เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: CrazyHOrse ที่ 07 ส.ค. 06, 23:18



กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ส.ค. 06, 23:18
 ภาษาไทยกับภาษาจีนมีความคล้ายกันอยู่หลายประการ น่าสงสัยว่าบทกวีของจีนมีฉันทลักษณ์แตกต่างจากของไทยขนาดไหน


ลองค้นดู พอได้ความว่า ฉันทลักษณ์ที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเรียกว่า จิ้นถี่ซือ มีแบบแผนที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นโคลงประเภทหนึ่ง


ที่ว่าเป็นโคลงนั้นเพราะมีการบังคับเสียงวรรณยุกต์ในแต่ละตำแหน่งด้วย น่าสังเกตว่าบังคับเสียงนะครับ ไม่ใช่บังคับรูปแบบโคลงไทย


จิ้นถี่ซือจะมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มละ 2 แบบ รวมเป็น 4 แบบด้วยกัน


กลุ่มแรกของเรียกว่า ลวี่ซือ (ลวี่แปลว่าแบบแผน ซือคือบทกวี) พอแปลได้ว่าโคลงแบบแผน บทหนึ่งมี 8 วรรค ถ้าวรรคหนึ่งมี 5 คำจะเรียกว่า อู่ลวี่ (อู่แปลว่าห้า) ถ้าวรรคหนึ่งมี 7 คำก็จะเรียกว่า ชีลวี่ (ชีแปลว่าเจ็ด)


กลุ่มที่สองเรียกว่า เจวี๋ยจวี้ พอแปลได้ว่าโคลงตัด บทหนึ่งจะมีเพียง 4 วรรค ฉันทลักษณ์จะเหมือนครึ่งแรกของลวี่ซือ มี 2 แบบเช่นเดียวกันคือ อู่เจวี๋ย และ ชีเจวี๋ย


ฉันทลักษณ์ของจิ้นถี่ซือจะบังคับ 3 อย่าง

1. สัมผัสสระระหว่างคำท้ายของวรรค 2 และ 4 และในกรณีของของลวี่ซือซึ่งมีบทละ 8 วรรคก็จะบังคับสัมผัสคำท้ายของวรรคที่ 6 และ 8 ด้วย กรณีที่เป็นโคลงตัด อาจมีสัมผัสสระระหว่างคำท้ายวรรคแรกกับวรรค 2 เพิ่มเข้าไปด้วย

2. เสียงวรรณยุกต์ในแต่ละตำแหน่งจะบังคับว่าตำแหน่งไหนต้องเป็นคำสุภาพ(เสียงสามัญ) ตำแหน่งไหนต้องเป็นคำไม่สุภาพ(ไม่ใช่คำหยาบนะครับ แต่เป็นคำที่มีเสียงวรรณยุกต์อื่นๆนอกจากเสียงสามัญ)

3. กรณีที่เป็นโคลงแบบแผน จะต้องมีความเท่าเทียบเปรียบเทียบกันได้(ทั้งในเรื่องของเสียง คำ และ ความ) 2 คู่ คือ วรรค 3 กับ 4 และ วรรค 5 กับ 6


ที่น่าสนใจคือในขณะที่จีนปัจจุบันใช้วรรณยุกต์ 4 เสียง

อิง(สามัญ) ,หยาง(จัตวา), ส่าง(เอก), ชวี่(โท)

เสียงวรรณยุกต์จีนโบราณในยุคที่จิ้นถี่ซือรุ่งเรืองจะเป็น

ผิง (สามัญ), ซ่าง (เอก), ชวี่ (โท),รู่ (เทียบกับไทยไม่ถูก แต่ดูเหมือนว่าจะคล้ายกับเสียงลหุในภาษาไทย)


ก็น่าคิดว่าโคลงไทยที่มีบังคับ สามัญ เอก โท จะมีความเกี่ยวพันอย่างไรกับโคลงจีน


สำหรับเรื่องแบบแผนของโคลงจีนแต่ละแบบนั้นจะต่างกับไทย เพราะจะมีรูปแบบที่เป็นไปได้หลายรูปแบบสำหรับโคลงแบบเดียวกันเอง เลือกหยิบใช้ได้ตามความเหมาะสม


ยกตัวอย่างเช่นโคลงเจ็ดตัดแบบหนึ่ง จะมีแบบแผนฉันทลักษณ์ดังนี้


11 00 01X

00 11 00X                                             

00 11 100

11 00 01X


0 แทนคำสุภาพ(เสียงวรรณยุกต์สามัญ)

1 แทนคำไม่สุภาพ(เสียงวรรณยุกต์อื่น)

X แทนไม่คำสุภาพที่สัมผัสสระกัน

คำที่ขีดเส้นใต้ ไม่เคร่งครัดการบังคับเสียงวรรณยุกต์


เท่าที่สำรวจดูจากงานของกวีที่มีชื่อเสียง รู้สึกว่าบังคับวรรณยุกต์นี้ไม่ได้เคร่งครัดนัก และพบสัมผัสในทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะบ้าง แต่ไม่มากมายเหมือนบทกวีของไทย


ลองแต่งดูสักบท ไม่เคร่งครัดนัก พอให้เห็นภาพ


หยาดฝนหล่นมาคราพี่เศร้า

คร่ำครวญหวนไห้ฤๅคลายเหงา

ดวงดาวส่องแสงเหมือนเตือนใจ

ฝากข่าวตามลมไปสู่เจ้า


ความส่วนใหญ่เก็บมาจาก <a href="http://www.poetry-chinese.com/" target="_blank">http://www.poetry-chinese.com/[/url]<br  />

ถ้าคุณมนุษย์ปักกิ่งผ่านมา ขอคำชี้แนะด้วยนะครับ เพราะผมงูๆปลาๆเต็มทีครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 09 ส.ค. 06, 14:18
 เมื่อวานเห็นกระทู้นี้อยู่หยกๆ  แต่เช้านี้มาหาไม่เจอซะแล้ว  เพิ่งมาอยู่ใหม่  ค้นไม่ค่อยเป็น  กูเกิ้ลก็ยังไม่เก็บกระทู้นี้ซะด้วยซี

ทำไปทำมา  หาได้เอง  ใช้เวลาเป็นครึ่งวัน

พออ่านคร่าวๆ  ก็เลยนึกถึงหนังสือเก่า  เมื่อคืนไปค้นดูชื่อหนังสือ "ซือ เพลงแห่งชีวิตของจีน" ที่ศิลปวัฒนธรรมออกฉบับพิเศษตั้งแต่เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน  ของ อ.ถาวร สิกขโกศล

ขอออกตัวก่อนครับ  ผมเป็นมนุษย์ธรรมดา  เดี๋ยวมนุษย์วานรคงจะตามมาทีหลัง

...........................

ในเล่มนั้นท่านเรียกรวมๆ กันว่า  "ร้อยกรองจีน"  แบ่งเป็น ๔ ชนิด  คือ ซือ ฟู่ ฉือ และ ฉฺวี่

ในเล่มนั้นท่านจะแบ่ง  "จิ้นถี่ซือ" คือ ซือแบบราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๕๐) เป็น ๓ ชนิด  คือ
๑. ลฺวี่ซือ
๒. เจว๋จฺวี้
๓. ไผลฺวี่  คือ ลฺวี่ซือ ที่ยาวตั้งแต่สิบวรรคขึ้นไป  ของอาจารย์ก็เพิ่มเติมตรงนี้หน่อยหนึ่ง


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 09 ส.ค. 06, 14:32
 ขออนุญาตให้ผมเต็มร้อยตรงนี้เลยนะครับ
ประสบการณ์ครบร้อยพอดี  แล้วจะได้หยุดพักเหนื่อยซะที

หนังสือเล่มนั้นได้ยกตัวอย่างซือบทหนึ่ง  ซึ่งแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพของไทยได้อย่าง ........

ขอลอกมาให้อ่านกันเลยครับ

.........................

"ลิขิตที่วัดยอดดอย  โดย หลี่ป๋อ"

ซือบทนี้แสดงให้เห็นความงามของการชมธรรมชาติจากที่สูงและความรู้ประมาณตน  ไม่ใฝ่สูงสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้ผู้อื่นแม้เพียงน้อยนิด  พากย์เดิมแต่เป็นเจว๋จฺวี้ซือ ๕ คำ (ตรง เจว๋  ใต้ จ  ต้องมี จฺ จุด ด้วยครับ  แป้นพิมพ์ดีดภาษาไทยไม่ยอมให้สระซ้ำกัน - NickyNick)  ศาสตราจารย์สุกิจ  นิมมานเหมินทร์  แปลจากฉบับภาษาอังกฤษเป็นโคลงสี่สุภาพได้ใจความตรงกับภาษาจีน  และมีความไพเราะอย่างยิ่งว่า

ตูพักวัดโขดชะเงื้อม      เทียมหาว
หัตถ์หากเหิมปลิดดาว    ย่อมได้
คิดพรั่นหวั่นเสียงกราว   อึกทึก  ตนแฮ
เกรงจักกวนเทพยไท้     สถิตด้าวแดนสรวง


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 11 ส.ค. 06, 10:19

อันนี้ไม่ทราบพอเรียกว่าบทโคลงจีนได้หรือไม่...


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 11 ส.ค. 06, 10:30
 กะอันนี้อีกอันนึง


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 11 ส.ค. 06, 10:37
 ภาพใหญ่ไปส่งไม่ติดอะครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ส.ค. 06, 15:45
 บังเอิญความรู้เรื่องกวีนิพนธ์จีนของผมมันคับแคบมากก็เลยไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นโคลงได้ไหม

แต่คงไม่เรียกจิ้นถี่ซือ เพราะมีแค่ 2 บาท บาทละ 9 คำ

แต่ก็น่าสังเกตว่ามีความเท่าเทียบกันอยู่ (ขออภัยที่บัญญัติศัพท์เองจาก parallelism)

จริงๆก็เห็นคำประพันธ์ลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ แต่รู้สึกว่าน่าจะเรียกว่าเป็น "คำคม" มากกว่า

ขอแปลเป็นไทยใหม่ดังนี้

ยาดีขมปากโรคหายห่วง
คำตรงขัดหูงานลุล่วง


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 11 ส.ค. 06, 17:18

แปลได้  เจ๋ง..เยี่ยมมาก
พี่ CrazyHOrse ช่วยแปลบทนี้ให้ใหม่อีกอันด้วย


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ส.ค. 06, 18:06
 อันนี้เอามาจากไหนครับนี่ ผมว่าแปลค่อนข้างจะผิดประเด็นนะ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 12 ส.ค. 06, 22:42
 ลอกมาจากหนังสือชื่อ คัมภีร์คุณธรรม รู้สึกว่าเป็นคำสอนของท่าน ขงจื้อ ประมาณนั้นอะครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 12 ส.ค. 06, 22:51

มีหลายอัน แต่ส่งมาไม่ได้ ภาพมันใหญ่เกินอ่ะครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 12 ส.ค. 06, 22:58

...
อันนี้ไม่รู้ส่งติดป่าว  ลองลุ้นดู    


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 14 ส.ค. 06, 22:38

.
ค้นหาบทกวีของหลี่ไป๋เจอครับ ใส่เสียงคำอ่านจากท็อกกิ้งดิกช์
ขออนุญาติพี่ CrazyHOrse นำภาพมาลงนะครับ

( ค่ำคืนคร่ำครวญ )
แสงจันทร์กระจ่างฉายมาตรงหน้าเตียง
ส่องสะท้อนหยดน้ำค้างบนผืนดินดูช่างพิศวง
เงยหัวขึ้นด้วยความหวังอันเจิดจ้าดุจแสงจันทร์งาม      
ก้มหัวต่ำคร่ำครวญถึงเหตุต้องมาอยู่ชนบทอันห่างไกล  

หลี่ไป๋ เกิดในสมัยต้นราชวงศ์ถัง อายุ 20 ได้เดินทางท่องเที่ยวสำรวจภูมิประเทศไปทั่วแผ่นดินจีน  อายุ 42-45 ได้เป็นที่ปรึกษาของเชื้อพระวงศ์คนหนึ่ง ต่อมาคิดทำการใหญ่แต่ไม่สำเร็จ หลี่ไป๋ จึงต้องหนีภัยทางการเมืองไปอยู่ชนบทอันห่างไกล  คืนหนึ่งเกิดนอนไม่หลับ นั่งดูแสงจันทร์กระทบกับหยดน้ำค้างแล้วเกิดอาการคร่ำครวญถึงอดีตที่ผ่านมา จึงเขียนบทโคลงนี้ขึ้น และเป็นบทโคลงอันมีชื่อเสียงในกาลต่อมา

ความหวังเหมือนพระจันทร์บนฟ้า   ต้องเงยหน้ามอง
ชีวิตจริงเหมือนน้ำค้างติดดิน            ต้องก้มหน้าดู  


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ส.ค. 06, 01:05
 แปลความหมายมาไม่ตรงนะครับ
แก้ให้อย่างนี้

ปลายเตียงแสงจันทร์สาด
หลงนึกว่าเหมยหยาด
ยันกายเห็นเป็นจันทร์
ทรุดพลันคิดถึงบ้าน


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ส.ค. 06, 09:50
 บทกวีจีนส่วนมากจะลึกในเรื่องอารมณ์ ไม่สื่อความหมายโดยตรง แต่ทิ้งไว้ให้คนคิดต่อเอง

ดังนั้นการตีความอาจจะแตกต่างกันได้

บทกวีบทนี้สื่ออะไร?

- แสงจันทร์กระจ่างอยู่ที่ปลายเตียง
- หลี่ไป๋เข้าใจว่าเป็น "เหมย" หรือ "แม่คะนิ้ง" ซึ่งก็คือน้ำค้างแข็งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตอนใกล้รุ่ง
- เมื่อผงกศีรษะขึ้นมองจึงเห็นว่าเป็นแสงจันทร์ นั่นหมายถึงว่าแท้จริงแล้วยังไม่เช้า ซึ่งก็คือหลี่ไป๋น่าจะตื่นขึ้นกลางดึก
- ทิ้งศีรษะลงนอนแล้วก็คิดถึงบ้าน ในแวบแรกเมื่อตื่นขึ้น สติยังไม่แจ่มชัด สิ่งแรกที่คนไกลบ้านนึกถึงก็คือ "บ้านเกิด" นั่นเองครับ

เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ส.ค. 06, 09:57
 แก้ไขนิดนึงนะครับ เหมย ปกติแล้วหมายถึงน้ำค้างหรือหมอก เหมยขาบคือแม่คะนิ้ง(น้ำค้างแข็ง)ครับ

อีกเรื่องหนึ่ง ขอโทษนะครับ ไม่ทราบว่าคุณน้ำใสแปลบทกวีเหล่านี้เองหรือหยิบยกมาจากที่อื่นครับ ถ้าหยิบยกมา ต้องอ้างอิงที่มาทุกครั้งนะครับ เป็นกฎกติกามารยาทครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 15 ส.ค. 06, 11:55
 เรื่องไร้สาระในยุทธจักร...
มักเรามักสอดมือ เข้าไปเกี่ยวข้อง..เสมอ เสมอ
เราชมชอบ แส่ หาเรื่อง ใส่ตัว..
วันนี้..ขณะยังนอนอยู่บนเตียง
กลับมีเรื่อง ราว ที่หัวร่อไม่ออก... ร้องไห้ ก็ไม่ได้
โกวเนี้ย น้อย.. งดงามราวบุปผา.. คุกเข่า... ลงต่อหน้าเรา
ในมือสั่นเทาขาวนวล ..ประคองจอกสุรา หยิบยื่นแก่เรา
ความจริง ทั้งสุรา นารี เราลัวนชมชอบ
เราหนีแล้ว...หนีเร็วปานสายฟ้า..
หนีเร็วกว่า สุนัขป่า หนีไฟ..
เสื้อผ้า ไม่ทันสวมใส่..เราทะลวง หลังคา ออกมา..
ตอนนี้ยังใจสั่นไม่หาย..
ในจอกสุราที่เรารับมา เป็นเพียงน้ำเปล่า..
แม้นางยังไม่เอ่ยวาจา
สิ่งที่ต้องแลก กับน้ำเปล่า ในจอกสุรา...
นางต้องให้เราทำ เรื่องราว เรื่องหนึ่ง..
นางให้เรามอบชีวิต...
................................

.........เล็กเซี่ยวหงส์...........


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 15 ส.ค. 06, 12:45

.  


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 15 ส.ค. 06, 19:28
ผมแปลเองโดยใช้ท๊อกกิ้งดิกช์ คำต่อคำ มารวมกัน มันเลยเพี้ยนๆแหละครับ ต้องขออภัยครับผม


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ส.ค. 06, 21:19
 xuang1 คือ น้ำค้างแข็งครับ ถ้าน้ำค้างธรรมดาเรียก lu4
wang4 ในที่นี้แปลว่าจ้องมองครับ (to gaze)
gu4 xiang1 ในที่นี้คือบ้านเกิดครับ (gu4=old, xiang1=country)

ไม่ต้องขออภัยเลยครับ ขอบคุณที่เอามาแบ่งปันกันครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 15 ส.ค. 06, 23:04
 คุณ Crazy Horse  ช่วยแปลโคลงจีนใน#7 อีกทีได้ไหมครับ
ผมอยากรู้ว่าที่ถูกต้อง แปลว่าอะไรครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ส.ค. 06, 23:37
 มองข้ามข้อบกพร่อง
มัวชื่นชมกับความสำเร็จ
ภัยจะมาเยือน
ลาภจะหาย

อ่านแล้วไม่"อิน" ขอแปลแค่ความนะครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ส.ค. 06, 16:29
 ได้หนังสือใหม่มาเล่มหนึ่งชื่อ "ร้อยบทกวีถาง" โดยคุณอุ้ย บุญภัทร

คัดสรรร้อยบทจาก 300 บทกวีสมัยราชวงศ์ถัง และแปลเป็นไทยโดยใส่ฉันทลักษณ์ไทย

ถือว่าน่าสนใจมากครับ

แต่ยังรู้สึกเสียดายว่าน่าจะลองใส่ฉันทลักษณ์จีนตามอย่างต้นฉบับ เพราะเข้ากันได้กับภาษาไทยในระดับหนึ่งทีเดียว โดยอารมณ์จะแตกต่างจากฉันทลักษณ์ของไทย ของเรา "หวาน" แต่ของเขา "เย็น"

แน่นอนว่าจะต้องมีบทอภิมหาอมตะของหลี่ไป๋(คนเดียวกับหลี่ป๋อของคุณNickyNick)ที่คุณน้ำใสยกมาในคคห.12

ว่าแล้วขอแก้บทที่เคยแปลไว้นิดหนึ่งดังนี้

ปลายเตียงแสงจันทร์อาบ
หลงนึกว่าเหมยขาบ
ยันกายเห็นเป็นจันทร์
ทรุดพลันคิดถึงบ้าน


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 20 ส.ค. 06, 21:52

.
ภาพของท่าน หลี่ไป๋ ถือจอกน้ำเมา
แปลกจริงๆครับ นักกวี กับ น้ำเมา มักมาคู่กัน
เหมือนกับ ท่าน สุนทรภู่ กวีเอกของเรา
 ก็นักดื่มอย่างเอก แถมยังเจ้าชู้จนเมียหนีอีกตะหาก    


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 20 ส.ค. 06, 21:58

.
สมดั่งกฎอมตะที่ว่า

ใครทำสิ่งใด ย่อมได้รับสิ่งนั้น

ขอบคุณพี่ CrazyHOrse ที่ช่วยสอนคำแปลบทกวีให้
และขอบคุณอีกครั้งที่แปล คห 7 ให้ใหม่ . _/\_  


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 22 ส.ค. 06, 07:00
 มาช่วยกันกระตุ้นคุณออฟให้รีปแก้ให้เขียนภาษาจีนได้ กันเถอะ  

บ้านเมืองพังพินาจ เหลือเพียงขุนเขาลำน้ำ
&#22283;&#30772;&#23665;&#27827;&#22312;


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 22 ส.ค. 06, 11:46
 จาก#7
>มองข้ามข้อบกพร่อง
>มัวชื่นชมกับความสำเร็จ

ดูจากตัวอัษรแล้ว 2  บาทแรกน่าจะเป็น
ฟังข้อผิดแล้วโกรธ
ฟังคำชมแล้วสบายใจ  

มากกว่านะครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 22 ส.ค. 06, 21:24
ไม่มีความรู้เรื่องโคลงจีน นะคะ แต่ชอบภาพเขียนจีนมาก

.


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 30 ส.ค. 06, 00:43
 ผมชอบกระทู้นี้ครับ อ่านแล้วลึกซึ้งกินใจ
ขอบคุณที่เล่าสู่กันฟังครับ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: Peking Man ที่ 31 ส.ค. 06, 19:10
 ไม่ได้เข้ามานานมาก...

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมสนใจมาก แต่เสียดายทีความรู้นั้นไม่ค่อยที่จะสามารถเปรียบกับบทกวีไทยได้

ตามที่ผมเข้าใจนั้น จุดเริ่มต้นของ ซือ น่าจะมีอยู่สองอย่างใหญ่ ๆ

หนึ่ง มาจากคำถามต่าง ๆ นานาที่เราสามารถพบได้จาก เจี่ยกู่เหวิน และคำทำนายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง อี้จิงด้วย

สอง มาจากเพลงพื้นบ้านที่ร้องกันในพื้นที่ต่าง ๆ

ต่อมาในสมัยโจวเราก็ได้พบกับ "ซือจิง" (อ้างว่าขงจื้อเป็นคนที่ทำซือจิงเดิมมา edit ใหม่) ซึ่งในรูปแบบนี้ "ซือ" ได้กลายเป็นศัพท์เรียกคำประพันธ์ที่มีรูปแบบค่อนข้างแน่ชัด (ซึ่งแต่ละรูปแบบของซือก็อิงกับ พื้นที่ที่มีการเก็บรวบรวมมาจาก หรือที่เรียกว่า "เฟิง" เช่น เจิ้งเฟิ้ง ซางเฟิง เป็นต้น) แต่ ณ จุดนี้แบบฟอร์มที่น่าสนใจที่สุดก็คือ การถือกำเนิดขึ้นของความนิยมในรูปแบบที่แต่ละบทมีสี่ตัวอักษร ซึ่งสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของ ซือ เพราะว่า จากความนิยมนี้เอง บวกกับความนิยมการเติมตัวท้ายบท "ซี"  (ไม่มีความหมาย น่าจะเทียบเท่ากับ คำว่า "เอย" ของไทย) ของแถบ ฉู่ (สามารถดูงานเขียนของ ชูว์หยวน ประกอบได้) นักวิชาการเชื่อว่าการถือกำเนิดขึ้นของ ซือ ที่คนปัจจุบันเข้าใจนั้นมาจากการนำเอาความคุ้นเคยที่จะเขียนและประพันธ์บทความโดยใช้วรรคละสี่ตัวอักษร มาบวกกับอักษรอีกหนึ่ง และถือกำเนิด ซือที่ใช้บาทละห้าตัวอักษรขึ้นมา  (ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีซือที่ใช้แค่วรรคละสี่ตัวอักษร และ ซือที่ใช้ตัวอักษรไม่เท่ากันในแต่ละวรรคด้วย) สำหรับ ซือที่ใช้เจ็ดตัวอักษรนั้น คาดว่ามีการถือกำเนิดขึ้นในสมัยเดียวกันกับ ซือที่ใช้วรรคละห้าตัวอักษร แต่ว่า ซือประเภทที่ใช้ตัวอักษรที่มกว่านั้นสามารถที่จะแสดงความรู้สึกได้ดีกว่า ซึ่ง ร้อยกรองประเภท ซือ ถือว่าถึงจุดสูงสุดในสมัยถัง

จากจุดสูงสุดนั้น บวกกับการเข้ามาของดนตรีต่างชาติ "หูเยว่" (จีนมักจะใช้คำว่า หู แทนซึ่งที่ต่างชาติ) ได้มีการเริ่มนำบทกวีมาร้องประกอบ ซึ่งต่อมาก็ได้กลายรูปไปเป็น สือ ในที่สุด ซึ่งสมัยซ่งก็นับได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการประพันธ์ชนิดนี้ ลักษณะเด่นของ สือ คือ ในแต่ละวรรคจะใช้จำนวนตัวอักษรไม่เท่ากันแล้วแต่ตัวกำหนดของแม่บท ซึ่งก็คือทำนองของเพลงนั้น ๆ ดังนั้น สือ มักจะมีชื่อที่ซ้ำกัน

หลังจากความรุ่งเรืองของ สือ ในราชวงศ์ซ่งแล้ว ภายหลังการทำลายล้างในตอนต้นของราชวงศ์หยวน คำประพันธ์ สือ ก็ตกต่ำลง หลายคนก็สันนิษฐานว่าเป็นเพราะ ชนชั้นสูงที่รู้และเข้าถึงทั้ง ฉันทลักษณ์ของ สือ และ ข้อบังคับต่าง ๆ ของดนตรีหายไป และความสนใจของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้เองก็นำมาซึ่ง คำประพันธ์ ฉู่ว์ ซึ่งโดยสรุปก็คือ การแต่งเนื้อร้องสำหรับการแสดงละคร

ซึ่งในสมัย หมิง ชิง ก็ไม่มีการคิดสร้างฟอร์มการประพันธ์ใหม่ขึ้นมา ดังนั้นที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นก็คงจะเพียงพออันดับหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจ


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 ก.ย. 06, 15:16
 หายไปนานนะ มนุษย์ปักกิ่ง

ขอบคุณท่านต่างๆ ข้างบนนี้ที่เอาบทกวีดังของหลี่ไป๋มาให้ระลึกชาติอีกทีครับ ผมเคยท่องบทกวีที่ว่า (ตอนนั้นเผอิญพลัดไกลไปต่างแดนเหมือนกันกับท่านกวีด้วย) แต่เวลาผ่านไปหลายปีจนเลือนๆ ซะแล้ว

ขออีกครับ ขออีก


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 11 ก.ย. 06, 09:24

.


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: น้ำใส ที่ 18 ก.ย. 06, 08:15

.


กระทู้: โคลงจีน
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 18 ก.ย. 06, 09:15
ส่งรูปมาร่วมอย่างเดียวได้มั้ยคะ ไม่ชำนาญงานกลอนเลย