เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 16201 ความรู้ในลิ้นชัก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 12 ก.ค. 21, 20:00

ขอขยายความอีกเล็กน้อยเพื่อให้เห็นภาพในเรื่องเหตุและผลของการให้ความสนใจดูแลแบตเตอรี่ชนิดที่ต้องคอยตรวจสอบระดับน้ำกลั่น

โดยพื้นฐานแล้ว แบตเตอรี่มีความสามารถในการเก็บประจุไฟฟ้าต่างกัน ขึ้นอยู่กับการผลิตและความต้องการของผู้ใช้   ในขณะที่ generator (ที่นิยมเรียกกันว่า ไดชาร์ต) มีความสามารถในการผลิตปริมาณกระแสไฟขึ้นอยู่รอบของการหมุนเช่นเดียวกันกับเครื่องปั่นไฟต่างๆ  การชาร์ตไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่นั้น หากมากไปก็ไม่ต่างไปจากการใช้ไฟแรงๆต้มน้ำจนเดือดแล้วไม่ลดความแรงของไฟต้มน้ำลง  ก็เลยต้องมีตัวควบคุมปริมาณไฟที่จะผลิตออกมา ซึ่งตามปกติก็จะไม่ให้เกินว่าประมาณ 15 แอมแปร์  ซึ่งตัวควบคุมปริมาณไฟนี้ก็มีโอกาสเสื่อมและเสียไป     เมื่อมีไฟชาร์ตเข้าหม้อแบตเตอรี่ ก็จะมีปฏิกริยาทางเคมีไฟฟ้าที่ทำให้เกิดฟองอากาศผนวกกับความร้อนในห้องเครื่องยนต์ ซึ่งจะทำให้น้ำกลั่นระเหยออกไป ปริมาณน้ำกลั่นในหม้อก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ความพอเหมาะพอดีของความเป็นกรดก็จะเปลี่ยนไป     ในสมัยก่อนนั้น เราจะเห็นว่ามีรถเปิดไฟใหญ่วิ่งอยู่ตามถนนระหว่างจังหวัด เหตุผลก็เพียงเพื่อลดปริมาณการชาร์ตประจุไฟเข้าหม้อแบตเตอรี่ให้ไม่มากจนเกินไปนั่นเอง     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 13 ก.ค. 21, 17:28

แบตเตอรี่ชนิด maintenance free นั้น แม้จะไม่มีความจำเป็นต้องตรวจดูระดับน้ำกลั่น(น้ำกรด)ในหม้อ แต่มันก็มีเรื่องที่ต้องตรวจดูเช่นกัน  หม้อแบตเตอรี่ชนิดนี้จะมีตาแก้วสีสดใสอยู่ด้านบนเพื่อบ่งบอกว่ามันยังมีประจุไฟเก็บอยู่ในระดับที่ดีหรือไม่ ส่วนการแสดงของสีจะเป็นเช่นใดและบ่งบอกอะไรก็สามารถอ่านได้จากฉลากที่ติดอยู่กับหม้อแบตเตอรี่นั้น เอาอย่างง่ายๆก็คือ หากยังมีความสว่างและมีสีสดใสก็แสดงว่ายังใช้งานได้ดี มันจะค่อยๆมืดลงตามอายุการใช้งาน

แบตเตอรี่รถจะมีอายุการใช้งานประมาณ 2+ ปี อาจจะถึง 3 ปีก็มี  อาการของการเสื่อมโดยหลักๆก็คือเก็บไฟไม่อยู่   อาการที่แสดงออกแต่แรกๆเลย บ่งบอกได้จากการติดเครื่องยนต์ครั้งแรกในตอนเช้า เครื่องจะหมุนแบบอืดๆ ไม่หมุนฉิวเหมือนที่กับเสียงดังที่เคยได้ยิน  ซึ่งจะมีมากขึ้นและถึงจุดที่แย่มากๆ ก็คือเกิดขึ้นทุกครั้งที่ทำการติดเครื่องยนต์    อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการเช่นนี้ในช่วงที่แบตเตอรี่ได้มีอายุการใช้งานผ่านมาเพียงปีกว่าๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดในสองประเด็น อาจจะเกิดจากลักษณะการใช้รถยนต์ คือ ขับแล้วจอดในระยะทางสั้นๆ ซึ่งทำให้มีการมีการชาร์ตไฟทดแทนได้ไม่พอเพียง  หรืออาจจะเกิดจาก defect ของหม้อแบตเตอรี่ก็ได้     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 13 ก.ค. 21, 18:41

ในสมัยก่อนที่ยังทำงานแบบลุยๆอยู่นั้น ปัญหาเรื่องการเสื่อมของแบตเตอรี่ของรถที่ใช้งานนั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องคุ้นเคยกัน  รถทุกคันก็เลยจะต้องมีมือ(เหล็ก)หมุนเครื่อง สำหรับหมุนแทนมอเตอร์สตาร์ตเพื่อติดเครื่องรถ ซึ่งดูคล้ายกับจะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส แต่จริงๆแล้วง่ายมาก เพียงแต่จะต้องรู้จังหวะและตำแหน่งที่เราจะมีแรงดึงกระชากให้เครื่องมันหมุน    ซึ่งทำได้แม้แต่มีตัวเราเองเพียงคนเดียว เพียงแต่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องของการระบบและจังหวะการทำงานของเครื่องยนต์  เรื่องก็เป็นไปเช่นเดียวกับการติดเครื่องยนต์ของเครื่องบินใบพัด(แบบใช้ลูกสูบ)รุ่นเก่าดังที่เคยเห็นในสารคดีต่างๆ 

รถขนาดน้ำหนักเกือบ 3 ตันในพื้นที่ๆเป็นป่าเขานั้น การเข็นรถเพื่อติดเครื่องเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก  ทางแก้อย่างหนึ่งก็คือ การพยายามหาที่จอดรถในที่ลาดเอียง โดยเอาด้านหัวรถพุ่งลงเนิน  แต่ก็อีกแหละ จะต้องเป็นลาดเนินที่ยาวพอสมควรพอให้ได้ระยะที่จะกระตุกเครื่อง   ในเรื่องของการจอดรถหัวทิ่มลงเนินนี้ เป็นเรื่องที่พึงทำให้ติดเป็นนิสัยเมื่อสภาพพื้นที่อำนวย แม้ว่าจะเป็นการใช้รถบนถนนลาดยางก็ตาม

   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 13 ก.ค. 21, 19:22

กรณีของอาการที่เรียกว่าแบตเตอรี่หมด สตาร์ตเครื่องไม่ได้ในตอนเช้าที่เกิดขึ้นกับรถที่ใช้เข้าพื้นที่ป่าเขาทุรกันดารนั้น  ส่วนหนึ่ง(ค่อนข้างจะมาก)เกิดมาจากการชาร์ตไฟเข้าหม้อแบตเตอรี่ไม่ทันกับการดึงเอาไฟออกไปใช้งานในระหว่างการเดินทาง  ซึ่งดูจะไม่มีปัญหากับรถรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้  เรื่องของเรื่องก็มาจากการใช้เครื่องยนต์รอบเบาในระหว่างการเดินทางจนผลิตปริมาณไฟชาร์ตทดแทนเข้าแบตเตอรีได้ไม่ทัน  สืบเนื่องมาจากผลของการที่รถติดหล่มบ้าง การใช้กว้านไฟฟ้า(winch)บ้าง  รวมทั้งการใช้ไฟสปอตไลท์และเครื่องเสียงที่ล้วนแต่กินกำลังไฟ

แต่ก่อนๆนั้น รถจะใช้กว้านแบบเพลาขับ ไม่มีเครื่องเสียง ไม่มีสปอตไลท์ แต่รถมีช่วงเวลาที่จะต้องใช้เครื่องยนต์แบบเดินเบาเป็นเวลานาน   ก็ลองนึกดูบางสภาพการณ์ในการทำงานของผม  ..ออกเดินทางไปหรือมาระหว่างตัว จ.กาญจนบุรี กับสถานีน้ำตก (ไทรโยคน้อย) ระยะทางประมาณ 60 กม. เริ่มออกเดินทางประมาณ 8 โมงเช้า ถึงปลายทางประมาณ 4 ทุ่ม   หรือจาก อ.สังขละบุรี ถึง พระเจดีย์สามองค์ ระยะทางประมาณ 20+ กม. ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม.     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 14 ก.ค. 21, 17:42

เปิดกระโปรงหน้ารถดูแบตเตอรี่แล้ว ก็ดูเรื่องอื่นๆต่อพร้อมไปด้วยเลย ก็จะเรื่องของการตรวจเติมน้ำในหม้อน้ำล้างกระจก ตรวจเติมน้ำในหม้อน้ำล้นของระบบหม้อน้ำหล่อเย็นเครื่องยนต์  ดูน้ำมันเบรค  ดูสภาพของสายพานพัดลมหม้อน้ำ/แอร์ และความผิดปกติ/ความไม่เรียบร้อยอื่นๆที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่า เช่น การซึมรั่วของๆเหลวตามข้อต่อต่างๆ สายไฟที่หลุดกะรุ่งกะริ่ง...เป็นต้น

ผมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมเล็กน้อย 2-3 เรื่องที่ควรจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ  ซึ่งดูเผินๆก็ไม่น่าจะมีอะไรสำคัญมากนัก แต่มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้พอสมควรทีเดียว   

เรื่องแรก สำหรับรถที่มีอายุการใช้งานมานานมากกว่าประมาณ 7 ปี ควรจะต้องให้ความสนใจกับหม้อน้ำรถมากเป็นพิเศษ ควรจะสังเกตว่ามีคราบตะกรันหรือความชื้นตามข้อต่อเชื่อมระหว่างท่อยางกับหม้อน้ำและบริเวณตะเข็บระหว่างฝาครอบรังผึ้งกับตัวรังผึ้งของหม้อน้ำหรือไม่  ฝาครอบรังผึ้งของรถรุ่นใหม่ทำมากจากพวกสารผสม polymer มีอายุการใช้งานได้ไม่นานเท่ากับแบบที่ทำด้วยโลหะดังที่ใช้ในรถรุ่นเก่าๆ  ทำให้เมื่อใช้งานที่ผนวกกับการสั่นสะเทือนมานานก็จะเกิดรอยแตก ทำให้น้ำในหม้อน้ำรั่วออกไป หากไม่รู้ถึงวิธีการจัดการที่เหมาะสมและในเวลาอันควร ก็อาจจะยังผลเครื่องยนต์ร้อนจัดจนทำให้ฝาสูบโก่ง กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเลย   จะให้ปลอดภัย เมื่อดูท่าไม่ค่อยจะดี ก็เปลี่ยนใหม่ไปเลย ราคาของใหม่อยู่ในหลักพันบาทแก่ๆ อาจจะใกล้หมื่นบาทสำหรับรถของบางผู้ผลิต   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 14 ก.ค. 21, 18:24

นอกจากนั้นก็ลองเอามือบีบท่อยางต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วมันควรจะให้ความรู้สึกว่านิ่ม  ท่อยางที่ต่อระหว่างหม้อน้ำกับเครื่องก็เช่นกัน เมื่อใดที่รู้สึกว่ามันแข็งมาก บีบไม่ลง ก็แสดงว่ามันไม่ควรจะต้องเปลี่ยน ไม่ควรจะใช้งานต่อไปอีกแล้ว เพราะมันมีโอกาสที่จะแตกได้ง่ายๆ

รถเสียกลางทางด้วยเรื่องของหม้อน้ำนี้เป็นเรื่องที่ไม่สนุกเอาเสียเลย    แล้วเมื่ออยู่กลางป่ากลางดงจะทำเช่นใด ไม่ยากและก็ไม่ง่ายครับ เสียเวลาและสกปรกกันมากหน่อยเท่านั้นเอง  ก็โชคดีที่หม้อน้ำรถยนต์สมันก่อนนั้นทำด้วยโลหะ(โดยเฉพาะทองแดง)และใช้วิธีการเชื่อมด้วยตะกั่ว(บัดกรี)  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะมาจาก 2 เรื่องเท่านั้นเอง คือ สายยางรั่วหรือจะแตกตรงจุดเชื่อมต่อกับหม้อน้ำ (มิใช่เรื่องฝาครอบรังผึ้งแตกหรือคอท่อส่วนที่ติดกับฝาครอบนั้นแตกดังเช่นของรถในปัจจุบัน)   กับอีกเรื่องหนึ่ง คือ ตัวกรีบของรังผึ้งปริ ซึ่งมักจะมาจากการถูกไม้เสียบ หรือมาจากการกัดกร่อนของน้ำตามความเก่าของรถ  (รถที่ใช้งานกันในสมัยก่อนนั้น ไม่มีการใส่น้ำยาเพื่อกันสนิมและกันการกัดกร่อน ด้วยที่มันเป็นของวัสดุเพิ่มเติมพิเศษที่มีราคาค่อนข้างสูง)     

เรื่องแรก แก้ด้วยการใช้ผ้าพัน รัดให้แน่น เปิดฝาหม้อน้ำไว้เพื่อลดความดันที่พึงจะต้องมีและต้องใช้ในกระบวนการควบคุมระดับของอุณหภูมิของน้ำที่ใช้หมุนเวียนเพื่อลดความร้อนของเครื่องยนต์  จอดรถดูและเติมน้ำเป็นระยะๆตามสมควรแก่เหตุ เพื่อมิให้เครื่องยนต์ร้อนจัดเกินไปจนทำให้เกิดฝาสูบโก่ง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 14 ก.ค. 21, 18:50

เรื่องที่สอง หม้อน้ำรั่วจากการถูกไม้เสียบ  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะต้องขับรถลุย  ซึ่ง..บ้างก็เป็นเรื่องของการหลบบ่อ/หลุมโคลน บ้างก็เป็นเรื่องต้องลุยไปในดงที่เป็นลักษณะ bush เช่น ดงต้นต้นสาบเสือ ดงต้น(ไผ่)เพ็ก และข้ามต้นไม้ที่ล้ม....    ก็แก้ไขโดยการใช้คีมบีบกลีบท่อนำน้ำระหว่างฝาครอบด้านบนกับฝาครอบด้านล่าง  ซึ่งก็จะไปทำลายครีบระบายความร้อนบางจุด     หากได้ทันเห็นหน้าหม้อของพวกรถขนซุงก็อาจจะนึกภาพออกถึงสภาพของหม้อน้ำของรถเหล่านั้น ก็เกือบจะเป็นรถทุกคันกระมังที่เคยประสบกับเรื่องของหม้อน้ำรถรั่วเพราะถูกไม้เสียบ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 14 ก.ค. 21, 19:15

มาถึงเรื่องของ น้ำมันเบรค 

น้ำมันเบรคจะอยู่ในกระปุกพลาสติคสีนวลตั้งอยู่บนหม้อลม(ทรงคล้ายกระทะ)สีดำๆที่แปะติดอยู่ด้านคนขับรถ ในกระปุกจะมีน้ำมันใสๆสีขาว หรือสีฟ้า หรือดูเป็นสีครีม ข้างกระปุกจะมีขีดบอกระดับน้ำมันเบรคสูงสุดที่พึงมี (Max) และระดับต่ำสุดที่พึงมี (Min)   

เรื่องที่ต้องมีการระมัดระวังเป็นอย่างแรกๆและอย่างมากๆก็คือ น้ำมันเบรคนั้นมันกัดสีรถให้เป็นจุด เป็นดวง หรือเป็นทาง ตามจุดที่มันหยดไปถูกส่วนที่เป็นสีของรถ จะถูหรือจะขัดออกก็ดูจะลบรอยได้ไม่หมดด้วยที่มันกัดผิวค่อนข้างจะลึกลงไป

โดยนัยแล้ว  สำหรับรถในสมัยปัจจุบันนี้ เราเกือบจะไม่ต้องไปสัมผัสหรือไปเปิดฝากระปุกมันเลย  เพียงแต่ต้องรู้จักและพอจะมีความเข้าใจกับเรื่องราวที่มันสื่อสารกับเรา     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 15 ก.ค. 21, 18:24

ระบบเบรคจะใช้กระบอกดันน้ำมันที่เราเหยียบลงไป เรียกกันตามประสาช่างว่า แม่ปั้มเบรค ไปดันน้ำมันในอีก 4 กระบอก ที่อยู่ตามล้อทั้ง 4 ซึ่งตามประสาช่างนิยมเรียกกันว่า กระบอกเบรค  ในกระบอกทั้งหลายนี้จะมีการใช้ลูกยาง/แหวนยางเพื่อกันไม่ให้น้ำมันเบรคทะลักออกมา  เมื่อใช้นานๆมากเข้า ลูกยางและแหวนยางซึ่งขยับครูดไปมากับตัวกระบอกที่เป็นโลหะก็จะสึก น้ำมันเบรคก็จะไหลซึมออกมา ซึ่งจะไปทำให้ระดับน้ำมันในกระปุกน้ำมันเบรดลดลง   อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อมีการเบรครถมากเข้า ตัวผ้าเบรคก็จะสึก ทำให้ความหนาของผ้าเบรคบางลง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำมันเบรคในกระปุกลดต่ำลง (ไม่ขยายความต่อนะครับ)

ระดับน้ำมันเบรคในกระปุกสำหรับระบบเบรคที่ใหม่และสมบูรณ์ จะลดระดับลงน้อยมากๆในระยะเวลาหลายๆเดือน (เว้นแต่จะเป็นนักนิยมขับรถแบบกระโชกกระชาก ออกรถแรงเร็ว-เบรคกระชั้นชิดแบบหัวทิ่ม)  การค่อยๆลดลงในช่วงเวลานานบ่งบอกว่าเกิดมาจากการสึกหรอของผ้าเบรค ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน     แต่หากระดับลดลงต่อเนื่องจนเห็นได้ชัด (เช่น ทุกๆสัปดาห์หรือสองสัปดาห์) นั่นแสดงว่าน่าจะมีการรั่วซึมของน้ำมันเบรคที่กระบอกเบรคแห่งใดแห่งหนึ่ง  ควรจะรีบเอารถไปเข้าอู่ให้ช่างเขาตรวจเช็คโดยเร็วมากๆ อาการเช่นนี้ไปถึงจุดแตกหักได้เร็วมากและอย่างคาดเดาไม่ได้  ที่เรียกกันว่ารถเบรคแตกก็มักจะมาจากเรื่องนี้   ซึ่งก็ขอให้คำแนะนำว่าควรจะต้องทำพร้อมกันไปทั้งระบบเลย ไม่คุ้มค่าที่จะประหยัดเงินซ่อมเฉพาะจุดที่เสีย         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 15 ก.ค. 21, 19:11

สำหรับรถที่ใช้แบบสมบุกสมบันในพื้นที่ทุรกันดาร ต้องลุยน้ำลุยโคลน มีโอกาสที่จะพบกับเหตุการณ์กระบอกเบรครั่วซึมได้ไม่ยากนัก   ที่ได้กล่าวไว้แต่ต้นว่าตะปูเป็นอีกส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ต้องมีไว้ประจำรถนั้น ก็คือใช้เป็นตัวอุดน้ำมันที่ข้อต่อของท่อน้ำมันโลหะส่วนที่จะเดินไปยังจุดที่มีปัญหา     

ตัวผมเองมีความกังวลไม่มากนักในเรื่องของเบรครถเมื่อใช้รถในพื้นที่ป่าเขา หากว่าเป็นการใช้รถประเภท 4x4  เพราะเราสามารถควบคุมรถได้ด้วยการใช้เกียร์ปกติกับเกียร์สโลว์ ผนวกด้วยใจที่เย็นๆของเรา  ด้วยการใช้ความเข้าใจในเรื่องของวิธีการเปลี่ยนเกียร์จากเกียร์สูงมาเป็นเกียร์ต่ำด้วยจังหวะของรอบเครื่องยนต์(การใช้คันเร่ง)ที่เรียกว่าการเบิ้ลเครื่อง และการเหยียบคลัชที่เรียกว่าการย้ำคลัช   ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รถที่จะใช้ในพื้นที่ทุรกันดารจึงไม่ควรจะเป็นรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 15 ก.ค. 21, 19:36

สีของน้ำมันเบรคในกระปุกก็บอกเรื่องราวเหมือนกัน สีของมันควรจะต้องใส ไม่ควรจะมีสีคล้ำออกไปทางดำ สีที่ออกไปทางขุ่นดำแสดงถึงการที่ไม่ได้มีการใส่ใจดูแลระบบเบรคโดยช่างหรือโดยศูนย์ใดๆเลย คือไม่มีความละเอียดในการทำงานและไม่มีความเข้าใจถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้เลย

ผมเห็นว่า เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง  หากรถของเราใช้วิ่งมาได้ระยะทางประมาณ 5 - 60,000 กม.แล้วโดยที่ยังไม่เคยตรวจเช็คครั้งใหญ่เลย ก็น่าจะลองนึกถึงการเอารถเข้าศูนย์ ให้เขาเปลี่ยนถ่ายของเหลวทั้งหมด รวมทั้งตัวที่ใช้กรอง(ใส้กรอง)ของเหลวนั้นๆ  แล้วจะรู้สึกว่าคล้ายกับได้ขับรถใหม่อีกครั้งหนึ่ง  เช่นกัน เมื่อซื้อรถมือสองมาก็พึงทำเหมือนกัน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 16 ก.ค. 21, 18:45

เป็นข้อพึงทราบไว้เรื่องหนึ่งว่า เครื่องยนต์และกลไกที่ต้องมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาของรถยนต์โดยทั่วไปนั้น เมื่อรถได้ใช้งานมาแล้วประมาณ 200,000 - 250,000 กม. ก็จะเริ่มมีการเสื่อมและการชำรุดอย่างเป็นจริงเป็นจัง (หลวม)  เริ่มพ้นจากช่วงเวลาของการปรับแต่ง/ปรับปรุง ไปสู่การซ่อมเปลี่ยน แล้วก็ไปสู่การเปลี่ยน/ดัดแปลงในที่สุด   

ระยะทางดังกล่าวนี้ ได้มาจากประมาณการของการใช้รถของคนที่เดินทางไปใหนมาใหนตามปกติ คือเฉลี่ยปีละประมาณ 20,000 กม. ซึ่งมีจัดเแบ่งเป็นเกณฑ์อันพึงปฏิบัติของแต่ละช่วงเวลา เช่น การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 10,000 กม. ซึ่งก็คือปีละครั้ง การเปลี่ยนถ่ายของเหลวทุก 40,000 กม. ซึ่งก็คือสองปีครั้ง .......เป็นต้น   

อายุการใช้งานของรถจึงมักจะถูกกำหนดไว้ที่ประมาณ 10 ปี   ต่อจากนั้นก็จะกลายเป็นรถเก่า หรือ รถเก่า โฉม... รุ่นปี...
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 16 ก.ค. 21, 19:25

น้ำมันเครื่องเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการตรวจสอบทุกครั้งที่ควรจะทำในตอนเช้าทุกวันหลังจากที่ได้มีการใช้รถเดินทางไกลหลายๆชั่วโมงต่อเนื่องกันมาในวันก่อน     

ตามปกติแล้ว ระดับของน้ำมันเครื่องเกือบจะไม่ลดลงให้สังเกตเห็นได้เลยหากเครื่องยนต์ยังคงแน่นอยู่    ในกรณีเป็นรถที่ใช้น้ำมันเบ็นซิน หากสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดๆเมื่อได้ใช้รถในระยะทางสักประมาณ 3-5,000 ก็ควรจะนำรถเข้าศูนย์เพื่อตรวจสอบได้แล้ว     แต่หากเป็นรถที่ใช้เครื่องดีเซล และไม่ได้ลดลงไปถึงขนาดต้องเติมเกินครึ่งลิตร ก็มิใช่เป็นเรื่องที่น่าจะต้องตกใจ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตต่อไป

ก็คงจะไม่ขยายความต่อไปถึงข้อสังเกตประกอบอื่นๆ เช่น สีของควันจากท่อไอเสีย สีของน้ำมันเครื่อง เสียง ฯลฯ   ซึ่งข้อสังเกตเหล่านี้ คนที่เป็นช่างจะถามเพิ่มเติมเพื่อการบ่งบอกจุดหรือกลไกที่เสียหาย         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 16 ก.ค. 21, 20:14

ก็มีอีกเรื่องหนึ่งว่า น้ำมันเครื่องที่เราเห็นที่ปลายเหล็กวัดระดับนั้น  หากเป็นน้ำมันที่เปลี่ยนมาใหม่มันจะใส แต่หากเป็นน้ำมันที่ได้เติมใช้แล้วมาระยะหนึ่ง มันจะต้องมีสีไปทางสีดำ  ซึ่งนั่นแสดงถึงว่าเครื่องยนต์ทำงานเป็นปกติ    น้ำมันเครื่องสีดำมิได้หมายความว่ามันหมดอายุการใช้งาน อายุการใช้งานของมันดูได้ความหนืด ซึ่งเราวัดเองไม่ได้   เราก็เพียงเปลี่ยนถ่ายมันไปตามระยะเวลาที่เขากำหนดเท่านั้นก็พอแล้ว

สีของน้ำมันเครื่องสีเดียวที่บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากลของระบบเครื่องยนต์ ก็คือสีน้ำตาลหรือสีกากี ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีน้ำรั่วซึมเข้าไปในระบบ อาจจะมาจากเรื่องของประเก็นที่อยู่ระหว่างเสื้อสูบกับผาสูบชำรุด(แตก) หรือฝาสูบได้ถูกตะกรันน้ำกัดกร่อนจนเสียหาย หรือฝาสูบโก่งเนื่องจากเคยเกิดกรณีน้ำในหม้อน้ำแห้งก็เป็นได้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 17 ก.ค. 21, 17:30

เรื่องสีของน้ำมันปนน้ำนี้ เกิดได้ทั้งกับน้ำมันเครื่องและน้ำมันเฟืองท้าย  สำหรับรถที่ใช้ในพื้นที่ป่าก็จะปากฎกับน้ำมันเฟืองหน้าและเกียร์(บางครั้ง)อีกด้วย   ซึ่งก็มักจะพบในพวกรถที่ต้องขับลุยน้ำระดับสูง หรือหรือติดหล่ม/หลุมโคลนบ่อยครั้ง หรือที่ต้องจอดแช่ในน้ำรอจังหวะรอเวลา     ในกรณีน้ำมันเครื่อง น้ำจะถูกชักเข้าแคร๊งค์น้ำมันเครื่องตามร่องเกลียวของเพลาข้อเหวี่ยง(ที่มีไว้เพื่อช่วยกันไม่ให้น้ำมันเครื่องไหลซึมออกไป)ด้านหน้าของเครื่องยนต์ที่มีจานมู่เล่ย์ขับสายพาน  ส่วนที่น้ำเข้าเฟืองท้ายและเฟืองหน้านั้น มักจะเกิดจากซีลยางกันน้ำมันของเดือยหมูเสื่อมสภาพ

ท่านที่นิยมการขับรถในพื้นที่ทุรกันดารในช่วงฤดูฝนทิ้งช่วง หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว อย่าลืมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นเหล่านี้เมื่อกลับเข้าเมืองแล้วนะครับ 

ขออภัยที่เลือกใช้คำศัพท์ที่ช่างซ่อมรถคนไทยนิยมใช้กัน   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง