอนการนำตัวมันมาทำอาหาร ขั้นแรกสุดก็คือการนำตัวมันทั้งตัวมาเผา    ตรงนี้เป็นเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง  คือการเผานั้นจะต้องเผาจนผิวหนังของมันแตกเป็นเม็ดมะขามคั่ว   ดูง่ายดีนะครับ...แต่มันมีเทคนิคตรงที่จะใช้ไปแรงเพียงใด (ไฟอ่อนน่ะใช้ไม่ได้อยู่แล้วนะครับ) แล้วการเผานี้ก็จะต้องมิให้ความร้อนเข้าลึกมากไปจนไปทำให้เครื่องในสุก  เนื่องจากสัตว์พวกนี้..ง่ายๆก็คือ..เป็นสัตว์กินเนื้อ กินซาก  หากกระเพาะหรือลำใส้แตกขึ้นมาเมื่อใด ก็แทบจะต้องโยนตัวทั้งตัวมันทิ้งไปได้เลย เหม็นติดถึงเนื้อของมันสุดๆแบบอย่าได้บอกใครเลยทีเดียว

เผาไป สลับกับเอาตัวมันไปขูดหนังในน้ำ ค่อยๆขูดเอาส่วนที่ผิวหนังสุกร่อนเป็นแผ่นเป็นกาบทิ้งไป   จนถึงระดับหนึ่ง (สุกๆดิบๆระดับเนื้อย่างน้ำตก) จึงทำการผ่าท้อง ควักตับไตใส้พุงทิ้งไป แล้วล้างท้องให้สะอาด    แล้วก็นำเอาทั้งตัวมาย่างต่อ ค่อยๆย่างไปจนเนื้อมันสุกพอง  แล้วจึงน้ำไปผัดไปปแกง     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 16, 19:05
ตอนผ่าท้องควักใส้พุงออกทิ้งไปนั้น ต้องระวังอย่างมากที่จะไม่ให้กระเพาะและลำใส้แตก มิฉะนั้นก็ต้องโยนทิ้งไปเลย เหม็นอย่าบอกใครเชียว  ใช้วิธีผ่ากึ่งกลางตามยาวลำตัว แล้วหงายมีดตัดช่วงใหล่(สองขาหน้า)ให้แยกออกจากกัน ทำเช่นเดียวกับตะโพก(สองขาหลัง) 

ตัวแย้ก็ต้องผ่าท้องและควักใส้ด้วยวิธีนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงลำใส้แตก ต่างกันแต่ว่าไม่ต้องทำการเผาตัวแย้นั้น ทำสดได้เลย จากนั้นจึงนำไปย่างแห้ง หรือต้มแล้วเอามาสับละเอียดยำกับยอดมะกอกอ่อน (หากไม่ลืม ก็จะขยายความต่อครับ) 

เมื่อขูดหนังตัวแลนออกแล้ว ลายด่างดอกดวงบนผิวของมันของมันก็จางลงไป ดูยากว่าเป็นตัวอะไร     ส่วนเนื้ออร่อยที่สุดของตัวแลนและสัตว์อื่นๆที่มีรูปทรงคล้ายๆกับมันก็คือส่วนที่เป็นบ้องตัน (ส่วนตั้งแต่โคนหางไปจนปลายหาง) เป็นส่วนที่หายไปอย่างรวดเร็วจากถ้วยกับข้าวของทุกสำรับข้าว   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 16, 19:37
เนื้อของตัวแลนที่เผาด้วยไฟแรงให้สุกเกินระดับเนื้อย่างน้ำตกไปนิดนึงนั้น (ก่อนจะเข้าสู่สภาพ well done)   จะทำให้กลิ่นคาว กลิ่นสาบ และกลิ่นอื่นๆที่มีอยู่ในเนื้อของสัตว์หายไป

วิธีการเผาตัวสัตว์ต่างๆด้วยไฟแรงๆแล้วขูดขนและผิวทิ้งก่อนที่จะสับย่อยเป็นชิ้นๆแล้วเอามาปรุงเป็นอาหารนี้ ผมเห็นว่ามันเป็นทั้งสัญชาติญาณและภูมิปัญญาประจำตัวของมนุษย์ชาติ  เราจะเห็นว่ามีการทำกันแม้กระทั่งในกลุ่มชนที่ว่ามีชีวิตที่ primitive ที่สุด      จึงไม่แปลกนักที่เราจะเห็นสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่ชาวบ้านได้ล่ามา ก่อนที่มันจะถูกนำไปปรุงเป็นอาหาร มัจะต้องผ่านกระบวนการเผาไฟ   ครับ...ก็แน่นอนว่า เบื้องแรกก็คือการทำเพื่อการกำจัดขน  แล้วเอามาเผาต่อก็เพื่อกำจัดกลิ่นสาบทั้งหลาย ซึ่งยังจะทำให้เนื้อของมันหอมน่ากินขึ้นมาอีกด้วย     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 16, 19:49
ในพื้นที่ที่เป็นป่าตามลักษณะที่ผมได้เล่ามานั้น  เราเกือบจะเห็นเป็นปรกติที่ชาวบ้านจะมีสุนัขสองสามตัวเดินไปด้วยกัน  (จะขออนุญาตใช้คำว่า หมา นะครับ)  หมาเหล่านี้นอกจากจะเดินนำหน้า อันเป็นการช่วยไล่แมลงและไล่งูแล้ว มันยังไล่และเล่นกับตะกวดอีกด้วย ตัวแลนก็จะวิ่งปรูดขึ้นต้นไม้แล้วรีบไต่ไปจนถึงง่ามไม้ จากนั้นก็นอนห้อยเท้ารอ   หมามันก็จะเห่าเรียกนาย จากนั้นก็จะเป็นภาพของการล่าซึ่งอาจจะเป็นการยิง หรือเป็นการโค่นต้นไม้ หรือเป็นทั้งสองแบบเลยทีเดียว 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 16, 19:15
แลนตัวใหญ่มี่สุดเท่าที่ผมเคยได้พบเห็นมา อยู่ในพื้นที่ป่าแม่วงก์  ตัวนี้ไม่วิ่งขึ้นต้นไม้ แต่วิ่งเข้าไปซุกในโพรงไม้ซุงผุๆ  แต่แรกก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไร เห็นหมาของชาวบ้าน 4-5 ตัวเห่ากันขรม แกว่งหางไปวิ่งเห่าไปรอบๆท่อนซุงไม้นั้น ชาวบ้านเจ้าของหมาที่เดินไปด้วยกัน ก็คงนึกว่าเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยหรืองู ไม่มีอะไรน่าสนใจในโพรงนั้น ก็เลยไล่หมาให้เดินไปที่อื่น   ตัวผมเองใช้ไม้เท้า (ค่อนข้างจะมีติดตัวอยู่เสมอ เพื่อเอาไว้ไล่งูและแมลงพวกที่กัดต่อยแล้วปวดมากๆ) อยากรู้ว่าเป็นอะไร ขึ้นไปยืนอยู่บนขอนไม้ เห็นมีรูก็เอาไม้ทิ่มลงไป ก็ไปเจอเอาอะไรก็ไม่รู้ รู้สึกหยุ่นๆ ขยับแหย่อยู่สองสามครั้ง ไอ้หยา..ยังกะไอ้เข้แนะครับ วิ่งพรวดออกไป บรรดาหมาทั้งหลายพอได้ยินเสียงก็หันมาในทันใด วิ่งเข้ารุมประชิดกัน ได้ยินเสียงร้องเป๋งอยู่ครั้งสองครั้ง  คงถูกหางของเจ้าแลนตัวนี้เข้าให้ฟาดเข้าให้ เจ้าแลนวิ่งเตลิดไปอย่างเดียว หมาก็ตามเห่าไปอย่างเดียว เกือบพ้นสายตา ชาวบ้านเจ้าของหมาก็เรียกหมากลับ ปล่อยตัวแลนให้รอดไป

แลนตัวนี้มีลำตัวขนาดใกล้ๆกับหมอนที่เราใช้หนุนนอน แล้วก็ที่ชาวบ้านปล่อยมันน้้น ก็เพราะตัวมันใหญ่เกินกิน  ผมก็เลยได้รู้ว่าแลนตัวขนาดประมาณน่องขาเรานั้น เป็นขนาดที่เหมาะในการนำมาทำอาหารมากที่สุด     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 16, 19:38
เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นตัวแลนทั้งตัวที่ชาวบ้านนำมาวางขาย แต่คงจะไม่เคยเห็นวิธีการผูกมัดมันเมื่อได้ตัวมา 

ชาวบ้านเขาจะหักเล็บนิ้วเท้าของมันของมันนิ้วหนึ่ง (ตีนหน้าข้างหนึ่งและตีนหลังข้างหนึ่ง) แล้วดึงออกมา ซึ่งก็จะเห็นเส้นเอ็นสีขาวใสยืดยาวออกมาด้วย  ผมจำไม่ได้แล้วว่า ดึงเส้นเอ็นนี้ยาวได้เพียงใด จำได้แต่ว่า ก็พอที่จะเอามาผูกรวบตีนคู่หน้าและคู่หลังของมันเพื่อจะได้เอาคานสอดหาม


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 16, 19:45
รู้สึกว่าจะได้กล่าวถึงสัตว์ชื่อ ตัวแย้ มาพอควร     จะขยายความดีใหมครับ?? 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 07 ก.พ. 16, 20:18
ดีแน่นอนครับ ได้เห็นภาพรวมของสัตว์ตระกูลนี้ครบถ้วน ในบริบทของคนท่องไพรครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.พ. 16, 19:09
ผมไม่เคยเห็นแย้ในพื้นที่หุบห้วยขาแข้ง แต่ก็คิดว่าน่าจะมีในบริเวณพื้นที่ระหว่าง บ.ไก่เกียง กับ บ.เกริงไกร เพราะผืนดินบริเวณนั้นเป็นดินค่อนข้างร่วน คือ ดิน+ทรายหบาบ+pebbles(ขนาดหินเกล็ดที่ใส่ในตู้ปลา)  ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ไม่พบตัวมันก็เนื่องมาจากยังเป็นช่วงเวลาที่พวกมันยังจำศีล ยังไม่ออกมาหากินแมลง

ผมรู้จักแย้และเคยกินมาตั้งแต่เด็ก แต่เป็นแย้ตากแห้งที่ถูกไม้ไผ่หนีบประกับเรียงแถวกันมาไม้ละ 4-5 ตัว เป็นแย้ที่ทำแห้งของ จ.ลำปาง พ่อผมเอามาทอดกิน ส่วนผมก็กินแต่ช่วงที่เป็นบ้องตัน เนื้อที่บ้องตันมันก็ไม่มากแต่เมื่อได้แทะเล็มแล้วมันอร่อยมาก     

ในวัยนั้นผมได้รู้จากผู้ใหญ่ที่เขาคุยกันว่า แย้จะไม่พบเหนือจาก จ.ลำปางขึ้นไป  ก็คงจะจริงเพราะผมไม่เคยเห็นชาวบ้านในพื้นที่ๆอยู่นอกแอ่งลำปางพูดถึงเลย และดูจะยืนยันตรงกันว่าไม่มีแย้เหนือแอ่งลำปางขึ้นไป ซึ่งดูจะเป็นจริงแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้     เมื่อมาทำงานเข้าป่าเข้าดงเอาจริงๆ ก็จึงพอจะได้รู้ว่า แย้นั้นมีพบหนาแน่นอยู่ในเพียงไม่กี่พื้นที่ แต่ก็มีกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ๆมีลักษณะผืนดินดังที่ได้กล่าวมา  กล่าวดั่งนี้ก็คงจะพอคาดเดาได้นะครับว่า มีแย้กระจายอยู่ในผืนดินของภาคอิสานแน่นอน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.พ. 16, 19:41
เมื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ  ผมก็ถูกครูจับไปแสดงการเล่น แย้ลงรู     ก็เอาเชือกมามัดรวมแล้วแยกออกเป็นสี่เส้น เอาไปผูกเอวเด็ก 4 คน ให้ดึงกันไปดึงกันมาในสี่ทิศ จนกว่าจะมีผู้ใดสามารถคว้าธงที่ปักอยู่ตรงหน้าแต่ละคนได้

จนกระทั่งเข้าวัยหนุ่มแน่นก่อนจบการศึกษา   เป็นวิชาบังคับที่จะตัองไปทำการสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาในพื้นที่จริง ก็จึงได้พบเห็นแย้ตัวเป็นๆเป็นครั้งแรก ได้เรียนรู้ชีวิตและอุปนิสัยของตัวแย้ ซึ่งรวมทั้งได้จับมันและได้นำมันมาทำอาหารอีกด้วย   

ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวแย้ของผมได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง เป็นความรู้ที่ได้จากมาจากการซักถามและการถ่ายทอดให้โดยชาวบ้านผู้หนึ่ง นามว่า ทิดร่วม    พื้นที่ที่ผมต้องเข้าไปทำงานนั้นคือ บ.ชะลาดระฆัง อยู่ห่างจากตัว จ.ตาก ประมาณ 16 กม. แยกขึ้นเหนือจากเส้นทาง จ.ตาก - อ.บ้านด่านลายหอย - จ.สุโขทัย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.พ. 16, 17:20
ขออภัยที่หายไปเป็นบางวัน  หมอนัดบ้าง ไปงานศพบ้าง ครับผม


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.พ. 16, 17:49
แย้เป็นสัตว์ที่ขุดรูอยู่ แต่ละตัวเขาก็จะมีรูเฉพาะของเขา ผมไม่เคยเห็นรูแย้ที่มีแย้ลงไปมากกว่า 1 ตัว  เคยเห็นแต่ว่าเมื่อถึงวาระที่ต้องวิ่งหนีกันพล่าน พบรูใหนก็รีบลงไปหลบก่อน แต่ก็ต้องถูกไล่..รีบโผล่ออกมาวิ่งสุดฝีเท้าฝ่าสนามสมรภูมิไปเข้ารูของตัวเอง   

รูของเขาจะอยู่ใต้ผิวดินลึกเพียงใดผมไม่รู้  คิดว่าน่าจะลึกไม่เกิน 50 ซม. แล้วก็คิดว่า ณ จุดที่ลึกที่สุดของรูของเขาก็น่าจะต้องมีลักษณะเป็นโพรงกว้างพอที่เขาจะหมุนกลับตัวได้

รูแย้ของแต่ละตัวจะมีอยู่ 2 ปากรู  คล้ายประตูหน้าบ้านเอาไว้เข้าออกยามปรกติ แล้วก็มีประตูหลังบ้านเอาไว้หลบหนีศัตรู รูหลังบ้านนี้เรียกกันว่า รูเปี่ยว (ออกเสียงว่าเปี่ยว จะสะกดว่า เปลี่ยว หรือแป่ว ก็ไม่ทราบครับ)   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.พ. 16, 18:17
พื้นที่ในภาคอิสานนั้นมีแย้กระจายอยู่ทั่วไปแน่ๆ  แต่ผมไม่คุ้นกับพื้นที่อิสานมากนัก จึงมิอาจกล่าวถึงได้ว่ามีชุกชุมอยู่ที่ใดบ้าง  เช่นเดียวกับภาคกลางตอนใต้และภาคใต้ต่ำกว่า จ.ราชบุรี ลงไป

ครับ..  นอกจากที่พื้นที่ของ บ.ชะลาดระฆัง ที่มีแย้ชุกชุมมากๆ ซึ่งไม่เหนือขึ้นไปถึงเขต อ.บ้านตาก   ก็มีในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ จ.นครสวรรค์ แยกไปตามถนนเส้น อ.หนองเบน - บ.ตลุกข่อยหนาม - บ.บ่อถ้ำ - บ.ศาลเจ้าไก่ต่อ  เข้าไปบริเวณที่เรียกว่าทุ่งหมาใน จนถึงมะม่วงสามพัน (ธุ์ ??)   แล้วก็ในพื้นที่ บ.ท่ามะนาว และที่ราบด้านตะวันออกของเขื่อนท่าทุ่งนา บนเส้นทาง บ.ลาดหญ้า ไปเขื่อนเจ้าเณร   อีกทั้ง แถบพื้นที่ปราสาทเมืองสิงห์ของ จ.กาญจนบุรี (บ.เก่า บ.ลุ่มสุ่ม บ.สุ้มสุ่ย)     

สำหรับความเห็นของตัวผมเองนั้น แย้ก็คงมีกระจายอยู่และพบเห็นได้ทั่วไป แต่เป็นไปในลักษณะ...อ้อ..อยู่นั่นใง (คือไม่ชุกชุม)    ต่างไปจากพื้นที่บริเวณที่ได้กล่าวถึงมาเหล่านั้น ซึ่งคือพื้นที่ๆเป็นดงแย้จริงๆ ที่มีแย้ตัวขนาดความกว้างประมาณ 3 นิ้วมือวิ่งกันให้เกลื่อน (เมื่อถึงฤดูของมัน)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.พ. 16, 18:45
ที่ผมบอกขนาดไปว่า ตั้วแย้ขนาด 3 นิ้วมือนั้น คือตัวของมันที่มิได้รวมครีบข้างตัวของมันที่สามารถแผ่ออกไปได้อีก (เพื่อทำให้ตัวของมันดูกว้างและใหญ่ขึ้น)

แย้เป็นสัตว์กินแมลงและสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กๆ จึงอาจจะทำให้หลายคนเห็นความน่าแขยงดั่งเช่นตัวจิ้งจก ตุ๊กแก และจิ้งเหลน   แท้จริงแล้วแย้เป็นสัตว์ที่น่ารักมากกว่าสัตว์ที่กล่าวมาเยอะ     เขาเป็นพวกมีผิวหนังเป็นเกล็ด แต่เป็นเกล็ดขนาดเล็กจิ๋วมากพอที่จะทำให้ผิวของเขานุ่มเนียน ไม่นิ่มเหมือนจิ้งจกและไม่หยาบเหมือนกิ้งก่าหรือตุ็กแก  จะว่าไปก็คล้ายกับการสัมผัสตุ๊กตาผ้าของเด็กเล่น  ผิวของเขาไม่ waxy เหมือนงูและไม่มีกลิ่นสาบ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.พ. 16, 19:15
ได้กล่าวถึงเรื่องว่าแย้ก็จำศีล ซึ่งผมไม่มีความรู้พอว่าเขาจำศีลจริงๆนานเพียงใด     แต่ในประสพการณ์ของผมนั้น เมื่อแรกมีฝนตก 2-3 ห่าแรกไปแล้ว (ประมาณปลายเดือนมีนาฯ หรือต้นเดือนเมษาฯ) แย้จะออกจากรูมาหากินแมลง จนเมื่อมีฝนตกมากถึงระดับทำให้ผืนดินฉ่ำน้ำอย่างต่อเนื่อง เมื่อนั้นก็จะไม่เห็นแย้ออกมาเพ่นพ่านอีกเลย 

ออกมาเพ่นพ่านก็ต้องถูกจับใช่ใหมครับ  หลายผู้คนก็รีบจับเมื่อแรกเห็นเขาออกมาวิ่ง หลายผู้คนก็รอเวลาให้เขาอ้วนพีสักระยะหนึ่ง    การจับตัวเขาก็มีตั้งแต่ใช้วิธีขุด ใช้หนังสะติ๊ก ใช้บ่วงแล้ว ใช้เบ็ดตกปลา ใช้ปืนยิง      แต่...สำหรับพวกผมนั้นใช้ก้านไม้เล็กๆเท่านั้นเอง (น่าสนใจใหมครับ)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.พ. 16, 19:09
ผมใช้คำว่า "จับ"    ครับ..เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ใช้คำว่าจับ ไม่ใช้คำว่า ล่า และก็ไม่ใช้คำว่า ยิง   แล้วก็มีอีกคำหนึ่งที่ใช้กันก็คือ ไปดักแย้

การจับหรือดักแย้ด้วยวิธีการใช้เบ็ดราวนั้น เป็นวิธีการที่กล่าวถึงกันทั่วไปในทุกถิ่น   สำหรับผมนั้น เมื่อใด้ยินว่าแถวนั้นใช้วิธีการเบ็ดราว นั่นก็จะบ่งบอกว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีแย้วิ่งกันเพ่นพ่านและชุกชุมมาก

วิธีการใช้เบ็ดราวก็ง่ายๆ   ก็คือเอาเบ็ดราวที่ใช้ในการตกปลานั่นแหละ เอามาขึงบนบก ให้ตัวเบ็ดห้อยอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 10 ซม. เหยื่อเกี่ยวเบ็ดก็ใช้ข้าวตอกดอกขาวๆนั่นเอง ขึงเบ็ดเสร็จก็สั่นเชือกราวเบ็ดให้แกว่งไกว เหยื่อข้าวตอกก็จะกระโดดไปมา  จากนั้นก็หลบไปทำธุระอื่นๆ สัก 2-3 ชม.จึงค่อยกลับมาดู  เมื่อแย้ตัวแรกหลงกลกระโดดงับติดเบ็ด (ด้วยนึกว่าเป็นแมลง)  มันก็ต้องดิ้น ก็จะทำให้เบ็ดตัวอื่นๆที่ผูกอยู่กับเชือกราวเดียวกันแกว่ง แย้ตัวอื่นๆก็จะหลงกลเข้าไปงับเบ็ดตัวอื่นๆ ด้วยนึกว่าเป็นแมลงเช่นกัน 

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.พ. 16, 19:34
เท่าที่ผมได้ประสบพบมาจริงๆนั้น มีการใช้เบ็ดราวอยู่แห่งเดียว ก็ที่ บ.ชะลาดฯ จ.ตาก นี่เท่านั้นเอง   

ด้วยที่รู้อุปนิสัยของแย้ในการออกมาหากินในช่วงเวลาต่างๆ  ชาวบ้านก็ใช้วิธีใช้ "แร้ว" ดักแย้อีกด้วย    แร้วนี้ทำง่ายๆจากไม้ไผ่ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวบางอย่างที่ต่างไปจากแร้วดักสัตว์อื่นๆ  (หาดูภาพแร้วนี้จากกูเกิ้ลเอาเองนะครับ)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.พ. 16, 20:26
คราวนี้ก็มาถึงเรื่องของอุปนิสัยของแย้ ก่อนที่จะไปเข้าเรื่องการจับแย้ด้วยวิธีง่ายๆ นะครับ

แย้จะออกจากการจำศีลมาหากินเมื่อย่างเข้าช่วงฝนแรกของปี ก็คือช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม-จนตลอดเดือนเมษายน ก็คือช่วงก่อนที่จะเริ่มมีฝนตกค่อนข้างชุกในช่วงเดือนพฤษภาคม    ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จะมีแมลงหลากหลายชนิดที่เข้าสู่วัฎจักรของการเจริญพันธุ์ออกมาเวียนว่อนอยู่อย่างมากมาย   เป็นอาหารชั้นดีของสัตว์กินแมลงหลายชนิด

นั่นเป็นช่วงเวลาของปี      ก็เข้ามาสู่ช่วงเวลาของดินฟ้าอากาศ  วันใหนฝนตก แย้ก็จะหลบฝนอยู่ในรู ไม่ออกมาให้เปียกฝนหรอก  หากฝนตกมามากๆจนผืนดินฉ่ำแฉะก็ไม่ออกมาอีก ก็จะออกมาให้เปื้อนดินโคลนไปทำใมกันเนาะ   โน่นแน่ ต่อเมื่ออากาศมีความอบอุ่น แห้ง และมีแสงแดดดี  โผล่ออกมาก็จะได้ทั้งแดดที่อบอุ่น (แย้เป็นสัตว์เลือดเย็น) ได้อาหารดีๆ ได้ผสมพันธุ์ ฯลฯ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.พ. 16, 20:48
เข้ามาในเรื่องของช่วงเวลาในแต่ละวัน

เช้าก่อนแดดจะออก อากาศในพื้นที่ชนบทจะยังคงเย็นอยู่ (ปกติก็แถวๆ 20 - 25+ องศา) แย้ยังนอนสบายอยู่ในรู  จนกระทั่งสายๆที่แดดเริ่มจัดและร้อนแรง (ประมาณ 9 โมงเช้า) แย้จึงจะเริ่มออกจากรู ออกวิ่งกันไปวิ่งกันมาเกลื่อนกลาด ผลุบๆโผล่ๆเข้าๆออกๆรู    ออกวิ่งไปแล้วก็หยุดยืดคอชะเง้อดู (อะไรก็ไม่รู้) แล้วก็วิ่งต่อ     

เมื่อถึงเวลาแดดจัดๆและร้อนมากๆในช่วงเวลาประมาณเที่ยงวัน   ก็ร้อนเกินไป  พวกแย้ก็จะกลับเข้ารูหลบร้อนเหมือนกัน ยังกะเป็นช่างเวลา Siesta ของพวกละติน    จะกลับออกมาอีกครั้งก็ประมาณบ่ายโมงแก่ๆ  แล้วก็จะทะยอยกลับเข้ารูไปพักผ่อนตั้งแต่ประมาณบ่าย 3 โมง  พอถึงเวลาประมาณสี่โมงครึ่ง (ยังกะเวลาราชการ) ก็เกือบจะไม่มีแย้สักตัววิ่งให้เห็นเลย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.พ. 16, 18:56
รู้กิจวัตรประจำวันของแย้แล้ว  คราวนี้จะจับเขาก็ง่าย   

เมื่อแย้มีนิสัยชอบวิ่งลงรูเมื่อเห็นอะไรผิดปรกติ  ตอนกลางวันที่เราเดินผ่านไปทำงาน เราก็จะเห็นเขาวิ่งลงรู เราก็จำเอาไว้ว่ารูเหล่านั้นอยู่ที่ใดบ้าง จำไม่ได้หมดหรอกครับ เอาแค่เพียงแถวๆใหนก็พอแล้ว     

พอเดินกลับมาจากการทำงานในตอนเย็น เราก็หาก้านไม้ขนาดประมาณก้านมะยมติดมือมาด้วยก้านสองก้าน  แวะเวียนไปดูบริเวณที่เราเห็นแย้ลงรูเมื่อตอนเช้า ดูขุยดินสดๆ (ดินชื้น) ที่กองอยู่เป็นกองเล็กๆ  นั่นแหละครับคือปากรูที่เขาอยู่ เมื่อเขาลงรูไปแล้วเขาก็จะดันดินขึ้นมาปิดปากรู   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.พ. 16, 19:16
เพียงใช้ไม้ค่อยๆแหย่เบาๆผ่านกองดินที่ปิดปากรู ชักขึ้นชักลงเบาๆหรือค่อยๆปั่นให้ลึกลงไปคล้ายกับการปั่นจิ้งหรีด ทำแบบเบาๆและนุ่มนวลจริงๆ มิฉะนั้นแย้ก็จะวิ่งออกไปทางรูเปี่ยว

การทำเช่นนี้จะทำให้เม็ดดินที่ปิดอยู่ปากรูนั้นร่วงลึกลงไปในรู แย้เขาก็จะใช้ตีนคู่หน้าค่อยๆดันดินกลับขึ้นไปที่ปากรู   เรารู้สึกรับรู้การดันของแย้ได้จากไม้ที่เราแหย่ลงไป แล้วเราก็รู้ทิศทางของรูจากไม้นั้น รวมทั้งยังรู้อีกด้วยว่าตัวแย้ที่ดันดินขึ้นมานั้นอยู่ใกล้กับปากรูมากน้อยเพียงใด  แล้วจะไปเหลืออะไรเหรอะ จะใช้มีด ใช้ก้อนหิน ใช้ไม้ ปักหรือทุบก็ได้ทั้งนั้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.พ. 16, 19:44
หาได้สี่ห้าตัวก็พอกินแล้วครับ    แล้วก็มีข้อแม้หรือข้อห้ามบางอย่างที่เหมือนๆกันในทุกพื้นที่ๆมีแย้ครับ  ผมได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก  ก็คือ ห้ามเอาแย้สดมาแช่น้ำปลาแล้วทอดให้สุก ชาวบ้านเชาเชื่อกันว่า มันจะทำให้แย้หายไปจากป่าหมดเกลี้ยง

ดูจะเป็นเรื่องว่ากันไป-เชื่อกันไปของชาวบ้าน  แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีพื้นฐานมาจากความชาญฉลาดของชาวบ้านที่จะดูแลและใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในธรรมชาติแบบยั่งยืน     ครับ..ก็บ้องตันของมันชุบน้ำปลาแล้วทอดมันอร่อยจริงๆนี่นา กินกันคนละสองสามบ้องก็หมายถึงหายไปสองสามตัว  ไม่ต่างไปจากการกินกบแต่เพียงน่องขาคู่หลังเท่านั้น ...ฆ่ามันทั้งตัวเพื่อกินมันเพียงนิดเดียว     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 16, 18:55
ว่าจะเล่าต่อเรื่องการทำอาหาร  เมื่อวานนี้ฟังวิทยุได้ความว่า พวกคนรักนกกก (หรือนกกาฮัง) เขากำหนดให้เป็นวันรักนกกก  พอวันนี้ก็เป็นวัน St.Valentine วันแห่งความรัก    ผมก็เลยต้องเว้นวักเรื่อง ขอเปลี่ยนไปเล่าเรื่องความน่ารักของแย้และความรักของนกกก น่าจะเหมาะสมมากกว่า

แย้เขาก็มีความน่ารักนะครับ  วันหนึ่งคนงานในคณะของผมก็ใช้หนังสะติ๊กยิงแย้ในดงแย้ชุกชุมแถบเขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรี  เดินไปยิงไป ทั้งคนทั้งแย้ต่างก็ไม่อยู่นิ่ง ก็เลยยิงไม่โดนหรือยิงถูกก็เพียงถากๆเท่านั้น   มีอยู่ตัวหนึ่งถูกเข้าแถวท้อง คงจุกมาก ดิ้นอยู่ เลยถูกจับเป็น  ผมก็เลยขอเขาเอาเผื่อว่าจะเอาไปปล่อยเมื่อเขาหายดีแล้ว เอาตัวเขามาพลิกคว่ำพลิกหงาย ค่อยๆลูบตัวเขาหัวจรดหาง  เขาก็ฟื้นขึ้นมาแบบนิ่งๆเชื่องๆเลย ไม่กัดไม่ทำอะไรทั้งสิ้่น ไม่กัดตามวิสัยของแย้เลย ยอมให้ผมลูบตัวเขาเล่นอยู่เป็นนาน    ก็อยู่กับผมอีกหลายวันก่อนที่จะเสร็จงานกลับเข้ากรุงเทพฯ ในที่สุดผมก็เอาเขามาเลี้ยงที่บ้านในกรุงเทพฯ ซึ่งพอมีสนามหญ้าให้เขาวิ่งเล่นได้ เขาก็ผลุบๆโผล่ๆวิ่งไปมาเหมือนกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงฝนเริ่มจะตกมาก  ไม่นานก็หายเงียบไป เดิมทีก็เข้าใจว่าเขาคงจะเข้าจำศีล แต่สุดท้ายก็หายไปเลย

ก็พอมีประสพการณ์ที่ทำให้ผมเชื่อว่า คนกับสัตว์นั้นมันก็พอที่จะสื่อสารกันได้ทางการสัมผัสและทางจิต โดยเฉพาะในเรื่องความเมตตา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 16, 19:31
ต่อเรื่องนกเงือกนะครับ  เมื่อวานนี้ตัองชะงักเรื่องไว้เพราะมีงานจำเป็นที่จะต้องทำ

ครับ..นกเงือกเป็นนกที่ครองคู่ผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต   

เช้าวันหนึ่งที่ บ.ใหม่ เลย บ.เกริงไกร ลึกเข้าไปในห้วยขาแข้ง  ผมเดินล่วงหน้าไปก่อนที่ช้างของคณะผมจะทำการบรรทุกสัมภาระ   ผมได้เห็นนกเงือกทั้งตัววางพาดไว้ที่เฉลียงบ้านของชาวบ้านๆหนึ่ง ก็แวะเข้าไปดู ถามเขาว่า ยิงได้มาหรือไร   เขาตอบมาว่าไม่ได้ยิง  แล้วก็เล่าว่าเมื่อฟ้าเริ่มสว่าง ขณะที่ควาญช้างของคณะของผมกำลังจับช้าง (ไปตามช้างที่ปล่อยให้ไปหากินในป่า) อยู่ดีๆ ก็มีนกเงือกตัวหนึ่งพุ่งตกลงมาที่หน้าช้าง ช้างก็ตกใจ วิ่งเตลิดไป  ควาญช้างจึงได้เก็บนกตัวนั้นแล้วเอามาให้ไว้ ก็คือตัวนี้แหละ  เขาบอกว่า มันฆ่าตัวตาย เพราะคู่ของมันถูกยิงตายไปเมื่อไม่นานมานี้ (มิใช่ชาวบ้านพวกเขาที่เป็นคนยิง)   เรื่องการตายของนกเงือกตัวนี้ด้วยเหตุการฆ่าตัวเองนี้จะจริงเท็จประการใดผมไม่สามารถยืนยันได้  แต่ผมก็ยืนยันได้ว่าไม่เห็นร่องรอยของกระสุนปืนใดๆบนตัวของเขา

จนกระทั่งพบกับช้างบรรทุกสัมภาระในตอนบ่ายแก่ๆ ก็จึงได้ซักถามกับควาญช้าง  จึงพบว่า มิน่าเล่า ในเช้าวันนั้น ควาญช้างจึงจับช้างได้ช้าและมาสายจนผมต้องออกเดินไปทำงานก่อนที่จะได้ตัวช้างมาช่วยกันบรรทุกสัมภาระ  ครับ..ได้ความว่า พอนกตกลงมาต่อหน้า ช้างก็ตกใจ เตลิดไปไกล กว่าจะตามแกะรอยไปจับตัวมาใด้ ก็เล่นเอาเหนื่อย

เป็นประสพการณ์ของผมที่ได้มีโอกาสสัมผัสครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 16, 20:07
เมื่อวานนี้ วันแห่งความรัก ผมก็ได้รับของขวัญเป็นลูกไก่แจ้ตัวน้อยนิดขนาดหัวแม่มือ เขาเจาะไข่ออกมาพอดี  ใช้เวลาหลายชั่วโมงเลยทีเดียว ส่งเสียงร้องเจี๊ยบๆออกมาเป็นระยะๆ  แม่ก็ไม่สนใจมัวแต่ไปเลี้ยงตัวพี่ที่ออกมาก่อนสองสามวัน   สุดท้ายก็โผล่ออกมาทั้งตัว   เมื่อเย็นนี้ก็ยังเดินเด้งอยู่เลย พรุ่งนี้ก็น่าจะแข็งแรงแล้ว   

น่ารักมากครับ   หลานชอบมาก ได้เห็นครบทั้งกระบวนการตั้งแต่การไข่ การฟัก การเจาะไข่ออกมาเป็นลูกเจี๊ยบแรกเกิด จนวิ่งไปมาคล้ายลูกปิงปองกลิ้งไปมา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 16, 20:53
กลับมาเรื่องของแย้อีกเล็กน้อย

ดูท่าทีจะสนุกที่จับแย้ที่อยู่ในรูของเขาได้  แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังอยู่มากเหมือนกัน   ครับ...งู..ครับ งูก็ลงรูแย้ไปรองาบอยู่เหมือนกัน  ก็อย่างที่เล่ามาว่า แย้วิ่งเข้าๆออกๆรู  รูของตัวเองบ้างรูของตัวอื่นบ้าง  งูเขาก็คงรู้อยู่ ก็เลยแอบเข้ารูไปรองาบโดยไม่ต้องเลื้อยไล่ออกแรง

ก็พบเข้ากับตนเอง   เห็นแย้วิ่งลงรูแต่ลงไม่สุด มีหางโผล่   ก็เสร็จเราละซีครับ  ไปดึงหางของมันก็ไม่สามารถดึงตัวมันออกมาได้ คล้ายกับมีอะไรดึงอยู่อีกข้างหนึ่ง  จึงใช้ฆ้อนธรณี (ฆ้อนที่ใช้ในงานสำรวจธรณ๊วิทยา ใช้ทุบหิน แงะหิน และสารพัดประโยชน์ ตั้งแต่นั่งไปจนถึงเป็นตะขอใช้ปีนเนินสูงชัน รวมถึงใช้เป็นตะขอช้าง ฯลฯ)  ค่อยๆถากดินขุดลงไป  อ้าว เจอหัวงูกำลังงับแถวรักแร้ของแย้  ตัวแย้เองก็มีอาการแบบนิ่งๆ แต่ยังไม่ตาย    พิจารณาดูแล้ว หัวงูเป็นทรงสามเหลี่ยม ก็เข้าใจว่า น่าจะเป็นงูไม่มีพิษ (พิษไม่แรง)  จึงจัดการกับงู แย่งตัวแย้มา   พอเห็นรอยฟันงูที่ข้างตัวแย้เป็นทรงยังกับรอยฟันสุนัข ก็พอจะยืนยันว่าน่าจะเป็นงูประเภทไม่มีพิษ   แต่เมื่อเสมือนเป็นการช่วยชีวิตแย้แล้ว ก็เลยไม่คิดจะเอามันมากิน  สักพักแย้ก็พอจะมีแรงขยับตัว  พอเริ่มมีแรงดีก็ปล่อยเขาไป   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 16, 21:04
แล้วผมก็เคยเห็นคนพยายามจะเลี้ยงแย้  อยู่อีกฝั่งถนนแถวๆตรงข้ามปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี

มีการใช้สังกะสีหลังคา นำมากั้นเป็นคอกสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 4x5 ม.   ครั้งแรกผมเห็นมีแย้จำนวนมากวิ่งพล่านอยู่ ครั้งต่อไปที่เข้าไปเยี่ยมเยียน กลับไม่เห็นตัวแย้เลย    ได้ความว่า มันขุดรูมุดใต้รั้วสังกะสี ออกไปนอกค่าย กันอบ่างสนุกสนาน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 16, 18:56
อาหารที่ทำจากแย้ประเภทผัดเผ็ดและแกงนั้น นึกไม่ออกเลยว่าได้เห็นและได้ลิ้มรสบ้างหรือไม่   เห็นมีแต่นำมาย่างให้สุกแล้วฉีกเป็นชิ้นจิ้มเกลือหรือน้ำปลากิน  ที่เห็นทำกันมากที่สุดก็คือเอามาทำแย้แห้ง เก็บสะสมเอาไว้ใช้ยามขาดอาหาร  ซึ่งก็เอามาทำได้ทั้งตำน้ำพริก เครื่องปรุงไม่มีอะไรมากไปกว่าพริกแห้ง เกลือ และแย้แห้งตำเข้าด้วยกัน    หรือเอามาย่างให้พอนิ่มแล้วฉีกกินกับข้าวเหนียวหรือข้าวสวย    หรือไม่ก็เอามาทอดให้พอกรอบเล็กน้อย จิ้มน้ำปลาทานกับข้าวร้อนๆ   สำหรับแย้สดที่เอามาแช่น้ำปลาแล้วทอดนั้นเป็นเมนูของคนในเมืองที่เข้าไปทำงานอยู่ในพื้นที่    และสุดท้ายก็เป็นเมนูอร่อยของชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มชุมชนเมือง 

แย้จะออกจากรูมาหาอาหารในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มะกอกกำลังแรกผลิใบและยอดอ่อน (สะเดาก็เช่นกัน)  ครับ..แตกใบอยู่บนผิวดินนั่นแหละ ไม่ต้องใช้ไม้ไปสอยมาจากต้นสูงๆ     

เอาแย้มาสดมา 2-3 ตัว ผ่าท้อง (อย่าให้ใส้แตก) ควักใส้ทิ้งแล้วล้างให้สะอาด  ตั้งหม้อต้มน้ำให้เดือด แล้วก็ใส่แย้ลงไป  ระหว่างที่รอให้แย้สุก ก็เอาหอมแดง 7-8 หัว กระเทียม 2 หัว และพริกแห้ง 3-4 เม็ด เอาไปหมกไฟหรือเสียบไม้ย่างให้สุก เอากระปิประมาณก้อนเท่าหัวแม่มือ ปั้นเสียบไม้หรือจะใช้ใบตองห่อก็ได้ ย่างไฟให้สุกหอม

เอาพริกใส่ครก โขลกให้แหลก  ปอกเปลือกหอมและกระเทียมที่ใหม้ทิ้งไป เอาใส่ครกแล้วโขลกต่อไป คะเนดูว่าละเอียดพอควรแล้วก็ใส่กะปิลงไป คลุกให้เข้ากันแล้วพักเอาไว้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 16, 19:17
เอายอดมะกอกและใบอ่อน ขนาดกำปริมาณประมาณขวดน้ำ ล้างน้ำ สะบัดพอแห้ง แล้วเอามาแผ่ย่างบนไฟแรงๆ พลิกไปพลิกมาจนใบมะกอกสยบพอควร    รูดเอาใบมะกอกออกมารวมเป็นปั้นแล้วใช้มีดซอยพอละเอียด (ขนาดประมาณครึ่ง ซม.)   เอาแย้ที่ต้มสุกแล้วมากก (ตัด)หัวทิ้งไป กกเล็บทิ้งไป ที่เหลือก็เอามาลาบ (สับให้ละเอียดจนคล้ายหมูบะช่อสับแบบหยาบ)

ได้เวลาแล้วก็เอากะละมังทำกับข้าวมา เอาใบมะกอกที่ซอยแล้วใส่ลงไป ใช้มือโหย่งให้มันหลุดแยกออกจากกัน ไม่เป็นก้อนๆ เอาเนื้อแย้สับใส่ลงไปคลุกเคล้า พอดูเข้ากันดีแล้วก็เอาเครื่องชูรสที่ตำไว้นั้นใส่งลงไป คลุกให้ทั่วพร้อมไปกับการบีบคั้นเสมือนหนึ่งการคั้นกะทิ น้ำจากใบมะกอกที่ออกรสเปรี้ยว ฝาด (แฝงไว้ด้วยความหวานชุ่มคอ) ก็จะออกมาผสม   ลองชิมรสดู ปรกติก็ไม่ต้องเติมอะไรอีกแล้ว แต่หากต้องการก็เพียงเติมน้ำปลาและพริกป่นให้ได้รสแซบตามที่ต้องการ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 16, 19:42
ในปัจจุบันนี้ ผมก็ยังเมนูนี้ทานอยู่นะครับ  แต่ได้แปลงวิธีการทำออกไปให้ง่ายขึ้น  เป็นเมนูแบบ "แสร้งว่าแย้ยำยอดมะกอก"

เมนูนี้จะทำได้เมื่อใดก็ตามที่เห็นมียอดมะกอกอ่อนออกมาขายอยู่ในตลาด     ลองดูครับ ง่ายมาก แถมอร่อยด้วย    จะใช้เป็นเมนูทานเล่น หรือใช้แกล้มเหล้าแกล้มเบียร์ หรือใช้ทานกับข้าวร้อนๆก็ได้ทั้งนั้น

เอาแบบง่ายๆสุดๆ ไม่ต้องใช้ฝีมือใดๆเลยนะครับ    ยอดมะกอกที่ได้มานั้นก็ทำอย่างที่เล่ามา แต่โดยใช้เตาแกสทำให้มันสยบแทนการใช้เตาอั้งโล่   สำหรับหอมแดงนั้น เพิ่มอีกสักหัวสองหัว ปอกเปลือกแล้วซอยบางๆเลย (ทำเหมือนซอยใส่ในถ้วยน้ำปลาที่ใช้จิ้มอาหาร)  กระเทียมไม่ต้องใช้ ยกเลิกไป   พริกแห้งก็ใช้พริกขี้หนูสดแทนตามความเผ็ดที่ต้องการ จะซอยก็ได้หรือจะสับให้ละเอียดก็ได้ทั้งนั้น  กะปิ ไม่ต้องใช้ ยกเลิกไป  สำหรับเนื้อนั้น ใช้คอหมูย่างที่มีขายอยู่ตามหน้าปั้มหรือตามรถเข็นขายไก่ย่างส้มตำ จะใช้ปริมาณมากน้อยเพียงใดก็แล้วแต่จะชอบ  เท่านั้นเอง

เอาทั้งหมดมาขยำดังที่เล่ามาโดยใช้น้ำปลาดีที่มีกลิ่นหอมๆปรุงรสตามชอบ  เท่านี้เองครับ
   
ใส่ปากเคี้ยวแล้วลองย้ำเหมือนกับการกินเมี่ยงคำ  ก็จะได้อรรถรสที่อร่อยอย่างครบถ้วน 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 16, 20:08
เมนูง่ายๆ ทำง่ายๆ ใช้วัสดุพื้นบ้าน อุดมไปด้วยพืชผักและวิตามิน   ลองทำดูนะครับ

เขียนมาถึงตรงนี้ เพิ่งจะนึกออกว่า เหมือนเคยเล่าถึงเมนูนี้ในเรือนไทยมาแล้ว ขออภัยที่หากเป็นการเล่าซ้ำครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 16, 19:43
เล่าเรื่องแย้ลงผิดรูเจองูรองาบอยู่  ก็จะต่อไปในเรื่องของงู

ผมพบเห็นหรือจะเอ๋กับงูน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผมเดินทำงานอยู่ในป่าดง ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะว่าต้องระวังตัวให้มากเป็นพิเศษ ด้วยว่าใส่รองเท้าแตะเดินทำงานก็เลยต้องวางเท้าเหยียบบนพื้นที่ๆไม่ค่อนข้างเด่น ประกอบกับเดินแบบไม่ระวังเสียงอีกต่างหาก ซึ่งเป็นการไล่สัตว์พวกมีพิษที่ชอบหมกตัวแอบซ่อนอยู่ให้หลบหนีไป 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 16, 20:37
ในพื้นที่ห้วยขาแข้งช่วงล่างนี้ แม้กระทั่งงูพวกที่เลื้อยอยู่ตามกี่งตามใบไม้ (งูเขียว งูปากจิ้งจก) ก็เกือบจะไม่เห็นเลย  ซึ่งก็คงจะเนื่องมาจากลักษณะของพืชพรรณไม้ของพื้นที่นี้  สำหรับพวกงูตัวเล็กๆ (งูขว้างฆ้อน ?) ที่ชอบซ่อนตัวอยู่ใต้ใบไม้หรือก้อนหินในห้วยแห้ง ก็ไม่พบเห็นเช่นกัน   ส่วนงูมีพิษแรงๆเช่นงูเห่าและงูจงอางนั้น จำได้ว่าได้ยินการพูดถึงงูเห่าอยู่บ้าง แต่ไม่เคยได้ยินการพูดถึงงูจงอางเลย     สำหรับงูจงอางนั้นพบอยู่มากในพื้นที่ก่อนข้ามเข้าเขตลุ่มห้วยขาแข้ง

ชื่อของงูที่ผมพอจะได้ยินชาวบ้านมีการกล่าวถึงบ่อยคืองูเหลือม และก็ไม่เคยได้ยินการกล่าวถึงงูหลาม   ส่วนสำหรับชื่องูที่ได้ยินบ่อยมากที่สุดก็คือ งูสิง ครับ

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่ามันก็น่าจะมีทุกชนิดนะครับ เพียงแต่ว่าความชุกชุมของมันอาจจะไม่มากเท่ากับในพื้นที่อื่นๆ       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 16, 20:53
สำหรับงูสิงนั้น เป็นงูที่เมื่อมันเห็นคนหรือรู้ว่าเป็นคนเดินมาเมื่อใด มันจะต้องโกยอ้าวแบบหนีสุดชีวิตอย่างเดียว  มันรู้ว่ามันจะต้องถูกตามล่าเอาไปกินแน่ๆ และก็จะเป็นการตามล่าแบบไม่พักหยุดจนกว่าจะได้ตัวมัน

ชื่องูสิงเป็นชื่อของงูที่ชาวบ้านทั่วประเทศไทยรู้จัก  และเมื่อถามชาวบ้านถึงงูชื่อนี้ ก็จะได้คำอธิบายที่พ่วงสรรพคุณความอร่อยตามมาด้วยเสมอ   เขาว่าเนื้อของมันเหมือนเนื้อไก่    ครับ..เนื้อของมันขาวยังกับเนื้ออกไก่จริงๆ  ส่วนกลิ่นและความคาวนั้น ผมว่าน้อยมากพอที่จะเอามาต้มทำเป็นแกงจืดได้   

ผมไม่เคยกินเนื้องูสิงขณะเมื่อทำงานอยู่ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง  เคยแต่กินเนื้องูเหลือมและตับของมันก่อนที่จะต้องขยับไปเข้าพื้นที่สำรวจส่วนเหนือขึ้นไป 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 16, 18:33
เนื้องูเหลือมก็พอจะจัดได้ว่าไม่คาวนัก มีกลิ่นอยู่บ้าง แต่คงจะเอามาทำอาหารได้เพียง 2 แบบ คือ หั่นเป็นแว่นๆแล้วทอด หรือทำผัดเผ็ดได้เท่านั้น ไม่เข้าท่าเลยที่จะเอาไปแกง   จัดว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่น่ากินเอาเสียเลย  เนื้อที่สุกแล้วจะออกสีเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก มีความแห้งและไม่นิ่ม (คงเป็นเพราะไม่มีมัน) ไม่มีรสเนื้อใดๆเลย  ที่แปลกก็คือมันมีลักษณะโปร่งใส    มิน่าเล่า...เลยไม่เห็นชาวบ้านเขานิยมเอามากินกัน

ตับของงูเหลือมนั้น มีลักษณะคล้ายกิ่งใบของต้นขี้เหล็ก  ผมเอามาย่างให้สุกแล้วก็ลองกินดู พอจิ้มน้ำปลาแล้วก็พอกินเป็นกับแกล้มได้เหมือนกัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 16, 18:47
ที่ผมประทับใจมากที่สุด คือการได้ชักคะเย่อกับงูหลาม เรื่องนี้เกิดในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร คิดว่าเคยเล่าไว้แล้วครั้งหนึ่งในกระทู้อื่น แต่เล่าซ้ำอีกครั้งก็คงไม่เป็นไรนะครับ  

ครับ..ขณะนั่งรถบนเส้นทางผ่านป่าทุ่งใหญ่ฯ ก็เห็นงูหลามตัวขนาดโคนขาของเราค่อยๆเลื้อยอย่างอืดอาดตัดผ่านถนนหน้ารถ  เราก็จอดรถลงไปดูเขา  เขาหยุดนิ่งเหมือนกับจะท้าทายอะไรสักอย่าง แล้วก็ค่อยๆเอื้อนตัวต่อไป พวกผมคนหนึ่งก็เข้าไปจับหางดึง เขาก็หยุดนิ่งๆ หันมามองเล็กน้อยแล้วก็เลื้อยต่อไป คล้ายกับเป็นการบอกว่ามาประลองกำลังกันสักตั้งใหม   ได้ทีเลยครับ ผมกับพวกอีกสองคน เป็นสามคน ก็ช่วยกันจับหางมัน ดึงกับมัน แพ้มันครับ มันลากเรากระจุยเลย เปลี่ยนคนก็ถูกลากกระจุยอีก  ในที่สุดมันก็คงรำคาญ จึงหยุดนิ่ง คราวนี้หันมาทั้งหัวและตัว ค่อยๆเอี้ยวมา คงจะบอกว่า พอแล้ว พวกผมเลยต้องหยุด ยืนดูเขาค่อยๆเลื้อยอย่างช้าๆหนีไป  


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 16, 19:16
สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่พบค่อนข้างบ่อยในพื้นที่ของห้วยขาแข้งช่วงล่างนี้ คือ ตัวนิ่ม หรือ ตัวลิ่น   ตัวมันมีเกล็ดแข็งปิดอยู่ตั้งแต่หัวจรดปลายหาง ยกเว้นที่บริเวณท้องที่จะเห็นเนื้อหนังนิ่มๆสีขาว  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาหารหลักของมันได้แก่มดและปลวก เมื่อพบศัตรู มันก็จะม้วนตัวกลมคล้ายลูกฟุตบอลล์   

สมัยเมื่อ พ.ศ.2500 ต้นๆ บนถนนราชวิถีช่วงเขาดินกับรัฐสภา ก็มีตัวนิ่มออกมาหากินในเวลากลางคืนเป็นประจำ ถูกรถชนรถหรือทับมันบ่อยมาก

ตัวนิ่มที่เราพบอยู่ในพื้นที่นี้ เป็นตัวชี้นำให้เรารู้ถึงลักษณะและสภาพของพื้นที่นั้นๆค่อนข้างมาก อาทิ ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ความลึกของระดับน้ำผิวดิน ฯลฯ           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 16, 19:31
แต่ตัวนิ่มมันก็ไม่มีความโชคดีนัก 

ตามตำรายาของจีน ตัวนิ่มทั้งตัวเป็นยาโด๊ป เราจึงได้เห็นตามร้านขายยาแผนโบราณบางแห่งมีเกล็ดของตัวนิ่มแขวนโชว์อยู่ในตู้กระจกหน้าร้าน 

ในขณะที่ ในมุมมองของชาวบ้านทั้งหลายไปคิดถึงความอร่อยของเนื้อของมันว่าคล้ายเนื้อลูกหมู ซึ่งชาวบ้านเขาจะเอามาแกงกินกัน จะไม่นำไปผ้ดเผ็ดหรือทำอาหารประเภทอื่นๆ

น่าสงสารเนาะ   มันวิ่งก็ไม่เร็ว ใช้วิธีม้วนตัวกลมเพื่อหนีศัตรู  ใช้หนีสัตว์นักล่าก็พอได้อยู่หรอ  แต่สำหรับหนีคนนี่ซิ การม้วนตัวของมันทำให้ง่ายต่อการจับตัวมัน เพียงหาปลายหางของมันให้เจอ แงะออกมา ใช้มือจับให้มั่น หิ้วไปเลย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 16, 18:41
เล่าความคละกันไปมาระหว่างเรื่องของคนกับเรื่องของสัตว์และความเกี่ยวพันกัน      ก็มีที่ตกหล่นบ้าง เล่าไม่จบบ้าง เล่าขาดๆหายๆบ้าง   ส่วนหนึ่งก็มาจากว่า ต้องเขียนไประวังไป เพราะในหลายเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น มีส่วนที่ไม่เหมาะที่จะเล่าลงไปในรายละเอียดลึกๆ     
ผมมิได้เขียนเรียบเรียงเตรียมไว้ก่อน เป็นการเขียนและเรียบเรียงแบบสดๆครับ  พยายามจะทำให้เป็นในลักษณะของการบรรยายให้ผู้คนในหมู่คณะที่มีความสนใจได้ฟังกัน ได้เห็นภาพของอดีตต่างๆทั้งในเชิงของวิถีของธรรมชาติ ของผู้คน และของสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่ๆเรียกว่าห้วยขาแข้งในองค์รวม           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 16, 18:58
เล่าอย่างที่คุณตั้งอยากเล่า     เล่าเท่าที่จะเล่าได้ค่ะ   
ถ้าเกรงว่าจะกระทบกระทั่งใคร ก็เว้นชื่อจริง สถานที่จริง เหตุการณ์จริงเอาไว้ก็พอค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 16, 20:33
คิดว่า ที่เล่ามาแล้วนั้น คงจะพอทำให้สามารถประมวลเรื่องจนได้ภาพที่เราเรียกว่าป่าที่บริสุทธิ์และป่าที่สมบูรณ์นั้นได้ว่าเป็นอย่างไร    

ขาแข้งเป็นตัวจริงของสถานภาพในธรรมชาติที่เรียกว่ามี Bio-diversity ในระดับที่สูงมาก

ครับ...ขาแข้งมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ ซับซ้อน และไขว้กันไปมา    มันมิใช่เป็นเรื่องของห่วงโซ่อาหารแต่เพียงมุมเดียว(ดังที่เรามักจะได้รับรู้มา) แต่เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันของหลากหลายระบบของโลกทางกายภาพ (Lithosphere) โลกของสิ่งมีชีวิต (Biosphere ซึ่งประกอบไปด้วยโลกของพืช_plant kingdom  และโลกของสัตว์_animal kingdom)  ขาแข้งมีการผสมกลมกลืนกันระหว่างความต่างๆๆ ทีมีอยู่ต่างๆกันเหล่านั้น

ในความเห็นของผม หากมีการเข้าถึงอย่างลึกซึ้งกับหลักการพื้นฐาน(หรือมาตรการ)ทาง Conservation 6-7 ข้อและการ zoning ที่ใช้กันในการบริหารจัดการธรรมชาติแบบการอนุรักษ์ทั่วไป   สภาพของห้วยขาแข้งที่ผมได้พบเห็นได้เล่ามานี้ ก็น่าจะยังคงสภาพดังเดิมอยู่ได้

แต่ในปัจจุบันนี้จะเปลี่ยนไปเพียงใดก็มิทราบได้    ซึ่ง..ในเชิงของ lithosphere นั้น เชื่อว่ายังขาดข้อมูลและความรู้อีกเยอะ (เพราะการห้ามต่างๆ)  ส่วนในเชิงของ biosphere นั้น เชื่อว่าก็คงรู้อะไรๆเพิ่มมากขึ้นอีกมาก แต่ก็ยังน่าจะขาดส่วนที่เป็น legend อยู่อีกพอสมควร (เพราะมีหลักนิยม isolation กั้นอยู่)            


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 16, 20:38
ขอบพระคุณครับ   

ทำให้เกิดความรู้สึกอุ่นใจและความรู้สึกดีๆว่า  มิได้เดินป่าดงโดดๆอยู่แต่เพียงผู้เดียวครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 16, 21:25
นอกจากไม่ได้เดินคนเดียว  คุณตั้งยังมีคนอ่านในโซเชียลมิเดีย เดินตามกันมาเป็นพรวนในกระทู้นี้   เป็นขบวนยาวเหยียดทีเดียวค่ะ
เพียงแต่ตามมาอย่างเงียบๆ ระมัดระวังไม่เหยียบแย้ งูเหลือม ตะกวด ฯลฯ  ให้ตื่น เท่านั้นเอง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 20 ก.พ. 16, 21:47
อย่างน้อยก็มีJalito คนหนึ่งละครับตามท่านnaitang เข้าป่าห้วยขาแข้งทุกค่ำ กระทู้จบเมื่อไหร่คงเหงา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 21 ก.พ. 16, 07:09
ติดตามอ่านอยู่เป็นประจำครับ ท่านอาจารย์


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.พ. 16, 09:24
ผมก็มาเดินเป็นเพื่อนด้วยนะคุณนายตั้ง แม้ว่ารสนิยมการกินของท่านจะพัฒนาไปไกลกว่าว่าผมเสียเหลือเกิน ไม่สามารถจะไปล้อมวงเหล้ากับท่านได้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 21 ก.พ. 16, 17:07
ดิฉันเดินเข้าป่าตามหลังอาจารย์มาตั้งแต่ต้นเลยนะคะ แต่เดินเงียบๆไม่กล้ารบกวนสมาธิอาจารย์น่ะค่ะ
ถ้าวันหนึ่งเกิดเขียนนิยายที่ต้องบรรยายฉากชีวิตในป่า ต้องกลับมาเก็บความรู้ในกระทู้ของอาจารย์อีกแน่ๆ ขออนุญาตล่วงหน้า และขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้เลยก็แล้วกันนะคะ ;D 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.พ. 16, 19:08
ขอบคุณท่านทั้งหลายที่ได้ติดตามอยู่เงียบๆครับ  เรื่องราวที่จะเล่ายังมีอีกครับ 

ใน คห.550 และ 552 นั้น ผมเพียงแต่ตั้งใจจะสรุปคั่นกลางเรื่องอย่างสั้นๆว่า ผมได้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเภทและชนิดของสัตว์กับลักษณะผืนดินและผืนป่า และความต่างๆๆที่มากระจุกอยู่ร่วมกันในพื้นที่ของห้วยขาแข้งตอนล่าง รวมทั้งเรื่องของมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศน์ของพื้นที่นั้น  ซึ่งเป็นภาพที่จะมีบางส่วนไม่ครบถ้วนดังที่ใจอยากจะบอกเล่า เพราะมีข้อจำกัด..   

ผมพยายามจะให้ข้อมูลที่ผมได้สัมผัสจริง เพื่อให้ผู้อ่านได้ภาพของธรรมชาติที่มีอยู่และที่ถูกต้องมากที่สุดในสมัยก่อนที่จะถูกวิถีของสังคมเมืองรุกประชิดพื้นที่อย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษ 2520   และด้วยหวังว่าข้อมูลที่ได้เล่าสู่กันฟังนี้อาจจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.พ. 16, 19:25
ได้ให้ภาพของสัตว์อยู่ในดินกินรากไม้ สัตว์ขุดรากไม้กิน สัตว์ขุดแมลงกิน สัตว์กินพืชและแมลงบนผิวดิน สัตว์ปีนต้นไม้จับสัตว์สัตว์เล็กและแมลงกิน สัตว์กินใบไม้และลูกไม้ สัตว์กินสัตว์ สัตว์น้ำ สัตว์หากินกลางวันและกลางคืน...  ที่พบอยู่ในพื้นที่ห้วยขาแข้งตอนล่าง  นึกย้อนแล้วก็ยังมีที่ขาดอยู่บ้าง และที่จะต้องกล่าวต่อไป (พวกนก)   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.พ. 16, 20:31
มีปลาที่ยังไม่ได้เล่าถึง ก็คือ ปลากา

ปลากา ชื่อของมันก็บ่งบอกว่ามีตัวสีดำ เป็นปลาเกล็ด กินพืช รูปทรงคล้ายพวกกลุ่มปลาตะเพียน แต่มีลำตัวยาวไปทางปลาตะโกก มีส่วนหลังหนากว่าปลาตะเพียนและปลาตะโกก  เป็นปลาที่จำได้ง่ายเพราะมันมีสีดำ

ปลากานี้ไม่อยู่เป็นกลุ่ม ผมไม่มีความรู้กับปลากานัก เคยเห็นแต่มันว่ายไปมา แต่ก็ไม่เคยจับมันได้สักครั้ง  ช่วงที่จะเห็นมันบ่อยครั้งมากที่สุดก็คือช่วงน้ำป่าไหลเอ่ออยู่ในห้วยหลักและห้วยสาขาที่มีน้ำไหลเกือบตลอดปี  เป็นช่วงฝนเริ่มชุก น้ำจะขุ่น และก็เป็นช่วงที่ลูกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ใบหญ้าถูกน้ำฝนชะล้าง กวาดลงมารวมกันในห้วย  ในฤดูกาลนี้ชาวบ้านจะไม่จับปลาการมากิน เพราะอาจจะเมาได้    เขาบอกว่าที่เรากินมันแล้วเมานั้นก็เพราะมันไปกินลูกกะบ้า (ลูกสะบ้า)   ผมรู้แต่ว่าลูกสะบ้านั้น มีความเป็นพิษอยู่ แต่ไม่รู้ว่ามันกินเข้าไปได้อย่างไร ก็ทั้งเปลือกแข็งและลูกใหญ่กว่าปากของมัน  ผมคิดว่าอาจจะเป็นส่วนอื่นของเถาสะบ้า หรือไม่ก็เนื้อในของลูกของมันที่หลุดออกมา (เนื่องจากปริแตกเมื่อกระทบกับน้ำ)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 21 ก.พ. 16, 21:04
ขออนุญาตขัดจังหวะนิดนะคะ นอกจากเรื่องสัตว์ป่าแล้ว เรื่องราวชีวิตชาวบ้านป่าที่อาจารย์เคยเล่าให้ฟังมาบ้างแล้วก็น่าสนใจค่ะหากอาจารย์นึกอะไรได้อีก ถ้ากรุณาเล่าต่อก็จะเป็นพระคุณค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.พ. 16, 21:07
ปลากานิยมที่จะอยู่ในที่น้ำไหลเอื่อยๆและมีความลึก (ลึกประมาณ 1.50 ม.ขึ้นไป) มักจะพบว่ายไปมาในบริเวณที่มีร่มไม้   ซึ่งหากน้ำ ณ จุดนั้นค่อนข้างนิ่งจะนิ่งมาก เราก็อาจจะได้เห็นปลาแมลงภู่ (ปลาชะโดห้วย??) นอนลอยห้วอยู่นิ่งๆอีกด้วย  

ปลาทั้งสองชนิดนี้ พบอยู่ในห้วยขาแข้งเฉพาะในพื้นที่ส่วนใกล้ปากห้วย เพราะเป็นบริเวณที่มีน้ำไหลและมีแอ่งน้ำตลอดปี    แต่ผมไม่เคยเห็นชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวพยายามจะจับมากินกัน  คิดว่าส่วนหนึ่งก็มาจากเครื่องมือที่ใช้ในการจับ    สำหรับปลากา ต้องใช้ตาข่าย แต่ด้วยน้ำลึกก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน (กะเหรี่ยงเขาว่าตกต้นไม้ดีกว่าตกน้ำ เพราะตกต้นไม้ยังพอมีกิ่งไม้ให้ไขว่คว้าได้ แต่ตกน้ำนั้นไม่มีอะไรไห้จับเลย  ;D)    

สำหรับปลาแมลงภู่นั้น ใช้วิธียิงเอาครับ    ดังที่เล่าว่า มันชอบไปนอนลอยหัวหลบอยู่ใต้ร่มไม้  แล้วก็มักจะต้องเป็นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านยื่นไปในห้วยอีกด้วย คนก็จะไปนั่งรอนอนรอแอบอยู่บนกิ่งไม้ที่คิดว่ามันจะมานั่นแหละ  ที่จะยุ่งยากหน่อยก็ตรงที่ พอยิงถูกมันแล้ว มันก็จะจมลงไปนิดนึงแล้วทะลึ่งพรวดขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วก็จะลอยอีกนิดหน่อยแล้วก็ค่อยๆจมลง  เราต้องจำให้ดีว่าจุดใหน รีบลงจากต้นไม้ แล้วก็รีบลงน้ำไปยังจุดที่มันกำลังจม เพื่อไปคว้าตัวมันขึ้นมา  คนกลัวน้ำคงไม่นิยมหาปลานี้มาทำอาหารแน่ๆ    แถมหากเป็นปืนแก็ป ก็จะต้องบรรจุลูกและอุดให้แน่นพอดีๆ  ปีนป่ายต้นไม้ ปืนกระแทกไปมา ที่ว่าอุดแน่นแล้วก็อาจจะหลวมหรือหลุดไป คราวนี้ก็จะเป็นการยิงแบบเป้าสะอาดเลยทีเดียว      


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 16, 18:24
วันนี้เป็นวันพระใหญ่  ขอเว้นวรรคหนึ่งวันครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.พ. 16, 18:44
สาธุ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 16, 19:14
ปลาที่จัดว่าอร่อยมากๆของห้วยขาแข้ง สำหรับผมก็คือปลาตะโกก   

เมื่อถึงเวาลาหยุดพัก 1 วัน เพื่ออาบน้ำชำระร่างกาย ซักผ้า รวบรวมตัวอย่างหินและลงทะเบียนมัน (ก้อนขนาดประมาณกำปั้น) ประมวลข้อมูลต่างๆเพื่อวางแผนว่าจะต้องเดินไปทางใหน ที่ใหน และกำหนดแผนการสำรวจครั้งต่อไป    วันนั้นก็จะเป็นวันที่มีความสุขมาก

สภาพอากาศในระหว่างวันในหุบห้วยขาแข้งมีความต่างกันมาก  อุณหภูมิในตอนกลางวันจะอยู่ระหว่าง 17-25 องศา (เดือนเมษาฯอาจจะสูงถึงประมาณ 30 องศา)  อุณหภูมิในตอนเช้ามืดในช่วงมกราฯ-กุมภาฯลงถึงประมาณ 4 องศา ในช่วงเดือนเมษาฯก็อยู่แถวๆ 12-14 องศา   เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบเขา (ประมาณบ่าย 3 โมง) อุณหภูมิก็จะค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างเร็ว   ครับเดินทำงานมาเหนื่อยๆแล้วเริ่มกางเต็นท์ทำที่พักแรมตอนประมาณบ่ายสามโมง ตกเย็นลงอาบน้ำก็มีหวังไม่สบายแน่ๆ  ก็เลยรวบยอดกันเข้าทำนองว่า 7 วันอาบน้ำหนเดียว

ก็จึงจำเป็นต้องหยุดพักอาบน้ำซักผ้ากัน เริ่มลงน้ำก็เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มโผล่พ้นขอบเขา (ก็ประมาณ 9 โมงเช้า) เราจะรู้สึกว่าน้ำมันอุ่นอาบได้สบายๆ  แล้วก็ลงไปพร้อมกับตะครัด (ตาข่าย หรือ อวน) ขึงขวางแม่น้ำเพื่อจับปลามาตากแห้งตุนเอาไว้เป็นสะเบียง   ไม่ถึงเที่ยงก็ปากเขียวหนาวสั่นกันแล้ว   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 16, 19:41
ผมคิดว่าหากผู้ใดได้เห็นปลาต่างชนิดกัน อยู่กันเป็นกลุ่ม ว่ายสวนกันไปมา 4 ระดับ ในน้ำใสๆของห้วยขาแข้ง ก็คงจะอดที่ลงไปร่วมจับปลากับพรรคพวกไม่ได้  เป็นปลาเกล็ดคล้ายปลาตะเพียนทั้งนั้น ก็มีปลาใบไม้ ปลาตะเพียน ปลาตะโกก และอีกชนิดหนึ่งจำไม่ได้ครับ เป็นพวกกลุ่มปลากินพืชทั้งนั้น  ลงตะครัดกันสองครั้งเท่านั้น ก็ได้ปลามาประมาณ 100+/- ตัว

ปลาใบไม้ก็เอามาแล่ทำปลาตากแห้งและทำลาบปลา ปลาตะเพียน แล่ตากแดดอย่างเดียว ส่วนปลาตะโกกนั้น ตัวมันจะยาวกว่าชนิดอื่นๆสักหน่อย ตัวก็ขนาดฝ่ามือเท่านั้น ไม่ใหญ่เหมือนกับที่เขาเอามาทอดกรอบขายกันในร้านอาหาร เอามาเสียบไม้แล้วปักไว้รอบกองไฟหรือขอนไม้ที่จุดให้ความอบอุ่นในเวลากลางคืน เรียกกันว่า ย่างมอญ  แกะกินเปล่าๆหรือจะจิ้มน้ำปลาพริกทานกับข้าวสวยร้อนๆก็อร่อยเหลือหลายแล้ว

สมัยนั้น ผมเล่าให้คนเมืองกาญจน์ฟังว่าปลาตะโกกมันอร่อยมากนะ ก็มีคนแย้งว่าก้างมันเยอะมาก (ก้างตัว Y แซมอยู่ในเนื้อ)   แรกๆนั้นก็เป็นปลาที่ยังไม่มีคนนิยมกินกัน   แต่สำหรับผมนั้น เจอในตลาดเมื่อใดจะต้องซื้อมาทันที แม่ค้าก็ถามว่าเอาไปทำอะไร ซึ่งส่วนมากก็จะนึกว่าเอาไปทำต้มยำ  ผมก็บอกว่าผมเอาไปบั้งให้ถี่หน่อยแล้วทอดให้กรอบ จิ้มกับน้ำปลาใส่หอมแดงซอยบางๆ ใส่พริกขี้หนูสวนหั่นละเอียด ใส่มะนาว เท่านั้นเองที่เป็นความอร่อยจริงๆ           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 16, 20:48
ไม่นานต่อมา อยู่ดีๆปลาตะโกกทอดกรอบก็เข้าไปเป็นเมนูอยู่ร้านอาหารทั่วไปในตัวเมือง จ.กาญจนบุรี

ปลาตะโกกมีก้างคล้ายก้างปลาตะเพียน แต่เป็นก้างที่มีขนาดใหญ่กว่าและห่างกว่า ไม่เป็นฝอยดังของปลาตะเพียน  เนื้อปลาตะโกกมีความแน่น ไม่ออกไปทางยุ่ยฟูแบบปลาตะเพียน

ทำให้นึกถึงปลาอาหยุ และ ปลาอิวาหนะ ปลาแม่น้ำที่อร่อยๆของญี่ปุ่น    ท่านที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น หากเห็นปลาเสียบไม้ย่างอังไฟอยู่ก็ลองซื้อกินดูนะครับ  ปลาอาหยุมีกระจายอยู่ทั่วไปในแม่น้ำต่างๆ แต่ปลาอิวาหนะอาจจะมีเฉพาะในห้วยที่มีน้ำเย็นในพื้นที่ๆเป็นป่าเขา


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 16, 17:57
ก่อนจะไปเรื่องนก จะขอแว๊บเข้าไปในเรื่องวิถีชิวิตของคนกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ห้วยขาแข้งตอนล่างสักหน่อยนะครับ แต่แรกก็ว่าจะเอาไว้ในตอนท้าย  แต่ก็เห็นด้วยตามคำปรารภของคุณ Anna ครับ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 16, 18:43
ด้วยที่ผมเคยทำงานในพื้นที่ในเขตภาคเหนือต่อเนื่องมาทางเขต จ.ตาก ลงมาถึงเขตของ จ.กาญจนบุรี ที่กำลังเล่าเรื่องอยู่นี้ ก็ทำให้พอรู้ความต่างของภาษากะเหรี่ยงที่ใช้กัน ซึ่งคนกะเหรี่ยงเองต่างก็เรียกพวกที่ไม่อยู่ในพื้นที่ของตนว่าเป็นพวกกะหร่าง ผมเองแยกเรียกคนกะเหรี่ยงออกเป็นสองพวก คือ พวกแลซือล่อ อยู่เหนือแม่สอดขึ้นไป กับ พวกลิคือแล่ อยู่ใต้แม่สอดลงมา (แปลว่า ไปใหนมา)  แต่บางทีก็ถามเขาว่าเป็นพวก พาดู๊ หรือ พวกพาโด๊ะ (แปลว่า ใหญ่)

ค่ำวันหนึ่งก็ได้ตั้งวงนั่งกินเหล้าที่บ้านหลังหนึ่งร่วมกับฝรั่งสองคน (สามี-ภรรยา) และกะเหรี่ยงเจ้าของบ้าน  ฝรั่งสองคนนี้มาเข้ามาทำการศึกษาวิจัย โดยฝังตัวอยู่กับชาวบ้านมานานพอที่จะพูดภาษากะเหรี่ยงได้ จำได้ว่ามาจาก สวีเดน   คุยไปคุยมาจึงได้รู้ว่า กะเหรี่ยงนั้นมีอยู่ 4 พวก คือพวกกะโพร่ว ก็คือพวกลิคือแล่ (หรือกะเหรี่ยงน้ำ ควาญช้างของผมว่าอย่างนั้น) พวกปากะญอ ก็คือพวกแลซือล่อ (หรือพวกกะเหรี่ยงดอย) และอีก 2 พวก ผมจำชื่อไม่ได้ (ซึ่งเป็นพวกที่อยู่ในเขตประเทศพม่า) 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 16, 19:22
ผมมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงซึ่งพอจะกล่าวถึงได้ ดังนี้

ชุมชนกะเหรี่ยงที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ (บ.เกริงไกร) ที่อยู่ลึกเลยเข้าไปไกลกว่าบ้านไก่เกียง จะเป็นบ้านไม้ไผ่ยกพื้นไม่สูง (ประมาณ 1 ม.)  ต่างจากหมู่บ้านไก่เกียงที่เป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่ ซึ่งจะเป็นบ้านยกพื้นสูง (ประมาณ 2 ม.) ใช้เสาไม้จริง ส่วนประกอบอื่นๆของบ้านใช้ไม้ไผ่ 

หลังคาของบ้านทั้งสองลักษณะมุงด้วยตับหญ้าคา    บนบ้านจะมีการกั้นเป็นห้อง 1 ห้อง  บางบ้านก็ใช้เป็นห้องนอน บางบ้านก็ใช้เป็นห้องเก็บของ  ทุกบ้านมีพื้นที่สำหรับก่อไฟทำอาหารอยู่ใต้หลังคา  ส่วนที่จะก่อไปทำอาหารจะกั้นเป็นคอกสี่เหลี่ยมเล็กๆรองพื้นด้วยขี้เถ้าเก่า  บนบ้านแต่ละหลังจะมีพื้นที่เปิดโล่งเป็นลานสำหรับใช้เตรียมอาหาร ล้างเครื่องใช้ ฯลฯ

เกือบจะทุกบ้านจะมีการเลี้ยงหมู (ในคอก) และไก่ (ปล่อย)  บางหมู่บ้านที่บ้านเพียง 2-3 หลัง ก็จะเลี้ยงหมูและไก่แบบปล่อย   ซึ่งผมไม่เคยเห็น (ในทุกพื้นที่และในทุกภาค) หมูที่เขาเลี้ยงกันนั้นมีตัวใหญ่เกินกว่าขนาดประมาณสุนัขไทยตัวอ้วนๆ  (คงมีการเสียผีกันบ่อยไปหน่อยกระมัง  ;D)   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 16, 19:52
ก็คงพอจะฉายภาพให้เห็นพอในเบื้องต้นได้ว่า 
   - พื้นที่ป่าเปิดใหม่ที่เข้าไปตั้งบ้านเรือนกันใหม่นั้น มีลักษณะบ้านอยู่แบบชั่วคราว ไม่มีลานบ้านที่เตียนขาวเห็นแต่ผิวดิน แต่เป็นเตียนแบบต้นไม้เตียน (ยังคงมีวัชพืชคลุมอยู่เป็นหย่อมๆ)
   - ชาวบ้านป่าที่รุกลึกเข้าไปในป่า มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดำรงชีพด้วยการเป็นพรานล่าสัตว์   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 16, 19:13
คงมีความเห็นแย้งว่า จะเป็นการอยู่แบบชั่วคราว และ ไม่ดำรงชีพด้วยการเป็นพรานล่าสัตว์  เป็นไปได้อย่างไร   

คงจะต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เท่าที่ผมได้คลุกคลีกับคนและสังคมของกะเหรี่ยงมา  กะเหรี่ยงนิยมที่จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ห้วยที่มีน้ำไหล ในบริเวณที่เรียกว่าตะพักลำน้ำ (river terrace) ซึ่งจะเป็นที่ราบ  ไม่นิยมใช้พื้นที่ๆมีความลาดชันมากๆในการทำไร่เหมือนดังพวกม้ง อีก้อ และอื่นๆ..   การถากถางพื้นที่ทำไร่ก็มักจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะบริเวณที่เป็นชัฎป่าไผ่ โดยเฉพาะที่เป็นป่าไผ่หนาม  แต่ละครอบครัวจะถือครองพื้นที่ๆถากถางเท่าที่เคยถือครองมา เกือบจะไม่มีการถากถางขยายพื้นที่เพิ่มเติม  พื้นที่ๆถูกถากถางใหม่มักจะเป็นของครอบครัวที่ตั้งใหม่ หรือพวกที่ย้ายมาจากที่อื่น     

ขยายความเพิ่มเติม...  ในเรื่องที่กล่าวถึงนี้ ขอจำแนกพื้นที่ตะพักลำน้ำนี้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบที่เป็นตะพักเก่า (high terrace) ซึ่งตะพักเก่านี้จะเป็นที่ค่อนข้างราบที่มีระดับสูงกว่าตะพักในปัจจุบัน ง่ายๆก็คือ น้ำป่าไม่ไหลหลากท่วมอีกแล้ว  ตะพักเก่านี้ค่อนข้างจะมีผิวดินที่ปกปิดอยู่เป็นสภาพกรด สภาพเดิมเป็นป่าโปร่ง (ป่าแดง)     และอีกแบบที่เป็นตะพักใหม่ หรือตะพักในปัจจุบัน (low terrace) ง่ายๆก็คือ มีน้ำป่าไหลบ่าท่วมถึงเป็นครั้งคราว สภาพดินค่อนข้างจะเป็นกลาง (หรือ+/- เล็กน้อย) สภาพเดิมเป็นป่าที่มีไม้พื้นล่างหนาแน่น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 16, 19:39
ที่เล่ามาจะเห็นว่า การทำไร่เลื่อนลอยในหมู่คนกะเหรี่ยงนั้นเกือบจะไม่มีเลย จะเหมาเอาว่าเขาถางป่าจนเตียนไปหมดก็คงไม่ใช่   จะว่าไปแล้ว ป่าที่กะเหรี่ยงถางนั้น หากดูตามโครงการปลูกป่าของทางราชการ เขาก็ว่าเป็นสภาพของป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ปลูกป่าเท่าที่เคยเห็นมาหลายแห่งก็เริ่มจากการถางป่าไผ่ให้เตียน แล้วปลูกไม้(ยืนต้น)เศรษฐกิจแทนนี้แหละ   เท่าที่ได้สัมผัสมา กะเหรี่ยงไม่มีเรื่องของการค้าการลงทุนและเรื่องกำไรอยู่ในความคิดเอาเลย  เราจึงไม่เห็นเขาหัวโล้นในพื้นที่ๆมีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่

กะเหรี่ยงที่เป็นกะโพร่วก็เป็นอย่างที่เล่ามา ส่วนที่เป็นปากะญอ(หรือพวกยาง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นยางแดงและยางขาวอีก) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือนั้น ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 16, 20:07
แล้วทำมาหากินอะไรกัน

ขอต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 16, 19:10
วิถีชีวิตและการทำมาหากินที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นของพวกกะโพร่ว(หรือกะเหรี่ยงน้ำ)นะครับ

บริเวณที่อยู่อาศัยและชื่อเรียกก็บ่งบอกแล้วว่า เป็นพวกที่อยู่ในหุบเขาที่มีห้วยน้ำไหลรินตลอดปี  ก็คืออาศัยอยู่ในเส้นทางที่คนชาวป่าดงทั้งหลายใช้ในการเชื่อมต่อกันทั้งด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ และสังคม  เส้นทางในหุบห้วยนี้จึงมักจะไม่ใช่ทางผ่านของของต้องห้ามทั้งหลาย  (การเคลื่อนไหวของบรรดาของต้องห้ามทั้งหลายจะนิยมใช้เส้นทางตามสันเขา/สันดอย)   กะเหรี่ยงพวกนี้จึงเกือบจะไม่มีอาชีพอยู่ในวงจรของๆต้องห้ามใดๆ   

การทำมาหากินของเขาจริงๆก็คือ การการรับจ้าง อาทิ แบกของ นำทาง ลากไม้ ต่างของโดยใช้ม้าและช้าง (ม้าต่าง ช้างต่าง) รวมทั้งการเข้ามาเป็นลูกจ้างในเขตชุมชนเมือง เป็นต้น   และการทำให้ตัวเองให้อยู่ในสถานะ self sufficient ในเรื่องของอาหาร ซึ่งก็คือการทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ตามกำลังความสามารถของตน    ครับ..เราจึงพบเห็นคนกะเหรี่ยงทั้งในป่าและในเขตชุมชนเมืองมากกว่าชาวเขาชาติพันธุ์อื่นๆ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 16, 19:45
เท่าที่คุ้นเคยมา กะเหรี่ยงเกือบจะทั้งหมดไม่นิยมล่าสัตว์ใหญ่ จะว่าไปแล้วก็อาจจะกล่าวได้ว่าไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ใหญ่เกินกว่าเก้ง  แม้กระทั่งเก้งเองก็ยังไม่นิยมออกไปตามล่า จะด้วยว่าไม่มีอาวุธที่เหมาะสมก็ไม่ใช่ เพราะก็มีปืนแก๊บกันเหมือนกัน แต่ก็มิใช่เรื่องที่ทุกคึรัวเรือนจะต้องขวนขวายว่าจะต้องมีให้ได้ (คือไม่ใช่เรื่องของ It's a must) 

สัตว์ที่ตั้งใจจะออกล่ากันจริงๆก็จะเป็นพวกสัตว์ขนาดเล็ก ก็ดังที่ได้เล่าผ่านมา ก็มีอาทิ เม่นใหญ่ (ขนกลม) ชะบา(เม่นหางพวง ขนแบน) อีเห็นบางชนิด(เห็นอ้ม) ไก่ป่า ตุ่น อ้น เป็นต้น     ครับ...ไม่มีกวาง หมูป่า (น้อยมาก) ตะกวด กระทิง ช้าง นกขนาดใหญ่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น    หรืออีกนัยหนึ่ง คือมุ่งจับเฉพาะพวกที่สามารถใช้กับดักได้   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 16, 20:00
อาหารประจำวันจริงๆก็คือพวกพืชผักป่าและสัตว์เล็กๆในห้วยที่หาได้ในแต่ละวัน อาทิ ผักกูด หน่อไม้  ปูห้วยตัวเล็กๆ ปลาตัวเล็ก และปลาที่ฟันได้ในตอนกลางคืน.....   
แล้วก็มีที่เอามาดอง เช่น ยอดต้นกุ่มดอง (อร่อยเหลือหลายจริงๆ บางตลาดในกรุงเทพฯก็พอมีขาย ส่วนมากมาจากแถวลพบุรี) มะเขือเปราะดอง และรวมทั้งผักหลายอย่างที่เหลือจากการกิน (ก็เพียงเอาลงใส่ภาชนะที่ใช้ดองที่มีทั้งแบบใช้น้ำเกลือและใช้น้ำมะพร้าว)

น้ำพริกผัก คือเมนูหลักของอาหารทุกๆมื้อครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 16, 18:32
ด้วยวิถีการดำรงชีพที่ค่อนข้างง่าย อาศัยอยู่ในพื้นที่ๆมีธรรมชาติค่อนข้างจะสมบูรณ์ กะเหรี่ยงน้ำจึงเป็นพวกที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการแข่งขันน้อยกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ ยังผลให้เป็นคนที่มีความซื่อมากกว่าที่จะเป็นพวกที่มีเหลี่ยมคู  ซึ่งส่งผลให้ถูกชักชวนทำอะไรๆได้ง่าย ดังตัวอย่างที่จะขยายความดังนี้ครับ

กะเหรี่ยงเล่าให้ผมฟังเมื่อผมถามว่าไปสูบฝิ่นได้อย่างไร   (...ฝิ่นมีการปลูกโดยชนกลุ่มน้อยในเขตพม่าตามตะเข็บชายแดนทางภาคเหนือของไทย มันไม่ง่ายนักที่จะทำให้เกือบทุกคนในห้วยขาแข้งสูบ _ตั้งแต่ อ.บ้านไร่ อุทัยธานี ลงมาจนถึงปากลำ_ หากว่ามันไม่มีอุปทานที่มากพอ...)     

เมื่อมีการอพยพหนีภัยของชาติพันธุ์อื่นเข้ามาในพื้นที่ พวกอพยพก็อาศัยพวกกะเหรี่ยงให้ช่วย โดยจ้างเป็นแรงงานให้หักร้างถางพง เพื่อปลูกข้าวไร่และปลูกพืชที่มีผลผลิตที่สามารถนำไปขายได้  (ครับ...ส่วนหนึ่งของเขาหัวโล้นและความเตียนของพื้นที่ทางใต้ของ อ.แม่สอด ก็มีส่วนมาจากแรงงานของกะเหรี่ยงนี่เอง)    พอพักกินอาหารกลางวัน นายจ้างซึ่งสูบฝิ่นก็ชวนลูกจ้างให้ลอง คะยั้นคะยอให้ร่วมวง ว่าเป็นยาช่วยแก้เมื่อยแก้ปวด แรกๆก็จ่ายเป็นเงินค่าแรง+สูบฝิ่นฟรี   ต่อมาพอเริ่มติด ก็กลายเป็นว่าหักค่าแรงส่วนหนึ่งเป็นค่าฝิ่น  พอเริ่มติดฝิ่นได้ที่แล้วก็ให้ค่าแรงเป็นฝิ่น สุดท้ายก็ต้องทำงานแลกยาฝิ่น และในที่สุดก็เอาที่ทำกินของตนไปขายหรือแลกกับยาฝิ่น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 16, 18:49
ก็คงจะมีความสงสัยว่า ติดแล้ว ไม่มีเงินไปซื้อ แล้วทำอย่างไรกัน   ที่เขาใช้ประทังอาการก็คือ ทันใจ ซองละ 25 สตางค์  และที่ว่าลงแดงตายนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากทันใจนี้แหละ ที่กรอกใส่ปากเช้า-เย็นตอนท้องว่าง กระเพาะทะลุตายกันเป็นแถว

น่าจะให้ภาพได้พอสมควรแล้ว  จะไม่สาธยายต่อไปในเรื่องราวและลงรายละเอียดนะครับ คงจะไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในเวทีสาธารณะนี้ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 16, 19:19
แล้วภาพที่เล่ามามันก็มาถึงตัวผม 

วันหนึ่ง ขณะจะออกสำรวจเพื่อเก็บตกรายละเอียด ก็มีกะเหรี่ยงคนหนึ่งเดินเข้ามาหาผม ขอแบ่งปันฝิ่น (คงอยากเต็มที)  ผมก็บอกว่าไม่มี เขาไม่เชื่อ ตื้ออย่างเดียว ผมก็ยืนยันว่าไม่มี  ในที่สุดเขาก็ไป แต่ก็ทิ้งท้ายในทำนองว่าให้ระวังตัวให้ดีในขณะที่ยังทำงานอยู่ในป่าแถบนี้  ไม่สนุกเสียแล้วละครับ 

บังเอิญว่าเป็นช่วงก่อนที่จะต้องย้ายไปทำงานโดยใช้ทางเข้าในเขต จ.อุทัยธานี  การทำงานของผมจึงทำในลักษณะการตั้ง base camp แล้วเดินออกไปเก็บตกข้อมูลต่างๆ  (อันที่จริงก็มีเหตุสำคัญอื่นให้ต้องย้าย เดี๋ยวค่อยว่ากันครับ)   เจ้าของบ้านที่ปากลำบอกผมว่า คนที่มาขอแบ่งฝิ่นจากผมนี้ร้ายกาจพอควร  ควรจะต้องระวังตัวให้มากที่สุด ซึ่งเขาก็ไม่สะทกสะท้านและพร้อมที่จะเดินไปกับผมในทุกที่   

ความมาแตกในไม่นานต่อมาว่า เขาเป็นอดีตตำรวจ ผมก็เลยถึงบางอ้อว่า มิน่าเล่าเขาถึงพร้อมจะมาเดินร่วมกับคณะของผมและทำหน้าที่เป็นคนนำทางเข้าไปในทุกที่  หลายพื้นที่ๆผมเข้าเขาก็ไม่เคยเข้าไปถึง ก็ได้ผมและคณะเป็นเพื่อนในการเข้าไปรู้จักพื้นที่ของเขา  ผมคิดว่าโดยพื้นแล้ว เขาเป็นสายมากกว่า


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 16, 19:52
ครับ... ตั้งแต่นั้น คณะเดินสำรวจของผมซึ่งจัดเป็นคณะเล็ก ก็จะมีกัน 3 คน เขาเดินนำหน้าสะพายปืนลูกกรด ผมเดินกลาง ห้อยปืนสั้น .38 ติดเอว ผู้ช่วยของผมเดินปิดท้าย สะพายปืนลูกซองแฝด   ผมก็เดินไปในทุกเส้นทางที่ผมอยากจะไป ไม่บอกผู้ใดล่วงหน้าว่าจะไปที่ใหน แต่ก็รู้ข่าวตลอดมาว่าคลาดกันไปมาตลอด 

หากจะว่าผมบ้าไปหรือเปล่าที่ยังเสี่ยงเดินทำงานอยู่ได้  ไม่หรอกครับ หูตาของผมก็สับปะรดเหมือนกัน  อยู่ในสถานะการณ์เช่นนั้น จะเลือกเป็นแมวหรือจะเลือกเป็นเสือ  หรือจะเลือกตอบสนองแบบ defensive หรือ เลือกแบบ offensive


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 16, 18:03
ไม่นานต่อมา เรื่องราวก็เข้มข้นขึ้น  พวกคนที่มาท้าผมยิงกันก็แตกคอกัน มีการยิงขู่กัน (นัยว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับจุดที่พบแร่ ที่มโนว่าจะเป็นเหมืองแร่ต่อไป) เรื่องว่าเห็นต่างในการนำเสนอนายทุนว่าจะเป็นผู้ใด  ถัดจากวันทียิงขู่กันได้วันเดียว ผมก็เห็นเพื่อนร่วมอาชีพเดินตัวเปล่ามา ก็ถามว่ามาทำอะไร จะไปใหน  เขาก็ว่าจะไปพบคนที่จะพาไปดูจุดที่พบแร่ ผมเลยบอกให้เขาหันหลังกลับไปเลย ให้เพื่อนนอนกับผมคืนหนึ่งแล้วช่วยจัดการส่งตัวกลับไปเลย    ส่วนผมก็อยู่ทำงานต่อไป     รู้สึกเสี่ยงนิดหน่อยที่ผมกระทำแบบนั้น แต่ก็เชื่อว่าไม่ควรจะมีผลอะไรตามมาเนื่องจากทุกคนในพื้นที่นั้นรู้แบบกระจ่างชัดแล้วว่าผมมาทำงานอะไร เป็นเรื่องของแผ่นดินอย่างเดียวล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ใดทั้งสิ้น  ที่สำคัญก็คือได้ช่วยไม่ให้เพื่อนได้รับอันตรายร้ายแรงที่อาจถึงกับชีวิต   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 16, 18:34
หลังจากนั้น ผมก็จัดการเดินสำรวจแบบคณะใหญ่พร้อมช้างขนสัมภาระ 2 ตัว เดินสำรวจแบบเจาะลึกขึ้นไปตามห้วยขาแข้งให้ได้ไกลที่สุด กะว่าจะประมาณ 7 วัน ตามสภาพสะเบียงที่พอมีเหลืออยู่ในขณะนั้น

ไปได้ 3 คืนเท่านั้นเอง ตกเย็นของวันที่สาม ก็มีกะเหรี่ยงเข้ามาพบแล้วบอกว่า เขาสั่งให้มาบอกว่า เข้ามาลึกมากพอแล้ว ให้กลับออกไป กลัวว่าจะได้รับอันตราย

เขาคือใคร ??

ซักถามคนที่เอาข่าวมาบอกอยู่พักหนึ่ง แบบไม่ค่อยอยากจะสนทนาด้วย  ก็ได้ความว่ามีคนมาบอกเขาให้ช่วยมาบอกต่ออีกทีหนึ่ง   คราวนี้ก็เดาได้แล้วว่า เขานั้นเป็นใคร

ลุกจ้างในคณะของผมทั้งหมดถอดใจ บอกว่าพอแล้ว เชื่อเขาเถอะ หันหลังกลับดีกว่า    ผมก็เลยตั้งยกคณะเดินทางกลับ  ไปหาทางเข้าห้วยขาแข้งส่วนที่ยังไม่ได้สำรวจ ใช้เส้นทางใหม่จะดีกว่า


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 16, 19:08
คิดไปคิดมา พื้นที่นี้อุดมไปด้วยปืน มีเรื่องของการแย่งชิงผลประโยชน์อยู่มากมายหลายเส้าเหลือเกิน ระหว่างชาวบ้านจากเมือง ชาวบ้านป่า นายทุนเหมืองแร่ นายทุนสัมปทานป่าไม้ จนท.ต่างๆ รวมทั้งเรื่องทางการเมือง (insurgency) ...ฯลฯ    เห็นท่าจะอันตรายเกินไปที่จะไปเดินท่อมๆอยู่ในระหว่างเขาสัตว์ ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจก็ดูจะมีมากพอสมควรแล้ว จะใช้เวลาทำการสำรวจเก็บข้อมูลต่อไปก็เริ่มมีข้อจำกัดและไม่น่าจะคุ้มกับเวลาและเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ  ก็เลยยุติการทำงานในพื้นที่

ในช่วงเวลานี้ มีการให้สัมปทานทำไม้ในพื้นที่   มีการตัดถนนสำหรับการชักลากไม้ เริ่มจากบ้านเขาเหล็ก เขาโจด (เขต อ.หนองรี อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี) ไปผ่าน บ.กะเหรี่ยงน้ำพุ (?) บ.แม่พลู ไปตามห้วยแม่พลูไปจนถึง บ.ไก่เกียง ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยขาแข้ง 

ครับ ส่วนราชการเดียวกัน งานหนึ่ง reservation อีกงานหนึ่ง exploitation  มีเขตชนกัน ติดกัน ไม่มีพื้นที่กันชน    ก็คงนึกสภาพออกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นขาแข้ง ทุ่งใหญ่ แม่วงก์ เขาเขียว เขาสก ฯลฯ       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 16, 20:32
ขอแทรกในเชิงวิชาการของคนนอกรีดแบบตัวผมเองนะครับ

conservation เราแปลเป็นไทยว่า การอนุรักษ์   และจำกัดอยู่ในความหมายว่า ปล่อยให้มันอยู่สภาพอย่างที่มันกำลังเป็นอยู่ (คือ ไม่แตะต้องมัน)

conservation ในความหมายที่เป็นสากลในหมู่นักอนุรักษ์นิยมทั้งหลายนั้น คือ การกระทำใดๆที่พยายามจะรักษาสมดุลย์ให้เกิดขึ้นระหว่างความคงอยู่ของความเป็นสภาพธรรมชาติดั้งเดิมกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามกาลเวลาและพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม     

ทำให้มีกรอบของมาตรการพื้นฐาน (governing measures) อยู่ 7 เรื่อง คือ protection ส่วนที่ควรห้ามแตะต้อง,  restoration ส่วนที่ควรต้องมีการฟื้นฟูกลับมา,  re-utilization ใช้กลับไปมา,  maximization ให้เกิดประโยชน์ใดๆสูงสุด, minimization ให้เกิดผลกระทบใดๆน้อยที่สุด, substitution การใช้อื่นๆแทน, integrate usages การใช้ในทุกด้าน/ทุกเรื่อง       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 16, 20:56
ก่อนจะย้ายไปเดินเข้าห้วยขาแข้งด้วยเส้นทางอื่นที่มิใช่ตามลำน้ำแควใหญ่หรือตามทางชักลากไม้   ก็ยังมีเรื่องของนกที่ติดค้างไว้ว่าจะขยายความ ครับ



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 16, 18:44
เป็นเรื่องปรกติที่เราจะพบจำนวนนกของสายพันธุ์ต่างๆมากน้อยต่างกันไปในพื้นที่ๆต่างกันต่างๆ  ทั้งนี้ก็เพราะมันขึ้นอยู่กับวิถีการดำรงชีพของนกเหล่านั้น   

แต่.. ก็อาจะแปลกๆอยู่บ้างที่เรากลับพบเห็นนกในพื้นที่ๆที่มีกิจกรรมของมนุษย์ มากกว่าที่จะพบเห็นนกในพื้นที่ๆเรียกว่าป่า   ฤๅ เป็นเพราะว่ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ต่างกัน     

ในปัจจุบันนี้ นกที่เป็นนกป่า นกไร่ นกสวน ก็เข้ามาอยู่ในเมืองเต็มไปหมด แถมยังเป็นเมืองหลวงอีกด้วย  หากสังเกตดู เราจะพบว่านกที่เข้ามาอยู่เมืองเหล่านี้ เราไม่ค่อยจะพบว่ามีอยู่ในเมืองที่เป็นเมืองต่างจังหวัดอีกด้วย

นกพิลาบเป็นนกป่าที่เข้ามามาเจริญพันธุ์ในเมืองมากที่สุด     นกที่เราพบอยู่ในพื้นที่ป่าแต่ก่อน พวกนกเขา ทั้งเขาใหญ่ เขาไฟ เขาชวา ก็เข้ามาขยายพันธุ์อยู่ในเมือง    นกกระจาบ กระจิบ ที่หากินอยู่ตามทุ่งก็เข้าเมือง    นกกินปลี ที่กินน้ำหวานดอกไม้ ที่อยู่ตามสวนก็เข้าเมือง  นกเอี้ยงที่เห็นอยู่ในพื้นที่นาก็ตามเข้ามาแล้ว (แต่ยังไม่เห็นนกเอี้ยงโครง)     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 16, 19:25
ภาพที่ยังฝังอยู่ในความทรงจำของผมภาพหนึ่ง เป็นภาพของการพบนกหัวขวานจำนวนมาก  ซึ่งพบเห็นในพื้นที่รอยต่อระหว่างเมือง/เรือกสวนไร่นา กับพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าละเมาะ (ที่เชื่อมต่อลึกเข้าไปเป็นผืนป่าใหญ่)    ครับ.. เป็นพื้นที่แถว บ.ท่ามะนาว อยู่ด้านเหนือของถนนสาย ต.ลาดหญ้า - เขื่อนท่าทุ่งนา - เขื่อนศรีนครินทร์    แล้วก็เกือบจะไม่พบเห็นมันอีกเลย ตั้งแต่แถวเขื่อนท่าทุ่งนาขึ้นไป (แม้กระทั่งในพื้นที่ของป่าห้วยแม่ละมุ่น)     

ผมไม่เคยเห็นนกหัวขวานในพื้นที่อีกฝั่งน้ำของเขื่อนท่าทุ่งนาเลย     สำหรับตัวผมเองก็พอมีคำอธิบายของตัวเองในเชิงของ Geoecology ว่า  พื้นที่ทางด้านตะวันออกแถบที่พบนกห้วขวานเป็นจำนวนมากนี้ เป็นพื้นที่ๆรองรับด้วยหิน 2 ชนิด คือ หินปูนที่เนื้อหินมีส่วนผสมของธาตุแมกนีเซียมในเกณฑ์สูงและดินโคลน  กับหินที่มีเนื้อหินอยู่ในกลุ่มหินแกรนิตประเภทที่มีธาตุโปแตสเซียมสูง  ส่งผลให้ดินมีความสมบูรณ์ค่อนข้างสูง    ครับ.. เรื่องของแย้ที่ได้เล่ามาว่ามีเยอะแยะก็อยู่แถวนี้ ก็หมายความว่าต้องมีแมลงที่มีอาหารเยอะ  นกหัวขวานซึ่งก็กินแมลงเป็นหลัก ก็จึงเลยมาใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยร่วมด้วย      ในขณะที่อีกฝั่งแม่น้ำ เป็นพื้นที่ๆรองรับด้วยหินปูน ผิวดินตื้น มีความแห้งแล้ง ไร้ร่มเงา มีแต่ไผ่รวกขึ้นห่างๆกระจัดกระจาย  ก็คือไม่อำนวยให้มีแมลงอยู่ชุกชุม           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 16, 20:37
ป่าใหญ่มีนกอยู่หลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์แน่นอน แต๋มิได้หมายความว่าแต่ละสายพันธุ์จะมีปริมาณนกชุกชุมอยู่เป็นจำนวนมาก   

นกที่พบบ่อยครั้งมากๆก็จะมี นกแก้ว ที่บินเกาะกันเป็นกลุ่มทุกเช้าทุกเย็น ส่งเสียงร้องกอกแกกดังอีกต่างหาก    นกเขาเปล้า ที่นิยมเรียงแถวเกาะกิ่งต้นไทร      นกเขาใหญ่ ที่มักจะพบอยู่ลงมายืนเป็นคู่อยู่ในที่ราบบนผืนดิน      นกเขาไฟก็เช่นกัน แต่มักจะพบในพื้นที่ของชายป่าผืนใหญ่    นกกุลุมพู ที่นิยมเกาะอยู่บนส่วนที่เป็นยอดต้นไม้สูง  นกกะปูด (ตาแดงน้ำแห้งก็ตาย) ที่นิยมเกาะกิ่งไม้ระดับ 1+ ม. เหนือผิวดิน    นกกะรางหัวหงอก ที่นิยมลงมาละเลงกลุ่มเห็ดโคน    นกกระทาดง อยู่ตามทุ่ง ที่มักจะทำให้เราตกใจ   นกคุ่ม ตัวน้อยๆอยู่ตามทุ่ง วิ่งดุ๊ดๆๆๆน่ารัก ฯลฯ     แล้วก็นกขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่ นกกก (นกกาฮัง)  นกเงือก  นกแกง (นกแก๊ก) เหยี่ยวอีรุ้ง  เหยี่ยวนกเขา นกถึดทือ ...ฯลฯ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 16, 19:18
ห้วยขาแข้งช่วงล่างนั้น แม้ว่าจะอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นหุบเขากว้าง (ซึ่งเป็นไปตามลักษณะปรกติของห้วยใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอกปีก็ตาม) แต่ก็เป็นพื้นที่ราบ (ตะพักลำน้ำ) ที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น  จึงไม่ค่อยจะพบเห็นนกที่ลงมาเดินดิน จะมีพบอยู่บ้างก็ที่ลงมาเดินกินน้ำอยู่ตามหาดทรายของห้วย      ต่างกันกับในพื้นที่ช่วงกลางของห้วยขาแข้งที่เป็นหุบกว้างเช่นกัน แต่ไม่มีพื้นที่ตะพักลำน้ำ เป็นป่าค่อนข้างโปร่ง จะพบนกหลากหลายสายพันธุ์ หลากหลายชนิด เหมาะสำหรับเหล่านักปักษีวิทยา       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 16, 19:53
เกิดอาการเงิบไปเงิบมา  กินยาแก้แพ้มาครับ   อักสักพักหรือพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่นะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มี.ค. 16, 18:23
เริ่มจากนนกที่ไม่นิยมบิน นิยมที่จะเดินท่อมๆมุดไปมาอยู่ในดงหญ้า มีอยู่สองชนิดที่พบบ่อย ได้แก่ นกคุ่ม และ นกกระทาดง ส่วนนกกวักที่พบกันทั่วไปในพื้นที่ชุ่มน้ำของที่ราบภาคกลางนั้น ผมจำไม่ว่าได้เคยพบเห็นในพื้นที่ห้วยขาแข้งหรือไม่ครับ

นกคุ่มและนกกระทา มีลำตัวป้อมๆ เกือบจะไม่เห็นหางของมัน   นกคุ่มมีขนาดลำตัวเล็กกว่านกระทาดง   ทั้งคู่พบเห็นได้ในพื้นที่เดียวกัน มีนิสัยคล้ายๆกัน คือ แอบนิ่งเงียบเมื่อเราเดินผ่าน จวบจนเมื่อเห็นจวนตัวจึงจะออกบินสูงเหนือผิวดินเล็กน้อย เป็นระยะทางสั้นๆแล้วก็ลงดินวิ่งหนีไปแอบต่อ  และต่างก็มีนิสัยที่ทำให้มันถูกดักจับได้ค่อนข้างง่าย คือ นิยมเดินบนพื้นที่ราบๆ และถูกนกต่อเรียกมาให้ติดกับได้   เท่าที่ประสบมา ผมเห็นมีการต่อนกพวกนี้ในเกือบจะทุกพื้นที่ทั่วประเทศ บางแห่งถึงขนาดมีการทำเครื่องเป่าที่ทำมาจากโลหะ ใช้เลียนเสียงสำหรับเรียกนก แถมยังขายอยู่ในตลาดสดของตัวจังหวัดอีกด้วย หากไปเที่ยวทางภาคเหนือ ลองถามพ่อค้าแม่ค้าในตลาดดูนะครับ อาจจะได้ซื้อติดไม้ติดมือเป็นของแปลก 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มี.ค. 16, 18:45
นกที่บินหากินแมลงอยู่ในระดับยอดหญ้า ที่เห็นชุกชุมมากที่สุดก็คือ นกกะปูด เสียงร้อง อู๊ดๆๆๆ ที่เราได้ยินอยู่ตามทุ่ง ตามชายป่าทั้งหลายนั้นแหละครับ คือเสียงของนกกะปูด   

ในเนื้อเพลงที่ว่า นกกะปูดตาแดงน้ำแห้งก็ตายนั้น  จะจริงเท็จเช่นใดผมไม่ทราบ  ที่เป็นจริงอยู่เรื่องเดียวก็คือ ตาของมันแดง   

นกกะปูดมีลำตัวค่อนข้างใหญ่ มีขนตามตัวสีดำ มีขนปีกสีแดง และมีขนหางยาว  เป็นพวกนกกินแมลง   หากไม่สังเกตดูดีๆ บางครั้งก็อาจจะทำให้นึกว่าเป็นไก่ป่า

นกกะปูดเป็นนกที่ไม่มีผู้ใดเอามาทำอาหาร (ยกเว้นจะอดอยากจริงๆ)  เราจึงพบมันในที่ต่างๆได้ไม่ยากนัก  เป็นนกที่บ่งบอกว่า พื้นที่แถวนั้นอุดมไปด้วยแมลงทั้งหลาย  ก็จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วละครับที่ไม่เอามันมาทำเป็นอาหาร เพราะว่ามันช่วยกำจัดแมลงที่มากัดกินพืชไร่อยู่ในไร่ของเรา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มี.ค. 16, 19:36
ได้กล่าวถึงเรื่องนกกะปูดตาแดง  ทำให้นึกถึงเรื่องของสัตว์ตาสีแดง เมื่อถูกไฟส่องในระหว่างการส่องสัตว์ในเวลากลางคืน

เป็นข้อสังเกตของชาวบ้านทั่วไปว่า เมื่อออกไปส่องสัตว์ (ออกไปล่าสัตว์ในเวลากลางคืนโดยใช้ไฟส่อง) หากเห็นตาเป็นสีแดงก็จะเป็นสัตว์กินเนื้อ หากเห็นตาเป็นสีเขียวนวลก็จะเป็นพวกสัตว์กินพืช  ทั้งนี้จะต้องพิจารณาระยะห่างของตาคู่นั้นและระดับความสูงจากผืนดินควบคู่กันไปด้วย   

การส่องสัตว์ของชาวบ้านแต่เดิมนั้นใช้ไฟจากแกส (acetylene)   มีส่วนโคมที่มีเล็นซ์รวมแสงเป็นเล็นซ์นูนคาดไว้ที่หัว มีสายยางต่อลงมาที่กระป๋องสองชั้น ชั้นล่างใส่ถ่านแกส (calcium carbide) ชั้นบนใส่น้ำธรรมดา  เมื่อเปิดน้ำให้หยดลงมาถูกถ่านแกส ก็จะเกิดปฏิกริยาเกิดเป็นแกสที่จุดไฟติด    ครับ..โคมส่องกบ ไฟที่ให้ความสว่างของรถสามล้อขายขนมหวานในตอนกลางคืนใน ตจว.  และไฟที่ใช้ในการกรีดยาง ฯลฯ แต่เดิมก็ใช้ความสว่างจากไฟแกสนี้แหละครับ 

เล่าแทรกขึ้นมาก็เพียงเพื่อจะบอกว่า ไฟส่องสัตวในสมัยก่อนนั้น มันไม่สว่างพอที่จะเห็นตัวสัตว์ เห็นแต่เพียงแสงวาวจากตาของสัตว์    กระทั้งไฟฉายถ่านสองก้อนก็ไม่ต่างไปจากความสว่างจากไฟแกสมากนัก     นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเหตุให้ชาวบ้านจึงอยากจะมีไฟฉายสามท่อน(ใช้ถ่านสามก้อน)มากกว่าแบบสองท่อน  ยิ่งได้หัวไฟที่ปรับ(โฟกัส)ได้ ก็จะยิ่งสุดยอด     

ครับ... ก็จึงเป็นเรื่องไม่ค่อยจะแปลกนัก ที่หากเราเห็นไฟฉายสามท่อนแบบปรับโฟกัสได้ในบ้านชาวบ้านใดๆ  เราก็จะเห็นว่าเขามีปืนยาวค่อนข้างดีอยู่ด้วย ซึ่งก็มักจะเป็นปืนลูกซองเดี่ยวแถมตราเสืออีกด้วย
     
รู้ขนาดนี้แล้ว หากเรายังไม่สามารถใช้จิตวิทยาเพื่อประโยชน์และเอาตัวรอดได้ในสภาพการต่างๆ ก็แย่แล้วเนาะ       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มี.ค. 16, 20:32
นกกะปูดนั้น หากจะเอามาทำอาหารก็จะต้องถลกหนังทิ้งไป   เนื้อของมันแดงก่ำไม่น่ากินเอาเลยทีเดียว

นกที่ตัวใหญ่กว่านกกะปูดขึ้นไปเกือบทุกชนิด ชาวบ้านจะไม่นำมาทำอาหารกัน ด้วยมีความเชื่อกันว่า ฆ่านกใหญ่มาทำอาหารกินกัน คนที่ร่วมวงกินด้วยกันนั้นก็จะแตกแยกกัน ความเชื่อนี้รวมทั้งไปถึงห่านและเป็ดด้วย   

ตัวผมเองเห็นว่า นกใหญ่ที่ชาวบ้านเขาหมายถึงนั้น อาทิ นกแกง นกเงือก นกกก ห่าน เป็ดเทศ นกกระสา นกกระทุง นกกระยาง (ขาว/แดง) นกยางกรอก เหยี่ยว ... ฯลฯ  เป็นพวกนกผัวเดียวเมียเดียวเกือบทั้งนั้น  (จริง??...ผมไม่มีความรู้มากพอ)   

ความเชื่อแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีนะครับ ทำให้นกพวกนี้ก็เลยไม่ถูกล่า แต่กลับได้รับการอนุรักษ์ไปในตัว    แต่ชาวบ้านก็อาจจะถูกเหมารวมไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็นผู้ล่าจนทำให้เกือบสูญพันธุ์       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มี.ค. 16, 18:16
ได้กล่าวถึงมาแล้วว่า  ในป่าใหญ่เราจะได้พบเห็นปริมาณนกน้อยกว่าในพื้นที่ราบที่มีการทำเกษตรกรรม แต่เราก็จะได้เห็นนกหายากทั้งหลายแทน

นกในป่าใหญ่นั้น เราจะพบได้ในพื้นที่ๆมีต้นไทร ต้นกร่าง และที่มีเรือนยอดเป็นทรงพุ่ม (มีใบมาก)   ต้นไทรและต้นกร่างมีลูก จึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของนกทั้งหลาย ผลัดกันมาเกาะกันเป็นแต่ละช่วงเวลาต่อเนื่องตลอดทั้งวัน จะเรียกว่าเป็นปักษีสโมสรของนกทั้งหลายในป่าดงก็น่าจะพอได้   ดังนั้น เมื่อใดที่เราเห็นต้นไม้ทั้งสองชนิดดังกล่าวอยู่ในป่า เราก็มีโอกาสได้เห็นนกต่างๆในรัศมีรอบๆต้นไม้ทั้งสองนี้ได้ง่าย   แต่ก็ใช่ว่าเราจะได้เห็นต้นไทรได้ง่ายๆในป่า มันมีขึ้นอยู่ห่างกันประปราย ไม่มากต้นดั่งที่เราอาจจะคิด

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มี.ค. 16, 19:02
ผมคิดว่าต้นไทรนั้นขึ้นได้ในทุกสภาพป่าใหญ่    แต่หากขึ้นอยู่ในป่าที่มีผืนดินค่อนข้างจะมีความชื้น ซึ่งอาจจะสังเกตได้จากการมีพวกพืชมีเง่า เช่น กระชาย ข่าลิง หรือค้างคาวดำ ฯลฯ มีขึ้นอยู่เป็นดง    ป่าลักษณะนี้แหละที่เรามีโอกาสจะได้พบนกใหญ่ทั้งหลาย ก็คือ นกแกง นกเงือก และนกกก   นกพวกนี้บินเสียงดัง (ยังกับงับบานประตูฝืด) เสียงที่มันบินข้ามหัวเราอาจจะทำให้ตกใจได้เหมือนกัน

ป่าแม่วงก์เป็นป่าอนุรักษ์ เป็นที่ๆผมได้พบเห็นนกพวกนี้มากที่สุด  เข้าใจว่าในปัจจุบันนี้คงเหลือนกพวกนี้อยู่น้อยคู่เต็มที  ก็จะไปเหลืออะไรเล่าครับ ป่าที่เคยชุมชื้นนี้กลายเป็นป่าแดงหรือป่าแพะที่แห้งและดูแล้งไปเลยในความต่างของช่วงเวลาประมาณสองสามเดือนเท่านั้น  เดิมนั้น เป็นป่าที่แดดส่องไม่ถึงพื้น หนาแน่นไปด้วยพวกต้นยางและไม้มะค่า (ผู้สูงวัยทั้งหลายอาจจะพอจำได้ว่า ครั้งหนึ่งมีเรื่อง Hit เกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ทำด้วยปมไม้มะค่า ผมว่าก็มาจากป่าผืนนี้เป็นหลัก) ผืนดินชุ่มชื้นเฉอะแฉะไปหมด เข้าไปอีกครั้ง โอ..โล่งเตียนเลย แดดส่องถึงพื้น ...ก็เรื่องของงาน conservation กับงาน exploitation ของสังกัดเดียวกัน...       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มี.ค. 16, 19:21
นกที่นิยมเกาะอยู่ที่สูงตามยอดต้นไม้สูงเสียดฟ้า ก็คือ นกกุลุมพู เป็นนกที่มีลักษณะคล้ายกับนกพิลาบ แต่มีลำตัวขนาดใหญ่กว่า ก็ขนาดประมาณไก่กระทง หรือไก่แจ้

แล้วก็มาถึงนกที่นิยมบินร่อนอยู่ในท้องฟ้า ก็คือ เหยี่ยงอีรุ้ง บินวนไปเวียนมาแบบเนิบๆ ใม่รวดเร็ว     แต่หากเห็นตัวขนาดย่อมลงมาและบินในระดับสูงกว่ายอดไม้ไม่มากนัก ก็จะเป็นเหยี่ยวนกเขา บินเร็วและค่อนข้างจะว่องไว

ผมไม่เคยเห็นพวกนกเป็ดน้ำและนกย้ายถิ่นตามฤดูกาลในพื้นที่ห้วยขาแข้งเลย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มี.ค. 16, 19:38
คิดว่าพอสมควรกับเรื่องของห้วยขาแข้งช่วงล่างแล้วนะครับ  มีรายละเอียดและเรื่องที่ไม่พึงเล่าลึกลงไปกว่านี้อีกไม่น้อยที่ต้องขยักไว้

ผมออกพ้นจากพื้นที่ส่วนล่างนี้ ไปหาทางเข้าพื้นที่ส่วนที่เหนือขึ้นไป ซึ่งก็เข้าไปถึงห้วยได้ไม่กี่ครั้ง  มีแต่เหตุการณ์ระทึกและอันตรายใกล้ถึงชีวิตทั้งนั้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มี.ค. 16, 19:44
ยังมีเรื่องของการล่องเรือในแควใหญ่ที่น่าจะกล่าวถึงอีกเล็กน้อย  ที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่จะต้องใช้เรือหางยาวในภาวะต่างๆ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มี.ค. 16, 19:06
เรือหางยาว เป็นเรือที่มีท้องแบน เป็นเรือที่มีอาการย้วยตัว(การบิดตัว)ค่อนข้างสูง และมีอาการสั่นกระพือค่อนขางสูงเมื่อปะทะกับคลื่น

เมื่อเราขึ้นเรือหางยาว คนขับเรือจะขอให้นั่งเป็นคู่ และจะขอให้นั่งในที่นั่งส่วนหลังถัดจากคนขับเรือเรียงลำดับขึ้นไปทางหัวเรือ  เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ ด้วยที่เป็นเรือท้องแบน ก็เลยต้องพยายามทำให้ท้องเรือเผินเหนือน้ำมากที่สุดในขณะแล่น เพื่อจะได้ลดแรงเสียดทาน จะได้ลดพลังที่ต้องใช้ในการขับเคลื่อนเรือ ซึ่งหมายถึงการลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง   แล้วก็จะเห็นว่า หากต้องมีการขนบรรดาสิ่งของสัมภาระ สิ่งของเหล่านั้นจะไปกองอยู่ในส่วนระหว่างผู้โดยสารกับคนขับเรือ  ก็เพราะ...
 
   การนั่งใกล้หัวเรือนั้นเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับหัวเรือ ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำหนักเป็นแยกกันเป็นสองจุด (หัวเรือ-ท้ายเรือ) ทำให้เมื่อปะทะกับคลื่นก็จะเกิดสภาพคล้ายกับการหักแท่งไม้ด้วยเข่า
   การนั่งคู่นั้น ก็เพื่อเป็นการกระจายน้ำหนักลงให้เท่ากันทั้งสองข้างกราบเรือ ไม่ทำให้เรือเอียงไปทางใดทางหนึ่ง   การนั่งเดี่ยวตลอดความยาวเรือจะทำให้ผู้นั่งแต่ละคนขยับไปทางซ้ายทีไปทางขวาที (หนีแดดบ้าง ดูวิวบ้าง ฯลฯ) ซึ่งจะยังผลให้เรือโคลงไปเครงมาในขณะแล่น คนขับเรือบังคับเรือลำบากมาก   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มี.ค. 16, 19:34
   คนขับเรือจะขอให้ผู้โดยสารนั่งนิ่งๆเฉยๆ ไม่ต้องช่วยลุ้นในขณะที่เรือเข้าโค้ง    ก็ดังที่กล่าวมา เรือมันท้องแบน เรือมันมีการบิดตัวสูง   หากผู้โดยสารมีความสันทัดก็จะช่วยกันเอียงตัวเทไปทางด้านในของโค้ง ก็จะช่วยลดการบิดตัวของเรือ ทำให้เรือเกาะโค้งมากขึ้น ไม่แถออกนอกโค้งและเข้าโค้งด้วยความเร็วได้มากขึ้น       แต่หากผู้โดยสารพยายามขืนการเอียงของเรือ ไม่ว่าจะในขณะแล่นอยู่ในบริเวณที่มีคลื่นหรือในขณะเลี้ยว/การเข้าโค้ง   สภาพความรู้สึกของคนขับเรือก็ไม่ต่างไปจากคนขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซด์ที่มีคนซ้อนท้าย     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มี.ค. 16, 19:55
คงจะได้เคยสังเกตนะครับว่า  เมื่อเรือหางยาวที่แล่นมาด้วยความเร็ว มาถึงท่าน้ำและจะจอดส่งผู้โดยสาร  ในช่วงจังหวะของการชะลอเรือนั้น เรือจะถูกกระชุ่นให้แล่นไปข้างหน้าเป็นระยะสั้นๆครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ก่อนที่จะค่อยๆไหลเอื่อยๆเข้ามาที่ท่าน้ำ

ที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะคลื่นน้ำท้ายเรือที่เรือทำขึ้นมานั้น มันยังมีความเร็วทันเรือ พอที่จะทะลักเข้าทางท้ายเรือ  การกระชุ่นเรือ ก็คือการเร่งเรือให้หนีคลื่นนั้นๆมิให้มันทะลักเข้ามาในเรือทางท้ายเรือ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 16, 18:54
เมื่อใช้เรือหางยาวขึ้น-ล่องในแม่น้ำที่มีเกาะแก่ง    ขาขึ้นทวนน้ำนั้นไม่น่ากลัวเท่ากับขาล่องตามน้ำ เพราะในเที่ยวขาขึ้นนั้นเราสามารถเร่งเครื่องเบาๆเพื่อเลี้ยงเรือให้หัวเรือและลำตัวเรืออยู่ในแนวที่จะเร่งเครื่องให้เรือวิ่งข้ามผ่านไปได้  แต่ขาล่องนั้นต้องล่องลงมาด้วยความแม่นยำตามช่องทางที่เกาะแก่งนั้นๆบังคับไว้ ด้วยความเร็วของเรือที่จะต้องมีมากกว่าความเร็วของกระแสน้ำ มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถบังคับทิศทางของเรือได้ และแถมยังจะได้น้ำทะลักเข้าทางท้ายเรือจากคลื่นตบตูดอีกด้วย 

การนั่งเรือขึ้นล่องแก่งให้ปลอดภัย ก็คือการนั่งนิ่งๆ ลุ้นอยู่ในใจก็พอ ไม่ต้องออกอาการโยกตัวขืนการเอียงของเรือหรือโยกตัวเพื่อช่วยคนขับเรือ  คนชับเรือเขามีความชำนาญและรู้เกี่ยวกับสภาพของแก่งนั้นๆมากพอ มิฉะนั้นเขาก็คงไม่มาขับเรือหากินรับจ้างเรา   

คงพอจะเห็นภาพนะครับว่า ความอันตรายของการนั่งเรือขาขึ้นจะมีน้อยกว่าขาล่องมากเลยทีเดียว

ครับ... เรือขาขึ้นจึงแตกน้อยกว่าเรือขาล่อง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 16, 20:32
ตรงจุดที่เรียกว่าแก่งนั้น  ในประสพการณ์ของผม ผมขอจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
   แก่งที่มีพื้นท้องน้ำเป็นกรวดเป็นหินทรงมน ตั้งแต่ขนาดกำปั้นมือไปจนถึงขนาดลูกฟุตบอลล์ (cobbles and boulders) แก่งลักษณะนี้มีน้ำตื้น    ในช่วงฤดูน้ำน้อย บางแก่งก็จะมีการเซาะร่องในบางจุดเพื่อช่วยให้เรือเล็กพอที่จะสามารถผ่านขึ้นล่องได้    แก่งลักษณะนี้พบอยู่ในแควใหญ่เป็นส่วนมาก พบตลอดตั้งแต่ บ.ลาดหญ้า ขึ้นไปจนถึงถึงแถว บ.นาสวน
   แก่งที่มีหินเป็นโหนกเป็นปมซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ พวกนี้จะมีน้ำลึก (ระดับถึงประมาณ 1 ม.) พบอยู่ในบริเวณที่เป็นช่วงแคบของลำน้ำ แก่งพวกนี้อันตรายมาก ซึ่งระดับมากน้อยของความอันตรายขึ้นอยู่กับฤดูกาลน้ำมาก-น้ำน้อย   เรือที่ขึ้นล่องผ่านแก่งพวกนี้ ขอบท้องเรือด้านข้างจะเฉียดโขดหินใต้น้ำในระยะประมาณ 30-50 ซม. แต่เมื่อเข้าหน้าแล้ง น้ำน้อย ก็อาจห่างจากโขดหินเพียงไม่เกิน 10 ซม. เช่น แก่งปะลอม ใต้ปากแม่น้ำน้อย (ใต้ ตัว อ.ไทรโยค ลงมา)    แก่งประเภทมีหินอยู่ใต้น้ำนี้พบอยู่ในแม่น้ำแควน้อยทั้งนั้น ตลอดไปจนถึงวัดวังก์วิเวการาม (เก่า) ที่จมน้ำเขื่อนเขาแหลมไปแล้ว

   แล้วก็มีแก่งทั้งสองลักษณะนี้ผสมผสานกัน เช่น ที่พบตั้งแต่แก่งยาว ใต้ปากลำขาแข้งมาเล็กน้อย พบขึ้นไปจนถึงจุดที่เรียกว่าน้ำโจน (ที่เคยคิดจะสร้างเขื่อนน้ำโจน)   และที่พบในห้วยขาแข้งช่วงปลาย   ในห้วยแม่ละเมา อ.แม่สอด   ในห้วยน้ำพ้า ห้วยน้ำกร อ.แม่จริม จ.น่าน ฯลฯ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 16, 18:47
ในปัจจุบันนี้ การใช้เรือหางท่องไปในแม่น้ำที่มีเกาะแก่งทั้งหลาย ไม่น่าจะมีอีกแล้ว แต่ถ้าหากอยากสัมผัสรสชาติก็ยังพอหาได้อยู่นะครับ ซึ่งก็จะเป็นประเภทแก่งที่มีโขดหินกระหนาบอยู่ซ้ายขวาและอยู่ใต้น้ำ

ที่พอนึกออกในทันใดก็น้ำแม่กก จะเป็นขาขึ้นหรือขาล่องก็ได้ระหว่าง อ.ฝาง กับ ตัว จ.เชียงราย   

อีกแห่งหนึ่งก็นั่งเรือชมอ่างน้ำเขื่อนเจ้าเณร (เขื่อนศรีนครินทร์) ขึ้นไปทางต้นน้ำแควใหญ่ พอเลยตำแหน่งของปากลำขาแข้งไปใม่เท่าไร ก็จะเริ่มได้ลุ้นกับจุดต่างๆที่มีตอไม้ (ต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วม) เข้าลึกเข้าไปก็จะเจอกับจุดที่มีโขดหิน ลึกเข้าไปอีกก็จะพบกับแก่งดั้งเดิม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระดับการกักเก็บน้ำ ซึ่งหากระดับน้ำในเขื่อนต่ำก็พอจะได้สัมผัสกับแก่งดั้งเดิม แต่ก็อีกแหละครับมันก็ยังขาดสภาพการไหลของน้ำที่ไม่แรงเท่ากับดั้งเดิมของเขา เรือหางลำสั้นหน่อยจะไปได้ถึงสถานีวัดน้ำของ กฟผ.  แต่หากประสงค์จะลองผจญกับวิถีเดิม ก็ใช้เรือหางขนาดเล็ก (นั่งประมาณ 3-4 คน) ต่อเข้าไปได้ถึงจุดที่เรียกว่าน้ำโจน ตำแหน่งที่เคยคิดว่าจะสร้างเขื่อนน้ำโจน   ถึงจุดนั้นก็รู้เองว่า ด้วยเหตุใดถึงเรียกว่าน้ำโจน ก็น้ำตกน้อยๆนั่นเองแหละ

และอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งที่นี้เป็นแบบเสี่ยง ให้ทั้งความแปลกใหม่ ทั้งอันตราย ก็จะมีทั้งน้ำไหลเชี่ยว เกาะแก่ง ปืน และอาจจะมีการปล้น การถูกจับ การเอาตัวรอดหากเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝัน  ครับ.. แม่น้ำสาละวิน ครับ   แถวที่ใีอันตรายน้อยหน่อยก็แถว บ.แม่สามแลบ แถวที่มีอันตรายมากหน่อยก็แถว บ.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน    อันตรายพื้นฐานของพื้นที่ทั้งสองนี้ก็คือ มันเป็นชายแดนตรงแนวเส้นเขตแดน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 16, 19:07
ความอันตรายนั้นผมคงจะไม่ขยายความนะครับ  ก็พอจะบอกกล่าวได้ประการหนึ่งว่ามันเป็นพื้นที่ๆมีความเกี่ยวพันกับหลายเรื่องราวในอดีตและในปัจจุบัน 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 16, 20:05
จะขอขยายความอีกเล็กน้อยนะครับ 

คำว่าแก่งหรือล่องแก่ง  เป็นคำที่ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความอยากจะได้สัมผัส  มโนภาพก็จะเป็นภาพของการนั่งอยู่บนแพไม้ไผ่ที่มีคนถ่ออยู่ที่หัวแพและท้ายแพ     

ในประสพการณ์ของผมนั้น ชาวบ้านจะทำและใช้แพไม้ไผ่อย่างมีประโยชน์สูงสุด     แพไม้ไผ่ของชาวบ้านมีวัตถุประสงค์หลักเป็นเรื่องของการขนของล่องตามน้ำลงไปจนถึงจุดที่ง่ายต่อการขนย้ายไปยังที่อยู่อาศัย  เมื่อถึงจุดสุดท้ายแล้ว ไม้ไผ่ที่ทำแพนั้นก็จะนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆต่อไป ใช้ตั้งแต่ซ่อมบ้านไปจนถึงใช้ทำเครื่องมือและในการจักสานทำภาชนะใช้สอยต่างๆ     แพไม้ไผ่ที่เราอาจจะเห็นว่าชาวบ้านเขาละทิ้งปล่อยให้แช่อยู่ในน้ำอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจงใจปล่อยให้แช่น้ำไว้เพื่อกำจัดจุลชีพทั้งหลาย โดยเฉพาะตัวมอด           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 16, 20:31
หากสังเกตนะครับ จะเห็นว่าลำไม้ไผ่ที่เอามผูกกันเป็นแพนั้น จะถูกริดกิ่งและเกลาจนเรียบเกลี้ยงไปทั้งลำ   หากจะใช้เพียงครั้งเดียวก็คงจะไม่ทำให้มันดูดีถึงขนาดนั้น

แพไม้ไผ่ขนของที่ดูจะเป็นมาตรฐานทั่วไปของชาวบ้านป่า จะใช้ต้นไผ่ (ขนาดประมาณน่องขาของเรา) จำนวน 15 ต้น  เฉาะรูสองข้างที่ด้านโคน 10 ลำ แล้วใช้ไผ่รวกลำขนาดประมาณข้อมือผู้หญิงสอดทะลุ เว้นระยะระหว่างแต่ละลำเท่าๆกับลำไม้ไผ่ที่จะนำมาใช้เป็นแพ แล้วผูกยึด      ประมาณเมตรครึ่งถึงสองเมตรจากห้วแพ ก็เอาไม้ไผ่ขนาดยาวเท่ากับความกว้างของแพมาวางขวาง ผูกให้แน่น จากนั้นก็เอาไม้ไผ่ขนาดยาวประมาณสองเมตรถึงสองเมตรครึ่งห้าท่อนมาวางทับ ยกเป็นแคร่สำหรับบรรทุกของหรือนั่ง   ส่วนหางของแพนั้นก็ปล่อยยาวไปตามลำไม้ไผ่ที่ตัดมาทำแพ       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 16, 18:13
แพไม้ไผ่ขนาด 15 ต้นนี้ ขึ้นได้เต็มระวาง (เท้าแช่น้ำ นั่งแคร่ก้นเปียก) ประมาณ 5 คน รวมทั้งคนคัดหัวและคัดหางแพ   ถ้าจะให้เหมาะก็รวมกันทั้งหมด 3 หรือ 4 คน

การล่องแพด้วยไม้ไผ่นี้สนุกดีนะครับ  เป็นการได้ชื่นชมธรรมชาติแบบเคลื่อนที่เรื่อยๆตามความเร็วของน้ำไหลและไปแบบเงียบๆ ไม่มีโอกาศเจอกับแพล่ม มีแต่โอกาสเจอกับการเปียกปอนและการตกน้ำ  มีโอกาสได้เห็นสัตว์ลงมากินน้ำ ส่วนสำหรับนกนั้นจะได้เห็นตัวและได้ยินเสียงร้องขับขานของเขาแน่นอน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการล่องแพในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย 

การล่องแพนี้ ก็มีสิ่งที่ควรจะต้องคำนึงถึงอยู่สองสามประการ คือ เรื่องแรก หากเป็นการล่องแพเพื่อเพลิดเพลินกับธรรมชาติ เราก็ควรจะทำตนเป็นผู้โดยสารนั่งอยู่บนแคร่ นั่งนะครับ อย่ายืน เพราะอาจจะหัวทิ่มหรือตกน้ำได้เนื่องจากแพมันไปชนเข้ากับหินหรือสะดุดหินก้อนโต    เรื่องที่สอง หากเป็นการล่องแพเพื่อความสนุก อยากจะมีประสพการณ์ในการผจญภัย ก็โดยการเลือกไปยืนอยู่ที่หัวแพพร้อมด้วยไม้ค้ำถ่อ ทำหน้าที่เป็นคนนำร่องแทนชาวบ้าน ช่วยค้ำยันไม่ให้หัวแพทั้งซ้ายและขวาชนกับโขดหิน หากค้ำยันไม่ดี ชนปึ้งเข้าไป ตนเองก็อาจจะตกน้ำ แต่กระนั้นเอง แม้จะเป็นการกระแทกเบาๆแต่ไม่สามารถยันให้หัวแพหลุดจากโขดหินได้ เราก็จะต้องกระโดดลงน้ำกลางแก่งนั่นแหละ ลงไปผลักให้หัวแพมันหลุดออกไป แล้วรีบกระโจนขึ้นแพเพี่อไปทำหน้าที่ต่อไป         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 16, 18:56
ก็เนื่องจากว่า ที่แก่งนั้นน้ำมันไหลเร็ว หากห้วแพยังชนกับหินอยู่ หางแพก็จะค่อยๆกวาดออกไปทางข้าง แล้วในที่สุดก็ขวางลำ คราวนี้ก็ยากเลยที่จะแก้ปัญหา ถึงวาระของการสละแพเอาเลยทีเดียว 

หากเลือกว่าจะไปทำหน้าที่เป็นผู้คัดท้าย ก็จะต้องไปยืนอยู่บนไม้ไผ่ส่วนที่อ่อน (เพราะเป็นส่วนทางปลายของต้นไผ่) แกว่งได้ทั้งซ้ายทั้งขวา แถมยวบยาบขึ้นลงได้เล็กน้อยอีกด้วย  ผมบอกไม่ได้ว่าทำหน้าที่ส่วนหัวหรือหางแพจะดีที่สุด ก็สนุกทั้งสองด้าน เจ็บตัวได้ทั้งสองด้าน  ด้านหางแพนั้น หน้าที่สำคัญก็คือจะต้องค้ำยันซ้ายขวาปรับให้แพมัน align ไปกับกระแสน้ำและให้สอดคล้องกับทิศทางที่หัวแพกำลังต้องการจะไป ก็เป็นความยากในระดับหนึ่งเหมือนกัน ก็ต้องคอยมองไปข้างหน้าและเดาว่าเราควรจะทำอย่างไรในสภาพต่างๆ 

ความสนุกแบบอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนคัดท้ายแพก็คือ เมื่อแพเข้าโค้ง หางแพมันจะถูกผลักให้เข้าหาตลิ่งเสมอ ซึ่งก็จะเป็นตลิ่งฝั่งที่ชัน เป็นด้านที่ถูกกัดเซาะ (erode) ซึ่งก็หมายความว่าจะมีไม้ล้มมาขวางบ้าง มีกอไผ่ล้มลงมาขวางทั้งกอบ้าง ความอันตรายจริงๆก็มาจากกอไผ่ที่ล้มและโดยเฉพาะกับกอไผ่ที่ชาวบ้านเขาตัดส่วนต้นทิ้งไปเหลือแต่ส่วนโคนที่เป็นปากฉลามทั้งกอ จะแทงไม้ค้ำยันเข้าไปในกอไผ่เพื่อดันหางให้พ้นก็แทงเข้าไปไม่ถึงจุดที่จะยันได้   ไม่ปะทะก็ต้องโดดหนีลงน้ำละครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 16, 19:24
ผมเคยไปทำหน้าที่คัดท้ายหางแพ ยันหางแพให้พ้นจากกอไผ่ปากฉลามไม่ได้ จะสละเรือลงน้ำก็ทำไม่ได้ ทำไม่ทัน ตัดสินใจช้าไปหน่อย จะลงน้ำก็อาจเจอกิ้งก้านสาขาของกอไผ่ที่อยู่ใต้น้ำ หากขากางเกงไปเกี่ยวหนามของมันเข้า ตั้งตัวยืนไม่ได้ก็อาจจะตายน้ำตื้นก็ได้  ตัดสินใจเสี่ยงให้หางแพมันพัดเข้าไปหากอไผ่ ดูจังหวะเหมาะก็คว้ากิ่งก้าน ห้อยต่องแต่ง ปล่อยให้แพมันเคลื่อนไปตามกระแสน้ำ  โชคดีที่คนหัวแพเขามีประสพการณ์มากพอที่จะคาดเดาเรื่องต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เขาเอาหัวแพฝั่งไว้เดินมาทางหางแพแล้วยันให้หางมาอยู่ในตำแหน่งที่ผมจะปล่อยมือให้ตัวลงมายืนอยู่บนปลายหางแพได้

ผมเคยทำหน้าที่ด้านหัวแพ แล้วก็เคยต้องโดดลงน้ำเพื่อผลักหัวแพให้พ้นหิน ก็เสี่ยงอยู่ไม่ต่างกัน เพราะว่าเราก็ไม่รู้ว่าใต้น้ำและพื้นท้องน้ำที่จะต้องรีบลงไปเะหยียบนั้นเป็นอย่างไร   

ทั้งสองประสพการณนี้ก็ในห้วยขาแข้งนี่แหละครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 16, 20:27
เมื่อมีข้อจำกัดและอันตรายมากขึ้นจากการทำงานในพื้นที่ส่วนใกล้ปากลำขาแข้ง ผมก็ย้ายไปเข้าห้วยขาแข้งทางด้านข้าง ซึ่งจะใช้คำว่าไม่ประสบผลสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ก็ได้ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 16, 18:48
ก็รู้อยู่ว่าจุดเข้าออกห้วยขาแข้งที่สำคัญอยู่ในเขต อ.บ้านไร่ แถวๆ บ.ใหม่ บ.คอกควาย     อ.บ้านไร่ เป็นเสมือนแหล่งสะเบียงของชาวบ้านป่าในย่านพื้นที่ส่วนในของทิวเขาทิวแรกของเทือกเขาด้านตะวันตกของไทย  ก็มีทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคและของต้องห้ามแบบเบาๆและแบบหนักๆ   

ครับ.. แหล่งสะเบียงสำคัญด้านในใกล้ชายแดนมากที่สุดก็คือ อ.ทองผาภูมิ (ก็มี บ.ไร่ เช่นกัน)  ถัดลึกเข้ามาก็ อ.ศรีสวัสดิ์ (บ.นาสวน) ลึกเข้ามาอีกก็ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี นี่เอง  เหนือจากบ้านไร่อุทัยธานีขึ้นไปก็แถวน้ำตกคลองลาน จ.กำแพงเพชร เหนือขึ้นไปอีกก็ บ.นาโบสถ์ (ใต้ของน้ำตกลานสางลงมา) จ.ตาก  ลงไปทางใต้ก็ บ.สวนผื้ง จ.ราชบุรี บ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี   

ชื่อสถานที่ๆกล่าวถึงเหล่านี้ไม่ค่อยมีคนอยากจะเข้าไปหรอกครับ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมาย เป็นพื้นที่ๆอุดมไปด้วยปืน ของต้องห้าม และคนที่ดูสงบเสงี่ยมแต่ลึกและเด็ดขาด     ก็น่ากลัวพอที่ผมโดนขอเดินทางเข้าร่วมเข้าไปในรูปของคนในคณะบ้าง ในรูปของร่วมขบวนบ้าง กระทั่งโดนฝากของให้เข้าไปช่วยแจกให้ก็ยังมี  ซึ่งผมทำได้อย่างเดียวคือ การปฎิเสธ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 16, 20:08
ผมเชื่อในการคิดดี ทำดี ทำงานให้แผ่นดิน ทำในสิ่งที่จะเกิดและจะเป็นประโยชน์แก่ทุกผู้คน ไม่เบียดบังประโยชน์เข้าตน    ซึ่งความคิดและความเชื่อของผมนี้เกิดขึ้นในขณะที่กำลังทำงานอยู่ที่จุดๆหนึ่งบนเส้นทางขึ้นเหนือสายเก่า (เส้นทางผ่านตัว อ.วังเจ้า จ.ตาก)

ก็มีพื้นที่บริเวณหนึ่งที่มีรั้วลวดหนามกั้น เป็นพื้นที่เนินเตี้ยๆ  ในฐานะที่เป็นนักสำรวจก็ต้องเข้าไปดูว่าอะไรเป็นอะไร  ถามชาวบ้านแถวนั้นเพื่อจะหาเจ้าของเพื่อจะขออนุญาตเข้าไป  ก็ได้ความว่า เข้าไปได้ ไม่เป็นไรหรอก แต่เป็นสถานที่ๆเฮี้ยนเอาทีเดียว   ผมก็เข้าไป สิ่งที่เจอก็คือเป็นเนินแร่แคลไซด์ทั้งเนินที่มีแร่เป็นผลึกใสสะอาด  เอาละซี หากเป็นลักษณะเช่นนี้ ดีไม่ดีอาจจะเป็นแหล่งแร่ฟอสเฟตที่สำคัญก็ได้ (เอามาทำเป็นธาตุตัวกลางของของปุ๋ย NPK สูตรต่างๆ)  ก็จำเป็นจะต้องใช้ฆ้อนต่อยกระเทาะหินเพื่อเอาตัวอย่างออกมาเพื่อส่องดูด้วย hand lense  ก็กล้าๆกลัวๆอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดก็คิดได้ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น แล้วก็ลงมือทำ   

กลับลงมาขับรถเข้าเมืองตาก เป็นช่วงเวลาประมาณบ่าย 4 โมงเย็น ก็ได้เห็นภาพที่ประทับใจมากๆ หนุ่มสาวคู่หนึ่งนั่งคู่กัน นั่งคุยกันอยู่บนเกวียนไปตามถนนที่ร่มรื่นไปด้วยร่มเงาของต้นสัก ...ขี่ควายขี่เก๋งก็เหมือนกัน มันก็พระจันทร์ดวงเดียว...

ทุกอย่างดูดี ราบรื่น สดสวย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจากการไปต่อยหินที่เนินนั้น   แต่..ตั้งแต่นั้นมา ภายใต้ความเชื่อนั้น หน้าที่ความรับผิดชอบของผมก็คือการทำงานในพื้นที่ๆผู้คนต่างๆไม่ค่อยอยากจะเข้าไปสัมผัสด้วย   ผมก็ตัดสินใจถูกต้อง ก็รอด ก็คลาดกันไปในเรื่องที่อันตรายถึงชีวิตในทุกเรื่อง           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 16, 20:20
ทางเข้าห้วยขาแข้งจุดหนึ่งแถวที่เรียกว่าซับฟ้าผ่า ก็มีเรื่องที่ผมและคณะเกือบจะได้รับอันตรายถึงชีวิต   สำหรับผมนั้น มันเป็นเหตุการณ์ที่ผมเห็นว่ามันเป็นเหตุบังเอิญมากเกินไป น่าจะต้องมีเทพยดาฟ้าดิน เทพารักษ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย   ครับ.. มันมีเรื่องที่เกิดอย่างต่อเนื่องภายในช่วงเวลาตั้งแต่บ่ายวันหนึ่ง ข้ามคืนไปถึงเช้าอีกวันหนึ่ง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 16, 18:31
หลังจากได้แปลความหมายจากภาพถ่ายทางอากาศมาเป็นข้อมูลทางธรณีฯ พร้อมๆไปกับการดูช่องทางและวางแผนการเดินสำรวจ ก็พบว่าช่องเขาที่สามารถเดินเข้าห้วยขาแข้งได้ไม่ยากนักแล้วยังจะให้ช้อมูลทางธรณีฯอย่างมากอีกด้วย ก็อยู่ในบริเวณที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า ซับฟ้าผ่า

ด้วยประสบการณ์ที่พอมี เราก็รู้ว่าจะต้องว่าจ้างคนงานแบกหามกี่คน ก็มีการเตรียมการ นัดแนะว่าจะไปรับในวันใหน  ด้วยไม่รู้สภาพถนนหนทาง ก็เลยเลือกใช้รถ UNIMOG ซึ่งได้ทั้งการนั่งได้หลายคน ขนของได้มาก   มีพื้นท้องรถสูง ยางใหญ่ กำลังมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพของทาง ไม่ว่าจะเป็นหล่มโคลน ร่องน้ำ ขอนไม้หรือตอไม้

ระหว่างทางเข้าไปก็จอดแวะรับคนงาน ผมลงเดินเข้าไปในสวนเพื่อไปบ้านพักของเขา ก็เกิดไปเตะเอาแขนงของรากไม้ที่โผล่เหนือดิน (เพราะใส่รองเท้าแตะฟองน้ำ)  เป็นแผลคล้ายถูกแมวข่วน   แผลเส้นเดียวเล็กๆที่ผิวหนัง สั้นน้อยกว่า 1 ซม ที่ด้านข้างของหัวแม่เท้า  จากนั้นก็เดินทางเข้าไปจนถึงจุดที่ตั้งใจจะเริ่มเดินเข้าห้วย ไปถึงเอาตอนบ่ายแก่ๆ ก็พบว่ามีบ้านยกพื้นสูง (ประมาณ 2+ ม.) อยู่หลังหนึ่ง พื้นที่รอบบ้านเรียบ เตียน สะอาด   มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่งอยู่ด้านหน้าบันใดขึ้นบ้าน พลขับเอารถจอดอยู่ใต้ต้นไม้นั้น 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 16, 19:27
พบว่ามีผู้ชายสองคนอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ คุยไปคุยมาจึงได้รู้ว่าเป็น จนท.รักษาป่าประจำหน่วยซับฟ้าผ่านั่นเอง  ก็แบ่งปันวัตถุดิบทำอาหารให้ตามสมควร      นอนค้างคืนหนึ่งแบบง่ายๆด้วยผ้าใบ 3 ผืน ผืนหนึ่งทำหลังคา ผืนหนึ่งปูพื้นสำหรับนอน ผืนเล็กอีกผืนหนึ่งปูพื้นนั่งทำครัวและกินข้าว   กะว่าพรุ่งนี้เช้าก็จะเดินเข้าไปตามช่องเขาเข้าสู่ห้วยขาแข้ง

ตื่นเช้าขึ้นมา  ไอ้หยา หัวแม่เท้าบวมเป่ง แผลอักเสบ เจ็บร้าวไปทั้งเท้าเลย  แต่ก็ยังพอทนเดินสำรวจใกล้ๆรอบๆที่พักได้ กะว่ารุ่งอีกวันหนึ่งน่าจะบรรเทามากพอที่จะเดินทางไกลเข้าไปทำงานอยู่ในห้วยขาแข้งประมาณ 1 สัปดาห์ได้    แต่ก่อนที่จะออกเดินสำรวจรอบๆที่พัก ก็ได้ยินเสียงดังที่รถ ทุกคนหันไปดู ต่างก็นึกว่าเป็นกิ่งไม้ตกลงมาใส่รถ    อ้าว กลับกลายเป็นงูตัวขนาดประมาณแขน ยาวประมาณ 1 วา หล่นลงมาบนหลังคารถ แล้วเลื้อยตกลงพื้นดินไป

รุ่งขึ้นเช้าอีกวัน ทุกคนก็จะเตรียมเก็บสัมภาระเข้าห้วย  แต่ความเจ็บปวดที่เท้าผมกลับเพิ่มขึ้น บวมไปทั้งเท้า เล่นเอาต้องเดินแบบค่อยๆเขยกเลยทีเดียว   พอสายๆก็ได้รับข่าวว่า มีกลุ่มคนไทย 4-5 คนถูกยิงเสียชีวิตในช่องเขาที่ผมและคณะจะเดินเข้าไป ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ผมและคณะได้แผนเอาไว้พอดี 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้าทาง เทพยดาฟ้าดิน เทพาอารักษ์ทั้งหลายทั้งปวงประจำถิ่นนั้น คงจะได้ร่วมกันช่วยหยุดผมและคณะมิให้เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในพิกัดที่มีอันตรายถึงชีวิตเป็นแน่แท้

เรื่องนี้แหละครับ ที่ทำให้ผมเกิดความเชื่อและมั่นใจมากๆในการคิดดี ทำดี ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน ต่อส่วนรวม ไม่มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แห่งตน

สำหรับเรื่องเท้าของผมนั้น จากแผลขนาดแมวข่วน ก็ไปไกลถึงขนาดต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล ฉีดยาสเตร็บฯอยู่หลายเข็ม รักษากันกว่าจะหายอีกหลายอาทิตย์ต่อมา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 16, 19:47
เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์อันตรายที่รอดมาได้  ซึ่งนับแต่นั้นมา ผมก็ไม่มีโอกาสได้เข้าห้วยขาแข้งทางซับฟ้าผ่าอีกเลย

เป็นอันว่า ที่ผ่านมา ผมได้พบกับอันตรายในหลายรูปแบบพอสมควรแล้ว อาทิ การเฝ้าดู การติดตาม การขู่ การท้าดวล การเป็นเป้านิ่ง ฯลฯ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 11 มี.ค. 16, 18:03
ดิฉันกำลังหนักใจเรื่องงาน แต่พออ่านกระทู้นี้ก็ช่วยให้ได้คิดว่าปัญหาของเรามันแค่จิ๊บๆ เทียบไม่ได้กับของอาจารย์ ที่ลำบากทั้งกายใจ แถมเสี่ยงตายอีกต่างหาก ขอบพระคุณมากค่ะที่กรุณาเล่าให้ฟัง




กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มี.ค. 16, 19:05
เหตุการณ์ที่ซับฟ้าผ่านี้ ได้ยืนยันเรื่องที่มีชาวบ้านในห้วยขาแข้งที่ได้เข้ามาบอกผมว่าเข้าลึกเกินไปแล้ว ว่ามีกลุ่มคนของอีกอุดมการณ์เมืองหนึ่งกำลังทำงานอย่างจริงจังอยู่ในพื้นที่นี้

มิน่าเล่า ผมก็ว่าผู้คนในย่าน อ.บ้านไร่ จึงดูแปลกๆ ก็คือเป็นมิตรแต่เว้นระยะห่างมากๆของการคบหาสมาคม    ที่จริงก็ดูแปลกๆในทุกพื้นที่ๆอยู่ใกล้ตีนของเทือกเขาทางตะวันตกของเรา ตั้งแต่เขตของ จ.ตาก ลงเรื่อยไปจนถึงเขต จ.เพชรบุรี  

จะไม่ขยายความต่อและจะไม่ล่วงล้ำลึกเข้าไปในเรื่องทาง Geopolitics ที่มีเรื่องน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวนะครับ ที่เรารับรู้กันมานั้น ก็เฉพาะในเรื่องของการต่อสู้ทางอุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งมันก็มีเรื่องหน้าฉากที่มีความสมเหตุสมผลของมัน    แต่หากย้อนไปพลิกตำราพิชัยสงครามของซุ่นวู มันก็มีอีกมุมมองหนึ่งที่มองได้ ซึ่งพอจะเห็นได้ว่า จุดประสงค์ที่ต้องการจะได้รับจริงๆนั้น มันมีซ่อนเร้นอยู่

ผมเคยเขียนแทรกไว้ในกระทู้ใหนก็จำไม่ได้แล้วว่า (หรือไม่เคย ??) ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยขาตินั้น มันเกี่ยวพันกับเรื่องของทรัพยากร


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มี.ค. 16, 19:37
ขอบคุณครับ คุณ Anna

ผมเพียงประสงค์จะได้ฉายภาพสภาพของสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมในการทำงานเมื่อ 40 ปีก่อนโน้น ซึ่งคงจะมีคนจำนวนไม่มากนักที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับชีวิตของชาวบ้านและคลุกคลีแบบถึงลูกถึงคนจริงๆ

   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 11 มี.ค. 16, 20:13
ผมขออนุญาตนำภาพตัวอย่าง รถ UNIMOG มาประกอบเรื่องท่านอาจารย์
ในแฟ้มกูเกิล มีภาพให้เลือกเยอะมาก แต่ผมชอบคันนี้มากที่สุด น่ะครับ


(http://cdn.silodrome.com/wp-content/uploads/2014/07/Mercedes-Benz-Unimog-Front.jpg)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 16, 18:12
ขอบคุณสำหรับภาพประกอบครับ

รุ่นที่ผมใช้นั้นมีหน้าตาและตัวเก๋งดังภาพ ต่างกันที่กระบะท้ายของรุ่นที่ผมใช้นั้นมีความยาวกว่า ยาวประมาณ 1.50 ม.  ผมเข้าใจว่ารถรุ่นนี้ใช้เครื่องดีเซลทั้งหมด ประหยัดน้ำมันมากกว่ารุ่นก่อนที่ใช้เครื่องเบนซินมากๆ 

UNIMOG มีเกียร์ดินหน้าปรกติ 6 เกียร์ ถอยหลัง 2 เกียร์ (ใช้คันเกียร์อีกคันหนึ่งปรับให้เดินหน้าหรือถอยหลังกับเกียร์ 1 หรือ 2) สามารถปรับให้ใช้งานขับเคลื่อน 4 ล้อแบบทั่วๆไป (4x4) หรือจะให้ขับเคลื่อนทั้ง 4 ล้อไปพร้อมกันทุกล้อ (AWD) ก็ได้    เป็นรถที่ใช้สปริงมิได้ใช้แหนบ จึงค่อนข้างจะโยกเยกกว่าปรกติ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 16, 18:57
ครั้งหนึ่ง ผมขับรถ UNIMOG นี้แหละ ไปตามทางลากไม้เพื่อเข้า บ.ไก่เกียง ในห้วยขาแข้ง กำลังค่อยๆไต่ขึ้นเขาชัน  บะแหล่ว เจ้าช้างป่าก็โผล่หัวมา แล้วก็ออกมายืนเป็นขวางเป็นเจ้าถนน จะทำอย่างไรดีล่ะ พอดีสังเกตเห็นหัวอีกตัวหนึ่งกำลังจะโผล่ออกมา  เราก็ใจชื้นแล้วล่ะ แสดงว่าเจ้าตัวที่โผล่มายืนอยู่นั้นมิใช่เจ้าสีดอแน่ๆ เป็นช้างฝูงก็สบายใจหน่อย  อย่างน้อยก็จะน่าไม่มุทะลุดุดันฟาดหัวฟาดหางดังเช่นเจ้าสีดอ 

เจ้า UNIMOG นี้ ก็ดังที่เล่ามาว่ามันมีเกียร์เยอะ เขาออกแบบมาให้ค่อยๆคลานไปอย่างช้ามากๆได้   ผมก็เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้เกียร์สองไปเป็นเกียร์หนึ่งให้คลานช้าลงไปกว่าเดิมอีก จะเบรคหยุดอยู่บนทางชันก็คงไม่สนุกนัก ด้วยรู้อยู่ว่าเบรคขณะถอยหลังของเจ้ารถคันนี้ไม่ค่อยจะดีนัก (เคยไหลเข้ารกเข้าพงข้างทางมาแล้วครั้งหนึ่ง)     ก็ด้วยกำลังและอัตราการทดเกียร์ของรถที่ดีเยี่ยม รถก็คลานขึ้นด้วยความเร็วพอๆกับการเดิน  ฝ่ายเจ้าช้างที่ว่ากำลังจะโผล่ออกมานั้นก็ผลุบหัวกลับเข้าไป เจ้าตัวที่ยืนอยู่บนถนนก็เดินกลับตามเข้าป่าไป    ก็ถิอว่าเป็นโชคดีครับ รอดมาได้   

ก็ยังนึกอยู่ว่า หากช้างมันวิ่งเข้าใส่ เราจะทำอย่างไรดี เบรครถเราไม่ดีพอที่จะดันสู้ที่มันดุนชนได้  จะลงวิ่งหนี แค่เปิดประตูโดดลงรถที่สูง กว่าจะตั้งตัววิ่งได้ ก็คงไม่ทันที่มันจะเข้าถึงตัวเรา  หากมันดันรถเราก็คงถอยกลิ้งตกใหล่เขาพลิกไปมาอยู่หลายรอบ       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 16, 19:46
ต่อครับ

เข้าซับฟ้าผ่าไม่ได้ ก็ย้ายไปเข้าทางห้วยทับเสลา  เส้นทางนี้ต้องเดินกันเต็มเหยียดเต็มวันเลยทีเดียว เพิ่มความเหนื่อยด้วยการต้องลัดข้ามเขาหนึ่งลูก เรียกกันว่า สี่กั๊ก   แบกของสะพายหลังทั้งอาหาร เครื่องนอน และเสื้อผ้า เหนื่อยล้าอย่าได้บอกใครเลยครับ   

การเดินเข้าไปทำงานในลักษณะนี้ หากจะเข้าไปอยู่ทำงานประมาณหนึ่งสัปดาห์กว่าๆ แบบไม่โหดและไม่เบียดเบียนธรรมชาติมากนัก  ก็จะใช้คนทั้งทีมประมาณ 8 คน โดยทุกคนจะต้องช่วยกันแบกสิ่งของ นอกจากของส่วนตัวแล้วก็มีของกลางที่ใช้ร่วมกัน   ซึ่งสำหรับงานของผมนั้น ขาเข้าไปก็หนักอยู่แล้ว แต่ขากลับออกมานั้น อาจจะหนักกว่าขาเข้าก็ได้ เพราะว่าต้องเก็บตัวอย่างหินออกมาด้วย เอามาศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเก็บมามากน้อยเพียงใด แต่ละก้อนโดยประมาณก็ประมาณกำปั้นมือ

ลองประมาณน้ำหนักของหินดูนะครับ แท่งหินตันขนาด 1 ลบ.ม. จะมีน้ำหนักประมาณ 2.5 ตัน    ก้อนหินปริมาตร 1 ลบ.ม.ของหินก้อนขนาดประมาณครึ่งกำปั้นมือจะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 ตัน  ผมไม่บ้าเก็บในปริมาณมากเท่านั้นหรอกครับ อ่านข้อมูลให้ได้มากที่สุดในสนาม แล้วก็เลือกเก็บตัวอย่างเฉพาะก้อนที่มันน่าจะเล่าเรื่องราวได้มากที่สุด ตั้งแต่มันเกิดที่ใหน มันมาจบอยู่ที่นี่ได้อย่างไร มันเดินทางไปในที่ใดๆในสภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรมาบ้างตลอดอายุของมัน และมันควรจะมีอายุเท่าใด เป็นต้น     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 16, 20:06
ไปถึงริมห้วยขาแข้ง หาที่เหมาะๆได้ก็กางเต็นท์ผ้าใบสองผืน ทำหลังคาผืนนึง ปูนั่งนอนผืนนึง

แถวนี้ไม่มีจุดน้ำลึก  เป็นห้วยน้ำไหลผ่านกรวดหินธรรมดาๆ ไม่มีวังน้ำให้ปลาตัวขนาดเขื่องๆอยู่  มีแต่ปลาตัวเล็กตัวน้อยต่างๆ   มีปูตัวเล็กๆ มีปลากั้งซ่อนอยู่ตามหลืบก้อนหิน  ไม่ได้ยินเสียงกบเสียงเขียดเลย ไม่เหมือนกับป่าของทางภาคเหนือ   ลักษณะพื้นที่เป็นหุบกว้าง รู้สึกสัมผัสได้กับความความเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทดี ไม่รู้สึกอับชื้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 16, 21:08
ก็ตามประสาคนเดินป่าครับ  มาถึงเอาเย็น พวกหนึ่งก็ช่วยกันตั้งแคมป์ จัดที่นอน เตรียมทำครัว อีกพวกหนึ่งก็ออกไปช่วย หาขอนไม้แห้งและกิ่งไม้แห้งเพื่อเอามาจุดไป   รีบหุงหาอาหารและกินก่อนที่จะมองไม่เห็นอะไร   

เดินแบบนี้ไม่เอาตะเกียงมาด้วยครับ ตะเกียงรั้วนั้นไม่มีคำว่าไม่รั่วไม่ซึม น้ำมันก๊าดที่ใช้จุดตะเกียงนั้นไม่ว่าจะไปสัมผัสกับสิ่งใด กลิ่นของมันก็จะฝังตัวติดแน่นอยู่กับสิ่งนั้น  ...เรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องไม่ลืมเลย คือ น้ำมันก็าดกับข้าวสารต้องแยกห่างจากกันโดยเด็ดขาด  อื่นใดก็ยังพอหาของป่าทดแทนได้ แต่ข้าวนั้นหาจากป่าทดแทนไม่ได้เลย

กินข้างเสร็จก็นั่งคุยกันถึงเรื่องที่ได้พบมาในระหว่างเดินมาทั้งวัน ถกความเห็นต่างๆ ประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมาและคิดว่าจะต้องทำอะไรและอย่างไรในวันต่อๆไป ฯลฯ

พอตกค่ำมืด ความสว่างก็ได้จากกองไฟนั่นแหละ ตกดึกสงัดก็ได้ความสว่างสลัวๆจากไฟที่คุติดอยู่ที่ขอนไม้ พอเข้าตีสองตีสาม น้ำค้างก็แรงขึ้น ไฟที่ขอนไม้ก็จะมอดไปหรือเกือบดับ  ทุกคนก็จะกระสับกระส่าย นอนพลิกตัวไปมาเพราะไออุ่นจากไฟที่ขอนไม้หายไป ก็จะมีคนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาจุดไฟให้โชนใหม่  ก็จะมีคนที่ตื่นแล้วแต่ไม่ลุกขึ้น นอนต่อแต่ไม่หลับ  มีคนที่ตื่นแล้วตื่นเลย  แล้วก็มีคนขี้เซาหลับคุดคู้โลดจนฟ้าแจ้ง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 16, 18:42
รุ่งเช้า แต่ละคนก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำในเรื่องที่ตนถนัดหรือเรื่องที่พึงช่วยกันทำ ไม่มีการเกี่ยงงานหรือขัดแย้งกันในเรื่องใดๆ พูดคุยกันด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แหย่กัน เบิ้ลกันบ้างพอสนุก ช่วยกันขยับปรับแต่งจัดวางข้าวของต่างๆให้วางอยู่ในที่ในทางที่เหมาะสม    สำหรับตัวผมเองก็เตรียมความพร้อม จัดเตรียมเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการสำรวจ

ที่วางแผนไว้ก็คือ ในวันแรกจะเดินขึ้นไปในทิศทางต้นน้ำ จะไปไม่ไกลนัก ไปเป็นกลุ่มเล็ก ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการรักษาสภาพของร่างกายมิให้อยู่ในสภาวะของการกระชากอย่างสุดโต่งระหว่างการพักอยู่นิ่งๆกับการออกแรงอย่างหนักต่อเนื่อง     ครับ...หากเดินวันแรกแล้วพักในวันรุ่งขึ้น ถัดมาอีกวันหนึ่งก็จะเกิดอาการปวดเมื่อยถึงขั้นที่อยากจะพักต่อไป  ทางแก้ที่ดีก็คือการออกเดินเหมือนเดิมแต่เบาลงมาหน่อย เมื่อทำต่อไปถัดอีกวันหนึ่งอาการปวด อาการเมื่อยล้าก็จะหายไปเกือบหมด

พวกที่อยู่ที่ๆพักก็จะช่วยกันเตรียมการสำหรับการเดินระยะไกลหลายวันตามน้ำลงไป


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 16, 19:11
กลับมาถึงที่พัก ก็เห็นคนในคณะกำลังแล่กวางกันอยู่  ได้ความว่าเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าพ่อเจ้าแม่ เจ้าป่าเจ้าเขา เขาให้มา   ครับ..กำลังเดินเก็บของที่กินได้อยู่ในห้วย ปากก็พูดไปว่า ขออาหารให้มีเพียงพอสำหรับการเดินทางต่อเนื่องอีกหลายวัน พูดจบในทันใด เจ้าที่ฯ ก็ส่งกวางให้กระโดดลงมายืนอยู่กลางห้วย 

ต้องช่วยกันจัดการ อาทิ จักตอกเพื่อร้อยเนื้อแขวนตากแห้งบ้าง ทำแคร่ย่างแห้งรมควันแล้วคลุกขี้เถ้าบ้าง ทำอาหารบ้าง ฯลฯ

...จะขอขยายความช่วงนี้หน่อยนะครับ   ก่อนที่จะไปถึงเรื่องของเส้นยาแดงผ่าแปดระหว่างความเป็นกับความตาย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 16, 20:41
พวกสัตว์ใหญ่ที่กินพืชทั้งหลายนั้น  ชาวบ้านนิยมที่จะเอาเนื้อมาทำลาบดิบ ใส่เลือดสดๆในปริมาณที่พอทำให้ลาบนั้นมีความชื้นแฉะ บ้างก็จะใส่น้ำดีลงไปด้วยเพื่อให้ออกรสขม  บ้างก็ใส่ขี้เพี๊ยะ ซึ่งก็คืออาหารที่ย่อยผ่านกระเพาะมาแล้ว อยู่ในลำใส้ส่วนบน    เป็นวิธีทำกินแบบพื้นฐานเมื่อเดินดงที่เหมือนกันทั้งในภาคเหนือและอีสาน 

แต่เมื่อการทำลาบนี้เข้ามาอยู่ในเขตพื้นที่เมือง ก็เกิดมีความต่างขึ้นมา   ในขณะที่ลาบดิบของทางอีสานยังคงเป็นแบบพื้นๆ ลาบดิบของภาคเหนือจะมีการใส่เครื่องเทศเพิ่มเติม

เมื่อทำให้เป็นลาบสุก ทางอีสานจะทำให้สูกโดยการใช้น้ำต้มกระดูก ใส่หอมแดง ผักชีฝรั่งซอย ใบสะระแหน่ พริกป่น ปรุงรสด้วยน้ำปลา มะนาว แล้วใส่ข้าวคั่วป่นเพื่อช่วยทำให้แห้ง     ในขณะที่ทางภาคเหนือจะทำให้สุกโดยการผัดในกระทะ (เลยเรียกว่าลาบคั่ว) โดยจะคั่วเครื่องเทศให้หอมเสียก่อนแล้วเอาเนื้อที่ลาบแล้วลงไปคลุก(ผัด)ในกระทะ   

ทั้งลาบเหนือและลาบอีสานกินกับผักแนมที่เป็นผักสดหลายชนิดคล้ายๆกัน     ลาบอีสานมีความอร่อยอยู่ที่รสเข้มข้น ผักแนมที่นิยมจะออกไปทางเรื่องของกลิ่น     ลาบเหนือมีความอร่อยอยู่การผสมผสานระหว่างกลิ่น (จมูก) รสชาติที่นุ่มนวลกลมกล่อม (ลิ้น) ผักแนมที่นิยมจะออกไปทางเรื่องของรสออกเปรี้ยว กลิ่น ความรู้สึกซ่า           


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 16, 18:43
แล้วก็มีลาบแบบทองแดง  ผมตั้งชื่อขึ้นมาเองนะครับ  เป็นลาบแบบครึ่งดิบครึ่งสุก ใส่เครื่องหอมสด (สมุนไพรสด ไม่ใส่เครื่องเทศแบบทางเหนือ) ใส่ข้าวคั่วแบบอีสาน ใช้ทั้งพริกสดและพริกป่น ปรุงรสออกไปทางเผ็ด-เค็ม (แบบภาคเหนือ) ไม่ออกรสเผ็ด-เค็ม-เปรี้ยว (แบบอีสาน)

ลาบแบบนี้ น่าจะเป็นการทำลาบแบบเก่าแก่ที่ตกทอดกันมาในหมู่ผู้อพยพคนไทยที่มีพื้นเพอยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนบน   ประมวลมาจากข้อมูลจำนวนน้อยมากที่ได้มาจากการได้มีโอกาสสัมผัสและคลุกคลีกับชาวบ้านแบบเข้าถึงก้นครัว เอาว่าเป็นการสรุปแบบเดาเอานะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 16, 19:38
ลาบแบบทองแดงนี้ ใช้ข่าสดหั่นเป็นแว่น คั่วในกระทะร้อนๆจนได้กลิ่นหอม  คั่วพริกแห้งให้หอมใส่ครกแล้วป่นมันให้แหลกตามต้องการ คั่วพริกขี้หนูสดจนสยบและออกกลิ่นหอม เผาหอมแดง ปอกเปลือกแล้วใส่ครก ซอยหอมแดง ต้นหอม ผักชีฝรั่ง แล้วพักไว้

โขลกข่าที่คั่วจนหอมแล้วให้แหลก ใส่หอมเผากับพริกขี้หนูสด(ที่คั่วให้สยบแล้ว) โขลกหยาบๆให้เข้ากัน   เอากระทะตั้งไฟ (ใส่น้ำมันเล็กน้อย)  แบ่งครึ่งเนื้อสดที่ลาบแล้ว (สับละเอียดแล้ว) ใส่กระทะ   ยีให้เนื้อแตกร่วนไม่จับกันเป็นก้อน  พอเนื้อเริ่มเริ่มสุกก็เอาเนื้อดิบใส่ลงไป ใส่เครื่องที่โขลกอยู่ในครกตามลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันในกระทะ  ปรุงรสด้วยน้ำปลา (หรือเกลือ) และพริกแห้งที่ป่นแล้ว    ยกกระทะลง ใส่ข้าวคั่ว หอมแดงซอย ผักชีฝรั่ง ต้นหอมซอย ใบสะระแหน่ คลุกเคล้าให้ทั่ว    กินกับผักแนม เช่น ผักกาดป่า ผักไผ่ ยอดกระโดน ยอดมะกอก ยอดมะม่วง ใบโกศล ใบหูเสือ ใบพลูคาว ใบส้มป้อง(ชะมวง) หญ้าตูดหมูตูดหมา ฯลฯ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 16, 19:49
ลาบดิบที่ใส่เลือดให้พอฉ่ำแฉะนี้ หากใส่เลือดมากจนมีลักษณะเป็นโคลน ก็จะเรียกว่าหลู้หรือลาบเลือด   หรือที่เรียกว่าซกเล็กของภาคอีสาน ซึ่งเลือดสดที่จะนำมาทำลาบเลือด หลู้ หรือซกเล็กนี้ จะมีการแช่และขยำด้วยต้นตะไคร้     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 16, 21:30
ครั้งหนึ่ง จำไม่ได้ว่าที่ใหนครับ ชาวบ้านมีการฆ่าหมูเพื่อฉลองเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเป็นจังหวะพอดีที่ผมเข้าไปตั้งที่พักค้างแรม   พอรุ่งเช้าก็มีงาน ก็เห็นมีกลุ่มชายวัยกำลังก้าวเข้าสู่วัยโก๋แก่ กำลังง่วนกับกะละมังใส่หลู้  พวกเขาเชิญผมเข้าไปร่วมวงด้วย   ผมกินได้แต่ไม่ถนัดและก็ไม่นิยมอีกด้วย  ก่อนจะลงมือก็ได้รับเหล้าให้จัดการ 1 โบก   ว้าว..ท้องว่าง ตอนเช้า กับเหล้าโรง ยังกะถูกหมัดน๊อค เล่นเอาหูหนาตาเล่อไปเลย   แล้วก็ลงมือจ้วง 1 ช้อน  อื้อฮือ..แทบขย้อน ไม่ใช่เพราะรสชาตินะครับ แต่เพราะกลิ่นน้ำมันก๊าด  ไม่รู้ว่ามันแปดเปื้อนเข้าไปได้อย่างไร    หลู้กะละมังนั้นเหลือเบอะบะเลยครับ ไม่มีใครช่วยกันทนกินให้หมดได้  ผมทนได้สองคำเท่านั้นเอง จากนั้นก็เหลือแต่น้ำขาวใสตาตั๊กแตน

ก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  เด็ดขาดเลยนะครับ ให้แยกของกินทั้งหมดให้อยู่ห่างจากภาชนะและของใช้ที่ใส่หรือใช้น้ำมันก๊าด       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 16, 18:52
ต่อเรื่องที่แคมป์ครับ

เนื้อที่ได้มานั้น หมายความว่าไม่ต้องเสียเวลาหาอาหารและสามารถจะอยู่ทำงานได้หลายวันเลยทีเดียว  ก็ได้ใช้การถนอมอาหารอยู่หลายแบบ  ซึ่งโดยพื้นฐานที่เราคุ้นกันก็คือ คลุกเกลือแล้วทำให้แห้ง  ที่แตกต่างกันออกไปก็คือวิธีการทำให้แห้ง   

ที่ทำก็มีแบบตัดเนื้อออกเป็นก้อนๆประมาณกำปั้นมือ เคล้าเกลือเล็กน้อย แล้ววางบนแคร่ไม้ไผ่สาน ห้อยอยู่ระหว่างเสาไม้ไผ่สามขาเหนือกองไฟอ่อนๆ ใช้เวลาทั้งคืน (เป็นลักษณะของการรมควัน)   

อีกวิธีหนึ่งก็ตัดเนื้อเป็นเส้นขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ ยาวประมาณคืบกว่าๆ เคล้าเกลือเล็กน้อยหรือจะไม่เคล้าก็ได้ แล้วใช้ตอกไม้ไผ่สอดทะลุทำเป็นที่ห่วงไว้สอดไม้แขวนตากแดดให้แห้ง ซึ่งเป็นการทำแบบโบราณที่เรียกว่าเนื้อจิก (เนื้อฉีก ??) ทำวิธีแบบนี้ เนื้อที่แห้งแล้วจะแข็ง เมื่อจะนำมาทำอาหารก็จะต้องเอาไปแช่น้ำให้นิ่มก่อนที่จะนำหั่นหรือฉีกเป็นชิ้นๆได้           



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 16, 19:15
อีกวิธีหนึ่ง เป็นวิธีการเก็บเนื้อให้สดพอได้อีกสักสองสามวันถึงหนึ่งสัปดาห์ เป็นวิธีโบราณของพรานไพรรุ่นเก๋า  ก็ตัดเนื้อให้เป็นก้อนหรือเป็นแท่งใหญ่ขนาดประมาณแขนเราขึ้นไป แล้วเอาขี้เพี้ยหรือขี้อ่อน (อาหารที่ผ่านกระเพาะแล้วกำลังอยู่ในลำใส้อ่อน) พอกโปะเนื้อก้อนนั้น แล้วร้อยตอกห้อยแขวนตากลมเย็นๆ

หลักการง่ายๆก็คือ ลูกหลานแมลงและจุลชีพจะเสวยสุขเฉพาะส่วนที่เอาขี้เพี้ยพอกไว้    ผิวด้านนอกของขี้เพี้ยจะแห้งลงแต่ส่วนลึกลงไปจะยังคงความชุ่มชื้นอยู่ ซึ่งจะไปช่วยให้เนื้อสดข้างในยังคงมีความชุ่มชื้นอยู่    

ก็พอจะอธิบายในอีกมุมหนึ่งได้ว่า จุลชีพที่จะแผลงฤทธิ์ทำให้เนื้อเกิดความเน่าเสียนั้น มันจะขยายตัวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่อุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม     การพอกขี้เพี้ยและการแขวนตากลมเย็นนั้น เป็นการรักษาสภาพแวดล้อมบางประการเพื่อจำกัดสภาพที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของจุลชีพให้เกิดช้าชึ้น      


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 16, 20:19
จะว่าไปแล้ว มันก็เป็นเรื่องบังเอิญของของเหตุผลและความเชื่อของผู้คนในสมัยก่อนโน้น

ครับ.. เนื้อที่ว่าชั้นดีทั้งหลายที่เรากินกันในภัตตาคารหรือร้านอาหารที่มีราคาค่อนสูง แล้วบอกว่ามันนุ่ม มันไม่เหนียวนั้น   ส่วนหนึ่ง (โดยหลักใหญ่) ก็เกิดมาจากจัดการให้เกิดการหมักภายในตัวของมันเองพร้อมๆไปกับการปรับรสชาติ (marinate)    ลองดูนะครับ เอาซี่โครงหมูมาคลุกเกลือพริกไทย ใส่เครื่องหมักตามที่ต้องการ คลุกแล้วใส่ถาด ใส่ในตู้เย็น 3-4 วัน แล้วจึงเอามาย่าง ความนุ่มและความเปื่อยจะออกมาให้เห็นเลย     

ปลาหลายชนิดที่เรียกว่าปลาสดในการทำซูชิอาหารญี่ปุ่นนั้น แท้จริงแล้วจะผ่านกระบวนการแช่เย็นจัดที่อุณหภูมิที่กำหนดหนึ่งและในระยะเวลาที่กำหนดหนึ่ง ซึ่งเป็นขบวนการ marinate   แล้วจึงจะเอามาประมูลขายกัน   นำมาผ่านกระบวนการลดอุณหภูมิตามกำหนดวิธีการ แล้วจึงเอามาแล่ทำเป็นซูชิสดกัน  (ที่ประมูลกันนั้น ตัวหนึ่งมีราคาเป็นล้านเยนเลยนะครับ) 

....ท่านที่นิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นน่าจะต้องลองทานหัวปลาทูน่าย่างนะครับ สักครั้งหนึ่ง   ราคาในหลัก 4-5,000 เยน  หนึ่งหัวสำหรับคนไทยประมาณ 6-8 คน  ตาโตเท่าลูกปิงปองก็อย่าไปจ้องดูมัน  เนื้อในกรามข้างหนึ่งของมัน คนเดียวก็แทบแย่แล้วครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 16, 20:35
เนื้อพอกขี้เพี้ย ก็ไม่ต่างไปจากการ marinate เช่นกัน    ฝรั่งเอง เมื่อล่าสัตว์ได้แล้ว ก็จะควักเอาตับไตใส้พุงออกให้หมด แล้วก็เอาไม้ขึงแบะแขนขา แขวนทิ้งใว้ในโรงนาประมาณ 7 วัน แล้วจึงเอามาถลกหนัง แล้วแล่เป็นชิ้นส่วนเก็บแช่แข็งไว้ในตู้เย็น

ผมเคยไปดูและช่วยเขาถลกหนังครั้งหนึ่ง  แล่หนังออกมาส่วนหนึ่งแล้วเอาเชือกมัดหนังที่ขยุ้มรอบก้อนหิน  อีกปลายหนึ่งผูกกันชนท้ายของรถ    เมื่อขวั้นหนังรอบข้อเท้า ผ่าเป็นแนวตามแขนขา รอบคอ ฯลฯ เรียบร้อยแล้ว ก็ใช้รถดึงถลกหนังออกมาเป็นผืนแบบไม่ต้องออกแรงเลย


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 16, 18:00
ย้อนอ่านที่เขียนไปเมื่อวาน ก็ไปเจอคำที่เขียนว่า ขวั้น  เกิดความไม่แน่ใจขึ้นมาว่าเขียนถูกใหม หรือต้องเขียนว่า ควั่น 

ไม่ทราบว่า คำที่หมายถึงการทำให้เป็นเกลียวนั้นสะกดอย่างไร และคำที่หมายถึงการตัดสิ่งของโดยการหมุนไปรอบๆนั้นสะกดอย่างไร ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 16, 18:20
ลืมเล่าไปว่า ได้เดินไปพบซากเครื่องเฮลิคอปเตอร์ตะแคงแอ้งแม้งอยู่กลางห้วยขาแข้ง เหลือแต่โครงในสภาพที่ไม่บอบช้ำยับยู่ยี่ ซึ่งแสดงว่าเป็นการตกลงมาแบบสามารถควบคุมได้ (เครื่องเฮลิคอปเตอร์สามารถลงจอดได้แม้ว่าเครื่องยนต์จะดับกลางอากาศ)   อุปกรณ์ต่างๆของเครื่องถูกถอดออกไปทั้งหมด ยกเว้นเครื่องยนต์ ผมยังไปลูบๆคลำๆคารบูเรเตอร์ของมันเลย   คงจะตกมานานพอควรแล้วเพราะเห็นมีสนิมจับและสีของเครื่องหม่นหมองจนไม่สามารถบอกได้ว่าสีเดิมเป็นสีอะไร


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 16, 18:43
แผนการเดินล่องตามลำห้วย กะไว้ว่าจะพยายามเดินไปให้ได้ไกลที่สุด  จัดเป็นคณะ 6 คน ทิ้ง 2 คนไว้ให้เฝ้าแคมป์ฐาน    เนื่องด้วยเป็นช่วงที่ห้วยมีความกว้าง คนงานหาบหามจึงจะใช้วิธีหาบแทนการแบกสะพายหลัง ส่วนพวกผมจากเมือง 3 คนใช้วิธีแบกสะพายหลัง เอาปืนลูกซองยาวทิ้งไว้ให้คนเฝ้าแคมป์กระบอกนึง  เอาไปกับคณะเดินกระบอกนึง +ปืนพกห้อยเอวแต่ละคนรวมกันสามกระบอก  ปืนยาวที่เอาไปด้วยนั้น คนงานหาบหามเอาผูกไว้กับคานหาบ ด้วยไม่ได้คิดว่าจะต้องไปยิงอะไรเลยในขณะเดินทำงาน มีไว้สำหรับใช้ป้องกันตัวในยามค่ำคืนเท่านั้นเอง
 

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 16, 19:04
เดินเรียงแถวไปตามริมน้ำ คุยกันไปด้วยความเพลิน    ได้เห็นทางเตียนราบเรียบยังกะทางรถบนอีกฝั่งน้ำ (ทางตะวันตก) เป็นทางเนินที่ราบเรียบและเป็นเส้นตรงแหนวในแนวทิศตะวันออกตะวันตก 

มันเป็นด่านช้างเดินมาลงห้วยขาแข้งครับ ไม่มีร่องรอยของการเดินข้ามฝั่งและการเดินขึ้นล่องอยู่ในตัวลำห้วย  แสดงว่าที่ตรงนั้นคงจะเป็นที่ๆโขลงช้าง(ขนาดไหญ่เอาการเลยทีเดียว) เดินลงมากินน้ำ มาเล่นน้ำกันในตอนบ่ายๆ  ช่วงเวลาที่ผมพบเห็นนั้น เป็นช่วงประมาณเที่ยงวัน ก็เลยสบายใจ คงไม่เจอกันแน่ๆ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 มี.ค. 16, 19:06
ย้อนอ่านที่เขียนไปเมื่อวาน ก็ไปเจอคำที่เขียนว่า ขวั้น  เกิดความไม่แน่ใจขึ้นมาว่าเขียนถูกใหม หรือต้องเขียนว่า ควั่น 

ไม่ทราบว่า คำที่หมายถึงการทำให้เป็นเกลียวนั้นสะกดอย่างไร และคำที่หมายถึงการตัดสิ่งของโดยการหมุนไปรอบๆนั้นสะกดอย่างไร ครับ

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542
ใช้ ขวั้นเชือก และ ควั่นอ้อย ครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 16, 19:24
เดินเลาะริมน้ำด้วยความเพลิดเพลินไปกับความสงบ กับความสวยงามของธรรมชาติ อากาศที่กำลังสบาย   ผมเองก็กำลังมีความเพลิดเพลินกับการสังเกตกรวดหินในลำห้วย    ครับ..กรวดหินต่างๆในห้วยนั้น  การที่มันถูกพัดพามาตกรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน ณ จุดต่างๆนั้น  ความสัมพันธ์ระหว่างขนาด ทรง รูปร่างของมัน เล่าเรื่องในอดีตของมันได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่มันเกิดจนถึงมันถูกพัดพามา รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมของห้วยนั้นๆในอดีตที่ผ่านมาเช่นกัน

เดินเลาะไปตามริมน้ำจนจะถึงกอต้นไคร้น้ำ ก็จะต้องหลบลงไปลุยน้ำ   จะเอ๋เลยครับ      


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 16, 20:04
คุณ CrazyHOrse ครับ ขอบคุณครับ

ยังมีอีกคำหนึ่ง คือ ปกติ กับ ปรกติ   

ผมใช้ ปรกติ ในเกือบจะทุกครั้ง   ซึ่งเลือกใช้การสะกดแบบนี้ในความรู้สึกว่า เพื่อแสดงถึงสภาพว่ามันเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา (ในเชิง active)     ในขณะที่จะใช้ ปกติ  ในสภาพว่ามันเป็นเรื่องที่ได้เกิดแล้วต่อๆกันมาเป็นอย่างนั้น (ในเชิง passive) 

ผมคงจะคิดมากไปเอง  ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 16, 20:23
จะเอ๋ !

ครับ จะเอ๋กับ M1 Garand Cabine   4 กระบอก พรึ่บขึ้นประทับบ่าพร้อมยิง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 มี.ค. 16, 21:03
คุณ CrazyHOrse ครับ ขอบคุณครับ

ยังมีอีกคำหนึ่ง คือ ปกติ กับ ปรกติ   

ผมใช้ ปรกติ ในเกือบจะทุกครั้ง   ซึ่งเลือกใช้การสะกดแบบนี้ในความรู้สึกว่า เพื่อแสดงถึงสภาพว่ามันเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา (ในเชิง active)     ในขณะที่จะใช้ ปกติ  ในสภาพว่ามันเป็นเรื่องที่ได้เกิดแล้วต่อๆกันมาเป็นอย่างนั้น (ในเชิง passive) 

ผมคงจะคิดมากไปเอง  ;D

ใช้ได้ทั้ง ปกติ และ ปรกติ ครับ

ปกติเป็นภาษาบาลี ถ้าปรกติจะมาจากคำสันสกฤตว่า ปรกฤติ ครับ



กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มี.ค. 16, 09:32
ปรกติก็ใช้คำว่า "ปรกติ" อยู่ ขออนุญาตร่วมวงถกคำว่า "ปรกติ" ด้วยคน

ใน พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ  (http://spokensanskrit.de/index.php?tinput=prakRti&script=&direction=SE&link=yes) ให้ความหมายของคำว่า "ปฺรกฺฤติ"  प्रकृति prakRti ไว้ ๓ หน้า ความหมายแรกของคำนี้คือ "ธรรมชาติ"  ความหมายที่เราคุ้นเคยอยู่ในลำดับที่ ๗

หากจะพูดว่า "ธรรมชาติ" เป็น "ปรกติ" ของโลก ก็น่าจะดูเป็นปรัชญาดี  ;D


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มี.ค. 16, 09:47
ครั้งหนึ่ง จำไม่ได้ว่าที่ใหนครับ ชาวบ้านมีการฆ่าหมูเพื่อฉลองเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเป็นจังหวะพอดีที่ผมเข้าไปตั้งที่พักค้างแรม   พอรุ่งเช้าก็มีงาน ก็เห็นมีกลุ่มชายวัยกำลังก้าวเข้าสู่วัยโก๋แก่ กำลังง่วนกับกะละมังใส่หลู้  พวกเขาเชิญผมเข้าไปร่วมวงด้วย   ผมกินได้แต่ไม่ถนัดและก็ไม่นิยมอีกด้วย  ก่อนจะลงมือก็ได้รับเหล้าให้จัดการ 1 โบก   ว้าว..ท้องว่าง ตอนเช้า กับเหล้าโรง ยังกะถูกหมัดน๊อค เล่นเอาหูหนาตาเล่อไปเลย   แล้วก็ลงมือจ้วง 1 ช้อน

อ่านปุ๊บนึกถึงโรคสัตว์ติดคนโรคหนึ่งปั๊บ เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในเมืองไทย  เรียกกันว่า "ไข้หูดับ" ร้ายแรงถึงตาย ถึงแม้รับประทานเพียง ๑ ช้อน ถ้ามีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค (Streptococus suis) ก็ไม่รอด (จากการเป็นโรค)

ของดิบ ๆ หากไกลไว้น่าจะปลอดภัยกว่า

อ่านรายละเอียดของโรคนี้ได้ที่  http://www.hiso.or.th/hiso/tonkit/tonkits_67.php (http://www.hiso.or.th/hiso/tonkit/tonkits_67.php)


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 16, 19:23
ครับ เมื่อใช้ได้ทั้งคำว่า ปกติ และ ปรกติ  ผมก็จะขอใช้ทั้งสองคำตามความรู้สึกในขณะที่เขียนว่า คำใดที่รู้สึกว่าเหมาะสมและสื่อความความหมายได้ดังที่ใจคิด


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 16, 20:00
เรื่องเชื้อ Strep. นั้น ทำให้ผมนึกถึงเรื่องโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis ?) ขึั้นมาในทันใด   ซึ่งหนึ่งในสาเหตุก็เข้าใจว่ายุงเป็นพาหะ ไปกัดหมูที่มีเชื้อแล้วเอามาติดคน  เป็นโรคที่รุนแรงถึงพิการและตายได้ แต่ก็รักษาได้อยู่

แล้วก็ขอเลยไปถึงข้อควรระวัง ก็ขอให้ผู้ที่รักธรรมชาติ ที่นิยมเดินหรือนั่งเล่นอยู่กับพื้นในป่าผืนสวยๆทั้งหลายได้ทราบ     

ในผืนป่าที่มีความชื้นสูงนั้นมักจะมีทาก พวกมันเป็นสัตว์ตีนเบา เข้าถึงทุกส่วนของร่างกายเราได้โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย   ผมไม่ทราบว่าอาการเป็นพิษหรือการป่วยรุนแรงจากการถูกทากดูดกินเลือดนั้นเป็นอย่างไร  รู้แต่ว่าหากจับตัวมันดึงออก ก็จะเกิดเลือดไหลเป็นทางสักพักหนึ่ง เพราะมันใช้สาระลายลิ่มเลือดในขณะที่ดูดกินเลือดของเรา   วิธีการแก้ที่ดีที่สุด ก็คือการทำให้มันคายปากแล้วหลุดออกไปเอง จะด้วยการใช้ยาฉุน (บุหรี่) ยาหม่องน้ำ ฯลฯ    หรือใช้มีดขูดออกไป เพื่อขูดเอาสารเคมีที่ติดอยู่ออกไป ไม่หมดก็เหลือน้อยเต็มที แทนที่จะใช้วิธีการดึงตัวให้มันหลุดออกไป ครับ     หากเป็นแผลก็จะตกสะเก็ดหลายรอบ (นับเป็น 10++ ครั้ง)  อาการคงเหลือที่อาจจะติดอยู่กับตัวไปอีกหลายๆๆปี ก็คืออาการคัน ผมยังคันไม่หายจนวันนี้ ต้องมีไม้เกาหลังติดตัวตลอด 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 16, 20:12
เล่าเลยไปถึงเรื่องทาก

เมื่อเราเดินอยู่บนที่แห้ง ที่มีตอไม้ผุๆ เราก็จะพบกับตัวเห็บป่า (ซึ่งเคยเล่าไว้ในกระทู้ใด จำไม่ได้แล้วครับ)     เห็บป่านี้ ผมคิดว่ามีอยู่ทั่วโลกนะครับ บางตัวมันมีเชื้อไข้สมองอักเสบ (??) ด้วย     ซึ่งมันก็มีวัคซีนฉีดกันอยู่เหมือนกัน คุมได้สามปี จำไม่ได้แล้วว่า ต้องฉีดครั้งแรกกี่เข็ม เว้นระยะฉีดเป็นสัปดาห์ๆ

ผมไม่ทราบว่า ในไทยเรา เรื่องไข้สมองอักเสบจากเห็บและวัคซีนเป็นอย่างไรบ้าง (??)   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 16, 12:45
เรื่อง "ไข้สมองอักเสบ" เชื้อที่เป็นสาเหตุคือเชื้อไวรัส หากคิดในทางบวก ก็ต้องว่านับเป็นโชคดีที่เมืองไทยไม่มีไข้สมองอักเสบชนิดที่มีเห็บเป็นพาหะ แต่มีชนิดที่มียุงเป็นพาหะ พบมากในภาคเหนือและอีสาน โรคนี้รู้จักกันในนาม "Japanese Encephalitis" (เพราะมีรายงานครั้งแรกที่ญี่ปุ่น) เรียกย่อ ๆว่า เจอี  ป้องกันโดยการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็ก


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 16, 18:44
ได้รับความกระจ่างแล้ว ขอบคุณครับ

ก็ยังมีอีกโรคหนึ่งซึ่งผมไม่ทราบว่ามันพบแพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าเขามากน้อบเพียงใด ...โรคเท้าช้างครับ

โรคนี้มีพาหะเป็นยุงเช่นกัน แต่จะเป็นยุงพันธุ์ใหนก็มิทราบ ผมรู้จักแต่โรคเท้าช้างแบบขาเท้าบวมโตเป็นแท่ง ก็มารู้เพิ่มเติมจากหน่วยควบคุมโรคติดต่อ เมื่อครั้งไปทำงานอยู่ในพื้นที่แควน้อยใกล้ชายแดน ด้วยมีเจ้าหน้าที่เข้ามานัดชาวบ้านเพื่อทำการเจาะเลือดในช่วงเวลามืดค่ำ ประมาณ 2 ทุ่ม  บังเอิญผมไปอยู่ในพื้นที่ของจุดนัดเจาะเลือดพอดี  จึงได้มีโอกาสได้ถามข้อสงสัยและได้เรียนรู้เรื่องต่างๆจากจนท.ซึ่งได้ความว่า โรคเท้าช้างในพื้นที่แถบนี้หัวสูง คือเป็นชนิดลงอัณฑะ ทำให้อัณฑะขยายใหญ่ขนาดขันตักน้ำเลยทีเดียว  แถมมันยังมีระยะฟักตัวเป็น 10 ปี  การเจาะเลือดเพื่อนไปตรวจหาเชื้อก็จะต้องเจาะในช่วงเวลาค่ำคืน

ฟังเรื่องราวดูแล้ว ก็น่ากลัวดีเหมือนกันนะครับ  ผมได้ทำการเจาะเอาเลือดไปตรวจแล้วในครั้งนั้น ไม่กี่วันต่อมาก็ได้รับแจ้งว่าผมปลอดภัยดี  แต่ด้วยที่ผมยังต้องทำงานอยู่ในพื้นที่นั้นอีกหลายปี  จึงมีความกังวลต่อมาอีกหลายปีจนกระทั่งลืมไปเอง
 
ตอนนี้ปลอดภัยแล้วครับ ออกมาอยู่นอกพื้นที่ป่านานเกินกว่า 10 ปีแล้ว

นักนิยมท่องธรรมชาติทั้งหลายก็นึกถึงเรื่องนี้ไว้กันบ้างนะครับ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 16, 19:23
ต่อครับ

เดินเลาะริมน้ำจนถึงระยะประมาณ 3 ม. จะถึงกอต้นไคร้น้ำ   ป่าเงียบ มีแต่เสียงน้ำไหล อากาศเย็นสบาย เดินเรียงกันเงียบๆ ผมเองเดินเรียงอยู่เป็นคนที่สอง กำลังใช้สมองบันทึกข้อมูลต่างๆที่ได้พบเห็น คนอื่นๆก็เดินเงียบๆกำลังเพลินกับธรรมชาติที่บริสุทธิ์  ซึ่งทุกคนต่างก็เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาเห็นป่าและห้วยที่มีการกล่าวถึงของพรานไพรรุ่นเก่าๆ

จะเอ๋.. พริบตาเดียวเท่านั้นเอง ก็มีคน 4 คนโผล่พ้นกอต้นไคร้น้ำ ออกมาแทบจะพร้อมๆกัน พร้อมปืนยาวกำลังจะประทับเข้าที่บนบ่าในท่าพร้อมยิง ในเสี้ยววินาทีนั้น ก็มีคนที่ 5 โผล่ออกมาพร้อมยกยกมือให้สัญาณห้าม 4 คนนั้น แต่ตนเองก็มีปืนยาวอยู่ที่ระดับเอวในท่าพร้อมใช้เหมือนกัน   

ต่างฝ่ายต่างก็ตกใจ แต่ต่างก็ไม่แสดงอาการกลัว และต่างก็อยู่ในอาการ ณ จังงัง พอๆกันในช่วงเสี้ยววินาทีนั้น 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 16, 20:04
ให้บังเอิญว่า คนในคณะและตัวผม 3 คนเคยผ่านเหตุการณ์กับปืนมาหลายครั้งในพื้นที่ปากลำขาแข้งพร้อมๆกับผม ความเชื่อมันในกันและกันในการตอบสนองต่อเหตุการณ์วิกฤติต่างๆ ได้ช่วยทำให้ไม่เกิดสภาพระส่ำ ประกอบกับทุกคนมีใบหน้าเรียบและยิ้มแย้ม ทำให้สภาพของความเครียดอันพึงจะเกิดก็กลายเป็นสภาพของเหตุการณ์ปรกติ

จะด้วยอะไรก็ไม่รู้   สมองของผมกระตุ้นให้ผมคิดแว็บขึ้นมาในทันใดว่า ข้าวของเครื่องใช้ของคณะที่เอามามันเป็นสีเขียวทหารอยู่หลายชิ้น  (อาทิ ผ้าใบผืนเล็ก เป้สะพายหลังของคนในคณะบางคน กระติกน้ำสนาม เป็นต้น)   ปากของผมก็ได้โพร่งออกไปในทั้นใดว่า แถวใหนมีช้างบ้าง    ฝ่ายเขาก็ตอบสนองด้วยดีในทันใดว่า มาล่าสัตว์เหรอ  ผมก็ตอบและสนทนาไปในเรื่องราวนั้นในทันใด  ครับ.. ความเป็นมิตรเริ่มเข้ามาในสถานะการณ์นั้น  ปืนที่ประทับอยู่บนบ่าก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับเอวของทุกคน   

ในลักษณะและสภาพเช่นนี้ เหตุการณ์จะไม่เกิดรุนแรงต่อไป  ก็เป็นไปตามคำของนักเลงโบราณที่ว่า มีปืนติดตัวไว้ ไม่ใช้ก็อย่าไปชัก หากชักแล้วก็ต้องยิง   ครับ..ถ้าชักแล้วไม่ยิง ก็หมายความว่ายังคุยกันได้ แต่ก็ต้องรักษาไม่ให้เกิดสภาวะน้ำขุ่นขึ้นมา         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 16, 15:21
ยังมีอีกโรคหนึ่งซึ่งผมไม่ทราบว่ามันพบแพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าเขามากน้อบเพียงใด ...โรคเท้าช้างครับ

โรคนี้มีพาหะเป็นยุงเช่นกัน แต่จะเป็นยุงพันธุ์ใหนก็มิทราบ ผมรู้จักแต่โรคเท้าช้างแบบขาเท้าบวมโตเป็นแท่ง ก็มารู้เพิ่มเติมจากหน่วยควบคุมโรคติดต่อ เมื่อครั้งไปทำงานอยู่ในพื้นที่แควน้อยใกล้ชายแดน ด้วยมีเจ้าหน้าที่เข้ามานัดชาวบ้านเพื่อทำการเจาะเลือดในช่วงเวลามืดค่ำ ประมาณ 2 ทุ่ม  บังเอิญผมไปอยู่ในพื้นที่ของจุดนัดเจาะเลือดพอดี  จึงได้มีโอกาสได้ถามข้อสงสัยและได้เรียนรู้เรื่องต่างๆจากจนท.ซึ่งได้ความว่า โรคเท้าช้างในพื้นที่แถบนี้หัวสูง คือเป็นชนิดลงอัณฑะ ทำให้อัณฑะขยายใหญ่ขนาดขันตักน้ำเลยทีเดียว  แถมมันยังมีระยะฟักตัวเป็น 10 ปี  การเจาะเลือดเพื่อนไปตรวจหาเชื้อก็จะต้องเจาะในช่วงเวลาค่ำคืน

ยุงนี่เป็นพาหะของโรคเมืองร้อนหลายชนิด ที่ดัง ๆ ตอนนี้เห็นจะเป็น "ไข้เลือดออก" สาเหตุจากเชื้อไวรัส นำโรคโดยยุงลาย  "ไข้ป่าหรือมาลาเรีย" สาเหตุจากเชื้อโปรโตซัว มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ "ไข้สมองอักเสบ เจอี" โรคจากไวรัส มียุงรำคาญเป็นพาหะ

ส่วน "โรคเท้าช้าง" นี้ เกิดจากหนอนพยาธิ (helminth) ๒ ชนิด ชนิดแรกที่คุณตั้งรู้จักดีทำให้ขาบวมใหญ่ระบาดแถวภาคใต้ตั้งแต่ชุมพรลงมา ส่วนอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้อัณฑะใหญ่ระบาดแถวพื้นที่ติดต่อกับพม่าเช่นเมืองกาญจน์ ตาก และแม่ฮ่องสอน ยุงที่เป็นพาหะมีหลายหลากแล้วแต่ชนิดของพยาธิ ตั้งแต่ยุงลาย ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญ

ที่เจ้าหน้าที่ต้องเจาะเลือดตรวจตอนกลางคืนเพราะจะพบตัวอ่อนในกระแสเลือดมากในเวลานั้น  ตัวแก่ของพยาธิจะอยู่ในท่อน้ำเหลืองทำให้ท่อน้ำเหลืองอุดตัน ทำให้อวัยวะบริเวณที่มันอยู่บวมโตขึ้น

ชนิดที่สองที่ทำให้อัณฑะบวมนอกจากมียุงเป็นตัวนำโรคแล้ว ผู้อพยพหรือชาวพม่าซึ่งอยู่แถวชายแดนก็ยังเป็นผู้นำเชื้อพยาธิตัวนี้อย่างสำคัญ ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่โรคจะระบาดในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ ๆ ของเรา จากเชื้อในแรงงานต่างด้าวที่รับเข้ามาทำงานตามบ้านหรือในโรงงาน หากมีมาตรการตรวจสอบและป้องกันไม่รัดกุมพอ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 16, 18:16
ได้รับความกระจ่างดีครับ

ไม่ทราบว่ากรมควบคุมโรคติดต่อ หรือ กรมอนามัย ได้ตระหนักถึงเรื่องโรคเท้าช้างชนิดลงอัณฑะนี้กับแรงงานชาวพม่าบ้างเพียงใด ก็เชื่อว่าด้วยหน้าที่ตามภาระกิจ เรื่องพวกนี้คงอยู่ในบัญชีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว    หากเกิดหลุดมือ เดี๋ยวอีกไม่กี่ปี ก็อาจจะมีโอกาสได้เห็นแฟชั่นอัณฑะโตกันบ้างละ     แต่ไทยก็โชคดีอีกนั่นแหละครับ ผมเดินทำงานในป่าในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่ามานานกว่า 20 ปี ยังไม่เคยพบคนที่เป็นเลย  แต่ก็ต้องเชื่อว่ามีแน่ๆ และก็คงจะมีกรณีน้อยมาก มิฉะนั้นคงไม่มี จนท.เข้าไปเจาะเลือดถึงในบ้านป่าแน่ๆ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 16, 19:07
คุณเพ็ญชมพู ได้กล่าวไปถึงยุงกับไข้มาลาเรียด้วย ก็เลยขอถือโอกาสแวะเรื่องนี้สักแว๊บนึ่ง 

พวกเราน่าจะต้องขอบคุณในความรับผิดชอบอันสูงยิ่งของ จนท.ที่บุกบั่นเข้าไปฉีด DDT ตามบ้านเรือนและเพิงพักโดดเดี่ยวในป่าทั้งหลายในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย ในสมัย พ.ศ.2500+/-  ซึ่งเป็นโครงการปราบมาลาเรียที่สำคัญของเรา จนทำให้การแพร่กระจายไช้มาลาเรียในประเทศของเราลดลง   

ความรู้ที่ผมได้รับมา จะถูกหรือผิดอย่างไรก็มิรู้ได้  ว่า.. ที่เราเห็นฝุ่นสีขาว DDT ที่เกาะติดอยูู่ตามเสา ผนัง ฝ้า เพดาน ฯลฯ นั้น เมื่อยุงก้นปล่องมันมาเกาะ มันก็จะตาย การพ่น DDT แบบดาหน้าดะไปทุกตารางนิ้ว จึงเป็นการจำกัดการเดินทางของยุงก้นปล่องอย่างมาก    แต่ในช่วงหลังๆของโครงการ ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่า ไอ้ฝุ่นขาวๆนั้นมันกลายเป็นปูนขาวเสียเยอะ   จำนวนคนไข้มาลาเรียที่น่าจะลดลงเหมือนในพื้นที่อื่นๆที่พ่นยามาแต่ก่อนนั้น ในบางพื้นที่กลับกลายเป็นว่ามีคนเป็นไข้มาลาเรียมากขึ้น 

ที่น่าสนใจ ก็คือ ในช่วงทศวรรษที่สองของพุทธศตวรรษ 2500 นั้น ได้มีการหักร้างถางพงอย่างขนานใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย  รุกป่ากันเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ๆเพื่อปลูกอ้อยกัน  ป่าสงวนแห่งชาติที่ติดแผ่นป้ายบอกตอกติดไว้กับต้นไม้ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง หายเกลี้ยงไปเลย เกลี้ยงไปจนชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ แนวเขตอุทยานก็เว้าๆแหว่งๆไปตามพื้นที่ๆชาวบ้านอาศัยอยู่มานานบ้าง ถูกบุกรุกบ้าง ฯลฯ   

ครับ... ป่าที่ชุ่มชื้นและแหล่งน้ำก็หายไป ยุงก้นปล่องและเชื้อมาลาเรียก็ลดจำนวนและหายไปด้วย เพราะว่ามันไม่มีแหล่งน้ำที่จะขยายพันธุ์ในระยะ 20 กม.ที่มันสามารถจะเดินทางได้โดยไม่มีที่แวะพัก         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 16, 19:49
อยู่ดีๆ ไข้มาลาเรียในพื้นที่ๆที่ซาไปพักหนึ่ง ก็กลับมาอีก คราวนี้มาแบบแรง และแถมด้วยการดื้อยา

ครับ..เชื้อมาลาเรียมากับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มารับจ้างตัดอ้อย   ซึ่งแรงงานเหล่านี้มาจากพื้นที่ใกล้ชายแดนเขมรที่ยังคงมีการระบาดที่ค่อนข้างจะรุนแรงของเชื้อมาลาเรีย    ภาคตะวันตกของเราก็เลยได้รับเชื้อมาลาเรียข้ามฟากมาจากฟากตะวันออก

สำหรับเรื่องของการดื้อยานั้น มาจากกระบวนการป้องกันการเป็นโรคของผู้คนทั่วไป    ครับ..ในยุคนั้น (ไม่รู้ว่าจะในยุคนี้ด้วยหรือเปล่า)   ครับ... มาลาเรียนั้นไม่มียาในเชิงของการป้องกัน มีแต่ยารักษา   การกินยาในเชิงของการป้องกันนั้น แท้จริงแล้วเป็นการกินยาฆ่าเชื้อเพื่อไปดักรอและทำการฆ่าเชื้อมิให้เกิดการเจริญพันธุ์ต่อไป   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 16, 19:05
ด้วยที่เป็นมาลาเรียมาหลายครั้ง แถมเชื้อตัวสำคัญที่พบในไทย เกือบร้อยทั้งร้อยจะเป็นชนิดขึ้นสมอง หากร่างกายต้านทานไม่ไหว เพียง 3-4 วัน ก็อาจถึงระดับที่เรียกว่าออกอาการเป็นคนบ้าได้ แม้จะรู้เรื่องแต่ต่างๆพอได้อยู่แต่ก็เพี้ยนไปเยอะเลยทีเดียว   

ผมทำงานอยู่ในป่า หากไม่รู้เรื่องนี้เลยและไม่วางแผนการเดินสำรวจให้ดี ก็อาจเจ็บป่วยถึงคางเหลืองได้ง่ายๆ    ขนาดมาป่วยอยู่ใน กทม. ไป รพ. หมอสั่งให้เจาะเลือดตรวจทันที (ก็ทำแบบ thin film blood smear) ไม่เจอเชื้อเพราะเป็นช่วงเวลาที่มันยังไม่ออกมาแผลงฤทธิ์    เมื่อไม่มีเรื่องของการ follow up ใดๆ   ก็ต้องรู้รักษาตัวเองละครับ รู้ได้แต่รักษาไม่ได้ ก็รอจนบ่ายแก่ๆ พอเชื้อมันแผลงฤทธิ์ จึงรีบไปอีก รพ.หนึ่ง   โป๊ะเชะเลย หมอว่าหากไม่เห็นตัวคนไข้ก็คิดว่าคงนอนเปลหามมาแล้ว เชื้อยุบยับไปหมด     ครับ.. เป็นมาหลายครั้ง ร่างกายมันก็รู้ สู้เต็มที่ให้เรายืนอยู่ได้ เราก็รู้ว่าควรจะปฎิบัติตนเองอย่างไร   ทำให้ผมต้องค้นคว้าหาอ่านและเรียนรู้จากผู้ที่พอจะให้ความรู้ได้

ขออนุญาตคุณหมอทุกท่านนะครับ  ขอเล่าประสพการณ์และความรู้งูๆปลาๆที่แสวงหาได้มาเพื่อการดูแลตนเอง   

ที่เรียกว่ายาป้องกันมาลาเรียนั้น ในสมัยนั้นเท่าที่หน่วยราชการแจกก็จะเป็น  Chloroquine (Aralen) ซึ่งเป็นยาพวก Quinine derivatives  ต่อมาไม่นานก็มีการใช้ยา Fansidar ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยา Sulfa  ซึ่งผมเห็นด้วยว่าดีกว่า เพราะว่ามีผลข้างเคียงน้อยมาก ยกเว้นว่าจะแพ้ยาในกลุ่มซัลฟา       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 16, 19:24
ยาพวกนี้ กรณีใช้เพื่อเป็นการป้องกัน เขาจะให้กินอาทิตย์ละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าป่าหรือเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อมาลาเรีย และเมื่อพ้นออกมาจากพื้นที่เสี่ยงนั้นแล้ว ก็ยังจะต้องกินต่อไปอีก 4 สัปดาห์   

ในถาพโดยรวมก็คือ ให้มันมียาหมุนเวียนอยู่ในกระแสเลือดในระดับหนึ่งอยู่ตลอดเวลา มีเชื้อเข้ามาเมื่อไรมันก็จะถูกฆ่าไปในทันใด    ซึ่งหากเมื่อเกิดเป็นไช้มาลาเรียขึ้นมา ก็ใช้ยาพวกนี้ในการรักษาอีกแหละครับ แต่ในปริมาณหมุนเวียนในกระแสเลือดที่มากกว่า  จำได้ว่า อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน   ทั้งนี้ แม้ว่าเชื้อในร่างกายจะตายหมดแล้ว แต่กว่าจะฟื้นตัวเองกลับมาเป็นปรกติอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์

หากผมทำงานต่อเนื่องปีละ 6 เดือน  ไม่ติดยาก็คงเมายานี้อย่างต่อเนื่องตลอด 6 เดือนเป็นแน่แท้


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 16, 20:34
ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาในกลุ่ม Quinine ที่ใช้ในเชิงของการป้องกันก็คือ อาการสมองตื้อ อาการหูอื้อ (หูตึง) และอาการท้องผูก  ในบางพื้นที่ๆมีไข้ป่ารุนแรง (เช่น แถว น้ำตกไทรโยค)  จนท.ทางการสาธารสุขก็จะให้กินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง  เราก็เลยกลายเป็นคณะสำรวจแบบ มึนตึง คล้ายกลุ่มคนที่เมายา

ในยุคนั้น มีหน่วยที่สู้กับมาลาเรียอยู่หลายหน่วย  แจกยากันสะบั้น ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ก็กินยานั้นบ้าง กินยานี้บ้าง ลืมกินบ้าง แถมมีพวกคนงานที่มาจากทางอีสานอีก เอาเชื้อดื้อยาตัวใหนมาบ้างก็ไม่รู้     ในสภาพเช่นนี้ ก็น่าจะอำนวยให้เกิดการดื้อยาในยุดไร่อ้อย/โรงงานน้ำตาลฟูเฟื่อง    การรักษาไข้มาลาเรียจากที่ง่ายๆด้วยการกินยาสองชนิดที่เล่ามา ก็เลยกลายเป็นเรื่องยากที่ต้องผนวกไปด้วยการใช้ยาอื่นๆร่วมด้วย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 16, 20:49
ในเรื่องของการกินยาป้องกันแบบ 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนเข้าพื้นที่ และหลัง 4 สัปดาห์หลังจากออกจากพื้นที่นี้ ยังคงเป็นรูปแบบที่ปฎิบัติอยู่สำหรับผู้ที่จะเข้าไปท่องเที่ยวและพักแรมในพื้นที่ซาฟารี ของอัฟริกา (เซ้าท์อัฟริกา ซิมบับเว ฯลฯ)  ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะใช้ยาแตกต่างกัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 16, 17:42
หากต้องกินยาต่อเนื่อง ุ6 เดือน ผมสงสัยว่าร่างกายและสมองคงจะมีสภาพที่แย่ลง ประสิทธิภาพของตนเองในเรื่องต่างๆที่พอมีอยู่บ้างก็คงจะลดลง  คณะสำรวจก็คงเบ๊อะบ๊ะกันน่าดู 

แล้วแก้ไขอย่างไร ?   เอาไว้ไปเล่าในอีกกระทู้ดีกว่านะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 16, 18:06
เล่าต่อครับ

ในขณะที่เริ่มคุยกับหัวหน้าของเขานั้น  ปืน 4 กระบอกก็ยังประทับอยู่บนบ่าของอีก 4 คน เล็งมาที่หัวของคณะผม สองสามคนแรกต้องโดนเล็งอยู่แล้วแน่ๆ เพียงแต่เขายังไม่หยีตาข้างหนึ่ง (เพื่อเล็งเป้าก่อนที่จะเหนี่ยวไก)

คุยกันได้สัก 3-4 นาทีกระมัง ปืนทั้ง 4 กระบอกจึงลดระดับมาอยู่ที่เอว แต่ก็ยังอยู่ในท่าทางพร้อมใช้

ก็เป็นการคุยกันแบบคุมเชิง ฝ่ายเขาก็อยากรู้ตื้นลึกหนาบางของพวกเรา พวกเราก็อยากรู้เรื่องของพวกเขา  ฝ่ายเขานั้นอยู่ในสภาพพร้อมลุยเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนฝ่ายผมนั้น มาคุยกันที่หลังจึงได้รู้ว่า ในขณะที่เบื้องหน้าดูสงบและเป็นมิตรดีนั้น ในใจต่างก็คิดว่าหากเกิดกระสุนนัดแรกโป้งออกมา จะต้องสู้อย่างไร จะต้องทำอย่างไร ทางหนีทีไล่จะเป็นอย่างไร  ส่วนตัวผมเองนั้นยังคิดไปถึงว่าแล้วจะทำอย่างไรดีกับคนของคณะที่กำลังเฝ้าแคมป์อยู่   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 16, 18:22
ที่จริงแล้ว ก็มีชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ตามเชิงเขาที่จะข้ามเข้าไปห้วยขาแข้งเตือนมาตลอดว่า ให้ระวัง ในห้วยมีคนแปลกหน้าเดินอยู่ ทางราชการเขากำลังพยายามติดตามดูว่าเป็นใคร เป็นพวกใหน    แต่สำหรับผมนั้น รู้ว่าคนที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดห้วยขาแข้งนั้น น่าจะรู้เป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าคณะของพวกผมเข้ามาทำอะไร   ก็เลยไม่คิดในเชิงร้ายและไม่กลัวจนหัวหด


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 16, 19:11
ก็ตลกดีที่เรื่องที่คุยกันนั้นคล้ายกับการสนทนาในหัวข้อเรื่อง "ไปใหนมาสามวาสองศอก"  เช่น เขาถามว่ามีวิทยุใหม เราก็บอกว่ามีแล้วก็เปิดธานินทร์ให้ฟังเลย    เขาถามว่า ใช้มีดดาบปลายปืนแล่เนื้อดีเหรอ (คนในคณะของผมคนหนึ่งเป็นอดีตทหารฝึกมาในหน่วยนาวิกฯ ซึ่งจะต้องมีดดาบปลายปืนห้อยเอวเป็นนิสัย) เราก็ตอบว่า ก็ใช้ช่วยมีดเหน็บ มีดพร้าได้ดีทีเดียว ลองหาซื้อใช้บ้างก็ดีนะ      เราถามเขาว่าทางไปได้ถึงใหน เขาก็ตอบว่าเขาไม่รู้ กำลังเดินหาที่ทำกิน  เป็นต้น   

คุยกันแบบต่างคนต่างก็กล้าๆกลัวอยู่ประมาณ 15 นาทีได้ละมัง  ก่อนจะแยกกัน เขาก็บอกว่า เดินไปเถอะ ไม่มีอะไรหรอก เจอใครก็บอกเขาว่าพบผู้ใหญ่บ้านโป่งสอแล้ว    ส่วนผมก็บอกว่า เดินไปเถอะแล้วจะเจอกับแคมป์ของผม มีคนเฝ้าอยู่ 2 คน เมื่อวานก่อนได้กวางมาตัวหนึ่ง แบ่งเอาไปกินได้เลย ตามสบาย

ส่วนที่เล่าตอนนี้เป็นภาพที่ปรากฏทางหน้าฉาก ซึ่งเป็นเวทีของเขาที่ผมเดินหลุดเข้าไปปรากฎตัว   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 16, 19:38
ในระหว่างที่คุยกัน   ผมก็ประเมินข้อมูลในเรื่องต่างๆ    ดูเครื่องแต่งกายของพวกเขา   อ้าว.. มันเหมือนกันทุกคนเลยนี้ เป็นชุดเครื่องแบบดีๆนี่เอง   

แบบเสื้อนั้มผมจำไม่ได้แม่น แต่คิดว่าเป็นแบบของชาวโม้ง   กางเกงเป็นทรงเอกลักษณ์ของชาวโม้งแน่นอน (เป้ายาน)  สีของเสื้อผ้าออกไปทางสีดำ (หรือไม่ก็ย้อมครามเข้ม)   ที่เอวมีผ้าคาดเอว แล้วก็มีปืน 11 มม.เหน็บเอวกันทุกคน  ใส่รองเท้ายางรถยนต์ทรงรองเท้าแตะที่มีสายรัดหุ้มส้น  ทุกคนสะพายย่ามไพล่หลัง ย่ามมีขนาดเท่าๆกันทุกคนและก็มีความโป่งพองของสิ่งของที่ใส่อยู่ในย่ามนั้นๆพอๆกัน  ทุกคนดูมีร่างกายและเสื้อผ้าที่สะอาด ท่าทางการถือปืนและการลดปืนลงและถือที่ระดับเอวเหมือนกันทุกคน  ปืนยาวที่ใช้ของทุกคนเป็นปืนที่เรียกชื่อกันว่า ปืนคาบิ้น (Carbine M1 Garand) ลูกกระสุนขนาด 30-30   ทั้งปืนยาวและปืนสั้นมีการดูแลรักษาอย่างดี มีความสอาดมาก       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 16, 18:29
เรื่องราวและภาพที่ผมเล่ามานั้น ดูเผินๆมันก็ดูจะไม่มีอะไรแปลก ก็เพียงเป็นการเผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่มีสภาพเป็นนักรบ

เมื่อแยกกันแล้ว ผมก็หารือกับคนในคณะว่าจะเอาอย่างไร หลายคนคิดว่าอันตรายเกินไปแล้วและมีการเสนอให้เดินตัดเขาออกให้พ้นจากห้วยไปเลยโดยไม่ต้องเดินย้อนกลับไปที่แคมป์  ผมก็ว่าเราจะทิ้งคนที่เฝ้าแคมป์ไปได้อย่างไร (คนหนึ่งเป็นพนักงานขับรถคู่ชีพของผม) อดีตนาวิกฯบอกว่าลูกพี่จะเอาอย่างไรก็เอาด้วย    ในช่วงเวลานั้น ผมสังเกตเห็นอาการกลัวเพิ่มมากขึ้ันในบางคนจนถึงระดับลนระส่ำ (panic) 

ก็มีประมาณครึ่งๆกระมัง ที่อยากจะเดินออกไปเลย และ ที่เป็นห่วงคนข้างหลังซึ่งจะต้องเดินกลับไปดู    อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จะเดินออกไปเลยนั้น ก็จะต้องเดินต่อไปเพื่อหาช่องเดินข้ามเขา   ผมตัดสินใจเดินต่อไปแบบช้าๆอีกประมาณครึ่งชั่วโมงกว่า เพื่อทิ้งระยะให้พ้นห่างจากกันเป็นระยะที่ไกลพอควร  แล้วจะว่าอย่างไรก็ค่อยว่ากัน  จากนั้นก็นั่งพักรอเวลาอีกประมาณ 1+ ชม. คะเนดูว่า เมื่อผมเดินกลับถึงแคมป์ กลุ่มคนมีปืนก็คงจะผ่านพ้นไปจากแคมป์แล้ว     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 16, 18:54
ในที่สุดทุกคนก็เดินย้อนกลับแคมป์พร้อมกัน    ในระหว่างทางเดินกลับ ก็ไม่รู้ว่าใครคิดอะไรกันบ้าง  แต่สำหรับผมนั้นคิดถึง worst scenario ว่าภาพที่พบจะเป็นแบบใหนได้บ้าง จะต้องทำอะไร จะต้องทำอย่างไร เป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร....   ก็เกิดความกลัวเหมือนกันว่าจะพบกับอะไร

ครับ.. ความกลัว ความตื่นเต้นและความตื่นตระหนกต่างๆจะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มวาดภาพและเห็นภาพต่างๆนั้นๆตามจินตนาการของเรา  ความกลัวนั้นๆเกือบจะไม่มีในขณะที่เรากำลังเผชิญอยู่ในสภาพการณ์นั้นจริงๆ  เมื่อผ่านเหตุการณ์นั้นๆมาแล้ว ก็จะเกิดความกลัว ความตื่นเต้นและความตื่นตระหนกต่างๆขึ้นมาอีก จากนั้นก็จะค่อยๆลดลงจนหายไป เมื่อนานวันเข้า เรื่องที่ผ่านมานั้นก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าที่สนุกไป

ก็เดินกลับแคมป์กันด้วยความเงียบและด้วยความเร็วผิดปรกติ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 16, 19:20
มาถึงแคมป์ก็บ่ายๆแล้ว  ภาพแรกที่เห็นก็คือ บรรดาเนื้อที่ร้อยตอกแขวนไว้เป็นราวนั้น หายไปเกือบหมดเลย  เพ่งมองดูก็เห็นคนทั้งสองคนนอนเอกเขนกอยู่  ก็ใจชื้นไม่เป็นไรกันทั้งคู่ 

พอถึงแคมป์ก็ถามไถ่ ได้ความว่า มีลงมาประมาณ 50 คน ระรอกแรกประมาณ 10 คน ค่อยๆเดินแบบลาดตระเวณลงมา ระรอกที่สองลงมาแบบหน้ากระดานประมาณ 20 คน และระรอกที่สามอีกประมาณ 20 คน เดินลงมาแบบถือปืนในลักษณะปลดจากการสะพาย (พร้อมใช้) 

คนของผมเล่าว่ากำลังนอนเล่นคุยกัน ถอดปืนทำความสะอาดวางอยู่ เหลือบเห็นมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังค่อยๆย่องเดินลงมาจากเนิน ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านอนเล่นอยู่เฉยๆต่อไป  เช่นเดียวกันกับผม คนของผมบอกว่ามาล่าสัตว์ ได้กวางมา แบ่งเอาไปกินได้   พอ 10 คนแรกนั่งคุยกัน ก็มีอีกกลุ่มลงมา แล้วก็อีกกลุ่ม เนื้อที่ตากไว้ก็หมดไปเหลือทิ้งไว้ให้เล็กน้อยเท่านั้น   

ทุกคนรู้สึกเป็นสุขที่ทุกคนปลอดภัย 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 16, 18:26
เมื่อเรื่องราวพอจะปะติดปะต่อกันได้ รู้จำนวนคนว่าน่าจะมากกว่าครึ่งกองร้อยแน่ๆ ได้เห็นลักษณะการแต่งกายที่มีลักษณะเป็นเครื่องแบบ มีอาวุธประจำกายที่เหมือนกัน ที่ดูจะแปลกๆก็คือพูดไทยได้ สนทนากันได้ ใช้ภาษากลาง สำเนียงก็ไม่เพี้ยนมาก มีเสียงเหน่อปนอยู่บ้างเป็นธรรมดา   

หลายคนในคณะเริ่มเกิดความกลัว อยากจะกลับออกไปในทันใด   ผมก็ว่านอนต่ออีกคืนหนึ่ง พรุ่งนี้ค่อยออกตอนเช้าก็แล้วกัน ด้วยว่าพวกจรยุทธกลุ่มนั้นเขาเห็นเราหมดใส้หมดพุงแล้ว คงไม่มาสนใจทำอะไรมิดีมิร้ายหรอก    ความกลัวมันถึงระดับที่พวกเขาจะต้องออกไปให้ได้จากจุดนี้ทันที ผมเลยต้องยอม จะปล่อยให้คณะแยกออกเป็นสองกลุ่ม หากเกิดอะไรขึ้นมาผมต้องรับผิดชอบตายเลย   ว่าแล้วก็ช่วยกันเก็บแคมป์ ออกเดินมุ่งหน้ากลับ ก็เดินไปจนใกล้มืดจึงพักแรม รุ่งเช้าก็เดินต่อ พอออกมาถึงที่รถจอด ก็ได้พบกับ จนท.นอกเครื่องแบบ 2 คน ไม่รู้ว่าเป็นทหารหรือตำรวจ  มาสอบถามว่าพบใครในห้วยขาแข้งบ้างใหม ก็ให้ข้อมูลกันไปตามจริง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 16, 19:07
เรื่องการเผชิญกับกลุ่มจรยุทธนี้  อาจจะเป็นเพียงเรื่อง excitement ของท่านผู้อ่าน  แต่สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องของจุดเปลี่ยนในวิธีการทำงานของผมในพื้นที่ทั้งหลายต่อมา

จะขอเว้นวรรคไปหนึ่งวัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ลองวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องกลุ่มจรยุทธ ตามรายละเอียดและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องที่ผมได้เล่ามา  แล้วลองโยงไปให้กว้างและไกลเข้าไปในเรื่องของความมั่นคงทั้งภายในและที่เกี่ยวข้องกับประเทศข้างเคียง (ทั้งที่เกิดก่อนและหลังช่วงเวลาที่ผมได้นำมาเล่านี้)     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 16, 18:46
ข้อมูลหรือความรู้ทั่วไปที่ผมพอจะมีสะสมอยู่ในขณะนั้น เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงในการเข้าสำรวจในพื้นที่ป่าเขาทางตะวันตกของไทย ก็รวบรวมมาจากการพูดคุยและเรื่องที่ได้ประสบมาด้วยตนเองตั้งแต่ปลายปี '12 

ช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์ความรุนแรง/การปะทะกันระหว่างสองฝ่ายอุดมการณ์ในระดับที่รุนแรงทั่วไปในไทยและพื้นที่ๆเรียกว่าอินโดจีน   ก็มีกลุ่มชาติพันธ์ุที่หนึ่ง คือ ชาวม้ง ที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศลาว เข้าไปพัวพันอยู่ในการสู้รบด้วย ซึ่งต่อมาก็ต้องหาทางรอดด้วยการย้ายถิ่นหนีภัย   

ประสพการณ์พิเศษครั้งหนึ่งได้ทำให้ผมพอได้รู้ว่า  พวกม้งเป็นพวกที่นิยมใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าเขาสูง ได้เริ่มแสวงหาที่อยู่ใหม่และมุ่งเคลื่อนลงใต้  จะลงมาอยู่ในเทือกเขาแถวเขตต่อเนื่องระหว่างภาคเหนือกับภาคอิสาน (พิษณุโลก แพร่ น่าน) ก็เป็นพื้นที่ไม่สงบ มีแต่การสู้รบ  จะเป็นป่าเขาในเขตเชียงราย ก็มีพวกอดีตกองพล 93 ของจีนคณะชาติครองอยู่ (สมัยก่อนนั้นเราเรียกว่าพวกจีนฮ่อ..มาจากจีนฮั่น..)  จะเข้าไปเขตแม่ฮ่องสอนก็ติดพม่า มีแต่คนกลุ่มน้อยถืออาวุธต่อสู้กับพม่า  เลื่อยลงมาแถวช่วงระหว่าง อ.แม่สอด กับ อ.อุ้มผาง นี้แหละ น่าจะลงตัวมากที่สุด  เพราะมีความห่างไกลและโดดเดี่ยว (Isolated)  เข้าถึงยากและเกือบจะไม่ต้องยุ่งกับใคร   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 16, 19:26
ครับ.. เราจึงพบชาวม้งอยู่อาศัยในพื้นที่ช่วงปากนกแก้วบนเส้นทางหลวงเลียบชายแดนระหว่าง อ.แม่สอด กับ อ.อุ้มผาง ไม่เหนือและไม่ใต้ไปกว่านี้ (??) และก็พบอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกของ จ.กำแพงเพชร แถบพื้นที่ตีนเขามอโกจู (อ.คลองลาน ??)   

ที่จริงแล้ว ผมเคยเกือบจะพบจ๊ะเอ๋กับพวกจรยุทธลักษณะคล้ายพวกนี้ ประมาณ 20 คน ในละแวกพื้นที่น้ำตกคลองลานในช่วง พ.ศ. '13 /'14  คลาดกันนิดเดียว ซึ่งในครั้งนี้นอนอยู่ต่อได้อีกคืนหนึ่งแล้วก็รู้สึกว่าต้องถอย แต่ถอยเพราะผนวกด้วยว่ามีเสือเดินผ่านหัวเต้นท์นอน (ช่วงนี้ผมยังกางเต้นท์นอนแยกกันคนละหลัง)     พื้นที่นี้เองมีความน่ากลัวขนาดตำรวจยังต้องถอดเครื่องแบบใช้ผ้าขาวม้าคาดพุงเข้าพื้นที่ แม้จังหวัดเองก็ยังขอฝากสิ่งของให้ผมไปช่วยแจชาวบ้านให้ด้วย     
พื้นที่แถบนี้แหละครับ ที่ผมได้รับการต้อนรับเสมอต้นเสมอปลายด้วยปืนยาววางพาดที่ระบียงบ้านแบบพร้อมยิง จะเข้าบ้านใหนก็จะเจอบ้านนั้นทั้งนั้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 16, 20:09
เรื่องที่เล่ามานี้ ก็คงพอจะทำให้พิเคราะห์ได้บ้างนะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร    ผมเชื่อว่าในช่วงที่ผมประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้ (ก่อนปีที่เครื่องเฮลิคอปเตอร์ตก กรณีล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่) กลุ่มคนติดอาวุธในลักษณะที่ผมเล่ามานี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง เมื่อเกิดเหตุเครื่องเฮลิคอปเตอร์ตกกรณีดังกล่าว จนเกิดการปิดป่าอย่างแท้จริงแล้ว นั่นแหละครับจึงมีเรื่องของกลุ่มคนมีอุดมการณ์เข้ามาพักพิงและทำงานอยู่ในพื้นที่เหล่านี้   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 16, 19:27
เรื่องน่ากลัวก็ผ่านไปอีกเรื่องหนึ่ง   ผมก็ยังกลับเข้าพื้นที่ เลาะทำงานต่อไปอยู่ในพื้นที่บริเวณตีนเขาก่อนข้ามสันเขาเข้าห้วยขาแข้ง  โดยใช้เส้นทางพื้นฐานเพื่อเข้าพื้นที่ที่บ้านหนองเบน (จากนครสวรรค์ประมาณ 15 กม.บนเส้นทางหลวงไป จ.กำแพงเพชร) 

เส้นทางทำงานแยกจากบ้านหนองเบนนี้  ก็จากหนองเบนเข้าไปก็ผ่านบ้านและสถานที่ต่างๆ อาทิ  ตลุกข่อยหนาม ลาดยาว ศาลเจ้าไก่ต่อ ทุ่งหมาใน เขาขาด แม่วงก์ มะม่วงสามพัน (อยู่ติดตีนเขา ซึ่งมีข้อมูลว่าพบกลองมโหรทึก) เรียงลำดับสถานที่ไม่แม่นแล้วละครับ

เส้นทางนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ผมเริ่มสนใจในเรื่องของภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และเรื่องในองค์รวมทางสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 16, 21:41
บนเส้นทางเข้าพื้นที่ทำงานเส้นนี้ ไม่มีสิงสาราสัตว์หลากหลายและมากมายนัก  แต่ก็มีภาพที่สร้างความประทับใจอยู่เหมือนกันและอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันอีกด้วย   

ภาพน่ารักแรกก็คือ แย้ที่วิ่งกันเพ่นพ่าน ชุกชุมไม่แพ้กับที่พบในพื้นที่ บ.ชะลาดระฆัง (16 กม.จากตากบนเส้นทางตาก-สุโขทัย) ต่อกับพื้นที่ในเขต อ.บ้านตาก ของ จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ๆพบเศษซากไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก (petrified wood)

แล้วก็ภาพของหมาในที่กำลังวิ่งไล่งับนกที่อยู่บินระดับต่ำอยู่เหนือปากของมัน ห่างจากปากไม่มากนัก  ภาพนี้ได้เห็นที่นี่ในช่วงตอนบ่ายแก่ๆครั้งเดียวเท่านั้น สวยจริงๆครับ   

เลยขอยกเอาเรื่องคำว่า"หมา" ที่ว่าเป็นคำไม่ค่อยจะสุภาพนัก กับ คำว่า "สุนัข" ที่ว่าสุภาพนั้น  หากว่าเราจะต้องเปลี่ยนไปใช้คำว่า สุนัข แทนคำว่า หมา    จากคำว่า หมาป่า ไปเป็น สุนัขป่า มันก็พอฟังได้ จาก หมาจิ้งจอก ไปเป็น สุนัขจิ้งจอก ก็ได้อยู่ แต่หากจะเปลี่ยนจาก หมาใน เป็น สุนัขใน ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึี่งกระมัง กว่าที่จะกลายเป็นคำสุภาพปรกติ

เรามี อีกา ก็เรียกว่า นกกา ไม่เรียกว่า นางกา เหมือนกับที่เรียก อีเห็น ว่า นางเห็น   นกอีลุ้ม ก็ยังคงใช้อีเหมือนเดิม ไม่เรียกว่า นางลุ้ม หรือ  ฯลฯ...


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 16, 19:31
ที่ว่าในพื้นที่นี้ได้ทำให้ผมเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องทางสังคมมากขึ้นนั้น ก็มีอาทิ ความต่างระหว่างคำว่า ห้วย ลำธาร คลอง หรือระหว่างคำว่าปลัก ตลุก มาบ หนอง บึง หรือคำว่า ซับ กับ พุ    ซึ่งในภาษาอังกฤษก็มีคำศัพท์ที่มีความหมายและลักษณะจำเพาะทางกายภาพที่ตรงกันกับคำเหล่านี้ของเรา เช่น brook, creek, canal, wallow, swamp, bog, seepage, spring..เป็นต้น 

ในเชิงวัฒนธรรมนั้น มีอยู่เยอะแยะมากมาย   ซึ่งในความเห็นของผมนั้น ก็พอจะแบ่งออกได้เป็นกลุ่มพื้นที่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิงที่ชิดไปทางตีนเทือกเขาทางตะวันตกของเรา    กลุ่มพื้นที่บริเวณแม่น้ำปิงครอบคลุมพื้นที่ไปทางตะวันออกจนถึงลุ่มน้ำยม   กลุ่มพื้นที่ของแม่น้ำน่าน  และกลุ่มพื้นที่แม่น้ำป่าสัก

ในเชิงของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น (ที่จริงผมน่าจะใช้คำว่าความโยงใยของผู้คนของถิ่นต่างๆ)  ก็มีทั้งเรื่องเล่าทางตำนานและเรื่องของวงศาคณาญาติและญาติโกโหติกาที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ (ดังเช่นเรื่องที่ผมได้กล่าวถึงคน อ.แม่สอด อยู่หลายครั้ง)   ถ้าเดินทางผ่านทุ่งโฮ้ง แดนเสื้อหม้อฮ่อมของ จ.แพร่ หรือ บ.น้ำอ่าง จ.อุตรดิตถ์ หรือ บ.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย สุโขทัย หรือ พวกลาวโซ่งในเพชรบุรี ลองหาโอกาสคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ดูนะครับ จะเห็นว่ามีทั้งที่เป็นพวกชาติพันธุ์เดียวกันและที่ต่างกัน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 16, 19:53
ออกจากป่านอกเรื่องไปไกลเลยครับ   

เอาเป็นว่า ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า ความเชื่อมโยงระหว่างคนและประวัติศาสตร์ของเราในภาคกลางตอนล่างกับตอนบนนั้น ดำเนินผ่านเส้นทางเลาะชายทิวเขาทางตะวันตกของเรา เราจึงเห็น บ้านเก่า เมืองเก่า คนเก่าเหล่านั้น ไล่เรื่องลงมาได้ตั้งแต่แม่สอดลงมาจนถึงเพชรบุรี (เลยไปถึงแถว อ.ทับสะแกของ จ.ประจวบฯ)      ส่วนสำหรับความเชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางของเรานั้น ดำเนินผ่านลุ่มน้ำปิงและวัง 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 16, 19:19
คิดว่าได้เล่าภาพและสภาพของห้วยขาแข้งในสมัยก่อน ตั้งแต่การเข้าถึงสถานที่มาจนถึงสภาพที่อันตรายมากเกินกว่าที่พึงจะเข้าไปเดินทำงานต่อไป    หลายเรื่องได้ลงไปในรายละเอียดพอสมควร หลายเรื่องก็ไม่ลงรายละเอียด  และก็มีที่เว้นข้ามไม่เล่าไปหลายเรื่อง    บางเรื่องก็เล่าไว้ในกระทู้อื่นแล้ว เช่น เรื่องหมาป่าหอนในคืนพระจันทร์เต็มดวง (+/-) ส่งเสียงต่อกันหลายคุ้งน้ำ   

พอหอมปากหอมคอนะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 16, 19:43
พื้นที่ป่าห้วยขาแข้งส่วนมากมีลักษณะออกไปทางแห้ง แต่ก็จะดูชุมชื้นขึ้นในพื้นที่ทางตอนเหนือ  พอเข้าเขตผืนป่าแม่วงก์ ป่าจะมีลักษณะเป็นป่าชื้นอย่างเห็นได้ชัด  เช่น ระหว่างโคนต้นไม้ใหญ่บางพื้นที่จะคลุมไปด้วยต้นกระชาย เป็นดงสวยงามครับ รู้สึกร่มเย็นกว่าห้วยขาแข้งมากเลยทีเดียว   

แม่วงก์เป็นป่าที่มีสัตว์ป่าอยู่ชุกชุมไม่น้อยไปกว่าห้วยขาแข้ง    ผมพบรอยเสือมากกว่าขาแข้ง รวมทั้งเดินตามมันและถูกมันเดินตาม   ช้างก็มีแต่เป็นโขลงขนาดเล็ก   ได้พบเห็นนกสีสวยสดใสหลายชนิด รวมทั้งนกกก นกแกง    พบรอยเท้าพวกสัตว์นักล่าตระกูลแมว  และยังพบแมวบ้านที่ไม่ยอมกลับบ้าน ชอบอยู่ป่ามากกว่า     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 16, 19:56
บรรยายภาพของป่าแม่วงก์มาเพียงเท่านี้  ก็คงพอจะทำให้ท่านทั้งหลายได้รู้สึกถึงความต่างทางนิเวศน์วิทยาของป่านี้กับป่าขาแข้งได้บ้างแล้วนะครับ

ป่าแม่วงก์นี้ เจ้าพ่อ/เจ้าแม่/เจ้าที่/เจ้าทาง แรงเอาเรื่องอยู่ครับ   เมื่อใดทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อนั้นเป็นต้องมีฝนตกลงมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย   ไม่นานเกินรอเลยครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 16, 18:32
พื้นที่ป่าแม่วงก์นี้ มีบริเวณหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสวยงามมากๆ  มันเป็นพื้นที่ราบรอยต่อกับส่วนที่เป็นพื้นที่ภูเขา  มีน้ำแม่วงก์กว้างประมาณ  5-7 ม. ไหลตัดผ่าน เป็นการไหลตัดผ่าน flood terrain ที่ตนเองสร้างขึ้นมา ไม่มีสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee)ให้เห็นอยู่ทั้งสองฝั้่งน้ำ เป็นพื้นที่ราบที่มีวัชพืชคลุมดินเขียวขจี พื้นท้องห้วยแบนราบ (ไม่เป็นลักษณะ V shape ดังทั่วๆไป) ปูด้วยกรวดและหินก้อนกลม มีน้ำใสไหลค่อนข้างแรง     ผมคงจะบรรยายได้ไม่ดีเท่ากับการนึกถึงภาพของแม่น้ำลำธารในอลาสกา หรือในญี่ปุ่น 

ผมก็ตั้งแคมป์ในบริเวณนี้แหละครับ  ใช้ผ้าใบปูพื้นผืนนึง ทำหลังคาผืนนึง วางของทำครัว นั่งเล่น นั่งกินข้าวผืนนึง    อากาศเย็นสบายเหมาะสำหรับการมาพักผ่อนมากกว่าการมาทำงาน    ที่นี่แหละครับที่ได้เจอกับเสือลำบากที่ได้เล่าไว้แต่ต้นกระทู้   เรื่องของปลาร้าขี้ค่างก็ที่นี่เช่นกัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 16, 19:03
ผมเดินทำงานในป่าทุกวัน ก็ได้พบนกกกและนกแกงทุกวัน บินมาเหนือหัวก็รู้ทันทีด้วยเสียงกระพือปีกอันดังของพวกมัน    ในประสพการณ์ของผมเท่าที่เดินป่ามาในหลายพื้นที่ ผมพบว่านกกก นกแกง และนกขนาดใหญ่อื่นๆ (อาทิ นกกุลุมพู นกเขาเปล้า เหยี่ยวอีรุ้ง นกถึดทือ ฯลฯ) มีชุกชุมอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มากที่สุด และก็ดูจะพบพวกมันมากในพื้นที่ๆมีความชื้นสูง ซึ่งก็เป็นพื้นที่ๆมีพวกพืช อาทิ ต้นกระชาย ต้นกระดาษ ต้นบอน ต้นข่าลิง ต้นเร่ว ต้นบุก ต้นเปราะ ต้นค้างคาวดำ ฯลฯ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 16, 19:35
ในพื้นที่ป่าแม่วงก์นี้ก็พบว่ามีหมีควายอยู่มากเลยทีเดียว  รอยเล็บไต่ขึ้นต้นไม้ไปกินผึ้งนั้นพบได้อยู่ทั่วไปตามต้นยางใหญ่ทั้งหลาย   ผึ้งนั้นชอบทำรังอยู่ตามกิ่งของต้นยาง ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินลิ่วเลยทีเดียว    ก็แปลกอยู่นะที่ในพื้นที่นี้เกือบจะไม่เห็นลูกทอยตามต้นไม้ที่มีรังผึ้ง (ลูกทอย = ไม้สั้นๆที่ชาวบ้านเขาเอามาตีปักกับต้นไม้ ในลักษณะเป็นขั้นบันใด เอาไว้ปีนขึ้นไปเอาน้ำผึ้ง)   ถามชาวบ้านก็ได้ความว่า สู้หมีมันไม่ไหว มันก็หวงของมันอยู่

น้ำผึ้งป่านั้น เป็นของมีค่าของชาวบ้าน เพราะใช้เป็นยา ทั้งใช้ในลักษณะของการเข้ายาและในลักษณะของการทำอาหาร ซึ่งน้ำผึ้งที่สุดยอดจริงๆตามความเชื่อ ก็คือน้ำผึ้งเดือน 5      สำหรับที่กินเป็นอาหารนั้น ในลักษณะหนึ่งก็คือ เป็นรางวัลของความเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้า ก็คล้ายกับที่เราไปซื้อของหวาน/ลูกกวาดมากินกัน ในอีกลักษณะหนึ่งก็เอามาปรุงเป็นกับข้าวเลย โดยเฉพาะการใช้รังส่วนที่มีตัวอ่อน เอามาแกงกิน (เช่น ทำแกงส้มรังผึ้ง)   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 16, 19:40
ด้วยเหตุใดจึงมีความเชื่อกันว่าน้ำผึ้งเดือน 5 เป็นน้ำผิ้งที่ดีที่สุด

ลองนั่งนึกดูว่ามีเหตุผลใดกันบ้างนะครับ
 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 16, 18:20
คำอธิบาย

เดือน 5 ตามเดือนสากล คือ เดือนพฤษภาคม      เดือน 5 ตามเดือนไทย คือ ประมาณเดือนเมษายน
 
เดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นชวงที่มีอากาศร้อนและแห้ง ไม่มีฝนตก (แม้ในพื้นที่ภาคเหนือลงมาถึงภาคกลางตอนบนจะเป็นเดือนที่มีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่บ้างก็ตาม) เป็นเดือนที่ต้นไม้หลากหลายชนิดก็เกือบจะไม่มีการออกดอกเลย การเก็บน้ำผึ้งในช่วงประมาณเดือนนี้จึงได้น้ำผึ้งที่มีการสะสมมาแล้วตลอดทั้งปี   ที่สำคัญก็คือเป็นน้ำผึ้งในเดือนที่ไม่มีน้ำ(ฝน)มาปนเปื้อนเลย  จึงเรียกได้ว่าได้น้ำผึ้งบริสุทธิ์   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 16, 18:56
ผึ้งรวงใหญ่ๆหรือผึ้งหลวงที่พบในป่านั้น มักจะติดห้อยอยู่กับกิ่งก้านของต้นยางซึ่งสูงมาก   การจะปีนขึ้นไปเก็บน้ำผึ้งนั้นจะต้องใช้ทอยดังที่กล่าวมาแล้ว

ในการปีนขึ้นไปเอารวงผึ้งจริงๆนั้น ผู้ปีนจะต้องทำการประมูลลูกทอย    การประมูลลูกทอยก็คือ การประเมินว่าจะต้องใช้ไม้ทำลูกทอยจำนวนเท่าใด ซึ่งก็จะต้องไปตัดไม้เป็นท่อนๆ(ยาวประมาณ 30+/- ซม.)เท่ากับจำนวนที่ประเมินไว้ ทำการเสี้ยมปลายข้างหนึ่งให้แหลม แล้วใส่ย่ามสะพายข้างเตรียมให้พร้อม   

รอจนคืนที่มืดพอเห็นได้รำไร รวมทั้งเป็นคืนที่ลมสงบอีกด้วย   ก็เริ่มต้นด้วยการก่อไฟใต้ต้นไม้ ทำการรมควันเพื่อไล่ผึ้งให้ออกจากรัง จากนั้นก็จะลงมือปีนต้นไม้ ค่อยๆตีลูกทอยขึ้นไปทีละอัน จนไปถึงจุดที่สามารถเก็บเกี่ยวรวงผึ้งได้   

เหตุที่ต้องเป็นคืนที่มืดก็เพราะ ผึ้งมันมองไม่เห็น มันก็ได้แต่บินชนเราเท่านั้น  แม้จะใช้ไฟฉาย มันก็จะเห็นเฉพาะส่วนที่เป็นแสงไฟสว่างเท่านั้น   ส่วนไอ้ที่มันจะต่อยเรานั้น ก็เพราะเราเอามือไปปัดมันหรือตบมันเข้านั่นเอง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 16, 19:18
การสุมไฟที่ต้องการควันไฟมากๆนั้น ทุกท่านคงทำได้นะครับ เป็นหนึ่งในความรู้พื้นฐานของลูกเสือ

สำหรับเรื่องของลูกทอยนั้น มันมีทั้งวิทยาศาสตร์และความเชื่อทางจิตวิญญาณปนกัน    คนที่ประมูลถูกต้องนั้น เราจะเห็นลูกทอยถูกตีติดต้นไม้ที่ระยะห่างเท่าๆกัน เป็นทิวตั้งแต่โคนต้นไปจนถึงจุดที่มีรวงผึ้ง   ก็มีเยอะที่ประมูลผิด ปักขึ้นไปไม่ถึงจุดที่สามารถจะเก็บรังผึ้งได้  มีทั้งแบบยังห่างไกลและทั้งแบบใกล้เต็มที    อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยเห็นแบบที่มีลูกทอยเหลือคงค้างมากเกินไป

ลูกทอยพวกนี้ ชาวบ้านเขาจะไม่ถอดออกมา จะปล่อยใว้ให้คาอยู่กับต่นไม้นั้นๆ       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 16, 20:28
ความเชื่อประการหนึ่งก็คือว่า หากประมูลลูกทอยผิด (ซึ่งส่วนมากจะเป็นในลักษณะขาด) ก็แสดงว่า เจ้าที่เขายังไม่ให้ ค่อยมาเอาในอีกปีหนึ่ง  ส่วนคนอื่นที่จะแอบมาต่อยอดก็ไม่ค่อยจะกล้า เพราะว่าการตอกลูกทอยนั้น แต่ละคนที่ตอกก็ลงน้ำหนักไม่เหมือนกัน คือก็จะตอกให้แน่นมากเพียงพอที่จะรับน้ำหนักตนเองได้เท่านั้น คนที่จะมาต่อยอดจึงไม่รู้ว่าลูกทอยนั้นจะรับน้ำหนักของตนได้หรือไม่   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 16, 19:10
ผมเคยเห็นมหกรรมทำน้ำผึ้งป่าของหมู่บ้านกะเหรี่ยงในเขตพม่า ในพื้นที่ปากนกแก้วระหว่าง บ.วาเลย์ อ.แม่สอด กับ บ.กล้อทอ อ.อุ้มผาง (อ่านว่า บ.กะล้อทอ)   มีทั้งกระทะใบบัวต้มน้ำไอน้ำฉุย มีรวงผึ้งวางกองอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ มีตะแกรงสานด้วยไม้ไผ่เป็นทรงตะกร้าใช้หีบน้ำผึ้ง และมีกระบอกไม้ไผ่วางตั้งเรียงกันอยู่ ผู้คนก็กำลังชุลมุนช่วยกันทำงาน    ผมไม่มีโอกาสได้เห็นกระบวนการทำทั้งหมด ด้วยกำลังประสานงานเกี่ยวกับเรื่องทาง security   อย่างไรก็ตาม ก็ทำให้ได้นึกถึงเรื่องของน้ำผึ้งป่าเดือน 5 ที่มาจากพื้นที่ย่านนั้นว่า   

อืม์.. น้ำผึ้งป่าเดือน 5 ของแท้ที่น่าจะมีสีเข้ม มีเศษชิ้นส่วนบางอย่างปนอยู่บ้าง และมีความเข้มข้นสูงนั้น    แท้จริงแล้ว ที่เราได้เห็นน้ำผึ้งเดือน 5 ใสสะอาดที่เอามาเร่ขายกันนั้น  มันก็อาจจะผ่านขั้นตอนการใช้ไอน้ำร้อนเพื่อรีดเอาน้ำผึ้งออกมาจากรวงให้หมด จากนั้นก็เคี่ยวเพื่อไล่น้ำออกไปจนมีความเหนียวข้นพอดี แล้วก็กรอกใส่ขวดเอามาเร่ขายกัน

น้ำผึ้งที่ผ่านความร้อนมาแล้ว น่าจะเป็นน้ำผึ้งที่เกือบจะไม่มีสารอาหารที่มีคุณค่าหลงเหลืออยู่นัก ด้วยคงจะถูกทำลายไปจนเกือบหมดแล้ว


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 16, 19:18
เมื่อยังเป็นเด็กอยู่ ตจว.   เคยเห็นการเอาน้ำผึ้งมาทำเป็นท๊อบฟี่อยู่ครั้งหนึ่ง ดูง่ายมาก ก็เอาน้ำผึ้งมาเคี่ยวให้เหนียวพอดี แล้วก็ใช้ช้อนตักหยอดลงในน้ำเย็น มันก็จะเป็นก้อนๆ เอามาอมเป็นท๊อบฟี่กัน   

ก็เคยกินอยู่ครั้งเดียว แล้วก็ไม่เคยลองทำเองด้วย ก็เลยไม่รู้ว่ากรรมวิธีที่เล่ามานี้ถูกต้องหรือไม่นะครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 16, 19:35
่ทำให้นึกถึงของอร่อยและหากินยาก ..น้ำตาลอ้อยก้นกระทะที่ใส่มะพร้าวขูด..  ควักออกมาจากก้นกระทะที่ใช้เคี่ยวน้ำอ้อย นั่งกินอยู่ในพื้นที่ที่ทำการหีบอ้อยและเคี่ยวน้ำอ้อยนั่นเอง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 16, 19:23
ในปัจจุบัน ภาพการหีบอ้อยของชาวบ้านและการเคี่ยวน้ำตาลอ้อยในไร่อ้อยคงจะเหลือให้เห็นน้อยมากๆ หรือไม่มีอีกแล้วก็ได้  ที่คิดว่าคงจะเหลือน้อยมากๆนั้นก็เพราะยังพอจะเห็นชาวบ้านหาบงบน้ำอ้อยขายอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเห็นผู้เฒ่าแก่ๆนั่งขายอยู่ข้างถนน  ซึ่งผมจะซื้อเกือบจะทุกครั้งที่เห็น  ช่วยเขาครับ เขาพยายามดิ้นรนช่วยตัวเอง พยายามทำมาหากินด้วยความสุจริต   10 บาท 20 บาท ของเขามีค่ามากกว่าของเรามากมายนัก   แม้กระทั่งตัวน้ำอ้อยที่ทำเป็นงบน้ำอ้อยเอามาขายเรานั้น ในความคิดของเขามันก็เป็นของมีคุณค่า ในขณะที่เราอาจจะไม่เห็นคุณค่าของมันเลย

ในสมัยก่อนนั้น ในย่ามของชาวบ้านที่มีธุระต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล จะต้องมีงบน้ำอ้อยติดอยู่เสมอ   ชาวบ้านเขาใช้ในลักษณะเป็นของกินเพื่อฟื้นความสดชื่น (refreshment) และกระตุ้นให้กำลังเมื่อมีอาการอิดโรยมากๆ  ครับ...มันก็เป็น energy จากน้ำตาลธรรมชาตินั่นเอง  นี่ก็คือความมีค่าของมันในสายตาชาวบ้าน   

แล้วในมุมของเราละครับ เราใช้น้ำตาลในการชงกาแฟ ใช้ในการทำอาหารคาวหวานต่างๆ  แล้วเราก็พยายามจะเลี่ยงการใช้น้ำตาลทรายขาวและเลี่ยงการใช้น้ำตาลปี๊บ หันไปใช้น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลตะโหนด     ก็จะไม่ลองหันไปใช้น้ำตาลอ้อยดูบ้างหรือไร แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังบรรดาสารเคมีอันตรายที่ชาวบ้านอาจใส่เข้าไปในกระบวนการทำด้วย  ซื้อในตลาด ตจว. หรือตลาดชาวบ้านก็คงพอจะลดความเสี่ยงได้มากโขอยู่   จะให้ปลอดภัยที่สุดก็คงต้องไปนั่งดูเขาทำกัน

 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 16, 19:41
ผมสนับสนุนให้มีกิจกรรมการเที่ยวชมการหีบน้ำอ้อยและการเคี่ยวน้ำตาลของชาวบ้านครับ  เป็นกิจกรรมในช่วงเดือนที่มีอากาศเย็น ช่วงเช้ามืดช่วงประมาณตี 5 หรือ 6 โมงเช้า   

เราจะเห็นลานวงกลม มีวัวเดินวนไปรอบๆเพื่อหมุนนลูกหีบซึ่งทำมาจากท่อนไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 ซม. (ตอนนี้เห็นขายอยู่ตามร้านขายของเก่าเต็มไปหมด)  แล้วก็เห็นการเคี่ยวน้ำอ้อยในกระทะใบบัว     นั่งผิงไฟ คุยกัน ดูกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาฟ้ากำลังเริ่มสางและดวงอาทิตย์กำลังให้สว่างรำไร  แล้วก็รอน้ำตาลอ้อยก้นกระทะ พองวดได้ที่ดีก็เอามะพร้าวห้าว จะขูดหรือหั่นเป็นเว่นเป็นชิ้นบางๆก็ได้ โยนใส่เข้าไปแล้วกวนให้เข้ากัน คะเนดูว่ามะพร้าวผสมผสานกับน้ำตาลกันได้ดีแล้ว ก็ตักออกมาหยอดบนใบตองกล้วยหรือใบตองตึงก็ได้   ของอร่อยเลยครับ หายง่วงแถมด้วยความสดชื่น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 02 เม.ย. 16, 11:03
ในปัจจุบัน ภาพการหีบอ้อยของชาวบ้านและการเคี่ยวน้ำตาลอ้อยในไร่อ้อยคงจะเหลือให้เห็นน้อยมากๆ หรือไม่มีอีกแล้วก็ได้  ที่คิดว่าคงจะเหลือน้อยมากๆนั้นก็เพราะยังพอจะเห็นชาวบ้านหาบงบน้ำอ้อยขายอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเห็นผู้เฒ่าแก่ๆนั่งขายอยู่ข้างถนน  ซึ่งผมจะซื้อเกือบจะทุกครั้งที่เห็น  ช่วยเขาครับ เขาพยายามดิ้นรนช่วยตัวเอง พยายามทำมาหากินด้วยความสุจริต   10 บาท 20 บาท ของเขามีค่ามากกว่าของเรามากมายนัก   แม้กระทั่งตัวน้ำอ้อยที่ทำเป็นงบน้ำอ้อยเอามาขายเรานั้น ในความคิดของเขามันก็เป็นของมีคุณค่า ในขณะที่เราอาจจะไม่เห็นคุณค่าของมันเลย

ในสมัยก่อนนั้น ในย่ามของชาวบ้านที่มีธุระต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล จะต้องมีงบน้ำอ้อยติดอยู่เสมอ   ชาวบ้านเขาใช้ในลักษณะเป็นของกินเพื่อฟื้นความสดชื่น (refreshment) และกระตุ้นให้กำลังเมื่อมีอาการอิดโรยมากๆ  ครับ...มันก็เป็น energy จากน้ำตาลธรรมชาตินั่นเอง  นี่ก็คือความมีค่าของมันในสายตาชาวบ้าน   

แล้วในมุมของเราละครับ เราใช้น้ำตาลในการชงกาแฟ ใช้ในการทำอาหารคาวหวานต่างๆ  แล้วเราก็พยายามจะเลี่ยงการใช้น้ำตาลทรายขาวและเลี่ยงการใช้น้ำตาลปี๊บ หันไปใช้น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลตะโหนด     ก็จะไม่ลองหันไปใช้น้ำตาลอ้อยดูบ้างหรือไร แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังบรรดาสารเคมีอันตรายที่ชาวบ้านอาจใส่เข้าไปในกระบวนการทำด้วย  ซื้อในตลาด ตจว. หรือตลาดชาวบ้านก็คงพอจะลดความเสี่ยงได้มากโขอยู่   จะให้ปลอดภัยที่สุดก็คงต้องไปนั่งดูเขาทำกัน

 
หลายปีที่แล้วไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เชียงใหม่ เห็นน้ำตาลลักษณะอย่างที่อาจารย์บรรยายนี่ละค่ะใส่ขวดโหลตั้งอยู่ในครัว เจ้าของบ้านว่างบน้ำอ้อย ลองดมดูก็พบว่ากลิ่นมันแปลกๆคล้ายๆกับกลิ่นเหล้าแห้งๆ เลยไม่กล้าลองชิม หรือว่ามันเสียแล้วก็ไม่ทราบนะคะ เพราะเคยได้กลิ่นน้ำตาลสดบูด ก็กลิ่นประมาณนี้เลยค่ะ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 16, 18:17
ขออภัยครับ เมื่อวานไปค้างที่หาดเจ้าสำราญ เพชรบุรี   ไปทำบุญให้แม่และกลุ่มญาติฝ่ายแม่ที่แม่กลองเมื่อวาน แล้วต่อวันนี้ทำบุญให้พ่อตากับญาติฝ่ายพ่อพ่อตา

หาดเจ้าฯต่างกับสมัยก่อนมากเลยครับ  ปัจจุบันมี resort มากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลย  ผมชอบหาดเจ้าฯตรงที่ยังคงให้ความเป็นส่วนตัว(ในระดับที่พอใจเลยล่ะ)กับทุกคนและทุกครอบครัวที่มาเที่ยวมาพักผ่อน  คนไม่มาก เสียงไม่ดัง ขี้เมาอ้อแอ้น้อยมาก  แม้ว่าหาดจะดูไม่สวยงามนัก ไม่เปิดโล่งเพราะเห็นกองแนวหินกันคลื่นกระแทกฝั่ง (breakwaters) เป็นช่วงๆ ก็ตาม

ในเชิงวิชาการ ผมเห็นว่าเป็นพื้นที่ชายทะเลที่ให้ข้อมูลและสิ่งบ่งชี้หลากหลายในเชิงของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นของอ่าวไทยตอนบน ทั้งจากตัวกระบวนการทางธรรมชาติเองและจากการกระทำของคนที่เข้าไปทำการพัฒนาแทรกอยู่ในกระบวนการทางธรรมชาติต่างๆ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 16, 19:10
สำหรับงบน้ำอ้อยที่คุณ Anna ว่ามีกลิ่นคล้ายเหล้าแห้งๆหรือน้ำตาลสดบูดนั้น  ก็คงเป็นเช่นนั้น น้ำตาลทั้งหลายมันเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอลล์ได้ การทำเหล้าทำเบียร์ทั้งหลายก็คือกระบวนการเปลี่ยนแป้ง (จากข้าว มัน ข้าวโพด ฯลฯ) ไปเป็นน้ำตาล แล้วก็เปลี่ยนจากน้ำตาลไปเป็นเหล้า

ผมตอบไม่ได้ว่าจะใช้คำเรียกว่า เสียแล้ว ได้หรือไม่   สำหรับผมแล้วจะเรียกว่ามันเสียก็ต่อเมื่อมันดูไม่ดีเอาเลย เช่น มีสีดำเข้ม มีราขาวเป็นจุดๆแยกกันอยู่ มีกลิ่นเกินกว่าที่เราจะรับได้  แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นอย่างไร (หาใหม่ได้ใหม ยังพอใช้ใส่อาหารที่ปรุงด้วยไปร้อนๆได้ใหม เป็นต้น)   อย่าเชื่อผมนะครับ คนเดินดงก็เป็นอย่างนี้แหละ

ที่น่ากลัวจริงๆคงมิใช่เรื่องว่ามันเสียหรือไม่ แต่มันเป็นเรื่องว่ามันจะทำให้เราตายหรือไม่ ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่ามันมีสารเคมีฆ่าหญ้าพวก paraquart หรือ gramoxone ตกค้างหลงเหลืออยู่หรือไม่     ยาเคมีฆ่าหญ้านี้  ชาวบ้านบางรายเขาใส่ในกระบวนการหมักทำเหล้าด้วย เพื่อเร่งกระบวนการหมักให้เร็วขึ้น    ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะกล่าวว่าเมื่อกลั่นเป็นเหล้าแล้ว จะยังคงมีสารเคมีพวกนั้นติดค้างอยู่ในเหล้าตาตั๊กแตนมากน้อยเพียงใด หรือไม่มีเลย ??   

ทำได้อย่างเดียวครับคือ รับมาดื่ม 1 จอก แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเหล้าสี (เหล้าแม่โขงและกวางทองในสมัยนั้น) ที่ผมต้องซื้อติดตัวเข้าไปเสมอ    ครับ... ชาวบ้านเขาก็อยากกินเหล้าเมืองที่มีชื่อโด่งดังเหมือนกัน  ผมก็ปลอดภัยขึ้น อาจจะเปลืองเงินหน่อย   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 16, 19:37
ที่ผมเจอแบบน่ากลัวจริงๆ ก็คือ สาโทที่ชาวบ้านเอามาดื่มร่วมวงกับพวกผม ใส่แกลอนน้ำมันเครื่องที่ล้างสะอาดแล้ว   เป็นสาโทที่มีกลิ่นเป็นน้ำตาลปี๊บ  ว้าว... แถวนั้นต้นมะพร้าวก็ไม่มี เป็นน้ำตาลเมาที่ทำจากน้ำตาลสดไม่ได้อยู่แล้ว แถมเป็นช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่มเข้าไปแล้วอีกด้วย   นึกออกได้อย่างเดียว คือ เอาน้ำตาลปี๊บมาละลายน้ำ แล้วเหยาะยาฆ่าหญ้าเข้าไป   

พอได้กลิ่น พอเดาได้ว่าไม่ดีแน่ๆ ผมก็ต้องหาทางออก เอาเหล้าแดง (เหล้าสี) มาเข้าวงอีกขวดนึง (ตามปรกติ ก็ดื่มไม่เกิน 1 ขวด ที่เหลือก็ยกให้ชาวบ้านไป) ก็เลยรอดตัวมาได้   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 16, 18:57
กลับไปเรื่องหมีกับน้ำผึ้งต่อครับ

มีคำโบราณท่านเปรียบเปรยว่า บ่นเป็นหมีกินผึ้ง     ผมไม่เคยเห็นภาพและเสียงในขณะที่หมีกำลังกินรังผึ้ง  เคยเห็นก็แต่รอยเล็บที่มันกอดต้นไม้ปีนขึ้นไป บางต้นก็มีซ้ำหลายรอยทั้งในลักษณะของการปีนซ้ำในช่วงเวลาใกล้ๆกันและในระยะเวลาที่ห่างกันมาก ซึ่งก็น่าจะพอแสดงได้ว่ามันกินครั้งเดียวหมดหรือหลายครั้งหมด หรือมิฉะนั้นก็รังใหญ่หรือรังเล็ก 

ในป่าแม่วงก์นี้ผมเคยเห็นรอยเล็บใหม่ๆที่หมีมันปีนขึ้นไปกินผึ้ง ก็ใหม่พอที่จะต้องหันดูรอบๆตัวเลย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีตัวมันอยู่ใกล้ๆแถวๆนั้น ด้วยไม่รู้ว่า มันกินเสร็จแล้ว เลิกกินแล้ว เดินไปไกลแล้ว  หรือว่ามันลงมาจากต้นไม้มาหลบอยู่บนพื้นใกล้ๆนั้น เนื่องด้วยมันได้ยินเสียงของพวกผมเดินมากัน     

ในการเดินทำงานของผมนั้น จะมีเสียงดังจากการใช้ฆ้อนทุบหินเพื่อดูเนื้อในหรือเก็บตัวอย่างและเสียงพูดคุยกันแบบไม่ระวังความดัง มันเป็นการผสมผสานการทำงานพร้อมไปกับการไล่สัตว์ที่มีอันตรายทั้งหลายให้หลีกไป  ซึ่งก็มีสัตว์ใหญ่อยู่ชนิดหนึ่งที่มักจะไม่หลีก แต่จะยืนนิ่งเงียบฟัง ตนเองก็เลยต้องพิจารณาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ร่องรอยต่างๆ พร้อมฟังเสียงต่างๆของไพรพร้อมไปด้วย   ระมัดระวังขนาดนั้นก็ยังไม่วาย เฉียดวิกฤติถึงเลือดตกยางออกอยู่หลายครั้ง ..ช้างครับ ที่จะรวมเล่าต่อไป


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 16, 19:16
สำนวน บ่นเป็นหมีกินผึ้ง นั้น  ผมเข้าใจว่ามีความหมายในเชิงของการพูดกล่าวออกไปโดยผู้พูดไม่ได้เห็นภาพ หรือเรื่องราว หรือความเป็นมาเป็นไปของเรื่องที่กำลังพูดถึงนั้น   ทำนองว่าพูดไปเรื่อย บ่นไปเรื่อย ไร้สาระ ไร้เป้าหมาย

ข้อเท็จจริงพื้นฐานก็มีอยู่ว่า เมื่อหมีขึ้นไปลุยกับรังผึ้งนั้น  ผึ้งก็จะแตกรังกรูกันออกมาช่วยกันต่อยหมี แต่หมีมีขนยาว ผึ้งทำอะไรไม่ได้    หมีมีจุดอ่อนอยู่จุดเดียวคือ ตา  ดังนั้น หมีก็จะหลับตายื่นมือออกไปควานรังผึ้งเอามาใส่ปากกินโดยไม่ต้องมอง ก็หลับหูหลับตากินนั้นแหละ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 16, 19:39
พรานไพร นักเดินป่า และผู้ที่มีอาชีพต้องเข้าไปในป่าดงตัวจริงทั้งหลายนั้น รู้กันเป็นพื้นฐานอยู่ว่า  เมื่อจ๊ะเอ๋กับหมีแบบเผชิญหน้าจังๆ  วิธีการหนึ่งที่พอจะเอาตัวรอดได้ก็คือ คว้ากิ่งไม้เล็กๆ แกว่งไกวรบกวนที่บริเวณตาของมัน มันจะหลับตา ทำไปก็หาทางหนีไป แต่อย่าวิ่งลงเนินนะครับ มันลงได้เร็วกว่าเรามากนัก   จากนั้นก็ดวงใครดวงมันละครับ     

โชคดีอยู่อย่างหนึ่งก็ตรงที่หมีมันมักจะไม่ตามไล่เป็นระยะทางไกล จะว่าไปมันก็แค่ตะเพิดเราให้ไปให้พ้น เพราะว่ามันก็ตกใจเหมือนกัน  จะโชคร้ายก็ตรงที่ในช่วงปลายหนาวต้นร้อน มักจะพบมันอยู่เป็นคู่ เมื่อจ๊ะเอ๋กับมัน มีปืนก็เหนี่ยวไปเลย จะขึ้นฟ้า หรือตัวมันก็ได้ ขนกับหนังมันหนา ก็เพียงจะเจ็บมากหรือน้อยเท่านั้น  ส่วนเรารีบหันหลังกลับแล้วโกยให้เร็ว ตัวหนึ่งมันต้องไล่เราแน่ๆ หากโชคไม่ดีก็เจอ 2 ตัวช่วยกันตะเพิดเรา ซึ่งผมไม่มีคำตอบว่าจะได้ผลเป็นหมู่หรือจ่า  (อย่าสะดุดล้มก็แล้วกันนะครับ)         


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 16, 20:13
การเดินในป่านั้น ทั้งคนเละสัตว์ต่างก็พยายามจะเดินบนทางที่เรียบ ก็คือไม่มีตอไม้ ไม่มีกิ่งไม้ที่จะทำให้เราสะดุด   ด่านสัตว์มันถึงเตียนและเป็นทางขาวเห็นได้ชัด   สำหรับในป่าที่แห้ง ก็ดูโปร่ง โล่งเตียน   แต่หากเป็นป่าชื้น เส้นทางด่านพวกนี้ก็มักจะมีเรือนยอดของไม้ระดับกลางปกคลุมอยู่เป็นจุดๆ ต้องเดินมุดเอา   นี่แหละครับ จุดจ๊ะเอ๋กับหมีและช้าง  มันก็มักจะยืนเงียบๆอยู่อีกด้านหนึ่งของพุ่มยอดไม้ มันก็ไม่เห็นเรา เราก็ไม่เห็นมัน     

จะด้วยเพราะอะไรก็ไม่รู้ เหตุการณ์จ๊ะเอ๋ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นลักษณะของ พอเราเริ่มจะมุดพุ่มไม้ มันก็โผล่ออกมา  และซึ่งส่วนมากก็จะเป็นลักษณะของการตกใจทั้งสองฝ่าย ต่างก็หันหลังกลับแล้วโกยไปตั้งหลักดูสถานการณ์ต่อไป     

ครั้งหนึ่งในป่าแม่วงก์นี้แหละ หลังจากช้างป่าตัวหนึ่ง (สีดอ) เป่าแตรแล้วก็หันหลังโกย มันคงนึกขึ้นได้ว่า เฮ้ย ตัวใหญ่กว่าเยอะ กลัวไปทำไม  จึงหันหลังกลับแล้วเดินเร็วทะลุพุ่มยอดไม้ออกมา แล้วก็หยุดยืนดูเรา  จะด้วยอะไรก็มิรู้ได้ มันก็ค่อยๆเดินเหนียมๆออกไป  พอมันหายพ้นสายตาเราไป เราก็เดินทำงานของเราต่อไป       


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 16, 19:17
จากเรื่องหมีก็มาเรื่องเสือ  เรื่องเสือลำบากจะเข้าแคมป์ก็เกิดขึ้นที่ป่านี้ ซึ่งก็ได้เล่าไปแล้ว

หมีกับเสือในป่าแม่วงก์นี้หากินอยู่ในพื้นที่เดียวกัน  ทุกวันช่วงเช้าที่ผมเดินทำงานในห้วย จะต้องได้เห็นรอยเท้าของเสือใหม่ๆที่เดินเลาะห้วย แล้วก็รอยเล็บของหมีที่มันลับเล็บ (?) ตามโคนต้นไม้ใหญ่ (ต้นยาง ต้นมะค่าโมง)  ซึ่งจากร่องรอยก็บอกได้ว่ามันนิยมมาเพ่นพ่านอยู่ในพื้นที่ในช่วงเวลาเช้าไก่โห่ 

หลายครั้งได้พบรอยเท้าเสือที่กล่าวได้ว่าเกือบจะใหม่เอี่ยม ที่ใช้คำบรรบายกันว่า น้ำในอุ้งตีนยังขุ่นอยู่เลย   ซึ่งก็คือน้ำในรอยเท้านั้นยังขุ่นยังไม่ตกตะกอน   แต่ที่พบค่อนข้างจะบ่อยครั้งมาก ก็เป็นลักษณะของรอยเท้าที่ยังไม่มีใบไม้หล่นลงมาปกคลุม ก็คือน่าจะเป็นรอยค่อนข้างใหม่ วันหรือสองวันมาแล้ว  และก็ที่พบเป็นประจำก็คือรอยเท้าเก่าที่แห้งและมีใบไม้ใบหญ้าหล่นมาปิดทับ

รอยเท้าที่พบในลักษณะที่กล่าวถึงนี้ มันก็น่ากลัวสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย  ครับ..แสดงว่ามันมีตัวตนเพ่นพ่านอยู่ในถิ่นนี้ เราคงจะต้องเพิ่มการระวังตัวให้มากกว่าปรกติสักหน่อย 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 16, 19:43
แล้วจะระวังอย่างไร   ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเพิ่มความสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว พิจารณารอยนั้นว่าไปทางใหน  เลี่ยงหรือพยายามที่จะเดินแยกจากรอยเท้านั้น  พยายามอยู่ในบริเวณหรือจุดที่โล่งโปร่ง ไม่ไปเดินเฉียดไปเดินเลาะอยู่ใกล้จุดที่มีลักษณะเป็นพุ่มไม้ แหงนดูนกดูไม้บ้าง (ดูอาการของมัน)  ฟังเสียงบ้าง  เหล่านี้เป็นต้น

ด้วยที่สัตว์ที่กล่าวถึงนี้  ในไทยเราไม่ได้เป็นพวกที่โจมตีมนุษย์ เว้นแต่เฉพาะเมื่อจวนตัวและป้องกันตัว และโดยที่สัตว์ทั่วไปจะนิยมหลบหลีกไปให้พ้นมากกว่าที่จะเผชิญหน้า  เราก็ใช้ประโยชน์จากจุดนี้ในการไล่ให้มันหลบไป ซึ่งก็คือการส่งเสียง การทำเสียงดัง ตีเกราะเคาะไม้ไปเรื่อย        เพียงเสียงฆ้อนต่อยหินในขณะทำงานของผม หรือเสียงคุยหยอกล้อกัน รวมทั้งกลิ่นบุหรี่  สัตว์มันก็หลบหลีกแล้วครับ


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 16, 21:01
ด้วยความที่คุ้นกับสภาพเดินตามรอยเท้าเสือมามาก   วันหนึ่ง ผมกับคู่หูอีก 2 คน เดินทำงานอยู่ในห้วย ก็เดินตามรอยเท้าเสือขนาดประมาณฝ่ามือในสภาพที่น้ำในอุ้งเท้ายังขุ่นๆอยู่  ก็ไม่ได้คิดอะไรมากเลย ระวังตัวจามปรกติ   จนมีชาวบ้านสองสามคนเดินอยู่บนสันเนินของห้วยตะโกนถามลงมาในทำนองเตือนว่า เจอผู้ใหญ่กับกำนันใหม  ผมก็ตอบไปว่าเจอ   

ก็เดินทำงานไปเรื่องๆจนบ่ายๆ ก็ได้ยินเสียงช้างป่ากำลังหักกิ่งไม้ เป็นเสียงของหลายตัวอยู่ ใจสู้อยู่ก็ค่อยๆเดินทำงานต่อไป  กลุ่มช้างไม่สนใจเสียงของเราเลย มันเงียบฟังอยู่เป็นเวลาสั้นๆ แล้วก็เก็บรูดใบไม้กินต่อ   ถึงจุดนี้ เราเองพิจารณาดูแล้วว่า ถ้าจะไม่ดีแน่ อันตรายเกินไปแล้ว ก็เลยต้องหันหลังกลับ เดินย่องเงียบกลับแคมป์

จนกระทั่งเย็นกลับมาที่พัก ซึ่งก็มีชาวบ้านกลุ่มนั้นมาพักอยู่ใกล้ๆ  ผมเกิดเอะใจก็ไปถามชาวบ้านเขาว่า ที่เห็นนั้น กำนันกับผู้ใหญ่ทั้งสองเลยหรือ   ได้รับคำตอบว่า ใช่  พอถามขนาดเท้าดูก็รู้เลยว่ามีกำนันเดินตามหลังผมมาจริงๆ ขนาดใหญ่กว่าที่ผมเดินตามไป (จากรอยก็ประมาณกันว่าราว 7 ศอก)   เป็นอันว่า ผมเดินตามตัวหนึ่งไป ก็มีอีกตัวหนึ่งเดินตามผมมา   ผมเดินตามรอยอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่ชาวบ้านจะตะโกนถาม แต่ที่มันเดินตามเรานั้น ผมไม่รู้ว่านานเท่าได   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 เม.ย. 16, 21:35
สรุปว่า หมีไม่ได้ทำเสียงงึมงำขณะแย่งน้ำผึ้งจากผึ่ง  แต่เสียงนั้นน่าจะเป็นเสียงหึ่งๆของผึ้งที่พยายามจะช่วงชิงสมบัติกลับคืน

ทำไมเรียกตรงๆว่าเสือว่าช้าง ไม่ได้ล่ะคะ   มีเคล็ดอะไรหรือ?


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 16, 19:00
ที่เรียกกันว่ากำนันกับผู้ใหญ่นั้น มิได้มีเรื่องของความเชื่อถือหรือการถือเคล็ดใดๆมาเกี่ยวข้องด้วยเลยครับ  เป็นเพียงการใช้สรรพนามเพื่อเรียกขานในลักษณะเพื่อการหยอกล้อกันเท่านั้น  แต่ก็เป็นสรรพนามที่ใช้ได้อย่างเหมาะเจาะกับเจ้าของนามที่เราใช้เรียกเขานั้น 

เสือเป็นสัตว์ที่มีเขตอาณา   ในสารคดีที่เราได้เห็นกันบ่อยๆนั้น แม้เราจะเห็นเสืออยู่กันเป็นกลุ่ม นั่นเป็นเสือในทุ่งของอัฟริกา   แต่ในที่อื่นๆเช่นในไซบีเรียและในอินเดีย เราจะเห็นภาพของมันเดินท่อมๆอยู่เดี่ยวๆตัวเดียว   ซึ่งหมายความว่า รอยเท้าเสือที่เราเห็นเป็นประจำทุกวันในพื้นที่รอบๆตัวเรานั้น มันก็น่าจะเป็นเสือตัวเดียวกันที่เดินเพ่นพ่านแสวงหาอาหารอยู่ในพื้นที่นั้น ก็เลยเรียกกันว่ากำนัน  รอยเท้าของมันอาจจะดูเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง คล้ายกับว่าไม่ใช่ตัวเดียวกัน ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากพื้นดินที่มันเดินเหยียบ

แต่เมื่อเกิดเห็นสองหรือสามรอยเท้าที่ต่างกันในพื้นที่เดียวกัน ในช่วงเวลาใกล้กัน ก็น่าจะเป็นรอยของลูกเสือกับแม่เสือ   พวกรอยขนาดย่อมที่พบนี้ หากดูผิวเผินก็อาจจะเห็นว่าเป็นของเสือขนาด 4-5 ศอก  แต่หากพิจารณาร่วมไปกับองค์ประกอบอื่น (เช่น น้ำหนักกด แนวของการเดิน) ก็จะพอบอกได้ว่าเป็นเสือเด็ก   ครับ..เสือเด็กมันก็มีตีนโต ไม่ต่างไปจากสุนัขเด็กของสายพันธุ์ใหญ่ที่ก็จะมีตีนโตเช่นกัน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 16, 19:32
ที่ผมได้เล่าเรื่องเสือลำบากจะเข้าแคมป์นั้น      เสือลำบากตัวนั้น ชาวบ้านเขาบอกว่ามันถูกยิงจากจุดที่เดินลึกเข้าไปประมาณ 3-4 วัน แต่จากการตามรอย ปรากฎว่ามันกำลังมาอยู่ในบริเวณที่ผมทำงานอยู่  (เรื่องแบบนี้ชาวบ้านเขากระจายข่าวสารให้ได้รับรู้กันทั่วไป) 

พอรู้ข่าวสารเราก็ระวัง  อีกค่ำคืนต่อไปมันก็มาเยี่ยมเยียนใกล้ๆแคมป์เรา  เล่นเอาสุนัขหางจุกก้นเข้ามานั่งรวมอยู่กันคน วัวควายที่ใช้เทียมเกวียนของชาวบ้านที่มาพักอยู่ใกล้กับที่พักของคณะผม ต่างก็ยืนหันหลังชนแคมป์หันหน้าออกไป หายใจดังฟืดฟาดกันใหญ่   ฝ่ายคนต่างก็จ้องเขม็งไปในทิศที่สัตว์มันยื่นจมูกดมฟุดฟิด    คืนนั้น เล่นเอาเราต้องตั้งเวรยามผลัดกันนั่งตลอดทั้งคืน  เสียวไส้ดีเหมือนกันครับ

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พวกชาวบ้านที่ตามรอยก็บอกว่ามันตายแล้ว  ความสุขของเราก็เลยได้กลับคืนมา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 16, 19:52
สอบถามชาวบ้านถึงเรื่องราวของเสือตัวนี้ ก็ได้ความว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของการไปล่าเสือหรอก เป็นเรื่องของการจ๊ะเอ๋ในขณะที่กำลังหาของป่า

ผมจึงได้ความรู้ว่า มันเป็นกติกาว่า ผู้ใดไปทำให้เกิดเสือลำบาก ผู้นั้นมีหน้าที่จะต้องจัดการให้จบเรื่อง  เพราะว่าในขณะที่เสือลำบากยังอยู่ ชาวบ้านจะกลัวไม่กล้าออกไปทำงาน     ผู้ที่ไปทำเรื่องนั้น เดิมก็อาจจะเดินเข้าป่าเดี่ยวๆ แต่พอทำให้เกิดเสือลำบาก ก็กลัวเหมือนกัน ไปตามหาเสือลำบากก็ต้องหาพรรคพวกไปด้วยกันหลายคน ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องคิดเหมือนกัน เพราะจะมีอาสาสมัครหลายคนเกินพอเลยทีเดียว

ก็มิใช่เรื่องอะไรมากหรอกครับ เป็นเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะได้จากตัวเสือนั้น   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 16, 18:33
ในสมัยนั้น ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังเพียงวันละ 20-25 บาท  ชิ้นส่วนของเสือทั้งตัวที่แยกส่วนขายจะมีมีราคาในหลักหมื่น++ 

  หนังเสือทั้งผืนตั้งแต่หัวจรดปลายหางและหัวกะโหลก เป็นความต้องการของหมู่ผู้มีอันจะกิน   
  เกจิอาจารย์ทางไสยศาสตร์ต้องการเขี้ยว ฟัน และหนัง 
  กระดูกเป็นที่ต้องการของร้านขายยาแผนโบราณ   
  ส่วนเท้าที่เรียกว่า อุ้งตีนเสือ นั้น ก็เป็นที่ต้องการของผู้ที่นิยมทางคาถาอาคม

ที่แปลกและอาจจะไม่ค่อยจะทราบกันก็คือ น้ำมันเสือ  ก่อนๆโน้นก็เอาไปใช้เป็นน้ำมันจุดตะเกียงหรือตะไล (แล้วใช้ครอบแก้วที่ตัดมาจากส่วนคอขวดครอบ) สำหรับการตีฝิ่น (นอนสูบฝิ่น) ของนักสูบที่มีระดับ    บ้างก็เอาใส่ตลับเล็กๆ เอาไว้ทาไก่ชน (หน้า โคนปีก เดือย) ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้ไก่คู่ชนกลัว

สำหรับเนื้อเสือนั้น เป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์สิบอย่างที่ห้ามพระฉัน ก็เลยไม่มีผู้ใดนำมาทำอาหารกินกัน     

ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า เศษซากเนื้อที่ทิ้งไว้แล้วจะมีสัตว์ชนิดใดกล้าเข้ามาแทะกิน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 16, 19:17
เล่าเรื่องห้วยขาแข้งซึ่งน่าจะเกี่ยวกับสัตว์หลากหลายชนิดมากมาย  กลับกลายเป็นว่า ดูเหมือนว่าจะมีสัตว์ในป่าแม่วงก์ชุกชุมกว่าในห้วยขาแข้ง   

ภาพมันเป็นเช่่นนั้นจริงๆครับ ทั้งๆที่ห้วยขาแข้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าแม่วงก์เป็นอุทยานแห่งชาติ (ในช่วงเวลาหลัง)   ซึ่งหากตัวผมจะสรุปว่า ป่าขาแข้งเป็นป่าแบบเปิดโล่งกระจาย และป่าแม่วงก์เป็นป่าแบบอัดรวมกันอยู่ ก็น่าจะเป็นภาพที่ไม่ผิดเพี้ยนมากนัก   ครับ..เข้าป่าขาแข้ง ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เห็นภาพความมีชีวิตของผืนป่าทั้งหมดในองค์รวม ต่างกับป่าแม่วงก์ที่ใช้เวลาเพียงสองสามวันก็พอจะเห็นความมีชีวิตของป่าได้แล้ว   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 16, 19:40
ผมเคยเฉียดเข้าไปในพื้นที่ป่าแม่วงก์ในระยะหลัง ได้เห็นภาพความชุ่มชื้นของป่าเปลี่ยนไปมากๆ เปรียบได้ดังผมของคนๆหนึ่งที่เคยดกดำ ต่อมาเกิดผมร่วงจนเห็นได้ชัด  สิงสาราสัตว์คงจะหายไปเยอะและมีน้อยลงไปจนกลายเป็นผืนป่าที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป   ป่านี้เป็นบ้านที่สำคัญของพวกนกหัวโตทั้งหลาย (นกกก นกแกง ฯลฯ)  ผมเดินป่ามามากก็ไม่เคยเห็นนกเหล่านี้ชุกชุมมากเท่าที่พบในป่านี้ รวมทั้งเสือ หมี ค่าง ชะนี พวกสัตว์ที่ใช้กรงเล็บตะปบ (เสือปลา เสือไฟ ฯลฯ) นกต่างๆ.....   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 16, 19:58
ด้วยขัอมูลที่เล่ามานี้ อาจจะมีหลายท่านเห็นว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์น่าจะมีผลกระทบในทางลบเป็นอย่างยิ่ง   มันก็มีในอีกมุมหนึ่งเหมือนกันว่า หากแต่ก่อนนั้นเป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นสมบูรณ์ได้ขนาดนั้น แต่สภาพลดลงจนอยู่ในสภาพดังเห็นในปัจจุบัน    หากมีแหล่งน้ำช่วยเติมน้ำเข้าไปในระบบของธรรมชาติ (replenish) มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้   หลักการอนุรักษ์ก็มิใช่มีแต่เรื่องของ protection เท่านั้น มันก็มีมาตรการอื่นๆอีกเช่น  restoration, integration, etc.     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 เม.ย. 16, 19:18
ผมมีโอกาสผ่านเข้าไปห้วยขาแข้งอีกครั้งหนึ่ง หลังจาก 20 ปีผ่านไป     บ.ไก่เกียง ได้ถูกย้ายลึกเข้าไปในห้วยแถวจุดสูงสุดของระดับกักเก็บน้ำของเขื่องเจ้าเณร   บ.เกริงไกร ก็ย้ายลึกเข้าไปอีกหน่อย เพื่อรักษาความรู้สึกทาง isolation ของผู้คนของทั้งสองหมู่บ้าน   บ.องก์ทั่ง หายไป เหลือเป็นแพอยู่สองสามหลัง  ควาญช้างของผมคนหนึ่งไปเป็น ผญบ.นาสวน

เจ้าของบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ที่ปากลำห้วย ก็เปลี่ยนมาอยู่บนเรือนแพ เปลี่ยนอาชีพมาเป็นทำท่าปลา รับซื้อปลาที่เรียกว่า ไอ้ตือ ที่ชาวบ้านตกเบ็ดได้ รวบรวมขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อต่อ 

ไอ้ตือ คือปลาอะไรครับ ?   ก็คือปลากรายนั่นเอง ตัวยาวประมาณ 1 เมตร  จับได้ด้วยวิธีการตกเบ็ด (เท่านั้น ?)   สาเหตุที่ต้องใช้วิธีตกเบ็ดก็เพราะว่า มันอาศัยอยู่ตามขอนไม้/ตอไม้ที่จมอยู่ใต้น้ำ  ตกได้ไม่ง่ายนักและก็ไม่ยากจนเกินไป    พื้นที่อยู่อาศัยปลากรายที่เป็นแหล่งสำคัญก็คือพื้นที่ขอบอ่างเก็บน้ำที่เป็นบริเวณน้ำไหลเข้าอ่างนั่นเอง 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 เม.ย. 16, 19:39
ปลาในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนในพื้นที่ๆเป็นผืนน้ำกว้างที่ชาวบ้านนิยมจับกันก็คือ ปลาตากลับ ก็ที่เห็นตากอยู่ตามแพของชาวบ้านต่างๆนั้นแหละ  ตัวขนาดประมาณฝ่ามือเท่านั้น   ตำแหน่งของตาทั้งสองข้างของปลาตากลับก็คล้ายๆกับของปลาตาเดียวนั่นเอง   

ส่วนปลาที่เรามักได้ยินกล่าวถึงกันตามแพนักท่องเที่ยวต่างๆนั้นเป็น ปลาชะโด     ในปัจจุบันนี้ ปลาชะโดกำลังแย่งปลาช่อนขึ้นโต๊ะอาหารต่างๆ ที่เราเห็นตากแห้ง เผา นึ่ง และที่ทำสดส่งออกทั้งหลายนั้น จะว่าไปแล้วเกือบทั้งหมดเป็นปลาชะโดทั้งนั้น   หากประสงค์จะพบความแตกต่างของรสเนื้อปลาช่อนจริงๆ เห็นทีจะต้องเข้าตลาดซื้อเอามาทำเอง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 16, 18:09
เข้าไปเยี่ยมเยียนขาแข้งครั้งนี้ ได้นอนอยู่บนเรือนแพของเจ้าของบ้านที่เคยอยู่ปากลำ นอนอยู่คืนหนึ่ง ตกบ่ายแก่ๆก็ได้มีโอกาสตั้งวงสนทนาถึงเรื่องเก่าๆและที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ได้รู้ว่าหลายคนเสียชีวิตไป หลายคนย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น

พอมืดลงก็มีกะเหรี่ยงคนหนึ่งมาเข้าร่วมวงด้วย หน้าตาคุ้นๆ เขาก็บอกว่าเขาเป็นใครและยังบอกว่าผมเคยจ้างเขาเป็นคนงาน ผมก็เลยถึงบางอ้อ นึกออก แล้วก็ถามถึงเรื่องราวของเขา  ได้ความว่าหลังจากที่ผมไม่ได้จ้างต่อ เขาก็ได้เข้าไปเข้าเป็นพวก ผกค. ไปเป็นถึงระดับหัวหน้าหน่วยจรยุทธหน่วยเล็กๆหน่วยหนึ่งทีเดียว หน่วยของเขาได้พบเห็นตัวผมและคณะอยู่บ่อยๆ ก็ซุ่มดูอยู่    มีอยู่ 2-3 ครั้งที่ผมเกือบจะถูกลูกทีมของเขาซิวเอา ซึ่งเขาได้ห้ามปรามไว้ ผมก็เลยรอด

นึกดูแล้วเรานี่ก็โชคดีชะมัดเลยทีเดียว รอดมาได้แม้ว่าจะทำงานอยู่ในพื้นที่ในสภาพที่มีคนและปืนจ้องมองอยู่ตลอดเวลา   ถามกะเหรี่ยงคนนั้นถึงเหตุผลที่ไม่ทำอะไรผมและคณะ ทั้งๆที่เป็นหน่วยราชการ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 16, 18:43
ได้ความว่า ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมจ้างช้างบรรทุกสัมภาระ 2 ตัวจาก บ.นาสวน     เป็นเวลาประมาณเดือนหนึ่งที่ช้างและควาญช้างไม่ได้กลับบ้านเลย ก็เป็นที่โจษจันกันทั่วป่าขาแข้ง บ.นาสวน และหมู่บ้านอื่นๆนอกห้วยขาแข้ง ว่าควาญช้างทั้ง 2 คนถูกผมฆ่าตายไปแล้ว และช้างก็ถูกเอาไปแล้วด้วย    พวกผมและควาญช้างไม่มีใครทราบเรื่องโจษจันนี้เลย ชาวกะเหรี่ยงเองในห้วยก็ไม่เล่าอะไรให้ฟัง 

ครับ..คนในพื้นที่เขายังไม่เชื่อในสิ่งที่ผมบอกกล่าวและยังไม่ไว้ใจผม    ยังเข้าใจว่าผมเป็นพวกนายทุน เข้าป่ามาเพื่อหาและจับจองแหล่งแร่ และไล่จับจองและฮุบที่ชาวบ้าน  รวมทั้งอาจจะเป็นพวกทหารหรือตำรวจปลอมตัวเข้ามาหาข่าว  แม้กระทั่งว่าเป็นหน่วยสรรพสามิตมาจับเหล้าเถื่อน หรือเป็น จนท.ป่าไม้ มาตรวจจับไม้  ก็คงจะพอเห็นเห็นภาพของ sensitivity ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดมวลชนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐได้ง่ายๆนะครับ     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 16, 19:48
ด้วยที่ผมพอจะรู้อยู่บ้างจากสัมผัสและประสบการณ์ตั้งแต่ปี '11 แถวตาก ปี '12 แถวเขตต่อสุโขทัย แพร่ อุตรดิตถ์ ปี '13 แถวกำแพงเพชร และที่อื่นๆ ฯลฯ     ผมจึงต้องทำในสิ่งที่ไม่สื่อความหมายไปในมโนภาพของหน่วยที่ใช้อำนาจ (ด้วยก็ใช้รถแลนด์โรเวอร์สีเขียวเช่นเดียวกันกับส่วนราชการอื่นๆ)   ต้องทำก็เพื่อให้ผมและคนในคณะปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินแบบถาวรตลอดไป     

ถ้าท่านเคยเจอชาวบ้านวิ่งหนีเมื่อเห็นเรา เคยถูกปืนยิงไล่เมื่อเดินเข้าใกล้ เคยเจอชาวบ้านทิ้งของแล้ววิ่งหนี ฯลฯ   ก็คงนึกออกนะครับว่าเราจะควรจะเริ่มต้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่การเข้าให้ถึงตัวจนสามารถพูดคุยกันได้ ต่อไปถึงการจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันให้เกิดขึ้น (อย่างไร)   และก็จะต้องให้เกิดขึ้นในระดับที่มั่นใจว่าพอจะถาวร ได้ในช่วงระยะเวลาที่น้อยที่สุด     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 16, 20:05
ในครั้งนั้น ผมทำอยู่ไม่กี่เรื่อง เป็นการทำด้วยใจ และก็ไม่คิดด้วยว่ามันจะส่งผลระยะยาวและกระจายไปในอีกหลายพื้นที่ 

ครับ.. ติดดิน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เอาเปรียบ พูดจริง ซื่อตรง คงเส้นคงวา   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 16, 18:32
ติดดิน ก็คือ กินอยู่หลับนอนไม่ต่างไปจากเขาราวฟ้ากับดิน    เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำได้หลากหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการแบ่งปันปัจจัยสี่    ไม่เอาเปรียบ พูดจริง ซื่อตรง และคงเส้นคงวานั้น  แสดงด้วยการกระทำให้ประจักษ์ในทุกเรื่อง ไม่มีการยกมาพูดสาธยายโน้มน้าวใดๆ

ก็คือการเป็นฝ่ายให้ โดยไม่คิดในเรื่องของความคุ้มค่า หรือกำไร-ขาดทุน


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 16, 19:27
การรอดพ้นจากอันตรายในการเดินทำงานในห้วยขาแข้งของผมนั้น มาจากขวดน้ำพลาสติก 2 ขวด (ขวดเก็บตัวอย่างน้ำสำหรับการวิเคราะห์ทาง Geochemistry) ที่ผมให้กับควาญช้าง 2 คนที่เดินกลับไปเยี่ยมบ้านและครอบครัวที่ บ.นาสวน   ควาญช้างของผมได้เล่าเรื่องราวการทำงานของผมและของแจกที่ได้รับ จนชาวบ้านเลิกคิดในทางไม่ดีกับผมและคณะ  และจนทำให้กำนันย่องเบอะเลิกระแวงผม (ย่องเบอะเป็นกำนันชื่อดังในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นนักเลงและเรื่องของช้าง ไม่ใช่นักล่าช้างนะครับ เป็นเรื่องของการจัดการเกี่ยวกับการจัดหาและควบคุมการว่าจ้างช้างเพื่อทำงานในเรื่องต่างๆ)     


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 16, 19:53
และก็ด้วยจากเหตุการเล่าเรื่องของควาญช้างทั้งสองคนนี้แหละ ผมก็เลยต้องไว้หนวดเป็นการถาวรมาจนทุกวันนี้

เหตุที่ผมไม่โกนหนวดและปล่อยให้หนวดครึ้ม โดยพื้นฐานก็เพราะว่าไม่มีกระจกส่องสำหรับการโกนหนวดและมีตุ่มสิว   เมื่อควาญช้างไปเล่าเรื่องและบรรยายหน้าตาของผมและว่ามีหนวด  ผมก็เลยต้องไว้หนวดตลอดการทำงาน เพื่อให้เป็นที่สังเกตของชาวบ้านทั้งหลาย    และเพื่อที่จะให้เป็นภาพที่ครบถ้วนที่สามารถจำได้แต่ไกล  ผมก็จึงต้องใส่หมวกสักหลาดของพ่อเสมอ (รุ่นสมัยมาลานำไทย) ซึ่งผมได้ใช้ใส่ตลอดช่วงของการทำงานก่อนที่ควาญช้างทั้งสองจะกลับไปเยี่ยมบ้าน   

สำหรับชื่อของผมนั้น ไม่มีผู้ใดรู้จักหรือจำได้  ชาวบ้านจะรู้จักผมในชื่อเรียกขานว่า นายช่างหนวด หรือ ช่างหนวด   ก็เพราะคนในคณะสำรวจจะเรียกผมว่า นายช่าง (คำว่านายช่างนี้ เป็นคำที่คนในคณะทำงานสำรวจนิยมใช้เรียกขานหัวหน้าหน่วยสำรวจคณะต่างๆ) ชื่อของผมก็แถมคำว่าหนวดไปอีกคำหนึ่งเท่านั้นเอง   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 16, 18:24
ฤดูสำรวจปีถัดไป   ผมก็ย้ายไปทำงานรับผิดชอบสำรวจทำแผนที่ธรณีฯมาตราส่วน 1:250,000 ระวางเย และ ระวางทวาย ก็พื้นที่ทางตะวันตกคลุมแม่น้ำแควใหญ่ แควน้อย จรดชายแดนไทย-พม่า ทั้งหมดตั้งแต่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ลงมาถึงด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี    ซึ่งได้ใช้รถแลนด์ฯสีฟ้าเข้ม จนกระทั่งหลังจากเหตุการณ์เครื่องเฮลิคอปเตอร์ล่าสัตว์ตก  จนทำให้มีความเข้มงวดในการเข้าพื้นที่เขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  ซึ่งยังผลให้มีการเข้ามาขยายอิทธิพลของ ผกค.ยึดพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่   ขยายและผนวกเขตอิทธิพลจนภายหลังกลายเป็นเป็นป่าผืนใหญ่ที่เกือบจะถูกปิดตาย  (ป่าพบพระ ป่าแม่วงก์ ป่าขาแข้ง ป่าทุ่งใหญ่)

เอกลักษณ์ประจำตัวของผม คือ หนวดและหมวก ก็ยังใช้เป็นใบเบิกทางในการเข้าทำงานในพื้นที่ได้ดีอยู่   ปีถัดไปผมก็ไปเรียนต่อ หายไป 2 ปี  เมื่อกลับมาก็ยังได้รับมอบหมายในรับผิดชอบสำรวจต่อในพื้นที่ของแผนที่ 2 ระวางดังกล่าว  คราวนี้หนักเลยครับ ผืนป่าดังกล่าวเกือบจะถูกปิดตายโดยสิ้นเชิง    เว้นวันบ้าง ทุกสัปดาห์บ้าง จะมีคนเข้ามาเยี่ยมคุยด้วยถึงที่พักแรม (สายหาข่าวทั้งนั้นแหละครับ) แม้กระทั่งในเมือง


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 16, 18:54
ผมได้ใช้รถแลนด์คันใหม่ สีเขียว  คราวนี้ผมเริ่มคิดมาก  สีรถและลักษณะรถไปเหมือนกับหน่วยราชการอื่นที่ชาวบ้านเขาระแวงกัน  เหตุการณ์ด้านการต่อสู้ในทุกพื้นที่ก็แรงและเข้มข้นมากขึ้น  ผมก็หาทางออกโดยการแต่งรถให้แปลกออกไป เพิ่มไฟ spotlight ที่หน้ารถ  ผมแต่งตัวด้วยเสื้อสีเด่นเห็นได้ชัด ใช้หมวกใบเดิม แล้วก็ไว้หนวดเหมือนเดิม  ที่เอวไม่คาดผ้าขะม้า แสดงตนเป็น Mr.Clean ไม่พกและไม่มีอาวุธใดๆ (แต่ผู้ช่วยคู่หูของผมพกเห็บเอว ในรถก็มีปืนที่เหน็บไว้สำหรับคนขับรถคู่หูของผม)    ครับ ทำตัวให้อยู่ในสภาพที่เด่นเห็นได้ระยะไกล เป้าผมคนแรก

ครับ..รถที่ผมใช้คันนี้ ได้ใช้ตลอดจนหลังปี '22 หลังปีที่เสียงปืนสงบ   ก็รอดมาตลอด  ช่วงนั้น ฝ่ายเขาก็ส่งข่าวบอกตลอดว่า เข้าใหนได้บ้าง เข้าได้ลึกเพียงใด ที่ใดอาจมีอันตราย ฯลฯ   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 16, 19:24
ใกล้เข้าไปถึงเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองก่อนปี '35 เข้าทุกที  ผมคงจะไม่เล่าขยายความต่อนะครับ 

ก็เป็นภาพที่คงจะมีน้อยคนได้รับรู้เรื่องราวและได้สัมผัสตรง    ภาพและเรื่องราวที่เรารับรู้กันโดยทั่วๆไปนั้นจะเป็นภาพในเขตเมือง ส่วนภาพความเคลื่อนไหวในชนบทและในพื้นที่ป่าเขานั้นไม่ค่อยจะมีข้อมูลและมีการกล่าวถึงกัน   


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 16, 19:59
ผมคิดว่าเรื่องในกระทู้นี้น่าจะให้ข้อมูลต่างๆได้มากพอสมควร  ซึ่งข้อมูลทั้งหลายนั้น แม้จะไม่สามารถเล่าได้ดังที่ใจและปากอยากจะเล่า ผมก็ว่าน่าจะพอเพียงที่จะวิเคราะห์และพิจารณาได้ว่าอะไรมันเป็นอะไรในอดีตและที่ต่อเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน
 
งานสำรวจของผมในพื้นที่นี้ เป็นงานทางวิชาการที่มีส่วนช่วยในการค้นพบแหล่งพลังงาน และช่วยในการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายด้านพลังงานของประเทศเรา 
 
ก็น่าจะพอเพียงแล้วสำหรับกระทู้นี้นะครับ 


กระทู้: ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 12 เม.ย. 16, 21:33
ขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาเล่าให้ฟังค่ะ รอฟังเรื่องต่อไปอยู่นะคะ  ;D