เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 05 มี.ค. 19, 10:26



กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มี.ค. 19, 10:26
ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนของอาจารย์เทาชมพูเมื่อ 50 + ปีก่อนแล้วอยากอ่านเรื่องโรงเรียนของคุณตั้งหรือคุณ NAVARAT.C ที่เป็นโรงเรียนซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านเรียกว่าโรงเรียนกินนอนบ้าง รู้สึกเหมือนเป็นแดนสนธยา ไม่ทราบจะมีโอกาสไหมครับ

 ระหว่างรออ่านชีวิตในโรงเรียนกินนอน   มาดูรถในอดีตกัน ฆ่าเวลาไปพลางๆนะคะ
  คุณตั้งหรือคุณนวรัตนมาเมื่อไหร่ค่อยหยุดเรื่องรถ


เพื่อจะได้ไม่ต้องหยุดเรื่องโน้นที่กำลังดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ผมจึงขออนุญาตแยกกระทู้ออกมาใหม่นะครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มี.ค. 19, 10:27
ก่อนอื่น ขอให้สละเวลาอ่านเรื่องนี้ก่อน ถึงยาวหน่อยแต่ก็เป็นประโยชน์แก่ทุกคนนะครับ

https://thaipublica.org/2019/03/prasarn-vajiravudh-college-28-2-2562/?fbclid=IwAR0575TZw-HN_t_MSQkG8M3HRxaVK-tYuE0fqd2CHnWUl2jRn-8treaF0hA


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 05 มี.ค. 19, 15:53
ขอบคุณคุณ NAVARAT.C เป็นอย่างมากนะครับที่จะนำเรื่องโรงเรียนของท่านสมัยที่ท่านเรียนอยู่มาให้อ่าน ท่านนำปัจฉิมโอวาทของ ดร.ประสารฯที่ให้แก่นักเรียนวชิราวุธที่กำลังจะจบในปีนี้มาให้อ่านด้วยสมควรแล้วที่เชิญท่านมาเป็นผู้ให้โอวาทท่านเป็นคนเก่งมากคนหนึ่งท่านสรุปสิ่งที่ ร.6 ทรงปรารถนาไว้ได้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่ผ่านหรือจบจากโรงเรียนนี้ต้องมี Competence และ Character เมื่ออ่านจบผมเห็นว่าโอวาทนี้ควรเผยแพร่ให้ผู้กำลังจบมหาวิทยาลัยทราบด้วยจะเป็นประโยขน์มาก ผมมีเพื่อนที่เคยเล่นกีฬาและทำงานด้วยกันทั้งรุ่นเดียวกันและรุุ่นน้องหลายคนจบจากโรงเรียนนี้พบว่าท่านเหล่านั้นมี ทั้ง competence character และ ความเป็นสุภาพบุรุษ -Gentlemanship ครบถ้วน ผมเคยถามพวกเขาว่าโรงเรียนของคุณเป็นยังไงถึงมีคนเก่งๆเช่นนักกีฬา(รักบี้)ออกมาได้เรื่อยๆไม่มีใครยอมบอกผมเลยแซวว่าพวกคุณมาจากแดนสนธยาหรือไงและที่ได้พบนอกเหนือจากนั้คือพวกเขามีน้ำใจนักกีฬาดีกว่าคนทั่วๆไป มันคงเกิดจากการหล่อหลอมที่ดีจากโรงเรียนนี่เป็นที่มาของความอยากรู้เรื่องของโรงเรียนแห่งนี้


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 06:15
ของคุณที่สนใจโรงเรียนของผมนะครับ ผมจะพยายามเล่าให้ผู้อ่านเข้าใจให้มากที่สุดในเรื่องที่อยากทราบ  หากตรงไหนผู้ใดมีข้อสงสัย โปรดอย่าลังเลที่จะถามเข้ามาโดยพลันนะครับ ไม่ต้องเกรงว่าผมจะสะดุด




กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 06:32
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๕๓ ซึ่ง ณ เวลานั้นมิได้ทรงมีสิ่งอื่นใดที่สำคัญไปกว่าการจัดการพระบรมศพของพระราชบิดา แต่ในพระทัยคงจะทรงครุ่นคิดอะไรอยู่  ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอันดับแรกที่ทรงประกอบขึ้นในเวลาเพียงสองเดือนต่อมาก็คือ  การพระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาลตามพระราชประเพณี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๓  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยมีขนบธรรมเนียมที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดจะทรงปฏิบัติมาก่อน

และโรงเรียนที่โปรดเกล้าฯให้สถาปนาขึ้นนี้นั้น ก็มีแนวคิดที่แตกต่างกับโรงเรียนทั่วไปที่ทางราชการได้จัดสร้างขึ้นโดยสิ้นเชิง  ดังจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  อดีตพระอภิบาลในสมัยที่พระองค์เสด็จไปทรงศึกษายังประเทศอังกฤษ ซึ่งบัดนั้นได้กลับมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

เนื่องจากทรงคุ้นเคยที่จะใช้ภาษาอังกฤษกับพระอภิบาลอันเป็นภาคบังคับสมัยทรงพระเยาว์  ดังนั้นจึงทรงเลือกที่จะทรงพระอักษรเป็นภาษาอังกฤษที่สามารถทำให้พระองค์เลือกใช้ศัพท์ได้ตรงกับพระทัยมากกว่า  คำแปลภาษาไทยที่ผมนำมาให้อ่านด้วยนี้ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาพระเสด็จเป็นผู้ถอดความให้ดูสละสลวยดังที่ผมจะนำมาเทียบกันหน้าต่อหน้าดังนี้

(ในภาพ คือมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  ในชุดครุยกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง(ที่มีมาก่อนครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในมือถือหนังสือชื่อ “สมบัติของผู้ดี” ที่ท่านเป็นผู้แต่ง)


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 06:33
                                                                                                         บันทึก


          ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือ ตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา

          ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่าๆ ยิ่งกว่านั้นคือเปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 06:36
สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน “ชั้นมัธยม” ให้เป็นเทวดาเหมือน กันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 06:36
ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไมรู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน “คนฉลาด” บ่นอีกว่าปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้า


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 06:37
ด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม

          ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล



                                                                                                          พระปรมามาภิไธย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 06:47
เอาละนะครับ ดังนั้นผู้ปกครองที่วิจารณ์ว่าเด็กวชิราวุธเอาแต่เล่น ทำให้เรียนไม่เก่ง คะแนนสู้โรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ไม่ได้ ก็คงจะต้องนำลูกชายของท่านไปเข้าโรงเรียนอย่างที่ท่านว่าจริงๆตั้งแต่ต้นเลย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มี.ค. 19, 10:04
ขอนำเสนออีกข้อมูลหนึ่งที่แสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านที่ได้ทรงเป็นห่วงในเรื่องของการพัฒนาคน

จะขออนุญาตลดการใช้คำราชาศัพท์ลงพอสมควรนะครับ

ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ขออนุญาตคัดลอกจากหนังสืออ่านของ “โครงการเลือกสรรหนังสือ” ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช “เรื่องหลักราชการ” ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา พิมพ์ครั้งที่ 51 จำนวน 1000 เล่ม เมื่อ พ.ศ. 2541

หนังสือเล่มนี้ได้นำพระราชนิพนธ์ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ได้พระราชทานแจกข้าราชการในการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ พ.ศ. 2457 ซึ่งได้ทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457
พระองค์ท่านได้กล่าวไว้ในปฐมบทว่า

   ในสมัยปัตยุบันนี้ ใครๆก็ย่อมทราบกันอยู่แล้วว่า การศึกษาจำเริญขึ้นมากกว่าในเวลาก่อนๆนี้เป็นอันมาก และมีตำรับตำราสำหรับสอนศิลปและวิทยาแทบทุกอย่าง เหตุฉะนี้จึงทำให้คนบางจำพวกหลงไปว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” และด้วยความหลงอันนี้จึงเลยทำให้หลงเลยนึกไปว่า ไม่ว่าจะทำการในหน้าที่ใดๆ ข้อสำคัญมีอยู่อย่างเดียวแต่เพียงจะพยายามให้ได้คะแนนมากๆทุกคราวที่สอบไล่ในโรงเรียนและให้ได้ประกาศนียบัตรหลายๆใบ แล้วพอออกจากโรงเรียนก็เป็นอันจะไม่ต้องพยายามทำอะไรอีกต่อไป ทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งทรัพย์ จำจะต้องหลั่งมาไหลมาทีเดียว 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 06 มี.ค. 19, 10:13
อ่านพระราชปณิธานในการก่อตั้งโรงเรียนแล้วยังคงทันสมัยและมีคุณค่ามาถึงปัจจุบัน ถ้าโรงเรียนรัฐบาลอื่นๆนำไปใช้ด้วยตั้งแต่ยุคนั้นเราคงได้เห็นประเทศไทยที่ดีกว่าในวันนี้ เมือก่อนชาวบ้านทั่วไปมักพูดกันว่า"โรงเรียนมหาดเล็ก"เป็นโรงเรียนของลูกเจ้าใหญ่นายโตหรือพวกเศรษฐีเอาแต่เล่นกีฬาและเข้าสังคม วิชาการก็ธรรมดา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงผมเห็นว่าเด็กๆพวกนี้ถ้าไม่อยู่ในโรเรียนนี้ที่มีความมุ่งหมายในในการสร้างคนดีมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการแล้วพวกเขาจะเป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติได้มากเพราะพื้นฐานทางครอบครัวจะช่วยให้พวกเขาเข้าไปสู่ระบบราชการหรือธุรกิจใหญ่ๆและเติบโตเป็นใหญ่ได้ง่ายกว่าเด็กอื่นๆ จริงอยู่โรงเรียนจะดีเพียงใดก็ไม่สามาถทำให้เด็กทุกคนเป็นคนดีได้ การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่เด็กจนโตทุกวันๆควบคู่กับการเรียนปกติจึงเป็นโอกาสกล่อมเกลาให้เป็นคนดีมีความละอายต่อความไม่ถูกต้องได้มากขึ้น ขอเชิญคุณ NAVARAT.C ว่าต่อไปครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มี.ค. 19, 10:22
   บุคคลจำพวกที่คิดเห็นว่าวิชาเป็นแก้วสารพัดนึกเช่นนี้ เมื่อเข้าทำการแล้ว ถ้าแม้นไม่ได้รับตำแหน่งอันสูงเพียงพอแก่ที่ตนตีราคาของตนไว้ และลาภยศทรัพย์หลั่งไหลมาไม่ทันใจก็บังเกิดความหลากใจ แล้วก็บังเกิดความไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจแล้วก็บังเกิดความริษยา เมื่อเกิดความริษยาขึ้นแล้วก็หมดความสุข
   แท้จริงบุคคลจำพวกนี้ลืมนึก หรือไม่เคยนึกทีเดียวว่ามีสุภาษิตโบราณท่านได้กล่าวไว้แล้วว่า “วิชาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”  คำที่ท่านกล่าวไว้เช่นนี้ควรที่จะหวนคำนึงดูบ้างว่าท่านมุ่งความว่ากระไร?  ท่านย่อมมุ่งความว่า วิชานั้นเปรียบเหมือนเครื่องแต่งตัว ซึ่งใครมีทุนแล้วก็อาจจะหาแต่งได้เท่ากัน แต่ถึงแม้ว่าจะนุ่งหางหงส์ผัดหน้าใส่ชฎาทอง ถ้าแม้ว่ารำไม่งามเขาก็ไม่เลือกเอาเป็นตัวอิเหนาเป็นแน่ละ ถ้าคนเราต้องการแต่วิชาการอย่างเดีย เป็นเครื่องนำไปสู่ความเป็นใหญ่ ป่านนี้พวกครูบาอาจารย์ทุกคนคงต้องเป็นใหญ่คนโตไปด้วยกันหมดแล้ว แต่แท้จริงศิษย์ที่ดีกว่าครูมีถมไป ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วไม่ควรที่จะเป็นไปได้ เพราะครูเป็นผู้สอนวิชาให้แก่ศิษย์ เหตุใดศิษย์จึงจะวิ่งไปดีกว่าครูเล่า ถ้าลองไตร่ตรองดูข้อนี้ให้ดีหน่อย จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพราะวิชาอย่างเดียวเสียแล้ว ต้องมีคุณวิเศษอื่นประกอบด้วยอีก คุณวิเศษเหล่านี้จะขอพรรณนาแต่พอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้    


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 13:12
วชิราวุธวิทยาลัยมีผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดคือ ผู้บังคับการ  เรียกตามหน่วยงานในกรมมหาดเล็กหลวง เมื่อผมเข้าเรียนในปี ๒๕๐๐ นั้น คุณตั้งเข้ามาก่อนผมแล้ว ๒ ปี คือเข้าตั้งแต่ ป ๓ ผมมาเข้าทีหลังในชั้น ม.๑ (สมัยนั้นชั้นประถมมี ป.๑ ถึง ป.๔ แล้วจึงขึ้นมัธยม ม.๑ ถึง ม.๘) เรายังอยู่ในคณะเด็กเล็กที่มีเด็กในชั้น ป.๓ ถึง ม.๒

ท่านผู้บังคับการชื่อพระยาภะรตราชา  ตอนนั้นท่านอายุเจ็ดสิบแล้ว ยังแข็งแรง  เมื่อเข้ามาเป็นนักเรียนวชิราวุธ ก็จะได้ยินท่านผู้บังคับการพร่ำสอนอบรมบนหอประชุมเสมอๆว่า โรงเรียนนี้สอนให้
๑ เป็นคนมีความรู้  
๒ เป็นคนมีศาสนา  
และ ๓ สอนให้เป็นผู้ดี

๑ และ ๒ ไม่ต้องอธิบายมาก ทุกคนคงเข้าใจ
แต่คำว่าเป็นผู้ดีนั้น ท่านขยายความว่า  ผู้ดีต้องเป็นผู้กล้าหาญ  มีระเบียบ และมีความกตัญญูกตเวที รักเกียรติชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของตัว  รักหมู่รักคณะ คนจะเป็นผู้ดีได้ต้องผ่านการฝึกให้รู้จักการตรากตรำ ไม่สำรวยหยิบโหย่ง  กล้าเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  ใครอยู่ที่บ้านจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ แต่เมื่อมาอยู่โรงเรียนแล้ว จะทำตนเป็นคนถือยศศักดิ์เหยียดหยามผู้อื่นไม่ได้  เด็กทุกคนจะต้องถูกฝึกให้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่  เป็นผู้รับใช้ที่ดีก่อนที่วันหน้าจะเป็นผู้ใช้คนเป็น

ข้อ ๓ นี่เป็นตัวสำคัญ ที่ท่านเห็นนักเรียนวชิราวุธสุภาพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เล่นกิฬาหนักในเกม ไม่เอาเปรียบคู่แข่งขัน รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย รักเพื่อนฝูงพี่น้องร่วมสถาบัน เพราะโรงเรียนใช้ทุกวิถีทางในการหล่อหลอมทุกคนให้ออกมาอย่างนั้น ทุกยุคทุกสมัย

ในภาพคือท่านผู้บังคับการและเด็กเล็ก


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 13:43
หอพัก ที่เราเรียกว่าคณะ
ในภาพคือคณะเด็กเล็กในสมัยของผม คณะเด็กเล็กนี้อยู่นอกกำแพงโรงเรียนในฝั่งคณะใน มีถนนพิชัยกั้น  ครูประจำคณะเด็กเล็กมีหลายคนเพื่อคอยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่เหมือนเด็กคณะในที่รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง กว่าเด็กๆที่เข้าไปอยู่ที่นี่ใหม่ๆจะหยุดร้องไห้คิดถึงบ้านก็หลายเดือน แต่ต้องแอบร้องนะ อายเพื่อน ทั้งๆที่ไม่มีใครล้อเพราะทุกคนมีอาการเดียวกัน

ช่วงนี้เป็นช่วงเปราะบางของทั้งเด็กและคุณแม่ คุณครูต้องคอยมาเดินขอร้องคุณแม่ที่มายืนกระซิกๆอยู่ข้างรั้วให้กลับบ้านไปเสียทีบ่อยๆ
แม่ผมนั้นมาเฉพาะวันเยี่ยม คือวันพฤหัสครั้งหนึ่งและวันอาทิตย์อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะงดไม่มาวันพฤหัส เด็กทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอวันที่โรงเรียนให้กลับบ้านในบ่ายวันเสาร์ปลายเดือนๆละครั้ง ได้นอนบ้าน ๒ คืน เช้าวันจันทร์ต้องเข้าโรงเรียนอีกแล้ว 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 17:23
กิจวัตรประจำวันของนักเรียนวชิราวุธสมัยผม

๖.๐๐ น. ระฆังปลุกสำหรับพวกที่ยังไม่ตื่นนอน ล้างหน้าแปรงฟัน แต่งตัวชุดนักเรียน
๗.๐๐ น. เรียนชั่วโมงแรก
๘.๐๐ น. พัก  กลับคณะเพื่อทานอาหารเช้า
๘.๓๐ น. ทุกคนขึ้นหอประชุม เพื่อสวดมนต์ประจำวัน
๙.๐๐ น. ไปตึกเรียน เริ่มเรียนชั่วโมง ๒ และ ๓
๑๐.๕๐ น. พัก ทานอาหารว่าง
๑๑.๑๕ น. เริ่มเรียนชั่วโมง ๔ และ ๕
๑๓.๐๐ น. เลิกเรียน กลับคณะเพื่ออาหารกลางวัน

๑๔.๐๐ น. ทุกคนเรียนดนตรี หรือ ศิลปกรรม
๑๕.๐๐ น. พัก เล่นผ่อนตามสบาย
๑๕.๔๕ น. ระฆังโรงเรียนเรียกแถวทุกคณะ ก่อนทุกคนแยกย้ายไปเล่นกิฬาตามถนัด  เด็กเล็กเป็นชั่วโมงพลศึกษา หัดเดินแถวสวนสยาม
๑๗.๐๐ น. เลิกกิฬา อาบน้ำ เปลี่ยนเป็นชุดนอน ยกเว้นทีมโรงเรียนที่เตรียมตัวแข่งขัน

๑๘.๓๐ น. ระฆังคณะ เข้าแถวแล้วทานข้าวเย็น
๑๙.๐๐ น. เข้าเพรบ (Prep ศัพท์ของพับบริกสกูล ย่อมาจาก Preparation) คือเข้าห้องคล้ายห้องเรียนในคณะเพื่อทำการบ้าน
๒๐.๓๐ น. เลิกเพรบ
๒๐.๔๕ น. เข้าห้องสวดมนต์ในคณะ เพื่อสวดมนต์ก่อนนอน
๒๑.๐๐ น. เข้าห้องนอน ดับไฟ  นักเรียนชั้นสูงสามารถอยู่ต่อในห้องเพรบเพื่อทำงานหรือดูหนังสือได้ตามควร



กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มี.ค. 19, 17:58
ชั่วโมงเรียนวิชาทั่วไปที่ดูเหมือนน้อยเพียง ๕ ชั่วโมงนั้น ความจริงก็ไม่น้อยเพราะเราเรียนวันเสาร์ด้วย

ส่วนวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดจริงๆนั้น  เริ่มจากคืนวันเสาร์แล้ว สมัยก่อนพวกพี่ๆในสมาคมบันเทิงจะไปเลือกเช่าหนังมาฉายให้นักเรียนทั้งโรงเรียนชมบนหอประชุม หลังจากทานอาหารเย็นเสร็จแล้ว
เช้าวันอาทิตย์ ทุกคนจะได้ตื่นสายนิดนึง คือจะตีระฆังเรียกแถวทานข้าวเช้าตอน ๘.๐๐ น. เลย หลังจากนั้น ๙.๐๐ น. ทุกคนขึ้นหอประชุม เพื่อสวดมนต์บทยาว ทำวัตรเช้า แล้วฟังโอวาทที่ท่านผู้บังคับการ หรือผู้กำกับคณะจะขึ้นมากล่าวให้พวกเราฟังประมาณครึ่งชั่วโมง  หลังจากนี้แล้วก็ไม่มีอะไรอีกนอกจากเข้าเพรบตอนบ่ายโมง  และเป็นเวลาที่ผู้ปกครองพวกเด็กๆจะมาเยี่ยม


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มี.ค. 19, 19:24
คุณ NAVARAT.C ว่าไปในเรื่องหลักๆทางโครงสร้างก่อน(Institutional framework) แล้วค่อยมาขยายความในเชิงของกระบวนกิจกรรมที่จะไปช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แต่ละบุคคลให้มี competency ในองค์รวม (Capacity building)


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 มี.ค. 19, 09:57
ผมตั้งใจจะเล่าเน้นในสมัยของผม ตามคำถามว่าถูกอบรมกันมาอย่างไร  ขอบอกความจริงว่าแนวทางของวชิราวุธวิทยาลัยโดยหลักการแล้วไม่เคยเปลี่ยน แต่รายละเอียดได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัยของผู้บังคับการแต่ละท่าน  ซึ่งมีวิสัยทัศน์ต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่ผมเล่า อาจจะไม่ใช่แล้วในยุคนี้

ชีวิตของเด็กวชิราวุธจะเข้มข้นแท้จริงเมื่อเข้าคณะเด็กโต ที่เรียกว่าคณะในแล้ว ในยุคผมมีคณะใน ๔ คณะ มีชื่อตามพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ คือ ดุสิต จิตรลดา พญาไท อีกคณะหนึ่งเรียกคณะผู้บังคับการเพราะตัวผู้บังคับการเองเป็นผู้กำกับคณะด้วย (อังกฤษเรียก School House) แต่ละคณะมีเด็กประมาณ ๘๐ คน ใช้หลักการให้เด็กโตปกครองเด็กเล็ก โดยมีหัวหน้าคณะ(Prefect) ๔-๖ คนแล้วแต่ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล โดยผู้กำกับคณะจะสังเกตุการณ์อยู่ห่างๆ

หัวหน้ามีหน้าที่กวดขันวินัยของเด็กๆในคณะให้ปฎิบัติตามกิจวัตรประจำวันตามตารางที่ผมนำมาให้ดูแล้วโดยเคร่งครัด  ใครฝ่าฝืนก็มีอำนาจทำโทษได้  ตามมาตรฐานขณะโน้นคือการเฆี่ยนด้วยกิ่งพู่ระหงที่ขึ้นเป็นรั้วของสนามเทนนิส ให้เด็กที่จะโดนทำโทษไปตัดมา จนกว่าจะได้ขนาดที่พอใจ คือประมาณนิ้วก้อย แน่นอน เด็กๆจึงไม่กล้าเบี้ยว ตื่นสาย ไม่เข้าเรียน หรือแอบสูบบุหรี่ ปีนรั้วหนีเที่ยว อย่างนี้เป็นต้น

ปัจจุบัน โรงเรียนให้เปลี่ยนการลงโทษโดยห้ามแตะต้องตัวเด็ก  แต่ผลคือ วินัยของเด็กจะหย่อนยานลงโดยธรรมชาติ

ในภาพคือพิธีแต่งตั้งหัวหน้าคณะบนหอประชุมอันศักดิ์สิทธิ์ หลังพิธีไหว้ครูประจำปี  รูปแบบของพิธีกรรมสมัยนี้กับสมัยผมต่างกันไปบ้าง ที่เหมือนเดิมคือ หัวหน้าทุกคนจะต้องกล่าวคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในเรื่องของปฏิบัติหน้าที่


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 มี.ค. 19, 10:00
ส่วนพวกโตๆแม้จะไม่ใช่หัวหน้า ก็สามารถใช้เด็กให้ทำโน่นทำนี่ หรือซักชุดกีฬาได้  เสื้อกีฬาสีคณะนี้โรงเรียนจ่ายให้ปีละตัวเดียว นอกจากจะขาด หลังเล่นเกมแล้วต้องนำมาซักทั้งชุด รวมกางเกงและถุงเท้าด้วย และตากไว้ให้มันแห้งก่อนถึงเวลาเล่นกีฬาในวันรุ่งขึ้น  วันไหนฝนตกสนามเป็นโคลน เด็กๆจะมีงานหนักเป็นพิเศษในการซักชุดรักบี้  ซักแล้วเจ้าของจะเรียกเอาไปดม ถ้ายังมีกลิ่นโคลนก็ต้องซักใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะหมดกลิ่น
อ้อ สมัยโน้นยังไม่มีผงซักฟอกนะครับ  สบู่ก็ไว้ฟอกตัว  ก็ต้องใช้น้ำก๊อกนี่แหละ ซักไปขยี้ไปจนกว่าจะสะอาด หรือจมูกเขาชินกลิ่นไปเอง

สองสามปีแรกในคณะในจึงเป็นช่วงแห่งความลำเค็ญ  หลังจากนั้นแล้วค่อยสบายหน่อย

ทราบว่าสมัยนี้ก็ยังมีการใช้กันได้อยู่ แต่รุ่นพี่จะเอาใจน้องๆมากขึ้นด้วยการเลี้ยงขนมหรือมีของฝากจากทางบ้าน รุ่นพี่รุ่นน้องส่วนใหญ่จะผูกพันรักใคร่กันก็เพราะสัมพันธภาพเช่นนี้


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 มี.ค. 19, 10:05
เด็กทุกคนจึงต้องพยายามเอาตัวให้รอดจากการถูกใช้  การเล่นกิฬาให้ติดทีมรุ่นเล็กของคณะก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้พวกรุ่นเกรงใจ  หรือไม่ก็ต้องเด่นในทางอื่น เช่นดนตรี ศิลปกรรม(วาดเขียน) หรือเรียนระดับส่งใบกับเขาบ้าง (ส่งใบคือใบคะแนนที่สอบประจำเดือนหรือประจำภาคของทุกห้อง แยกเป็นหมวด ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คำนวณ และคะแนนรวม คนได้ที่ ๑ ในแต่ละหมวดแต่ละห้อง จะได้ถือใบคะแนน ขึ้นไปเข้าแถวเรียงลำดับเพื่อมอบให้ท่านผู้บังคับการบนหอประชุมต่อหน้าเด็กทั้งโรงเรียน  ในทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน ก่อนกลับบ้าน)

ภาพวันส่งใบในสมัยนี้ก็เหมือนสมัยผม ใครที่ได้ส่งใบจะหน้าอกพองโตเวลาที่เพื่อนทั้งโรงเรียนปรบมือให้กึกก้อง  ชื่อของคนที่ส่งใบบ่อยๆจะถูกรุ่นพี่รุ่นน้องจำได้แม่น


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 มี.ค. 19, 13:18
แต่หน้าที่ของหัวหน้าคณะมิได้มีแค่คอยไล่จับผิดเด็ก  แต่ต้องรับผิดชอบในกิจกรรมของโรงเรียนและของคณะทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสุดท้ายของการปิดภาคเรียนแต่ละภาค 

ในภาคแรกนั้น โรงเรียนจะให้คณะต่างๆจัดการแสดงบนเวทีให้ดูกันทั้งโรงเรียน ซึ่งหัวหน้าคณะจะต้องปรึกษาทีมงานว่าจะเอาอย่างไร  แล้วตระเตรียมผู้แสดงและเครื่องแต่งกาย ดนตรี จิปาถะ ไม่ให้ด้อยกว่าคณะอื่นๆ   
ในภาคสอง เป็นงานคณะที่เด็กทุกคนมีส่วนร่วม ในการจัดเลี้ยง ตั้งแต่สถานที่และเวทีกลางแจ้ง เป็นงานใหญ่ที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้การเป็นผู้นำที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่จะให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
ภาคสามอันเป็นภาคสุดท้ายของปี จะต้องร่วมมือกับโรงเรียนจัดงานรับเสด็จพระราชดำเนินมาทรงแจกประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาในปีที่แล้ว และเสด็จทอดพระเนตรผลงานต่างๆของนักเรียน และการแสดงกลางแจ้งหน้าพระที่นั่ง จบลงด้วยการแข่งขันกรีฑารอบชิงชนะเลิศ  และรับพระราชทานรางวัล ซึ่งงานนี้ถือเป็น High Light ของปี

บรรดาฉากและสิ่งประกอบทั้งหลายที่เห็นในภาพ  โรงเรียนไม่เคยจ้างผู้รับเหมา แต่จะให้ครูศิลปะเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างโดยมีคนงานของโรงเรียนไม่กี่คน และนักเรียนอาสาสมัครนับร้อยมาช่วยในช่วงหลังเพรบตอนกลางคืนร่วมเดือน  จนแล้วเสร็จทันงาน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 มี.ค. 19, 13:19
เชิญคุณตั้งเข้ามาต่อได้แล้วครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มี.ค. 19, 06:46
แต่การจะเป้นนักเรียนวชิราวุธให้ได้ตลอดรอดฝั่งนั้นไม่ใช่ของง่าย  ในปีแรกที่เข้าคณะเด็กเล็กก็หายไปหลายคนแล้ว  ส่วนหนึ่งก็ทนได้ไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ  ครั้นเข้าคณะในก็เช่นกัน เด็กหลายคนที่ทนไม่ได้ก็ร่ำร้องขอให้พ่อแม่มาลาออกไปอยู่โรงเรียนอื่นก็เยอะ พวกที่ทนได้ หรือเห็นว่าสนุกก็มิใช่จะทางโล่ง  บางคนถูกโรงเรียนตามผู้ปกครองมาลาออกกลางคันเพราะพฤติกรรมที่ไม่ดี  เช่นถูกเพื่อนจับได้ว่ามีนิสัยขี้โขมยบ้าง  ครูรายงานว่าเกียจคร้านบ้าง  ชอบรังแกเด็กอย่างรุนแรงบ้าง รายการหลังนี่ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กที่เล็กกว่าทนไม่ได้จนหนีกลับบ้าน ผู้ปกครองนำเรื่องมาฟ้องโรงเรียน  หากสอบสวนแล้วเป็นจริงแม้จะบางคนจะเป็นหัวหน้า ผู้บังคับการก็ไม่ละเว้น

ไม้ตายท่านี้เป็นที่รู้กันทุกคน ดังนั้นการใช้เด็กจึงต้องมีศิลป์ด้วยไม่งั้นเด็กไม่ยอมทำ จะไปลงมือลงเท้าก็เป็นได้ซาโยนาระทุกราย

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องผลการเรียนที่ทำให้เพื่อนหลายคนต้องจากกันไปเมื่อสิ้นปีการศึกษา  วชิราวุธเล่นมากก็จริงแต่ก็ต้องเรียนให้สอบผ่านเกณฑ์ของโรงเรียนด้วย  แล้วใครจะถือเอาคะแนนของวชิราวุธเป็นบรรทัดฐานนักก็ไม่ได้ ผมขอยกตัวอย่าง ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ท่านเขียนเล่าในประวัติของท่านว่า ท่านสอบผ่านมัธยม ๘ ด้วยคะแนนรวม ๕๒% แต่ท่านสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์จุฬาได้ในอันดับต้นๆ  และสอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่นิวซีแลนด์ได้ในปีนั้น

จักรพันธุ์ โปษยกฤต  ใช้เวลาดนตรีและกีฬานั่งเขียนรูปตั้งแต่เด็กจนโต  พระยาภะรตก็ไม่ว่าอะไร แถมยังหาครูดีๆมาแนะนำเทคนิกให้อีก  ถึงปีสอบไม่ผ่าน แต่ได้ขึ้นชั้นโดยมีวงเล็บว่า “ทดลองเรียน” จนจบ ม. ๘ แล้ว พี่ท่านสอบเข้าคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรผ่านฉลุย  หลังจากนั้นชีวิตก็เดินทางไปสู่จุดสุดยอดในฐานะศิลปินแห่งชาติที่มีผลงานมากมายสุดจะบรรยาย

จักร จักษุรักษ์ อดีตนักรักบี้ทีมชาติตั้งแต่อยู่โรงเรียน และเป็นนักกิฬาระดับตำนานของวชิราวุธหลายประเภท  สอบไล่ตกซ้ำชั้นบ้าง ทดลองเรียนบ้างจนจบ ม. ๘  ปีแรกสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่ได้  ก็สมัครเข้ารับราชการเป็นพลตำรวจ มีหน้าที่เล่นรักบี้ให้ทีมตำรวจและทีมชาติ  ปีต่อมาสอบได้และเรียนจนจบเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร  รับราชการตามสถานีตำรวจนครบาลหลายแห่งจนเป็นผู้กำกับ  เมื่อเล่นรักบี้ไม่ไหวแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นโค้ชจนแก่ ในชีวิตมีส่วนทำให้ชาติไทยได้เหรียญรางวัลกีฬาประเภทนี้ทั้งในซีเกมส์และเอเชียนเกมส์มากมาย ท่านผู้นี้เกษียณที่ยศพลตำรวจตรี  เพิ่งจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นยอดนักกิฬาเอก ได้รับรางวัล Hall Of Fame สยามกีฬาอวอร์ดส์ประจำปีนี้

เมื่อมองย้อนหลังแล้ว ผมก็ได้แต่สรรเสริญพระยาภะรตราชา ตอนนั้นคิดว่าท่านลำเอียง ใครเลยจะนึกว่าการศึกษาของโลกในยุคใหม่  โรงเรียนจะต้องพยายามเฟ้นหาเด็กอัจฉริยะในวิถีใดวิถีหนึ่ง แล้วหาทางช่วยส่งเสริมให้ผ่านกรอบอันคับแคบของระบบการศึกษาไปให้ได้ เพื่อจะไปแสดงศักยภาพอย่างเต็มพิกัดในอนาคต   เรื่องนี้จึงนับว่าท่านผู้บังคับการวชิราวุธมีวิสัยทัศน์ล้ำหน้า โดยทำเช่นนี้มาแล้วหลายสิบปี  โดยอาศัยว่ากระทรวงศึกษาฯไม่กล้ามายุ่งนักกับโรงเรียนนี้


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มี.ค. 19, 07:53
ผมไม่ใช่เด็กที่มีพรสวรรค์อะไรขนาดนั้น  ชีวิตนักเรียนวชิราวุธก็เป็นไปตามมาตรฐาน  ตอนเป็นเด็กใหม่ก็แทบจะทนไม่ได้ ต้องนอนร้องไห้ทุกคืน พอแม่มาเยี่ยมก็คร่ำครวญขอให้แม่ลาออก  แต่แม่ผมใจแข็งมาก  ผิดกับภรรยาผมซึ่งร้องไห้ขี้มูกโป่งแข่งกับลูกอยู่เป็นปี

พอใกล้จะหมดเทอมแรก มีงานปิดภาค ครูที่คณะก็เลือกผมให้แสดงระบำแขกบนหอประชุม  โดยกล่าวว่าชุดไหนแสดงดีโรงเรียนจะคัดให้ไปแสดงในวังในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ  เด็กเล็กแต่ละคณะก็มีการแสดงชุดต่างๆดังภาพตัวอย่างที่นำมาให้ดู  เปิดเทอมมาแล้วผมจึงได้ทราบว่าทุกคณะได้รับการคัดเลือกหมด  ในเดือนสิงหาคมเด็กๆจะได้เข้าวังเป็นครั้งแรก

ปีนั้นตรงกับพ.ศ. ๒๕๐๐ ตรงกับวันอะไรจำไม่ได้ แต่คงไม่ใช่วันที่ ๑๒  ในวังจัดงานเลี้ยงข้าราชบริพารในพระองค์สักสองร้อยคนที่ห้องโถงเอนกประสงค์ของโรงเรียนจิตรลดา  นักเรียนคณะเด็กเล็กที่ไปแสดงบนเวทีก็ร่วมร้อยเข้าไปแล้ว จึงได้รับพระราชทานอาหารแต่เนิ่นๆแยกออกไป ยังจำได้ว่าเป็นผัดมักโรนีที่อร่อยที่สุดในโลกของผมตอนนั้น  เมื่อถึงเวลา ก็ขึ้นไปแสดงตามคิว มองลงมาเห็นทั้งสองพระองค์  และสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์เล็กๆ ประทับนั่งเด่นอยู่หน้าเวที  ผมก็กระโดดย๊อกๆแย๊กๆไปตามที่ซ้อมมาจนหมดเพลง ก่อนปิดฉากเห็นสมเด็จพระราชินีทรงปรบพระหัตถ์ให้ ดูเด่นกว่าใครๆ

สุดยอดของวันนั้นคือเมื่อพวกเราขึ้นไปนั่งเรียงกันหลังม่านเมื่อการแสดงของนักเรียนทุกชุดจบลง  พอม่านเปิด ทั้งสองพระองค์ก็จูงสมเด็จเจ้าฟ้าตรงมาที่เวทีเพื่อทรงขอบใจเด็กๆ  ต่อมาเมื่อผมอ่านพบบทกวีของสุนทรภู่ในท่อนที่ว่า “เคยเข้าเฝ้าได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ” อารมณ์ของผมจะพาย้อนกลับไปที่โมเม้นต์นี้  สมเด็จพระราชชินีนาถทรงหยุดพระดำเนินตรงหน้าผมพอดี  กลิ่นน้ำอบฝรั่งเศสหอมตลบอบอวลแสนจะชื่นใจ ทรงแย้มพระสรวลให้เด็กๆ แล้วถามเพื่อนที่นั่งข้างๆผมว่าชื่ออะไรจ๊ะ อยู่ชั้นไหนจ๊ะ ทุกคนแสดงกันได้ดีนะ ขอบใจมากนะจ๊ะ อะไรประมาณนี้

คืนนั้น พอจิตหายฟุ้งซ่านแล้ว  ผมพบกับจิตดวงใหม่ที่เลิกคิดจะออกจากโรงเรียนนี้แล้ว


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มี.ค. 19, 08:13
การเขียนเรื่องโรงเรียนเก่านี้ ยอมรับว่าผมลำบากใจมาก เขียนตำหนิมากก็ไม่ดี เขียนชมก็อาจโดนเขม่น โชคดีที่ในเฟซบุคโผล่ตัวช่วยให้ลอกมาแปะ  เป็นความเห็นของภรรยาที่พูดถึงสามี สะท้อนอะไรหลายๆอย่างที่ผมเขียนไปแล้ว  ผมจะไม่บอกละว่าคุณสามีเป็นใคร แค่ว่าเป็นรุ่นน้องร่วมสมัย ผู้บังคับการท่านเดียวกัน  เห็นรูปท่านแล้วบางคนจะรู้จักด้วยซ้ำ เพราะโดยหน้าที่ท่านต้องออกสื่อบ่อยครั้งอยู่

ข้อดีของผู้ชายที่เรียนจบโรงเรียนประจำ

มัดซีเขียนจากประสบการณ์ของตัวเอง ห้ามเชื่อตามโดยไม่พิจารณาให้ดีเสียก่อนนะคะ
เขียนเพื่อความบันเทิงและชวนให้คิด
จากคนที่มีสามีเรียนจบวชิราวุธวิทยาลัยค่ะ

๑ มีความเป็นผู้ดีในการดำเนินชีวิต เป็นสุภาพบุรุษ ให้เกียรติผู้หญิง(อย่างน้อยยามอยู่ต่อหน้า)

๒ สวดมนต์เก่ง เข้าใจศาสนาพุทธดี

๓ แต่งตัวดี เด็กโอวีเวลาไปงานศพงานแต่งงานจะดูออกทันทีว่าเป็นโอวี ด้วยวิธีแต่งกายที่สุภาพ เป็นระเบียบอย่างไม่รู้ตัว

๔ เล่นกีฬาเก่ง ชอบกีฬา มีน้ำใจนักกีฬา

๕ เล่นดนตรีได้ ทำงานศิลปะดี

๖ มีความอดทนสูง สามารถทนทุกข์ทรมานได้นานกว่าผู้ชายที่ไม่เคยเรียนโรงเรียนประจำ

๗ รับประทานอาหารง่ายไม่เรื่องมาก รับประทานเร็วไม่โอ้เอ้ ทำอะไรให้ทานก็ทาน

๘ มีความเกรงใจภรรยาในระดับสูงกว่ามาตรฐาน ถึงจะนินทาภรรยาลับหลังบ้างก็เป็นการพูดถึงด้วยความรักและเคารพ

๙ เรียนจบไปนานเท่าไร ยังรักเพื่อนฝูงเหมือนเดิม เวลาอยู่ด้วยกันจะกลับเป็นเด็กอีกครั้ง

๑๐ ความทรงจำในวัยเด็กที่ลำบากมากๆ มาด้วยกันคือโซ่คล้องใจให้เพื่อนๆ รักกันตลอดไป

๑๑ เป็นคนมีเกียรติ ซื่อสัตย์ ทำตัวเป็นมหาดเล็กหลวงแม้จะไม่มีตำแหน่งหรือหน้าที่นี้แล้วในปัจจุบัน

๑๒ เป็นคนมีใจมุ่งมั่น ใจเด็ด มีความเป็นลูกผู้ชายสูง เพราะถูกหล่อหลอมมาจากความดุร้ายเข้มงวดของรุ่นพี่ ใครอ่อนแอจะอยู่ไม่ได้

๑๓ มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ อดทนในการต่อสู้แข่งขัน

๑๔ รู้จักเข้าคิว ไม่ตัดหน้าคนอื่น เสียสละได้เสมอ ยอมเสียเปรียบ

๑๕ รักชาติศาสน์กษัตริย์มาก

๑๖ มีอารมณ์ขันขั้นรุนแรง

๑๗ พูดจาสุภาพมาก มีสัมมาคารวะ

๑๘ ทำงานมีระบบ ทำงานเข้ากับผู้ใหญ่และผู้ที่อาวุโสกว่าได้ดี

๑๙ บางคนอาจมีนิสัยแตกต่างไปจากนี้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้จริงๆ ค่ะ

มัดซีเชื่อว่าความลำบากในโรงเรียนประจำคือความร้อนที่หลอมเหล็กกล้าให้แกร่งค่ะ
สำหรับมัดซี ผู้ชายที่อ่อนแอ เอาแต่ใจตัวเอง กินยากอยู่ยาก ไม่อดทน ชอบแซงคิว ไม่รู้แพ้รู้ชนะ เล่นกีฬาไม่เป็น ไม่รู้จักศิลปะและดนตรี เป็นผู้ชายที่ไม่มีเสน่ห์
ผู้ชายที่ไม่มีเสน่ห์คือผู้ชายที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างตามใจมากไปหน่อย ใครแต่งงานด้วยต้องอดทนนะคะ ค่อยๆ ฝึกกันไป เพราะปัญหานี้คนที่สร้างขึ้นคือบุพการีที่รักลูกผิดวิธี ตัวผู้ชายเองไม่รู้ตัว


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 08 มี.ค. 19, 15:39
แต่การจะเป้นนักเรียนวชิราวุธให้ได้ตลอดรอดฝั่งนั้นไม่ใช่ของง่าย  ในปีแรกที่เข้าคณะเด็กเล็กก็หายไปหลายคนแล้ว  ส่วนหนึ่งก็ทนได้ไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ  ครั้นเข้าคณะในก็เช่นกัน เด็กหลายคนที่ทนไม่ได้ก็ร่ำร้องขอให้พ่อแม่มาลาออกไปอยู่โรงเรียนอื่นก็เยอะ พวกที่ทนได้ หรือเห็นว่าสนุกก็มิใช่จะทางโล่ง  บางคนถูกโรงเรียนตามผู้ปกครองมาลาออกกลางคันเพราะพฤติกรรมที่ไม่ดี  เช่นถูกเพื่อนจับได้ว่ามีนิสัยขี้โขมยบ้าง  ครูรายงานว่าเกียจคร้านบ้าง  ชอบรังแกเด็กอย่างรุนแรงบ้าง รายการหลังนี่ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กที่เล็กกว่าทนไม่ได้จนหนีกลับบ้าน ผู้ปกครองนำเรื่องมาฟ้องโรงเรียน  หากสอบสวนแล้วเป็นจริงแม้จะบางคนจะเป็นหัวหน้า ผู้บังคับการก็ไม่ละเว้น

ไม้ตายท่านี้เป็นที่รู้กันทุกคน ดังนั้นการใช้เด็กจึงต้องมีศิลป์ด้วยไม่งั้นเด็กไม่ยอมทำ จะไปลงมือลงเท้าก็เป็นได้ซาโยนาระทุกราย

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องผลการเรียนที่ทำให้เพื่อนหลายคนต้องจากกันไปเมื่อสิ้นปีการศึกษา  วชิราวุธเล่นมากก็จริงแต่ก็ต้องเรียนให้สอบผ่านเกณฑ์ของโรงเรียนด้วย  แล้วใครจะถือเอาคะแนนของวชิราวุธเป็นบรรทัดฐานนักก็ไม่ได้ ผมขอยกตัวอย่าง ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ท่านเขียนเล่าในประวัติของท่านว่า ท่านสอบผ่านมัธยม ๘ ด้วยคะแนนรวม ๕๒% แต่ท่านสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์จุฬาได้ในอันดับต้นๆ  และสอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่นิวซีแลนด์ได้ในปีนั้น

จักรพันธุ์ โปษยกฤต  ใช้เวลาดนตรีและกีฬานั่งเขียนรูปตั้งแต่เด็กจนโต  พระยาภะรตก็ไม่ว่าอะไร แถมยังหาครูดีๆมาแนะนำเทคนิกให้อีก  ถึงปีสอบไม่ผ่าน แต่ได้ขึ้นชั้นโดยมีวงเล็บว่า “ทดลองเรียน” จนจบ ม. ๘ แล้ว พี่ท่านสอบเข้าคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรผ่านฉลุย  หลังจากนั้นชีวิตก็เดินทางไปสู่จุดสุดยอดในฐานะศิลปินแห่งชาติที่มีผลงานมากมายสุดจะบรรยาย

จักร จักษุรักษ์ อดีตนักรักบี้ทีมชาติตั้งแต่อยู่โรงเรียน และเป็นนักกิฬาระดับตำนานของวชิราวุธหลายประเภท  สอบไล่ตกซ้ำชั้นบ้าง ทดลองเรียนบ้างจนจบ ม. ๘  ปีแรกสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่ได้  ก็สมัครเข้ารับราชการเป็นพลตำรวจ มีหน้าที่เล่นรักบี้ให้ทีมตำรวจและทีมชาติ  ปีต่อมาสอบได้และเรียนจนจบเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร  รับราชการตามสถานีตำรวจนครบาลหลายแห่งจนเป็นผู้กำกับ  เมื่อเล่นรักบี้ไม่ไหวแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นโค้ชจนแก่ ในชีวิตมีส่วนทำให้ชาติไทยได้เหรียญรางวัลกีฬาประเภทนี้ทั้งในซีเกมส์และเอเชียนเกมส์มากมาย ท่านผู้นี้เกษียณที่ยศพลตำรวจตรี  เพิ่งจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นยอดนักกิฬาเอก ได้รับรางวัล Hall Of Fame สยามกีฬาอวอร์ดส์ประจำปีนี้

เมื่อมองย้อนหลังแล้ว ผมก็ได้แต่สรรเสริญพระยาภะรตราชา ตอนนั้นคิดว่าท่านลำเอียง ใครเลยจะนึกว่าการศึกษาของโลกในยุคใหม่  โรงเรียนจะต้องพยายามเฟ้นหาเด็กอัจฉริยะในวิถีใดวิถีหนึ่ง แล้วหาทางช่วยส่งเสริมให้ผ่านกรอบอันคับแคบของระบบการศึกษาไปให้ได้ เพื่อจะไปแสดงศักยภาพอย่างเต็มพิกัดในอนาคต   เรื่องนี้จึงนับว่าท่านผู้บังคับการวชิราวุธมีวิสัยทัศน์ล้ำหน้า โดยทำเช่นนี้มาแล้วหลายสิบปี  โดยอาศัยว่ากระทรวงศึกษาฯไม่กล้ามายุ่งนักกับโรงเรียนนี้

   

เห็นรูป "ท่านยักษ์จักร" สมัยเป็นนักเรียนแล้วท่านหล่อจริงๆ
ความคิดของเจ้าคุณภะรตที่พยายามเฟ้นหาและส่งเสริมความสามารถด้านอื่นๆของเด็กนอกเหนือจากการเรียนเป็นเรื่องทันสมัยมากถึงปัจจุบันเป็นการทำให้เด็กพวกนี้มีที่ยืนไม่ต้องหลบซ่อนหรือเปลี่ยนพฤติกรรมไปเอาเด่นทางเป็นเด็กเกเร น่าเสียดายที่ความคิดนี้ถูกนำมาใช้ในระบบการศึกษาของเราน้อยมาก


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 08 มี.ค. 19, 15:42
ขออภัยโพสซ้ำกรุณาตัดความเห็นที่ 26 ออกด้วยครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 มี.ค. 19, 16:51
อ้างถึง
๑๒ เป็นคนมีใจมุ่งมั่น ใจเด็ด มีความเป็นลูกผู้ชายสูง เพราะถูกหล่อหลอมมาจากความดุร้ายเข้มงวดของรุ่นพี่ ใครอ่อนแอจะอยู่ไม่ได้

เม้นต์ของคุณศรีภรรยาข้อนี้ สำหรับสมัยท่านสามีคงจะเป็นความจริงอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันคงเปลี่ยนไปแล้วตามกาลสมัย จะเห็นได้จากพิธีกรรมเล็กๆในวันพระราชทานประกาศนียบัตร อันเป็นวันสุดท้ายที่นักเรียนชั้นสูงสุดจบการศึกษาและต้องพ้นไปจากโรงเรียน เด็กในคณะจะมายืนเข้าแถวรอส่งพี่ๆ เป็นการร้ำลาซึ่งกันและกัน บรรยากาศจะเป็นอย่างที่เห็น


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 08 มี.ค. 19, 17:15
อาจจะอ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอครับอาจารย์ใหญ่  :)

ผมชอบข้อ 16 มีอารมณ์ขันรุนแรงมาก เพราะเดี๋ยวนี้ออกแนวดราม่ากันหมดแล้ว เพื่อนๆ ผมพร้อมรบทุกคนเมื่อมีเรื่องเฉี่ยวๆ การเมือง ไอ้กระผมก็วิ่งหนีอย่างเดียวเท่านั้นเอง


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 19, 19:33
เห็นภาพใน ค.ห.24 แล้ว นึกย้อนถึงตัวเองเมื่อเข้ามาอยู่ประจำปีแรกๆเลย  งานออกแขกครั้งแรกก็ถูกจับไปแต่งตัวเป็นอาหมวย เล่น (แข่งขัน) แย้ลงรูหน้าพลับพลาที่ประทับ  เป็นอะไรที่หงุดหงิดหัวใจเหลือเกินที่ถูกจับไปแต่งเป็นเด็กผู้หญิง ก็เราเป็นเด็กผู้ชายนี่หว่า   

นึกย้อนไปเมื่อครั้งแรกเข้าโรงเรียนนั้น ตัวเองก็คงจะน่ารักน่าดูอยู่ไม่น้อย ผมคงจะตัวเล็กมาก ขนาดว่าเมื่ออยู่ในแถวเดินไปในพิธีถวายบังคมในวันที่ 23 ตุลาคม นั้น ผมอยู่แถวท้ายสุด โกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลยเพราะถูกสาวอาวุโสทั้งหลายแกล้งจับตัว ดึงออกไปจากแถว จับแก้ม ไอ้เราก็กลัวว่าจะเดินตามขบวนไม่ทัน แถวท้ายขบวนสองสามแถวนั้นเป็นเรื่องบันเทิงของสาวๆทั้งหลายจริงๆ   ก็ไม่รู้ว่าโตขึ้นมาได้อย่างไร ถึงได้สูงถึง 172 ซม. และมี นน.ร่วม 80 กก.


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 19, 21:56
ขอส่งแผนที่พุทธศักราช 2453 จัดพิมพ์โดยจุฬาลงกรณ์ฯ แสดงตำแหน่งพื้นที่ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จึงอยากให้นักเรียนเก่า  OV รบกวนแกะร่องรอยตึกเก่าๆ ให้ทีครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 19, 09:21
หลังการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ แล้ว  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ เนื้อที่ ๙๙ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา ที่สวนกระจัง ริมคลองเปรมประชากร ตำบลสวนดุสิต ให้เป็นที่ตั้งถาวรของโรงเรียน  แล้วขุดสระเพื่อนำดินมาถมท้องร่องปรับพื้นที่ เพื่อจัดสร้างเรือนไม้ชั่วคราวยกพื้นสูง หลังคามุงจาก สำหรับใช้เป็นหอประชุม อาคารเรียนและเรือนนอน  และสนามกีฬาของนักเรียน

ในแผนที่ของคุณหนุ่มสยามระบุว่าจัดทำในปี ๒๔๕๓ เช่นเดียวกันนั้น ถึงสมัยก่อนจะเปลี่ยนศักราชใหม่ในกลางเดือนเมษายน  แต่อาคารชั่วคราวของโรงเรียนยังไม่น่าจะสร้างเสร็จ  ผังโรงเรียนในแผนที่น่าจะจำลองมาจากแบบร่าง  ซึ่งเมื่อสร้างจริงก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกเล้กน้อย

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) และจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง เขียนเล่าไว้ว่า หมู่เรือนที่เป็นโรงเรียนชั่วคราวหลังคาจากนั้น  แบ่งเป็นห้องเรียนอยู่กลุ่มหนึ่งที่สองฝั่งของสนามรูปไข่ทางตอนหน้า ถัดเข้ามาตอนในของสนามรูปไข่เป็นที่ตั้งหอประชุมของโรงเรียนที่มีลักษณะเป็นเรือนไม้ทาสีเขียวตั้งอยู่ระหว่างห้องเรียนทั้งสองฝั่ง ต่อจากหมู่เรือนที่เป็นหอประชุมและห้องเรียนไปทางทิศตะวันตก เป็นเรือนไม้ทาสีขาวสลับชมพูสลับกัน จัดเป็นเรือนนอนนักเรียนพร้อมที่พักครูกำกับเรือน  ซึ่งแบ่งเป็น ๕ เรือน คือ เรือน ก. เรือน ข. เรือน ค. เรือน ง. และเรือน จ. กับมีเรือนเด็กเล็กซึ่งมีหม่อมพยอมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ เป็นครูแม่บ้านแยกไปเป็นอีกเรือนหนึ่งต่างหาก  แต่ละเรือนมีห้องล้างหน้า ตู้เสื้อผ้า เตียงสปริงและที่นอนหมอนมุ้งพร้อมสรรพ  ด้านหลังสุดแถวของห้องนอนจัดเป็นห้องน้ำและห้องส้วมแยกออกไปเป็น ๒ หมู่ ด้านหลังสุดของหมู่เรือนจัดเป็นโรงอาหารขนาดใหญ่ต่อเนื่องกับโรงครัว

การก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจังนี้สิ้นพระราชทรัพย์ไปในการก่อสร้างอาคารรวมค่าขุดคูและสระน้ำทั้งสิ้น ๒๑๒,๓๑๗ บาท เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นโรงเรียนใหม่ที่สวนกระจัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๔ โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูปจากวัดเบญจมบพิตรมาเจริญพระพุทธมนต์และรับพระราชทานฉันเพล เสร็จแล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กหลวงจากโรงเรียนราชกุมารเก่า) ใกล้หอพิธีพราหมณ์ในพระบรมหาราชวังมาอยู่ที่โรงเรียนใหม่ที่สวนกระจัง และได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนใหม่นี้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นต้นมา


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 19, 09:24
สำหรับอาคารถาวรนั้น พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต่อมาคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้หารือกับนายเอดเวิร์ด ฮีลี่ สถาปนิกชาวอังกฤษ ซึ่งเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง และได้ร่วมกันวางผังโรงเรียน โดยกำหนดให้มีหอสวดหรือหอประชุมของโรงเรียนไว้ที่กึ่งกลางโรงเรียนเช่นเดียวกับ Church ของ Public School ในอังกฤษ ก่อนหน้าที่จะสร้างอาคารชั่วคราวลงไปไม่ให้เกะกะกัน

เมื่อทรงเห็นด้วยในแบบแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสิทธินายเวร (น้อย ศิลปี)  โยธาวังเป็นแม่กองจัดการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นที่ด้านทิศใต้ของสถานที่ที่กะไว้เป็นที่ก่อสร้างหอประชุม


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 19, 09:28
นายฮีลี่ ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมตามแบบตะวันตกที่มีเอกลักษณ์ไทยตามพระราชประสงค์โดยร่วมกับพระสมิทธเลขา (ปลั่ง วิภาตศิลปิน) หัวหน้าแผนกออกแบบของกรมศิลปากร  แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างอาคารถาวรทั้งหมดของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยเริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๔๕๗ จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๙ นับเป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับเรือนไม้หลังคาจากที่เป็นโรงเรียนชั่วคราวนั้น ยังใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนต่อมา จนการก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว จึงได้รื้อเรือนไม้หลังคาจากซึ่งในเวลานั้นอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมลง และย้ายนักเรียนไปเรียนที่ตึกวชิรมงกุฎแทน.

เก็บความจากเว็บ จดหมายเหตุวชิราวุธ โดย อ.วรชาติ มีชูบท
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/01_20.htm


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 19, 10:06
ถ้าใครอยากทราบว่าเรือนไม้ใต้ถุนสูง หลังคามุงจากหน้าตาเป็นเช่นไรก็คงประมาณได้จากภาพนี้

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อังกฤษส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดจากอินเดียมาถล่มโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสามเสนราบไปแล้ว ทางการไฟฟ้าได้ขอเข้ามาใช้พื้นที่สนามหลังของโรงเรียน  ซึ่งขณะนั้นย้ายนักเรียนไปอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน  เพื่อนำเครื่องปั่นไฟขนาดย่อมเข้ามาตั้ง ระดมผลิตไฟฟ้าทดแทนสำหรับกรุงเทพ

พอจารชนของอังกฤษชี้พิกัดให้  ฝูงบินของอังกฤษก็ตามเข้ามาถล่ม  มีระเบิดลูกหนึ่งพลาดเป้าไปโดนตึกคณะดุสิตทลายราบ เหลือเพียงส่วนที่เป็นเรือนผู้กำกับคณะปีกเดียว แต่ระเบิดหลายลูกก็หลุดไปโดนพระที่นั่งอนันตสมาคม  และพระที่นั่งอัมพรสถาน เสียหายไปส่วนหนึ่งด้วย

เพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษมาทิ้งระเบิดแถวนี้อีก  รัฐบาลจึงปลูกเรือนไม้ชั่วคราว หลังคาจากขึ้นตามภาพ  แล้วย้ายเชลยสัมพันธมิตร(ทั้งหมดเป็นพวกนักธุรกิจที่ทำงานอยู่ในเมืองไทยและถูกชิงจับกุมไว้ก่อนญี่ปุ่น) จากตึกโดม  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มาพำนักอยู่ที่นี่  ฝรั่งก็ชอบเพราะเหมือนได้กลับเป็นเด็กพับบลิก สกูลอีก  ใช้เวลาว่างเล่นดนตรีกีฬาไปเรื่อย ไม่ทุกขเทวษเหมือนพวกที่ตกเป็นเชลยของญี่ปุ่นที่เมืองกาญจน์

เมื่อสงครามเลิกแล้ว และตึกคณะดุสิตยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่  โรงเรียนก็ใช้เรือนจากหลังนี้ต่อมาอีก  ๑๘ ปี สำหรับนักเรียนวชิราวุธคณะนี้  ซึ่งผมกับคุณตั้งใช้ชีวิตร่วมกันถึง ๔ ปี ก่อนที่จะตึกใหม่จะสร้างเสร็จ และเราย้ายไปประเดิมในตำแหน่งหัวหน้าคณะ ๒ ใน ๔ คนของคณะดุสิตในปี ๒๕๐๖


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 19, 11:13
ผังโรงเรียน พ.ศ. 2495


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 19, 11:21
^
จากข้างบนจะเป็นว่าคณะดุสิตอยู่ใกล้นิดเดียวจากสนามหลัง อันเป็นที่รัฐบาลมาตั้งโรงไฟฟ้าชั่วคราว ทำให้โรงเรียนต้องประสบความเสียหาย

ตึกคณะดุสิตเมื่อสร้างขึ้นมาใหม่โดยงบที่จำกัดจำเขี่ยที่รัฐบาลชดใช้ให้  ทำให้ไม่อาจสนองความเป็นอยู่ของนักเรียนได้เท่าที่ควร  ต่อมาได้รับเงินจากสำนักงานพระคลังข้างที่ผู้จัดการกองมรดกของวชิราวุธวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานจากองค์พระผู้พระราชทานกำเนิดและผู้โดยเสด็จพระราชกุศล จึงมีการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานทัดเทียมคณะอื่นๆ อย่างไรก็ดี ในวาระที่โรงเรียนมีอายุ ๑๐๐ ปี คณะกรรมการโรงเรียนได้จัดหางบประมาณมาทำการบูรณะคณะดุสิต ให้กลับคืนสภาพที่สง่างามตามเดิมก่อนที่จะถูกทำลาย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 19, 14:11
ชนชาติศัตรูที่ถูกนำมาคุมขังที่โรงเรียนนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันดีกับท่านผู้บังคับการ พระยาภะรตราชา รวมทั้งคุณครูหลายท่านอีกที่เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ  เมื่อเกิดความขาดแคลนในยามสงคราม  เชลยสงครามเหล่านี้จึงได้รับการเลี้ยงดูแบบอดๆ อยากๆ ท่านผู้บังคับการและคุณครูทั้งหลายจึงมักจะนำอาหารใส่หอแล้วปาข้ามรั้วลวดหนามเข้าไปให้ผู้ที่อยู่ในค่ายนั้นอยู่เสมอๆ

หนึ่งในเชลยชาติที่จอมพล ป.ไปประกาศสงครามด้วยนั้น  มีมิสเตอร์สจ๊วต มาร์ ผู้จัดการสายการเดินเรือของบริษัท บอเนียว จำกัดรวมอยู่ด้วย
มิสเตอร์มาร์ ผู้นี้เป็นชาวสก๊อต และได้นำปี่ของตนติดตัวเข้าไปในค่ายเชลยในวชิราวุธวิทยาลัยด้วย  วันดีคืนดีครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมาก็นำปี่ออกมาเป่าเสียงก้องไปทั้งโรงเรียน  ปีสก๊อตนี้ถ้าใครได้ฟังจะประทับใจในเสียงกระหึ่มจากท่อลม ๓ ท่อที่ทรงพลัง สามารถสะกดคนฟังให้นิ่งได้  พระยาภะรตเคยเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษอยู่หลายปี  คุ้นเคยกับเสียงปี่นี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว  ท่านจึงเมตตามิสเตอร์มาร์เป็นพิเศษ

เมื่อสงครามสงบลงแล้วมิสเตอร์มาร์ได้มาขอบพระคุณท่านผู้บังคับการและปวารณาตัวที่จะช่วยเหลือโรงเรียนเป็นการตอบแทน  พระยาภะรตจึงเล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเคยมีพระราชดำริที่จะจัดให้มีวงปี่สก๊อตสำหรับนำแถวเสือป่ารักษาพระองค์แต่ไม่ทันได้ทำ  ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็อยากให้เขาช่วยจัดตั้งวงปี่นี้ให้กับวชิราวุธวิทยาลัยเพื่อสนองพระราชประสงค์

เมื่อมิสเตอร์ทราบแล้วก็มีความยินดี  จึงได้มอบปี่สก๊อตของตนเองให้โรงเรียน ๑ คัน และสั่งซื้อมาให้อีก ๓ คัน รวมกับที่โรงเรียนสั่งซื้อมาอีก ๔ คัน  แล้วฝึกสอนนักเรียนจนจัดตั้งวงปี่สก๊อตของวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  โดยมิสเตอร์มาร์ได้อุทิศเวลามาต่อเพลงด้วยตนเองอาทิตย์ละครั้ง  จนกระทั่งสมัยผมเข้าคณะในแล้วก็ยังทันเห็นท่านอยู่สองสามปี  เวลานั้นวงปี่มีร่วม ๔๐ คน มีผู้ที่เก่งพอจะสอนรุ่นน้องต่อๆกันได้แล้ว  มิสเตอร์มาร์จึงขอวางมือเพราะภารกิจรัดตัวและอายุมากแล้ว

ปี่สก๊อตของมิสเตอร์มาร์ที่มอบให้โรงเรียนเป็นปี่เก่าแก่ประจำตระกูลที่ท่านได้รับสืบมรดกมา  ทำจากไม้ Black African ส่วนที่เป็นโลหะทำด้วยเงินแท้แกะลายอย่างประณีต  ปลายปีและปากเป่าทำด้วยงาช้าง เมื่อก่อนผู้ที่เป็นหัวหน้าวงจะได้รับเกียรติให้เป็นผู้ครองปี่นี้  แต่ภายหลังโรงเรียนได้นำไปเก็บไว้ในหอประวัติเพื่อรักษาไว้ไม่ให้เสียหาย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 19, 19:41
คณะดุสิตเป็นคณะเดียวที่มีช่อฟ้า ตั้งอยู่ที่มุมด้านรัฐสภา    คณะจิตรลดา ตั้งอยู่มุมด้านพระราชวังสวนจิตรลดา   คณะพญาไท ตั้งอยู่มุมด้านที่ทำการเขตดุสิต   และคณะผู้บังคับการ ตั้งอยู่มุมด้านแยกพิชัย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มี.ค. 19, 15:26
คณะดุสิตเป็นคณะเดียวที่มีช่อฟ้า ตั้งอยู่ที่มุมด้านรัฐสภา    คณะจิตรลดา ตั้งอยู่มุมด้านพระราชวังสวนจิตรลดา   คณะพญาไท ตั้งอยู่มุมด้านที่ทำการเขตดุสิต   และคณะผู้บังคับการ ตั้งอยู่มุมด้านแยกพิชัย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร  ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้ทอดพระเนตรเห็นศิลปสถาปัตยกรรมไทยที่เมืองกำแพงเพชร สุโขทัย และสวรรคโลกในสภาพที่สมบูรณ์   จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายอี. ฮีลี่ ขึ้นไปเที่ยวที่นั่น เพื่อหาความคิดสร้างสรรในการออกแบบอาคารสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง   ซึ่งนาย อี. ฮีลี่ได้สถาปนิกไทย พระสมิทธเลขาจากกรมศิลปากรมาประยุกต์สถาปัตยกรรมไทยลงไปในงานออกแบบอาคารทั้ง ๔ คณะ ในแนวคิดตะวันตกซึ่งเป็นสากล


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 19, 20:28
ยังรอฟังคุณ NAVARAT.C ขยายความต่ออยู่ครับ เรื่อง หอประชุม ตึกขาว ตึกพยาบาล และหอระฆัง  ซึ่งดูจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจทางสถาปัตยกรรมอยู่ไม่น้อย   
 
อ้อ...เรื่องพระมนู ด้วยครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 19, 21:17
คุณ NAVARAT.C ว่าไปในเรื่องหลักๆทางโครงสร้างก่อน(Institutional framework) แล้วค่อยมาขยายความในเชิงของกระบวนกิจกรรมที่จะไปช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แต่ละบุคคลให้มี competency ในองค์รวม (Capacity building)

ผมก็ได้เขียนมายืดยาวพอสมควรแล้ว เกรงจะไกลไปจากเรื่องที่คนถามอยากจะทราบไปทุกที ขอเชิญคุณตั้งว่าบ้างก็แล้วกัน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มี.ค. 19, 15:12
ขอศิษย์เก่าอีกสองด้วยช่วยขยาย
ท่าน Cinephile แย้มให้หายฉงน
คุณวีมีร่วมด้วยช่วยอีกคน
เล่าเรื่องหนเรียนเน้นเล่นกินนอน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 19, 16:21
เพิ่งไปเฝ้าท่านมุ้ยตามที่ได้รับโทรศัพท์จากท่านว่าขอให้ไปคุยกันหน่อยได้ไหม ปรากฏว่าบ้านอยู่ใกล้กันนิดเดียว ผมแนะนำตัวว่าเป็นรุ่นนัองที่เข้าสวนกับที่ท่านออกจากวชิราวุธพอดี ท่านมุ้ยเข้าคณะในได้ปีเดียวเท่านั้น เสด็จพ่อก็ทรงส่งท่านไปเรียนต่อที่อเมริกา

ดร.ชัยอนันต์เคยเขียนเล่าว่า ท่านมุ้ยเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน มักจะใช้เวลาในห้องเพรบเขียนการ์ตูนในสมุดแบบฝึกหัดของโรงเรียนเป็นเรื่องๆ แล้วเอามาให้เพื่อนอ่านต่อๆกัน
นี่ท่านก็เป็นเด็กอัจฉริยะอีกคนหนึ่ง หากเป็นนักเรียนวชิราวุธในสมัยนี้ ท่านจะได้เรียนวิชาที่ชื่นชอบกับอาจารย์เฉพาะด้าน โดยใช้อุปกรณ์ทันสมัยในการผลิตสื่อวีดิทัศน์ คงจะสนุกกับการเรียนมาก

ผมรู้สึกเป็นห่วงที่สุขภาพท่านไม่สู้จะดีเท่าไหร่ในขณะนี้  เกรงว่าจะไม่ได้เข้ามาอ่านหมายเชิญของคุณหมอเพ็ญ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 19, 18:18
บังเอิญว่า ตลอดทั้งสัปดาห์หน้าจะไปต่างจังหวัด ก็เลยคิดว่าจะมาเริ่มเล่าความหลังจากกลับมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ภาพก็เลยดูคล้ายกับว่าไม่อยากจะเขียนอะไร 

เอาเป็นว่าจะเริ่มลำดับความ แล้วก็จะเว้นไป 1 สัปดาห์ นะครับ

ที่จะเล่าต่อจากนี้ไป เป็นประสบการณ์ของผมและสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีเต็ม จนซึมซาบเข้าไปในตัวตนของผม คร่อมช่วงวัยเด็กเล็กจนถึงวัยเด็กโตเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 19, 18:56
โรงเรียนรับเด็กตั้งแต่ชั้นประถม 3 และเด็กมีอายุ 8 ขวบขึ้นไป เด็กที่รับเข้ามาก็มีคละกันไปทั้งที่มีเชื้อพระวงค์ พ่อค้าคหบดี เรื่อยไปจนถึงข้าราชการในต่างจังหวัด   ด้วยที่โรงเรียนจำกัดในเรื่องจำนวนนักเรียน ในปีหนึ่งๆจึงมีนักเรียนหน้าใหม่อยู่ประมาณ 60 คน แบ่งห้องเรียนออกเป็นห้อง ก กับห้อง ข

ดังที่คุณ NAVARAT.C ได้เล่าไว้ โรงเรียนจะแยกการดูแลเด็กออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นเด็กเล็ก อายุระหว่าง 8 - 11 ปี คือ ชั้น ป.3 - ม.2 ในระบบการศึกษาสมัยก่อน (ในปัจจุบัน คือ ป.3 - ป.6)  จากนั้นก็ก็จะย้ายข้ามฝั่งเข้าไปอยู่ส่วนของเด็กโต  เรียกกันว่า คณะใน หรือคณะใหญ่ (แล้วค่อยๆขยายความต่อไป) 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 19, 19:38
คณะเด็กเล็กจะแบ่งออกเป็น 3 คณะ สมันก่อนนั้นเรียกชื่อว่า คณะเด็กเล็ก 1 เด็กเล็ก2 และเด็กเล็ก 3  ในปัจจุบันนี้มีชื่อเรียกว่า คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และคณะสราญรมย์ ตามลำดับ   พระยาภรตราชา ผู้บังคับการโรงเรียนในสมัยนั้นจะเป็นผู้จัดให้เด็กคนใดไปอยู่คณะใดๆ (ทั้งคณะเด็กเล็กและคณะใน)  แต่ละคณะก็จะมีสีประจำคณะ เด็กเล็ก 1 สีเหลือง เด็กเล็ก 2 สีม่วง เด็กเล็ก 2 สีเทา(ควันบุหรี่)   

ผมอยู่คณะเด็กเล็ก 2 หมายเลข 22 ทุกอย่างของผมคือหมายเลข 22 ทั้งหมด ตั้งแต่ตู้เสื้อผ้า ไปจนถึงเตียงนอน รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆก็ต้องเขียนหรือปักตัวเลข 22   ของใช้ก็จะมีอาทิ ขันน้ำสำหรับตักน้ำอาบ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว รองเท้ากีฬาสีขาว ถุงเท้ากีฬา ถุงใส่เสื้อผ้าสำหรับส่งให้ผู้ปกครองนำกลับไปซัก

เอาละครับ พอจะได้เห็นภาพลึกลงไปอีกหน่อยแล้วว่าอะไรเป็นอะไร  เพื่อจะผูกเรื่องถึงการสร้างฐานที่ดีในการดำเนินชีวิตต่อๆไป


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 14 มี.ค. 19, 20:19
อยากถามครับว่าในโรงเรียประจำแบบนี้เวลาอาบน้ำใช้ห้องน้ำรวมกันหรือแยกกันแล้วห้องนอนเป็นแบบรวมมีเตียงสองชั้นหรือแบบอื่น


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 19, 20:32
ห้องน้ำรวมครับ ไม่มีใครอายใคร นอกจากพวกที่หลุดเข้ามาตอนโตแล้วอาจจะกระมิดกระเมี้ยนตอนแรก แต่สุดท้ายก็ชินไป

พับบลิกสกูลในโลกนี้เหมือนกันหมด ฝรั่งสปอร์ตคลับยังเดินโทงๆในห้องล็อคเกอร์และเวลาเดินไปห้องอาบน้ำ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 19, 20:36
ส่วนห้องนอนก็แยกเป็นห้องๆ สำหรับเด็กเล็กเด็กโตในคณะ แต่ก็นอนกันห้องหนึ่งๆหลายคน

สมัยผมเป็นเตียงเดี่ยว แต่สมัยนี้เป็นห้องติดแอร์ เตียงสองชั้นครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 14 มี.ค. 19, 20:48
ขอบคุณครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 14 มี.ค. 19, 23:56
ช่วยกรุณาตอบอีกสักเรื่องคือเรื่องอาหารการกินเป็นอย่างไรบ้างและโรงเรียนนี้มีเด็กมุสลิมเรียนบ้างไหมอาหารต้องแยกกันหรืออย่างไรครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 19, 07:58
โรงเรียนจัดอาหารให้เด็กวันละ ๓ มื้อ อาหารว่าง ๑ มื้อตอนช่วงเพลนั้น คณะเด็กเล็กมีจัดให้เพราะห้ามนักเรียนเอาสตางค์มาโรงเรียน แต่คณะในมีโรงขายอาหารที่โรงเรียนเลือกแม่ค้ามาขายขนมหรือข้าวแกงให้นักเรียนในราคาเยา

สมัยผมนั้น แต่ละคณะจะมีครัวที่ผู้กำกับคณะเป็นผู้บริหารจัดการ  กับข้าว ๒ อย่าง แกง ๑ อย่าง ไม่มีอาหารมุสลิม เพราะไม่มีอิสลามในโรงเรียน
นักเรียนทานอาหารพร้อมกันในเรือนอาหารของคณะ สำรับละ ๕ คนรุ่นๆเดียวกัน หัวโต๊ะยาวจะมีหัวหน้านั่งคุม  การไม่ใช้ถาดหลุม เป็นการสอนมารยาทสังคมให้นักเรียน ใครตะกละจะโดนเพื่อนสั่งสอน

แน่นอนว่าคุณภาพของอาหารจะไม่เหมือนที่บ้าน หรือไม่ถูกปาก ตรงนี้ก็สร้างลูกอึดให้นักเรียน มีอย่างไรก็ต้องกินอย่างนั้น บางคณะมีศัพท์แปลกๆเรียกอาหารที่จัดให้ว่ากับข้าวหมาถอยบ้าง ข้าวต้มแผ่นกับลูกปลาวาฬทอดกรอบบ้าง(อันนี้คือปลาชิ้งชั๊ง) แกงจืดลูกชิ้นผ่าแปดบ้าง(อันนี้เห็นจะเกินไป) ผู้บังคับการได้ยินก็เดือดร้อน บนหอประชุมจึงได้ยินท่านพูดเนืองๆเรื่องอาหารว่าที่โรงเรียนจัดให้นี้ดีกว่าที่อังกฤษมากแล้ว ที่โน่นอย่าว่าแต่นักเรียนไทยเลย คนอังกฤษยังกระเดือกแทบไม่ลง แต่ก็ทำให้คนอังกฤษชนะสงครามทุกครั้งเพราะทนความลำบากได้นานกว่าชาติอื่นนั่นเอง

เห็นจะต้องเชื่อท่าน เพราะเวลาที่มีผู้รับเชิญจากภายนอกมาปาฐกถาให้นักเรียนฟัง ผู้ที่เคยเป็นนักเรียนพับลิกสกูลจะต้องกล่าวถึงอาหารเสมอ คล้ายกับเป็นเรื่องที่ฝังใจนักเรียนเมื่อผ่านชีวิตตรงนี้มาได้

ในช่วงปลายของยุคผม ได้มีผู้กำกับคณะคนใหม่ของคณะจิตรลดาเข้ามาแทนท่านเดิมที่ถึงแก่กรรม ขอจารึกชื่อผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ของวชิราวุธท่านนี้ คือ ครูอรุณ แสนโกศิก นอกจากท่านจะเป็นโค้ชรักบี้ระดับเทวดาแล้ว ท่านยังมีน้ำใจต่อลูกศิษย์ทุกคน อาหารของคณะจิตรลดายกมาตรฐานขึ้นเป็นระดับเชลล์ชวนชิม รุ่นผมหลังซ้อมรักบี้แล้วได้ไปทานข้าวที่คณะของท่านเสมอๆ กิตติศัพท์ระบือไกลจนในที่สุดพระยาภะรตต้องจัดระเบียบใหม่เพื่อไม่ให้เหลื่อมล้ำ โดยโรงเรียนจัดตั้งครัวรวมขึ้น แล้วกระจายอาหารไปให้ทุกคณะ ช่วงนี้ผมไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทราบว่าทีคณะของครูรุณก็ยังมีอาหารฝีมือครูแม่บ้านให้นักรักบี้ทีมโรงเรียนในมือเย็นตามเคย

ทุกวันนี้ที่สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธ มีห้องอาหารชื่อ ครัวโอวี ซึ่งลูกศิษย์ได้มอบพื้นที่ให้คุณครูแม่บ้าน ภรรยาหม้ายของครูรุณหารายได้ในยามชราเพื่อตอบแทนพระคุณครู เวลานี้ท่านยังอยู่แต่ชรามากแล้ว ลูกๆของท่านเป็นผู้ทำกิจการแทน รสชาติอาหารตามเมนูเดิมๆนั้น ถ้าใครข้องใจก็ไปพิสูจน์ได้ เอาชื่อครัวโอวีไปค้นที่อยู่ในเน็ตได้ไม่ยาก



กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 มี.ค. 19, 08:19
ช่วงปลายของท่าน NAVARAT.C คือ ช่วงที่เพิ่งเริ่มเข้าโรงเรียน
เวลานั้นแต่ละคณะยังต่างทำอาหารกันเอง  เว้นแต่คณะผู้บังคับการที่จัดทำอาหารส่งให้คณะเด็กเล็ก ๑ และเด็กเล็ก ๒ ด้วย
ส่วนคณะเด็กเล็ก ๓ มีครัวของคณะและทำอาหารส่งให้คณะพญาไท  ตัวผมอยู่คณะเด็กเล็ก ๑  เลยมีบุญได้รับประทาน
อาหารรสเลิศที่กล่าวแกมประชดกันกันว่า สุนัขยังเมินตลอดสี่ปีที่อยู่คณะเด็กเล็ก  แล้วย้ายเข้าคณะจิตรลดาที่มีครูแรุณเป็นผู้กำกับคณะ
ตลอด ๖ ปีที่อยู่คณะนี้จึงได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพเหนือกว่าคณะอื่นๆ  แม้กระนั้นสมัยผมช่วงมราผมอยู่คณะโตซึ่งเป็น
ช่วงปลายสมัยท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา  เกิดมีข้อเปรียบเทียบเรื่องอาหารดังที่ท่าน NAVARAT.C กล่าวไว้
ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาด้วยการออกเมนูอาหารมาตรฐานวันละ ๓ มื้อตลอดเดือน  เมื่อถึงวันตามตารางแต่ละคณะก็จะต้อง
จัดรายการอาหารตามเมนูที่กำหนด  แต่ก็ยังมีข้อเปรียบเทียบว่า อาหารคณะโน้นอร่อยกว่า มัปริมาณมากกว่าคณะนี้
ฉะนั้นในยุคผู้บังคับการ ดร.กัลย์  อิศรเสนา ณ อยุธยา  คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนจึงอนุมัติงบประมาณให้จัดสร้าง
โรงครัวกลางขึ้นในโรงเรียน  แล้วจัดทำอาหารส่งให้ทุกคณะ  นับแต่นั้นมาอาหารทุกคณะจึงเป็นมตรฐานเดียวกันมาจนถึงบัดนี้


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 19, 08:28
ห้องน้ำรวมครับ ไม่มีใครอายใคร นอกจากพวกที่หลุดเข้ามาตอนโตแล้วอาจจะกระมิดกระเมี้ยนตอนแรก แต่สุดท้ายก็ชินไป

พับบลิกสกูลในโลกนี้เหมือนกันหมด ฝรั่งสปอร์ตคลับยังเดินโทงๆในห้องล็อคเกอร์และเวลาเดินไปห้องอาบน้ำ


ผมลืมกล่าวถึงเด็กเล็ก ก่อนผมนั้นรับเด็กตั้งแต่ประถม ๑ ต่อมาพบว่าเด็กเกินไปเป็นภาระแก่โรงเรียนมากจึงตัดทอนมาเป็นประถม ๓ และอยู่ในคณะเด็กเล็กถึง ๔ ปีก่อนจะเข้าคณะใน
เด็กวัยนี้อาบน้ำเอง(ใช้ขันตักจากตุ่ม หรืออ่างน้ำ) ไม่สะอาดแน่นอน ครูประจำคณะจะจัดบ๋อยมาคอยขัดขี้ไคลให้ทุกวัน

บ๋อย ก็มาจาก boy ศัพท์นี้ถือกำเนิดในอินเดียเมื่ออังกฤษไปยึดเป็นเมืองขึ้น แล้วใช้เป็นสรรพนามเรียกคนรับใช้ชาวพื้นเมืองทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย ลามกลับไปบ้านเกิดที่นักเรียนพับบลิกสกูล หรือมหาวิทยาลัยจะเรียกพนักงานรับใช้ว่าบ๋อยหมด ซึ่งหากเป็นฝรั่งด้วยกันจะโกรธมาก แต่ฝรั่งที่อพยพมาจากยุโรปตะวันออกอาจจะเฉยๆ แบบว่ามีงานทำก็บุญแล้ว

แต่อย่างไรไม่ทราบที่วชิราวุธไปรับธรรมเนียมนี้มา บ๋อยในวชิราวุธเกือบร้อยละร้อยเป็นผู้หญิง ตั้งแต่วัยสาวหรือแก่ ทำงานในครัวและงานแม่บ้านทั่วไป บ๋อยในคณะเด็กเล็กที่คอยขัดขี้ไคลให้เด็กๆนั้นก็เป็นรุ่นสาวทั้งสิ้น จึงเป็นภาระของครูที่ต้องหมั่นมากำกับการแสดงตรงนี้  ถ้าเห็นนักเรียนโค่งคนใดชักจะเป็นหนุ่มแล้วโดยสังเกตุจากขน  ก็จะรีบรายงานท่านผู้บังคับการให้รีบย้ายตัวเข้าคณะในเสียตั้งแต่เนิ่นๆโดยไม่ต้องรอให้จบปีการศึกษา
เข้าคณะในโรงเรียนไม่จัดบ๋อยมาบริการอะไรที่เป็นส่วนตัวในทุกกรณีย์ครับ

ภาพห้องอาบน้ำข้างล่างไม่ใช่ของจริง แต่ใกล้เคียงกับสมัยผมอยู่มาก


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 19, 08:35
ดีใจที่ได้อาจารย์วรชาติมาช่วย คงช่วยได้เยอะเพราะอยู่กับโรงเรียนนานมากทั้งในฐานะนักเรียนและครู

ทราบว่าระยะหลังๆตั้งแต่สมัยผู้บังคับการ ดร.ชัยอนันต์เป็นต้นมา มาตรฐานอาหารด้านโภชนาการของโรงเรียนสูงมาก นักเรียนวชิราวุธยุคปัจจุบันจึงรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง แต่ถ้าไม่เล่นกีฬาหนักพอก็จะอ้วนฉุไปเลย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 19, 17:55
เมื่อผู้ปกครองได้นำบุตรของตนไปมอบตัว ส่งไปให้อยู่ในรั้วของโรงเรียน ก็จะเป็นวันแรกของชีวิตเด็กวัยประมาณ 8 ขวบที่จะต้องเริ่มต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ไม่คุ้นเคย สำหรับผมและเพื่อนอีกหลายคนก็แย่มากขึ้นไปอีกหน่อย ตรงที่เดินออกจากสภาพแวดล้อมบ้านนอกเมืองหลวงตรงเข้าสู่ในอีกสภาพแวดล้อมที่มีระเบียบและวินัยกำกับอยู่ 

พ่อแม่ก็ใจหายพอๆกับเด็กนั่นแหละ ก่อนจะถึงวันมอบตัวก็ดูเหมือนว่าครอบครัวต่างๆจะทำกิจกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความรู้สึกคล้ายๆกัน คือไปเดินเที่ยวดูสัตว์ พายเรือ ถีบเรือที่เขาดิน (สวนสัตว์ดุสิต)  แล้วก็เกือบจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่จะต้องไปเที่ยวสวนสัตว์กันก่อนจะเข้าโรงเรียน กระทั่งเป็นเด็กโตอยู่คณะในแล้วก็ยังนิยมทำกันอยู่ นักเรียนวชิราวุธฯก็เลยรู้จักเขาดินเป็นอย่างดีและมักจะรู้จักสัตว์ต่างๆทั้งไทยและเทศในระดับค่อนข้างดี   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 19, 18:39
เวลานำเด็กไปมอบตัว ต่างก็มักจะเลือกเป็นเวลาหลังอาหารกลางวัน คล้ายกับการเลี้ยงส่ง ก็คงกินกันไม่ค่อยลงหรอกครับ  วันแรกที่มอบตัว ก็จะเป็นวันแรกที่พ่อแม่จะได้เห็นสภาพความเป็นจริงที่ลูกของตนจะต้องเผชิญ ก็คงจะต้องห่วงกันเป็นธรรมดา ในระหว่างที่ช่วยเอาเสื้อผ้าออกจัดเก็บในตู้เสื้อผ้า (ขนาดประมาณ 1 x 1 x 0.40 ม.) มีสองชั้น ปากก็จะพร่ำบอกลูกเท่าที่นึกอยากจะบอกว่าจะต้องทำอย่างไรในเรื่องอะไรบ้าง เช่น แยกเสื้อผ้าใช้แล้ว การใช้ขันอาบน้ำฟอกสบู่ ฯลฯ  สำหรับผมนั้น จำได้แม่นในเรื่องที่แม่บอกว่า เวลานอนอย่าลืมเอาผ้าทับหน้าอกไว้

ผมคิดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการปลูกฝังสิ่งที่มีคุณค่าลงไปในจิตสำนึกของเด็กในเรื่องที่พ่อแม่อยากจะเห็นลูกของตนเป็นคนเช่นใด  ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนจะต้องบอกลูกว่า เป็นเด็กดีนะ เชื่อฟังครู อย่าเกเร ตั้งใจเรียน ขยันและอดทน   เด็ก 8 ขวบ คิดถึงพ่อแม่แล้วจะไม่นึกถึงคำที่พ่อแม่บอกไว้หรือไร เมื่อพ่อแม่มาเยี่ยมเอาขนมมาให้กินในวันพฤหัสบดีพร้อมเก็บถุงผ้าใช้แล้วเพื่อเอาไปซัก เอากลับมาคืนให้พร้อมกับการเยี่ยมในวันเสาร์หรืออาทิตย์ ก็ยังได้ยินคำพูดเช่นนั้นอีก แต่มักจะต่อท้ายด้วยวลีว่า...หรือเปล่า? ตอกย้ำฝังลึกลงไปอีกหลายปีก่อนจะเข้าคณะใน    ก่อนจากกันก็ยังต่อท้ายด้วยว่า พ่อแม่รักลูกนะ พูดออกมาพร้องสิ่งที่แสดงออก (น้ำเสียง ตา การโอบกอด ฯลฯ)   ผมเห็นว่า เรื่องเช่นนี้เองเป็นพื้นฐานที่ยังผลให้ต่อมาเด็กวชิราวุธฯเกือบทุกคนมีลักษณะเฉพาะที่ซับซ้อนบางประการ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 19, 19:24
ชีวิตที่ต้องเริ่มรับรู้ในความเป็นจริงเมื่อไม่มีคนที่รักเรามาช่วยปกป้องช่วยสนับสนุนใดๆ ต้องพึ่งพาตนเองเอาตัวให้รอดก็เริ่มขึ้นแต่เย็นวันแรกที่เข้าเป็นนักเรียนประจำ

เริ่มต้นก็เก้ๆกังๆกับการพับเสื้อนอกให้ยับน้อยที่สุดตามวิธีที่แม่สอนไว้ เก็บหมวก เก็บแผงคอ ถุงเท้ายาว รองเท้าหนังผูกเชือก   เมื่อถึงเวลา 5 โมงเย็นก็ต้องไปอาบน้ำ ครูจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มจะมีจำนวนมากพอที่จะยืนได้สองฝั่งของบ่อน้ำอาบ  เราก็เตรียมตัวแก้ผ้า นุ่งผ้าเช็ดตัว ถือขันพร้อมกับกล่องสบู่ของตน ถึงเวลาก็ใส่รองเท้าแตะยืนเดินเข้าห้องอาบน้ำ   ถอดผ้าเช็ดตัววางไว้ ก็เขินอายไปตามเรื่อง เมื่อผนวกกับว่าจะต้องเข้าโต๊ะอาหารกินข้าวเวลา 6 โมงเย็น  ก็เลยกลายเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่วงเวลาของการอาบน้ำต้องเป็นการอาบน้ำจริงๆ มิใช่เล่นน้ำควบคู่ไปด้วย  เลยที่มาของการอาบน้ำไม่เกิน 5 ขัน ขันแรกราดตัวให้เปียก แล้วฟอกสบู่ สมัยนั้นสบู่ก็ไม่ค่อยจะเป็นฟองมากนัก แถมน้ำยังเป็นน้ำกระด้างอีก เอาสบู่ลูบหน้าได้พรืดหนึ่ง สองแขน สองขา หน้าก้นหลังก้นก็พอแล้ว ตักน้ำล้างสองสามขันก็ตัวหายลื่นจากสบู่แล้ว (เพราะเป็นน้ำกระด้าง) เสร็จแล้วก็ขึ้น(เช็ดตัวแล้วออกจากห้องน้ำ)    เชื่อว่านิสัยอาบน้ำเร็วก็ยังคงมีติดตัวกันอยู่ในปัจจุบันกับพวกโอวีทั้งหลาย เพียงแต่เมื่อวัยมากขึ้นขึ้นก็อาบแบบให้มีความสอาดไปตามสมควร       


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 19, 19:22
อาบน้ำเสร็จก็มาแต่งตัวชุดนอนสีขาว ซึ่งจะเป็นกางเกงแบบชาวเรือประมง เรียกกันว่ากางเกงจีน รัดเอวด้วยการขมวดเป็นปมเช่นเดียวกับการนุ่งผ้าขาวม้า เสื่้อก็จะเป็นเสื้อทรงเสื้อหม้อฮ่อม เรียกกันว่าเส้อกุยเฮง   ตั้งแต่ 5 โมงเย็น ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องของการอาบน้ำตอนเย็น รวมไปถึงการเก็บเสื้อผ้าใช้แล้วและการจัดตู้เสื้อผ้าก็จะจบลงภายในเวลาสั้นๆไม่ถึงชั่งโมง เพราะว่าหากเสร็จเร็วมากเพียงใดก็จะมีเวลาว่างที่จะเดินเล่น นั่งเล่น หรือเล่นอะไรกันที่สนุกๆก่อนอาหารเย็น (เช่น ดีดลูกหิน หยอดหลุม ฯลฯ)   

เรื่องการจัดตู้เสื้อผ้านั้น ก็จะมีการเปิดตู้ตรวจเป็นระยะๆโดยคุณครูแบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ทุกคนจะต้องไปยืนประจำอยู่หน้าตู้ของตน หากไม่มีการจัดหรือมีความรกรุงรัง หรือมีของเถื่อนแอบซ่อนอยู่ คุณครูก็จะว่ากล่าวต่อหน้า ทุกคนก็จะได้ยิน คนที่ทำผิดก็จะรู้สึกอาย ไม่อยากทำอีกต่อไป    ของเถื่อนที่ว่านี้ก็คือพวกขนมขบเคี้ยวซึ่งผู้ปกครองมักจะเป็นฝ่ายคะยั้นคะยอให้เอาไปเก็บซ่อนไว้ เด็กก็ไม่อยากทำหรอกเพราะจะถูกตรวจและเมื่อถูกจับได้ก็จะรู้สึกอับอาย รู้กระฉ่อนกันไปทั้งบาง

6 โมงเย็นก็เข้าแถวเพื่อเดินเข้าห้องอาหาร สำหรับเด็กใหม่ เรื่องแรกที่ต้องเรียนรู้เป็นเรื่องของ etiquette ในโต๊ะอาหาร  ก็มีเรื่องการนั่งเรียงกันสองฝั่งโต๊ะยาว แต่แยกการจัดอาหารออกเป็นสำรับ แต่ละสำรับจะมี 5 คน เป็นสำรับของแต่ละกลุ่ม จะไม่มีการตักหรือแย่งอาหารข้ามสำรับกัน หากใครคนใดในสำรับเอื้อมไปตักอาหารไม่ถึงก็ให้ใช้วิธีเคาะที่โต๊ะแล้วชี้ไปที่อาหารจานนั้น เพื่อนก็จะช่วยเลื่อนจานนั้นมาให้ 
ก็คงไม่ต้องห่วงว่ากับข้าวเหล่านั้นจะถูกรุมแย่งกันตักไปกิน  ดังที่คุณ NAVARAT.C ได้เกริ่นไว้ เห็นกับข้าวก็พอเป็นงงแล้วว่า อะไรหว่า จะแย่งตักแต่เนื้อหรือ ? มันก็มีอยู่น้อยนิดพอให้ได้รู้ว่าเป็นอะไรเท่านั้น จัดเป็นอาหารจานสุขภาพที่เข้าใกล้อาหารมังสวิรัติจริงๆ เมื่อหน้าตา รสชาติ เป็นดังว่า การแย่งตักก็จึงเกือบจะไม่ปรากฎให้เห็นเลย  เครื่องปรุงรสบนโต๊อาหารก็มีแต่เพียงน้ำปลาซึ่งก็ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรๆอร่อยขึ้นไปมากมาย ก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่เสมือนกับการฝึกให้อยู่ง่ายและกินง่ายที่กลาบติดเป็นนิสัยติดตัวตลอดไป 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 19, 20:25
นั่งในโต๊ะอาหารแล้ว เด็กใหม่ทุกคนจะได้รับการบอกกล่าวจากคุณครูว่า ช้อนของแต่ละคนจะวางอยู่ด้านขวามือ ส้อมของทุกคนจะวางอยู่ทางด้านซ้ายมือของจานข้าว แก้วน้ำของแต่ละคนจะวางอยู่ที่มุมด้านขวามือเหนือจานข้าว  แล้วก็จะบอกวิธีการจับช้อนและส้อม  บอกว่าอย่าคุยกันหรือส่งเสียงดัง อย่าพูดกันและอ้าปากในขณะที่กำลังเคี้ยวข้าว

อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมบังคับจนเป็นความเคยชิน คือด้วยการนั่งชิดกันในโต๊ะอาหารขณะทานข้าว ทำให้ไม่มีที่ว่างสำหรับการกางข้อศอกหรือเอาข้อศอกวางบนโต๊ะอาหาร รวมถึงไม่สามารถจะนั่งยกแข้งยกขาได้ อันเป็นความสุภาพที่ยอมรับกันทั่วไปในระหว่างการมื้ออาหารของผู้คนทั่วๆไปในสังคมโลก 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 16 มี.ค. 19, 20:51
เวลานำเด็กไปมอบตัว ต่างก็มักจะเลือกเป็นเวลาหลังอาหารกลางวัน คล้ายกับการเลี้ยงส่ง ก็คงกินกันไม่ค่อยลงหรอกครับ  วันแรกที่มอบตัว ก็จะเป็นวันแรกที่พ่อแม่จะได้เห็นสภาพความเป็นจริงที่ลูกของตนจะต้องเผชิญ ก็คงจะต้องห่วงกันเป็นธรรมดา ในระหว่างที่ช่วยเอาเสื้อผ้าออกจัดเก็บในตู้เสื้อผ้า (ขนาดประมาณ 1 x 1 x 0.40 ม.) มีสองชั้น ปากก็จะพร่ำบอกลูกเท่าที่นึกอยากจะบอกว่าจะต้องทำอย่างไรในเรื่องอะไรบ้าง เช่น แยกเสื้อผ้าใช้แล้ว การใช้ขันอาบน้ำฟอกสบู่ ฯลฯ  สำหรับผมนั้น จำได้แม่นในเรื่องที่แม่บอกว่า เวลานอนอย่าลืมเอาผ้าทับหน้าอกไว้

ผมคิดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการปลูกฝังสิ่งที่มีคุณค่าลงไปในจิตสำนึกของเด็กในเรื่องที่พ่อแม่อยากจะเห็นลูกของตนเป็นคนเช่นใด  ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนจะต้องบอกลูกว่า เป็นเด็กดีนะ เชื่อฟังครู อย่าเกเร ตั้งใจเรียน ขยันและอดทน   เด็ก 8 ขวบ คิดถึงพ่อแม่แล้วจะไม่นึกถึงคำที่พ่อแม่บอกไว้หรือไร เมื่อพ่อแม่มาเยี่ยมเอาขนมมาให้กินในวันพฤหัสบดีพร้อมเก็บถุงผ้าใช้แล้วเพื่อเอาไปซัก เอากลับมาคืนให้พร้อมกับการเยี่ยมในวันเสาร์หรืออาทิตย์ ก็ยังได้ยินคำพูดเช่นนั้นอีก แต่มักจะต่อท้ายด้วยวลีว่า...หรือเปล่า? ตอกย้ำฝังลึกลงไปอีกหลายปีก่อนจะเข้าคณะใน    ก่อนจากกันก็ยังต่อท้ายด้วยว่า พ่อแม่รักลูกนะ พูดออกมาพร้องสิ่งที่แสดงออก (น้ำเสียง ตา การโอบกอด ฯลฯ)   ผมเห็นว่า เรื่องเช่นนี้เองเป็นพื้นฐานที่ยังผลให้ต่อมาเด็กวชิราวุธฯเกือบทุกคนมีลักษณะเฉพาะที่ซับซ้อนบางประการ


การมีลักษณะเฉพาะที่ซับซ้อนบางประการนั้น สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนในโรงเรียนกินนอนจินตนาการไม่ถูกว่าเป็นอย่างไรเช่นมีความคิดฝังใจว่าพ่อแม่ไม่รักไม่ต้องการเราหรืออย่างไร ช่วยกรุณาขยายความเท่าที่จะเล่าได้เพื่อความเข้าใจด้วยครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 19, 18:59
กลับจาก ตจว. แล้วครับ

ในประเด็นที่คุณ Choo ขอให้ขยายความนั้น แท้จริงแล้วมิได้ประสงค์จะให้เกิดความเคลือบแคลงใดๆ เป็นเรื่องที่จะขยายความอยู่แล้ว แต่บังเอิญเป็นช่วงเวลาที่ต้องเดินทางไป ตจว. ครับ

ความซับซ้อนที่ว่านั้นก็คือ เรื่องของกลไกส่วนตนในการปฎิบัติตนให้เหมาะสมและเข้าได้ดีกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ทั้งในสภาวะที่เป็นเชิงรุกและเชิงรับ (ในกรอบของสิ่งที่พ่อแม่ได้พร่ำพูดไว้ก่อนจากกัน)  กลไกที่ว่านั้นมีทั้งในด้านที่เป็นภาคของแนวคิด จิตใจ และการกระทำ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่ยังมาจากพื้นฐานของครอบครัว (สถานะ อาชีพ การงาน ฯลฯ) และการเลี้ยงดู 

อ่านแล้วก็คงจะเป็นงงพอๆกัน  เอาเป็นว่า แต่ละคนต่างก็มีเรื่องส่วนตนที่อยากจะปกปิด เปิดเผย ลดละ หรือเพิ่มเติมในด้านแนวคิด จิตใจ และการกระทำเมื่อต้องอยู่ร่วมกัน     


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 25 มี.ค. 19, 20:30
ขอบคุณครับ พอเข้าใจได้เรื่องทำนองนี้ในโรงเรียนทั่วไปก็มีแต่คงไม่เข้มข้นเท่าเด็กที่อยู่ประจำซึ่งไกลจากผู้ปกครอง


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 19, 18:28
ใช่ครับ เรื่องในทำนองนี้มีอยู่เป็นปกติโดยทั่วๆไป   แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน โดยเฉพาะในด้านของการอยู่รวมกันในลักษณะที่เป็นกลุ่มแบบเกือบจะ 24 ชั่วโมงทั้งในรูปของกลุ่มเพื่อนสนิทกลุ่มเล็กๆ กลุ่มชั้นเรียน กลุ่มกินนอน กลุ่มคณะ กลุ่มกีฬา ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้นั้น ผมเห็นว่ามันได้ยังผลให้เกิดการสร้างทัศนคติแบบอะลุ่มอล่วย ไม่มีการแสดงออก(ของบุคคล)แบบสุดขั้วทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ (ก้าวร้าว ข่มขู่...) หากแต่จะช่วยกันหาทางออกหรือหาข้อยุติร่วมกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือตรรกะต่างๆ (จุดเริ่มต้นของพฤติกรรมที่เรียกว่าสุภาพบุรุษ ?) 

คงจะเป็นเบ้าหลอมในเบื้องแรกของช่วงอายุประมาณ 8-11 ปี ก่อนที่จะข้ามไปอยู่ในคณะใน(เด็กโต) ซึ่งเป็นเบ้าหลอมอีกเบ้าหนึ่งที่มีการใส่เครื่องปรุงแต่งต่างๆเพิ่มเติมลงไป ซึ่งสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของจิตใจและร่างกายในระยะแรกเริ่มของช่วงวัยเจริญพันธุ์ จาก ด.ช. เป็นนาย จาก ด.ญ. เป็น นางสาว   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 19, 19:09
จะขอต่อไปเรื่องอาหารของคณะเด็กเล็กเมื่อครั้งกระโน้น (2498-2501)

คิดว่าวันพฤหัสแรกที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้พ่อแม่มาเยี่ยมลูกได้นั้น น่าจะได้รับฟังเรื่องราวที่เหมือนๆกันคือ อาหารไม่อร่อย กินไม่ได้  พ่อแม่ก็คงจะถามว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเด็กก็คงจะตอบไม่ได้เพราะเด็กไม่เคยเห็น พ่อแม่ก็คงจะขอให้บอกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เด็กก็ยังบอกไม่ได้อยู่ดีว่าอาหารเหล่านั้นมันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง   

วันเสาร์หรืออาทิตย์ที่มาเยี่ยมครั้งต่อไปก็เลยจะมีการนำอาหารพวกก๋วยเตี๋ยวบะหมี่มาด้วย  พอนานวันเข้าเด็กก็มักจะอายที่นั่งกินอย่างมีความสุขอยู่แต่เพียงตนเอง คิดถึงเพื่อนที่มีพ่อแม่อยู่ห่างไกลจนเกือบจะไม่ได้มาเยี่ยมเลย ก็จะขอให้พ่อแม่ซื้อมาฝากเพื่อนด้วย แล้วก็เรียกเพื่อนมานั่งด้วย ซึ่งเพื่อนก็เกรงใจไม่อยากมาร่วมวงกินเสร็จก็รีบหลีกออกไป สุดท้ายเพื่อนก็ขอไม่มาร่วมวงด้วย ท้ายที่สุดเด็กก็จะมาพบพ่อแม่เพียงระยะเวลาสั้นๆและไม่เอาของกินอะไร หากจะมีก็ขอเพียงของกินเล่นแห้งๆที่พอจะนำไปฝากเพื่อนได้บ้าง ทำแบบแอบๆ เพราะครูห้ามไม่ให้ทำ ก็เลยมีคำว่า ของเถื่อน ที่เด็กมักจะเอาไปซุกซ่อนเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 19, 18:14
กับข้าวบนโต๊ะอาหาร เท่าที่จำได้ก็จะออกไปทางหนักผักเนื้อน้อย เด็กก็จะรู้ไปเองว่ามีอะไรที่ต้องแบ่งปันกัน มิใช่โกยเอาเป็นของตัวเองเสียหมด   ในส่วนตัวของผม อาหารที่จำได้แม่นก็คือข้าวต้มดังที่คุณ NAVARAT.C ได้กล่าวไว้ ซึ่งมีลักษณะออกไปทางโจ๊กข้นๆเกือบจะหาเนื้อไม่เจอ มีเป็นอาหารเช้าทุกวัน  มีแกงเทโพผักบุ้งกับหมูสามชั้น ซึ่งมีบ่อยมากจนต่อมาเกือบจะไม่ทานอีกเลย มีหัวผักกาดขาวหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผัดกับหมูที่หั่นแบบเดียวกันแล้วใส่แป้งแบบอาหารจีน แกงจืดก็จะมีต้มจับฉ่ายหรือต้มจืดผักกาดขาวเป็นหลัก  สำหรับผักต้มจืดผักกาดขาวนี้ได้กินตลอดระยะเวลา 10 ปีที่อยู่ประจำ   สำหรับอาหารจานอื่นๆนั้นจำไม่ได้แล้ว ซึ่งคิดว่าที่จำไม่ได้ก็เพราะความรู้สึกได้ก้าวไปถึงระดับกินเพื่ออยู่  ไม่เคยเห็นมีผู้ใดบ่นหรือออกอาการอย่างหัวเสียกับเรื่องอาหารอย่างเป็นจริงเป็นจังสักราย 

เรื่องเหล่านี้คงจะยังผลให้กลายเป็นคนที่อยู่ง่ายกินง่ายต่อไป   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 19, 19:05
แล้วเติบโตแข็งแรงกันมาได้อย่างไร

สำหรับเด็กเล็กวัยปานนั้น ก็เป็นปกติที่ผู้ใหญ่และคุณครูทั้งหลายจะรู้สึกเอ็นดูและทำหน้าที่ทั้งในเชิงของครู พี่เลี้ยง และเสมือนพ่อแม่ จึงอะลุ่มอล่วยในบางเรื่อง เช่น อนุญาตให้แม่บ้านช่วยจัดการในเรื่องการต้มหรือลวกใข่(ที่พ่อแม่ฝากไว้)ให้กับเด็กในอาหารมื้อเช้า อนุญาตให้เด็กเอาเครื่องปรุงอาหารบางอย่างฝากไว้ที่ครัว(ห้องอาหาร)  ซึ่งเครื่องปรุงที่สำคัญในสมัยนั้นก็คือ ซอสแม็กกี้ น้ำพริกเผา และซอสพริกศรีราชา

ยังนึกถึงรสและความอร่อยเหลือหลายกับไข่ต้มที่ใช้ช้อนตัดเป็นชิ้นๆในถ้วยแล้วใส่ซอสพริกและแม็กกี้ลงไปคลุก   สำหรับน้ำพริกเผานั้นเอามาคลุกข้าวและอาจเหยาะแม็กกี้ลงไปด้วย ทำให้กินข้าวได้อร่อยมากขึ้นกับกับข้าวที่ว่าไม่อร่อยเหล่านั้น

เกือบลืมไปว่า ในยุคนั้นเริ่มมีนมโฟร์โมสแจกให้เด็กตามโรงเรียนได้ดื่มกันด้วย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 19, 19:13
ลืมไปอีกอย่างหนึ่ง ผัดพริกขิงกากหมูใส่ขวดฝากไว้ที่ครัวก็มีเช่นกัน เอามาคลุกข้าวก็อร่อยดีไม่เลว   อยู่มาระยะหนึ่ง เริ่มกินของเผ็ดได้ ก็มีพริกป่นเพิ่มขึ้นมา เอามาคลุกข้าวเหยาะน้ำปลาลงไปก็เพิ่มรสและความอร่อยได้มาก


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 19, 19:27
ของเถื่อนของเด็กโตในคณะเด็กเล็กที่ทุกคนรู้จักกันดีคือ ข้าวตัง   ข้าวที่ทานกันนั้นหุงด้วยกระทะใบบัว ก็เลยมีข้าวตังติดที่ก้นกระทะ เมื่อมีโอกาสก็จะแอบขอจากแม่ครัว เอามาแบ่งกันเป็นของกินเล่น  เรื่องนี้เป็นเรื่องของความสนุกของเด็กในการแสดงความสามารถในการแอบเอาของเถื่อนจากฝั่งคณะใน ข้ามถนนมาฝั่งคณะเด็กเล็ก มาแบ่งกันกินด้วยความนุกสนาน  ก็เป็นเรื่องที่ยังเอามาเล่ากันเมื่อยามแก่ แล้วก็หัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 มี.ค. 19, 07:10
"สำหรับเด็กเล็กวัยปานนั้น ก็เป็นปกติที่ผู้ใหญ่และคุณครูทั้งหลายจะรู้สึกเอ็นดูและทำหน้าที่ทั้งในเชิงของครู พี่เลี้ยง และเสมือนพ่อแม่ จึงอะลุ่มอล่วยในบางเรื่อง เช่น อนุญาตให้แม่บ้านช่วยจัดการในเรื่องการต้มหรือลวกใข่(ที่พ่อแม่ฝากไว้)ให้กับเด็กในอาหารมื้อเช้า อนุญาตให้เด็กเอาเครื่องปรุงอาหารบางอย่างฝากไว้ที่ครัว(ห้องอาหาร)  ซึ่งเครื่องปรุงที่สำคัญในสมัยนั้นก็คือ ซอสแม็กกี้ น้ำพริกเผา และซอสพริกศรีราชา"

ภาพเก่าตอนรับประทานข้าวต้มอผ่นผุดขึ้นมาทันทีเลยครับ  เวลารับประทานข้าวต้มอผ่นนิยมหยดแม๊กกี้แล้วปรุงรรสด้วยซอยพริกศรีราชา  คคนให้เข้ากันก่อนรับประทานให้รสซอสพริกศรีราชานำ  ช่างโแชารสได้เหลือเกินครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มี.ค. 19, 08:27
จะขอต่อไปเรื่องอาหารของคณะเด็กเล็กเมื่อครั้งกระโน้น (2498-2501)

วันเสาร์หรืออาทิตย์ที่มาเยี่ยมครั้งต่อไปก็เลยจะมีการนำอาหารพวกก๋วยเตี๋ยวบะหมี่มาด้วย  พอนานวันเข้าเด็กก็มักจะอายที่นั่งกินอย่างมีความสุขอยู่แต่เพียงตนเอง คิดถึงเพื่อนที่มีพ่อแม่อยู่ห่างไกลจนเกือบจะไม่ได้มาเยี่ยมเลย ก็จะขอให้พ่อแม่ซื้อมาฝากเพื่อนด้วย แล้วก็เรียกเพื่อนมานั่งด้วย ซึ่งเพื่อนก็เกรงใจไม่อยากมาร่วมวงกินเสร็จก็รีบหลีกออกไป สุดท้ายเพื่อนก็ขอไม่มาร่วมวงด้วย ท้ายที่สุดเด็กก็จะมาพบพ่อแม่เพียงระยะเวลาสั้นๆและไม่เอาของกินอะไร หากจะมีก็ขอเพียงของกินเล่นแห้งๆที่พอจะนำไปฝากเพื่อนได้บ้าง ทำแบบแอบๆ เพราะครูห้ามไม่ให้ทำ ก็เลยมีคำว่า ของเถื่อน ที่เด็กมักจะเอาไปซุกซ่อนเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า   

ผมอยู่เด็กเล็กคนละคณะกับคุณตั้ง จึงไม่เข้าใจเรื่องที่เล่าว่าการเอาของที่พ่อแม่มาเยี่ยมไปกินกับเพื่อนๆนั้น ครูห้ามไม่ให้ทำ

คณะเด็กเล็กจะอนุญาตให้ผู้ปกครองมาเยี่ยมลูกได้สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง คือวันพฤหัส บ่ายสามถึงบ่ายสี่ กับวันอาทิตย์ตั้งแต่สิบโมงเช้า จนถึงบ่ายสี่เช่นกัน คณะเด็กเล็ก ๓ ของผมอนุญาตให้ตลอดช่วงเวลานั้นเด็กจะนั่งทานของที่พ่อแม่หอบหิ้วมาเยี่ยมด้วยกันกับครอบครัวก็ได้ หรือจะเอาอาหารนั้นมานั่งล้อมวงทานกับเพื่อนๆ ครูไม่ห้าม
กรณีย์ของผม หลังจากผ่านพ้นช่วงแรกๆที่กินอะไรไม่ลง แม่มาก็จะอ้อนกลับบ้านท่าเดียวไปแล้ว หลังแม่กลับก็จะนำอาหารมาล้อมวงกับเพื่อนๆที่มีของเยี่ยม โดยไม่ลืมร้องเรียกเพื่อนที่เป็นเด็กต่างจังหวัดไม่มีใครมาเยี่ยมให้เข้ามาร่วมวงด้วยทุกครั้ง ซึ่งก็ไม่เคยเห็นมีใครอิดออด ของกินแต่ละวงก็จะหมดลงในเวลารวดเร็วก่อนกำหนดที่ครูห้ามไว้ว่าหลังจากนั้นก็ห้ามนำอาหารมาทานอีก

ส่วนของที่เก็บได้ เช่น แม๊กกี้หรือน้ำพริกเผาอะไรนั้่น หลังวันเยี่ยมเห็นมีวางไว้ทุกสำรับ ไม่กี่วันก็เหลือแต่ขวดเปล่า ทุเรียนกวนก็เช่นกัน แรกๆก็ถ้อยทีถ้อยแบ่งกันกับเพื่อนใกล้ตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนสนิทกันทั่วแล้ว เวลาแกะห่อก็ต้องคอยกันมือที่พุ่งเข้ามาจากสาระพัดทิศ อย่างน้อยตัวเองต้องกัดให้ได้หนึ่งคำจึงจะสมศักดิ์ศรีเจ้าของ

ส่วนพวกที่แอบซ่อนขนมไว้ในตู้เสื้อผ้า ไม่เคยเห็นว่าครูจะจับได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเพื่อนๆจะจับได้เสียก่อน มีผลต่างกันเล็กน้อย คือถ้าถูกครูจับได้ก็คงถูกริบไป ถ้าเพื่อนจับได้ ตนเองก็อาจจะได้กินสักชิ้นสองชิ้น เป็นที่เฮฮากันไป



กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 28 มี.ค. 19, 10:34
  ขออนุญาตเสริมหน่อยนะครับ ตอนผมเรียนเด็กเล็กสมัย 2518 ผู้ปกครองเยี่ยมได้เฉพาะวันอาทิตย์   กลับบ้าน 1 ครั้ง  ตอนสิ้นเดือน ช่วงเสาร์ อาทิตย์
นักเรียนคนใดที่ผู้ปกครองไม่สามารถมาเยี่ยมได้ ซึ่งส่วนมาก คุณพ่อคุณแม่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อนๆก็จะชวนไปทานข้าวด้วย ซึ่งผู้ปกครองก็จะเตรียมอาหารมาเผื่อเพื่อนลูกด้วย

  วันเยี่ยมลูก คือ การปิคนิคของครอบครัว คณะเด็กเล็กจะมีศาลา ตั้งโต๊ะไม้ยาวไว้ เพื่อให้มานั่งทานข้าวกัน  แรกๆ ผู้ปกครองก็เตรียมอาหารกลางวันกันมาพอรับประทานกันเองในครอบครัว ตามจำนวน พ่อ แม่ ลูก ทานเสร็จแล้วก็กลับ ไม่ได้นั่งแช่กัน

  หลังๆก็ชักจะมากขึ้น ผู้ปกครอง สองสามครอบครัว รู้จักกัน ก็จะมารวมโต๊ะกัน ผู้ปกครองบางคนจะมาแต่เช้า ราว แปดโมง เอาผ้ามาปูโต๊ะจองเอาไว้ เป็นขาประจำว่าชั้นจะนั่งโต๊ะนี้ สักพัก ก็จะมีครอบครัวอื่นตามกันมาร่วมวง หิ้วตะกร้าอาหารการกินมาเต็มพิกัดเผื่อครอบครัวอื่นอีกด้วย เนื่องจากให้เข้าเยี่ยมได้ ตั้งแต่ หลังจากสวดมนต์ รับโอวาทที่หอประชุม ประมาณ เก้าโมงครึ่ง  จน ถึง บ่ายสาม เลยนั่งไป กินไป คุยไป ตั้งแต่เช้าจรดบ่าย จะเป็นอย่างนี้ประจำ สังเกตุได้เลยมุมไหนโต๊ะไหน เป็นของผู้ปกครองใครบ้าง  ที่ข้าใคร อย่า แตะ

  แรกๆก็อาหารสำเร็จ รับประทานกันได้เลย หลังๆ พอเด็กรุ่นใหม่ๆมา คุณพ่อคุณแม่ กลัวลูกจะไม่ได้ทานอาหารสดใหม่ ถึงขนาดเอาเตาปิ๊คนิคมาปิ้งย่าง ประกอบอาหาร หรือบางทียกมาเป็นหม้อดินเลยก็มี บางท่านนำเมี่ยงลาวมา ถึงขนาดต้องมาล้างใบผักกาดดอง หั่น ปั้นไส้ ห่อใส่กันตรงนั้นเลย

  ไปๆมาก็เริ่มทะเลาะกัน เรื่องแย่งโต๊ะ แย่งที่นั่ง อาหารการกิน อลังการราว ภัตตาคาร เลยต้องยกเลิกการเยี่ยมในวันอาทิตย์ไป ทำให้ต้องกลับบ้าน เดือนละ 2 ครั้ง เสาร์ เว้นเสาร์  เดือดร้อนผู้ปกครองที่อยู่ต่างจังหวัด ละทีนี้
ด้วยความรักลูก มากไป เลย ต้อง วุ่นวายกันด้วยประการฉะนี้


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 19, 15:04


ภาพเก่าตอนรับประทานข้าวต้มอผ่นผุดขึ้นมาทันทีเลยครับ  เวลารับประทานข้าวต้มอผ่นนิยมหยดแม๊กกี้แล้วปรุงรรสด้วยซอยพริกศรีราชา  คคนให้เข้ากันก่อนรับประทานให้รสซอสพริกศรีราชานำ  ช่างโแชารสได้เหลือเกินครับ

สงสัยมานานแล้วว่าฟ้อนท์ในคอมของคุณ V_Mee น่าจะตัวเล็กมาก  หรือไม่คีย์บอร์ดก็เล็กจนเป็นสาเหตุให้พิมพ์จิ้มพลาดได้บางครั้ง
ปกติถ้าเดาได้ว่าคำจริงๆคืออะไร ดิฉันจะมาแก้ไขให้     แต่คราวนี้จนปัญญา  ใครทราบบ้างว่า ข้าวต้ม"อผ่น"ข้างบนนี้คืออะไรคะ   จะว่าเป็นข้าวต้มแผ่นก็ไม่น่าใช่


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 มี.ค. 19, 17:23
ขอประทานโทษครับเดี๋ยวนี้สายตาเริ่มเสื่อมไปตามวัยครับ
ข้าวต้มแผ่นครับ

ท่าน Navarat C. กรุณากล่าวว่า "แรกๆก็ถ้อยทีถ้อยแบ่งกันกับเพื่อนใกล้ตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนสนิทกันทั่วแล้ว เวลาแกะห่อก็ต้องคอยกันมือที่พุ่งเข้ามาจากสาระพัดทิศ
อย่างน้อยตัวเองต้องกัดให้ได้หนึ่งคำจึงจะสมศักดิ์ศรีเจ้าของ"
ชวนให้ระลึกถึงก๋วยเต๊่ยวราดหน้าเจ้าดังที่ราชวัตรที่เป็นอาหารโอชะในยามค่ำคืนของเด็กโตๆ  ทันทีที่แกะห่อก๋วยเตี๋ยวออก  มือเปล่านับสิบต่างก็พร้อมกันจ้วงลงไปคว้าก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ
ในห่อใส่ปาก  เพียงชั่วพริบตาก๋วยเตี๋ยวห่อนั้นก็เหลือแต่ห่อเปล่าๆ ไม่เหลืออม้แต่น้ำก๋วยเตี๋ยว  บ้างก็มีหยดน้ำน้ำก๋วยเตี๋ยวบนศีรษะหรือเสื้อผ้าของเพื่อนๆ ที่ร่วมวงไพบูลย์ 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 19, 18:30
เรื่องอาหารนี้ มีเรื่องเล่ากันสนุกๆมากมาย   ก่อนนั้น อาหารของคณะเด็กเล็กจะส่งมาจากครัวของคณะผู้บังคับการ (คณะใน) ทำให้ผู้ที่เคยอยู่เด็กเล็กและที่เข้าคณะในไปอยู่คณะผู้บังคับการจะมีเรื่องเล่าคล้ายๆกัน เพียงแต่จะตั้งชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ข้าวต้มแผ่น ข้ามต้มกลิ่น ข้าวต้มลูกชิ้นผ่าแปด เป็นต้น     

สำหรับอาหารของคณะในนั้นจะแยกครัวกันเป็นของแต่ละคณะ อาหารที่จัดว่าดีนั้นได้แก่คณะจิตรลดา รองลงมาก็คณะพญาไท ตามมาด้วยคณะดุสิต ปิดท้ายด้วยคณะผู้บังคับการ   ซึ่งตามสภาพแวดล้อมแล้วก็มีแนวโน้มที่น่าจะเป็นเช่นนั้น  ครัวของคณะ ผบก. (ผู้บังคับการ) ต้องทำครัวเลี้ยงเด็กประมาณ 300 คน  ของคณะดุสิตในสภาพที่เป็นเรือนไม้มุงหลังคาจาก เป็นต้น


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 19, 18:48
คุณ V_Mee พูดถึงเรื่องก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ทำให้นึกถึงร้านอาหารเจ้าหนึ่ง อยู่อีกฝั่งถนนตรงข้ามกับคณะจิตรลดา เรียกกันว่า เจ็กโย่ง  ใช้วิธีตบมือที่ริมรั้วเรียกเพื่อสั่งอาหาร แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่รู้กันว่าอาหารที่จะสั่งคือ ข้าวหมูทอด  เป็นเรื่องของเด็กโตที่ใกล้จะเรียนจบ สั่งมากินแก้หิวในช่วงการดูหนังสือก่อนสอบปลายภาค

ด้วยความสงสัยว่าทำไมมันจึงอร่อยจัง เมื่อจบไปแล้วและมีโอกาสก็จึงตามไปนั่งกินเพื่อจะได้ดูว่าทำเช่นใด   ง่ายจัง หั่นหมูเป็นชิ้นเล็ก คลุกด้วยซีอิ๊วดำกับน้ำตาลทราย แล้วเอาลงทอดในน้ำมันร้อนๆเท่านั้นเอง   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 19, 19:44
ข้าวต้มแผ่น  หน้าตาเป็นยังไงคะ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 19, 19:49
อาหารแต่ละมื้อจะมีของหวานจานเล็กๆด้วย สำหรับมื้อเช้านั้น มักจะเป็นท็อปฟี่ 2 เม็ด เด็กหลายคนจะเก็บใส่กระเป๋ากางเกง หลังกินข้าวเสร็จก็จะตั้งแถวเดินข้ามถนนไปหอประชุมเพื่อสวดมนต์เช้าเป็นประจำทุกวัน  ในระหว่างทางจะเดินผ่านแถวต้นดอกบานไม่รู้โรยซึ่งมีคนสวนทำงานอยู่ ก็จะขอให้คนสวนผู้นั้นทำเสียงมดตด (เป่าปาก) แล้วก็ควักท็อปฟี่ที่พกมาให้แกไป วันๆหนึ่งแกคงได้อยู่ไม่น้อย เด็กจะเรียกแกว่า นายมดตด  ก็เป็นความสุขของกันและกันเล็กๆน้อยๆประจำแต่ละวัน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มี.ค. 19, 21:33
ยังไม่มีผู้เฉลยว่าข้าวต้มแผ่นคืออะไร

อันที่จริงคณะที่ผมเคยอยู่ไม่มีข้าวต้มแผ่น แต่เขาว่ามันคือข้าวต้มข้นๆแต่ทิ้งไว้จนเย็นนานไปหน่อย เพราะกว่าจะทำเสร็จจากโครงครัวแล้วใส่รถเข็นมาให้คณะเด็กเล็ก มันจึงจับตัวกัน เวลาตักเสริฟมันจึงเหมือนเป็นแผ่นๆ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 19, 07:52
ขอบคุณสำหรับคำตอบเรื่องข้าวต้มแผ่นค่ะ
นึกภาพตามแล้วไม่น่ากินเลย    ข้าวต้มเย็นชืดเสียจนจับแข็ง  แต่วิธีที่คุณ V_Mee เล่าคือเหยาะซอส 2 ชนิดลงไปให้เต็มๆเผ็ดๆ  คนให้ข้าวต้มกระจาย   ก็เปลี่ยนรสชาติเป็นกลืนได้คล่องคอขึ้น

แต่ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าของเถื่อนที่ทำเป็นขบวนการลักลอบส่งในยามค่ำคืน  น่าจะอร่อยมาก   เพราะมีความตื่นเต้นบวกหิวเป็นรสชาติพิเศษ



กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 19, 18:24
นานๆทีก็มีอาหารพิเศษ ปีหนึ่งจะมีจากครัวกลาง 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งเนื่องในวันคล้ายวันเกิดผู้บังคับการ กับอีกครั้งหนึ่งเนื่องในวันคล้ายวันกำเนิดโรงเรียน ซึ่งดูจะเป็นเมนูที่กำหนดไว้ คือ ก๋วยเกี๋ยวราดหน้า และ ไข่พะโล้ แต่จำไม่ได้แล้วว่าวันใหนได้กินอะไร 

ก็ยังมีวาระอาหารพิเศษอีก 3 ครั้งในรอบปีการศึกษา คือวันงานที่จะปิดภาคเรียนเทอมต้น เทอมกลาง และเทอมปลาย (แล้วค่อยขยายความต่อเมื่อเล่าเรื่องของคณะใน) อาหารพิเศษเหล่านี้คิดว่าได้มาจากผู้ปกครองของเด็ก ที่จำได้ก็มีกล้วยน้ำว้าและไอซ์ครีมเป็นของประจำ   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 19, 18:35
 นักเรียนเป็นเด็กชายที่กำลังเจริญเติบโต   เรียนแล้วเล่นกีฬาด้วย  พวกนี้จะหิวเก่ง กินก็จุกว่าเด็กหญิง
 อาหารมีให้เติมจานที่สองได้ไหมคะ  รับประทานอิ่มหรือเปล่า
 ตอนดึก ถ้าหิวแล้วหาก๋วยเตี๋ยวหรือของกินรองท้องไม่ได้   ก็ทนหิวจนหลับไปเองงั้นหรือคะ



กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 19, 18:54
เรื่องอาหารนี้คงจะมีแว๊บเข้ามาเรื่อยๆ  จึงจะขอต่อไปในเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวัน

คณะที่ผมอยู่ใช้เตียงนอนเป็นโครงเหล็ก ยกสูงประมาณ 40 ซม. มีเสาสำหรับกางมุ้ง แยกกันนอนคนละเตียง เตียงวางชิดกันเป็นคู่เว้นช่องให้เดิน เด็กไม่ต้องปูที่นอนเองและไม่ต้องกางมุ้งเอง แต่เมื่อตื่นแล้วจะต้องพับผ้าห่มวางไว้ปลายเตียงและตลบมุ้งขึ้น จะมีชุดแม่บ้านมาช่วยจัดการให้เรียบร้อยหลังจากเด็กไปเรียนหนังสือกันแล้ว

หกโมงเช้าก็จะถูกปลุกให้ตื่น ทุกคนก็จะต้องไปทำธุระส่วนตัวให้เสร็จพร้อมที่จะเดินไปยังตึกเรียน ตื่นมาก็ไปเอาขันของตนที่มีสบู่ แปรงสีฟันและยาสีฟันใสพร้อมอยู่แล้ว ลงไปในห้องอาบน้ำ รีบล้างหน้าแปรงฟันแล้วกลับขึ้นมาเปิดตู้เสื้อผ้า (กว้างประมาณ 40 ซม. ยาวประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร ภายในแบ่งออกเป็นสองชั้น) เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว รีบลงไปในห้องเพร็บ เตรียมหนังสือและอุกรณ์การเรียนให้พร้อม แล้วรอพร้อมที่จะเดินไปตึกเรียน ให้ทันเข้าห้องเรียนก่อนที่ครูจะเริ่มสอนเวลา 7.00 น.


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 19, 19:06
ตื่นหกโมง  อาบน้ำแปรงฟัน แต่งตัว เตรียมหนังสือเรียนให้พร้อมเพื่อเข้าห้องเรียน 7 โมง
หมายถึงรับประทานอาหารให้เสร็จในระหว่างนี้ด้วยใช่ไหมคะ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 19, 19:23
อาจารย์เป็นห่วงเรื่องกินไม่อิ่ม  :D  

อิ่มครับ เติมข้าวได้แน่ๆ ที่จำกัดก็คือกับข้าว  กับข้าวหมดก็ยังมีพวกน้ำปลา น้ำพริกเผา พริกป่น ซอสที่จะคลุกข้าวได้อยู่    ก็อย่างที่ว่าไว้ว่ากับข้าวออกไปทางหนักผัก ผักเหล่านั้นก็จึงยังพอจะใช้เป็นผักแนม หรือไม่เราก็คลุกข้าวให้ออกรสไปกลบความไม่อร่อยของกับข้าวนั้นๆได้เช่นกัน   แต่ละคนก็มีวิธีการเอาตัวรอดของตน ผู้ปกครองและเด็กหลายคน(ส่วนน้อยมาก)บ้างก็จึงนึกถึงของเถื่อน   จะว่าไปมันก็เป็นเรื่องที่ยังผลให้เรามีการพัฒนาศิลปะและทักษะในการอยู่ให้รอด    


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 19, 20:14
ไม่ใช่ครับ ไปเรียนก่อนตอนท้องว่างๆนั่นแหละครับ เป็นชั่วโมงเรียนแรกของทุกวัน  ประมาณใกล้ 8 โมงเช้า (7.50 น. ?) หมดชั่วโมงเรียนจึงจะได้เดินกลับมากินอาหารเช้าที่คณะที่ตนสังกัดอยู่  เข้านั่งกินพร้อมกันแต่กินเสร็จแล้วลุกออกจากโต๊ะอาหารอาจจะไม่พร้อมกัน หลายคนไปห้องน้ำเพื่อทำธุระส่วนตัว แต่ทุกคนจะต้องกลับไปยังโต๊ะของตนในห้องเพร็บเพื่อไปเอาหนังสือสวดมนต์ พร้อมกับค้นหาเครื่องเรียนที่ตนลืมจัดสำหรับชั่วโมงเรียนต่อๆไป   เรื่องทั้งหมดตั้งแต่เลิกเรียนชั่วโมงแรกไปจนถึงเดินแถวไปถึงหอประชุมของโรงเรียนเพื่อสวดมนต์ทำวัตรเช้านั้น จะอยู่ภายในเวลาที่จำกัดมากๆ  การสวดมนต์จะเริ่มในเวลาประมาณ 8.30 น.


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 29 มี.ค. 19, 21:55
โรงเรียนนี้ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น คือ เรียนวันเสาร์ และเรียนแต่เช้า เจ็ดโมง เลิกเรียน บ่ายโมง แล้วมาทานอาหารกลางวัน
ครูบางท่าน ชอบตารางเรียนแบบนี้ ครูหญิงอาวุโสท่านหนึ่งเคยบอกกับนักเรียนว่า ตอนที่มาสมัครแรกๆครูชอบเพราะตอนบ่ายจะได้ไปดูหนัง

เครื่องแบบครูหญิง ทั้งครูที่อยู่ประจำคณะ และ ครูที่ไปกลับ เวลาสอนหนังสือ จันทร์ถึงเสาร์ คือ เสื้อขาว กระโปรงน้ำเงิน หรือ กรมท่า รูปแบบไม่จำกัด

แต่ถ้าเป็นวันอาทิตย์ ครูประจำคณะที่ดูแลนักเรียน จะแต่งสีมีลวดลายได้


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 มี.ค. 19, 07:34
วันจันทร์ - วันเสาร์ จัดชั่วโมงเรียนวันละ ๕ ชั่วโมง  ชั่วโมงเช้าเจ็ดโมงสมองยังว่าง  ทางโรงเรียนจัดให้เรียนวิชาจำพวกคณิตศาสต์และภาษาอังกฤษเป็นพื้น
ส่วนวิชาอื่นๆ ก็ไปเกลี่ยไปเรียนในชั่วโมงถัดๆ ไป  วิชาวาดเขียนมักจะไปอยู่ชั่วโมงท้ายๆ ของวันเพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลาย  ส่วนวิชาดนตรีและศิลปะ
ไม่มีในชั่วโมงเรียน  เพราะแยกการเรียนดนตรีและวิชางานไม้ งานปั้นไปเรียนตอนช่วง ๑๔ - ๑๕ น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังรับประทานอาหารกลางวัน
จากนั้น ๑๕.๔๕ น. ตรวจนับแถวก่อนลงสนามเล่นกีฬา  ไปเลิกประมาณ ๑๘,๐๐ น.  จึงกลับคณะอาบน้ำและรับประทานอาหารเย็น  จากนั้นช่วง
๑๙ - ๒๐ น. เป็นเวลาทบทวนวิชาเรียนและทำการบ้านเรียกกันว่าเข้าเพรบ (preparation room)  สำหรับเด็กโตเข้าเพรบถึง ๒๐.๓๐ น.
เลิกเพรบแล้วแยกย้ายกันทำกิจธุระส่วนตัว  แล้วขึ้นชั้นบนประชุมสวดมนต์ที่ระเบียงหน้าห้องนอน เป็นอันจบภารกิจประจำวันแล้วแยกย้ายกันเข้านอน

หนึ่งในพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้สำหรับการอบรมนักเรียนในโรงเรียนนี้ คือ อบรมให้เป็นผู้มีศาสนา
ทรงพระราชดำริว่า ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ  ผู้ใดไม่มีศาสนาย่อมเป็นอันตราย  โรงเรียนจึงกำหนดให้นักเรียนสวดมนต์วันละ ๒ เวลา
คือ ๘.๓๐ น. ในวันจันทร์ - เสาร์  ส่วนวันอาทิตย์เป็นวันว่างการเรียนขึ้นหอประชุมสวดมนต์ทำวัตรเช้าเวลา ๙.๐๐ น.  ทำวัตรจบแล้ว
สดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่งหรือฟังโอวาทของท่านผู้บังคับการหรือครูผู้ใหญ่  จบแล้วสวดธรรมคาถา ๑ บท  ส่วนกลางคืนเป็นการสวดมนต์
ตามแบบวิธีสวดมนต์ไหว้พระของเสือป่าและลูกเสือที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดไว้ 
แล้วสรรเสริญพระบารมี  สมัยผมเป็นนักเรียนคณะโตสวดมนต์เสร็จแล้วร้องเพลงเราเด็กในหลวง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
แล้วจึงสรรเสริญพระบารมีโรงเรียน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มี.ค. 19, 07:57
ท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวของวชิราวุธวิทยาลัยนี้ต้องแยกแยะนิดนึงนะครับ กันสับสน

เริ่มแรกทีเดียว คุณchoo ถามผมกับคุณตั้งว่าโรงเรียนนี้อบรมบ่มนิสัยนักเรียนอย่างไร ผมก็ว่าไปตามประสบการณ์ของผมเมื่อหกสิบปีก่อน เช่นเดียวกับคุณตั้งซึ่งเป็นรุ่นเดียวกัน
ต่อมามีคุณวรชาติหรืออาจารย์V_Mee เข้ามาช่วยแจม  คุณวรชาติหลังผมประมาณสิบปีมั๊ง  รายละเอียดบางประการก็เปลี่ยนไปบ้างแล้ว พอมาถึงคุณ azante ห่างผมกับคุณตั้งไปอีกประมาณ ๑๘ รุ่น  สิ่งที่คุณ azanteเขียน ผมก็อ่านตาค้างไปเหมือนกัน  ไม่น่าเชื่อว่าผู้ปกรองจะสามารถเข้ามาก้าวก่ายระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนได้ขนาดนั้น

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้บังคับการ  สมัยของผมตอนที่เข้าไปท่านก็อายุเจ็ดสิบเศษ  เท่าๆกับผมตอนนี้  แต่ท่านยังแข็งแรงและบารมีเต็มเปี่ยม  พระยาภะรตราชาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยทั้งหมด ๓๙ ปี  ท่านอายุยืนถึง ๘๙ ก่อนจะถึงอนิจกรรมในตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๑๘ (ปีเดียวกับที่คุณazanteเข้าเรียนคณะเด็กเล็ก) ซึ่งสมัยหลังๆ นี้ท่านก็ไม่ค่อยจะไหวแล้ว อำนาจการบริหารกระทำโดยคนอื่นในนามของท่าน  ซึ่งไม่มีทางจะเหมือน 

หลังจากนั้น บุตรชายของท่าน คือ ศ. ดร. กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้บังคับการแทน ตามมติที่กรรมการโรงเรียนเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ  เวลานั้นท่านยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวังอยู่ด้วย  งานบริหารที่วชิราวุธจึงตกอยู่ในมือบุคคลอื่นเช่นเดียวกับในสมัยปลายของบิดาท่าน  เป็นเช่นนี้มาอีก ๒๐ ปี

ลูกชายผมเข้าวชิราวุธในช่วงนี้  ก็เห็นความแตกต่างกับสมัยผมเยอะ  ถึงจะหงุดหงิดอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมของวิถีวชิราวุธก็ยังคงอยู่  ผมจึงให้ลูกเรียนที่นั่นตั้งแต่ประถม ๓ จนจบการศึกษา แล้วสอบเข้าจุฬาได้ในปีนั้น

ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธคนแรก ที่ได้เป็นผู้บังคับการคนต่อมา  ท่านผู้นี้ถือว่าร่วมยุคกับผม จุดอ่อนจุดแข็งของโรงเรียนเป็นอย่างไรท่านรู้หมด  เมื่อท่านเข้ามาแล้วโรงเรียนจึงมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ให้เจริญขึ้นในทุกวิถีทาง
 
ถ้านักเรียนเก่ายุคผู้บังคับการชัยอนันต์เข้ามาเขียน  ก็อาจจะกลายเป็นคนละเรื่องกับที่เล่าๆกันในกระทู้นี้ไปเลยก็ได้


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 30 มี.ค. 19, 08:13
ถ้ามี นักเรียนรุ่น อ.ชัยอนันต์ เป็นผู้บังคับการ ตามที่คุณ NAVARAT.C พูดถึง มาร่วมให้ความรู้ด้วยคงจะได้เห็นวิวัฒนาการของโรงเรียน แบบก้าวกระโดดเลยครับ
ยิ่งถ้าตอนนี้กลับไปเยี่ยมโรงเรียน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ทั้งฝั่งเด็กเล็ก เด็กโต



กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 19, 08:33
 ถ้าท่านใดเป็นศิษย์เก่ารุ่นดร.ชัยอนันต์เป็นผู้บังคับการ  แวะเข้ามาอ่านในเรือนไทย  ขอเชิญให้ความรู้ด้วยค่ะ 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 30 มี.ค. 19, 08:40
ของเถื่อนของเด็กโตในคณะเด็กเล็กที่ทุกคนรู้จักกันดีคือ ข้าวตัง   ข้าวที่ทานกันนั้นหุงด้วยกระทะใบบัว ก็เลยมีข้าวตังติดที่ก้นกระทะ เมื่อมีโอกาสก็จะแอบขอจากแม่ครัว เอามาแบ่งกันเป็นของกินเล่น  เรื่องนี้เป็นเรื่องของความสนุกของเด็กในการแสดงความสามารถในการแอบเอาของเถื่อนจากฝั่งคณะใน ข้ามถนนมาฝั่งคณะเด็กเล็ก มาแบ่งกันกินด้วยความนุกสนาน  ก็เป็นเรื่องที่ยังเอามาเล่ากันเมื่อยามแก่ แล้วก็หัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง

ข้าวตังสำหรับผมคิดว่าเป็นอาหารพิเศษที่ไม่เคยทานมาก่อนเลย โดยเฉพาะ ข้าวตังก้นกระทะจากข้าวผัดสีแดง ซึ่งผมชอบมาก จะเป็นสูตรเดียวกับข้าวผัดรถไฟ หรือเปล่าก็ไม่ทราบ
เพราะไม่เคยลองชิมข้าวผัดรถไฟ  

ข้าวผัดสีแดง ใส่หมู มีไข่ดาวขอบกรอบเกรียม คนละ 1 ใบ เป็นหนึ่งในรายการอาหารเช้า แม่ครัวใหญ่ที่ทำเป็นรุ่นน้องๆคุณยายเลย ผมเรียกป้าแผ้ว สามีท่าน เคยเป็นคนขับรถให้เจ้าคุณภะรตราชา ผมชอบไปตีสนิทคุยด้วยบ่อยๆ เลยได้ชิมข้าวตังอันหอมหวานอยู่บ่อยๆ มีครั้งนึงไปด้อมๆมองๆ ในครัว เจอของน่ารับประทานมากในกระทะ ป้าแผ้วบอก ว่าสตูลิ้นวัว ชิ้นใหญ่ น่าทานมาก สายตาผมจับจ้องอย่างไม่กะพริบตา ป้าบอกว่าจะเอาไปทำบุญ ด้วยความเอ็นดูของป้า  ท่านหยิบมาชิ้นนึง ปากก็พึมพำว่า บาปบุญคุณโทษรึเปล่าก็ไม่รู้ แล้วยื่นเอามาให้ผมลองชิม ด้วยความที่เป็นเด็ก ก็เลยดีใจ รับประทานหมดเลย ลิ้นวัวชิ้นใหญ่หนานุ่ม ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำปรุงรสที่บอกได้เลยว่าสุดยอด มานึกได้ภายหลังก็รู้สึกผิดเหมือนกันครับที่ไปชิมของทำบุญก่อนพระ ป้าแผ้วใจดีจริงๆ

 แต่แล้วมาวันนึง ป้าแผ้วก็เสียชีวิตกระทันหัน ด้วยหัวใจล้มเหลว มือรองได้เป็นหัวหน้าแม่ครัวแทน ข้าวผัดตอนเช้าเปลี่ยนไปเป็นข้าวผัดซีอิ๊วดำ ไม่ใช่ข้าวผัดสีแดง ที่ผมชอบซะแล้ว

อยากจะได้สูตรข้าวผัดสีแดงจังเลยครับ




ผมทานฝีมือแม่ครัวท่านนี้ ได้ไม่กี่ปี


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 19, 18:41
อย่างน้อยในขณะนี้มี OV อยู่สามรุ่นแต่ละรุ่นห่างกันประมาณ 10 ปี ที่จะเข้ามาเสวนาในกระทู้นี้ ก็น่าจะพอฉายภาพของพัฒนาการต่างๆได้พอควรในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2498 ถึงช่วงทศวรรษของ พ.ศ.2520

จะเห็นว่าโครงของเรื่องทางด้านกิจกรรมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่เพียงในรายละเอียดลึกลงไปเท่านั้นที่แปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทางเศรษกิจ และทางสังคมของประเทศ 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 19, 19:23
ในเรื่องของการสวดมนต์

เด็กนักเรียนทุกคนจะได้รับหนังสือสวดมนต์คนละเล่ม มีความหนาประมาณ 1 นิ้ว ภายในแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของบทสวดมนต์ต่างๆ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น และบทสวดสรรเสริญทำนองต่างๆ (สรภัญญะ อินทรวิเขียร...)  ส่วนที่สองอยู่ด้านท้ายเล่ม จะเป็นบทเพลงต่างๆ เช่น จรรยานักกีฬา(เพลงเมื่อแมวหมาฯ) มหาวชิราวุธราชสดุดี(เพลงประจำโรงเรียน) ...

หน้ากระดาษของบทสวดมนต์จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ครึ่งด้านซ้ายจะเป็นภาษาบาลี ครึ่งด้านขวาจะเป็นคำแปล   ด้วยการที่ต้องใช้หนังสือสวดมนต์ตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ ก็จึงเชื่อว่าทุกคนจะอ่านออกเสียงภาษาบาลีได้ ส่วนคำแปลนั้นก็เชื่อว่าทุกคนคงได้อ่าน แต่คงจะไม่ทั้งหมดที่จะจำคำแปลของแต่ละคำบาลีได้     ส่วนตัวผมนั้นให้น่าสนใจ โดยเฉพาะที่เป็นคำแปลทั้งบทสวด เช่นของบทสวดพาหุงฯ (ซึ่งจะได้ยินกันในทุกๆงานบุญที่พระจะสวด)

ผมก็ยังเก็บหนังสือสวดมนต์นี้อยู่   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 30 มี.ค. 19, 19:43
ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกต้องไหมว่าโรงเรียนนี้รับแต่เด็กที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 30 มี.ค. 19, 21:47
ขอเรียนเชิญ รุ่นพี่ คุณ NAVARAT.C คุณ naitang และคุณ V_Mee  แบ่งปันความรู้ งานกรีฑา ในอดีตให้ฟังด้วยครับ
งานกรีฑา ถือได้ว่าเป็น ไฮไลท์ ในช่วงชีวิตหนึ่งของ นักเรียนวชิราวุธทีเดียว  มีการเปลี่ยนแปลง ตามกาลเวลา จนปัจจุบันนี้ แทบจะเป็นอดีตไปแล้ว
เรื่องราวน่าสนใจมากครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มี.ค. 19, 21:50
เรื่องงานกรีฑารอคุณตั้งก็แล้วกัน ขานั้นเล่าได้ละเอียดลออดี

ผมขอตอบคุณchooเรื่องนักเรียนต่างศาสนา
ในใบสมัครเข้าโรงเรียนไม่ได้ระบุนะครับ รุ่นหลังผมสี่ปีมีเด็กอเมริกันผมทองเข้ามาเรียนจนจบการศึกษา แต่ก็เห็นทำตามกฏของโรงเรียนทุกประการไม่แตกต่างกับเพื่อนๆ จนบัดนี้ผมก็ไม่ทราบ ไม่เคยถามถึงศาสนาของเขา

ทะเบียนนักเรียนเก่าสมัยมหาดเล็กหลวงมีชื่อเจ้าหัวเมืองปักษ์ใต้แสดงว่าเป็นมุสลิมหลายคนทีเดียว แต่ก็คงจะกินอยู่เหมือนคนอื่นๆ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 30 มี.ค. 19, 22:44
ขอบคุณครับ คุณ NAVARAT.C ที่ผมถามเพราะเห็นมีหนังสือสวดมนต์คนละเล่มสวดกันทุกเช้าซึ่งแปลกไปจากโรงเรียนอื่นๆทีเคยเรียนมีสวดมนต์บทเดียวคือ อรหังสัมมา..เช้าหนหนึ่งและก่อนกลับบ้านอีกครั้ง เด็กที่นับถือศาสนาอื่นก็สวดตามไม่มีอะไรขัดข้องรวมทั้งการเรียนวิชาศิลธรรมด้วยเขาบอกว่าเรียนไว้ตอบข้อสอบ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 31 มี.ค. 19, 07:56
เรื่องศาสนากับนักเรียนนั้น  สมัยผมก็มีเพื่อนที่นับถือทั้งศาสนาอิสลามและคริสต์รวมอยู่ด้วยเหมือนกัน  แต่ทุกคนก็ไหว้พระสวดมนต์ตามระเบียบของโรงเรียนเหมือนนีกเรียนอื่น  ไม่เห็นเขาปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาของเขาครับ  ส่วนนักเรียนมหาดเล็กหลวงและวชิราวุธที่เป็นเชื้อสายเจ้านายมลายูที่มาเรียนที่โรงเรียนนั้น  เคยได้ยินท่านนักเรียนเก่าอาวุโสที่เป็นเพื่อนท่านเหล่านั้นเล่าว่า ท่านก็รับประทานหมูกันเป็นปกติแต่ห้ามทักว่าเป็นหมูเท่านั้นครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 19, 08:07
เปิดบทพาหุงฯที่คุณตั้งกล่าวถึงจากหนังสือสวดมนต์ของผมเองที่ยังเก็บไว้ ให้ดูเป็นตัวอย่าง
พระยาภะรตราชาท่านให้พนักงานคนหนึ่ง เราเรียกมหาอรุณ ตามชื่อและสมณศักดิ์เดิมของท่านก่อนสึกเป็นผู้แบ่งวรรคตามทำนองวสันตดิลก เพื่อให้นักเรียนสวดตามได้ง่ายๆ

บทสวดพาหุงฯนี้ บางท่านอาจจะทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯทรงเลือกท่อนแรกมาเป็นบทสวดประจำกองทหารอาสาสมัครสยามไปราชการสงครามในทวีปยุโรป โดยทรงดัดแปลงท่อนลงท้ายจาก ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชยมังคลานิ เป็น ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง
แล้วพระองค์ทรงนำทหารทั้งปวงสวดคาถาพาหุงก่อนที่จะขึ้นเรือที่ท่าราชวรดิฐ  เพื่อชัยชนะของสยาม

นักเรียนวชิราวุธจะต้องสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยที่ห้องสวดมนต์ของคณะ ก่อนจบด้วยคาถาพระราชทานนี้ก่อนเข้านอน ซึ่งผมยังปฏิบัติอยู่ด้วยความเคยชิน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 19, 10:15
รุ่นหลังผมสี่ปีมีเด็กอเมริกันผมทองเข้ามาเรียนจนจบการศึกษา แต่ก็เห็นทำตามกฏของโรงเรียนทุกประการไม่แตกต่างกับเพื่อนๆ จนบัดนี้ผมก็ไม่ทราบ ไม่เคยถามถึงศาสนาของเขา

เดวิท รัสเซลล์ อเมริกันหัวใจไทย ภาพในสมัยเป็นนักเรียน และภาพจาก FB ถ่ายเมื่อคืน นั่งอยู่กับผู้บังคับการคนปัจจุบัน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 19, 10:27
รู้จักแต่ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ (ขวาสุด) ท่านผู้บังคับการคนก่อนค่ะ
 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 19, 10:37
รู้จักแต่ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ (ขวาสุด) ท่านผู้บังคับการคนก่อนค่ะ
 

ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ เป็นรุ่นน้องคณะดุสิต เช่นเดียวกับผมกับคุณตั้ง ห่างกัน ๒ ปีครับ เมื่อเข้าจุฬาก็เล่นรักบี้ให้มหาวิทยาลัยด้วยกัน โดยผมจะเลิกเล่นไปก่อน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 31 มี.ค. 19, 12:51
รุ่นผมก็มีอิสลาม หลานปู่พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ เจ้าเมืองสตูล ก็ไม่เห็นมีปัญหาอย่างไร

เวลาทานข้าว อยู่คนละโต๊ะ เลยไม่ทราบว่า แกตักหมูเข้าปากหรือเปล่า สมัยก่อนอาหารทำด้วยไก่น้อยมาก ส่วนมากเป็นหมูทั้งนั้น

แต่พอจบมาเจออิสลามภายนอก ถึงได้ทราบว่ากฎระเบียบเรื่องนี้เคร่งครัดมาก ขนาดน้ำเปล่าบรรจุขวดยังต้องเลือกดื่ม
ศูนย์อาหารก็ไม่เข้าเพราะว่าล้างจานชามร่วมกัน 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 19, 19:05
การสวดมนต์ร่วมกันในเช้าวันอาทิตย์ที่หอประชุมนั้น ตามปกติก็จะเป็นมหาอรุณเป็นผู้นำสวด (?)  แต่ผู้บังคับการก็ได้จัดให้มีเวร ให้เด็กที่เป็นหัวหน้าคณะเด็กโตคณะต่างๆเป็นผู้นำเด็กทั้งโรงเรียน (ประมาณ 700 คน) ทำการสวดมนต์ทำวัตรเช้าเต็มบทสวดดังที่เราได้ยินในพิธีสวดมนต์ทำบุญต่างๆ จำได้ว่ารวมถึงบทสวดสรรเสริญ(คาถา)บางบทด้วย 

หัวหน้าก็เลยต้องสามารถอ่านและจำบทนำบทสวดสรรเสริญต่างๆได้ เช่น หันทะมะยังพุธาภิถุตึงกะโรมะเส   หันทะมะยังพุทธัสสะภะคะวะโตปุพพะภาคะนะมะการังกะโรมะเส.... เด็กก็รู้ว่าเมื่อนำเช่นนี้แล้วจะต้องตามด้วยบทสวดเช่นใด     สวดกันมานานหลายๆปีก็เลยพอจำได้ ผมเองก็ยังออกเสียงเบาๆสวดตามพระในบางช่วงของบทสวดทำวัตร

ในช่วงของเวลาสวดมนต์นั้นเด็กทั้งหลายก็ดูจะไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย ดูตั้งใจสวดกันดีโดยแฉพาะในช่วงบททำวัตรเช้า เสียงแน่นเต็ม แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงของบทคาถา เสียงจะค่อนข้างกระท่อนกระแท่นไปบ้าง ซึ่งตามประสบการณ์ของผมนั้น เกิดจากการอ่านคำบาลีไม่ออกและอ่านไม่ทันของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นพวกเด็กเล็กประมาณ 300 คน       


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 19, 19:51
ช่วงเวลาที่น่าเบื่อของเด็กบนหอประชุมในวันอาทิตย์ ก็คือในวันที่มีการเทศน์หลังการสวดมนต์  พระคุณเจ้าที่โรงเรียนได้นิมนต์มาเทศน์นั้น มิได้เทศน์อย่างฮา เป็นการเทศน์ในเรื่องที่เป็นสารัตถะที่ค่อนข้างจะต้องตั้งใจฟัง  พระที่ผมจำได้แม่นองค์หนึ่งก็คือ ท่านปัญญานันทภิกขุ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 31 มี.ค. 19, 21:04
สมัยผม วันอาทิตย์ จะสลับกัน ระหว่าง พระเทศน์ กับ ผู้บังคับการให้โอวาท
อาทิตย์ไหน ผู้บังคับการให้โอวาทจะชอบมากเพราะ ไม่นาน ได้ลงจากหอประชุมเร็ว

จำเสียงเจ้าคุณภะรตราชาไม่ได้ เพราะยังเล็ก แต่ชอบเสียง ดร.กัลย์ เสียงท่านนุ่มๆน่าฟัง


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 19, 07:43
ตัวอย่าง โอวาทของท่านผู้บังคับการ พระยาภะรตราชา


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 19, 07:44
.


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 01 เม.ย. 19, 08:23
ดร.กัลย์ เป็นผู้บังคับการ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง ท่ายเลยจะมีเรื่องราวในวังมาเล่าสู่กันฟังบ้าง
ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่าได้ทูลเกล้าฯถวายบันทึกของหมอฝรั่งเรื่อง การรักษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนสวรรคต
แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙  ซึ่งบันทึกการรักษาค่อนข้างละเอียด มีรูปวาดด้วยดินสอสี แสดงอวัยะวะภายในด้วย
ว่ามีลักษณะอาการ น่าวิตกอย่างไร
 
  คุ้นๆว่าบันทึกนี้เคยมีการพิมพ์ใน วชิราวุธานุสรณ์สาร ด้วยนะครับ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 19, 08:59
บทความของนายแพทย์เมนเดลสันได้เขียนอาการพระประชวรของพระองค์จนเสด็จสวรรคตนั้น หาอ่านได้ไม่ยากในเน็ตนะครับ

ถ้าผมจะโยงเข้ามาก็เกรงว่าจะออกนอกเรื่องมากไป


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 01 เม.ย. 19, 10:44
ถ้ากลับไปดูโรงเรียนตอนนี้ จะเห็น ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย อาคารต่างๆ ใหญ่โตทันสมัย ผิดกับรุ่นผมอย่างเห็นได้ชัดทีเดียว
จะมีอาคารต่างๆ เพิ่มขึ้นตามผู้บังคับการในแต่ละยุคสมัย ยุคเจ้าคุณภะรตราชา มีการก่อสร้างต่างๆมากมาย  เท่าที่จำได้

๑.ตึกเพชรรัตน์ (อาคารเรียน)
๒.ตึกวิทยาศาสตร์ (อาคารเรียน)
๓.ห้องสมุด
๔.อินดอร์สเตเดียม
๕.ออฟฟิศครู อาจารย์
๖.สระว่ายน้ำ
๗.คอร์ตสควอช
๘.โรงยิม
๙.ศาลากลางน้ำ ไว้ซ้อมดนตรี

 มีหลายอาคารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จเปิด ในวันงานกรีฑา


ยุค ดร.กัลย์

๑.ออฟฟิศครู ติดกำแพงริมถนนสุโขทัย
๒.สะพานลอยข้ามระหว่างเด็กเล็ก เด็กโต
๓.ปรับปรุงต่อเติม คณะดุสิต

ถึงแม้จะมีตึกเรียนน้อย ฝั่งเด็กเล็กมี 2  อาคาร  เด็กโตมี 3 อาคาร ตึกใหญ่คือตึกวชิรมงกุฎ  ตึกเพชรรัตน์
และ ตึกวิทยาศาสตร์  เนื่องจากนักเรียนมีไม่มากนัก จึงมีห้องเรียนประจำในแต่ละชั้น ประถม มีห้อง ก ข ค ไม่เกินนี้  ไม่ต้องย้ายห้องเรียน เหมือนในปัจจุบัน

เด็กโต ตอน ม.ปลาย มีสายวิทย์ ศิลป์คำนวณ ศิลป์ฝรั่งเศส  อย่างละ ห้อง  แต่รุ่นผมไม่มี ศิลป์ฝรั่งเศส ผมเรียนวิทยาศาสตร์  เลยมีโอกาส ได้เดินเรียนหลายตึก
ครบทั้ง 3 ตึกในหนึ่งสัปดาห์  ได้เปลี่ยนบรรยากาศดีเหมือนกัน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 19, 20:10
ในสมัยผมนั้น แต่ละชั้นเรียนแยกออกเป็น 2 ห้องเท่านั้น คือ ห้อง ก. และห้อง ข.  แล้วก็เป็นที่รู้กันว่าห้อง ก. จะเป็นพวกที่เรียนเก่งกว่าห้อง ข.  เด็กที่เรียนได้ในระดับกลางๆก็จะมีโอกาสได้เรียนทั้งในห้อง ก. และ ห้อง ข.   

การจัดแยกเด็กลงในแต่ละห้องนี้   ผมได้มาคิดย้อนดูในภายหลัง เห็นว่าเป็นการแบ่งบนพื้นฐานของความสามารถของเด็ก (ดูจากคะแนน)ในการเข้าถึงตรรกะหรือปรัชญาของวิชานั้นๆในระดับนั้นๆ เพื่อครูที่สอนในวิชานั้นๆ(ซึ่งเป็นครูคนเดียวกัน)จะได้ปรับการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจได้ทัดเทียมกัน  มิได้เป็นเพื่อการสอนในรูปของการลดองค์ความรู้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ (ให้เพียงแค่จำและไม่ไห้ความเข้าใจในสารัตถะต่างๆ)  คือไปในทาง assimilation มิใช่ไปในทาง discrimination     


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 19, 20:47
/\ 
/\
ด้วยปรัชญาของการสอนที่ผมเห็นว่าเป็นเช่นนั้น   ก็จึงเห็นว่าอาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่เด็กทั้งหลายไม่เคยมีความรู้สึกในเชิงว่าเราด้อยกว่า  ต่างก็มักจะมองกันไปในทางว่าเขาขยันกว่า เขาจำแม่นกว่า    หลายคนนั้นเมื่อเกิดความรู้สึกว่าอยากจะถือใบคะแนนบ้าง ต่างก็ทำได้    รุ่นผมเป็นจำนวนมากที่สอบผ่านประโยคมัธยมปลายได้คะแนนในระดับปริ่มๆแบบเกือบจะสอบไม่ผ่าน  แต่ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้กันทั้งหมด   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 01 เม.ย. 19, 21:32
การแบ่งห้อง ก ข ค สมัยผมแบ่งตามความเก่งของนักเรียนจริงๆ เด็กห้อง ค จะอ่อนที่สุด
การเรียนการสอน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่ได้มีความเท่าเทียมกัน เด็กใหม่ที่เข้ามา แรกๆจะอยู่ห้อง ค
แต่ถ้าผลสอบเทอมต้นดีมาก อาจจะย้ายมาห้อง ก ข ก็ได้

 ผมเรียนห้อง ก ตลอดตอนประถม มัธยมก็เรียนห้อง /๑  ม.ปลายก็เรียนสายวิทยาศาสตร์ จะได้เจอแต่ครูเก่งๆ เฉพาะด้านทางนั้นเลย
คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ครูก็จบวิทยาศาสตร์จุฬาฯ เรียนภาษาอังกฤษ ครูก็จบอักษรศาสตร์จุฬาฯ
เรียนภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ครูก็จบอักษรศาสตร์จุฬาฯ เช่นกัน

 เพื่อนผมเรียนห้อง ค มีความน้อยเนื้อต่ำใจมาก เพราะครูอาวุโสที่เก่งๆ จะไปสอนห้อง ก ข ส่วนห้อง ค
จะเป็นครูท่านอื่น ก็คงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะครูหนึ่งท่านไม่มีเวลาไปสอนทั้งสามห้องได้

จนเพื่อนจบ มาเป็นอาจารย์ เรียนจนเป็นด็อกเตอร์  บอกกับผมเลยว่า เขาชอบที่จะสอนห้องที่อ่อนที่สุด
เพราะเด็กเหล่านั้นควรจะได้รับสิ่งที่ดีดีบ้าง  ไม่ให้เหมือนกับที่เขาเคยเจอมาในอดีต


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 19, 19:09
ขยายความเรื่องการส่งใบคะแนนที่ได้กล่าวถึงอีกเล็กน้อย

การส่งใบคะแนนเป็นกิจกรรมหนึ่งของโรงเรียนที่กระทำก่อนวันปิดภาคเรียนแต่ละภาค กระทำกันบนหอประชุมที่มีนักเรียนทั้งโรงเรียนนั่งอยู่รวมกัน   ก็คือ นักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงสุดของแต่ละวิชาจะเป็นผู้นำกระดาษหางว่าวขนาดกว้างประมาณ 10 ซม.ยาวประมาณ 30 ซม. ที่พิมพ์รายชื่อนักเรียนของแต่ละชั้นนั้นๆเรียงลำดับคะแนนที่ได้จากมากไปหาน้อย ใบหนึ่งก็สำหรับวิชาหนึ่ง   ใบคะแนนนี้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ที่ลุกเดินจากที่นั่งนำใบคะแนนไปส่งให้กับผู้บังคับการ นักเรียนทั้งหลายก็จะปรบมือให้

โดยนัยแล้วผมเห็นว่าเป็นรูปของกิจกรรมที่สร้างสรรค์มาก  ผู้ที่ได้ที่ส่งใบคะแนนบ่อยๆในบางวิชาหรือทุกวิชาก็จะได้รับการนิยมว่าเป็นคนเรียนเก่งโดยรวมหรือเก่งในวิชาหนึ่งใด   ในขณะที่ก็ทำให้นักเรียนหลายคนในหลายระดับชั้นเรียนคิดที่จะต้องทำให้ได้บ้างสักครั้งหรือหลายๆครั้ง ซึ่งส่งผลที่ก่อให้เกิดความตั้งใจ ความมานะ และความขยันในการเรียนว่าเราจะต้องทำให้ได้สักครั้ง      ยังให้เกิดการปรับและการต่อสู้กับตนเองที่ส่งผลให้เกิดการรู้จักตัวตนของตนเองว่าเรามีความสามารถในเรื่องใดมากว่าเรื่องใด 

สำหรับตัวผมนั้น กำหนดตนเองไว้ว่าควรจะต้องอยู่เป็นหนึ่งในสิบในทุกวิชา  คิดอย่างนั้นก็ด้วยสาเหตุหนึ่งว่าเป็นเด็กมาจากต่างจังหวัด เทอมแรกปีแรกได้ที่ 31 ของนักเรียน 31 คน  พัฒนาตนเองไปได้จนถึงระดับเคยส่งใบคะแนน แล้วก็รู้ว่าเรียนให้อยู่ในระดับหนึ่งในสิบก็เพียงพอหมาะสมกับตนเองแล้ว     


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 19, 19:32
เอาละครับ    เรียน 7 โมงเช้า 1 ชม. แล้วจึงกินข้าว ต่อด้วยสวดมนต์เช้า แล้วก็เข้าห้องเรียนต่ออีก 2 ชั่วโมง (2 วิชา) พักทานอาหารว่าง แล้วเข้าเรียนต่ออีก 2 ชม. ไปเลิกเอาประมาณบ่ายโมง  กินข้าวแล้วก็ทำเรื่องส่วนตัวได้ตามสมควร  ถึงบ่าย 2 โมงก็เข้าไปนั่งในห้องเพรบจนถึงบ่าย 3 โมง ปล่อยว่างไปจนถึงบ่าย 4 โมงเย็นจึงจะมีกิจกรรมใหม่

ในช่วงเวลาตั้งแต่กินข้าวไปจนถึงบ่าย 4 โมงนี้เอง ผมเห็นว่าเป็นช่วงของการเรียนรู้ด้วยตนเองในเรื่องของการรู้จักตัวตนผู้อื่นและการอยู่ร่วมกันในสังคม (แต่ละสังคม)


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 02 เม.ย. 19, 20:59
การแบ่งห้อง ก ข ค สมัยผมแบ่งตามความเก่งของนักเรียนจริงๆ เด็กห้อง ค จะอ่อนที่สุด
การเรียนการสอน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่ได้มีความเท่าเทียมกัน เด็กใหม่ที่เข้ามา แรกๆจะอยู่ห้อง ค
แต่ถ้าผลสอบเทอมต้นดีมาก อาจจะย้ายมาห้อง ก ข ก็ได้

 ผมเรียนห้อง ก ตลอดตอนประถม มัธยมก็เรียนห้อง /๑  ม.ปลายก็เรียนสายวิทยาศาสตร์ จะได้เจอแต่ครูเก่งๆ เฉพาะด้านทางนั้นเลย
คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ครูก็จบวิทยาศาสตร์จุฬาฯ เรียนภาษาอังกฤษ ครูก็จบอักษรศาสตร์จุฬาฯ
เรียนภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ครูก็จบอักษรศาสตร์จุฬาฯ เช่นกัน

 เพื่อนผมเรียนห้อง ค มีความน้อยเนื้อต่ำใจมาก เพราะครูอาวุโสที่เก่งๆ จะไปสอนห้อง ก ข ส่วนห้อง ค
จะเป็นครูท่านอื่น ก็คงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะครูหนึ่งท่านไม่มีเวลาไปสอนทั้งสามห้องได้

จนเพื่อนจบ มาเป็นอาจารย์ เรียนจนเป็นด็อกเตอร์  บอกกับผมเลยว่า เขาชอบที่จะสอนห้องที่อ่อนที่สุด
เพราะเด็กเหล่านั้นควรจะได้รับสิ่งที่ดีดีบ้าง  ไม่ให้เหมือนกับที่เขาเคยเจอมาในอดีต
 

  
อยากจะแชร์ประสบการณ์เรื่องเด็กเก่งถูกจัดให้อยู่รวมกันในห้อง ก เด็กรองๆลงมาอยู่ห้อง ข และ ค โรงเรียนที่ผมเคยเรียนเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดกลาง สอนตั้งแต่ชั้นเตรียมประถมถึงมัธยม 8 ครูอาจารย์มีวุฒิแค่ ปป.และ ปม.มีที่จบปริญญา วท.บ, อ.บ.และ ค.บ.อย่างละคน ก็จัดเด็กเก่งอยู่ห้อง ก รองๆลงมาอยู่ห้อง ข และ ค เหมือนกันแต่อาจารย์ใหญ่ที่นี่แปลกท่านให้อาจารย์ทีมีปริญญาสอนห้อง ข และ ค ส่วนห้อง ก ให้ครู อาจารย์ ปป. ปม.สอน ท่านบอกว่าต้องช่วยเด็กที่อ่อนให้ไปได้เด็กเก่งไม่ต้องเป็นห่วงเขาๆไปรอดแน่นอนเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง(ประโยคนี้ผมได้ยินมาเมื่อหกสิบกว่าปีมาแล้ว) เพื่อนผมคนหนึ่งอยู่ห้อง ก ด้วยกันเขาเรียนเก่งมากได้ pass ชั้นหลายครั้งเขาอยากมากๆที่จะไปเรียนกับอาจารย์ปริญญาไปขออาจารย์ใหญ่เรียนห้อง ค ท่านไม่ให้เขาจึงแกล้งสอบภาคปลายได้แค่ 55 % เพือชั้นต่อไปจะได้เรียนห้อง ค และก็ได้ไปสมใจผลการเรียนในปีต่อมาทุกภาคเขาได้ที่หนึ่งของห้อง ค แต่ % ที่ได้ก็ไม่ชนะเด็กห้อง ก ปีต่อมาเขากลับไปเรียนห้อง ก อีกและมาสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมได้พร้อมผมทั้งๆที่ตอนนั้นเขายังเป็นเด็กชาย จากที่ผมเรียนมาจนถึงมัธยม 6 (มศ3) เด็กห้อง ค ของโรงเรียนแห่งนี้สอบผ่านข้อสอบชั้นประโยคของกระทรวงศึกษาได้คะแนนดีพอควรมีน้อยมากที่ไปเรียนต่อชั้น ม 7-8 และเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนมากไปเรียนต่ออาชีวะจบมามีงานการดีๆทำ  จากทีเคยประสบมานี้ผมไม่แน่ใจว่าพวกครูอาจารย์ทีมีปริญญาจะสอนและอบรมเด็กได้ดีกว่าครูอาชีพที่ไม่มีวุฒิแต่มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 19, 21:58
เรื่องการศึกษาต้องพูดกันยาว

ร.ร.ของดิฉัน(และคงอีกหลายๆร.ร.ในกรุงเทพ) แบ่งชั้นเรียนเด็กตามคะแนนสอบ  ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาก็เหมือนกัน
ในยุค 50+ ปีก่อน ทั้งครูและนักเรียนไม่เคยรู้เลยว่าการเรียนแบบอื่นนอกจากแบบที่เรียนเพื่อวัดผลว่าใครจะสอบได้คะแนนสูงสุด ก็มีอยู่เหมือนกัน   
ไม่รู้ว่าในโลกนี้มีเด็กอยู่หลายประเภท  หลากหลายมากกว่าเด็กที่สามารถเรียนได้คะแนนสูงกว่า และเด็กที่เรียนได้คะแนนน้อยกว่า
เด็กทุกคนเมื่อเข้าร.ร. จะถูกส่งเข้าเบ้าหลอมเดียวกันหมด     คือหลอมออกมาให้เรียนเก่ง ตอบข้อสอบได้คะแนนดี   คนไหนทำได้ก็ออกมาเป็นนักเรียนชั้นดี เป็นเด็กเก่งหัวดี เรียนเก่ง คนไหนทำไม่ค่อยจะได้หรือแทบไม่ได้เลยก็ได้ชื่อว่า เด็กหัวทึบ  หัวไ่ม่ดี   เรียนอ่อน   เรียนตกๆหล่นๆ แล้วแต่จะบัญญัติคำมาใช้กันในยุคนั้น

ดิฉันอ่านกระทู้นี้แล้วสะดุดอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องพระยาภะรตราชาท่านอนุญาตให้อาจารย์จักรพันธุ์วาดรูปได้ตามใจรัก
ฝีมือของอาจารย์จักรพันธุ์ ใครๆก็ดูออกว่าเป็นฝีมือระดับเทพ  ไม่ใช่มนุษย์เดินดิน  แต่หกเจ็ดสิบปีก่อน ท่านยังเป็นเด็กน้อยคนหนึ่ง   แต่ถ้าร.ร.เอาเด็กชายคนนี้ใส่เบ้าหลอมเหมือนคนอื่นๆ  เพื่อให้ออกมาเป็นนักเรียนเรียนเก่ง  เมืองไทยอาจจะได้นายแพทย์ หรือวิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์เก่งๆมา 1 คน     แต่ศิลปินแห่งชาติอาจจะหายไป 1 คน  อย่างหลังนี้มีจำนวนน้อยกว่าประเภทแรกมาก    อะไรจะน่าเสียดายกว่ากันคะ
ดิฉันขอกราบเจ้าคุณภะรตราชาไว้ ณ ที่นี้  ในวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านค่ะ

ระบบการศึกษาไทยในทุกวันนี้ก็ยังไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปมากกว่า 50+ ปีก่อนสักกี่ก้าวกันนัก    เด็กไทยก็ยังถูกคาดหวังให้เรียนเก่งไม่แพ้ใคร     จึงเรียนหนัก เรียนยาก ขึ้นทุกที  ไม่มีความสุขเลยกับชีวิตในร.ร.     
แทนที่ระบบจะเรียนรู้ว่า เด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน      คนที่ได้คะแนนท้ายสุดของห้องอาจมีฝีมือบางอย่างที่คนได้ที่ 1 ทำไม่ได้      หรือเขาอาจเป็นเด็กหัวคิดสร้างสรรค์ ที่ครูไม่เข้าใจวิธีคิด    ก็พยายามจะเบนเขากลับไปสู่วิธีคิดแบบกระแสหลัก    เด็กคนนั้นถ้าแหวกได้จนสำเร็จก็โชคดีไป  ถ้าแหวกไม่ไหวเขาก็อาจจะเป็นหนึ่งในคนแพ้ที่ล้มเหลวอยู่ในระบบ

วันนี้ระบายเยอะหน่อยค่ะ    เพราะอ่านแล้วมันไปสะกิดต่อมบางอย่างขึ้นมา     เป็นเพราะทำงานทางด้านช่วยเหลือเด็กด้วยก็เลยมีไฟแรงมากไปหน่อย  ยังงี้ต้องชวนคุณประกอบมาร่วมวงอีกสักคน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 19, 21:59
https://www.youtube.com/watch?v=ZMeuQPQzBeo


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 19, 08:57
ถ้าท่านย้อนไปอ่านพระบรมราโชบายขององค์พระผู้พระราชทานดำเนิดวชิราวุธวิทยาลัย(คคห. ๕) ก็จะเห็นแนวทางที่อดีตท่านผู้บังคับการสมัยก่อนยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา ซึ่งในสมัยที่ผมอยู่โรงเรียนนั้น พระยาภะรตราชาท่านก็มีวิธีการของท่านที่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ตั้งเป็นทฤษฎีอะไร

จวบจนชัยอนันต์ สมุทวาณิช ศิษย์เอกคนหนึ่งของท่านได้เป็นผู้บังคับการ จึงได้ประยุกต์วิถีวชิราวุธขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยท่านตั้งชื่อวิธีการเรียนการสอนนี้ว่า PLEARN ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติจากคำว่า Play + Learn ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราโชบายที่ว่า "ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งเพลิดเพลินสำหรับเด็ก"

วรชาติ มีชูบทเคยเขียนไว้ว่า

นอกจากนั้นในช่วงแรกที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ยังได้จัดให้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร การเรียนการสอน การพัฒนาครู และบุคลากรทั้งหมด โดยได้นำทฤษฎี Constructivism ซึ่งเป็นทฤษฎีการศึกษาที่พัฒนาขึ้นโดย Seymour Papert แห่งสถาบันสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซุเซตต์ (Massachusetts Institute of Technology, MIT) มาปรับใช้ โดยทฤษฎีนี้เชื่อมั่นว่า ความรู้เกิดจากการสร้างขึ้นโดยตัวเด็ก การศึกษาจะประกอบด้วยการจัดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์ การคิดของเด็กสอดคล้องกับความจำเป็น ความต้องการ และความเป็นไปได้ในปัจจุบันของพวกเขา การให้การศึกษาแก่เด็ก จึงต้องคำนึงถึงการคิดของเด็กๆ ในแต่ละขั้นตอนของ การพัฒนาความรู้ และโลกของเด็ก จะถูกสร้างขึ้น และสร้างใหม่ไปเรื่อยๆ ตาม ประสบการณ์ส่วนตัวของเขา และทฤษฎี Learning to Learn อันเป็นแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่โดย Christine Ward ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนิวซีแลนด์ มาจัดการอบรม และแนะนำการสอนแก่ครู อาจารย์ ของวชิราวุธวิทยาลัย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 19, 08:58
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ว่า เมื่อเด็กๆ แปรสภาพเป็นผู้ควบคุมกระบวนการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นผู้รับความรู้จากการสอนแบบเดิม ซึ่งทำให้เกิดการแปลกแยกจากระบบการเรียนเดิมมากขึ้น สิ่งที่เด็กเรียนเองมีมากขึ้น หากเขามีทักษะและมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว หรือสามารถเช่าเวลาในการใช้อินเตอร์เน็ตได้ หากโรงเรียนและครูไม่ปรับปรุงกระบวนการเรียนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เป็นไปได้ว่าครูและโรงเรียนจะกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่จะถูกข้ามไป ฉะนั้นโรงเรียนจึงมีหน้าที่จะต้องสนับสนุนให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้วิทยาการใหม่ไปพร้อมๆ กัน

ในขณะที่มีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น ก็ได้ มีการปรับปรุงหลักสูตรภาษาต่างประเทศพร้อมกันไปในทันที โดยมีเป้าหมายไว้ว่า เด็กจะต้องมีการสื่อสารจริงกับชาวต่างประเทศจากปี ๒๕๓๙ ซึ่งวชิราวุธมีครูชาวต่างประเทศน้อยมาก ก็มีการทยอยรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปีการศึกษา ๒๕๔๕ วชิราวุธวิทยาลัยมีครูชาว อังกฤษ อเมริกัน นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ถึง ๒๐ คน

แม้กระนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ยังมีความเชื่อว่า นักเรียนทุกคนแม้ได้รับความเอาใจใส่ทางการศึกษาเท่ากัน แต่พัฒนาการของแต่ละคนไม่เท่ากัน นักเรียนที่มีทั้งความสามารถ และกระตือรือร้นไม่ควรถูกหยุดยั้งสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ โดยเรียนไปพร้อมๆ คนอื่น จึงได้วางแผนส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษาเต็มศักยภาพ โดยจัดกลุ่มนักเรียนเหล่านี้เข้าลู่ที่เรียกว่า Fast Track โดยเน้นให้มีความรู้ภาษาอังกฤษขั้นสูง และสามารถเรียนบางวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษได้ รวมทั้งสามารถใช้อินเตอร์เน็ต ในการค้นหาข้อมูลได้อย่างแคล่วคล่อง

ในปีการศึกษา๒๕๔๐ ได้เริ่มจัดให้มีการสอนวิชาการออกแบบและเทคโนโลยี ทั้งระดับประถมและมัธยม และได้จัดให้มีการก่อสร้างตึกเวสสุกรรมสถิตเป็นอาคาร Art & Design Technology ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้กล่าวถึงแนวคิดในการจัดตั้งโครงการนี้ไว้ว่า "ผมก็มองว่าถ้าจะมีการลงทุน ผมจะลงทุนในเรื่องอะไร ผมคิดว่าเวลานี้ เป็นสังคมความรู้ สังคมความรู้คือ ความคิด ความคิดขึ้นอยู่กับโนว์ฮาว และ ความคล่องแคล่ว เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็กำหนดวชิราวุธว่า เราอาจจะแข่งขันกับโลกนี้ไม่ได้ในเรื่องของสังคมทั้งหมด แต่เราน่าจะแข่งกันได้ในเรื่องของความสามารถเฉพาะตัว ในเรื่องของความคิดต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมก็เลยมุ่งไปยังเรื่องศิลปะการออกแบบ และเทคโนโลยีในระดับโรงเรียน"




กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 19, 09:03
ส่วนเรื่องของการแสดง ซึ่งจัดอยู่ในแผนการศึกษาแผนใหม่ของวชิราวุธวิทยาลัยนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ได้แสดงแนวความคิดในเรื่องนี้ไว้ว่า "ถ้าเรามาดูพระราชนิพนธ์ในรัชกาล ที่ ๖ ที่มาเล่นเป็นบทละครในสมัยของท่าน จะเห็นได้ว่า ท่านต้องการให้การเรียนรู้ ต้องการสอนให้ข้าราชบริพารและพ่อค้าวาณิช ในเรื่องคุณค่าของความเป็นตะวันตก แต่ที่สำคัญท่านไม่ได้บอกว่าเอาไปตามนั้นเลย เพราะท่านเป็นคนแรกที่พูดถึงลัทธิเอาอย่าง ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่พยายามที่จะรับกับกระแสตะวันตก ละครของท่านหลายเรื่องเป็นการเล่นเพื่อสอน เช่น เรื่องกลแตก ที่ให้เน้นเรื่องผัวเดียวเมียเดียว ท่านจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทั้งๆ ที่ท่านเป็นหัวหน้าใหญ่ ที่จะทำตรงนั้นได้ท่านจะทำอย่างไร" 
วชิราวุธวิทยาลัยในสมัยศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นผู้บังคับการ จึงได้เจริญรอยพระยุคลบาทโดยจัดให้มีการดัดแปลงอาคารในโรงเรียนเป็นโรงละคร มีการรับครูการละครเพิ่มเติม รวมทั้งจัดให้ครูภาษาอังกฤษมาเป็นครูการแสดง ๑ คน แล้วได้จัดให้นักเรียนแสดงละครพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นลำดับมาทุกปี

เนื่องจากในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้มีการปรับเปลี่ยนวันกลับบ้านของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจากเดิมกลับบ้านเดือนละครั้งเมื่อเลิกเรียนในบ่ายวันเสาร์ และกลับเข้าโรงเรียนในตอนเช้าวันจันทร์ มาเป็นกลับบ้านทุกบ่ายวันศุกร์เว้นศุกร์ และกลับเข้าโรงเรียนในเย็นวันอาทิตย์ ซึ่งการที่นักเรียนกลับบ้านทุกวันศุกร์เว้นศุกร์นี้ทำให้การเรียนในวันเสาร์ไม่เป็นไปโดยต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช จึงได้ปรับการเรียนในวันเสาร์ที่นักเรียนอยู่โรงเรียนเป็นการปฏิบัติกิจกรรมกรรมวันเสาร์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีทางเลือกเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งนี้ท่านผู้บังคับการได้กล่าวถึงยุทธวิธีในการสอดแทรกความรู้ไปในกิจกรรมสันเสาร์นี้ไว้ว่า

"ผมให้เลิกเรียนวันเสาร์มา ๓ ปี ทดลองดูว่าให้เด็กเลือก ใครอยากทำอะไรในโลกนี้ ใครอยากจะเรียนขี่ม้า หรือใครอยากนอนไม่อยากทำอะไรเลย ก็นอนไป แล้วแทนที่จะมีโปรแกรมว่าศิลปคำนวณ ศิลปฝรั่งเศส เราเปิดทางเลือกให้วันเสาร์ไม่มีเรียน แต่ให้ครูกับเด็กมาร่วมกันศึกษาวัฒนธรรม และภาษาจีนแมนดาริน วัฒนธรรม และภาษาญี่ปุ่น วัฒนธรรมและภาษาเยอรมัน ก็มีเด็กกับครูเรียน เพราะฉะนั้น หลังจาก ๓ - ๔ ปีนี้เราน่าจะมองได้ว่าวิชาใดน่าจะเป็นวิชาเลือกให้เขาเรียน แต่ถ้าเราบอกว่าเป็นวิชาเลือกมันกลายเป็นวิชาไปแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่ากิจกรรมวันเสาร์ไม่ต้องเรียน ใครสนใจก็ไปทีนี้พวกที่สนใจจะไปเอง"


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 19, 20:05
เรื่องของการศึกษาที่กำลังถกกันอนู่นี้นั้น คงจะมีด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาถกกันได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งยังขยายวงได้กว้างออกไปในมุมมองด้านต่างๆอย่างไม่รู้จบ สุดแท้แต่จะนำประเด็นใดเข้ามาร่วมพิจารณา (ในองค์รวมก็คงจะเรียกว่าสภาพหรือสิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี และการจัดการที่เหมาะสมเพื่อยังผลให้บุคคลสามารถคงอยู่หรืออยู่รอดในสังคมพหุภาคีและสังคมที่มีการแข่งขัน)

วชิราวุธฯ มีกิจกรรมหลากหลายตลอดปีการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกถึงความสนใจและความสามารถของตนในด้านต่างๆที่มิใช่เป็นเรื่องของการต้องสอบเพื่อให้ผ่านหรือเพื่อการแข่งขันกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้ที่เก่งที่สุด ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นมีลักษณะเป็นกิจกรรมกลุ่ม 


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 04 เม.ย. 19, 16:17


เนื่องจากในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้มีการปรับเปลี่ยนวันกลับบ้านของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจากเดิมกลับบ้านเดือนละครั้งเมื่อเลิกเรียนในบ่ายวันเสาร์ และกลับเข้าโรงเรียนในตอนเช้าวันจันทร์ มาเป็นกลับบ้านทุกบ่ายวันศุกร์เว้นศุกร์ และกลับเข้าโรงเรียนในเย็นวันอาทิตย์ ซึ่งการที่นักเรียนกลับบ้านทุกวันศุกร์เว้นศุกร์นี้ทำให้การเรียนในวันเสาร์ไม่เป็นไปโดยต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช จึงได้ปรับการเรียนในวันเสาร์ที่นักเรียนอยู่โรงเรียนเป็นการปฏิบัติกิจกรรมกรรมวันเสาร์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีทางเลือกเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งนี้ท่านผู้บังคับการได้กล่าวถึงยุทธวิธีในการสอดแทรกความรู้ไปในกิจกรรมสันเสาร์นี้ไว้ว่า




ผมเข้าเรียนในช่วงปี ๒๕๑๗-๒๕๒๖   รวม ๑๐ ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลง การกลับบ้านอยู่ ๒ แบบ
ตั้งแต่เด็กเล็กจนเด็กโต ช่วง ม.ต้น กลับบ้านเดือนละครั้ง วันเสาร์สิ้นเดือนตอนบ่าย กลับเข้าโรงเรียนวันจันทร์ ก่อน ๘ โมง ให้ทันขึ้นหอประชุม ไม่ต้องเรียน คาบ ๑ ตอน ๗ โมง
แล้วมาช่วง ม.ปลาย เปลี่ยนแปลงให้ยกเลิกการเยี่ยม ทุกวันอาทิตย์ และให้กลับบ้าน เสาร์ เว้นเสาร์ แทน กลับเข้าโรงเรียนวันจันทร์เช้า เหมือนเดิม
เสียเวลาเรียนแค่ คาบเช้าวันจันทร์ 2 ครั้ง เท่านั้น

ดร.กัลย์ มาเป็นผู้บังคับการปี ๒๕๑๙

การกลับบ้านวันศุกร์ ไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือ ว่ามาเปลี่ยนตอนปลายๆสมัย ดร.กัลย์ แล้ว



กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 19, 18:45
ที่ผมใช้คำว่ากิจกรรมกลุ่มนั้น หมายถึงกิจกรรมที่ทำด้วยกันหรือร่วมกันตามความถนัดและความชอบ 

ในภาคของคณะเด็กเล็กในสมัยของผมนั้น ช่วงเวลาหลังอาหารกลางวันก่อนที่จะเข้าเพร๊บช่วงบ่าย 2-3 โมงเย็นนั้น ก็จะมีการจับกลุ่มเล่นกันไปตามวัย เล่น เล่นดีดลูกหิน เล่นเป่ากบ แหย่กันไล่จับกัน ฯลฯ   เมื่อเข้าห้องเพร๊บ นั่งประจำโต๊ะใครโต๊ะมันแล้ว บางคนก็จะฟุบหลับ บางคนก็จะทำการบ้าน บางคนก็นั่งขีดเขียน วาดรูป หรือประดิษฐ์ของเล่น เป็นช่วงเวลาสั้นๆแบบกึ่งปล่อยให้เป็นอิสระ (ครูเดินมาดูเป็นระยะๆ) ช่วงเวลาสั้นๆในห้องเพร๊บทั้งช่วงบ่ายและช่วงเย็น (19-20 น.)นี้ เด็กจะได้เห็นพรสวรรค์และความสามารถบางอย่างของเพื่อนแต่ละคน ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นสภาพแวดล้อมเล็กๆที่ไปกระตุ้นเด็กให้เกิดความรู้สึกอยาก(challenge)จะลองหรือแสดงความสามารถของตนเองในบางเรื่อง ยังผลให้เด็กรู้จักตัวตนและขีดจำกัดของตนเอง พร้อมกับการเปิดใจยอมรับผู้อื่นในด้านต่างๆมากขึ้น

ในช่วงเวลาของเพร๊บหนึ่งชั่วโมงตอนบ่ายที่เล่ามานั้น จะเป็นเวลาเดียวกันกับที่มีการสอนดนตรี แล้วก็เปิดโอกาสให้เด็กเลือกที่จะสมัครหรือไม่สมัครเรียนก็ได้   แน่นอนว่านั่งในห้องเพร๊บน่าเบื่อเอามากๆ ก็จึงสมัครเรียนดนตรีกัน ในสมัยผมสำหรับเด็กเล็กก็มีแต่เพียงเรียนการสีไวโอลินเท่านั้น   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 19, 19:22
เมื่อย้ายเข้าไปอยู่คณะใน จึงจะได้มีโกาสเลือกเรียนได้มากกว่านั้น ก็มีพวกเครื่องเป่าทั้งหลาย เครื่องสายทั้งหลาย  แยกออกเป็นวงๆไป ก็มีวงปี่สก็อต วงโยธวาทิต วงจุลดุริยางค์ วงสตริงแบนด์ (สำหรับเด็กเล็กในช่วงหลังก็มีวงเมโลดิก้า)  สำหรับพวกที่ยังคิดไม่ออกว่าจะเรียนเครื่องดนตรีแบบใหนและชิ้นใดดี หรือจะด้วยข้อจำกัดว่าไม่มีเครื่องดนตรี หรือจะต้องรอไปจนกว่าเครื่องจะว่าง   ก็จะถูกให้ไปเรียนปั้นดิน (ทำเครื่องปั้นดินเผา)

การเรียนปั้นดินนี้ ผมเองก็เป็นหนึ่งในเด็กหลายคนที่ไปเรียนก่อนที่จะเลือกเรียนเครื่องดนตรีใดๆ (ผมเลือกเรียน Mandolin)   ก็สนุกนะครับ เรียนรู้ตั้งแต่เอาดินเหนียวมาละเลงน้ำในบ่อให้เป็นโคลนเพื่อกำจัดกรวดทรายและเศษพืช (ด้วยการทำให้ตกตะกอน) เรียกว่าทำสลิป  แยกออกมาปั้นเป็นก้อนทิ้งให้พอหมาดและก็เอามาปั้นบนแท่นคอนกรีตที่ใช้เท้าถีบให้หมุนเพื่อขึ้นรูปทั้งแบบเริ่มต้นด้วยก้อนดินหรือปั้นเป็นเส้นแล้วขดขึ้นรูป รวมทั้งการทำแบบหล่อปูนปลาสเตอร์และหล่อ ไปจนถึงการเผาครั้งแรก ลงเคลือบแล้วเผาครั้งที่สอง  ผลงานยังมีโอกาสได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์ในงานวันกรีฑาอีกด้วย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 19, 18:46
บ่ายสามถึงสี่โมงเย็นจะเป็นอีกช่วงเวลาที่อิสระ เป็นเวลาสำหรับการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายไปใส่ชุดเล่นกีฬา ใสเสื้อสีของคณะที่ตนสังกัดอยู่ สีเหลือง-เด็กเล็กหนึ่ง  สีม่วง-เด็กเล็กสอง  สีเทา-เด็กเล็กสาม  สีฟ้า-คณะผู้บังคับการ  สีน้ำเงิน-คณะดุสิต  สีเขียว-คณะจิตรลดา และสีชมพู-คณะพญาไท  ผมไม่ทราบว่าในสมัยของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ เป็นผู้บังคับการนั้น คณะที่เพิ่มมาใหม่มีสีประจำคณะเป็นสีอะไรกันบ้าง

สำหรับคณะเด็กเล็กนั้น ชั่วโมงกีฬานี้มีการสลับไปเป็นชั่วโมงแห่งการฝึกเดินแถว ปี๊ด-ปรี้-ปี๊ด ซ้ายขวาซ้าย  และซ้ายหัน ขวาหัน  (ไม่แน่ใจว่ากลับหลังหันมีรวมอยู่ด้วยหรือเปล่า) ครูที่ฝึกสอนรุ่นๆผมเพิ่งจะเสียชีวิตไปด้วยวัยชราเมื่อต้นปีที่แล้วมานี้เอง คุณครูชาลี สาครสินธุ์ ครับ 

การฝึกเดินแถวนี้เป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับเด็กๆมาก เป็นการฝึกกันเมื่อยังอยู่ในคณะเด็กเล็กเท่านั้น แต่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสง่างามในการเดินและการเคลื่อนไหวต่างๆที่บ่งถึงความเป็นชายไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว   เราจะเห็นว่าพวกหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่เข้าโรงเรียนทางทหาร ตำรวจ ทหารเกณฑ์ รวมทั้งพวกที่ตั้งใจฝึก รด. ที่ผ่านการฝึกเดิน(แถว)นี้ ก็ล้วนแต่มีบุคลิกลักษณะที่ต่างไป   เรื่องนี้ก็จึงไม่จำเป็นจะต้องทำกันตั้งแต่วัยเด็กเล็ก  ผู้คนเหล่านี้จะคุ้นกับการออกเดินก้าวแรกด้วยเท้าซ้าย           


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 19, 19:29
เล่นกีฬาแล้วเสื้อผ้ารองเท้าที่สกปรกจะทำเช่นใด ?

สำหรับเด็กเล็กนั้นเสื้อผ้าจะไม่สกปรกมากนัก มีแต่เหงื่อ  โรงเรียนก็จะมีระบบบริการ (แล้วค่อยขยายความเรื่องของระบบนี้)  ยกเว้นเรื่องรองเท้าผ้าใบสีขาวที่สวมใส่ในชั่วโมงกีฬา ซึ่งเด็กจะต้องซักเอง(และต้องให้ขาวอีกด้วย) ตากเอง เก็บเอง ทำกันในวันอาทิตย์  รองเท้าหนังสีดำก็ต้องขัดเอง ต้องขัดให้ขึ้นเงาอีกด้วย   เมื่อแก่วัดขึ้นหน่อยก็เลยเป็นเรื่องเอามาอวดกันว่าใครจะขัดได้มันกว่าใคร ใช้ศัพท์ว่า "มันจนแมลงวันเกาะแล้วลื่นตก"  รู้จักการขัดรองเท้าให้มันด้วยการใช้น้ำช่วยก็ตั้งแต่อายุแปดเก้าขวบนี้แหละ     


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 19, 18:01
กีฬาที่เล่นและแข่งขันกันทั้งหมดจะเป็นกีฬาประเภททีม แข่งกันระหว่างคณะ จะเรียกว่ากีฬาสีก็ได้ แบ่งออกเป็นรุ่นๆ  จะยกเว้นก็เฉพาะกรีฑาเท่านั้นที่เป็นการแข่งขันกึ่งๆระหว่างสีกับบุคคล   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 19, 18:22
อ่านกระทู้ย้อนกลับไปแล้วก็รู้สึกว่า เรื่องราวที่ผมเขียนกำลังดำเนินออกไปท้องทุ่ง  เอาเป็นว่า ที่เล่ามานั้นก็คงพอจะจับความได้ว่าเด็กถูกพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร    เมื่ออยู่ในคณะเด็กเล็ก ครูก็เป็นผู้ดูแล เมื่อเข้าคณะในก็เปลี่ยนถ่ายจากครูไปเป็นรุ่นพี่ ซึ่งป็นการดูแลแบบพี่ดูแลน้อง มิใช่แบบพี่บังคับน้อง ก็เป็นเรื่องของระบบ seniority ในอีกมุมหนึ่ง

ครับผม   


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 15 เม.ย. 19, 19:32
ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาเล่าเรื่องโรงเรียนวชิราวุธ(ในสมัย)ของฉัน จนทำให้พอเข้าใจได้ว่าโรงเรียนของท่านหล่อหลอมเด็กให้มีวุฒิภาวะมีความรู้ความสามารถด้านต่างๆตามความถนัด และความเป็นสุภาพบุรุษที่ดีได้อย่างไร ประเด็นสุดท้ายที่อยากให้กรุณาเล่าเพิ่มเติม คือโรงเรียนที่มีนักเรียนจากที่ต่างๆมาใช้ชีวิตร่วมกันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนย่อมมีเรื่องเขม่นกันจนถึงทะเลาะวิวาทได้เป็นธรรมดา โรงเรียนมีวิธีจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไรเพราะถ้าจัดการได้ไม่เหมาะสมแล้วเด็กในคณะเดียวกันหรือต่างคณะก็มีเพื่อนหรือคณะของตนเองเป็นพวกอาจรุนแรงถึงขั้นยกพวกตีกันได้ ถ้าถึงขั้นนั้นก็อยู่ร่วมกันลำบาก และจะเสียซึ่งความสามัคคีของหมู่คณะ


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 19, 07:11
กิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตรที่โรงเรียนจัดให้นักเรียนต้องทำร่วมกันไม่มีว่าง ทั้งระดับในคณะและระดับโรงเรียน ได้สร้างมิตรภาพของนักเรียนและหล่อหลอมให้เพื่อนแท้ เป็นพี่เป็นน้องร่วมสถาบันเดียวกันจวบจนวันตาย
กีฬาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสามัคคีในคณะที่รุ่นพี่ปกครองรุ่นน้อง  การแข่งขันระหว่างคณะซึ่งดูเหมือนจะเอาเป็นเอาตายกันทุกรุ่นนั้น แต่พอมารวมทีมใส่เสื้อสีเดียวกันแข่งกับโรงเรียนอื่นแล้ว ก็จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

ถามว่านักเรียนวชิราวุธมีเรื่องเขม่นกันถึงกับวิวาทบ้างไหม  มีครับ ถือเป็นเรื่องปกติของเด็กผู้ชาย  ในคณะเด็กเล็กครูอาจดูแลใกล้ชิดและทำโทษทั้งคู่หากทะเลาะจนถึงลงไม้ลงมือกัน  แต่ในคณะเด็กโต หัวหน้าคณะอาจจะใช้วิธีที่ต่างออกไปบ้าง  ในโรงเรียนมีโรงสควอช(กีฬาที่ใช้แร๊กเก็ตตีลูกใส่ผนัง)ที่เหมือนสังเวียนกลายๆ  หากใครมีเรื่องกันก็จะนัดไปเจอกันที่นั่นหลังอาหารกลางวัน  ส่วนใหญ่หัวหน้าคนใดคนหนึ่งจะรู้ เพราะเด็กๆจะเดินกันเป็นสายไปที่นั่น  แต่จะไปปรากฏกายหลังชกกันไปแล้วสักเล็กน้อยเพื่อเข้าไปบอกว่าพอๆๆๆ  จับมือกันได้แล้ว

เท่าที่ผมเห็น ส่วนใหญ่พอได้ฟาดปากกันด้วยหมัดลุ่นๆสักครั้ง  พอเลือดกลบปากหรือขอบตาเขียว  ความเป็นเพื่อนมันจะแนบแน่นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป  ไอ้ที่จะอาฆาตแค้นกันไปตลอดนั้นไม่มีเลย


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 19, 07:26
คณะในทุกคณะจะแขวนกระสอบทราย และมีนวมไว้ให้พวกบ้ามวยได้ประลองกันเสมอ (แต่ไม่มีการแข่งขันในโรงเรียนนะครับ)

ถ้าทะเลาะกันในคณะ ก็จะโดนหัวหน้าจัดให้ได้ชกกันสมใจอยาก ผลก็จะเป็นดังที่ผมก๊อปมาจากเฟซของพวกโอวีหลังผมสี่ปีเมื่อเช้านี้เองครับ นี่เขาเล่าความหลังกัน


กระทู้: วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 เม.ย. 19, 07:39
การเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธฯ นั้น เป็นโรงเรียนประจำกินนอน ผมได้กลับเข้ามาในวังแค่ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไม่รู้สึกขมขื่นแต่อย่างใด เพียงแต่รู้สึกขาดทุนเล็กน้อยที่อดฟังนิทานพระราชทานจากพระโอษฐ์ ในตอนค่ำของวันธรรมดา

ที่โรงเรียนวชิราวุธฯมีระบบในการรับเบี้ยเลี้ยงจากครูใหญ่เป็นรายสัปดาห์ และในแต่ละวันพอสี่โมงเช้าพักเรียนก็ไปกะหรี่ปั๊บหรือขนมอื่นที่มีประโยชน์มากิน สำหรับกิจกรรมแล้วที่นี่ส่งเสริมให้เด็กเล่นกีฬามีทีมฟุตบอลหลายรุ่น และมีฝีเท้าที่หนักของผมก็เป็นที่ยอมรับให้เป็นกัปตันทีมรุ่นเด็ก อีกทั้งผมยังเป็นนักมวยอย่างบังเอิญด้วย คือที่โรงเรียนมีกฎห้ามชกต่อยเหมือนเป็นเด็กริมถนน ใครไม่ชอบหน้ากันหรือมีเรื่องโกรธแค้นกัน จะต้องมาหาครูสอนยิมนาสติกขอนวมมาต่อยกันต่อหน้าคนอื่น ๆ ในห้องยิมนาสติกนั่นเอง เมื่อเลิกชกกันแล้วต้องจับมือกัน

สำหรับผมได้เป็นนักมวยบังเอิญ ไม่ใช่ว่าผมไปมีเรื่องทะเลาะกับใคร แต่เป็นเพราะวันหนึ่งครูบอกว่าจะสอนวิธีการชกมวยให้รู้ไว้เพื่อป้องกันถูกรังแก  ครูมีลูกศิษย์คนหนึ่งตัวผอมกะหร่อง หัวโต เขาเดินเข้ามาพร้อมมือสวมนวมเรียบร้อย ครูก็มองหานักเรียนที่อยู่ตรงหน้าที่จะมาเป็นคู่ซ้อม และสายตาครูก็มาหยุดที่ผม พร้อมบอกว่า

“รูปร่างท่าทางใหญ่ แข็งแรงดี คงจะได้” แล้วสั่งให้คนนำนวมมา ความเป็นเด็กบ้านนอกไม่เคยเห็นนวมมาก่อน เห็นไกล ๆ นึกว่า ลูกมะพร้าว เขาก็เอานวมมาใส่ให้ ครูก้บอกว่าต่อยกันเสร็จแล้ว ห้ามถือโทษโกรธกัน เพราะนี่เป็นกีฬา แต่ผมเคยเห็นแต่เด็กวัด เขาชกกันเหมือนควายขวิด ซึ่งผมคิดว่าเป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์

พอครูบอกเริ่ม เขาก็ก้มหน้าก้มตาเข้ามาต่อยตุ้บ ๆๆๆ  ผมพยายามหลบ แต่แล้วก็เห็นหนังลูกกลม ๆ ลอยมาที่กกหู ตุ้บ! เสียงในหูดังวี้ด ๆๆๆ แล้วเขาก็เต้นโยกตัวหาไม่เจอเลย มีแต่เสียงลมวืด ๆๆ ผมจะต่อยก็ไม่โดน เป็นแบบควายขวิดทุกที  แล้วก็นึกได้ว่า ก่อนอื่นต้องหาว่าเท้าเขาอยู่ไหน ตัวเขาถึงจะอยู่ตรงนั้น พอผมจับจังหวะเท้าเขาได้ ผมก็ชกพั่บเข้าไป ไม่ทราบโดนตรงไหน แต่เขาล้มโครม ครูบอกให้พอ และจับมือกัน ครูพูดว่า

“ตานี่หมัดหนัก น่าจะพัฒนา”  หลังจากนั้น ผมก็ไม่ได้ต่อยมวยอีก จนได้ไปแสดงฝีหมัดอีกครั้งที่ต่างประเทศ ไว้ผมจะเล่าให้ฟังคราวต่อไป

จาก ใต้ร่มฉัตร เรื่องราวชีวประวัติหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์  นักเรียนวชิราวุธคนเก่ง ตอนที่ ๕ (https://praew.com/people/94013.html)

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5199.msg107773#msg107773