เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: sally chu ที่ 16 เม.ย. 10, 10:35



กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: sally chu ที่ 16 เม.ย. 10, 10:35
ใครพอจะทราบมั้ยคะ ว่าเจ้าจอมกิมเนียว ในรัชการที่ 5 ที่เป็นหลานของพระยาอนุกูลสยามกิจ (หรือ ตันกิมเจ็ง) นั้น เป็นธิดาของผู้ใด คือ พ่อแม่ ชื่ออะไร  รัชการที่ 5  ทรงมีพระราชหัตถเลขากับพระยาอนุกูลสยามกิจ (หรือ ตันกิมเจ็ง) จำนวนมาก ดูได้จาก ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม (2525) แต่ ณัฐวุฒิ ไม่ได้เขียนถึงลูกหลานของ พระยาอนุกูลสยามกิจ เลย  ขอบคุณค่ะ


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 10, 19:38
ในบรรดาเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕  ไม่มีชื่อเจ้าจอมกิมเนียว     ไม่ทราบว่าท่านมีชื่อภาษาไทยว่าอะไรคะ


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 14:18
รายชื่อเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕  ได้มาจากวิกิ

2 เจ้าจอมมารดาและเจ้าจอม
 
2.1 เจ้าจอมมารดา

2.1.1 เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ)
2.1.2 เจ้าจอมมารดาจันทร์
2.1.3 เจ้าจอมมารดาชุ่ม
2.1.4 เจ้าจอมมารดาแช่ม
2.1.5 เจ้าจอมมารดาโหมด
2.1.6 เจ้าจอมมารดาตลับ
2.1.7 เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกษร ณ เชียงใหม่
2.1.8 เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย อิศรางกูร
2.1.9 เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ
2.1.10 เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เกสร สนิทวงศ์
2.1.11 เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์
2.1.12 เจ้าจอมมารดาทับทิม
2.1.13 เจ้าจอมมารดาเรือน
2.1.14 เจ้าจอมมารดาพร้อม
2.1.15 เจ้าจอมมารดาวง
2.1.16 เจ้าจอมมารดาวาด
2.1.17 เจ้าจอมมารดาเลื่อน
2.1.18 เจ้าจอมมารดาแส
2.1.19 เจ้าจอมมารดาแสง
2.1.20 เจ้าจอมมารดาสุด
2.1.21 เจ้าจอมมารดามรกฎ
2.1.22 เจ้าจอมมารดาเหม
2.1.23 เจ้าจอมมารดาอ่วม
2.1.24 เจ้าจอมมารดาอ่อน บุนนาค

2.2 เจ้าจอม
2.2.1 เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค
2.2.2 เจ้าจอมเอิบ บุนนาค
2.2.3 เจ้าจอมอาบ บุนนาค
2.2.4 เจ้าจอมเอื้อน บุนนาค
2.2.5 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์
2.2.6 เจ้าจอมกลีบ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
2.2.7 เจ้าจอมลิ้นจี่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
2.2.8 เจ้าจอมฟักเหลือง เทพหัสดิน ณ อยุธยา
 
ไม่มีชื่อเจ้าจอมกิมเนียว    ถ้าคุณเจ้าของกระทู้ทราบชื่อไทยก็จะตรวจสอบได้ว่าเป็นเจ้าจอมจริงหรือไม่    ถ้าไม่มีชื่อไทย มีแต่ชื่อจีนว่ากิมเนียว  ก็แปลว่าไม่ได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 เม.ย. 10, 15:22
รายชื่อเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕  ได้มาจากวิกิ

2 เจ้าจอมมารดาและเจ้าจอม
 
2.1 เจ้าจอมมารดา

2.2 เจ้าจอม
2.2.1 เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค
2.2.2 เจ้าจอมเอิบ บุนนาค
2.2.3 เจ้าจอมอาบ บุนนาค
2.2.4 เจ้าจอมเอื้อน บุนนาค
2.2.5 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์
2.2.6 เจ้าจอมกลีบ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
2.2.7 เจ้าจอมลิ้นจี่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
2.2.8 เจ้าจอมฟักเหลือง เทพหัสดิน ณ อยุธยา
 
ไม่มีชื่อเจ้าจอมกิมเนียว    ถ้าคุณเจ้าของกระทู้ทราบชื่อไทยก็จะตรวจสอบได้ว่าเป็นเจ้าจอมจริงหรือไม่    ถ้าไม่มีชื่อไทย มีแต่ชื่อจีนว่ากิมเนียว  ก็แปลว่าไม่ได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕

ในวิกิ ไม่มี

เจ้าจอมเลียม   คนนี้ทำงานฝีมือได้เก่งมาก  ทำบ้านตุ๊กตา  ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร   และเจ้าจอมคนนี้ยังเป็นผู้ทำสมุดเก็บตราต่างๆ  ถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  และต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงนำมาคำอธิบายดวงตราต่างๆ ในสมุดนั้น  และพิมพ์เป็นหนังสือจำหน่ายด้วย  (ถ้าจำไม่ผิด  จะพิมพ์แล้ว  ๒ ครั้ง  ครั้งล่าสุดเมื่อตอนงานพระเมรุนี่เอง)

เจ้าจอมพิศว์  บุนนาค เป็นธิดาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร  บุนนาค) กับท่านผู้หญิงเปลี่ยน  มีความสามารถในด้านการทำอาหารต่างๆ ทั้งไทยและเทศ  ไม่แพ้มารดาท่าน

เจ้าจอมประคอง คนนี้จำไม่ได้ว่า  ท่านเป็นสายสกุลไหนมาก่อน   และมีความสามารถอะไร  เคยแต่เห็นหนังสืองานศพท่าน  พิมพ์เรื่องการประชุม

เจ้าจอมสว่าง   เห็นชื่อจากหนังสืองานศพ พิมพ์หนังสือเรื่อง ทำเนียบข้าราชการนครสรีธัมมราช สมัยรัชกาลที่ 2 พระประวัติสังเขปพระเจ้าขัตติยราชนิคม ประวัติสังเขป เจ้าพระยาสุธัมมนตรีสรีโสกราชวงศ เจ้าพระยานคร (เจ้าน้อย) และเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง นะ นคร) แสดงว่าน่าจะเป็นเชื้อสายสกุล  ณ  นคร

เจ้าจอมสมบูรณ์ เห็นชื่อจากหนังสืองานศพ เรื่องนิทราชาคริต พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 และ กตัญญูกตเวทินตากถา โดย พระกระสินธ์ุ มันประเสริฐ.

๖.เจ้าจอมแก้ว  บุนนาค ธิดาของธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ (เทศ บุนนาค)

๗.เจ้าจอมเพิ่ม หรือท้าวภัณฑสารนุรักษ์  เคยอ่านประวัติจากหนังสืองานศพท่าน
 

วิกิ ยังขาดชื่อเจ้าจอมไปหลายคน  ฉะนั้น  การจะอ้างข้อมูลจากวิกิ  ต้องพินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน ;D


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 15:35
วิกิเป็นข้อมูลที่หาได้ง่ายสุด   เวลาไม่อยากไปค้นหนังสือ  ก็ขออ้างที่นี่ไว้ก่อน
รู้อีกอย่างว่าอ้างวิกิ  ถ้าขาดตกบกพร่อง  เดี๋ยวจะมีชาวเรือนไทยมาเติมให้เองละค่ะ  ไม่คุณหลวงเล็กก็คุณเพ็ญ หรือคุณวันดี คุณศิลา คุณV_Mee คุณม้าฯลฯ
แต่ถ้าไม่ประเดิมตอบเสียก่อน  ก็ไม่ค่อยมีใครเข้ามาตอบ

อย่างกระทู้นี้ คุณคนถามก็รอมาตั้งแต่ 16 เมษา แล้ว


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 21 เม.ย. 10, 19:35
เรียนสมาชิกเรือนไทยทราบ

       ข้าพเจ้าคิดว่าสมาชิกที่เสนอเรื่องเจ้าจอมกิมเนียว คงอ่านข้อมูลมาจากวิทยานิพนธ์ของคุณ พรศิริ บูรณเขตต์ เรื่อง "นางใน: ชีวิตทางสังคมและบทบาทในสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕" ของคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๐ หน้าที่ ๙๐
        จากวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ให้ข้อมูลเพียงว่าท่านเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ห้า ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๙ และบอกว่าเป็นหลานของพระยาอนุกูลกิจ (ตันกิมเจ๋ง) อยู่ในตระกูลแซ่ตัน แต่ข้าพเจ้าสืบประวัติของท่านไปมากกว่านี้ไม่พบเหมือนกัน
        ใครรู้ช่วยตอบด้วย :-\


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 เม.ย. 10, 11:42
ข่าวตาย  

"...กิมเหนียว  หลานพระยาอนุกูลสยามกิจตันกิมเจ๋ง  ป่วยถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ร,ศ,๑๑๕..."

ถ้าเป็นเจ้าจอม  ทำไมไม่มีคำนำหน้าชื่อว่า เจ้าจอม  แต่นี่เอ่ยชื่อเฉยๆ  คงเป็นแต่พนักงานฝ่ายในล่ะกระมัง  อาจจะได้ถวายตัวแล้ว  แต่ยังไม่ได้ถวายงาน
  ??? :(


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 10, 12:34
กำลังสงสัยอย่างเดียวกับคุณหลวงเล็ก
ตั้งสมมุติฐานว่าเจ้าจอมกิมเนียว (หรือกิมเหนียว)มีตัวจริง     แต่ไม่รู้ชื่อไทย  ไม่รู้ว่าพ่อเป็นใคร  และไม่ได้เป็นเจ้าจอมมารดา
หลักฐานอย่างเดียวที่รู้คือตายเมื่อ ร.ศ. ๑๑๕  หรือพ.ศ. ๒๔๔๐
ต้องไปไล่รายชื่อเจ้าจอม ว่าคนไหนตายปีนี้  อาจจะเจอประวัติเข้าบ้างก็ได้ค่ะ

แต่ถ้าไม่เจอ  ก็เป็นได้ ๒ ทาง
- ข้อมูลผิด
- เป็นเจ้าจอมที่ไม่ได้ขึ้นทำเนียบเจ้าจอม   จะด้วยอะไรก็ต้องหากันต่อไป


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 เม.ย. 10, 13:42
กำลังสงสัยอย่างเดียวกับคุณหลวงเล็ก
ตั้งสมมุติฐานว่าเจ้าจอมกิมเนียว (หรือกิมเหนียว)มีตัวจริง     แต่ไม่รู้ชื่อไทย  ไม่รู้ว่าพ่อเป็นใคร  และไม่ได้เป็นเจ้าจอมมารดา
หลักฐานอย่างเดียวที่รู้คือตายเมื่อ ร.ศ. ๑๑๕  หรือพ.ศ. ๒๔๔๐
ต้องไปไล่รายชื่อเจ้าจอม ว่าคนไหนตายปีนี้  อาจจะเจอประวัติเข้าบ้างก็ได้ค่ะ

แต่ถ้าไม่เจอ  ก็เป็นได้ ๒ ทาง
- ข้อมูลผิด
- เป็นเจ้าจอมที่ไม่ได้ขึ้นทำเนียบเจ้าจอม   จะด้วยอะไรก็ต้องหากันต่อไป

ข้อมูลที่เอามาลง  ผมคัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓ ปี ร,ศ,๑๑๕ (๒๔๓๙ นับอย่างเก่า )หน้า ๕๐๐
ฉะนั้นข้อมูลเชื่อถือได้  มีชื่อนี้ มีตัวคนแน่นอน  เพราะมีข้อความขยายว่า "หลานพระยาอนุกูลสยามกิจตันกิมเจ๋ง"  ย่อมเป็นใครอื่นไม่ได้
ส่วนที่ไม่มีข้อมูลบิดามารดา   สันนิษฐาน (เป็นคำที่ดูดีกว่าคำว่าเดา) ว่า  คงเป็นเพราะบิดามารดาของกิมเหนียวไม่ได้รับราชการ หรือไม่มียศตำแหน่งทางไทย  ประการหนึ่ง  กับ  อาจจะเป็นเพราะพระยาอนุกูลสยามกิจตันกิมเจ๋งเป็นผู้นำกิมเหนียวมาเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวทำราชการ   จึงได้ระบุว่าเป็นหลานพระยาอนุกูลสยามกิจ  ส่วนจะเป็นหลานฝ่ายไหนนั้นไม่มีข้อมูลขณะนี้

เจ้าจอมที่ถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนี้ ก็มีเหมือนกัน  ซึ่งก็ระบุว่า เป็นเจ้าจอม   แต่กิมเหนียวนี้คงเป็นแต่พนักงานฝ่ายใน  ที่อาจจะยังไม่ได้ถวายงานจนได้เลื่อนเป็นเจ้าจอมก็เป็นได้


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 10, 13:50
เจ้าจอมที่มีประวัติว่าถึงแก่กรรมปีเดียวกันนี้ คือเจ้าจอมคนไหนคะ
จะเป็นคนเดียวกันได้ไหม   ถ้าหากว่าเจ้าจอมกิมเหนียวมีชื่อไทย

คุณหลวงเล็กคงจะคุ้นกับราชกิจจาฯ    ดิฉันก็ไม่เคยสังเกตว่าราชกิจจาฯ  มีหลักการอย่างใดในการลงเรื่องมรณกรรมของบุคคล
ขอถามว่า  การที่ลงบันทึกเรื่องกิมเหนียวถึงแก่กรรม    ถือได้ไหมว่าเธอมีความสำคัญกว่าพนักงานธรรมดา
หรือว่าพนักงานข้าราชการธรรมดาๆในวัง คนไหน ถึงแก่กรรม ก็อาจบันทึกในราชกิจจาฯได้เหมือนกัน


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Ann ที่ 02 พ.ค. 10, 12:28
ขอบคุณมากๆเลยค่ะสำหรับกระทู้นี้ พอดีรู้จักกับญาติเจ้าจอมกิมเนียวที่สิงคโปร์  แต่ไม่ทราบประวัติเลย  เขาอยากทราบเหมือนกันว่าเป็นลูกใคร  เขามีป้ายที่คนจีนสลักตอนเสียชีวิต  มีชื่อลูกหลาน  ญาติฝ่ายสิงคโปร์ซึ่งเป็นลูกหลานของ Tan Tock Seng บิดาของ Tan Kim Cheng หรือพระยาอนุกูลสยามกิจ มีงานรวมญาติกันทุก 2 ปี เป็นครอบครัวใหญ่ เจ้าของโรงพยาบาล Tan Tock Seng มีชื่อถนนนี้ด้วยถ้าใครเคยไปสิงคโปร์จะเห็น  เขารู้แต่ว่า Tan Kim Cheng ได้ถวายหลานสาวคนหนึ่งเป็นเจ้าจอม  และหนังสือ นางใน ของ พรศิริ บูรณเขตต์ ก็ระบุชื่อ เจ้าจอมกิมเนียว  ไม่ทราบว่าได้ชื่อนี้มาจากที่ใด  แต่กิมเนียวคงไม่สำคัญนัก เพราะไม่ได้เป็นเจ้าจอมมารดา และเสียชีวิตเร็ว เลยไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: sally chu ที่ 02 พ.ค. 10, 16:18
ขอบคุณมากๆ สำหรับทุกคำตอบนะคะ  ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหนังสือภาษาอังกฤษ เขียนโดย  Jeffrey Finestone เรื่อง "The Royal Family of Thailand -- The Descendants of King Chulalongkorn" ระบุว่าหลานสาวของ Tan Kim Cheng ชื่อ Chao Chom Kim-niao เป็นเจ้าจอมลำดับที่ 116 จากพระมเหสี และเจ้าจอมทั้งหมด 153 ท่าน  ขอคำแนะนำด้วยค่ะว่าควรจะไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าจอมกิมเนียวต่อที่ไหน


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 พ.ค. 10, 15:25
เจ้าจอมที่มีประวัติว่าถึงแก่กรรมปีเดียวกันนี้ คือเจ้าจอมคนไหนคะ
จะเป็นคนเดียวกันได้ไหม   ถ้าหากว่าเจ้าจอมกิมเหนียวมีชื่อไทย

คุณหลวงเล็กคงจะคุ้นกับราชกิจจาฯ    ดิฉันก็ไม่เคยสังเกตว่าราชกิจจาฯ  มีหลักการอย่างใดในการลงเรื่องมรณกรรมของบุคคล
ขอถามว่า  การที่ลงบันทึกเรื่องกิมเหนียวถึงแก่กรรม    ถือได้ไหมว่าเธอมีความสำคัญกว่าพนักงานธรรมดา
หรือว่าพนักงานข้าราชการธรรมดาๆในวัง คนไหน ถึงแก่กรรม ก็อาจบันทึกในราชกิจจาฯได้เหมือนกัน

เจ้าจอมมารดาที่ถึงอนิจกรรมปีเดียวกับกิมเหนียว หลานของพระยาอนุกูลสยามกิจ(ตันกิมเจ๋ง)  คือ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย  อิศรางกูร พระมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาคย์  เจ้าจอมมารดาย้อย  ป่วยเป็นอหิวาตกโรค  ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๑๙ เมษายน ร,ศ, ๑๑๕


เท่าที่ได้สำรวจดู  ในปี ร,ศ,๑๑๕  มีฝ่ายในที่วายชนม์   ดังนี้  ท้าวภู่  เถ้าแก่,  เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย  ,   น้อย  พนักงานมโหรีในรัชกาลที่ ๔,  ขลิบ  เถ้าแก่พนักงานหอพระอัฐิ,  นวน  พนักงานเฝ้าพระพุทธรัตนสถาน,  หม่อมหลวงจั่น   พนักงานพระสุทธารศ,  ทับ  เถ้าแก่ในพระบรมมหาราชวัง,  กิมเหนียว  หลานพระยาอนุกูลสยามกิจ (ตันกิมเจ๋ง),  ท้าวสัตยานุรักษ (กลีบ)  ฝ่ายพระราชวังบวร     และ  อิ่ม   พนักงานห้องนมัสการในพระบรมมหาราชวัง 

และถ้าดูไปถึงปีก่อนหน้ากับปีถัดไป 

ปี ร,ศ, ๑๑๔  ฝ่ายในที่วายชนม์ มี   ส่าน  จอมมารดาในพระบวรราชวัง,   แจ่ม  ในกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์,   อิ่ม  หลวงแม่เจ้า,  เจ้าจอมฟักเหลือง  บุตรีพระยาไชยสุรินทร์ (เจียม)   และ   จัน  เถ้าแก่ในพระบรมมหาราชวัง

ปี ร,ศ, ๑๑๖  ฝ่ายในที่วายชนม์  มี อิน ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์  (หม่อมอินซอ  มารดาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์) ,  หม่อมอบเชย  มารดาในพระสัมพันธวงศ์เธอ  กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์,   ผอบ  พนักงานถือลูกกุญแจ   และ  ปราง    ภรรยาพระพิเรนทรเทพ   

กิมเหนียว  อาจจะเป็นคุณพนักงานที่เฝ้าฯ ถวายตัวแล้วแต่ยังไม่ได้ถวายงาน


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 10, 15:47
ขอบคุณคุณหลวงเล็ก   ในความอุตสาหะ  ไปหารายชื่อผู้ถึงแก่กรรมมาให้ยาวเหยียดทีเดียวค่ะ
ตัดข้อสงสัยไปได้ว่าคุณกิมเหนียว เป็นเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดาท่านใดท่านหนึ่ง   ดูๆแล้วผู้ที่ถึงแก่กรรมปีเดียวกัน ไม่มีท่าทีว่าเป็นคนเดียวกันได้เลย

นอกสังเกตว่า ผู้ถึงแก่กรรมแต่ละคน มีคำบรรยายสถานภาพของเจ้าตัวประกอบไว้ด้วย   ใครทำหน้าที่อะไรในวังหลวง ก็มีคำประกอบ  เป็นพนักงานชั้นผู้ใหญ่( คุณเถ้าแก่)หรือผู้น้อย(พนักงานเฝ้าหอพระ) ก็บอกไว้ ไม่เว้น   
เป็นหม่อมของเจ้านายองค์ไหน ก็บอกสถานภาพไว้ชัดเจน

มาถึงคุณกิมเหนียว มีสถานภาพเดียวคือหลานสาวพระยาอนุกูลฯ ไม่มีตำแหน่งอื่น  ทำให้คิดว่า
- ไม่มีตำแหน่งเป็นพนักงานหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง 
- ไม่ใช่เจ้าจอม หรือจอมมารดา
- อยู่ในวัง
ถ้าจะเดา ก็เดาว่ากิมเหนียวคงถูกส่งตัวเข้ามาในวัง    เพื่อจะถวายเป็นเจ้าจอม  เมื่อถึงโอกาสอันควร
แต่ยังไม่ทันจะมีตำแหน่งใดๆ  และไม่ทันถวายตัว   เธอก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน
ญาติพี่น้องคงรู้กันแต่ว่าเธอถูกส่งเข้าวังเพื่อถวายตัว   ก็เลยนับเธอเป็นเจ้าจอม




กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 พ.ค. 10, 06:07
จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย  ของคุณ เจฟฟรี่ ไฟน์สโตน
จัดเป็นหนังสือหายากเล่มหนึ่งในวงการหนังสือ


ที่ว่าหายาก คือ  ร้านหนังสือไม่มีหนังสือมาขาย
เจ้าของอ่านแล้วเก็บไว้อ่านและดูรูป  ไม่ปล่อย หรือไม่ขาย

ราคาหนังสือสูงขึ้นเรื่อยๆในงานหนังสือ



หนังสือพิมพ์ครั้งแรกในพ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อวางแสดงนั้นเป็นที่ฮือฮามาก
ดิฉันเห็นแล้วก็ชอบมากเหมือนกัน  รูปเจ้านายนั้นก็แปลกตาหลายรูป 
ในเวลาไม่กี่ปีหนังสือฉบับนี้ก็ไม่มีวางแสดงเสียแล้ว

ไม่มีผู้ใดทราบจำนวนพิมพ์ของหนังสือเล่มนี้ เพราะในเล่มไม่มีบอกไว้

หนังสือมีขนาด ๒๐๙  x  ๒๘๕ มม
หนา ๖๘๘ หน้า
ภาพประกอบ  ๕๒๔  หน้า




กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 พ.ค. 10, 06:47
บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา   พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๕๓๑
ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม   ๒๔๖๘
จดหมายเหตุตั้งพระบรมวงศานุวงศ์   ๒๔๖๘
เฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม ๑ และ เล่ม ๒  ๒๔๗๒ และ ๒๔๗๔
กฎมณเฑียรบาล

ธรรมเนียมราชสกุลในสยาม
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕
จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
ราชสกุลวงศ์
พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕

รายพระนามพระราชนัดดา ฯ  ม.ร.ว. ตาบทิพย์  จามรมาน ๒๕๒๙
อักขรานุกรมนามสกุลพระราชทาน
บัญชีตัดจุก
พระบรมราชจักรีวงศ์ รวบรวมโดย ม.ร.ว. ตาบทิพย์ จามรมาน ๒๕๓๐


จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะที่ได้มีการพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพทั้งหมด

หนังสือที่ระลึกงานพระศพหรืองานศพรวมทั้งหนังสือลำดับราชสกุลเป็นจำนวนมากซึ่งไม่สามารถระบุได้ทั้งหมด




กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 พ.ค. 10, 07:11
หน้า ๗๗ - ๙๓   เป็นเรื่อง พระอัครมเหสี  พระมเหสี  เจ้าจอมมารดา  และเจ้าจอม ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


อ้อ  หนังสือเล่มนี้ มีภาษาอังกฤษ ควบกับภาษาไทยค่ะ  ไม่ใช่ภาษาอังกฤษล้วน ๆ



เรื่องของเจ้าจอมมารดาเริ่มตั้งแต่หน้า ๘๑       เป็นรายการที่สมบูรณ์

เริ่มจากเจ้าจอมมารดาแข  มีวันที่ของการถวายตัวรับราชการฝ่ายในด้วย
ต่อมาด้วยเจ้าจอมมารดาแพ
เจ้าจอมมารดาแสง
เจ้าจอมมารดาสุด  และต่อไป



เป็นเรื่องที่น่าอ่านเป็นที่สุด

การทำงานใหญ่และละเอียดถึงปานนี้  คงมีบางรายการที่นักอ่านไม่เข้าใจอยู่บ้าง

มีท่านผู้รู้เปรยว่า ไปดูบัญชีเบี้ยหวัดเจ้าจอมซิ


มาถึงจุดนี้ก็สิ้นความรู้ของดิฉัน




กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: sally chu ที่ 05 พ.ค. 10, 15:29
บัญชีเบี้ยหวัดเจ้าจอม หาได้ที่ไหนคะ


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: squareback ที่ 14 พ.ค. 10, 06:29
จำนวนเจ้าจอมทั้งหมด คงหาให้ได้ครบยากมาก อาจเพราะไม่ได้ทำบันทึกรายชื่อโดยละเอียดไว้ ที่เห็นชื่อในวิกิหรือหนังสือรวบรวมจะเป็นเจ้าจอมมารดา หรือเจ้าจอมที่มีชีวิตยืนยาว เคยอ่านจดหมายเหตุ อย่างจดหมายเหตุสยามไสมย หรือพระราชหัตถเลขา พบชื่อเจ้าจอมที่ไม่เคยได้ยินชื่ออยู่หลายคน อ่านใน "ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ" ก็มีเขียนว่าหมอสมิธได้ถามพระพันปีหลวงว่าภรรยาพระพุทธเจ้าหลวงมีจำนวนทั้งหมดกี่คน ได้รับคำตอบว่าไม่ทรงทราบเหมือนกันว่ามีทั้งหมดกี่คน

ถ้าสนใจหนังสือของ Jeffrey Finestone มีอีก1เล่มที่น่าสนใจ "สมุดพระรูป : พระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) = Royal album : the children and grandchildren of King Mongkut (Rama IV) of Siam "
แต่ไว้ดูรูปและรายชื่อให้ได้ความรู้ นำไปอ้างอิงหรืออ่านประวัติจริงจังคงลำบาก เพราะข้อมูลผิดเยอะมาก พวกพ.ศ. ชื่อ รูป ไม่ค่อยตรง และน่าเสียดายที่นายเจฟฟรีเสียชีวิตไปแล้วไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไขนำมาพิมพ์เพิ่มอีกรึเปล่า

ทั้งสองเล่มนี้มีให้ยืมอ่านที่หอสมุดกลางจุฬานะคะ  :-[


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 พ.ค. 10, 11:43

สวัสดีค่ะ คุณ squareback     ขอต้อนรับด้วยความยินดี


ขออนุญาตเสนอข้อมูล


เรื่องรูปและชื่อไม่ตรงกันนั้น เห็นด้วยค่ะ   แต่ขอเรียนในฐานะของนักอ่านว่า  พระรูปคมชัดมาก  การจัดพิมพ์ใหม่คงจะไม่ทำได้ง่าย
เพราะยังมีหนังสือเหลือจำหน่ายอยู่บ้าง ในราคาเดิม คือ สองพันบาท



หนังสือเล่มสี่เหลี่ยมของเจฟฟรี่นั้น  ในเวลานี้  ถือว่าเป็นหนังสืออ้างอิงที่ดีที่สุดค่ะ  หมดไปนานแล้ว


ราคาหนังสือในงานหนังสือทุกครั้ง   วางในร้านหนังสือเก่า     ราคาขึ้นฮวบ ๆ  และไม่มีจำหน่ายมากนัก
้เวลานี้ราคาบอกหน้าร้านคือ    ๒๕,๐๐๐  บาทค่ะ  และมีแสดงเพียงเล่มเดียว

ประมาณปีหรือสองปีที่ผ่านมา ราคาเพียง ๑๒,๐๐๐ บาท


ผู้ที่หาหนังสือเก่ง ๆ  และเดินในสวนจตุจักรเคยหาได้มาแล้วในราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทเมื่อปีที่ผ่านมา
เขาหาได้แล้วโทรมาแจ้ง  ก็ยินดีด้วย


ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีความต้องการสูง     ผู้ที่ครอบครองไม่ประสงค์จะจำหน่ายถ่ายเท


ถ้าหนังสือ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ ยังมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างก็เป็นธรรมดา
แต่จะหาเล่มไหนเพียงหนึ่งเล่มมาแทนที่ได้  กรุณาแนะนำด้วย


เห็นชื่อบรรณาธิการภาคภาษาไทยแล้วก็นับถือในความรู้ความชำนาญ
ยากจะมีใครเทียม หรือ ยืนใกล้ได้


เรื่องราวละเอียดหนึ่งราย    ทราบกันมาว่าท่านไม่เคยเป็นเจ้าจอม  แต่มีบันทึกว่า กราบถวายบังคมลาออกจากฝ่ายใน
เรื่องนี้อ่านแล้วก็ผ่านไปได้    เพราะท่านเป็นคุณพนักงานที่โปรดปรานมากอยู่
(หน้า ๘๙)


จดหมายเหตุสยามไสมยทั้ง สี่เล่มนั้น เอ่ยถึงเจ้่าจอมหรือ เจ้าจอมมารดาน้อยแห่งมากนะคะ

เล่ม สอง    หน้า ๑๕๙  มี เจ่าจอมมารดาเอม         เจ้าจอมมารดาจัน

เจ้าจอมมารดาภู ไม่นับนะคะ เพราะเป็นเจ้าจอมในกรมพระบวรราชวังสถาน

เล่มสาม   หน้า ๓๒๘             ก็ เอ่ยถึงบ่าวของเจ้าจอมมารดาดวงคำว่าได้ช่วยเด็กโดนโจรกรรม



เรื่องราวเก่าแก่ของเรานั้น  ต้องการผุ้ศึกษาและชำระแก้ไข       แค่รวบรวมรายชื่อขุนนางยังทำได้ยากมาก
รายชื่อหนังสือของนักประพันธ์บางท่านก็ยังไม่ครบ            หนังสือรายสัปดาห์ที่บอกกันมาว่าดี  ก็ยังไม่เคยเห็น

ท่านที่สนใจเมื่อแวะมา  แล้วขัดใจ  ว่า ไม่มีคนตอบ  กรุณาเข้าใจด้วยค่ะว่าพวกเราชอบคุยมาก  แต่เมื่อมีข้อมูลเท่านั้น
และเราตรวจสอบกันเองเสมอค่ะ



กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ค. 10, 13:02
ไปค้นได้เอกสารเรื่อง " แจ้งความสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม"  ในราชกิจจาฯ เล่ม ๑๐ ร,ศ, ๑๑๒ มีข้อมูลเกี่ยวกับรายนามเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ (โปรดสังเกตว่ามีชื่อเจ้าจอมบางคนที่ไม่ค่อยคุ้นชื่อหลายชื่อเหมือนกัน) ดังนี้


บาญชีผู้ลงนามเปนผู้อุดหนุนทำบุยให้แก่สภานี้ประจำปี  ซึ่งจะจัดเปนสามัญคณาภยันตรีสืบไป  เรียงตามวันรับ  คือ...
เจ้าจอมประคอง  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐  บาท
เจ้าจอมบ๋วย       ในพระบรมมหาราชวัง      ๒๐  บาท
เจ้าจอมถนอม     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐  บาท
เจ้าจอมเยื้อน      อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐  บาท
เจ้าจอมเน้ย        อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมถนอม     อยู่พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า  ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๘ บาท (คงจะเป็นคนละคนกับเจ้าจอมถนอมคนก่อน)
เจ้าจอมทรัพย์     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมเง็ก        อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
...................

ผู้ลงนามตามใบเรี่ยราย  เปนพวกผู้อุดหนุนทำบุญให้ทุนทรัพย์แก่สภานี้  ซึ่งจะจัดเปนสามัญคณาภยันตรีสืบไป  เรียงตามวันรับ ...
เจ้าจอมมารดาเรือน   อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐๐  บาท
เจ้าจอมเอิบ             อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐๐  บาท
เจ้าจอมปั้ม              อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐๐  บาท
เจ้าจอมแป้น            อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐๐  บาท
เจ้าจอมเพิ่ม             อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๔๐  บาท
เจ้าจอมมารดาสุด      อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๕๖๐  บาท
เจ้าจอมข้อ              อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๔๐  บาท
เจ้าจอมฟักเหลือง     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๔๐  บาท
เจ้าจอมเฉียด           อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๔๐  บาท
เจ้าจอมน้อม            อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๔๐  บาท
เจ้าจอมสมบุญ          อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๔๐  บาท
..............................


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 13:08
ไม่คุ้นหลายชื่อจริงด้วยค่ะ
สะดุดชื่อเจ้าจอมเน้ย เจ้าจอมเง็ก ดูจากชื่อแสดงว่าเป็นลูกจีน   แต่ก็ยังไม่มีเจ้าจอมกิมเหนียวอยู่ดี
สตรีเหล่านี้เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว พวกเธอจะไปทำอะไรที่ไหนก็ไม่มีทางรู้   เดาว่าน่าจะกลับบ้านไปอยู่กับญาติพี่น้อง



กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ค. 10, 13:25
ผู้เข้าเรี่ยรายทำบุญให้แก่สภานี้คราวเดียว  จัดเปนผู้ศรัทธาเข้าเรี่ยราย เรียงตามรายวันรับ....
เจ้าจอมเจิม     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
เจ้าจอมถนอม  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐  บาท
เจ้าจอมสวน    อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐  บาท
เจ้าจอมจีน      อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
เจ้าจอมลม้าย  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
เจ้าจอมสาย    อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
เจ้าจอมสว่าง   อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
เจ้าจอมจำเริญ อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐๐  บาท
เจ้าจอมเนื่อง   อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
เจ้าจอมเพิ่ม     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
เจ้าจอมน่วม    อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐  บาท
เจ้าจอมทับทิม อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมทิพย์   อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
***เจ้าจอมกิมเนียว  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๔๐  บาท***
เจ้าจอมลิ้นจี่   บุตรพระยาไชยสุรินทร์  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมทับทิม อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมลิ้นจี่   บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมจำเริญ  บุตรพระยาประชาชีพบริบาล  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมใย      อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมจำเริญ  บุตรพระยาพิพัฒโกษา  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมเปรม    อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมอิ่ม      อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมเอี่ยม   อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐  บาท
เจ้าจอมเชย     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๑๖๐  บาท
เจ้าจอมเพิ่ม     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๑๖๐  บาท
เจ้าจอมช่วง     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๘๐  บาท
เจ้าจอมแฉ่ง     อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๒๐๐  บาท
เจ้าจอมสงวน   อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๑๐๐  บาท
เจ้าจอมสวาดิ์   อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ๑๐๐  บาท
............................................

อนึ่งท่านผู้อ่านกระทู้นี้  อาจจะสงสัยว่า  เจ้าจอมเหล่านี้อาจจะมีบางคนเป็นเจ้าจอมในพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อน (ร.๔)บ้างก็ได้   ข้อนี้  สามารถแก้ได้ว่า  ถ้าเป็นเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อน  ในบาญชีจะลงนามก่อน แล้วจึงตามด้วยคำว่า  เจ้าจอม หรือ เจ้าจอมมารดา  เช่น   เขียน  เจ้าจอมมารดา     กลิ่น  เจ้าจอมมารดา    บัว  เจ้าจอมมารดา  เป็นต้น  จึงน่าเชื่อได้ว่าบาญชื่อนามที่ยกมานี้คงเป็นหลักฐานเกี่ยวกับเจ้าจอมในรัชกาลที่  ๕  ได้บ้างไม่มากก็น้อย

ที่สำคัญ  คือ  มีข้อมูลว่า  กิมเนียว  หลานของพระยาอนุกูลสยามกิจ(ตันกิมเจ๋ง)  เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ด้วย   แต่หลังจากนั้น  อาจจะมีเหตุอะไรบางประการที่ทำให้ตอนที่กิมเนียวถึงแก่กรรม  ราชกิจจาฯ ไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าจอม    :-\


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 13:41
อ้างถึง
อ่านที่เจ้าของหนังสือแถลงไว้   พอจะตีความว่า
"...กิมเหนียว  หลานพระยาอนุกูลสยามกิจตันกิมเจ๋ง  ป่วยถึงแก่กรรม  เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ร,ศ,๑๑๕..."
เท่าที่ได้สำรวจดู  ในปี ร,ศ,๑๑๕  มีฝ่ายในที่วายชนม์   ดังนี้  ท้าวภู่  เถ้าแก่,  เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย   ,   น้อย  พนักงานมโหรีในรัชกาลที่ ๔,  ขลิบ  เถ้าแก่พนักงานหอพระอัฐิ,  นวน  พนักงานเฝ้าพระพุทธรัตนสถาน,  หม่อมหลวงจั่น   พนักงานพระสุทธารศ,  ทับ  เถ้าแก่ในพระบรมมหาราชวัง,  กิมเหนียว  หลานพระยาอนุกูลสยามกิจ (ตันกิมเจ๋ง),  ท้าวสัตยานุรักษ (กลีบ)  ฝ่ายพระราชวังบวร     และ  อิ่ม   พนักงานห้องนมัสการในพระบรมมหาราชวัง 

และถ้าดูไปถึงปีก่อนหน้ากับปีถัดไป 

ปี ร,ศ, ๑๑๔  ฝ่ายในที่วายชนม์ มี   ส่าน  จอมมารดาในพระบวรราชวัง,   แจ่ม  ในกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์,   อิ่ม  หลวงแม่เจ้า,  เจ้าจอมฟักเหลือง   บุตรีพระยาไชยสุรินทร์ (เจียม)   และ   จัน  เถ้าแก่ในพระบรมมหาราชวัง

ปี ร,ศ, ๑๑๖  ฝ่ายในที่วายชนม์  มี อิน ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์  (หม่อมอินซอ  มารดาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์) ,  หม่อมอบเชย  มารดาในพระสัมพันธวงศ์เธอ  กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์,   ผอบ  พนักงานถือลูกกุญแจ   และ  ปราง    ภรรยาพระพิเรนทรเทพ   


ได้ข้อสังเกตมาอย่างหนึ่งว่า  ราชกิจจา ระบุฐานะในสังคมของเจ้าจอมกิมเหนียวไว้เพียงว่า"กิมเหนียว  หลานพระยาอนุกูลสยามกิจตันกิมเจ๋ง  ป่วยถึงแก่กรรม"
แต่ ชื่อ ส่าน และฟักเหลือง ระบุฐานะไว้ชัดเจนว่า เป็นจอมมารดาในพระบวรรราชวัง  และเจ้าจอมฟักเหลือง

ถ้ากิมเหนียวถึงแก่กรรมในระหว่างที่เธอเป็นเจ้าจอม   ราชกิจจาฯต้องระบุว่า เจ้าจอมกิมเหนียว  หนังสือราชการจะพลาดไม่ได้
ในร.ศ. ๑๑๒  เธอยังเป็นเจ้าจอม ทำบุญให้สภาอุณาโลมแดงอยู่   แต่ร.ศ. ๑๑๕ เธอไม่ได้เป็นเจ้าจอมอีกแล้ว
สันนิษฐาน (ดีกว่าคำว่าเดา นิดหน่อย) ว่าเธอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเจ้าจอมแล้ว   แต่(อาจจะ)ยังอาศัยอยู่ในพระบรมมหาราชวัง 


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ค. 10, 14:00
อ้างถึง
ถ้ากิมเหนียวถึงแก่กรรมในระหว่างที่เธอเป็นเจ้าจอม   ราชกิจจาฯต้องระบุว่า เจ้าจอมกิมเหนียว  หนังสือราชการจะพลาดไม่ได้
ในร.ศ. ๑๑๒  เธอยังเป็นเจ้าจอม ทำบุญให้สภาอุณาโลมแดงอยู่   แต่ร.ศ. ๑๑๕ เธอไม่ได้เป็นเจ้าจอมอีกแล้ว
สันนิษฐาน (ดีกว่าคำว่าเดา นิดหน่อย) ว่าเธอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเจ้าจอมแล้ว   แต่(อาจจะ)ยังอาศัยอยู่ในพระบรมมหาราชวัง 

เป็นไปได้ครับ   วาสนาคนเราก็มีขึ้นมีลง   แต่เจ้าจอมกิมเนียวได้กราบถวายบังคมลาออกหรือเปล่านั้น   ผมยังไม่พบหลักฐาน 


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 14:19
ใช้คำว่ากราบถวายบังคมลา  ฟังหรูหราหน่อย   เพื่อให้เกียรติเจ้าจอมกิมเหนียว     
แต่ถ้าใช้คำกลางๆก็คือ  สันนิษฐานว่าเธอพ้นจากสถานภาพเจ้าจอม  ก่อนถึงแก่กรรมในร.ศ. ๑๑๕  ราชกิจจาฯจึงไม่ระบุว่าเป็นเจ้าจอม  อย่างเจ้าจอมอื่นๆที่ถึงแก่กรรมขณะยังอยู่ดำรงตำแหน่งนี้

ถ้าเดาอีกแบบคือเธอเป็นเจ้าจอม เหมือนคนอื่นๆน่ะแหละ   แต่เป็นความผิดพลาดของราชกิจจาฯ ที่อาจเกิดได้นานทีปีหน
ที่น่าตีมือคือ ผิดตรงไหนไม่ผิด     เกิดจะมาผิดตรงไม่ยักบอกว่าเธอเป็นเจ้าจอม  ทำให้ชื่อเธอตกหล่นไปจากบัญชีการรับรู้ของคนไทยยุคหลัง


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ค. 10, 14:33
ราชกิจจาฯ ในช่วงต้นที่พิมพ์ออกเป็น ๒ คอลัมน์ ใน ๑ หน้า  ช่วงนี้  ถ้าเกิดมีการพิมพ์ตรงใด  หากไม่ใช่การผิดที่ข้อมูลสำคัญ   มักไม่มีการลงแก้ไขคำผิดในฉบับถัดไป  การแก้ไขคำผิดในราชกิจจาฯ  จะเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น  ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นไป


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 15:13
ย้อนไปถึงต้นกระทู้   คุณจขกท. ถามถึงเจ้าจอมกิมเนียวว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร    ชาวเรือนไทยไม่เคยได้ยินชื่อเจ้าจอมท่านนี้มาก่อน
ด้วยความอุตสาหะของคุณหลวงเล็ก ไปค้นจนเจอว่ามีตัวตนอยู่จริง   หาเจอแม้กระทั่งว่าเธอถึงแก่กรรมเมื่อใด
ขอขอบคุณคุณหลวงเล็ก ที่ทำให้เจ้าจอมกิมเนียว มีชื่อเป็นที่รู้จักขึ้นมาว่าเธอเป็นเจ้าจอมจริงๆ

แม้ว่าเรายังไม่พบหลักฐานว่าเธอมีบิดามารดาชื่ออะไร   ก็ยังดีกว่าในตอนแรก ที่ชื่อเธอยังคลุมเครืออยู่ในเงามืด   รู้สึกว่าเธออาภัพไม่น้อยในเรื่องนี้


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ค. 10, 15:23
ขอบคุณครับคุณเทาชมพู     :-[ :-[ :-[ การค้นคว้าเป็นงานของเราครับ  ที่จริงไม่ได้ผมคนเดียวที่ค้นข้อมูลนี้  ยังมีสหายอีกท่านหนึ่งที่ให้กำลังใจผมในการค้นคว้าเรื่องนี้ด้วย   ผมจึงขอบคุณสหายท่านนั้นไว้ ณ ที่นี้  เชื่อว่าเขาได้อ่านกระทู้นี้  แล้วคงจะแอบยิ้มและหัวเราะดีใจเป็นแน่


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 15:30
ขอขอบคุณสหายของคุณหลวงเล็ก ผู้ไม่ยอมปรากฏชื่อ  ด้วยค่ะ ;D
ย้อนกลับเข้ามาในกระทู้นี้   เพราะสะดุดใจกับคำตอบคุณหลวง   ขออภัย รู้สึกช้าไปหน่อย

อ้างถึง
ราชกิจจาฯ ในช่วงต้นที่พิมพ์ออกเป็น ๒ คอลัมน์ ใน ๑ หน้า  ช่วงนี้  ถ้าเกิดมีการพิมพ์ตรงใด  หากไม่ใช่การผิดที่ข้อมูลสำคัญ   มักไม่มีการลงแก้ไขคำผิดในฉบับถัดไป  

ราชกิจจาฯ ฉบับนี้ออกในรัชกาลที่ ๕   อะไรที่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวจะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญ
เจ้าจอมทั้งคนของพระองค์ท่าน ถึงแก่กรรม     ราชกิจจาฯพลั้งเผลอไม่ใส่ว่าเป็นเจ้าจอม    ใส่แต่ว่าเป็นหลานพระยาท่านหนึ่ง  ราวกับเธอไม่มีตำแหน่งแห่งที่เอาเสียเลย
ต้องเรื่องใหญ่ขนาดมาแก้กันในฉบับต่อไปค่ะ   ไม่ใช่ผิดแล้วผิดเลยแบบไม่มีใครว่ากันหรอกกะเรื่องแค่นี้
ถ้าไม่มีการแก้ไข  ก็แสดงว่าราชกิจจา ลงถูกต้องแล้ว  ในร.ศ. ๑๑๕ เจ้าจอมกิมเนียวไม่ได้อยู่ในสถานะเจ้าจอมอีกแล้ว  ไม่ได้เป็น อย่างเป็นทางการเสียด้วย    จึงไม่มีคำว่า เจ้าจอม นำหน้าเมื่อถึงแก่กรรม ???


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 10, 10:59
มาต่อกระทู้อีก
ในรัชกาลที่ ๔ มีประกาศพระบรมราชโองการตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ให้เจ้าจอมกราบถวายบังคมลาออกจากพระบรมมหาราชวังกลับไปอยู่บ้านได้     ท่านคงจะหมายถึงเจ้าจอมในแผ่นดินก่อนๆ เป็นหลัก  รวมทั้งในรัชสมัยท่านด้วย
เจ้าจอมที่เป็นเจ้าจอมเฉยๆ ไม่ได้เป็นเจ้าจอมมารดา  เมื่อกราบถวายบังคมลา พ้นหน้าที่แล้วก็สามารถจะไปสมรสใหม่ได้

ดิฉันไม่แน่ใจว่าในรัชกาลที่ ๕  มีการกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งในลักษณะนี้หรือเปล่า    ถามให้เจาะจงลงไปคือทำได้ไหมคะ
เท่าที่รู้คือเจ้าจอมมารดาอ่วม   กลับไปอยู่บ้านเดิมหลังมีพระราชโอรสแล้ว คือพระองค์เจ้ากิติยากรฯ  แต่นั่นเป็นเพราะท่านป่วยเรื้อรัง  น้องชายก็เลยรับกลับไปอยู่บ้านเดิมจนถึงแก่อนิจกรรม


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 10, 15:48
อ้างถึง
ราชกิจจาฯ ฉบับนี้ออกในรัชกาลที่ ๕   อะไรที่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวจะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญ
เจ้าจอมทั้งคนของพระองค์ท่าน ถึงแก่กรรม     ราชกิจจาฯพลั้งเผลอไม่ใส่ว่าเป็นเจ้าจอม    ใส่แต่ว่าเป็นหลานพระยาท่านหนึ่ง  ราวกับเธอไม่มีตำแหน่งแห่งที่เอาเสียเลย
ต้องเรื่องใหญ่ขนาดมาแก้กันในฉบับต่อไปค่ะ   ไม่ใช่ผิดแล้วผิดเลยแบบไม่มีใครว่ากันหรอกกะเรื่องแค่นี้
ถ้าไม่มีการแก้ไข  ก็แสดงว่าราชกิจจา ลงถูกต้องแล้ว  ในร.ศ. ๑๑๕ เจ้าจอมกิมเนียวไม่ได้อยู่ในสถานะเจ้าจอมอีกแล้ว  ไม่ได้เป็น อย่างเป็นทางการเสียด้วย    จึงไม่มีคำว่า เจ้าจอม นำหน้าเมื่อถึงแก่กรรม

ข้อนี้ทราบไม่ได้   ครั้นจะสันนิษฐานไปโดยไม่มีข้อมูลเลย  ก็เกรงจะถูกกล่าวหาว่าหลักลอย


กรณีที่ราชกิจจามีข้อผิดพลาดแล้วกลายเป็นเรื่องใหญ่ก็เคยมี   บางท่านอาจจะจำได้  ในช่วงแรกที่ราชกิจจาฯ ออกในรัชกาลที่ ๕  รวม ๖ เล่มนั้น  ครั้งหนึ่งมีการแต่งตั้งปรีวีเคานซิล  ปรากฏว่า เจ้าพระยาท่านหนึ่งมีชื่อได้รับการแต่งตั้ง  แต่ราชกิจจาฯ ลงพิมพืเลขจำนวนศักดินา ตก ๐ ไปหนึ่งตัว   นาศักดิท่านเลยขาดหายไปหลายพันไร่   เป็นเหตุให้เจ้าคุณท่านหนึ่งเอาไปเขียนเป็นบทสนทนาเสียดสีลงในดรุโณวาท   เจ้าพระยาคนนั้นเขียนหนังสือกราบบังคมทูล  เป็นเหตุให้หาตัวคนเขียนกันยกใหญ่    แถมเจ้านายที่จัดการพิมพ์ราชกิจจาฯ คราวนั้น  ยังพลอยโดนข้อหาว่าเลินเล่อด้วย   อยากรู้เรื่องกรุณาอ่านได้ในนิทานเรื่องนายจิตรนายใจสนทนากัน  ในเรือนไทยที่แหล่ะ ;D


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 10, 16:19
คำสันนิษฐานก็คือคำสันนิษฐาน  ไม่ได้หวังว่าทุกคำถามจะต้องมีคำตอบชี้ชัดลงไป    เพียงแต่ตั้งคำถามไว้เท่านั้นเพื่อจุดประกายความคิด  ถ้าจะรอข้อมูล   เราก็คงจะขาดบทสนทนากันอีกมาก
เรื่องศักดินาของเจ้าคุณ  เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า ความผิดพลาดในราชกิจจาฯสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดขึ้นได้  และไม่ได้แก้ไขด้วย


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: sally chu ที่ 03 มิ.ย. 10, 08:25
ขอขอบพระคุณผู้รู้ทุกท่านที่กรุณาตอบกระทู้นะคะ ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับบรรพบุรุษ(สตรี) เพิ่มอีกมาก


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: ธีร์ ที่ 04 มิ.ย. 10, 15:20
ขอถามหน่อยครับเรื่องราชาศัพท์หน่อยครับ

การเสียชีวิตของเจ้าจอมนี้เราใช้ศัพท์ว่า ถึงแก่อนิจกรรม หรือว่ามีคำศัพท์อื่นใช้อีกครับ

ถ้าเจ้าจอมที่ลาไปอยู่นอกวังแล้วทรงอนุญาติให้แต่งงานใหม่ได้นี้จะเป็นจำเพาะที่ไม่เคยถวายหรือเปล่าครับและมีเจ้าจอมองค์ใดที่มีประวัติว่าได้แต่ง

งานใหม่ด้วยไหม


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 มิ.ย. 10, 16:33
เท่าที่เห็น  เจ้าจอมมารดา ใช้อสัญกรรมครับ  ส่วนเจ้าจอมอยู่งานดูเหมือนจะใช้อนิจกรรม


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: dekwat ที่ 11 มิ.ย. 10, 13:50
สวัสดีสมาชิกทุกท่านผมมาเป็นสมาชิกใหม่ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ
 ถ้าพูดถึงเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ที่กราบบังคมลาเมื่อพ้นสมัยของท่านแล้วเคยอ่านจากหนังสือเล่มหนึ่งว่ามี เจ้าจอมอ้น ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดากับ เจ้าคุณจอมมารดาแพ และเจ้าจอมมารดาโหมด ท่านได้สมรสกับพระยาในสกุลบุญนาค ด้วยกันและท่านก็มีลูก และก็มีลูกสาว ๑ คนที่แต่งงานกับคนในสกุล สุวรรณทัต และก็มีลูกเป็นผู้หญิง ชื่อ สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต หรือป้าทอง ดาราสมัยก่อน ซึ่งป้าทองเกิดปี ๒๕๖๓ ถ้าดูจากปีที่เกิดน่าจะพอประมาณได้ว่าเจ้าจอมอ้นกราบบังคมลาก่อนที่รัชกาลที่ ๕ สวรรต เจ้าจอมอ้นจึงเป็นยายป้าทอง ส่วนป้าทองนั้นได้แต่งงานกับสามีคนแรกจำชื่อไม่ได้ มีลูกชาย ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ต่อสมรสใหม่กับ หม่อมเจ้า ในสกุลสุริยง ซึ่งเป็นหลานย่า ในเจ้าจอมมารดาโหมด ส่วนป้าทองเป็นหลานยาย ในเจ้าจอมอ้น เท่ากับว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องแต่งงานกันเอง ส่วนเจ้าจอมอ้น หลังจากแต่งงานใหม่แล้ว และในหนังสือของ คุณหญิงกิติวัฒนา ปกมนตรี ไชยันต์ ก็ยังเขียนว่าเจ้าจอมอ้นเหมือนเดิม   


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 มิ.ย. 10, 15:52

ยินดีต้อนรับค่ะคุณ เด็กวัด


     เราคุยกันด้วยข้อมูลนะคะ  ผิดพลาดประการใดก็เติมข้อมูลให้กันและกัน


พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์(วร)(เจ้าคุณทหาร)     กับ ท่านผู้หญิงอ่วม  มีลูกชายสามคน

ลูกคนแรกคือ พระยาประภากรวงศ์(ชาย)


ท่านผู้หญิงอิ่ม  น้องท่านผู้หญิงอ่วม    มี บุตรและธิดา รวม ๙ คน   สองท่าน ที่เรากำลังสนทนากันคือ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์(แพ)  และ เจ้าจอมมารดาโหมด

ในประวัติเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕  มีเพียงสองท่าน ที่เป็นบุตรีของ เจ้าคุณทหาร  ที่ถวายตัวทำราชการฝ่ายใน


พระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี(ชาย) สมรสกับ  เปรม   
ธิดาชื่ออบ  เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ค่ะ        เท่ากับท่านเป็นหลานอาของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ และ เจ้าจอมมารดาโหมด


การที่ไม่มีรายชื่อในบัญชีเจ้าจอม  ก็ต้องตรวจสอบกับเอกสารอื่นๆ

แต่ อ่านมาจาก สาแหรก สถุลบุนนาค หน้า ๑๘  และ หน้า ๒๐ ค่ะ



ในจำนวนภรรยา ๒๓ รายของเจ้าคุณทหาร    ไม่มีผู้ใดที่มี บุตรี ชื่อ  อ้น  เลยค่ะ


กระทู้: เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 11 มิ.ย. 10, 16:53
จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%95 (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%95)

สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต หรือที่รู้กันกันในชื่อ ป้าทอง มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า หม่อมสุลาลีวัลย์ สุริยง ณ อยุธยา (19 ตุลาคม พ.ศ. 2463 - พ.ศ. 2535 ) ชายาใน หม่อมเจ้าอติวงศ์วิวัสวัติ สุริยง นักแสดงอาวุโสเจ้าบทบาท มีชื่อเสียงในรุ่นเดียวกับ สุพรรณ บูรณพิมพ์ มาลี เวชประเสริฐ โดยมักจะได้รับบทตลกตามนางเอก หรือบทคนใช้ จนถึงบั้นปลายชีวิต มีบางเรื่องที่ได้รับบทนำ เช่น ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ (2523)

สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต เป็นบุตรีของ นายสุหร่าย สุวรรณฑัต และ นางเจอ บุรานนท์ ได้สมรสครั้งแรกกับ ยอแสง ภักดีเทวา ครูโขนในสังกัดกรมศิลปากร มีบุตรชายคือ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา (เกิด 29 ส.ค. 2478) นักร้องเพลงลูกกรุงชื่อดัง ต่อมาได้สมรสกับหม่อมเจ้าอติวงศ์วิวัสวัติ สุริยง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2482 มีบุตร-ธิดาอีก 5 คน [1] รวมทั้ง หม่อมราชวงศ์ธิติสาร สุริยง บิดาของ หม่อมหลวงสุรีย์วัลย์ สุริยง นางเอกนักแสดงหนังบู๊