เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 14:30



กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 14:30
คุณนรีนันท์เป็นผู้เปิดกระทู้เกี่ยวกับกรมหลวงวงษาธิราชสนิทไว้
แต่หัวข้ออาจจะไม่ชวนศึกษาเพราะเป็นการขอพระรูป ผมได้ทำการบ้านให้ไปแล้ว
บัดนี้ คุณ opel1969 ยังมาย้ำอีกครั้ง
ทำให้ทราบว่า ตัวเองออกจะเหลวไหลในการชวนสนทนาเรื่องบางเรื่องมากเกินไป

ขอเชิญชวนศึกษาถึงพระประวัติเพื่อจะได้ทราบชัดว่า เหตุใด เราจึงควรยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก
การยกย่องนี้ สมเหตุผลหรือไม่ และเหตุใดจึงมีแต่พระองค์ที่ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งๆ ที่พวกเราผู้สนประวัติศาสตร์ต่างทราบดีว่า
ทรงเป็นสหชาติกับอัจฉริยบุคคลอีก 3 ท่าน คือเกิดปีเดียวกัน แต่ทำไมท่านทั้ง 3 จึงไม่ได้รับยกย่อง

ผู้รู้เชิญร่วมให้ความรู้ครับ


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 14:32
วันหนึ่งเมื่อกว่าสองปีมาแล้ว สุภาพสตรีเสียงใสท่านหนึ่งโทรศัพท์ถึงผม เธอคืออาจารย์สุโรจนา เศรษฐบุตร
ศิลปินเครื่องเคลือบในระดับวิจิตรศิลป์คนสำคัญ เราเป็นเพื่อนเก่าแม้ว่าไม่ถึงกับสนิทชิดเชื้อ
แต่ผมสนใจงานของเธอ จนเลือกให้เป็นหนึ่งในศิลปินผู้น่าจับตามองในนิทรรศการ the new path  เมื่อนานมาแล้ว
ขณะนั้น เธอยังเป็นทั้งอาจารย์และศิลปินควบคู่กัน
ท่านที่สนใจ อาจจะติดตามงานของเธฮได้จากลิงค์นี้

http://www.combangweb.com/scoop4.php
http://clayalchemy.srivilasa.com/artists.php?artistcode=Tha_Surojana

จนเมื่อสนทนากันครั้งนี้ จึงทราบว่าสกุลเดิมของเธอคือ "สนิทวงศ์" และการสนทนาครั้งนี้ ก็เกี่ยวข้องกับราชสกุลโดยเฉพาะ
อาจารย์สุโรจนา โทรฯ มาเพื่อขอความช่วยเหลือเล็กน้อย(สำหรับผม) แต่เป็นอุปสรรคสำหรับเธอ
เพราะกำลังรวบรวมพระประวัติของต้นราชสกุลสนิทวงศ์ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
อาจารย์แวะมาหาผมที่ห้องแสดงภาพถ่ายโบราณ(สมัยที่ยังเปิดทำการอยู่) ได้สนทนากันอย่างสนุก
สำหรับคนที่หลงอดีต จะมีเรื่องอะไรที่บันเทิงใจยิ่งกว่าเรื่องก่อนเกิด
ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นเรื่องของบุคคลที่มีเกียรติประวัติ
มีผลงาน และมีผู้สืบเชื้อสายต่อลงมา
ในระยะเวลาที่ไม่ห่างจากเรามากจนเกินไป

อาจารย์นำเอกสารมาด้วยปึกใหญ่ เป็นงานค้นคว้าระดับถักทออดีต ที่ไกล้จะสำเร็จ

เธอแบ่งพระราชประวัติเป็น 3 ภาค คือ เมื่อเป็นพระองค์เจ้า เมื่อเป็นกรมหมื่น และเมื่อเป็นกรมหลวง
ทั้งหมด เพื่อใช้เผยแพร่ในวาระสองศตวรรษแห่งพระประสูติกาลของพระองค์ ซึ่งจะมาถึงในปี 2551
ที่ผมช่วยได้ในทันที ก็คือพระรูปที่มีอยู่ในคลังรูป
เป็นงานง่ายดายสำหรับผมเพราะได้รวบรวมไว้แล้วสมัยที่ทำ "สมุดภาพรัชกาลที่ 4"
ตั้งแต่ปีฉลอง 200 ปีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันแสนหงอยเหงาคราวนั้น
แต่กลับกลายเป็นยุ่งยากสำหรับคนอื่นๆ หากจะต้องมาเริ่มศึกษารูปถ่ายโบราณ เพราะหน่วยราชการที่เก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้
เปลี่ยนระเบียบการให้บริการจนแทบจะปิดการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเหล่านี้อีกต่อไป....อนิจจา

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับเจ้านายพระองค์นี้ ดีพอที่จะช่วยเธอมากไปกว่าข้อคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ
จะขอเล่าให้ฟังเป็นเครื่องเพลิดเพลินปัญญาแก่ชาวเรือนไทย
แต่โปรดเข้าใจด้วยว่าไม่เกี่ยวกับการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ยูเนสโก ยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกแม้แต่น้อย
แม้ว่าอาจจะมาจากสาเหตุดั้งเดิม ที่เหลื่อมกันอย่างน่าประหลาดใจ


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 14:36
สองร้อยปีแห่งสหชาติบุคคลทั้ง 4

รูปที่อาจารย์สุโรจนาต้องการชุดหนึ่ง เป็นของบุคคล 4 ท่าน เธอต้องการวางไว้เคียงกันในหน้าเดียว
เพื่อแสดงว่า ในปี 2351 นั้น
มีอัจริยบุคคลถือกำเนิดมาพร้อมกัน ได้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างเต็มกำลังเหมือนกัน
เป็นเจ้านายสองพระองค์ ขุนนางสองคน นับว่าน่าอัศจรรย์ใจ
ผมช่วยเธอได้เพียง 3 รูป เพราะท่านสุดท้ายนั้น ไม่มีรูปถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ตกทอดมา
และผมเองไม่สนใจเก็บข้อมูลหลังรัชกาลที่ 4

1 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระนามเดิม เจ้าฟ้าจุฑามณี (2351-2409) หรือเรียกขานพระนามกันในรัชกาลที่ 3 ว่าเจ้าฟ้าน้อยคู่กันกับเจ้าฟ้าใหญ่
เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 50 ที่ 3 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์
เมื่อพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรในรัชกาลท่ 1
สถาปนาเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ 2375 และพระบาทสมเด็จพระบวรราชเจ้า พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 4 2394
มีพระราชประวัติอันพิศดารน่าศึกษายิ่งนัก แต่ไม่มีผู้ศึกษา ทอดทิ้งให้ลี้ลับอยู่
คิดดูว่า หลังจากอาจารย์สมบัติ พลายน้อยเขียนหนังสือที่เป็นเอกสารการศึกษาอย่างเป็นหลักเป็นฐานไว้เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน
ก็ยังไม่มีอะไรงอกเงยออกมา แม้ในวาระอันสำคัญเช่น สองร้อยปีแห่งกาลพระราชสมภพ....เฮ้อ

2 กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
พระนามเดิมพระองค์เจ้านวม ที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 49 ในพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สถาปนาเป็นกรมหมื่นวงษาธิราชในรัชกาลที่ 3  เป็นกรมหลวงวงษาธิราชสนิทในรัชกาลที่ 4

3 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)
ดูประวัติได้ในเรือนไทยนี้เอง

4 เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช)


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 13 พ.ค. 08, 06:59
ผู้ไม่รู้รออ่านครับ


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 08, 13:27
ลองเขียนในรูปนิยายดูค่ะ
*******************
พระจันทร์คล้อยต่ำลงหลังพระปรางค์วัดแจ้ง  แสงเหลืองจัดสาดแตะแต้มคลื่นในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเงาแวบวับ  เมื่อเรือลำหนึ่งแหวกน้ำจากฝั่งตะวันออกมาสู่ฝั่งตะวันตก  ท่ามกลางความมืด   
เรือนแพสองฟากฝั่งเจ้าพระยาที่สว่างด้วยตะเกียงน้ำมันมะพร้าวบ้าง ไต้บ้าง เมื่อตอนหัวค่ำไปจนดึก  บัดนี้มืดสนิท  ชาวบ้านหลับไหลอยู่ในเวลาใกล้ล่วงเข้ายามสี่ 
มีแต่เรือลำนี้ ซึ่งเดินเครื่องด้วยกลไกฝรั่ง ประหลาดตา หาต้องใช้แรงคนแจวอย่างเรือขุนน้ำขุนนางหรือคหบดีทั่วไปไม่   แต่แล่นไปได้เองราวกับสำเภายนต์
เรือฝ่าคลื่นจากท่าราชวรดิฐตัดคลื่นไปอย่างคล่องแคล่วปราดเปรียว   มิใส่ใจกับกระแสน้ำเชี่ยวกรากในหน้าน้ำ

เมื่อจอดเทียบท่าหน้าหมู่อาคารโอ่อ่าใกล้วัดแจ้ง    บุรุษร่างพ่วงพีผู้นั่งขัดสมาธิอยู่กลางลำเรือ  ก็ขยับตัวลุก  ก้าวขึ้นท่าน้ำก่อนผู้อื่น  ผู้ติดตามเชิญเครื่องยศ ก้าวตามไปติดๆ
บุรุษผู้นั้นก้าวเดินไปตามฉนวนจากท่าน้ำสู่ตัวอาคาร อันเคยเป็นที่ประทับของหัวใจแผ่นดินเมื่อครั้งกรุงธนบุรี นมนานเกือบจะหนึ่งร้อยปีมาแล้ว    แต่แล้วก็หยุดคล้ายนึกสิ่งใดขึ้นมาได้
เหลียวกลับมาสั่งมหาดเล็กหนุ่มผู้เชิญเครื่องยศ    เสียงห้าวผ่านลำคออวบใหญ่ออกมา

" พรุ่งนี้ เพลาบ่าย   เอ็งให้คนไปบ้านหมอปลัดเล   บอกให้มารอข้าสักยามสอง   ข้าจะกลับจากเข้าเฝ้าเร็วหน่อย จะได้พูดจากัน"


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 13 พ.ค. 08, 14:01
อาจารย์เทาชมพูมาพร้อม muse ตัวที่ ๑๐
.....................................................;D


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 08, 14:18
เอารูปมิวส์กับอพอลโล มาคั่นรายการไปก่อน
มิวส์ตัวที่ 10 เข้ามาบินว่อนอยู่ครู่เดียว  แล้วก็หายวับไป  ไม่มีร่องรอยของบทที่  2 แล้วละค่ะ


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 พ.ค. 08, 14:39
อ้าว.....ท่านอาจารย์
ไฉนทิ้งเรื่องไว้กลางคันอย่างนี่เล่า ขอรับ
แล้วปลัดกรมจะทำฉันใด เกิดปลัดเลติดภาระมามิได้

รวมทั้งพวกเรา ที่คอยอ่านอยู่อีกร้อยห้าสิบกว่าปีให้หลัง
 ;D


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 พ.ค. 08, 21:52
ขอกลับเข้าเรื่อง
------------
เริ่มต้น
ในฐานะทายาท อาจารย์สุโรจนาค้นคว้ามาได้อย่างน่ายกย่อง แต่ในฐานะศิลปิน ข้อมูลที่ได้มาทำให้แม้แต่ศาสตราจารย์ก็คงตาเหลือก
ไม่เพียงรวบรวมเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้จนครบถ้วน
เธฮยังตามรอยข้อมูลไปยังแหล่งต่างๆ เป็นต้นว่าคลังข้อมูลของวิทยาลัยคริสเตียนที่เชียงใหม่ หรือห้องสมุดเก่าแก่ในกรุงเทพ
อาจจะบอกได้ว่า ในวันนั้น เธอคือสารานุกรมกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่มีลมหายใจอันดับหนึ่ง
เธอพบจดหมายเหตุสงครามเชียงตุงอย่างสมบูรณ์
พบตำรายากรมหลวงละเอียดไปถึงฉบับที่ยังลี้ลับอยู่
ตามรอยตำรายาไปถึงวัดพระเชตุพน

ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยพลังงานเพียงใหน....น่าทึ่งจริงๆ

เธอเล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในราชสกุล เห็นว่าอีกไม่นานจะถึงวาระ 200 ปีแห่งพระประสูติการ
ควรจะทำสิ่งอนุสรณ์ที่ทรงคุณค่าเป็นการเทอดพระเกียรติ นั่นก็คือหนังสือพระราชประวัติที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด
อาจารย์สุโรจนาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ค้นคว้า ใช้งบประมาณจากกองทุนของราชสกุล
งานมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ เพราะเธอขอให้มีผู้ช่วยวิจัยที่ทำงานเต็มเวลา
และตัวเธอเองก็ยินดีจ่ายเงินจำนวนไม่น้อย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด ไม่นับเวลาที่แสนจะมีค่าของศิลปินมือทอง
ท่านที่ไม่เคยทำวิจัย อาจจะนึกไม่ออกว่างานพวกนี้ ต้องใช้เงินด้วยหรือ
ขอถือโอกาสบอกว่า ใช้ครับ มากด้วย นอกเหนือจากเวลาและพลังสมองที่มีค่ามากกว่าเงินเสียอีก

ถ้าท่านมองดูที่สถิติท้ายชื่ออาจารย์เทาชมพู จะเห็นตัวเลขว่า 8941 คือจำนวนความเห็นที่แสดงไว้
คงไม่มีใครค้าน ว่าความเห็นของท่านล้วนมีคุณค่า เรามาลองเติมตัวเลขกันหน่อย
ถ้าแต่ละความเห็นต้องใช้เงิน 100 บาทเพื่อให้ได้มา ก็แปลว่าวงเงินที่เกิดขึ้นในความเห็นของท่าน
เท่ากับ แปดแสนกว่าเกือบเก้าแสนบาท
ถ้าไปรวมกับจำนวนบทความที่ท่านเขียนไว้อีก 67 เรื่อง สมมติใช้เงินเรื่องละ 5000 บาท
รวมกันแล้วก็กว่าล้านบาท นี่คือมูลค่าหยาบๆ ของวิชาความรู้ที่อยากให้ได้ตระหนักกันครับ
(อันที่จริง นับละเอียด จะมากกว่า้มากมายหลายเท่าทีเดียว)

อาจารย์สุโรจนาก็ใช้เงินส่วนตัวไปมิใช่น้อย เพื่อสะสมความรู้อันมีคนไม่มากสนใจไขว่คว้า
จนถึงวันที่มาสนทนากัน จากศิลปินคนหนึ่งกลับกลายเป็นเจ้าของคลังความรู้เฉพาะเรื่อง
ที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่าใครๆ ในขณะนั้น
ข้อมูลของเธอ ยิ่งทำให้ผมมั่นใจ จนกล้าแนะนำว่า

ทำไมไม่เสนอพระนาม กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เป็นบุคคลสำคัญของโลกเล่า



กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 08, 23:03
เธอตื่นเต้นกับข้อเสนอแนะนี้มาก จนนำกลับไปปรึกษาผู้ใหญ่ในราชสกุล
นั่นทำให้ผมมีโอกาสไปรับประทานก๋วยเตี๋ยวราดหน้า(ที่ไม่ค่อยอร่อยนัก) ในโรงอาหารของสปอร์ตคลับ
ผมแนะนำท่านผู้ใหญ่นั้นว่า การเสนอชื่อบุคคลสำคัญของโลก มีช่องทางโดยคร่าวๆ อย่างไร
และเสนอด้วยว่า พระกรณียกิจด้านการแพทย์นั้น มีคุณค่ามหาศาล สมควรนำมาทำประโยชน์
และหากจะมีประโยชน์ทางธุรกิจอันใดงอกเงยออกมา ทายาทก็สมควรจะดำเนินการให้สิทธิ์อันพึงมีพึงได้
ตกเป็นของราชสกุลโดยถูกต้องด้วย

ที่เตือนไว้เช่นนั้ เพราะผมนึกถึงตำรายาที่วัดโพธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า พระราชทานให้แผ่นดิน
เป็นกุศลทานแก่ชาวประชาที่ยากไร้ ให้สามารถเข้าถึงการรักษาโดยทัดเทียมกัน
แต่มาถึงปัจจุบัน พระราชปณิธานนี้ ถูกบิดผันไปอย่างน่าละอาย
ข้าราชการบำนาญจากหอสมุดแห่งชาติท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าตำรายาวัดโพธิ์นั้น มีคนเลวมาคัดลอกไป
ปรุงเป็นยาสำเร็จรูปวางขายเป็นการค้า จนร่ำรวย เพราะเป็นยาที่ดีจริง
พ่อค้ายาคนนี้เห็นค่าของตำรับจนทนให้เผยแพร่ต่อมิได้ จัดการจ้างคนไปขูดทำลายจารึกแผ่นหินอ่อนเสียหายชนิดอ่านไม่ออก
ทำให้ตัวเอง เป็นเจ้าของตำรับยาแต่ผู้เดียว
ท่านผู้เล่าบวชเรียนมาแต่เด็ก เป็นพระมากกว่าเป็นฆราวาส ผมไม่เห็นเหตุที่ท่านจะโกหก
เพราะผมก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่รับฟังเท่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษผู้ใด

ผมเกรงว่า จะมีคนเลียนแบบ หากมีการพิมพ์เผยแพร่ตำรับยากรมหลวง
อาจจะถึงขั้นเลวทรามแบบชาวต่างชาติ ที่จดทะเบียนลิขสิทธิ์พันธุ์ข้าวหอมมะลิ
หรือที่ชาวผิวเหลืองชาติหนึ่ง จดลิขสิทธิ์สรรพคุณแตงกวาว ที่เป็นของประเทศไทย กลายเป็นของมัน
ความเลวทรามอย่างนี้ ทุกวันนี้ทำกันเป็นปกติ ถ้าเราไม่ปกป้องแต่เนิ่นๆ อาจจะต้องเสียใจภายหลัง


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 พ.ค. 08, 21:03
ขอแทรกรูปประกอบตรงนี้ หนึ่งรูป
รายละเอียดของรูปนี้ เป็นผลการค้นคว้าของคุณเอนก นาวิกมูล
จนทราบว่าเป็นการถ่ายที่ใหน เมื่อไร โอกาสใด

เป็นรูปเดียว ที่ได้เห็นสหชาติทั้งสามท่าน(ขาดพระปิ่นเกล้า) ในราชการงานเมือง
การเจรจาสนธิสัญญากับออยเลนบวร์ก เมื่อพ.ศ. 2404


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 พ.ค. 08, 21:07
ขอบคุณอินเตอร์เนต ที่ทำให้ตามเจอความสำคัญของบุคคลผู้นี้


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 พ.ค. 08, 04:43
ตามอ่านอย่างใจจดใจจ่อ

คิดตามว่าอาจารย์สุโรจนาตามข้อมูลถึงปานใดแล้วก็เกิดความรู้สึกสะเทือนใจหลายประการ
ว่าช่างบากบั่นจริงหนอ   อดทนจริงหนอ   

มีตำรายาวัดโพธิอยู่เหมือนกันค่ะ   คนยืมไปเก็บซุกไว้จนมีตัวมากิน  อ่านเรื่องน้ำกระสายยาแล้วยกมือสาธุเลยค่ะ ช่างกว้างขวางอะไรขนาดนั้น
เรื่องผู้มาลบตำรายาได้ยินเหมือนกัน
แต่เล่าว่า ใครผ่านมาคน จดตำราไปก็ลบตัวยาออกไปหนึ่งตัว  ดั่งนี้



กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 พ.ค. 08, 11:45
ข้าราชการท่านนั้น เล่าให้ผมฟังเมื่อท่านเกษียณแล้วหลายปี สุขภาพของท่านก็ย่ำแย่เต็มที จนรู้ตัวว่าจะอยู่อีกไม่นาน
ท่านเป็นเปรียญห้า แต่ความรู้นั้นล้ำลึกเพราะเป็นมาตั้งแต่ยังเป็นเณร
วันที่สนทนากัน ก็ไม่ได้เริ่มด้วยวัดโพธิ์ครับ

อยากจะลองภูมิคุณ WANDEE สักเรื่องหนึ่ง...แต่ตอบได้ก็ไม่มีรางวัลให้นะครับ
เมื่อปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่สามนั้น

"พระองค์เจ้านวม พระชนม์เท่าไร และท่านรับผิดชอบเรื่องอะไรบ้าง"
ท่านอื่นจะร่วมสนุกก็ยินดียิ่งครับ


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 พ.ค. 08, 13:00
ยังไม่ครบ ๒๖ พรรษาค่ะ

อือม์...ท่านรับผิดชอบจารึกกวีนิพนธ์และการแพทย์เรียกว่าฤาษีดัดตน
(เดี๋ยวไปหาเพิ่มเติมค่ะ)


ได้ค้นเรื่องเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่และน้องและญาติของท่านที่เข้ามารับราชการฝ่ายในไว้บ้างแล้ว
จำไม่ได้ว่าวางหนังสือ สกุลบางช้าง ไว้ที่ชั้นไหน


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 พ.ค. 08, 14:04
ทันใจดีแท้ครับ
ใครที่อายุเบญจเพศ เห็นจะต้องทบทวนตัวเองเสียหน่อย ว่าทำอะไรได้แค่ใหน


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 08, 09:47
อ่านแล้วต่อไม่ติดค่ะ  จึงมาขอคำอธิบาย



"เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ เป็นธิดาขรัวยายทองอิน และขรัวตาบุญเกิด ซึ่งเป็นหมอแผนโบราณเชี่ยวชาญในการปรุงยา
เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ก็มีความเชี่ยวชาญในการปรุงยาเป็นอย่างดี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรทหลวงวงษาธิราชสนิท  ทรงได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จากขรัวตาบุญเกิด"
(วุฒิชัย มูลศิลป์  กนกวลี ชูชัยยะ   เจ้านายในราชวงศ์จักรี     ๒๐๒๐ เวิลด์มีเดีย พิมพ์   ๒๕๔๒)


อยากทราบสาแหรก ขรัวตาบุญเกิด ค่ะ




ขรัวยายทองอิน เป็นธิดาคนแรกของ ท่านตาดี  ผู้เป็นบุตรของ ท่านตาเจ้าแทน(พระปิตุลาที่ ๒ ของสมเด็จอมรินทรฯ) และท่านยายเจ้าจันทร(ธิดาท่านตาเจ้าแสน)

อ่านมาจาก ลำดับราชินีกุลบางช้าง   เรียงใหม่ พิมพ์ครั้งที่ ๒  ในงานศพ อำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ(เต็น บุนนาค)  ๒๔๖๒
พระยาอุไทยธรรม(แก้ว)ชำระเรียบเรียง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘
ในสมัยรัชกาลที่ ๕  คุณเขียนหลานหญิงของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ได้เรียบเรียงเพิ่มขึ้นอีก


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.ค. 08, 12:33
คำถามนี้เกินความรู้ที่ผมมีจะตอบได้
ได้ส่งต่อไปยังอาจารย์สุโรจนาแล้วครับ.....โปรดรอ


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 08, 13:21
ขอบคุณค่ะ


วันก่อนตามหา ครูแจ้ง  เข้าไป ในเพลงกลอนยาวเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ ของ คุณ สุวรรณ


เจอ กรมวงศาฯ มาเฝ้าพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  หม่อมเป็ดสวรรค์เป็นคนสำคัญ
ได้กราบทูลพระอาการ  และถือโอกาส
   
หม่อมเป็ดบังคมประสมประสาน
เกล้ากระหม่อมมึนหน้ามาช้านาน
ขอประทานยานัดถุ์เครื่องข้างใน
ฝ่ายเสด็จว่าหม่อมเป็ดปวดศีรษะ
เราจะช่วยเป่ายานัดถุ์ให้
ก็เทออกจากขวดน้อยเจียระไน
ใส่เข้าไว้ในกล้องสักสองนัด
แกล้งเลือกเอายาแดงที่แรงร้าย
ให้หม่อมหงายหน้าตรงทรงเป่าปรัด
น้ำตาไหลจามไอศีรษะฟัด
จนฟันพลัดตกเปาะจำเพาะพักตร์
กรมวงศ์ทรงทอดพระเนตรมา
เห็นกะลาที่ทำฟันให้ขันหนัก
แล้วก็ทรงพระสรวลสำรวลคัก
หม่อมอายนักก้มหน้าไม่พาที




กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.ค. 08, 14:58
เดี๋ยวจะเลี้ยวไปหม่อมเศษสวรรค์....ฮิฮิ
มาดักคอคุณ wandee ช่วยแวะอ่านและเล่านิราศของกรมหลวงท่านหน่อย

เรื่องกลอนกระผมไม่ถนัด จำได้แต่ท่านอวดว่า
กรุงเทพที่สร้างใหม่ ไม่แพ้อยุธยาแล้วแหละ......
นับว่าสะท้อนความมั่นใจในบ้านเมือง
และสะท้อนด้วยว่าคนในรัชกาลที่ 3 เริ่มลางเลือนต่อความยิ่งใหญ่ของพระนครศรีอยุธยา

ควรสังเกตว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ประสูติเมื่อ 2310
ดังนั้นจึงทรงเป็นผู็นำของคนรุ่นใหม่ เรียกให้โก้แบบนักวิชาการทุกวันนี้ ก็ต้องบอกว่า

"หลัง"เมื่อครั้งบ้านเมืองดี (post ayudhaya)


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.ค. 08, 15:52
มีรูปมาติดสินบนครับ
สามรูปนี้ เป็นรูปเดียวกัน แต่ต่างกาลเวลา รูปกลางนั้น มีใครสักคนถ่ายก๊อปปี้ไว้
เป็นฟิล์มกระจกอยู่ในหอจดหมายเหตุ ผมขอทำสำเนามาจากรูปที่ถูกอัดลงกระดาษอีกที
เดาว่า เป็นการอัดเก็บเมื่อครั้งสมเด็จทรงว่าการหอพระสมุด และทรงเริ่มจัดทำ "หอรูป"
(ให้สังเกตว่ารูปในชุดนี้ วัสดุเหมือนกัน คืออัดลงกระดาษอัลบูมิน -ไข่ขาว เนื้ออมม่วง กระดาษรูปบางมาก
ผนึกลงกระดาษแข็ง พิมพ์ตราราชบัณฑิต สีแดง
รูปถ่ายรุ่นนี้ หอพระสมุดจ้างช่างภาพชาวจีนคนหนึ่ง ผมลืมชื่อเสียแล้ว เป็นพนักงานทำรูปชนิดผูกขาด เพราะฝีมือดี
ถ้าอ่านสาส์นสมเด็จ จะจำได้ มีกล่าวถึงประจำ เวลาทั้งสองพระองค์ประสงค์รูปใดๆ ก็โปรดให้ช่างผู้นี้ทำให้
ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนเป็นต้นตระกูลของผู้ว่าการท่องเที่ยวท่านหนึ่ง)

รูปล่าง เป็นลายเส้น พบครั้งแรกในพระนิพนธ์กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ "ลิลิคมหามกุฎราชคุณานุสรณ์"
ฉบับพิมพ์ครั้งแรก มีรูปประกอบสำคัญมากมาย น่าเสียดายที่ในการพิมพ์ต่อๆ มา ตัดรูปประกอบทิ้งเสียหมด
พระนิพนธ์นี้ ทรงขึ้นเพื่อส่งประกวดชิงรางวัลพระราชทานในรัชกาลที่ 7.....แต่ไปแพ้หลักไทยของขุนวิจิตรมาตรา

การจำลองลายเส้น ทำให้เห็นรายละเอียดหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นมา เดี๋ยวจะทำเปรียบเทียบให้ดูนะครับ

ส่วนรูปบนสุดนั้น
มาจากการถ่ายจำลองของจริงที่แขวนอยู่ ณท้องพระโรงพระที่นั่งจักรี เป็นสภาพปัจจุบัน

ที่อวดรูปนี้ ก็เพราะมีกรมหลวงวงษา ประทับอยู่ในการเข้าเผ้าครั้งนี้ด้วย จะเป็นการเข้าเฝ้าครั้งใด มีเรื่องน่าสนุกในการวินิจฉัยครับ


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ก.ค. 08, 22:40
ในขณะที่นั่งคอยคำตอบ  ได้ไปทำการบ้านมาบ้าง   ได้ความมาว่า



ขรัวตาบุญเกิด  แซ่โหงว
บิดาชื่อ  เจ๊สัวหลิน  บ้านเดิมอยู่ บ้านแหลม แขวงเมืองเพชรบุรี
คนบ้านเดียวกับ กรมพระเทพามาตย์(นกเอี้ยง)  พระเจ้าตากสินถือว่าเป็นข้าหลวงเดิม
โปรดให้เป็น หลวงพิไชยวารี  มีหน้าที่ เบิกสินค้าหลวง ตกแต่งสำเภาไปค้าขายเมืองจีนหลายปีเป็นนิจกาลจนมีฐานะมั่งคั่ง

บ้านของเจ๊สัวบุญเกิดนั้นอยู่ที่ ริมฝั่งคลองสามเสน แขวงกรุงธนบุรี

เชื้อสายสกุลมาจากขุนนางจีนกรุงปักกิ่ง   หนีมาอยู่ที่ถนนตาล หลังวัดพะนัญเชิงกรุงเก่า(รักษาตัวสะกดเดิม)



กรุณาตรวจแก้ไขด้วยค่ะ  อ่านแล้วยังอ่านไม่ออก ว่า ขรัวตาบุญเกิด ท่านไปเก่งวิชาหมอมาจากไหน

(มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่ม ๑  ร.ศ. ๑๒๔  หน้า  ๓๑๙ - ๓๒๐)


กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ค. 08, 07:03
ได้ตามอ่านเรื่อง เจ้าพระยาภูธราภัย(นุช บุณยรัตพันธุ์) และบิดาของท่าน  เจ้าพระยาอภัยภูธร(น้อย)
อ่านไปเรื่อยๆถึงปู่คือเจ้าพระยาธรรมา(บุญรอด)

พบว่าเจ้าพระยาธรรมาเป็นสกุลพราหมณ์และว่าเป็นหมอเฒ่าด้วย  โดนถอดเมื่อศึกลาดหญ้า เมื่อพ้นโทษแล้วโปรดให้เป็นพระยาเพทราชา จางวางกรมพระคชบาล
บิดาของเจ้าพระยาธรรมา คือ พระยามณเฑียรบาลครั้งกรุงเก่า


สงสัยว่าเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓  พระสุริยภักดี(นุช  บุณยรัตพันธุ์)ถูกถอด  เรื่องเป็นมาอย่างไร
จะพอหาอ่านได้ในหนังสือชื่ออะไร


เป็นสกุลมหาศาลยิ่งนัก  เพราะได้เป็นเจ้าพระยาถึงสี่ชั่วคน  สายตรงทั้งสิ้น


บุตรของเจ้าพระยาภูธราภัย คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(เวก)

จำจะต้องไปหาจดหมายเหตุเรื่องเจ้าพระยาภูธราภัยปราบฮ่อ มาอ่านต่อ



กระทู้: สองร้อยปีที่เลือนลาง : กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 27 ก.ค. 08, 23:38
แวะมาอ่านตอนทำรายงานหิโตปเทศไม่ตก
อ่านแล้วยังสงสัย...รอติดตามคะ
 ;D ;D