เรือนไทย

General Category => วิเสทนิยม => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 17, 20:16



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 17, 20:16
ผมติดตามฟัง Neujahrskonzert (New Year Concert) ของออสเตรียที่แสดงในวันขึ้นปีใหม่มาหลายปี เป็นการบรรเลงโดยวง  Vienna Philharmonic Orchestra  ซึ่งในแต่ละปีก็จะมี Conductor มีสัญชาติต่างกันมาควบคุมวง บางคนก็มาคุมวงเพียงครั้งเดียว บางคนก็มาซ้ำกันหลายครั้ง   

ไม่ใช่หัวสูงหรอกครับ แต่ฟังแล้วผ่อนคลายสบายอารมณ์ โดยเฉพาะในคืนวันปีใหม่

มีเพลงหลายเพลงที่ต้องบรรเลงกันเป็นประจำทุกๆปี   มีหลายเพลงที่เราเคยได้ยินจนคุ้นหูจากสื่อต่างๆ และก็มีเพลงที่เราคุ้นหูในพิธีสวนสนามของเหล่าทหารของประเทศต่างๆ ซี่งเพลงเหล่านี้เรามักจะสามารถฮัมทำนองตามไปได้เกือบทั้งเพลง
     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 17, 20:47
ฟังไปฟังมาต่อเนื่องกันสองสามปี ก็ได้เริ่มเห็นความแตกต่างของเพลงในแง่มุมต่างๆที่ควบคุมวงโดย Conductor ที่ต่างกัน ทั้งในเชิงของจังหวะความเร็ว/ความช้าของเพลง ความดัง/ความเบาของแต่ละท่วงทำนอง  ความดัง/ความค่อยของแต่ละชุดเครื่องดนตรีในแต่ละช่วงตลอดเพลง ฯลฯ และก็ได้เห็นอาการและอริยาบทต่างๆของ Conductor   

พอจะรู้ถึงความต่างของเพลงเดียวกันที่บรรเลงในแต่ละปีจากการคุมวงของแต่ละ Conductor  มีที่เรารู้สึกว่าโสตของเราพอใจกับเพลงใดจากผู้ใดที่มาคุมวง 

จนกระทั่งมาถึงการบรรเลงในวันปีใหม่ของปีนี้ (2560)  เมื่อได้ฟังแล้วก็พอจะสัมผัสได้ว่าท่วงทีทำนองเสียงเพลงของบางเพลงนั้นฟังต่างออกไป   

อ้อ เป็น Conductor วัยอายุยังไม่ถึง 40 ปีเลย แถมยัง conduct แบบไม่ต้องมีโน๊ตดนตรีวางอยู่ตรงหน้าอีกด้วย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 17, 21:15
ก็เลยท่องเน็ตตามดูประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขา  ซึ่งน่าทึ่งมาก

คำพูดประโยคหนึ่งจากคลิปหนึ่ง  เขาได้บอกกับกลุ่มนักดนตรีที่มีความอาวุโสมากกว่าเขา ซึ่งหลายคนเป็นครูและเป็น conductor ของวงท้องถิ่นต่างๆ

เขาได้บอกกล่าวในความหมายว่า นักดนตรีทุกคนในวง Orchestra ระดับที่เขากำลังทำงานอยู่ด้วยในขณะนี้นั้น ล้วนแต่เป็นเป็นผู้เชี่ยวชาญการเล่นเครื่องดนตรี สามารถอ่านโน๊ตดนตรีออกอย่างไม่ผิดเพี้ยน และทุกคนเล่นได้ไม่ผิดแม้แต่ตัวโน๊ตเดียว  เขาซึ่งมาทำหน้า Conductor นี้คงจะไม่ต้องเข้าไยุ่งเกี่ยวในเรื่องของการเล่นผิดเล่นถูกไปจากโน๊ตดนตรี เขาเข้ามาในเรื่องของ content ที่จะเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของเครื่องดนตรี ของการประสานเสียง เพื่อให้แสดงออกถึงอารมณ์ของเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นตามที่ผู้แต่งเพลงเขาได้ถ่ายทอดออกมาลงบนตัวโน๊ตในโน๊ตดนตรี


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 17, 21:25
ครับ..

ทำให้นึกถึงเรื่องของวลีว่า เสน่ห์ปลายจวัก

อาหารเมนูเดียวกัน ทุกครัวใช้เครื่องปรุงหลักครบเหมือนกัน แต่ทำใมจึงมีความอร่อยหรือไม่อร่อยแตกต่างกัน

ก็เลยจะลองพยายามส่องมองเข้าไปในมุมของ content บ้าง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 17, 16:28
ยังเดาไม่ออกว่ากระทู้นี้จะไปทางดนตรีหรืออาหารการกินนะคะ คุณตั้ง
ติดตามอยู่ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 14 ก.ย. 17, 18:29
มารอ .........

เผื่อท่านอาจารย์จะบอกวิธีทอด ไข่เจียว ให้อร่อย
โดยไม่ต้องใช้น้ำมันเยอะๆ ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 17, 19:27
พูดแหย่กันเล่นๆผมก็จะกล่าวว่า ปล่อยให้งง  

แท้จริงแล้วกำลังพยายามสื่อสารเพื่อหาคำบรรยายว่า สรรพคุณของอาหารเมนูจานหนึ่งใดที่ทำโดยพ่อครัว/แม่ครัวต่างกันที่เราได้ทานแล้วมีความรู้สึกพอใจมากจนต้องออกปากว่าอร่อยมาก ลำขนาด แซบอีหลีหลาย รอยจังวู้ นั้น มันมีอะไรซ่อนอยู่ในกระบวนการทำ/การปรุง  ทั้งที่เครื่องปรุงหลักก็ไม่ต่างกัน แต่ทำไมเราจึงมีความพอใจกับอาหารจานนั้นอย่างเด่นชัดออกมา

แน่นอนครับว่าสัมผัสและความพอใจของแต่ละคนที่ทานอาหารเมนูนั้นๆย่อมไม่เหมือนกัน แต่หากมันเกิดมีความเห็นร่วมกันว่าสุดยอดของเมนูนั้นๆต้องที่ใหน/ใครทำ  อืม์? แล้วอะไรคือสิ่งที่สร้างให้เกิดความพอใจนั้นๆร่วมกัน สัมผัส? รูป? รส? กลิ่น?  เสียง(??)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 17, 19:57
      จริงค่ะ   ความอร่อยอาศัยพื้นฐานความเคยชินด้วย   
      ดิฉันเป็นคนไม่กินอาหารเผ็ด     เพราะฉะนั้นแกงหรือยำอะไรที่กินแล้วซู้ดซ้าดกันว่าอร่อย   จะไม่รู้สึกตามเขาเลยค่ะ  เผลอกินเมื่อไหร่จะต้องกินน้ำตามจนพุงกาง  ไม่ทันได้รู้รสชาติที่พวกชอบกินเผ็ดเขาชอบกันว่าอร่อยนักหนา
      อาหารต่างชาติก็เหมือนกัน   เขาว่าของเขาอร่อย  เรากินเข้าไปกลับเลี่ยนจนพะอืดพะอมกว่าจะกินให้หมดจานตามมารยาท


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 17, 20:03
ต้มยำมันก็มี ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูดเป็นหลัก  ก็ไม่ต่างไปจากเครื่องดนตรีในวง orchestra ทั้งหลายที่ต้องมีไวโอลิน แชลโล เบส กลอง เครื่องเป่า เช่น ทรัมเป็ด ทรอมโบน ...  

ต้มยำของหลายคนก็ใส่ใบผักชีฝรั่ง ใส่น้ำพริกเผา ใส่เห็ด ทำให้ได้ความต่างออกไป   วงดนตรี orchestra ที่บรรเลงเพลงเดียวกันก็เช่นกัน บางวงก็มีปี่ Bassoon มี Harp มี piccolo... บางวงก็ไม่มี
 
ความลุ่มลึกในสัมผัสก็ย่อมต่างกัน      


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 17, 20:32
ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เทาชมพูว่าความอร่อยอาศัยพื้นฐานของความเคยชินด้วย 

นี่แหละสำคัญ เราทุกคนจะมีความรู้สึกว่าอาหารที่บ้านอร่อยถูกปากเสมอ แล้วต่างก็ชมว่าแม่ทำกับข้าวเก่งและอร่อยมาก 

ผมเห็นว่า ความคุ้นเคยกับอาหารทำเองของบ้านตนเองนั้นแหละที่เราเอาไปวิจารณ์อาหารเมนูเดียวกันที่ทำโดยผู้อื่นที่มิใช่แม่ของเรา แล้วก็เราเองนั่นแหละที่เอาความคุ้นเคยที่จำได้จากบ้านของเราไปขยายต่อในครอบครัวใหม่ของเรา ไปผสมผสานกับแบบที่คู่ของเราคุ้นเคยมาจากการทำในแบบครอบครัวของเขา   ก็จึงย่อมได้อาหารเมนูเดียวกันในอีกสัมผัสหนึ่ง    แต่ยังไงก็ตาม มันก็ย่อมต้องมีฝีมือจากครอบครัวหนึ่งหรือหลายครอบครัวที่หลายๆคนต่างก็พึงพอใจและต่างยอมรับกันว่าอร่อย

นี่แหละครับที่เป็นเรื่องหนึ่งที่อยากให้ได้มีการนำมาคุยกัน  ผมเห็นว่ามันเป็นเสน่ห์ปลายจวักที่ถ่ายทอดต่อกันมาภายในแต่ละครอบครัว     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 17, 20:54
คุณ ninpaat เริ่มด้วยเรื่องไข่เจียว

ไข่เจียว สามารถทอดออกมาได้ทั้งแบบกระด้างหน่อยแต่ฟูกรอบ แบบฟูแต่ออกไปทางนิ่ม แบบนิ่มแบน แบบอมน้ำมัน และแบบไข่เจียวกวน
แล้วก็มีทั้งแบบมีแต่เนื้อไข่ล้วนๆ มีแบบมีเนื้อสัตว์ผสม มีแบบมีผักผสม มีแบบมีการปรุงรสในเนื้อไข่เจียว มีแบบทรงเครื่อง

อร่อยทุกแบบทั้งนั้น แต่จะต้องเลือกแบบที่เหมาะกับชุดอาหารของสำรับนั้นๆ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 17, 21:15
โดยพื้นฐานที่เราได้ยินกันมาเกี่ยวกับการเจียวไข่    ก็น่าจะเป็นว่า ต้องทอดไข่เจียวในกระทะที่ร้อนและมีน้ำมันร้อนจัด เพื่อไข่เจียวจะได้ไม่อมน้ำมัน  นั่นหมายความว่ากระทะที่ใช้เจียวไข่จะต้องเป็นกระทะก้นลึก (wok) และจะต้องเป็นกระทะโลหะที่ไม่เคลือบสารกันติดก้นกระทะ(เพราะไม่ทนต่อความร้อนสูง)

ชีวิตในกรุงในชีวิตสมัยปัจจุบัน หากจะเจียวไข่กินเองตามแบบวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆกันมา เราก็คงจะทำได้ยากขึ้นเพราะระบบเตาของเราในปัจจุบันจะถูกออกแบบให้ใช้กระทะก้นแบน  แต่ก็ยังดีที่ยังพอมีกระทะก้นลึกแบบที่ก้นลึกไม่มากซึ่งพอที่จะใช้กับเตาสมัยใหม่ได้  แต่หากใช้เตาแบบใช้ไฟฟ้า   อืม์ ก็พอได้นะ เพราะยังมีกระทะก้นแบบสำหรับใช้กับการปรุงอาหารด้วยความร้อนสูง ที่ทำด้วยเหล็กและที่ทำด้วยโลหะหล่อ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 17 ก.ย. 17, 07:50
ขอบพระคุณท่านอาจารบ์ครับ

ที่ทำให้ผมทราบว่า การทอดไข่ที่ดีก็คือ หาวิธีที่ทำให้ไข่สุกโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้อมน้ำมัน นั่นเอง

ส่วนเรื่องรสชาติ ก็คงแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน
ซึ่งของผมเองมักจะเหยาะน้ำมันหอยผสมลงไปตอนตีไข่ให้เป็นฟอง ก่อนนำไปทอดครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ย. 17, 08:50
นึกถึงเพลงนี้ 

https://youtu.be/li70A8byexk

อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว  
แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์  
ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี  


พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A104.png)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 17, 15:23
ภาพของไข่เจียวที่ดูน่ากินในสายและความรู้สึกของเราโดยทั่วๆไปก็น่าจะเป็น ไข่เจียวที่เห็นเป็นเนื้อเดียวกันวางแผ่มาเต็มจาน หนานุ่ม มีผิวหน้าที่ค่อนข้างเป็นเนื้อเดียวกัน ดูแห้งและเรียบเนียน ไม่แตกกะรุ่งกะริ่ง มีสีผิวเข้มกว่าเนื้อใน ให้ความรู้สึกว่ามีความกรอบบางอยู่ที่ผิวหน้าแต่มีเนื้อในนุ่มคล้ายฟองน้ำ มีไอร้อนและมีกลิ่นหอมโชย

จะทอดใข่เจียวให้ได้ดังภาพนี้ ก็คงจะมิใช่การใช้ไข่ใบเดียวแน่ๆ แล้วก็คงมิใช่จะมีแต่เพียงไข่กับซอสปรุงรส(น้ำปลา ซีอิ๊ว ...) เท่านั้น  ยังมีอีกว่าจะใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ด จะใช้น้ำมันอะไรทอด  แถมอีกด้วยว่าจะใส่อะไรลงไปในเนื้อไข่เจียวจานนั้นๆด้วยใหม 

เอาเข้าจริงๆ เมนูที่เรียกว่าไข่เจียวที่จะรู้สึกว่ามีความอร่อยเด่นออกมาหรือไม่นั้น ก็ดูจะขึ้นอยู่กับว่าจะทำออกมาเพื่อทานในลักษณะใดเสียมากกว่า   ในลักษณะของอาหาร 1 จานในสำรับนั้นๆ ?  ในลักษณะของจานของแนมกับอาหารรสเผ็ดร้อนในสำรับนั้นๆ ?  ในลักษณะของอาหารสั่งด่วนเป็นจานเสริมเมื่ออาหารจานอื่นในสำรับไม่พอเพียง ?  ในลักษณะของอาหารจานเดียว ?  และมื้ออาหาร ?

เสน่ห์ปลายจวักในเรื่องของไข่เจียวนี้ จะไปว่ากันที่เรื่องของรสชาติ เรื่องขององค์ประกอบเครื่องปรุง เรื่องของรูปลักษณ์ ความแปลกใหม่
 หรือ ... ?   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 17, 15:28
ในเรือนไทยนี้ก็เคยมีกระทู้เรื่องเมนูไข่ แต่จำไม่ได้แล้วว่ามีเรื่องของไข่เจียวอยู่มากน้อยเพียงใด จำได้แต่ว่ามีเรื่องของการรังสรรค์เมนูที่ทำจากไข่อยู่มากมาย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 17, 15:52
แต่ละท่านสมาชิกก็คงจะมีความติดใจกับไข่เจียวของร้านนู้นร้านนี้ ของพ่อครัวแม่ครัวคนนั้นคนนี้ หรือไข่เจียวของที่บ้านตนเอง ...   

พอจะนำมาเล่าสู่กันฟังได้บ้างใหมครับว่า ความเด็ดที่เข้าข่ายเป็นเสน่ห์ปลายจวักที่ได้สัมผัสมานั้นเป็นเช่นใด 

ตัวผมเห็นว่าคำว่าเสน่ห์ปลายจวักนั้นมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงเฉพาะเรื่องของรสชาติเท่านั้น  แต่เป็นเรื่องของประมวลสัมผัสในองค์รวมของเราที่ได้รับรู้ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 17, 16:25
จำได้ว่าไข่เจียวที่แม่ทำให้กินตอนเล็กๆ เป็นสีเหลืองอ่อนๆ นุ่มเบาและฟู เกือบจะเหมือนไข่คน    ใช้น้ำมันหมู อร่อยมาก
ถ้าจำไม่ผิด กระทะสมัยนั้นเป็นกระทะเหล็กรูปแอ่งใบใหญ่ๆ   ใส่น้ำมันหมูลงไปเยอะมาก  ตั้งไฟร้อน แล้วเทไข่ที่ตีจนเข้ากันได้ดีลงไป มันก็ฟูฟ่องขึ้นมา  ก็รีบตักขึ้นใส่จาน ไม่รอให้เหลืองเกรียม
มาถึงยุคที่กลัวน้ำมันหมูกันจนไม่เหลือติดก้นหม้อในบ้าน  หันไปใช้น้ำมันพืช  ไข่เจียวก็ไม่อร่อยเหมือนเดิมแล้วค่ะ
ยิ่งมาใช้กระทะแบบไม่มีน้ำมัน  ไข่เจียวหนัก สีเหลืองเกรียม และแข็งเป็นแผ่นราวกับแพนเค้ก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 17, 18:24
มีความเห็นตรงกันเป๊ะเลยครับว่า ไข่เจียวด้วยน้ำมันหมูนั้นมีความอร่อยหอมมากกว่าไข่เจียวด้วยน้ำมันพืชมากหลาย โดยเฉพาะน้ำมันหมูที่ได้จากการเจียวเอาน้ำมันหมูจากมันเปลว 

สมัยก่อนนั้น ทุกตลาดสดจะต้องมีแม่ค้าอยู่เจ้าหนึ่งเป็นอย่างน้อยที่เจียวน้ำมันหมูขาย แล้วก็ขายกากหมูที่ได้จากการเจียวน้ำมันนั้น  ก็เลยทำให้มีเจ้าอร่อย ผมไม่แน่ใจว่ากิจกรรมนี้ได้หายไปตลาดสดอย่างสิ้นเชิงเมื่อใด ในช่วงปี 2522 ก็ยังพอมีให้เห็นในตลาดเทศบาลของจังหวัดและอำเภอใหญ่ๆที่อยู่ห่างไกล     ที่จริงแล้วในปัจจุบันนี้ก็ยังมี แต่มิใช่เป็นการเจียวมันหมูเพื่อขายน้ำมันหมูเป็นหลัก เป็นการเจียวเพื่อขายกากหมูโดยตรง แล้วเอาน้ำมันมาทอดอย่างอื่นต่อ (หมูชุบแป้งทอด ทอดหนังพอง แคบหมู...)

ของทอดที่ใช้น้ำมันหมูนั้นจะอมน้ำมันน้อยกว่าที่ใช้น้ำมันพืชมาก จะให้ความรู้สึกแบบ clear crisp and crunchy มากกว่าของที่ทอดโดยน้ำมันพืช 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 17, 18:52
คิดว่า ของปรุงแต่งบนไข่เจียวที่อาจารย์ได้กล่าวถึงนั้น บางครั้งก็น่าจะมีกากหมูจากมันเปลวโรยแต่งหน้ามาด้วย  ซึ่งจะทำให้ความอร่อยได้เพิ่มขึ้นอีกอักโข โดยเฉพาะเมื่อเหยาะด้วยน้ำปลาให ซึ่งน้ำปลาชนิดนี้คงจะหากินกันไม่ได้แล้ว 

น้ำปลาใหนั้นให้รสชาติและความหอมมากกว่าน้ำปลาขวดในปัจจุบันนี้มากนัก เมื่อใดที่บ้านใดซื้อมันหมูหรือหมูสามชั้นเอามาทอดเอาน้ำมันเพื่อใช้ในการทำอาหารมื้อนั้นๆ กากหมูที่ได้มานั้น หากเอาใส่จานมาวางโต๊ะเมื่อใด แล้วมีน้ำปลาใหใส่ถ้วยวางไว้ ไม่เหลือหรอกครับ จะถูกเล็มไปจนหมด แถมยังอาจจะยังต้องคอยยกมือดมกลิ่นน้ำปลาที่ติดอยู่ที่ปลายนิ้วเป็นระยะๆอีกด้วย

น้ำปลาในปัจจุบันนี้ ตามฉลากว่าทำมาจากปลากะตักหรือปลาใส้ตันกันทั้งนั้น  ลองหาใช้น้ำปลาที่ใช้ปลาทูผสมดูบ้างนะครับ กลิ่นและรสชาติจะใกล้เคียงกับน้ำปลาใหมากเลยทีเดียว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 17, 19:20
กระทะที่เราใช้กันในสมัยก่อนนั้น ใช้กันบนเตาถ่าน จนเข้าสู่ยุคแรกๆของเตาแกสจึงได้เริ่มมีการนำกระทะแบบฝรั่งมาใช้กัน

กระทะที่ใช้กันบนเตาถ่านของครอบครัวทั่วๆไปนั้นจะเป็นกระทะชนิดที่เรียกว่ากระทะเหล็กหล่อ มีความหนาและหนัก   ส่วนกระทะที่ใช้ในครัวจีนตามร้านอาหารมักจะเป็นกระทะเหล็กเหล็กแผ่นอัดขึ้นรูป   สำหรับในปัจจุบันนี้ส่วนมากจะเป็นกระทะอะลูมิเนียม  แต่ในบ้านสมัยใหม่ (คงจะทั้งหมดกระมัง) จะใช้กระทะก้นแบนทำจากวัสดุต่างชนิดกันหรือเป็นโลหะผสม และก็มักจะเป็นแบบเคลือบผิวกันติดกระทะอีกด้วย  ทำให้ได้อาหารที่มีความต่างกันจากการทำอาหารอาหารจากตำราเดียวกัน

การใช้กระทะที่มีความแตกต่างกันเหล่านี้ จะทำให้การทำไข่เจียวหรือการทำไข่ดาวมีความต่างกัน ??


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 17 ก.ย. 17, 20:28
ผมยังหาคนทอดไข่ให้ทานไม่ได้เลย  :'(


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 17, 09:42
ยุคนี้ต้องหัดทำเองค่ะ ฝึกทำให้เก่งด้วย จากนั้น น่าจะมีคนเข้าคิวขอมานั่งชิมไข่เจียวด้วยซ้ำไปค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 18 ก.ย. 17, 09:52
ทำกับข้าวไม่เป็น ไม่เคยกินไข่เจียวน้ำมันหมูด้วย แต่มานั่งอ่านพลางกลืนน้ำลายค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 17, 19:43
ขอย้อนไปเรื่องน้ำปลาอีกหน่อยนึง

ยังมีอีก 1 ชนิดน้ำปลาที่ทำใช้กันในหมู่คนไทยในภาคกลางที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมทุกปี  คือ น้ำปลาสร้อย ซึ่งทำมาจากปลาสร้อย ปลาน้ำจืดมีเกล็ดตัวเล็กๆที่ตกค้างอยู่ในหนองในบึงหลังฤดูกาลน้ำหลากท่วม   เป็นน้ำปลาที่มีกลิ่นหอมชวนกิน มีสีอ่อนกว่าน้ำปลาที่ทำจากพวกปลาทะเล  ในปัจจุบันนี้หาซื้อได้ค่อนข้างยาก    ผมเข้าใจว่าเขาจะใช้เวลาในการหมักไม่ในคาบประมาณ 6 เดือน ดังนั้นช่วงเวลาเวลาที่เราจะได้มีโอกาสลิ้มลองของทำใหม่ในรอบปีจึงอยู่ในช่วงตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป  น้ำปลาสร้อยที่ชาวบ้านทำเองที่ทำมาจากปลาสร้อยแท้ๆนั้น ที่เราพอจะหาซื้อได้นั้นมีอยู่ข้างทางบนถนนทางหลางสายพิษณุโลก-นครสวรรค์ ช่วงต้นทางในเขตพิษณุโลก

น้ำปลาสร้อย ก็มีเอกลักษณ์ของมัน ลองชิมดูแล้วจะได้สัมผัสกับความหอมอร่อยที่ต่างออกไป     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 17, 20:44
จะต่อไปเรื่องของเกลือที่ใช้ในการหมักดองถนอมอาหาร ก็จะเลยเถิดไปไกล  กลับมาต่อเรื่องของกระทะดีกว่า

กระทะเหล็กหล่อมีความหนา เป็นกระทะที่รักษาระดับความร้อนได้ค่อนข้างจะคงที่ได้นาน อุณหภูมิของกระทะจะไม่ขึ้นลงแบบฉูดฉาดเมื่อเราเร่งไฟหรือลดไฟ  มันจึงค่อนข้างจะเหมาะกับการใช้บนเตาถ่านหรือเตาฟืน เพราะระดับความร้อนที่จะได้จากถ่านหรือฟืนนั้นมันไม่นิ่ง โหมกระพือได้เร็วแล้วก็ลดลงเร็ว   อาหารที่ทำจากกระทะเหล็กหล่อเกือบจะไม่มีกลิ่นใหม้

กระทะโลหะอื่นๆนั้นค่อนข้างจะบางละเบา ระดับความร้อนในกระทะสามารถจะพิ่มขึ้นและลดลงได้อย่างรวดเร็วตามการเปิดแกสหรือไฟฟ้ามากหรือน้อย ผมเห็นว่าดูจะเหมาะกับการทำอาหารที่ให้สัมผัสแบบ medium rare  อาหารมีโอกาสส่งกลิ่นใหม้ได้ง่าย

กระทะแบบเคลือบสารกันติด เป็นพวกกระทะที่ใช้ทำอาหารด้วยความร้อนสูงจัดไม่ได้  สำหรับผมเห็นว่า อาหารมักจะออกไปในสัมผัสแบบเอาเครื่องปรุงต่างๆมากวนรวมกันในภาชนะร้อนๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 17, 20:47
กำลังจะไปเอาไข่มาเจียวครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 17, 19:27
ใช้ไข่เพียงฟองเดียว ก็คงจะเหมาะสำหรับโปะหน้าข้าวในจานเท่านั้น  ใช้ 2 ฟองก็พอที่จะทำให้แผ่ได้เต็มจาน แต่เนื้อจะบาง ใช้ 3 ฟองก็น่าจะพอเหมาะแบบเพียงพอ  ถ้าจะให้เหมาะกับเป็นจานไข่เจียวในสำรับอาหารแบบดูดีก็น่าจะต้องใช้ประมาณ 4 ฟอง

น้ำมันที่ใช้ทอด ก็เลือกใช้น้ำมันพวกที่ไม่ข้นเหนียว มีความใส และต้องเป็นน้ำมันใหม่  จะเป็นน้ำมันเก่าที่ทอดมาครั้งหนึ่งแล้วก็ยังพอได้ แต่จะต้องไม่เป็นน้ำมันที่ผ่านการใช้ทอดปลาและของที่มีกลิ่นแรง

กระทะที่จะใช้ ก็เลือกแบบที่ค่อนข้างจะหนา จะหนาทั้งใบหรือเฉพาะที่ก้นกระทะก็ได้

ในเรื่องของเตา ก็คงจะเลือกไม่ได้ จะเป็นเตาถ่าน เตาแกส หรือเตาไฟฟ้า ก็คงต้องใช้กัน 

เมื่อองค์ประกอบในการทำไข่เจียวครบแล้ว ก็ไปถึงเรื่องของขั้นตอนหรือกระบวนการทำให้มันออกมาอร่อย     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 17, 20:13
ดูจะมีข้อกังขาเล็กๆน้อยๆว่าจะใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดดี

จะเลือกใช้อย่างใดก็ได้ หรือหากตัดสินใจไม่ได้ จะใช้ทั้งสองอย่างในสัดส่วนต่างกันใดๆก็พอได้อยู่  เมื่อทอดออกมาแล้วคนส่วนมากก็ดูไม่ค่อยจะออกกันหรอกว่า เป็นไข่เจียวจากไข่เป็ดหรือไข่ไก่ หรือผสมปนกัน   

ไข่ไก่จะให้ความรู้สึกแบบฟูเบาและมีกลิ่นแบบที่เราคุ้นกัน  ไข่เป็ดจะให้ความรู้สึกแบบมีเนื้อมีหนังและมีกลิ่นหอมค่อนข้างแรง

แต่การเอาไข่มาเพียงแต่ตีให้เป็นเนื้อเดียวกันแล้วทอดนั้น คงจะมิใช่ไข่เจียวที่อร่อยนัก  ?? 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 17, 17:47
ไข่ที่จะนำมาทำไข่เจียวนั้นควรจะมีอุณหภูมิห้อง มิใช่เอาออกมาจากตู้เย็นต่อยใส่ชาม ตีแล้วเจียวเลย   ไข่เจียวที่ได้มันมีความต่างที่เราสัมผัสได้ และมีความอร่อยกว่ากัน

แล้วก็ควรที่จะใช้ไข่ใหม่อีกด้วย เลือกได้ง่ายๆเพีียงดูจากผิวเปลือกของไข่ ซึ่งถึงแม่ว่าจะไม่ 100% แต่ก็ได้ผลดีและเร็ว  ไข่ที่ใหม่กว่าจะมีผิวเปลือกที่หยาบด้านมากกว่าไข่เก่า ไข่เก่าจะมีผิวเปลือกออกไปทางเรียบและมัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 17, 18:39
ต่อยไข่ใส่ชามแล้วใช้ส้อมตีให้ไข่ขาวและไข่แดงแหลกปนกัน  แล้วก็มาถึงขั้นตอนการเพิ่มความต่าง ความอร่อย ความน่าทาน เพื่อให้เป็นเด่นเป็นตัวเอก เป็นตัวรอง หรือเป็นตัวประกอบ

ที่เราพอจะคุ้นกันก็มีอาทิ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วปรุงรส ซอสหอยนางรม หอมใหญ่ ต้นหอมซอย หมูสับ เนื้อปู หอยนางรม ปูอัด ...  ทั้งแบบใช้เดี่ยวๆหรือเลือกเอามาผสมผสานกัน

สำหรับผมเห็นว่า สำหรับไข่เจียวธรรมดาๆนั้น น้ำปลา (อาจใช้ซีอิ๊วขาวเหยาะลงไปเล็กน้อย) คือตัวที่ทำให้ไข่เจียวมีกลิ่นหอมจนเป็นกลิ่นเอกลักษณ์ของไข่เจียวของไทย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 17, 19:21
การตีไข่ก่อนลงเจียวก็มีความสำคัญ  ตรงนี้ก็เป็นฝีมือเหมือนกัน  เมื่อการตีไข่เพื่อให้ฟองอากาศเข้าไปแทรกอยู่ในเนื้อไข่ซึ่งจะทำให้ฟูเมื่อเจียว    ? แล้วจะตีให้เป็นฟองมากน้อยเพียงใด ?   หากมากไปเมื่อเจียวออกมาแล้วก็คงจะคล้ายกับฟองน้ำ น้อยไปก็ไม่ฟู   แต่ละคนที่ว่าทำได้อร่อยๆนั้น ต่างก็ใช้ความรู้สึกในส่วนที่ว่าพอดีนั้นของตนเอง จะวัดจะนับ (quantify) ออกมาก็ยาก   และการทำให้ได้ไข่เจียวที่มีเนื้อนิ่มและฟู  ก็ยังไปเกี่ยวกับความร้อนน้ำมัน กระทะ และเตาซึ่งเป็นข้อจำกัดอีกด้วย

ก็เลยมีวิธีที่มีการนำเสนอวิธีออกมา อาทิ บีบน้ำมะนาวหรือใส่น้ำส้มสายชูเล็กน้อยเพื่อให้ได้ไข่เจียวที่สามารถรักษาความฟูได้นานขึ้น    ใส่น้ำลงไปเล็กน้อยในขณะตีไข่เพื่อจะได้เพิ่มสัมผ้สของเนื้อ    ตั้งกระทะให้น้ำมันร้อนจัด ลองหยดไข่ที่ตีไว้ลงไป หากฟูลอยขึ้นมาในทันทีก็ถือว่าน้ำมันร้อนใช้ได้แล้ว ....   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 17, 20:07
ตัวผมเอง   ผมชอบทำไข่เจียวทานกับแกงป่าที่เผ็ดร้อน  ไข่เจียวที่ใส่น้ำและเนื้อกระเทียมโทนดอง  ไข่เจียวหมูบะช่อ  และไข่เจียว (?) ที่มีลักษณะใกล้กับการผัดใส่ไข่หรือชุบไข่ (มะระ แหนม มะเขือยาว ชะอม กระเทียมดอง มะเขือเทศ ฟักทอง เพกา ใบเหลียง ใบเล็บครุฑ ...)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 20 ก.ย. 17, 20:42
สมัยนี้ดูเหมือนการทำอาหารเน้นหน้าตามากกว่ารสชาติ

วันก่อนเพื่อนผมบ่นๆว่าทำไมอาหารหลายๆอย่างสมัยนี้ถึงต้องตอกไข่ยางมะตูม หรือไข่ลาวาลงไปโปะหน้า ทั้งๆที่รสชาติมันก็ไม่มี จืดๆหนืดๆลิ้น ไม่เห็นจะอร่อยตรงไหน
แม้กระทั่งต้มยำ ก็ยังใส่ไข่เลย ซึ่งพวกหัวเก่าอย่างผมและเพื่อนมองว่ามันเป็นการผสมผสานที่ไม่เข้ากันโดยสิ้นเชิง

อภิปรายกันไปมาก็ได้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ที่อาหารยุคนี้เน้นหน้าตาเพราะว่า....มันเป็นโลกโซเชียล คนกินอาหารไปตามร้านต้องถ่ายรูปโพสต์ลงอินสตาแกรม เฟสบุ๊ค ก่อนลงมือรับประทาน ถ้าอาหารอร่อยแต่ดูไม่น่ากิน ก็จะเหมือนกับไม่อร่อย แต่ถ้ารูปลักษณ์สวยงามแล้ว แม้จริงๆไม่อร่อย แต่ก็ยังทำให้เพื่อนๆในโซเชียลน้ำลายหก

รวมไปถึงพวกทำคลิปสอนทำอาหารในยูทูป หรือเฟสบุ๊ค ที่มีมากขึ้นๆทุกที เพราะประสาทสัมผัสที่สื่อสารทางยูทูป ได้มีแค่ภาพกับเสียง ดังนั้นการเน้นหน้าตาเลยต้องมาก่อนรสชาติ

ผมเองก็เป็นแฟนคลิปพวกนี้นะครับ ชอบดูแล้วเอามาลองทำเอง หลังจากมีประสบการณ์ระดับหนึ่งก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า เชฟทั้งหลายที่สถาปนาตัวเองในเฟสบุ๊คนั้น ทำตามเขาสูตรเขาไปก็ไม่ได้อร่อยเป็นพิเศษอะไรเล้ยยย เขาเพียงแค่มาทำอาหารให้ดูเท่านั้นแหละ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 17, 18:45
ในปัจจุบันนี้ เรากำลังมีชีวิตในรูปแบบฝรั่งนิยม จะด้วยความสมัครใจหรือไม่ก็ตาม  ตื่นเช้าไปทำงาน เย็นกลับถึงที่พักก็เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว  อาหารที่ทานกันทุกมื้อทั้งวันก็เป็นแบบจานเดียวของใครของมัน หากเป็นอาหารแบบไทยก็ข้าวราดแกง แบบจีนก็เป็นบรรดาเส้นทั้งหลาย แบบฝรั่งก็เป็นอาหารจานเดียวตามแบบฉบับของเขา  หากจะทานข้าวเย็นที่บ้านก็เป็นบรรดากับข้าวถุงที่แวะซื้อมา    ครัวของที่พักไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ดอนโด ... ก็เป็นแบบฝรั่ง ทั้งการจัดพื้นที่และอุปกรณ์เครื่องใช้   ครัวไทยเกือบจะไม่ได้พบเห็นอีกแล้ว

ด้วยสภาพเช่นนี้แล้ว  ความพิถีพิถันในอาหารที่ทำออกมาขายเพื่อให้ซื้อกินกันก็คงจะหาได้ยาก ก็เพียงมีองค์ประกอบครบ ทำให้ดูดีน่ากิน ส่วนเรื่องรสชาตินั้นจะมีอะไรมากไปกว่าเปรี้ยวเค็มหวานเผ็ด ก็ขายได้แล้ว

เมื่อซื้อกินจนเกิดเจ้าประจำ รูปร่างหน้าตาและรสชาติของกับข้าวนั้นๆก็กลายเป็นมาตรฐานของตนไป   แล้วในครัวที่บ้านจะเหลืออะไรล่ะ น้ำปลา ซีอิ็วขาว ซ๊อสหอยนางรม กระเทียม กับของอีกไม่กี่อย่างก็เพียงพอในการทำกับข้าวกินเองแล้ว ใส่น้ำมากหน่อยก็เป็นแกง ใส่น้ำน้อยหน่อยก็เป็นผัด         


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 17, 19:08
หมูสับ ซึ่งสมัยก่อนนั้นเรียกกันว่าหมูบะช่อ หากไปซื้อในตลาดสดก็เรียกกันว่าหมูบด ซึ่งก็พอมีให้เลือกได้ว่าจะเอาแบบมีมันปนมากหน่อยหรือน้อยหน่อย แถมด้วยว่าจะเอาแบบบดหยาบหรือบดละเอียด  บางท่านก็เลือกซื้อหมูเนื้อแดงแล้วให้เขียงหมูบดให้ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมัน

สมัยกอ่นนั้น เราต้องซื้อหมูติดมันมาทำหมูบะช่อเอง ใช้มีดบังตอสับบนเขียงไม้ให้ได้หยาบหรือละเอียดตามใจชอบ  สำหรับเขียงไม้นั้นหากพิถีพิถันหน่อยก็จะเลือกใช้ไม้มะขาม เอามาแช่น้ำเกลือจนฉ่ำแล้วตากให้แห้ง ทำความสะอาดผิวหน้าแล้วจึงนำมาใช้ ในปัจจุบันนี้ที่เราเห็นเขียงเข็นขายกันอยู่นั้น เกือบทั้งหมดจะไม่ใช่ไม้มะขาม     ที่จริงเราก็ยังหาซื้อเขียงไม้มะขามได้ไม่ยากนักในพื้นที่ๆมีการปลูกมะขามขาย

ครัวของบ้านในปัจจุบันจะใช้เขียงที่ทำจากแผ่นไม้หรือแผ่น polymer  และไม่มีมีดบังตอใช้กันในครัว  ก็ทำให้การทำหมูสับหรือหมูบะช่อแบบอร่อยๆได้ยาก

   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 17, 19:32
บะช่อแบบที่ผมทำ จำมาจากแม่และแม่ครัวรุ่นเก่า คือ เอาเนื้อหมูติดมันมากน้อยตามชอบ นำมาหั่นเป็นชิ้นๆขนาดประมาณหัวแม่มือ แล้วสับ
 ก่อนที่หมูจะละเอียดตามชอบก็ปอกกระเทียมสักสองสามกลีบ ทุบให้แหลกแล้วสับไปพร้อมกับหมูสองสามครั้ง เอารากผักชีรากหนึ่ง ทุบแล้วหั่นซอยเป็นท่อนสั้นๆใส่ลงไป สับพลิกไปพลิกมาสองสามครั้ง ใส่เกลือ หรือน้ำปลา หรือซีอิ๊วขาว สับพลิกไปมาสองสามครั้ง แล้วตักใส่ถ้วยพักไว้

หากจะใช้ในแกงจืด ก็เอาช้อนแตะน้ำเปล่านวดหมูสับในถ้วยนั้น หมูก็จะจับตัวเป็นเนื้อเดียวกัน  ปั้นเป็นก้อนใส่ลงในน้ำเดือด หรือน้ำต้มกระดูกที่จะทำแกงจืด 

หากจะทำไข่เจียวหมูสับ ก็ตักเอาจากถ้วยใส่ในถ้วยไข่ที่ตีเพื่อเจียว ยีหมูให้แตกกระจายแล้วจึงนำลงกระทะ หรือจะกลับทางต่อยไข่ใส่ในถ้วยหมูสับนั้นก็ได้     หากประสงค์จะทำหมูปั้นทอด ก็ใส่ไข่ลงไปในปริมาณเพียงเพื่อทำหน้าที่เป็นของยึดรั้ง (binder) ก้อนเนื้อหมูที่จะแตกเมื่อลงทอดในกระทะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 17, 19:50
อ้อ อย่าลืมใส่พริกไทยป่นลงไปในหมูบะช่อด้วยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 17, 18:01
ก็ยังมีไข่เจียวอีกรูปแบบหนึ่งที่ผมชอบ จำมาจากที่คุณพ่อเคยทำทานเมื่อยังเป็นเด็กๆอยู่

เอากุนเชียงมาหั่นเป็นแว่นบางแล้วเอาลงกระทะทำให้สุก ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำมันลงไปด้วยเพราะน้ำมันจากมันที่ผสมเป็นเนื้อของกุนเชียงจะออกมามากพอที่จะจี่ตัวเองให้สุกได้ จะให้กรอบหรือไม่กรอบก็ได้แล้วแต่ชอบ ตักออกมาพักไว้     เอาหอมแดง 3-4 หัวมาซอย  ตอกไข่ใส่ในถ้วย ตีให้ไข่แดงไข่ขาวเข้ากันดีแล้วก็เอากุนเชียงที่ตักพักไว้และหอมซอยใส่ลงไป กวนให้เข้ากัน ใส่น้ำปลาเพื่อปรุงรสและใส่น้ำลงไปเล็กน้อย   เอาน้ำมันใส่กระทะมากพอควร(แต่ไม่ถึงกับมากจนทำให้ไข่ที่เจียวนั้นลอยอยู่บนน้ำมัน) เมื่อน้ำมันร้อนจัดแล้วก็เอาไข่ใส่เครื่องที่เตรียมไว้นั้นเทลงไป แล้วลดไฟลงเล็กน้อย เมื่อเห็นว่าไข่ด้านบนใก้จะเริ่มสุกทั่วกัน ก็เร่งไฟ พอกระทะร้อนจัดกับมาอีกครั้งก็พลิกกลับหน้าไข่เจียวนั้น คะเนว่าสุกได้ที่แล้วก็กลับหน้าไข่อีกครั้งเพื่อดูว่าพอใจแล้ว  จากนั้นก็อาจจะกลับไปมาอีกสักครั้งสองครั้งเพื่อทำให้ผิวหน้าดูเกรียมสวย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 17, 18:47
จานไข่เจียวนั้นดูเป็นเมนูที่ทำง่ายๆ  แต่มันก็มีเรื่องที่ทำให้มันมีความแตกต่างกันออกไป จะใส่โน่นนี่ลงไปอย่างไรก็ตาม หรือจะจัดวางจัดเรียงเช่นใด ก็คงจัดให้อยู่ในเรื่องของความแปลก     แต่ในเรื่องของความพอเหมาะพอดีของใช้เครื่องปรุง ความรู้สึกสัมผัส และรสชาตินั้น มันเป็นเรื่องของศิลปะในการทำ     

เสน่ห์ปลายจวัก ก็น่าจะเป็นเรื่องทั้งหลายดังที่กล่าวมารวมกัน  แล้วก็ยังเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลอีกด้วยที่จะตัดสินว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่

ในกระทู้นี้ก็จึงคงจะเป็นเรื่องที่พูดคุยคละกันระหว่างสองประเด็นข้างต้นนี้เอง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 17, 18:27
จานไข่เจียวและอาหารไทยอื่นๆบนโต๊ะอาหารทั้งหลายมักจะต้องมีการจัดถ้วยน้ำปลาพริกมาร่วมด้วยเสมอ  ซึ่งน้ำปลาพริกก็ทำให้มีความต่างทางรสชาติและความน่ากินได้เช่นกัน

น้ำปลาพริกนี้ดูจะเป็นเครื่องจิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ในสำรับอาหารไทย    เท่าที่ตนเองได้ประสบมา ในประเทศรอบๆบ้านเราเขาใช้ซีอิ้วแทนน้ำปลา และก็เกือบจะไม่มีการใช้พริกที่เผ็ดในตระกูลพริกขี้หนูใส่ในเครื่องจิ้มนี้   

น้ำปลาพริกขี้ที่เราเห็นกันในร้านอาหารทั่วๆไปในปัจจุบันนี้  บ่งถึงลักษณะการทำแบบลวกๆและอาจจะเข้าระดับทำแบบขอไปทีก็มีเยอะ  พริกที่นำมาใช้ก็หลากหลาย หั่นค่อนข้างหยาบ และก็มิใช่พริกขี้หนูสวน บางทีก็แถมผงชูรสลงไป บางทีก็แถมน้ำตาลครายลงไปด้วย

หากเรามีครัว ผมว่าทำกินเองจะดีกว่าและอร่อยกว่าเยอะ แล้วเราก็ยังจะได้ "น้ำปลาพริกขี้หนู" ของจริง  มิใช่ "น้ำปลาพริก" หรือ "พริกน้ำปลา" ที่เราคุ้นเคยกันตามร้านอาหาร     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 17, 18:48
เราทำน้ำปลาพริกได้หลายวิธี    ใส่พริกลงในถ้วยก่อนใส่หรือหลังใส่น้ำปลา  ทุบพริกหรืิอไม่ทุบพริก  ซอยให้ละเอียดบางหรือใส่ทั้งเม็ด  ใส่หอมซอยหรือไม่ใส่  บีบมะนาวก่อนเทน้ำปลาหรือบีบทีหลัง ....


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 17, 18:32
น้ำปลาพริกที่ใช้พริกขี้หนูสวนกับน้ำปลาดีๆนั้นให้ความหอมและรสที่แตกต่างออกมา  น้ำปลาดีของผมหมายถึงน้ำปลาที่ได้มาจากการกระบวนการหมักแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลานานกว่า 12 เดือน มิใช่น้ำปลาที่ได้มาจากการหมักที่มีการใช้ตัวเร่งหรือที่มีการปรับลดปริมาณโซเดียม  ส่วนพริกขี้หนูนั้น คือพริกขี้หนูสวนจริงๆซึ่งจะมีความหอม เม็ดเล็ก และมีขนาดสั้นกว่าพริกขี้หนูพันธุ์    ในความรู้สึกของผมนั้น พริกขี้หนูสวนจริงๆจะให้ความเผ็ดที่เป็นแบบ flash คือซาบซ่าแล้วก็จางลงไปค่อนข้างเร็ว  ต่างกับพริกขี้หนูพันธุ์ที่จะให้ความเผ็ดและความแสบร้อนที่จะคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะมีผลทำให้ไปลดรสและความอร่อยของอาหารจานอื่นๆหลังจากนั้น 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 17, 19:03
ผมจะซอยพริกขี้หนูสวนเป็นแว่นบางๆด้วยมีดคมๆใส่ถ้วยให้เสร็จก่อนที่จะใส่น้ำปลา หากจะใส่หอมด้วย ก็เลือกใช้หอมแดงของไทย(ที่แม่ค้าเรียกว่าหอมเชียงใหม่) ซอยเป็นแว่นบางๆด้วยมีดคมๆใส่ถ้วยไปกับพริกก่อนใส่น้ำปลาเช่นกัน  และหากจะใส่มะนาว ผมก็จะบีบน้ำมะนาวลงไปบนพริกและหอมซอยก่อน เว้นระยะนิดนึงก่อนที่จะใส่น้ำปลาลงไป 

เข้าใจว่า การซอยพริกและหอมให้ละเอียดนั้นก็คงจะไม่ต่างไปมากกว่าการบุบพริกและหอมเพื่อให้มันคายน้ำมันหอมระเหยออกมา   

ก็จะทำให้น้ำปลาถ้วยนั้นมีกลิ่นหอม ดูน่ากิน และมีรสที่กลมกล่อม     ครับ ดูละเมียดละไมและตั้งใจทำมากกว่าจะเป็นเพียงการทำเพียงเพื่อให้มันครบองค์ประกอบสำหรับอาหารสำรับนั้นๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 17, 19:16
น้ำปลากับพริกเป็นเพียงเครื่องปรับรสของเมนูอาหารจานต่างๆในทำนองเดียวกันกับขวดเกลือกับขวดพริกไทยที่วางอยู่บนโต๊ะของอาหารฝรั่ง

แต่หากน้ำปลาพริกมีการใส่ประกอบอื่นๆลงไปด้วย น้ำปลาพริกถ้วยนั้นก็จะแปลงสภาพกลายเป็นน้ำจิ้ม มิใช่เรียกว่าน้ำปลาพริกอีกต่อไป เช่น ใส่พริกป่น+ข้าวคั่ว  ใส่มะม่วงซอย+น้ำตาล+มะนาว...   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 17, 18:49
น้ำจิ้มก็มีส่วนทำให้อาหารจานธรรมดานั้นๆอร่อยเด่นขึ้นมา  เราคงจะได้ยินกันบ่อยครั้งในวงสนทนาว่าน้ำจิ้มร้านนี้อร่อยร้านนั้นอร่อย  น้ำจิ้มของไทยดูจะเป็นพระรองตัวสำคัญที่ส่งเสริมให้อาหารไทยมีความอร่อยจนโด่งดังไปทั่วโลก   

ไทยเรามีน้ำจิ้มที่มีความหลากหลายมาก แล้วก็ด้วยความเด่นของมัน มันก็จึงถูกแอบลักนำชื่อไปจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินขนาดที่ส่วนราชการที่ดูแลเรื่องการค้าและทรัพย์สินของเรายังหลุด ตามไม่ทัน   ท่านที่ได้ติดตามหรือเคยดูรายการทางโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับเรื่องของการทำอาหารในปัจจุบันนี้คงจะเคยได้ยินการเอ่ยชื่อเป็นคำภาษาไทยออกมาเลย อย่างน้อยที่ได้ยินเป็นประจำก็ 2 ชื่อ  ของทั้งสองชื่อนั้นได้ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนของเครื่องปรุงในการทำอาหารของฝรั่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 17, 19:21
ด้วยความดังของน้ำจิ้มของไทยนี้เองอีกเช่นกัน ก็เลยทำให้มีการนำมาผลิตเป็นอุตสาหกรรม ใส่ขวดส่งไปจำหน่ายทั่วโลก น้ำปลาพริกก็ด้วยเช่นกัน    และก็น่าเสียดายที่ฉลากชื่อและอื่นๆบนขวดของหลายน้ำจิ้มบ่งชี้ไปในลักษณะที่บอกว่าเป็นของประเทศนั้นๆทั้งๆที่เป็นของไทยที่ผลิตในประเทศไทย 

น้ำจิ้มไก่ของเราก็ได้มีการนำไปใช้ราดลงบนไก่อบของร้านดังที่มี chain มากมายในบางประเทศของยุโรป และซึ่งก็เป็นเมนูนิยมและขายดีอีกด้วย

คงจะด้วยที่น้ำจิ้มมันเป็นส่วนประกอบของอาหารของเรา ซึ่งเรามีความคุ้นเคยกับมันจนเห็นเป็นเรื่องปกติ  ก็เลยทำให้ไม่ความรู้สึกในเชิงของคุณค่าในความเป็นเอกลักษณ์และเป็นเสน่ห์ของอาหารไทย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 17, 20:07
นึกถึงพริกน้ำที่เป็นเครื่องปรุงของก๋วยเตี๋ยวในภาคเหนือ  ซึ่งหลายคนเขาใจผิดคิดว่าเป็นพริกน้ำส้ม   ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังและอร่อยของจังหวัดในภาคเหนือสมัยก่อนจะต้องมีพริกน้ำอยู่ในพวงเครื่องปรุงรสเสมอ   พริกน้ำช่วยเพิ่มความอร่อยและความหอมแบบเฉพาะตัวของมัน ช่วยในด้านของความเข้มข้นแบบนุ่มนวลทางกลิ่นและรสมากกว่าในด้านของความฉูดฉาด

ในปัจจุบันนี้ไม่ปรากฎว่ามีใช้ตามร้านก๋วยเตี๋ยวในเมือง  ก็ยังพอหาได้ตามร้านดังของชุมชนนอกเขตเมือง โดยเฉพาะร้านของแม่ค้ารุ่นเก่า  แต่หากประสงค์จะทำทานเองก็ได้ ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 17, 18:46
พูดยังกะเคยเองทำมาก่อน  แท้จริงแล้วผมยังไม่เคยทำเลยครับ  เพียงแต่ได้ทราบวิธีการทำจากแม่ครัวรุ๋นเก๋าเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวที่ผมจะแวะเวียนไปทานเมื่อมีโอกาส     

ว่าเพียงเอาพริกแห้งแช่น้ำแล้วนำมาโขลกจะใส่เกลือลงไปด้วยเล็กน้อยก็ได้ จะให้ข้นให้เหลวเพียงใดก็เพียงปรับที่ปริมาณน้ำเท่านั้นเอง  ทำเสร็จแล้วจะเก็บไว้ได้สองสามวัน

หน้าตาของพริกน้ำนี้ดูไม่ต่างไปจากน้ำส้มพริกตำมากนัก  ที่จะต่างกันอย่างเด่นชัดก็คือสี น้ำส้มพริกตำจะมีสีออกไปทางสีสด ส่วนพริกน้ำจะมีสีออกไปทางสีเลือดหมู     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 17, 20:06
นึกไปถึงน้ำส้มพริกดองในพวงเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยวที่วางอยู่บนโต๊ะตามปรกติ  เห็นแล้วก็ดูน่าจะเป็นของที่ทำง่ายๆเพียงหั่นพริกใส่ลงในน้ำส้มสายชูกลั่นที่ใส่เกลือลงไปเพื่อช่วยในการปรับรส     แต่หากจะทำใช้เอง ผมว่าน่าจะต้องยกระดับความเด่นของมันขึ้นมาอีกสักหน่อย

ก็ไปอ่านพบในตำราอาหารของฝรั่ง แล้วก็เอามาทดลองทำดู  สัดส่วนโดยประมาณคร่าวๆก็คือ น้ำสองถ้วยกาแฟ น้ำส้มสายชูหนึ่งถ้วยกาแฟ เกลือทะเลเม็ดประมาณพูนช้อนกินข้าว หั่นพริกหนุ่มใส่ลงไป ใบกระวานใบนึง กระเทียมสักสองกลีบ แล้วก็พวกใบไม้ที่มีรสฝาดเช่นใบมะกอก ใส่ขวดปิดฝาดองไว้ในตู้เย็นประมาณ 10 วัน 

สิ่งที่ได้มานอกจากจะเป็นน้ำส้มแล้ว ก็ได้พริกดองกรอบๆจากผลของ tannin จากใบกระวานและใบมะกอก   จะให้อร่อยกว่านั้นก็คงจะต้องลองปรุงรสดูเอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 17, 18:28
คิดพาลเลยไปถึงน้ำพริกอ่อง น้ำพริกที่ต้องมีอยู่ในชุดขันโตก     น้ำพริกอ่องเป็นน้ำพริกที่ทำง่ายเพราะเครื่องปรุงแต่ละชนิดจะช่วยกันทำให้เกิดรสที่เป็นเอกลักษณ์และรสที่กลมกล่อมขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะแก่เครื่องปรุงชนิดหนึ่งชนิดใดมากน้อยไปหน่อยก็ตาม

น้ำพริกอ่องที่จะอร่อยหอมจริงๆนั้นจะมีถั่วเน่าอยู่ในเครื่องปรุงด้วย และมะเขือที่ใช้ก็จะเป็นมะเขือส้ม มิใช่มะเขือเทศชนิดต่างๆที่เอามาทานเป็นผักที่เห็นกันทุกวัน

แล้วก็มีของแนมซึ่งจะช่วยส่งให้น้ำพริกชุดนี้มีความเด่นออกมาเป็นที่ประทับใจ  ที่เราคุ้นเคยกันก็จะมีแคบหมูเป็นของยืนพื้น ส่วนผักนั้นก็จะมีผักสดและผักต้ม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 17, 18:52
แคบหมูนั้นเป็นของอร่อยแน่ๆ หลายคนเลี่ยงที่จะไม่ทานเพราะเห็นว่ามันเป็นอาหารมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วก็เลี่ยงไปทานหนังพองแทน  ก็เป็นเพียงลดการกินส่วนที่เป็นมันที่ติดอยู่ใต้หนัง

ก็มีเรื่องน่าสนใจว่า มีแคบหมูที่ผลิตออกมาจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวียออกมาขาย แถมยังมีภาษาไทยเขียนว่าแคบหมูติดอยู่ที่ซองและเป็นแคบหมูที่ติดมันตามแบบฉบับดั้งเดิมของภาคเหนือของเราอีกด้วย

แคบหมูใช้ในอาหารของภาคเหนือทั้งในเชิงของเครื่องปรุง เป็นของตกแต่ง และเป็นของแนมกินกับอาหารหลายอย่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 17, 18:29
ในปัจจุบันนี้ มีแคบหมูผลิตออกมาขายหลายรูปแบบมากขึ้น  ของดั้งเดิมนั้นจะมีความกว้างประมาณ 1 นิ้ว ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังมีแถมยังมีให้เลือกได้อีกด้วยว่าจะเอาแบบติดมันมากหรือติดมันน้อย  ลดขนาดความกว้างลงไปเหลือประมาณครึ่งนิ้วก็มี ลดขนาดลงไปแถวประมาณครื่งเซนต์ที่ทำให้เมื่อทอดแล้วออกไปทางกรอบแข็งก็มี แล้วก็ยังมีแบบที่ทำให้ออกมาในลักษณะเป็นก้อนๆขนาดประมาณองคุลีของนิ้วชี้ก็มี   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 17, 18:59
ก็คงจะพอนึกออกถึงความเหมาะสมว่าจะเลือกใช้แคบบหมูในลักษณะใดกับเมนูจานใด     

ลองนึกถึงกรณีทานข้าวเหนียว หรือทานข้าวเจ้า ทานแบบใช้มือ ทานแบบใช้ช้อนผสมการใช้มือ ทานแบบใช้ช้อนกับซ่อม  ทานกันเองในหมู่คนใกล้ชิด หรือในงานที่เป็นสังคม    มีอาหารเป็นน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง  เป็นยำขนุน  เป็นขนมจีนน้ำเงี้ยว  เป็นก๋วยเตี๋ยวเรือ  เป็นลาบดิบ/ลาบสุก  เป็นชุดออร์เดิร์ฟ  หรือเป็นกับแกล้มจิ้มน้ำพริกเผาบีบมะนาว...

ความพอเหมาะพอดีและความลงตัวต่างๆก็จะช่วยให้เกิดความประทับใจกับความโดดเด่นของอาหารจานนั้นๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 17, 19:02
อเมริกามีแคบหมูฝรั่งขายค่ะ  เรียกว่า pork rinds


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 17, 19:07
ดิฉันไม่เคยกินแคบหมูฝรั่ง  คือไปอเมริกาทั้งที ไปกินแคบหมูก็รู้สึกว่าไม่คุ้ม   กลับมากินที่บ้านเราดีกว่า
ถามเชฟกู๊กดู ได้ความว่าเขาเอาไปทำเป็นอาหารอย่างอื่น  เช่นในรูปข้างล่างนี้ เอาไปกินแทน cereal
โดยเติมน้ำเชื่อมคาราเมล และโรยเกลือลงไป  เรียกว่า Salted Caramel Pork Rind Cereal


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 17, 19:10
แคบหมูกับกากหมูไม่เหมือนกัน  แต่เด็กรุ่นหลังมักจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียแล้วค่ะ
กากหมูเอามาทำอาหารไทยได้หลายแบบ   อร่อยกว่าแคบหมู
แคบหมูฝรั่งเอามาทำเป็นอาหารดินเนอร์ได้ด้วยค่ะ เรียกว่า Pork Rind Nachos


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 17, 19:26
พูดถึงน้ำพริก มันก็มีวิธีการที่จะทำให้มันเด่นออกมาจนเป็นที่ประทับใจได้เหมือนกัน  ส่วนมากแล้วความอร่อยของน้ำพริกที่จะกล่าวถึงกัน มักจะอยู่ที่เรื่องของรสชาติ ซึ่งก็คือการผสมผสานอย่างลงตัวพอดีของความเผ็ด เค็ม เปรี้ยว หวาน   น้อยนักที่จะนึกผนวกไปถึงเรื่องของของแนม แล้วก็ยิ่งน้อยเข้าไปอีกในเรื่องของเนื้อ (texture) และกลิ่นของตัวน้ำพริก    และที่ดูจะแปลกก็คือ ความน่าอร่อยของน้ำพริกนั้นดูจะถูกนำพามาจากภาพของชุดน้ำพริกกับผักเครื่องเคียงที่จัดวาง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 17, 20:01
ผมเคยลองซื้อแคบหมูฝรั่งที่เรียกว่า Pork Rind มาทาน   ดูไม่ใช่แคบหมูแบบทอดให้พองแบบที่เราทานกันในเมืองไทย  ดูเป็นหนังพองที่ใช้วิธีอบในเตาอบเพื่อให้แตกพองออกมาคล้ายกับข้าวโพดคั่ว คล้ายกับการทำหมูกรอบแบบฝรั่งที่ใช้การอบแทนการทอด   

ผมว่าเนื่องจากใช้วิธีการอบ จึงทำให้ไม่มีความรู้สึกของความชุ่มฉ่ำดังแคบหมูของเรา   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 17, 20:49
คุณตั้งคงรู้จักทั้งหมูอบ roast pork และหมูย่าง grilled pork    พอจะบอกความแตกต่างของรสชาติได้ไหมคะ
ภาพซ้ายคือหมูอบ  ขวาคือหมูย่าง ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 17, 20:50
หน้าตาเหมือนหมูกรอบบ้านเรา    ฝรั่งเขาเรียก หมูอบ roast pork เช่นกันค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 17, 20:01
roast pork กับ grill pork  เคยทานทั้งสองอย่างครับ ก็อร่อยทั้งสองอย่างแต่มีความต่างกัน  ทั้งสองเป็นเมนูอาหารที่ทำกินกันในวาระและโอกาสที่ต่างกัน มีชุดเครื่องเคียงที่ต่างกัน แล้วก็ยังค่อนข้างจะเลือกทำกินกันในช่วงฤดูกาลที่ต่างกันอีกด้วย

การ roast นั้น โดยพื้นฐานก็คือกระบวนการทำให้อาหารสุกโดยใช้ความร้อนที่ระอุออกมาจากแหล่งความร้อนรอบๆตัวอาหาร ซึ่งก็ได้แก่วิธีการหมุนไปรอบๆกองไฟ (หมูหัน วัวหัน..) ซึ่งในโลกปัจจุบันนี้เป็นการหมุนในเตาอบ (ไก่  Roast pork)    หรือการพลิกอาหารกลับไปมาบนกระทะร้อนๆ (โดยเฉพาะบนกระทะเหล็กหล่อ cast iron skillet หรือในหม้อ Dutch oven) ที่ภาษาบ้านๆของเราเรียกว่า จี่ 

การ grill นั้น โดยพื้นฐานก็คือการทำให้อาหารสุกโดยความร้อนจากไฟโดยตรง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 17, 20:27
ฝรั่งคำนึงถึงเรื่องของความฉ่ำนุ่มของเนื้อสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละเมนูอาหารมาก ความน่ากินนั้นจะดูแม้กระทั่งสีของเนื้อสัตว์นั้นว่ามีสีสวยหรือไม่  ซึ่งความสุกของเนื้อในระดับ medium rare นั้นดูจะเป็นมาตรฐานของความต้องการของเขาทุกคน  มีน้อยรายมากที่ชอบความสุกแบบ rare (ย่างน้ำตก) และก็ยิ่งน้อยมากขึ้นไปอีกที่ชอบแบบที่เรียกว่า tartare (ดิบ)    ต่างจากของเราที่คนส่วนมากต้องการความความสุกของเนื้อไปในทาง well done หรืออย่างน้อยก็ medium done

Roast pork ของฝรั่งมีความสุกของเนื้อหมูออกไปทาง medium ที่เนื้อมีความฉ่ำ ซึ่งเป็นที่นิยมกัน    สำหรับ Roast pork นั้น ดูจะนิยมความสุกของเนื้อหมูออกไปทาง medium กับ medium done         


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 17, 19:44
เมื่อพูดถึง roast pork   ฝรั่งก็จะเห็นเป็นภาพของก้อนหมูม้วนเป็นท่อนกลมที่เมื่อได้ตัดเป็นแว่นๆจัดลงจานแล้วจะราดด้วยน้ำเกรวี่สีน้ำตาล  มีเครื่องเคียงเป็นพวกมันบด (mash potato) เนื้อละเอียดที่มีเกรวี่ราดมาด้วย หรือไม่ก็มีเครื่องเคียงเป็นพวกพวกผักหัวต้ม (มันฝรั่ง แครอท...) หรือ     

ความอร่อยจะไปอยู่ที่การผสมผสานระหว่างความชุ่มฉ่ำของเนื้อหมู ของหนังที่กรอบแบบเคี้ยวไม่สะดุดเป็นก้อนๆ  ของรสของน้ำเกรวี่ที่ทำแบบ rouge gravy  ความนิ่มและความหอมหวานละมุนของผักต้มที่เป็นเครื่องเคียงที่โรยด้วยสมุนไพรเครื่องหอม เช่น Rosemary, Parsley, Thyme, Fennel, และ Chive เป็นต้น   

ความอร่อยของ roast pork จะเป็นเช่นใดนั้น น่าจะพออธิบายได้จากภาพที่เราได้เห็นกันในโรงแรมต่างๆในงานเลี้ยงรับรองงานวันฉลองการแต่งงาน  มันเป็นอาหารที่ดูจะมีการต่อแถวตั้งแต่เมื่อแรกเปิดการงาน แล้วก็เป็นอาหารที่หมดเร็วที่สุด เราจะต่างกับฝรั่งก็เพียงเรานิยมที่จะกินแบบจิ้มกับซ๊อสมะเขือเทศและ mustard และจะกินในลักษณะที่เป็นของแกล้มมากกว่าจะเป็นเมนูอาหารจานเล็ก (petite menu)
   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 17, 18:39
roast pork ของฝรั่งนี้ ในภาพง่ายๆก็คือนำหมูสามชั้นส่วนที่มีความสมดุลย์ระหว่างความหนาของหนังและความพอดีของชั้นมันและชั้นเนื้อ นำมาม้วน รัดด้วยเชือก แล้วเอาเข้าไปหมุนในเตาอบ  เป็นการทำให้เนื้อในสุกด้วยของเหลวในตัวมันเอง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 17, 19:16
สำหรับ roast pork ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนหมูกรอบในร้านข้าวหมูแดงในบ้านเราตามภาพใน คห.60 นั้น ผมเคยเห็นเพียงครั้งเดียว(นานมาแล้ว)ในภัตตาคารอาหารจีนที่มีระดับในเมืองโตรอนโต แคนาดา   ผมคิดว่าในปัจจุบันนี้น่าจะจัดเป็นอาหารจานปกติที่พบได้ในร้านอาหารจีนที่มีระดับหน่อยในย่านไชน่าทาวน์ต่างๆ   ที่คิดว่าเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในปัจจุบันนี้ได้มีการเขียนเป็นตำราอาหารจานทำเองสำหรับครัวเรือน รวมทั้งมีการเผยแพร่วิธีทำให้เห็นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในสื่อ digital ต่างๆ

อนึ่ง หมูสามชั้นส่วนที่เอามาทำหมูกรอบแบบบ้านเรานั้น ไม่เหมาะที่จะนำไปทำ roast pork แบบฝรั่ง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 17, 19:31
อ.เทาชมพู ถามถึงความแตกต่างของรสชาติระหว่าง roast pork กับ grilled pork 

ผมไม่เคยทาน grilled pork ของฝรั่ง   เคยแต่ทานของไทยและเป็นแบบย่างน้ำตก เนื้อมีความสุกขนาด medium ค่อนไปทาง medium rare  จิ้มน้ำปลา ใส่พริกป่น ใส่หอมซอย บีบมะนาว แล้วใส่ข้าวคั่ว   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 17, 20:08
อนึ่ง หมูสามชั้นส่วนที่เอามาทำหมูกรอบแบบบ้านเรานั้น ไม่เหมาะที่จะนำไปทำ roast pork แบบฝรั่ง   

โปรดขยายความได้ไหมคะ  น่าสนใจมาก
หมูสามชั้นของเรากับหมูสามชั้นของฝรั่งไม่เหมือนกันเลยหรือคะ
งั้นหมูหันฝรั่ง กับหมูหันไทย ก็คงอร่อยไม่เท่ากันด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 17, 18:29
หมูสามชั้นของเรากับของฝรั่งคงจะไม่มีความต่างกันหากว่าได้แล่และตัด (cut) ตรงบริเวณที่เหมือนกัน   เท่าที่พอจะทราบ หมูที่เอามาทำ roast pork แบบฝรั่ง (ม้วนเป็นแท่งกลม) นั้น จะใช้ส่วนที่เป็นสันนอก (แล่ติดมันใต้หนังในกรณีที่ไม่ทำแบบมีหนังกรอบ) หรือใช้ส่วนบริเวณซี่โครงตอนบน (เลาะซี่โครงออกได้สามชั้น ติดหนัง มีชั้นมันบาง มีเนื้อมาก ในกรณีที่ต้องการทำแบบมีหนังกรอบ) 

เราต่างกับเขาตรงที่ เขียงหมูของเราจะเอาส่วนที่เป็นชายโครงที่เริ่มมีชั้นมันหนาลงไปจนถึงบริเวณใต้ท้องที่เริ่มมีมันเปลวมาก เอามาเป็นส่วนที่เรียกว่าหมูสามชั้น ซึ่งจะเหมาะกับการเอามาทำหมูกรอบแบบบ้านเรา 





กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 17, 19:04
roast pork ของบ้านเขาทั้งแบบม้วนและแบบเป็นแผงจะใช้วิธีอบในเตาอบ โดยมุ่งหวังที่จะได้ส่วนที่เป็นหนังให้มีความกรอบ แต่ส่วนที่เป็นเนื้อนั้นมีความนุ่มและยุ่ยเปื่อย    ต่างไปจากแบบของเราที่จะใช้วิธีทอด ซึ่งจะทำให้หนังกรอบและน้ำมันในชั้นมันใต้หนังจะถูกขับออกไปมากพอจนไม่ทำให้เกิดความเลี่ยน ส่วนที่เป็นเนื้อจะแห้งและเคี้ยวหนึบๆนิดๆ (chewy)

เท่าที่พอจะรู้ กรรมวิธีของฝรั่งนั้นจะทำจากหมูสดๆเลย โดยใช้ไฟ 2 ขยัก คือทำให้สุกทั่วกันแล้วจึงทำให้หนังกรอบ   ในขณะที่ของเรานั้นมีทั้งแบบทอด 2 ขยัก   มีทั้งแบบนึ่งให้สุกก่อน สักผิวแล้วตากลมให้แห้งหมาดๆ แล้วจึงทอดให้สุกกรอบ  และก็มีทั้งแบบสักแล้วใช้เกลือทาผิว (เพื่อซับความชื้นในหนังหมู ??) แล้วทอด   

ที่น่าสนใจก็คือการทำหมูกรอบแบบใช้หมูครึ่งตัวทั้งซีก เหมาะที่จะซื้อไปสำหรับงานเลี้ยงเพื่อให้แขกได้ทานอย่างสะใจ ก็มีขายแถวองค์พระปฐมฯของ จ.นครปฐม ในช่วงเวลาบ่าย    และก็มีแบบกรอบทั้งตัว(หรือครึ่งซีก)แบบที่เรียกว่าหมูย่างเมืองตรัง  ซึ่งดูจะเป็นการใช้วิธีหมุนย่างให้หนังพองและกรอบทั้งตัว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 17, 19:20
งั้นหมูหันฝรั่ง กับหมูหันไทย ก็คงอร่อยไม่เท่ากันด้วย

เรื่องนี้ ตัวผมเองมีประสบการณ์น้อย   ผมคิดว่าความอร่อยตรงนี้มันไปเกี่ยวกับน้ำจิ้ม เครื่องเคียง เวลาและสถานที่ 

น้ำจิ้มแบบบ้านเราก็มักจะเป็นซีอิ๊วหวานสำหรับใช้กับส่วนหนัง หรือน้ำส้มพริกตำออกรสหวานอมเปรี้ยวสำหรับส่วนที่เป็นเนื้อ ซึ่งทั้งซีอิ๊วหวานและน้ำส้มพริกตำก็มีหลายยี่ห้อ หลายผู้ปรุงรส     

น้ำจิ้มของฝรั่งก็จะมักเป็นมัสตาร์ดและที่เรียกว่า Senf ซึ่งก็มีหลายแบบ หลายชนิด และหลายความนิยมที่เป็นเฉพาะของแต่ละประเทศ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 17, 20:01
เท่าที่ผมเคยได้มีโอกาสลิ้มรสหมูหันมา

หมูหันของไทย นิยมที่จะใช้ลูกหมูตัวเล็ก  กินแต่หนังเท่านั้น ส่วนเนื้อเอาไปทำอย่างอื่น

หมูหันของฟิลิปปินส์ หากเป็นแบบของประชาชนปรกติ ก็จะเป็นลูกหมูแต่ดูจะตัวเขื่องกว่าในภัตตาคารของไทย    แตกต่างไปออกจากหมูหันในงานเลี่้ยงรับรองที่จะใช้หมูวันรุ่นทั้งตัว เป็นแบบหนังกรอบบาง เลาะกินทั้งตัว ไม่มีการยกกลับออกเพื่อนำไปปรุงเป็นเมนูจานใหม่ และก็กินกันทั้งในรูปของกับแกล้มและในรูปของจานหนัก (ครับ จานหนัก) จำได้แต่ว่าอร่อยไม่เบา อธิบายสรรพคุณไม่ได้แล้ว เพราะนานมาแล้ว

หมูหันของโอกินาวา เป็นเมนูปรกติสำหรับการเลี้ยงรับแขกแบบกันเอง เฮฮา   อันนี้อร่อยจริงๆ ไม่ต้องมีน้ำจิ้มเลย กินได้ทั้งแบบเป็นกับแกล้มและแบบจานหนัก อร่อยตั้งแต่หนังลงลึกลงไปในเนื้อ  เป็นหมูหันแบบหนังกรอบพองนิดๆ เจ้าบ้านจะจัดเป็นเมนูคู่กับ Awamori     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 17, 18:30
ได้กล่าวถึง Awamori ก็เลยทำให้นึกถึงเครื่องเคียงของหมูหันว่านอกจากของประเภท Awamori นี้แล้วยังมีอะไรอีกบ้าง    ของเราก็จะมีแผ่นแป้ง  ที่อื่นๆที่เห็นก็จะเป็นพวกผักดองที่เรียกว่า sauerkraut (กล่ำปลีดองแบบเยอรมัน) ก็มีหลายแบบ ซึ่งผมว่าเหมาะที่สุดก็น่าจะเป็นแบบกรอบ (raw sauerkraut)     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 17, 19:16
ไปถีงเรื่อง grill (บนพื้นของ คห.59) ในมุมที่ผมได้เคยรู้จักและได้สัมผัสมา 

ในมุมของคนเมืองที่มีวิถีชีวิตเอนไปทางฝรั่ง   ผมคิดว่าเขาทั้งหลายนั้นเห็นว่า อาหารที่ทำด้วยวิธีการ grill และ BBQ นี้เป็นหนึ่งในอาหารที่เลือกจะทำหรือเลือกจะไปทานกันในวันที่รู้สึกว่าเป็นวันพิเศษทั้งหลาย

grill คือการย่างบนเตาถ่านไฟแรง   แต่หากเป็นการใช้ไฟอ่อน มีการใช้เวลานานเพื่อทำให้อาหารได้ที่ และเตามีฝาปิดเพื่อช่วยในการอบด้วย ก็จะเรียกว่า Barbecue (BBQ)     ง่ายๆก็คือ ย่างแบบให้สุกเร็ว คือ grill  ย่างแบบให้สุกช้า คือ BBQ

ทั้ง grill และ BBQ นี้ ผมว่าเป็นวิถิีของอเมริกันชนโดยเฉพาะ เป็นกิจกรรมหลังบ้านและที่ทำกันพื้นที่ picnic ในช่วงเวลาสบายๆของครอบครัวในฤดูที่อากาศกำลังเย็นสบาย   เครื่องเคียงของทั้ง grill และ BBQ นี้ ก็มักจะเป็นข้าวโพดต้มหรือปิ้ง มันฝรั่งหมกขี้เถ้า หอมใหญ่หมกหรือย่างให้นิ่ม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 17, 10:35
ไปหาว่าAwamori คืออะไร  อ๋อ เหล้าญี่ปุ่นนี่เอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 17, 11:08
บาบิคิวปาร์ตี้เป็นวัฒนธรรมฝรั่ง เห็นทางตะวันตกมากกว่าตะวันออกค่ะ 
ในวันที่อากาศดีๆ อยู่กลางแจ้งได้ ไม่หนาวเกินไป โดยมากเป็นวันในฤดูร้อน   ครอบครัวที่มีปู่ย่าตายายลูกหลานนัดกันมาบาบิคิวที่สนามหลังบ้าน    หรือไม่ก็เพื่อนบ้าน หรือไม่ก็บรรดามิตรสหาย 

อาหารยอดฮิทคือเนื้อย่าง   ไม่เคยกินบาบิคิวหมู หรือไก่  กับผักย่าง  เอามาเสียบไม้ปิ้งบนเตาย่าง
ทำทีละเยอะๆ   เห็นแล้วอิ่ม
เมื่อก่อนกินได้โดยไม่รู้สึกอะไร  แต่พอรู้ว่าอาหารปิ้งย่างก่อมะเร็ง เลยกินไม่ลงแล้วค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 04 ต.ค. 17, 17:00
ไปหาว่าAwamori คืออะไร  อ๋อ เหล้าญี่ปุ่นนี่เอง

ผมมีข้อมูล ขอมาเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ เห็นว่าน่าสนใจดี
คือ ผมกูเกิลต่อจากท่านอาจารย์ เลยได้ทราบจากคุณวิกีว่า

Awamori นี้ มีต้นกำเนิดมาจาก เหล้าขาวของไทย เรานี่เอง
แต่จะจริงเท็จมากน้อยแค่ไหน ก็ยังไม่ทราบแน่เหมือนกันครับ

อ้างถึง : https://en.wikipedia.org/wiki/Awamori (https://en.wikipedia.org/wiki/Awamori)
It originates from the Thai drink Lao Khao.[4] The technique of distilling reached Okinawa from Thailand
(formerly known as Siam Kingdom) in the 15th century. All Awamori is made from Thai rice ("thai-mai").



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 17, 18:08
คุณตั้งน่าจะรู้จักเหล้าขาว  คงตอบคำถามนี้ได้ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 17, 19:08
ขออนุญาตเล่าเพื่อเป็นความรู้ในเชิงวิชาการจากประสบการณ์ที่ได้เคยสัมผัสตรง

Awamori ของโอกินาวานั้น ได้มีการยอมรับยอมรับกันทั่วไปทั้งจากฝ่ายผู้ผลิตและในทางวิชาการเชิงประวัติศาสตร์และอุตสาหกรรมว่ามีต้นกำเนิดมาจากไทย เริ่มเผยแพร่และรู้จักกันกว้างขวางในยุคของอาณาจักรริวกิว (โอกินาวา) ซึ่งเป็นยุคที่เรามีการค้าขายกับจีนโดยเฉพาะสินค้าพวกเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก   ที่จริงแล้วบรรดารัฐชายฝั่งเช่นฟิลิปปินส์ เวียดนาม ก็มีการค้าขายกับจีนในสินค้าชนิดนี้ 

เรือสำเภาต่างๆจะเดินทางไปจีนในช่วงเวลาของลมมรสุมตะวันตะเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งด้วยลมและกระแสน้ำจะทำให้สำเภาทั้งหลายต้องเข้าสู่โอกินาวา โอกินาวาหรือเกาะริวกิวก็เลยทำหน้าที่เป็นศูนย์พักสินค้าก่อนที่จะขนย้ายเข้าสู่แผ่นดินจีน    ผมไม่มีข้อมูลที่จะกล่าวว่านอกจากสินค้าหลักแล้ว จะมีสินค้าทางวัฒนธรรมของรัฐชายฝั่งอื่นใด(นอกจากของไทย)ตกค้างอยู่ที่โอกินาวา  ที่รู้แน่ๆและเป็นที่ยอมรับกันอย่างถาวรของชาวโอกินาวาไปแล้วก็คือเหล้าขาวหรือเหล้าโรงของไทย ซึ่งเขาเขียนเผยแพร่เลยว่า อะวาโมริก็คือเหล้าโรงของไทย  และที่ยังมีการถกแต่ก็ค่อนข้างจะยอมรับกันกลายๆแล้วในญี่ปุ่นก็คือ ต้นทางของ Sushi ก็มาจากไทย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 17, 19:24
ของไทยที่ถ่ายทอดไปอยู่ในสังคมญี่ปุ่นผ่านริวกิว

นอกจากสินค้าอื่นๆที่ไปสู่จีนและญี่ปุ่นผ่านริวกิวแล้วยังมีเรื่องเหล้าที่ผมพอทราบมา

ชาวเกาะโอกินาวาและญี่ปุ่นยอมรับเป็นเอกฉันท์ว่าเหล้า Awamori ซึ่งเป็นเหล้าชั้นดี มีราคาแพงและค่อนข้างจะหายากบนเกาะญี่ปุ่นนั้น มีต้นกำเนิดมาจากไทย

เท่าที่ผมตามอ่านและประมวลข้อมูล เหล้าโรงของไทยนั้นน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากวิธีการทำเหล้าของจีน เนื่องจากวิธีการทำน้ำเมาพื้นบ้านของไทยแท้ๆนั้น ไม่ผ่านกระบวนการกลั่น เรามีน้ำตาลเมา สาโท กระแช่ อุ ล้วนแต่ไม่มีการกลั่น แต่จีนมีการทำเหล้าที่ผ่านการกลั่นมานานมากแล้ว ที่เรียกว่า จู แล้วก็จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า มีคำในภาษาจีนเรียกเหล้าพื้นบ้านที่ทำมาจากข้าวว่า เลาลอน (เหล้าโรง ?) ไม่ทราบว่าแล้วต่างกันอย่างไร แต่ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่าเหล้าโรงของไทยนั้นทำจากข้าวเหนียว ในขณะที่จีนไม่น่าจะมีการปลูกข้าวเหนียว จึงน่าจะเป็นการทำเหล้าจากข้าวเจ้ามากกว่า ดังนั้น จู จึงน่าจะต่างจาก เลาลอน ตรงนี้ ดังนั้นจึงอาจจะพอกล่าวได้ว่า เหล้าโรง(ของไทย)นั้นทำโดยไทยโดยวิธีการกลั่นเหล้าของจีน

ในสมัยที่ไทยติดต่อกับริวกิวนั้น มีการขนเหล้าไปริวกิวด้วย จนชาวริวกิวเอาวิธีการทำของไทยไปผลิตในริวกิว เหล้าที่ขนไปก็ใส่ในใหซึ่งเป็นใหดินเผาเคลือบผิวด้านนอก มีปากคอดเล็ก ผมเคยเห็นทั้งที่มีฝาเป็นเกลียวและที่ใช้จุกอุด ใหชนิดนี้น่าจะพบได้หลายๆแห่งใน กทม.ที่เป็นแหล่งอยู่อาศัยดั้งเดิม ที่เคยเห็นเป็นเศษอยู่หลายใบที่บริเวณด้านหลัง รพ.สงฆ์ เมื่อมีการขุดดินฐานรากเพื่อตึก ใหชนิดนี้มีทั้งแบบที่ไม่มีหู มีหูข้างเดียว และมี 2 หู ก็ไม่ทราบว่าใช้บรรจุของเหลวต่างประเภทกันอย่างไร

กรรมวิธีการผลิตเหล้า Awamori ของโอกินาวาในปัจจุบันต่างจากดั้งเดิมไปพอสมควร มีเพียง 2 สิ่งที่ยังคงเดิมอยู่ คือ ข้าว ยังคงต้องใช้ข้าวจากไทย และกลิ่นที่ยังคงเอกลักษณ์ของเหล้าโรง

เหล้าโรงของไทยเป็นการหมักขั้นตอนเดียวจบ (Single fermentation) ใช้เชื้อหมักจากแป้งข้าวหมาก เรียกว่ามีหลากหลายเชื้อยีส ของ Awamori แต่เดิมก็เป็นแบบเดียวกับไทย ในปัจจุบันเป็นการหมักสองขั้นตอน (Double fermentation) จำไม่ได้แม่นว่าเริ่มเปลี่ยนเมื่อใด แต่รู้สึกว่าเริ่มเป็นแบบสมัยใหม่เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เชื้อยีสที่ใช้มีการเพาะและคัดแยกให้บริสุทธิ์ แต่ละโรงเหล้าก็จะมีการเลือกใช้เชื้อที่ต่างกัน ปัจจุบันนี้มีทั้งหมด 48 โรง และจำกัดจำนวนผู้ผลิตให้อยู่เพียงเท่านี้ ใช้ข้าวจากไทยรวมกันระหว่างปีละ 30,000 - 40,000 ตัน

เหล้าที่ผลิตแล้วจะขายทั้งเหล้าใหม่และเหล่าที่เก็บบ่มแล้ว (คล้ายแนวคิดของเหล้าวิสกี้) เหล้าที่เก็บบ่มยิ่งนานยิ่งมีราคาแพง ที่ทราบมีการเก็บบ่มไว้ถึงระดับ 15 ปี การบ่มมีอยู่ 2 แบบ คือ บ่มในแท้งสแตนเลสขนาดหลายพันลิตร และบ่มในโอ่งหรือใหดินเผา หากกลิ่นยังไม่รุนแรงตามมาตรฐานก็จะเติมกลิ่นลงไปอีก เหล้าโรงไทยอย่าไรก็อย่างนั้นแหละครับ แต่กลิ่นเขาดูจะนุ่มนวลกว่าสักหน่อย

เหล้าที่บรรจุขวดขายมักจะเป็นเหล้าบ่มเก็บ 5  ปี 10 ปี และ 15 ปี และใช้วิธี Blend ให้มีความเป็นเหล้าเก่าเหมือนกับเหล้าวิสกี้ของสก๊อต โดยมีมาตรฐานควบคุมของเขาเอง ผมจำอัตราส่วนการผสมไม่ได้ แต่โดยหลักการก็คือเอาเหล้าที่เก่ากว่า (เป็นส่วนน้อย)มาผสมกับเหล้าที่ใหม่กว่า (เป็นส่วนมาก)

เหล้า Awamori นี้กำลังขยายและเริ่มเป็นที่นิยมของตลาดในยุโรป ปัจจุบันนี้มีญี่ปุ่นมาลงทุนผลิตเหล้าขาวในไทยอยู่ 2 - 3 ราย ส่งกลับไปขายในญี่ปุ่น แต่ไม่เรียกว่า Awamori เป็นเหล้าที่มีกลิ่นเหมือนเหล้าโรงแต่กลิ่นเบาบางกว่ามาก เขานิยมกินกันแบบผสมนำ้ร้อน  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 17, 19:26
ถัดจากเหล้าโรง ซึ่งริวกิวเอาไปเป็นเหล้า Awamori แล้ว ก็เป็นเรื่องของ Sushi ที่ญี่ปุ่นเอาไปจากปลาส้มของไทย

เรื่องนี้ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่นอน แต่คนญี่ปุ่นส่วนมากก็ยอมรับแล้วว่า ต้นกำเนิดของซูชินั้นแปลงมาจากปลาส้มของไทย

ผมประมวลจากข้อมูลที่หาอ่านได้ตามเว็บไซด์ จากการสนทนา และจากรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น พอจะสรุปได้ว่า มันคงจะเริ่มต้นจากวิธีการถนอมอาหารประเภทปลาวิธีการหนึ่งของจีน คือการเอาปลา (ใส่เกลือเล็กน้อย) มาเรียงสลับชั้นกับข้าวสุกในภาชนะ (ให) เมื่อเก็บไว้ระยะหนึ่ง ทั้งปลาและข้าวจะมีรสเปรี้ยวเนื่องจากกรดแล็คติค ซึ่งจะสามารถเก็บไว้ได้นานวันไปอีกระยะหนึ่ง เมื่อจะกิน เขาก็จะเอาเฉพาะเนื้อปลาออกมาทำอาหาร ส่วนข้าวก็จะทิ้งไป คนจนซึ่งขาดข้าวก็จะเอาข้าวรสเปรี้ยวนั้นไปกิน อันนี้เป็นเรื่องในจีน

ในไทยสมัยอยุธยานั้น เราก็มีการทำปลาส้ม แต่แทนที่จะเอาข้าวมาคลุมปิดปลาเป็นส่วนมาก เรากลับเอาข้าวใส่ในท้องปลาด้วย ทำเก็บไว้เป็นสะเบียง เมื่อจะกินก็เอาออกมาและกินทั้งปลาและข้าว แต่ไม่ทราบว่าจะใช้วิธีกินสด ปิ้ง ย่าง แอบหรือหมก ผมว่าคงจะไม่ใช้วิธีทอดหรือชุบแป้งทอดดังปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ปลาส้มนี้ก็คือสะเบียงอาหารที่ใช้ในเรือสำเภาที่เดินทางขึ้นล่องระหว่างอยุธยากับริวกิว ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า ในน่านน้ำของริวกิวนั้นมี่ทั้งญี่ปุ่นที่เป็นคนดีและโจรสลัดเยอะ ปลาส้มนี้จึงเป็นที่รู้จักของคนญี่ปุ่นและกินกันในญี่ปุ่น ซึ่งคงจะเป็นที่นิยมแพร่หลายกันพอสมควร ขนาดใหนไม่ทราบ แต่เรื่องก็มีอยู่ว่า วันหนึ่งในช่วงต้นของ ค.ศ.1800 เจ้าของร้านอาหารในญี่ปุ่นคนหนึ่งจะทำการเปิดร้านขายอาหารนี้ (ข้าวส้มปลาส้ม) แต่สินค้าขาดตลาดหาของไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงเอาหน้ารอดด้วยการเอาข้าวสุกผสมด้วยน้ำส้มแล้วกินกับเนื้อปลาสด จึงเป็นการเริ่มของซูชิตามแบบฉบับของญี่ปุ่นที่ผันแปรรูปร่างมาดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ซูชิจึงเป็นข้าวผสมน้ำส้มมิรินและเกลือปิดทับด้วยเนื้อปลาสด ในปัจจุบันนี้ หน้าของซูชินอกจากปลาสดหลากชนิดทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดแล้ว ยังมีกุ้ง หอย ปลาหมึก ไข่ปลา ไข่กุ้ง ไข่เจียว สาหร่าย เนื้อคอลูกม้า ฯลฯ สารพัด ทั้งที่สดและทำสุกแล้ว

เป็นอันว่าญี่ปุนรับถ่ายทอดไปจากไทยผ่านริวกิวที่แน่ชัดแล้ว 2 เรื่อง



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 17, 19:41
Awamori มีการผลิตเฉพาะในโอกินาวา เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะถิ่นที่ได้รับการปกป้องทางภูมิปัญญา มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการผลิตได้อยู่ 48 โรงงานเท่านั้น (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) เนื่องจากโรงงานเหล่านี้สามารถสืบย้อนกลับการผลิตไปได้ตั้งแต่เก่าก่อนโน๊น..  มีการตั้งสมาคมผู้ผลิต มีการตั้งข้อบังคับและมาตรฐานต่างๆที่เข้มงวด และไม่มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาเลย  

โดยพื้นฐานแล้ว Awamori เป็นของหายากบนเกาะญี่ปุ่น จนกระทั่งเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ได้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นบนเกาะญี่ปุ่น รวมทั้งได้มีการทำตลาดในต่างประเทศด้วยซึ่งก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น  ความหายากก็เข้าสู่ความขาดแคลน  ก็เลยมีการเข้ามาลงทุนผลิตในไทย โรงงานก็อยู่แถวอยุธยา ผมทราบว่ามีอยู่ 2 ยี่ห้อเมื่อประมาณ 10+ปีมาแล้ว ไม่รู้ว่าในปัจจุบันนี้มีเพิ่มขึ้นหรือไม่  เหล้าที่ผลิตส่งกลับไปญี่ปุ่น หรือจะส่งออกไปยังประเทศอื่นก็มิทราบ แต่จะไม่ใช้ชื่อว่า Awamori   ผมเคยลองแล้วทั้ง 2 ยี่ห้อ กลิ่นรสก็คือเหล้าขาวของไทยนั้นแหละครับ   พอจะกล่าวได้ว่า หากรินมาเสร์ฟก็แทบจะบอกไม่ได้ว่าเป็น Awamori หรือ เหล้าขาวที่ผลิตในประเทศไทยส่งออกไป  ดีแต่ที่ญี่ปุ่นเขาซื่อสัตย์ ไม่หรอกกัน  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 17, 20:22
ครับ เล่าซ้ำ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 05 ต.ค. 17, 09:10
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ สำหรับความรู้ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 17, 18:33
Awamori มีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องผลิตจากข้าวขนิดเม็ดยาว และต้องเป็นข้าวของไทย (นำเข้าไปปีละประมาณ 40,000+ ตัน)  ต่างกับเหล้าสาเกที่ก็มีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องผลิตจากข้าวเม็ดสั้นของญี่ปุ่น

เหล้าขาวของไทยที่ต้มกลั่นกินเองแบบชาวบ้าน มีทั้งทำจากข้าวเจ้า ขาวเหนียว และข้าวโพด แต่หากเป็นเหล้าของในการควบคุมของรัฐก็จะไม่มีที่ทำจากข้าวโพด แต่จะมีเพิ่มเข้าไปที่ทำจากน้ำเหลิืองที่ได้มาจากการทำน้ำตาลทราย   แต่ก่อนนั้น เหล้าขาวในความควบคุมของรัฐถูกกำหนดความแรงไว้ที่ 28 ดีกรี แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนมากจะเป็น 40 ดีกรี   ในขณะที่เหล้าสีจะมีความแรงอยู่ที่ 35 ดีกรี ซึ่งในปัจจุบันนี้ส่วนมากก็จะยังคงการผลิตอยู่ที่ระดับนี้ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 17, 19:04
กลับไปที่เรื่องของการทำให้สุกเร็วด้วยไฟแรงกับสุกช้ากับไฟอ่อน

สุกเร็วด้วยไฟแรงนั้น  ฝรั่งจะใช้กับการย่างเนื้อ steak เป็นหลัก ของไทยก็ใช้สำหรับการย่างหมู/เนื้อน้ำตก    การย่างทั้งของไทยและฝรั่งมีความเหมือนกันอยู่ 2 เรื่องคือ การพลิกชิ้นเนื้อกลับไปมาเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น และการใช้เนื้อที่มีอุณหภูมิระดับห้องในการย่าง   ที่ต่างกันก็คือ ของฝรั่งจะมีการ marinate ชิ้นเน้ื้อนั้นๆ จะด้วยตัวของมันเองหรือจะด้วยเครื่องปรุงอื่นใดก็ตาม ส่วนของไทยนั้นเกือบจะไม่มีการ marinate ใดๆเลย   ความอร่อยของฝรั่งอยู่ที่รสในตัวของชิ้นเนื้อ ของเราอยู่ที่การเอามาปรุงหรือจิ้มกับเครื่องจิ้มในภายหลัง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 17, 19:16
เมื่อเอาเคล็ดของฝรั่งและของไทยนำมารวมกันทำจานเนื้อย่าง/หมูย่าง เราก็จะได้เมนูจานที่อร่อยไม่น้อยเลยทีเดียว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 17, 19:13
เนื้อที่จะนำมาย่างแบบไฟแรงนั้นควรจะเป็นเนื้อที่มีมันแทรกอยู่ในเนื้อหรือมีมันติดอยู่ที่ชายขอบของชิ้นเนื้อ เพราะมันจะทำให้เนื้อชิ้นนั้นเมื่อย่างแล้วไม่แห้ง   steak อร่อยๆของฝรั่งที่ใช้วิธีปิ้งบนไฟแรงจึงมักใช้เนื้อส่วนที่เรียกว่า Rip eyes, T-bone และ Strip (เรียกชื่อต่างๆกัน)  ส่วนสำหรับเนื้อสเต็กส่วนที่ไม่เหนียวและไม่ติดมันนั้นจะใช้วิธีจี่บนกระทะเหล็กหล่อร้อนๆ (เช่น Filet mignon)

ความหนาของเนื้อที่จะเอามาย่างแบบไฟแรงนั้นก็มีความสำคัญ ก็ควรมีความหนาระหว่าง 3-4 ซม. ด้วยมีความสัมพันธ์กับวิธีการย่าง ซึ่งวิธีการย่างที่สำคัญก็คือ เนื้อนั้นจะต้องอยู่ที่อุณหภูมิห้อง การปรับความสมดุลย์ของระดับความร้อนของไฟ และการกลับชิ้นเนื้อ

หลักก็คือ ย่างด้านหนึ่งไปจนเห็นน้ำเนื้อฉ่ำขึ้นมาบนผิวหน้าด้านบน แล้วจึงพลิกกลับด้านชิ้นเนื้อนั้น  น้ำเนื้อก็จะถูกอมฉ่ำอยู่ในชิ้นเนื้อนั้นๆ รอจนพอเห็นน้ำเนื้อเริ่มจะฉ่ำขึ้นมาก็พลิกกลับด้านเพื่อให้ผิวแห้ง แล้วยกออกเสิร์ฟ   ก็จะได้ชิ้นเนื้อที่มีความสุกพอดี (medium rare) หากแช่นานไปอีกหน่อยก็จะได้ความสุกขนาด medium   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 17, 19:29
ไม่ได้มีจัดเจนในเรื่องนี้หรอกครับ ได้มาจากพ่อของเพื่อนชาวอเมริกันนานมาแล้ว และก็ได้เห็นย้ำอยู่อีกสองสามครั้ง ที่บ้าน prof.เมื่อครั้งเรียนอยู่ที่อเมริกาครั้งหนึ่ง และอีกสองสามครั้งเมื่อไปคุมงานที่แคนนาดา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 17, 18:49
หมูที่ตัดแบบเอามาทำ pork chop ก็น่าจะเอามาย่างให้สุกแบบใช้ไฟแรงได้เหมือนกัน เพราะมีส่วนที่เป็นมันติดอยู่บริเวณขอบ แต่จะต้องเป็นการตัดแบบเต็มความกว้างของซี่โครง มิใช่การตัดแบบแบ่งครึ่งซี่โครงที่มีการขายกันอยู่ในตลาดบ้านเรา ซึ่งสำหรับเนื้อหมูนี้น่าจะต้องมีการหมักด้วยเครื่องปรุงรสเสียก่อน   ต่างกับเนื้อวัวที่จะหมักด้วยเครื่องปรุงหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ไม่ใช้เครื่องปรุงก็จะต้องให้มันได้มีโอกาสบ่มด้วยตัวมันเองในตู้เย็น อย่างน้อยก็ตั้งแต่เช้าก่อนที่จะเอามาย่างในตอนเย็น

แต่หากจะจี่บนกระทะเหล็กร้อนๆ จะใช้เพียง Rosemary สักช่อหนึ่งวางอยู่ใต้ชิ้นเนื้อหมูหรือเนื้อวัว ก็จะทำให้เนื้อชิ้นนั้นๆมีความหอมชวนกินขึ้นไปอีกมากเลยทีเดียว 

ในปัจจุบันนี้ ต้น Rosemary และช่อสดเป็นของหาได้ง่าย จะซื้อหามาปลูกเองก็ได้ ต้นหนึ่งราคาไม่สูงมากนัก จะลองซื้อมาสักกระถางหนึ่งแล้วลองเลี้ยงให้มันรอดได้ข้ามปีก็ดูจะเป็นความท้าทายที่ดี จะเลี้ยงในบ้านก็ได้นอกบ้านก็ได้   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 17, 19:10
วันหนึ่งไปธุระที่ต่างจังหวัด ตกเย็นก็เข้าร้านอาหารของโรงแรม ได้เห็นว่ามีเมนู steak ทำด้วยเนื้อวัวโพนยางคำ   ด้วยเห็นว่าครัวในโรงแรมต่างจังหวัดนั้นเขาค่อนข้างจะอะลุ่มอล่วยในการทำอาหารให้กับแขก ผมก็เลยขอให้เขาตัดเนื้อโพนยางคำเป็นชิ้นหนาประมาณ 1 นิ้ว ทำแบบย่าง steak ให้สุกขนาด medium rare  ให้เขาหั่น slide แต่ละชิ้นหนาประมาณ 1 ซม.  จัดมาพร้อมกับหอมใหญ่หั่นขวางเป็น onion ring หนาหน่อย มิใช่แบบซอยบางๆ  ขอน้ำจิ้มแบบคอหมูย่างน้ำตกถ้วยนึงและซอสมะเขือเทศถ้วยนึง   ก็ได้เพลิดเพลินไปกับน้ำอมฤต อิ่มพอดีๆ ไม่รู้ว่าเป็นมื้ออาหารเย็นหรือมื้อ happy hour กันแน่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 17, 19:36
บาร์บีคิว  คำนี้คงจะทำให้นึกถึงอาหารอยู่สองลักษณะ คือ เนื้อสัตว์เสียบไม้สลับกับหอมใหญ่ มะเขือเทศ และสับปะรด  และซี่โครงหมูย่าง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 17, 20:18
ภาพประกอบ ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 17, 20:16
ชื่อของอาหารในภาพของ อ.เทาชมพู นี้  ผมไม่ทราบว่าชื่อที่ถูกต้องควรจะเรียกเช่นใด คิดว่าน่าจะเรียกว่า skewer barbecue  ซึ่งถ้าหากเป็นเนื้อล้วนๆก็จะถูกเรียกว่า Kebab 



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 17, 21:34
บาร์บิคิวที่เป็นเนื้อสัตว์ กับผักชนิดต่างๆ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เสียบไม้ น่าจะเป็น skewer  เพราะคำนี้แปลว่าเสียบ
ส่วนเนื้อสัตว์ไม่ว่าเนื้อวัว หมู ไก่ เสียบไม้ปิ้งเตาถ่าน คือ kebab  คำนี้เหมือนมาจากตะวันออกกลาง
ภาพนี้คือ Chicken Kabab ค่ะ    ของเราสู้ได้สบายมาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 17, 19:19
skewer และ kebab ต่างก็มีความหมายในทำนองว่า เสียบไม้ย่าง หรือ ย่างด้วยวิธีการเสียบไม้   แต่ทั้งสองคำก็ดูจะยังมีความแตกต่างที่จะใช้ในการเรียกขาน    skewer เป็นคำที่ใช้เรียกอาหารที่เสียบไม้ย่างในองค์รวม  ในขณะที่ kebab ดูจะใช้เรียกอาหารที่เกี่ยวข้องกับ halal   ภาพใน คห. 92 นั้นจึงถูกเรียกชื่อทั้ง skewer และ kebab

สะเต๊ะ เป็น skewer อย่างหนึ่งที่มีชื่อเรียกเป็นของตนเองโดยเฉพาะ  ไก่ย่างแบบของญี่ปุ่น Yakitori ก็เป็นชื่อเรียกเฉพาะ  ของไทยก็มีลูกชิ้นปิ้งและปลาหมึกปิ้งที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ไม่รู้ว่าจะมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษเป็นการเฉพาะเรียกว่าเช่นใด   แล้วเราก็ยังมีไข่เสียบไม้ปิ้ง มีหอยแมลงภู่เสียบไม้ปิ้ง (ยังพอเห็นได้ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงจริงๆ) .... 

หากจะเลยเถิดไปถึงในเมืองจีนที่มีอีกสารพัดสัตว์ตัวเล็กทั้งบกทั้งน้ำที่นำมาเสียบไม้ปิ้ง เช่นนี้ skewer จะยังคงใช้เรียกได้หรือไม่         


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 17, 19:37
อีกเรื่องหนึ่งที่ยังตัวเองยังมีข้อสงสัยอยู่ คือ อาหารเสียบไม้ที่ฝรั่งเรียกว่า skewer นี้ โดยนัยแล้วหมายถึงการทำให้สุกด้วยการย่าง และมักจะจัดให้อยู่ในกลุ่มอาหารประเภท BBQ  แต่หากเป็นการนำมาทอดล่ะ..ควรจะเรียกเช่นใด ? 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 17, 19:38
สะเต๊ะ หรือ satay  อ่านพบว่ามีต้นกำเนิดมาจากอินโดนีเซียค่ะ   น่าจะเป็นเนื้อสะเต๊ะมากกว่าหมูสะเต๊ะที่เรารู้จักกันแพร่หลาย
ตอนเด็กๆ เคยกินเนื้อสะเต๊ะ จำได้ว่าอร่อยมาก    แต่ปัจจุบัน ไม่ได้เห็นในเมนูหรือในร้านทั่วไป
หมูสะเต๊ะต้องหมูติดมันหน่อย ถึงจะนุ่มอร่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 17, 19:43
อีกเรื่องหนึ่งที่ยังตัวเองยังมีข้อสงสัยอยู่ คือ อาหารเสียบไม้ที่ฝรั่งเรียกว่า skewer นี้ โดยนัยแล้วหมายถึงการทำให้สุกด้วยการย่าง และมักจะจัดให้อยู่ในกลุ่มอาหารประเภท BBQ  แต่หากเป็นการนำมาทอดล่ะ..ควรจะเรียกเช่นใด ? 

เช่นลูกชิ้นทอดน่ะหรือคะ   ก็ต้องเรียก fried ซิคะ
ในภาพนี้ คือลูกชิ้นหมูทอดเสียบไม้  ฝรั่งบรรยายว่า Deep Fried Pork Balls ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 17, 20:25
ใช่แล้วครับ หมูสะเต๊ะจะต้องติดมันนิดหน่อยจึงจะนุ่มอร่อย ก็คือมีมันแซมอยู่ในเนื้อ เช่นเนื้อแถวคอ ?   เมื่อผู้คนเริ่มสนใจในสุขภาพมากขึ้น คนขายหมูสะเต๊ะก็เลยใช้เนื้อแดง (บริเวณสะโพก ?) แล้วก็เอามันหมูมาหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเสียบไว้ที่ด้านโคนไม้  หนักๆเข้าก็เลยมีแต่หมูเนื้อแดงหมัก ไม่มีชิ้นมัน  นัยว่าขายได้ดีกว่า มีคนนิยมมากกว่า ด้วยว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ   ก็ลดความอร่อยลงไปเยอะมากเลยทีเดียว

แต่ก่อนนั้น หาบเร่ขายหมูสะเต๊ะจะต้องมีตับเสียบไม้ขายร่วมอยู่ด้วย ซึ่งจะต้องมีก้อนมันเสียบติดอยู่ด้วยเสมอ  ในปัจจุบันนี้ก็ยังหาทานได้อยู่ในย่านถนนบรรทัดทอง (ไม่รู้ว่าเลิกทำไปแล้วหรือยัง ?)  น้ำจิ้มก็ทั้งแบบที่เราคุ้นกัน แล้วก็มีแบบซีอิ้วใส่หอมแดงซอยและพริก สำหรับใช้จิ้มตับย่างอีกด้วย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 17, 20:42
นี่ก็อีกอย่างที่หายไป ตับย่าง  เคยกินอย่างที่เสียบหมูครึ่งหนึ่งและตับย่างอีกครึ่งหนึ่ง 
เดี๋ยวนี้ที่เจอคือหมูอย่างเดียวค่ะ
เอารูปมารำลึกความหลัง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 10 ต.ค. 17, 23:01
ไม่ทราบว่าที่อื่นมีหรือเปล่า แต่ทางใต้ของเราหมูสะเต๊ะจะมีไส้หมูมาด้วยครับ
(ในภาพมีโฆษณาติดมาด้วย 555)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 17, 09:22
หมูสะเต๊ะอร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาคือ สะเต๊ะลือ ตำรับของคุณป้าม.ล.เนื่อง นิลรัตน์     เคยลงในกระทู้เก่า เลยลอกมาให้อ่านกันค่ะ

เป็นสะเต๊ะหมูไม้อ้วนๆหนาๆ  ทำจากหมูสันในเสียบไม้   ไม่ใช่หมูสะเต๊ะบางๆที่เรากินกันทั่วบ้านทั่วเมือง 
เนื้อหมูหมักจนนุ่ม  พอนำมาปิ้ง  กินเข้าไปก็นุ่มมาก แทบจะละลายลงท้องไปเลย  น้ำจิ้มก็สูตรในวังนี่ละค่ะ  เป็นอาหารที่เพิ่มน้ำหนักได้รวดเร็วมาก  ถ้ากินเพลินไปหลายไม้อาจเกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้   จึงต้องนานๆกินที

คุณป้าเนื่องเล่าว่ามีครูจากชวามาสอนทำในวังพระวิมาดา   ผู้เรียนคือม.จ.แย้มเยื้อน สิงหรา     ดัดแปลงจากของเดิมที่เป็นเนื้อ มาเป็นหมูแทน   ลดเครื่องเทศลงไม่ให้เผ็ดแรงและฉุนเกินไป  รสชาติจึงออกมากลมกล่อมถูกปากคนไทย
วิธีทำ คือเลือกหมูสันในมาแล่เป็นชิ้นบางๆ ยาวสัก 3 นิ้ว   คั่่วลูกผักชียี่หร่าจนหอมเหลืองแล้วป่นให้ละเอียด  ใส่หอมแดงและถั่วลิสงคั่ว  เอาส่วนผสมหมักเนื้อหมู  ใส่หัวกะทิ  น้ำตาลปึกนิดหน่อย  น้ำตาลทรายเล็กน้อย น้ำปลาดี  นมข้น ขมิ้นผง เหล้าสาเกหรือเหล้าแม่โขง   ดิฉันไม่กินเหล้า ก็ไม่ต้องใส่ก็ได้ แต่ถ้าใส่กลิ่นก็จะหอมหวาน
นวดเครื่องปรุงให้เข้ากับเนื้อหมู นวดจนเนื้อหมูนุ่ม  หมักไว้ 3 ชั่วโมง ค่อยเอามาเสียบไม้  พรมน้ำในอ่างที่หมักหมูลงไปบนหมูด้วยเวลาปิ้ง
เคยไปกินที่บ้านคุณป้าเนื้องในงานวันเกิดครบ 90 ปีของท่าน ไม่เคยกินบาบิคิวอะไรอร่อยเท่านี้

สูตรน้ำจิ้ม  ตำหอมแดง พริกชี้ฟ้าใส่ชามไว้   เอาน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือมาละลาย  ชิมดูรสจนเปรี้ยวหวานเค็มเข้ากันดี แล้วเอาหอมกับพริกที่ตำไว้ใส่ลงไป  เท่านั้นค่ะ
ผักที่กินกับสะเต๊ะลือ คือผักกาดหอม และแตงกวา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 17, 18:42
น่าทานจัง  เคยทานแต่เชยจังที่ไม่รู้ว่าเรียกว่าสะเต๊ะลือ หรือไม่สนใจที่จะจำก็ไม่ทราบ  ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 17, 19:25
อาหารจานสะเต๊ะนี่ก็มีอะไรๆที่น่าสนใจอยู่บ้างเหมือนกัน

สะเต๊ะเป็นอาหารของหมู่คนในคาบสมุทรมาลายู ดังนั้น พื้นฐานเดิมๆก็น่าจะเป็นการใช้เนื้อวัวหรือเนื้อสัตว์บกอื่นๆที่่ไม่มีข้อจำกัดทางศาสนา สะเต๊ะเข้ามากระจายแพร่หลายในประเทศไทยด้วยการใช้เนื้อหมูและทำขายโดยคนจีน  ชุดหมู/เนื้อ/ไก่สะเต๊ะของบ้านเราจะมาคู่กับน้ำจิ้มสองถ้วยสองแบบอย่างที่เราคุ้นกัน     ชุดของอินโดนีเซีย (เท่าที่เคยมีประสบการณ์) จะมาแบบมีน้ำจิ้มราดมาบนสะเต๊ะเรียบร้อย ไม่มีอาจาดแยกเป็นถ้วยให้มาด้วย     ชุดของมาเลเซีย (เท่าที่เคยมีประสบการณ์เช่นกัน) จะมาแบบไม่มีน้ำจิ้ม แต่จะมีผักแนม (หอมแดง แตงกวา) อาจาด?     ผมเชื่อว่าท่านอื่นน่าจะมีประสบการณ์หลากหลายมากกว่าผม 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 17, 19:53
สะเต๊ะ เมื่อใช้ไม้ไผ่เหลาเสียบแล้วย่าง ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติ     แต่หากใช้ก้านมะพร้าวสดเสียบแล้วย่าง ก็จะดูเป็นความพิถีพิถันใส่ใจในการทำเป็นพิเศษหรือในวาระพิเศษ บ้างก็จะถูกเรียกว่าแบบชาววัง   ส่วนน้ำจิ้มนั้นหากมีกลิ่นยี่หร่าเด่นออกมาเมื่ออยู่ในปากก็จะคล้ายกับว่าเป็นยอดฝีมือทำน้ำจิ้ม   แถมไปด้วยการย่างบนเตาที่ใช้ถ่านไม้โกงกางก็จะให้ความต่างบางอย่างกับที่ย่างด้วยถ่านไม้ปกติ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 14:30
รูปบน ไก่สะเต๊ะของอินโดนีเซีย
รูปล่าง   เนื้อสะเต๊ะ ของอินโด เช่นกันค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 15:13
รูปนี้คือสะเด๊ะมาเลย์ค่ะ   ไม่รู้ปรุงรสชาติต่างกันยังไง   แต่ดูหน้าตาแล้วเหมือนของอินโด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 12 ต.ค. 17, 17:51
ผมไปประเทศมุสลิมบ่อย ชอบเคบับเป็นชีวิตจิตใจ
เคบับมีหลายหน้าตา ของอิหร่านเป็นเนื้อบดเสียบไม้
อย่าดึงแรง เดี๋ยวหลุด พอย่างสุก ค่อยดึงไม้ออก

ข้าวอิหร่านแบบเดียวกับอินเดีย คือเม็ดยาว ร่วนซุย
ไม่มียาง หุงปนกับเครื่องเทศ saffron
ได้ข้าวร่วนนิ่ม สีเหลืองอ่อน ข้าวร้อนๆ ตัดเนยวาง
บนข้าว 1ก้อน น้ำจิ้มใช้โยเกริ์ต มีใบมิ้นท์ หรือ
โรสแมรี่หั่นละเอียดเพิ่มความหอม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 17, 19:10
สะเต๊ะของทั้งอินโดฯและมาเลย์อร่อยสู้ไทยไม่ได้เลยจริงๆ ของเขานั้นเอารสไปไว้ที่เนื้อ ก็คือต้องหมัก และดูคล้ายกับจะใช้เครื่องเทศสองชนิดด้วยกันคือเม็ดผักชีกับยี่หร่า (น่าจะมีขมิ้นอยู่บ้าง) ในปริมาณที่จะไม่ทำให้กลิ่นและรสของเครื่องเทศเด่นออกมา  สำหรับแตงกวาและหอมแขกซอยนั้น ผมเห็นว่าก็เป็นเครื่องเคียงมาตรฐานที่เห็นเป็นปกติสำหรับเมนูอาหารจานต่างๆ

ผมเคยได้ทราบจากภรรยาของเพื่อนชาวอิหร่านเมื่อครั้งไปเรียนหนังสือว่า ผักที่กินเป็นประจำในอาหารประจำวันของพวกเขาก็คือแตงกวา และหอมแดงหัวใหญ่ ส่วนเครื่องปรับรสของอาหารที่สำคัญก็คือมะขามเปรี้ยว  อาหาร halal ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ก็คงจะยังคงเห็นภาพเช่นนั้นอยู่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 19:14
saffron ภาษาไทยใช้คำว่า หญ้าฝรั่น  
สงสัยว่าคนรุ่นใหม่จะไม่รู้จักคำนี้แล้วค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 19:25
ไปค้นคำว่า kebab  รูปออกมาหลากหลายจนงง
นี่ก็ kebab ค่ะ  เห็นแล้วนึกถึงอาหารเมกซิกันที่เรียกว่า taco (ภาพล่าง)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 17, 19:31
หมูสะเต๊ะของไทยต่างออกไปก็คงจะตรงที่ เราเอาเนื้อมาหั่นเป็นชิ้นบาง มิใช่เป็นก้อนๆแบบของเขา ส่วนการหมักนั้นดูจะใช้ผงกะหรี่เป็นหลัก หมักด้วยการอัดแน่นอยู่ในกล่อง ส่วนรสนั้นเราไปเน้นที่การผสมผสานระหว่างความหอมของเนื้อนุ่มๆกับรสของน้ำจิ้ม+รสของอาจาด หอมซอยที่ใช้ในอาจาดก็จะเป็นหอมแดงหัวเล็ก (ภาษาตลาดเรียกกันว่าหอมเชียงใหม่)  

ความอร่อยของสะเต๊ะเจ้าดีๆนั้น ผมว่ามาจากความหอมและความนุ่มนวลของเนื้อสัตว์ ซึ่งนอกจากจะได้มาจากการหมักแล้วก็ยังได้จากน้ำกระทิที่ใช้ประพรมในขณะที่ย่าง และได้จากความร้อนที่คงที่สม่ำเสมอจากถ่านไม้โกงกาง มิได้มีกลิ่นจากถ่านไม้และผงเถ้าที่ระอุฟุ้งขึ้นมาจากเตาปิ้ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 17, 20:10
kebab โดยความหมายตรงๆก็คือเนื้อเสียบไม้หรือเสียบเหล็กย่าง ส่วนวิธีการเสิร์ฟหรือการจัดจานนั้น มีแตกต่างกันไป  เราจึงเห็น kebab แบบห่อแผ่นแป้งก็มี แบบวางบนแผ่นแป้งก็มี แบบเนื้อจานหนึ่งและแผ่นแป้งจานหนึ่งก็มี แบบใส่ในขนมปัง(bun)ก็มี แบบวางมาบนข้าวสวยก็มี (คห.108)   

ก็แปลกดีที่บรรดาแผ่นแป้ง ขนมปัง หรือข้าวสวย กลายไปเป็นเครื่องเคียงของเมนู kebab 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 12 ต.ค. 17, 22:01
ขอเพิ่มเติมเรื่องเครื่องเทศครับ

เครื่องเทศที่เเพงสุด 3 อันดับแรก คือ ซัฟฟรอง วานิลา และลูกกระวาน
เมื่อไปร้านชำในอิหร่าน ซัฟฟรองมีถุงละ 5 กรัม มาเป็นแผง ใช้กระตุกเอา
เกสรสีส้มบางเบาหยิบแทบไม่ติดมือ แต่ก็พอเพียงที่ทำให้ข้าวสุกทั้งหม้อเหลืองอร่าม

อิหร่านผลิตได้เอง ราคาจับจ่ายไหว อีกทั้งค่าครองชีพอิหร่านถูกกว่าไทย
ครึ่งค่อน ทำให้อะไรๆ ก็น่าซื้อไปหมด ไปเดินตลาด bread ที่เหมือนตูดปิซซ่า
โรยเมล็ดงา แผ่นขนาด 12 นิ้ว ร้อนๆ จากเตาอบดิน แผ่นละ 4 บาท
ผมใช้โทรศัพท์ย่อรูปยังไม่เป็น กดส่งหลายครั้ง ไม่ไป จะส่งรูปให้ดูครับ



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 12 ต.ค. 17, 22:36
ลูกกระวาน พม่าถูกสุด อินเดียแถบอัสสัมราคาสูสี
อินเดียยิ่งไกลออกไป ราคายิ่งแพง
โป่ยกั๊ก หรือแปดกลีบ ชาวเขาเวียดนามปลูกมาก
เอามาขายกองละ 15 บาท ใช้ได้ 3 ปี
ส่วนอบเชย ปลูกได้ในอินโด

เคยสำรวจตลาดที่หมู่เกาะซีเลเบส หรือหมู่เกาะเครื่องเทศ
ไม่ยักเจอเครื่องเทศเลย

หมูสะเต๊ะ เขาไม่ใช้ผงกระหรี่หรอกครับ แพง
สีเหลือง มาจากขมิ้น คนไทยไม่ได้กินเครื่องเทศอย่างเอาเป็นเอาตาย
ผงกระหรี่ คือ การผสมเครื่องเทศหลายอย่างเข้าด้วยกัน
ให้พร้อมใช้งาน สูตรผงกระหรี่แต่ละยี่ห้อ จึงไม่เหมือนกัน
หลักใหญ่ประกอบด้วย ลูกผักชี (corainder) jeera
อบเชย โป่ยกั๊ก ขมิ้น และ ลูกกระวาน

เช่นเดียวกัน ข้าวหมกไก่แต่ละเจ้า กลิ่นไม่เหมือนกัน
รสชาติที่ถูกปากคนไทย ต้องกลางๆ ไม่ฉุนกึ๊กเกินไป



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 13 ต.ค. 17, 08:08
ป้าแก่ขายหมูสะเต๊ะข้างบ้านผม จัดเตรียมเครื่องเทศ
แล้วไปจ้างร้านขายยาบดเป็นผงละเอียด แกหวงสูตร
มีคนถามว่าป้าใส่อะไรบ้างจะไปทำกินสนุกๆ แกตักเครื่องเทศ
ให้ช้อนหนึ่งแทนการบอกสูตร

ผมเคยชำเลืองตามอง สูตรแกมีพริกไทยด้วย แล้วเห็นแกหั่นข่า
ตากแห้งเป็นแว่นๆ แล้วไปคั่ว ญาติผมคนหนึ่งไปแซวแกว่าดูป้าทำ
ทุกวัน อีกหน่อยจะไปขายแข่งกับแกบ้าง วันต่อมาป้าเอาผ้าใบ
มาขึงเลยมองไม่เห็นเลย ดูเงียบๆ ก็ไม่ได้ ต้องพูดจนเสียเรื่อง

เดี๋ยวนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป คงไม่มีใครมีเวลาโม่ผงกระหรี่ใช้เอง
ไปซื้อสำเร็จง่ายดี
         



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 17, 08:33
อ้างถึง
หลักใหญ่ประกอบด้วย ลูกผักชี (corainder) jeera
อบเชย โป่ยกั๊ก ขมิ้น และ ลูกกระวาน

ไปหาว่า jeera คืออะไร
อ๋อ  ยี่หร่า นี่เอง



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 13 ต.ค. 17, 15:45
ครับ ยี่หร่า เป็นภาษาแขก
ครั้งหนึ่งผมไปถามหา cumin seed คนขายงง
เหลือบไปเห็นพอดี ผมเลยชี้เอา
คนขายร้องว่า....อ๋อ จยี้-หร่า

ลูกผักชีและยี่หร่า ไทยนำเข้าจากอินเดีย
Coriander แขก คนละพันธุ์กับผักชีไทย
ของแขกต้นสูงเกือบเมตร ลำต้น ก้านใบหยาบ เน้นเมล็ด
ของไทยเน้นใบ กลิ่นคล้ายกันคร้บ

เอ่อ ชักสงสัยแล้วครับ ถ้ายี่หร่าเป็นภาษาแขกแล้ว
ไทยเราก็มีคำนึ้มานานแล้วนี่นา กาพย์เห่เรือสมัยปลายอยุธยา
มัสมั่นแกงแก้วตา
หอมยี่หร่ารสรัอนแรง
ชายใดได้กลืนแกง
แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 17, 16:29
เอ่อ ชักสงสัยแล้วครับ ถ้ายี่หร่าเป็นภาษาแขกแล้ว
ไทยเราก็มีคำนึ้มานานแล้วนี่นา กาพย์เห่เรือสมัยปลายอยุธยา
มัสมั่นแกงแก้วตา
หอมยี่หร่ารสรัอนแรง
ชายใดได้กลืนแกง
แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา

ก็ไทยเรารับมาจากแขกไงคะ   
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียมีมานานแล้วค่ะ   ตั้งแต่สุโขทัย   หนังสือ ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วงที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทโปรดให้แต่งขึ้นก็เรียบเรียงจากคัมภีร์หลายเล่ม ที่มาจากอินเดีย
สมัยอยุธยา   ชาวอินเดียเข้ามารับราชการในราชสำนักก็มีอยู่หลายตระกูล มีลูกหลานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันอย่างพวกสกุลบุณยรัตพันธุ์  ก็ว่าต้นสกุลเป็นพราหมณ์พฤฒิบาศมาจากอินเดีย

กาพย์เห่เรือข้างบนนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ค่ะ ชื่อกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน   ทรงพระราชนิพนธ์ให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เจ้าฟ้าบุญรอด พระอัครมเหสี

คำว่ายี่หร่า คนไทยรุ่นเก่าใช้เรียกนิลสีน้ำเงินจากพม่าด้วย   ภาษาพม่าเรียกว่า นิหร่า  คนไทยเอามาเรียกเป็นคำเดียวกับเครื่องเทศก็มีค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 17, 18:50
cumin seeds, fennel seeds, caraway seeds และอีกหลาย seeds เป็นสมุนไพรไทยในพิกัดกลุ่มเทียนทั้งหลาย   

เฉพาะสามชื่อแรกนั้น หากได้เห็นเพียงผิวเผินวางแยกกันอยู่ก็ยากที่จะบอกชื่อได้ถูกต้อง  หากเป็นคนไทยก็น่าจะนึกว่าเป็นยี่หร่าในเบื้องแรก หากเป็นคนฝรั่งในพื้นที่ยุโรปฝั่งตะวันออก(เยอรมัน ออสเตรีย เช็คฮังการี สโลวีเนีย ย่านนี้) จะนึกถึงว่าเป็น fennel seeds   คนฝรั่งอื่นๆทางยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือน่าจะนึกถึง caraway เป็นชื่อแรก   หากให้แพทย์แผนโบราณบอกชื่อ ก็อาจจะมีชื่อเช่น เทียนข้าวเปลือก เทียนขาว เทียนตาตั๊กแตน และชื่ออื่นๆเช่น ยี่หร่าขาว ยี่หร่าดำ       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 17, 19:21
น่าสนใจว่าในอิหร่านใช้ยี่หร่าและเรียกว่ายี่หร่าตรงๆเลย ก็ไม่ค่อยจะแปลกใจนักที่ไม่เรียกว่า cumin  แต่ก็ดูจะแปลกอยู่หน่อยนึงเพราะว่าอาหารหลากหลายในพื้นที่ทางตะวันออกของยุโรป (ซึ่งได้ัรับอิทธิพลด้านการปรุงอาหารจากอาณาจักรออตโตมัน) มีการใช้ fennel ในการปรุงอาหารในเมนูต่างๆมากมาย

ผมเองก็ไม่มีสันทัดเครื่องเทศต่างๆ เพียงคุ้นเคยกับพวกที่เราใช้เป็นประจำในการทำอาหารพื้นๆ เช่น โปยกั๊ก อบเชย (เปลือกหนา เปลือกบาง) หรือกะดาลา (ชื่อพื้นบ้านที่คนไทยฝั่งตะวันตกเรียกขานต้นอบเชยที่พบกระจายอยู่ในผืนป่าที่ค่อนข้างชื้น) ใบกระวาน (bay leaf) ลูกกระวาน กานพลู มะแลบ มะแขว่น พริกพราน ...ฯลฯ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 17, 19:37
เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย    หลายๆอย่างที่เป็นชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกันแต่ใช้ชื่อเดียวกันแต่มาจากถิ่นที่ต่างกันก็ให้กลิ่นและรสที่ต่างกัน และรวมถึงสรรพคุณด้วย  เช่น อบเชยไทย,อบเชยจีน,อบเชยเทศ   ใบกระวาน กับ เทพทาโร    ชะเอมไทย,ชะเอมเทศ,ชะเอมต้น,ชะเอมเถา,อ้อยสามสวน   กระท้อน,มะต้อง,มะตื๋น   พริกพราน,พริกเสฉวน,มะแขว่น ..... 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 13 ต.ค. 17, 19:46
เคยมึช่างเทคนิคชาวอินเดียมาติดตั้งเครื่องจักรที่บ้านญาติ
เราต้องจัดอาหารให้สามมื้อ มื้อเช้าเขาขอชานมและไข่
 
อุ่นนมให้เดือด ใส่ขิงแก่สองแว่น ใบชาดาร์จีลิงปลายนิ้ว
แล้วกรองกากชาออก

วันต่อไป เปลี่ยนเครื่องเทศเป็นอบเชย กานพลู โอริกาโน เบย์ และข่า
 สลับเปลี่ยนไปเรื่อย เขาชอบข่ามาก ว่าหอมดีเมืองแขกไม่มี

ผมเคยเปิด cook book ของอินเดียที่สอนทำต้มยำกุ้ง แค่ไม่กี่บรรทัด
ที่อ่านก็ยิ้มไม่หุบเพราะมีการใส่ขิงด้วย เดินตลาดอินเดียนานๆ จึง
เข้าใจเพราะอินเดียไม่มีข่านี่เอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 17, 10:35
ไข่ที่เป็นอาหารเช้า  เป็นไข่ออมเล็ต หรือไข่ลวก หรือไข่ดาว คะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ต.ค. 17, 12:16
แรกๆ ก็ปิ้งขนมปังให้สองแผ่น เนย แยม ซอสต่างๆ ครบครัน
พร้อมข้าวสวยเท่าไหว้เจ้า
ส่วนไข่สองฟองทำเป็นไข่เจียวไม่ทรงเครื่องครับ

พี่แกถึงกับโวยว่า oily
วันหลังทำเป็นออมเล็ตให้ครับ จึงสิ้นเสียง
เขาใช้ขนมปังประกบเป็นแซนด์วิชไข่

แขกคนนี้ไม่ใช่ต้นแบบอินเดียโดยรวม
แม่บ้านชมเปาะว่าสะอาด ข้าวของเป็นที่เป็นทาง
พวกเรากระเซ้าให้บรรยายกลิ่นแขก
แกว่าไม่เหม็น หน้ากากปิดจมูกที่เตรียมไว้ไม่ต้องใช้

กลิ่นกายมนุษย์ขึ้นอยู่กับอาหารที่บริโภคด้วย
แขกก่อนหน้าไปพักโรงแรมใกล้เคียงที่เราจัดให้
แต่ไม่สะดวกเรื่องอาหารการกิน จึงย้ายที่
ช่วง 1 สัปดาห์ที่บริโภคอาหารไทย คงทำให้อะไรๆ ดีขึ้น

บางเข้าเราต้มไข่ให้สองฟองครับ เขาก็ทำแซนด์วิชไข่อยู่ดี




กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ต.ค. 17, 14:02
มื้อกลางวันง่ายหน่อย เรากินอะไร ก็พ่วงให้เขาด้วย
เขารับทานไก่อย่างเดียว เนื้ออื่นต้องห้าม

เมนูวันหนึ่งเป็นอาหารแต้จิ๋ว ข้าวผัดหัวคะน้า
เจียวกระเทียมให้หอม คะน้าหั่นเป็นแว่นตามขวาง
ก้นกระทะเป็นของแขก เพิ่มผงกระหรี่เสียหน่อย
โปะด้วยไข่ดาว หรือทอดไก่กรอบแซม

ถ้ดมาเป็นข้าวหมกไก่ สูตรง่าย  ทำกินได้ทุกเมื่อ
เคี่ยวหัวกระทิ น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำส้มสายชู
จนไก่รัดตัว เทข้าวสุกลงไปคลุก หมกจนแห้ง
เครื่องเทศที่ใช้ คือ หัวหอมสับละเอียด ขมิ้นผง
ลูกกระวาน และอบเชย

ตามไปอ่านกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ถึงบท

ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสวิเศษใส่ลูกเอ็น

ผมจินตนาการถึง chicken biryani ของแขก
หรือข้าวหมกแพะของมุสลิม
ข้าวหมกไม่จำเป็นต้องสีเหลืองนะครับ สีขาวก็มี
ของพวกมุสลิมในเอเซียกลาง ข้าวสีขาวแซมด้วย
ลูกเกด พริกแดง พริกเหลือง พริกเขียว สีส้มจาก
ผลแอปปริคอทแห้งที่ดาษดื่น และวิญญาณแพะ



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 17, 18:32
ขอย้อนกลับไปเรื่องข่าสักเล็กน้อย

ข่า น่าจะเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยใช้ในการปรุงอาหารมากกว่าประเทศใดๆ  นอกจากจะเป็นส่วนประกอบพื้นฐานในบรรดาน้ำพริกแกงทั้งหลายแล้ว (พริก หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด กะปิ)  ก็ยังเป็นส่วนประกอบหลักในบรรดาแกงหรือต้มที่มีรสแซบทั้งหลายและก็มักจะเป็นการใช้ร่วมกับตะไคร้และใบมะกรูดเสมอ (ต้มยำ ต้มข่า ต้มโคล้ง ต้มแซบ...ฯลฯ)  แม้ในอาหารจีนในไทยบางตำราก็มีการใส่ข่า (พะโล้ น้ำจิ้มต้มหัวปลา หรือป่นเป็นเครื่องปรุงรสใส่ในข้าวต้มปลา...ฯลฯ)   อาหารของภาคเหนือของเราไปไกลกว่าการใช้ข่าร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ คือ ทำเป็นเมนูเรื่องของข่าไปเลย เช่น น้ำพริกข่า ที่ใช้ข่าตำกับเครื่องผสมจนป่นแล้วใช้จิ้มพวกเนื้อนึ่งสุก  หรือน้ำพริกดอกข่าที่เอาดอกข่ามานึ่งให้สุกแล้วทานกับน้ำพริก  หรือเอาดอกข่าสดมาเป็นผักแนมกับน้ำพริกหรือลาบ (เป็นของชอบของผม)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 17, 19:09
ข่าที่เรานำมาใช้ในการปรุงอาหารเกือบทั้งหมดจะเป็นส่วนที่เป็นเหง้า แล้วเราก็ยังเลือกอีกว่าจะใช้ข่าแก่ ข่าที่ยังไม่แก่(ข่าหนุม) และข่าอ่อน เอามาทำอาหารที่จะให้ความอร่อยต่างกันไป 

ข่าแก่นั้นไม่นิยมนำมาทำอาหารกัน จึงถูกหั่นเป็นแว่น นำไปตากหรืออบแห้ง ใส่ถุงส่งออกไปขายให้กับคนไทยโพ้นทะเลใช้เป็นเครื่องปรุงแก้ขัดในยามยาก ซึ่งดูจะหนีไม่พ้นที่จะใช้เฉพาะในการทำต้มยำและต้มข่า  ข่าแก่แบบแห้งนี้ทำให้กลิ่นและรสของอาหารเพี้ยนไปไม่น้อยเลยทีเดียว  ข่าแก่ที่นำมาใช้แบบสดก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างกันไปมากนัก ยิ่งในกรณีที่หั่นเป็นแว่นหนาๆอีกด้วย จะบุบช่วยสักหน่อยก็จะได้รสที่ร้อนแรงขึ้นมา แต่ก็ต้องพอเหมาะพอดีกับปริมาณของตะไคร้และใบมะกรูด

ข่าที่นำมาใช้ในการทำอาหารในชีวิตประจำวันของเราควรจะเป็นข่าหนุ่มและหั่นเป็นแว่นบาง     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 17, 19:25
สำหรับข่าอ่อนนั้น ในตลาดสดในกรุงเทพฯค่อนข้างจะหายาก แม้จะเป็นในตลาดสดของชุมชนเฉพาะถิ่นก็ตาม   ข่าอ่อนกลายเป็นสินค้าบนโต๊ะขายพืชผักพื้นบ้านเพื่อสนองคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ  ข่าอ่อนมักจะนิยมเอามาต้มหรือนึ่งเป็นผักแนมน้ำพริก   แต่หากได้ลองเอามาทำต้มข่าไก่ นั่นแหละของอร่อยสุดยอดเลย  ผมคิดว่าต้มข่าไก่แต่แรกๆนั้นก็คือการต้มไก่ในกระทิกับข่าอ่อน (แน่นอนว่าต้องมีตะไคร้ ใบมะกรูด ...) หากหาข่าอ่อนจริงๆไม่ได้ก็ใช้เหง้าข่าที่ค่อนข้างอ่อนที่สุดหั่นเป็นแว่นบางๆก็ได้  เพิ่มอรรถรสเข้าไปด้วยน้ำปลามะนาวใส่หอมซอยและพริกขี้หนูสวน

ต้มข่าไก่ในปัจจุบันนี้มีการใส่พืชผักอื่นใส่ลงไปด้วย เช่น เห็ด กล่ำปลี หัวปลี มะเขือเทศ หอมใหญ่ ... ยังไม่เคยเห็นมีการใส่ผักใบเขียวสักที   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 17, 19:47
ยังขาดความรู้และประสบการณ์ที่ตนเองจะวิจารณ์ได้ว่าเหง้าข่าที่จากที่ใหนดีที่สุด ทราบแต่ว่ามีการปลูกหลายที่ หลายพันธุ์ และยังมีหลายชื่อเรียกอีกด้วย 

ที่จริงแล้วพวกพืชมีเหง้าที่มีลักษณะต้นและใบคล้ายๆกันนี้ก็น่าสนใจนะครับ (อาทิ หน่อกะลา ต้นเร่ว ข่าลิง ขมิ้นขาว cardamon กระวานไทย) น่าจะยังไม่เป็นที่เด่นชัดว่านำมาใช้ปรุงอาหารเช่นใดจึงจะอร่อยที่สุด    หน่อกะลาใช้ไนการทำห่อหมกหรือนำมาผัดก็ดูจะยังไมถึงจุดดังเป็นพลุ ต้นเร่วก็มีการนำมาใส่ในแกงของผู้คนแถวจันทบุรี-ตราด ก็อร่อยมากแต่ไม่ดังเท่ากับใบชะมวง ขมิ้นขาวอร่อยคู่อยู่กับบรรดาหลนต่างๆ แต่ไม่ค่อยจะรู้จักหรือนิยมกัน  ที่เหลือก็ไม่ทราบว่ามีการนำมาทำอาหารกันบ้างหรือไม่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 17, 21:46

ผมจินตนาการถึง chicken biryani ของแขก
หรือข้าวหมกแพะของมุสลิม
ข้าวหมกไม่จำเป็นต้องสีเหลืองนะครับ สีขาวก็มี
ของพวกมุสลิมในเอเซียกลาง ข้าวสีขาวแซมด้วย
ลูกเกด พริกแดง พริกเหลือง พริกเขียว สีส้มจาก
ผลแอปปริคอทแห้งที่ดาษดื่น และวิญญาณแพะ
ไปหาว่า chicken biryani หน้าตาเป็นยังไง   เชฟกู๊กอธิบายว่าเป็นข้าวหมกไก่ของอินเดีย      เลยเอารูปมาลงให้ดูกันค่ะ
ดูจากภาพรู้สึกว่าเมล็ดข้าวของเขาหุงแข็งกรากกว่าของเรา   ดูเป็นเมล็ดร่วนเชียวละค่ะ  แต่ไก่หน้าตาคุ้นๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 17, 21:49
ไปหาต่อว่าข้าวหมกแพะเป็นยังไง   เจออยู่รูปหนึ่งมีกะทิเป็นเครื่องเคียงด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 17, 21:52
ข่าอ่อนมักจะนิยมเอามาต้มหรือนึ่งเป็นผักแนมน้ำพริก   แต่หากได้ลองเอามาทำต้มข่าไก่ นั่นแหละของอร่อยสุดยอดเลย 
ต้มข่าไก่ในปัจจุบันนี้มีการใส่พืชผักอื่นใส่ลงไปด้วย เช่น เห็ด กล่ำปลี หัวปลี มะเขือเทศ หอมใหญ่ ... ยังไม่เคยเห็นมีการใส่ผักใบเขียวสักที   
ท้องร้องจ๊อกๆ เมื่ออ่านถึงต้มข่าไก่   แต่อะไรๆที่ใส่เพิ่มลงไปอย่างคุณตั้งบรรยายมา   ไม่ชอบเลยค่ะ  ชอบของดั้งเดิมมากกว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ต.ค. 17, 22:42
คห 131 ดูจากภาพรู้สึกว่าเมล็ดข้าวของเขาหุงแข็งกรากกว่าของเรา
ดูเป็นเมล็ดร่วนเชียว

ผิดครับ ข้าวอินเดียนิ่มนวล เมล็ดไม่สามัคคีกันเพราะไม่มียาง
การสัมผัสมะพร้าวขูดจากกระต่ายนิ่มนวลแค่ไหน
ข้าวอินเดียก็นิ่มนวลแบบนั้น เอามาหุงข้าวมันส้มตำ
ยิ่งวิเศษ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ต.ค. 17, 06:30
ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น
ถ้าเป็นตำรับแขก ต้องใช้ ghee
กรุงเทพฯ สมัยก่อนหาได้ไหมครับ
.
.
.

รูปคือข้าวหมกซินเจียง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 17, 11:31
ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น
ถ้าเป็นตำรับแขก ต้องใช้ ghee
กรุงเทพฯ สมัยก่อนหาได้ไหมครับ

คุณเฮฮามีการบ้านมาให้ทุกโพส
ghee คือเนยใส   บางทีเรียกว่าน้ำมันเนย   ไม่เคยกินทั้งสองอย่าง หรืออาจจะเคยแต่ไม่รู้ค่ะ 
เห็นจะต้องถามคุณตั้งว่า รสชาติเป็นยังไง
คุณเฮฮาเคยชิมแน่ๆ   ไม่ทราบว่ารสชาติแตกต่างจากเนยทั่วไปมากไหม

จำได้ว่า  ใน "เพชรพระอุมา" ดารินทำแกงเขียวหวาน  แกงมัสมั่น และกับข้าวอื่นๆให้พรรคพวกกินกัน โดยใช้น้ำมันเนยแทนกะทิ
เพราะเพชรพระอุมาแต่งขึ้นก่อน กะทิชาวเกาะ จะตั้งโรงงานหลายสิบปี    เลยไม่มีกะทิซองหรือกะทิกระป๋องให้เอาเข้าป่าได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ต.ค. 17, 17:13
Ghee เป็นญาติกับ butter

ภูมิปัญญาแขก ดัดแปลงเนยไว้ใช้ในครัวเขตร้อนที่ไม่มีตู้เย็น
ให้เก็บได้นานโดยไม่หืน และไม่เหลวง่าย

หากเราเวฟ unsalted butter จนเหลว ใช้ที่กรองชากรอง
ให้ใส สิ่งที่ได้คือ ghee

ต่่างจากเนยตรงที่
1) เนยเหลวง่าย ghee คงความเป็นก้อนได้ที่อุณหภูมิปกติ
2) เนยเสียง่าย ต้องแช่เย็น เนยแขกเก็บได้ 2-3 เดือนนอกตู้

รสคล้ายกัน แต่เนยแขกฉุนกว่า

เวลาทอดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ พอเหลืองได้ที่ รินน้ำมันออก
แล้วใส่เนยลงไปหน่อย เคล้าแปบเดียว นานไม่ได้ครับ
เนยไหม้ง่าย ghee ไหม้ยาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ต.ค. 17, 17:30
อาหารเช้าแขก แผ่นแป้งนาน หรือ จาปาติ ร้อนๆ
เอาเนย หรือเนยแขก ละเลง แล้วราดด้วยน้ำผึ้ง
อร่อยกว่า มาจารีน (เนยเทียม) แน่นอนครับเพราะหอมกว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 17, 17:47
จาปาติ  หรือไทยเรียกว่า จปาตี  เป็นแผ่นแป้งเหมือนโรตี
ทาเนย ราดน้ำผึ้ง   ก็คงคล้ายๆขนมปังทาเนย ราดนมข้น ของเรา 
และเหมือนฝรั่งกินแพนเค้ก เพราะทาเนย ราดน้ำเชื่อม แบบเดียวกันค่ะ





กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 17, 17:52
อาหารดั้งเดิมของไทยมีอย่างหนึ่งที่ระบุว่ามาจากเมืองแขก   แต่คำว่าเมืองแขก อาจเป็นได้ทั้งอินเดียและมลายู    คือลุดตี่
ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน   อธิบายไว้ว่า
"ลุดตี่นี้น่าชม           แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาหน้าไก่แกง       แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย
ปัจจุบันยังพอจะหากินได้ค่ะ แม้ว่าค่อนข้างยาก  ต้องไปถึงคลองบางหลวง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ต.ค. 17, 17:55
คห. 139

+ แผ่นแป้ง Pizza ทาหรือจิ้มกับน้ำมันมะกอกดีๆ ไม่ต้องใช้อื่นใดมาปรุงแต่งอีกเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ต.ค. 17, 17:57
ขอกลับไปเรื่องยี่หร่าอีกนิดนึง  

เคยไปงานสังคมระดับหนึ่งที่บ้านพักของคนอินเดีย เขามีจานใส่ยี่หร่าวางไว้ให้เราหยิบขึ้นมาใส่ปากอม วางไว้หลายแห่งอีกด้วย   ผมไม่ทราบว่าเป็นประเพณีนิยมในการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือนที่บ้านหรืออย่างไร แล้ววางไว้สำหรับผู้มาเยือนเพื่ออะไร อมดับกลิ่นปาก? อมทำให้ปากหอมเหมือนๆกันไปทั้งงาน? อมเพื่อการปรับรสลิ้น? เป็นเสมือนของกินเล่น? (ลูกอม ?)

คุณเฮฮาซี่งมีตวามคุ้นเคยกับพวกเครื่องเทศพอจะช่วยอธิบายขยายความได้ใหมครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ต.ค. 17, 18:51
ตะกี้เพิ่งกลับจากตลาดนัดซันเดย์ที่ขายของพม่า
เหลือบไปมองเครื่องเทศในตระกร้าหนึ่ง คนขายร้อง
ว่าเป็นเครื่องหมาก ในนั้นมีเมล็ดยี่หร่าเป็นถุงๆ
เมล็ดผักชี และลูกกระวาน

เวลาจัดหมาก ใส่เมล็ดเครื่องเทศที่ชอบลงไปเล็กน้อย
ให้หมากออกรส เคี้ยวแล้วซาบซ่า ปากสดชื่นครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ต.ค. 17, 21:40
ครั้งหนึ่งแผ่นโรตีจิ้มแกงแขก เคยช่วยชีวิตไว้

ผมต้องนั่งรถไฟจากดาร์จีลิงไปกัลกัตตาเพื่อบินกลับกรุงเทพ
อีก 20 กม. จะถึงกัลกัตตา  ผมต้องรีบลงรถไฟเพื่อให้ใกล้สนามบิน
มากทีสุด ขณะนั้นเจ็ดโมงเช้า เที่ยวบินผมสามทุ่ม หมดแรงเที่ยว
ต้องการไปนั่งๆ นอนๆ ในสนามบิน

ปัญหาใหญ่คือ เงินรูปีมีเหลือแค่ 70 รูปี ตอนลงรถไฟ
หาที่แลกเงินเขาบังคับต้องแลกห้าพันบาทอย่างน้อย
คิดง่ายๆ 100 รูปึ คือ 50 บาทนิดๆ ขืนแลกก็เหลือรูปี
บานเบอะ จะกลับบ้านอยู่แล้ว

เห็นแขกมุงดูอะไรกัน ควันฉุยหอมกรุ่น
เขาให้แป้งโรตีบางๆ มา 5 แผ่น แล้วตักแกงมันฝร้่ง
ราด ในราคา 10 รูปี เพิ่มไข่ต้มอีก 5 รูปี

เด็กขอทานมาสะกิดแขนผม ตื๊อขอเงิน
ครั้นผมจะให้เงินตัดรำคาญ ก็ไม่มีจะให้
ทันใดนั้น เด็กขอทานผอมๆ  โดนคนขับ
แท๊กซี่ตบร่วงฐานรบกวนนักท่องเที่ยว
ผมแบ่งโรตีให้เด็ก 2 แผ่น ปลอบใจ

โรงเรียนที่ ดาร์จีลิง ต้องหยุดเรียนนานปีนี้
เพราะมีการประท้วงแบ่งแยกดินแดน
หลานชายต้องไปแปะกับโรงเรียนในกัลกัตตาแทน
พ่อแม่เด็กบอกให้ลูกย้ายมาเรียนที่กัลกัตตาถาวร
ลูกไม่ยอม ข้อดีที่กัลกัตตามีคืออาหารมีเนื้อสัตว์บ่อย
แต่โรงเรียนตัวเองเป็น veg บ่อย

อาหารที่แย่ที่สุดคือ แกงกระหรี่มันฝรั่ง
และมันฝรั่งเป็นชิ้นหนาคลุกกับใบผักชี
กินกับไข่ต้ม












กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 17, 10:50
เคยกินโรตีจิ้มกับแกงเขียวหวาน ในร้านเก่าแก่ตรงข้ามป้อมสันติชัยปราการ   อร่อยมาก
แต่แกงกะหรี่แขกกินกับโรตี รสชาติคงไม่ถูกปากคนไทยอย่างคุณเฮฮา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 16 ต.ค. 17, 12:40
โรตีเขาเป็นโรตีคนยาก แป้งบางๆ ไม่ puffy
คล้ายโรตีสายไหมอยุธยาที่เป็นแป้งบางทอดน้ำมันครับ

กินโรตีไทยค่อยสนิทใจหน่อย
เขาล้างเท้ารึเปล่านั่น แล้วเหยียบขี้หมามาเปล่า



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 17, 19:28
^
^
ลาขาดจากโรตีกันคราวนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 16 ต.ค. 17, 23:12
ไม่ใช่แขกทุกคนสกปรก ที่สะอาดก็มีครับ
ผมนั่งรถเมล์ที่แคชเมียร์ รถสายสั้นๆ เข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ
ค่ารถแค่ 10 รูปี กะว่านั่งไปดูอะไรเล่นๆ แล้วก็นั่งสายเดิมกลับ

พอถึงหมู่บ้าน ผู้คนเป็นมุสลิมที่ไม่เหมือนอินเดียที่เคยพบเห็น
แต่เหมือนปากีสถานหรืออัฟกานืสถาน จมูกโต ผู้ชายหนวดเคราเฟิ้ม
ผู้หญิงแต่งสีดำ คลุมหน้าตามิดชิดสีดำทั้งหมด

ก่อนจะนั่งรถเมล์กลับ เจอร้านเบเกอรี่เล็กๆ จัดเรียงสวย
มีสินค้าหลากหลาย ลงไปดูเสียหน่อย ไม่น่าเชื่อว่า
ในหมู่บ้านปิดเล็กๆ มีขนมปังยิวขาย รูปหางเปีย
เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชื่อว่า challah เนื้อเนียน
สีเหลืองสวย ไว้กินกับน้ำชายามบ่าย

ขนมปังิอื่นหน้าตาเหมือนของ Anatolia
(Asia Minor - Ottoman or Turkey)
สุดท้ายผมซื้อโรตีกรอบ อันละ 5 รูปี มา 10 อัน
อร่อยกว่าที่เคยกินมาก่อน คุ้มมากที่มาหมู่บ้านนี้








กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 16 ต.ค. 17, 23:41
จากภาพในความเห็นที่ 46 ของไทยเราก็มีครับ สมัยเด็กๆผมไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดพังงา เขาทำเคย หรือกะปิอย่างเป็นล่ำเป็นสัน วิธีการก็คือเอาวัตถุดิบมาผึ่งลมบนพื้น แล้วก็ขึ้นไปเหยียบๆๆๆๆๆๆ
ดีที่ตอนนั้นยังเด็กไม่คิดมาก ฮ่าๆๆๆ
แต่สมัยนี้เชื่อว่าวิธี่ทำคงเปลี่ยนไป คงใช้เครื่องจักรมาทดแทน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 17 ต.ค. 17, 17:49
แนะนำเมนูสุขภาพที่ง่าย อร่อย และรับแขกได้

Fresh lumpia อาหารฟิลิปินโนครับ

เปลือกหุ้มเป็นแป้งโรตีสายไหม แผ่นใหญ่ก็ดี
ข้างในเป็นไส้ผักลวก คลุกกับ garlic sauce
ห่อม้วนๆ ราดด้วยน้ำเชื่อมเหนียวแต่ไม่หวานมาก

ไส้ผัก เช่น ถั่วฝักยาวหั่นแฉลบ ดอกกระหล่ำหั่นบางเล็ก
แครอทเป็นเส้น ลวกแล้วมาเคล้ากับกระเทียมเจียวขาว แปลว่า
เจียวแปบเดียว อย่าเหลือง

ละลายเนยกับกระทะร้อน อย่ามาก เดี๋ยวคนกินจับกลิ่นได้
น้ำตาลทราย น้ำเปล่า แป้งข้าวโพดพอให้เหนีบว
maple syrup ก็ใช้ได้ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 17, 17:54
Fresh lumpia ของคุณเฮฮา  หน้าตาคล้ายๆปอเปี๊ยะญวน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 17, 17:57
คุณตั้งอยู่ไหนแล้วเนี่ย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 17, 19:14
ยังอยู่ครับ แต่อาจจะต้วมเตี้ยมตามหลังตามประสา สว. ไปหน่อย

ขอกลับไปเรื่องข้าวหมกหน่อยนึงก่อนครับ   ข้าวที่จะนำมาทำข้าวหมกให้อร่อยนั้น จำเป็นจะต้องใช้ข้าว long grain ที่เรียกกันว่า Indica rice เท่านั้น จะต้องเป็นข้าวที่ไม่มียางหรือมียางน้อยมาก (ผมยังไม่เคยเห็นมีการใช้ข้าว short grain ที่เรียกกันว่า Japonica rice)   ซึ่งก็หมายถึงใช้ข้าวเก่าหรือข้าวที่ทำการซาวข้าวจนน้ำซาวข้าวออกใส (คงจะเคยเห็นวิธีการหุงข้าวของชาวอินเดียในสารคดีต่างๆ) ซึ่งก็หมายถึงเป็นการหุงข้าวแบบไม่มีการเทน้ำข้าวทิ้ง(แล้วดงข้าวให้แห้งระอุด้วยไฟอ่อนๆ)  หรืออีกนัยหนึ่ง การทำข้าวหมกก็คือการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำที่มีเครื่องปรุงพร้อมสรรพอยู่ในข้าวที่จะหุงให้สุก   คล้ายกับอาหารที่เรียกว่า pilaf และ paella     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 17, 19:28
อาจจะเป็นเรื่องน่าสนใจหรือน่าสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า การหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำนั้น ดูจะเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปหมดทั้งโลก ยกเว้นเฉพาะในภูมิภาค SE.Asia  ซึ่งในปัจจุบันนี้ หากที่ใดมีไฟฟ้าเข้าไปถึงก็คงหันไปใช้วิธีการหุงแบบไม่เช็ดน้ำกันหมดแล้วเช่นกัน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 18 ต.ค. 17, 11:21
การทำข้าวหมกใช้ข้าวเม็ดยาว เพราะย่านที่ทำข้าวหมกเป็นประเทศร้อน
ข้าวเม็ดยาวได้ผลผลิตดี เราหาซื้อข้าวเม็ดสั้นยากด้วย

ญี่ปุ่นบริโภคข้าวเม็ดสั้น หุงโกฮังออกมาเหนียวหน่อย ทำซูชิสบาย
แต่ข้าวเม็ดยาวก็ทำซูชิได้ โดยปนข้าวเหนียว 2 กำมือ

การทำข้าวหมก ข้าวมัน ข้าวเคจุน หรือ dirty rice
จะหุงข้าวขาวก่อน แล้วค่อยไปทำก็ได้
หรือหุงไปหมกไปก็ได้ อร่อยได้ทั้งนั้น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Voodoo ที่ 18 ต.ค. 17, 13:39
สมัยเด็กๆ จำได้ตอนผมพ่อทำข้าวหมกแพะไปสุเหร่า เชือดแพะเองเลย จับแขวนห้อยหัว ถลกหนังเพื่อไม่ให้ขนแพะติดเนื้อ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 17, 14:58
เนื้อแพะ รสชาติเป็นยังไงคะ  คล้ายเนื้อแกะไหม

กลับมาเรื่องหุงข้าว
ซููเปอร์ในอเมริกามีข้าวสารขายเป็นถุงมาหลายสิบปีแล้ว     นักเรียนไทยสมัยก่อนซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้จากซูเปอร์คนจีน ก็เลยสะดวกในการหุงหาแบบไทย   ไม่เคยสนใจว่าฝรั่งเขาเอาข้าวสารไปหุงกันแบบไหน
มาอ่านกระทู้นี้ เกิดสงสัยขึ้นมาว่าเขาไม่มีหม้อแบบเรา  แล้วกินข้าวสุกได้ยังไง   ไปถามเชฟกู๊กดู  ก็ได้คำตอบว่าเขาหุงด้วย sauce  pan หมายถึงหม้อที่มีด้ามจับยาวๆ 
 
  https://www.realsimple.com/food-recipes/cooking-tips-techniques/cooking/cook-rice


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 17, 18:10
ข้าวหมกเป็นหนึ่งในอาหารชอบของผม  ซึ่งหากเป็นข้าวหมกไก่ ก็จำเพาะเจาะจงจะขอเนื้อส่วนสะโพก เนื้อส่วนอกและขานั้นเนื้อจะแห้งเกินไปจนไม่อร่อย 

สำหรับผมนั้น นิยมจะทานข้าวหมกแบบหุงข้าวให้สุกไปพร้อมกับไก่ ไม่นิยมข้าวหมกที่ทำในลักษณะแยกทำข้าวไปทางเนื้อไปทาง  ซึ่งผมเห็นว่าการหุงข้าวหมกแบบแยกเนื้อนั้นเป็นการทำอาหารในลักษณะเพื่อการค้า คือ หุงข้าวที่ใส่เครื่องเทศให้ออกกลิ่นกลางๆ มิได้มุ่งหวังที่จะ
 blend รสและกลิ่นของเครื่องเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างข้าวกับเนื้อสัตว์  ก็เพียงหากอยากได้หมกไก่ก็ตักไก่ใส่ลงไปในจานข้าว อยากได้หมกแพะก็ตักเนื้อแพะใส่ลงไปในจานข้าว อยากได้หมกเนื้อก็ตักเนื้อวัวใส่ลงไปในจานข้าว ในบ้านเราก็ใช้น้ำจิ้มเป็นตัวเชื่อมระหว่างข้าวกับเนื้อสัตว์ให้ผสมผสานกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 17, 18:37
ข้าวหมกแพะ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 17, 18:42
ผมเคยทำข้าวหมกอยู่สองสามครั้ง ทั้งแบบหุงโดยใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าทานเอง และหุงเพื่อเลี้ยงคนประมาณ 40 คน ก็ไม่มีความเก่งกาจใดๆหรอกครับ เป็นภาวะจำเป็น เครื่องเคราก็ไปหาซื้อเอาแบบที่ร้านเขาจัดให้ ก็เลยได้พอทราบว่ามีหลากหลายการใช้เครื่องเทศและวิธีการทำ  ใส่/ไม่ใส่ ขิง พริก อบเชย ใบกระวาน ลูกกระวาน กานพลู ดีปลี ...เป็นต้น ผัดเครื่องเทศแบบเรียงลำดับกับน้ำมันพืชหรือ ghee  ต้มไก่ให้สุกๆดิบๆ เอาไก่นั้นวางเรียงในข้าวเป็นชั้นๆ ใช้น้ำต้มไก่นั้นหุงข้าว...เหล่านี้เป็นต้น  

ทำให้ได้พอได้เข้าใจและรู้เลยว่า การทำข้าวหมกนั้นไม่ต่างไปมากนักจากการดงข้าวให้สุกทั่วกันหลังจากการเช็ดน้ำไปแล้ว ซึ่งท่านที่เคยหุงข้าวแบบเช็ดน้ำบนเตาฟืนหรือเตาถ่านจะเข้าใจดี  การดงข้าวนั้นเป็นทั้งการทำให้ข้าวสุกทั่วกันทุกเม็ด ทั้งการแก้กรณีหุงแล้วได้ข้าวแบบสุกๆดิบๆหรือแฉะเกินไป ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่การรู้จักข้าวที่อยู่ในหม้อและการควบคุมความร้อนของเตา   ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่ข้าวหมกจะนิยมทำกันบนเตาฟืนหรือเตาถ่านเพราะสามารถจะทำให้ความร้อนกระจายไปเท่าๆกันได้อย่างทั่วถึงได้ดีกว่าเตาแกส      


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 17, 19:01
ข้าวหมกแพะ   
เคยสังเกตใหมว่า ข้าวหมกแพะนั้นมักจะใช้เนื้อส่วนซี่โครง   
ข้าวหมกแพะหาทานได้ยากอยู่เหมือนกันแม้ว่าจะในวาระงานมงคลต่างๆ  ร้านแถวถนนพระอาทิตย์ดูจะมีขายเป็นประจำ แต่ร้านโปรดของผมอยู่ในเชียงรายโน่น

เนื้อแพะเป็นเนื้อที่เกือบจะไม่มีกลิ่นสาบ ยิ่งเอามาทำอาหารที่ใช้เครื่องเทศเป็นส่วนประกอบก็แทบจะไม่มีกลิ่นสาบใดๆเลย  เนื้อที่ติดมากับซี่โครงนั้นก็เปื่อยยุ่ยไม่เหนียวขนาดเนื้อซี่โครงเนื้อวัวหรือซี่โครงหมูที่ไม่ได้ทำการ marinate       texture ของเนื้อละเอียดมากกว่าเนื้อหมูและเนื้อวัวมาก จะว่าดั่งเนื้อซี่โครงของลูกหมูก็ว่าได้   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 18 ต.ค. 17, 19:22
ผมกินแพะที่จีน แคชเมียร์ และราชาสถาน
เนื้ออร่อย แต่กลิ่นแรงแทบทนไม่ได้

เนื้อแกะเสียอีก กลับไม่มีกลิ่นเท่าไร
เนื้อแคงการูกับเนื้อม้าที่ออส พอทนครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 17, 19:28
แพะไทยน่าจะมีกลิ่นสาบน้อยกว่าแพะ จีน แคชเมียร์ และราชาสถาน นะคะ
ส่วนแกะ ถ้าเชฟเก่งๆทำ  ไม่มีกลิ่นสาบ  ถ้าไม่เก่งจริงก็มีกลิ่นสาบให้คนกินรู้สึกได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 17, 19:32
อีกประการหนึ่งดังที่คุณ VooDoo ว่าไว้   ถลกหนังแพะแบบไม่ให้เนื้อติดขน  

ครับ เป็นทั้งความจริงและความเชื่อในหมู่นักชำแหละเนื้อสัตว์และนักล่าพรานไพรต่างๆว่า การถลกหนังสัตว์นั้นจะต้องไม่ให้มีขนติดเนื้อ เพราะจะทำให้เนื้อทั้งตัวมีกลิ่นสาบ  และจะต้องตัดอวัยวะเพศออกให้เร็วที่สุดเมื่อสัตว์ถูกทำให้ตายเพื่อมิให้เกิดกลิ่นฉี่ซ่านกระจายอยู่ในเนื้อ

สำหรับกรณีแล่หนังนั้น  เรื่องประกอบที่สำคัญนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการไม่ต้องนำเนื้อนั้นๆไปล้างน้ำ ซึ่งจะเป็นการลดความสดและทำให้เกิดการแปดเปื้อนกับจุลินทรีย์ต่างๆที่อยู่ในน้ำ    ส่วนเรื่องของการตัดอวัยวะเพศนั้น ผมไม่ทราบว่าจะเกี่ยวกับเรื่องทางเคมีของ muscular spasm ??  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Voodoo ที่ 18 ต.ค. 17, 21:14
จริงด้วยครับ เพื่อไม่ให้มีกลิ่นสาบ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ต.ค. 17, 18:38
"ลูกเอ็น" ที่ใส่ในข้าวหมก ไปค้นดูก็จึงได้รู้ว่าเป็น Cardamon หรือลูกกระวานเทศ มีรูปทรงรี ก็เป็นเครื่องเทศที่ใช้ค่อนข้างจะหลากหลายในอาหารฝรั่ง และทั้งหมดก็ดูจะเป็นที่ดองบรรจุอยู่ในขวด   

ดูจากข้าวหมกที่ทำกินและทำขายในไทย ผมยังไม่เคยเห็นที่มีการใส่ลูกกระวานเทศ เห็นแต่ใส่ลูกกระวานไทย ซึ่งเป็นเครื่องเทศหรือสมุนไพรเฉพาะถิ่นของเราจนได้ชื่อเรียกว่า  Siam Cardamon    ในตำราอาหารที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปในไทยนั้น ลูกกระวานที่กล่าวถึงหมายถึงลูกกระวานกระวานไทยทั้งนั้น  มีลักษณะเป็นลูกกลมสีขาวขนาดประมาณลูกบัว เช่นที่เห็นลอยฟ่องอยู่ในแกงมัสมั่นเป็นต้น

สำหรับตัวผม ลูกกระวานไทยนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอร่อยและความละเมียดละไมในการปรุงอาหารเมนูนั้นๆ   ในข้าวหมกก็เช่นกัน หากได้เห็นลูกกระวานไทยอยู่ในหม้อข้าวหมก ก็แทบจะบอกได้เลยว่าข้าวหมกเจ้านั้นควรจะต้องมีความหอมของเครื่องเทศที่พอเหมาะและมีความอร่อย และก็แทบจะเดาได้เลยว่าในข้าวหมกหม้อนั้นจะต้องเห็นแท่งอบเชย กานพลู และหอมเจียว   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ต.ค. 17, 18:47
ลืมเครื่องเทศไปอีกอย่างหนึ่งคือ ใบกระวาน (Bay leaf) ซึ่งจะให้ความหอมและช่วยลดกลิ่นสาบของเนื้อสัตว์ต่างๆ  ส่วนใบเทพทาโรที่เรียกว่าใบกระวานเช่นกันนั้น ที่ผมเคยใช้ในการทำอาหารต่างๆดูจะไม่ช่วยอะไรๆมากนัก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ต.ค. 17, 19:18
ในประสบการณ์ที่ทำอาหารมา ใบ Bay ช่วยลดกลิ่นสาบเนื้อสัตว์ที่ไม่รุนแรงได้ดี (เช่น เนื้อไก่)  หากกลิ่นสาบแรงแต่ไม่มากนัก ก็เพิ่มลูกกระวานไทย หรือบวกกานพลูสักดอกหรือสองดอก (เช่น เนื้อวัว ลิ้นวัว)  หากกลิ่นสาบค่อนข้างแรง..ขิ่วจัด (เช่น เนื้อแกะ) ก็ควรจะมีเครื่องเทศอื่นผนวกเพิ่มเข้าไป   อบเชยนั้นออกจะดูเป็นเครื่องแต่งกลิ่นหรือตัวกลางผสมกลิ่นต่างๆให้มีความกลมกลืนกัน

ที่น่าสนใจก็คือ ลูกจันทน์ ที่สามารถกลบกลิ่นหรือเปลี่ยนกลิ่นสาบได้ชะงัดนัก  เนื้อแกะที่ว่าขิ่วนั้น หากโรยด้วยผงลูกจันทน์ป่นแล้วย่างเลย   อืม์...อร่อยเหลือหลาย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 19 ต.ค. 17, 19:50
ตอนผมไปรัฐเมฆาลัย เมือง Shillong ซื้อใบกระวานแห้งกำใหญ่
ราคาแค่ 20 รูปี จะเอาไปทำพะแนงเนืีอแบบปาดัง

ไปร้านเครื่องยาจีน ถามหาเครื่องยาต้มเนื้อ จะได้อบเชย 1 แท่ง
โป่ยกั๊ก 3 ดอก จันทน์เทศ 2 ธุลีบางๆ เท่าขี้ตาลิง
และลูกกระวานไทย 3 ลูก ราคา 15 บาท ใช้ได้สองครั้ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 20 ต.ค. 17, 16:14
ลูแจันทน์แพงขนาดไหนเชียว ร้านยาถึงให้แค่ชิ้นบางๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 17, 18:14
ในรูปมีทั้งลูกจันทน์ (nutmeg) และรกที่หุ้มลูกจันทน์ (mace)    ลูกจันทน์จะนำมาใช้ด้วยวิธีการป่นเป็นผง ส่วนรกจันทน์จะนำมาใช้ด้วยการใส่ไปเป็นชิ้นๆ 

ผมมีความรู้น้อยมากกับการใช้เครื่องเทศทั้งสอง พอจะรู้ว่ามีการนำมาใช้ในการปรุงอาหารแบบวิถีของคนไทยไม่มากนัก ต่างกับอาหารฝรั่งที่ดูจะมีการในการปรุงกลิ่นอาหารค่อนข้างจะแพร่หลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ยุโรปตั้งแต่เยอรมันและออสเตรียเข้าไปในยุโรปตะวันออก (ซึ่งน่าจะต่อเนื่องไปตลอดพื้นที่บอลข่านจนเอเซีย...) 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 17, 18:41
พูดถึงเรื่องเนื้อแพะแล้วก็ต้องไปถึงเนื้อแกะด้วย

เนื้อแกะในร้านอาหารที่เรากินกันนั้น ตามปกติจะเรียกกันว่า lamb ทั้งหมด แต่หากไปทานอาหารในร้านเฉพาะอาหารถิ่น ก็อาจจะพบกับเมนูเนื้อแกะแต่เรียกว่า mutton      เนื้อทั้งสองชื่อนี้ต่างก็มาจากสัตว์ที่ชื่อว่า sheep  แต่เรียกชื่อต่างกันก็เพราะมาจากสัตว์อายุน้อยหรืออายุมาก ซึ่งก็จะมีความรุนแรงของกลิ่นสาบและความเหนียวของเนื้อที่ต่างกัน   

โดยนัยกว้างๆ   lamb หมายถึงเนื้อของแกะวัยกระเตาะ  mutton หมายถึงเนื้อของแกะวัยฉกรรจ์  และก็มีชื่อเรียกอื่นๆที่ผมเองก็ไม่คุ้นเคย (ยกเว้น spring lamb ที่หมายถึงเนื้อจากแกะวัยเด็ก)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 17, 19:17
แล้วชื่อ mutton ก็ทำให้เราสับสนได้   

เข้าใจว่าพื้นที่ในภูมิภาคของทวีปอินเดียทั้งหมด   mutton จะหมายถึงเนื้อแพะ    ดังนั้น หากอ่านรายการอาหารในเมนูภาษาอังกฤษ เราก็จะนึกถึงเนื้อแกะที่มีกลิ่นสาบแรง ก็อาจจะไม่กล้าสั่งเมนูนั้นๆ แต่หากอ่านในเมนูที่เป็นภาษาไทย เราก็จะได้เนื้อแพะมาทานอร่อยไป 

สั่งแกง mutton curry แบบปาดังมาทานกับข้าว หรือกับโรตีเนื้อนุ่มๆ หรือกับ naan ...หรอยจังวู๊   อาหารแบบปาดังมีทั้งรส ทั้งกลิ่น ทั้งสัมผัสที่ใกล้กับแบบที่คนไทยทำมากที่สุด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 17, 19:40
เคยทาน mutton kebab ในงานสังสรรค์ทางสังคมของกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันครั้งหนึ่ง เจ้าภาพเป็นอิหร่านก็เลยเลี้ยงในร้านอาหารอิหร่าน 

เริ่มต้นมื้ออาหารด้วยขนมปังเนื้อนิ่มๆจิ้มกับเครื่องจิ้มสามอย่าง เป็นโยเกิร์ดผสมกับอะไรไม่ทราบถ้วยหนึ่ง  มีถ้วยที่มีมะกอกผสมอย่างเข้มข้นถ้วยหนึ่ง และอีกถ้วยหนึ่งนั้นเดาไม่ออก แต่อร่อยดี  หมดเรื่องขนมปังจิ้มก็มาถึงจานหลัก ก็เป็นข้าวร่วนๆสีขาว สีเหลือง สีแสดปนกัน ใส่มาพูนจาน แล้วก็มี mutton kebab เสียบเหล็ก (skewer) ยาวประมาณหนึ่งคืบวางมาหนึ่งอัน  รู้เลยว่าเป็น mutton ของแท้   ทานเสร็จออกมาจากร้าน นึกถึงได้อย่างเดียวครับ..เกี่ยวกับกับเรื่องของกลิ่นตัว

เล่ามาก็เพียงจะบอกว่า mutton ผู้คนในภูมิภาคนั้นเรื่อยขึ้นไปจนถึงยุโรปตะวันตกนั้น หมายถึงแกะวัยฉกรรจ์หรือวัยใกล้ สว.


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 17, 20:16
ในออสเตรเลีย เท่าที่ผมเองมีประสบการณ์   mutton นั้น ดูจะนิยมเอามาทานเป็นอาหารเช้า โดยการทำเป็น steak ชิ้นขนาดประมาณเนื้อแฮมเบอร์เกอร์ มีความหนาประมาณ 1 ซม. และทำให้สุกแบบ well done  อาหารลักษณะนี้พบได้ในแทบจะทุกเมืองเล็กๆที่ผมเคยมีโอกาสผ่านไปดูงาน เป็นเมืองที่อยู่โดดๆและห่างไกล (ประชากรประมาณ 5,000+/- คน) ที่เป็นชุมชนของคนทำงานหนัก (เหมืองแร่ นาเกลือ)     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 17, 20:41
mutton kebab


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 17, 20:43
นี่ก็ mutton kabab


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 17, 20:47
mutton steak ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 21 ต.ค. 17, 08:48
กินเจอยู่พอดีเลย แล้วอาหารเจนี่แป้บเดียวหิวอีกแล้ว (โดยเฉพาะตอนใช้แรงงาน) mutton kabab จะอร่อยแค่ไหนหนอ  ::)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 21 ต.ค. 17, 12:11
คนกินเจ แนะนำเมนูที่อยู่ท้อง คือแกงกระหรี่มันฝรั่ง
ให้พลังงานสูง อิ่มแน่ อิ่มนาน แต่ไม่สู้โอชาปาก
จานนี้ เดาว่าพัฒนาไปเป็นมัสมั่นแกงแก้วตาบ้านเราครับ
ออกเจแล้ว หาเนื้อพื้นทอง (เนื้อสามชั้น) มาเคึ่ยวดู
ทำได้ทั้งผัดเผ็ดเนื้อพื้นท้องใบยี่หร่าเม็ดพริกไทยอ่อน
สตูเนื้อสามชั้นใส่มะเขือเทศและใบกระวาน หรือแกงกระหรี่
ญี่ปุ่นใส่แครอท มันฝรั่ง และ celery ยักษ์ก็ได้ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 17, 17:48
เมนูแกะในร้านอาหารสไตล์ฝรั่งส่วนมากจะเป็น lamb chop หรือ rack of lamb ซึ่งมีราคาสูงอยู่ไม่เบา   ในเมนูของร้านอาหารอินเดียก็จะเป็นแกงกะหรี่  และที่รู้จักและมีขายอยู่ดาษดื่นก็จะเป็น kebab

สำหรับผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อแกะ เนื้อแกะที่นำมาทำเป็นเมนูนั้นๆจะต้องมีกลิ่นสาบนิดๆ ก็คือมากพอที่จะบ่งบอกตนเองได้ว่าเป็นเนื้อแกะเช่นเดียวกันกับกลิ่นประจำตนของเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่...  ซึ่งพ่อครัวฝีมือดีจะเลือกเนื้อแกะวัยที่เนื้อยังไม่เหนียวและใช้วิธีการแต่งปริมาณมันที่ติดมากับเนื้อเพื่อจะให้มีกลิ่นสาบมากหรือสาบน้อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 17, 18:09
เมนูเนื้อแกะที่อร่อยมากๆอีกเมนูหนึ่งก็คือ Irish stew  ทำเองก็ได้ง่ายๆ  เครื่องประกอบก็มีเพียงเนื้อแกะหั่นเป็นก้อนๆขนาดประมาณองคุลีนิ้วหัวแม่มือ หอมใหญ่หั่นขวางครึ่งลูกแล้วผ่าแปด  มันฝรั่งหั่นเป็นก้อนๆขนาดประมาณเดียวกันกับเนื้อ  พื้นฐานก็มีเพียงเท่านี้  ที่เหลือก็สุดแท้แต่จะใส่ จะเป็นแครอท จะเป็น celery ก็ได้  เครื่องเทศหลักก็มีเพียงใบ bay (ใบกระวาน) พริกไทย จะใส่ rosemary เพิ่มไปก็ได้ จะเพิ่มใบ thyme ลงไปก็ได้  (ทั้งสองสมุนไพรนี้ปลูกได้ในเมืองไทยและในกรุงเทพฯอีกด้วย)   สูตรและวิธีการทำก็หาอ่านได้หลากหลายในอินเตอร์เน็ต   สำหรับเนื้อแกะนั้นซื้อหาได้ในร้านขายส่งอาหารและเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ตั้งกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 17, 18:35
ได้เนื้อแกะมาเป็นก้อน แบ่งทำ stew ส่วนหนึ่งแล้ว   อีกส่วนหนึ่งก็เอามาทำเมนูแบบไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่แทนที่จะหั่นเนื้อเป็นก้อนๆสี่เหลี่ยมคล้ายกับเนื้อไก่ ก็เพียงหั่นเป็นเส้นสั้นๆขนาดประมาณนิ้วก้อย  ใช้กระทะร้อนๆผัดให้แห้งจนใกล้จะเริ่มใหม้ (ดูที่หอมใหญ๋)  ก็จะได้อาหารครึ่งทางระหว่างจานกินเล่นหรือจานกับข้าว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 21 ต.ค. 17, 18:43
เนื้อเก้งกวางในตลาดโลละ สองร้อยห้าสิบบาท
พอแทนแกะได้บ้างไหมครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 17, 19:36
เนื้อเก้ง กับ เนื้อกวาง มีความต่างจากเนื้อแกะในเรื่องของกลิ่นขิ่วและความเหนียวของเนื้อ  เนื้อแกะจะมีกลิ่นฉุนแบบที่เรียกกันว่าเหม็นเขียว เนื้อกวางไทย(กวางป่า)จะมีกลิ่นของสาบหญ้า แต่หากเป็นเนื้อกวางฝรั่งก็จะมีกลิ่นพอๆกับเนื้อเก้งของไทยเรา มีกลิ่นเบาบางมาก 

หากเอาเนื้อแกะ เนื้อกวาง และเนื่้อเก้งมาทอด แล้วให้บอกว่าเป็นเนื้ออะไร ผมเชื่อว่าทุกคนจะแยกเนื้อแกะออกไปได้อย่างถูกต้อง แต่สำหรับเนื้อกวางและเนื้อเก้งนั้น หากไม่คุ้นเคยจริงๆก็คงจะบอกผิด ผมเองซึ่งพอจะมีความคุ้นเคยอยู่ไม่น้อยก็คงจะยังบอกผิดเหมือนกัย 

ในเชิงของ texture เนื้อแกะจะเหนียวที่สุด รองลงมาคือเนื้อกวาง และสุดท้ายคือเนื้อเก้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นยังอยู่กับกระบวนการจัดการกับเนื้อเหล่านั้น     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 17, 19:51
เนื้อเก้งกวางในตลาดโลละ สองร้อยห้าสิบบาท
พอแทนแกะได้บ้างไหมครับ
ตลาดในไทยหรือนอกประเทศคะ

ข้างล่างคือ Irish lamb stew  ค่ะ  น่ากินมากๆ



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 17, 19:58
วิธีการจัดการกับเนื้อกวางของฝรั่งนั้น  ผมเคยได้เห็น ได้ช่วยถลกหนังและช่วยแล่เนื้อครั้งหนึ่งและเป็นครั้งเดียวของผม เมื่อครั้งไปคุมงานที่กรุงอ๊อตตาวา แคนาดา   แต่ที่สั่งเมนูอาการทำจากเนื้อกวางกินนั้นมีบ่อยครั้ง

กวางผรั่งตัวนั้นได้มาจากการล่าในฤดูกาลล่าตามกฎหมาย ซึ่งเป็นฤดูหนาว เมื่อล่าได้แล้วเขาก็จะผ่าท้องควักเอาเครื่องในออกให้หมด แล้วเลือกสรรแยกเอามาเพื่อทำเป็นส่วนผสมในใส้กรอก  สำหรับตัวกวางนั้นเขาผ่าหน้าอก แผ่ออกและยันไว้ด้วยไม้ แล้วชักรอกแขวนไว้ในโรงนาประมาณ 7 วัน  ผมไปกับเพื่อนร่วมงานชาวแคนาดาที่ชวนไปดูเพื่อนของเขาจัดการกับกวางตัวนั้นเมื่อแขวนตากครบ 7 วันแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 17, 20:17
Irish lamb stew มีขายในทุก Pub หรือร้านใดในประเทศใดๆที่ยกป้ายชื่อร้านว่า Irish Pub    ไปนั่งกัน 4-5 คน สั่งมา 1 ที่ กล้าๆกลัวๆลองชิมกัน แพล็บเดียวต้องสั่งเพิ่มมาอีกสองสามที่  ครับ อร่อยจริงๆ  โดยเฉพาะในเมือง Dublin ของประเทศต้นตำรับและกินคู่กับน้ำหมักฟองละเอียดสีดำ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 21 ต.ค. 17, 22:37
เนื้อเก้งกวางในตลาดโลละ สองร้อยห้าสิบบาท
พอแทนแกะได้บ้างไหมครับ
ตลาดในไทยหรือนอกประเทศคะ


ตลาดสดในประเทศครับ

เขาเฉลยกันว่าเนื้อเก้งกวาดในตลาดนั้น ไม่ใช่เนื้อแท้หรอก
เป็นเนื้อลูกโคนมตัวผู้ครับ ลูกตัวเมียขุนไว้รีดนม
ลูกตัวผู้ป่วยการเปล่า เลี้ยงไว้ก็เปลืองนม

จะกินเนื้อเก้งกวางแท้จริงต้องไปใกล้ๆ ป่า
กระนั้น สมัยนี้ไว้ใจใครไม่ได้ครับ
เคยไปแม่สอด แวะตลาดม้งกลางทาง ยังเช้าอยู่
ชาวม้งเพิ่งจัดร้าน งัดน้ำสีแดงขึ้นมาถุงหนึ่ง
เอาแปรงชุบสีชะโลมเนื้อหมูป่าที่ซีดเซียว
ให้หมูสีสดน่ากิน
ของเทียมทั้งนั้นครับ



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 07:00
จะกินเนื้อเก้งกวางแท้จริงต้องไปใกล้ๆ ป่า

เดี๋ยวนี้เขาทำฟาร์มเลี้ยงกวางกันแล้วคุณเฮฮา ขายทั้งเขาทั้งเนื้อ อยากกินเนื้อกวางคงไม่ต้องไปด้อม ๆ มอง ๆ ใกล้ ๆ ป่า เคยเห็นในแม็คโครก็มีเนื้อกวางแช่แข็งขายอยู่

https://youtu.be/m5DNbrg_dU4

ราคาเนื้อกวางของฟาร์มในคลิปอยู่นาทีที่ ๑๕.๕๐  ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 07:32
venison แล lamb เป็นอาหารชั้นสูงขึ้นโต๊ะเสวยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว

รายการอาหารของโต๊ะหลวงนั้น  ดั่งนี้

เนื้อกวางและเนื้อลูกแกะย่าง  มีน้ำปรุงแบบ ริมูลาด

น้ำปรุงแบบริมูลาด = Remoulade Sauce


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 09:20
น้ำปรุงแบบริมูลาด = Remoulade Sauce  หน้าตาเหมือนน้ำสลัด
ในรูปคือริมูลาดกินกับกุ้งคอกเทล


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 10:12
เนื้อกวางย่างและน้ำปรุงแบบริมูลาด (Venison loin with celeriac remoulade, pomme Maxine and juniper jus)

ภาพจาก http://www.foodily.com/r/8cb8022be1-venison-loin-with-celeriac-remoulade-pomme-maxine-and-juniper-jus-by-great-british-chefs


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 22 ต.ค. 17, 14:08
จะกินเนื้อเก้งกวางแท้จริงต้องไปใกล้ๆ ป่า

เดี๋ยวนี้เขาทำฟาร์มเลี้ยงกวางกันแล้วคุณเฮฮา ขายทั้งเขาทั้งเนื้อ



คุณเพ็ญครับ  ทราบครับว่าในบรรดา games ต่างๆ
มนุษย์ไม่ต้องออกแรงแล้ว จับมาเลี้ยงในฟาร์มกันหมด
แต่เห็นตาแป๋วๆ ของมัน แล้วผม eat no down ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 17, 18:43
ในการชำแหละกวางที่เล่าค้างไว้นั้น เขาจะแยกส่วนออกเป็นสำหรับการทำอาหารชนิดต่างๆ ก็ดูจะมีมาตรฐานกลางในการจำแนกชิ้นเนื้อส่วนต่างๆอยู่ไม่น้อย 

ในวิถีชีวิตตามปกติของผู้คนเดินดินในเมือง จะหาเนื้อกวางทานในร้านอาหารได้ก็จะต้องเป็นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเท่าที่ประสบมา เกือบทั้งหมดจะอยู่ในเมนูอาหารของคำว่า ragout และ venison

ragout ก็คือ การต้มเนื้อให้สุกเปื่อยด้วยไฟอ่อนๆ ใช้เวลานาน  จะว่าไปก็คือการทำ stew อย่างหนึ่ง  แต่ทั้งสองก็มีความต่างกันทั้งในเชิงความพิถีพิถันและวิธีการทำอยู่ไม่น้อย  ตั้งแต่การหั่นชิ้นเนื้อ การใช้สมุนไพร/เครื่องเทศ สด/ไม่สด    ragout จะเสิร์ฟมาเป็นจาน เห็นชิ้นเนื้อกับผักวางแยกจากกัน และจะมี blackcurrant jam หรือ fruit conserve ปริมาณประมาณช้อนโต๊ะวางมาในจานด้วย   ต่างกับ stew ที่จะจัดมาในจานก้นลึก เห็นเนื้อกับผักคลุกคละกันมั่วไปหมด

venison ก็คือเนื้อกวาง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 17, 18:57
ผมชอบ venison ragout มาก พบเห็นเมื่อใดเป็นต้องสั่งมาทานทุกครั้ง 

ก็ดูจะแปลกๆอยู่ที่ในร้านอาหารต่างๆดูจะมีแต่เมนูุที่ทำด้วยเนื้อกวางเป็นส่วนมาก  ที่ทำด้วยเนื้อวัวก็น่าจะมีแต่ไม่เคยเห็น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเนื้อวัวนั้นหาได้ทั้งปี แต่เนื้อกวางนั้นมีมาเป็นฤดู จึงสามารถจัดเป็นเมนูพิเศษประจำฤดูกาลได้   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 19:15
Venison Ragout with Bacon and Cranberries


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 19:18
ragout รูปนี้เหมือนสตูมากกว่าภาพบนนะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 17, 19:22
การทำอาหารในลักษณะของการต้มเนื้อให้สุกโดยการใช้ไฟอ่อนๆนี้  ก็มีเมนูเฉพาะถิ่นของออสเตรีย ชื่อว่า Tafelspitz อร่อยไม่เบาเหมือนกัน  

โดยหลักก็คือ เอาเนื้อวัวมาต้มด้วยไฟอ่อนๆจนสุกนุ่มไปทั้งก้อน น้ำที่ใช้ต้มนั้นก็ใส่เครื่องสมุนไพร ซึ่งตามกลิ่นน่าจะเป็นมัด bouquet garni ตามแบบการทำ ragout   ทำน้ำต้มให้ใสด้วยการตักมันออก ตักฟองออก ปรุงรสให้พอเหมาะ แล้วเอาน้ำต้มเนื้อนั้นมาใส่ถ้วยเสิร์ฟเป็นซุปใสก่อนอาหาร โรยด้วย pancake หรือไข่เจียวแผ่นบางๆที่ซอยเป็นเส้นๆ  ส่วนเนื้อต้มนั้น เอามาหั่นเป็นแว่นหนาประมาณ 1 ซม.เพื่อจัดเป็นอาหารจานหลัก  จัดลงจานพร้อมจัดผักต้ม เช่น spinach, mash potato วางมาเป็นเครื่องเคียงด้วย

ก็คงจะพอนึกถึงภาพของความอร่อยได้นะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 17, 19:33
แล้วก็ไปถึงเมนูที่ทำด้วยเนื้อแกะ  ครึ่งทางระหว่างการทำแบบ Ragout กับแบบ Tefelspitz  จานนี้อร่อยสุดๆไปเลยครับ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 19:36
Tafelspitz กับซุปใส


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 17, 19:41
ใบเขียวๆที่โรยแต่งหน้าอยู่ในจานนั้น น่าจะเป็นใบ Thyme  เห็นมาคู่กับมันฝรั่งต้มอยู่เสมอๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 17, 20:10
พูดถึง Tefelspitz แล้วทำให้นึกถึงต้มบะกุ๊ดเต๋ ที่เป็นอาหารเช้ายอดนิยมของคนจีนในมาเลยเซียและสิงค์โปร์  ในกรุงเทพฯจะหาทานได้ที่ใหนก็ไม่ทราบ แต่ในหาดใหญ่มีร้านขายอยู่แน่ๆ   หากทำให้ดูดี สะอาด จัดองค์ประกอบให้ดี ให้สวยงาม ก็น่าจะพอจัดทัพไปสู้กับ Tefelspitz ได้เหมือนกัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 20:51
บะกุ๊ดเต๋
กูเกิ้ลบอกว่าในกรุงเทพและปริมณฑล มีขายหลายร้านค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 17, 18:00
ชุดนี้เป็นบะกุ๊ดเต๋แปลงโฉมแบบไทยโดยแท้ มีน้ำจิ้มที่เป็นลักษณะของมาเลย์ (ซือิ๊วใส่พริก) แต่ก็รักษาความเป็นไทยที่ใช้กระเทียมสดแทนที่จะเป็นหอมแดง 

บะกุ๊ดเต๋ของดั้งเดิมนั้นจะใส่แต่เพียงซี่โครงหมู และก็ไม่มีน้ำจิ้มอีกด้วย  ทานกับข้าวสวยร้อนๆและน้ำชาร้อนๆแบบร้อนสุดๆ คือมีกาต้มน้ำเดือดยกมาให้ด้วยเลย   ของไทยเราเพิ่มส่วนที่เป็นเนื้อเข้าไปอีกหลายอย่าง เป็นเห็ดหอมก็มี เป็นเครื่องในหมูก็มี(โดยเฉพาะตับกับกระเพาะ)...  ในภาพของ อ.เทาชมพู ก็มีเห็ดเข็มทองและอื่นๆ  อย่างไรก็ตามผมยังไม่เคยเห็นแบบที่ใส่เลือดหมูเลย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ต.ค. 17, 18:10
บะกุ๊ดเต๋ของดั้งเดิมน่าจะเป็นแบบนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 17, 18:38
บะกุ๊ดเต๋เป็นเมนูอาหารเช้าที่ทำง่ายมาก ส่วนที่ยากคือการหาซื้อชุดเครื่องปรุงสำเร็จ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะหาซื้อใน กทม.ได้ใหม ที่แน่ๆคือหาซื้อใด้ในตลาดชื่อดังของเมืองหาดใหญ่

เอาหม้อใส่น้ำต้มให้เดือด เอาซี่โครงหมูที่ล้างแล้วหั่นเป็นชิ้นๆใส่ลงไป พอน้ำเริ่มจะเดือดอีกทีก็ค่อยๆตักฟองออก แล้วหรี่ไฟพอให้น้ำเดือดปุดๆไม่มากนัก ตักฟองออกจนเมื่อน้ำเริ่มจะใสก็ใส่กระเทียมที่ปอกเปลือกแล้วลงไป จะกี่กลีบก็ได้ ใส่ซองเครื่องเทศลงไป ใส่ซีอิ๊วขาวลงไปให้หอมและใส่เกลือทะเลลงไปเพื่อปรับรสเค็ม และจะใส่เครื่องปรุงอื่นๆเช่นเห็ดหอม (ที่แช่น้ำจนนิ่มแล้ว) เห็ดเข็มทอง....ก็สุดแท้แต่จะเลือกใส่ลงไป  ตั้งไฟเคี่ยวไปด้วยไฟอ่อนจนซี่โครงเปื่อยตามความพอใจ ปิดไฟตั้งพักไว้   เท่านี้เองครับ

เช้ามาก็อุ่นให้เดือด ตักใส่ถ้วยซดทานกับข้าว คล้ายกับทานข้าวกับต้มเลือด/เครื่องในหมู  จะเปลี่ยนข้าวเป็นเส้นก็ได้ ก็เพียงใช้พวกเส้นสำเร็จชนิดต่างๆที่มีขายกันทั่วไป หรือจะใช้ spaghetti ชนิดเส้นเล็ก หรือเส้นหมี่ญี่ปุ่น ก็อร่อยทั้งนั้น  แปลงกินไปได้หลายมื้อทีเดียว    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 17, 18:53
บะกุ๊ดเต๋ของดั้งเดิมน่าจะเป็นแบบนี้

ดูเป็นตุ๋นซี่โครงหมูครับ จะเรียกว่าบะกุ๊ดเต๋หรือไม่ก็ไม่ทราบครับ   ต้มบะกุ๊ดเต๋ที่เห็นมาจะมีการใช้เครื่องเทศ/สมุนไพร (ที่เรียกกันว่าเครื่องยา) ซึ่งจะทำให้น้ำต้มมีสีคล้ำคล้ายน้ำซีอิ๊วขาว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ต.ค. 17, 19:13
คนละเจ้ากัน แต่เขาเรียกบะกุ๊ดเต๋ทั้งคู่ค่ะ
ทางซ้าย บอกว่าเป็นแบบฮกเกี้ยน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 17, 19:36
ขอย้อนไปเรื่องของเนื้อกวางเนื้อเก้งอีกเล็กน้อย

ผมไม่เคยได้ลิ้มลองเนื้อกวางที่ฝรั่งเอาไปทำอาหารอย่างอื่นๆ ยกเว้น ragout    ส่วนสำหรับเนื้อเก้งนั้นผมไม่แน่ใจและไม่คิดว่าน่าจะมีสัตว์ชนิดนี้ (ที่เรียกว่า Barking deer) ในทวีปอเมริกาและยุโรป

เก้ง ภาษาทางเหนือของเราใช้คำว่า ฟาน   เก้งในความรู้ของผมและที่เคยเห็นมา มี 2 ชนิด คือ เก้งหม้อ และเก้งธรรดา   เก้งหม้อมีขนสีน้ำตาลเข้มมากกว่าเก้งธรรมดาจนเห็นได้ชัด เป็นเก้งที่พบอยู่ในผืนป่าใหญ่ที่เป็นป่าดิบแล้ง ในผืนป่าทางตะวันตกของไทย  ส่วนเก้งธรรมดานั้นจะมีีขนสีน้ำตาลอ่อนนวล ตัวเล็กขนาดประมาณสุนัขไทยตัวเขื่องๆ พบอยู่ในป่าละเมาะ (ป่าแดง) ทั่วๆไป โดยเฉพาะในพื้นที่ชายป่าที่มีทุ่งหญ้าหรือทุ่งเต็งรัง (ทุ่งไม้เหียงไม้พลวง)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 17, 20:00
คนละเจ้ากัน แต่เขาเรียกบะกุ๊ดเต๋ทั้งคู่ค่ะ
ทางซ้าย บอกว่าเป็นแบบฮกเกี้ยน

ขอบพระคุณครับ  เป็นความรู้เพิ่มเติม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ต.ค. 17, 07:31
สีแดงคือถิ่นที่  พบว่ามีอีเก้งครัน

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/46/Muntiacus-map.png)

เมืองจีนเนื้อเก้งนั้น  มีเมนูหรูชวนชิม  ;D

อาหารชนิดนี้เป็นอาหารของมณฑลเสฉวน(四川) ในจังหวัดเจียติ้ง (嘉定) เขตฮั่นหยาง (汉阳) แถบเขาเล่อซาน (乐山) วิธีการทำอาหารโดยใช้ไม้ทุบเบาๆที่เนื้อสัตว์ให้นุ่มนี้เป็นวิธีการทำอาหารโบราณของจีนอย่างหนึ่ง พบในตำราอาหารโบราณชื่อว่า "ฉีหมินเยาซู" (齐民要术) ซึ่งเป็นตำราทำอาหารแบบชนบทของจีน เขียนโดยปราชญ์นามว่า "เจี่ยซือเซี่ย" (贾思勰) อายุหนังสีอนี้ตกอยู่ในสมัยปลายราชวงศ์เว่ยเหนือ (北魏) อายุประมาณค.ศ. ๕๓๓ – ๕๔๔ มีอาหารที่ใช้การทุบแบบนี้เรียกว่า “ป่ายฝู่” (白脯)

โดยในตำราอาหารบันทึกไว้ว่า ทำเนื้อสัตว์ต่างๆ อาทิ เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อเก้ง เนื้อกวาง คัดส่วนที่ไม่มีมัน ล้างให้สะอาด หั่นเป็นแผ่น แล้วล้างด้วยน้ำเย็นจนหมดคาวเลือด หลังจากนั้นใช้น้ำเกลือลอยด้วยซวงเจียว หรือที่ภาคเหนือเรียกว่าพริกหอมเทราดเนื้อให้ท่วม แช่ไว้สองคืน หลังจากนั้นเอามาตากแดดไว้ให้เกือบแห้ง เกือบแห้งในที่นี้หมายถึงผิวน้องแห้งแล้วแต่ข้างในยังไม่แห้งสนิท หลังจากนั้นจึงเอามาทุบๆๆๆๆ แต่ทุบเบาๆ เพราะต้องการให้เนื้อแม้จะนิ่ม แต่ก็แข็งหน่อยๆ ไม่ใช่เละแบบแหลกเหลว ไม่ได้บรรยายไว้ต่อว่าเสร็จแล้วเอามาทอดหรือปิ้ง แต่บอกไว้เพียงว่าเนื้อจะมีรสเค็มแกมเผ็ดชาอ่อนๆจากซวงเจียว อาหารชนิดนี้ปัจจุบันไม่มีคนทำแล้ว แต่ว่าอาหารที่ยังปรุงโดยคล้ายคลึงกันอยู่ก็คือ ไก่ป้างป้างนั้นเอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 17, 17:34
ฟาน ซึ่งในภาษาเหนือหมายถึงเก้งนั้น ให้บังเอิญไปใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษว่า fawn ซึ่งหมายถึงกวางเด็ก? กวางตัวเล็ก? หรือ ลูกกวาง?  ใม่แน่ใจนักว่าคำใหนจะตรงกับความหมายของคำว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 17, 17:39
ขออภัยครับ นิ้วมันแกว่งไปโดนเข้าเลยถูกส่งไปเลย

จะจบประโยคด้วย คำใหนจะตรงกับความหมายของคำว่า fawn    ก็ไม่ได้คิดหรอกครับว่าคนเหนือเราไปเอาคำฝรั่งมาใช้เรียกเก้ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 17, 18:11
ดังที่ว่าไว้ว่าเก้งธรรมดาพบอยู่ในผืนป่าที่ค่อนข้างโปร่ง ที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่าป่าแดงหรือป่าแพะ ซึ่งป่าลักษณะนี้พบกระจายอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ ประกอบกับเป็นป่าที่ชาวบ้านเข้าไปหาของป่ามาเป็นอาหารและขาย (เช่น ใบตองตึงสำหรับห่อของ เห็ดชนิดต่างๆ ไม้ไผ่รวก มะกอกป่า ใบกระโดน_จิก? ...)  ซึ่งในป่าชนิดนี้เมื่อฝนตก หญ้าระบัดก็จะขึ้น บรรดาสัตว์กินหญ้าทั้งหลายก็จะออกมาหากินกัน

เล่ามาก็เพียงเพื่อให้เห็นภาพว่า มันเป็นพื้นที่จ๊ะเอ๋ระหว่างคนกับสัตว์  เก้งก็มักจะได้มาจากชายป่ารอบๆพื้นที่นี้ ชาวบ้านที่ได้เก้งมาก็เอามาแบ่งกันและนิยมเอามาทำเป็นลาบดิบกินกัน ก็เลยมีวลีที่นิยมพูดกันว่า ลาบฟานแม่มานอ่อน (แม่มาน ก็คือ ท้องลูก) ซึ่งมีความหมายในเชิงของ quality ในองค์รวม (เนื้อใหม่สด หวาน ชุ่มฉ่ำ นิ่ม ไม่เหนียว...)   ลาบก็ใส่เลือดเล็กน้อยพอไม่ให้แห้ง บางคนก็ใส่ขี้เพี๊ยะลงไปด้วย โดยเฉพาะหากพบว่าเก้งนั้นได้เก็บกินลูกมะกอกป่าเข้าไป         


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 17, 18:26
เนื้อเก้งกับเนื้อกวางมีความอร่อยในรสเนื้อของตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องเสริมแต่งรสใดๆเพิ่มเข้าไปเลยก็ได้  หากจะเอามาแกงเผ็ดหรือผัดเผ็ดก็จะกลายเป็นการไปให้ความอร่อยกับรสของน้ำแกงหรือเครื่องปรุงเแทนที่จะเป็นรสเนื้อ  จะได้จากการใช้เนื้อเก้งหรือเนื้อกวางที่เอาไปแกงก็แต่เพียงความอ่อนนุ่มไม่เหนียวซึ่งก็หาได้จากการใช้เนื้อหมูหรือเนื้อวัวที่เป็นสันในส่วนปลาย ไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อเก้งหรือกวางให้แพงเงินไปเปล่าๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 17, 18:59
เนื้อเก้งเนื้อกวางที่ผมว่าอร่อยที่สุดก็คือ เอามาทอดเฉยหรือชุบน้ำปลาแล้วทอด หากอยู่ในป่าก็คือเนื้อรมควัน หรือตากแห้งด้วยลมผสมแดดอ่อน (ผิวนอกแห้งเนื้อในนิ่ม) แล้วเอามาทอดเหมือนกัน 

สำหรับเนื้อเก้งนั้นคงไม่เหลือให้ไปรมควันได้เพราะตัวเล็ก  เนื้อกวางทั้งตัวนั้นก็คงกินไม่หมดในครั้งเดียวจึงต้องเก็บรักษาด้วยการตัดเป็นก้อนแล้วรมควัน เมื่อจะทานก็เพียงฉีกออกมาเป็นเส้นๆทานกับข้าวได้เลย

ก็คล้ายๆกับการเก็บรักษาด้วยวิธีการตากแดดตามกรรมวิธีของจีนดังใน คห.212  ของเราใช้เพียงเกลือลูบเบาๆ มิได้ใช้วิธีการแช่น้ำเกลือกับซวงเจียว (พริกหอมหรือมะแขว่น) แม้ว่าในอาหารของภาคเหนือจะมีการใช้มะแขว่นค่อนข้างจะหลากหลายก็ตาม

ที่ผมเคยเห็นแปลกออกไปจริงๆก็เมื่อครั้งยังเป็นวัยกะเตาะอยู่ก็คือ ทำเป็นแบบเนื้อสวรรค์ ด้วยการแล่เนื้อเป็นแผ่น หมักเนื้อกับเครื่องเทศเม็ดผักชี ยี่หร่า เอามาตากแดด แล้วเอามาทอด  ก็อร่อยดีแต่ไม่มีกลิ่นของเนื้อเอาเลย       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 17, 19:19
เข้าป่าไปเสียไกลเลยครับ  ขอโยงกลับด้วยเรื่องการรมควัน ซึ่งในวิถีคนเมืองแบบเราๆก็คงจะนึกถึงซี่โครงหมูย่างรมควัน แต่หากนิยมอาหารราคาสูงหน่อยก็น่าจะนึกไปถีงปลาแซลมอนรมควัน หรือปลาเทร้าต์รมควัน  ตัวผมเองยังนึกถึงเป็ดย่างอบรมควันชานอ้อย (เป็ดอบอ้อย) ที่หาทานได้ไม่ยากไม่ง่ายนักอีกด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 25 ต.ค. 17, 12:03
ออกจากป่าแล้วเหรอครับ จะถามถึงเนื้อลิงอยู่พอดี
เห็นตาบุญคำย่าง ผู้กองรพินทร์เคี้ยวตุ้ยๆ
คุณหญิงดารินค้อนตาคว่ำ ของจริงอร่อยไหมครับ

แล้วที่เล่ากันว่าเอาน้ำมะนาวบีบใส่ขมองลิง
เป็นอาหารของชาติใดครับ
เก้งเอ๋งผมชิมมาแล้ว แต่ลิงมิหาญกล้า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ต.ค. 17, 12:17
ออกจากป่าแล้วเหรอครับ จะถามถึงเนื้อลิงอยู่พอดี
เห็นตาบุญคำย่าง ผู้กองรพินทร์เคี้ยวตุ้ยๆ
คุณหญิงดารินค้อนตาคว่ำ ของจริงอร่อยไหมครับ


จำไม่ได้จริงๆและจำแนกไม่ออกครับว่ารสเนื้อลิงเหมือนเนื้ออะไร คงจะเป็นเพราะความที่มันไม่ประทับใจเป็นพิเศษอะไรมากมาย จำได้แต่ว่ากลัวคาว จึงทำให้เผ็ดและรสร้อนแรงเท่านั้น ซึ่งผลที่ได้มาคือ อร่อยที่รสของเครื่องปรุง มิใช่ที่รสเนื้อ ซึ่งต่างกับรสเนื้อค่างที่มีรสเนื้อออกหวานเมื่อต้องพยายามเคี้ยวให้แหลก (Chewy)    Texture ของเนื้อค่างเหมือนกับเนื้อที่เรียกว่าเนื้อหมูป่าติดหนังที่ขายกันในท้องตลาด เพียงแต่ส่วนหนังและส่วนเนื้อบางกว่ามาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 17, 18:24
ขอบคุณครับ คุณเพ็ญชมพู


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 17, 19:09
....แล้วที่เล่ากันว่าเอาน้ำมะนาวบีบใส่ขมองลิง
เป็นอาหารของชาติใดครับ....

คนที่ดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ป่าดง หรือมีอาชีพที่ต้องเข้าป่าเดินดง จะให้ความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติต่างๆ  การไปล่า ไปเอาชีวิตเขาก็เพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งก็ล่าหาเอามาเท่าที่พอจะทำเป็นอาหารได้วันหนึ่ง หรือเก็บสำรองสำหรับวันต่อๆไปได้อีกระยะหนึ่ง  นักล่าและพรานไพรที่เข้าป่าล่าสัตว์เพื่อความสนุกหรือเพื่อจะเอาอวัยวะบางอย่างในตัวของเขาเอามาขาย หรือเป็นการเสาะหาเพื่อเอามาทำกินเป็นเมนูพิเศษนั้น เท่าที่ผมเคยพบหรือได้รู้จัก มักจะได้รับผลกรรมมีอันเป็นไปเกิดขึ้นแก่ตัวตนของตนหรือของครอบครัวของตน 

อีกประการหนึ่ง การกินของสดของดิบจากป่าของชาวบ้านในพื้นที่ป่าดงพงไพรนั้น เท่าที่เคยเห็นมาในชีวิตการทำงานในป่าใหญ่ในดงลึกมากกว่า 20 ปี  ก็เคยเห็นนำมาทำกินกันเพียงทำลาบดิบใส่เลือดสดๆนิดหน่อยเป็นหลัก ไม่ถึงขนาดใส่เลือดเยอะๆจนเป็นหลู้ หลู้นั้นนิยมทำกินกันในหมู่บ้านโดยเฉพาะในวาระโอกาสพิเศษที่ต้องล้มวัวหรือหมู เพราะเลือดจะต้องขยำกับตะไคร้กันแข็งกันคาว     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 17, 19:18
ลาบดิบหรือลาบสดจากเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ของชาวบ้านป่า ก็อาจจะมีการเฉือนเนื้อปีกชายโครงเป็นชิ้นๆมาแนมกับลาบ อาจจะมีตับบ้าง แล้วก็มีขี้เพี๊ยะ และดี เท่านั้น  ส่วนที่เป็นเครื่องในอื่นๆและสมองผมไม่เคยเห็นมีการเอามากินดิบๆเลย   ซึ่งสำหรับเรื่องสมองนี้ คงจะมีกินกันเฉพาะในเมือง    ในภาคเหนือนิยมเอามาทำแอบสมองหมู ในต้มเลือดหมูที่เป็นอาหารเช้าในภาคกลางก็มีการใส่สมองหมูหรือมีต้มสมองหมู 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 17, 19:42
แม้ว่าอวัยวะของสัตว์บางอย่างได้ถูกจัดว่าเป็นยา แต่ชาวบ้านก็มิได้ตั้งใจจะต้องออกไปไล่ล่าหาเอามาเก็บไว้   ก็อาจจะโชดีที่ของพวกนั้นเป็นส่วนประกอบของยาอายุวัฒนะเป็นส่วนมาก (อาทิ ดีหมี ดีงู เกล็ดตัวนิ่ม กระเพาะค่างเดือน 5  กระเพาะเม่น อวัยวะเพศของสัตว์ตัวผู้) ซึ่งเป็นยาที่ไม่จำเป็นของชาวบ้าน  เมื่อเจอะเจอ โอกาสอำนวยก็ล่าเอามากิน เก็บส่วนที่เป็นยาเอาไว้ 

เลือดสดๆ เอามาใส่เหล้าดื่มกินแก้ปวดเมื่อย (ลิง ค่าง เต่า)
ดีสดๆ หรือเอามาตากลมให้แห้ง ใส่ในเหล้าดื่มกิน แก้ปวดเมื่อยเช่นกัน (ลิง ค่าง)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 17, 19:10
กลับไปเรื่องซี่โครงย่างกันดีกว่านะครับ

ซี่โครงที่เราหาซื้อได้ตามเขียงหมูหรือในห้างดูจะมีอยู่เพียง 2 แบบ คือ แบบกรดูกซี่โครงยาวประมาณเกือบๆคืบ กับแบบวี่โครงถูกสับเป็นริ้วๆกว้างประมาณ 2 นิ้ว ทั้งสองแบบนี้จะมีการเลาะเนื้อออกไปจนแทบจะเห็นแต่กระดูกซี่โครง สำหรับแบบสับเป็นริ้วนั้น ก็จะมีอีก 2 แบบ คือ ริ้วบริเวณปลายซี่โครง ที่เราเรียกกันว่าซี่โครงอ่อน และริ้วของซี่โครงส่วนอื่นๆ

ของฝรั่ง ซี่โครงจะมีการชำแหละออกมาในหลายลักษณะ เรียกชื่อต่างๆกัน แถมแต่ละประเทศอาจจะยังเรียกต่างกันอีกด้วย ก็มีอาทิ prime ribs, spare ribs, baby ribs .....   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 17, 19:30
 spare ribs ค่ะ
ซ้าย  ซี่โครงหมู  ขวา ซี่โครงวัว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 17, 19:33
prime ribs
นี่มันส่วนไหนกันคะ  ชิ้นเนื้อหนามาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 17, 19:42
ไม่ว่าซี่โครงจะชำแหละแบบใหนก็ตาม ก็สามารถเอามาย่างได้ทั้งหมด ก็พอจะพูดได้ว่ามันมีความอร่อยเป็นพื้นฐานประจำตนอยู่แล้วทั้งนั้น    เสียงบ่นของความไม่อร่อยที่จะได้ยินตามปกติก็ดูจะมีอยู่เพียงสองเรื่อง คือ เรื่องของความเหนียว และเรื่องของความจืด (มีรสเฉพาะที่ผิว ไม่ซ่านไปทั้งเนื้อ)  แต่ในปัจจุบันนี้ดูจะมีเพิ่มเข้ามาในเรื่องของการทำให้สุกก่อนนำไปย่างให้ได้กลิ่นควันไฟ (เช่น ต้ม นึ่ง)

จะลดความเหนียวและทำให้มีรสชาติฝังในเนื้อนั้น ทำได้ด้วยการหมัก (หรือการ marinate) และวิธีการย่าง    ซึ่งจะต้องใช้เวลาและความอดทนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 17, 19:44
ฺBaby ribs  น่าจะนุ่ม  เคี้ยวง่ายกว่าเพื่อน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 28 ต.ค. 17, 23:16
prime ribs
นี่มันส่วนไหนกันคะ  ชิ้นเนื้อหนามาก

ส่วนที่ใกล้กระดูกสันหลังซี่ที่ 4 จนถึงซี่รองสุดท้าย
ไม่ใช่ว่าวัวทุกตัวจะมี prime rib
ต้องขุนพิเศษหลายเดือน กระนั้นบางตัว
ถึงจะมี บางตัวก็ไม่มี เป็นเมนูของร้านหรูครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 17, 18:36
rib cut ของฝรั่งนั้นมีค่อนข้างจะหลากหลายวิธีการตัดตามความนิยมของผู้บริโภคในแต่ละถิ่น  หรือกระทั่งการตัดชำแหละที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตลาดในบางแหล่งชุมชน ลงไปถึงระดับร้านขายเนื้ออีกด้วย  ก็เพียงแต่ได้เห็นและได้รู้ตามคำอธิบาย  การซื้อเนื้อของผมก็เป็นการเลือกตามที่เราเห็นว่าเหมาะสมกับอาหารที่เราจะทำมากกว่าที่จะเลือกไปตามกฎเกณฑ์ว่าเนื้อส่วนนั้นต้องเอามาทำอย่างนั้นอย่างนี้.. 

ผมไม่มีโอกาสได้ทำซี่โครงย่างด้วยตนเองในต่างประเทศตามแบบฉบับของฝรั่ง ด้วยมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ (สถานที่ เตาย่าง และเวลาที่ใช้ในการทำ)  ในสหรัฐฯก็เคยแต่ทานในร้านอาหารใน county เล็กๆที่อยู่ในเส้นทางเชื่อมระหว่างรัฐหรือเมืองต่างๆ  ในยุโรปและญี่ปุ่นก็ตามร้านที่ขายเฉพาะซี่โครงหมูย่าง   ก็แปลกอยู่เหมือนกัน ในอเมริกายังมีร้านอาหารขายซี่โครงวัวย่าง โดยเฉพาะในพื้นที่ย่าน Oklahoma และ Texas  แต่ในยุโรปและญี่ปุ่นไม่เคยเห็นทั้งๆที่ก็มีการเลี้ยงวัวเนื้อชั้นดี หรือไปไม่ถูกที่ก็มิทราบ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 17, 19:09
เท่าที่พอจะรู้ ซี่โครงย่างของอเมริกันจะมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบทา BBQ sauce ผิวแฉะๆ ซึ่งนิยมกันทั่วๆไป  กับแบบย่างแบบผิวแห้ง ซึ่งทาเครื่องปรุงแบบผง ซึ่งนิยมกันทางด้านฝั่งตะวันออก ทั้งสองต่างก็มีการ marinate เพียงระยะเวลาสั้นๆ (2-3 ชม.) หรือไม่มีเลย   

ต่างกับในยุโรปที่นิยมการหมักด้วยเกลือพริกไทยกับเครื่องเทศเล็กน้อย หมักไว้ในตู้เย็นประมาณ 4 วัน แล้วจึงเอามาย่าง   ส่วนในญี่ปุ่นเท่าที่ทานมามาดูคล้ายๆกับทำให้สุกมาก่อนแล้วจึงนำมาย่าง ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ถึงข้อจำกัดต่างๆในหลายๆด้าน

การใช้ไฟถ่านก็ต่างกัน  ในอเมริกาจะใช้ไฟต่ำมากๆ ปิดฝาเตาอบและใช้ควันช่วยให้มีกลิ่นหอม ใช้เวลานานหลายชั่วโมงมาก   ในยุโรปใช้ไฟถ่านค่อนไปทางไฟแรง ใช้เวลาย่างน่าจะแถวๆ 20 นาที   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 17, 19:38
แต่ผมว่าซี่โครงย่างแบบไทยๆของเราที่ทำกันเมื่อสมัยก่อนนั้น น่าจะสุดยอดมากกว่า   

ใช้เตาอั้งโล่ เลือกใช้ถ่านไม้ก้อนที่มีน้ำหนักมากแล้วย่อยให้เล็กลงสักหน่อย ตะแกรงเหล็กสำหรับปิ้ง กาบมะร้าวแห้ง และใบตองสด  ไปตลาดสดเลือกซื้อซี่โครงที่มีเนื้อติดมากหน่อย เอามาเป็นแผงยาวประมาณคืบนึง  นอกเหนือจากเกลือกับพริกไทยแล้ว จะใส่อะไรลงไปอีกก็ตามสะบาย ที่สำคัญก็คือคลุกเคล้าให้ดี แล้วเอาอะไรปิดเพื่อกันมิให้แห้ง เอาใส่ตู้เย็นไว้ 4-5 วัน

จากนั้นพอแดดล่มลมตกก็เอาออกมาย่างกันให้ควันโขมง เกลี่ยถ่านให้กระจายทั่วๆ ใช้ไฟไม่แรงนัก เอาซี่โครงวางบนตะแกรง ใส่กาบมะพร้าวกาบสองกาบพอให้ควันโขมง เอาใบตองสดปิดทับซี่โครง  ใจเย็นๆสักพักใหญ่ๆก็จะได้ซึ่โครงย่างรมควันกากมะพร้าว +หอมกลิ่นใบตองกล้วย

ดูทำง่ายๆ แต่อาจจะทำไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 17, 18:59
อาหารปิ้งย่างของไทยเราที่ทำในลักษณะของ BBQ นั้นมีน้อยมาก (ใช้ไฟอ่อนและมีการปิดฝาอบควัน) ที่พอจะเห็นว่ามีการทำกันอยู่บ้างก็จะเป็นไก่ย่าง  แต่ก็ดูจะกลับกลายเป็นว่าการย่างไก่ย่างแบบปิดฝาอบช่วยนั้นจะอร่อยสู้การย่างแบบไม่ต้องอบไม่ได้ ตามลิ้นของคนไทยนะครับ  หากเป็นลิ้นฝรั่ง เนื้อไก่จะต้องนุ่ม ฉ่ำ และยุ่ยละลายในปาก (ตามนิยามของเขา)  กระนั้นก็ตาม ก็เห็นฝรั่งติดใจในไก่ย่างของไทยอยู่มากหลาย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 17, 19:36
ไก่ย่างของไทยจะทานคู่กับข้าวเหนียวและส้มตำ  เนื้อคู่ตุนาหงันทั้งสามนี้จะมาปรากฎเป็นเมนูดังของคนไทยทั่วไปแต่เมื่อใดผมก็มิทราบ  ที่ทราบแน่ๆก็คือ แหล่งที่ฮิตและว่าอร่อยที่จะต้องไปทานเนื้อคู่ตุนาหงันนี้ก็คือแถวสนามมวยราชดำเนิน จะว่าไปแล้ว ไก่ย่างสนามมวยนี้ดูจะเป็นหัวหอกหรือจุดแรกเริ่มของการกระจายตัวของอาหารอิสานไปทั่วท้องถิ่นไทยเอาเลยทีเดียว   จากเมนูในร้านอาหารก็ลงสู่หาบเร่แผงลอย แล้วก็กลับไปเป็นของดีของดังประจำถิ่น (เช่น ไก่ย่างวิเชียรบุรี ไก่ย่างท่าช้าง ไก่ย่างเขาสวนกวาง....) ซึ่งจะมีลักษณะออกไปทางย่างแห้งๆ    พร้อมๆกันนั้นก็มีบรรดาไก่ย่างที่มีลักษณะออกไปทางเนื้อฉ่ำแฉะไปด้วยเครื่องเทศและน้ำกระทิที่ใช้พรม  ซึ่งคล้ายกับลักษณะดั้งเดิมที่มีขายอยู่คู่กับสถานีรถไฟตามเส้นทางรถไฟต่างๆ

ในปัจจุบันนี้ มีอีกหลายชื่อไก่ย่างที่ว่าเป็นของดังมาแต่ดั้งเดิม  ก็ว่ากันไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 17, 10:43
ไก่ย่างเจ้าโปรดเจ้านี้ ไม่อาจบอกชื่อได้เพราะจะกลายเป็นโฆษณาไป    บอกใบ้ได้ว่าเป็นไก่ย่างที่เมื่อก่อนหาซื้อได้ปีละครั้ง เวลามีงานใหญ่ๆตามวัด เช่นงานวัดพระปฐมเจดีย์และงานวัดไร่ขิงเป็นต้น     ก่อนหน้าวันเปิดงานสักหน่อย เขาก็จะมาตั้งร้านย่างไก่ เนื้อนุ่มน้ำฉ่ำ หอมเหลือง มีกลิ่นเครื่องเทศเฉพาะตัว  หอมอบอวล ชนิดห่างไปเป็นร้อยเมตร เดินตามกลิ่นไก่มาก็จะรู้ว่าร้านตั้งอยู่ตรงไหน
พอเลิกงาน  เขาก็เก็บร้านไป   รอปีหน้าฟ้าใหม่เจอกันอีก

ตอนนี้ไม่ลำบากขนาดนั้นแล้ว เจ้าของมาเปิดร้านถาวรอยู่ที่ถนนเกษตรนวมินทร์     ได้ความว่าเป็นมุสลิม   ทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อของเจ้าของปัจจุบัน    มีข้าวเหนียว  ส้มตำและจานอื่นๆที่ปรุงด้วยเนื้อวัว ด้วยค่ะ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 17, 18:29
ใช่เลยครับ เป็นไก่ย่างที่มีกลิ่นโชยไปไกล แถมยังเป็นลักษณะของกลิ่นที่บ่งบอกถึงความน่ากินและความอร่อยอีกด้วย  ก็มีที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่งคือแม้จะมีมาออกร้านในงานต่างๆแต่ไม่ค่อยเหมาะที่จะนั่งทานในงานนั้นๆ เพราะจะเปรอะเปื้อนมือและเสื้อผ้าสวยๆที่ใส่มาเที่ยวงาน อีกทั้งกลิ่นหอมของเครื่องเทศที่จะติดไปกับเสื้อผ้าและผม    ที่เขาไปเปิดเป็นร้านถาวรแล้วนั้นก็จึงน่าจะเหมาะแล้ว

ไก่ย่างในลักษณะนี้มีอยู่หลายเจ้า และก็นิยมที่จะมาเปิดประชันกันในเกือบจะทุกงาน ในเขตกรุงเทพและเมืองบริวารรอบๆ  ชื่อร้านที่ใช้ก็คล้ายๆกันโดยเฉพาะคำสุดท้าย แถมยังมีวงเล็บเจ้าเก่าอีกด้วย  กลิ่นของไก่ย่างก็เหมือนๆกันจนแยกไม่ออก ก็คือไม่มีอะไรของใครที่เด่นออกมา   ผมไม่ทราบว่าเจ้าใหนจะอร่อยที่สุด คิดว่าก็น่าจะพอฟัดพอเหวี่ยงกัน และก็น่าจะขึ้นอยู่กับว่า ณ ขณะที่สั่งมาทานนั้นเรามีความหิวขนาดใหน

ไก่ย่างในรูแบบนี้มีการออกร้านในงานในต่างจังหวัดด้วย โดยเฉพาะในงานรื่นเริงประจำปีที่จัดขึ้นโดยจังหวัดนั้นๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 17, 19:09
...ตอนนี้ไม่ลำบากขนาดนั้นแล้ว เจ้าของมาเปิดร้านถาวรอยู่ที่ถนนเกษตรนวมินทร์     ได้ความว่าเป็นมุสลิม   ทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อของเจ้าของปัจจุบัน    มีข้าวเหนียว  ส้มตำและจานอื่นๆที่ปรุงด้วยเนื้อวัว ด้วยค่ะ 

หนึ่งในความน่าสนใจก็มีว่า ได้มีการผนวกเอาวิถีการกินของคนในภาคเหนือและอิสานผสมผสานร่วมเข้าไปด้วย (ข้าวเหนียว ส้มตำ ลาบ น้ำตก..) หลอมรวมกันกลายเป็นวิถีไทยที่มีอัตลักษณ์   

อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น ท่านที่ได้เคยมีโอกาสเข้าไปเที่ยวในงานเมาลิดกลางประจำปี คงจะเคยได้เห็นอาหารบางอย่าง เช่น แหนมที่ทำจากเนื้อวัวที่ห่อในลักษณะของแหนมที่ทำเนื้อหมู  ต่างกับจิ๊นส้มที่ทำขายกันใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 02 พ.ย. 17, 21:58
ไก่ย่างเจ้าโปรดเจ้านี้ ไม่อาจบอกชื่อได้เพราะจะกลายเป็นโฆษณาไป    บอกใบ้ได้ว่าเป็นไก่ย่างที่เมื่อก่อนหาซื้อได้ปีละครั้ง เวลามีงานใหญ่ๆตามวัด เช่นงานวัดพระปฐมเจดีย์และงานวัดไร่ขิงเป็นต้น     ก่อนหน้าวันเปิดงานสักหน่อย เขาก็จะมาตั้งร้านย่างไก่ เนื้อนุ่มน้ำฉ่ำ หอมเหลือง มีกลิ่นเครื่องเทศเฉพาะตัว  หอมอบอวล ชนิดห่างไปเป็นร้อยเมตร เดินตามกลิ่นไก่มาก็จะรู้ว่าร้านตั้งอยู่ตรงไหน


เดาว่าเป็นไก่ย่างจันรพีครับ
เจ้านี้สมัยก่อนชอบออกงานประจำปีแถวภาคกลาง
สมัยเด็กๆ แม่ซื้อสับใส่ถุงไปนั่งแทะดูลำตัดหวังเต๊ะไปด้วย
ปูเสื่อนั่งห่างเวที เดี๋ยวกลิ่นรบกวน มองไม่เห็นลำตัด ฟังเสียงเอา
กินเสร็จใช้ทิชชู่เช็ดมือ ตามด้วยราดน้ำเปล่าที่มีน้อยนิด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 พ.ย. 17, 07:00
เดาว่าเป็นไก่ย่างจันรพีครับ

" จันทร์รพี" ไก่ย่างช่างสร้างสรรค์
ไพเราะครันดีชื่อมีความหมาย
นามแท้จริงจำได้ไม่ต้องทาย
ทวนกลับกลายเป็นชื่อลือมานาน


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A104.png)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 03 พ.ย. 17, 07:41
เดาว่าเป็นไก่ย่างจันรพีครับ

" จันทร์รพี" ไก่ย่างช่างสร้างสรรค์
ไพเราะครันดีชื่อมีความหมาย
นามแท้จริงจำได้ไม่ต้องทาย
ทวนกลับกลายเป็นชื่อลือมานาน


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A104.png)

"นันพิ"คือคู่แข่ง
คอยมาแย่งการตลาด
จันทร์รพีชนะขาด
ผงาดล้ำค้ำคู่ไทย
 ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 พ.ย. 17, 08:11
ขออนุญาตแก้ไข

ไพเราะครันดีชื่อมีความหมาย

เป็น ไพเราะครันชื่อดีมีความหมาย





กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 03 พ.ย. 17, 10:47
บอกเป็นลายแทงซะเลยครับ

ไก่ย่าง จ.ร.พ เกษตรนวมินทร์ (https://goo.gl/maps/jrZtjTH2beK2)



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 03 พ.ย. 17, 15:58
เดากันใหญ่ใบ้กันจังเสียงดังลั่น
ครูใหญ่นั้นออกกฏงดขายของ
โฆษณาประชาสัมพันธ์หาเงินทอง
วอนเพื่อนพ้องไม่ล้ำเส้นเป็นเด็กดี
ผมเอื้อนเอ่ยเดาไกลๆ ไม่เปิดเผย
แต่คุณเพ็ญกึ่งเฉลยใกล้เสียนี่
คนละคำเดากันใหญ่ใกล้ทุกที
เสียงอึงมี่ลงพิกัดอย่างชัดเจน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 17, 18:31
ก็น่าสนใจอยู่อีกว่า ไก่ย่างชื่อดังทั้งหลายต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว   

ไก่ย่างสนามมวย จะเป็นไก่ย่างที่มีเนื้อหนาแน่นแต่ชุ่มฉ่ำและไม่เหนียว เป็นไก่ย่างที่มาพร้อมกับน้ำจิ้มแจ่ว   

ไก่ย่างชื่อดังที่ออกตามงานเทศกาล จะเป็นไก่ย่างที่มีเนื้อหนานุ่มแต่ชุ่มฉ่ำและไม่เหนียว เป็นไก่ย่างที่มีผิวฉ่ำคล้ายทาด้วยน้ำมัน ผิวหนังมีสีเหลืองด้วยขมิ้น และมีเม็ดพริกไทย เม็ดผักชี เม็ดยี่หร่า ติดอยู่ประปรายบนผิว 

ไก่ย่างวิเชียรฯ  เป็นไก่กระทง (broiler) ได้ทราบมาจากผู้ขายว่าเป็นไก่ฟาร์ม ย่างค่อนข้างแห้ง ที่ผิวหนังมีเครื่องเทศติดให้เห็นอยู่ประปราย

ไก่ย่างท่าช้าง  ก็เป็นไก่กระทงเช่นกัน จำได้ว่าแต่เดิมนั้นผิวหนังของไก่ย่างค่อนข้างจะเรียบเนียน แต่ในปัจจุบันมีแบบที่เห็นเครื่องเทศสมุนไพรติดอยู่ที่ผิวหนังก็มี และเคยได้ทราบว่าได้กลายไปเป็นการทำขายในรูปของโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้ว ซึ่งหากเป็นดั่งนั้นความอร่อยก็จะมีความเท่าเทียมกันไปหมดทุกแห่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 17, 18:48
ไก่ย่างเขาสวนกวาง ก็เป็นอีกหนึ่งที่กำลังมีชื่อ เอกลักษณ์เฉพาะตัวก็คือ วิธีการเสียบไม้ขวางตัวไก่เพื่อการย่าง และยังจะต้องย่างบนตะแกรงที่วางไว้บนของกะละมังที่ใส่ถ่านอีกด้วย (จัดเฉพาะหน้าร้าน)  จากคำบอกเล่าของผู้ขาย เขาว่าความต่างจากไก่ย่างที่อื่นๆก็คือการใช้ไก่กระทงพันธุ์พื้นบ้าน

สุดท้ายที่จะกล่าวถึง ก็คือ ไก่ย่างบางตาล ซึ่งดูจะยังไม่แพร่หลายไปไกลกว่าเขตกรุงเมพฯและปริมณฑลมากนัก

นอกจากนั้นก็จะเป็นไก่ย่างที่ว่าอร่อยของร้านโน้นร้านนี้ ของแม่นั่นแม่นี่ ...


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 17, 19:14
ที่ได้กล่าวออกชื่อมาทั้งหมดนั้น จะเห็นว่าเป็นชื่อที่ผูกพันกับสถานที่ทางภูมิศาสตร์ทั้งนั้น  ไม่ทราบว่าได้มีแนวคิดที่จะดำเนินการขึ้นทะเบียนในระบบทรัพย์สินทางปัญญาบ้างหรือยัง (ภูมิปัญญาท้องถิ่น ?   สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ?)   

ผมเห็นว่าทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยเราได้ถูกแอบขโมยเอาไปจดทะเบียนในต่างประเทศอยู่ไม่น้อย สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง (อาทิ ซอสพริกศรีราชา  ท่าฤๅษีดัดตน กาแฟดอยตุง ...)  จะหาประชนที่เป็นเจ้าของเรื่องเพื่อทำเรื่องยื่นขอจดทะเบียนก็คงจะยาก เรื่องเช่นนี้คงจะต้องเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐพิจาณาดำเนินการที่เหมาะสม รวมทั้งการสอดส่องดูแลในต่างประเทศเพราะมีคนทำงานกระจายอยู่ทั่วโลก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 พ.ย. 17, 20:11
ผมเห็นว่าทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยเราได้ถูกแอบขโมยเอาไปจดทะเบียนในต่างประเทศอยู่ไม่น้อย สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง (อาทิ ซอสพริกศรีราชา  ท่าฤๅษีดัดตน กาแฟดอยตุง ...)


เรื่องน่าเสียดายของซอสพริกศรีราชา

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5753.msg126411#msg126411


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 03 พ.ย. 17, 23:45
ไก่ย่างที่ว่า เคยมาออกร้านที่ท้องสนามหลวงในฤดูที่มีการแข่งขันว่าว เป็นประจำทุกปี  
น่าจะชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร จ และลงท้ายด้วยคำว่า พันธุ์  
คงลืมอีกร้านที่มีชื่อ ผมติดใจมาตั้งแต่เด็ก ร้านอยู่แถวสี่แยกบางโพ ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ย. 17, 18:07
ใช่ครับ  ชื่อร้านบ่งบอกว่าขายไก่ย่าง แต่ในความเป็นจริงมีหลากหลายเมนูทั้งแบบอาหารไทย จีน และฝรั่ง

จะว่าไปแล้ว ร้านที่เมนูไก่ย่างและทำเองที่จัดว่าอร่อยทั้งหลายในเขต กทม.นั้น มีไม่น้อยเลยที่ชื่อร้านและลักษณะของการจัดร้านมิได้บ่งบอกเลยว่าจะมีเมนูไก่ย่างที่อร่อย ร้านเหล่านี้มักจะเป็นพวกร้านรุ่นเก๋าที่ได้พัฒนาจนกลายไปเป็นภัตตาคารเต็มตัว แต่ก็ยังคงรักษาฝีมือไก่ย่างเอาไว้

แล้วก็มีร้านไก่ย่างดังๆรุ่นใหม่ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทั่ว กทม. บางเจ้าก็ขยายธุรกิจมีหลายสาขา บางเจ้าก็ดังเฉพาะย่าน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ย. 17, 18:50
ก็น่าสนใจอยู่ว่า คำว่า ไก่ย่าง ที่ใช้นำหน้าหรือตามหลังชื่อร้านหรือภัตตาคารทั้งหลายนั้น มันสื่อความหมายไปถึงกลุ่มอาหารไทยอีกหลายชนิดที่จะมีอยู่ในเมนูของร้านอาหารนั้นๆ  ซึ่งเมนูเหล่านั้นก็มักจะเป็นอาหารในลักษณะการทำของผู้คนในภาคอิสาน  ซึ่งหากได้พิจารณาในองค์รวมในเรื่องลักษณะและรูปแบบของการจัดร้านเข้าไปด้วยแล้ว เราก็เกือบจะระบุลงไปได้เลยว่าร้านนั้นจะมีหรือไม่มีเมนูนั้นๆ

เมนูที่เราทั้งหลายนึกออกในทันใดก็น่าจะเป็นข้าวเหนียว ส้มตำ ลาบ น้ำตก ซุบหน่อไม้ คอหมูย่าง ใส้กรอกอิสาน  จากนั้นก็อาจจะนึกถึงหม่ำ ต้มแซบ ต้มยำ หมู/เนื้อแดดเดียว ปลาดุกย่าง และก็อาจจนึกไปไกลถึงตับหวาน อ่อม (แกงอ่อม)....

ชื่ออาหารเหล่านี้ ระหว่างของภาคเหนือกับภาคอิสานก็เหมือนๆกัน แต่วิธีการปรุงจะเป็นแบบอิสานไปทั้งหมด   จะว่าเป็นเพราะคำว่า ไก่ย่าง ซึ่งเป็นอาหารนิยมของชาวอิสานเพียงคำเดียวก็ดูน่าจะใช่  อาหารทางภาคเหนือดูจะถูกชูด้วยคำว่าลาบเหนือและใส้อั่ว ซึ่งดูจะสื่อไปไม่ได้ไกลถึงเหล่าอาหารอื่นๆที่ปรุงแบบคนเหนือ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 17, 18:58
คงลืมอีกร้านที่มีชื่อ ผมติดใจมาตั้งแต่เด็ก ร้านอยู่แถวสี่แยกบางโพ ครับ
เคยไปเป็นลูกค้าในร้านนี้ค่ะ   ยังรักษาฝีมือไว้ได้ตามเดิม

อีกเมนูที่ร้านเก่าแก่แถวสี่แยกบางโพ ทำได้อร่อยลูกค้าติดใจคือ สตูลิ้นวัว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 13:01
กลับมาช่วยคุณตั้งย่างไก่ต่อค่ะ
ใครหนอช่างกำหนดได้เหมาะเจาะว่า ข้าวเหนียว ต้องกินกับส้มตำและต้องมีไก่ย่าง ถึงจะครบสูตรความอร่อย
ส่วนสหายอื่นๆที่จะเข้ามาร่วมวง ก็มีลาบ  ซุปหน่อไม้   ตับหวาน  เนื้อน้ำตก(ตอนหลังหมูน้ำตกแซงหน้า เพราะคนไทยจำนวนมากไม่กินเนื้อวัว)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 17, 18:57
เมื่อชวนกันไปกินข้าวเหนียว คนไทยโดยส่วนมากในทุกภาคจะนึกถึงสำรับอาหารที่มีไก่ย่าง ส้มตำ ลาบ และน้ำตกเป็นจานหลัก

ที่ต่างออกไปก็คนในภาคเหนือที่จะนึกถึงชุดอาหารที่มีลาบ แคบหมู ใส้อั่ว และน้ำพริกหนุ่มเป็นจานหลัก ซึ่งลาบนั้นก็จะเป็นลาบดิบ เว้นแต่จะบอกว่าเอาลาบคั่ว (ทำให้สุก)

ในภาคใต้ ก็คงต่างออกไปอีก อาจจะนึกไปถึงขนมเสียมากกว่า เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวสังขยา ...     ในประสบการณ์อันน้อยนิดของผม เห็นว่าไก่ย่างนั้นไม่ค่อยจะแพร่หลายในภาคใต้  จะเป็นไก่ทอดเสียเกือบทั้งหมด กระนั้นก็ตาม ก็ได้เห็นผู้คนที่ซื้อไก่ทอดก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องซื้อข้าวเหนียวมากินร่วมด้วย 

ก็คงน่าจะพออนุมานได้ว่า  ไก่ย่างกับข้าวเหนียวนั้นเป็นคู่ตุนาหงันกันอย่างแท้จริง 
   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 17, 19:13
ก็เลยมีร้านข้าวเหนียวส้มตำที่ทำแต่เฉพาะไก่ทอดขายก็มี  มักจะเป็นร้านขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านการจับจ่ายใช้สอยของคุณผู้หญิงและแม่บ้านทั้งหลาย ในตลาดนัดจตุจักรนั้นมีแน่ๆ ในย่านบางลำพูก็มี  จะอร่อยหรือไม่นั้นคงจะพอบอกได้จากลูกค้าที่แน่นร้าน การรอคิว และการแชร์โต๊ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 19:33
 ไก่ทอดก็น่ากินไปอีกแบบ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 17, 19:35
เกือบลืมไปเลยว่า บรรดาไก่ย่างและไก่ทอดชื่อดังที่มีชื่อทางภูมิศาสตร์พ่วงท้ายทั้งหลายนั้น ดูเหมือนว่าเกือบทั้งหมดจะเริ่มต้นมาจากเป็นอาหารเพื่อประทังความหิวของผู้โดยสารรถไฟและรถเมล์ที่ผู้ขายเดินเร่ขายอยู่ตามสถานีรถไฟและท่ารถเมล์ต่างๆ 

บนเส้นทางรถไฟก็ตามสถานีรถไฟ เช่น ไก่ย่างบางตาล ไก่ทอดหาดใหญ่ ไก่ทอดเทพา ไก่ทอดจะนะ ไก่ย่างโคราช ไก่ย่างเขาสวนกวาง

บนเส้นทางรถยนต์ก็ตามแหล่งหยุดพักรถ เช่น ไก่ย่างวิเชียรบุรี ไก่ย่างท่าช้าง 

สำหรับท่านที่นิยมเดินทางโดยรถไฟ ก็คงพอจะนึกภาพออกนะครับว่า ชื่อสถานีที่พ่วงท้ายคำว่าไก่ทอด/ไก่ย่างดังกล่าว ก็ล้วนแต่เป็นสถานีที่รถไฟสายท้องถิ่นต้องหยุดรอเพื่อสับหลีกรางรถไฟให้ขบวนรถสายยาว (รถเร็วและรถด่วน) ผ่านไปก่อน   

ครับ...ของอร่อยหลายๆอย่างมีขายอยู่ตามสถานีประเภทนี้ (นกกระจาบทอด ขนมหวานต่างๆ....)  หากเป็นสถานีที่ต้องมีการตัดต่อขบวนรถไฟ ก็จะมีอาทิ ข้าวต้ม ต้มเลือดหมู ปาท่องโก๋ ...   แล้วทั้งหลายก็พัฒนาไปเป็นของดีของอร่อยประจำถิ่นจนได้ชื่อทางภูมิศาสตร์กำกับติดอยู่ท้าย     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 17, 19:34
ไก่ย่างที่คุณตั้งเล่ามาถึง   ดิฉันเรียกว่าไก่ย่างรถไฟ   
ตอนเด็กๆ นั่งรถไฟไปเที่ยวหัวหิน   รถจอดพักที่สถานีนครปฐม  จะมีพ่อค้าแม่ค้าแบกถาดวางไก่ปิ้งหนีบด้วยไม้ไผ่  มาเร่ขายอยู่ใต้หน้าต่างรถ 
เป็นไก่ตัวเล็กๆ  เนื้อแห้ง แต่นิ่ม   หนังและเนื้อสีเหลือง(ทาขมิ้น?) มีรสชาติอร่อยไปอีกแบบ คนละอย่างกับไก่เมืองกรุง
ไม่ได้นั่งรถไฟมานานแล้ว   ไก่ชนิดนี้ก็เลยหายไปจากความทรงจำค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 17, 19:45
จริงๆแล้วน่าจะคล้ายแบบนี้มากกว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 17, 19:49
ไก่ย่างร้านริมถนนถนนพระราม 4 เจ้านี้คุณตั้งรู้จักแน่นอน เพราะยังมีขายมาจนถึงทุกวันนี้   เป็นไก่ย่างขึ้นเหลา
ย่างแบบแห้งๆ เนื้อหวานนุ่มม มีน้ำจิ้มอร่อยมาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 07 พ.ย. 17, 19:56
รูปใน คห 260 คล้ายไก่ย่างหลายดาวไหมครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 17, 17:53
หากความจำของผมยังถูกต้อง ภาพไก่ย่างใน คห.258 น่าจะเป็นของนครปฐม ส่วนภาพใน คห.259 น่าจะเป็นของบ้านโป่งหรือราชบุรี

ไก่ย่างร้านริมถนนถนนพระราม 4 เจ้านี้คุณตั้งรู้จักแน่นอน เพราะยังมีขายมาจนถึงทุกวันนี้   เป็นไก่ย่างขึ้นเหลา
ย่างแบบแห้งๆ เนื้อหวานนุ่มม มีน้ำจิ้มอร่อยมาก

- สงสัยจะเป็นร้านที่มีชื่อบอกว่าอยู่ใกล้ทะเล ?? 

ผมไม่ได้ไปมานานมาก...... แล้วครับ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 17, 18:41
ความอร่อยของไก่ย่างและไก่ทอดของแต่ละแหล่งที่ได้กล่าวถึงกันมานั้น ผมเห็นว่ามันเป็นความอร่อยที่เกิดขึ้นมาในลักษณะขององค์รวม หากจะหาข้อตำหนิแยกย่อยออกไปเป็นจุดๆมันก็คงจะมีหลายจุดอยู่ไม่น้อยเลย   

ในลักษณะขององค์รวมนั้น มันประกอบไปทั้งตัวเนื้อไก่ รสเนื้อ ความแห้ง ความนุ่ม ความฉ่ำ ความสุก น้ำจิ้ม บรรยากาศของการกิน (งานเลี้ยง ที่บ้าน ใช้ช้อนซ่อม มีด มือ..) สถานที่กิน (ภัตตาคาร ร้านอาหาร ในรถไฟ ในรถขณะเดินทาง..) กินกับใคร (เพื่อน คนรู้จัก เจ้านาย ลูกน้อง..)         


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 17, 19:16
ไก่ทอดนั้น  ผมยังไม่เคยเห็นแบบทอดทั้งตัว  เคยเห็นแต่สับเป็นชิ้นแยกทอด แยกเป็นส่วนอก ส่วนสะโพก และส่วนขา   ความรู้สึกน่ากินที่จะมีแต่แรกเริ่มก็น่าจะเป็นเรื่องของความแห้ง คือดูไม่ฉ่ำแฉะไปด้วยน้ำมัน   ของเราจะต้องไม่มีชุบแป้งทอดจนหนา ต่างกับของฝรั่งที่นิยมไก่ทอดแบบมี crust (ชุบแป้งและเกล็ดขนมปังแล้วทอด) 

ไก่ทอดที่ว่าอร่อยของเรา  ดูจะเห็นพ้องกันว่าควรจะเป็นไก่กระทง ทอดแบบไม่มี crust หรือมีแบบบางๆ  มีเนื้อแห้ง สุกในระดับ well done เนื้อไก่ไม่เหนียว(ใช้มือฉีกออกเป็นเส้นๆได้)  มีรสเค็มในเนื้อกำลังพอดีๆ  น้ำจิ้มจะมีหรือๆไม่มีก็ได้ ชิ้นส่วนที่นิยมที่สุดดูจะเป็นส่วนสะโพกเพราะเป็นส่วนที่มีมันแทรกซึ่งจะทำให้เนื้อนุ่มและไม่แห้งจนเกินไป   ส่วนหน้าอกนั้นจะเป็นส่วนมีเนื้อแห้งมาก เป็นที่นิยมเฉาะของผู้คนที่เกรงปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ

ลองทานไก่ทอดแบบปักษ์ใต้กับแกงเลียงบรรดายอดผักนะครับ เข้าคู่กันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อเลย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 08 พ.ย. 17, 19:52
หากความจำของผมยังถูกต้อง ภาพไก่ย่างใน คห.258 น่าจะเป็นของนครปฐม ส่วนภาพใน คห.259 น่าจะเป็นของบ้านโป่งหรือราชบุรี

ไก่ย่างร้านริมถนนถนนพระราม 4 เจ้านี้คุณตั้งรู้จักแน่นอน เพราะยังมีขายมาจนถึงทุกวันนี้   เป็นไก่ย่างขึ้นเหลา
ย่างแบบแห้งๆ เนื้อหวานนุ่มม มีน้ำจิ้มอร่อยมาก

- สงสัยจะเป็นร้านที่มีชื่อบอกว่าอยู่ใกล้ทะเล ?? (https://www.google.co.th/maps/@13.7242266,100.5477092,17z) ???

ผมไม่ได้ไปมานานมาก...... แล้วครับ 

ภาพไก่ย่างใน ค.ห.ที่ 259 ทำให้ผมนึกถึงไก่ย่างขายที่สถานีรถไฟอยุธยา
สมัยที่ยังใช้หัวรถจักรไอน้ำ ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง ได้นั่งไปเที่ยวสนุกมากครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 17, 20:01
นอกจากส่วนอก สะโพก และขาที่เราเอามาทอดแล้ว เราก็ยังเอาส่วนอื่นๆของไก่มาทอดอีก ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นการชุบแป้งแล้วทอด แยกเป็นใส้ไก่ชุบแป้งทอดก็มี  โครงไก่ชุบแป้งทอดก็มี (สำหรับเจ้าตูบที่น่ารักของเรา)  ตับ กึ๋น บั้นท้าย ข้อ ตีน เราก็เอามาชุบแป้งทอดทั้งนั้น สุดแท้แต่จะเอาไปเป็นของแกล้มของเราเมื่อยามแดดร่มลมตก หรือจะเอาไปให้เจ้าตูบก็สุดแท้แต่จะเห็นควร

ส่วนที่เป็นปีกนั้น ข้อปีกส่วนโคน เราก็เอามาทอดแล้วเรียกมันว่า น่องเล็ก  ส่วนต่อขึ้นไปที่มีกระดูกเป็นคู่ ฝรั่งเขาจะเลือกเอาอันใหญ่ๆมาทอดแล้วเรียกว่า buffalo wing  ของอร่อยของเขา    ต่างกับเราที่แยกมันออกแล้วทอดให้แห้ง เรียกว่าปีกเล็ก ก็อร่อยไปอีกแบบ  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 17, 20:53
ปีกควาย (ความจริงเป็นไก่) แบบต่างๆค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 17, 21:37
โครงไก่ทอด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 17, 19:25
ผมมีความเห็นว่า ความอร่อยของไก่ทอดและไก่ย่างนั้นอยู่ที่เนื้อส่วนที่ติดกระดูก ก็คือต้องแทะกระดูก และก็ต้องเป็นการใช้มือจับเพื่อแทะกินอีกด้วย ก็คือการกินด้วยมือ   ก็เลยพอจะทำให้เห็นได้ว่า โต๊ะใดที่ทานด้วยมือกัน คนที่นั่งในโต๊ะนั้นจะต้องเป็นคนที่มีความสนิทสนมและเป็นกันเองมากๆ ในขณะที่โต๊ะใดทานด้วยช้อนด้วยส้อม ก็น่าจะบ่งบอกไปในอีกเรื่องราวหนึ่ง จะต้องนำเอาองค์ประกอบอื่นๆมาพิจารณาประกอบด้วย 

คงจะไม่ผิดไปนักหากจะกล่าวว่า ในยุคสมัยที่โรค gout ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกัน  เมื่อเอาจานไก่สับมาวางบนโต๊ะอาหาร ก็จะมีการเริ่มจัดการกับส่วนที่เป็นหนังและส่วนที่เป็นปีก (โดยเฉพาะส่วนปลายปีก) จากนั้นจึงจะเป็นส่วนอื่นๆ  ส่วนสะโพกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะตักฉวยกันไปแต่แรกๆ  สำหรับเนื้อส่วนอกนั้นดูจะเป็นส่วนที่เห็นวางอยู่คาจานนานที่สุด จะยกเว้นก็เฉพาะเนื้ออกส่วนปลายบริเวณที่มีกระดูกอ่อนซึ่งเป็นส่วนที่อร่อยของไก่อีกจุดหนึ่ง    จนกระทั่งชื่อโรค gout เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เนื้อส่วนอกจึงกลายเป็นส่วนที่คนให้ความสนใจ ก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำให้ไก่ย่างหรือไก่ทอดที่อร่อยจึงต้องมีเรื่องของน้ำจิ้มผนวกร่วมเข้าไปอยู่ด้วย             


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 17, 20:14
นอกจากไก่ย่าง ไก่ทอด  ไก่นึ่งก็เป็นตำรับอาหารเจ้าอร่อยในไทยมาเป็นร้อยปีแล้วนะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ย. 17, 18:30
ก่อนที่จะลืมไป   

ไทยเราก็มีไข่ไก่ปิ้งอีกด้วย มีทั้งแบบเสียบไม้และไม่เสียบไม้    ไม่เคยเห็นเมนูไข่ปิ้งขึ้นร้านอาหารใดๆเลย เห็นแต่ขายในหาบเร่แผงลอย  เช่นเดียวกันกับไข่ตั๋วซึ่งเป็นไข่ที่มีตัวอ่อนอยู่ภายใน ไข่ตั๋วนี้ก็เห็นมีแต่เอามานึ่งหรือต้มและขายในหาบเร่แผงลอยเท่านั้นเช่นกัน  ไข่ทั้งสองชนิดนี้ โดยทั่วๆไปจะกินโดยการจิ้มกับเกลือกับพริกไทย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ย. 17, 19:10
เมนูไก่นึ่ง   

หากเป็นการทำแบบไทยๆนั้น ผมไม่มีความสันทัดใดๆเลยทั้งด้านการกินและด้านการทำ  รู้ว่าเป็นอาหารที่มีการทำกินกันในครัวเรือนพื้นบ้าน
แต่เข้าไม่ถึงเลยในด้านของ culinary art  คือมิใช่เพียงแต่ทำให้มันสุก แต่ทำอย่างไรให้มันเชิญชวนว่าน่ากินแล้วจะรู้ว่าอร่อย

ในปัจจุบันนี้ เห็นมีเมนูไก่ใต้น้ำทำขายเผยแพร่กันอยู่ในตลาดชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ย. 17, 19:35
กล่าวถึงไก่ใต้น้ำแล้ว ก็เลยทำให้นึกไปถึงกระบวนการตุ๋นของจีน  เคยทราบมาว่ายาจีนที่เป็นน้ำซุบไก่นั้น เขาจะเอาไก่วางบนตะแกรงในหม้อนึ่ง (กระทะ) ต้มน้ำในกระทะที่ผสมสมุนไพรให้เดือดเพื่อให้ไอน้ำนั้นไปให้ความร้อนกับตัวไก่ ทำให้ไก่ทั้งตัวคายสารประกอบที่เป็นยาออกมา ไอน้ำก็จะชะล้างเอามารวมไว้ในน้ำสมุนไพรที่ใช้ต้ม  เนื้อไก่ที่สุกแล้วก็จะเปื่อยยุ่ย(คล้ายกับการใช้หม้อความดัน)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ย. 17, 19:41
จะขออนุญาตหายไปจากจอนี้ประมาณ 1 สัปดาห์นะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 17, 19:55
รอคุณตั้งกลับมาคุยเรื่องไก่ใต้น้ำต่อนะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 11 พ.ย. 17, 15:57
พอทราบไหมครับว่า ข้าวมันไก่ประตูน้ำร้านแรกสุดคือร้านไหน และข้าวมันไก่สิงคโปร์ต่างจากของบ้านเราอย่างไร เห็นเขาว่าอร่อยผมก็ไม่เคยไปเสียที ใต้สุดก็ข่าวมันไก่หาดใหญ่นี่แหละ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 17, 20:33
ไม่ทราบชื่อเจ้าแรก ที่เปิดขายเมื่อกว่า 50 ปีก่อน  ตามประวัติบอกว่าเปิดได้ไม่นานก็เลิกกิจการไป   เหลือเจ้าที่สองซึ่งเปิดไล่เลี่ยกัน ยังขายมาจนถึงทุกวันนี้ ชื่ออะไรเช็คเอาเองได้ไม่ยากค่ะ
ข้าวมันไก่สิงคโปร์ ต้องรอคุณตั้ง หรือไม่ก็คุณเฮฮา คงเคยไปอุดหนุนมาแล้ว      ดิฉันเคยไปเหมือนกัน แต่คงจะชอบของไทยมากกว่า เลยจำรสชาติไม่ได้เลย



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ย. 17, 20:46
ไม่ทราบชื่อเจ้าแรก ที่เปิดขายเมื่อกว่า 50 ปีก่อน  ตามประวัติบอกว่าเปิดได้ไม่นานก็เลิกกิจการไป   เหลือเจ้าที่สองซึ่งเปิดไล่เลี่ยกัน ยังขายมาจนถึงทุกวันนี้ ชื่ออะไรเช็คเอาเองได้ไม่ยากค่ะ

เจ้าที่สองที่คุณเทาชมพูว่า คงเป็นร้านเดียวกับที่ไปเปิดสาขาที่ญี่ปุ่น ;D

ภาพจาก http://peopletraining.info/knowledge-detail.php?id=132


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 พ.ย. 17, 18:40

ข้าวมันไก่สิงคโปร์ ต้องรอคุณตั้ง หรือไม่ก็คุณเฮฮา คงเคยไปอุดหนุนมาแล้ว      ดิฉันเคยไปเหมือนกัน แต่คงจะชอบของไทยมากกว่า เลยจำรสชาติไม่ได้เลย



ข้าวมันไก่สิงคโปร์ แม้จะใช้ชื่อว่า  Hai Nan Chicken Rice (ทะเล-ใต้-ไก่-ข้าว หมายถึงข้าวมันไก่ไหหลำ)
แต่ขายโดยคนฮกเกี้ยน หน้าตารสชาติไม่หนีข้าวมันไก่เบตง
ข้าวนิ่มนวลได้รสชาติ เพราะหุงด้วยน้ำฃุปต้มไก่ที่กลมกล่อม
ไม่ใช่น้ำฃุปจืดจาง ใสเป็นน้ำล้างหัวล้าน ไก่ตัวเดียว น้ำเต็มหม้อ
ชาวสิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นจีนผู้ดี ปรุงอาหารคำนึงถึงสุขภาพ
อาหารไม่มันเลี่ยนเกินการ

แต่ข้าวมันไก่ต้นตำรับที่เกาะไหหลำ ตอนชิมไม่ประทับใจ
ข้าวมัน มันย่อง ใครที่กลัวคลอเลสเตอรอลพุ่งปี๊ด ควรหลีกลี้ให้ไกล
ไม่มีเวลาชิมเจ้าอื่น จึงถือว่าผมยังสำรวจไม่ครบถ้วน
เพราะเกาะไหหลำ ช่วงหน้าร้อน แดดเปรี้ยงมากครับ

ไปสิงคโปร์แนะนำให้ชิม kuay chap
แยกเนื้อน้ำให้เสร็จ ต้นตำรับฮกเกี้ยนแท้ๆ
ชุดละ 3 SGD ครับ

จากภาพเวลารับทาน ใช้ตะเกียบคีบจิ้มน้ำจิ้มที่เรียก Sriraja
บางเจ้าก็เป็นพริกบด เจือน้ำส้ม และเต้าเจี้ยวบด




กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 พ.ย. 17, 19:07
อาหารจีนทางใต้นับว่ารสโอชากว่าทางอื่น เช่น เสฉวน ซึ่งกินยาก
แต่อาหารเสฉวนในต่างประเทศกลับได้รับความนิยมมาก เผ็ดนิดๆ เครื่องเทศไม่ฉุนนัก


คนกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และแต้จิ๋ว มีอาหารจานนึงอร่อยดี คือเนื้อไก่นึ่ง
ราดด้วยต้นหอมสับกับขิง (ซึ่งไปผัดหน่อยๆ กับน้ำมันพอสลบ ใส่เกลือปรุงรส)
โปะลงไปบนไก่นึ่ง เข้ากันดีครับ
ตอนเรียนหนังสือผมกินทุกวัน เพราะเป็นกับข้าวยืนพื้นในอาหารชุด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 17, 21:42
น่ากินทุกจาน ;D ;D ;D
นอกจากไก่ย่าง ไก่ทอด ไก่นึ่ง แล้วต้องไม่ลืมไก่อบ
ไก่อบซีอิ๊ว เป็นจานโปรดอีกอย่างหนึ่งค่ะ ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 16 พ.ย. 17, 09:47
ผมเคยอ่านเจอมาว่า ทหารญี่ปุ่นที่มาไทยสมัยสงครามโลก จะกินแต่เนื้อส่วนอกของไก่ต้มสุกเท่านั้น (เมนูอาหารคลีนสมัยนี้เลย) ส่วนอื่นยกให้คนไทยที่ทำงานในค่ายทหารหรือแม่ครัวก็ว่ากันไป


เลยพลอยนึกสงสัยไปว่า แล้วช่วงหลังที่ทหารญี่ปุ่นในพม่าถอยเข้ามาไทย อาหารการกินไม่ค่อยสมบูรณ์จะยังกินแต่อกไก่หรือเปล่าหนอ เสียดายตอนเด็ก ๆ มีญี่ปุ่นชื่อตาชูเป็นคนคุมหม้อน้ำโรงสีแถวบ้าน ไม่ทันได้ถามเรื่องอดีตของแกก็ต่างคนต่างไปเสียแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 17, 17:31
ค่อยๆย่องเข้าห้องครับ   เห็นมีไก่เต็มไปหมด กลัวไก่จะตื่นครับ   ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 17, 18:21
จะขอย้อนกลับไปที่เมนูไก่ใต้น้ำเล็กน้อยก่อนที่จะต่อไปเรื่องข้าวมันไก่..นะครับ

ไก่ใต้น้ำ จะเริ่มมีมาแต่เมื่อใดนั้น ผมมิทราบ  อยู่ดีๆชื่อเมนูนี้ก็แพร่หลายขึ้นมาในต่างจังหวัด แล้วก็เริ่มเห็นมีขายอยู่บ้างในบางตลาดชุมชนใน กทม.   ด้วยความสนใจ ผมก็เลยติดตามขอความรู้จากผู้ที่ทำเป็นรวมทั้งหาอ่านจากสื่อออนไลน์ทั้งหลาย  ก็ได้ความโดยสรุปของตนเองว่า ก็คือ การทำไก่อบเมนูหนึ่งที่มีวิธีการทำค่อนข้างจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  อยู่ในหลักของการปรุงให้สุกคล้ายกับการใช้ Dutch Oven ของฝรั่ง (โดยเฉพาะชนิดที่มีตุ่มอยู่ที่ด้านในของฝาที่ปิด) ซึ่งสำหรับของเรานั้นจะใช้หม้อนึ่งข้าวเหนียวและจะใช้ขันน้ำหรือกะละมังใบเล็กทำเป็นฝาปิด แล้วก็ใช้ผ้าวางรอบๆก้นขันน้ำหรือกะละมังเพื่ออุดมิให้ไอต่างๆหลุดลอดออกมา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 17, 19:02
ตัวผมเองไม่มั่นใจนักว่าอะไรคือความอร่อยที่โดดเด่นออกมา แต่มันน่าสนใจในเรื่องของชื่อและกระบวนการทำที่แตกต่างออกไปจากวิธีการทำอาหารตามปกติที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในชีวิตประจำวัน

วิธีการทำ     สับไก่เป็นขิ้นๆ คลุกกับเครื่องสมุนไพรพื้นฐานของไทยเราที่โขลกให้แหลกตามชอบ (ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกแห้ง...) และสมุนไพรเครื่องหอมอื่นๆตามแต่จะนิยม (ผักชีฝรั่ง โหระพา กระเพรา...)  ใส่เครื่องรุงรสตามชอบ (เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว...)  นำทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้ทั่ว และทำให้มีความชุ่มฉ่ำพอสมควร   เอาใส่ในหม้อนึ่งข้าวเหนียว เอาขันน้ำใสน้ำเย็นวางปิดฝาหม้อ ใช้ผ้าวางอุดรอบๆก้นขันน้ำ  ใช้ไฟอ่อนแต่แรกแล้วจึงใช้ไฟแรงที่มากพอจะทำให้ของเหลวในเนื้อไก่และจากเครื่องปรุงกลายเป็นไอน้ำไปกระทบกับข้นขันน้ำที่ใส่น้ำเย็นแล้วควบแน่นกลับมาเป็นน้ำหยดกลับลงไปในหม้อ   

คะเนว่าสุกดีแล้วก็ยกลง  ก็ใช้เวลานานอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แล้วก็ต้องพยายามรักษาน้ำในขันไม่ให้ร้อน (เปลี่ยนถ่ายด้วยการตักออกใส่น้ำเย็นกลับไปแทน)         


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 17, 19:25
วิธีการปรุงอาหารแบบนี้ จะว่าๆเป็นของใหม่ก็ไม่น่าจะใช่  แต่มันเป็นของแปลกสำหรับผู้คนในเมืองอย่างแน่นอน  และเหตุที่มันได้กระจายแพร่หลายไปทั่วก็น่าจะเป็นด้วยระบบการสื่อสารต่างๆในยุค digital

เมื่อครั้งที่ผมยังทำงานเดินป่าเดินดงอยู่นั้น  บางครั้งก็ทำอาหารให้สุกด้วยหลักการนี้  เป็นการใช้เพียงหม้อใส่น้ำเล็กน้อย(ที่ผสมเครื่องปรุงรสแล้ว) ใส่ปลาแล้วก็ปิดฝา เอาหม้อวางไว้เหนือกองฟืนไฟอ่อนๆจนสุก   ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าต้ม นึ่ง หรือ ?? หรือเรียกว่าอย่างไรดี


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 17, 20:54
ไก่ใต้น้ำ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 17, 18:13
ดูจากภาพ หากไม่บอกว่าเป็นจานไก่ใต้น้ำก็คงจะไม่รู้ ต่างจากอาหารอื่นๆที่ส่วนมากเมื่อเห็นแล้วก็พอจะบอกชื่อได้ว่าเป็นเมนูอะไร

ในปัจจุบันนี้ ไก่ใต้น้ำอาจจะยังดูว่าเป็นจานที่ไม่มีอะไรโดดเด่นดั่งชื่อของมัน   ผมเห็นว่า เมนูจานนี้ยังคงเป็นเมนูอาหารที่ทำกินกันเองในครอบครัวหรือในหมู่เพื่อนฝูง  ยังคงมีพัฒนาการไปเรื่อยๆในเรื่องขององคาพยพต่างๆที่แสดงถึงตัวตนของมัน   ซึ่งก็เชื่อว่าอีกไม่นาน ด้วย DNA ในเรื่องของการทำอาหารของคนไทยพื้นบ้าน เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็น่าจะทำให้เมนูอาหารจานนี้ได้กลายเป็นเมนูดังดั่งเช่น ส้มตำไก่ย่าง ผัดกระเพรา ต้มข่า ต้มโคล้ง........


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 17, 18:42
นึกขึ้นได้ว่า Dutch Oven นั้น เราอาจจะไม่ค่อยจะคุ้นกับชื่อนี้นัก   ตัวตนของมันจริงๆก็คือ หม้อมีฝาปิดที่ทำด้วยเหล็กหล่อ มีเนื้อหนาและหนัก  ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่เป็นอลูมิเนียมหรือเซรามิกส์ ซึ่งยังไงๆก็ยังสู้ที่ทำจากเหล็กหล่อไม่ได้ เช่นเดียวกันกับกระทะที่ทำจากเหล็กหล่อ(ที่ผมยังเลือกที่จะใช้ทำอาหารมากกว่าที่จะใช้พวกกระทะโลหะที่เคลือบด้วยสารกันติดก้นกระทะ) 

เครื่องครัวชิ้นนี้มีราคาค่อนข้างจะสูงมาก มีทั้งที่เป็นทรงกลมและทรงรี มีหลายขนาด และยังมีแบบที่เคลือบมีสีสรรสวยงามอีกด้วย



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 17, 19:02
ไปเจอวิดีโอวิธีทำไก้ใต้น้ำค่ะ  ไม่ทราบว่าสูตรเดียวกับคุณตั้งหรือไม่

https://www.youtube.com/watch?v=kRdc00OXhpg


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 17, 19:09
ส่วน Dutch oven มีหลายแบบค่ะ  แบบนี้น่าจะแพร่หลายที่สุด
ภาพล่าง เหมาะกับคุณตั้งตอนสวมวิญญาณรพินทร์ ไพรวัลย์  แต่หอบหม้อแบบนี้เข้าป่าด้วยน่าจะหนักเป้นะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 17, 19:28
Dutch Oven เป็นภาชนะเครื่องครัวที่ค่อนข้างจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างอเนกประสงค์ คือ ใช้ได้ทั้งในรูปของกระทะปกติ ในลักษณะของกระทะร้อนเพื่อจี่เนื้อสัตว์หรือผักให้สุก ใช้เพื่อต้มด้วยไฟแรงๆ หรือใช้เพื่อเคี่ยว(หรือตุ๋น)ด้วยไฟอ่อนๆ ใช้ในลักษณะของเตาอบทั้งแบบใช้ไฟล่าง หรือไฟบน หรือทั้งไฟล่างและไฟบน ....

ก็พอจะกล่าวได้ว่าเป็นอุปกรณ์ครัวที่ค่อนข้างจะสนองต่อการเดินทางประเภทใช้พาหนะเดินทางรอนแรมไปเรื่อยๆ  

อาหารหลายเมนูที่ใช้ Dutch Oven ทำที่มีความอร่อยต่างๆไปจากการทำด้วยการใช้เครื่องครัวและเตาที่ใช้กันตามปกติ ก็คือพวกตุ๋นและพวกสตูว์ทั้งหลาย  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 22 พ.ย. 17, 22:43
รูปอาหารอิหร่านที่เรียกว่า เคบับ นำเนื้อบดมาพอกเหล็กแบนไปย่างไฟ
พอสุกแล้วดึงเหล็กออก ราดด้วยโยเกริ์ต แนมด้วยผักสด


ข้าวสีเหลืองคือข้าวที่หุงใส่ saffron และเครื่องเทศ
ส่วนแกงแกะอิหร่านหน้าตาและรสชาติคล้ายของอินเดียมาก
ผมสังเกตว่ามีความเชื่อมโยงหลายอย่างระหว่างสองประเทศนี้

ผักสีดำต้มเปื่อย หน้าตาและรสคล้ายต้มจับฉ่าย
ภาพล่างสุด กับข้าว 2 อย่างมาพร้อมกับข้าว 2 จาน ราคาสองร้อยบาทต้นๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 17, 10:07
เคบับข้างบนนี้คงเปิดแผ่นแป้งที่ม้วนไว้ออกมาให้เห็นไส้     ดิฉันรู้จักแต่เคบับแบบข้างล่างนี้ค่ะ

แกงแกะ หน้าตาเหมือนแกงเผ็ดใส่หน่อไม้ของไทย แต่รสชาติน่าจะมีเครื่องเทศเข้มข้นกว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 23 พ.ย. 17, 14:15

เคบับข้างบนนี้คงเปิดแผ่นแป้งที่ม้วนไว้ออกมาให้เห็นไส้    


ไม่ใช่ครับ เขาวาง เนื้อและมะเขือเทศผิง ต่างหาก แล้วเรามาเขี่ยใส่เอง
หันไปมองโต๊ะข้างๆ จับเนื้อแค่ 1 ไม้ และมะเขือเทศ 1  ลูก บีบให้แบน วางบนแป้ง 1 แผ่น
โรยผัก ราดซอส แล้วม้วนเป็นหลอดครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 17, 18:42
เมนูอาหารที่เรียกว่า Kebab นั้น ในอีกมุมมองหนึ่งมันก็เป็นเมนูอาหารที่มีเอกลักษณ์ในเชิงของวิธีการทำ (cooking) ที่มีความผูกพันในลักษณะเฉพาะกับผู้คนในกลุ่มสังคม วัฒนธรรม และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์  ไม่ต่างไปจาก Noodles ของคนในเอเซีย  หรือ Stew ของคนในยุโรป หรือ Barbecue ของคนในทวีปอเมริกา   

ทั้ง Kebab, Noodles, Stew และ Barbecue ที่ทำกันในพื้นที่ต่างๆกันก็เลยมีหน้าตาที่ต่างกัน ที่เหมือนกันก็คงจะมีแต่เพียงหลักการพื้นฐานในเรื่องของลักษณะ/วิธีการทำให้มันสุก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 17, 19:57
Kebab เป็นอาหารที่ผมชอบอย่างหนึ่งเหมือนกัน  ภาพต่างๆที่ผมได้เห็นมาเป็นเช่นนี้ 

ในสมัยที่แรกเริ่มเป็น EU นั้น (EU5)   Kebab ส่วนมากจะมีขายในลักษณะของ Food stall   ก็เป็นเพียงเอาเนื้อสัตว์ที่แล่ออกเป็นแผ่นที่หมักด้วยเครื่องปรุงแล้ว เอามาเสียบแกนเหล็กแล้วหมุนไปรอบๆไฟร้อนๆ คล้ายกับการย่างไก่ย่างหมุน  เมื่อลูกค้าสั่งก็จะหั่นออกมาใส่ขนมปังแบบ Bun หรือแป้งแผ่นกลมคล้ายโรตี ใส่ผัก ใส่ซอสซึ่งมีให้เลือก 2 ชนิด (ทำจากโยเกิร์ตอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งไม่ทราบ)  แล้วก็เดินกินกันไป     Kebab ที่เป็นเมนูขายอยู่ในร้านอาหารก็มีแต่มีน้อยร้านมาก เป็นเมนูที่ทำและจัดมาเสิร์ฟในลักษณะคล้ายภาพของคุณ heha

เมื่อ EU ขยายออกไป มีชาวตุรกีเข้าไปทำงานมากขึ้น (แม้ว่าตุรกีจะยังมิได้เข้าเป็น EU ก็ตาม)   Kebab ก็ยกระดับไปเป็นร้านอาหารแทรกอยู่ในชุมชนต่างๆ  ความอร่อยของ Kebab ก็หายไปเลย  ลักษณะวิธีการจัดเมนูอาหารต่างๆเปลี่ยนไป จากวิธีการจัดปรุงสำเร็จมาให้เราเพื่อ แสดงความสามารถในการทำอาหารที่อร่อยของเขา ก็กลายเป็นเพียงการเตรียมเครื่องปรุงให้เราไปทำการปรุงให้อร่อยด้วตัวเราเอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 17, 20:11
ก็เช่นกัน

อาหารพวก niche street food ของเรา เช่น ก๋วยเตี๋ยว(เสี้นหมี่)แคะที่แสนอร่อยจากหาบเร่ เมื่อขึ้นร้านก็มีคนสั่งกินน้อยลง โดยเฉพาะชื่อเรียกของมันก็เกือบจะหายไปเลย     ขนมจีบแบบโรยกระเทียมเจียว ทานกับผักชี ที่แสนอร่อยที่วางบนท้ายจักรยานถีบเร่ขาย ก็หายไปเมื่อขึ้นร้าน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 17, 21:10
ใครผ่านไปทางซอยนานาเหนือ  แถวนั้นน่าจะหา kebab กินได้นะคะ

ขนมจีบโรยกระเทียมเจียวอย่างที่คุณตั้งว่า คงหมายถึงขนมจีบไทย   ไม่ค่อยเจอแล้วค่ะ เจอแต่ขนมจีบจีนกินคู่กับซาละเปา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 17, 17:48
เคยเห็นมีร้านขาย kebab อยู่ในงาน OTOP ที่เมืองทองเช่นกัน ได้ลองชิมดูแล้ว ใช้เนื้อไก่และรสยังไม่จัดเท่ากับที่เคยทานมาใน ตปท. ที่จริงแล้วหากแม่ค้าไม่พะวงว่าคนส่วนมากไม่กินเนื้อวัว ไม่ปรับแต่งให้รสละมุนสำหรับคนไทย และเพราะเนื้อวัวมีราคาสูง ผมก็คิดว่าก็น่าจะทำได้อร่อยได้เหมือนกัน    แต่ยังไงๆก็ตาม kebab ที่อร่อยก็ดูจะต้องเป็นของคู่กันกับเนื้อแกะเท่านั้น ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะชุดเครื่องเทศที่ใส่และใช้หมักนั้น ได้มีการพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้กับเนื้อแกะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 17, 18:18
^
ใช่ครับ ขนมจีบไทย

ขนมจึบไทยนั้นไม่ได้ใช้แป้งเกี๊ยวเหมือนกับขนมจีบจีน  และก็เป็นอาหารที่ใช้ทานในลักษณะของว่างมากกว่าที่จะเป็นอาหารหลักในสำรับของอาหารมื้อใดๆ 

ขนมจีบไทยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของรูปร่าง/รูปทรง  ความอร่อยของมันอยู่ที่ความพอดีระหว่างใส้(เครื่องปรุงและรส)กับปริมาณแป้งที่ใช้ห่อ กระเทียมเจียวที่สับละเอียดและกรอบ  ทานโดยไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มใดๆ และก็ทานกับผักชีและพริกขี้หนูสวนเม็ดเล็กๆ หรือจะทานกับผักกาดหอมก็พอได้อยู่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 17, 18:28
ที่จริงแล้วก็ยังพอจะหาทานได้อยู่บ้าง แต่เป็นแบบประะยุกต์  และก็มีทั้งที่แบบรถเข็นขายและแบบใส่ท้ายจักรยานขาย 

ที่ว่าเป็นแบบประยุกต์ก็คือ ขนมจีบทำเป็นแบบจีนแต่มีขนาดเล็กเหมือนขนมจีบไทย มีกระเทียมเจียวโรย จะเหยาะน้ำจิ้มหรือไม่ก็ได้ และมีผักชีให้นิดหน่อย ไม่มีพริกขี้หนู     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 17, 18:39
สำหรับผม  จะทานขนมจีบจีนให้อร่อย ก็จะต้องจิ้มกับซ๊อสเปรี้ยว แล้วแนมด้วยต้นหอมสดจิ้มกับมัสตาร์ด โดยเฉพาะกับมัสตาร์ดบางยี่ห้อ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 17, 19:27
ขอย้อนกลับไปเรื่องข้าวมันไก่หน่อยนึงครับ

ข้าวมันไก่ไหหลำ ข้าวมันไก่สิงคโปร์ และข้าวมันไก่แบบไทยนั้น  ในเชิงของพื้นฐานนั้นมีความเหมือนๆกัน   ที่แตกต่างกันไปก็มีในเรื่องของการใช้ไก่สายพันธุ์ได วิธีการทำให้ไก่ให้สุก (ซึ่งก็ดูจะมีอยู่ 2 วิธีการ คือ ใส่ไก่ในน้ำเดือดแล้วลดไฟ หรือ ใส่ไก่ในน้ำเย็นแล้วต้มให้สุก) วิธีการหุงข้าวมัน (อาทิ ผัดข้าวกับมันไก่ก่อนหุง หุงข้าวกับน้ำต้มไก่ ใส่กระเทียม ใส่ขิง...)  น้ำจิ้ม (อาทิ เต้าเจี้ยว ขิงซอย ซีอิ้วขาว ซีอิ๊วหวาน 
แยกชนิดหรือผสมรวม...) 

จะทำมาอย่างไร จะจัดสำรับมาเช่นใดก็ตาม ผมมีความเห็นว่าความอร่อยนั้นเกิดมาจากการผสมผสานในองค์รวมของแต่ละคำที่เราตักหรือพุ้ยเข้าปาก ซึ่งประกอบไปด้วยข้าวมัน เนื้อไก่ และน้ำจิ้ม (ซึ่งหากจะแยกวิจารณ์ก็ดูว่าจะต้องมีข้อตำหนิสำหรับแต่ละองค์ประกอบเสมอๆ)  เราก็เลยมีข้าวมันไก่เจ้าอร่อยทั้งที่เป็บแบบรถถีบเร่ขาย แผงลอย ร้านอาหาร และภัตตาคาร       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 17, 20:04
มีร้านข้าวมันไก่ร้านหนึ่งแถวถนนบรรทัดทอง จะลอกหนังไก่ออก ขูดมันใต้ผิวหนังออกไป เอากลับมาปิดเนื้อแล้วจึงสับไก่เป็นชิ้นๆ  ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความอร่อยสำหรับบางท่าน

ข้าวมันไก่สิงคโปร์ที่กำลังไปกระจายอยู่ในตลาด ตปท.  ร้านหนึ่งที่ตนเองเคยไปทานอยู่ เป็นร้านที่ดูมีความโปร่งสะอาด ใช้เนื้อไก่ส่วนอก เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มอย่างน้อย 3 อย่าง ดูดีมีระดับที่น่าลองเข้าไปชิม  แต่อ้าว คุยกับคนขายจึงได้รู้ว่า เขาใช้ข้าวหอมมะลิของไทย แถมซอสที่ใส่ถ้วยน้ำจิ้มก็เป็นของไทยอีกด้วย  อร่อยได้ก็เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่จากไทยนี่เอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 17, 20:43
เขาจะจดสิทธิบัตรเป็นข้าวมันไก่สิงคโปร์ไหมเนี่ย คะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 25 พ.ย. 17, 21:21
เขาจะจดสิทธิบัตรเป็นข้าวมันไก่สิงคโปร์ไหมเนี่ย คะ

คงไม่ครับ เพราะแทบทุกเจ้ายังเคลมว่าสูตรไห่หนันแท้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 17, 18:23
หากคิดจะทำกันจริงๆมันก็คงมีจุดที่จะนำไปจดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาได้เหมือนกัน   นวดแผนไทยที่นักท่องเที่ยวและผู้คนมากมายในโลกรู้ว่าเป็นของไทยและมีต้นแบบอยู่ที่วัดโพธิ์ ก็ยังโดนแอบเอาไปจดในรูปแบบที่ไม่ครบกระบวนท่าการนวดเลย

ข้าวมันไก่ที่ทำขายกันอยู่ทั่วไปในประเทศของเรานั้น มีความอร่อยไม่ต่างไปจากที่เรียกว่าข้าวมันไก่สิงคโปร์เลย และโดยทั่วไปก็ดูจะอร่อยกว่าเสียซ้ำไป    ผมว่าก็คงจะเป็นการเอาภาพที่เห็นทางตาผนวกเข้าไปสัมผัสทางปากแล้วเกิดเป็นความรู้สึกว่าอร่อย    ข้าวมันไก่ของเราที่จัดมาเสิร์ฟเราในลักษณะการจัดที่ต่างไปจากที่เราคุนเคยกัน ดูสวยงาม ก็กลายเป็นข้าวมันไก่สิงคโปร์ (??)   เราเองก็มีร้านขายข้าวมันไก่แสนอร่อยที่ต้องมีชื่อร้านหรือสถานที่กำกับต่อท้ายอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยชื่อวัดบ้าง ชื่อพื้นที่บ้าง ชื่อสถานที่บ้าง ชื่อคนบ้าง... แต่อาจจะดูไม่น่าสนใจเท่ากับชื่อที่ต่อท้ายว่าอยู่นอกประเทศไทย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 17, 19:00
หลบออกจากคำว่าไก่สักชั่วครู่

มีข้าวมันไก่ที่เป็นอาหารที่หากินได้ง่ายแล้ว   ก็ให้นึกถึงข้าวมันส้มตำ ของอร่อยที่หากินยาก และก็เป็นของไทยแต่โบราณ 

ข้าวมันส้มตำเป็นเมนูอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างหนึ่ง คือจะทานแบบ vegetarian หรือไม่ก็ได้   

ผมไม่มีความรู้ถึงกำเนิดของเมนูนี้    การหุงข้าวมันด้วยกะทินั้นพบได้ทั่วไปในพื้นที่ๆได้รับอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมจากอินเดีย แต่เขาจะทานกับกับข้าวอื่นใดตามปกติ   แต่สำหรับของไทยเรานั้น ดูจะถูกกำหนดให้เป็นของที่ต้องกินคู่กับส้มตำและหมู(หรือเนื้อ)หวานที่ยีให้แตกเป็นฝอย แถมยังต้องมีใบทองหลางหรือใบชะพลูเป็นผักแนมกับส้มตำอีกด้วย  ส้มตำเองก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตน มิใช่ส้มตำแบบของชาวเหนือหรือของชาวอิสาน คือไม่มีปลาร้า ไม่มีปูดอง ไม่ออกรสฉูดฉาดจัดจ้าน  แต่มีรสนุ่มนวลออกไปทางหวาน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 17, 19:20
จากประสบการณ์ของผม  ข้าวมันที่หุงด้วยกะทินี้ หากท่านได้มีโอกาสเดินทางไปในพื้นที่ของมาเลเซียแถบช่องแคบมะละกา อินโดนีเซีย หรือศร๊ลังกา ก็น่าจะลองหาทานดู ลองทานกับพวกแกงของเขาทั้งหลายที่ออกรสเครื่องเทศเผ็ดร้อน (เช่น อาหารปาดังของอินโดนีเซีย)  หากประสงค์จะให้รู้สึกซาบซ่ากว่านั้น ก็เอามะพร้าวขูดที่ผสมกับพริกป่นคลุกไปกับข้าวสวย  ก็จะอร่อยอยู่ไม่เบาเลยทีเดียว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ย. 17, 20:43
ข้าวมันส้มตำแบบไทยภาคกลาง หากินได้ยากค่ะ    หมายความว่าถ้าอยากกินจริงๆก็ต้องดั้นด้นไปหาร้านที่เปิดขาย ซึ่งมีน้อย
พูดแล้วคิดถึง 
หมูฝอยที่เขาทำกินในชุดนี้ เมื่อก่อนเป็นเนื้อฉีกฝอย ยังจำได้  รสอาหารกลมกล่อม ไม่แซบอย่างส้มตำอีสาน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 17, 18:36
ข้าวมันส้มตำน่าจะจัดเป็นพวกอาหารชุด  ความอร่อยของเมนูนี้เกิดจากรสในองค์รวมของข้าวมัน ส้มตำ และหมูหวาน   

ตัวข้าวมันกับส้มตำนั้นเป็นของที่ทานคู่กันเสมือนการตักกับข้าวมาทานกับข้าวตามปกติ  ส่วนเนื้อหรือหมูหวานที่ฉีกฝอยนั้นเข้ามาในส่วนช่วยระเบิดความอร่อย  ซึ่งในสำรับนี้ ในขณะที่เราทาน เราก็ยังมีวิธีทานให้อร่อยแบบอื่นได้อีก คือ เอาใบทองหลางหรือใบชะพลูห่อส้มตำใส่เข้าปาก (ทำดั่งเมี่ยงคำ) แล้วตามด้วยข้าว และก็อาจจะระเบิดความอร่อยแบบนุ่มนวลเพิ่มขึ้นได้อีกด้วยการใส่พริกขี้หนูสวนเม็ดเล็กๆทั้งเม็ด ซึ่งจะเป็นความเผ็ดแบบชั่วครู่ ไม่ตามมาด้วยความรู้สึกแสบร้อน(ดังเช่นพริกจินดา)       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 17, 19:24
ข้าวมันที่หุงกันก็มีทั้งแบบที่ใช้ข้าวเก่า ซึ่งจะได้ข้าวมันที่ร่วน  และที่ใช้ข้าวกลางเก่ากลางใหม่ ซึ่งจะได้ข้าวที่นุ่มและร่วนกำลังพอดีๆ   ส่วนส้มตำนั้นดูจะไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ตำแบบส้มตำไทยก็มี ตำแบบมีแต่มะละกอก็มี  จะมีที่เด่นเหมือนๆกันก็ตรงที่มะละกอจะสับแบบเป็นเส้นเล็กๆ ค่อนข้างละเอียดและพิถีพิถันมากกว่าสับแบบหยาบๆแบบส้มตำกับข้างเหนียว

หากจะเป็นคนพิถีพิถันสักหน่อย ก็อาจจะสังเกตเห็นว่า ใบทองหลางที่ให้มานั้น บางเจ้าก็ใช้ใบทองหลางทรงรีและมีหนาม บางเจ้าก็เป็นใบทองหลางทรงใบมน 
   

ในย่านวัดสามพระยา บางลำพู ก็มีข้าวมันส้มตำที่อร่อยทำขายอยู่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 27 พ.ย. 17, 19:47
กินข้าวมันส้มตำครั้งสุดท้ายก็เกือบ 20 ปีแล้ว คิดถึง :'(


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 17, 17:41
นึกไม่ออกว่าในอาหารไทยมีเมนูอื่นใดที่ทานกับข้าวมันที่หุงด้วยกะทิอีกบ้าง  ??     

แต่ข้าวมันที่หุงแบบจีนนั้น นอกจากจะทานกับไก่ต้ม/ไก่ตอนแล้ว ก็มีทานกับไก่ทอดด้วย และไก่ทอดส่วนมากก็จะใช้เนื้อส่วนสะโพก เนื้อหน้าอกก็มีแต่ดูจะไม่นิยมกันมากนัก สำหรับส่วนขานั้นเกือบจะไม่เห็นเอาเลย   

ไม่ทราบเช่นกันว่าข้าวมันไก่ทอดมีมาแต่หนใดและมีแหล่งกำเนิดจากที่ใด  แต่ดูเหมือนกับว่าน่าจะถือกำเนิดในไทยนี่เอง  ก็เดาเอาจากน้ำจิ้มที่ใช้คู่กับอาหารจานนี้ครับ     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 17, 18:12
คิดเรื่อยเปื่อยไปว่า บรรดาไก่ทอดที่อร่อยของเรานั้น จะมีชื่อของสถานที่ติดห้อยท้ายอยู่ด้วย (ไก่ทอดหาดใหญ่ ไก่ทอดเทพา ....) ซึ่งทั้งหมดดูจะจำกัดอยู่เฉพาะในภาคใต้  แต่ไก่ทอดเหล่านั้นไปขายจับคู่กับข้าวเหนียว กลับไม่ไปจับคู่ขายกับข้าวมัน ทั้งๆที่ในภาคใต้มีคนจีนฮกเกี้ยนที่ทำข้าวมันไก่ตอนขายกระจายอยู่ทั่วไป   

ไก่ทอดที่ทอดขายคู่กับข้าวมันจะมีการทำที่ค่อนข้างจะต่างออกไป คือชุบแป้งที่ทอดแล้วจะให้ crust ที่ค่อนข้างจะหนา ต่างกับไก่ทอดชื่อดังท้องถิ่นที่จะมี crust บางมากๆ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 17, 18:29
ในภาคใต้ โดยเฉพาะที่ภูเก็ตและจังหวัดรอบๆ มีข้าวมันจานด่วนที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะว่าจะต้องโปะหน้าด้วยไก่ตอนเพียงอย่างเดียว จะโปะหมูแดง หมูกรอบ เป็ดย่าง.. ร่วมไปด้วยก็ได้  และก็ยังเลือกได้อีกว่าจะเอาข้าวมันหรือข้าวสวยธรรมดา   จะเรียกชื่อของอาหารจานนี้ว่าอะไรก็ไม่ทราบครับ ? 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 17, 18:57
บ้างก็เรียกว่า ข้าวเฉโป ข้าวเสียโป ข้าวสวยโป  ไม่รู้ว่าเรียกเช่นใดจึงจะถูกต้อง   แล้วก็ไม่รู้อีกด้วยว่าชื่อทั้งสามนี้จะจำกัดอยู่แต่เฉพาะการโปะหน้าด้วยเป็ดย่าง หมูแดง และหมูกรอบเท่านั้นหรือไม่ ?     รู้แต่เพียงอย่างเดียวว่าจะเรียกชื่อเช่นใดก็อร่อยทั้งนั้น

จานที่ใช้ข้าวมันโปะด้วยไก่ตอน +... ดูจะเหมาะกับเป็นอาหารเช้าประเภทมื้อหนักก่อนไปทำงานออกแรง หรือแก้ hangover และ brunch
จานที่ใช้ข้าวสวยโปะด้วยเป็ดย่าง +... ดูจะเหมาะกับการทานเป็นอาหารมื้อกลางวัน หรือ brunch

และทั้งสองจานนี้ที่มีแต่เนื้อ ไม่มีข้าว ก็ดูจะเหมาะกับเป็นอาหารว่างในช่วงการพักผ่อนยามแดดร่มลมตก   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 พ.ย. 17, 22:40
สมัยทำงานสีลมท้ายซอยละลายทรัพย์ใกล้รั้วธนาคารกรุงเทพมีร้านข้าวหน้าเป็ดเฉโปค่อนข้างดัง ยืนพื้นด้วยเป็ดย่าง หมูกรอบ หมูแดง แต่ไม่มีไก่ (ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังอยู่หรือเปล่านะครับ ) มีน้ำซุปหน่อไม้จีนกับสาหร่ายหมูสับให้สั่งต่างหาก ติดกันเป็นร้านหมูย่างรถเข็นแต่อร่อยมาก น้ำจิ้มค่อนข้างเผ็ดผมให้ใส่หน่อยเดียว ซื้อมากินทีหอมทั้งชั้นเลยโดนด่าประจำ 555


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 17, 16:18
ตอนเด็กๆ เคยไปกินข้าวมันไก่ที่ประตูน้ำ  มีขายอยู่หลายร้าน   ร้านเจ้าประจำเป็นข้าวมันไก่ตอน  เสิฟพร้อมกับต้นหอม และแตงกวา
มีน้ำจิ้มเป็นซีอิ๊วหวานมาให้สำหรับเด็กที่กินเผ็ดไม่ได้  นอกจากนี้ยังแถมถ้วยใส่น้ำซุปจากการต้มกระดูกหมู ใส่ชิ้นฟักมาให้ด้วย เป็นชุดคู่กับข้าวมันไก่
ร้านนั้นเลิกไปนานแล้วค่ะ  ตอนเด็กๆกินอะไรก็อร่อยไปหมด ยังจำรสชาติได้จนบัดนี้

ส่วนข้าวเสียโป หรือเฉโป จำได้ว่าหมายถึงเป็ดย่าง    คนจีนหาบเร่ขายตามบ้าน    ในยุคนั้นอาหารหาบเร่มีสารพัดจนคุณตั้งน่าจะแยกกระทู้ได้ทีเดียว   ไม่ว่าจะเป็นหมูสะเต๊ะ ขนมจีนน้ำยา ขนมจีนแกง  มาถึงประตูบ้าน  ไม่ต้องออกไปกินตามร้านอย่างเดี๋ยวนี้

ว่าข้าวเสียโป หรือเฉโป ว่ากันว่าเป็นอาหารแต้จิ๋วแต่ชื่อภาษาไทยว่า "เสียโป" "ข้าวเฉโป" มีคำอธิบายในเว็บต่างๆว่า"เฉโป" หรือ "เสียโป" เป็นอาหารจีนแต้จิ๋วโบราณแบบจานด่วน ว่ากันว่าในสมัยก่อนมีพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนแต้จิ๋วจะหาบเร่เอาข้าวพะโล้ไปขายให้กับนักพนันและคนสูบฝิ่นแถวหน้าโรงบ่อน บนถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ เมื่อเวลานักพนันเล่นโปจนเสียเงินไปเยอะ พอออกมาจากบ่อนแล้วเกิดหิวข้าว แต่ด้วยความที่เล่นจนเหลือเงินเพียงน้อยนิด ก็เลยสั่งให้แม่ค้าเอาเศษๆ ของไก่ เป็ด หมู เครื่องในต่างๆ ที่เหลือ โปะลงไปบนข้าวสวยแล้วราดด้วยน้ำพะโล้ จนกลายเป็นเมนูที่เรียกกันว่า "ข้าวเสียโป" หมายถึงข้าวของคน(เล่น)เสียโป พอนานวันเข้านักพนันเห็นว่าชื่อนี้ไม่เป็นมงคลเท่าไหร่นัก เลยเปลี่ยนชื่อไปเรียกว่า "ข้าวเฉโป" หรือ ข้าวสวยโปแทนซะเลย

แต่ดิฉันคิดว่าคำนี้น่าจะมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว    ไม่เกี่ยวอะไรกับโป   เพราะคนเข้าไปเล่นการพนันในบ่อนไม่ได้เจาะจงเล่นโปอย่างเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 17, 16:19
ข้าวเฉโป หรือเสียโป ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 17, 18:46
..... ในยุคนั้นอาหารหาบเร่มีสารพัดจนคุณตั้งน่าจะแยกกระทู้ได้ทีเดียว   ไม่ว่าจะเป็นหมูสะเต๊ะ ขนมจีนน้ำยา ขนมจีนแกง  มาถึงประตูบ้าน  ไม่ต้องออกไปกินตามร้านอย่างเดี๋ยวนี้....

ครับ  ก็นึกอยู่เหมือนกันว่า เนื้อในของกระทู้นี้กำลังเข้าไปอยู่กรอบของเรื่องอาหารหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็น Street Foods ของไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกในเรื่องของความอร่อย     

ซึ่งความอร่อยของชาวต่างชาติก็น่าจะเป็นในเรื่องของความกลมกล่อมในรสชาติและความน่าฉงนในความลงตัวของเครื่องปรุงต่างๆที่มีความต่างกันค่อนข้างมากในเชิงของรสและกลิ่น     

ซึ่งผมเห็นว่ากลิ่นของน้ำปลานั่นแหละที่เป็นตัวประสานกลิ่นของเครื่องปรุงทั้งหลายให้เกิดเป็นกลิ่นที่ไปกระตุ้นต่อมความอยากทาน ความอร่อย และความพอใจในอาหารจานนั้นๆ   

และก็อีก ซึ่ง หนึ่งว่า ก็คงจะเป็นกลิ่นของน้ำปลานี้แหละที่พ่อครัว/แม่ครัวชื่อดังต่างชาติได้ค้นพบและได้นำไปเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงในการทำอาหารฝรั่งหลายเมนูที่ดังติดอันดับความอร่อยในระดับนานาชาติ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 17, 18:58
แล้วพ่อครัว/แม่ครัวฝรั่งชื่อดังเหล่านั้น ก็เรียกชื่อตรงๆไปเลยว่า น้ำปลา เลิกเรียกกันว่า fish sauce ก้นไปเรียบร้อยแล้ว

น้ำปลาก็เลยกลายเป็นตัวที่สร้างเสน่ห์ปลายจวักของอาหารฝรั่งหลายเมนู   ในขณะที่ในไทยเรา น้ำปลาก็ยังเป็นเพียงเครื่องปรุงรสและเครื่องจิ้มมาตฐานในการทำอาหารทุกๆเมนู


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 17, 19:46
น้ำปลาจะมีกำเนิดจากจีนหรือในไทยเองก็มิทราบ   แต่ในไทยใช้น้ำปลาในขณะที่ในจีนใช้ซีอิ้ว  แล้วเราก็มีน้ำปลาที่ทำมาจากวัตถุดิบที่ต่างกัน ให้ความหอมและความอร่อยนุ่มนวลที่ต่างกัน

น้ำปลาที่ขายกันอยู่ทั่วไปมาจากการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม จะใช้ปลากะตักเป็นวัตถุดิบ    เราก็มีน้ำปลาเฉพาะถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตน โดยใช้วัตถุดิบอื่นๆ เช่น ใช้ปลากะตักผสมกับส่วนของปลาทู (หาได้ในย่านแม่กลอง) ใช้ปลาสร้อย (หาได้ในย่านสุพรรณบุรีและย่านบางระกำ พิษณุโลก) ...   

เดินทางไปเที่ยวผ่านไปผ่านมาในพื้นที่ๆได้กล่าวถึงชื่อเหล่านี้ ก็ลองหาซื้อน้ำปลาเฉพาะถิ่นมาลองชิมกันบ้างนะครับ แล้วจะเห็นความต่างที่น่าสนใจ     

น้ำท่วม การจับปลา และการแปรเป็นสัตว์น้ำผลิตผล เป็นสินค้า เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตมาแต่โบราณกาลของผู้คนในพื้นที่เหล่านี้  การทำให้น้ำไม่ท่วมตามฤดูกาลในพื้นที่เหล่านี้ มีแต่จะมีผลที่ไม่เป็นคุณต่อธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นที่เลือกจะดำรงชีวิตในวิถีนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ย. 17, 20:08
น้ำปลาจะมีกำเนิดจากจีนหรือในไทยเองก็มิทราบ

คุณ SchwedaKong ตอบไว้ใน พันทิป (http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2010/03/D8979740/D8979740.html#5)

คนไทยก็ไม่ใช้คนทำน้ำปลาเป็นชาติแรกอยู่ดี ต้นกำเนิดนั้นน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในจีน ซึ่งเป็นเครื่องปรุงที่พัฒนาจากการหมักปลากับเกลือเพื่อถนอมอาหาร เช่นเดียวกับการหมักถั่วเหลืองเพื่อทำซีอิ๊ว ซึ่งก็น่าจะเริ่มในแถบ เซียะเหมิน ฟูเจี้ยน เพราะมันใกล้ทะเล อีกอย่างที่ไม่แปลกใจที่มันจะเกิดในแถบนี้ เพราะน้ำปลานั้นเป็นวัฒนธรรมของคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งคนแต้จิ๋วนี่หละที่ล่องเรืออพยพมาทางตอนใต้ของจีน จนมาขึ้นฝั่งใน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ฯลฯ และรวมไปถึงชาวฮกเกี้ยน หรือ ฮากกา (จีนแคะ) ก็ใช้น้ำปลาด้วย

ซึ่งต้นกำเนิดนั้นน่าจะมาจากการประมงที่ได้ปลาเล็กจากการลากอวน เลยนำมาหมักกับเกลือในถังเพราะกินไม่หมดเลยได้ซอสนี้ขึ้นมา

การใช้นำปลานั้นใช้ทั้งในการผสมอาหารและทำน้ำจิ้มต่าง ๆ และใช้จิ้มได้หลากหลายมากทั้ง ปลา กุ้ง หมู ไก่ ส่วนทางจีนตอนใต้ใช้ปรุงน้ำแกง และจานอบน้ำปลาเป็นแหล่งกลูตาเมตที่ให้รสอูมามิมากเลยทีเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 พ.ย. 17, 18:02
แต่ดิฉันคิดว่าคำนี้น่าจะมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว    ไม่เกี่ยวอะไรกับโป   เพราะคนเข้าไปเล่นการพนันในบ่อนไม่ได้เจาะจงเล่นโปอย่างเดียว

คนแต้จิ๋วก็งงครับอาจารย์ นึกไม่ออกว่าคำนี้คืออะไร แปลว่าอย่างไร


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 พ.ย. 17, 18:11
น้ำปลาจะมีกำเนิดจากจีนหรือในไทยเองก็มิทราบ

คุณ SchwedaKong ตอบไว้ใน พันทิป (http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2010/03/D8979740/D8979740.html#5)

คนไทยก็ไม่ใช้คนทำน้ำปลาเป็นชาติแรกอยู่ดี ต้นกำเนิดนั้นน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในจีน ซึ่งเป็นเครื่องปรุงที่พัฒนาจากการหมักปลากับเกลือเพื่อถนอมอาหาร เช่นเดียวกับการหมักถั่วเหลืองเพื่อทำซีอิ๊ว ซึ่งก็น่าจะเริ่มในแถบ เซียะเหมิน ฟูเจี้ยน เพราะมันใกล้ทะเล อีกอย่างที่ไม่แปลกใจที่มันจะเกิดในแถบนี้ เพราะน้ำปลานั้นเป็นวัฒนธรรมของคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งคนแต้จิ๋วนี่หละที่ล่องเรืออพยพมาทางตอนใต้ของจีน จนมาขึ้นฝั่งใน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ฯลฯ และรวมไปถึงชาวฮกเกี้ยน หรือ ฮากกา (จีนแคะ) ก็ใช้น้ำปลาด้วย

ซึ่งต้นกำเนิดนั้นน่าจะมาจากการประมงที่ได้ปลาเล็กจากการลากอวน เลยนำมาหมักกับเกลือในถังเพราะกินไม่หมดเลยได้ซอสนี้ขึ้นมา

การใช้นำปลานั้นใช้ทั้งในการผสมอาหารและทำน้ำจิ้มต่าง ๆ และใช้จิ้มได้หลากหลายมากทั้ง ปลา กุ้ง หมู ไก่ ส่วนทางจีนตอนใต้ใช้ปรุงน้ำแกง และจานอบน้ำปลาเป็นแหล่งกลูตาเมตที่ให้รสอูมามิมากเลยทีเดียว


ผมไม่ทราบว่าคนจีนเป็นคนริเริ่มทำน้ำปลาหรือไม่ แต่เท่าที่รู้ น้ำปลาไม่อยู่ในสารบบเครื่องปรุงที่คนจีนในปัจจุบันใช้ครับ คนแต้จิ๋วในไทยเรียกน้ำปลาว่า นำปา โปรดอย่าได้ถามว่านำปาภาษาจีนแปลว่าอะไร เพราะคนจีนก็ไม่รู้เหมือนกัน เรียกทับศัพท์น้ำปลาเท่านั้นเอง ซึ่งก็แสดงชัดเจนว่าคนแต้จิ๋วไม่รู้จักน้ำปลา เขาใช้แต่เกลือหรือไม่ก็ซีอิ๊วเวลาต้องการรสเค็มครับ

คนเวียดนามสิรู้จักน้ำปลาแน่ เขาเรียกว่าเนื้อกม้าม เนื้อกแปลว่าน้ำ ม้ามคือปลาหมัก(ปลาร้า?) เท่าที่ผมเคยกิน(ที่จ่าก๋าล้าหว่อง) ก็รสชาติคล้ายน้ำปลาเรา แต่ออกหวานหน่อยเหมือนจะใส่น้ำตาลลงไปด้วยหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ และก็ไม่แน่ใจว่ารสจะเป็นอย่างนี้ทุกเจ้าหรือเปล่านะครับ เอาตามที่ได้เห็นมา ผมว่าน้ำปลาน่าจะเกิดแถวอุษาคเนย์นี่แหละครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ย. 17, 18:48
ครับ   ก็น่าจะถือกำเนิดในประเทศจีนและมีใช้กันในชาวจีนแต้จิ๋วในชีวิตประจำวัน   แต่ไทยเราเป็นผู้ทำให้มันแพร่หลายไปทั่วโลก

ก็มีเรื่องน่าสนใจอยู่ว่า น้ำปลาที่มีขายอยู่ใน ตปท.นั้น มีภาษาเวียดนามเขียนอยู่ในฉลากปิดขวดร่วมไปอีกด้วย แถมดูจะเด่นชัดกว่าภาษาไทยเสียอีก เช่นเดียวกับที่ปรากฏบนซอสและเครื่องปรุงอีกหลายชนิดที่คนไทยใช้และซึ่งร้านอาหารไทยมักจะต้องมีติดครัวไว้  

ประเด็นก็ไปอยู่ที่ว่า  ตัวน้ำปลาและชื่อของมันนั้นเป็นที่รู้จักในลักษณะที่มีความจำเพาะเจาะจงลงไปว่า "น้ำปลา"    ซึ่งเป็นภาษาไทยและเป็นของที่มีการทำ มีการกิน และมีการใช้ในการทำอาหารอย่างแพร่หลายในวิถีชีวิตของคนไทยทั่วทุกแห่งในประเทศไทย    แต่ด้วยที่มันมีภาษาอื่นปรากฎเด่นอยู่ในฉลากปิดขวด น้ำปลาก็จึงอาจจะถูกแอบนำไปจดสิทธิบัตรในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งก็ได้ ??    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ย. 17, 19:21
อืม์  เอาละซี  ก็น่าสนใจว่าที่ว่าน้ำปลาไม่อยู่ในสารบบเครื่องปรุงที่คนจีนใช้กันในปัจจุบัน

เท่าที่ผมพอรู้อยู่บ้าง แหล่งผลิตน้ำปลาสำคัญแต่ดั้งเดิมของเราที่ใช้ปลาทะเลเป็นวัตถุดิบนั้นอยู่ที่แม่กลองและชลบุรี  ส่วนที่ระยองนั้นดูจะมาทีหลังซึ่งจะเป็นในเชิงของการผลิตแบบอุสาหกรรมเต็มรูปแบบ   ส่วนแหล่งผลิตน้ำปลาที่ใช้ปลาน้ำจืดเป็นวัตถุดิบนั้นอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมประจำปีของพิษณุโลกและสุพรรณบุรี ซึ่งทั้งหมดจะหมักปลาในใหที่มีทรงปากใหที่มีขอบมนและเรียบดังที่เราเห็นและคุ้นเคยกัน  ต่างกับใหหมักปลาร้าที่ปากใหจะมีรูปทรงคล้ายการหงายมือ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 17, 19:25
ก็มีเรื่องน่าสนใจอยู่ว่า น้ำปลาที่มีขายอยู่ใน ตปท.นั้น มีภาษาเวียดนามเขียนอยู่ในฉลากปิดขวดร่วมไปอีกด้วย แถมดูจะเด่นชัดกว่าภาษาไทยเสียอีก เช่นเดียวกับที่ปรากฏบนซอสและเครื่องปรุงอีกหลายชนิดที่คนไทยใช้และซึ่งร้านอาหารไทยมักจะต้องมีติดครัวไว้  

ประเด็นก็ไปอยู่ที่ว่า  ตัวน้ำปลาและชื่อของมันนั้นเป็นที่รู้จักในลักษณะที่มีความจำเพาะเจาะจงลงไปว่า "น้ำปลา"    ซึ่งเป็นภาษาไทยและเป็นของที่มีการทำ มีการกิน และมีการใช้ในการทำอาหารอย่างแพร่หลายในวิถีชีวิตของคนไทยทั่วทุกแห่งในประเทศไทย    แต่ด้วยที่มันมีภาษาอื่นปรากฎเด่นอยู่ในฉลากปิดขวด น้ำปลาก็จึงอาจจะถูกแอบนำไปจดสิทธิบัตรในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งก็ได้ ??

น้ำปลา และ เนื้อก-หมัม” (nước mắm) ดูจะเป็นคู่แข่งกันในตลาดอาหารระดับโลก

คุณสุเจน กรรพฤทธิ์ เขียนเอาไว้ในบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์ “น้ำปลาเวียด”

https://www.sarakadee.com/2017/05/25/nuoc-mam/

ใครจะไปคิดว่า ก่อนปี ๑๙๗๕ ตลาดน้ำปลาในยุโรปถูกยึดครองโดยน้ำปลาจากเกาะฟูก๊วกของเวียดนามใต้ ในขณะที่หลังปี ๑๙๗๕ เมื่อคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือยึดเวียดนามใต้ได้ น้ำปลาไทยจึงได้โอกาส เข้าไปยึดครองตลาดแทน เพราะสหรัฐฯ แซงก์ชั่นทางการค้าเวียดนามภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์  กว่าที่น้ำปลาเวียดนามจะกลับมาได้ ก็ต้องรอช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ ที่เวียดนามหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ถึงตอนนั้น ผู้ผลิตน้ำปลาเวียดนามก็พบว่า ตามชั้นวางของในยุโรป น้ำปลาไทยก็กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวไปแล้ว

คอยดูเถิดครับ อีกไม่นาน ศึกชิงตลาดน้ำปลาในยุโรประหว่างน้ำปลาไทย-เวียดนาม คงระอุกว่านี้



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ย. 17, 20:07
พอจะเห็นเค้าลางของการต่อสู้เพื่อแย่งการครองตลาดบ้างแล้วครับ    เห็นมีน้ำปลาพริกขี้หนูอยู่ในขวดวางขายอยู่นานมาแล่ว เป็นของเวียดนามผลิต ใช้พริกขี้หนูสีแดงดองน้ำปลา  เก็บกินตลาดจากพวกอพยพหลังสงครามเวียดนาม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 17, 22:02
แต่ดิฉันคิดว่าคำนี้น่าจะมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว    ไม่เกี่ยวอะไรกับโป   เพราะคนเข้าไปเล่นการพนันในบ่อนไม่ได้เจาะจงเล่นโปอย่างเดียว

คนแต้จิ๋วก็งงครับอาจารย์ นึกไม่ออกว่าคำนี้คืออะไร แปลว่าอย่างไร

ดิฉันฟังจากเสียงของคำค่ะ  เฉโป เฉียโป เสียโป  พอจะมีเค้าอะไรเกี่ยวกับเป็ดย่างบ้างไหมคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 พ.ย. 17, 22:40
นึกไม่ออกเลยครับ คิดว่าถ้าเป็นภาษาจีนจริง จะต้องเป็นอะไรที่แปลกประหลาดชนิดคาดไม่ถึงแน่ๆครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 พ.ย. 17, 22:44
ตลาดน้ำปลาไทยน่าจะถูกเวียดนามแย่งไปผ่านช่องทางร้านชำเวียดนามที่บุกไปทั่วโลกด้วยนะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ธ.ค. 17, 07:08
นึกไม่ออกเลยครับ คิดว่าถ้าเป็นภาษาจีนจริง จะต้องเป็นอะไรที่แปลกประหลาดชนิดคาดไม่ถึงแน่ๆครับ

พจนานุกรมฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร อธิบายที่มาของคำว่า เสียโป เป็นสองทาง

เสียโป ข้าวนึ่งมีกับหลายชนิด โดยมากมีเป็ดย่าง ผักบุ้ง เครื่องในเป็ด แต่ก่อนจีนหาบขายตามโรงบ่อน เป็นอาหารราคาถูก ว่าพวกเสียโปกิน จึงเรียก เสียโป, คำนี้อาจเพี้ยนเสียงจาก เจียะปึ้ง ในภาษาแต้จิ๋วแปลว่า กินข้าว.

คุณเคราครึ้มแห่ง พันทิป (https://2g.pantip.com/cafe/food/topic/D8513623/D8513623.html#22) ให้ข้อมูลว่าคุณอาจินต์ปัญจพรรค์เห็นด้วยกับที่มาทางที่สอง

คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ เสนอไว้ว่า เพี้ยนมาจากคำว่า "เจียะปึ่ง" ที่เจ๊กคนขายตะโกนเรียกให้มากิน"ข้าวเย็น"กันต่างหาก  ส่วนรูปแบบของอาหารนั่นก็คือข้าวหมูแดงหมูกรอบเป็ดย่างแบบที่ขายกันในร้านเป็ดย่างนั่นแหละ เพียงแต่เอาทุกอย่างมาสับชิ้นเล็ก ๆ รวมกันแล้วราดน้ำ ออกไปทางเป็นเศษ ๆ มากกว่า จะเรียกได้ว่าเป็นข้าวที่เน้นเนื้อสัตว์อะไรชัด ๆ แบบหมูแดง เป็ดย่าง

อาจินต์สำทับอีกว่า พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงริเริ่มให้มีการลดจำนวนบ่อนลงทีละน้อย ๆ และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชบัญญัติปิดบ่อน ห้ามมิให้ผู้ใดเล่นถั่วโปอีกต่อไปในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๐ ดังนั้นบ่อนโปจึงหมดไปร่วมร้อยปีแล้ว แต่ข้าวเฉโปที่กินกันมาตามประวัติมีขายมีกินกันไม่น่าจะเกินหกสิบปีมานี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 17, 18:35
ตลาดน้ำปลาไทยน่าจะถูกเวียดนามแย่งไปผ่านช่องทางร้านชำเวียดนามที่บุกไปทั่วโลกด้วยนะครับ

คิดว่าก็คงเป็นเช่นนั้นครับ   

ผมมีโอกาสได้ไปสหรัฐฯและแคนาดาในช่่วงเวลาต่างๆตั้งแต่สงครามเวียดนามยุติ จึงพอจะได้เห็นพัฒนาการของตลาดสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภคสำหรับคนเอเซียในแต่ละช่วงเวลา   ร้านของจีนและอินเดียนั้นได้ตั้งหลักปักฐานที่แน่นหนามาแต่ดั้งเดิม จนกระทั่งหลังสงครามเวียดนามยุติและผู้อพยพชาวเวียดนาม ลาว และเขมร เริ่มได้รับสัญชาติใหม่และขยับขยายโยกย้ายมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันหนาแน่นมากขึ้น ได้มีสิทธิและเสรีภาพเต็มดั่งพลเมืองของประเทศนั้นๆ  คนเวียดนามซึ่งมีจำนวนมากกว่าก็ได้เริ่มตั้งร้านขายของชำสำหรับพวกตนขึ้นมา สินค้าที่สั่งเข้ามาขายในร้านก็จะเป็นพวกเครื่องปรุงอาหารต่างๆและของใช้เบ็ดเตล็ดในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ในร้านค้าจีนไม่มีหรือมีแบบกระท่อนกระแท่น 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 17, 19:22
วัตถุดิบในเรื่องของการทำอาหารทั้งหลายนั้น ก็ให้บังเอิญว่าของอาหารเวียดนามมีความเหมือนหรือเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ใช้ในการทำอาหารของลาว เขมร และไทย อาทิ เส้นขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ปลาร้า น้ำปลา พริกดอง ปูดอง(ปูเค็ม) น้ำปู ข่า ตะไคร้ ผักกุยช่าย .....
ร้านของชำของเวียดนามก็เลยเจริญเติบโตเร็ว แล้วก็กลายเป็นแหล่งรวมของเครื่องบริโภคของคนในอุษาคเนย์  ก็จึงไม่แปลกนักที่อาหารและเครื่องบริโภคส่งออกของไทยจึงมีภาษาเวียดนามปรากฎอยู่  ซึ่งบางสินค้าก็คงจะถูกอ้างต่อไปว่าเป็นของเวียดนามที่ผลิตในไทย แล้วก็มีพัฒนาการต่อๆไปในเรื่องต่างๆ .......

ร้านขายของชำของคนไทย นิยมที่จะเลือกขายสินค้าเฉพาะเจาะจงสำหรับการทำอาหารแบบไทยๆ เพราะเครื่องปรุงพื้นฐานหลายชนิดหาได้จากร้านจีนและเวียดนามโดยทั่วไป ก็จึงไม่จำเป็นต้องไปแข่งด้วย  ร้านค้าของไทยจึงมีขนาดไม่ใหญ่และมักจะอยู่ในที่ๆค่อนข้างจะหาพบยาก  ของที่จะหาได้ในร้านไทยก็มีอาทิ ใบกระเพราะ ใบโหระพา มะเขือเปราะ ใบมะกรูด พริกแห้งใหญ่ กะปิ น้ำพริกเผา นำพริกแกงแบบไทย .....


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 17, 20:01
ก็น่าแปลกอยู่นะครับ ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวนั้น อาหารไทยก็ยังมุดทะลุขึ้นมาเป็นอาหารที่อร่อยสุดๆในระดับโลก  ร้านอาหารไทยเป็นจำนวนมมากในหลายๆประเทศก็มิได้ดำเนินการโดยคนไทยและก็มิได้ใช้พ่อครัว/แม่ครัวเป็นคนไทย   เจ้าของร้านนั้นมักจะเป็นคนพื้นถิ่นในเชิงของกฎหมาย ส่วนผู้ดำเนินการนั้นมีสารพัดเชื้อชาติรอบๆบ้านเรา 

มองในมุมนี้ แล้วอะไรล่ะที่เป็นเสน่ห์ของอาหารไทย     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 01 ธ.ค. 17, 22:36
น้ำปลาที่ใกล้เคียงไทยมากที่สุดเห็นจะเป็น Filipino fish sauce
ประเทศนี่มีกระปิ และเครื่องรวมมิตรแฃ่ในน้ำตาล ที่คล้ายขนมไทยมากที่สุดเช่นกัน

ร้านชำพวก Asian groceries ไม่ได้คัดเฉพาะของเวียดนามไปขายนะครับ
เขาเอาสินค้าเด่นๆ ของแตละชาติเข้าไปวาง
กระทิ ผลไม้กระป๋อง มีของไทยและปินส์
พริกสดปั่นละเอียดสีส้ม หมี่ขาว ก๋วยเตี๋ยวแผ่นกลมแห้งไว้ห่อสปริงรอลล์ แบรนด์เหงียน
เส้นจันทน์ น้ำพริกแกง ศรีราชา ภูเขาทองของไทย
หมี่เหลือง หมี่สั่ว น้ำพริกเผา ผักดอง จำฉ่าย เฮียวโกว ซีอิ๊ว ของจีน

เพื่อนส่งทุเรียนแช่แข็งขาย ตปท วางตามร้านชำก็มี และขยายไลน์ไปเป็นมะพร้าวอ่อน (แช่แข็ง?)
กล่องละ 9 ลูก ได้ราคาแค่ 7 USD ค่าเรือฝ่ายไทยจ่าย กลุ้ม!




กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 17, 11:13
คุณเฮฮาพูดถึงอาหารฟิลิปปินส์ ทำให้นึกได้ว่า ดิฉันไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินของประเทศนี้เลยก็ว่าได้     
ดูตามประวัติ ฟิลิปปินส์เคยอยู่ในความปกครองของสเปนมาก่อน  ชื่อเสียงเรียงนามของประชาชนก็เป็นภาษาสเปนกันยืนพื้น    หลังสงครามโลก ก็เป็นประเทศที่มีฐานทัพของอเมริกามาตั้งอยู่  รับวัฒนธรรมของเมกันมาหลากหลาย   รวมทั้งการศึกษา

ครั้งหนึ่ง ฟิลิปปินส์มีการศึกษาที่ก้าวหน้ากว่าไทย  คนไทยรุ่นก่อนสงครามโลกจนถึงหลังสงครามโลก ไปเรียนกันที่นั่นมากเหมือนกัน   ได้ข่าวว่าการศึกษาของ  U ดังๆที่นั่นได้มาตรฐานไม่แพ้ตะวันตก    แต่ปัจจุบัน คนไทยซาความนิยมที่จะไปเรียนที่นั่นมากแล้ว  ไม่ค่อยได้ยินอีก

ถ้าฟิลิปปินส์มีกะปิน้ำปลาแบบไทย   อาหารการกินพื้นเมืองเขาก็คงได้อิทธิพลจากเอเชียอาคเนย์ไม่มากก็น้อยน่ะซิคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ธ.ค. 17, 11:38
เป็นที่ทราบกันดีว่า ข้าว เป็นอาหารหลักของวัฒนธรรมการบริโภคของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อมีข้าวก็ต้องมีกับข้าวเป็นของคู่กัน เครื่องปรุงรสให้กับข้าวมีรสชาติกลมกล่อมจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งแม้เมนูกับข้าวในแต่ละท้องที่ของภูมิภาคนี้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่เครื่องปรุงรสที่ทุกครัวเรือนจะขาดไม่ได้ นั่นก็คือ กะปิ และน้ำปลา กะปินั้น ในภาษาพม่าเรียก “งาปิ” และพม่าใช้ “งาปิ” ในน้ำพริกนานาชนิดเช่นเดียวกับไทย ในภาษาฟิลิปปินส์เรียกกะปิว่า “บาโกอุง” (Bagoong) และในภาษาอินโดนีเซียน เรียกว่า “ตราสซี” (Trassi) ส่วนน้ำปลาก็ใช้กันอยู่ในวัฒนธรรมสังคมต่าง ๆ ของเอเชียอาคเนย์ในเวียดนามเรียกน้ำปลาว่า “เนื้อก หม่ำ” (nước mắm) และในฟิลิปปินส์เรียกว่า “ปาตีส” (Patis)

เมื่อมองผ่านอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์เป็นลำดับชั้นขึ้นลงไปแล้ว จะเห็นว่ามีอาหารหลักและส่วนประกอบอาหารที่มีวัฒนธรรมร่วมกันมาก่อนตั้งแต่ดั้งเดิม แม้ในศาสนาอิสลามจะห้ามอาหารหมัก แต่ชาวอินโดนีเซียโดยเฉพาะชาวชวาซึ่งรับอิทธิพลศาสนาอิสลามน้อยมาก หรือรับแบบ Syncretism (การรับวัฒนธรรมจากผู้ใดหรือเขตใดก็ตาม รูปลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ถูกนำเข้ามาจะต้องมีการผสมปนกับวัฒนธรรมเดิมแล้วเกิดเป็นขึ้นของใหม่ขึ้น เกิดเป็นการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม) ก็ยังมีน้ำปลาเรียกว่า “เปอตีส” (Petis) เหมือนน้ำปลาในฟิลิปปินส์และมีน้ำพริกกะปิเหมือนไทย เรียกว่า “ชามบาล ตราสซี ลาลาบัน” (Sambal Trassi Lalaban) หรืออย่างเช่นฟิลิปปินส์ที่ได้รับอิทธิพลสเปนมาหลายร้อยปีและยังตามมาด้วยอิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกัน

อาหารฟิลิปปินส์หลายอย่างมีความคล้ายในส่วนประกอบและชื่อไปในทางอาหารสเปน แต่เวลารับประทานอาหารชาวฟิลิปปินส์จะใช้ข้าวเป็นหลัก กับข้าวที่มีอิทธิพลวัฒนธรรมสเปน เช่น สตูว์ (Coldereta) หรือ ไก่ถอดกระดูกใส่ไส้ทอด (Relleno) ใส่บนข้าว แล้วใช้กะปิ บาโกอุงและน้ำปลาปาตีสแต่งรสโรยหน้าอาหารในจานอีกทีหนึ่ง หรือเมื่อย่างปลาแล้ว ชาวฟิลิปปินส์จะเสิร์ฟปลาย่างกับกะปิบาโกอุงให้รับประทานกับข้าว เป็นต้น

https://www.modernpublishing.co.th/เครื่องปรุงอาเซียน (https://www.modernpublishing.co.th/เครื่องปรุงอาเซียน)

Petis udang กะปิเคยของอินโดนีเซีย นำมาเป็นน้ำจิ้มกับเต้าหู้ทอด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 17, 19:00
เคยไปประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่องแผ่นดินไหวที่มนิลาอยู่สัปดาห์หนึ่งหลังจากที่ได้เกิดแผ่นดินไหวในไทยที่ อ.ศรีสวัสดิ์ นานมาแล้ว ได้พบกับเพื่อน 3 คนที่เคยไปอบรมดูงานพร้อมกันมา เลยได้มีโอกาสได้เห็นภาพชิวิตจริงๆของข้าราชการและคนท้องถิ่นฟิลิปปินส์ ซึ่งในปัจจุบันนี้คงเปลี่ยนไปจนไม่เหลือภาพเดิมๆแล้ว

เข้าไปเดินในตลาดสดเช้า ก็มีลักษณะและสภาพไม่ต่างไปจากของไทยมากนัก เสียงดังล้งเล้งพอๆกับไทย  หน้าตาของผู้คนก็คล้ายๆกัน  ไปทานข้าวเช้าในย่านขายอาหาร ก็มีอาหารคล้ายๆกันอีก โจ๊กก็มี ทานกับปาท่องโก๋เหมือนกัน  จะเป็นข้าวจานหนึ่งกับกับข้าวแบบผัด แบบต้ม แบบทอด ก็มี หน้าตาของกับข้าวก็คล้ายๆของเรา

ผมคิดว่าอาหารท้องถิ่นของผู้คนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจีนใต้ทั้งหลายได้รับอิทธิพลมาจากจีนเกือบทั้งหมด เพราะมีการเดินทางค้าขายและย้ายถิ่นต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน และก็น่าจะโดยเฉพาะในช่วงที่เครื่องเคลือบดินเผาศิลาดล (Celadon) กำลังเป็นสินค้าที่ต้องการในจีน จนมีการทำการผลิตกันทั่วไปตามพื้นชายฝั่งทะเลจีนใต้    เครื่องปรุงพื้นฐานของอาหารที่มากับสำเภาจึงตกหล่นอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น จึงมีคล้ายๆกัน แต่การนำไปใช้ทำอาหารจนเกิดเป็นอาหารที่มีความแตกต่างกันและเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่นนั้น ก็น่าจะเป็นเพราะการนำเข้าไปใช้ผสมผสานกับการทำอาหารตามเมนูพื้นเดิมของตน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 17, 19:28
ก็เลยเกิดมีข้อสังเกตแบบฝันเฟื่องขึ้นมาว่า ความอร่อยติดอันดับนาๆชาติของอาหารไทยนั้นได้มาจากความเป็นตัวตนของตนเอง  ต่างไปจากของประเทศอื่นๆที่อยู่ในอิทธิพลและหลักนิยมตามประเทศที่เข้ามาปกครองในยุคที่ประเทศเหล่านั้นเป็นเมืองขึ้น

สติเฟื่องไปหน่อยนะครับ  ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 03 ธ.ค. 17, 17:53

ถ้าฟิลิปปินส์มีกะปิน้ำปลาแบบไทย   อาหารการกินพื้นเมืองเขาก็คงได้อิทธิพลจากเอเชียอาคเนย์ไม่มากก็น้อยน่ะซิคะ


หมูผัดกระปิเจือเครื่องแกง

http://homekitchenomics.com/pork-binagoongan-recipe/

รูปกระปิปินส์จาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Shrimp_paste


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 03 ธ.ค. 17, 18:13
เพื่อนฮ่องกงชวนกินข้าว เธอจะผัดอองชอยกับกระปิ กลัวว่าเราจะเหม็นกระปิ
ที่ไหนได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 17, 18:57

ถ้าฟิลิปปินส์มีกะปิน้ำปลาแบบไทย   อาหารการกินพื้นเมืองเขาก็คงได้อิทธิพลจากเอเชียอาคเนย์ไม่มากก็น้อยน่ะซิคะ


หมูผัดกระปิเจือเครื่องแกง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ธ.ค. 17, 19:00
คอยดูเถิดครับ อีกไม่นาน ศึกชิงตลาดน้ำปลาในยุโรประหว่างน้ำปลาไทย-เวียดนาม คงระอุกว่านี้

ผู้บริโภคน้ำปลาในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ คือ ชาวเอเซีย ได้แก่ ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น น้ำปลาที่จำหน่ายในสหรัฐฯ นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น สหรัฐฯ นำเข้าน้ำปลาในปี ๒๕๕๐ เป็นมูลค่า ๒๑.๔๐  ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีแหล่งนำเข้า ได้แก่ ไทย เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญที่สุด หรือมีสัดส่วนตลาดร้อยละ ๘๒ แหล่งนำเข้าอื่น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ ๔.๑) ฮ่องกง (ร้อยละ ๓.๘) เวียดนาม (ร้อยละ ๓.๕) เกาหลี (ร้อยละ ๒.๓) และ ญี่ปุ่น (ร้อยละ ๑) สหรัฐฯ ไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าน้ำปลาจากกลุ่มประเทศพันธมิตร (MFN: Most Favorite Nation)

น้ำปลาไทยและน้ำปลาเวียดนามในสหรัฐฯ

เวียดนามกล่าวหา น้ำปลาไทยบางแบรนด์ ละเมิดลิขสิทธิ์โดยใช้ชื่อน้ำปลาเวียดนาม "Phu Quoc" พิมพ์ ลงบนฉลากสินค้าเพื่อหวังผลประโยชน์ในการขาย ซึ่งเป็นการ หลอกลวงผู้บริโภค

Phu Quoc เป็นเกาะตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำปลาที่มีคุณภาพดีที่สุด น้ำปลาที่ผลิตจากเกาะ Phu Quoc เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ปิดป้าย เครื่องหมายการค้ "Phu Quoc" ได้

กระทรวงประมงเวียดนามได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "Phu Quoc" ในต่างประเทศรวมทั้งใน สหรัฐฯ ปัจจุบัน เวียดนามกำลังเจรจากับกลุ่มประเทศประชาคม ยุโรป (European Community : EC) ให้ยอมรับในเครื่องหมาย Phu Quoc และจะมุ่งเจรจากับกลุ่ม ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ญี่ปุ่น และ ออสเตรียเลีย เป็นกลุ่มเป้าหมายต่อไป

เวียดนามส่งออกน้ำปลาไปยังสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับในระยะเวลา ๕ ปี ที่ผ่านมาโดยมีมูลค่าโดยเฉลี่ยประมาณปีละ ๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๕๐ เวียดนามได้ส่งออกน้ำปลาภายใต้เครื่องหมายการค้า Phu Quoc มายังสหรัฐฯ เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้ใช้น้ำปลาเวียดนามของแท้

เวียดนามวางกลยุทธ์การขยายตลาดน้ำปลาในสหรัฐฯ โดยเน้นว่าน้ำปลาเวียดนามเป็น สินค้าได้มาตรฐาน เป็นของแท้มีหลักฐานแหล่งที่มาของสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ซึ่งระบุว่าผลิตและบรรจุขวดจากเกาะ Phu Quoc และผลิตถูกต้องตามระเบียบกระบวนการของกระทรวงประมงเวียดนามที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

http://www.ryt9.com/s/expd/396654


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 17, 19:03
ไปค้นอาหารฟิลิปปินส์มาได้อีก 2 จาน
จานแรกหน้าตาเหมือนไก่อบซีอิ๊ว   เขาเรียกว่า Chicken Bistek


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 17, 19:05
หมูสะเต๊ะฟิลิปปินส์?


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 03 ธ.ค. 17, 21:54

ประเทศนี่มีกระปิ และเครื่องรวมมิตรแช่ในน้ำตาล ที่คล้ายขนมไทยมากที่สุดเช่นกัน





ตบท้ายด้วยฮาโล ฮาโล่ อร่อยจนไม่อยากกลืน
ก้อนม่วงๆ คือ มันม่วงกวนกระทิ รสคล้าย สัมปันนี (ถั่วเขียวซีกกวนเอาเปลือกออก)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ธ.ค. 17, 18:37
น่าทานจังเลยครับ   

ทำให้นึกถึงของหวานที่เคยทานมาอีกอย่างหนึ่งในงานเลี้ยงนานมาแล้ว   ไม่ทราบชื่อของมัน มีลิ้นจี่กระป๋องลอยอยู่ในน้ำเชื่อมใสๆ ไม่หวานนำ ตักเข้าปากไปคำแรกก็รู้เลยว่ามันมิใช่ลิ้นจี่กระป๋องธรรมดา มีน้ำมะพร้าวผสมอยู่ด้วยแน่ๆ อร่อยจริงๆครับ  ผมไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร อุตส่าห์พยายามลองทำดูก็ไม่เป็นผล 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 17, 18:58
อยากจะหาร้านอาหารฟิลิปปินส์ในกรุงเทพเสียแแล้วละค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 17, 19:08
 ;D

https://youtu.be/wQ5nm95ps0Q


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ธ.ค. 17, 19:35
จากที่ผมพอจะได้สัมผัสและมีประสบการณ์มาบ้าง  ผมเห็นว่าฟิลิปินส์มีของหวานที่จัดว่าอร่อยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเกิดมาจากการผสมผสานของรสมือ/รสลิ้นของพ่อครัว/แม่ครัวในยุคต่างๆที่ได้รับและถ่ายทอดกันมาตามหลักนิยมของชาติที่เคยเข้ามาปกครอง  

และอีกประการหนึ่ง ผมก็มีความเห็นว่า ในภาพรวมๆแล้ว อาหารของฟิลิปปินส์โดยทั่วๆไปมีลักษณะออกไปในทางเน้นเครื่องและรสตามธรรมชาติของมัน (เนื้อเป็นเนื้อ ผักเป็นผัก...) ตามแบบฝรั่ง ในลักษณะของ enhancement approach      ต่างกับของไทยเราที่จะเน้นไปในเรื่องของรสที่ได้จากการผสมผสานของเครื่องปรุงทั้งหมดในองค์รวม ในลักษณะของ holistic approach


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 17, 20:40
ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญชมพู
ดูจากคลิป  วิธีทำอาหารน่าจะคล้ายๆไทย  แต่ไม่รู้รสชาติจะเน้นทางไหนนะคะ
เห็นจะต้องไปสำรวจเพชรบุรี 19 เสียแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ธ.ค. 17, 17:57
ผมเคยทานอยู่ไม่กี่ชนิด แต่เคยเข้าไปเดินสำรวจในศูนย์อาหารจานด่วนรอบมื้อเช้า ก็มีลักษณะคล้ายๆกับอาหารประเภทข้าวราดแกงของเรา แต่หน้าตาของอาหารดูไม่ค่อยจะชวนกินเท่าของเรานัก   ได้ลองทานโจ๊กซึ่งดูจะน่ากิน มีปาท่องโก๋ตัดเป็นท่อนๆใส่โรยหน้ามาให้เรียบร้อย ทั้งกลิ่นและรสไม่ได้เป็นดังที่คาดว่าจะใกล้กับของในไทยเลย    เห็นต้มปลาแต่ไม่กล้าซื้อมาลองทาน ดูไม่ออกว่าจะเป็นต้มยำน้ำใสหรือต้มอะไร   น้ำพริกก็เห็นมีวางขายแต่นึกไม่ออก/จำไม่ได้เลยว่าหน้าตาของชุดน้ำพริกเป็นเช่นใด   

เมื่อตกเย็น ก็ได้มีโอกาสนั่งร่วมวงกับเพื่อน นึกว่าจะได้ลองกับแกล้มหลากหลาย แต่ด้วยเวลาจำกัดมาก ก็เลยมีแต่น้ำ ไม่มีเนื้อเอาเลย  ก็เลยไม่ได้ลิ้มรสอาหารในกลุ่มกับแกล้มที่นิยมกันในหมู่คนท้องถิ่นแม้แต่จานเดียว   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ธ.ค. 17, 19:12
พูดถึงกะปิ  ทำให้นึกถึงกุ้งจ่อมแบบฉบับของพื้นที่ปลายแหลมทอง เคยทานที่เมืองมะละกาของมาเลเซีย  เข้าใจว่าในฟิลิปปินส์ก็น่าจะมีเช่นกัน   เป็นกุ้งฝอยหมักกับเกลือ เขาเอามาทำได้ตั้งแต่ซอยหอมแดง บีบมะนาว แล้วทานกับข้าวและผักสด ไปจนกระทั่งใส่ผสมลงไปในไข่เจียว  ซึ่งเท่าที่พอจะรู้ ก็มีการเอาไปทำอาหารอื่นๆอีกมาก

   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 05 ธ.ค. 17, 19:30

อาหารของฟิลิปปินส์โดยทั่วๆไปมีลักษณะออกไปในทางเน้นเครื่องและรสตามธรรมชาติของมัน (เนื้อเป็นเนื้อ ผักเป็นผัก...) ตามแบบฝรั่ง
ในลักษณะของ enhancement approach     ต่างกับของไทยเราที่จะเน้นไปในเรื่องของรสที่ได้จากการผสมผสาน
ของเครื่องปรุงทั้งหมดในองค์รวม ในลักษณะของ holistic approach

อาหารพวกชาวเกาะก็แบบนี้แหละครับ เนื้อเป็นเนื้อ ผักเป็นผัก
แล้วเขาก็เอาผักพื้นบ้านมาผัด ต้ม แกง เมื่อสุกยังคงหน้าตาของผักนั้นๆ
อาหารพื้นเมืองของฟิลิปินส์ ไม่ต่างจากพวกซามัว ปาเลา ไมโครนีเซีย ฟิจิ ตองกา
ที่บริโภคเผือก มัน สาเกเผากินแทนข้าว กระทิ และมะพร้าว อาหารการกิน
ก็เลยต่อยอดไปจากของพื้นบ้าน

ในศูนย์อาหารที่ขายอาหารแบบตัก ข้าว+กับข้าวสองถึงสามอย่าง
อาหารฟิลิปินส์ดูแล้วไม่เตะตา แต่รสชาติใช้ได้ เป็นกับข้าวบ้านๆ เสียเป็นส่วนใหญ่
ที่เชิดหน้าหน่อยก็คือ ลุมเปีย ทั้งแบบทอดและแบบสด  สอบผ่าน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ธ.ค. 17, 20:13
คุณเฮฮายก ลุมเปีย เข้ามาให้อยากชิม แล้วไม่ยักบอกว่ามันคืออะไร
ต้องไปตามหา   ปอเปี๊ยะทอดนี่เอง  รสชาติเหมือนที่เรากินกันในไทยไหมคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 06 ธ.ค. 17, 15:15
ลุมเปียทอดปินส์สู้เวียดนามไม่ได้ครับ แต่ลุมเปียสดของปินส์ สุดยอดดดด
เวลารับแขก อาจารย์ลองนำเมนูนี้ขึ้นโต๊ะ รับรองว่าแขกติดใจ (ภาพเก่าในกระทู้นี้)
อาหารปินส์ เหมาะแก่ผู้ระมัดระวังคลอเรสเตอรอล ไม่เลี่ยน

แล้วเหมือนปอเปี๊ยะในบ้านเราหรือเปล่า เอ่อออ ไม่หนีกันเท่าไรครับ
ต้นตอของปอเปี๊ยะมาจากจีน คนจีนกระจายไปทุกที่ เกิดการผสมผสาน
ปอเปี๊ยะในจีนแถวกวางตุ้ง ก็แตกต่างจากทางปักกิ่ง

ที่เลิศสุดคือ ไส้ญวน แป้งเผ่นเป็นแป้งสาลี (ญวนแท้ใช้แผ่นแป้งข้าวเจ้า)
ไส้ที่ลงตัวและเฟ้นแล้ว คือ หอมใหญ่ซอย กุ้งแห้ง วุ้นเส้น กระหล่ำปลี ถั่วงอก หมูบด
และที่ขาดไม่ได้ เหยาะผงกระหรี่ให้น้อยที่สุด (ใส่มากคนกินจับได้)
ผมไปแอบดูสูตรเชฟมุสลิมมาครับ



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 17, 16:02
ลุมเปียสด   หน้าตาไม่หนีปอเปี๊ยะสด  รสชาติคงไม่ห่างกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ธ.ค. 17, 17:38
ไม่เคยทานปอเปี๊ยะแบบของฟิลิปปินส์ครับ  ไม่ทราบว่าน้ำที่ราดนั้นเป็นเช่นใด และที่เป็นเกล็ดๆคล้ายกระเทียมเจียวที่ราดอยู่ด้วยนั้นคืออะไรครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ธ.ค. 17, 18:49
เปาะเปี้ย ที่คนไทยเรียกเพี้ยนไปเป็นปอเปี๊ยะ คืออาหารชนิดเดียวกับ Lumpia ครับ

薄餅 ออกเสียงจีนกลางว่าเป๋าปิ่ง แต้จิ๋วว่า เปาะเปี้ย แปลว่าแป้งบาง
潤餅 ออกเสียงจีนกลางว่าหรุนปิ่ง แต้จิ๋วว่า หยุ่งเปี้ย แปลว่าแป้งนุ่ม ชื่อ lumpia น่าจะมาจากสำเนียงฮกเกี้ยนที่เรียกว่า หลุ่นเปี้ย

เห็นแล้วทำให้นึกถึง "หรุ่ม" นะครับ เกี่ยวข้องกันหรือไม่?


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ธ.ค. 17, 18:52
อาหารแบบแป้งแผ่นบางๆม้วนนี้ ฝรั่งเรียกโดยรวมๆว่า spring roll  ซึ่งคำนี้ก็ดูจะสื่อถึงเฉพาะแต่แบบแป้งสด  หากเป็นแบบทอดก็จะเติมคำว่า fried เข้าไป  และดูจะยังใช้เรียกขานถึงเฉพาะที่ใช้แผ่นแป้งที่บางและที่ทำบริโภคกันเฉพาะในหมู่ผู้คนที่อยู่ในซีกโลกตะวันออกเท่านั้นอีกด้วย  

ความอร่อยของปอเปี๊ยะที่แตกต่างกันนั้น สามารถสร้างสรรค์ได้ทั้งจากตัวแป้งที่ใช้ห่อ องค์ประกอบที่ใช้ทำเป็นใส้ และตัวน้ำซอสที่ราดหรือน้ำจิ้ม     บ้างก็ใช้แป้งข้าวเจ้า บ้างก็ใช้แป้งสาลี บ้างก็ทำแบบไม่ต้องราดซอส บ้างก็ทำแบบต้องราดซอส บ้างก็ทำแบบต้องจิ้มน้ำจิ้ม บ้างก็ทำแบบมีผักแนม ฯลฯ  

ผมเห็นว่า น่าจะเป็นเมนูอาหารประเภทหนึ่งที่ต้องมีตัวเชื่อม (binder) เพื่อทำหน้าที่สร้างความกลมกลืนระหว่างเครื่องปรุงต่างๆที่เอามาวางรวมๆกันโดยที่ยังไม่มีการคลุกเคล้าปรุงแต่ง   อาหารไทยที่แสนอร่อยหลายชนิดที่มีลักษณะเช่นนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ธ.ค. 17, 19:22
ตัวผมจะออกเสียงว่า เปาะเปี๊ยะ  แต่เห็นเขียนกันว่า ปอเปี๊ยะ ก็เลยตามกันไป

เปาะเปี๊ยะสดในบ้านเรา แต่ก่อนนั้นหาซื้อทานได้จากหาบเร่  เห็นอาแปะหาบตู้กระจกทรงสี่เหลี่ยมจัตรัสมา ก็เขานั่นแหละ และก็ดูจะมีหาบขายกันเฉพาะในย่านการค้าสำคัญของชุมชนที่มีชาวจีนอยู่มาก  สำหรับในต่างจังหวัดนั้น คงจะมีอยู่น้อยจังหวัดมากที่จะได้สัมผัสกับเปาะเปี๊ยะ ก็จึงไม่ค่อยจะแปลกนักที่ไม่ค่อยจะเห็นมีขายกันอยู่ในพื้นที่ๆมิใช่แหล่งหรือศูนย์การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าแม้กระทั่งในปัจจุบัน

เจ้าหนึ่งในย่านคลองถม ก็ยังใช้วิธีการวาง(เสมือน)หาบเร่อยู่บนถนนที่ปิดในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ มีแต่เก้าอี้วางในนั่งทาน ไม่มีโต๊ะ น้ำที่ราดมาบนเปาะเปี๊ยะนั้นจะมีขาหมูพะโล้แบบหนังกับกระดูกอยู่ด้วยสองสามชิ้นเล็ก    ทานด้วยตะเกียบ คีบใส่ปากทีละอย่าง แนมด้วยพริกดอง และต้นหอมสด หากเราได้พกเอามัสตาด(ซอง)ไปเหยาะด้วย ก็คงไม่ต้องบรรยายถึงความอร่อยใดๆอีก 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 06 ธ.ค. 17, 19:27
ลุมเปียสด   หน้าตาไม่หนีปอเปี๊ยะสด

หน้าตาคล้าย แต่รสชาติผิดกันมาก

ลุมเปียสด และแบบทอด ก็คนละเรื่องเลยครับ
แบบสดไส้เป็นผัดผัก เช่น กระหล่ำดอก บลอค แครอท หั่นฝอย ไปผัดกับเนยและกระเทียม
ราดด้วยฮั่นนี่ หรือเมเปิลไซรัปที่ราดแพนเค้ก หรือบัตเตอร์ไซรัป


ตู้นึ่งซาลาเปาไฟฟ้าราคาเหยียบหมื่น
ภูมิปัญญาชาวบ้านก็ทำตู้โชว์และตู้นึ่งเคลื่อนที่ได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ธ.ค. 17, 19:32
อาหารชนิดเดียวกัน หรือชื่อเดียวกัน แต่ละชาติก็ประยุกต์กันไปตามวัตถุดิบและรสชาติของตัวเองครับ ผมเลยชักจะสงสัยว่าหรุ่มมีที่มาเปาะเปี้ยหรือหลุ่นเปี้ยด้วยหรือไม่ เพราะอาหารไทยเราเองไม่เคยเห็นแผ่นแป้งแบบนี้ครับ เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะประยุกต์ใช้แผ่นไข่แทน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 17, 21:15
เอารูป หรุ่ม อาหารว่างโบราณมาให้ดูค่ะ
สำเนียงคำว่า หรุ่ม ฟังเหมือนมาจากอินเดียหรือเปอร์เชีย   ดูส่วนผสมแล้วไม่น่าจะเป็นจีน แต่จะว่าเป็นแขกก็ไม่น่ามีเนื้อหมูและกุ้ง  แล้วยังมีรากผักชี กระเทียม พริกไทย ที่เป็นเครื่องปรุงรสชาติแบบไทยเสียอีก
ไส้ทั้งหมดนี้ห่อด้วยไข่ แทนแป้ง

1.   เนื้อหมู (สับรวมกับกุ้ง)   1   ขีด
2.   กุ้ง (ชีแฮ) – ล้าง-แกะเปลือก-เก็บมันไว้-เนื้อสับหยาบๆ   3 ขีด
3.   รากผักชี กระเทียม พริกไทย – โขลกรวม   1-2   ช้อนโต๊ะ
4.   เกลือ น้ำตาล   
5.   ไข่เป็ด   10   ฟอง
6.   ผักชี (เด็ดใบ)   3   ต้น
7.   พริกชี้ฟ้าแดง (หั่นเส้นเล็กๆ)   1   เม็ด

ดิฉันเดาว่าคุณม้าคงโยงคำว่า หรุ่ม เข้ากับ ลุม(เปีย)   แต่ไทยโบราณแยกเสียง ร กับ ล   เป็นคนละเสียงนะคะ   ไม่รวมเป็นเสียงเดียวกันอย่างสมัยนี้     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ธ.ค. 17, 21:48
ดิฉันเดาว่าคุณม้าคงโยงคำว่า หรุ่ม เข้ากับ ลุม(เปีย)   แต่ไทยโบราณแยกเสียง ร กับ ล   เป็นคนละเสียงนะคะ   ไม่รวมเป็นเสียงเดียวกันอย่างสมัยนี้     

เสียง ร กับ ล ในภาษาต่างๆพบเห็นกลายได้ง่ายครับ จีนกลางว่า หรุนปิ่ง ฮกเกี้ยนว่า หลุ่นเปี้ย หรุนกับหลุนคำเดียวกัน (ถึงแม้ว่า ร ในคำว่าหรุน ไม่ได้ออกเสียงเหมือน ร ในภาษาไทยเสียทีเดียว) ในภาษาสันสกฤต โลหิตกับโรหิตก็ความหมายเดียวกันครับ

แต่หรุ่นจะมีที่มาจากหลุ่นเปี้ยหรือไม่ อันนี้ผมไม่ทราบครับ  ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ธ.ค. 17, 18:32
หรุ่ม กับ ล่าเตียง   สองอาหารที่ได้เคยทานมานานมากจนเกือบจะลืมชื่อและรสชาติไปหมดแล้ว  จำไม่ได้เลยว่ารสชาติมีความต่างไปจากไข่ยัดใส้ซึ่งเป็นจานอาหารที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด   

ไข่ยัดใส้ขนาดเล็กที่วางอยู่บนโต๊ะของชุดอาหารแบบ buffet หรือที่มีขายในร้านขายข้าวราดแกงนั้น จะพอเรียกว่า หรุ่ม ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเขาทำมาในขนาดเล็กพอที่จะแบ่งทานได้เป็น 2 คำ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ธ.ค. 17, 19:05
กำลังเข้าสู่เรื่องของอาหารแบบห่อในความหมายของคำว่า roll, fold, wrap  ซึ่งสิ่งที่ใช้ห่อก็มีแผ่นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ที่ทำจากแป้งสาลี ที่ทำจากไข่ และต่อไปก็คงจะว่ากันไปถึงแบบผสมที่เรียกว่า batter mix     

แม้นว่าใส้ของอาหารแบบห่อนี้จะมีเป็นส่วนหลักของความอร่อย แต่ตัวแป้งที่ใช้ห่อนั้นก็มีส่วนที่ส่งให้อาหารจานนั้นๆอร่อยขึ้นไปอีกจนมีความแตกต่างเด่นชัดแตกต่างกันออกมา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ธ.ค. 17, 19:38
ใส้ของเปาะเปี๊ยะสดนั้น นอกจากถั่วงอก แตงกวา และผักกาดหอม ซึ่งมักจะเป็นผักพื้นฐานที่นิยมกันแล้ว ก็จะมีส่วนที่เป็นเนื้อหั่นเป็นเส้นยาวใส่ลงไปด้วย  ความแตกต่างของความอร่อยก็เริ่มจากตรงส่วนที่เป็นเนี้อที่ใส่ลงไปด้วยนี้แหละ   

แต่เก่าก่อนนั้นก็จะใช้ "หมูตั้ง" กัน แต่ด้วยคงจะหายากมากขึ้นหรือแพงมากขึ้นก็ตาม ใส้ในเปาะเปี๊ยะก็เลยเปลี่ยนมาใช้กุนเชียงแทน    รสชาติของความอร่อยซึ่งแต่เดิมส่วนหนึ่งมาจากรสชาติของหมูตั้ง ในปัจจุบันก็เลยไปอยู่ที่กุนเชียงที่ใช้กัน  ด้วยประเด็นนี้ จะกล่าวว่าเปาะเปี๊ยะเจ้าใหน ที่ใด อร่อยกว่ากันก็เลยดูจะยากที่บอกกล่าว   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ธ.ค. 17, 20:16
หมูตั้งน่าจะยังพอหาซื้อได้ในย่านตลาดเก่า เยาวราช จะไม่เห็นมีวางขาย   เท่าที่เคยไปเสาะหา จะเป็นร้านทำขายอยู่ในพื้นที่ของตลาด  ซื้อเป็นกิโล เอามาหั่นทานกับข้าวต้ม จะหั่นหนาหั่นบางหรือชิ้นใหญ่ชิ้นเล็ก ก็สุดแต่จะรู้สึกว่าขนาดใด ลักษณะใดจะเหมาะที่จะให้ความรู้สึกอร่อยอย่างเต็มปาก  หั่นเก็บไว้ในตู้เย็นมันก็เลยกลายเป็นของที่ต้องแอบเล็มกินทั้งวัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ธ.ค. 17, 18:38
หมูตั้ง แต่ก่อนนั้นเป็นกับข้าวที่มีขายอยู่ในร้านขายข้าวต้มรุ่นเก่า ได้เห็นครั้งสุดท้ายก็แถวตลาดปีระกา(ก่อนที่จะถูกรื้อทิ้ง)  ทำให้นึกถึงของอร่อยอีก 2 อย่าง คือ หมูสามชั้นพะโล้แบบแห้ง (รมควัน) และเป็ดพะโล้แบบแห้ง (รมควัน) ที่แขวนห้อยให้เห็นอยู่หน้าร้าน

เมื้อครั้งยังเป็นเด็กอยู่เชียงราย จำได้ว่าเป็ดพะโล้รมควันนี้อร่อยมากๆ น่าจะเป็นของที่ทำขายโดยกลุ่มคนจีนกลุ่มหนึ่งใน อ.แม่จัน ที่คนพื้นที่แถบนั้นเรียกว่าพวกจีนฮ่อหรือพวกกองพล 93 กลุ่มคนพวกนี้จะมีรูปของซุนยัดเซนแขวนอยู่ในบ้าน 

ในปัจจุบัน เป็ดพะโล้รมควันที่น่าจะหาซื้อได้ยาก ดูจะกลับกลายเป็นว่าหาซื้อได้ง่ายกว่าหมูสามชั้นพะโล้รมควันเสียอีก  ก็หาซื้อได้ในย่านเจริญกรุง/เยาวราช แต่เรียกชื่อกันว่า เป็ดรมควันชานอ้อย ซึ่งส่วนมากจะขายเป็นชิ้นๆเฉพาะส่วนอก ที่ทำขายกันเป็นตัวๆแบบจัดแผ่เป็นทรงกลมแบบโบราณนั้นหาได้ค่อนข้างยาก

(เรื่องเหล่านี้ ได้เคยเขียนไว้บ้างในกระทู้หนึ่งแล้วครับ)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ธ.ค. 17, 18:54
ความอร่อยของหมูตั้งนั้นอยู่ในเนื้อของตัวมันเอง  แต่หากอยากจะจิ้มก็ควรจะเป็นซีอิ๊วขาวหรือจิ๊กโฉ่ว  หมูพะโล้รมควันก็เช่นกัน    แต่เป็ดนั้นมักจะได้รับการแนะนำให้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆแล้วเอาไปนึ่ง ความเข้มข้นของรสในเนื้อก็จะจางลงไป ก็คงจะทำให้นึกถึงน้ำจิ้มประเภทน้ำส้มหรือรสเปรี้ยวเค็มหวาน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 17, 19:18
หมูตั้ง (ภาพโดยคุณเพ็ญชมพู ในกระทู้เก่า)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ธ.ค. 17, 07:03
หมูตั้ง (ภาพโดยคุณเพ็ญชมพู ในกระทู้เก่า)

ใน กระทู้เก่า (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4290.msg80605#msg80605) ภาพต้นฉบับโดยคุณลาดพร้าวซอยสิบสอง บรรยายว่า "หมูตั้งอร่อยมากๆๆๆๆ จากบางลำภูค่ะ"

http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=545836


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 09 ธ.ค. 17, 18:20
ไม่เคยลองหมูตั้ง ฟังดูมีกลิ่นผงพะโล้
อยากทราบว่า โดยรวมรสแตกต่างจากกุนเชียงไหมครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ธ.ค. 17, 18:39
ยังติดใจสงสัยอยู่ว่า มีการนำหมูตั้งไปทำอาหารจานอื่นๆนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วบ้างใหมครับ ??  

หมูตั้งกับกุนเชียงน่าจะพอใช้สลับสับกันได้หรือใส่ปนกันได้ในการทำอาหารบางจาน (เมื่อมีเหลือเก็บอยู่)  

นึกถึงจานหนึ่งที่เคยทำทานที่น่าจะพอใช้หมูตั้งแทน(หากไม่คำนึงถึงราคา)หรือใช้ร่วมกับกุนเชียง(หากมีเศษของหมูตั้ง)   เครื่องปรุงก็มีเต้าหู้ขาวแบบแข็ง เห็ดหูหนูขาว กุนเชียง หมู หอมใหญ่ หอมสด    เทน้ำมันลงในกระทะ ทอดกุนเชียงที่หั่นเป็นแว่นๆให้พอสุกใกล้จะเริ่มเกรียม กันไว้ข้างกระทะ ใส่เต้าหู้ขาว(ที่หั่นเป็นชิ้นๆคล้ายกุนเชียงลงไป)ผัดพอผิวเริ่มจะดูแห้ง ใส่หอมใหญ่ ใส่เห็ดหูหนูขาวลงไปผัดรวมกัน ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว เมื่อเห็นว่าได้ที่แล้วก็ใส่ต้นหอมที่หั่นเป็นท่อนๆลงไป ผัดคลุกไปมาให้ทั่ว ตักใส่จาน เท่านั้นเองก็ได้ความอร่อยจากเศษของเหลือที่มีอยู่ติดก้นครัว

จานนี้จะมีชื่อเรียกว่าอะไรก็ไม่รู้ครับ หรือจะไปเหมือนกับที่คนอื่นเขาทำกันก็ไม่รู้อีกเช่นกันครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ธ.ค. 17, 19:07
หมูตั้ง กับ กุนเชียง   ในเชิงของรสไม่มีความต่างกันมากนัก แต่ในเชิงของสัมผัสอื่นๆนั้นมีความแตกต่างกันมากโขอยู่  โดยหลักๆของความต่างก็คือ กุนเชียงใช้เนื้อหมูกับมันหมูผสมกัน หมูตั้งใช้เนื้อและมันของส่วนที่เป็นหัวหมู  ในส่วนที่เหมือนกันโดยหลักๆก็คือใช้เครื่องเทศพื้นฐานของการทำพะโล้ (อบเชยและโปยกั้ก)   หมูตั้งใช้นำหนักกดทับเพื่อใล่ความชื้นและบีบอัดให้แน่น กุนเชียงใช้วิธีการแขวนตากเพื่อไล่ความชื้นและหดตัวแน่น

ไม่เคยทำเองทั้งสองอย่างหรอกนะครับ ประมวลมาจากการพูดคุยสอบถามจากคนที่เขาทำขายครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 17, 19:26
ลุมเปียสด และแบบทอด ก็คนละเรื่องเลยครับ
แบบสดไส้เป็นผัดผัก เช่น กระหล่ำดอก บลอค แครอท หั่นฝอย ไปผัดกับเนยและกระเทียม
ราดด้วยฮั่นนี่ หรือเมเปิลไซรัปที่ราดแพนเค้ก หรือบัตเตอร์ไซรัป

หลังจากตามคุณตั้งไปกินหมูตั้งจนอิ่มแล้ว   กลับมาชิมลุมเปียของคุณเฮฮา
อ่านแล้ว คล้ายๆแพนเค้กที่เติมไส้ผักผัดเนยและกระเทียม  (น่าจะออกมามันๆเค็มๆ)   แล้วราดด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมไซรัป
รสชาติออกมาเข้ากันไหมหนอ   แป้งไส้ผักผัดเนยมีกลิ่นกระเทียม แล้วราดน้ำเชื่อม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 17, 18:47
หมูตั้ง แต่ก่อนนั้นเป็นกับข้าวที่มีขายอยู่ในร้านขายข้าวต้มรุ่นเก่า ได้เห็นครั้งสุดท้ายก็แถวตลาดปีระกา(ก่อนที่จะถูกรื้อทิ้ง)  ทำให้นึกถึงของอร่อยอีก 2 อย่าง คือ หมูสามชั้นพะโล้แบบแห้ง (รมควัน) และเป็ดพะโล้แบบแห้ง (รมควัน) ที่แขวนห้อยให้เห็นอยู่หน้าร้าน  

ข้างล่างนี้คือหมูสามชั้นพะโล้ผัดแห้งค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 17, 20:18
ไม่แน่ใจว่าได้เคยทานอาหารจานนี้หรือไม่ครับ   

อาหารในกลุ่มพะโล้แห้งนี้  เท่าที่เคยเห็นมาจะปรากฎอยู่ในร้านที่เราเรียกกันว่าร้านข้าวต้มพุ้ย ? หรือข้าวตัมกุ๊ย ?  ซึ่งร้านเหล่านี้จะมักเปิดขายในช่วงเวลาเย็นไปจนดึก  มีน้อยร้านมากที่จะเปิดในช่วงเวลาเช้าและกลางวัน 

ผู้คนที่เข้าร้านอาหารในลักษณะนี้ในช่วงเวลากลางวัน มักจะเป็นกลุ่มคนจีนสูงวัยและคนขับรถรับจ้าง แต่หากเป็นในช่วงเวลาเย็นและดึก ก็มักจะเป็นคนหนุ่มสาวที่มานั่งแสวงหาความสุขกับกับแกล้มและเมรัยในช่วงเวลาพลบค่ำ หรือคนที่กำลังจะกลับที่พักหลังจากไปงานทางสังคม คือเป็นอาหารรอบดึก (supper)   ซึ่งอาหารพวกนี้จะทำขึ้นมา ปรุงขึ้นมา หรือจัดขึ้นในลักษณะกึ่งๆระหว่างการเป็นกับข้าวในสำรับอาหาร หรือเป็นกับแกล้มในวงเมรัยก็ได้  มีอยู่ไม่มากที่จะขึ้นเป็นเมนูอาหารในเหลาหรือภัตตาคาร

ผมเห็นว่า ด้วยสภาพดังกล่าวนี้ จึงมีอาหารจานอร่อยๆอีกเป็นจำนวนมากที่เป็นที่รู้จักกันแต่ในเฉพาะกลุ่มคน    เราท่านทั้งหลายก็คงจะต้องมีของโปรด จานโปรด หรือร้านโปรดเช่นกัน  น่าจะพอบรรยายได้บ้างว่าอะไรคือของเด็ดที่อยู่ในจานนั้นๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 17, 21:10
ต้องส่งลูกต่อให้ท่านอื่นๆที่เป็นนักชิม  หน้าใหม่อย่างคุณเฮฮา และคุณพระนาย
หน้าเก่าก็ท่านทั้งหลายในเรือนไทยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ธ.ค. 17, 12:12
อาหารพะโล้แห้งจานบน เป็นอาหารเบสิคยอดนิยมในหมู่จีนแคะและแต้จิ๋วบนแผ่นดินจีน
ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาหารได้อีกหลายจาน


ผมเพิ่งกลับจากมณฑลฟูเจี้ยนได้ไม่นาน แถบนี้เป็นย่านคนฮกเกี้ยนและจีนแคะ
จากเซียะเหมิน ผมนั่งรถไฟด่วนไปราว 1 ขั่วโมง เพื่อไปดูสถาปัตยกรรมงานไม้ของคนฮากกา
เรียกว่า Tulou

ศิลปะการเข้าไม้เช่น วงกบ เริ่มจากคนจีนนำเข้ามาเผยแพร่ในไทย
Tulou เป็นโครงสร้างไม้ ตัวคานใช้ไม้สนทั้งต้น ไม่ใช้ตะปูสักตัว แต่ใช้สลักหรือลิ่มยึดไม้
ผมพักค้างคินที่โรงเตี๊ยมบนทูโหลว และฝากปากท้องไว้ที่ร้านอาหารจีนแคะ

ทูโหลวหลังหนึ่งก็คล้ายอพาร์ตเมนต์ 1 ตึก ประกอบด้วยหลายสิบยูนิต
ชั้นบนไม่มีห้องน้ำ ทุกคนลงมาใช้ห้องน้ำรวม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ธ.ค. 17, 12:33
ก่อนถึงทูโหลว ผมผ่านสวนไผ่ที่คนแต้จิ๋วเอามาทำ เหม่งซุ่น ตอนตรุษสารท
เป็นไผ่ขึ้นตรงๆ ไม่ได้ขึ้นเป็นกอ
จากนั้นผ่านไร่กล้วยหอม และสุดสาย

ขณะลงรถ โชเฟอร์ชวนให้เหมารถ อาซิ้มแก่ๆ แบกกล้วยหอมมาขาย 1 หวี 30 บาท
เป็นกล้วยหอมยักษ์ หวีหนึ่งกิน 3 วันไม่หมด
คนรถก็จะขายโปรแกรมทัวร์ แม่ค้าก็จะขายกล้วย
เป็นเมืองไทยโชเฟอร์กับแม่ค้ากล้วยคงตีกันตาย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 17, 13:07
Toulou นึกถึงโครงสร้างเรือนไทย ที่ไม่ใช่ตะปู   ใช้ลิ่มเหมือนกัน    ถึงสร้างและรื้อถอดออกเป็นส่วนๆ  เอาไปถวายวัดได้ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ธ.ค. 17, 14:26
ไปถึง ชาวบ้านสาละวนกับการตากผักแห้งๆ เค็ม เก็บไว้กินได้นาน
เอาผักกาดเขียวปลี หรือชุนฉ่าย (คล้ายกวางตุ้ง รสขม) ลวกน้ำ เคล้าเกลือ แล้วตากกับลานบ้าน
พอแห้งใส่ถุงไว้ไดนาน พอจะรับทาน ก็เอามาแช่น้ำ แล้วต้มกับกระดูกหมู หรือตุ๋นใน slow cooker

อาหารจานนี้พอขึ้นเหลา ต้องปฎิวัติหน้าตาเสียใหม่ พะโล้แห้งถึงเข้ามาเกี่ยวข้อง
เอาหมูสามชั้นหนาๆ ไปต้มกึ่งสุกกึ่งดิบ ทาผงพะโล้และเกลือและผึ่งให้หนังแห้ง
นำไปทอดแค่ครึ่งทาง แล้วเอาไปต้มเป็นพะโล้ ไม่ต้องเปื่อย
ตักผักที่เปื่อยวางล่าง โปะด้วยหมูสามชั้นหั่นบางๆ จะออกกลิ่นพะโล้

http://thewoksoflife.com/2015/01/mei-cai-kou-rou-pork-belly/


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 17, 16:54
เอามาเสิฟอีกจานค่ะ  หมูน้อยหน่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 17, 18:04
ไปถึง ชาวบ้านสาละวนกับการตากผักแห้งๆ เค็ม เก็บไว้กินได้นาน
เอาผักกาดเขียวปลี หรือชุนฉ่าย (คล้ายกวางตุ้ง รสขม) ลวกน้ำ เคล้าเกลือ แล้วตากกับลานบ้าน
พอแห้งใส่ถุงไว้ไดนาน พอจะรับทาน ก็เอามาแช่น้ำ แล้วต้มกับกระดูกหมู หรือตุ๋นใน slow cooker

อาหารจานนี้พอขึ้นเหลา ต้องปฎิวัติหน้าตาเสียใหม่ พะโล้แห้งถึงเข้ามาเกี่ยวข้อง
เอาหมูสามชั้นหนาๆ ไปต้มกึ่งสุกกึ่งดิบ ทาผงพะโล้และเกลือและผึ่งให้หนังแห้ง
นำไปทอดแค่ครึ่งทาง แล้วเอาไปต้มเป็นพะโล้ ไม่ต้องเปื่อย
ตักผักที่เปื่อยวางล่าง โปะด้วยหมูสามชั้นหั่นบางๆ จะออกกลิ่นพะโล้

http://thewoksoflife.com/2015/01/mei-cai-kou-rou-pork-belly/

ผักกาดเขียวปลีมัดแห้งๆนี้ เอาไปต้มร่วมกับขาหมูพะโล้ แล้วแยกสับจัดเป็นผักเคียงไว้ในจานขาหมูก็เข้ากันได้ดี และรู้สึกว่าจะอร่อยมากกว่าผักกาดดองที่มีขายกันทั่วไปในตลาดสดอีกด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ธ.ค. 17, 18:30
แต้จิ๋วออกเสียงว่า "ช่ายกั๊ว"
จีนกลางออกเสียงว่า "ช่ายกัง" ช่าย แปลว่าผัก

คนขับรถบัสจีนในเขตอุทยานมาแง้มถุงพลาสติกสีขุ่นดู แล้วทำหน้าฉงนว่าซื้ออะไรไม่ซื้อ
แถวนั้นทำผักแบบนี้เก็บไว้กินเองทุกบ้าน
ผมเห็นความมานะของชาวบ้าน ตั้งแต่เต๊าะผัก ล้าง และไปเก็บฟืนที่แสนหายากมาลวกผัก
นึกถึงบ้านเรา ผมเผาฟืนทิ้งทุกวัน คนงานถางพง เราเก็บไม้ไว้ใช้ ฟืนแยะไป
เอาเข้าจริงๆ เปิดเตาแก๊สสะดวกกว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 17, 18:30
จานที่เอาผักนี้วางรองหมูสามชั้นที่หั่นเป็นชิ้นบางนั้น จะมีชื่อเรียกว่าอะไรก็มิทราบ   รู้แต่ว่าอร่อยอยู่ไม่เบา เป็นอาหารที่ขึ้นเหลามานานแล้วแต่กลับหาทานไม่ได้ง่ายนัก แต่ก่อนนั้น ยังพอหาทานได้นอกย่านเยาวราช-เจริญกรุง มีอยู่ร้านหนึ่งอยู่ในย่านตลาดประแจจีน (ตลาดโคลิเซียม หรือตลาดยมราช) อร่อยใช้ได้แถมราคาก็ยังย่อมเยาอีกด้วย   ส่วนในต่างจังหวัดนั้น ในเชียงใหม่และเชียงรายมีแน่ๆ แต่ในจังหวัดอื่นๆนั้นไม่ทราบครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ธ.ค. 17, 18:40
รูปใน คห 388

ถ้าไม่ต้มก่อนแล้วตามด้วยทอด หนังหมูจะเรียบๆ ไม่หยุ่นๆ เหมือนฟองน้ำ ไม่อร่อย

ผักนี้หากินยาก แหล่งที่มีคนจีนเยอะน่าจะมีขาย เช่น นครสวรรค์ และนครปฐม



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ธ.ค. 17, 18:54
จานนี้มีชื่อว่า​ เคาหยก​ เป็นเสียงกวางตุ้ง​ ถ้าจีนกลางจะว่า โข่วโร่ว​ 扣肉 หรือบางทีจะเรียกเต็มยศว่า​ เหมยไช่โข่วโร่ว​ 梅菜扣肉

เหมยไช่ก็คือผักที่รองใต้เนื้อหมูมานี่แหละครับ​ เป็นผักดองแห้ง​ ที่คุณ​ heha​ เรียกว่าช่ายกัวนี่แหละครครับ​ แต่ช่ายกัวเป็นชื่อกว้างๆ แบ่งย่อยได้หลายชนิด​ นัยว่าเหมยไช่เป็นผักดองแบบชาวอำเภอเหมย(เหมยเซี่ยยน)​ที่เป็นศูนย์กลางของชาวจีนแคะในมณฑลกวางตุ้งครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ธ.ค. 17, 18:58
เหมยไช่นี่​แต้จิ๋วออกเสียงว่าบ่วยไฉ่ หาซื้อไม่ง่ายจริงๆ​ ต้องไปหาที่เยาวราชครับ​ ร้านอาหารจีน(ชื่อดัง)​บางร้านลักไก่ใช้ผักดองชนิดอื่นแทน​ คนที่รู้จักเคาหยกรับทานเข้าไปบ่นอุบครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 17, 19:08
นึกขึ้นได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้ (6-7 ปีมาแล้ว)  มีพ่อค้าทำหมูสามชั้นพะโล้หั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆประมาณฝ่ามือ ใส่กะละมังวางขายในร้านแผงลอยในพื้นที่บริเวณปลายถนนสู่ท่าเรือวังหลัง (ศิริราช)  ยังเคยซื้อมาและจินตนาการว่าจะนำมาหั่นเป็นชิ้นบางวางบนผักดังภาพ แต่ส่วนประกอบด้านผักไม่ครบ ก็เลยหั่นเป็นชิ้นเล็กดังภาพใน คห.ของ อ.เทาชมพู  

ก็อร่อยนะครับ เพราะเขาใช้หมูสามชั้นแบบไทยเรา ชั้นมันไม่หนามากเหมือนกับที่ร้านอาหารจีนเขาใช้กัน  มีความเปื่อยนุ่มทรงรูป ไม่นิ่มย้วยดังของจีน  จะว่าไปแล้วมันก็คือต้มแบบขาหมู เพียงแต่ใช้หมูสามชั้นทั้งแผงและไม่เคี่ยวจนเละดังขาหมู

ร้านนี้จะออกมาขายในช่วงบ่าย แต่ในปัจจุบันนี้ผมไม่เห็นแล้ว ก็ไม่ทราบว่าเลิกทำขายหรือผมไปผิดเวลา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 17, 19:30
จานนี้มีชื่อว่า​ เคาหยก​ เป็นเสียงกวางตุ้ง​ ถ้าจีนกลางจะว่า โข่วโร่ว​ 扣肉 หรือบางทีจะเรียกเต็มยศว่า​ เหมยไช่โข่วโร่ว​ 梅菜扣肉

เหมยไช่ก็คือผักที่รองใต้เนื้อหมูมานี่แหละครับ​ เป็นผักดองแห้ง​ ที่คุณ​ heha​ เรียกว่าช่ายกัวนี่แหละครครับ​ แต่ช่ายกัวเป็นชื่อกว้างๆ แบ่งย่อยได้หลายชนิด​ นัยว่าเหมยไช่เป็นผักดองแบบชาวอำเภอเหมย(เหมยเซี่ยยน)​ที่เป็นศูนย์กลางของชาวจีนแคะในมณฑลกวางตุ้งครับ

เอาภาษาจีนที่คุณม้าให้มา ไปถามซินแสกู๊ก   ได้ภาพออกมาเยอะเลยค่ะ
ภาพนี้มีผักชีโรยหน้าด้วย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ธ.ค. 17, 19:40
.อ้วนแน่งานนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ธ.ค. 17, 09:46
หมูชิงข้า ฮ่าๆๆ เรียกกันเอง
สามชั้นสไลด์บางแนมด้วยแตงกวา จิ้มน้ำพริกเผาเซี่ยงไฮ้
ว่าไปแล้ว จีนมีน้ำพริกเผาทุกที่ แต่ละที่มักใส่เครื่องเทศที่ชอบ ของที่ไหนก็ทนได้
แต่ของเสฉวนเหลือทน ฉุนกึ๊ก ชาลิ้น

ลองสูตรนี้ครับ
พริกแดงใหญ่หั่นแค่ข้อนี้ว กระเทียม หอมแดงหั่นเล็ก ตะไคร้หั่นฝอย ข่าน้อยๆ
ลงไปกึ่งทอดกึ่งคั่ว น้ำมันน้อย ห้ามขาดรากผักชี เดี๋ยวกลายเป็นพริกเผาไทย
โขลกรวมกัน แล้วไฟอ่อน ผัดกับน้ำมัน
ต้นตำรับหวานน้อย ไม่เปรี้ยว เค็มนำ

ปล เติมกุ้งแห้งตอนโขลก หรือปลาป่นก็ได้ครับ วิเศษ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 17, 10:15
 ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 17, 11:54
มีน้ำพริกเผาแบบจีนอีกสูตรหนึ่งค่ะ  ไม่ทราบคุณเฮฮาเคยลองทำหรือยัง

http://9leang.com/2011/05/22/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99/

ส่วนประกอบ
1. พริกป่น
2. อบเชยป่น
3. โป๊ยกั๊กป่น
4. ลูกผักชีป่น
5. พริกไทยดำป่น
6. มะแข่วนป่น(หรือซวงเจีย หรือพริกหอม)
7. เกลือป่น
8. กระเทียมเจียวในน้ำมัน

วิธีทำ
น้ำส่วนประกอบที่เป็นเครื่องเทศไปเข้าไมโครเวฟไฟอ่อนๆ ให้เครื่องเทศส่งกลิ่นหอมก่อน จากนั้น นำกระทะตั้งไฟ พอร้อนใส่น้ำมันพืชลงไป  พอน้ำมันพืชร้อนตักออก เทลงผสมกับ ส่วนประกอบที่เป็น เครื่องเทศ ข้างบนทั้งหมด แล้วเติมน้ำมันกระเที่ยมเจียวตามลงไป จากนั้น ให้คนผสมให้เข้ากัน แล้วบรรจุขวดไว้ใช้ต่อไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ธ.ค. 17, 12:11
มะแข่วนป่น หรือซวงเจีย หรือพริกหอม


นี่แหละครับ ศัตรูตัวร้ายของผม ที่ทำให้ผมทนอาหารเสฉวนไม่ได้
กินแล้วชาไปทั้งปาก ผัดผักยังอุตส่าห์ใส่เครื่องเทศฉุนๆ

อาหารจีนที่โอชารสสำหรับคนไทยคือ ทางกวางตุ้ง ฟูเจี้ยน
ผมเคยทะลุซาปา เวียดนาม ขึ้นไปทางคุนหมิง ต้าหลี่ ลี่เจียง และแฃงกรีล่า
แถวแชงกรีล่า ชาวทิเบตมาตั้งบ้านอยู่เยอะ กับข้าวทานแทบไม่ได้
ผัดผักเค็มปี่ อาหารทุกจานใส่ซวงเจียว

สะโหลสะเหล ตอนเช้าขอข้าวต้มเปล่า กินกับไข่ต้ม เหยาะแมกกี้ เท่านี้ครับ


ชื่อไทยมะแข่วน ชวนให้นึกถึงลาบทางเหนือ ใส่มะแขว่น
ผมไม่ชาลิ้น แต่ขมขื่นๆ ทานไม่ได้ครับ





กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 17, 12:21
พูดถึงอาหารเหนือ ต้องถามชาวเหนืออย่างคุณตั้ง ว่ามีทางไหนจะช่วยคุณเฮฮาได้บ้างนะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 17, 13:17
หน้าตามะแขว่น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 17, 13:18
แต่ถ้าอยู่ในครัว หน้าตาเป็นแบบนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 15 ธ.ค. 17, 13:57
ว้าว ผมอยากลองกินหมูชิงช้าครับ น่าจะอร่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 17, 18:32
อาหารตามภาพใน คห.399 นั้น โดยรวมๆก็คือหมูสามชั้นที่นำมาลวกหรือต้มในน้ำเดือด เมื่อจะทานก็เอามาจิ้มน้ำจิ้ม  ดูไม่น่าจะมีความอร่อยที่แตกต่างกันไปได้เลย แต่มันก็มีความแตกต่างที่ทำให้รู้สึกได้ในทันทีที่ตักเข้าปาก   แน่นอนว่าความแตกต่างนั้นจะต้องไปเกี่ยวข้องกับหมูและน้ำจิ้มที่จะต้องเข้ากันได้อย่างดี

ในส่วนที่เกี่ยวกับหมูสามชั้นก็คือ ปริมาณชั้นไขมันและเนื้อที่แทรกอยู่ระหว่างกัน  ความหนาบางของการหั่นหมูสามชั้น และก็มีไม่น้อยที่ไปเกี่ยวข้องกับพันธุ์ของหมูที่นำมาชำแหละ

ในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำจิ้มนั้น ก็มีตั้งแต่การใช้ซอสแต่เพียงอย่างเดียว(ไม่ปรุงรส) เช่น น้ำปลา เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว... กระนั้นก็ยังต้องมีการเลือกยี่ห้อหรือผู้ผลิตซอสเหล่านั้นอีกด้วย  แล้วก็มีน้ำจิ้มแบบผสมซึ่งแตกต่างกันไปตามถิ่นและรสนิยม

สุดท้ายก็จะเป็นการลวกหรือต้ม ในน้ำเปล่า ? ในน้ำใส่เกลือ ? ในน้ำใส่สมุนไพร.....   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ธ.ค. 17, 18:49
มะแขว่นกับชวงเจียเป็นคนละอย่างกันครับ รสเพี้ยนขนาด ใช้แทนกันไม่ได้

มะแขว่น ชื่อวิทยาศาสตร์: Zanthozylum limonella Alston

ชวงเจีย 川椒 เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว เขียนให้ใกล้เคียงกับเสียงจริงอีกนิดจะเป็น ชวงจฺยอ จีนกลางว่าชวนเจียว แปลตามตัวอักษรคือพริกเสฉวน แต่คนจีนแผ่นดินใหญ่มักเรียกว่าฮฺวาเจียว 花椒 มากกว่าครับ เป็นพืชวงศ์ Zanthozylum เหมือนมะแขว่น แต่ wiki ว่ามีอย่างน้อย 2 พันธุ์ที่ใช้ชื่อนี้คือ Zanthozylum simulans และ Zanthozylum bungeanum ครับ

แต่ผมไม่ทราบแน่ว่าทำไมชวงจยอที่ใส่ในกุ้งอบวุ้นเส้นถึงได้รสชาติไม่รุนแรงชาลิ้นเท่าที่ใส่ในซุปของเสฉวนนะครับ อาจจะเป็นคนละพันธุ์หรือเพราะของเราเป็นของแห้งของเขาของสดหรือเปล่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 17, 18:49
เป็นเมนูที่ทำง่ายๆ แต่จะให้ได้ความอร่อยนั้นอาจจะไม่ง่ายนัก   อย่างน้อยที่สุดก็หนังหมูก็จะต้องไม่เหนียวดั่งหนังสะติ๊ก  น้ำจิ้มก็จะต้องมีส่วนผสมและรสชาติที่พอเหมาะที่จะไปกลบความเลี่ยนจากมันหมู   ดูจะเป็นเรื่องที่มีศาสตร์และศิลป์อยู่ไม่น้อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 17, 19:35
เท่าที่พอจะรู้จักเครื่องเทศ  ซวงเจียน่าจะตรงกับที่เราเรียกว่าพริกหอม  ส่วนมะแขว่นนั้นเป็นอีกอย่างหนี่ง   ผมคิดว่าด้วยลักษณะทางกายภาพที่คล้ายกันมากๆ และด้วยที่คนในภาคกลางรู้จักพริกหอมมากกว่ามะแขว่น ก็จึงเอามารวมเป็นเป็นของชนิดเดียวกัน

ความแตกต่างที่สามารถจะจำแนกได้ด้วยตาแต่แรกเลยก็คือ มะแขว่นจะมีเมล็ดสีดำมันและจะหล่นปะปนอยู่กับเปลือกเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ต่างกับพริกหอมที่จะเห็นส่วนที่เป็นเปลือกมากกว่าเมล็ด

อาหารของคนไทยในภาคเหนือแบบพื้นเดิมนั้น มะแข่วนจะใช้ในลักษณะของการชูกลิ่น(แบบนุ่มนวล)มากกว่าใช้ในการชูรส จึงมีการคั่วการบุบให้ได้กลิ่นออกมา และใช้ในปริมาณน้อยมาก   แต่ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ในยุคนี้ ความเข้าใจในปรัชญาของการทำอาหารอร่อยนั้นหมายถึงจะต้องถึงเครื่อง ซึ่งตีความต่อไปได้ว่าต้องมีแต่ละอย่างมากๆเพื่อให้รู้สึกว่ามีความเข้มข้น   ขาดความเข้าใจในเรื่องของ harmony ดังเช่นที่วงดนตรี symphony orchestra ได้บรรเลงเพลงออกมา       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 15 ธ.ค. 17, 19:49
ชอบน้ำพริกเผาครับแต่ไม่ชอบแบบเผ็ด ๆ นี่ก็ยังข้องใจอยู่เลยว่าทำไมน้ำพริกหนุ่มถึงได้เผ็ดร้อนแรงจนสู้ไม่ไหว ก็เลยได้กินแต่แคปหมู  :'(


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ธ.ค. 17, 20:05
นี่ก็ยังข้องใจอยู่เลยว่าทำไมน้ำพริกหนุ่มถึงได้เผ็ดร้อนแรงจนสู้ไม่ไหว ก็เลยได้กินแต่แคปหมู  :'(

คุณบอยเอาสูตรน้ำพริกหนุ่มนี้ไป แล้วทุกอย่างจะดูง่ายดายและดังใจ

เผาพริกหยวก หอม กระเทียม หรือเอาไปคั่วน้ำมันก็ได้
ลอกเปลือกไหม้ไฟออก โขลกให้แหลก ปรุงรสตามใจ
ใส่กระปิไปนิดนึงก็ได้ครับ

วันหลังจะชวนทำ บ-ลา-โด น้ำพริกหนุ่มของปาดังครับ เมนูนี้รับแขกได้สบาย
น้ำพริกหนุ่มไทยหลีกทางให้หลายลี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ธ.ค. 17, 20:30
เมื่อสิบกว่าปีก่อน เวียดนามเพิ่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว
ที่ด่านลาวบาวเลยสะหวันนะเขตไป เราลงไปแสตมป์พาสปอร์ต

ไกด์ปลีกตัวไปที่หาบแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวปากหม้อที่ทำมาจากบ้าน ทาน้ำมันซ้อนกันไม่ให้ติดกัน
ตัดให้ลูกค้า 2 แผ่น หยิบผัก 1 ขยุ้ม (ผักหลายอย่างปนกัน เช่น ผักกาดหอม สระแหน่)
หั่นหมูสามชั้น (หน้าตาเหมือนหมูชิงช้า) ให้ 4-5 ชิ้น แล้วราดด้วยน้ำจิ้มใสๆ รสอ่อนๆ เค็มๆ หวานๆ

ผมทักไกด์ว่าทัวร์กำลังไปกินข้าวเที่ยง จะตัดกำลังตัวเองเหรอ
เธอตอบว่าอาหารในเหลาไม่อร่อย สู้บ้านๆ ไม่ได้

เหมือนรูปนี้ แต้ใช้หมูชิงช้าแทนหมูยอตรงกลาง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 17, 12:09
ถามเชฟกู๊กถึงก๋วยเตี๋ยวปากหม้อของลาว    เชฟตอบมาว่าในไทยก็มีอยู่หลายร้าน หลายจังหวัด    เลยไปได้เมนูมาแห่งหนึ่งจากฉะเชิงเทรา บอกว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวโบราณ
ดูจากวิธีทำเหมือนก๋วยเตี๋ยวน้ำใส่ข้าวเกรียบปากหม้อลงไปแทนแผ่นก๋วยเตี๋ยวธรรมดา
https://cooking.kapook.com/view85953.html


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 16 ธ.ค. 17, 13:33
เท่าที่กินอาหารเวียดในไทย ร้านนี้คุ้มสุด
แต่ก่อนจานละ 40 บาท ไปสองคนจ่าย 200 บาท คลานกลับบ้าน
ตอนนี้ไปสองคน ไม่เกิน 300 บาทก็อิ่ม
ให้ผักเยอะ อิ่มผัก (ฮาๆๆๆ)

ดูเสร็จเชิญลบเมนูได้ครับ รับประกันความถูก สะอาด และอร่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 17, 17:57
คห.413 ทำให้นึกถึงอาหารเวียดนามแบบพื้นบ้านที่ฮานอยอีกสองสามรายการ    ครั้งนั้นไปประชุมองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐ(บาล)องค์กรหนึ่ง (IGO) ในช่วงปลายทศวรรษก่อน Y2K   พักอยู่ในโรงแรมใหญ่ของรัฐอยู่หลายวัน  ยังจำได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาวันลอยกระทงต้นเดิือนพฤศจิกายน ซึ่งก็ยังได้ช่วยกันสร้างยบรรยากาศสะบายๆในกระทงที่ริมสระน้ำของโรงแรมอีกด้วย

ในการประชุมครั้งนั้น ต่างฝ่ายต่างก็เอาใจซึ่งกันและกันเพื่อการปูพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี(แต่แฝงเพื่อการล้วงตับข้อมูลความลับ/ความรู้ทางวิชาการ) บรรยากาศต่างๆจึงเป็นไปด้วยความผ่อนคลายและเป็นกันเองเป็นอย่างยิ่ง  ครับ...ทุกคนต่างก็กำลังทำหน้าที่ด้วยรู้ว่าต่อไปอีกไม่นานจะต้องเกิดการเจรจาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลระหว่างไทย-เขมร และ ไทย-เวียดนาม (หลังจากที่ได้เกิดความตกลงระหว่างไทย-มาเลเซียจนเกิดการตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลย์ขึ้นมาแล้ว _ MTJA หรือ JDA) 

แล้วก็ยังโชคดีที่มีฝรั่งคนหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เป็นนักวิชาการที่เชียวชาญเรื่องบรรพชีวินและก็เป็นพระในศาสนาคริสอีกด้วย ท่านเคยใช้ชีวิตอยู่ในเวียดนามตลอดช่วงของสงครามต่อเนื่องจนสงครามยุติ ท่านนี้ก็ได้พาไปทานอาหารอร่อยๆตามซอกมุมต่างๆในเมืองฮานอย นอกเหนือไปจากเพื่อนชาวเวียดนามวิชาชีพเดียวกันที่ได้พาไปทานอาหารในร้านอร่อยของคนถิ่น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 17, 18:23
ได้ทานเฝอที่แสนอร่อยที่ขายโดยแม่ค้าหาบเร่ในตรอกหนึ่ง  ต้องนั่งบนม้านั่งไม้ตัวเล็กๆและเตี้ยๆ ไม่มีเครื่องปรุง ไม่มีผักสดแนม ใช้มือยกถ้วยเฝอร้อนๆ ใช้ตะเกียบคีบเส้นและเนื้อใส่ปาก ยกถ้วยซดน้ำแกง (ไม่ใช้ช้อน)   

ก็พอจะได้ความรู้อยู่บ้างว่า เฝอพื้นบ้านนั้นไม่มีเส้นใหญ่หรือเส้นเล็ก มีเส้นขนาดเดียวและก็ไม่มีทำแบบแห้งด้วย น้ำซุปของเฝอนั้นได้มาจากการต้มเคี่ยวกระดูกหมู จึงมีรสที่หวาน มีกลิ่นหอม และมีความนุ่มนวลกลมกล่อมมากๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 17, 18:40
ดิฉันได้กินเฝอ หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำของเวียตนาม  ครั้งแรกที่หลวงพระบาง    ครั้งต่อๆมาที่อเมริกา
ร้านอาหารเวียตนามมีขึ้นหน้าขึ้นตาอยู่ไม่น้อย ตามเมืองเล็กๆ แม้แต่ในรัฐไกลปืนเที่ยงอย่างโคโลราโด     เมืองที่เราผ่านเป็นประจำคือ Broomfield  เป็นเมืองเล็กๆปริมณฑลของเดนเวอร์    แต่ขนาดเป็นเมืองเล็กพอๆกับอำเภอสามพรานก็ยังมีร้านอาหารเวียตนามให้เห็นอย่างน้อย 2 ร้าน
ร้านที่ไปกินกันเป็นประจำ ชื่อ Pho Duy   ออกเสียงว่า เฝอ ดุ่ย    ที่มันน่ากินคือราคาไม่แพง(นับตามมาตรฐานอเมริกัน) ซ้ำขนาดของจานที่ยกมาเสิฟนั้นยังมโหฬารอีกด้วย    ชามก๋วยเตี๋ยวขนาดใหญ่ของเขา น่าจะเรียกว่าอ่างมากกว่าชาม     ขนาดกลางก็ยังแบ่งกันกินสองคนได้อิ่มทั้งคู่   ถ้าไปกิน สั่งขนาดเล็กจะเหมาะกับกระเพาะคนไทยที่สุด
เฝอของร้านขึ้นหน้าขึ้นตา  มีทั้งชนิดใสเนื้อวัว และชนิดมังสวิรัติ
โคโลราโดเป็นรัฐเกษตรกรรม  มีวัวเนื้อ วัวนมเยอะมากค่ะ   เนื้อวัวที่นี่ชั้นเลิศ มีกินไม่ขาดแคลน   หมูเสียอีกหากินยากกว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 17, 18:42
เฝดมังสวิรัติ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 17, 18:43
ของอร่อยของร้านนี้อีกอย่างคือข้าวสวยกับหมูย่าง  รสชาติทำให้เผลอนึกว่าอยู่ในกรุงเทพ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 17, 18:55
อีกหนึ่งอาหารที่เห็นหาบขายและดูจะเป็นที่นิยมกันอยู่ไม่น้อยก็คือเครื่องในหมูต้มสุก จิ้มซีอิ๊วขาว ทานกับใส้กรอกข้าวเหนียวหรือข้าวเหนียวยัดใส้  ต่างจากบ้านเราที่จะทานกันในลักษณะเป็นน้ำแกง (ตือฮวน) จิ้มกับน้ำสมพริกตำ  ก็จะมีทั้งแบบทานเปล่าๆ หรือทานกับข้าวสวย   ส่วนใส้กรอกข้าวเหนียวหรือข้าวเหนียวยัดใส้นั้น ของเรามีใส่ถั่วด้วย แล้วก็จิ้มกับซอสสีดำๆ  ซึ่งซอสนี้ก็คือตัวสร้างความอร่อยที่ให้ความแตกต่างกันออกไป แม้จะดูเหมือนซีอิ๊วดำหวานแต่ก็หาได้เหมือนกันไม่  ซ้อสนี้มีเครื่องปรุงหลายอย่างและต้องใช้เวลาเคี่ยว เป็นสูตรที่จัดว่าเป็นของหวงและจัดเป็นมรดกตกทอดอีกด้วย

เมนูตือฮวนของเวียดนามนี้ จะมีชื่อเรียกว่าอะไรก็มิทราบ และจะจัดว่าเป็นอาหารจานหลักหรือของทานเล่นก็มิทราบเช่นกัน

เกือบลืมไปว่า ตือฮวนของเรานั้นต้องมาคู่กับผักกาดดอง    ส่วนของเขานั้น จำไม่ได้แน่ชัดว่าเขาจะมีหรือจะจัดผักดองมาให้ในลักษณะของแนมด้วยหรือไม่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 16 ธ.ค. 17, 18:57
มุมขวาของจานใช่ไข่ไหมครับ
เวียดนามทำไข่เจียวเป็นก้อนเค็กในน้ำมัน ไฟอ่อนๆ อย่าให้น้ำมันเดือด
ไข่เจียวประกอบด้วยไข่ 5 ฟอง ตีกับวุ้นเส้น หมูบด และหอมสับละเอียด ปรุงรส
ไข่จะค่อยๆ แข็งตัว กรอบนอก นุ่มใน ตัดเป็นชิ้น
อาหารเวียดนามเป็นจาน  มักมีไข่โปะ 2 ชิ้น มีน้ำปลาพริกด้วย


สูตรน้ำซุปเฝออย่างง่าย

ต้มน้ำเดือด ใส่กระดูกหมูลงไป ครึ่งโล
หอมใหญ่ 1 ลูกผ่าสี่
ขิง 3 แว่น
โป่ยกั๊ก 1 ดอก
อบเชย 1 นิ้ว ห้ามเยอะ
พริกไทยเม็ดปลายนิ้วหยิบ
เกลือ น้ำตาลกะเอาตามชอบ

ความต่างของน้ำซุปไทย และเฝอ อยู่ที่ขิง
ขิงเป็นเครื่องชูรสและกลิ่นในครัวจีน และในอาหารเวียดด้วยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 17, 19:12
นึกออกอีกเรื่องหนึ่งว่า เฝอแท้ๆที่ผู้คนชาวเวียดนามเข้าใจกันนั้น หมายถึงที่ใช้เนื้อวัว   จะจริงเท็จประการใดก็ไม่ทราบ ??  ได้สัมผัสและได้รับการบอกเล่า(จากครั้งนั้น)มาเช่นนั้นครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 16 ธ.ค. 17, 19:15
แม่ค้าไทยคนหนึ่งขายก๋วยเตี๋ยว (25 บาท) ก๋วยจั๊บ (20 บาท) และ ข้ามต้มหมูไก่ (20 บาท) ที่ตลาดมานานโข
วันหนึ่งผมไปตลาดเช้าเกิน ลูกน้องเจ๊แม่ค้ากำลังต้มน้ำ บอกให้ผมรอแปบ เดี๋ยวเจ้าของร้านมา ก็กินได้เลย
ผมงง ในเมื่อหม้อน้ำซุปยังเป็นแค่น้ำร้อนกำลังจะเดือด ไม่มีเครื่องเคราใดเลย

เจ๊เจ้าของร้านทำแทบทุกอย่างมาจากบ้าน เว้นแต่น้ำซุปที่ใช้เวลาปรุงที่ตลาดแค่ 1 นาทีเสร็จ
เหลือบไปมอง เจ๊ทิ้งซองเปล่าลงถังขยะ ชื่อเหมือนดอกกระดาษที่มีหลายๆ สี ปลูกเกาะกลางถนน
แล้วก็เจาะน้ำกระเทียมดอง เหยาะๆ ลงไปในหม้อ เสร็จแล้ว
น้ำซุปแกหวานใช้ได้ ผิดหวังหน่อยเพราะอร่อยทางลัด

ผมเคยไปกินเฝอที่ปากเซ นอกเมืองหน้าทางเข้าน้ำตก
แม่ค้าลาวบอกว่าน้ำซุปฝั่งไทยใช้แต่ผงปรุงรส
ของลาวเคี่ยวกระดูก สีน้ำซุปยังใช้น้ำตาลไหม้ ไม่ใช้ซีอิ๊ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 17, 19:55
วกกลับไปที่ตือฮวน  

ตือฮวน ดูจะเป็นอาหารที่พบว่าขายกันในรูปของหาบเร่และแผงลอย  ที่ยกระดับเข้าไปอยู่ในห้องแถวนั้น ผมเห็นอยู่มีอยู่ที่เดียวบนถนนสายบางลำพู-แบงค์ชาติ     ส่วนที่เป็นแผงลอยนั้นก็มีอยู่ในพื้นที่ของตลาดปีระกา ซึ่งเจ้านี้มีข้าวเหนียวยัดใส้ที่อร่อย แต่น่าเสียดายที่แผงลอยเจ้านี้อาจจะหายไปกับการแปรสภาพของตลาดปีระกา

ในปัจจุบันนี้ ตามตลาดเย็นของชุมชนก็พบว่ามีแผงของพ่อค้า/แม่ค้าที่นำเอาเครื่องในหมูต้มสุกมาวางขาย ขายแบบคละกันกันด้วยน้ำหนักและสามารถจะเลือกคละกันได้ด้วยตนเอง จุดของการขายก็คือต้มแซบ       ก็เลยเป็นที่ถูกใจผม เลือกเอากระเพาะหมู ตับอ่อน ลิ้น   เอามาลวกใหม่ หั่น แล้วจิ้มกับซีอิ๊วขาวดีๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 17, 20:03
คุยถึงอาหารคนละจาน แต่ในเมื่อเป็นอาหารเหมือนกันก็คงผสมกลมกลืนกันไปได้
เอาอาหารเวียตนามมาส่งให้อีกชามค่ะ    เวียตนามเรียกว่าอะไรไม่ทราบ  ฝรั่งเรียกว่า combo bun with pork,chicken , shrimp and egg roll
ต้องขอคุณตั้งและคุณเฮฮาช่วยดูว่ามันคืออะไร  เหมือนข้าวหน้าอะไรหลายๆอย่างรวมกันหรือเปล่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 16 ธ.ค. 17, 20:18
ใช่แล้วครับ อาหารเวียดชอบปนกันมาในจานแบบนี้
combo=combine
ทุกอย่างใช้น้ำจิ้มแบบเดียวกัน
1.ขนมจีน+ ปอเป๊๊ยะ= Bun cha
2. ขนมจีน+หมูอย่าง (ตะไคร้) และไก่อย่าง (ตะไคร้)

น้ำจิ้มใส ไม่เข้มข้น ลอยมะละกอดิบ
ตักขนมจีน และหมูใส่ลงไปในน้ำจิ้ม แนมกับผัก
แพงเหมือนกัน ถ้าไม่คอมโบ ที่ฮานอย ชุดละ 50 บาท ตามรูปล่างครับ
1 ชุด ได้ขนมจีน ผัก น้ำจิ้ม และปอเปี๊ยะ นิยมกินมื้อกลางวัน

ถ้าขนมจีนหมูย่าง ก็เปลี่ยนปอเปี๊ยะเป็นหมูย่าง

ผมไปฮานอยเพื่อไปกิน ปลาย ม ค  หน้า ซื้อตั๋วไว้แล้ว จะชิมเผื่อครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 17, 19:04
วันนี้อากาศในกรุงเทพฯเย็นลง เลยทำให้นึกถึงซุปปลาไหลและเหล้าดองงูหรือดองตุ๊กแก ซึ่งเป็นของโปรดของคนในเวียดนามเหนือ(หรือของคนทั้งประเทศก็ไม่รู้)   คุณ heha มีความคุ้นเคยกับเวียดนามอยู่ไม่น้อย น่าจะเคยลองลิ้มรสมาแล้ว   

อ้อยังมีอีกหนึ่งเมนูที่นิยมกินกันในช่วงหน้าหนาว คือ thit cho    ที่ผมเคยเห็นนั้น ร้านที่ขายกันเป็นแบบแผงลอยตั้งอยู่เรียงรายกัน ออกมาตั้งขายกันในช่วงพลบค่ำ นั่งทานกันแบบยองๆเหลา  ผมไม่เคยลองลิ้มรส เห็นแล้วนึกถึงภาพในเมืองคุนหมิงเลยไม่กล้าที่จะลอง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 17, 19:22
ซุปปลาไหลของเวียดนามนั้น มีหน้าตาคล้ายๆกับซุปเสฉวน (Zichuan soup)ที่ฝรั่งเขานิยมสั่งกินกัน เพียงแต่รสของซุปแบบเสฉวนนั้นมีความจัดจ้านมากกว่ากันมากและใช้เนื้อไก่ จากเท่าที่เคยเห็นมานะครับ

สำหรับซุปปลาไหลนี้ มีปรากฎอยู่ในเมนูของร้านอาหารจีน(รุ่นเก๋า)ในเมืองร่างกุ้งของพม่าเช่นกัน  รสชาติพอๆกับของเวียดนาม คือไม่จัดจ้าน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 17, 18:18
ด้วยความที่ผมชอบซุปแบบเสฉวน เมื่อได้ทานครั้งแรกก็นึกถึงกระเพาะปลาและหูฉลามในทันที  มีความรู้สึกว่ามันเหมือนๆกัน  ที่แตกต่างกันมากก็ที่รสและเนื้อที่ใส่ลงไปเท่านั้นเอง  โดยนัยก็คือกระเพาะปลาที่ใส่จิ๊กโฉ่วมากหน่อยจนออกรสเปรี้ยวเด่นออกมานั่นเอง

เมื่อครั้งต้องไปปฎิบัติงานใน ตปท. ก็ได้เคยลองทำเองแบบตามใจฉัน   ก็เอาไก่ส่วนหน้าอกมาต้มแล้วฉีกเป็นเส้นๆ เอาวุ้นเส้นมาแช่น้ำให้นิ่มแล้วซอยเส้นให้สั้นลง เอาเห็ดหอมแช่น้ำร้อนจนนิ่มแล้วหั่นเป็นชิ้นบาง    ต้มน้ำทำน้ำซุปไก่ + เครื่องหอม (พริกไทยบุบพอแหลก รากผักชีบุบ ต้นหอมสดทั้งต้นม้ดเป็นม้วน) ปรุงรสด้วยเกลือจนเริ่มออกรสเค็มปะแล่มๆ เมื่อน้ำสต๊อกเดือดจนกลิ่นหอมโชยแล้วก็เอาครื่องที่เตรียมไว้ใส่ลงไป ลดไฟลง แล้วปรับแต่งกลิ่น สี และรสด้วยซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว และน้ำส้มสายชู  ละลายแป้งมันในน้ำแล้วค่อยๆเทใส่หม้อ จนได้น้ำที่เหนียวข้นตามที่ต้องการ เร่งไฟให้ซุปเดือดแล้วยกลงจากเตา

มั่วดีนะครับ เป็นได้ทั้งหูฉลามเทียม ซุปเสฉวนเทียม แกงจืดวุ้นเส้นแปรรูป...  ก็แปลงไปและแก้ขัดความอยากไปตามมีตามเกิดครับ ;D   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 17, 19:36
ซุปเสฉวน หน้าตาเหมือนกระเพาะปลา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 17, 19:39
เมื่อกล่าวถึงชื่อเวียดนาม ก็ให้นึกถึงว่ามีอาหารอีกอย่างหนึ่งที่เราเรียกว่าขนมเบื้องญวน ซึ่งไม่ทราบว่าในเวียดนามจะมีขายกันแพร่หลายหรือนิยมกันมากน้อยเพียงใด    มีขนมเบื้องไข่   แล้วก็มีขนมเบื้องไทยซึ่งมีทั้งแบบใส้เค็มและใส้หวาน

ด้วยที่มีคำว่า ขนม นำหน้าอาหารดังกล่าวนี้  ผมก็็เลยเดาเอาว่าอาหารเหล่านี้คงจะถูกจัดเป็นพวกอาหารว่างหรืออาหารแบบเบาๆในช่วงเวลาบ่ายๆ

ผมมีความรู้อยู่น้อยนิดมากๆกับอาหารเหล่านี้    ก็เชื่อว่ามีหลายท่านมีความสัดทัดที่จะช่วยขยายความในแง่มุมต่างๆให้เป็นวิทยาทานได้อย่างดี


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 20 ธ.ค. 17, 22:47
ก่อนที่อาจารย์จะโพสต์ภาพ ผมนึกไม่ออกว่าไรคือซุปเสฉวน
พอเห็นภาพ อ๋อ ซุปที่คนนอกประเทศจีนเรียก hot and sour soup  นั่นเอง

โขลกพริกไทยใส่ลงในน้ำเคี่ยวกระดูกหมู
เตรียมเห็ดหูหนูหั่นเส้น ไก่ฉีก หรือหมูหั่นเส้น
เต้าหู้อ่อนหั่นเต๋า น้ำมันงา น้ำมันพริก น้ำส้มสายชูกลั่น (ที่จีนมีร้อยยี่ห้อ) ต้นหอมซอย
ตอกไข่ให้เป็นริ้วๆในน้ำซุป กินแล้วเรียกเหงื่อได้ดีแท้

อาหารจานนี้ ครัวแคนโตนีสทำรสชาติดี
ครัว Northern cuisine (ของจีนนอกประเทศ) ก็กินดี
แต่พอไปกินที่เสฉวนต้นตำหรับ กลับไม่อร่อย


น้ำมันพริก เพิ่มความเผ็ด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 20 ธ.ค. 17, 22:56
กินซุปแล้ว นึกถึงอีกจานสไตล์เดียวกัน มาโปโตฟู (麻婆豆腐)

https://en.wikipedia.org/wiki/Mapo_doufu


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ธ.ค. 17, 18:57
ก่อนที่อาจารย์จะโพสต์ภาพ ผมนึกไม่ออกว่าไรคือซุปเสฉวน
พอเห็นภาพ อ๋อ ซุปที่คนนอกประเทศจีนเรียก hot and sour soup  นั่นเอง....

ใช่ครับ  hot and sour soup นั่นเอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 17, 19:42
เดือดร้อนต้องไปค้นว่ามันคืออะไร  ได้คำตอบมาว่า เต้าหู้มาโฝ คือเต้าหู้ผัดเนื้อสับ ปรุงรสด้วยซอสถั่วหมัก และพริกเผาเต้าซี
https://pantip.com/topic/35221913


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 21 ธ.ค. 17, 20:35
เวลาปรุงอาหารเสฉวน ไม่ต้องไปใช้เครื่องปรุงเปะๆ ดัดแปลงเอาก็ไช้ได้
น้ำพริกเผาจีนกับไทย คล้ายๆ กันแหละครับ ชอบไม่ชอบเครื่องเทศตัวไหน ก็เลี่ยงเอา
มาโปโตฟู ใส่มะเขือเทศด้วยก็อร่อย

อีกจาน รับแขกได้ ผัดมะเขือเสฉวน
เวลาขึ้นโต๊ะไทย ตำพริกกระเทียม (เหมือนผัดกระเพรา) ผัดกับมะเขือหั่นชิ้นยาวเป็นเส้น
เติมหมูบด และเห็ดหูหนูหั่นเส้น



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ธ.ค. 17, 18:34
จานนี้ ^ ใช้มะเขือหำม้า(มะเขือม่วง)   ทำแบบไทยใช้มะเขือยาว ผัดกับหมูสับ ใส่เต้าเจี้ยว ใส่ใบโหระพา  บางคนก็ใส่พริกชี้ฟ้าแดงเพื่อเพิ่มสีสัน แต่หากทำไม่ดีก็จะได้จานที่มีสีสันแบบอีกาคาบพริก   จะแก้ไม่ให้มะเขือเปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีขี้เถ้าก็พอจะทำได้ ในกรณีที่ใช้มีดเหล็กตีก็หั่นมะเขือแช่น้ำไว้ หรือไม่ก็เลือกใช้มีดสแตนเลส

ผมไม่เคยทานแบบเสฉวนแท้ๆ เลยไม่รู้ว่าเป็นเช่นใด    แต่แบบที่ทำกันในไทยนั้น อาหารจานนี้ได้ทั้งกลิ่นที่หอมน่ากินและรสที่มีความกลมกล่อมผสมกลมกลืนกันได้อย่างดีระหว่างมะเขือ เต้าเจี้ยว และใบโหระพา    แม้หน้าตาจะดูธรรมดาๆแต่ก็สามารถเพิ่มความน่ากินได้ด้วยวิธีการหั่นมะเขือให้เป็นชิ้นๆ และการใช้เต้าเจี้ยวชนิดที่ยังคงเห็นเมล็ดถั่วเหลืองปะปนอยู่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ธ.ค. 17, 18:45
เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ในบรรดาอาหารจีนทั้งหลายนั้น มีการใช้ใบโหระพากันมากน้อยเพียงใด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 22 ธ.ค. 17, 19:11
ผมไม่เคยเห็นอาหารจีนใส่ใบโหระพา
มะเขือผัดสไตล์ไทยปนจีนก็อาจใส่ทั้งเต้าเจี้ยวและโหระพาชูกลิ่น



เคยลองจานนี้ไหมครับ Mongolian beef จากครัวกวางตุ้ง
ไม่ทราบที่มาว่าดั้งเดิมเป็นอาหารถิ่นไหน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 17, 19:47
ชื่อเหมือนมาจากมองโกเลีย ??? ??? ???


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ธ.ค. 17, 18:21
ผมไม่เคยเห็นอาหารจีนใส่ใบโหระพา
มะเขือผัดสไตล์ไทยปนจีนก็อาจใส่ทั้งเต้าเจี้ยวและโหระพาชูกลิ่น

ได้มาอีกเรื่องหนึ่ง_อาหารจีนไม่มีการใช้ใบโหระพา     

เลยพาลให้นึกไปถึงอาหารง่ายๆอย่างหนึ่ง  หั่นหมูสามชั้นเป็นชิ้นเล็ก ใส่ลงไปในหม้อน้ำต้มกระดูกหมูเดือดๆที่ใส่ต้นผักชีพร้อมรากบุบพอแหลกและต้นหอมสดมัดขวั้นรวมกัน ปริมาณตามสมควร ปรุงรสด้วยเกลือทะเลให้ออกรสเค็มปะแล่มๆแล้วแต่งกลิ่นด้วยซีอิ๊วขาว คะเนดูว่าต้มหมูจนสุกได้ที่แล้ว (คือหนังหมูไม่เหนียวจนเคี้ยวไม่ออก) ก็เอาใบโหระพาใส่ลงไป สุกดีแล้วก็ยกลง  ตักใส่ถ้วยมาซดเป็นน้ำแกงแบบง่ายๆ จะเหยาะพริกไทยโขลกเองเพื่อเพิ่มความหอมหวนขึ้นไปอีกหน่อยก็จะยิ่งดี   

จานนี้จะเป็นแบบไทยที่ทำแบบจีนหรือจีนที่ทำแบบไทยก็ไม่รู้ ???


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ธ.ค. 17, 18:47
...เคยลองจานนี้ไหมครับ Mongolian beef จากครัวกวางตุ้ง
ไม่ทราบที่มาว่าดั้งเดิมเป็นอาหารถิ่นไหน

เหมือนจะเคยทานในร้านอาหารจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะในยุโรป แต่เป็นในชื่อเรียกอย่างอื่น   

เมื่อเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในหมู่บ้านของคุณกุ๊กกู จึงได้รู้ว่าที่ได้เคยทานมานั้นคงจะเป็นการทำแบบมองโกเลีย แต่คงจะเลียนแบบได้ไม่เหมือนของดั้งเดิม

อาหารที่บอกชื่อบอกยี่ห้อว่าเป็นอาหารแบบมองโกเลีย ที่ผมเคยเห็นทั่วๆไปในยุโรปนั้น จะเป็นร้านที่มีกระทะสแตนเลสทรงแบนกลมคล้ายกระทะโรตีของบ้านเรา แต่มีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 2-3 เท่า  มีผัก มีเนื้อ มีเส้น วางสุมกันอยู่บนกระทะ เมื่อจะทานก็จะแบ่งออกมาผัดเป็นจานๆแยกกันไปคล้ายกับการผัดบะหมี่ญี่ปุ่นยากิโซบะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ธ.ค. 17, 19:08
ซึ่งสำหรับผม เมื่อเห็นแล้วก็ดูแปลกๆ อาหารของผู้คนที่มีรกรากอยู่ตั้งแต่ประมาณละติจูด 40+/- องศาเหนือและเหนือขึ้นไป น่าจะหนักไปทางเนื้อสัตว์มากกว่าพืชผัก 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ธ.ค. 17, 19:10
คุยกันไปมา เลยกลายเป็นเรื่องอาหารนานาชาติตามเส้นทางไทย-เวียดนาม-เลาะขึ้นเหนือสู่พื้นที่ของจีนด้านชายฝั่งทะเล-แล้วกำลังวกเข้าไปในทิศทางของเส้นทางสายไหม   ในภาพลางๆภาพหนึ่งตามเส้นทางนี้ ก็พอจะได้เห็นภาพของอาหารพวกปิ้งย่างที่นิยมใช้การแผ่ย่างบนตะแกรง (พื้นที่ในละติจูดต่ำๆ) ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นแบบเสียบแล้วย่าง (เมื่ออยู่ในพื้นที่ละติจูดที่สูงขึ้น) 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 17, 21:41
ดิฉันไปแยกกระทู้ในนามคุณเฮฮาให้เรียบร้อยแล้วนะคะ 
เชิญตามไปได้ที่นี่ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6866.msg160538;topicseen#msg160538


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ธ.ค. 17, 18:16
เรื่องก๋วยเตี๋ยวที่ได้แยกออกไปเป็นอีกกระทู้เฉพาะเรื่องของก๋วยเตี๋ยวแล้วนั้น มีความเหมาะสมดีแล้วครับ   

ก๋วยเตี๋ยวมีความหลากหลายในแง่มุมต่างๆ ซึ่งในแง่มุมเหล่านั้นต่างก็ให้ความรู้สึกอร่อยที่แตกต่างกันไป   แต่ก็มีความแปลกที่ความอร่อยที่ว่านั้น (คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า)ส่วนมากแล้วเกิดมาจากการที่ผู้ทานได้มีส่วนปรุงแต่งรสด้วยตนเองด้วย 

เอาครับ ไปคุยกันในกระทู้โน้น     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 17, 18:35
คุยกันในกระทู้นี้มาสักพักหนี่งแล้ว  ก็เกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า  เอ..สำนวน "เสน่ห์ปลายจวักนี้" นี้ดูจะมีความหมายที่ค่อนข้างจะมีความลึกซึ้งมากกว่าเพียงแต่จะบอกว่า บุคคลมีความสามารถ (ability) ในการทำอาหารการกินเท่านั้น ซึ่งเป็นมุมที่มองไปที่ตัวบุคคล

ในอีกมุมหนึ่ง ให้ความหมายในเชิงของความอร่อยที่เด่นชัดออกมา (comparative) ของอาหารที่ทำกินกันตามปกติจานนั้นๆ  จะด้วยเทคนิคการทำ ด้วยรสมือ ด้วยเครื่องปรุง หรือด้วยวิธีการปรุงก็ตามที  ซึ่งเป็นมุมที่มองไปที่ความแตกต่างของกลิ่นและรสของอาหาร

และในอีกมุมหนึ่ง ในภาพของความน่ากินของอาหารที่จะได้ทานในมื้อนั้นๆ ซึ่งเป็นภาพโดยรวมของการจัดสำรับอาหาร การจัดอาหารในจาน และตัวอาหารที่ปรุงอยู่ในจาน (seduction meal)  ซึ่งเป็นมุมมองไปที่ความภาพที่เห็นในองค์รวม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 17, 18:52
ผมมีความเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ สำนวนนี้ดูจะถูกกลืนไปด้วยวลีที่ต่อท้ายชื่ออาหารว่า "ชาววัง" หรือ "แบบชาววัง"   ซึ่งแตกต่างไปจากความหมายแต่เดิมที่หมายถึงอาหารที่มีการให้ความสนใจลงไปถึงในรายละเอียดในทุกๆเรื่องตั้งแต่เครื่องปรุง รส และภาพที่จะออกมาเมื่อได้อาหารนั้นจัดลงจาน      ก็ดูจะมีความเข้าใจแต่เพียงว่า ทำให้รูปลักษณ์ดูมีความละเอียดอ่อนและนุ่มนวลเพียงเท่านั้น 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 17, 19:15
อาหารนั้นทำง่ายหากว่ามีเครื่องปรุงครบ แต่ทำให้อร่อยได้ยาก เพราะมันมีศิลปะในการเค้นเอาของดีจากแต่ละเครื่องปรุงออกมาในปริมาณที่พอเหมาะที่จะเอามาผสมกันจนได้กลิ่นที่หอมหวลและรสที่กลมกล่อม    อุปมาอุปไมยดังเรื่องของวงดนตรีที่ได้ยกขึ้นมาแต่แรกเริ่มกระทู้นี้ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 17, 19:25
อาหารที่อร่อยๆหลายอย่าง เป็นอาหารที่ทำง่ายๆ ใช้วัตถุดิบง่ายๆ(ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะหาได้ยาก) แต่จะทำให้อร่อยได้ไม่ง่ายนัก แถมยังจะทำให้มีความเด่นแตกต่างออกมาก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

อาหารแบบปิ้งย่างที่ได้คุยกันมาแล้วก็เป็นหนึ่งในอาหารแบบทำง่าย แต่จะให้มีความอร่อยและมีความโดดเด่นทางฝีมือแตกต่างกันออกมานั้น ก็ไม่ง่ายนัก   ได้พูดกันถึงเรื่องเนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อไก่มาพอหอมปากหอมคอกันแล้ว   ลองไปในเรื่องของสัตว์น้ำปิ้งย่างกันบ้าง

สัตว์น้ำที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คงเป็นปลา ก็มีชื่อของเมนูอาหารทั้งปลาปิ้ง ปลาย่าง ปลาเผา หมกปลา และแอบปลา ซึ่งสำหรับกระบวนการทำให้ปลาสุกที่เรียกว่าปิ้ง ย่าง และเผาเหล่านี้ก็มีการใช้ปะปนกันจนทำให้สับสนได้ไม่น้อย เช่น กับปลาหมอก็จะมีเพียงปิ้งหรือย่าง กับปลาช่อนและปลานิลก็จะต้องเป็นย่างหรือเผา (ซึ่งมักจะเป็นเผาเสียมากกว่า)  กับปลาดุกก็จะต้องเป็นย่างเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างก็ต้องทำด้วยวิธีการวางบนตะแกรงเหนือเตาไฟเหมือนๆกัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 ธ.ค. 17, 19:43
(https://i.imgur.com/K7aPKP2.jpg)

วันนี้เพิ่งได้ทานข้าวเม่าหมี่ อร่อยจนน้ำตาไหลพราก ขออภัยที่ภาพไม่มีความสวยงามปะปนอยู่เลย เคยอ่านในหนังสือมาก็เยอะไม่นึกว่าจะอร่อยขนาดนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 17, 20:07
ก็มีอีกวิธีการหนึ่งที่เรียกว่าย่างมอญ เป็นการใช้ไม้เสียบยาวตามตัวปลาแล้วเสียบหรือปักข้างๆกองไฟ   วิธีการนี้ ในเมืองคงไม่มีการทำกัน แต่จะมีอยู่ในชนบทบ้านนอกที่ยังคงใช้เตาแบบก่อฟืน  ปลาที่เอามาย่างด้วยวิธีการแบบนี้มักจะเป็นพวกปลาเกล็ดสดๆแบบไม่เลาะเกล็ด เช่น ปลาตะเพียน ปลาไบไม้ ปลาตะโกก ปลาตากลับ...  ตัวขนาดไม่เกินฝ่ามือ นี่แหละครับของอร่อยตัวจริง จะเล็มทานแบบไม่ต้องจิ้มอะไรกับข้าวสวยร้อนๆ หรือจะจิ้มกับน้ำปลาดีๆใส่หอมแดงและพริกขี้หนูสวนซอยละเอียด บีบมะนามลงไปสักเสี้ยวหนึ่ง  อือม์...    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 17, 20:27
วันนี้เพิ่งได้ทานข้าวเม่าหมี่ อร่อยจนน้ำตาไหลพราก ขออภัยที่ภาพไม่มีความสวยงามปะปนอยู่เลย เคยอ่านในหนังสือมาก็เยอะไม่นึกว่าจะอร่อยขนาดนี้

ของกินเล่นจานนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของเครื่องปรุงที่หาได้ง่ายๆ ทำง่ายๆ แต่ทำให้อร่อยได้ยาก   

เครื่องปรุงอย่างแรกคือข้าวเม่า ก็ควรจะต้องเป็นข้าวเม่าใหม่ คือข้าวเม่าที่ได้มาในช่วงเวลาของข้าวท้องแก่ใกล้เวลาเกี่ยวข้าว ข้าวเม่าทำได้ทั้งจากข้าวเหนียวและข้าวเจ้า แต่ที่อร่อยและนิยมกันคือข้าวเม่าจากข้าวเหนียว   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 17, 18:39
เห็นภาพข้าวเม่าหมี่แล้วก็เลยนึกไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกสองอย่างจากข้าวใหม่ๆจากนาข้าวของไทยเรา คือ ข้าวพอง กับ ข้าวตอก

ภาพใน คห.ของคุณ super boy นั้น ลักษณะของตัวที่เรียกว่าข้าวเม่านั้น น่าจะเป็นข้าวพอง (เพราะเมล็ดกลม)  แต่ทั้งสองชนิดเมื่อเอามาทำให้พองแล้วก็สามารถเอามาทำเป็นของกินที่เรียกว่า ข้าวเม่าหมี่ได้

วิธีการทำข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอกนั้นมีกรรมวิธีที่ต่างกัน  ผมไม่เคยทำเอง เพียงแต่พอจะมีความรู้แค่หางอึ่งว่าเขาทำกันอย่างไร 

ข้าวแปรรูปทั้งสามอย่างนี้ เราเอามาทำของกินที่เราจัดอยู่ในพวกขนม ซี่งมีชื่อเรียกที่สื่อออกไปทางของหวานซึ่งไม่ค่อยจะดีต่อสุขภาพ แต่แท้จริงแล้วในองค์ประกอบที่เรียกว่าขนมนี้ มีแต่ของที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรามากกว่าของที่ไม่ดีต่อร่างกายเรา 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 17, 19:05
ข้าวเม่าหมี่เป็นตัวอย่างที่ดี 

ข้าวเม่าหมี่ก็ดูจะไม่มีความแตกต่างไปมากนักจาก cereal ที่ฝรั่งเขากินกับนมในเมนูอาหารเช้า  ของเขาใช้ข้าวโพดทำ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีชนิดที่ใช้ข้าว(พอง)ทำด้วย   ของเขามีการใส่ผลไม้หรือพืชที่ให้รสผสมลงไปเล็กน้อย เมื่อจะทานก็มีการใส่น้ำตาลทรายลงไปเล็กน้อย ของเขาจัดอยู่กลุ่มอาหารเช้า   ของเราก็มีถั่วและกุ้งแห้ง มีการโรยน้ำตาล(แต่ก่อนนั้นคงจะเป็นน้ำตาลอ้อย)และเกลือเพื่อปรับรสเล็กน้อยเช่นกัน ของเราจัดเป็นของกินเล่นแก้หิวในช่วงเวลาระหว่างมื้ออาหาร   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 17, 19:41
ผมว่านะ   เราก็น่าจะต่อยอดเรื่องของข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอก ไปแข่งขันกับ cereal flake หรือ cereal bar ของฝรั่งได้ไม่ยากนัก

ผมรู้ว่าในปัจจุบันนี้ของเราก็มีการผลิตขายอยู่แล้วหลายชนิด หลายรูปแบบ และวางขายอยู่ในกลุ่มอาหารสุขภาพในพื้นที่วางขายของกลุ่มอาหารเสริม   ก็น่าเสียดายที่ในทางการตลาด ภาพของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกนำไปผูกติดกับเฉพาะกลุ่มคนที่แสดงตนว่าเป็นผู้สนใจรักษาสุขภาพ ผู้คนอื่นๆก็เลยไม่ให้ความสนใจทั้งๆที่มันก็เป็นอาหารที่เป็นประโยชน์ซึ่งเราสามารถนำเสนอได้ภาคการศีกษาและการสาธารณสุขในกลุ่มของอาหาร 5 หมู่   ชาวนาก็จะได้ประโยชน์กันบ้างจากการขายข้าวแปรรูป

ฝรั่งเขากิน cereal กับนม ก็คงจะไม่แปลกนักหากเราจะกินข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอกกับบรรดาน้ำข้าวกล้อง น้ำข้าวกาบา น้ำข้าวโพด ......สารพัดน้ำที่ทำใส่ขวดวางขายกันอยู่ในปัจจุบัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 17, 20:07
cereal ของเรามีความเป็นธรรมชาติและจัดอยู่ในพวกอาหารอินทรีย์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว   

ข้าวแต๋นหรือข้าวแตน หรือนางเล็ดของคนภาคกลาง แต่เดิมก็ทำให้มีรสหวานปะแล่มๆด้วยน้ำอ้อย หรือน้ำแตงโม ซึ่งเป็นความหวานตามธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี   ขนมข้าวตอก ข้าวตอกกระทิ กระยาสารท ..... 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 17, 18:33
ข้าวจี่ ของกินยามหน้าหนาว

ข้าวจี่เป็นของกินของผู้คนที่กินข้าวเหนียว เป็นทั้งของกินเล่นฆ่าเวลา ของกินประทังความหิว และของกินในอาหารมื้อหลัก   มีทำกินกันใภาคเหนือและภาคอิสานของเรา ในลาวก็มี และเข้าใจว่าในที่อื่นๆก็น่าจะต้องมี เช่นในเวียดนามเหนือที่มีกลุ่มชนเชื้อสายไทอาศัยอยู่  ในญี่ปุ่นก็มีทำกินกันเช่นกันในช่วงเวลาที่ดอกท้อบาน

การทำข้าวจี่โดยพื้นๆก็คือการเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลมรี ใช้ไม้เสียบแล้วย่างกับกองไฟ ในขณะที่นั่งล้อมวงผิงไฟกันรอบๆกองไฟ  ซึ่งผมคิดว่าแต่แรกนั้นน่าจะเป็นในช่วงเวลาประมาณตี 3 ตี 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองไฟที่ได้ดูแลกันจนถึงเวลานอนนั้น จะเริ่มมอดลงด้วยความชื้นของอากาศหรือน้ำค้าง ซึ่งก็เป็นประมาณช่วงเวลาเดียวกันกับที่อุณหภูมิของอากาศจะลดลงถึงจุดที่หนาวสุดของค่ำคืนนั้นๆ  ก็จึงตื่นและลุกขึ้นมาจากที่นอนมาจัดการกับกองไฟ กว่ากองไฟจะติดและระอุจนแผ่ความร้อนได้ดีก็ใกล้เวลาตื่นตามปกติแล้ว  ก็จึงนั่งผิงไฟคุยกันไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 17, 18:57
ข้าวจี่ก็มีพัฒนาการต่อมาเรื่อยๆ ก็คงจะตั้งแต่ทำให้มันมีรสขึ้นมาทั้งแบบก่อนย่างและหลังจากย่างแล้ว แล้วก็กลายเป็นทำให้มันมีกินได้ในทุกเวลาและทั้งปี แถมด้วยการทำให้มันเป็นมีความน่ากินในช่วงเวลาต่างๆของวัน (ของกินเล่น .....)  จากการย่างกับไฟก็ปรับไปเป็นจี่กับกระทะร้อนๆทั้งแบบมีน้ำมันน้อยๆหรือทอดไปเลย  มีแบบการทาไข่  มีแบบการคลุกกับไข่ แล้วก็มีการคลุกข้าวกับไข่ที่ปรุงรสแบบการทำไข่เจียว  มีการนำมาทานเป็นข้าวในสำรับอาหารตามปกติ ข้าวจี่ก็เลยขึ้นโต๊ะอาหารและกลายเป็นตัวแสดงฝีมืออีกอย่างหนึ่งของพ่อครัว/แม่ครัวต่างๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 17, 19:10
ช่วงนี้ใกล้เวลาส่งท้ายปีเก่า/ต้อนรับปีใหม่  คงมีผู้คนออกไป ตจว.ที่ไปแคมป์แรมกันในพื้นที่นอกเมืองและมีกิจกรรมกับกองไฟ  นึกถึงกิจกรรมกรารทำข้าวจี่เพื่อความเพลิดเพลินและความสนุกสนานกันบ้างนะครับ  จะทำแบบทาไข่เสียบไม้ปิ้งหรือจะคลุกกับไข่แล้วจี่ในกระทะก็ได้  กลิ่นของข้าวใหม้นิดๆผสมกับกลิ่นของไข่มันมีความหอมน่ากินเอามากๆเลยทีเดียวครับ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ธ.ค. 17, 20:16
ปิ้งข้าวจี่ร้อนๆ หอมหวน    ในอากาศหนาวเฉียบ  เอาสเต๊คมาแลกก็ไม่ยอมค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 18, 19:22
ในญี่ปุ่นเมื่อยามดอกท้อในสวนสาธารณะเล็กๆบาน กิจกรรมหนึ่งที่ชุมชนนั้นๆจะจัดให้มีก็คือการทำข้าวจี่นี้แหละครับ  เป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงของเด็กๆในขณะที่พ่อแม่ไปเดินชมดอกท้อจู๋จี๋กัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 18, 20:02
ผมคิดว่า ข้าวจี่ของไทยเราน่าจะได้มีวิวัฒนาการไปเป็นข้าวเหนียวปิ้ง และคนที่คิดแปรรูปไปก็น่าจะเป็นคนในภาคกลาง เพราะมีการใช้ข้าวเหนียวมูล มีการใส่ใส้กล้วย ถั่วเขียวบด หรือเผือก ห่อด้วยใบตองกล้วยแล้วจึงปิ้ง  ซึ่งการทำแบบนี้เป็นลักษณะของฝีมือของผู้คนในภาคกลาง

ข้าวจี่ซึ่งมีกลิ่นหอมข้าวใหม้นิดๆที่ว่าอร่อยแล้วนั้น สู้กับข้าวเหนียวมูลใส่ใส้ห่อด้วยใบตองกล้วยแล้วปิ้ง  น่าคิดนะครับ   

ข้าวเหนียวปิ้งนั้นเป็นได้แค่ของกินเบาๆท้องยามเช้าและขนมเท่านั้น  แต่ข้าวจี่ดูจะได้เปรียบมากกว่าที่สามารถกินเป็นข้าวในมื้ออาหารได้อีกด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 18, 20:23
ว่าแล้วก็ลืมสวัสดีปีใหม่กับทุกๆท่านที่อ่านกระทู้นี้ครับ

ด้วยเรื่องดีๆและสิ่งดีๆทั้งมวลที่ท่านทั้งหลายได้กระทำสั่งสมกันมาตลอดปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธื์ทั้งปวงท่านได้รับรู้และจะช่วยให้ท่านทั้งหลายได้ปลอดทุกข์ ปลอดโรค ปลอดภัย และนำพาแต่ความสุข ความสำเร็จ และความสวัสดีมีชัยทั้งหลายให้บังเกิดแก่ท่านตลอดปีใหม่และตลอดๆไป _/\_ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ม.ค. 18, 22:20
สาธุ
ขอให้พรนี้คืนกลับไปยังคุณตั้งและท่านอื่นๆที่เข้ามาตั้งและอ่านกระทู้นี้โดยทั่วหน้ากันค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ม.ค. 18, 17:10
_/\_  สา..ธุ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ม.ค. 18, 18:38
ข้าวเหนียวปิ้งนั้น  เมื่อดูจากลักษณะภายนอกแล้วอาจจะไม่ค่อยน่ากิน เพราะดูจะสกปรกเนื่องจากใบตองที่ห่อใว้ใหม้ดำและเป็นเศษกะรุ่งกะริ่ง  ก็มีวิธีแก้ที่นิยมกันอยู่สองสามแบบ คือ ปิ้งแต่พองามให้รู้ว่าได้มีการปิ้งแล้ว  หรือเมื่อปิ้งเสร็จแล้วก็ทำความสอาดผิวแล้วทาด้วยน้ำมันบางๆ หรือด้วยรูปแบบการห่อและการใช้ไม้กลัด  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ดูน่ากินเมื่อแรกเจอ

ดูแล้วน่าจะทำไม่ยาก แต่การจะทำให้อร่อยนั้นดูจะไม่ง่ายนัก ความอร่อยที่แท้จริงไปอยู่ที่กลิ่นรวมๆที่ได้มาจากการผสมผสานของกลิ่นใหม้ของใบตอง ข้าว และกระทิ ผนวกกับความพอเหมาะพอดีของความสุกนิ่มของข้าว สัดส่วนของข้าวกับน้ำกระทิ  รสหวานและเค็มของตัวข้าวกับใส้ที่จะห่อ   เนื้อ รส และปริมาณของใส้ที่พอเหมาะ  และวิธีการปิ้งให้ได้เนื่้อในองค์รวมที่แห้ง+ความใหม้เกรียมแต่ยังคงความนิ่มและความชุ่มฉ่ำ

ที่ยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่งก็คือ สูตรสัดส่วนของเครื่องปรุงมาตรฐานต่างๆนั้นมีอยู่ทั่วไป แต่ในการทำจริงๆเกือบจะทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลือกเครื่องปรุง (อาทิ ข้าวเก่า ข้าวใหม่ ความแก่ของกล้วย น้ำตาล) ความพอดีของเครื่องปรุงแต่ละอย่าง (อาทิ ความเข้มข้นของกระทิ) การจัดการกับรสของเครื่องปรุงแต่ละชนิดก่อนที่จะนำมารวมกัน ...ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องของความสันทัดเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล  ฝีมือในการทำให้มันมีความอร่อยก็เลยมีความต่างกัน 

ของพื้นบ้านที่อร่อยและราคาถูกพวกนี้เกือบทั้งหมดจะขายอยู่ในระดับหาบเร่แผงลอย ซึ่งนักกินผู้รู้ทั้งหลายจะบอกได้ว่าอยู่ที่ใหน แถมยังจะบอกถึงช่วงเวลาที่มีการนำมาขายได้อีกด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ม.ค. 18, 19:08
ก็คงจะนึกเลยไปถึงข้าวหลามกัน

ข้าวหลาม กับ หลามข้าว สองคำนี้ให้ความหมายที่แตกต่างกัน  ข้าวหลามนั้นทำเมื่อยามมีกิน อยู่สบาย มีความสุข   ส่วนหลามข้าวนั้นทำเมื่อยามมีข้อจำกัดในการหุงหาอาหาร อยู่ในป่าดง เพื่อเอาตัวรอด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ม.ค. 18, 19:53
ข้าวหลาม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 18, 18:27
ข้าวหลามเป็นของที่ชาวบ้านทำกินกันในช่วงฤดูหนาวหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ซึ่งจะทำกันในวันที่มีนัดสมาคมสังสรรค์กัน หรือเมื่อมีงานบุญ

ข้าวหลามที่ชาวบ้านทำกับที่พ่อค้าแม่ค้าทำขายกันทั้งปีนั้น แม้ว่าจะเป็นของกินที่จัดอยู่ในกลุ่มของกินนอกเวลาอาหารเหมือนกัน แต่ก็มีความต่างกันค่อนข้างมาก   
       ข้าวหลามของภาคกลางใช้ไม้ไผ่เปลือกหนา ตัดเป็นท่อนๆแบบคล่อมข้อปล้อง และใช้เพียงส่วนหนึ่งของปล้องในการหลามข้าว  ต่างไปจากของชาวบ้านทั้งในภาคเหนือและอิสานที่จะใช้ไม้ไผ่เปลือกบางและใช้ประโยชน์ทั้งปล้องในการหลามข้าว
       ความอร่อยน่ากินของข้าวหลามของภาคกลางอยู่ที่ความมันและรสของตัวเนื้อข้าวหลาม โดยนัยก็คือกระบอกไม้ไผ่ถูกใช้เป็นเพียงภาชนะ  ในขณะที่ความอร่อยน่ากินของข้าวหลามแบบชาวบ้านนั้น แม้จะมีทั้งแบบใส่และไม่ใส่กระทิ (บางๆ) แต่ทั้งหมดเน้นไปที่ความนุ่มและความหอมของเนื้อข้าวหลามที่ได้จากข้าวใหม่ผสมผสานกับกลิ่นที่ได้จากไผ่
       การเผาข้าวหลามให้สุกก็ต่างกัน ของชาวบ้านจะเป็นการเผาเพื่อให้ข้าวได้สุกโดยทั่วกัน คล้ายกับการนึ่งข้าวโดยใช้ภาชนะเป็นปล้องไม้ไผ่ อาจจะเผาได้ถึงระดับที่ข้าวแห้งใกล้จะเริ่มเกรียม   แต่ของภาคกลางนั้นการเผาดูจะมุ่งไปที่ระดับในการทำให้กระทิส่งกลิ่นหอมออกมา คือเผาถึงระดับเริ่มใหม้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 18, 18:41
ด้วยเป้าหมายที่ต่างกัน  ก็เลยทำให้วิธีการทำอาจจะต่างกันไป   ของชาวบ้านนั้น จะแช่ข้าวให้นิ่ม เอาข้าวกรอกกระบอกไม้ไผ่ แล้วกรอกน้ำที่ปรุงรสลงไปให้พอดี แล้วก็จัดการเผา  ของภาคกลางส่วนมากจะเริ่มจากการทำข้าวเหนียวมูลกระทิแล้วกรอกลงในกระบอกไม้ไผ่ แล้วจัดการเผา   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 18, 19:16
ข้าวหลามของชาวบ้านสามารถจะทำให้ดูน่ากินขึ้นไปได้อีกด้วยการปอกเปลือกไม้ไผ่จนเหลือเพียงผิวส่วนในบางๆก่อนที่จะถึงตัวเยื่อไผ่ จนได้เป็นแท่งยาวสีขาวชวนกิน และสามารถใช้มือลอกเปลือก(ผิว)ออกได้    แต่ของภาคกลางนั้น นอกจากจะไม่สามารถปอกเปลือกได้แล้ว ก็ยังจะต้องใช้วิธีการเอาท่อนไม้หรือฆ้อนบุบที่ข้อปล้องไผ่ให้แตกเสียก่อน ก่อนที่จะสามารถเอาเนื้อในออกมาทานได้

คงจะนำพาให้คิดไปได้ถึงในเรื่องของ waste     ต่อเนื่องไปถึงเรื่องของ sustainable yield ของ resources ในแง่มุมต่างๆ   หรือ ในมุมของ conservation measures ต่างๆ     ซึ่งก็น่าดีใจที่ธุรกิจเกี่ยวกับข้าวหลามค่อนข้างจะมีความสมดุลย์ในเรื่องดังกล่าวเหล่านั้น (คงไม่ต้องขยายความนะครับ)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 18, 19:22
คงจะเคยสังเกตกันว่า ข้าวหลามของชุมชนเล็กๆบางแห่งที่ทำขายกันนั้น มีความหอมมากกว่าข้าวหลามเจ้าอร่อยของแหล่งผลิตดังๆ    ในความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ของผมนั้นเห็นว่า ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกใช้ไม้ไผ่ที่ไม่เหมือนกัน   

ไม้ไผ่ที่เอามาทำข้าวหลามได้นั้น ทั้งหมดล้วนจะถูกเรียกว่าไผ่ข้าวหลามทั้งนั้น แต่หากลงไปสัมผัสจริงๆก็จะพบว่ามีทั้งไผ่ป่าและไผ่ปลูก มีหลายชนิด หลายพันธุ์ และหลายแหล่งผลิตวัตถุดิบอีกด้วย    เมื่อการทำข้าวหลามได้กลายเป็นธุรกิจแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ๆเป็นแหล่งไม้ไผ่ ก็จำเป็นจะต้องมีการนำมาจากที่อื่น ซึ่งเมื่อพื้นที่ของป่าไผ่ลดลง การจะทำให้เกิดความสมดุลย์ด้านอุปสงค์และอุปทานก็จึงได้มาด้วยวิธีการปลูก ซึ่งก็จะต้องเลือกชนิดและพันธุ์ที่สนองต่อความต้องการของผู้ซื้อ โดยหลักๆก็คือ ขนาดของกระบอกไม้ไผ่ ความหนาเปลือก และเยื่อไผ่ที่จะต้องมีมากพอ  เรื่องนี้เป็นส่วนที่ทำให้ข้าวหลามของผู้ที่ทำขายรายเล็กๆในบางพื้นที่ได้มีความหอมอร่อยที่เด่นและแตกต่างออกไป แม้ว่าจะไม่อุดมไปด้วยกระทิ หรือถั่วดำในเนื้อ หรือหน้าที่ปิดอยู่ที่ปลายกระบอก (สังขยา มะพร้าว...) ก็ตาม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 04 ม.ค. 18, 19:46

คงจะนำพาให้คิดไปได้ถึงในเรื่องของ waste     ต่อเนื่องไปถึงเรื่องของ sustainable yield ของ resources ในแง่มุมต่างๆ 
หรือ ในมุมของ conservation measures ต่างๆ   ซึ่งก็น่าดีใจที่ธุรกิจเกี่ยวกับข้าวหลามค่อนข้างจะมีความสมดุลย์ในเรื่อง
ดังกล่าวเหล่านั้น (คงไม่ต้องขยายความนะครับ)


อินโดก็มีข้าวหลาม คนขายขอกระบอกคืน recycle
ถอดข้าวเหนียวให้เรา ไม่ให้กระบอก

ผมส่องกระบอก ไม่มีเยื่อเหลือ
เขาใช้ใบตองสอด แล้วค่อยกรอกข้าวเหนียว เผาจนสุก
ใบตองทำให้ร่อน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 18, 18:02
อินโดก็มีข้าวหลาม คนขายขอกระบอกคืน recycle
ถอดข้าวเหนียวให้เรา ไม่ให้กระบอก
ผมส่องกระบอก ไม่มีเยื่อเหลือ
เขาใช้ใบตองสอด แล้วค่อยกรอกข้าวเหนียว เผาจนสุก
ใบตองทำให้ร่อน

น่าสนใจไม้ไผ่พันธุ์ที่เขาใช้ทำข้าวหลามที่สามารถนำไป recycle ได้นี้  ดูจากภาพแล้วเป็นไม้ไผ่พันธุ์ดี ขนาดเท่าๆกันและเป็นทรงกระบอกยาวและตรง     

คล้ายกับไม้ไผ่ที่คนในภาคเหนือของเรานิยมใช้ทำข้าวหลาม ของเรานั้นต้องใช้วิธีฉีกเปลือกจึงจะได้เนื้อข้าวหลาม และด้วยที่เป็นไม้ค่อนข้างจะมีอายุอ่อน และมีผิวสีเขียวแก่ เมื่อเผาแล้วดูไม่สวย ก็เลยต้องปอกผิวออกจนเหลือเพียงบางๆ ทำให้ดูขาวน่ากิน     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 18, 18:39
ทำให้นึกถึงพัฒนาการของข้าวหลามไทยที่พยายามไปสู่อินเตอร์    ไปเจอที่เวียนนา ออสเตรีย  หั่นเป็นท่อนๆละประมาณ 1 นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณนิ้วกว่าๆ  ปอกจนเหลือแต่ผิวไผ่ด้านในสีขาวสวย วางเรียงกัน 6 ชิ้นในถาดโฟม ห่อด้วย plastic foil อย่างดี วางอยู่ในช่องแช่แข็งของร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง  ซื้อเอามาทาน ก็รู้สึกว่าใช้ได้เลยทีเดียว เป็นแบบข้าวหลามทางเหนือของเรา ใช้กระทิบางๆได้ความมันนิดๆพอที่จะทานเป็นข้าวหรือขนมก็อร่อยได้ (จิ้มพวกนมข้น jam confit conserve หรือ fruit spread)

น่าเสียดายที่มีการนำเข้าไปขายเพียงครั้งเดียว คิดว่าจะช่วยสนับสนุนการทำตลาดก็เลยทำไม่ได้    ในญี่ปุ่นนั้นไม่ต้องห่วง คนไทยที่อยู่แถวชิบะได้ทำขายกันแล้ว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 18, 19:05
ข้าวหลามกับใบตองแบบอินโดฯผมไม่เคยทาน แต่เคยทำการหุงข้าวเหนียวด้วยไผ่หกและใช้ใบตองเป็นถาดรองรับข้าวที่เหนียวที่หุงเสร็จแล้ว

ใผ่หกเป็นต้นไผ่พันธุ์ใหญ่มาก มีเปลือกไม้ที่หนามาก ขึ้นอยู่ในบริเวณริมห้วยที่มีความชุ่มชื้นในป่าใหญ่  หน่ออ่อนของมันมียอดสูงประมาณเอว กว่าจะตัดโคนให้ขาดได้ก็เล่นเอาเหนื่อย แถมยังต้องใช้วิธีแบกเพราะน้ำหนักมาก   

ก็ตัดออกมาเป็นท่อน 2 ปล้องติดกัน เอามีดปลายแหลมเจาะข้อด้านในให้ทะลุเป็นรูเล็ก ใส่น้ำลงไปในปล้องล่าง เอาข้าวเหนียวใส่ลงไปในปล้องบน เอาใบตองปิดปากแล้วตั้งไว้กับกองไฟจนเห็นไอน้ำพลวยพลุ่ง คะเนว่าข้าวเหนียวสุกดีแล้วก็ยกลง ตัดใบตองวางปูไว้  เอากระบอกนึ่งข้าวเหนียวนั้นตะแคงกระทุ้งกับพื้น ทำเหมือนกับยิงปืนใหญ่ ในมุมที่พอเหมาะข้าวเหนียวก็จะพุ่งออกมาเป็นท่อนทั้งยวงลงไปบนใบตองที่วางเรียงรองรับอยู่ อาจจะพรมน้ำแล้วมูลอีกนิดหน่อยก็จะสุกและนิ่มเสมอกันทั้งหมด อร่อยกว่าการใช้วิธีหลามข้าวอีก เพราะเป็นการนึ่งมิใช่การเผา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 18, 18:21
ตามที่ได้เขียนว่าข้าวหลามนั้นนิยมทำกันโดยใช้ข้าวใหม่หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วนั้น  ก็มีประเพณีเกี่ยวกับข้าวหลามซึี่งจะมีชื่อเรียกว่าประเพณีอะไรก็ไม่ทราบ แต่อยู่ในข่ายของประเพณีบุญข้าวใหม่

แต่ดั้งเดิมนั้นเข้าใจว่าแต่ละบ้านจะเผาข้าวหลามในช่วงกลางคืนแล้วรุ่งเช้าก็นำไปใส่บาตรหรือถวายพระเพื่อความเป็นศิริมงคลก่อนที่ตนเองจะนำข้าวใหม่ของปีการผลิตนั้นๆมาทาน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีการยึดถือการกระทำเช่นนี้อยู่  ช่วงเวลาของกิจกรรมดังกล่าวนี้ก็จะอยู่ในช่วงปลายปีที่มีอากาศเย็นหรือหนาว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเก็บเกี่ยวอ้อยและทำน้ำตาลอ้อย    ในปัจจุบันนี้ คงจะไม่เห็นข้าวหลามกินกับน้ำตาลอ้อยกันแล้ว   เมื่อยังเด็กอยู่ เคยไปกับพ่อไปดูเขาหีบอ้อยกลางทุ่ง เคี่ยวน้ำอ้อยทำน้ำตาล ก่อนจะจบก็ใส่กระทิ (??)และมะพร้าวขูดลงไป  เมื่อกลับเข้าหมู่บ้านก็ทานกับข้าวหลามเนื้อนิ่ม กลิ่นหอมหวล อร่อยเหลือหลายเลยทีเดียว   

ต่อมาก็คงจะมีการนัดกับวัดกำหนดเป็นงานบุญของชุมชน  ก็ยังมีการทำข้าวหลามกันอยู่ แต่แทนที่จะเผาให้เสร็จก่อนนำไปถวายพระที่วัดก็กลายเป็นกรอกข้าวหลามให้เสร็จแล้วนำไปเผากันที่วัด  สุมไฟเผากันแต่เช้ามืด (ตีสองตีสาม) แก้หนาวไปด้วย ได้ข้าวหลามสุกใหม่ๆไปถวายพระ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 18, 18:33
ณ วันนี้ผมก็ยังเห็นประเพณีนี้อยู่ แต่มีพัฒนาการไปอีก คือ เป็นเพียงการกรอกข้าวใส่กระบอกข้าวหลาม เอาใบตองอุดปลายกระบอก แล้วนำไปถวายพระที่วัดในงานวันบุญ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 18, 18:50
จากลำต้นไม้ไผ่ก็คงจะต้องลงมาถึงที่โคนกอไผ่   

หลังฝนตกชุกๆไม่นานก็จะเห็นหน่อไม้เริ่มโผล่ยอดออกมา  พอได้ที่ก็มีทั้งเก็บสดๆมาต้ม มาเผา มาดอง  นำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารอร่อยอีกหลายชนิด ซึ่งหน่อไม้แต่ละชนิด แต่ละพันธุ์ ต่างก็เป็นตัวช่วยชูความอร่อยที่ตางกันของอาหารแต่ละอย่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 18, 19:27
หน่อไม้เป็นของชอบของผม นิยมเอาทานกับน้ำพริก เอามาทำผัด และทำแกงหน่อไม้ดอง รวมทั้งแบบยัดใส้ทอดและต้มกับใบย่านาง   หน่อไม้น่าจะจัดเป็นส่วนประกอบที่ใช้ในอาหารของไทยหลากหลายที่สุดอย่างหนึ่ง ไม่นับรวมอาหารที่มีต้นตอมาจากจีน

หน่อไม้ที่นิยมนำมาใช้ทำอาหารของเรานั้นได้มาจากต้นไผ่ไม่กี่พันธุ์  ที่หาซื้อกันได้ในตลาดตามปรกติก็จะเป็นหน่อไม้ของไผ่รวก ซึ่งนิยมเอามาจิ้มน้ำพริก เอามาใส่แกงเผ็ด เอามาผัดกับเนื้อสัตว์ และทำซุปหน่อไม้แบบอิสาน  ซึ่งก็มีทั้งแบบอัดปี๊บและแบบที่เรียกว่าหน่อต้มหรือลวก

หน่อจากไผ่อีกพันธุ์หนึ่งก็คือหน่อไผ่ตง ซึ่งก็มีทั้งแบบสดและแบบอัดปี๊บ  ซึ่งหากเป็นสดก็จะนิยมเอามาทำเป็นแกงจืดต้มกับกระดูกหมู และหากเป็นแบบอัดปี๊บก็จะนิยมเอามาใช้ในการทำอาหารที่มีพื้นฐานมาจากอาหารจีน เช่น ข้าวหน้าไก่ ...

แล้วก็หน่อไม้ดองที่ทำด้วยหน่อไผ่หลายพันธุ์ ก็มีไผ่บง ไผ่ตง ไผ่หก เป็นอาทิ  หน่อไม้ดองนิยมเอามาทำอาหารที่มีรสเผ็ดทั้งแบบผัดและแกงเผ็ด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 07 ม.ค. 18, 19:45
ผมไป Bac Ha Sunday market ทางเหนือของเวียดนาม
ชาวเขาจะนำของป่ามาขาย มีหน่อไม้ดาษดื่น จนผมไม่มอง
แต่ชาวเหงียนเอาหน่อไม้รวกมายัดไส้ แล้วไปนึ่ง ลองชิมดูหน่อไม้เขานิ่มนวลมาก
ไม่ทราบว่าพันธุ์อะไร แต่ texture นิ่มมาก อร่อยกว่าบ้านเราหลายช่วงตัว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 18, 20:00
หน่อไม้มีการใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารหลายอย่าง ก็เลยทำให้ตัวมันเองกลายเป็นพระรองหรือตัวประกอบในอาหารจานต่างๆ    

ก็มีอาหารอยู่อย่างหนึ่งที่ได้กล่าวถึงชื่อมาแล้ว คือ หน่อไม่ยัดใส้ทอด ของอร่อยมากๆที่ตัวหน่อไม้เองได้แสดงตัวตนของตนเองออกมา  อร่อยทั้งนั้นไม่ว่าจะใช้หน่อไม้สดต้มสุกแล้วเช่นที่เรียกว่าหน่อไม้รวก หน่อไม้ไร่ หน่อไม้หวาน หรือใช้หน่อไม้รวกอัดปี๊บ   ยัดใส้หมูสับปรุงรสแล้วชุบแป้งกรอบแล้วทอดให้สุกและผิวกรอบ ทานร้อนๆ จะจิ้มกับน้ำจิ้มไก่ทอดหรือไม่ต้องก็ได้  เป็นของอร่อยที่อาจจะต้องทำกินเอง แต่ก็อาจจะหาซื้อได้ในตลาดบางตลาดในตัวจังหวัดในภาคเหนือ

ของโปรดของผมครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 07 ม.ค. 18, 20:05
ตอนเด็กสวนหลังบ้านมีไผ่ตงเยอะมาก ย่าให้คนงานขุดมาทำกินหวานอร่อยดีแท้ (โดยเฉพาะแกงไก่ใส่เลือดก้อน ๆ ด้วย) แต่ข้อเสียของไผ่คือใบร่วงมหาศาล เมื่อเมืองขยายเข้ามาล้อมกรอบป่าไผ่จึงต้องหายไป

เดี๋ยวนี้แทบหากินไม่ได้กินแล้ว ร้านข้าวแกงแถวบ้านไม่มีเมนูหน่อไม้เลย (จะทำเองก็นะ สีพันยาก็ยังหาผู้โชดร้ายไม่ได้ ถึงหาได้ก็คงทำกับข้าวไม่เก่ง) ส่วนหน่อไม้ดองผมนี่กินแล้วคันคะเยอ ยอมแพ้ครับ

แต่ข้าวหลามยังได้อยู่เรื่อยๆนะครับ อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างก็ว่ากันไป ข้าวหลามอินโดน่าลิ้มลองมาก  ::)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 18, 21:29
ตอนเด็กๆกินหน่อไม้ได้ไม่มีปัญหา   แต่พอโตขึ้น วันหนึ่งก็พบว่าแพ้หน่อไม้ขึ้นมาเฉยๆค่ะ   ที่รู้เพราะกินเข้าไปแล้วเป็นปื้นนูนๆ  หนาๆขึ้นมาทั่วตัว  ราวกับลมพิษ      คันคะเยอไปหมด  เลยต้องงดแกงทุกชนิดที่ใส่หน่อไม้
ตอนไปเมืองจีน  อาการนั้นกลับมาทั้งๆแน่ใจว่าไม่ได้กินหน่อไม้    มาพบทีหลังว่าเขาบดหน่อไม้จนละเอียดใส่ลงในซุป  กินเข้าไปโดยไม่รู้    เลยแพ้หนัก

ตอนนี้ได้แต่อ่านคำบรรยายของคุณตั้งอย่างเดียว    ไปหามาชิมไม่ได้ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 07 ม.ค. 18, 21:37
ข้าวหลามอินโด สวยแต่รูป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 18, 19:07
ไม่แปลกใจหรอกครับในเรื่องของการแพ้หน่อไม้ ผมคิดว่ามีหลายครั้งที่เราต่างก็แพ้กัน เพียงแต่มันมีอาการแสดงออกมาน้อยมากมาจนไม่เป็นที่สังเกตุได้เด่นชัด ก็เลยไม่รู้   

พืชผักหลายอย่างต้องทำให้สุกก่อนที่จะกิน หลายอย่างก็เพียงแต่ลวกสุกๆดิบๆก็พอ แต่หลายอย่างก็ต้องทำให้สุกอย่างทั่วถึงจริงๆ แม้จะดูเหมือนเป็นการทำเพื่อเพิ่มหรือกำจัดรสและกลิ่นก็ตาม แต่มันมีนัยที่สำคัญของภูมิปัญญาของคนโบราณแฝงอยู่
   หน่อไม้ที่เราตัดมาสดๆ จะต้องนำมาต้มในน้ำเดือดๆสักพักใหญ่ๆ ไม่ว่ามันจะถูกเผาก่อนลอกกาบมาแล้วก็ตาม  ต้มแล้วเทน้ำทิ้งไป เมื่อจะนำมาทานก็ควรจะต้องต้มใหม่อีกครั้ง ทั้งหมดเขาก็ว่าเพื่อขจัดรสเฝื่อน แต่ในความเป็นจริงก็คือการกำจัดสารอันไม่พึงปรารถนาที่มีผลต่อร่างกายของเรา 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 18, 19:27
ข้าวหลามอินโด สวยแต่รูป

ีข้างในเป็นข้าวเหนียวอินโด หรืออะไรคะ   รสชาติเป็นยังไง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 18, 19:55
สำหรับหน่อไม้ดองนั้น  ทานแล้วท้องเสียดูจะเป็นเรื่องปรกติ  ก็จึงไม่น่าจะแปลกใจนักหากจะมีเรื่องของการแพ้ด้วย

เท่าที่พอจะรู้ หน่อไม้ดองจะทำมาจากหน้อไม้สดโดยไม่ผ่านการต้ม  โดยหลักก็เป็นการทำเพียงหั่นหน่อไม้แล้วหมักในน้ำเกลือ (brine) ที่มีความเข้มข้นประมาณ 2% เช่นเดียวกันกับการทำกล่ำปลีดอง sauerkraut ของนิยมของคนเยอรมัน    แต่ในกระบวนการทำของแต่ละคนนั้นต่างก็มีขั้นตอนของตนที่จะทำให้ได้มาซึ่ง brine ที่ความเข้มข้นดังกล่าว ซึ่งเป็นความเข้มที่เหมาะสมกับแบคทีเรียชนิดดีในกลุ่ม lactobacillus ที่มีประโยขน์ต่อร่างกาย   หากได้ความเข้มข้มที่ไม่เหมาะก็จะได้แบคทีเรียชนิดที่ไม่ดีผนวกเข้ามา  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 18, 19:04
ลืมบอกไปว่า การดองทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นของชาติใดก็ตามเขาจะใช้เกลือที่ไม่มีการผสมไอโอดีน    ตามตำราของฝรั่งเขาจะไช้เกลือที่เรียกว่า kosher salt ง่ายๆก็คือเกลือเม็ดใหญ่นั่นเอง  ของไทยก็คือใช้เกลือทะเลเม็ด แต่หากไม่มีก็ใช้เกลือทะเลป่นหยาบแทนก็ได้   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 18, 19:29
ผมเป็นคนชอบกินของดอง ไม่ว่าจะเป็นผักดองหรือผลไม้ดอง แต่ไม่สันทัดในการทำเอง    ดูก็น่าจะทำง่ายๆ ซึ่งมันก็ง่ายจริงๆหากเห็นว่าก็เป็นเพียงทำน้ำเกลือแล้วใส่พืชผักผลไม้ลงไปดอง     แต่เอาเข้าจริงๆไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย  ปรุงรวของอร่อยนั้นเขามีวิธีการทำของเขา เช่น คลุกเกลือก่อน พักไว้หนึ่งคืน ล้างเกลืออกแล้วจึงค่อยใส่น้ำและเกลือดอง  หรือผึ่งแดดไว้หนึ่งวันแล้วจึงเอามาดอง...ฯลฯ  ไม่นับรวมว่าจะต้องดองไว้กี่วัน ไม่น้อยกว่าเท่านั้นวัน หรือดองไว้เท่านั้นวันแล้วจึงเอามาออกมาทาน ไม่เหมาะที่จะดองเกินกว่าเท่านั้นวัน เหล่านี้เป็นต้น  แล้วก็ยังมีอีกด้วยว่า ดองแบบปรุงรสน้ำก่อนดอง หรือดองแล้วจึงเอามาปรุงรส   ขิงดองที่กินแนมกับอาหารญี่ปุ่นเป็นแบบดองก่อนแล้วเอาไปปรุงรสทีหลัง ขิงดองสีชมพูสวยๆของเราเป็นแบบดองในน้ำดองที่ปรุงรสแล้ว



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 18, 20:15
พริกดองน้ำส้มเป็นของที่เราคุ้นเคย หลายคนเอาแต่ตัวพริก หลายคนเอาแต่ตัวน้ำส้ม   น้ำส้มพริกดองตามร้านก๋วยเตี๋ยวเกือบทั้งหมด(น่าจะทั้งหมด)เป็นแบบดองด่วน คือหั่นพริกใส่ลงในน้ำส้มสายชูกลั่น บางเจ้าก็ใส่เกลือลงไปช่วยปรับรส แต่ส่วนมากน่าจะไม่มีการใส่เกลือ  หากจะให้พริกดูสดและกรอบก็ทำใหม่ทุกๆวัน

ลองมาทำพริกดองกินกันเอง กรอบอร่อยแบบไม่ต้องใช้น้ำส้มสายชูเลย จะกินเป็นของแนมกับอาหารใดๆก็พอได้อยู่ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 18, 19:18
ทำพริกดองแบบทันใจนั้น ความเปรี้ยวจะได้มาจากตัวน้ำส้ม ส่วนกลิ่นจะได้มาจากตัวน้ำส้มเอง(น้ำส้มหมักจากพืชผลชนิดต่างๆ) หรือได้มาจากการแต่งกลิ่นด้วยการใส่เครื่องกลิ่นลงไป(เครื่องเทศ)  ทำแล้วแช่ทิ้งไว้ให้เข้าเนื้อในตู้เย็นสักสองสามชั่วโมงก็ใช้ได้แล้ว  สำหรับรสนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนที่จะปรุงแต่งออกมา 

ส่วนผสมที่ใช้เป็นหลักพื้นฐาน คือ น้ำส้ม 1 แก้ว น้ำ 2 แก้ว เกลือทะเลเม็ด 1 ช้อนโต๊ะ  ใส่ภาชนะตั้งไฟให้ละลายเข้ากัน เมื่อคลายร้อนจนรู้สึกอุ่นๆแล้วก็เทใสในขวดปากกว้างที่ใส่พริกรอไว้แล้ว จะหั่นพริกหรือไม่หั่นก็ได้ ทิ้งให้เย็นพอที่จะเอาเข้าตู้เย็นแล้วก็แช่เย็นไว้ แบ่งออกมาทานตามใจชอบ     ลองทำครั้งแรกแล้วก็คงพอจะทราบว่า ควรจะการปรับรสไปทางใหน จะเติมน้ำตาลก็ได้   จะดองพืชผักอย่างอื่นร่วมไปก็ได้เช่นกัน เช่น แตงกวา หอมแดง กระเทียมกลีบที่ปอกเปลือกแล้ว   

ผมใส่ใบมะกอกอ่อนลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความกรอบของพริกดอง

     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 18, 20:18
ทำพริกดองอีกแบบหนึ่งที่ได้รสที่นุ่มนวลกว่า ความเปรี้ยวได้มาจากผลิตผลของเชื้อ Lactobacillus

หลีกพื้นฐานคือ ทุกอย่างต้องสอาด ใช้น้ำ 1 แก้ว เกลือทะเลเม็ด 1 ช้อนโต๊ะ ละลายเกลือในน้ำแล้วต้มให้เดือด ยกลง พักให้น้ำเกลือเย็น   ผมใช้พริกหนุ่ม ใส่ยอดมะกอกที่ใบใกล้จะแก่ 1-2 ใบ ใส่ใบกระวาน (ใบ bay) 1 ใบ และใส่กระเทียมกลีบใหญ่ลอกเปลือกแล้ว 2-3 กลีบ  เอาทั้งหมดใส่ขวดโหล ใช้ไม้ขัดกดให้ทุกอย่างจมอยู่ใต้น้ำ ปิดฝาแล้วนำไปตั้งไว้ในที่เย็นๆลับจากแสง  ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเปิดเอามาลองทาน แล้วก็กลัวจะเสียก็เอามาใส่ในตู้เย็น เก็บไปได้อีกเป็นเดือนๆ

อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องใส่ยอดมะกอกและใบกระวาน   ก็เพื่อให้สารความฝาดจากใบไม้ทั้ง 2 นั้นออกมาช่วยทำให้พริกกรอบ

ความรู้เรื่องน้ำดอง (brine) และแทนนินนี้ ได้มาจากตำราอาหารพื้นบ้านของพวกฝรั่งเขาครับ  เอามาลองทำดู ก็อร่อยใช้ได้  แต่จะเป็นที่ถูกใจของท่านทั้งหลายหรือไม่นั้นก็มิอาจจะทราบได้     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 11 ม.ค. 18, 19:14
ทำพริกดองอีกแบบหนึ่งที่ได้รสที่นุ่มนวลกว่า ความเปรี้ยวได้มาจากผลิตผลของเชื้อ Lactobacillus

ใช้ไม้ขัดกดให้ทุกอย่างจมอยู่ใต้น้ำ ปิดฝาแล้วนำไปตั้งไว้ในที่เย็นๆลับจากแสง  ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเปิดเอามาลองทาน
แล้วก็กลัวจะเสียก็เอามาใส่ในตู้เย็น เก็บไปได้อีกเป็นเดือนๆ
      


แปลกนะครับ แลคโตบาซิลลัส เจริญได้ดีในที่ร้อน อุณหภูมิสูง
เช่น ดองผักกาดดอง เอาผักเคล้าเกลือ ใส่น้ำตาลหน่อย (หรือน้ำซาวข้าว) แล้วตากผักในขวดโหลไว้กลางแดด
แดดยิ่งจัด ผักยิ่งเปรี้ยวเร็ว สีเหลืองอร่าม

กรณีทำโยเกริ์ตทานเอง ต้มนมให้เดือด ทิ้งให้อุ่นแล้วเติมเชื้อโยเกริ์ต
ตั้งทิ้งไว้ในที่ร้อนหน่อย เช่น ริมหน้าต่าง แดดเลียถึงหน่อยๆ
ทิ้งไว้ 5-10 ชม. ก็ได้โยเกริ์ตแล้ว

แต่สูตรของคุณตั้ง ไว้ในที่เย็น ลับแสง
น่าลอง ความรู้ใหม่ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 18, 19:19
เรื่องการดองพืชผักให้กรอบนี้  ผมว่าด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านของเราก็มี แล้วก็มีมานานมากๆแล้วเช่นกัน เพียงแต่ในวงวิทยาการของเรามิได้ให้ความสนใจขุดลึกลงไป และอาจจะมองแต่ว่ามันเป็นเพียงความนิยมเท่านั้น    ตัวอย่างเช่น ผักหนามดองที่เราเอามากินกับน้ำพริกนั้น ชาวไร่ชาวสวนพื้นเพเดิมจริงๆเขาจะใส่ใบมะดันลงไปในการดองด้วย ซึ่งหากได้ทานก็จะรู้ได้ในทันใดว่าผักหนามมันกรอบ (crunchy) ต่างไปจากแบบการดองโดยไม่ใส่ใบมะดัน หากถามเขาๆก็จะบอกว่าใส่ใบมะดันเพื่อช่วยให้มันเปรี้ยว    ในเชิงความรู้ทางวิชาการก็คือ ความเปรี้ยวนั้นเกิดจากจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส ความกรอบนั้นเกิดจากสารแทนนินจากใบมะดัน(ซึ่งมีรสฝาด)ที่เข้าไปช่วยดำเนินการ  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 18, 20:08
ใครชอบรับประทานผักบุ้งดองบ้างคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 11 ม.ค. 18, 22:19
ไม่เคยทานเลยครับ เพิ่งเห็นนี่แหละฮะ

ผมกำลังดองผักกาดอยู่พอดี ผักกาดเขียวปลีถุงละ 25 บาท ประมาณ 4 กก.
แต่เป็นผักตกสเปค คือต้นเล็กหน่อย เข้าโรงงานไม่ได้ ผักกาดเขียวปลีหาซื้อยาก
เมื่อสามปีก่อนโรงงานเกี่ยมฉ่ายรับซื้อโลละ 2 บาท
ชาวไร่ผักคนหนึ่งประกาศให้ชาวบ้านเก็บฟรีได้ ราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินเก็บไม่คุ้ม เลยให้ฟรีเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 18, 22:28
วิธีทำผักบุ้งดอง
http://cropwit.blogspot.com/2014/04/blog-post_692.html


ส่วนผสม
 
         ผักบุ้งเฉพาะยอด                                       1         กิโลกรัม
         ข้าวสุก                                                   1         ช้อนโต๊ะ
         น้ำตาลปีบ                                               2         ช้อนโต๊ะ
         เกลือป่น                                                ½         ถ้วย
         น้ำส้มสายชู                                             2         ถ้วย
         น้ำ                                                        2         ถ้วย

วิธีทำ
         1. ล้างผักบุ้งให้สะอาด ผ่าผักบุ้งเป็นสองซีก
         2. ตากแดดไว้ 1 วัน
         3. ผสมน้ำ เกลือ น้ำตาล คนให้ละลาย
         4. ใส่น้ำส้มสายชู ข้าวสุก คนให้ทั่วกัน
         5. ใส่ในโหลหรือไห
         6. ใส่ผักบุ้งลงในโหล ปิดฝาให้สนิท นำไปตากแดดไว้ประมาณ 3 วัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ม.ค. 18, 19:36
ผักดองของคนไทยเป็นของกินคู่กับน้ำพริก   แต่ก่อนโน้น ในครัวของชาวบ้านป่าแต่ละหลังเรามักจะเห็นภาชนะใส่ผักดอง เวลาทานข้าวก็ไปหยิบออกมาจิ้มกับน้ำพริก   ผักที่เห็นดองกันก็มักจะเป็นมะเขือเปราะ มะเขือพวง ต้นหอม ใบขี้เหล็ก ใบกุ่ม ผักกูด และพืชอื่นเฉพาะถิ่นบางชนิด   เมื่อเข้ามาใกล้เขตเมือง ผักดองที่เห็นเพิ่มเข้ามาก็จะมีหน่อไม้ ถั่วงอก ผักกาด ผักเสี้ยน ผักหนาม  ในพื้นที่ภาคใต้ก็จะมีอาทิ สะตอ ลูกเหรียง มะม่วงเบา   ส่วนการใส่ใบไม้รสฝาดนั้น นอกจากใบมะดันดังที่กล่าวมาแล้ว ก็มีใบมะยม       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 18, 19:06
ใบมะยม นึกถึงแหนมใบมะยมซึ่งมีขายกันในภาคอิสาน ผมยังไม่เคยทาน ได้แต่อ่านเรื่องราวซึ่งเขาก็ว่าอร่อยกัน ท่านผู้ใดที่เคยลิ้มลองแล้วช่วยกรุณาเล่าให้ฟังด้วยครับ

แหนมห่อที่สุกได้ที่แล้ว(ภาษาชาวบ้านหมายถึงแหนมที่ออกรสเปรี้ยวแล้ว)นั้น นอกจากจะเอามาหั่นทานกับขิงและหอมแดงหั่นแบบลูกเต๋า พริกขี้หนูสด และถั่วดินคั่ว(ถั่วลิสง)แล้ว  นำมาหั่นเป็นชิ้นๆชุบไข่แล้วทอด จิ้มทานกับซอสพริกศรีราชา ก็เป็นของยอดอร่อยอยู่ไม่น้อยแล้ว แต่หากจะให้เด็ดไปกว่านั้น ก็เพียงเอาไข่ที่เหลือจากการชุบแหนมนั้นลงทอดในน้ำมันที่ทอดแหนมชุบไข่นั้น แล้วเอาทั้งหมดโปะหน้าข้าวร้อนๆ ก็จะได้อาหารจานที่อร่อยได้ที่จริงๆเลยละครับ 

ในปัจจุบันนี้ แหนมห่อที่ห่อด้วยใบตองจริงๆน่าจะหาซื้อได้ยากมาก ส่วนมากจะห่อด้วยพลาสติกก่อนที่จะห่อทับด้วยใบตอง  และก็มักจะไม่ได้รสเปรี้ยวในระดับที่รู้สึกอร่อย เลยต้องใช้มะนาวช่วย    ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะมีการผสมหนังหมูมากจนเกินไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 18, 19:34
ก็มีแหนมอีกอย่างหนี่งที่เรียกว่าแหมหม้อ เป็นแหนมที่ไม่ได้มีการห่อแยกกันเป็นแท่งๆหรือเป็นอันๆไป  แต่ปัจจุบันนี้ก็มีที่ทำขายส่งด้วยการห่อแยกเป็นห่อใหญ่ๆ ผมก็ไม่เคยได้ลองทานสักครั้ง เคยทานแต่แบบที่ตัดแบ่งในกะละมังขายกันตามปริมาณที่ต้องการ   

ผมว่าแหนมหม้อมีรสดีกว่าแหนมห่อมาก แต่มันไม่เหมาะที่จะนำมาทานแบบสดกับขิงและหอม เพราะว่ามันจะดูรุ่ยๆ ไม่ดูเป็นชิ้นๆสายงาม และจะไม่รู้สึกกรุบๆเมื่อขบเคี้ยว    แหนมหม้อเอามาชุบไข่ทอดได้ แต่มักจะได้ภาพออกมาใกล้ๆจะเป็นไข่เจียวหมูสับ   ที่เหมาะที่สุดคือเอามาทำข้าวผัดแหนม และอื่นๆ (เช่น หลนแหนม  ไข่เจียวแหนม ...)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 18, 17:50
ข้าวผัดแหนม ตามปกติจะปรุงรสด้วยเกลือ  ถ้าจะเพิ่มความอร่อยเข้าไปก็ต้องใส่ยอดชะอมลงไปผัดด้วย คลุกเคล้าให้ทั่วก่อนที่จะยกลงจากเตา   สำหรับผมจะเพิ่มความอร่อยให้เด็ดขึ้นไปอีกด้วยการใส่กระเทียมโทนดองลงไปด้วย  แล้วก็ทานกับไข่ดาวที่ทอดแบบไข่ขาวกรอบๆ ทำน้ำปลาพริกขึ้หนูสับละเอียด ใส่หอมแดงซอย บีบมะนาว เท่านั้นเอง   ผักแนมก็ใช้แตงกวา ไม่ใช้แตงร้าน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 18, 18:32
ตามปกติ ข้าวผัดที่อร่อยจะต้องไม่แฉะและก็จะต้องไม่แห้งร่วนจนเกินไป  การผัดข้าวผัดแหนมนั้นก็เลยต้องมีวิธี เพราะว่าตัวแหนมนั้นคือตัวที่จะเพิ่มความแฉะให้กับตัวข้าวผัด

เมื่อจะผัดกินเอง ก็ควรจะเลือกใช้ข้าวที่หุงให้เมล็ดข้าวสวยหน่อย หากเป็นข้าวค้างคืนก็จะดี   ต่อยไข่ใส่ลงไปผัดในกระทะก่อนที่จะใส่ข้าว จนเมื่อไข่สุกจนจะเริ่มแห้งจึงใส่ข้าวลงไป   ปรุงรสด้วยเกลือ    ก่อนจะยกลงจึงใส่ยอดชะอมและกระเทียมโทนดอง  ทำในลักษณะนี้ก็เพื่อเป็นการลดความแฉะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 14 ม.ค. 18, 21:50
แปลกดีครับ ข้าวผัดแหนมยอดชะอม มันเข้ากันดีเหรอครับ ต้องลองบ้าง

พ่อแม่ผมซื้อที่ดินไว้ในเมือง มีบ้านเช่าติดที่อยู่ไม่กี่หลัง
พอหมู่บ้านมา เราเลยกลายเป็นไข่แดงกลางหมู่บ้าน

เราล้อมรั้วลวดหนาม แล้วผมปักกิ่งชะอมไว้รอบบ้าน ไปๆ มาๆ ไม่ได้อยู่ประจำ
วันอาทิตย์ทีเก็บไปฝากพี่น้อง คนรับดีใจกันใหญ่ เป็นของถูกที่ไม่ค่อยได้กิน
หาผักหลายๆ อย่างไปต้มกระทิ ตำน้ำพริก แล้วก็ทอดปลาทู

คนงานมอญ ใช้ยอดชะอมสดจิ้มยำปลากระป๋อง ไม่ลวกก่อน
ผมลองบ้าง กลัวเหม็นเขียว แต่ก็ไม่เท่าไร อร่อยใช้ได้

หลังๆ ชะอมล้มตาย ต้นใหม่เลยปลูกลึกเข้าไปก้นที่
คนในหมู่บ้าน ปลูกก็ไม่ต้องปลูก น้ำก็ไม่ต้องรด จ้องเก็บรั้วคนอื่น มันเยอะครับ
ผักสวนครัวรั้วกินได้คืออุดมคติ มะเขือเหลือง มะเขือพวง เขาทึ้งลูก ใช้กระชากกิ่งฉีกหมด
ผมแปลงเป็นรั้วไม้ดอกเรียบร้อยแล้ว


ปล. น่าบรรจุผักบุ้งดองไว้จิ้มน้ำพริก ผักบุ้งนาผัดน้ำมันของโปรดผม





กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 18, 10:05
แวะมาบอกวิธีทำผักบุ้งนาผัดน้ำมันหอย  ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=2vCXvECz_vE


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 18, 10:07
https://www.youtube.com/watch?v=_CfGq64QKFY


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ม.ค. 18, 11:33
น่ากินทั้งผักบุ้งบ้านและผักบุ้งนา ขอบคุณครับ


เพื่อนสิงคโปร์ (พูดกวางตุ้ง) นำผักบุ้งบ้าน (อองชอย) ผัดกระปิ ใส่พริก อร่อยดี
คนไทยผัดผักบุ้งบ้านมักใช้กระเทียม เต้าเจี้ยว และน้ำมันหอย ไม่ใส่กระปิ

มีใครรู้จัก ตะครึก บ้างครับ เอามาผัดน้ำมัน ก็อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง





กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 15 ม.ค. 18, 17:29
ร้านอาหารที่อ่างทองร้านหนึ่ง ผัดผักบุ้งไทยกับพริกแกง อร่อยดีค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 18, 18:33
ตะครึกหรือตะคึกเอามาผัดน้ำมันไม่เคยทาน เคยแต่เอามากินกับน้ำพริกครับ   

พาลให้นึกถึงต้นตะคร้ำที่ลำต้นมักจะถลอกปอกเปิกเพราะถูกขูดเอาไปผสมกับลาบหรือแกงไก่เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 18, 19:03
ผักพื้นบ้านหลายชนิด   แต่ก่อนนั้น ส่วนมากก็จะเอามาทานกันในลักษณะของผักแนมและทานกับน้ำพริก  จนกระทั่งเมื่อเราเปลี่ยนจากการใช้เตาถ่านมาเป็นเตาแกสเกือบจะทุกครัวเรือนแล้ว ก็จึงได้เห็นมีการเอามาผัดน้ำมันกันแบบใช้กระทะร้อน ปรุงรสด้วยเกลือบ้าง ซีอิ๊วบ้าง น้ำมันหอยบ้าง แล้วเพิ่มความจี๊ดจ๊าดด้วยการใส่พริกจินดาทุบบ้าง หั่นเฉลียงบ้าง   

ผักก้านจองและผักกูดผัดเอามาผัดกับน้ำมันหอยก็อร่อยมากๆเช่นกัน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 18, 19:11
สำหรับผักบุ้งไทยผัดพริกแกงที่คุณ Anna ได้เคยทานนั้น ผมไม่เคยทาน ก็พอจะเข้าใจได้ถึงความอร่อยได้  ก็คงจะคล้ายๆกับผัดพริกขิงกับกากหมู แต่เป็นการใช้ความกรอบของผักบุ้งไทยผสมผสานเข้าไปแทน  ซึ่งก็จะต่างออกไปจากการใช้ผักบุ้งจีนที่จะออกไปทางนิ่มเหนียวเสียมากกว่า   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 15 ม.ค. 18, 19:26
เคยแต่ใช้ผักบุ้งโฟลวกน้ำ แล้วผัดพริกแกง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 18, 19:28
ดอกไม้ก็เอามาผัดน้ำมันอร่อยได้มากๆเช่นกันครับ

ดอกชมจันทร์ผัดใส่ซีอิ๊วขาวหรือน้ำมันหอยก็อร่อย แถมเป็นผักอินทรีย์อีกด้วย  ฤดูนี้กำลังเป็นฤดูออกดอกของเขา หาซื้อดอกตูมๆมาผัด จะทานกับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆก็ได้ทั้งนั้น

ดอกโสน ล้างแล้วก็เอามาลงในกระทะร้อนๆที่ไล้น้ำมันบางๆรอบๆกระทะ  ก็เป็นผักอินทรีย์เช่นกัน เอามาทานกับน้ำพริกกะปิ(ที่ใส่ลูกมะอึกซอยด้วย_สุดยอด)  ดอกแคก็ทำได้เช่นกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 18, 20:54
สำหรับผักบุ้งไทยผัดพริกแกงที่คุณ Anna ได้เคยทานนั้น ผมไม่เคยทาน ก็พอจะเข้าใจได้ถึงความอร่อยได้  ก็คงจะคล้ายๆกับผัดพริกขิงกับกากหมู แต่เป็นการใช้ความกรอบของผักบุ้งไทยผสมผสานเข้าไปแทน  ซึ่งก็จะต่างออกไปจากการใช้ผักบุ้งจีนที่จะออกไปทางนิ่มเหนียวเสียมากกว่า  

https://www.pim.in.th/side-dish-by-pork/427-2011-03-02-14-54-38

ผัดพริกผักบุ้งกับกากหมู


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 18, 19:07
ผัดพริกขิงจะได้ชื่อมาเช่นใดก็ไม่รู้ เท่าที่รู้จักมาตั้งแต่ยังเด็กก็ไม่เคยเห็นมีการใส่ขิงเลย  ที่รู้จักคุ้นเคยก็เพราะว่ามันเป็นของที่ใช้เก็บไว้คลุกข้าวเมื่อยามที่รู้สึกจำเป็น และก็เป็นของที่สามารถใส่ขวดเก็บไว้ได้นาน ใส่กากหมูก็เพื่อเพิ่มความรู้สึกอะไรที่เป็นก้อนๆบ้าง   ส่วนแบบที่ใส่ผักสดลงไปผัดด้วยนั้นก็คงจะเป็นลักษณะของการทำกินเฉพาะมื้อ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 18, 19:33
ผัดพริกขิงเป็นอีกหนึ่งของอาหารของคนไทยที่จัดเตรียมไว้ทานในระหว่างการเดินทางเช่นเดียวกันกับน้ำพริกลงเรือ  น้ำพริกลงเรือนั้น นอกเหนือไปจากไข่เค็มที่เราได้เห็นกันเป็นประจำแล้ว ก็เหมาะที่จะทานกับผักแนมที่เป็นผักสด หรือจะกับพวกสัตว์น้ำย่างแห้งรมควันกรอบๆ   แต่กับผัดพริกขิงนั้น ไม่มีประสบการณ์จริงๆว่าอะไรคือของแนมที่เหมาะสม เว้นแต่จะเอาไปผัดกับของที่หามาได้ใหม่ (กากหมู ถั่วฝักยาว...) หรือใช้ทำเป็นน้ำพริกแกง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 18, 19:44
มีคำอธิบายเรื่องผัดพริกขิง ว่ามีขิงหรือไม่มีขิง ตามนี้ค่ะ
https://www.silpa-mag.com/from-the-fingertip/article_2146


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 18, 18:33
อ่านแล้วครับ ขอบคุณครับ   เลยทำให้นึกย้อนไปถึงว่า เคยแก้ขัดอยู่ครั้งหนึ่ง เอาขิงอ่อนส่วนต่อระหว่างเหง้ากับโคนต้นมาทานกับน้ำพริกกะปิ ก็ทานได้ ต้นข่าอ่อนๆก็ได้เหมือนกัน  แต่ที่โปรดมากที่สุดก็คือเหง้าขมิ้นขาว       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 18, 19:33
กลับไปที่ผักบุ้งหน่อยนึงครับ   

นึกถึงแกงเทโพ   เป็นหนึ่งในแกงกระทิของไทยที่ใส่ลูกมะกรูดทั้งลูกลอยฟ่อง แต่ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะเห็นมีลูกมะกรูดลอยให้เห็นแล้ว    ยังนึกไม่ออกว่ามีแกงผักอื่นๆของไทยที่ใส่ลูกมะกรูดอีกใหม ?  ที่ใกล้เคียงกันก็จะมีขนมจีนน้ำพริกที่ตัวน้ำพริกจะมีลูกมะกรูดลอยอยู่ให้เห็น   ซึ่งอาหารทั้งสองนี้ โดยผิวเผินแล้วจะมีรสชาติคล้ายๆกัน

แกงเทโพเกือบทั้งหมดที่ทำกันในปัจจุบันจะเป็นการแกงกับหมูสามชั้น มีน้อยรายที่จะแกงกับปลาเค็มที่ทำด้วยปลาเนื้อแน่น (เช่น ปลาสละ...)    เมื่อด้วยชื่อของมันที่น่าจะบ่งชี้ว่าเป็นแกงที่แกงกับปลาเทโพ ?  แต่ตั้งแต่รู็จักแกงนี้มาประมาณ 60 ปี ไม่เคยเห็นมีการแกงกับปลาเทโพเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 18, 20:47
เทโพพื้นเนื้อท้อง                เป็นมันย่องล่องลอยมัน
น่าซดรสครามครัน               ของสวรรค์เสวยรมย์

พระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานในรัชกาลที่ 2  เป็นหลักฐานว่าแกงน้ำข้นชนิดนี้ เดิมใช้เนื้อปลาเทโพ   
ว่ากันว่าปลาเทโพหายาก  เลยมีคนดัดแปลงเอาหมูสามชั้นมาแทน  ได้รสชาติแกงมันย่องแบบเดิม
เรียกชื่อใหม่ว่า แกงหมูเทโพ
หมูคงอร่อยและหาง่ายกว่า   แกงเทโพของเดิมก็เลยหายไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 18, 19:39
แกงเทโพที่ชวนกินจะต้องมีกลิ่นของลูกมะกรูดแบบพอที่จะรับรู้ได้ว่ามีปะปนอยู่ในกลิ่นของแกง จะต้องเป็นแกงที่ต้องกินหลังทำเสร็จใหม่ๆ เพราะยิ่งทิ้งไว้ผักบุ้งก็จะยิ่งเหนียว ยิ่งเคี่ยวก็ยิ่งมันทั้งน้ำมันที่ได้จากกระทิและจากหมูสามชั้น (พุงปลา)  ดูเป็นเหมือนแกงที่ทำง่าย แต่จริงๆแล้วไม่ง่ายนัก



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 18, 19:51
น้ำพริกของขนมจีนน้ำพริกก็เป็นอีกหนึ่งที่ต้องใส่มะกรูดทั้งลูกลงไป และความน่ากินก็จะต้องมีกลิ่นของลูกมะกรูดโชยออกมาเช่นกัน     ขนมจีน+น้ำพริก+เหมือดทั้งหลาย  เป็นอีกหนึ่งสุดยอดของอาหารไทย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 18, 20:07
ขนมจีนราดน้ำพริก  ที่คุณเปรมให้คนพายเรือไปให้แม่พลอยกินที่บางปะอิน  มีใบบัวอ่อน ใบกระถิน ด้วย
เดี๋ยวนี้ใบกระถินยังมี   แต่ใบบัวอ่อนหายไปจากขนมจีนน้ำพริกแล้วค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 18, 19:11
เครื่องประกอบของขนมจีนน้ำพริกมีความหลากหลายมาก ทั้งผักสด ผักต้ม ผักผัด ผักชุบแป้งทอด พริกแห้งทอด และไข่ต้ม 

ซึ่งที่เราเห็นกันบ่อยๆก็จะมีหัวปลีซอย ผักบุ้งซอย(ลวกหรือผัดน้ำมัน) ถั่วฝักยาวซอย(ลวกหรือผัดน้ำมัน) ใบพริกชุบแป้งทอด ไข่ต้ม และพริกแห้งทอด    ที่ทำให้ดูน่ากินขึ้นก็จะเพิ่มถั่วพูซอย(ลวกหรือผัดน้ำมัน) ใบเล็บครุฑ ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว(ชุบแป้งทอด)   ที่ไม่ค่อยจะเห็นกันก็จะมียอดกถิน ผักกะเฉด กุ้งตัวเล็กชุบแป้งทอดเป็นตัวๆ    และที่เกือบจะไม่รู้เลยก็คือทอดมันที่จัดวางอยู่ใกล้ๆนั้นก็เป็นหนึ่งในชุดของขนมจีนน้ำพริก    ผมคิดว่าเครื่องเคียงต่างๆน่าจะมีความหลากหลายมากกว่านี้ แต่ตนเองไม่เคยได้สัมผัส ดังเช่นที่ อ.เทาชมพู ว่า ใบบัวอ่อนซอยก็มีอยู่ด้วย 

ความพิเศษของชุดขนมจีนน้ำพริกก็คือ จะตักทานแบบเส้นขนมจีนมากผักน้อย หรือจะตักทานแบบเส้นขนมจีนน้อยเครื่องเคียงมากก็ได้ หรือจะผันไปเป็นสลัดผักลวกหรือผักต้มราดด้วยน้ำพริก แนมด้วยของชุบแป้งทอดก็ได้อีกเช่นกัน   อร่อยทั้งน้าน โดยเฉพาะเมื่อทานกับไข่ต้มอ่อนๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 18, 19:46
ขนมจีนน้ำพริกเริ่มกลายเป็นเมนูอาหารของสถานที่ขายอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ (ในโรงแรม)  ในขณะที่หาซื้อทานได้ตามตลาดชุมชนได้ยากมากขึ้น    จะเป็นด้วยเพราะเหตุนี้หรือเปล่าก็มิทราบ เลยได้เห็นภาพ(บ่อยๆ)ของการตักแบบไม่แน่ใจว่าองค์ประกอบของมันควรจะมีอะไรบ้าง   ยิ่งไปเจอแบบโต๊ะที่มีชุดขนมจีนซาวน้ำและขนมจีนน้ำยาจัดวางให้เลือกตักอยู้ด้วย...ปะปนก้นดีครับ

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเอาดอกไม้ที่ทานได้มาชุบแป้งทอดเป็นเครื่องประกอบด้วย (เช่น ดอกขจร ดอกเข็ม ดอกอัญชัน ดอกโสน ดอกชมพู่....)  ยังกะทำเทมปุระทานแบบไทยๆ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 18, 19:36
ขนมจีนน้ำพริกทำค่อนข้างยาก และจะทำให้อร่อยก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก เป็นอาหารที่มีความสลับซับซ้อนของรสและกลิ่นจากเครื่องประกอบต่างๆค่อนข้างมาก ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความอร่อยที่เหยาะเพิ่มให้มีความเข้มข้นขึ้นไปอีกด้วยเครื่องชุบแป้งทอดต่างๆ

ต่างกับขนมจีนน้ำยาที่ทำค่อนข้างง่าย และที่ต่างกันไปมากกว่านั้นอีกก็คือ ขนมจีนน้ำพริกออกรสไปทางหวาน แต่ขนมจีนน้ำยาออกรสไปทางเผ็ด

ขนมจีนน้ำยานั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แบบใส่กระทิ กับแบบไม่ใส่กระทิ(ซึ่งมักจะถูกเรียกว่าน้ำยาป่า)  ผักเหนาะของขนมจีนน้ำยาก็เหมือนๆกันกับของขนมจีนน้ำพริก ต่างกันก็ตรงที่ของน้ำยาจะเป็นผักสด ซึ่งผักที่เราเห็นแม่ค้าใช้กันเป็นปรกติทั่วๆไปก็จะมี ถั่วงอก ถั่วฝักยาว กล่ำปลี แตงกวา ผักกอดดอง และใบแมงลัก บางเจ้าก็มีมะระจีนด้วย   แต่หากเป็นร้านอาหารชาวใต้ ก็มักจะมียอดกระถิน ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมันปู ยอดมะกอก หัวไชโป๊วหวาน...  แล้วก็ยังมีผักอื่นๆที่เอามาทานเป็นผักเหนาะได้ เช่น ยอดมะม่วง ยอดจิก ผักติ้ว ใบบัวบก แปะตำตึง....ฯลฯ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 ม.ค. 18, 20:02
แล้วขนมจีนน้ำเงี๊ยวมาจากไหนล่ะครับ มีทั้งเลือดมีทั้งเนื้อติดกระดูกรสชาติจิ๊ดจ๊าดมาก ส่วนตัวชอบขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ที่สุด(แต่ต้องไม่เผ็ดโฮกนะ) ต่อด้วยขนมจีนน้ำพริกหวาน ๆ มัน ๆ นี่แหละ ได้นั่งทานบนเรือแบบสี่แผ่นดินนี่ฟีนาเล่เลย


มาไม่ทันเรื่องผัดผักบุ้ง ร้านแถวบ้านนอกจากมีผัดถั่วฝักยาวหมูใส่กะปิแล้ว วันก่อนยังมีผัดผักบุ้งหมูใส่กะปิด้วย เสียดายน้ำขลุกขลิกน้อยไปนิดสสสสสส อยากกินไข่เจียวหมูสับกะปิต่อซะแล้วเรา  :-\



ช่วงนี่เห่อเอาผักบุ้งจีน คะน้ายอด และเขียวกวางตุ้งมาปลูกนิดหน่อย แล้วจะแสดงฝีมือเชฟกะทะเด็กให้ชมนะครับ แฮร่ !!! (ปลูกให้ขึ้นก่อนมั้ย)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 18, 18:42
ขนมจีนน้ำยาจะต้องใส่ใบแมงลัก มิฉะนั้นก็จะไม่เป็นขนมจีนน้ำยาที่สมบูรณ์

ขนมจีนน้ำยาไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมกันในภาคเหนือ แต่นิยมกันในภาคอิสานและภาคใต้ สำหรับในภาคกลางนั้น จากประสบการณ์การทำงานที่ต้องเดินทางไปในที่ต่างๆที่ผ่านมาพบว่า ไม่ค่อยจะนิยมกินกัน จนกระทั่งเมื่อเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผู้คนต่างก็เข้ามาทำงานใน กทม.และเขตปริมณฑล ก็จึงได้เห็นมีแม่ค้าขายขนมจีนในเกือบจะทุกตลาดชุมชน ในปัจจุบันเราจะเห็นมีเส้นขนมจีนบรรจุเป็นแพ็คขายกันเกร่อไปหมด   

ภาคกลางเรียก ขนมจีน   ภาคเหนือเรียก ขนมเส้น   ภาคอิสานเรียก ข้าวปุ้น 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 18, 19:15
น้ำยาของขนมจีนก็มีการพัฒนาไปมาก  แต่ก่อนนั้นจะใช้เนื้อปลาเป็นหลัก และมักจะมีชื่อกำกับชนิดปลาไว้ด้วย เช่น น้ำยาปลาช่อน...  ในปัจจุบันนี้มีการใช้เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อกุ้ง เนื้อปู (หรือเนื้อปลากลิ่นปูก็ไม่รู้)    สำหรับในพื้นที่ชนบทจริงๆนั้น ก็ยังคงมีน้ำยาปลาร้า น้ำยาปลาเค็ม... ที่เคยพบมาก็มีแบบใส่หยวกกล้วยอ่อนเพื่อเป็นการเพิ่มเนื้อด้วย    ซึ่งสำหรับผมแล้วเห็นว่า ก็อร่อยทั้งนั้นและครับ ขึ้นอยู่กับเราที่จะทำให้มันอร่อยด้วยเครื่องเคียง มันก็เสมือนกับการเลือกผักมาเข้าคู่กับน้ำพริกให้เหมาะสม   

ผมเดาเอาว่า ด้วยที่น้ำยาแต่เดินนั้นใช้เน้ื้อปลาซึ่งมีความคาว น้ำยาจึงต้องใส่กระชายเพื่อช่วยกลบกลิ่นคาว ซึ่งก็ให้บังเอิญว่ากระชายนั้นเป็นพืชป่าที่ขึ้นได้ในพื้นที่ชื้นและหาได้ง่ายในพื้นที่ริมตลิ่งลำน้ำทั้งหลาย  ขนมจีนน้ำยาจึงเป็นของที่นิยมและแพร่หลายของชุมชนต่างๆในพื้นที่ลุ่มและตามลำน้ำสายต่างๆ น้ำยาทั้งหลายที่มีการพัฒนาต่อๆมาจึงยังคงต้องมีการใส่กระชายอยู่เพื่อการรักษากลิ่นและรส   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 18, 19:51
แล้วขนมจีนน้ำเงี๊ยวมาจากไหนล่ะครับ มีทั้งเลือดมีทั้งเนื้อติดกระดูกรสชาติจิ๊ดจ๊าดมาก ส่วนตัวชอบขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ที่สุด(แต่ต้องไม่เผ็ดโฮกนะ) ต่อด้วยขนมจีนน้ำพริกหวาน ๆ มัน ๆ นี่แหละ ได้นั่งทานบนเรือแบบสี่แผ่นดินนี่ฟีนาเล่เลย

ที่มาของขนมจีนน้ำเงี้ยวนั้นไม่ทราบครับ แต่แน่นอนว่าเป็นของนิยมของผู้คนในเหนือ  จากประสบการณ์การเดินทางของผมพบว่า เส้นแบ่งเขตของขนมจีนน้ำเงี้ยวจะไม่ข้ามเลยเขตต่อระหว่าง จ.แพร่-น่าน กับ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.ลำปาง กับ จ.ตาก

บางคนก็ว่าคำว่าน้ำเงี้ยวอาจจะเพี้ยนมาจาก ดอกงิ้ว  เพราะน้ำเงี้ยวจะต้องมีการใส่เกษรแห้งของดอกต้นงิ้ว  แต่ผมเห็นในอีกมุมหนึ่ง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 18, 22:53
น้ำเงี้ยวเป็นอาหารพื้นบ้านของพวกไทใหญ่ค่ะ    สมัยก่อนเราเรียกพวกนี้ว่า "เงี้ยว"
แต่เดิมไม่ได้กินกับขนมจีน  น่าจะเป็นแกงชนิดหนึ่ง จึงเรียกว่า "น้ำ" กินกับข้าวเหมือนภาคกลางกินข้าวราดแกง
ต่อมาจึงได้เอาไปกินกับขนมจีน  เข้ากันได้ดี เลยกลายเป็นขนมจีนน้ำเงี้ยว อาหารจานเดียวของภาคเหนือ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 18, 18:21
ในภาคเหนือของเราแต่ก่อนโน้นมีพวกเงี้ยวเข้ามาอาศัยอยู่กระจัดกระจายในหลายพื้นที่ ซึ่งไทยเองก็ยังเคยโดนพวกเงี้ยวยกพวกปล้นและจะเข้ายึดเมืองในสมัย ร.5 เช่น ที่เมืองเชียงราย เมืองแพร่  ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากพอในระดับที่ต้องส่งกองกำลังทางทหารและตำรวจออกไปปราบปราม  เหตุการณ์ไม่สงบทั้งหลายที่เกี่ยวกับเงี้ยวนี้เอง ดูจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งจังหวัดทหารบกขึ้นมาทั่วประเทศไทย

วัฒนธรรมเงี้ยวที่ตกค้างอยู่ปัจจุบันเท่าที่นึกออกก็ดูจะมี น้ำเงี้ยว ข้าวกันจิ้น และหมวกเงี้ยว(เห็นมากอยู่ในพื้นที่ อ.งาว และ จ.แพร่)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 18, 18:48
ในสมัยก่อน ขนมจีนน้ำเงี้ยวนั้นจะพบเห็นได้ในตลาดเช้าของชุมชนในภาคเหนือเกือบจะทุกตลาด เป็นลักษณะของอาหารจานด่วน ทำง่าย ราคาถูก และไม่ต้องทำสำเร็จมาจากบ้านเพียงทำแต่เส้นขนมจีนมาเท่านั้น  ซื้อทานกันเสมือนทานข้าวต้มเครื่องยามเช้า ตักใส่ถ้วยใบไม่ใหญ่ขายกัน

ขนมจีนน้ำเงี้ยวมีลักษณะเป็นอาหารประจำของงานทางสังคม แต่ก่อนนั้นต้องมีการช่วยกันโม่แป้ง ต้มน้ำ ทำเส้นขนมจีน  ในปัจจุบันนี้ขนมจีนมีขายแบบสำเร็จทั่วไป จึงเหลือแต่เพียงการทำน้ำเงี้ยว   แต่น้ำเงี้ยวก็ยังคงเป็นอาหารประจำของงานบุญต่างๆ ในงานแต่ง ในงานสังสรรค์ ในงานศพ...   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 18, 19:10
สำหรับผม ความอร่อยของน้ำเงี้ยวอยู่ที่การใช้ถั่วเน่า ใช้มะเขือส้ม(ไม่ใช้มะเขือเทศ) ใช้กระดูกหมูอ่อนสับเป็นท่อนสั้นๆขนาดไม่เกินข้อองคุลีของนิ้วก้อย ดอกงิ้วนิ่มๆ ใช้กระเทียมไทยเจียวทั้งเปลือกอ่อนโรยหน้า ทานกับแคบหมูติดมันเส้นขนาดประมาณนิ้วชี้ ผักกาดดอง และพริกแห้งทอด 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 18, 20:04
ขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ที่คุณ super boy ชอบ ผมก็ชอบครับ แต่จะหนักไปทางนิยมทานมะเขือมากกว่าเนื้อไก่ แล้วก็นิยมที่จะใส่ข้าวสวยปนลงไปด้วย กลายเป็นขนมจีนปนข้าวราดแกงเขียวหวาน ใส่ใบโหระพา และเพิ่มรสแต่ละคำด้วยน้ำปลามะนาว(มากกว่าปกติหน่อย) ใส่พริกขี้หนูซอยละเอียดกับหอมแดงซอยบางๆ (ตักเอาแต่พริกและหอมแดงมาทาน)

ขนมจีนจะทานกับแกงเผ็ดอะไรก็ดูจะได้ทั้งนั้น แต่ที่เป็นคู่กันจริงๆน่าจะเป็นกับแกงเขียวหวาน แล้วก็ต้องรู้เลือกเครื่องเคียงเพื่อเพิ่มความอร่อยเหาะเข้าไปอีก เช่น กับปลาตะเพียนแดดเดียวทอด กับปลาสละทอด กับไข่ต้ม กับไข่พะโล้...     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 18, 20:24
เมื่อก่อน  จำได้ว่าแม่ค้าที่หาบข้าวแกงมาขาย มักจะเป็นแกงเผ็ดปลาดุก   ขนมจีนก็กินกับแกงเผิดปลาดุกนั่นแหละ
ถ้าเป็นแกงเนื้อ ดูจะหรูหราขึ้นโต๊ะมากกว่าค่ะ คงเป็นเพราะเนื้อวัวแพงกว่าปลาดุก
ต่อมา ขนมจีนแกงเขียวหวานแซงหน้าแกงเผ็ด   กินกับขนมจีนเข้ากันสุดๆ  เมนูร้านอาหารไทยมักจะมีแกงเขียวหวานขึ้นหน้าแกงเผ็ดอื่นๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 18, 17:58
ขออภัยครับ หายไปสองสามวันด้วยเหตุ router WiFi มันป่วยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 18, 18:47
ใช่อย่างที่ อ.เทาชมพู ว่า  แต่ก่อนนั้น แกงที่แม่ค้าร้านข้าวแกงทำขายกันเป็นประจำส่วนมากมักจะเป็นแกงปลาดุก (ซึ่งเป็นปลาดุกด้านทั้งนั้น ปลาดุกอุยจะถูกแยกออกไปเพื่อเสียบไม้ทำปลาดุกย่าง)   แกงเนื้อนั้นก็มีการทำขายกัน แต่ด้วยที่เนื้อส่วนที่จะมาทำแกงให้อร่อยนั้น ในตลาดมีไม่มากนัก (ติดมันและไม่เหนียว) ร้านที่ทำแกงเนื้อได้อร่อยจึงมีไม่มากนัก ประกอบกับผู้คนเป็นจำนวนมากเลิกบริโภคเนื้อวัวและเนื้อวัวมีราคาแพงมากกว่าเนื้อหมูและเนื้อไก่ (จนเกือบจะไม่มีแม่ค้านำเนื้อวัวมาทำขายกันแล้ว)  เนื้อหมูและเนื้อไก่จึงเข้ามาแทนที่ ซึ่งในที่สุดเนื้อไก่ก็ครองตลาดเกือบทั้งหมด

ผมก็ยังนิยมทานขนมจีนแกงปลาดุก โดยเฉพาะที่เป็นปลาดุกนาที่มีสาบกลิ่นโคลน และก็ไม่เกี่ยงเลยที่จะได้ส่วนหัวของปลาดุกมา 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 18, 21:21
ตั้งใจจะไปหาภาพขนมจีนแกงปลาดุกมาประกอบ     แปลกใจที่เชฟกู๊กหาให้ไม่ได้ค่ะ
เจอแต่ขนมจีนแกงป่าปลาดุก   ไม่ยักใช่แกงเผ็ดปลาดุก   อีกทีก็เจอขนมจีนน้ำยาปลาดุก
สงสัยว่าขนมจีนแกงปลาดุกอย่างที่เราเคยกินกันตอนเด็กๆ จะตกความนิยมไปแล้ว

ภาพที่หาได้คือ แกงเผ็ดปลาดุกใส่ใบยี่หร่า ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 18, 21:22
ในที่สุด หามาได้ แต่น้อยนิดเหลือเกิน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 18, 19:13
หากเป็นแกงปลาดุกใส่กระเพราะช้างหรือกระเพราควาย เครื่องแกงไม่ใส่ขมิ้น คนพื้นบ้านภาคกลางก็จะเป็นคนทำ  แต่หากเป็นแกงปลาดุกใส่ใบยี่หร่า เครื่องแกงใส่ขมิ้น ก็จะเป็นคนภาคใต้ทำ     กระเพราช้างหรือกระเพราควายก็คือยี่หร่านั้นเอง

เมื่ออาหารไทยมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น แกงปลาดุกในพื้นที่ภาคกลางก็เกือบจะไม่ค่อยมีการทำขายกัน หันไปทำปลาดุกผัดเผ็ดหรือทอดกรอบผัดพริกแกงกันหมด   แกงปลาดุกที่หาทานได้จึงมักจะเป็นแกงที่คนใต้ทำ ซึ่งเป็นแกงใส่ใบยี่หร่า

ผมมีความเห็นว่า ด้วยที่ปลาดุกที่ใช้ทำอาหารกันในปัจจุบันนี้เป็นปลาดุกเลี้ยง ตัวมีขนาดใหญ่ เมื่อนำมาทำอาหารขาย ก็จึงสับออกเป็นชิ้นบาง ผลก็คือ ก้างปลาเลยถูกตัดเป็นท่อนสั้นๆ ทำให้ต้องทานแบบต้องคอยปลิ้นต้องคายก้าง ทานยากมากขึ้น   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 18, 19:39
ขนมจีนที่หาทานได้ยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขนมจีนซาวน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นขนมจีนแบบที่พวก Veggie พอใจ 

ผมเห็นว่าขนมจีนซาวน้ำเป็นขนมจีนที่เสน่ห์ปลายจวักของมันปรากฎอยู่ในทุกเครื่องปรุงซึ่งจะร่วมกันเปล่งออกมาเมื่อนำมารวมกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 18, 10:18
จริงค่ะ  ขนมจีนซาวน้ำหากินได้ยาก  ตามร้านที่ขายขนมจีนแกงเขียวหวาน ไม่ค่อยมีซาวน้ำให้เลือก
เด็กรุ่นหลังคงจะไม่ค่อยรู้จักกันอีกแล้ว
เมื่อก่อน ขนมจีนซาวน้ำกินกันในหน้าร้อน  รสชาติหวานๆเย็นๆ มีผลไม้อย่างสับปะรดกินกันให้ชื่นใจ  มีรสเปรี้ยวแกมด้วยนิดหน่อยจากตะลิงปลิงหรือมะนาว    ไม่เผ็ดอย่างแกงเผ็ด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 18, 19:12
คนที่ทำขนมจีนซาวน้ำได้อย่างอร่อยจะต้องเป็นคนใจเย็น เนื่องจากจะต้องหั่นหรือซอยเครื่องปรุงทุกอย่างให้ละเอียด(fine)    ซึ่งผมมีความเห็นส่วนตัวว่า เหตุที่เครื่องปรุงต่างๆจำเป็นจะต้องมีลักษณะเป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ด้วยที่ขนมจีนซาวน้ำเป็นอาหารประเภทคลุกและต้องการรสและกลิ่นของเครื่องปรุงต่างๆดังที่เป็นธรรมชาติของมันโดยไม่ผ่านกระบวนการทางการครัวใดๆ   ดังนั้นการทำให้พื้นผิวของเครื่องปรุงต่างๆมีพื้นที่มากขึ้นก็จะทำให้เครื่องปรุงนั้นๆสามารถแผ่กระจายรสและกลิ่นได้มากขึ้น   

กล่าวได้ว่า คนรุ่นเก่าก่อนโน้นรู้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์อย่างดี จึงสามารถรังสรรค์ขนมจีนซาวน้ำได้อย่างอร่อย เพียงด้วยการซอยขิงให้เป็นเส้นเล็กๆแทนที่จะซอยเป็นแว่นๆหรือสับละเอียด ซอยกระเทียมให้เป็นแว่นบางๆแทนที่จะทุบแล้วสับ ซอยพริกขี้หนูสวนเป็นแว่นบางๆเล็กๆแทนที่จะสับ โขลกกุ้งแห้งชนิดไม่มีเปลือกจนละเอียดแต่ยังไม่ถึงเนื้อฟู หั่นหรือซอยสับปะรดให้เป็นชิ้นเล็กๆแต่ไม่ถึงขนาดเละจนฉ่ำไปด้วยน้ำ ใช้น้ำมะนาวจากมะนาวแป้นเปลือกบาง ใช้น้ำปลาดี ใช้น้ำกระทิที่เคี่ยวให้สุกใกล้ที่จะแตกมันที่ใส่ลูกชิ้นปลาลูกเล็กๆ ใช้น้ำตาลทรายเม็ดหยาบขนาดกลางๆ แถมด้วยไข่เป็ดต้มยางมะตูมใกล้ๆจะสุกเต็มที่   



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 18, 19:22
พูดถึงสับปะรด เลยทำให้นึกถึงต้มสับปะรดกับหมูสามชั้น แกงคั่วสับปะรดกับหอยแมลงภู่ แกงคั่วสับปะรดกับไข่แมงดาทะเลและเพิ่มความอร่อยโลดด้วยการใส่เห็ดเผาะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 18, 20:11
แกงคั่วสับปะรดน่ากินมาก     ส่วนต้มสับปะรดกับหมูสามชั้นเห็นจะต้องขอเปลี่ยนเป็นซี่โครงหมู เผื่อจะมันน้อยลงหน่อยค่ะ
ไข่แมงดาทะเล หาไม่ได้ เลยไม่มีรูปมาโชว์


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 ม.ค. 18, 20:58
แกงกะทิเห็นแล้วน้ำลายไหล แม่ผมคุมไขมันเลยไม่หามาให้กิน ผมก็เลยไม่ได้กินตามไปด้วย 5-6 ปีแล้ว (น้ำอัดลมก็เช่นกัน) แกงกะทิวุ้นเส้นหมูสับของโปรดเลย  :'(


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 18, 21:07
แกงกะทิวุ้นเส้นหมูสับคืออะไรคะ
แกงร้อน หรือเปล่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 18, 19:21
ผมไม่เคยกินแกงกะทิวุ้นเส้นหมูสับ  แล้วก็เข้าใจว่าไม่น่าจะเรียกว่าแกงร้อน 

แกงที่เรียกว่า "แกงร้อน" ที่กินมาแต่เด็กนั้น เป็นแกงจืดวุ้นเส้นแบบทรงเครื่อง คือมีเครื่องปรุงหลายอย่างประกอบกัน  ซึ่งในสมัยก่อนนั้นน่าจะจัดเป็นแกงจืดที่ทำกินกันภายในครอบครัวหรือในงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีเด็กและผู้เยาว์ร่วมอยู่ในงานด้วย   

แกงร้อนเป็นแกงที่ใช้ต้องเวลาในการทำ เป็นแกงที่มีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือใช้เครื่องปรุงประเภท preserved food เป็นแกงที่ดูว่าน่าจะทำง่ายแต่แฝงไปด้วยรายละเอียดมาก (แสดงถึงฝีมือของคนทำ)     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 18, 20:06
จะทำแกงจืดวุ้นเส้นที่เรียกว่าแกงร้อนแต่ก่อนนั้น  เริ่มต้นด้วยการต้มกระดูกหมูเพื่อเอาน้ำมาทำน้ำแกง ทำหมูบะช่อแบบทุบกระเทียม(และรากผักชี)ใส่สับรวมลงไปแล้วเหยาะด้วยเกลือหรือน้ำปลาหรือซีอิ๊วขาว  เอาวุ้นเส้นแห้ง เห็ดหูหนูแห้ง ฟองเต้าหู้แห้ง ดอกไม้จีนแห้ง มาแช่น้ำอุ่นนิ่ม  เอากุ้งแห้งไร้เปลือกตัวเล็กแช่น้ำ ปอกหอมใหญ่ทั้งลูกหั่นตามยาวออกเป็น 8 หรือ 16 ส่วน ล้างรากผักชีเตรียมไว้ หั่นต้นหอมสดเป็นท่อนๆเตรียมไว้  บุบพริกไทยพอแตกเตรียมไว้

พรุ่งนี้ค่อยทำกันครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 29 ม.ค. 18, 20:57
หน้าตาคล้ายแกงแพนงแต่เผ็ดกว่าประมาณแกงเผ็ดหน่อไม้ ใส่วุ้นเส้นกับหมูสับเป็นหลักจำไม่ได้ว่าใส่มะเขือหรือเปล่า

ควรจะเรียกว่าแกงเผ็ดวุ้นเส้นมั้งครับ แถวบ้านเรียกแกงวุ้นเส้นเฉย ๆ ผมก็ตามนั้น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 18, 21:09
หน้าตาประมาณนี้มั้งคะ คุณซูเปอร์บอย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 18, 19:22
เมื่อเครื่องปรุงแกงร้อนที่แช่น้ำไว้มีความนิ่มแล้ว ก็ถึงกระบวนการปรับแต่งให้น่ากิน   

วุ้นเส้น   เทน้ำออก เอามือช้อนวุ้นเส้นขึ้นมาแล้วใช้มีดกดตัดเส้นบนมือให้สั้นลงตามต้องการ  วุ้นเส้นที่ใช้จะต้องเป็นวุ้นเส้นที่ทำจากแป้งถั่วเขียว มันจึงจะเหนียว ไม่พองน้ำ และจะยังคงเป็นเส้นใสๆอยู่แม้ว่าจะแช่อยู่ในน้ำแกงทั้งคืนก็ตาม

เห็ดหูหนู    หยิบขึ้นมา ตัดโคนของมันที่เป็นก้อนแข็งออกไป แล้วหั่นเป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการ   แต่ถ้าจะให้ดูดีจริงๆ ก็เลือกเอาเห็ดแห้งที่คะเนว่าเมื่อแช่น้ำแล้วจะขยายตัวออกมาเป็นดอกเห็ดขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ

ดอกไม้จีน   ก็เช่นกัน ใช้นิ้วมือเด็ดส่วนแข็งที่เป็นโคนดอกออกไป

ฟองเต้าหู้   ก็จัดการฉีกหรือตัดให้เป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการ  ฟองเต้าหู้นั้นมีทั้งแบบที่ทำเป็นแผ่นหนาและแผ่นบาง  ชนิดแผ่นบางก็จะกรอบ เมื่อบิใส่ภาชนะที่จะแช่น้ำก็มักจะแตกร่วนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหรือเป็นผง  คงจะต้องเลือกเอาเองระหว่างฟองเต้าหู้รูปทรงแบบธรรมชาติ หรือจะเป็นทรงแบบใช้มีดตัด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 18, 19:33
กุ้งแห้งแช่น้ำจนพองแล้วทำได้สองแบบ คือ ใช้ทั้งตัว หรือบรรจงผ่าหลังแต่ละตัวซึ่งจะใด้ทั้งความนิ่มเสมอกันทั้งตัวและรสที่มีความกลมกลืนไปก้บเครื่องปรุงอื่นๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 18, 18:52
เมื่อเครื่องปรุงพร้อมแล้วก็เริ่มทำแกง 

ต้มน้ำกระดูกหมู เมื่อน้ำที่ใส่กระดูกหมูเริ่มร้อนจัด ก็จะเกิดฟองลอยเป็นแพขึ้นมา ค่อยๆทะยอยตักออกทิ้งไป  พอน้ำเดือดก็หรี่ไฟพอให้น้ำเดือดปุดๆแล้วค่อยๆช้อนฟองออกไปจนน้ำต้มกระดูกดูใส เคี่ยวไปสักพัก   ใส่รากผักชีบุบ ใสหอมใหญ่ ใส่เม็ดพริกไทยบุบพอแหลกลงไป เร่งไฟให้น้ำเดือดแล้วค่อยๆใส่หมูบะช่อลงไป จะปั้นเป็นก้อนหรือใส่เป็นแพแล้วยีให้แตกในภายหลังก็สุดแท้แต่จะชอบ แต่ไม่ควรจะเป็นชิ้นใหญ่ ใส่กุ้งแห้ง หรี่ไฟลงเล็กน้อยแล้วค่อยๆช้อนฟองออกอีกครั้งหนึ่ง  ใส่เกลือทะเลลงไปเล็กน้อยเพื่อช่วยเรื่องเค็ม ใส่ฟองเต้าหู้ ใส่ดอกไม้จีน แล้วใส่เห็ดหูหนูตามลงไป  แต่งรสและกลิ่นด้วยซีอิ๊วขาวและน้ำปลา คะเนว่าทุกอย่างนิ่มดีแล้วโดยเฉพาะฟองเต้าหู้ ก็ใส่วุ้นเส้นลงไป เร่งไฟให้เดือดแล้วปิดไฟทั้นที ใส่ต้นหอมแล้วยกลง    ตักใส่ชามแกง โรยด้วยพริกไทยป่นและใบผักชีโรยหน้า   ก็จะได้แกงร้อนที่ผมชอบ   

เคยเห็นแบบที่ใส่ปลาหมึกสดตัวเล็กๆทั้งตัวหรือปลาหมึกกรอบหั่นเป็นแผ่นก็มี 

โดยสรุปก็เลยไม่รู้ว่าแกงร้อนชื่อนี้ หน้าตาของมันแท้ๆเป็นอย่างไร  อาจจะหมายถึงแกงวุ้นเส้นที่ร้อนด้วยพริกไทยก็ได้ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 18, 20:13
เมื่อกินไม่หมดเหลืออยู่ในหม้อแกง อุ่นไปอุ่นมาจนน้ำข้น  ผมก็แปลงต่อไป ต่อยไข่ใส่ลงไปกวนให้สุก เติมซีอิ๊วขาวเพิ่มรสลงไป เหยาะจิ๊กโฉ่วลงไป ก็กลายเป็นเสมือนซุปเสฉวน_ sweet & sour soup หรือไม่ก็หูฉลามเทียม   ต่อมาก็แปลงต่อ ไปใช้เนื้อไก่ต้มฉีกใส่แทนหมูบะช่อ ไม่ใส่กุ้งแห้ง     กลายเป็นอาหารจานเสมือน 

เลยเกิดความสงสัย อาหารจานแปลงลักษณะดังกล่าวนี้ จะอยู่ในความหมายของคำศัพท์ใด  improvise ? , imitation ? , quasi ? หรือ...     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ม.ค. 18, 20:23
หน้าตาคงประมาณนี้มั้งคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 18, 18:19
ดูภาพแล้วนึกถึงแกงเต้าหู้ใส่กิมจิของเกาหลีในทันที   

อาหารของเกาหลีดูจะขาดกิมจิไม่ได้เอาเสียเลย ไม่ใช้กินเป็นของแนมกับอาหารอื่นใดก็ใช้เป็นเครื่องปรุงในการทำอาหารต่างๆ

ครั้งหนึ่งไประชุมองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เกาหลี เย็นก่อนการประชุมก็มี Head of Delegate Meeting จัดเป็นแบบนั่งกินข้าวคุยกันก่อนเปิดการประชุม ในอาหารมื้อนี้จึงทำให้ได้รู้ว่ากิมจินั้นมีอยู่หลากหลายชนิด แล้วก็มีกิมจิที่จัดเป็นของคู่กับอาหารจานต่างๆเป็นการเฉพาะอีกด้วย  ที่ได้กินในมื้อนั้นและจำได้แม่นก็คือกิมจิที่มีก้ามปูม้าและกิมจิน้ำที่มีผักลอยมา 1 ชิ้น ซดน้ำกินคล้ายๆกับน้ำล้างคอก่อนที่จะเข้าไปสู่อาหารอีกเมนูหนึ่ง   ส่วนสำหรับอาหารมื้ออื่นๆที่จัดให้สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ก็จะเป็นกิมจิแบบที่เราคุ้นเคยกันที่ทำด้วยผักกาด และแบบที่ทำด้วยหัวผักกาดขาวที่ออกสีเหลืองๆ    ประชุมกันอยู่ประมาณหนึ่งอาทิตย์ เล่นเอาเหม็นเบื่อกิมจิไปนานเลยทีเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 18, 19:08
จะขอขยายความนิดนึงเกี่ยวกับ Head (of) Delegate Meeting     

เป็นการจัดให้มีการพบปะระหว่างหัวหน้าคณะผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการ  มีการจัดทั้งแบบก่อนการประชุมหรือเมื่อได้เริ่มเปิดประชุมกันแล้ว หรือแม้กระทั้งก่อนที่จะปิดการประชุม  ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ใช้เพื่อช่วยทำให้การพูดคุยกันใน agenda ต่างๆดำเนินไปด้วยดี ไม่มีการหักหน้ากัน ขายขี้หน้า หรือการเผชิญหน้ากัน  และช่วยทำให้ปัญหาหรือความขัดแย้งต่างๆได้มีทางเดินหรือมีทางออก   คงจะไม่ลงไปลึกกว่านี้นะครับ กลัวว่าจะกลายเป็นเรื่องเล่ายาว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 18, 19:34
กลับมาต่อเรื่องวุ้นเส้นอีกสักหน่อย

วุ้นเส้นเอาไปทำอาหารได้อีกหลายเมนู จะอบ จะผัด หรือจะยำก็ได้ และจะใช้เครื่องปรุงแบบใดก็ได้อีกด้วย

ที่น่าจะหากินยากหรือไม่มีแล้วก็คือที่ใช้วุ้นเส้นแทนเส้นก๋วยเตี๋ยว(ในร้านขายก๋วยเตี๋ยวต่างๆ) ที่ยังพอหากินได้ก็คือใช้แทนเส้นก๋วยเตี๋ยวในผัดไทย  ที่ยังคงเห็นใช้กันเป็นปรกติก็มีพวกเมนูที่เรียกว่าอบวุ้นเส้น มีผัดวุ้นเส้นใส่ไข่ มียำวุ้นเส้น มีแกงจืดวุ้นเส้น มีใส้กรอกวุ้นเส้น(อิสาน)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 18, 18:58
ผัดวุ้นเส้นใส่ไข่นั้น เมื่อใส่กระเทียมดอง(แบบหัวซอยทั้งเปลือกเป็นแว่นๆลงไปด้วย)ก็จะเพิ่มกลิ่นและรสที่ชวนกินไปอีกแบบหนึ่ง   ในปัจจุบันนี้ยังคงเห็นบางร้านค้าทำขายอยู่

กระเทียมดองแบบทั้งหัวนี้ เมื่อเอามาซอยเป็นแว่นๆแล้วใส่กระทะลงไปผัดกับไข่ก็อร่อยนะครับ บางคนก็ใส่พริกหยวกหั่นยาวเฉลียงๆลงไปผัดด้วย    เครื่องปรุงที่ใช้กระเทียมดอง พริกหยวก และไข่นี้  ปรับให้เป็นจานอาหารที่ต่างกันได้  หากใช้กระเทียมดองมากก็เป็นกระเทียมดองผัดไข่ หากใช้ฟริกหยวกมากก็เป็นผัดพริกหยวก หากใช้ไข่มากก็เป็นไข่เจียวใส่กระเทียมดอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 18, 19:28
ไข่เจียวแบบที่เป็นของโปรดของผมนั้น มีอยู่ 3 แบบ

  ไข่เจียวใส่กระเทียมโทนดอง   ต่อยไข่ใส่ถ้วย ซอยกระเทียมโทนเป็นแว่นๆ ซอยหอมแดงใส่ไปสองสามหัว ทั้งสองอย่างนี้ใส่มากน้อยตามใจชอบ ใส่น้ำกระเทียมดองลงไปนิดหน่อยพอที่จะทำให้ไข่นิ่มเมื่อเจียว ตีให้เข้ากันดี เอาลงเจียวในน้ำมันร้อนๆ   ความอร่อยของจานนี้อยู่ที่ความเกรียมนิดๆของกระเทียม หอมและไข่ สภาพจะดูคล้ายกับการปิ้งหรือจี่กับน้ำมันในกระทะ  จึงต้องคะเนปริมาณน้ำมันที่พอเหมาะ ซึ่งหากมากไปก็เพียงตักน้ำมันส่วนเกินออกไป

  ไข่เจียวมะเขือเทศ  จานนี้มีลักษณะคล้ายมะเขือยาวชุบไข่ทอด เพียงแต่เป็นมะเขือเทศซึ่งมีปริมาณน้ำมากจนทำให้ไข่เจียวที่สุกแล้วดูแฉะๆเละๆ  ผมทานทั้งแบบเป็นอาหารเช้ากินกับขนมปังหรือโปะหน้าข้าวแบบอาหารจานเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 18, 17:40
สุดท้ายเป็นไข่เจียวทรงเครื่องที่คุณพ่อชอบทำ   

ซอยกุนเชียงเป็นแว่นๆแล้วเอาลงกระทะ สุกดีแล้วก็เอาออกมาพักไว้  ซอยหอมใหญ่ หอมแดง ต่อยไข่ใส่ถ้วยตีไข่พอแหลกแล้วใส่เครื่องหอมแดง หอมหัวใหญ่ และกุนเชียงที่ทอดไว้ ปรุงรสด้วยน้ำปลา แล้วตีให้เข้ากัน  เสร็จแล้วเอาลงเจียวในกระทะน้ำมันร้อนๆ  เมื่อผิวหน้าเริ่มจะแห้งก็พลิกกลับทั้งแผ่น เมื่อใกล้เกรียมได้กลิ่นหอมโชยออกมาแรงก็พลิกกลับอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทั้งสองหน้าเกรียมเท่าๆกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 18, 18:39
พาลไปนึกถึงแกงจืดลูกรอก  รู้จักมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกอร่อยกับมัน รู้ว่าเป็นเมนูดังที่ต้องทำกินกันเองในสมัยโน้น   

ในปัจจุบันนี้ แกงจืดลูกรอกได้มีการทำขายกันแต่เกือบจะไม่พบเห็นในเขต กทม.  ไปพบเห็นอยู่ตามตลาดในต่างจังหวัดโน่นเสียมากกว่า  ซึ่งก็พอจะรู้ถึงสาเหตุอยู่บ้างว่า ในเขต กทม.นั้นใส้หมูค่อนข้างจะหายาก ต้องใช้วิธีการสั่งเขียงหมู  ต่างกันกับใน ตจว.ที่จะหาได้ไม่ยากนัก เพราะผู้ที่จะใช้ใส้หมูในการทำอาหารนั้นมีไม่มาก   เมื่อได้ใส้หมูมาแล้วก็ต้องเอามาล้างทำความสะอาด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา รวมไปถึงการกรอกไข่ใส่ในใส้ การต้มให้พอสุก การหั่นออกเป็นท่อนสั้นๆ แล้วจึงจะนำไปทำแกง

เมื่อผมยังเป็นเด็กอยู่นั้น แกงจืดลูกรอกเป็นของแปลกที่อร่อยมากๆ เกิดมีความสนใจว่าทำได้อย่างไร  และก็ได้สบโอกาสอยู่สองสามครั้งไปนั่งดูเขาทำ(ที่บ้าน)เมื่อมีการทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาเยือน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 18, 19:32
ได้ใส้หมูมาก็เอามาใส่กะละมัง ใส้เกลือเม็ดลงไปแล้วขยำขยี้ดั่งกับซักผ้า แล้วก็ปลิ้นใส้หมูทั้งเส้นเอาด้านในออกมาอยู่ด้านนอก ขยำกับเกลือแล้วดึงหรือขูดเอาไขมันที่ติดตามผนังลำใส้ออกทิ้งไป ล้างให้สะอาดแล้วก็ปลิ้นลำใส้กลับดังเดิม

ผูกปลายใส้ด้านหนึ่ง เอากรวยใส่ปลายใส้อีกด้านหนึ่ง แล้วกรอกไข่ที่ตีจนแหลกเหมือนจะทำไข่เจียวลงไป  ก็มีความยุ่งยากนิดหน่อยที่จะต้องทำให้ใส้ที่กรอกไข่ใส่ลงไปนั้นมีความอ้วนเสมอกัน เพราะใส้สดนั้นมันยืดได้และขยายขนาดได้ จึงเป็นฝีมือของแม่ครัวที่จะทำให้ได้ลูกรอกขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่  วิธีการที่ทำกันก็คือกรอกไข่ไปแล้วค่อยๆวางขดให้เป็นวงบนตะแกรงที่จะเอาไปต้มหรือนึ่งให้สุก

แล้วก็มาถึงการเอามาหั่นเป็นท่อนๆเพื่อให้ได้ขนาดของลูกรอกที่ต้องการ(เมื่อเอาไปต้มทำแกงจืดเสร็จแล้ว)  หากหั่นบางก็จะได้ลูกรอกคล้าย Yoyo แต่หากหั่นหนาก็จะได้ลูกรอกไปอีกแบบหนึ่ง     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 18, 21:04
หน้าตาแกงจืดลูกรอกที่เชฟกู๊กชงมาให้ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 18, 19:07
หน้าตาแกงจืดลูกรอกที่เชฟกู๊กชงมาให้ค่ะ

เห็นภาพนี้เมื่ออยู่ในวัย สว.แล้ว กลับไพล่ไปนึกถึงเอาไปเป็นของกินเล่นรองท้องยามบ่าย หรือเป็นของแกล้มยามเย็น (ในทำนองของอาหารประเภทลวกจิ้ม) หากทำน้ำจิ้มให้ดีก็น่าจะอร่อยโขอยู่  แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าน้ำจิ้มของมันควรจะทำเป็นลักษณะอย่างใร

คงจะทำให้หลายท่านได้นึกไปถึงใส้กรอกไข่หมูบดที่ใส่ในเย็นตาโฟ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 18, 19:35
ใส้กรอกไข่หมูบดที่ผมเรียกนี้ จะมีชื่อเรียกที่ถูกต้องว่าอะไรก็มิทราบ เมื่อสั่งทานทีไรก็เพียงใช้คำว่าใส้หมูนึ่งหรือใส้หมูลวก

ผมรู้ว่ามีร้านที่ขายเย็นตาโฟหลายร้านใส่ใส้กรอกไข่หมูบดแบบนี้  ก็มีเจ้าหนึ่งที่อร่อยและสามารถสั่งเฉพาะใส้กรอกมาทานเป็นจานแยกต่างหาก อยู่แถวย่าน สนง.ไปรษณีย์ศรีย่าน    แล้วก็มีอีกเจ้าหนึ่ง ทำใส่ในต้มเลือดหมู (ต้มเครื่องในหมู) นั่งกินกันบนฟุตปาธแถวสี่แยกวรจักร

ใส้กรอกไข่หมูบดนี้ ทำให้ทั้งเย็นตาโฟและต้มเลือดหมูได้เพิ่มระดับของความน่ากินและความอร่อยไปอีกระดับหนึ่ง

ผมนิยมจะสั่งกลับบ้านเอามาเป็นของกินแก้หิวยามบ่ายแก่ๆยามแดดล่มลมตก 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 18, 19:45
เย็นตาโฟ กับไส้หมูนึ่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 18, 18:55
ใส้หมูนำมาทำอาหารได้อร่อยอีกหลายอย่าง     คิดว่าที่ทุกคนจะนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คงจะอยู่ในเมนูในอาหารแบบจีน ก็มีใส้หมูที่เห็นอยู่คู่กับขาหมู  หากเข้าภัตตาคารจีนก็น่าจะเป็นใส้หมูพะโล้ทอด หากเป็นในต่างจังหวัดก็มักจะเห็นใส้หมูพะโล้ที่ทำแยกขายออกมาตามร้านข้าวต้มหรือรถเข็นขายอาหารที่ทำแบบพะโล้  ที่หากินได้ยากมากขึ้นก็คือตือฮวนและใส้หมูยัดใส้ข้าวเหนียวถั่ว (จุกบี้ ?)   กุนเชียงก็ใช้ใส้หมูเหมือนกัน

ใส้หมูที่ใช้ในอาหารไทยก็มีอยู่ไม่น้อย  เช่น ใส้กรอกอิสานที่พบเห็นได้ทั่วไป ใส้อั่วของอาหารเหนือ ใส้กรอกข้าวกับปลาแนมของภาคกลาง  ใส่ในต้มแซบ  แล้วก็ยังมีที่ใช้ในลักษณะหั่นผสมอยู่ในลาบ ในแกงอ่อม  อ้อ แล้วก็มีที่ทำ หมั่ม อีกด้วย           


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 18, 19:06
คำว่าใส้หมูที่เราใช้กันนั้น หมายรวมถึงอวัยวะชุดที่เป็นรังไข่ของหมูด้วยซึ่งจะแยกออกมาเรียกว่าใส้อ่อน  แล้วก็มีที่เรียกว่าใส้แก่ ซึ่งหมายถึงลำใส้ช่วงที่เป็นลำใส้ใหญ่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.พ. 18, 09:46
คำว่าใส้หมูที่เราใช้กันนั้น หมายรวมถึงอวัยวะชุดที่เป็นรังไข่ของหมูด้วยซึ่งจะแยกออกมาเรียกว่าใส้อ่อน

อวัยวะชุดที่เป็นรังไข่ คุณตั้งน่าจะหมายความรวมถึงมดลูกหมูด้วย ส่วนนี้เรียกว่า "ไส้ตัน"  ส่วน "ไส้อ่อน" คือ ลำไส้เล็ก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 18, 18:31
ขอบพระคุณครับสำหรับคำทักท้วงและการแก้ไขให้ถูกต้อง  ขออภัยที่พลาดพลั้งไม่ได้ตรวจตราความถูกต้องและความสมบุรณ์ของเนื้อหาก่อนที่จะกด enter ลงไป

ที่ตั้งใจจะกล่าวถึงก็คือ ใส้ตัน  ส่วนใส้จริงๆนั้นมีช่วงที่เรียกว่าใส้อ่อน แล้วก็มีที่ช่วงเรียกว่าใส้แก่    ครับ ปรับประโยค แก้ข้อความ ตัดต่อไปมา ไม่ได้ทวน แล้วมีเรื่องอื่นเข้ามาเลยหลุดไปเลย     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 18, 19:13
ใส้ตันนั้น นิยมเอามาทำอาหาร 2 ชนิด   ที่ผมชอบ คือ ส่วนที่เป็นข่วงของปีกมดลูกเอามาทอดกระเทียม (กระเทียมเยอะๆ) แล้วจิ้มกับซอสพริกศรีราชาแบบเผ็ดกลาง   สำหรับผักแนมหากต้องการ ที่ผมเห็นว่าเข้ากันได้ดีก็คือผักกาดหอมส่วนในของต้น(ยังอ่อนอยู่)     ใส้ตันส่วนโคนของปีกมดลูกและส่วนที่แข็งอื่นๆ นอกจากจะนิยมทอดกระเทียมแล้ว  ผมนิยมที่จะเอามาหั่นเป็นชิ้นขนาดที่คะเนว่าเคี้ยวไหว นำไปลวก จิ้มกับซีอิ๊วขาวหรือกับน้ำจิ้มสามรสที่ใส่พริกขี้หนูสวน กระเทียม หอมแดง และผักชี (ทั้งหมดสับละเอียด)

อาหารอื่นๆที่ใช้ใส้ตันอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังอย่างที่กล่าวมานั้น ยังนึกไม่ออกเลย   ที่พอจะเห็นใช้ในอาหารจานอื่นๆก็มีในต้มเครื่องในหมู(ต้มเลือดหมู)และตือฮวน

ใส้ตันสดหาซื้อในตลาดได้ไม่ง่ายนัก  แต่ในต่างจังหวัดนั้นกลับหาซื้อได้ไม่ยากทั้งในตลาดเช้าและตลาดเย็น   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 18, 19:27
ไส้ตันทอดกระเทียม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 18, 18:38
ใส้อ่อน   ใช้ในอาหารในลักษณะเป็นองค์ประกอบของเครื่องปรุงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เป็นต้มหรือแกงที่ใส่เครื่องในหมู   ในปัจจุบันนี้ได้เห็นมีการนำมาย่างขายกันค่อนข้างจะมากในตลาดชุมชนต่างๆ  ก็คงจะเหนียวเคี้ยวยากอยู่ไม่น้อย

ตัวผมนั้นชอบก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่แห้งเครื่องในหมู ก็เลยมีความรู้สึกว่าใส้อ่อนเป็นหนึ่งในเครื่องในหมูที่เข้าคู่กันได้ดีกับก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่แห้ง ปรุงรสก๋วยเตี๋ยวด้วยซีอิ้วขาวและน้ำปลา พริกป่นหน่อยนึง และน้ำส้มพริกดอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 18, 19:13
แต่ก่อนนั้น ก๋วยเตี๋ยวเครื่องในหมูเป็นของที่หากินได้ที่แม้จะไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายนัก ในปัจจุบันนี้หาได้ยากมากขึ้น เจ้าที่เคยทำขายได้เลิกกิจการหายหน้าหายตาไปมาก หรือไม่ก็เปลี่ยนไปใช้เครื่องอย่างอื่น ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะผู้คนเลี่ยงที่จะสั่งทานด้วยเหตุผลทางสุขภาพ หันไปสั่งเครื่องอื่นๆเช่นเครื่องปลา  หรืออาจจะเป็นเพราะการจัดเตรียมเครื่องจะต้องมีความสะอาดและต้องใช้เวลามาก

ผมเองก็ไม่ได้มักจนถึงระดับที่ต้องเสาะแสวงหาร้านที่อร่อย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะแวะเวียนไปเจ้าที่เคยไป  แต่ก่อนนั้นก็นิยมไปร้านหนึ่งที่ตลาดประแจจีนซึ่งเลิกไปนานแล้ว (ตลาดโคลิเซียม)  ปัจจุบันนี้ก็ร้านหนึ่งในย่านตลาดวังหลังเมื่อต้องไปพบหมอที่ รพ.ศริราช  แล้วก็นานๆครั้งที่ร้านที่ตั้งอยู่ระหว่างซอกตึกในย่านบ้านหม้อ ซึ่งร้านนี้ใส่เส้นน้อย ใส่เนื้อเป็นหลัก เป็นรุ่นลูกทำขายแล้วแต่ก็ยังคงซึ่งความไม่เหมือนใครอยู่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 18, 18:30
ผมมีข้อสังเกตว่า ก๋วยเตี๋ยวในปัจจุบันนี้ไม่มีการใส่ตังฉ่าย ทำให้ความอร่อยหายไปเยอะเลย  ตังฉ่ายนั้นแต่ก่อนต้องนำเข้าจากจีน บรรจุอยู่ในกระปุกดินเคลือบ ปัจจุบันนี้ทำในไทยแต่ความนิยมใช้ในอาหารต่างๆดูจะหายไปเกือบทั้งหมด    ตังฉ่ายมีรสเฉพาะของมัน ใส่ได้ในอาหารหลายๆอย่างโดยเฉพาะที่เป็นน้ำใสแบบแกงจืด  ใส่ในข้าวต้มหมูหม้อใหญ่ที่ตักเลี้ยงแขกในงานต่างๆก็มี จำได้ว่าในก๋วยเตี๋ยวหมูสับในยุคแรกเริ่มนั้นก็ใส่ตังฉ่ายด้วย  แม้ในไข่เจียวก็ยังมีบ้างเหมือนกัน 

ลืมไปเลยว่า ในแกงร้อนที่ได้พูดถึงกันนั้น ก็มีการใส่ตังฉ่ายด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 18, 20:17
แกงจืดเซี่ยงจี๊กับหมูบะช่อ ของอร่อยอีกอย่างหนึ่งที่เกือบจะไม่มีการทำขายกัน แต่สามารถสั่งได้ที่ร้านขายต้มเลือดหมูยามเช้า   เซึ่ยงจี๊เป็นของที่ต้องสด ทำค้างไว้นานไม่ดี มีกรรมวิธีในการทำ มิฉะนั้นก็จะมีกลิ่น และก็ต้องแช่ในน้ำเย็นจึงจะมีความกรุบกรอบ  หากสั่งที่ร้านขายต้มเลือดหมู เขาก็คงจะรองก้นถ้วยด้วยผักกาดหอม  แต่ถ้าจะให้อร่อยหอมจริงๆก็จะต้องใช้ต้นตั้งโอ๋ ต้นนี้ดูจะมีเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เป็นผักที่ช้ำง่าย หยิบใส่ชามแกงในขณะที่น้ำแกงยังร้อนฉ่าแทนที่จะหยิบวางรองก้นถ้วยแกง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 18, 13:08
เห็นรูปก็อยากกินแล้วค่ะ   น่าเสียดาย  หายากจริงๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 18, 19:08
ต้มเลือดหมูหรือต้มเครื่องในหมูแบบจีน จะต้องทานตอนเช้ากับข้าวสวยร้อนๆจึงจะอร่อย และยิ่งกินกับข้าวแบบพุ้ยข้าวจากถ้วยด้วยก็ดูจะเพิ่มความอร่อยเข้าไปอีก  จัดเป็นอาหารเช้าที่หนักแต่ก็เหมาะสำหรับผู้คนที่กำลังเดินทางหรือที่ต้องใช้กำลังในการทำงาน  ตามปกติถ้ยแกงก็จะรองด้วยผักกาดหอม  หากอยู่ในพื้นที่ๆมีการปลูกผักตั้งโอ๋ก็จะใส่ใช้ใบตั้งโอ๋   ในปัจจุบันนี้ก็จะนิยมใช้ต้นจิงจูฉ่ายกัน   ยังไม่เห็นมีผู้ใดใช้ผักกาดแก้วกันบ้างเลย 

โดยทั่วๆไปผักกาดแก้วมักจะใช้อยู่ในจานสลัด  ในจีนและครัวอาหารจีนในต่างประเทศหลายแห่งใช้ทำเป็นผัดผักและในแกงจืด ในไทยก็มีทำกันเหมือนกัน แต่ดูจะไม่ค่อยนิยมกันนัก

ผักโรยหน้าต้มเลือดหมูก็มีส่วนทำให้เกิดกลิ่นที่ชวนให้กินอยู่ไม่น้อย ตามปกติก็จะเป็นต้นหอมกับผักชี ปัจจุบันก็จะเหลือแต่ต้นหอม ทำให้ความหอมหวลหายไปเยอะเลย   แต่ก่อนโน้นมีการใช้ผักคื่นใช่ซอยผสมอยู่กับต้นหอมและผักชี  ซึ่งผักคื่นไช่นั่นแหละ ผมว่าคือตัวชูกลิ่นและรสให้มีความเด่นออกมา 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 18, 19:21
ต้มเครื่องในหมูแบบจีนแล้วก็ต้องมาแบบไทย  แบบจีนนั้นหากินกันได้ทั่วไป   แต่แบบไทยนั้นมีทั้งแบบที่หากินได้ง่าย แต่คนในเมืองไม่ค่อยจะกินกัน และแบบที่หากินได้ยาก อยากจะลองทานแต่มีคนทำเป็นอยู่น้อยมาก   ก็แกงที่เรียกว่า แกงอ่อมเคร่องในหมูของคนในภาคเหนือและอิสาน กับ แกงบวนของคนในภาคกลาง   สำหรับของภาคใต้นั้น ไม่ม่ีความรู้ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 18, 19:27
ต้มเลือดหมู กินกับข้าวสวยร้อนๆ เป็นอาหารเช้าที่นิยมกันเมื่อ 50-60 ปีก่อน  สมัยคนไทยยังไม่รู้จักโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับการกินอยู่อุดมสมบูรณ์ 
ตอนนี้ก็จางหายไปเยอะแล้วค่ะ  แต่ก็ยังพอหากินได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 18, 18:09
ต้มเลือดหมูนี้ จากประสบการณ์การเดินทางได้พบว่าในทุกตัวจังหวัดจะต้องมีร้านดังอยู่หนึ่งร้าน ซึ่งในหลายๆจังหวัด ร้านดังเหล่านั้นจะเป็นแผงลอยตั้งอยู่บนทางเท้าในย่านที่เป็นตลาดสด    แต่เมื่อลงไปถึงระดับอำเภอกลับเกือบจะหาทานไม่ได้เอาเลย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 18, 19:24
แกงอ่อมนั้นมีความน่าสนใจอยู่ประการหนึ่งคือ มันมีความหลากหลายมากๆทั้งในเชิงของเครื่องเนื้อที่จะใช้และรสเฉพาะของแต่ละชุดเครื่องปรุง  แม้ว่าจะเริ่มต้นด้วยน้ำพริกพื้นฐานเหมือนๆกันก็ตาม   

ในความเข้าใจของผม   อ่อม มีความหมายโดยรวมที่หมายถึงการทำอาหารแบบแกงน้ำขลุกขลิกหรือแกงแบบน้ำน้อย เป็นหนึ่งในอาหารในสำรับอาหารของผู้คนที่กินข้าวเหนียว (เช่นเดียวกันกับต้องมีแกงในสำรับอาหารของคนภาคกลางที่กินข้าวสวย) 

แกงอ่อมที่ทำในแต่ละบ้าน โดยแต่ละแม่ครัว และแม้จะในแต่มื้อ ในแต่ละวันก็ตาม จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หามาได้ในวันนั้นๆ หรือสำหรับอาหารมื้อนั้นๆ  ก็เลยมี อ่อมกบ อ่อมเขียด อ่อมปลาดุก... ใส่ผักโน่น ใส่ผักนี่... ฯลฯ หลากหลายจริงๆ   แล้วก็มีแกงอ่อมแบบเครื่องเผาซึ่งดูจะมีเฉพาะในภาคเหนือ แบบเครื่องสดซึ่งทำกันทั่วไป แบบที่ใส่ปลาร้าโดยเฉพาะของอิสาน     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.พ. 18, 20:18
ติดใจเรื่องต้มเลือดหมู ที่ปากช่องมีเจ้าอร่อยอยู่เจ้าหนึ่ง มี ๒ ร้าน ร้านเดิมอยู่ใกล้สถานีรถไฟ เพิ่งเปิดอีกสาขาหนึ่งริมถนนมิตรภาพ ขายต้มเลือดหมู ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ เปิดตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายแก่ ๆ  ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 18, 20:21
แกงอ่อมเนื้อ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 18, 19:29
ต้มเลือดหมูนั้น ผมมีข้อสังเกตว่า ร้านที่มีลูกค้าเยอะๆก็จะขายดีต่อไป ไปจนถึงการแยกสาขา ซึ่งร้านสาขาก็จะขายได้ไม่ดีเท่ากับร้านดั้งเดิม   ส่วนร้านอื่นๆที่มีลูกค้าน้อยก็จะมีลูกค้าคงอยู่ในระดับ แต่ก็จะมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อระยะเวลานานขึ้น     

ผมมีความเห็นว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยปัจจัยหลักๆเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องของเวลา     ทุกร้านต่างก็เริ่มด้วยการต้มน้ำกระดูกหมู ใส่ผักเครื่องหอมต่างๆ แต่งรสด้วยซอสต่างๆ ใช้วัตถุดิบและมีกรรมวิธีทำเหมือนๆกัน   แต่เวลาที่ใช้ในการต้มน้ำต้มกระดูกหมูอาจจะต่างกัน รวมทั้งการเลือกใช้ส่วนของกระดูกหมูด้วย  ยิ่งต้มยิ่งเคี่ยวด้วยไฟอ่อนนานๆ ขยันตักฟองออกให้น้ำใส ก็จะยิ่งได้น้ำต้มกระดูกที่มีความหอมหวาน ได้รสที่มีความกลมกลืนเป็นธรรมชาติ     เมื่อทำขายก็จะต้องทำการลวกเครื่องในต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ได้รสและกลิ่นเพิ่มมากขึ้น ยิ่งขายได้มากชาม น้ำแกงก็ย่อมจะมีความเข้มข้นมากขึ้น   ครับ...ร้านที่ไม่ดังก็จึงยังพอจะทานอร่อยได้หากเราปล่อยให้เขาขายไปสักระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงเข้าไปนั่งทาน     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 18, 19:40
ต้มเลือดหมู
คุณตั้งชอบใส่ใบตำลึงไหมคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 18, 20:15
ชอบครับ แล้วก็ชอบแบบที่ลวกให้สุกสักหน่อยก่อนที่จะใส่รองก้นชาม ใบตำลึงต้องเป็นใบที่อ่อนหน่อยจึงจะอร่อย ไม่ค่อยจะมีกลิ่นเหม็นเขียว
ข้อสำคัญคือต้องเป็นตำลึงตัวเมีย บางร้านก็ไม่พิถีพิถันในการล้างและคัดทิ้ง จึงมีใบตำลึงตัวผู้ปนมาด้วย 

ผมเป็นคนที่ชอบทานผัก ก็จึงไม่เกี่ยงไม่ว่าจะรองก้นชามมาด้วยผักอะไร   ที่อร่อยและหาทานได้ยากและก็หายไปเลยก็คือผักตั้งโอ๋ เคยทานที่ร้านดังของ จ.ตาก และ เชียงราย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 18, 20:41
ความน่ากินของต้มเลือดหมูอีกอย่างหนึ่งก็คือวิธีการหั่นเครื่องในหมู เช่น การหั่นกระเพาะหมูที่ควรจะหั่นแบบสไลด์มากกว่าการหั่นเป็นดุ้นๆ การเลาะเอามันของใส้อ่อนออกไปแต่พองาม ความหนาของตับและม้ามที่หั่นตามขวาง... ฯลฯ 

นอกจากนั้นแล้วก็มีการยีหมูบะช่อให้กระจายเป็นชิ้นเล็กบ้างใหญ่บ้างลอยฟ่อง แทนที่จะปั้นมาเป็นก้อนๆคล้ายลูกชิ้น  บางเจ้าก็หยอดด้วยกระเทียมเจียวกับกากหมูสองสามชิ้น บางเจ้าก็ใส่ตั้งฉ่าย บางเจาก็ใส่หมูกรอบปนมาด้วย  ก็ล้วนแต่ชวนให้น่ากินทั้งนั้น   

เราสั่งได้มาแล้วก็อาจจะปรุงแต่งรสให้เข้มขึี้นด้วยซีอิ๊วขาวดีๆ จิ้มเครื่องในกับน้ำส้มพริกตำที่ออกรสหวานนิดๆ (ปรุงเอง)

ลืมไปว่า ตัวเลือดหมูนั้นก็มีแบบแข็งและแบบนิ่มอีกด้วย ก็แล้วแต่ชอบครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 18, 20:51
คนรุ่นใหม่มักสับสนระหว่างขึ้นฉ่ายกับตั้งโอ๋ ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 23 ก.พ. 18, 09:52
ต้มเลือดหมู
คุณตั้งชอบใส่ใบตำลึงไหมคะ
ชอบครับ แล้วก็ชอบแบบที่ลวกให้สุกสักหน่อยก่อนที่จะใส่รองก้นชาม ใบตำลึงต้องเป็นใบที่อ่อนหน่อยจึงจะอร่อย ไม่ค่อยจะมีกลิ่นเหม็นเขียว
ข้อสำคัญคือต้องเป็นตำลึงตัวเมีย บางร้านก็ไม่พิถีพิถันในการล้างและคัดทิ้ง จึงมีใบตำลึงตัวผู้ปนมาด้วย 

เรียนตามตรง ตัวผมเองก็พึ่งทราบในข้อนี้ว่า ใบตำลึงนั้นแบ่งเป็น ตัวเมียตัวผู้
และถ้านำไปทำแกงจืด ต้องคัดเอาแต่ตำลึงตัวเมีย

จึงขออนุญาตนำรูปมาแสดงไว้ เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างครับ

เครดิต : เกษตร เกร็ดความรู้ (http://kaset-lifestyle.com/7475)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 18, 19:35
ฝนตกวันสองวันนี้ ทำให้นึกถึงของอร่อยที่มาคู่กับต้นฤดูฝน  แน่นอนครับว่าจะต้องเป็นพวกยอดไม้ใบอ่อน  พวกหน่อพวกเหง้า พวกที่งอกออกมาจากดิน แล้วก็พวกดอกพวกผล

คงจะนึกออกไม่ได้ทั้งหมด ที่นึกออกได้ในทันใดเพราะเป็นของโปรดก็จะมี มะกอก สะเดา มะม่วง ชะมวง เหลียง หน่อไม้ไผ่ต่างๆ ดอกข่า เห็ดโคน เห็ดเผาะ ....


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 18, 20:14
ใบมะกอกอ่อน (ที่มิใช่ส่วนปลายยอดที่มีใบสีแดงเรื่อๆ) เป็นของคู่กันกับหลนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลนเต้าเจี้ยว หลนกะปิ หลนปูเค็ม หลนแหนม หลนเค็มบักนัด...   แต่ผมนิยมเอามาทำยำที่เคยเล่าในกระทูเก่า คงจะไม่ต้องเล่าวิธีทำซ้ำนะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 18, 18:09
สะเดาออกดอกในช่วงปลายปีที่มีอากาศเย็นๆ เอามากินกับน้ำปลาหวาน  แต่ก่อนนั้นกุ้งแม่น้ำยังชุกชุมหาได้ง่าย ก็จับเอามาเผากินร่วมกับดอกสะเดา กลายเป็นเมนูอร่อยในระดับมีชื่อกำกับไว้เลยว่า กุ้งเผาสะเดาลวก  เมื่อกุ้งแม่น้ำหายากขึ้นแถมราคายังสูงมากอีกด้วย  กุ้งก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นปลาดุกย่าง แต่ก็ยังต้องเลือกใช้เฉพาะปลาดุกอุยเท่านั้นจึงจะเข้ากันได้ดี ไม่ใช้ปลาดุกด้านที่เหมาะจะเอาไปทำผัดหรือแกง   ไม่นานนักปลาดุกอุยก็หายากและเกือบจะสูญหายไปเลย  ปัจจุบันนี้สะเดาน้ำปลาหวานก็เลยต้องกินกับปลาดุกเลี้ยง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 18, 18:35
ในความรู้ของผม สะเดามีอยู่ 2 ชนิด คือ สะเดาที่มีก้านใบและขอบใบสีเข้ม (โทนสีม่วงแดง) และชนิดที่เป็นสีเขียวทั้งหมด   พวกสีเข้มจะออกรสขม ส่วนพวกสีเขียวจะมีความขมน้อยเรียกกันว่า สะเดามัน (ภาคเหนือเรียกว่าเสลี่ยมหวาน ชาวสวนลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างเรียกสะเดาสวนหรือสะเดาบ้าน)   

ผมกินสะเดาทั้งสองชนิด ช่วงอากาศเย็นปลายปีก็กินดอกสะเดา ช่วงต้นฝนก็กินใบอ่อน (เอามาอังไฟให้สยบกินกับลาบก็อร่อยนะครับ)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 24 ก.พ. 18, 19:06
กุ้งเผาสะเดาลวก น้ำปลาหวานปลาดุกย่าง อาหารไทยสุดคลาสสิกครับ

เครดิตภาพ : บันทึก(บางวัน)ของบ่งบ๊ง (https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jazzy-bong&month=06-2010&date=29&group=3&gblog=21)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 18, 19:09
สะเดาน้ำปลาหวานดูเหมือนจะเป็นเมนูที่ทำง่ายๆเพียงลวกสะเดา เผากุ้ง ย่างปลาดุก และทำน้ำปลาหวาน... แต่การจะทำให้อร่อยนั้นยากอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
สะเดานั้น เมื่อลวกในน้ำเดือดจนสุกพอดีแล้วก็จะต้องน้ำมาแช่ในน้ำเย็นเพื่อมิให้เหี่ยวและสีซีด จนกว่าจะกินจึงจะนำออกมาสลัดน้ำแล้วจัดลงจาน    
กุ้งเผา จะต้องใช้ไฟแรงจากเตาถ่าน จึงจะสุกแบบเนื้อยังนิ่มฉ่ำอยู่ทั้งตัว และมีกลิ่นหอมจากการใหม้ของเปลือกที่ลึกเข้าไปถึงในเนื้อ  ปลาดุกย่างก็เช่นกัน
น้ำปลาหวาน  ใช้น้ำปลาดี น้ำตาลปึก และน้ำมะขามเปียก  แล้วก็เคื่องปรุงที่ต้องเจียวให้กรอบแต่ไม่มีกลิ่นใหม้ ซึ่งก็มีหอมแดง กระเทียม และพริกแห้งคั่วหรือทอดจนได้กลิ่นหอมพอดีๆ   เนื่องจากน้ำปลาหวานเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ (binder) ของชุดเครื่องปรุงทั้งหมด รสและความเหนียวข้นที่พอเหมาะของมันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 18, 19:17
พ้นฤดูดอกและใบอ่อนสะเดาแล้ว เราก็ยังสามารถจะใข้ต้นผักชีทั้งต้นมัดขมวดกันแทนสะเดาก็ได้ อร่อยไม่แพ้กันเลยทีเดียว   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 18, 19:26
อร่อยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 18, 19:29
เปลี่ยนจากกุ้งเผาเป็นปลาดุกย่างก็อร่อยนะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 18, 19:56
ในมื้ออาหารที่มีน้ำปลาหวาน-ปลาดุกย่าง-สะเดาลวกนั้น ผมก็จะเพิ่มระดับความสุขในการกินเขาไปอีกหน่อย  ก็ไม่มีอะไรมากนัก เพียงทำน้ำปลาใส่หอมซอย พริกขี้หนูสวนซอย บีบมะนาวเล็กน้อย   ใช้มือเลาะครีบปลาเอามาจิ้มน้ำปลา หักหัวปลาออกมาแกะส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อเล็กๆน้อยๆในหัวปลาเอามาจิ้มน้ำปลา เมื่อเคี้ยวแหลกแล้วก็ตักข้าวใส่ปากตามเข้าไป    ก็ยังจำแนกไม่ออกว่าอร่อยที่น้ำปลาหรือที่ก้างและหัวปลา  

ปลาดุกย่างทีี่ย่างได้อย่างมีฝีมือนั้น ผมดูจากความสุกที่ต้องมีตลอดทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดหาง ส่วนครีบจะต้องแห้งพอที่จะเคี้ยวให้แหลกได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 18, 20:01
ภาพ คห. 603 เห็นมันแก้วในหัวกุ้งแล้ว   อ้า...    ไม่ได้เจอะเจอมานานแล้วจริงๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 18, 19:07
ใบชะมวง  ไม้ที่ขึ้นอยู่ในทุกภาคของไทยเราแต่เรียกชื่อต่างกันไป ภาคเหนือเรียก ส้มป้อง  ภาคกลางเรียก ชะมวง  ภาคใต้เรียก ส้มมวง ภาคอิสานเรียกอย่างไรก็มิทราบ    พื้นที่ที่นำเอาใบชะมวงมาทำอาหารจนเป็นกลายเมนูที่โด่งดังประจำภาคและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปก็คือแถบจังหวัดจันทบุรีและตราด ก็ที่เรียกว่าแกงหมูชะมวงนั่นเอง

แกงหมูชะมวงมีการทำที่ค่อนข้างจะหลากหลาย ก็มากพอที่จะกล่าวได้ว่าที่เหมือนกันก็มีเพียงการเป็นแกงในลักษณะน้ำขลุกขลิกและการใส่ใบชะมวง กระนั้นก็ตามที่เรียกว่าแกงนั้น บางที่ก็มีลักษณะใกล้กับการผัดแบบมีน้ำเยอะ  ใบชะมวงที่ใส่ลงไปก็มีทั้งแบบใส่ใบสดและแบบอังไฟให้สยบก่อนจะใส่ลงไปในผัดหรือในแกง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 18, 19:54
ใบชะมวงมีรสเปรี้ยว ช่วยลดทอนความมันของหมูสามชั้นได้มากค่ะ   เป็นแกงน้ำขลุกขลิกที่อร่อยมาก  เสียแต่ใบชะมวงหายาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 18, 20:10
น้ำพริกแกงใบชะมวงก็คล้ายๆกับน้ำพริกแกงตามปรกติ ก็มีพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า และกะปิ  สำหรับตะไคร้นั้น มีทั้งแบบใส่และไม่ใส่  น้ำพริกแกงนี้ก็ยังทำได้ทั้งแบบเครื่องสดและเครื่องเผาอีกด้วย

เอกลักษณ์ของแกงหมูชะมวงนั้น นอกจากการใช้ใบชะมวงแล้ว ก็ดูจะเป็นเรื่องของการใช้หมูติดมัน(หมูสามชั้นแบบติดมันไม่มากหรือใช้เนื้อคอหมู) การหั่นหมูเป็นชิ้นใหญ่ และเป็นแกงที่ไม่มีรสเผ็ดหรือร้อนแรงฉูดฉาดซึ่งมีรสหวานแฝงอยู่(ด้วยน้ำตาลปึก)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 18, 20:13
ใบชะมวงหากินยาก ผักบุ้งหากินง่าย แกงหมูเทโพเลยครับ หมูติดมันเหมือนกันด้วย

ชีวิตผมวนเวียนอยู่กับแกงกะทินี่แหละ  ???


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 18, 20:26
แกงหมูเทโพ  ของเดิมใช้ปลาเทโพ  อยากรู้จริงว่ารสชาติอร่อยกว่าหมูขนาดไหน
เห็นรูปก็น่ากินทุกอย่าง
กว่าจะจบกระทู้  ไขมันคงท่วมเส้นเลือดละค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 18, 18:28
ตั้งแต่รู้จักแกงนี้มาก็ยังไม่เคยได้ทานแบบที่แกงด้วยปลาเทโพสักครั้งเดียว  เคยแต่ทานที่แกงด้วยหมูสามชั้นเท่านั้น แล้วก็มีตั้งแต่แบบที่ใช้หมูสามชั้นชนิดเนื้อแทรกมันไปจนถึงชนิดมันแทรกเนื้อ  แบบหั่นหมูสามชั้นเป็นชิ้นแบนหรือแบบเป็นชิ้นเหลี่ยม  และก็ยังไม่เคยทานแกงที่เพิ่งจะทำเสร็จใหม่ๆ เคยแต่ทานชนิดที่ผักบุ้งไม่เหลือรูปเป็นทรงกระบอกและใกล้นิ่มแล้ว

แกงหมูเทโพ  ของเดิมใช้ปลาเทโพ  อยากรู้จริงว่ารสชาติอร่อยกว่าหมูขนาดไหน....

ก็เลยอยากรู้เช่นกันครับ  ;D     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ก.พ. 18, 19:05
แกงหมูเทโพ  ของเดิมใช้ปลาเทโพ  อยากรู้จริงว่ารสชาติอร่อยกว่าหมูขนาดไหน

๏ เทโพพื้นเนื้อท้อง              เป็นมันย่องล่องลอยมัน
น่าซดรสครามครัน               ของสวรรค์เสวยรมย์ ฯ


กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์ (https://th.m.wikisource.org/wiki/กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์) พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

แกงเทโพสมัยรัชกาลที่ ๒ ช่างน่าซดเสียนี่กระไร  มาจวบจนสมัยนี้แกงเทโพรูปโฉมใหม่มีแต่หมูสามชั้นกับผักบุ้ง

ปลาเทโพหายไปไหน  ???


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 18, 19:10
ผมคิดว่าคนเก่าแก่ที่ทำแกงเทโพด้วยปลาเหล่านั้นน่าจะต้องมีกรรมวิธีเฉพาะบางอย่างที่จะจัดการกับปลาเทโพ ซึ่งอาจจะยุ่งยากซับซ้อนจนคนรุ่นใหม่เลือกที่จะใช้หมูสามชั้นแทน  แล้วก็แน่นอนครับว่าก็อาจจะเป็นเพราะวาตัวปลาเทโพเองก็อาจจะหาได้ยาก ยกเว้นว่าจะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำสายใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี    

ก็มีข้อสังเกตอยู่ว่า ปลาเทโพกับปลาสวายเป็นปลาที่มีลักษณะคล้ายๆกัน แยกกันได้ยากหากไม่คุ้นเคยกับปลาทั้งสองชนิด  ซึ่งปลาทั้งสองชนิดนี้นิยมเอามาทำอาหารต่างชนิดกัน ปลาเทโพนอกจากเอาไปทำแกงเทโพแล้วก็เกือบจะไม่ได้ยินว่าเอาไปทำอาหารอื่นใด   สำหรับปลาสวายนั้น ที่นิยมกันก็จะเป็นปลาสวายแดดเดียว ฉู่ฉี่ปลาสวาย และแกงปลาสวายกับหน่อไม้ดอง    แท้จริงแล้ว ปลาทั้งสองชนิดนี้ใช้แทนกันได้ แต่ไม่รู้ว่าจะอร่อยต่างกันเพียงใด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 18, 20:01
ปลาเทโพ หน้าตาเป็นแบบนี้เอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มี.ค. 18, 19:18
หายหน้าไปหลายวัน แอบไปทานอาหารพื้นบ้านแบบพื้นๆอร่อยๆมาครับ 

แท้จริงแล้วการหายหน้าไปในครั้งนี้ก็เป็นวาระตามปกติในแต่ละรอบปีของผม จะมีความพิเศษอยู่หน่อยนึงก็ตรงที่เป็นวาระของช่วงการพาหลานไปด้วย เพื่อที่เขาจะได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติที่เป็นของจริงและได้เรียนรู้ความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตในแง่มุมต่างๆ   ครับ...เป็นช่วงเวลาสั้นๆของ retreat lifestyle ที่เป็นแบบชาวบ้านๆ (folklore)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 18, 20:03
ไปชิมของอร่อยอะไรมาบ้าง เล่าสู่กันฟังได้ไหมคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 18, 18:23
การเดินทางในครั้งนี้ทำให้พอจะเห็นภาพของอาหารไทยในบางมุม

ในชีวิตของคนเดินทางแต่ก่อนนั้น (แถวๆ พ.ศ.2510 +/-)  อาหารประเภท fast food แบบสั่งทำในระหว่างการเดินทางนั้น ดูจะนิยมและจำกัดอยู่เพียงข้าวผัด ข้าวผัดพริก และข้าวผัดกระเพรา (หากเป็นของน้ำก็มักจะเป็นต้มยำปลาช่อนหรือไก่)  เนื้อสัตว์ที่ใช้ก็จะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ ลักษณะทีี่สำคัญของอาหารเหล่านี้ก็คือเนื้อสัตว์ที่ใช้จะใช้วิธีการหั่นเป็นชิ้นบาง

ผัดพริกราดข้าว เครื่องปรุงสำคัญก็จะมีหอมใหญ่และพริกชี้ฟ้าหั่นเป็นชิ้นหยาบๆ ไม่นิยมมีไข่ดาวโปะหน้า  ในปัจจุบันนี้ผัดพริกได้หายไปแล้ว น่าจะเริ่มหายไปในช่วง พ.ศ.2520+/-

ผัดกระเพรา แต่ก่อนนั้นใช้กระเพราแดงและไม่ใช้ซอสหอยนางรม คนกินจะเป็นผู้สั่งให้ใส่ไข่ดาวมาด้วย รวมทั้งอาจจะสั่งให้คลุกข้าวมาเลย
สำหรับไข่ดาวนั้นคนทำจะทำแบบทอดให้ไข่ขาวกรอบแต่ไข่แดงยังนิ่มเละอยู่    คิดว่าก็คงในช่วง พ.ศ.2520+/- มั้งที่คนขายจะเริ่มมีคำถามว่าจะเอากระเพราแบบเนื้อสับหรือจะเอาแบบเป็นชิ้นๆ แล้วก็น่าจะเป็นช่วงของการเริ่มมีการใช้กระเพราขาวกัน   ในปัจจุบันนี้เมื่อเราสั่งข้าวผัดกระเพรา เราก็จะได้ผัดกระเพรามาตรฐานตั้งแต่คำสั่งของเราว่า "ข้าวกระเพราไข่ดาว" คนทำก็จะใช้เนื้อสัตว์แบบสับละเอียด ใช้กราะเพราขาว และทำไข่ดาวขอบนิ่มแบบในอาหารเช้าของฝรั่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 18, 18:40
พูดถึงผัดกะเพราแล้วนึกถึงลุงเนลสัน ลุงบอกว่าเข้าใจผิดมานานว่าอาหารประจำชาติของไทยคือ "ต้มยำกุ้ง" เพิ่งทราบว่าที่แท้คือ "กะเพราหมูสับ"   ;D

https://youtu.be/mcuUJw9hMmI


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 18, 19:01
สำหรับข้าวผัดนั้น ในปัจจุบันนี้คงจะหายไปจากเมนูในสารบบของคนเดินทางไปแล้ว  แล้วก็คิดว่าก็คงจะไม่อร่อยเหมือนแต่ก่อนอีกด้วย เพราะว่าคนทำทั้งหลายจะนึกไปถึงการทำข้าวผัดแบบข้าวผัดปูที่ฮิตกันอยู่ในปัจจุบัน

ข้าวผัดแต่ก่อนนั้น ความหอมน่ากินและความอร่อยอยู่ที่การใส่ซีอิ๊วดำและการผัดข้าวให้แห้งในกระทะจนใกล้จะใหม้ ซึ่งจะได้กลิ่นหอมของซีอิ๊วดำที่ชวนให้หิวมากขึ้น  

ข้าวผัดที่อร่อยของผมคือแบบที่คุณพ่อคุณแม่ของผมทำ ความต่างที่มีก็อยู่ที่การใช้ทั้งหอมแดงและหอมใหญ่ และการใส่กุนเชียงหั่นบางทอดให้แห้งแล้วใส่คลุกลงไปในกระทะผัดไปพร้อมกับข้าว  ทานกับไข่ดาวทอดขอบกรอบๆไข่แดงยังเละ ดาวไข่ในกระทะก้นลึก น้ำมันร้อนๆ ไฟแรงๆ    บีบมะนาวเพื่อเพิิ่มรสข้าว แนมกับแตงกวา และเพิ่มรสให้ฉูดฉาดด้วยน้ำปลาใส่หอมซอย พริกขี้หนูสวน    ทั้งหมดทานกับแกงร้อนแบบครบสูตรแก้ฝืดคอ    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 18, 19:23
ก็คงจะเป็นดังที่คุณเพ็ญชมพูว่าครับ

อาหารไทยที่ต่อไปในอนาคตอาจจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอาหารพื้นบ้านของประเทศไทยน่าจะเป็น "ผัดกระเพราไข่ดาว" พบได้ทุกที่ทุกแห่งทั้งในร้านอาหารหรือที่เป็น street food หรือ food stand  ซึ่งก็มีการทำขายทั้งวันและทุกเวลาตั้งแต่เช้าจนค่ำจนดึก

อีกอย่างหนึ่งก็น่าจะได้แก่ "ไก่ย่างวิเชียรบุรี" มีขายอยู่ตามรายทางในแทบจะทุกเส้นทางการคมนาคมของเรา แต่เป็นในมุมที่น่าจะอยู่ในเชิงของรูปทรงของอาหารมากกว่าในรูปแบบของๆดีจากถิ่นกำเนิด  ก็คือ ในรูปของไก่ย่างทั้งตัว มิใช่ในรูปของพื้นที่กำเนิด    ครับ...เป็นชื่อที่ใช้ประกาศนำหน้ากลุ่มอาหารประเภทข้าวเหนียว-ส้มตำ-ไก่ย่าง...


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 18, 20:40
ไก่ย่างวิเชียรบุรีมีขายอยู่ในหลายจังหวัด   รสชาติไม่เหมือนกัน จนไม่รู้ว่าตำรับไหนเป็นตำรับไหนแล้วค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 18, 20:42
ผัดกระเพราไข่ดาว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 18, 18:37
ไข่ดาวที่ทอดแบบไข่ขาวกรอบนี้เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในเมนูข้าวกระเพราไข่ดาว ซึ่งร้านอาหารในญี่ปุ่นได้ก๊อปไปอย่างเกือบจะครบถ้วน ในขณะที่ร้านอาหารหรูๆในไทยกลับไปทอดไข่แบบฝรั่งทั้งแบบ sunny side up และแบบ over easy (หริอ easy over) 

ในประสบการณ์การเดินทางของผม ผมไม่เคยเห็นการทอดไข่ดาวแบบขอบกรอบในต่างประเทศเลย ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะว่าเขาไม่ได้ใช้กระทะก้นลึกแบบจีน (wok)   ก็เลยจะขอยกเมฆเอาดื้อๆว่ามันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่มีอยู่ในอาหารไทย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 18, 19:18
ผัดกระเพราก็มีพัฒนาการของมันอย่างต่อเนื่อง บางเจ้าก็ใส่ถั่วฝักยาวหั่นเป็นท่อนสั้นๆลงไปด้วย บางเจ้าก็ใส่เต้าเจี้ยว ที่แปลกออกไปก็เห็นมีแบบที่ใส่ใบมะกรูดฉีกลงไปด้วย   แต่พัฒนาการที่ได้รับการยกระดับขึ้นไปปรากฎอยู่ในเมนูของร้านอาหารใหญ่ในเมืองก็คือ ผัดกระเพราไข่เยี่ยวม้า หรือไข่เยี่ยวม้ากระเพรากรอบ     

อยากจะแนะนำให้ลองสั่งผัดกระเพราปลากะพงมาทานกัน อร่อยไม่เบาเลยทีเดียวครับ แถมยังบอกถึงระดับของฝีมือของพ่อคร้ว/แม่ครัวอีกด้วย ซึ่งก็มีอาทิ ความสมดุลย์ของปริมาณเนื้อปลาและเครื่องกระเพราที่ยังคงแยกส่วนกันได้เป็นอย่างๆ มิใข่แหลกเละปนเปกันไปหมด   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 18, 20:08
แล้วก็ลืมไปว่า หากจะจัดผัดกระเพรามาเป็นจานในสำรับบนโต๊ะอาหาร ก็ใช้ไข่เค็มดาวแทนไข่ไก่ จะเพิ่มความอร่อยมากเข้าไปอีกเยอะเลยทีเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 18, 20:11
ไปชิมของอร่อยอะไรมาบ้าง เล่าสู่กันฟังได้ไหมคะ

หนึ่ง retreat menu ของผมในครั้งนี้ก็คือ ปลาร้าปลาช่อนเป็นตัวทอด ทานกับข้าวเหนียวใหม่นึ่งร้อนๆจิ้ม ใช้เครื่องหอมแดงซอยและพริกขี้หนูสด  และอีกหนึ่งมื้อก็จะใช้เครื่องหอมแดงซอยเจียวและพริกแห้งหั่นเป็นแว่นๆทอด แล้วนำมาคั่วรวมกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 18, 20:34
พยายามหารูปมาประกอบ  หาที่ถูกใจไม่ได้ 
อ่านที่คุณตั้งบรรยายแล้วน่ากินมากค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 18, 18:54
ในปัจจุบันนี้ ปลาร้าปลาช่อนได้กลายเป็นของหายากไปเสียแล้ว เกือบจะไม่มีคนทำขายเลย ที่พอจะยังหาซื้อได้ก็ในพื้นที่อิสานตอนใต้และในงาน OTOP   ปลาช่อนที่จับได้ตามธรรมชาติและที่มีการเพาะเลี้ยงกันนั้นเอาไปขายกันหมดเพราะว่าได้ราคาดี ชาวบ้านเขาว่าเช่นนั้น แต่หากเอามาทำปลาร้าก็ได้ราคาดีไม่เบาอยู่เหมือนกัน ก็ตัวละ 100 +/- บาท แต่ตลาดอาจจะจำกัดมากจนเกินไป

ผมมีแง่คิดในอีกมุมหนึ่งว่า ด้วยที่มีคำว่า ปลาร้า ติดอยู่ก็เลยทำให้ผู้คนไม่กินกัน และติดกับภาพติดตาว่าเป็นของเละๆที่อยู่ในใหหมัก ซึ่งแท้จริงแล้วมันไม่ได้มีลักษณะเละเช่นนั้น มันเป็นตัวๆและค่อนข้างจะแห้งเสียด้วย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวไม่ต่างไปจากปลาเค็ม  ปัญหาใหญ่ของมันก็คือ กลิ่น เมื่อเอามาทอด หลายคนก็ว่าหอมชวนกินแต่อีกหลายคนก็ว่าเหม็น ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากการทอดปลาเค็มโดยทั่วๆไป    เมื่อทอดเสร็จแล้วปลาร้าปลาช่อนกับปลาเค็มที่ทำด้วยปลากุเลาก็เกือบจะไม่มีความต่างกัน จะหอมมากกว่าเสียอีกด้วย   ปลาเค็มที่ทำด้วยปลาอินทรีย์ที่บ่มจนเกินเวลาก็ยังอาาจะมีกลิ่นฉุนแรงมากกว่าปลาร้าปลาช่อนเสียอีก   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 18, 19:25
ก็ยังมีอีกเมนูหนึ่งที่ผู้พอจะมีอันจะกินในภาคกลางนิยมทำกินกัน คือ หลนปลาร้า เป็นหลนกะทิที่ใส่ผักพวกมะเขือ หน่อไม้เป็นหลัก และใช้ปลาดุกเป็นเนื้อ เป็นอาหารอร่อยเมนูเด็ดเหมือนกัน กินกับผักสดที่เป็นผักกรอบๆ   ยิ่งกินกับยอดอ่อนของมะกอก มะม่วงหรือชะมวงด้วยแล้ว สุดยอดไปเลย   ดูจากผักแนมก็พอจะรู้ได้ว่าเป็นอาหารในช่วงฤดูใบไม้ผลิ     ก็อาจจะจัดเป็นอาหารประจำฤดูกาลในมุมมองทาง cultural heritage ก็น่าจะพอได้

เมนูนี้วัดระดับฝีมือของแม่ครัวได้เลยทีเดียว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 18, 19:35
เคยได้ลองทาน ปลาดุกร้า ของพัทลุงกันบ้างหรือยังครับ

ชื่อน่ากลัว จริงๆแล้วเป็นปลาดุกหมักเกลือและน้ำตาลแล้วตากแดด   เอามาทอดหรือย่าง อร่อยนะครับ     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 18, 18:49
เดี๋ยวนี้มีปลาร้าเป็นตัวที่ทำด้วยปลานิลอีกด้วย เห็นมีขายอยู่ในตลาดท่าเตียน เป็นลักษณะของการขายส่ง แต่ไม่ทราบว่าส่งไปที่ใหนบ้างเพราะก็ไม่เคยเห็นมีวางขายในตลาดชุมชนต่างๆที่เคยไปเดิน

นอกจากปลาร้าปลานิลแล้วก็มีปลาส้มที่ทำจากปลานิลด้วย  ก็เช่นกัน ไม่รู้ว่าส่งไปขายที่ในกันบ้าง แต่ก็ยังเห็นมีขายประปรายอยู่บ้างในตลาดชุมชนบางตลาดในกรุงเทพฯ ซึ่งพ่อค้า/แม่ค้าก็จะเอามาชุบแป้งบางๆทอดขายกันเป็นตัวๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 18, 19:20
ปลาส้มนี้เขาว่าเป็นที่มาของ Sushi ของญี่ปุน   

ปลาส้มของเราทำกันอยู่ในสองรูปแบบ คือ แบบเอาแต่เนื้อปลา (พวกปลาเกล็ดต่างๆ) มาสับให้ละเอียดแล้วคลุกกับเกลือ กระเทียม และข้าวสุกแล้วหมักไว้ พอได้ที่ก็เอามาบ่มด้วยการห่อใบตองกล้วย  กับอีกแบบหนึ่งที่ใช้การหมักปลาทั้งตัว ซึ่งที่ทำขายกันอยู่ในปัจจุบันนี้นิยมใช้ปลานิล ปลายี่สก และปลานวลจันทร์

ปลาส้มนี้ ผมมีความเห็นว่าเป็นอาหารดั้งเดิมของคนในพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา แม้ว่าเราจะเห็นว่ามีทำหรือมีขายอยู่ในภาคอื่นๆด้วยก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเสมือนว่าเป็นอาหารพื้นบ้านของถิ่น   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 18, 19:32
ผมชอบปลาส้มทอด กินกับเครื่องหอมแดง(ไทย)ซอยและพริกขี้หนูสวนสด และอาจจะเพิ่มความเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาวบีบลงไปอีกเล็กน้อย  จะกินกับเครื่องหอมแดงทอด พริกแห้งทอด และมะนาวบีบ ก็มีความอร่อยไม่ต่างกัน   ทานกับข้าวสวยหอมมะลินิ่มๆร้อนๆก็สุดยอดไปเลย

ปลาส้มดูจะเหมาะที่จะทานกับข้าวสวยมากกว่ากับข้าวเหนียว     ฤๅ..ข้าวเหนียวจะคู่กับปลาร้า ข้าวเจ้าจะคู่กับปลาส้ม จึงจะเหมาะเป็นคู่ตุนาหงันกัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 18, 19:40
ปลาส้มเป็นตัวๆ มีเจ้าอร่อยขายที่ตลาดดอนหวาย  เอาไปทอด กินกับข้าวต้มอร่อยมากค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 18, 20:33
ใช่เลยครับ  กินกับข้าวต้มก็อร่อยสุดเหมือนกัน

ในปัจจุบันนี้กำลังมีการรณรงค์เรื่องลดอาหารที่มีความเค็มสูง   ก็เลยดูจะเป็นการเหมาะที่จะมีการส่งเสริมการใช้ปลาส้มกับข้าวต้มแทนการกินปลาเค็ม    ในกระบวนการทำปลาส้มก็มีการใช้เกลือ แต่เป็นการใช้ในปริมาณน้อยเพียงเพื่อสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเกิดและการทำงานของจุลินทรีย์พวก Lactic bacteria ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย (เฉกเช่น Yogurt)
 
ปลาส้มเป็นขิ้นใหญ่ดังภาพของอาจารย์นั้น คิดว่าเป็นปลาส้มที่ทำกันในลักษณะเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในที่ผลิตนั้นอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างภาคอิสานตอนบนกับภาคกลางตอนบน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 18, 20:55
อย่างที่เขาเอาปลาตัวเล็กตัวน้อยมาสับ  หมักด้วยข้าวสุกและกระเทียม  เรียกว่าปลาส้มฟักหรือเปล่าคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 18, 19:15
ใช่ครับ   

ส้มฟักกับปลาส้มใช้เครื่องปรุงในการทำเหมือนกัน แต่กลับให้ความอร่อยที่ต่างกัน   ปลาส้มทำให้สุกด้วยการทอด นำมาทานกับข้าวต้มก็เข้ากันได้  ส้มฟักทำให้สุกได้ด้วยการทอดหรือการปิ้งก็ได้ แต่ดูจะเหมาะที่จะกินกับข้าวเหนียวหรือข้าวสวยมากกว่า   

สำหรับส้มฟักปิ้งนั้น ทำกินในลักษณะเป็นของกินเล่นหรือของแกล้มก็ได้โดยใช้เครื่องประกอบเช่นเดียวกับแหนม ก็มีถั่วลิสง หอมแดงและขิงหนุ่มหัั่นแบบลูกเต๋า พริกขี้หนูสวนสดและผักสด (เช่น ต้นหอม ผักชี ผักกาดหอม กล่ำปลี แตงกวา...)     นึกขึ้นได้ว่า เครื่องประกอบและวิธีกินไม่ต่างไปจากเมนูที่เราเรียกว่า เมี่ยง... มากนัก   ก็จึงคงจะพอเรียกได้ว่า เมี่ยงปลาส้ม  เช่นเดียวกันที่หากเป็นแหนม ก็คงจะเรียกว่า เมี่ยงแหนม ได้เช่นกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 18, 20:29
ก็เลยเข้ามาสู่เมนู "เมี่ยง..."

เมี่ยง เมื่อพูดถึงชื่อนี้ในเมืองกรุงฯ จะสื่อความหมายถึงเมี่ยงคำ หากอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจะสื่อถึงความหมายถึงใบชาหมัก หากอยู่ในร้านอาหารไทยก็จะสื่อความหมายถึงของกินเล่นในมื้ออาหาร แต่หากอยู่ในร้านอาหารจีนก็จะหมายถึงการทำอาหารเมนูหนึ่ง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 18, 19:11
ผมรู้จักเมี่ยงในภาพรวมๆว่าเป็นของกินที่ใช้ใบพืชห่อเครื่องปรุงแล้วใส่ปากเคี้ยวกิน และเป็นการทำด้วยตนเอง

เมี่ยง หรือ เหมี้ยง จะสะกดเช่นใดถูกก็ไม่รู้     ตัวผมเองคิดว่า หากเป็นของขบเคี้ยวกินคล้ายกับการกินหมากพลู แต่ใช้ใบชาหมัก น่าจะสะกดว่า เหมี้ยง  แต่หากอยู่ในลักษณะของอาหาร น่าจะสะกดว่า เมี่ยง

เหมี้ยง ก็คือใบชาพันธุ์หนึ่งที่เก็บมานึ่งให้สุกแล้วนำไปหมักในถังหมักให้มันหมักด้วยตัวมันเอง ใช้เวลา 2-3 เดือน ก็จะได้ใบเหมี้ยงที่นำไปกินได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 18, 20:00
ใบเหมี้ยงที่หมักขายกันนั้นมีอยู่หลายชนิด  ง่ายๆก็จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือแบบเปรี้ยวที่เรียกว่าเหมี้ยงส้ม และแบบธรรมดา ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ก็มีแบบที่ออกรสนุ่มนวลและแบบที่ออกรสเข้มข้น (ฝาดมาก/น้อย เปรี้ยวมาก/น้อย)  แล้วก็ยังมีแบบนิ่มมากหรือนิ่มน้อยอีกด้วย

ก็คงจะพอนึกภาพออกได้นะครับว่า การกินใบเหมี้ยงจึงมีความสุนทรีย์อยู่เหมือนกัน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 18, 18:23
ผมชอบเคี้ยวใบเหมี้ยงในบางช่วงเวลาที่มีโอกาส ก็กินในทุกรูปแบบที่เขาเอามาทำกินกัน   ในระหว่างการเดินทำงานสำรวจไปเรื่อยๆในห้วยก็นิยมที่จะกินเมี่ยงส้ม เอาเกลือทะเล 1-2 เม็ดห่อด้วยใบเหมี้ยงส้มขนาดพอคำ อมไปเคี้ยวไป ก็จะได้รสของความฝาดและความเปรี้ยว แก้น้ำลายเหนียวที่เกิดจากความเหนี่อยและกระหายน้ำ ได้สารประกอบในเชิงของ electrolyte จากเกลือทะเลทดแทนเกลือแร่ที่ร่างการสูญเสียไปทางเหงื่อและอื่นๆ และได้สารประกอบอื่นๆที่เป็นประโยชน์กับร่างกายในสภาพการณ์นั้นๆ (สารกระตุ้นบางชนิด เช่น Caffeine, Nicotine ?) 

ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้เดินทำงานในป่าดงแล้ว แต่ก็ยังอดที่จะซื้อมาเคี้ยวมาอมเล่นไม่ได้ แต่จะเป็นแบบที่ใส่น้ำปรุงรสที่ใส่ขิงซอย รสชาติคล้ายๆน้ำอาจาดของหมูสะเต๊ะ    ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่จะเปรียบเทียบฝีมือของแม่ค้าในพื้นที่ต่างๆว่ามีความอร่อยน่ากินต่างกันมากน้อยเพียงใด   ซึ่งขึ้นอยู่กับการผสมผสานที่นุ่มนวลระหว่างคุณสมบัติของใบเหมี้ยงที่เลือกหยิบมากับรสชาติของน้ำปรุงรส


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 18, 18:37
ใบเมี่ยง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 18, 18:52
อีกอย่างที่มีทำขายกันเรียกว่า เมี่ยงหวาน ก็คือเอาใบเหมี้ยงมาห่อเครื่องใส้ที่ได้จากการผัด/คั่วรวมกัน กระเทียม มะพร้าวคั่ว ถั่วดินคั่ว(ถั่วลิสง)บดหยาบ น้ำตาลปึก เกลือหรือน้ำปลา   ทั้งนี้ แม่ค้าจะห่อเมี่ยงให้เรียบร้อยและขายในลักษณะนับเป็นคำๆไป  

แต่ก่อนนั้น น่าจะเป็นช่วงประมาณ พ.ศ.2500 เมี่ยงส้มและเมี่ยงหวานของทางเหนือนี้ แม่ค้าจะห่อเป็นคำๆให้เสร็จแล้วห่อทับด้วยใบมะพร้าวเป็นคำๆเสียบต่อกันเป็นชุดๆละ 4 หรือ 5 คำ  ในปัจจุบันนี้เกือบจะไม่เห็นอีกเลย เห็นมีแต่จัดอยู่ในถาดโฟมเท่านั้น   คิดว่าน่าจะพอจัดเป็นศิลปหัตถกรรมเล็กๆน้อยที่ปรากฏในวัฒนธรรมของภาคเหนือได้อยู่บ้าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 18, 19:53
ความฝาดของใบเหมี้ยงทำให้ไปนึกถึงสารประกอบพวก tannin ที่ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพในแง่มุมทั้งด้านการป้องกันและการแก้ไขการเจ็บป่วยในเรื่องต่างๆ 

ไม่รู้ว่าได้มีการศึกษามากน้อยเพียงใดในเรื่องของสาร tannin ในใบเหมี้ยงหมัก  (สำหรับใบเหมื้ยงสดซึ่งเป็นใบชาพันธุ์หนึ่งนั้นจะต้องมีอยู่แล้วแน่นอน)  ก็เพียงคิดมากไปหน่อยว่า เห็นมีการแนะนำสนับสนุนอยู่ทั่วไปให้กินพืชที่มีสาร tannin แะผลไม้มีสีเข้ม (มี trace elements)  บางทีการสนับสนุนการนำเอาใบเหมี้ยงหมักมาทำอาหารก็อาจจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน อาหารในภาคเหนือก็มีการใช้น้ำจากการนึ่งใบเหมี้ยงมาทำอาหาร รวมทั้งทำใช้ใบทำอาหารด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 18, 18:25
ที่ดูจะแปลกใจอยู่หน่อยนึงก็คือ ยังไม่เคยเห็นอาหารที่ห่อด้วยใบเหมี้ยงหมัก  หากมีการทำก็น่าจะอร่อยอยู่นะครับ ในยุโรปเขามีอาหารแบบชาวบ้านที่ใช้ใบองุ่นหมักห่อเนื้อสัตว์เป็นท่อนๆคล้ายใส้กรอก ก็กินได้ มีความอร่อยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 18, 18:37
เมี่ยง หรือ เหมี้ยง จะสะกดเช่นใดถูกก็ไม่รู้     ตัวผมเองคิดว่า หากเป็นของขบเคี้ยวกินคล้ายกับการกินหมากพลู แต่ใช้ใบชาหมัก น่าจะสะกดว่า เหมี้ยง  แต่หากอยู่ในลักษณะของอาหาร น่าจะสะกดว่า เมี่ยง

จะสะกดอย่างไร เห็นจะต้องพึ่งคุณรอยอิน ท่านว่าไว้ดังนี้

เมี่ยง  (ความหมายที่ ๑) (ถิ่น-พายัพ) :  ชื่อต้นไม้ขนาดเล็กชนิด Camellia sinensis (L.) Kuntze var. assamica (Mast.)  Kitam ในวงศ์ Theaceae ขึ้นตามเขาในภาคเหนือเขตร้อน ใบนำมาหมักใช้เคี้ยวหรืออม.

เมี่ยง (ความหมายที่ ๒) : ของกินเล่นที่ใช้ใบไม้บางชนิด เช่น ใบชาหมัก ใบชะพลู ใบทองหลาง ห่อเครื่อง มีถั่วลิสง มะพร้าว กุ้งแห้ง หัวหอม ขิง เป็นต้น มีหลายชนิด เรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงลาว เมี่ยงส้ม.

สรุปความได้ว่า คำนี้สะกดได้ถูกต้องคือ "เมี่ยง" เพียงคำเดียว เมี่ยงในความหมายของกินเล่นอาจจะทำจากใบไม้ได้หลายชนิดเช่น ใบชา (อัสสัม) หมัก, ใบชะพลู, ใบทองหลาง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 18, 19:22
เมี่ยงของภาคเหนือใช้ใบชาหมักเท่านั้น   เมี่ยงในที่อื่นๆมีการใช้ใบไม้หรือพืชผักชนิดต่างๆ แต่ที่นิยมกันนั้นจะเป็นใบชะพลูกับใบทองหลาง

เครื่องประกอบของเมี่ยงต่างๆนั้น โดยพื้นฐานแล้วจะเหมือนๆกัน คือ มีขิง มีหอมแดง มีพริกขี้หนู มีถั่งลิสง มีมะนาว    ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปก็มักจะเป็นไปตามเนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นองค์ประกอบ    เมี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะตนก็คือ เมี่ยงคำ และ ข้าวตังเมี่ยงลาว    

สำหรับเมี่ยงคำนั้น ในปัจจุบันนี้ดูจะมีความอร่อยทัดเทียมกันหรือพอฟัดพอเหวี่ยงกันทั่วประเทศ เพราะว่าระบบสารสนเทศกับ IT ได้ช่วยกระจายกระบวนยุทธให้กับคนที่จะทำขายได้ทั่วไปหมด

ส่วนเมี่ยงลาวนั้น ยังไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมกันมากนัก และเข้าข่ายหากินได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะเจ้าที่ทำได้อร่อยๆ (ในตลาดนางเลิ้งก็มีอยู่เจ้าหนึ่ง)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 18, 20:03
ข้าวตังเมี่ยงลาว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 18, 20:13
ขอบคุณครับ ก็คงต้องเป็นไปตามที่ท่านรอยอินว่าไว้  

ก็เลยต้องคิดว่า บรรดาบ้านป่าทั้งหลายในพื้นที่ดอยสูงในภาคเหนือที่ปลูกต้นชาเพื่อเอาใบไปหมักทำเมี่ยง ซึ่งสะกดชื่อหมู่บ้านว่า บ้านป่าเหมี้ยง เหล่านั้น ก็จะต้องแก้การสะกดชื่อให้ถูกต้องไปเป็น บ้านป่าเมี่ยง กันทั้งหมด (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน พะเยา..)

ก็เลยสงสัยว่าการสะกดว่า เหมี้ยง มาจากใหน เป็นการสะกดเพียงเพื่อให้ได้การออกเสียงที่เหมือน หรือว่ามีความหมายอื่นใด ??


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 18, 20:37
มีคำอีกคู่หนึ่งซึ่งมีสถานะคล้าย ๆ กับ เมี่ยง-เหมี้ยง คือ ฮ่อม-ห้อม คู่หลังนี้ไม่มีปัญหาเพราะท่านรอยอินรับรองทั้งสองคำว่าเป็นภาษาถิ่นพายัพ หมายถึง ต้นคราม เมื่อมีชื่อบ้านป่าเหมี้ยง ท่านรอยอินก็ควรรับรองคำนี้ไว้ด้วยให้ใช้ได้ทั้ง ๒ คำ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 18, 17:39
คำว่า เมี่ยงหรือเหมี้ยง นี้ คนในภาคเหนือจะออกเสียงคล้ายกับเสียง เมียง   ผมก็เลยเดาแบบมโนเอาดื้อๆว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เลยผันสำเนียงให้เป็นแบบภาษากรุงเทพฯ แล้วก็เลี่ยงที่จะใช้คำสะกดว่า เมี่ยง เพื่อมิให้ซ้ำกับความหมายของคำๆนี้ที่ใช้กันในภาคกลาง

คำว่า ฮ่อมหรือห้อม ก็เช่นกัน   จะเขียนว่าอย่างไรดีจึงจะถูก เสื้อหม้อห้อม เสื้อหม้อฮ่อม เสื้อม่อห้อม หรือเสื้อม่อฮ่อม   ที่นิยมเขียนกันตามร้านค้าก็มีทั้งแบบ หม้อห้อม (ตามสำเนียงของคนกรุงเทพฯ) สำหรับร้านของคนรุ่นใหม่  และ ม่อฮ่อม (ใกล้เคียงกับสำเนียงของคนถิ่น) สำหรับร้านรุ่นเก่า       คำว่าหม้อ คนในภาคเหนือจะออกเสียงใกล้ไปทาง มอ ส่วนคำที่หมายถึงน้ำครามนั้น จะออกเป็นเสียงค่อนข้างสั้นใกล้กับ ฮอม 

     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 18, 18:01
ก็มีหลายคำที่เราถอดเสียงแล้วสะกดให้เป็นภาษาและสำเนียงของคนกรุงเทพฯ เช่น ฮ่องกาด เป็น ร่องกาศ   ฮ่องกว๋าง เป็น ร้องกวาง ฯลฯแล้วก็มีที่ทำให้ความหมายที่ผิดเพี้ยนไป เช่น พุเตย เป็น ภูเตย ฯลฯ


เคยสังเกตใหมครับ ต.รอบเวียง มีอยู่เฉพาะในจังหวัดในภาคเหนือ และ ต.รอบเมือง นั้นมีอยู่เฉพาะในภาคอิสาน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 18, 18:44
เมี่ยงคำที่ว่าอร่อยนั้น จะต้องใช้มะพร้าวคั่วที่ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ มิใช่ใช้มะพร้าวขูดแล้วเอาไปคั่ว  ใช้มะนาวเปลือกบาง ใช้ขิงหนุ่ม  ใช้หอมแดงของไทย มิใช่ใช้หอมแขก  ใช้กุ้งแห้งชนิดไม่มีเปลือก ขนาดตัวไม่ใหญ่ไม่เล็ก  ใช้พริกขี้หนูสวนเม็ดเล็ก และใช้ถั่วลิสงลอกผิวแล้วคั่ว มิใช่คั่วแล้วเอาผิวออก ใบไม้ที่ใช้ห่อก็จะเป็นใบชะพลูหนุ่ม และใบทองหลาง   ความอร่อยที่แท้จริงได้มาจากความพอดีของปริมาณเครื่องแต่ละอย่างที่นำมาประกอบกัน บวกกับรสของน้ำที่ราด

การทำเมี่ยงคำให้อร่อยก็จึงเป็นศิลปอย่างหนึ่งของคนที่ทำ ที่จะสามารถผสมผสานความต่างของรสและกลิ่นของเครื่องปรุงแต่ละอย่างให้ออกมาเป็นรสที่กลมกลืนเมื่อได้เคี้ยวย้ำลงไปในแต่ละคำ แม้แต่ขนาดของคำที่ก็ต้องมีความพอดีกับปาก ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 18, 19:02
ช่วงเวลานี้กำลังเป็นช่วงเวลาของโรงเรียนปิดเทอม  แต่ก่อนนั้นคนในเมืองกรุงก็จะพาเด็กๆไปเล่นว่าวกันที่ท้องสนามหลวง เด็กๆก็มักจะนิยมเล่นพวกว่าวงูกัน เป็นเด็กโตขึ้นมาก็จะเล่นว่าวปักเป้าหรือว่าจุฬาตัวเล็ก ฝ่ายผู้ใหญ่ก็จะนั่งดูเด็กๆเล่นว่าว นั่งบนเสื่อเช่า หรือเสื่อของแม่ค้าขายเมี่ยงคำ ซึ่งมีทั้งแบบมีโต๊ะคล้ายตั่งหรือโตกเตี้ยๆหรือมีแต่เสื่อ แล้วก็สั่งเมี่ยงคำที่แม่ค้าจะเอาใบชะพลูและใบทองหลาง (ตามแต่จะสั่ง) วางเรียงพร้อมเคริื่องที่ปรุงแล้วเป็นคำๆ จัดวางแผ่อยู่ในถาดสังกะสีเคลือบ   

ยามเมื่อเย็นลมว่าว แดดร่มลมตก นั่งดูเขาเล่นว่าวสู้กันระหว่างว่างจุฬากับว่าวปักเป้า ดูเด็กๆวิ่งเล่นและวิ่งเพื่อชักให้ว่าวขึ้นติดลม นั่งขัดสมาธิหรือเอนตะแคง หรือนั่งเก้าอี้ผ้าใบ มีน้ำอมฤตกับน้ำแข็งแนมด้วยเมี่ยงคำวางพร้อมอยู่    สุขของคนในกรุงสมัยก่อนจริงๆ แต่ต้องเว้นวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพราะว่ามีตลาดนัดรอบสนามหลวง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 18, 19:07
ช่วยขยายความรู้เรื่องใบทองหลางให้ด้วยครับ เห็นมีอยู่หลายชื่อเรียก  ที่เอามาขายกันนั้นมีอยู่สองชนิดคือแบบมีหนามอ่อนๆที่โคนใบกับแบบไม่มี  ผมกินทั้งสองชนิด แต่จำแนกไม่ออกว่ามีอร่อยต่างกันอย่างไร 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 18, 19:19
วกกลับไปที่สนามหลวง ก็จะเห็นว่าบางเจ้าก็ขายดีมาก แต่ไม่เกี่ยวแม่ค้าสาวสวยนะครับ   คงจะเป็นเพราะศิลปในการจัดเครื่องปรุงในปริมาณที่เหมาะสมและความเข้ากันได้ดีกับน้ำราด

สว.มากเกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่ได้พูดถึงสนามหลวงในภาพเช่นนี้ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 18, 20:06
ยังจำบรรยากาศสนามหลวงช่วงฤดูเล่นว่าวได้ค่ะ
สงสัยว่า ทำไมต้องเป็นมี่ยงคำ   สนามหลวงไม่มีของว่างอย่างอื่นบ้างหรือคะ เช่นสาคูไส้หมู  ข้าวเกรียบปากหม้อ  ปอเปี๊ยะ   ขนมจีบไทย  ฯลฯ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 18, 18:19
หากจะให้ผมให้ความเห็น ก็ต้องขอบอกเสียแต่แรกว่า จำไม่ได้ว่ามีหรือไม่มีของกินเล่นอย่างอื่นเช่นสาคูใส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมจีบไทย และปอเปี๊ยะหรือไม่    แต่คิดว่าขนมจีบไทยนั้นคงมีแน่ เพราะใช้วิธีการเร่ขายด้วยการตั้งหม้อซึ้งบนเตาถ่านเล็กๆหลังจักรยานแล้วถีบเร่ขาย   

พูดถึงขนมจีบไทยแล้วก็รู้สึกอยากขึ้นมาในทันที ขนมจีบไทยใช้แป้งห่อสีขาว นึ่งให้สุกแล้วเหยาะด้วยกระเทียมเจียวสับละเอียดที่เจียวแบบน้ำมันน้อยๆแต่กรอบๆ กินกับผักกาดหอม (สมัยหนึ่งเรียกว่าผักสลัด) และต้นผักชี มีบางเจ้าที่ให้ต้นหอมด้วย   ผมว่าจุดเด่นของความอร่อยของมันก็คือการกินกับต้นผักชีซึ่งเข้ากันได้ดีมากๆ หรือกินกับผักกาดหอม จิ้มกับซีอิ๊วขาวผสมจิกโฉ่วเล็กน้อย   ก็เป็นของกินที่มีเอกลักษณ์ของตัว เป็นของกินเล่นยามบ่ายแก่ๆ (แบบ High Tea)    ปัจจุบันนี้หากินได้ยากแล้ว นานๆทีก็มีโอกาสได้พบ ก็ยังใช้จักรยานถีบขายอยู่ดี แต่ไม่อร่อยดังเดิมแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 18, 18:36
ขนมจีบไทย ดูเหมือนจะต้องหลีกทางให้ขนมจีบจีนเสียแล้วค่ะ  น่าเสียดาย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 18, 18:38
ต่อข้อปุจฉาว่า ทำไมต้องเป็นเมี่ยงคำ นั้น

ตัวเองมีความเห็นว่า ก็คงจะเป็นเพราะว่า ของกินเล่นอื่นๆนั้นมีข้อจำกัดบางประการในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ในการทำ และจะต้องทำใหม่ๆจึงจะอร่อย     ส่วนเมี่ยงคำนั้น อยู่ในข่ายเสื่อผืนหมอนใบ โยกย้ายไปใหนมาใหนก็ได้ด้วยความรวดเร็ว จะเป็นพื้นที่ใหน บริเวณใหน จุดใหนก็ได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 18, 19:01
ขนมจีบไทย ดูเหมือนจะต้องหลีกทางให้ขนมจีบจีนเสียแล้วค่ะ  น่าเสียดาย

บางที  หากว่าบรรดาพวกร้านขายกาแฟที่มีการขายขนมเค๊กชนิดต่างๆด้วย  จะเพิ่มเมนูแบบ High Tea เข้าไปในช่วงเวลาบ่าย มีของกินเล่นแบบไทยๆเช่น ขนมจีบไทย ข้าวตั้งหน้าตั้ง ข้าวตังเมี่ยงลาว ใส้กรอกปลาแนม ฯลฯ แล้วเพิ่ม Punch เข้าไปในเมนูกาแฟ  ก็อาจจะเป็นเมนูขายดีสำหรับการ entertain ผู้คนในวาระต่างๆก็ได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 18, 19:26
ของกินเล่นอีกอย่างหนึ่งที่ครั้งหนึ่งเห็นมีตะเวนขายกันทั่วไปในพื้นที่สนามหลางและที่อื่นๆก็คือ ปลาหมึกย่าง  ตั้งอุปกรณ์มีทั้งเตาถ่าน ราวโชว์ปลาหมึก เครื่องรีดปลาหมึก และชุดเครื่องน้ำจิ้มที่ใช้กระทงใบตองแห้งเป็นภาชนะ ทั้งหมดเป็นชุดตั้งอยู่บนแป้นหลังจักรยาน ต่อมาก็ขยายเป็นการใช้รถสามล้อแบบซาเล้งกัน

ราวแขวนปลาหมึกตากแห้งนั้น ราวบนก็จะเป็นปลาหมึกตัวใหญ่หน่อย ลดหลั่นขนาดกันมาจนถึงราวล่างสุด  ความอร่อยที่แตกต่างกันของปลาหมึกย่างนี้ อยู่ที่ฝีมือการย่างให้ปลาหมึกสุกหอมได้ที่เสมอกัน การรีดปลาหมึกให้เป็นแผ่นบาง ขยายจากตัวเล็กๆเป็นแผ่นขนาดใหญ่ (อาจจะทำให้มีลายเส้นด้วย)  แล้วก็น้ำจิ้มที่ทำคล้ายๆกับน้ำจิ้มเต้าหู้ทอดและตือคาโค

ปลาหมึกย่างและเร่ขายในรูปแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว  แต่ก็ยังเป็นที่นิยมมากพอที่จะยังให้มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรม ก็ดังที่เห็นวางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อต่างๆ       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 18, 18:44
พูดถึงใบชะพลูแล้ว ก็ทำให้นึกถึงอาหารอร่อยอีกสองสามอย่าง ก็มีแกงคั่วปูใบชะพลู แกงหมูใบชะพลู และแกงหอยแคลงใบชะพลู ทั้งหมดนี้เป็นแกงทางใต้ที่มีรสจัด ร้อนแรง  เป็นแกงน้ำข้นขลุกขลิก
 
ของโปรดของผมได้แก่แกงหอยแคลงใบชะพลูแบบน้ำแห้ง   ตักหอยมาหนึ่งตัวจะ ได้ทั้งหอย เครื่องแกง และผัก เกาะกันเป็นก้อน พอดีทานกับข้าวสวย 1 ช้อน เป็นหนึ่งคำพอดีๆ  เป็นอาหารพวก chewy ที่แน่นไปด้วยอาหารทุกหมู่และรสชาติ แถมยังได้บริหารกล้ามเนื้อกรามอีกด้วย 

เมนูเหล่านี้ ในกรุงเทพฯหากินได้ไม่ง่ายเลย  แกงหอยแครงดูจะเป็นของที่หากินได้ง่ายกว่าเพื่อน แถวสามแยก(สี่แยก)เกษตรมีร้านอาหารใต้ทำขายอยู่เกือบจะเป็นประจำ     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 18, 19:26
ใบชะพลูและใบทองหลางยังเป็นผักที่ใช้กินกับเมนูอาหารว่างหรืออาหารกินเล่นที่เรียกว่าใส้กรอกปลาแนม  เป็นของกินเล่นที่ใช้วิธีการกินคล้ายเมี่ยงแต่ไม่เรียกว่าเมี่ยง เป็นของที่ทำไม่ง่ายก็เลยทำให้หากินได้ยากหน่อย เป็นของที่มีองค์ประกอบอยู่สามอย่างที่กินไปด้วยกัน คือใส้กรอกข้าว ปลาแนม และผัก  ตัวปลาแนมจะต้องมีกลิ่นรสของส้มซ่าและมะกรูดจึงจะสุดยอด  ผมชอบด้อมๆไปกำจัดความอยากกินแถวตลาดนางเลิ้ง

เดี๋ยวนี้เห็นมีแม่ค้าทำใส้กรอกปลาแนมแต่ใช้หมูแทนปลา มีขายอยูในตลาดชุมชนบางแห่งที่เป็นชุมชนดั้งเดิมแต่โบราณ  ก็ทานได้อร่อยไม่น้อยเหมือนกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มี.ค. 18, 20:03
ไส้กรอกปลาแนม ของว่างไทยๆที่หากินได้ยากอีกชนิดหนึ่ง     จะทำบุญให้คุณแม่  ต้องไปตลาดนางเลิ้งค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 18, 17:52
ห่อหมกรองก้นด้วยใบชะพลูก็เป็นของอร่อย แต่แม่ค้าไม่ค่อยจะทำขายกัน  ที่นิยมทำขายกันจะใช้ใบใบยอ โหระพา กล่ำปลี และผักกาดขาว กระทั่งใบยอเองก็ยังมีๆหายๆ (คิดว่าเพราะคนไม่ค่อยจะกินผักกันและเมื่อไม่คุ้นเคยกับผักแปลกๆก็เลยไม่อยากลอง)

ของชอบของผมจริงๆคือใบยอ ใบโหระพา ใบชะพลู  แล้วก็ที่สุดยอดหากินได้ยากเลยก็คือใช้ใบเหลียง

เนื้อที่ใช้ทำห่อหมกในยุคก่อนนั้นจะใช้ปลาน้ำจืด โดยเฉพาะปลาช่อนและปลากราย  สับเนื้อปลาใส่กันเป็นขิ้นๆมิใช่สับกันจนละเอียดหรือบดแล้วยีรวมเข้าไปในเนื้อน้ำพริกดังที่นิยมทำกันในปัจจุบัน  ใช้วิธีการห่อด้วยใบตองกล้วยเป็นหลัก หากจะทำเป็นกระทงใช้ทางมะพร้าวกลัด ขนาดของกระทงก็จะประมาณอุ้งมือเรา มิได้มีขนาดเล็กดังในปัจจุบัน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 18, 18:27
ผมว่าห่อหมกเป็นอาหารที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมากที่สุดอยางหนึ่ง  เข้าใจว่าแต่แรกนั้นเป็นทำให้สุกด้วยการหมกขี้เถ้าร้อนๆข้างเตาถ่านหรือเตาฟืน คล้ายๆกับอาหารพื้นบ้านที่เรียกว่าแอบ ซึ่งแอบในปัจจุบันก็กลายเป็นทำให้สุกด้วยวิธีการปิ้งไปเสียแล้ว ด้วยหมดยุคการใช้เตาถ่านหรือเตาฟืนที่ต้องมีการเขี่ยขี้เถ้าออกมากองไว้ข้างเตา    จากการหมกกับถ่านร้อนระอุก็ไปใช้การนึ่งแทน จากทำแบบกินรวมในสำรับอาหารก็ทำเป็นแบบกระทงเล็กแยกของใครของมัน จากการใข้เนื่อปลาก็มีการไปใช้สัตว์ทะเลเป็นห่อหมกทะเล เป็นห่อหมกหมู เป็นห่อหมกมะพร้าว เป็นห่อหมกปั้นเสียบไม้ย่างเหมือนกับ kebab (เห็นแถวย่านวังหลัง) .... 

ก็มีเจ้าอร่อยอยู่เจ้าหนึ่งในตลาดย่านเยาวราช/เจริญกรุง แทนที่จะใส่เนื้อปลาลงไปผสมรวมอยู่ในน้ำพริก เขาก็เอาเนื้อปลามาทำเป็นลูกชิ้นปลาแบนๆขนาดประมาณก้นแก้วน้ำ วางปิดทับบนหน้ากระทงห่อหมก หนึ่งกระทงก็มีลูกชิ้นปลาเนื้อๆอยู่ลูกหนึ่ง ก็น่ากินและอร่อยไม่เบา เสียดายที่ไม่มีขายแล้ว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 18, 18:35
ห่อหมกของโปรดของหลายๆคนที่ไม่ค่อยจะมีใครทำขายแล้ว ราคาอาจจะสูงกว่าปกติ และก็คงไม่ค่อยมีคนกินมากนัก หรือมิฉะนั้นก็คงเป็นของที่ขายไปหมดก่อนเพื่อน คนที่นิยมน่าจะเป็นพวก สว     ห่อหมกพุงปลาช่อนครับ และก็ห่อหมกหัวปลาช่อนด้วย  อันนี้เป็นของอร่อยจริงถึงแม้ว่าน้ำพริกห่อหมกอาจจะด้อยไปบ้างก็ตาม 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 18, 18:49
ส่วนของหัวปลาช่อนที่จะถูกควักออกไปกินก่อนเพื่อน ก็คือ เนื้อก้อนที่กระพุ้งแก้ม   

ส่วนของพุงปลาช่อนที่จะหายไปก่อนเพื่อน ก็คือ ส่วนที่เป็นกระเพาะและลำใส้ ซึ่งมักจะตกเป็นของฝ่ายชาย  ส่วนพวงไข่ของมันทั้งสองพูนั้นมักจะไม่มีการแย่งกัน และมักจะยกให้เป็นของฝ่ายหญิง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 18, 19:12
จำไม่ได้ว่าห่อหมกเป็นกับข้าวประจำบ้านหรือเปล่าค่ะ      เพราะจำได้แต่ห่อหมกที่แม่ค้าหาบขาย 
ผิดกับแกงเผ็ด  แกงจืด  น้ำพริกและเครื่องเคียง   ผัดหรือของทอดต่างๆ ที่แม่ครัวทำขึ้นโต๊ะ    พวกนี้เป็นกับข้าวเอาไว้กินกับข้าว 
แต่ห่อหมก ดูเหมือนจะกินเปล่าๆ   ก็เลยไม่รู้จะจัดประเภทเอาไว้เป็นของว่าง หรืออะไรกันแน่ค่ะ คุณตั้ง
จำได้แต่ว่าสมัยมีแม่ค้าหาบของกิน เดินไปตามบ้าน มีห่อหมกขายด้วย    ตามตลาดสดเช่นตลาดวัดมหรรณพ์ ก็มีแม่ค้านั่งขายห่อหมก   
ห่อหมกดั้งเดิมมีแต่ปลาเท่านั้น เป็นปลาน้ำจืดอย่างปลาช่อน  ไม่มีห่อหมกทะเล หรือห่อหมกอะไรมากมายอย่างปัจจุบัน  ใบรองห่อหมกก็คือใบยอ  นึกออกแค่นี้ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 18, 18:54
ห่อหมกคงจะไม่ใช่กับข้าวประจำบ้าน     ห่อหมกเป็นของที่มีเครื่องปรุงไม่ยุ่งยาก แต่มีกระบวนการทำที่ยุ่งยาก กินที่และใช้เวลา และไม่สามารถทำแต่เพียงเล็กน้อยพอจานได้  ก็เลยต้องเป็นกับข้าวประจำงาน แถมยังจะต้องเป็นงานเลี้ยงแบบที่จัดนั่งเป็นสำรับๆอีกด้วย  ก็เลยมักจะเห็นอยู่ในสำรับฉันเพลของพระในงานบุญต่างๆและในงานมงคลต่างๆของคนภาคกลาง     แต่หากย้อนไปไกลๆ ห่อหมกที่หากแต่เดิมอาจจะทำเหมือนแอบก็อาจจะเป็นอาหารประจำบ้านได้ดังเช่นแอบที่ชาวบ้านกินกันอยู่ในปัจจุบัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 18, 19:32
เมื่อพูดถึงปลาช่อน ทำให้นึกถึงความสัมพันธ์ของหัวและพุงปลาช่อน(หมายรวมถึงไข่ด้วย)กับอาหารไทยอีกบางอย่าง  นอกจากห่อหมกแล้วก็มีต้มยำปลาช่อน แกงส้ม.... 
   
ต้มยำปลาช่อนนี้ เกือบจะไม่เห็นมีผู้ใดสั่งมากินเลยแม้กระทั่งในร้านอาหารต่างๆใน ตจว. ในปัจจุบันนี้อาหารจานนี้ก็ยังไม่ปรากฏอยู่ในเมนูอาหารอีกด้วย     ผมคิดว่ามันค่อยๆหายไปจากเมนูของร้านอาหารต่างๆในช่วงเวลาที่เขื่อนต่างๆได้สร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำ ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะว่า ที่ว่าปลาช่อนนั้น แท้จริงแล้วมักจะเป็นปลาชะโดที่จับได้จากอ่างน้ำหลังเขื่อน    ปลาชะโดจะมีรสเนื้อที่จืดและมีสีขาวซีดมากกว่าเนื้อปลาช่อน     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 18, 20:13
ต้มยำปลาช่อนที่ทำอร่อยๆดูจะมีเอกลักษณ์ประจำอยู่อย่างหนึ่งคือ จะใส่พริกแห้งทอดและใบผักชีฝรั่ง  ซึ่งหากจะให้ซี๊ดซ๊าดมากขึ้นไปอีกก็เพียงแต่รองก้นชามแกงด้วยใบกระเพราะแดง พริกขี้หนูบุบพอแตก เหยาะน้ำปลา บีบมะนาว แล้วก็ตักต้มยำร้อนๆ(เดือด)จากหม้อใส่ลงไป  ทีนี้ก็จะได้ต้มยำปลาช่อนที่มีรสแซบเหลือหลายเลยทีเดียว  วิธีการนี้แม้จะเป็นปลาชะโดก็ยังอร่อย ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าน้ำแกงมันรสจัดจนกลบรสเนื้อไปจนหมด

สำหรับเมนูต้มยำปลาช่อนของผม จะเริ่มที่เอาน้ำใส่หม้อ บุบตะไคร้แล้วหั่นเป็นท่อนๆ ซอยข่าหนุ่มเป็นแว่นๆ ที่เป็นแว่นหนาหน่อยก็ใช้มีดบุบช่วย ฉีกใบมะกรูดเอาส่วนที่เป็นก้านใบทิ้งไป ใส่ลงไปในหม้อแล้วตั้งไฟแรงๆให้เดือด จากนั้นก็ใส้เกลือทะเลมากพอที่จะทำให้รสน้ำกร่อย ในขณะที่เดือดก็ค่อยๆหย่อนปลาลงไปทีละชิ้น โดยพยายามรักษาอุณหภูมิของน้ำให้ร้อนจัดอยู่เท่าๆกัน  ช้อนฟองออก เมื่อปลาสุกก็เติมเกลือลงไปอีกหนิดหน่อย แล้วก็ตักน้ำแกงมาละลายมะขามเปียกใส่ลงไปมากพอที่จะรู้สึกรสเปรี้ยวออกมา ใส่หริกแห้งคั่วและใบผักชีฝรั่ง   เมื่อจะกินก็ทำอย่างที่เล่ามา   หรือมิฉะนั้นก็เพิ่มความยุ่งยากเข้าไปอีกนิดด้วยการเอาน้ำพริกเผาที่ทำด้วยหอแดงเผา กระเทียมเผา พริกแห้งเผา กะปิห่อใบตองเผา เอามาโขลกรวมกันให้แหลก   แล้วก็ใช้ช้อนตัก(ตามปริมาณที่คิดว่าพอเหมาะหรือว่าจะแซบพอ)ละลายลงไปในชามแกงแต่ละถ้วยก่อนกิน   (ซึ่งในบางครั้ง) ก็ใส่ใบผักไผ่หรือไม่ก็มะกอกป่า(มะกอกที่ใส่ส้มตำ)ลงไป    ครับ..คล่องคอดีเหลือเกิน แถมสบายยามเช้าอีกด้วย     ....ขออภัยที่เล่าซ้ำกับที่เคยได้เล่ามาบ้างแล้วในบางกระทู้...


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มี.ค. 18, 22:49
น่ากินมากค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 18, 18:54
ครับ น่ากิน   

ปลาช่อนเป็นปลาที่เห็นแล้วให้ความรู้สึกว่าน่ากิน    ความน่ากินของมันเริ่มตั้งแต่จับมันเลย แต่ก่อนนั้นยังไม่มีการเลี้ยงเพื่อขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ชาวบ้านมักจะได้ปลาช่อนจากหนองน้ำที่น้ำแห้งที่มีการวิดน้ำจับปลากัน   แรกๆก็จะได้พวกปลาเล็กปลาน้อย (ปลาซิว ปลาสร้อย) ที่เมาน้ำโคลนแล้วลอยหายใจอยู่ผิวน้ำ ก็จะถูกจับด้วยแซะ (กระชอนสานไม้ไผ่ทรงสามเหลี่ยม)  พอน้ำแห้งมากๆเข้าก็จะเริ่มเห็นปลาตัวใหญ่ขึ้นมา ใช้สุ่มครอบแล้วจึงจับ จะเป็นพวกปลามีเกล็ดสีขาวทั้งหลาย (ตะเพียน ใบไม้ ...) เมื่อน้ำแห้งเริ่มเป็นโคลนเละๆมากเข้าก็จะได้ปลากระดี่ ปลาหมอ โชคดีมากหน่อยก็จะได้ปลาดุก ที่จะดีใจมากๆก็เมื่อได้ปลาช่อน บางครั้งก็ได้ปลาไหลด้วยเหมือนกัน 

ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ ในแต่ละหนองน้ำก็จึงมีไม่มากตัว แล้วก็ยังจับยากอีกด้วย กำลังของมันเยอะ และตัวมันก็เมือกและอยู่ในโคลน จึงลื่นมาก เรากดให้มันนิ่งได้แต่จับมันออกมาจากสุ่มได้ยาก แล้วมันก็มักจะดิ้นจนหลุดมือเมื่อเอามันออกมาพ้นสุ่ม  ความสนุกสนานก็เกิดขึ้นในการไล่จับมัน ต่างคนต่างก็พยายามจะเอาสุ่มครอบมันให้ได้ เสียงดังเจี๊ยวไปหมดในบริเวณที่ปลาช่อนมันมุ่นโคลนหลบหนีไปแล้วหยุดฝังตัวอยู่นิ่งๆ  ก็คงพอจะเห็นภาพได้บ้างนะครับว่า ทำไมมันจึงเป็นที่น่ากินตั้งแต่แรกที่รู้ว่ามีมัน ก็เมื่อช่วยกันรุมจับในหนองแล้วเมื่อขึ้นจากหนองแล้วก็ยังมีการตั้งวงสนทนากัน แล้วปลาช่อนตัวนั้นๆจะมิใช่ของกลางที่น่านำมากินร่วมกันหรือ ??     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 18, 18:59
ที่บ้านมีสระน้ำธรรมชาติ  ปลาช่อนมาอาศัยอยู่หลายตัว   พอเดินไปให้อาหาร  ก็จะลอยตัวขึ้นมา   ว่ายตรงมาหา 
เลยไม่ได้กินปลาช่อนมาหลายปีแล้วค่ะ
เมนูตามร้านตอนนี้มีปลากะพง และปลาทับทิม ให้เลือกมากกว่าปลาช่อน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 18, 19:31
สำหรับการจับปลาหมอกับปลาดุกในสุ่มนั้น ไม่ยากอย่างที่คิดครับ  ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่ปลาหมอมีครีบที่แหลม ส่วนปลาดุกก็มีเงี่ยงที่เมื่อถูกยักแล้วเจ็บปวดมาก    วิธีการก็คือ ในการความหาปลาในสุ่มนั้น มิใช่ทำเหมืือนการกวนน้ำด้วยมือ จะใช้การแบมือกดแตะลงไป เมื่อเจอตัวปลาก็ค่อยๆกดลงไปให้มันอยู่นิ่งๆ  ด้วยสัมผัสก็พอจะรู้ว่าหัวหางปลาอยู่ทางใหน  สำหรับปลาหมอก็จับตัวมันแบบลูบไปทางหาง ส่วนปลาดุกก็พยายามหมุนมือให้หัวของมันมาอยู่ทางก้นของฝ่ามือ แล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางแทรกเข้าไประหว่างเงี่ยงซ้าย/เงี่ยงขวา ใช้นิ้วหัวแม่มือดันส่วนหน้าของมัน ก็จะจับมันได้ง่าย  

นึกถึงวัยเมื่อวันวาน ไปเอาดอกมะเขือมาเกี่ยวเบ็ดเพื่อตกกบ แต่กบตัวมันใหญ่เกิน ก็เลยไปจับเขียดตัวเล็กเอามาเกี่ยวเบ็ดเพื่อตกปลา หวังจะได้ปลาช่อนแต่กลับได้งู
 
วิดน้ำจับปลาในหนองเป็นของชอบในสมัยเด็ก ก็ยังดีใจที่ได้ทำให้ลูกหลานได้มีโอกาสสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบนี้อยู่บ้าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 18, 18:37
ที่บ้านมีสระน้ำธรรมชาติ  ปลาช่อนมาอาศัยอยู่หลายตัว   พอเดินไปให้อาหาร  ก็จะลอยตัวขึ้นมา   ว่ายตรงมาหา 
เลยไม่ได้กินปลาช่อนมาหลายปีแล้วค่ะ
เมนูตามร้านตอนนี้มีปลากะพง และปลาทับทิม ให้เลือกมากกว่าปลาช่อน

ปลาช่อนและปลาชะโด เป็นปลาที่ชอบลอยตัวขึ้นมาใกล้ๆตลิ่งใต้ร่มเงาไม้ที่ทอดลงไปในน้ำ ดังนั้นวิธีการหาปลาทั้งสองชนิดนี้วิธีการหนึ่งก็คือไปหย่อนเบ็ดตอนบ่ายๆในบริเวณที่มีร่มเงาไม้ หรือไม่ก็นั่งรอจนมันลอยขึ้นมาแล้วใช้ฉมวกพุ่งแทงเอา หากเป็นชาวบ้านป่าอยู่ในพื้นที่ๆมีแม่น้ำสายใหญ่ ก็มักจะใช้ปืนแก๊บยิงเอา ซึ่งก็จะได้ปลาที่เรียกว่าปลาแมงภู่ ซึ่งเขาว่าก็คือปลาชะโดที่มีอายุแก่ๆและตัวใหญ่ๆ ก็เลยไม่ค่อยจะได้ยินว่ามีปลาช่อนในแม่น้ำทั้งหลาย     สำหรับปลารูปทรงปลาช่อนแต่หัวโตที่พบเฉพาะในห้วย มีชื่อเรียกว่าปลากั้ง พวกนี้ชอบว่าลัดเลาะและซ่อนตัวอยู่ตามร่องก้อนหิน ชาวบ้านไม่นิยมจับมากินกัน ก็ว่ากันว่ากินแล้วหัวจะสั่น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 18, 19:23
ผมนึกไม่ออกถึงเมนูอาหารที่ระบุว่าใช้ปลาชะโด กระทั่งต้มโคล้งที่ใช้ปลาแห้งก็ยังว่าเป็นปลาช่อนทั้งๆที่มักจะเป็นปลาชะโด

ปลาช่อนเอามาทำอาหารได้อร่อยๆอยู่หลายอย่าง แต่ที่มักจะนึกถึงกันในทันใดก็จะมี ปลาช่อนแป๊ะซะ และปลาช่อนย่างเกลือ     

อื่นๆที่อาจจะไม่ได้นึกถึงกันเลย ซึ่งที่อร่อยๆนอกจากเอามาทำห่อหมกแล้วก็มีอาทิ เอามาทำข้าวต้มปลา เอามาผัดกับคื่นช่าย เอามาทอดแล้วราดด้วยซอสสามรส (ปลาสามรส ปลาช่อนลุยสวน...)  เอามาทำน้ำพริกปลากินกับผักต้มและผักสด เอามาทำขนมจีนน้ำยา ....

ปลาช่อนตากแดด หากเป็นแดดเดียวก็เอามาทอดกินแนมกับแกงเผ็ดต่างๆ   หากเป็นหลายๆแดดก็เอามานึ่ง ซึ่งจะเอามากินกับข้าวเหนียวปั้นร้อนๆก็อร่อย หรือจะเอามาทำเป็นหน้าปลาแห้ง ใช้แตงโมจิ้มกินเปล่าๆ ซึ่งหากจะตักข้าวสวยอุ่นๆตามเข้าปากไปก็จะได้ความอร่อยแบบเย็นๆไปอีกแบบ ไม่แพ้ข้าวแช่ยามหน้าร้อนเลย   หรือจะโปะหน้าข้าวเหนียวมูลกะทิ เป็นข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง ซึ่งกินได้ทั้งลักษณะของของหวาน ในลักษณะของอาหารเบาๆ(ขนมกับกาแฟยามเช้า) หรือจะเป็นของกินเล่นหรือของรองท้องยามบ่าย   

ปลาช่อนที่เอามาย่างแห้ง ส่วนที่เป็นตัวก็เอามาทำเป็นน้ำพริกปลาแห้ง ต้มโคล้ง... ส่วนหัวก็มักจะไปอยู่ในต้มโคล้งและแกงเทโพ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 18, 19:32
ปลาช่อนลุยสวน ค่ะ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 18, 19:09
อีกสองสามเมนูแปลกๆกับปลาช่อนครับ

ปลาช่อนต้มเกี้ยมฉ่ายกับเต้าหู้ยี้  ปัจจุบันนี้มีขายเฉพาะที่ร้านพวกขายข้าวต้มกุ๊ยที่พวกรถตุ๊กๆหรือแท๊กซี่เขานิยมนั่งกินกัน
ขนมเค็กปลาช่อน  อีกวิวัฒนาการหนึ่งของการเอาปลาช่อนไปทำขนมหวาน
แล้วก็ ไอซ์ครีมปลาช่อน ที่ปรากฏออกมาใหม่

อย่างแรกเป็นอาหารที่มีมาแต่ดั้งเดิม  สองอย่างหลังเพิ่งจะแสดงตนออกมาไม่นานนัก จัดไม่ถูกเลยว่าจะอยู่ในกลุ่มของๆหวานดีหรือจะในกลุ่มของๆคาวดี ก็เป็นวิวัฒนาการของอาหารที่กระทำโดยคนไทยซึ่งมีอีกหลายอย่าง เช่น ขนมทองม้วนใส่ใส้หมูหยอง ข้าวเหนียวหมูปิ้งที่จะเป็นอาหารก็ได้หรือจะเป็น snack ก็ได้  โรตีที่กินกับของคาวก็เอามาทำเป็นของกินเล่นหรือของหวานด้วยการใส่อะไรต่อมิอะไรลงไป  ก๋วยเตี๋ยวหรือ spaghetti ก็เอามาผัดขี้เมา อีกไม่นานก็อาจจะได้เห็นมักกะโรนีผัดขี้เมากันบ้างแล้ว เพราะว่ามัน..ผัดแบบฝรั่ง..ลงไปอยู่ในตลาดชุมชนแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 18, 19:35
ว่าแล้วก็ทำให้นึกถึง spaghetti ผัดกับไข่ปลาสลิด จะซื้อไข่มาทอดเองหรือจะซื้อที่เขาทอดมาแล้วก็ได้ หาซื้อได้ในตลาดชุมชน หรือจะให้แน่ใจว่ามีขายแน่ๆก็ในถนนย่าน shopping ของวังหลัง    จะใส่เนื้อปลาสลิดแกะเองจากที่ทอดใหม่ๆ หรือจะเอาที่เขาอบหรือทอดจนกรอบแล้วใสรวมปนลงไปก็ได้เช่นกัน หรือจะไม่ใส่ไข่ปลาสลิดก็ได้อีกเหมือนกัน  ก่อนตักออกก็ใส่ใบโหระพาไทยผัดเคล้ากันให้ทั่ว เท่านั้นเอง  อร่อยครับ  จะให้ดูเป็นฝรั่งอีกนิดนึงก็เอา Parmesan cheese โรยลงไปก่อนทาน     หากว่าใช้เส้นกลมดูจะแห้งไป ก็ลองใช้พวกเส้นแบนที่มีขนาดเล็กหน่อยก็จะดีขึ้น   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 18, 21:53
มีแล้วค่ะ คุณตั้ง
มักกะโรนีผัดขี้เมา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 18, 19:13
พ่อครัว/แม่ครัวไทยนี้เป็นนักแปลงตัวยงจริงๆนะครับ   ในมุมหนึ่ง บรรดาอาหารที่ต่อท้ายด้วยคำว่า ขี้เมา นั้น ดูจะมีความหมายอยู่ใน 2 ทาง  ทางหนึ่งคือ การจัดการกับอาหารธรรมดาๆแต่ทำให้มันมีรสฉูดฉาดเข้มข้นและร้อนแรง ด้วยการเพิ่มเครื่องปรุงบางอย่างเข้าไป ซึ่งที่เห็นบ่อยๆและนิยมกันก็จะเป็นพริกชี้ฟ้าและใบกระเพรา และก็มีหลายเมนูที่ใส่มะเขือ(โดยเฉพาะมะเขือเปราะ)ลงไปด้วย     อีกทางหนึ่งก็คือ อาหารที่พวกนักดื่มขี้เมาทั้งหลายทำกับแกล้มจากวัตถุดิบเท่าที่มีอยู่หรือเท่าที่หาได้ในขณะนั้น

อาหารในตระกูลที่เรียกว่าขี้เมานี้ จัดได้ว่าเป็นอาหารที่อร่อย แปลก ใช้เวลาในการทำน้อย และนึกไม่ถึงเลยว่าเครื่องปรุงต่างๆมันจะ compliment ซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัว ทั้งนี้ มันก็ยังขึ้นอยู่กับความรู้และความชำนาญของคนทำอีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการทำให้เคื่องปรุงแต่ละชนิดมันสุกหอมได้อย่างพอดีๆทั้งๆที่มันใช้เวลาต่างกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 18, 19:21
เห็นด้วยค่ะ คนไทยแปลงอาหารเก่ง จะมาจากดินแดนไหนก็ตาม มาถึงไทยแล้วจะกลายเป็นลูกครึ่งไทยให้ถูกปากคนไทย
คุณตั้งเคยลองพิซซ่าหน้าแกงเขียวหวานหรือยังคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 18, 19:39
อาหารไทยมีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก   จะว่าไปก็เป็นความสามารถพิเศษของพ่อครัวแม่ครัวชาวไทยที่สามารถปรับแต่งแปรเปลี่ยนอาหารตำรับต่างๆจนมีเอกลักษณ์เป็นการเฉพาะ

อาหารในกลุ่มขี้เมานี้ น่าจะจัดเป็นพวก Thai Unseen Cuisine ที่น่าจะโด่งดังได้เช่นกัน  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 18, 19:47
ยังไม่เคยครับ คงจะต้องหาช่องหรือสบโอกาสเหมาะๆสักครั้ง  พวกอาหารจานรวมแบบนี้ ถูกควบคุมและกำกับโดยหลานตัวน้อยหมดเลยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 31 มี.ค. 18, 19:49
แม่ผมชอบทานสปาเก๊ตตี้ขี้เมาทะเล เมื่อเย็นก็เพิ่งซื้อให้อยู่เลย ส่วนผมชอบผัดขี้เมาวุ้นเส้นราดข้าวมากกว่า เขียวหวานไก่ผัดแห้งราดข้าวด้วย ไข่เจียวฟู ๆ โป๊ะเข้าไป คิดถึงโรงอาหารสมัยเรียนจัง


เรื่องจับปลาผมนี่เซียนมาก คือในชีวิตไม่เคยตกปลาได้เลย (ยกเว้นลอกบ่อแบบนี้ได้แน่) เพราะกลัวโดนปลายักเอาเนี่ยแหละ เคยตกปลาหมอขึ้นมาได้แล้วไม่กล้าจับ น้องปลาก็เลยเดินลงบ่อไปอีก จบกัน.. :(



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 18, 19:57
น่ากินมากค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 18, 20:00
อาหารเส้นอีกอย่างที่เอามาผัดได้หลากหลาย คือขนมจีน
คุณตั้งคงรู้จักขนมจีนผัดของภาคเหนือดี
ข้างล่างนี้คือขนมจีนผัดกระเพรา  น่าลองเหมือนกันนะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 18, 18:40
ยังไม่เคยได้กินขนมจีนผัดกระเพราครับ แต่เห็นภาพแล้วดูแล้วน่ากิน   เห็นท่าจะต้องลองทำกินเองเสียแล้วเพราะว่าคงจะหาร้านที่จะสามารถสั่งให้ทำได้ไม่ง่าย ด้วยร้านที่ขายอาหารแบบสั่งทำตามสั่งก็จะไม่ขายอาหารสำเร็จรูปตักราดดังเช่นขนมจีนแบบต่างๆ (และในทำนองกลับกัน) 

อ้อ นึกออกแล้วว่าอาจจะสั่งได้ในร้านอาหารตามปั้มน้ำมันในระหว่างเดินทางไป ตจว.


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 18, 18:51
ขนมจีนนำมาพลิกแพลง ทำได้หลายอย่างทีเดียวค่ะ ใช้แทนเส้นก๋วยเตี๋ยวก็ได้

https://www.maeban.co.th/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3/251/product.php


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 18, 18:58
สำหรับขนมจีนผัดหรือผัดหมี่ขนมเส้นนั้น เกือบจะลืมไปแล้วครับ เคยกินแต่ไม่ติดใจ ไม่เป็นของมัก ก็เลยเกือบจะลบหายไปจากความทรงจำ ซึ่งจะว่าไปแล้ว เดี๋ยวนี้ก็เกือบจะไม่เคยเห็นมีขายในตลาดชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในกาดเช้าหรือกาดแลง และแม้กระทั่งทำกินกันเองในบ้านของชาวบ้านต่างๆ

จานนี้อยู่ในรูปของๆกินเล่นหรือของกินรองท้อง แนมกับแคบหมูและผักกาดดอง ซึ่งในความเห็นของผมก็ไม่ต่างไปในอีกมุมมองหนึ่งของขนมจีนน้ำเงี้ยวและข้าวเงี้ยว(ข้าวกั๋นจิ้น..ข้าวคลุกเลือดนึ่ง)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 18, 19:28
เส้นขนมจีนกับเส้นก๋วยเตี๋ยว (ใหญ่ เล็ก ก๋วยจั๊บ...) ต่างก็ทำมาจากแห้งข้าวเจ้า ด้วยการเอาข้าวเจ้า+น้ำมาบดด้วยโม่ให้ละเอียด  เส้นขนมจีนใช้วิธีทำให้คงรูปด้วยการต้ม  เส้นก๋วยเตี๋ยวทำให้เป็นแผ่นด้วยวิธีการใช้ไอน้ำนึ่งก่อนที่จะตัดเป็นขนาดต่างๆ 

รู้อยู่เท่านั้นครับ แล้วก็พอจะรู้อยู่อีกเล็กๆน้อยๆว่า การนำข้าวไปโม่ให้เป็นแป้งนั้นมีทั้งแบบแช่ข้าวในน้ำทิ้งไว้สองสามวันก่อนนำไปโม่ กับแบบโม่ข้าวกับน้ำโดยไม่ต้องมีการแช่ข้าว  มารู้เอาทีหลังว่าแป้งที่ได้จากการแช่ข้าวแล้วโม่นั้นเรียกว่าแป้งหมัก ส่วนที่นำข้าวมาแช่น้ำแล้วโม่เลยนั้นเรียกว่าแป้งสด  ??


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 18, 19:39
ก๋วยเตี๋ยวเอาาทอดกรอบก็ได้นะคะ  อย่างรายการนี้  เส้นใหญ่กรอบราดหน้ายอดผัก
แตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวราดหน้าทั่วไป คือเอาเส้นไปทอดให้กรอบเสียก่อน

http://oknation.nationtv.tv/blog/yaya2508/2012/10/03/entry-1


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 18, 19:56
เมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่นั้น เห็นผู้ใหญ่นั่งโม่ข้าว (โม่แป้ง ?? ใช้คำใดถูกครับ) ก็นึกสนุกอยากไปนั่งโม่บ้าง แรกๆก็ขอช่วยใข้ช้อนตักข้าวก้ับน้ำกรอกโม่ ก็จะถูกสอนถูกบ่นว่า ตักมากไป/น้อยไป ข้าวมากไป/น้อยไป น้ำมากไป/น้อยไป  มันเป็นศิลปอย่างหนึ่งในการโม่ข้าวของคนในยุคก่อนที่ทำแป้งด้วยการใช้โม่หิน     พอตักข้าวหยอดโม่เป็นแล้ว เขาก็สบายแต่เราซวย เพราะเขาจะให้เราช่วยเป็นแรงงานและให้ทำด้วยตัวเองทั้งโม่และหยอดข้าว  

กระนั้นเองก็ยังถูกตรวจสอบและถูกว่าอีกว่าโม่ไม่ละเอียดพอ  ครับ...มันก็ยังต้องมีศิลปของการโม่แป้งที่ต้องเรียนรู้อีก ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของโม่ (ขนาดและน้ำหนักของหินที่ใช้โม่) ปริมาณข้าว+น้ำ และความเร็วในการหมุนโม่  

เดี๋ยวนี้ผมเองก็ยังนิยมจะแวะชมโม่ของเก่าที่วางขาย  ก็เป็นของในบัญชีสะสมอยางหนึ่ง  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 18, 10:39
ไม่เคยเห็นโม่ในบ้านไหนเลยค่ะ ปัจจุบันนี้
เช่นเดียวกับกระต่ายขูดมะพร้าว ก็หายไป   ตุ่มน้ำ ก็ไม่มี


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 18, 19:12
ของเหล่านี้ได้ย้ายสถานที่ไปปรากฎตัวอยู่ในร้านของเก่าหมดแล้ว และก็น่าสนใจอีกด้วยว่ามันไม่ชอบไปอยู่ในร้านในเมืองที่จัดร้านเป็นระเบียบสวยงามอีกด้วย  ร้านที่ขายของพวกนี้มักจะมีลักษณะใกล้ๆจะเป็นร้านแบกะดิน จะพบอยู่ริมถนนหลวงที่บริเวณใกล้สี่แยกย่านชานเมือง

โม่และครกที่ดีจะต้องทำด้วยหินที่มีเนื้อเหนียวและแน่น มิฉะนั้นก็จะได้เศษหินป่นปนออกมาด้วย  ก็คงจะมีคำถามว่าแล้วจะเลือกได้อย่างไร  เอาอย่างง่ายๆเลยนะครับ    วิถีชีวิตในปัจจุบันนี้ เราคงใช้จะครกในลักษณะของการโขลกพอแหลกหรือให้ละเอียดแบบหยาบๆ ไม่ได้ใช้โขลกจนได้ส่วนผสมที่มีเนื้อเนียนเช่นน้ำพริกแกง  ด้วยเหตุนี้ ก็จึงไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันมากนักกับการเลือกครก เอาแค่เพียงดูว่ามันมีสีเข้มๆ ไม่ขาวใสสวยงามด้วยเม็ดแร่สีขาวใสและขาวขุ่นปนอยู่ในเนื้อจนเห็นเด่นออกมา  สำหรับโม่นั้นก็คงจะไม่มีผู้ใดใช้กันอีกแล้ว เว้นแต่ที่บ้านจะมีพื้นที่เสมือนเรือนชาน ซื้อโม่ก็คงจะเพียงซื้อไปเป็นของประดับบ้านเท่านั้น

โม่และครกของดีๆนั้น จะเป็นของเก่าทั้งหมด อายุใกล้ๆร้อยปีก็ว่าได้ ตัวเนื้อหินจะออกสีเขียวๆ เห็นเม็ดแร่ประกอบหินเป็นเม็ดเล็กเท่าๆกัน เนื้อเนียน เอาสากเคาะตัวครกจะได้ยินเสียงออกไปทางเสียงใสกังวาน มิใช่ออกไปทางเสียงแน่นๆดั่งทุบคอนกรืต


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 18, 19:44
ของอย่างซ้าย คงจะถูกแทนด้วยของอย่างขวาแล้วละค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 18, 19:54
นึกถึงคำเปรียบเทียบแต่ก่อนในทำนองว่า ได้ยินเสียงตำน้ำพริกของบ้านนั้นๆ ก็รู้เลยว่าแม่ครัวบ้านนั้นมีฝีมือในการทำก้บข้าวได้อร่อย  ยิ่งได้รู้ว่าเป็นสาวเจ้าเป็นผู้ตำด้วยแล้ว นั่นแหละแม่ศรีเรือนตัวจริง   ตัวบอกก็คือเสียงและจังหวะที่สม่ำเสมอของการโขลกน้ำพริกที่ผสมไปด้วยเสียงของปิ๊งปั๊งของสากที่กระแทกกับตัวครกนั่นเอง  

ในภาคเหนือ ไปในอีกแบบหนึ่ง เขาฟังเสียงที่กำลังสับเนื้อบนเขียงให้ละเอียดเพื่อเอาไปทำลาบ  อันนี้เป็นเรื่องของผู้ชายที่มีฝีมือในการทำอาหาร  จะเป็นการใช้มีดเพื่อการทำลาบโดยเฉพาะ เป็นมีดคู่ใช้ทั้งสองมือ ใช้เขียงไม้จากต้นมะขามแก่  จังหวะของการสับเนื้อทั้งสองมือนั้น  มันมีจังหวะจะโคนเป็นท่วงทำนองเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน  

ชักลงลึกลงไปถึงก้นครัวจริงๆแล้ว ก็คงจะไม่แปลกนักที่จะกล่าวว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำอาหารในไทยหลากหลายเมนูตั้งแต่เสื่อผืน หาบเร่ แผงลอย ไปจนถึงภัตตาคารระดับหรู จนทำให้อาหารไทยโด่งดังกระฉ่อนไปทั้งโลกนั้น ล้วนมี DNA ของ Culinary art อยู่ในตัวเกือบทั้งสิ้น          


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 18, 18:48
กลับไปต่อเรื่องขนมจีนอีกนิดนึงครับ

เมื่อโม่ข้าวออกมาได้เป็นแป้งละเอียดปนน้ำแล้ว ก็จะเอามากรองแยกแป้งออกจากน้ำด้วยผ้าขาวบาง ใช้วิธีรวบผ้าแล้วขมวดให้เป็นเกลียว ค่อยๆขันชะเนาะให้แน่นขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะได้แป้งที่มีความชื้นสูง ซึ่งอาจจะนำไปใช้เลย หรืออาจจะทิ้งให้สะเด็ดน้ำจริงๆก่อนน้ำไปใช้ หรืออาจจะแกะออกผึ่งลมให้แห้งลงไปอีก ก่อนที่จะนำไปทำอาหารต่างๆต่อไป

เอาละครับ ถึงตรงนี้ก็คงพอจะนึกภาพออกได้แล้วว่า อาหารที่ทำด้วยแป้งของผู้คนในสมัยก่อนนั้นมันจะมีความต่างกันได้อย่างไร     มันเริ่มตั้งแต่ฐานเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่จะเลือกใช้แป้งจากข้าวแช่น้ำมาระยะเวลาหนึ่งหรือเพียงเอาข้าวแช่น้ำก่อนที่จะทำการโม่ ไม่นับรวมว่าจะใช้ข้าวใหม่ หรือข้าวเก่า หรือข้าวกลางปี     มาถึงการโม่ว่าจะให้ได้ความหยาบหรือความละเอียดของแป้งมากน้อยเพียงใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของหินที่ใช้บดทับและความใจเย็นในการโม่เพื่อให้ได้แป้งที่มีความละเอียดเสมอกันทั้งหมด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 18, 19:41
เส้นขนมจีนของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน แต่ละบ้านก็เลยมีความต่างกัน ทั้งสี กลิ่น ขนาดและความเหนียวของเส้น   

ยังนึกภาพออกถึงการทำขนมจีนเลี้ยงในงานทางสังคมของชาวบ้าน   มีเตาสามขาใช้ฟืนต้มน้ำในกระทะใบบัวให้ร้อน หยอดเส้นลงไป พอเส้นลอยก็ใช้กระชอนไม้ไผ่สานตักออกมาใส่ในอ่างน้ำเย็น จากนั้นก็เอามือหยิบเส้นแล้วม้วนให้ได้ขนาดขนาดที่ต้องการ   ก็จึงเรียกขนมจีนเป็น จับ   กระทั่งการจับขนมจีนก็มีศาสตร์อยู่เหมือนกัน คือ จะให้จับเดียวพอจาน หรือหลายจับพอจาน หรือจับละคำ ก็ได้   หากจะใช้กับขนมจีนน้ำยา ก็ทำจับใหญ่หน่อย เช่นเดียวกับที่จะกินกับแกงเผ็ดหรือแกงเขียวหวานต่างๆ  กับขนมจีนน้ำพริกก็ขนาดย่อมลงมา ด้วยเป็นขนมจีนที่มีเครื่องเคียงลัษณะพิเศษหลายอย่าง   กับขนมจีนซาวน้ำก็ใช้จับเล็กหน่อย เพราะมีเครื่องประกอบที่ทำให้เป็นจานที่ดูมีความเรียบร้อยนุ่มนวล

เคยเข้าไปร่วมวงในการทำเส้นขนมจีนเมื่อยังเยาว์วัยอยู่ ก็รู้สึกสนุกดีครับ 

เดี๋ยวนี้มีแหล่งผลิตใหญ่ใกล้ๆกรุงเทพฯทำเป็นอุตสาหกรรมส่งตลาดสดทั่วไป
     
หากมีโอกาสไปทาง จ.เพชรบูรณ์ ผ่านทาง อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า ก็น่าจะลองแวะกินดู  จะเห็นป้ายโฆษณาร้านขายขนมจีนอยู่สองข้างทางเยอะแยะไปหมด  ไม่รู้จริงๆว่าร้านใหนจะมีอะไรที่เป็นทีเด็ดต่างกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 18, 20:49
ด้วยที่เคยเห็นการทำแป้งที่เริ่มต้นจากการโม่ข้าวไปจนถึงได้เป็นแป้งเป็นก้อนๆน้ำหมาดๆ เคยได้ยินการบ่นเรื่องการเสียเวลาว่าทำไมไม่ใช้แป้งที่มีขายอยู่ทั่วไป  มีการบ่นเรื่องขนมไทยทำยากเพราะแต่ใช้ความรู้สึกไม่มีการวัดตวงที่แน่นอน บ่นว่าใช้แป้งที่มีขายกันทั่วไปก็ยังทำขนมได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน....ฯลฯ   ทั้งหมดนี้ผมว่ามีเหตุผลที่ท่านคงพอจะนึกออกได้บ้างแล้ว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 18, 19:08
แป้งที่ใช้ในการทำอาหารของไทยแต่โบราณ น่าจะจำกัดอยู่เพียงสองสามชนิด คือ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว และแป้งเท้ายายม่อม   ด้วยอัจฉริยะของคนไทยแต่ก่อน ก็ได้ใช้แป้งหลักทั้งสามชนิดนี้รังสรรค์ออกมาเป็นอาหารและขนมต่างๆมากมาย  ซึ่งผมว่ามีมากชนิดและมีความหลากหลายมากกว่าของประเทศใดๆที่บริโภคข้าวใดๆทั้งหมด แม้จะลอกเลียนเขามาหรือเอาแป้งอื่นๆมาผสมก็ยังสามารถทำให้มันเป็นไทยได้อย่างสนิท  ลองนึกถึงชื่อของอาหารและขนมทั้งหมดของไทยเราดูซิครับ แม้ว่าด้วยวิธีการทำให้สุกค่อนข้างจะจำกัดอยู่แต่เพียงใช้การนึ่ง การต้ม และการตั้งไฟกวนในหม้อก็ตาม   

แป้งอื่นๆที่มีการเอามาใช้ร่วมกัน ก็มีแป้งถั่วเขียว และแป้งมัน    สำหรับแป้งสาลีนั้น คงจะเข้ามาในยุคสมัยที่เรามีการติดต่อกับฝรั่ง ซึ่งฝรั่งจะใช้ทำขนมที่ต้องอบ ก็คงจะเป็นด้วยเหตุนี้ที่เราเลยมีขนมที่เรียกว่าขนมฝรั่ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นน่าจะใช้อุปกรณ์การอบที่เรียกว่า Dutch Oven ??  ขนมฝรั่งที่อบด้วยอุปกรณ์นี้จะมีความหอมอร่อยมากกว่าที่อบในตู้เตาอบไฟฟ้า ก็น่าจะยังมีแม่ค้าที่ทำขนมฝรั่งขายด้วยอุปกรณ์นี้อยู่ แถวๆป้ายรถเมล์ที่ย่านวังบูรพา     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 18, 19:26
แป้งสด(แป้งทำเอง)มีความแตกต่างกับแป้งอุตสาหกรรมในหลายๆเรื่อง  อาทิ ความชื้นของแป้งนั้นมีความแตกต่างกันมากๆ ความละเอียดของแป้งจากการโม่ด้วยมือกับบดด้วยเครื่องจักรก็ต่างกัน  จะขอต่อพรุ่งนี้ครับ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 เม.ย. 18, 19:29
Dutch oven  เป็นหม้ออบที่อบได้ทั้งของคาวและขนม    เกิดไม่ทันค่ะ   ต้องไปค้นจากกูเกิ้ล


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 18, 18:46
Dutch Oven นี้ ก็ยังมีการทำขายอยู่ในปัจจุบัน มีหลายร้านที่นำเข้ามาจำหน่าย แต่จะเป็นแบบมีหูสองข้างหม้อให้ยก มิใช่เป็นแบบหิ้ว   มันก็คือหม้อที่ทำด้วยเหล็กหล่อนั่นเอง เดี๋ยวนี้มีหม้อแบบมีสีสันสวยงาม  ราคาหลายสตังค์อยู่ทีเดียว

ด้วยที่มันเป็นเหล็กหล่อ มีความหนา และหนัก มันก็จึงสามารถวางอยู่บนไฟแรงๆได้ จะเอาถ่านไฟมากองทับบนฝาหม้อก็ได้ อาหารที่ใส่อยู่ในหม้อจะไม่ใหม้เพราะว่า ความหนาของเหล็กหล่อมันจะกระจายความร้อนออกไปทั่วทั้งหม้อดั่งเตาอบเลยทีเดียว  หม้อแบบนี้จึงเหมาะกับการทำอาหารหลายชนิด ได้ทั้งอบ ทั้งตุ๋น   

ผมก็มีกับเขาอยู่ใบหนึ่ง ใช้ทำขาหมู และทำสตูว์ โดยเฉพาะ Irish stew ของโปรดปราน ซึ่งผมว่าได้เนื้อที่เปื่อยนิ่มและนุ่มนวลมากกว่าการใช้หม้อความดัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 18, 19:09
เช่นเดียวกันกับกระทะเหล็กหล่อ ซึ่งเดี๋ยวนี้หาซื้อได้ค่อนข้างยาก ผมไปหาซื้อได้ในตลาดราชวัตรนานมาแล้ว(แบบต้องสั่ง)  กระทะเหล็กหล่อนี้ให้ความร้อนคงที่ ต่างกับกระทะโลหะสีขาววาวและกระทะจีนที่ทำด้วยเหล็กบางๆที่จะต้องใช้คอยวิธีเร่งหรือลดไฟให้แรงหรืออ่อน หรือต้องคอยยกกระทะขึ้นลงจากเตา   ส่วนกระทะอะลูมิเนียมที่เคลือบสารกันติดกระทะนั้นไม่เหมาะที่จะใช้กับไฟแรงๆหรือกับอาหารที่ต้องใช้ความร้อนจัดๆ

ความแตกต่างของอาหารจากการใช้กระทะแบบต่างๆที่กล่าวมา ที่พอจะทดสอบได้ง่ายๆ ก็คือการทำไข่เจียว หรือการทอดปลาทู


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 18, 19:26
dutch oven รุ่นใหม่น่าจะแบบนี้เอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 18, 19:44
ของรุ่นใหม่ที่ให้คุณสมบัติใกล้เคียงกับ Dutch oven ดั้งเดิมนั้น จะใช้ฝาปิดที่เป็นเหล็กหล่อเช่นเดียวกัน ไม่มีรูระบายไอน้ำเพราะต้องการรักษาความชื้นให้หมุนเวียนอยู่ในหม้อให้มากที่สุด   มีอยู่สองสามยี่ห้อที่นำเข้ามาขายกัน เป็นแบบเคลือบสีกันทั้งหมด ก็มีสีเหลืองแสด สีดำ และสีฟ้าหรือน้ำเงิน สีหน้าโลหะตัด และสีแดง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 18, 19:47
พูดถึงทอดปลาทู  นึกได้ว่าไปฟังคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์ และคุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร พูดในงานหนังสือ ดุจนาวากลางสมุทร   ซึ่งเป็นประวัติของตระกูลหวั่งหลี
ตอนหนึ่ง เล่าถึงคุณทวดหนู ภรรยาชาวไทย ผู้ซึ่งสามีเดินทางกลับไปอยู่เมืองจีน     ท่านส่งปลาทูทอดไปให้ทีละมากๆ   ด้วยวิธีทอดในน้ำมันให้สุกก่อน แล้วอัดลงในไห  ปิดปากให้สนิทด้วยการบัดกรี   แล้วส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปเมืองจีน  
วิธีนี้คุณป้าม.ล.เนื่อง นิลรัตน์เล่าไว้เหมือนกัน  ว่าพระวิมาดาเธอฯ ทรงส่งปลาทูทอดไปถวายเจ้าดารารัศมีที่เชียงใหม่ด้วยวิธีทอดในน้ำมันหมูแล้วเรียงลงในปื๊บ บัดกรีให้ปิดสนิท    เมื่อถึงปลายทางก็ควักออกมาทอดรับประทานอีกที   ปลาทูไม่เสีย ไม่แห้ง  
นึกภาพปลาทูเหลืองกรอบในน้ำมันหมูแล้ว...เฮ้อ  ไม่คิดว่าน้ำมันพืชจะสู้ได้นะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 18, 18:11
เรื่องทอดปลาทูด้วยน้ำมันหมูนี้ ก็พอจะทราบอยู่ว่ามันอยู่ได้หลายว้นโดยไม่เสีย เป็นประสบการณ์ที่ได้มาจากการทำงานในท้องถิ่น อาการเสียที่กินไม่ได้แล้วแน่นอนก็คือ ปลาจะนิ่มๆและที่ส่วนท้องจะออกไปทางเละ  ซึ่งตามปกติแล้วหากทอดใส่จานแล้วใช้ฝาชีครอบวางไว้ นานเข้าเนื้อปลาก็จะยิ่งแห้งและรัดตัวแน่น ก็ไม่รู้หรอกครับว่าอาการเสียจริงๆมันเป็นเช่นใด สังเกตแต่เพียงว่าหากที่ผิวปลาเริ่มมีจุดขาวๆ ก็แสดงว่ามีเชื้อราเกิดขึ้นแล้ว ควรทิ้งไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 18, 19:14
ปลาทูที่คนไทยกินกันในสมัยก่อนนั้น เกือบทั้งหมดน่าจะเป็นปลาทูในอ่าวไทยตอนบน   ซึ่งปลามีความอร่อยจริงๆจะเป็นปลาทูที่จับกันได้ด้วยการใช้โป๊ะดัก ที่เรียกกันว่าปลาทูโป๊ะซึ่งจับกันในทะเลส่วนที่เรียกว่า littoral zone   แต่สำหรับผู้คนในภาคใต้จะบอกว่าอร่อยสู้ปลาทูน้ำลึก ที่จับกันในน่านน้ำทางภาคใต้ไม่ได้ บางคนก็แยกออกไปเลยว่าปลาทูทางฝั่งทะเลอันดามันมีความอร่อยเป็นที่สุด   

เดี๋ยวนี้ คำว่าปลาทูนั้น มีความหมายโดยนัยที่หมายถึงปลาชนิดอื่นที่จัดใส่เข่งแล้วผ่านกรรมวิธีการทำเช่นเดียวกับการทำปลาทูอีกด้วย ก็มีเช่น ปลากระบอก  เหล่านี้หาได้ซื้อได้ในตลาดย่านเยาวราช-เจริญกรุง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 18, 19:44
ปลาทูมีความอร่อยในทุกส่วนของตัวมัน   ในสำรับอาหารที่มีปลาทูทอดอยู่นั้น เรามีโอกาสจะได้เห็นคนที่ควักตา ที่เปิดท้องเอาไข่ ที่เอาส่วนคางและแก้ม ที่เอาไปทั้งหัว (โดยเฉพาะเมื่อทอดกรอบ) ที่เอาหาง ที่เอาเนื้อส่วนพุง  ที่จะเว้นก็ดูจะมีแต่ก้างและครีบ กระนั้นก็ตาม หากเป็นปลาที่ทอดได้แห้งกรอบตั้งตัว ที่จะเหลือจริงๆก็เพียงก้างกลางเท่านั้นกระมัง   

ส่วนหนึ่งของความพิเศษของปลาทูโป๊ะที่ต่างไปจากปลาทูน้ำลึกก็คือ ความนุ่มของเนื้อปลาและสภาพที่เรียกว่ากินได้ทั้งตัวอย่างอร่อยดังที่กล่าวมา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 เม.ย. 18, 19:25
ปลาทูโป๊ะ หากเริ่มต้นจากปลาสดก็มีจานอร่อยอีกเหมือนกัน  ในท้องถิ่นแหล่งทำการประมงนั้นจะนำมาทำปลาทูสามรส ซึ่งบ้างก็เรียกว่า ปลาทูซาเตี๊ยะ บ้างก็เรียกว่า ปลาทูตาเตี๊ยะ  มีรสเปรี้ยวเค็มหวาน (และมีวิธีการทำที่ต่างไปจากการทำปลาทูต้มเค็ม(หรือเค็มหวาน)ที่เรามีความคุ้นเคยกัน)

ปลาทูที่จะนำมาทำซาเตี๊ยะหรือตาเตี๊ยะนี้จะต้องมีความสดจริงๆ มิฉะนั้นเมื่อนำมาต้มแล้วท้องจะแตก  ก็จัดได้เป็นอาหารประเภทแสดงถึงระดับฝีมือของแม่ครัวเลยทีเดียว  องค์ประกอบของเครื่องปรุงเหมือนๆกัน แต่มีความต่างกันในเรื่องของรส กลิ่นหอมของปลาและเครื่องปรุง ความคงสภาพของตัวปลา(ที่ยังดูคล้ายปลาสด) และการนำเสนอ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 เม.ย. 18, 20:03
ปลาทูสามรสอีกแบบหนึ่ง  อันนี้ทำไม่ยาก ก็เพียงเอาปลาทูสดมาบั้งแล้วทอดให้ค่อนข้างเกรียม แล้วทำน้ำสามรสราดลงไป หรือจะใช้น้ำจิ้มไก่สำเร็จรูปแต่แต่งรสเพิ่มตามใจชอบก็พอได้อยู่เหมือนกัน 

จานนี้ หากจะเจียวกระเทียมที่ตำกับพริกชี้ฟ้าสดจนหอมกลิ่นกระเทียม ตักพักไว้ ทำน้ำสามรสแล้วคลุกเคล้ากันให้ทั่ว แล้วจึงราดปลาที่ทอดไว้   แบบนี้จะได้ทั้งกลิ่น รส และสัมผัส  อืม์ อร่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 เม.ย. 18, 20:04
ปลาทูโป๊ะสดๆ เอามาทำต้มยำก็อร่อย  ซึ่งดูเหมือนจะทำง่ายๆเหมือนกับทำต้มยำทั่วๆไป แต่เอาเข้าจริงๆก็ไม่ง่ายนัก เพราะเครื่องปรุงต่างๆจะต้องมีความพอดี  จะต้องเตรียมเครื่องปรุงให้พร้อมเพื่อการปรุงด้วยความเร็วในน้ำที่ร้อนจัดๆ ลดกลิ่นคาวแต่เพิ่มความหอมในองค์รวม

เมนูเด็ดอีกอย่างหนึ่งของปลาทูโป๊ะก็คือ เอามาทำต้มส้ม   รายการนี้ก็วัดระดับฝีมือของคนทำเหมือนกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 18, 21:05
ต้มส้มปลาทู


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 18, 18:49
ต้มส้มเป็นอาหารทีี่ความอร่อยไม่ได้เกิดจากฝีมือในการปรุงรสแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นฝีมือในการเลือกเครื่องปรุงต่างๆที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วย (เช่น ขิงจะต้องเป็นขิงวัยกระเตาะ กะปิจะต้องเป็นชนิดดีที่มีความหอม ต้นหอมก็ต้องสด)  รสและกลิ่นหอมของต้มส้มส่วนหนึ่ง (มากๆด้วย) ได้มาจากวัตถุดิบ   ส่วนการใช้เครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล (ปี๊บ) น้ำมะขามเปียกนั้น เป็นเสมือนการใช้ความสามารถในการปรับรสปร่าของเครื่องประกอบต่างๆให้ผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันให้เกิดเป็นความอร่อย

ต้มส้มนี้แต่ก่อนนิยมใช้ปลาเพียงสองชนิดเท่านั้น คือ ปลาทูกับปลากระบอก  จะว่าเป็นเมนูอาหารอย่างหนึ่งของผู้คนในจังหวัดชายทะเลก็คงจะไม่ผิด  เดี๋ยวนี้มีทำด้วยปลาช่อนและปลานิลขายตามร้านขายข้าวแกง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 18, 19:15
อีกหนึ่งเมนูจากปลาทูโป๊ะ ได้แก่ ปลาทูต้มกะทิกับสายบัว ซึ่งอาจจะเรียกชื่อต่างๆกันไป อาทิ ปลาทูต้มสายบัว สายบัวต้มกะทิกับปลาทู ปลาทูต้มสายบัว ต้มกะทิสายบัว หรือต้มสายบัวเฉยๆ 

เมนูนี้ก็ไม่ค่อยจะเห็นมีทำกันแล้ว แต่ยังก็พอจะมีร้านขายข้าวแกงบางเจ้าทำขายอยู่ โดยเฉพาะในตลาดอาหารเย็นขนาดใหญ่    อาหารจานนี้ในปัจจุบันนี้จะพบว่าขาดเครื่องปรุงที่สำคัญไปอย่างหนึ่ง คือ มะดัน หรือ ตะลิงปิง   เป็นการขาดตัวการสำคัญที่ทำให้อาหารจานนี้มีความอร่อยแบบล้ำลึกไปเลย ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้งมะดันและตะลิงปิงก็หาซื้อในตลาดสดชุมชนทั่วไปไม่ได้แล้ว  กลายเป็นไม้เก่าประจำสวน เกือบจะไม่มีการปลูกใหม่กันเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 18, 20:10
ปลาทูต้มกะทิกับสายบัว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 18, 18:17
ซื้อปลาทูมาเยอะแยะ กินไม่ทัน ไม่ว่าจะยังอยู่ในสภาพของปลาทูจากเข่งหรือเอามาทอดแล้ว ไม่เป็นไร เอามาทำเป็นยำปลาทูหรือจะทำเป็นเมี่ยงปลาทูที่แสนอร่อยได้     เอาที่ทอดแล้วมาทอดซ้ำ (อุ่น)ในน้ำมันร้อนๆ ที่ยังไม่ทอดก็เอามาทอดเสีย  แล้วก็แกะเอาแต่เนื้อใส่จานไว้

หากจะทำเมี่ยงปลาทู ก็เอาหอมแดง เอาขิง เอามะนาวมาล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นลูกเต๋าแบบเมื่ยงทั่วๆไป  ล้างผักหอม พริกขี้หนูสวน เอาท้้งหมดมาจัดแยกเป็นกองๆเรียงในจาน (จะแยกจานหรือรวมจานก็ได้) เท่านี้ก็กินได้แล้ว   อย่างไรก็ตาม เมี่ยงปลาทูมีหลากหลายสูตร บ้างก็มีขนมจีน บ้างก็มีน้ำจิ้ม บ้างก็มีตะไคร้.....  จะทำอย่างไรสูตรใหนก็ดูจะอร่อยไปหมด เพราะยังไม่เคยได้ยินคำบ่นว่าไม่อร่อยเลยสักครั้ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 18, 19:07
ยำปลาทูก็มีหลายสูตรเช่นกัน   (นึกเลยเถิดไปว่า ยำปลาทูกับเมี่ยงปลาทูมันก็ใช้เครื่องปรุงเดียวกัน อันหนึ่งคลุกกันในปาก อีกอันหนึ่งคลุกนอกปาก)  ซึ่งถ้าจะให้อร่อยจริงๆก็จะต้องใช้ปลาทูโป๊ะ หรือปลาทูน้ำลึกตัวเล็กที่เนื้อยังนิ่มและละเอียดอยู่

สูตรที่ผมชอบนั้นได้มาจากการเห็นแม่ทำตั้งแต่เมื่อครั้งยังเด็กอยู่  เครื่องปรุงก็เหมือนคนอื่นๆทั่วไปแต่ใส่ตะไคร้ซอยบางๆไม่มาก ใช้ขิงวัยกระเตาะทีซอยค่อนข้างละเอียด หอมแดงก็ซอยบางๆ  พริกขี้หนูสวนก็ซอยละเอียด    ทีเด็ดของความอร่อยจริงๆอยู่ที่การเอาขนมปังหั่นเป็นลูกเต๋า ทอดพอเหลือง ตักออกให้สะเด็ดน้ำมัน ส่วนหนึ่งโรยปะหน้าจานยำ อีกส่วนหนึ่งใช้กินแนมคล้ายกับกินถั่วลิสง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 18, 20:28
เมี่ยงปลาทู


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 18, 18:41
ปลาทูต้มเค็มหวาน เป็นหนึ่งในอาหารที่มีการทำขายกันในตลาดทั่วๆไปในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมันก็คือวางขายอยู่ในกะละมัง ใช้ปลาทูน้ำลึกในการทำเพราะว่าเนื้อจะแน่นไม่ยุ่ยเละ

เนื่องจากรสชาติของแต่ละเจ้าไม่แตกต่างกันมากนัก การเลือกว่าจะซื้อเจ้าใหนดี สำหรับผมก็ไปขึ้นอยู่กับความปราณีตในการทำ  สิ่งแรกที่จะเห็นได้ก็คือ ปลาจะถูกวางเรียงไว้สวยงาม แสดงถึงความพิถีพิถันหรือความใส่ใจในการทำ ปลาแต่ละตัวท้องไม่แตก เป็นภาพหนึ่งที่แสดงถึงความสดของปลาที่นำมาใช้   ในท้องปลาจะมีหัวปลายัดเอาไว้ อันนี้ก็แสดงถึงความพิถีพิถันในการทำเช่นกัน เพราะส่วนหัวที่ยัดท้องไว้นั้นจะเป็นส่วนที่เหลือจากการเอาแก้มและคางออกทิ้งไป   ที่ก้นกะละมังจะเห็นว่ามีการรองก้นด้วยแท่งอ้อย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 18, 18:53
ซื้อกลับมาถึงบ้านแล้วก็มาถึงการเพิ่มความอร่อย  ก็เพียงไปฝานมะนาวมาเสี้ยวหนึ่ง ก่อนจะยกช้อนเข้าปากก็บีบมะนาวลงไปเท่านั้นเอง ความอร่อยเพิ่มเติมก็จะถูกเค้นออกมา จะเอาพริกขี้หนูประกบลงไปด้วยก็ยิ่งดีใหญ่เลย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 18, 19:17
เมนูสุดอร่อยปิดท้ายของปลาทูก็คือ ข้าวคลุกปลาทู  คิดว่าอาหารจานนี้หลายคนจะบอกว่าไม่เคยลอง แต่ในความเป็นจริงแล้วน่าจะเคยได้กินอย่างมีความเอร็ดอร่อยกับมันเมื่อครั้งยังเป็นเด็กฝึกหัดกินข้าว   

ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่ ข้าวคลุกปลาทูก็ยังคงมีความอร่อยอยู่เหมือนเดิม เพียงเพิ่มหอมแดงซอยลงไป จะใส่พริกคลุกไปด้วยหรือจะแนมเป็นคำๆก็สุดแล้วแต่ ใช้น้ำปลาดีเหยาะแล้วคลุกให้เข้ากัน โดยเฉพาะใช้น้ำปลาที่มีส่วนผสมของปลาทูเป็นวัตถุดิบในการหมักอีกด้วย แล้วเพิ่มอรรถรสเข้าไปด้วยการเปิบด้วยมือ    ข้อสำคัญคือใช้มือเปิบแบบไทย คือ ใช้เฉพาะนิ้วชี้ กลาง นาง โป้ง  นิ้วก้อยไม่เกี่ยวและไม่เลอะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 18, 19:22
ปลาทูต้มเค็มหวาน ของคุณตั้ง คือปลาทูต้มหวานหรือเปล่าคะ

ข้าวคลุกปลาทู เป็นอาหารอย่างแรกๆในชีวิตที่จำได้   เหยาะน้ำปลาดีลงไปหน่อย    ก็กินหมดจาน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 18, 18:16
ปลาทูต้มเค็มหวาน ของคุณตั้ง คือปลาทูต้มหวานหรือเปล่าคะ.......

คิดว่าน่าจะเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในยุคหลังครับ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีการทำที่เน้นรสให้ออกไปทางหวานมากกว่าแต่ก่อน  ต่างไปจากรสแบบดั้งเดิมที่จะมีรสผสมที่ค่อนข้างจะรสจัดระหว่างหวานของน้ำตาลปี๊บ เปรี้ยวของน้ำมะขามเปียก และเค็มปะแล่มๆด้วยน้ำปลาหรือเกลือทะเล  แล้วก็อาจจะเป็นเพราะเห็นมีการใช้อ้อยรองที่ก้นหม้อซึ่งแสดงถึงเรื่องของความหวาน     เท่าที่รู้ อ้อยที่วางไว้นั้นมีจุดประสงค์เพื่อกันปลาติดก้นหม้อและใหม้เมื่อตั้งอยู่บนไฟนานๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 18, 18:32
ในการทำกินเอง ซึ่งจะไม่ทำครั้งละมากๆอย่างที่เห็นแม่ค้าเขาทำวางกัน  วิธีการพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ทำกันก็คือ เอาน้ำมันใส่ลงกระทะเล็กน้อย เอาน้ำตาลปี๊บใส่ลงไป ใส่น้ำปลาและซีอิ๊วขาวลงไปเพื่อช่วยละลาย กวนให้เข้ากันจนของเหลวมีสีน้ำตาลเข้มจนมีกลิ่นหอม  (ก็คือการ caramelized ซึ่งก็ควรจะต้องใช้กระทะเหล็กหล่อเพราะจะไม่ทำให้น้ำตาลใหม้ แต่หากจะใช้กระทะโลหะอื่นๆก็จะต้องระวังเป็นพิเศษ)  

จากนั้นก็เอาน้ำใส่ลงไปเล็กน้อย กับเครื่องปรุงอื่น เช่น ขิงหั่นเป็นแว่นๆ ใช้ขิงอายุมากหน่อยแต่ไม่ถึงแก่จัด และหอมแดง..  ละลายน้ำตาลให้หมดแล้วก็ใส่น้ำเพิ่มลงไปในปริมาณที่มากพอเหมาะกับปริมาณปลาที่จะทำ ปรุงรสด้วยเกลือ มะขามเปียก และน้ำตาลเพิ่มเติม .....  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 18, 18:52
แล้วก็ให้นึกถึงของโปรดอีกหลายอย่างในตลาดแม่กลอง

ก็มี หอยแคลงเค็มหวาน (จะเรียกว่าหอยแคลงหวานก็เรียก หรือหอยแคลงดองหวานก็เรียก)  หอยแมลงภู่เค็มหวาน  หอยพิม  กระเพาะปลาริวกิว   ปลากุเลาเค็มตัวเล็ก   เชิงปลากระเบนย่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 18, 19:07
ด้วยเป็นช่วงของเทศกาลสงกรานต์ เลยทำให้นึกถึงอาหารไทยที่นิยมทำกันในวาระต่างๆ

ตามปกติในวาระของการขึ้นศกใหม่ต่างๆของผู้คนในสังคมหนึ่งๆ ก็มักจะมีเมนูอาหารในรูปแบบหนึ่งหรือชุดหนึ่งที่นิยมทำกินกันเนื่องในวาระเหล่านั้น   แต่ด้วยที่ผู้คนชาวไทยสืบสายมาจากหลากหลายชาติพันธุ์ ก็จึงน่าจะมีความหลากหลายทั้งในด้านที่เป็นประเพณีสืบทอดต่อๆมาบนพื้นฐานของชาติพันธุ์ กับเป็นประเพณีที่รับมาเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยในองค์รวม

สำหรับของคนไทยเรานั้น เท่าที่พอจะมีความรู้และได้สัมผัสมาบ้างบ้าง  โดยพื้นๆในทุกวาระ ในภาคเหนือก็จะเป็นขนมจีนน้ำเงี้ยว ในภาคอิสานตอนบนก็ดูจะเป็นขนมจีนน้ำยา ส่วนขนมและของหวานนั้นนึกไม่ออกเลย    สำหรับ ในภาคอื่นๆนั้นไม่มีความรู้เอาเลยครับ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 18, 19:40
สำหรับคนวัยกลางคนและสูงวัย  ในช่วงเวลานี้หลายๆคนคงจะนึกถึงข้าวแช่ แล้วก็มักจะนึกถึงข้าวแช่เมืองเพชร  ส่วนร้านอาหารที่ทำเมนูข้าวแช่ขายก็มักจะบอกว่าเป็นข้าวแช่ชาววัง

ข้าวแช่น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มอาหารกินเล่นยามบ่ายแก่ๆ  สามารถจัดให้เป็นอาหารที่มีความสวยงามและหรูหราได้  เป็นอาหารทีี่แสดงถึงฝีมือและความพิถีพิถันของคนที่ทำได้เป็นอย่างดี  ไม่ต่างไปจากฝีมือในการทำอาหารสุดหรูของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Kaiseki


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 18, 20:49
ข้าวแช่
กินข้าวแช่ได้ค่ะ   ถึงหน้าร้อนเพื่อนจะชวนไปกินก็กินได้ แต่ไม่ถึงกับติดใจ   
ไม่ใช่เพราะไม่อร่อย  แต่คงเป็นเพราะไม่ได้ชอบรสชาติของข้าวแช่เป็นพิเศษกว่าอาหารอย่างอื่น 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 เม.ย. 18, 19:37
เช่นเดียวกับอาจารย์ครับ มิใช่อาหารโปรดของผม แต่ก็กินได้และสัมผัสได้ถึงความแตกต่างกันของแต่ละเจ้า  สำหรับผมนั้น มีความรู้สึกว่ามันเป็นของที่ดูเบาๆ สวยงาม จุ๋มจิ๋ม ไอ้โน่นนิด ไอ้นี่หน่อย ดูไม่หนักแน่น ไม่พอคำ และไม่หนักท้อง

ข้าวแช่นี้มีชุดเครื่องประกอบที่ทำยาก และจะทำให้ได้อร่อยอย่างพอดีๆและกลมกลืนกันไปทั้งหมดก็จะยากขึ้นไปอีก จะต้องมีความพิถีพิถัน ใจเย็นแต่ละเรื่อง แต่ละเครื่องเคียงจะต้องใช้เวลาในการทำ  ข้าวก็จะต้องหุงให้เป็นเม็ดสวยๆ ในสมัยก่อนที่หุงข้าวแบบเช็ดน้ำก็จะหุงไม่ยาก เมื่อได้ข้าวที่เริ่มจะสุกเสมอกันทุกเม็ด ก็ตักออกเอามาแช่น้ำเย็นแล้วขัดให้เม็ดขาวสวยเสมอกัน  น้ำที่จะใส่ลงไปให้เป็นข้าวแช่ก็ต้องทำล่วงหน้าเป็นวันด้วยการแช่ด้วยดอกไม้ให้หอม (โดยเฉพาะดอกมะลิหรือดอกกุหลาบมอญ) แต่ก่อนนั้นน้ำที่ใช้ยังต้องเป็นน้ำฝนอีกด้วย   

เล่าไปได้ดั่งว่าเคยทำเอง ไม่เคยทำหรอกครับ เคยแต่ได้เห็นการทำในภาพแบบกระท่อนกระแท่น และได้รู้จากการพูดคุยซักถามด้วยความอยากรู้กับแม่ครัวรุ่นเก๋า 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 18, 20:35
ข้าวแช่ยุคก่อนต้องขัดเมล็ดข้าวจนขาวใส    น้ำเย็นก็น้ำฝนลอยดอกมะลิจนหอม    สมัยนี้ ใครจะไปขัดเมล็ดข้าวอยู่ได้
น้ำฝนก็ไม่ปลอดภัย    ดอกมะลิก็ฉีดยา
กลายเป็นข้าวสุกใส่น้ำแข็ง   คนละรสกันค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 เม.ย. 18, 18:53
อาจารย์เดาออกเลยว่า เรื่องราวต่อไปจะเป็นในทำนองนั้น

คิดว่า หากจะทำกินเองก็ยังน่าจะพอจะมีวิธีแก้ไขอยู่บ้าง ที่พอจะนึกได้ก็มี เช่น ใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการ RO ที่มีระบบปรับให้เป็นน้ำอ่อน (อย่างน้อยก็เป็นน้ำที่ได้รับการถูกปรับให้เข้าไปใกล้กับน้ำฝนมากที่สุด)  ใส่ภาชนะตั้งทิ้งไว้ข้ามวัน (เพื่อลดปริมาณคลอรีนที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำ) แล้วจึงเอาน้ำนั้นมาลอยดอกกุหลาบมอญ (เพื่อลดหรือเลี่ยงยาฆ่าแมลง อย่างน้อยดอกกุหลาบมอญก็ถูกพ่นยาน้อยกว่าดอกมะลิ) หรือดอกกระดังงา (ไม่น่าจะมีการพ่นยา แต่คงหาได้ยากหน่อย)   แล้วก็ใช้น้ำแช่เย็นแทนที่จะใช้น้ำแข็งใส่ให้เย็น

หากอยากกินจริงๆ จะเข้าร้านก็ดูจะแพงเกินที่กระเป๋าจะรับไหว ก็อาจจะลองซื้อกินจากแม่ค้า ดูที่ใช้หม้อดินใส่น้ำดอกไม้และที่ใช้ปลาหวาน มิใช่ใช้หมูหวานฝอย ก็พอจะได้อยู่แม้ว่าจะมีเครื่องเคียงที่ไม่หรูหรา มีแต่เพียงลูกกะปิ หัวไช้เท้าหวาน และปลาหวาน ก็ตาม    ที่จะขาดต่างไปจากร้านดีๆราคาสูงๆก็จะมีอาทิ พริกหยวกยัดใส้ชุบแป้งทอด หอมแดงสอดใส้ชุบแป้งทอด มะม่วงจัก เหง้ากระชาย ... 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 เม.ย. 18, 20:03
พรุ่งนี้เช้าและอีกสองสามวันถัดไปเป็นวันที่ควรจะเข้าไปเดินชมตลาดชุมชน เพราะจะได้เห็นพืชผัก ของกิน ของใช้หลายๆอย่างที่ผู้ที่กลับบ้านได้นำติดตัวกลับมาวางขาย หรือได้ยินเรื่องราวที่เขาเล่าสู่กันฟัง   มันให้ภาพที่สามารถเล่าเรื่องราวทางวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม และสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีพื้นเพอยู่ในพื้นที่ต่างๆกันในจังหวัดต่างๆได้เป็นอย่างดี   จะพูดคุยสอบถามอะไรๆเขาก็มีความยินดีที่จะพูดคุยเล่าสูกันฟัง

ก็เป็นความชอบอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและสังคมที่เป็นจริงรอบๆตัวเราทั้งในเชิงของ social & cultural anthropology  แล้วก็รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ที่ได้แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน อย่างน้อยทั้งเราและเขาก็คงจะได้นำไปคิดไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในองค์รวม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 18, 18:37
เขาว่าข้าวแช่มีรากเหง้าเป็นอาหารมอญ ก็คงจะเป็นเช่นนั้น  แต่ก็น่าสนใจเหมือนกันว่า คงจะเป็นฝ่ายไทยที่เป็นผู้รังสรรค์เครื่องเคียงที่อร่อยให้กับข้าวแช่  เช่น ลูกกะปิชุบแป้งทอด   หากใช้กะปิมอญซึ่งทำด้วยปลาตัวเล็ก ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าว่ามันจะหอมอร่อยเท่ากับกะปิไทยซึ่งทำด้วยเคยได้อย่างไร   

กะปิมอญนำมาใช้ในการทำแกงป่าได้อร่อยมากกว่าใช้กะปิไทยครับ และก็เอามาตำน้ำพริกกะปิแบบแห้งๆกินกับผักสด ได้ความอร่อยของน้ำพริกกะปิไปอีกแบบหนึ่งเลยทีเดียว

ก็เคยมีความสงสัยอยู่เหมือนกันว่า อาหารไทยอร่อยๆที่ว่าทำสืบทอดกันมาแต่โบราณนั้นใช้กะปิที่ทำจากปลาหรือกะปิที่ทำจากเคย เพราะชาวบ้านที่อยู่ไปทางขอบด้านตะวันตกของลุ่มเจ้าพระยาจะรู้จักกะปิมอญ และจะเลือกใช้กะปิมอญหรือจะใช้กะปิไทยในการทำอาหารแต่ละชนิด   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 18, 19:23
กะปิ เป็นส่วนประกอบหลักในการทำอาหารที่อร่อยได้หลายอย่าง   

เริ่มได้ตั้งแต่เอามะม่วงเปรี้ยว (โดยเฉพาะมะม่วงแก้วอ่อน) จิ้มกับกะปิกินดับกระหายน้ำและลดความเหนียวปาก กินเป็นของแกล้มกับเมรัย

สามารถใส่เครื่องเคราต่างๆได้ทั้งแบบสดหรือแบบแห้งลงไปในกะปิ เคล้ากันให้ทั่ว ก็จะได้เครื่องจิ้มสำหรับผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวต่างๆ  ซึ่งเครื่องเคราเหล่านั้นก็ยังสามารถเลือกที่จะใส่หรือไม่ใส่อย่างไดก็ได้และก็ไม่มีปริมาณตายตัวอีกด้วย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพอดีของรสปากของเราว่าเมื่อกินรวมกับผลไม้ที่เอามาจิ้มแล้วจะทำให้รู้สึกอร่อยจี๊ดจาดไปเลยเช่นใด

เดี๋ยวนี้รถเข็นขายผลไม้ก็ยังมีทีเด็ดอีก คือเอากะปิใส่คลุกเข้าไปก้บน้ำตาลทราย พริกป่น และเกลือ ได้เป็นของจิ้มที่อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง

เราก็เลยมีเครื่องจิ้มสูตรใครสูตรมันที่เรียกว่า น้ำปลาหวาน พริกกับเกลือใส่กะปิ ....   ไม่แน่ใจนักว่ามีเครื่องจิ้มแบบนี้ในหมู่ประเทศอาเซียนด้วยกันมากน้อยเพียงใด     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 18, 18:08
มะม่วงจิ้มกะปิ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 18, 18:35
มีอาหารไทยหลายอย่างที่ใช้กะปิเป็นตัวชูโรง ก็มีเช่น แกงเลียง ต้มส้ม หลนกะปิ/กะปิคั่ว หมูผัดกะปิ ถั่วแขกผัดกะปิ สะตอผัดน้ำพริกกะปิ กะปิหวาน ข้าวคลุกกะปิ.....

ด้วยความหลากหลายของอาหารที่ใช้กะปิ ผู้ทำกะปิขายก็เลยผลิตกะปิออกเป็นสองชนิด คือสำหรับใช้ในน้ำพริกแกง กับที่ใช้ในการตำน้ำพริกกะปิและทำอาหารอื่นๆ เท่าที่รู้โดยหลักๆก็คือต่างกันที่ความเค็ม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะต่างกันที่วัตถุดิบด้วย  (กะปิที่ใช้ทำแกงอาจจะเป็นลูกครึ่งระหว่างกะปิมอญกับกะปิไทยก็ได้ คือมีส่วนผสมทั้งปลาและเคย)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 18, 18:55
ภาพของอาจารย์ทำให้นึกย้อนไปถึงเมื่อครั้งยังเยาว์วัยจนกระทั่งทำงานในท้องถิ่นทุรกันดาร    ผลไม้อะไรๆที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลายก็จะเอามาจิ้มกับกะปิกินกันอย่างนั้นเลย รู้สึกว่ามีอร่อยมาก เป็นความลงตัวกันอย่างดีระหว่างความเปรี้ยวของผลไม้กับความเค็มและความหอมของกะปิ  อร่อยมากกว่าเอามาจิ้มกับเกลือทะเล และแน่นอนว่าอร่อยกว่าจิ้มกับเกลือป่น (ซึ่งทำมาจากเกลือหินผสมไอโอดีน)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 18, 19:24
ข้าวคลุกกะปิมีองค์ประกอบของเครื่องปรุงง่ายๆ ก็มีกุ้งแห้ง มีไข่ฝอย มีหอมแดงซอย มีมะม่วงดิบซอย พริกขี้หนู กระเทียมเจียว แล้วก็มีเครื่องเคียงเป็นหมูหวาน และ/หรือกุนเชียง  แต่จะทำให้เป็นจานที่อร่อยนั้นไ่ม่ง่ายนัก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 18, 20:23
ข้าวคลุกกะปิ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 17 เม.ย. 18, 21:50
แถวบ้านมีผักบุ้งผัดกะปิด้วย ผัดแห้ง ๆ น้ำไม่มาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นถั่วฝักยาวมากกว่า ผมนี่ผมมากเลยกะปิ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 เม.ย. 18, 10:57
น่ากินมากเลยค่ะ  ผักบุ้งผัดกะปิ

https://pantip.com/topic/32187063


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 เม.ย. 18, 18:02
ยังไม่เคยทานเลยครับ  จะต้องหาโอกาสลองบ้างเสียแล้ว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 เม.ย. 18, 18:41
ข้าวคลุกกะปิเริ่มต้นด้วยการเอาข้าวมาคลุกกับกะปิ ฟังดูก็ง่ายๆไม่มีอะไรซับซ้อน ความยากที่มันมีอยู่ก็คือ จะใช้ข้าวที่เก็บค้างคืน หรือข้าวที่หุงสุกแล้วทิ้งไว้จนเย็น หรือจะใช้ข้าวหุงใหม่ๆ   จะใช้กะปิปริมาณมากน้อยเพียงใดจึงจะพอดีสำหรับการคลุกกับข้าวปริมาณนั้นๆ (ได้ทั้งรสและกลิ่น)  แล้วจะคลุกอย่างไรให้ทั่วถึงและดูสวยงามเสมอกัน

สำหรับผม ไม่ชอบข้าวที่คลุกแบบเอาลงไปคลุกในกระทะที่เจียวกระเทียมและกะปิ (+น้ำที่ใช้ช่วยละลายกะปิ) ทำด้วยวิธีนี้จะได้ข้าวคลุกที่เนียนสวยงามทุกเม็ด     ผมชอบแบบใช้ข้าวเก่าที่นำมาหุงสุกใหม่ๆแล้วทิ้งพักไว้ให้หายร้อนสักพัก ใช้มือหรือพายทำขนมค่อยๆคลุก แตะน้ำมันเป็นครั้งคราวตามสมควรเพื่อช่วยทำให้เม็ดข้าวไม่ติดกันจนเกินไป       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 เม.ย. 18, 19:26
เครื่องประกอบ ก็จะมีกระเทียมสับละเอียดในน้ำมันที่เจียว   ไข่ฝอยแบบที่ตีไข่ใส่น้ำปลาและน้ำนิดหน่อย  กุ้งแห้งที่ตำจนละเอียดฟู  กุ้งแห้งที่เอามาทอดจนกรอบ  มะม่วงดิบหรือมะดันซอย  หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย มะนาว

เครื่องเคียง ก็จะมีหมูหวาน  ทำแบบเอาหมูสามชั้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ลวกในน้ำเดือดสักพัก แล้วจึงเอาไปทำหมูหวาน

น้ำมันจะช่วยทำให้เม็ดข้าวไม่ติดกัน กระเทียมเจียวจะช่วยกระตุ้นความอร่อยน่ากิน กุ้งแห้งตำละเอียดจะช่วยซับน้ำมันที่คลุกข้าว กุ้งแห้งทอดกรอบช่วยเพิ่มความอร่อย (อธิบายไม่ถูกครับ กินเปล่าๆก็อร่อยอยู่แล้ว) .....

ข้าวคลุกกะปิ ดูจะเป็นหนึ่งในอาหารที่ปราศจากน้ำตาลและผงชูรสโดยสิ้นเชิง  น่าจะจัดเป็นอาหารสุขภาพอีกอย่างหนึ่งโดยแท้จริง  ในหนึ่งจานได้ diet supplementary มากมาย ทั้งวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 18, 18:03
ที่ว่าข้าวคลุกกะปิปราศจากน้ำตาลและผงชูรสนั้น หมายถึงไม่กินกับหมูหวานที่แนมมาด้วยนะครับ ซึ่งจะใช้กุนเชียงแทนก็ได้ หรือไม่ก็ใช้มะม่วงแก่จัดในกรณีต้องการความรู้สึกหวานลิ้นเล็กๆน้อยๆ 

สำหรับกุ้งแห้งทอดนั้น หากฟันไม่ค่อยแข็งแรงก็ใช้ไข่ปลาสลิดทอดแทนเอาก็ได้

ไข่ฝอยก็ทำได้สองแบบตามที่ชอบ คือ หากชอบแบบเป็นเส้นบางก็ใช้กระทะก้นลึก ทำเหมือนทำขนมเบื้องไข่   แต่หากชอบแบบเส้นหนาก็ใช้กระทะก้นแบน ทำเหมือนทำ pancake


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 18, 18:37
ทำให้นึกถึงไข่ปลาสลิดทอดที่กินเป็นกับข้าวต้ม  หรือเอามาผัดกับเส้นสปาเก็ตตี้  หรือเอาไปทำยำไข่ปลาสลิด     ส่วนไข่ฝอยก็ที่ใช้โรยหน้าชามข้าวต้มเครื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งความน่ากินและคุณค่าทางอาหาร  

   (ขอต่อไปอีกหน่อยครับ แต่ก่อนนั้นหน้าชามโจ๊กจะโรยหน้าด้วยเส้นหมี่ขาวทอดกรอบ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีการทำแบบนี้อยู่ แต่ทำเหมือนกับผักชีโรยหน้าให้ครบองค์ประกอบ      ส่วนข้าวต้มเครื่องนั้น จะโรยหน้าด้วยเต้าหู้ขาวแผ่นบางๆทอดกรอบ 3-4 ชิ้น เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีใครทำกันแล้ว แม้กระทั่งในตลาดเองก็ยังหาซื้อเต้าหู้ซอยแผ่นบางที่ตากแห้งแล้วได้ยากมาก  อยากจะกินก็จะต้องทำเอง  เอามาทอดแล้วจิ้มกับเครื่องจิ้มที่ทำด้วยน้ำพริกเผา ใส่น้ำตาลปึกลงไปนิดนึง บีบมะนาวแล้วคนให้เข้ากัน ก็จะได้ของกินเล่นที่อร่อยไม่น้อยไปกว่าข้าวเกรียบดีๆทอดเลย)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 18, 20:03
ไข่ปลาสลิดทอด  กินกับข้าวต้มอร่อยมาก
น่าเสียดาย   หาไม่ค่อยได้แล้วค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 18, 18:48
ใช่ครับ ไม่ค่อยจะมีใครนำมาขายแล้ว แต่ก็ยังพอจะหาซื้อได้ หากต้องการแบบยังไม่ทอดก็ในตลาดเช้าชุมชนบางแห่ง หากต้องการแบบทอดแล้วก็มีขายอยู่เจ้าหนึ่งในย่านตลาดวังหลัง มีทำขายทุกวัน   บางช่วงก็มีปลารากกล้วยทอดแล้ววางขายอยู่ด้วย

ปลารากกล้วยทอดใช้กินแนมกับแกงเผ็ดต่างๆได้เป็นอย่างดี เป็นของคู่ช่วยกันชูรสให้แก่กันและกันเลยทีเดียว ผมว่าอร่อยมากกว่าใช้ปลาตะเพียนแดดเดียวแนมเสียอีก  ปลารากกล้วยเป็นปลาที่อยู่กับทรายก้นท้องนำของลำน้ำที่ไหลตลอดปี มีอยู่ค่อนข้างจะชุกชุมในลำน้ำต่างในพื้นที่ทางตะวันตกของไทย   ฤดูชุกชุมของมันจะอยู่ในช่วงต้นปี จับเอามาเคล้าเกลือตากแดดให้แห้งที่เรียกว่าแดดเด้ียว แล้วก็เอามาทอดในน้ำมันร้อนๆ   ด้วยที่ขนาดของตัวมันไม่ใหญ่ไปกว่าแท่งดินสอดำและยาวไม่เกินครึ่งหนึ่งของแท่งดินสอ ก็จึงสามารถหยิบกินด้วยมือซึ่งจะให้ความรู้สึกที่อร่อยมากกว่าการใช้ช้อน   หรือจะหยิบขึ้นมากินกับข้าวสวยร้อนๆก็อร่อยอีกเช่นกัน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 18, 19:04
ปลารากกล้วยทอด  เห็นบางคนก็ใช้เป็นจานกับแกล้ม กินกับเบียร์ค่ะ
ปลาเล็กๆทอดกรอบ เค็มหน่อยๆ  เสิฟมาร้อนๆ  กินเปล่าๆก็อร่อยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 18, 19:06
นึกเลยเถิดไปถึงปลาช่อนทอดทั้งตัวที่ร้านอาหารจีนเจ้าหนึ่งในพม่าทำ  น่าสนใจก็ตรงที่เอาปลามาบั้ง เอาไปเขย่ากับแป้งในถุงพลาสติกแล้วเอาลงทอดในน้ำมันมากๆ สุกกรอบดีแล้วก็เอาขึ้นมาวางในจานแล้วใช้ส้นมือกดลงไปที่สันหลังปลา เนื้อปลาก็จะแยกออกมาจากก้างกลาง แล้วทำน้ำราดลงไป  ก็จะได้ปลาที่ไม่นอนตะแคงแอ้งแม้งอยู่ในจาน  แถมตักก็ง่ายเพราะเนื้อปลาถูกแยกหลุดออกมาจากก้างกลางให้เรียบร้อยแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 18, 19:16
ปลารากกล้วยทอด  เห็นบางคนก็ใช้เป็นจานกับแกล้ม กินกับเบียร์ค่ะ
ปลาเล็กๆทอดกรอบ เค็มหน่อยๆ  เสิฟมาร้อนๆ  กินเปล่าๆก็อร่อยค่ะ

ครับ ทอดมาวางบนโต๊ะอาหาร ก็จะถูกหยิบกินกันคนละหมุบละหมับ ทั้งแกล้มทั้งกินเล่น จึงมักจะเหลืออยู่น้อยเดียวให้เป็นกับข้าว

ปีนี้คงจะมีน้อย ยังไม่เห็นมีวางขายอยู่ในท้องตลาดเลย  หรือไม่ก็ขึ้นเหลาไปหมดแล้วเหมือนกับหอยพิมที่เกือบจะไม่ปรากฎอยู่ในตลาดล่างแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 18, 18:47
ด้วยสภาพทางธรรมชาติที่มีปลารากกล้วย ก็ทำให้นึกถึงปลาน้ำจืดอื่นๆที่เอามาทำอาหารได้อร่อยอีกหลายชนิด

ในพวกที่เป็นปลาเกล็ด ผมจะนึกถึงปลาตะโกกบั้งทอดกรอบ เลือกเอาตัวขนาดลำตัวกว้างประมาณฝ่ามือ เอามาทอดให้กรอบแล้วจิ้มน้ำปลาดีกินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยมาก  ยิ่งใช้มือช่วยในการกินก็จะยิ่งเป็นสุดยอดของความอร่อยไปเลย    ปลาตะโกกนี้มีก้างแซมอยู่ในเนื้อเหมือนกันปลาตะเพียน แต่แซมแบบไม่หนาแน่นเท่ากับปลาตะเพียน ก้างมีขนาดใหญ่กว่าจึงทำให้ดึงออกได้ง่ายกว่า เมื่อจะนำไปทอดก็จึงไม่จำเป็นต้องบั้งตัวปลาแบบละเอียดเช่นเดียวกับที่ต้องทำกับปลาตะเพียน

ปลาตะโกกเป็นหนึ่งในปลาเกล็ดน้อยชนิดที่เอามาทำต้มยำได้อร่อยมากๆ   

หากเป็นปลาตัวเล็ก ก็เอามาเสียบไม้ ลูบด้วยเกลือป่นหยาบ แล้วเอาไปย่างแบบปักไม้ไว้รอบๆเตา (ผมเรียกว่าย่างมอญ)  ก็จะได้ความอร่อยไม่ต่างไปจากปลาอาหยุและปลาอิวาหนะย่างของญี่ปุ่นเลย  เป็นการย่างแบบอังไอความร้อนมิใช้การย่างอยู่เหนือไฟ    ด้วยข้อจำกัดทางครัวในบ้านของผู้คนในสมัยปัจจุบัน เราก็น่าจะทำได้ด้วยการย่างด้วยการใช้ไฟด้านบนของเตาอบ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 18, 19:21
ปลาตะโกกทอดน้ำปลา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 18, 19:26
ชอบปลาทอดอยู่ 2 ชนิด คือ ปลาตาเดียว  กับปลาค้าว
อย่างหลังนี้ไปเจอที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่บ้านโป่ง  ต้องดั้นด้นเข้าไป ทางลึกลับซับซ้อนกว่าจะเจอ
ทำปลาค้าวทอดน้ำปลาได้อร่อยมากค่ะ  กรอบนอกนุ่มใน   
แต่ต้องกินร้อนๆ   สั่งกลับมาบ้าน จะไม่กรอบอีก  กลายเป็นปลานุ่มไปเสียเฉยๆ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 18, 19:31
ส่วนปลาตาเดียว ต้องทอดกระเทียม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 18, 19:34
ปลาเกล็ดอีกชนิดหนึ่งที่น่าจะเคยได้ยินชื่อเลื่องลือว่าอร่อยมากๆก็คือ ปลายี่สก ซึ่งที่นิยมทำเป็นอาหารก็คือ ต้มยำ    ปลายี่สกมีชื่อโด่งดังคู่กับเมืองราชบุรีและกาญจนบุรี แต่ในความเป็นจริงแล้วพบอยู่ในแม่น้ำในหลายจังหวัดทั่วประเทศ   ผมมีความเห็นว่าต้มยำปลายี่สกที่ดังมากๆนั้นก็เพราะว่าร้านเขาใช้ปลายี่สกตัวใหญ่แขวนหรือวางให้เห็นอยู่ในตู้หน้าร้านเลย   ปลายี่สกที่จับได้ในแควใหญ่ แควน้อย และน้ำแม่กลองนั้น มีอยู่ตามวังน้ำ มีตัวนาดใหญ่จริงๆ ถึงระดับใส่คานหามก็หางลากดินเลยทีเดียว เป็นปลามิใด้หาและจับได้ง่ายๆ  

ดังมาก หายาก แพงมาก ก็เลยต้องใช้เนื้อปลาอื่นแทน เท่าที่พอทราบก็คือใช้เนื้อปลานวลจันทร์แทน  

ไป ตจว. เดินเที่ยวตลาดสดยามเช้าของท้องถิ่น หากเห็นปลาตัวคล้ายๆปลากระบอก มีข้างลายดำๆยาวตลอดตัว 7 แถบ ก็ให้นึกถึงว่าเป็นปลายี่สกของอร่อยนะครับ  นึกไปได้เลยว่าจะทำอย่างไรให้ได้มันเป็นอาหารของเรา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 18, 20:47
อาจารย์บอกว่าชอบปลาค้าวทอดน้ำปลา  อร่อยครับ อร่อยกว่าปลาสวายทอดน้ำปลาเยอะเลย  มันในเนื้อของปลาค้าวมีในสัดส่วนและกระจายพอดีๆ ต่างกับปลาสวายที่มีอย่างอุดม

สำหรับปลาตาเดียวนั้น แน่นอนว่าเอาไปทอดกระเทียมแล้วอร่อยไม่แพ้ใครโดยเฉพาะครีบรอบๆตัวมัน     เอามาทอดให้กรอบแล้วราดด้วยน้ำที่ทำด้วยหมูสับ ขิงซอย และเต้าเจี้ยว ก็สุดยอดเหมือนกัน

ภาษาไทยเรียกว่าปลาตาเดียว ตัวเล็กเรียกปลาลิ้นหมา(ซึ่งเป็นคนละชนิดกัน) แล้วก็มีปลาตากลับที่พบมากในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ (เช่น ในอ่างน้ำของเขื่อน)   ของฝรั่งปลาตาเดียวนี้มี 2 ชนิดที่เรียกว่า flounder กับ sole   ปลาตาเดียวที่คนไทยจับมากินกันน่าจะเป็น flounder   สำหรับ sole นั้นคิดว่ามีอยู่ในเฉพาะพื้นที่มหาสมุทรแอตแลนติค  ฝรั่งนิยมกิน flounder ด้วยวิธีการแล่เอาเนื้อด้านบนมาคลุกเครื่องแล้วอบแบบแห้งๆ ส่วน sole นั้นนิยมเอามาอบกับครีม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 18, 21:08
เขาบรรยายว่า baked flounder with parmesan crumbs  คงจะเป็นเครื่องที่เอามาคลุกก่อนอบแห้ง อย่างที่คุณตั้งบอกไว้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 18, 21:13
Sole baked in cream and parmesan


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 18, 19:23
เห็นภาพปลา Sole baked in cream แล้วทำให้นึกถึงอีกจานหนึ่งที่ทำด้วยปลา Monkfish ซึ่งเป็นปลาที่มีเนื้อแน่นอร่อยมากแต่รูปร่างของตัวมันดูไม่น่ากินเอาเสียเลย   ผมได้มีโอกาสลิ้มรสเนิ้อของมันครั้งหนึ่งที่ร้านเล็กๆที่ท่าเรือประมงของเมือง Cork ประเทศไอร์แลนด์ 

ก็ไม่กล้าสั่งกันหรอกครับ เป็นเมนูของปลาที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็น แถมยังเป็นจานที่อุดมไปด้วยครีมอีกต่างหาก  แต่มันเป็นเมนูบังคับเพราะไม่มีอะไรอื่นให้เลือก มันเป็นร้าน Pub ของชาวประมงบริเวณนั้น     ก็เหมือนร้าน Pub ในไอร์แลนด์ทั่วๆไปที่จะมีอาหารง่ายๆอยู่สองสามอย่างให้กินแก้หิว(เมื่อเลยเวลาอาหาร)ในระหว่างการนั่งสนทนาติดลมตามประสาคนรากงอกเมื่อได้ดื่มเบียร์หรือแอลกอฮอลล์เข้าไป  อาหารก็จะมีอาทิ Stew แกะที่เป็นเอกลักษณ์ของไอร์แลนด์จนต้องเรียกกันว่า Irish stew   ก็มี Lamb chop แบบชุบขนมปังทอด  แล้วก็มีของพื้นๆ fish & chips เป็นต้น

Monkfish เป็นปลาที่มีค่อนข้างมาก (น่าจะ) ในฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค  ก็จึงมีเป็นเมนูอยู่ในร้านอาหารในอังกฤษด้วยเช่นกัน มีโอกาสไปเที่ยวย่านนั้นก็ลองสั่งกินดูนะครับ แล้วก็อย่าลืมลอง Fish & Chips และ  Pie ฉบับอังกฤษอีกสองอย่างที่อร่อยขึ้นชื่ออีกด้วย   
อ้อ ลองกิน Chips แบบเหยาะด้วยน้ำส้มแทนซอสมะเขือเทศด้วย อร่อยไปอีกแบบจริงๆ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 18, 19:35
ในตลาดของเรา ผมคิดว่าเนื้อปลาเก๋าตัวใหญ่น่าจะมีความใกล้เคียงกับเนื้อปลา Monkfish มากที่สุด   ยังไม่เคยเห็นที่เอามาทำแบบ Bake หรือ Poach แบบอาหารฝรั่ง  ก็น่าจะมีความอร่อยไม่แพ้กัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 เม.ย. 18, 19:40
นึกถึงอีกจานหนึ่งที่ทำด้วยปลา Monkfish ซึ่งเป็นปลาที่มีเนื้อแน่นอร่อยมากแต่รูปร่างของตัวมันดูไม่น่ากินเอาเสียเลย

บางคนใส่ใจเรื่องรูปร่างหน้าตามากกว่ารสชาติ  ;D

monkfish เคยสั่งมากินหนนึง(เพราะมีคนเลี้ยง)  ไม่เคยรู้ว่าไอ้ monkfish นี่หน้าตาเป็นไง เห็นมีในเมนูและเป็นปลาเลยสั่งมา เนื้อมันขาวฟู รสชาติใช้ได้   กลับบ้านไปเลยไปหาดูว่าหน้าตามันเป็นไง  นี่ถ้าเห็นก่อนว่าหน้าตาแบบนี้กินไม่ลง  งวดหน้าถ้าไม่ฟรี คงไม่สั่งอีก  ;D

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6355.0;attach=60668;image)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 18, 19:42
monkfish ทั้งสองรายการค่ะ
ซ้าย  Monkfish in Parma ham
ขวา  Steamed Monkfish with Wild Garlic and Ginger  ทำแบบอาหารจีน ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 18, 19:45
Traditional Irish Lamb Stew


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 18, 19:50
lamb chop ชุบเกล็ดขนมปังทอด ใส่สมุนไพร(herb)ด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 18, 19:51
fish & chips


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 24 เม.ย. 18, 19:58
fish & chips อยากกินที่สุดเลยครับ นิยายเรื่องไหนก็เห็นสั่งแต่จานนี้ รสชาติคงอร่อยกว่า KFC ล่ะมั้งไม่แน่ใจ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 18, 20:03
คุณ Superboy ต้องถามคุณตั้งหรือท่านอื่นๆค่ะ
ดิฉันเคยสั่งมากินหนแรกและหนเดียว  กินไม่หมด  จากนั้นไม่เคยสั่งอีกเลย
ไม่เคยกินอาหารอังกฤษแล้วรู้สึกอร่อยเลยจนอย่างเดียวค่ะ   แต่ก็คงจะมีคนที่ชอบกิน   ของพรรค์นี้ลางเนื้อชอบลางยาค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 18, 20:06
ขอย้อนกลับไปหาปลาน้ำจืดอีกหน่อยนึงครับ

ปลาเกล็ดที่อร่อยมากชนิดหนึ่งก็คือ ปลาเสือตอ  เพียงเอามาทอดจิ้มน้ำปลาเท่านั้นเอง ก็สุดอร่อยแล้ว  เมื่อสมัย พ.ศ.2510+ ก็ยังหายาก
ในปัจจุบันนี้เข้าใจว่าน่าจะสูญไปจากแผ่นดินไทยแล้ว  ปลาเสือตอมีมากในบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์  

เมื่อปลาเสือตอหายากมากขึ้นก็เลยมีปลาแรดเข้ามาแทนที่    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 18, 18:02
Fish & Chips จัดเป็นอาหารง่ายๆ ทำง่ายๆ น่าจะจัดเป็นอาหารอยู่ในกลุ่ม Fast foods และ street foods  หากินได้ตั้งแต่รถขายริมถนนไปจนถึงในร้านอาหารเฉกเช่นก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวผัดกระเพราะของเรา แต่ละร้าน แต่ละเจ้า และแต่ละบ้านก็จะมีสูตรเฉพาะของตัวเอง แต่ทั้งหมดก็จะได้หน้าตาของอาหารออกมาเหมือนๆกัน คือ ปลาชุบแป้งทอด กินกับมันฝรั่งทอด

ในเรื่องของความอร่อย เรื่องนี้พูดยาก ก็ขึ้นอยู่กับว่าจานที่ได้กินนั้นทำด้วยปลาอะไร  แป้งที่ชุบปลาแล้วทอดเป็นเช่นใด แล้วก็ขึ้นอยู่กับมันฝรั่งทอดที่เป็นเครื่องประกอบ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 18, 18:43
ผมไม่มีความคุ้นเคยกับอาหารจานนี้ของอังกฤษในแหล่งของเขา แต่มีความคุ้นเคยกับมันที่อื่นๆนอกประเทศอังกฤษ  ซึ่งด้วยที่เป็นอาหารชอบอย่างหนึ่งของผม ก็เลยอ่านมากและก็ได้ลองทำกินในบ้านหลายๆครั้ง   พอจะสรุปเป็นความรู้ที่พอจะมีได้ดังนี้

ปลาที่คนอังกฤษนิยมกัน คือปลา Cod (ปลาหิมะ ?) และ Haddock   ปลาอื่นๆที่ใช้กันก็จะเป็นปลาเนื้อขาวทั้งหลาย มีอาทิ Sea Bass (ปลากระพงขาว ?) ปลา Dolly (ปลาสวายพันธุ์หนึ่ง ?) ปลา Tilapia (กลุ่มสายพันธุ์ปลานิล) ...    ก็คงพอจะเห็นถึงความอร่อยที่ต่างกันของการใช้ปลาที่ต่างกัน

แป้งที่ใช้ชุบปลาแล้วทอด ก็มีสูตรต่างๆกัน มีทั้งใส่น้ำส้มสายชูชนิดต่างๆกันหรือไม่ใส่ ใส่เบียร์ยี่ห้อต่างๆกันหรือไม่ใส่ใช้แต่น้ำ เหล่านี้เป็นต้น

มันฝรั่งทอด ก็ยังอุตส่าห์มีพันธุ์ที่เลือกใช้อีก แม้ว่าจะมีวิธีการต้องแช่น้ำเย็นแล้วทอดเป็น 2 ขยักเหมือนๆกันก็ตาม  แล้วก็ยังมีแบบที่เรียกว่า Home made เฉพาะทางของใครของมันตั้งแต่การหั่นไปจนถึงการทอด

ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่จะทำให้เกิดความต่างระหว่างชอบกับไม่ชอบสำหรับจานแรกที่ได้ทาน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 18, 19:00
ในปัจจุบันนี้ คนต่างถิ่นที่ไปเยือนประเทศต่างๆในยุโรป น่าจะได้รู้จัก รับรู้รส และจดจำ Fish & Chips ซึ่งเป็นอาหารประจำขาติของอังกฤษ ในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นของร้าน franchise ของเยอรมันที่มีสาขาอยู่ทั่วไปในยุโรป  ร้านนี้มีเมนูปลาเป็นหลักและจัดเป็นร้านแบบ Cafeteria ใช้นิ้วชี้เอา ไม่ต้องส่งภาษาก็ได้ของกินอย่างที่ต้องการแล้ว 

 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 18, 19:06
ดิฉันชอบปลาค่ะ   และชอบมันฝรั่งทอดเป็นเส้นหนายาวๆ อเมริกันเรียก french fries  อังกฤษเรียก chips   แต่คำว่า chips นี้ถ้าเป็นอเมริกัน หมายถึงมันฝรั่งทอดกรอบแผ่นบางๆ
แต่ทำไมก็ไม่รู้   พอเอาสองอย่างนี้มากินด้วยกัน   กินไม่ลง   แต่มันฝรั่งกินกับไก่ทอด และ สเต๊ก  อร่อยหมด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 18, 19:39
ในความเข้าใจของผม   
ใช่เลยครับ Chips ของอเมริกันชนหมายถึงมันฝรั่งหั่นเป็นแผ่นบางๆ กรอบทั้งแผ่น อังกฤษหมายถึงมันฝรั่งหั่นเป็นชิ้นหนาทรงลิ่ม   ส่วน French fries นั้น อเมริกันหมายถึงมันฝรั่งหั่นเป็นเส้นสี่เหลี่ยมแล้วทอด แต่อังกฤษหมายถึงวิธีการหั่นมันฝรั่งแบบฝรั่งเศส (french cut)   

ที่อาจารย์ว่า
แต่ทำไมก็ไม่รู้   พอเอาสองอย่างนี้มากินด้วยกัน   กินไม่ลง   แต่มันฝรั่งกินกับไก่ทอด และ สเต๊ก  อร่อยหมด

ก็พอจะเดาออกว่าก็น่าจะเป็นเช่นนั้นครับ  มันฝรั่งทอดให้ความรู้สึกที่หยาบๆคล้ายกินไข่แดงต้มสุกๆ พอกินกับปลาทอดที่แห้งๆอีกก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ ขาดของเหลวที่เป็นส่วนช่วยทำให้ไม่ฝืดคอและช่วยผสมทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน   เมื่อทานกับเนื้อสัตว์ที่มีไขมันมากกว่าเนื้อปลาก็จึงดูเขากันได้ดี ลื่นคอ ไม่ฝืดคอ และได้อรรถรสที่มากกว่ามาก 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 18, 20:48
ก็เลยเข้าใจเอาเองว่า ด้วยความไม่คล่องคอดังกล่าว จึงมี Cafeteria หลายๆแห่งและในองค์กรต่างๆที่ Fish & Chips เปิดทางเลือกให้ลูกค้าเลือกเอาว่าจะเอามันฝรั่งแบบใหน  เป็นแบบ French fries ก็มี แบบ Home made ก็มี แบบ Baked potato ก็มี แบบ Poached potato ก็มี ...


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 18, 21:11
ขอบคุณค่ะคุณตั้ง ที่ช่วยวิเคราะห์   คงจะเป็นอย่างที่ว่า
จำได้แต่ว่า สั่งมากินด้วยความตื่นเต้น   แต่พอกลืนลงคอ   กลับพบว่าปลากับมันฝรั่งในจาน รสชาติมันเข้ากันไม่ได้เลย   จะว่าร้านเขาทำไม่อร่อยก็ไม่ใช่   เพราะเป็นร้านในเมืองหลวง อยู่ริมถนน  มีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย  ก็ต้องเป็นร้านขายดีร้านหนึ่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 เม.ย. 18, 21:36
ขอบคุณมากครับที่บอกเล่าประสบการณ์ ไว้ผมได้ทานเมื่อไหร่จะมาบอกบ้างนะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 18, 19:37
กรุงเทพก็น่าจะมีให้ลองชิมนะคะ   ไม่ต้องไปถึงอังกฤษ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 18, 18:29
มีแน่นอนครับ แล้วก็น่าจะมีหลายๆร้านด้วย แต่ราคาอาจจะไม่ค่อยสบายกระเป๋าเท่าใดนัก  ข้อสำคัญก็คือควรจะต้องจิ้มกับ Tatar sauce แบบเจ้าของตำหรับ  หากใช้ซอสมะเขือเทศก็จะเป็นแบบอเมริกันนิยม

ทีี่จริงแล้วทำเองก็ได้ อร่อยได้เหมือนกัน   ซื้อปลา dolly แช่แข็งซึ่งมีขายอยู่ในบรรดาห้างขายปลีกใหญ่ๆ  เมื่อละลายจนนิ่มแล้ว ดูว่าสะอาดดีแล้วก็ซับให้แห้ง โรยเกลือและพริกไทย คะเนเอาตามชอบ  แล้ววางแปะบนแป้งทอดกรอบสำเร็จรูปทั้งสองด้าน สลัดแป้งส่วนเกินออกไป เอาลงชุบไข่ที่ตีแหลก แล้วก็เอามาวางบนขนมปังป่นทั้งสองด้าน จากนั้นก็เอาลงกระทะทอดให้สุก ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันมากๆจนชิ้นปลาลอย  เอามาวางบนตะแกรงพักเพื่อให้มีความกรอบแห้งทั้งสองด้าน ก็สำเร็จแล้ว จะทานกับสลัดผักก็ได้ หรือจะกับมันฝรั่งทอดก็ได้

หากจะกิินกับมันฝรั่งทอด ก็มีอยู่สองวิธี คือ ซื้อแบบแช่แข็งที่ตัดสำเร็จแบบ french fries แบ่งออกมาวางพอเห็นเกล็ดน้ำแข้งหมดไป ก็เอาลงทอดในกระทะน้ำมันเยอะๆร้อนหน่อย ก็จะได้ french fries ใกล้เคียงกับแบบที่มีขายตามร้าน franchise ทั่วๆไป
 
หรือซื้อมันฝรั่งมา ล้างให้สะอาด ตัดเป็นชิ้นๆทรงลิ่ม แล้วเอาลงแช่น้ำเย็นสักพักใหญ่ๆ เอาขึ้นมาซับให้แห้ง แล้วก็เอาลงทอด เมื่อมันกำลังจะสุกเต็มที่ ก็ตักออกเอามาพักบนตะแกรงหรือกระดาษซับน้ำมันสักครู่หนึ่ง เร่งไฟแรงให้น้ำมันในกระทะร้อนจัด แล้วก็เอามันฝรั่งนั้นลงทอดอีกครั้งจนผิวเกรียมดูสวยเสมอกัน ตักออกแล้วโรยเกลือ ก็จะได้มันฝรั่งทอดแบบ home made ฝีมือเราเอง

   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 18, 18:47
สำหรับซอสนั้นก็สุดแท้แต่จะชอบ   สำหรับ Tatar sauce ในมุมหนึ่งก็คือน้ำสลัดแต่งรส เราก็ทำให้มีรสเข้มข้นแบบไทยนิยม แล้วเพิ่มหอมแดงและผักชีสับละเอียดใส่ลงไปก็ดูใกล้แบบของเขาแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 18, 18:50
อาหารฝรั่งในไทยดูจะมีรสชาติถูกปากคนไทยมากกว่าอาหารฝรั่งชนิดเดียวกันในเมืองฝรั่งค่ะ
ปลาดอลลี่ชุบแป้งทอด กับมันฝรั่งทอด  อย่างในรูปนี้ก็ดูน่ากิน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 18, 19:19
นึกไปถึงอาหารอีกอย่างหนึ่งที่ฝรั่งดูจะชอบมากแต่ดูจะไม่เป็นที่นิยมของคนไทยเรามากนัก คือ Calamari  หรือปลาหมึกหั่นเป็นแว่นๆทอดนั่นเอง ซึ่งมีทั้งแบบชุบและไม่ชุบแป้งทอด   สำหรับหมึกสีดำของมันนั้น เขาจะเอาไปผสมในเส้น spaghetti หรือใส่ในซอสราด spaghetti เขาว่าหวานดี กินแล้วปาก ฟัน ลิ้นจะดำไปชั่วขณะหนึ่ง  ไม่แน่ใจนักว่าในอาหารไทยมีการใช้หมึกของปลาหมึกเป็นส่วนผสมในอาหารบ้างหรือไม่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 18, 19:51
คารามารีชุบเกล็ดขนมปัง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 18, 19:55
สปาเก็ตตี้ผัดหมึก(จากปลาหมึก)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 18, 18:39
เมื่อวานนี้ เขียนไปได้หน่อยนึง key board เสีย ก็เลยต้องหยุดครับ

อาหารที่ใช้ปลาหมึกของฝรั่งน่าจะมีอยู่ไม่กี่ชนิด ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าส่วนมากจะเป็นการทำเฉพาะภายในครัวเรือนเท่านั้น ที่ปรากฏอยู่ตามร้านอาหารต่างๆนั้น เราจึงเห็นอยู่ในเมนูน้อยมากๆ  ที่คุ้นๆกันก็ calamari เป็นจานที่มีอยู่ในเมนูอาหารมากที่สุด  รองลงมาน่าจะเป็นเส้นสปาเก็ตตี้  แล้วก็พบประปรายในซอสสปาเก็ตตี้

เท่าที่ได้พบเห็นมาจากการเดินทางไปที่ต่างๆ พบว่าไม่มีที่ใดที่มีการใช้ปลาหมึกอย่างหลากหลายเมนูเท่ากับของไทยเรา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 18, 19:15
แล้วก็น่าสนใจอีกด้วยว่า เรามีความสามารถในการจับคู่ปลาหมึกได้อย่างลงตัวกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ กับพืชผักหลายๆอย่าง และด้วยวิธีการปรุงรสต่างๆ ทำให้อาหารจานนั้นๆกลายเป็นของอร่อยอย่างมีเอกลักษณ์ทั่งรสและกลิ่น 

เรามีข้าวต้มเครื่องที่ใส่หมูสับกับปลาหมึก หรือจะใส่กุ้งลงไปด้วยก็ได้  ตักใส่ถ้วยแล้วโรยด้วยตังฉ่าย คื่นช่าย หอมและผักชีซอย และเหยาะด้วยกระเทียมเจียว  อาหารจานนี้ค่อนข้างจะปรากฎคู่อยู่กับงานสังสรรค์และงานสวดต่างๆในสมัยก่อน  ในปัจจุบันนี้คงจะหาทานได้ยาก จะยกเว้นก็เฉพาะทำกินกันเองภายในครอบครัวที่มีสมาชิกค่อนข้างจะหลายคน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 18, 19:39
ปลาหมึกย่าง มีแน่ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 18, 19:42
ข้าวต้มสามกษัตริย์ ใส่ปลา ปลาหมึก กุ้ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 18, 19:44
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า
 “วันที่ 24 เวลาเช้า เสด็จทรงเรือแลลมแล่นใบออกประพาสละมุ ที่เขาจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง มีเรือฉลอมแล่นในกระบวนการเสด็จ 3 ลำ ด้วยกัน เที่ยวซื้อกุ้ง ปลาที่เขาจับได้ตามป่าละมุ แล้วต้ม ข้าวต้มสามกษัตริย์ นั้นในเรือฉลอม
ที่เรียกว่าข้าวต้มสามกษัตริย์นั้น คือต้มอย่างข้าวต้มหมู แต่ใช้ปลาทู กุ้ง กับ ปลาหมึกสดแทรก แทนหมู เป็นของทรงประดิษฐ์ในเช้าวันนั้นเอง ตั้งแต่ฉันเกิดมายังไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยอย่างวันนั้นเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 18, 17:59
ปลาหมึกนึ่งมะนาว  น่ารับประทานมากค่ะ 
สงสัยว่าชาติอื่นมีหรือเปล่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 18, 18:06
นึกภาพความอร่อยออกเลยครับ ยิ่งได้ดูรูปแล้วก็ยิ่งอยาก  

ข้าวต้มสามกษัตริย์ดังบันทึกนั้น ในปัจจุบันคงจะเรียกว่าข้าวต้มทะเล แต่ความอร่อยคงจะแตกต่างกันมากเลยทีเดียว    ในปัจจุบันนี้ใช้เนื้อปลากระพง ก็คงจะไม่กล้าใช้เนื้อปลาทูเนื่องจากไม่มีความสดใหม่จริงๆ   กุ้งที่ใช้ในปัจจุบันก็น่าจะเป็นกุ้งเลี้ยง มิใช่กุ้งแชบ้วยที่มีชุกชุมและจับได้ในบริเวณนั้นในสมัยนั้น เช่นเดียวกันกับปลาหมึกสดๆที่ไม่ผ่านกระบวนการแช่เย็น  

ตัวชูรสจริงๆของข้าวต้มทะเลนั้น สำหรับผมก็คือ พริกไทยป่นหยาบ ผักคื่นช่าย และน้ำปลาดีๆ (ซึ่งสำหรับผมก็คือน้ำปลาที่มีส่วนของปลาทูผสมอยู่ในการหมัก มีกลิ่นหอมชวนกินมาก ก็ยังมีบางเจ้าผลิตขายอยู่ในปัจจุบัน)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 18, 18:37
ไม่เคยเห็นเมนูปลาหมึกนึ่งหรือย่างในประเทศทางตะวันตกเลยครับ   คลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับว่าจะเคยเห็นในฟิลิปปินส์ในร้านขายอาหาร(food center)ในย่านชุมชนขอบเมืองมนิลาเท่านั้นเองครับ

อาหารฝรั่งที่มีปลาหมึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วยที่นึกออกอีกอย่างหนึ่งก็คือ Paella จะเรียกเป็นไทยว่าข้าวหมกทะเลก็คงน่าจะพอได้   ก็ไม่รู้หรอกครับว่าชาติใดเป็นเจ้าของต้นตำหรับ แต่ที่แน่ๆก็คือมันเป็นอาหารนิยมในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาในตระกูลภาษาละติน (เช่น สเปน โปรตุเกส อิตาลี....)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 18, 19:01
ปลาหมึกนึ่งมะนาวเป็นของอร่อยและน่ากิน  น่าสนใจก็ตรงที่ความแตกต่างในการทำปลาหมึก คือไม่มีการลอกผิวให้ขาวเช่นเดียวกันกับการทำอาหารจานอื่นๆ  ปลาหมึกจานนึ่งนี้เห็นมีทำกันทั้งในแบบราดน้ำซอสแล้วนำไปนึ่ง และนึ่งให้สุกแล้วเอาน้ำซอสราดทีหลัง ก็คงจะอยู่บนพื้นฐานของความคิดว่า ทำให้ทุกอย่างเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน หรือ ทำให้สุกแล้วราดน้ำจิ้ม   ทีเด็ดของจานนี้น่าจะไปอยู่ที่การใช้กระเทียมดองช่วยในการผสมผสานกลิ่นและรสให้เป็นหนึ่งเดียวกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 18, 19:01
paella ใส่กุ้ง ปลาหมึกและหมึกจากปลาหมึกค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 18, 19:06
คุณตั้งเคยกินปลาหมึกปิ้ง(หรือย่าง)ของสวนลุมพินี ตอนยังเด็กๆไหมคะ    ดิฉันเคยกินบ่อย เพราะเข้าออกสวนลุมประจำ
จำได้ว่ามันเป็นปลาหมึกแห้งๆแบนๆ แล้วทุบหรือทำอะไรสักอย่างให้เป็นเส้นฝอยนุ่มๆ เหนียวๆ ดึงมากินกับน้ำจิ้มก็อร่อยดี
เดี๋ยวนี้ ไม่เคยได้กินแบบนั้นอีก  ปลาหมึกย่างที่สั่งในร้านซีฟู้ดก็เป็นคนละแบบ
เลยเกิดสงสัยว่าปลาหมึกย่างสวนลุมคือย่างอะไรแบบไหนคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 18, 19:19
นึกถึงปลาหมึกยัดใส้ทอดกระเทียมพริกไทย และต้มจืดปลาหมึกยัดใส้กับผักกาดขาว  

ใส้หมูสับนั้นจะใส่รากผักชีและกระเทียมสับรวมกันไป ปรุงรสด้วยน้ำปลาหรือเกลือและพริกไทย ในปัจจุบันนี้มีการใส่วุ้นเส้นคลุกรวมเข้าไปด้วย  (คงจะเพื่อการเพื่มปริมาณใส้ ??)  

สำหรับผม ปลาหมึกยัดใส้ต้มจืดนั้นมีความอร่อยเป็นรองจากทอดกระเทียม    หากไม่ประสงค์จะทำแบบทอดเอง ก็ยังพอจะมีร้านที่ทำขายอยุู่เป็นประจำในตลาดย่านฝั่งตรงข้ามกับกระทรวง สธ.


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 18, 19:27
ปลาหมึกทอดกระเทียม สุดยอดความอร่อยของปลาหมึกอีกจานหนึ่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 18, 20:29
ปลาหมึกย่างตามที่อาจารย์บรรยายมานั้น หากน้ำจิ้มที่คนขายเขาให้มาอยู่ในกระทงใบตองแห้ง (เหมือนกับกระทงขนมเข่ง) และน้ำจิ้มเป็นแบบน้ำจิ้มเต้าหู้ทอด (ตือคาโค เผือกทอด และหัวผักกาดทอด) ก็น่าจะเป็นปลาหมึกตากแห้งที่ทำในลักษณะผ่าตัวแล้วแผ่ออกวางตากแดด   สมัยก่อนนั้นตัวขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่าขนาดของฝ่ามือและมีความชื้นในตัวสูง (ตัวหนา)  

เมื่อนำมาย่างบนเตาถ่าน ผิวและเนื้อปลาหมึกก็จะปูดนูนเป็นที่ๆ ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่ว  คนขายจะเอาเข้าเครื่องรีดแบบฟันเฟืองให้เป็นแผ่น คล้ายกัยรีดทำเส้นสปาเกตตี้  ฝีมือการรืดปลาหมึกแผ่นทะแยงไปทะแยงมาก็จะทำให้เนื้อปลาหมึกบางและฟู   ปลาหมึกย่างที่อร่อยจึงไปขึ้นอยู่กับฝีมือการรีดปลาหมึกให้บางและฟู ตัวขนาดฝ่ามือจะขยายออกใหญ่ก่าตัวเดิมเยอะเลยทีเดียว

ผมไปได้เครื่องรีดปลาหมึกปิ้งนี้มาจากตลาดของเก่าเมื่อปีกว่าๆมานี้ เอาไว้ลองฝีมือตัวเองยามแดดร่มลมตกครับ          


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 18, 20:38
ใช่ค่ะ  ปลาหมึกย่าง มีเครื่องรีด  ปลาหมึกจะถูกสอดเข้าไปในฟันเฟืองที่มีมือหมุน รีดเป็นแผ่นแบน  แล้วเอามาจิ้มกับน้ำจิ้มหวานๆ 
ไม่เคยเห็นปลาหมึกย่างแบบนี้อีกเลย เมื่อไม่ได้ไปลุมพินีอีก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 18, 17:25
คุณตั้งเล่าถึงอาหารต่างชาติมาหลายประเทศ  อาหารไทยก็หลายเมนู
นึกได้ว่าอาหารพื้นเมืองอย่างหนึ่งที่ยังไม่ได้เล่า คือปลาร้า
ไม่ทราบว่ารับประทานปลาร้าเป็นหรือเปล่า     เดาว่าคงเป็น
มีประสบการณ์อะไรบ้างคะ เกี่ยวกับการทำอาหารด้วยปลาร้า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 18, 20:10
ผมทานปลาร้าครับ จัดอยู่ในเกณฑ์ชอบ แล้วก็มีบางชนิดที่ชอบเป็นพิเศษในระดับที่เห็นเป็นต้องซื้อเลยทีเดียว 

จะว่าไปแล้ว ขณะนี้ที่บ้านก็มีปลาร้าปลากระดี่อยู่ไห(เล็กๆ)หนึ่ง  ซื้อมาจากพิษณุโลก ได้ปลาร้ามาจากเจ้าหนึ่ง ได้ไหจากอีกเจ้าหนึ่ง เอามารวมกันที่กรุงเทพฯ ปิดฝาที่ห่อด้วยผ้าขาวบาง เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้บ้าง  คิดว่าจะหมักต่อไปอีกระยะหนึ่งให้สุกได้ที่จริงๆ ก็ยังแอบดมกลิ่นที่ฝาไหอยู่เป็นระยะๆ ได้กลิ่นหอมมากชนิดชวนให้คิดว่าจะเอามาทำอาหารอะไรบ้างเมื่อจะเปิดไห(ทองคำ  ;D)ออกมา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 18, 20:56
ทำหลนปลาร้าทรงเครื่อง ดีไหมคะ

เรื่องกลิ่นปลาร้านี่ก็แปลกอยู่อย่าง   คนกินปลาร้าเป็น  ได้กลิ่นแล้วบอกว่าหอมชวนน้ำลายไหล    แต่คนกินปลาร้าไม่เป็น  ได้กลิ่นแล้วนึกว่าปลาเน่า   ต้องบอกให้เอาไปห่างๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 01 พ.ค. 18, 22:26
ปลาร้าสมัยเด็กผมกินนะครับ พอวัยทำงานไม่กินแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าเน่าแต่ไม่อยากกิน ผมว่าโรคนี้น่าจะมาจากยังไม่เจอจานที่มันอร่อยจริง ๆ เวรของกำ!!


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 10:34
ลองเมนูพวกนี้ไหมคะ

https://cooking.kapook.com/view160973.html


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 18, 18:11
ผมชอบปลาร้า แต่จะเรียกว่าไม่เคยทำอาหารที่ใส่ปลาร้าด้วยตนเองเลยก็ได้   ที่เคยทำเองก็มีเพียงซื้อน้ำพริกหนุ่มมาจากตลาด เอาปลาร้าปลากระดี่มาสองสามตัวใส่หม้อเล็กๆ เติมน้ำลงไปนิดนึงเพื่อช่วยทำละลาย ตั้งไฟให้เดือด พอเนื้อปลายุ่ยหลุดออกก็คัดเอาก้างออกทิ้งไป เมื่อน้ำปลาร้าเย็นลงก็เอาไปคลุกกับน้ำพริกหนุ่ม   น้ำพริกจะหอมอร่อยขึ้นมาอีกมากๆเลยทีเดียว  สิ่งที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิมก็คือ กลิ่นเหม็นเขียวน้อยๆจากพริกหนุ่มส่วนหนึ่งที่เผายังไม่ค่อยจะสุกจะหายไป ส่วนกลิ่นน้ำปลาร้าก็จะถูกปฏิกริยาทางเคมีบางอย่างทำให้ไม่เหลือกลิ่นของตนเองโชยออกมาเลย   ที่เปลี่ยนไปอีกอย่างก็คือ จะได้รสที่กลมกล่อม ได้ความเค็มแบบนุ่มนวลพอดีๆ มิใช่เค็มแบบฉูดฉาดที่ได้จากเกลือ   และอย่างสุดท้ายก็คือ ได้วิตามิน เกลือแร่ และสารประกอบ amino acid จากตัวน้ำปลาร้า

สำหรับน้ำพริกหนุ่มที่ตำเองนั้น เราสามารถพิถึพิถันในเรื่องของการเผาเครื่องปรุงให้ได้ถึงขีดของความสุกและความหอมได้ตามต้องการ  ผมนิยมจะใส่มะเขือยาวเผาเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณและช่วยในด้านของความหวาน ยิ่งมีปลาร้าใส่เข้าไปด้วยก็จะยิ่งอร่อยสุดๆไปเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 18, 18:27
ของแนมกับน้ำพริกหนุ่มที่เหมาะกัน (คู่กันได้ดี) สำหรับคนท้องถิ่นก็คือ ผักนึ่ง (มิใช่ผักลวกหรือต้ม) ก็จะมีอาทิ ผักขี้หูด ฟักทอง มะเขือหำแพะ  แต่สำหรับคนในถิ่นอื่นๆก็คงจะเป็นแคบหมูติดมันชิ้นขนาดเล็ก   แคบหมูชิ้นใหญ่หน่อยจะไปเหมาะกับน้ำพริกอ่องเสียมากกว่า   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 18, 19:03
ปลาร้าปลาช่อนเป็นของที่ผมชอบมากๆ เอามาทอดแล้วกินกับหอมแดงซอย(หอมเชียงใหม่) จะสดหรือจะทอดให้กรอบก็ได้ พริกแห้งทอดน้ำมัน (มิใช่คั่วในกระทะร้อนๆ) หรือพริกขี้หนูสดเม็ดใหญ่  บีบมะนาว กินกับข้าวเหนียวใหม่ นิ่มๆ ร้อนๆ   

อาหารจานนี้ต้องทำเอง เพราะว่าที่ทำขายกัน (หากมี) มักจะเป็นแบบทอดสุกแล้วแช่ในน้ำมันที่ทอด หรือไม่ก็แฉะไปด้วยน้ำมัน หอมซอยและพริกทอดก็มักจะนิ่มแฉะรวมอยู่กับปลาที่ทอดนั้นๆ

แหล่งทำปลาร้าปลาช่อนที่สำคัญในปัจจุบันนี้ น่าจะอยู่ในพื้นที่ภาคอิสานตอนล่าง (เท่าที่สังเกตดูจากการออกร้านอยู่ในงาน OTOP ต่างๆ) สำหรับในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือนั้น นึกไม่ออกเลยว่ามีที่ใดบ้าง ย่านสุพรรณบุรีหรือสิงห์บุรีก็ทำปลาร้าจากปลาเล็กปลาน้อยเป็นหลัก 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 20:47
คงจะคล้ายๆภาพนี้นะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ค. 18, 17:58
ก็ประมาณนั้น แต่เป็นทั้งตัวครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ค. 18, 18:43
ในทางปฏิบัติ  อาหารที่ว่าใส่ปลาร้านั้น โดยวิธีการก็ไม่ต่างไปจากการใส่มะขามเปียกลงไปในแกง คือทำได้ทั้งเค้นเอาแต่น้ำหรือใส่ลงไปทั้งฝักทั้งตัว  เป็นมะขามเปียกก็เพื่อต้องการรสเปรี้ยว  หากเป็นปลาร้าก็คือต้องการรสเค็ม  ฉะนั้น ก็คงจะไม่ผิดที่จะกล่าวว่า การใส่น้ำปลาร้า ก็ไม่ต่างไปจากการใส่น้ำปลา  ทั้งนี้ หากเป็นการใส่โดยไม่ละลาย ในอีกมุมมองก็คือการใส่ซุปก้อนเพื่อปรุงรสน้ำแกง

เมื่อเห็นภาพเป็นเช่นนี้  ความรู้สึกตะขิดตะขวงใจในการกินปลาร้าก็น่าจะลดลงไปได้พอสมควร  ยิ่งหากกินข้าวยำปักษ์ใต้ได้ น้ำบูดูมันก็ทำมาด้วยวิธีการเหมือนๆกัน จะต่างกันก็ตรงที่อันหนึ่งใช้ปลาน้ำจืดอีกอันหนึ่งใช้ปลาทะเล ซึ่งสำหรับอันที่ใช้ปลาน้ำจืดนั้น เขาได้เติมข้าวคั่วและ/หรือรำข้าวลงไปเพื่อเพิ่มความหอม (และซึ่งมีสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มากมายดังที่โฆษณากันในอาหารเสริมต่างๆ)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ค. 18, 19:22
ในสมัยก่อนนั้น คำว่าปลาร้าจะให้ภาพของปลาที่หมักอยู่ในใหแบบเละๆ คล้ายขี้โคลน มีสีตุ่นๆ  ทำให้เมื่อบอกว่าเป็นอาหารใส่ปลาร้า ก็จะชวนให้นึกถึงภาพของอาหารที่ใส่ของที่หมักอยู่ในใหนั้น เกิดความรูสึกว่าไม่น่ากินหรือกินไม่ลงขึ้นมา   ในปัจจุบันนี้อาหารที่ใส่ปลาร้าก็ยังมีภาพหลอนนั้นอยู่ ทั้งๆทีี่ปลาร้านั้นได้กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมทั้งในด้านกระบวนการผลิตและทางด้านสาธารณสุข เป็นผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าสำเร็จรูป บรรจุอยู่ในขวดพลาสติควางจำหน่ายกันทั่วไป ซึ่งผู้ผลิตยังไม่คิดจะจับตลาดบน    ปลาร้าปลากระดี่ที่ผมมีนั้น ก็ตั้งใจว่าส่วนหนึ่งจะเอามาแทนที่ตรงนี้ละครับ เช่น ซื้อน้ำพริกปลาทูมาแล้วใส่น้ำปลาร้าของเราเอง หรือ ซื้อส้มตำมาใส่น้ำปลาร้าของเราเอง หรือ เพิ่มรสและกลิ่นให้กับแกงพื้นบ้านทั้งหลาย.... 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 18, 18:45
ลืมไปว่า ในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์ปลาร้าปรุงสำเร็จบรรจุขวดและปลาร้าป่นบรรจุซองส่งออกไปขายในร้าน Asia ในประเทศต่างๆทั่วไลก แน่นอนครับว่าเพื่อสนองความต้องการของคน(ที่กินและใช้ปลาร้าในการทำอาหาร)ที่ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานหรืออยู่ในประเทศเหล่านั้น 

ร้าน Asia นี้เป็นที่สนใจของคนท้องถิ่น รวมทั้งคนต่างถิ่นที่พำนักอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นเหมือนกัน ประกอบกับการได้อ่าน ได้เคยเห็น หรือได้เคยกิน ก็จึงแวะเวียนเข้ามาซื้อไปลองทำกินเอง  ขอพักเรื่องนี้ไว้ตรงนี้ก่อนนะครับ ค่อยวกกลับมาคุยกันต่อในวันหลัง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 18, 19:20
ปลาร้าสับ จัดเป็นน้ำพริกอย่างหนึ่งที่กินได้กับทั้งผักดิบและผักต้ม แต่จะเข้ากันได้ดีกับผักดิบมากกว่า  เป็นน้ำพริกอย่างหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะเลือกกิน  สำหรับผมนั้น เจ้าที่ทำได้อร่อยจริงๆนั้นค่อนข้างจะมีน้อยรายมากๆ   ด้วยที่เครื่องปรุงมีแต่ของที่มีกลิ่นและรสฉูดฉาดเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก แถมกลิ่นและรสของเครื่องปรุงเหล่านั้นยังแปรผันไปตามอายุของมันอีกด้วย การเลือกเครื่องปรุงและสัดส่วนผสมจึงมีความสำคัญมาก  ก็คงพอจะนึกภาพออกนะครับ หากไม่พิถีพิถันพอ ทั้งกลิ่นและรสก็จะกระจายกันไปคนละทิศละทาง ไม่นับรวมถึงการทำให้สุกด้วยการผัด บางเจ้าก็น้ำมีน้ำมันเยิ้มเลย ซึ่งบ้างก็ว่าน่ากิน บ้างก็ว่าไม่น่ากิน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 18, 20:01
ปลาร้าหลนหรือหลนปลาร้า และปลาร้าทรงเครื่อง อย่างหนึ่งใส่หมูสับ มีผักสดแนม  อีกอย่างหนึ่งใส่ปลาดุก+มะเขือ หน่อไม้ และผักอื่นๆ  ความอร่อยก็มีพอๆกัน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 18, 20:24
นำพาไปให้นึกถึง เค็มบักนัด    อาหารของถิ่นเมืองอุบลฯ (อุบลราชธานี) หรือปลาหมักกับสับปะรด 

ผมรู้จักมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีเชื้อสายดั้งเดิมอยู่ทางโคราช  เค็มบักนัดใช้ปลาหนังหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมคลุกเกลือแล้วใส่สับปะรดหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเช่นกัน คลุกแล้วหมักรวมกัน  ผมไม่มีความรู้ว่าเขาเอาไปทำอาหารได้กี่แบบกี่อย่าง  แต่อย่างหนึ่งที่เอามาทำกินเองก็คือทำหลนเค็มบักนัด ทานกับผักสด หอมอร่อยนะครับ

จะว่าไปแล้ว แม่ครัวไทยนี่้เก่งนะครับ เอาอะไรต่อมิอะไรมาทำเป็นหลนได้หมด  หลนแหนม หลนเต้าเจี้ยว หลนเต้าหู้ยี้ หลนปูเค็ม หลนปลาเค็ม หลนปลาทู.....   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 18, 20:37
เพิ่งเคยได้ยินชื่อค่ะ   ดูส่วนผสมแล้วน่าจะอร่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ค. 18, 19:13
หลนเค็มบักนัดหรือเค็มหมากนัด เป็นหลนที่มีความอร่อยมากทีเดียวครับ
ในอีกมุมมองหนึ่ง เค็มบักนัดก็คือปล้าร้าอย่างหนึ่ง ซึ่งแทนที่จะใส่ข้าวและรำข้าว เขากลับใส่สับปะรดแทน  เป็นของที่ต้องใช้เวลาในการหมักจนกว่าจะเป็น (ได้ทีี่) เช่นเดียวกันกับปลาร้า แล้วก็เก็บได้นานไม่แพ้ปลาร้าเลย 

คงจะได้เคยมีข้อสังเกตกันบ้างว่า อาหารที่เรียกว่าหลนนี้ นอกจากใช้กะทิเหมือนๆกันแล้ว ก็ยังเป็นอาหารที่ทำกับของหมักของดอง แล้วก็กินกับผักแนมที่เป็นผักสด   รูปร่างหน้าตาเหมือนกับชุดน้ำพริก แต่เป็นน้ำพริกที่หากนำมาคลุกข้าวแล้ว จะกินไม่อร่อยเหมือนกับน้ำพริกในชุดอาหารที่เรียกว่าน้าพริกกับผัก   

ผักแนมของหลนต่างๆที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มักจะเป็นมะเขือเปราะ ผักกาดขาว และแตงกวา  ซึ่งมะเขือนั้นเข้ากันได้ดีมากๆกับหลนต่างๆ แต่คนมักจะไม่นิยมกินผักที่มีชื่อเรียกว่ามะเขือ ด้วย(น่าจะ)ไปฝังใจอยู่กับมะเขือเปราะซึ่งพบอยู่ในอาหารหลายชนิด  ที่จริงก็มีมะเขืออีกหลายชนิดที่กรอบอร่อย ออกรสหวานปะแล่มๆ และไร้กลิ่น ก็คือพวกมะเขือลูกกลมๆขนาดเล็กประมาณลูกแก้วเหล่านั้น สีขาวก็มี สีเขียวก็มี สีม่วงก็มี แต่อย่าไปเลือกเอามะเขือพวงเข้าไปเชียวล่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ค. 18, 19:22
สำหรับผมนั้น ผมชอบแนมหลนต่างๆด้วยขมิ้นขาว ใบมะกอกอ่อน และใบมะม่วงอ่อน   มีความอร่อยมากกว่ากินกับผักกาดขาวและแตงกวาอย่างมากมายทีเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ค. 18, 20:15
นึกเลยเถิดไปว่า แต่ละภาคจะมีน้ำพริกที่เด่นเป็นเอกลักษณ์  ก็เลยสรุปเอาเองว่า
  ภาคเหนือมี น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง น้ำพริกอ่อง
  ภาคอิสานมี แจ่ว(น้ำพริก) ปลาร้าสับ (แจ่วบอง ?)
  ภาคใต้มี ไตปลา(แบบน้ำ/แบบแห้ง) คั่วกลิ้ง (?)
  ภาคกลางมี น้ำพริกกะปิ น้ำพริกตำแบบแห้งๆ(ป่น) หลนต่างๆ     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 18, 19:27
น้ำพริกตำของภาคเหนือและอิสานมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือใช้เครื่องเผาเป็นพื้นฐาน (พริก หอม กระเทียม)  จากนั้นก็สุดแท้แต่จะใส่อะไรตามลงไป แล้วจึงปรุงรสให้กลมกลืนกัน  จึงทำให้มีน้ำพริกที่อร่อยๆอย่างหลากหลาย ซึ่งที่เรานึกออกในทันทีก็คงจะเป็นกะปิและปลาร้า   อื่นๆที่อาจจะไม่อยู่ในใจเลยก็มีอาทิ ไข่ต้ม สัตว์และแมลงบางชนิด พืชผักบางชนิด ของหมักดองบางชนิด ... แล้วก็เรียกชื่อน้ำพริกนั้นๆไปตามสิ่งที่ใส่ลงไป กลายเป็นน้ำพริกไข่ต้ม น้ำพริกแมงอิ(กิ,จิ)นูน น้ำพริกแมงมัน น้ำพริกน้ำเมี่ยง น้ำพริกมะอึก น้ำพริกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ......

เมื่อพื้นฐานเป็นเช่นนี้ ก็จึงไม่ยากที่จะรังสรรค์น้ำพริกอร่อยๆตามใจนึกของเราเองได้  เพราะในตลาดชุมชนตอนเย็นจะมีแผงที่ขายเครื่องพริกหอมกระเทียมที่เผาแล้ว ที่เหลือว่าจะให้เป็นน้ำพริกอะไรต่อไปก็เป็นไปตามใจเรา  จะเพิ่มกลิ่นและรสสัมผัสด้วยการใส่น้ำปลาร้า ใส่แมงดา ใส่กะปิ...ก็ได้ตามใจชอบ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 18, 20:25
น้ำพริกของผู้คนในภาคเหนือและอิสานมีลักษณะที่เหมาะกับการกินกับข้าวเหนียว (ปั้นจิ้ม)   ต่างกับของภาคกลางและภาคใต้ที่เหมาะกับ การกินกับข้าวเจ้า (ราดคลุก)   แต่ของแนมมีความเหมือนกัน ที่เป็นเนื้อสัตว์ก็จะเป็นพวกของที่มีรสออกเค็ม (ย่างหรือทอด) หากเป็นผักก็จะเป็นบรรดายอดผักทั้งหลายที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ที่จะต่างกันออกไปจริงๆก็คือคนทางภาคใต้ชอบที่จะกินกับผลของพืชในตระกูลถั่ว (legume) เช่น สะตอ ลูกเนียง ลูกเหลียง ฝักกระถิน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 18, 20:43
ผมจะหายไปจากกระทู้นี้ประมาณ 10 วันครับ   หลบไปสัมผัสกับกลิ่นไอดินและพืชผักผลไม้ต้นฝนครับ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 18, 18:20
กลับเข้ามาฝอยต่อแล้วครับ

ไปคราวนี้ได้กินของอร่อยหลายอย่างที่หากินได้ยากใน กทม.ซึ่งต่างก็เป็นของที่ทำได้ง่ายๆ   แต่ในทางกลับกันก็กลับไม่ได้กินของที่อยากและตั้งใจจะไปกิน

ก็มีน้ำพริกไข่(ต้ม) แนมด้วยผักนึ่ง(ลวก/ต้ม)  น้ำพริกก็ตำง่ายๆแบบที่ได้เล่ามา มีพริกหนุ่มเผา หอมเผา กระเทียมเผา โขลกเข้าด้วยกันแล้วใส่ไข่ต้ม ยีด้วยสากให้ละเอียด แนมด้วยยอด(ใบ)ขี้เหล็กอ่อน ใบคาวตอง (พลูคาว) และยอดชะอมลวกในน้ำเดือดที่ใส่เกลือทะเลเล็กน้อย

อีกน้ำพริกหนึ่งคือ น้ำพริกหางหวาย (ยอดต้นหวาย) ที่เอามาต้มให้สุกแล้วใส่ตำไปในน้ำพริก (บางคนก็เรียกว่ายำหางหวาย)  หลายคนไม่กินเพราะกลัวขม บางคนก็ไม่กล้าเพราะไม่เคยทาน   ที่จริงแล้วหากต้มให้สุก ก็เกือบจะไม่มีความขมเหลืออยู่เลย ยอดหวายเป็นของที่ผมชอบมาก กินได้ทั้งแบบเอามาตำเป็นน้ำพริก เอามาต้มหรือเผาให้สุกแล้วกินเป็นผักแนมกับน้ำพริก  กะเหรี่ยงเอามาเผาให้สุกแล้วหั่นใส่ในขนมที่ทำเหมือนกับเต้าส่วน ก็มีกลิ่นหอมและมีความอร่อยอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว     ที่โปรดของผมจริงๆก็คือเอามาหมกเตา เผาให้สุกจนกลิ่นหอมโชยออกมา แล้วเอามาลอกเอาแต่แกนในอ่อนๆมากินกับน้ำพริก 

ลูกหวายก็กินได้เหมือนกัน หากพบก็ลองเก็บเอามากินเล่นดูครับ    เลยพาลให้ไปนึกถึงลูกชกของต้นชกที่มีขึ้นอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของเรา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 18, 18:53
ได้กินแกงแพะที่ทำสำหรับกินกับข้าวที่หุงแบบข้าวหมกไก่  ก็เรียกกันว่าข้าวหมกแพะแต่มิได้เป็นการทำแบบหุงข้าวไปพร้อมกับเนื้อแพะ  เป็นของอร่อยของฝีมือแบบปากีสถาน 

ได้กินข้าวซอย ได้กินขนมจีนน้ำเงี้ยวอร่อยๆฝีมือชาวบ้าน  ได้กินน้ำพริกปลากระป๋องทำเองแบบดังใจ แนมกับยอดและดอกผักต้มต่างๆ ได้ทำต้มขมุกินเองแบบดั่งใจ  ได้กินใส้อั่วแบบทำโบราณอย่างที่ชอบ คือมีเนื้อหยาบ (ใช้วิธีการสับเครื่องปรุงด้วยมีอ) มิใช่การบดด้วยเครื่องจนมีเนื้อละเอียด ....


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 18, 20:58
ได้แต่ฟังอย่างเดียวค่ะ  ไม่คุ้นกับอาหารพวกนี้เลย ยกเว้นขนมจีนน้ำเงี้ยว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 18, 21:00
ข้าวหมกแพะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 22 พ.ค. 18, 21:39
น้ำพริกไข่ต้มผักต้มนี่เข้าทางผมเลยครับ ได้อยู่บ้านในชนบทเงียบ ๆ ด้วยยิ่งดีใหญ่ เบื่อเสียงเด็กแว๊นส์กับรถกระบะท่อโตจะแย่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 18, 21:43
น้ำพริกไข่ต้ม พร้อมวิธีทำค่ะ

https://www.maeban.co.th/%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/1437/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A1.php


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 18, 21:46
น้ำพริกไข่ต้ม
https://cookpad.com/th/recipes/1336926-%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A1


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ค. 18, 18:48
ดังภาพ
ข้าวสวยร้อนๆจานนึง ปลาทูทอดตัวนึง ไข่เป็ดต้มแบบยางมะตูมแก่ๆใบนึง (ไข่แดงเกือบจะสุกแห้ง) แล้วก็น้ำพริกกะปิที่ใส่มะเขือพวงเผาบุบพอแตก  เป็นจานที่อร่อยมากๆเมื่อยามหิว หรือแก้โหยในยามเช้าหลังจากหนักน้ำไปหน่อยในค่ำคืนที่ผ่านมา  ;D



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 18, 18:53
https://www.youtube.com/watch?v=LF2e-Z63gUk


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ค. 18, 19:36
ก็มีข้อสังเกตอยู่หน่อยนึงว่า  ในเรื่องของผักแนมน้ำพริกนี้  ผู้คนในภาคเหนือนิยมจะกินผักนึ่ง มีอาทิ บรรดามะเขือทั้งหลาย พวกฝักอ่อนของพืชที่มีฝักทั้งหลาย ยอดอ่อนต้นไม้...    ในภาคใต้ผู้คนจะนิยมผักสด ก็มีบรรดายอดอ่อนต้นไม้ทั้งหลาย และพวกเม็ดในของฝักของต้นไม้ต่างๆ...     ในอิสานมีคละกัน กินทั้งสดและผักต้ม ขึ้นอยู่กับเชื้อสายเผ่าพันธุ์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นผักที่ขึ้นตามหัวไร่ปลายนา...    ส่วนภาคกลางนั้นมีคละกันทั้งหมด แต่ก่อนนั้นดูจะหนักไปทางเผาและทอด ซึ่งในปัจจุบันนี้ หากเป็นในตลาดพื้นล่างทั่วไปก็จะจะหนักไปทางต้ม แต่หากเป็นในร้านอาหารก็จะหนักไปทางทอดแบบชุบไข่ทอด ที่หายไปจนเกือบจะไม่พบเห็นเลยก็คือต้มแล้วราดกะทิ แต่ก่อนนั้นยังมีแม่ค้าอยู่เจ้าหนึ่งทำขายอยู่ในตลาดนางเลิ้ง แถมทำให้น่ากินแบบจัดห่อด้วยใบตองเมื่อซื้ออีกด้วย หายไปแล้ว    จะว่าไปเราก็ทำเองได้นะ ก็เพียงไปซื้อผักต้มของเจ้าน้ำพริกที่ทำขายอยู่ในตลาดชุมชนต่างๆ ไปซื้อกะทิสำเร็จรูปมาอุ่นให้ร้อนและก็ราดลงไป  ก็น่าจะเท่านั้นเอง (อาจจะใส่เกลือป่นลงไปปรุงรสกะทินิดหน่อยก็ได้) เราก็จะได้น้ำพริกกะปิกินกับผักต้มแบบ homemade ที่แสนอร่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 18, 20:45
นึกถึงดอกโสนราดกะทิ ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 23 พ.ค. 18, 21:50
ผมคนภาคกลางครับ ร้านประจำที่ซื้อบ่อยๆ น้ำพริกมาตราฐาน (ปลาทู ปลาร้า ปลาดุก) มักมากับผักต้ม ถ้าผักทอดมากับน้ำพริกกะปิเท่านั้น ผักสดจะเป็นน้ำพริกอ่อง น้ำพริกกากหมู กับหลนทั้งหลาย (ส่วนใหญ่ปู)


พอดีแวปไปขโมยภาพเพื่อนสมัยออกค่ายอาสามหาวิทยาลัย เลยคิดถึงน้ำพริกที่รุ่นน้องชอบทำประจำคือน้ำพริกไข่เค็ม รายนี้เขาทำแบบแห้ง ๆ อร่อยมาก ผมมาหากินเอาเองไม่เห็นจะอร่อยแบบนี้เลย  :-\




กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 18, 19:08
นึกถึงดอกโสนราดกะทิ ค่ะ

ดอกโสนนี้ เอามารูดก้านดอกทิ้งไป ล้างน้ำแล้ววางบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ ตั้งกระทะเหล็กบนเตาไฟแรง ไล้น้ำมันในกระทะให้ทั่ว รอจนกระทั่งกระทะร้อนฉ่า ไอน้ำมันโชย จึงเอาดอกโสนลงผัดเร็วๆ ก็จะได้ดอกโสนที่มีกลิ่นหอมหวลชวนให้กินกับน้ำพริกที่ออกรสไปทางเผ็ดหน่อยและไม่จัดจ้านในทางเปรี้ยว ก็เป็นอีกหนึ่งผักโปรดของผม   

ดอกโสนนี้เอามาทำขนมดอกโสนก็ได้ด้วย คิดว่าคงจะหากินในกรุงเทพฯไม่ได้อีกแล้ว ใน ตจว.เองก็ไม่เห็นมาหลายปีแล้วเช่นกัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 18, 22:23
ขอออกนอกเรื่องหน่อยค่ะ
วันนี้ไปเที่ยวเขื่อนกระเสียว ที่สุพรรณบุรี  มีร้านอาหารเล็กๆใกล้เขื่อนที่ห้องครัวทำกับข้าวอร่อยเกินคาด   โดยเฉพาะกบทอดกระเทียม
กินไปก็นึกถึงแกงจืดอึ่งอ่าง กับแย้ย่าง ของคุณตั้ง เมื่อครั้งเข้าป่า   แต่หาเมนูอย่างนั้นไม่ได้ เลยสั่งกบมาแทนที่ไปพลางๆค่ะ



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ค. 18, 18:22
ไม่นอกเรื่องเลยครับ กำลังจะไปเรื่องกบเขียดและอึ่งอ่างอยู่พอดีครับ

ปีนี้มีฝนตกชุกแต่ให้ปริมาณน้ำไม่มาก กำลังพอดีๆ ทำให้ผืนดินมีสภาพแฉะและแห้ง(แต่ฉ่ำชื้น)สลับกันเป็นช่วงๆ เป็นพลังให้กับแมงต่างๆโผล่ออกมาจากที่ซ่อนตัว ในพื้นที่นาข้าวก็เลยมีกบเขียดและอึ่งอ่างในวัยกำลังเติบโตตัวขนาดประมาณหัวแม่มือออกมาหากินแมลงกัน  ชาวบ้านก็เลยมีความสุขออกไปจับก้นด้วยความสนุกสนาน เอามาขังเก็บไว้กินบ้าง เอาไปวางขายแบบตัวเป็นๆบ้าง เอาไปทำตากแห้งแดดเดียวบ้าง  จึงเห็นมีขายอยู่ทั่วไปหมด(โดยเฉพาะอึ่งอ่าง)ในทุกตลาดชุมชน

ด้วยที่ยังโตไม่เต็มที่ในช่วงเวลานี้ ลักษณะของการเอามาทำอาหารจึงมักจะเน้นไปทางเอาไปสับแล้วผัดเผ็ด หรือตากแดดให้พอแห้งแล้วเอามาทอดทั้งตัว   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 18, 18:52
กบผัดเผ็ด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ค. 18, 19:11
ก็เดาเอาว่า กบทอดกระเทียมที่อาจารย์สั่งมาทานนั้นน่าจะเป็นพวกตัวขนาดนิ้วหัวแม่มือ แบบตากพอแห้งแล้วเอามาทอดให้กรอบ    ตัวขนาดนั้นเมื่อตากแห้งแล้วเอามาทอดให้กรอบเปล่าๆหรือทอดกระเทียม เราก็อาจจะแยกไม่ออกแล้วว่าเป็นกบ หรือเป็นเขียด หรือเป็นอึ่งอ่าง

ก็ดูจะมีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง (ในภาษาเขียนที่ถูกต้องคงจะต้องใช้คำว่า ประการหนึ่ง)  สำหรับเขียดนั้น ดูจะนิยมเอามาเสียบไม้เป็นราวแล้วตากแดดให้แห้ง    เมื่อรูดออกจากไม้ที่เสียบไว้ เอาลงกระทะทอดให้กรอบ ก็เลยกลายเป็นเมนูอาหารอย่างหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า ทหารนอกกรม   ร้านหนึ่งที่ทำได้อร่อยมากๆอยู่ที่ จ.น่าน โน่น  เป็นร้านเก่าแก่อยู่ติดกับหน้าโรงแรมดังของ จ.น่าน

กบทอดกระเทียมที่อาจารย์สั่งมาทานนั้น ใน ตจว.ก็คงจะเป็นกบทั้งตัวสับเป็นชิ้นๆทอด  แต่หากเป็นในร้านอาหารหรูๆในเมืองที่มีราคาอาหารดุเดือด ก็คงจะได้จานที่มีแต่ขากบอวบๆไม่กี่ขาจัดให้มา ซึ่งก็คงจะไม่มีกระเทียมสับโรยมามากนัก   จะกินขากบอวบๆทอดให้อร่อยแบบฝรั่งปนไทย เราก็เอากระเทียมกลีบโตๆ บุบทั้งเปลือกพอแบน เอาลงทอดใน้ำมันทั้งเปลือก ให้กระเทียมสุกจนผิวเหลืองและแห้งแบบกรอบนอกนุ่มใน  กระเทียมกลีบใหญ่ (กระเทียมจีน) ซึ่งจะมีทั้งรสและกลิ่นบางๆก็จะกลายเป็นของกินแนมกับกบทอด ซึ่งจะเข้ากันได้ดีและระเบิดความอร่อยออกมาเลยทีเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 18, 18:54
ย้อนกลับไปทบทวน คห.สุดท้ายที่เขียนไปเมื่อวานนี้ แล้วย้อนกลับไปดูภาพเพื่อจะอ้างข้อสังเกตบางอย่าง เลยได้เห็นภาพสะท้อนของตนเองว่า ไม่แก่วัยก็อาจจะแก่น้ำไปหน่อย จึงเขียนเจื้อยไปเรื่อย ทำให้งง ขออภัยจริงๆครับ  :-[

ข้อสังเกตที่จะกล่าวถึงก็คือ ในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นพวกอาหารประเภททอดกรอบและทอดกระเทียมเหล่านั้นมักจะมีใบมะกรูดทอดใส่มาด้วย ผมสังเกตเห็นมาระยะหนึ่งแล้ว  ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นมาจากพวกของทอดที่ตั้งชื่อกันว่าเป็นเมนูสุขภาพที่มีชื่อต่อท้ายว่าสมุนไพรหรือไม่ เพราะจานเหล่านั้นมักจะมีตะไคร้และใบมะกรูดทอดกรอบโรยมาด้วย  บางเจ้าก็มีพริกแห้งทอดมาให้แนมด้วย เป็นภาพที่ดูคล้ายกับเอาเครื่องประกอบที่ทอดแล้วมาคลุกกันแบบไม่มีตัวเชื่อมประสาน แต่ก็อร่อยดีนะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 18, 20:06
จาก คห.841 ของคุณ superboy  ทำให้นึกถึงผักจิ้มน้ำพริกอีกแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันของชาวบ้านทั่วไป เป็นพวกผักดอง อาทิ ต้นหอมดอง ถั่วงอกดอง ผักหนาม ผักเสี้ยน ผัก(ยอด)กุ่ม มะเขือเปราะ หน่อไม้ เป็นต้น   

ที่ผมชอบจริงๆและกินกับน้ำพริกกะปิก็คือ ยอดกุ่มดอง ผักหนาม และผักเสี้ยน  ซึ่งด้วยที่ผักดองเหล่านี้มีความแรงทั้งกลิ่นและรส น้ำพริกกะปิก็จึงจะต้องเป็นแบบที่มีความเข้มข้นจัดทั้งเนื้อและรส    เมื่อเจอผักดองเหล่านี้ก็อดไม่ได้ที่จะต้องซื้อมา แล้วก็ด้วยที่อาจจะแก่วัดมากไปหน่อยก็จะซื้อน้ำพริกกะปิมาด้วย แต่เอามาปรุงเองใหม่ อาทิ เพิ่มเนื้อด้วยการใช้เนื้อในของมะเขือเปราะ ใช้เปลือกมะเขือเปราะซอยบางๆ ใช้มะอึก ใช้มะเขือพวงเผา ใช้กระเทียมจีนหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้มะนาวหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นต้น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 18, 20:27
นึกถึงผักจิ้มน้ำพริกออกอีกอย่างหนึ่งครับ  ผักกระเฉดต้ม ตัดเป็นท่อนสั้นๆม้วนด้วยใบแล้วราดกะทิ     

ฟักทองต้มแล้วหั่นเป็นชิ้นๆบางพอคำ ถั่วฝักยาว ถั่วพู ยอดฟักทอง ยอดตำลึง และกล่ำปลีต้ม เหล่านี้ราดด้วยกะทิก็อร่อยเหมือนๆกัน  แล้วก็มีผักหลายชนิดที่ดูจะไม่นิยมไปจับคู่กับกะทิ ก็มีอาทิ ดอกแค ผักบุ้ง บวบงู กระเจี๊ยบ .... 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 18, 10:02
ผักเสี้ยนดอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 18, 10:05
น้ำพริกกะปิกับผักต้มกะทิ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 18, 18:46
นึกถึงดอกขจรอีกอย่างหนึ่งครับ เอามาลวกเปล่าๆ หรือลวกแล้วราดกะทิ หรือจะเอาไปผัดน้ำมันบนไฟแรงๆก็ได้ เข้ากันได้อย่างดีกับน้ำพริกกะปิที่ออกรสจัด (เพราะดอกขจรจะค่อนข้างฉ่ำไปด้วยน้ำ) 

ดอกขจรเอามาทำต้มจืดกับหมูสับก็ได้ จะได้แกงจืดที่ออกรสไปทางหวานและหอมนุ่มนวล  เอามาผัดกับไข่ก็ได้ เป็นจานผักที่มีประโยชน์ทั้งในเชิงของอาหารสุขภาพและยาสมุนไพร  เอามาชุบแป้งทอดเป็นเหมือดของขนมจีนน้ำพริกก็ได้ หรือเป็นผักในชุด Tempura ก็ได้ อร่อยดีทีเดียว

ที่มีความแปลกใจอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ดอกขจร กับ ดอกสลิด เป็นพืชชนิดเดียวกันหรือไม่  ชาวบ้านเขาว่ามันมีความต่างกันทั้งดอกและต้น ผมซื้อต้นขจรไปปลูก เขาก็บอกว่ามันเป็นต้นสลิด  เขาเก็บดอกเอามาต้มจิ้มน้ำพริก ซึ่งดูต่างไปจากดอกขจรที่รู้จัก เขาก็บอกว่านั่นเป็นดอกขจร อาจจะเป็นด้วยสายพันธุ์ต่างกันก็ได้ สายหนึ่งเป็นแบบดั้งเดิม อีกสายหนึ่งเป็นแบบที่มีการปรับปรุง  ไม่รู้จริงๆ   ก็เอาเป็นว่าเอามาทำอาหารได้อร่อยทั้งดอกขจรและดอกสลิดก็แล้วกัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 18, 19:03
ดอกขจรผัดน้ำมันหอย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 18, 19:20
น้ำพริกกับผักนี้  ผมว่าน่าจะเป็นเมนูที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของอาหารไทย (อาจจะเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของอาหารของผู้คนของชาติพันธุ์ที่สื่อสารกันด้วยภาษาในตระกูลภาษาไทยอีกด้วย)   น้ำพริกในอาหารไทยมีมากมายหลากหลายทั้งในแบบพื้นฐานและแบบที่มีการพัฒนา แปลงหรือแปรเปลี่ยนไป  เป็นอาหารที่มีทั้งศาสตร์และศิลปในการทำปรากฎอยู่ให้เห็นและรู้สึกสัมผัสได้ในทุกๆด้าน (รูป รส กลิ่น กาลเวลา และกาลเทศะ)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 18, 19:31
ดอกขจรผัดน้ำมันหอย

ดอกขจรผัดน้ำมันหอย ออกไปทางอาหารจีน ก็เป็นเมนูง่ายๆ แต่อร่อยมากครับ   

เอามาทำแกงส้มก็อร่อยไปปอีกแบบครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 27 พ.ค. 18, 19:54
มีแถวไหนที่เขานิยมทานดอกอัญชันกับน้ำพริกไหมครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 18, 18:37
มีแถวไหนที่เขานิยมทานดอกอัญชันกับน้ำพริกไหมครับ

เท่าที่เคยพูดคุยและเคยเห็น ก็พอจะกล่าวได้ว่ามีการเก็บมากินกันโดยเอามาลวกก่อน ไม่ใช่ผักนิยม เป็นเพียงมีก็เอา   จากประสบการณ์การเดินทางไปทำงานในพื้นที่ต่างๆของผม แต่ก่อนนั้นอัญชันพบเห็นได้เฉพาะในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและในภาคใต้ แต่ในปัจจุบันนี้มีนำไปปลูกเป็นไม้ประดับและปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการค้าเชิงสมุนไพรทั่วทุกภูมิภาค   

คำตอบสำหรับข้อสงสัยนี้ ผมคิดว่าหนึ่งในความนิยมคงจะอยู่ในสังคมของผู้มีอันจะกินที่มีความสนใจในเรื่องของสุขภาพ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 18, 18:49
ดอกอััญชันสดๆ ใช้แทนผัก  จิ้มน้ำพริกกุ้งสด ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 18, 18:49
ไข่เจียวดอกอัญชัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 18, 19:10
ดอกไม้กินได้มีอีกหลายอย่าง   นอกจากที่ได้กล่าวถึงแล้ว เท่าที่นึกออกในทันทีก็มี

ที่เอามาจิ้มน้ำพริก ก็มีอาทิ ดอกกระเจียว ดอกสะเดา ดอกแค ดอกส้าน ดอกกุหลาบ ดอกเอื้องหมายนา
ที่เอามชุบแป้งทอด ก็มีอาทิ ดอกเข็ม
ที่เอามายำ ก็มีอาทิ เกสรชมพู่ ดอกดาหลา

หลายท่านอาจจะนึกถึงดอกไม้อื่นๆได้อีก หรือที่ได้เคยทานมา ช่วยบอกด้วยครับ

ผมมีความสนใจว่า ดอกชะมวงเอามาทำอาหารอะไรได้อร่อยบ้าง ??

 
  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 18, 19:38
https://www.youtube.com/watch?v=e_M5AyaVy_w


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 18, 19:44
ไข่เจียวดอกอัญชันดูน่ากินนะครับ

เท่าที่พอจะมีความรู้อยู่บ้าง ดอกอัญชันมีทั้งแบบสีครามและสีขาว แต่เราจะนิยมใช้ดอกที่มันเป็นสีคราม (สีคราม? สีน้ำเงิน? หรือสีม่วง?) ซึ่งเป็นสีที่มีความสดใสเป็นธรรมชาติ

นึกเลยเถิดไปว่า เราอาจจะจัดสำรับอาหารไทยชุดสีครามได้เป็นชุดที่น่ากินและมีความสวยงามไปด้วยการใช้ดอกอัญชัน   ของกินเล่นสีครามก่อนอาหาร  ข้าวสวยสีคราม ไข่เจียวผักสมุนไพรสีคราม น้ำพริกหรือหลนสีครามกับผักสีคราม (ดอกอัญชัน และอาจผนวกด้วยใบชะครามลวก) แล้วของหวานที่ใช้สีครามของดอกอัญชันอีกสองสามอย่างหรือหลายๆอย่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 28 พ.ค. 18, 21:57
แถวบ้านผมมีดอกอัญชันสีขาวขึ้นโดยทั่วไป ในบ้านผมเองยังมีเลย แต่ไม่เคยเห็นคนแถวนี้เก็บไปกิน เด็ดแต่ยอดกระถินอัญชันก็อยู่ติดกันแท้ๆ

ส่วนสีม่วงเคยเห็นเพื่อนกินจากเฟสบุคอยู่บ้าง สงสัยวันหลังต้องลองดอกสีขาวเสียหน่อยแล้ว พรุ่งนี้ซื้อน้ำพริกก่อน  :-[


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 18, 18:38
ก็ยังมีวิธีการกินน้ำพริกให้อร่อยนอกจากวิธีการตามปกติที่ตักน้ำพริกราดผักแล้วทานไปพร้อมกับข้าว  คือการตักเอาน้ำพริกมาคลุกข้าวแล้วกินกับผักดิบกรอบๆเช่นแตงกวาและมะเขือเปราะ ซึ่งเป็นวิธีการกินที่สังคมนอกบ้านไม่ยอมรับกัน เพราะคงจะเห็นว่า....    เราจึงได้พบเห็นว่าในสังคมนอกบ้านของเราจะไม่มีน้ำพริกที่ตำแบบแห้งๆ (น้ำพริกป่นต่างๆ) ที่ต้องใช้วิธีคลุกข้าวซึ่งเหมาะที่จะกินกับผักต้ม เนื้อสัตว์ทอดหรือย่าง อาหารที่มีน้ำขลุกขลิก และกับแกงน้ำใสต่างๆ   

หากกินข้าวเหนียวก็จะกินได้วิธีเดียวคือการจิ้ม  จะเอาข้าวเหนึยวจิ้มน้ำพริกก่อนแล้วตามด้วยผัก หรือจะเอาผักจิ้มน้ำพริกแล้วตามด้วยข้าวเหนียวก็ได้ หากเป็นคนกรุงก็คงจะเป็นการเอาผักจิ้มน้ำพริกใส่ปากแล้วตามด้วยข้าวเหนียว แต่หากเป็นชาวบ้านก็จะเอาข้าวเหนียวจิ้มน้ำพริกใส่ปากแล้วตามด้วยผัก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 18, 19:12
เอ่ยถึงผักหลายชนิดที่กินกับน้ำพริกแล้วทำให้ต้องต่อไปถึงข้าวยำของผู้คนในภาคใต้ซึ่งเป็นจานอาหารที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง แต่คนที่บอกว่าชอบกินผักหลายคนกลับมักจะบอกว่าไม่ชอบ แถมก็ดูจะยังไม่ค่อยจะมีการกล่าวถึงกันในเมนูอาหารสุขภาพอีกด้วย  ข้าวยำเป็นอาหารที่หากินได้ไม่ง่ายนักในเขต กทม. และที่มีทำขายกันของหลายๆเจ้าก็ดูจะทำแบบลวกๆไม่มีความพิถึพิถันมากพอ ครึ่งๆกลางๆไม่รู้ว่าจะเอาไปทางความสวยงาม ความอร่อย หรือเอาแต่เพียงรูปร่างหน้าตา

ข้าวยำมีศิลปในการทำแฝงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งการเลือกชนิดและสัดส่วนผสมของพืชผักต่างๆ เครื่องแต่งประกอบ และการทำน้ำบูดู

ของโปรดของผม เห็นเป็นซื้อเหมือนกัน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 18, 19:16
ข้าวยำปักษ์ใต้ 2 แบบ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 18, 18:56
ข้าวยำเป็นอาหารประจำถิ่นของผู้คนในภาคใต้ เป็นอาหารที่กินกันเป็นมื้อเช้าและมื้อเที่ยง ไม่เห็นกินกันเป็นมื้อเย็น   

เราเรียกว่าข้าวยำ แต่โดยของที่คลุกอยู่ในจานกลับเป็นผักมากกว่าข้าว แถมยังมีน้ำราดอีก ดังนั้น หากจะเรียกว่าเป็นจานสลัดรสจัดแบบภาคใต้ก็น่าจะพอได้ (Southern veggie plate _ improvised) 

แต่ก่อนนั้น ข้าวยำที่ทำขายกันจะเป็นแบบเรียบๆง่ายๆ   คิดว่าข้าวยำแบบมีสีสันและที่จัดให้สวยงามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ (ดังภาพใน คห.ของ อ.เทาชมพู) น่าจะได้รังสรรค์ขึ้นมาเมื่อสักประมาณ 30 ปีมานี้เอง (หรือน้อยกว่านั้น)   และแต่ก่อนนั้น (อีกเช่นกัน) จะกล่าวกันว่า ข้าวยำที่อร่อยจะต้องใช้น้ำบูดูของสายบุรี (อ.สายบุรี จ.ปัตตานี)  ซึ่งก็ดังมากพอที่จะมีการใส่ขวดส่งมาขายใน กทม.เลยทีเดียว  ไม่ได้สังเกตว่าในปัจจุบันนี้ตลาดของน้ำบูดูสายบุรีเป็นเช่นใด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 18, 19:28
ในความเห็นของผมนั้น ข้าวยำน่าจะติดตลาดในภาคอื่นๆได้มากเลยทีเดียว หากว่าได้มีการทำน้ำบูดูสำหรับราดข้าวยำแบบสำเร็จรูปที่มีรสดี ใส่ขวดวางขาย แทนที่จะเป็นน้ำบูดูที่ต้องนำไปปรุงแต่งรสต่ออีกครั้ง

น้ำบูดูสำหรับข้าวยำจะมีการนำไปผสมน้ำ ต้มกับข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ผิวมะกรูด หอมแดง ใช้เนื้อปลาอินทรีย์(เค็ม?) น้ำตาลปึก   ทำเองไม่เป็นหรอกครับ จำจากที่เขาบอกมา    ก็คงพอจะเห็นภาพได้ว่า จะทำน้ำบูดูให้อร่อยนั้นไม่ง่ายเลย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 18, 21:03
น้ำบูดู


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 18, 18:53
น้ำบูดู น้ำปลา น้ำปลาร้า ล้วนได้มาจากการหมักสัตว์น้ำ  ในภาคเหนือมีน้ำผัก ได้มาจากการหมักผักกาดและน้ำหมักใบเมี่ยง  เราเอาน้ำหมักเหล่านี้ (ยกเว้นน้ำปลา) มาปรุงแต่งเป็นน้ำพริกกินกับผัก   น้ำปลาก็มีการเอามาทำเป็นน้ำพริกเหมือนกัน แต่จะเป็นแบบรสหวานนำ เช่น น้ำปลาหวานที่กินกับผลไม้เปรี้ยว และน้ำปลาหวานที่กินกับสะเดาลวก ผักชีสด และกุ้งเผาหรือปลาดุกย่าง (นึกถึงปลาดุกอุยย่างขึ้นมาในทันใดเลย)

ุนอกจากน้ำบูดูจะเอามาทำเป็นแบบตำเป็นน้ำพริกแล้ว ก็มีการเอามาทำเป็นแบบหลน และทำเป็นแบบที่เรียกว่าทรงเครื่องอีกด้วย ร่อยทั่งเพ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 18, 18:57
น้ำปลาหวาน สะเดาลวก และปลาดุกย่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 18, 19:32
น้ำบูดูมีความเด่นเป็นพิเศษอยู่เรื่องหนึ่ง คือ มันเข้ากันได้ดีกับบรรดาพืชผักในตระกูลถั่ว (Leguminosae หรือพวก legumes) และโดยเฉพาะพวกที่มีกลิ่นเข้มข้น ก็มีอาทิ สะตอ ลูกเนียง ลูกเหรียง กระถิน    พืชผักอื่นๆก็มีบรรดายอดไม้ใบอ่อนต่างๆเช่น ยอดมะม่วงหิมพานต์ ใบเหลียง (ใบเหมียง ?) ยอดมะกอก ใบชะมวง ยอดสะเดา   และพวกพืชมีเหง้าเช่น ดอกข่า ต้นข่าอ่อน ขมิ้นขาว

เท่าที่เคยทานมายังมีอีกเยอะเลยครับ นึกไม่ออก ลืมชื่อ และที่ไม่รู้จักอีกเยอะเลย   ก็ล้วนแต่เป็นสมุนไพรทั้งนั้น

สำหรับผู้ที่ไตไม่ค่อยดีคงจะต้องศึกษา ระวัง หรือละห่างบ้างก็ดีครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 18, 18:38
ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะกล่าวถึงอาหารของผู้คนในภาคใต้ในแง่มุมต่างๆได้มากนัก   ก็เพียงได้รู้ ได้เห็น และได้กินตามที่เขาว่าเป็นของอร่อย เป็นของดีของดัง เป็นของมีชื่อของถิ่นนั้นๆ

ของดังในยุคของการสื่อสาร 2G ที่ผมซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ได้ยินและรู้จัก  เท่าที่นึกออกก็มี สะตอของ อ.ลานสะกา จ.นครฯ ซึ่งไม่แยกออกเป็นสะตอดาน หรือ สะตอข้าว   มีน้ำบูดูสายบุรี ของ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี   มีข้าวเหนียวมูลหน้าต่างๆ ซึ่งห่อขายเป็นอาหารเช้า ของระนอง ตรัง และภูเก็ต    ขนมเค็กลำพูรา(ปัจจุบันสะกด ลำภูรา)ของบ้านลำพูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง    ข้าวมันไก่ของ อ.เบตง   ร้านอาหารทะเลอร่อยที่ยะลา  ผัดหมี่ฮกเกี้ยนของ จ.ภูเก็ต  ผลไม้ของ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ...

เมื่อเริ่มเข้ายุค 3G  ก็มีชื่ออื่นๆเข้าเบียนจนทำให้ชื่อของดังแต่เดิมซบเชาลงไป  ก็มีอาทิ ข้าวราดแกงนครศรีฯ   ผัดหมี่ปูภูเก็ต   หมูย่างเมืองตรัง   ขนมจีนกับผักเหนาะ   คั่วกลิ้ง แกงไตปลา  แกงเหลือง  ปลาทอดขมิ้น  มะม่วงเบา ..... 

ในปัจจุบันก็มีอาทิ ข้าวยำที่จัดอย่างสวยงาม   แกงและผัดที่ใส่ใบยี่หร่า  น้ำพริกมะขาม  ใบเหรียงผัดไข่  ขนมต่างๆ     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 18, 19:02
น้ำพริกแกงของอาหารใต้มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง คือ เผ็ดด้วยพริก ร้อนด้วยพริกไทย และใส่ขมื้น  ต่างกับของภาคอื่นที่จะเลือกใช้ชนิดของพริกเพื่อทำให้รสออกไปทางเผ็ดมากหรือร้อนมาก   ทางใต้ทำให้แกงออกรสเปรี้ยวด้วยส้มแขก และส้มควาย (และมะเฟือง)  ต่างกับของภาคอื่นๆที่ใช้มะขาม   ทางใต้นิยมใช้ยี่หร่า แต่ที่อื่นๆนิยมใช้กะเพรา

ข้อสังเกตดังกล่าวนี้ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ครับ ? 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 18, 20:31
น้ำบูดู และผักจิ้ม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 18, 20:34
หมูย่างเมืองตรัง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 18, 20:39
อาหารปักษ์ใต้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 18, 11:56
ใบหลียงผัดไข่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 18, 17:53
สงสัยครับ ขอความรู้ด้วยครับ

ลูกเหลียงหรือลูกเหรียง ต้นเหลียงหรือต้นเหรียง ที่เป็นไม้กินลูก  และ  ใบเหลียงหรือใบเหรียง ผักเหลียงหรือผักเหรียง ที่เป็นไม้กินใบ   ชื่อของพืชทั้งสองชนิดนี้ ชนิดใดสะกดด้วยตัว ล และชนิดใดสะกดด้วย ร ครับ

ต้นที่กินใบนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ผักเหมียง  ก็ไม่ทราบว่า ที่เรียกกันว่าผักเหลียง(เหรียง?)หรือใบเหลียง(เหรียง?)นั้น ออกเสียงเพื้ยนไปหรือว่าคนต่างถิ่นออกเสียงผิดหรือเรียกชื่อผิด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 18, 20:19
ผักเหลียง
ผักเหลียง (Baegu) จัดเป็นผักเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ นิยมใช้ใบอ่อนประกอบอาหาร อาทิ ผัดผัดเหลียง แกงเหลียง ผัดใส่ไข่ แกงจืด ห่อหมก ลวกจิ้มน้ำพริกหรือรับประทานสดคู่กับกับข้าว มีราคาขายอยู่ในช่วงกิโลกรัมละ 80-100 บาท

http://puechkaset.com/%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87/

ส่วน เหรียง มีคำอธิบายดังนี้
เหรียง
ต้นเหรียงเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีลำต้นมีความสูงได้ถึง 50 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกับสะตอ แต่จะแตกต่างกันตรงที่พุ่มใบของต้นเหรียงมักจะเป็นพุ่มกลม ไม่แผ่กว้างมากนัก เปลือกต้นเรียบ ที่กิ่งก้านมีขนปกคลุมขึ้นอยู่ประปราย และเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงสว่างและพื้นที่ค่อนข้างชุ่มชื้น มักจะเริ่มผลัดใบในช่วงที่ออกช่อดอก และใบจะหลุดร่วงจนหมดต้นเมื่อผลเริ่มแก่พร้อมๆ ไปกับใบอ่อนที่จะเริ่มผลิออกมาใหม่

ผลเหรียง หรือ ฝักเหรียง กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 22-28 เซนติเมตร ตัวฝักตรง ฝักเมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแข็งและมีสีดำ ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 11 x 20 เซนติเมตร หนึ่งฝักมีเมล็ดประมาณ 20 เมล็ด โดยจะออกผลหรือฝักในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และฝักจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

ลูกเหรียง หรือ หน่อเหรียง มีลักษณะคล้ายกับถั่วงอกหัวโตแต่จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าและมีสีเขียว มีรสมันและกลิ่นฉุนเล็กน้อย เกิดมาจากการนำเมล็ดเหรียงของฝักแก่ไปเพาะเพื่อให้เมล็ดงอกรากและมีใบเลี้ยงโผล่ขึ้นมาเหมือนกับถั่วงอก จึงจะสามารถนำมารับประทานได้

ประโยชน์ของเหรียง
1.ลูกเหรียง หรือหน่อเหรียง หรือเมล็ดเหรียง ใช้รับประทานสดแกล้มกับน้ำพริกหรือแกงใต้ หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น การทำแกง แกงหมูลูกเหรียง ผัด หรือจะนำไปทำเป็นผักดองก็ได้
2.เหรียงจัดเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง จึงมีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงดินได้ดี ส่วนของใบเหรียงนั้นมีขนาดเล็กจึงเหมาะแก่การนำมาใช้ปลูกควบคู่ไปกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การปลูกกาแฟ ก็จะช่วยทำให้ผลผลิตของกาแฟสูงขึ้นติดต่อกัน

http://www.sookjai.com/index.php?topic=187243.0

ภาพข้างล่าง ซ้าย ใบเหลียง  ขวา เมล็ดเหรียง
เป็นไม้คนละชนิดกันค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มิ.ย. 18, 17:36
ขอบพระคุณครับ  ได้รับความกระจ่างดี  สรุปได้ว่าชื่อของต้นที่เรากิบใบของมันนั้น สะกดด้วยตัว ล  ส่วนต้นที่เรากินเม็ดในฝักของมันนั้น สะกดด้วยตัว ร

ผมกินมันทั้งสองอย่างนี้ แล้วก็ชอบมากอีกด้วย ชอบมากพอที่หาเอาต้นเหลียงไปปลูก ตอนนี้เก็บยอดมันมากินได้แล้วครับ  ส่วนต้นเหรียงนั้นไม่ได้ปลูก แต่ไปปลูกต้นสะตอซึ่งยังไม่โตพอจะให้ผลครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มิ.ย. 18, 18:31
อีกหนึ่งลูกไม้ที่คนใต้เขากินกัน คือ ลูกเนียง  แต่ไม่ถูกโฉลกกับผมก็เลยกล่าวถึงได้เพียงแต่ชื่อเท่านั้นครับ   

แล้วก็มีฝักกระถินที่เก็บเอาฝักอ่อนมาจิ้มน้ำพริก สำหรับฝักที่เริ่มแก่ก็แกะเอาเม็ดในของมันเอาไปใส่ในข้าวยำ ส่วนยอดของมันเอาไปเป็นผักเหนาะขนมจีนหรือจิ้มน้ำพริก อีกทั้งกินเป็นผักแนม(หรือเครื่องเคียง)กับหอยนางรมสด (ซึ่งเข้ากันได้ดีอย่างเหลือเชื่อ)

อ้อ มีเม็ดขนุนอีกอย่างหนึ่งที่คนใต้เขาเอาไส่ในแกงเผ็ดต่างๆและแกงใตปลา  ส่วนขนุนอ่อนก็ใช้ใส่ในแกงกะทิเช่นแกงคั่ว     ซึ่งต่างไปจากภาคเหนือที่นิยมเอาขนุนอ่อนมาแกงกับกระดูกหมู หรือเอามาผัดกับเครื่องน้ำพริกทำเป็นยำขนุนกินกับแคบหมู    สำหรับในภาคอีสานนั้น ก็เอาขนุนอ่อนมาทำอาหารพวกแกงเช่นกัน ที่เรียกว่า ซุบบักมี่  เข้าใจว่าขนุนอ่อนก็มีการนำมาใช้ในการทำอาหารของภนในภาคกลางด้วย แต่นึกไม่ออกเลยว่าเคยกินหรือเคยเห็นที่ใหน ?

ขนุนอ่อนมีประโยชน์มากทั้งในทางโภชนาการและในทาง preventive healthcare นะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 18, 18:58
เมนูขนุนอ่อนค่ะ

https://cookpad.com/th/search/%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 03 มิ.ย. 18, 21:45
ผมชอบทานใบเหลียงผัดไข่ เพื่อนอยู่ชุมพรบอกมีแถวบ้านเต็มไปหมด บอกให้ส่งกิ่งอ่อนมาให้ปลูกบ้างยังไม่ได้เสียที เห็นว่าปลูกแถวภาคกลางไม่ค่อยขึ้น ต้องเป็นภาคใต้สงสัยน้ำท่วมบ่อย 555


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 18, 18:42
น้ำปลาหวาน สะเดาลวก และปลาดุกย่าง

แว๊บ กลับไปนิดนึงครับ 

  เมนูน้ำปลาหวานนี้ ชุดที่มีขายกันอยู่ในตลาดจะมีแต่เพียงสะเดาเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะเป็นสะเดาขมหรือสะเดามันก็ได้ สะเดามันนั้นเกือบจะไม่มีรสขมปนอยู่เลย ขนาดหลานของผมยังทานได้ บางทีแม่ค้าก็เรียกว่าสะเดาสวน  แต่คนในภาคเหนือจะเรียกว่า เสลี่ยมหวาน 

  บนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย กับ อ.เถิน จ.ลำปาง   แต่ก่อนนั้น(ก่อนที่จะทำเป็นทางหลวง)จะมีต้นเสลี่ยมหวานอยู่ค่อนข้างมาก 

ที่ยังหาคำตอบให้กับตนเองไม่ได้ก็คือ มีไม้ที่เรียกว่า ต้นสะเดาดง  เป็นไม้ที่มีเนื้อไม้สวยมาก มีเส้นสีชมพูเป็นริ้วๆในเนื้อไม้พื้นสีขาวอ่อนๆ   ได้รู้จักทั้งชื่อและเห็นเนื้อไม้นี้ในพื้นที่ทางตะวันตกของแม่น้ำแควน้อย  คิดว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ต่างออกไป           


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 18, 18:49
สะเดาดง มีอีกชื่อว่า ไม้ยมหอม ค่ะ
http://puechkaset.com/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1/


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 18, 20:05
เมนูนี้  
 สะเดาลวกที่หลายคนไม่กล้ากิน   เราก็สามารถใช้ต้นผักชีสดแทนได้ ซึ่งก็ให้ความอร่อยที่ไม่ต่างกันเลย  
 ปลาดุกย่างที่แต่เดิมใช้ปลาดุกอุย ซึ่งเมื่อย่างแล้วจะได้เนื้อสีเหลืองแห้งแต่นิ่ม ในปัจจุบันนี้คงหาได้ยากมาก   เราก็เลือกใช้ปลาดุกนา (ปลาดุกด้าน) หรือปลาดุกเลี้ยงตัวขนาดกลางๆที่ย่างได้ค่อนข้างแห้ง
 หากจะใช้กุ้งเผาซึ่งแต่ก่อนนั้นใช้กุ้งแม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันนี้เราคงจะสู้ราคาไม่ไหว   เราก็ใช้กุ้งเลี้ยงตัวขนาดใหญ่หน่อย เผาด้วยไปแรงเพื่อให้ได้ความสุกแบบ medium rare  
 น้ำปลาหวาน ก็เลือกแม่ค้าเจ้าที่ใช้หอมแดงไทยเจียว (หอมเชียงใหม่) ใช้กระเทียมไทยเจียว(จะซอยเป็นแว่นบางๆหรือจะทุบแล้วสับหยาบๆก็ได้)  หอมแขกและกระเทียมจีนนั้นไม่ได้ให้ความอร่อยอะไรเพิ่มขึ้นเลย    ได้น้ำปลาหวานมาแล้ว เราก็ทำให้มันน่ากินขึ้นไปอีก (แบบแม่ครัวรุ่นเก่า) ด้วยการเอาไข่ขาวของไข่ไก่ต้มมาหั่นซอยหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆใสปนลงไป
 สุดท้ายก็เอาพริกขี้หนูมาซอยแบบละเอียดยิบใส่ถ้วยน้ำจิ้ม ซอยหอมแดง บีบมะนาว ใส่น้ำปลาดีลงไป  เอาใว้จิ้มครีบและหัวปลาดุก หรือหัวกุ้ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 18, 20:19
สะเดาดง มีอีกชื่อว่า ไม้ยมหอม ค่ะ
http://puechkaset.com/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1/

ขอบพระคุณครับ  ได้ยินชื่อ ยมหอม แต่ไม่เคยหาข้อมูลลึกลงไป     และอีกต้นหนึ่ง ยมหิน ครับ

ได้ความรู้จากชาวบ้านมาว่า ที่เรียกต้นไม้นี้ว่า ต้นยม...  ก็เพราะใบของมันมีลักษณะคล้ายใบของต้นมะยม   

ผมเข้าป่าสำรวดูหินมากกว่าดูต้นไม้ ก็เลยรู้จักและจำต้นไม้ได้แต่ชื่อเป็นส่วนมาก   ได้แต่ลูบคลำลำต้นและแหงนคอตั้งบ่าคูใบชองมันเท่านั้น   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 18, 18:43
น้ำปลาหวาน กุ้งเผา สะเดาลวก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 18, 19:15
กลับไปที่ข้าวยำ

ผมคิดว่าข้าวยำเป็นอาหารจานหนึ่งที่เกือบจะไม่มีข้อกำหนดในเรื่องของเครื่องปรุงทั้งในด้านของความหลากหลาย ชนิด ปริมาณ และสัดส่วนของเครื่องปรุงแต่ละอย่าง   เครื่องปรุงที่ต้องมีเป็นองค์ประกอบมาตรฐาน ก็ดูจะมีเพียงมะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่น พริกป่น และน้ำบูดู

เท่าที่เคยมีประสบการณ์กับข้าวยำแบบบ้านๆจริงๆนั้น   ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ได้กินข้าวยำเจ้าดังที่ทำขายอยู่ในตลาดเช้าของ อ.แว้ง จ.นราธิวาส  ซึ่ง จนท.ของ อ.สุคิริน ได้ซื้อมาให้ลองทานเมื่อครั้งไปทำงานช่วงเวลาสั้นๆในพื้นที่ของ อ.สุคิริน (ที่เหมืองทองคำโต๊ะโม๊ะ)   ข้าวยำถูกห่อมาลักษณะภายนอกคล้ายกับห่อข้าวมันไก่  เมื่อแกะดู ภายในจะรองด้วยใบตองกล้วย  ผักก็มีถั่วงอก มีแตงกวา และผักใบซอยอีกสองสามอย่าง แต่จำไม่ได้ว่ามีใบอะไรบ้าง แล้วก็มีกุ้งแห้งป่น มีมะพร้าวคั่ว มีพริกป่น มีน้ำบูดู และมีมะนาวหั่นมาเสี้ยวหนึ่ง อร่อยครัย อร่อยมากเสียด้วย ได้ความรู้สึกที่เป็นอาหารเช้าแบบเบาๆ ต่างไปจากภาพของจานข้าวยำที่เราเห็นกันสื่อต่างๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 18, 20:12
น้ำปลาหวาน กุ้งเผา สะเดาลวก

นึกถึงเมนูกุ้งเผากิโลกรัมละหลายร้อยบาทที่มีขายอยู่ตามร้านอาหารริมแม่น้ำหรือแพในแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ  น้ำจิ้มแบบอดีตที่เข้าคู่กันได้อย่างดีและมากอร่อยกับเนื้อกุ้งแบบ medium rare และกับข้าวที่คลุกมันกุ้ง ซึ่งจะเป็นหอมแดงซอยบางๆ พริกขี้หนูสวนซอยละเอียด น้ำปลาดี และมะนาว (ผมจะบีบมะนาวใส่หอมและพริกขี้หนูซอย ทิ้งระยะไว้นิดนึง แล้วจึงใส่น้ำปลาดีลงไป ก็จะได้น้ำปลาพริกที่อร่อยและหอมมาก)   น้ำจิ้มเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยน้ำจิ้มแบบใหม่ นำปลามะนาวก็ทำแบบหยาบๆ แต่จะเหมาะแต่เพียงกับการใช้จิ้ม  ไม่เหมาะในลักษณะของการกินแบบเอามาราดข้าวที่คลุกด้วยมันกุ้งและเศษกุ้งทั้งหลาย

ร้านอาหารและแพอาหารเหล่านั้น น่าจะลองนำเสนอเมนูกุ้งเผา น้ำปลาหวาน และใช้ผักชีแทนดอกสะเดา แถม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 18, 20:38
คุณตั้งคงหมายถึงน้ำจิ้มซีฟู้ด   ใช้สำหรับจิ้มกุ้งเผา  ให้มีรสแซ่บขึ้นเวลาเอาเข้าปาก   แต่ไม่ใช่สำหรับเอามาคลุกข้าว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 18, 17:59
ใช่ครับ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 18, 18:55
น้ำปลา-มะนาว ที่เราเรามักจะขอร้านอาหารนั้น ถ้าสังเกตดีๆแต่ละเจ้าจะมีความแตกต่างกัน บางเจ้าก็จะพิถีพิถันในการทำด้วยความตั้งใจจะให้มีความเหมาะสมและเข้ากันได้อย่างดีกับอาหารที่ตนทำขาย บางเจ้าก็ทำแต่เพียงเพื่อให้มีน้ำปลา-มะนาวไว้บริการให้ครบ 

เครื่องจิ้ม น้ำปลา-มะนาว นี้ เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ทำให้จานอาหารธรรมดาๆมีความอร่อยเพิ่มขึ้นมาแบบแตกต่างออกไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 18, 19:00
ลืมไปว่า  นอกจากจะใช้ต้นผักชีแทนสะเดาได้แล้ว ก็ยังสามารถใช้ต้นหอมสดแทนได้อีกด้วย  

สะเดาจะออกดอกในช่วงต้นฤดูหนาว กุ้งแม่น้ำก็จะอวบอัดไปด้วยเนื้อและมันในช่วงอากาศเย็นเช่นกัน  เมนูน้ำปลาหวาน กุ้งเผา และสะเดาลวกจึงมีความอร่อยและเป็นที่นิยมของคนรุ่นเก่าเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาดังกล่าว(ยุคกุ้งยังหาได้ง่ายและราคาไม่สูง)  

ในปัจจุบันนี้ เราสามารถจะมีเมนูน้ำปลาหวานกินได้ตลอดทั้งปี  เรามีกุ้งเลื้ยงแล้วก็ปลาดุกเลี้ยงที่หาซื้อเอามาย่างได้ทุกเวลา แล้วใช้ต้นผักชีและต้นหอมแทนสะเดา  จะแถมด้วยไข่เป็ดต้มแบบยางมะตูมสักใบผ่าครึ่งก็จะยิ่งดีเลย  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 18, 19:38
นอกจากปลาดุก ก็มีปลาช่อนที่เป็นปลาอร่อยสำหรับอาหารพื้นบ้านภาคกลาง   
คุณตั้งไม่ลองแนะนำเมนูปลาช่อนบ้างหรือคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 18, 10:31
ไข่ต้มแบบยางมะตูม  เอามายำได้อร่อยมาก

https://www.maeban.co.th/%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/1549/%E0%B8%A2%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B9%E0%B8%A1.php


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 18, 11:36
พูดถึงปลาดุก นอกจากเอามากินกับสะเดาน้ำปลาหวาน  เอามาทำยำปลาดุกฟูก็อร่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 18, 11:39
ในร้านอาหารเจ้าประจำซึ่งบัดนี้เลิกร้าน หลีกทางให้คอนโดไปแล้ว   ไม่มียำปลาดุกฟู  แต่มียำปลาทูน่าฟู รสชาติไม่แพ้ปลาดุกฟูทีเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 18, 18:17
พูดถึงปลาดุก นอกจากเอามากินกับสะเดาน้ำปลาหวาน  เอามาทำยำปลาดุกฟูก็อร่อย

ยำปลาดุกฟูเป็นของที่อร่อยครับ และก็เป็นอาหารที่มีประโยชน์ค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของอาหารจานนี้แล้ว ก็น่าจะต้องจัดให้เป็นพวกอาหารสุขภาพที่แท้จริงอีกจานหนึ่ง   แต่ก่อนนั้นมันเป็นอาหารอยู่ในร้านอาหารที่มีระดับ แต่ในปัจจุบันนี้มีทำขายอยู่ในเกือบจะทุกตลาดเย็นของชุมชนต่างๆ มีการจัดวางขายเป็นชุดๆแบบแยกเครื่องประกอบ   

อีกอย่างหนึ่ง อาหารจานนี้สามารถจัดเป็นอาหารที่ทุกคนในครอบครัวสามารถกินได้ ซื้อมาแล้วก็ไม่ต้องคลุกยำเข้าด้วยกัน  เด็กสามารถกินปลากับน้ำปลาได้ ผู้ใหญ่ก็สามารถที่จะเลือกกินแบบเมี่ยงหรือแบบคลุกยำก็ได้ ตัวผมเองยังชอบที่จะกินแบบเอาผักจิ้มกับน้ำราด ก็อร่อยไม่น้อยไปกว่ากินแบบเอาผักจิ้มน้ำสลัด (dipping)  น้ำยำของปลาดุกฟูนี้ มองในมุมหนึ่งก็ไม่ต่างไปจากน้ำราดสลัดแบบน้ำใส  ซึ่งหากเราชอบกินสลัดแบบน้ำสลัดใสที่มีเพียงน้ำมันมะกอกกับน้ำส้มหมักละก็ ก็ยิ่งเข้าท่าเลย     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 18, 18:28
จานสลัดโปรดของผมจะมีผักใบ มีหอมใหญ่ มีมะเขือเทศ  โรย Croutons  เม็ดฟักทอง เม็ดทานตะวัน   ราดด้วยน้ำสลัดแบบ Thousand Island หน่อยนึง น้ำสลัดแบบ Blue Cheese หน่อยนึง น้ำมันมะกอก และ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 18, 18:55
เขียนยังไม่ทันจบ พลาดกดส่งไป เลยของส่งใหม่ครับ

นึกถึงจานสลัดโปรดของผมที่จะเป็นแบบแหกคอก

ก็จะมีผักใบ มีหอมใหญ่ มีมะเขือเทศ   โรย Croutons  เม็ดฟักทอง เม็ดทานตะวัน Parmesan Cheese และ Crushed Bacon  แล้วราดด้วยน้ำสลัดแบบ Thousand Island หน่อยนึง น้ำสลัดแบบ Blue Cheese หน่อยนึง น้ำมันมะกอก และน้ำส้ม Balsamic (ร้านส่วนมากจะใช้น้ำส้ม Red wine vinegar)   ได้รสที่เข้มขันและจัดจ้านครับ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 18, 19:15
สลัดแบบไทยๆ อีกแบบหนึ่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 18, 19:21
ในร้านอาหารเจ้าประจำซึ่งบัดนี้เลิกร้าน หลีกทางให้คอนโดไปแล้ว   ไม่มียำปลาดุกฟู  แต่มียำปลาทูน่าฟู รสชาติไม่แพ้ปลาดุกฟูทีเดียว

ยำปลาทูน่าฟูน่าจะมีความอร่อยจริงๆ น่าจะต้องลองทำดูเสียแล้วละครับ (หากเอาไม้เอกออกไปก็จะกลายเป็นปลาทูนา อาจส่งผลให้เป็นงงได้เหมือนกัน  ;D)  

ปลาทูน่าฟูจานนี้น่าจะใช้ปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมัน (แบบ Flake canned Tuna_เนื้อปลาชิ้นเล็กๆ)  แต่ไม่แน่ใจว่าจะต้องคั้นเอาน้ำมันเดิมทิ้งไปแล้วทอดด้วยน้ำมันอื่นแทน หรือจะทอดด้วยน้ำมันในกระป๋องนั้นโดยเพิ่มน้ำมันอื่นลงไป   หากจะเป็นการใช้ปลาทูน่ากระป๋องในน้ำเกลือ ก็คงจะต้องคั้นเอาน้ำเกลือออกไปให้ได้เนื้อปลาที่แห้งมากที่สุด มิฉะนั้นแล้วเมื่อเอาลงทอดก็จะมีน้ำมันกระเด็นน่าดูเลยทีเดียว

เมนูนี้น่าสนใจนะครับ ทำเองได้ง่ายกว่าที่จะต้องเริ่มต้นจากปลาดุกสดหรือปลาดุกย่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 18, 19:31
ลองทำยำทูน่าฟู  สูตรนี้ไหมคะ
https://cooking.kapook.com/view71723.html


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 18, 19:38
สลัดแบบไทยๆ อีกแบบหนึ่ง

ดูภาพแล้วนึกไม่ออกครับ     มีลักษณะบางอย่างคล้ายสลัดแขกแต่คงไม่ใช่สลัดแขกแน่ๆ

สลัดแขกก็หากินได้ยากนะครับ นานๆเห็นทีนึงในตลาดเช้าแถวบางพลัด   จำได้ว่ามีร้านหนึ่งบนถนนข้าวสาร บางลำพู ก็ทำขายอยู่    และก็ดูเหมือนจะเคยมีแถวท่าพระจันทร์


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 18, 19:52
สลัดแขก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 18, 19:53
สลัดแบบไทยๆ ก็สลัดทั่วไปนี่ละค่ะ  ใส่ไก่ทอดลงไปด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 18, 20:09
อ้อ  ;D ครับ    เพราะตามปกติจะเห็นแบบมาเป็นชิ้นใหญ่ๆ  หรือเป็นตัวๆ (เช่น กุ้ง)  หรือฉีกเป็นฝอย   

ทำให้นึกถึงสลัดเนื้อสันแบบครึ่งจีนครึ่งฝรั่งขึ้นมาเลยครับ  ก็ยังพอจะหากินได้ตามภัตตาคารรุ่นเก๋าทั่วไไป 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 18, 21:32
สลัดเนื้อสัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 18, 18:31
จานสลัดที่จัดแยกเนื้อกับผักนี้ ทำให้นึกถึงอาหารจานหนึ่งของออสเตรีย เรียกว่า Schnitzel ซึ่งก็คือหมูที่เอามาทุบให้เป็นแผ่นบางขนาดจาน แล้วเอาไปชุบแป้งทอด 2 ขยัก คือทอดในน้ำมันร้อนพอควรเพื่อทำให้หมูสุกทั่วกันทั้งแผ่น ตักออกแล้ววางพักให้สะเด็ดน้ำมันสักหน่อย แล้วเอาลงทอดใหม่ในน้ำมันร้อนๆ (ร้อนจัด) เพื่อให้เปลือกแป้งที่หุ่มอยู่เกรียมและแห้ง  ตักใส่จานแล้วเสิร์ฟกับสลัดแตงกวา (cucumber salad)ที่จัดวางมาในอีกจานหนึ่ง

จานนี้เป็นอาหารมีชื่อของเมืองเวียนนาจนมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Viennese Schnitzel   เป็นเมนูที่มักจะมีในร้านอาหารในเมืองท่องเที่ยวเล็กๆของยุโรป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 18, 18:52
Viennese Schnitzel


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 18, 19:09
เมื่อกล่าวถึงสลัด โดยพื้นฐานแล้วเรามักจะนึกถึงจานที่มีพืชผักหลายชนิด แท้จริงแล้วมันก็มีแบบที่มีพืชผักชนิดเดียวที่เรียกว่าสลัดด้วย เช่น สลัดแตงกวา สลัดมันฝรั่ง สลัดมะเขือเทศ สลัดผัก lettuce .... ฯลฯ    

สลัดพืชผักชนิดเดียวดังเช่นที่ยกตัวอย่างมานี้ หากจัดมาเป็นจานเล็ก (หรือในชามเล็ก) เพื่อให้กินพร้อมกับจานเนื้อ จะถูกเรียกว่า Side dish

สลัดไข่ที่เรียกว่า Egg salad ก็มี แต่สลัดไข่ในความหมายของฝรั่งจะต่างๆไปจากในความหมายของไทยอย่างสิ้นเชิง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 18, 19:21
เปิดดูรูปสลัดไข่ มีมากมายจนตาลาย  เลือกมาได้รูปหนึ่งค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 18, 19:32
Viennese Schnitzel

เป็นอาหารชื่อดัง ที่มีลักษณะดังภาพครับ  จะที่ร้านใหนก็ดูจะมีรสไม่ต่างกันไปมากนัก เพราะมีสูตรและมาตรฐานของการทำ  แต่ก็มีร้านที่คนนิยมจะเลือกเข้าไปกิน ซึ่งก็คือขนาดของหมูทอดควรจะต้องมีขนาดใหญ่แผ่ไปเต็มจานหรือล้นจาน และเนื้อหมูได้มีการทุบจนกล้ามเนื้อแตกยุ่ย นิ่มและบางเสมอกันทั้งแผ่น

หมูชุบแป้งทอดของญี่ปุ่น ทงคัดซึ (tonkatsu) ก็ดังไปทั่ว   หมูทอดกระเทียมพริกไทยของเราแบบมีรากผักชีโขลกพอแหลกรวมลงไปด้วย กับพริกไทยขาว แล้วทอดด้วยน้ำมันหมู ทอดให้สุกกำลังดีออกไปทาง medium ก็น่าจะดังได้แล้วนะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 18, 19:44
สลัดไข่ คิดแบบฝรั่งก็จะเป็นดังภาพ  แต่หากคิดแบบไทยก็ดูจะเป็นในลักษณะการเอาไข่ต้มมาหั่นเป็นแผ่นๆ (หรือเป็นแว่นๆ ? ชักงงครับ) หรือจะผ่าสี่หรือแปดก็ได้ แล้ววางลงบนกองผักที่จัดไว้ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 18, 19:57
สลัดไข่ต้ม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 18, 20:23
มีอาหารพื้นๆของไทยที่ถูกนำไปเรียกว่าเป็นสลัดอยู่บ้าง  ที่เป็นที่เข้าใจกันในหมู่นักท่องเที่ยวก็คือ papaya salad และ beef salad  ครับ
ก็คือ ส้มตำ กับ ยำเนื้อ  ซึ่งก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้     แต่อย่าง banana pancake นี่ซิน่าทึ่ง เท่าที่รู้จักว่ามันคืออะไรเมื่อนานมาแล้วก็คือ กล้วยน้ำว้าราดนมข้นหวาน  สุดยอดจริงๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 18, 20:45
กล้วยน้ำว้าราดนมข้นหวาน  ไม่เคยกินค่ะ
แต่ตอนเด็กๆจำได้ว่า ของหวานอย่างหนึ่งคือกล้วยหอมราดครีม   ครีมที่ว่านี้ทำด้วยอะไรแบบไหนจำไม่ได้ แต่จำได้ว่าเป็นครีมข้นรสหอมหวาน 
ครีมต้องแช่เย็นก่อนจนเย็นเฉียบ  เอามาราดบนกล้วยหอมสดๆ ไม่ต้องทอด   อร่อยจนคิดถึงอยู่จนทุกวันนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 18, 18:49
กล้วยน้ำว้าตัดเป็นแผ่นราดนมข้นหวานนี้ เท่าที่เคยได้ยิน เขาว่ามันแรกเกิดขึ้นที่เกาะสมุย สมัยที่นักท่องเที่ยวฝรั่งเริ่มค้นพบว่าเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์และงดงามยิ่ง และได้แห่กันไปเที่ยวพักกันในกระต๊อบเล็กๆชายทะเล  เคยลิ้มลองอยู่ครั้งหนึ่ง ก็เป็นของกินยามเช้าที่มีประโยชน์ในการช่วยฟื้นฟูความกระชุ่มกระชวยให้เกิดขึ้นหลังจากคืนที่หนักมา

สำหรับกล้วยหอมราดครีมเย็นๆตามที่อาจารย์กล่าวถึงนั้น ทำให้ผมนึกถึงร้านขายของกินเล่น (Snack Bar) ของโรงหนังเฉลิมไทย ที่ขายพวกไอซ์ครีมและเครื่องดื่มเย็นๆทั้งหลาย  ยุคนั้นไอซ์ครีม Banana split ดูจะเป็นของกินยอดนิยมอย่างหนึ่ง ปอกกล้วยหอมแล้วผ่าครึ่งวางลงบนจานเปล แล้วตักไอซ์ครีมก้อนหนึ่งหรือสามก้อนหลากรสวางลงบนกล้วยหอมนั้น   อีกสองสามเมนูที่นิยมสั่งกัน ก็ดูจะเป็นพวกไอซ์ครีมซันเด และพวกไอซ์ครีมโฟลต (Ice creme float)

สำหรับร้านของโรงหนังคิงส์ ควีนส์ และแกรนด์ ที่วังบูรพานั้น นึกภาพไม่ออกครับ  ส่วนของโรงหนังเฉลิมกรุงนั้นจะเป็นภาพของโต๊ะกาแฟกลมๆที่วางด้วยหินอ่อนเต็มไปหมด แล้วก็มีร้านอาหารอิสลาม/อินเดียอยู่ริมถนนฝั่งตรงกันข้าม ข้าวหมก แกงบุ่มไบ่ แกงดาลกับโรตี ....พวกนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 18, 19:09
จำร้านไอศกรีมที่โรงหนังเฉลิมไทยได้ค่ะ     ส่วนที่วังบูรพา นึกไม่ออก  จำได้แต่ว่าสมัยนั้นมีไอศกรีมเยลลี่  ตักวานิลลา หรือสตรอเบอรี่ก้อนกลมๆใส่ในถ้วยไอศกรีมแบบมีเชิง  มีเยลลี่กดจากพิมพ์ใส่มาอีก ๑ ลูก   
ร้านไอศกรีมที่วังบูรพาไม่แน่ใจว่าอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโรงหนัง หรือว่าอยู่ในบริเวณย่านนั้นกันแน่  เพราะแถวนั้นมีร้านอาหารหลายร้าน  เป็นร้านห้องเดียว ขายก๋วยเตี๋ยวบะหมี่  ข้าวหน้าต่างๆก็มีเช่นข้าวมันไก่   ของหวานคือไอศกรีม มีขายแน่ๆ

ส่วนอาหารที่เรียกว่าอาหารแขก ไม่รู้หรอกว่าของอินเดียหรือมาเลย์ หรืออะไร   จำได้แต่ว่าชอบกินข้าวหมกไก่มาก  เขามีอาจาดให้กินควบไปด้วยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 18, 19:11
อีกอย่างที่อร่อยมากคือเนื้อสะเต๊ะ   แต่ว่าอดกินมาหลายสิบปีแล้ว นับแต่เลิกกินเนื้อวัว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 18, 19:15
มาถึงทางสามแพร่ง ว่าจะไปทางปลาช่อนก่อนดี หรือจะไปทางอาหารแขกก่อนดี หรือจะไปทางของหวานดี

ไปทางปลาช่อนก่อนนะครับ  

เมื่อพูดถึงปลาช่อน -

หากเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ๆมีปลาช่อนชุกชุม ก็คงจะนึกถึงปลาช่อนแดดเดียว ปลาช่อนตากแห้ง หากเป็นปลาตัวเล็กก็คงจะนึกถึงปลาร้า ต้มยำ และย่างกิน  

หากเป็นพ่อค้าแม่ขายก็คงจะนึกไปถึงการทำเป็นห่อหมกปลาช่อน (แยกเป็นห่อหมกหัวปลาช่อน พุงปลาช่อน เนื้อปลาช่อนเป็นชิ้นๆ เนื้อปลาช่อนแบบโขลกรวมเข้าไปกับน้ำพริก) ปลาช่อนย่างเกลือ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 18, 19:28
จะขอเบรคเรื่องความอร่อยของปลาช่อนไว้ก่อนนะครับ  ไปทางอาหารแขกก่อนตามอาจารย์ก็แล้วกัน

ก่อนอื่นต้องขออภัยเป็นอย่างสูงที่เขียนคำว่า ไอศครีม เป็น ไอซ์ครีม  :-[  กำลังเข้าสู่สัยสมองสับสน แล้วก็อาจจะกำลังก้าวไปอย่างเร็วเข้าสู่วัยสมองเสื่อมอย่างจริงจัง หลงๆลืมๆมากขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 18, 20:33
คุณตั้งสมองยังไม่เสื่อมหรอกค่ะ   คุณสะกดไอศกรีมตามเสียงเรียก ถูกแล้ว
เอารูปปลาช่อนอร่อยๆมาโชว์ ให้น้ำลายหก     ก่อนจะตามไปดูอาหารแขกค่ะ


ห่อหมกปลาช่อน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 18, 20:33
ปลาช่อนย่างเกลือ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 18, 20:34
ปลาช่อนแดดเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 18, 20:37
โรตีแกงเขียวหวานเนื้อ เป็นของอร่อยที่อดกินมานานแล้วเช่นกัน   ต้องเปลี่ยนเป็นแกงเขียวหวานไก่แทน
สมัยยังเด็ก  แกงน้ำข้นที่ปรุงด้วยเนื้อวัว  อร่อยที่สุด ไม่ว่าแกงเผ็ดเนื้อหรือแกงเขียวหวานเนื้อ   เป็นของขึ้นหน้าขึ้นตาบนโต๊ะอาหารมื้อเย็น 
เดี๋ยวนี้ ตามร้านต่างๆก็แทบไม่มี   ยิ่งร้านที่ขายอาหารถาด มีแต่แกงเขียวหวานไก่  แม้แต่แกงเผ็ดก็ต้องหลีกทางให้แกงเขียวหวาน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 18, 18:23
แกงเขียวหวานเนื้อเป็นแกงที่อร่อยมาก แต่จะทำให้อร่อยนั้นยาก    ยากแรกก็คือต้องเลือกเนื้อเป็น ต้องไม่เหนียวเมื่อทำสุกแล้ว และต้องเป็นเนื้อติดมัน  วิธีการหั่นเนื้อก็จะต้องไม่บางจนเกินไปหรือหนามากเกินไป และสวยจนเกินไป  เนื้อที่แกงได้อร่อยนั้นจะเป็นลักษณะของการหั่นแบบอิสระ คือขึ้นอยู่กับเส้นกล้ามเนื้อและมัน  ใช้มีดอีโต้คมๆหั่นขวางเส้นกล้ามเนื้อและพยายามทำให้ทุกชิ้นติดมัน   

เดี๋ยวนี้เนื้อวัวในตลาดสดราคาประมาณ 300 +/- บาท แม่ค้าก็เลยไม่กล้าเอามาทำขายเป็นกับข้าวในราคาต่อตักที่ราคาสูงกว่าปกติ จะตักที่อุดมไปด้วยเนื้อก็จะไม่มีกำไร จะตักที่อุดมไปด้วยมะเขือจะถูกต่อว่า  (เดี๋ยวนี้ผมจะให้ตักมะเขือเยอะๆ ผมว่าอร่อยกว่าเนื้อไก่ เนื้อหมู)       ในราคาของเนื้อวัวขนาดนี้ ผมเห็นว่าเมื่อยากจะกินแล้ว และใหนๆก็จะเป็นแกงเขียวหวานที่มีราคาสูงแล้ว ก็เลือกเอาเนื้อโคขุนมาทำเสียเลย เนื้อโคขุนของไทยมีขายอยู่หลายเจ้า ที่เราพอจะคุ้นเคยชื่อกันก็เช่น เนื้อโพนยางคำ

แอบนึกถึง เอามาทุบด้วยฆ้อนทุบเนื้อ ย่างไฟแบบเนื้อน้ำตก หั่นเป็นชิ้นขนาดนิ้วก้อย หั่นหัวหอมใหญ่เป็นแว่น จัดลงจาน จิ้มกับซอสมะเขือเทศ ทานเป็นของแกล้มกับน้ำ carbonate รสหวานหรือรสขมต่างๆ เป็นอาหารว่างกึ่งหนักก่อนมื้ออาหารเย็น  มีโอกาสที่เป็นไปได้เมื่อใดก็จะสั่งทุกครั้งครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 18, 18:56
แกงเขียวหวานเนื้อนี้ หากไม่มีฝีมือจริงๆละก็ จะเห็นน้ำมันลอยเป็นชั้นหนาเลยทีเดียว  หากวางบนเตานานเกินไปเพื่อให้น้ำแกงเข้าเนื้อและเพื่อให้เนื้อเปื่อย น้ำมันจากมันของเนื้อก็จะออกมา เช่นเดียวกับกะทิที่จะแตกมันออกมา  ทำให้กลายเป็นแกงที่อุดมไปด้วยน้ำมัน จะกินกับขนมจีนก็ไม่อร่อย จะตักราดข้าวก็ไม่อร่อย  จะกินกับโรตี เมื่อจิ้มลงไปก็จะฉ่ำไปด้วยน้ำมันก่อนที่จะได้ตัวน้ำแกง

ในกรณีที่ไม่ได้กินกับโรตี  ของแนมแกงเขียวหวานที่เข้ากันได้ดี น่าจะเป็นไข่พะโล้ต้มค้างคืน ไข่ต้มยางมะตูม ปลาสละ(เค็ม_ทอดแล้วหั่นหรือฉีกเป็นชิ้นๆ) ปลาตะเพียนหรือปลานิลแดดเดียวตัวเล็กทอดกรอบ  สำหรับเครื่องปรุงรสก็หนีไม่พ้นน้ำปลาพริกมะนาวที่ใส่หอมแดงซอยลงไปด้วย     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 18, 19:19
เนื้อสัตว์ที่นำมาแกงเขียวหวานให้อร่อยได้นั้น ดูจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาดุก และลูกชิ้นปลากรายเท่านั้น  ทานได้อร่อยทั้งกับขนมจีน ข้าว และข้าวผสมขนมจีน (ของโปรดของผม)  แต่หากกับโรตี ก็ยังไม่เคยเห็นผู้ใดกินกับแกงเขียวหวานปลาดุกเลย 

แกงเขียวหวานจะต้องใส่ใบโหระพา  ซึ่งใบโหระพาที่ใช้จะต้องเป็นพันธุ์ไทยซึ่งมีใบหนาและขนาดใบไม่ใหญ่เท่านั้น จึงจะให้กลิ่นและรสที่ชวนกิน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 18, 09:35
ทบทวนความหลังเรื่องแกงเนื้อ
ก่อนที่รสนิยมการบริโภคของคนไทยจะเปลี่ยนจากเนื้อเป็นไก่  จำได้ว่าแกงเผ็ดเนื้อเป็นอาหารยอดฮิท และมีสำหรับครอบครัวชนชั้นกลางขึ้นไป    ชาวบ้านจนๆไม่ค่อยมีโอกาส เพราะเนื้อวัวราคาแพงกว่าเนื้อทุกชนิด   
ถ้าแกงน้ำข้นต้องแกงเนื้อ(ติดมัน)  ส่วนไก่นั้นเอาไว้สำหรับต้มซุป หรือแกงจืด  เช่นแกงจืดวุ้นเส้น  แกงจืดฟัก   ใส่ไก่หรือหมู ไม่มีใครทำแกงจืดใส่เนื้อวัว
พอโตเป็นผู้ใหญ่  แกงเผ็ดเนื้อดูจะลดความนิยมลงไป    แกงเขียวหวานแซงหน้าขึ้นมา  โดยเฉพาะเขียวหวานไก่ 
และอีกอย่างคือแกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 18, 19:14
ใช่ครับ แต่ก่อนนั้นจะได้ยินแต่คำว่าแกงเผ็ดมากกว่าคำว่าแกงเขียวหวาน  ผมเข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะว่าเครื่องแกงเขียวหวานนั้นทำได้ยาก ค่อนข้างจะใช้เวลา และก็ยังมีเครื่องปรุงต่างๆเยอะอีกด้วย แถมเครื่องปรุงแต่ละอย่างก็ยังจะต้องมีการเตรียมตัวของมันเอง   

เท่าที่จำได้จากการดูแม่ครัวเขาทำกันและที่ไปมีส่วนร่วมในบางเรื่อง (การช่วยโขลกน้ำพริกแกง การขูดมะพร้าว ปอก หอม กระเทียม)  นอกจากเครื่องแกงจะประกอบไปด้วยพริก หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ และกะปิ ตามปกติของน้ำพริกแกงโดยพื้นฐานแล้ว ก็จะมีรากผักชี ผิวมะกรูด และเครื่องเทศ (เม็ดผักชี ยื่หร่า และลูกจันทร์)  ซึ่งเครื่องเทศเหล่านี้จะต้องนำไปคั่วในกระทะจนหอมก่อนที่น้ำมาโขลกรวมกันในครก    สมัยนั้นมะพร้าวขูดด้วยเครื่องมีขายอยู่น้อยที่ ก็จึงต้องเริ่มจากการปอกมะพร้าวห้าวทั้งลูกแล้วเอามาขูดด้วยกระต่ายใส่ลงกะละมังใบเล็ก จากนั้นก็เอาน้ำอุ่นเทใสแล้วขยำแรงๆให้กะทิออกมา แล้วเทใส่กระชอนสานด้วยไม้ไผ่ ใช้มือบีบคั้นให้น้ำกะทิกรองผ่านกระชอนลงไป  แล้วก็เริ่มขยำากับน้ำอุ่นใหม่ในกะละมังอีกครั้ง ทำซ้ำๆสองสามครั้ง คะเนว่าได้ความข้นของน้ำกะทิและปริมาณที่จะใช้พอดีๆแล้ว ก็พอ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 18, 20:04
กระบวนการทำก็จะเริ่มจากเอากะทิมาเคี่ยว ตักเอาหัวกะทิออกมาเก็บไว้ เคี่ยวต่อไปพอแตกมันเล็กน้อยก็เอาน้ำพริกลงไปละลาย จากนั้นก็ตามด้วยเนื้อสัตว์  ไฟจะต้องแรงกำลังพอดีเพื่อให้เนื้อสัตว์สุกเปื่อย ไฟแรงไปกะทิก็จะแตกมันจนมีแต่น้ำมันไม่น่ากิน ปรุงรส  เมื่อได้ที่แล้วก็เร่งไฟให้เดือด ใส่มะเขือเปราะที่หั่นแช่น้ำไว้ (ฝานมะนาวใส่ลงไปซีกหนึ่งหรือครึ่งลูกเพื่อมิให้มะเขือเปลี่ยนเป็นสีดำ) ใส่มะเขือพวง ใส่พริกชี้ฟ้าที่ซอยเป็นเส้น ใส่ใบโหระพาที่เด็ดรอไว้ ปิดฝา แล้วดับไฟหรือยกลงจากเตา  กว่าจะตักกินผักทั้งหลายก็จะสุกพอดีๆ

ทำแกงเขียวหวานกินเองในสมัยก่อนนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่  ในปัจจุบันนี้เรามีเครื่องน้ำพริกแกงเขียวหวานขายอยู่ทั่วไป กะทิก็มีขายแบบสำเร็จรูป การทำกินเองจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป จะยากอยู่ก็ตรงที่จมูกของเราจะเลือกว่าน้ำพริกแกงเจ้าใหนน่าจะอร่อย  แกงเขียวหวานอร่อยจะต้องมีกลิ่นของเครื่องเทศที่หอมถูกใจเราเป็นพื้น   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 18, 20:19
แกงเขียวหวานเนื้อกับโรตี หรือจะเป็นแกงเขียวหวานไก่กับโรตี  แถวถนนพระอาทิตย์ก็ยังมีร้านอร่อยหาทานได้อยู่ จะเป็นแกงเขียวหวานพริกขี้หนูสด (มิใช้แกงโรยด้วยด้วยพริกขี้หนูสด)   แต่ถ้าจะให้อร่อยยิ่งขึ้นก็คงจะต้องเป็นการซื้อแกงใส่ถุงแล้วข้ามฟากไปซื้อโรตีแถวท่าน้ำวังหลัง เอาทั้งสองอย่างกลับมาทานที่บ้าน  อร่อยแน่ๆครับ    แกงเขียวหวานที่ทานกับโรตีควรจะมีกลิ่นหอมยี่หร่าโชยออกมาเด่นชัด

เดี๋ยวนี้มีบางร้านที่ทำแกงเขียวหวานแห้ง (หรือผัดแห้ง) ทานกับโรตี ก็อร่อยพอได้เหมือนกัน

เขียวหวาน โรตี ไข่เจียวฟูๆ  หรือหากเป็นไข่เจียวปูด้วยละก็ ฮะแอ้ม  ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 18, 21:03

เขียวหวาน โรตี ไข่เจียวฟูๆ  หรือหากเป็นไข่เจียวปูด้วยละก็ ฮะแอ้ม  ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 18, 21:06
ไข่เจียวปู น่าจะเป็นของใหม่ไม่กี่สิบปีมานี้  ตอนเล็กๆ ถ้ากินไข่เจียวที่มีไส้  ก็มีอย่างเดียว เรียกว่าไข่ยัดไส้
ไม่มีไข่เจียวไส้ปู   ไม่มีไข่เจียวไส้กุ้ง หรือไข่เจียวไส้เห็ดอย่างเดี๋ยวนี้
ไข่เจียวไส้เห็ด น่าจะมาจากฝรั่งเศสนะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 18, 18:30
ใช่ครับ ไข่เจียวปูเพิ่งจะมีมาไม่นานนี้เอง  แต่ก่อนนั้นก็มีเพียงไข่เจียวหมูบะช่อ (หมูสับในปัจจุบัน) แล้วก็ไข่ยัดใส้อย่างที่อาจารย์ว่า   

ผมไม่มีประสบการณ์หลากหลายกับใส้ของไข่เจียวยัดใส้  ซึ่งเท่าที่คุ้นเคยมาแต่ก่อนนั้นก็จะคล้ายใส้พายแบบอังกฤษ มีหมูสับ (หากทำเองที่บ้าน ในหมูสับก็จะใส่รากผักชีและกระเทียมสับรวมลงไปด้วย) มีมะเขือเทศหั่นเป็นทรงลูกเต๋าเล็กๆ  มีหอมใหญ่หั่นแบบเดียวกัน แล้วก็เม็ดถั่วลันเตา เมื่อผัดก็จะมีการใส่ซอสมะเขือเทศลงไปด้วย   ใส้ในปัจจุบันนี้มีวุ้นเส้น มีแครอท เพิ่มเข้าไป (และอื่นๆ) และไม่ใส่ซอสมะเขือเทศ   ผมชอบใส้แบบเก่า ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำกินเองที่บ้าน   คนที่ชอบ spaghetti หากมีซอสเหลืออยู่ เพียงเพิ่มส่วนประกอบอื่นๆตามใจต้องการเข้าไป ก็จะได้ใส้ที่อร่อยตามใจอยาก

นิดนึงครับ เมื่อตีไข่สำหรับการห่อใส้นั้น ใส่น้ำลงไปเล็กน้อยก็จะดี เมื่อทำการห่อไข่จะได้ไม่ฉีกขาด

ในตลาดชุมชนเดี๋ยวนี้ มะเขือชุบไข่ทอดสำหรับกินกับน้ำพริกกะปิ (ใส่แมงดานาด้วยละก็ อืม์ :D)  กำลังกลายเป็นไข่เจียวมะเขือยาว ชะอมก็เช่นกัน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 18, 18:47
ไข่เจียวหมูสับ  กินบ่อยตอนเด็กๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 18, 18:52
Mushroom omlette ไข่เจียวไส้เห็ด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 18, 18:56
แกงเขียวหวานหมูนั้น เนื้อหมูควรจะเป็นแบบติดมันด้วย (เนื้อส่วนคอหมูที่เอามาทำบะช่อ)   หากเป็นไก่ ผมเห็นว่าส่วนที่เป็นเนื้อตะโพกจะอร่อยมากกว่าเนื้อส่วนอก  และหากเป็นลูกชิ้นปลา ก็ควรจะเป็นแบน มิใช่แบบกลมหรือแบบลูกรักบี้   ส่วนปลาดุกนั้น ก็หั่นเป็นแว่นๆตามปกติ เพียงแต่สับให้เป็นชิ้นใหญ่ขึ้นเมื่อเข้าใกล้ส่วนหาง

ก็เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ช่วยเสริมความรู้สึกให้มีความแตกต่างในความอร่อยของผม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 18, 19:12
ไข่เจียวหมูสับ  กินบ่อยตอนเด็กๆ

เมื่อทั้งไข่และหมูสับมีอุณหภูมิเท่ากันที่อุณหภูมิห้อง ก็เอามาตีเข้าด้วยกัน แล้วเทลงเจียวในกระทะไฟแรงปานกลาง  เมื่อผิวหน้าของไข่(และหมู)เริ่มแห้ง ก็พลิก    เมื่อคะเนว่าหมูสุกพอได้แล้ว ก็เร่งไฟแล้วพลิกกลับ   แซะดูว่าแห้งดีและใกล้เกรียมและแห้งกรอบแล้ว ก็พลิกกลับอีกที ดูว่าหน้าตาทั้งสองฝั่งดูใกล้กันแล้ว ก็เป็นอันใช้ได้ ตักใส่จาน ก็จะได้ไข่เจียวหมูสับที่แห้ง รู้สึกกรอบนิดๆ กินกับซอสพริก หรือกับน้ำปลามะนาวหอมซอย  อืม์ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 18, 19:16
แกงเขียวหวานปลาดุก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 18, 19:25
Mushroom omlette ไข่เจียวไส้เห็ด

เมนูนี้ทำเป็นอาหารเช้าได้เลย  อาจจะออกเป็นฝรั่งไปหน่อย เป็นจานอาหารที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงจานหนึ่ง

บ้านผมจะใช้เห็ดฟางตูมๆ เอามาหั่นเป็นแว่นๆหรือผ่าสี่ หั่นหอมใหญ่เป็นทรงลูกเต๋า เอามาผัดเข้าด้วยกัน (จะใส่แฮมหรือเบคอนด้วยก็ได้) ทำเป็นใส้ของ omelette   ทำเป็นอาหารเช้าที่่ง่าย อร่อย และอุดมไปด้วยพลังงานสำหรับการเริ่มต้นวันใหม่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 18, 20:06
น้ำพริกกะปิ กับมะเขือยาวชุบไข่   สุดยอดอาหารไทยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 12 มิ.ย. 18, 21:17
แล้วปลาทูทอดเข้ามาร่วมทีมน้ำพริกกะปิได้ยังไงครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 18, 11:22
รอคำตอบจากคุณตั้งค่ะ
ปกติ น้ำพริกนอกจากมีผักแกล้มแล้ว ก็จะมีเนื้อสัตว์กินควบไปด้วย   
เนื้อสัตว์ที่ว่าคือปลา  อาหารหลักของไทยมาแต่โบราณ    น้ำพริกไทยโบราณไม่กินกับหมู หรือเนื้อ 
ปลาทูเป็นปลาหลักของครัวไทย   ราคาถูก  มีกินกันตั้งแต่คนจนไปจนคนรวย
ในยุคที่ข้าวของยังราคาถูกและมีกินอุดมสมบูรณ์
ยังจำได้ว่า บ้านไหนมีแมว  แม่ครัวก็จะซื้อปลาทูมาคลุกข้าวให้แมวกิน    ส่วนหมากินข้าวกับเศษเนื้อต้ม
เดี๋ยวนี้ ทั้งสองอย่างไม่ถือว่าเป็นอาหารราคาถูกอีกแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 18, 18:09
แล้วปลาทูทอดเข้ามาร่วมทีมน้ำพริกกะปิได้ยังไงครับ

เป็นคำถามที่ง่าย แต่คำตอบไม่ง่าย  ตอบตรงๆว่าไม่ทราบครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 18, 18:15
รอคำตอบจากคุณตั้งค่ะ .....

ไม่มีความรู้ว่ามีคำตอบที่บอกเล่าถึงต้นตอปรากฎอยู่ในเอกสารเก่าๆใดๆบ้าง  

คำตอบของผมก็จึงเป็นแบบมโนเอา ซึ่งคิดว่าอย่างน้อยก็คงจะพอมีอะไรที่ยึดอยู่กับหลักอยู่บ้าง คงจะมิได้ลอยฟ่องจนเคว้งคว้าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 18, 19:10
คงจะต้องเริ่มต้นที่ว่า ผู้คนในภูมิภาคของเรานี้มีวิธีการกินอาหารที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การกินแบบจิ้มกับน้ำจิ้ม ต่างกับผู้คนทางตะวันตกที่อาหารจะนิยมเป็นแบบราดซอส   เรามีการถนอมอาหารแบบหมักที่เรียกแบบฝรั่งว่า paste (กะปิ ปลาร้า miso  belacan ...) ซึ่งใช้ทั้งในลักษณะเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารและใช้จิ้ม (dip sauce)    ผู้คนของแต่ละชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่ม แต่ละชุมชน ต่างก็เอา paste นี้ไปปรุงรสแล้วใช้จิ้มกินกับพืชผัก (แต่หากเอาไปคลุกข้าวก็จะนิยมใช้เนื้อสัตว์เป็นของแนม)

ในไทยเรา ชาวบ้านทั้งหลายทั้งในพื้นราบและในพื้นที่สูงบนดอย ต่างก็มีเมนูอาหารปกติ (คือกินกันทุกมื้อ) เป็นน้ำพริกกินกับผักที่หาเก็บกินได้ในแต่ละวัน แล้วก็จะพยายามหาเนื้อสัตว์มาเพิ่มเติมฉีกกินแนมเพิ่มเข้าไป อาหารแบบต้มแบบแกงที่เราคุ้นเคยว่าใช้เนื้อสัตว์นั้น มักจะออกไปทางต้มเอากลิ่น เอาไว้ซดน้ำเสียมากกว่า เนื้อสัตว์ที่ได้มาเกินพอก็จะเอาไปย่างแห้งรมควันไว้ฉีกเข้าปากผสมไปกับข้าวที่มีผักจิ้มน้ำพริกอยู่ในปากแล้ว     ก็อย่างว่าแหละครับ ปลาเป็นของหาง่าย เอาเสียบไม้ย่างมอญไม่นานก็ได้กินแล้ว    ก็จึงดูจะไม่แปลกที่ข้าว น้ำพริก ผัก และปลา จะเป็นเมนูอาหารหลักในทุกมื้อและทุกวันของเขา     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 18, 19:45
ปลาดุกนาเสียบไม้ย่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 18, 19:56
แล้วทำไมจึงเป็นปลาทู ?

ผมคิดว่า ที่นิยมเป็นปลาทูนั้นก็ด้วยเพราะความอร่อยที่แตกต่างไปจากพวกปลาน้ำจืด และด้วยเพราะว่าปลาน้ำจืดนั้น ในการหาอาหารประจำแบบวันต่อวัน ปลาต่างๆที่จับได้ส่วนมากจะเป็นปลาตัวไม่ใหญ่นัก และเป็นพวกพันธุ์ที่อุดมไปด้วยก้างตัว y แซมอยู่ในเนื้อ แน่นอนว่าต่างไปจากปลาทูที่ไม่ต้องขอดเกล็ด มีก้างน้อย มีกลิ่นหอมชวนกินไม่ว่าจะย่างหรือทอด

พื้นที่เริ่มต้นของการเอาปลาทูมากินกับน้ำพริกกะปิจึงคงจะหนีไม่พ้นแถว จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี  ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลโคลนของอ่าวไทยตอนบน น้ำไม่ลึกนักพอที่จะใช้ไม้ไผ่ปักทำเป็นโป๊ะดักปลาได้ แล้วก็ยังเป็นพื้นที่เส้นทางผ่านในวัฎจักรการเติบโตของปลาทูอีกด้วย  

เมื่อการคมนาคมดีขึ้น ปลาทูก็จึงขยายพื้นที่ตามไปด้วย    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 18, 20:22
กำลังจะบอกว่า ด้วยที่คุณแม่เป็นคนแม่กลอง ก็เลยเคยเห็นและรู้จักปลาทูเมื่อคุณแม่พาไปเยี่ยมคุณยาย ไม่เคยเห็นใน ตจว.ที่อยู่ในสมัยนั้น   แต่เมื่อเริ่มทำงานในท้องที่ใน ตจว.(2510+) จึงได้เห็นปลาทูนอกเข่ง(แบบเค็มได้ที่เลยตามระยะทางจากแหล่ง)

พอดีอาจารย์เอาภาพปลาดุกเสียบไม้ย่างมาแสดง นั่นแหละครับที่คนในพื้นที่ภาคกลางที่อยู่อาศัยในพื้นที่ๆมีหนอง คลอง บึง เขากินแนมกับน้ำพริกผัก (พวกหมู่บ้านที่มีชื่อส่วนหนึ่งว่า บึง...  ตลุก... มาบ...  หนอง... )


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 18, 20:49
พูดถึงปลาทูแล้ว คิดถึงปลาทูต้มเค็มขึ้นมาทันทีค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 18, 21:05
ของว่างที่ใช้ปลาทู คือเมี่ยงปลาทู
ดูรูปข้างล่างนี้แล้วสงสัย    อย่างไหนคือเมี่ยงปลาทูของจริงกันแน่คะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มิ.ย. 18, 18:46
ของกินเล่นที่เรียกว่าเมี่ยงนี้ ผมเองก็เคยสงสัยว่าหน้าตาดั้งเดิมของจานเมี่ยงนี้มันเป็นเช่นใดและมีต้นตอเช่นใด  ไม่มีคำตอบครับ   

ได้แต่รู้ว่าผู้คนในภาคเหนือที่เป็นพวกล้านนา อมเมี่ยงหรือกินเมี่ยงที่ใช้ใบชานำมาหมัก หยิบออกมาสี่ห้าใบ เอาเกลือเม็ดสองเม็ดใส่ ม้วนห่อแล้วเอาเข้าปาก เรียกกันว่าเมี่ยงส้ม 

เมี่ยงส้มจะนิยมใช้ใบชาแก่หมัก ซึ่งเมื่ออมอยู่ในปากก็จะได้รสฝาด+รสเค็มนิดๆจากเกลือ   นิยมกินกันในระหว่างการทำงานที่ต้องลงแรง  ผมคิดว่ามันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจเลยทีเดียว รสฝาดได้ช่วยให้น้ำลายหายเหนียว เกลือได้ช่วยทดแทนเกลือแร่ที่ถูกขับออกไปทางเหงื่อและปัสสาวะ อาการเพลียและอ่อนล้าต่างๆในระหว่างการทำงานออกแรงก็จะบรรเทาลงไป  เมื่อดื่มน้ำ น้ำที่กินก็จะให้ความรู้สึกถึงกลิ่นหอม ความบริสุทธ์ และความเย็น เป็นความอร่อยชื่นใจ   ซึ่งคงจะเป็นเพราะปฏิกริยาทางเคมีบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำฝนที่ใส่ไว้ในน้ำหม้อ (หม้อดินเผา) หรือในน้ำต้น (คณโฑดินเผา) กับเมี่ยงผสมกับน้ำลายที่อมอยู่ในปาก   ลองนึกถึงความรู้สึกกับรสชาติของน้ำที่ดื่มหลังจากการกินมะม่วงหรือมะขามดอง หรือหลังจากกินมะม่วงดิบกับน้ำปลาหวาน..   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มิ.ย. 18, 19:16
เมี่ยงอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นแบบที่เรียกว่าเมี่ยงหวาน ผมคิดว่าเป็นพัฒนาการของเมี่ยงเมื่อเชียงใหม่เริ่มมีคนต่างถิ่นไปเที่ยวและไปอยู่มากขึ้น เมี่ยงหวานจะใช้ใบชาที่อ่อน ห่อด้วยขิงดองซอย มะพร้าวคั่ว และถั่งลิลง ทำให้เคี้ยวได้มันๆและกลือนกินได้เลย 

เดี๋ยวนี้มีเมี่ยงอีกแบบหนึ่งที่ชาวบ้าน(โดยเฉพาะผู้หญิง)นิยมกัน  ที่จริงก็มีมานานแล้วเช่นกัน  ก็เลือกเอาใบเมี่ยงที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป ใส่น้ำรสเปรี้ยวหวานและขิงซอยลงไปแช่ไว้ แล้วหยิบแยกอกมาสี่ห้าใบ ม้วนเป็นคำใส่ปากอมเลย  ไม่แน่ใจว่าเรียกันว่าอะไร ดูเหมือนจะเรียกว่าเมี่ยงราดน้ำส้ม 

ผมอมเมี่ยงได้ทั้งแบบใส่เกลือและแบบราดน้ำส้ม แต่ในระยะหลังนี้ชอบแบบราดน้ำส้มมากกว่า

สำหรับคนที่สูบบุหรี่  อมเมี่ยงส้มแล้วสูบบุหรี่จะเป็นการพักและการผ่อนคลายที่รู้สึกดีมากๆของเขา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มิ.ย. 18, 19:36
ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในอิสานตอนบน ซึ่งมิใช่กลุ่มที่เป็นพวกล้านนา ก็มีของกินเล่นที่เรียกว่าเมี่ยงเช่นกัน    แต่เท่าที่พอรู้ ไปคนละเรื่องกันเลย

เขาว่า เอาแง่งข่ามาโขลกกับตะไคร้จนละเอียด แล้วปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก (ก็คงมีพริก น้ำตาลปึก มีปลาร้า ร่วมอยู่ด้วย) กินกับใบมะยม หรือใบไม้อื่นๆ หรือพวกฝักถั่ว   

ตำแบบมีแต่ขา ตะไคร้ และพริกแห้งนี้ คนในภาคเหนือจะใช้เป็นของจิ้มกินกับเนื้อวัวต้ม(หรือนึ่ง) เรียกว่าน้ำพริกข่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มิ.ย. 18, 19:44
ก็มาถึงเมี่ยงที่เราคุ้นเคยกัน ก็คือ เมี่ยงลาว กับ เมี่ยงคำ    แล้วในปัจจุบันก็มีเมี่ยงอื่นๆที่โผล่ออกมา เช่น เมี่ยงปลาทู เมี่ยงปลาช่อน เมี่ยงใบคะน้า เมี่ยงกะท้อน ...


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 18, 18:45
เมี่ยงลาว น่าจะเป็นเมี่ยงของคนในภาคกลาง ส่วนเมี่ยงคำนั้นน่าจะเป็นเมี่ยงของในภาคกลางไล่ลงไปจนตลอดแหลมไทย

ในความเห็นของผม เมี่ยงลาวน่าจะเป็นอาหารว่างหรือของกินเล่นที่แปลงโฉมออกมาเป็นอีกรูปหนึ่งของกลุ่มของกินที่ใช้ใส้แบบสาคูใส้หมู ม้าฮ่อก็คงจะเป็นอีกรูปโฉมหนึ่งเช่นกัน  ซึ่งอาหารว่างที่มีใส้กวนใส่ถั่วบดในลักษณะนี้ส่วนมากจะเป็นในรูปของแป้งห่อใส้     

สาเหตุที่เรียกว่าเมี่ยงลาวนั้น ก็เดาเอาดื้อๆเลยว่าน่าจะมากจากการใช้ใบผักกาดดองในการห่อ เพราะผักกาดดองนั้นเป็นของประจำครัวอย่างหนึ่งของผู้คนที่มีรากเง่าถิ่นฐานเดิมในพื้นที่ตอนล่างของจีน 

เมี่ยงลาวที่อร่อยจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบสามอย่าง รสของใบผักกาดดองที่ออกรสไปทางเปรี้ยว รสของใส้ที่ออกรสไปทางเค็ม หวานและมัน และข้าวตังทอด  ซึ่งข้าวตังที่ทานกับเมี่ยงลาวจะทำจากข้าวเจ้า ก็จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พอจะสนับสนุนว่าน่าจะมีกำเนิดในภาคกลาง (คนในภาคเหนือมีข้าวแต๋น ซึ่งแม้จะดูคล้ายข้าวตัง แต่ทำมาจากข้าวเหนียว) 

ในวัยเด็กของผมยังได้มีโอกาสซน ช่วยเขาคลี่ใบผักกาดดอง ช่วยเขาปั้นและห่อเป็นคำๆ แต่ไม่มีโอกาสได้ทอดข้าวตังเพราะเขากลัวใหม้ เสียของ  ก็ยังได้กินข้าวตังก่อนทอด เป็นของขบเคี้ยวคล้ายขนมกรอบ(แบบแข็ง) ก็รู้สึกอร่อยไปตามประสาของเด็กในวัยนั้น 

ยังมีแม่ค้าทำเมี่ยงลาวได้อร่อย ขายอยู่ในตลาดนางเลิ้ง ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 18, 19:15
เมี่ยงคำ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 18, 19:17
เมี่ยงลาว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 18, 19:32
เมี่ยงคำ เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว และเมี่ยงอื่นๆอีกหลากหลาย ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการกินด้วยการใช้ผักหรือใบไม้ห่อใส้ใส่ปาก ตาที่ท่านรอยอินได้ว่าไว้

ก็มาถึงปุจฉา
ของว่างที่ใช้ปลาทู คือเมี่ยงปลาทู
ดูรูปข้างล่างนี้แล้วสงสัย    อย่างไหนคือเมี่ยงปลาทูของจริงกันแน่คะ

เมื่อพิจารณาตามเนื้อความที่ได้ขยายความไปแบบขี่ม้าเลียบค่ายแล้ว   รูปทางด้านขวาน่าจะเป็นของจริงในความรู้สึกของกระบวนวิธีการกินของคนภาคกลางและภาคใต้  ส่วนรูปทางด้านซ้ายนั้นเป็นแบบที่แปรไป มีความถูกต้องตามความหมายของคำที่อธิบายในพจนานุกรม (ก็จึงมีจานเมี่ยงจากเนื้อหมูหันและเนื้อเป็ดปักกิ่งในโต๊อาหารจีน  ???)    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 18, 10:12
เมี่ยงเป็ดปักกิ่ง  กินกับผักกาดแก้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 18, 11:00
เมี่ยงมีเพิ่มขึ้นหลายอย่าง  เช่น เมี่ยงหมูยอ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 18, 11:04
เมี่ยงส้มตำ  ใส่ขนมจีนด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 18, 11:05
เมี่ยงปลาตะเพียนไร้ก้าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 18, 19:15
เมี่ยงปลาเผา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มิ.ย. 18, 20:12
เกิดความสนใจขึ้นมาว่า  ข้าวมันส้มตำนั้น เรากินแบบตักส้มตำใส่ใบผักกาดหอม หรือใบชะพลู หรือใบทองหลาง แล้วห่อใส่ปาก ก็คงจะเรียกว่าเป็นเมี่ยงส้มตำกับข้าวมันก็น่าจะพอได้  

อันที่จริง เมี่ยงแบบไทยที่ทำกันมาแต่โบราณ ที่ได้มีพัฒนาการเปลี่ยงแปลงไปตามยุคสมัย หรือแม้กระทั่งที่ได้คิดค้นเกิดขึ้นมาใหม่ใดๆก็ตาม ก็น่าจะได้มีการจัดเข้าไปเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่ควรจะได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ไปทั่วโลก  แม้ว่าเมี่ยงจะเป็นของกินที่พบเห็นได้ในประเทศเพื่อนบ้านรอบตัวเราด้วยก็ตาม  เครื่องปรุงที่ดูไม่ต่างกันนักนั้น แท้จริงแล้วมีความต่างกันในเชิงของรสและกลิ่นสัมผัสอยู่มากเลยทีเดียว  เช่น หอมที่ใช้ ของเราเป็นหอมแดงที่หมู่แม่ค้าเรียกกันว่าหอมเชียงใหม่   มะนาวที่ใช้ ของเราเป็นมะนาวแป้นที่เปลือกบาง  พริกที่ใช้ เราใช้พริกขี้หนูสวน   ความแตกต่างเล็กๆน้อยๆเหล่านี้เป็นส่วนช่วยผลักดันให้อาหารไทยมีเอกลักษณ์โด่งดังไปทั่วโลก  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 18, 21:01
เคยกินข้าวมันส้มตำอร่อย ฝีมือญาติผู้ใหญ่    จนบัดนี้ยังหาร้านที่ฝีมือแบบเดียวกันไม่ได้เลยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มิ.ย. 18, 19:59
ข้าวมันส้มตำที่ทำโดยแต่ละแม่ครัวนั้น แม้เราจะเห็นองค์ประกอบและรูปร่างหน้าตาเหมือนๆกันก็ตาม   เนื้อในนั้นอาจจะมีความแตกต่างกันไปอย่างมากเลยทีเดียว ก็มีทั้งความอ่อนนุ่มของเม็ดข้าวแต่ไม่เป็นข้าวแฉะ มีเรื่องของความมันและความหอมของข้าว (ความเข้มข้นของกะทิ ความหอมจากใบเตย และความเค็มปะแหล้มๆ รวมทั้งกลิ่นใกล้ใหม้ของข้าวจากการดงข้าวให้ระอุ) ตัวส้มตำเองก็ต้องมีความฉ่ำและมีรสดี (เส้นมะละกอถูกย้ำจนนิ่มแต่ไม่แหลกเละ น้ำปรุงมีสีแดงสวยด้วยพริกแห้งเม็ดใหญ่ มีสามรส หวานด้วยน้ำตาลปีบ เปรี้ยวด้วยมะขามเปียก และเค็มด้วยเกลือ) มีหมูเส้นฝอย  มีผักกาดหอม ใบชะพลู ใบทองหลาง  และที่ขาดไม่ได้คือพริกขี้หนูสวนที่เข้ากันได้เหมาะที่สุด 

ด้วยปัจจัยที่จะให้เกิดความอร่อยดังกล่าว และด้วยถูกบังด้วยข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง   ก็จึงน่าจะเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนสนใจทำขายอยู่น้อยมาก แม้กระทั่งจะคิดทำกินกันกันเองในบ้านหรือในหมู่ญาติก็ตามที   

มีอยู่เจ้าหนึ่งในย่านบางลำพูที่เพื่อนซื้อมาฝากเสมอเมื่อมีนัดพบกัน  ก็โอเคนะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 18, 20:15
  ในยุคคุณตาคุณยายยังเด็ก  เมื่อคนกรุงเทพเอ่ยถึง "ส้มตำ" จะหมายถึงส้มตำที่กินกับข้าวมัน      อาหารอีสานยังไม่เป็นที่แพร่หลาย     ไม่มีใครกินส้มตำกับข้าวเหนียว
  ต่อมา อย่างที่คุณตั้งว่า   ส้มตำอีสานได้รับความนิยม    ข้าวมันส้มตำจึงหายไป   เดี๋ยวนี้พอเอ่ยถึงส้มตำ   ข้าวเหนียวก็ลอยมาพร้อมกัน      และเพิ่มไก่ย่างด้วยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มิ.ย. 18, 20:34
เมื่อผมยังเป็นละอ่อนน้อยอายุประมาณ 10 ขวบนิดๆ เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จำได้ว่าเมื่อเขาพูดถึงส้มตำ ผมจะต้องกลับคำ อ้อ มันคือตำส้ม ในภาษาถิ่น  ได้เห็นส้มตำแบบของกรุงเทพฯจริงๆก็เมื่อที่บ้านคุณลุงทำ เป็นแบบส้มตำไทย มีถั่วลิสง มีกุ้งแห้ง จำไม่ได้ว่าใส่มะเขือเทศและถัวฝักยาวด้วยหรือไม่ คลับคล้ายคลับคลาว่าจะกินกับผักกาดหอมซึ่งดูจะเป็นผักมีราคาและนิยมกันในสมัยนั้น   

ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสร่วมไปกินไก่ย่าง ส้มตำ ข้าวเหนียว ที่ร้านในบริเวณสนามมวยเวทีราชดำเนิน  (ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่แรกๆที่กระจายเมนูอาหารที่เรียกติดปากกันจนในปัจจุบันนี้_ข้าวเหนียว ส้มตำไก่ย่าง)  จึงได้รู้ว่าส้มตำนั้นเขาใส่ถั่วฝักยาวด้วย แต่จะใส่มะเขือเทศด้วยหรือไม่นั้น จำไม่ได้ครับ คิดว่าน่าจะมีทั้งใส่และไม่ใส่แล้วแต่จะสั่ง เพราะว่าในสมัยนั้นเพิ่งเริ่มจะมีมะเขือเทศสีดาจำหน่าย (คงไม่มีผู้ใดนึกที่จะซอยมะเขือเทศลูกใหญ่ใส่ลงไป) 

ตำส้มของภาคเหนือและอิสานแบบเดิมๆ ในปัจจุบันนี้ได้ถูกแทนที่ไปด้วยส้มตำแบบที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยแม่ค้าชาวถิ่นที่เข้ามาทำส้มตำขายอยู่ในเมืองใหญ่ๆของภาคกลาง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 18, 22:00
ข้าวมันย้อมสีดอกอัญชัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มิ.ย. 18, 18:23
เห็นภาพแล้วทำให้นึกถึงข้าวมันที่มีจัดไว้บนโต๊ะอาหารบุฟเฟ่ต์เมื่อครั้งไปประชุมที่เมืองมะละกาของมาเลเซีย และอีกครั้งที่เมืองจาการ์ต้าของอินโดนีเซีย  ลองค้นดูเพิ่มเติมจึงพอจะได้ความรู้ว่าเขากินกับเครื่องเคียงอะไรบ้าง (ใช้คำว่า coconut rice and condiments ให้อากู๋ช่วยค้นหา)  ทำให้พอจะเห็นเค้าลางที่มาของแนวคิดในการแปลงหรือพัฒนามาเป็นข้าวมันส้มตำของไทย

ข้าวมันดูจะเป็นอาหารพื้นฐานประจำวันในสังคมวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งหากไม่ใช้วิธีการหุงก็จะใช้วิธีการคลุกแทน โดยใช้เนื้อมะพร้าวขูด ผสมกับพริกป่น แล้วนำมาคลุกข้าว แล้วกินกับแกงแบบน้ำขลุกขลิกที่ค่อนไปทางแห้ง แนมด้วยผักสดหรือจานผักปรุงรส (เช่น คลุกด้วยโยเกิร์ด..) เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ตรง ได้พบทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา แม้กระทั่งในงานเลี้ยงแบบกันเองใน ตปท.


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มิ.ย. 18, 18:58
แล้วก็นึกถึงใบชะพลูหรือช้าพลูที่ใบของมันมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ในภาคเหนือเรียกใบนี้ว่า ผักแค  ในภาคอิสานว่า ผักอีเลิด ในภาคกลางและใต้ว่า ชะพลู   

ใบชะพลู จะนิยมใช้ใส่ในแกงที่มักจะเป็นแกงกับสัตว์เล็กที่มีกลิ่นคาวเฉพาะตัว ซึ่งในแกงทั้งหลายที่ใส่ใบชะพลูก็มักจะต้องมีการใส่ใบชะอมลงไปด้วย  ก็ใช้ในการทำอาหารลักษณะนี้เหมือนๆกันทั่วไทย  ภาคเหนือก็เช่นแกงแค ภาคอิสานก็เช่นแกงอ่อม ภาคกลางก็เช่นแกงหอยขม ภาคใต้ก็เช่นแกงหอยแคลง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มิ.ย. 18, 19:31
ห่อหมกโดยทั่วๆไปจะรองก้นด้วยใบยอ ใบโหระพา และกล่ำปลี   ก็มีที่ใช้ผักกาดขาวอยู่บ้าง แต่ที่เกือบจะไม่เห็นกันเลยใน กทม.ก็คงจะเป็นที่รองก้นด้วยใบชะพลูนั่นเอง (แบบนี้มีในภาคใต้แน่ๆอยู่แล้ว)

เคยนึกอยู่เหมือนกันว่า หากจะใช้ผักชนิดอื่นๆรองก้นห่อหมกแล้วมันจะเข้ากันและยังคงความหอมอร่อยอยู่หรือไม่  ก็ขนาดยังมีห่อหมกหน่อกะลาของเกาะเกล็ดได้  ก็น่าจะใช้ขมิ้นขาวก็ได้ หรือแก่นตะวันก็ได้     ทำให้ผมนึกถึงการใช้ดอกข่า ผักเสี้ยว ที่น่าจะลองเอามาทำเป็นผักรองก้นห่อหมกได้เช่นกัน ซึ่งก็น่าจะให้กลิ่นหอมชวนกินเพิ่มขึ้น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 18, 20:58
ห่อหมก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 18, 18:30
ห่อหมกเป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งที่มีวิวัฒนาการค่อนข้างมาก  ผมเข้าใจเอาเองว่า ชื่อห่อหมกนั้น น่าจะมาจากอาหารพื้นบ้าน (เหนือ อิสาน ใต้ไม่รู้ครับ) ที่ทำกินกันทั่วไปที่เรียกว่า แอบ หรือ หมก ซึ่งห่อด้วยใบตองกล้วยแล้วทำให้สุกด้วยการใช้ขี้เถ้าร้อนๆของเตาทำอาหารกลบให้ระอุจนสุก เป็นอาหารที่ใช้ทำกับพวกสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่หามาได้ (พวกกุ้งหอยปูปลา) และไม่ใช้กะทิ   

ในภาคกลางที่ใช้กะทิในการทำอาหารหลายๆอย่าง แต่ดั้งเดิมก็คงจะใช้วิธีการทำให้สุกด้วยการห่อใบตองและหมกเช่นกัน เพียงแต่เครื่องปรุงจะมีกะทิรวมอยู่ด้วย และก็ใช้เนื้อในส่วนที่เป็นเศษ (หัว หาง ครีบ พุงปลา) หรือไม่ก็หั่นเนื้อออกเป็นชิ้นเล็ก ก็จึงเรียกว่า ห่อหมก  แต่จะแผลงกลายเป็นใส่กระทงใบตองแล้วใช้วิธีการนึ่งให้สุกนั้น เดาไม่ออกเลยว่าจะมีที่มาที่ไปเป็นเช่นใด  น่าจะเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้มีอันจะกินในเมือง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 18, 18:56
ในปัจจุบัน ห่อหมกมีหลากหลายมาก ซึ่งน่าจะเป็นพัฒนาการที่เกิดมาในช่วงเวลาย้อนกลับไปไม่เกิน 60 ปีนี้เอง (ผมเทียบเคียงเอากับอายุของหนังสือตำราอาหารเก่าเล็กๆน้อยๆที่ได้เก็บสะสมไว้)  จากห่อหมกปลาช่อนหรือปลากรายที่นิยมกันแต่ดั้งเดิม ก็มีเพิ่มมาเช่นห่อหมกทะเล ห่อหมกหมู ห่อหมกลูกชิ้นปลา...  จากการใช้ใบตอง ก็มีการใช้ Aluminum foil  มีการใช้มะพร้าวอ่อน... จากการต้องใส่ในภาชนะ ก็มีแบบการปั้นเสียบเหล็กแล้วย่าง (ซึ่งกำลังจะกลายเป็นของกินเล่นคล้ายลูกชิ้นปิ้ง)...  อีกหน่อยก็อาจจะมีปลาหมึกยัดใส้พริกแกงห่อหมก เมื่อนึ่งสุกแล้วก็เอามาหั่นเป็นแว่นๆ ก็น่าที่จะดูน่ากินนะครับ  (ผมกำลังเพี้ยนครับ  ;D)

เพิ่งจะนึกถึงผักรองก้นห่อหมกอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะใช้ได้ น่าจะเข้ากันได้ดี    ดอกขจร ครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 18, 19:32
ใบตองหายากขึ้นทุกวัน   อาลูมินั่มฟอยล์หาได้ง่ายกว่า  ห่อหมกเลยหน้าตาเป็นลูกครึ่งฝรั่งค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 18, 19:33
บางที ห่อหมกก็ทำท่าจะเป็นคัพเค้กไปแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 18, 20:43
น่าจะเรียกว่า เค้กห่อหมก
เด็กๆเห็นคงชอบ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 18, 20:46
ห่อหมกปลาช่อนมะพร้าวอ่อน ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 18, 19:05
เข้าเขตของอาหารภาคกลางตอนล่างที่คอนข้างจะมีเอกลักษณ์ประจำตน  นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ 

เมื่อกล่าวถึงชื่อจังหวัดเหล่านี้ หลายท่านคงจะนึกถึงอาหารบางอย่างที่จะต้องไปกินหรือไปลองกินให้ได้หากได้ไปในจังหวัดนั้นๆ  อาหารหลายอย่างเป็นแบบพื้นบ้านนิยม หลายอย่างก็เป็นอาหารที่ดัดแปลงไป ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นอาหารที่เราคุ้นเคยกัน ต่างกันออกไปก็ตรงที่การพยายามใช้วัตถุดิบที่มีหรือหาได้ในพื้นบ้าน จนทำให้อาหารมีความอร่อยต่างออกไปจากที่เรารู้สึกคุ้นเคยกันทั้งในเชิงของกลิ่น รส และ texture


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มิ.ย. 18, 20:03
แต่ก่อนนั้น  การไปนครปฐมมิได้สะดวกง่ายดายดังปัจจุบัน ของกินดังๆในสมัยนั้นก็คือ ข้าวหลาม ไก่ย่าง และขนมหวาน  ซึ่งเป็นลักษณะของๆฝากมากกว่าในเชิงร้านอาหาร   คนที่เดินทางไป-กลับด้วยรถยนต์นิยมที่จะซื้อข้าวหลามและขนมไทยติดไม้ติดมือมาเป้นของฝาก   สำหรับคนที่เดินทางโดยรถไฟของขายดีจนได้ชื่อขาล่อง(ลงใต้) ก็จะเป็นไก่ย่างกับข้าวเหนียว และข้าวแกงในกระทงใบตองแห้ง เพราะเป็นช่วงเวลาอาหารเย็นเมื่อรถไฟมาถึงสถานี   สำหรับขาขึ้น(เข้ากรุงเทพฯ)ก็ รถไฟสถานีจะมาถึงในช่วงเช้า ก็เลยนิยมซื้อข้าวหลามและขนมหวาน เอามาเป็นของฝาก

จากประสบการณ์ที่ผมได้สัมผัสมา ข้าวหลามนครปฐมนั้นมีชื่อดังมาก่อนข้าวหลามหนองมนของชลบุรี  ข้าวหลามหนองมนของชลบุรีนั้นเริ่มมีชื่อแย่งตลาดก็เมื่อหาดพัทยาได้เริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่เริ่มหนีไปจากหาดบางแสน    ส่วนไก่ย่างนั้น ก็หน้าตาของไก่ย่างที่เรียกว่าไก่ย่างบางตาลนั่นเอง (สถานีรถไฟคลองบางตาลอยู่เลยไปจากสถานีรถไฟนครปฐม)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มิ.ย. 18, 20:16
เมื่อการคมนาคมสะดวก อาหารอร่อยของนครปฐมจึงได้ปรากฏออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งในตัวเมืองและตามหมู่บ้านชุมชนต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นอาหารแบบครึ่งไทย-ครึ่งจีน เช่น หมูย่าง(หมูกรอบทั้งคัว)ที่ออกมาขายตอนบ่าย อยู่แถวหน้าองค์พระปฐมเจดีย์  ก๋วยเตี๋ยวเป็ดบางเลน  เป็ดพะโล้หลากหลายเจ้าในละแวกพื้นที่พุทธมณฑล  ร้านอาหารในตลาดท่านาของ อ.นครชัยศรี 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 18, 20:30
นครปฐมเป็นเมืองของกิน  สินค้าขึ้นหน้าขึ้นตาคือหมู ไก่ และผัก เป็นของสดป้อนตลาดกรุงเทพอีกทีหนึ่ง   เมื่อก่อนนี้ใครขับรถผ่านเมืองจะได้กลิ่นจากฟาร์มหมูโชยมาแต่ไกล   เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้วค่ะ
ใครเป็นเจ้าถิ่นนครปฐม เวลามีเพื่อนจากกรุงเทพไปเยี่ยม จะต้องพาไปกินข้าวหมูแดง และข้าวมันไก่   ขากลับแวะซื้อข้าวหลามกลับไป
อ้อ  ถ้ามาทางรถไฟ ก็จะเจอไก่ย่างเนื้อแห้ง ทาขมิ้นสีเหลืองอร่าม   รสชาติอร่อยมีเอกลักษณ์ของตัวเอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มิ.ย. 18, 18:43
ใชครับ  ข้าวหมูแดงของนครปฐมเป็นอาหารที่มีชื่อมากทีเดียว  ถึงขนาดที่ในหลายจังหวัดมีร้านขายข้าวหมูแดงที่ต่อท้ายป้ายชื่อร้านด้วย นครปฐม ซึ่งก็มีคนอุดหนุนแน่นร้านกันทุกวัน

ผมไม่มีความแน่ใจว่า เอกลักษณ์ของข้าวหมูแดงนครปฐมจะเป็นอย่างที่ผมจะกล่าวถึงหรือไม่ คือ เป็นอาหารจานเดียวที่มีโปะหน้าด้วย หมูแดง หมูกรอบ กุนเชียง และไข่ต้ม มีแตงกวาสองสามชิ้น (ซึ่งเข้ากันได้ดีมากๆ) โรยด้วยผักชีสองสามใบ ราดน้ำซอสออกรสเค็มหวาน แล้วทานกับซีอิ๊วหวาน หรือซีอิ๊วขาวพริกซอย หรือซีอิ๊วปรุงรสอื่นๆ  และกินกับต้นหอมสด   

ที่ดูจะมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ไม่เห็นมีการสั่งหมูแดงและกุนเชียงเพิ่มเติมมาเป็นจานแยก เห็นมีแต่สั่งหมูกรอบมาเป็นจานแยกเพิ่มเติม  จะเป็นเพราะว่าหมูแดงของร้านขายข้าวหมูแดงโดยทั่วๆไปจะมีความแห้งมากไปกระมัง ต่างไปจากหมูแดงที่ขายอยู่ในร้านเป็ดย่างทั้งหลายที่จะมีความชุมชื้นนุ่มนวลมากกว่าเพราะมีมันแทรกอยู่    ผมเองมีความเห็นว่า ข้าวหมูแดงที่มีชื่อและที่ว่ามีความอร่อยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่หมูแดงโดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับหมูกรอบเสียมากกว่า   

ตัวผมเองนิยมจะเพิ่มความอร่อยของข้าวหมูแดงด้วยการกินกับพริกดองน้ำส้ม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 18, 19:17
ข้าวหมูแดง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มิ.ย. 18, 19:36
ไก่ย่างเนื้อแห้งทาขมิ้นที่ อ.เทาชมพู กล่าวถึงนั้น ก็มีเอกลักษณ์ของเขา คือมีสีเหลืองด้วยขมิ้น เป็นไก่ยางแบบแล่เนื้อเป็นชิ้นบางและใช้ไม้ประกับในการย่าง ก็มีทั้งแบบที่เป็นเนื้อล้วนๆ (เนื้อหน้าอก ที่เรียกว่า white meat) เนื้อหน้าอกติดกระดูกซี่โครง เนื้อส่วนตะโพก (ที่เรียกว่า dark meat) และน่อง    

ผมนิยมส่วนที่เป็นตะโพกเพราะว่าเนื้อจะไม่แห้งและยุ่ยเหมือนเนื้อส่วนหน้าอก  เป็นส่วนเนื้อที่มีความเหนียวพอประมาณ (chewy) และมีความชุ่มชื้นด้วยมันเล็กน้อย  แต่ก็ชอบแบบแทะเนื้อติดกระดูกส่วนซี่โครงเช่นกัน  เมื่อเวลาจะซื้อก็จะเลือกเอาไม้ที่ดูเนื้อชุ่มฉ่ำแต่ค่อนข้างแห้ง เพราะนั่งบนรถไฟนั้นมือไม้จะสกปรกมากนักไม่ได้   ก็เป็นความสุขบนรถไฟ(ที่โยกไปเย้มา)กับน้ำมีฟองตอนเย็นๆก่อนที่จะกินข้าวแกงในถ้วยใบตองแห้งของสถานีราชบุรีหรือสถานีเพชรบุรี

ไก่ย่างบางตาลที่มีขายอยู่ทั่วๆไปในปัจจุบันนี้ก็เป็นลักษณะของไก่ย่างแบบแล่เนื้อให้บางนี้ เพียงแต่จะมีการทำให้ดูเนื้อชุ่มฉ่ำ มีกลิ่นและรสเข้มข้นไปด้วยเครื่องเทศ    ซึ่งหากเป็นการย่างกันเป็นตัวๆเต็มตัว ก็จะไม่ต่างไปจากไก่ย่างชื่อดังรุ่นเก๋าที่จะเห็นไปตั้งร้านออกงานในงานรื่นเริงต่างๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 18, 10:52
อาหารที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของนครปฐมมีหลายอย่าง  ขอยกมาแต่อาหารที่ขึ้นชื่อมาแต่ดั้งเดิม  ควบคู่มากับข้าวหมูแดง  คือข้าวมันไก่และข้าวหมูกรอบ
ปกติร้านข้าวหมูแดงจะมีทั้งข้าวมันไก่และข้าวหมูกรอบขายด้วย      บางทีคนสั่งข้าวหมูแดงก็จะสั่งอีกครึ่งหนึ่งเป็นหมูกรอบ ราดมาบนข้าว  จานเดียวก็อิ่ม  บางร้านใส่มาในจานเปลยาวๆ มากทั้งข้าวและกับข้าว

ส่วนข้าวหน้าเป็ดมาทีหลังแต่ก็ขึ้นชื่อไม่น้อยกว่ากัน  มีทั้งเป็ดย่างและเป็ดพะโล้    เป็ดพะโล้ที่ขึ้นชื่อมากอยู่ที่ดอนหวาย ในเขตอ.นครชัยศรี   ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 25 มิ.ย. 18, 11:07
เห็นภาพแล้วหิวขึ้นมาทันทีเลยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 18, 19:05
เช่นกันครับ ของอร่อยทั้งนั้น

ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูครับ แหย่ไว้ได้ผล ;D   อาจารย์ขยายของดีประจำถิ่นมาอีกเยอะ  ร้านขายอาหารเหล่านี้มีหนาแน่นในตลาดหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ด้านคลองเจดีย์บูชา  ในตลาดเองก็มีของน่ากินอีกมาก ที่เด่นออกมาอีกอย่างหนึ่งก็น่าจะเป็นขนมกุยช่าย   สำหรับของฝากที่ซื้อได้ไม่เหมือนที่อื่นๆ หรือจะซื้อเพื่อเอามากินกันเองในงานสังสรรค์ของเราระหว่างญาติหรือเพื่อนฝูงก็คือ ซื้อหมูกรอบเป็นชิ้นส่วนใหญ่ๆ (ทั้งตัว ครึ่งตัว แบ่งสี่ ส่วนหน้า ส่วนหลัง...) เอามาสับเอง กินได้จุใจมากกว่า   พวกนี้จะนำออกมาขายในช่วงบ่ายๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 18, 19:23
ืลืมของกินไปอีกอย่างหนึ่ง ลูกชิ้นหมู   

ลูกชิ้นหมูของนครปฐมเจ้าหนึ่ง ครั้งหนึ่งมีชื่อดังไปทั้งประเทศ  ผมคิดว่ามันมีอิทธิพลมากพอในการเปลี่ยนโฉมของการทำลูกชิ้นให้เป็นแบบไม่ใช้สารเคมี (เพื่อที่จะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่าลูกชิ้นเด้ง)  แล้วก็มากพอที่จะดึงผู้คนให้หันไปกินลูกชิ้นหมูแทนลูกชิ้นเนื้อวัวในระยะเวลาต่อๆมา   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 มิ.ย. 18, 21:41
แล้วหมูแผ่นหมูหยองพอเป็นหน้าตาได้บ้างไหมครับ

พูดถึงนครปฐมผมนึกออก 2 อย่าง ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุนกับแฟนเก่า  :-\


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 18, 21:43
ลูกชิ้นหมูนครปฐม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 18, 18:46
แล้วหมูแผ่นหมูหยองพอเป็นหน้าตาได้บ้างไหมครับ

เรื่องของหมูแผ่น หมูหยองนี้ ผมแยกความอร่อยและความมีลักษณะจำเพาะของแต่ละแหล่งผลิตไม่ออก  ในจังหวัดที่มีการเลี้ยงหมูในลักษณะเป็นอุตสาหกรรมก็ล้วนมีการทำขายทั้งนั้น รวมทั้งกุนเชียงด้วย  หน้าตาก็เหมือนๆกัน   

ในปัจจุบันนี้ หมูแผ่นแบบดั้งเดิมที่จะมีลักษณะเป็นแผ่นค่อนข้างหนา ไม่แข็งกระด้าง ไม่กรอบ และไม่มีรูปทรงที่แน่นอน(irregular shape)นั้น ดูจะหายไปจากตลาดทั่วๆไป คงมีแต่แบบที่เป็นแผ่นบางๆ กรอบ ทรงเหลี่ยม(rectangular) เข้ามาแทนที่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 18, 19:06
หมูหยองก็มีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก คือจากลักษณะของหมูทุบให้แหลกจนเป็นเส้น fiber ละเอียดฟู ก็กลายเป็นแบบทุบให้ละเอียดจนฟูคล้ายกับสำลี  ซึ่งเมื่อทำให้มีความกรอบอีก ก็เลยทำให้ยิ่งสลายลงเป็นฝุ่นผงได้ง่าย

หมูแผ่น หมูหยอง แบบดั้งเดิมก็ยังคงมีบางเจ้าการทำขายอยู่   สำหรับของนครปฐมก็ในย่านตลาดหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ พอหาได้ซื้ออยู่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 18, 19:26
กุนเชียง  เดี๋ยวนี้มีเพิ่มเข้ามา คือกุนเชียงปลา  แต่แรกๆ (น่าจะในช่างเวลา 10+ปีมานี้เอง) ก็ไม่ค่อยมีกระดูกก้างปลาปนมาจนทำให้รู้สึกว่ามีเม็ดอะไรแข็งๆแฝงอยู่ในเนื้อกุนเชียง  แต่ในปัจจุบันนี้ดูจะมีมากขึ้น  ก็เป็นธรรมดาของสินค้าที่มักจะมีคุณภาพลดลงเมื่อขายดีมากขึ้น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 18, 19:38
ยังนึกถึงกุนเชียงปิ้งกับเตาไฟฟ้าให้พอเกรียม แล้วเอาขนมปังประกบเป็นแซนวิช กินกับโอยั๊วะเพื่อแก้หิวยามดึก สมัยดูหนังสือเพื่อเตรียมสอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย 

 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 27 มิ.ย. 18, 09:38
เอ๊ะ อันนี้ทำง่าย เดี๋ยวผมลองทำกินดูครับ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 18, 10:33
ยำกุนเชียงก็ทำง่ายนะคะ  คุณนริศ
วิธีทำ
หั่นกุนเชียงแล้วนำไปทอดให้แห้ง
เตรียมทำน้ำยำ โดยใส่น้ำปลา น้ำตาลทราย น้ำมะนาว และพริกแดงซอย คลุกเคล้าจนน้ำตาลละลาย
ใส่กุนเชียงที่ทอดแล้วลงไปและใส่หอมแดง แตงกวา คื่นช่าย แล้วคลุกให้เข้ากันอีกครั้งเสร็จแล้วตักใส่จานเสิร์ฟ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 18, 17:48
อีกแบบหนึ่ง   

ทอดกุนเชียงพอเกรียมแล้วหั่นเป็นแว่นๆ  เอาแตงกวา (ไม่ใช้แตงร้านนะครับ) หั่นเป็นแว่นๆเช่นกัน  เอาหอมแดงมาซอย  หั่นมะนาวไว้สักครึ่งลูก  จัดวางเรียงเป็นชั้นด้วยแตงกวา กุนเชียง และหอมซอย   เมื่อใกล้จะถึงเวลาทานก็เอาน้ำตาลทรายโรย เอาซีอิ๊วขาวเยาะใส่พอประมาณ เอาซีอิ๊วดำเหยาะตามลงไปเล็กน้อย บีบมะนาว แล้วคลุกให้เข้ากัน ทิ้งไว้สักพักชั่วครู่ เคล้าให้เข้ากันอีกครั้งหนึ่ง ก็พร้อมทาน    ที่ต้องทิ้งไว้ก็เพื่อให้เครื่องปรุงทุกอย่างได้ผสมผสานรสเข้าด้วยกัน

ยำกุนเชียงนี้เป็นอาหารที่ทำง่าย และเป็นจานที่อร่อยมากเสียด้วย  จะทำแบบของอาจารย์ หรือแบบที่ผมได้เล่ามาก็ได้ทั้งนั้น หลังจากได้ทำครั้งแรกแล้ว ต่อๆไปจะปรับองค์ประกอบอื่นใดในเชิงปริมาณ หรือในเชิงเครื่องปรุง (ใช้หอมใหญ่ ใช้แตงกวาญี่ปุ่น ใส่ต้นหอมสดเป็นท่อนสั้นๆ ใส่ใบคื่นช่าย)  ก็จะออกมาอร่อยทั้งนั้น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 18, 18:29
แว๊ปไปเรื่องแตงกวาญี่ปุ่นนิดนึงครับ

เดี๋ยวนี้ แตงกวาญี่ปุ่นมีขายอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เป็นแตงกวาที่มีเนื้อเยอะ มีใส้ในน้อย มีความกรอบไปในเชิง brittle ต่างกับแตงกวาของเราที่มีความกรอบไปในเชิง crisp    เอามาทำอาหารแทนกันได้น่าจะเกือบทุกเมนู ยกเว้นอยู่เมนูหนึ่ง(เท่าที่นึกออก) คือเอามาทำแตงกวายัดใส้ไม่ได้ (ต้มจืด) 

และก็มีอยู่เมนูหนึ่งที่ใช้แตงกวาญี่ปุ่นทำได้แต่ใช้แตงกวาไทยทำไม่ได้   เอาแตงกวาญี่ปุ่นมาหั่นเป็นท่อนๆยาวประมาณ 1 นิ้ว ผ่าตามยาวออกเป็นสี่ส่วน หรือหกส่วน หรือใหญ่เล็กตามต้องการ เอาใส่ในจาน แล้วเอาซีอิ๊วขาวราด  ครับ เท่านี้เอง  จะกินเป็นผักกรอบๆกับข้าวต้มก็ได้ จะจัดเป็นจานผักในสำรับอาหารก็ได้ หรือจะกินเป็นผักแนมกับกับข้าวจานอื่นใดก็ได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 18, 18:43
แตงกวาญี่ปุ่น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 18, 19:06
กลับมาต่อเรื่องของกุนเชียง

แต่ก่อนนั้นจะเห็นมีแต่กุนเชียงเนื้อหยาบ เดี๋ยวนี้มีกุนเชียงแบบเนื้อละเอียดไม่ต่างไปจากใส้กรอกของฝรั่ง  บรรดาอาหารที่ทำการถนอมอาหารในรูปแบบของใส้กรอกนั้น จะต้องมีการผสมมันของสัตว์เข้าไปด้วย และความอร่อยนุ่มนวลของมัน นอกจากรสแล้วก็คือความพอดีของส่วนผสมระหว่างมันกับเนื้อ   ซึ่งทำให้แบบเนื้อหยาบนั้น อย่างน้อยเราก็พอจะเห็นปริมาณของมันที่มีผสมอยู่ ก็พอจะเลือกได้ว่าจะเอาแบบมีมันมากหรือมีมันน้อย  แต่หากเป็นแบบเนื้อละเอียด เราจะเลือกได้ก็เพียงจากการอ่านฉลากหรือฟังจากคำบอกเล่าเท่านั้น จะจริงจะเท็จมากน้อยเพียงใดก็ไม่รู้  ผมจึงนิยมเลือกซื้อกุนเชียงแบบเนื้อหยาบ ซึ่งเมื่อเราเอามาทำกินเราก็ยังพอจะสามารถจะปรับปริมาณความมันได้ตามความต้องการ เช่น ใช้วิธีการปิ้งเพื่อไล่น้ำมันให้หยดออกไป ก็พอจะได้กุนเชียงที่สุก หอมกลิ่นใหม้ๆ และค่อนข้างแห้ง   ทอดในกระทะบนไฟอ่อนก็จะไล่น้ำมันออกไปได้เยอะ เมื่ือเพิ่มไฟให้แรงหน่อยก็จะได้ผิวที่เกรียม หอม ซึ่งก็จะเป็นแบบที่มีน้ำมันเปียกไปหมด ต้องใช้กระดาษซับออก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 18, 19:25
กุนเชียงปิ้ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 18, 19:27
เดี๋ยวนี้มีไมโครเวฟ  ก็ทำให้มีวิธีทำกินกับกุนเชียงอีกวิธีหนึ่ง

หั่นกุนเชียงเป็นท่อนๆ เอาลงต้มในน้ำเดือดๆสักพัก ก็จะพอลดไขมันไปได้มากอยู่  ตักออกมาวางพอสะเด็ดน้ำ แล้วก็เอาเข้าไมโครเวฟไฟแรง เราก็จะได้กุนเชียงที่มีกลิ่นหอมและน่ากินไปอีกแบบหนึ่ง  ในมุมหนึ่งก็คือการทอดด้วยน้ำมันที่มีอยู่ในตัวของมันเอง (ที่ออกมาจากมันที่ผสมปนกันอยู่ในเนื้อของกุนเชียง)  มิใช่การทอดที่ใช้ความร้อนของน้ำมันในกระทะ ซึ่งจะอยู่แต่เพียงชายขอบรอบนอก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มิ.ย. 18, 19:25
ก่อนจะออกจากนครปฐม  ก็ขอไปเรื่องข้าวหลามนิดนึง

ข้าวหลามนครปฐม กับ ข้าวหลามหนองมน ดูภายนอกจะเหมือนๆกัน  แต่หากจะสังเกตหน่อยนึงจะพบว่ามันมีความต่างกันอยู่ เช่น ความใหญ่และความหนาบางของลำไม้ไผ่ ความสั้นยาวของกระบอกข้าวหลามทั้งอันและของปล้องส่วนที่ใช้ใส่ข้าวเหนียว และเนื้อในที่มีความนิ่มกำลังพอดีกับความนิ่มแฉะใกล้จะเป็นเปียกข้าวเหนียว   

ไม้ไผ่ที่ใช้ของนครปฐมน่าจะเกือบทั้งหมดมาจากป่าใน จ.กาญจนบุรี ส่วนของหนองมนนั้นนอกจากจะมาจากกาญจนบุรีแล้ว ก็ยังมาจากที่อื่นๆอีกด้วย   

เมื่อมีความต่างกันในเรื่องต่างๆ อาทิ ความมัน รส ข้าวเหนียวที่เลือกใช้ กระบวนการเผา กระบอกไม้ไผ่...   ก็คงพอจะเห็นภาพของพื้นฐานว่า แม่ค้า/ลูกค้าจึงมีเจ้าประจำ และก็มีที่แม่ค้าเรียกว่าขาจร


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มิ.ย. 18, 19:38
เรื่องราวสองสามวันมานี้อาจจะกระท่อนกระแท่นไปบ้าง ก็ต้องขออภัยด้วยครับ   

จิตใจไปอยู่กับเรื่องน้องๆติดอยู่ในถ้ำ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ค. 18, 17:56
สบายใจแล้วครับ ภารกิจปฏิบัติการช่วยเหลือได้ประสบผลสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากเช่นกันที่ต้องสูญเสียผู้กล้าไปหนึ่งท่านในภารกิจครั้งนี้   

มีความรู้สึกปิติที่เห็นความสามัคคีและพลังที่ยังฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยและของผู้คนต่างชาติ ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรม ที่ล้วนแต่มีสำนึกที่เปี่ยมไปด้วยการให้มากกว่าการโกย เข้าเกณฑ์พรหมวิหารสี่ที่สมบูรณ์เลยทีเดียว (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) คือเป็นลักษณะที่ต้องมีทุนสะสมอยู่ในตนเองแล้วจึงสามารถแสดงออกมาได้พร้อมกันไปทั้งในด้าน tangible และ intangible  มิใช่มีแต่เพียงลมปากและเพียงแต่การกระทำที่พึงจะส่งผลให้บังเกิดแต่ตน พรรคพวกของตน และพวกพ้องของตนแต่เพียงเท่านั้น     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ค. 18, 19:19
ขอย้อนกลับไปในอดีตนิดนึงครับ

ยังจำภาพดอยนางนอนและกลิ่นไอของพื้นที่ อ.แม่จัน ว่าเป็นพื้นที่ๆมีน้ำอุดมสมบุรณ์ เป็นแหล่งผลิตข้าวเจ้าและข้าวเหนียวชั้นดีจนต้องมีชื่อติดห้อยท้ายข้าวสารที่นำมาขายกันในตลาด  เมื่อนั่งรถผ่านพื้นที่ทุ่งนาในช่วงเวลาเย็น อากาศเย็น (สมัยนั้นใช้รถจี๊บที่ใช้กันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง) ก็จะได้กลิ่่นหอมดอกมหาหงส์โชยบางๆ เมื่อผ่านหมู่บ้านก็จะเห็นต้นมหาหงส์ปลูกอยู่ริมรั้วหรือเป็นกอๆอยู่บริเวณประตูทางเข้าบ้าน หน้าบ้านก็จะเป็นลำเหมือง(ร่องน้ำขุด)ที่ไหลผ่านหน้าบ้าน   ทำให้ผมรู้จักต้นมหาหงส์และกลิ่นหอมของมันมาตั้งแต่เด็ก  ก็คงพอจะให้ภาพของความสวยงามและความสุนทรีย์ของธรรมชาติของพื้นที่นั้นในสมัยก่อนโน้นได้บ้างนะครับ   

ก็อาจจะทำให้นึกโยงไปถึงความงดงามที่เกี่ยวกับเรื่องราวในตำนานของดอยนางนอน

ในปัจจุบันนี้ มหาหงส์ ก็ยังเป็นต้นไม้ที่ผมชอบมากๆอยู่ไม่เสื่อมคลาย กลิ่นของดอกมหาหงส์ที่โชยในอากาศเย็นๆให้ความรู้สึกของความความสดชื่น ความสะอาด และความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่ยังไม่ปนเปื้อนด้วยมลภาวะ (polluted environment)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 18, 20:42
มหาหงส์
https://medthai.com/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B9%8C/


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 13 ก.ค. 18, 16:51
สบายใจแล้วครับ ภารกิจปฏิบัติการช่วยเหลือได้ประสบผลสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากเช่นกันที่ต้องสูญเสียผู้กล้าไปหนึ่งท่านในภารกิจครั้งนี้   

มีความรู้สึกปิติที่เห็นความสามัคคีและพลังที่ยังฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยและของผู้คนต่างชาติ ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรม ที่ล้วนแต่มีสำนึกที่เปี่ยมไปด้วยการให้มากกว่าการโกย เข้าเกณฑ์พรหมวิหารสี่ที่สมบูรณ์เลยทีเดียว (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) คือเป็นลักษณะที่ต้องมีทุนสะสมอยู่ในตนเองแล้วจึงสามารถแสดงออกมาได้พร้อมกันไปทั้งในด้าน tangible และ intangible  มิใช่มีแต่เพียงลมปากและเพียงแต่การกระทำที่พึงจะส่งผลให้บังเกิดแต่ตน พรรคพวกของตน และพวกพ้องของตนแต่เพียงเท่านั้น     

ปรากฏการณ์ที่ ถ้ำหลวง ขุนน้ำดอยนางนอน
และที่ท่านอาจารย์บรรยายไว้ ทำให้ผมนึกถึงบทเพลงนี้ขึ้นมาครับ

Imagine (http://www.youtube.com/watch?v=RwUGSYDKUxU)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 18, 17:37
แม้จะเป็นเพียงฝันขอฝันเถิด
โลกบรรเจิดเพียงใดอยากได้เห็น
เลิกแบ่งเราแบ่งเขาเฝ้าลำเค็ญ
เป็นดั่งเช่นเพื่อนร่วมโลกโศกเศร้าคลาย


https://www.facebook.com/howidadth/videos/285186818715526/

Imagine (https://en.m.wikipedia.org/wiki/Imagine_(John_Lennon_song))

Imagine there's no countries
It isn't hard to do
Nothing to kill or die for
And no religion too

ลบเส้นแบ่งแห่งรัฐชาติลองวาดฝัน
เพียงเท่านั้นเรื่องร้ายร้ายก็คลายคลี่
ไม่ต้องฆ่าไม่ต้องรีบเอาชีพพลี
และไม่มีเส้นทางต่างศรัทธา

No need for greed or hunger
A brotherhood of man
Imagine all the people
Sharing all the world

จะสิ้นทุกข์ทรมานการกดขี่
เมื่อโลกนี้พี่น้องกันชนทั้งผอง
ลองวาดฝันวันใหม่ได้ปรองดอง
ร่วมแบ่งปันครรลองโลกของเรา


คำแปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 18, 18:12
ครับ  

เป็นเพลงของ John Lennon ที่แต่งออกมาในสมัยสงครามเวียดนามกำลังทวีความรุนแรง มีการต่อต้านและประท้วงกันในสหรัฐฯ  เป็นเพลงที่กล่าวถึงความฝันที่อยากจะเห็นภาพของความสันติสุขและความเสมอภาคของมนุษย์แบบสังคม Utopia

อันที่จริงแล้ว ในช่วงเวลาของการดำเนินการกู้ภัยที่ถ้ำหลวงนั้น โดยสภาพและสิ่งต่างที่เกิดขึ้นในองค์รวมแล้ว ก็เป็นลักษณะของสังคมที่เป็น Utopia ในลักษณะหนึ่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 18, 18:53
Utopia เป็นสังคมของการให้และการแบ่งปัน   Dystopia เป็นสังคมของการผูกขาดและการกอบโกย

ด้วยความฉลาดของมนุษย์ก็เลยมีการสร้างภาพ Utopia เพื่อประโยชน์ของตนในด้าน Dystopia    แต่ก็มีภาพในทางกลับกันเช่นกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 18, 19:39
ในสมัยก่อนโน้น ที่ตัว อ.แม่สาย และ อ.แม่จัน จะมีของอร่อยขาย 2 อย่าง คือ เป็ดและหมูสามชั้นย่างชานอ้อย ที่ตัวผมเองชอบจะเรียกว่าเป็ดและหมูพะโล้แห้ง เป็นของอร่อยที่ทำขายโดยพวกจีนฮ่อ มีแขวนขายอยู่ในร้านอาหารที่มีอยู่เพียงร้านหรือสองร้านในพื้นที่นั้นๆ ในปัจจุบันนี้หายไปไม่เคยเห็นอีกเลย แต่กลับมาเห็นมีขายในกรุงเทพฯแถวเยาวราช เคยซื้อมาทานแต่รู้สึกไม่อร่อยติดใจอย่างที่เคยกินมาเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก   

ไปลองท่องหาความรู้ก็เลยได้พบว่าในปัจจุบันนี้มีการผลิตอยู่สองสามแห่งในปริมณฑลของ กทม.

ของอีกอย่างหนึ่งที่มีขายเฉพาะในตลาด อ.แม่สาย (ในสมัยนั้น) คือ มันฮ่อ ซึ่งก็คือ Walnut นั่นเอง เมื่อจะกินก็จะต้องใช้ก้อนหินทุบเปลือกให้ปริออกพอที่จะแกะได้ต่อไป   ชื่อมันฮ่อหายไปจากความทรงจำของผมจนกระทั่งโตเป็นหนุ่มใหญ่ใกล้วัยกลางคน จนเข้ายุคที่มีอาหารของหวานหลายชนิดบรรยายว่าใส่ walnut ลงไปด้วย ก็จึงได้รู้ว่ากินมาตั้งแต่เป็นเด็กก่อนวัย teenage    คิดว่าในปัจจุบันนี้ มันฮ่อมีขายตามร้านขายของฝากอยู่หลายแห่ง  ที่สนามบินเชียงรายนั้นมีวางขายอยู่แน่ๆ ครับ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 18, 20:14
ย้อนกลับไปต่อเรื่องของอาหารกัน 

อาหารในพื้นที่ของนครปฐมนั้น ผมมีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ ในแต่ละชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วไปจะมีของกินที่มีความอร่อยและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่นึกออกในทันทีก็เช่น ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ผัดกับต้นกระเทียม ไก่ยางบางตาล ไข่เค็มบางเลน เป็ดพะโล้ เป็นต้น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 18, 11:01
walnut หรือมันฮ่อ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 18, 11:04
ไม่เจอก๋วยเตี๋ยวผัดต้นกระเทียม  เจอแต่ก๋วยเตี๋ยวผัดซอสกระเทียมค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 18, 11:07
ไก่ย่างบางตาล เรียกอีกอย่างว่า ไก่เหลือง  เดี๋ยวนี้กระจายไปทั่วเกือบทุกจังหวัดแล้วค่ะ   แบบเดียวกับไก่ย่างโคราช


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 18, 18:13
เป็ดพะโล้นครปฐมขึ้นชื่อมาก  มีหลายเจ้าด้วยกันค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 18, 18:25
จากนครปฐมมุ่งลงใต้ ก็จะเข้าเขต อ.บ้านโป่ง   ผมไม่รู้ว่าอาหารขึ้นชื่อของบ้านโป่งจะมีอะไรบ้าง รู้แต่ว่าตลาดสดในตัวอำเภอนั้นเป็นตลาดที่มีของสด ของแห้ง และเครื่องปรุงสำหรับการทำอาหารครบครันเกือบจะทุกอย่างที่จะใช้ในการทำอาหารแบบไทย แบบจีน และแบบชาวบ้านทุกภาค  

จ่ายตลาดที่ตลาดสดของบ้านโป่งเป็นอะไรที่ให้ความเพลิดเพลินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดเช้า  ของต่างๆมีความสด ใหม่ และมีคุณภาพในระดับที่สูง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเล สัตว์บก หรือพืชผักสดต่างๆ ราคาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ถูกและสมเหตุสมผล ซื้อได้ทั้งในลักษณะซื้อปลีกรายย่อยและแบบซื้อในปริมาณมาก ซึ่งที่เห็นมักจะเป็นการซื้อแบบในปริมาณมาก      


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 18, 19:21
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดบ้านโป่งมีลักษณะดังที่กล่าวมา ก็คงจะเป็นเพราะว่าสถานที่ตั้งอยู่ ณ จุดเชื่อมต่อของเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ชายแดนด้านตะวันตก กับ เส้นทางหลักที่เชื่อมต่อระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ และยังตั้งอยู่ริมน้ำแม่กลองที่เป็นเส้นทางคมนาคมและเป็นท่าน้ำ (ตลาด)รับซื้อผลิตผลของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สองฝั่งของแควใหญ่และแควน้อย   

และที่ว่าในตลาดบ้านโป่งมีของหลากหลายและของดีๆนั้น ส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะว่าเป็นตลาดที่สนองตอบต่ออุปสงค์ของผู้คนในพื้นที่ชายแดนทางภาคตะวันตกของเรา ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีผู้คนดำเนินชีวิตอยู่ในกิจกรรมที่ส่งผลให้กับเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมาก เช่น กิจการเหมืองแร่ กิจการไร่อ้อยและน้ำตาล การค้าขายชายแดน... รวมทั้งหน่วยงานทางความมั่นคงต่างๆ 

บ้านโป่งก็เสมือนเป็นจุดเส้นทางเลี้ยวขวาคล้ายๆกับสระบุรี กาญจนบุรีก็เสมือนเป็นประตูสู่อิสานคล้ายๆกับโคราช... บรรดา อ.ท่าเรือ อ.ท่าม่วงอ อ.บ่อพลอย อ.หนองรี อ.หนองปรือ อ.ไทรโยค อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี หมู่เหมืองปิล็อก หมู่เหมืองเต่าดำ......เหล่านี้ ก็เสมือนเป็นบ้านเรือนที่กระจายอยู่ในภาคอิสาน 

ก็คงพอจะเห็นภาพนะครับว่า ของกินในตลาดสด อ.บ้านโป่งน่าจะมีลักษณะเป็นเช่นใด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 18, 19:46
เป็ดพะโล้นครปฐมขึ้นชื่อมาก  มีหลายเจ้าด้วยกันค่ะ

ครับ..  ที่มีชื่อติดปากกันอยู่ก็คงจะมีในตัวเมืองเอง ดอนหวาย ท่านา และบางเลน  ซึ่งสำหรับ อ.บางเลน นั้นดูจะมีเป็ดตุ๋นขึ้นมามีชื่อคู่อยู่ด้วย

อาหารทุกอย่างที่ทำด้วยเป็ดล้วนแต่มีความอร่อยทั้งนั้น    เป็ดพะโล้ เป็ดย่าง เป็ดย่างเกลือ เป็ดพะโล้ย่างแห้ง(ย่างชานอ้อย) เป็ดปักกิ่ง เป็ดย่างผัดใบกระเพรา แกงเผ็ดเป็ดย่าง เป็ดตุ๋นมะนาวดอง ต้มยำเป็ดตุ๋น เลือดเป็ด ลาบเป็ด ตีนเป็ด ใส้เป็ด กึ๋นเป็ด ตับเป็ด ปากเป็ด ลิ้นเป็ด ตูดเป็ด ของโปรดทั้งนั้นเลยครับ แต่เดี๋ยวนี้ต้องมีความระวังในการทาน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 18, 19:53
บ้านโป่งมีร้านอาหารฝีมือพื้นบ้าน  อร่อยมากๆอยู่เจ้าหนึ่ง     อาหารขึ้นชื่อคือกุ้งแม่น้ำ มีทั้งกุ้งเผา กุ้งทอดกระเทียม  กุ้งผัดบวบ  และต้มยำกุ้ง
กุ้งทอดกระเทียมที่นี่  ยังหาเจ้าไหนเทียบฝีมือไม่ได้เลยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 18, 19:56
กุ้งผัดบวบเป็นอีกจานที่พาเพื่อนไปกินแล้วติดใจทุกราย   บวบเขาหวานสนิทเชียวค่ะ
กุ้งก็สดมาก  
ก้ามกุ้งแกะมาให้เสร็จ
นึกถึงตอนเด็กๆ  กุ้งเผามีก้ามสีน้ำเงิน ต้องทุบให้แตกแล้วแกะเนื้อมากิน  ร้านนี้ ไม่ต้องให้ลูกค้าลำบากแบบนั้น เขามีก้ามกุ้งสดๆหวานๆ แกะมาให้เรียบร้อยเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 18, 19:24
บวบผัดไข่เป็นอาหารโปรดของผมอีกจานหนึ่ง โดยเฉพาะที่ใช้ฝักบวบที่แก่-อ่อนกำลังพอดี และจะต้องด้วยวิธีการหมุนขวั้นตัดเป็นชิ้นๆพอคำ (คล้ายกับการเหลาดินสอด้วยมีด) ก็มีเหตุผลลึกๆอยู่เล็กน้อยกับวิธีการหั่นแบบนี้ว่า เพราะเราสามารถขวั้นให้แต่ละชิ้นมีความสมดุลย์ได้ระหว่างปริมาณของส่วนที่เป็นเปลือกกับส่วนที่เป็นใส้     

ความแก่-อ่อนของฝักบวบที่กำลังพอดีกินนั้น ตามหลักแต่เก่าก่อนนั้น เขาว่าเพียงใช้ด้ามตะเกียบลูบคมออกได้หมดก็ถือว่ากำลังดี  ในปัจจุบันนี้ ฝักบวบที่นำมาขายดูจะต้องใช้มีดปาดคมออกเป็นส่วนมากและอาจจะถึงขนาดต้องปอกเปลือกอีกด้วย ซึ่งยิ่งถ้าหากใช้วิธีการหั่นเป็นท่อนๆหรือผ่าครึ่งท่อนด้วยแล้ว ก็มีโอกาสจะจะต้องขบเม็ดและรู้สึกถึงใยบวบอีกด้วย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 18, 19:35
มีคนบอกว่าร้านนี้ปลูกบวบเอง   ถ้าใช่ เขาก็คงเลือกพันธุ์ และเลือกบวบที่กำลังดี ไม่อ่อนแก่เกินไป 
บวบเขาอร่อยจริงๆค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 18, 19:39
อีกอย่างที่อร่อยมาก คือปลาค้าว(หรือปลาเค้า)ทอดน้ำปลา
ในกรุงเทพไม่ค่อยมีปลาชนิดนี้     ที่ร้านนี้มีประจำ  ต้องกินตอนร้อนๆจะอร่อยมากค่ะ ถ้าเอากลับมาบ้าน มันจะเหนียวตอนเย็นชืด   ไม่อร่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 18, 19:59
  ถ้าคุณตั้งชอบของเผ็ด   ต้องสั่งแกงคั่วปลากด ขึ้นชื่อมากค่ะ    เผ็ดแบบไทยแท้ที่คนไม่ชอบเผ็ด จะไม่กล้าแตะเลย
  แกงคั่วเป็นของหายากเสียแล้วสมัยนี้   ส่วนใหญ่จะรู้จักแต่แกงเขียวหวาน  รองลงมาคือแกงเผ็ด   แกงคั่วเป็นยังไงเด็กๆไม่รู้จัก
   ภาพแกงคั่วปลากดหายาก  ไปขอยืมมาจากครัวบ้านพิมค่ะ

 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 18, 20:24
กุ้งกระเทียมพริกไทย กล่าวถึงแล้วน้ำลายไหล

กุ้งตัวเล็กที่สามารถแกะเปลือกได้มักจะถูกนำเอาไปผัดกับผัก กุ้งตัวขนาดกลางๆมักจะเอาไปทอดกระเทียมพริกไทยและทำต้มยำ กุ้งตัวใหญ่มักจะถูกเอาไปเผา

กุ้งทอดกระเทียมพริกไทยดูจะเป็นของที่ทุกคนที่ได้กลิ่นแล้วจะต้องนึกถึงข้าวสวยสักจานหนึ่ง นึกถึงการตักมาคลุกกับข้าว เหยาะด้วยน้ำปลาพริกขี้หนูกับหอมซอยนิดหน่อยก่อนตักเข้าปาก   จะทำให้อร่อยก็แสนจะง่าย ก็เพียงเอาเกลือทะเลเม็ดใส่ลงครก ปอกกระเทียมไทยหรือเพียงเด็ดก้นและจุกแหลมของแต่ละเม็ดใส่ลงไป ใส่รากผักชีล้างสะอาดหั้นเป็นข้อๆใส่ลงไป เอาเม็ดพริกไทยขาวใส่ลงไป โขลกให้แหลกหยาบๆค่อนไปทางละเอียด เอากุ้งที่ปอกเปลือกแล้วลงไปคลุก ทิ้งไว้สักพักใหญ่  เอากะทะตั้งไฟร้อนปานกลาง ใส่น้ำมันหมูลงไปในปริมาณมากน้อยตามที่คิดว่าเมื่อทำเสร็จแล้วจะให้กุ้งกระเทียมมีน้ำมันสำหรัลคลุกข้าวเพียงใด เอากุ้งลง ทอดให้สุก ตักใส่จาน เท่านั้นเอง  ก็จะได้ทั้งกลิ่นหอมและรสชาติ ทั้งจากเครื่อง จากกุ้ง และจากเกลือทะเล แล้วก็เสริมความหอมเข้าไปอีกด้วยน้ำปลาหอมซอย พริกขี้หนูสวน (จะใส่มะนาวบีบลงไปด้วยหรือไม่ก็ตามแต่จะชอบ)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 18, 21:17
สำหรับกุ้งเผาที่ใช้กุ้งตัวใหญ่นั้น  ก็แน่นอนว่าเป็นกุ้งแม่น้ำ แต่ยังมีความสงสัยอยู่ว่าจะเป็นกุ้งแม่น้ำของบ้านเราหรือเป็นกุ้งแม่น้ำจากพม่า (กุ้งแม่น้ำของพม่านี้มีการนำเข้ามานานแล้ว)  กุ้งของแม่น้ำแม่กลองนั้น ผมได้เคยลิ้มรสในช่วง พ.ศ. 2520+/- ที่ อ.ท่าเรือ ของ จ.กาญจนบุรี ในยุคที่สภาพของระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำแควใหญ่และแควน้อยยังคงสภาพธรรมชาติยังยังไม่ถูกทำลายไปมากนัก กระนัี้นก็ตามก็ยังค่อนข้างจะหายาก และดูจะพบได้มากในน้ำแม่กลองช่วง อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม จนถึงพื้นที่ตัวเมืองของ จ.ราชบุรี     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 18, 21:31
ดูจากปริมาณกุ้งที่นำมาส่งทางร้านทุกวัน    แม้ว่ามีจำกัด หมดแล้วหมดเลยในแต่ละวัน
คิดว่าน่าจะเป็นกุ้งแม่น้ำจากฟาร์มกุ้งค่ะ  แต่อยู่ตรงไหนของบ้านโป่ง หรือกาญจนบุรี ก็ไม่ทราบ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 18, 17:59
ก็คงเป็นเช่นนั้นครับ หากตัวใหญ่ผิดปกติไปจากกลุ่ม ก็ดูจะถูกจับแยกไปเรียกว่าเป็นกุ้งแม่น้ำของจริง ขายได้ในอีกราคาหนึ่งที่สูงมาก

กุ้งที่จับได้ในแม่น้ำธรรมชาตินั้น ในปัจจุบันนี้ก็ยังพอมีนะครับ แต่น้อยมาก   ที่พอจะพูดถึงได้ก็น่าจะเป็นในพื้นที่ตามชายฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาย่านบางปะอิน   

ไทยเรามีพื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี .. กระทั่งในภาคอิสาน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 18, 18:21
กุ้งก้ามกรามเผา   เห็นที่ไหนก็น้ำลายไหลที่นั่นค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 18, 19:27
จาก อ.บ้านโป่ง สู่ จ.กาญจนบุรี ตามถนนแสงชูโตที่ตัดถนนเลาะไปตามแม่น้ำแม่กลองจนถึงตัวเมืองกาญจนบุรี (ที่ซึ่งเป็นจุดพบกันของแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อย) ความแตกต่างของอาหารที่พอจะเห็นได้ก็คือ นิยมทำต้มยำปลาใส่ใบผักชีฝรั่งและพริกแห้งทอด และใช้ปลาท้องถิ่น เช่น ปลากด ปลาคัง ปลาเค้า ปลายี่สก ปลาตะโกก

ของอร่อยประจำถิ่นช่วงบ้านโป่ง-กาญจนบุรี น่าจะเป็นปลารากกล้วยแดดเดียวทอดกรอบ   แท้จริงแล้วปลารากกล้วยนี้พบได้ทั่วไปในทุกแม่น้ำของไทยที่มีพื้นท้องน้ำเป็นทราย เป็นของอร่อยที่ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกัน   กระนั้น คนที่รู้จักกินก็ยังอาจจะถูกแม่ค้าหลอกเอาปลาหลดตัวเล็กๆที่ทอดสุกกรอบแล้วมาขายให้    ปลารากกล้วยทอดกรอบนี้เป็นของเคียงที่เข้าคู่กันได้ดีกับแกงส้ม   ปลาหลดแดดเดียวก็เอามาทำแกงส้มได้อร่อยอยู่ไม่เบา    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 18, 10:31
ขอแนะนำปลาสร้อยทอดค่ะ   เดาว่าแม่ครัวคงตั้งน้ำมันให้ร้อนจัด แล้วใส่ปลาสร้อยตัวเล็กๆลงไป  ตักขึ้นมากรอบมาก กินได้ทั้งตัว  ไม่ต้องแกะก้างหรือหัวออก   โรยเกลือหน่อยๆ   คนกินเบียร์นิยมเอามาแกล้มเบียร์ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ค. 18, 20:17
อร่อยครับ 

ทำให้นึกถึงน้ำปลาที่ทำด้วยปลาสร้อย นครปฐมก็มีชาวบ้านเขาทำกันเช่นกัน เคยได้รับเป็นของฝาก หอมอร่อยรสชาติดีทีเดียวเลยครับ แต่ไม่เคยเห็นมีการวางขาย ก็เลยเดาเอาว่าชาวบ้านเขาทำเอาไว้กินเองและแจกจ่ายกันในหมู่ญาติโยมเท่านั้น

ปลาสร้อยพบมากในฤดูน้ำหลากท่วมทุ่งนาข้าว ปลาซิวก็พบมากพร้อมๆกันไปเช่นกัน  ปลาพวกนี้จะพบอยู่รวมกันกันเป็นกลุ่มๆ จับได้ง่ายด้วยวิธีการยกยอ(จ๋ำ ในภาษาเหนือ)สำหรับในบริเวณที่น้ำลึก หรือการใช้แซะในพื้นที่น้ำตื้นๆ(ระดับไม่เกินครึ่งน่อง)    การยกยอหรือแซะครั้งหนึ่งๆมักจะได้สัตว์น้ำตัวเล็กๆหลายชนิดปนกัน เช่น ปลาสร้อย ปลาซิว กุ้งฝอย ปลากระดี่ แมงกระชอน   จับได้แล้วก็ใส่ข้อง (น่าจะสะกด ค่อง เพื่อจะได้ต่างไปจาก ข้อง ที่ต้องมีคำอื่นนำ เช่น เกี่ยวข้อง หรือคำอื่นตามหลัง เช่น ข้องจิต)  ซึ่งเมื่อพูดคุยถามไถ่กันว่าได้อะไรมาบ้าง ก็มักจะใช้คำตอบว่า ปลาซิวปลาสร้อย

แหล่งทำน้ำปลาด้วยปลาสร้อยที่สำคัญคือพื้นที่ของ จ.พิษณุโลกตอนล่าง โดยเฉพาะในย่าน อ.บางระกำ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 18, 10:44
น้ำปลาทำด้วยปลาสร้อย ยังมีโฆษณาขายเป็นสินค้าโอท็อป  ในจังหวัดอื่น  ในนครปฐมยังไม่เห็นค่ะ
ปลาสร้อยทำน้ำปลาได้อร่อยจริงๆ  ไม่รู้ว่าปลาสร้อยหายากหรือยังไง  เลยไม่ค่อยได้ยินกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ค. 18, 20:27
ผมไม่คิดว่าปลาสร้อยในพื้นที่ของลุ่มเจ้าพระยานั้นจะหายาก   คิดว่าก็ยังมีอยู่ในปริมาณที่มากและผู้คนในท้องถิ่นก็ยังจับกันอยู่ เพียงแต่เป็นการจับบนพื้นฐานของการคงไว้ซึ่งวิถีการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมที่ตกทอดต่อๆกันมา ตั้งอยู่บนความพอเพียงตามกำลังของตนและมีความสุขในวิถีชีวิตแบบเพียงพอ ก็คือได้มากพอสำหรับความต้องการส่วนตน แบ่งปันและแลกเปลี่ยนสำหรับส่วนที่เกินพอ

ปลาซิวปลาสร้อยหรือปลาเล็กปลาน้อยที่จับได้ (แต่คัดแยกออกเป็นพวกๆได้ลำบาก) หากได้มาน้อย พอที่จะทำอาหารได้มื้อหนึ่ง มักจะถูกเอาไปทำแอบหรือหมกปลาเล็กปลาน้อย แต่หากได้มาในปริมาณมากก็มักจะถูกน้ำเอาไปหมักทำเป็นปลาร้า ซึ่งหากนำไปขายจะได้ราคาที่ต่ำกว่าปลาร้าปลากระดี่  เดี๋ยวนี้ในตลาดชุมชนจะมีปลาร้าบดละเอียดซึ่งก็จะเป็นปลาร้าที่ทำด้วยปลาเล็กปลาน้อย

ผมไม่คุ้นเคยมากนักกับแอบหรือหมก มีแต่เพียงข้องสังเกตว่าเครื่องน้ำพริกที่ใช้จะต่างไปจากครื่องน้ำพริกแกงเผ็ดตามปกติตรงที่มีการใช้พริกสดด้วย บางสูตรก็ใส่รากผักชีไทย (coriander root) และใบผักชีลาวหรือผักชีฝอย (Dill)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 18, 21:03
พูดถึงแอบหรือหมกแล้วจนปัญญาค่ะ   ไม่คุ้นกับอาหารสองอย่างนี้  เลยต่อไม่ถูก
ได้แต่รูปมาฝาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 18, 19:35
ผมมีข้อสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งครับ ว่า หากเราลากเส้นในแนวประมาณเหนือ-ใต้ผ่านตัวจังหวัดนครปฐม เส้นนี้ดูคล้ายกับจะเป็นเส้นแบ่งกลายๆทางด้านสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์  ซึ่งลักษณะในองค์รวมทางภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ และทางธรณีวิทยาก็ดูจะมีความเป็นจำเพาะของตนต่างกันออกไปเช่นกัน   

เป็นเพียงข้อสังเกตของผมที่ได้มาจากการเดินทางทำงานอยู่นานหลายปีในพื้นที่ด้านตะวันตกของไทยเท่านั้น ครับ 

พื้นที่ด้านตะวันตกของเส้น(แบ่ง)นี้ เป็นพื้นที่ๆมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายกลุ่มทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ซึ่งผู้คนเหล่านั้นได้ยอมรับและปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับคนไทยในที่ราบลุ่มภาคกลาง  ก็คงจะเป็นต้นเหตุให้อาหารชื่อเดียวกัน มีหน้าตาคล้ายๆกัน จะมีวิธีการทำและการใช้เครื่องปรุงที่มีความแตกต่างกัน จนทำให้อาหารในแต่ละชุมชนมีความอร่อยแตกต่างกัน

ก็เพียงอยากจะกล่าวว่า ในพื้นที่ชุมชนต่างๆตั้งแต่บ้านโป่งไปกาญจนบุรี จะแยกขึ้นเหนือไปทาง อ.บ่อพลอย ยาวไปจนถึง อ.บ้านไร่ ของ จ.อุทัยธานี หรือจะแยกลงใต้ไปทาง อ.จอมบึง ของ จ.ราชบุรี   อาหารพื้นบ้านหรือแม้กระทั่งอาหารไทย จีน ที่เราคุ้นเคยกันต่างๆนั้น มักจะมีอะไรบางอย่างที่ดูต่างไปจากปกติ แต่ต่างก็มีความอร่อยเด่นเฉพาะตัว     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 18, 21:35
 รู้แต่ว่าเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน   คนจีนที่อพยพเข้ามาในสยาม ได้รับสิทธิ์ให้ไปจับจองที่ดินทำมาหากิน   แถวนครปฐม เรื่อยไปถึงบ้านโป่ง โพธาราม ซึ่งยังมีที่ดินว่างเปล่าอยู่มากมาย     แต่ต้องดิ้นรนทำมาหากินเอง  ไม่มีความช่วยเหลือจากภาครัฐมากไปกว่าให้ที่ดินฟรี
  คนจีนเหล่านี้ตั้งหลักปักฐานมีลูกหลานอยู่จนทุกวันนี้   ในนครปฐม ถ้าออกไปนอกเมืองจะเห็นศาลเจ้าตั้งอยู่ตามหมู่บ้านเล็กๆทั่วไป    อาหารการกินขึ้นชื่อของนครปฐม มาจากฟาร์มหมูซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของคนจีน      ขาหมู  หมูแดง หมูกรอบจึงกลายมาเป็นอาหารขึ้นหน้าขึ้นตาของจังหวัด 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 22 ก.ค. 18, 14:42
ผมไปพบเรื่องของห่อหมกเพิ่มเติม ในพันทิบ จึงขอโยงเรื่องมาที่นี่ครับ

ทำรายงานเรื่อง "ห่อหมก" ค่ะ ไปหาข้อมูลจากที่ไหนดีค่ะ (https://pantip.com/topic/30698367)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 18, 18:14
ห่อหมกของไทยน่าจะเป็นอาหารที่เทียบเคียงได้กับอาหารประเภทอบของฝรั่ง 

ของฝรั่งนั้นเขาใช้ประโยชน์จากเตาที่ต้องจุดด้วยไม้ฟืนหรือถ่านหินเพื่อให้ความอบอุ่นภายในบ้าน เตาแบบชาวบ้านนี้จะมีด้านบนที่ปรับให้สามารถใช้เป็นเตาทำอาหารได้ มีส่วนด้านข้างที่ปรับขยายออกมาเป็นเตาอบ เป็นการใช้ความร้อนให้คุ้มค่ามากที่สุด สมัยนี้ก็ต้องเรียกว่ารู้จักการอนุรักษ์พลังงาน  อาหารที่ทำด้วยวิธีการอบของเขาก็เลยมีหลากหลาย

ของเราเป็นเมืองร้อน เราจุดเตาไฟครั้งหนึ่งๆก็เพื่อใช้ประโยชน์ในการหุงหาอาหาร กระนั้นเราก็ยังกระทำในลักษณะของการอนุรักษ์พลังงาน เราเขี่ยเอาเศษถ่านและขี้เถ้าร้อนๆที่ปะปนกันอยู่ออกมากองไว้ข้างเตา เพื่อใช้ประโยชในการทำอาหารอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกเหนือไปจากแบบที่ต้องตั้งอยู่เหนือกองไฟ เช่นพวกอาหารที่เรียกว่าหมกหรือแอบที่ใช้ใบตองห่อ   พวกเครื่องปรุงที่ต้องเผาก่อน เช่นการเผาหอม เผากระเทียม หรือกะปิ  พวกที่ต้องอังความร้อนเพื่อให้สุกหรือให้หอม เช่นการดงข้าว เผาพริกสด อุ่นปลาย่าง  รวมทั้งการแขวนธัญญาหารและเนื้อสัตว์อยู่เหนือเตาไฟ เพื่อรมไอร้อนและควันให้แห้งและไล่แมลงที่จะมาเจาะกิน   หากเป็นช่วงเวลาที่มีแมงหรือยุงเยอะก็จะทำให้กองไฟมีควันมากหน่อยเพื่อไล่ยุงและแมลงต่างๆไม่ให้มากวน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 18, 19:04
ก็ไม่น่าจะแปลกนะครับ ที่อาหารไทยที่เรารู้สึกว่าหอมอร่อยๆนั้นจึงยังคงมีอยู่ทั่วไปตามท้องถิ่นต่างๆใน ตจว.  เครื่องปรุงหลายๆอย่างของอาหารไทยจะต้องสุกแบบระอุถึงใจกลางของเนื้อใน ซึ่งหากใช้เตาแกสและใจไม่เย็นพอ เราก็จะได้ของแบบสุกไม่เสมอกัน   การใช้เตาถ่านกับเตาแกสในการการเผามะเขือยาว เผาพริกสด หอมแดง กระเทียม ฝักเพกา(ลิ้นฟ้า หรือมะริดไม้) เป็นอาทิเหล่านี้ ให้กลิ่นหอม รส และสัมผัสที่แตกต่างกันมากเลยทีเดียว และก็จะต่างกันขึ้นไปอีกเมื่อใช้ใบตองห่อก่อนเผา

เร่เข้าไปเลยนะครับ หากเห็นแม่ค้าผู้ใดเอาใบตองรองก้นตะแกรงและใช้ปิดของที่กำลังย่างอยู่นั้น อาหารนั้นจะมีกลิ่นหอมชวนกินแน่ๆ ส่วนรสจะเป็นเช่นใดนั้นก็สุดแท้แต่ปากของเรา ซึ่งโดยปกติแล้วจะอร่อยครับ   ในปัจจุบันนี้มีแม่ค้าบางเจ้าใช้ Aluminium foil ปิดทับ  ก็พอได้อยู่ อย่างน้อยการทำอาหารนั้นๆก็น่าจะเป็นมรดกตกทอดมาทั้งฝีมือและวิธีการที่ทำมาแต่โบราณ

พูดแล้วก็นึกถึงซี่โครงหมูเป็นแถบหมักด้วยเกลือกับพริกไทย จะแถมด้วยใบ Rosemary สดหรือแห้งก็ได้ เก็บไว้ในตู้เย็น 3-4 วัน แล้วเอาออกมาวางจนได้อุณหภูมิห้อง จากนั้นเอามาวางย่างบนเตาถ่านไฟอ่อน ปิดด้วยใบตอง พอใกล้สุกก็ใส่กาบมะพร้าวแห้งลงไปในเตาให้ได้กลิ่นเหมือนรมควัม ...แฮ่ม 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 18, 19:30
ซี่โครงหมูย่าง ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 18, 19:34
อีกรูป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 18, 19:36
หมูย่างของไทยกับหมูย่างบาบิคิวของฝรั่งไม่เหมือนกัน   คุณตั้งคงทำเป็นทั้งสองอย่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 18, 20:17
ฉุกคิดไปถึงเรื่องของหมูกรอบ  

โดยทั่วๆไปแล้ว คำว่า หมูกรอบ   ผู้คนต่างๆมักจะนึกถึงหมูสามชั้นที่มีหนังกรอบคล้ายกับที่แขวนขายอยู่ในตู้แขวนโชว์ของร้านข้าวหมูแดง-หมูกรอบ   หมูย่างทั้งตัวแบบหนังกรอบของนครปฐมและของเมืองตรังนั้น เมื่อถูกตัดแบ่งและสับเป็นชิ้นๆพอคำ ก็จะมีลักษณะคล้ายกับหมูกรอบของร้านขายข้าวหมูแดง-หมูกรอบ  หมูย่างก็เลยมักจะถูกเรียกว่าหมูกรอบ  

คำหนึ่ง..หมูกรอบ..หมายถึงลักษณะของอาหาร อีกคำหนึ่ง..หมูย่าง..หมายถึงวิธีการทำ  ทั้งสองให้ภาพของหมูที่มีหนังกรอบเหมือนกัน แต่มีความต่างกันทั้งวิธีการทำและการกิน (น้ำจิ้ม)    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 18, 14:39
หมูแดง หมูกรอบ(หรือหมูย่าง)หาได้ง่ายตามร้ายอาหารในนครปฐม  แต่อาหารอีกอย่างที่ดังมาก แต่หาได้ยากกว่า อยู่แต่เฉพาะในภัตตาคาร  ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้เห็นแล้ว คือ หมูหัน ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 18, 19:07
ขอย้อนกลับไปนิดนึงครับ

หมูย่างของไทยกับหมูย่างบาบิคิวของฝรั่งไม่เหมือนกัน  ........

ครับ ไม่เหมือนกัน  แล้วก็ยังมีอะไรที่ต่างกันไปอย่างมาก เรียกว่ากลับทางหรือหัวกลับหางกันได้เลย   

อาหารไทยเกือบจะทุกอย่างจะเน้นไปที่รสจากเครื่องปรุงและน้ำแกงเป็นหลัก เน้นรองลงมาที่พืชผักที่ใส่รวมลงไป มิได้เน้นที่ตัวเนื้อเนื้อสัตว์     ต่างไปจากอาหารฝรั่งที่จะเน้นไปที่ตัวเนื้อสัตว์เป็นหลัก (ความสุกดิบ ความสวยงาม texture รส..) เน้นรองลงมาที่ตัวน้ำราด (sauce) พืชผักเป็นเรื่องของความงามและแสดงถึงความสดใหม่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 18, 19:54
ภาพซ้าย เป็นซี่โครงหมูบาบิคิว ส่วนภาพขวาเป็นบาบิคิวหมูสไตล์ฟิลิปปินส์  ซึ่งน่าจะขึ้นชื่อเพราะไปค้นบาบิคิวหมู เจอบาบิคิวหมูพี่ปินขึ้นมาเต็มไปหมด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 18, 20:07
การย่างของไทยตรงกับคำว่า grill ของฝรั่ง คือ ย่างให้สุกเหนือเตาไฟร้อนๆ   ฝรั่ง(อเมริกัน) มีอีกคำ ว่า Barbecue ซึ่งเป็นการย่างให้สุกเหนือไฟอ่อน ซึ่งจะมีการปิดฝาครอบให้ความร้อนระอุไปทั่ว (คล้ายเตาอบ)  

หมูย่างของไทยเราใช้วิธีการย่างแบบ grill แต่ใช้ไฟอ่อนและใช้วิธีการหาอะไรมาปิดทับ เสมือนกับการใช้ฝาครอบแบบของฝรั่ง  ซึ่งหากเป็นการย่างแบบทั้งตัว เราก็ใช้วิธีหมุนสิ่งที่จะย่างเหนือเตาไฟแทนการที่จะต้องใช้อะไรมาครอบปิดเพื่อให้ความร้อนระอุ

การย่างแบบ grill นั้น ส่วนมากจะต้องมีการหมักเนื้อสัตว์ระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะนำมาทำการย่าง เพื่อให้เนื้อได้มีการย่อยสลายตัวเองไปบ้าง จะได้ไม่เหนียวจนเกินไป  ส่วนการย่างแบบ Barbecue นั้น ก็มีการหมักเช่นกันแต่มักจะเป็นระยะเวลาสั้นๆเพื่อให้เครื่องปรุงรสได้มีโอกาสซึมลงไปในเนื้อสัตว์บ้าง  

grill ใช้เวลาสั้น แต่ barbecue จะใช้เวลานาน โดยเฉพาะกับชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ที่มีความเหนียว  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 18, 20:53
ซี่โครงหมูย่างของเราจะมีลักษณะออกไปทางการย่างแห้งแบบเนื้อในฉ่ำ คือออกไปทางการรมควัน   ของฝรั่งนิยมกันอยู่ 2 แบบ คือแบบแห้งคล้ายๆของเรา และแบบแฉะไปด้วย bbq sauce   

เท่าที่พอจะรู้อยู่บ้างนะครับ  - แบบย่างแห้งออกไปทางการรมควันนั้น ได้มาจากการหมักด้วยเครื่องไว้ก่อนสักระยะหนึ่งแล้วนำมาย่างแบบ grill  กับอีกแบบหนึ่งได้มาจากการลูบไล้ให้ทั่วด้วยเครื่องปรุงแห้งๆแล้วนำมาย่างแบบ bbq    - สำหรับการย่างแบบแฉะไปด้วย sauce นั้น เป็นการทำแบบผสมผสานระหว่างการ grill และ barbecue โดยมีการทา sauce ตลอดการย่างให้สุก

เห็นซี่โครงหมูในตลาดสดหรือในซุปเปอร์มาร์เก็ต ชิ้นสวยๆทั้งแถบ มีเนื้อติดอยู่มากหน่อย  ก็นึกไปเลยนะครับว่าจะเอามาทำกินแบบไทยหรือแบบเทศ แบบแห้งฉ่ำหรือแบบแฉะดี   ตั้งเตาหลังบ้านตอนเย็น มะรุมมะตุ้มกันในระหว่างลูกหลาน เพลิดเพลินดีครับ  หากจะไปหากินในร้านอาหารซึ่งส่วนมากจะเป็นแบบแฉะ แต่หากอยากจะกินแบบแห้งก็คงจะต้องถามก่อนจะเข้าร้าน จะใช้คำว่า Tennessee style ก็น่าพอจะสื่อสารกันได้ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 18, 21:06
พาลไปนึกถึง BBQ Rib ซี่โครงวัว ร้าน Franchise ในเท็กซัส  เต็มไปด้วยเนื้อ ขนาดซี่เดียวอิ่ม กินกับข้าวโพดต้ม  อร่อยจริงๆครับ

ก็ต้องระวังอยู่นิดนึง อาจจะเลือกร้านผิด ก็อาจจะได้ซี่โครงที่ทำให้สุกก่อนที่จะนำไปย่างเพื่อให้ได้กลิ่นใหม้  ยังไงๆก็ไม่ได้กลิ่นและรสเหมือนกับการย่างให้สุกด้วยไฟจากเตาจริงๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 18, 21:19
สมัยที่ยังกินเนื้อวัวอยู่  บาบิคิวเนื้อเป็นเนื้อย่างที่อร่อยมาก  อร่อยกว่าบาบิคิวหมู
แต่ไม่ชอบซอสแฉะๆที่ผสม หรือราดในเนื้อวัวเลยค่ะ  ชอบแห้งๆมากกว่า
นอกจากแห้งแล้วก็หอมไหม้ๆ เกรียมๆ  กินกับผัก อย่างพริกหวาน และมีผลไม้อย่างสับปะรด
ช่วยให้หายเลี่ยนจากส่วนติดมันของเนื้อได้มาก 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 18, 19:02
ครับ  อร่อยแน่ๆในสไตล์ shish kabab แยกส่วน 

เลยต้องแวะไปเรื่องเนื้อแกะบ้าง   ผมว่า kebab ที่ใช้เนื้อแกะทำ ไม่ว่าจะเป็นแบบเสียบเหล็กย่าง (skewers) หรือแบบหั่นบางๆแล้วห่อด้วยแผ่นโรตี ล้วนแต่มีความอร่อยมากกว่าแบบที่ใช้เนื้อไก่หรือเนื้อวัว

เนื้อแกะที่นำมาย่างแบบ grill นั้น ส่วนที่นำมาทำได้อร่อยที่สุดจะเป็นส่วนซี่โครงติดเนื้อที่เราเรียกรวมๆว่า rack of lamb มาเป็นก้อน เห็นกระดูกซี่โครงโผล่ออกมาเป็นแถวประมาณ 4-6 ซี่  หรือจะซื้อแบบที่เขาตัดแยกเป็นซี่โครงติดเนื้อแต่ละซี่แล้วก็ได้ (เรียกว่า chop ?)  ได้มาแล้วก็แยกออกเป็นชิ้น ทำง่ายๆด้วยการโรยเกลือ พริกไทย ตามด้วยผงลูกจันทน์ จะทิ้งให้มันหมักสักพัก หรือจะเอาขึ้นเตาย่างเลยก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีกลิ่นขิ่วเลยครับ ย่างให้สุกขนาด medium rare ถึง medium done เท่านั้น   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 18, 19:18
lamb chop


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 18, 19:20
เนื้อแกะที่เรียกว่า lamb จะหมายถึงเนื้อของแกะอายุน้อย เนื้อจะไม่เหนียว และกลิ่นก็จะไม่แรง  แต่หากเรียกว่า mutton จะหมายถึงเนื้อชองแกะอายุมาก เนื้อค่อนข้างเหนียวและกลิ่นจะแรง    

แล้วก็มีที่ทำให้เราสับสนได้กับคำว่า mutton ที่ในพื้นที่ย่านเอเซียแถบเราหมายถึงเนื้อแพะ  แกงกะหรี่แพะก็เลยกลายเป็น curry mutton    

ก็มีอีกคำหนึ่งว่า spring lamb ซึ่งก็คือแกะวัยละอ่อนนั่นเอง  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 18, 19:27
รูปข้างล่างนี้คือแกงน้ำข้นชื่อ Railway Mutton Curry   ดูไม่ออกว่าแกะหรือแพะค่ะ  เพราะเขาใช้คำว่า mutton ตลอด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 18, 19:47
อาจารย์ส่งรูปมาแบบน่ากินมาให้ชวนน้ำลายไหล

รูปทางซ้ายมือใน ค.ห.ของอาจารย์ เขาใช้ใบ Thyme สดใส่มาด้วย  

การหมักเนื้อแกะตามปกติทั่วไปจะมีเครื่องปรุงพื้นฐานอยู่ไม่กี่อย่าง นอกจากเกลือและพริกไทยดำแล้ว ก็มักจะเลือกใช้ ใบ rosemary, ใบ thyme, ใบ sage, ใบสะระแหน่, กระเทียม, mustard, มะนาว, ไวน์ขาวหรือไวน์แดง   สำหรับการใช้ผงป่นลูกจันทน์นั้นไม่ค่อยจะมี

ในปัจจุบันนี้ เราสามารถปลูกต้น Rosemary ทั้งพันธุ์ใบเล็กและใบใหญ่ได้เองที่บ้าน อาจจะต้องดูแลเอาใจใส่มากหน่อย  ต้น Thyme ก็ปลูกเองได้ อันนี้ดูแลง่ายมาก ขอให้มีน้ำดีหน่อยภายใต้แดดรำไรก็ได้แล้ว   ใบ Sage ก็ปลุกได้ง่ายๆ ลงทุนซื้อใบสดที่มีขายในซุปเปอร์ฯ เอามาปักชำก็ขึ้นแล้ว    

ใบ rosemary ฝรั่งนิยมใช้กับพวกเนื้อสัตว์สี่เท้าที่ต้องย่างหรืออบ   ใบ thyme นิยมใช้กับพวกอาหารปลา  และ sage นิยมใช้กับพวกสัตว์ปีก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 18, 20:23
รูปข้างล่างนี้คือแกงน้ำข้นชื่อ Railway Mutton Curry   ดูไม่ออกว่าแกะหรือแพะค่ะ  เพราะเขาใช้คำว่า mutton ตลอด

เดาเอานะครับ ดูจากลักษณะของกระดูกแล้ว น่าจะเป็นแพะครับ   กระดูกแกะมักจะมีขนาดประมาณนิ้วนาง ส่วนกระดูกแพะจะมีขนาดประมาณนิ้วก้อย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 18, 20:58
เนื้อ mutton ที่เป็นแกะนั้น ก็มีการเอามาทำเป็นแกงแบบแขกเช่นกัน หากไม่เห็นกระดูกเลยก็เดาไม่ออกเลยว่าเป็นแพะหรือเป็นแกะ

ฝรั่งนิยมเอา mutton มาทำอาหารประเภททำให้สุกแบบช้าๆ เช่น stew และใส้ pie   แต่เคยมีประสบการณ์ในออสเตรเลียเมื่อครั้งได้มีโอกาสในช่วงเวลาหนึ่ง ได้สัมผัสกับชีวิตของคนทำงานในอุตสาหกรรมหนักหลายแห่ง   อาหารเช้าของเขาจะมี mutton steak ชิ้นบางๆ หนาประมาณ 1 ซม. ขนาดประมาณฝ่ามือ กับไข่ดาว 2 ฟอง แรกๆก็รู้สึกเหนียว หั่นยาก และมีกลิ่นขิ่วเข้มข้น พอหลายครั้งก็เคยชิน กลายเป็นอร่อยไป

แล้วก็เคยต้องทาน kidney pie ในงานเลี้ยงครั้งหนึ่งในเมืองชนบท  ของทำง่ายแต่ทานยากชะมัดเลย แค่เนื้อแกะและไตแกะสับรวมกันกับหอมใหญ่ ปรุงรสแล้วเอาไปทำเป็นใส้ของ pie แล้วใส่เตาอบให้สุก    ว้าว..ขิ่วขนาดทีเดียวเลยละครับ     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 18, 21:11
kidney pie น่าจะหากินง่ายในอังกฤษ แต่ในอเมริกายังไม่เคยสั่งมากินค่ะ   ไม่รู้ด้วยว่าจะหาได้ในร้านอาหารไหน
เปิดกูเกิ้ลพบคำว่า steak and kidney pie เยอะมาก   อย่างในรูปข้างล่างนี้   พอมีคำว่า steak  ก็สงสัยว่าน่าจะตำรับของอเมริกัน
ใช้เนื้อวัวกับไตเป็นไส้ของพาย    
พายชนิดนี้น่าจะกินเป็นของคาว แบบเดียวกับพายไก่ หรือพายเนื้อ    ไม่รู้รสชาติออกมาเป็นไง แต่พอรู้ว่าอาจได้ของแถมเป็นกลิ่นขิ่ว ก็ไม่อยากลองแล้วละค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 18, 18:39
อยากจะแนะนำ 3-4 เมนูอร่อยๆ แบบไม่ต้องกลัวขิ่ว อาจจะมีกลิ่นนิดๆหรือไม่มีเลย

จานแรกคือ Irish stew   ตั้งแต่ทานมาไม่ว่าจะเป็นร้านใด ไม่ว่าคนทำจะเป็นคนชาติเจ้าของเมนูหรือคนต่างชาติใดๆ จะในประเทศเจ้าของเมนูหรือไม่ก็ตาม ไม่เคยผิดหวังในความอร่อยเลย

จานที่สองคือ Rack of Lamb และ Lamb chop  จานนี้เป็นของมักของฝรั่ง มีราคาค่อนสูงกว่าอาหารทั่วไป แต่ความอร่อยนั้นไม่ค่อยจะแน่นอน ขึ้นอยู่กับสไตล์การทำและครื่องปรุง และทั้งฝีมือของพ่อครัว 

จานที่สามคือ ที่ทำด้วยวิธีการ poaching หรือตุ๋น(?) แบบฝรั่ง  จานนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นเลย ดูจะเป็นจานที่นิยมกันในหมู่ผู้สูงวัย และในถิ่นที่ผู้คนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย (โดยเฉพาะในยุโรป)

จานที่สี่ เป็นแบบไทยแปลง  ก็เอาเนื้อแกะส่วนที่มีราคาย่อมเยาว์มาหั่นเป็นชิ้นๆขนาดประมาณนิ้วก้อย แล้วผัดแบบเมนูไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเครื่องก็มีเพียง หอมใหญ่ เม็ดมะม่วงฯ และพริกแห้งทอด ใช้เกลือช่วยในการปรุงรส ผัดในกระทะร้อน  แรกๆก็ดูจะไม่ค่อยจะกล้าตักกินกัน เดี๋ยวเดียวเองก็เกลี้ยงจานเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 18, 19:18
Irish lamb stew ค่ะ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 18, 19:19
Rack of Lamb


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 18, 19:22
lamb chop


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 18, 19:24
สำหรับ mutton curry นั้น  สำหรับตัวผมเองจะแยกออกเป็นแกงแบบน้ำมาก และแกงแบบข้น  

หากเป็นแกงแบบน้ำมาก ผมชอบกินกับนาน(Naan)ที่ทำใหม่ๆ   ส่วนแกงแบบข้นแห้ง แบบนี้กินกับข้าวสวยจะอร่อยมาก  

แกงทั้งสองลักษณะนี้ จะกินกับโรตีแบบที่ทำขายกันในบ้านเราก็อร่อยได้ไม่น้อย   สำหรับตัวผมก็อาจจะเรื่องมากหน่อย คือจะหาเจ้าที่ทำโรตีได้แบบหนานุ่มและ flakey ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกใช้แป้งแป้งหนัก-แป้งเบาที่เหมาะสม และการตีโรตี  ซึ่งก็มักจะเป็นเจ้าโรตีที่ใช้แป้งนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทางใต้  แถวท่าน้ำวังหลังก็มีอยู่เจ้าหนึ่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 18, 19:27
poaching lamb


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 18, 19:29
naan  คือโรตี หรือคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 18, 20:20
naan มีรูปทรงลักษณะค่อนข้างจะจำเพาะ คือเป็นทรงคล้ายภาพวาดหยดน้ำ ไม่ flakey  ทำให้สุกด้วยวิธีการอบในโอ่ง   

ส่วนโรตีนั้น ผมก็ยังมีความสับสนอยู่ จึงใช้คำว่าโรตีแบบที่ทำขายกันในบ้านเรา  เท่าที่พอจะรู้อยู่บ้างก็คือ โดยพื้นฐานแล้ว โรตีจะมีทรงเป็นแผ่นแบนกลม ทำให้สุกด้วยวิธีการวางอยู่เหนือแผ่นวัสดุที่ร้อน  ที่ทำให้สับสนก็คือ ดูจะมีทั้งทำให้สุกด้วยการใช้น้ำมัน(เนย ...)ทอด แบบไม่ใช้น้ำมัน มีทั้งแบบ flakey และไม่ แล้วก็ยังมีทั้งแบบกรอบแห้งกับแบบนุ่มที่เราคุ้นเคยกันในบ้านเรา   

โดยสรุปก็คือ มีหลากหลายชนิดมาก และก็ยังมีคำที่บ่งบอกชนิดทั้งแบบอยู่หน้าหรือตามหลังคำว่าโรตีอีกด้วย   ฝรั่งเลยนิยมใช้คำว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 18, 20:40
ต่อครับ

ฝรั่งเลยนิยมใช้คำว่า Indian bread   และก็มักจะคาดหมายว่าหากสั่งไปก็จะได้ naan มา   ในขณะที่หากเขาใช้คำว่า roti ก็ดูจะหมายถึงแผ่นแป้งสาลีที่สุก กรอบ แห้ง และมีรอยใหม้เป็นจุดๆหรือเป็นดวงๆ 

ผมเองก็ยังมีความสงสัยอยู่ว่า โรตีใส่นมข้นหวาน-โรยน้ำตาลแบบที่ขายในบ้านเรานี้ จะเป็นเรื่องของความนิยมเฉพาะถิ่นในบ้านเราหรือไม่ 

ในปัจจุบันนี้โรตีที่ขายกันในบ้านเรามีการพัฒนาไปมาก มีใส้หลากหลายชนิด เคยเจอที่แพร่ เขาว่ามีถึง 12 ชนิดเลยทีเดียว   จะกินกันยังไงๆก็ควรจะต้องนึกถึง trans fat กันไว้บ้างนะครับ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 18, 11:22
หน้าตาโรตีแขกและโรตีไทย คนละเรื่องกันเลย     เหมือนอาหารคนละชนิด
ของไทยเราสมบูรณ์กว่า แคลอรี่เยอะกว่า น่ากินกว่าค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 18, 19:30
หายไป ตจว. ครับ

ก็มีเรื่องน่าสนใจอยู่ว่า คนที่ทำโรตีขายเหล่านั้น ต่างก็เป็นผู้สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมในเรื่องของอาหารการกินต่างๆกัน แต่เมื่อมาทำโรตีขายในไทย ต่างก็ทำโรตีออกมาในรูปแบบเดียวกัน คือ ต้องทอดด้วยน้ำมัน ซึ่งสมัยก่อนใช้น้ำมันถั่วหรือน้ำมันบัว แต่ในปัจจุบันใช้น้ำมันพืช  แล้วก็ตามด้วย Margarine เพื่อให้ได้กลิ่นหอมของเนย (?)    ทั้งนี้ หากบอกว่าจะซื้อโรตี ก็จะได้โรตีที่มีการราดด้วยนมข้นหวาน โรยด้วยน้ำตาลทรายขาว แล้วม้วนกระดาษเป็นแท่งกลม เป็นมาตรฐานโดยทั่วไป   เว้นแต่จะสั่งเป็นอื่นใด เช่น เอาโรตีเปล่าๆ ใส่นมแต่ไม่ใส่น้ำตาล ใส่ไข่ด้วย เอาโรตีกล้วยหอม .....อะไรๆในทำนองนี้  แล้วก็ดูจะพบเห็นได้ในเมืองไทยเท่านั้น

ผมก็เลยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ฤๅจะเป็นอีกหนึ่ง street foods ในไทยที่เป็นอาหารนานาชาติแต่เต็มไปด้วยความเป็นไทย (Thainess  ;D)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 18, 20:05
อาหารของชาติหนึ่งเมื่อไปประกอบเพื่อการค้าในอีกชาติหนึ่ง ก็ต้องปรับปรุงรสให้ถูกลิ้นลูกค้า   ไม่งั้นก็ขายไม่ได้ค่ะ
เป็นหลักทั่วไป
อาหารต่างชาติมาอยู่ในไทยก็ต้องปรับรสให้ถูกลิ้นคนไทย     คุณป้าเนื่องเคยเล่าว่าสะเต๊ะลือของอินโดนีเซีย เดิมทำด้วยเนื้อ และปรุงเครื่องเทศรสเผ็ดฉุน    เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทย  สะเต๊ะลือก็เปลี่ยนจากเนื้อเป็นหมู    น้ำจิ้มและเครื่องปรุงต้องลดความเผ็ดร้อนลง  เหลือกลิ่นนิดหน่อย กลายเป็นของอร่อยสำหรับลิ้นคนไทย

โรตึข้างบนนี้น่าจะถูกจูนให้เข้ากับลิ้นคนไทยที่ชอบอะไรนุ่มๆ หวานๆ ชุ่มฉ่ำ   ไม่แห้งแล้ง   
ทำนองเดียวกับรับขนมปังทาเนยของฝรั่งมากิน ก็ต้องโรยน้ำตาล หรือราดนมข้นลงไป   อร่อยกว่าทาเนยเฉยๆ ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 18, 20:26
นึกอาหารออกอีกอย่างหนึ่งที่ดูจะเป็นของดีประจำถิ่นซึ่งผมไม่รู้ชื่อที่ใช้เรียก มีอยู่พื้นที่ย่านนครปฐม บ้านโป่ง โพธาราม ราชบุรี ซึ่งในปัจจุบันนี้คงหากินได้ยากมากเลยทีเดียว

ข้าวต้มครับ  เป็นแบบใช้ข้าวสวยที่หุงแบบเคี่ยวจนเมล็ดข้าวบานจนถึงที่สุดก่อนที่จะยุ่ยแตกออกไป  ตักใส่ชาม จากนั้นก็ตักเครื่องใส่ตามแต่จะสั่ง   เครื่องต่างๆก็จะเป็นของที่รวนเค็มไว้แล้ว (หั่นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดประมาณครึ่งข้อนิ้วก้อย) อาทิ หมูสามชั้น หมูหวาน เลือดหมู เครื่องในหมู หมูบะช่อ เป็ด ปลากระพง...   โรยด้วยตังฉ่าย หอมซอย ผักชีซอย พริกไทย กระเทียมเจียว  แล้วก็ตักน้ำต้มกระดูก (หมู ไก่ ปลา) ใส่ลงไปพอดีๆ  อร่อยเหลือหลายเลยครับ    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 18, 21:34
......ทำนองเดียวกับรับขนมปังทาเนยของฝรั่งมากิน ก็ต้องโรยน้ำตาล หรือราดนมข้นลงไป   อร่อยกว่าทาเนยเฉยๆ ค่ะ

เห็นภาพแล้วทำให้นึกถึง ขนมปังแบบ french toast หรือ pancake แล้วราดด้วย maple syrup ที่ได้มาจากต้น Maple จริง

ในปัจจุบันนี้เรา (OTOP) มีการผลิต syrup จากน้ำตาลที่ได้จากจั่นมะพร้าวและจั่นตาล มีบ้างเล็กน้อยที่ได้มาจากจั่นต้นชก  ซึ่งทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อได้ไม่ง่ายนัก     syrup เหล่านี้ ส่วนมากจะถูกนำไปจับคู่กับของกินที่เป็นแบบฝรั่ง ซึ่งเข้ากันได้ไม่ดีนักด้วยกลิ่นบ้าง ด้วยความหวานบ้าง ด้วยความเข้มข้นบ้าง ....    หากได้มีการทำการวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าในแง่มุมต่างๆ จะโดยสถาบันอาหารหรือโดยสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งในเชิงวิชาการและในเชิงของการตลาด ก็น่าจะเชื่อได้ว่า syrup จากมะพร้าว ตาล และต้นชก ก็น่าจะเป็นสินค้าที่เข้าไปอยู่ในความนิยมได้ไม่น้อยในผู้คนที่มีความเชื่อในการกินอยู่แบบใกล้ชิดกับธรรมชาติที่ปราศจากการปนเปื้อน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 18, 18:08
จากบ้านโป่งซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กระจายอาหารแห้งและอาหารสดไปยังพื้นที่ด้านตะวันตกของไทย และรวมถึงพม่าผ่านทางเส้นทางพระเจดีย์สามองค์   ก็เข้าตัวเมืองราชบุรี ซึ่งผมไม่รู้ว่าอาหารถิ่นแต่เดิมของราชบุรีมีอะไรบ้าง แต่เมื่อเข้าสู่สมัยการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 2510  ซึ่งมีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนตลอดแนวตั้งแต่เขตกาญจนบุรี เรื่อยลงไปในเขตเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ตอนบน  ราชบุรีก็มีความคึกคักพร้อมๆกันไปด้วยทิศทางของการเป็นเมืองรองในพื้นที่ด้านตะวันตกของไทย

เมื่อเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองและอยู่ไม่ไกลจากฝั่งทะเลมากนัก อาหารส่วนมากก็จึงหนักไปทางสัตว์น้ำ ก็มีอาทิ กุ้งแม่น้ำ แต่ที่ผู้คนนิยมสั่งกินกันก็คือ ต้มยำปลายี่สก ซึ่งกลายไปเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดในภายหลัง (ในสมัยก่อนนั้นปลาเต๋าเต้ยก็ยังหาทานได้)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 18, 18:45
แท้จริงแล้ว ปลายี่สกมิใช่จะมีเฉพาะในแม่น้ำแม่กลองในเขตพื้นที่ของ จ.ราชบุรี เท่านั้น  ปลายี่สกพบได้ทั่วไปในแม่น้ำที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ในทุกแม่น้ำทั่วประเทศ ตัวที่มีขนาดใหญ่ๆมักพบอยู่ในบริเวณพื้นที่ๆเป็นวังน้ำ แควน้อยก็มี แควใหญ่ก็มี ในห้วยขาแข้งก็มี (ตัวขนาดประมาณฝ่ามือ) 

ปลาเกล็ด เมื่อขอดเกล็ดแล้วก็ดูไม่ค่อยจะออกว่าเป็นปลาอะไร ยิ่งเมื่อแล่เอาเนื้อมาทำอาหารแบบรสจัด ก็ยิ่งจะบอกได้ยากมากขึ้นไปอีกว่าเป็นเนื้อของปลาอะไร โดยเฉพาะยิ่งเมื่อปลายี่สกเป็นปลาในตระกูลที่มีวงศาคณาญาติมากมาย เช่น ปลานวลจันทร์ ของจริงกับของปลอมก็เลยแยกกันยากหากไม่คุ้นเคยจริงๆ 

เอาเป็นว่าก็คงต้องลองต้มยำปลายี่สก อย่างน้อยก็ได้รสของต้มยำแซบๆที่ได้พัฒนาขึ้นมาควบคู่ไปกับปลายี่สก   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 18, 18:59
ผมชอบปลาตะโกก ซึ่งเป็นปลาที่มีก้างแซมเนื้อขนาดใหญ่และมีน้อยกว่าของปลาตะเพียน   ปลาตะโกกต้มยำนั้นจะว่าไปก็งั้นๆแหละ เพราะว่าความอร่อยจะไปเด่นอยู่ที่รสของน้ำ  แต่ปลาตะโกกตัวขนาดเล็กกว่าฝ่ามือเล็กน้อย บั้ง (หยาบกว่าปลาตะเพียน) แล้วทอดให้สุกแห้งด้วยน้ำมันร้อนๆนั้น กินกับน้ำปลาบีบมะนาวที่ใส่หอมแดงและพริกขี้หนูซอย สุดยอดจริงๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 18, 19:10
แถมอีกนิดนึง   หากเป็นปลาพลวง ตัวขนาดประมาณฝ่ามือ เอามาเสียบไม้แล้วย่างแบบอังความร้อน (เสียบไว้ข้างเตา) ที่ผมเรียกว่าย่างมอญ  ก็จะได้ของอร่อยที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าปลาอาหยุและปลาอิวาหนะของญี่ปุ่นเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 18, 19:51
ราชบุรีมีร้านอาหารหลายร้าน  มีเมนูปลาทับทิมทอดกระเทียมอร่อยมากค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 18, 17:54
ราชบุรีตั้งอยู่บนแม่น้ำแม่กลองใต้เขื่อนหลายเขื่อน ก็มีเขื่อนเจ้าเณรและเขื่อนท่าทุ่งนาทางแควใหญ่ เขื่อนเขาแหลมทางแควน้อย และเขื่อนวชิราลงกรณ์บนแม่น้ำแม่กลอง (เมื่อแควใหญ่และแควน้อยบรรจบกันแล้วที่หน้าเมืองกาญจนบุรี)  ซึ่งเขื่อนทั้งหมดเหล่านี้ได้ทำให้น้ำเอ่อเข้าไปในห้วยใหญ่ๆหลายห้วยที่เป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาหลายชนิด (อาทิ ห้วยแม่ละมุ่น ห้วยขาแข้ง ห้วยลำเขางู ห้วยบีคลี่ ห้วยรันตี ห้วยเขย่ง ห้วยบ้องตี้...)  ก็จึงไม่แปลกนักที่ราชบุรีจะเป็นสถานที่หนึ่งที่ในตลาดจะมีปลาตัวโตๆจากสายพันธุ์ต่างๆหลายชนิดวางจำหน่าย และมีปลาที่พวกนักบริโภคนิยมถูกเอาไปทำเป็นเมนูประจำร้านอาหารของร้านอาหารต่างๆ       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 18, 18:25
ปลากดคัง ที่นิยมเอามาทำอาหารดูจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ ลวกจิ้ม กับต้มยำ

ลวกจิ้มนั้น หากไปสั่งตามร้านอาหารก็จะได้มาในลักษณะเป็นชิ้นๆวางอยู่บนผักกาดหอม ดูแห้งๆ  หากได้น้ำมันกระเทียมเจียวราดมาเล็กน้อยก็จะได้ทั้งกลิ่นหอมและความชุ่มชื้น และจะดีขึ้นไปอีกหากได้มีต้นอ่อนผักคื่นช่ายหั่นเป็นท่อนวางรองจานมาด้วย   

แต่หากมีโอกาสเหมาะๆนะครับ ซื้อปลาตัวขนาดประมาณท่อนแขน ผ่าท้องเอาเครื่องในออกทิ้งไป เอามาบั้งทั้งตัว นึ่งให้สุก เอาใส่จานมาทั้งตัว ทำน้ำจิ้มตามชอบ จะเป็นแบบน้ำจิ้มที่ทำด้วยน้ำตาล เกลือ น้ำส้มสายชู ใส่ถั่งลิลงบด ก็อร่อยมากแล้ว  สำหรับผักแนมก็จัดหาเอาตามชอบ ซึ่งผักสดดูจะเข้ากันได้ดีมากกว่าผักสุก   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 18, 18:37
ปลาคังลวกจิ้ม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 18, 18:47
สำหรับต้มยำนั้น ก็ทำแบบต้มยำทั่วๆไป จะเป็นแบบน้ำข้นหรือน้ำใสก็ได้ เพียงแต่เมื่อจะใส่เนื้อปลาลงไป ก็ควรจะให้น้ำเดือดจัดแล้วจึงค่อยๆหย่อนลงไปทีละชิ้นๆ เพื่อลดกลิ่นคาว  

สำหรับตัวผมนั้นเรื่องมาก  ตะไคร้ก็ต้องทุบแล้วหั่นเป็นท่อนๆ ใบมะกรูดก็ต้องเป็นแบบกลางอ่อนกลางแก่ เหง้าข่าก็เช่นกัน     ต้มน้ำให้ร้อนจัดแล้วใส่เกลือทะเลให้พอรู้รสว่าเค็มปะแล่มๆ แล้วจึงใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เมื่อน้ำเดือดแล้วจึงค่อยๆใส่เนื้อปลาลงไป   รสของต้มยำจะทำการปรุงในชามแกง ด้วยน้ำปลา พริกขี้หนูทุบ และน้ำมะนาว  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 18, 18:50
ต้มยำปลา


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 18, 19:41
ราชบุรีเป็นแหล่งผลิตอาหารดีๆที่ซ่อนเร้นอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ชื่อที่เราพอจะรู้จักคุ้นๆหูกันอยู่ก็มีอาทิ นมหนองโพ ผลไม้ดำเนินฯ สับปะรดสวนผึ้ง ที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกันก็มีอาทิ ผลิตภัณฑ์ของหัวไชโป็ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้งต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง   และของเฉพาะถิ่นเช่นไก่ย่างบางตาล ไก่ต้มน้ำปลาวัดคูบัว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 18, 19:45
ข้าวหมากบ้านโป่งค่ะ  ขึ้นชื่อมาหลายทศวรรษ
เด็กยุคโตมากับเบเกอรี่ คงไม่รู้จักข้าวหมากแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 18, 20:32
ฮะแอ่ม.. ลืมไปเลยครับ ไม่ค่อยชอบข้าวหมาก แต่ไปชอบผลผลิตที่เป็นน้ำที่เรียกว่าสาโท ซึ่งได้มาจากการหมักข้าวเหนียวกับลูกแป้งที่เกินเวลาของการเป็นข้าวหมาก   



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 18, 18:59
นมหนองโพธิ์ของราชบุรีนั้นเป็นนมวัวสดแท้ๆที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนและกระบวนการทำให้ไขมันกระจายตัวเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำนม หากท่านทั้งหลายเชื่อในคุณภาพของนมจิตรลดา นมหนองโพธิ์ก็เป็นดั่งนั้นแหละ

ก็อาจจะมีข้อสงสัยว่า นมวัวแท้ๆนั้นมันน่าจะต้องมีไขมันนมหนาลอยอยู่ที่ผิวหน้า ก็เป็นเรื่องจริง ถูกต้อง แต่เพราะมันเป็นนมสดแท้ๆที่ไม่ผ่านกระบวนการทำให้ไขมันกระจายตัวไปเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำนม ซึ่งเราจะรู้สึกดื่มได้อร่อยกว่าเพราะได้สัมผัสกับความมันของไขมันนม    ส่วนนมวัวที่ผ่านกระบวนการกระจายไขมันนั้นและบรรจุอยู่ในขวดหรือกล่องวางจำหน่ายตามร้านค้าเหล่านั้น เมื่อดื่ม เราอาจจะรู้สึกคล้ายกับการดื่มนมพร่องไขมัน (เอาไขมันแยกออกไป _ Skimmed milk) 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 18, 20:04
แยกเข้าซอยไปเรื่องเนยซึ่งทำมาจากไขมันของนมสักนิดนึงครับ

ผมเคยสนใจเรื่องของเนย ทั้งแบบที่เรียกว่า butter และที่เรียกว่า cheese  ด้วยอยากจะรู้ว่าเหตุใดเนยที่เห็นมีวางขายในตู้โชว์จึงมีหลากหลายชื่อหลากหลายชนิดเหลือเกิน มีราคาแตกต่างกัน มีหลายระดับราคา มีแบบแพงจัด มีแบบราคาพอรับได้ แล้วผู้จับจ่ายก็ใช้เวลานานในการพิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ    เมื่อไปนั่งโต๊ะอาหารหรือไปงานเลี้ยงที่มีความสำคัญบางอย่าง ก็ได้เห็นว่าทั้ง butter ที่ใช้กินกับขนมปัง และโดยเฉพาะกับ cheese plate ที่เป็นเมนูหนึ่งก่อนจบหรือท้ายๆกระบวนการกินทั้งหลายนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เจ้าของงานให้ความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก

สรุปคือ พอจะเข้าใจบ้าง พอจะเข้าถึงสุนทรีย์ได้ในบางอย่าง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 18, 18:20
เสียดายไม่มีโอกาสกินชีสกับเรดไวน์ ซึ่งว่ากันว่าอร่อยสุด เพราะไม่กินสุราเมรัย   
คุณตั้งคงเคยชิมมาเยอะนะคะ    คงบอกเล่าได้ว่ารสชาติขนาดไหน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 18, 18:48
เมื่อกล่าวถึงคำว่า เนย  คนไทยทั่วไปจะนึกถึงการนำมาใช้อยู่ 2 แบบ คือ ใช้ทาขนมปัง กับ ใช้ทำขนม    อาจจะแยกออกเป็นเนยแท้ กับ เนยเทียม  เป็นเนยก้อน กับ เนยมาการีน  เป็นเนยเค็ม กับ เนยจืด    และมีการใช้คำว่า เนยแผ่น และ ชีส

  เนยที่ใช้ทาขนมปังนั้น มีอยู่ 2 แบบง่ายๆ คือ แบบอเมริกัน กับ แบบยุโรป ซึ่งต่างกันตรงที่แบบอเมริกันนั้นเป็นเนยที่ทำให้เป็นเนยแบบต่อเนื่องจากนมวัวสดโดยไม่มีการพักหรือไม่มีการเติมเชื้อจุลินทรีย์เพื่อบ่มไขมันนมก่อนที่จะเอาไปทำให้เป็นเนยอย่างที่ทำกันในยุโรป  
  เนยห่อก้อนที่มีวางขายกันทั่วๆไปนั้น มักจะเป็นเนยที่มีส่วนผสมของไขน้ำมันพืช   ส่วนมาการีนนั้นจัดเป็นเนยเทียมที่ทำให้ขึ้นมาเป็นเนยด้วยน้ำมันพืช มักใช้กันในการทอดอาหารทั่วๆไป และก็มีการใช้ในการทำขนมด้วยเช่นกัน

เนยแท้ย่อมให้กลิ่นและรสที่หอมนุ่มนวลกว่าเนยเทียมและเนยผสม เมื่อจะซื้อมาใช้เองก็จึงควรจะต้องเลือก จะต้องอ่านฉลากว่าเป็นเนยแท้ 100% หรือเป็นเนยที่มีส่วนผสมอย่างอื่นด้วย    แนะนำให้ลองซื้อเนยแบบยุโรป ซึ่งจะให้ความรู้สึกที่อร่อยกว่ามาก ดูง่ายๆที่บนฉลากที่มีการเขียนคำว่า Lactic Butter หรือ Cultured Butter  เป็นเนยแท้ 100%    


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 18, 20:44
อาจารย์ขอให้ช่วยขยายความเรื่องชีสกับเรดไวน์   ครับผม

ชีสที่เราคุ้นเคยกันในบ้านเราและที่เราได้เห็นกันชินตานั้น น่าจะเป็นชีสแผ่นที่วางเป็นชั้นอยู่ในแฮมเบอร์เกอร์หรืออยู่ในใส้ของครัวซอง และชีสที่แผ่อยู่บนหน้าพิซซ่า รวมทั้งชีสในใส้กรอก    ชีสในลักษณะเหล่านี้น่าจะถูกจัดเป็นผลิตผลทางภาคอุตสาหกรรมแบบ mass production และจัดไปอยู่ในพวกของ ingredients   

ก็มีพวกชีสดีๆ ชื่อดัง และของที่เป็นภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น ชีสเหล่านี้เป็นพวกที่มีราคาสูงและสูงไปทางมากๆเสียด้วย   

แล้วก็มีชีสในอีกลักษณะหนึ่งที่อยู่ครึ่งๆกลางๆระหว่างการเป็นผลิตผลทางอุตสาหกรรมกับเป็นผลิตผลของ SME   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 18, 21:16
ที่กล่าวมาก็คงพอจะสื่อให้เห็นภาพได้บ้างว่า ชีสนั้นมันมีหลากหลายชนิด หลากหลายกระบวนการผลิต หลากหลายแหล่งผลิต หลากหลายชื่อและยี่ห้อ ฯลฯ   ก็มีความพยายามที่จะจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่กัน ในเชิงของวิธีการทำบ้าง ในเชิงของปริมาณไขมันบ้าง ในเชิงของระยะเวลาการบ่มบ้าง ...ฯลฯ     

แบ่งอย่างง่ายๆก็คือ พวกชีสใหม่ (fresh cheese)  พวกชีสเนื้ออ่อน (soft cheese) พวกเนื้อกึ่งแข็ง (semi soft cheese)  พวกเนื้อแข็งหรือเนื้อแน่น (hard หรือ firm cheese) และพวกเนื้อแข็งแห้งร่วน (hard cheese)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 18, 18:49
ชีสที่เราพอจะคุ้นเคยกัน
   พวกชีสใหม่ ก็เช่น Cottage cheese (ที่ใช้คลุกมันฝรั่งที่เป็นจานเครื่องเคียง)  Creme Cheese (ที่รองพื้นอยู่ใน Blueberry Pie)
   พวกชีสเนื้ออ่อน ก็เช่น Mozzarella (ที่ทาอยู่บนหน้าปิซซา)  Camembert (ที่เราเอากินกับกล้วยหอม)  Blue Cheese (ที่มักจะเห็นเป็นชื่อของน้ำสลัด) Brie (ของโปรดของผม)

เมื่อเป็นชีสที่ต้องใช้เวลาบ่มนานๆ เราก็เกือบจะไม่รู้จักมันเลย
   พวกชีสเนื้อกึ่งแข็ง ก็เช่น Gouda (ที่หุ้มด้วยสารพวกขี้ผึ้งสีแดง)  Gruyere
   พวกเนื้อแข็ง แน่น และร่วน ก็เช่น Parmesan (ที่เอามาโรยหน้า Spaghetti)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 18, 19:23
การกินชีสเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนในซีกโลกตะวันตก เป็นอาหารที่แสดงถึงความมีอันจะกิน แสดงถึงความรอบรู้และรู้จักของดีๆในโลกกว้าง แสดงถึงความสามารถและความสุนทรีย์ในการนำของดีจากถิ่นต่างๆมากินรวมกัน    ชีสนั้นจัดเป็นของมีราคาสูง กว่าจะตัดสินใจซื้อกันได้ก็ใช้เวลานานในการพิจารณาและการสอบถามผู้ขาย

ชีสที่วางขายอยู่ในตลาดแบบที่มีการบรรจุอยู่ในหีบห่อที่เป็นมาตรฐานทั้งหมด มั้ง ?  เป็นผลผลิตทางอุตสาหกรรมแบบ mass production (เช่น Gouda cheese ที่ผลิตเป็นแท่ง cheese stick)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 18, 19:59
Gouda cheese


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 18, 20:12
สำหรับจานชีสที่เจ้าของบ้านจัดเป็นเมนูหนึ่งในงานเลี้ยงใดๆนั้น เท่าที่ผมเคยมีประสบการณ์อยู่บ้าง ก็ดูจะมีการจัดอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ ในลักษณะเป็นจานกับแกล้ม กินกับไวน์ ยามอากาศเย็นช่วงบ่ายๆ   อีกลักษณะหนึ่งจะเป็นจานตบท้ายอาหารมื้อค่ำนั้นๆ  ทั้งสองจานนี้จะมีหรือไม่มีผลไม้วางอยู่ด้วยก็ได้  จะต่างกันอยู่หน่อยนึงก็ตรงที่ในจานกับแกล้ม หากจะมีผลไม้ก็จะใช้ลูกมะเดื่อแห้ง (ลูก Fig) ที่ใช้องุ่นเขียวก็มีเหมือนกัน  และหากเป็นจานตบท้ายมื้ออาหารก็จะนิยมใช้องุ่นแดง และลูกเชอรีดำ      


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 18, 20:34
จานชีสที่กินกับไวน์ในลักษณะเป็นกับแกล้มนั้น ไม่ค่อยจะมีความพิถีพิถันมากนักในการเลือกจับคู่ระหว่างชนิดของไวน์ องุ่นที่ใช้ทำไวน์นั้นๆ กับชีสชนิดต่างๆ ซึ่งก็มักจะเป็นชีสที่หาซื้อได้ไม่ยากในตลาดทั่วๆไป    สำหรับที่จัดเป็นจานหลังอาหารนั้น จานนี้จะมีความพิถีพิถันค่อนข้างมาก ในระดับที่เจ้าของงานมีความรู้สึกกังวล เพราะการมีจานนี้มักหมายถึงอาหารมื้อนั้นเป็นมื้อที่สำคัญ (จะสำหรับเรื่องอะไรก็แล้วแต่) เมรัยที่ใช้ดื่มหลังมื้ออาหารนั้นจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง อาจจะมีการสูบบุหรี่หรือซิการ์ตามมา และอาจตบท้ายด้วยกาแฟอีกจอกหนึ่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 18, 19:07
เรื่องของความสุนทรีย์ในการดื่มไวน์นั้น ในแต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มชน ต่างก็มี etiquette (กฎ กติกา มารยาท) ที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ลักษณะของแก้วที่ใช้ การจับแก้ว การจับขวด การริน ฯลฯ   มีกระทั่งการแยกทรงแก้วที่เหมาะกับชนิดของไวน์และพันธุ์ขององุ่นที่ใช้ในการทำไวน์นั้นๆ

ที่จริงแล้วเคยตั้งกระทู้เรื่องไวน์กับงานสังคม เล่าไปเล่ามาแล้วก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าจะเป็นการอวดรู้มากไปหน่อย เราเองก็มิใช่นักดื่มไวน์ตัวยง เพียงแต่เคยมีโอกาสสัมผัสกับสังคมหลากรูปแบบเท่านั้นเอง นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง  อีกเรื่องหนึ่งก็คือมันเรื่องที่มันเฉียดเข้าไปใกล้เรื่องของเมรัยที่ไทยเรามีนโยบายลด ละ เลิกดื่ม แล้วก็ยังเฉียดเข้าไปในเรื่องที่อาจจะเป็นการโฆษณาสรรพคุณของเมรัยอีกด้วย  ก็เลยขอยุติกระทู้นั้นเอาดื้อๆ     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 18, 19:07
เรื่องของความสุนทรีย์ในการดื่มไวน์นั้น ในแต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มชน ต่างก็มี etiquette (กฎ กติกา มารยาท) ที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ลักษณะของแก้วที่ใช้ การจับแก้ว การจับขวด การริน ฯลฯ   มีกระทั่งการแยกทรงแก้วที่เหมาะกับชนิดของไวน์และพันธุ์ขององุ่นที่ใช้ในการทำไวน์นั้นๆ

ที่จริงแล้วเคยตั้งกระทู้เรื่องไวน์กับงานสังคม เล่าไปเล่ามาแล้วก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าจะเป็นการอวดรู้มากไปหน่อย เราเองก็มิใช่นักดื่มไวน์ตัวยง เพียงแต่เคยมีโอกาสสัมผัสกับสังคมหลากรูปแบบเท่านั้นเอง นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง  อีกเรื่องหนึ่งก็คือมันเรื่องที่มันเฉียดเข้าไปใกล้เรื่องของเมรัยที่ไทยเรามีนโยบายลด ละ เลิกดื่ม แล้วก็ยังเฉียดเข้าไปในเรื่องที่อาจจะเป็นการโฆษณาสรรพคุณของเมรัยอีกด้วย  ก็เลยขอยุติกระทู้นั้นเอาดื้อๆ      


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 18, 19:09
ขออภัยครับ กลายเป็นการส่งซ้ำไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 18, 20:55
การจับคู่ระหว่างไวน์กับชีส ฝรั่งเรียกว่า wine and cheese pairing นั้น  เท่าที่ได้เคยสนทนากับเพื่อนฝรั่ง จึงได้พอจะรู้ว่ามันก็พอจะมีหลักเกณฑ์อยู่บ้าง ซึ่งทั้งหมดมันไปขึ้นอยู่กับความกลมกลืนระหว่างรสและความเข้มข้นของไวน์นั้นๆ กับรสและเนื้อสัมผัสของชีส  คิดแบบง่ายๆก็คือ เสมือนหนึ่งกับการกินผลไม้เปรี้ยวจิ้มเกลือ    ไวน์มีรสเปรี้ยวอยู่ในตัว แกล้มด้วยชีสที่มีรสออกเค็ม ก็เช่นนั้น   

ตรรกะดูงายดีแต่มันก็มีความยากอยู่ไม่น้อย หากไวน์เป็นเสมือนมะม่วงดิบ มะม่วงมีทั้งชนิดเปรี้ยวไม่ว่าจะอ่อนหรือแก่ มีชนิดที่เมื่ออ่อนออกรสเปรี้ยวแต่เมื่อแก่ขึ้นความเปรี้ยวจะลดลงหรือกลายเป็นหวานในบั้นปลาย มีทั้งแบบเนื้อละเอียด เนื้อหยาบ และเนื้อสวกๆ มีกลิ่นหอมต่างๆกัน รวมทั้งมีแบบเนื้อกรอบแน่นแข็งกับแบบกรอบนิ่มนวล   เกลือที่ใช้จิ้มกับมะม่วงก็มีทั้งแบบเกลืออย่างเดียว ซึ่งก็ยังแยกออกไปว่าเป็นเกลือทะเล หรือเป็นเกลือผงที่ผสมไอโอดืน หรือเป็นเกลือผสมน้ำตาล เกลือผสมน้ำตาลและพริก และแบบที่ผสมกะปิลงไปด้วย

ก็คงพอจะเห็นภาพว่า คนที่จะจัดเมนูไวนกับชีสนี้ จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้จักและคุ้นเคยกับรสของไวน์ชนิดต่างๆในระดับหนึ่ง และจะต้องรู้จักชนิดและรสของชีสแบบต่างๆในระดับหนึ่งเช่นกัน     

ท่านที่เคยเดินทางท่องเที่ยวใน ตปท.และเคยเดินในซุบเปอร์มาร์เก็ต คงจะนึกภาพของคนส่วนหนึ่งที่ใช้เวลาเดินดูและอ่านป้ายในตู้จำหน่ายชีส 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 18, 19:06
ชีสที่เข้ากันได้ดีกับทั้งไวน์ขาวและไวน์แดงนั้น เท่าที่เคยเห็นตามปกติ และที่เคยกินแล้วตนเองรู้สึกว่าเข้ากันได้ดี ก็จะมี Brie  Gouda  Edam  Gruyere  Emmental และ Blue cheese  แต่ไม่รู้หรอกนะครับว่าจะต้องเป็นของเจ้าใดผลิต   สำหรับ Blue cheese นั้น ดูจะจำกัดการใช้เฉพาะกับไวน์แดง

ขยายต่ออีกนิดนึง  Brie นั้น สำหรับผมแล้วร้สึกว่าเข้ากันได้ดีมากกับไวน์ขาว และกับองุ่นขาว จะกินกับหอมแดงดองก็อร่อย  ชีสที่ตัดแบ่งออกมาขายนั้นควรจะต้องเป็นของใหม่ในวันนั้น  เก็บไว้นานวันจะมีกลิ่นฉุนที่รุนแรง

Gouda และ Edam cheese นั้นมีความคล้ายๆกัน ทั้งสีของเปลือกที่หุ้มและเนื้อใน  เป็นของที่จัดเป็นของกินเล่นและพกพาเพื่อเพื่อใช้แก้หิวในระหว่างการเดินทางได้ดี

Gruyere และ Emmental cheese นั้น ฝานเป็นแผ่นๆแล้วเอาขนมปังประกบกินเป็นแซนวิชสำหรับอาหารกลางวันได้เลย ดูจะเป็นที่นิยมของผู้หญิงที่ให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพ 

Blue cheese   อันนี้เป็นชีสที่มีกลิ่นรุนแรง แต่มันก็มีความอร่อยของมันอีกแบบหนึ่ง  ท่านที่รู้สึกว่ากลิ่นปลาร้าดีๆหอมเช่นใด ชีสนี้ก็คงจะไม่ต่างกันไปนัก  หากอยากจะลองสัมผัสรสและกลิ่นของมันก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการใช้น้ำสลัดที่เรียกว่า Blue cheese dressing

     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 18, 21:04
ไวน์ขาวมักจะใช้เป็นเมรัยที่ดื่มกันในช่วงเวลาบ่ายๆที่อากาศกำลังเย็นสบายๆ นั่งทอดหุ่ยจิบไวน์ขาวแนมด้วยแซนวิชชิ้นเล็กๆ หรือ Canape หรือผลไม้สดพวก Berry ป่า  หรือกับ Ham และ Bacon บางชนิด หรือแม้กระทั่งกับขนมปังชิ้นเล็กๆทาด้วยไขน้ำมันทอดเบคอน    กับไก่ย่างและตับไก่ย่างแบบถึงเครื่องหมักจริงๆก็ไปกันได้ดีอย่างเหลือเชื่อ   

ไวน์แดงที่ดื่มนอกเวลาหรือที่ไม่เกี่ยวกับมื้ออาหารบนโต๊ะอาหารนั้น มักจะเป็นการดื่มแบบตามใจอยากที่จะดื่มไวน์ เมื่อไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของหน้าตาทางสังคม ก็จึงไม่มีข้อต้องคำนึงในเรื่องคุณภาพและชื่อเสียงของไวน์ จึงดื่มได้กับของกินหลากหลาย จะแนมกับมะกอกดองก็ได้ กับ BBQ ใดๆไก็ได้   ต่างกับไวน์แดงที่จะใช้ดื่มในโต๊ะอาหารที่จะต้องคำนึงถึงความเป็นตัวชูรสเสริมเติม และความเข้ากันได้กับอาหารในมื้อนั้นๆ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 18, 21:58
เมื่อมื้ออาหารจบลง แต่ยังมีเรื่องติดลมคุยกัน เมรัยที่ตามมาในระหว่างที่จะสนทนากันก็จะเปลี่ยนไป ก็อาจจะต่อด้วยไวน์ที่ใช้ในโต๊ะอาหาร ซึ่งหากเป็นอาหารกลางวันก็มักจะเป็นไวน์ขาว (ซึ่งดูจะนิยมดื่มกันในมื้ออาหารกลางวัน) แต่หากเป็นอาหารมื้อเย็น ก็อาจจะต่อด้วยไวน์แดงที่ใช้ในโต๊ะอาหาร หรือจะเป็นเมรัยในกลุ่มเดียวกันที่แรงขึ้นเช่น Port หรือเหล้าผสมสำเร็จต่างๆที่เรียกว่า After Dinner Liquor   

ปกติแล้ว ไวน์ที่ใช้ในระหว่างกินอาหารจะเป็นไวน์ที่มีเอกลักษณ์พิเศษที่เหมาะกับอาหารมื้อนั้นๆ จึงมักจะมีปริมาณจำกัด จึงมักจะคิดเพียงพอสำหรับแขกเพียงคนละสามสี่แก้ว  ก็จึงทำให้เมื่อมีการเก็บจานหรือลุกจากโต๊ะอาหารแล้ว เจ้าบ้านจึงมักจะถามว่าจะสนใจเมรัยหลังอาหารอะไรบ้างใหม ซึ่งเจ้าของงานกำลังบอกว่างานนี้ใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดแล้ว  คำตอบของแขกก็จะเป็นสิ่งบ่งบอกว่ายังสนใจอยากจะสนทนาต่อไปอีกสักครู่(ใหญ่ๆ)หรือไม่   คำตอบที่ตอบมาว่าจะขอเมรัยอะไรบ้างนั้น บ่งบอกเรื่องราวได้ในหลายๆเรื่องทีเดียว       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 18, 18:05
เมรัยหลังอาหารจะมีปริมาณแอลกอฮอลที่ค่อนข้างสูง นัยว่าเพื่อช่วยย่อยอาหาร นิยมดื่มกันในฝั่งยุโรปและในแคนาดาฝั่งตะวันออก

ก็จะมีที่เรียกว่า Schnapps ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ต่างๆ    เรียกว่า Grappa ที่ทำมาจากองุ่น    เรียกว่า Krauterlikor ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร    เรียกว่า Liquor ซึ่งมีหลากหลายชนิดที่ทำมาจากส่วนผสมต่างๆ     กลุ่มเมรัยพวกนี้ จะดื่มกันเป็นเป๊ก มักจะดื่มครั้งเดียวหมด และบ่งบอกถึงการยุติหรือการเลิกลาของงานนั้นๆ

หากเป็นเมรัยที่เรียกว่า Port และที่เรียกว่า Sherry ซึ่งเป็นไวน์ที่มีส่วนผสมของเหล้า  และที่เรียกว่า ฺBrandy หรือ Cognac   เมรัยพวกนี้ส่อว่างานนั้นยังไม่จบ ยังมีเรื่องที่จะสนทนากันต่อไปอีกพักใหญ่ๆ  ของแนมก็มักจะเป็นจานชีสที่มีองุ่นและผลไม้พวก berries สดวางมาด้วย และอาจจะต้องมี Cigar ดีๆนำเสนออีกด้วย

คุยกันในพื้นที่เปิดเผยก็คงจะขยายความได้ไม่มากนัก เอาเพียงเท่านี้นะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 18, 19:52
blue cheese


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 18, 20:02
จากราชบุรี ลงใต้ไปเรื่อยๆก็จะต้องผ่านสามแยกระหว่างถนนเพชรเกษมกับถนนพระราม 2 บรรจบกัน เป็นพื้นที่ของ ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ  แต่ก่อนนั้น ด้วยการที่รถบรรทุกติดเวลาในการใช้ถนนในเมือง ทำให้ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาล่องก็ตาม วังมะนาวจะเป็นพักรถบรรทุกที่เหมาะสมมาก  พักผ่อนเตรียมความพร้อมทั้งรถและคนก่อนที่จะใช้เส้นทางต่อไปตามถนนเพชรเกษมหรือตามถนนพระราม 2

เอ่ยถึงวังมะนาวก็เพียงจะมีข้อสังเกตว่า ที่นี่ดูจะเป็นจุดที่เริ่มเราจะเริ่มเห็นความต่างไปของอาหารที่เราคุ้นๆกัน  ในปัจจุบันนี้ ความต่างน่าจะเห็นได้ชัดเจนในอาหารที่ขายอยู่ในร้านอาหารที่เขาย้อย บนเส้นทางสู่เพชรบุรี       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 18, 12:39
เหล้าเชอรี่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 18, 18:45
ขอบคุณอาจารย์ครับ ส่งรูปเหล้าเชอรี่มาเลยทำให้ผู้รู้สึกว่าอาจจะมีการสะกดคำผิดไป   ย้อนกลับไปอ่านก็เลยพบที่ ค.ห.1113  ก็ได้พบจริงๆว่าสะกดผิด   "after dinner liquor"   คำว่า liquor ในความหมายของวลีนี้จะต้องสะกดว่า liqueur 

liquor ใช้ในความหมายถึงบรรดาเหล้ากลั่นต่างๆ   ส่วน liqueur ใช้ในความหมายถึงบรรดาเหล้ากลั่นที่มีการเอาพืช ผลไม้ น้ำหมัก หรือน้ำเชื่อมกลิ่นต่างๆใส่ผสมลงไป (รู้มาว่าอย่างนั้น)   แต่ก่อนโน้นก็เคยสงสัยว่า ทำไมฝรั่งจึงเรียกเหล้าดังของไทยเราว่า liqueur  มาถึงบางอ้อในภายหลังว่า เพราะว่าเหล้าของไทยนั้นเกือบจะไม่มีการบ่มใดๆ สีและกลิ่นนั้นเกิดจากการผสมลงไปในภายหลัง    เหล้าของไทยที่อยู่ในความหมายของคำว่า liquor จริงๆนั้น ก็จึงคือเหล้าขาวหรือเหล้าโรง และบรรดาเหล้าเถื่อนทั้งหลาย เพราะว่าเป็นเหล้ากลั่นที่ยังไม่มีการนำสิ่งใดมาผสมเลย       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 18, 20:10
วังมะนาวเป็นที่พักรถและคนในกลุ่มรถบรรทุก เขาย้อยเป็นที่พักรถและคนในกลุ่มนักเดินทางทั่วไป  ผมไม่ได้ใช้เส้นทางผ่านและแวะเขาย้อยมานานมากแล้ว ก็เลยมีแต่เพียงข้อสังเกตเมื่อครั้งกระโน้นเท่านั้น

อาหารดังของเขาย้อยก็คือข้าวแกง ซึ่งผัดและแกงต่างๆนั้นจะไม่อุดมไปด้วยไขมัน (fat)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 18, 10:39
ข้าวแกงเขาย้อย เป็นอาหารขึ้นชื่อที่นักท่องเที่ยวจะแวะกินเสมอ เวลาเดินทางลงใต้
ไปแวะทุกครั้งที่ไปชะอำหรือหัวหิน ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 23 ส.ค. 18, 18:50
มีใครรู้สึกเหมือนผมไหมครับ ว่าข้าวแกงราชบุรีและเพชรบุรีค่อนข้างเผ็ดกว่า นครปฐม อยุธยา สระบุรี ปทุมธานี อะไรแถบนี้ ผมต้องสั่งพะโล้ หมูทอด ไข่เจียว อะไรพวกนี้ทุกครั้งเลย แกงกะทิของโปรดสู้ไม่ไหวจริงๆ (เดี๋ยวนี้นานๆ ได้กินแกงกะทิสักทีแล้ว)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 18, 19:25
เรื่องของความเผ็ดนี้  มีทั้งความรู้สึกรับรู้ที่ต่างกันของแต่ละบุคคล หรือเป็นความต่างที่เกิดมาจากการทำเครื่องแกง หรือเกิดจากการปรุงแต่งรสอาหาร    ซึ่งที่ว่าแกงนั้นเผ็ด เกิดได้จากหลายกรณี 

เรื่องแรกก็คือ การเลือกใช้พริกแห้ง   พริกแห้งเม็ดใหญ่จะให้ความเผ็ดที่ไม่ฉูดฉาด คล้ายๆกับรสของแกงส้มโดยทั่วไป   ส่วนที่เป็นเนื้อของพริกแห้งเม็ดใหญ่จะให้น้ำแกงที่มีสีแดงสวยงาม ส่วนเมล็ดในของมันจะให้ความเผ็ด   น้ำพริกที่ตำด้วยการใช้พริกแห้งเม็ดใหญ่เพียงชนิดเดียวก็จึงพอจะปรับสีของน้ำแกงและความเผ็ดได้ด้วยการปรับสัดส่วนระหว่างเนื้อและเมล็ดของพริกแห้ง

พริกแห้งอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ร่วมกับพริกแห้งเม็ดใหญ่ในการตำพริกแกง เป็นพริกแห้งที่นิยมใช้กันในการตำส้มตำ  พริกแห้งพวกนี้เป็นพวกที่ให้ความรู้สึกเผ็ดแบบฉูดฉาดและแสบร้อน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และพื้นที่ปลูก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 18, 20:00
แกงเผ็ดต่างๆที่ว่ามีความรู้สึกว่าดูน่ากินและมีความเผ็ดร้อนพอดีๆนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากฝีมือของการผสมผสานปริมาณการใช้พริกแห้งเม็ดใหญ่กับเม็ดเล็กในการทำน้ำพริกแกงนี้เอง   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 18, 20:17
แกงเผ็ดเนื้อ
อาหารชั้นดีราคาแพงของครัวไทยสมัยก่อน  แต่ตอนนี้ถูกแกงเขียวหวานไก่แซงหน้าไปแล้วค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 18, 19:39
แกงเผ็ดเนื้อ  ลดความเผ็ดด้วยน้ำปลา-พริกขึ้หนู-มะนาว-กับหอมซอย แต่กลับยิ่งไปช่วยทำให้มีรสเข้มข้น จี๊ดจ๊าด อร่อยเพิ่มมากขึ้น   อาหารจานอื่นที่คู่กันกับแกงนี้ ที่เหมาะสมกันก็ดูจะเป็นไข่เจียวแบบฟูๆ ปลาตะเพียนแดดเดียว หรือปลาสละเค็ม   สำหรับตัวผมเองนั้น ไข่เจียวจะต้องใส่หอมแดงซอยและน้ำกระเทียมดองนิดหน่อยจึงจะเด็ด

เมื่อเข้าไปในร้านอาหารที่มีแกงเผ็ดเนื้อ ผมจะถามในทันทีว่ามีขนมจีนหรือไม่ หากมีก็จะสั่งเป็นข้าวผสมกับขนมจีนแล้วราดด้วยแกงเนื้อ แถมด้วยไข่พะโล้หนึ่งใบกับหมูสามชั้นอีกชิ้นสองชิ้น   ก็ยังพอหากินได้อยู่ แต่จะเป็นร้านข้าวราดแกงริมถนนหลวงในต่างจังหวัด

สำหรับแกงเขียวหวานเนื้อนั้น หากรู้สึกอยากกินก็คงจะต้องใช้วิธีกินทำเอง ยังไงๆมันก็เป็นรายการพิเศษอยู่แล้ว ก็เลือกใช้เนื้อโคขุนเสียดีกว่า แทนที่จะใช้เนื้อที่ขายอยู่ตามเขียงขายเนื้อในตลาดสด  แล้วก็หั่นให้หนาพอดีๆ (มิใช่บางเฉียบเพราะว่าเนื้อมันมีราคาแพง)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 18, 19:45
แกงเขียวหวานเนื้อ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 18, 18:27
ผมมีข้อสังเกตบางเรื่องเกี่ยวกับพวกแกงเข้ากะทิในพื้นที่ภาคกลางว่า   
   อาหารในพื้นที่กรุงเทพฯพวกเข้ากะทิที่ถูกจัดว่าเป็นแกงชั้นดี หรือมือถึง หรืออร่อยเหนือชั้น จัดเป็นพวกแกงที่น้ำแกงค่อนข้างจะมีความข้น  แกงเหล่านั้นดูจะมีการใช้กะทิสองขยักในการปรุง เป็นไปแบบดั้งเดิมที่ถ่ายทอดกันมา คือเอาหัวกะทิคั้นสด(คั้นจากมะพร้าวขูดสองสามครั้ง)ในปริมาณพอเหมาะลงกระทะเคี่ยวแล้วช้อนเอาหัวกะทิส่วนหนึ่ง ตักแยกออกมาพักไว้  จากนั้นเอาน้ำพริกแกงที่ทำใว้ใส่ลงไปผัดไปจนได้ที่ (คือมีความหอมและกะทิแตกมันพอดี) แล้วจึงเอาเนื้อสัตว์ลงไปผัดให้พอสุก จากนั้นก็เอาหางกะทิ(น้ำกะทิที่คั้นจากมะพร้าวขูดต่อมาหลังจากสองสามครั้งแรก)ใส่ลงไป เมื่อน้ำแกงถึงจุดเดือดก็ใส่พวกผักลงไป  หากเป็นแกงที่ต้องใส่พวกมะเขือเปราะและมะเขือพวง เมื่อใส่มะเขือเปราะลงไปแล้วก็รอให้น้ำแกงเดือดอีกครั้งแล้วจึงใส่มะเขือพวง แล้วจึงโรยหน้าด้วยผักแต่งกลิ่น โรยด้วยหัวกะทิเข้มข้นที่ตักพักใว้แต่แรก ปิดฝาให้ระอุก็เป็นอันใช้ได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 18, 19:02
วิธีการทำดังกล่าวมานั้น ในปัจจุบันคงจะหากินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้ยากมาก 

เรื่องแรกก็คือ กะทิที่ใช้กันก็คงจะเป็นแบบกระทิสำเร็จรูป ซึ่งหมายถึงเป็นกะทิที่มีความเข้มข้น(ไม่แยกเนื้อไม่แยกน้ำ)ทั้งกล่องตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งก็คือเป็นน้ำกะทิที่ผ่านกระบวนการกระจายความมัน(หัวและหางกะทิ) เหมือนกับนมสดในปัจจุบัน

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อเราเริ่มต้นที่น้ำกะทิที่มีความเข้มข้นเท่ากัน มันก็เป็นการยากที่จะควบคุมมิให้อาหารจานนั้นๆมีความมันย่องไปด้วยน้ำมัน(มะพร้าว)เมื่อเราต้องเคี่ยวมัน

และอีกเรื่องหนึ่งก็คือ หากจะทำให้แกงกะทิมีน้ำแกงเข้มข้น มันก็ควรจะเป็นเรื่องของตัวน้ำกะทิข้นๆ มิใช่เป็นเรื่องของตัวเนื้อกะทิข้นๆที่เกิดจากการเคี่ยวแกงนานจนเกินไป (หรือจะใส่อะไรลงไปก็ไม่รู้)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 18, 19:38
เมื่อห่างออกไปจากกรุงเทพฯมากขึ้น ความเข้มข้นของกะทิในพวกอาหารเข้ากะทิก็ค่อยๆลดลงไป  ก็เป็นภาพเมื่อหลายๆปีก่อนโน้น..น..น...

ในปัจจุบันนี้แม้ว่าดูจะเหมือนๆกัน แต่ก็ยังพอจะเห็นมีความต่างกันอยู่บ้าง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 18, 19:42
ในปัจจุบันนี้ ร้านขายข้าวแกงที่ใช้ชื่อจังหวัดกำลังเป็นที่นิยมกัน เท่าที่นึกออกทันทีใน ตจว. ก็มี สุโขทัย ราชบุรี เพชรบุรี นครฯ (นครศรีธรรมราช) ซึ่งพบเห็นอยู่ในตัวจังหวัดต่างๆที่มีการท่องเที่ยว    สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลก็จะมี อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชันาท    

ส่วนพวกที่เน้นอาหารเอกลักษณ์ ก็จะมี ตรัง (หมูย่าง) นครปฐม (หมูกรอบ หมูแดง เป็ดย่าง ข้าวต้มกุ๊ย)  บางเลน (ก๋วยเตี๋ยวเป็ด)  ชลบุรี (ข้าวต้มกุ๊ย)  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 18, 18:37
ท่านที่เติบโตในพื้นที่จังหวัดเหล่านี้น่าจะให้คำตอบได้ดีว่า ลักษณะเด่นของรสและการปรุงอาหารประเภทข้าวราดแกงที่ทำขายกันในพื้นที่นั้นมีอะไรบ้าง

สำหรับตัวผมเอง ที่พอจะเห็นความแตกต่างกันก็มี     ราชบุรี ดูจะเป็นอาหารที่ออกไปทางที่เรียกกันว่าต้ม... และพวกอาหารที่ไม่เข้ากะทิ    สุพรรณบุรี ดูจะเป็นอาหารที่ออกไปทางที่เรียกว่าแกง... และพวกอาหารที่เข้ากะทิที่เคี่ยวจนแตกมันเล็กน้อย รสชาติไม่เด่นไปทางใด(แต่รู้ว่ามีรสหวานอยู่ด้วย)    สุโขทัย ดูจะออกไปทางอาหารที่ใช้เครื่องปรุงที่หั่นตัดเป็นชิ้นเล็กและหลายอย่าง ออกไปทางอาหารที่ใช้กระทะปรุง รสชาติออกไปทางรสอ่อน ไม่ฉูดฉาด มีรสหวานแฝงอยู่   

สำหรับอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ดูจะเน้นไปในเรื่องอาหารจากปลาโดยเฉพาะพวกปลากินเนื้อ (ปลาช่อน ปลากราย) ทำเป็นอาหารทั้งแบบหมก(ห่อหมก) และเผา(ย่าง)               


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 18, 18:49
ห่อหมกปลาช่อน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 18, 20:58
ต้องขออภัยที่ผมกำลังจะก้าวล่วงเข้าไปในวิทยาการอีกสาขาหนึ่ง 

ในมุมมองหนึ่ง ห่อหมกน่าจะจัดเป็นหนึ่งในเมนูอาหารสุขภาพชั้นดีเยี่ยม  ลองพิจารณาดูก็จะเห็นว่า องค์ประกอบของเครื่องปรุงจะประกอบด้วยสมุนไพรที่มีสารที่ให้ฤทธิในทางอาหารเสริมและยา  ในน้ำพริกก็จะมี เกลือทะเล พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด กะปิ ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายอย่าง มีสารที่ช่วยให้เจริญอาหารและช่วยในการย่อยอาหาร มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ    เนื้อปลาก็มีโอเมก้า3 ผักที่ใช้รองก้น(ใบยอ โหระพา ผักกาด กะหล่ำปลี ใบเหลียง..) ก็ล้วนมีแร่ธาตุและสารต่อต้านอนุมูลอิสระ   ในห่อหมกมีน้ำและน้ำมันตั้งแต่ก่อนที่จะทำให้สุกต่อเนื่องไปจนถึงเมื่อเป็นอาหารพร้อมกิน ซึ่งต่างก็ช่วยในการละลายวิตามินและแร่ธาตุ(ที่มีอยู่ในองค์ประกอบของเครื่องปรุงต่างๆ)ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างครบทุกหมู่         


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 18, 18:30
อาหารแบบข้าวราดแกงของเพชรบุรี ดูจะมีลักษณะเด่นออกไปทางขลุกขลิกและมีรสนุ่มนวล  ซึ่งคงจะมาจากการใช้น้ำตาลตะโหนดช่วยในการปรับรส (บางพื้นที่ของสุโขทัยและพิษณุโลกก็เช่นเดียวกัน)   

 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 18, 19:26
คนเดินทางส่วนมาก เมื่อผ่านเพชรบุรีก็มักจะนึกถึงขนมหวานต่างๆ ซึ่งมีความเด่นอยู่ที่การใช้น้ำตาลตะโหนด ทำให้ขนมหวานมีกลิ่นหอมและมีรสหวานแบบนุ่มนวล  

เรื่องน้ำตาลจากต้นตาลและจากมะพร้าวนี้ ก็คงพอจะรู้กันอยู่ว่าน้ำตาลจากต้นมะพร้าวนั้นหาได้ง่ายกว่าน้ำตาลจากต้นตาล  ต้นมะพร้าวนั้นปลุกได้ง่ายกว่าต้นตาลมาก ก็จึงเห็นมีแต่สวนมะพร้าว ไม่มีสวนตาล    

น้ำตาลมะพร้าวที่มีขายกันอยู่ในท้องตลาด ก็มีแบบที่เป็นลักษณะขนมครกสองฝาประกบกัน ที่พ่อบ้านแม่เรือนนิยมซื้อเก็บไว้ใช้ประจำครัว   แบบที่มีสภาพกึ่งเหลวสีเหลืองๆ ที่นิยมซื้อไปใช้ในการปรุงรสอาหารโดยทั่วไป    และแบบกึ่งเหลวที่ออกไปทางสีชมพู แบบนี้เขาว่าใช้ทำส้มตำอร่อย     น้ำตาลตะโหนดดูจะมีทำขายอยู่ในรูปแบบเดียว คือเป็นก้อนๆรูปทรงต่างๆ

แล้วเราก็น่าจะให้ความสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือ น้ำตาลพวกนี้ไม่ควรจะมีความหวานแหลมดังเช่นน้ำตาลทรายขาว ด้วยว่าการที่ทำให้น้ำตาลพวกนี้มีความหวานที่เข้มข้นหรือทำให้มันจับตัวกันเป็นก้อนแข็งๆได้นั้น อาจจะมีการต้องมีการใส่อะไรบางอย่างเพิ่มลงไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 18, 19:29
น้ำตาลมะพร้าว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 18, 18:34
ตลาดสดของเพชรบุรีก็มีเอกลักษณ์ของเขา โดยเฉพาะส่วนที่เป็นช่องยาวหลังตึกแถวฝั่งถนนเลียบแม่น้ำเพชร   ในความเห็นของผมนั้น เห็นว่าตลาดสดในเมืองเพชรฯนั้นมีของสดประเภทที่เหมาะแก่การจับจ่ายไปทำอาหารเองที่บ้าน คือเป็นพวกที่เอาไปจัดการเองได้ มีความสด เหมาะสมทั้งในด้านขนาด และในเชิงของความหลากหลาย  พืชผักก็มีครบ สด และหลากหลายชนิดมากพอที่จะใช้ปรุงอาหารแบบเก่าก่อน

ที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือ มีหมึกสายแห้งขาย รสอาจจะเค็มมากไปหน่อย ก็เพียงเอามาแช่น้ำสักพักใหญ่ๆแล้วก็เอาลงทอด หั่นเป็นชิ้นๆ  มันมีความเหนียว จึงเคี้ยวได้แบบหนึบๆมันๆ (chewy)  จะ(แอบ)หยับมากินเล่นก็ได้ จะกินเป็นของแนมก็ได้ หรือจะกินกับข้าวต้มพุ้ยก็ได้ (อันนี้ดูจะเปลืองข้าวต้มมากกว่าเปลืองกับ)     

ในตลาดก็มีแมงดาทะเลทั้งแบบสดและนึ่งแล้ว คนที่ชอบกินไข่แมงดาทะเลก็อาจจะนึกถึงเอามาแกงคั่วกับสับปะรด หรือเอามาจิ้มกับน้ำจิ้มรสแซบ หรือเอามายำกับมะม่วงสับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 18, 19:06
ตัวผมเองนึกฝันไปถึงการเอาไข่แมงดาที่จับกันเป็นก้อนๆนั้น ไปลวกในน้ำเกลือหรือแช่ในน้ำเกลือน้ำอุ่นๆแล้วยีให้มันแยกออกมาเป็นเม็ดๆ  หั่นหรือสับหอมใหญ่เป็นชิ้นเล็กๆ เอาขนมปังแผ่นหั่นเป็น 4 ชิ้น ทอดในน้ำมันพอเกรียมสวย  เอาหอมที่เตรียมไว้วางรองพื้นชิ้นขนมปัง ตักไข่แมงดาลงไป แล้วบีบมะนาวใส่ลงไปเล็กน้อย  ก็คงจะอร่อยดี    เพียงแต่ว่าจะ แต่ก็ยังไม่เคยทำสักครั้ง

จะกินแมงดาทะเลก็จะต้องรู้เลือกและระวังนะครับ มันมีตัวที่ดูเหมือนกันที่เรียกว่า เห-รา หรือแมงดาถ้วย ซึ่งจะมีหางกลม เป็นพวกที่มีพิษ   กับแมงดาจานที่มีหางเหลี่ยม ซึ่งเป็นพวกที่กินได้   รู้มาเช่นนั้นแต่ไม่มีความรู้มากพอที่จะยืนยันได้ 100% ว่าเป็นเช่นดังที่ว่าหรือไม่ ผู้รู้บางคนก็บอกว่าจะมีพิษหรือไม่มีพิษนั้นมันขึ้นอยู่กับฤดูกาล


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 18, 19:33
อีกอย่างหนึ่งที่มีขายในตลาดสดเมืองเพชร ก็คือปลากระเบนตัวเล็ก  ผมไม่แน่ใจนักว่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่ทางภาคใต้เรียกว่า จ้องม้อง หรือไม่  ผมรู้เล็กน้อยมากกับอาหารจากปลากระเบนตัวเล็กนี้ รู้ว่าเอามาทำอาหารพวกออกรสเผ็ดๆได้  แต่หากเอามาเผา(ย่าง) ก็จะได้กลิ่นหอมยั่วยวน เอามาจิ้มน้ำปลามะนาวหอมซอยหรือน้ำจิ้มทะเล ก็จะอร่อยกันไป

กระเบนเล็กนี้เกือบจะไม่เห็นมีขายในตลาดแม่กลอง  มีแต่เชิงกระเบนตัวใหญ่ที่ย่างสำเร็จรูปแล้ววางขายอยู่  ซึ่งนอกจากจะเอามาฉีกจิ้มน้ำปลากินแล้ว ก็เอามาทำเป็นผัดเผ็ดที่ใส่เครื่องปรุงแบบที่ใช้ในการผัดเนื้อสัตว์น้ำที่มีความคาว หรือเอามาทำแกงคั่วก็ได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 18, 19:22
ตลาดแม่กลองเป็นตลาดของทะเลสดที่น่าเดินจับจ่ายซื้อของในลักษณะปริมาณมากๆ  ส่วนมากจะเป็นของคัดเพื่อขายให้กับผู้มาเยือน 

เท่าที่ผมมีความคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก (เพราะเดินทางไปเยี่ยมคุณยาย) โดยพื้นๆแล้วตลาดนี้ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลมากนัก ทั้งในด้านของสินค้าสด ที่ปรุงเป็นอาหารแล้ว และที่ตั้งวางขายของสินค้า ฯลฯ   ภาพที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ มีแต่นักท่องเที่ยว (และโดยเฉพาะที่เป็นคนจีน)  ส่วนคนพื้นบ้านที่มาจ่ายตลาดโดยใช้เรือและท่าน้ำใกล้วัดบ้านแหลมนั้นเกือบจะไม่เห็นอีกเลย

ของดีของอร่อยประจำถิ่นในตลาดแม่กลองนั้น นอกจากปลาทูโป๊ะ(ตัวไม่ใหญ่)แล้ว ก็จะมีอาทิ หอยแครงดองเค็มหวาน หอยแมลงภู่ต้มเค็มหวาน (ซึ่งของที่ดีๆจะต้องเป็นหอยตัวเล็กที่มีการล้างขัดจนสะอาด มิใช่เป็นหอยตัวใหญ่)  มีปลาเค็มที่ทำด้วยปลากุเลา  มีเชิงปลากระเบนย่าง ...ฯลฯ   

สำหรับพวกหอยแครง หอยแมลงภู่ หอยหลอด ซึ่งเป็นหอยประจำถิ่นของปากแม่น้ำแม่กลอง ก็จะไปพบเห็นอยู่ในร้านอาหารเสียเป็นส่วนมาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 18, 19:32
ปลาทูต้มเค็ม และหอยแครงดอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 18, 19:37
ยังนึกถึงวันวานแต่ก่อนว่า ต้องขึ้นรถไฟที่สถานีปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี ไปลงที่ท่าฉลอม มหาชัย แล้วนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำท่าจีนไปท่านำฝั่งบ้านแหลม เพื่อต่อรถไฟอีกทอดหนึ่งไปยังตัวเมืองแม่กลอง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 18, 20:26
อาหารทั้งสองอย่างตามภาพของอาจารย์นั้น  ผมจะใช้มะนาวบีบลงไปก่อนตักเข้าปาก มันเพิ่มความอร่อยได้อีกมากเลยทีเดียวครับ

สำหรับปลาทูต้มเค็มนั้น   ที่ทำอย่างพิถีพิถันหน่อยก็พอจะสังเกตได้จากที่มีการใช้ส่วนของหัวปลายัดเข้าไปในท้องปลา   ในส่วนการต้มเค็มนั้น แต่เดิมนั้นเราจะเห็นมีแต่เพียงการใช้แท่งอ้อยวางรองพื้น นัยว่าเพื่อมิให้ปลาติดก้นหม้อและจะได้รสหวานจากอ้อยทำให้กลิ่นและรสกลมกล่อมมากขึ้น  ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นผลมาจากกลิ่นและรสของน้ำตาลใหม้ (caramel)    ในปัจจุบันนี้ บางเจ้าก็มีการใส่สับปะรดฝานเป็นแว่นๆลงไปด้วย  นัยว่าเพื่อช่วยทำให้เปื่อย(ทั้งตัวได้เร็ว) ช่วยในการปรับรสให้อร่อยมากขึ้น และช่วยร่นเวลาในการทำ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 18, 17:29
ปลาทูต้มอ้อย หรือปลาทูต้มหวาน
อาหารไทยๆที่อีกแบบหนึ่งที่หากินได้ยากแล้วตอนนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 18, 18:10
ก็ยังมีหอยแมลงภู่ดองอีกอย่างหนึ่งที่มีทำขายกันในตลาดแม่กลอง  ซื้อเอามาแล้วก็เพียงซอยหอมแดงบางเสมอกัน ซอยตะไคร้บางๆ ซอยขิงกลางอ่อนกลางแก่เป็นเส้นเล็กๆเสมอกัน ซอยพริกขี้หนูสวนแบบเกือบละเอียด ซอยใบมะกรูดอ่อนแบบละเอียด เอาทั้งหมดใส่ลงไป  ปรุงรสตามชอบเพื่อตัดรสเค็ม (จะเป็นน้ำตาล เป็นน้ำมะนาวก็ได้) คลุกเคล้าให้ทั่วกัน แล้วลอยหน้าด้วยพริกขี้หนูใหญ่ทั้งเม็ด สีแดงบ้าง สีเขียวบ้าง

กินกับข้าวสวยแบบน้ำพริก แนมด้วยผักสดกรอบๆเช่น แตงกวา ถั่วพู มะเขือเปราะพันธุ์ลูกเล็กทรงกลมๆ (สีเขียว สีขาว สีม่วง) ผักกาดขาว หรือจะเป็นยอดมะกอกหรือยอดมะม่วงอ่อนก็พอไปกันได้ แต่ที่เข้ากันได้ดีมากๆก็คือ ขมิ้นขาว  ส่วนที่ดูจะเข้ากันไม่ได้เลยก็คือพวกผักดองทั้งหลาย  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 18, 18:18
ใช่เลยครับ  คิดว่าไม่เคยเห็นมีปลาทูต้มอ้อยวางขายกันอีกเลย  แต่กลับไปนิยมเมนูปลาทูซาเตี๊ยะ ซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมเมนูหนึ่งในร้านอาหารย่านสมุทรสงคราม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 18, 18:47
ยำหอยแมลงภู่ดอง  รสชาติจี๊ดจ๊าดถึงใจ
เคยกินอาหารไทยฝีมือคุณป้าม.ล.เนื่อง นิลรัตน์  พบว่ารสชาติที่ออกมาจากวังพระวิมาดา เป็นแบบหลายรสคละกันในจานเดียว    เช่นเค็มระคนหวาน   เปรี้ยวระคนเค็ม  และมีรสเผ็ดแทรกเป็น 3 รสก็มี
ไม่ค่อยมีรสโดดๆออกมาเช่นหวานจัด หรือเค็มจัดอย่างเดียว
ยำหอยดองที่คุณตั้งทำ น่าจะสี่รส  เค็ม  เปรี้ยว หวานหน่อยๆ และเผ็ด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 18, 18:54
นึกถึงอาหารอร่อยๆจากปลาทูอีกหลายๆอย่าง  หากจะลองไล่เรียงดูก็จะมี

ปลาทูทอด   กินกับน้ำพริกกะปิ และผักที่เข้ากันได้ดีก็มี มะเขือเปราะ ชะอมไข่ทอด มะเขือยาวชุบไข่ทอด ดอกขจร ดอกโสนผัดน้ำมัน สำหรับผักต้มนั้นดูจะเข้ากันได้ไม่ดีนัก เพราะว่ามีน้ำที่ไปทำละลายรสและกลิ่นของปลาทูทอด  ส่วนน้ำพริกกะปินั้นจะเป็นแบบใส่หรือไม่ใส่แมลงดานาก็ได้ทั้งนั้น (ผมชอบแมลงดานา โดยเฉพาะที่ดองด้วยน้ำปลา_หายาก)  หรือจะเป็นน้ำพริกกะปิปรุงแต่งแบบใส่มะอึก แบบใส่มะเขือส้มลูกเล็กๆ ใส่มะม่วงเปรี้ยวซอย หรือใส่มะดันซอยก็ได้ทั้งนั้น

ปลาทูทอดเอามาทำยำปลาทูก็อร่อย ทำแบบง่ายๆก็เพียงใส่หอมแดงซอย ใส่ขิงซอย พริกขี้หนูสวนซอย ปรุงรสด้วยเกลือทะเลและมะนาว แล้วโรยด้วยถั่วทอดทั้งเปลือก    ส่วนตัวผมนั้น แทนที่จะใช้ถั่ว ผมชอบใข้ขนมปังหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดลูกเต๋า แล้วเอาไปทอดพอเกรียม  
กินกับผักกาดหอมในลักษณะของการกินแบบเมี่ยง  เป็นอาหารว่างในยามบ่ายแก่ๆที่อร่อยมากๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 18, 20:16
ความอร่อยแบบกลมกล่อมที่อาจารย์ถ่ายทอดออกมานั้น ผมคงไม่มีฝีมือพอจะไปเทียบเคียงได้   ผมรู้แต่ว่า เมื่อเราทำอาหารเมนูหนึ่งๆนั้น มันมีการใช้เครื่องปรุงอยู่หลายอย่าง แต่ละอย่างมันก็มีรสและมีกลิ่นของมัน    ศิลปะของการทำอาหารให้อร่อยในความเห็นผมก็คือ ความเข้าใจในการเค้นเอารสและกลิ่นของเครื่องปรุงนั้นๆออกมาให้ได้มากเท่าที่ต้องการ แล้วผสมผสานเข้าด้วยกันให้มีความสมดุลย์และเกิดความนุ่มนวล  ซึ่งทั้งหลายก็ไปขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของการจัดการระหว่างรูปทรงและปริมาณของเครื่องปรุงที่เราตวงวัดจัดเตรียมการไว้ ผนวกกับขั้นตอนและกระบวนวิธีการผสมผสาน(ปรุง)เข้าด้วยกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 18, 18:15
ปลาทูสดเอามาต้มยำก็ได้ เอามาต้มกะทิกับสายบัวใส่มะดันก็อร่อย  เอามาต้มส้มก็อร่อย หรือจะเอาไปทอดแล้วราดน้ำสามรสก็อร่อยอีกเหมือนกัน    ที่ว่าอร่อยนั้น นอกจากรสของส่วนที่เป็นน้ำแล้ว ตัวปลาทูเองก็ควรจะต้องเป็นปลาทูโป๊ะ ตัวจะเล็กกว่าปลาทูน้ำลึก แต่ตัวเนื้อปลาจะนิ่มและซึมซับรสของน้ำแกงได้ดี     

ต้มกะทิสายบัวนั้นยังเห็นมีทำขายกันอยู่ในตลาดใหญ่ที่มีร้านค้าขายกับข้าว แต่ไม่มีการใส่มะดันหรือแม้กระทั่งการตัดความหวานและความมันของกะทิด้วยรสเปรี้ยว  ปลาทูดูจะเป็นปลาชนิดเดียวที่เอามาต้มกับกะทิได้ และก็ดูจะนิยมทำคู่กับสายบัวทั้งๆที่ไหลบัวก็ใช้ได้เหมือนกัน  ไหลบัวมักจะถูกเอาไปผูกเป็นผักใช้ในแกงส้ม   ทั้งสายบัวและไหลบัวใช้ทานแบบสดๆก็ได้ แต่ก่อนนั้นก็เป็นหนึ่งในผักที่ใช้แนมกับพวกน้ำพริกที่ต้องผัดเช่นน้ำพริกมะขาม และน้ำพริกลงเรือ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 18, 18:26
ลืมไปว่า ปลาดุกก็ต้มกับกะทิได้เช่นกัน และก็เห็นมีอยู่เมนูเดียวเช่นกัน คือในหลนปลาร้าทรงเครื่อง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 18, 18:51
ปลาทูต้มส้ม ก็เป็นอีกเมนูที่มีความอร่อย เป็นอาหารที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นอาหารเบาๆ  ปลากระบอกก็เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเอามาทำต้มส้ม  ในปัจจุบันนี้มีการเอาปลานิลมาทำด้วย แต่ไม่อร่อยเท่าที่ควร ไม่รู้ว่าเป็นเพราะว่าความคาวของปลานิลไม่เข้ากันกับกะปิที่ทำจากสัตว์ทะเล หรือว่าขาดการปรุงรสที่ดี

ต้มส้มแต่เดิมนั้นจะมีการใส่กระเทียมซอยเป็นแว่นๆด้วย แต่ในปัจจุบันนี้เกือบจะไม่เห็นมีการใส่กันเลย ซึ่งกระเทียมที่ใช้ก็เป็นกระเทียมจีนเสียอีก   ต้มส้มจัดเป็นอาหารที่แสดงถึงฝีมือของในการทำอาหารของแม่ครัวหรือพ่อครัวเลยทีเดียว   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 18, 19:06
ปลาทูทอด  แกะเอาก้างออก เอามาคลุกข้าวสวย   หากเป็นเด็กเล็กก็เพียงเหยาะน้ำปลาดีๆ เขาก็อร่อยแล้ว  สำหรับผู้ใหญ่ก็ซอยหอมแดงเพิ่มลงไป เหยาะด้วยน้ำปลาพริกขี้หนู(ซอยละเอียด)   ท่าน สว.ทั้งหลายคงได้เคยลิ้มลองกันมาบ้างเมื่อครั้งกระโน้น คงจะนึกออกว่ามันอร่อยอย่างไร

ปลาทูทอด  แกะเอาก้างออก  จัดการหั่นขิง หอมแดง มะนาว พริกขี้หนู ดังเช่นเครื่องของเมี่ยงคำ ใช้ใบผักกาดหอมห่อเครื่องปรุงเหล่านี้ทาน   ก็เป็นเมี่ยงปลาทูที่แสนอร่อย แถมยังเป็นอาหารสุขภาพอีกด้วย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 18, 19:26
ปลาทูหอม ชื่อนี้จะเกิดมาเมื่อใดก็ไม่รู้ ตัวจริงๆของมันก็คือปลาทูเค็ม   เป็นของที่ไม่ค่อยจะพบเห็นกันในกรุงเทพฯ ยกเว้นในตลาดชุมชนบางตลาด แต่จะพบมากใน ตจว. ในตลาดชุมชนห่างไกล กินกันเหมือนกินปลาเค็ม เพียงแต่ใช้วิธีการปิ้งแทนการทอด บ้างก็ห่อใบตองกล้วยก่อนแล้วจึงทำการปิ้ง



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 18, 20:09
ไตปลาทู  เป็นของที่เราเกือบจะไม่รู้จักกัน แต่คนท้องถิ่นรู้จักกันดี    ก็คือ เหงือกและใส้ปลาทูที่ล้างสะอาดแล้วนำมาหมักเกลือไว้

ผมเคยทานไม่กี่ครั้งและเพียงรับรู้ว่าอาหารนั้นมีการใช้ไตปลาทูในการปรุง  รู้แต่ว่าอร่อยแต่ไม่สามารถขยายความได้เลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 18, 10:05
ไตปลาทู
เป็นอาหารที่ไม่เคยกินค่ะ     ฝังใจว่าเป็นของหมักที่เสี่ยงกับท้องเสียมากกว่าอาหารหมักดองอย่างอื่น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 18, 18:38
ไตปลาที่ใช้ทำแกงไตปลาหรือทำน้ำพริกของคนใต้นั้น ผมไม่ทราบว่าใช้เครื่องในของปลาอะไรๆมาทำบ้าง แต่เมื่อเอามาทำเป็นแกงหรือทำเป็นน้ำพริก  มันก็มีความอร่อยได้    ผมซื้อทั้งสองอย่างทานเป็นครั้งคราว แต่ยังไม่รู้สึกติดใจกับฝีมือของคนทำคนใหน

ทั้งแกงและน้ำพริก(แห้งหรือเหลว) ล้วนมีรสจัดที่เด่นออกไปทางเผ็ด(ด้วยพริก)และร้อน(ด้วยพริกไทย) จึงต้องมีผักสดเอามาแนมเพื่อช่วยเสริมความอร่อยพร้อมๆไปกับช่วยลดความรู้สึกเผ็ดและร้อน  ซึ่งดูเหมือนว่าการกินด้วยวิธีการตักมาคลุกข้าวหรือขนมจีนแล้วกินผักสดตาม จะให้ความรู้สึกเข้าถึงความอร่อยได้มากที่สุด 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 18, 18:45
หากไปในพื้นที่แถบแม่กลองนี้ อย่าลืมหาซื้อน้ำปลาที่มีส่วนผสมของปลาทูในการหมักร่วมอยู่ด้วย  เชื่อว่าเมื่อเปิดดมกลิ่นดูแล้วจะชอบ และจะหวงเอาไว้ใช้เฉพาะสำหรับการจิ้มเท่านั้น


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 18, 19:17
ยังมีของกินอีกอย่างหนึ่งที่คิดว่าคงจะหาทานได้ยากเต็มที คือ ขนมจาก      ขนมจาก ยังพอหาซื้อได้ในตลาดและข้างทางบนเส้นทางจากจากแม่กลองเข้ากรุงเทพฯ   

แต่เดิมนั้น แหล่งขายที่สำคัญอยู่ตามข้างทางถนนสุขุมวิทช่างใกล้ๆตัวมืองสมุทรปราการ แล้วก็หายไปหมดเพราะเมืองขยายจนทำให้พื้นที่ป่า(ต้น)จากหายไป

ขนมจาก ทำด้วยแป้งผสมกับน้ำกะทิ เนื้อมะพร้าวขูด น้ำตาลมะพร้าว  ห่อด้วยใบของต้นจาก 2 ใบประกบกัน กลัดด้วยไม่กลัดทางมะพร้าว แล้งย่างบนเตาไฟอ่อนให้สุก  กลิ่นหอมใหม้ของใบจากได้ช่วยทำให้ขนมอร่อยมาก

ขนมจาก น่าจะเป็นขนมพื้นบ้านที่จัดเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นได้อย่างจริงๆ   

       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 18, 19:01
จากแม่กลองจะไปเพชรบุรีและลงใต้ต่อไป  หากไม่ถูกจำกัดด้วยเรื่องของเวลา ผมเห็นว่าน่าจะลองใช้เส้นทางถนนหลังบ้าน เส้นทางแรกก็คือ ก่อนจะแยกขวาเข้าตัวเมืองแม่กลอง ลองแยกซ้ายไปทางดอนหอยหลอด   อีกเส้นทางหนึ่ง คือ เมื่อข้ามสะพานพระราม 2 ไปแล้วไม่ไกลนัก ก็หาทางแยกซ้ายตามป้ายที่บอกว่าไปหัวหินได้

ถนนทั้งสองเส้นนี้จะเลาะตามขอบรอยต่อระหว่างผืนน้ำของอ่าวไทยกับผืนแผ่นดินไทยและจะผ่านร้านอาหารต่างๆมากมายตั้งแต่แยกเข้าไปเลยทีเดียว เห็นว่าร้านไหนที่ใจเราเห็นว่าดูดี ก็แวะเข้าไปเลย มีทั้งแบบที่มีชื่อดัง แบบชาวบ้าน แบบราคาสูง และแบบราคาต่ำ เลือกเข้าไปนั่งสั่งอาหารทะเลทานได้ตามใจชอบ ซึ่งผมเห็นว่าอร่อยทั้งนั้นแม้ว่าจะเป็นฝีมือของแม่ครัวท้องถิ่นก็ตาม (หากไม่สั่งอาหารหรูหราอย่างที่อยู่ในเมนูของร้านดังๆในกรุงเทพฯ) เพราะได้รสชาติของของทะเลสดๆหรือใหม่ๆนั่นเอง   และ       

 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 18, 19:19
และลักษณะของการประกอบอาหารของผู้คนในถิ่นนี้อยู่ในแบบเป็นลูกผสมระหว่างไทย(แบบมากหน่อย)กับจีน(แบบน้อยหน่อย) และอาจจะมีของชาติอื่นๆมาผสมด้วยอีกเล็กๆน้อยๆ (ด้วยที่แม่กลองเคยเป็นแหล่งผลิตเกลือส่งออกไปยังพื้นที่ทางใต้ของแหลมไทย_รู้จากคนเก่าคนแก่ว่าอย่างนั้น)  ทำให้อาหารหลายๆอย่างมีลักษณะและรสบางอย่างที่แตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยกัน(แบบจีนมากหน่อย ไทยน้อยหน่อย)     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ย. 18, 18:05
บนเส้นทางนี้ ในช่วงเวลาที่เหมาะก็อาจได้แวะซื้อชมพู่เพชรฯสายพันธุ์ที่หวานกรอบอร่อย  อาจจะไปใช้เวลากับพื้นที่ชุมชนเช่นแหลมผักเบี้ย อาจจะได้ลองลิ้มรสสาหร่ายพวงองุ่นอีกด้วย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ย. 18, 19:08
ก่อนจะพ้นพื้นที่ผลิตเกลือทะเล(หรือเกลือสมุทร)ที่สำคัญของไทยตามชายทะเลของสมุทรสงครามและเพชรบุรี ซึ่งก็ยังคงมีการผลิตต่อเนื่องมาจนในปัจจุบันนี้นั้น (พื้นที่ชายทะเลของชลบุรีก็เคยมีนาเกลือเหมือนกัน แต่สู้กับการคืบคลานของเมืองใหม่ไม่ได้ก็เลยหายไปหมดเลยในช่วงเวลาปลายทศวรรษ พ.ศ.2510 ต้นทศวรรษ 2520)    ก็จะขอขยายความเล็กน้อยในเรื่องของเกลือทะเล

เท่าที่จำความได้จากห้องเรียนในสมัยเด็ก แต่ก่อนนั้นคนไทยเราแยกเกลือออกเป็น 2 ชนิด คือ เกลือสมุทร กับ เกลือสินเธาว์   จนกระทั่งในช่วงสงครามเวียดนามเกลือผงจึงเริ่มเข้ามาแพร่หลาย แล้วก็ต่อมาด้วยไทยผลิตเกลือผงผสมไอโอดีนวางขายทั่วไป กลายเป็นที่นิยมกันทั่วไปทั้งประเทศจนในปัจจุบัน  คำว่าเกลือสมุทรหรือเกลือเม็ดจึงเกือบจะหายไปจากการกล่าวถึงของคนทั่วไป มีแต่เพียงการใช้ในการอุตสาหกรรมหมักดองทั้งหลายที่เรียกกันว่าเกลือเม็ดหรือเกลือทะเล และก็ยังแยกออกเป็นเกลือเม็ดชนิดที่ผสมกับชนิดที่ไม่ผสมไอโอดีน ซึ่งในการใช้สำหรับการหมักดองต่างๆก็จะไม่ใช้ชนิดที่ผสมไอโอดีนกัน   เมื่อผู้คนเริ่มสนใจในสุขภาพมากขึ้นและหันไปใช้ของที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ก็เลยใช้คำว่าเกลือทะเลเพื่อจำแนกให้แตกต่างออกไปจากเกลือผง(ซึ่งของฝรั่งผลิตมาจากเกลือหิน_rock salt)   คำว่าเกลือสมุทร(ซึ่งจะหมายถึงเกลือจากสมุทรสงครามหรือจะหมายถึงเกลือจากน้ำทะเลก็ตาม) ก็เลยเลือนหายไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ย. 18, 19:38
เกลือผงหรือเกลือป่นนั้น เป็นเกลือที่ผ่านกระบวนการทำให้เกือบจะเป็นเกลือโซเดียมคลอไรด์(NaCl)บริสุทธิ์ มักจะมีการใส่สารบางอย่างเพื่อกันความชื้นและทำให้มันไม่จับตัวกัน  ต่างกับเกลือทะเลที่ตกผลึกมาจากน้ำทะเลโดยตรง มีความชื้นอยู่ในตัวสูงและมีสีขาวขุ่นหรือมีสีอื่นใดจางๆ (ดูเหมือนสกปรก)

เกลือทะเลของบ้านเรา(แม้กระทั่งเกลือสินเธาว์)ไมีมีราคา หรือไม่ทำให้มันมีราคาก็มิรู้ได้ แต่เกลือธรรมชาติที่หลายประเทศผลิตขายต่างก็มีราคาและเป็นที่ต้องการของนักกินเพื่อสุขภาพ   

ก็คงจะต้องคุ้ยลึกลงไป 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 18, 16:01
นาเกลือ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.ย. 18, 16:56
เท่าที่จำความได้จากห้องเรียนในสมัยเด็ก แต่ก่อนนั้นคนไทยเราแยกเกลือออกเป็น 2 ชนิด คือ เกลือสมุทร กับ เกลือสินเธาว์   

ตากล่ำ ทำนาเกลือ กะตาสง่า อยู่ที่สาขลา

ในหนังสือแบบหัดอ่านหนังสือไทย เล่ม ๓

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6005.0;attach=49572;image)



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 18, 18:27
ใช่ครับ

ในน้ำทะเลมีเกลือของธาตุแคลเซียม โซเดียม โปแตสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก และอื่นๆละลายอยู่ในปริมาณประมาณ 35 ส่วน ใน 1,000 ส่วนของน้ำหนัก  คือ หากตักเอาน้ำทะเลน้ำหนัก 1 กก. แล้วทำให้ระเหยไปจนแห้ง เราก็จะได้ขี้เกลือแห้งกรังอยู่เป็นน้ำหนักประมาณ 35 กรัม (ยังไม่ถึงครึ่งขีด) ในทางธรณีวิทยาเรียกชื่อเกลือเหล่านั้นรวมๆกันว่า Evaporite และจัดเป็นแร่กลุ่มหนึ่ง เช่น เกลือแกง คือแร่ Halite หรือ ดีเกลือ ก็คือแร่ Epsomite

Evaporite เป็นเรื่องที่มีการเรียนกันเป็นเรื่องเป็นราวกันทีเดียว เพราะเป็นมันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและผูกพันอยู่กับมนุษย์มานานมากกว่าสามพันปี เป็นอาหาร เป็นทรัพย์สิน ใช้ประโยชน์ในทางเกษตรกรรม ในทางอุตสาหกรรม กระทั่งใช้เป็นสถานที่เก็บกากสารที่มีกัมมันตภาพรังสี   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 18, 18:47
เกลือที่สำคัญของธาตุดังกล่าวเหล่านั้นได้แก่ เกลือคลอไรด์ และเกลือซัลเฟต   

ในกลุ่มเกลือคลอไรด์ที่สำคัญก็มี โชเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) ที่เอามาทำอาหาร และโปแตสเซียมคลอไรด์ (แร่โปแตส) ที่เอามาใช้ทำปุ๋ย
   
เกลือในกลุ่มเกลือซัลเฟตที่สำคัญก็มี แคลเซียมซัลเฟต (แร่ยิบซั่ม) และแม๊กนีเซียมซัลเฟต (ดีเกลือ) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ใช้ในกระบวนการผลิตของใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 18, 19:30
เกลือของฝรั่งที่เราดูจะเรียกกันว่าเกลือผงนั้น  เป็นผลผลิตที่ได้มาจากการทำเหมืองเกลือ คือมุดดินลงไปขุดเอาเกลือจากชั้นเกลือที่อยู่ใต้ดินที่เกิดสะสมกันมานับเป็นหลายสิบหลายร้อยล้านปีมาแล้ว บ้างก็ใช้วิธีเจาะรูเพื่อเอาน้ำลงไปละลาย สูบขึ้นมา แล้วทำให้มันตกเป็นผลึกเกลือใหม่อีกรอบหนึ่ง  แหล่งเกลือที่ถูกนำขึ้นมาใช้นี้เรียกว่าเกลือหิน (rock salt) เป็นเกลือที่เกือบจะมีแต่โชเดียมคลอไรด์เพียงอย่างเดียว 

เกลือสินเธาว์ในภาคอิสานของเราจัดอยู่ในเกลือที่ได้มาจากต้นทางที่เป็นเกลือหิน   แต่เกลือสินเธาว์ในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จังหวัดน่านนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือได้มาจากน้ำเค็มที่ถูกกักเก็บอยู่ในชั้นหินอุ้มน้ำในบางพื้นที่ (เช่นกรณีน้ำในบ่อทรายในพื้นที่นครปฐม บางบ่อก็เป็นน้ำจืด บางบ่อก็เป็นน้ำเค็ม)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 18, 21:40
ในกระทู้เก่าที่พูดถึงอาหารการกินในนิยายสำหรับเด็กชุด "บ้านเล็ก" มีการพูดถึงการเก็บรักษาเนื้อกวางและเนื้อหมูไม่ให้เน่า ด้วยการหมักเกลือ
ดิฉันไม่ทราบว่าเป็นเกลือแกงหรือเกลืออะไร    ไปค้นดู เขาบอกว่าวิธีการทำหมูหมักเกลือ หรือเรียกว่าหมูเค็ม salt pork  ใช้ Curing salt  ค่ะ
มันคือเกลืออะไรคะ    รู้แต่ว่าใช้หมักเพื่อถนอมอาหารแบบโบราณ ในยุคที่ยังไม่มีตู้เย็น
มาถึงปัจจุบันก็ยังมีขายอยู่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ย. 18, 07:39
คุณวิกกี้ (https://en.wikipedia.org/wiki/Curing_salt) อธิบายส่วนผสมของเกลือหมักนี้ว่า

Curing salts are generally a mixture of table salt and sodium nitrite, which serves to inhibit the growth of bacteria, specifically Clostridium botulinum in an effort to prevent botulism, and helps preserve the color of cured meat. Many also contain red dye that makes them pink to prevent them from being confused with common table salt.

Pink curing salt #1 It contains 6.25% sodium nitrite and 93.75% table salt (sodium chloride). It is recommended for meats that require short cures and will be cooked and eaten relatively quickly. Sodium nitrite provides the characteristic flavor and color associated with curing.

Pink curing salt #2 It contains 6.25% sodium nitrite, 4% sodium nitrate, and 89.75% table salt (sodium chloride). The sodium nitrate found in Prague powder #2 gradually breaks down over time into sodium nitrite, and by that time a dry cured sausage is ready to be eaten, no sodium nitrate should be left. For this reason it is recommended for meats that require long (weeks to months) cures, like hard salami and country ham.

ทำความรู้จักเพิ่มเติมเกี่ยวกับไนเตรตและไนไตรต์ในอาหาร
http://www.lovefitt.com/healthy-fact/รอบรู้เรื่องไนเตรทและไนไตรท์/ (http://www.lovefitt.com/healthy-fact/รอบรู้เรื่องไนเตรทและไนไตรท์/)

ส่วนผสมของเกลือหมักยี่ห้อที่คุณเทาชมพูนำมาแสดง รายละเอียดอยู่ที่ข้างถุง บน - เกลือหมักเบอร์ ๑ (https://www.anthonysgoods.com/products/anthonys-premium-pink-curing-salt-1-2lb-batch-tested-gluten-free?variant=4472039427) ล่าง - เกลือหมักเบอร์ ๒ (https://www.anthonysgoods.com/products/pink-curing-salt-2-2lbs-premium-slow-cure-prague-powder?variant=43697180934)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 18, 20:03
ขอบคุณค่ะ
งั้น มันคือเกลือแกง  ผสมโซเดียมไนเตรท ถูกไหมคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 18, 20:16
แต่ก่อนนั้นก็ไม่รู้จักหรอกครับว่า curing salt นั้น แท้จริงแล้วมันคืออะไร  ก็เข้าใจแต่เพียงผิวเผินว่ามันก็คือเกลือบดหยาบที่เอามาลูบไล้เนื้อสัตว์เพื่อจะได้เก็บไว้นานๆและสามารถกินดิบได้ เช่น ในการทำแฮมขาหมูที่เรียกว่า parma ham    ต่อมาได้เกิดคิดว่าจะทำอะไรเล่นๆสักอย่าง เมื่อได้ค้นลึกลงไปจึงได้รู้ว่ามันเป็นเกลือผสมเกลือโชเดียมไนเตรตและไนไตรท ดังที่คุณเพ็ญชมพูได้สำเนามาให้อ่าน  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ย. 18, 19:09
เกลือต่างๆที่ได้มาจากการระเหยเหือดแห้งของน้ำทะเลนั้น จะตกผลึกแยกเป็นแต่ละชนิดเรียงลำดับทับซ้อนกันเป็นชั้น เป็นไปตามลำดับของความเข้มข้นของน้ำทะเลที่เพิ่มมากขึ้นตามที่ปริมาณน้ำได้ระเหยไป คล้ายกับการอุ่นแกงอะไรสักอย่างที่ยิ่งอุ่นหลายครั้งมากเข้า น้ำแกงก็จะยิ่งมีความข้นมากขึ้น

เกลือสำคัญๆที่จะตกผลึกเมื่อน้ำทะเลมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น แรกๆที่จะตกผลึก ก็คือ แคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน)  ตามมาด้วยแคลเซียมซัลเฟต (ยิบซั่ม)  ตามมาด้วยโซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) ซึ่งมีละลายอยู่น้ำทะเลเป็นปริมาณมากที่สุด  ปิดท้ายด้วยเกลือของธาตุโปแตสเซียม (กลุ่มแร่โปแตส)และแมกนีเซียม

เมื่อเกลือที่เราต้องการคือเกลือแกง ดังนั้นก็จึงต้องมีกระบวนการกระทำเพื่อให้ได้น้ำทะเลในปริมาณมากที่มีความเข้มข้นคงที่พอเหมาะที่จะทำให้เกลือแกงตกผลึก แล้วก็ต้องมีกระบวนการคัดออกพวกเกลือแคลเซียมและยิบซั่มที่มันจะต้องตกผลึกก่อนจะได้น้ำทะเลที่มีความเข้มข้นสำหรับทำเกลือแกง 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ย. 18, 20:14
ในกระบวนการทำนาเกลือด้วยวิธีการนำน้ำทะเลมาตากแดดนั้น ก็เลยต้องมีนาส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่คัดเอาพวกคาร์บอเนต(ปูน) และซัลเฟต (ยิบซั่ม)ออกไป  แล้วเอาน้ำทะเลที่ไม่มีเกลือทั้งสองดังกล่าวนั้นมาตากให้งวดเพื่อจะได้เกลือแกง แล้วก็ต้องเก็บเกี่ยวเกลือแกงนั้นก่อนที่แดดจะเผาจนความเข้มข้นของน้ำทะเลนั้นเพิ่มมากขึ้นถึงระดับที่ดีเกลือตกผลึกมาผสมรวมอยู่ด้วย 

ในทางวิชาการก็คงจะอธิบายได้ง่ายๆในลักษณะนี้   

ในทางปฎิบัติที่ทำเป็นอุตสาหกรรมแบบมีมาตรฐานกำหนดที่จับต้องได้ ก็จะได้เกลือที่มีคุณสมบัติคงที่ตามที่ตลาดต้องการ  ต่างไปจากแบบที่ชาวบ้านท้องถิ่นเขาทำกัน ซึ่งใช้ความรู้และชำนาญบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันต่อๆมา ยังผลให้เกิดความมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละแหล่งผลิต   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 18, 18:45
พื้นที่ๆใช้ทำนาเกลือของเรานั้น จะใช้พื้นที่ราบชายฝั่งทะเลส่วนที่อยู่ถัดเข้ามาในแผ่นดินต่อเนื่องเข้ามาจากส่วนที่เป็นป่าโกงกาง(ซึ่งน้ำทะเลท่วมถึงเมื่อเวลาน้ำขึ้น) แต่ไม่เลยลึกเข้าไปจนถึงเขตที่ต้นเสม็ดขึ้น(ซึ่งเป็นพื้นที่ของน้ำจืด)   พื้นที่การทำนาเกลือจึงอยู่ในพื้นที่ของสิ่งแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อยที่แท้จริง เป็นพื้นที่ของป่าจากและต้นสาคู พื้นดินมีลักษณะเป็นดินโคลน   

หลายท่านอาจจะนึกเลยไปถึงลูกจาก(จากต้นจาก) และลูกชิด(ที่ได้มาจากผลของต้นไม้อีกชนิดหนึ่งในพื้นที่ป่าเขา)

ในพื้นที่ๆทำนาเกลือนั้น จะมีพื้นที่ส่วนที่จัดเป็นที่กักเก็บน้ำทะเลไว้ใช้และเพื่อให้สิ่งที่ไม่พึงปราถรนาตกตะกอน แล้วส่งต่อไปสู่พื้นที่ส่วนที่นำน้ำมาตากแดดเพื่อให้น้ำระเหยออกไปจนมีความเข้มข้นมากพอที่เกลือแคลเซียมซัลเฟต(ยิบซั่ม)ตกผลึกสะสมอยู่ที่ก้นท้องนา แล้วก็ส่งต่อน้ำนั้นไปยังอีกพื้นที่หนึ่งเพื่อตากแดดต่อไปให้เกลือแกงตกผลึก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 18, 19:35
ในลักษณะดังที่เล่ามา ก็คงพอจะได้เห็นภาพของความแตกต่างของเกลือที่แต่ละเจ้าได้ทำการผลิตขาย ก็มีตั้งแต่ปริมาณตะกอนแขวนลอยที่อยู่ในน้ำ ปริมาณของเกลืออื่นๆที่ปะปนอยู่ในเกลือแกงในระหว่างการผลิต (จากผลของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้) และผลจากจุลชีพต่างๆ...ฯลฯ 

ขึ้นชื่อว่าเกลือแกง มันก็ต้องมีความเค็มเป็นธรรมดา แต่ในความเค็มนั้นดูเหมือนว่ามันก็มีความแตกต่างอยู่เหมือนกันทั้งในด้านสีและรส (และกลิ่น ??) ก็ด้วยเหตุบางอย่างที่ได้กล่าวถึงข้างต้น   

 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 18, 18:26
ความต่างอีกส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่บริสุทธิ (impurities) ก็คือพวกตะกอนแขวนลอยของสิ่งไม่มีชีวิต (ตะกอนดิน..) และซากของสิ่งมีชีวิต(จุลชีพต่างๆ) ที่ผสมอยู่ในเนื้อของเกลือแกงนั้นๆ  ซึ่งกลับกลายเป็นส่วนสร้างสีสันให้กับเกลือของแหล่งผลิตนั้นๆ  แถมยังมีแบบที่ใส่ผสมลงไปก็มี (สี, ผงถ่าน..)       ไปไกลถึงระดับที่สามารถจะเคลือบเม็ดเกลือผงด้วยสารอะไรต่อมิอะไรก็ได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 18, 19:02
เขียนมาเสียยืดยาวก็เพียงเพื่อจะฉายภาพว่า เกลือทะเลนั้นถูกผลิตขึ้นมาในสภาวะแวดล้อมที่มีการแปรผันอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่คุณสมบัติของแสงอาทิตย์ ของน้ำทะเล ของลมฟ้าอากาศ ....    ยังผลทำให้ยากที่จะได้ผลึกเกลือแกงที่บริสุทธิ์ที่สุด ซึ่งในความไม่บริสุทธิ์ที่สุดนี้ได้กลับกลายเป็นของบริโภคที่ดีกว่าเกลือแกงที่ค่อนข้างจะบริสุทธิ์ที่ได้มาจากแหล่งแร่เกลือหิน (rock salt)

จากที่ฉายภาพมา ก็คงพอจะเห็นว่าในกระบวนการตกผลึกของเกลือจากน้ำทะเลในการทำนาเกลือนั้น เรามีโอกาสได้เกลืออะไรหลุดเข้ามาผสมอยู่ในผลผลิตที่เป็นเกลือแกงบ้าง   ก็จะมีเกลือของธาตุหลักๆ แคลเซียม โซเดียม โปแตสเซียม และแม็กนีเซียม ส่วนจะมีมากหรือน้อยหรือไม่มีเลยก็ต่างกันไป ไม่รวมของธาตุที่เรียกว่าเป็น trace elements (คือมีปริมาณน้อยมากกกก...) เช่น เหล็ก ฟอสฟอรัส โบรอน ทองแดง สังกะสี ...ฯลฯ   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 18, 19:36
ซึ่งบรรดาเกลือของธาตุหลักๆนั้น เมื่อละลายน้ำแล้วมันก็คือ electrolyte  ซึ่งเป็นเรื่องที่ร่างกายเราต้องรักษาความสมดุลย์ให้ดี มิให้มีอย่างหนึ่งอย่างใดมากหรือน้อยเกินไป  เมื่อท้องเสียหรือเสียเหงื่อมากเราก็กินพวก electrolyte เพื่อช่วยปรับความสมดุลย์มิใช่หรือ ?

สำหรับ trace elements นั้น ร่างกายของเราก็ต้องการให้มีอยู่อย่างสม่ำเสมอสำหรับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของเซลและต่อมต่างๆ      ที่มีการสนับสนุนให้กินผัก โดยเฉพาะผักที่มีสีเข้มนั้น ก็ด้วยเหตุที่มันมี trace elements อยู่ไม่น้อยมิใช่หรือ ?   คนที่ไม่นิยมกินผักก็เลยต้องกินวิตามินรวม+เกลือแร่ราคาแพงที่มีการผลิตขายกันอยู่ในตลาดแทน   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 18, 20:14
ขออภัยครับ ที่ได้ก้าวล่วงเข้าไปในเรื่องทางการแพทย์และสาธารณสุข


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 18, 18:25
แม้จะเห็นว่าเกลือทะเลดีอย่างไรก็ไม่ควรจะบริโภคมาก แถมยังควรที่จะต้องลดการบริโภคความเค็มให้น้อยลงไปอย่างมากๆเสียอีกด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 18, 18:55
เมื่อหมดฤดูทำนาเกลือ นาเกลือก็จะถูกทิ้งให้ตากแดดจนแห้งกรัง  เมื่อถึงฤดูทำนาใหม่ ก็จะต้องมีการทำผิวนาให้สะอาดและใช้ลูกกลิ้งปรับผิวนาให้เรียบเสมอกัน   ซึ่งจะต้องมีการเซาะลอกส่วนผิวหน้าส่วนที่จับกันเป็นแผ่นแห้งกรังและแตกร่อนเป็นแผ่นๆที่เขาเรียกกันว่า ขี้แดด (ขี้แดดนาเกลือ)

ขี้แดดนาเกลือนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อพวกพืชที่เราปลูกเพื่อกินผล (และก็น่าจะเป็นของดีสำหรับสัตว์ต่างๆอีกด้วย)   เมื่อใดที่ผมขับรถผ่านไป ผมมักจะแวะถามหาซื้อและจะเตรียมกระดาษหนังสือพิมพ์ใว้ท้ายรถล่วงหน้าเพื่อใช้รองกระสอบ(ปุ๋ย)ที่ผู้ขายเขาใส่ขี้แดดไว้ขาย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 18, 19:21
นึกย้อนกลับไปก็จะพบว่า ที่พื้นท้องนาเกลือนั้นจะมีอะไรตกลงมาสะสมอยู่บ้าง มิใช่ธาตุที่ต้นไม้ต้องการในการเจริญเติบโตและให้ดอกผลที่สมบูรณ์และหวานฉ่ำหรอกหรือ ?  ปุ๋ยทั้งนั้นนั่นเอง    ชาวสวนแท้ๆแต่โบราณรู้จักในเรื่องนี้กันดี
 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 18, 19:34
สำหรับการใช้ในเรื่องเกี่ยวกับสัตว์นั้น ผมไม่มีข้อมูลเลยเกี่ยวกับการใช้ใดๆเลย      ก็เพียงแต่คิดว่า ดินขี้แดดนี้น่าจะเหมาะสำหรับสัตว์ในตระกูลที่โดยธรรมชาติแล้วต้องหากินดินโป่ง (วัว ควาย ...)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 18, 17:42
แล้วเกลือสินเธาว์ที่ชาวบ้านแต่ก่อนเขาทำกันนั้น จะดีหรือแย่กว่าเกลืออื่นไหม ?

ในความเห็นบนพื้นฐานทางวิชาการของผม  ผมเห็นว่าก็น่าจะดีกว่าเกลือผงที่ถูกทำให้มีความบริสุทธิ์มากขึ้น แต่กับเกลือสมุทรนั้นตอบยาก สำหรับส่วนที่ไม่ดีที่สุดของเกลือสินเธาว์ก็คงจะมีอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องของไอโอดีน 

เกลือสินเธาว์ที่ชาวบ้านทำกันแต่โบราณนั้น ใช้วิธีกวาดคราบเกลือ(ปนดิน)บนผิวดิน เอามาละลายน้ำ แยกตะกอนดินออกไป แล้วต้มเพื่อให้ได้ผลึกเกลือ  เกลือที่ได้ก็แน่นอนว่าจะไม่ขาวสะอาด ซึ่งแสดงถึงมีสิ่งเจือปนอยู่มากมาย  ก็น่าจึงสนใจอยู่ว่าสิ่งเจือปนเหล่านั้นจะมีคุณประโยชน์อยู่บ้างใหม 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 18, 18:10
คราบเกลือบนผิวดินนั้นได้มาจากน้ำเกลือที่ซึมผ่านชั้นดินขึ้นมา ซึ่งส่วนของชั้นเกลือที่สะสมอยู่ใต้ดิน(salt dome)ที่ละลายน้ำออกมานั้น มีเกลือของธาตุโปแตสเซียมรวมอยู่ด้วย (ก็เกลือโปแตสเซียมที่เราอยากจะเข้าไปเอามาทำเป็นปุ๋ยนั่นเอง) และในระหว่างการซึมก่อนจะขึ้นมาถึงผิวดินนั้นมันก็ยังมีโอกาสจะเกิดการสลับสับเปลี่ยนธาตุกัน (เช่น ระหว่าง โซเดียม โปแตสเซียม และแคลเซี่ยม)

ฝนฟ้าคะนอง ต้องขอหยุดก่อนครับ



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 18, 16:45
คงจะไม่เข้าไปในเรื่องทางเคมีมากกว่านี้แล้วนะครับ 

ในอีกมิติหนึ่ง เมื่อโกยเอาขี้เกลือ(ผสมดิน)มาใส่ในน้ำเพื่อแยกเอาดินที่ตกตะกอนออกไปนั้น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่นานพอ ก็จะยังคงมีตะกอนดินที่เป็นผงขนาดจิ๋วมากๆ(ระดับไมครอน)แขวนลอยอยู่ ซึ่งดินที่เป็นตะกอนแขวนลอยเหล่านั้นเป็นแร่ดิน (Clay minerals) โดยปกติจะมีธาตุโปแตสเซียม อลูมิเนียม และแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ

ก็นำพามาถึงจุดที่ต่างคนคงจะต้องไปค้นหาความรู้ต่อไปในเรื่องของบทบาทหน้าที่และการทำงานของโซเดียมกับโปแตสเซียมในร่างกายเรา

หลายท่านอาจจะนึกถึงไปถึงเรื่องคนอิสานในบางพื้นที่เขากินดิน  สำหรับผมนั้นเห็นไปว่ามันเป็นการกินในลักษณะเป็นยา เพื่อในเกิดความสมดุลย์ระหว่างสองธาตุที่กล่าวมา     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 18, 17:34
วันนี้ไปเดินเล่นและซื้อของในซุปเปอร์มาเก็ต ได้เห็นเกลือสีชมพูจากแหล่งผลิตเกลือหินในภูเขาหิมาลัย บรรจุขวดและซองขายในราคาประมาณ 100 บาทต่อน้ำหนัก 100 กรัม  (กรัมละบาท)   เกลือหินสีชมพูของหิมาลัยนี้มีชื่อเสียงและขายดีในประเทศทางตะวันตก เรียกกันว่า Himalayan salt 

และก็มีเกลือทะเลที่ขายดีและเป็นที่นิยมมากของผู้คนในประเทศทางตะวันตก เรียกกันว่า Celtic sea salt ซึ่งค่อนข้างจะมีความชื้น (เหมือนเกลือทะเลของบ้านเรา)    เกลือทั้งสองดังกล่าวนี้ (และจากแหล่งผลิตอื่นๆ) ได้มีการนำมาวิเคราะห์หาปริมาณเกลือและสารประกอบอื่นๆ รวมทั้งปริมาณธาตุ trace elements  มีการเผยแพร่กันอย่างเปิดเผยทั่วไป   

เกลือสมุทรของไทยเราก็ต้องมีการวิเคราะห็กันอยู่แล้วเช่นกัน และก็น่าจะมีการแยกเป็นชุดตัวอย่างจากทางฝั่งชลบุรี กับชุดจากทางฝั่งสมุทรสงคราม เพชรบุรี     ซึ่งทั้งสองพื้นที่นี้น่าจะต้องมีคุณสมบัติต่างกันอยู่บ้าง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ต่างกัน (ต้นทางหรือปลายทางของกระแสน้ำที่หมุนอยู่ในอ่าวไทยส่วนหัว ก.ไก่)     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 18, 18:03
ก็น่าสนใจต่อไปว่า หากเอาคุณสมบัติของเกลือทะเลของเราที่ปราศจากการปรับหรือการปรุงแต่งใดๆไปเปรียบเทียบกับของที่เขามีชื่อเสียงโด่งดังอยู่นั้น มันจะเป็นเช่นใด   

ผมเชื่อว่า เรามีช่องทางที่จะเอาเกลือสมุทรของเราไปผูกพัน(ในเชิง a must)กับอาหารไทย และอาศัยความเด่นดังของอาหารไทยที่มีการกล่าวถึงกันอยู่แล้วทั่วไปในโลก ให้ช่วยเปิดตลาดและกระจายเกลือสมุทรของไทยให้กระฉ่อนไปทั่วโลกได้เช่นกันในเชิงของ umami   เฉกเช่น Nampla และ Sriracha ที่ก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในของปรุงแต่งรสและกลิ่นในอาหารประเภท fusion foods (อาหารจานมั่วนิ่ม ??  ;D) 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 18, 20:17
ผ่านนาเกลือของสมุทรสงคราม ถึงสามแยกปากท่อแล้วเลี้ยวซ้ายตามถนนเพชรเกษมลงพื้นที่ภาคใต้  แต่เดิมนั้นจะต้องวิ่งผ่านเข้าไปในตัวเมืองเพชรบุรี ซึ่งผู้คนนิยมที่จะแวะซื้อพวกขนมหวานต่างๆ   ที่โด่งดังจริงๆก็เห็นจะเป็นขนมหม้อแกงในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนโฉมไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง คือ ใช้วิธีการใส่ถาดเล็ก ผสมเผือกก็มี ผสมเม็ดบัวก็มี หรือจะไม่ผสมอะไรก็มี    ต่างไปจากของดั้งเดิมที่นิยมใส่ถั่วเขียวบดหยาบ ทำในถาดใหญ่แล้วจึงตัดแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก และมีหอมเจียวโรยหน้า

ผมเองก็ยังชอบแบบเดิมอยู่  หอมเจียวที่โรยหน้า ให้ทั้งกลิ่นและรสที่อร่อยยากที่จะบรรยาย  แล้วก็ดูดีที่ใช้วิธีการห่อใบตองกล้วย ให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการต้องตักออกมาจากถาดสังกะสี


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 17 ก.ย. 18, 20:38
หม้อแกงแบบเดิมพอหาซื้อที่ไหนได้บ้างไหมครับ ชอบหอมเจียวโรยหน้าเหมือนกัน  :'(


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 18, 18:24
ในเขตกรุงเทพฯคงจะหาได้ยากครับ  จะพอหาได้ก็ในพื้นที่ชายขอบปริมณฑลและใน ตจว. โดยเฉพาะพวกรถสามล้อขายขนมหวานที่เร่ขายอยู่ตามชุมชนต่างๆ 

คลับคล้ายคลับคลาว่า เคยเห็นมีทำขายอยู่ในตลาดนางเลิ้งครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 18, 19:18
ขอย้อนกลับไปนิดนึงครับ

พูดถึงขนมจากแล้วก็ให้นึกถึงลูกจากที่เอามาทำลอยแก้วและเชื่อมน้ำตาล อร่อยทั้งสองอย่างเลยครับ  ผมเองไม่ได้ทานมานานแล้ว แต่ก็เชื่อว่าน่าจะยังคงมีการทำขายกันอยู่   สำหรับลูกจากลอยแก้วนั้น น่าจะหาทานได้ในร้านอาหารที่อยู่ในพื้นที่ชายทะเลที่ยังคงมีป่าจาก  ส่วนสำหรับลูกจากเชื่อมนั้น น่าจะพอหาได้ในร้านขายของฝาก

ก็มีของอร่อยอีกอย่างหนึ่งที่รูปร่างหน้าตาเมื่อดูแบบผิวเผินแล้วคล้ายกัน ก็คือลูกชิด   ลูกชิดได้มาจากผลของต้นตาวซึ่งห้อยย้อยออกมาเป็นพวง(ทะลาย)  ต้นตาวเป็นไม้ป่า พบอยู่ในป่าบริเวณที่เป็นตลิ่งสองฝากห้วยประเภทมีน้ำไหลไม่ตลอดทั้งปี (intermittent stream) พบมากในผืนป่าทางภาคเหนือโดยเฉพาะในผืนป่าต่อเนื่องย่านอุตรดิตถ์ แพร่ น่าน  ซึ่งก็เลยกลายเป็นพื้นที่แหล่งผลิตที่สำคัญ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 18, 20:17
เมื่อครั้งผมยังทำงานสำรวจทางธรณีฯอยู่ในผืนป่าย่านดังกล่าว (อีกปีเดียวก็จะครบ 50 ปีพอดี)  เมื่อใดที่อาบน้ำในห้วยแล้วรู้สึกคันตามตัวขึ้นมา ก็เป็นที่รู้ว่าเหนือน้ำขึ้นไปนั้นมีชาวบ้านเข้ามาตัดทลายต้นตาวเอาไปทำลูกชิด 

เมื่อครั้งกระโน้นนั้น เมื่อเดินไปถึงต้นตอของน้ำที่คัน ก็จะพบทะลายตาวที่ถูกเผาไฟแช่อยู่ในน้ำในห้วย    ภายหลังก็ได้รู้ว่า เพื่อจะเอาเนื้อในของลูกตาวออกมานั้นเขาใช้วิธีการต้มแล้วผ่าปลิ้นเอาเนื้อในออกมา  ก็เลยไม่รู้ว่าจะเป็นความต่างทางกรรมวิธีเอาเนื้อในลูกตาวออกมา หรือจะเป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 18, 20:33
คู่ที่ถูกโฉลกจริงๆของลูกชิดดูจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ กับน้ำแข็งใส และกับไอติมแบบไทย (ไอซ์ครีม)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 18, 16:37
ลูกชิด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 18, 16:43
อีกอย่าง ที่หายากหน่อย คือลูกลาน  ทำลอยแก้วหรือใส่ไอศกรีมได้อร่อยไม่แพ้ลูกชิด ลูกจากค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 18, 19:27
ลูกลานนี้ เคยแต่เห็นผลของมันที่ยังห้อยอยู่กับต้น แต่ไม่คุ้นเคยในขั้นตอนวิธีการเอามาทำกินครับ   

ผลของต้นไม้ตระกูลปาล์มนี้ เกือบทั้งหมดดูจะถูกนำไปใช้ทำอาหารประเภทของหวานเท่านั้น  จะมีก็แต่เพียงมะพร้าวเท่านั้นกระมัง ที่มีการนำไปใช้ในการทำอาหารคาวด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 18, 18:54
เลยทำให้นึกถึงจาวมะพร้าว กับจาวตาล   

จาวมะพร้าวจะพบในมะพร้าวห้าวลูกแก่ๆ    สมัยก่อนนั้นเมื่อต้องการน้ำกะทิ ก็จะเอามะพร้าวห้าวมา ใช้มีดอีโต้หัวโตเฉาะเปลือก งัดและดึงเปลือกออกมาเป็นชิ้นๆ ลอกใยกาบมะพร้าวออกให้หมดจนผิวกะลาสะอาด  แล้วใช้สันมีดเคาะกลางลูกให้ลูกมะพร้วแตกออกเป็นสองชิ้น น้ำมะพร้าวนั้นมักจะทิ้งไป แต่ก็มีที่เก็บเอาไปดองผักที่ใช้จิ้มน้ำพริก   เราก็จะเฝ้าดูว่าเมื่อแยกกะลามะพร้าวออกจากกันแล้วจะมีจาวมะพร้าวหรือไม่ เป็นของกินเล่น อร่อยดี มีเนื้อฟ่ามๆ    กะลาสองซีกนั้นก็จะเอาไปขูดกับกระต่ายขูดมะพร้าว ก่อนที่จะเอาไปคั้นกับน้ำอุ่น กรองด้วยกระชอนไม้ไผ่สานเพื่อเอาน้ำกะทิ 

การขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวนั้นอาจจะดูไม่ยาก แต่แท้จริงแล้วมันก็มีเทคนิคอยู่เหมือนกัน คือการขูดให้ได้เนื้อมะพร้าวเป็นผงขนาดเสมอๆกัน การขูดให้หมดเนื้อมะพร้าวในกะลาและให้ได้เนื้อมะพร้าวสีขาวมากที่สุด    เดี๋ยวนี้กระต่ายขูดมะพร้าวได้กลายเป็นสิ่งของสะสมของนักสะสมของเก่า แต่คงจะเก่าแต่เฉพาะตัวหัวขูดเท่านั้น   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 18, 19:43
สมาชิกเรือนไทยกี่คนหนอ  เคยขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 18, 19:44
จนกระทั่งมีพัฒนาการใช้เครื่องขูดมะพร้าว การขูดมะพร้าวเองก็เลยค่อยๆหายไป และทั้งสองวิธีนี้ก็หายไปเกือบทั้งหมด กระทั่งในตลาดสดต่างๆในต่างจังหวัด เปลี่ยนไปเป็นการใช้กะทิสำเร็จทั้งหมดในปัจจุบัน

ยังจำได้ว่า เมื่อครั้งยังที่ต้องขูดมะพร้าวทำกะทิกันเองนั้น ก็จะใช้มะพร้าวลูกหนึ่งสำหรับแกงหม้อหนึ่ง  เมื่อถึงคราวซื้อมะพร้าวขูดสำเร็จ ก็จะซื้อกันกิโลหนึ่ง (1 กก.) สำหรับการทำแกงหนึ่งหม้อ    เลยชักสงสัยขึ้นมาว่า แกงเข้ากะทิในสมัยก่อนกับสมัยนี้นั้นมันจะต่างกันมากน้อยเพียงใด    

สำหรับผม เห็นว่าของสมัยก่อนนั้นอร่อยมากกว่าของสมัยนี้ อย่างน้อยก็เพราะว่าในกระบวนการทำทั้งหมดมันมีการคำนึงถึงในด้านของคุณภาพตลอดทางตั้งแต่การเตรียมการกับเครื่องปรุงไปจนถึงการปรุงจนเป็นจานอาหาร  มิใช่เป็นแต่เพียงแต่จัดหาเครื่องปรุงให้ครบแล้วก็ปรุงให้เป็นจานอาหาร ก็ได้แล้ว     ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่บรรดาตำราอาหารไทยจึงมักจะมีชื่ออาหารที่ต่อท้ายด้วยคำว่าชาววัง ซึ่งโดยนัยมักจะเป็นเรื่องของความพิถีพิถันในการทำ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 ก.ย. 18, 19:53
น้ำตาไหลพราก....จาวมะพร้าวกับกระต่ายขูดมะพร้าวผมทันทั้งสองอย่าง และไม่ได้เจอทั้งสองอย่าง 20 ปีหรือมากกว่าเข้าไปแล้ว พอมีเครื่องขูดมะพร้าวด้วยไฟฟ้าอะไรๆ จึงเร็วกว่าเดิม (ใช้มือกดลงไปเป็นชิ้น ไม่รู้เรียกว่าขูดหรือหั่นหรือสับหรือปั่นดี มีคนพลาดได้เลือดอยู่บ่อยครั้ง) แล้วกระต่ายขูดมะพร้าวไปอยู่ไหนแล้วหนอ  :'(



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 18, 20:12
กระต่ายขูดมะพร้าวดังที่ อ.เทาชมพู อนุเคราะห์ภาพมานั้น เป็นลักษณะของจริงที่ใช้กันตามบ้านคนทั่วไป และก็น่าจะทั่วทุกแห่งหนทั่วไทยทีเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 20 ก.ย. 18, 23:14
สมาชิกเรือนไทยกี่คนหนอ  เคยขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าว
เคยทำหน้าที่นี้ประจำครัวที่บ้านสมัยที่ยังมีมะพร้าวห้าวขายตามตลาด เริ่มแต่เกลาขนให้เกลี้ยง ต่อยด้วยความแม่นยำเป็นสองซีก (ออกแรงให้พอดีโพละเดียว)
คลีนนิ่งฟันเจ้ากระต่ายตัวน้อย แล้วขูดเนื้อมะพร้าวออกมาให้เป็นฝอยละเอียด เพื่อสะดวกเวลาคั้น (แม่ครัวตัวจริงรับช่วงต่อ)
นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นจิตอาสาตามงานบุญงานบวช ซึ่งก็เห็นแต่ผู้ชายที่ช่วยทำหน้าที่ขูดมะพร้าว พยายามมองหาหญิงสาวบนหลังกระต่ายแบบแม่เมขลา ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ก็ยังไม่เคยเจอ จะมีบ้างก็ป้าๆน้าๆยายๆงกๆเงิ่นๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ย. 18, 08:31
พยายามมองหาหญิงสาวบนหลังกระต่ายแบบแม่เมขลา ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ก็ยังไม่เคยเจอ จะมีบ้างก็ป้าๆน้าๆยายๆงกๆเงิ่นๆ

นึกถึงแม่เบี้ย นึกถึงกระต่ายขูดมะพร้าว  ;D


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 18, 09:15
ถามผู้มีประสบการณ์ขูดมะพร้าวมาก่อน     นั่งท่านี้ขูดมะพร้าวออกมาได้จริงหรือคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 21 ก.ย. 18, 10:44
ผมเคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา อยู่ที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา
มีห้องหนึ่งจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน หนึ่งในนั้นคือกระต่ายขูดมะพร้าวนี่แหละครับ แต่รูปร่างของเขาไม่เป็น"กระต่าย"สักเท่าไหร่ มีทั้งที่เป็น จรเข้จริงๆ จรเข้น้อยๆ (แลน/เหี้ย) รูปกบ/คางคก รูปลิง รูปหญิงเปลือย รูปปลัดขิก เป็นต้น บางตัว (ลักษณะนามของกระต่ายขูดมะพร้าว เป็นตัว ใช่ไหมครับ) ก็ร่วมสมัย เป็นรูปหญิงสาว แต่มีสายสะพายนางงามจักรวาล ก็มีครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 21 ก.ย. 18, 12:52
ถามผู้มีประสบการณ์ขูดมะพร้าวมาก่อน     นั่งท่านี้ขูดมะพร้าวออกมาได้จริงหรือคะ
ได้เหมือนกันครับ แต่เนื่องจากคุณเมขลาเธอหุ่นสูงยาว ถ้าก้มตัวขนาดนั้นกว่าจะขูดหมด 1ซีกคงเมื่อยน่าดู
แต่ก่อนจะแอ๊คชั่น คงทำเวอร์คช็อปทท่าขูดมะพร้าวกันมาแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 18, 19:05
เท่าที่เคยเห็นมา สำหรับผู้หญิงนั้นก็มีทุกท่านั่งที่สามารถจะทำการขูดมะพร้าวได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ๆทำครัว (สนิทกัน มีแต่ผู้หญิง หรือมีผู้ชายด้วย ...)   

ในกรณีที่ต้องการใช้กะทิมากๆ งานขูดมะพร้าวก็จะถูกผ่องถ่ายให้เป็นงานของผู้ชาย (โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย)  แต่หากเป็นเรื่องของงานบุญ ก็มักจะเป็นชายหนุ่มที่อาสาเข้าช่วยแล้วก็จะต่อยอดไปอีกหน่อยถึงการคั้นกะทิ  ก็ในครัวมีแต่ผู้หญิงและผู้สาวเกือบทั้งนั้นมิใช่หรือ   จะเข้าข่ายของคำว่า"ตีท้ายครัว" หรือไม่ก็ไม่รู้     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 18, 19:37
ก็มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง    กระต่ายขูดมะพร้าวที่ใช้กันจริงๆนั้นจะต้องมีส่วนหัวสูงกว่าส่วนหาง ไม่ว่าจะยกด้วยก้านเหล็ก หรือจะยกด้วยรูปทรงของตัวกระต่ายก็ตาม   เหตุผลก็ดูจะไม่มีอะไรมากไปกว่าที่มันเป็นลักษณะที่เหมาะสมสำหรับการนั่งทับเพื่อมิให้กระต่ายหัวทิ่มเมื่อต้องใช้สองมือออกแรงกดเพื่อขูดมะพร้าว       อีกอย่าง สำหรับส่วนหัวของกระต่ายนั้น จะต้องยื่นออกไปพอสมควรเพื่อให้เนื้อมะพร้าวที่ขูดนั้นตกออกนอกจานหรือถาดที่วางรองรับอยู่

 (พูดถึงถาดรองรับมะพร้าวขูด พาลให้นึกถึง "เขี่ยงเตียง..ง" จะออกเสียงถูกหรือไม่ก็ไม่รู้    เป็นของใช้ในครัวทางภาคใต้ครับ)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 18, 20:11
จาวมะพร้าวเอาออกมาเป็นของกินเล่นแบบสดๆได้ แต่จาวตาลนั้นเอามากินแบบสดๆไม่ไหว เนื้อแน่นคล้ายลูกชิดแก่ที่เป็นไตแข็งจนขบเกือบจะไม่ลง

เรื่องของลูกตาลนี้ก็แปลก    ที่เราเรียกว่าลูกตาลสดที่เห็นเป็นลูกๆเปลือกสีขาวๆที่ใส่ถุงวางขายกันนั้น แท้จริงแล้วมันคือเม็ดในของผล(ลูก)ของต้นตาล ซึ่งในแต่ละผลจะมีอยู่ 3 เม็ด   คำว่าลูกตาลในภาษาพูดก็เลยมีอยู่ในสองความหมาย คือหมายถึงเม็ดในของผล และหมายถึงผลของต้นตาล    เมื่อผลตาลแก่จัด เม็ดในค่อนข้างจะมีความแข็ง ถูกเรียกว่า จาวตาล  ก็เอาไปทำการเชื่อมแบบฉ่ำน้ำตาล แล้วก็เรียกว่า ลูกตาลเชื่อม    สำหรับเม็ดของผลอ่อนนั้น จะนิยมทานแบบสดๆ ซึ่งบางครั้งก็ได้รสหวานชื่นใจจากน้ำหวานที่อยู่ในเม็ดนั้นๆ
นอกจากนั้น ก็นิยมเอาไปทำลูกตาลลอยแก้วและเอาไปทำหน้าหรือใส้ขนม Pie             


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 18, 20:33
ลูกตาล


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 18, 17:30
เมื่อลูกตาลแก่จัด ผิวของมันจะนิ่ม เมื่อปอกผิวออกไปก็จะเห็นเนื้อสีเหลืองๆหน้าตาคล้ายๆกับใยกาบมะพร้าว เราก็เอาเนื้อของลูกตาลนี้มาผสมแป้ง ใส่น้ำตาลปึก หยอดลงในกระทงใบตอง แล้วนำไปนึ่งจนสุก  ได้เป็นขนมตาลที่หอมอร่อย ยิ่งโรยหน้าด้วยเล็กน้อยมะพร้าวขูดก็จะยิ่งดูน่ากินและมีกลิ่นหอมชวนกินมากขึ้นไปอีก

เมื่อครั้งยังเป็นเด็กวัยกระเตาะอยู่ ผมได้เคยมีโอกาสเข้าไปเป็นมือยุ่มย่ามในการทำขนมตาลของบ้านคุณลุงคุณป้า ก็เลยพอจะเล่าอะไรได้บ้าง     เมื่อปอกผิวลูกตาลออกแล้ว ก็เฉาะแบ่งลูกตาลแแยกออกไปเป็นสามส่วน(แต่ละเม็ด) เอาลงแช่น้ำในกะละมังแล้วใช้มือรีดเอาเนื้อที่ติดอยู่กับเส้นใยลงไปในกะละมังนั้น  เอาเนื้อปนน้ำนั้นมาเทลงผ้าขาวบาง มัดห่อห้อยไว้เพื่อกรองส่วนที่เป็นน้ำทิ้งไป ใช้เนื้อลูกตาลที่แห้งหมาดๆนั้นเอาไปทำเป็นขนมตาลต่อไป


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 18, 17:47
เมื่อเขาเริ่มขั้นตอนของการแยกน้ำกับเนื้อลูกตาลออกจากกัน  ความสนุกของเด็ก(โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง)ก็จะเริ่มขึ้นด้วยการเอาจาวตาลซึ่งมีใยยาวๆติดอยู่นั้น เอามาล้างน้ำ ล้างแล้วล้างอีกจนสะอาด ก็จะได้ของเล่นคล้ายหัวคนมี่มีเส้นผมยาวๆติดอยู่   เด็กเมืองในสมัยนี้คงจะไม่มีโอกาสได้เห็นกันแล้ว เพราะไปเล่นตุ๊กตากันหมด   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 18, 20:14
จู่ๆก็นึกขึ้นมาว่า   ขนมตาลน่าจะถูกจัดเป็นของกินเล่นแบบหวาน (sweet snacks)  ลูกตาลลอยแก้วน่าจะถูกจัดเป็นพวกของหวาน (dessert)  แล้วลูกตาลสดล่ะ จะจัดเป็นพวก fruit ? หรือ fruit snack ?   

ก็เลยชักสนุก    กล้ายน้ำว้าสดๆเป็น fruit  เมื่อเอามาฉาบหรือเผา ก็กลายเป็นพวก fruit snack  หากเอามาบวชชีก็จะกลายเป็นพวก dessert  แต่หากเอามาทำเป็นกล้วยตากก็จะเป็นได้ทั้ง dry fruit และ preserve fruit

มะม่วงดิบเป็น fruit  เอามาจิ้มพริกกับเกลือหรือน้ำปลาหวานก็เข้าข่ายเป็น fruit snack  แต่เมื่อสุกหวานแล้วเอามากินกับข้าวเหนียวมูลก็เปลี่ยนเป็นของหวาน

เพียงจะสื่อว่า อาหารไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้น นอกจากจะเป็นพวกอาหารคาวแล้ว พวกที่เป็นของกินเล่นและของหวานแบบ street foods ก็มีอยู่ไม่น้อยหน้าเหมือนกัน





กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 18, 18:16
ลองแวะสำรวจดูของว่าง ของกินเล่น ขนม ขนมหวาน และของหวานที่พบเห็นในลักษณะที่เป็นอาหารข้างถนนของไทยเราบ้างก็น่าจะดีนะครับ

ไทยเรามีคำว่า อาหารว่าง ซึ่งน่าจะตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า light meal   
เรามีคำว่า ของว่าง ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า refreshment   
มีคำว่า ของกินเล่น (ของขบเคี้ยว)  ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า snack
มีคำว่า ขนม ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า confectioneries
มีคำว่า ขนมหวาน ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า dessert

ดูเหมือนว่า เราจะพบเห็นของกินหลากหลายในลักษณะดังกล่าวขายกันอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่าอาหารข้างถนน แล้วก็มีอีกหลายอย่างที่ยังจะต้องคงทำและขายกันอยู่ในร้านอาหาร   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 18, 19:23
อาหารว่าง (light meal) ซึ่งจะเป็นพวกของคาว  ที่นึกออกในทันใดก็น่าจะมี หมี่กะทิ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ใส้กรอกอิสาน ส้มตำ...

ของว่าง (refreshment)  ในกลุ่มของคาวก็อาทิ ใส้กรอกปลาแนม เมี่ยงคำ สาคูใส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ ข้าวตังเมี่ยงลาว ...  ในกลุ่มของหวานก็เช่น สลิ่ม น้ำแข็งใสต่างๆ ไอซ์ครีมกะทิ ผลไม้สดและดองต่างๆ

ของกินเล่น (snack) ในกลุ่มของคาวก็อาทิ แคบหมู ข้าวเกรียบ ...  กลุ่มของหวานก็มีอาทิ กล้วยฉาบ ข้าวแต๋น ...

ขนม (confectioneries) ซึ่งจะเป็นพวกออกรสหวาน ก็มี เช่น ผลไม้แห้ง พวกผลไม้กวนต่างๆ ....

พวกขนมหวานหรือของหวาน (dessert) ก็อาทิ ปลากริมไข่เต่า บัวลอยไข่หวาน ผลไม้เชื่อมต่างๆ ....       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 18, 19:46
เกิดทันเล่นหัวลูกตาล เอาเส้นผมยาวๆมาถักเปียหรือผูกโบเล่นค่ะ     เป็นการเล่นที่หมดไปหลายทศวรรษแล้ว
ทำขนมครกไข่ก็เช่นกัน    ไม่มีใครรู้จักเตาขนมครกเล็กๆอีก
ทำนองเดียวกับม้าก้านกล้วย   เป่ากบ  ลูกหิน 
ขนมไทยๆก็กำลังจะถูกเบียดให้พ้นทางไปด้วยเบเกอรี่ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 26 ก.ย. 18, 09:37
สอบถาม สูตร น้ำพริกอ่อง หน่อยครับ เห็นว่ามีกะปิ อยู่ด้วย
ทางหนือ หรือ อีสาน แต่โบราณเค้านิยมใช้กะปิ ในการปรุงอาหารกันด้วยมั้ยครับ


กะปิ นี่เป็นส่วนผสมในน้ำพริกของทุกภาคหรือเปล่าครับ หรือ มีเฉพาะ ภาคกลาง ใต้ ที่ติดทะเล



กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 18, 17:16
โรงเรียนหยุดก็เลยหลบไปอยู่ ตจว.ช่วงเวลาสั้นๆ  พาหลานลงดิน ลงนา จับปู จับปลา และกินอาหารบ้านๆ   จะได้เห็น ได้รู้จัก และรู้สึกคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบไทยๆในสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสภาพของความเป็นธรรมชาติ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 18, 18:06
คุณ azante ถามเรื่องสูตรน้ำพริกอ่องและเรื่องการใช้กะปิ

สูตรน้ำพริกอ่องนั้น หากเป็นในเชิงของปริมาณของส่วนผสมต่างๆนั้นมีมากมาย ก็สุดแท้แต่จะชอบฝีมือของผู้ทำผู้ใดหรือรสใด
แต่หากเป็นในเชิงขององค์ประกอบของเครื่องปรุง หากจะบอกกล่าวแต่เพียงหยาบๆ ก็อาจจะว่ามีเพียงพริกแห้ง เกลือ หัวหอม กระเทียม หมูสับ กะปิ และมะเขือเทศ พริกแห้งก็ 5-6 เม็ด หอม 4-5 หัว กระเทียม 5-6 กลีบ หมูสับ 2-3 ขีด มะเขือเทศสีดา 10-15 ลูก กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ  โขลกเครื่องน้ำพริกให้เข้ากันแล้วเอาลงกระทะผัดกับหมูสับและมะเขือเทศให้สุก ก็เป็นอันใช้ได้ ยังไงๆมันก็เป็นน้ำพริกอ่อง

ที่กล่าวมานั้น ดูจะเป็นน้ำพริกอ่องที่ทำกันอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน (แม้กระทั่งในร้านอาหารในภาคเหนือ)     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 18, 18:35
ที่ว่ามานั้น ผมเห็นว่าเป็นน้ำพริกอ่องที่ได้มีการพัฒนาจนกระทั่งเป็นแบบฉบับกลางๆที่คนในภาคกลางและนักท่องเที่ยวต่างๆชอบและว่าอร่อยถูกปาก  มีเอกลักษณ์ตรงที่ออกรสไปทางหวาน มัน(ย่อง) และเห็นมะเขือสีดาเป็นซีกๆ(หรือครึ่งลูก)  มีลักษณะของอาหารที่ถูกจัดออกไปในทางเป็นชุดเครื่องกินเล่นหรือชุดเครื่องเรียกน้ำย่อย   

ก็ต่างไปจากน้ำพริกอ่องที่ผมรู้จักและคุ้นเคยมาแต่เด็กอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว (หรือจะเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลปืนเที่ยงมากจริงๆก็มิรู้)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: Chitta_P ที่ 06 ต.ค. 18, 22:41
ขอแบ่งปันสูตรน้ำพริกอ่องของที่บ้านนะครับ
ยายผมจะเป็นคนเชียงใหม่เชื้อสายยอง เวลาที่ยายทำน้ำพริกอ่อง จะโขลกเครื่องแกงให้รสพอดี เค็มด้วยกะปิ  แล้วนำไปผัดในน้ำมัน ใส่หมูลงไป พอหมูสุกก็ใส่มะเขือเทศใส่น้ำ แล้วผัดจนแห้งงวด ระหว่างนั้นจะไม่มีการปรุงรสใดๆทั้งสิ้นครับ รูปร่างหน้าตาจะออกมาต่างจากที่ขายตามร้านอาหารหรือตลาดส่วนใหญ่ไปบ้างครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 18, 13:24
น้ำพริกอ่อง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 18, 18:53
น้ำพริกอ่องน่าจะจัดเป็นน้ำพริกที่ทำง่ายและจะเป็นสูตรใดก็อร่อยทั้งนั้น  ที่เคยเห็นก็มีทั้งแบบใส่ข่า ตะไคร้   แบบใส่และไม่ใส่กะปิ  แบบใส่หรือไม่ใส่ถั่วเน่า  รวมทั้งแบบทำไปตามเท่าที่มีเครื่องปรุง (improvise)

   ซึ่งการทำแบบเท่าที่จะมีเครื่องปรุงนี้ ดูจะบ่งชี้ว่าการผัดหรือเคี่ยวเนื้อสัตว์กับหอมและมะเขือเทศ แล้วปรุงรสแต่งกลิ่นด้วยเครื่องสมุนไพรและเกลือนั้น เป็นองค์ประกอบของเครื่องปรุงที่เข้ากันได้ดีมากๆแบบจะทำยังไงก็อร่อย ดังเช่นซอสสปาเก็ตตี้ สตูว์ ไข่ยัดใส้ ....

การทำไปตามเท่าที่มีเครื่องปรุงนั้น ก็มีอาทิ ใช้พริกป่นแทนพริกแห้ง ใช้หอมแขกหรือหอมใหญ่แทนหอมแดง ใช้มะเขือเทศชนิดใดๆก็ได้ จะแต่งกลิ่นให้หอมด้วยใบกระวาน (bay leaves)หรือใบเทพทาโรก็ได้ จะใส่ไข่ลงไปผัดร่วมด้วยก็ได้  หากไม่ใมีครก จะใช่วิธีหั่นหรือสับเครื่องหอมกระเทียมให้เป็นชิ้นเล็กก็ได้ จะใช้กะทะหรือหม้อในการทำก็ได้ จะเจียวกระเทียมก่อนหรือเอาลงผัดพร้อมๆกันพอสุกแล้วใส่น้ำตามลงไป แล้วเคี่ยวให้ส่วนประกอบยุ่ยจนเข้าก้นก็ได้ ....       


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 18, 19:43
สำหรับน้ำพริกอ่องแบบผมทำก็เรื่องมากหน่อยครับ   

ใช้เนื้อสันคอหมู ใช้พริกแห้งเม็ดใหญ่ ใช้เกลือทะเลเม็ด ใช้หอมแดงไทย(หอมเชียงใหม่) ใช้กระเทียมไทย ใช้มะเขือส้ม(แบบพื้นบ้านโบราณ) หรือมะเขือเทศลูกใหญ่หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ใช้กะทะเหล็กหล่อ  สำหรับกะปิหรือถั่วเน่านั้นก็แล้วแต่จะนึกอยากว่าจะใส่หรือไม่

สำหรับเครื่องเคียง ผมชอบดอกกล่ำสดที่ตัดเป็นข่อๆเล็กๆ  ผักกาดดอกนึ่ง ยอดฟักทองนึ่ง ลูกฟักทองนึ่ง และแคบหมูติดมันแบบชิ้นเล็ก  กินกับข้าวใหม่(ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว)  กินในสำรับที่มียำขนุน (หรือมีแกงขนุนอ่อนใส่ยอดชะอม) และลาบคั่วที่โชยกลิ่นของมะแขว่น 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 18, 19:55
เมื่อเล่าถึงน้ำพริกอ่อง  ก็ขอเชิญให้เล่าถึงวิธีทำน้ำพริกหนุ่มด้วยสิคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 18, 18:40
อาจารย์น่าจะชอบทานน้ำพริกหนุ่ม กับผักต้ม และแคบหมู  ;D

เครื่องประกอบของน้ำพริกหนุ่มมีไม่มาก แต่จะทำให้มีความหอมชวนกินและอร่อยนั้นต้องมีความพิถีพิถันในการทำอยู่ไม่น้อย

น้ำพริกหนุ่มเป็นน้ำพริกเครื่องเผา ความหอมและรสชาติชวนกินนั้นจึงได้มาจากผลของการเผาพริก หอม และกระเทียม ซึ่งเป็นเครื่องปรุงหลัก  แล้วก็มีเครื่องปรุงอื่นๆที่จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ตามใจคนทำ ก็มีมะเขือยาวเผา ถั่วเน่า และปลาร้าปลากระดี่


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 18, 19:28
ผมก็เรื่องมากในการทำน้ำพริกหนุ่มเช่นกัน 

เริ่มตั้งแต่การเผาพริกหนุ่ม หากใช้เตาอั้งโล่ ก็จะใช้ไม้ไผ่ขนาดประมาณก้านทางมะพร้าวเสียบพริกหนุ่มแล้วค่อยๆย่างเหนือเตาไฟ พลิกไปพลิกมาให้พริกสุกระอุ มีกลิ่นหอมแบบไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวปนออกมา แล้วจึงเอาลงปิ้งใกล้ถ่านเพื่อให้ผิวของพริกใหม้เป็นดวงๆและเริ่มแตกร่อนแยกออกจากเนื้อพริก (เป็นจุดที่ได้น้ำมันหอมระเหยของพริก)  ผมชอบใส่มะเขือยาวเผาด้วย (เป็นแบบโบาณทำตำราหนึ่ง) ก็จะเลือกใช้มะเขือยาวลูกเล็กหรือที่ดูว่ามีเม็ดน้อยหน่อย ใช้วิธีเผาแบบเอาลงไปวางบนถ่านไฟ พลิกกลับไปกลับมาจนสุก นิ่ม และหอมดี  สำหรับหอมแดงและกระเทียมนั้น ก็จะใช้วิธีหมกในเศษถ่านและขี้เถ้าใต้เตา (หรือเขี่ยขี้เถ้าออกมาข้างนอก ใช้หอม 5-6 หัวต่อกระเทียมหัวนึง) จนกระทั่งสุกระอุนิ่มไปจนถึงส่วนในสุด ส่วนเปลือกและผิวที่ใหม้ๆหน่อยของหอมและกระเทียมนั้นก็คือกลิ่นที่ให้ความรู้สึกหอมชวนกิน

ได้มาแล้วก็ลอกผิวพริกที่เผาแล้วออกให้หมด แล้วหั่นเป็นแว่นๆตามความหยาบหรือละเอียดของน้ำพริกที่ต้องการ มะเขือยาวเผาก็ทำเช่นเดียว เพียงแต่หั่นเป็นท่อนๆขนาดพอคำแบบผักจิ้มน้ำพริก  หอมแดงและกระเทียมก็ลอกเปลือกออก ซึ่งถ้าหากสุกพอดีๆก็จะปลิ้นเนื้อในออกมาได้ง่ายๆ สำหรับหอมเผานี้ ผมจะใช้มีดผ่าให้เป็นชิ้นย่อยเพื่อให้สามารถตำได้ง่ายขึ้นในครก   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 18, 20:31
เอาเกลือทะเลเม็ดเล็กน้อยใส่ลงก้นครก เอาหอมเผา กระเทียมเผาใส่ลงไป โขลกให้แหลกแบบหยาบๆ ใส่พริกลงไป ยีให้แหลก ใส่มะเขือเผาลงไปมากน้อยตามต้องการ   เอาปลาร้าปลากระดี่สองสามตัวใส่หม้อแล้วใส่น้ำตามลงไปเล็กน้อย ตั้งไฟให้เดือดจนเห็นแต่ก้างปลากระดี่ เทน้ำปลาร้าลงคลุกกับน้ำพริก  ตักใส่ถ้วย โรยด้วยผักชี (coriander) หรือผักชีลาว (dill) ก็เป็นอันเสร็จ  ผักชีทั้งสองนี้ช่วยเพิ่มรสสัมผัสและความหอมชวนกินได้อีกมากเลยทีเดียว

ผักแนมน้ำพริกก็จะเป็นพวกผักนึ่ง (มิใช่ต้มหรือลวก) ที่เข้าคู่กันได้ดีก็จะมี ผักขี้หูด ฟักทอง ผักกาดดอก มะเขือพวง ใบขี้เหล็ก และผักอื่นๆตามแต่ชอบ  ส่วนสำหรับผมก็จะนิยมฝักลิ้นฟ้า(เพกา)ที่ค่อนไปทางใกล้จะเป็นฝักแก่ เผาให้สุกหอม  และที่เป็นของโปรดของผมจริงๆก็คือหางหวาย (ยอดต้นหวายป่า) ซึ่งชาวบ้านนิยมแกะเอาแกนในแล้วนำมาต้ม แต่ผมนิยมเอามาเผาให้สุกหอมก่อนที่จะแกะเอาแกนในมากิน

น้ำพริกหนุ่มนั้น โดยปกติแล้วคนทั่วๆไปนิยมจะกินกับแคบหมู   แต่ผมกลับเห็นว่ามันเป็นน้ำพริกที่กินกับผักต้มในสำรับอาหารที่มีหมูชุบแป้งทอด (ตัดเป็น pork chop แผ่นบาง หนาประมาณ 1 ซม.) ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะยังคงมีแม่ค้าทำขายกันอยู่ที่ใหนบ้าง) 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 18, 17:35
ลืมบอกไปว่า ดอก(ต้น)ข่านึ่งก็เป็นผักแนมที่เข้ากันได้ดี

ที่ใช้วิธีการหั่นพริกเผาเป็นแว่นๆก่อนจะตำในครกนั้น ก็เพื่อจะได้ใช้ข้าวเหนียวจิ้มหรือตักออกมากินได้ง่าย ไม่เป็นเส้นยาวเหมือนกับวิธีการฉีกหรือตำพริกไปทั้งลูก ที่ใส่เกลือลงไปก็เพื่อให้เป็นผงช่วยบดพวกพริกหอมกระเทียมที่จะไหลลื่นปลิ้นไปปลิ้นมา และที่ใส่มะเขือเผาลงไปด้วยก็เพื่อช่วยเพิ่มเนื้อ ลดความเผ็ด และช่วยให้รสน้ำพริกมีความกลมกล่อมด้วยความหวานของมะเขือเผา  หากชอบแมงดาก็ฉีกใส่ลงไปหรืออาจจะใช้กลิ่นแมงดานาหยดลงไปสักหยดสองหยดก็ได้  ผมชอบใส่แมงดานา โดยเฉพาะแบบที่ดองด้วยน้ำปลาดี แล้วก็อดไม่ได้ที่จะเด็ดเอาส่วนโคนขาของมันใส่ปากเคี้ยวย้ำๆเอารสและกลิ่นให้ชื่นใจ

พริกเผา หอมเผา กระเทียมเผา และเกลือโขลกรวมกันนี้ เมื่อใส่เครื่องอื่นๆลงไปมันก็จะได้น้ำพริกที่แตกต่างกันออกไป ใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์มันก็เป็นน้ำพริกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ใส่ไข่ต้มลงไปมันก็เป็นน้ำพริกไข่(ต้ม) จะใส่เนื้อปลาก็ได้ ใส่ปลาร้าก็ได้ ....   อาจจะเพิ่มข่าเผาเข้าไปเพื่อช่วยกลบกลิ่นคาวต่างก็ได้ 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 18, 18:20
น้ำพริกหนุ่ม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 18, 18:32
กำลังหาทางกลับเข้ามาต่อเรื่องอาหารของภาคกลางตอนล่างครับ  

สมุทรสาคร เป็นศูนย์ของการทำประมงน้ำลึกมาแต่เก่าก่อน อาหารจึงเด่นไปทางการใช้สัตว์ทะเลน้ำลึกซึ่งเป็นพวกตัวใหญ่ๆ  การทำอาหารจึงออกไปทางเป็นอาหารจีนประยุกต์ (ตามแบบฉบับของจีนนิยม...ใหญ่ไว้ก่อน)

สมุทรสงคราม เป็นศูนย์ของการทำประมงในพื้นที่ชายทะเลที่เป็นโคลน (mud strand) ซึ่งอยู่ในอิทธิพลของน้ำกร่อยจากการผสมผสานของน้ำเค็มและน้ำจืดจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน  อาหารจึงเด่นไปทางการใช้สัตว์พวกหอย (molluscs) และพวกมีเปลือกหุ้มตัว (crustaceans) รวมทั้งสัตว์ว่ายน้ำ (pelagic animals) ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ต่างๆ

เพชรบุรี เป็นศูนย์ของการทำประมงชายฝั่งในพื้นที่ของอ่าวไทยตอนในด้านตะวันตกส่วนต่อจากพื้นที่ชายทะเลโคลน อาหารจึงเด่นไปทางพวกสัตว์ว่ายน้ำที่หากินในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 18, 18:56
จากเพชรบุรีลงใต้ไปจนกระทั่งเข้าพื้นที่ของ อ.บางสะพาน จึงจะได้เห็นอาหารที่เปลี่ยนไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือมีการใช้ขมิ้น ใบยี่หร่า และพริกไทยในส่วนผสมของการทำน้ำพริกแกงต่างๆ   และการใช้ใบโหระพาก็มีน้อยมาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 18, 18:35
ด้วยที่ระยะทางช่วงเพชรบุรีถึงชุมพรนั้นยาวมากและไม่มีชุมชนเมืองมากนักโดยเฉพาะตั้งแต่ อ.ปราณบุรี ลงไป    ข้อสังเกตที่พอจะมีของผม (นานมาแล้ว) เห็นว่าเราจะเริ่มเห็นอาหารที่เปลี่ยนไปในพื้นที่ อ.ทับสะแก  อาหารก็ยังทำคล้ายภาคกลางแต่ใส่พืชสมุนไพรในปริมาณมากขึ้น  ถึง อ.บางสะพานน้อย อาหารจะมีรสเผ็ดร้อนแรงมากขึ้น จนเข้าพื้นที่ อ.บางสะพาน จึงจะเริ่มเห็นอาหารแบบภาคใต้จริงๆมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ อ.ท่าแซะ ของ จ.ชุมพร อาหารต่างๆก็เป็นลักษณะของอาหารภาคใต้ไปเกือบจะทั้งหมด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 18, 19:24
อาหารใต้เป็นอาหารที่ผมมีความรู้กับมันน้อยมาก ได้แต่ซื้อเอามากิน   ก็รับรู้ได้ถึงความแตกต่างที่ว่าอร่อยกับไม่อร่อย แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ลงลึกได้

ชื่ออาหารที่เราคุ้นเคยกันมากๆก็เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา ข้าวยำ คั่วกลิ้ง ปลาทรายทอดขมิ้น ผัดสะตอ ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ ...   ที่คุ้นเคยน้อยลงไปก็เช่น น้ำพริกมะขาม ผัดเผ็ดและแกงเผ็ดที่ใส่ใบยี่หร่า(ปลาดุก, ซี่โครงหมูอ่อน, เม็ดขนุน, มันขี้หนู ...)   ที่เกือบจะไม่คุ้นกันเลยก็เช่น แกงหอยแครงใบชะพลู ใบเหลียงผัดไข่ แกงใบเหลียงกับกะทิ ....   ที่รู้แบบจำกัดวงก็เช่น ปลาดุกร้าของพัทลุง ต้มหมูใบชะมวง มะม่วงเบาแช่อิ่มของสงขลา ... 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 18, 18:17
ฝีมือทำอาหารใต้ที่ว่าเด่นและอร่อยนั้น ดูจากป้ายโฆษณาที่อยู่หน้าร้านก็จะเห็นว่ามีของสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง  แต่ก่อนนั้นภูเก็ตก็เคยเห็น เดี๋ยวนี้หายไปเลย   

ท่านใดพอจะบอกเล่าถึงความเด่นหรือความแตกต่างได้บ้างครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 18, 19:19
ชุมพรมีของกินดีๆอย่างน้อยอยู่ 2 อย่าง คือ ผลไม้จากสวนในพื้นที่ของ อ.หลังสวน และกาแฟ(เขาทะลุ)

ผมชอบการทำสวนของชาว อ.หลังสวน ซึ่งไม่ทำในลักษณะปลูกพืชชนิดเดียวเพียงอย่างเดียว เขาจะทำเป็นแบบปลูกพืชอื่นผสมผสานลงไปด้วย มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะเห็นว่าเหมาะสม จึงมีลักษณะเป็นไปในรูปของไร่นาสวนผสมในระดับหนึ่ง   

พื้นที่ของ อ.หลังสวน มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกันกับของ อ.อัมพวา คือ มีพื้นที่ด้านหลังของสันคันคลองธรรมชาติ(natural levee) ของคลอง(แม่น้ำ)หลังสวนที่อยู่ในอิทธิพลของน้ำจืด ซึ่งเป็นพื้นที่ๆใช้ทำสวนกัน (ของนนทบุรี นครไชยศรี สามพราน ก็เป็นลักษณะคล้ายกัน)  ผลไม้ในพื้นที่เหล่านี้จึงให้ผลผลิตมากและมีรสที่ดี

กาแฟเขาทะลุของชุมพร ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาทำเป็นแบบผสมเสร็จ (3 in 1) วางขายยู่ทั่วไป ก็มีความหอมและรสดีนะครับ  แต่ก่อนนั้นขายกันในลักษณะของผลผลิตทางการเกษตรเพราะ(อาจจะ)เป็นกาแฟสายพันธุ์โรบัสตาซึ่งใช้กันในวงการอุตสาหกรรม(?)  แต่ก็สามารรถเบ่งตนออกมาสู้กับตลาดกาแฟสายพันธุ์อาราบิกาได้


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 18, 19:32
ลงไปถึงหลังสวน แยกขวาก็ไป อ.พะโต๊ะ และ จ.ระนอง ข้ามไปยังฝั่งทะเลอันดามัน แล้วเลาะลงไปสู่พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล    แต่หากตรงต่อไปก็จะไปทาง จ.สุราษฎร์ฯ นครฯ สงขลา และพื้นที่ชายฝั่งของอ่าวไทยตอนล่าง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 18, 18:26
อาหารใต้ของผู้คนทั้งสองฝั่งทะเลนี้ดูจะมีความแตกต่างกันทีเดียว  ทางฝั่งอ่าวไทยจะเป็นอาหารแบบเข้มข้นรสจัด เผ็ด ค่อนข้างจะเป็นแบบน้ำขลุกขลิก  ทางฝั่งอันดามันก็เป็นอาหารที่มีรสจัดเช่นกัน แต่มีลักษณะของจีนผสมอยู่เยอะ    ซึ่งก็คงจะต้องเป็นเช่นนั้นเพราะว่าในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันมีการทำเหมืองดีบุกนานนับร้อยปีมาแล้ว มีคนจีนเข้ามาเป็นแรงงานทำเหมืองกันมาก ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยที่ได้กลายเป็นเจ้าสัว มีมรดกตกทอดต่อกันมาจนในปัจจุบันนี้  กลุ่มคนจีนที่ว่านั้นส่วนมากจะเป็นพวกฮกเกี้ยน จึงทำให้อาหารจีนในภาคใต้ฝั่งตะวันตกค่อนข้างจะเป็นอาหารจีนในอิทธิพลของชาวฮกเกี้ยน 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 18, 18:49
หากสังเกตลึกลงไปในรายละเอียดบางอย่าง ก็พอจะเห็นว่าในพื้นที่ฝั่งอันดามันนี้ดูจะมีอิทธิพลของฝรั่งเข้ามาผสมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องทางมารยาทบางอย่าง (etiquette)  ซึ่งก็คงเป็นเพราะว่ามีฝรั่งเข้ามาลงทุนทำเหมืองในพื้นที่แถบนี้ด้วย 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 18, 18:26
เมื่อสองสามปีมานี้ ผมได้ขับรถลงใต้แวะนอนที่ระนอง คาดหวังว่าจะได้สัมผัสกับวิถ๊ชีวิตแบบเก่าที่น่าจะยังคงเหลืออยู่บ้าง รวมทั้งกินอาหารอร่อยๆ  เมืองได้เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมากๆทั้งทางด้านกายภาพ ผู้คน และสังคม ความเป็นเมืองระนองที่เคยดูชุ่มชื้นและเขียวชะอุ่มได้เปลี่ยนไป ลักษณะของความละเอียดละเมียดละไมของฝีมือในการทำอะไรๆในด้านต่างๆแบบชาวถิ่นหายไป

เมื่อก่อนนั้น ระบบเศรษฐกิจของจังหวัดระนองมีความเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ดีบุก (โดยเฉพาะในพื้นที่หาดส้มแป้น)  เมื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกได้ปิดตัวลง ระบบเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการท่องเที่ยวและการประมง และกลายเป็นเมืองชายแดนที่มีผู้คนต่างถิ่นเดินกันขวักไขว่   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 18, 19:20
ผมมีข้อสังเกต(และก็เข้าใจเอาเอง)ว่า เนื่องด้วยในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกนี้ เป็นพื้นที่ๆมีแหล่งแร่ดีบุกสมบูรณ์ มีการทำเหมืองต่อเนื่องกันมากกว่าร้อยปี  ก็แน่นอนว่าหลักคิด หลักปฎิบัติ และวิถีดำรงชีพของผู้คนในพื้นที่ๆจะต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบการงานต่างๆ   

ชีวิตประจำวันของคนเหมืองดีบุกก็จะเป็นประมาณนี้ ตื่นเช้าขึ้นมาเมื่อฟ้าสว่างก็ลงไปเริ่มทำงานอยู่หน้าเหมืองแล้ว ก่อนออกจากบ้านก็กาแฟหวานๆแก้วหนึ่ง ได้ทั้งคาเฟอีนปลุกให้ตื่นและน้ำตาลให้พลังงาน  พอแสงแดดเริ่มออกจ้าก็พักกินของที่พอจะหนักท้อง นั่งพูดคุยกันเรื่องงานที่จะต้องทำกันในวันนั้นๆ ก็เป็นพวกขนมต่างๆ(ข้าวเหนียวหน้าต่างๆ ...)    อาหารมื้อเช้าจริงๆดูจะกินกันในช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเช้า จะว่าไปก็เป็นอาหารควบเช้า-กลางวัน (brunch) ประมาณบ่ายสามบ่ายสี่โมงก็เลิกงาน กลับบ้านทานอาหารเย็น (ก็ประมาณสี่ห้าโมงเย็น)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 18, 18:17
พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ไปเกี่ยวพันกับเรื่องของการทำสวน แต่ก่อนนัุ้้น เมื่อเลยพื้นที่ปลูกสับปะรดของปราณบุรีลงไปก็จะเป็นสวนมะพร้าวทั้งหมด จนใกล้ถึงชุมพรจึงจะเริ่มมีการปลูกพืชสวนอื่นๆเข้ามาปะปน เมื่อลงใต้ต่อไป สวนมะพร้าวก็หายไปกลายเป็นพืชสวนอื่นๆ พวกผลไม้ก็เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ระกำ ... พวกพืชสวนอุตสาหกรรมก็เช่น ยาง กาแฟ ปาล์มน้ำมัน 

ชีวิตประจำวันก็คล้ายๆกับผู้คนในพื้นที่ทางฝั่งทะเลอันดามัน   ซึ่งอาหารเช้าจะออกไปทางขนมจีนมากกว่าที่จะเป็นทางของนึ่ง (dim sum) และขนมหวานเช่นของทางอีกฝั่งทะเล   อาหารเย็นก็จะก็จะะออกไปทางผัดและแกงที่ใช้เนื้อสัตว์บกและสัตว์น้ำจืด ใช้ผักป่าและผักพื้นบ้านหลา่ยชนิดในการปรุงอาหาร ในขณะที่ทางฝั่งอันดามันจะออกไปทางการใช้สัตว์ทะเล และหนักเนื้อมากกว่าหนักผัก

 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 18, 19:04
ก็คงจะไม่แปลกนักที่คนกรุงเทพฯ คนในภาคกลาง และนักท่องเที่ยว จะบอกล่าวต่อๆกันว่า อาหารทะเลของแต่ละจังหวัดในพื้นที่ทางฝั่งทะเลอันดามันมีความอร่อยและน่ากินมากๆ  ก็แน่นอนละครับ ก็มันเป็นสัตว์ในทะเลเปิด เป็นทะเลน้ำลึกในระบบของมหาสมุทรอินเดีย ตัวมันก็ต้องใหญ่เป็นธรรมดาและยังมีหลากหลายชนิดอีกด้วย    ผู้คนในพื้นถิ่นนี้ต่างก็จะบอกกันว่าสัตว์ทะเลทางฝั่งอ่าวไทยไม่อร่อย เช่น จะว่าปลาทูของฝั่งเขาอร่อยมากกว่าที่จับได้ในฝั่งอ่าวไทย  แต่ยังไงๆผมก็ว่าปลาทูโป๊ะ (ตัวสั้น แบน) อร่อยกว่าพวกปลาทูน้ำลึกที่ดูตัวใหญ่และอ้วนกลม (ปลาลัง ปลาทูแขก)

ก็อาจจะเป็นเพราะเราคุ้นกับสัตว์ทะเลในอ่าวไทย ซึ่งจับกันได้ในพื้นที่ใกล้ฝั่ง (Littoral zone) เป็นพวกสัตว์ตัวไม่ใหญนัก (และคุ้นเคยกับพวกที่อาศัยและหากินอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นท้องทะเล)   ทำให้เมื่อได้พบกับกุ้งหอยปูปลาตัวใหญ่ๆที่แปลกแตกต่างออกไป  ก็เลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าน่ากินและจะต้องอร่อย  ซึ่งอาจจะเป็นความอร่อยที่เกิดมาจากรสของเครื่องปรุงมากกว่าที่จะเป็นของรสและ texture ของเนื้อสัตว์ก็ได้

 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ต.ค. 18, 18:56
ก็มีของดังประจำถิ่นในภาคใต้อยู่หลายอย่าง   สะตอนั้นก็แน่นอนที่จะต้องนึกออกก่อนเพื่อน  สะตอมีสองชนิดที่เก็บมากินกัน คือสะตอข้าว ฝักบิดเป็นเกลียว กลิ่นไม่ฉุนนัก นิยมเอามาทำเป็นผักเหนาะ  และสะตอดาน ฝักค่อนข้างยืดตรง กลิ่นฉุน นิยมเอาไปทำอาหาร       

แหล่งสะตอดังๆสมัยก่อนนั้นอยู่ในพื้นที่ป่าเขาของ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะที่ อ.ลานสะกา  ผมเคยเข้าไปครั้งหนึ่งในสมัยที่กำลังมีปัญหาเรื่องความมั่นคง พื้นที่อุดมไปด้วยปืนและสะตอ ได้เห็นทั้งการเก็บผลและกินของที่สดใหม่จากต้น แกะเอามากินกับข้าวผัดแทนแตงกวาก็อร่อยไม่เบาเลยทีเดียว  ในปัจจุบันนี้มีการปลูกสะตอกันเกือบจะทั่วประเทศ สวนละต้นสองต้น แต่หอมอร่อยไม่เท่ากับของทางใต้

อยู่ในกรุงเทพฯ พอถึงหน้าสะตอ  มีนำมาวางขายในตลาดสด  อดที่จะนึกถึงจานอาหารที่สิงห์เหนือเสือใต้มาพบกัน  ผัดสะตอกับแหนมที่ออกรสเปรี้ยวแล้ว ใส่พริกชี้ฟ้าสด   อร่อยเหลือหลายเลยทีเดียวครับ (แบบไม่รู้จะเลือกใช้คำใดดีระหว่าง ลำขนาด กับ ร่อยจังวู๊)     


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 18, 19:05
สิงห์เหนือเสือใต้   ผัดสะตอกับแหนม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ต.ค. 18, 19:33
เขาว่าการแกะเม็ดสะตอออกมาเพื่อใช้เป็นผักแนมกับน้ำพริกกะปินั้น  แกะแบบไม่ลอกผิวหุ้มเม็ดออกให้หมดจะอร่อยกว่า  ลองกินมาหลายครั้งแล้วก็ยังบอกไม่ได้สักที

สะตอเป็นพืชผักมี่มีกลิ่นฉุน กินแล้วจะไปใหนมาใหนก็จะมีกลิ่นตามตัวไปตลอดทั้งกลิ่นปาก ลมหายใจ ถ่ายเบาและถ่ายหนัก  สมัยก่อนนั้นจะได้กลิ่นนี้ไปทั่ว แต่ในปัจจุบันนี้เกือบจะไม่ได้กลิ่นนี้ในเมือง ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเปลี่ยนไปกินกันในเวลาอาหารเย็นมากกว่า   แต่สำหรับในพื้นที่นอกเมืองที่ยังนิยมกินขนมจีนตอนเช้าก็ยังเห็นมีสะตอเป็นผักแนมอยู่  

เลยทำให้นึกถึงนั่งกินขนมจีนกับผักเหนาะเต็มกะละมังในชุมชนท้องถิ่น  ก็มีเช่น ยอดกาหยี ยอดจิก ยอดกระถิน ยอดมะกอก ยอดสะเดา ฝักกระถิน ลูกเหลียง ลูกเนียง แตงกวา ...  แถมด้วยไข่ต้มสักลูกหนึ่ง และหัวไชโป๊วยำสามรส อืม์


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ต.ค. 18, 18:15
ของดีที่สุราษฎร์อีกอย่างหนึ่งคือ หอยนางรมตัวใหญ่ๆ    หอยนางรมจะนิยมกินกันสดๆ  หากกินแบบฝรั่งก็เพียงบีบมะนาวลงไปเล็กน้อย เท่าที่พอจะมีประสบการณ์อยู่บ้าง ฝรั่งจะกินในลักษณะเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย (aperitif) กินกับไวน์ขาว ไวน์ขาวมีฟอง (Sparkling wine) หรือกับเบียร์ก็ได้ หอยนางรมที่นิยมกินกันจะตัวขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ จะสั่งกันแบบเป็นจำนวนตัว ซึ่งโดยปกติก็ 4 หรือ 6 ตัว (ต่อคน)

หอยนางรมของไทยดูจะนิยมกินในลักษณะเป็นของแกล้มในวงเหล้าหรือบนโต๊ะอาหารในวันที่มีนัดสังสรรกัน  ก็มีทั้งแบบแกะแยกออกมาเป็นตัวๆและแบบยังติดอยู่กับเปลือก จะว่าไปก็ยิ่งตัวใหญ่ก็ยิ่งชอบกัน (แต่ผมชอบตัวเล็กขนาดประมาณหัวแม่มือ)  เครื่องแนมก็มีหลายสูตร บ้างก็มีน้ำพริกเผา บ้างก็มีน้ำจิ้มทะเล ใช้หอมแดงซอยก็มี เกลือทะเลบดละเอียดก็มี  แต่ที่แน่ๆจะต้องมีหอมแดงเจียว มีกระเทียมสด มีมะนาว มีพริกขี้หนู แล้วก็ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือยอดกถิน           


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ต.ค. 18, 18:30
หอยนางรมสดนั้น จะให้อร่อยก็ต้องกินทั้งหมดทั้งตัวไปพร้อมๆกัน  เมื่อเจอเข้ากับหอยตัวใหญ่ๆ กินเข้าไปทั้งตัวเป็นคำเดียวก็เต็มแน่นอยู่ในปาก ผมว่าขาดความอร่อยไปเยอะเลย จะแบ่งกินครั้งละครึ่งตัวก็ดูไม่น่ากินเอาเสียเลย    เลยมีวิธีกินบางอย่างที่ทำให้อร่อย แต่อาจจะหากินได้ยาก ก็ใช้วิธีการลวกหอยนางรมในน้ำต้มเกี้ยมฉ่าย  อร่อยไปอีกแบบเลยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 18, 18:51
หอยนางรมกับของแนม


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ต.ค. 18, 19:00
ไม่รู้ว่าหอยนางรมตัวใหญ่ๆนั้น เมื่อเอามาทำเป็นไข่เจียวหอยนางรมจะอร่อยมากใหม    หอยตัวขนาดประมาณหัวแม่มือดูจะเหมาะที่สุดในการเอามากิน ไม่ว่าจะกินสดๆหรือเอามาปรุงเป็นอาหารจานต่างๆ เช่น

   ไข่เจียวหอยนางรม จานนี้ทำเองได้ไม่ยาก จะต้องเป็นไข่เจียวที่ตีแบบไม่ผสมน้ำ

   หอยนางรมทอด(ทำแบบหอยแมลงภู่ทอด) จานนี้มีความยุ่งยากในการทำเอง (ยกเว้นจะเป็นการทำในปริมาณมาก)

   ออส่วนหอยนางรมจานร้อน ก็อร่อยไปอีกแบบ ของอร่อยอยู่แถวสวนอ้อย ย่าน รพ.หัวเฉียว และวัดดังของถนนเจิญกรุง

   หอยนางรมชุบขนมปังทอด  อันนี้ทำเองได้ที่บ้าน ง่ายและอร่อยอีกต่างหาก  เพียงเอาหอยนางรมเป็นตัวๆ ซับน้ำให้แห้งหมาดๆ เอาลงชุบกับไข่ที่ตีและปรุงรส เอามาคลุกกับเกล็ดขนมปัง ทำซ้ำสักสองครั้ง แล้วก็เอาลงทอดในน้ำมัน เท่านั้นเอง  จะกินแบบไทยก็กับซอสพริก จะกินแบบฝรั่งก็กับมายองเนส กับน้ำสัดแบบครีม หรือกับซอสมะเขือเทศ และกับสลัดผัก            


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 18, 19:09
หอยนางรมชุบเกล็ดขนมปังทอด


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 18, 19:11
ชอบไข่เจียวหอยนางรมค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ต.ค. 18, 19:25
อีกหอยหนึ่งของสุราษฎร์ คือ หอยคราง  ลักษณะทั่วไปเหมือนกับหอยแครง เพียงแต่ตัวใหญ่กว่าและมีขน   เนื้อในของหอยครางจะเหนียวกว่าเนื้อของหอยแครงค่อนข้างมาก    ก็ตื่นตาตื่นใจดีหากจะนึกกินหอยแครงตัวใหญ่ๆที่นำมาลวกแล้วจิ้มกับน้ำจิ้ม
  
สำหรับผมมีความรู้สึกว่าด้วยที่ตัวมันใหญ่และเนื้อเหนียว กว่าจะเคี้ยวจนกลืนได้ก็หมดรสเนื้อผสมน้ำจิ้มไปหมดแล้ว ผมกลับไปชอบที่เขาเอามาทำแกงน้ำขลุกขลิกกับใบชะพลูหรือเอามาผัดเผ็ดใส่มะเขือ  


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 18, 20:12
หอยคราง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 18, 20:18
ผัดเผ็ดหอยคราง หน้าตาแซบเอาการ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 18, 16:52
ยำหอยคราง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 18, 16:59
ครับ  แซบและร้อน(ด้วยพริกไทย)เอาการเลยทีเดียว ยิ่งใส่ใบยี่หร่าลงไปด้วยก็จะยิ่งรู้สึกถึงความเข้มข้นของกลิ่นและรสที่จัดจ้าน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 18, 18:04
ถึงสุราษฎร์ก็สามารถจะเลือกไปตามทางเลาะชายทะเลฝั่งอ่าวไทยผ่านนครศรีธรรมราชลงสู่สงขลา หรือจะใช้เส้นทางกลางด้ามขวานทองผ่านพัทลุงสู่หาดใหญ่ หรือจะแยกไปทางชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามันสู่กระบี่เข้าภูเก็ต หรือลงใต้ต่อไปสู่ตรังและสตูล

แต่ละจังหวัดดังที่ได้กล่าวถึงชื่อเหล่านี้ล้วนมีของกินอร่อยๆจนเลื่องลือจนต้องมีชื่อของจังหวัดเหล่านี้ประทับตราต่อท้าย   ลองไล่เรียงดูสักหน่อยก็จะมี อาทิ  แกงฝีมือครัวนครศรีธรรมราช ปลาดุกร้าของพัทลุง หวากแถวสทิงพระ-ระโนด ยำมะม่วงเบาของสงขลา กาแฟเขาช่องของตรัง หมูย่างตรัง เค้กลำภูราของตรัง ซาละเปาทับหลีของระนอง กาแฟของสตูล ไก่ทอดหาดใหญ่ ไก่ทอดเทพา น้ำบูดูของสายบุรีของปัตตานี เงาะนาสารของสุราษฎร์ ลองกองตันหยงมัสของนราธิวาส ข้าวมันไก่เบตง ......นึกไม่ออกแล้วครับ ไม่นับรวมโรตี ข้าวหมกไก่(ที่มีความหอมและอร่อยต่างกันจากการใช้เครื่องเทศที่ต่างกัน)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 18, 18:14
ไก่ทอดหาดใหญ่ ขึ้นชื่อลือชามานานแล้ว  น่ากินสุดๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 18, 18:16
ไก่ทอดเทพา ไร้หนัง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 18, 18:49
ลองนึกภาพดูก็จะเห็นว่าของกินอร่อยๆในภาคใต้นั้น   แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ลงไปถึงในระดับอำเภอ หรือแม้กระทั่งในระดับหมู่บ้าน ล้วนมีของดีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน โด่งดังไปทั่วประเทศ กระทั่งในระดับโลกก็มี และมีมากกว่าในภาคอื่นๆของเรา  ซึ่งถึงแม้ว่าจะพื้นที่จะมีปัญหาในเรื่องของความไม่สงบอยู่ก็ตาม แต่ชื่อเสียงของๆดีเหล่านั้นในเชิงของด้านคุณภาพก็ยังคงอยู่ แม้ในเชิงปริมาณจะลดลงหรือขาดหายไปก็ตาม   ด้วยศักยภาพของภาคใต้ในทุกรูปแบบที่ถูกเบียดบังไว้เหล่านี้ เมื่อใดที่ได้กลับสู่สภาวะปกติสุข ก็คงจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองร่ำรวยกันไปเท่านั้นแล


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 18, 19:08
นึกออกอีกสองสามอย่างครับ   ข้าวดอกข่าของพังงา ข้าวสังข์หยดของพัทลุง หมี่กะทิของภูเก็ต ขนมลาของนครฯ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ของระนอง ไข่เค็มไชยา (โดยเฉพาะแบบดิบ เอามาทอดแบบไข่ดาว อร่อย...อืม์)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 18, 19:19
เค้กเมืองตรัง


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 18, 19:21
ขนมลาเมืองคอน


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 18, 18:12
สังเกตใหมครับว่า ของที่ว่าอร่อยเกือบทั้งหมดจะอยู่บนเส้นทางผ่าน และหลายอย่างก็จะต้องตั้งใจออกนอกเส้นทางหลักของการเดินทางเพื่อแวะเข้าไปเป็นการเฉพาะ  แวะเข้าไปถึงที่แล้วก็ยังไม่รู้ว่าเจ้าใหนที่ทำอร่อย แล้วก็ไม่รู้ว่าที่ว่าทำแบบดั้งเดิมนั้นมันเป็นการทำแบบดั้งเดิมจริงๆหรือแปลงมาแล้ว กระทั่งที่บอกว่าเจ้าที่อร่อยนั้น รสชาติมันเป็นไปตามรสปากของคนภาคใด หรือผู้ใด หรือจากองค์ประกอบอื่นใด ?   

ก็น่าคิดว่า ด้วยเหตุใดของเหล่านั้น จึงเด่นดังและมีชื่อเสียงกระจายเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศจนต้องมีชื่อสถานที่ห้อยพ่วงท้าย แถมหลายอย่างยังมีความเด่นดังจนเป็นที่รู้จักของนานาชาติ    ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะว่า มันเริ่มต้นจากของที่เป็นของดีจริงๆ หากไม่ดีจริงก็คงไม่จะไม่มีผู้คนในพื้นที่กล่าวถึง นำออกมาแนะนำ และอวดโอ้ของดีๆเหล่านั้น   ซึ่งเมื่อเราขุดคุ้ยลงไปดูถึงพื้นฐานลึกๆก็พอจะเห็นว่ามันมีความต่างที่บ่งบอกไปในเชิงของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดกันมาจนกลายเป็นของที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น อันเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งในระบบกฎหมายสากลที่ว่าด้วยเรื่องของ Intellectual Properties    เราอาจจะขาดการศึกษาติดตามการและดำเนินการปกป้องดูแลโดยคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้  ก็เลยมีทรัพย์สินทางปัญญาของเราถูกขโมยไปเป็นของคนอื่นหลายอย่างแล้ว 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 18, 18:48
กรณีเช่น Thai curry นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตนใหม ?   

ในความเห็นเท่าที่ผมพอจะมีความรู้  ผมว่ามี   ที่เรียกว่าแกงที่ใช้ Curry paste ของไทยเรานั้น มีองค์ประกอบที่ใช้พืชสมุนไพร (Herbs) เกือบทั้งหมด ก็มีน้ำพริกแกงบางอย่างที่ต้องใส่เครื่องเทศ เช่น แกงเขียวหวาน และแกงมัสมั่น   ต่างกับแกงที่เรียกว่า Curry ในความหมายของฝรั่งและคนชาติอื่นๆ ที่หมายถึงเครื่องแกงที่ประกอบไปด้วยการใช้เครื่องเทศหลายชนิดที่เรียกกันว่า Masala 

Thai curry dish ก็เลยมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ?? 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 18, 19:14
จะถูกหรือผิดก็ไม่รู้นะครับ จากประสบการณ์ ผมเห็นว่า รากผักชี นั้นเป็นองค์ประกอบที่ทำให้อาหารไทยของภาคกลางทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก (หรืออาหารที่ทำแบบไทย) มีความเด่นในเชิงที่เป็นเอกลักษณ์  สำหรับทางภาคใต้ก็คือ พริกไทย  ในภาคเหนือก็คือ มะแขว่น ในภาคตะวันออกก็คือ เหง้าต้นเร่ว  และในภาคอิสานก็คือ แจ่ว


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 18, 20:33
ภาคกลาง นอกจากรากผักชีแล้ว ก็ต้องมีกระเทียม พริกไทยและเกลือ ร่วมด้วยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ต.ค. 18, 18:13
ครับ
 
นึกถึงพวกที่มีชื่อลงท้ายด้วยกระเทียมพริกไทยขึ้นมาในทันที โดยเฉพาะกุ้งทอดกระเทียมพริกไทยที่ใช้เกลือทะเลเล็กน้อยในการแต่งรสให้กลมกล่อม

จะทำให้อร่อยหอมจริงๆก็ต้องมีการหมักไว้สักพักใหญ่ๆ    เอาพริกไทยขาวใส่ครกแล้วขยี้ให้แหลก ตามด้วยเกลือเม็ดและกระเทียมไทยที่ปอกเอาเปลือกส่วนที่แข็งออกไป โขลกให้เข้ากันดี  ปอกเปลือกกุ้ง ผ่าหลังดึงเอาเส้นดำๆ(vein)ออกไป..(เลี่ยงใช้คำที่อาจไม่สุภาพครับ)  เอากุ้งคลุกก้บเครื่องที่ตำไว้ จะคลุกในครกก็ได้หรือจะทำในจานนอกครกก็ได้ ทิ้งไว้สักครึ่งชั่วโมง แล้วจึงเอาลงทอดในกะทะน้ำมันร้อน (ใช้น้ำมันในปริมาณคล้ายกับการทำอาหารจานผัด)  สุกดีแล้วก็ตักใส่จานแบบกวาดน้ำมันให้หมดกะทะ ทานกับข้าวร้อนๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือน้ำปลาพริกขี้หนูใส่หอมซอยบีบมะนาว  ทำให้อร่อยมากยิ่งขึ้นด้วยการตักน้ำมันในจานกุ้งมาคลุกข้าว เหยาะด้วยน้ำปลาแล้วกินกับกุ้งที่ทอดนั้น 


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ต.ค. 18, 18:27
ขออภัยครับ  ลืมใส่รากผักชีลงไปตำในครกด้วย เลยขาดกลิ่นหอมที่ยั่วยวนน้ำลายไปอย่างมากเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 18, 19:15
กุ้งทอดกระเทียมพริกไทย


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ต.ค. 18, 19:25
พาให้นึกไปถึงข้าวผัดมันกุ้ง คือผัดกับมันกุ้งในกระทะจริงๆ  มิใช่เอามันกุ้งที่ทำสำเร็จรูปแล้วมาคลุกกับข้าว  

เมื่อครั้งที่การจ่ายตลาดยังต้องเข้าตลาดสด เราจะเห็นมีมันกุ้งใส่ถุงพลาสติกมัดแน่นเป็นถุงๆวางแช่อยู่กับถาดน้ำแข็ง ซื้อเอามา แกะถุงออกแล้วเลือกเอาส่วนที่มีลักษณะเป็นถุงดำๆทิ้งไป  โขลกเครื่องกระเทียมพริกไทยให้พร้อม (คราวนี้ไม่ลืมรากผักชี) เอาเครื่องลงผัดในกระทะจนหอมแล้วจึงใส่ข้าวลงไปผัดให้เข้ากัน ใช้เกลือปรุงรส(เพื่อมิให้ข้าวแฉะ)  เตรียมน้ำปลาพริกขี้หนูบีบมะนาว มานาวฝาน และแตงกวา หรือจะมีพริกขี้หนูสดวางไว้ด้วยก็ได้  เราก็จะได้ข้าวผัดมันกุ้งที่แสนอร่อย เห็นมันกุ้งเป็นก้อน มิใช่ยีจนละเอียดแบบที่ทำสำเร็จรูปมาแล้ว

ถ้าจะให้มีความอร่อยมากขึ้น ก็ใช้ข้าว(หอมมะลิ)ที่หุงแล้วเหลือค้างคืนไว้แทนการใช้ข้าวเก่าที่หุงแบบให้เม็ดข้าวสวย  ใช้มะนาวเปลือกบาง ใช้แตงกวาลูกเล็ก มิใช่แตงร้านลูกใหญ่  และใช้พริกขี้หนูสวนเม็ดเล็ก  ...จะว่ารวมของหอมก็คงจะไม่ผิดนัก

เมื่อตลาดสดเปลี่ยนรูปไปเป็นลักษณะของตลาดชุมชน มีตลาดเช้า มีตลาดเย็น และขายอาหารปรุงเสร็จแล้วเป็นหลัก ข้าวผัดมันกุ้งที่กล่าวถึงก็คงจะทำเองได้ยากขึ้น และแม้กระทั่งจะหาซื้อมันกุ้งปรุงสำเร็จที่ทำขาย(บรรจุอยู่ในขวด)ก็ไม่ง่ายนัก (หรือเลิกไปแล้วก็ไม่รู้ครับ)


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 18, 18:26
รากผักชีนี้ช่วยทำให้แกงจืดต่างๆมีความหอมอร่อยขึ้นมาก    ด้วยที่อาจจะมีข้อจำกัดในการทำครัว ก็ลองเอาแกงจืดที่ซื้อใส่ถุงมา แวะตลาดสดชุมชนหาซื้อผักชีที่มีราก (เดี่ยวนี้มีกระทั่งรากผักชีมัดขายเป็นกำๆ) ล้างรากผักชีสองสามรากให้สะอาดแล้วบุบด้วยมีดให้แหลก เอาพริกไทยเม็ดสักห้าหกเม็ดมาบุบให้แตก เอาใส่ลงหม้อ แกะถุงแกงเทใส่ลงไป ตั้งไฟให้เดือดแล้วเหยาะซีอิ๊วขาวหรือน้ำปลาเพื่อเอากลิ่นและแต่งรสให้กลมกล่อมตามชอบ  เท่านี้ก็เข้าท่าแล้ว

หากเป็นแกงที่ใช้กระดูกหมูหรือหมูสับ ก็พอจะแปลงต่อให้เป็นข้าวต้มได้  แทนที่จะซื้อเฉพาะผักชี ก็ซื้อเป็นหอมผักชีที่มัดรวมกัน   ตีไข่ใบนึงหรือสองใบ ใช้น้ำมันน้อยๆไล้ให้ทั่วกระทะ เมื่อกระทะร้อนมากแล้วก็เทไข่ใส่ลงไป เอียงกระทะไปมาเหมือนกับจะทำขนมเบื้อง เมื่อไข่สุกแห้งดีแล้วก็ค่อยๆม้วนในกระทะแล้วเอามาหั่นเป็นแว่นๆ  เจียวกระเทียมแยกใส่ถ้วยไว้   ตักข้าวใส่ถ้วย ตักเอาแกงใส่ลงไปให้ท่วมเป็นข้าวต้ม โรยหน้าด้วยไข่ที่หั่นไว้ เหยาะกระเทียมเจียว(และน้ำมัน)ตามชอบ โรยหน้าด้วยใบผักชีและต้นหอมซอย   ที่เหลือก็สุดแท้แต่ที่จะชอบปรุงรส (พริกไทย น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำส้ม พริกป่น)   


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 18, 19:24
ก็ยังมีของอร่อยจำเพาะถิ่นอีกมาก  ที่นึกออกในทันใดก็มีอาทิ ปลาหัวยุ่ง ปลาสละ ที่แม่สอด   ต้มยำปลาม้า ขนมสาลี่ กระจับ ของสุพรรณบุรี   ไก่ย่างท่าช้างและที่อื่นๆในอิสาน    ขนมจีนหล่มสัก/หล่มเก่า เพชรบูรณ์   ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย   ขนมชั้นเมืองตราด ฝอยทองฉะเชิงเทรา  ขนมจีนน้ำยาปลาตะโกก อุตรดิตถ์  ปลาส้มฟักบ้านหมี่ ลพบุรี  ปลาร้าสุรินทร์ ....


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 18, 19:39
คิดว่ากระทู้นี้ยืดยาวมาพอสมควรแล้ว และกำลังเข้าเขตของความน่าเบื่อ  ตัวเองก็เลยคิดว่าน่าจะเพียงพอแต่เพียงเท่านี้   

ท่านสมาชิกทั้งหลายน่าจะมีเรื่องราวและความเห็นที่สามารถถ่ายทอดและเล่าสู่กันฟังได้อีกมาก


กระทู้: คุยกันเรื่องของเสน่ห์ปลายจวัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 18, 18:42
ถ้าคุณตั้งมาถึงจุดอิ่มตัวกับอาหารการกิน  ก็ตั้งกระทู้ใหม่เล่าเรื่องอื่นได้นะคะ

ขนมจีนน้ำยาปลาตะโกก