เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 09, 20:43



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 09, 20:43
ตั้งหัวข้อกระทู้เอาไว้ก่อน  มีเวลาเมื่อไรจะเข้ามาต่อเรื่อง
หัวข้อนี้เกิดจากอ่านขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุด  แล้วพบว่ามีการพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง
แต่ไม่เห็นมีใครพูดถึง
ก็เลยจะรวบรวมเอาไว้   คงทำให้เห็นภาพในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้มากขึ้นค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 28 ก.ย. 09, 14:38
เข้ามากราบขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าครับ
สำหรับหัวเรื่องที่เป็นวิทยานิพนธ์ปริญาโทหรือเอกได้สบายๆ
ขออนุญาตฝากตัวเป็นแฟนกระทู้นะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 15:06
ติบอเข้ามาเร่งแล้ว  ว่างั้นเถอะนะ
ขอเวลา 2 วันค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 09, 22:07
มาปูพื้นไว้ก่อน  
ชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography)  ในกระทู้นี้ คือดูว่าในขุนช้างขุนแผน กล่าวถึงชนเผ่าอะไรบ้าง    ไม่ได้มองในด้านภาษาหรือตัวละครเอก  
ที่จริงก็เหมือนดูรายละเอียดในฉากหลังของเรื่อง    โดยมากมักจะถูกมองข้ามไป   เพราะคนอ่านขุนช้างขุนแผนจะมุ่งไปอ่านบทบาทพระเอกนางเอก   หรืออ่านความไพเราะของบทเสภา    ไม่ค่อยมีใครดูสิ่งละอันพันละน้อย ที่เหมือนพลอยร่วงกระจายอยู่นอกเรือนแหวน

อ่านขุนช้างขุนแผนมาหลายครั้งแล้ว   จนเมื่อเอาใจออกห่างพ้นเนื้อเรื่องหลัก  ก็เริ่มสังเกตด้วยความทึ่งว่า กวีที่แต่งเสภา ซึ่งมีอยู่หลายคนและน่าจะหลากหลายรัชกาลด้วย      ท่านบันทึกท้องถิ่นภูมิประเทศ และชาติพันธุ์เอาไว้เป็นพื้นหลังของเรื่อง ได้ฝีมือเยี่ยมมาก  
รายละเอียดพวกนี้  บางทีก็แม่นยำตามที่เห็นด้วยตาจริงๆ นำมาศึกษาเชิงวัฒนธรรมได้    บางทีก็เป็นการอ้างอิงชื่อเฉยๆ   จริงไม่จริง ไม่รู้   แต่ก็น่าจะเอามาวิเคราะห์ให้เห็นกัน
ก็เลยจับเรื่อง ชาติพันธุ์วรรณา ขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง

ชาติพันธุ์แรกที่จะเอ่ยถึง คือ มอญ  


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ก.ย. 09, 23:11
ขออนุญาตเข้ามาปูเสื่อนั่งรออาจารย์เล่าเป็นคนแรกครับ
ชาติพรรณในเสภาขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องน่าสนใจมากครับ
แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกเรื่องแรก คือ "การกำหนดอายุวรรณกรรม"
อย่างที่อาจารย์เล่าไว้แล้ว ว่าฝีมือแต่งน่าจะหลากยุคหลายสมัย
ต้องขอบพระคุณอาจารย์แทนชาวเรือนไทยครับ ที่กรุณาหยิบมาเล่าให้เราฟังกัน


และมาเรียนสารภาพกับอาจารย์ว่า ที่โพสต์ไปความเห็นแรก
ผมไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามารบกวนเวลาของอาจารย์ แต่สายตาไม่ดี
อ่านไม่เห็นหัวข้อกระทู้ตั้งแต่แรกครับ ถ้าเห็นแต่แรกคงรีบมานั่งรอฟังอาจารย์ก่อนล่ะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 09:15
เว้นที่บนเสื่อให้คุณ wandee หน่อยนะคะ    ;)

ชาติพันธุ์ มอญ มีบทบาทสำคัญมากในขุนช้างขุนแผน   เรียกอย่างเล่นลิ้นหน่อยก็ต้องบอกว่าถ้าไม่มีมอญ ก็ไม่มีขุนแผนคนนี้
เพราะอะไร...ก็เพราะขุนแผน  เป็นคนเชื้อสายมอญ
ชื่อ พลายแก้ว นี่แหละ บอกให้รู้   เพราะพลายเป็นภาษามอญ แปลว่า หนุ่ม  
เรายังหลงเหลือรากฐานคำนี้อยู่ในคำว่า ช้างพลาย  
ข้อนี้คุณ Ho น่าจะช่วยแตกแขนงออกไปได้

น่าเสียดายที่คนอ่านส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่รู้   ว่าขุนไกรพ่อของขุนแผนเป็นมอญ  เพราะผู้แต่งประวัติขุนไกร ไม่ได้ปูพื้นบอกรายละเอียดเอาไว้ในฉบับหอพระสมุด    
แต่จะว่าไม่บอกเสียเลยก็ไม่ใช่    
มีบอกเอาไว้คำเดียวตรงกลอนวรรคนี้

ด้วยตัวข้าขุนไกรกระทำผิด                   ถึงชีวิตจะม้วยสังขาร
จะตายด้วยความสัตย์ปฏิญาณ               อย่างพงศ์พลายฝ่ายทหารอันชาญชัย

คำนี้บอกให้รู้ว่า ชื่อเดิมของขุนไกรน่าจะมีคำว่า พลาย ประกอบด้วย แบบเดียวกับลูกชาย   บอกเชื้อสายของตระกูล
คนฟังเสภาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ฟังแล้วก็เข้าใจ ว่าขุนไกรเป็นเชื้อสายมอญ
แต่พอเวลาผ่านมาสองร้อยกว่าปีให้หลัง   ไม่รู้กันแล้ว  ต้องมาอธิบายกันอีกที


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 09:42
อ่านมาถึงตรงนี้คงมีบางคนเกิดคำถามขึ้นในใจ ว่าทำไมพระเอกวรรณคดีไทย ถึงต้องเป็นเชื้อสายมอญ
คำตอบก็คือ เรื่องนี้มี "ที่มาที่ไป"
ไม่ใช่อยู่ๆกวีก็นึกสนุกสมมุติขึ้นมาตามใจชอบ    และไม่ใช่คำตอบว่ากวีคงได้ยินมาว่าขุนแผนตัวจริงรัชกาลพระไชยราชาสมัยอยุธยาโน่น มีเชื้อมอญ
ที่มาที่ไปของเรื่องก็คือ   มอญ ได้ชื่อว่าเป็นชาติพันธุ์นักรบ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
บทบาทหน้าที่ของมอญ ในสมัยอยุธยา  คือเป็นพวกกองอาทมาต   คือพวกลาดตระเวณชายแดนด้านพม่า ทำหน้าที่สืบราชการลับ  สืบข่าวความเคลื่อนไหวด้านการศึก    เพราะว่ามอญพูดภาษาพม่าได้ จึงแนบเนียนที่จะทำตัวเป็นสายลับ  และเหตุผลที่สองคือมอญไม่ชอบพม่า ถือว่าเป็นศัตรูกันมาแต่ดั้งเดิม เมื่อมอญยังเป็นใหญ่อยู่เหนือแผ่นดินพม่า แล้วถูกพม่ามายึดครองแผ่นดินส่วนใหญ่ไป

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น   รัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งดิฉันถือว่าเป็นยุคเรอเนสซองส์ของไทย หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ   ชาติพันธุ์วรรณาของมอญก็มีบทบาทสำคัญทางด้านวรรณคดี อันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเหมือนกัน   เห็นได้จากหนังสือ "ราชาธิราช" ที่เจ้าพระยาพระคลังหน ท่านเรียบเรียงไว้  เป็นหนังสือสำคัญรองลงมาจากสามก๊กทีเดียว
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร ที่กวีสร้างนักรบสำคัญขึ้นมา  ก็บอกว่าเป็นเชื้อสายมอญ  เพราะคงเจนใจกันทั้งกวีและคนฟังเสภา ว่ามอญเขาเป็นนักรบอยู่แล้ว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 30 ก.ย. 09, 11:00
มาปูเสื่อรอฟังด้วยคนครับ
ว่าแต่ขุนช้างขุนแผน นอกจากฉบับหอสมุดแล้ว
ฉบับอื่นอื่น(ครูแจ้ง) หาซื้อมาอ่านได้จากที่ไหนบ้างครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ก.ย. 09, 11:47
กอง ขุนช้าง - ขุนแผนฉบับหอสมุดแห่งชาติ ไว้ ๓ เล่ม  แพร่พิทยาพิมพ์ ๒๕๑๓  เพื่อค้นตามที่คุณเทาชมพูบอกไว้


ในเล่ม ๓  หน้า (๒๕)  น.ส. อารี สุทธิเสวันต์ เรียบเรียงไว้ ว่า

ขุนไกรพลพ่าย  เดิมชื่อ พลายจันทน์  เป็นลูกพลายประจำยาม  รับราชการอยู่กรมอาสาหกเหล่า
เดิมอยู่บ้านพลับ  แล้วย้ายมาบ้านภริยาที่วัดตระไกร

ญาติของขุนไกรพลพ่ายอยู่ที่ดอนเขาชนไก่  กาญจนบุรี




ถามเพื่อน ๆ แถวนี้แบบไม่ให้อาจารย์ได้ยิน  ว่า อาสาหกเหล่า  มีอะไรบ้าง
อ่าน  พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง  ใน กฎหมายตราสามดวงแล้ว   หาคำตอบที่แน่ชัดยังไม่ได้ค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ก.ย. 09, 12:43
ขุนศรีวิชัย  พ่อของขุนช้าง  รับราชการเป็นนายกองกรมช้างนอก เมืองสุพรรณบุรี

คงมีคาถาอาคมและอำนาจจิตเข้มแข็งมาก เพราะหนังเหนียว

โอกาสที่ขุนศรีวิชัยจะเป็นมอญก็มากอยู่

(อ่านเรื่องการโพนช้าง และกรมช้างนอกกรมช้างใน มาจาก หนังสือเรื่องช้าง
ของ ฮ. ไพรวัลย์   สำนักพิมพ์ ๒๒๒  พฤศจิกายน ๒๕๓๗
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก ปี ๒๔๘๑   คุณลุงเฮงเล่าเรื่องครูเฒ่ากล่อมช้างเป็นภาษามอญ)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 13:09
มาเพิ่มเติมเรื่องตำแหน่งหน้าที่นายทหารมอญ ใน พระไอยการนาพลเรือนฯ

พญาอุดมราชา เจ้ากรมกลิอ่อง สังกัดกรมอาสามอญศักดินา   1600
พญาพระราม เจ้ากรมดั้งทองขวา สังกัดกรมอาสามอญ ศักดินา1600
พญานครอินทร์ เจ้ากรมดาบสองมือกลาง สังกัดกรมอาสามอญ ศักดินา 1600
พญาเกียร(ติ์?) เจ้ากรมดั้งทองซ้าย สังกัดกรมอาสามอญศักดินา1600
พญาอัคศิริ นายกองสังกัดกรมอาสามอญ ศักดินา1000
พญาศรีหราชา นายกองกรมดั้งทองซ้าย สังกัดกรมอาสามอญ ศักดินา 1000

ไม่แน่ใจว่า พญา ต่างจากออกญาอย่างไร ทำไมเรียกแยกเป็น ๒ คำ 
ออกญา คือ พระยา ในสมัยรัตนโกสินทร์
แต่พิจารณาแล้ว  ทั้งพญาและออกญา เป็นระดับเจ้ากรม เหมือนกัน

ส่วนเรื่องกรมอาสาหกเหล่า ก็ยังไม่ได้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นเท่าไรค่ะ  ได้มาแต่รายละเอียดประกอบ
http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=muangloei&id=11

ในหนังสือ "บันทึกเรื่องการปกครองของไทย สมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เรียบเรียงจากคำสอนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พ.ศ. ๒๕๑๖ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๙ นั้น มีกล่าวถึง "พระยาท้ายน้ำ" ไว้เล็กน้อยในหน้า ๓๖, ๕๗, ๕๙ และ ๖๐ แสดงว่าตำแหน่งนี้ไม่ใคร่จะสำคัญนัก


ในหน้า ๓๖ กล่าวถึงแต่เพียงว่า "การแบ่งเป็นทหารพลเรือนเป็นเพียงการขึ้นทำเนียบเท่านั้น แต่ลักษณะการงานไม่ต่างกันระหว่างตำแหน่งพลและมหาดไทย ตามกฎหมายกล่าวว่า ตำแหน่งพลของหัวเมืองเอก แม่ทัพกรุง คือ พระยาเดโช ส่วนพระยาท้ายน้ำเป็นผู้รั้ง"


ในหน้า ๕๗ ได้กล่าวถึงการแบ่งทหารว่า "ต่อมาการแบ่งทหารเปลี่ยนแปลงไป เพราะทหารช้าง (คชบาล) ทหารม้า (อัศวราช) ยกออกจากทหารไปขึ้นกับพลเรือนขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์เพื่อความปลอดภัยของราชบัลลังก์ เพราะมีการคิดชิงราชสมบัติอยู่เสมอ

ต่อมาแบ่งเป็นสมุหนายก สมุหพระกลาโหม

สมุหพระกลาโหมมีแม่ทัพขึ้น ๓ คน
๑. พระยารามจตุรงค์ ศักดินา ๑๐๐๐๐
๒. พระยาเดโช
๓. พระยาท้ายน้ำ (คงจะคุมฝีพาย)"

ในหน้า ๕๘-๖๐ ได้กล่าวถึงว่า
"๑. ทหารราบ แบ่งเป็น ๘ กรม ประจำการเป็นทหารอาชีพ
๑) - ๖) กรมอาสา ๖ เหล่า
๗) กรมทวนทองใน-นอก
๘) กรมเขนทองใน-นอก

พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ ดูแลบังคับบัญชาทหารอาสา ๖ เหล่า มีหน้าที่ป้องกันกรุง ไม่ใช้ออกนอกกรุงปราบกบฏในเขตประเทศ จะออกนอกประเทศได้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินยกทัพหลวง ถ้าเป็นศึกไม่สำคัญใช้ทหารเกณฑ์

นอกจากจะเป็นทหารอาชีพฝึกอาวุธแล้ว ยังมีหน้าที่ศึกษาข่าวศึก ดูแลด่านเก็บภาษี

(อีกกรมหนึ่งสำหรับสืบข่าวคือ กรมอาทมาต คนในกรมเป็นมอญสำหรับสืบข่าวด้านพม่า ยามสันติก็ใช้ในกิจการอื่น ๆ ด้วย เช่น ขุนไกรพลพ่าย ดูในทำเนียบมอญ)

ทหารหน้าเหล่านี้ในยามสันติ เมื่อเวลาเสด็จราชดำเนินไปไหน ๆ ไม่ใช้ขบวนเสด็จ แต่ใช้รายทาง ถ้าเสด็จทางชลมารค ใช้ลงเรือนำและตาม หน้าที่พิเศษออกหัวเมืองกวาดต้อนคนมาสักเลก ควบคุมการทำงานสาธารณะ

เหตุที่คนมาสมัครเป็นทหารหน้ามีน้อยทั้ง ๆ ที่มีเกียรติสูง

๑. ไม่ใช้ไปตีบ้านเมืองโอกาสที่จะได้ทรัพย์สมบัติเชลยศึกน้อย ได้รับพระราชทานแต่เพียงเบี้ยหวัดธรรมดา

๒. โอกาสที่จะทำงานให้เป็นประโยชน์เช่นพลเรือนไม่มี

๓. อยู่ใกล้ชิดพระเนตรพระกรรณ โอกาสที่จะลงพระราชอาญามีมาก ปลายกรุงศรีอยุธยากรมนี้เสื่อมลงแทบหาตัวคนมาเป็นพระยาเดโช พระยาท้ายน้ำไม่ได้"

(รายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้จาก "บันทึกเรื่องการปกครองของไทย สมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเรียบเรียงจากคำสอนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๙)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ก.ย. 09, 13:13
แอบกระซิบตอบคุณ Wandee (ไม่ให้อาจารย์ได้ยินอีกเหมือนกัน)
ว่า "ช่างสิบหมู่มีอะไรบ้าง ? ค้นได้จากที่ไหน?"

เท่าที่ผมเคยค้นมาเองนิดเดียว(นิดเดียวจริงๆครับ)
ผมค่อนข้างจะรู้สึกว่าวิธีทำความรู้จัก อาสาหกเหล่า
ไม่ต่างจากวิธีทำความรู้จัก "ช่างสิบหมู่"
ที่ "ชื่อ" หรือ "จำนวนกรมกอง" สำคัญกว่า "หน้าที่" ครับ

มาตอบช้ากว่าอาจารย์เสียแล้ว ต้องขอโทษสมาชิกเรือนที่อ่านซ้ำด้วยนะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 13:23
ขยายหน่อยซิคะ  คุณติบอ

อ้างถึง
ผมค่อนข้างจะรู้สึกว่าวิธีทำความรู้จัก อาสาหกเหล่า
ไม่ต่างจากวิธีทำความรู้จัก "ช่างสิบหมู่"
ที่ "ชื่อ" หรือ "จำนวนกรมกอง" สำคัญกว่า "หน้าที่" ครับ

มาโปรยไว้แล้วก็จากไป  ก็ต้องทวงถามกันละ
แล้วจะมาเล่าถึงมอญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ให้ฟังต่อ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ก.ย. 09, 13:55
ขอบคุณค่ะ

มีหลายอย่างที่ไม่ทราบและไม่แน่ใจค่ะ

คราวนี้ขอถามเพื่อนๆไปก่อน  เพราะอยากให้คุณเทาชมพูเขียนเยอะๆค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ก.ย. 09, 14:19
เอื้อก... ไม่ได้โปรยครับอาจารย์
แต่พยายามตอบให้สั้น เพื่อให้ไม่กินพื้นที่กระทู้เรื่องชาติพันธุ์
ขออนุญาตตอบลงรายละเอียด ตามที่อาจารย์ทวงถามครับ


อย่างแรก เท่าที่ผมค้นได้ คำว่า "อาสา 6 เหล่า"
ดูเหมือนว่าแต่ละสมัยจะไม่ตรงกันเอาซะเลย
แถมเอกสารบางชิ้นก็พูดเหมือนจะเป็นอาสาต่างชาติ
บางชิ้นก็พูดเหมือนว่าเป็นเหล่าตามหน้าที่ของทหาร
(ยังไม่ได้เปิดค้นดูในสมุดจดนะครับ ตอบตามความจำเอา)
ที่ร้ายกว่านั้น คือ ดูเหมือนว่าบางที่จะพูดถึงเหล่าไม่ครบด้วย



ลักษณะแบบนี้เหมือนกับที่นักวิชาการพยายามจะหาว่า
"ช่างสิบหมู่ มีอะไรบ้าง" แล้วก็นับกันได้เกิน 10 บ้าง
บอกมาไม่ตรงกันบ้าง หรือไม่ก็ลากเข้าความไปหาภาษาบาลีเลย
บอกว่า "ช่างสิบหมู่" คือ "ช่างสิปป์หมู่" ซึ่งแปลว่าศิลปะ

ถ้าตัดเรื่องนิรุกติศาสตร์ไปว่า "ช่าง" กับ "หมู่"
มันไม่น่าเอามาผสมกับ "สิปปฺ" ให้เนียนสนิทกันได้
ก็ยังเหลือเรื่อง "การเก็บความของสังคม"
เหมือนที่คุยกับคุณ CrazyHOrse ไปเมื่อวาน
ที่มาของคำ กับ การเก็บความของสังคม เป็นคนละเรื่องกันครับ

ความหมายที่สังคมหยิบยื่นให้กับคำ คือ "ความเข้าใจของสังคม"
และไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเกี่ยวข้องอะไรกับที่มาของคำ
เพราะความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็น "สมบัติส่วนบุคคล" เสมอครับ



ที่มากกว่านั้น คือ สังคมที่ "สร้าง" คำว่า "ช่างสิบหมู่" หรือ "อาสาหกเหล่า" ขึ้นมา
เป็นสังคมขนาดไม่ใหญ่นัก การคมนาคมยังไม่สะดวกด้วย
คนจึงไม่สามารถอาศัยการหาเลี้ยงชีพแบบ specialist ได้
(ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการแบ่งทหารเป็น ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ
และทหารเหล่าอื่นๆอีก ก็ถือเป็นวิธีคิดแบบ specialist อย่างหนึ่ง)
ที่ทุกวันนี้เราถึงได้เอาวิธีแบ่งหน้าที่กันแบบ specialist มาใช้ได้
เพราะประชากรของเราเพิ่มขึ้นมากและการคมนาคมสะดวกขึ้น


แต่ในวันที่คำว่า "ช่างสิบหมู่" หรือ "อาสาหกเหล่า"
ถูก "คิดขึ้น" และ "นำมาใช้จริง" ในสังคม
ในทุกสายอาชีพจึงแทบไม่มี specialist อยู่จริง
เหมือนที่เราเห็นได้จากวรรณคดี ว่าช่างประทัดก็เล่นเสภาไปด้วยได้
หรือ เห็นจากประวัติศาสตร์จริงๆ ว่า ผู้บัญชาการทหารเรือ
ก็ต้องออกแบบเมรุถวายพระเจ้าอยู่หัวไปด้วย ทำนองนั้นล่ะครับ




ทีนี้มาดูกันที่ "อาสาหกเหล่า" ของคุณ Wandee ครับ
ถ้า "เหล่า" หมายถึงหน้าที่ เมื่อไม่มี specialist การปฏิบัติงานแต่ละเหล่าก็ต้องสลับหน้าที่กันได้
หรือถ้า "เหล่า" หมายถึง "ชนชาติ" ในแต่ละสมัย ชนชาติที่เข้ามาเป็นทหารก็ไม่ได้เหมือนกันตลอดอีก
คำว่า "อาสาหกเหล่า" ก็เลยเหมือนกับ "ช่างสิบหมู่" ที่ไปสำคัญเอาที่ "คำ" และ "จำนวนนับ 6 หรือ 10"
จนสังคมต้อง "เก็บคำเอาไว้" แต่แทบจะไม่มีความสำคัญอะไรในรายละเอียดเอาเสียเลยไงครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 14:56
ก็เป็นได้อย่างที่ติบอตั้งข้อสังเกต ว่า ทหารอาสาหกเหล่า อาจไม่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเหล่า ที่เห็นชัดเจนนัก เลยเรียกรวมๆกันไป
อาจจะเริ่มด้วยเหล่านั้นเหล่านี้ก่อน  ค่อยๆเพิ่มขึ้นจนเป็นหกเหล่าก็ได้  แล้วหยุดแค่นั้น  ไม่มีเจ็ดแปด
หรือหกเหล่า แบ่งตามหน้าที่  ตามเขตที่รับผิดชอบดูแล  ก็เป็นได้

ดิฉันจะพยายามเข้ามาตอบ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่หาเวลาได้ค่ะ คุณ wandee
ค่อยๆคุยกันไป   ไม่รีบร้อน     จะได้เป็นช่องทางให้แตกหัวข้อไปได้กว้างขวาง มีเกร็ดต่างๆแทรกเป็นความรู้ได้มาก

เรื่องขุนศรีวิชัย พ่อของขุนช้าง   อาจจะเชื้อสายมอญ  ก็น่าสนใจ   ไม่ทราบว่าในขุนช้างขุนแผนฉบับอื่นๆบอกเบาะแสไว้หรือเปล่าคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ก.ย. 09, 17:34
คุณอารีย์  สุทธิเสวันต์ เรียบเรียงเรื่องขุนศรีวิชัยไว้เพียง


"รับราชการเป็นนายกองกรมช้างนอก 

เป็นเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองสุพรรณ  อยู่บ้านรั้วใหญ่
ได้นางเทพทองซึ่งอยู่ที่ท่าสิบเบี้ยเป็นภริยา  มีลูกชายคนหนึ่งชื่อขุนช้าง ศีรษะล้านแต่เกิด
................................"



อ่านมาถึงตอนนี้ก็เข้าใจ  เพราะจำได้ว่าบ้านขุนช้างมีสมบัติเยอะ

นายกองกรมช้างนอก นี่คงต้องมีฝีไม้ฝีมือพอควรนะคะ
ตามที่อ่าน เสภาฉบับหอสมุดแห่งชาติก็เล่าไว้ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างว่า

..........................              เครื่องช้างสารพัดจะจัดสรร
ขอคร่ำด้ามพลองทองพัน             ............................


ตอนแต่งงานพระไวย
เมื่อขุนช้างเดินทางมาร่วมงาน เพราะอยากเป็นที่รู้จักของขุนนาง
ขี่ช้างพลาย   ที่

      เชือกพวนล้วนดามผ้าแดงดี

ผ้าแดงที่ดามนี้  ใช้เพื่อป้องกันเครื่องประดับหรือเชือกบาดเนื้อสัตว์
เพราะ เครื่องประดับอื่นๆในบ้าน ก็ดามด้วยสักหลาดอยู่แล้ว


เรื่องสังเขปนี้ มีตั้งแต่หน้า  (๒๕)  ถึง  (๔๐)
เห็นว่าแปลกดีที่มีชื่อเดิมของ ขุนไกรพลพ่าย  และบอกด้วยว่าเป็นลูกพลายประจำยาม

ชาวบ้านสามัญจะไม่น่าที่จะมีของเหล่านี้ใช้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ก.ย. 09, 21:38
นางทองประศรี รู้หนังสือ ทั้งขอมและไทย
สามารถสอนพลายงามได้

ตอนพาพลายแก้วไปกาญจนบุรีก็บุกป่าไปและดูแลลูกชายอย่างดีที่สุด
ตอนกลางคืนก็ผูกห้างนอนบนต้นไม้
แสดงว่านางต้องมาจากครอบครัวนักสู้เลยทีเดียว
เอามือลูบตัวลูกไล่ยุงและมดทั้งคืน


เป็นหญิงที่เข้มแข็งมากสามารถสร้างตัวได้จากการค้าขาย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 09, 09:13
ผู้หญิงรุ่นแม่ในเรื่อง เก่งกันทั้งสามคน    สามีตายไปก่อน   ภรรยาก็สามารถดำรงฐานะได้เป็นปึกแผ่น  พึ่งตัวเองและยังเป็นที่พึ่งของบริวารได้

ดูจากฐานะขุนช้าง  ถ้าเกิดสมัยนี้ แกคงมีเครื่องบินส่วนตัว  ;)
*****************
กลับมาเรื่องมอญ ค่ะ
บทบาทของมอญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น    ถือว่าสำคัญ    เพราะกรุงเทพพระมหานคร ก่อร่างสร้างขึ้นมากลางศึกสงคราม
๑๕ ปีก่อนหน้านี้สมัยธนบุรี   และ ๒๗ ปีในรัชกาลที่ ๑   ขุนนางต้องรบทัพจับศึกกันไม่ว่างเว้น   
นักรบเชื้อสายมอญ จึงได้ใกล้ชิดเจ้านาย  เป็นที่ไว้วางพระทัย
อย่างในวังหน้ารัชกาลที่  ๑    กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นนักรบเต็มพระองค์   แวดล้อมด้วยนักรบวังหน้าฝีมือเยี่ยม  ออกศึกกันมาหลายหนรวมทั้งสงครามเก้าทัพ
ชาววังหน้าก็เลยทะนงตัวว่าเก่งกว่าชาววังหลวง  จนปลายรัชกาล มีเหตุกระทบกระทั่งกัน   เกือบจะเกิดศึกสายเลือดระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และกรมพระราชวังบวรฯ  ถ้าพระพี่นางทั้งสองพระองค์ไม่ทรงห้ามศึกไว้ทันเสียก่อน

พอสิ้นกรมพระราชวังบวรฯ   ศึกวังหน้าก็ปะทุขึ้นมา  ได้ชื่อว่า กบฏวังหน้า
กบฏวังหน้าถูกปราบเหี้ยนเตียน    พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต พระโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ ถูกสำเร็จโทษ
พระยากลาโหม ขุนนางคนสนิทซึ่งกล่าวกันว่าเป็นโอรสบุญธรรมของวังหน้า ถูกถอดเป็น "อ้ายทองอินกลาโหม"  ถูกประหารไปอีกคน
นักรบมอญของวังหน้า  ก็ต้องตายตามนายไปทั้งขบวน   เป็นการจบบทบาทครั้งใหญ่ของนักรบมอญ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ต.ค. 09, 14:44
ฮะแอ้ม!   อาจารย์ยังไม่มา จึงฉวยโอกาสคุยกัน


ขออนุญาตตอบคำถามของ คุณ kui045   ถามว่า บทเสภา เร่ืองขุนช้างขุนแผน
สำนวนครูแจ้ง  หรือ คำครูแจ้ง  ว่ามีขายหรือไม่


ตอบว่า น่าจะเป็นหนังสือหายากมาก
(ไม่มีบุญเหมือนนางละเวงในเรื่อง พระอภัยมณีตอนดินถนัน เป็นไม่ได้เจอ)

คุณคึกฤทธิ์เล่าไว้ว่าท่านเคยมีอยู่เล่มหนึ่ง  ทำหายไป

หนังสือบางเล่มที่เขียนเกี่ยวกับครูแจ้ง  ก็ลงเพียงเรื่องที่รวมลงไปในฉบับกรมศิลปแล้ว
ไม่ได้มีตอน รักแสนพิศวง ของพระไวย กับนางศรีมาลา และ นางสร้อยฟ้าแต่อย่างใด



เรื่องที่ได้พิมพ์ เป็นตอน แต่งงานพระไวย
ราชบัณฑิตพิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดสังเวชวิศยาราม
เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘

พิมพ์ที่อักษรเจริญทัศน์  ถนนบำรุงเมือง  พระนคร

ดังนั้นก็หมายความว่า  ไม่เคยมีสำนวนครูแจ้ง ขาย


อีกตอนหนึ่งที่ตามหากัน คือ ตอน พระไวยต้องเสน่ห์ 
รายละเอียดไม่มีค่ะ เพราะไม่เคยเห็นค่ะ
คิดว่ายังเป็นตัวชุบหมึกอยู่


หนังสือ เรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนแต่งงานพระไวยนี้   ปรากฎตัวในงานสัปดาห์หนังสือสองปีที่ผ่านมา
เป็นหนังสือที่คัดออกจากโรงพิมพ์เนื่องด้วยการเย็บเล่มผิดพลาด  มีหน้าเกินมา
ขอบคุณโรงพิมพ์ที่ไม่ได้ทำหน้าขาด

ร้านหนังสือใหญ่แห่งหนึ่งคัดทิ้งให้ร้านในเครือ(ร้านของน้องภรรยา)
เนื่องจากมีรอยดินสอดำเขียนไว้เต็มไปหมดทั้งปกหน้าและปกใน
หนังสือจึงรอดสายตาเหยี่ยวทั้งหลาย


รู้สึกว่าแลกเปลี่ยนไปในราคา ๑๒๐ บาทค่ะ

หนังสือมี ๔๙ หน้า  ปกอ่อนสีน้ำตาลแกมส้ม





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 01 ต.ค. 09, 20:30
ขออนุญาต...ลงทะเบียนเรียนด้วยคนครับ..ในฐานะคนบ้านเดียวกับขุนแผนและชดเชยกับที่เคยโดดเรียนบ่อยๆในวิชานี้...จะสงบเสงี่ยมตั้งใจเรียน.ไม่แกล้งเพื่อน..หรือก่อกวนใดๆ..ครับผม ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ต.ค. 09, 20:54
อย่าคิดมายืมยาหม่องตราชีวกโกมารภัทร ของเพื่อนเป็นอันขาด


ตามธรรมเนียมนักเรียนใหม่ต้องแนะนำตัวหน้าห้องค่ะ   ประวัติ อายุ  การศึกษาไม่ต้อง

ถามว่าอ่าน เสภาขุนช้างขุนแผน ถึงตอนไหนคะ
เท่าที่จำได้ดาบฟ้าฟื้นอยู่ที่ไหน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 01 ต.ค. 09, 23:40
โห..คุณแวนดี้..เอ๊ย wandee ให้ทำข้อสอบก่อนเรียนเลยรึครับ..อ่านถึงคำนำครับ..ที่เคยเรียนลืมเกลี้ยง..ถึงได้มาขอเข้าห้องเรียนไง..ส่วนดาบฟ้าฟื้น..เท่าที่จำได้..อยู่ที่อ.เนาวรัตน์ พงษ์ฯเพราะท่านบอกว่ารักดาบฟ้าฟื้นมากถึงขั้นเอาไปตั้งให้เป็นชื่อวิทยุชุมชนที่กาญจน์ ..(ด่วน ..พี่เนาว์ประสบอุบัติเหตุรถชนกันที่กาญจน์..วันนี้เองครับ..เข้ารักษาตัวที่กทม.แล้ว)...เข้ามาทักทายคลายเครียด..อย่าถือสา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ต.ค. 09, 00:37
(อ่านข่าวแล้วค่ะ  ดีใจด้วยที่ท่านไม่เจ็บมาก)


ที่ถามก็เพราะว่าเสภา ขุนช้างขุนแผน แต่งกันหลายคน
ดิฉันอ่านแล้วก็ไปอำเพื่อนๆว่าขุนแผนเป็นอัลไซเมอร์ค่ะ


เรื่องดาบเทพศักดาฟ้่าฟื้นนี่ล่ะค่ะ
ซ่อนหลายแห่งเหลือเกิน
หลังสุดใส่ไว้ในโพรงต้นรักข้างปากถำ้อยู่ทิศบูรพาบนเขาใหญ่

แปลกนะคะ  ศรีมาลาบอกกับพลายเพชรกับพลายบัวว่า

ครั้นจะให้ลูกเต้าทั้งปวงไว้            บาปจะติดตัวไปเบื้องหน้า

เลยกระซิบบอกศรีมาลา

...........................             ดาบของปู่เล่มหนึ่งนั้นถึงดี
ให้ชื่อเทพศักดาฟ้าฟื้น                กินคนกว่าหมื่นไม่นับผี
เอาออกอ่านฟ้าก็ผ่ามาทุกที


ตอนที่ตีเสร็จใหม่ๆ  ฝนกำลังจะตก ที่เรียกว่าฟ้าพยับโพยมหน
ฟ้าผ่าดังเหมือนเสียงปืน(เสภาขุนช้างขุนแผน   ฉบับหอสมุดแห่งชาติ     แพร่พิทยา ๒๕๑๓  เล่ม ๑  หน้า ๓๕๘)

หน้า ๔๗๕   ขุนแผนซ่อนดาบฟ้าฟื้นไว้ที่โพลงต้นไทร  บ้านดาบก่งธนู(ขุนแผนตั้งชื่อบ้านไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ)


(เล่มสอง  หน้า ๖๒๗)ขุนแผนพาพลายงามมาขุด  บอกว่าฝังไว้ตรงกิ่งทิศบูรพา
โพลงคงลึกลงไป  ดาบเลยไหลลงดินไป



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ต.ค. 09, 06:44
สะกด โพรง  ผิดค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 02 ต.ค. 09, 06:46
ขอบคุณครับที่ให้ความรู้..ทำไมไหงสนุกกว่าแต่ก่อนตอนที่เรียนหนอ??...เสร็จภาระกิจ"เจดีย์"เห็นทีต้องยกเล่มมาอ่านใหม่ซะแล้ว..ขอบคุณอีกครั้งครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 02 ต.ค. 09, 11:55
โอย ผมเข้ามาอยู่ผิด "ชาติพันธ์" หรือเปล่า ครับ ใครๆเขาเคยเรียนกันทั้งห้องเลย  มีผมเท่านั้นที่ไม่เคยเรียนเลย งั้นขอเป็น observer ก็แล้วกันนะครับ จะได้ไม่โดน PQ ฮิ อิ
มานิต


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ต.ค. 09, 15:03
ขอร่วมวงด้วยสักคน ;D

ประเด็นแรก เรื่องขุนไกรพลพ่าย พ่อพลายแก้ว เป็นคนเชื้อสายมอญนั้น คุณอารีย์  สุทธิเสวันต์ บอกว่าชื่อเดิมของขุนไกรฯ คือ พลายจันทร์ ตอนแรกที่อ่านก็ไม่เชื่อเพราะไม่มีตอนใดในเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณกล่าวเอาไว้  จนกระทั่งได้ไปอ่านเสภาขุนช้างขุนแผนซึ่งเป็นเนื้อเรื่องนอกฉบับหอพระสมุดวชิรญาณฉบับหนึ่งเล่าเรื่องพลายจันทร์ก่อนเป็นขุนไกรฯ ไว้อย่างละเอียด สนุกมาก  ยืนยันสิ่งที่คุณอารีย์  สุทธิเสวันต์ เขียนได้ว่าถูกต้อง  คิดอยู่ว่าสมควรจะเผยแพร่เสภาที่ว่าให้ทราบกันกว้างขวาง  เพราะจะได้เติมเต็มเนื้อหาตอนต้นเรื่องของเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ที่ไม่กล่าวถึงที่ไปที่มาของของขุนไกรฯ แต่อ้างถึงเรื่องสมัยหนุ่มๆของขุนไกรฯ หลายครั้ง เสภาที่ว่านี้เคยพิมพ์มาครั้งหนึ่งแล้วด้วย เอาไว้ถ้ามีคนสนใจ จะเอามาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดต่อไป

ประเด็นต่อมา  เรื่องอาสาหกเหล่า ตามที่เคยทราบมา อาสาหกเหล่านี้ เป็นทหารต่างชาติที่มาอาศัยและรับราชการในเมืองไทย  มีความรู้ความสามารถการรบการใช้อาวุธบางอย่างเป็นพิเศษ  อาสาเหล่านี้ คือ ทหารอาชีพสมัยก่อนนั่นเอง มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์และผู้ชำนาญการ แต่เดิมคงจะมีอยู่หกเหล่า โดยแบ่งเป็นเหล่าตามเชื้อชาติ  เท่าที่เคยได้ยิน มีมอญเหล่าหนึ่ง พวกมอญชำนาญยุทธวิธีและการสืบข่าวทางด่านตะวันตก  จึงมีหน้าที่คอยตระเวนด่านทางแถบตะวันตก  จามเหล่าหนึ่งกับแขกมลายูชวาเหล่าหนึ่ง  สองพวกนี้ถนัดเรื่องการรบทางน้ำและการใช้เรือ จึงมีหน้าที่เกี่ยวกับกองเรือรบ  ญี่ปุ่นเหล่าหนึ่ง พวกนี้ใจเด็ดเดี่ยว ใช้ดาบเก่ง   ฝรั่งเหล่าหนึ่ง พวกถนัดเรื่องปืนไฟและปืนใหญ่  อีกพวกน่าจะเป็นลาว พวกนี้เป็นกองลาดตระเวนทางเหนือ  อาสาหกเหล่านี้ ขึ้นตรงกับพระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งเจ้ากรมแต่ละเหล่าเทียบเท่าจตุสดมภ์ทีเดียว  ถ้าจะให้ชัดต้องดูในโคลงพยุหยาตราเพชรพวงกับลิลิตกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารคและทางชลมารคประกอบด้วย  เคยได้ยินว่า อาสาหกเหล่านี้ ชำนาญเรื่องงานช่างบางอย่างด้วย

ประเด็นสุดท้าย  เรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนที่มีสำนวนต่างจากฉบับที่หอพระสมุดฯ ชำระ  เคยถามคนที่ค้นคว้าเรื่องเอกสารตัวเขียนในหอสมุดแห่งชาติและได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเสภาขุนช้างขุนแผนที่มีสำนวนต่างจากสำนวนหอพระสมุดฯ ว่า ที่ว่าสำนวนต่างจากสำนวนหอพระสมุดฯ  มันเป็นอย่างไร  เขาก็ตอบว่า  ต่างเพียงรายละเอียดของกลอนบางตอนเท่านั้นเอง  ถึงจะสำนวนต่างกัน แต่เนื้อเรื่องหลักๆก็ยังเหมือนกัน ผิดกันเฉพาะรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ  และไม่มีผลกับการดำเนินเรื่องของสำนวนหอพระสมุดฯ  น่าจะเป็นเพราะคนแต่งทราบว่า คนฟังเสภารู้จักเรื่องขุนช้างขุนแผนกันมาก อีกทั้งเป็นเรื่องที่นิยมฟังกัน  หากแต่งดัดแปลงให้ต่างจากเนื้อเรื่องที่ชาวบ้านรับรู้ บางทีคนฟังเสภาอาจจะไม่ชอบก็ได้  แต่เมื่อต้องให้เนื้อความเสภาตนเองโดดเด่นกว่าของคนอื่น  ก็จะแต่งขยายบทบรรยายหรือบทพรรณนาความบางส่วนที่คนอื่นอาจจะกล่าวย่อๆ ให้ละเอียดพิสดารมากขึ้น อย่างครูแจ้งแต่งตอนขุนแผนทำกุมารทองก็แต่งบรรยายการทำกุมารทองละเอียดจนคนฟังคนอ่านอาจเอาไปทำตามได้  ตรงนี้เรียกว่าแต่งอวดภูมิรู้กัน  เคยอ่านบทเสภาตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเทียบกันสามสำนวน ก็มีลักษณะอย่างนี้ คือ บรรยายพรรณนาเรือนขุนช้างบางตอนละเอียดพิสดารตามความถนัดของคนแต่งแต่ละสำนวน  บางสำนวนสั้น บางสำนวนยาว บางสำนวนยาวมากจนเยิ่นเย้อ เป็นอย่างที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานเสภาขุนช้างขุนแผน  ฉะนั้น ถึงจะต่างสำนวนกันแต่โดยเนื้อกลอนหลักๆ ยังคงเหมือนหรือคล้ายกัน



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 09, 15:52
http://www.thaipoet.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=564986&Ntype=2

ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ตีดาบ(ฟ้าฟื้น) ซื้อม้า(สีหมอก) ผ่าท้อง(นางบัวคลี่) หากุมาร(ทอง) ปรับปรุงจากหนังสือขุนช้างขุนแผนแสนสนุก

สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2545

            ในบรรดากวียุคต้นกรุงเทพฯ ผู้แต่งเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วยกันแล้ว ดูเหมือนชื่อครูแจ้งจะเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดว่ามีกวีโวหารโลดโผนและหยาบคาย

            ครูแจ้งแต่งเสภาไว้หลายตอน แต่ตอนขุนแผนตีดาบซื้อม้าหากุมารทองที่มีฉากผ่าท้องนางบัวคลี่ก็เป็นที่เลื่องลือชื่อกระฉ่อน เพราะแต่งได้สยดสยองพองขนยิ่งนัก

            แต่บทเสภาตอนที่ว่านี้มีปัญหาคาใจผู้อ่าน เพราะฉบับที่พิมพ์เป็นเล่มแพร่หลายอยู่นี้ถูกสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรง "ชำระ" จนสะอาดหมดจดหมดราคีคาว ไม่โลดโผนและไม่หยาบคายอย่างที่รู้ๆ กัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าต้นฉบับเดิมของครูแจ้งแต่งไว้มีเนื้อความแท้ๆ ว่าอย่างไร? ชวนให้อยากอ่านฉบับเดิมแท้ๆ ก่อนถูกตัดและดัดแปลง

            แต่ก็ไม่ได้อ่าน เพราะนับแต่ พ.ศ.2461 ที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรง "ชำระ" และมีการพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่ม จนถึง พ.ศ.2545 เป็นเวลาราว 84 ปี แล้ว สาธารณชนคนทั่วไปไม่ได้อ่าน และหาอ่านไม่ได้ เพราะหน่วยราชการที่ดูแลต้นฉบับไม่อนุญาตให้ใครอ่าน โดยเขียนป้ายปะหน้าสมุดไทยว่าห้ามบริการ และไม่พิมพ์มาให้อ่าน

            โชคดีที่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ทำให้ได้อ่านสำเนาต้นฉบับเดิมของครูแจ้ง ตอนตีดาบซื้อม้าหากุมาร (ไม่ได้อ่านต้นฉบับจริงที่เขียนลงสมุดไทย)

            ครูแจ้ง อยู่วัดระฆัง

            ร่วมสมัยสุนทรภู่ มีครูเสภาคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง ชื่อ "ครูแจ้ง"

            กลอนไหว้ครูเสภา-ปี่พาทย์ ออกชื่อครูต่างๆ และมีชื่อครูแจ้งว่า "อีกครูแจ้งแต่งอักษรขจรลือ ครูอ่อนว่าพิมระบือชื่อขจร" และเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนทำศพนางวันทอง มีการละเล่นต่างๆ ยังออกชื่อครูแจ้งไว้ด้วยว่า

           นายแจ้งก็มาเล่นเต้นปรบไก่             ยกไหล่ใส่ทำนองร้องฉ่าฉ่า
           รำแต้แก้ไขกับยายมา                     เฮฮาครื้นครั่นสนั่นไป

            สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ "ตำนานเสภา" แล้วทรงมีรับสั่งเรื่องครูแจ้งเอาไว้มากที่สุดว่า

      "เป็นครูเสภาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รุ่นหลัง มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 5 บ้านอยู่หลังวัดระฆังฯ แต่เดิมมีชื่อเสียงในการเล่นเพลง ถึงอ้างชื่อไว้ในบทเสภาตอนทำศพวันทองว่าหานายแจ้งมาว่าเพลงกับยายมา คือครูแจ้งคนนี้เอง มีเรื่องเล่ากันมาว่าครูแจ้งกับยายมานี้ เป็นคนเพลงที่เลื่องลือกันในรัชกาลที่ 3 อยู่มาไปเล่นเพลงครั้งหนึ่ง ยายมาด่าถึงมารดาครูแจ้งด้วยข้อความอย่างไรอย่างหนึ่ง ซึ่งครูแจ้งแก้ไม่ตก ขัดใจจึงเลิกเพลงหันมาเล่นเสภา และเป็นนักสวดด้วย ได้แต่งเสภาไว้หลายตอน...ด้วยแต่งกลอนดี แต่กระเดียดจะหยาบ เห็นจะเป็นเพราะเคยเล่นเพลงปรบไก่ ถึงลำสวด ที่สวดกันมาในชั้นหลัง ว่าเป็นลำของครูแจ้งประดิษฐ์ขึ้นก็มี จึงนับว่าครูแจ้งเป็นครูเสภาสำคัญอีกคนหนึ่ง”

            ประวัติส่วนตัวครูแจ้งมีเท่านี้เอง ไม่มีหลักฐานว่าบิดามารดาคือใคร? เกิดเมื่อไร? เกิดที่ไหน? ตายเมื่อไร? รู้แต่ว่า "มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 5" ซึ่งอาจ "เดา" ว่าเป็นคนเกิดทีหลังสุนทรภู่ (เพราะสุนทรภู่ถึงแก่กรรมเมื่อต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 4)

การที่สุนทรภู่ไม่ออกชื่อครูแจ้งไว้เป็น 1 ใน 6 ในบทเสภาตอนกำเนิดพลายงาม แสดงว่าในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ครูแจ้งยังเยาว์ หรือยังไม่มีชื่อเสียง หรือยังไม่ขับเสภาก็ได้ทั้งนั้น แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 ครูแจ้งมีชื่อเสียงแล้ว แต่มีทางเล่นเพลงปรบไก่กับยายมา ซึ่งเป็นตอนที่สุนทรภู่ออกบวชหนีราชภัย แล้วมักจาริกแสวงบุญไปที่ต่างๆ นอกพระนคร

            "เสภาต้องห้าม" สำนวนครูแจ้ง

            เชื่อกันว่าครูแจ้งหันมาเอาดีทางเสภา เมื่อช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 3 แล้วมีชื่อเสียงทางแต่งเสภาในแผ่นดินรัชกาลที่ 4

            หอสมุดแห่งชาติมีบทเสภาสำนวนครูแจ้งคัดเป็นตัวพิมพ์ดีดไว้รวมด้วยกัน 5 ตอน คือ ตอนกำเนิดกุมารทอง, ตอนขุนแผนพลายงามตีเมืองเชียงใหม่แก้พระท้ายน้ำ, ตอนแต่งงานพระไวย, ตอนพระไวยต้องเสน่ห์ และตอนเถรขวาด ในคราวชำระบทเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ได้เลือกสำนวนบทเสภาของครูแจ้งมาพิมพ์ไว้แทนสำนวนอื่นก็หลายตอน เช่น ตอนกำเนิดกุมารทอง, ตอนขุนแผนพลายงาม ตีเมืองเชียงใหม่ และตอนเถรขวาด (คำอธิบายของกรมศิลปากร ในหนังสือบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพระไวย (สำนวนครูแจ้ง), ราชบัณฑิตยสถานพิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดสังเวชวิศยาราม, เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2478-แล้วมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า

            "บทเสภาสำนวนครูแจ้ง แม้จะปรากฏว่าข้อความในบางบาทของบทกลอน มีคำมากกว่าปกติกระทำให้ฟังเยิ่นเย้อออกไปก็ดี แต่การพิมพ์คงให้รักษาของเดิมไว้ตามต้นฉบับที่มีอยู่ ไม่ได้แก้ไขตัดทอน เพราะเห็นว่ากลอนเสภาย่อมแต่งไว้สำหรับขับร้อง ผู้ขับร้องอาจเอื้อนเสียงทำทำนองให้เข้ากับจังหวะฟังเพราะได้ เพราะฉะนั้นความสำคัญของกลอนเสภาจึงอยู่ที่ทำนองขับ ไม่ได้อยู่ที่อ่านกันตามธรรมดา"

เสภาตอนกำเนิดกุมารทองที่เป็นสำนวนครูแจ้งนี้ พวกเสภาชอบขับกันแพร่หลาย เพราะลีลาโลดโผนและมีภูตผีอิทธิปาฏิหาริย์มาเกี่ยวข้อง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบาย (เมื่อ พ.ศ.2460) ว่า

            "เนื้อเรื่องเสภาตอนนี้ตามหนังสือบทเดิมว่าขุนแผนไปเที่ยวหาโหงพรายตามป่าช้า ไปพบผีตายทั้งกลมชื่ออีมากับอีเพชรคง ขุนแผนจึงขอลูกในท้องมาเลี้ยงเป็นกุมารทอง ความเดิมสั้นเพียง 4 หน้ากระดาษ ครูแจ้งเอามาขยายความ ผูกเรื่องให้ขุนแผนไปได้นางบัวคลี่อยู่กินด้วยกันจนมีครรภ์ แล้วเกิดเหตุนางบัวคลี่ตายทั้งกลม ขุนแผนจึงได้กุมารทองมา ว่าโดยย่อให้กุมารทองเป็นลูกขุนแผนจริงๆ..."

            สมเด็จฯทรงเห็นว่าเรื่องกุมารทองนี้สำนวนครูแจ้งดีกว่าของเดิม จึงเอาสำนวนครูแจ้งลงพิมพ์ในหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (ฉบับที่อ่านกันอยู่ทุกวันนี้) มีฉากผ่าท้องนางบัวคลี่เอากุมารทอง ถ้าได้ฟังคนเสภาตีกรับขับเสภาเต็มกระบวนจะถึงใจพระเดชพระคุณยิ่งนัก คนสมัยใหม่อาจจะบอกว่าฉากผ่าท้องย่างกุมารนี้มีอาการ "ซาดิสม์" ก็ได้

            สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีรับสั่งไว้ในคำอธิบายอีกว่า ครูแจ้งแต่งเสภาดีเมื่อถึงตอนสะท้อนชีวิตนิสัยใจคอคนสามัญ แต่ "ถ้ามีโอกาสมักจะหยาบ ถึงจะหยาบก็ช่างว่า" แล้วทรงมีรับสั่งว่าเสภาตอนนี้ครูแจ้งแต่งหยาบจนต้องตัดออก 2 แห่ง คือตรงนางศรีจันทร์สอนนางบัวคลี่ กับตรงบทอัศจรรย์ขุนแผนเข้าห้องนางบัวคลี่ เรื่องนี้สมเด็จฯทรงมีรับสั่งไว้ใน "ตำนานเสภา" ตอนหนึ่งว่า

            "หนังสือเสภาสำนวนเก่า บางแห่งมีความที่หยาบคาย ด้วยผู้แต่งประสงค์จะขับให้คนฮา...พาให้บทเสภาเป็นที่รังเกียจของผู้อ่าน ถึงแต่ก่อนมีบางตอนที่ห้ามกันไม่ให้ผู้หญิงอ่าน ชำระคราวนี้ได้ตัดตรงที่หยาบนั้นออกเสีย ด้วยประสงค์จะให้หนังสือเสภาฉบับนี้พ้นจากความรังเกียจ แต่ไม่ได้ตัดถึงจะให้เรียกราบทีเดียว เพราะกลอนเสภาดีอยู่ที่สำนวนเล่นกันอย่างปากตลาด บางทีก็พูดสัปดน หรือด่าทอกัน ถ้าไปถือว่าเป็นหยาบคายตัดออกเสียหมด ก็จะเสียสำนวนเสภา จึงคงไว้เพียงเท่าที่จะไม่ถึงน่ารังเกียจ"

            เมื่อสมเด็จฯทรงตัดเอาตอนดีๆ ไปเสียแล้ว คนรุ่นหลังๆ รวมทั้งตัวผมเองจึงไม่ได้อ่านโวหารเปลือยๆ ของครูแจ้ง แต่สงสัยว่าอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านจะเคยอ่านเพราะท่านบรรยายไว้ในหนังสือ "ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่" (สำนักพิมพ์สยามรัฐ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2532, หน้า 100-103) มีอบรมสั่งสอนลูกสาวให้รู้จักปรนนิบัติพัดวีผู้จะเป็นผัวตามประเพณี แต่สำนวนที่อ่านกันทั่วไป "ไม่อร่อย" อาจารย์คึกฤทธิ์จึงยกมาอีกสำนวนหนึ่งซึ่งท่านเข้าใจว่าเป็นสำนวนครูแจ้ง ดังจะขอคัดตัดตอนมาดังต่อไปนี้

 

            "คำสั่งสอนลูกสาวสำนวนนี้ขึ้นต้นก็สอนวิธีให้เอาใจผัว เช่นเดียวกับสำนวนอื่นๆ ทุกแห่ง

ครั้นเมื่อยามดึกกำดัดสงัดหลับ         คนระงับนอนนิ่งทั้งเรือนใหญ่

            ท่านยายปลอบลูกน้อยกลอยใจ       แม่จะไปนิทรากับสามี

            งามปลื้มแม่อย่าลืมคำสอนสั่ง           อุตส่าห์ฟังจำไว้ให้ถ้วนถี่

            อันการปรนนิบัติของสตรี                 ถ้าทำดีแล้วชายไม่หน่ายใจ

            สู้ถ่อมตัวปรนนิบัติคอยจัดแจง          เมื่อเขาแข็งแล้วอย่าขัดอัชฌาสัย

            รู้จิตผัวว่าสมัครรักเท่าไร                 ก็ยักย้ายส่ายให้ถูกใจกัน

            เสภาสำนวนนี้เห็นได้ชัดว่าต้องการจะขับให้คนฟังได้หัวเราะเอาสนุก จึงพูดเป็นสองแง่สองง่าม ทำให้เกิดความเข้าใจเกินไปกว่าที่ได้ยินจากเสภา..."

ครั้นมาถึงบทสอนให้ทำกับข้าว ก็เห็นได้ว่ากับข้าวที่สอนนั้น เป็นกับข้าวอย่างเดียวกันกับที่อยู่ในสำนวนฉบับหอพระสมุดฯ คือมีต้มตีนหมู มีไข่ไก่สด และมีปลาไหลต้มยำ...นอกจากบอกตำราทำกับข้าวแล้ว เสภาสำนวนนี้ยังได้บอกสรรพคุณของกับข้าวเหล่านี้ด้วย

            อุตส่าห์จำทำให้ผัวกินลอง                          ล้วนแต่ของมีกำลังทั้งสามสิ่ง
            ทำให้กินเนืองเนืองเปรื่องขึ้นจริง                   ทุกสิ่งของแท้เป็นแน่นอน
            ทำให้กินทุกวันหมั่นสำเหนียก                      แม้อ่อนเปียกก็จะแข็งเป็นไม้ท่อน
            พอตกค่ำขึ้นท้ายไม่หลับนอน                       พายเรือคอนเหยาะเหยาะจนเคาะระฆัง

            เสภา "สอนลูกสาว" ที่คัดมานี้ อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เชื่อว่าเป็นสำนวนครูแจ้ง แล้วยังบอกอีกว่า "เคยมีฉบับพิมพ์เก่ามากๆ ขาดๆ วิ่นๆ..." แต่ต่อมาฉบับพิมพ์นี้หายไปอาจารย์คึกฤทธิ์จึงเขียนบอกว่า "ที่เอามาลงได้ในที่นี้นั้นมาจากความจำของผมเองทั้งสิ้น"

            เมื่ออ่านโวหารแล้วก็เชื่อตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่าเป็นสำนวนครูแจ้ง ยิ่งตอนที่สอนลูกสาวว่า "สู้ถ่อมตัวปรนนิบัติคอยจัดแจง เมื่อเขาแข็งแล้วอย่าขัดอัชฌาสัย" กับตอนสอนทำกับข้าวแล้วบอกสรรพคุณว่า "ทำให้กินทุกวันหมั่นสำเหนียก แม้อ่อนเปียกก็จะแข็งเป็นไม้ท่อน" ยิ่งเชื่อว่าเป็นครูแจ้งแหงๆ เพราะชวนให้คนฟัง          เสภาสงสัยว่า "อะไรแข็งวะ"

            นี่แหละ นี่แหละ สำนวนครูแจ้ง

            เหตุใดอาจารย์คึกฤทธิ์จึงมีฉบับพิมพ์ตรงนี้? คำตอบมีอยู่ในคำอธิบายของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2478 "บทเสภาครูแจ้งได้เคยพิมพ์มาแล้วที่โรงพิมพ์บางกอกประสิทธิ์ ปากคลอง วัดประยุรวงศาวาส แต่เดี๋ยวนี้หาฉบับได้ยาก" เข้าใจว่าเสภาตอนกำเนิดกุมารทองสำนวนครูแจ้งฉบับเต็มคงเป็นฉบับพิมพ์ที่โรงพิมพ์บางกอกประสิทธิ์นี้เอง

            คัดจาก คอลัมน์ สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม นสพ.มติชน 3 ส.ค. 50
 



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ต.ค. 09, 17:49
อยากอ่านเรื่องพลายจันทร์เป็นที่สุด
คุณหลวงเล็กอยู่ในที่มีชัยภูมิเหมาะคือมีหนังสือมาก
  
ขอเรียนเชิญให้เขียนเป็นวิทยาทานไว้ ณ กระทู้นี้



งานของครูแจ้งเรื่องขุนช้างขุนแผนยังปรากฎกระจัดกระจายอยู่อีกสองสามบท
เป็นงานที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร  บุนนาค)จำไว้เพราะท่านก็เป็นนักอ่านและนักยืมหนังสือลือชื่อ



เสภาสำนวนครูแจ้ง หรือ คำครูแจ้ง  ตอนแต่งงานพระไวย   นั้นก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างออกไปหลายแห่ง
ใจความนั้นตรงกันว่าขุนช้างมาร่วมงานแล้วเมาจนลำเลิกบุญคุณพระไวยจนโดนชกตกเรือน


เสภาสำนวนเก่าสองสำนวนเรื่องขึ้นเรือนขุนช้างและเข้าห้องแก้วกิริยานั้น  คนที่ได้อ่านก็ชื่นชมว่าเป็นธรรมชาติ

"พอพระพายชายโชยโรยริน                                ฟุ้งกลิ่นมาลาที่หน้าต่าง
ริ้วริ้วปลิวชายสไบนาง                                      จันทร์แจ่มกระจ่างอยู่พรายพราย
เรื่อเรื่อไรไรอยู่ในเมฆ                                       ดาวช่วงดวงเอกรับเดือนหงาย
ดาวฤกษ์เบิกเมฆอยู่คล้ายคล้าย                           พระพายเยือกเย็นเป็นลมลาง
หอมระรินกลิ่นแก้มแกมกลิ่นดอกไม้                       กอดจูบลูบไล้ไม่ไกลข้าง
รสรักแล่นทั่สสรรพางค์                                     ต่างคนต่างมีผาสุกใจ"

ดอกไม้ที่เบิกบานขยายกลีบส่งกลิ่นหอมหวานในยามราตรีนั้น  มีมากมายหลายชนิด
ทำให้มึนมัวได้

(อ่านมาจาก บทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   หนังสืออนุสรณ์  อำมาตย์โท  พระยาวิสิษฐบรรณกรณ์
(ชม  สุวรรณสุภา)  ปีมะเมีย  พ.ศ. ๒๔๗๑       โรงพิมพ์พิพรรฒธนาทร)



แม่ครัวที่มีฝีมือ  เมื่อปรุงรสอาหารเช่นแกงหรือยำ   ย่อมออกมาไม่เหมือนกันแน่นอน
จะอ่อนหวาน  หรือเผ็ดร้อน   ว่าอร่อยถูกใจก็ตามแต่รสนิยมของผู้เสพ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 09, 18:31
แนะนำให้อ่าน ขุนช้างขุนแผน ฉบับนอกทำเนียบ ของอัศศิริ ธรรมโชติ
มีสำนวนอื่นนอกจากสำนวนหอพระสมุดด้วยค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 03 ต.ค. 09, 04:53
มาปูเสื่อ (รอบดึก) ด้วยคนครับ  ;D

ส่วนที่อาจารย์พูดถึง คำมอญว่า "พลาย" ผมยังไม่เคยค้นครับ ก็เลยลองไปเปิดดู the Royin ท่านเก็บไว้แต่ พลาย ที่ใช้กับช้าง

พลาย   [พฺลาย] ว. เรียกช้างตัวผู้ว่า ช้างพลาย. (ต.).

ต. ก็คือ ตะเลง หมายถึง มอญ ซึ่งก็หมายความว่า ราชบัญฑิตยฯ เห็นว่าคำนี้ มาจากภาษามอญ แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่า เดิมแปลว่าอะไร

มีอีกคำคือ ช้างพัง คือ ช้างตัวเมีย

พัง จะแปลว่า สาว หรือเปล่า อิอิ

เรื่องนี้ ผู้ที่ศึกษาเรื่องมอญในประเทศไทย คงอธิบายได้

น่าสงสัยว่า หน่วยคชบาลสมัยอยุธยา ดำเนินการโดยชาวมอญหรือเปล่า ? คำศัพท์ถึงได้ยืมมาจากภาษามอญ

กลุ่มศัพท์ในกลุ่มคชศาสตร์นี้ น่าสนใจครับ น่าจะมีอีกหลายคำที่มาจากภาษามอญ (หรือ ไม่ก็เขมร)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ต.ค. 09, 08:45
คำว่า พลาย ที่แปลว่า ชายหนุ่ม นี้มาจากคำในภาษามอญ และที่สำคัญเป็นรูปคำมอญโบราณด้วย
(มอญโบราณเขียน bla:y มอญสมัยปัจจุบันเขียน blai (เนื่องจากคอมพิวเตอร์ไม่สามารถพิมพ์ตัวอักษรมอญได้
จำเป็นต้องใช้ตัวโรมันแทน ซึ่งอาจจะเห็นลักษณะคำเก่าใหม่ไม่ชัดเจน))
ถ้าสนใจคำภาษามอญเก่า แนะนำให้ลองหาหนังสือ A dictionary of the Mon inscriptions from the sixth to the sixteenth centuries
ของ H.L. Shorto  The Late C.O. Blagden Publisher London : Oxford University Press, 1971

ส่วนคำถามที่ว่า  หน่วยคชบาลสมัยอยุธยา ดำเนินการโดยชาวมอญหรือเปล่า ?
เท่าที่ทราบ กรมพระคชบาลในสมัยอยุธยา คงจะไม่ใช่ชาวมอญ
แต่น่าจะเป็นชาวเขมร ชาวส่วย-กูย และคนไทยที่มีความรู้เรื่องคชลักษณ์และคชกรรม
ที่กล่าวอย่างนี้ เป็นเพราะตำราและมนตร์พิธีในที่ใช้ เป็นคำเขมรโบราณ
หรือเอาง่ายๆ พิจารณาจากคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างสมัยอยุธยาก็ได้ มีหลายตอนแต่งด้วยคำภาษาเขมรโบราณ
จริงๆ แล้วภาษามอญกับภาษาเขมรเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน 
จึงมีคำศัพท์บางคำที่ออกเสียงคล้ายกัน เช่น มอญว่า ทอเรียะ  เขมรว่า ดำไร ดำรี เป็นต้น

เรื่องประวัติพลายจันทร์ ขออนุญาตไปค้นหาเอกสารก่อน
เพราะอ่านมานานแล้วกลัวจะเล่าผิดหรือตกหล่นได้
ผู้สนใจกรุณารอสักหน่อย



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 09, 14:17
ถึงแม้ว่า ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดฯ  ไม่ได้ระบุความเป็นเชื้อสายมอญของขุนแผนเอาไว้ชัดเจน   แต่สุนทรภู่ ที่แต่งตอน กำเนิดพลายงาม  ท่านรู้ดีว่าตระกูลพลายนี้เป็นเชื้อสายมอญ     
เห็นได้จากท่านใส่เอาไว้ตอนนางทองประศรีทำขวัญพลายงาม   นอกจากมีพวกลาวมาทำขวัญแล้ว  ก็มีพวกมอญด้วย

แล้วพวกมอญซ้อนซอเสียงอ้อแอ้            ร้องทะแยย่องกระเหนาะย่ายเตาะเหย
ออระน่ายพลายงามพ่อทรามเชย             ขวัญเอ๋ยกกกะเนียงเกรียงเกลิง
ให้อยู่ดีกินดีมีเมียสาว                            เนียงกะราวกนตะละเลิงเคลิ่ง
มวยมาบาขวัญจงบันเทิง                        จะเปิงยี่อิกะปิปอน

ภาษามอญในนี้มีคำแปลทุกคำ    ในหนังสือบทเรียนภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ  ที่ดิฉันเรียนตอนอยู่ชั้นม.ศ.ปลาย มีคำแปลเอาไว้ให้หมด     เสียดายจำไม่ได้แล้วว่าแปลว่าอะไรบ้าง
แต่ก็ทำให้รู้ว่า กวีผู้แต่งกำเนิดพลายงาม น่าจะรู้ภาษามอญไม่มากก็น้อย   เอาศัพท์มาแต่งเข้าเนื้อความได้มีความหมายทุกคำ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 09, 14:37
http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_id=117&main_menu_id=1

เหตุที่มอญอพยพ
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช

                                           จัดแจงแต่งกายพลายชุมพล
                                           แปลงตนเป็นสมิงมอญใหม่

           อย่าเพิ่งเอะอะไปครับ ผมยังไม่ถึงขนาดอยู่ดี ๆ ก็ร้องเพลงมอญดูดาวขึ้นมาเฉย ๆ แต่ผมมีเหตุที่จะต้องร้อง เพราะมีบางเรื่องที่อยากจะเขียนเกี่ยวกับมอญอพยพไปปางก่อน ซึ่งออกจะเป็นวิชาการนิด ๆ
           ต้นเหตุมีอยู่ว่า มีท่านที่เคารพของผมสองท่าน เอาหนังสือมาให้ผมท่านละเล่ม เรื่องต่างกัน แต่บังเอิญหนังสือสองเล่มนั้นเป็นหนังสือที่สยามสมาคมพิมพ์ขึ้น
           เล่มแรกนั้น เป็นเรื่องราชทูตไทย ไปเจริญทางพระราชไมตรี ยังราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประเทศฝรั่งเศล ในสมัยพระนารายณ์ กรุงศรีอยุธยาเมื่อ 300 ปีมาแล้ว
          และอีกเล่มหนึ่ง เป็นการรวบรวมบทความที่เคยพิมพ์ ในวารสารของสยามสมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 จนถึง พ.ศ. 2516 มีชื่อว่า มอญ อันเป็นชนชาติที่เคยอยู่ ในประเทศไทย และอพยพกลับเข้ามาอีก ในระยะหลัง
          ผมยังอ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ละเอียด แต่ได้มาอ่านบทวิจารณ์ของคุณวิน เซนต์บารนส์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ผู้วิจารณ์ได้เขียนว่า ไม่มีใครทราบว่า เพราะเหตุใด มอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย จึงถูกต้อนรับอย่างดีกว่าชนชาติอื่น ๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่ ในประเทศไทย และสามารถเข้ากับทางราชการไทย และสังคมไทยได้เป็นอย่างดี และโดยรวดเร็ว
          ครั้งแรกที่มอญอพยพเข้ามาอยู่ ในเมืองไทย เป็นจำนวนมาก ก็คือ ในแผ่นดินพระนเรศวรเป็นเจ้า
         ไม่มีปัญหา ที่พระนเรศวรเป็นเจ้า ทรงพระกรุณามอญเป็นพิเศษ เพราะตั้งแต่ทรงพระเยาว์ อยู่ในพม่าก็ได้ทรงรู้จักกับมอญในพม่าใต้ พระมหาเถรคันฉ่อง ที่ได้ถวายพระพรเตือนว่า พม่าจะคิดร้ายต่อพระองค์ก็เป็นพระมอญ นอกจากนั้น ยังมีมอญที่เคารพเลื่อมใส ในพระนเรศวร เป็นจำนวนมากมาย ในระหว่างที่ทรงทำสงครามกับพม่า ก็ปรากฏว่าเมืองมอญ หรือพม่าใต้นั้นอยู่ใต้พระราชอำนาจ
          มอญที่เข้ามา ในรัชกาลพระนเรศวร จึงเป็นมอญที่โดยเสด็จเข้ามา และมอญที่ตามเข้ามาภายหลัง เพื่อหมายพึ่งพระบารมี
         พระนเรศวรเป็นเจ้า จึงทรงพระกรุณาแก่มอญพวกนี้มาก โปรดให้มีที่ดินในหัวเมืองต่าง ๆ เป็นที่ทำมาหากิน และทรงตั้งขุนนางมอญขึ้น ให้ปกครองกันเอง และควบคุมกันเป็นหมวดหมู่ เพื่อใช้ในราชการศึก มอญพวกนี้ จึงมีความจงรักภักดี ต่อพระนเรศวรเจ้าเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้ เข้ากับทรงราชการไทย และสังคมไทยได้อย่างดี และรวดเร็วยิ่งกว่าชนชาติอื่น ๆ ซึ่งเข้ามาในประเทศไทย ด้วยความสมัครใจ หรือถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นเชลยก็ตาม

         ความภักดีของมอญต่อพระนเรศวร ทำให้ทรงสามารถเดินทัพผ่านพม่าใต้ได้สะดวก และ มอญ คงจะได้รายงานความเคลื่อนไหว ของพม่า ให้ไทยได้ทราบทันเหตุการณ์อยู่เสมอ จึงนับได้ว่า มอญ มีความชอบในราชการ เมื่อรัชกาลพระนเรศวรเป็นเจ้า

           "มอญ"สมัยนั้นเห็นจะเรียกได้ว่า "มอญเก่า" เพราะอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นครั้งแรก และคงจะได้ตั้งรกรากทำมาหากิน แผ่กระจายทั่วไปในประเทศไทย และเมื่อก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ก็คงจะได้เข้ากับสังคมได้สนิทสนมแล้ว ถึงขนาดแต่งงานกันได้ ไม่มีข้อรังเกียจทางเชื้อชาติ
            ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มีมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบารมีอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นจำนวนไม่น้อย เพราะในตอนนั้น มอญไม่ยอมรับอำนาจพม่าที่มีอยู่เหนือตน จับอาวุธเข้าสู้รับกับพม่าสู้พม่า ไม่ได้จึงพากันเข้ามาพึ่งพระบารมี
           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบรีโปรด ฯ ให้รับมอญอพยพรุ่นนี้ โดยด ีเช่นเดียวกับสมัยพระนเรศวรเป็นเจ้า พระราชทานที่ดินให้ทำกินเป็นหลักแหล่ง และโปรดฯ ให้ตั้งขุนนางมอญขึ้นปกครองมอญด้วยกันอย่างที่เคยมา
           ตำแหน่งขุนนางมอญที่เป็นใหญ่ที่สุด คือ พระมหาโยธา ซึ่งคงจะมีมาแต่รัชกาลพระนเรศวร ตลอดมาจนถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชกาลที่ 5
         ขุนนางมอญ ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น มีความจงรักภักดีต่อพระมหาราชพระองค์นั้น มากที่สุด จนถึงสิ้นรัชกาล หมดพระราชอำนาจแล้ว ก็ยังประกาศความจงรักภักดีโดยเปิดเผย
          มอญรุ่นหลังที่สุด ที่อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากถึงสองแสนคนนั้น เข้ามาในรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคงจะเห็นกันว่าสำคัญมากถึงกับโปรดฯ ให้จัดกองทัพออกไปรับ และนำเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ และโปรดฯให้ตั้งรกรากอยู่เมืองปทุมธานี ซึ่งตั้งขึ้นใหม่เป็นหัวเมืองตรี (เพราะมีมอญ ไม่ใช่เพราะมีบัว) ตลอดลงมาจนถึงปากลัด ปากเกร็ด นนทบุรี ลงไปจนถึงพระประแดง และโปรดฯให้ตั้งขุนนางมอญ มีพระยามหาโยธาปกครองเช่นที่เคยมีมาแต่ก่อน

          กองทัพที่ไปรับมอญเที่ยวนี้จัดเป็นทัพหลวง มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติวงศ์ เป็นเจ้าทัพ ในขณะนั้น มีพระชันษาเพียง 8 หรือ 9 ขวบ จะเชิญเสด็จหรืออุ้มเสด็จไปอย่างไร ก็ไม่รู้เลย เพราะนึกไม่ถึง
         แต่ที่เป็นเกียรติแก่มอญอพยพ เป็นอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระมหากรุณาแก่มอญ ครั้งนั้น อาจเป็นเพระเหตุที่ ทรงรำลึกว่าสมเด็จพระบรมราชชนนี คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีนั้น ได้ทรงถือพระชาติกำเนิดมาใน ตระกูลมอญ ที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

        "มอญ"รุ่นนี้ คือ "มอญใหม่"
        พลายชุมพลแปลงตัวเป็นมอญใหม่ ก็คือมอญรุ่นนี้ สมิงนั้น เป็น"ภาษามอญ"แปลว่า เจ้า อย่างที่ผมได้เขียนมาแล้ว
       กลอนที่ผมคัดเอามาลงไว้ข้างต้นนั้น มิได้มาจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่เป็นบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 5 ให้ละคร ของเจ้าพระยามหิทรศักดิ์ธำรงเล่น
       ละครโรงนี้คนหนึ่งชื่อ หม่อมเจิม เป็นภรรยาคนหนึ่ง ของพระเจ้าพระยามหินทร์ฯ เป็นคนแรก ที่หัดให้ผมรำละคร เริ่มตั้งแต่ห่มจังหวะ ปรบขา ถองเอว กล่อมตัว จนถึงรำเพลงช้า เพลงเร็ว
       นึกขึ้นมาแล้ว ตัวผมเองก็เป็นคนโบราณเต็มที เพลงที่ร้องถึงพม่า มีอยู่ในเพลงพม่าชุดสิบสองภาษา เป็นความว่า
       ทุงเล  ทุงเล  ทีนี้จะเห่พม่าใหม่  มาอยู่เมืองไทย มาเป็นผู้ใหญ่ตีกลองยาว แค่นั้นเอง
      พม่าใหม่นั้น ผมไม่ทราบว่า เข้ามาอย่างไร เมื่อไร เห็นมีแต่ในเพลงนี้ ส่วนพม่าเก่านั้น ก็เคยรู้แต่ว่า ยกกันเข้ามาเป็นกองทัพ ไม่ได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่ง เข้ามาทีไร ก็เดือดร้อนกันทุกที
      อย่าว่าแต่ตัวพม่าเลยครับ ซุงพม่าพอทำท่าว่าจะเข้ามาเท่านั้น ก็เดือดร้อนกันแทบจะตั้งตัวไม่ติด
       หรือใครจะว่าไง ?

“ซอยสวนพลู”   สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ สำนักพิมพ์สยามรัฐ พ.ศ. 2529
***************************
เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว   พอจะโยงได้หรือยังคะ ว่าทำไม กวีท่านถึงแต่งให้พลายชุมพล ปลอมตัวเป็นมอญ?
ก็คนเชื้อสายมอญ จะปลอมเป็นอะไรได้เนียนเท่ากับเป็นมอญ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ต.ค. 09, 16:51
คุณเทาชมพูมาเล่าเรื่องทำให้นึกถึง  ออระนาย  หน่ายเอ้ย ขึ้นมาได้
จากละครเรื่องราชาธิราชตอน สมิงพระรามอาสา


    เจ้าเอยเจ้าสมิงพระราม                          ฟังรับสั่งมีความหม่นไหม้
ไม่ยอมอยู่อายหน้าเสนาใน                          จะหนีไปหงสาเหมือนว่ากัน

    ออกจากพระโรงรัตน์ชัชวาล                     มาขึ้นอาชาชาญขมีขมัน
ขับม้าตะบึงถึงบ้านพลัน                              เข้าในห้องสุวรรณทันใด

    ขึ้นบนเตียงเคียงข้างเห็นนางหลับ               ใจจะปลิวหวิวดับเสียให้ได้
สงสารน้องจะต้องพรากจากกันไป                   เหมือนแกล้งทิ้งน้องไว้ไม่ใยดี

ราชาธิราช
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
(เพลงมอญรำดาบเถา  บทร้องที่ ๒   สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย  ฉบับราชบัณทิตยสถาน)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ต.ค. 09, 17:09
ชอบ ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ  ตอนพระไวยเจรจาทัพกับพลายชุมพล


พลายชุมพล บอก พระไวยว่า


กูชื่อสมิงมัตรา                                       บิดากูผู้เรืองฤทธิไกร
ชื่อสมิงแมงตะยะกะละออน                         ในเมืองมอญไม่มีใครรอต่อได้
เลื่องชื่อลือฟุ้งทั้งกรุงไกร                            แม่ไซร้ชื่อเม้ยแมงตะยา
พระครูกูเรืองฤทธิเวท                               พระสุเมธกะละดงเมืองหงสา


ท่านที่เขียนเสภาตอนนี้ความรู้รอบตัวเป็นเลิศ
พระอาจารย์สุเมธนั้นก็ชื่อเสียงกระฉ่อน  ไม่ทราบท่านหายไปไหน
(เพลงชื่อ  แขกมอญบางขุนพรหมเถา   พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้่าบริพัตรสุขุมพันธุ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)



ต่อมามอญแปลงได้ยั่วโทสะพระไวยโดยย้อนว่าพระไวยเป็นลูกเลี้ยงขุนแผน
พระไวยอายใจจึงอ้างว่าขุนแผนเป็นพ่อ

ชาวบ้านชาวเมืองที่ล้อมวงฟังการขับเสภาอยู่ร้อง "อร่อย!" 



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ต.ค. 09, 17:20
อาจารย์ ฉันทิชย์  กระแสสินธุ์  เล่าไว้ในบทความชิ้นหนึ่ง
เรื่อง ราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสาว่า
ท่านได้ไปชมละคร และพอใจกับบทรำมาก
ท่านผู้ชมข้างตัวท่านถึงกับหายใจหนักๆกันหลายคน

ดิฉันเองไม่ทราบว่า  ออระนาย  หน่ายเอ้ย แปลว่าอะไร
แต่กระแสขับร้องนั้นเศร้่าสลดอาลัยรัก  จากกันทั้งเป็นด้วยเกียรติและหน้าที่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 09, 09:15
เปิดอ่าน ตอนพลายชุมพล ในขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดฯ เพื่อจะมาเล่าต่อในกระทู้นี้     พบว่ามีรสชาติกลิ่นอายของมอญอบอวลอยู่เต็ม
ไม่รู้ว่าคนแต่งเป็นใคร   แต่เป็นกวีที่ตั้งใจสร้างบรรยากาศมอญ   เอาตำนานพระร่วงมาดัดแปลงเป็นมอญจนได้

จะกลับกล่าวถึงเจ้าพลายชุมพล              ที่ดั้นด้นไปอยู่สุโขทัยนั่น
ตายายรักใคร่ใครจะทัน                          ตัวนั้นบวชเข้าเป็นเณรนาน
เล่าเรียนขอมไทยว่องไวดี                      แปลคัมภีร์เปรื่องปราดออกฉาดฉาน
เช้าเย็นเณรเอากราดไปกวาดลาน            แสนสำราญเป็นสุขทุกเวลา

วันหนึ่งเณรเอากราดกวาดมลทิน              ยังมีขอมดำดินเมืองหงสา
มือถือลานทองของวิชา                          หมายจะถามปริศนาของรามัญ
ผุดขึ้นระหว่างกลางบริเวณ                      ถามปริศนาเณรชุมพลนั่น
ชุมพลแก้ไขได้ฉับพลัน                          ลานนั้นขอมให้ก็ได้มา
เรียนวิชาในลานชำนาญใจ                      ล่องหนหายตัวได้ดังปรารถนา
อยู่คงสารพัดศัสตรา                               ดำพสุธาก็ได้ดังใจปอง

กวี ท่านคงจะไม่ได้คำนึงถึงชาติพันธุ์วรรณาตอนแต่ง  จึงผสมขอมเข้ากับมอญ   กำหนดให้ขอมอยู่เมืองมอญ(หงสาวดี)  แถมเป็นเจ้าของปริศนาภาษามอญ    
วิชาอิทธิฤทธิ์ที่จารึกในใบลานทอง นั้นก็เลยไม่รู้ว่าเป็นภาษาขอมหรือภาษามอญกันแน่   เพราะข้างบนบอกว่าเณรชุมพลเรียนภาษาขอม  ไม่ได้บอกว่าเรียนภาษามอญ    
แต่ปริศนาที่ถามเป็นของมอญ    ชุมพลตอบได้   เลยได้วิชามา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 09, 12:12
ในตอนพลายชุมพล   กวีย้ำคำว่า มอญใหม่  อยู่หลายครั้ง ประกอบทัพของพลายชุมพล    ไม่ใช่ทัพมอญ เฉยๆ
ไปอ่านความเป็นมา ก็ได้ความว่า ขุนช้างขุนแผนตอนนี้อยู่ในชุดสำนวนเก่า   ใน ๓๘ เล่มสมุดไทย ที่แต่งไม่เกินรัชกาลที่ ๓
ดิฉันสงสัยว่า ตอนนี้น่าจะแต่งในรัชกาลที่ ๒    เมื่อการอพยพของมอญใหม่ ของพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ยังเป็นเรื่องใหม่ 'อินเทรนด์' สำหรับชาวพระนคร
อินเทรนด์สมัยนั้น กินเวลา ยาวนานกว่าแฟชั่นสมัยนี้  อาจจะนานหลายปี   
คือเมื่อเอ่ยถึงมอญ   ชาววังก็คุ้นกับมอญใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปทุมธานี      ถ้าจะมีพระเอกใหม่ในขุนช้างขุนแผน เพิ่มขึ้นมาอีกคน  เพราะพระเอกเก่าคือขุนแผนและพระไวยก็เล่นบทกันยาวนานแล้ว
ก็เป็นมอญใหม่ เสียเลย

ข้อคิดอีกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับชาติพันธุ์วรรณา แต่เกิดคิดเมื่ออ่านตอนนี้ 
คือมองเห็นว่ากวีที่แต่ง คงตั้งใจจะจับตัวละครเอกฝ่ายชายที่เป็นนักรบ ทั้งขุนแผนและพระไวย  มาสร้างเหตุการณ์ระทึกใจ คือให้รบกันเอง  หลังจากช่วยกันรบกับข้าศึกอื่นมามากแล้ว
มองในแง่ดราม่า ถือว่าเป็นจุดขัดแย้งระดับสูงสุด

แต่พ่อกับลูกจะรบกันได้ยังไง ก็ต้องผูกเรื่องให้ได้ว่าขุนแผนแค้นลูกชายคนโต  เลยร่วมมือกับลูกชายคนเล็ก วางแผนจับลูกชายคนโตฆ่าเสีย
จะว่าไป ก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก ในเมื่อขุนแผนก็รู้ว่าลูกชายถูกเสน่ห์     แทนที่จะคิดเล่นงานตัวการคือคนทำเสน่ห์    กลับไปเล่นงานผู้เสียหายจากการทำเสน่ห์ 
ถ้าฆ่าพระไวยได้  ก็ไม่เห็นทำให้นางสร้อยฟ้าเป็นยังไง  ยังปลอดภัยดี  อย่างมากก็ลากลับไปอยู่กับพ่อที่เชียงใหม่  จบบทบาทไปเท่านั้นเอง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ต.ค. 09, 12:42
พระกาญจนบุรีศรีสงคราม(ขุนแผน)  เจ็บใจที่พระไวยล่วงเกินพระพิจิตรและนางบุษบา ผู้ที่ขุนแผนเรียกว่า พ่อ และ แม่  กระมังคะ

ฟังพระไวยเถียงคำไม่ตกฟากก็น่าโทสะจริตเกิด

พระไวยว่า

เจ้าชีวิตชุบเลี้ยงถึงเพียงนี้                       มีเมียไม่ดีก็ขายหน้า
เพื่อนขุนนางทั้งสิ้นจะนินทา                     ใช่ว่าจะไม่รักหล่อนเมื่อไร
หรือคุณพ่อกับคุณแม่บุษบา                     หารู้ทะเลาะดีด่ากันหรือไม่
ประเพณีมีมาแต่ก่อนไร                          มิใช่ใจใครจะลุถึงโสดา
ธรรมดาว่ามนุษย์ปุถุชน                         ยังมักหมิ่นมืดมนด้วยโมหา
จะให้หมดโมโหโกรธา                           สุดปัญญาที่ลูกจะผ่อนปรน



พระไวยได้ทวงบุณคุณที่ขอโทษขุนแผนออกจากคุก

แม้นไม่ดีที่ไหนจะพ้นโทษ                         เมื่อทรงโปรดก็ให้ไปตีเชียงใหม่นั่น
จึงได้มีความสุขทุกคืนวัน                         .........................


นางทองประศรีซึ่งรักหลานมากกว่าลูกอยู่แล้วก็เข้าข้างพระไวย  ว่าขุนแผนเล่นกล
เมื่อพระไวยเฉือดเฉือนนางบุษบา  ขุนแผนก็จะเข้าไปถอง      นางทองประศรีคว้าสากตำหมากซึ่งไม่น่าจะใหญ่อะไรนักออกป้องกัน

อ้ายหน้าด้านทะยานใจไม่เข้ายา                   เขาว่ากันลูกเขยกับแม่ยาย
งุ่นง่านการงานอะไรของตัว                         ประสมหัวพลอยเห่าเอาง่ายง่าย
จองหองจะถองไม่มีอาย                             ร้องด่าท้าทายแต่หลานกู
กูถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไว้                        แต่อายุออไวยยังเด็กอยู่
อ้ายชาติข้าสองตามึงไม่ดู                          มุดหัวคุดคู้อยู่ในคุก

..............................
..............................
มึงจะเป็นผู้ดีสักกี่ชั้น                                เมื่อกระนั้นเขาก็เรียกว่าอ้ายขุน
เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรีพอมีบุญ                   ลืมคุณออไวยไปขอมา



ชอบใจคุณย่าทองประศรี   เหมือนคุณหญิงวาดเลยนะคะ
จะลงโทษลูกหลานก็ใช้ให้เจ้าแห้วไปเอาไม้ก้านธูปมา
เจ้าแห้วไปตัดกิ่งพู่ระหงส์กิ่งใหญ่ๆมา   คุณหญิงเลยฟาดกระบาลเจ้าแห้วแทน

ตอนเด็กๆอ่านแล้วอยากมีญาติผู้ใหญ่อย่างคุณหญิงวาดจัง



แหะๆ  ขอประทานโทษค่ะ   เรื่องชักใบออกทะเล


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 09, 14:31
อ่านตอนนี้แล้วอดนึกไม่ได้ว่า แนวคิดของกวี ในตอนนี้เปลี่ยนไปจากตอนขุนช้างและขุนแผนชิงนางกัน
ตอนนั้นจบลงด้วยพระพันวษาเลือกที่จะไม่ลงโทษผู้ชายสองคนที่เอาแต่แย่งผู้หญิงกันไม่รู้จบ     ด้วยการลงโทษผู้หญิงแทน
มาถึงตอนศึกพลายชุมพล     ขุนแผนก็กลับเลือกลงโทษลูกชาย แทนที่จะเล่นงานลูกสะใภ้ตัวต้นเหตุ

เรื่องนี้ยังมีจุดอ่อนอีกอย่างคือเวลา
เมื่อขุนแผนทะเลาะกับพระไวย   พลายชุมพลอายุ ๗ ขวบ     ตอนเป็นหนุ่มส่งข่าวกลับมาหาพ่อ อายุ ๑๕ 
ขุนแผนเก็บความแค้นลูกชายไว้เฉยๆตั้ง ๘ ปี    กว่าจะระเบิดออกมา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 09, 15:16
เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับมอญในขุนช้างขุนแผน ต่อ

ภาพตัวประกอบมอญในเรื่อง   คือเป็นแรงงานของนายจ้างไทย   
นางทองประศรี  เป็นเจ้าของไร่นาอยู่แถวๆบ้านกร่าง  กาญจนบุรี   มีคนงานหลายเชื้อชาติ รวมทั้งมอญด้วย

พอบ่ายเบี่ยงเสียงละว้าพวกข้าบ่าว               ทั้งมอญลาวเลิกนาเข้ามาสิ้น
บ้างสุมไฟใส่ควันกันยุงริ้น                           ตามที่ถิ่นบ้านนอกอยู่คอกนา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 09, 20:06
เปิดหาบทมอญในเรื่อง  ก็ไปเจอตัวประกอบที่มีบทบาทเข้าอีกคน คือนางมอญพี่เลี้ยงของศรีมาลา
ศรีมาลาเป็นลูกสาวเจ้าเมืองพิจิตร    เสภาฉบับหอพระสมุดไม่ได้บอกความเป็นมาของพระพิจิตร กับภรรยา   ว่าเป็นคนไทย แต่มีเชื้อสายอะไร หรือไม่ อย่างไร
รู้แต่ฉากเปิดตัวศรีมาลา ซึ่งโตเป็นสาวแล้ว  มีพี่เลี้ยงเป็นสาวมอญ ชื่อนางเม้ย
แต่จะว่าพ่อแม่บ้านนี้มีเชื้อสายมอญ เลยได้คนมอญเป็นข้ารับใช้   ก็ไม่ใช่    สังเกตจากวิธีเรียกพี่เลี้ยงคนนี้

ศรีมาลาว่าไฮ้อีมอญถ่อย                     เอาผัวผ้อยมาพูดไม่เป็นผล
อุตริทำนายทายสัปดน                        ถึงใครใครให้จนเทวดา

ถ้านายมีเชื้อมอญ  คงไม่จิกเรียกเชื้อชาติของบ่าว ว่า อีมอญถ่อย     คงจะเรียกชื่อมากกว่า    ก็เลยคิดว่ากวีคงตั้งใจให้ศรีมาลาเป็นไทยแท้   


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 09, 13:22
ท้ายสุดของการกล่าวถึงชาติพันธุ์มอญในกระทู้นี้  คือความสำคัญของนักรบมอญคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
นักรบมอญที่ติดตาม "พระนเรศร์" มาจากเมืองพะโคหรือหงสาวดี  มีความสำคัญกับรัตนโกสินทร์อย่างไร
อ่านได้จากกระทู้นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1198.0

ในพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีไปถึงเซอร์จอห์น เบาริง เจ้าเมืองฮ่องกงที่เป็นทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า   
ทรงเล่าถึงบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีไว้ว่า

"พระราชโอรสทรงพระนามว่า พระนเรศร์  ก็ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีจนสิ้นรัชกาลของพระเจ้าบุเรงนอง   
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต  บ้านเมืองก็เริ่มปั่นป่วนแบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่าย ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะได้ครองราชสมบัติต่อไป เป็นเวลาร่วมครึ่งเดือน
พระนเรศร์จึงเกลี้ยกล่อมหลายตระกูลในหงสาวดี ให้มาสวามิภักดิ์    รวมทั้งขุนนางฝ่ายทหารที่ว่ามานี้  ก็ตกลงใจออกจากหงสาวดี ตามเสด็จกลับมาอยุธยา
แล้วพระนเรศร์ก็ทรงประกาศอิสระภาพ ไม่ขึ้นกับพะโคอีกต่อไป
นายทหารดังกล่าวก็ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในที่ดินพระราชทาน 
***********************************

จะเห็นว่า สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเล่าถึงปฐมวงศ์ของราชวงศ์จักรี  ตามที่ทรงได้ยินจากคำบอกเล่าของพระญาติพระวงศ์ สืบต่อๆกันมา  เป็นการบอกเล่าด้วยการจดจำ
น่าสังเกตว่า ทรงกล่าวถึงบรรพบุรุษรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาว่า มาจากหงสาวดี เมืองหลวงของพะโค  หรือมอญ  รับราชการกับบุเรงนอง
*****************
ในเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทราบเช่นนี้  ก็หมายความว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชบิดา ย่อมทรงทราบเช่นกัน   และก็น่าจะเป็นพระองค์ท่าน ที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องบรรพชนนักรบมอญ ให้พระราชโอรสทรงทราบ
เพราะทรงสำนึกถึงสายเลือดมอญ แต่ดั้งเดิมหรือเปล่า  ที่ทำให้รัชกาลที่ ๒ ทรงต้อนรับกลุ่มนักรบมอญใหม่ที่อพยพเข้ามา  อย่างพระราชทานเกียรติยศยิ่ง
ขนาดเจ้าฟ้าพระราชโอรสเสด็จออกไปรับเอง  พระชันษาแค่ ๘-๙ ปีเท่านั้น

ทิ้งคำถามไว้ให้คิดกันเอง

เห็นจะจบเรื่องชาติพันธุ์มอญแค่นี้    รอสัก ๗ วัน  ถ้าไม่มีใครมาเพิ่มเติม จะเล่าถึงชาติพันธุ์ลาวต่อไป
เรื่องนี้เล่าได้ยาว และยาก กว่ามอญ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ต.ค. 09, 16:28
เล่าประวัติพลายจันทร์ หรือ ขุนไกรพลพ่าย พ่อของพลายแก้ว

เกริ่น...ที่มาของเรื่องประวัติพลายจันทร์ ที่จะเล่าไปนี้ มาจากเนื้อความเสภาในหนังสือ "เทศะแพทย์คำฉันท์ของนายนราภิบาล และเสภาเรื่องพระยากงพระยาพาน" พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายนราภิบาล(ศิลป์ เทศะแพทย์) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๑

เสภาที่ว่าประวัติพลายจันทร์นี้เป็นเสภาที่เขียนต่อเนื่องจากเสภาพระยากงพระยาพานอยู่ในสมุดไทยดำเล่มเดียวกัน สมุดเล่มนี้เป็นของนายนราภิบาล เข้าใจว่าเป็นของตกทอดของตระกูลท่าน  ในปี ๒๔๖๗ นายนราภิบาลได้คัดลอกเสภาจากสมุดเล่มดังกล่าว แล้วให้เจ้าของโรงพิมพ์อักษรศรีสมิต นำไปลงพิมพ์ในหนังสือไทยเขษม แล้วต่อมาได้ขอให้ปรับเป็นขนาดหน้ากระดาษเป็น ๑๖ หน้ายก พิมพ์เป็นหนังสือจำนวน ๕๐ เล่มเท่านั้น ในหนังสือนั้น นายนราภิบาลได้เขียนคำนำว่า สมุดไทยเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ไม่ทราบชื่อผู้แต่งและระยะเวลาแต่งที่แน่นนอน พิจารณาจากลักษณะตัวอักษรที่เขียนในสมุดนั้น คงเป็นอักษรแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๑

เสภาเรื่องประวัติพลายจันทร์ เขียนต่อเนื่องกับเสภาเรื่องพระยากงพระยาพาน หากอ่านผ่านๆ อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน  แต่ที่จริงเป็นเสภาคนละเรื่องที่ไม่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน เป็นแต่คนคัดลอกนำมาเขียนได้ในสมุดเล่มเดียวกันเท่านั้นเอง. ส่วนอายุการแต่งเสภาประวัติพลายจันทร์ คงตกราวๆ รัชกาลที่ ๑-๓ แต่คงไม่น่าจะเกินรัชกาลที่ ๔ เพราะอายุของเสภาพระยากงพระยาพาน เท่าที่มีผู้สันนิษฐานอายุเอาไว้ตกราวรัชกาลที่ ๑ จึงคาดว่าน่าจะแต่งในสมัยเดียวกัน หรือห่างกันไม่มากนัก

เสภาเรื่องประวัติพลายจันทร์ มีเนื้อเรื่องดังนี้

กล่าถึงครอบครัวเศรษฐี ๓ ครอบครัว คือ
ครอบครัวขุนไชยกับยายตือ มีลูกชื่อเจ้าคงขวาน อยู่บ้านวัดป่าเลไลยก์
ครอบครัวนายเสถียรกับยายเพียน มีลูกชื่อพลายจันทร์ อยู่บ้านเขาชนไก่
ครอบครัวขุนศรีเชียงกับบายเอี้ยง มีลูกชื่ออุ่นไฟ อยู่บ้านริมวัดตะไกร
ทั้งสามครอบครัวนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป  โปรดติดตาม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ต.ค. 09, 17:40
สาธุ

สมความคิดแล้ว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ต.ค. 09, 08:53
เล่าเรื่องสภาประวัติพลายจันทร์ (ต่อ)

พ่อแม่ทั้ง ๓ ครอบครัว ต่างดำริตรงกันว่า ตนเองมีลูกชายคนเดียวและโตพอที่จะพาไปบวชเรียนวิชาที่วัดได้แล้ว  ดังนั้น  เศรษฐีผู้พ่อทั้งสามกับลูกชายต่างพากันเดินทางไปวัด (ในเรื่องไม่ได้บอกว่าชื่อวัดอะไร) แล้วก็บังเอิญมาพบกันระหว่างทางและทราบว่าจะพาลูกชายไปวัดเหมือนกัน  จากนั้นก็เดินทางไปที่วัดร่วมกัน

ทีนี้ ขอเน้นรายละเอียดของพลายจันทร์อีกนิดว่า  พลายจันทร์ ตอนนั้นอายุได้ ๑๔ ปี ๔ เดือน ชอบคบค้ากับพวกเพื่อนเกเรเป็นอันธพาลระรานคนอื่น พ่อแม่นั้นเหลือทน เพราะตักเตือนสั่งสอนลูกชายเท่าไร ก็ไม่เชื่อฟัง จึงต้องพาไปไว้วัด

เมื่อพ่อลูกทั้ง ๓ คู่ เดินทางมาถึงวัดก็ตรงไปที่กุฏิสมภารมั่น  กราบนมัสการแล้วก็บอกธุระตนว่าจะขอเอาลูกชายมาฝากเรียนกับสมภาร   เพราะลูกชายไปคบเพื่อนไม่ดีเป็นนักเลง  กลัวจะเสียคนก่อนเป็นผู้ใหญ่  ขอให้สมภารได้กรุณาอบรมสั่งสอนดัดนิสัยให้ด้วย และให้ลงโทษเฆี่ยนตีได้ตามแต่จะเห็นสมควร ฝ่ายสมภารเห็นเด็กหนุ่ม ๓ คนที่มา ก็นึกถึงความฝันเมื่อคืนก่อน ในฝันนั้นว่า ท่านเห็นลูกหงส์ ๓ ตัววิ่งหนีสัตว์ร้ายมาจากป่าดงเข้ายังกุฏิท่านสมภาร แล้วก็กลายเป็นห่านตัวใหญ่งามหนักหนา ส่งเสียงร้องก้องไปทั้งวัด ก็เห็นว่าความฝันนั้นเป็นบุพนิมิตบอกว่า จะได้เด็กชายทั้ง ๓ มาเป็นศิษย์  แต่ฤกษ์ยามที่ฝัน เป็นวันเสาร์ยามสาม บ่งบอกว่า เด็กชายทั้ง ๓ จะเป็นนักเลงเกเรและเจ้าชู้มาก  ว่าแล้วก็ดูดวงชะตาให้เด็กทั้ง ๓ คน เห็นว่า พลายจันทร์ต่อไปจะได้เป็นทหาร มีนิสัยกล้าหาญอดทน ไม่กลัวใคร ส่วนอีกสองคนก็สามารถจะสืบตระกูลต่อไปได้  ท่านจึงรับเป็นศิษย์  ฝ่ายบรรดาพ่อทั้ง ๓ สิ้นธุระแล้วก็ลาสมภารมั่นกลับบ้านไป

กล่าวถึงเณรในวัดของสมภารมั่น ๒ รูป คือ เณรนน ต้นกุฏิท่านสมภาร ๑ กับเณรมี ซึ่งกำลังสวดมนต์อยู่บนหอฉันนั้น  เณรนนแลเห็นรูปร่างหน้าตาของพลายจันทร์นั้นสวยสมคมสันอย่างผู้หญิง ก็คิดในใจว่า  จะเกี้ยวเอาพลายจันทร์เป็นลูกสวาทของตนเสียก่อนที่เณรมีจะชิงเกี้ยว เพราะรู้ว่าเณรมีเคยเป็นนักเลงมาก่อน  ว่าแล้วเณรนนก็...

พิศพลางย่างเหย่าเข้าในห้อง            ร้องพ่อนั่นจันหนูจ๋า
มาพูดเล่นเปนไรไฉนนา                   เภสัชเพลาก็มีกิน
เสียแรงเรียกน้อยหรือดื้อเสียได้          ชะใจพ่อหนูจันไม่ผันผิน
ฉันนี้รักนักหนาเท่าฟ้าดิน                  จนสุดสิ้นชีวิตไม่คิดคลาย

ฝ่ายพลายจันทร์ (หมายเหตุ ในเรื่องเขียนชื่อพลายจันทร์ เป็น จันทร์ บ้าง  จัน บ้าง ฉะนั้นจะพิมพ์กลอนตามฉบับ ส่วนในเรื่องเล่าจะใช้จันทร์เพียงอย่างเดียว) ได้ยินเณรนนเกี้ยว ก็ดำริว่า...เอออ้ายเถรนี้นั้นมามั่นหมาย    สำคัญกูรู้ไม่เท่าเราก็ชาย   คงอุบายตีหัวให้เห็นมือ... ว่าแล้วก็เหลียวมาพูดกระซิบกับเจ้าอุ่นไฟว่า...กูตีเณรนี้ไม่ได้อย่านับถือ  มาเกี้ยวเป็นน้องจะต้องลือ   คงจะอื้ออึงดังเสียทั้งวัด... ว่าแล้วพลายจันทร์ก็รีบเดินไปหาเณรนนที่กำลังค้นเภสัชอยู่  แล้วก็ว่า ตนได้ยินพี่เณรเรียกก็รีบมาทันที เพราะอยากจะได้ปลากัดไว้เล่นสักตัว.

เณรนนได้ยินดังนั้นก็ว่า ...อ้อพ่อทูลหัว    ปลากัดหรือไก่อย่าได้กลัว   พี่เที่ยวทั่วมีถมคงสมใจ    ถ้ารักกันหมั่นหามาให้เล่น  ทำไมจะเห็นว่ารักอย่าผลักไส... แล้วก็คว้าจับมือพลายจันทร์ทันที  พลายจันทร์ก็คว้าไม้ตีหัวเณรนนทันทีเหมือนกัน  เณรนนหัวแตกวิ่งหนีออกจากห้องไป  พลายจันทร์จึงว่ากับเจ้าคงขวาน "ที่กูจงใจไว้นั้นได้การ"

ฝ่ายเณรนนเสียทีแก่พลายจันทร์เช่นนั้นก็อับอายมาก  พอตกค่ำวันนั้น เณรนนครองผ้าไปหาท่านสมภารมั่นเพื่อ
ขอลาสิกขา โดยอ้างว่า  เพราะคิดถึงโยมที่แก่ชราหลงใหล ยากจนขัดสน ไม่มีใครไปเลี้ยงดูท่าน สมภารมั่นได้ฟังก็อนุญาตให้ลาสึก แล้วมอบผ้าขาวเมื่อคราวทำเมรุ (หมายถึงเมรุที่ใช้ผ้าขาวทำ เมื่อเสร็จการศพก็ถวายเป็นทานแก่พระ หรือไม่ก็เป็นผ้าขาวที่ไว้ทอดถวายพระเมื่อทำบังสุกุลหน้าศพก่อนจะทำการฌาปนกิจ) แล้วเณรนนก็ผลัดผ้าเหลืองลาสึก  แล้วก็ลาลงบันไดไปด้วยอาการ "ยิ่งเสียใจนักหนาน้ำตาริน"

ฝ่ายสมภารมั่น เมื่อเณรนนลาสึกไปก็คิดได้ว่า เด็กหนุ่มทั้งที่มาใหม่นี่ จะเป็นเครื่องล่อใจสาวๆ ให้เกิดเรื่องไม่ดีได้  จำจะบวชเป็นเณรเสียทั้ง ๓ คน เมื่อบวชแล้วท่านก็มอบเครื่องบริขารให้เณรทั้งสามไปออกบิณฑบาตที่ตลาด

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ  เชิญติดตามต่อไป





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ต.ค. 09, 10:23
ด้วยความเคารพ  ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น   ถ้าเป็นการขัดจังหวะขออภัยด้วยค่ะ


ชีวิตน้อยๆของนักอ่านเมื่อมาพบ ที่มา ของพลายจันทร์  เรียนคุณหลวงเล็กว่า  สุขใจอย่างยิ่ง
พระเดชพระคุณในครั้งนี้ก็จะนำไปเล่าต่อในชมรมนักอ่านโดยถี่ถ้วน

ไทยเขษมนั้นเคยเห็นอยู่แว่บๆ  ได้อ่านสักสองเล่มกระมัง



นิตยสารปี ๒๔๖๗ นั้น  หาอ่านยากกว่าพิมพ์เป็นเล่มมาก เพราะการเก็บรักษาพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติ
พอ ๆ กับสมัยสงครามที่หนังสือจำนวนไม่น้อยสูญไป  นักอ่านรุ่นหลังแทบไม่เคยเห็น บางทีชื่อเรื่องก็ไม่เคยได้ยิน

หนังสือนวนิยายเล่มเล็กๆในปี ๒๔๖๗ นั้น  มีอ่านกันบ้างในวง
ท่านผู้หลักผู้ใหญ่โดยส่วนมากก็คุยกันเรื่องนวนิยายปี ๒๔๘๐  และ รุ่นสงคราม
มีแต่ผู้ที่สนใจประวัติการพิมพ์ เช่น บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์บางรายที่สนใจหนังสือรุ่น ๒๔๖๐ ก็ตามเก็บกันด้วยฉันทะ


อย่างไรก็ตาม หนังสือที่พิมพ์เพียง ๕๐ เล่ม  ก็จัดอยู่ในหนังสือเก่าระดับหนึ่ง  ทั้งเป็นเรื่องที่คนรู้จักด้วย  จะขอเรียกตามเซียนท่านหนึ่งว่าระดับ AA

ได้รับฟังมาจากผู้ชำนาญการ  (เมื่อมีการเปรียบเทียบว่านักสะสมมท่านใดมีหนังสือสำคัญอะไรกันบ้าง)  ว่า
ภายในเวลา ๑๐๐ ปีนี้  หนังสือที่พิมพ์ถึง ๑๐๐ เล่ม   ต้องหาให้พบ

ผู้มาทีหลังอย่างดิฉันก็เลิกคิ้วในหัวใจ(ใบหน้าไม่เปลี่ยนสี) ว่า โม้กระมัง 
พิมพ์ร้อยเล่มหรือ


การได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคุณหลวงเล็กเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 08 ต.ค. 09, 13:16
อยากเรียนรบกวนว่า ถ้าเรื่อง "มอญ" จบ เรื่อง "ลาว" จบ ขอความกรุณาเป็นเรื่อง "จ้วง" ได้ไหมครับ อ่านในกระทู้ของvcharkarn ที่ท่าน ดร.ฯ ท่านเล่าและตอบที่ผมถามแล้ว ยังไม่ถึงใจครับ กำลังหาเว็บอ่านอยู่ครับผม
มานิต


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 09, 13:24
ในขุนช้างขุนแผน  ไม่มีชาวจ้วงค่ะ
ถ้าคุณมานิต สนใจเรื่องนี้ ก็ตั้งกระทู้ใหม่  อาจจะมีคนมาช่วยตอบข้อข้องใจได้
หรือไปดึงกระทู้เก่าที่เล่าเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องชาวจ้วง  นอกจากรู้ว่าเขามีศัพท์ดั้งเดิม   ตรงกับภาษาไทยกลางอยู่หลายคำ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 08 ต.ค. 09, 13:27
ขอบพระคุณครับ
มานิต


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ต.ค. 09, 15:01
ส่วนตัวมีไทยเขษมอยู่เล่มหนึ่ง  แต่เป็นช่วงปลายๆ ของหนังสือเล่มนี้แล้ว กระนั้นก็ยังรู้สึกว่าอ่านแล้วได้ประโยชน์มาก เพราะได้ลงเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ  ที่มีอยู่ก็เป็นความบังเอิญไปพบจึงซื้อมา  ไม่ได้ขวนขวายสะสม  เพราะเป็นคนมีทรัพย์น้อย ส่วนเสภาพระยากงพระยาพานฉบับ ๒๔๖๗ ที่นายนราภิบาลพิมพ์เพียง ๕๐ เล่มนั้น ไม่มีหรอกครับ หายาก เข้าใจว่า นายนราภิบาลให้โรงพิมพ์พิมพ์เพื่อสืบอายุเอกสาร  ไม่ได้ตั้งใจที่จะเผยแพร่กว้างขวาง  และถึงจะเผยแพร่ก็คงเฉพาะคนที่รู้จักชอบพอกับนายนราภิบาลเท่านั้น  ที่นำเรื่องมาเล่าได้ก็เพราะเอามาจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพนายนราภิบาล ปี ๒๕๐๑ ที่ทายาทของท่านได้เอาเสภาที่เคยพิมพ์ครั้งนั้นมาพิมพ์ใหม่ 

ขอเล่าเรื่องพลายจันทร์ต่อครับ

หลังจากเล่าเรื่องลูกชายเศรษฐีทั้ง ๓ คือ พลายจันทร์ อุ่นไฟ คงขวาน ถูกสมภารมั่นจับบวชเณรเรียบร้อยแล้ว  ขออนุญาตพักเรื่องไว้ก่อน.

กล่าวถึงปลัดสน มีเมียชื่อยายอ้น อยู่บ้านเขาชนไก่ เมืองกาญจน์บุรี  ต่อมา ทั้งสองผัวเมียได้ย้ายบ้านมาอยู่แขวงเมืองสุพรรณบุรี จนกระทั่งมีลูกสาวด้วยกัน ๑ คน ชื่อ  ทองประศรี รูปร่างงาม นอกจากนี้แล้วยัง...

จะขายค้านาไร่ได้ทุกสิ่ง         แต่ผู้หญองเหมือนกันแล้วสั่นหัว
ทั้งปากเปราะเราะรายผู้ชายกลัว    ลือทั่วทั้วบ้านสะท้านดัง...

ถึงสาวทองประศรีจะมีนิสัยเช่นนี้ ก็ยังเป็นหมายปองของนายบัวหัวกระดูก  ลูกชายพระพรรณสมบัติ(สัง) นายบัวคนนี้เที่ยวคบเพื่อนอันธพาล  ไม่ได้ตั้งตนเป็นผู้ดีให้สมฐานะ  กินเหล้าเมายาฝิ่นทุกเช้าเย็น  นายบัวแอบหลงรักสาวทองประศรีจึงร้องขอให้พ่อแม่ไปสู่ขอทองประศรี  ฝ่ายปลัดสนพ่อของทองประศรีไม่รู้ที่จะทัดทานอย่างไรเพราะเกรงใจพระพรรณสมบัติ  จึงได้พูดรั้งรอการหมั้นไว้ก่อนจนเวลาผ่านมาช้านาน  กระทั่งเกิดเหตุความผู้ร้ายขโมยควายขึ้น  จับผู้ร้ายได้  ผู้ร้ายให้การซัดทอดถึงนายบัวหัวกระดูกด้วย  โชคดีว่าได้พวกเพื่อนนายบัวช่วยรับเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ให้นายบัว   รอดเคราะห์คดีความขโมยควายมาได้หลายครั้ง  แต่เพราะคบเพื่อนไม่ดี  จึงต้องเสียเงินทองกับคดีความมากมาย  นายบัวเองก็ไม่เข้ดหลาบยังคงคบเพื่อนไม่ดีอยู่เช่นนั้น และทำตัวเสเพล ถึงขนาดคนแต่งยังว่า "สูบฝิ่นกินเหล้าทั้งเช้าเย็น   ไม่วายเว้นเป็นเหี้ยเสียเงินทอง"

ปลัดสนปรึกษากับยายอ้นเมียว่า ถ้าหากให้ทองประศรีได้กับนายบัวลูกพระพรรณสมบัติ  เห็นท่าจะแย่แน่ เพราะนายบัวเป็นนักเลงเกเรระราน  ปลัดสนจึงได้แชเชือนเรื่องที่เขามาสู่ขอทองประศรีเรื่อยมา  ถึงฝ่ายพระพรรณสมบัติพ่อนายบัวจะพูดเอาแต่ดีลูกชายมากล่าวอย่างไร ปลัดสนก็ไม่หลงคารมด้วย เพราะรู้ว่าหากตกลงอะไรลงไปแล้วจะพลอยย่อยยับเสียการ   ว่าแล้วก็ตะโกนสั่งให้ทาสสาวในเรือนตระเตรียมอาหารข้าวของสำหรับทองประศรีทำบุญใส่บาตรที่หน้าบ้านเนื่องในงานสงกรานต์ ณ เช้าวันรุ่งขึ้น   ครั้นเช้า ทองประศรีแต่งตัวงามออกไปใส่บาตรที่หน้าบ้าน 

ฝ่ายเณรทั้งสาม คือ เณรพลายจันทร์ เณรอุ่นไฟ เณรคงขวาน ตามพระมาบิณฑบาตที่บ้านทองประศรี  ทองประศรีใส่บาตรจนมาถึงเณรพลายจันทร์ นางและเณรพลายจันทร์แลเห็นกันก็มีใจรักชอบพอกันทันที  จนเพื่อนเณรอีก ๒ รูปสังเกตเห็นกิริยาของทั้งสอง เมื่อรับบาตรเสร็จแล้ว ระหว่างทางกลับวัด เณรอุ่นไฟกับเณรคงขวานก็พูดกระเซ้าแหย่เณรพลายจันทร์ว่าท่าจะเป็นที่พอใจของสีกาทองประศรีเป็นแน่  ทั้งที่ไปกันตั้ง ๓ รูป แต่นางสนใจอยู่รูปเดียวเท่านั้น  เณรพลายจันทร์รู้ว่าเพื่อนรู้ว่าตนเองหลงรักทองประศรีก็ไม่พูดจาอะไรจนกระทั่งถึงวัด

ฝ่ายทองประศรีใส่บาตรแล้วก็ขึ้นบ้าน ใจนางนั้นก็กระวนกระวายคิดถึงแต่เณรพลายจันทร์ที่ได้พบเมื่อเช้านี้ จนไม่เป็นอันกินอันนอนทั้งวัน  จนกระทั่งย่ำค่ำแล้วนางเข้านอนก็นอนไม่หลับ  ถึงยามสี่ทองประศรีจึงได้หลับฝันไป  ความฝันของนางนั้นน่ากลัวมาก  นางตื่นขึ้นเช้าจึงได้เล่าให้พ่อแม่ของนางฟังช่วยแก้ฝันให้

ทองประศรีฝันว่าอะไรเมื่อคืนนั้น  น่าสนใจใช่ไหม  โปรดติดตามตอนต่อไปครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ต.ค. 09, 16:45
พญานาคมารัดแน่ๆ


โอ้โฮเฮะ   นางทองประศรีนี่เปรี้ยวตั้งแต่สาว
มีตอนขุนไกรถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมสมเด็จพระพันวษาไหมคะ  สงสัยมานานแล้ว

ขอรับประทานโทษคุณหลวงนะคะ   ถามจุกจิก  มีเรื่องนางบัวประจัน  น้องนางทองประศรีไหมคะ
เรื่องเกร็ดนี่ชอบมากค่ะ
เห็นคนเขียนเรื่อง ขุนช้างขุนแผนแล้วเล่าเกร็ดผิด  ต้องจำไว้เล่าต่อค่ะ



สำนวนหอฯ  บอกว่า

ชื่อว่าบัวประจันถัดกันมา                             มีผัวชื่อว่านายโชดคง
เดิมเพื่อนอยู่ทางบางเหี้ย                             ครั้นไปได้เมียก็ลุ่มหลง
ไม่คิดถึงซึ่งเหล่าเผ่าพงศ์                             ยวดยงแต่จะเที่ยวขโมยควาย  ฯ



เรื่องนี้มีที่มาที่ไปดีจัง  คือมีพระพรรณสมบัติด้วย   ถ้าเป็น  สุพรรณสมบัติ  ก็ไม่ผิดฝาไม่ผิดตัวค่ะ



พลายจันทร์ไปบิณบาตที่บ้านด้วย       น่าสนใจมากค่ะ เพราะ กงกรรมกงเกวียน
เป็นทางที่หนุ่มและสาวพบกัน

หนังสือบอกหรือเปล่าคะว่า  นางทองประศรี ใส่บาตรด้วยอะไรบ้าง
เรียนถามด้วยความสนใจจริง ๆ ค่ะ    เพราะนางพิมใส่ของมากจนเณรต้องเหลือบตามอง



วรรณคดีไทยนี่เรื่องไหนเป็นที่จับใจตลาดแล้วล่ะ  เป็นอันต้องยืดไปจนลูก หลาน เหลน
จนปีศาจขุนไกรและปีศาจขุนแผนต้องออกมาช่วย พลายสุริยัน ลูกของพลายเพชร    อิอิ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ต.ค. 09, 17:02
เรื่องการหาหนังสือเก่าอายุ  ๘๕  ปีและพิมพ์แค่ ๕๐ เล่มนั้น   จะว่ายาก  ก็คงถูก
จะว่าเป็นไปไม่ได้  ก็คงไม่ใช่

หนังสืออนุสรณ์นั้น มีผู้ตามเก็บอย่างจริงจังหลายท่าน
พ.ศ. ๒๕๐๑  นั้นก็เพียง ๕๑ ปีผ่านมา


หลายเรื่องที่อยากเห็น ก็ได้เห็น เพราะมิตรสหายหามาให้

หลายเรื่องที่ไม่คิดว่ามีอยู่เพราะไม่เคยมีบันทึกใด ๆ ว่าไว้
สหายก็นำมาให้ยืมอ่านโดยไม่แหนหวง  ทิ้งไว้ให้เป็นเกือบปี


ดิฉันเป็นนักอ่านค่ะ  พยายามจะสะสมเหมือนกัน  แต่ไม่หาญหักน้ำใจใคร
ขอเพียงได้ทราบว่ามี  ก็ดีอกดีใจ  ภูมิใจ
รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ  คุณหลวง  ที่มีเมตตามาเล่าเป็นบันทึกไว้ในที่นี้



แหะๆ....คุณหลวงคงทราบว่า ไม่กี่เดือนมานี้  มีสยามประเภทหลุดมาชุดเล็ก
ประมาณ หกอาทิตย์ที่ผ่านมา  ก็หลุดออกมาอีกชุดค่ะ


ดิฉันเป็นนักอ่านอยู่กับบ้านค่ะ  ไม่เดินทางสัญจรไปไหน
ได้ข่าวก็ชื่นใจกระไรเลย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ต.ค. 09, 18:18
เรียนถามคุณ เงินปุ่นศรีค่ะ

ปลัดจัน   นี่ใครคะ


พระบวรราชนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ  บทละครขุนช้างขุนแผน
ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง  บรรยาย ไว้งามพิเศษ

กระถางนั้นวางบนม้า
มีเขามอ(ตามที่ถือกันนั้น  ไม่มีการก่อเขามอในบ้านเรือนเพราะถือว่าจะขัดบุญวาสนากระมัง)
พรรณไม้นั้นก็พิสดารมากกว่าสำนวนอื่นๆ

นิพนธ์ไว้ว่า

บัวก็มีแห้วก็มีอุตส่าห์ปลูก                            เปลือกมันใหญ่โตกว่าลูกเท่าตุ่มหาม
ได้ไม้จีนมาจากไหนไอ้บ้ากาม                        เห็นมันตามประจบปลัดจัน


ขุนช้างมีเครื่องกระเบื้องมากทีเดียวค่ะ

ปลัดจันนี่ คือ  ปลัดกรมท่าซ้ายหรือคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ต.ค. 09, 08:53
ก่อนที่จะเล่าประวัติพลายจันทร์ต่อไป ขอตอบคุณ Wandee ก่อน

ที่คุณ Wandee ถามว่า ๑.มีตอนขุนไกรถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมสมเด็จพระพันวษาไหมคะ 
๒.มีเรื่องนางบัวประจัน  น้องนางทองประศรีไหมคะ
และ ๓.หนังสือบอกหรือเปล่าคะว่า  นางทองประศรี ใส่บาตรด้วยอะไรบ้าง

คำถามแรก ตอบว่าขอให้ติดต่อไปครับ ขืนบอกก่อนตอนนี้จะไม่สนุก
คำถามที่สอง ตอบว่าเท่าที่อ่านดูยังไม่พบครับ
คำถามสุดท้าย ตอบว่า ทองประศรีเป็นสาวจะใส่บาตร    โตกถาดขันขัดจงจัดสรร     ข้าวเหนียวไข่ต้มขนมชั้น    ห่อละอันใส่ถาดสะอาดดี  เท่านี้ครับ.

สุดท้ายที่ถามว่า   คุณหลวงคงทราบว่า ไม่กี่เดือนมานี้  มีสยามประเภทหลุดมาชุดเล็ก  ประมาณ หกอาทิตย์ที่ผ่านมา  ก็หลุดออกมาอีกชุดค่ะ 
ตอบว่า  ไม่ทราบ ทราบแต่เมื่อหลายเดือนก่อนมีสยามประเภทชุดใหญ่หลุดออกจากกรุ  สภาพดีน่าใจหาย  นัยว่าท่าจะครบชุดเสียด้วย  อุตส่าห์ตามไปดูถึงร้านหนังสือที่ได้มา  แต่เสียดายว่ามีคนนิมนต์ไปเสียแล้ว  เลยไม่ทันได้ทัศนา  จากนั้นไม่นาน  ได้มีโอกาสเห็นและอ่านหนังสือวชิรญาณ จำนวน ๔ เล่มหนา (รวมรายปี ๔ ปี) สภาพค่อนข้างดี  นอกจากนั้นก็มีหนังสือโรงพิมพ์วัดเกาะอีกหลายเรื่อง  ที่ใครหลายคนแสวงหากัน  แต่ไม่ได้เอามาเป็นเจ้าของ  ได้แต่เปิดดูเท่านั้น  เพียงนี้ก็ชื่นใจแล้วครับ  หนังสือหายาก  เก็บไว้ไม่เปิดอ่านไม่เผยแพร่  มันไม่เกิดประโยชน์หรอกครับ  เพราะเจ้าของก็เป็นแต่ปู่โสมเฝ้ากระดาษเก่าเท่านั้นเอง  รอวันว่าใครจะแพ้สังขารก่อนระหว่างคนเก็บหนังสือกับหนังสือที่เก็บ

ต่อประวัติพลายจันทร์ดีกว่า

ครับ ถูกต้อง ทองประศรีฝันว่า

ว่าเมื่อคืนนี้ลูกนิมิตรผิดประหลาด       เห็นนาคราชเหลืองลายตลอดหาง
ในฝันว่าลูกเดินไปตามทาง               นาคนั้นกั้นขวางไม่ให้ไป
แล้วรอบรัดมัดรึงไว้ครึ่งตัว                ความกลัวดิ้นไม่หลุดฉุดไม่ไหว
แล้วจิกลงตรงหน้าขากรรไกร             ใจลูกจะขาดอนาถจริง...

เมื่อทองประศรีเล่าความฝันเมื่อคืนให้ปลัดสนและยายอ้นฟังและขอให้ช่วยแก้ฝัน  ปลัดสนผู้พ่อก็แก้ฝันได้ว่า  ลูกสาวตนคงจะได้ชู้งาม  และว่านาคนั้นคือบัณฑิต (คือคนที่บวชเรียนแล้ว) แต่ปลัดสนคิดต่อในใจว่า ถ้าขืนทายฝันไปตามยามที่ฝันให้ลูกไปอย่างนี้ ลูกสาวจะนึกกระหยิ่มดีใจเป็นแน่ (เขาว่า ฝันในยามสาม เป็นบุพนิมิต จะแม่นมาก)  อย่ากระนั้นเลยจะเลี่ยงทายตามนิมิตดีกว่า แล้วปลัดสนก็บอกลูกสาวว่า ที่ฝันว่างูใหญ่มาไล่รัดที่กลางทางและยังกัดที่หน้าด้วยนั้น  โบราณท่านว่า ฝันอย่างนี้ลุกจะมีเคราะห์ต้องเขี้ยวต้องงาบาดเจ็บเป็นแผล  ต้องไปทำการสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์สักสามบาตร จะได้อยู่ดีกินดีไม่มีโรค  ทุกข์โศกเสื่อมหาย  อายุยืน  อันตรายไม่เบียดเบียน  ว่าแล้วบอกให้ยายอ้นผู้เป็นแม่พาทองประศรีไปให้สมภารมั่นรดน้ำมนต์ให้ที่วัด

ยายอ้นได้ฟังดังนั้นก็เรียกนางมีนางมานางสีทาสสาวใช้ให้จัดแจงหมากพลูจีบและทำสำรับกับข้าวทำแกงสับปลาไหลไปวัด  จากนั้นยายอ้น ทองประศรี และบ่าวอีก ๓-๔ คนก็เดินทางไปวัดป่าเลไลยก์  พอดีที่วัดแคกำลังมีงานอึกทึก คนมาก  จึงพากันเดินมาทางลัดทุ่งตรงไปหลังวัดป่าเลไลยก์ ขณะจะขึ้นกุฏิเจ้าอาวาส  เผอิญเจอเณรคงขวานกับเณรอุ่นไฟ เณรคงก็ร้องทักทองประศรีและยายอ้น เณรพลายจันทร์ได้ยินเสียงก็ออกมาดูเห็นทองประศรีก็ดีใจก่อนจะหลบเข้าห้องแอบดู

สมภารมั่นถามยายอ้นว่า ที่มามีธุระอะไร ยายอ้นก็บอกว่า เมื่อคืนลูกสาวฝันไม่ดี ปลัดสนแก้ฝันให้แล้วบอกให้พาลูกสาวมาให้ท่านขรัวรดน้ำมนต์ให้สักสามบาตรเป็นการสะเดาะเคราะห์  สมภารมั่นก็ว่า เดี๋ยวอาตมาจัดให้  แต่ต้องขอของแลกเปลี่ยนเป็นค่าไทยทานรดน้ำมนต์สักหน่อย  ขอฟืนไว้สำหรับต้มกรักสักหน่อย  เพราะท่านขรัวรู้ว่า ปลัสนมีสวน ว่าแล้วก็เรียกให้เณรเตรียมตั้งสำรับเพล  และให้เอาบาตรตักน้ำมาสามบาตร ทำน้ำมนต์รดให้ทองประศรี  เมื่อเสร็จการ  ยายอ้นทองประศรีก็ลาสมภารมั่นกลับ  แต่ท่านสมภารมั่นบอกว่า  ช้าก่อนโยมทั้งสอง   ที่วัดแค ท่านขรัวคงจัดงานปลงศพยายไทยซึ่งเป็นโยมของขรัวคงเป็นงานใหญ่  มีนักเลงไปในงานนั้นเอาดาบฟันพระสงฆ์ถึงแก่มรณภาพที่หลังป่าช้า  ให้โยมระมัดระวังด้วย  อาตมาจะให้เณรลูกศิษย์ตามไปส่ง  แล้วก็ร้องสั่งให้เณรพลายจันทร์ อุ่นไฟ คงขวาน ไปส่งสีกาทั้งสองและกำชับให้กันพวกนักเลงที่พบในระหว่างทางด้วย 

เณรทั้งสามเดินนำสีกาทั้งสองพร้อมบ่าวไพร่มาถึงวัดแคเวลาเย็น  ได้ยินเสียงละครดังไปทั้งวัดแค  คนก้คับคั่ง  เณรคงขวานกับเณรอุ่นไฟก็กันหยุดเดิน ขอไปเที่ยวดูงานวัดแคเสียหน่อยก่อนแล้วค่อยไปส่งโยมทั้งสอง  ว่าแล้วก็บอกยายอ้นทองประศรีว่านั่งพักตรงนี้ก่อน  ตนเองทั้งสองจะขอตัวเข้าไปเที่ยวงานวัดแคสักครู่เดียว   ว่าแล้วก็เข้าไปในงานวัดแค  สมภารคงวัดแคแลเห็นเณรทั้งสองเข้ามาในงานก็จำได้ว่า เป็นอ้ายอุ่นไฟ กับอ้ายคงขวานหลานขุนโจม ถ้าเข้าที่ไหนแล้วต้องเกิดเรื่อง จึงบอกให้เณรโสมวิ่งออกไปบอกให้เณรทั้งสองเที่ยวเล่นงานตามสบาย   เณรทั้งสองเข้าไปกราบสมภารคงแล้วก็บอกว่าท่านสมภารมั่นให้พวกตนมาส่งโยมสีกา จะขอเที่ยวเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแล้วจะลาไป แล้วฌณรทั้งสองก็ลาขรัวคงเดินมาข้างวิหารเข้าบริเวณงาน เดินผ่านหน้านักเลงอย่างไม่เกรงกลัว

เณรสองรูปไปเที่ยวในงานวัดแค ปล่อยให้เณรพลายจันทร์นั่งรอกับโยมสีกาทั้งสองและบ่าวที่นอกวัด   สักครู่  นายบัวกับพรรคพวกนักเลงเดินมาตามถนน  เห็นเณรพลายจันทร์นั่งอยู่กับยายอ้น และทองประศรี ที่นอกวัด ก็...

นายบัวจึงร้องทักทองประศรี         มาดูละครนี่หรือไปไหน
นั่งพูดกับเณรนี้ทำไม                  ไม่ใช่พวกพ้องพี่น้องจริง
จะจับตัวไปส่งสังฆรี (สังฆการี)     ว่าเณรนี้เจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง
เฮ้ยพวกเราล้อมไว้อย่าให้วิ่ง         จับมัดเหมือนลิงทั้งสีกา

มีเหตุการณ์ตึงเครียด เณรพลายจันทร์ถูกนายบัวหัวกระดูกแหย่อย่างนี้ จะเป็นอย่างไร

ฝ่ายว่าเณรจันไม่พรั่นพรึง            เฮ้ยมึงหรือชื่อบัวตัวเก่งกล้า
อวดตนว่าคนดีรี่เข้ามา                อย่าให้เพื่อนช่วยเล่นมวยกัน
ทองประศรีเรียกพี่คงขวานขา        นานนักไม่มาทำไมนั่น
นายบัวเขาจะจับพี่เณรจัน             พวกเขาดั้นล้อมรายเป็นหลายคน

เอาล่ะครับ  เณรพลายจันทร์ ยายอ้น ทองประศรี และบ่าวสาวใช้ถูกล้อมกรอบเสียแล้ว  จะทำอย่างไรดี 
โปรดติดตามต่อไป  ว่าจะมีใครมาช่วยพวกเขาหรือเปล่าหนอ  ตื่นเต้นจังเลย




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ต.ค. 09, 10:26
อิอิ   ดิฉันตื่นเต้นเรื่องขนมชั้นค่ะ


สุนทรภู่ท่านชอบทองหยิบทองหยอด  เล่าเป็นประจำ
คนไทยสมัยนั้นคงไม่ได้ทำขนมไว้ประจำบ้าน  คงกินกันเป็นครั้งคราวเมื่อทำบุญ


ครูแจ้งชอบต้มยำ  ท่านว่าคล่องคอ  ท่านรับงานบ่อยคงเบื่อแกงเผ็ด หมี่ผัด
ศรีมาลาทำกับข้าวขนมเยอะแยะ   พระไวยคงมีเพื่อนมหาดเล็กแวะมาที่บ้านบ่อย
อ่านมาจากงานที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เก็บ


เรื่องสยามประเภทนี่พูดกันมากค่ะ
ชุดที่ปรากฏที่ อรุณอัมรินทร์นั่น ชุดเล็กค่ะ   
เมื่อรูปออกมา  เจ้าของปล่อยไปเป็นอาทิตย์แล้วค่ะ
เต็มชุดมี ๑๒ เล่ม(ยังมีสยามประเพทของเจ้านาย และ สยามประพืดที่ก.ศ.ร.กุหลาบออกล้อ สยามประเพทอีกทีหนึ่ง)

ชุดใหญ่ที่สุดที่มีแต่ปกสวยงามมาแขวนให้นักอ่านสะอื้น ขาดเล่ม ๑๐ - ๑๒  เล่มต้นดูเหมือนจะขาดเล่ม ๓
ทั่วๆไปที่หลายท่านใช้อ้างอิงก็มีเพียง เล่ม ๑ - ๔  เท่านั้น

จิตใจนักสะสมนั้นจะอ่อนลงได้ก็ด้วยการประโลมเล้าเอาใจว่าท่านถือประวัติศาสตร์การพิมพ์ไว้ในมือ
การประชดประชันไม่ระคายความรู้สึกของท่าน ๆ หรอกค่ะ
เท่าที่ทราบท่านเหล่านั้นก็สร้างตัวมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานและปัญญาทั้งสิ้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ต.ค. 09, 15:12
ต่อเรื่องพลายจันทร์

ความเดิม เณรพลายจันทร์ ยายอ้น ทองประศรี ถูกพวกนายบัวล้อมจับตัวส่งสังฆการีด้วยข้อหาว่าเณรพลายจันทร์แอบมานั่งเกี้ยวสีกาที่ข้างวัดแค  ขณะที่กำลังรอเพื่อนเณรอีก ๒ รูป กลับมาจากเดินเที่ยวงานศพโยมเจ้าอาวาสวัดแค  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เชิญอ่าน

ตาเถรทองได้ยินเสียงทองประศรีร้องเรียกชื่อเณรคงขวานกับเณรอุ่นไฟก็วิ่งมาดูที่ถนน  เห็นนายบัวขวางทางยายอ้นกับทองประศรีอยู่ก็วิ่งเข้ามาบอกเณรคงขวานกับเณรอุ่นไฟในวัดให้รีบออกไปที่ถนน  เณรทั้งสองได้ฟังดังนั้น

คงขวานอุ่นไฟได้ยินว่า        คว้าได้ไม้สะแกวิ่งแร่มา
ผลักอกนายบัวชกเณรคงตึง   จันทะลึ่งชกนายบัวหัวคะมำ
อุ่นไฟไล่ตีนายมีฉาด           เลือดสาดศีรษะไม่เป็นส่ำ
เณรจันเตะนายบัวจนหัวตำ    เณรคงซ้ำคอต่อคอหักตาย
เณรจันเตะปากอ้ายนากปับ    ลัมพับผ้าล่อนลงนอนหงาย
สิ้นชีวิตดับจิตไปตามนาย      พวกเพื่อนกระจายวิ่งหนีไป...

ทองประศรีกับแม่และบ่าวรีบกลับบ้าน  ส่วนสามเณรทั้งสามรีบกลับมาวัดป่าเลไลยก์

กล่าวถึงพระพรรณสมบัติ (สัง) นั่งอยู่ที่หอนั่ง มีคนมาบอกว่านายบัวหัวกระดูก ลูกชายถูกตีตายที่วัดแค พร้อมอ้ายนากอ้ายมีที่ถูกตีที่กำด้นคอหักตายเช่นกัน  พระพรรณสมบัติได้ฟังก็น้ำตาไหลใจหาย แล้วรำพันว่า

ทั้งรักทั้งแค้นแสนเสียดาย    ทั้งเงินทองต้องละลายเป็นหลายครา
แต่เสียทรัพย์ยับย่อยกว่าร้อยชั่ง   สอนสั่งกับซ้ำทำขายหน้า 
เที่ยวคบเพื่อนสูบฝิ่นกินสุรา     ลักช้างม้าขโมยคนปล้นสะดม
อ้ายลูกเปรตเทสน์ธรรม์มันไม่เชื่อ    ชาติลูกเสือดอกมิใช่ลูกประสม
จะทิ้งผีเสียไม่เผาเน่าเป็นตม     ให้มันจมอยู่กับดินสิ้นอาลัย...

ฝ่ายยายเบี้ยผู้เป็นเมียได้ยินพระพรรณสมบัติพูดเช่นนั้นก็ทักท้วงว่า   
                                        ...จะโกรธไปถึงไหน   
ลูกเราคนร้ายมันตายไป   อย่าร่ำไรเคืองข้องไม่ต้องการ   
อันเรานี้ก็เป็นที่เขานับถือ   ร่ำลือเกรงกลัวชั่วลูกหลาน 
จะนิ่งเสียก็จะยับอัประมาณ  ต้องก่อการด้วยเป็นความแผ่นดินเมือง   
ไปกราบทูลตามมูลคดีมา    อันโทษฆ่าคนตายมีหลายเรื่อง   
ด้วยฟันแทงกันนี้มีเนืองเนือง   ได้ทราบไว้ในเบื้องบาทบงสุ์... 

พระพรรณสมบัติได้ฟังเมียว่าเช่นนั้นก็คิดได้  จึงเรียกบ่าวไพร่ลงเรือเดินทางไปเข้าวังทันที  แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ไม่ได้ออกพระนามไว้) กราบทูลหน้าพระที่นั่งว่า  บัดนี้มีคนพาลมาเที่ยวงานที่วัดคของสมภารคง  นายบัวบุตรข้าพระพุทธเจ้าไปเที่ยวงานนั้น ถูกพวกเณรคงขวาน อุ่นไฟ และพลายจันทร์เดินทางมาจากไหนไม่ทราบ  แต่อ้างว่ามาส่งสีกาสี่ห้าคน  เมื่อมาพบนายบัวกลางถนนที่วัดแคก็เอาไม้สะแกตีที่กำด้นนายบัว  อ้ายนากกับเพื่อนเข้าช่วยนายบัวเลยถูกตีจนตายด้วยกัน ๓ คน

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้ทรงสดับความดังนั้นก็รับสั่งให้พระพิเรนทรเทพเร่งเกณฑ์ไปตามจับอ้ายผู้ร้ายทั้งสามมาเฆี่ยนเอาความจริงให้จงได้โดยเร็ว

แย่แล้วล่ะสิ   เณรตีนักเลงกันที่งานวัดกลายเป็นเรื่องใหญ่โตระดับชาติเสียแล้ว  ท่าทางเณรทั้งสามของเราจะลำบากแล้วครับ   มีเรื่องกับใครไม่มี  ดันไปมีเรื่องกับลูกชายขุนนางระดับคุณพระพรรณสมบัติ แถมตีลูกเขาตายอีก
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร  เอาไว้ติดตามกันต่อคราวหน้าครับ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ต.ค. 09, 15:56
ในพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ได้กล่าวถึงราชการกรมต่างๆ สมัยก่อนการปฏิรูปราชการเป็นกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีเรื่องน่าสนใจดังนี้

กรมอาสาแปดเหล่า เป็นกรมใหญ่ ๘ กรมในพระกระลาโหม  ประกอบด้วยกรมอาสาใหญ่ซ้าย  กรมอาสาใหญ่ขวา  กรมอาสารองซ้าย   กรมอาสารองขวา  กรมเขนทองซ้าย   กรมเขนทองขวา  กรมทวนทองซ้าย  และกรมทองทองขวา   กรมเหล่านี้มีหน้าที่รักษาพระนครและรักษาพระราชอาณาเขต    เจ้ากรมอาสาใหญ่ ๒ กรมเป็นแม่ทัพชั้นหนึ่ง ถือศักดินา๑๐๐๐๐ไร่  กรมอาสารอง ๒ กรม กรมเขนทอง ๒ กรม เจ้ากรมเป็นแม่ทัพชั้นรอง  ถือศักดินา ๕๐๐๐ ไร่ ส่วนกรมทองทอง ๒ กรม เจ้ากรมเป็นนายพล ถือศักดินา ๑๖๐๐ ไร่ กรมอาสาแปดเหล่านี้ ในยามสงครามจะออกไปรบทุกทิศ  เมื่ออยู่ประจำพระนครจะไปประจำตามด่านหัวเมืองต่างๆ ตามตำแหน่งซ้ายขวา  และยังมีราชการในเวลาเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชวัง  จุกช่องวงรายทาง แต่ไม่ต้องแห่นกระบวนเสด็จฯ เว้นแต่เสด็จฯ โดยกระบวนเรือและกระบวนราบแห่อย่างกระบวนพยุหยาตราในการสงคราม   

กรมอาสาหกเหล่า มี กรมอาสาญี่ปุ่น ๑ เป็นพนักงานเครื่องศพ
กรมแตรสังข์ ๑ เป็นพนักงานพิณพาทย์และกลองชนะ
กรมกลองชนะ ๑ เป็นพนักงานประโคมศพและการแห่แหนทั้งปวง
กรมอาสาจาม ๑ เป็นพนักงานสำหรับจ่ายใช้ในเรืบรบ เรือไล่ทางทะเล
กรมฝรั่งแม่นปืน ๑ เป็นทหารปืนใหญ่ จุกช่องล้อมวง และแห่ตามเสด็จทั้งทางบกทางเรือ
และกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง ๑ เป็นกรมทหารไทยที่ยิงปืนไฟอย่างฝรั่ง

กองมอญ แบ่งออกเป็น ๕ กรมใหญ่  คือ
กรมดั้งทองซ้าย  กรมดั้งทองขวา  กรมดาบสองมือ กรมอาทมาตซ้าย กรมอาทมาตขวา หน้าที่ราชการก็คล้ายกับกรมอาสาแปดเหล่า  เพียงแต่คนในกรมเหล่านี้เป็นชาวมอญที่เข้ามาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดินไทย

ถ้าผู้ใดสนใจอ่านต่อให้ละเอียด สามารถอ่านได้จากหนังสือพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน เล่มไม่หนานัก  พิมพ์มาแล้วหลายครั้ง  ฉบับที่ผมใช้อยู่เป็นฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงไผ่  เกษมศุขการี เมื่อ ๒๗ ก.ค. ๒๔๙๓ ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งแรก เป็นฉบับที่รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ๒๓ ตุลาคม ๒๔๗๐ ซึ่งรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำนำในหนังสือนี้ด้วย  เป็นหนังสือน่าอ่านน่าสนใจสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์อย่างพลาดไม่ได้ทีเดียว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ต.ค. 09, 16:11
ขอบคุณ คุณหลวง ค่ะ

ที่เอื้อเฟื้อบอกอ้างอิงถ้วนถี่ หนังสืออนุสรณ์ นายนราภิบาล ๒๕๐๑     ได้เบาะแสแล้วค่ะ
คงส่งสมาชิกชมรมนักอ่านไปคัดลอกมาหลังงานหนังสือ


หนังสือ ขุนช้างขุนแผน  ฉบับนอกทำเนียบ ของอัศศิริ,  โชติช่วง นาดอน  และ ครูเสภานิรนาม ก็ได้อ่านแล้วค่ะ
คุณโชติช่วง นาดอน ได้กรุณาเล่าไว้ว่า เสภาขุนช้างขุนแผนความเก่า  พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานยืนชิงช้า เมื่อปีฉลู ๒๔๖๘
เข้าใจว่ามีอยู่เล่มเดียว


เล่มที่ดิฉันใช้ หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ
อำมาตย์โท  พระยาวิศิษฐบรรณกร์(ชม  สุวรรณภา) ๒๔๗๑  ค่ะ


ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคุณหลวง  เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ขอบคุณเจ้าค่ะ

ยังตามอ่านอย่างใจจดใจจ่อค่ะ



อีกไม่กี่วัน คุณเทาชมพูจะได้มาเล่าเรื่อง ลาว ต่อ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 ต.ค. 09, 04:47
ขอบคุณครับคุณ luanglek สำหรับคำว่า "พลาย"

คุณ luanglek พอมีคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า "พัง" ด้วยหรือเปล่าครับ เพราะเห็นว่ามีการเรียกช้างพลาย กับ ช้างพัง เรียกคู่กัน น่าจะมีความหมายไปในทำนองเดียวกัน  ???

ส่วนพจนานุกรมที่คุณ luanglek แนะนำ โชคดีที่ห้องสมุดที่ทำงานผมมีครับ เพราะน่าจะเป็นพจนานุกรมที่หายากเล่มหนึ่ง
ไว้เสร็จภารกิจแล้ว ผมคงต้องไปเปิดดูแน่นอน  ;D (จริงๆ เห็นอยู่บนชั้นหลายหนแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีโอกาสหยิบมาใช้ประโยชน์)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ต.ค. 09, 15:04
ก่อนจะเล่าเรื่องประพลายจันทร์ต่อไป   ขอตอบคำถามก่อน

เสภาขุนช้างขุนแผนแบบความเก่าเล่มหนึ่ง คือ บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนความเก่า ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2502 (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางนวลแก้ว เครือโสภณ, 12 ก.ค. 2502) เล่มนี้น่าจะพอหาอ่านกันได้  และไม่หนามาก  ไม่รู้ว่าเป็นหนังสือซ้ำกับของคุณWandee หรือเปล่า

เรื่องพึงทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ เสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลาย  หรือเสภาขุนช้างขุนแผนตอนต่อจากฉบับพระสมุดวชิรญาณ  โดยทั่วไปอ่านฉบับที่กรมศิลปากรได้ตรวจชำระ เมื่อ 2509 พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเชื้อ ชลธารวินิจจัย (เชื้อ ชลานุเคราะห์) 10 ม.ค.2509 หลังจากนั้นก็มีการนำฉบับนี้มาพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้ง  แต่ก่อนหน้าที่กรมศิลปากรจะชำระเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายนี้  มีสำนักพิมพ์หนึ่งเอาเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายมาพิมพ์เป็นหนังสือขายแล้ว  ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร  สำนวนที่สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร นำมาพิมพ์เข้าใจว่าก็คงชำระมาจากต้นฉบับเดียวกับที่กรมศิลปากรได้เอามาตรวจชำระ  กระนั้นก็มีถ้อยคำแตกต่างกับฉบับกรมศิลปากรหลายแห่ง  ซึ่งไม่มีทำให้เนื้อความแตกต่างกัน  แต่นั่นก็ยังไม่น่าสะดุดใจเท่ากับว่า  ฉบับที่สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารชำระมีการเปลี่ยนเนื้อความตอนท้ายของเสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลายใหม่ ให้จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง ในขณะที่ฉบับที่กรมศิลปากรชำระนั้น  เนื้อความยังค้างอยู่ ไม่จบ เพราะต้นฉบับที่ใช้ชำระมีอยู่เท่านั้น  ใครสนใจไปหาอ่านดูได้  (แปลกที่ไม่ยักกะมีคนทำวิจัยเกี่ยวกับเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายนี้บ้าง  เห็นทำแต่ตอนที่หอพระสมุดชำระไว้เท่านั้น)

เรื่อง "พัง" ที่หมายถึงช้างตัวเมียนั้น  เคยค้นอยู่เหมือนกัน  แต่ยังจับที่มาไม่ได้ทั้งพลายและพัง  ถ้าคุณHotacunus สนใจ  ลองค้นดูในสาส์นสมเด็จหรือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ หรือยังครับ  หรือถ้าลองค้นดูแล้วแต่ยังไม่จุใจ  เดี๋ยวจะลองไปดูหนังสือเล่มอื่นๆ ดู เผื่อว่าจะมีเบาะแสมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน   ส่วนพจนานุกรมที่ผมเอามาอ้างอิงนั้น  ทราบมาว่าหายากอยู่  และเป็นพจนานุกรมเล่มสำคัญที่ผมใช้ค้นอยู่เป็นประจำ (ผมทำสำเนาทั้งเล่มไว้ใช้ส่วนตัว)  ต้องชื่นชมคนที่ทำว่าอุตสาหะมากทีเดียว



เข้าเรื่องประพลายจันทร์ต่อครับ

พระพิเรนทรเทพได้รับรับสั่งแล้วก็รีบจัดไพร่พลสี่กองให้ขุนรุดพาลงเรือม่วงเร่งออกไปสืบหาผู้ต้องหาและพ่อแม่ญาติพี่น้องพรรคพวกของผู้ต้องหาทันที  โดยให้พระพรรณสมบัตินำไป  เมื่อถึงบ้านขุนไชยยายตือพ่อแม่เณรคงขวาน  ยายตือหนีไปได้ จับได้แต่ขุนไชย  พวกไพร่พลอีกลำเรือหนึ่งไปที่บ้านขุนศรีเชียง  จับได้ทั้งขุนศรีเชียงและยายเอี้ยงพ่อแม่เณรอุ่นไฟ  จากนั้น ก็ไปจับตัวนายเสถียรกับยายเพียน พ่อแม่เณรพลายจันทร์  แล้วเรือทั้งสี่ลำก็พาพ่อแม่ของผู้ต้องหาทั้ง ๓ มาที่ทิมดาบ เพื่อพระพิเรนทรเทพสอบสวนเอาความจริง  พ่อแม่เหล่านั้นต่างกลัวมาก

พระพิเรทร์เทพให้ขุนรุดไต่สวนพ่อแม่ผู้ต้องหาให้ได้ความจริง ก็ได้ความว่า ขุนไชยเป็นพ่อเณรคงขวาน  ขุนศรีเชียงเป็นพ่อเณรอุ่นไฟ และนายเสถียรยายเพียนเป็นพ่อแม่เณณพลายจันทร์  เณรทั้งสามอยู่ที่วัดป่าเลไลยก์ ไม่ได้อยู่บ้านของตน คดีความที่เกิดขึ้นนั้น  บรรดาพ่อแม่ทั้งสามครอบครัวไม่ได้รู้เห็นด้วย   ขุนรุดก็ว่า ถ้าหากได้ตัวผู้ต้องหามาแล้วมันให้การว่า มันทั้งสามอาศัยอยู่บ้าน เป็นอันว่าคำให้การของพ่อแม่มันเป็นเท็จ  แล้วให้ทำใบทานบน(ทัณฑ์บน)คนละใบ  หากผิดจากความคำให้การไว้จะปรับตามที่ทำทานบน  ส่วนผู้ต้องหาคงจะหนีไปได้ไม่ไกล  เมื่อกลัวเข้าคงจะกลับมาที่บ้าน  เมื่อเสมียนจดคำให้การเสร็จก็ผูกเชือกและให้พ่อแม่ต่างหยิกเล็บเอาไว้เป็นสำคัญก่อนเก็บฉบับไว้  พร้อมทั้งเสมียนผู้คุมรุมขู่ว่า หากว่าสมุดคำให้การนี้ยับจะต้องลงโทษหลายประการ

ฝ่ายขุนแผลง(ขุนแผลงสะท้าน พระตำรวจ) ได้แจ้งว่า มีรับสั่งให้ตามจับตัวยายอ้นกับทองประศรีซึ่งเป็นต้นความมาสอบสวน  ก็ไปตามจับได้แต่ยายอ้นคนเดียวในเวลาจวนจะเย็นย่ำแล้ว  ก็รีบนำลงเรือมาที่หน้าทิมดาบ แล้วนำไปเรียนพระพิเรนทรเทพ พระพิเรนทรเทพชมขุนแผลงว่าทำงานได้รวดเร็วดี จึงสั่งให้รีบสอบสวนให้ได้ความโดยเร็ว

ฝ่ายทองประศรีวิ่งหนีไปพร้อมพวกบ่าวไพร่ นางทา นางนุ่ม นางตุ้ม ไปตามไร่ ข้ามสะพานจนไปถึงวัดแค  แล้วตรงไปที่กุฏิขรัวคง  ขรัวคงก็บอกทองประศรีว่า เห็นเณรเหลือมาบอกว่า  เรือมาจอดที่บ้านทองประศรีแออัด  เห็นพวกตำรวจมาคุมตัวยายอ้นไป  ทองประศรีก็ว่า เหตุวุ่นวายครั้งนี้ก็เพราะเณรพลายจันทร์ คงขวาน อุ่นไฟ ไปตีนายบัวหัวกระดูกตายที่หลังวัด  ตำรวจจึงมาตามจับตัวพ่อแม่ไปจำไว้ไม่ผลัดเปลี่ยนตัวเลย  ปลัดสนพ่อของทองประศรีไม่อยู่ เขาจับได้ยายอ้นไป  ส่วนทองประศรีหนีมาได้  ว่าแล้วก็ขรัวคงก็ห่มคลุมพาทองประศรีไปหาขรัวมั่นที่วัดป่าเลไลยก์ทันที  เมื่อถึงวัดป่าเลไลยก์  ขรัวมั่นเห็นขรัวคงพาทองประศรีมาก็รู้ว่าคงจะเกิดความขึ้นแล้วเป็นแน่  จึงได้จับยามสามตาดูก็รู้ว่าเป็นเช่นที่คิดไว้   แล้วก็ถามขรัวคงว่าที่มานี่มีธุระอันใด  ขรัวคงก็ว่า เจ้าเณรทั้งสามของท่านขรัวไปก่อก่อคดีให้พ่อแม่ต้องถูกเขามัดคุมตัวไว้อย่างกับลิงหมดแล้ว   เพราะด้วยเรื่องไปตีเขาตายที่หลังวัดแค   ตอนนี้ตำรวจเขามาไล่จับพ่อแม่ไปแล้ว  ส่วนทองประศรีนี่ก็หนีรอดมาได้

ขรัวมั่นได้ฟังดังนั้นก็เรียกเณรทั้งสามมาบอกว่า  เณรทั้งสามไปก่อเรื่องฉาวใหญ่  พ่อแม่ก็ถูกเขาจับไปแล้ว  ทองประศรีก็หนีมา  พวกเจ้าควรจะลาสึกไปทั้งสามคน   พ่อแม่จะได้พ้นโทษ  ส่วนพวกเจ้าทั้งสามเป็นคนมีวิชาคงกระพัน  ถึงจะต้องขื่อคาโซ่ตรวนก็ไม่เป็นไร  ทั้งเวทมนตร์ต่างๆ ก็ได้เรียนได้สอนสารพัด จะกลัวอะไร   พวกเจ้าจงพาทองประศรีไปด้วยเพื่อจะได้ป้องกันอันตรายจากพวกนักเลงหัวไม้ที่จะมารังแกนางระหว่างทาง  ว่าแล้วก็ทำพิธีสึกเณรทั้งสาม  แล้วทั้งสามคนก็พาทองประศรีลาขรัวทั้งสองไปยังพระนคร  เดินไปจนถึงทิมดาบ เห็นขื่อคามากมาย ทองประศรีกลัวตัวสั่น  ฝ่ายพ่อแม่ของเจ้าหนุ่มทั้งสามคนเห็นลูกชายมาก็ทั้งร้องไห้และบ่นด่าหาว่าพวกนี้ดีแต่หาเรื่องมาให้ด้วยความเป็นนักเลงแก้ไม่หาย แล้วก็บอกให้รีบให้การไปตามจริง ส่วนยายอ้นเห็นทองประศรีมาหาก็ดีใจกอดกันร้องไห้ร้องห่มทั้งแม่ลูก

เอาล่ะ  ลูกนักเลงตีเขาตาย  พ่อแม่และพระเจ้าก็พลอยเดือดร้อนไปหมด  การณ์ข้างหน้าทั้งสามจะเอาตัวรอดได้ไหม  โปรดติดตามครับ





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ต.ค. 09, 16:44
อ่านจบ  ระบายลมหายใจ   คอยมาสองวันครึ่ง


ขอบคุณ คุณหลวง ค่ะ   แหม!  น่าฟังเหลือเกิน
ถ้าคุณหลวงไม่มาเล่า ดิฉัน คงไม่ทราบเรื่องนี้อย่างแน่นอน


ขุนช้างขุนแผนภาคปลาย  ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่  แพร่พิทยาพิมพ์ ๒๕๑๓   
จำได้ว่าซื้อที่งานหนังสือค่ะ


เรื่องจบค้างอยู่ตอนพลายบัวคิดแก้แค้นพลายเพชรที่ถูก สมภารลาว เสกรัตประคดเป็นงู  จับตัวไป  อิอิ


ฉบับความเก่านั้น  มีฉบับ อนุสรณ์ พระยาวิสิษฐบรรณกร(ชม  สุวรรณสุภา) ๒๔๗๓  ค่ะ


ทีนี้ดิฉันก็ต้องไปตามหาฉบับศิลปาบรรณาคาร อีกทีนี้




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ต.ค. 09, 23:22
ขรัวตาคงน่าจะมีตัวตนจริงแล้วนะคะ  เพราะเป็นอาจารย์มาตั้งสมัยขุนไกร


เป็นที่เคารพของขุนช้างและขุนแผน
อ่านแล้วก็ตีความสมัยรัตนโกสินทร์พอได้
เช่นเรื่องเรือนไทย  ต้นไม้ดัด   ปลาทอง  เครื่องกระเบื้อง  กระจกนางฝรั่งตาคม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ต.ค. 09, 08:22
ตามเรื่องประวัติพลายจันทร์กันต่อเลยครับ 

ครั้นพลายจันทร์ อุ่นไฟ คงขวาน มามอบตัวพร้อมด้วยทองประศรี  พระพิเรนทรเทพก็ให้ไต่สวนทันที  พระพิเรนทรเทพถามว่า  ตอนที่ให้คนไปตามตัวมาทำไมไม่เจอตัวหรือว่าหลบหนี  พวกเจ้าอญุ่กับบ้าน  พอไปก่อเรื่องขึ้นแล้วคงออกไปโกนหัวเข้าวัดใช่หรือไม่  ให้บอกมาตามจริง   คงขวานก็ให้การว่า  ความที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพ่อแม่  เมื่อหลายปีก่อนจำวันเดือนปีไม่ได้  พ่อเราทั้งสามพาพวกเราไปให้ขรัวมั่นบวชให้เพื่อเล่าเรียน  ข้อนี้มีขรัวมั่นเป็นพยานได้  ไม่พูดเท็จแน่นอน   พระพิเรนทร์ได้ฟังก็สั่งให้เสมียนเอาคำให้การของพ่อแม่มาเทียบกับคำให้การของคงขวานว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่  ก็ได้ความตรงตามที่คงขวานว่ามา  แล้ว....

พระพิเรนทร์สั่งผู้คุมแลเสมียน       ให้ถอดเสถียรพ่อแม่อ้ายจันหนู
ทั้งพ่อแม่อ้ายเหล่านั้นมันพวกกู      ทั้งสามคู่เรียกค่าฤชาเอา
ค่ารับสั่งทูลฉลองต้องเรียงตัว        ทั้งเมียทั้งผัวต้องให้เขา
ทั้งผูกคอมาค่าทุเลา                    รวมเข้าคนละชั่งยังไม่พอ
ทองประศรียายอ้นเป็นต้นเหตุ         บีบให้ถึงเสลดอย่าให้ขอ
อ้ายสามคนจำครบให้กบคอ           แล้วจะต่อข้อถามตามคดี

(ดูสิ  นึกว่าลูกชายมามอบตัวแล้วจะรอดตัว  ที่ไหนได้ พ่อแม่ต้องเสียเงินอีกอีกคนละกว่าชั่ง  นี่แหละโรงศาลสมัยก่อน  ทุกขั้นตอนเป็นเงินเป็นทองไปหมด  อันที่จริงถ้าอยากทราบเรื่องโรงศาลสมัยก่อนเพิ่มเติม  แนะนำให้ไปอ่านตอนขุนช้างขุนแผนเป็นความกันเรื่องแย่งนางวันทอง คนแต่งแต่งได้ละเอียดจนเห็นภาพโรงศาลกับการไต่สวนสมัยก่อนเก่าดีทีเดียว  และจะดีมากถ้าอ่านควบคู่กับกฎหมายตราสามดวงด้วย)

กล่าวถึงปลัดสน ผัวยายอ้น พ่อของทองประศรี  พอรู้ว่าเมียกับลูกสาวถูกเขาตามจับตัว  ก็รีบเข้าไปหาคุณท้าววรจันทร์ในวังทันที  ปลัดสนไปหาคุณท้าววรจันทร์ทำไม  นี่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้ในวรรณคดีไทยเรื่องไหนนอกจากเรื่องนี้  ปลัดสนไปบอกคุณท้าววรจันทร์  ว่า

ขอจงกราบทูลให้คิดไกล่เกลี่ย    ทั้งลูกทั้งเมียกระผมฉัน
ถ้าหลุดได้ไปข้างนอกออกได้นั้น   หลุดทั้งโทษทัณฑ์ไม่ติดไป
ทูลได้ดังนี้เป็นที่พึ่ง                  เงินตราหาบหนึ่งทูนหัวให้
เป็นความสัตย์ชัดจริงอย่ากริ่งใจ  ขอได้โปรดเถิดจะแทนคุณ

ครานั้นท่านท้าววรจันทร์          ว่าจริงจังอย่างนั้นหรือตาขุน
ข้าก็จะทูลความไปตามบุญ       เอาต้นทุนของแกออกนอกตะราง

ครั้นเวลากลางคืนก็ขึ้นเฝ้า       เป็นคราวทรงละครไม่ขัดขวาง(!!!!)
จึ่งถวายบังคมไม่ระคาง           พลางบังคมทูลพระทรงธรรม์

ท้าววรจันทร์กราบทูลว่า  ยายอ้นแม่ของทองประศรี  แกเป็นพี่สาวของกระหม่อมฉัน    แกไปเที่ยวดูงานวัดแคตอนกลางวัน  เห้นนักเลงวิวาทกันที่หลังวัด  ทองประศรีกับยายอ้นเล่าว่ามีพวกหนึ่งมาขวางทางพวกตนไว้ แล้วก็มาฉุดคร่าทองประศรีจะมัดตัว  พอดีมีพวกเณรวิ่งมาขวางพวกนักเลงนั้น  แล้วก็เกิดตีกันวุ่นวาย จนมีคนล้มเจ็บที่กลางทาง  ฝ่ายสองแม่ลูกก็พอหลุดออกมาได้ก็วิ่งหนี  อีกสองวันต่อมา กำนันก็มาเกาะตัวยายอ้นไปหาว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดวิวาทตีกันจนมีคนตาย  ซึ่งพี่สาวของไม่ทราบด้วยเลยว่าใครเป็นคนตีคนที่ตาย  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ทรงฟังแล้วก็ตรัสว่า  เรื่องที่เกิดขึ้นมีเหตุจากผู้หญิง  ชายฝ่ายหนึ่งรักทองประศรี แต่นางไม่ชอบรีรออยู่  ก็ดันมีชายอีกคนเข้าชิงนางจนเกิดความทะเลาะกัน  อยางนี้ต้องไต่สวนดูเหตุการณ์ก่อน  แล้วจึงค่อยย้อนไปเอาคนต้นทั้งสาม  ว่าใครลงมือก่อน จนกระทั่งมีคนตายต่อมา  ว่าแล้วก็เสด็จออกท้องพระโรงว่าราชการ  ตรัสถามพระพิเรนทร์เรื่องสอบสวนความตีกันตาย

พระพิเรนทร์ก็กราบบังคมทูลรายงานผลการไต่สวนว่า  เดิมทียายอ้นกับทองประศรีไปดูละครที่วัดแค มีนายบัวคุมพวกนักเลงมาพบทั้งสองคนที่หลังวัด  นายบัวก็ให้พวกช่วยกันฉุดทองประศรี  ขณะนั้นมีเณรสามรูปเดินมาเห็นเหตุการณ์พอดี  ทองประศรีก็ร้องให้ช่วยด้วย  เณณทั้งสามก็เข้ามาสกัดขวางพวกนักเลงไว้  ส่วนทองประศรีกับยายอ้นก็วิ่งหนีกับพวกบ่าวแยกกันไปคนละทางสองทาง  แต่ก็เหลียวมาดูที่เกิดเหตุเห็นว่า  พวกเณรตีกับพวกนักเลงนั้น  ใครจะตีใครก่อนไม่ทราบแต่เห็นมีคนนอนกลิ้งอยู่  ทั้งสองแม่ลูกอารามตกใจก็รีบไปบ้านโดยเร็ว  สิ้นความที่เกิดขึ้นเท่านี้

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ทรงฟัง  เห็นว่าตรงตามที่ท้าววรจันทร์กราบบังคมทูลก่อนหน้านี้  ก็ตรัสว่า

ฝ่ายอีสองคนต้นความอิง   แต่ผู้หญิงโทษทัณฑ์มันไม่มี
อ้ายสามคนตีกันถึงบรรลัย  ก็มิใช่พวกพ้องอีทองประศรี
ทั้งอ้ายสนกับอีอ้นสองคนนี้   ลูกตามีผัวยายเพิ่มแต่เดิมมา
ส่วนอีทองประศรีกับอีอ้น     ทั้งสองคนก็ไม่อยู่ในฟ้องหา
ส่งมาข้างในให้สัญญา       ทานบนไปข้างหน้าถ้าใครซัด
แม้นอ้ายสามคนมันให้การ   ว่าลูกหลานอีอ้นเอาเป็นสัตย์
ถ้าจะถามความให้ถูกอย่าผูกมัด   อย่ารีบรัดผ่อนโรยเอาโดยนวล
แล้วหลอกหลอนล่อลวงดูท่วงที   ดูให้ดีเยื้องยักอย่าหักหวน
ถ้าไม่รับผูกถามตามกระบวน   รีบด่วนเอาความแต่ความจริง
จงกำชับอย่ารับสินบนเขา      มันจะเข้าท้ายรั้วกลัวผู้หญิง
ถ้าแม้นานกาลเนิ่นเกินประวิง   กูจะนิ่งปรับมึงกึ่งคนร้าย


เอาล่ะครับ  อย่างนี้สำนวนสมัยใหม่ว่า  มีงานเข้า แล้วพระพิเรนทรเทพ  เอาล่ะตามต่อตอนหน้าครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ต.ค. 09, 08:36
เสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลาย นี่ เป็นเรื่องอย่างนิยายกำลังภายใน อาจจะลักษณะเหตุการณ์ความสมจริงน้อยกว่าเนื้อเรื่องตอนของหอพระสมุดฯ ชำระ  แต่ก็ขอตั้งข้อสังเกตว่า  ลักษณะที่เน้นอิทธิปาฏิหาริย์ของตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เริ่มถี่มากขึ้นในตอนท้ายของฉบับหอพระสมุดฯ เข้าใจว่าน่าจะเป็นอิทธิพลของเนื้อเรื่องนิทานจักรๆวงศ์ๆ  แต่ก็อ่านสนุกดีเหมือน  เพียงแต่ด้อยความไพเราะและมีรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาจจะไม่เข้มข้นเท่ากับตอนที่หอพระสมุดฯ ชำระ

คุณเทาชมพูครับ  เมื่อไรจะเริ่มชาติพันธุ์ "ลาว" ในเสภาขุนช้างขุนแผนต่อครับ   กำลังรออ่านด้วยใจจดจ่ออยู่ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ต.ค. 09, 09:47
ขุนช้างขุนแผนฉบับหอ ฯ  ตอนกำเนิดพลายงาม

     ครานั้นสมเด็จพระพันวษา                         เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร
จะออกโอษฐ์โปรดขุนแผนแสนสะท้าน                 แต่กรรมนั้นบรรดาลดลพระทัย
ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก                  นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงไหล
ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้                              กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยา ฯ

อ่านที่ท่านผู้ใหญ่เขียนไว้ว่าเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย




สำนวนครูแจ้ง  ตอนพระไวยแต่งงาน
สมเด็จพระพันวษา ให้ เจ้าขรัวยายไปส่งนางสร้อยฟ้าถึงบ้าน
เจ้าขรัวยายนี้คือมารดาของเจ้าจอมผู้มีพระองค์เจ้า  ไม่ใช่ข้าราชสำนักฝ่ายในธรรมดา

กลอนตอนต่อมาไม่ได้เรียกขรัวยาย   เรียกว่า หลวงแม่เจ้าเฒ่าแก่

หลวงแม่เจ้าเฒ่าแก่ประโลมเล้า                      นี่จะเฝ้าร้องไห้ไปถึงไหน
อยู่ในวังนั่งเปล่าเอาอะไร                             ออกไปได้เป็นท่านผู้หญิงอย่าทิ้งกัน ฯ


พระไวยต้อนรับกระบวนที่มาส่งนางสร้อยฟ้าด้วยเชิญเข้าไปนั่ง หาสำรับมาเลี้ยงดู
คุณเฒ่าแก่อวยพรว่า

ต่างให้พรสอนสั่งช่างพูดจา                            ฝากสร้อยฟ้าด้วยพระนายไวย
แม้นผิดพลั้งสั่งสอนละอ่อนบ้าง                        อย่าทิ้งขว้างร้างอย่าอาฌาศัย



พระไวยปากหวาน(สงสัยเป็นทั้งตระกูล)

แล้วพูดเย้าว่าคุณท้าวมีลูกมาก                        ถึงจะเอามาฝากอีกก็ได้ไม่ให้หาย
ท่านท้าวนางแสนงอนค่อนพระนาย                   เบื่อจะตายเสียแล้วพ่อหัวร่องัน


ของชำร่วยสำหรับคุณท้าวมี
แพรฝรั่งอย่างดีล้วนจัดสรร
ขันถมล้างหน้า
เงิน ๕​ ตำลึง (สงสัยจะเป็นเหรียญบาท  ๒๐ เหรียญห่อผ้าใส่ขันได้พอดี)
แพรขาว
หมอนลาวลูกใหญ่

ท้าวข้างในให้พรชมหมอนอึง                          ธุระอะไรบอกให้ถึงข้าท้าวนาง

คุณท้าวรับราชการมานาน  ย่อมเปี่ยมมารยาทของการพูดจากับคนทุกชั้น
อิอิ....ชมหมอนลาว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ต.ค. 09, 10:03
กฎหมายตราสามดวงเรื่อง พิสูจน์ด้วยวิธี ดำน้ำ หรือลุยเพลิง
เสภา ขุนช้างขุนแผนฉบับหอ ฯ  ได้อธิบายวิธี ดำน้ำไว้ละเอียด
แต่วิธีลุยเพลิงไม่ละเอียดเท่า

รางเพลิงนั้นยาวหกศอก  กว้าง ๑ ศอกลึกหนึ่งศอก

แนะนำให้เพื่อนๆอ่าน หนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภา กฎหมายตราสามดวง ไปด้วย
ฉบับที่ใช้อยู่ พิมพ์ ๒๕๓๗   ราคาเล่มละ ๑๘๐ บาท  ทั้งชุดมี ๕ เล่ม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 09, 17:09
ตามมาเป็นแม่ยกของพ่อพลายจันทร์ด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ
ขอขอบคุณคุณหลวงเล็ก  ที่สละแรงกาย แรงใจและเวลา มาเล่าเป็นวิทยาทาน
ขอบคุณคุณ wandee ที่มาเพิ่มพูนความรู้จากหนังสือเก่าหายาก อย่างสม่ำเสมอ
และขอบคุณท่านอื่นๆที่มาร่วมวง ให้ความรู้ในเรื่องนี้
กระทู้นี้จะเป็นของมีค่า  หาอ่านได้ยาก ต่อไปอีกนานตราบเท่าเรือนไทยยังอยู่ค่ะ

ด้วยความเคารพในเรื่องที่กำลังเล่าอยู่      ดิฉันจะไม่ต่อเรื่องของลาวในกระทู้นี้  แต่จะแยกออกไปต่างหากอีกกระทู้หนึ่ง
เพื่อไม่ให้เสียจังหวะเรื่องขุนช้างขุนแผน
ขอเชิญแวะไปต่อเรื่องลาวในกระทู้ใหม่ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2951.msg55617;topicseen#msg55617


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ต.ค. 09, 17:59
คุณหลวงคะ

เรียนถามนิดหนึ่งค่ะ  และขอความดิดด้วย


ทราบชื่อแม่ของศรพระยากับราดถะยาไหมคะ
คิดว่าคงเป็นนางเล็กๆของขุนศรีวิชัย


มีท่านผู้ใหญ่เคยเขียนไว้ว่า ศรพระยาเป็น้องของขุนช้าง


ดิฉันว่าศรพระยาทำตัวต่ำกว่าขุนช้างมาก  คือขับช้างให้
ไม่มีสิทธิมีเสียงในบ้านเลย


ในเสภาสำนวนเก่าสำนวนที่สองบอกละเอียดว่า

ประเดี๋ยวหนึ่งถึงเรือนศรพระยา                    เคหาใหญ่อยู่ประตูกลาง
นอนหลับด้วยกันกับภรรยา                        กลับหัวลงมาอยู่ข้างล่าง
เอาก้นเมียต่างหมอนแล้วนอนคราง               ดูกับขุนช้างก็คล้ายกัน



ราดถะยานี่แทบไม่ปรากฎที่ไหนเลย
น่าเสียดายมากนะคะ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 09, 18:28
มีอะไรสนุกหลายอย่างในกลอนที่คุณหลวงเล็กยกมา

ขอจงกราบทูลให้คิดไกล่เกลี่ย    ทั้งลูกทั้งเมียกระผมฉัน
ถ้าหลุดได้ไปข้างนอกออกได้นั้น   หลุดทั้งโทษทัณฑ์ไม่ติดไป
ทูลได้ดังนี้เป็นที่พึ่ง                  เงินตราหาบหนึ่งทูนหัวให้
เป็นความสัตย์ชัดจริงอย่ากริ่งใจ  ขอได้โปรดเถิดจะแทนคุณ

ครานั้นท่านท้าววรจันทร์          ว่าจริงจังอย่างนั้นหรือตาขุน
ข้าก็จะทูลความไปตามบุญ       เอาต้นทุนของแกออกนอกตะราง

ครั้นเวลากลางคืนก็ขึ้นเฝ้า       เป็นคราวทรงละครไม่ขัดขวาง(!!!!)
จึ่งถวายบังคมไม่ระคาง           พลางบังคมทูลพระทรงธรรม์

ตัวอักษรแดงในที่นี้ แสดงว่าการวิ่งเต้นให้ "สินน้ำใจ" หรือ "ใต้โต๊ะ" หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม   อยู่ในวัฒนธรรมไทย เป็นของธรรมดาเสียแล้วละมั้ง
คุณท้าวผู้สูงศักดิ์จึงไม่เห็นเป็นเรื่องแปลก   หมูไปไก่ก็มา     ไหนๆมาขอความช่วยเหลือ จะมามือเปล่าอย่างไรได้

ส่วนพระพันวษาในตอนนี้  น่าจะเป็นรัชกาลที่ ๒ มากกว่ารัชกาลที่ ๑  รู้สึกอย่างนั้นนะคะ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 09, 18:57
สงสัยที่ว่า ขรัวยาย หลวงแม่เจ้าเฒ่าแก่   เป็นคำเรียกผู้หญิงคนเดียวกัน
ขรัวยาย คือคำเรียกแม่ของเจ้าจอมมารดา มีหลานยายเป็นพระองค์เจ้า     หลวงแม่เจ้าเป็นคำเรียกหัวหน้าโขลนในเขตพระราชฐานชั้นใน   
คุณเฒ่าแก่  (บางครั้งสะกดว่าเถ้าแก่) เป็นตำแหน่งพนักงานในพระราชฐานชั้นใน

คนที่ลูกสาวมีบุญวาสนาเป็นเจ้าจอมมารดา   ยังทำงานเป็นหัวหน้าโขลนด้วยหรือคะ   ส่วนใหญ่ แม่ของเจ้าจอม หรือเจ้าจอมมารดา เป็นสตรีมีสกุล ภรรยาขุนนางกันทั้งนั้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ต.ค. 09, 09:00
ขอบคุณคุณเทาชมพูที่สนใจเรื่องประวัติพลายจันทร์ ที่ผมสรรมาเล่า  และรู้สึกยินดีมากที่ได้ทราบว่า มีหลายคนสนใจแม้จะไม่ได้มาแสดงความเห็นผ่านกระทู้นี้  สังเกตจากจำนวนครั้งที่มีคนเข้ามาอ่านกระทู้นี้เพิ่มขึ้น
คำถามของคุณเทาชมพูเรื่องเกี่ยวกับข้าราชการฝ่ายใน  ขออนุญาตไปค้นก่อน  เท่าที่ตอบได้ตอนนี้  ตำแหน่งฝ่ายในคงไม่มีระเบียบตายตัว  ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม  ขนาดเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อน เมื่อสิ้นรัชกาลนั้นแล้วหากยังรับราชการอยู่ก็อาจจะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นคุณท้าวนางในหรือหัวหน้าโขลนได้  ส่วนที่ว่าขรัวยายนั้น  เข้าใจว่า  เมื่อตอนมีครอบครัวก็กราบบังคมทูลลาไปเป็นข้าหลวงเรือนนอกอยู่กินกับสามี  พอสามีตาย ก็อาจจะได้กลับเข้ามารับราชการฝ่ายในอีกก็ได้  อันนี้สันนิษฐานนะครับ.

ส่วนที่คุณเทาชมพูเห็นว่าเป็นของสนุกนั้น  นั่นเป็นสิ่งที่ผมต้องการให้คนที่ได้อ่านสนใจโดยตรง และอยากได้ความคิดเห็นของคนอื่นๆ มาประกอบด้วย  อนึ่ง ที่ว่า "ส่วนพระพันวษาในตอนนี้  น่าจะเป็นรัชกาลที่ ๒ มากกว่ารัชกาลที่ ๑" ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น  ถ้าจะให้ดี ควรดูในพระราชกิจจานุกิจของรัชกาลที่ ๑ และ ๒  ด้วย

ส่วนคำถามของคุณWandee เรื่องชื่อแม่ของศรพระยากับราดถะยา  ที่ว่าเป็นน้องของขุนช้าง  ก็น่าจะเป็นนางเทพทอง  ส่วนว่าจะเป็นคนอื่นๆ ที่เป็นนางเล็กๆ ของขุนศรีวิชัย  อันนี้ยังไม่พบข้อมูลครับ  จริงตัวละครศรพระยากับราดถะยา มีบทบาทเล็กน้อยเท่านั้น การจะตามหาข้อมูลคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย  อันที่จริงถึงเราไม่ทราบที่มาของตัวละครนี้อย่างลึกซึ้ง ก็คงไม่น่ามีปัญหาในการอ่านทำความเข้าใจเนื้อเรื่องของเสภาขุนช้างขุนแผนหรอกครับ คุณ Wandee

หลายคนคงเคยอ่านเรื่องขุนช้างขุนแผนแต่ในรูปแบบกลอนเสภาหรือกลอนบทละครเท่านั้น  อันที่จริงมีเรื่องขุนช้างขุนแผนในเวอร์ชั่นกลอนแหล่ด้วย แต่เป็นบางตอนของเรื่องขุนช้างขุนแผน  สนุกดีเหมือน  ว่างๆ หลังจากเล่าประวัติพลายจันทร์แล้ว จะเอามานำเสนอให้อ่านกัน รับรองว่า อ่านมันพอๆกับเสภาทีเดียว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 15 ต.ค. 09, 12:29
อ่านที่ท่านเขียนนี่เหมือนอ่าน Reader's Digest ได้เนื้อความที่ค่อนข้างลึกซึ้งกว่าอ่านเอง อย่างครบถ้วน โดยไม่ต้องเสียเวลามาก ผมต่อต้านการหมูไป ไก่มา แต่เห็นถ้าจะไม่ไหว กระมังครับ เพราะ"คราบฝังลึก" ขอบพระคุณครับ
มานิต


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ต.ค. 09, 14:16
ติดตามกันต่อกับเสภาประวัติพลายจันทร์

ความเดิม  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีรับสั่งให้พระพิเรนทรเทพรีบชำระความพลายจันทร์ คงขวาน อุ่นไฟ ตีนายบัวลูกชายพระพรรณสมบัติตาย  หากปล่อยไว้ให้คดีค้างนานไป พระองค์จะปรับโทษพระพิเรนทรเทพกึ่งคนร้าย

พระพิเรนทรเทพรับพระราชโองการแล้วกราบบังคมลาออกมา  แล้วเรียกขุนรุดเพื่อแจ้งเรื่องที่มีรับสั่งถามความคืบหน้าเรื่องคดีตีคนตาย แล้งว่ามีรับสั่งว่า "ทรงรู้จักทักทายแต่ยายตา  รับสั่งว่าให้ส่งไปข้างใน" ผู้คุมก็ไปยังทิมดาบแจ้งให้ยายอ้นกับนางทองประศรีว่า บัดนี้มีรับสั่งให้ถอดทั้งสองแม่ลูกส่งเข้าวังใน ด้วยทรงพระราชวินิจฉัยแล้วทรงเห็นว่า ยายอ้นกับนางทองประศรีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความที่เกิดขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากโทษทัณฑ์ไป

ฝ่ายยายอ้นได้ยินดังนั้นก็ยินดีอย่างยิ่ง  แต่ทองประศรีกลับเสียใจด้วยกลัวว่าพลายจันทร์จะต้องลำบากอยู่ในคุก ดังความว่า

ยายอ้นยินดีจะมีไหน     ทองประศรีเสียใจไม่ว่าขาน
กลัวนายพลายจันจะกันดาร   แสนสงสารด้วยความรักหนักอุรา
ยิ่งสร้อยเศร้าเปล่าจิตจะจำจาก    น้ำตาพรากพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา
พี่สามคนจงอยู่เวทนา   น้องจะลาพี่แล้วล่วงลับไป
ถ้าแม้นอยู่ในวังเหมือนอย่างว่า   จะออกมาเห็นหน้าให้จงได้
หมากพลูบุหรี่มีอย่างไร   คงหาให้ส่งเสียทั้งสามคน.

ยายอ้นได้ยินลูกสาวคร่ำครวญเช่นนั้นก็นึกสงสารเด็กหนุ่มทั้งสาม  จึงปลอบว่า อุ่นไฟกับคงขวานแกอย่างหลาน  ส่วนพลายจันทร์แกรักอย่างลูก (อ้าว อย่างนี้ ลำเอียงนี่) ให้ทั้งสามอดทนสักหน่อย  อีกไม่นานความจริงของคดีก็คงประจักษ์ ตอนนี้เป็นคราวเคราะห์ อย่าทำการหาญหักอันใดไปก่อนจะเสียการ  ผุคุมเตือนยายอ้นกับนางทองประศรี ให้รีบเดินเข้า  โขลนจ่าเขามารับแล้ว ทองประศรีได้ยินดังนั้นก็ร้องไห้เดินตามยายอ้นมาที่ทิมดาบ แล้ว " ขุนรุดร้องเกนว่าเจ้าคุณให้หา  เรียกค่าถอดตรวนค่าฤชา  พิเรนทร์ว่าคราวนี้เสียทีจริง" พระพิเรนทร์คงจะเสียดายว่า  คนมั่งมีมาต้องคดีทั้งที  จะเรียกขูดรีดค่าในการศาลอะไรสารพัดค่าให้เต็มที่สักหน่อย  กลายเป็นว่ามีรับสั่งให้ปล่อยตัวส่งไปข้างในเสียนี่  ลาภที่จะได้ก็เลยหายวับ

กล่าวกลับมาที่ท้าววรจันทร์ได้กราบบังคมทูลเรื่องยายอ้นกับลูกสาวและได้ทราบว่ามีรับสั่งให้พระพิเรนทรเทพปล่อยตัวแล้วนำมาส่งให้ฝ่ายใน  ท้าววรจันทร์เห็นว่าเมื่อมีรับสั่งแล้วจะปล่อยไว้ช้านานจะเนิ่นช้า  โบราณว่าของได้ให้เร่งเอา  แม้นช้าเล่าก็จะเหลวเป็นเปลวฉาว  ต้องรีบรัดตัดความตามเรื่องราว  สาวเอายายอ้นแกต้นความ  แล้วคุณท้าวก็สั่งให้จ่านนไปหาพระพิเรนทรเทพเพื่อถามความเรื่องที่มีรับสั่งให้ส่งยายอ้นกับลูกสาวเข้ามาอยู่ฝ่ายใน

จ่านนพร้อมพวกโขลนรีบมาที่ทิมดาบของพระพิเรนทร์ แล้วแจ้งความตามที่คุณท้าวใช้มา แล้วให้พระพิเรนทร์รีบเอาตัวแม่ลูกทั้งสองมาส่งให้โดยเร็ว   พระพิเรนทร์สั่งให้ขุนแผลงสะท้านมาสั่งทันที  ขุนแผลงสะท้านรับคำสั่งแล้วเขียนหมายว่า
..............................      ว่ายายอ้นสองคนทองประศรี
ศักราชไม่เคลื่อนเดือนวันปี          ว่ามีรับสั่งส่งสองคน

ครั้นจดแล้วโขลนจ่าพาตัวไป       เข้ายังวังในไม่ขัดสน
ทองประศรีเป็นสาวบ่าวสามคน     ทั้งยายอ้นมารดามาด้วยกัน
จ่านนนำหน้าพาขึ้นเรือน             เตือนให้ไหว้หมอบขมีขมัน
จ่านนเรียนท้าววรจันทร์               ว่าพระพิเรนทร์นั้นมอบตัวมา.


คุณท้าววรจันทร์ได้เห็นหน้ายายอ้นก็ถามว่า 
..............................        ปลัดสนผัวแกอยู่ดูคูหา
แกกับนางทองทั้งสองรา               พากันไปเที่ยวดูละคร
จนเกิดความลามถึงตีกันตาย          ด้วยผู้ร้ายชิงลูกเข้าหลอกหลอน
เพราะลูกสาวและจึ่งฉาวได้ทุกข์ร้อน  จงผันผ่อนบอกผัวอย่าพัวพัน
แกรีบไปบ้านอย่านานช้า               ปรึกษาตาขุนอย่าหุนหัน
ความที่ว่าให้เสร็จในเจ็ดวัน             ถ้าพ้นนั้นแล้วจะปรับให้ยับเยิน
แต่ตัวทองประศรีอยู่นี่ก่อน             ออกนอกนครจะเหินห่าง
เผื่อมันสัตย์ในทีตีประเมิน              จะได้เดินตัวไปให้รอดตัว

ว่าแล้วยายอ้นก็ฝากลูกสาวไว้กับคุณท้าวแล้วแกกับนางบัวบ่าวทีติดตามมารีบเดินทางไปบ้าน เมื่อถึงบ้าน ปลัดสนเปิดประตูเห็นยายอ้นก็ดีใจดังได้ทิพสมบัติ จากนั้นปลัดสนก็ถามถึงทองประศรี  ยายอ้นแจ้งว่า

ยายอ้นภรรยาบอกสามี        ว่าบัดนี้รับสั่งไม่สงสัย
ให้ท้าววรจันทร์นั้นข้างใน     เอาตัวไว้ว่ายังข้องต้องคดี
แต่ตัวข้าให้มาสักเจ็ดวัน       ไปผ่อนผันที่ยังข้องทองประศรี
เร่งรัดจัดหาอย่าช้าที           ของก็มีอย่าเป็นเท็จให้เสร็จความ.

ย้อนกลับมาที่เจ้าหนุ่มทั้งสามที่ติดคุกอยู่  พระพิเรนทรเทพสั่งให้ขุนรุดรีบเอาตัวพลายจันทร์ คงขวาน อุ่นไฟมาไต่สวนเรื่องที่ไปตีนายบัวตาย  ขุนรุดเรียกผู้คุมมาสั่งว่า

ขุนรุดก็เรียกผู้คุมมา      เฮ้ยอย่าช้าบอกกันสิ้นทั้งหลาย
จงคุมสามคนมาศาลาราย    แยกย้ายอย่าให้อยู่เป็นหมู่กัน
ทั้งคาหลักปักไว้ดูให้เสร็จ    บอกว่าจะเสด็จสุทไธสวรรย์ (!!!!!!)
ทั้งเครื่องเคราครบจริงทุกสิ่งอัน   ดูสำคัยด้วยมันเป็นคนดี  (คนดี ในที่นี้ หมายถึงเป็นคนมีวิชาอาคมดี)

ผู้คุมได้ยินอย่างนั้นก็ชอบใจที่จะได้ลองของเจ้าหนุ่มทั้งสามคนสักที แล้วก็บอกว่า   บอกคงขวานอุ่นไฟไปทันที  แฮ้จันหนูคราวนี้ไม่รอดตัว  พลายจันทร์ได้ยินผู้คุมพูดอย่างนี้ก็หาได้พรั่นพรึงไม่ กลับหันมายิ้มกับเพื่อนทั้งสอง อย่างไม่กลัว ผู้คุมพาทั้งสามมาแล้วแยกถามกันทั้งสามคนไม่ให้ปนกัน.

พักก่อนครับ  คราวหน้าจะมาว่าด้วยตอนไต่สวนคดีความเรื่องนี้กันต่อ  เราจะดูวิธีการซักจำเลยของศาลรับสั่งสมัยก่อน  กะว่าจะลงเป็นกลอนเสภาทั้งหมดให้ได้อ่านกัน  ติดตามนะครับ.




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 09, 14:57
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์  สร้างในรัชกาลที่ 3
ถ้าอย่างนั้น   เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ 3  หรือคะ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ต.ค. 09, 16:40
 ดิฉันอ่านหนังสือเพื่อความบรรเทิงเป็นหลักค่ะ   อ่านเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนก็สงสัยอะไรต่อมิอะไร
พระพันวษาทัก นางทองประศรี  ตอนสร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ

พระองค์ทรงเห็นก็ตรัสทัก                              มันแก้มตอบฟันหักเป็นสองผม
เมื่อยังสาวไหล่ผายท้ายกลม                           น่าสงสารซานซมไปคลับคล้าย
เมื่อกระนั้นมันก็เป็นข้าหลวงเก่า                       กูนึกขึ้นมาเล่าก็ใจหาย
คิดถึงอ้ายขุนไกรให้เสียดาย                           ต้องรับอาญาตายแต่ก่อนมา


มีความสงสัยว่า ทองประศรีเป็นข้าหลวงมาก่อน  เพราะ ขุนไกรเป็นข้าหลวงเดิมหรือ

ข้าหลวงเดิมนี้มีความหมายมาก
พระยาที่มีทรัพย์สมบัติมหาศาล  มีญาติรับราชการฝ่ายในจนนับไม่ถ้วน
มีลูกเป็นนักเรียนน้ำเค็ม  มีญาติและเขยเป็นขุนนางระดับสูง

ติดอยู่ที่ไม่ได้เป็นข้าหลวงเดิมเท่านั้น   ความไว้เนื้อเชื่อใจจากราชสำนักก็ไม่เต็มเปี่ยม
ตำแหน่งเจ้าพระยาที่หวังไว้ก็ไม่มาสักที



เรื่องราดถะยานั้นจะว่าไม่สำคัญก็ว่าได้

แต่ดิฉันเป็นคนขี้สงสัยค่ะ

คุณคึกฤทธิ์  ใน ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่  ได้บอกว่า ศรพระยาเป็นน้องของขุนช้าง
ดิฉันว่าคนอย่างขุนไกรคงมีนังน้อยๆบ้างละนา


จมื่นศรียังมีนางเล็กๆที่เป็นมโหรีนับสิบคน(สำนวนครูแจ้ง)พระพิจิตรวานมาเป็นเพื่อนเจ้าสาวตอนแต่งงานพระไวย

พระพิจิตรจึ่งว่ากับพระหมื่นศรี                         เจ้าคุณได้ปราณีกับดีฉัน
พรุ่งนี้ซัดน้ำวันสำคัญ                                   ขอวานเมียน้อยท่านสักสิบคน
ด้วยเป็นสาวชาวในได้พบเห็น                          พอจะเป็นเพื่อนสาวกันสักหน
ได้หุ้มห่อกันไปนั่งฟังสวดมนต์                          ครั้นมากมายหลายคนค่อยอุ่นใจ

พระหมื่นศรีว่าได้ซีเป็นไรท่าน                          พรุ่งนี้ดีฉันจึ่งจะจัดให้
สาวๆพวกมโหรีมีถมไป                                 แล้วฉันจัดให้สักสิบคน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ต.ค. 09, 16:50
ได้หนังสืออนุสรณ์ นายนราภิบาล ๒๕๐๑ มาแล้วค่ะ

ค่าถ่ายเอกสาร ๕๓ บาท


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ต.ค. 09, 08:52
ขอแสดงความยินดีแก่คุณ Wandee ที่ได้ทำสำเนาหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายนราภิบาลมาอ่านแล้ว  ต่อไปผมคงไม่ต้องเล่าต่อแล้วกระมังครับ

อย่างที่เคยกล่าวไว้ก่อนจะเล่าประวัติพลายจันทร์ว่า  เนื้อเรื่องเสภาตอนประวัติพลายจันทร์นี้ จะช่วยเติมเต็มเนื้อหาและรายละเอียดของเสภาขุนช้างขุนแผนในตอนที่หอพระสมุดวชิรญาณได้ตรวจชำระไปแล้วให้สมบูรณ์มากขึ้น กรณีที่สมเด็จพระพันวษามีรับสั่งทักทองประศรีในตอนสร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟว่า ทองประศรีเคยเป็นข้าหลวงเดิมนั้น พิจารณาจากประวัติพลายจันทร์ที่เล่าไปแล้ว  ก็มีช่วงที่ยายอ้นกับทองประศรีได้เข้าไปอยู่ฝ่ายใน  จริงอยู่ว่า นั่นอาจจะไม่สามารถเรียกว่าเป็นข้าหลวง หรือคนรับราชการได้  แต่ก็นับว่าเคยเข้าไปอยู่ในฝ่ายใน  เราไม่ทราบแน่ชัดว่า ทองประศรีจะเข้าไปอยู่ในฝ่ายในนานเท่าใดจนกว่าคดีจะชำระเสร็จ  แต่ก็คงเป็นระยะเวลาหนึ่งพอที่คนในวังจะคุ้นเคยกันได้   

ส่วนว่าขุนไกรเป็นข้าหลวงเดิมหรือไม่นั้น ผมขอให้ติดตามเนื้อเรื่องพลายจันทร์ต่อไปคุณก็จะทราบ  คำว่าข้าหลวงเดิมนี้  ถ้าเอาความหมายกว้างๆ คือคนที่เคยรับราชการใกล้ชิดเจ้านายมาก่อน  ถ้าเป็นผู้ชายก็มักจะเป็นมหาดเล็ก  มหาดเล็กเหล่านี้จะมีหน้าที่รับใช้และตามเสด็จเจ้านายเสมอ  จึงได้เรียนรู้หลักปฏิบัติในราชสำนักและหลักราชการไว้มาก  เป็นธรรมดาที่พระมหากษัตริย์จะทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ผู้ที่รับราชการเป็นมหาดเล็กมา ได้มีโอกาสขยับขยายหน้าที่ไปสู่ตำแหน่งราชการอื่นๆ เพราะคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเฝ้าฯ ในเวลาเสด็จออกว่าราชการอยู่เป็นนิจ  ดูอย่างพลายแก้วและพลายงามเป็นต้น  นี่คือลักษณะการเข้าทำราชการสมัยก่อน  ไม่มีการป่าวประกาศรับสมัคร   ใครจะอยากให้ลูกหลานรับราชการ  ก็ให้พาลูกหลานไปฝากทำราชการกับข้าราชการผู้ใหญ่ที่รู้จักคุ้นเคยกัน  เมื่อรับราชการตามผู้ใหญ่ไปเฝ้าฯ เวลาเสด็จออกว่าราชการบ่อยๆ เข้าก็จะเรียนรู้ราชการได้เอง ว่าจะกราบบังคมทูลอย่างไร  ใช้ถ้อยคำราชาศัพท์อย่างไร จะจดหมายรายงานอย่างไร  ตลอดจนเรื่องต่างๆ อันพึงรู้ในราชการ  จากนั้น  หากผู้ใหญ่ท่านเห็นว่า ลูกหลานที่เขามาฝากคนใดดูมีความรู้ความชำนาญและมีวุฒิ ๔ ประการ ท่านก็จะกราบบังคมทูลขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งลูกหลานของเขาเหล่านั้นมียศตำแหน่งตามสมควรแก่ความรู้ความสามารถ   ในกรณีที่เป็นมหาดเล็กประจำพระองค์พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายที่ทรงรับราชการ  ก็จะได้รับพิจารณาให้ได้ดำรงตำแหน่งราชการสำคัญ เช่น ยกกระบัตรประจำเมืองต่างๆ และเจ้าเมือง เป็นต้น  ไม่แปลกที่บรรดาผู้มีอันจะกินสมัยก่อนจะพาลูกหลานไปฝากผู้ใหญ่ในราชการให้ช่วยรับเป็นเด็กฝึกงานโดยเฉพาะมหาดเล็ก  บางครั้งเขาดูขนาดว่า เจ้านายพระองค์ไหนที่ได้รับราชสมบัติต่อไป  คนก็จะพาลูกหลานไปทำราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้านายพระองค์นั้นมากเป็นพิเศษ.

ส่วนของคุณเทาชมพูที่ว่าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์  สร้างในรัชกาลที่ 3 ถ้าอย่างนั้น   เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ 3  หรือคะ?  ขอเวลาตรวจสอบข้อมูลตรงนี้ก่อนครับ 



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ต.ค. 09, 09:07
โอย...เล่าค่ะ   คุณหลวงต้องเล่า เพราะมุมมองของคนที่ชอบวรรณคดีแตกต่างกัน
มีคนอ่านอีกมากมายที่จะได้ประโยชน์


ถ้าคุณหลวงไม่บอกมา  โอกาสที่ดิฉันจะทราบว่ามี บทเสภาแทรกอยู่นั้นแทบไม่มีเลย
เพราะห่างไกลจากวงการนักวิชาการ  เป็นเพียงนักอ่านหนังสือเก่า


คนคอเดียวกันแท้ ๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ต.ค. 09, 09:22
ไปงานหนังสือมาเมื่อวานนี้ค่ะ

ได้หนังสือเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะสนใจประวัติการพิมพ์มาก


ดีใจที่เห็นคนอายุ ๒๐  กว่าๆสนใจหนังสือโบราณอย่างจริงจัง


เสภา ขุนช้างขุนแผน ยังเป็นขุมทรัพย์ ให้อ่านได้เรื่อย ๆ
ถ้ามี ท่านที่ใจรักทางนี้ และมีความรู้มานำทางให้บ้าง อย่างคุณหลวง
หนังสือของเราจะไม่สูญไป ต้องไปตามที่เยอรมัน อเมริกา และญี่ปุ่น เหมือนทุกวันนี้


ดิฉันปูเสื่อคอยคุณหลวงนะคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ต.ค. 09, 13:24
ตกลง ผมจะเล่าประวัติพลายจันทร์ต่อไปจนจบ

คุณเทาชมพูตั้งข้อสังเกตว่าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์  สร้างในรัชกาลที่ 3 ถ้าอย่างนั้น   เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ 3  หรือคะ?  ผมได้ตอบว่าขอเวลาตรวจสอบข้อมูลตรงนี้ก่อน

ผมได้ไปตรวจข้อมูลดูแล้ว ได้ความเกี่ยวกับพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ดังนี้

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ตั้งอยู่ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์  ตรงข้ามกับสนามไชยหน้าสวนสราญรมย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพลับพลาโถงด้วยเครื่องไม้ หลังคาไม่มียอด เรียกว่า พลับพลาสูง สำหรับเป็นที่ประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ในพระราชพิธีสระสนานใหญ่และการฝึกช้าง

ต่อมา ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี และพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์ กับเจ้าจอมหม่อมห้าม  โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระที่นั่งเป็นฝาก่ออิฐฉาบปูน หลังคาเปลี่ยนเป็นยอดปราสาท และพระราชทานนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระที่นั่งนี้เมื่อปี ๒๓๙๖ โดยเปลี่ยนเสาจากเสาไม้เป็นเสาปูนมีบัวหัวเสา พร้อมทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งนี้ใหม่ เป็น พระที่นั่ง
สุทไธศวรรย์


ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนพระทวารและพระบัญชรเป็นบานเกล็ดไม้และติดลูกกรงเหล็กหล่อลวดลายแบบตะวันตก นอกจากนี้ พระที่นั่งนี้เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีด้วย
(ข้อมูลจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม ๑)

ดังนั้นที่คุณเทาชมพูว่ามานั้น  ผมขอสันนิษฐานอย่างกว้างๆ ว่า เสภานี้น่าจะแต่งขึ้นระหว่างรัชกาลที่ ๓-๔ เพราะนามพระที่นั่งนี้เพิ่งมามีอย่างเป็นทางการในรัชกาลดังกล่าวครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 09, 14:00
ในรัชกาลที่ 3 เรียกว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์    ในรัชกาลที่ 4  ถึงเปลี่ยนเป็นพระที่นั่งสุทไธศวรรย์
ถ้าในเสภา มีชื่อ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ก็แน่นอนว่าแต่งในรัชกาลที่ 4   เพราะในรัชกาลที่ 3 ยังเป็นชื่อเดิมอยู่
ทำให้สับสนขึ้นมาว่า   ถ้าเป็นรัชกาลที่ 4  ข้อมูลนี้ก็จะไปขัดกับตอนที่กล่าวว่า

ครั้นเวลากลางคืนก็ขึ้นเฝ้า       เป็นคราวทรงละครไม่ขัดขวาง(!!!!)
จึ่งถวายบังคมไม่ระคาง           พลางบังคมทูลพระทรงธรรม์

รัชกาลที่ 4 ท่านไม่ได้พระราชนิพนธ์บทละคร จนเรียกได้ว่า "ทรงละคร" 
ข้อความในกลอน  มีนัยยะว่าการ"ทรงละคร" น่าจะเป็นพระราชกิจที่ทรงปฏิบัติในตอนกลางคืนบางคืน   ไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษ  เกิดขึ้นครั้งเดียวในรัชกาล
พระราชกิจในรัชกาลที่ 2  น่าจะเข้าข่ายนี้มากที่สุด   ส่วนรัชกาลที่ 1 ก็มีเหมือนกัน  แต่พระราชนิพนธ์บทละครอย่างรามเกียรติ์   คือประชุมกวีมาแต่งเสียมากกว่าทรงเอง
รัชกาลที่ 3 ไม่โปรดการละครเอาเลย  ละครย้ายออกจากในวังมาเล่นกันตามบ้านขุนนาง  รัชกาลที่ 4 เองโปรดวิทยาการแบบตะวันตกมากกว่า

หรือว่าเสภาแต่งในรัชกาลที่ 4 แต่ย้อนไปใช้บรรยากาศของรัชกาลที่ 2  ที่กวีรู้จักดีมาก่อน   ถ้าอย่างนั้นกวีต้องอายุมากเอาการ      เพราะระยะเวลาจากปลายรัชกาลที่ 2 กว่าจะมาถึงรัชกาลที่ 4  ก็เกือบ 30 ปี


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ต.ค. 09, 16:19
ในเมื่อมีจุดที่ทำให้สันนิษฐานเวลาแต่งที่แน่นอนไม่ได้ เนื่องจากหลักฐานจากเสภาเองยังขัดกันอยู่เช่นนี้
มันน่าจะมีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เช่น สมมติว่า คนแต่งเสภาอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓-๔
ซึ่งเป็นสมัยที่พระที่นั่งพลับพลาสูงเปลี่ยนนามมาเป็นพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ตามลำดับแล้ว
(ในรัชกาลที่สอง เรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า สุวรรณพลับพลา กรุณาดูในบทละครในเรื่องอิเหนาตอนเปิดเรื่อง)
ส่วนที่ว่า ครั้นเวลากลางคืนก็ขึ้นเฝ้า       เป็นคราวทรงละครไม่ขัดขวาง(!!!!)
จึ่งถวายบังคมไม่ระคาง           พลางบังคมทูลพระทรงธรรม์
น่าจะหมายถึง รัชกาลที่ ๒ ตรงนี้ ใช่ ถ้าหากว่าคนแต่งอ้างเอาพระราชกิจของรัชกาลที่ ๒ ดังกล่าวนี้มาเป็นพระราชกิจประการหนึ่งของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาในเสภาตอนนี้ อาจจะเป็นเพราะประทับใจการทรงละครของรัชกาลที่ ๒ จึงนำมากล่าวไว้ในเสภา  เหมือนที่สุนทรภู่ทำอย่างนี้ในเสภาขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม  ซึ่งไม่แน่ว่า สุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือหลังจากรัชกาลที่ ๒ ไปแล้ว  แต่ตรงนี้ไม่ใช่หลักฐานที่อาจจะชี้ชัดได้ว่า เสภาประวัติพลายจันทร์แต่งสมัยรัชกาลที่ ๒  ยังมีความเป็นได้อื่นๆ อีก เพราะเราไม่เห็นต้นฉบับตัวเขียนที่นายนราภิบาลนำไปพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ๒๔๖๗  ว่าต้นฉบับเขียนว่า สุทธาสวรรย์ หรือ สุทไธศวรรย์  ถ้าต้นฉบับเขียนสุทธาสวรรย์ แต่นายนราภิบาลคัดลอกแก้ใหม่เป็นสุทไธศวรรย์  ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเสภานี้แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ถ้าต้นฉบับเขียนสุทไธศวรรย์  และนายนราภิบาลคัดลอกมาตามนั้นโดยไม่แก้ ก็สันนิษฐานว่าเสภานี้แต่งสมัยรัชกาลที่ ๔  แต่ถ้าเป็นว่า ต้นฉบับที่นายนราภิบาลคัดลอกมาเป็นฉบับคัดลอกมาอีกชั้นหนึ่งหรือหลายชั้นก็ตามแต่  อาจจะมีการแก้ไขชื่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นสุทไธศวรรย์ในการคัดลอกสมุดไทยชั้นไหนก็ไม่ทราบได้ ซึ่งนายนราภิบาลเองอาจจะไม่ทราบ  เมื่อมีความเป็นไปได้หลายทางอย่างนี้  เราน่าจะพอสันนิษฐานกว้างๆ ได้ว่า เสภานี้น่าจะแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นไป



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ต.ค. 09, 16:22
ผู้ติดตามประวัติพลายจันทร์กรุณารออ่านวันจันทร์นะครับ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 20:54
สวัสดีทุกท่านครับ ...

ปรกติเข้ามาอ่านอย่างเดียว ด้วยภูมิรู้นั้นน้อยนิด
แต่วันนี้ มีพลังจิตแรงกล้า ให้ผมมาโพสต์รูปดูกันเล่นๆจำเริญตาครับ

...


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 20:55
โอย ... ใหญ่โตโอฬาริกเกินไป ...


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ต.ค. 09, 21:51
โอ๊ะ...รูปนี้พอจำได้

อยู่ที่ไหนหนอ   สร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ   สาวใช้คือนางไหม หรือนางสัง
ในความเป็นจริงแล้วผู้ไม่เกี่ยวข้องจะเข้าไปอยู่ใกล้ ๆไม่ได้ เพราะอาจใช้คาถาปกป้อง

     สร้อยฟ้ากระดากอยู่ปากราง                      เปลวไฟร้อนนางยืนจดจ้อง
ให้ครั่นคร้ามกลัวไฟจะไหม้พอง                        แข็งใจเยื้อย่องซมซานมา


พอจะมีรูปพระไวยขุนช้างดำน้ำพิสูจน์ไหมคะ คุณ TIRAV


เป็นฉบับร้อยแก้วของท่านผู้อาวุโสรายหนึ่งที่ตั้งโรงพิมพ์ที่บ้านด้วย

ขอค้นตู้หนังสือแป๊บหนึ่งค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:02
สวัสดีคุณ Wandee ครับ

รูปพระไวย-ขุนช้าง ดำน้ำพิสูจน์นี้ ผมไม่มีเลยครับ

ขอสารภาพตามตรงว่า ภาพข้าวต้น ได้อาศัยไปถ่ายเอาจากร้านหนังสือเก่า
ด้วยความอนุเคราะห์ของผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งครับ
(ถ้าไม่ยังงั้น ป่านฉะนี้คงโดนไล่ออกจากร้านไปแล้ว ... ของซื้อ ของขาย นี่นา)

ตัวเล่มเต็มๆ คือหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระตีรณสารวิศวกรรม (ตรี ตีรณสาร) ปี ๒๕๑๖ ครับ

คุณ Wandee และท่านอื่น พอผ่านหูผ่านตาไหมครับ

^___________________^


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ต.ค. 09, 22:24
สงสัยคุณพระท่านจะเขียนภาพเองแล้วค่ะ

ท่านเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ปี ๒๔๕๗  ไปเรียนที่แมนเชสเตอร์
(เรื่องชื่อเมืองต่างๆในอังกฤษมีคนหน้าแตกมาหลายรายแล้วค่ะ  นักแปลกลัวมากต้องถามกันไปมา)
ท่านเรียนวิศวกรรมศาสตร์

เมื่อกลับเมืองไทยแล้วเป็นอาจารย์ คณะวิซวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ย่อเลยนะคะ

ท่านเป็นปลัดกระทรวงธรรมการ
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ร.ม.ต.กระทรวงศึกษาธิการ

ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เห็นความงามของวรรณคดีสมัยนี้น่าจะหาตัวยากแล้วนะคะ


มีรูปอื่นๆอีกไหมคะ

ขอบคุณที่มาช่วยกันคุยค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:32
ขอบคุณสำหรับข้อมูลและความรู้เช่นกันครับ

ขอลงภาพประกอบเท่าที่ได้ทำการถ่ายมานะครับ
เริ่มจากหน้าปกครับ เสียดายว่า เงาของตัวอักษรวับแวมไปหน่อย เพราะพิมพ์ด้วยสีทอง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:35
พระตีรณสารวิศวกรรม (ตรี ตีรณสาร)

ผู้สมัครแสวงหาความรู้ทางวรรณคดีไทยที่น่านับถือ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:40
ภาพประกอบ ในขุนช้างขุนแผนตอนต่างๆ ดังนี้

๑.ทำขวัญพลายแก้ว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:41
๒.ขุนช้างลวงนางศรีประจัน ว่าพลายแก้วถูกลาวแทงตาย

(แหม ผู้ร้ายเสียจริง)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:43
๓.ขุนแผนเข้าห้องแก้วกิริยา

(ไม่คลาสสิก เหมือนตอนฟันม่านเลย ... )


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:44
๔.ขุนแผนประจัญบานกับแม่ทัพเชียงใหม่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:45
๕.พิธีแต่งงานพระไวยกับนางศรีมาลา



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:47
มีแผนที่ ที่ตั้งเมือง ในท้องเรื่อง

(อาจจะไม่ถูกทั้งหมด ... เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่มีกระทู้ฉะนี้ ขึ้นมาถกเถียงกันดอก ... จริงไหมครับ)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:47
ลืมแนบแผนที่ครับ แหะๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 22:50
หากพิจารณาตามภาพประกอบ ก็จะเห็นแนวคิดของผู้เขียนเรื่องการแต่งกาย , ประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวัน
และความเชื่อต่างๆ ตามท้องเรื่อง

นับว่าน่าสนใจทีเดียวครับ

แต่หากจะนับเอาความสุนทรียะ ของการเสพภาพประกอบแล้ว

งานของครูเหม เวชกร ... ดูทีจะเย้ายวนใจกว่ากระมัง ?

^___________________________^


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ต.ค. 09, 23:15
รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ คลาดเคลื่อน 

พลายงามใช้ดาบสองมือ

ขุนแผนขับขี่ช้างค่ะ


ง้าวยาวมากยังจะทวนประลองยุทธที่อัศวินสู้กัน  อิอิ


ก็น่าดีใจที่หลายคนสนใจเรื่องขุนช้างขุนแผน  จนนำมาสนทนากันได้
คุณหลวงเล็กที่นับถือหายไปหลายวัน

ความรู้ที่คุณหลวงเล็กนำมาก็เป็นความรู้ใหม่
เปิดทางให้ค้นคว้าเพิ่ม

ดีใจหาใดปาน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 20 ต.ค. 09, 23:20
พูดถึงเรื่องพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง

ต้องไปคว้า กฏหมายตราสามดวง มาอ่านประกอบ

เครื่องพิธีและค่ากำเหน็จเจ้าพนักงาน มากมายเหลือเกิน
ถ้าจมน้ำ ไฟคลอกตาย ... จะคุ้มกันไหมนี่

อิอิ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ต.ค. 09, 23:43
ตอนขุนช้างติดคุก   นางวันทองขนเงินไปเป็นกระบุง
พัสดีเรียกพี่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ต.ค. 09, 09:01
หายไปหลายวัน กลับแล้วครับ บังเอิญว่ามีอุปัทวเหตุนิดหน่อยครับ  วันจันทร์เลยไม่ได้มาต่อกระทู้ตามสัญญา

เรื่องภาพวาดเรื่องขุนช้างขุนแผนในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพคุณพระตรีรณสารฯ เคยเห็นเหมือนกัน
เข้าใจว่า วาดขึ้นตามความเข้าใจ หนังสือเล่มนี้เห็นบ่อยถึงบ่อยมาก  แต่ผมยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อมาครอบครองสักที
ประเด็นรายละเอียดของภาพวาด เรื่องง้าวที่ยาวมากนั้น  คงวาดเอาตามที่เคยเห็น ที่ผมเคยเห็นมาง้าวก็ยาวอย่างนี้แหละครับ  ถ้าสั้นนักก็ฟาดฟันไม่ถึงศัตรู  แถมจะเสียท่าศัตรูที่มีง้าวยาวกว่าด้วย ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงระยะห่างของช้างม้าด้วยว่า  ยืนอยู่ห่างกันขนาดไหนเวลาเข้าต่อสู้  และที่ยาวก็เพื่อให้มีน้ำหนักมากพอที่เหวี่ยงคมลงตัดให้ขาดหรือลึกมากที่สุดในครั้งเดียว  ไม่เหมือนดาบที่จะฟันกี่ครั้งก็ได้เพราะเป็นอาวุธที่ใช้ในระยะประชิดตัว

ภาพวาดพิสูจน์ดำน้ำระหว่างขุนช้างขุนแผน เคยเห็นนะ แต่จำชื่อหนังสือไม่ได้ ขอค้นก่อน  สมัยก่อนถ้าสู้คดีจนถึงขั้นสาบานพิสูจน์ตัวนั้น  แสดงว่า  ไม่สามารถค้นหาหลักฐานพยานยืนยันคำให้การของฝ่ายจำเลยและโจทก์ได้แล้ว    ที่สุดแล้วจะพิสูจน์ว่าใครให้การจริงหรือเท็จก็ต้องพิสูจน์ด้วยกันอย่างนี้  แต่คงไม่ได้พิสูจน์เช่นนี้กันบ่อยมากนัก  คงใช้เฉพาะคราวที่จำเป็นที่สุดจริงๆ  คู่โจทก์จำเลยถ้าไม่จำเป็นจริงก็คงไม่อยากพิสูจน์เหมือนกัน  เพราะถ้าพลาดขึ้นมาจะถูกปรับโทษ  ยิ่งถ้าฝ่ายคนถูกแพ้พิสูจน์แล้วยิ่งน่าเจ็บใจ  เพื่อไม่ให้ใครมาอ้างขอพิสูจน์สาบานพร่ำเพรื่อเพื่อรังแกคนอื่น   ถึงต้องตั้งราคาค่าธรรมเนียมไว้ถียิบไว้อย่างนี้  บอกแล้วใครขึ้นโรงศาลก็มีแต่จะต้องเสียเงินทั้งนั้น  และเงินเหล่านี้แหละเป็นค่าตอบแทนของคนที่ทำงานในโรงศาลและของราชการ  อ้อ การพิสูจน์สมัยก่อน  เขาเอาตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายนะครับ  ไม่ใช่ว่าทางการบังคับให้พิสูจน์  เดี๋ยวจะเข้าใจผิด



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ต.ค. 09, 13:18
เสภาประวัติพลายจันทร์ ความเดิมตอนที่แล้ว พระพิเรนทร์ให้ขุนรุดและผู้คุมไปนำตัวพลายจันทร์ อุ่นไฟ และคงขวานจากที่คุมขัง มายังที่ศาลาราย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ด้วยพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะเสด็จออกทอดพระเนตรการพิจารณาคดีวิวาทตีนายบัวและพวกตายที่วัดแค

ครานั้นพระพิเรนทร์ต้นรับสั่ง           มานั่งศาลาขมีขมัน
ให้เรียกเจ้าคงขวานเข้ามาพลัน       เสมียนนั้นก็คอยจดถ้อยคำ
พระพิเรนทร์ปลอบถามเจ้าคงขวาน   เจ้าให้การกับข้าอย่าถลำ
จงบอกจริงเถิดจะเลี้ยงให้เที่ยงธรรม  มาทนกรรมทำไมไม่ต้องการ
จะได้กราบทูลให้เจ้าได้ดี            พ่อเจ้านี่หกเหล่าเผ่าทหาร
ได้ชื่อเสียงเรียงนามไปตามปราณ   วงศ์วานของเจ้าข้าเข้าใจ
บิดาเจ้าเขาก็เห็นเป็นเศรษฐี          มั่งมีเงินทองเป็นไหนไหน
เจ้าจะทำทุจริตก็ผิดไป                 ข้าก็ไม่เชื่อเขาบอกเจ้าจริง
ว่าขรัวคงปลงผีมีละคร                 เจ้าไปก่อนหรือไปดูพวกผู้หญิง
ทองประศรีเป็นไรจึงได้วิ่ง             หรือเจ้าตีเอาอ้ายบัวหัวแตกตาย
ถึงเจ้าทำโทษกรรมก็ไม่มี             ข้านี้จะห้ามให้ความหาย
แต่เรื่องอ้ายเมืองขโมยควาย         เรื่องผู้ร้ายแล้วยังเลิกด้วยฤทธิ์เรา
ถ้าข้าถามบอกความแต่สัตย์ซื่อ      อย่าดึงดื้อไม่ดีดอกหนาเจ้า
จงบอกตามความหมดอย่าปดเรา    ถ้าจริงเล่าจงรับอย่าร่ำไร ฯ

เป็นอย่างไรบ้างครับ  โวหารการไต่สวนของพระพิเรนทรเทพในฐานะผู้พิพากษาศาลรับสั่ง  ทั้งปลอบทั้งขู่เอาชั้นเชิงเข้าล่อผู้ต้องหา  ผู้อ่านเริ่มใจอ่อนตามพระพิเรนทร์บ้างแล้วหรือยัง  ถ้าใจอ่อนแล้วรับสารภาพไปได้เลย  แต่คงขวานไม่ใจอ่อน ให้การไปว่า

ครานั้นตัวยงเจ้าคงขวาน             ว่าขอประทานตรงนี้จะทำไฉน
เป็นยามเคราะห์จำเพาะโทษภัย     เขาจงใจเจาะจำว่าทำจริง
ความก็สมเพราะกระผมไปเที่ยวเล่น  แต่ไม่เห็นได้ดูพวกผู้หญิง
เห็นจันหนูอุ่นไฟมันไล่ลิง            กระผมวิ่งอยู่ทั้งสามตามหลังวัด
ละครที่ไหนมิได้ดู                      เล่นอยู่ทั้งสามเป็นความสัตย์
ไม่ได้ทุบได้ตีดังมีชัด                 แต่เป็นคฤหัสถ์สึกเสียสักสิบวัน
อยู่กับวัดมิได้ไปอยู่บ้าน             การทั้งนี้จริงทุกสิ่งสรรพ์
มิได้ตีอ้ายบัวตัวสำคัญ                เป็นสัตย์ธรรม์ไม่เห็นได้เอ็นดู
ถึงจะตีให้ตายจนหวายขาด         ด้วยสามารถความสัตย์ยังชัดอยู่
ถ้าจริงตีมิให้ความนั้นลามวู         ก็จะสู้รับคำว่าทำตาย ฯ

เอาล่ะ  คงขวานก็มีโวหารไม่แพ้กัน  แถมยังยินดีรับโทษด้วย  พระพิเรนทร์เราจะว่าอย่างไรต่อ

พระพิเรนทร์ปลอบถามความอ้ายคง    มันเก่งกวดยวดยงนี่ใจหาย
พูดจากล้าหาญชาญชาย                  ตรวนหวายขื่อคาว่าไม่กลัว
แล้วจันหนูอุ่นไฟก็ให้การ                  มันดื้อด้านเหมือนกันคนสั่นหัว
จะเล้าโลมเอาใจไม่พันพัว                ปฏิเสธความชั่วทั้งสามคน
อุส่าห์ลอบปลอบถามถึงสามครั้ง        มันก็ยังยืนคำซ้ำทุกหน
มิได้มีพิรุธจะสุดทน                         จะต้องวนติดไม้ให้มันเจ็บ
หลอกหลอนล่อลวงดูท่วงที              แล้วจะขยี้เร่งรีบเข้าบีบเล็บ
ติดขมับคับเน้นให้เป็นเหน็บ              แล้วจะเก็บความเห็นไปเป็นสัตย์
อ้ายรุ่นหนุ่มอย่างนี้คงมีเพื่อน            จะต้องเตือนถามไถ่ให้มันซัด
ถ้าสามคนทนนิ่งจริงจริงชัด              ถ้าไม่ได้แล้วจะมัดให้มันรับ
แล้วเรียกขุนรุดกับขุนแผลง              เอาไปแย้งผูกถามตามฉบับ
แล้วกระซิบสอบสวนทวนสำทับ         ไม่ขยายหวายขยับสักห้าที
ถ้าดื้อดึงถึงแต้มแถมให้ถ้วน              สอบสวนทั้งสามถามเสียดสี
ข่มขู่ถูคร่าอย่าปรานี                       เฆี่ยนตีติดไม้อย่าได้เว้น ฯ

(กลอนข้างต้นนี้มีบางวรรคที่ลงด้วยเสียงวรรณยุกต์ผิดแปลกจากกลอนที่แต่งในสมัยหลังอยู่  แต่การขับเสภาสมัยก่อนผู้ขับอาจจะหลบเสียงหรือขับให้เสียงฟังราบรื่นไปได้กระมัง   ลักษณะเช่นนี้เคยพบในกลอนบทละครเก่าๆ อยู่บ้างเหมือนกัน)

ขุนแผลงขุนรุดรับคำสั่ง               ไม่ยั้งเรียกมาขมีขมัน
ใส่คาถามความเข้าพร้อมกัน         ก็ยืนคำซ้ำมั่นไม่พรั่นกลัว
แล้วลงหวายหลายทีก็มิเจ็บ          ซ้ำบีบนิ้วตอกเล็บติดไม้หัว
หน้าชื่นยืนคำไม่ดำมัว                 ทั้งตัวไม่มีราคีเลย
จะเฆี่ยนตีอย่างไรก้ไม่ดิ้น             เหมือนทำหินทำผาทำหน้าเฉย
บีบนิ้วเหมือนไม้ใจเสบย               อ้ายคงขวานว่าเฮ้ยไม่หายคัน
ทำเล่นเช่นนี้มันดีจริง                  ทำผู้หยิงเห็นจะกลัวจนตัวสั่น
กูผู้ชายทั้งสามไม่คร้ามครัน          มาทำเล่นเช่นนั้นไม่ถึงใจ
เอาพะเนินเชิญมาห้าหกเล่ม          แล้วอย่าเอาเข็มเอาค้อนคอนไม่ไหว
เอามาทำดูเล่นก็เป็นไร                คงจะได้ดูงามอ้ายสามคน ฯ

เป็นอันว่า  ขุนแผลง(ชื่อเต็ม ขุนแผลงสะท้าน)กับขุนรุดเอาทั้งสามคนไปทรมานด้วยสารพัดวิธีตามจารีตนครบาล
จารีตนครบาลในการสอบสวนผู้ร้ายเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมในการพิจารณาคดีของศาลสมัยก่อน  การทรมานผู้ร้ายก็เพื่อให้ผู้ร้ายยอมคายความจริงเกี่ยวกับคดี เช่น สถานที่ที่เอาสิ่งของที่ลักไปซ่อนไว้  ผู้สมรู้ร่วมคิดวางแผน  ผู้ร่วมกระทำความผิด ตลอดจนคนบงการว่าจ้างให้ทำ  เป็นต้น  อาจจะดูว่าโหดร้าย  แต่ก็เป็นวิธีเลือกใช้ก็ต่อเมื่อผู้ร้ายไม่ยอมให้การ  หรือให้การแต่บางส่วนปิดบังบางส่วนไว้ เป็นต้น เมื่อผู้ร้ายทนทรมานไม่ได้ก็จะบอกความจริง  ทั้งนี้ การทรมานแบบนี้  โดยมากมักทำกับผู้ร้ายที่เป็นชาย เพราะผู้ร้ายชายมักเป็นมีวิชาอาคมคงกระพันดี  มีน้ำอดน้ำทนมาก  ผู้ร้ายหญิงแค่เฆี่ยนถามก็คงคายหมด  การทรมานผู้ร้ายตามจารีตนครบาลเช่นนี้ มีทั้งดีและข้อเสีย  ข้อเสียมีมาก เช่น บางทีผู้ร้ายทนเจ็บไม่ไหวก็ให้การซัดทอดคนอื่นๆไปส่งๆ หมายให้พ้นความผิด  อันนี้ก็แย่ ความจะยาวไปอีก เสียเวลาเปล่า  บางทีทรมานผู้ร้ายมากแล้วแต่ผู้ร้ายไม่ยอมให้การซัดทอดใครจนกระทั่งผู้ร้ายทนเจ็บไม่ไหวตายคาเครื่องทรมานก็มี และอีกประการหากเกิดว่า  ผุ้คุมมีคนที่ไม่ชอบไปกระซิบให้ผู้ร้ายซัดทอดเพื่อให้ทุเลาโทษทัณฑ์ก้พลอยลำบากผู้อื่นอีก  เมื่อเป็นเช่นนี้  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีประกาศยกเลิกการพิจารณาคดีความด้วยวิธีจารีตนครบาลดังกล่าว  ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับยุดสมัยและชาติตะวันตกจะได้ไม่ดูหมิ่นว่าคนไทยมีนิสัยป่าเถื่อน (ประกาศนี้ลงในราชกิจจานุเบกษาด้วย  ลองไปเปิดหาดูได้)  ส่วนวิธีทรมานผู้ร้ายสามารถอ่านได้จากกฎหมายตราสามดวงครับ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ต.ค. 09, 15:59
สมใจที่รอคอยเลยค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 09, 19:14
อ้างถึง
(กลอนข้างต้นนี้มีบางวรรคที่ลงด้วยเสียงวรรณยุกต์ผิดแปลกจากกลอนที่แต่งในสมัยหลังอยู่  แต่การขับเสภาสมัยก่อนผู้ขับอาจจะหลบเสียงหรือขับให้เสียงฟังราบรื่นไปได้กระมัง   ลักษณะเช่นนี้เคยพบในกลอนบทละครเก่าๆ อยู่บ้างเหมือนกัน)

เคยอ่านกลอนบทละคร สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น    มาจากฉบับตัวเขียนในหอสมุด   ไม่ได้ตีพิมพ์
พบว่าสมัยนั้นเสียงวรรณยุกต์ไม่ลงตัว อย่างที่เรารู้จักกัน
วรรคสุดท้ายของกลอนบางบท   ลงท้ายด้วยเสียงจัตวาก็มี    วรรคที่สองลงท้ายด้วยเสียงสามัญก็มีค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ต.ค. 09, 22:04
จุ๊ปากเล็กน้อยเมื่อดูรูป  ขุนแผนเข้าห้องแก้วกิริยา

ดูขุนแผนด้านหลังแก่ล่วงหน้าไปหน่อย 

อย่างไรก็ขอชมว่า ท่านผู้วาด  เก็บรายละเอียดได้มาก


พิศดูเครื่องห้องลอองงาม                       ขันน้ำตั้งพานกระบวยลอย
(สำนวนเก่าที่ ๒)

ในรูปมีจอกลอยแทน

เคยคุยกับท่านผู้สนใจว่า  อ่างล้างหน้าใบไม่เล็กนา
ตื่นเช้าก็ล้างหน้าบ้วนปาก   ทางหน้าต่าง   ใช้น้ำในอ่างที่ลอยกลีบดอกไม้หอม
ลูบเนื้อลูบตัวทาน้ำอบไทย



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ต.ค. 09, 09:01
ภาพขุนช้างกับขุนแผนดำน้ำพิสูจน์  ผมเพิ่งไปค้นได้มาสองภาพ  และขออภัยที่ผมไม่มีความสามารถพอที่จะเอาภาพที่อ้างนี้ให้ทัศนาได้  เอาเป็นว่า เดี๋ยวจะบอกชื่อหนังสือที่ปรากฏภาพขุนช้างกับขุนแผนดำน้ำพิสูจน์ให้ไปลองค้นหาดู  คาดว่าคงจะเป็นหนังสือที่หาได้ไม่ยากนัก

ภาพแรก เป็นภาพวาดบนปกหนังสือ ขุนช้าง-ขุนแผน เล่ม ๓ ขององค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์จำหน่าย เมื่อ ๒๕๓๓ เล่มปกสีแดงชมพู คนวาดภาพลงชื่อไว้ว่า อดุลย์  ลักษณะภาพ  เป็นภาพขุนช้างกับขุนแผนกำลังดำน้ำ โดยเกาะหลักลำไม้ไผ่คนละลำ  ขุนช้างอยู่ด้านซ้าย นุ่งผ้าสีน้ำเงิน เกาะลำไม้ไผ่อยู่เหนือจากพื้นดินใต้น้ำประมาณ ๑ ปล้องครึ่ง  ส่วนขุนแผนอยู่ด้านขวา นุ่งผ้าแดง มีผ้าประเจียดแดงผูกที่แขนซ้าย  นั่งคุกเข่าอยู่ที่พื้นดินใต้น้ำเอามือจับหลัก และเอาเข่าหนีบหลักไม้ไผ่ไว้  ในภาพมีเต่าคลานที่พื้นดินด้วย ๒ ตัว เล็กหนึ่งตัว ใหญ่หนึ่งตัว.(เคยไปดูหนังสือที่ศึกษาภัณฑ์ราชดำเนิน  ยังเห็นมีหนังสือเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับนี้ขายอยู่ ผู้ใดสนใจไปหาไปหาซื้อได้ ราคาไม่แพง ๑ ชุด มี ๓ เล่ม จบ) ภาพนี้ให้รายละเอียดน้อยกว่าที่เสภากล่าวถึง

ภาพต่อมา เป็นภาพวาดสีน้ำของทวีพร  ทองคำใบ  อยู่ในหนังสือ กฎหมายตราสามดวง : หน้าต่างสังคมไทย (พิมพ์เมื่อ ๒๕๔๙)หน้า ๕๓ เป็นภาพการต่อพิสูจน์โดยการดำน้ำ   โดยอาศัยข้อมูลและจินตนาการจากเสภาขุนช้างขุนแผน  ภาพนี้วาดละเอียดมาก ลักษณะภาพเป็นภาพขุนช้างกับขุนแผนลอยคอเหนือผิวน้ำ ทั้งสองเกาะอยู่ที่ไม้ที่ปักอยู่ในน้ำคนละหลัก  ขุนแผนอยู่หลักด้านซ้าย ขุนช้างอยู่หลักด้านขวา ที่หัวหลักมีผ้าขาวผูกไว้ มีทหาร ๒ คนแต่งชุดแดงอย่างชุดทหารเกณฑ์แห่ในกระบวนพยุหยาตรา สวมหมวกทรงประพาส (?) ทั้งสองคนถือไม้ไผ่ลำเล็กยาวยืนบกฝั่ง ปลายไม้ไผ่พาดอยู่ที่บ่าด้านซ้ายของขุนช้างขุนแผน ไม้นี้เป็นไม้ที่เจ้าหน้าที่ใช้กดให้ทั้งสองดำลงไปในน้ำ  บนฝั่งยังมีทหารอีก ๓ คนแต่งชุดแดงใส่หมวกแดงเหมือนกัน ทหารคนหนึ่งยืนอ่านโองการดำน้ำ ด้านหน้าทหารคนที่อ่านโองการมีเครื่องกระยาสังเวยและบายศรีตั้งอยู่ ด้านหลังทหารไปมีชาวบ้านหลายคนที่มามุงดูการดำน้ำพิสูจน์ของขุนช้างกับขุนแผน  ภาพนี้ดี แต่ติดใจตรงทหารแต่งชุดแดงซึ่งเป็นชุดที่แต่งสำหรับกระบวนแห่  เรามักเห็นทหารในละครจักรๆวงศ์ๆ สมัยนี้แต่งแบบนี้  ความเป็นจริงในเวลาปกติ ทหารสมัยอยุธยาน่าจะไม่ได้แต่งกายเช่นนี้  แต่จะแต่งกายอย่างไรคงต้องไปหารายละเอียดต่อ  กระนั้นก็นับว่าเป็นภาพที่ดีมาก.

ถ้าใครหาภาพได้ฝากเอามาลงด้วยนะครับ  ผมด้อยฝีมือ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ต.ค. 09, 12:41
คิดว่าขุนช้างและพระไวย นุ่งขาว ค่ะ   ตาม กฎหมายตราสามดวง



ผู้ที่ข่มคอคือทำมะรง

ที่ริมฝั่งตั้งขันนาฬิกา                            ทำมะรงตั้งท่าเข้าข่มคอ
ตีฆ้องหม่งดำลงทั้งสองข้าง                     พอขุนช้่างดำมุดก็ผุดป๋อ

หลักนั้นห่างกันหกศอก


กฎหมายตราสามดวงเขียนไว้ว่า

เมื่อจะดำน้ำตกแก่ทนายกรมยกกระบัตรกลั้น
ถ้ากลั้นพ้นสามกลั้นแล้ว   ให้จตุทำมรง ยก โจท/จำเลยขึ้นทังสอง(รักษาตัวสะกดเดิม)

หมายความว่าถ้าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีใครผุด
ละเอียดดีนะคะ

ขุนช้างออกอ้วน และไม่ได้กำลังอะไรมาก  ย่อมหายใจถี่เพราะต้องการอากาศ
พระไวยหนุ่ม  แข็งแรง    สวดมนต์คาถาเป็นประจำ(ส่วนมากมีคำสั่งไว้ว่าต้องกลั้นใจเวลาสวด)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ต.ค. 09, 08:55
ขออภัยอย่างยิ่ง ที่ว่า ขุนแผนกับขุนช้างดำน้ำพิสูจน์สัตย์กัน นั้นผิด  ที่ถูกคือ พระไวยกับขุนช้างดำน้ำพิสูจน์สัตย์กัน 

เพิ่มเติมเรื่องวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล  ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีประกาศยกเลิกและได้ลงประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษานั้น   ประกาศดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓ เพิ่ม แผ่นที่ ๔๘ วันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ.๑๑๕ หน้า ๕๗๓ - ๕๗๖ ความโดยสรุปมีว่า 

วิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลอันมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายอันมีลักษณะโจร เป็นต้น ซึ่งใช้กันมาแต่โบราณ  โดยสิทธิแล้ว ผู้พิพากษาสามารถใช้อาญากระทำแก่ผู้ต้องหาและคนต้นซัดได้ตามกฎหมายว่าด้วยกระบวนพิจารณาจนกว่าจะได้ความ  ทรงพระราชดำริว่า  การซักฟอกผู้ต้องหาด้วยวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลแม้จะมีข้อความจำกัดการใช้จารีตนครบาลเพื่อให้ไดหลักฐานในคดีแล้ว  ก็ยังเกิดเหตุเสื่อมเสียในกระบวนการพิจารณาคดี  ผู้พิพากษาอาจจะพลาดพลั้งลงโทษผู้ไม่มีความผิด  หรือแม้แต่ถ้อยคำที่ได้จากผู้ต้องหาที่ถูกทรมานนั้นก็ต้องมาพิสูจน์จริงเท็จอีก  ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีโดยยุติธรรมย่อมอาศัยสักขีพยานเป็นใหญ่  และได้ทรงแก้ไขกฎหมายลักษณะพิจารณาใหม่ให้ดีขึ้นสะดวกรวดเร็ว จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลต่อไปอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกข้อความในกฎหมายเก่ารายบทที่ว่าด้วยวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลดังนี้

พระอัยการลักษณะโจร มาตราที่ ๒๗ ๒๘ ๒๙ ๓๑ ๓๔ ๓๕ ๓๖ (ว่าด้วยการเฆี่ยนถามโจร) ๔๑ (ว่าด้วยการจำ ๕ และ ๓ ประการแก่โจร ณ คุก)
พระอัยการลักษณะตระลาการ มาตราที่ ๘ ๑๗ ๒๐ ๒๑ ๓๑ ๓๗ ๓๙ ๔๑ ๔๘ ๕๒ ๕๔ ๖๗ ๘๙ ๑๐๙
พระอัยการลักษณะอุทธรณ์ มาตราที่ ๑๑
กฎ ๓๖ ข้อ กฎข้อที่ ๗ ๓๖
พระราชกำหนดเก่า กฎข้อที่ ๔ ๖ และ ๕๒


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ต.ค. 09, 16:18
ไปเดินงานมหกรรมหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์มา  เฉียดไปแถวร้านหนังสือเก่าที่คุ้นเคย  ได้หนังสือเก่าไม่มากมาบ้างเล็กน้อยตามสภาพคล่องทางการเงินก่อนเงินเดือนออก   หมายตาว่า  งานหนังสือเดือนเมษายน ๕๓ คงจะได้มาเก็บที่หมายตาไว้ 
เล่าเรื่องประวัติพลายจันทร์ต่อครับ  ไม่รู้ว่ายังมีใครตามอยู่บ้างหรือไม่

พระพิเรนทรเทพให้ขุนแผลงสะท้านและขุนรุดคุมพลายจันทร์ อุ่นไฟ และคงขวานไปผูกหลักเฆี่ยนถามเค้นความจริง พร้อมทั้งบีบขมับบีบเล็บอีกแต่ทั้งสามหนุ่มก้ไม่เป็นอะไรแถมหัวเราะเยาะเย้ยผู้คุมอีก   ขุนแผลงสะท้านกับขุนรุดจึงนำความมาเรียนแก่พระพิเรนทร์ว่า ไอ้หนุ่มทั้งสามคนนั้น มันทนคงกระพันแก่เครื่องทรมานเหลือเกินผิดมนุษย์ที่เคยพบมา  พวกตนทรมานอย่างไรก้ไม่ได้ความมากขึ้นเลย  พระพิเรนทร์ได้ฟังดังนั้นก็เห็นว่า ไอ้หนุ่มทั้งสามคนมันต่างก็มีวิชาดี  จะนิ่งความเอาไว้ไม่ได้ ควรจะไปกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ทรงทราบ   ว่าแล้วพระพิเรนทร์ก็รีบไปเข้าเฝ้าฯ 

กล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ณ ที่ประชุมขุนนางทั้งปวง  พระพิเรนทร์รีบกราบบังคมทูลว่า  นักโทษทั้งสามที่มีรับสั่งให้พระพิเรนทร์ชำระนั้น  บัดนี้ทั้งสามให้การยืนยันเหมือนกันทั้งสามคนว่าไม่ได้ตีนายบัวตาย  พระพิเรนทร์ได้ให้ผู้คุมนำไปเฆี่ยนติดไม้ถามเค้นความจริงแล้วก็กลับกลายว่าทั้งสามนั้นหาได้รู้สึกเจ็บด้วยเครื่องทรมานอย่างใดไม่  แสดงว่าทั้งสามคนต้องเป็นคนที่มีวิชาดี

พระเจ้ากรุงศรีอยูยาได้ทรงฟังดังนั้น  ก็ทรงยินดีแล้วว่า

ถ้าความดีมีชัดไม่ตัดรอน     ไว้สำหรับกับนครคนวิชา
แม้นศึกเสือเหนือใต้ให้มันสู้   เอาไว้อยุ่สำหรับรับอาสา
มันจะดีอย่างไรให้ว่ามา        จะดูท่าทางมันเป็นฉันใด
แต่ก่อนมีคนดีสำหรับเมือง     ย่อมลือเลื่องทุกนครสะท้อนไหว
วิชาดีมีทหารก็ชาญชัย         เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วเลยมานาน
ถ้าบัดนี้มีมาเหมือนว่าไว้       ก็ขอบใจจะให้เป็นทหาร
ได้เลื่องชื่อลือนามทั้งวงศ์วาน  แม้นเกิดการศัตรูได้สู้กัน
อ้ายสามตนคนดีมีวิชา         เอามันมาลองเล่นได้เห็นขัน
แล้วจัดมาอาวุธให้ครบครัน   ให้มันลองวิชาหน้าพระลาน.

แล้วก็เสด็จขึ้นปราสาทพร้อมกับรับสั่งกับเจ้าจอมหม่อมอยู่งานทั้งหลายว่า  พรุ่งนี้จะมีการลองวิชาของพลายจันทร์ อุ่นไฟและคงขวาน  พระองค์จะทรงพาพวกเจ้าจอมหม่อมอยู่งานไปดูด้วย

ฝ่ายพระพิเรนทร์ได้รับรับสั่งมาก็เรียกกรมวังไปสั่งหมายตระเตรียมการทันที  โดยให้ทหารวังเตรียมอาวุธทั้งปวงสำหรับการลองวิชาของเจ้าหนุ่มทั้งสามวันพรุ่งนี้

ครั้นรุ่งขึ้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จออก ณ พระที่นั่งสนามไชย เวลาสามโมง บรรดาขุนนาง ทหาร และราษฎรมาเฝ้าฯ คอยดูการประลองวิชากันแน่นขนัด  แล้วพลายจันทร์ อุ่นไฟและคงขวานก็เริ่มลองวิชาถวายให้ทอดพระเนตรดังนี้

ฝ่ายคงขวานจันหนูเจ้าอุ่นไฟ     ก็นั่งในมณฑลทั้งสามนาย

แล้วคุกเข่าขึ้นถวายบังคมครัน   มิได้พรั่นงดงามสามสหาย
คิดถึงครูอย่าให้มีอันตราย        แล้วลุกขึ้นเดินกรายทั้งสามคน
พวกอาสาหกเหล่าเข้าเดินแซง    แล้วรุมกันฟันแทงโกลาหล
ไม่เจ็บปวดยวดยงด้วยคงทน     แต่เส้นขนก็ไม่ช้ำรำให้แทง
คงขวานต้านหน้าผ่าลงด้วยดาบ  ประกายปลาบเหมือนฟันหินไม่สิ้นแสง
อุ่นไฟใจอ่อนนอนตะแคง         ทำเป็นดิ้นสิ้นแรงไม่ลุกเลย
ทั้งหอกทั้งดาบขนาบฟัน          ลุกขึ้นตัวสั่นทำหน้าเฉย
ไม่เข้าคันหลังนั่งเสบย             เงยหน้าตาแดงร้องแทงอีกที
จันหนูจุ่เข้าไปในกองไฟ          คงขวานดูไม่ได้ทำวิ่งหนี
แล้วหันหน้ามามองกองอัคคี     ก็วิ่งรี่เข้าไปนั่งทั้งสองคน
อุ่นไฟเห็นเพื่อนทำเบือนหน้า     ลุกขึ้นตั้งท่าทำเสือกสน
วิ่งไปวิ่งมาตาเหลือกลน            เหลือทนแล้วก็เข้าไปลองดู
โดยวิชาแต่ชั้นผ้าก็ไม่ไหม้         ทั้งสามนายตัวแดงดังลูกหนู
แสนประสิทธิ์วิทยาวิชาครู         นั่งอยู่จนไฟดับไปเอง
คนมาดูมากมายทั้งชายหญิง      ว่าดีจริงจำเพาะมาเหมาะเหมง
ช่างถูกกันสามคนไม่จนเพลง     มิได้เกรงอาวุธสุดเพียงไฟ
ทั้งสามนายก็ถวายบังคมลง       แล้วปืนตับสำทับส่งไม่ปราศัย
ควนกลุ้มตัวกลบกระหลบไป       ไม่พรั่นหวั่นไหวด้วยใจงาม
ครั้นปืนตับหมดชุดจุดปืนใหญ่     ถูกปับปลิวไปสิ้นทั้งสาม 
ตกลงกลับหันไม่ครั่นคร้าม         ก็เดินตามกันมาถวายบังคมลง
ด้วยสิ้นท่าอาวุธที่ลองแล้ว         ผ่องแผ้วเพียงพระยาราชหงส์
มิได้ครั่นหวั่นไหวด้วยใจจง         ความตรงคงซื่อต่อแผ่นดิน
ก็ยบยอบหมอบฟังอยู่ทั้งสาม       เผื่อจะถามหรือประทานการถวิล
สำรวมจิตเจตนาไม่ราคิน           สิ้นนึกแล้วก็นิ่งไม่ติงกาย.

คำเตือน  อ่านแล้วกรุณาอย่าลอกเลียนแบบ นี่เป็นจินตนาการในวรรณคดี  ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะควรได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ขณะอ่านด้วย

เอาล่ะ  ทั้งสามคนแสดงวิชาได้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทอดพระเนตรแล้ว พร้อมด้วยสาธารณชนได้ชมเนขวัญตา  การณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป  กรุณาติดตามต่อครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 09, 10:47
คุณหลวงมัวไปเพลินตั้งค่าย   ตอกไม้กระดานหน้า ๒๐ นิ้ว ๖ นิ้ว ในกระทู้( ๒ ) เสียแล้ว    
ทิ้งสามหนุ่มให้หมอบเฝ้ามา ๓ วัน  ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเสียที   คงเมื่อยแย่
ดิฉันมาเล่าสลับฉากไปพลางๆก่อน

พิจารณาจากสำนวนผู้แต่งในตอนนี้  เทียบกับขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด  ตอนแสดงวิชาของทหารขี้คุก ๓๕ นายที่ขุนแผนพาไปศึกเชียงใหม่      ดิฉันเห็นว่าฝีมือของกวีผู้แต่งพลายจันทร์ สละสลวยกว่า  
อาจจะเป็นเพราะบรรจงบรรยายฝีมือตัวละครเอก  แต่ฉบับหอพระสมุด บรรยายตัวประกอบ ก็เลยไม่วิจิตรบรรจงนัก  มุ่งแต่ความพิลึกพิสดารของวิชา แต่วิชาก็ไม่หลากหลายเท่าไร   มีวิชาคงกระพันชาตรีซ้ำๆกันหลายคน
นายบัวหัวกระโหลกบ้านโคกขาม                       ถวายบังคมงามแล้วออกหน้า
นอนหงายร่ายมนตร์ภาวนา                             ให้เอาขวานผ่าเป็นหลายซ้ำ
โปกโปกขวานกระดอนนอนพยัก            ไม่แตกหักลุกมาหน้าแดงก่ำ
นายคงเคราเข้านั่งบริกรรม            ให้เอาหอกกรอกตำเข้าจำเพาะ
ถูกตรงยอดอกไม่ฟกช้ำ               แทงซ้ำหลายทีที่เหมาะเหมาะ
เสียงอักอักพยักหน้านั่งหัวเราะ            จนด้ามหอกหักเดาะไม่ทานทน
นายมอญนอนเปลือยเอาเลื่อยชัก            เลื่อยหักฟันเยินพะเนินย่น
ให้เปลี่ยนหน้ามาเลื่อยก็หลายคน            เป็นหลายหนไม่เข้าเปล่าทั้งนั้น
นายช้างดำกำลังดังช้างสาร            ถวายบังคมคลานมาไม่พรั่น
กระโดดสูงสามวาตาเป็นมัน            แข็งขันข้อลำดำทมิฬ
นายสีอาดคลาดแคล้วแล้วไม่แตก            หอกซัดเจ็ดแบกพุ่งจนสิ้น
ไม่ถูกเพื่อนเชือนไถลไปปักดิน            นายอินอึดใจแล้วหายตัว
นายทองลองให้เอาปืนยิง            ยืนนิ่งคอยรับจับลูกตะกั่ว
นายจันนั้นแปลกเข้าแบกวัว            นายบัวทำคล้ายเป็นหลายคน
นายแตงโมทำโตได้เหมือนยักษ์            คึกคักกลอกตาดูหน้าย่น
นายจั่วหัวหูดูพิกล               เอาไฟลนทนได้ไฟวับวับ
ลองถวายสิ้นทั้งสามสิบห้า            ต่างสำแดงวิชาเป็นลำดับ
แล้วมาหมอบเรียงเคียงคำนับ           รับสั่งให้ประทานรางวัลพลัน

ฝีมือผู้แต่งพลายจันทร์  พอๆกับกวีที่แต่งตอนพลายชุมพลสู้กับเถรขวาด   น่าเสียดายที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มิได้นำชีวิตของพลายจันทร์มาไว้ในตอนต้นของขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 12:17

มาช่วยคุณหลวงพิมพ์ค่า    แล้วเราค่อยไปคุยกันในลาวทอง ต่อด้วยสร้อยฟ้ากัน
อ่านมาจากเอกสารที่คุณหลวงกรุณาแนะนำ


ในเสภาตอนนี้ไม่ได้เอ่ยชื่อพระพันวษา   แต่ในตอนประหารวันทอง  พระพันวษาจำนางทองประศรีได้ว่าแก่ไปมาก
สาวๆบันท้ายกลม


พระพันวษาทรงพิจารณาการแสดงฝีมือของสามหนุ่ม  ว่าเป็นการเล่นกลหรือไม่
แต่เมื่อประทับอยู่ในที่สูงย่อมทอดพระเนตรได้ชัด

จึงพระราชทานเสื้อผ้าและเงินคนละหนึ่งชั่ง  โปรดให้ไปสังกัดกับหกเกล่า


หลังจากนี้ได้ทรงเรียกนางทองประศรีออกมาเพราะเป็นต้นเหตุเกี่ยวข้อง


เรียกทองประศรีขมีขมัน                                      ออกไปยังหน้าที่นั่งพลัน
พระทรงธรรม์ตรัสถามไปทันที                               อ้ายสามคนพ้นโทษกูโปรดให้
มึงชอบคนไหนอีทองประศรี                                 จงตรึกตรองใจดูให้ดี
กูนี้จะให้จึงสมควร                                            ด้วบปู่ย่ามึงเป็นข้า
พ่อมึงไอ้สนเป็นชาวสวนทั้งสองคน                          มึงอย่ากล่าวถ้อยคำเป็นสำนวน
ตามกระบวนชอบใครให้ว่ามา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 13:07
นางทองประศรี  ผู้มีโอกาสได้เลือกสามี   นับว่าล้าหลังธิดาทั้งเจ็ดของท้าวสามลอยู่ขณะหนึ่ง


ครานั้นทองประศรีได้ฟังรับสั่ง                          บังคมประนมเหนือเกษา
นายจันหนูดูชอบในอัฌชา                               ชีวาอยู่ใต้บาทบงส์


พระฟังทองประศรีบังคมทูล                              นเรทร์สูรรับสั่งดังประสงค์
ข้ายกให้ดังใจมันจำนงค์                                 ส่งตัวให้ผัวมันพาไป


สามหนุ่มหนึ่งสาวก็ออกจากพระราชวังมา

อุ่นไฟกระทบกระเทียบว่า  มาสามแต่กลับสี่

ทองประศรีขัดใจเลยด่าอุ่นไฟเสียยับ    คงควานพลอยติดร่างแหไปด้วย
(เรื่องจะให้ทองประศรีเก็บปากเป็นไปไม่ได้     ขนาดพระสุรินทรฤาชัยลูกชายยังไม่พ้น
รักก็แต่หลานโดยเฉพาะพลายชุมพล   เพราะแขนงย่อมแรงกว่ากิ่งเป็นธรรมดา)


คงขวานว่าอีมารมันนักหนา                              พูดพร้ำร่ำด้่าไม่ปราสัย
เจ้าคารมคมสันมันเหลือใจ                               อ้ายอุ่นไฟเพื่อนยากก็ปากบอน
อ้ายนั่นว่าอีนี่ด่าท้าคารม                                 นึกว่าพรมน้ำมนต์คนถึงก่อน
......................


ทั้งสี่คนตกลงไปหาขรัวมั่นที่วัด


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 13:28
สมภารคงได้ยินข่าวว่าสามคนพ้นโทษ   จึงออกเดินทางไปวัดป่าหาขรัวมั่น

คนทั้งสี่ก็ตามมาที่วัด            ขรัวมั่นขอให้สมภารทำน้ำมนต์ให้คนทั้งสี่อาบ

แล้วคนทั้งสี่ก็กลับบ้านไป   ไม่ต้องถามนะคะ จันหนูก็ไปกับทองประศรี
อุ่นไฟกับคงขวานคงเสียดายเพื่อน   แต่คงเกรงปากทองประศรีมากกว่า





เสภาเล่าต่อไป....
ขรัวคง ถามขรัวมั่นว่า  ใช้ตำราอะไรสอน

ขรัวมั่นเล่าว่า คืนหนึ่งหลับฝันไป  แสงจันทร์สว่างมากเห็นกระทั่งลายใบไม้
เห็นตัวอักษรใกล้เข้ามาแล้วกลายเป็นแผ่นหิน

เมื่อตื่นเช้าฟ้าเปิดแล้วลงกุฏีไป เจอคำภีร์  เป็นของ พระเจ้าศรีธรรมโศก  ศักราช ๒๑๘ ปี
จึงใช้สอนคาถาอาคม

ขรัวคงก็ส่ายหน้าว่าสงสัยเรียนยาก เพราะขรัวมั่นดุ  เฆี่ยนลูกศิษย์แทบตายมาหลายคน
เรียนไว้ก็เลิศประเสริฐชาย  ป้องกันอันตรายได้   แต่อย่างไรก็ไม่พ้นความตายไปได้

พูดที่จริงถ้าขรัวตาคงได้ตำราผูกนี้ก็คงจะไม่ยอมตายง่ายๆ  เพราะรักที่จะอ่านเรียนไปอีกนานเหมือนกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 13:42
ตอนนี้  พระเจ้า สิบสี่ทิศ เมืองหงษา  อยากมาตีเมือง  สองพันบุรี

พระยาจักรีกราบทูลว่าไม่ต้องลำบาก  พวกข้าพระพุทธเจ้ายังมี  ขอกำลังเพียง ห้าพัน  มาชิมลาง
ที่พระปฐมเจดีย์ ที่เมืองไชยศรีเมืองเดิม   เพราะใกล้กับสองพันบุรี


พระเจ้าสิบสี่ทิษชอบพระทัยมากว่า ชิมลางด้วยปัญญาแบบนี้ดี
ระหว่างเดินทางไปอย่าข่มเหงเมืองไหนนะ

จัดทัพอยู่สามวัน  ข้ามแม่น้ำเมาะตะมะมา  เจ็ดวันถึงกึ่งต่อแดน  ผ่านด่านเข้ากาญจนบุรี

พระกาญจนบุรีก็รายงานไป สองพันบุรี


พระพันวษารับสั่งหาตัวพระเอกสองคนและสามีนางทองประศรีมา     คนมีเมียแล้วสมควรลดตำแหน่งลงเป็นผู้ช่วยพระเอก
นางทองประศรีคิดเช่นนั้น   และ อิฉันเห็นด้วย



ซอรี่  ซอด้วง  และซออู้    ต้นฉบับหายไปหนึ่งหน้า



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 13:56
สามหนุ่มรีบเดินทางไปพระปฐมเจดีย์  รับศีลนุ่งขาวแล้วกวาดลานวัด

กองมัพมอญมานมัสการองค์พระธาตุ  สองยามก็กลับไปค่าย


ชายทั้งสามก็เข้าไปในค่ายมอญ  ใช้ปูนคาดดอพวกหัวหน้่า  คือเขียนเส้นพาดคอไว้ด้วยปูน 
ชั้นแม่ทัพก็เขียนไว้สองสามเส้น  บางเส้นก็ใส่สีด้วย
แสดงว่า  ข้ามาแล้วนะ  เอ็งเสร็จข้าแหง ๆ

กลับไปวัดก็ทำไปกวาดวัดคอยดูท่าที

มอญกระเจิงกลับบ้าน   พระเจ้าสิบสี่ทิศก็เลยไม่ได้เป็นสิบห้าทิศเหมือนหวังและตั้งใจ
จะนับทิศกันอย่างไร      ท่านผู้ใหญ่คงจะเคยบอกอิฉันไว้แล้ว    แต่อิฉันก็ลืมไปนานแล้ว

สามคนกลับมา  ตอนนี้ได้รับพระราชทาน ห้่าชั่ง   แถมเสื้อผ้าซึ่งเป็นของหายากมากสมัยนั้น


ต้นฉบับหมดแล้วค่ะ


คุณหลวงเล็กที่นับถือ  ไปเล่น กระทู้ที่สองกันเถิด

อิฉันมารับทำงานเบื้องต้นให้      สงครามเรื่อง ลาวทอง ยังคอยคุณหลวงอยู่
ขอบพระคุณที่ได้เอื้อเฟื้อแนะแนวให้เจ้าค่ะ




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ต.ค. 09, 14:00
ทียังไม่เล่าต่อ  เพราะผมมีธุระไปค้นคว้าเรื่องอื่นอยู่  โดยเฉพาะเรื่องป้อมค่าย และอาวุธโบราณ  ซึ่งดูเหมือนง่ายแต่พอเอาเข้าจริง  ค้นหาข้อมูลตามที่ต้องการได้ยากเหลือเกิน  จริงอยู่ว่าเรามีวรรณคดีที่กล่าวถึงการรบการทำสงครามอยู่หลายเรื่องแต่สงครามในวรรณคดีแต่ละเรื่องก็มีลักษณะแตกต่างกันไป  ยิ่งรายละเอียดเกี่ยวกับป้อมค่ายนี้หายากเพราะคนแต่งไม่ค่อยบรรยายรายละเอียดเอาไว้  ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้แต่งเพราะท่านอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้ในสมัยของท่าน  อย่างเรื่องรามเกียรติ์ มนุษย์ วานร รบกับยักษ์ เกือบทั้งเรื่อง แต่หาตอนที่บรรยายค่ายป้อมละเอียดไม่ได้เลย  ทั้งการรบก็เป็นการรบแบบประชิดตัว หรือเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ รบกันวุ่นวาย แต่เป็นการรบทางเรือโดยมาก  ซึ่งป้อมค่ายในเรื่องนี้ก็จะเป็นอีกอย่างกับป้อมค่ายรบบนบก  กรณีภาพวาดเรื่องป้อมค่ายรบ  อันนี้เข้าใจว่า คนวาดสมัยก่อนเขาอาจจะวาดเอาแต่พอให้เห็นเป็นป้อมค่ายเท่านั้น  ซึ่งเขาอาจจะลดส่วนหรือลดรายละเอียดในความเป็นจริงลงไปบางส่วน  การจะนำมาใช้อ้างอิงยืนยันต้องพิจารณาให้ดีด้วย.


เอาล่ะครับ เล่าประวัติพลายจันทร์ต่อเลยดีกว่า ค้างไว้ไปไยมี


พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ทอดพระเนตรการลองวิชาของเจ้าหนุ่มทั้งสามแล้ว  ก็มีรับสั่งว่า

พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็น       อ้ายนี่มันเล่นหรือจริงสิ่งทั้งหลาย
หรือเป็นกลคนแอบดูแยบคาย        อันตรายที่มันก็ไม่มี
คำโบราณท่านว่าหน้าที่นั่ง       ถ้ากลเล่นเห็นหลังให้บัดสี
เราอยู่สูงแล้วยังเห็นว่าเป็นดี          วิชาแท้ถูกที่มิใช่กล

แล้วตรัสสั่งคลังวิเศษมหาสมบัติ     ก็จัดเงินตราผ้าเสื้ออยู่สับสน
มาพระราชทานทั้งสามคน             ขุนธนเอาเงินตรามาประทาน
ได้คนละชั่งทั่วทั้งสาม                   ผ้าแพรสีงามเสื้อทหาร
ด้วยมีจิตคิดนิยมพอสมการ            วงศ์วานจะได้ลืออื้ออึงไป
แล้วมีโองการถามทั้งสามคน          ว่าเดิมต้นเจ้าหมู่มึงอยู่ไหน
ถึงมาดแม้นจะเป็นสมกรมใดใด        ให้อยู่ในกลาโหมทั้งสามคน
จะได้เป็นทหารในหกเหล่า              ได้สืบเผ่าพวกพ้องเป็นพิ้นผล
กรมหกเหล่าเล่าทหารการผจญ         ได้เป็นพลพวกกรมวิชาดี
เออความหลังทั้งสามกูสังเกต           ต้นเหตุเกี่ยวข้องทองประศรี
จำจะต้องยกให้อ้ายเหล่านี้               มันชอบทีคนไรจะให้มัน

จ่านนข้างในครั้นได้ที                     เรียกทองประศรีขมีขมัน
ออกไปยังหน้าที่นั่งพลัน                  พระทรงธรรม์ตรัสถามไปทันที
อ้ายสามคนพ้นโทษกูโปรดให้           มึงชอบคนไหนอีทองประศรี
จงตรึกตรองใจดูให้ดี                      กูนี้จะให้จึงสมควร
ด้วยปู่ย่ามึงเป็นข้าทั้งสองคน            พ่อมึงอ้ายสนเป็นชาวสวน
มึงอย่ากล่าวถ้อยคำเป็นสำนวน         ตามกระบวนชอบใครให้ว่ามา


ครานั้นทองประศรีได้รับสั่ง               บังคมประนมเหนือเกศา
นายจันหนูดูชอบในอัชฌา    ชีวาอยู่ใต้บาทบงสุ์

พระฟังทองประศรีบังคมทูล               นเรนทร์สูรจึงรับสั่งดังประสงค์
ข้ายกให้ดังใจมันจำนง                     ส่งตัวให้ผัวมันพาไป
จงอยู่เย็นเป็นสุขกันทั้งสอง               ครอบครองอยู่ด้วยกันจนตักษัย
อยู่ดีกินดีอย่ามีภัย                           จงได้สวัสดีทั้งสี่คน

พระสั่งเสร็จเสด็จขึ้นยังปราสาท          สนมนาถตามเสด็จอยู่สับสน
ฝ่ายข้างหน้าก็พากันจรดล                 พวกพลพนักงานไปบ้านเรือน

อย่างนี้   เรียกว่า สามีพระราชทานได้ไหมนี่ ? โปรดสังเกตว่า ทองประศรีตอบโดยไม่ต้องคิดมากเลย ไม่มีลังเลให้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงรำคาญจนถึงทรงกริ้วอย่างกรณีวันทองเลย  

ครานั้นจันหนูกับทองประศรี               ยินดีอิ่มใจใครจะเหมือน
รีบเดินทั้งสองไม่ต้องเตือน                กับพวกเพื่อนสองคนเดินบ่นตาม
อุ่นไฟว่าไปกับคงขวาน                     ทำการเกินหน้าแล้วอย่าถาม
สบเหมาะเพราะเห็นเมื่อเป็นความ        มาสามไปสี่ดูดีครัน   (เขาแซวกันครับ ดูต่อว่าเกิดอะไรหลังจากนั้น)

ทองประศรีขัดใจอุ่นไฟว่า                  ช่างมีหน้าพูดเล่นไม่เห็นขัน
ก็เป็นโทษติดทิมอยู่ริมกัน                  รู้กระนั้นกูจะทิ้งให้อดตาย
ครั้นพ้นโทษทั้งสี่จะดีใจ                    กลับมาว่ากันได้อ้ายสองหวาย
ถ้าขืนว่ากูจะด่าเสียให้อาย                 ช่างไม่วายพูดจามาแต่ไร  
(อยู่เฉยรอดพ้นโทษมาได้ ก็ดีแล้วเชียว ดันมาถูกทองประศรีด่านี่ เรียกว่า วอนซะแล้ว)

คงขวานว่าอีมารมันหนักหนา             พูดพร่ำร่ำด่าไม่ปราศัย
เจ้าคารมคมสันมันเหลือใจ                อ้ายอุ่นไฟเพื่อนยากก็ปากบอน
อ้ายนั่นว่าอีนี่ด่าท้าคารม                   ก็นึกว่าพรมน้ำมนต์คนถึงก่อน
พูดพลางทางออกนอกนคร                แดดร้อนหยุดร่มแล้วรีบมา

ว่าแล้วพลายจันทร์ก็ออกปากชวนเพื่อนไปหาขรัวมั่นที่วัดป่าเลไลยก์เพื่อให้ท่านรดน้ำมนต์ในโอกาสที่พวกเราได้พ้นโทษ ถือว่าเป็นการรดน้ำมนต์ล้างเคราะห์กัน  จากนั้นค่อยแยกย้ายกันกลับบ้าน

ฝ่ายขรัวคงสมภารวัดแคได้ยินเขาพูดกันเซ็งแซ่เมื่อวันเสาร์ว่า  เจ้าเณรทั้งสาม ศิษย์ของขรัวมั่นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นโทษแล้ว  เท็จจริงอย่างไรจำไปหาขรัวมั่นถามดูดีกว่า แล้วขรัวคงก็หยิบจีวรพาดควายตะพายย่ามรีบเดินทางไปวัดป่าเลไลยก์  เมื่อถึงกุฏิขรัวมั่น  ขรัวคงก็ถามขรัวมั่นทันทีว่า  เจ้าคุณทราบหรือเปล่าที่เขาลือว่า เณรทั้งสามที่เป็นศิษย์ของเจ้าคุณนั้น ตอนนนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้พ้นโทษแล้ว  เจ้าพวกนั้นได้มาท่านหรือยัง  ถ้ายัง ท่านเจ้าคุณช่วยจับยามสามาตาดูให้หน่อยว่า เป็นจริงดังเขาลือหรือเปล่า

ขรัวมั่นจับยามสามตาดูแล้วว่ากับขรัวคงว่า เดี๋ยวทั้งสามคนก็มาหา  ชั่วอึดใจเดี๋ยวทั้งสามคนก็โผล่มา  ขรัวมั่นเห็นดังนั้นก็ดีใจ แล้วถามว่า ทำไมทองประศรีถึงมาด้วย  แล้วทำไมถึงได้มีข้าวของร่ำรวยมาด้วย

คงขวานก็รับหน้าที่เล่าให้ขรัวมั่นฟังว่า

ว่าบัดนี้พระองค์ผู้ทรงชัย              รับสั่งให้สามคนผจญลอง
เห็นคงทนคนยิงไม่ยักเข้า             เอาไฟเผาไฟดับไม่ไหม้หมอง
พระโปรดให้ด้วยใจก็ปรองดอง       ประทานทองประศรีเป็นรางวัล
รับสั่งถามว่าทั้งสามจะชอบใคร      ทองประศรีดีใจเกษมสันต์
จึ่งทูลตามระบอบชอบพลายจัน     พระทรงธรรม์ยกให้ดังใจจง
แล้สดำรัสตรัสสั่งว่าทั้งสาม           ให้อยู่ตามกรมทหารการประสงค์
แม้นเกิดศึกจะได้ใช้ในณรงค์         แล้วทรงประทานเงินตราเสื้อผ้าแพร

ขรัวมั่นได้ฟังความที่คงขวานเล่ามาก็ว่า   "  ว่าทั้งสามนี้มันสุดเสียแล้วแหล     วิชาดีรอดได้จึงไม่แพ้    พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าลูกดี  "  แล้วขรัวมั่นให้เจ้าหนุ่มทั้งสามไปตักน้ำใส่บาตรมาสี่บาตรทำน้ำมนต์รดล้างเคราะห์ภัย  โดยให้ขรัวคงวัดแคช่วยทำน้ำมนต์ด้วย  โดยว่า " อ้ายสองคนน้ำมนต์ทำเมตตา   แต่จันหนูกับสีกาต้องแข็งขัน   พ่อแม่มันไม่รู้กูทั้งนั้น  ก็รดแล้วเศกพลันด้วยทันใด " เป็นอันว่า ขรัวมั่นถือโอกาสรดน้ำแต่งงานให้พลายจันทร์กับทองประศรีเสียเลย   เสร็จแล้วกราบลาขรัวทั้งสองก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

พอพวกสี่คนลาไปแล้ว  ขรัวคงวัดแคเกิดสงสัยถามขรัวมั่นว่า  ไอ้หนุ่มสามคนนี้มีวิชาดี  เจ้าคุณไปค้นคว้าเอาวิชามาแต่ไหนสอนให้เจ้าพวกนั้น  ท่านขรัวมั่นจะตอบว่าอย่างไร โปรดติดตามนะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 09, 16:25
เพิ่งเข้ามาอ่าน ขออภัยที่ย้อนไปไกลหน่อย

 ;D


เรื่องอาสาหกเหล่าตามที่คุณหลวงเล็กเล่าไว้ใน # ๒๗ น่าสนใจ

 เรื่องอาสาหกเหล่า ตามที่เคยทราบมา อาสาหกเหล่านี้ เป็นทหารต่างชาติที่มาอาศัยและรับราชการในเมืองไทย  มีความรู้ความสามารถการรบการใช้อาวุธบางอย่างเป็นพิเศษ  อาสาเหล่านี้ คือ ทหารอาชีพสมัยก่อนนั่นเอง มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์และผู้ชำนาญการ แต่เดิมคงจะมีอยู่หกเหล่า โดยแบ่งเป็นเหล่าตามเชื้อชาติ  เท่าที่เคยได้ยิน มีมอญเหล่าหนึ่ง พวกมอญชำนาญยุทธวิธีและการสืบข่าวทางด่านตะวันตก  จึงมีหน้าที่คอยตระเวนด่านทางแถบตะวันตก  จามเหล่าหนึ่งกับแขกมลายูชวาเหล่าหนึ่ง  สองพวกนี้ถนัดเรื่องการรบทางน้ำและการใช้เรือ จึงมีหน้าที่เกี่ยวกับกองเรือรบ  ญี่ปุ่นเหล่าหนึ่ง พวกนี้ใจเด็ดเดี่ยว ใช้ดาบเก่ง   ฝรั่งเหล่าหนึ่ง พวกถนัดเรื่องปืนไฟและปืนใหญ่  อีกพวกน่าจะเป็นลาว พวกนี้เป็นกองลาดตระเวนทางเหนือ  อาสาหกเหล่านี้ ขึ้นตรงกับพระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งเจ้ากรมแต่ละเหล่าเทียบเท่าจตุสดมภ์ทีเดียว  ถ้าจะให้ชัดต้องดูในโคลงพยุหยาตราเพชรพวงกับลิลิตกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารคและทางชลมารคประกอบด้วย  เคยได้ยินว่า อาสาหกเหล่านี้ ชำนาญเรื่องงานช่างบางอย่างด้วย

แต่มีข้อมูลจากคุณพินิจ หุตะจินดา ใน wikipedia ดูไม่ใคร่จะตรงกัน

http://th.wikipedia.org/wiki/นามานุกรมขุนช้างขุนแผน

กรมอาสาหกเหล่า คำว่า “อาสา” แปลว่า “ทหารหน้า” กล่าวอย่างปัจจุบันก็คือกองทัพบกนั่นเอง มีหน้าที่รบพุ่งปราบปรามอริราชศัตรูทุกทิศ ในสมัยโบราณ กรมนี้มีหน้าที่วางด่านทาง ป้องกันข้าศึกศัตรูซึ่งแบ่งตามซ้ายแลขวา แต่เดิมในสมัยอยุธยา กรมนี้แบ่งออกเป็นกรมอาสาใหญ่ กรมอาสารอง กรมเขนทองขวา กรมเขนทองซ้าย กรมทวนทองขวา และ กรมทวนทองซ้าย







กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ต.ค. 09, 16:29
ขรัวมั่นเล่าให้ขรัวคงฟังดังนี้

..............................            เดิมความที่จะได้หลับไปฝัน
ว่าเที่ยวเพลินเดินทางไปกลางวัน         เห็นพระจันทร์ส่องสว่างกระจ่างตา
จะแลไปข้างไหนก็เห็นหมด                 ปรากฏเห็นสิ้นใบพฤกษา
เป็นอักษรทุกใบครั้นใกล้มา                 ก็เป็นหินศิลาเสียทันที
แล้วตื่นขึ้นก็พอสว่างฟ้า                      เปิดหน้าต่างล้างหน้าเห็นผ้าสี
ลงบันไดไปดูเห็นคัมภีร์                      ก็หยิบขึ้นกุฎีแล้วอ่านดู
ว่าศักราชสองร้อยสิบแปดปี                 พระเจ้าศรีธรรมาโศกนั้นยังอยู่
จะแก้พยนต์มนต์ยาให้หาครู                 ยังมีผู้อาสาพระทรงธรรม์
ไปเรียนวิชาสักมาแต่เมืองโรม              รูปโฉมสักทั่วทั้งตัวนั่น
แล้วกลับมาถึงบ้านเข้าฉับพลัน             ครูฆ่าอาสัญเสียทันที
แล้วเอาใบลานจารเขียนเรียนวิชา          จึงมีมาตามกระบวนได้ถ้วนถี่
ทั้งวิชาว่าแต่งแปลงอินทรีย์                 ใช้ผีผูกผ้าพยนต์มาร
ทั้งหายตัวล่องหนทนคง                      จะประสงค์เมตตาก็กล้าหาญ
ก็สำเร็จเสร็จถ้วนทุกประการ                  ในใบลานคัมภีร์ที่มีมา
ก็ได้หมดจดจำทำดูเล่น                       ของท่านเป็นบริสุทธิ์ไม่มุสา
อ้ายเหล่านี้ที่ได้ในตำรา                       โดยวิชารู้กันมากอยากจะเรียนฯ

ขรัวคงได้ฟังก็สั่นหัวว่า ลำบากนัก  ขนาดลูกศิษย์ขรัวคงเองยังเฆี่ยนแทบตาย  แต่ก้ไม่สู้วิชาอะไร  เจ้าขรัวมั่นคงได้วิชาดีมานับว่าเป็นโชค  ทั้งสองสนทนากันจนเย็นแล้วก็ขรัวคงก็ลากลับวัดแคไป


กล่าวถึงพระเจ้าสิบสี่ทิศ เจ้ากรุงหงสาวดี  มีจิตโลภอยากได้หัวเมืองใหญ่น้อยมาอยู่ในอำนาจตน  ซึ่งฏ้ได้ยกทัพไปตีเมืองได้มามากแล้ว แต่ยังไม่พอใจ  เมื่อเสด็จออกขุนนางก็รับสั่งแก่ขันนางว่า  เมืองเรามีเมืองขึ้นมากก็จริงแต่เมืองสองพันเป็นเมืองอุดมดี  ถ้าเราไปตีได้มาเห็นจะได้อาณาเขตกว้างขวางขึ้น  เพราะเมืองสองพันมีเมืองขึ้นมากนัก  เรานี้ใคร่ได้เหลือประมาณ

เจ้าพระยาจักรีก็กราบบังคมทูลว่า  เมืองสองพันนั้นเดิมเป็นพวกลาวดงสืบพงศ์มาจากเมืองเชียงราย  เมืองสองพันนี้มีอำนาจเพราะรู้จักเลี้ยงคนมีวิชาดี รู้จักผูกพยนต์รบกับข้าศึก  ไม่ต้องเปลืองไพร่พลเกณฑ์รบ  ลำพังแค่หุ่นพยนต์สามคนก็รบคนเป็นพันได้   เมืองนั้นจึงอยู่เป็นสุข พุทธศาสนามั่นคง ลูกค้าไปมาค้าขายกันเนืองๆ ไม่เคยมีสงครามกับเมืองใดมานานนัก  ข้าพุทธเจ้าขออาสาไปตีสองพันมาถวาย  ขอไพร่พลห้าพันยกไปเพื่อชิมลางโดยเดินทางไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ที่เมืองนครชัยศรีเดิม ซึ่งใกล้กับเมืองสองพันบุรี  เพื่อจะได้สืบลาดเลาที่เขาลือว่ามีคนดีมีวิชากล้าแข็ง  

พระเจ้าสิบสี่ทิศได้ทรงฟังดังนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตามที่ขอ โดยทรงกำชับให้เดินทัพไปเป้นกระบวนอย่าได้ข่มเหงเมืองรายทางเด็ดขาด  พร้อมกันนั้นได้พระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่แม่ทัพนายกอง  แล้วพระราชทานอาญาสิทธิแก่เจ้าพระจักรีผู้เป็นแม่ทัพสำหรับลงโทษผู้ขัดคำสั่งทันที

เจ้าพระยาจักรีทูลว่า อีกสามวันจากนี้จะยกทัพไป  พระเจ้าสิบสี่ทิศก็ทรงอำนวยพร

เล่าเท่านี้ก่อนครับ  ใกล้จะจบแล้ว  ขอให้ติดตามอีกหน่อย  เรื่องมอญยังไม่จบยังมีที่น่าสนใจอีกเยอะ จะได้เสนอต่อจากเรื่องประวัติพลายจันทร์


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 09, 17:01
มาต้อนรับคุณเพ็ญชมพู   ขอเชิญร่วมวงค่ะ  :D

อ่านวิกิของคุณพินิจ แล้วยังสงสัย  ขอถามผู้รู้ค่ะ
๑  "อาสา" แปลว่า ทหารหน้า  หรือคะ  มาจากศัพท์ว่าอะไร?
๒  อาสาหกเหล่า เทียบได้กับ กองทัพบก   หมายถึงเป็นทหารอาชีพของอยุธยา ใช่ไหม  ไม่ว่าในยามศึกหรือยามสงบ  พวกนี้เป็นหน่วยรบอย่างเดียว?

ถามคุณหลวงเล็กค่ะ 
สองพันบุรี  ในเรื่องหมายถึงเมืองไหน  อยู่ใกล้นครปฐมเสียด้วย   หมายถึงสุพรรณบุรีหรือเปล่าคะ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 29 ต.ค. 09, 18:16
คำว่า "อาสา" ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยฯ ท่านว่า มาจาก ภาษาบาลีครับ (เทียบสันสกฤต อาศา)

อาสา   ก. เสนอตัวเข้ารับทำ. น. ความหวัง เช่น นิราสา = ความหวัง
   หมดแล้ว คือ ความหมดหวัง, ความต้องการ, ความอยาก.
   (ป.; ส. อาศา).

ในบริบทเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ตรงกับความหมายว่า "เสนอตัวเข้ารับทำ" นั่นก็คือ สมัครใจเข้าเป็นหน่วยรบ

ผมคิดว่า อาสา ในที่นี่ไม่น่าแปลว่า ทหารหน้า เสียทีเดียว แต่น่าจะแปลว่า "ทหารรับจ้าง ที่สมัครใจรับงาน" มากกว่า

คือเป็นเหล่าทหารต่างชาติ ที่เข้ามารับจ้างรบ (คือ มาอยู่กินในขอบเขตพระราชอาณาจักร) หรือ ถ้าจะกล่าวให้ดูเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หน่อย ก็คือ
เป็นหน่วยรบต่างชาติ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมธิสมภารของกษัตริย์ไทย

ส่วนความหมายที่ได้จากวิกิพีเดีย น่าจะเป็นรูปแบบของการจัดกำลังมากกว่าครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 ต.ค. 09, 07:42
ถามคุณหลวงเล็กค่ะ 
สองพันบุรี  ในเรื่องหมายถึงเมืองไหน  อยู่ใกล้นครปฐมเสียด้วย   หมายถึงสุพรรณบุรีหรือเปล่าคะ?


ผมเข้าใจว่าเป็นเมืองสุพรรณบุรีนั่นแหละครับ  เพียงแต่คนแต่งเสภาสำนวนนี้อาจจะแปลงชื่อใช้ให้ฟังดูไม่ใช่สุพรรณบุรี  อย่าลืมว่านี่เป็นนิยายเล่าสู่กันฟัง ก็เลยมีทั้งเรื่องในความเป็นจริงผสมกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้แต่ง

เรื่องกองอาสาหกเหล่าที่ตอบไปครั้งแรก  ผมว่าตามเอกสารที่ได้เคยอ่านมาบวกกับความเห็นนิดหน่อย  อย่าเพิ่งถือว่าถูกเสียหมด  เรื่องนี้ถ้าอ่านพระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ ๕ เรื่องพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินแล้ว (ดูความเห็นที่ ๕๙ ผมสรุปลงมาให้ดูแล้ว) จะเข้าใจมากขึ้นทีเดียว  อ้อ ต้องไม่ลืมด้วยว่า กรมอาสามี ๒ กรมใหญ่ คือกรมอาสาแปดเหล่า กับกรมอาสาหกเหล่า  กรมอาสาแปดเหล่านั่นเป็นทหารอาชีพแท้ และเป็นกรมใหญ่มีคนมาก เข้าใจว่าเดิมอาจจะมีหกเหล่าแล้วค่อยเพิ่มเป็นแปดเหล่าภายหลัง  กรมอาสาหกเหล่าดูจะเป็นกองทหารต่างภาษาผสมกับช่างศิลป์

ในวิกิพีเดียคงจะเอาหน้าที่กองอาสาทั้งสองมาปนกัน  ผมเองก็เคยสับสนเหมือนกัน  เพราะทั้งสองกองอาสานี้ก็มีหน้าที่เหมือนกันอยู่ด้วย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 08:24
ขอบคุณคุณโฮ  เรื่องที่มาของ อาสา   
และขอบคุณคุณหลวงเล็ก สำหรับคำตอบเรื่องสองพันบุรี ค่ะ

น่าจะมีการเพิ่มเติมข้อมูล  ลงในวิกิพีเดียด้วย   เพราะเท่าที่คุณพินิจเขียน  อาจจะยังคลาดเคลื่อนอยู่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 10:02

มานพ ถาวรวัฒน์สกุล เขียนไว้ในหนังสือขุนนางอยุธยา สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องทหารอาสาสมัยอยุธยาไว้ว่า

กรมทหารอาสา ซึ่งเป็นหน่วยรบที่สำคัญได้ถูกแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ กรมอาสาแปดเหล่า เป็นกรมในสังกัดบังคับบัญชาโดยตรงของกรมกลาโหม กรมอาสาต่างชาติ ได้แก่ กรมอาสาจาม กรมอาสาญี่ปุ่น กรมฝรั่งแม่นปืน กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง พวกนี้แยกเป็นกรมอิสระมิได้ขึ้นสังกัดกลาโหมอย่างกรมอาสาแปดเหล่า 

ในกฎหมายศักดินาทหารยังปรากฏเหล่ากรมทหารมอญอีก ๔ กรม คือ กรมดาบสองมือกลาง กรมตั้งทองซ้าย-ขวา กรมกลีอ่อง กรมมอญ เหล่านี้รวมเข้าอยู่ในความดูแลหรือบังคับบัญชาโดยตรงของเจ้าพญามหาโยธา ตำแหน่งจางวาง กรมทหารมอญนี้ในตอนแรกคงแยกเป็น ๓-๔ กรม แต่ภายหลังคงจะรวม “วงงาน” เหล่านี้เข้าเป็นกรมเดียวกันจึงมีตำแหน่งจางวางขึ้นทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชา กรมมอญนี้ไม่ขึ้นอยู่ในสังกัดของกรมพระกลาโหมเช่นเดียวกับกรมอาสาต่างชาติอื่น ๆ

การจัดระเบียบกรมทหารอาสาดังกล่าวข้างต้นนี้แสดงถึงการจัดแบ่งกำลังทหารมิให้ไปกระจุกตัวอยู่ในบังคับบัญชาของกลาโหมด้วยการตั้งกรมทหารต่างชาติแยกเป็นกรมอิสระขึ้นต่อกษัตริย์ และกรมทหารต่างชาตินี้ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการชิงอำนาจทางการเมือง ดังปรากฏในตอนที่สมเด็จพระเอกาทศรถสิ้นพระชนม์ “ออกญาพระนายไวย” ขุนนางกรมมหาดเล็กได้อาศัยทหารอาสาญี่ปุ่นประมาณ ๕๐๐ คน ทำการชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (ขจร สุขพานิช, ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ บรรณาธิการ ๒๕๒๓: ๙๒-๙๓) ในปลายรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมถึงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กองทหารอาสาญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ชิงอำนาจทางการเมืองในราชสำนักอย่างสูง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ กองทหารอาสา-ทหารจ้างต่างชาติมีหน้าที่เป็นองครักษ์ ประโยชน์ของกองทหารองครักษ์ต่างชาติเหล่านี้มีความสามารถพิเศษในด้านการรบและการใช้อาวุธ มีความพร้อมเพรียงกว่ากรมทหารธรรมดา จึงจัดเป็นกองทหารประจำการ แม้จะมีจำนวนไม่มากนักแต่สามารถปฏิบัติการได้เฉียบพลัน สำหรับลักษณะการชิงอำนาจทางการเมืองภายในราชสำนักของอยุธยา ซึ่งเป็นเรื่องของการเกาะกลุ่มอย่างลับ ๆ และทำการรัฐประหารในพระราชสำนัก กองกำลังองครักษ์จึงมีประสิทธิภาพมากในการช่วงชิงชัยชนะ (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ๒๕๒๓: ๑๓-๑๔)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายว่า เป็นทหารที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะอย่างไรอย่างหนึ่ง อาสาเข้ารับราชการทหารด้วยใจสมัคร จึงจัดรวมขึ้นเป็นกรมทหารอาสา มีหลายกรมเป็นกองทหารพิเศษ ต่อมามีพวกชาวต่างชาติได้สมัครจะรับราชการทัพศึกจึงมีการรวมกันเป็นกองเฉพาะ จึงเกิดทหารอาสาญี่ปุ่น อาสาจาม เป็นต้น ส่วนพวกโปรตุเกสมีความชำนาญปืนไฟจึงจ้างไว้เป็นทหาร (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ ๒๕๑๖: ๔๙๕) ทหารอาสาในตอนต้นของคำอธิบายน่าจะหมายถึง อาสา ๘ เหล่าที่สังกัดกรมกลาโหม คือ อาสาใหญ่ซ้าย-ขวา อาสารองซ้าย-ขวา ทวนทองซ้าย-ขวา ยังมีกรมทหารมอญอีก ๔ กรม คือ กรมตั้งทองซ้าย-ขวา และกรมดาบสองมือกลาง กรมกลีอ่อง กรมทหารอาสาจาม อาสาญี่ปุ่น เป็นต้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ต.ค. 09, 12:28
สวัสดีค่ะคุณเพ็ญ

ตามอ่านด้วยความสนใจ
สนใจทหารญวนด้วยเหมือนกันค่ะ   ส่วนมากจะเป็น ทหารปืนใหญ่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 16:08
ขอบพระคุณเจ้าบ้านทั้งคุณเทาชมพูและคุณวันดีที่กรุณาออกมาต้อนรับถึงหน้าเรือนชาน

ข้าน้อยซาบซึ้งใจยิ่งนัก

 :)

เรื่องอาสาญวน คิดว่าไม่มีในสมัยอยุธยา คงมีในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพวกญวนอพยพเข้ามา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) สังกัดกรมอาสาญวน เป็นพลทหารปืนใหญ่ประจำป้อม




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 30 ต.ค. 09, 16:10
สวัสดีคุณเพ็ญชมพู ด้วยคนครับ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 16:25
สวัสดีคุณ TIRAV เช่นกัน

ภาพประกอบเรื่องขุนช้างขุนแผนที่คุณ TIRAV นำมาแสดง

สวยมาก

 8)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 09, 17:07
อื้อฮือครับ ชื่อคุ้นๆทั้งนั้นมาเป็นทหารอาสาที่นี่กันทั้งกองร้อย

คิดถึงคุณวสันดิลก

ท่านมหาอยู่หนายยย พรรคพวกอยู่ที่นี่คร้าบ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 30 ต.ค. 09, 17:17
สวัสดีคุณนวรัตน ครับ

เห็นท่านพี่มาปักเสา ทำค่ายอยู่กระทู้ขุนช้างขุนแผนภาคสองแล้วละครับ

ยังไม่มีช่องจะปีนขึ้นค่ายได้ เลยขอผ่องผ่านไปก่อนครับ

^________________________^


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 30 ต.ค. 09, 17:18
ขอบพระคุณสำหรับคำชมครับ คุณเพ็ญชมพู

ถ้าได้มีโอกาสอันเหมาะสม จะค่อยๆเลียบๆเคียงๆ หารูปสวยๆมาอภินันท์อีกสักหลายคราครับ ...

^_____________^


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 17:24
ขอต้อนรับเพื่อนของคุณวันดี  และคุณ Navarat C. ค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ต.ค. 09, 22:58
บางคนยังรำฉุยฉายพลายชุมพลอยุ่ค่ะ





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 พ.ย. 09, 07:32
ที่กล่าวถึงกรมทหารอาสา ว่าเป็นทหารหน้า ในความเห็นข้างต้นนั้น  จะเป็นความเข้าใจผิดของผู้เรียบเรียงข้อมูลใน Wikipedia หรือเปล่าครับ
เพราะในรัชกาลที่ ๔ มีการฝึกหัดทหารอย่างใหม่  จัดเป็นกรมเกณฑ์หัดอย่างใหม่  แล้วต่อมาดูเหมือนจะเป็นในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงรวมรวมกำลังพลที่หัดอย่างใหม่นั้นเป็น "กรมทหารหน้า"  เพราะมีที่ตั้งอยู่ที่ว่าการยุทธนาธิการ คิอ กระทรวงกลาโหมที่ตั้งอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง  เมื่อท่านผู้เรียบเรียงเห็นชื่อกรมเกณฑ์หัดแย่งใหม่ซึ่งไปซ้ำกับกรมทหารอาสาครั้งโบราณจึงเข้าใจผิดว่าเป็น "ทหารหน้า" ไป


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 พ.ย. 09, 09:13
ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ  รู้สึกดีใจที่มีผู้มาร่วมกระทู้ความเห็นเพิ่มขึ้น  เห็นทีกระทู้นี้จะจบไม่ลงเสียแล้ว 

การฝึกทหารอย่างใหม่  หรือฝึกทหารอย่างฝรั่งนั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่า มีมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่หาได้ฝึกหัดเอาจริงจังไม่ รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้คำว่า "ทหารเล่น" เข้าใจคงเป็นช่วงที่รัชกาลที่ ๓โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองฝึก  จึงยังไม่ได้มีพระราชดำริที่จะตั้งขึ้นเป็นกรมกอง  ครั้นต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดทหารอย่างฝรั่งขึ้นอีก  รายละเอียดการรื้อฟื้นฝึกหัดทหารอย่างฝรั่งครั้งนี้มีมาก  และมีการฝึกหัดอย่างนี้ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งในระหว่างนี้  มีการปรับเปลี่ยนอะไรอีกหลายครั้ง ผู้ใดสนใจสามารถอ่านได้จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินดีกว่า

งานของนักวิชาการท่านที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับขุนนางต่างๆ เคยอ่านผ่านตามาบ้าง  เป็นข้อมูลทุติยภูมิ  ผมชอบอ่านเอกสารปฐมภูมิครับ 

อาสาญวน นี่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ หรือเปล่า  เพราะในรัชกาลนี้ มีพวกญวนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  เคยอ่านพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรี จำได้ว่ามีพวกญวนอพยพเข้ามาเมืองไทยในรัชกาลนี้เหมือนกัน  แต่คงยังไม่ได้จัดเกณฑ์ขึ้นเป็นกองอาสาญวน  ส่วนอาสาลาวนั้นก็มามีสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง ในสมัยอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีกองอาสาดังกล่าว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 12:26
พูดถึงหัดทหารแบบตะวันตก  ก็นึกถึงกองทหารของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   และร้อยเอกโทมัส น็อกซ์
ถ้าจะคุยเรื่องทหารในรัชกาลที่ ๔  เห็นจะต้องแตกกระทู้ออกไปอีก กระมังคะ คุณหลวงเล็ก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 พ.ย. 09, 14:16
ต้องขอรอดูก่อนครับ  ถ้าหากการอภิปรายยืดเยื้อ  สุดแต่ประธานรัฐสภา เอ๊ย ท่านผู้เป็นต้นเริ่มกระทู้จะพิจารณาว่าควรแตกเป็นกระทู้ใหม่หรือไม่ อาจจะต้องโหวตลงมติก่อน ผมเป็นเพียงคนอภิปรายทั่วไปคนหนึ่งครั

มีตัวละครประกอบตัวหนึ่งในเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งผมสงสัยว่าจะเป็นคนมอญหรือไม่  ตัวละครที่ว่า ชื่อ มะถ่อธะบม  มีอาชีพรับจ้างพายเรือข้ามฟาก  อยู่ในตอนขุนแผนลักพาวันทองหนีขุนช้าง  จากบทเสภา ที่บรรยายลักษณะมะถ่อะบมว่า แต่งกายด้วยผ้าเตี่ยวผืนเดียว ลงเข็นเรือออกจากโคลนริมตลิ่ง  พายเรือให้ขุนแผนกับวันทองข้ามแม่น้ำ  แม้จะเป็นบทของตัวละครประกอบเล็กๆ  แต่นับว่าเป็นหลักฐานเกี่ยวกับอาชีพเรือรับจ้างข้ามฟากที่สำคัญมาก  เพราะเคยได้เห็นภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕  ไม่แน่ใจว่า คนไทยหรือฝรั่งถ่ายไว้  เป็นภาพคนพายเรือรับจ้างในหัวเมืองอะไรสักเมือง  แต่งกายอย่างมะถ่อธะบมทีเดียว  เสียดายว่าจำไม่ได้ว่าดูจากหนังสืออะไร ไม่เช่นนั้นจะเอามาลงให้ดูกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 15:21
จิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ วัดบางน้ำผึ้งนอก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นภาพหนุ่มมอญร่วมสมัยกับกวีผู้แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผน ไว้ผมทรงมหาดไทย มีอะไรบางอย่างทัดหู มีผ้าพาดบ่าสีดินแดง ในมือที่ขี้โยไว้เล็บยาวที่นิ้วก้อย นุ่งโจงหางไก่ผ้าลายดอกพิกุลพื้นดินแดง



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 15:28
ชื่อ มะ  น่าจะเป็นมอญ นะคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 15:34
คู่กันเป็นภาพสาวมอญไว้ผมปีกจับน้ำมันควั่นเป็นเส้นรอบศีรษะกันไรแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดวงหน้าเต็มนัยน์ตาหรี่เล็กดูเย้ายวน ริมฝีปากบางเป็นกระจับ ประดับหูด้วยพวงเต่าร้าง ห่มผ้าสีหงชาดด้านในทับอีกชั้นด้วยผ้าสีแดงเสน คาดสังวาลย์ทอง สวมกำไลข้อมือและแหวนทั้งสี่นิ้ว ในมือถือซองขี้โย (บุหรี่) นุ่งโจงลายดอกพิกุลพื้นสีเขียวก้ามปู ไม่สวมกำไลข้อเท้า

คำบรรยายภาพหนุ่มและสาวมอญ โดย คุณ Geometry Aon
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/02/K7566455/K7566455.html (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/02/K7566455/K7566455.html)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 พ.ย. 09, 22:23
ภาพสาวมอญนี่ ถ้าจะเป็นสาวมอญที่กลายเป็นไทยแล้ว  เพราะนุ่งผ้าโจงกระเบน   ถ้าเป็นมอญดั้งเดิมน่าจะต้องนุ่งผ้ากรอมเท้า และนุ่งแบบพอยกย่างสว่างแวบแทบขาดศีล  คือนุ่งเอาชายผ้ามาป้ายทับกันข้างหน้า  พอก้าวขาเดินกว้างหน่อย ผ้านุ่งจะแยกให้เห็นขาอ่อน  อย่างที่สุนทรภู่ท่านว่าไว้ในนิราศวัดเจ้าฟ้า  จำได้ว่าเคยมีคนเอาภาพวาดสาวมอญยกย่างสว่างแวบแทบขาดศีลมาให้ดูเหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นภาพวาดฝาผนังวัดอะไร  ส่วนภาพหนุ่มมอญนี่ก็น่าจะเป็นหนุ่มมอญที่กลายเป็นไทยแล้วเหมือนกัน   บุหรี่ที่สูบ  คงไม่ไม่ใช่บุหรี่ขี้โยหรอกกระมัง  เพราะเคยได้ยินว่าบุหรี่ขี้โยมวนโตนัก  นี่คงเป็นบุหรี่ใบตองแห้ง หรือบุหรี่กลีบบัวธรรมดากระมังครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 02 พ.ย. 09, 22:55
เห็นด้วยกับคุณหลวงเล็กทั้ง 3 เรื่องครับ คือ เรื่อง
- โจงกระเบน
- ผ้านุ่งสตรีมอญ
- บุหรี่

ขออนุญาตเสริมนิดหน่อย ว่าผ้านุ่งลายเล็กๆที่ไม่มีสังเวียนรอบแล้ว
เข้ามาปรากฏชัดๆครั้งแรกราวๆ พ.ศ. 2400 ถ้าจะก่อนก็ไม่เกิน 10 ปี ครับ
เชื่อว่าจิตรกรรมวัดบางน้ำผึ้งก็คงเขียนขึ้นไม่น่าจะเก่าไปกว่านั้น
ผ้าแบบที่มีแต่ท้องลายนี้ใช้กันมาเรื่อยๆ ถึงรุ่นโรงกระเบนคุณยายที่เก็บไว้ในตู้ในหีบ

ถ้าลองเทียบกับภาพสาวมอญที่ช่างภาพรุ่นนั้นถ่ายไว้ (ผมเข้าใจว่าเป็นตาทอมป์สัน)
จะเห็นว่าทั้งทรงผม และเครื่องแต่งกายต่างกันมากครับ
เสียดายว่าคนปัจจุบันคงหาต้นเรื่องไม่ได้แล้วทั้ง 2 เรื่อง
ว่า 1.) จิตรกรรมวัดบางน้ำผึ้งเขียนเมื่อไหร่
2.) ตาทอมป์สันไปคว้านางแบบมาจากละแวกไหน
ถ้าหาได้อาจจะบอกอะไรได้อีกหลายเรื่องครับ

ส่วนจิตรกรรมภาพสาวมอญที่เห็นผ้าแหวก ผมเข้าใจว่าเจอะอยู่หลายวัด
ทั้งที่อัมพวา ราชบุรี และแถวคลองอ้อม เพราะมอญเข้ามาอยู่กันมาก
ผมลองหาภาพจากน้องกุ๊กไก่ ได้มาไม่สวยเท่าที่ใจอยาก
เป็นจิตรกรรมหอไตรของวัดบางแคใหญ่, อัมพวา ฝีมือช่างรัตนโกสินทร์แล้ว
แต่หลายส่วนยังแอบมีความเป็นอยุธยาอยู่มากกว่าช่างกทม

เข้าใจว่าน่าจะเป็นภาพผ้านุ่งแบบที่คุณ luanglek พูดถึง
ว่าอยู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้า หรือนิราศพระบาทนะครับ





ภาพจากเวบ http://www.oknation.net/blog/phaen/2009/07/13/entry-1


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 02 พ.ย. 09, 23:04
ยังอยู่กันที่วัดเดิมครับ ไหนๆ ก็ได้ภาพมาแล้ว
ผมขออนุญาตแทรกเรื่องผ้านุ่งผู้ชายนะครับ
เพราะที่นี่ช่างเขียนเก็บเอกลักษณ์ได้ชัดมาก

ที่จริง ผ้านุ่งคล้ายโจงกระเบนผู้ชายแบบนี้
ถึงจะดูเป็น ไทย-เขมร ในความรู้สึกคนไทย
แต่ก็ใช้ในสังคมทั้งพม่า-มอญด้วย
ถ้าเป็นตัวละครจะใช้กับหนุ่มเจ้าชู้ ป้อเขาไปทั่ว
(ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุของการเน้นเป้ารึเปล่า ?)
วิธีนุ่งผ้าแบบนี้มีชื่อเรียกตามภาษาเขาว่า "ขะโดะ เอนจี"

ต่างกับโจงแบบไทย-เขมร นิดหน่อยตรงที่ถ้าเป็น มอญ-พม่า แล้ว
จะนุ่งให้เป้าตุงผิดปรกติเสมอ ถึงจะเป็นภาพเขียนในจิตรกรรม
ถ้าเป็นช่างพม่า-มอญเขียน ก็จะรักษาเอกลักษณ์นี้เอาไว้





ภาพจากเวบเดิมครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 09, 09:08
ผ้านุ่งสาวมอญ  ที่คุณหลวงเล็กเอ่ยถึง  มาจากนิราศวัดเจ้าฟ้า ค่ะ

  เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา                      ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง 
  ฝ่ายสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด                     แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง 
  ทั้งผ้าห่มตาถี่เหมือนสีรุ้ง                                ทั้งผ้านุ่งนั้นก็ออมลงกรอมตีน 
  เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ                           เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล 
  นี่หากเห็นเป็นเด็กเหมือนเจ๊กจีน                       เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง
 
  ไปเปิดฉบับหอพระสมุด  อ่านตอนมะถ่อธะบม     ไม่เห็นมีร่องรอยว่าแกสักพุงสักขา ค่ะ
  กลอนข้างบนนี้  สุนทรภู่เล่นสัมผัส  -อีน   ซึ่งทางภาษาถือกันว่าเป็นสุดยอดของคำยาก  มีให้สัมผัสอยู่ ๔ คำ ในภาษาไทย  คือ  ตีน  ศีล ปีน จีน    บางคนหาคำบาลีมาเพิ่ม คือ ปวีณ  แต่ก็หาที่ลงยากมาก
  ถ้าหากว่าเล่นกลอนสด  ใครแกล้งด้วยการใช้คำนี้ลงท้ายกลอน  ทีมฝ่ายตรงข้ามเหมือนถูกฆ่าบนเวทีได้เลย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 พ.ย. 09, 09:31
 

จากนิราศพระบาท

พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก                         ถึงสามโคกต้องแดดยิ่งแผดแสง
ให้รุ่มร้อนอ่อนจิตระอิดแรง                               เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง
ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น                             เป็นแยบยลเมื่อยกขยับอย่าง
เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง                         ใครยลนางก็เป็นน่าจะปรานี

จิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ วัดบางน้ำผึ้งนอก



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 พ.ย. 09, 10:11
เป็นอันว่าได้ดูภาพหญิงมอญตามประสงค์แล้ว  และขอบคุณท่านที่ช่วยค้นกลอนนิราศของสุนทรภู่ที่กล่าวถึงการนุ่งผ้าของชาวมอญแท้ๆ เอาไว้   ส่วนมะถ่อธะบมที่ได้กล่าวถึงนั้น  ที่อยากให้พิจารณาคือการใช้ผ้าเตี่ยวปกปิดร่างกายเท่านั้น  เป็นเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับอาชีพพายเรือข้ามฟาก เพราะต้องลงลุยโคลนเลนเข็นเรือออกจากตลิ่ง  ถ้าแต่งกายอย่างชาวบ้านทั่วไป จะเปรอะเปื้อนโคลน ล้างออกยาก  ในเสภาบรรยายไว้ให้เราได้ทราบว่าคนมีอาชีพพายเรือรับจ้างข้ามฟากสมัยก่อน  มีลักษณะอย่างไร   ส่วนรอยสักไม่มีหรอกครับ  คุณเทาชมพูอาจจะเข้าใจพลาดไป


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 พ.ย. 09, 10:36
จารึกที่วัดโพธิ์ แต่งโดย ขุนมหาสิทธิโวหาร กล่าวถึงการสักของคนมอญว่ามักสักที่ไหล่และหลัง

นี้ภาพตเลงเขตรแค้วน             หงสา วดีแฮ
คือเหล่ารามัญฉมัง                 หมู่นี้
ไว้หวังเพื่อประชา                  ชมเล่น
เผื่อว่าภายหน้าลี้                   ลับหาย

นุ่งผ้ารางริ้วเช่น                    ชาวอัง วะแฮ
พันโพกเกล้าแต่งกาย              ใส่เสื้อ
มอญมักสักไหล่หลัง               ลงเลข ยันต์นา
พลอยทับทิมน้ำเนื้อ                นับถือ





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 09, 11:03
อ้างถึง
เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา                      ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง 


แสดงว่ามอญชาย สักร่างกายตั้งแต่ท้องลงไปถึงขา    ส่วนจะสักหลังไหล่ด้วยหรือไม่ ไม่ได้บอกไว้
ตามะถ่อ  คนแจวเรือในขุนช้างขุนแผน แกไม่ได้นุ่งผ้า   แกนู้ดออกมาเข็นเรือ
" แก้ผ้าลุยเลนผลักเบนไป                     โยกโยกไม่ไหวมันฝืดนัก"


คงไม่ได้มีรอยสักสีดำที่พรางร่างกายไว้ด้วย  จึงอุจาดตาจนวันทองทนไม่ได้

"หลอกเราใช้เล่นให้เข็นเรือ                     ยกเงื้อพายแร่ทั้งแก้ผ้า
วันทองน้องอายไม่ลืมตา                          หม่อมขาดูเอาเถิดไอ้นอกทาง"


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 พ.ย. 09, 11:41
ก็นุ่งผ้าเตี่ยว เมื่อจะลงเข็นเรือก็ปลดผ้าออก  พอเข็นเรือออกฝั่งได้ก็นุ่งเหมือนเดิม  เรื่องรอยสักนี้ ของชายชาวมอญนี้  เข้าใจว่าก็เหมือนๆ กับการสักของชายในดินแดนอุษาคเนย์ที่นิยมสักเหมือนกัน  แถบทุกเชื้อชาติภาษา  ต่างกันแต่ว่าจะสักมากน้อยเท่าใด สักรูปหรือเลขอะไร สักตรงไหนบ้าง  เรื่องรอยสักนี้  เคยใช้เป็นสิ่งที่แสดงความต่างระหว่างคนลาวด้วยกัน  คือ ลาวพุงขาวและลาวพุงดำ  แต่จำไม่ได้ว่า ลาวพุงดำนี่หมายถึงลาวล้านนาหรือลาวอีสาน  เรื่องรอยสักนี่มีเรื่องให้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า  ในกฎหมายลาวโบราณ ถือว่า ชายฉกรรจ์ที่มีรอยสัก เป็นรูปสำคัญบางอย่าง จะมีค่าตัวสูงกว่าชายที่ไม่มีรอยสัก  และว่าชายที่ไม่มีรอยสัก สาวๆ ไม่สนใจเอาเป็นสามีด้วย  ถ้ามีเวลาจะไปค้นข้อความมาให้ลงให้อ่านอีกทีครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 09, 11:53
นายมะถ่อ ถ้าเป็นมอญก็คงมาอยู่ในไทยจนนาน กลายเป็นไทยไปแล้วค่ะ   นอกจากไม่มีรอยสักตามร่างกาย  ปกติแกคงนุ่งโจงกระเบน  อีกด้วย
เพราะขุนแผนเตือนว่า

ขุนแผนร้องเบื่อมันเหลือเถน                            โจงกระเบนเสียก่อนเจ้าเรือจ้าง

ส่วนแกก็คว้าผ้านุ่งมานุ่ง   ซึ่งดิฉันเดาว่าเป็นผ้านุ่งโจงกระเบน(ซึ่งอาจจะนุ่งแบบลอยชาย)  ไม่ใช่ผ้าเตี่ยว

แล้วเลื่อนตัวมาเอาผ้านุ่ง                                 ฉวยผ้าพันพุงขมีขมัน

ถ้าพันได้แปลว่าผ้านั้นกว้างพอจะพันท่อนกลางของร่างกาย    ถ้าเป็นผ้าเตี่ยว น่าจะแค่คาดเอวเท่านั้น  บังเฉพาะส่วนหน้า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 พ.ย. 09, 15:38
หนุ่มมอญที่สักหลังสักไหล่ แบบที่คุณเพ็ญชมพูพุดถึง
พบในภาพจิตรกรรมที่วัดคงคาราม จ.ราชบุรีครับ
เป็นพลทหารมารในฉากมารผจญสองสามตัว

แต่หนุ่มมอญในจิตรกรรมที่อื่นๆบางที่ก็ไม่ได้แต่งตัวแบบนี้
ผมเข้าใจว่าเพราะอยู่กันคนละชุมชน ช่างเขียนคนละคน
แถมบางทีเขียนขึ้นต่างสมัยกันอีกตะหาก...
ในเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป รายละเอียดหลายๆเรื่องในสังคมก็ต่างกันไปครับ


ผมยังหาภาพเก็บรายละเอียดชัดๆในอินเตอร์เนตไม่พบอีกตามเคยครับ
ภาพที่เอามาลงขโมยเขามาอีกตามเคย เสียดายจำเจ้าของเดิมไม่ได้เสียแล้วครับ






.


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 พ.ย. 09, 15:53
เรื่องรอยสักนี้  เคยใช้เป็นสิ่งที่แสดงความต่างระหว่างคนลาวด้วยกัน  คือ ลาวพุงขาวและลาวพุงดำ  แต่จำไม่ได้ว่า ลาวพุงดำนี่หมายถึงลาวล้านนาหรือลาวอีสาน  เรื่องรอยสักนี่มีเรื่องให้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า  ในกฎหมายลาวโบราณ ถือว่า ชายฉกรรจ์ที่มีรอยสัก เป็นรูปสำคัญบางอย่าง จะมีค่าตัวสูงกว่าชายที่ไม่มีรอยสัก  และว่าชายที่ไม่มีรอยสัก สาวๆ ไม่สนใจเอาเป็นสามีด้วย 


การสักที่เอวจนถึงหัวเข่าเป็นความนิยมของคนพม่าในสมัยโบราณ โดยถือว่าเป็นเครื่องแสดงความเป็นลูกผู้ชาย และถือว่าผู้มีลายสักเป็นผู้ที่มีความอดทนและกล้าหาญ  ดังนั้นผู้ชายที่ไม่สักลายมักจะถูกดูแคลน นั่นหมายรวมถึงอาจไม่เป็นที่หมายปองของหญิงสาวอีกด้วย

เมื่อพม่ามาเป็นเจ้าเข้าครองล้านนานานกว่า ๒๐๐ ปี อิทธิพลวัฒนธรรมความเชื่อของพม่าย่อมถ่ายทอดสู่ชาวล้านนา หนึ่งในวัฒนธรรมความเชื่อนั้นคือการสักโดยเฉพาะตั้งแต่เอวลงมาจนถึงหน้าขา ชาวล้านนาจึงมีชื่อเรียกว่า "ลาวพุงดำ" ส่วนลาวล้านช้างไม่ถูกพม่ามาครอบครองจึงไม่มีความนิยมดังกล่าวและได้ชื่อเพื่อให้แยกจากชาวล้านนาว่า "ลาวพุงขาว"

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นภาพหนุ่มสาวกำลังเกี้ยวพาราสีกัน ชายหนุ่มในภาพเปลือยอกเห็นรอยสักเต็มตัว ทั้งแขน ไหล่ หน้าอก พุง และหน้าขา



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 พ.ย. 09, 16:41
พงศาวดารโยนกกล่าวถึงของชายชาวล้านนาไว้ว่า พม่ามาบังคับให้ชาวล้านนาสักขากันในยุคปลายที่พม่าครองล้านนาแล้ว  เห็นจะเป็นช่วงหลังที่พม่ากลับเข้ามาครองเชียงใหม่ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์ยกขึ้นไปตีเชียงใหม่แล้ว  พร้อมกันนั้นก็บังคับให้สตรีชาวล้านนาเจาะใบหูที่เรียกขวากหู  เพราะสามารถเอาใบลานหรือบุหรึ่ขี้โยสอดเข้าไปได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: Whitearmy ที่ 03 พ.ย. 09, 20:12
Post 140 and 142 were not Mon.
They looked exactly the same with pictures of  Thais taken in 2400s (=2401-2409).

More can be said that the two drawings reflected those in the palace (chao wang).
Thing that differentiated ordinary Thai and chao wang  had to do with pa-noong: puen vs dok.


*Pls excuse my typing.



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 พ.ย. 09, 22:41
ผมว่ายังแบ่งไม่ขาดครับ ว่าชาวบ้านหรือชาววัง
ถ้าจะเขียนตัวทวารบาล... ช่างเขาก็คงไม่ขี้ข้ากระยาจกมาเป็นแบบนี่ครับ
แต่ก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับคุณ Whitearmy นะครับ
ว่าดูจากเครื่องแต่งตัวแล้วกระเดียดไปไทยมากกว่ามอญ

แต่ถ้าลองคิดเล่นๆว่าคนพวกนี้เป็นมอญ(กรุง)เก่า...
ก็ไม่น่าแปลก ถ้าเขาจะเอาอย่างไทยไปบ้าง
ระยะเวลาตั้งแต่ก่อนกรุงแตก ถึง 2400 มันไม่ได้ห่างกันน้อยๆนะครับ
เผลอๆระหว่างนั้นอาจจะมีมอญบางคนได้เป็นพระราชินีบ้าง
หรือมีกษัตริย์ลูกครึ่งมอญครองกรุงสยามไปบ้างแล้วซะด้วยซ้ำ



ส่วนเรื่องผ้านุ่งผ้าลายรุ่น พ.ศ. 2400 (เผลอๆ จะ 2350) ลงมา
นี่เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนอีกเรื่องครับ
(ก่อนหน้านั้นก็คงไม่แพ้กัน แต่เราชอบไปคิดว่ามันง่ายกันเอง)
ยิ่งถ้าจะเอาลายจิตรกรรมไปเทียบกับลายผ้า... ผมว่าเหลวครับ

ลองคิดดูง่ายๆว่าสถาปัตยกรรมที่นึงๆ
มีลายจิตรกรรมประเภทลายแผงที่ผนังกับเสา
รวมกับลายผ้านุ่งทวารบาลองค์ใหญ่ๆ ที่ฝีมือดีพอจะจับลายได้
ให้มากที่สุด อาคารหลังนึงก็คงไม่เกิน 20 ลาย
(ลายผ้าที่ตัวละครในจิตรกรรมภาพเล่าเรื่องนุ่งผมตัดออกนะครับ
เพราะโดยมากต้องย่อลงจนเก็บรายละเอียดของลายไมได้)
วัดซักแห่ง ยกให้มีอาคารซัก 5 หลัง ก็ตกราวๆ 100 ลาย

วัดหลวงมีซักกี่แห่ง... คูณร้อยเข้าซะให้หมด
ผมว่าก็ยังไม่น่าจะถึงห้าหมื่นลาย
ถ้าลองเทียบกับผ้าที่ซื้อเข้ามาจนขาดทุนปีละเป็นล้านตั้งแต่สมัย ร.1
จำนวนตัวอย่าง และความหลากหลายของตัวอย่าง 2 กลุ่มมันต่างกันมากนะครับ

ถ้าคิดไปถึงว่าผ้าเป็นการ "ส่งแบบ" ไปให้ทำ คนทำยังไงก็ไม่ใช่คนไทย
แต่จิตรกรรมเป็นงานไทยแท้... variation ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามเมืองที่ผลิดไปด้วย
เหมือนเครื่องเบญจรงค์ที่ทำจากจีนหน้าเทพนมก็ดูไม่เป็นไทยไปตามระเบียบ

ยิ่งในความเป็นจริงลายแบบรัตนโกสินทร์ยิ่งนิยมอะไรที่เหมือนๆกันไปหมด
คนชำนาญเห็นปุ๊บชี้บอกได้ ว่าอะไรเขียนเมื่อไหร่ ราวๆไหน
จิตรกรรมวัดนึงกว่าจะเขียนงานเสร็จก็กินเวลาเป็นปีๆ

ถ้าเทียบกับผ้านุ่งผ้าห่ม ถึงจะมีราคาค่างวดสูงแค่ไหน
หรือใช้ซ้ำจนขาดเปื่อยโดนเขาว่าแขวะเอาก็เถอะ
นับๆดูผ้านุ่งที่ชนชั้นสูงในพระนครนุ่งกันวันนึง
เผลอๆจะมากกว่าจิตรกรรมที่เขียนขึ้นใน 1 รัชกาลด้วยซ้ำ

แต่เรื่องปริมาณตัวอย่างที่ต่างกันมากขนาดนี้เราชอบลืมนึกกันไป
เลยเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่าน
จะไปคิดเอาเองว่าลายผ้าเท่ากับลายเขียนในงานจิตรกรรม
ในขณะที่เรื่องจริงมันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นครับ

ทั้งเซียนผ้าและเซียนจิตรกรรมเจ๋งๆหลายท่านเลยพลาดกันมาเยอะแล้ว
เซียนคนแรกที่แม่นกว่าใครทั้ง 2 เรื่องและหงายเก๋งมาก่อนใครแล้ว...
คือ สมเด็จฯ นริศ (หลักฐานอยู่ในสานส์สมเด็จเล่ม 1)

เรื่องมีอยู่ว่า
วันหนึ่งกรมพระยาดำรงเชิญท่านไปช่วยกำหนดอายุผ้าจำนวนหนึ่ง
ที่หอพระสมุดได้มา(ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร)
สมเด็จท่านก็ใช้พระวินิจฉัยอย่างช่างที่ทรงมีหยิบเลือกๆไว้ กองนั้นอยุธยา กองนี้ต้นกรุง
ไม่กี่วันให้หลัง เด็กที่บ้านท่านรื้อผ้านุ่งในหีบของแม่ท่านเองออกมาผึ่งแดดไล่แมลง
ทรงเห็นเข้าก็รีบร่างสานส์ถึงกรมพระยาดำรงทันที ว่าอย่าเพิ่งแบ่งตามที่เคยทรงแบ่งไว้
ของที่เป็นกรุงเก่ากรุงใหม่อะไรนั่นมีเหมือนๆกันอยู่ในหีบสมบัติแม่ท่านเอง
ท่าจะพลาดเสียแล้ว...


นี่เฉพาะลายนะครับ... เรื่องเนื้อผ้ายิ่งมีเรื่องใหญ่(กว่า)อีกหลายเรื่องครับ