เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 19:46



กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 19:46
ผมขอเสนอว่า
นิราศพระประธมนี้ กวี (ซึ่งจะเป็นสุนทรภู่หรือเปล่าก้อม่ายรุ) แต่งเมื่อพระปิ่นเกล้าสิ้นพระชนม์แล้ว
ตั้งใจแต่งให้สาวผิวขาวผู้เป็นม่ายรูปงาม นามว่านางศรีสาคร เป็นการจำเพาะ
เพราะกวีกำลังติดพันอยู่ แต่มีอุปสรรค ด้วยแม่ศรีสาคร เธอไปหลงไหลนางสาหงส์
ถึงขั้นไปสิงสู่ คืออาจจะถึงขั้นร่วมบ้านเดียวกัน

ข้อเสนอนี้ มีอาจารย์เทาชมพูเป็นฝ่ายค้านคนสำคัญ
และท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงเทใจไปฟากข้างอาจารย์ของเรากันหมด
ทิ้งให้ผมแคะคุ้ยเรื่องอดีตอยู่คนเดียว

สมน้ำหน้า....ชอบขับรถย้อนศรดีนัก


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 20:00
นิราศเรื่องนี้
บันจุตัวละคอนน่าสนใจไว้หลายนาม
เช่นฉิมและนิ่ม ผู้เป็นน้องสาวกวี และเสียชีวิตไปแล้ว ทำศพที่วัดทอง
ข้อนี้ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะวัดนี้ คนธรรมดาจะมาใช้หาได้ไม่ สงวนแก่คนสำคัญ
ทำนองเดียวกับวัดสระเกษทางฝั่งพระนคร ก็สำหรับคนใหญ่โตเหมือนกัน

เรามีหลักฐานว่า
ปีเถาะ 2374 เมื่อทำศพเจ้าคุณบางช้างที่วัดสุวรรณ ยังต้องทำเมรุผ้าขาว แปลว่าปีนั้นยังไม่มีเมรุปูน(พ.ร.3)
ก็ต้องเดาว่า ศพของฉิมนิ่ม คงปลงหลังจากนี้ เพราะไม่คิดว่า ทั้งคู่จะใหญ่โตจนได้พระราชทานเมรุผ้าขาว

การที่น้องสาว ตายเสียทั้งคู่ ชวนให้คิดว่า กวีคงจะแก่พอดู

กวีท่านก็รู้ จึงบอกกับผมไว้ตอนหนึ่งว่า
"บางสีทองคลองบ้านน้ำตาลสด อร่อยรสซาบซ่านหวานคอหอย
เหมือนปากพี่สีทองของน้องน้อย เป็นคู่บอกดอกสร้อยสักรวา
ทุกวันนี้พี่ก็เฒ่าเราก็หง่อม เธอเป็นจอมเราเป็นจนต้องบ่นหา
โอ้จอมพี่สีทองของน้องยา เมื่อไรจะพาพิมน้อยมากลอยใจ"

พี่สีทองเป็นจอมและเป็นเฒ่าเช่นนี้ แปลว่าเป็นเจ้าจอมในพระเจ้าอยู่หัวกระมัง
นึกไม่ออกว่าเจ้านายระดับต่ำลงมา จะมีจอมได้อย่างไร แต่จะเป็นเจ้าจอมของใคร
เสนอให้เลือกสามพระนามครับ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หรือ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 07, 20:52
ถ้าใครอยากเหนื่อย   ขอเชิญค้านคุณพพ. แล้วจะเหนื่อยสมใจ   
แต่ถ้าอยากสบายก็ขอเชิญให้คล้อยตาม    คุณพพ.จะไม่ค่อยต่อความยาวด้วยนัก  นี่บอกเคล็ดลับให้สมาชิกนะคะ

นิราศพระประธม  คุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร  บอกไว้ว่าแต่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๕   แต่ตัวกวีผู้แต่งเอง บอกแต่วันและเดือน ไม่ยักบอกปี
บอกว่าออกเดินทาง วันจันทร์ขึ้นห้าค่ำ

                                                       ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ
ลงนาวาคลาเคลื่อนออกเลื่อนลำ            พอเสียงย่ำยามสองกลองประโคม
น้ำค้างย้อยพรอยพรมเป็นลมว่าว            อนาถหนาวนึกเคยได้เชยโฉม
มาลับเหมือนเดือนดับพยับโพยม           ยิ่งทุกข์โทมนัสในใจรัญจวน
โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด                ไม่มีนุชแนบชมเมื่อลมหวน
พี่เห็นนางห่างเหยังเรรวน                     มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทนฯ

สังเกตว่าการเดินทาง เหมือนกับนิราศเมืองแกลง และนิราศสุพรรณ  คือออกเดินทางตอนดึก  ไม่บอกสถานที่ชัดเจนว่าออกจากท่าไหน หรือบ้านแถวไหน     เดินทางหน้าหนาวเหมือนในนิราศสุพรรณเสียด้วย  คงจะเป็นเพราะพ้นฝนแล้วก็เดินทางได้สบายหน่อย

เหมือนนิราศสุพรรณอีกอย่างคือ อากาศหนาวและน้ำค้าง มีผลกระทบต่ออารมณ์เป็นพิเศษ    เอ่ยถึงกลางคืนทีไรจะต้องพูดถึงน้ำค้าง
แม้แต่ในเพลงปี่ของพระอภัยมณีตอนสะกดทัพนางละเวง    ซึ่งถือกันว่าเป็นเพลงปี่ครั้งสำคัญสุด ก็ไม่วายมีรำพันเรื่องนี้
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย              น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร

นิราศพระประธม เล่าด้วยอารมณ์คล้ายนิราศเมืองเพชร  คือมีผู้หญิงหลายคนเป็นตัวชูอารมณ์   ส่วนเมืองแกลงและพระบาทมีสาวคนรักคนเดียว


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 21:06
ขอเชิญนักบาญชีมาช่วยนับชื่อสาวในนิราศนี้ด้วยครับ

นิราศเรื่องนี้ เริ่มต้น ไม่พูพล่ามทำเพลง ครวญถึงสาวทันที
และเป็นการครวญอย่างจำเพาะเจาะจง
คือระบุว่า พี่เห็นนางห่างเหยังเรรวน มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทนฯ

แปลว่า เพิ่งจะมีเรื่องราวแก่กันหมาดๆ
ประโยคหลังยังแสดงว่า ถ้าไม่ห่างเห ก็คงไปด้วยกันแล้ว
ดังนั้น จึงต้องเดาต่อว่า เส้นทางจะต้องสะดวกดาย ไม่กะหลุกกุกกักเหมือนนิราศอื่นๆ
การเดินทางที่สะดวกราบเรียบอย่างนี้ เห็นแต่ในนิราศภูเขาทองอีกเรื่องเท่านั้นแหละครับ

ผมจึงขอยืนยันว่า
เป็นนิราศที่ "ใหม่" มากๆ สมกับที่บอกว่าสิ้นพระปิ่นเกล้า คือหลังพ.ศ. 2409 ลงไป


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 07, 21:24
แม่ม่ายสาวที่กวีคร่ำครวญถึง หล่อนตีจากไปแล้ว  แต่ฝ่ายชายยังอาลัยอาวรณ์หวังว่าจะได้คืนดีกันอยู่
ก็รักๆแค้นๆปะปนกันไป   เดี๋ยวก็รู้ตัวว่าผู้หญิงเขาไปมีคนใหม่แล้ว  เดี๋ยวก็ยังคิดถึงอยู่
ที่แปลกกว่านิราศอื่นก็คือ กลอนสองตอนในนี้ บอกให้รู้ว่าแม่ม่ายศรีสาครนั้น เธอเป็นเลสเบี้ยน   เลิกกับชายแท้ไปคบกับผู้หญิงด้วยกัน

ทีแรกเข้าใจว่านางสาหงส์เป็นคนทรง   แต่กลับมาอ่านอีกที   แม่ศรีสาครนั่นแหละเป็นสาวคนทรง  สวยเสียด้วยซีคะ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 22:51
เฮ้ย์.....จ๊อด
เอ้ย ผิดวิก ฮิฮิ

ตกลงอาจารย์เลิกใช้วินิจฉัยของท่านผู้ใหญ่แล้วหรือครับ
แม้...นึกว่าจะเถียงหลังชนฝาเสียหน่อย ไม่เป็นไรครับ ผมหันไปทะเลาะกับท่านผู้ใหญ่แทนก็ด้าย
ข้อความที่ระบุเรื่องการทรงเจ้าอะไรนี่ มีเพียงสั้นๆ ว่า

"ยังเหลือแต่แม่ศรีสาครอยู่ ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์
จะเชิญเจ้าเท่าไรก็ไม่ลง ให้คนทรงเสียใจมิได้เชย"

อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ท่านแปลความว่านางศรีสาคร ไปหลงคนทรงเจ้าที่ชื่อนางสาหงส์ จนเลิกกับสุนทรภู่
ผมเห็นว่า ข้อความมิได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะประโยคสองบ่งบอกว่าคนที่เสียใจคือคนทรง
ถ้านางสาหงส์เป็นคนทรง สุนทรภู่ก็เป็นฝ่ายได้แม่ศรีสาครไปน่าซี
ความจะเป็นดั่งนั้นไม่ได้ เพราะประโยคต้นบอกว่านางสาหงส์ได้สิงสู่อยู่กับแม่ศรีสาครไปแล้วเรียบร้อย

จึงต้องสรุปออกมาอย่างนี้ว่า
1 แม่ศรีสาคร เธอชอบผู้หญิงด้วยกัน คือนางสาหงส์
การเรียกชื่อตรงนี้ ก็ยังบ่งบอกว่า อายุต่างกันพอดู คนหนึ่งเรียก"แม่" คิดว่าจะอายุน้อยกว่าคนที่เรียกว่า "นาง"
2 ต้นประโยคบอกว่า"ยังเหลือแต่..." ทำให้ต้องเดาว่า หญิงอื่นนั้น กวีท่านกินแห้วหมดแล้ว เขาไม่ไยดี หรือมีเหตุต้องพรากจากจนหมด
3 ประโยคที่สองนี่สิ ยุ่งหนัก เพราะกล่าวถึงคน สองคน คนหนึ่งเป็นคนทรงเจ้า อีกคนหนึ่งคือเจ้าที่จะเชิญมาลงคนทรง
พิเคราะห็รูปประโยคแล้ว ดูเหมือนว่า แม่ศรีสาครเองนั่นแหละ จะเป็นองค์อะไรสักอย่าง

ที่กวีอยากจะเชิญให้มาลงคนทรง แต่ไม่สำเร็จ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 15 ต.ค. 07, 23:07
๏ น้ำค้างพรมลมเฉื่อยเรื่อยเรื่อยริ้ว   หนาวดอกงิ้วงิ้วออกดอกไสว
เกสรงิ้วปลิวฟ้ามายาใจ   ให้ทราบในทรวงช้ำสู้กล้ำกลืน


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 23:20
ขอบคุณป้ากุนครับ หายแห้งเหี่ยวในทันใด
รูปสวยงามจริงครับ

มาพิเคราะห์ความกันต่อ
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน
ขอบุญญาอานิสงส์จำนงสนอง ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ไปปัฏิสนธิ์
ศิวาลัยไตรภพจบสกล ประจวบจนได้พบประสบกัน
ทั้งแก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์ จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้


ความตรงนี้ ชี้ว่า สองสาว ฉิมนิ่ม น่าจะตายไม่ดี กวีจึงใช้คำว่า "อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้"
ทีนี้ คนทั้งหลายมักจะบอกว่า สองสาว เป็นน้องของกวี รู้ละเอียดด้วยว่าเป็นน้องต่างมารดา
แต่ผมเองนั้น สอบตกภาษาไทย อ่านกลอนได้ความว่า ฉิมและนิ่มน่ะ เป็นพี่น้องกันแน่(ฉิมนิ่มน้องสองนารี)
แต่ท่านผู้ใดเจอตรงใหนไหมครับ ที่บอกว่าเป็นน้องสาวต่างมารดาของกวี
ที่ผมสงกะสัยตรงนี้ เพราะรู้สึกพิลึกที่กวีจะมาอาลัยน้องสาว และกล่าวยกย่องอย่างสูง
แต่ปิดท้ายว่า "จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน" ความมันออกนัยยะทางชู้สาวน่ะนาท่านผู้ชม

ผมก็เลยต้องย้อนศร ตั้งประเด็นว่า นิ่ม ควรจะตรงกับสาวบางกรวยที่เป็นภรรยากวี(มีกล่าวถึงข้างหน้า)
ฉิมเป็นพี่น้องกับภรรยากวีอีกที
เป็นไงครับ ......การอ่านหาเรื่องของกระผม เดี๋ยวจะมีวายวอดกว่านี้อีก

โปรดอดใจรอ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 15 ต.ค. 07, 23:54
นมสวรรค์ลั่นทมต้นนมนาง   มีต่างต่างตันอกตกตะลึง
นมสวรรค์ฉันดูสู้ไม่ได้   เหมือนเตือนใจให้นึกรำลึกถึง

“พวงพี” หมายถึงต้น “นมสวรรค์” มีชื่อวิทยาสาสตร์ว่า Clerodendrum paniculatum L. จากที่นี่ค่ะ
http://www.healthsquare.org/colTopicView.php?brd=5&top=15452


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ต.ค. 07, 07:16
๏ โอ้ยามจนอ้นอั้นกระสันสวาท   คิดถึงญาติดังจะพาน้ำตาไหล
แกล้งแลเลยเชยชมพนมไพร   พระปรางค์ใหญ่เยี่ยมฟ้าสุธาธาร
ที่ริมรอบขอบคันข้างชั้นล่าง   เอาอิฐขว้างดูทุกคนไม่พ้นฐาน
แลข้างบนคนข้างล่างที่กลางลาน   สุดประมาณหมายหน้านัยน์ตาลาย
แล้วลาพระจะลงดูตรงโตรก   สูงชะโงกเงื้อมไม้จิตใจหาย
เมื่อขึ้นนั้นขั้นกระไดขึ้นง่ายดาย   จะลงเห็นเป็นว่าหงายวุ่นวายใจ
ต้องผินผันหันหลังลงทั้งสิ้น   ถึงแผ่นดินยินดีจะมีไหน
เที่ยวชมวัดทัศนาศาลาลัย   ต้นโพธิ์ไทรสูงสูงทั้งยูงยาง
ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ   มะตูมตาดต้นเอื้องมะเฟืองฝาง
นมสวรรค์ลั่นทมต้นนมนาง   มีต่างต่างตันอกตกตะลึง
นมสวรรค์ฉันดูสู้ไม่ได้   เหมือนเตือนใจให้นึกรำลึกถึง
เห็นเล็บนางหมางเมินเดินรำพึง   ชมกระดึงดอกดวงพวงพะยอม
พิกุลใหญ่ใต้ต้นหล่นแชล่ม   ดูกลีบแซมชื่นเชยระเหยหอม
ผลลูกสุกห่ามงามงามงอม   แต่แตนตอมต่อผึ้งหึ่งหึ่งฮือ
เห็นนกเปล้าเขาไฟฝูงไก่เถื่อน   เที่ยวเดินเกลื่อนกลางดินบ้างบินปรื๋อ
เหล่าลูกเล็กเด็กใหญ่ไล่กระพือ   มันบินหวือว่อนลงข้างดงดอนฯ

ช่วงนี้ กวีเห็นพรรณไม้เยอะเลยค่ะ จะพยายามหามาให้ชมค่ะ  นมสวรรค์ไปแล้ว  คราวนี้มะตาดค่ะ  สนใจรายละเอียดดูในเว็ปนี้นะคะ
http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=maipradab&topic=4563


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ต.ค. 07, 08:56
ต้นนมนาง


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ต.ค. 07, 09:27
ต้นฝาง

ชื่อวิทยาศาสตร์  Caesalpinia sappan,Linn

วงศ์   Caesalpineae

ชื่อท้องถิ่น  โดยทั่วไปชาวบ้านเรียกว่า ฝาง หรือฝางเสน  เป็นพืชสมุนไพร ใช้เนื้อไม้ต้มเป็นน้ำดื่มแก้ร้อนใน ท้องร่วง  ฝักแก่ใช้ย้อมผ้าให้สีชมพูแดง


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ต.ค. 07, 10:11
ลืมใส่รูปมาให้ค่ะ  ต้นฝาง อีกที


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 10:14
คุณป้ากุนคะ  รูปที่ใส่ ต้องชื่อไฟล์เป็นภาษาอังกฤษค่ะ   ถ้าชื่อเป็นไทย  ระบบจะลงรูปไม่ได้
ขนาดไม่เกิน 128 kb. ด้วย


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ต.ค. 07, 10:18
ขอบคุณค่ะ  ลืมไปว่าตัวเองใส่ชื่อfileไว้เป็นภาษาไทย 


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 11:32
อ้างถึง
ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ       เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี                     มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน
ขอบุญญาอานิสงส์จำนงสนอง       ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ไปปัฏิสนธิ์
ศิวาลัยไตรภพจบสกล          ประจวบจนได้พบประสบกัน
ทั้งแก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์       จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน          อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ


กลับไปอ่านใหม่อีกครั้ง  ในตอนนี้มีชื่อผู้หญิง ๓ คน ค่ะ  ตายหมดแล้ว
๑) ฉิม
๒) นิ่ม
สองคนนี้เป็นพี่น้องกัน  อาจเป็นน้องสาวของกวีด้วย  เอ่ยควบกันไปไม่แยกกัน
๓) เกษ หรือเกส  เคยเป็นภรรยาของกวี    ที่ตายไปอาจจะไม่ใช่เจ็บป่วยอย่างธรรมดา  เพราะบอกว่า ตายไปเพราะอันตราย  อาจจะเป็นอุบัติเหตุ หรืออะไรสักอย่าง
แม่เกษ คนนี้ เอ่ยถึงไว้อีกตอน
ถึงวัดเกดเจตนาแต่การะเกด                             ไม่สมเจตนาน่าน้ำตาไหล
เคยสบเนตรเกษน้อยกลอยฤทัย                        มาจำไกลกลืนกลั้นที่รัญจวน


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 11:50
นิราศพระประธมยังไม่ได้ปักหมุดแผนที่ไว้ แต่เคยตรวจสอบเส้นทางคร่าวๆเทียบกับนิราศอื่นแล้วครับ

อันนี้แผนที่ชี้ว่าไม่น่าใหม่ถึง ๒๔๐๙ ครับ ฮี่ฮี่


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ต.ค. 07, 12:27
อาจารย์คงตีความจากตรงนี้
ทั้งแก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์ จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์  
ผมเห็นว่า ถ้าทั้งหมดเป็นชื่อคน ก็มีหลายคนอยู่
มีทั้ง แม่แก้ว แม่เนตร แม่เกสรา แม่มณฑา แม่ทิพย์

แต่ก็ยังไม่เจอตรงใหนที่บอกว่า ฉิมนิ่ม เป็นน้องสาวกวี แต่จุดที่ผมสงกะสัยคือในคนที่ตายนั้น
กวีเธออยากให้"เกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ"
ผมอ่านได้ความว่าอยากได้ฉิมนิ่มคนใดคนหนึ่งมาเป็นคู่ชีวัน....มันออกจะพิลึกอยู่นา


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 12:53
อ้างถึง
ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ       เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี                     มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน
ขอบุญญาอานิสงส์จำนงสนอง       ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ไปปัฏิสนธิ์
ศิวาลัยไตรภพจบสกล          ประจวบจนได้พบประสบกัน
ทั้งแก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์       จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน          อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ


เวลาอ่าน   ต้องแยกค่ะ

ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ       เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี                     มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน
ขอบุญญาอานิสงส์จำนงสนอง             ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ไปปัฏิสนธิ์
ศิวาลัยไตรภพจบสกล                        ประจวบจนได้พบประสบกัน

นี่คือจบตอนแม่ฉิมแม่นิ่ม     กวีรำลึกตอนผ่านวัดทอง(ไม่ทราบว่าชื่อเต็มคืออะไร)  เพราะว่าผู้หญิงสองคนนี้ตายมาเผาที่นี่   
ก็ส่งจิตรำลึกขอให้ไปสู่สุคติ   ได้ขึ้นสวรรค์ จนกว่าจะได้พบกันอีกครั้ง
สังเกตว่าไม่มีการรำพันถึงความรักฉันชู้สาว   เพียงแต่แผ่ส่วนกุศลไปให้  ส่วนลงท้ายก็เป็นการกล่าวอย่างเรียบๆ  แค่ได้พบกัน    เหมือนสองคนนี้เป็นญาติพี่น้อง ไม่ใช่คนรัก 

ทั้งแก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์       จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน          อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ

นี่คือความอีกตอนหนึ่ง  มีคำว่า "ทั้ง" เริ่มต้นไว้ เป็นการคั่นระหว่างบทก่อนกับบทนี้ให้รู้ว่าคนละคน
แก้วเนตร แปลว่าแม่แก้วตา(พี่)  มณฑาทิพย์ เป็นสร้อยคำประกอบชื่อเกสรา  บอกให้รู้ว่าเปรียบแม่คนนี้เป็นดอกไม้สวรรค์  น่าจะมีฐานะในสังคมดีกว่าหญิงชาวบ้านทั่วไป
ยิ่งอวยพรให้หล่อนเป็นดอกไม้สวรรค์ที่ลอย(กลับ)ขึ้นไปถึงสวรรค์ ก็ยิ่งเห็นว่ายกย่องคนนี้
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน    วรรคนี้แน่นอนว่าเป็นเมีย
ส่วนวรรคท้ายแสดงว่าแม่เกษ ตายเพราะอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง  ไม่ใช่เจ็บป่วยหรือแก่ตาย

ในพระอภัยมณี  สุนทรภู่ตั้งชื่อตัวละครหญิง เมียของศรีสุวรรณว่า นางแก้วเกษรา   ผู้หญิงคนนี้เป็นคนดีที่สุดในบรรดาเมียๆของพระเอกพระรอง
สวย อ่อนหวาน ไม่มีความหึงหวง จงรักภักดีต่อสามี เสมอต้นเสมอปลาย แต่ไม่ค่อยมีบทบาท  เป็นภาพที่เลือนๆเมื่อเทียบกับคนอื่น
เป็นได้ว่าเอาเค้าโครงการสร้างมาจากแม่เกษคนนี้แหละค่ะ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ต.ค. 07, 14:18
ไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิดเกี่ยวกับชื่อคนตามแนวนี้สักเท่าไร
อาจจะเพราะไม่ได้มีอาชีพเป็นนักสืบ ถ้าได้เป็น ข้าพเจ้าก้อตกงามแหง๋มๆ

ตรงที่ที่มีแต่ความกำกวม ท่านแยกแยะชื่อคนออกมาได้ราวกะไก่จิกเมล้ดทรายในกองฟาง
แต่ตรงที่ที่ชัดเจนแจ่มแจ๋วยิ่งกว่าเพชรโดนแสง ท่านตาฟางมองไม่เห็นเอาซะงั้น
ถ้า "แก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์"   ถอดความได้ว่า เป็นสาวชื่อเกษ
"สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน โอ้พระคุณทูลกระหม่อมจอมสกล พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน"
ท่านจะถอดความลับชื่อ "ปิ่นเกล้า" ให้กลายเป็นพระพุทธเลิศหล้าฯ ไปได้อย่างไรขอรับ

ทีนี้มาเทียบเกษสองหนกันดูที
เกษหนแรกนั้น ตายแล้วแน่ๆ ตายอย่างไม่ปกติด้วย และเป็นสาวที่กวียกย่องถึงให้ขึ้นสวรรค์
เกษที่สองนี่ ยังไม่ตายครับ "เคยสบเนตรเกษน้อยกลอยฤทัย มาจำไกลกลืนกลั้นที่รัญจวน"
แค่ห่างกันเท่านั้น ที่สำคัญ เกษแรกชื่อเกสรา แต่เกษที่สอง เธอชื่อการะเกด

ส่งท้าย....ถ้าเกสราเป็นยอดรักจริงๆ ทำไมไปเป็นรองประธานเสียได้
กลอนท่อนนั้น ถอดความได้ว่า เมื่อผ่านวัดทอง (คือวัดสุวรรณาราม บางกอกน้อยที่มีจิตรกรรมเลื่องชื่อของครูทองอยู่กับคงแป๊ะ)
อันแสนเงียบเหงาเพราะเป็นป่าช้าผี ก็นึกถึงสองสาวฉิมนิ่ม ที่ได้มาปลงศพยังเมรุทองวัดนี้
คำว่าเมรุทอง กวีท่านเล่นความนิดหน่อย เมรุนั้นเป็นเมรุปูนแต่อยู่วัดทอง เป็นของหลวงสร้างครั้งรัชกาลที่ 3 สำหรับศพผู้ใหญ่
การที่ฉิมนิ่มได้ขึ้นเมรุที่นี่ แสดงว่าศักดิ์ฐานะแห่งเมรุหลวงนั้นคลายลงมาก จนคนธรรมดาก็ได้ใช้
(นี่เป็นหลักฐานเรื่องความใหม่ครับ...คุณเครซี่)

จากนั้นก็เป็นคำอาลัยชุดใหญ่ ...ขอบุญญาอานิสงส์ ส่งสองศรีไปปฏิสนธิ์บนศิวาลัยไตรภพจนกว่าจะได้พบกันอีก
แก้วตาดอกไม้สวรรค์ทั้งสอง(แก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์) จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์

แต่อาจารย์กลับไปยกสร้อยคำมาตั้งเป็นประธานเสียนั่น ครั้นมาถึงตอนที่ต้องเสนอแก้วเกสราเป็นตัวเอก
ทำมะไรความมันจ๋องยังงั้นละขอรับ

"ถึงวัดเกดเจตนาแต่การะเกด ไม่สมเจตนาน่าน้ำตาไหล เคยสบเนตรเกษน้อยกลอยฤทัย มาจำไกลกลืนกลั้นที่รัญจวน"
ความชี้ชัดว่าการะเกดเป็นประธาน แต่ส่วนขยายประธานนั้น ไม่โอ่อ่าระดับสรวงสวรรค์เลย
อีหนูอาจจะยังไม่ตายด้วยซ้ำ และอาจจะปิ๊งกันแค่ฟาดเนตรสักหนหนึ่ง แล้วก็เลิกรากันไป
เพราะกลอนต่อไป กวีไปสนใจดอกโศกซะแระ และต่อให้เอากลอนดอกโศกท่อนนี้มาเป็นเครื่องอลังการณ์แด่น้องการะเกด
มันก้อเป็นเพียงสำนวนความที่ปราศจากความหมายหนักแน่น ดีกว่าลมเพลมพัดนิดหน่อย

หาสมกับความโศกาจาบัลย์ที่ประดิษฐ์ประดอยชื่อเกดให้หรูระยับเป็น แก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์
แม้แต่สักเล็กน้อย


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 14:47
ปุจฉา
อ้างถึง
"สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน โอ้พระคุณทูลกระหม่อมจอมสกล พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน"
ท่านจะถอดความลับชื่อ "ปิ่นเกล้า" ให้กลายเป็นพระพุทธเลิศหล้าฯ ไปได้อย่างไรขอรับ

วิสัชนา
ถึงสามโคกโศกถวิลถิ่งปิ่นเกล้า               พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี            ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว

ถ้าแปลตามนัยยะของคุณพพ.  ปิ่นเกล้าในที่นี้ก็คือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ    และพระพุทธเจ้าหลวง หมายถึงรัชกาลที่ ๕
แต่พระเจ้าแผ่นดินที่เปลี่ยนชื่อสามโคกเป็นปทุมธานี คือรัชกาลที่ ๒ นะคะ

ส่วนเรื่องแม่เกษ    กลอนบทหลังดิฉันตีความว่าจากไกลคือจากตาย  รำลึกความหลังที่เคยจีบกันเท่านั้นเอง
ชื่อเกษ เกด เกส สมัยที่ยังไม่มีทะเบียนบ้านให้จดชื่อ   เขานับเสียงเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่ตัวสะกด ค่ะ  สะกดได้หลากหลาย


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 14:49
ในพระอภัยมณีก็มีใช้คำว่าพระปิ่นเกล้านาครับ

ใช้ตรรกะเดียวกัน มิกลายเป็นว่าพระปิ่นเกล้าไปอยู่ในนิยายหรือครับ  ;D


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ต.ค. 07, 17:42
ถ้าแปลตามนัยยะของคุณพพ.  ปิ่นเกล้าในที่นี้ก็คือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ    และพระพุทธเจ้าหลวง หมายถึงรัชกาลที่ ๕
แต่พระเจ้าแผ่นดินที่เปลี่ยนชื่อสามโคกเป็นปทุมธานี คือรัชกาลที่ ๒ นะคะ

ผมเคยแปลความไว้แล้ว แต่อาจารย์คงไม่ฟัง จึงขอย้ำใหม่ว่า ถ้าแบ่งวรรคตอนผิด ความหมายก็ผิด

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า (นี่คือบทตั้ง)

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว (นี่คือข้อเท็จจริงที่ 1)

โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว (นี่คือคำขยายข้อเท็จจริงที่ 1)
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ (นี่คือข้อเท็จจริงที่ 2)
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย (นี่คือคำขยายข้อเท็จจริงที่ 2)

อ่านแบบผมก็ได้ความว่า มาถึงสามโคก ก็คิดถึงพระปิ่นเกล้า ผู้มีพระคุณล้นเหลือ
ความคิดถึงตรงนี้ เกิดเพราะผลแห่งการเปรียบเทียบนามพระราชทาน 2 ชื่อ
เมืองปทุมได้รับพระราชทานนามจากพระพุทธเจ้าหลวง แม้พระองค์สิ้นแล้ว นามก็ยังไม่สูญ
ไอ้เรานี่สิ นามพระราชทานเหมือนกัน ทำไมไม่เห็นเหมือนเมืองสามโคกหนอ
พอพระปิ่นเกล้าสิ้นเราก็สิ้นนามตามไปด้วย  แถมยังลำบากต้องเตร็ดเตร่หาที่อยู่ใหม่

เรื่องหาที่อยู่ใหม่นี่ก็เป็นประเด็นที่คนชอบลืม
สุนทรภู่เอง ในรำพันพิลาป ท่านบอกไว้โต้งๆ ว่าแต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
ไม่ได้คร่ำครวญเรื่องโศกาอาดูรอันใด แม้แต่จะอาลัยพระเจ้าแผ่นดินสักแอะก็ไม่มี
แล้วทำไมในนิราศภูเขาทองจะต้องมาฟูมฟายด้วย
เพลงยาวถวายโอวาทเสียอีก ยังอวดโอ่คำโตถึงตัวเอง นั่นก็ไม่คร่ำครวญถึงเจ้าแผ่นดิน
ในนิราศพระประธมนี้อีกแหละ เล่าเรื่องไกรทองเสียยกใหญ่ ก็ไม่ยอพระเกียรติให้สมความอาลัย

ผมได้ย้ำคิดย้ำทำมาเป็นเวลานาน ก็คงต้องย้ำต่อไปนกว่าจะโดนสวนเข้าโครมจังๆ แต่ในเมื่อยังไม่โดน
ก็ต้องตะโกนบอกต่อไปว่า
สุนทรภู่ไม่ได้ผูกพันกับรัชกาลที่ 2 แต่ผูกพันกับพระปิ่นเกล้าคร๊าบบบ.......
เรื่องเล่าเกี่ยวกับสุนทรภู่ ว่าด้วยโจทเจ้า ขี้เมา พึ่งพระองค์เจ้าลักขณา หมายปองดอกฟ้า พระองค์เจ้าหญิงวิลาส
และแหนงพระเจ้าแผ่นดิน....ล้วนแต่ยกเมฆทั้งนั้น

นิราศราวๆ สี่เรื่อง ก็ไม่ใช่ของสุนทรภู่ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
เฮ้อ.....บ้าอยู่คนเดียว  แฮ่ก แฮ่ก
(หอบแบบหมาหอบแดดครับ)

คุณเครซี่ยกกลอนมาว่าหน่อยดิ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 17:51
* ฝ่ายทัพพระอนุชาวายุพัฒน์       ต่างเร่งรัดพลขันธ์รีบผันผาย
พอพ้นดงลงเนินเดินสบาย           ตวันบ่ายปลายรังถึงลังกา
เห็นพวกพลบนเชิงเทินเนินหอรบ    อาวุธครบไพร่นายรายรักษา
จึงหยุดทัพยับยั้งรอรั้งรา             ขับม้ามาหน้ากำแพงแจ้งคดี
พระปิ่นเกล้าเจ้าลังกาบัญชาใช้      ให้คุมไพร่มาบำรุงชาวกรุงศรี
เร็วเร็วเถิดเปิดประตูพระบูรี          อย่าช้าทีโทษมึงจะถึงตาย ฯ

ยกมาจาก http://www.cybered.co.th/praapi/apai60.htm (http://www.cybered.co.th/praapi/apai60.htm)

แต่ถ้าลองถามน้องกุ๊กว่า "พระอภัยมณี ปิ่นเกล้า" จะเจออีกหลายตอนนักครับ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 18:33
อ่านค่ะอ่าน
แต่อ่านยังไงก็คิดอย่างคุณพพ.ไม่ลง นี่คะ

เพราะความตอนนี้ก็ชัดเสียยิ่งกว่าชัด ว่า ไปถึงสามโคกก็ทำให้หวนคิดถึงรัชกาลที่ ๒ เพราะท่านพระราชทานนามใหม่ให้สามโคกว่าปทุมธานี เพราะ(สมัยนั้น) มีบัวขึ้นเยอะแยะ
แล้วก็นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่สิ้นไปไม่หวนกลับมาอีก
ส่วนมาเปรียบเทียบชื่อสามโคก กับตัวเอง นั่นก็เป็นตอนต่อมา  แต่ไม่ได้ทำให้พระพุทธเลิศหล้ากลายเป็นพระปิ่นเกล้าไปได้

ลองสังเกตในนิราศเรื่องอื่นๆสิคะ  สุนทรภู่ไม่เคยออกพระนามพระมหากษัตริย์เลยนะคะ   คนสมัยโน้นเขาไม่ระบุกันตรงๆ  แม้แต่ชื่อเจ้านายตั้งหลายพระองค์ที่อุปถัมภ์ ท่านก็ไม่ระบุพระนาม    มีแต่"ฟ้าอาภรณ์" เท่านั้นที่เอ่ยถึง


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ต.ค. 07, 18:55
ข้อเท็จจริงวางแผ่แบบไม่มีทางโต้แย้ง ว่า
พระนามพระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกง่ายๆ ว่า พระ .... เกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นของคิดขึ้นโดยรัชกาลที่ 4
ถ้าสุนทรภู่เป็นคนรุ่นรัชกาลที่ 1 จริง จะต้องเรียกเจ้าอยู่หัวว่าขุนหลวง หรืออะไรประมาณนั้น
แต่ท่านเรียกพระปิ่นเกล้าตรงๆ ไม่รู้ตั้งกี่ครั้งกี่หน ทำไมไม่คิดไปตรงๆ ง่ายๆ
ไปยอกย้อนทำไม ไม่ใช่กลบทซักกะหน่อย

แล้วอาจารย์ยังบอกอีกว่า สุนทรภู่ไม่เคยออกพระนามพระมหากษัตริย์ ก็ปิ่นเกล้านี่เป็นพระนามอะไรหรือครับ
แล้วที่ผมสงสัยไม่ใช่เรื่องออกพระนาม แต่สงสัยว่าตรงจุดที่ควรจะเอ่ยถึงพระกรุณาธิคุณ กลับไม่มี
เราชอบคิดเป็นดราม่า ว่ากวีคนหนึ่งหนีตายออกบวช และรักเจ้านายแทบจะตายตามไป
ก็ถ้ารักไคร่ถึงเพียงนั้น ทำไมออกบวชปีสวรรคต ไม่เอ่ยอะไรสักแอะ
ผ่านบ้านนายไกรทองก็ไม่เอ่ยสักแอะ
วีรกรรมที่ต่อกลอนพระราชนิพนธ์ ก็ไม่เคยเอ่ยสักแอะ
ส่วนที่เอ่ยไว้ อย่างเช่นหมอบรับกับพระจมื่นไวย ดูในวังเห็นหอพระอัฐิ บ้านพระราชทาน....ฯลฯ
จะต้องโยงไปรัชกาลที่ 2 ให้ได้
ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรที่น่าเชื่อเลยอันจะบ่งชี้ว่า ตาภู่เคยเข้าเฝ้า เคยเป็นกวีที่ปรึกษา
ท่านที่เล่าเรื่องเหล่านี้ไว้ ผมก็เห็นอ่านกลอนสุนทรภู่ไม่รู้เรื่องเหมือนผมนั่นแหละ

ท่านอาจจะบอกว่า ก็มันไม่จำเป็นต้องเอ่ยนี่นา อันนั้นผมก็เข้าใจ
แต่นิราศสองบทนี่ มีเหตุอะไรต้องเอ่ยถึง"ปิ่นเกล้า"ด้วย พระอภัยมณี ยิ่งไม่ต้องเอ่ย
เอ....หรือว่าสุนทรภู่ต่างหาก เป็นคนคิดพระนามนี้ขึ้นมาใช้เล่น

แล้วนักปราชญ์อย่างพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงยืมใช้


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 19:04
พระนามพระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกง่ายๆ ว่า พระ .... เกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นของคิดขึ้นโดยรัชกาลที่ 4
ถ้าสุนทรภู่เป็นคนรุ่นรัชกาลที่ 1 จริง จะต้องเรียกเจ้าอยู่หัวว่าขุนหลวง หรืออะไรประมาณนั้น

พระนามพระเจ้าแผ่นดินอย่างนี้เป็นของที่คิดโดย ร.๔ จริงครับ แต่ก่อนหน้านั้นคำพวกนี้ใช้เป็นสามานยนาม ปรากฏทั่วไปในวรรณคดี อย่างน้อยก็ย้อนไปได้ถึงอยุธยาตอนต้นนะครับ ข้อนี้ผมขอยืนข้างเดียวกับอ.เทาชมพูคร้าบ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 19:13
ข้อนี้จะว่าไปแล้วยังมีอีกประเด็นหนึ่งว่า การออกพระนามพระมหากษัตริย์โดยตรงยังน่าจะเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้นด้วยซ้ำไปครับ

ศ.ป.ฉบับล่าสุดลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ เรื่องวัดราชประดิษฐ์กับวัดมกุฏกษัตริย์ ปรากฏว่าข้าราชการสมัยนั้นไม่ใคร่กล้าออกชื่อวัดมกุฏกษัตริย์โดยตรง จน ร.๔ ต้องให้เรียกว่าวัดนามบัญญัติแทน


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 20:11
"สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก  น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน"
" ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า..."
ถ้ากวีสามัญชนคนหนึ่ง  แม้เป็นขุนนางก็เถอะ   เขียนในตอนปลายรัชกาลที่ ๔  ออกพระนาม "ปิ่นเกล้า" เฉยๆ ราวกับเป็นเพื่อนคลาสเมทกันมาตั้งแต่สมัยไหน
เห็นจะไม่ได้ลอยนวลอยู่นอกคุกหรอกค่ะ 

คุณพพ.ก็ทำเป็นไม่รู้ไปได้     ถ้อยคำที่ใช้  อย่าง  ปิ่นเกล้า   ในพระโกศ  อะไรพวกนี้  ไม่ใช่พระนาม  แต่เป็นศัพท์หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน
เหมือนชาวอยุธยาเรียก พระเจ้าบรมโกศ 


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ต.ค. 07, 21:29
ผมไม่เคยเห็นการใช้คำว่า "ปิ่นเกล้า" ในสถานะที่เป็นสามานยนามเลย ก่อนรัชกาลที่ 4
ถ้าจะมีให้เห็น โปรดยกมาให้ดูเป็นขวัญตาด้วย

การที่คนทั้งหลายไม่กล้าออกพระนาม "มงกุฏเกล้า" ทั้งที่ทรงโปรดจะให้เรียกเช่นนั้น
พระจุลจอมเกล้าจึงทรงค่อนเอา เมื่อทรงเล่าเรื่องวัดพระนามบัญญัติ
แต่....

กวีที่ชื่อสุนทรภู่ ไม่ใช่คนธรรมดานะครับ
ขนาดที่กล้าอ้างว่าเข้าเฝ้าไกล้ชิดจนได้"กลิ่น" แค่นี้ก็แหกขนบโบราณไปไกลมากแล้ว
และถ้ารัชกาลที่ 4 ทรงกลอนนิราศพวกนี้ แล้วทรงโปรด ใครจะว่าอะไรได้เล่าครับ

ถ้าเราเชื่อว่า ทรงโปรดให้ตาภู่แต่งเสภา ก็แปลว่าน่าจะทรงทราบฝีปากของจางวางเอกแห่งวังหน้าผู้นี้
นอกจากนั้น คำกลอนที่มีคำว่า"ปิ่นเกล้า" ก็ปรากฏสง่าผ่าเผยอยู่ทั้งรัชกาลที่ 4 (ถ้าเชื่อว่าตาภู่แต่งในรัชกาลที่ 3)
ทำไมพ่อเพ็ง (พระยาบุรุษฯ) จึงกล้าเอาไปเล่นเป็นละคอนดึกดำบรรพ์ได้ ในเมื่อมีถ้อยคำต่ำสูงอยู่อย่างนั้น
แถมหมอสมิธยังพิมพ์ขายจนรวย ก็แปลว่า คนอ่านมากเป็นกระตั้กสิครับ จริงบ่

หมายรับสั่งมากมายของรัชกาลที่ 4 รวมทั้งราชกิจจานุเบกษา ก็เอ่ยพระนามพระจอมเกล้าทั้งนั้น
ประชาชีมิต้องก้มกราบก่อนเปิดอ่านหรือครับ พระบรมรูป ที่เป็นรูปถ่าย ก็แพร่หลายเป็นพันๆ สำเนา
เหล่านี้ล้วนแต่แสดงว่า การยึดถืออะไรที่ล้าสมัยนั้น อาจจะมี
แต่ในวันเวลาเดียวกันนั้น

คนที่โดยเสด็จพระราชนิยม ก็ต้องมีเช่นกัน


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 22:25
ผมว่าผมผ่านตาบ่อยนะครับ

ที่มีออนไลน์อยู่ อย่างน้อยก็ลิลิตพระลอล่ะครับ ระบุเวลาแต่งไม่ได้ แต่ไม่หลังสมเด็จพระนารายณ์แน่
จากที่นี่นะครับ http://olddreamz.com/bookshelf/praloh/praloh.html (http://olddreamz.com/bookshelf/praloh/praloh.html)

 ๓๓๒ แขกเต้าเต้นเต้าแขก              ขอรัก
เรียกพระผู้จอมจักร                       ปิ่นเกล้า
สัตวาส่งเสียงชัก                          เชิญราช แลพ่อ
คล้าคู่คลึงคล้าเคล้า                       ค่อยเคล้าคลอสมร ฯ

 ๕๕๗ อ้าพระปิ่นเกล้าแผ่น               ธรณินทร์
แต่แรกเรียมฟังยิน                        ข่าวไท้
จักกินบ่เปนกิน                            ครวญใคร่ พระนา
นอนบ่เปนนอนไข้                         สวาทถ้าฟังสาร ฯ

 ๕๖๙ พระตนกลมปิ่นเกล้า               ช่วยว่าให้น้องเหน้า
ท่านท้าวเสด็จไป                          หนึ่งรา ฯ

๖๒๑ พระภูบาลปิ่นเกล้า                   ปิตุราชพระเสด็จเต้า
แขกท้าวฤๅแล                             พ่อเอย ฯ

คุ้นๆว่าเคยเห็นในยวนพ่ายด้วยนะครับ ขอไปเปิดดูหน่อยครับ ถ้ามี อันนี้กำหนดเวลาได้ถึงอยุธยาตอนต้นเลย


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 22:34
ยังไม่ทันไปเปิดยวนพ่าย เจออันนี้ก่อน

   อยุธยายศโยคฟ้า       ธรณี
เกษมบุรีภูธร               ปิ่นเกล้า
ทวาทศสิบสองมี           สังเวช
สังวาสเกษมสุขท้าว        ทั่วหล้าเสวยรมย์

จากทวาทศมาสครับ อยุธยาตอนต้นเหมือนกัน

เอ... ผมเคยทำอย่างนี้มาก่อนหรือเปล่านะ รู้สึกเหมือนเดจาวูยังไงชอบกล  :-\


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ต.ค. 07, 23:12
อ๋าย.......
นี่สุนทรภู่เล่นกลอนย้อยยุคอยุธยาต้นเชียวหรือ

ตกลง เป็นอันว่า ศัพท์"ปิ่นเกล้า" เป็นศัพท์ทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 ซะแล้ว
เรื่องนี้น่าสนใจ

ในฐานะที่คุณเครซี่คุ้นเคยกับวรรณคดีโบราณมามากกว่าผม
ไม่รู้สึกแปลกหรือครับ ที่กวีอย่างสุนทรภู่ ขุดเอาศัพท์โปรำโบราณมาใช้
แหกคอกอยู่คนเดียว

แต่ก้อขอบพระคุณที่ค้นมาได้เร็วทันใจ ดูเหมือนว่าหลังกรุงแตก
จะมีเพียงสุนทรภู่และพระจอมเกล้าเท่านั้น ที่ติดศัพท์นี้....ฮิฮิ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 23:50
อันนี้ก่อนครับ ยวนพ่าย พิมพ์มาเท่าที่เห็น ไม่รู้ตกหล่นไปบ้างหรือเปล่านะครับ

แถลงปาวชยงชื่นเศร้า      ใจพล พรั่นนา
เพราะเพื่อฤๅแรงขาม       ปิ่นเกล้า
แถลงปางล่อลวงดล        ไพริศ เนื่องนา
ถึงถ่งงเข้าตีเข้า             จึ่งเข้าเขาแพง ฯ

ยงงพระนคเรศเรื้อง         อโยทธยา
อรอาศนไอสวรรยเปน      ปิ่นเกล้า
จำนิรจำนยรมา              จอมราช
คิดใคร่เสวยศุขเท้า          เทศเหนือ ฯ

หมื่นลาวลเพื่อนเว้           วางไป
ทงงครอกครัวครยวดล      ปิ่นเกล้า
ถึงแกล่วคดีไตร             ตรยมอาทิ
ถวายแต่พระเจ้าเจ้า         แผ่นผจง ฯ

แต่วต้งงไว้แล้วจึ่ง           คืนไคล แลนา
จักอยู่นานแคลนเกรง       ปิ่นเกล้า
ครั้งคืนครรไลลุ             ชยงใหม่
ขุกข่าวพระเจ้าเร้ง           รยบพล ฯ

ร้อนท้าวรวมรีบเข้า          มาทูล ท่านนา
ถวายประทุมทองเปน       ปิ่นเกล้า
สมภารพ่อพยงสูริย         โสภิต
มอญแลยวนพ่ายเข้า        ข่ายบร ฯ

ทีนี้เรื่องศัพท์เก่าสมัยอยุธยาตอนต้นมาโผล่ในงานรัตนโกสินทร์ตอนต้น อันนี้ผมไม่แปลกใจเลยครับ เชื่อว่าอาจจะมีคำนี้ในเรื่องอื่นอีกด้วย เพราะกวีไทยถือกฎหมายลิขสิทธิ์คนละฉบับกับฝรั่ง กวีจะศึกษางานเก่าแล้วแต่งเลียน แต่งล้อ กันเป็นเรื่องปกติ(อย่างยิ่ง)ครับ ใช้ศัพท์ที่มีในงานเก่านี่เป็นเรื่องธรรมดามาก ใครมาแนวใหม่สิแปลก (อย่างนิราศสุพรรณนั่นปะไร)


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ต.ค. 07, 00:18
ได้มาแยะจนงง
หากว่าคำนี้ยอดนิยมในยุคหนึ่ง
แล้วก้อหายไป
(ผมไม่แน่ใจว่าพระลอจะเก่าขนาดใหน อาจจะแต่งแปลงสมัยหลัง จากเรื่องที่เก่าแก่ก็ได้)

แล้วมาโผล่ในงานของสุนทรภู่
มันชวนให้คิดหาเหตุผลอยู่นาท่าน......

คงต้องถามต่อละว่า ถ้าเช่นนั้น สุนทรภู่ งัดเอลละเม้นท์เก่าแก่มาใส่ในงานบ่อยหรือไม่บ่อย
วานตอบ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ต.ค. 07, 10:00
ถ้าจะงง ก็ต้องงงเท่าๆกับที่ว่าจู่ๆก็มาปรากฏเป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดินสิครับ  ;)

คำพวกนี้เป็นคำยอดนิยมหรือไม่นั้น ไม่อยากจะสรุปถึงขนาดนัน เอาแค่ว่าพบหลายครั้งในวรรณกรรมอยุธยาตอนต้นก็น่าจะพอครับ เพราะอย่างที่ว่า กวีไทยศึกษางานเก่ากันอย่างจริงจัง ที่เอามาผลิตซ้ำให้เห็นร่องรอยว่าได้ศึกษามาก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นคำที่ใช้ในบทกวีมันถึงรอดข้ามยุคสมัยมาได้จนเกิดคำศัพท์กลุ่มที่เรียกว่าเป็น "ภาษากวี" เผลอๆบางคำไม่มีใครใช้ในชีวิตประจำวันมาหลายร้อยปีแล้วครับ

แล้วสุนทรภู่งัดเอาชิ้นส่วนเก่ามาใช้บ่อยแค่ไหน? ผมว่าก็เกือบ 100% ที่เขียนออกมาก็ชิ้นส่วนเก่าทั้งนั้นแหละครับ ชิ้นส่วนใหม่ก็คือคำหรือวลีที่ผูกขึ้นใหม่เอง ซึ่งมันมีน้อยเป็นปกติ มิฉะนั้นต้องกลายเป็นกวีต่างดาวไป เพราะเขียนอะไรก็ไม่รู้อ่านไม่รู้เรื่อง  ;D

คิดดูแล้ว พวกชิ้นส่วนใหม่นี่ก็อย่าง ไภยันต์, อรัญวา นี่ไงครับที่ชัด เพราะใช้แบบผิดๆ สื่อความได้ แต่เป็นภาษาอะไรก็ไม่รู้

ความจริงแล้วคำว่า "ปิ่นเกล้า" ผมยังเชื่อว่าน่าจะปรากฏในงานอื่นๆอีก หรือถ้าไม่มีจริงๆก็ไม่แปลกอยู่ดี เพราะกวีเขียนงาน ไม่จำเป็นต้องเอาทุกคำที่มีในโลกมาใส่ เขาหยิบจับขึ้นมาตามสุนทรียะส่วนตัว กระนั้นแล้วอย่างน้อยก็น่าจะมีร่องรอยอื่นให้เห็นบ้าง เช่นคำตระกูลที่ลงด้วย"เกล้า" หรือขึ้นด้วย "ปิ่น" บางแห่งก็ต้องถือว่าเป็นคำกลุ่มเดียวกันครับ

แต่จะให้ไปค้นวรรณคดีเก่าทุกเรื่องก็ไม่กล้าครับ กลัวได้ปริญญาอีกใบ อิอิ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 07, 10:29
ฝ่ายปิ่นปักนคราการเวก                  อดิเรกเรืองเดชทุกเขตต์ขัณฑ์
สถิตแท่นแม้นมหาเวชายันต์             บนสวรรค์บัณฑุอาสน์อมรินทร์
สาวสุรางค์นางบำเรอเสนอบาท         บำรุงราชรู้เชิงบันเทิงถวิล
บ้างร้องรับขับเพลงบรรเลงพิณ         บำเรอปิ่นปฐพีให้ปรีดา
                                                         (พระอภัยมณี)

ในลักษณ์อักษรสารศรีสวัสดิ์             ปิ่นกษัตริย์ทรงเดชพระเชษฐา
เจริญราชไมตรีด้วยปรีดา                 มาถึงพระอนุชาให้ถาวร
เป็นปิ่นปักนคราการเวก                   อดิเรกเรืองฤทธิ์อดิศร
พระทรงธรรม์กรุณาสุดสาคร           เหมือนบิดรเลี้ยงดูให้อยู่เย็น


สุนทรภู่ใช้คำว่า ปิ่น ประกอบศัพท์อื่น รวมความแล้วหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน   อย่างในกลอนข้างบนนี้ เรียกเจ้านครการเวกว่า ปิ่นปักนัครา  ปิ่นปฐพี   ปิ่นกษัตริย์
ในนิราศ ถ้าใช้ ปิ่นเกล้า ก็ในความหมายเดียวกันกับคำในกลอนพวกนี้   คือหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน

ขอให้พิจารณากลอนนี้อีกที
"สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก           น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน"
จะหมายถึงสมเด็จพระปิ่นเกล้าไม่ได้หรอกค่ะ    ท่านไม่ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน  จะมี"แผ่นดินปิ่นเกล้า" ได้ยังไง


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ต.ค. 07, 12:01
ไม่เข้าใจว่าทั้งสองท่านจะกลบเกลื่อนความจำเพาะของคำว่า "ปิ่นเกล้า" ในกลอนสุนทรภู่ไปทำไม
"ปิ่นปักนคราการเวก  ปิ่นปฐพีให้ปรีดา  ปิ่นกษัตริย์ทรงเดชพระเชษฐา"
ล้วนเป็นคนละแนวกับ"ปิ่นเกล้า"ในกลอนโบราณที่คุณเครซี่ยกมา และในพระนามวังหน้าที่ร. 4 ทรงสถาปนาด้วย

การเลือกใช้คำจำเพาะที่ตรงกันของสองบุคคลที่อยู่ร่วมสมัยกัน เป็นเรื่องน่าสนใจ
และน่าคิดว่า ระหว่างสุนทรภู่ กับพระเจ้าอยู่หัว ใครใช้คำนี้ก่อนกัน

ส่วนที่อาจารย์ว่า พระปิ่นเกล้าไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินนี่ก็แปลกมาก เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงมีพระวินิจฉัยเรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกันสองพระองค์ไว้
เห็นจะไม่ทรงเข้าพระทัยอย่างอาจารย์เทาของกระผมเป็นแน่
แต่ที่ขำมากคือคำตอบของคุณเครซี่ บอกว่าสุนทรภุ๋ ใช้เอลละเม้นท์โบราณตั้งแต่อักขระ ก ข้อ ก กา เลย

ตอบได้คมสุดใจขาดดิ้นเลยครับ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ต.ค. 07, 12:26
ไม่ได้กลบเกลื่อนครับ แต่ขืนใช้เกณฑ์นี้อ่านวรรณคดีเก่ามีหวังต้องจบแบบท่านเปรี๊ยะแหละครับ คือทุกอย่างใหม่หมด ไม่มีของเก่าเลย เพราะดันใช้คำพ้องกับชื่อเฉพาะรุ่นหลัง  ;D

ผมได้ตัวอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานของสุนทรภู่แน่ๆมาให้ดูตัวอย่างนึงครับ

ไช   ยานุภาพล้ำ      ฦๅไชย
ไชย ลาภลุหฤทัย      ปิ่นเกล้า
ไชย ไชยเศิกกษัย     เกษมราษ ฎรนา
ไชย ชำนะผ่านเผ้า     ทั่วเที้ยรถวายไชย ฯ

โคลงบทนี้มาจากโคลงสรรเสริญพระเกียรติรัชกาลที่ ๑ ทราบแต่ว่าผู้แต่งคือพระชำนิโวหาร(ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร) และแต่งเมื่อไหร่ก็ยังระบุไม่ได้
น.ม.ส.ทรงวินิจฉัยว่าโคลงเรื่องนี้เล่าเหตุการณ์เหมือนกวีผู้แต่งอยู่ในเหตุการณ์(เป็นคนในยุค ร.๑) ในขณะที่ภาษาที่ใช้บางตอนกลับทรงรู้สึกว่าน่าจะใหม่กว่าสมัย ร.๑ แต่อธิบายไม่ถูก เจาะจงไม่ได้ว่าตรงไหน ยิ่งไปเทียบกับฉบับตัวเขียนแต่ละฉบับก็ความต่างกันมากจนจับได้เพียงเค้าเท่านั้น

ฉบับที่ผมมีอยู่พิมพ์โดยกรมศิลปากร ๒๕๔๖ นี้เอง ผมลองเทียบฉบับตัวเขียนสองฉบับที่ตีพิมพ์ไว้ท้ายเล่ม ปรากฏว่าความตรง "ปิ่นเกล้า" นี้ไม่มีในฉบับตัวเขียนทั้งสองฉบับ ในขณะที่ฉบับตัวพิมพ์นั้น ต้นฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ (แต่ก็อาจจะหยิบมาจากฉบับตัวเขียนอื่นที่มีความต่างไปก็ได้)

แต่ถ้าตีความตัวอย่างนี้ว่า ปิ่นเกล้าในที่นี้คือสมเด็จพระปิ่นเกล้า เย็นนี้ก็กลับบ้านไม่ถูกล่ะครับ มึนนนนนนนนน

หรือลองดูอันนี้อีกอัน จากนิราศพระปฐมของหลวงจักรปาณี(มหาฤกษ์) แต่งในรัชกาลที่ ๔
จึงเป็นไปในแผ่นดินปิ่นสยาม      ทรงพระนามพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
จนสมบทบวชสนองไม่หมองมัว    พอครองตัวตามประสาวิชาคุณ
มีใช้คำว่าปิ่นสยามในลักษณะเดียวกับที่สุนทรภู่ใช้ปิ่นเกล้า และส่วนที่ระบุพระนามพระมหากษัตริย์ก็ว่ากันเต็มๆครับ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 07, 12:58
จนปัญญาค่ะคุณพิพัฒน์     คงต้องพูดเหมือนเวตาล ว่า "แม้แต่เทวดาก็ขืนใจคนหัวดื้อไม่ได้"

เฮ้อ   ดิฉันจะไปกลบเกลื่อนทำไมล่ะคะ    ถ้าหากว่าสามารถคล้อยตามคุณได้   คงจะได้การตีความใหม่มาให้ดังระเบิดเถิดเทิง สนุกสนานกันอีกหลายกระทู้
แต่มันคล้อยตามไม่ได้จริงๆ   เพราะยังไงก็ยังเห็นคำว่า ปิ่นเกล้า  เป็นคนละคำกับสมเด็จพระปิ่นเกล้า อยู่ดี

แม้ว่าสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้รับการยกย่องสูงกว่าวังหน้าใน ๓ รัชกาลก่อนหน้านี้    เทียบเท่าพระมหากษัตริยพระองค์ที่ ๒   แต่ยังไงก็ตาม แผ่นดินสยามนั้นไม่ใช่แผ่นดินของสมเด็จพระปิ่นเกล้า  เป็นของสมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่ ๔ อยู่ดีละค่ะ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ต.ค. 07, 13:26
เฮ้อ....ไกล้เปรี๊ยะเข้าไปทุกทีแล้วครับ

คำว่า "ปิ่นเกล้า" เป็นศัพท์ที่สุนทรภู่ใช้บ่อย หากจะขีดวงแค่ในรัตนโกสินทร์ ก็ใช้บ่อยกว่าคนอื่น
พบในพระอภัยมณี นิราศภูเขาทอง นิราศพระประธม (จะมีอีกหรือไม่ ค้นไม่ทั่วถึงครับ)
ท่านใช้คำนี้ ในความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน "ของฉัน" พระองค์ที่ฉันรัก ฉันรับใช้ ผูกพันธ์ยิ่งชีวิต
คนทั่วไปเชื่อว่าหมายถึงรัชกาลที่ 2

แต่ผมไม่เชื่อว่าสุนทรภู่ได้ไกล้ชิดรัชกาลที่ 2 ผมจึงต้องปรับปิ่นเกล้า ไปเป็นเจ้าฟ้าน้อย ที่เรารู้แน่ว่าท่านเป็นข้ารับใช้
และท่านยกเป็นเจ้าแผ่นดินด้วยคำว่า "สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล" แปลว่านายของท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินแน่ๆ

คำว่า "อาลักษณ์" นี้ ท่านใช้อีกที่หนึ่งหมายเอาเหตุการณ์ครั้งรัชกาลที่ 2 แต่ไม่องอาจผึ่งผายเสมอกัน
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน
สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม

ผมเห็นว่าอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว ไม่ใช่อาลักษณ์เจ้าจักรวาล แน่ๆ
ตรงนี้ จึงทำให้ผมไม่เชื่อว่าสุนทรภู่ ผูกพันกับรัชกาลที่ 2

แต่ท่านค้นคำว่าปิ่นเกล้า และปิ่น มาได้อย่างน่ายกย่อง เป็นพระคุณยิ่งที่ทำให้ผมเปิดหูเปิดตา ว่าเป็นคำเก่าแก่
ทำให้ผมต้องถามต่อว่า สุนทรภู่ชอบของเก่ามากขนาดใหน ใช้คำที่ผิดยุคมากมายเพียงใหน
ท่านตอบว่า"เกือบ 100% ที่เขียนออกมาก็ชิ้นส่วนเก่าทั้งนั้นแหละครับ ชิ้นส่วนใหม่ก็คือคำหรือวลีที่ผูกขึ้นใหม่เอง"
โธ่ถัง ตอบไม่สมกะเป็นคุณเครซี่ม้าเอาเสียเลย ก็นักวรรณคดีศึกษา เขาต้องใส่ใจคำ หรือความที่บ่งบอกอายุกันมิใช่หรือ
อย่างคำว่าปิ่น"สยาม" นั่น แปะยี่ห้อไว้ชัดๆ ว่าสมัยใหน หรือท่านจะบอกว่า เอามาแต่ "เนะ สยมกก" ไปนู่น...55555

ในคำที่สุนทรภู่เทียบชื่อท่านกับเมืองสามโคกนั้น ต้องถามย้อนละครับ ว่า นาม"สุนทรโวหาร" นี่
มีหลักฐานใหมว่ารัชกาลที่ 2 พระราชทานให้


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ต.ค. 07, 14:33
แฮ่ๆ การพิจารณาอายุคำนั้นมีสิครับ แต่ "ปิ่นเกล้า" นี่ผมไม่เห็นว่าเป็นคำใหม่ตรงไหน หรือจะให้เป็นคำเก่าที่สูญไปแล้วมีคนรีอินเวนท์ขึ้นใหม่ก็ยังไม่เข้าเค้าอยู่ดี

ก็ใช้กันมาตั้งกะห้าร้อยปีก่อน รีไซเคิลขยับนิดขยับหน่อยให้เห็นตลอด

ถ้าท่านภู่ชักเอาคำอย่าง "สายา" มาใช้ อันนี้ผมยอมครับ

แต่ก็ไม่ยักกะเคยเห็นสักทีครับ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 07, 15:20
อ้างถึง
ในคำที่สุนทรภู่เทียบชื่อท่านกับเมืองสามโคกนั้น ต้องถามย้อนละครับ ว่า นาม"สุนทรโวหาร" นี่
มีหลักฐานใหมว่ารัชกาลที่ 2 พระราชทาน

จะพิสูจน์กันถึงหลักฐานขั้นปฐมภูมิ เช่นประกาศพระบรมราชโองการ ก็ไม่มีละค่ะ  มีแต่ประวัติที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงรวบรวมไว้  คุณพพ.ก็ไม่เชื่อเสียแล้ว

มีนิราศหนองคาย เอ่ยถึง หลวงสุนทรโวหาร  ค่ะ ทำให้เชื่อกันว่าสุนทรภู่ได้เป็นหลวงสุนทรโวหารตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ 
ก่อนจะมาเป็นพระศรีสุนทรโวหาร จางวางในราชสำนักสมเด็จพระปิ่นเกล้า

อ่านเรื่องหลวงสุนทรโวหารได้ที่นี่
http://www.rayongzone.com/soontornpoo/klang10.php3


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ต.ค. 07, 18:11
ลิ้งค์ที่ให้มา เล่าเรื่องงานค้นคว้าของคุณเทพนี่ครับ ขนาดสมเด็จผมยังไม่เชื่อ จะให้ผมไปเชื่อคุณเทพก็จะใจร้ายกันเกินไป
อยากเห็นที่ตาทิมบอกชื่อหลวงสุนทรโวหารน่ะครับ

อาจารย์คัดมาให้อ่านกชหน่อยได้ใหม จะได้จบปัญหา


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 07, 18:14
ไม่มีนิราศหนองคายในตู้หนังสือที่บ้านค่ะ  เขียนจากความทรงจำ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: ธิดา ที่ 17 พ.ย. 07, 16:53
ถ้าจะยก  "สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล" น่าจะยกมาเต็มประโยค

สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล     พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร

ถ้าเข้าใจไม่ผิด พระราชาที่ได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้าช้างเผือก (หรืออะไรคะ เรียกไม่ถูก คือมีช้างเผือกในรัชกาลมากที่สุด)
ก็คือ รัชกาลที่ ๒ ไม่ใช่หรือคะ หรือว่าจำผิด

ประโยคข้างต้นนี้จึงน่าจะเป็นการที่สุนทรภู่ภูมิใจมากว่าเป็นอาลักษณ์ในพระองค์ของรัชกาลที่ ๒ นะคะ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ย. 07, 12:40
ในรัชกาลที่ ๒ มีช้างเผือก ๓ ช้าง    ดิฉันเห็นด้วยว่า พระทรงสารฯ ที่ว่านี้น่าจะเป็นรัชกาลที่ ๒  แต่คุณพิพัฒน์ไม่เห็นด้วย
เพราะคุณพิพัฒน์เห็นว่าหลักฐานอื่นๆหลายอย่าง ยังไม่ลงตัวกัน
เราไม่น่าจะให้กระทู้จบแค่นี้ ยังมีเรื่องต่อได้อีกมาก


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 02 ธ.ค. 07, 01:18
แล้วลาออกนอกโบสถ์ขึ้นโขดหิน            ตรวจวารินรดทำคำอักษร
ส่งส่วนบุญสุนทราสถาพร                     ถึงบิดรมารดาคุณอาจารย์
ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ                       ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร
เสด็จถึงซึ่งบุรีนีรพาน                           เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน

อิอิ  ท่านพิพัฒน์อีกแย้ว  ตอนนี้คงหมายเอาตอนออกมาตรวจน้ำนอกอุโบสถ  อุทิศส่วนกุศลถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์  แต่ตอนสำคัญนี่สิ  "ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ  ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร"  พ่อเจ้าอยู่หัวที่ทรงช้างเผือกสามช้างคงเห็นจะมีแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ล่ะครับ  และพระมหากษัตริย์พระองค์ด้วยสิ  ที่ "เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน"  เรียกว่าเคยผูกพันมีพระมหากรุณาธิคุณต่อท่านมหากวีอ่ะครับ........ ;)


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ธ.ค. 07, 12:38
"ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร"
จะแปลว่าช้างเผือกสามเชือก็ได้ครับ ไม่ผิด
แต่....แปลเป็นอย่างอื่นก็ได้

ในกลอน กล่าวถึง
เศวตคชงาม
ทั้ง
สามสาร

ภาษารุ่นนั้น คำว่าทั้ง แปลว่า "and"
มิใช่แปลว่า "was"

ผมจึงอ่านว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงมีช้างเผือก "และ" ช้างทั้งสาม
สามสาร หมายถึงครบถ้วนสามจำพวกตามตำรา
ตำราช้างกำหนดไว้อย่างนั้นครับ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 07, 13:02
คำว่า"ทั้ง" ในต้นรัตนโกสินทร์  แปลได้มากกว่า ๑ อย่าง ค่ะ
แปลว่า and อย่างคุณพิพัฒน์พูดก็ได้
ถ้าบอกว่า กรุงกุเรปัน ทั้งกรุงดาหา  แปลว่า กรุงกุเรปัน and กรุงดาหา

แต่ ในที่อื่น เขาก็ใช้กันแบบอื่น

โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น          ถึงแปดหมื่นสี่แสน ทั้ง แดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้       ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกาฯ
(นิราศภูเขาทอง)

"ทั้ง" ในที่นี้แปลว่า "รวมหมด" หรือ totally

"ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร" ดิฉันจึงแปลตรงๆว่า ทรงมีช้างเผือกงาม รวมแล้ว ๓ ช้าง   ซึ่งหมายถึงรัชกาลที่ ๓
สุนทรภู่ดูจะภูมิใจในพระมหากษัตริย์ที่ทรงบุญญาบารมี  ในเรื่องมีช้างเผือกถึง ๓    ถือว่าจำนวนมาก  ในรำพันพิลาปก็พูดย้ำความหมายนี้ว่า
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ         พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ธ.ค. 07, 19:05
"ถึงแปดหมื่นสี่แสน ทั้ง แดนไตร"
แปดหมื่นสี่แสนนั้น คือโลกๆ หนึ่ง แดนไตร ก็เป็นอีกโลกหนึ่งครับ

จึงต้องอ่านว่า
ฉันนั้นไม่มีที่อาศัยเลย ไม่ว่าจะเป็นโลกนี้ หรือโลกทั้งสาม

เย้.....ๆๆๆๆๆๆ ได้เถียงคุณครูอีกเลี้ยว


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 07, 19:30
แดนไตร  = สามโลก   คือสวรรค์ มนุษย์ และบาดาล   
ถ้าแปลแบบคุณพิพัฒน์ จะกลายเป็น ๔ โลก คือ โลก + สามโลก

สวรรค์ตามแบบคนไทย ที่อิงความเชื่อในไตรภูมิพระร่วง ไม่ได้ลอยอยู่เหนือก้อนเมฆ  แต่เป็นส่วนบนของโลกมนุษย์นี้เอง   นับแต่จตุมหาราชิกาขึ้นไปถึงนิมมานนรดี 
จตุมหาราชิกาสูงครึ่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุที่เป็นหลักของโลก  ดาวดึงส์ชั้นที่สอง สูงเท่ายอดเขาพอดี   ชั้นสามคือยามา ก็สูงขึ้นไปอีกเป็นเท่าครึ่งของเขาพระสุเมรุ ไล่กันขึ้นไปตามนี้เป็นลำดับ
ส่วนบาดาล เป็นอีกส่วนของโลกเหมือนกัน   อยู่ลึกลงไปใต้ดิน
รวมเนื้อที่ทั้งหมดสามชั้น    ได้สี่แสนแปดหมื่น   ไม่ทราบว่านับหน่วยว่าอะไร  แต่ตัวเลขนี้หมายถึงว่าเป็นเนื้อที่กว้างมหาศาล   
กว้างขนาดนี้แล้ว กวียัง "ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย"  ท่านไม่ได้หมายถึงโลกนี้บวกโลกอื่น แต่บอกว่าบนโลกที่มีตั้งสามแดนนี่แหละ หาที่อยู่ไม่ได้เลย  แสดงว่าไร้ที่อยู่จริงๆละค่ะ


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 02 ธ.ค. 07, 23:27
คงเป็นเพียงโวหารล่ะครับ  บรรยายเปรียบเทียบแสดงให้เห็นถึงความคับแค้นใจยามไร้วาสนา  ส่วนในคัมภีร์ที่กล่าวถึงจักรวาลว่า ชมภูทวีปหนา 240000 โยชน์  มนุษย์โลกเราปัจจุบันคงไม่ยอมรับกันล่ะครับ  เพราะมันหนากว่าเส้นผ่าศูนย์กลางโลกซะอีก  แต่คนโบราณเค้าเชื่ออย่างนั้น

แต่ท่อนนี้สิครับ  ช่วยวิเคราะห์หน่อยท่านพิพัฒน์

ถ้าขัดเคืองเบื้องหน้าขออานิสงส์        สิ่งนี้จงจานเจือช่วยเกื้อหนุน
ทั้งแก้วเนตรเชษฐาให้การุญ              อย่าเคืองขุ่นข้องขัดถึงตัดรอนฯ

ทั้งแก้วเนตรเชษฐาให้การุญ  ทั้งแก้วเนตร หมายถึง  แก้วตา หรือเปล่าครับ  ผมแปลว่า แก้วตาของพี่   แก้วเนตรเชษฐา  แก้วตาของพี่ภู่  อิอิ.........ใช่ได้ไหมท่าน ;)


กระทู้: พิเคราะห์นิราศพระประธม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 03 ธ.ค. 07, 01:37
นิราศบทนี้ มีสาวในใจอยู่นางหนึ่ง
คือแม่ศรีสาครฉอ้อนเอว

ผมอ่านแล้วจับใจความได้ว่า สาวเจ้าเพิ่งจะผละจากไปอยู่กับแมสาหงส์
ท่านสุนทรอาจจะยังหวังอยู่เต็มเปี่ยม ว่าจะชิงคืนมาได้
การที่ท่านสำคัญตนถึงปานนั้น บ่งบอกว่าท่านก็สำคัญอยู่
เห็นจะมิใช่กวีเรือเร่ และในเมื่อท่านอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นอาลักษณ์
ก็แปลว่า "น่าจะ" แต่งหลังรัชกาลที่ 2 ลงมา
ถ้าแต่งในรัชกาลที่สาม ท่านก็เป็นภิกษุอยู่ตั้ง 18 ปี ดังนั้น จึงต้องแต่งในปีที่ 19 ลงไป
คือนอกผ้าเหลือง

ก็ถ้าแต่งในปีที่ 19 ลงไป จะเลยไปอีกหน่อย เป็นปีที่ 25 อะไรอย่างนั้น
จะมิได้เชียวหรือ
และเมื่อร่นมาปลายรัชกาลที่ 3 ได้ ทำไมจะร่นมาปลายรัชกาลที่ 4 ไม่ได้เล่า

เนื้อหาที่ท่านพรรณาถึงพระประโธนนั้น
ผมกำลังทำการบ้านจากรายงานการบูรณะของท่านขำ และเสียดายที่ไม่มีนิราศของกรมหมื่นวงษาธิราช
ต้องขอไปเสาะหาก่อน จึงจะมาจบกระทู้นี้ได้....บ๋ายบายครับ