เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 19, 19:05



กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 19, 19:05
เรือนไทยขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของคุณ V_Mee ค่ะ
ใจหาย  ยังคิดอะไรไม่ถูก ไม่นึกว่าจะกะทันหันอย่างนี้
ต่อไปใครจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 6  ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆในรัชสมัย
เสียดายจนบอกไม่ถูก

ขอให้คุณ V_Mee หรือคุณวรชาติ มีชูบท ไปสู่สุคติ ค่ะ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ต.ค. 19, 19:28
 :'( :'( :'(


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 19, 19:36
ขอร่วมแสดงความเสียใจด้วยครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 09 ต.ค. 19, 20:10
ขอให้ดวงวิญญาณอาจารย์วรชาติไปสู่สุคติ ณ สัมปรายภพครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ต.ค. 19, 20:13
เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดเผยถึงการเสียชีวิตของนายวรชาติ มีชูบท ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

นายสุวีเรศ มีชูบท บุตรชาย กล่าวว่า บิดาเสียชีวิตเมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น. ของวันนี้ จากอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต อันสืบเนื่องจากการติดเชื้อในทางเดินอาหาร โดยหัวใจได้หยุดเต้นถึง ๔ ครั้ง กระทั่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าหลังเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียู

นายสุวีเรศกล่าวว่า หลังจากบิดาเสียชีวิต อยากให้ผลงานของท่านเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ที่ผ่านมามีผลงานอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่าง ผลงาน อาทิ เกร็ดพงศาวดารรัชกาลที่ ๖, ภาพล้อฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ ๖, ราชสำนักรัชกาลที่ ๖ และเบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในด้านอื่น ๆ เช่นเจ้านายฝ่ายเหนือและตำนานรักมะเมียะและย้อนอดีตล้านนา ตอนรวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่

สำหรับกำหนดการสวดพระอภิธรรมจะมีขึ้นที่วัดเสมียนนารีเป็นเวลา ๕ คืน หากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

https://www.matichon.co.th/book/book-society/news_1706359


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 19, 21:21
ใจหาย เสียใจ และเสียดาย

ขอบพระคุณสำหรับความรู้ที่ท่านแบ่งปันให้ชาวเรือนไทยตลอดมาครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 09 ต.ค. 19, 21:41
ขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 08:53
วรชาติ มีชูบท  ที่บางครั้งผมจะเขียนนามปากกา V-Mee ของเขาว่าวีหมีนั้น เป็นรุ่นน้องห่างกับผมถึง ๙ รุ่น ตอนอยู่วชิราวุธเขาจึงรู้จักผมข้างเดียว และมาแนะนำตัวเองคราวที่ผมไปเป็นกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเวลานั้นเขาได้ไปช่วยงานอยู่ที่หอวชิราวุธานุสรณ์  รับคำสั่งจากท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ตามแต่ท่านจะใช้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็เรียกพี่เรียกน้องสนิทสนมกัน

วรชาติมาทำงานใกล้ชิดกับผมยิ่งขึ้นเมื่อผมเป็นประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ ศิลปสถาปัตยกรรม ของสมาคมสถาปนิกสยามฯแล้วชักชวนเขามาเป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการ  กินเงินเดือนในขณะที่กรรมาธิการอื่นๆล้วนเป็นอาสาสมัคร ไม่มีเบี้ยอะไรทั้งนั้น  วรชาติทำงานที่นั่นจนสิ้นวาระของผม แล้วได้งานเป็นพนักงานประจำในมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงขอลาออกไป

การทำงานอยู่กับหนังสือในห้องสมุดที่นั่นทุกวัน ข้างหลังหอวชิราวุธก็เป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  คนที่มีใจรักอยู่แล้วจึงไม่ต้องสงสัยว่าจะตักตวงความรู้เข้าไว้ในหัวสมองและหัวใจมากมายแค่ไหน  เมื่อสิ้นท่านหม่อมหลวงปิ่นแล้ว ผมจึงได้เรียกเขาว่าเอตะทัคคะในประวัติศาสตร์รัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งตอนแรกๆเจ้าตัวไม่ยอมรับ แต่หลังๆก็เหนื่อยที่จะปฏิเสธ

บทบาทที่โดดเด่นมากของวรชาติ มีชูบท  คือ เขาเป็นนักรบไซเบอร์คนเดียวที่ต่อสู้ปกป้องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมรภูมิอินเทอเน็ตที่การสาดโคลนเป็นเรื่องง่ายดายไม่ต้องใช้สมองคิด  วรชาติจะใช้ข้อมูลจริงที่หนักแน่นตอบโต้ด้วยสำนวนภาษาที่สุภาพ ไม่ว่าบางเรื่องจะมาซ้ำๆซากๆกันแค่ไหน  ก็อดทนชี้แจง ให้แพ้ชนะเป็นเรื่องที่คนอ่านจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งตอนนั้นก็วัดไม่ได้ว่าพวกเขาเชื่อใคร  แต่เมื่อวรชาติจากไปแล้วไม่ทันครบวัน  ถ้อยความที่หลั่งไหลมาตามหน้าสื่ออินเทอเน็ตทั้งหลาย  แสดงความอาลัยและยกย่องเขามากมายเหลือคณานับ  จึงถือเป็นบทสรุป

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านมิได้ทรงมีพระราชโอรส  ในพระบรมราโชวาทที่โรงเรียนเราครั้งหนึ่งทรงตรัสว่า “ เจ้าเหล่านี้ ข้าถือว่าเป็นลูกข้า”  พวกเราจึงเป็นลูกวชิราวุธทุกคน  แต่ลูกวชิราวุธที่ทำหน้าที่ปกป้องพ่อแบบ วรชาติ มีชูบท มีน้อยมาก 

แต่ทะเลไม่มีขาดคลื่นลูกใหม่  ผมหวังว่า วันหนึ่งคงมีคนหนุ่มมามาสืบหน้าที่เช่นเดียวกับวรชาติได้


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 08:55
วรชาติป่วยหนักมาครั้งหนึ่งในปีที่แล้ว  ซึ่งเมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ  ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๐๑๙ ก็มีโทรศัพท์จากรองเลขาธิการพระราชวังแจ้งให้ทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสลงมาเมื่อคืน ให้จัดแจกันดอกไม้และกระเช้าของขวัญมาพระราชทานเยี่ยมอาการป่วยถึงที่บ้าน

วรชาติเขียนเล่าว่า

“พอช่วงบ่ายโมงเศษก็มีกรมวังจากพระที่นั่งอัมพรสถานเชิญแจกันดอกไม้และกระเข้าของเยี่ยมพระราชทานมามอบให้  เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่นักเรียนเก่าวชิราวุธผู้เป็นข้าราชบริพารตัวน้อยๆ เช่นผมและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้ การที่ได้รับพระราชทานขวัญกำลังใจครั้งนี้นอกจากจะทำให้ยิ่งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ ยิ่งๆ ขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความมานะที่จะสนองพระเดชพระคุณในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ และในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ยิ่งๆ ขึ้นไปตราบชีวิตจะหาไม่ ”


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 08:57
การเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งในปีนี้ค่อนข้างจะฉุกละหุก  ถือเป็นข่าวที่ไม่ดีจนผมอดไม่ได้ที่จะต้องทำใจไว้ล่วงหน้า สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันวาน ขอให้อ่านตามนี้ครับ
.
.
เรื่องข่าวการเสียชีวิตของพี่เบะ(วรชาติ มีชูบท)

เริ่มจากเมื่อสายผมได้คุยกับเตยลูกชายคนเล็กของพี่เบะ ทราบถึงอาการที่น่าเป็นห่วงของพี่เบะว่าสองวันที่อยู่โรงพยาบาลจากอาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะจนเกิดอาการไตวายเฉียบพลัน และอวัยวะภายในล้มเหลว จนหัวใจหยุดเต้นไปถึงสามครั้ง ในสองครั้งแรกสามารถทำ CPR ขึ้นมาได้ แต่ในครั้งที่สาม ต้องใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นดังเดิม

เที่ยง ต่อม(ลูกชายคนโต)โทรมาแจ้งว่า พ่ออยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ หมอบอกว่ามีโอกาสรอด 20% ให้ญาติทำใจ แล้วแสดงความเห็นว่า ถ้าหัวใจหยุดอีกครั้งไม่ควรปั๊มแล้ว เลยนัดกับหลานว่าสี่โมงเจอกันที่โรงพยาบาล

บ่ายต้นๆต่อมโทรกลับมา  "อาเฉื่อยมีอะไรจะถามมั้ย เมื่อเที่ยงที่คุยกับอา พยาบาลให้เรียกญาติฉุกเฉิน"
ผมเลยคิดไปเองว่าพี่แกคงสิ้นแล้ว จึงบอกหลานว่า "ไม่ถามละ" เพราะเกรงว่าจะทำให้หลานเสียใจมากขึ้น

จากนั้นก็ส่งข่าวหาพี่หน่อ ด้วยทราบมาตลอดว่าพี่หน่อมีความห่วงใยในตัวพี่เบะเสมอมา
แต่ในที่สุด พี่เบะ บุคคลากรที่ทรงคุณค่าก็จากพวกเราไปแล้วจริงๆเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา

เฉื่อย (ภาสสกุล มีเนตรี)


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 08:59
คำเขียนแสดงความอาลัยของศิษย์โดยตรงของวรชาติ มีชูบท
ธนภัทร ปัญญาธีระ

"แล้วตำนานของแผ่นดินก็สิ้นไป"

ขึ้นชื่อว่าความสูญเสีย ก็มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่สามารถคาดฝันได้เสมอ และในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน คงเป็นความสูญเสียที่เร็วเกินกว่าใครจะคาดเดาได้ กับการจากไปของอาจารย์ วรชาติ มีชูบท

น่าเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสถ่ายรูปคู่ร่วมกับอาจารย์อย่างดีๆสักครั้งหนึ่ง รูปที่พอจะหาได้จึงเป็นรูปตอนสมัยที่เรียนอยู่ช่วงมัธยมปลายกับกิจกรรมของชมรมยอดมนุษย์ ที่ได้รับความกรุณาจากอาจารย์มาบรรยายเรื่องราวต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

อาจารย์เป็นที่รู้จักอย่างยิ่งในหมู่ผู้คนที่ใฝ่รู้ในประวัติศาสตร์ของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับรัชสมัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงพระทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งต่อมาได้รวมเข้ากับโรงเรียนราชวิทยาลัย เป็น “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” ผ่านงานเขียนต่างๆมากมาย เช่น หนังสือราชสำนักรัชกาลที่ ๖ และหนังสือเบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” เป็นต้น ทั้งยังได้ให้ความรู้และตอบข้อสงสัยในประเด็นต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับรัชสมัยดังกล่าวในเว็บไซต์พันธิป ในนาม V_Mee

สำหรับส่วนตัวผู้เขียน โดยปกติแล้วโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจะมีธรรมเนียมอย่างหนึ่ง คือไม่ว่าศิษย์เก่าหรือปัจจุบัน หากมีการพบปะกันไม่ว่าจะอายุต่างกันมากเพียงใด หากไม่มีตำแหน่งใดๆรั้งไว้ ก็จะเรียกกันเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับผู้เขียนอาจารย์วรชาติ เป็นมากกว่ารุ่นพี่ร่วมโรงเรียนเดียวกัน  เป็นผู้ที่ผู้เขียนเคารพและไหว้ได้อย่างสนิทใจ มากเกินกว่าจะเรียกเป็นพี่ แต่ผู้เขียนเคารพยกย่องเป็น “อาจารย์” สำคัญคนหนึ่งของผู้เขียน อาจารย์เป็นผู้ที่มีเมตตาและถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เขียนและน้องๆรุ่นหลังๆในวชิราวุธอย่างไม่อิดออดเลย อาจารย์เป็นอีกหนึ่งในไม่กี่คนในวชิราวุธที่ให้การยอมรับและสนับสนุนความสามารถของผู้เขียน ที่ต้องยอมรับว่ามีน้อยคนที่จะยอมรับความสามารถในแนวทางนี้

อาจารย์เป็นศิษย์เก่าในจำนวนน้อยคนที่จะตั้งใจศึกษาพระราชปณิธานที่แท้จริงของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ และมีคุณลักษณะของผู้มีความรู้ทางวิชาการอย่างดี ด้วยการที่ไม่แสดงกิริยาดูถูกดูแคลนแก่ผู้สงสัยตั้งคำถาม ไม่นำเอาความเชื่อส่วนตนมาแสดงโดยขาดเหตุผล ยอมรับให้เหตุผลตามสมควรแก่ความจริง และเผยแพร่เพียงข้อเท็จจริงเป็นหลัก พยายามผลักดันให้โรงเรียนวชิราวุธสนใจในประเด็นดังกล่าวด้วยใจจริง โดยไม่แทรกแทรงอำนาจของฝ่ายบริหาร และสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งหากมองในมุมมองแบบสำนักสัจนิยม ก็อาจมองได้ว่า โดยปกติแล้วผู้มีความรู้หากปรารถนาในอำนาจก็ไม่ยากเลยที่จะทะเยอทะยานได้มาตามปรารถนา เพราะฉะนั้นการที่อาจารย์มีความรู้มากแต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในทางอำนาจนี้ จึงแสดงเจตนารมย์ของอาจารย์ได้อย่างแน่ชัดว่าอาจารย์ไม่ต้องการ

เจตนารมย์และสิ่งอาจารย์ต้องการในทัศนะของผู้เขียน คือ อุดมการณ์ ผู้ที่ทำการใดๆโดยไม่สนใจอำนาจ ชื่อเสียง และเงินทอง แต่เพื่ออุดมการณ์ เพื่อสิ่งที่พิจารณาแล้วว่าเป็นข้อเท็จจริง เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อพระราชปณิธานโดยแท้จริงของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ เพื่อไม่ให้วชิราวุธเป็นที่รู้จักในบุคคลทั่วไปเป็นเพียงโรงเรียนชายล้วนที่เก่งด้านรักบี้ สำหรับผู้เขียนคนลักษณะเช่นนี้สมควรได้รับการยกย่องอย่างยิ่ง

สิ่งที่ผู้เขียนอยากเรียกร้องจากใจ คือ ขออย่าให้การสูญเสียในครั้งนี้ เป็นเพียงการสูญเสีย แต่เป็นสิ่งที่พึงตระหนักว่า เรา วชิราวุธวิทยาลัย ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจะทรงจำถึงอาจารย์วรชาติเช่นไร และจะทำเช่นไรเพื่อให้ไม่ให้สิ่งที่อาจารย์ทำไว้ด้วยอุดมการณ์อันมั่นคง ไม่สูญหายตามไปเพียงหลักอนิจจัง


กระผมขอกราบลาอาจารย์วรชาติด้วยความเสียใจอย่างยิ่ง และขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เคียงคู่กับใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ที่อาจารย์ปกป้องและสนองพระเกียรติคุณเสมอมาครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 10 ต.ค. 19, 09:04
ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 19, 09:04
ขอแสดงความเสียใจและอาลัยต่อการจากไปของอาจารย์วรชาติครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 10 ต.ค. 19, 09:10
ผมขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ร่วมกับทุกๆท่าน ที่เรือนไทยแห่งนี้ครับ


และผมใคร่ขออนุญาตท่านอาจารย์ใหญ่ นำกระทู้เรื่องท่านอาจารย์ V_Mee กลับมาอีกครั้ง เพื่อระลึกถึงท่านครับ

มาต่อเรื่องคุณ V_Mee

วรชาติ มีชูบทหรือคุณวีหมี หรือที่ผมควรจะยกย่องเรียกท่านว่าอาจารย์วีร์ เป็นรุ่นน้องผมหลายรุ่นอยู่ แต่แรกพบกันเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วนั้น ผมจำเขาไม่ได้หรอก ก็เป็นธรรมดาของรุ่นพี่ที่จำหน้ารุ่นน้องไม่ชัดเจนเท่าๆกับที่เขาจะจำเราได้   สามสิบกว่าปีมาแล้วกระมังที่ผมถูกเรียกไปใช้งานในมูลนิธิพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นประธานคณะกรรมการอยู่  เราเจอกันที่หอวชิราวุธานุสรณ์ครั้งนั้นโดยอาจารย์วีร์เข้ามาแนะนำตัวเอง ท่านบอกผมว่ามีอาชีพทนายความ และมาช่วยงานที่นั่น แล้วเราก็ปฏิบัติตนเยี่ยงพี่เยี่ยงน้องต่อกันแต่บัดนั้น

ข่าวว่าสมัยเป็นนักเรียน อาจารย์วีร์เป็นหนอนหนังสือประจำโรงเรียนคนหนึ่ง นอกจากพระราชนิพนธ์แล้ว ห้องสมุดวชิราวุธวิทยาลัยยังมีหนังสือดีๆตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๖เป็นอันมาก  ครั้นมาทำงานให้หอวชิราวุธานุสรณ์ซึ่งรวบรวมหนังสือและจดหมายเหตุต่างๆในรัชกาลที่ ๖ไว้มากที่สุดในประเทศ แถมที่ตั้งของหอก็อยู่ภายในบริเวณของหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ด้านหลังอาคารก็ติดกับอาคารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  และยังได้ทำงานร่วมกับอดีตข้าราชสำนักอาวุโสในองค์สมเด็จพระธีรราชเจ้าหลายท่าน ผมจึงไม่ติดใจสงสัยเลย ว่าหนอนหนังสืออย่างอาจารย์วีร์จะซึมซับความรู้ต่างๆจากแหล่งข้อมูลของชาติลงไว้ในสมองมากแค่ไหน  โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องในองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯและในรัชสมัยของพระองค์ทั้งหมด ซึ่งท่านชื่นชอบทางนั้นอยู่แล้วและได้แสดงออกมาให้ประจักษ์หลายครั้ง ทั้งในระหว่างการประชุม และสรรพบทความทั้งในเน็ทและในหนังสือ

ช่วงหนึ่ง ผมชวนอาจารย์วีร์ไปทำงานเป็นเลขานุการของคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์แบบมีเงินเดือน เพราะต้องการผู้ทำงานเต็มเวลาให้กับงานของกรรมาธิการอยู่หลายสมัย ระหว่างนั้นก็เจอกันบ่อยหน่อย ก่อนที่อาจารย์วีร์จะลาออกไปเป็นอาจารย์ของวชิราวุธวิทยาลัย  หลังๆนี้ไม่ค่อยได้เจอกัน นอกจากแป๊บๆในงานโรงเรียนบ้างบางครั้ง  แต่ที่เจอกันบ่อยคือในเว็บ ปัจจุบันเข้าใจว่าท่านรับงานวิจัยแบบอิสระ และทำหนังสือตามแนวถนัด

หลังจากสิ้นท่านอาจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลไปแล้ว  เอกทัคคะในเรื่องของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯที่เข้าตาผมก็เห็นจะเป็นวรชาติ มีชูบทนี่แหละ แม้ท่านแรกที่ผมเอ่ยจะลึกซึ้งทางพระราชนิพนธ์วรรณคดีทั้งภาษาไทยและอังกฤษอย่างครบเครื่องสมบูรณ์แบบ  ในขณะที่คุณวีหมีของผมคงจะแบ๊ะๆ  แต่นั่นก็มีศิษย์อักษรศาสตร์ที่เล่นทางนี้สืบต่อจากท่านอาจารย์หม่อมหลวงปิ่นอยู่หลายท่าน

คุณสมบัติของอาจารย์วีร์ที่ผมยกย่องมาก คือนอกจากองค์ความรู้ ท่านยังมีสิ่งที่ลูกวชิราวุธทั้งหลายยากจะมี  คือน้ำอดน้ำทนในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเกี่ยวกับองค์สมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯต่อสาธารณชนผ่านสื่ออินเทอเน็ท  อันเป็นเวทีเปิดไม่รู้ตัวตนว่าใครเป็นใคร กเฬวรากที่ไหนก็สามารถโผล่เข้าไปเสนอความคิดเห็นได้โดยเสรี โดยอ้าง"เขาเล่าว่า"เข้าสาดโคลนใส่พระองค์ท่านได้โดยไม่ต้องยั้งคิด อาจารย์วีร์ได้อุทิศตนเป็น Watch Dog คอยโต้ตอบด้วยสำนวนอันสุภาพ สนับสนุนด้วยข้อมูลที่หนักแน่น ลึกซึ้งกว้างขวาง ยากที่ใครจะเถียงท่านได้ วรชาติ มีชูบทถือเป็นลูกวชิราวุธที่ได้ถวายกตเวฑิตา สนองพระมหากรุณาธิคุณให้ประจักษ์แก่คนทั้งหลาย ในการปกป้ององค์ผู้พระราชทานกำเนิดวชิราวุธวิทยาลัยโรงเรียนที่รักยิ่งของเราในโลกอินเทอเน็ทอย่างถึงที่สุด  ผมนั้นไม่อาจจะนำตัวเองไปเทียบได้เลยแม้ละอองฝุ่น ความรู้นั่นน่ะเรื่องหนึ่ง แต่น้ำอดน้ำทนที่จะอธิบายอะไรซ้ำๆซากๆ เดี๋ยวนักรบไซเบอร์คนโน้นโผล่มาคนนี้โผล่มา ส่วนใหญ่ก็ในเรื่องเดียวๆกันอยู่นั่นแล้ว  ทว่าอาจารย์วีร์สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างซามูไรท่ามกลางเหล่านินจา แม้หลายครั้งจะโดนเขี้ยวเล็บของอีกฝ่ายจนเลือดสาดก็ตาม

ช่วงหนึ่ง คุณวีหมีของผมอาจจะเมาหมัดไปบ้าง หลายคนสังเกตุว่าท่านปล่อยตัวสะกดผิดๆพลาดๆออกมาเหมือนไม่ได้ตรวจทาน ทำให้คุณค่าของงานเขียนหม่นหมองไป เหมือนเพชรที่ถูกฝุ่นจับฉันใดฉันนั้น ผมเตือนไปท่านก็บอกว่าคีย์บอร์ดท่านไม่ค่อยดี  แต่เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าท่านคงเปลี่ยนตัวใหม่แล้ว ผมจึงขอเปลี่ยนชื่อเรียกท่านบ้างจากคุณวีหมีเป็นอาจารย์วีร์



กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 09:14
ถ้าทราบกำหนดและวัดที่สวดพระอภิธรรมศพ ตลอดจนพระราชทานเพลิงศพ   กรุณาบอกด้วยนะคะ

เท่าที่เคยพบกันในงาน  ได้คุยกันนิดหน่อย   ความรู้ของคุณวรชาติมีมากมายกว่าที่ถ่ายทอดให้พวกเราได้รู้กัน  มีเรื่องราวเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 อีกมากที่อยู่ในขุมคลังสมองของท่าน  เสียดายเหลือเกินที่ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาให้หมด   โลกให้เวลาท่านน้อยเกินไป




กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 09:27
เห็นกำหนดการคร่าวๆ  จะสวดพระอภิธรรมที่วัดเสมียนนารี ๕ คืนครับ อย่างอื่นถ้ามีความคืบหน้าจะนำมาเรียนต่อไป


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ต.ค. 19, 09:31
ใจหายเมื่อเห็นข่าวจากหน้านสพ. เช้าวันนี้

          ยังเห็นคุณ วี มี เพิ่งตอบกระทู้ในพันทิปเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง

ความเห็นสุดท้ายเมื่อ 30 กันยายน นี้


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 09:57
กำหนดการ
สวดพระอภิธรรม บำเพ็ญกุศล และ ฌาปณกิจศพ
พี่เบะ(วรชาติ มีชูบท) 46 จล.
ณ วัดเสมียนนารี ศาลา 8
พฤ 10 ตค.รดน้ำศพ เวลา 16.00 น.
สวดพระอภิธรรม เวลา 18.30 น.
ศ 11 ตค.-ส 12 ตค. เวลา 19.00 น.
อา 13 ตค. งดสวดพระอภิธรรม
จ 14 ตค.-อ 15 ตค. เวลา 19.00 น.

ฌาปณกิจศพ
พ 16 ตค. เวลา 17.00 น.

(ณ เวลานี้ ยังไม่ได้ขอพระราชทานเพลิงศพครับ)


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 10:00
ความเห็นสุดท้ายในเรือนไทยน่าจะเมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ ในกระทู้ ข้อความใต้ครุฑ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7021.msg168757#msg168757)


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 11:29
ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชมวรชาติครับ คนประเภทนี้ก็มี ทั้งๆทีวรชาติไม่เคยใช้วาจาหยาบคายในการโต้ตอบกับนางเลย


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 12:07
คุณวรชาติได้ทำหน้าที่ที่ควรทำได้สมบูรณ์แล้วในชีวิต   
เมื่อมาก็มาดี จากไปก็ไปดี  เป็นที่อาลัยรักของครอบครัวและคนจำนวนมากที่ตระหนักถึงคุณค่าของท่าน
ความรู้และหลักฐานที่คุณวรชาติมี  ไม่ได้เก็บไว้เฉยๆ แต่แสดงออกมาเพื่อให้เข้าใจถ่องแท้ถึงความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6    ย่อมเหนื่อย ยอมเสียเวลา ชี้แจง อธิบาย เป็นวิทยาทาน
ก็ย่อมไปขัดผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเข้า   จึงก่อความเกลียดชังให้เป็นธรรมดา

 



กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 12:09
ไม่มีนักรบกล้าผู้ใดจะปราศจากแผลจากศัตรู ผมเข้าใจดีว่าในโลกไซเบอร์ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชมวรชาติ  นี่คือความเสียสละที่ทุกคนจะมองข้ามไม่ได้


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 10 ต.ค. 19, 13:10
ขอแสดงความเสียใจครับ ผมได้รับความรู้จากในพันทิพหลายทีเลย ขอขอบคุณตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 10 ต.ค. 19, 13:12
ใจหายเมื่อได้ทราบข่าวนี้ ด้วยเคารพนับถือครูบาอาจารย์ทุกท่านในเรือนนี้เสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ ขอให้อาจารย์ไปสู่สุขคตินะคะ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 10 ต.ค. 19, 13:22
ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งด้วยครับ ผมเคยสอบถามเรื่องราวต่างๆใน pantip บ่อยๆ
พี่เค้าก็อุตส่าห์ตอบมาทุกครั้ง

เสียใจจริงๆครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 13:33
ขอรำลึกถึงคุณวรชาติ มีชูบท ด้วยบทความที่ท่านเขียนลงในศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ ตามข้างล่างนี้ค่ะ
ที่ยกบทความนี้มาลง  เพราะคุณวรชาติเคยเล่าให้ดิฉันฟังสั้นๆ ว่า ท่านเคยอ่าน“ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒” แต่ว่าเก็บเป็นความรู้ส่วนตัวไว้  ไม่ได้นำออกมาเผยแพร่
เรื่องกรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นหนี้สิน  คุณวรชาติก็เคยเล่าให้ฟังเช่นกัน

คุณวรชาติเป็นผู้รู้กาลเทศะ รู้การควรมิควรเกี่ยวกับเจ้านายเป็นอย่างดี  สมกับเป็นผู้ได้รับการอบรมมาดีทั้งจากทางบ้านและโรงเรียน 
ถ้าคุณวรชาติจะนำเรื่องที่รู้ออกมาเผยแพร่ ก็เป็นต่อเมื่อเห็นความจำเป็นจริงๆ    เพราะถ้ารู้แล้วไม่บอก ก็จะทำความเสียหายได้มาก   เนื่องจากผู้ที่ไม่รู้จริง ขยายความกันไปใหญ่   จนเรื่องเข้าใจผิดกลายเป็นเรื่องจริง   คุณวรชาติก็ถือเป็นหน้าที่ว่าจะต้องบอกความจริงเข้ามา   เพื่อป้องกันพระเกียรติยศของเจ้านายที่ท่านเคารพสูงสุด มิให้หมองมัวลงไปด้วยเรื่องเข้าใจผิดนั้นๆ

https://www.silpa-mag.com/history/article_31726

ที่มา   ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2558
ผู้เขียน   วรชาติ มีชูบท
เผยแพร่   วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ.2562
เรื่องที่ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงถูกปลดจากราชการทหารเรือในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีผู้กล่าวถึงกันหลายกระแส

กระแสหนึ่งที่มีการอ้างถึงกันมากคือ เรื่องที่นักเรียนนายเรือวิวาทกับมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง นายนาวาตรี หลวงจบเจนสมุท (เจือ สหนาวิน) ได้บันทึกไว้ว่า

วันหนึ่งนักเรียนนายเรือหนุ่ม ๒ คนซึ่งเป็นศิษย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์แต่งตัวเครื่องแบบขาวนักเรียนนายเรือเดินผ่านไปทางถนนสนามไชย ผ่านพวกมหาดเล็กหนุ่มๆ กลุ่มใหญ่ที่กำลังเตะฟุตบอลกันอยู่ พอมหาดเล็กเห็นนักเรียนนายเรือ ๒ คน ซึ่งหนึ่งในสองคนนั้นคือ นักเรียนนายเรือเจือ สหนาวิน เดินผ่านไป แล้วหยุดทำความเคารพธงชาติตอนหกโมงก่อนที่จะก้าวเดินออกไปพร้อมกัน ในขณะเดียวกันพวกมหาดเล็กเกิดนึกสนุกขึ้นมาส่งเสียงเป็นจังหวะว่า หนึ่ง หนึ่ง หนึ่งสอง ตามจังหวะก้าวเดิน

นักเรียนนายเรือเห็นมหาดเล็กมาลูบคม จึงเกิดถามทำนองต่อว่ากัน ถามกันไปถามกันมาไม่มีใครยอมรับ ก็เลยเกิดเป็นมวยหมู่ขึ้นมาระหว่างนักเรียนนายเรือ ๒ คนและมหาดเล็กหลายสิบชกต่อยกันชุลมุนอยู่พักใหญ่ มหาดเล็กตะโกนให้ทหารยามหน้ากระทรวงกระลาโหมจับนักเรียนนายเรือ ทหารยามไม่กล้าจับ มีนายทหารคนหนึ่งเห็นเหตุการณ์ก็ร้องบอกให้นักเรียนนายเรือหลบหนีไปเสีย เพราะว่ากำลังของอีกฝ่ายมากกว่า นักเรียนนายเรือทั้งสองก็เลยแหวกพวกมหาดเล็กซึ่งไม่กล้าทำอะไรจริงกลับบ้านไปได้

เมื่อความทราบไปถึงผู้บังคับการโรงเรียน นายนาวาตรี หลวงพินิจจักรพันธุ์ (สุริเยศ อมาตยกุล ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสาครสงคราม) เรียกตัวไปตักเตือนและให้ทำรายงานเสนอขึ้นไป แต่ก็แค่นั้นเพราะดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ต่อมา ๓-๔ เดือน เรื่องที่นึกว่าจบกันไปแล้วก็กลับลุกลามเป็นเหตุใหญ่โต ด้วยมหาดเล็กกลุ่มนั้นไปกราบบังคมทูลฟ้องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่าถูกนักเรียนนายเรือมาข่มเหงถึงหน้าวัง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กริ้วว่าผู้ก่อเหตุเป็นนักเรียนของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์มารังแกมหาดเล็กของพระองค์ จึงทรงทำเรื่องกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงทราบและทรงสืบสาวราวเรื่องหาข้อเท็จจริงได้แล้ว ก็ไปเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ชวนกันไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลว่าในความเป็นจริง มีนักเรียนนายเรือแค่ ๒ คนเท่านั้น แต่มหาดเล็กหลายสิบคน ใครข่มเหงใครกันแน่ ไม่มีกฎหมายที่ไหนออกว่าคนน้อยข่มเหงคนมาก กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็ทรงสนับสนุนว่าเป็นความจริง ทั่วโลกไม่มีกฎหมายว่าคนน้อยข่มเหงคนมาก มีแต่คนมากข่มเหงคนน้อย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผินพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แล้วมีกระแสพระราชดำรัสว่า “พ่อโตก็ไม่ควรเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มากล่าวให้เป็นเรื่องเป็นราว เสียเวลา” นายเจือก็เลยรอดพ้นจากความผิด เรียนจบเข้ารับราชการในกองทัพเรือ เข้าวังได้ใกล้ชิดกับพระโอรสธิดาที่ทรงพระเยาว์ จนกระทั่งชราจึงได้เขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ให้รู้กันสำหรับคนรุ่นหลัง



กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 13:33
อกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าในหมู่ทหารเรืออีกว่า เมื่อแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัตินั้น นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม และจัดถวายพระกระยาหารค่ำ ทุกอย่างดำเนินไปโดยเรียบร้อย จนเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วถึงได้เกิดเรื่องขึ้นมา เมื่อนักเรียนนายเรือหนุ่มบางคนไม่ระวังปาก พูดจาพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในทำนองล้อเลียนว่าพระเกศาบางบ้าง อวดว่าเจ้านายตนเก่งกว่าบ้าง พูดจากันเสียงดังไปหน่อย สันนิษฐานว่าเสียงลอยลมข้ามคลองวัดแจ้งไปถึงบ้านพระยานรฤทธิ์ราชหัช ความจึงทราบถึงพระเนตรพระกรรณ เพราะเป็นไปได้ว่าพระยานรฤทธิ์ราชหัชนำความขึ้นกราบบังคมทูล ไม่ใช่ว่าเป็นคนช่างฟ้อง แต่ทว่าเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี่ถ้ารู้แล้วอุบเงียบไว้ก็เท่ากับสมรู้ร่วมคิด ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นอาจจะถึงกับติดคุกหัวโต หรือไม่ก็ต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตกันทั้งครอบครัว กล่าวกันว่า พระยานรฤทธิ์ราชหัชนั้นก็ต้องระวังตัวกลัวทหารเรือเอาเรื่อง ประตูหน้าบ้านจึงต้องตีไม้ทับปิดตายเอาไว้ ต้องเดินเข้าออกทางหลังบ้านทะลุตรอกไปทำงาน

เรื่องนี้พวกทหารเรือเชื่อกันว่า น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ว่าอาจจะทรงคบคิดกับ นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ชิงราชสมบัติ เรื่องนี้กลายเป็นข่าวลือกันหนาหู เพราะเจ้าจอมมารดาโหมดและพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี พระชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตนั้นต่างก็สืบเชื้อสายสกุลบุนนาคมาด้วยกัน และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๖ เดือนก็ทรงปลดพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์จากกองทัพเรือแบบสายฟ้าแลบ

เมื่อทรงถูกปลดจากราชการแล้ว เล่ากันในแวดวงทหารเรือว่า ข่าวลือทำท่าจะเป็นข่าวจริง แต่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระอาจารย์ทรงห้ามไว้ โดยเตือนสติว่า “ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อย่าไปขัดท่านเลย” พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์จึงทรงได้สติ ถึงกับก้มลงกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้กลับเข้ารับราชการในทันที ต้องทรงอยู่นอกราชการถึง ๖ ปี จึงได้เสด็จกลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง ภายหลังจากที่สยามประกาศสงครามกับเยอรมนีแล้ว โดยระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการนั้นได้ทรงหาเลี้ยงชีพเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า “หมอพร” และในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งอยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 13:34
เรื่องราวความขัดแย้งดังที่บอกเล่ากันมาทั้ง ๒ กระแสนั้น ออกจะชวนให้ฉงนสนเท่ห์อยู่ไม่น้อยว่าเพียงเรื่องราวเท่านี้หรือที่จะเป็นสาเหตุสำคัญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระราชหฤทัยปลด นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากราชการทหารเรือ

คำตอบที่ชัดเจนจาก “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒”
จากข้อสงสัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความสืบค้นเพื่อหามูลเหตุที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยในคราวนั้น ซึ่งในที่สุดก็ได้พบคำตอบที่ชัดเจนใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชบันทึกพระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) ว่า

“ในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้มีเรื่องขึ้นเรื่อง ๑, ซึ่งฉันเองก็ตัดสินใจไม่ใคร่จะถูกได้ว่าฉันได้ประพฤติผิดหรือถูก, ฉะนั้นจะต้องเล่าไว้ในที่นี้ตามเหตุผลที่ได้เปนไป. เรื่องนี้คือเรื่องกรมชุมพรออกจากประจำการในกองทัพเรือ, ซึ่งเฃ้าใจว่าจะมีคนน้อยคนที่รู้ความในตลอด. เพื่อให้เฃ้าใจเรื่องนี้โดยแจ่มแจ้ง ฉันจำจะต้องกล่าวข้อความย้อนขึ้นไปในอดีตสักหน่อย.

ตามที่เธอได้รู้อยู่แล้ว, แต่เดิมมากรมชุมพรกับฉันได้เคยเปนผู้รักใคร่ชอบพอกันอย่างสนิธ, เพราะนอกจากที่เกิดปีเดียวกัน ยังได้ออกไปศึกษาพร้อมๆ กัน, และเมื่อกลับเฃ้ามากรุงเทพฯ แล้ว ฉันก็ยังได้ช่วยเหลือในกิจธุระส่วนตัวกรมชุมพรเปนหลายคราว. ฉนั้นต่อๆ มาฉันจึ่งรู้สึกประหลาดใจและเสียใจเปนอันมากที่ได้สังเกตเห็นว่า, จำเดิมแต่เวลาที่หญิงทิพสัมพันธ์๑ ตายไปแล้ว, กรมชุมพรดูตีตนห่างจากฉันออกไปทุกที. ในชั้นต้นฉันเฃ้าใจเอาเองว่า คงจะเปนเพราะกรมชุมพรกับพระยาราชวังสัน (ฉ่าง แสง-ชูโต, จ่อมาเปนพระยามหาโยธา) ได้เกิดผิดใจกันขึ้น, และพระยาราชวังสันเปนผู้ไปมาหาสู่ฉันอยู่เสมอ, กรมชุมพรจึ่งพลอยไม่ชอบฉันไปด้วย. แต่ฉันรู้สึกว่าสาเหตุเพียงเท่านั้นยังไม่พอที่จะทำลายความไมตรีระหว่างกรมชุมพรกับฉัน, ฉันจึ่งตั้งต้นแสวงหาสาเหตุต่อไป. ฉันรู้อยู่ดีว่า กรมชุมพรนั้น, ถึงแม้ท่าทางและปากพูดเก่งก็จริง, แต่ที่แท้มิใช่คนที่มีใจหนักแน่นปานใดนัก, เปนคนที่ลังเลและเชื่อคนง่าย, ฉะนั้นฉันจึ่งเริ่มต้นมองหาตัวผู้ที่เปน ‘ครู’ ของกรมชุมพร. ฉันได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า กรมชุมพรเคยฝากตัวเปนศิษย์กรมราชบุรี๒, และมีความนิยมตามกรมราชบุรีหลายประการ, มีสำแดงตนเปน ‘ผู้ชอบเปนอิศระ’ และถือพวกถือก๊กเปนที่ตั้ง. โดยนิสสัยของพระองค์เอง กรมชุมพรชอบพูดอวดดีแสดงความกล้าหาญและมีวิทยาอาคมอย่างแบบเก่าๆ, สักลายไปทั้งตัว, และ ‘ขลัง’ อะไรต่างๆ, มีพวกหนุ่มๆ นิยมอยู่บ้างแล้ว: ครั้นได้ไปฟังคำสั่งสอนของกรมราชบุรีเฃ้าด้วยก็เลยบำเพ็ญเปนหัวโจกมากขึ้น.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 13:34
แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เปนสาเหตุที่จะทำให้พร่าไมตรีกับฉัน, เพราะกรมราชบุรีเปนผู้ที่ชอบพอกับฉันโดยสม่ำเสมอตลอดมา, คงไม่ยุให้กรมชุมพรแตกกับฉัน. ฉันได้สืบแสวงไปจนได้ความว่า กรมชุมพรได้เกิดชอบพอกับกรมหลวงประจักษ์, ก็เฃ้าใจได้ทันทีถึงเหตุที่กรมชุมพรเกิดไม่ชอบฉัน, เพราะกรมหลวงประจักษ์เปนผู้ที่ไม่ชอบฉันอย่างยิ่ง, และพยายามให้ร้ายแก่ฉันอยู่เสมอๆ. ที่ฉันรู้ได้โดยแน่นอนว่ากรมชุมพรตกไปอยู่ในอำนาจของกรมหลวงประจักษ์นั้น เพราะได้เกิดคดีขึ้นเรื่อง ๑ ซึ่งถ้าเปนแต่โดยลำพังตัวกรมชุมพรคงมิได้เปนการใหญ่โตเลย. เหตุมีนิดเดียวที่พวกเด็กๆ ของฉันได้พาไปเล่นกันอยู่ที่สนามหน้าวังสราญรมย์, มีนักเรียนนายเรือ ๒ คนเดิรผ่านไปทางถนนสนามชัย, อยู่ดีๆ ก็ตรงเฃ้าไปขู่พวกเด็กๆ ของฉันว่า ห้ามไม่ให้หัดทหาร, จึ่งเกิดเปนปากเสียงกันขึ้น. ฉันจึ่งให้พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล), ซึ่งเวลานั้นเปนหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ตำแหน่งเลฃานุการส่วนตัวของฉัน, มีจดหมายต่อว่าไปยังผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ, และขอให้สั่งสอนว่ากล่าวพวกศิษย์ให้เฃ้าใจเสียว่า การที่เด็กอื่นๆ ปรารถนาจะฝึกหัดให้อกผายไหล่ผึ่งบ้าง ไม่ใช่กงการอะไรของนักเรียนนายเรือจะมาห้ามปราม. ฉันเฃ้าใจว่าเมื่อให้มีจดหมายไปเช่นนั้นแล้วก็คงเปนอันจบเรื่องกัน. ฉนั้นฉันประหลาดใจมากเมื่อวัน ๑ ฉันได้ถูกพระเจ้าหลวงรับสั่งให้หาเฃ้าไปในที่รโหฐานและทรงต่อว่าเรื่องที่ให้เลฃานุการมีหนังสือไปขู่ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ.

นัยว่ากรมชุมพรตกใจและเกรงกลัวภยันตราย จึ่งได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล, เพื่อขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง. ทูลกระหม่อม๓ ทรงสั่งสอนว่า ฉันจะได้เปนใหญ่เปนโตต่อไป, ต้องระวังอย่าทำให้ผู้น้อยนึกสดุ้งหวาดหวั่นต่ออำนาจอาชญาอันอาจต้องรับกรรมความดาลโทษะของฉัน. ฉันก็รับพระบรมราโชวาทใส่เกล้าฯ โดยมิได้แก้ตัวว่ากระไร, เพราะเห็นว่าพระเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์จะให้เรื่องสงบไป. ในวันเดียวกันนั้นเอง บริพัตร์๔, ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ, ได้ตามออกมาจากวังสวนดุสิตไปหาฉันถึงที่วังสราญรมย์, แสดงความเสียใจ และขอโทษในการที่ฉันต้องถูกกริ้วโดยไม่มีมูลอันควรเลย, และออกตัวว่า เธอเองมิได้รู้เห็นในคดีนั้นจนนิดเดียว, เพราะกรมชุมพรมิได้นำเรื่องเสนอเธอก่อนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล. ต่อเมื่อองค์อุรุพงศ์๕ เล่าใฟ้ฟังว่าฉันถูกกริ้ว บริพัตร์จึ่งได้รู้เรื่อง, และรับว่าจะต่อว่ากรมชุมพร และจะขอให้สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีกเปนอันฃาด. เมื่อฉันได้ทราบเรื่องตลอดแล้วก็รู้แน่ว่าแก่ใจว่า กรมชุมพรคงได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, ผู้ชอบก่อเหตุน้อยเปนใหญ่เช่นนี้เสมอ.

นับจำเดิมแต่เมื่อได้ตกไปอยู่ในอำนาจกรมหลวงประจักษ์แล้วไม่ช้า กรมชุมพรได้ทอดทิ้งการงานทางทหารเรือมากขึ้นเปนลำดับ, จนนับว่าไม่มีเยื่อใยอะไรในกองทัพเรือ นอกจากยังคงเปนหัวโจกของทหารหนุ่มๆ บางคนอยู่เท่านั้น. ในยุคนั้นกรมชุมพรได้ริอ่านทำการค้าฃาย, คือตั้ง ‘บริษัทชุมพร’, มีพวกนายทหารเรือหนุ่มๆ ถือหุ้นอยู่หลายคน; บริษัทนั้นกระทำกิจไม่เปนผลสมปรารถนา, เกิดมีหนี้สินรุงรังขึ้น, จึ่งต้องขอพระราชทานกู้เงินพระคลังฃ้างที่ไปใช้, และพระเจ้าหลวงทรงยึดที่ดินไว้เปนประกัน, รับสั่งว่าถ้าประพฤติเรียบร้อยต่อไปจึ่งจะพระราชทานคืนให้. โดยความแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, กรมชุมพรจึ่งได้ริอ่านหาความชอบในส่วนพระองค์พระเจ้าหลวงโดยอาการ…ในชั้นต้น, เมื่อทรงเริ่มจัดสร้างที่สวนพญาไท, กรมชุมพรรับอาสาปลูกผักที่นั้น, ทุกๆ เดือนได้มีผักเฃ้าไปถวายคราวละหลายถาด, ซึ่งกราบทูลว่าผักที่ปลูกที่พญาไท, แต่ซึ่งที่แท้เที่ยวหาซื้อเอาดื้อๆ.

การหลอกพระเจ้าหลวงเช่นนี้อย่างไรๆ ก็คงเปนความคิดของ ‘ครู’, เพราะตัว ‘ครู’ ก็ประพฤติเปน ‘ลิงหลอกเจ้า’ อยู่เช่นนั้นเสมอ, และสำคัญเสียว่าพระเจ้าหลวงท่านไม่ทรงรู้เท่า; แต่ฉันเชื่อแน่ว่าพระเจ้าหลวงท่านทรงรู้เท่าดีทีเดียว, ความชอบจึ่งไม่ได้แก่กรมชุมพรสมปรารถนา. ต่อนั้นจึ่งกลายเปนช่าง, รับอาสาเขียนรูปภาพต่างๆ ติดผนังห้องเฝ้าในพระที่นั่งอัมพร, แต่ก็ไม่เห็นได้ทำอะไรเปนชิ้นเปนอันเหลือไว้เลย. นอกจากเปนช่างเขียนเกิดเปนนักดนตรี, มีน่าที่สำคัญคือกะวางลำสำหรับลคอนนฤมิตร์ของกรมนราธิป. กิจการอันท้ายนี้เปนเหตุให้กรมหลวงประจักษ์กับกรมนราธิปเกิดบาดหมางกันจนเปนเหตุใหญ่โต, ดังได้แสดงมาแล้ว ณ แห่งอื่น


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 13:34
การที่กรมชุมพรไม่ไปทำงานทางทหารเรือเลย แต่ก็คงได้รับเงินเดือนอยู่เต็มที่นั้น, นับว่าเปนตัวอย่างไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับนายทหารผู้น้อยผู้ไร้สติ. ประการ ๑ พวกศิษย์พากันเห็นไปเสียว่าครูของตนเปนคนสำคัญเหลือประมาณ, อย่างไรรัฐบาลก็ต้องง้อไว้ใช้. อีกประการ ๑ ทำให้พวกหนุ่มตีราคาตนสูงเกินควรไป, คือพากันเฃ้าใจเสียว่าถ้าเปนผู้มีวิชาแล้วจะทำงานหรือมิทำก็ต้องเลี้ยง. ข้อที่ร้ายคือกรมชุมพรชอบพูดฟุ้งสร้านต่างๆ ให้พวกศิษย์ฟังอยู่เนืองๆ, ชอบนินทาผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปให้ผู้น้อยฟัง, จึ่งทำให้พวกหนุ่มพากันฟุ้งสร้านไปเปนอันมาก.

ผลร้ายของการสอนไม่ดีของกรมชุมพรได้มากระทบหูฉัน, คือเมื่อวันที่ ๓ เมษายน๖ พระยาราชวังสัน, ซึ่งเวลานั้นเปนผู้บัญชาการเรือกลและป้อม, ได้เล่าให้ฉันฟังว่า ในการที่ฉันได้สั่งอนุญาตให้จ่ายเงินเพิ่มค่าเดิรทเล, ซึ่งได้คั่งค้างมาหลายปีแล้วนั้น, ได้มีนายทหารเรือผู้ ๑ กล่าวว่า ฉันต้องสั่งอนุญาตเช่นนั้นเพราะกลัวว่า ถ้าไม่จ่ายพวกเฃาจะ ‘เอาเรือไปลอยเสียที่ปากน้ำ’, ซึ่งตีความกันว่าพวกเฃาจะ ‘สไตร๊ก’. พระยาราชวังสันว่าจะไปขออนุญาตทำโทษนายทหารผู้นั้นให้เปนตัวอย่าง. แต่ฉันรับสารภาพว่าในเวลานั้นฉันยังหวาดหวั่นอยู่ด้วยเรื่องฃ้าราชการกระทรวงยุติธรรมหยุดงาน, เกรงว่าถ้าทหารเรือหยุดงานบ้างจะทำความลำบากมากกว่าอีก.


ความฟุ้งสร้านต่างๆ ของทหารเรือหนุ่มๆ มีอยู่เปนเอนกประการ, และปรากฏว่ากรมชุมพรแทนที่จะตักเตือนห้ามปราม, กลับพอใจส่งเสริมพวกหนุ่มอยู่เสมอ, ฉันจึ่งทำใจว่าต้องให้กรมชุมพรออกจากประจำการเสียคราว ๑ เพื่อกำราบให้ละพยดลง, และจะได้เปนการรักษายุทธวินัยในกองทัพเรือได้ดีกว่าทางอื่น เสนาบดีทหารเรือนั้น, แม้ได้รู้เรื่องอวดดีฟุ้งสร้านต่างๆ ของพวกศิษย์กรมชุมพร และรู้ความบกพร่องของกรมชุมพรอยู่ดีก็จริง, แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรให้แตกหักลงไปได้เลย, เพราะเปนคนขี้วิตกและขี้เกรงใจ. ถ้าขืนทอดทิ้งช้าไว้ฉันเกรงอยู่ว่าความสำเร็จเด็ดฃาดและอำนาจในกองทัพเรือจะไปตกอยู่ในมือกรมชุมพร, ซึ่งในเวลานั้นยังคงชอบกับกรมหลวงประจักษ์, ซึ่งน่ากลัวอันตรายมาก.

ครั้น ณ วันที่ ๖ เมษายนได้มีประชุมเสนาบดีสภาตามธรรมดา, แล้วฉันจึ่งได้พบพูดเรื่องกรมชุมพรกับน้องชายเล็ก๗ และกรมนครไชยศรี๘. ท่านทั้งสองนี้ก็ออกความเห็นว่าควรให้กรมชุมพรออกเป็นกองหนุนเสียคราว ๑, เพื่อให้กรมชุมพรเองรู้สำนึกว่าจะนอนกินเงินเดือนอยู่เฉยๆ ไม่ได้, และให้พวกศิษย์รู้สึกว่าครูมิใช่คนสำคัญเท่าที่เฃาทั้งหลายตีราคาไว้.

ต่อมาวันที่ ๘ เมษายนฉันจึ่งได้มีโอกาสให้หาเสนาบดีทหารเรือเฃ้าไปพูดจาเรื่องนั้น, และฉันได้ชี้แจงความเห็นของฉันให้ฟังโดยพิสดาร. ดูท่าทางบริพัตร์ออกจะวิตกอยู่, คือเกรงว่า ถ้าให้กรมชุมพรออกพวกนายทหารที่เปนศิษย์จะหัวเสียและอาจจะทำบ้าอะไรได้ต่างๆ มีลาออกพร้อมกันเปนต้น. แต่ลงปลายก็รับว่าผู้ที่ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว จะให้ทำราชการในตำแหน่งน่าที่สำคัญไม่ได้อยู่เอง, แล้วและเลยกล่าวขึ้นว่าเห็นควรให้วุฒิชัย๙ เปนเจ้ากรมยุทธศึกษาแทน, ฉันก็ตกลงเห็นชอบด้วย.

ครั้น ณ วันที่ ๑๑ เมษายน ฉันได้รับจดหมายจากบริพัตร์แสดงความวิตกต่างๆ ในการที่จะให้กรมชุมพรออกจากราชการประจำ; แต่ความเห็นของฉันก็ยังมียืนอยู่ตามเดิมว่าต้องให้ออก, เพื่อรักษาอำนาจแห่งราชการ. ฉันได้ส่งจดหมายของบริพัตร์ไปให้น้องชายเล็กและกรมนครชัยศรีดู, ก็ได้รับตอบในวันรุ่งขึ้น ว่าไม่ควรรั้งรอไว้อีกต่อไป, ฉันจึ่งได้ตกลงตอบไปยังบริพัตร์ สั่งให้กรมชุมพรออกจากประจำการกรมทหารเรือ หนังสือต่างๆ เนื่องด้วยเรื่องนี้มีอยู่บริบูรณ, รักษาไว้ที่กรมราชเลฃาธิการ.

ต่อมาอีกไม่ช้า, ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ นั้นเอง, กรมชุมพรได้ขอเฃ้ารับราชการในกองทัพเรือตามเดิม ที่ฉันรับเอาเฃ้าทำราชการกรมมหาดเล็กนั้น เพราะต้องการควบคุมให้ได้สดวกประการ ๑, กับอีกประการ ๑ ฉันบังเกิดความรู้สึกกระดากขึ้นในใจว่าอาจจะได้ประพฤติต่อกรมชุมพรข้อนฃ้างแรงเกินไปสักหน่อย เมื่อคำนึงดูว่าทั้งผู้ที่เปนโจทก์ ทั้งผู้ที่ได้เปนที่ปรึกษาในเมื่อวินิจฉัยคดีนั้นเปนผู้ที่ไม่ชอบกับกรมชุมพรส่วนตัวอยู่. แต่กรมชุมพรก็มีความผิดจริงอยู่ด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วซึ่งจะละเลยเสียทีเดียวนั้นก็หาได้ไม่.”๑๐


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 13:35
จากพระราชบันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงติดใจเอาความในเรื่องที่นักเรียนนายเรือวิวาทกับมหาดเล็กเลย และเมื่อตรวจสอบเรื่องการพระราชทานนามสกุลยังพบอีกว่า นายเรือตรี เจือ กระทรวงทหารเรือ หรือที่ต่อมาได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์เป็น นายนาวาตรี หลวงจบเจนสมุท ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล “สหนาวิน” เป็นนามสกุลลำดับที่ ๒๓๑ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ย่อมชวนให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า หากนักเรียนนายเรือ เจือ สหนาวิน เป็นคู่กรณีวิวาทกับมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังที่ได้บันทึกไว้จริง นักเรียนนายเรือ เจือ จะกล้าขอพระราชทานนามสกุลและจะได้รับพระราชทานนามสกุลในลำดับต้นๆ เพียงระยะเวลาเดือนเศษๆ นับแต่เริ่มมีการพระราชทานนามสกุลเชียวหรือ?

ส่วนการที่ทรงปลด นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากราชการเป็นกองหนุนเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ทั้งที่เพิ่งจะทรงตั้งพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นี้ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือและเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือไปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น ความในพระราชบันทึกก็ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า เพราะไม่เสด็จไปทรงงานที่กระทรวงทหารเรือ ทั้งยังทรงเป็นต้นแบบให้นายทหารเรือรุ่นหนุ่มคิดกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา จึงต้องทรงปลดพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นออกเป็นกองหนุน เพื่อให้ทรงสำนึกผิด แต่ถัดมาวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ หรืออีกเพียง ๓ เดือนเศษ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก รับพระราชทานยศชั้น “หัวหมื่น” หรือที่ในเวลานั้นเรียกว่า “ชั้นที่ ๒ เอก” ซึ่งเป็นชั้นยศเทียบเท่านายพันเอกทหารบก และคงโปรดให้รับราชการในกรมมหาดเล็กมาจนคราวที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้ว และ นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้กราบบังคมทูลสำนึกผิดและทรงอาสาเข้ารับราชการทหารเรือเพื่อทำหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาจักรในสภาวะสงครามอีกครั้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือในตำแหน่งจเรทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้ว ก็ได้ทรงรับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ปรึกษาแห่ง “คณะที่ปฤกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี” ทั้งยังได้รับพระราชทานฐานันดรเป็น “มหาโยธิน” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และต่อมายังได้ทรงเป็นผู้แทนราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกไปจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง และทรงบังคับการเรือนั้นร่วมกับนายทหารเรือไทยนำเรือรบหลวงพระร่วงเดินทางจากประเทศอังกฤษมาถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ นับเป็นการเดินเรือข้ามทวีปครั้งแรกโดยคนไทย เป็นอาทิ จึงทำให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ

ในบั้นปลายพระชนมชีพ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมเคยชื่อว่า “มณฑลชุมพร” อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า

“มีความสลดใจเปนอันมากที่จำเปนต้องจดลงในรายวันนี้ว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเฃตอุดมศักดิ์ได้สิ้นพระชนม์เสียที่ตำบลหาดรี, ปากน้ำชุมพร, เมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกาก่อนเที่ยงวันนี้. ฃ่าวนี้ได้รับในเวลาดึก.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 13:36
เมื่อเดือนเมษายน กรมชุมพรได้ขอลาพักรักษาพระองค์ ๑ เดือน โดยคำแนะนำของหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์๑๑, นายแพทย์ใหญ่กระทรวงทหารเรือ, ผู้ที่ได้กล่าวในใบตรวจพระอาการว่า กรมชุมพรประชวรเปนพระโรคเส้นประสาทไม่ปรกติ. ตั้งแต่เมื่อทำบุญอายุเจ้าจอมมารดาโหมดได้สังเกตเห็นกรมชุมพรเดินง่องแง่งไม่ใคร่ถนัดอย่างไรอยู่. เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็ได้ขอยืมเรือพวก ‘ทเล’ ลำ ๑ ลงเดินทางออกไปว่าจะไปประพาศทางมณฑลสุราษฎร์. แรกที่จะได้ฃ่าวว่าประชวรครั้งสุดท้ายนี้ คือเจ้าพระยารามราฆพได้นำโทรเลขของเจ้าจอมมารดาโหมดมีมาถึงเธอนั้นมาให้เราดู, มีความว่ากรมหลวงชุมพรประชวรเป็นไข้พิษ พระอาการหนัก. ครั้นเวลาค่ำได้รับโทรเลขพระองค์เจ้าธานี๑๒ บอกฃ่าวมาว่า กระทรวงทหารเรือได้จัดส่งหม่อมเจ้าถาวรออกไปทางรถไฟยังชุมพร, และส่งเรือ ‘พระร่วง’ ออกไป โดยคำขอร้องของเจ้าจอมมารดาโหมด, เพื่อจะได้รับกรมชุมพรกลับเฃ้าไปกรุงเทพ. ครั้นเวลาดึกจึ่งได้ฃ่าวว่ากรมชุมพรได้สิ้นพระชนม์เสียแล้วที่หาดรี เมื่อ ๑๑ นาฬิกาเช้า. ตำบลหาดรีนี้, ได้ทราบจากพระยาเวียงใน๑๓ (ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร) ว่า เปนที่มีไข้ป่าชุกชุม, และในฤดูเดือน ๖ เดือน ๗ ไม่มีใครอยู่ได้โดยปลอดไข้.

กรมชุมพรประสูติวันที่ ๑๙ ธันวาคม, (ปีมะโรง) พ.ศ. ๒๔๒๓, ฉะนั้นมีพระชนม์ได้ ๔๒ ปี กับ ๕ เดือน; และเพราะได้เปนเพื่อนกันมาแต่เด็กเราจึ่งรู้สึกเสียดายและใจหายมาก”๑๔

ความในพระราชบันทึกที่อัญเชิญมาข้างต้นย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงขัดแย้งกับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เลยแม้แต่น้อย ทั้งยังทรงแสดงให้เห็นถึงความผูกพันกันมาแต่ทรงพระเยาว์ตราบจนพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไปเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ แล้ว ก็ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทหารเรือไว้ทุกข์ด้วยการลดธงครึ่งเสามีกำหนด ๓ วัน นับแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งเป็นวันที่เรือเชิญพระศพกลับถึงกรุงเทพฯ

นอกจากนั้นยังเล่ากันต่อมาว่า เมื่อเวลาที่ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิ้นพระชนม์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระอักษรอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แล้วก็ทรงเหลียวมามีพระราชดำรัสอะไรสั้นๆ ซึ่งมหาดเล็กเวรที่เฝ้าฯ อยู่ ณ ที่นั้นก็ไม่ทราบว่ามีพระราชประสงค์อะไร ถึงวันรุ่งขึ้นเมื่อพระทายาทของพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบถวายบังคมลาสิ้นพระชนม์แทนพระบิดา ก็มีรับสั่งว่า “รู้แล้ว”


เชิงอรรถ

๑ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ พระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
๒ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๔ นายพลเรือโท สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็นจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
๕ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช
๖ วันที่ ๓ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)
๗ นายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๘ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้เฉลิมพระยศเป็น จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
๙ นายนาวาเอก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
๑๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒. น. ๓-๑๐.
๑๑ หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์
๑๒ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ผู้ช่วยราชเลขาธิการ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
๑๓ พระยาเวียงในนฤบาล (ชุบ โอสถานนท์) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประชากิจกรจักร์
๑๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ รัตนโกสินทรศก ๑๔๒ เปนปีที่ ๑๔ ในรัชกาล. น. ๕๐-๕๑.

บรรณานุกรม

“แจ้งความกรมมหาดเล็ก”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๖ สิงหาคม ๑๓๐), น. ๙๐๕.
“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๗ (๒๕ ธันวาคม ๑๒๙), น. ๒๒๔๓.
“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๑๖ เมษายน ๑๓๐), น. ๙๑-๙๒.
“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๔ (๕ สิงหาคม ๒๔๖๐), น. ๑๓๕๖.
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๙.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ รัตนโกสินทรศก ๑๔๒ เปนปีที่ ๑๔ ในรัชกาล. (สำเนาลายพระราชหัตถ์)
______. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒. (สำเนาลายพระราชหัตถ์)
วชิราวุธานุสรณ์สาร. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗).
วชิราวุธานุสรณ์สาร. ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ (๑ มกราคม ๒๕๒๘).

หมายเหตุ: เนื้อหาฉบับออนไลน์ ทีมงานปรับย่อหน้าและเพิ่มเติมหัวข้อย่อย


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 10 ต.ค. 19, 15:39
...

ภาษิตของนักรบโบราณ
  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลจากภาษิตภาษาฝรั่งเศษ
โดยเทียบเป็นคำโคลงภาษาไทย ดังนี้

๐  มะโนมอบพระผู้................เสวยสวรรค์
แขนมอบถวายทรงธรรม์.........เทอดหล้า
ดวงใจมอบเมียขวัญ...............และแม่
เกียรติศักดิ์รักของข้า.............มอบไว้แก่ตัว ฯ

   เมื่อแต่งเป็นโคลงแล้ว พระองค์ได้ทรงให้นายช่างชาวอิตาเลียนในกรมศิลปากรชื่อ ริโกล
เขียนภาพขึ้นไว้ ๔ ภาพ เพื่อประกอบโคลงนั้นบาทละภาพ ภาพทั้ง ๔ นี้คณะ "ดุสิตสมิต"
ได้ขอพระบรมราชานุญาตจำลองลงพิมพ์ในหนังสือ "ดุสิตสมิต" พร้อมกับโคลงในระหว่างเวลา
ที่เสือป่ากองเสนาหลวงรักษาพระองค์กำลังชุมนุมพลอยู่ ที่สนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อ
เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑

โคลงภาษิตนักรบโบราณ
นายพลเสือป่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายกเสือป่า และผู้บัญชาการกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ทรงพระราชนิพนธ์

๐ "มะโนมอบพระผู้...........เสวยสวรรค์"
นักรบต้องรักธรรม์...........เที่ยงแท้
ยามสู่ยุทธภูมิอัน...............ประชิด
จิตจึ่งจะมั่นแม้.................เศิกกล้าไป่ขาม
๐ สงครามทำเพื่อป้อง.......ธรรมา
นักรบเริงอาสา.................ไป่คร้าม
อยู่ในที่ถูกหา...................ความขลาด ได้ฤๅ
จิตมั่นขวัญพาข้าม............ปลอดพ้นอันตราย
๐ เป็นชายเชื้อชาติแกล้ว....เพ็ญขวัญ
"แขนมอบถวายทรงธรรม์...เทอดหล้า"
รับใช้เพื่อป้องกัน.............วรบาท   พระเอย
เพื่อพระคงคู่ฟ้า...............ครอบเกล้าเราสราญ
๐ ภูบาลจะตรัสใช้.............ไคลคลา
เหินห่างจากเคหา.............ห่างห้อง
ภักดีและอาสา.................เพราะเชื่อ
ว่าพระบารมีป้อง.............ปกเกล้าเราไป
๐ หักใจจรจากห้อง...........หฤหรรษ์
รักราชและรักธรรม์..........เที่ยงแท้
"ดวงใจมอบเมียขวัญ.........และแม่"
คงเสน่ห์อยู่แม้.................อยู่ร้างกลางสนาม
๐ ยามไปในถิ่นกว้าง..........ทางไกล
พบสิ่งยั่วยวนใจ................อยู่บ้าง
ก็จะไม่เหลวไหล...............หลงวุ่น
เพราะจิตจอดอยู่ข้าง........หนึ่งแล้วมั่นคง
๐ รณรงค์ยงยุทธแย้ง.........ยิ่งภัย   อื่นนอ
จำจะต้องทำใจ.................กาจกล้า
นักรบจึงควรใฝ่................เตือนสติ   ตนเอง
"เกียรติศักดิ์รักของข้า.......มอบไว้แก่ตัว"
๐ มัวรอให้พวกพ้อง..........คอยเตือน
คงไม่รู้จิตเหมือน..............จิตได้
ใครจะทราบว่าเพื่อน.........นึกหวั่น   ขึ้นนอ
ตัวสิเตือนตัวไว้................เหมาะแท้ทุกยาม
๐ สรุปความว่าแม้มั่น........ธรรมา   ธิปแฮ
อีกภักดีอาสา..................ราชไท้
รักเมียรักแม่พา...............ใจแน่ว
สงวนศักดิ์จักสละได้...........หมดแม้ชีวี

๐ ศรี  ศรีสวัสดิ์พร้อม.......พูนผล
สิทธิ์  จัตุพรดล................อย่าแคล้ว
ฤทธิ์  เรืองฤทธิ์แรงรณ......อริราช
ชัย  ชะนะศึกแกล้ว...........เกียรติก้องสากล
๐ ปวง  พลเสือป่าผู้...........ภักดี
ภัย  พิบัติอย่ามี.................พาดพ้อง
พิ  บูลย์พิริยภีย์.................โยยิ่ง   ยิ่งเทอญ
นาศ  อะมิตร์จิตข้อง...........ขัดน้อยอย่ามี ฯ


...


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 19, 17:26
คิดถึง วรชาติ มีชูบท

ช่วงหนึ่งตอนวรชาติอยู่ม.ปลายวรชาติพยายามจะทำให้กฏ ระเบียบของห้องสมุดศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น โดยตั้งกฏว่า.ใครขอยืมหนังสือไปแล้วคืนไม่ตรงกำหนดจะโดนปรับวันละ 10 บาท
วรชาติรักษากฏไม่เว้นแม้แต่ครู

ครูขอยืมหนังสือไป 1 เล่ม ครบกำหนดเมื่อวาน วันรุ่งขึ้นครูนำหนังสือมาด้วยแต่ยังไม่ถึงห้องสมุด เพราะติดสอนหนังสืออยู่ ครูกำลังสอน ม. อะไร จำไม่ได้ค่ะ เวลาประมาณ 9.30 น. วรชาติเดินเข้ามาในห้องเรียนและขอปรับ 10 บาท

ครูยอมจ่ายให้ 10 บาท และบอกว่า ครูจะปรับเธอบ้างได้ไม๊ เพราะขณะนี้คือเวลาเรียน แต่เธอไม่เข้าเรียน

วรชาติบอกว่า ครูคิดว่าช่วยผมรักษากฏก็แล้วกันนะครับ ผมจะได้ยกเป็นตัวอย่างว่า กฏนี้จริงจังไม่เว้นแม้แต่ครู ครูสมลักษณ์เป็นพยานได้
วันนั้นไม่รู้ว่าครูจะโกรธ หรือจะแค้นดี .

Somlak Suvanvong

สู่สุคติภพนะคะ ครูอโหสิกรรมให้ทุกประการ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ต.ค. 19, 17:40

ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 10 ต.ค. 19, 18:20
ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่อท่านอาจารย์วรชาติเคยสละเวลาเมตตาให้ความรู้ ทั้งที่ผมก็เกรียนไม่น้อยเลย เห็นท่านในเฟสบุ๊คก่อนหน้ายังโพสต์ว่าอาการป่วยดีขึ้นแล้4ว ยังนึกว่าท่านคงไม่เป็นอะไร มาทราบข่าวเมื่อวานก็ใจหาย คงจะต้องหาโอกาสไปขออโหสิกรรมและกราบคารวะท่านอาจารย์้ป็นครั้งสุดท้าย


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: world ที่ 10 ต.ค. 19, 22:15
ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ      ถือว่าเรื่องเกิดรวดเร็วมาก

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคมผมยังคุยกับเจ้าตัวเรื่องอาการประชวรของรัชกาลที่ 6 ว่าบันทึกของไทยกับฝรั่งต่างกันมาก      คุณ V_Mee ก็ยังชี้แนะข้อมูลเพิ่มมาว่าของฝรั่งเองก็น่าจะมีผิดด้วย


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 19, 06:16
Boriphat Sangpakorn
. ·
หนังสือเหล่านี้เป็นความเอื้อเฟื้อจากอาจารย์​วรชาติ ในส่วนที่ท่านให้ ก็ส่วนให้ ให้เป็นอัธยาศัย​ไมตรีผมก็รับไว้ด้วยใจ แต่ส่วนซื้อผมก็ซื้อต่างหากไว้ทุกเล่ม ไม่ได้คิดว่าจะรับเปล่าๆ ถ่ายเดียว

อย่างเล่มซ้ายวันที่เปิดตัว ผมก็เอาเล่มที่ซื้อเองไปให้อาจารย์วรชาติเซ็น ท่านเห็นปกนี้เข้าก็บอกได้ไปแล้วไม่ใช่หรอ ซื้ออีกทำไม ผมจำไม่ได้ว่าตอบแก้ไปอย่างไร พอดีว่าพี่สุทธิพงษ์ พื้นแสน ถามถึงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ผมก็เลยส่งไปให้

ทีแรกเขาว่าจะใช้ราคา ผมจึงบอกพี่สุทธิพงษ์​ว่าหนังสือนี้ได้มาเปล่าๆ ที่ซื้อไว้นี่เป็นส่วนที่คิดจะซื้ออยู่แล้ว ก็ในเมื่อได้รับความเอื้อเฟื้อ​จากอาจารย์​วรชาติ ก็ถือว่าผมส่งต่อความเอื้อเฟื้อ​ต่อไปแล้วกัน ถ้าจะใช้ราคา ต่อไปพี่ซื้อไว้แล้วส่งให้ห้องสมุดสักแห่งแล้วกัน

ส่วนสองเล่มทางขวา ผมให้น้องขิง จริงๆ เดิมจะให้เจ้าเมือง สงขลา ถาม​ที่อยู่​เค้าทำอิดออดน่าหมั่นไส้ ก็เลยบอกกับน้องขิงว่าไม่ต้องซื้อ เดี๋ยว​ส่งไปให้

ผมมาทราบภายหลังจากอาจารย์วรชาติ ว่าท่านส่งหนังสือไปให้เจ้าเมือง สงขลา ไปแล้ว อ่อที่แท้ทำเป็นเล่นตัวเพราะได้รับหนังสือจากอาจารย์​วรชาติโดยตรงแล้วนี่เอง

ตอนที่เอาสองเล่มหลังนี้ไปให้อาจารย์​วรชาติเซ็น คราวนี้ผมคิดคำตอบเผื่อแล้วว่าจะเอาไปฝากน้องขิง จึงจดชื่อนามสกุลไปด้วย บอกว่าจะเอาไปฝากน้อง พออาจารย์วรชาติเห็นนามสกุล จึงทักขึ้นมาว่าน้องขิงเป็นอะไรกับคุณสิงห์โต ปุกหุต ผอ.ท้องฟ้าจำลอง

หนังสือหนะ ถ้าเป็นของอาจารย์วรชาติ ยังไงผมก็ซื้ออยู่แล้ว ถึงท่านให้ฟรีๆ ผมก็ซื้ออยู่ดี ส่วนที่ให้ก็ส่วนให้ ส่วนที่ซื้อก็ส่วนซื้อ ในเมื่อท่านเอื้อเฟื้อมา ผมก็ส่งต่อความเอื้อเฟื้อ​ต่อไป ความเอื้อเฟื้อเหล่านี้เกิดแต่อาจารย์วรชาติ

ผมจำไม่ได้ว่าอาจารย์เคยให้หนังสืออะไรมาบ้าง แต่ว่าให้มาหลายเล่มมาก แรกสุดเลยผมบอกกับท่านว่าหนังสืออนุมานนวสาร ซึ่งลงเรื่องสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นของท่านหญิงพูน ผมตามหาไม่ได้ ท่านบอกว่าเดี๋ยวจะส่งไปให้ ในตอนนั้นเรารู้จักกันผิวเผิน ผมก็เกรงใจไม่อยากรบกวน เลยไปขอกับพี่โก้แทน

พี่โก้เป็น บก.หนังสืออนุมานนวสาร จะเรียกให้ถูกก็ต้องเรียกอาจารย์โก้ เพราะท่านก็เคยสอนหนังสือผมมา พี่โก้เป็นทั้งครู เป็นทั้งรุ่นพี่ ผมรู้จักกับอาจารย์โก้เพราะที่ปรึกษา​ภาคนิพนธ์​เป็นผู้แนะนำมา

เดิมผมคิดทำภาคนิพนธ์​ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต​ แต่ขัดใจกับอาจารย์ที่ปรึกษาคนแรก ผมจึงเปลี่ยนหัวข้อไปทำเรื่องการประเมินประสิทธิภาพ​การดำเนินงานของธนาคารซีไอเอ็มบีแทนเพื่อตัดรำคาญ จึงมาได้อาจารย์ที่ปรึกษา​คนใหม่คืออาจารย์อนันตชัย ซึ่งอาจารย์​อนันตชัยคงเห็นใจ ไม่อยากให้เปลี่ยนจึงแนะนำพี่โก้

อย่างนั้นก็ตามที ตอนแรกที่คุยกันกับพี่โก้ คำถามแรกที่พี่โก้ถามคือ รู้จักวีหมีไหม ผมตอบโดยไม่คิดทันทีว่า เหตุผลที่ผมคิดจะทำประเด็นสิทธิ​สภาพนอกอาณาเขต​ ก็เพราะวีหมีนั่นแหละ

เมื่อผมตัดสินใจแล้ว ผมไม่เคยคิดเปลี่ยนกลับไปกลับมา ก็เป็นว่าไม่ทำเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทีนี้จะมารบกวนพี่โก้ ก็เพราะอยากอ่านเรื่องสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นของท่านหญิงพูนเนี่ยแหละ รบกวนพี่โก้ เพราะไม่อยากรบกวนอาจารย์วรชาติ

อีกครั้งหนึ่ง ผมตามหาหนังสือพระราชประวัติ​ ร.6 ไม่ได้ ซึ่งเป็นเล่มที่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ให้คำนิยม เป็นหนังสือที่ขายดีมาก ผมไปถามที่ร้านริมขอบฟ้า คนขายบอกหนังสือหมดยังไม่เข้า ขายดีมาก ผมไปบอกอาจารย์​วรชาติ ท่านเลยจะส่งมาให้ผมอีก

ตอนนั้นผมกับอาจารย์​วรชาติ เรียกได้ว่าไม่รู้จักกันเลย ไม่มีความสนิทสนม​แม้แต่น้อย นอกจากชื่อผมแล้ว ท่านไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวผมแม้อย่างเดียว ไม่รู้แม้กระทั่งใจผมมีแต่กรมดำรงเพียงคนเดียว คนที่ ร.6 บอกว่า เป็นคนไม่มีชาติไม่มีศาสนา วันนึงพูดอย่างหนึ่ง อีกวันพูดอีกอย่างหนึ่ง

ความไม่สนิทสนม​ ไม่รู้จักกัน ผมจึงเกรงใจมาก จึงไม่ตอบอะไรท่าน ขณะเดียวกันผมก็สั่งซื้อหนังสือเล่มดังกล่าวไปยังสำนักพิมพ์สร้าง​สรรค์​บุ๊คส์​ พอจ่ายเงินไปแล้วจึงได้เรียนให้อาจารย์​วรชาติทราบว่าขอบคุณในความเอื้อเฟื้อ​ของอาจารย์ แต่ผมสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์​ไปแล้ว

รู้สึกหนังสือเล่มแรกที่ผมตั้งใจขอก็คือ จดหมายเหตุบรมราชาภิเษก​ ร.6 เพราะผมเคยเจอแต่จดหมายเหตุ ร.7 และ ร.9 ส่วน ร.5 ก็หาอ่านได้จากพระนิพนธ์​กรมดำรง ของ ร.6 ผมหาไม่ได้จริงๆ หาจากหอสมุดหลายๆ มหาลัยก็หาไม่ได้ จึงได้เรียนถามอาจารย์วรชาติ ท่านจึงส่งมาให้อ่าน

ชีวลิขิต ของคุณชายอาจารย์เสนีย์ อาจารย์วรชาติก็ส่งมาให้เล่มนึง อันที่จริงเมื่อปีที่แล้วสำนักพิมพ์​วิญญูชน​ก็เพิ่งพิมพ์ขาย ผมก็ซื้อไว้เล่มนึง แต่ให้น้องฟร้องไป(สะกดงี้เปล่าไม่รู้ จำไม่ได้)​ ตัวเองหนะมีแต่หนังสือสำเนาที่อาจารย์วรชาติให้มา แต่เล่มใหม่ๆ สวยๆ ไม่มีหรอก ให้เขาไปแล้ว

เมื่อนึกถึงความเอื้อเฟื้อ ความเมตตา ที่อาจารย์วรชาติได้เคยแบ่งปันให้ ผมรู้สึกว่าผิดมากถ้าหากจะรับความเอื้อเฟื้อ​เหล่านี้เฉยๆ ราวกับว่ามีอะไรมาดลบันดาล​ให้เราจะต้องส่งต่อความเอื้อเฟื้อ​ต่อไป

อาจารย์วรชาติในความทรงจำของผมคือ ความเอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่​ ที่ไม่มีข้อกีดกั้น เอื้อเฟื้อ​ให้กับทุกๆ คน ไม่เลือก และเอื้อเฟื้อ​ทุกคนเท่ากันไม่มีแบ่งแยก อาจารย์วรชาติเปรียบเสมือนฝน

อาจารย์วรชาติโปรยปรายความเอื้อเฟื้อ​เมื่อใด ผู้ได้รับความเอื้อเฟื้อ​ก็ชุ่มฉ่ำหัวใจ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 19, 08:25
ศาลา ๘ วัดเสมียนนารี


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 19, 08:28
กำหนดการ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 11 ต.ค. 19, 09:30
ขอร่วมแสดงความเสียใจในการจากไปของคุณ V-Mee ค่ะ  ข้อมูลความรู้ที่ได้รับจากคุณ V-Mee ช่วยเพิ่มมุมมองที่มีต่อประวัติศาสตร์ยุครัชกาลที่ 6  นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง

ขอให้กุศลผลบุญที่คุณ V-Mee สั่งสมมา  และที่ครอบครัวญาติมิตรบำเพ็ญอุทิศให้  จงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้คุณ V-Mee ได้ไปสถิตยังภพภูมิที่ดีงามค่ะ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 11 ต.ค. 19, 09:31
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติของท่านอาจารย์ด้วยครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ต.ค. 19, 13:34
แด่ อาจารย์วรชาติ มีชูบท หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ผู้จากลา

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อาจารย์วรชาติ มีชูบท หรือ V_Mee (วีหมี) อันเป็นนามปากกาในเว็บไซต์ Pantip และเรือนไทย เป็นอาจารย์ นักเขียน และทนายความ ผู้มีความรู้ประวัติศาสตร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างยอดเยี่ยมและลึกซึ้งมากที่สุด ต้องเรียกว่าอาจารย์วรชาติเป็นเอตทัคคะด้านวชิราวุธศึกษา (King Vajiravudh’s studies) อย่างยิ่งยวด ความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของอาจารย์ยังรวมไปถึงรัชกาลอื่น ๆ การได้สนทนากับอาจารย์จึงไม่ต่างกับการสนทนากับ Encyclopedia หรือ Almanac เคลื่อนที่ได้ ผมทราบว่าอาจารย์ชำนาญประวัติศาสตร์นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมาทีเดียว

อาจารย์วรชาติเป็น OV หรือ Old Vajiravudh หรือเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย รุ่นไหนผมไม่ทราบ แต่สิ่งที่ผมทราบแน่แก่ใจคือ อาจารย์วรชาติ เป็นผู้มีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหาจักรีบรมราชวงศ์เป็นที่สุด ผมเห็นอาจารย์เข้าไปตอบกระทู้หรือตอบคอมเมนต์ผู้ที่ใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงถูกใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จอยู่เนือง ๆ จากเกรียนคีย์บอร์ด และลิเบอร่านล้มเจ้า สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ก็คืออาจารย์วรชาติเป็นคนใจเย็น ใช้เหตุใช้ผล โต้ตอบด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันหนักแน่น และหักล้างการโจมตีด้วยท่าทีที่อดทน แม้อีกฝั่งจะหยาบคายก้าวร้าวเพียงใดก็ตาม อาจารย์จะพยายามอธิบาย และสอนให้ความรู้ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู และความจงรักภักดียิ่ง

ผมเห็นได้ชัดเจนว่าอาจารย์มีความกตัญญูกตเวทิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือต่อมาวชิราวุธวิทยาลัยที่อาจารย์เป็นศิษย์เก่า ผมทราบมาว่าอาจารย์นั้นเดิมเป็นทนายความ ต่อมาได้มาเป็นอาจารย์สอนที่วชิราวุธวิทยาลัยด้วย และมาทำงานช่วย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสนใน ติดท่าวาสุกรี


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ต.ค. 19, 13:35
ผมได้พบอาจารย์วรชาติ มีชูบทเป็นครั้งแรกที่หอวชิราวุธานุสรณ์และได้ความรู้จากอาจารย์วรชาติ เมื่อผมเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมไปทำหนังสือที่แผนกสาราณียกร องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่ตึกจุลจักรพงษ์ และเพราะอาจารย์สวัสดิ์ จงกล ผู้เชี่ยวชาญเอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำให้ผมไปรู้จักอาจารย์วรชาติ เพื่อไปขอความรู้ ผมเองไปถึงหอสมุดวชิราวุธานุสรณ์ยังตื่นเต้นที่ได้เห็น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นั่งทำงานในห้องอีกฝั่ง ในฐานะนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่อมต้องตื่นเต้นที่ได้พบผู้ก่อตั้ง/ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคนแรก ตอนนั้นจำได้ว่าอาจารย์วรชาติเล่าประวัติศาสตร์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ได้ราวกับสายน้ำไหล ด้วยความแม่นยำในเนื้อหาและการอ้างอิง ผมยังคิดในใจว่า ถ้า ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อใด ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในรัชกาลที่ ๖ ย่อมมีผู้สืบทอดแล้ว

อาจารย์วรชาติ เป็นคนขยันเขียนหนังสือมาก ขยันค้นคว้า และขยันเขียนมาก และเขียนเล่าเรื่องได้สนุก อ่านแล้วสนุก ใช้ภาษาไทยง่าย ๆ กระชับ แต่ใช้ราชาศัพท์แม่นยำถูกต้อง โดยเฉพาะเบื้องหลัง เบื้องลึก ในพระราชบันทึกเรื่อง ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ นั้น ต้องไปอ่าน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ก่อน แม้จะมีการละคำพูดหรือชื่อบุคคลหรือพระนามเจ้านายออกไปบ้าง แต่ก็อ่านแล้วเข้าใจการเมืองการปกครองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ได้เป็นอย่างดี ยิ่งมาอ่านหนังสือที่อาจารย์วรชาติแต่งยิ่งทำให้อ่านพระราชนิพนธ์ ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ได้อย่างเข้าในถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ แรงจูงใจ และความจำเป็น ในเวลานั้นได้อย่างดียิ่ง

อาจารย์วรชาตินอกจากเขียนหนังสือเกี่ยวกับล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เท่าที่ผมเคยอ่านและค้นคว้ามาหกเล่ม (และคงมีมากกว่านั้นอีกที่ผมไม่ทราบ) แล้วยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติวชิราวุธวิทยาลัยที่อาจารย์เป็นนักเรียนเก่า และเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา เชียงใหม่ และเจ้านายฝ่ายเหนือได้ชวนอ่าน และอ่านแล้วสนุกเป็นอย่างยิ่ง

วันนี้ผมอ่าน Facebook ของ หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน และได้ทราบข่าวร้ายว่า หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ คือ อาจารย์วรชาติ มีชูบท ได้จากไกลไปเสียแล้วด้วยความตกใจและเสียใจ

ผมจึงเขียนบทความนี้เพื่อกราบลาอาจารย์วรชาติ มีชูบท ด้วยความอาลัยว่าจะหาผู้ที่จงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และทุ่มเทค้นคว้าอย่างไม่ย่อท้อและมีคุณสมบัติของครูและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

https://mgronline.com/daily/detail/9620000098109


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 11 ต.ค. 19, 15:33
ร่วมแสดงความเสียใจด้วยครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 11 ต.ค. 19, 19:43
ขอขอบพระคุณความรู้ที่คุณ V_mee ได้กรุณามอบให้มาโดยตลอด และขอแสดงความเสียใจมาในโอกาสนี้ด้วยครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ต.ค. 19, 08:06
จาก FB วิพากษ์ประวัติศาสตร์ (https://www.facebook.com/1046096062120530/posts/2536699336393521?sfns=mo)


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 19, 09:42
 :'(


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: คนธรรมพ์สัญจร ที่ 13 ต.ค. 19, 03:55
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณV_Mee ด้วยนะครับ และแล้วคนสำคัญคนนึงของเว็บก็หายไปอย่างไม่มีวันกลับ :'(

เธอผู้ห่างไกล


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ต.ค. 19, 08:37
กระทู้ที่คุณ V_Mee ตอบและถูกกล่าวถึงในพันทิป

https://pantip.com/profile/211927#comments
https://pantip.com/search?q=V_Mee

มีพวงหรีดของพันทิปในงานอาจารย์วรชาติ อย่างที่คุณ world (zodiac 28 แห่งพันทิป) คิดไว้ บ้างไหมหนอ

https://pantip.com/topic/39306316


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ต.ค. 19, 09:09
อาลัยเพื่อนเบะ(วรชาติ มีชูบท)

เพื่อนเบะ(OV46) รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กตั้งแต่อยู่คณะสนามจันทร์ วชิราวุธวิทยาลัย ไม่แน่ใจว่าเพื่อนชอบค้นคว้าประวัติศาสตร์มาแต่เมื่อไร .. แต่เห็นเพื่อนชอบเขียนเรื่องเกี่ยวกับประวัติโรงเรียนและประวัติเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่๖ ลงในหนังสือรุ่นตั้งแต่รุ่นพี่ยันรุ่นน้องทะลุไปรุ่นลูกรุ่นหลาน และเป็นสาราณียกรให้สมาคมศิษย์เก่าวชิราวุธมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เรียกว่าหนังสือเกี่ยวกับวชิราวุธทุกเล่มจะต้องมีเรื่องที่เขียนโดย “วรชาติ” มาโดยตลอด

ดังนั้นไม่ว่าจะมีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในหลวงรัชกาลที่๖ แล้ว เพื่อนก็จะถูกเชิญมาร่วมเป็นกรรมการทุกครั้ง เพื่อนเคยปรารภว่า ความรักที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่๖ ของเพื่อนนั้นคล้ายกับ “ย่าเหล”ผู้ซื่อสัตย์ต่อในหลวงท่าน ไม่ว่าใครจะหมายปองร้าย เขียนข้อความในทางไม่ดีเกี่ยวกับพระองค์ท่าน เพื่อนก็จะเข้าปกป้อง เปลี่ยนความเห็นผิดเป็นชอบ อย่างมีเหตุมีผล ถือได้ว่าเป็นลูกที่ดีมีความกตัญญูต่อพ่อผู้ที่ได้เลี้ยงสนับสนุนให้เราได้เรียนหนังสือในโรงเรียนของท่าน..ที่ได้สร้างให้เราเป็นสุภาพบุรุษ เป็นคนมีคุณธรรมโดยสมบูรณ์แบบของความเป็นลูกผู้ชายและคนดีของประเทศชาติ

จำได้ว่าเมื่อครั้งโรงเรียนจะให้ช่างแกะสลักหินอ่อนปั้นรูปเหมือนในหลวงรัชกาลที่๖ เราได้ส่งรูปปั้นขึ้นต้นแบบดินเหนียวไปให้เพื่อนดูว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหนหรือไม่ เพื่อนได้ส่งรูปปั้นที่ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ปั้นไว้ พร้อมได้เล่าว่า อาจารย์ศิลป์ได้กำชับว่า ใครก็ตามที่จะปั้นรูปในหลวงรัชกาลที่๖ ให้พึงระวัง..ด้วยเปลือกพระเนตรด้านซ้ายของพระองค์ท่านมีเปลือกพระเนตร 4 ชั้น ความรู้นี้ทำให้เราอึ้งไปว่า เพื่อนเราศึกษาจนรู้ลึกอะไรจะขนาดนั้น

อีกครั้งที่โรงเรียนจะสร้างหอเกียรติยศ (Hall of Fames) ขึ้นที่ตึก “นวภูมินทร์” จึงเชิญเพื่อนมาเป็นกรรมการ เพื่อที่จะวาดรูปผู้บังคับการวชิราวุธในอดีตจนถึงปัจจุบัน .. ปรากฏว่าเราหารูปต้นแบบของท่านผู้บังคับการบางท่านได้เพียงรูปเดียว และเป็นรูปขาวดำ ทางโรงเรียนได้พยายามติดต่อครอบครัวลูกหลานของท่าน แต่ไม่สามารถมารถสืบค้นหาตัวบุคคลมายืนยันได้ พวกเราก็ต้องอาศัยเพื่อนช่วยให้รายละเอียดจากรูปขาวดำให้กลายเป็นรูปสี และรายละเอียดของเหรียญตรา แถบแพร สีเสื้อทั้งนอกทั้งใน พร้อมคำอธิบายและข้อมูลอ้างอิงอย่างมีเหตุผลที่ไม่มีใครจะเถียงได้ ทำให้โรงเรียนได้รูปเขียนอันทรงคุณค่าของท่านผู้บังคับการจากอดีตถึงปัจจุบันจนครบถ้วนทุกท่าน...รูปท่านผู้บังคับการนี้จึงถือเป็นต้นแบบสำคัญที่เพื่อนได้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างหอเกียรติยศ..ในตึกนวภูมินทร์ ที่จะอยู่คู่วชิราวุธ วิทยาลัยตลอดไป

ถ้าจะให้พรรนาเรื่องของเพื่อนอีก ก็คงเปลืองหน้ากระดาษอีกหลายร้อยหน้า จึงขอกล่าวไว้แต่เพียงโดยสังเขป ขอเพื่อนจงไปสู่สุขคติทิ้งรอยประทับในสิ่งดีที่ทรวคุณค่า..ที่เพื่อนได้ขีดเขียนไว้เป็นประวัติศาสตร์ไห้ยุวชนคนรุ่นหลังไว้..ชื่อของเพื่อนจะไม่เป็นที่ลืมเลือนและอยู่ในใจของพวกเราชาววชิราวุธตลอดไป


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ต.ค. 19, 09:41
คลิปนี้ อาจารย์วรชาติถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมฯ เสด็จเปิดพระบรมราชะประทรรศนีย์ที่หอวชิราวุธานุสรณ์
ในคลิปจะได้ยินเสียงอาจารย์กราบบังคมทูลเรื่องธงชัยราชกระบี่ยุทธ์ และธงชัยพระครุฑพ่าห์

https://www.facebook.com/library.vc/videos/1159340527590714/?t=97




กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 14 ต.ค. 19, 11:28
ไม่ได้เข้ามาเรือนไทย 5-6 วัน พอเข้ามาวันนี้ ก็ใจหาย
จากการจากไปของอาจารย์วรชาติ มีชูบท นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สมัยรัชการที่ ๖
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่าน ขอท่านจงสู่สุขคติภพด้วยเทอญ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ต.ค. 19, 13:58
โธ่เอ๋ยน้อง ผมก็เพิ่งจะรู้ความจริง หลงตำหนิไปหลายครั้ง คุณก็ได้แต่ "ขอโทษครับ"


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 19, 08:51
เชิญอ่าน จดหมายเหตุวชิราวุธ ของอ.วรชาติ มีชูบท ได้ที่นี่ค่ะ

http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/index.htm




กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ต.ค. 19, 09:53
อาจารย์วรชาติเขียนเกริ่นไว้ในตอนต้นว่า

ขออนุญาตรายงานตัวให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของคอลัมน์นี้ไว้ก่อนว่า เกิดขึ้นมาจากท่านกรรมการอำนวยการโรงเรียนท่านหนึ่งได้ปรารภกับผู้เขียนว่า อยากจะให้มาช่วยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวชิราวุธวิทยาลัยเผยแพร่ในเว็บไซต์ของโรเรียนบ้าง โดยเรื่องราวที่จะนำบอกเล่านี้ท่านสั่งมาว่า น่าจะเป็นเรื่องที่มีทั้งสาระและไม่มีสาระคละเคล้ากันไป จึงได้ตกลงใจแยกเรื่องราวที่จะบอกเล่าออกเป็น ๒ คอลัมน์ คือ

คอลัมน์สาระความรู้เชิงวิชาการให้ชื่อว่า "จดหมายเหตุวชิราวุธ" ที่พยายามจะทยอยเขียนมาลงเป็นประจำทุกวันที่ ๑ และ ๑๖ ของเดือน ส่วนที่เป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของนักเรียนเก่าอาวุโสหรือที่ผู้เขียนได้ประสบพบเห็นมาด้วยตนเองได้ให้ชื่อคอลัมน์นั้นว่า “ฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ” ซึ่งกำหนดจะนำเสนอผ่านหน้าเวบนี้ราววันที่ ๙ และ ๒๔ ของทุกเดือน

จดหมายเหตุวชิราวุธ
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal1.htm

ฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ
http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_01.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ต.ค. 19, 14:50
กระทู้ที่คุณ V_Mee ตอบและถูกกล่าวถึงในพันทิป

https://pantip.com/profile/211927#comments
https://pantip.com/search?q=V_Mee

มีพวงหรีดของพันทิปในงานอาจารย์วรชาติ อย่างที่คุณ world (zodiac 28 แห่งพันทิป) คิดไว้ บ้างไหมหนอ

https://pantip.com/topic/39306316


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ต.ค. 19, 05:54
งานฌาปนกิจศพอาจานย์วรชาติ มีชูบทเมื่อวาน วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ เจ้าภาพได้แจกหนังสือที่ระลึกให้แก่ผู้มาร่วมงานทุกคนดังนี้


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ต.ค. 19, 05:57
ผมจะทยอยสแกนหนังสือเล่มปกสีน้ำเงินซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๔๐ หน้า มาบันทึกไว้ในเพจนี้ เพื่อที่ผู้สนใจจะได้อ่านนะครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ต.ค. 19, 05:58
.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ต.ค. 19, 05:59
.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ต.ค. 19, 06:00
.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 19, 07:08
ภาพประกอบตามความในหน้า ๑๐ ครับ



กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ต.ค. 19, 08:13
ความในหน้า ๘ - ๑๑

http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_01.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 19, 08:28
ต่อครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 19, 08:36
ภาพนักเรียนมหาดเล็กหลวงสมัยรั๙กาลที่ ๖ ครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ต.ค. 19, 10:16
ความในหน้า ๑๒ - ๑๕

http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_09.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 19, 08:04
ต่อครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 19, 08:08
เพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบิน หรือที่สมเด็จกรมพระยานริศฯทรงใส่เนื้อร้อง แล้วทรงตั้งชื่อว่าเพลงสรรเสริญเสือป่นั้น มีความดังนี้
 
     พวกเรา                 ประนอมกันเข้าเปนเสือป่า
ตั้งสัตย์โดยจินตนา         กตเวที
ปู่ย่าตายายไม่เสียดายชีวี      บำราบอรีเลื่องลือ
เราฤๅจักปล่อยให้ถอยศักดิ์ได้   จะรกำ ฤ จะลำบากเท่าไร
จนถึงว่าตัวจักตายเปนตาย      ขณะถึงคราวควรตาย
เกิดเปนชาติไทย         ถึงอย่างไรไม่ยอมเปนทาษ
เหตุว่าเรารักชาติ         แลศาสนาเปนอาจิณ
เราหนอจงอารักษ์         รัฐจักรแลพระจอมแผ่นดิน
คอยผลาญสัตรูในนอกให้สิ้น   แม้เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ฯ

ปัจจุบันมีผู้นำเพลงนี้ลงเผยแพร่ในยูทูปหลายรายด้วยกันโดยไม่ได้ระบุที่มา  ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคราวฉลองโรงเรียนครบ ๗ รอบ สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยได้จัดทำเทปบันทึกเสียงเพลงโรงเรียนทั้งหมด โดยมอบหมายให้ ดร.ประทักษ์ ประทีปะเสน เป็นผู้อำนวยเพลง รวมถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบิน บทขับร้องหมู่นี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์มิให้สูญไปกับกาลเวลา

http://youtu.be/pO9huPCh94c (http://youtu.be/pO9huPCh94c)



กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 19, 08:14
จวบจนทุกวันนี้ ทุกครั้งที่มีงานเสด็จพระราชดำเนิน  ก่อนที่จะประทับนั่ง โรงเรียนจะเปิดพระวิสูตรพระบรมฉายาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวบนหอประชุม พร้อมกับนักเรียนร้องเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี
หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่พิธีการ
  
และเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ วงจุลดุริยางค์วชิราวุธวิทยาลัยจะบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบิน เพื่อปิดพระวิสูตร ทรงประทับยืนถวายความเคารพ ตอนท้ายเสียงเพลงจะค่อยๆแผ่วลงๆ จนจบพอดีกับพระวิสูตรที่ปิดสนิท  หลังจากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินลงจากหอประชุม

(เป็นบทที่ไม่มีการขับร้องครับ)

http://youtu.be/rqTcTV4e468 (http://youtu.be/rqTcTV4e468)


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ต.ค. 19, 18:26
ความในหน้า ๑๕ - ๑๘

http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_10.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 19, 10:48
ต่อครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 19, 10:50
.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 19, 10:50
.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ต.ค. 19, 19:18
ความในหน้า ๑๘ - ๒๑

http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_40.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 19, 11:19
ต่อครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 19, 11:22
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานหน้าสวนลุมพินี เมื่อสร้างเสร็จในครั้งแรก และหลังจากปรับปรุงใหม่เพื่อเสริมความสูงของฐานแล้ว


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 19, 11:26
พระบรมรูปหน้าหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงกระทำพิธีเปิด และเป็นที่พระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงเคารพสักการะ ในทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนแห่งนี้


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 19, 11:34
ทุกวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน นักเรียนวชิราวุธจะต้องไปวางพวงมาลา และถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ เสร็จแล้วตั้งแถวรอรับเสด็จพระราชดำเนิน ณ ลานพระบรมรูปบริเวณหน้าสวนลุมพินี

ส่วนในเวลาเช้า นักเรียนเก่ารุ่นต่างๆจะมาถวายพวงมาลาและถวายบังคมที่พระบรมรูปหน้าหอประชุม และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนักเรียนวชิราวุธจะพึงมาถวายบังคมขอพระราชทานพรทุกครั้ง ก่อนที่จะต้องไปกระทำการอันสำคัญ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 19, 11:47
วชิราวุธวิทยาลัยในช่วงเช้าของวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ต.ค. 19, 18:43
ความในหน้า ๒๑ - ๒๔

http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_88.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 19, 06:49
ต่อครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 19, 06:54
(บน) พระราชวังสราญรมย์ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯทรงประทับ ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
(กลาง) ภาพโครงการก่อนที่จะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์
(ล่าง) เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสภาพปัจจุบัน


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 19, 06:56
การทำโทษของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่อาจารย์วรชาติกล่าวถึง แต่ไม่มีรายละเอียดในหนังสือเล่มนี้


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 19, 06:57
.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 19, 18:08
ความในหน้า ๒๔ - ๒๘
http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_95.htm

ความในหน้า ๒๘ -๓๐
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal1.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: ราชปักษา ที่ 23 ต.ค. 19, 10:03
อาลัยท่านครับ

ท่านอ. เคยตอบผมเรื่อง รถม้าในสยาม


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 19, 10:05
ต่อครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 19, 10:06
ขยายภาพที่ไม่ชัดครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 19, 10:11
การเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จในตอนต้นรัชกาลที่ ๙ ดูจะเป็นธรรมชาติอยู่บ้าง ภายหลังเมื่อทอดพระเนตรเห็นว่าเด็กมะรุมมะตุ้มกันมาก ทรงเกรงว่าพลาดพลั้งไปแล้วถูกรถพระที่นั่งทับจะเป็นอันตราย จึงรับสั่งให้ผู้บังคับการจัดระบบใหม่ ให้เด็กเข็นถวายในช่วงหลังของล้อรถยนต์พระที่นั่งไปแล้ว


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 19, 10:12
การเข็นรถพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่ ๑๐ ครับ
http://youtu.be/-YzAdjTE4Us (http://youtu.be/-YzAdjTE4Us)


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ต.ค. 19, 18:21
ความในหน้า ๓๐ -๓๓

http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal2.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 19, 09:05
ต่อครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 19, 09:06
.


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 19, 09:17
การค้นพบประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ในเรื่องเครื่องแต่งกายนักเรียนเก่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตไว้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงล่าสุด ซึ่งทำให้นักเรียนเก่าวชิราวุธมีเครื่องแบบข้าราชสำนักในการเข้าเฝ้า แทนการแต่งชุดขอเฝ้าตามปกติทั่วไป

ภาพซ้ายเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลปัจจุบัน และขวา คือเครื่องแบบนักเรียนเก่าวชิราวุธ สำหรับใช้ในโอกาสอันเหมาะสม


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 19, 09:21
วรชาติ มีชูบท ในเครื่องแบบนักเรียนเก่าวชิราวุธ (ที่ ๓ จากซ้าย) ถ่ายภาพกับบางส่วนของคณะกรรมการบริหารสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมถ์ หน้าศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 19, 09:22
หน้าสุดท้าย


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ต.ค. 19, 18:31
ความในหน้า ๓๓ - ๓๖
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal97.htm

ความในหน้า ๓๖ - ๔๐
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal105.htm


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 19, 18:51
ขอขอบคุณคุณเพ็ญชมพูที่เข้ามาร่วมเผยแพร่งานคุณวรชาติในครั้งสุดท้ายนี้ด้วยครับ


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ต.ค. 19, 18:04
๏ วร   ศาสตร์รู้สรรพสิ้น    พงศา วดารแฮ
   ชาติ ปราชญ์ชาญปัญญา  ยิ่งล้วน
   มี    มนัสภักดิ์กตัญุตา    ฉัฏฐรัชช พระเฮย
   ซูบท พจน์ถ่องถ้วน         ลิชิตแพร้วบรรณสาร ๚ะ๛


   ไว้อาลัยแด่การจากไปของอาจารย์วรชาติ มีชูบท
   ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวราชสำนัก
   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยรัชกาลที่๖ที่เรียกได้ว่ารู้จริงและรู้แจ้ง

   ธนโชติ เกียรติธนภัทร


กระทู้: สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ต.ค. 19, 18:17
อ้างอิง

ฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ

http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_01.htm   หน้า   ๘ - ๑๒
http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_09.htm   หน้า ๑๒ - ๑๕
http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_10.htm   หน้า ๑๕ - ๑๘
http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_40.htm   หน้า ๑๘ - ๒๑
http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_88.htm   หน้า ๒๑ - ๒๔
http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_95.htm   หน้า ๒๔ - ๒๘


จดหมายเหตุวชิราวุธ

http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal1.htm     หน้า ๒๘ - ๓๐
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal2.htm     หน้า ๓๐ - ๓๓
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal97.htm   หน้า ๓๓ - ๓๖
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal105.htm หน้า ๓๖ - ๔๐