เรือนไทย

General Category => ชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: han_bing ที่ 29 พ.ย. 09, 21:16



กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 29 พ.ย. 09, 21:16
สวัสดีครับผมพึ่งสมัครสมาชิกเรือนไทย อยากรบกวนชาวเรือนไทยเล็กน้อยว่ามีท่านใดสนใจจริงกรรมฝาพนังสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไหมครับ
โดยเฉพาะในวัดแบบพระราชนิยม อยากทราบว่าใครได้เก็บภาพถ่ายไว้บ้างไหมครับ ขอแบ่งปันบ้าง ด้วยผมจะเก็บมาทำวิจัยในอนาคต
ขอบคุณครับ ;D


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 พ.ย. 09, 02:46
เชิญครับ คุณมาถามถูกที่แล้วล่ะครับ
ที่นี่มีคนสนใจจิตรกรรมอยู่หลายท่านเลย
ลองกดที่ "ค้นหา" ตรงแถบข้อมูลด้านบน แล้วหากระทู้อ่านดูนะครับ


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 30 พ.ย. 09, 08:19
ผมในฐานะผู้ดูแลห้องและหัวหน้าชมรมฯ ขอขอบคุณคุณติบอที่แนะนำให้เพื่อนสมาชิกครับ ก็เพิ่มเติมให้ว่าให้ดูที่กระทู้ปักหมุดในหัวข้อการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังก่อนก็ได้ และถ้าสนใจจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่3จริง ขอแนะนำให้ไปอ่านหนังสือชื่อ"จิตรกรรมไทย สมัยรัชกาลที่3 ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม"ของอาจารย์สันติ เล็กสุขุม ท่านเขียนไว้น่าอ่าน สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ลองไปอ่านดูแล้วจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นครับ(ภาพประกอบ จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม สมัย ร.3)


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 30 พ.ย. 09, 14:28
ขอบพระคุณทุกท่านที่เมตตาให้ความร่วมมือนะครับ
หนังสือเล่มดังกล่าวที่คุณหัวหน้าแนะนำมา ผมได้อ่านแล้วครับ มีประโยชน์มากๆ จุดประกายได้ดีจริงๆ (จริงๆเพราะหนังสือเล่มนี้จึงได้จุดประกายถึงงานที่ตั้งใจว่าจะวิจัย...)
คือผมจะค้นคว้าเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังของวัดแบบพระราชนิยมที่ได้รับอิทธิพลจีนนะครับ โดยเฉพาะอิทธิพลของจีนทางตอนใต้ ตระกูลช่าง
หมินหนานครับ (闽南) ชาวจีนกลุ่มนี้คือพวกจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ที่มาเมืองไทยนะครับ พื้นเพเดิมอยู่ทางตอนใต้ของกว่างตง กับฟุเจี้ยนนะครับ
ตอนนี้ผมเรียนภาษาอยู่ที่เมืองจีนมีข้อมูลของจีนให้ค้นคว้าเยอะแยะเลย...แต่ไม่มีภาพจิตรกรรมไทยให้เปรียบเทียบ ถ้าใครว่างๆแล้วมีโอกาสไปถ่ายรูปแล้วมาลงบ้างจะขอบพระคุณอย่างสูงเลยครับ
ของคุณอีกครั้งนะครับ
สวัสดีครับ :D


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 09, 14:46
ขอโทษที่คงช่วยอะไรไม่ได้มากค่ะ  คุณ jean คงจะช่วยได้มากกว่า
ไปเจอภาพนี้เข้า  จากบล็อคโอเคเนชั่น
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=263352
เป็นภาพบนผนังหอระฆัง วัดราชโอรส

หนังสือจีนที่เขียนไว้ ใครอ่านออกบ้างคะ?


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 30 พ.ย. 09, 23:27
ภาพดังกล่าวเป็นภาพจิตรกรรมจากวัดราชโอรสครับ
เป็นภาพจากเรื่องไซอิ๋ว ภาษาจีนเรียกว่า “西游记” แปลกันตรงๆก็คือ “เรื่องราวบันทึกการท่องเที่ยวไปในแดนตะวันตก” แต่มีน้องที่เรียนด้วยกันคนหนึ่งแปลเพราะกว่าผม เธอแปลว่า “นิราศท้องแดนปัจฉิม” ดูมีสกุลกว่าเยอะมาก
จากภาพ เนื่องจากภาพไม่ชัด อ่านได้แต่อักษรสองตัวหลังครับ (หรือจากการอ่านแบบจีนและไทยในปัจจุบันสองตัวแรก) ตัวแรกคือคำว่า “门: men” แปลว่าประตู ตัวที่สองคือ “天 :tian” แปลว่าฟ้า หรือแปลว่าสวรรค์ก็ได้ ส่วนตัวสุดท้าย
ขออภัยจริงๆครับมองไม่เห็นจริงๆ ตอบไม่ได้ว่าตัวอะไร การแปลนั้นต้องอ่านจากหลังมาหน้านะครับเพราะเขียนแบบจีนประเพณี อ่านว่า “ประตูสวรรค์...” อะไรสักอย่างหนึ่งแน่ๆ ฉากดังกล่าวคงเป็นฉากหงอคงบุกสวรรค์ จะตอนใดไม่กล้ากล่าวเพราะเห็นไม่ชัด
ทั้งนี้ทั้งนั้น ใครเข้าวัดราชโอรส แล้วเห็นตัวอักษรจีนที่ประดับในภาพจิตรกรรมของวัด ขออวดหน่อยนะครับ ทั้งหมดเป็นการเขียนใหม่แทนของเก่าที่หายไป อาจารย์ชาวจีนจากธรรมศาสตร์เอกภาษาจีนมาเป็นคนเขียนตัวอักษรจีนให้ –  ทั้งพระอุโบสถ – แล้ววันนั้นเด็กธรรมศาสตร์ก็ตามไปช่วยปิดทองในตัวอักษร   
ส่วนภาษาจีนที่เขียนประดับตามลวดลายในพระอุโบสถ ประพันธ์เป็นกลอนภาษาจีน และตัวอักษรทุกตัว ย้ำ – ทุกตัวที่เขียนประดับ – ไม่ได้เขียนแบบธรรมดา เพราะการเขียนอักษรจีนจริงการเขียนบนอะไรจะใช้รูปแบบการเขียนต่างกัน ท่านก็เขียนต่างกันจริงๆ ตามลักษณะของภาพต่างๆที่ท่านจะเขียนตัวอักษรประดับ บางส่วนนำมาจากบทกวีโบราณของจีน (ทั้งนี้เป็นอักษรจีนแบบดั้งเดิมไม่ใช่ตัวย่ออย่างที่ใช้กัน) อาจารย์ท่านนั้นชื่อว่าอาจารย์ดร. เจี๋ยครับ ส่วนภาพจิตรกรรมว่าควรเขียนอย่างได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการอิสระท่านหนึ่งครับ คือ อาจารย์เศรษฐพงษ์เกรงใจ ตัวอย่างภาพเอามารูปแบบมาจากหนังสือรูปมงคลจีนของอาจารย์พรพรรณ แต่การว่างส่วนต่างๆของภาพเป็นความคิดของจิตรกรเอง
ทั้งตอนค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลมาเขียน อาจารย์เอกจีนธรรมศาสตร์ทุกท่านช่วยกันส่องภาพถ่ายเก่าๆ เพื่อที่จะอ่านว่าบทประพันธ์โบราณที่หลงเหลือมีอะไรบ้าง เพราะไม่อยากเขียนใหม่ ทรมานเหลือทนเพราะทุกท่านชราภาพแล้ว สายตาไม่ค่อยดีแต่ก็พยายามแก แต่บางส่วนไม่มีหลักฐานจริงๆเลยแต่งใหม่ โดยผู้แต่งคืออาจารย์ดร.เจี๋ยครับ (ปัจจุบันท่านย้ายไปแล้วผมไม่ได้ติดต่อท่าน)
เรื่องเก่าๆนี้เกิดตอนบรูณะครั้งล่าสุดครับ เลยเล่าสู่กันฟัง
ป.ล. ตอนเป็นนักศึกษาคยทำการค้นคว้าจิตรกรรมในวัดแห่งนี้ เลยมีโอกาสได้เข้าไปร่วมในการค้นคว้าเพื่อจะเขียนรูปบ้าง
แล้วถ้าใครอยากให้เล่าเรื่องบทกวีโบราณที่เหลืออยู่ในภาพจิตรกรรมก็ได้นะครับ ถ้าจะไม่การวุ่นวายเว็บ


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 09, 08:25
อ้างถึง
แล้วถ้าใครอยากให้เล่าเรื่องบทกวีโบราณที่เหลืออยู่ในภาพจิตรกรรมก็ได้นะครับ ถ้าจะไม่การวุ่นวายเว็บ

สนใจค่ะ 
ขอเสนอให้ตั้งที่ห้อง ภาษาและวรรณคดี
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 01 ธ.ค. 09, 08:25
อยากจะช่วยเหลืออยู่นะครับ แต่ผมเองไม่ค่อยมีภาพเลยเกี่ยวกับพระราชนิยมในรัชกาลนี้
ขอนุญาตแนะนำกระทู้วัดนางนองของพี่ยุทธนานะครับ น่าจะพอไ้ด้ หรืออยากได้ภาพจากที่ไหน
ก็ระบุภาพก็ได้นะครับ เผื่อผมจะมีบ้าง  

ส่วนที่ผมมีภาพนี้ภาพเดียว ถ้าต้องการภาพใหญ่ก็คงต้องส่งทางเมลล์นะครับ ไม่รู้จะถูกใจใหม


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 01 ธ.ค. 09, 21:29
ขอบพระคุณครับ แค่เมตตาช่วยเหลือก็รู้สึกเป็นพระคุณอย่างสูงแล้วครับ จิตรกรรมส่วนใดก็ใดครับ แต่ถ้าได้ภาพถ่ายบริเวณประตูหน้าต่างหรือขื่อคานต่างๆจะยินดีมากเลยครับ
สมมุติว่าใครมีโอกาสไปตามวัดพระราชนิยมแล้ว แล้วพบหรือจิตรกรรมซึ่งดูเป็นศิลปะจีน หรือเป็นแบบศิลปะไทยแต่คล้ายๆศิลปะจีน แล้วถ่ายรูปมาฝากกัน
ขอขอบพระคุณในที่นี้ด้วย หากผมสามารถอธิบายได้ผมจะลองอธิบายดู
ผมเองมีความรู้เรื่องจิตรกรรมไม่มากมายเท่าไรนัก ถ้าผิดพลาดอะไรอย่างไรก็ขออภัยด้วยนะครับ
ทั้งนี้ ถ้าท่านใดมีโอกาสไปวัดราชโอรส แล้วถ่ายรูปจิตรกรรมภายในมา โดยเฉพาะรูปอาคารจำลองต่างๆส่องดีๆ แล้วจะเจอตัวหนังสือจีนประดับตามจิตรกรรมส่วนต่างๆ
หากถ่ายรูปมา แล้วอยากให้เล่าเรื่องผมยินดีนะครับ (เพราะอยู่ที่นี้ขาดทั้งรูป มีแต่เรื่อง ไม่รู้จะทำอย่างไร...)
ก่อนไปของฝากบทกวีโบราณของจีนที่ปรากฎในภาพจิตรกรรมเหลืออยู่เพียงสองคู่ (ซึ่งอาจารย์ธรรมศาสตร์ส่องจากรูปถ่ายเก่ากันจนหมดแรง)
ผู้ถอดตัวอักษรคือาจารย์เจิง และผู้ค้นคว้าถึงที่มา คือ ดร.ปิยะมาศ ของเอกจีนธรรมศาสตร์ครับ นี้คือคู่แรก
 
“云淡风轻近午天” “傍花随柳过前川”

ส่วนเนื้อความแปลว่าอะไร และใครเป็นคนแต่ง ไว้คราวหน้าจะเล่านะครับ
ขอตัวไปอ่านหนังสือต่อก่อน
ขอบคุณอีกครั้งนะครับ
สวัสดี
(เกี่ยวกับจิตรกรรมไหมนี้...)


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 01 ธ.ค. 09, 22:18
ตามจริงแล้วชอบศิลปะอยุธยาเป็นพิเศษ เลยมองข้ามตรงนี้ไปหน่อย เลยไม่ค่อยมีภาพ
ถ้าไม่รีบร้อนใช้ภาพ ช่วงวันอาทิตย์หน้าผมคาดว่าจะไปแถววัดราชโอรส จะลองถ่ายภาพมานะครับ
ไม่แน่ว่าจะถูกใจไหม
อีกอย่างผมเองก็ชอบเขียนอักษรจีน แต่ไม่มีความรู้เรื่องภาษานะครับ เพียงแต่เวลาเขียนมันฝึกสมาธิดี
โดนเฉพาะเวลาใช้หมึกดำเขียนครับ มันเหมือนกับการใช้ภาษาภาพ แบบสัญลักษณ์ภาพวาดมาเป็นคำๆ
ยังไงถ้าติดขัดตัวไหนผมจะรบกวนถามบ้างจะได้ไหมครับ


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 03 ธ.ค. 09, 22:07
ถ้าผมพอจะช่วยอะไรได้ ผมยินดีเสมอครับ
   ทั้งนี้เมื่อพูดถึงเรื่องอักษรพู่กันจีน หากจะไปวัดราชโอรส  และถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังมา ผมอยากให้ลองพิจารณาตัวอักษรสักนิด จะเห็นว่าอักษรที่ใช้ประดับอาคารแต่ละจุดจะมีลักษณะแตกต่างกัน โดยเฉพาะตัวอักษรจีนที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาพนัง
   ความแตกต่างดังกล่าว เกิดจากความจงใจของผู้เขียน คือ ดร. เจี๋ยชิ่ง อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาจีนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสงค์ให้อักษรจีนที่ปรากฏในการบูรณะภาพจิตรกรรมวัดราชโอรส เป็นตัวอย่างแก่อนุชนชาวไทยรุ่นต่อๆของการใช้อักษรจีนซึ่งมีหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบใช้ในพื้นที่ต่างกัน
ตัวอย่างของการใช้อักษรที่แตกต่างกัน ตัวอย่างดังภาพจิตรกรรมด้านหลังพระประธาน ซึ่งได้รับการเขียนใหม่ จะมีพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเป็นภาษาจีน โดยพระนามของพระองค์คือ “แต้ฮก” หรือ ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “เจิ้งฟู่” (郑福: Zheng Fu) โดย “แต้” เป็นแซ่ที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีได้รับสืบทอดมาจากพระเจ้ากรุงธนบุรี ส่วน “ฮก” เป็นพระนามของพระองค์ มีความหมายว่า “ความสุข บุญวาสนา” ทั้งนี้พระมหากษัตริย์ไทยในตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง เรื่อยมาจนรัชกาลที่ ๔ (หรือรัชกาลที่ ๕ เพราะผมยังไม่พบพระนาม) มีพระนามเป็นภาษาจีนทุกพระองค์
                พระนามที่ใช้ มิใช่ภาษาจีนเลียนแบบเสียงภาษาไทย ซึ่งไม่มีความหมายอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน ปัจจุบันจะใช้อักษรจีนแต่ละตัวเลียนเสีบงภาษาไทย โดยให้อักษรที่ใช้สื่อความหมายไปในทางมงคล แต่โดยรวมทั้งชื่อแล้วไม่มีความหมายในภาษาจีน เพราะเป็นการเลียนเสียงพยางค์
                แต่เป็นพระนามดังกล่าวภาษาจีนซึ่งมีความหมายแท้ๆ การที่มีพระนามเป็นภาษาจีนอาจเป็นเพราะต้องการใช้ติดต่อทำการค้ากับทางจีน ซึ่งผมของลงรายพระนามไว้ ณ ที่นี้ โดยใช้คำอ่านเป็นภาษาจีนกลาง
                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามว่า “เจิ้งฮั่ว” (郑华: Zheng Hua) แปลว่า แสงรุ่งโรจน์
                พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระนามว่า “เจิ้งโฟ่” (郑佛: Zheng Fo)แปลว่า พระพุทธเจ้า
                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามว่า “เจิ้งฟู่”(郑福:Zheng Fu) แปลว่าความสุข บุญวาสนา
                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามว่า “เจิ้งหมิง” (郑明:  Zheng Ming)แปลว่า แสงสว่าง
                (ที่มา:http://www.weefish.com/ask/%E6%B3%B0%E5%9B%BD%E5%9B%BD%E7%8E%8B)
   เดิมช่างเขียนเขียนเป็นอักษรพระนามย่อของพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน แต่เจ้าอาวาสได้มาตรวจและได้ให้ความเห็นว่า วัดราชโอรสเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ควรเป็นพระนามของพระองค์มากกว่า
   ดังนี้ ดร.เจี๋ยชิ่ง ได้เข้ามาเขียนอักษรจีนเพื่อประดับจิตรกรรมฝาผนัง จึงได้เขียนพระนามของพระพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาจีน
   ตัวอักษรจีนที่ได้เขียนนั้นเป็นลักษณะตัว “จ้วนซู่” (篆书:Zhuan Shu) ซึ่งเป็นตัวอักษรที่พัฒนาในสมัยราชวงศ์ฉิน (秦: Qin) เป็นการใช้ลักษณะอักษรแบบขีดเส้นแทนอักษรภาพ อักษรลักษณะดังกล่าว ต่อมานิยมใช้กับตราประทับต่างๆ
   ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เนื่องจากการเขียนพระนามเป็นเหมือนดังการลงตราพระราชลัญจรของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดร.เจี๋ยชิ่ง จึงเลือกใช้อักษรที่ใช้กับตราประทับในการเขียนพระนาม
   ขณะเดียวกันการเขียนอักษรในตำแหน่งอื่นๆของภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถได้ใช้ลักษณะต่างออกไปอีก โดยมีการใช้ทั้งอักษรแบบ “ข่ายซู่” (楷书: Kai Shu) หรือ ตัวอักษรแบบบรรจง และตัวอักษรแบบ “เฉาซู่” (草书: Kai Shu) หรือตัวอักษรแบบหวัด ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ที่วาด
   แต่ทั้งนี้ส่วนดังกล่าวผมขอไม่อธิบายนะครับ เพราะจำไม่ได้ว่าอยู่ส่วนใดบ้าง หาถ่ายรูปมา และผมพอจะอธิบายได้จะลองค้นคว้าดูครับ
    (เรื่องกลอนขอติดไว้เช่นกัน เพราะว่าจำไม่ได้ว่าใช้ตัวอักษรแบบใด)
 :)


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 09 ธ.ค. 09, 00:42
ต้องขอโทษคุณhan_bingด้วยที่อาทิตย์นี้ผิดแผน ไม่ได้ไปวัดราชโอรสเพราะมีเรื่องให้ต้องเบนเข็มไปทำก่อน
แต่ว่าก็มีภาพน่าสนใจมาเหมือนกัน ไม่ทราบว่าจะถูกใจไหมเพราะได้โอกาสพิเศษไปชมบ้านเก่าแก่หลังหนึ่ง
ย่านตลาดน้อย ทราบคร่าวๆว่าเป็นบ้านของท่านเจ้าสัวใหญ่ท่านหนึ่ง เห็นมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าฯอยู่ จึงเข้าใจว่าอาจมีประวัติเกี่ยวข้องกับศิลปะในรัชกาลนี้อยู่บ้างครับ


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 09 ธ.ค. 09, 00:46
ที่โถงหน้าห้องป้ายบรรพบุรุษมีความสวยงามมาก ทั้งลายแกะประดับการออกแบบและโครงสร้างเครื่องบน
ซึ่งผมประทับใจค่อนข้างมากครับ แต่ภาพเกรงว่าอาจไม่สมควรเอามาลงหรือเปล่าเพราะไม่ไ้ดขออณุญาตมา
เอาเป็นว่าผมของส่งภาพทางเมลล์คงจะสะดวกกว่า


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 09 ธ.ค. 09, 20:54
            จากภาพเป็นภาพหลังคาของคฤหาสน์ “โซว่เฮงไท่” ที่ตั้งอยู่ในตลาดน้อย เยาวราชใช่ไหมครับ
               ประวัติของคฤหาสน์ดังกล่าวได้เขียนไว้อย่างระเอียดในหนังสือเรื่อง “นาแม่” ของอาจารย์พิมพ์ประไพ พิศาลยบุตร ส่วนเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมได้เขียนไว้ในภาคผนวกของหนังสือเล่มดังกล่าว โดยอาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน
   ผมเองเรียนด้านประวัติศาสตร์ ไม่ได้เรียนด้านสถาปัตยกรรมมาโดยตรง ดังนั้นการอธิบายอาจอธิบายได้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามจากที่ผมได้อ่านมา ทั้งจากงานของท่านอาจารย์เศรษฐพงษ์ และหนังสิอประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจีน อาคารดังกล่าว และโครงสร้างของอาคารดังกล่าว เป็นศิลปะสกุลช่างหมินหนาน (闽南: Min Nan) ซึ่งลักษณะของช่างตระกูลนี้จะกระจายตัวอยู่แถบตอนใต้ของมณฑลฟุเจี้ยน (福建省:Fu Jian Sheng) และมณฆลกวางตง (广东省:Guang Dong Sheng) หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่ากวางตุ้ง
   ลักษณะของอาคารในแถบนี้จะประดับประดาหลั งคาอย่างงดงามอลังการยิ่งกว่าอาคารในภาคเหนือ โดยการใช้กระเบื้องเคลือบสีสันสดใสประดับประดา อาจเป็นกระเบื้องรูปประติมากรรมลอยตัว หรือเป็นการตัดกระเบื้องเป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาแปะติด
ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมแถบหมินหนาน นิยมใช้รูปแบบการตัดกระเบื้องเป็นชิ้นเล็กๆมาประกอบ ซึ่งก็คงปรากฏให้เห็นในรูปแล้ว โดยศิลปะดังกล่าว เป็นศิลปะที่ชาวจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนใช้ ซึ่งกลุ่มชาวจีนกลุ่มนี้ได้มายังประเทศไทยมากที่สุด
ไว้วันหลังผมจะมาเล่าต่อนะครับ วันนี้การบ้านเยอะขอตัวก่อน
                มีอะไรฝากไว้ในเมลล์ได้นะครับ “han_bing_phum_h@hotmail.com”


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 09 ธ.ค. 09, 23:05
ใช่ครับ แต่ไม่ได้ขอเขาไว้จะเอาภาพมาเผยแพร่คงดูเสียมารยาท
เรื่องที่คุณhan_bing กล่าวไว้ในคคห.ก่อนหน้าก็เป็นเรื่องที่ผมสงสัยอยู่
ว่าทำไมอาคารเช่นศา่ลเจ้าจีนในประเทศไทย ดูประดับกันมากกว่าศิลปะจีน
จำพวกพระราชวังต้องห้าม ที่ดูเรียบๆแต่ใหญ่โตจะว่าแตกต่างกันมากๆก็ใช่นะ
วันนี้พอเข้าใจซะที


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 10 ธ.ค. 09, 19:29
                  เวลาคนไทยไปเที่ยวเมืองกวางตุ้ง หรือซัวเถา เรามักจะออกอุทานว่า “อ้า...มั่งชั่งเหมือนที่บ้านอั๊วจิงๆ” แต่ถ้าเราไปไกลหน่อยคือซูโจว หางโจว หรือไปปักกิ่งโน้นเลย เราอาจจะออกอุทานว่าทำไมมันดูไม่เหมือนเลยแหะ มูลเหตุมาจากตระกูลช่างที่ต่างกัน แต่เนื่องจากช่วงนี้ผมยุ่งและยังอ่านหนังสือที่ซื้อมาไม่จบ จึงขออนุญาตนำรายงานเก่าที่เคยทำสมัยอยู่มหาวิทยาลัยลัยมาตัดตอนเล่าสู่กันฟัง ผิดไปประการใดขออภัยด้วย และห้ามนำไปมาอ้างอิง ใครนำไปอ้างอิงผมจะงอน (ทำได้แค่นี้แหละ) เนื่องจากตอนนี้อยู่เมืองจีน มีข้อมูลมากมายมหาศาลให้อ่าน ถ้าจะเขียนลงไปคงได้เยอะกว่านี้ ขอให้ผู้อ่านถือว่าเป็นการเล่าสู่กันฟังเฉยๆ เอาละนะเรื่องมีอยู่ว่า...
                  ภาคเหนือและภาคใต้ของจีนจะแบ่งโดยใช้แม่น้ำแยงซี ภาษาจีนกลางเรียกว่าฉางเจียง (长江:Chang Jinag) ความแต่ต่างระหว่างอาคารทางภาคเหนือและภาคใต้ของจีนสังเกตได้ไม่ยาก สังเกตได้จากการประดับตบแต่งหลังคา ซึ่งคราวที่แล้วได้กล่าวไป อีกประการสังเกตได้จากโครงสร้างหลังคาที่แตกต่างกัน
                     สำหรับโครงสร้างหลังคาที่นิยมใช้ในจีนภาคเหนือ ใช้เป็นโครงสร้างแบบเสาดั้งและคานเป็นระบบโครงสร้างแบบคานลดระดับ (THE BEAM – IN – TIERO STRUCTURAL SYSTEM) โดยโครงสร้างดังกล่าวนี้นอกจะเป็นที่นิยมในบ้านของผู้คนทั่วไปในภาคเหนือแล้ว ยังสามารถพบตามอาคารขนาดใหญ่ ดังวัดหรือวังทั่วไปในประเทศจีน (TSINGHUA UNIVERSITY 1990: 5) ซึ่งวัสดุที่ใช้จะทำจากไม้เนื้อแข็ง ออกแบบมาตามลักษณะของความจำเป็นในการถ่ายน้ำหนักของโครงสร้าง ผนวกกับรูปทรงของหลังคามีลักษณะเป็นโครงคานสามเหลี่ยมที่วางเชื่อมช่วงเสา ตามแนวลึกของอาคาร ประกอบขึ้นจากคานหน้าตัดสี่เหลี่ยมที่มีความยาวลดลงเมื่อสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงสันหลังคา หรือ “คานลดระดับ” คานนี้จะแบ่งเป็นชั้น ๆ  และใช้โครงสร้างทางตั้งมารับที่เรียกว่า  “เสาดั้ง” โดยการใช้เสาดั้งหลายตัวถ่ายน้ำหนักต่อเนื่องกันเป็นช่วง ๆ  และเสาดั้งนี้จะรับแปกลมขนาดใหญ่ที่พาดวางตามยาวของอาคารด้วย และจะวางเรียงสูงขึ้นเป็นระยะประกอบกันเป็นรูปหลังคาจั่ว   
                    แปกลมที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดตรงสันหลังจะถูกพิจารณาว่า เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงสร้างหลังคา   ซึ่งจะสังเกตได้ว่า เป็นแปเพียงตัวเดียวในโครงสร้างหลังคาที่มีการตกแต่งเขียนลายอย่างสวยงาม จากนั้นก็วางไม้กลอนที่เป็นแผ่นแบนขวางแปกลม เป็นระยะที่ค่อนข้างถี่มากเท่าขนาดของกระเบื้องกาบกล้วยแล้วจึงปูกระเบื้องหลังคา การถ่ายน้ำหนักของหลังคาทั้งหมดจะถูกถ่ายจากแปกลมนี้ลงสู่เสาดั้ง สู่คาน และสู่โครงสร้างหลักของอาคารต่อไป ซึ่งลักษณะของโครงสร้างเช่นนี้จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงเส้นหลังคาที่ตรงได้ (ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างหลังคาของไทยที่จะต้องทำจันทันให้โค้ง เพื่อให้ได้เส้นหลังคาที่โค้ง) ส่วนของหลังคาที่เป็นปีกนกจะมีการทำเต้ารับชายคายื่นออกมาจากเสา  ซึ่งโครงสร้างนี้จะประกอบเข้ากันด้วยระบบถอดประกอบ โดยการบากและทำเดือยเช่นเดียวกับโครงสร้างอาคาร  (รุ่ง สุจินันท์กุล ๒๕๔๒: ๑๒๑)
               ส่วนระบบค้ำยันในอาคารโดยทั่วไปแล้ว จะมีอยู่ ๓ ประเภท ได้แก่ ค้ำยันที่อยู่บนเสาภายในอาคาร หรือส่วนโครงสร้างหลังคาภายในอาคาร, ค้ำยันที่อยู่ภายใต้ชายคา และค้ำยันที่รองรับตรงมุมของหลังคา (รุ่ง สุจินันท์กุล ๒๕๔๒: ๑๑๒) ซึ่งการค้ำยันของอาคารจีนจะมีลักษณะโครงสร้างที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมจีน คือ มีโครงสร้าง “โตว่กง” (斗拱:DOU GONG) หมายถึงค้ำยันหูช้างที่ยื่นออกมาจากผนังหรือโครงสร้างของอาคาร (รุ่ง สุจินันท์กุล ๒๕๔๒: ๒๕๐) (ดูรายละเอียดในภาคผนวก ง.) โดยภาคเหนือจะใช้ “โตว่กัง” เป็นหลักในการรับน้ำหนักของอาคาร (เศรษฐพงษ์ จงสงวน, สัมภาษณ์) ดังนั้นเมื่อดูไปดูมาแล้วจะให้ความรู้สึกราวกับดูตัวต่อขนาดยักษ์ (ซึ่งจริงๆแล้วก็คือตัวต่อยักษ์จริงๆ)
               ในส่วนของโครงสร้างหลังคาของจีนทางตอนใต้นิยมใช้ระบบเสาและคานรัด (THE COLUMN AND TIEBEAM STRUCTURAL SYSTEM) ระบบนี้เสาจะถูกวางเรียงไปตามทางลึกของอาคาร โดยมีการเว้นระยะห่างของเสาเท่ากัน และจะไม่มีการวางคานพาดผ่านเสาเหล่านี้ แต่จะวางแปกลมไว้บนยอดของเสาแทน และระบบของโครงสร้างหลังคาจะถูกสร้างจากการใช้คานรัดที่วางทะลุสอดผ่านเสาเพื่อเชื่อเสาทั้งหมดเข้าด้วยกันซึ่งคานนี้จะถูกวางเป็นชั้นๆลดหลั่นไปถึงยอดหลังคา
                   ตัวอาคารจะสร้างขึ้นจากการนำแถวของเสาในลักษณะดังกล่าว มาวางประกอบเรียงกันไปตามแนวยาว และเชื่อมต่อกันเข้าด้วยโครงรัดรอย ค้ำยัน และแปกลม ในทิศทางตามยาวของอาคารเนื่องจากน้ำหนักของหลังคามีที่สัมพันธ์โดยตรงกับจันทัน และแปกลมซึ่งรองรับด้วยเสาและฐานราก ทำให้เสาและคานรัดรอยของโครงสร้าง โดยโครงสร้างระบบนี้ใช้ไม้น้อยกว่าประเภทอื่น ขนาดของเสาและคานรัดนี้จะขึ้นอยู่กับความลึกของอาคาร อาคารที่มีความลึกมากจะต้องใช้เสาในแถวมากและจะส่งผลถึงความสูงของอาคารและจำนวนชั้นของคานรัดเพิ่มขึ้นด้วย ระบบโครงสร้างนี้จะนิยมใช้กับอาคารทั่วไปของในบริเวณพื้นที่ทางใต้ของจีน  และอาจพบในอาคารขนาดใหญ่ทางใต้บางแห่ง (TSINGHUA UNIVERSITY 1990: 6)
               อย่างไรก็ตามแม้จีนตอนใต้จะมีลักษณะการตบแต่ง และลักษณะโครงสร้างของหลังคาซึ่งร่วมกันดังที่กล่าวมา แต่ยังมีการแตกต่างออกไปเฉพาะตามลักษณะของสกุลช่างแต่ละกลุ่มภาษา ซึ่งในบริเวณกวางตุ้งและฟูเจี้ยน หรือจะชี้ให้ชัดไปเลย คือ ในส่วนโครงสร้างแบบสกุลช่างแต้จิ๋ว - ฮกเกี้ยนผิดจากโครงสร้างที่ใช้ระบบเสาและคานรัดทางภาคใต้ส่วนอื่นๆ กล่าวคือ โครงหลังคาเป็นแบบโครงสร้างยกขื่อ โครงสร้างแบบนี้จะประกอบด้วยเสารับขื่อที่จะตั้งรับอกไก่และแป ส่วนใหญ่จะซ้อนขื่อสามชั้น (เศรษฐพงษ์ จงสงวน ๒๕๔๗: ๕) ซึ่งบ้านโซ่วเฮงไท่จะเป็นแบบดังกล่าว
                  นอกจากนี้โครงสร้างอาคารจะแตกต่างกันไปแล้ว ภาพจิตรกรรมที่ตบแต่งในแต่ละส่วนจะแตกต่างกันไปอีก รวมไปถึงการสลักเสลาอาคารประดับ ซึ่งไว้คราวหน้าผมจะเล่าให้ฟังขอตัวไปทำการบ้านก่อน


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 10 ธ.ค. 09, 19:35
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นรอง

หนังสือ

เศรษฐพงษ์ จงสงวน. สถาปัตยกรรมบ้านจีนแต้จิ๋ว และแก้ซิ้ง. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง
   “แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่” จัดโดย ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปะศาสตร์
   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ อาศรมสยาม – จีนวิทยา และบมจ. ซี พี. เซเว่นอีเลฟเว่น,
   ๒๕๔๗.   

เอกสารอื่นๆ

รุ่ง สุจินันท์สกุล. “การศึกษาเพื่อเสนอแนวคิดในการอนุรักษ์ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯที่สร้างขึ้นช่วง
   สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕.” วิทยานิพนธ์ปริญญาสถมปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต
   สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๒. (อัดสำเนา)

เอกสารภาษาต่างประเทศ

TAMURA, EILEEN. CHINA: UNDERSTANDING IT PAST. HONOLULU : UNIVERSITY OF
   HAWAII PRESS,

สัมภาษณ์

เศรษฐพงษ์ จงสงวน. สัมภาษณ์. ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๐.
เศรษฐพงษ์ จงสงวน. สัมภาษณ์. ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐.
เศรษฐพงษ์ จงสงวน. สัมภาษณ์. ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐.


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 14 ธ.ค. 09, 10:56
ยังฟังดูยากๆนิดหน่อย เพราะไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านนี้ แต่ก็ต้องขอขอบคุณที่นำข้อมูลมาให้อ่านกัน
ขอลงภาพประกอบเล็กน้อยครับ


กระทู้: จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 15 ธ.ค. 09, 18:55
ขอบพระคุณที่นำรูปมาลงประกอบให้นะครับ อย่างนี้แหละครับโครงสร้างแบบสกุลช่างหมินหนาน
สิ่งพิเศษของช่างหมินหนานจะอยู่ที่การแกสลักครับ ไม่ใช่แกะแบบธรรมดา แต่จะเป็นลายซับซ้อนประหนึ่งเป็นงานทอก็"ม่ปาน
หากนึกไม่ออกขอให้ไปดูที่บานประตูวัดสุทัศน์บานเก่าที่ถูกไฟไหม้ได้นะครับ แบบนั้นแหละ (ไม่ทราบว่าช่างไทยได้รับอิทธิพลหรือเปล่า)
อย่างภาพที่เราเห็นนี้เป็นแบบเกาะแบบธรรมดา หากอยากดูความอลังการจริงๆให้ไปดูที่พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระที่นั่งองค์ดังกล่าวเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นแบบสกุลช่างหมินหนานแบบสมบูรณ์ที่สุดในไทย
ทั้งนี้ ขอแทรกเกร็ดไว้เล็กน้อย พระที่นั่งองค์นี้หากไปหาทั่วทั้งแผ่นดินจีนจะไม่พบอาคารใดมีความคล้ายคลึง แต่หากไปดูแทบสิงคโปร์ มาเลย์เซีย อินโดนิเซีย จะพบคล้ายๆ หรืออาจพบพิมพ์เดียวกัน
เนื่องจากองค์พระที่นั่งสร้างแบบอาคารกงสี (นึกไม่ออกขอให้นึกถึงอาคารสมาคมชาวจีนในไทย) ของชาวจีนโพ้นทะเลในแถบดังกล่าว ซึ่งเป็นอาคารแบบฝรั่งนิดๆ จีนมากหน่อย
แต่รวมความแล้วก็ถือว่าสวยสง่า
รูปแบบดังกล่าวนี้เองที่ส่งอิทธิพลมายังพระที่นั่งเวหาศจำรูญของเรา
ส่วนพระที่นั่งของเราจะสวยกว่าหรือไม่ก็ไม่อาจกล่าวได้ เพราะยังไม่มีโอกาสไปเที่ยวแทบนั้น ไว้ไปเมื่อไรจะมาเล่าสู่กันฟัง
(ใครลงรูปได้ลงให้ด้วยนะครับ ผมลงไม่เป็น ถ้าเป็นได้ส่งวิธีลงรูปให้ด้วย เพราะผมกับวิทยาการปัจจุบันเป็นยาขมหม้อโตครับ)