เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 13:16



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 13:16
ไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดคุณลุง  อาจิณ  จันทรัมพร    เหมือนเพื่อนๆนักเขียนเพราะเป็นแต่นักอ่านหนังสือเก่าไร้ชื่อเสียงเรียงนาม
แต่ความเคารพรักคุณลุงผู้สะสมและคืนชีวิตให้กับหนังสือเก่าก็คงไม่น้อยกว่าใคร ๆ


ขอคัดลอกตัดทอนประวัติของคุณลุง และ  วิ่งตามการสะสมหนังสือของคุณลุงด้วยดวงใจที่ระทึก
ระทึกจริง  ไม่ได้พูดเล่น   เพราะขณะที่อ่านก็โทรศัพท์ไปหาเพื่อนๆในชมรมนักอ่านหลายคน   อ่านความสำคัญของข้อมูลให้ฟัง


สหายเจ้าของโรงพิมพ์แจ้งมาว่าเก็บหนังสือ ๙๐ ปีของคุณลุงไว้ให้เล่มหนึ่งแล้ว  อ่านหรือยัง
ไม่ใช่สหายถามแบบนี้   ต้องดักตีด้วยก้านมะละกอไปแล้ว
ยังไม่ได้ให้หนังสือ   มาถามว่าอ่านหรือยัง


ตอบอย่างทรนงไปว่า     อ่านแล้ว
สหายงงงันไปชั่วขณะ    ใครเอามาให้ล่ะ
วันดี                       หลานท่าน          จาน.........(ที่เราบูชาเรื่องสั้นของท่าน นายจิตรนายใจ)
สหาย                      ตกลงเล่มนี้ไม่เอาใช่ไหม
วันดี                       เรื่องหนังสือ เราไม่หยิ่ง   คนอยากได้ใจแทบขาดรอนมีถมไป

สหาย(บ่น)               ที่จริงลูกสาวคุณลุงบอกให้หยิบไปหลาย ๆเล่ม   ก็เกรงใจสายตาคนอื่น
วันดี(ถอนหายใจ)        อย่าหยิ่งกับหนังสือ  บอกกี่หนแล้ว     ทีหลังเอามือปิดหน้าเวลาหยิบหลายเล่มนะ
สหาย                      แล้วจะเก็บไว้ให้นะ....




ย่อประวัติที่คุณลุงเขียนเองและที่วงการเขียนถึง


คุณลุง อาจิณ  จันทรัมพร  เกิด เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๒  ที่ ตำบลหน้าเมือง  อำเภอเกาะสมุย  สุราษฎร์ธานี
พี่น้อง ๙ คน  คุณลุงเป็นคนที่ ๕

บิดามารดาเป็นชาวสวนมะพร้าว

คุณลุงและน้องชายคนหนึ่งได้เรียนถึงมัธยม ๖    ที่แถวบ้านคุณลุงไม่ค่อยจะมีโอกาส   อย่างมากก็จบ ป. ๔



ในปีพ.ศ. ๒๔๗๐  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี พระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จประพาสเกาะสมุย
ทางอำเถอจัดรับเสด็จที่ปลายทางคือบริเวณน้ำตาหน้าเมือง   กำหนดให้นั่งเป็นกลุ่มสองข้างทางเสด็จ
เมื่อกระบวนผ่านตรงจุดนั่งขอไม่ให้ก้มหน้าไม่ให้มองตรง ๆ  ซึ่งเป็นประเพณีโบราณ

คุณลุงเป็นเด็กไม่ยอมก้มหน้าและมองอย่างเต็มตา
จำได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงม้าชื่องแสงทองหรือร่องมดตัวใดตัวหนึ่ง


ช่างเล่าจริง ๆ  คุณลุงฉัน    จำชื่อม้าได้ด้วย    ชื่อแสงทองพอจะเข้าใจได้ค่ะ  แต่ร่องมดมีประวัติไปมาอย่างไรคะ
การตามอ่านเรื่องโบราณต้องสงสัยแล้วถามไว้เรื่อยๆ



เรื่องนี้สงสัยยาวเพราะคุณลุงเล่าเรื่องการเก็บหนังสือด้วย


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 14:17
ลัดนิ้วมือเดียว  คุณลุงอาจิณเรียนจบประถม ๖  ออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานไปตามพื้นเพของชาวบ้าน  คือทำสวนมะพร้าว
ถางสวน  สอย และเก็บมะพร้าว  ปอกมะพร้าว

การขนมะพร้าวไปขายแก่พ่อค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน  จะต้องขนใส่ยานพาหนะซึ่งเรียกว่าล้อใช้ควายเทียม
ล้อมีขนาดเล็กว่าเกวียน   ส่วนล้อนั้นทำด้วยไม้แผ่น  เอามาตัดให้กลมเป็นล้อ หรือเป็นวงล้อ(หน้า ๑๐)

ลูกพี่ลูกน้องชวนไปเรียนหนังสือต่อที่โรงเรียนประจำอำเภอปากพนัง  เรียนเก่งสอบได้ที่หนึ่งทุกครั้ง
จบชั้นมัธยม ๖ เมื่อปี ๒๔๘๑

คุณลุงไปเป็นครูที่โรงเรียนราษฎร์หน้าตลาดอยู่ปีสองปี  แล้วไปเป็นสารวัตรศึกษาที่อำเภอ  เงินเดือน ๑๖ บาท
ช่วงนี้ได้บวชตามประเพณี  แล้วก็เบียด


โปรดสังเกตว่า จะเอ่ยถึงรายได้ทุกครั้งที่มีข้อมูล เพราะต้องการแสดงรายจ่ายในการสะสมหนังสือต่อมา




กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 15:18
จังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศสอบแข่งขันเสมียนแผนกสรรพาสามิต ๓ ตำแหน่ง
คุณลุงสอบได้ และบรรจุเมื่อ ๒๔๘๔  อายุ ๒๑ ปี   เงินเดือนตั้งต้น ๒๐ บาท

ข้าราชการจัตวาสมัยนั้น  ขึ้นเงินเดือนปีละ ๑ ขั้น  ขั้นละ ๒ บาท

ญี่ปุ่นบุก

โดนย้ายไปเป็นเสมียนที่อำเถอเกาะสมุย     

คุณลุงใช้เวลา ๑๐ - ๑๕ ปีก็พ้นชั้นตรี
สอบชั้นโทได้ที่ระนอง  ผู้สอบทั้งประเทศ ๖๐๐ - ๗๐๐ คน  ตำแหน่งที่จะบรรจุชั้นแรกมีเพียง ๒๘ ตำแหน่ง

ต่อมาย้ายไปกองสุราและยาสูบ(หน้า ๒๙)     คุณลุงไปฉะเชิงเทราแล้วไปสุรินทร์   ลงมานครศรีธรรมราช  ไปสตูล  นราธิวาส  แล้วสุราษฎร์ธานีบ้านเกิด
เกษียณในปี ๒๕๒๓




การหมกมุ่นอ่านหนังสือและการเก็บหนังสืออย่างจริงจัง  หัวใจของเรื่อง


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 15:35
ที่กัดฟันเล่ามาตั้งนานนี้ก็เพื่อจะเล่าว่าคุณลุง อ่าน อะไร  และ เก็บ  เล่มไหน


   คุณลุงเล่าว่าพอหายตื่นเมืองแล้วก็ไปอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ   เคยอ่าน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์มาแล้ว
ที่คุณหลวงสารานุประพันธ์ เป็นบรรณาธิการ

คุณลุงเล่าอย่างเปิดเผยว่า อยากอ่านเรื่อง ยอห์น เดวา จนเนื้อเต้น  จนได้ติดตามไปรู้จักทายาท
ทราบว่า  คุณจำรัส  สายะโสภณได้เขียนนิราศที่ค้นพบแล้ว ๓ เรื่อง  คือ

นิราศนครสวรรค์

นิราศคลองไผ่

และ นิราศลพบุรี



คุณลุงเล่าถ้าไม่ไปหอสมุดก็อยู่บ้านอ่านหนังสือ     จะว่าไปก็ค่อนข้างหนัก
คืออ่านงานของกรมพระยาดำรง
เสถียรโกเศศ - นาคะประทีป
ร.​๖
แสงทอง
กุหลาบ  สายประดิษฐ

คุณลุงบอกว่าหลงนิยายของ อิงอร  และ พอใจตึกกรอสส์ของ อ. อุดากรมากที่สุดเรื่องหนึ่ง(หน้า ๕๕)


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 22:11
หน้า ๕๖



        "หนังสือทั่ว ๆ ไปที่ผมอ่านมีมากจนจำแทบไม่ได้     แต่การอ่านออกจะเน้นไปที่เรื่องเป็นสาระและให้ความเพลิดเพลินทั้งให้ความรู้
การอ่านหนังสือของผมในช่วงต้น ๆ  รู้สึกจะเป็นหนังสือประเภทกวีนิพนธ์  คือหนักไปในแนวนั้น   ด้วยว่าเมื่อผมเริ่มจะฝึก
เขียนหนังสือผมก็เริ่มต้นมาที่บทกวีก่อน   คือหัดแต่งโคลงสี่สุภาพ  บทกลอน  หนัก ๆเข้าหัดแต่งฉันท์  โดยเกาะฉันทลักษณ์อย่างเหนียวแน่น  
จึงในระยะนั้นผมจะอ่านโคลงนิราศนรินทร์   พระอภัยมณีของท่านสุนทรภู่  นิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย   สามัคคีเภทคำฉันท์ของ
ท่านชิต  บุรทัต   และหนังสืออื่นอีกจนถึงลิลิตพระลอ  ระเด่นลันได  และเอ๋งติ๋งห้าวก็เคยอ่านอย่างฝังจิตฝังใจ


         ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมพอใจและชอบอ่านเอามาก ๆนั่นคือหนังสือเรื่อง "กนกนคร" บทประพันธ์ของน.ม.ส.
หนังสือเล่มนี้ผมได้พบและอ่านครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๔๘๔     เพื่อนคนหนึ่งเขารับราชการอยู่แผนกสรรพากร  ได้มาเล่าให้ฟังว่า
เขาได้อ่านหนังสือเล่มนี้มีความดีอย่างนั้นอย่างนี้     ผมก็เกิดสนใจใคร่ได้อ่านบ้างก็ไม่มีทางเพราะหนังสือเล่มนั้นเป็นสมบัติของสโมสร
ข้าราชการจังหวัดสุราษฎรธานี   และผมเพิ่งเข้ารับราชการยังไม่ได้เป็นสมาชิกสโมสรแห่งนั้น         จำเป็นต้องขอแรงเพื่อนคนนั้น
ยืมในนามของเขา  เอามาให้ผมอ่าน       ผมขอสารภาพว่า  ผมได้อ่านด้วยความสุขใจและพอใจเอามาก ๆ
ประการหนึ่งเพราะเป็นหนังสือกวีนิพนธ์  จึงชอบอ่านเป็นพิเศษ  และเริ่มจดจำนามผู้แต่งคือน.ม.ส.ไว้แนบแน่นในหัวใจมาแต่บัดนั้น  




กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 22:35
  
         ตอนหลังเมื่อเวลาล่วงมาหลายปี  เห็นจะเป็นสิบ ๆ ปี   ผมเวียนหาหนังสือเล่มนั้นมาเป็นสมบัติของตนเองบ้าง  
โชคดีที่ไปได้ที่นครศรีธรรมราช  ในโอกาสไปราชการที่นั่น  แต่เป็นคนละฉบับพิมพ์กับฉบับที่เคยอ่านที่สโมสรข้าราชการสุราษฎรธานี
เล่มที่ผมซื้อที่นครศรีธรรมราชที่กล่าวเป็นฉบัยพิมพ์ซึ่งระบุว่า  พิมพ์ครั้งที่ ๒  พ.ศ. ๒๕๐๓  พิมพ์โดยคลังวิทยา  กรุงเทพฯ
...........................................
...........................................
ตอนหลังเมื่อผมเกษียณราชการแล้วเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ   ได้มีโอกาสพบและคุ้นเคยกับคุณชาลี  เอี่ยมกระสินธุ์  นักเขียนสารคดีชื่อดัง  
ทั้งเป็นนักสะสมหนังสือด้วย    ท่านมีหนังสือเรื่อง "กนกนคร" ฉบับพิมพ์ครั้งแรกหรือครั้งที่ ๑   ซึ่งผมได้เห็นก็ตื่นเต้นและสนใจมาก
แต่แล้วด้วยไมตรีจิตรคุณชาลีก็มอบให้มา  ผมเก็บสมบัติอย่างถนอมไว้จนบัดนี้    


ฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี้ทำปกแข็งเดินทอง  โดยเฉพาะส่วนที่เดินทองที่ปิดไว้ที่สันปกเขียวเป็นแผ่นหนังเล็กสีแดงแปะไว้ที่สันหนังสือส่วนบน
ใบรองปกพิมพ์ว่า  พิมพ์ครั้งที่ ๑ จำนวน ๕๐ ฉบับ   โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร  กรุงเทพฯ  พ.ศ.​๒๔๖๕"



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ธ.ค. 09, 00:02
คุณลุงอาจิณเล่าต่อว่า

พระนลคำฉันท์ครั้งแรกพิมพ์เสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ.​๒๔๖๙   พิมพ์ ๖๓ ฉบับเท่านั้นเพื่อใช้เป็นต้นร่าง

คุณลุงบอกว่า  "ขึ้นชื่อว่าบทประพันธ์ของน.ม.ส. ไม่ว่าพระองค์ท่านจะทรงนิพนธ์เป็นร้อยกรองหรือร้อยแก้ว 
ล้วนน่าอ่าน  น่าศึกษาและน่าสนใจทั้งสิ้น   ขอไล่มาแต่

จดหมายจางวางหร่ำ
นิทานเวตาล     

อ่านกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ   นับเป็นหนังสือชวนอ่านอยู่เสมอ

ผมเป็นแฟนอย่างเหนียวแน่นขององค์นิพนธ์  เพราะไม่ว่าภาษาในด้านร้อยแก้วหรือร้อยกรอง   พระองค์ท่าน
จะทรงเลือเฟ้นแต่คำที่มีน้ำหนักล้ำลึกในความหมาย   และแต่งเติมด้วยภูมิปัญญาของท่านลงไปด้วย
บางทีแทรกอารมณ์ขันลงไป   ทำให้อ่านเพลินและได้ความรู้เหลือหลาย

บทความสั้น ๆ ที่องค์นิพนธ์ได้ทรงนิพนธ์ขึ้นอย่างเช่นเรื่อง  "ความนึกในฤดูหนาว"  ก็น่าอ่านและน่าสนใจเอามาก ๆ
แม้นว่าบทประพันธ์ของน.ม.ส.ได้ประพันธ์ฝากไว้ในโลกวรรณกรรมมาช้านานแล้ว   แต่เมื่อหยิบขึ้นมาอ่าน
ไม่ว่าเล่มใด ๆ ดูเหมือนจะยังสดและใหม่อยู่เสมอ  ประหนึ่งว่าองค์นิพนธ์จะได้ทรงนิพนธ์และพิมพ์ขึ้นเผยแพร่เมื่อวานหรือวันนี้นี่เอง



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ธ.ค. 09, 06:47
คุณลุงอาจิณเล่าต่อไปว่า คุณลุงอ่านหนังสือมาตลอดอายุ  จำนวนที่อ่านมหาศาล   จึงจะขอเล่าแต่หนังสือที่ชอบอ่าน(หน้า ๕๘)


ท่านชอบงานเขียนของ ท่านอาจารย์สุกิจ  นิมมานเหมินทร์  เริ่มจากงานเขียนเบ็ดเตล็ดก่อน


"อาจารย์สุกิจ  นิมมานเหมินทร์ เขียนหนังสือแบบประหลาด  คือประมาณว่า  ท่านจะเขียนถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้
แต่ท่านจะเขียนออกนอกลู่นอกทาง  เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเรื่องนั้นเรื่องนี้คล้ายแบบลูกระนาด   แต่ให้ความรู้ได้อย่างน่าพิศวง"

"เรื่องของคนแซ่อื่น"  ท่านเขียนควบคู่มากับ  "คนแซ่หลี"   ลงเป็นประจำใน สยามิศร์ตั้งแต่ กันยายน ๒๕๑๘    เขียนได้เพียง ๒๐ ฉบับ


คุณลุงสมบัติ  พลายน้อย เขียนใน "เดือนเพ็ญ" รายเดือนว่า
"เมื่อคนชื่อนั้นได้หันมาเขียนหนังสือ   เขากลับได้ชื่อว่าเป็นคนเขียนหนังสือแปลก  ตั้งชื่อเรื่องก็แปลก
อ่านแล้วได้รสขาติประหลสด  สนุก  แหย่ให้คิด  แทรกความรู้ไว้อย่างกว้สงขวาง  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์คนหนึ่ง
ในปัจจุบันหาคนที่เขียนหนังสือทำนองนี้ได้ยาก"


"คนแซ่หลี" เขียนลงหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยฉบับพิเศษ ตามคำเชิญของคุณสนิท  ธนรักษ์     ต่อมาได้ลงพิมพ์ใน "กรุงเทพฯ แมคกาซิน"
ต่อมา สำนักพิมพ์ประพันธสาส์น เวิ้งนาครเกษม ได้พิมพ์เป็น ๒ เล่มใหญ่เมื่อ ๒๕๑๙     ขายดีและพิมพ์ซ้ำ  เป็นหนังสือหายากไปแล้ว


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ธ.ค. 09, 06:54
งานเขียนอื่น ๆ ของท่านสุกิจ  นิมมานเหมินทร์  ที่คุณลุงอาจิณอ่านมี

รวมเรื่องเขียน  เป็นบทความสั้น ๆ  คุรุสภาพิมพ์    ในเล่มมีชื่อประหลาดอย่างเช่น
"อันน้องนี้แต่กำเนิดเกิดมา  เรื่องหุงข้างหุงปลาก็มิเคย"  อย่างนี้เป็นต้น

ผ่านพืภพลีลาและอื่น ๆ

สี่ปีในสหรัฐและอื่น ๆ

บุพการีบูชา

ว่าพลางทางชมคณานก

ฟุกฟิดฟอไฟพูดไทยดีกว่า



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ธ.ค. 09, 15:12
การอ่านของคุณลุงกว้างไกล     ท่านอ่าน แข ณ วังน้อย    ศรีบูรพา     สด กูมะโรหิต      ม.จ. อากาศดำเกิง ระพีพัฒน์


ท่านไม่ลืมงานของ กาญจนาคพันธ์
ดวงกมลนำ หลักไทย มาพิมพ์ซ้ำ
ท่านติดใจ "ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์"    ชุดคอคิดขอเขียน  และเรื่องปลีกย่อยเหลือคณานับ
งานเขียนของท่าน กาญจนาคพันธุ์ เป็นสารคดีที่ให้ความรู้อย่างกว้างขวาง


งานของคุณหลวงวิจิตรวาทการ  คุณลุงชอบ "วิธีทำงาน" อย่างที่สุด
เล่มนี้สำนักพิมพ์อุดมพิมพ์ครั้งแรกเป็นเล่มเล็กบางๆในราวปี ๒๔๘๕ -  ๒๔๘๖



พูดถึงหนังสือที่ชอบ     คุณลุงอาจิณบอกว่ามีอยู่มากมาย  ชักมันมือขอเพิ่มเติมว่า  งานพระราชนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หากใครใดไม่อ่านหรือไม่เคยอ่านจะเป็นที่น่าเสียหาย
งานนิพนธ์ของพระองค์เป็นเสมือนขุมวิทยาการ
หากจะยกตัวอย่างว่า  มีเรื่องใดที่น่าอ่านและน่าศึกษา   ก็คงจะเลือกยากเพราะวิเศษไปเสียทั้งนั้น



งานประพันธ์ของ เสฐียรโกเศศและนาคะประทีป  มีมากมายสุดที่จะพรรณนา(หน้า ๖๒)
เรื่อง "กามนิต"   ใครจับขึ้นอ่านจะวางไม่ลง เพราะดีเยี่ยมทั้งการใช้ถ้อยคำภาษาและการเดินเรื่อง  ชวนให้ตื่นเต้นและติดตาม

"เรื่องแปลอย่างโซไรดา  ก็อ่านสนุกไม่รู้เบื่อ

อีกเล่มคือ "ลัทธิของเพื่อน"  เรื่องนี้มีความเป็นมาว่า   เขียนให้เพื่อนต่างศาสนาให้ได้เข้าใจในลัทธิและแนวทางศาสนาของแต่ละกลุ่ม
เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นมิตรต่อกัน
ในชั้นแรกเขียนเป็นตอน ๆ พิมพ์ในงานศพใครต่อใครเป็นส่วนมาก  และพิมพ์เป็นเล่มเล็ก ๆ จบในตอนนั้น
ภายหลังเห็นสำนักพิมพ์ อุดม  รวมพิมพ์เป็นเล่มใหญ่เมื่อหลายปีก่อน
ฉบับพิมพ์นี้กลายเป็นหนังสือหายากไปแล้ว" 


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ธ.ค. 09, 15:21
"ย้อนมาพูดถึงหนังสือประเภทนวนิยายอีกที   งานประพันธ์ของ ก. สุรางคนางค์เรื่อง "หญิงคนชั่ว"ก็ไม่เลว
เรื่องนี้ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ  ทรงให้ความสนใจและทรงวิจารณ์ไว้อย่างน่าฟัง
เรื่องสั้นขนาดยาวเช่น "ปู่บุญ", "ปลายเนิน"  ก็น่าอ่านพอควร
เรื่องสั้นของนักประพันธ์ท่านนี้ที่ไม่ควรพลาดคือเรื่อง "ยาย"


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ธ.ค. 09, 21:24
คุณลุงอาจิณ  จันทรัมพร   ได้พูดถึงนักประพันธ์อีกประมาณ ๑๖ - ๑๗ รายและงานสำคัญของท่านเหล่านั้น



จะขอคัดลอกชีวิตนักสะสมหนังสือ  ที่เริ่มไว้ใน หน้า ๖๕     คือบรรยายเองบ้างและนำข้อเขียนที่ประทับใจมาลง
ในพ.ศ. ๒๔๗๙       คุณลุงมาเรียนชั้นมัธยม ๔ ที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี  อาศัยวัด
มีเงินค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลให้อยู่รอดไปจนสิ้นเดือน   แต่  คุณลุงก็เจียดเงินซื้อหนังสือบ้าง

           "ขณะนั้นที่ตลาดบ้านดอน  ผมจำได้ว่า  มีผู้นำหนังสือต่าง ๆ ทั่วไป ไปวางขายแบบแบกะดิน
จำได้ว่าได้เคยซื้อหนังสือ "ลัทธิของเพื่อน"  ซึ่งเขียนโดยเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป  ที่พิมพ์ในงานศพคนสำคัญ
พิมพ์เป็นเล่มบาง ๆได้หลายเล่ม   เล่มละไม่กี่สตางค์   แต่เด็กบ้านนอกเงินไม่กี่สตางค์ย่อมมีค่าและมีความหมาย
แต่ด้วยใจรักหนังสือจริง ๆจึงกล้าลงทุน
.........................................(พูดถึงสำนักพิมพ์อุดม)
ส่วนเล่มเล็กๆที่เก็บสะสมมาจนได้หลาย ๆตอน  ผมได้นำไปให้ช่างรวมเล่มทำปกแข็งขึ้นไว้หลังจากที่ได้สะสมต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง ๖๐ กว่าปี"




      คุณลุงเริ่มสะสมอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ๒๔๘๔ เป็นต้นมาเพราะรับราชการแล้ว  มีเงินเดือน ๆละ ๒๐ บาท

ซื้อ

วิธีทำงานของหลวงวิจิตร

ครอบจักรวาล  ของท่านอากาศฯ

ขงเบ้งผู้พนมมือให้กับคนทุกชั้นของยาขอบ

มาดามโบวารี แปลโดยวิทย์  ศิวะศริยานนท์




กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ธ.ค. 09, 21:35
พอย้ายไปท่าฉาง  คุณลุงรับ ปาริชาต  ที่อาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์เป็นบรรณาธิการ
ที่ตลาดบ้านดอน  คุณลุงซื้อ พระนลคำหลวงฉบับพิมพ์ครั้งแรก ๒๔๕๙  ปกผ้าสีน้ำเงินแก่ สันเดินทอง  มีสองเล่ม  ยังอยู่กับคุณลุงจนทุกวันนี้

วันหนึ่งคุณลุงซื้อ "โรสเวลต์" ซึ่งไสว สุทธิพิทักษ์เป็นผู้แปลและเรียบเรียง
เหมเวชกรวาดปก  ราคาเล่มละ ๒๒ บาท


คุณลุงบันทึกไว้ว่า  "๑๙ ​ธันวาคม ๒๔๙๒   หนังสือเล่มนี้ผมบ้าบิ่นซื้อมาได้อย่างไรขณะนั้นผมได้รับเงินเดือนเพียง ๒๔ บาทเท่านั้น
จนบัดนี้หนังสือเล่มนี้ยังคงอยู่กับผม  เป็นเพื่อนผมมานานเกือบจะ ๖๐ ปีแล้ว"






กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ธ.ค. 09, 21:50
หน้า ๖๗
คุณลุงเล่ารายละเอียดประวัติการพิมพ์สาส์นสมเด็จ

เล่าว่าได้พยายามเก็บมาตั้งแต่ จำลองสารเริ่มพิมพ์

คุณลุงบอกด้วยว่าหนังสือชุดประชุมพงศาวดารก็สนใจมาก



วาจาอันห้าวหาญของคุณลุงอาจิณก็คือ การเก็บหนังสือเพื่อการสะสมของท่านไม่มีการหยุดยั้ง(หน้า ๖๘)



ชีวิตราชการของคุณลุงย้ายบ่อยมาก   ลูกน้องที่มาช่วยย้ายฉงนเพราะไม่มีเครื่องเรือนและเครื่องใช้มากนัก  เก้าอี้ชุดรับแขกก็ไม่มี  
ใช้โต๊ะอาหารเป็นชุดเอนกประสงค์   ตู้เตียงก็มีจำกัดพอเหมาะกับครอบครัวเล็ก ๆ

แต่คุณลุงมีหีบหนังสือ ทำด้วยไม้สนอันเป็นไม้เนื้อแข็ง  มีฝาปิดเปิดใส่กุญแจ ๒๐ - ๓๐ หีบหรือลัง


เฮ้อ!   ลังคงหนักมากทีเดียว




จบแล้วค่ะ  ขอบคุณที่ตามอ่าน
ขาดตกบกพร่องเป็นความผิดของดิฉันเองที่คัดลอกพลาดไป

หนังสือ ๙๐ ปี  อาจิณ  จันทรัมพร  ที่อาจจะได้มาเป็นเล่มที่สอง  คงเสี่ยงพวงมาลัยแถว ๆนี้ล่ะค่ะ




กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ธ.ค. 09, 08:20
คุณวันดีครับ  เอ...คุณอาจิณ  ได้เล่าเรื่องการทำวารสาร"สวนหนังสือ"ไว้บ้างหรือเปล่าครับ    ผมกำลังตามเก็บให้ครบ ๓๒ ฉบับ  (ใกล้ครบแล้วครับ) เสียดายว่า สวนหนังสือได้ยุติการออกไปแล้ว  ทั้งที่เป็นวารสารดีที่ให้ความรู้เรื่องหนังสือเก่าๆ มากทีเดียว  คุณอาจิณเป็นบรรณาธิการวารสารนี้ร่วมกับคุณช่วย  (จำนามสกุลไม่ได้)   ;D


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 09:47
ประเดี๋ยวจะคัดเรื่อง สวนหนังสือ  ให้นะคะ
อยากจะร้อง กรี๊ด เพราะดิฉันมีอยู่ไม่กี่เล่ม  เห็นจะต้องพาเพื่อนพ้องไปร้อง ไอ้เสือเอาวา ตามแหล่งหนังสือหลาน ๆ คุณลุงนั่นแหละค่ะ
ส่งสายไปปักหนังสือที่ชายทุ่งแล้วค่ะ


หน้า ก ๓
คุณ สุชาติ  สวัสดิ์ศรี เขียนถึงคุณลุงไว้ว่า

          "หัวใจทางหนังสือของเขากลับยังแข็งแกร่ง  มีชีวิตชีวา  และยังให้ความสำคัญกับ "อำนาจวรรณกรรม" 
ที่มีคุณค่าทั้งอดีตและปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลาย

           ข้างหลังภาพของความเป็นอาจิณ  จันทรัมพร   อาจกล่าวได้ว่า   คือตัวอย่างที่แสดงให้เราเห็นวิถีชีวิต
และวิธีปฎิบัติในชีวิตที่รักชอบภาษาไทยและหนังสือไทยอย่างหมดจิตหมดใจ       รากเหง้าของคำว่า "นักเขียน  นักประพันฐ์"
ไม่ว่าในยุคไหนก็ตาม  จะไม่มีวันตาย  ถ้าหากมีบุคคลแบบนี้"



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 13:57
หน้า ก ๘       คุณชมัยพร   แสงกระจ่าง    นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  เขียน  แด่  พี่ชายมหัศจรรย์ชีวิต "อาจิณ   จันทรัมพร"



"คารวะอาจิณ   จันทรัมพร
ผู้มาก่อนด้วยคารวะยิ่ง
กราบที่ท่านสอนให้รู้ชูความจริง
กราบที่ท่านทำทุกสิ่งให้พิจารณา
มีชีวิตเรียบง่ายสมถะ
ยึดธรรมะถ่อมตนคนเห็นค่า
ช่วยดูแลเชิดชูผู้ก่อนมา
เป็นนักอ่านหาญกล้าเห็นค่าคน
หนังสือเก่ามีคุณค่าและหายาก
สู้บั่นบากเก็บไว้จนได้ผล
คนรุ่นหลังอาศัยได้เปิดกมล
รุ่นพี่ค้นรุ่นน้องรับประทับใจ

คารวะ "อาจิณ  จันทรัมพร"
ผู้มาก่อนแต่ยังคงร่วมสมัย
เก้าสิบปีเต็มฝันบันดาลใน
น้องขอให้ยิ่งสว่างบนทางธรรม
สุขภาพยิ่งดีมีใจอิ่ม
ล้อมไปด้วยรอยยิ้มอันชื่นฉ่ำ
เป็นผู้ใหญ่เป็นหลักขวัญวรรณกรรม
งามทุกคำงามทุกทางกระจ่างเทอญ"



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 14:28
หน้า ๙๙ -  ๑๐๑        สวนหนังสือ


         "สวนหนังสือ"  ฉบับปฐมฤกษ์ (พ.ศ. ๒๕๓๒)ก็พลันอุบัติมา   ทันทีที่โผล่โฉมหน้าก็ได้รับความสนใจ
จากนักอ่านพอสมควร           รูปร่างหรือบุคลิกของ "สวนหนังสือ"  คือนำเรื่องเก่า ๆมาพิมพ์เป็นหลัก
แต่ก็มีเรื่องที่เขียนกันใหม่ ๆ มาเสริมด้วย        โดยเฉพาะปกจะอนุรักษ์จากปกหนังสือเก่าเป็นส่วนใหญ่  
โดยเฉพาะฉบับที่ ๑  เรานำปกหนังสือศัพท์ไทยมาทำเป็นปก  ดูโอ่อ่าและค่อนข้างจะคลาสสิกพอควรทีเดียว"



คัดย่อความ

ระยะการออกของหนังสือเป็นรายสะดวก         บางฉบับทำเป็นพิเศษ  เรียกว่าฉบับ นักเขียน  โดยจะเน้นผลงาน
ของท่านนั้นๆเป็นการเฉพาะ  มีฉบับ

ก. สุรางคนางค์
ฮิวเมอริสต์
ชิต บุรทัต
ประยูร  จรรยาวงษ์
เปลื้อง ณ นคร


         เมื่อทำไปได้สองสามฉบับ  คุณลุงสมบัติ พลายน้อยก็ถอนตัวเพราะมีภาระด้านอื่น
คุณลุงก็ทำไปกับคุณช่วย พูลเพิ่ม       มีนักเขียนเช่น

สุชาติ  สวัสดิ์ศรี
ศรีดาวเรือง
สมบัติ  จำปาเงิน
และ ใครต่อใครจำไม่ได้หมดเขียนเรื่องมาให้

รายสะดวกของคุณลุงที่เล่ามาบางทีก็ยืดเป็นหลายเดิอน      คุณลุงไม่เคยท้อถอยมุ่งมั่นทำด้วยใจรักและอดทน
รักษาคุณภาพ

ทำได้ ๓๒ เล่มก็จำเป็นต้องวางมือ


มีนักอ่านมาตามขอซื้อครบชุดอยู่หลายราย  บางเล่มก็หาไม่ได้เพราะได้จำหน่ายไปหมดแล้ว

มีผู้มาให้กำลังใจว่า   สวนหนังสือทั้ง ๓๒ ฉบับ  จะเป็นหนังสือที่นักเลงหนังสือเสาะหากัน
และนานวันจะกลายเป็นหนังสือหายากไปในที่สุด

คุณลุงอาจิณบอกว่ารับฟังแล้วก็ชื่นใจ  ไม่เสียทีที่ได้ปลุกปล้ำขึ้นมา




ขอแสดงความยินดีกับคุณหลวงเล็กที่มีสายตาอันยาวไกล
ดิฉันก็จำเป็นที่จะต้องวิ่งแข่งกับคุณหลวงเสียแล้วในเรื่องนี้

อิอิ....คอยดูนะ

คนที่นึกว่าเต่าวิ่งช้า  ไม่เคยจับเต่ามาเล่น
พอออกสตาร์ท  มันจะวิ่งโครม ๆ ปัง ๆ    เลี้ยวไปตามสนามและพุ่มไม้  วิ่งหากลิ่นน้ำแล้วพุ่งหลาวลงสระไป



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ธ.ค. 09, 16:27
ขอบคุณคุณวันดีที่คัดตอนที่ว่าด้วยสวนหนังสือที่คุณอาจิณทำด้วยความรักหนังสือเก่า มาให้อ่าน

ใครจะเชื่อว่าหนังสือที่เพิ่งออกมา เล่มแรกอายุเพียง ๒๐ ปีเท่านั้น จะกลายเป็นหนังสือหายากไปได้
ที่สำคัญเป็นหนังสือดีที่น่าอ่าน น่าเก็บสะสม  มีประโยชน์แก่คนที่ศึกษาหนังสือเก่าเกือบทุกประเภท

ยังไม่ช้าไปหรอกครับที่คุณวันดีจะเริ่มเสาะแสวงหาสวนหนังสือ 
แต่การจะตามเก็บให้ครบท่าจะยาก (แต่อาจจะไม่ยากสำหรับคุณวันดี?)
ผมเก็บมาหลายปี  จนบัดนี้ก็ยังมีไม่ครบทั้ง ๓๒ เล่ม  เจอแต่ที่ซ้ำกับที่มีแล้วโดยมาก

เอาแค่สวนหนังสือ เล่ม ๑-๑๐ เดี๋ยวนี้หาไม่ง่าย พอๆ กับช่อการะเกดเล่มแรกๆ ทีเดียว ;D


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 21:37
           ลุงอาจิณ  จันทรัมพร         วรรณกรรมเหนือชีวิต

           พิทยา   ว่องกุล    เขียน

           หน้า ก ๙  -  ๑๖



           รับฟังมานานแล้ว  ว่าอาจารย์ พิทยา  เป็นหลาน คุณลุงอาจิณ เพราะมาจากที่เดียวกันคือเกาะสมุย
อาจารย์เล่าว่า ลุงกำเนิดที่หน้าเมือง    อาจารย์เกิดที่โจ้งคลำ(ไม่ใช่  "โจรคล่ำ"  ที่ทางการเปลี่ยนชื่อให้ใหม่)




          "ผมขออนุญาตที่จะย้อนอดีตไปไกล    เพื่อจะขยายความให้คนรุ่นหลังได้ข้อมูลลึก ๆ ส่วนหนึ่งว่าทำไมคนที่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยง  
ไกลความเจริญ   มิหนำซ้ำต้องข้ามน้ำข้ามทะเลอย่างยากลำบาก    เช่นลุงอาจิณ  จันทรัมพร  ถึงเป็นนักอ่าน
รักหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ        แล้วตามมาด้วยหลานอีกคนหนึ่ง  ซึ่งในแวดวงวรรณกรรมหรือพ่อค้าแม่ค้าหนังสือเก่าที่จตุจักรรู้จักว่ารักหนังสือ
สะสมหนังสือ     รวมถึงอาจจะมีคนอื่น ๆ อีกหลายคนที่ผมไม่รู้จัก        

นอกจากนี้ยังจะเล่าความเป็นมาทางประวัติศาสตร์เรื่องเกาะสมัยที่ไม่มีบันทึกประกอบ   เพื่อจะบอกว่า    ในอดีตเกาะสมุยไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน
แต่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมก่อนที่ชาวจีนจะเข้ามาตั้งรกราก   และเชื้อสายจีนแพร่ขยายไปทั่วเช่นปัจจุบัน   โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางภาษา  
และประเพณีการเรียนรู้ที่สืบทอดกันมา

..........................................
..........................................

         ในที่นี้จะขอเล่าอย่างรวบรัด    ชุมชนเกาะสมุยเดิมไม่ใช่ตัวอำเภอหน้าทอนในปัจจุบัน   แต่เรียกกันว่า บ้านเก่า
และบริเวณหน้าเมืองที่ หมื่นทา และครอบครัวอยู่ที่นั่น

แม่เล่าว่าเทียดจะเป็นผู้ส่งข่าวโดยใช้สัญญาณไฟในยามสงบ   ปล่อยควันขึ้นเป็นลูก ๆไปให้ที่ไชยาเห็น   หรือตีกลองมโหระทึกส่งสัญญาณบอกข่าว
เพราะบ้านเก่าอยู่ตรงข้ามและใกล้กับพุมเรียง  ไชยา   และเป็นสถานที่ลมสงบ     จากนั้นทางเมืองไชยก็ก็จัดม้าเร็วแจ้งข่าวแก่เจ้าเมืองนคร
เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบเพราะเล่าต่อกันมา



จะพบว่า   ชาวสมุยที่ผิวคล้ำ   ไม่ใช่เชื้อสายจีน     จะอาศัยทำนาทำสวนอยู่ในบริเวณนี้  เป็นแหล่งน้ำท่าอุดมสมบูรณ์  มีพรุและนารอบ ๆ(ใกล้ท่าเรือเฟอรี่)
บริเวณนี้จึงเป็นปหล่งชุมชนและวัฒนธรรมเกาะสมุยไปจนถึงบ้านเก่า  ชื่อบ่งบอกไว้อย่างชัดเจน



           อีกทั้งลุงเคยเล่าให้ฟังว่า   ในการขุดทำถนนแรก ๆที่หน้าเมือง   ได้พบสุพรรณบัฏถ้วยชามและกลองมโหระทึก

           แต่ไม่รู้ว่าใครเอาไปเก็บไว้ที่ไหน



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 21:51
คัดมาแบบสมควรเปิดเครื่องหมายคำพูดอยู่แล้วค่ะ



          อาจารย์พิทยาเล่าว่าเคยใช้เวลาในวันเสาร์หรืออาทิตย์  นัดกันไปเดินสวนจตุจักร 
โดยมีหนังสือเก่าที่มีเป้าหมายเหมือนกัน     ต่างคนต่างซื้อหา   จ่ายเงินไปตามที่ตนต้องการ

อาจารย์มีหน้าที่ขับรถ  ลุงถือสิทธิ์ขาดในเรื่องอาหารการกิน

ของโปรดคือ   พระรามลงสรง   ซาลาเปา   ขนมจีบ   กาแฟโบราณ
จิบน้ำชาจีนที่ตลาดอ.ต.ก. หรือกลับมาทานก๋วยเตี๋ยวชื่อดังย่านวังหิน   แล้วก็คุยแต่เรื่องวรรณกรรม



         
         อาจารย์บอกว่า    "คุณลุงอาจิณ  ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างเริงร่า  เร่าร้อน  และหลงรักหนังสือเก่าหนักหน่วง
กอปรด้วยจิตใจที่เปิดกว้่าง   ไม่ปิดบังในสิ่งที่เรียนรู้            ค้นพบอะไรได้มาลุงเปิดเผยถ่ายทอดให้คนอื่นหมด"




กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ธ.ค. 09, 04:42
                    คนสวนผู้ปลูกอักษร

                    อำนวย   จริงจิตร      สำนักพิมพ์ ฅอหนังสือ        หน้า ก ๓๓ - ๓๔



         คุณอำนวย  เล่าว่า    "เคยอ่าน "เดือนเพ็ญ" จากการเดินซื้อหนังสือเก่า  พร้อม ๆมากับนิตยสารโลกหนังสือ, ถนนหนังสือ, ปาจารยสาร,
เศรษฐศาสตร์การเมือง ฯลฯ       ที่ต้องซื้อหนังสือเก่าเพราะผมไม่ทันหนังสือเหล่านั้นในขณะที่ยังออกอยู่     ในส่วนของ "โลกหนังสือ"  ขณะนั้น
ออกมาบางเล่มแล้ว  และผมได้อ่านมาทุกเล่ม   ซึ่งช่วง ๕ - ๖ เล่มแรกสำนักพิมพ์ดอกหญ้าอภินันทนาการให้แก่สมาชิกสำนักพิมพ์  ส่วนที่เหลือ
นำมาเลขายเล่มละ ๑๐ บาทในงานสัปดาห์หนังสือฯที่ข้างกระทรวงศึกษา

นักอ่านผู้ยากจนอย่างผมจึงได้ซื้อ ๖ เล่มแรกไว้ครอบครอง"


"คุณลุงมีส่วนสำคัญที่สุดในการชักนำให้ผมได้พบได้รู้จักหนังสือเก่า ๆ  นักเขียนเก่า ๆที่ลึกไปกว่าหนังสือเก่าที่ผมเคยอ่าน  ซึ่งหมายถึงงานเก่า ๆ
ของนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นและยังมีชีวิตอยู่  ยังมีผลงานอยู่"





กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ธ.ค. 09, 05:17

                      การเขียนหนังสือของคุณลุง

                      หน้า ๔๙ - ๕๓

         
            คุณลุงอาจิณเป็นคนรักการอ่านหนังสือมาอย่างโชกโชน

            คุณลุงเล่าว่า  "อยากเขียนบ้าง  ถ้าได้ลงพิมพ์ก็จะเป็นที่น่าเสน่หายิ่งนัก"


            ในปลายปี ๒๔๘๐   ขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม ๕   ได้แต่งโคลงกระทู้ขึ้นบทหนึ่ง

            จน    เงินสุดเคียดแค้น                   แสนเข็ญ
            จน    จิตแสนยากเย็น                    ยิ่งแล้ว
            จน    มิตรฤห่อนเห็น                     ใจเพื่อน
            จน    รักจึ่งให้แคล้ว                      คลาดผู้พึงสงวน

            ใช้นามปากกาพจนธรรม  และยังใช้อยู่บ้าง  ใช้มา ๖๗ ปีแล้ว

            คุณลุงเขียนลงไปรษณียบัตร  ส่งไปที่ นิตยสารลูกเสือสยาม     บรรณาธิการชื่อ ขุนสุนทรปริวรรต
หนังสือเป็นของศึกษาธิการอำเภอซึ่งขณะนั้นเรียกธรรมการอำเภอ   ที่ลูกเป็นเพื่อนนักเรียนนำไปอ่านที่วัดที่คุณลุงพักอยู่
คุณลุงยืมอ่าน

ในฉบับต่อไป  ดูเหมือนจะเป็น ๓ เดือนต่อเล่ม  โคลงกระทู้ก็ลงพิมพ์

คุณลุงเล่าว่า   "สุขใจอยู่เป็นอาทิตย์"


            จากนั้นคุณลุงก็ย่ามใจ  เขียนส่งไปอีก  และได้ลงอยู่ ๒ หรือ ๓ ชิ้น

            ต่อมานิตยสาร "ท่องเที่ยวรายสัปดาห์" จัดประกวดเรื่องสั้นประเภทท่องเที่ยว   คุณลุงได้รับรางวัลชมเชย
และนิตยสารได้ส่งหนังสือมาให้อ่านฟรีอยู่หลายปี     คุณลุงก็ส่งไปอีกและได้ลงพิมพ์อีกหลายเรื่อง    "ซึ่งถ้านำมาอ่าน
ในวันนี้อาจจะคลื่นไส้   เพราะสำนวนยังเชยแหลกอยู่"


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ธ.ค. 09, 06:00
         ในปี ๒๔๙๓    คุณลุงเขียนสักวาลงใน สยามรัฐ    ใช้นามปากกาว่า "เดือนดวงเดิม"
เขียนสักวาอยู่หลายปี  รวมแล้วเกินร้อยบท

อาจารย์ฉันทิชย์  กระแสสินธุ์ ชมว่าคุณลุง เขียนกลอนแปดได้ดี  "กลกลอนพราว เผยเรื่องราวแบบฉบับตำรับครู"
เมื่อส่งสารไปยัง "เจ้าหญิงจันทิมา" ใน "ปาริชาติ"     อาจารย์ฉันทิชย์ตอบจดหมายทุกฉบับ
(อยากอ่านอีกทีจัง  เก็บไว้ที่ไหนหนอ)




ขอบางตอนยก นิราศเกษียณ ที่พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๕๔๕

หน้า ๔๕


เราเป็นชั้นอำเภอเสมอเสมียน                   ต้องแนบเนียนนอบน้อมค้อมประสาน
เอาสองมือเกาะกระดุมคุมอาการ                ถูกระรานติติงต้องนิ่งฟัง
ความรู้สึกของตัวกับหัวหน้า                      เหมือนแผ่นฟ้ากับดินไกลสิ้นหวัง
มีปากเหมือนปากหอยด้อยพลัง                  มิให้พลั้งขัดใจภัยจะมา

เหมือนต้นอ้อกอน้อยคอยโยกไหว               ลู่ลมไปตามกระแสแน่นักหนา
เพื่ออยู่รอดปลอดภัยในพารา                    คิดขึ้นมาถอนสะอื้นไม่ชื่นชู
ในสังคมอยู่ขั้นชั้นเสมียน                         ย่อมหมุนเวียนแกมกดน่าอดสู
บ้างถูกเพื่อนรังแกไม่แลดู                        บ้างถูกขู่คำรามเอาตามใจ

บ้างอิจฉาตาร้อนตอนเรารุ่ง                      เมื่อโชคพุ่งพาชีวิตน่าพิสมัย
บ้างคอยฟ้องแต่งเติมข้างเสริมภัย               ให้บรรลัยย่อยยับไปกับมือ
ส่วนเพื่อนผู้หวังดีก็มีมาก                         ใช่ถากถางแถมวจีผีกระสือ
อีกเจ้านายหลายหน้าเคยหารือ                   กลับดึงดื้อเกลียดชังก็ยังมี

ที่กลายเป็นคู่คิดเหมือนปิตุเรศ                    ไม่หาเหตุรังเกียจและเสียดสี
อุปถ้มภ์ค้ำชูอยู่ในที                                คอยแนะชี้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อมา
ภาพเหล่านี้เกาะสนิทติดใจแน่น                   ไม่คลอนแคลจำลึกไว้ศึกษา
มุมานะเป็นแรงหนุนอุ่นอุรา                        จนถึงคราเป็นเจ้านายช่วงปลายวัย


ตอนจบคุณลุงเขียนว่า

          สำนึกแน่วแล้วหนอต่อหัวโขน            ที่หยิบโยนใส่หัวไม่มั่วเขลา
อันอำนาจราชศักดิ์เหมือนหลักเงา                 วันหนึ่งเขาก็จะปลดลดราคา
ทำหน้าที่ดีเลิศเปิดโอกาส                          ลูกน้องอาจสบทบเข้าพบหา
จะต้อนรับนับญาตืผูกขาดมา                       กติกาพรหมวิหารประสานทาง


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 14 มี.ค. 15, 20:15
เอ..สงสัยหลายท่านคงยังไม่ทราบข่าวนี้
เพราะในสื่อต่างๆก็ไม่พูดถึงนอกจากเวปนี้
https://www.facebook.com/preedakowbor/posts/793564294053419 (https://www.facebook.com/preedakowbor/posts/793564294053419)

คุณอาจิณ จันทรัมพร ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา 12/3
ด้วยอาการสงบที่บ้านพัก ค่อยๆสิ้่นลมหายใจทีละแผ่วจนหมดลม
สวดพระอภิธรรมศพถึงวันที่ 18/3 ศาลา 11 วัดพระศรีมหาธ่าตุ บางเขน เริ่มสวด 18.30 น.
เผาวันอาทิตย์ที่ 22/3 เวลาสี่โมงเย็นค่ะ

แจ้งข่าวสำหรับมิตรรักนักเขียนรุ่นเก่า



กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 15, 07:37
 :'(


กระทู้: ๙๐ ปี อาจิณ จันทรัมพร ตามรอยคนรักและเก็บหนังสือ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 15 มี.ค. 15, 09:24
ท่านเป็นคนทำหนังสือ "สวนหนังสือ" พกเก็ตบุ๊ค รายเดือน
ผมเก็บได้แค่  5-6 เล่ม ชอบอ่านแนวแบบนี้ด้วย 
ยังน่าจะหาได้เพราะไม่เก่ามากแค่  20ปี  +-