เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 07, 20:59



กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 07, 20:59
เมื่อเอ่ยถึงนิราศเมืองเพชร    เรามักจะยึดพระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นหลักยืนพื้นไว้ก่อน    ถ้ามีการตีความหรือวิเคราะห์วิจารณ์ ก็เป็นไปในแนวที่สมเด็จฯ ทรงปูพื้นไว้
ตามนี้ค่ะ

"เรื่องประวัติสุนทรภู่ ตอนจะเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ นั้น  มีคำเล่ากันมาว่า  เมื่อคราวเกิดทิ้งบัตรสนเท่ห์กันชุกชุมใน พ.ศ. ๒๓๕๙ ที่กรมหมื่นศรีสุเรนทรต้องถูกชำระนั้น  สุนทรภู่ก็ถูกสงสัยว่าเป็นผู้แต่งหนังสือทิ้งด้วยคนหนึ่ง 
ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี  ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓  กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมื่อยังเป็นหนุ่มคะนองว่า  ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพชร  ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน
แล้วไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลัง  ซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพชรเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว  บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง"

 อีกตอนที่ทรงวินิจฉัย นิราศเมืองเพชร ก็คือ
"...สุนทรภู่ทูลรับอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปหาของต้องพระประสงค์ที่เมืองเพชรบุรี  แต่จะเป็นสิ่งใดหาปรากฏไม่ 
ได้แต่งนิราศเมืองเพชรบุรีอีกเรื่องหนึ่ง  เป็นนิราศสุดท้ายของสุนทรภู่  นับถือกันว่าแต่งดีถึงนิราศภูเขาทอง  อันเป็นอย่างยอดเยี่ยมในนิราศของสุนทรภู่ 
กล่าวความไว้ในกลอนข้างตอนต้นว่า

"อนาถหนาวคราวมาอาสาเสด็จ                 ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นหวาน
 ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ                           อธิษฐานถึงพระคุณกรุณา       
 ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ                ถึงต่างเขตของประสงค์ลงอาสา"

         เรื่องประวัติของสุนทรภู่ที่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้  ว่ามีบุตรน้อยไปด้วยคนหนึ่งชื่อนิล  ชะรอยจะเป็นลูกมีกับภรรยาที่ชื่อม่วง 
บุตรคนใหญ่ที่พัดนั้นก็ไปด้วย  ถึงตอนนี้เป็นหนุ่มแล้ว  แต่บุตรที่ชื่อตาบไม่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้ 
อนึ่ง ในเวลาเมื่อสุนทรภู่ไปเมืองเพชรบุรีคราวนี้  เป็นเวลาอยู่ตัวคนเดียวไม่มีภรรยา  ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในนิราศหลายแห่ง  มักจะว่าน่าฟัง  จะคัดมาพอเป็นตัวอย่าง

"ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม               คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
  จนไม่มีที่รักเป็นเป็นหลักแหล่ง                   ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
  โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย                        ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ"

อีกแห่งหนึ่งว่า
         "โอ้อกเอ๋ยเลยออกประตูป่า                      กำดัดดึกนึกน่าน้ำตาไหล
         จะเหลียวหลังสั่งสาราสุดาใด                     ก็จนใจด้วยไม่มีไมตรีตรึง
         ช่างเป็นไรไพร่ผู้ดีก็มิรู้                             ใครแลดูเราก็นึกรำลึกถึง
         จะปรับไหมได้หรือไม่อื้ออึง                      เป็นแต่พึ่งวาสนาพอพาใจ"

ตรงเมื่อถึงอ่าวยี่สาน  ว่าด้วยหอยจุ๊บแจง เอาคำเห่เด็กของเก่ามาแต่งเป็นกลอน  ก็ว่าดี

         "โอ้เอ็นดูหนูน้อยร้องหอยเหาะ                  ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา   
         ล้วนจุ๊บแจงแผงฤทธิ์เขาปลิดมา                 กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
         จุ๊บแจงเอ๋ยเผยฝาหาข้าวเปียก                   แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
         ทั้งช้างงวงช้างงาออกมากิน                      ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
        เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น                        มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย
        เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย                    โอ้นึกอายจุ๊บแจงแกล้งสำออย
        เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา                        แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย
        เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย              จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก"


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 07, 21:05
ในกระทู้นี้  ดิฉันจะลองอ่านและตีความนิราศเมืองเพชรใหม่   โดยไม่ยึดพระวินิจฉัยดังกล่าวเป็นหลัก   เพื่อจะดูว่า เราอาจมองเห็นอะไรที่แตกต่าง หรือไม่มีในพระวินิจฉัยดังกล่าวได้บ้าง
เพราะฉะนั้น จะเริ่มต้นโดยสมมุติว่า เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนแต่งนิราศเรื่องนี้   อ่านจากเนื้อหาล้วนๆ

ในรัชกาลที่ ๓ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๓ มีขุนนางวัยกลางคนคนหนึ่ง  พร้อมด้วยลูกชายวัยหนุ่มถึงวัยมีเมียได้แล้ว    เดินทางจากกรุงเทพไปธุระที่เพชรบุรี  มีผู้ร่วมทางลงเรือไปด้วยหลายคน 
ธุระนั้น บอกไว้ในนิราศว่า อาสาเจ้านายที่ขุนนางผู้นั้นสังกัดอยู่ ไปมอบหมายธุระบางอย่างให้ขุนนางที่เพชรบุรีช่วยดำเนินการให้  ท่านขุนนางตัวเอกในเรื่องทำหน้าที่คล้ายๆเมสเซนเจอร์ เท่านั้น   เป็นลักษณะคล้ายคลึงกับการไปอ.แกลง จ.ระยอง ใน"นิราศเมืองแกลง"
   
จากราชาศัพท์ที่ใช้เพียงเบาบาง   ทำให้คิดว่าเจ้านายองค์นี้อย่างมากก็พระองค์เจ้า   ไม่สูงถึงพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าฟ้า

อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ           ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ                  อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ       ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
ถ้าหากว่าเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ท่านขุนนางคงไม่อาจเอื้อมเรียกว่า "เพียงชนกที่ปกเกศ"
ยิ่งกว่านี้  นอกจากคำว่า "เสด็จ" ในบทนี้ไม่มีราชาศัพท์อีกเลย

ในการเดินทางมีผู้ติดตามไปหลายคน เรียกว่า"ศิษย์" ก็ดูอุ่นหนาฝาคั่งดี  แสดงว่าบารมีของท่านขุนนางว่าจะมีคนนับถือพอสมควรทีเดียว


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 07, 21:09
ราชาศัพท์ที่ใช้กับเจ้านาย ในนิราศเมืองเพชร  เมื่อเทียบกับนิราศภูเขาทอง  จะเห็นได้ว่าแตกต่างกัน
ในนิราศภูเขาทอง ระบุจากศัพท์ชัดเจนให้รู้ว่าเป็นเจ้านายชั้นสูงสุด ระดับพระเจ้าแผ่นดิน      เจ้านายระดับในกรมไม่มีสิทธิ์ถูกเรียกถึงขั้นนี้

ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด                 คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร       แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น

ถ้าเทียบกับนิราศเมืองเพชรแล้ว  เจ้านายในนิราศเมืองเพชร  ผู้แต่งใช้ราชาศัพท์น้อยกว่า




กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 05 ก.ค. 07, 01:50
         ดูจากคำวิเคราะห์ของอาจารย์เทาชมพูก็ยังไม่ชัดเจนครับ  นิราศเมืองเพชรที่เชื่อกันว่าเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายที่ท่านแต่ง  มีคำกล่าวอ้างถึงเจ้านายอย่างชัดเจนเพียงบทเดียวเท่านั้น
                                                              โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย
ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย                     พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน
อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ                           ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ                                อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ                      ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
จึงจดหมายรายทางกลางคงคา                       แต่นาวาเลี้ยวล่องเข้าคลองน้อยฯ

อาสาเสด็จ  ในที่นี่จะคิดไปได้ไหมครับว่า  เป็นคำเรียกสั้นๆที่นิยมเรียกเจ้านายชั้นสูง  เช่น  "เสด็จในกรมฯ"  อย่างเรื่องสี่แผ่นดิน  ที่ชุบเลี้ยงแม่พลอยก็เห็นเรียกกันว่า"เสด็จ"

     ที่ท่านอาจารย์ว่าประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๓   พร้อมลูกชายวัยหนุ่ม (คงหมายถึงหนูพัด+หนูนิล)  เดินทางจากกรุงเทพไปธุระที่เพชรบุรี  นั้น  ผมเกรงว่าไม่น่าจะใช่ครับเพราะปี ๒๓๗๓  น่าจะเป็นปีที่ท่านบวชแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้ง  เป็นพระที่อยู่ใความอุปัฏฐากจากเจ้าฟ้าปิ๋วและเจ้าฟ้ากลาง  และได้ลาสิกขาบทหลังจากจำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม ๓ ปี  ในปี พ.ศ.๒๓๘๕  ต่อจากนั้นท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ ที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ซึ่งตอนนี้ท่านน่าจะอายุ  ๕๕-๕๖ ปี แล้ว  ในช่วงนี้น่าเป็นช่วงที่ท่านแต่งนิราศพระประธม  นิราศเมืองเพชร  แม้แต่เรื่องพระอภัยมณี  ที่แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  คือแต่งต่อจากของเดิม
ที่ท่านจะเรียกว่า "เสด็จ"  เป็นไปได้ไหมที่จะหมายถึงพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ                ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
ผู้ที่ชุบเลี้ยงท่านหลังจากลาสิกขาบทก็เห็นจะมี แต่พระเจ้าน้องยาเธอฯ พระองค์เดียวเท่านั้น  ที่เป็นเจ้านายฝ่ายชายที่เปรียบดังพ่อ  อันนี้ผมอาจจะวิเคราะห์ผิดก็ได้  พอดีไปเที่ยววัดเทพธิดารามมา  เห็นข้อความของอาจารย์เทาชมพู  เลยขออนุญาตร่วมคิดด้วยครับ

           นิราศเมืองเพชรผมชอบตอนนี้ที่สุด  พอไปเที่ยวเขาหลวงทีไรนึกถึงบทนี้ทุกที

ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ                      รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย                ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง                  เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง               ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ ......... :)


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 07, 08:03
มีเหตุผลที่จะคิดว่านิราศเรื่องนี้แต่งประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๓หรือใกล้ๆปีนี้   ค่ะ จะกล่าวในตอนต่อไป
เพื่อให้มาช่วยคิดกันว่าข้อสันนิษฐานของดิฉัน มีอะไรผิดพลาดไปบ้างได้ไหม
ดิฉันกำลังนึกอยู่เหมือนกันว่า "อาสาเสด็จ" ในที่นี้  หมายถึงเจ้านายชั้น "เสด็จในกรม" หรือเปล่า 
ถ้าใช่  เจ้านายของผู้แต่งก็เป็นพระองค์เจ้า  ไม่ใช่เจ้าฟ้า   
เจ้าฟ้าโดยกำเนิดอย่างเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯ หรือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ชาววังไม่เรียกท่านว่า "เสด็จ" แต่เรียกว่า ทูลกระหม่อม   
สมัยรัชกาลที่ ๓ พระนามลำลองคือ  ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย คู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎ ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่   ถ้าใครไปเรียกว่า "เสด็จ" ก็เท่ากับลดพระยศลงไปหนึ่งชั้น  ขุนนางชาววังไม่มีวันเรียกผิดพลาด 



กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 07, 08:32
ย้อนไปถึงพระนิพนํธ์สมเด็จกรมดำรงฯ เรื่องสุนทรภู่   หลายครั้งทรงใช้คำว่า " ฟังคำเขาเล่าว่า"
ก็หมายความว่า ในปลายรัชกาลที่ ๕ หรือต่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงรวมรวมเรื่องสุนทรภู่   
๑)ทรงเอาคำบอกเล่าของคนที่ทันรู้จัก หรือรู้เรื่องประวัติสุนทรภู่  เป็นตัวตั้ง
๒) เอาเนื้อความในนิราศเป็นตัวเสริม

คำบอกเล่าจากหลายคน หลายวาระ คงกะท่อนกะแท่นไม่รวมเป็นเรื่องเดียวกัน     จึงทรง"เชื่อม" เข้าติดกันเป็นเรื่องเดียว  อาศัยความในนิราศช่วยเป็นน้ำหนัก

ส่วนคุณPipat ซึ่งเล่นอยู่ในเรือนไทย   วิเคราะห์เรื่องนิราศของสุนทรภู่ โดยหาจากหลักฐานอื่นเช่นจากพระนิพนธ์สมเด็จกรมนริศฯ  จากของนายกุหลาบ    ส.ธรรมยศ และอื่นๆที่แทรกปะปนอยู่เป็นหลักฐานเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้าง
ที่สำคัญคือตรวจสอบจากเนื้อความในนิราศ ดูความจริงที่แทรกอยู่ระหว่างบทกลอน  ดูพ.ศ. ดูเหตุการณ์
ซึ่งไม่มีใครเขาทำกันมาก่อน
ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจ   จึงเอานิราศเมืองเพชรมาอ่านเสียใหม่   ตีโจทย์ที่อยู่ในนิราศ ว่าเราพอมองเห็นอะไรเกี่ยวกับผู้แต่งบ้าง
จึงเป็นที่มา ให้เกิดกระทู้นี้ขึ้น

ย้อนกลับมาอีกที   เรารู้อะไรเกี่ยวกับกวีผู้แต่งนิราศเมืองเพชรบ้าง
๑  เป็นคฤหัสถ์ หรือผู้ครองเรือน ธรรมดาๆนี่เอง  ไม่ได้อยู่ในเพศบรรพชิต หรือกำลังบวชเป็นพระอย่างที่อ.ล้อม เพ็งแก้ว วิเคราะห์ไว้
เพราะ พฤติกรรมหลายอย่างที่บอกไว้เกี่ยวกับตัวเอง เป็นลักษณะของผู้ครองเรือน มีการเกี่ยวข้องกับสตรี  และรำพึงรำพันถึงสตรีหลายรายที่เคยรักใคร่หรืออยู่กินด้วยกัน
ไม่ใช่สิ่งที่พระสงฆ์พึงเอ่ยถึง  โดยเฉพาะเมื่อนิราศเรื่องนี้ระบุไว้ตอนท้ายว่า มีไว้ให้หลายคนอ่าน   ก็แสดงว่าเป็นเรื่องเปิดเผย  ไม่ใช่เก็บซุกซ่อนไว้อ่านคนเดียว   ถ้าเป็นพระ เขียนแบบนี้ให้ชาวบ้านอ่าน คงจะถูกติฉินนินทาหรือไม่ก็เสื่อมเสียผ้าเหลืองไปแล้ว
ตัวท่านขุนนางกวี  บอกอะไรเกี่ยวกับตัวบ้าง พอถอดรหัสได้ไม่มากนัก
๑) ถ้าถามว่ามีเมียอยู่ทางบ้านไหม  มี     สามีออกหัวเมืองก็เอาแพรห่มอบร่ำของเธอมาห่มด้วย   กวีเอ่ยไว้ว่า
                                             เหลือแต่ผืนผ้าแพรของแม่น้อง 
ได้กันลมห่มหนาวเมื่อเช้าตรู่
แต่คงจะกำลังงอนอะไรกันสักอย่าง ทำให้ไม่ได้อยู่ด้วยกันตอนนั้น แต่คงไม่นานนัก เพราะแพรห่มยังหอมกลิ่นอบร่ำอยู่   ถ้าเลิกกันไปนานหลายปี  กลิ่นคงไม่เหลืออีกแล้ว
แพรห่มผืนนี้ กวีบอกว่า "ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน" ก็เลยนำไปถวายห่มพระพุทธรูปเมื่อถึงเพชรบุรี   แต่ฝ่ายชายไม่ได้โกรธฝ่ายหญิง  จึงอธิษฐานในทำนองง้องอน  ว่ายังรักยังอยากเจอกันอยู่
 
ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม             ได้คลี่ห่มหุ้มอุระพระประธาน
อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง                 ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน
มาห่มพระจะให้ผลดลบันดาล        ได้พบพานภายหน้าสถาพร

๒) ท่านขุนนางกวีสมัยเป็นหนุ่ม   มีแฟนหลายคน   แต่แล้วก็เลิกร้างลากันไปหมด   ท่านชอบรำพันถึงแต่สาวที่หลุดมือไปเท่านั้น
                                             มาถึงคลองบางลำเจียกสำเหนียกนาม
ลำเจียกเอ๋ยเคยชื่นระรื่นรส          ต้องจำอดออมระอาด้วยหนาหนาม
ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม   คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง           ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย           ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ

แม้นเดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว        ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้หนักหนา

แปลว่าถูกผู้หญิงตีจาก อาจจะมากกว่าหนึ่งคน   ในยุค ๒๐๐ ปีก่อนที่ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง   ผู้หญิงทิ้ง  ก็คงแปลว่าเธอเหลืออดจริงๆ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 07, 08:37
๓) ท่านขุนนาง มีลูกชายหนุ่มถึงวัยแต่งงานได้แล้ว  แต่ยังไม่ได้แต่ง  พ่อก็มองๆหาลูกสะใภ้ให้อยู่   พ่อยังเรียกลูกชายว่า "หนู" ทั้งที่ความจริงโตเป็นหนุ่มเต็มตัวเกินกว่าใครจะเรียกว่าหนูได้แล้ว   เจ้าชู้เสียด้วย  คงจะเชื้อไม่ทิ้งแถว

๔) ท่านขุนนาง ตอนหนุ่มๆ เคยได้ดีกว่าตอนแก่    ถึงตำแหน่งปัจจุบันก็ไม่เลวนัก ยังไงก็ยังรับราชการกับเจ้านาย เรียกว่ามีพระยาเลี้ยง   แต่ก็ อดรู้สึกน้อยใจไม่ได้ว่าครั้งหนึ่งเคยรุ่งกว่านี้

เดิมเป็นป่ามาเป็นวังตั้งประทับ      แล้วก็กลับไปเป็นป่าไม่ฝ่าฝืน
เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน           นึกสะอื้นอายใจมาในเรือฯ

๕)ขอปักหมุดเวลาที่เจอ   เรื่องนี้แต่งหลังจากศึกเจ้าอนุวงศ์ในรัชกาลที่ ๓     เพราะเพื่อนเก่าชื่อขุนแพ่งไปตายตอนศึกลาว    ทิ้งเมียและบ้านช่องให้หม่นหมองทรุดโทรม  ไม่คึกคักเหมือนสมัยขุนแพ่งยังอยู่

กลอนตรงนี้(มั้ง)ที่ทำให้อ.ล้อมคิดว่าคนแต่งเป็นพระ

โอ้คิดคุณขุนแพ่งเสียแรงรัก   ไม่พบพักตร์พลอยพาน้ำตาไหล
ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป    ให้ท่านได้สู่สวรรค์ชั้นวิมานฯ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 05 ก.ค. 07, 12:39
กาพย์กลอนไทยธำรงคงคุณค่า
จากศิลาจารึกบันทึุกสมัย
สะท้อนรสบทกลอนสะท้อนใจ
สะท้อนความเป็นไทยไปนิรันดร์
สะท้อนแก้วแววกลอนสุนทรภู่
พระคุณครูศักดิ์สิทธิ์คิดสร้างสรรค์
ครูสร้างคำแปดคำให้สำคัญ
อภิวันบูชาบิดากลอน
สองร้อยปีบรรจบครบถ้วนทั่ว
ถึงลับตัวแต่ชื่อลือกระฉ่อน
ทรงศักดิ์ศรีกวีไทยให้กำจร
เป็นอาภรณ์แก่แผ่นดินถิ่นไทยเอย
....เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์...
     ครับที่จริงก็สับสนอยู่ที่ท่านอาจารย์ล้อมวิเคราะห์ไว้แบบนั้น  และยังคิดว่าท่านน่าจะมีเชื้อสายพี่น้องเป็นคนเมืองเพชรอีกด้วย  แต่เท่าที่ดูหนังสือทุกเล่มจะกล่าวว่าท่านรับอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไปทำธุระที่เมืองเพชร  จึงได้แต่งนิราศเมืองเพชรขึ้น แม้แต่หนังสือที่ผมกำลังถืออยู่ในมือขณะนี้  ชื่อ "เพชรของสุนทรภู่"  โดย ตรีรัตน์ รมณีย์  จัดพิมพ์โดยแพร่พิทยา  แต่ตามเนื้อความในนิราศที่ขึ้นต้น  แน่นอนท่านต้องอาสาเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง  แต่จะเป็นท่านใดก็คงต้องวิเคราะห์ดูก่อนว่า  น่าจะแต่งขึ้นประมาณพ.ศ.ใด  ถ้าเป็ฯช่วงที่หนูพัดโตเป็นหนุ่มแล้ว  ท่านก็น่าจะเกินวัย ๕๐ ปี  ถ้าอยู่ในเพศบรรพชิตก็ไม่น่าจะรำพันถึงสีกาแบบไม่สำรวมอย่างท่านอารย์เทาชมพูว่า  ควรจะเป็ฯหลังจากลาสิกขาบทมาแล้ว  แต่ผมติดใจในบาทที่ว่า

@ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ       ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา

         ผู้ที่ชุบเลี้ยงท่าน  ต้องสำคัญดั่งให้ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าตอนที่ไม่มีที่อยู่  แม้แต่วัดก็อยู่ลำบากดั่งบทกลอนท่อนหนึ่งที่ว่า

ต้องขัดเคืองเรื่องราวด้วยคราวเคราะห์
จวบจำเพาะสุริยาถึงราหู
ทั้งบ้านทั้งวัดเป็นศัตรู
แม้นขืนอยู่ยากเย็นจะเห็นใคร

        และบทที่ว่า

เมื่อยากไร้กายเราก็เท่านี้
ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย

       ธรรมดาคนเราคงเคยสบาย  เคยมีชีวิตอยู่รับราชการเป็นที่พอพระราชหฤทัย  เมื่อตกต่ำ(และในประวัติว่าติดสุราด้วย)  ผู้ที่ให้ที่พึ่งและท่านเปรียบดังชนกหรือพ่อ  ที่ได้อาสารับเอาธุระท่านมาที่เมืองเพชร  คิดยังไงที่แรกผมก็คิดว่าน่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  พอมาได้ข้อคิดจากท่านอาจารย์เทาชมพู  ที่ว่าถ้าท่านใช้คำว่า "เพียงขนกที่ปกเกศ"  กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  เป็นการไม่เหมาะ  น่าจะเป็นเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง  อย่างสูงน่าจะระดับพระองค์เจ้า  ถ้าในช่วงปลายชีวิตท่านไม่รู้ว่าจะมีเจ้านายพระองค์ใดอีกที่ได้ชุบเลี้ยงท่าน  แต่ถ้าแต่งประมาณ  ๒๓๗๓   ก็น่าคิดต่อครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ก.ค. 07, 13:27
เรื่องสุนทรภู่ขี้เมาผมอยากให้วางไว้ก่อนครับ

ต้นเรื่องมาจากคำบอกเล่าที่ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันสักอย่างเดียว ในขณะที่ในบทประพันธ์ของสุนทรภู่ ส่วนที่ยกเอามาประกอบว่าสุนทรภู่เป็นกวีขี้เมา ถ้าไม่บอกก่อนว่าท่านเป็นกวีขี้เมา อ่านแล้วก็ไม่เห็นว่าจะสรุปว่าท่านเป็นขี้เมาได้อย่างไร

เรื่องของสุนทรภู่ที่เชื่อถือกันอยู่ในปัจจุบัน จะอิงตามพระนิพนธ์สมเด็จดำรงฯอย่างที่อาจารย์เทาชมพูว่าไว้ครับ เราๆท่านๆอ่านกันแล้วอยากให้คิดอย่างที่สมเด็จดำรงฯท่านทรงว่าไว้ว่าท่านเองทรงศึกษาจากข้อมูลเท่าที่มี หากเรามีหลักฐานอื่นต้องศึกษาก้าวหน้าต่อไป อย่าได้ยึดติดกับพระนิพนธ์ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 07, 17:22
ถ้าจะไม่ให้สับสน  ต้องวางนิราศเรื่องอื่นไว้ก่อน   รวมทั้งประวัติของสุนทรภู่เท่าที่รู้กันมาด้วย
ทุกคนที่อ้างประวัติสุนทรภู่ ก็อ้างจากพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   ไม่เคยมีใครไปค้นคว้าข้อมูลจากที่อื่น 
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสืบค้นและสันนิษฐานไว้เท่าที่ทรงทำได้  เท่ากับเป็นการรักษาเรื่องราวไว้มิให้สูญหายไป   แต่ก็มิได้ทรงยุติในเรื่องนี้ และไม่ได้ห้ามด้วยถ้าคนไทยรุ่นหลังจะขยายความ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ทรงเริ่มต้นไว้

ดิฉันอ่านนิราศเมืองเพชรอย่างเดียวแบบเชอร์ล็อคโฮล์มส์อ่าน  คือทำความรู้จักกับคนแต่งว่าท่านผู้นี้ได้กล่าวถึงตัวเองไว้มากน้อยแค่ไหน  เราพอจะแกะรอยเพื่อทำความรู้จักอะไรจากประวัติท่านได้บ้าง
แล้วอาจจะพอมองเห็นภาพคนแต่งได้ชัดเจนขึ้นกว่าที่เคยเห็นกันมาก่อน
ดิฉันคิดว่ากวีขุนนางผู้นี้ อายุสัก ๔๐ กว่าๆเท่านั้น ยังไม่น่าจะถึง ๕๐ ด้วยซ้ำ  เอ่ยถึงสาวๆยังกระชุ่มกระชวยอยู่เยอะ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 07, 18:57
ความเชื่อก่อนหน้านี้คือนิราศเมืองเพชร เป็นการไปเมืองเพชรบุรีครั้งที่ ๒ของผู้แต่ง เพราะมีการเล่าถึงเรื่องและผู้คนในอดีตอยู่หลายตอน
แต่ถ้าอ่านถึงตอนเอ่ยถึงขุนแพ่ง เพื่อนเก่าที่ล่วงลับไปแล้ว  ก็จะพบว่า ท่านขุนนางกวีต้องเคยเห็นเมืองเพชรอย่างน้อย ๓ ครั้ง  เผลอๆจะมากกว่านั้นอีก

ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง          มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาศัย
ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย                 ไม่มีใครครอบครองจึ่งหมองมัว
แสนสงสารท่านผู้หญิงมิ่งเมียหลวง             เฝ้าข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว                  พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์               ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม                 เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเซียบสำเนียง
โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้                    ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
ทั้งหญิงชายฝ่ายเพื่อนริมเรือนเรียง              เคยพร้อมเพรียงเพรางายสบายใจ

เราอ่านอะไรได้บ้างจากคำบอกเล่าเรื่องนี้

๑)โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้       ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
แปลว่าเคยมาพักตอนขุนแพ่งยังมีชีวิตอยู่   ถึงได้ฟังวงปี่พาทย์ของเจ้าของบ้าน เพราะพริ้ง ครึกครื้นสนุกสนาน    ก็ตัวเจ้าของบ้านยังอยู่ มีบุญบารมีพร้อม เพื่อนบ้านก็ไปมาหาสู่กันคึกคักตั้งแต่เช้า(เพรางาย=เวลาเช้า)
นี่คือครั้งหนึ่ง

๒)ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย   
ต่อมาขุนแพ่งก็ตายในศึกเจ้าอนุวงศ์ รัชกาลที่ ๓    ท่านขุนนางกวี เมื่อมาเรือนเยือนศพ   แปลว่ามาครั้งที่สอง มาไหว้ศพขุนแพ่ง     ก็เจอหน้าคุณนายแพ่ง  เห็นหน้าตา "ไม่หมองนัก" 

๓)แต่มา "คราวนี้" คือตอนที่เล่าในนิราศ  รูปช่างซูบผอม   เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม        เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเชียบสำเนียง
 มาคราวก่อน   คุณนายยังไม่ทรุดโทรมเท่าไร   แต่มาอีกที ครั้งที่สาม  คุณนายซูบผอมตรอมใจดูแก่ลงไปมาก   ในบ้านเหลือแต่ผู้หญิง  ก็เงียบเหงาเศร้าหมองกันไปทั้งบ้าน เพราะขาดประมุขของบ้านไปเสียแล้ว       


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 08:10
ต่อไปนี้ จะพูดถึงขุนแพ่ง ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของนิราศเมืองเพชร   
มรณกรรมของขุนแพ่งใน"ศึกลาว" ทำให้เกิดการค้นคว้าและตีความถึงปีที่กวีไปเยือนเพชรบุรีได้ ว่าเป็นในรัชกาลที่ ๓ ไม่ใช่รัชกาลที่ ๔

นอกจากนี้ เมื่อนึกว่า กว่าท่านขุนนางกวีจะสนิทกับขุนแพ่งได้  ก็ย่อมจะเจอกันมาก่อน  ถึงได้รับคำเชิญมาแวะค้างคืนที่บ้าน  ฟังปี่พาทย์กันครึกครื้น   ก็คงเคยมาเพชรบุรีกันก่อนหน้านี้ถึงมาทำความรู้จักกันได้
แสดงว่าเคยเห็นเพชรบุรีมาไม่ต่ำกว่า ๔ ครั้ง

ต่อไปคือปีที่ขุนแพ่งตาย
ศึกลาว  เชื่อว่าหมายถึงกบฎเจ้าอนุวงศ์  เพราะยังนึกไม่ออกว่ามีศึกเชียงใหม่ในรัชกาลนี้ 
ถ้าใช่ศึกเจ้าอนุวงศ์    ขุนแพ่งก็ตายเมื่อพ.ศ. 2369  ในรัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคต  พ.ศ. 2394 
ระยะเวลาห่างกัน 25 ปี 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ครองราชย์ 2394-2411  ส่วนสมเด็จพระปิ่นเกล้าครองวังหน้าอยู่ตั้งแต่ 2394-2408

ถ้าหากเชื่อว่าท่านกวีขุนนางแต่งนิราศเมืองเพชรในรัชกาลที่  ๔  ก็ต้องบวกเวลาจาก 25 ปีของการสิ้นรัชกาลที่ 3 เข้าไปอีก  ได้ถึง 15 ปี กรณีท่านเป็นขุนนางวังหน้า และ 17 ปีกรณีเป็นขุนนางวังหลวง

ที่บวกนี้บวกเพื่ออะไร เพื่อดูว่าคุณนายแพ่ง เมียน้อยจนแม่ครัว คร่ำครวญถึงท่านขุนมาแล้วอย่างน้อยก็ 25 ปีเชียวหรือ   กว่าท่านขุนนางกวีจะนั่งเรือไปหาในครั้งที่สาม   
หรือบวกกันให้สุดๆก็ต้องเอา 17 หรือ 15 บวกเข้าไปอีก  ว่าคร่ำครวญกันเกือบ 40 ปี เรื่องสามีตายจากไป 

สรุปอีกที  ขุนแพ่งตายไปเมื่อ 2369 กว่าท่านขุนนางกวีจะนั่งเรือไปเยี่ยมบ้านเก่าในรัชกาลที่ 4  เวลาผ่านมาอย่างน้อย 25 ปี หรือนานกว่านั้น ยังร้องไห้กันไม่หยุด 
ตัวเลขมันไม่ลงตัวเอาเลยนี่คะ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 08:13
เมื่อมันไม่ลงตัว  ก็ต้องหวนกลับไปหาหลักฐานอื่นประกอบ  ในที่นี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าดูคุณนายแพ่ง  ว่าเธออายุต่างกันเท่าไรในคราวที่สองและสาม

เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์               ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม                เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเชียบสำเนียง

ท่านขุนนางกวีเห็นว่าคุณนายในคราวที่สามนี้ "เหมือนแก่งอม"   แสดงว่าคุณนายยังไม่แก่ แต่ดูเหมือนคนแก่เพราะความตรอมใจ      ถ้าหากว่าคุณนายแก่จริงก็จะไม่มีคำว่า "เหมือน"   แต่บอกว่าแก่กันตรงๆ   เช่น "ดูแก่งอมหงิมเงียบเชียบสำเนียง"

ถ้านิราศแต่งในปลายรัชกาลที่ ๓ หรือต้นรัชกาลที่ ๔  สามีต้องตายมาประมาณ ๒๐- ๒๕ ปี ยังไง คุณนายก็ต้องแก่     
ถ้ายังไม่แก่แสดงว่าระยะเวลาที่สามีตายจนถึงครั้งท่านขุนนางกวีไปเยี่ยม   ยังแค่ไม่กี่ปี     คนในบ้านจึงยังเศร้าโศกกันอยู่     ถ้าเป็นจริงใครมันจะร้องไห้  "ข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว" คือตีอกชกหัวคร่ำครวญอยู่ได้  ตั้ง ๒๐-๒๕ ปี ตั้งแต่สาวจนแก่


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 08:19
เมื่อเสนอความคิดในเรื่องนี้ครั้งแรก  คุณ pipat บอกว่า ศึกเจ้าอนุวงศ์ กินเวลา 2369-2371
ถ้างั้นก็มาดูกันใหม่ ว่า
ขุนแพ่งตายปี 2369-71 ปีใดปีหนึ่ง     อาจจะบาดเจ็บสาหัสจากศึก หามกลับมาตายที่บ้าน  เพราะกล่าวถึงการตั้งศพที่บ้าน   ถ้าตายในสนามรบคงกลับมาได้แต่อัฐิหรือกระดูกเท่านั้น
พอตั้งศพที่บ้าน  ท่านขุนนางกวีได้ข่าวก็รีบมาเยี่ยมศพในปีนั้น    เจอคุณนายแม้เศร้าโศก  ก็ยังอวบอ้วนเป็นน้ำเป็นนวลดีอยู่   
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์              ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม


เจ้านายใช้มาอีกหน  พ.ศ.  2373   ห่างจากคราวก่อนเล็กน้อย  แค่สองสามปี  ระยะเวลาแค่นี้เมียและบริวารยังไม่หายเศร้าโศก   เป็นไปได้
คุณนายซึ่งโดยอายุ ยังไม่แก่   แต่ผ่ายผอมตรอมใจ  เลยแก่เฮือกลงไปถนัดใจเหมือนคนแก่หง่อม   พูดถึงผัวก็ยังตีอกชกหัวอยู่     ถ้าผัวตายยาวนาน 12-13 ปีคงไม่ฟูมฟายขนาดนั้น
ลักษณะปริเวทนาการของคุณนายและผู้หญิงในบ้านบอกให้รู้ว่าเป็นความทุกข์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานปี

จึงคิดว่า นิราศเมืองเพชรแต่งปีขาล  2373  ในรัชกาลที่ 3 
ไม่ใช่ปีขาล 2385   
และไม่ใช่ปีขาล 2397 ในรัชกาลที่ 4

ขุนนางกวีในรัชกาลที่ 3 มีเจ้านายคุ้มหัว   ตำแหน่งการงานก็มั่นคงดี  มีลูกศิษย์ลูกหาตามไปด้วยในเรือ   แสดงว่าฐานะความเป็นอยู่ก็มีหน้ามีตา ไม่อาภัพ 
เที่ยวแวะเวียนไปหาขุนนางเมืองเพชรได้ ไม่มีท่าทีกระดากกระเดื่องอย่างในนิราศภูเขาทอง
ชีวิตสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านก็ไม่ลำบากอย่างในตำนาน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 08:23
สรุปอะไรได้บ้างจากเนื้อความใน นิราศเมืองเพชร
คำตอบ -
๑) คนแต่งเป็นขุนนาง ไม่ใช่พระ  มีเจ้านายที่ตัวเองสังกัดอยู่ ซึ่งไม่ใช่พระมหากษัตริย์
๒) อายุวัยกลางคน     มีลูกชายเป็นหนุ่มวัยมีเมียได้แล้ว  พ่อย่อมอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี
๓) เดินทางโดยมีผู้ติดตาม ที่เรียกว่า "ศิษย์" หลายคน  ชวนให้เกิดคำถามว่า "ขุนนางประเภทไหน หรือหน้าที่การงานแบบไหน มีศิษย์บ้าง" คะ
๔) มีความหลังผูกพันกับเมืองเพชรอย่างคนคุ้นเคย  เที่ยวแวะเยี่ยมใครต่อใครหลายบ้านล้วนแต่ขุนนางและผู้ดีจากเมืองหลวง  แสดงว่าท่านขุนนางกวี มีตำแหน่งปัจจุบันกว้างขวางไม่เบา

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังถอดรหัสไม่ได้คือท่านขุนนางกวีเคยเล่าว่าตัวเอง"บ้า" อยู่ที่เมืองเพชรในครั้งก่อน   
"บ้า" ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเสียจริต  แต่ได้กระทำอะไรบางอย่างที่เหลวไหลหรือไม่สมควรทำ      ยังอธิบายไม่ได้ว่าอะไร คงไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ไม่งั้นคงไม่อ้างถึงอย่างเปิดเผย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ก.ค. 07, 11:26
เรื่องศึกลาว ผมเพิ่งจะนึกได้ว่ามีอีกศึกหนึ่งที่เป็นไปได้ครับคือศึกเชียงตุง

สำคัญอยู่ที่ว่า สยามเรียกเชียงตุงว่าเป็นลาวหรือไม่?

มีพระราชหัตถเลขาร.๔ เรียก(คน)เชียงตุงว่า "ลาวเชียงตุง" ในลิงก์นี้ครับ
http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/king/rama4/letter41.html (http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/king/rama4/letter41.html)

ศึกเชียงตุงมีสองครั้ง ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๓ ราวปี ๒๓๙๒ อีกครั้งหนึ่งเป็นช่วงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ปี ๒๓๙๕-๒๓๙๖

เรื่องปีจาก "ศึกลาว" นี้ดูท่าจะยังใช้ปักหมุดเวลาไม่ได้ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 12:43
ไม่ได้นึกถึงศึกเชียงตุงเอาเลย  นึกถึงแค่เชียงใหม่   
ครั้งแรกหรือเปล่าคะ ที่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์(สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)ไปรบ แต่ว่าคราวนั้นกลับมาแบบเอาชนะไม่ได้
ถ้าหากว่า"ศึกลาว" ที่เอ่ยในนิราศเมืองเพชร  เป็นศึกเชียงตุง    เกิดคำถามตามมาอีกหลายข้อ
๑)การไปรบที่เชียงตุง  เกณฑ์ทัพส่วนหนึ่งจากเพชรบุรี ขึ้นไปถึงโน่นเทียวหรือ ขุนแพ่งถึงต้องไปรบด้วย
๒) หากว่าขุนแพ่งไปศึกที่เชียงตุง ได้รับบาดเจ็บ กลับมาตายที่บ้าน (เพราะเอ่ยถึงการตั้งศพที่บ้าน) ใช้เวลาเดินทางเท่าไรสำหรับคนป่วย
๓) ถ้าเป็นศึกลาวเจ้าอนุวงศ์  เส้นทางจากโคราชมาเมืองเพชร  กับเส้นทางเชียงตุงมาเมืองเพชร เส้นไหนสั้นกว่ากัน  พอที่ทหารบาดเจ็บจะกลับมาตายที่บ้านได้  ไม่ตายเสียกลางทาง


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ก.ค. 07, 13:47
เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ไปรบศึกญวนไม่ได้ไปศึกเชียงตุงครับ

กลับมาต่อเรื่องศึกเชียงตุง ผมขอคัดความบางส่วนจากในคำนำของประชุมพงศาวดารภาคที่ ๙ ดังนี้ครับ


เหตุที่จะได้เรื่องพงษาวดารเมืองเชียงรุ้งที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้นั้น  เดิมพวกเจ้าเมืองเชียงรุ้งแย่งกันเปนใหญ่  จีนอุดหนุนฝ่าย ๑  พม่าอุดหนุนฝ่าย ๑  พวกเชียงรุ้งเกิดรบราฆ่าฟันกัน  บ้านเมืองไม่เปนปรกติมาหลายปี ทีหลังพม่ามาเบียดเบียน เจ้านายเมืองเชียงรุ้งจึงอพยพเข้ามาขออาไศรยในพระราชอาณาจักรเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ อุปราชามาอาไศรยเมืองหลวงพระบางพวก ๑   มหาไชยมาอาไศรยเมืองน่านพวก ๑  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รับลงมากรุงเทพ ฯ ทั้ง  ๒  คน ไต่ถามได้ความว่า เมืองเชียงรุ้งสมัคจะเปนข้าขอบขัณฑสิมา ขอพระบารมีเปนที่พึ่งต่อไป ทรงพระราชดำริห์ว่า พม่ามีอำนาจที่เมืองเชียงรุ้งก็เพราะได้กำลังเมืองเชียงตุง  ซึ่งอยู่ต่อติดกับเมืองเชียงรุ้งทางด้านตวันตก ถ้าตัดกำลังเมืองเชียงตุงเสียแล้ว  พม่าก็จะทำไมแก่เมืองเชียงรุ้งไม่ได้ เวลานั้นเมืองเชียงตุงมีเหตุเปนอริอยู่กับเมืองเชียงใหม่ด้วย จึงดำรัสสั่งให้มีตราเกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ให้พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่เปนแม่ทัพยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๓๙๒  ตีหัวเมืองรายทางเข้าไปได้จนถึงชานเมืองเชียงตุง  แต่กองทัพไม่พรักพร้อมกัน  แลไปขัดสนเสบียงอาหารจึงต้องถอยทัพกลับมา  ยังมิทันที่จะได้จัดการเรื่องเมืองเชียงรุ้งต่อไปประการใด  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต   อุปราชาแลมหาไชยยังค้างอยู่ในกรุงเทพ ฯ จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้เสนาบดีปฤกษาการเรื่องเมืองเชียงรุ้ง ว่าจะควรทำอย่างไรต่อไป เสนาบดีปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า  กองทัพเมืองเชียงใหม่ยกขึ้นไปก็เกือบจะได้เมืองเชียงตุงอยู่แล้ว หากไปมีเหตุเกิดการบกพร่องจึงต้องถอยทัพ ครั้งนี้ควรจะให้ยกกองทัพใหญ่จากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปสมทบกับกองทัพหัวเมืองระดมตีเมืองเชียงตุงให้การสำเร็จดังกระแสพระราชดำริห์ในรัชกาลที่ ๓  จึงได้โปรดให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  กับเจ้าพระยาภูธราภัย แต่ยังเปนเจ้าพระยายมราช  ยกกองทัพขึ้นไป ความพิศดารเรื่องยกทัพคราวนั้นแจ้งอยู่ในหนังสือ “จดหมายเหตุเรื่องทัพเชียงตุง”

ได้ความว่าศึกเชียงตุงครั้งแรก เกิดปลายรัชกาลที่ ๓ ทรงให้ทางหัวเมืองเหนือยกไปรบครับ ไม่มีทัพกรุงเทพไปด้วย เป็นอันว่าตัดปี ๒๓๙๒ ออกไปได้หนึ่งละ ขุนแพ่งไม่ได้ไปศึกนี้แน่

ศึกเชียงตุงครั้งที่สอง ต้นรัชกาลที่ ๔ มีกำลังจากกรุงเทพไปช่วย ถ้าขุนแพ่งจะไปก็ต้องเป็นศึกนี้ครับ

ระยะทางจากเชียงตุงลงมากรุงเทพน่าจะหลายเดือนอยู่ ที่เสียเวลามากคงจะเป็นช่วงจากเชียงตุงลงมาเชียงใหม่ เพราะเป็นทางบกกันดารมาก แต่จะรอดตายกลับมาจนถึงเมืองเพชรหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าอาการป่วยเป็นอย่างไรครับ ยังไม่น่าจะชี้ชัดได้อยู่ดีครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 14:32
เมื่อศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย...
การตายของขุนแพ่งต้องสืบเนื่องมาจากทำศึกแน่นอน  ถ้าไปทำศึกก่อนกลับมาปลอดภัยดี แต่มาป่วยทีหลัง ก็น่าจะใช้คำว่า  หลังศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย
 แต่จะไปบาดเจ็บถูกอาวุธกลับมาตายที่เพชรบุรี  หรือไปป่วยเป็นปอดอักเสบจากอากาศหนาว แล้วกลับมาบ้าน อาการหนักลงจนตาย ก็น่าคิด
ดูจากประโยคแล้วไม่น่าเชื่อว่าป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บ  มีคำว่า"บรรลัย" ซึ่งเราไม่ใช้กับคนป่วยด้วยโรคอะไรสักอย่างที่รักษาไม่ไหว   น่าจะเป็นการตายจากการทำศึก  เมื่อมาตายที่บ้านก็แสดงว่าประคับประคองกันกลับมาได้ จนถึงบ้านเมืองเพชร    ระยะทางไม่น่าจะกันดารมากนัก  และกินเวลาไม่มาก   ถ้ามาจากเชียงตุง คงทนไม่ไหวจากพิษบาดแผลกับแรงกระเทือนจากเกวียนเมื่อเดินทางบก ก่อนถึงแม่น้ำปิง
จึงไม่ค่อยจะเชื่อว่าเป็นศึกเชียงตุงในต้นรัชกาลที่ ๔     แต่เชื่อว่าเป็นศึกลาวที่เดินทางใกล้กว่านั้น

นอกจากนี้ในนิราศยังเอ่ยถึงหม่อมบุญนาค  ในกรมพระราชวังหลัง   หม่อมคนนี้เป็นหญิงหรือชายก็ไม่ประจักษ์     คุณ pipat เห็นว่าเป็นชาย  แต่ดิฉันเห็นว่าเป็นหญิง อาจแปลได้ว่าเธอเป็นหม่อมห้ามในกรมพระราชวังหลังมาก่อน
ถ้าเป็นคนที่เกี่ยวเนื่องกับกรมพระราชวังหลัง  อยู่ในเจนเนอเรชั่นเดียวกัน   มีอายุมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ เห็นจะหง่อมมากเกินไปมั้งคะ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ก.ค. 07, 16:19
เส้นทางทัพศึกเชียงตุง ผมเคยอ่านเจอว่ากันดารมากขนาดใช้เกวียนไม่ได้ อาจจะต้องเป็นช้างและสัตว์ต่างชนิดอื่น หรือไม่ก็ใช้ไพร่ขนเสบียงกันทีเดียว

เรื่องสาเหตุการตายของขุนแพ่ง น่าจะเป็นอาการบาดเจ็บอย่างที่อาจารย์ว่าครับ แต่อาการบาดเจ็บก็มีหลายอย่าง ถ้าบาดเจ็บสันหลัง อาจจะเป็นอัมพาต พากลับมาบ้านได้ แต่ตายเพราะการติดเชื้อจากแผลกดทับก็เป็นได้ครับ ดังนั้นอาจจะมีแนวโน้มว่าศึกลาวเป็นศึกเจ้าอนุวงศ์มากกว่าก็จริง แต่ฟันธงไม่ได้ครับ

ส่วนเรื่องหม่อมบุนนาค

ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค   เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล   มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

ผมอ่านแบ่งวรรคตอนได้ดังนี้
ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค เมื่อยามยากจนมาได้อาศัยมารดาเจ้า คราวพระวังหลังครรไล มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
หม่อมบุนนาคไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับพระวังหลังครับ หากหม่อมบุนนาคเป็นพระมารดาเจ้าในพระวังหลังแล้ว คำว่า "คราว" จะแปลอย่างไรครับ ผมอ่านไม่ได้ความครับ

หรือหากจะแปล "ครรไล" ว่า "ไป" แบ่งวรรคตอนดังนี้
ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค เมื่อยามยากจนมาได้อาศัยมารดาเจ้า คราวพระวังหลังครรไลมาทำไร่ทำนาท่านการุญ
กลายเป็นว่าท่านการุณกวี(คงไม่ได้การุณพระวังหลัง) ในคราวที่พระวังหลัง(ไม่มีเสด็จ)มาทำไร่ทำนา
พอจะดิ้นรนแปลไปได้ แต่ไม่เข้าท่าเท่าไหร่ครับ

ทีนี้ถ้าคราวพระวังหลังครรไลคือ ๒๓๔๙ มาถึงราว ๒๓๙๗ (หากเชื่อว่าขุนแพ่งตายคราวศึกเชียงตุงครั้งที่ ๒) หม่อมบุนนาคหง่อมแน่ แต่ไม่ได้หง่อมคนเดียว กวีก็ต้องหง่อมไปด้วย อย่างน้อยต้องอายุราว ๗๐ ขึ้น เมียขุนแพ่งคงไม่เพิ่งจะมาหง่อมเพราะผัวตายอย่างอาจารย์ว่าครับ เพราะคงต้องหง่อมมาหลายสิบปีแล้ว

แล้ว "พระวังหลัง" จำเป็นต้องหมายถึงกรมพระราชวังหลังหรือไม่? จะหมายความว่า พระ(ผู้ประทับ ณ)วังหลัง หรือ พระ(ผู้เป็นเจ้าแห่ง)วังหลัง ได้หรือไม่ครับ?

ถ้าพระวังหลังไม่ได้หมายถึงกรมพระราชวังหลัง ก็มีความเป็นไปได้ครับว่าขุนแพ่งจะตายในศึกเชียงตุง และกวีผู้แต่งนิราศเมืองเพชรต้องเป็นใครสักคนที่มีอายุน้อยกว่าสุนทรภู่ที่เรารู้จักสัก ๒๐-๓๐ ปี

ถ้าไม่อย่างนั้นคงต้องถอยกลับไปที่ศึกเจ้าอนุวงศ์ และกำหนดอายุนิราศเมืองเพชรใหม่ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 16:52
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล   
"พระวังหลัง"  ดิฉันเชื่อว่ามีพระองค์เดียว คือกรมพระราชวังหลัง  กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิมุข  ในรัชกาลที่ ๑     แต่ "เจ้าวังหลัง "มีหลายองค์  สืบเชื้อสายจากกรมพระราชวังหลัง
พระชายาคือเจ้าครอกทองอยู่  ส่วนที่รองๆลงไปเรียกว่า "หม่อม" ไม่เรียกว่า "จอม" หรือ "เจ้าจอม"    ถ้าหม่อมบุญนาคมีคำว่า "หม่อม" นำหน้า ก็ชัดเจนได้พอสมควรว่าเป็นหนึ่งในหม่อมของท่าน     ก็ย่อมเป็น "มารดาเจ้า"  คือแม่ของเจ้านั่นเอง
ครรไล ในที่นี้  เชื่อว่าย่อมาจาก สู่สวรรค์ครรไล  คือไปสวรรค์แล้ว  ไม่ได้หมายถึงไปเมืองเพชร
เมื่อสิ้นกรมพระราชวังหลัง   หม่อมคนหนึ่งของท่านจะออกจากวังมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเพชรก็ไม่แปลก     เจ้าจอมก๊ก อ. ในรัชกาลที่ ๕  เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วก็ทำตามนี้เหมือนกัน   หม่อมบุญนาคอาจเป็นสาวเมืองเพชรมาก่อนก็ได้   มาซื้อไร่นาสาโทอยู่ที่นี่    กลายเป็นคหปตานีแห่งเพชรบุรี 


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ก.ค. 07, 18:09
ไม่สงสัยว่าหม่อมบุนนาคเป็นพระมารดาเจ้าครับ แต่ มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล นั้น ถ้าแปลว่าเป็นมารดาเจ้าในพระวังหลัง ผมว่าแปลกจริงๆนะครับ เพราะจะกลายเป็นว่าเป็นมารดาเจ้าเอาเมื่อคราวที่พระวังหลังครรไล ไม่สื่อความหมายครับ

ผมอ่านแล้วก็ยังแยกออกเป็นสองเรื่องอยู่ดีครับ มารดาเจ้าคือหม่อมบุนนาค(เป็นหญิงแน่นอน), "คราวพระวังหลังครรไล" ระบุเวลาที่กวีมาพึ่งพาครับ แต่คิดว่าคงเป็นแค่ประเด็นปลีกย่อย เพราะหากพระวังหลังคือกรมพระราชวังหลังอย่างแน่นอน นิราศเมืองเพชรก็ต้องแต่งขึ้นหลังศึกเจ้าอนุวงศ์เล็กน้อยอย่างที่อาจารย์ได้วิเคราะห์ไว้ข้างต้นครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 18:33
งั้นดิฉันลองอธิบายความแบบนี้  คุณอาชาลองพิจารณาอีกทีว่าจะพอได้เรื่องไหมนะคะ

ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค          เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย 
มารดาเจ้า คราวพระวังหลังครรไล        มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

ถึงต้นตาล(ซึ่งเป็นตำบล)บ้านของคุณหม่อมบุนนาค          เมื่อ(ข้าพเจ้า)ยามตกยากจนมา    ได้อาศัย  (ท่านผู้เป็น)มารดาเจ้า
(หม่อมบุนนาคผู้นี้)คราวพระวังหลังครรไล (แล้ว)       (ท่าน)มาทำไร่ทำนา(ที่เพชรบุรี)ท่านการุญ(ข้าพเจ้า)


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ก.ค. 07, 18:48
เข้าใจละครับ ถ้าอ่านอย่างนี้ก็คือมารดาเจ้ามาทำไร่ทำนาเมื่อพระวังหลังครรไล

กวีแค่มาขออาศัยพึ่งพายามยาก ไม่ได้มาทำไร่ทำนา และไม่ได้มายามพระวังหลังครรไล

แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ เห็นทีจะยังทิ้งสมมติฐานเรื่องขุนแพ่งตายคราวศึกเชียงตุง ๒๓๙๖ ไม่ได้ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 19:10
ดิฉันเชื่อว่าผู้ทำไร่ทำนาคือหม่อมบุนนาค  ไม่ใช่กรมพระราชวังหลังเอง  เพราะมีเรื่องราวขยายต่อไปถึงบทบาทของหม่อมบุนนาค ว่าเมื่อท่านขุนนางกวีเคยมาอาศัยยามตกยาก  ท่านก็รับเอาไว้ให้อาศัยอยู่ด้วย   เจ็บป่วยหม่อมบุนนาคก็รักษา  ซ้ำยังจะไปสู่ขอเจ้าสาวมาให้เพื่อจะแต่งงานไปเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อเจ็บป่วยช่วยรักษาจะหาคู่            จะขอสู่ให้เป็นเนื้อช่วยเกื้อหนุน
ยังยากไร้ไม่มีของสนองคุณ               ขอแบ่งบุญให้ท่านทั่วทุกตัวตน
ทั้งนารีที่ได้รักลักรำลึก                     เป็นแต่นึกลับหลังหลายครั้งหน
ขอสมาอย่าได้มีราคีปน                     เป็นต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป

การดูแลรักษาพยาบาล ตลอดจนสนใจเอาธุระจุ๊กๆจิ๊กๆ เรื่องให้เจ้าหนุ่มมีเมียแบบนี้    เป็นเรื่องในครัวเรือน  ซึ่งผู้หญิงเป็นใหญ่  มักจะรับเป็นภาระ มากกว่าผู้ชายที่เป็นพ่อบ้าน   ถ้าหม่อมบุนนาคเป็นผู้ชาย น่าจะสนใจเรื่องฝากฝังให้ทำงาน หรือให้ประกอบอาชีพ แบ่งไร่นาสาโทให้ทำ เป็นรายได้เสียมากกว่า   
เมื่อมีการขยายบทบาท เล่าต่อเรื่องหม่อมบุนนาค ก็ทำให้เชื่อว่าคนมาทำไร่ทำนาคือท่านนี่แหละ  ไม่ใช่กรมพระราชวังหลังซึ่งเอ่ยถึงคำเดียวแล้วไม่เอ่ยอะไรอีกเลย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ก.ค. 07, 19:24
เห็นด้วยเต็มที่ครับ

ถ้าตีความว่าพระวังหลังมาทำไร่ทำนาเสียเองดูจะฝืนมากไปสักหน่อยครับ

ขอสรุปไว้ตรงนี้หน่อยนะครับ

ปีที่แต่งนิราศเมืองเพชร ตอนนี้เหลือที่น่าจะเป็นไปได้อยู่สองปีคือ
- ปีขาล ๒๓๗๓ หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ กับ
- ปีขาล ๒๓๙๗ หลังศึกเชียงตุงครั้งที่ ๒


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 07, 20:26
ถ้านอนไม่หลับ เพราะตีโจทย์ให้แตกไม่สำเร็จ     ก็เห็นจะต้องโทษคุณอาชาผยอง   ;)
เพราะดิฉันก็เจอตอขนาดใหญ่เข้ากับ ๒ ข้อสรุปนี้   
๑) ปีขาลที่แต่งนิราศเมืองเพชร  ถ้าเป็น ปีขาล ๒๓๗๓ หลังศึกเจ้าอนุวงศ์
ก็จะเจอตอใหญ่ คือขัดกับหลักฐานอื่นที่ว่า ปีนั้นสุนทรภู่บวชอยู่  จะมาสึกกลางคันไปอาสาเจ้านายไปเมืองเพชร   ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้
ทำให้ตีโจทย์ไม่แตก ในข้อนี้
กับ
๒  ปีขาลที่แต่งนิราศเมืองเพชร  ถ้าเป็น ปีขาล ๒๓๙๗ หลังศึกเชียงตุงครั้งที่ ๒
ก็จะโล่งอกว่า หมดปัญหาเรื่องสุนทรภู่บวชไปได้
ดิฉันอยากให้เป็นข้อนี้มากกว่าข้อแรก ที่จะต้องย้อนกลับไปแก้ไขเรื่องปีสุนทรภู่บวชกันให้อลหม่านไปหมด
แต่
ก็จะเจอตอใหญ่กว่านั้นอีก   คือถ้าปี ๒๓๙๗ สุนทรภู่ยังหนุ่มกระชุ่มกระชวย พอจะรำลึกเรื่องรัก และเรื่องสาวๆทั่วเมืองที่ตัวเองไปก่อความหลังเอาไว้    น้องสาวบางคนก็ยังท้องอยู่    แสดงว่าเธอยังสาวอยู่มาก
เราก็จะเชื่อไม่ได้ว่า สุนทรภู่เป็นกวีหนุ่มสมัยรัชกาลที่ ๒    เพราะถ้าเป็นหนุ่มในสมัยนั้น มาถึงปีนี้เห็นทีจะหง่อมมากแล้ว    เป็นรุ่นคุณปู่คุณตา ยักแย่ยักยัน ไม่มารำพึงอะไรแบบนี้ 
และหม่อมบุนนาคผู้มีพระคุณ  ซึ่งเป็นคนยุคกรมพระราชวังหลัง เห็นทีอายุจะร่วมร้อย
ดังนั้น ก็จะต้องตัดความเชื่อเรื่องสุนทรภู่เป็นกวีที่"เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตรลบ" ในพระองค์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ออกไปจนหมด
ทำให้ยุ่งยากหนักเข้าไปอีก

ไม่ว่า ๒๓๗๓ หรือ ๒๓๙๗ ยังไงก็ไม่ลงตัวกับประวัติส่วนอื่น    ไม่ลงจริงๆ  เจอตอเกะกะไปหมด
ยกเว้นจะฟันธงโครมลงไปแบบคุณ pipat ทำ ว่า นิราศเมืองเพชรแต่งโดยกวีคนไหนไม่รู้ แต่ไม่ใช่สุนทรภู่   ยังงั้นก็จะไม่เจอตอที่เราเจอกันใน ๒ ข้อ
แต่จะเจอตอใหม่ว่า กวีคนนั้นที่ฝีปากจัดเจนขนาดนี้ เป็นใคร  ทำไมนิรนามอยู่ได้ถึงเพียงนี้


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ก.ค. 07, 22:34
กลับมาค่อยๆอ่านใหม่ครับ


ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง   ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง             เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม   โอรสราชอารามงามเจริญ

ร.๒ ผู้พระราชทานนามวัดราชโอรส สวรรคต ๒๓๖๗
ร.๓ ผู้ทรงสร้างสวรรคต ๒๓๙๓

เป็นอันว่าตัดประเด็นขุนแพ่งตายศึกเชียงตุงครั้งที่ ๒ ได้เลยครับ ขุนแพ่งต้องตายเพราะศึกเจ้าอนุวงศ์ ๒๓๗๐-๒๓๗๒

กวีต้องแต่งนิราศเมืองเพชรอย่างเร็ว ๒๓๗๑ อย่างมากไม่น่าเกิน ๒๓๗๕


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 07, 10:24
ใช่เลย
นิราศเมืองเพชรแต่งในรัชกาลที่ ๓ ตอนปลาย 
ถ้าหากว่าตัดปัญหาเรื่องปีที่แต่ง ไม่ให้ชนกับประวัติสุนทรภู่ที่ว่ากำลังบวชอยู่ในช่วงเวลานั้น
ก็จะลงตัวได้ว่าเป็นผลงานสุนทรภู่  ไม่ใช่ของคนอื่น


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 07, 11:45
เพลงยาวถวายโอวาทเป็นตัวแปรในเรื่องนี้ครับ

ด้วยเหตุว่าฝ่าพระบาทได้ขาดเสร็จ     โดยสมเด็จประทานตามความประสงค์
ทูลกระหม่อมยอมในพระทัยปลง       ถวายองค์อนุญาตเป็นขาดคำ
ในวันอังคารพะยานอยู่                  ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ
ตรงนี้ระบุปีไว้ชัด ปีฉลูเอกศก คือ ๒๓๗๒ ความในเพลงยาวถวายโอวาทมั่นคง ไม่มีทางตีความเป็นอื่นได้


                                         ควรมิควรจวนจะพรากจากสถาน
จึงเขียนความตามใจอาลัยลาน          ขอประทานโทษาอย่าราคี
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก     เหมือนผัดพักตร์ผิวหน้าเป็นราศี
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี                ดังวารีรดซาบอาบละออง
ความตรงนี้ระบุว่ากวีกำลังจะต้องออกไปจากที่อยู่อาศัย ทูลกระหม่อมเสด็จปราศรัยมาถึงในกุฎี กวีย่อมต้องมีสถานภาพเป็นพระสงฆ์


อนึ่งคำนำถวายหมายว่าชอบ            แม้ทรงสอบเสียวทราบว่าหยาบหยาม
อย่าเฉียวฉุนหุนหวนว่าลวนลาม         เห็นแก่ความรักโปรดซึ่งโทษกรณ์
แม้นเห็นจริงสิงสวัสดิ์อย่าผัดเพี้ยน      เร่งร่ำเรียนตามคำที่พร่ำสอน
ดูดินฟ้าหน้าหนาวหรือคราวร้อน         เร่งผันผ่อนพากเพียรเรียนวิชา
ซึ่งประโยชน์โพธิญาณเป็นการเนิ่น      พอจำเริญรู้ธรรมคำคาถา
ถือที่ข้ออรหัตวิปัสสนา                  เป็นวิชาฝ่ายพุทธนี้สุดดี
ข้างฝ่ายไสยไตรเพทวิเศษนัก           ให้ยศศักดิ์สูงสง่าเป็นราศี
สืบตระกูลพูนสวัสดิ์ในปัฐพี             ได้เป็นที่พึ่งพาแก่ข้าไท
ซึ่งทูลความตามซื่ออย่าถือโทษ         ถ้ากริ้วโกรธตรัสถามตามสงสัย
ด้วยวันออกนอกพรรษาขอลาไป        เหลืออาลัยทูลกระหม่อมให้ตรอมทรวง
ความตรงนี้ระบุวันที่ขอลาไปว่าเป็นวันออกพรรษา(ที่น่าจะยังมาไม่ถึง) ประเด็นที่น่าคิดคือ พระนิพนธ์สมเด็จดำรงฯว่าพระภู่ถูกอธิกรณ์ อาจจะเป็นเพราะดื่มสุรา ถ้าถูกอธกรณ์จริง ทำไมต้องรอให้ถึงวันออกพรรษา ตรงนี้ไม่สมเหตุสมผล ที่สำคัญในกลอนข้างต้นยังถวายโอวาทให้ถือข้ออรหัตวิปัสสนาอยู่เลย พระอาจารย์ที่โดนอธิกรณ์จะมีหน้ามาสอนอย่างนี้หรือครับ

ดังนั้น จากเพลงยาวถวายโอวาทนี้ ผมลงความเห็นว่า กวีออกจากวัดไปด้วยกิจอะไรสักอย่าง หรือเต็มที่ก็แค่มีเหตุคับข้องใจ แต่ไม่ได้ถูกจับสึกแน่ ส่วนที่ว่าจะออกไปในสถานภาพฆราวาสหรือพระสงฆ์ อันนี้เป็นไปได้ทั้งสองประการครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 07, 12:15
กลับไปที่นิราศเมืองเพชร

อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ        ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ            อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ    ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
กวีลงเรือจากหน้าวัด เป็นไปได้หลายประการ
- กวีเป็นพระสงฆ์ (ซึ่งอาจารย์ได้วิเคราะห์ไว้แล้วว่าไม่น่าจะใช่)
- กวีเพิ่งจะลาสิกขาบท
- กวีเป็นฆราวาสแต่มาขึ้นเรือที่หน้าวัด อันนี้เป็นไปได้ แต่ไม่มีเหตุผลว่าทำไมกวีต้องมาเริ่มความตรงนี้ด้วย ถ้าเป็นฆราวาสน่าจะออกจากบ้าน ถ้าจะแวะวัดไหว้พระหรือทำธุระอื่นก็น่าจะบอกไว้ ไม่ใช่เอามาเริ่มความตรงนี้

ดังนั้น มีแนวโน้มสูงมากว่ากวีผู้แต่งนิราศเมืองเพชร เพิ่งจะลาสิกขาบทเพื่อไปทำธุระอะไรสักอย่างที่อาสาเสด็จมาทำ (เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่สะดวกในสถานภาพพระสงฆ์) ถึงตรงนี้อาจจะยืนยันไม่ได้เป็นมั่นเหมาะ แต่เห็นได้ชัดว่าความในเพลงยาวถวายโอวาทและนิราศเมืองเพชรไม่ขัดกันครับ

ความหลายตอนระบุช่วงเวลาว่าเป็นหน้าหนาว ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาหลังออกพรรษาไปแล้ว

กลับมาคิดเรื่องขุนแพ่ง คราวที่มางานศพขุนแพ่งนั้น ถ้าผู้แต่งนิราศเมืองเพชรกับผู้แต่งเพลงยาวถวายโอวาทเป็นคนเดียวกัน เวลาต้องไม่แย้งกัน
ผู้แต่งเพลงยาวถวายโอวาท เริ่มงานตั้งแต่ปีฉลู ๒๓๗๒ (๒๑ กรกฎาคม ๒๓๗๒) ถวายงานสอนอยู่นานเท่าไหร่ไม่ระบุ

หากขุนแพ่งตายในศึกลาว(หรือหลังศึกลาวเล็กน้อย) และกวีได้ไปไหว้ศพ แล้วกลับมาถวายงานสอนกลางปี ๒๓๗๒ ก็ไม่มีอะไรขัดกัน หากถวายงานสอนอยู่สักสองสามปีแล้วอาสาเสด็จไปเมืองเพชรไปเจอเมียขุนแพ่งซูบโทรมเพราะตรอมใจก็รับกันดีครับ

พิจารณาถึงตรงนี้ ยังไม่มีข้อขัดข้องใดที่นิราศสุพรรณและเพลงยาวถวายโอวาทจะแต่งขึ้นโดยกวีคนเดียวกันครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 07, 12:34
คุณอาชาทำให้กระทู้วิ่งฉิวจริงๆ ค่ะ
วิเคราะห์จากเพลงยาวถวายโอวาท
๑) ผู้แต่งเป็นพระภิกษุ   อย่างน้อยตอนที่แต่ง ก็ยังถือเพศภิกขุอยู่
๒) เจ้านายที่ผู้แต่งถวายเพลงยาว  เป็นเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าแต่ประสูติ  จึงเรียกว่าทูลกระหม่อม  
ในรัชกาลที่ ๒   เจ้าฟ้าชายชั้นทูลกระหม่อม มี ๔ พระองค์ คือเจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้าจุฑามณี  เจ้าฟ้าอาภรณ์  เจ้าฟ้ามหามาลา
ในรัชกาลที่ ๓ ไม่มีเจ้าฟ้าชายโดยกำเนิด   มีแค่เจ้าฟ้า ๔ พระองค์ที่ประสูติแต่รัชกาลที่ ๒
ในรัชกาลที่ ๔  มีเจ้าฟ้าชายแต่ประสูติหลายพระองค์
ทูลกระหม่อมในที่นี้น่าจะเป็นพระองค์ใดพระองค์หนึ่งใน ๔ พระองค์
๓) ด้วยวันออกนอกพรรษาขอลาไป        เหลืออาลัยทูลกระหม่อมให้ตรอมทรวง
ดิฉันตีความ ๓ ทาง
๑) เป็นการสึกเมื่อออกพรรษา    ไปสู่ภาวะผู้ครองเรือนอีกครั้ง  จึงไม่มีโอกาสได้เป็นพระอาจารย์ทูลกระหม่อมอีก  
การเสด็จมาถึงกุฎิ ก็เป็นไปได้ไม่แปลกอะไร ที่ลูกศิษย์มาเยี่ยมอาจารย์เป็นครั้งคราว  โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุควรเสด็จ เช่นอาจารย์จะสึก  
แต่ปกติเจ้าฟ้าคงจะประทับอยู่ในวัง   หลวงพี่เป็นฝ่ายไปถวายพระอักษรที่นั่น

๒)ยังไม่ลาบวช  แต่ว่าออกพรรษาแล้วแปลว่าพระสงฆ์ไม่ต้องประจำอยู่ในวัด    ท่านอาจจะเดินทางไปตจว. (เพื่อแสวงหาเหล็กไหล  และของขลังอื่นๆตามความชอบ ที่ระบุไว้ในนิราศเรื่องอื่น) เป็นการไปแบบไม่รู้กำหนดกลับเมื่อไร  คือกลับน่ะกลับแน่  แต่ไม่รู้จะไปกี่เดือน  ทำให้ต้องลาจากเป็นอาจารย์  ก็เลยโศกเศร้าตรมทรวงที่ไม่ได้มีโอกาสถวายพระอักษรอีก

๓)ต้องอธิกรณ์  แต่ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษในฐานะมีความดีความชอบเป็นพระอธิกรณ์  ได้ประจำอยู่ในวัดจนครบพรรษาก่อนจึงจะต้องระเห็จออกจากวัดไป
หลวงพี่ท่านคงไม่เห็นว่าตัวเองผิด    แต่เห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งจากพระด้วยกันในวัด   ท่านจึงสอนอะไรต่อมิอะไรเจ้าฟ้าได้ตามปกติ  ถือว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดตรงไหน

การที่ออกไปพอดีในวันออกพรรษา  ทำให้ดิฉันสงสัยว่าการออกพรรษาต้องมีความหมายพิเศษ  เป็นวันกำหนดขีดคั่นอะไรสักอย่าง ที่ท่านสมัครใจเอง หรือไม่ผู้ใหญ่ในวัดก็ขีดเส้นตายให้
ถ้าหากว่าท่านสึกออกไปในวันออกพรรษาปีนั้นพอดี   จะไปเพชรบุรีแบบผู้ครองเรือน ได้ทันไหม


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 07, 12:42
ค.ห.ชนกันกลางอากาศ
อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ        ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ            อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ    ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา


กำลังจะบอกว่า ปีที่กวีไปเมืองเพชร เป็นหน้าหนาว หมายถึงหลังออกพรรษาหลายเดือนแล้ว
เรียกว่าสึกมาไม่กี่เดือน   
ลงเรือหน้าวัด  แทนที่จะลงจากหน้าบ้านตัวเอง  ทำให้ดิฉันนึกขึ้นมาได้อีกข้อว่า  เป็นไปได้ไหมว่าธุระที่อาสาเสด็จนั้นมาจากเจ้านายที่ประทับอยู่ที่วัด   คือเป็นเจ้านายที่ผนวช  ทรงใช้ให้ไปทำธุระ
ท่านขุนนางกวีก็มาทูลลา หรืออาจจะรับของอะไรสักอย่างที่ท่านใช้ให้เอาไปจัดการที่เพชรบุรี    ต้องมารับที่วัด  จึงเริ่มจุดตั้งต้นที่วัดแทนที่จะเป็นบ้าน

การที่บวชอยู่นานเป็นปี  ก็เลยขาดกันกับภรรยา ตลอดจนกิ๊กเก่าๆก็กระจัดกระจายกันไป    ผู้หญิงสมัยนั้นจะต้องพึ่งสามีเป็นหลักในการดำเนินชีวิต   เมื่อสามีเก่าไปบวช เธอก็คงมีสามีใหม่ไปตามๆกัน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 07, 14:41
หากต้องอธิกรณ์ เป็นไปได้ว่าให้รอให้ออกพรรษาก่อนแล้วจึงไป เพื่อไม่ให้ขัดกับพุทธบัญญัติเรื่องการเดินทางในระหว่างพรรษา
พระนิพนธ์สมเด็จดำรงสงสัยว่าต้องอธิกรณ์เพราะเสพสุรา แต่ก็น่าแปลกนะครับ ความผิดฐานเสพสุราเป็นอาบัติขั้นปาจิตตีย์ ไม่ถึงกับต้องสึก แต่ถ้าทำผิดซ้ำซากก็คงอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ว่าแต่ว่าพระอาจารย์เสพสุราซ้ำซากจนถึงขนาดต้องบัพพาชนียกรรมเห็นทีจะแย่ครับ น่าจะถูกปลดจากงานถวายการสอนไปก่อนหน้านานแล้ว

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าถูกบัพพาชนียกรรมเพราะเสพสุราเป็นนิจเช่นนี้แล้ว จะไปอยู่วัดไหนอีกได้ ถ้าขัดแย้งกับพระรูปอื่นในวัดก็ว่าไปอย่างครับ

ผมดูแล้ว ถ้าไม่ใช่กวีลาสิกขาเอง ก็เห็นจะถูกบัพพาชนียกรรมจากสาเหตุอื่นที่ไม่น่าจะใช่เรื่องเสพสุรา และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเรื่องผิดใจกับพระอื่นเสียมากกว่า ทั้งนี้ ระดับพระอาจารย์ถูกไล่ออกจากวัด คงไม่ได้ผิดใจกับพระธรรมดาๆรูปหนึ่งแน่ๆครับ อาจจะผิดใจกับพระผู้ใหญ่(ขนาดที่ว่าเจ้านายช่วยไม่ได้) หรืออาจจะผิดใจกับพระหลายรูปจนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 07, 14:52
เรื่องต้องอธิกรณ์  ถ้าไม่ใช่เพราะเสพสุรา  ก็มีอีกเรื่องคือแต่งเพลงยาว   ตรงนี้บอกแย้มๆเอาไว้ในรำพันพิลาป     
ดูทีว่าพระอาจารย์จะมีสีกาสาวๆมาไหว้วานแต่งเพลงยาวตอบผู้ชายถึงกุฏิอยู่หลายครั้ง   ท่านน้อยอกน้อยใจว่ามาหลอกกันได้   คงจะเจ๊าะแจ๊ะขอให้หลวงพี่ช่วย   เสร็จแล้วก็หายหน้าไป คนใหม่ก็มาอีก  สาวๆขึ้นกุฏิกันคึกคัก บรรยากาศไม่เหมาะสมกับวัดวา
หนักเข้าพระสงฆ์ร่วมวัดทนไม่ไหวอาจจะรวมหัวกันยื่นเรื่องถึงเจ้าอาวาส    ก็เลยต้องออกจากวัดตอนออกพรรษา  เพราะไม่มีใครเอาด้วย   
แต่ถ้าประพฤติแบบ"โลกวัชชะ" เช่นนี้    เจ้าฟ้าท่านอาจจะไม่เห็นเป็นเรื่องผิดมากมาย   ถือว่า"นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน"   ท่านก็เลยยังนับถือตามปกติ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 07, 18:21
กลับมาเรื่องสุนทรภู่ยังเป็นพระอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไปเมืองเพชรในเพศคฤหัสถ์ไม่ได้

์ประวัติสุนทรภู่ตามพระนิพนธ์ สมเด็จดำรงฯจับเหตุการณ์เพลงยาวถวายโอวาทต่อกับนิราศภูเขาทอง ดังตอนเริ่มของนิราศภูเขาทองดังนี้

                                   เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา
รับกฐินภิญโญโมทนา             ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย
ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส         เมื่อตรุษสารทพระวสาได้อาศัย
สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย               มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น
โอ้อาวาสราชบุรณะพระวิหาร      แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น    เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง           ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง           มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาครฯ

ถ้ายึดถือตามนี้จะไม่มีช่องว่างให้นิราศเมืองเพชร สมเด็จดำรงจึงให้นิราศเมืองเพชรขยับไปเกิดขึ้นก่อนหน้านี้สิบกว่าปี

แต่เนื้อความจากนิราศเมืองเพชรนั้นยืนยันเวลาได้มั่นคง จึงกลายเป็นว่าอายุของนิราศภูเขาทองมีปัญหา ต้องกำหนดใหม่

ควรได้กล่าวถึงไว้ตรงนี้ว่า ผมกลับไปอ่านหนังสือสุนทรภู่ อาลักษณ์เจ้าจักรวาฬของอ.ล้อม เพ็งแก้ว และพบว่าอ.ล้อมได้ตั้งสมมติฐานเรื่องนิราศเมืองเพชรแต่งปี ๒๓๗๔ เอาไว้หลายปีมาแล้ว (และอ.ล้อมยังได้อ้างว่ามีผู้ตั้งสมมติฐานนี้ไว้ตั้งแต่ ๒๔๙๘)

อ.ล้อมตั้งสมมติฐานว่านิราศภูเขาทองแต่ในปี ๒๓๗๑ โดยอาศัยกลอนตรงนี้
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง   พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน
ด้วยเหตุที่ ร.๔ (ดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏในเวลานั้น) ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้และให้มีการฉลองวัดในปี ๒๓๗๑

น่าคิดว่า "พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน" หมายความว่าอย่างไรกันแน่? ฉลองอะไร?

อ.ล้อมกำหนดอายุโดยสมมติฐานว่า "ฉลอง" ที่ว่าคือฉลองพระอาราม (ซึ่งถ้าไม่นับคราว ๒๓๗๑ นี้แล้วก็ต้องเป็น ๒๔๐๖ อีกคราวหนึ่งไปเลย)

แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นฉลองกฐิน?

ตอนต้นของนิราศภูเขาทองว่า "เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา รับกฐินภิญโญโมทนา" เห็นได้ชัดว่า กวรไม่ได้ออกเดินทางในวันออกพรรษา แต่รอรับกฐินเสียก่อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากี่วัน แต่เป็นระยะเวลา ๑ เดือนนับจากออกพรรษาแน่นอน

และก็ไม่แปลกหากผ่านวัดเขมาแล้วพบว่าเพิ่งฉลองกฐินเลิกไปเมื่อวานซืน

ผมอ่านถึงตรงนี้ คิดว่ายังกำหนดอายุนิราศภูเขาทองไม่ได้ แต่แน่ใจว่าต้องหลัง ๒๓๗๑ แน่นอน หาไม่อารามคงไม่อร่ามทองครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 ก.ค. 07, 11:15
ขอแทรกข้อสังเกต ความเห็นนิดหนึ่งครับ

         นิราศเมืองแกลง และ นิราศเมืองเพชร เป็นร้องกรองบันทึกการเดินทางไปหัวเมืองชายทะเลเหมือนกัน
แต่ต่างทิศ และต่างวัย ทว่ามีบางตอนที่คล้ายกัน อ่านแล้วสะดุดตรงนี้ ครับ

นิราศเมืองแกลง

โอ้คิดเห็นเอ็นดูหมู่แมงดา              ตัวเมียพาผัวลอยเที่ยวเล็มไคล
เขาจับตัวผัวทิ้งไว้กลางน้ำ              ระลอกซ้ำสาดซัดให้ตัดษัย

นิราศเมืองเพชร

                                           อกเอ๋ยโอ้เอ็นดูหมู่แมงดา
ให้สามีขี่หลังเที่ยวฝั่งแฝง                ตามหล้าแหล่งเลนเค็มเล็มภักษา
เขาจับเป็นเห็นสมเพชเวทนา             ทิ้งแมงดาผัวเสียเอาเมียไป

และได้อ่านพบความเห็นที่ว่า  สุนทรภู่ท่านแต่งนิราศเมืองเพชรในขณะที่ยังเป็นภิกษุ โดยอ้างจากกลอน
ตอนที่เดินทางผ่านวัดนางชี -

         หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร      คิดจะใคร่แวะหาประสาชี     

ตอนผ่านคลองบางหลวง -

         พระจันทโครบหลบผู้หญิง     และ

ตอนกล่าวถึงหลวงแพ่งที่เสียชีวิตเมื่อศึกลาว  -

         ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป

โดยส่วนตัวแล้ว นึกภาพ สุนทรภู่ท่านเดินทางโดยมีลูกหลาน แฟนคลับ - นักเลงฟังพลงยาว คอยติดสอยห้อยตาม
ด้วยความยินดี ที่ได้ไปดูแล ช่วยกันจดคำกลอน ที่ว่ากันว่า บางคราวที่ท่านสมองแล่น คนเดียวจดไม่ทัน
ยามครูพักยังลักจำได้ความรู้ และได้อ่านงานของท่านก่อนใคร
     


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 07, 12:02
มาดูกันทีละประเด็นดังนี้ครับ

1) หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร      คิดจะใคร่แวะหาประสาชี
ความที่ยกขึ้นมาตอนนี้ คุณ SILA คงยกจากฉบับที่อ.ล้อมชำระจากฉบับตัวเขียน ถ้าเป็นฉบับพิมพ์ ๒๔๗๐ จะว่าดังนี้ครับ (สะกดคำตามแบบปัจจุบัน)
ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์         ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน
หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร     คิดจะใคร่แวะหาปรึกษาชี
คำว่าหลวงชีนี้ ปกติแปลว่าผู้ห่มขาวถือศีล ๘ จะเป็นชายหรือหญิงก็ได้
ในบาทก่อนหน้านี้กล่าวถึงนางชีไปแล้ว ดังนั้นหลวงชีในที่นี้ต้องเป็นตาผ้าขาว หากกวีผู้แต่งจะแวะหาประสาชี แสดงว่ากวีเป็นตาผ้าขาวครับ ไม่ใช่พระสงฆ์ แต่ถ้าจะแวะหาปรึกษาชี อันนี้ระบุไม่ได้ว่ากวีอยู่ในเพศภิษุหรือฆราวาส

ขอแทรกตรงนี้นิดนึงว่า ฉบับตัวเขียนที่อ.ล้อมนำมาชำระ ต้องถือว่าเป็น"อีกฉบับหนึ่ง" ไม่ได้แปลว่าจะถูกต้องเสมอไปครับ

2) แล้วมิหนำซ้ำเปรยเป็นเย้ยหยัน ว่าพระจันทโครบหลบผู้หญิง
ตรงนี้มาจากฉบับอ.ล้อมแน่นอน ไม่มีความตอนนี้ในฉบับพิมพ์ แต่ผมไม่เห็นว่าตรงนี้จะชี้ว่าเป็นพระภิกษุนะครับ พระอภัยมณีก็ไม่ได้ใช่พระภิกษุเหมือนกันนะครับ ไม่น่าหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นว่ากวีเป็นพระภิกษุได้

3) ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป
สวด กับ บังสุกุล สองอย่างครับ คำว่า "ทั้ง" บอกอยู่
สวดอันนี้คงไม่มีปัญหา ฆราวาสก็สวดได้
ส่วนบังสุกุล ฆราวาสก็เป็นฝ่ายทอดผ้าบังสุกุลนะครับ
ผมว่าความตรงนี้ก็ไม่ได้ชี้อยู่ดีว่ากวีเป็นพระภิกษุ

ผมก็อยากอ่านให้นิราศเมืองเพชรแต่งโดยพระภิกษุเหมือนกันครับ เพราะคงตีความง่ายขึ้นมาก ขออ่านอีกหน่อยครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 07, 15:18
นิราศเมืองเพชรฉบับอ.ล้อม มีกลอนหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะต่างจากฉบับพิมพ์เล็กน้อย โดยฉบับพิมพ์ว่า

ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค     เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล    มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
อันนี้เราได้วิเคราะห์กันไปแล้ว

ฉบับอ.ล้อมจะว่า
ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค     เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มาเมื่อครั้งคราวพระวังหลังครรไล      มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
ถ้าฉบับนี้ถูกต้อง หม่อมบุนนาคอาจจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้ และตัวกวีเองนี่แหละที่มาทำไร่ทำนาพึ่งพาท่านในคราวที่พระวังหลังครรไล ๒๓๔๙ ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 07, 16:08
ปัญหาเรื่องกวีผู้แต่งนิราศสุพรรณเป็นฆราวาสหรือพระภิกษุ ลองพิจารณาดู เห็นว่าติดปัญหาตรงที่สำนวนเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องรักๆใคร่อยู่มาก

ผมลองไปอ่านนิราศสุพรรณที่เชื่อว่าแต่งโดยสุนทรภู่ในช่วงเวลาที่เป็นพระอยู่เช่นเดียวกัน พบว่ามีเนื้อหาเชิงรักๆใคร่ๆอยู่มากเหมือนกัน(ถึงอาจจะน้อยกว่านิราศเมืองเพชรอยู่บ้าง) ความบางตอนในนิราศสุพรรณ พอจะระบุได้ว่ากวีผู้แต่งเป็นพระภิกษุ

กวีอาจแต่งนิราศเมืองเพชรในขณะเป็นพระได้เหมือนกันครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 07, 18:19
ลองพิจารณาดู  ตามนี้
นิราศเมืองเพชร แต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์เผยแพร่ ให้คนอื่นๆไม่จำกัดจำนวนได้อ่าน 

จึงจดหมายรายความตามสังเกต          ถิ่นประเทศแถวทางกลางวิถี
ให้อ่านเล่นเป็นเรื่องเมืองพริบพรี         ผู้ใดมีคุณก็ได้ไปแทนคุณ
ทั้งผ้าหอมย้อมเหลืองได้เปลื้องห่ม      พระประทมที่ลำเนาภูเขาขุน
กุศลนั้นบรรดาที่การุญ            รับส่วนบุญเอาเถิดท่านที่อ่านเอยฯ
     
 กวีไม่ได้แต่งไว้อุ๊บอิ๊บอ่านคนเดียว  หรือส่งให้ใครคนใดคนหนึ่งอ่านแบบรู้กันสองคนระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน
ถ้าอ่านคนเดียวหรือส่งให้ใครคนเดียว จะพร่ำพรรณาความรักในอดีตและปัจจุบันยังไงก็ได้  ( แม้ไม่เหมาะกับความเป็นสงฆ์ก็ตาม) ก็ยังไม่ต้องประจานตัวเองให้ชาวบ้านฟัง ว่าหลวงลุงเดินทางทั้งที  มีแต่พรรณนาเรื่องที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์  ขนาดตัดพ้อต่อว่ากิ๊กเก่า ขณะอยู่ในผ้าเหลือง
งั้นหรือคะ

ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น                    เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา           พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย           ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้นฯ

คุณ Pipat หามาได้หลายตอนที่แสดงว่าผู้แต่งไม่ใช่พระ เป็นชาวบ้าน

๑)เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก                  ครั้นจะทักเล่าก็กลัวผัวจะหึง

ผัวผู้หญิงหน้าไหนจะกล้าหึงพระสงฆ์  ถ้าพระทักทาย มีแต่จะพนมมือแต้กันทั้งผัวทั้งเมีย   ความเป็นพระก็ทำให้ท่านพูดอะไรไม่ได้มากไปกว่าทักทายสบายดีหรือโยม

๒)  ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย           ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง        จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก               สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา
บ้างโห่ฉาวกราวเกรียวเกี่ยวข้าวเบา        บ้างตั้งเตาเคี่ยวตาลพานอุดมฯ

ถ้าเห็นพระถาม  หรือพระนั่งมาท่ามกลางลูกศิษย์ลูกหา ชาวบ้านคงไม่เรียกท่านว่า"นาย"

ส่วนอันนี้ของดิฉันเอง
พอจุดเทียนเซี่ยนขันน้ำมันคว่ำ               ต้องวิดน้ำนาวาไม่ฝ่าฝืน
เสื่อที่นอนหมอนนวมน้ำท่วมชื้น              เหลือแต่ผืนผ้าแพรของแม่น้อง
ได้กันลมห่มหนาวเมื่อเช้าตรู่                  ยังรักรู้จักคุณการุญสนอง
ลมรินรินกลิ่นกลบอบละออง                   ได้ปกครองคุมเครือเมื่อเรือค้างฯ
ไม่มีเครื่องอัฎฐบริขาร  มีหมอนนวมและแพรห่มของผู้หญิงด้วย
   


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ก.ค. 07, 18:39
ขำอาจารย์เทาชมพู ตั้งกฏเองแล้วลืม
"อย่าเพิ่งเอานิราศอื่นมาปน จะทำให้ยุ่ง"
แต่ท่านก็อดอ้างนิราศอื่นมิได้

ก็ถ้านิราศนี้กับรำพันพิลาปและเพลงยาวถวายโอวาท เป็นสามคนแต่ง เรามิเข้ารกเข้าพงกันเละเทะหรือ?????
ผมได้ฟันธงจนธงเปื่อยไปหลายผืนแล้วว่า นิราศเมืองเพชรแต่งโดย
1 ขุนนาง เพราะอาสาเจ้านายระดับ "เสด็จ" และมาเรือสี่ฝีพาย ซึ่งเป็นเรือราชการมากกว่าจะเป็นเรือชาวบ้าน
และกวีไม่กลัวเจ้าเมืองเพชรบุรีเอาเสียเลย ก็แปลว่ามีคนคุ้มหัวที่ใหญ่โตใช่เล่น
2 เป็นฆราวาส ผมอ้างความข้อเดียวก็น่าจะพอ ที่ชาวบ้านย้อนถามว่า "นาย...จะพายแรงหรือพายเบา"
ไม่มีคนไทยปกติพูดกับพระภิกษุอย่างนี้
3 เป็นผู้กว้างขวางเมืองเพชร ออกจากเมืองนั้นมาแต่ยังหนุ่ม ปีระกานิราร้าง แต่ก็ยังเทียวไล้เทียวขื่อบางกอก-พริบพรีเสมอ

สามข้อข้างบนก็น่าจะเชื่อได้แล้วว่ากวีผู้นี้ มิใช่สุนทรภู่
มาบวกข้อ 4 ที่ว่า มาเยือนศพขุนแพ่งที่ตายคราวศึกลาว ซึ่งควรเป็นศึกเจ้าอนุ
เพราะศึกเชียงตุงนั้นเป็นหน้าที่ทัพเกณฑ์ฝ่ายเหนือ แต่เพชรบุรีนี่เป็นฝ่ายใต้ ไม่เกี่ยวกัน สั่งกันมิได้

เราก็จะได้เงื่อนงำที่ระบุว่า
กวีคนนี้ เป็นชาวพริบพรี เข้ากรุงมาเมื่อยังหนุ่ม แต่ก็ยังเด่นดังที่เมืองเพชร มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มเมือง
กลับมาครั้งนี้ ลูกศิษย์ก็ยังมารับกันเกรียวกราว คาดว่าอาจจะไปๆมาๆตลอดเวลา
สาวๆที่สร้างคดีไว้ก็ยังกรุ่นๆอารมณ์ ขนาดสาวหนึ่งสะบัดหน้าหนี และอีกคนกลัวผัวจะหึง
ผัวที่ใหนหึงพระได้ครับท่าน

ถอดรหัสมาแค่นี้ ก็คลำไม่เห็นทางแล้วที่จะไปต่อประวัติให้หนุ่มเมืองเพชรนี้ เป็นสุนทรภู่ไปได้


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 07, 18:59
มาถึงค.ห.นี้   เชื่อว่ารำพันพิลาป   นิราศเมืองแกลง  นิราศเมืองเพชร แต่งโดยกวีคนเดียวกันคือสุนทรภู่   ก็เลยอ้างโยงกันไปมาได้ค่ะ
แต่ถ้าคุณพิพัฒน์เห็นว่าเจาะนิราศเมืองเพชร เดี่ยวๆเรื่องเดียว ไม่เอาเรื่องอื่นมาปน ก็ได้เหมือนกัน    ข้ามค.ห. ๓๔ กับค.ห.อื่นด้วย
ดิฉันยังไม่เชื่อว่ากวีที่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นชาวเมืองเพชร     เพราะจะไปหา "โคตรย่ายายฝ่ายวงศา" ยังต้อง "วานท่านยายคำให้นำไป"
ซ้ำยังเก็บรายการเยี่ยมญาติเป็นรายการสุดท้าย   เที่ยวเยี่ยมคนที่ไม่ใช่ญาติเสียทั่วเมืองก่อนหน้านี้  มันก็บ่งถึงความห่างเหินบางอย่าง  อาจจะเป็นญาติห่างๆ

ถ้าบทที่อ.ล้อมค้นหามา ถูกต้อง  ก็หมายความว่ากวีมีญาติผู้ใหญ่ตั้งถิ่นฐานในเพชรบุรีมาก่อน  ตอนไปเยี่ยมครั้งนี้ ญาติๆก็ยังมีเหลืออยู่
แต่ตัวเองไม่จำเป็นต้องเกิดที่นั่น   โตที่นั่น    เพียงแต่เคยไปอยู่เพชรบุรีตอนหนุ่ม
ในนิราศไม่เอ่ยถึงชีวิตวัยเด็ก หรือลูกพี่ลูกน้องผู้ชายรุ่นเดียวกัน     ถ้าหากว่าเกิดและโตที่นั่น   เขาจะต้องมีพี่น้องผู้ชายวัยเดียวกันเป็นเพื่อนเล่น   
ถึงอายุมากกว่า ๔๐ แล้ว ต้องเหลือบางคนก็ยังสนิทกันอยู่  พอจะไปเยี่ยมกันได้  ไม่ใช่ไม่มีเลย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 07, 19:39
อ่านแต่ความนิราศเมืองเพชร ผมก็ว่าไม่ใช่สำนวนพระครับ

แต่อย่างที่ว่า พอไปอ่านนิราศสุพรรณ ก็ไม่ใช่สำนวนพระเหมือนกัน (ยังไม่ได้บอกว่าคนเดียวกันแต่งนะครับ แต่ถือว่าร่วมสมัยกัน) แถมในนิราศสุพรรณมีหลายตอนที่ชี้ว่ากวีเป็นพระ

ผมก็เลยขออนุมานเอาว่า ในเมื่อหลวงพี่นิราศสุพรรณแต่งอย่างนี้ได้ นิราศเมืองเพชรก็คงจะตัดไม่ได้ว่ากวีอาจจะเป็นพระ
ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย            ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง    จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก          สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา
เรือลำนี้น่าจะนั่งกันไปไม่น้อยกว่าสี่คน จากความตอนนี้
ถึงคลองช่องล่องเลียบเงียบสงัด         เห็นเมฆกลัดกลางทะเลบนเวหา
เสียงโครมครื้นคลื่นกระทั่งฝั่งชลา        ลมสลาตันตึงหึ่งหึ่งฮือ
นาวาเหเซหันให้ปั่นป่วน                  ต้องแจวทวนท้ายหันช่วยกันถือ
ถึงสี่แจวแล้วเรือยังเหลือมือ              ลมกระพือพัดโงงดูโคลงเคลง
เนื้อความอ้างถึงอีกสามชื่อว่า หนูพัด หนูนิล อีกชื่อหนึ่งคือหนูน้อย ผมไม่แน่ใจนักใจนักว่าหนูน้อยนี่เป็นชื่อหรือไม่
ผมเข้าใจว่าเรือลำนี้คงไม่ใช่เรือแข่ง ดังนั้นคงพายกันสี่แจวเฉพาะยามคับขัน กวีมากับศิษย์ คงไม่ได้เป็นคนพายเป็นปกติ
ดังนั้นถ้าคนถามจะไม่ใช่ตัวกวีเองก็ไม่แปลก และคนตอบจะตอบว่า จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา ก็ย่อมไม่ขัดข้องอีกเช่นกันครับ

มีหมุดเวลาอีกหมุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ นิราศพระแท่นดงรัง ฉบับเณรกลั่นนะครับ ไม่ใช้ฉบับเสมียนมี ระบุ "เดือนสี่ปีมะเส็งเพ็งวันอังคาร" อ.ล้อมสอบได้ว่าตรงกับ ๕ มีนาคม ๒๓๗๕ ถือว่าช่วงเวลาใกล้เคียงกับนิราศเมืองเพชรเป็นอย่างมาก

อยากจะอ่านสอบความดู เสียแต่ว่าไม่มีอยู่ในมือครับ

คิดว่าน่าจะได้อะไรดีๆบ้าง


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ก.ค. 07, 19:53
ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการค้นพบใหม่ของอาจารย์ล้อมท่าน
(ยัง...สำหรับตอนนี้นะครับ ถ้ามีข้อโต้แย้งใหม่ๆ เราควรพักไว้ก่อน เจาะความเป็นไปได้ เฉพาะที่เป็นไปได้เท่านั้น เรื่องกำกวมทั้งหลาย วางไว้นอกวงก่อนครับ)
และผมยังอ่านรวมๆ เนื่องจากอ่านแบบแปลทีละประโยค เกิดฉบับผิด เราก็ผิดตามไปด้วย

อ่ารวมๆ ได้ความว่า
กวีท่านนี้ ผูกพันเมืองเพชรมากผิดปกติ
เช่น
พอขุนแพ่งตาย แกก็รีบไปเยี่ยมศพ แกคุ้นเคยกับน้องขุนแพ่งมากด้วย สนิทสนมกับสกุลนี้ขนาดร่วมเตียงร่วมบ้าน
ไปมาหาสู่แทบจะเป็นเหย้าเรือน แม่ว่า ในวันหนึ่ง จำต้องจากไปบางกอก

ความกว้างขวางในเมืองเพชรนี้ มีมากเกินกว่าจะเป็นแค่คนแวะมาพักอาศัย
ผมจึงต้องตีความว่า กวีผู้นี้ โตมาจนรุ่นหนุ่มที่เมืองเพชร
มีประสบการณ์ร่วม กับมิตรสหายและญาติสาวๆ แลหญิงสาวหลายคน
การที่ต้องไปหาผู้เฒ่าให้พาไปดูบ้านญาติ ก็ไม่เห็นจะแปลก เรื่องอื่นแปลกกว่านี้ยังเดาได้เป็นตุเป็นตะ
เช่นเรื่องต้องอธิกรณ์ของกวีที่ชื่อว่าสุนทรภู่ ขอหลักฐานอย่างกระจางแจ้งสักคำเถิดครับ
ผมจะยอมเชื่อ

ถ้าเราเป็นเด็กหนุ่ม ตีเสียว่ายี่สิบ แล้วต้องย้ายบ้านมาอยู่บางกอก
พอเราได้ดิบได้ดีในทางราชการ โดยที่พ่อแม่อาจจะตายไปด้วยเหตุอะไรสักอย่างที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง
เมื่อเรากลับบ้านเดิม ก็ต้องหาผู้ใหญ่ให้พากลับรกรากเดิม
ก็สมัยหนุ่มๆ มัวแต่เที่ยวหาเรื่องหาราวกะชาวบ้าน เฮ้วขนาดเคยเป็น"บ้า"
หนุ่มคนนี้ก็ต้องไม่ธรรมดา คืออาจจะไม่ได้ไกล้ชิดพ่อแม่มากมายนักเสียด้วยซ้ำ
เรื่องให้คนพากลับไปดูบ้านเก่าจึงอยู่ในวิสัยที่จะเดาได้ด้วยเหตุผลธรรมดาๆ

การที่กวีต้องถามชาวบ้านเรื่องระยะทาง ก็ส่อว่า เดิมแกไม่เคยต้องรับรู้เรื่องนี้
แปลว่ารวยแน่แหละครับ ไปใหนก็มีบริวารพาไป กลับบ้านมาครั้งนี้ จึงต้องถามทางให้มั่นใจ

ส่วนเรื่องพระวังหลัง เรื่องทำนานั้น ในเมื่อมีกลอนที่ไม่เข้ากันโผล่ออกมา ก็ต้องบอกว่า อย่าเพิ่งเชื่อทั้งคู่
ผมเองไม่ใครจะโดยเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรง เพราะทรงวินิจฉัยผิดไปจากความรู้มาตรฐานเสมอๆ
อย่างที่ทรงระบุว่า มาเมืองเพชรคราวนี้ รับอาสาเจ้าฟ้าน้อย
อันนี้เป็นไปไม่ได้ กวีเอกอย่างสุนทรภู่ตกราชาศัพท์ ตกอย่างไม่มีภูมิเลย เรียกเจ้าฟ้าระดับนี่ว่า"เสด็จ"
ก็ในเพลงยาวถวายโอวาท ผู้แต่งเรียกเจ้านายน้อยทั้งสามพระองค์ ซึ่งมีฐานันดรด้อยกว่าเจ้าฟ้าน้อย
(พระมารดาเป็นเจ้าฟ้าทรงตั้ง จากพระมารดาที่เป็นพระธิดาเจ้าประเทศราช) ยังเรียกขานเต็มยศว่าทูนกระหม่อม
อ้างตำราและคำสอนระดับสูงสุด ใช้ราชาศัพท์แพรวพราวทั้งเรื่อง ซึ่งมีเจ้านายน้อยเป็นแกนของคำประพันธ์

แต่กวีเมืองเพชรท่านนี้ เอ่ยถึงคำเดียว หนเดียว จ๋องๆ
แค่นี้ผมก็ไม่รับว่าเป็นงานของจอมอหังการณ์ที่ชื่อสุนทรภู่แล้วครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ก.ค. 07, 20:07
ขุนนางคนที่แต่งนิราศเมืองเพชร ไม่มีเหตุต้องแจวเรือครับ ผู้ดีเขาไม่แจวเรือกัน
ฝีพายเป็นภาระงานชั้นต่ำ ระดับคนต้องโทษ

ท่านใช้คำว่า ถึงสี่แจว ตรงนี้แปลว่ามาเรือใหญ่ สี่พลพาย
คนที่มีฝีพายติดตัวสี่คนนี่ ไม่ธรรมดา
และลูกแกทั้งหมดก็ไม่ต้องพายเรือเช่นกัน เพราะเป็นชนชั้นผู้ดี
การพายเรือเพื่อเดินทางไกลนี้ เป็นงานของผู้เชี่ยวชาญ เป็นงานหนักและอันตราย
เพียงแต่เจอน้ำเชี่ยว เพราะไม่ชำนาญทาง เรือก็ล่มได้ง่ายๆแล้วครับ

ผมยังนึกไม่ออกว่าความตรงใหนที่ชวนให้คิดว่าผู้แต่งเป็นพระ
ขอความกรุณาอย่าเพิ่งหยิบเนื้อความจากเรื่องอื่นมาปน เว้นแต่เอามาสอบยันกัน
อยากให้ชำแหละเฉพาะนิราศนี้เท่านั้น ดูว่า จะพาเราไปได้ไกลสักเพียงใด

อ้อ นิราศนี้แต่งรัชกาลที่สาม แน่นอน เพราะเอ่ยนามวัดราชโอรสก่อนรัชกาลที่สี่มาเปลี่ยนนาม
"ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม โอรสราชทารามงามเจริญ"
ความตรงนี้ต่างจากคุณอาชานิดหน่อย ต้องสอบว่าใครผิดด้วย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ก.ค. 07, 20:13
นิราศเณรกลั่นระบุว่าคุณพ่อเป็นพระอยู่ในขณะนั้น อ้างถึงเป็มมหาเถร
คือยกย่องมาก
และถ้าหนูกลั่นไม่เว่อร์ มหาเถร จะต้องบวชมาแล้วสิบปีครับ
อาจจะเผื่อความลำเอียงบ้าง ก็สรุปได้ว่า ปีมเส็งเพงวันอังคารในนิราศเณรกลั่นนั้น
คุณพ่อสุนทรภู่บวชมานานนักหนาแล้วครับ

หมายความว่า ปี 2375 ที่ครอบครัวท่านภู่ยกกองไปพระแท่น
ก่อนหน้านั้นสามปี มีกวีอีกคนที่เป็นฆราวาส และไม่มีวี่แววว่าจะเพิ่งสึก
แหม...แกยังเกี้ยวสาวค้างอยุ๋เลย ตอนที่มาเมืองเพชรครั้งนี้

ฟันธง(อีกครั้ง) ว่าคนละก๊วนครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 07, 20:19
ขอค้านค่ะ
ถ้าท่านขุนนางกวีนิราศเมืองเพชร เกิดและโตมาจนหนุ่มที่เพชรบุรี  ไปอยู่กรุงเทพ   ไปๆมาๆ ยังหาทางกลับบ้านเดิมไม่ถูก  ต้องวาน "ท่านยายคำ" ให้นำไป  นี่มันไม่ธรรมดานะคะ
ทีบ้านคนอื่นอย่างบ้านขุนแพ่งงี้  บ้านหม่อมบุนนาคงี้   ไม่ใช่บ้านของตัวเองสักหน่อย  แค่เคยไปพัก   ยังไปได้ออกปร๋อ  ไม่เห็นต้องวานใครให้นำไป
มันประหลาดมาก

**การที่กวีต้องถามชาวบ้านเรื่องระยะทาง ก็ส่อว่า เดิมแกไม่เคยต้องรับรู้เรื่องนี้
แปลว่ารวยแน่แหละครับ ไปใหนก็มีบริวารพาไป กลับบ้านมาครั้งนี้ จึงต้องถามทางให้มั่นใจ**
รวยได้ไง    ตัวเองต้องไปอาศัยหม่อมบุนนาคอยู่พักหนึ่ง  บอกว่า "เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย"  
 เอาละค่ะ  อาจจะนึกได้ว่ารำพันไปงั้นเอง   ไม่ได้ยากจนจริง ก็ได้
แต่คนรวยหรือจนก็ตาม   ลองเกิดและโตเป็นหนุ่มอยู่ในเมืองเพชร  ต่อให้จากไปอยู่เมืองหลวงเป็นสิบปี  กลับมาบ้านเดิม  ก็น่าจะหลับตาเดินไปได้  ว่าอะไรอยู่ตรงจุดไหน
เพราะว่าบ้านผู้คนที่แกไปเยี่ยม  ก็ล้วนแต่คนคุ้นเคย อยู่บ้านเดิมกันเป็นส่วนใหญ่
อะไรกัน ชาวเมืองเพชรโดยกำเนิดอยู่จนหนุ่ม  ต้องถามทางชาวบ้าน  แล้วกลับไปเยี่ยมญาติยังต้องวานคนนำทางไปอีก

แต่ถ้าเป็นคนเมืองหลวง   มีญาติอยู่เพชรบุรี  เคยไปอยู่ที่นั่นระยะหนึ่งอาจจะปีสองปี   กลับมาเมืองหลวง ไปเยี่ยมบ้างหลายปีหน  สักสามสี่หน    จำทางไม่ค่อยได้ ละก็ถือว่าธรรมดา


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 07, 20:21
http://www.pixiart.com/archives/soontornpoo/petch-01.html

ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง           ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง                เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม      โอรสราชอารามงามเจริญ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 07, 20:31
กวีสองคน แต่งนิราศด้วยกลอนตลาดเหมือนกัน  สัมผัสนอกสัมผัสในเป็นคู่ๆแบบเดียวกัน
วิธีการแต่งก็เหมือนกัน    เล่าเรื่องเริ่มที่การเดินทางจากกรุงเทพ  ก่อนชมวัดวา เล่าถึงสถานที่  เล่าถึงความรักความหลัง ฝีมือแต่งก็จัดเจนอย่างคนชำนาญการกวี
ที่สำคัญคือมีลูกชายชื่อหนูพัด เหมือนกัน ติดตามไปด้วย
***
เคารพสามตามกำหนดหมดมลทิน กับหนูนิลหนูพัดเข้ามัสการ
***
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้ จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน

ผู้ชายชื่อพัด อาจมีซ้ำกันได้ ไม่แปลก  แต่คุณพ่อกวีที่เรียกลูกว่า "หนู" ทั้งๆโตเป็นหนุ่มแล้ว  และลูกชายก็มีชื่อว่า หนูพัด เหมือนกันอีก  อยู่ในยุคเดียวกันด้วย ปีที่แต่งก็ใกล้เคียงกันด้วย
มันบังเอิญเกินไปค่ะ  ไม่เชื่อว่าคนละก๊วนกัน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 07, 20:46
ขอยกมาอีกทีครับ
ถึงคลองช่องล่องเลียบเงียบสงัด         เห็นเมฆกลัดกลางทะเลบนเวหา
เสียงโครมครื้นคลื่นกระทั่งฝั่งชลา        ลมสลาตันตึงหึ่งหึ่งฮือ
นาวาเหเซหันให้ปั่นป่วน                  ต้องแจวทวนท้ายหันช่วยกันถือ
ถึงสี่แจวแล้วเรือยังเหลือมือ              ลมกระพือพัดโงงดูโคลงเคลง
ถ้าเป็นเรือสี่พลพาย เรือก็ต้องใหญ่ จะมาบ่นว่า ถึงสี่แจวแล้วเรือยังเหลือมือ ก็ดูจะไม่มีประเด็นนะครับ
แต่ถ้าเป็นเรือนั่งกันสี่คน ผลัดกันแจวทีละคนหรือสองคน พอเจอคลื่นลมแรงต้องช่วยกันแจวทั้งสี่คนยังเอาไม่อยู่ อย่างนี้ค่อยน่าบ่นหน่อยครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 07, 21:02
เจอพายุแรงนะคะ คุณอาชา เรียกว่าสลาตันเลยเชียว   
ถ้าเป็นเรือเล็กคงทานไม่ไหว  เรือขนาด ๘ คนสู้ไหว ไม่ล่ม แค่ปั่นป่วนซวนเซไปเท่านั้นเอง


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 07, 21:39
เรื่องลมแรงนั้น แรงเบาแค่ไหนเราไม่มีทางรู้ได้ครับ แต่ความตรงนี้
ต้องแจวทวนท้ายหันช่วยกันถือ
ความบอกไว้ชัดว่าต้องช่วยกันครับ เรือจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนไม่รู้ แต่สี่แจวนี่คือลงไปช่วยกันแล้ว แสดงว่ายามปกติไม่ถึงสี่แจวครับ

แต่ก็อาจเป็นได้ว่ากวีและลูกๆปกติไม่ได้พายเองครับ

ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย           ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง   จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
จู่ๆจะถามหาบ้านขุนแขวงทำไม? ตรงนี้น่าสนใจ จะว่ามีธุระต้องหาขุนแขวงก็ไม่ได้พูดถึงตอนแวะ หรือได้ข่าวว่ามีขุนแขวงคนใหม่บ้านอยู่แถวนี้ก็เลยถามหา

กวีไปมาเมืองเพชรหลายครั้งแน่นอน ที่อ่านได้อย่างน้อยต้องมี ๓ ครั้ง หรืออาจถึง ๔ ครั้งหากมาครั้งพระวังหลังครรไลครั้งหนึ่ง แต่ตอนไปบางกอกปีระกาเป็นปี ๒๓๖๘ และอย่างน้อยต้องมีครั้งหนึ่งที่มาอยู่นานเป็นปีหรือหลายปี ดังนั้นจึงคุ้นเคยกับเมืองเพชรดีครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ก.ค. 07, 22:56
ผมจะลองย้อนศรดูนะครับ
กวีคนนี้เป็นสุนทรภู่มิได้เป็นอันขาด

ปี 2372 สุนทรภู่บวชอยู่ ได้มีวาสนาสอนหนังสือเจ้าฟ้าสองพระองค์ .........จากเพลงยาวถวายโอวาท
สอนมาถึงปีหนึ่ง ต้องหยุด และขอลาไปบอกว่าจะออกหัวเมือง ................จากเพลงยาวถวายโอวาท
หลังจากนั้นอีกสามปี แก็ยังบวชอยู่ เพราะเณรหนูกลั่นอ้างไว้ดังนั้น ............จากนิราศเณรกลั่น
เณรหนูกลั่นยังเรียกพ่อเลี้ยงเป็นมหาเถร ..............................................จากนิราศเณรกลั่น
แปลว่าบวชนาน ปกติต้องสิบปีเราจึงยกย่องได้ แต่นับปีแล้ว ถ้าสุนทรภู่บวชทันทีที่เปลี่ยนแผ่นดิน
แกก็เพิ่งบวชได้เพียงแปดปี
เพราะแกบอกเองว่า"แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา".......จากรำพันพิลาป
เรียงปีได้ดังนี้
2367 ออกบวช
2372 สอนเจ้าฟ้า
2375 ไปพระแท่นดงรัง

คราวนี้ผมจะเอานิราศเมืองเพชรเข้าเทียบละครับ
ก่อนปีระกา กวีสร้างเรื่องมากมายที่เมืองเพชร กับขุนรองน้องขุนแพ่ง
ในช่วงนี้เอง มีผู้รักใคร่ จะหาเมียให้ ตรงนี้น่าจะเดาอายุได้พอประมาณ
ปีระกานิราร้าง กวีจากเมืองเพชรมาบางกอก ยังไม่กล้ายืนยันว่าตรงพ.ศ.อะไร
2369-2371 เป็นช่วงที่เกิดศึกลาว ขุนแพ่งตาย
กวีมาเยี่ยมศพที่เมืองเพชร
2373-75 น่าจะเป็นช่วงนี้ ที่กวีรับอาสา"เสด็จ" ผู้เป็นเจ้านาย มาทำธุระที่เมืองเพชร

สองกวีไม่ใช่คนเดียวกัน เพราะ
สุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ แล้วออกขาดราชกิจคือ ออกบวช และบวชจนถึง 2375 เป็นอย่างน้อย
กวีเมืองเพชร ไม่มีตรงใหนที่บอกว่าบวช ได้มาเยี่ยมศพขุนแพ่ง ตอนนั้นสุนทรภู่บวชอยู่
กวีเมืองเพชร มีคดีกับสาวๆ มากหน้า ในช่วงก่อนและหลังงานศพขุนแพ่ง ตอนนั้นสุนทรภู่บวชอยู่เช่นกัน
กวีเมืองเพชร รับอาสาเจ้านายมาเมืองเพชร ปีนั้น สุนทรภู่เป็นข้าเจ้าฟ้ากุณฑลสอนหนังสือเจ้าฟ้ากลางเจ้าฟ้าปิ๋วอยู่

ท่านจะต้องยันหลักฐานของกระผมให้ตกน้ำป๋อมแป๋ม ผมจึงจะยอมเปลี่ยนความเห็น
เรื่องสุนทรภู่มิได้แต่นิราศเมืองเพชรครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 08:30
ถ้าหากว่านิราศเมืองเพชรแต่งเมื่อหน้าหนาว พ.ศ. ๒๔๗๕ 
เมื่อสุนทรภู่สึกตอนออกพรรษาแล้วล่ะคะ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ค. 07, 10:50
เห็นได้ชัดว่าติดปัญหาเรื่องพระไม่พระนี่แหละครับ

ผมอ่านนิราศเมืองเพชรตามตัวอักษร วางเรื่องอื่นลงไปให้หมด มีข้อสังเกตดังนี้
- กวี "น่าจะ" เป็นฆราวาสแวะเยี่ยนเยียนเพื่อนฝูงเยอะไปหมด แทนคุณโดยของฝาก(ผ้าแพร)
- กวีเป็นครู มาเมืองเพชรหลายครั้ง ครั้งก่อนหน้าคืองานศพขุนแพ่ง ก่อนหน้านั้นไม่นานนักต้องเคยมาอยู่นานพอที่จะสอนหนังสือใครต่อใครมากหน้าหลายตา
- กลอนไม่มีลายเซ็น "สุนทร" หรือ "ภู่"

แต่ถ้าจะสรุปว่านิราศเมืองเพชรกับนิราศพระแท่นเป็นคนละก๊วนกัน ต้องหาคำตอบของเรื่องเหล่านี้ให้ได้
- เรื่อง หนูพัด ที่อ.เทาชมพูยกขึ้นมาก่อนหน้านี้
- อ.ล้อมตั้งข้อสังเกตว่า กลอนในนิราศเมืองเพชรกับนิราศพระแท่น มีหลายตอนมากที่เหมือนกันขนาดที่ว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ (และผมเห็นด้วย) ไม่ใครก็ใครต้องลอกกันอย่างแน่นอน ถ้าเณรกลั่นแต่งนิราศพระแท่นลอกนิราศเมืองเพชรที่แต่งโดยใครก็ไม่รู้ เห็นทีจะไม่พ้นไม้เรียวคุณพ่อ นี่ยังไม่ได้คิดเรื่องที่อ.ล้อมว่าสุนทรภู่แต่งนิราศพระแท่นนะครับ แต่ถ้านิราศเมืองเพชรลอกนิราศพระแท่น(โดยที่กวีนิราศเมืองเพชรไม่ใช่สุนทรภู่) นิราศเมืองเพชรก็ต้องแต่งหลัง ๒๓๗๕ ออกไปอีกพอสมควร ผมเองยังไม่ได้อ่านนิราศพระแท่น แต่อ่านนิราศเมืองเพชรแล้วต้องยอมรับว่านี่คือกลอนของกวียอดฝีมือ ฝีมือระดับนี้ถ้าจะลอกเณรมือใหม่หัดแต่ง มันก็พิลึกเกินครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 07, 14:15
อ่านด้วยความรู้ทางกลอนระดับช่างรับเหมา
ผมเห็นว่านิราศเณรกลั่นดีไม่แพ้นิราศเมืองเพชร ระดับนี้ใครแต่งก็เก่งทั้งนั้น

ผมไม่เอาปีในเรื่องมาเป็นปีแต่ง เพราะกวีอาจจะแต่งหลังเหตุการณ์ได้หลายๆปี
เณรกลั่นเอาอย่างนิราศเมืองเพชร ก็ไม่ได้หมายความว่านิราศเมืองเพชรแต่งโดยสุนทรภู่
หมายความได้เพียงว่าเป็นก๊วนเดียวกัน
ก็ท่านสุนทรมีลูกศิษย์เต็มเมือง กลอนแบบท่านย่อมมีเกลื่อนกล่น
และในวันที่ท่านสุนทรภู่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมีชื่อเสียงเลื่องลือมากกว่าใครๆหรือไม่ เราก็ไม่รู้ได้
เรามายกย่องท่านเอาในสมัยหลังมากๆ แต่พระพุทธเจ้าหลวงนั้น เรียกแกว่า"ตาภู่"เฉยๆ เสียด้วยซ้ำ

ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ลงมา เราควรจะมีกวีเอกเป็นร้อย แค่ที่ถูกเกณฑ์ไปแต่งจารึกวัดโพธิ์ก็หลายสิบแล้ว
กรุงรัตนโกสินทร์จึงไม่ได้ถูกผูกขาดกลอนดีไว้กับท่านสุนทรคนเดียว
อย่างน้อยผมก็เห็นว่านิราศสามสี่เรื่อง ไม่น่าจะเป็นของท่าน เพราะเงื่อนไขแวดล้อมไม่อุมัติ เช่นนิราศเมืองเพชรนี้ เป็นอาทิ
1 สุนทรภู่เป็นคนเมืองเพชรจริงหรือไม่ เราไม่มีหลักฐาน แต่คนแต่งนิราศเมืองเพชรนี่ผูกพันกับเมืองเพชรอย่างแนบแน่น
2 ในช่วง 2367 มาจนถึงปีแต่งรำพันพิลาป รวม 18 ปี สุนทรภู่เป็นพระ นี่อ้างตามคำของท่านเอง
ส่วนใครที่ทราบแน่ว่าแกสึกเมื่อไร กี่หน นั่นต้องเอาหลักฐานมายันกับรำพันพิลาปให้อยู่ ผมไม่เกี่ยว
3 ดังนั้น ตั้งแต่ศึกลาว มาจนถึงไปทำธุระให้"เสด็จ" ที่เมืองเพชร เที่ยวเอาผ้าแพรไปไล่จีบสาว รวมเวลาสัก 5-6 ปี
ตก 2369-2375 จะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ท่านภู่ บวช สอนหนังสือเจ้าฟ้า และแต่งเพลงยาวถวายโอวาทพอดีเป๊ะๆ ไม่ขาดไม่เกิน
จึงเท่ากับท่านเป็นกวีสองร่าง
4 นอกจากสองร่างแล้ว ยังสองนายอีก เพราะปี 2374-75 รับใช้เสด็จพระองค์หนึ่ง
แต่ 2372-2374 โดยประมาณ เป็นข้าในเจ้าฟ้าสี่พระองค์ด้วย ข้อนี้พิลึกและน่าจะเสียหัว
จะมาผูกเรื่องว่า ออกจากวังนี้ไปอยู่วังโน้นคนเดียวได้พึ่งสามสี่ห้าวัง กระผมรับประทานมิลงขอรับ

แล้วก็ขอพูดให้เสร็จความเลยว่า สุนทรภู่ หากจะเป็นข้าเจ้าฟ้าสี่พระองค์ ท่านก็เป็นข้าของเจ้าฟ้ากุณฑล พระมเหสีในรัชกาลที่ 2
แต่ทำไมชอบเอาไปมั่วว่าท่านเป็นข้าของเจ้าฟ้ากลางกันจัง นั่นน่ะลูกศิษย์ท่านภู่ ท่านสอนหนังสือตอนพระชนม์เพียงสิบขวบจนถึงโสกันตร์
วันนั้นท่านภู่จึงต้องเป็นข้าของพระราชมารดา

ส่วนการที่ได้สอนหนังสือเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 3 ก็แปลว่า ทำโดยพระบรมราชานุญาต
เพราะรัชกาลที่สามต้องทรงอภิบาลเจ้าฟ้าของพระราชบิดา เป็นหน้าที่ ท่านภู่จึงน่าจะกินเงินเดือนหลวงเสียด้วยซ้ำ
การมีเจ้าฟ้าในแผ่นดินนั้น เป็นยิ่งกว่ามีช้างเผือกคู่แผ่นดิน ท่านจึงต้องยกย่องและดูแล
ข้อกล่าวหาที่ว่ารัชกาลที่สามกริ้วกวีคนนี้จึงน่าจะยกเมฆกลางวันแสกๆ

และเมื่อไม่เชื่อเรื่องถูกกริ้วเช่นนี้แล้ว ก็ขอแถมว่า ไม่เชื่อเรื่องแกเป็นกวีขี้เมาอะไรเทือกนั้นด้วย

หลักบานครับ หลักฐาน ขอดูหลักฐานที่แน่นหนาหน่อย
ประเภทฟังเขาเล่ามาผมก็เล่าได้


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 13 ก.ค. 07, 14:56
อิอิ.........ไม่ได้มีเวลามาดู คห. นี้ซะนาน  ไปกันถึงเชียงตุงเชียงรุ้งกันแล้ว  ดีครับได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน  ขอย้ำว่าเป็นความเห็นนะครับ  และผมก็มีความเห็นนึงมาฝากให้พิจารณา  เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับวัดพลับ(วัดพลับพลาชัย)  และจากความเห็นนี้เชื่อว่าท่านมหากวีแต่งนิราศเมืองเพชรครับ  จากสำนวนและจากชื่อหนูพัด,หนูนิล  ในนิราศเชื่อได้ว่าเป็นท่านมหากวีเป็นคนแต่งแน่นอน  และท่านก็แต่งไม่เกินปี ๒๓๗๘

                         เดือนสี่ปีระกานิราร้าง . . . . . ไปอยู่บางกอกไกลกับใจหาย
เป็นตอนหนึ่งใน นิราศเมืองเพชร ที่สุนทรภู่รำพึงถึงหญิงคนรักผู้คุ้นเคยกันในปีระกา พ.ศ. ๒๓๕๖ เข้าใจว่าเป็นช่วงเหตุการณ์เดียวกับที่อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ นำไปเขียนไว้ใน อสท. (ส.ค. ๔๒) ว่า ถ้ำเขาหลวง สถานที่ที่สุนทรภู่ กวีเอกเคยพาสาวงามมาพักอยู่เงียบๆ สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรในปี ๒๓๗๔ ซึ่งเป็น 18 ปีแห่งความหลังของท่าน แต่คงมิใช่ไม่เคยไป-มาหาสู่เลย เข้าใจว่าระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๖–๒๓๗๔ ท่านคงไปๆ มาๆ หาสู่มิตรสหายญาติผู้คุ้นเคยเป็นครั้งคราว
ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗–๒๓๗๔ สุนทรภู่บวชอีกครั้งหนึ่ง และมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่ง อาจเป็นวัดกุฎีทอง หรือวัดบันไดทองก็ได้ และน่าเชื่อว่า สุนทรภู่แต่ง กาพย์พระไชยสุริยา ไว้สอนศิษย์ที่เมืองเพชรก่อนที่จะสอนศิษย์ที่ในกรุงด้วย เช่น ท่านแต่งว่า
. . . . . . . . . . . . . . . . . . ขึ้นกดบทอัศจรรย์ . . . . . . . . . . เสียงครื้นครั่นลั่นเขาหลวง
. . . . . . . . . . . . . . นกหกตกรังรวง. . . . . . . . . . . . . . . . สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนงง
ทำไมจึงน่าเชื่อเช่นนั้น ขอตอบว่า เพราะท่านแต่งขึ้นตามความรู้สึก และประสบการณ์ในชีวิตจริงของท่านในเมืองเพชรนั่นเอง

ราว พ.ศ. ๒๔๗๔ สุนทรภู่กลับไปเพชรบุรีอีกครั้ง ก่อนที่จะเขียน นิราศเพชรบุรี ที่แสดงว่าสุนทรภู่รู้ความเป็นมาของวัดพลับพลาชัยในอดีตเป็นอย่างดี
. . . . . . . . . . . . ถึงคุ้งเคี้ยวเลี้ยวลดชื่อคดอ้อย . . . . . . . . . ตะวันคล้อยคล้ำฟ้าในราศี
. . . . . . . . ค่อยคล่องแคล่วแจวรีบถึงพริบพรี . . . . . . . . . . ประทับที่หน้าท่าพลับพลาชัย
. . . . . . . . ด้วยวัดนี้ที่สำหรับประทับร้อน . . . . . . . . . . . . . นรินทรท้าวพระยามาอาศัย
. . . . . . . . ขอเดชะอานุภาพช่วยปราบภัย. . . . . . . . . . . . . ให้มีชัยเหมือนนามอารามเมือง
. . . . . . . . ดูเรือแพแซ่ซร้องทั้งสองฟาก. . . . . . . . . . . . . . . บ้างขายหมากขายพลูหนวกหูเหือง
. . . . . . . . นอนค้างคืนตื่นเช้าเห็นชาวเมือง. . . . . . . . . . . . ดูนองเนืองนาวาบ้างมาไป
ครั้งนี้ สุนทรภู่อาสาเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มาหา ขุนแพ่ง (สุนทรภู่เคยไปมาหาสู่พักอยู่ด้วยกันกับเพื่อนคนนี้ ที่บ้านเดิม คือ บ้านโพธิ์ ทางตะวันออกของเขาหลวง ตั้งแต่ครั้งยังเป็น ขุนรองแพ่ง) ต่อมาเป็น “แพ่ง” แทนขุนแพ่งผู้พี่ มามีบ้านอยู่ไม่ห่างบ้านภริยาขุนแพ่งผู้พี่ ใกล้ตลาดน้ำกลางใจเมือง และใกล้วัดพลับพลาชัย หลังเสร็จธุระที่อาสามาแล้ว ท่านถือโอกาสแวะไปเยี่ยมภริยาขุนแพ่งผู้พี่ ที่สูญเสียสามีในศึกกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์
. . . . . . . . . . . . . . ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง . . . . . . มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาศัย
. . . . . . . . . . ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย . . . . . . . . . . . . . ไม่มีใครครอบครองจึงหมองมัว
สุนทรภู่มาค้างคืนที่วัดพลับพลาชัย (ตอนนั้นเป็นพระภิกษุ) ตื่นเช้าจึงได้ไปเยี่ยมบ้านขุนแพ่งตำแหน่งใหม่ ธุระที่ท่านอาสาเจ้านายพระองค์นั้นมาต้องเป็นเรื่องสำคัญ ท่านจึงบนบานศาลกล่าวเจ้าพ่อวัดเขาตะเคราไว้ด้วย ธุระที่ว่านั้นน่าจะเป็นการทาบทามหมั้นหรือสู่ขอกุลสตรีสาวนางหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นบุตรีของเจ้าเมือง หรือปลัดเมือง หรือไม่ก็ยกกระบัตร ซึ่งขุนแพ่งคุ้นเคยพอจะพูดทาบทามให้ได้ เมื่อขุนแพ่งรับปากว่าจะช่วยเจรจาธุระสำคัญให้แล้ว สุนทรภู่ก็โล่งใจดังท่านเขียนไว้ว่า
. . . . . . . . . . . . แล้วไปชวนท่านแพ่งตำแหน่งใหม่ . . . . . .ยังรักใครครองจิตรสนิทสนม
. . . . . . . . ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม . . . . . . . . . . . . . . . . . . เขารับสมปรารถนาสวามิภักดิ์
แต่อย่างไรก็ตาม เรามิอาจทราบได้ว่า ในที่สุดพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะได้เศกสมรส หรือได้กุลสตรีชาวเมืองเพชรผู้นั้น ไปเป็นหม่อมห้ามหรือไม่ เราทราบแต่เพียงว่า พระองค์เจ้าลักษณานุคุณสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ เมื่อพระชนม์มายุ ๒๓ พรรษา และทรงมีธิดา (จากสตรีใดไม่ทราบ) พระองค์หนึ่ง ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔.
................ ;)


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ค. 07, 15:16
ให้พระมาเป็นเถ้าแก่เห็นจะไม่ใช่ละมังครับ  ???


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 07, 16:11
"เดือนสี่ปีระกานิราร้าง ไปอยู่บางกอกไกลกับใจหาย"

ปีระกาที่ว่า จะเป็นปีใด น่าสงสัย
ถ้า 2356 ก็จะห่างศึกลาวถึง 14 ปี
เวลานานขนาดนี้ และต้องไปอยู่บางกอก
คงไม่สามารถมามีลูกศิษย์ที่กรูเกรียวมาต้อนรับที่วัดพลับพลาไชยได้
และไม่สามารถสร้างคดีรักร้างกับสาวอีกเพียบได้

ผมเชื่อว่า กวีท่านนี้ จากไปบางกอกในปีระกา 2368 ปีที่สองในรัชกาลที่ 3
จากไปแป๊ปเดียว ขุนแพ่งก็บรรลัย น้องได้เป็นขุนแพ่งแทน แกก็มาเยี่ยมศพ ระหว่างนั้นก็ไปๆมาๆ ไม่ได้ห่างหายไปนานนัก
การจากไปบางกอกนี้ จะมีเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ แต่งานที่ค้างอยู่ในเมืองพริบพรีนั้น ยังสดๆ ร้อนๆ เช่น
หมู่ศิษย์มารับกันกรูเกรียว ที่วัดพลับพลาไชย
ตรงนี้บ่งบอกว่าต้องจากไปไม่นาน เหล่าศิษย์จึงยังเล่าเรียนที่วัดพลับฯ พออาจารย์กลับมา ก็เลยอยู่พร้อมหน้า

แวะเยี่ยมสาวหลายนาง นางหนึ่งถึงสะบัดหน้าหนี นี่ก็ต้องไม่นาน สาวอะไรจะงอนข้ามทศวรรษ
ยังมีอีกหลายเกร็ด ขอมิบเอาไว้ใช้วันหลังครับ

สรุปคือ ผมเชื่อว่ากวีเพิ่งจากไปบางกอกเพียงห้าหกปีเท่านั้น
ตอนจากไปก็คงมีลูกน้อยแล้ว จะชื่ออะไรก็ช่างเถิด แต่ต้องไม่โตขนาดเป็นหนุ่ม น่าจะสักก่อนโกนจุก
เพราะกวียังให้ลูกนับคลองสามสิบสองคตอยู่เลย

การไปบางกอก ก็คงไปได้ดิบได้ดี เพราะแกเล่าว่าเพื่อนซี้ คือขุนรอง มีเรื่องกับเจ้าเมือง
ระดับมีเรื่องกับเจ้าเมืองได้นั้น ต้องมีศักดิ์ฐานะพอตัว
แกจะอ้างว่าจนก็อย่าไปเชื่อ
มาคราวนี้ ขนผ้ามาราวกะจะเปิดร้าน ไม่รวยทำไม่ได้แน่

สรุปอีกทีคือกวีไม่ใช่สุนทรภู่ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ค. 07, 17:24
ค่อนข้างเห็นด้วยกับคุณ pipat เรื่องปีระกา ๒๓๖๘ ครับ อ.ล้อมบอกว่ากวีเป็นพระเพราะมาเยี่ยมเยียน "แทนคุณ" คนเก่าแก่มากมาย แต่ผมอ่านความตอนอื่น สรุปได้ว่าแทนคุณด้วยของฝากคือผ้าแพรครับ แจกแหลกอย่างคุณ pipat ว่า

ชื่อทีมงานที่ไปด้วยมี 3 ชื่อ หนูพัด หนูนิล และหนูน้อย

หนูพัด โผล่เกือบทุกนิราศที่ว่าเป็นผลงานสุนทรภู่(ไม่นับวัยหนุ่ม) อ่านคร่าวๆดูเหมือนจะขาดแค่นิราศพระประธม
หนูน้อย มีชื่อในนิราศพระประธม ส่วนนิราศวัดเจ้าฟ้ามีชื่อน้อยแวบหนึ่ง (จันมากบุนนาคน้อย) แต่ไม่มั่นใจ ว่าเป็นคำขยายชื่อบุนนาคหรือเปล่าเพราะอีกตอนหนึ่งว่า (จันมากบุนนาคหนุ่ม)
หนูนิล คนนี้ไม่เคยมีชื่อปรากฏที่อื่นเลย

ถ้าผมอ่านไม่ตกหล่น ไม่มีตรงไหนในนิราศเมืองเพชรระบุว่าหนูทั้งสามนี้เป็นลูกของกวีครับ



กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 17:28
ตอบคุณ Bana
ไม่ทราบว่าเอาบทความมาจากไหนคะ  แต่ขอบอกได้ว่าผิดข้อเท็จจริง
๑)เรื่องกวี(ขณะยังเป็นพระ) รับธุระเจ้านายไปทาบทามเพื่อนชาวเมืองเพชร สู่ขอสาวที่นั่น มาเป็นหม่อมห้ามเจ้านาย
บ้าหรือเปล่า   เอาพระไปเป็นเถ้าแก่ (หรืออย่างเบาก็พ่อสื่อ)  ใครเขาทำกันบ้าง  หรือถ้าอุตริจะทำ พระท่านก็ไม่รับ  
๒)ไม่ทราบว่ามั่วพระนามพระองค์เจ้าลักขณานุคุณขึ้นมาจากสมมุติฐานอะไร  ทำไมถึงคิดว่า "เจ้านาย" ในเรื่องคือท่าน  ยังมองไม่เห็นน้ำหนักเหตุผลข้อนี้
๓) พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ มีหม่อมชื่อหม่อมงิ้ว   เป็นมารดาของหม่อมเจ้าหญิงโสมนัส พระธิดาองค์เดียว   ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระองค์เจ้าโสมนัสและพระนางเจ้าโสมนัสฯในรัชกาลที่ ๔
ส่วนหม่อมงิ้ว โปรดเกล้าฯเลื่อนเป็นเจ้าจอมมารดางิ้วเพื่อให้สมพระเกียรติยศของพระนางเจ้าโสมนัส  ทั้งที่ท่านไม่เคยรับราชการเป็นฝ่ายในของพระเจ้าอยู่หัว
เจ้าจอมมารดางิ้ว อยู่ในสกุลสุวรรณทัต เป็นน้องสาวพระยาราชภักดี(ทองคำ) เสนาบดีคลังสมัยรัชกาลที่ ๔  ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีเชื้อสายใดๆกับชาวเมืองเพชร


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ค. 07, 17:45
อ.ล้อมก็เชื่อว่า "เสด็จ" ในนิราศเมืองเพชรคือพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ

แต่ "สุนทรภู่ อาลักษณ์เจ้าจักรวาล" ท่านไม่ได้ยกเหตุผลมาประกอบไว้เหมือนกันครับ ไม่รู้มีอยู่ในข้อเขียนอื่นหรือเปล่า


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 17:48
ถ้าผมอ่านไม่ตกหล่น ไม่มีตรงไหนในนิราศเมืองเพชรระบุว่าหนูทั้งสามนี้เป็นลูกของกวีครับ

โอ๊ะโอ น่าสนใจประเด็นนี้มากค่ะ คุณอาชา
๑)ถ้าไม่ใช่ลูก แล้วหนูพัด หนูนิลและหนูน้อย ไปในฐานะอะไร  
๒)มาตั้งขายฝ่ายเจ้าของไม่ต้องถือ        เห็นเรือล่องร้องว่าซื้อทับทิมเหนอ
จะพูดจาคารวะทั้งคะเออ                      เสียงเหน่อเหน่อหน้าตาน่าเอ็นดู
นึกเสียดายหมายมั่นใคร่พันผูก       ไว้เป็นลูกสะใภ้ให้เจ้าหนู
พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้                      อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม
เขาอายเอียงเมียงเมินทำเดินเฉย           ไม่เกินเลยลวนลามงามหงิมหงิม
ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทับทิม                 พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชายฯ    
  

ถ้าลูกชายเจ้าชู้ไม่ได้มาด้วยเที่ยวนี้    มีแต่ลูกใครไม่รู้ทั้งสามหนุ่ม   แล้วท่านกวีทำไมเห็นแม่ค้าหน้าตาน่าเอ็นดู  ถึงอยากได้เป็นสะใภ้ล่ะคะ  
 แทนที่จะนึกอยากให้เป็นเจ้าสาวของหนึ่งในสามหนุ่มนี้  ที่กำลัง "เฮฮาประสาชาย" อยู่กับแม่ค้า  
แล้วทำไมถึงเอ่ยขึ้นถึงความเจ้าชู้ของลูกชาย (ซึ่งไม่ได้มาด้วย)

ส่วนตัวแดงข้างบนนั้น ดิฉันตีความว่าพ่อพอนึกมาถึงตรงนี้  เจ้าลูกชายเจ้าชู้ก็เอากะเขาเชียว   ร้องขอชิมทับทิม เจ๊าะแจ๊ะแม่ค้าจนหล่อนเอียงอาย

ถ้ากวีไป "ตอบต่อล้อเหล้าเจ้าทับทิม  จนแย้มยิ้มเฮฮาประสาชาย" แปลว่าแซวสาวกันทั้งเรือ  ก็เป็นพระสงฆ์ที่ไม่สำรวมอย่างมาก   น่าจะเรียกว่าสมีหรืออลัชชี
นี่ยังไม่รวมว่าพระสงฆ์อะไรไปวุ่นวายเห็นสาวก็อยากได้มาเป็นสะใภ้ อีกด้วย

ดิฉันว่าเจ้าหนูหนึ่งในสามหรือไม่ก็ทั้งสามนั่นแหละลูกชายของท่านขุนนางกวี  ถ้าท่านเป็นคนอื่น  ไม่น่าจะเรียกหนุ่มๆพวกนี้ว่าหนูพัด หนูนิล หนูน้อย   ถ้าเป็นลูกศิษย์ก็เรียกเจ้าพัด เจ้านิล หรืออย่างให้เกียรติเกรงใจกัน  ก็พ่อพัดพ่อนิล

อีกอย่าง  หนูพัดเป็นลูกชายสุนทรภู่  นั่งเรือไปเที่ยวกับขุนนางอื่นทำไม


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ค. 07, 18:04
แหะๆ แสดงว่าอ่านตกสิครับ  :-[

ความในฉบับอ.ล้อมยิ่งกว่านี้อีกครับ ติดเรตแน่นอน

แสดงว่าในสามหนุ่มนี่ ต้องมีอย่างน้อยคนนึงที่เป็นลูกของกวี

ได้แต่แอบหวังว่าจะเป็นหนูนิล จะได้ถอดรหัสง่ายหน่อย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 18:52
พยายามถอดรหัสคำบอกกล่าวของคุณอาชา

ถ้าหนูนิลเป็นลูกของท่านขุนนางกวี    ก็แปลว่าหนูพัดกับหนูน้อย ไม่ใช่  สองคนนี้เป็นลูกสุนทรภู่
ทำให้คุณอาชาสะดวกใจที่จะตีความว่า คนแต่งนิราศเมืองเพชรไม่ใช่สุนทรภู่พ่อหนูพัด  แต่เป็นกวีนิรนามพ่อหนูนิล   เพียงแต่เอาหนูพัดมาเที่ยวด้วย
ส่วนสุนทรภู่ตัวจริงยังบวชอยู่กรุงเทพโน่น

ก็แปลก   เพราะในเรื่อง กวีแสดงความสนิทสนมกับหนูพัดมากกว่าอีกสองคน

ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะคริวสวาท มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้  จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน
เขานับถือลืออยู่แต่บุราณ ใครบนบานพระรับช่วยดับร้อน

งั้นเจ้าหนูนิลนี่ใช้ไม่ได้เลย  ปล่อยให้พ่อกับเพื่อนไปจัดธูปเทียนดอกไม้ทั้งสองคน   ทั้งที่ตัวเองก็ไปเวียนเทียนกับเขาด้วย  ไม่ยักกะช่วยพ่อ 
พ่อก็ไม่เรียกลูก  กลับไปเรียกเพื่อนของลูกมาช่วยกันกุลีกุจอสองคน

ได้ชมเพลินเดินมาถึงหน้าโบสถ์                         สมาโทษถือเทียนเวียนทักษิณ
เคารพสามตามกำหนดหมดมลทิน                      กับหนูนิลหนูพัดเข้ามัสการ  

หนูพัดนั่นแหละลูกคนโต และลูกคนโปรดของพ่อด้วย    ส่วนหนูนิลเสนิทน้อยกว่า     ถ้ามีใครสักคนไม่ใช่ลูก ก็น่าจะเป็นหนูนิลมากกว่าหนูพัดค่ะ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ค. 07, 19:08
คุณ pipat ว่ายังไงดีครับ

ถ้าท่านขุนนางกวีผู้นี้มีลูกชื่อหนูพัดกับหนูน้อย ก็ซ้ำกับท่านภู่พอดี

โอกาสซ้ำขนาดนี้ไม่ง่ายเลยครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 07, 19:17
คุณ pipat ไม่ว่าครับ เกิดไม่ทัน แต่ท่านสุนทรภู่บอกว่า
ลูกฉันมีสองคนจ้ะ ชื่อหนูพัดกับหนูตาบ ให้คุณครูเทาชมพูไปอ่านเพลงยาวถวายโอวาทจ้ะ
ส่วนหนูพัดเอง เธอก็ออกชื่อเธอกับน้องว่าหนูพัดหนูตาบ ในนิราศวัดเจ้าฟ้า
ซึ่งเณรหนูกลั่นก็รับรองดิบดีเมื่อระบุว่าเดินทางไปกับมหาเถร มีเณรพี่พัดและน้องหนูตายติดตามไปด้วยกัน
เณรกลั่นยังเล่นปล้ำกับน้องตาบอะเหร็ดอะหร่อย

ส่วนหนูนิล หนูน้อยอะไรนั่น ฉันไม่รูจักน่ะนา ลูกใครก็ไม่รู้
แม้...มาตั้งชื่อลูกว่าพัด เลียนแบบกันด้าย
ยุ่งขิงเป็นลิงหลงทางเปล่าๆ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 19:27
ในนิราศเมืองเพชร   หนูนิลหนูน้อยอาจไม่ใช่ลูกท่านขุนนางกวีก็ได้
หรือเป็นลูกก็ได้
ใครจะยืนยันได้ว่าสุนทรภู่มีลูกแค่ ๓ คน
เจ้าชู้ขนาดนี้ ลูกอาจจะ ๕ ก็ได้  เพราะแม่มีสิทธิ์ว่าจำนวนเกิน ๕   
เลิกกันไปลูกอยู่กับแม่บ้าง    แวะมาเที่ยวกับพ่อบ้าง ก็ไม่ถึงขั้น"อิมพอสสิเบิ้ล" ไม่ใช่หรือคะ

ขอย้ำอีกครั้ง
ผู้ชายชื่อพัด อาจมีซ้ำกันได้ ไม่แปลก  แต่คุณพ่อกวีที่เรียกลูกว่า "หนู" ทั้งๆโตเป็นหนุ่มแล้ว  และลูกชายก็มีชื่อว่า หนูพัด เหมือนกันอีก  พ่อก็เป็นกวีแต่งนิราศในยุคเดียวกันด้วย   ปีที่แต่งก็ใกล้เคียงกันด้วย
มันบังเอิญเกินไปค่ะ 
นอกจากไม่เชื่อว่าคนละก๊วนกันแล้ว  ยังไม่เชื่อว่าคนละคนกัน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 19:31
ขอกลับไปอ่านแบบแกะทีละตัวอีกทีนะคะ  เพราะกำลังสงสัยว่า หนุ่มๆในนิราศเมืองเพชร มีแค่ ๒ คน คือหนูพัดกับหนูนิล(ซึ่งอาจเป็นเพื่อนหรือญาติลูกพี่ลูกน้องของหนูพัด)  ไม่มี หนูน้อย   
เป็นการอ่านตีความผิดไปเอง

ขอเวลานอก
ระหว่างนี้เชิญบรรเลงกันไปก่อน ตามสบาย
ป.ล. คุณพิพัฒน์  คนที่บอกว่าลูกสุนทรภู่ชื่อพัดกับน้อย คือ คุณอาชาผยองนะเจ้าคะ ไม่ใช่ดิฉัน
คุณมาไล่ดิฉันไปอ่านเพลงยาวถวายโอวาททำไมเจ้าคะ   


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 07, 19:52
ขอย้ำมั่งกั๊บ
เพลงยาวถวายโอวาท เป็นงานประพันธ์ชนิดสุดฝีปากของสุนทรภู่ มีเท่าไหร่ใส่หมด
เพื่อแสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณของเจ้านาย สำนวนความเทียบนิราศจืดๆ เรื่องนี้ได้ไหมครับ
คนที่มี"นาย"เป็นถึงมเหสีเทวี มีเจ้าฟ้าสามองค์เป็นลูกศิษย์ และครองเพศสมณะในปี 2367-2385
จะทำตัวเสเพลเหมือนนายขุนนางพริบพรีท่านนี้ได้หรือครับ
เห็นชัดแจ้งว่าต่างบุคคล

ปีที่ขุนแพ่งบรรลัย ตีว่า 2370-71 และขุนนางเพชรบุรีกำลังได้ดิบได้ดีกับเจ้านายที่เป็น"เสด็จ" อยู่ในบางกอก
เป็นเวลาเดียวกับที่พระภู่ เริ่มจะรับงานสอนหนังสือเจ้าฟ้า ท่านยังว่าเป็นคนเดียวกันอีกหรือ

เอาอย่างนี้ละกัน ผมทำตารางเทียบเลย
--------------------------------------------------------------------------------------
.............................พระภิกษุภู่.....................................................ขุนนางกวี................................
2365................สอนเจ้าฟ้าอาภรณ์----------------------------------ไม่รู้ทำอะไร
2367................บวช-------------------------------------------- ไม่รู้ทำอะไร
2370-71............บวช---------------------------------------------- ไปเยี่ยมศพขุนแพ่ง
2372................สอนเจ้าฟ้ากลาง----------------------------------- ไม่รู้ทำอะไร
2373................สอนเจ้าฟ้ากลาง----------------------------------- ไม่รู้ทำอะไร
2374................เจ้าฟ้ากลางโสกันตร์และบรรพชา หยุดสอน---------------- ไม่รู้ทำอะไร/อาจจะมาเมืองเพชรคราวแต่งนิราศนี้
2375................ไปพระแท่นกับหนูพัด/หนูตาบ/หนูกลั่น--------------------- เกิดว่าแกมาเมืองเพชรปนีนี้ก็แย่สิครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 20:49
ลองทำบ้างก็ได้ค่ะ

สุนทรภู่
2365................สอนเจ้าฟ้าอาภรณ์
2367................บวช
2370-72............บวช   ไปเยี่ยมศพขุนแพ่ง
2372................สอนเจ้าฟ้ากลาง
2373................สอนเจ้าฟ้ากลาง
2374................เจ้าฟ้ากลางโสกันตร์และบรรพชา หยุดสอน
2375................ไปพระแท่นกับหนูพัด/หนูตาบ/หนูกลั่น ตอนต้นปี
2375................สึก ตอนออกพรรษา  พอถึงหน้าหนาว ก็ไปเพชรบุรีกับหนูพัด หนูนิล(ซึ่งอาจจะเป็นหลานก็ได้)


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 21:25
ปีนี้เป็นปีเดียวกับเขียนเพลงยาวถวายโอวาทหรือเปล่าคะ?

ในปีวอกนักกษัตรอัฐศก                   ชะตาตกต้องไปในไพรสณฑ์
ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน

คือ....หานิราศพระแท่นดงรังในอินเทอร์เนตไม่เจอ    ได้มาแค่นี้เอง อ้างไว้ในเว็บที่ไม่เกี่ยวข้องกันอีกเว็บหนึ่ง

เจอประวัติสุนทรภู่ที่สวช.(สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)ทำไว้  ประวัติส่วนใหญ่อ้างจากพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ    แต่มีน่าสนใจคือที่คุณเทพ สุนทรศารทูล   ค้นคว้าเพิ่มเติมไว้
ในเว็บบอกไว้ว่า

"อย่างไรก็ดี ในเรื่องประวัติและผลงานของท่านสุนทรภู่นี้ นายเทพ สุนทรศารทูล ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่าท่านได้ศึกษาและค้นคว้าชีวิตและงานของสุนทรภู่มาเป็นเวลานานถึง ๓๘ ปี(พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๓๓) และได้พิมพ์หนังสือเรื่อง”ชีวประวัติของพระสุนทรโวหาร(ภู่ ภู่เรือหงส์)” เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๓ เป็นวิทยานิพนธ์โดยพิสดารเผยแพร่ประวัติของท่านสุนทรภู่ที่เพิ่งพบใหม่หลายประการ ซึ่งหากใครสนใจในรายละเอียดก็ไปค้นอ่านได้ แต่ในที่นี้จะขอนำมาบอกกล่าวเป็นบางเรื่อง คือ 
           - ตำแหน่งของสุนทรภู่ เป็น หลวงสุนทรโวหาร มิใช่ ขุนสุนทรโวหารตามที่เคยว่ากัน เพราะในทำเนียบนามบรรดาศักดิ์ไม่มีตำแหน่ง ขุน มีแต่ หลวง
           - บิดาสุนทรภู่ชื่อ ขุนศรีสังหาญ(พลับ) ตำแหน่งปลัดกรมขวาศักดินา ๓๐๐ไร่           
- จากการค้นคว้าได้พบว่า บทกวีเดิมที่มิใช่สุนทรภู่แต่งมี ๕ เรื่อง แต่เป็นผลงานของศิษย์ของท่าน คือ สุภาษิตสอนหญิง เป็นของนายภู่ จุลละภมร  นิราศพระแท่นดงรัง เป็นของเสมียนมี มีระเสน นิราศวัดเจ้าฟ้า ของนายพัด ภู่เรือหงส์ (ลูกชายสุนทรภู่) นิราศอิเหนา ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ และบทละครเรื่องพระอภัยนุราช เป็นของพระยาเสนาภูเบศร์ (ใส สโรบล)
    นอกจากนี้นายเทพ ยังพบผลงานใหม่ของท่านสุนทรภู่อีก ๕ เรื่องคือ เพลงยาวรำพรรณพิลาป(แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งกล่าวว่าเป็นเพลงยาวสังวาสที่ยาวที่สุดในโลก-เพลงยาวสังวาสคือเพลงยาวที่แต่งเกี้ยวกัน) เพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ ตำรายาอัฐกาล(ตำราบอกฤกษ์ยามเดินทาง) สุบินนิมิตคำกลอน และตำราเศษนารี(เป็นตำราบอกลักษณะนารีถึงคุณลักษณะ และวาสนานารีสำหรับชายหนุ่มเลือกคู่)
           ที่กล่าวว่าสุภาษิตสอนหญิงมิใช่สุนทรภู่แต่ง แต่เป็นของนายภู่ จุลละภมร ศิษย์สุนทรภู่นั้น นายเทพให้ข้อสังเกตว่าเพราะชื่อภู่เหมือนกัน แต่เรื่องที่นายภู่แต่งจะมีบทไหว้ครูทุกเรื่อง ผิดกับท่านสุนทรภู่ที่แต่งกลอนจะไม่เคยมีบทไหว้ครูเลย
           - เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่กลัวภัยที่เคยได้ล่วงเกินพระองค์มาก่อน จึงได้หนีไปบวชที่วัดอรุณฯ ในนามหลวงสุนทรโวหารนอกราชการ ไม่เคยถูกถอดยศหรือปลดตำแหน่งใดเลย และตลอดระยะเวลาที่บวชอยู่ ๒๗ พรรษา รัชกาลที่ ๓ ก็ไม่เคยแตะต้องข้องแวะกับสุนทรภู่
      นอกจากนี้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณและกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ ยังให้ความอุปการะแก่สุนทรภู่ด้วยซ้ำ ซึ่งหากพระองค์ถือโทษโกรธเคืองสุนทรภู่ ดังที่หลายคนอ่านบทกลอนของสุนทรภู่แล้วเข้าใจผิด ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน สุนทรภู่คงจะไม่พ้นพระราชอาญาแล้ว แต่พระองค์ทรงพระคุณธรรมประเสริฐยิ่ง จึงไม่เคยลงโทษสุนทรภู่แต่อย่างใดเลย
 
ข้อสังเกต
๑) เรื่องที่ว่าบิดาสุนทรภู่ชื่อขุนศรีสังหาร(พลับ)   ถ้าจำไม่ผิด มาจากนายก.ศ.ร. กุหลาบ    ซึ่งพูดถึงความน่าเชื่อถือแล้วน่าเคลือบแคลงมาก   
เพราะเมื่ออายุมากขึ้น นายกุหลาบสามารถตอบคนอ่านหนังสือสยามประเภทได้หมดว่าบรรพชนของแต่ละสกุลของผู้ถามนั้นเป็นใครมาจากไหน  แต่ไม่เคยมีหลักฐานมาให้เห็นเลยว่าไปรู้มาจากไหน
ราชทินนาม   ขุนศรีสังหาร มีรายชื่ออยู่ในทำเนียบขุนนางวังหน้า    ถ้าหากว่าพ่อสุนทรภู่เป็นขุนนางวังหน้าจริง     ก็น่าแปลกใจว่าทำไมแม่สุนทรภู่กลับเป็นแม่นมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง     ครอบครัวของขุนนางวังหน้า น่าจะอยู่ในแวดวงวังหน้าด้วยกันมากกว่าจะข้ามไปข้ามมา  แบบ สามีทำงานวังหน้า แต่ภรรยากลับไปอยู่วังหลัง
๒) มีผู้วิเคราะห์กันมานานแล้วว่า สุภาษิตสอนหญิง ไม่ใช่ผลงานของสุนทรภู่ แต่ดิฉันยังไม่เชื่อว่าเป็นของนายภู่อีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ชั้นหลังสุนทรภู่   สำนวนกลอนนายภู่ในเรื่องอื่น ยังจืดชืดและอ่อนสัมผัสมากนัก
เหตุผลเรื่องบทไหว้ครู ยังไม่มีน้ำหนักพอ  น่าจะมีหลักฐานมากกว่านี้


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 07, 21:49
ต้องอ่านเพลงยาวถวายโอวาท เพราะท่านภู่แต่งแน่ๆ และมีบอกประวัติไว้
1 เคยสอนเจ้าฟ้าอาภรณ์
2 เป็นนักเลงเพลงยาว มีชื่อเลื่องลือไปทั้งเขมรนคร....
3 บอกปีที่เจ้าฟ้ากลางเจ้าฟ้าปิ๋วมาเป็นศิษย์
4 บอกลาเพื่อจะไปออกหัวเมือง
ทั้งหมดนี้ไม่มีใครจะมาโต้แย้งได้

แต่ตารางเวลาของอาจารย์นั้น โต้แย้งข้อมูลท่านสุนทรภู่ ดังนี้

2365................สอนเจ้าฟ้าอาภรณ์
2367................บวช
2370-72...........บวช   ไปเยี่ยมศพขุนแพ่ง
.......................ตรงนี้แปลว่า อาจารย์ให้ท่านภู่มาเมืองเพชรครั้งนี้"ในผ้าเหลือง"
ผมก็จะขอทราบต่อครับว่า แล้วสาวๆ ที่ท่านสร้างคดีเอาไว้ จะบรรจุเข้าช่วงใหน
ถ้าเป็นพฤติกรรมก่อนบวช 2367 มาถึงวันที่แต่งนิราศ ราว 2375 ก็ห่างกัน 8 ปี
ยังมีสาวที่ใหนนั่งสะบัดหน้าเพราะแรงแค้น ทั้งๆที่แต่งงานมีฝาละมีแล้ว
และหลานสาวที่เอาแพรมาฝาก แลัวเพิ่งรู้ว่าแต่งงาน จะบรรจุเข้าช่วงใหน
อีกทั้งหมู่ลูกศิษย์ที่มารอรับกันสลอน ท่านมาสอนไว้เมื่อไร
อย่าลืมว่า ท่านเป็นครูเจ้าฟ้ามาคั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 2 นะครับ

อาจารย์ยังหักอกหักใจให้ท่านภู่สึกเสียอีก ไม่ทราบว่ามีหลักฐานรองรับหรือไม่
อย่างน้อยรำพันพิลาป ก็ไม่ได้เอ่ยไว้ ใครจะรู้ดีกว่าเจ้าของประวัติได้

ส่วนประวัติสุนทรภู่ที่ยกมานั้น ถ้ามิใช่เขียนโดยสุนทรภู่ ผมไม่รับพิจารณาครับ
เพราะต่างก็อ่านกลอนได้ผิดเท่าๆ กับผม ไม่มีใครเกิดทันสักคน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 22:14
เอาใหม่
สุนทรภู่
ก่อนหน้า 2365 ไม่รู้กี่ปี...เคยอยู่เพชรบุรี  ไปลองวิชาหาอะไรในถ้ำ พาแม่ลูกจันไปอยู่ด้วย
23-- ................ปีระกา จากเพชรบุรีมากรุงเทพ
2365................สอนเจ้าฟ้าอาภรณ์
2366-7.............ไปเพชรบุรี ก่อคดีกับสาวๆ
2367................บวช  (ปีวอกออกขาดราชกิจ)
2370-72............บวช   ไปเยี่ยมศพขุนแพ่ง
2372................สอนเจ้าฟ้ากลาง
2373................สอนเจ้าฟ้ากลาง
2374................เจ้าฟ้ากลางโสกันตร์และบรรพชา หยุดสอน
2375................ไปพระแท่นกับหนูพัด/หนูตาบ/หนูกลั่น ตอนต้นปี
2375................สึก ตอนออกพรรษา  พอถึงหน้าหนาว ก็ไปเพชรบุรีกับหนูพัด หนูนิล(ซึ่งอาจจะเป็นหลานก็ได้)

แม่อิน กิ๊กเก่ายังคงแค้นร่วมทศวรรษ ไม่ยอมพูดด้วย
คนอื่นๆเช่นน้องทองดี เจอคราวก่อนตอนมางานศพขุนแพ่ง ก็ท้อง มาเจออีกทีก็ท้องอีก
ส่วนหลานสาว เมื่อก่อนยังเด็ก มาโตเป็นสาวตอนสุนทรภู่ไปงานศพหลวงแพ่ง  เจออีกทีในปีนิราศเมืองเพชร   เป็นสาวเต็มตัวเข้าหอไปแล้ว


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 22:20
เรื่องสึกตอนออกพรรษา  ตีความจากเพลงยาวถวายโอวาท ค่ะ

แต่ในช่วงนี้  เรื่องพ.ศ. ยังสับสนอยู่   ยังเรียงลำดับในสมองได้ไม่แจ่มแจ้ง จะตรวจสอบวันเดือนปีเองก็ยังไม่มีปัญญา   
ดังที่เคยบอกแล้วว่าเกลียดตัวเลขการนับพ.ศ. เป็นอันดับหนึ่ง  เมื่อมาเจอคุณพิพัฒน์ที่ยึดการนับพ.ศ. เป็นหลัก  ดิฉันจึงปวดหัวพอสันฐานประมาณ
เอาเป็นว่า มีการสึกก่อนไปนิราศเมืองเพชร  ถ้าจะยืนยันว่าสุนทรภู่บวชระยะยาวไม่เคยสึกเลยจนถึง พ.ศ. ๒๓๗๕


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 07, 22:30
ถ้าไม่ชอบตัวเลข งั้นผมเสนอตัวหนังสือแทน อย่างนี้ครับ

ผมจะเรียงเรื่องเกี่ยวกับขุนนางกวีนิรนามแห่งพริบพรี ดังนี้
หนุ่มคนหนึ่ง มีวิชาหนังสือพอตัวจนได้เป็นครูสอนหนังสือแก่คนทั้งหลาย สำนักอยู่แถววัดพลับ
แกมีเพื่อนสนิทเป็นคนมีชื่อ เอ่ยนามว่าขุนรอง(คงเป็นตำแหน่งเมื่อหนุ่มแล้ว) เป็นน้องขุนแพ่ง

ขุนรองนี้ เคยมีเหตุขัดแย้งกับเจ้าเมือง ถึงหนีไปอยู่นอกเมือง กวีก็ตามไปอยู่เป็นเพื่อน
เมื่อเป็นหนุ่มพอจะมีคู่ได้ มีผู้หลักผู้ใหญ่เมตตา จะหาคู่ให้ แต่ไม่สำริดผล ถึงกับมองหน้าสาวเจ้าไม่ติด
ระหว่างแตกเนื้อหนุ่ม แกก็ผาดโผน จนออกอาการที่เรียกว่า "บ้า"
เดาว่าบ้าวิชา ไม่ใช้บ้าบอ เพราะตอนที่บ้าอยู่ ยังมีสาวมาให้นอนหนุนแขน
คนวิกลจริตคงทำอย่างนั้นมิได้ และคงจำเรื่องมิได้ด้วยซ้ำ

นิสัยเจ้าชู้นี้ เป็นเอกลักษณ์ แกจึงมีความหลังกับสาวหลายคน
แกเป็นคนเมืองเพชรแน่ แม้ไม่มีกลอนที่บอกว่าไปหาถิ่นฐานบ้านเรือนบรรพบุรุษ
แต่รายละเอียดชีวิตที่เก็บออกมาได้ พบว่าแกหัวหกก้นขวิดชนิดที่เป็นคนต่างถิ่น คงกระทำมิได้

อยู่มาวันหนึ่ง แกก็ต้องจากบ้านเข้ายางกอก
ไปบางกอกได้ไม่นาน ขุนแพ่งตาย อาจจะเพราะไปทำศึกลาวบาดเจ็บมา แกก็มาเยี่ยมศพ
ขุนรองเพื่อนรักได้รับแต่งตั้งแทนที่พี่ ข้อนี้บ่งว่า อายุต้องมากพอแล้วล่ะ จึงรับงานต่อได้
ช่วงที่แกไปบางกอกและกลับมาเยี่ยมศพ จนมาถึงวันที่รับอาสา "เสด็จ" พระองค์หนึ่งมาหาของต้องประสงค์
ซึ่งเป็นของที่อยู่กับขุนรอง แกจึงมาเจรจาสำเร็จโดยง่าย เสร็จงาน แกก็อวดกร่าง
คงเป็นระยะเวลาไม่นานนัก ไม่น่าจะเกินสี่ห้าปี
หากเป็นเช่นนั้น วันที่แกจากพริบพรีไปบางกอก แกก็ต้องมีลูกเด็กแล้วล่ะ
เพราะมาคราวนี้ แกเอ่ยถึงเด็กที่มาด้วย ล้วนแต่รู้ความแล้วทั้งนั้น
อย่างต่ำก็เกี้ยวสาวได้ ก็คง 16 ขึ้นไป คนเล็กก็เล่นนับคุ้งคลองได้ น่าจะอายุราวๆ โกนจุก
เรารู้ด้วย ว่าแกไร้คู่ การมาเจาะจงหาแต่สาวๆ จึงออกจะซ่อนนัยยะอยู่นา....

คนที่แกแวะไปหาก็ล้วนแต่คุ้นเคยกันเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ทั้งนั้น
อ่านกลอนแล้ว เดาได้ว่า แกน่าจะมาเมืองเพชร ปีเว้นปีเสียด้วยซ้ำ
เพราะแกเย้าสาวคนหนึ่งว่า มาทีไรท้องทุกที.....
ดังนั้น ผมจึงใคร่ปรึกษาท่านนักเดาอดีตานุศาสตร์ว่า
กวีผู้นี้ จะจากมาบางกอกปี 2356 หรือ 2368 ดีครับ

ทีนี้เป็นคำถาม แก้เบื่อ
1 หนุ่มเมืองเพชรคนนี้ จะใช่คนเดียวกับที่เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาวได้หรือไม่
คนนั้น วัยหนุ่มก็โชกโชนเรื่องหญิงไปทั่วคุ้งน้ำแห่งบางกอกเหมือนกัน
2 แล้วหนุ่มคนนี้ จะกลายมาเป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เป็นครูสอนเจ้าฟ้าตั้งแต่ปลายรัชกาลที่สอง
บวชเมื่อสิ้นรัชกาล แล้วได้เป็นครูสอนเจ้าฟ้าอีกสององค์ ได้หรือไม่

ตอบได้ ผมจึงจะยอมเชื่อว่าสุนทรภู่มีสามชีวิต ดำเนินไปพร้อมๆ กัน เป็นอัจฉริยะแห่งจอมแปลงกาย....ฮิฮิ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 07, 22:58
ถ้าพูดเป็นตัวหนังสือ  ก็พอจะเจรจาความกันได้

เอาศึกลาวที่ขุนแพ่งตาย เป็นหลัก  ว่าท่านขุนนางกวีกลับมาเมืองเพชรในนิราศเมืองเพชร หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี  ก็แปลว่ามาเมื่อ พ.ศ. 237... กว่าๆ
มีลูกชายเป็นหนุ่มแล้ว พอหาสะใภ้ได้    พ่อต้องอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี  ตีเสียว่า 40-45 ขวบ
ตอนคึกคะนองกับสาวๆเห็นจะประมาณ 20-25   ปี   มีเมียเป็นตัวเป็นตน  หลังจากนั้น  ไปได้เมียชาวเมืองหลวงหรือไงไม่ทราบ
จึงคิดว่าไปบางกอกปีระกา 2356 มากกว่า 2368 ค่ะ   แต่ว่ากลับมาเยี่ยมหลังจากนั้น ไม่ได้หายสูญไปเลย 
ก่อนมาครั้งเขียนนิราศเมืองเพชร  น่าจะทิ้งช่วงหลายปี  เพราะจำหนทางไม่ค่อยจะได้

จึงขอเรียงเรื่องเสียใหม่ อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

-หนุ่มคนหนึ่ง เป็นชาวเมืองหลวงแต่ว่ามีญาติระดับปู่ย่าตายายอยู่เมืองเพชร   เรียนหนังสือจบจากวัดชีปะขาว  พ่อแม่แยกทางกัน
-เป็นคนเก่งเรื่องหนังสือหนังหา แต่งหนังสือได้แต่วัยหนุ่ม
-มีเหตุอะไรสักอย่างทำให้ออกจากเมืองหลวงมาอยู่กับญาติที่เพชรบุรี   ยึดอาชีพครู มีลูกศิษย์ลูกหานับหน้าถือตา   
-คบเพื่อนหนุ่มลูกคนไฮโซในเมือง ชื่อขุนรอง น้องขุนแพ่ง   พื้นเพที่ดีทำให้ผู้ใหญ่เอ็นดูหาคู่ให้
- ก่อเหตุอะไรบางอย่างที่เพชรบุรี  อาจจะเนื่องจากผู้หญิง  ที่ไปวุ่นวายอยู่หลายบ้าน ก็เลยจากเพชรบุรีไปเมืองหลวง
- จากนั้นไปเป็นอาลักษณ์   แต่งงานมีลูก
- คนเก่งอยู่ที่ไหนก็ย่อมมีคนเห็นแวว   จึงเลื่อนจากอาลักษณ์วังธรรมดาไปเป็นอาลักษณ์วังหลวง
- ชะตาลดลงบ้าง เมื่อสิ้นวังหลวง แต่ก็ไม่ถึงกับตก  เมื่อบวช ก็ได้ถวายพระอักษรเจ้าฟ้า ขณะบวช
- อาจจะกลับมาเมืองเพชรบ้าง บางครั้ง เพราะออกหัวเมืองบ่อย
- ชีวิตในผ้าเหลือง ค่อนข้างขรุขระ  วันหนึ่งก็สึก เมื่ออายุมากแล้ว กลับเป็นโสดอีกครั้ง(พูดแบบใหม่ แบบเก่าคือเป็นพ่อม่ายเมียทิ้ง)
- กลับมาเยี่ยมเมืองเพชรอีกครั้ง  มีลูกชายมาด้วยคนหนึ่ง อีกคนอาจจะหลานชาย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ค. 07, 23:14
เรื่องบวชยาวผมยังข้องใจครับ ผมไม่ได้อ่านนิราศพระแท่น แต่เท่าที่อ่านจากรำพันพิลาป
แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ     บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
ผมว่ากวีไม่ได้บอกว่าบวชยาวนะครับ แค่บอกว่าปีวอกออกจากราชกิจไปบวชแค่นั้นเอง

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ อาจจะระบุปีได้
ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกไปลึกซึ้ง            เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่     สถิตที่ทับนาพออาศัย
ยามนั้นกับขุนรองต้องมาสถิตที่ทับนา คนที่ต้องมานอนทับนาสถานภาพการงานจะเป็นอย่างไร
นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง        เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ         เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอนฯ
เหตุการณ์นี้ต้องเกิดขึ้นทีหลังแน่ แต่เมื่อไหร่?

ผมคุ้ยได้ลิงก์นี้มา http://www.bizascorp.com/dika/index.php?master_id=70&lang_id=1 (http://www.bizascorp.com/dika/index.php?master_id=70&lang_id=1) มีความน่าสนใจดังนี้ครับ
๔. ศาลความนครบาล หรือกระทรวงนครบาล พิจารณาความนครบาล เช่น ปล้น ฆ่า ยาแฝดยาเมาถึงตาย ทำแท้งถึงตายเป็นต้น ถ้าเป็นเรื่องไม่ถึงตายและจำเลยเป็นสมใน ให้ขุนพรหมสุภาเป็นผู้พิจารณา ถ้าความนครบาลเกิดในหัวเมือง ขุนแขวงเป็นผู้พิจารณา
๖. ศาลแพ่งกลาง พิจารณาความแพ่งที่จำเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหา ในสถานเบา เช่น ด่าสบประมาท แทะโลม ข่มขืนมิได้ถึงชำเรา ทุบถองตบตีด้วยไม้หรือมือไม่ถึงสาหัส กู้หนี้ยืมสิน เป็นต้น ถ้าความแพ่งสถานเบาและจำเลยเป็นสมนอกเกิดในหัวเมืองรองแพ่งเป็นผู้พิจารณา
๗. ศาลแพ่งเกษม พิจารณาความแพ่งที่จำเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหา ในสถานหนัก เช่น บุกรุกที่ดินเรือกสวน ทำชู้หรือข่มขืนกอดจูบเมียหรือลูกหลานผู้อื่นถึงชำเรา เป็นต้น ถ้าความแพ่งสถานหนักและจำเลยเป็นสมนอกเกิดในหัวเมือง ขุนแพ่งเป็นผู้พิจารณา 
ตำแหน่งขุนแพ่ง รองแพ่ง(ที่บางแห่งเรียกขุนรองแพ่ง จะมีคนเรียกไปขุนรองได้ไหม?) ควรจะใหญ่โตแค่ไหน ดูจากที่กวียกย่องก็ไม่เบาอยู่ ย้อนหลังกลับไปแค่ไม่กี่ปี (๒๓๖๘) จะให้ยำ่แย่ถึงต้องไปนอนทับนาผมว่าเกินไปหน่อยครับ

ถึงตรงนี้ รู้สึกว่าปีระกาไปบางกอกน่าจะไกลถึง ๒๓๕๖ วันที่ขุนรองยังเป็นแค่ไอ้หนุ่มที่ต้องไปนอนทับนากับเพื่อนอยู่ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 07, 23:38
ท่านอาชาฯ เกิดไม่ทัน จึงไม่รู้ว่าคนรวยครั้งรัชกาลที่สามเขาเป็นอยู่อย่างไร
ขุนรองไปอยูทับนา ไม่ได้แปลว่าจนครับ แปลว่ารวยต่างหาก
คือผู้ดี เขาจะอยู่กลางเมือง อย่างแถววัดพลับนั่นละถิ่นไฮโซ แต่มีที่ดินอยู่นอกเมือง จ้างเขาทำนา
ได้ข้าวก็นำส่งเจ้าที่ดิน ผู้เช่าแบ่งหางข้าวไปเป็นค่าแรง

เมื่อไอ้หนุ่มห้าว มีเรื่องกับเจ้าเมือง ก็เผ่นซีครับ
หนีไปซ่อนตัวที่ปลายนาพอให้เรื่องสงบ แล้วจึงกลับมาฉุยฉายใหม่

สำหรับความเห็นของอาจารย์นั้น มีข้อแย้งเพียงว่า ถ้าปักหลักที่ปีขุนแพ่งตาย ซึ่งหนีไม่พ้น 2370 กว่าๆ
เราต้องนับถอยหลังจากปีนี้ลงไป
และนับจากปีนี้ขึ้นมาจนถึงเมื่อกวีมาพริบพรีคราวแต่งนิราศ
ประเด็นของผมยังคงเดิม คือไม่นานเป็นสิบปี แต่เพียงสองสามปีเท่านั้น
มิเช่นนั้นเรื่องทักน้องว่า เฝ้าแต่ท้อง จะเกิดมิได้

พูดอีกอย่างก็ได้ว่า คดีความกับสาวเจ้านั้น เกิดคาบเกี่ยวกับปีขุนแพ่งตาย
และน่าจะสดๆร้อนๆ ต่อจากคราวเยี่ยมศพเสียด้วยซ้ำ (ยกเว้นคราวที่อ้างว่าบ้า นั่นคงนานแล้ว)
ถ้าเช่นนั้น พระภู่จะถอดจีวรมาเกี้ยวสาวได้อย่างไร
แกบวชปีวอก 2367 จนถึงปี 2375 เณรกลั่นยังรายงานว่าเป็นมหาเถร
ความจริงถ้ารวมนิราศวัดเจ้าฟ้า ที่ผมสอบได้ว่าแต่งราว 2382 ก็เป็นเวลายาวนานถึง 15 ปี
ที่ท่านภู่บวช

จะนับปียังไง ท่านภู่ก็ลอดผ้าเหลืองไปแร่ดที่พริบพรีมิได้ครับ

ยังยืนยันว่านิราศเมืองเพชร ไม่ใช่ของสุนทรภู่....อยู่น่านแหละ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.ค. 07, 01:10
เรื่องใครแต่งขอพักไว้ก่อนครับ ขอรวบรวมพยานหลักฐานก่อน
เรื่องไปอยู่ทับนา มิได้เกี่ยงเรื่องจนรวยครับ ขอยกมาเต็มๆอีกครั้ง
ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกไปลึกซึ้ง                    เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่             สถิตที่ทับนาพออาศัย
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ      จึงจำใจให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง                 เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ                  เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน
โอ้สงสารท่านรองเคยครองรัก                 เมื่อมาพักบ้านโพธิ์สโมสร
เคยร่วมใจไหนจะร่วมนวมที่นอน               ทั้งร่วมร้อนร่วมสุขสนุกสบาย
แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง                       ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย
เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย            แสนเสียดายดูหน้านึกอาลัย
กลอนตรงนี้ความแปลกชอบกล ไม่รู้ว่าผมมึนเองหรือกลอนผิดความขาดตรงไหน พยายามใช้วิชาอ่านเอาเรื่องได้ดังนี้
- กวีกับขุนรองเคยมาอาศัยสถิตที่ทับนาบ้านโพธิ์นี้ (ก่อนเกิดเรื่องผู้หญิง)
- กวีเกิดหมางใจกับขุนรองเรื่องผู้หญิง (แต่คงไม่นาน)
- ขุนรองสร้างเรือนหอที่ทับนา (อาจจะอยู่กับผู้หญิงคนนี้)
- เจ้าเมืองโกรธถึงตัดรอน อันนี้สงสัยว่าเจ้าเมืองมาพรากเอาสาวเจ้าไปหรือเปล่า แม่สาวคนนี้เป็นลูกสาวหรือเกี่ยวข้องอะไรกับเจ้าเมืองหรือ?

ถ้าเหตุการณ์ตรงนี้เกิดก่อนปีระกาไปบางกอกเล็กน้อย ขุนรองคนนี้ตอนนั้นเป็นขุนรองหรือยัง?
หากรุ่นเดียวกับกวีที่มีลูกโตทะลึ่งจีบสาวได้น่าจะราวสี่สิบเศษ หกเจ็ดปีก่อนหน้า ๒๓๖๘ ต้องอายุสามสิบกว่า จะมานอนทับนาเล่นกับกวีหรือ? ระยะเวลาขนาดนี้ ถึงยังไม่ได้เป็นขุนรองก็น่าจะเข้ารับราชการแล้ว จะทำอะไรห่ามๆอย่างนี้ดูแปลกๆครับ

ถ้าเป็นเหตุการก่อนปีระกา ๒๓๕๖ ตอนเป็นหนุ่มห้าว ไม่ได้มีการงานอะไรเป็นเรื่องเป็นราว น่าจะสมเหตุสมผลกว่าครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ก.ค. 07, 01:19
เป็นตุลาการแล้วจะไปรบเมืองลาวทำไม


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.ค. 07, 01:33
พระยาจักรีเทียบสมัยนี้ก็ รมต.มหาดไทย ยังรบร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ

ไทยไม่เคยมีทหารอาชีพ เวลามีศึกก็ว่ากันไปตามความเหมาะสม

จนสมัยร.๔ ถึง "เริ่ม" มีกองทหารอาชีพครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ก.ค. 07, 01:53
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ      จึงจำใจให้หมองหมางเพราะขวางคอ
ไม่ต้องคิดมากครับ  อันนี้ท่านกับเพื่อนหมางใจกันเพราะนางนวลแน่นอน

ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกไปลึกซึ้ง                    เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
อันนี้ก็เคยมาพักที่บ้านโพธิ์กับเพื่อนคนนี้  (แต่ก่อนไร)  คงจะเคยไปไปมามาแบบว่าคุ้นมานาน

นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง                 เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเป็นหอ  (น่าจะเป็นน้องท่านแพ่งนะครับ)
บวกกับ
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่             สถิตที่ทับนาพออาศัย
คงหมายถึงทับนาที่เคยมานอนเล่นด้วยกัน  เพื่อนก็แปลงกลายเป็นเรือนหอ (คงจะกับแม่นวลคนนี้กระมังครับ)

นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง                 เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ                  เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน
อันนี้ผมก็ลองใช้วิชาอ่านแบบไม่คิดมากนะครับ  ว่าไปตามกลอน
ท่านกวีมาถึงบ้านโพธิ์แล้วนึกถึงความหลังอันลึกซึ้งที่นี่  ที่ที่เคยไปมาหาสู่กับเพื่อนรัก  เคยมานอนด้วยกันอยู่ที่ทับนา  แต่ก็ต้องมาหมางใจกันกับเพื่อนเพราะแม่นวล  แต่เพื่อนมีบุญที่ได้แม่นวลไปครอง  (คงจะที่ทับนาแห่งความหลังนี่หละที่กลายมาเป็นเรือนหอ)  จนท่านเจ้าเมืองรู้เรื่องเพราะการได้แม่นวลเหมือนการล้วงคองูเขียว  เลยพรากแม่นวลจากเพื่อนไป  เมื่อท่านกวีที่จากไปบางกอกกลับมาอีกที  เห็นถิ่นฐานที่คุ้นเคย  เลยนึกอาลัยถึงครับ  อิอิ  เป็นเรื่องเป็นราวดีไม๊ครับ  คุณ CH... ;D


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.ค. 07, 03:16
ถึงบ้านโพธิ์ เคยมาพึ่งพักร้อนกับขุนรอง ที่ทับนาพออาศัย
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ จึงจำใจให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรอง เธอแปลงทับเป็นหอจนเจ้าเมืองเคืองเพราะล้วงคอ ถึงตัดรอน
สงสารท่านรองเคยครองรัก บ้านโพธิ์ เคยร่วมใจ ร่วมนวมที่นอน ร่วมร้อนร่วมสุข
แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง                       ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย
เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย            แสนเสียดายดูหน้านึกอาลัย

แปลกใจครับ ผมอ่านได้ว่า ความตรงนี้ ประธานคือขุนรอง กวีเป็นเพียงผู้ร่วมในเหตุการณ์
1 ขุนรองหนีมาที่บ้านโพธิ์เพราะเรื่องผู้หญิง
2 น่าจะขัดแย้งกับเจ้าเมือง คำว่าล้วงคอ เป็นสำนวนที่หมายถึงเอาของหวงของอีกฝ่ายออกมาครอง
3 เรื่องจึงสรุปได้ว่า ขุนรองพานางนวลมาแปลงทับ(คือกระท่อมปลายนา) ให้กลายเป็น(เรือน)หอ
4 ผู้หญิงต้องมีศักดิฐานะสูงอยู่ กวีจึงชมบุญขุนรอง

ไม่ทราบว่า สองสหายจะมาแย่งผู้หญิงกันได้อย่างไร
เนื้อความล้วนแต่ชมเชยและเข้าข้างขุนรอง ผิดวิสัยศึกชิงนาง
แถมปิดท้ายว่า ใจหายเพราะต้องลาจากไปบางกอกอีก
ตีความว่าใจหาย เพราะจากเพื่อน มิใช่เพราะจากนาง

อย่างไรก็ดี เนื้อหาตอนนี้ไม่ส่องให้เห็นชีวิตกวีว่าจะเป็นผู้ใดไปได้
อ้างเพียงว่าตนสนิทกับขุนรองอย่างยิ่งมาก่อนเท่านั้น จึงไม่น่าสนใจนาน

ผมสนใจปีระกานิราร้างมากกว่า
ท่านอ่านแล้วคิดว่า กลอนเล่าย้อนหลังนานสักแค่ใหนครับ
15 ปี หรือ 5 ปี


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.ค. 07, 11:14
ความตรงนี้ ขุนรองจะหมางกับเจ้าเมือง หรือ หมางกับกวีก่อนแล้วค่อยไปหมางกับเจ้าเมืองก็ไม่เกี่ยวกับเงื่อนเวลาครับ คุยกันพอสนุกๆ แต่สาระอยู่ที่
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่             สถิตที่ทับนาพออาศัย
เนื้อหาหลังจากนั้นเป็นเรื่องต่อเนื่องขุนนางมีปัญหากับเจ้าเมืองเรื่องผู้หญิงถึงตัดรอน จนถึงกวีไปบางกอกปีระกา

ตัดรอนอะไร?
- ตัดรอนตัวขุนรองเอง? ถ้าขุนรองรับราชการเป็นเรื่องเป็นราวเจ้าเมืองคงตัดขุนรองไม่ได้ งานราชการยังต้องทำอยู่
- ตัดรอนเอาผู้หญิงไป จนกวีต้องสงสารขุนรอง ผมก็ว่าระดับขุน ไม่ใหญ่ แต่ไม่กระจอก ท่านเจ้าเมืองจะทำกันอย่างนี้ง่ายๆเชียวหรือ

ผมถึงคิดว่าตอนนั้นขุนรองยังเป็นโนบอดี้
เมื่อเป็นโนบอดี้ มันควรจะเป็นปี ๒๓๖๘ หรือ ๒๓๕๖ ล่ะครับ?
ถ้านิราศเมืองเพชรเขียน ๒๓๗๔ ย้อนไป ๒๓๖๘ ก็แค่ ๖ ปี
ราวปี ๗๑-๗๒ ขุนแพ่งตาย ขุนรองขึ้นมาเป็นขุนแพ่งแทน
ย้อนไปแค่อีก ๓-๔ ปี ขุนรองจะเป็นใครก็ไม่รู้ที่โดนเจ้าเมือง "ตัดรอน" เอาง่ายๆอย่างนั้นเลยหรือครับ?

ชอบกลครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 07, 18:35
ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกไปลึกซึ้ง                    เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่             สถิตที่ทับนาพออาศัย
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ      จึงจำใจให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรองน้องท่านแพ่ง                 เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ                  เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน
โอ้สงสารท่านรองเคยครองรัก                 เมื่อมาพักบ้านโพธิ์สโมสร
เคยร่วมใจไหนจะร่วมนวมที่นอน               ทั้งร่วมร้อนร่วมสุขสนุกสบาย
แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง                         ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย
เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย            แสนเสียดายดูหน้านึกอาลัย

เรื่องมันเป็นแบบนี้ค่ะ  เคยอธิบายไว้ในอีกเว็บหนึ่งแล้ว

ตอนยังหนุ่มๆ  ท่านขุนนางกวีนิรนามคนนี้เคยไปอาศัยพักพิงกับขุนรอง น้องชายขุนแพ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนที่รักใคร่นับถือกัน   ก็ไปพักอยู่ที่กระท่อมปลายนาของขุนรองนี่แหละ
ไฮโซสมัยนั้นเขามีบ้านอยู่กลางเมือง และมีกระท่อมที่พักเล็กๆอยู่ปลายนา  (อย่างที่คุณพิพัฒน์อธิบาย) ทำนองคล้ายๆเศรษฐีกรุงเทพ มีคอนโดเป็นบ้านหลังที่สองอยู่แถวชะอำ เพชรบูรณ์ เชียงราย อะไรพวกนี้
พักอยู่ได้ไม่นาน ตัวเองก็กลายเป็นก้างขวางคอ  เมื่อขุนรองพาสาวคนหนึ่งชื่อนางนวล หนีพ่อแม่มาอยู่ที่กระท่อมปลายนา   แล้วตกแต่งปรับปรุงกระท่อม ทำเป็นเรือนหอ ร่วมหอลงโรงกันที่นั่นกับหล่อน
เพื่อนหนุ่มที่อยู่มาก่อนก็เลยกระเด็นออกไป    จะอยู่กันยังไงสามคนล่ะคะ  ผัวเมียเขาข้าวใหม่ปลามัน  ตัวเองก็กลายเป็นก้างขวางคอไปน่ะซิ   
จะมานอนห้องเดียวกัน เตียงเดียวกัน (เคยร่วมใจไหนจะร่วมนวมที่นอน               ทั้งร่วมร้อนร่วมสุขสนุกสบาย) เหมือนเมื่อยังโสดกันอยู่ก็ไม่ได้
แน่ละว่า ขุนรองก็เลือกเมีย ไม่เลือกเพื่อน   เพื่อนก็น้อยใจตัดพ้ออยู่ในกลอน แต่ก็ไม่ถึงกับโกรธเคืองกัน  เพราะไม่ได้แย่งผู้หญิงกันนี่คะ   
 ยังคงนึกถึงความหลังครั้งเป็นเพื่อนรัก  กลมเกลียวกันดี  อยู่เสมอ

แม่นวลไม่ใช่ลูกสาวชาวบ้านธรรมดา  แต่เป็นสาวในปกครองของท่านเจ้าเมืองเฒ่า
จะเป็นว่าที่อนุภรรยาที่ท่านเจ้าเมืองหมายตาอยู่  หรือเป็นลูกหลานสาวๆของท่านก็ไม่ทราบ แต่คิดว่าเป็นอย่างหลังมากกว่า
รู้แต่ว่าขุนรองล้วงคองูเห่า   พาแม่นวลหนีมา ทำให้เจ้าเมืองยัวะเอามากๆ  ถึงขั้นตัดรอนทั้งคู่    ประกาศก้องไม่รับขอขมา  ไม่คบค้า  ไม่ให้อภัย ตัดขาดไปเลย
แต่ไม่กล้าทำอะไรบุ่มบ่ามกว่านั้น   เพราะตระกูลขุนรองคงไม่ใช่ย่อยอยู่ในเมืองเพชร   พ่อต้องเป็นขุนนาง  ลูกชายสองคนถึงได้เป็นขุนนางทั้งคู่
เจ้าเมืองถึงระดับบิ๊ก ก็ไม่กล้าฆ่าฟันขุนนางด้วยกันเอาง่ายๆ   โดนถวายฎีกาจะลำบาก   

เกิดเรื่องตอนนี้ อาจจะปีระกา หรือปีวอกก่อนหน้าเล็กน้อย   พอเดือนสี่ขุนนางกวีก็มาเมืองหลวง

เรื่องนี้น่าจะเกิดตั้งแต่วัยหนุ่ม     ยังไม่มีลูกเมีย   เพราะบอกว่ามาอาศัยเพื่อน กินอยู่ นอนร่วมเตียงกันอยู่ที่กระท่อมปลายนา    ถ้ามีลูกเมียแล้วก็ควรมีบ้านของตัวเองเป็นหลักแหล่ง

อยากจะคิดว่าหลายปี   ๑๕ ปีก็สมเหตุสมผลดี   เพราะว่าจากครั้งหนุ่มมาจนถึงวัยกลางคนลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว   ควรจะยาวนานกว่าสี่ห้าปี


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 07, 18:58
เรื่องนี้  ดิฉันลองใช้กล้องส่องมองที่มุมใหม่   แบบที่คุณพิพัฒน์เสนอความเห็นว่าเป็นกวีอื่น ไม่ใช่สุนทรภู่
กวีอื่นก็กวีอื่นค่ะ
กวีนิราศเมืองเพชร เป็นศิษย์สุนทรภู่  สำนวนกลอนคล้ายกัน ยึดแบบแผนการแต่งเหมือนกัน     แต่คุณพิพัฒน์บอกว่าจืดชืด
ข้อนี้ค้าน  แต่เอาไว้ก่อน  มาพิจารณาความเป็นไปได้ดีกว่า
ว่ากวีคนที่ไม่ใช่สุนทรภู่   แกอุตส่าห์มีลูกชายชื่อพัดเหมือนกันละหรือ   ซ้ำยังเรียกหนูพัดเหมือนกันด้วย
ไม่น่าเป็นไปได้  บังเอิญอะไรขนาดนั้น

ถ้าเป็นนายพัดบุตรสุนทรภู่   มากับกวีที่ไม่ใช่พ่อ   กวีจะไปและเล็มอยากเกี้ยวแม่ค้ามาให้นายพัดทำไม   จะว่ายกให้หนูนิล  คุณพิพัฒน์ก็บอกว่ายังเด็ก  นับคุ้งคลองเล่นอยู่
ก็เหลือนายพัดที่โตเป็นหนุ่มแล้ว   กวียังเรียกเต็มปากว่าบุตรชาย    ไปจัดธูปเทียนเพื่อเวียนเทียนกัน
ก็ต้องเป็นพ่อลูกกัน   ข้อนี้คุณพิพัฒน์ยังแก้ไม่ตก

ส่วนสำนวนที่ว่าจืดชืดนั้น  ไม่จืดนะคะ  บรรยายพื้นน้ำเค็มชายฝั่งยามกลางคืน ลื่นไหลแบบคนเจนบทกลอน  ไม่มีคำไหนใส่เข้ามาเกิน หรือขาด หรือผิดความหมาย
ถ้าเทียบกับนิราศเดือนและนิราศพระแท่นดงรังของนายมี    นายมีบรรยายเรียบร้อยจืดชืดกว่าแยะ

สำรวลรื่นคลื่นราบดังปราบเรี่ยม          ทั้งน้ำเปี่ยมป่าแสมข้างแควขวา
ดาวกระจายพรายพร่างกลางนภา        แสงคงคาเค็มพราวราวกับพลอย
เห็นปลาว่ายกายสล้างกระจ่างแจ่ม      แลแอร่มเรืองรุ่งชั้นกุ้งฝอย
เป็นหมู่หมู่ฟูฟ่องขึ้นล่องลอย              ตัวน้อยน้อยนางมังกงขมงโกรย
ชื่นอารมณ์ชมปลาเวลาดึก                 หวนรำลึกแล้วเสียดายไม่วายโหย
แม้นเห็นปลาวารินจะดิ้นโดย               ทั้งลมโชยเฉื่อยชื่นระรื่นเย็น
จะเพลินชมยมนาเวหาห้อง                 เช่นนี้น้องไหนเลยจะเคยเห็น
ทะเลโล่งโว่งว่างน้ำค้างกระเซ็น           ดูดาวเด่นดวงสว่างเหมือนอย่างโคม

ถ้ายังไม่เห็นด้วย  เอาบทนี้ไปอีกบทก็ได้ค่ะ  คารมกวีบทนี้ ห่างไกลจากคำว่าจืด

ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น                   จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน

ถ้าอยากอ่านจืดๆ แต่งให้ดูก็ได้  จืดของแท้ต้องแบบนี้

คิดถึงลูกจันน้องของพี่ยา                     ยามนิทราหนุนแขนแทนหมอนรอง

บอกกันตรงๆแบบนายมีชอบบรรยาย  ไม่มีคารมโวหาร




กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.ค. 07, 19:59
ขอแย้งเรื่องสำนวนกลอนก่อนครับ

ควรมิควรจวนจะพรากจากสถาน
จึงเขียนความตามใจอาลัยลาน ขอประทานโทษาอย่าราคี
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก เหมือนผัดพักตร์ผิวหน้าเป็นราศี
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี ดังวารีรดซาบอาบละออง
ทั้งการุณสุนทราคารวะ ถวายพระวรองค์จำนงสนอง
ขอพึ่งบุญมุลิกาฝ่าละออง พระหน่อสองสุริย์วงศ์ทรงศักดา
-----------------------------
ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ ลงนาวาคลาเคลื่อนออกเลื่อนลำ
พอเสียงย่ำยามสองกลองประโคม น้ำค้างย้อยพรอยพรมเป็นลมว่าว
อนาถหนาวนึกเคยได้เชยโฉม มาลับเหมือนเดือนดับพยับโพยม
ยิ่งทุกข์โทมนัสในใจรัญจวน โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด
ไม่มีนุชแนบชมเมื่อลมหวน พี่เห็นนางห่างเหยังเรรวน
มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน
-------------------------
๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา
รับกฐินภิญโญโมทนา ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย
ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส เมื่อตรุษสารทพระวสาได้อาศัย
สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น
โอ้อาวาสราชบุรณะพระวิหาร แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาครฯ  
----------------------
ผมอ่านกลอนเหมือนฟังเพลง
สามท่อนข้างบนนั้น สาระเทียบเท่าซิมโฟนี่มโหฬาร คำน้อย แน่น ลึก โอ่อ่า และสะเทือนอารมณ์
ไม่ได้รับความรู้สึกอย่างนี้เลย ในนิราศเมืองเพชร เห็นแต่ผ้าลูกไม้โอ่อวด ปะติดปะต่อกันพอให้ใช้ห่มได้
ห่มแล้วก็ไม่อุ่น ไม่มีคำที่ทำให้อารมณ์ดิ่งวูบ ไม่มีความที่ทำให้อึ้ง
หากเป็นจดหมายรักก็ระดับจีบแม่ค้า ไม่อาจจีบเจ้าหญิงได้

นี่ก็บ่นบ้าตามประสาคนไม่รู้ภาษาไทย

กลับมาที่ตัวนิราศ
ถ้าไม่มีคนมาชี้ว่านี่คืองานของท่านสุนทร เราจะหาตรงใหนที่บ่งบอกได้ว่า
เป็นสุดยอดกลอนนิราศจากสุดยอดฝีมือ
กลอนที่บอกว่าเป็นของสุนทรภู่ ต้องลบออกจากบัญชีไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่องแล้ว
ไม่เคยลบออกเพราะพิสูจน์ทราบสำนวนกลอนเลย ลบออกเพราะไปเจอหลักฐานภายนอกทั้งนั้น
ผมจึงไม่ใคร่ศรัทธาเรื่อง อ่านปุ๊บรู้ปั๊บว่าดีอย่างนี้ ต้องเป็นของท่านก. ท่านข.


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 07, 20:37
ถ้าคุณพิพัฒน์อ่านกลอนเหมือนฟังซิมโฟนี ดิฉันก็จนปัญญาไม่รู้จะเถียงยังไง เพราะไม่รู้จักซิมโฟนี
ส่วนตัว   อ่านกลอนจากอ่านภาษา
ภาษาแตกต่างกันไปสำหรับคนหัดแต่งมือใหม่  คนมือเก่า คนมือเก่าด้วยจัดเจนด้วย 
ใครมีคารมมากน้อย  ใครประลองฝีมือตัวเองกับกลอนที่แต่ง ว่าจะหาคำได้เก่งขนาดไหน ทั้งหมดอยู่ในภาษา
ก็เลยเห็นว่านิราศเมืองเพชร แต่งโดยฝีมือชั้นครูกลอน   ตามวิสัยครู เมื่อแต่งให้คนทั้งหลายอ่าน ย่อมจะรวมลูกศิษย์ลูกหาด้วย ก็อดไม่ได้ที่จะแสดงฝีมือจากสัมผัสระหว่างบท
ส่วนอารมณ์  เมื่อล่วงเข้าวัยกลางคนจนลูกโตเป็นหนุ่ม    หนักไปในทางเศร้า มากกว่าหวือหวา  แต่คารมก็ยังจัดเจน

นิราศที่รู้ว่ายืนยันจากหลักฐานภายนอก เท่าที่นึกออกตอนนี้คือนิราศพระแท่นดงรัง ตอนแรกนึกว่าฉบับนายมีเป็นของสุนทรภู่ จนกระทั่งมาค้นพบนิราศพระแท่นดงรังอีกฉบับหนึ่ง  ก็เลยตัดสินได้ว่าของใครเป็นของใคร
อีกเรื่องก็คือกลอนอะไรที่อ.ล้อมบอกว่าค้นพบใหม่ว่าเป็นของสุนทรภู่    ดิฉันอ่านจากสำนวนกลอนแล้ว เป็นได้แค่ศิษย์เท่านั้น

แต่ขอถามหน่อยนะคะ   ตอนที่สมเด็จกรมดำรงฯ ทรงรวบรวมงานของสุนทรภู่    ในหอพระสมุดน่ะ มีนิราศเท่านี้เองหรือว่ามีมากกว่านี้อีกแยะ  เอามาสกรีนหางานของสุนทรภู่จนได้มาเท่าที่เห็น 
ถ้ามีนิราศเยอะแยะ ท่านทรงคัดเลือกจากหลักฐานในนิราศ หรือว่าดูสำนวนกลอนด้วย
คุณธนิต ล่ะคะ ทำแบบไหน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.ค. 07, 20:58
กลอนที่เชื่อว่าเป็นของสุนทรภู่นั้น มีตกค้างอยู่ในตู้หนังสือของชนชั้นผู้ดีในบางกอกมากมาย
สมเด็จท่านก็ขอบริจาคเข้ามาตั้งแต่ทรงเป็นสภานายก แต่ท่านเอง ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสุนทรภู่ คนชั้นสูงส่วนมาก ไม่ยกย่องสุนทรภู่
แม้ว่าแกจะดังคับฟ้ามาตั้งแต่หมอสมิทพิมพ์พระอภัยมณี และกลอนเล่มสารพัดเรื่อง มาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ก็ตาม

บุษบาท่าเรือจ้างคงจะเป็นคนแรกที่ยกย่องสุนทรภู่ว่า พ่อภู่ครูกวี และเทียนวรรณมาดำเนินรอยตาม ช่วงกลางรัชกาลที่ 5
ดูเหมือนท่านสุนทรจะมา"ขึ้นหิ้ง" เอาเมื่อสมเด็จหาบทประพันธ์สั้นๆ เพื่อทรงพิมพ์แจกงานซายิด 2365
ได้เสภาพระราชพงศาวดาร จึงทรงแต่งประวัติสุนทรภู่ไว้

ประวัติท่านภู่ เคยได้รับการรวบรวมไว้ก่อนหน้านั้นสิบปี โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา
ท่านเจ้าคุณไปเที่ยวจดเรื่องเกร็ดต่างๆ รวบรวมเอาไว้เป็นท่อนๆ สั้นๆ เก็บเล็กประสมน้อย
บางเรื่องก็ซ้ำกัน ท่านก็บอกที่มาของเรื่องไว้ ทั้งหมดราว 30 เกล็ดกระมัง
หลายเกล็ดก็แย้งกันเอง

ผมเข้าใจว่าสมเด็จจะได้ทรงผลงานรวบรวมนี้ เพราะท่านเจ้าคุณเป็นมือขวาของพระองค์อยู่แล้ว
แต่สมเด็จทรงพระเมตตาผู้อ่าน เกรงจะสับสน(กระมัง)
จึงทรงชำระเอาตามที่ทรงเห็นสมควร แล้วเผยแพร่ไปตามนั้น เราก็รับมาใช้ จะทำอย่างไรได้เล่าครับ

ผมมาพบว่าสมเด็จ ไม่ใคร่ชำนาณวรรณคดีก็เมื่ออ่านสาส์นสมเด็จ พบว่า สมเด็จนริศฯ ทรงแก้ความตอนผูกศออรทัยเสียใหม่
เพราะที่ทรงไว้เดิมนั้น ผิดหมด

สรุปตรงนี้ก็คือ สุนทรภู่และงานของท่าน อาจจะถึงเวลาต้องชำระใหม่หมดเสียที
ผมเองลองพยายามแล้ว กลายเป็นต้องตัดบทประพันธ์สี่ชิ้นทิ้งไป อาจจะสะเทือนใจมิตรรักนักกลอนมากไปหน่อย

ด้วยความจนใจครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.ค. 07, 20:59
มาหาเรื่องต่อ
เรื่องลูก
หลักฐานจากสุนทรภู่เอง ท่านก็เล่าไว้ชัดๆ ว่าท่านมีลูกสองหน่อคือ หนูพัด หนูตาบ
ใครอื่นจะแถมหนูนิล หนูน้อย หนูมะติ๊มะต๊อด ผมขอยังไม่รับ ต้องไปปรึกษาท่านก่อน

เรื่องเจ้านาย
หลักฐานจากสุนทรภู่เอง ก็บอกว่า ท่านเป็นข้าเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้าน้อยๆ ทั้งสาม
จะลดศักดิ์ไปพึ่ง"เสด็จ"ก็กระไรอยู่ ยิ่งในช่วงที่เจ้าฟ้ากุณฑลยังดำรงพระชนม์อยู่ ทำไม่ได้เด็ดขาด
ท่านได้พึ่งเจ้าฟ้าน้อย ก็เมื่อเจ้านายเดิมสิ้นพระชนม์แล้ว และฟ้าน้อย อย่างไรก็สูงศักดิ์พอที่จะไม่หลู่ศักดิ์นายเดิม

เรื่องวัยหนุ่ม
เราต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนนะครับ เพราะชีวิตสุนทรภู่ดูเหมือนจะมีหลายเวอร์ชั่นอยู่
เราจะลองสางเวลากลับไป ตั้งต้นที่ปี 2375 อันเป็นปีที่เราเชื่อว่าแกไปนิราศเมืองเพชร จะผิดไปก็ไม่กี่เดือนดอก
ปีนั้น สุนทรภู่เพิ่งเสร็จสอนหนังสือเจ้านายน้อย เพราะเจ้าฟ้ากลางคงจะโสกันต์ปี 2374
ปีนั้น สุนทรภู่ยังเป็นมหาเถรอยู่ ตามคำของเณรกลั่น และกำลังอยู่ระหว่างทางไปพระแท่นดงรัง
ปีนั้น เณรกลั่นออกนามลูกครูว่า พี่เณรพัด กับน้องหนูตาบ

สรุปว่า สุนทรภู่(ของแท้) จะรับอาสา"เสด็จ" นิรนามไปหาสิ่งของต้องประสงค์โดยถอดผ้าเหลืองด้วย...เป็นไปไม่ได้
เราจะเลื่อนทริปเพชรบุรีเข้ามาก่อน 2375 ยิ่งไม่ได้ เพราะติดว่าเป็นครูพระอยู่
จึงต้องเลื่อนออกไป เป็น 2376, 2377, 2378....ตามแต่ใจปรารถนา
พร้อมกับการเลื่อนปีออกไปนี้ ก็ต้องหาเวลาเหมาะๆ ให้แกสึก
หาเจ้านายใหม่ ที่ต่ำชั้นลงมาเป็นเพียง"เสด็จ"
แล้วจะต้องเลื่อนออกไปให้นานมากพอ ที่แกจะเป็นขุนนางพ่อม่ายลูกติด มาเยือนเมืองเพชรสักหนสองหน
เพื่อรับกับคำที่แกทักสาวคนหนึ่งว่าท้องทุกปี

จากนั้น ต้องให้แกออกขาดราชกิจในปีวอก (ต้องเป็น 2379 แล้วนะครับ เป็น 2367 ไม่ได้ล่ะ)
เพื่อกลับเข้ามาบวชใหม่ เพื่อจะได้มีพระกวีที่บ่นอยากสึกในรำพันพิลาป
แล้วจาก 2379 นั้น แกจะต้องลุยประเทศไทยให้ครบตามกลอน เพื่อจะมาอยู่วิหารวัดเลียบเยียบเย็น
แล้วได้ไปอยู่วัดเทพธิดาราม........เฮ้อ เหนื่อย

นี่ผมยังไม่ได้เชิญพระองค์เจ้าลักขณาฯ ที่เขาลือกันว่าเป็นเจ้านายท่านภู่อีกพระองค์ เข้ามาสรวมบทบาทนะครับ
เชิญท่านมาก็จะต้องเชิญพี่สาวท่านมาอีก

...........มายก็อด ยุ่งอะไรเช่นนี้


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 07, 21:23
ปาเข้าไป ๙๒ ค.ห. รวมค.ห.นี้  เปลี่ยนบรรยากาศบ้างดีกว่า
เถียงกันไปก็วนกันซ้ำอยู่เรื่องเดิม    อาจจะมีกระป๋องหรือขวดเบียร์ขว้างขึ้นมาจากหน้าเวที

คุณพิพัฒน์ตัดไป ๔ เรื่อง ที่ว่าไม่ใช่ของสุนทรภู่ นิราศเมืองแกลง  นิราศเมืองเพชร นิราศพระบาท  แล้วอะไรอีกเรื่องคะ?
ยังไงก็เหลือไว้บ้าง   เดี๋ยวหมด  สงสารยูเนสโก

ถ้าสุนทรภู่ออกขาดราชกิจในปีวอก ๒๓๗๙  ค่อนมาทางปลายรัชกาลที่ ๓  ก็แปลว่าเรื่องที่เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตรลบ ในรัชกาลที่ ๒ ก็จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีกใช่ไหมว่าเป็นไปไม่ได้

ถามใหม่ค่ะ
สุนทรภู่สึกกลับเข้ารับราชการใหม่อีกครั้ง   ประมาณพ.ศ.ไหน

ถามอีกข้อ
คุณพิพัฒน์มีคำตอบในใจหรือยังว่า กวีนิรนามที่แต่งนิราศเมืองเพชร   น่าจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่สุนทรภู่
ถ้ามีก็เปิดเกมทศกัณฐ์หน้าทองเร็วๆนะคะ




กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ก.ค. 07, 21:43
๏ แล้วไปบ้านท่านแพ่งตำแหน่งใหม่ ยังรักใคร่ครองจิตสนิทสนม
ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม เขารับสมปรารถนาสามิภักดิ์
จะกลับหลังยังมิได้ดั่งใจชั่ว ต้องไปทั่วบ้านเรือนเพื่อนรู้จัก
เมื่อเป็นบ้ามาคนเดียวเที่ยวสำนัก เขารับรักรู้คุณกรุณา
ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้นฯ

ตรงนี้ครับ  เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา  พี่ของใครครับ  อินวัดเกศ  ถ้าเป็นพี่ของท่านกวีที่ตัดญาติขาดมิตรดังกลอนว่า  ถึงขนาดเห็นหน้าน้องก็เบือนหนี  แล้วแหวนกับผ้าแพร  น่าจะเกี่ยวกับอิสตรีอีกแล้ว  เจ้าชู้เหมือนใครจริงๆเลย

แต่กลอนบทนี้อ่ะครับผมว่ามันขัดๆชอบกล  คือไม่ค่อยลื่นไหลน่ะครับ  หรือผมมันระดับหมอแคนหมอลำ  ตาไม่ถึง
๏ แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ
จึงฝากคำทำกลอนไว้สอนสั่ง เมื่อมิฟังพี่ห้ามตามวิสัย
พอวันพระศรัทธาพากันไป เที่ยวแวะไหว้พระอารามตามกำลัง
พระพุทธเจ้าหลวงสร้างแต่ปางหลัง สาธุสะพระนอนสิงขรเขา
ยี่สิบวาฝากั้นเป็นบัลลังก์ ดูเปล่งปลั่งปลื้มใจกระไรเลย
         แล้วพระพุทธเจ้าหลวงในที่นี้หมายถึงใครครับ  แต่ยังไงก็ตามบทนี้ผมชอบที่สุดผมว่าแต่งได้สละสลวย  ไปเที่ยวทีไรนึกถึงบทนี้ทุกที

๏ พอแดดร่มลมชายสบายจิต เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี
ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์ มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะองยาวก้าวตีนปีนทะยาน กระบอกตาลแขวนกันคนละพวง
แต่ใจดีที่ว่าใครเข้าไปขอ ให้กินพออิ่มอุทรบห่อนหวง
ได้ชื่นฉ่ำน้ำตาลหวานหวานทรวง ขึ้นเขาหลวงเลียบเดินเนินบันได
ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ
น่าเอาไปแต่งทำนองเพลงใส่ .............. ;)


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 07, 22:00
มาแปลให้คุณ Bana อ่าน

ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น                  เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา         พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย           ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้นฯ

ท่านขุนนางกวีเที่ยวแวะเยี่ยมสาวบ้านโน้นบ้านนี้ไปเรื่อยตามรายทาง   แวะบ้านไหนเขาก็ต้อนรับกันดี   เว้นแต่แม่อินที่บ้านอยู่แถววัดเกศ
ของเชษฐา  = ของพี่ (คือตัวกวีเอง)
ตอนเลิกกับแม่อิน  เห็นทีจะเลิกกันแบบไม่สวยงาม   เห็นจากแม่อินแค้นจัด ตัดขาดไม่เหลือเยื่อใย   ผ่านไปนานปี เห็นหน้าแฟนเก่าโผล่มาเยี่ยม หล่อนก็สะบัดหน้าหนี ไม่เหมือนสมัยยังรักกัน คงหวานกันน่าดู
แหวนกับแพรเพลาะ เห็นทีจะเป็นของรักแห่งความหลัง เคยให้กันมา  แหวนอาจเป็นฝ่ายชายให้หญิง  ส่วนแพรเพลาะหญิงมอบให้ชายตอบแทน  แต่สองอย่างมาถึงเวลานี้คงหมดความหมายไปแล้ว    ถึงมีคำว่า "คิดแค้น" คือยังเสียดายอยู่
ที่เลิกกันไปก็เพราะ ฝ่ายชาย"เป็นบ้า" บ้าในที่นี้ไม่ได้แปลว่าป่วยเป็นจิตเภท แต่หมายถึงไปลุ่มหลงอะไรบางอย่างจนอาจเสียงานเสียการ    ทุกวันนี้ เราใช้ในคำว่า บ้าหวย  บ้าดารา
พอฝ่ายชายไปบ้าอะไรพวกนี้   อาจโยงได้ถึงตอนไปอาศัยอยู่ในถ้ำ  รักครั้งนี้ก็ดับสลาย   จนบัดนี้แม่อินก็ยังตัดขาด  ไม่ยักกะเป็นเพื่อนกันได้อย่างสมัยนี้

กลอนที่คุณหมอแคน บานา ว่าไม่ลื่นไหล  ก็เพราะเว็บนั้นเขาพิมพ์ผิด สลับวรรคกันนี่คะ
จัดให้ใหม่  เอาที่ถูกต้องมาให้อ่าน  ลื่นไหลดีแล้วหรือยัง

 แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง        เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน            จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ
จึงฝากคำทำกลอนไว้สอนสั่ง          เมื่อมิฟังพี่ห้ามตามวิสัย
พอวันพระศรัทธาพากันไป              เที่ยวแวะไหว้พระอารามตามกำลัง
สาธุสะพระนอนสิงขรเขา             พระพุทธเจ้าหลวงสร้างแต่ปางหลัง
ยี่สิบวาฝากั้นเป็นบัลลังก์ ดูเปล่งปลั่งปลื้มใจกระไรเลย

พระพุทธเจ้าหลวง หมายถึงพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน   เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ ๓  พระพุทธเจ้าหลวงคือรัชกาลที่ ๒


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 07, 22:06
ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ                  รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย           ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง              เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง          ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ
น่าเอาไปแต่งทำนองเพลงใส่

ถ้าคุณ"ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว"   ได้เข้ามาอ่าน คงจะบอกได้ว่ากลอนบทนี้ควรจะนำไปร้องในเพลงไทยเดิมเพลงไหน
ใจดิฉันนึกถึงเพลง ลมพัดชายเขา


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.ค. 07, 22:18
กำลังชั่งใจเรื่องนิราศสุพรรณครับ แต่ยังชำแหละไม่เสร็จ เรื่องนี้ยากน่าดู
อันที่จริง แค่พระอภัยมณีเรื่องเดียว ท่านก็เลิศกว่ามนุษย์ทุกนามในยุคสมัยแล้ว
แบ่งเรื่องอื่นให้อัจฉริยะท่านอื่นๆบ้าง คงไม่เป็นไรกระมัง

กวีที่แต่งนิราศเมืองเพชร น่าจะเป็นคนในก๊วนบุนนาค จึงกล้าล้วงคอเจ้าเมือง และส่งต่อตำแหน่งจากพี่สู่น้อง
การที่ขุนนางคนหนึ่ง เจ็บจากการศึกแล้วกลับมาตายที่บ้านเมืองเพชร ต้องระดับใหญ่คับเมืองทีเดียว
แค่นำร่าง(สมมติว่าตายคาสนามรบไปเลย) จากอิสาน หรือไกล้หน่อยคือสระบุรี กลับมาพริบพรี
หรือนำคนเจ็บ เร่งรีบกลับมา แค่นี้ก็คงบอกได้แล้วว่าใหญ่โตมีบารมีเพียงใด

ผมไม่มีความรู้พอจะสอบได้ว่า สกุลบุนนาคครองเมืองเพชรตั้งแต่รุ่นใหน
ใครทราบโปรดบอกเอาบุญด้วย
แต่กวีที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับขุนรองได้ ต้องไม่ใช่ลูกชาวบ้านแน่นอน
สามารถสร้างตัวจนเป็นครูมีชื่อ ได้รับเกื้อหนุนจากผู้ใหญ่(ที่อ้างเป็นพระวังหลังอะไรประมาณนั้น)
และเมื่อเข้าบางกอก ก็ได้ดิบได้ดีจนได้เรือสีฝีพาย นี่ก็ระดับมีหน้ามีตาพอดู
คงจะจำได้ว่า กวีอีกคนที่ไปเมืองแกลง นั่นมีลูกน้องไปเพียงสอง กับคนนำทางอีกหนึ่ง เท่านั้น

สำหรับท่านสุนทรนั้น ท่านบ่นเองว่าปีขาลสงสารวัด อยากจะสึก ปีขาลที่ว่าก็ควรจะเป็น 2385
ดังนั้น ถ้าท่านสึกจริง ก็ควรไปพึ่งเจ้าฟ้าน้อยหลัง 2385 ครับ
ปี 2384-5 นั้น ฟ้าน้อยทรงเป็นแม่ทัพเรือไปทำการที่เขมร ทรงกลับเข้ามาเดือนเมษายน 2385
ถ้าสุนทรภู่จะไปพึ่ง ก็ต้องหลังจากนี้ลงมา คือต้องทอดเวลาให้มหาสึกใหม่ได้คุ้นเคยพอจะถวายตัว
ด้วยว่าเจ้าฟ้าท่านก็ยุ่งกับการศึกเป็นปีสองปี ส่วนกวีพระก็ยุ่งกับหนูกัดมุ้ง หาคนพายเรือ หยอกนางข้าหลวง ฯลฯ
จึงเดาว่า มาพึ่งเจ้าฟ้าน้อยสัก 2385-86 กำลังดีครับ
-----------------------------------------
แถมด้วยตารางเทียบปี เพื่อฟามสะดวกแก่คนขี้เกียจหาปีศักราช
ชวด   2347   2359   2371   2383   2395   2407
ฉลู   2348   2360   2372   2384   2396   2408
ขาล   2349   2361   2373   2385   2397   2409
เถาะ   2350   2362   2374   2386   2398   2410
มโรง   2351   2363   2375   2387   2399   2411
มเสง   2352   2364   2376   2388   2400   2412
มเมีย   2353   2365   2377   2389   2401   2413
มแม   2354   2366   2378   2390   2402   2414
วอก   2355   2367   2379   2391   2403   2415
รกา   2356   2368   2380   2392   2404   2416
จอ   2357   2369   2381   2393   2405   2417
กุน   2358   2370   2382   2394   2406   2418


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 07, 22:35
***กวีที่แต่งนิราศเมืองเพชร น่าจะเป็นคนในก๊วนบุนนาค จึงกล้าล้วงคอเจ้าเมือง และส่งต่อตำแหน่งจากพี่สู่น้อง ***

คุณพิพัฒน์คงพิมพ์ผิด  กวีน่าจะเป็น "เพื่อน"ของขุนนางหนุ่มก๊วนบุนนาค   คนที่ล้วงคอเจ้าเมืองเอาแม่นวลมาครอง  แต่งกระท่อมเป็นหอ  คือขุนรองน้องขุนแพ่งไม่ใช่หรือ
หรือคุณพิพัฒน์คิดว่าแม่นวลเป็นเจ้าสาวของท่านขุนนางกวีล่ะคะ

ส่วนตำแหน่งจากพี่สู่น้อง   ดิฉันไม่คิดว่าจะต้องใหญ่โตขนาดสกุลบุนนาค   เล็กกว่านั้นก็ทำได้
แต่ต้องเป็นลูกขุนนาง  พ่อไม่ใช่สามัญชน 
สมัยรัชกาลที่ ๓ ตำแหน่งขุน ไม่ใหญ่นัก?  สุนทรภู่ยังเป็นหลวงสุนทรโวหารแล้วเลย( อ้างจากนิราศหนองคาย)
ส่วนเรื่องขุนแพ่งกลับมาตายที่บ้าน  ในเรื่องบอกว่ามีการตั้งศพ  ถ้าตายเสียในสนามรบ  เห็นทีจะกลับมาได้แต่กระดูก   การขนศพใส่แพมานอกจากอุจาดแล้ว คุณพพ.เคยบอกว่าข้ามเขตไม่ได้ด้วยไม่ใช่หรือ
เอาเป็นว่าบาดเจ็บ  ใส่เรือแพกลับมารักษาที่บ้าน  แล้วตาย  ถึงตั้งศพให้กวีมาเคารพได้  พอจะเป็นได้ไหมคะ

พวกบุนนาคไปใหญ่อยู่ในเมืองเพชรตั้งแต่เมื่อไหร่  ในหนังสือสกุลบุนนาค ไล่แกะไปทีละคนคงรู้     ดิฉันจำได้แต่รุ่นบิดาเจ้าจอมก๊ก อ.   น่าจะรัชกาลที่ ๕ แล้วละค่ะ
คุณประยุกต์ก็ไม่ได้มาอยู่แถวนี้เสียด้วย  ไม่งั้นคงตอบได้


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 07, 09:57
เรารู้อะไรบ้าง
๑) นิราศเมืองเพชร แต่งในรัชกาลที่ ๓   หลังศึกเจ้าอนุวงศ์(พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๒) ไม่กี่ปีนัก    เพราะขุนแพ่งที่ตายจากศึกนี้  ภรรยายังโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์อยู่
ถ้าตายไปสิบกว่าปีแล้ว  ภรรยาคงระงับใจได้บ้าง บรรยากาศในบ้านก็คงจะกลับคืนเข้าสู่ปกติ
ประมาณว่าแต่งพ.ศ. ๒๓๗๕
๒) กวีมีลูกชายคนโตกำลังเป็นหนุ่ม ยังไม่มีเมีย   กะว่าอายุสัก ๒๐ ปี  ส่วนลูกชายอีกคนที่ไปด้วย พ่อยังใช้ให้นับจำนวนคุ้งคลองอยู่ว่าเรือเลี้ยวกี่ที  น่าจะยังเด็กไม่พ้นวัยโกนจุก
๓) ถ้าลูกอายุประมาณ ๒๐  พ่อก็ประมาณ ๔๐ กว่าๆ เป็นพ่อม่ายเมียทิ้งจากกรุงเทพ     บวกลบอายุแล้วพ่อเกิดประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐-๕ ในรัชกาลที่ ๑
๔) ลูกชายคนโตชื่อหนูพัด เหมือนชื่อลูกสุนทรภู่
๕) อายุพ่อ เมื่อเทียบประวัติของสุนทรภู่ที่ว่าเกิด ปี ๒๓๒๙ ก็ไล่เลี่ยกัน    จึงคิดว่ากวีคนนี้ไม่น่าจะเป็นลูกศิษย์สุนทรภู่ อย่างนายมี หรือนายภู่อีกคน
๖) กวีคนนี้มีตำแหน่งอะไรไม่รู้  ถ้านั่งเรือสี่แจว น่าจะมีบรรดาศักดิ์ อายุขนาดนี้แล้วถ้ารับราชการ น่าจะถึงระดับคุณหลวงเป็นอย่างน้อย
ตำแหน่งการงาน เดาได้จากคำบอกเล่าในเรื่องว่ามีลูกศิษย์ลูกหาอยู่หลายคน  ก็ต้องเป็นทางด้านสอนหนังสือ   แต่งนิราศได้ขนาดนี้ ย่อมเชี่ยวชาญเรื่องเขียนอ่าน
ตำแหน่งการงานของผู้เชี่ยวชาญทางเขียนในราชการ  เห็นได้มากที่สุดคืออาลักษณ์
๗)น่าจะมีพื้นเพเกี่ยวข้องกับวังหลัง  เห็นได้จากหม่อมบุญนาคในกรมพระราชวังหลัง ต้อนรับอย่างดี  รักใคร่เหมือนลูกหลาน



กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 07, 12:03
* คุณพิพัฒน์เล่าว่า
"ประวัติท่านภู่ เคยได้รับการรวบรวมไว้ก่อนหน้านั้นสิบปี โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา
ท่านเจ้าคุณไปเที่ยวจดเรื่องเกร็ดต่างๆ รวบรวมเอาไว้เป็นท่อนๆ สั้นๆ เก็บเล็กประสมน้อย
บางเรื่องก็ซ้ำกัน ท่านก็บอกที่มาของเรื่องไว้ ทั้งหมดราว 30 เกล็ดกระมัง
หลายเกล็ดก็แย้งกันเอง

ผมเข้าใจว่าสมเด็จจะได้ทรงผลงานรวบรวมนี้ เพราะท่านเจ้าคุณเป็นมือขวาของพระองค์อยู่แล้ว
แต่สมเด็จทรงพระเมตตาผู้อ่าน เกรงจะสับสน(กระมัง)
จึงทรงชำระเอาตามที่ทรงเห็นสมควร แล้วเผยแพร่ไปตามนั้น เราก็รับมาใช้ จะทำอย่างไรได้เล่าครับ*

สิ่งที่พระยาปริยัติธรรมธาดาทำ เรียกว่า รวบรวมข้อมูลดิบ จากการไปหาหลักฐานเช่น ถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่เกิดทัน   หรือคนเกิดไม่ทัน  ก็ได้ยินมาเกี่ยวกับสุนทรภู่
จะผิดจะถูก จะสอดคล้องหรือขัดแย้งกันยังไง   คนรวบรวมข้อมูลดิบไม่เกี่ยว    มีหน้าที่รวบรวม
ส่วนสมเด็จกรมพระยาฯ ทรงทำอย่างนักวิชาการที่เขียนตำราหรือทำวิทยานิพนธ์ คือเอามาเรียบเรียงปะติดปะต่อเป็นเรื่องเดียวกัน
ตรงไหนขัดแย้งกันท่านก็ตัดสินหรือตีความว่าจะเอาข้อมูลด้านไหน มาเขียนว่าเป็นของจริง  ข้อมูลที่ไม่ทรงเชื่อ ก็ทรงตัดออกไป    ส่วนที่ยังโหว่อยู่ท่านก็เชื่อมเองให้สนิท
จนกลายเป็นประวัติสุนทรภู่ครบถ้วนตั้งแต่เกิดจนตาย   ตามที่ยึดถือกันมา
แต่สมเด็จกรมดำรงฯ ก็มิได้ทรงฟันธงลงไปว่าเป็นอย่างนั้นจริงแท้แน่นอนทั้งหมด  หลายครั้งก็ทรงระบุชัดๆว่า ฟังมาว่า เล่ากันว่า  หรือเข้าใจว่า
คนที่ยึดถือต่างหากที่มองข้ามข้อนี้ไป   ไปเชื่อว่าทุกอย่างที่ทรงกล่าวถึงเป็นข้อเท็จจริง    นานๆก็มีคนตาดี มองเห็นอะไรที่น่าจะแย้งได้ขึ้นมา
ซึ่งก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าหากว่าข้อแย้งนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้
อยากรู้ว่าพระยาปริยัติฯ รวบรวมมาว่าอะไรบ้า

เรื่องนี้ทำให้นึกออกนอกเรื่องไปถึง " การเมืองสมัยกรุงธนบุรี" ของดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่หยิบยกประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมาวิเคราะห์ใหม่  ว่าเป็นนายกองเกวียน มาก่อนจะได้เป็นเจ้าเมืองตาก
ไม่ใช่มหาดเล็กลูกบุญธรรมเจ้าพระยาจักรีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา อย่างที่เคยเชื่อกัน(จากหนังสือของนายกุหลาบ?)
ดร.นิธิเองก็ใช้วิธีทำนองเดียวกับสมเด็จกรมดำรงฯ คือเลือกเชื่อข้อมูลบางเรื่อง และไม่เชื่อบางเรื่อง
เพียงแต่เรื่องที่ดร.นิธิเชื่อเป็นเรื่องที่สมเด็จกรมดำรงฯไม่เชื่อ  จึงมิได้ทรงใส่ไว้ในเอกสารที่ทรงเรียบเรียง
ส่วนดิฉันได้อ่านเอกสารเรื่องนายกองเกวียนแล้ว   ก็พอเข้าใจว่าทำไมไม่น่าเชื่อ  น้ำหนักพอๆกันหรือน้อยกว่าตำนานตอนเกิดที่มีงูใหญ่มาขดรอบกระด้งท่านเสียอีก

ตอนนี้ดิฉันกำลังสงสัยเรื่องพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่อ.ล้อมบอกว่าเป็นเจ้านายอีกองค์ที่สุนทรภู่พึ่งพระบารมีอยู่
และอาจเป็น "เสด็จ" ที่สุนทรภู่ อาสาไปเมืองเพชร  ถูกตีความว่าไปขอลูกสาวใครที่นั่นให้ ซึ่งไม่ใช่เจ้าจอมมารดางิ้วแน่นอน

ได้ฟังจากที่เล่ากันมาในลูกหลานของสกุลเจ้าจอมมารดางิ้ว หม่อมของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ซึ่งพอนับเจนเนอเรชั่นย้อนขึ้นไป  ถ้าเรื่องนี้จริง   ก็เป็นไปได้ตามระยะเวลาว่า ท่านผู้ได้ยินคนแรก  ทันได้ฟังจากเจ้าจอมมารดางิ้วโดยตรง
คนที่มาเล่าอยู่ในเจนเนอเรชั่นที่สอง ลงมาจากคนได้ยินคนแรก
พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๓๗๘   ก่อนหน้านั้นประชวรมาหลายปี  พระอาการเกิดจากฝิ่น
ทรงหักดิบ ตามที่กราบบังคมทูลสมเด็จพระราชบิดาไว้  แม้ว่าทรงเจ็บปวดขนาดไหนก็ไม่ยอมเสวยเพื่อระงับอาการ   จนสิ้นพระชนม์  เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับสมเด็จพระนั่งเกล้า
สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเสียพระราชหฤทัยมาก  และเห็นในวาจาสัตย์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จึงทรงรับหม่อมเจ้าหญิงโสมนัสไปทรงอุปการะ    ทั้งที่ก็ทรงมี" หลานเธอ" อยู่หลายองค์ แต่ก็มีองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงยกย่องประหนึ่งเป็น "ลูกเธอ"

ปี พ.ศ. ๒๓๗๕  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณน่าจะอยู่ในภาวะประชวรแล้ว    ถ้าสุนทรภู่พึ่งพระบารมีอยู่  ก็น่าสังเกตว่าไม่เอ่ยถึงแสดงความเป็นห่วงบ้างเลย
ถ้าหากว่าไปเพชรบุรีเพื่อไปหาหยูกยามารักษาพระอาการ ก็ไม่เอ่ยถึง และไม่เห็นจะรีบร้อนกลับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ก.ค. 07, 10:55
ขอบพระคุณครับ สำหรับประวัติศาสตร์เชิงลึกเรื่องพระองค์ลักขณาฯ ทรงขัตติยะมานะจริงๆ
ดังนั้น ที่เล่ากันว่าทรงโปรดสักวา ถึงให้สุนทรภู่ไปอยู่ไกล้ชิดหลังทรงลาผนวช
ก็คงต้องทบทวนใหม่
เพราะทรงสิ้นหลังลาผนวชสี่ห้าปี เป็นช่วงทรง"หักดิบ"
ทั้งวังคงจะเงียบเหงา ไม่มีเสียงหัวเราะหรือเสียงขับเพลงเสียด้วยซ้ำ
และคนกตัญญูอย่างท่านภู่ ดูเหมือนไม่เคยแสดงอารมณ์อะไรเกี่ยวกับฝิ่นเอาเสียเลย
(มัวแต่เมาเหล้างั้นรึ....5555)

เรื่องเจ้าตากเป็นนายกองเกวียนนั่น ผมเคยอ่านเจอในข้อเขียนของอาจารย์ขจร
ดูเหมือนท่านจะมิได้อ้างตากุหลาบ อ้างจุลยุทธการวงศ์หรือเอกสารอะไรสักอย่าง อ้างด้วยว่าทรงทราบหกภาษา
เสียดายอ่านไว้นานแล้ว
ส่วนอาจารย์นิธินั้น อย่าไปถือสาแกเลยครับ แกมีพันธกิจเชิงประวัติศาสตร์ที่จะต้องวิภาษนิพนธ์ที่อยู่ก่อนหน้า
ด้วยความลึกอันพิลั่นอลังการราวิถีแห่งวัฒนธรรมกระดุมพี อ่านสนุกนั่งลุกสบายแถมยังเท่เวลาอ้างถึงอีกต่างหาก
หายากครับ นักวิชาการระดับนี้

อ้อ สมเด็จไม่อ้างที่มานะครับ อาจารย์นิธิยังอ้าง
ผมจึงพยายามถอยห่างจากพระนิพนธ์ คือเราควรจะมีฐานความคิดที่กล้าแข็งเสียก่อน จึงจะตามรอยพระองค์ได้สนุก

เรื่องตระกูลบุนนาคครองเมืองเพชรนั้น
สอบแล้ว เจ้าเมืองคนที่ถูกล้วงคอ น่าจะเป็นคนที่อยู่ก่อนพระยามหาตาลวันประเทโศ(เกษ ต้นตระกูลตาลวันนา)
เพราะท่านเกษนั้น เป็นอัจฉริยบุรุษผู้หนึ่ง รบทัพจับศึกทำการเข้มแข็ง เป็นแม่ทัพให้พระยาศรีพิพัฒน์คราวปราบเมืองแขกเจ็ดหัวเมือง
ซึ่งเป็นเหตุการหลังนิราศเมืองเพชรนี้ถึง 10 ปี
ตอนต้นรัชกาลที่ 4 ท่านตาพิการ จึงได้พักผ่อน และท่านท้วมแห่งสายสกุลบุนนาคได้รับช่วงหน้าที่แทน

คดีนี้ คงต้องให้คนเมืองเพชรสืบสวนต่อละครับ ว่าขุนรองจอมแสบ จะเป็นสายสกุลใด
ส่วนที่ผมอ้างถึงกวีว่าเป็นก๊วนบุนนาคนั้น หมายความว่าเป็นเกลอกัน อาจจะมิได้เป็นญาติ
แต่น่าจะมีสายสัมพันธ์กันไกล้ชิด ตามคตินิยมของชนชั้นสูงเมื่อสมัยก่อน ล้วนนับญาติกันได้
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ค. 07, 13:47
ประเด็นหลักที่จะตัดนิราศเมืองเพชรออกจากสารบบผลงานสุนทรภู่คือเรื่องสถานภาพของกวีไม่สอดคล้องนิราศพระแท่นกับรำพันพิลาป

กวีนิราศเมืองเพชรจะเป็นพระหรือไม่ขอพักไว้ก่อน

ตอนนี้สงสัยครับว่ารำพันพิลาปมีอะไรบ่งชี้ว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่อย่างแน่นอนครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ก.ค. 07, 14:20
มีลายเซนต์ท่านภู่อยู่เกลื่อนเลยละครับ
----------
๏ สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน
พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์ จึ่งจดวันเวลาด้วยอาวรณ์
   
๏ จะสึกหาลาพระอธิษฐาน โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน
พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ  เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น
อยู่มาพระสิงหะไตรภพโลก  เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ
ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งนึก

ลืมวันเดือนเขียนเฉยแกล้งเลยละ เห็นแต่พระอภัยพระทัยดี
ช่วยแจวเรือเกื้อหนุนทำบุญด้วย เหมือนโปรดช่วยชูหน้าเป็นราศี

๏ โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน
ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผอิญ ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ
จึงแต่งตามความฝันรำพันพิลาป ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาสัย

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง
   
๏ โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา
โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว  
   
๏ พระสิงหะพระอภัยพระทัยจืด ไม่ยาวยืดยกยอชะลอเฉลิม
   
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน  เวียนตระเวณไปมาทั้งตาปีฯ
หัศเกนเจออีกทีก็ในพระอภัยมณี ไม่เคยเจอในที่อื่นอีก


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ค. 07, 14:46
ขอบคุณครับ

แล้วนิราศพระแท่นล่ะครับ (จนป่านนี้ผมก็ยังไม่มีเวลาไปหาครับ ยังไม่ได้อ่านอยู่ดี)


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ก.ค. 07, 15:54
นิราศเณรกลั่นนี่ ผมใช้ฉบับที่ท่านจันทร์รวมเอาไว้ในนิราศคำกลอนสุนทรภู่( 2 เล่ม แพร่พิทยากั๊บ)
อยากได้ จะถ่ายเอกสารให้ พิมพ์มะหวายอะเฮีย

แต่อ่านแล้วก็ชอบมาก ผมว่าเณรกลั่นนี่เป็นซุปเปอร็จีเนียสทีเดียว
เสียดายไม่เล่นทางนี้ต่อ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 07, 16:10
นิราศพระแท่นดงรัง เชื่อว่าเป็นฝีปากสุนทรภู่ จำแลงเป็นเณรกลั่น เหมือนนิราศวัดเจ้าฟ้า จำแลงเป็นหนูพัด หรือเปล่าคะ
คิดว่าในบ้านมีนิราศพระแท่นดงรัง แต่ยังหาไม่เจอ   ค้นตามเว็บก็หาไม่เจอ  ต้นฉบับน่าจะหายาก
ถ้าจะอนุเคราะห์เป็นรายที่สองต่อจากคุณอาชาจะขอบคุณมาก

หากจะตกลงเชื่อว่านิราศเมืองเพชรแต่งโดยกวีนิรนาม ไม่ใช่สุนทรภู่  ต้องเคลียร์ให้หายข้องใจได้ก่อน 
ว่าทำไมแกผู้มีวัยไล่เลี่ยกับสุนทรภู่ เป็นขุนนางเหมือนกันด้วย  แต่งนิราศเหมือนกันด้วย (เป็นอาลักษณ์เหมือนกันด้วย?)  ถึงตั้งชื่อลูกชายว่าพัด เรียกว่าหนูพัด เหมือนสุนทรภู่เสียด้วย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 07, 10:33
การจะทำให้อาจารย์หายข้องใจนั้น ทำได้ยากกว่าการพิสูจน์ว่าผมเป็นผมเองเสียอีก
ข้อที่ยกมา คือเป็นขุนนาง วัยไล่เลี่ยกัน แต่งนิราศเก่งด้วย เป็นคุณสมบัติทั่วไป เป็นได้ทุกคนไม่ใช่เครื่องบ่งชี้
แต่อาจารย์แถมว่าเป็นอาลักษณ์อีก ข้อนี้ไม่มีระบุในกลอนขอรับ ขอไม่พิสูจน์

ข้อสุดท้ายจึงมีนัยยะสำคัญ
เรื่องหนูพัด กลับไปอ่านแบบหาเรื่องแล้วก็สะดุดใจประเด็นหนึ่ง อยู่ตรงท้ายนิราศว่า
     ๏ แล้วลัดออกนอกลำเนาภูเขาหลวง ดูเด่นดวงเดือนสว่างกลางเวหา
     โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างที่กลางนา เสียงปักษาเพรียกพลอดบนยอดตาล
     มาตามทางหว่างโตนดลิงโลดจิต แต่พวกศิษย์แสนสุขสนุกสนาน
ในนิราศ เอ่ยถึงแค่หนูพัดหนูนิลซึ่งเราคิดกันว่าเป็นลูก ถ้างั้นไปอ้าง"พวกศิษย์"ทำไม
หรือว่าอันที่จริงสองหน่อนั่นแหละเป็นลูกศิษย์ ไม่ใช่ลูก

ที่เราเชื่อว่าเป็นลูก เพราะอ่านตรงนี้
     นึกเสียดายหมายมั่นใคร่พันผูก ไว้เป็นลูกสะใภ้ให้เจ้าหนู
     พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้ อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม
ผมอ่านกลอนไม่แตก จึงต้องขอพึ่งวิจารณญานของอาจารย์ว่า ใครที่ "อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม"
กวี หรือเจ้าหนูที่ไปด้วยครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 07, 11:02
ส่วนการจะพิสูจน์ว่ากวีท่านนี้ใช่สุนทรภู่หรือไม่ ต้องให้สุนทรภู่เป็นผู้พิสูจน์
1 ระหว่าง 2372-2374 สุนทรภู่เป็นครูสอนเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว(ตามเพลงยาวถวายโอวาท)
2 ดังนั้น ท่านจึงเป็นข้าวังถนนหน้าพระลาน ที่เจ้าฟ้าอาภรณ์ออกจากวังหลวงไปครอง

สองข้อข้างบน ทำให้กวีพริบพรีจะเป็นสุนทรภู่มิได้
เพราะเจ้านายกวี เป็นเพียง "เสด็จ" (อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ) "ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา"
อันว่าเสด็จนี้ เราใช้เรียกเจ้านายที่ทรงกรมแล้วมิใช่หรือ ถ้าเป็นพระองค์เจ้า(ลักขณา) เราเรียกอีกแบบนี่นา เช่นเรียกพระองค์จุลฯ เป็นต้น
อันนี้ตามความเข้าใจคนไม่รู้ราชาศัพท์นะครับ อาจจะผิด

เว้นแต่กวีท่านไปเมืองเพชรก่อนปีสอนเจ้าฟ้า(ซึ่งเป็นไปไม่ได้ สุนทรภู่ยังบวชอยู่)
หรือ ไปหลังจากสอนหนังสือเสร็จ ตั้งแต่ 2374 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ โดยไม่เชื่อนิราศเณรกลั่นที่ระบุว่า 2376 (เดือนสี่ปีมเสงเพงวันอังคาร ขออนุญาตแก้ปีให้ถูกต้องครับ)
คุณพ่อ(เลี้ยง) เป็นมหาเถรอยู่
แต่ก็ต้องไปเถียงกับรำพันพิลาป ที่อ่านยังไงก็ได้ความว่า ตั้งแต่ปีวอกออกขาดราชกิจมาจนถึงปีขาลสงสารวัด
ท่านสุนทรเป็นภิกษุ

เว้นแต่(อีกที) เราตีความว่า ปีวอกไม่ใช่ 2367 แต่เป็นอีกสิบสองปีต่อมา คือ 2379 ก็จะมีช่องให้นิราศเมืองเพชรแปะเข้าได้
แต่....อีกและ คำกลอนบอกเราว่า นิราศนี้ แต่งไม่ไกลห่างจากวันไปเยือนศพขุนแพ่ง
ซึ่งน่าจะอยู่ราวๆ 2470 บวกลบปีสองปีเท่านั้น มิเช่นนั้น ความในกลอนจะพิลึกหนักหนา
ผมพยายามบวกเกินมากๆ ก็ยังตกช่วงที่ท่านภู่อยู่ในผ้าเหลือง ดิ้นไม่หลุด

จึงต้องลงนอนพังพาบ(เพราะเหนื่อย....แล่ว) ว่า นิราศเมืองเพชร ไม่ใช่ของสุนทรภู่ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ค. 07, 11:26
อาจารย์เทาชมพูยังไม่มา ผมขออนุญาตแซงคิดก่อนนะครับ
ผมอ่านแล้วเป็นเจ้าหนูนี่แหละครับที่จะขอชิมทับทิมที่สาวเจ้าเอามาขายครับ

มีประเด็นหนึ่งที่ผมอ่านแล้วไม่เข้าใจธรรมเนียม
การที่สุนทรภู่ไปเป็นครูสอนเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว แปลว่าเป็นข้าวังหน้าพระลาน ในเพลงยาวถวายโอวาทมีตอนที่ว่า "ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม" ความตรงนี้ผมอ่านแล้วแปลกใจ เพราะเพลงยาวนี้เขียนให้เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ ตัดพ้อท่านเจ้าวังเสียเช่นนี้แล้ว ดูยังไงๆชอบกลครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 07, 12:51
สำนวนนี้ป้ายรอยด่างใส่ชีวิตท่านสุนทรมาเป็นร้อยปี
แปลกพักตร์  มิใช่แปรพักตร์ จะเอามาใช้แทนกันมิได้
ท่านแต่ก่อนตีความว่า ฟ้าอาภรณ์เกรงภัยจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จึงทำเป็นไม่รู้จัก
หรือหมางเมินครูเก่า
ผมไม่คิดเช่นนั้น

กลอนตรงนี้ความเต็มๆ อ่านได้ว่า ท่านสุนทรอ้างความหลังว่าเคยสอนพี่ชาย แล้วได้มาสอนน้อง
เพลงยาวบทนี้สำแดงความรักความผูกพันธ์ต่อเจ้านายอย่างยากจะหาใดมาเทียบเทียม
แต่ดูจะรักใคร่เจ้าฟ้ากลางและปิ๋วมากกว่าฟ้าอาภรณ์ ซึ่งเอ่ยเพียง
     แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน
     สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม
จะเข้าใจความตรงนี้ ต้องรู้อายุฟ้าอาภรณ์ ทรงประสูติ 2359 เมื่อสิ้นแผ่นดินพระชนม์เพียง 8 ปี
วัยเพียงนั้น อาจจะเพิ่งเริ่มเรียนหนังสือที่เรียกว่าขึ้นสมุด

ตามราชประเพณี เจ้าฟ้าจะได้รับถวายอักษรเป็นขั้นเป็นตอน ราวๆ 5 ขวบก็เริ่มหัดอ่านหัดเขียน
ครูก็เป็นผู้หญิงฝ่ายใน หลังจากนั้นจึงเริ่มอ่านหนังสือเล่ม ช่วงนี้ จะต้องเป็นครูที่ทรงคุณวุฒิ
(ประวัติของครูเหล่านี้ มีให้อ่านได้ทั่วไป ว่าท่านถวายพระอักษรเจ้าฟ้าแต่เมื่อไร)
กรณีสุนทรภู่ เหตุที่จะได้เป็นครู น่าจะเป็นเพราะท่านเป็นกวี คือได้สอนอักษรศาสตร์ขั้นสูงขึ้นมา
จึงต้องรอจนเจ้าฟ้าท่านแก่กล้าในหนังสือ
จึงคิดว่า ท่าน"อาจจะ" เพิ่งเริ่มถวายพระอักษร ก็พอดีสิ้นแผ่นดิน ต้องหยุดสอน

มาถึงปี 2372 ห่างมา 5 ปี ฟ้าอาภรณ์พระชนม์ 13 เต็ม โสกันตร์แล้วก็ต้องออกวัง
ได้รับพระราชทานวังถนนหน้าพระลาน พระมารดาย่อมจะต้องออกมาดูแล และคงยกออกมาทั้งหมด
สุนทรภู่จึงได้รับเลือกเป็นครูอีกครั้ง วันนั้น ฟ้ากลางพระชนม์ 10 พรรษา เห็นชัดว่าแม้แต่น้องยังมาเรียนเมื่อสูงวัย
ฟ้าอาภรณ์เรียนเมื่อ 8 ขวบ จึงนับว่าเร็วพอดู

5 ปีผ่านไป ถามว่า เด็กที่เคยเห็นครู(กี่ครั้งก็ยังไม่รู้) ตอน 8 ขวบ จะจำครูได้ใหม และกลับกัน
ครูภู่ จะจำศิษย์เมื่อ 5 ปีได้หรือ คำว่าแปลกพักตร์ จึงเป็นคำบอกเล่าธรรมดา
แต่มีคนเอาไปยัดไส้ให้เป็นการเมืองเสียงั้น เพื่อรักษาเรื่องสุนทรภู่แหนงพระนั่งเกล้า

ผมไม่เชื่อเลยทั้งเรื่องฟ้าอาภรณ์และเรื่องพระนั่งเกล้า
การได้สอนหนังสือเจ้าฟ้า ต้องเป็นโดยพระบรมราชานุญาต คิดได้ยังไงว่าจะมีการแอบมาเรียนหนังสือกับคนที่ถูกกริ้ว
นั่นมันนิยายครับ
แล้วท่านแต่ก่อนก็ไม่ยอมบวกเลข อธิบายกันยังกับฟ้าอาภรณ์เป็นหนุ่มพอจะแข็งข้อต่อกรใครได้
คิดดูนะครับ ว่าในปี 2372 มีคุณแม่ยังสาววัยต้นสามสิบ หอบลูกสี่คนหาบ้านใหม่
ได้บ้านแล้วก็หาครูให้ลูก นึกถึงครูเก่าที่บวชเป็นพระอยู่ จึงพาลูกไปฝาก
เนื้อหาของเพลงยาวถวายโอวาท สะท้อนสิ่งนี้ออกมาได้อย่างลึกซึ้ง

........เอ หรือว่าผมคิดเองเออเองไปคนเดียวนะเนี่ย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 07, 14:32
๏ จนตกทางบางสะใภ้ครรไลล่อง มีบ้านช่องซ้ายขวาเขาค้าขาย
ปลูกทับทิมริมทางสองข้างราย ไม่เปล่าดายดกระย้าทั้งตาปี
บ้างดิบห่ามงามงอมจนค้อมกิ่ง เป็นดอกติ่งแตกประดับสลับสี
บ้างแตกร้าวพราวเม็ดเพชรโนรี เขาขายดีเก็บได้ใส่กระเชอ
มาตั้งขายฝ่ายเจ้าของไม่ต้องถือ เห็นเรือล่องร้องว่าซื้อทับทิมเหนอ
จะพูดจาคารวะทั้งคะเออ เสียงเหน่อเหน่อหน้าตาน่าเอ็นดู
นึกเสียดายหมายมั่นใคร่พันผูก ไว้เป็นลูกสะใภ้ให้เจ้าหนู
พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้ อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม
เขาอายเอียงเมียงเมินทำเดินเฉย ไม่เกินเลยลวนลามงามหงิมหงิม
ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทับทิม พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชาย
---------------------------------------
ยกมาทั้งประโยค ให้เห็นกันจะจะ
ผมมองไม่เห็นใครอื่นนอกจากกวีกับแม่ค้า สี่บันทัดแรกพรรณาสิ่งแวดล้อม
มากล่าวถึงแม่ค้าก็ที่คำว่า"ซื้อทับทิมเหนอ" แล้วชมการพูดจาและเสียงเหน่อ จนอยากได้เป็นสะไภ้
ต่อด้วยคำว่า"พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้" นี่ละครับ ต้องตีความ
คุณอาชาอ่านว่า เจ้าหนูคงนั่งข้างๆ พ่อ แล้วร้องต่อจะขอชิม

ผมอ่านแล้ว ไม่เห็นวี่แววใครเลย ท่านกวีว่าเองหมดทั้งท่อน รวมทั้งร้องต่อขอชิมนั้นด้วย
คำว่าบุตรเรา จึงน่าจะเป็นบุตรที่มิได้มาด้วยแล้วละครับ
ไอ้ที่มาด้วยน่ะลูกศิษย์ ดังที่ท่านสรุปไว้ในท่อนท้ายของนิราศ ที่ผมอ้างไว้แล้วข้างบน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 16:49
จนตกทางบางสะใภ้ครรไลล่อง          มีบ้านช่องซ้ายขวาเขาค้าขาย
ปลูกทับทิมริมทางสองข้างราย          ไม่เปล่าดายดกระย้าทั้งตาปี
บ้างดิบห่ามงามงอมจนค้อมกิ่ง           เป็นดอกติ่งแตกประดับสลับสี
บ้างแตกร้าวพราวเม็ดเพชรโนรี          เขาขายดีเก็บได้ใส่กระเชอ
มาตั้งขายฝ่ายเจ้าของไม่ต้องถือ         เห็นเรือล่องร้องว่าซื้อทับทิมเหนอ
จะพูดจาคารวะทั้งคะเออ                   เสียงเหน่อเหน่อหน้าตาน่าเอ็นดู
นึกเสียดายหมายมั่นใคร่พันผูก           ไว้เป็นลูกสะใภ้ให้เจ้าหนู
พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้                   อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม
เขาอายเอียงเมียงเมินทำเดินเฉย        ไม่เกินเลยลวนลามงามหงิมหงิม
ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทับทิม              พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชาย

ฉากนี้ขออธิบายเป็นฉากละครหลังข่าว  อาจจะพอเห็นภาพ

เรือแล่นเข้าคลองบางสะใภ้ ริมคลองมีต้นทับทิมขึ้นเรียงราย ออกลูกดกจนกิ่งค้อม  พ่อค้าแม่ขายชาวบ้านก็ปลิดใส่กระเชอมาตั้งขายสองข้างทาง   ไม่ต้องถือใส่มือ  พอเรือจากเมืองหลวงมีผู้ชายนั่งเต็มเรือผ่านมา ก็ร้องชวนเชิญให้ซื้อทับทิม สำเนียงเหน่ออย่างชาวเมืองเพชร
แม่ค้าทับทิมกำลังสาวรุ่น  หน้าตาน่ารัก  พูดจาอ่อนน้อมรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่  อ่อนหวานคะขา   แม้สำเนียงเหน่อก็มีเสน่ห์
ตัวท่านขุนนางกวี( สมมุติว่าเป็นนก ฉัตรชัย) วัยกลางคนแล้วแต่ยังกระชุ่มกระชวย  ฝีปากยังคมคาย  เห็นเข้าก็นึกเอ็นดู 
(แต่นึกเขินว่าอายุห่างไกลกันมาก จะขอให้ตัวเองก็จะเป็นเฒ่าหัวงูไป ) จึงเลี่ยงว่าอยากขอมาเป็นลูกสะใภ้   จะเหมาะกว่า
พอนึกมาถึงตรงนี้  เจ้าลูกชายวัยหนุ่ม(เอาหนุ่มคนไหนก็ได้ในกลุ่ม AF ปีนี้  แล้วแต่จะเชียร์ใคร) ซึ่งเชื้อไม่ทิ้งแถว เจ้าชู้ไม่แพ้พ่อ ก็ไม่ต้องรอพ่อออกโรง   
ตัวลูกชายส่งเสียงร้องขอต่อราคา แล้วยังขอชิมทับทิม(ซึ่งมีนัยว่าขอชิมแม่ค้าด้วย )  ทำเอาแม่ค้าสาวเอียงอายเดินหนีไปเลย   แต่เจ้าหนุ่มก็ไม่ลวนลามต่อ  แค่ขอต่อปากต่อคำนิดๆหน่อยๆ ให้เฮฮากันไปทั้งลำเรือ พอสนุกตามประสาชาย

กวีเอาลูกชายวัยหนุ่มมาด้วยค่ะ ไม่ใช่ลูกศิษย์  ข้อความตอนนี้บอกชัดว่าฉากที่คลองบางสะใภ้เป็นยังไง
ตัวละครในฉากมีเป็นโขยง     เรือสี่แจว มีดารานำนั่งมาอย่างน้อย ๓ คนคือกวีหนุ่มใหญ่(ฉัตรชัย ) เจ้าหนุ่มน้อยลูกชายที่อายุพอมีเมียได้แล้วแต่ยังไม่มี (AF)  และน้องชายตัวเล็กน่าจะยังไว้จุกอยู่
นอกจากนี้อาจจะมีคนติดตามมาอีกบ้างนอกจากฝีพาย
ส่วนบนบก  มีแม่ค้าสาว (ขวัญ อุษามณี ) ขายทับทิม ถูกเกี้ยวจากหนุ่มน้อยเมืองกรุง ก็เขินอายเดินไม่รู้ไม่ชี้ จนเรือแล่นผ่านไป

ถ้าหนูพัดเป็นลูกของสุนทรภู่   ผู้ประกาศตนเองว่า "สุนทราอาลํกษณ์เจ้าจักรพาฬ...เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร"   เรื่องที่ท่านจะยอมให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเป็นตัวเอกในนิราศตั้งหลายเรื่องมาฝากตัวเป็นศิษย์กวีโนเนมขุนนางสังกัดพระองค์เจ้า  แต่งนิราศก็จืดชืด(ในสายตาคุณพิพัฒน์)   ดิฉันว่าไม่มีทาง!



กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ค. 07, 16:58
มีอยู่ 4-5 คำกลอนที่เพิ่มเข้ามาในฉบับที่อ.ล้อมชำระไว้ เป็นเรื่องหนุ่มๆแซวสาวเรื่องงวงตาล ติดเรตเล็กน้อยพอประมาณ บรรยากาศคล้ายๆท่อนขอชิมทับทิมนี่แหละครับ

คืนนี้ผมจะพิมพ์ให้อ่านกันสนุกๆครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 17:00
**อันว่าเสด็จนี้ เราใช้เรียกเจ้านายที่ทรงกรมแล้วมิใช่หรือ ถ้าเป็นพระองค์เจ้า(ลักขณา) เราเรียกอีกแบบนี่นา เช่นเรียกพระองค์จุลฯ เป็นต้น
อันนี้ตามความเข้าใจคนไม่รู้ราชาศัพท์นะครับ อาจจะผิด**

เสด็จ เป็น"ลูกเธอ" ปกติหมายถึงพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ที่ประสูติจากเจ้าจอม   ดำรงพระยศเป็นพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า
เสด็จที่นักอ่านนิยายและนักดูละครย้อนยุคน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด คือ"เสด็จ"  เจ้านายของแม่พลอย ใน"สี่แผ่นดิน"  
เสด็จพระองค์นั้นเป็นสตรี  เท่าที่อ่านก็ไม่คิดว่าจะทรงกรม   เป็นเพียงพระองค์เจ้าเฉยๆ
ถ้าทรงกรม โดยมากเป็นชาย   เรียกว่า "เสด็จในกรม"

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ไม่อยู่ในเกณฑ์นี้ เพราะมิได้เป็นพระบรมวงศ์แต่กำเนิด  ไม่ใช่"ลูกเธอ" เป็น" หลานเธอ"
พระองค์ชายทั้งสามแห่งราชสกุลยุคล ที่มาเรียกกันภายหลังว่าเสด็จพระองค์ชายใหญ่-กลาง-และเล็ก   แต่เดิมก็เรียกกันว่าพระองค์ชาย เท่านั้น  ไม่มีเสด็จนำหน้า
คำว่า"เสด็จ" ที่เว้นจากพระองค์เจ้าก็มีบ้างค่ะ ในรัชกาลที่ ๖ ลงมา   แต่น้อยพระองค์ ไม่ต้องอธิบายก็ได้  
เห็นทีจะไม่ใช่" เสด็จ" ของกวีนิราศเมืองเพชรแน่ๆ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 07, 17:17
ปกติอ่านที่อาจารย์เทาชมพูถอดกลอนทีไร ยอมเห็นพ้องคล้อยตามหมด
ยกเว้นครั้งนี้
จะขอให้ตัวเองก็จะเป็นเฒ่าหัวงูไป จึงเลี่ยงว่าอยากขอมาเป็นลูกสะใภ้  จะเหมาะกว่า
ไม่มีตรงใหนในกลอนท่อนนี้ ที่ส่อว่ากวีจะเกาะแกะสาวแม่ค้าทับทิม
ความจริงอาจจะแปลต่อก็ได้ว่า กวีฉุกคิดว่าลูกเรามันเจ้าชู้ ดังนั้นอย่าเอาเคราะห์กรรมมาใส่แม่ค้าเลย
จึงเพียงแต่เย้าด้วยเอ็นดูประสาชาย แล้วก็ผ่านไป

ผมยังไม่เห็นช่องที่หนูพัดหนูนิลจะออกบทบาทได้เลย และที่สำคัญเราไม่รู้อายุสองหนู
แต่อาจารย์ได้สรุปไปแล้วว่า ใครก็ตามที่ชื่อพัด เป็นต้องลูกสุนทรถู่ทั้งนั้น
แล้วเหตุใดไม่ใส่หนูนิล กับหนูน้อบ(ซึ่งไม่รู้มีตัวตนหรือไม่) เข้าสัมมะโนครัวอีกล่ะครับ...ฮิฮิ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 17:26
แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ        ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน
สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร                  ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม  

น้ำเสียงของสองวรรคหลัง มีทำนองน้อยเนื้อต่ำใจแฝงอยู่  
พอสิ้นแผ่นดิน สิ้นเจ้านาย ที่เคยโปรดปราน  ก็สิ้นบุญของอาลักษณ์เก่าแก่ที่ถวายพระอักษรมา คงจะต้องเป็นข้าเก่า คุ้นเคยกับเจ้าฟ้าอาภรณ์มาก่อน  ไม่งั้นไม่เรียกว่า อาลักษณ์เดิม  
คำว่า เดิม ที่ประกอบท้าย อย่างข้าหลวงเดิม ก็หมายความว่าเคยรับใช้ใกล้ชิดกับเจ้านายมานานพอสมควร  อย่างน้อยเป็นปี   ไปถวายงานรับใช้ ๓ ครั้ง ๕ ครั้ง เรียกว่าข้าหลวงเดิมไม่ได้
เป็นอาลักษณ์เดิมก็ต้องถวายพระอักษรเป็นประจำและยาวนาน เปรียบได้กับครูประจำชั้นป. ๓   พอเด็กอายุ ๑๓ ขึ้นมัธยมต้นแล้ว  จะจำครูประถมคนเดิมไม่ได้เชียวหรือ
แน่นอนว่าจำได้ แต่เมินเฉย
สาเหตุก็น่าจะคิดได้ง่ายๆ  เจ้าฟ้าอาภรณ์ไม่ได้เรียนกับครูเดิมหลายปี  มาเจอกัน  ก็อาจจะไม่กระตือรือร้น หรือเอาพระทัยใส่ครูอีก
ตามประสาเด็กโตอายุ ๑๓ ย่างเข้าวัยรุ่น  ซึ่งน่าจะหันไปสนใจเรื่องอะไรอย่างอื่นอีกสารพัดชนิด  ไม่สนใจอะไรที่เคยสนใจเมื่อ ๘ ขวบอีกแล้ว  
ฝ่ายครูเป็นคนขี้ใจน้อย อ่อนไหวตามประสาศิลปิน   ซ้ำสงสารตัวเองว่าไม่รุ่งโรจน์เหมือนเดิม ก็เลยพลอยน้อยใจเจ้านายน้อยๆของตัวเองไปด้วย  

แต่จะว่าครูตกต่ำหรือพระนั่งเกล้าทรงรังเกียจ เห็นจะไม่ใช่แน่   เพราะตัวเองก็ยังได้มาสอนเจ้าฟ้าพระอนุชาเล็กๆสองพระองค์   ถ้าเป็นที่รังคัดรังแคของพระเจ้าแผ่นดิน  เจ้าฟ้ากุณฑลน่ะหรือจะรับมาเป็นพระอาจารย์ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
สรุปว่าสุนทรภู่ท่านเหมาะจะเป็นครูสอนเจ้าฟ้าเล็กๆค่ะ  ไม่ใช่เจ้าฟ้าวัยรุ่น  ก็เท่านั้นแหละ



กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 17:41
ตอบคุณพิพัฒน์
ถ้าเป็นบทละครทีวี   ถือเป็นการตีความจากเรื่องเดิมที่เจ้าของเรื่องเว้นไว้ ไม่ได้บอกให้ละเอียด    เพราะฉะนั้นคุณพพ.จะตีความแตกต่างกันไปก็ไม่ถือว่าผิด
ดิฉันตีความแบบนี้ค่ะ

ท่านขุนนางกวีที่"เฮฮาประสาชาย" ไปกับบุตรชายและชายอื่นๆในเรือ  แสดงว่าอายุท่านเป็นแต่เพียงตัวเลขเท่านั้น    ตัวเองไม่ได้นึกหรอกว่าเรามันแก่แล้วนะ
ดูทั้งนิราศสิคะ มีตอนไหนนึกว่าตัวเองแก่บ้าง  ทั้งที่ลูกชายโตเป็นหนุ่ม หาสะใภ้ได้แล้ว   พ่อยังไม่เคยปลงเลยว่าตัวเองแก่   รำพึงถึงสาวๆมาตั้งแต่ออกเรือ
-ไปห่มผ้าถวายพระพุทธรูป ยังอธิษฐานขอมีแฟนใหม่งามพริ้งห่มสีทับทิมขลิบทอง ก็แสดงว่าหวังได้สาวสำรวยสวยเป็นนางงาม สูงศักดิ์อีกด้วย 
-ไม่ไปเยี่ยมสาว  ยังออกตัวว่ากลัวผัวหึง   ก็แสดงว่ายังมองตัวเองว่าหนุ่มพอที่เจ้าผัวจะระแวง    ทั้งที่ในความเป็นจริง ผัวอาจจะนึกก็ได้ว่า..โธ่เอ๊ย  แก่ปูนนี้แล้วเชิญคุยกันไปเหอะ   ใครมันจะบ้าไปหึงได้ลงคอ   
เพราะงั้นเรื่องจะสงสารว่าแม่ค้ามีกรรม  คงไม่ใช่  เพราะผู้ชายแบบนี้อีโก้สูง  แต่คิดเล่นฉาบฉวยเพราะเห็นแม่ค้าหน้าตาสวย ละก็เป็นได้
พ่อขนาดนี้  ลูกจะจืดอยู่ได้ยังไง    ก็ปากคอเราะรายเกี้ยวแม่ค้าต่อไปอีกสองสามวรรค  คุณอาชาจะเอามาให้ดูกันว่าปากคอแสบแค่ไหน

อ่านนิราศเมืองเพชรแล้ว ดิฉันคิดว่ากวีไปกับสองหนูเท่านั้นคือหนูพัดกับหนูนิล   หนูนิลบางครั้งถูกเรียกว่าหนูน้อย   เพราะยังเด็ก   
ไม่มีหนูน้อยเป็นหนูที่สาม
เพราะตอนขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูป   กล่าวแค่สองคนว่าเข้าไปไหว้   ถ้าไปกัน ๓ คน หนูน้อยคงไม่ตกหล่นอยู่ข้างนอกบทกลอน

หนูนิลเป็นลูกหรือเปล่าไม่รู้เพราะไม่ปรากฏในนิราศเรื่องอื่น   อาจจะเป็นหลานก็ได้ หลักฐานอื่นไม่มีเลยไม่ใส่ไว้ในสำมะโนครัว     แต่หนูพัด เป็นตัวเอกอยู่ในนิราศอื่นๆด้วยนี่คะ   ก็ชัวร์ว่าลูกสุนทรภู่ชื่อพัดแน่นอน
แล้วยังกล่าวกันมาในชั้นหลังด้วย ตามที่ศ.คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะเคยบันทึกไว้ว่าเหลนโหลนสุนทรภู่เคยพักอยู่ในบ้านคุณพ่อ   ท่านเคยไปคุยด้วยตอนท่านเด็กๆ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 07, 18:17
ท่านสุนทรนี่จะทำผมถูกครูตีตายแน่ๆ

ผมอาจจะมองประเด็นต่างจากที่อาจารย์หรือนักกลอนทำ คือผมจะไม่เติมความ
อย่างอาจารย์สรุปว่าพ่อเจ้าชู้ ลูกหรือจะไม่เจ้าชู้ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว กลอนไม่ได้บอก
อาจารย์ยังเดานิสัยกวีอีกว่าเจ้าชู้กับสาวแม่ค้าเลยเถิด กลอนก็ไม่ได้บอกเหมือน
กลอนบอกเพียง พอนึก(เอ็นดูอยากได้สะไภ้อย่างนี้ ก็)หยุด (ความคิดนั้น เพราะนึกออกว่า) บุตรเราก็เจ้าชู้
(แต่ยังอดมิได้) อุตส่าห์รู้ ร้องต่อจะขอชิม (ก็แม่ค้าน่าเอ็นดูออกอย่างนั้น)....พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชาย

การตีความเกินข้อมูลนั้น เป็นเรื่องกระทำมิได้ในทางกำหนดอายุ เพราะยิ่งใส่สาระเข้าไปมาก
ความเที่ยงของสมัยกาล จะยิ่งเขว เช่น
เป็นอาลักษณ์เดิมก็ต้องถวายพระอักษรเป็นประจำและยาวนานเปรียบได้กับครูประจำชั้นป. ๓

ผมเห็นว่า จะตีความอาลักษณ์เดิม เป็นครูเดิมมิได้
ตัวอักษรบอกเพียงว่า ท่านสุนทรเป็นข้าราชการในกรมพระอาลักษณ์ การเป็นครูเป็นหน้าที่พิเศษ
แต่ก็ขอยกหัวแม่โป้งให้อาจารย์อีกครั้งว่า ได้ชี้คำวิกฤตออกมาอีกคำ คือ "อาลักษณเดิม"
ซึ่งหลบลี้ซุกซ่อนอย่างเปิดเผยมาตั้งแต่เมื่อ 178 ปีมาแล้ว แต่ไม่มีใครเห็น ว่า
สุนทรภู่อาจจะเป็นคนไกล้ชิดรัชกาลที่สองมาตั้งแต่ก่อนครองราชย์ คือเป็นอาลักษณ์มาแต่ครั้งทรงเป็นวังหน้า
จึงกล้าเรียกตัวเองว่าอาลักษณ์เดิม

ถ้าเป็นดั่งนี้ ประวัติกวีจะยิ่งถูกรื้อเละเทะยิ่งกว่าที่ผมทำไม่รู้เท่าไร
นิราศเมืองเพชร จึงมิอาจแต่งโดยอาลักษณ์เดิมได้เป็นอันขาด
"เสด็จ"องค์ใหนครับ กล้า"ชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ" บุคคลที่เป็นอาลักษณ์เดิม

ตอนนี้ต้องคลุมโปงยันแล้วครับ ว่า

นิราศเมืองเพชร ไม่ใช่ของสุนทรภู่ แน่ๆๆๆๆๆๆๆ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 18:37
ก็ที่ทำกันอยู่มาจนค.ห. เกินร้อย  ก็เติมความ(ภาษาคุณพพ. )หรือตีความ(ภาษาของดิฉัน)กันมาไม่รู้ว่าเท่าไรแล้วค่ะ

อาลักษณ์เดิม ถ้าหมายถึงเป็นอาลักษณ์รัชกาลที่ ๒ มาตั้งแต่ยังทรงเป็นเจ้าฟ้าชาย  ก็หมายความว่าสุนทรภู่รับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑
เกิดตั้งแต่ต้นรัชกาลเป็นอย่างช้า 
ถ้างั้นมีชีวิตมาจนถึงรัชกาลที่ ๔  ทันเห็นหัดทหารแบบฝรั่ง    อายุเท่าไรกันล่ะเนี่ย

ดิฉันก็เลยตีความว่าเป็นอาลักษณ์เก่าของเจ้าฟ้าอาภรณ์เท่านั้น


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 18:46
พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้                   อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม
เขาอายเอียงเมียงเมินทำเดินเฉย        ไม่เกินเลยลวนลามงามหงิมหงิม
ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทับทิม              พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชาย

บุตรเจ้าชู้ต่างหากล่ะคะ เป็นประธานของกริยา อุตส่าห์รู้ + ร้องต่อจะขอชิม
ไม่ใช่ตัวขุนนางกวีเอง
ถ้าพ่อมัวแต่พูดกับสาวๆ ขอชิมนั่นชิมนี่   ลูกชายไปในเรือเอาแต่นิ่งไม่พูดจาปล่อยให้พ่อพูด  ก็ผิดวิสัยหนุ่มเจ้าชู้น่ะซี
ในเมื่อเจ้าหนุ่มร้องขอชิมทับทิมแม่ค้า   แม่ค้าก็เอียงอายเป็นของธรรมดา
ถ้าตัวพ่อร้องขอชิม สาวจะอายทำไม  เห็นเป็นผู้ใหญ่แล้ว คงจะกุลีกุจอส่งทับทิมให้เสียอีก


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 07, 19:11
เจ้าฟ้าอาภรณ์เพิ่งจะแปดขวบนะครับตอนสิ้นแผ่นดิน เด็กขนาดนั้นยังไม่ทรงกรม จึงยังไม่มีข้าหลวงเดิม
อย่าว่าแต่อาลักษณ์เดิมเลย

ในแผ่นดิน จะมีอาลักษณ์ได้ก็เพียงสามวังคือวังหลวง วังหน้า และวังหลัง(ซึ่งมีได้แค่รัชกาลที่ 1 แล้วก็ถูกยุบ)
การที่สุนทรภู่อ้างตนเป็นอาลักษณ์เดิม จึงเป็นได้เพียงวังหน้า(องค์ที่สอง)ในรัชกาลที่ 1 เท่านั้น
ถ้าได้เป็นตอนอายุ 20 ขึ้นรัชกาลที่ 2 อีกเจ็ดปีต่อมา ท่านสุนทรก็เพียง 27 ขึ้นรัชกาลที่สาม ท่านก็ 42
มาสอนเจ้าฟ้าก็ 47 ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจนี่ครับ

ส่วนเรื่องลูกสุนทรภู่เจ้าชู้นั่นเป็นคนละเรื่องกับลูกกวีพริบพรีเจ้าชู้
และหนูพัดในเมืองเพชรก็ใช่ว่าจะต้องเป็นหนูพัดสุนทรภู่
ชื่อคนโบราณ มีให้ใช้ไม่มากอยู่แล้ว
เอาแค่ฉิมนิ่ม ที่บอกว่าเป็นเมียท่าน(ตามนิราศสุพรรณ)
ก็เจอตั้งหลายหน เป็นแม้แต่น้องที่ว่าตายไปแล้วด้วย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 19:33
ถ้าสุนทรภู่อายุ  42 ตอนเริ่มรัชกาลที่ 3 อย่างคุณพพ.ว่า
รัชกาลที่ 3  ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. 2367 -2393 ขุนแพ่งตายประมาณ 2369-71 อย่างช้าก็ 2372
เราสรุปกันในกระทู้ว่า กวีนิราศเมืองเพชรมาเยือนเมืองนี้ ประมาณ 2375 
ถ้าเป็นสุนทรภู่  ท่านก็อายุ 50 ปี  ลูกชายเริ่มหนุ่มยังไม่มีเมีย  ตีว่าอายุ 18 อย่างที่ว่ากันในกระทู้นี้อีกเหมือนกัน
ท่านมีลูกเมื่ออายุ 32  ตอนยุ่งๆกับสาวในเมืองเพชรครั้งขุนรองยังหนุ่ม  ก็แสดงว่ายังไม่มีเมียมีลูกในตอนนั้น

แต่สมเด็จกรมดำรงฯ ทรงสรุปว่านิราศเมืองเพชร แต่งเมื่อ พ.ศ. 2488-92
ถ้าสุนทรภู่แต่ง จะอายุเท่าไร  และมีลูกชายคือหนูพัดเมื่ออายุเท่าไร   ต้องมีลูกเมื่ออายุมากโข  ประมาณ 45 ปี  และยังมีหนูนิลเป็นลูก(หรือหลาน)เล็กอีกคน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ค. 07, 21:01
ต่อจากตอนลงจากเขาบันไดอิฐนะครับ จากหนังสือ สุนทรภู่ อาลักษณ์เจ้าจักรวาล โดย อ.ล้อม เพ็งแก้ว

ลงตามทางหว่างเขาเห็นชาวบ้าน        เขาเคี่ยวตาลเตารายทั้งซ้ายขวา
ถึงถนนคนหยุดนั่งพูดจา                เรียกศาลาแต่งแง่มาแต่ไร
ด้วยร่วมทางต่างประเทศทุกเขตบ้าน    หาบน้ำตาลไปมาได้อาศัย
บรรดาศิษย์คิดแคลงไม่แจ้งใจ          เฝ้าซักไซร้สาวๆชาวเพชรบุรี
เขาแต่งแง่แต่เมื่อไรที่ไหนขา           เขานิ่วหน้านิ่งเมินดำเนินหนี
ยิ่งลวนลามถามทั่วถึงตัวดี              เขาว่านี่มาแต่ไหนถึงไม่รู้
เขาแต่งแง่แต่สาวชาวบางกอก          อันบ้านนอกนี้มันรกจนปกหู
เห็นมีแง่หรือไม่มีแง่ก็แลดู              ฝ่ายเจ้าหนูตอบว่าข้ามาแต่ไกล
จริงอยู่สาวชาวเพชรบุรีไม่มีแง่          เห็นมีแต่งวงแหลมแซมไสว
เขาว่างวงร่วงเน่าเสียเปล่าไป           ไม่เหมือนในบางกอกล้วนดอกบาน
ข้างพวกเราเขาว่าดอกบางกอกเผ็ด     อันดอกเพชรบุรีเห็นทีจะหวาน
เขาว่าอ้อพ่อฉิมชิมชำนาญ              เหมือนน้ำตาลหรือไม่หนอหัวร่อเยาะ
เจ้าหนูว่าข้าได้คิดติดจะมืด              มันไม่จืดมันไม่หวานเหมือนตาลเฉาะ
ต่างเปรยเปรียบเลียบเคียงเถียงทะเลาะ ได้หัวเราะหยอกเอินด้วยเพลินดี


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 21:18
สรุปอีกครั้ง
ถ้าเชื่อว่านิราศเมืองเพชรไม่ได้แต่งโดยสุนทรภู่  แต่โดยกวีลึกลับไม่รู้ชื่ออีกคน  เราพอจะสันนิษฐานอะไรเกี่ยวกับกวีนิรนามผู้นี้บ้าง
๑) รับราชการอยู่กับพระองค์เจ้าองค์หนึ่ง อาจจะไม่ได้ทรงกรม   เพราะเรียกว่า เสด็จ เฉยๆ
ขยายความ:มีความเป็นไปได้ว่าเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งจำนวนมากยังไม่ได้ทรงกรมในรัชกาลนั้น
๒)อยู่ในวัยกลางคน มีลูกชายโตเป็นหนุ่ม ๑ คน อีกคนที่ตามไปด้วยยังเด็กอยู่  ยังไม่พ้นวัยโกนจุก
๓) มีปัญหาครอบครัว  มีภรรยาแล้วแต่ขัดใจหรือแยกทางกันอยู่    ก่อนหน้านี้ก็เกี่ยวข้องกับผู้หญิงอีกหลายคน แต่ไปไม่รอดกันสักคน
ตอนไปเพชรบุรี เป็นพ่อม่ายเมียทิ้ง
๔) เมื่อครั้งหนุ่มเคยอยู่เพชรบุรีเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร อาจเป็นปี
๕) ไม่มีตอนไหนระบุว่าเกิดที่เพชรบุรี
๖) จากเพชรบุรีมากรุงเทพปีระกา  อาจเป็นพ.ศ. ๒๓๕๖ หรือ พ.ศ. ๒๓๖๘ ก็ได้ แต่น่าจะเป็น ๒๓๕๖
๗)เคยสอนหนังสือที่เพชรบุรี  ลูกศิษย์ลูกหายังอยู่ในเมืองกันหลายคน
๘)เคยไปเพชรบุรีอีกอย่างน้อย ๑ ครั้งระหว่าง ๒๓๖๙-๗๒  ปีใดปีหนึ่งเพื่อไปเคารพศพพี่ชายเพื่อน ชื่อขุนแพ่ง ซึ่งตายในศึกเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๖๙-๗๑)
๙)อาจไปเพชรบุรีคราวนี้ ในพ.ศ. ๒๓๗๕  
๑๐) ถ้ามากรุงเทพปีระกา ๒๓๕๖  ก็เป็นได้ว่ามามีภรรยาที่กรุงเทพ มีลูกชายชื่อพัด เกิดประมาณ ๒๓๕๗-๘  
กลับไปเพชรบุรีครั้งนี้ ประมาณ ๒๓๗๕  นายพัดก็โตเป็นหนุ่มแล้ว อายุ ๑๘ ปี  พอจะมีเมียได้พอดี  ส่วนเด็กชายนิลลูกอีกคนยังเล็กอยู่ ประมาณ ๑๐ ขวบ
๑๑) มีญาติผู้ใหญ่ชั้นปู่ย่าตายายเป็นชาวเพชรบุรี   แต่ไม่เอ่ยถึงพ่อแม่และพี่น้องร่วมท้อง


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 21:32
ขอบคุณค่ะคุณอาชา  อุตส่าห์ลอกกลอนมาให้ยาวมาก
อ่านครั้งแรกจนจบ  รู้สึกสะดุดหลายตอน ว่าลักษณะการแต่งกลอน ไม่กลมกลืนกับกลอนบทก่อนหน้านี้และหลังจากนี้
หรือจะเป็นว่าฉบับที่อ.ล้อมได้มา ยังไม่ได้ชำระ   โดยมากฉบับที่เราอ่านกัน มักผ่านการชำระสะสางจนเนียนเกลี้ยงเกลามาแล้วก่อนออกสู่สายตาประชาชน

กลอนของสุนทรภู่   มีจังหวะลงตัวในการแบ่งคำ ในแต่ละบาท  ราวกับเสียงโทนตีลงจังหวะ
000    00(0)   000
แต่จะไม่มี 000 00(0) 0000 แทรกเข้ามาให้เสียจังหวะ ถ้ามีก็หายากมาก
แต่ในบทที่อ.ล้อมเจอ  มีเสียจังหวะอยู่ถึง ๒ ครั้งในเนื้อหาไม่กี่บท

ลงตามทางหว่างเขาเห็นชาวบ้าน        เขาเคี่ยวตาลเตารายทั้งซ้ายขวา
ถึงถนนคนหยุดนั่งพูดจา                    เรียกศาลาแต่งแง่มาแต่ไร
ด้วยร่วมทางต่างประเทศทุกเขตบ้าน    หาบน้ำตาลไปมาได้อาศัย
บรรดาศิษย์คิดแคลงไม่แจ้งใจ            เฝ้าซักไซร้สาวๆชาวเพชรบุรี
เขาแต่งแง่แต่เมื่อไรที่ไหนขา             เขานิ่วหน้านิ่งเมินดำเนินหนี
ยิ่งลวนลามถามทั่วถึงตัวดี                  เขาว่านี่มาแต่ไหนถึงไม่รู้
เขาแต่งแง่แต่สาวชาวบางกอก          อันบ้านนอกนี้มันรกจนปกหู
เห็นมีแง่หรือไม่มีแง่ก็แลดู                  ฝ่ายเจ้าหนูตอบว่าข้ามาแต่ไกล
จริงอยู่สาวชาวเพชรบุรีไม่มีแง่           เห็นมีแต่งวงแหลมแซมไสว
เขาว่างวงร่วงเน่าเสียเปล่าไป            ไม่เหมือนในบางกอกล้วนดอกบาน
ข้างพวกเราเขาว่าดอกบางกอกเผ็ด     อันดอกเพชรบุรีเห็นทีจะหวาน
เขาว่าอ้อพ่อฉิมชิมชำนาญ              เหมือนน้ำตาลหรือไม่หนอหัวร่อเยาะ
เจ้าหนูว่าข้าได้คิดติดจะมืด              มันไม่จืดมันไม่หวานเหมือนตาลเฉาะ
ต่างเปรยเปรียบเลียบเคียงเถียงทะเลาะ ได้หัวเราะหยอกเอินด้วยเพลินดี

เกิดคำถามขึ้นมา ตัวโตทีเดียวว่า   เขาว่าอ้อพ่อฉิมชิมชำนาญ           พ่อฉิมนี่หมายถึงอะไร  ทำไมเรียก"เจ้าหนู" ว่า พ่อฉิม



กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ค. 07, 22:40
ผมอ่านแล้วสะดุดหลายจุดมากเหมือนกันครับ

นอกจากคำเกินแล้ว ยังมีหลายตอนที่ดูเหมือนกลอนพาไป ความไม่สละสลวย
- ถึงถนนคนหยุดนั่งพูดจา
- ด้วยร่วมทางต่างประเทศทุกเขตบ้าน
- เขานิ่วหน้านิ่งเมินดำเนินหนี
- ยิ่งลวนลามถามทั่วถึงตัวดี
- เจ้าหนูว่าข้าได้คิดติดจะมืด


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 07, 23:07
ดิฉันเห็นตรงกับคุณอาชา
ตอนแรกที่ได้อ่านกลอนตอนนี้  นึกว่าไม่ปรากฏอยู่ในนิราศเมืองเพชรฉบับที่รู้จักกันได้ ก็นับว่าดี ที่ถูกปลดออกไปเสียก่อนพิมพ์รวมเล่ม
ฝีมือยังกะใครแต่งแซมเข้าไป   ทำไม่ถึงของเดิม  แถมบางตอนยังติดเรทอย่างหาศิลปะไม่เจอเสียด้วย
สุนทรภู่ไม่น่าจะเขียนแบบนี้   กลอนติดเรทของท่าน กล่าวสั้นกระชับ และเนียนกว่านี้มากนัก


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 07, 23:46
ผมอ่านแล้ว ไม่คิดว่าจะเลวกว่าเดิมสักเท่าใดนัก
ต้นฉบับที่เราอ่านๆ กัน ได้แค่เจ็ดแปดส่วนของเพลงยาวถวายโอวาทเท่านั้น
ตอนที่ดีที่สุด ก็ได้แค่เกือบๆ เก้าส่วน แต่ตายแล้วเกิดใหม่ก็แต่งอย่างนี้ไม่ได้

"สงสารบุตรสุดเศร้าทุกเช้าค่ำ ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา
เขม้นมองคลองบ้านดูมารดา เช็ดน้ำตาโซมซาบลงกราบกราน
ยิ่งตรอมตรึกดึกดื่นสะอื้นอั้น จนไก่ขันเอื้อนเอกวิเวกหวาน
เหมือนนิ่มน้องร้องเรียกสำเหนียกนาน เจียนจะขานหลงแลชะแง้คอย"

กลอนท่านภู่มีแต่ระดับนี้ หรือเหนือกว่านี้ทั้งนั้น
ขออำไพ อ่านกลอนไม่แตก บอกไม่ได้ว่ากัลเม็ดกลอนเป็นอย่างไร
รู้แต่ว่า อ่านของท่านภู่แล้วอึ้งครับ ทุกคำเกินคาดหมาย
ไม่เหมือนกลอนที่ผมตัดทิ้งไป ....ชาวบ๊าน ชาวบ้าน


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 07, 00:04
ผมกลับคิดว่านิราศพระประธมนี่แหละชอบกลครับ

โผล่มาคำกลอนแรกก็เอาเลย
ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ
กลอนแบบสุนทรภู่ต้องลงท้ายบาทสองด้วยเสียงจัตวาครับ

ส่วนกลอนที่คุณ pipat ยกมา
สงสารบุตรสุดเศร้าทุกเช้าค่ำ ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา
กลอนสุนทรภู่เป็นแบบ 3-2-3 คำว่า "กำพร้า" นี่โดนแยก ไม่จำเป็นจริงๆนักเลงกลอนเขาไม่ทำกันครับ
นอกนั้นก็ยังมีอีกหลายจุดที่ใช้คำเกิน และคำแยกแบบนี้

อ่านเอากลอนอย่างเดียว ผมกะว่าจะตัดนิราศพระประธมกับนิราศเมืองแกลงก่อนเพื่อนเลย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ก.ค. 07, 00:22
ผมได้รับความสะเทือนอารมณ์อย่างลึกซึ้งในบางกลอน
แต่แต่งกลอนไม่เป็น จึงไม่เห็นข้อบกพร่องเหล่านั้น
สรุปง่ายๆว่าอ่าน "ความ" ไม่อ่านกัลเม็ด อ่านลีลา ไม่ได้อ่านภาษา

ในกลอนที่ชอบ มองเห็นโลกและจิตวิญญานในขณะนั้น ลอยเด่นชัด
เสน่ห์อีกอย่างของกลอนสุนทรภู่ก็คือ เปรียบเทียบจากเงื่อนไขจำเพาะตรงหน้า
เหมือนดังว่าปรากฏการณ์ตรงชัวขณะนั้นเท่านั้น ที่กระตุ้นคำออกมา

กลอนทั่วไปผมจะรับทราบถึงแบบแผนก่อนรับรสคำครับ

ทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ เล่าให้ฟังเล่นพอเพลินๆ
ไม่มีสาระอันใดครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 07, 09:30
ถูกฝึกหัดมาให้อ่านกลอน ที่ลีลาคำ   เพื่อดูความไพเราะ   ต่อมาคือดู"ความ" คือเนื้อความ
ความถูกต้องทางฉันทลักษณ์ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่จะประเมินคุณค่าของกลอนโบราณ 
ส่วนกลอนสมัยใหม่เขาไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์แบบเก่า

สุนทรภู่เป็นคนที่ใช้ฉันทลักษณ์ได้เป๊ะๆราวกับแต่งกลอนกลบท    น้อยครั้งจะแยกคำที่สัมผัส  สัมผัสลื่นไหลพราวไปหมด แต่เกลี้ยงเกลา ไม่รุงรัง

โอ้เคราะห์ร้าย/ กายเรา/ ก็เท่านี้               ไม่มีที่/พสุธา/จะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บ/เจ็บแสบ/คับแคบใจ         เหมือนนกไร้/รังเร่/อยู่เอกา

เหตุผลส่วนหนึ่งคือกลอนสมัยโบราณเขามีเอาไว้อ่านดังๆ    ถ้าหากว่าแยกคำสัมผัส
อย่าง

สงสารบุตร/สุดเศร้า/ทุกเช้าค่ำ ด้วยเป็นกำ/พร้าแม่/ชะแง้หา

เวลาอ่านลงคำตามจังหวะ มันจะคร่อมจังหวะ ไม่เพราะ    แต่นานๆจะมีทีหนึ่ง  ไม่มีบ่อยๆ

กลอนที่คุณอาชาได้มาจากหนังสืออาจารย์ล้อม   อ่านซ้ำอีกหนก็ยังรู้สึกแปร่งๆ ว่ามีการเล่นคำ "แง่" ไปในทางหยาบโลน
แต่งแง่  แปลว่าแต่งตัว   คำนี้ย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น  มีในลิลิตพระลอ เรียกว่าแต่งแง่แผ่ตน หรือแต่งแง่ เฉยๆ
แต่คำว่า "แง่" ในนิราศ  แปลเหมือนเราใช้คำว่า "สองแง่ สองง่าม" สมัยนี้   หนุ่มๆที่ไปกับกวีก็เลยเฮฮาแซวสาวชาวบ้านว่า แต่งแง่อะไรแบบไหน
อยากจะบอกว่าตลกหยาบโลนแบบเปิดเผยนี้  ไม่เจอในนิราศเรื่องอื่น

สุนทรภู่เป็นคนมีคารม แต่ไม่เคยบรรยายหยาบโลน ลองอ่านบทนี้ดู จะเห็นว่ากล่าวรวบรัดไม่มีพรรณนาทะลึ่งอะไรสักอย่าง  ทั้งที่" มอญขวาง" นั้นเป็นคำล้อเลียนมีนัยยะทางเพศ

ถึงบางขวางปางก่อนว่ามอญขวาง             เดี๋ยวนี้นางไทยลาวแก่สาวสอน
ทำยกย่างขวางแขวนแสนแสงอน              ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย

แต่ในนิราศเมืองเพชร   หนุ่มๆโต้กับสาวชาวบ้านนั้น  บรรยายเยิ่นเย้อหลายบท  ราวกับเล่นลำตัดกันทีเดียว
ไม่น่าเป็นฝีปากกวีเอก    คิดว่าแต่งแทรกเข้าไปทีหลังมากกว่า

เขาแต่งแง่แต่เมื่อไรที่ไหนขา             เขานิ่วหน้านิ่งเมินดำเนินหนี
ยิ่งลวนลามถามทั่วถึงตัวดี                  เขาว่านี่มาแต่ไหนถึงไม่รู้
เขาแต่งแง่แต่สาวชาวบางกอก          อันบ้านนอกนี้มันรกจนปกหู
เห็นมีแง่หรือไม่มีแง่ก็แลดู                  ฝ่ายเจ้าหนูตอบว่าข้ามาแต่ไกล
จริงอยู่สาวชาวเพชรบุรีไม่มีแง่           เห็นมีแต่งวงแหลมแซมไสว
เขาว่างวงร่วงเน่าเสียเปล่าไป            ไม่เหมือนในบางกอกล้วนดอกบาน
ข้างพวกเราเขาว่าดอกบางกอกเผ็ด     อันดอกเพชรบุรีเห็นทีจะหวาน
เขาว่าอ้อพ่อฉิมชิมชำนาญ                 เหมือนน้ำตาลหรือไม่หนอหัวร่อเยาะ
เจ้าหนูว่าข้าได้คิดติดจะมืด                  มันไม่จืดมันไม่หวานเหมือนตาลเฉาะ
ต่างเปรยเปรียบเลียบเคียงเถียงทะเลาะ ได้หัวเราะหยอกเอินด้วยเพลินดี


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ก.ค. 07, 10:47
ตามที่อาจารย์อธิบาย เวลาอ่านว่า
ด้วยเป็นกำ.....
พร้าแม่/ชะแง้หา ......

คนฟังจะได้รสคำอีกแบบ คือความผิดคาด เพราะฟังเพลินๆ ว่า ด้วยเป็นกรรม.....
แต่กลับบิดเป็น....กรรมพร้า (กำพร้า)

ผมว่าเจ๋งออก


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ค. 07, 11:10
คำว่า พ่อฉิม คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ว่า

คำว่า ‘ฉิม’ เป็นคำโบราณ มักใช้เรียกลูกชายหรือลูกหญิงคนใหญ่ ในสมัยโบราณจึงมี ‘พ่อฉิม’ ‘แม่ฉิม’ กันแทบทุกครอบครัว

จากที่นี่ครับ http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=981&stissueid=2455&stcolcatid=2&stauthorid=13 (http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=981&stissueid=2455&stcolcatid=2&stauthorid=13)


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 07, 11:22
กลับมาเรื่องหมุดเวลาดีกว่าค่ะ  เดี๋ยวหลงทางกู่ไม่กลับ
ก่อนหน้านี้ ดิฉันเกริ่นเอาไว้ยังไม่มีใครต่อ   ก็เลยมาต่อเองก่อนจะลืมกันไป
ปีพ.ศ.ต่อไปนี้อ้างพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นหลัก   

สมเด็จกรมดำรงฯ ทรงสรุปว่านิราศเมืองเพชร แต่งเมื่อ พ.ศ. 2488-92
ถ้าสุนทรภู่เกิดเมื่อพ.ศ.2329  ก็จะกลับไปเมืองเพชรเมื่ออายุ 59-63 ปี
ถ้าหนูพัดยังหนุ่ม ไม่มีเมีย อายุประมาณ 18-20 ปี  ก็หมายความว่าเกิดเมื่อพ่ออายุ 41-45
หนูพัดควรเกิดประมาณพ.ศ. 2470 ในรัชกาลที่ 3  เป็นอย่างเร็ว  และยังมีหนูนิลเป็นลูก(หรือหลาน)เล็กอีกคน
ถ้าอายุไม่เกิน 10 ขวบ เพราะยังหัดนับเลขอยู่  ก็ต้องมาเกิดเมื่อพ่ออายุร่วม 50 เข้าไปแล้ว

ทีนี้สุนทรภู่กับแม่จัน เริ่มนิยายรักกันตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ตอนสุนทรภู่อายุประมาณ 21 ปี แต่งนิราศเมืองแกลง
ประมาณพ.ศ. 2350 ยังไม่ได้แต่งงานกับแม่จัน แค่เป็นคนรัก
มาแต่งกันเมื่อไรไม่ทราบ  แต่เมื่อแต่งนิราศพระบาท โกรธกันเสียแล้ว   นิราศพระบาท สมเด็จกรมดำรงฯ สันนิษฐานว่าแต่งปลายพ.ศ. 2350
ถ้างั้น หนูพัดในนิราศเมืองเพชร ก็ไม่ใช่ลูกของแม่จัน    เพราะเกิดหลังจากแม่จันโกรธกับสุนทรภู่มาตั้ง 20 ปี   หนูนิลยิ่งไม่มีทางเป็นลูกแม่จัน
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ยังทรงสันนิษฐานอีกว่า นิราศวัดเจ้าฟ้าแต่งเมื่อพ.ศ.  2379   ถ้าหนูพัดเกิดเมื่อ 2370 หรือ..เอ้า  ยอมให้เกิดเร็วกว่านั้นหน่อย  เป็น 2368  เพื่อจะอายุ 20 ในนิราศเมืองเพชร  
ก็หมายความว่า เณรหนูพัดแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าเมื่ออายุ 9-11 ขวบ
ถ้าจะเพิ่มอายุหนูพัดให้โตเป็นหนุ่มพอจะแต่งนิราศได้เก่ง   บวกอายุเข้าไปสัก 6 ปี เรียกว่าอัจฉริยะพอสมควร  อายุในนิราศเจ้าฟ้าคือ 15-17 ปี
ก็หมายความว่าในนิราศเมืองเพชร   หนูพัดต้องอายุ 24-26 ปี  น่าจะมีเมียได้หลายคนแล้ว
หรือถ้ายังไม่มีเมียทั้งๆ "บุตรเราก็เจ้าชู้"  ก็โตเกินกว่าจะเรียกว่าหนูพัดแล้วละซีคะ

ป.ล. เป็นโรคแพ้ตัวเลข อาจจะสับสนเรื่องนับพ.ศ.  ขอให้คุณพพ.และท่านที่เข้ามาอ่านช่วยบวกลบกันอีกทีค่ะ

ป.ล. 2 กำลังจะส่ง ชนกันกลางอากาศกับคุณพพ. เรื่องพ่อฉิม     ก็แสดงว่าหนูพัดที่มาด้วยในเรือ เป็นลูกชายคนใหญ่ของท่านกวีขุนนาง ถ้าเชื่อว่าตอนที่อ.ล้อมเจอเป็นฝีมือกวีคนเดียวกัน
ส่วนหนูพัดจะอายุ 18-20 หรือ 24-26 เชิญใคร่ครวญเองตามอัธยาศัย


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ก.ค. 07, 12:44
สมเด็จคงจะทรงเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชร หลังสึก และไปอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย จึงวางปีไว้ไกลหน่อย
ดูเหมือนจะให้เป็นปีหลังกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ไปแล้ว (2388)
อาศัยเหตุนี้ จึงทรงระบุว่าเป็นเรื่องสุดท้าย

พระวินิจฉัยนี้ มีทั้งข้อโต้แย้งในตัวงาน ที่ทรงตีความอย่างไม่ละเอียด
และโต้แย้งด้วยหลักฐานที่พบใหม่ๆ หลังยุคของพระองค์
จะขอยกพระวินิจฉัยที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทรงหลงลืมได้ คือคำว่าเสด็จ

ถ้าต้องเรียกเจ้านายระดับเจ้าฟ้าน้อย กวีเอกอย่างสุนทรภู่จะกล้าใช้คำว่า"เสด็จ" ละหรือ

แม้แต่ในพงศาวดารรัชกาลที่สาม เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ยังแต่งเรื่องว่า
เจ้าพระยาบดินทรเดชา "ตามเสด็จ" เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์กลับมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว
ทั้งๆ ที่ท่านบดินทร์เป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าฟ้าเป็นเพียงแม่ทัพเรือใต้บังคับบัญชาแท้ๆ
ธรรมเนียมโบราณถือนักเรื่อง"ต่ำสูง" แต่ดูเหมือนจะไม่ทันสังเกต

อันที่จริงเพียงคำว่าเสด็จ ก็ปิดบัญชีการวินิจฉัยที่ต่อเนื่องได้แล้วครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 07, 13:20
เหตุผลอีกสองสามอย่างในนิราศเมืองเพชร ที่แสดงว่าเรื่องนี้ต้องแต่งก่อน 2388 นานมาก   แต่งในทศวรรษ 2370s  ประมาณ 2375 + หรือ- เล็กน้อย
คือมรณกรรมของขุนแพ่ง
กวีบรรยายว่า
"ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย"  หมายถึงศึกเจ้าอนุวงศ์ 2369-71 ในรัชกาลที่ 3
ถ้าหากว่าล่วงมาถึง 2388 กินเวลานานเกือบ 20 ปี   ก็ไม่นานไปหน่อยหรือ ที่ภรรยาจะเอาแต่คร่ำครวญโศกเศร้าไม่รู้จบ

แสนสงสารท่านผู้หญิงมิ่งเมียหลวง         เฝ้าข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว               พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์             ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม              เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเซียบสำเนียง

และอีกตอนหนึ่ง พูดถึงน้องชายขุนแพ่งที่เลื่อนขึ้นกินตำแหน่งแทนพี่
แล้วไปบ้านท่านแพ่งตำแหน่งใหม่             ยังรักใคร่ครองจิตสนิทสนม
ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม                           เขารับสมปรารถนาสามิภักดิ์

ถ้าเป็นปี 2388-92   ขุนแพ่งคนเก่าตายไปประมาณ 20 ปี     น้องชายก็ต้องเลื่อนขึ้นแทนพี่ร่วม 20 ปีแล้ว   ไม่มีการปล่อยตำแหน่งให้ว่างนานเป็นสิบเก้าปี
ขุนแพ่งปัจจุบัน ขึ้นมาแทนตั้ง 20 ปีแล้ว   จะเรียกว่า "ขุนแพ่งตำแหน่งใหม่" ก็ผิดไปละค่ะ
ถ้าจะเทียบให้รู้กันว่ามีขุนแพ่ง 2 คน ก็น่าจะเรียกน้องชายว่า ขุนแพ่ง  และพี่ชายที่ตายไปตั้งแต่ศึกเจ้าอนุวงศ์ว่า ขุนแพ่งเก่า






กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 07, 21:50
ยังติดใจคำว่า "แง่" ว่ามันกลายเป็นคำหยาบไปตั้งแต่เมื่อไร

เขาแต่งแง่แต่สาวชาวบางกอก          อันบ้านนอกนี้มันรกจนปกหู
เห็นมีแง่หรือไม่มีแง่ก็แลดู                  ฝ่ายเจ้าหนูตอบว่าข้ามาแต่ไกล
จริงอยู่สาวชาวเพชรบุรีไม่มีแง่           เห็นมีแต่งวงแหลมแซมไสว
เขาว่างวงร่วงเน่าเสียเปล่าไป            ไม่เหมือนในบางกอกล้วนดอกบาน

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อนายนรินทร์ธิเบศร์แต่ง นิราศนรินทร์   ยังมีคำว่า แง่ ในความหมายปกติทั่วไป

ชาวเรือแผ่แง่ค้า                 ขายของ
หมายความว่าชาวเรือเอาสินค้ามาวางขาย

ทำไมในรัชกาลที่ ๓   คำนี้กลายเป็นคำหยาบโลนไปแล้ว ?
แต่ถ้าเป็นสมัยหลังกว่านั้น ความหมายอาจเพี้ยนได้ 


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.ค. 07, 22:17
อาจจะมีความหมายสองแง่สองง่ามมาก่อนแล้วนะครับ

นายนรินทร์ใช้แบบบริสุทธิ์ใจมันก็ไม่หยาบ แต่ผู้แต่งนิราศเมืองเพชรฉบับความแปลกนี้เอามาเล่นหยาบโลนก็กลายเป็นหยาบไปได้ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 07, 15:12
สมัยสองร้อยปีก่อนไม่น่าจะเอาคำธรรมดาไปเล่นเป็นหยาบโลนกัน สารพัดความหมาย เหมือนสมัยนี้นะคะ

กลับมาอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้สรุปว่านิราศเมืองเพชร แต่งในพ.ศ. 2388-92 ไม่ได้
ก็คืออายุของสาวๆในเรื่อง
ท่านขุนนางกวี มีกิ๊กชาวเพชรหลายคน  เมื่อครั้งท่านยังหนุ่ม    กลับมาครั้งล่าสุด มีลูกชายโตเป็นหนุ่มแล้ว
ถ้าหากว่าอายุมากถึงหกสิบ   (เพราะเกิดปี 2329 ) กิ๊กสาวๆเมื่อครั้งโน้นควรอายุเท่าไร
ตีเสียว่าบางคนอ่อนกว่ามากๆ ประมาณ  10 ปี นอกนั้นก็ไล่ขึ้นมาเช่น 5-6 ปี จนถึงรุ่นเดียวกัน    ถึงจะจีบกันรู้เรื่อง  อ่อนกว่านี้ต้องเรียกว่าคราวหลาน เป็นหญ้าอ่อนไปแล้ว
กลับมาอีกครั้งอายุหกสิบ   สาวๆก็กลายเป็นคุณป้าอายุ 50-60 ปี
เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรกับผู้หญิงอายุ 50 -60

เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก                 ครั้นจะทักเล่าก็กลัวผัวจะหึง
*************
เขาว่าน้องของเราเป็นเจ้าสาว             ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ
****************
แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง              เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน                 จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ

แม่ทองมี   แม่อะไรอีกคนที่เป็นเจ้าสาว กับแม่ขำ  ถ้าแก่จนห้าสิบกว่า เห็นจะไม่มีทางให้ผัวหึง   หรือเพิ่งเข้าหอเป็นเจ้าสาว  หรือยังท้องหัวปีท้ายปี

เมื่อกิ๊กสาวๆพวกนี้ยังสาวอยู่    ท่านขุนนางกวีก็ย่อมไม่แก่นักค่ะ

ป.ล. คุณ Pipat เคยตั้งข้อสังเกตข้อนี้ ดิฉันเอามาเรียบเรียงอีกครั้ง




กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 07, 08:04
ประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ตอนนี้ก็คือ เมื่อเทียบกับประวัติตอนอื่นของสุนทรภู่  ช่วงพ.ศ. 2375 หรือใกล้เคียง 
สุนทรภู่ยังบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม    ไม่มีทางจะกลายมาเป็นฆราวาสอาสาเจ้านายไปทำธุระที่เมืองเพชรบุรี

คุณ Pipat จึงสรุปว่า ถ้าเรื่องนี้แต่งประมาณปีนี้จริง   คนแต่งก็ไม่ใช่สุนทรภู่  แม้ว่ามีลูกชายชื่อหนูพัดเหมือนกัน

แต่ดิฉันมองเห็นความเป็นไปได้อีกอย่างว่า

ถ้าคนแต่งคือสุนทรภู่  มีลูกชายชื่อหนูพัดเจ้าเก่าที่เราเห็นกันในนิราศเรื่องอื่น  ก็หมายความว่า ปี 2375 หรือใกล้เคียงกันนั้น
สุนทรภู่ไม่ได้บวช
สุนทรภู่ต้องบวชในช่วงเวลาอื่น    "ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา"  ไม่ได้หมายถึง 2367   แต่เป็นปีวอก 2379 ก็จะมีช่องให้นิราศเมืองเพชรแปะเข้าได้
เพราะมีกลอนวรรคหนึ่งในรำพันพิลาป ที่ชวนสะกิดใจว่า สุนทรภู่อาจจะสึก แล้วมาบวชเมื่อแก่ อีกครั้ง   

อ้อ
เผื่อข้อ ๓ ไว้ด้วยค่ะ   ถ้าเห็นด้วยกับ อ.ล้อม เพ็งแก้ว ว่านิราศเมืองเพชรแต่งเมื่อสุนทรภู่ยังบวชอยู่  ก็แสดงว่าเป็นพระสงฆ์ที่ไม่สำรวมเอาเลย  แต่งเรื่องรักๆใคร่ๆ  แถมบางตอนคึกคะนองสองแง่สองง่ามเสียอีก 
ท่านยังกล้าขนาดเอามาเป็นจดหมายเหตุเปิดเผยกันครึกครื้น


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ก.ค. 07, 11:38
ขออนุญาตแก้ไขนิดหน่อยครับ
ปี 2375 วัดเทพธิดารามยังไม่สร้าง(เริ่ม 2379)
ปีนั้นผมเดาว่าสุนทรภู่เพิ่งเสร็จงานสอนเจ้าฟ้า ซึ่งสอนตั้งแต่ 2372 ระบุในเพลงยาวฯ
จนถึง 2374 นับปีแล้วเจ้าฟ้ากลาง 13 พอดี ต้องโสกันต์

เพลงยาวถวายโอวาทนั้น เป็นคำลาของครูพระ แต่มิใช่ลาสึก ลาไปที่ห่างไกล
ทีนี้เมื่อปักหลักกันที่ ปี 2374 ลงไป สุนทรภู่จะเป็นกวีผู้แต่งนิราศเมืองเพชรมิได้
เพราะกวีคนนั้น มาเยี่ยมศพขุนแพ่ง ตีว่า 2371 หากเป็นสุนทรภู่ก็ควรจะห่มผ้าเหลืองมา
แต่หลัง(หรือก่อน)เยือนศพ กวีได้มีความสัมพันธ์กับสาวหลายนาง
คนอยู่ในผ้าเหลืองทำมิได้แน่ๆ

ยิ่งเมื่อสุนทรภู่สอนหนังสือแล้ว 2372-2374 จะไปออกหัวเมืองคงกระทำมิได้ ต้องสอนไปทุกวันกว่าจะเสร็จ
เพราะศิษย์เป็นเจ้านาย ไม่ใช่ลูกตาสีตาสา ครูจะได้หนีเที่ยวเป็นระยะ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 07, 12:25
ลองเรียงลำดับใหม่

รัชกาลที่ ๒ สิ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๖๗ สุนทรภู่ออกบวช
ก่อนหน้านี้ สมัยหนุ่ม มีสาวๆอยู่เพชรบุรี
หลังย้ายมาอยู่กรุงเทพก็เลิกกับสาวๆไป
บวชอยู่จนถึงเจ้าฟ้ากลางโสกันต์ ๒๓๗๔
ระหว่างนั้น  มาเคารพศพขุนแพ่งทั้งที่อยู่ในผ้าเหลือง ประมาณ ๒๓๖๙-๗๑
สึก
มาเพชรบุรีอีกครั้ง  ๒๓๗๕
จากนั้น เมื่อวัดเทพธิดารามสร้างเสร็จ
สุนทรภู่กลับไปบวชอีกครั้ง ตอนแก่ ในปีวอก ๒๓๗๙
แล้วแต่งรำพันพิลาป  ในพ.ศ. ๒๓๘๕ (ปีขาล?)หลังจากอยู่ที่วัดนี้มา ๓ ปี

มีกลอนบางบทในรำพันพิลาป  ที่สุนทรภู่สะท้อนความรู้สึกว่าตัวเอง "แก่" แล้ว
ไม่เหมือนใน นิราศเมืองเพชร   ลูกโตจนเป็นหนุ่ม พ่อไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่สักคำเดียว

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย     อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน  
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน       เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง


เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์      สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์
เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร                     วานฟังกลอนกลอยแก่เถิดแม่เอยฯ
เรื่องนี้ถ้าไม่ใช่เรื่องท้ายๆ ก็เป็นเรื่องท้ายสุด


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ก.ค. 07, 13:34
รำพันพิลาปมีปีกำกับ คือปีขาลซึ่งน่าจะตรงกับ 2385 ปีนั้นแกเพิ่งกลับจากปล้ำงูตัวเท่าเสาเรือนมาได้แค่สามปี
แก่น่ะ อยู่ในสำนวนครับ ตัวจริงยังพอไหว
ที่แก่จริงๆ ผมเจอในนิราศพระปธม ในนั้น...ทุกคนที่รู้จัก ตายหมดแล้ว และบ่นว่า พี่ก็แก่เราก็หง่อม
ขนาดนั้นแกยังเกี้ยวสาวแข่งกะนางคนทรงเลย

ผมคิดว่า อาจารย์ได้ละทิ้งปมใหญ่ไปสางปมเล็กเสียแล้วละครับ
คือในนิราศเมืองเพชร กวีมีเจ้านายเป็น"เสด็จ" อยู่ในเรือนพ.ศ. 2375 หรือก่อนนั้นนิดหน่อย

แต่สุนทรภู่ เป็นข้าเจ้าฟ้ากุณฑล ตั้งแต่ (อย่างน้อย) 2372 จนถึง 2382 ที่สิ้นพระชนม์
ต้องหลังปีนี้ ที่ท่านจะหานายใหม่ได้ (เพราะฟ้ากลางเพิ่ง 23 เห็นจะพึ่งมิได้)
และนายใหม่ที่เรารู้ก็คือเจ้าฟ้าน้อย

สมมติว่าสุนทรภู่ไปพึ่ง "เสด็จ" พระองค์หนึ่ง ก็เพียง 2383-2385 กระมัง
แต่ต้องสนใจคำของกวีที่อ้างคุณเจ้านายระดับ ชนกที่ปกเกศ
สุนทรภู่สอนเจ้าฟ้ากลางอย่างครู รับรองว่าไม่ยกท่านเป็นชนกแน่ๆ
เสด็จของกวีเมืองเพชร ต้องแก่กว่ากวี


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 07, 13:55
มีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่สุนทรภู่ ไม่ใช่ข้าของเจ้าฟ้ากุณฑล
เพียงแต่เป็นครู ที่เจ้าฟ้ากุณฑลส่งพระราชโอรสมาเรียนด้วย
ถ้าไม่ใช่ข้า    เจ้าฟ้าเรียนจนจบแล้วก็แล้วกันไป   ช่วงที่ท่านสึกออกมา  ก็มีสิทธิ์ไปฝากตัวกับ"เสด็จ" หรือพระองค์เจ้าชายองค์ใดองค์หนึ่ง   
ถ้าคุณพพ.เชื่อว่า คำ" เพียงชนกที่ปกเกศ" แปลว่าเสด็จต้องแก่กว่าสุนทรภู่  ก็น่าจะเป็นพระองค์เจ้าพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑  พระอนุชาในรัชกาลที่ ๒ 
ที่โปรดการกวี  ยินดีรับอาลักษณ์เก่ามาอุปถัมภ์
แต่ถ้าไม่เชื่อว่าเสด็จต้องแก่กว่า  เป็นแต่เพียงเสด็จที่เจริญพระชนม์แล้ว  ในรัชกาลที่ ๓  ก็มีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่ดูจะเด่นที่สุด
ช่วง ๒๓๗๕ พระองค์เจ้าลักขนานุคุณยังมีพระชนม์อยู่  แต่น่าจะประชวรแล้ว แต่อาการยังไม่มากถ้ามีฝิ่นบำบัดอยู่   เราก็ไม่รู้ว่าท่านทรงหักดิบเมื่อไร  สันนิษฐานว่าทรงหักดิบก่อนสิ้นพระชนม์ไม่นาน

ที่ยังเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชร เพราะยังเชื่อไม่ลง เรื่อง"หนูพัด"เป็นลูกของกวีอื่น     ถ้าชื่อพัดซ้ำกัน ไม่แปลก  แต่คุณพ่อกวีสองคน เรียกลูกชายว่า"หนูพัด" เหมือนกันนี่ไม่เชื่อว่าบังเอิญ ค่ะ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ก.ค. 07, 14:08
ยกกลอนมาให้พิจารณาครับ
------------------
ด้วยรักใคร่ได้มาเป็นข้าบาท จะบำราศแรมร้างไม่ห่างเหิน
เป็นห่วงหลังหวังใจให้เจริญ ใช่จะเชิญชวนชั่วให้มัวมอม
พระมีคุณอุ่นอกเมื่อตกยาก ถึงตัวจากแต่จิตสนิทสนอม
จะจำไปไพรพนมด้วยตรมตรอม
................
จะร่ำลักษณ์อักษรเป็นกลอนกาพย์ ทูลให้ทราบสิ้นเสร็จก็เข็ดขาม
กตัญญูสู้อุตส่าห์พยายาม ไม่ลืมความรักใคร่อาลัยลาน
ถึงลับหลังยังช่วยอวยสวัสดิ์ ให้สมบูรณ์พูนสวัสดิ์พัสถาน
คอยถามข่าวชาววังฟังอาการ ได้ทราบสารว่าเป็นสุขทุกพระองค์
พลอยยินดีปรีดาประสายาก เหมือนกาฝากฝ่าพระบาทดังราชหงส์
................
แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน
สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม
หากสมเด็จเมตตาว่าข้าเก่า ประทานเจ้าครอกฟ้าบูชาเฉลิม
ไม่ลืมคุณทูลกระหม่อมเหมือนจอมเจิม จะขอเพิ่มพูนพระยศให้งดงาม
เผื่อข้าไทไม่มีถึงที่ขัด กับหนูพัดหนูตาบจะหาบหาม
สองพระองค์จงอุตส่าห์พยายาม ประพฤติตามแต่พระบาทมาตุรงค์


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ก.ค. 07, 14:11
กลอนที่ยกมา แต่งราว 2374 ไกล้เคียงกับปีที่แต่งนิราศเมืองเพชร
คนโง่วรรณคดีอย่างผม ขอแสดงความไม่รู้ว่า
กวีเมืองเพชรคงได้แค่เหลาดินสอให้ท่านสุนทรเท่านั้นละครับ

ความรู้และความลึกผิดกันคนละระดับ
แถมสำนวนก็อ่อนกว่าสาหัสทีเดียว


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 07, 14:16
ไม่อ่อนนะคะ   แต่งยากเชียวละ

ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า          ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม
เป็นคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม     ดูกระปุ่มกระปิ่มตุ่มติ่มเต็ม
ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม           มีขวากล้อมแหลมรายดังปลายเข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม     บ้างเก็บเล็มลากก้ามครุ่มคร่ามครัน
************
จนเรือออกนอกอ่าวดูเปล่าโว่ง     ทะเลโล่งแลมัวทั่ววิถี
ไม่เห็นหนสนธยาเป็นราตรี           แต่ลมดีดาวสว่างกระจ่างตา
สำรวลรื่นคลื่นราบดังปราบเรี่ยม    ทั้งน้ำเปี่ยมป่าแสมข้างแควขวา
ดาวกระจายพรายพร่างกลางนภา   แสงคงคาเค็มพราวราวกับพลอย
************
หิ่งห้อยจับวับวามอร่ามเหลือง       ดูรุ่งเรืองรายจำรัสประภัสสร
เหมือนแหวนก้อยพลอยพรายเมื่อกรายกร ยังอาวรณ์แหวนประดับด้วยลับตาฯ






กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ก.ค. 07, 15:42
เทียบกะนิราศพระบาทแล้วดีเลวกว่ากันแค่ไหนครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 21 ก.ค. 07, 22:56
เรื่องสำนวนดีเลวแค่ไหนมันวัดยากครับ แต่ละคนมีความประทับใจไม่เหมือนกัน

ที่สำคัญ รำพันพิลาป, กลอนยาวถวายโอวาท แต่งขึ้นเพื่อคนอ่านที่เป็นเจ้านาย เรื่องราวก็เป็นเรื่องความผูกพันระหว่างบุคคล
ในขณะที่นิราศ แต่งเพื่อเล่าเหตุการณ์ระหว่างเดินทาง ถ้ามีคนอ่านก็ต้องเป็นชาวบ้านทั่วไปเป็นหลักครับ

ความลึกซึ้งทางอารมณ์ต้องแตกต่างกันอย่างแน่นอน

ถ้าพิจารณาในเชิงกลอนอย่างเดียว ผมว่าดีทั้งนั้นครับ ดีเลิศดีมากดีน้อยหน่อยปนเปไป รูปแบบกลอน เสียงกลอน บอกได้ว่าถ้าไม่ได้แต่งโดยคนเดียวกันก็ต้องครูเดียวกัน เพราะรูปแบบนี้ไม่เคยปรากฏชัดเจนขนาดนี้ก่อนยุคของสุนทรภู่ครับ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 07, 08:46
ยังสรุปอะไรไม่ได้มากไปกว่า
กวีคนที่แต่งนิราศเมืองเพชร ประมาณพ.ศ. 2375 หรือก่อนหลังเล็กน้อย  เป็นขุนนางในสังกัดของเจ้านายระดับพระองค์เจ้า องค์หนึ่ง
เป็นเจ้านายผู้ชาย  น่าจะพระชนม์มากแล้ว ไม่ใช่เจ้านายหนุ่มๆเพิ่งโสกันต์ได้ไม่นาน
และน่าจะรับราชการมานานหลายปี 
เพราะมีคำอธิบายว่า
"ได้ชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ"
ในเมื่อ นิราศเมืองเพชร  บอกไว้ว่าบันทึกการเดินทางเพื่อเอามาอ่านสู่กันฟังในภายหลัง ทำนองจดหมายเหตุ   
ในนั้น เล่าว่าคนแต่งมีลูกศิษย์ลูกหาหลายคน
ก็ตัดไปได้ ว่า เป็นกวีโนเนมคนหนึ่งที่สุนทรภู่อาจจะขัดเกลากลอนบางส่วนให้ จนสำนวนบางตอนคล้ายสำนวนสุนทรภู่

ท่านกวีผู้ได้ชื่อว่าเป็น "ครู" คงไม่ยอมให้กวีอีกคนมาขัดเกลาให้แน่ๆ   ต่อให้ท่านเป็นศิษย์สุนทรภู่ก็เถอะ  คงแต่งเองทั้งหมดมากกว่า
การเล่นสัมผัส ใช้คำยาก   เป็นการแสดงภูมิและความจัดเจน เห็นชัดๆว่าต้องการโชว์ฝีมือเวลาอ่านให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง
ไม่มีความอ่อนน้อมในการแสดงฝีมือ มีแต่ความมั่นใจ    ผิดกับนายมีและนายภู่อีกคนหนึ่ง
ถ้าไม่ใช่สุนทรภู่  ใครเป็นกวีมีฝีมือในรัชกาลที่ ๓  ที่เราไม่รู้จัก   แต่งกลอนตลาดลีลาเดียวกับสุนทรภู่เสียด้วย
จะว่าเป็นพระมหามนตรี(ทรัพย์) ลีลากลอนก็ไม่ลงจังหวะเป๊ะๆแบบนี้


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: นิรนารี ที่ 24 ก.ค. 07, 21:53
เคยไปมาล่าเรื่องคนเมืองเพรช
น้ำตาลเด็ดเพรชบุรี....เขามีชื่อ
วัดถ้ำเก่าเล่านาน...เขานานลือ
เมืองเพชรคือถิ่นสุนทรฯนักลอนไทยฯ

ว่าด้วยเนื่องเรื่องราวสาวคู่หมอน
แขนสุนทรนอนบ่อยเป็นรอยไซร้
ถ้ำที่เคยเอ่ยพรอดได้กอดใคร
ฝากรอยไว้ให้ลือคนฮือฮาฯ


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 27 ก.ค. 07, 01:25
อิอิ.....เมื่ออ่านทั้งหมดแล้วทบทวนเรื่องนิราศเมืองเพชรตอนนี้ผมคติที่จะต้องคิดตาม 2 อย่าง  3 ลักษณะ

2 อย่างคือ
1. นิราศเมืองเพชรแต่โดยท่านมหากวี สุนทรภู่ (อ.เทาชมภู ,พระวินิจฉัยกรมพระยาดำรงฯ,อ.ล้อม)
2. นิราศเมืองเพชรแต่งโดยใครไม่ทราบ  แต่ไม่ใช่ท่านมหากวีแน่นอน (คุณพิพัฒน์)

ถ้าเป็นท่านมหากวีแต่งก็เป็นไปถึง 3 ลักษณะ
1. เป็นนิราศเรื่องสุดท้ายเรื่องที่ 9 ของท่านมหากวี  แต่งตอนปลายรัชกาลที่ 3 ตอนไปพึ่งใบบุญ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯ  ประมาณปีพ.ศ. 2392  ทรงโปรดใช้ให้ท่านมหากวีไปทำธุระส่วนพระองค์ที่เมืองพริบพรี (จากพระวินิจฉัย)
2. เป็นนิราศของท่านมหากวี  แต่น่าจะแต่งประมาณ พ.ศ. 2475  หลังจากท่านลาสิกขาบท  รับอาสาเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแต่ไม่ใช่ระดับเจ้าฟ้า (จากความเห็นท่านอาจารย์เทาชมภู)
3. เป็นนิราศของท่านมหากวี  ปีพ.ศ.น่าจะใกล้เคียงกับอาจารย์เทาชมภูวิเคราะห์  แต่ท่านมหากวีน่าจะคุ้นเคยมากๆกับเมืองเพชรเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคนเมืองเพชรคนหนึ่ง  หรือมีญาติพี่น้องอยู่เมืองเพชร  และที่สำคัญท่านแต่งตอนที่ดำรงสมณเพศ (อ.ล้อม)

ในฐานะผู้สนใจศึกษาด้วยแต่ไม่สันทัด  ดูข้อวิเคราะห์และเหตุผลน่าเชื่อพอพอกันครับ  ในพระวินิจฉัย  ท่านเป็นบิดาของวิชาประวัติศาสตร์  ท่านมีพระชนม์ชีพอยู่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์มากกว่าเราๆเยอะ  ไม่ว่าจะจากคำบอกเล่า  หรือหลักฐานต่างๆที่พระองค์ทรงทราบแต่เราไม่ทราบ  จากข้อคิดเห็นของนักปราชญ์ที่แวดล้อมพระองค์  ผมต้องขออนุญาตคล้อยตามท่านมากที่สุดครับ  ในตอนนี้

ในข้อคิดเห็นของท่านอาจารย์ล้อม  ท่านน่าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องเมืองเพชรมากๆท่านหนึ่ง  ท่านจึงสามารถเปรียบเทียบหรือหลับตาก็มองภาพการเดินทางได้ชัด  และสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์  นำมาเทียบกับบทประพันธ์ท่านคงจะลึกซึ้งไม่น้อย

ในข้อคิดเห็นของท่านอาจารย์เทาชมภู  ละเอียดรอบคอบไม่ให้ผ่านแม้เรื่องเล็กน้อย  แม้แต่ความรู้สึกทำให้ผมคล้อยไปกับความนึกคิด  แบบหลับตานึกไปตามคำวิเคราะห์ของท่านอาจารย์เทาชมภูแล้วมีความสุขครับ  เหมือนเราได้ร่วมขบวนไปกับกวี

ของคุณพิพัฒน์  ชัดเจนครับ  ถ้าเรื่องการบวชของท่านมหากวีและการถวายงานเจ้านายของท่าน  เป็นจริงตาม พ.ศ.  คือระยะเวลาที่ท่านบวชและระยะเวลาที่ท่านสอนหนังสือเจ้านายเป็นจริงทุกประการ  ต้องไม่ใช่ท่านสุนทรภู่แต่งแน่ๆ

ขอบพระคุณมากครับผมได้คิดตามเยอะเลยยังไม่หยุดนะครับว่างๆ  ผมจะมาศึกษาต่อ............... ;D


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 08:47
คุณ Bana สะกดชื่อดิฉันเหมือนคนโบราณสะกด   เทาชมภู  ;)

พระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นที่ยึดถือกันมานานมาก ร่วมร้อยปี    แม้แต่นักวิชาการดังๆอย่างอ.นิธิ หรืออ.สมบัติ วิเคราะห์เรื่องสุนทรภู่ ก็ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยเรื่องประวัติแต่อย่างใด 
แต่ว่าคุณพิพัฒน์อ่านพระนิพนธ์ของ"สมเด็จครู" สมเด็จกรมพระยานริศราฯ  จึงพบว่ามีหลายตอนที่สมเด็จครูฯท่านทรงแย้งสมเด็จกรมฯ ดำรงฯ
และก็ยังมีการสอบเทียบหลักฐานอีกหลายอย่าง ที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลง
ส่วนนี้นักวิชาการทางประวัติศาสตร์หลายคน อาจจะไม่ได้มอง
จึงเกิดแรงบันดาลใจจะหยิบประวัติสุนทรภู่ขึ้นมาชำระอีกที
ถึงขั้นเชื่อว่านิราศเมืองเพชร ไม่ได้แต่งโดยสุนทรภู่

นอกจากนี้ยังมีนิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท และนิราศสุพรรณ ที่คุณพพ.เชื่อว่าไม่ได้แต่งโดยสุนทรภู่
ใน ๓ เรื่องที่ว่านี้นิราศสุพรรณอ่านยากที่สุด    ข้อความค่อนข้างกำกวมอยู่หลายตอน
อาจจะเป็นด้วยฉันทลักษณ์บังคับให้ใช้คำน้อยที่สุด  ขยายความไม่ได้มากอย่างกลอน    และผู้แต่งยังใช้กลบทแทรกอยู่หลายบท   เอกโทษโทโทษก็แยะ
เนื้อความก็เลยจมหายอยู่ข้างใต้รูปแบบ  ขุดขึ้นมาอ่านได้ยาก

ถ้าหากว่ามีสมาชิกเรือนไทยช่วยแจมด้วย  ดิฉันจะลองขุดกรุนิราศสุพรรณขึ้นมาตามรอยอีกครั้ง


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ก.ค. 07, 10:24
ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพู ที่แนะนำครับ

คำท้วงของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จะหาอ่านได้จากสาส์นสมเด็จ ปี 2465
ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กำลังทรงชำระประวัติสุนทรภู่อยู่
ทรงท้วงเรื่อง"ชายหนึ่งผูกศอ อรไท..." ตอนหนุมาณแก้เชือกผูกคอนางสีดา
เนื้อหาที่ผิดพลาดเป็นอย่างไร เราไม่ทราบ เพราะไม่พบต้นฉบับของสมเด็จฯดำรง
พบแต่ลายพระหัตถ์สมเด็จครูว่า ผู้ที่เล่าเรื่องถวายมานั้น เหลว เพราะไม่รู้เรื่องละคอน

แล้วก็ทรงอธิบายอย่างที่เราใช้กันมาในปัจจุบัน เท่ากับว่า การตีความอัจฉริยภาพของสุนทรภู่
ที่มีปฏิภาณเขียนเพียง "บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ ดังใจหมาย" ก็สำเร็จเป็นบทละคอนที่กระชับทันกับเหตุการณ์
อันที่จริง เป็นพระอธิบายของสมเด็จครู
นี่เป็นเหตุผลประกอบที่ทำให้ผมไม่มั่นใจในพระวินิจฉัยประวัติสุนทรภู่จากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ กรมศิลปากรเคยนำงานค้นคว้าของพระยาปริยัติธรรมธาดามาเผยแพร่
เป็นข้อความสั้นๆ เกร็ดประวัติสุนทรภู่มากกว่า 30 เกร็ด บ้างก็ตรงกับที่สมเด็จทรงไว้ บ้างก็ต่างไป
งานนี้ ท่านเจ้าคุณฯ ทำไว้ก่อนพระนิพนธ์ร่วมสิบปี อุตสาหะไปเก็บเรื่องต่างๆ บันทึกไว้ จะผิดหรือถูกท่านมิได้วินิจฉัย
ผมเข้าใจว่า สมเด็จฯคงจะได้ทรงใช้ เพราะท่านเจ้าคุณเป็นพนักงานหอพระสมุดใต้บังคับบัญชาพระองค์

เกร็ดเหล่านี้มีขัดแย้งกันหลายจุด แต่เราได้รับรู้ต่อมาเพียงข้อที่อนุญาตให้รอดออกมาสู่สังคม
เพราะมีผู้ตัดสินใจเลือกเชื่อเกร็ดข้อนั้นๆ
ผมได้อ่านเกร็ดที่ไม่ถูกเลือก กลับเห็นคล้อยตามมากกว่า จึงยิ่งสงสัยในพระวินิจฉัยเพิ่มเข้าไปอีก

ข้อสงสัยมาสรุปเป็นข้อพิสูจน์ได้สำเร็จ ก็จากการอ่านกลอนไม่เป็น
อ่านแล้วไม่รู้ว่ากลอนใหนดีกว่ากันอย่างไร ทุกกลอนสำหรับผมจึงสามารถเป็นได้ทั้ง/หรือไม่ได้เป็น ฝีปากสุนทรภู่
อย่างนิราศเมืองแกลง อ่านแล้วไม่เชื่อพระวินิจฉัยเลยแม้แต่น้อย
โดยเฉพาะเรื่องกวีจะไปบวช เพราะเป็นพระวินิจฉัยที่อยู่นอกคำกลอน

ความมั่นใจเรื่องพระวินิจฉัยที่ผิดพลาด มาแน่ชัดเมื่ออ่านนิราศมาถึงตอนที่กวีกับผู้ช่วยเดินว่าเสภามาตามทาง เรื่องขุนช้างขึ้นหอ
ปรึกษาอาจารย์เทาชมพูแล้ว ท่านว่าเป็นพระนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ก็แปลว่านิราศเมืองแกลงมิได้แต่งในรัชกาลที่ 1.....
และยังมีพิรุธอย่างนี้อีกหลายสิบประเด็นในนิราศที่เชื่อว่าสุนทรภู่แต่ง

นี่คือการเริ่มต้นชำแหละประวัติสุนทรภู่ ซึ่งได้ตั้งชื่อว่า "สุนทรภู่โดยสุนทรภู่"
เป็นต้นฉบับที่หมายจะตีพิมพ์ แต่ยังขาดทุนทรัพย์

ก็เลยรีรออยู่


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 ส.ค. 07, 09:34
เป็นแฟนสุนทรภู่มาตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือเป็น เพราะชอบพระอภัยมณีและนิราศภูเขาทองมากค่ะ ..มีความจำเก่าๆเกี่ยวกับที่อ่านมาตอนเด็กๆว่าสุนทรภู่ชอบดื่ม เจ้าชู้ ...เป็นอาลักษณ์ที่ตอนหลังตกอับ ท่าดิฉันจะต้องไปอ่านใหม่อีกครั้งเสียแล้ว แต่ตอนนี้ตามท่านทั้งสามไปก็สนุกแล้วค่ะ
แว้บมาสวัสดีให้ตกใจเล่น


กระทู้: นิราศเมืองเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 07, 09:41
ตกใจจริงด้วย  ;)