เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Sujittra ที่ 28 ส.ค. 12, 20:34



กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ส.ค. 12, 20:34
ผมกำลังทำรายงานการศึกษาเสนอต่อวุฒิสภา
พยายามหาทั้งใน google และ ใน "เรือนไทย" แล้ว แต่ไม่พบคำตอบที่จะใช้อ้างอิงได้
รบกวนท่านผู้รู้ทุกท่านด้วยครับ  :'(


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 21:01
จาก พจนานุกรม สันสกฤต-อังกฤษ (http://spokensanskrit.de/index.php?script=HK&beginning=0+&tinput=+raja&trans=Translate&direction=SE)


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 21:03
ต่อไป  ถ้าติดขัดเรื่องศัพท์ อยากทราบคำแปล   เข้าไปที่เว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานนะคะ

http://rirs3.royin.go.th/

หาคำแปลมาให้ค่ะ

ราชา ๑   น. พระเจ้าแผ่นดิน, พระมหากษัตริย์. (ป., ส.).
ราชา ๒   ว. ตรง เช่น แผ่กิ่งก้านราชา. (ป. อุชุ; ส. ฤชุ).


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 21:05
ความหมายดั้งเดิมของคำว่า "ราชา"

คำว่า "ราชา" ท่านพุทธทาสภิกขุเคยเทศฯว่า รากศัพท์ดั้งเดิมจริงๆ นั้นมาจากคำที่แปลว่า พอใจ ท่านบอกว่าในสมัยโบราณสมัยสังคมคนยังไม่วัวัฒนาการ ยังแทบไม่ต่างจากมนุษย์ถ้ำสักเท่าไหร่นั้น (พระพุทธศาสนามีบางพระสูตรที่พูดถึงสังคมบุพกาลแบบนี้ เช่น อัคคัญญสูตร ซึ่งมีคนชอบยกไปเทียบกับทฤษฎีการเมืองของฮอบส์หรือสัญญาประชาคมของรุสโซ) คนเพิ่งจะรู้จักรวมตัวกันเป็นชุมชน มีผู้นำ ผู้นำนั้นบางคนก็ไม่เข้าท่า บางคนก็หลงอำนาจโหดร้าย (ผมพูดถึงผู้นำชุมชนสมัยสังคมโบราณนะครับ ไม่ใช่นักการเมืองเดี๋ยวนี้) แต่บางคนก็มีความสามารถในการปกครองบริหารและบริการชุมชน จนกระทั่งทำให้คนอื่นในสังคมมีความสุข ออกอุทานออกมาได้ว่า พอใจ พอใจ คำอุทานว่า พอใจ พอใจ นั่นแหละ ที่ต่อมากลายเป็นชื่อตำแหน่งของผู้นำสังคม ผู้ปกครองสังคม คือ "ราชา" ราชา คือผู้ที่สามารถทำให้คนใต้ปกครองของพระองค์ พอใจในชีวิต นั่นคือความหมายดั้งเดิมแท้ๆ ของคำว่า "ราชา" อันนี้ตามทีท่านพุทธทาสท่านเทศน์นะครับ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเล่าไว้ในสูตรนั้น ถึงมูลเหตุของการที่คำว่า "ราชา" คำนี้จะเกิดขึ้นในโลก ในสมัยแรกที่มนุษย์เพิ่งจะมีกันขึ้นในโลก คนอยู่กันอย่างไม่มีการปกครอง คือ อยู่กันอย่างตามธรรมชาติ

ครั้นมีมากคนขึ้น ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้น เนื่องจากมีคนประพฤติเกเร เช่น ขโมยข้าวที่คนอื่นทำไว้ เป็นต้น และนับวัน จะมีแต่เรื่องชนิดนี้มากมายขึ้นทุกที ครั้นมาถึงวันหนึ่ง มนุษย์เหล่านั้นเหลือที่จะทนความเดือดร้อนต่อไปไหว ได้หาทางแก้ไข

จนในที่สุดตกลงกัน สมมุติให้มนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีร่างกายแข็งแรง รูปร่างงดงาม น่าเลื่อมใส มีสติปัญญาดี ประพฤติตัวน่านับถือ น่าไว้วางใจ เป็นต้น ให้เป็นหัวหน้าผู้ทำหน้าที่แบ่งปันที่ดิน สั่งสอนลงโทษคนทำผิดกติกา และให้รางวัลคนทำดี ทำถูก เป็นต้น

เมื่อมนุษย์ผู้ได้รับสมมุติคนนี้ ปฏิบัติหน้าที่ของตนมานานนัก ผลก็เกิดขึ้นอย่างตรงข้าม อย่างที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อน คือ อยู่เป็นสุขสงบ ไม่มีใครต้องเดือดร้อนชนิดที่ บาลีท่านมักใช้สำนวนว่า นอนไม่ต้องปิดประตูเรือน หรือทำบ้านไม่ต้องมีประตู มารดาเอาแต่ให้ลูกน้อย ๆ เต้นรำอยู่ที่หน้าอก เพราะไม่มีเรื่องร้อนใจ ดังนี้เป็นต้น

เมื่อมนุษย์เหล่านั้น ซึมซาบในรสของความสงบสุขอันใหม่นี้ มากเข้า ๆ จนถึงวันดีคืนดีวันหนึ่ง คำพูดได้หลุดออกมาเองจากปากของคนเหล่านั้นว่า "ราชา ๆ"

ท่านอย่าหลงผิดว่า คำว่า "ราชา" นี้ เป็นคำพิเศษหรือคำสมมุติแต่งตั้ง สำหรับเราซึ่งไม่ใช่มีภาษาบาลีเป็นภาษาของตน ได้ยึดถือเอาความหมายของคำ ๆ นี้ สูงไปเสียทางหนึ่งแล้ว แต่สำหรับมนุษย์ ซึ่งเป็นเจ้าของภาษานั้น เขารู้สึกในคำ ๆ นี้ อย่างธรรมดา ๆ เหมือนคำ ๆ อื่น ๆ คือ หมายความว่า " ผู้ที่ทำความยินดีพอใจให้เกิดแก่คนอื่น "

คำว่า ราชา นี้ รากหรือธาตุของคำ ก็คือ "รช" ซึ่งแปลว่า กำหนัดหรือยินดีนั่นเอง รากคำ ๆ นี้ สำเร็จรูปเป็นคำอื่นต่าง ๆ กันออกไป เช่นคำว่า ราคะ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์โดยเฉพาะ แต่นั่นมันยินดีจัดเกินไป

ขอให้ท่านผู้ฟังทุกคน กำหนดความหมาย ของคำว่า ราชา ๆ นี้ ไว้อย่างถูกต้อง พระราชา มิได้หมายถึงผู้มีอำนาจตัดคอคน หรือเสกสรรคนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หามิได้ นั่นเป็นเพียงส่วนประกอบของการกระทำ เพื่อทำหน้าที่ตามอุดมคติ แต่อุดมคติของคำ ๆ นี้ อยู่ที่ "ทำความยินดีพอใจ ให้เกิดแก่ผู้อื่น" ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องตัดคอคนเลยก็ได้ เอาใจความสั้น ๆ ก็คือว่า "ผู้ทำความยินดีให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง" นั่นเอง

จากหนังสือ "ภูตผีปีศาจ ในตัวคน ข้าราชการ และ นักการเมือง" ของ ท่านพุทธทาสภิกขุ

;D


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ส.ค. 12, 22:27
ต่อไป  ถ้าติดขัดเรื่องศัพท์ อยากทราบคำแปล   เข้าไปที่เว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานนะคะ

http://rirs3.royin.go.th/

หาคำแปลมาให้ค่ะ

ราชา ๑   น. พระเจ้าแผ่นดิน, พระมหากษัตริย์. (ป., ส.).
ราชา ๒   ว. ตรง เช่น แผ่กิ่งก้านราชา. (ป. อุชุ; ส. ฤชุ).

ท่านอาจารย์เทาชมพูคงเข้าใจเจตนาหรือความประสงค์ของผมผิด อาจเป็นเพราะผมไม่ได้อธิบายความถึงสาเหตุที่ต้องถามโดยละเอียด
ผมเองก็นึกตำหนิเวลาใครถามอะไรในเว็บนี้เพื่อส่งรายงานโดยที่ีไม่ค้นหาเองก่อนและผมก็ทราบอย่างที่ทุกท่านทราบว่า "ราชา" หมายถึง กษัตริย์ (ซึ่งก็เหมือนใน royin)
ในกรณีนี้ ผมกำลังจะนำส่วนหนึ่งของรายงานของคณะหนึ่ง (ซึ่งพูดถึง "ราชา" ว่าหมายถึง “ผู้ให้ความสุข” โดยไม่มีการอ้างอิง) มาปรับเพื่อเสนอรายงานที่กล่าวข้างต้น
นิสัยผมมักจะเริ่มจากถามตัวเองว่า "จริงรึเปล่า?" ก่อนที่จะเชื่อ และยิ่งถ้าจะไปถ่ายทอดต่อ ผมยิ่งต้องตรวจความถูกต้องโดยละเอียด
จึงต้องตั้งกระทู้ถามครับ
อนึ่งเมื่อได้อ่านคำตอบที่สามของ ท่านเพ็ญชมพู แล้ว ผมพอใจมากเพราะคือสิ่งที่ต้องการ นั่นคือ "ที่มาที่ไป" แม้นว่าจะยังมีคำถามอยู่อีกบ้างว่า "จริงหรือไม่?" แต่ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านอย่างมากครับ



กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ส.ค. 12, 22:29
ที่มาตั้งถามในเว็บนี้เพราะผมเชื่อแน่ว่าต้องได้รับความกระจ่างระดับ "ราก" และ "เชื่อถือได้" จากท่านอาจารย์ผู้รู้ทั้งหลายอย่างแน่นอน
ขอบคุณครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 04 ก.ย. 12, 08:50
เรื่องที่มาของ ราชา ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้กำลังใจสามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะ เมื่อเปลี่ยนจากวรรณะพราหมณ์มาบวชศึกษาธรรม ได้ถูกพราหมณ์ทั้งหลายเหยียดหยามด้วยถือว่า พราหมณ์เป็นพวกเดียวที่บริสุทธิ์ พราหณ์อยู่ในอกพรหม เกิดมาจากทางปากของพรหม เป็นทายาทของพรหม  ต่อว่าสามเณรที่ละทิ้งวรรณะอันประเสริฐที่สุด ไปเข้ารีดวรรณะอันทรามของสมณะโล้น พระพุทธองค์ตรัสบอกว่าพวกพราหมณ์ทั้งหลายก็เกิดจากนางพราหมณ์ซึ่งมีระดและมีครรภ์ เกิดมาแต่โยนีของนางพราหมณ์ทั้งหลายแท้ พวกพราหมณ์เข้าใจผิดเรื่องวรรณะและได้ตรัสบอกเล่าที่มาของวรรณะทั้ง 4 ให้สามเณรทั้งสองฟัง ขอคัดมาเป็นบางส่วนครับ (สังคมให้อำนาจบุคคลผู้หนึ่งที่ดูน่าเกรงขามเป็นตัวแทน ในการว่ากล่าวติเตียนลงโทษในผู้ที่ควรถูกติเตียนลงโทษตามควร เพื่อความสงบสุขเรียบร้อยในสังคมโดยได้รับสิ่งตอบแทนจากคนทั้งปวง)
      ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์ทั้งหลายจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแล รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นสงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนว่าแน่ะ สัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรมอันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือ พวกหนึ่งประหารด้วยก้อนดินบ้าง พวกหนึ่งประหารด้วยท่อนไม้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็นัยเพราะมีเหตุเช่นนั้นเป็นต้นมาการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จึงปรากฏ การติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จจึงปรากฏ การถือท่อนไม้จึงปรากฏ ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า พ่อเอ๋ย ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น พากันเข้าไปหาสัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคนแล้ว จึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแลรับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบส่วนสัตว์เหล่านั้นก็แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์ที่เป็นหัวหน้านั้น ฯ
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติ ดังนี้แล อักขระว่า มหาชนสมมติ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรกเพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลาย ดังนี้แล อักขระว่ากษัตริย์ กษัตริย์ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า ราชา ราชา จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังนี้แล การบังเกิดขึ้นแห่งพวกกษัตริย์นั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ
  จาก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 04 ก.ย. 12, 09:45
ขอยกมาจากอรรถกถาครับ เกินความสามารถจะอธิบายด้วยตัวเอง
 อรรถกถาจักกวัตติสูตร สังยุตตนิกาย
"ชื่อว่าพระราชา เพราะอรรถว่าทรงยินดีในสิริสมบัติของพระองค์ หรือทรงให้พสกนิกรยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔"
       
 สังคหวัตถุ 4 อธิบายโดยท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

            สังคหวัตถุ 4 (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์ - bases of sympathy; acts of doing favors; principles of service; virtues making for group integration and leadership)
       1. ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน - giving; generosity; charity)
       2. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม - kindly speech; convincing speech)
       3. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม - useful conduct; rendering services; life of service; doing good)
       4. สมานัตตตา (ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี - even and equal treatment; equality consisting in impartiality, participation and behaving oneself properly in all circumstances)
           
           สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือ ราชสังคหวัตถุ 4 (สังคหวัตถุของพระราชา, ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง -a ruler's bases of sympathy; royal acts of doing favors; virtues making for national integration)
       1. สัสสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร - shrewdness in agricultural promotion)
       2. ปุริสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ - shrewdness in the promotion and encouragement of government officials)
       3. สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น - 'a bond to bind men's hearts'; act of doing a favor consisting in vocational promotion as in commercial investment)
       4. วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าในอันดี และความนิยมเชื่อถือ - affability in address; kindly and convincing speech)



กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 04 ก.ย. 12, 13:48
ขอบคุณท่านนิลนนท์ครับ ชัดแจ้งมากครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 04 ก.ย. 12, 17:48
ด้วยความยินดีครับคุณ sujittra ผมเองก็ได้ความรู้จากในนี้มากมาย แต่อย่าเรียกผมว่าท่านเลยครับ
ขออธิบายเพิ่มคำว่า ประหาร ในพระสูตรที่ยกมา หมายถึง การทุบตีทำร้าย ไม่ได้หมายถึงการฆ่ากันเสมอไป



กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 06 ก.ย. 12, 16:27
ทราบและกระจ่างในที่มาที่ไปแล้วครับ
แต่ยังขาดอยู่นิดหนึ่ง
ถ้ามีท่านผู้รู้ช่วยแจ้งถึง "รากศัพท์" ของ "ราชา" ในเชิงภาษาศาสตร์จริง ไม่ว่าบาลี สันสกฤต ฯลฯ จะเติมเต็มในเรื่องนี้อย่างมากครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ย. 12, 16:30
คำว่า ราชา นี้ รากหรือธาตุของคำ ก็คือ "รช" ซึ่งแปลว่า กำหนัดหรือยินดีนั่นเอง รากคำ ๆ นี้ สำเร็จรูปเป็นคำอื่นต่าง ๆ กันออกไป เช่นคำว่า ราคะ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์โดยเฉพาะ แต่นั่นมันยินดีจัดเกินไป

 ;D


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 12, 18:52
อีกคำอธิบายนึงครับ ท่านว่า ราชา รากศัพท์สันสกฤตมาจาก Indo-European ภาษาละติน คำว่า Rex แปลว่าพระราชา

อ่านเองแปลเองแล้วกันครับ

 [Hindi r j , from Sanskrit, king; see reg- in Indo-European roots.]
Word History: Rajah is familiar to us from the Sanskrit r j , "king," and mah r j , "great king." The Sanskrit root raj-, "to rule," comes from the Indo-European root *reg-, "to move in a straight line, direct, rule." The same Indo-European root appears in Italic (Latin) and Celtic. R x means "king" in Latin, coming from *reg-s, whence our regal and, through French, royal. Two of the Gaulish kings familiar to us from Caesar, Dumnorix and Vercingetorix, incorporate the Celtic word r x, "king," in their names. (R x also forms part of the name of that fictitious, indomitable Gaul Asterix.) Germanic at some time borrowed the Celtic word r x. It appears as reiks, "ruler," in Gothic, as well as in older Germanic names ending in -ric, such as Alaric and Theodoric, the latter of whom has a name that is equivalent to German Dietrich, "people's king." A derivative of Celtic r x, *r g-yo-, meaning "rule, domain," was also borrowed into Germanic, and is the source of German Reich, "rule, empire."


http://www.thefreedictionary.com/Raja




กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 12, 09:39
อ้างถึง
คำว่า ราชา นี้ รากหรือธาตุของคำ ก็คือ "รช" ซึ่งแปลว่า กำหนัดหรือยินดีนั่นเอง รากคำ ๆ นี้ สำเร็จรูปเป็นคำอื่นต่าง ๆ กันออกไป เช่นคำว่า ราคะ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์โดยเฉพาะ แต่นั่นมันยินดีจัดเกินไป

ผมยังค้างคาใจในคำตอบของคุณเพ็ญชมพูมากว่า ความหมายของคำว่าราชา ที่แปลว่า ผู้ยังเหล่าชนให้อิ่มเอมใจ หรือผู้ทำให้คนอื่นมีความสุข จะมีรากศัพท์มาจาก ราคะ ซึ่งหมายถึง ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์โดยเฉพาะได้อย่างไร

ผมไม่มีภูมิรู้ทางบาลีหรือสันสกฤตมากไปกว่าการเปิดพจนานุกรม ซึ่งฉบับที่ผมมีก็ไม่ได้กล่าวลึกลงไปกว่านั้น จึงเขียนไปถามท่านผู้รู้ ซึ่งคำตอบของท่าน แม้จะถ่อมตนมากว่าไม่ใช่ผู้ชำนาญด้านนี้ แต่คำอธิบายก็เป็นที่เข้าใจได้แก่สติปัญญาของผมได้ จึงอยากถ่ายทอดให้อ่านครับ

ในภาษาบาลี เขามีรากคำ  เรียกว่าธาตุ     แค่ธาตุเฉยๆยังนำมาใช้ไม่ได้  เวลาใช้พูดหรือเขียน ต้องผันคำให้เป็นศัพท์ขึ้นมา  การผันคำเรียกว่า "ลงวิภัตติปัจจัย" 

เพราะฉะนั้น  ธาตุของคำ บวกวิภัตติปัจจัยอย่างหนึ่งก็มีความหมายแบบหนึ่ง  ธาตุตัวเดียวกันไปบวกวิภัตติปัจจัยอีกตัว  ความหมายก็เปลี่ยนไปได้อีก   

จาก  "รช" มาเป็นราชา ก็ได้    ไปเป็น ราคะ ก็ได้  ขึ้นกับว่าเอาวิภัตติปัจจัยอะไรมาบวกเข้าไป

เพราะฉะนั้น  สองคำที่ความหมายแตกต่างกันลิบลับ อาจมาจากรากคำตัวเดียวกัน คือจากธาตุเดียวกันก็ได้  แต่ไม่ได้หมายความว่าสองคำที่ว่านั้น มีความหมายเป็นเรื่องเดียวกัน

รช  ที่กลายไปเป็นราชา ก็วิภัตติปัจจัยอย่างหนึ่ง  รช ที่ไปเป็น ราคะ ก็วิภัตติปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง  


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 07 ก.ย. 12, 10:50
คำว่า ราชา นี้ รากหรือธาตุของคำ ก็คือ "รช" ซึ่งแปลว่า กำหนัดหรือยินดีนั่นเอง รากคำ ๆ นี้ สำเร็จรูปเป็นคำอื่นต่าง ๆ กันออกไป เช่นคำว่า ราคะ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์โดยเฉพาะ แต่นั่นมันยินดีจัดเกินไป

 ;D

ต้องขอบคุณท่านเพ็ญชมพูที่ช่วยชี้แนะอีกครั้งทั้งที่มีในกระทู้อยู่แล้ว ผมได้อ่านแล้วครับ เพียงแต่ว่า.....
เพียงแต่ว่า ที่อ้างอิงนั้นมาจาก หนังสือของท่านพุทธทาส ที่แม้จะเป็นที่เคารพนับถือของทุกคนในสังคม แต่โดยนิสัยที่ไม่ดีของผมผมก็ยังไม่ปักใจสนิทที่จะรับมาเชื่อหรือถ่ายทอดต่อเพราะ มิใช่ primary source (ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไร และไม่ทราบว่าทุกท่านจะเข้าใจคนอย่าง "ผม" หรือไม่)
ต้องกราบขออภัยท่านเพ็ญชมพูเป็นอย่างสูง


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 07 ก.ย. 12, 14:17
อ้างถึง
คำว่า ราชา นี้ รากหรือธาตุของคำ ก็คือ "รช" ซึ่งแปลว่า กำหนัดหรือยินดีนั่นเอง รากคำ ๆ นี้ สำเร็จรูปเป็นคำอื่นต่าง ๆ กันออกไป เช่นคำว่า ราคะ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์โดยเฉพาะ แต่นั่นมันยินดีจัดเกินไป

ผมยังค้างคาใจในคำตอบของคุณเพ็ญชมพูมากว่า ความหมายของคำว่าราชา ที่แปลว่า ผู้ยังเหล่าชนให้อิ่มเอมใจ หรือผู้ทำให้คนอื่นมีความสุข จะมีรากศัพท์มาจาก ราคะ ซึ่งหมายถึง ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์โดยเฉพาะได้อย่างไร

ผมไม่มีภูมิรู้ทางบาลีหรือสันสกฤตมากไปกว่าการเปิดพจนานุกรม ซึ่งฉบับที่ผมมีก็ไม่ได้กล่าวลึกลงไปกว่านั้น จึงเขียนไปถามท่านผู้รู้ ซึ่งคำตอบของท่าน แม้จะถ่อมตนมากว่าไม่ใช่ผู้ชำนาญด้านนี้ แต่คำอธิบายก็เป็นที่เข้าใจได้แก่สติปัญญาของผมได้ จึงอยากถ่ายทอดให้อ่านครับ

ในภาษาบาลี เขามีรากคำ  เรียกว่าธาตุ     แค่ธาตุเฉยๆยังนำมาใช้ไม่ได้  เวลาใช้พูดหรือเขียน ต้องผันคำให้เป็นศัพท์ขึ้นมา  การผันคำเรียกว่า "ลงวิภัตติปัจจัย" 

เพราะฉะนั้น  ธาตุของคำ บวกวิภัตติปัจจัยอย่างหนึ่งก็มีความหมายแบบหนึ่ง  ธาตุตัวเดียวกันไปบวกวิภัตติปัจจัยอีกตัว  ความหมายก็เปลี่ยนไปได้อีก   

จาก  "รช" มาเป็นราชา ก็ได้    ไปเป็น ราคะ ก็ได้  ขึ้นกับว่าเอาวิภัตติปัจจัยอะไรมาบวกเข้าไป

เพราะฉะนั้น  สองคำที่ความหมายแตกต่างกันลิบลับ อาจมาจากรากคำตัวเดียวกัน คือจากธาตุเดียวกันก็ได้  แต่ไม่ได้หมายความว่าสองคำที่ว่านั้น มีความหมายเป็นเรื่องเดียวกัน

รช  ที่กลายไปเป็นราชา ก็วิภัตติปัจจัยอย่างหนึ่ง  รช ที่ไปเป็น ราคะ ก็วิภัตติปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง  

อยากได้ความรู้และคำตอบประมาณนี้แหละครับ คือ ถึง "ราก" จริงๆ
ขอบคุณท่านเนาวรัตน์ครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 07 ก.ย. 12, 21:20
ไม่ทราบว่าข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์หรือไม่นะคะ
วันนี้ได้มีโอกาสพบกับอ.นาวิน  อรรณเวช ซึ่งสอนภาษาบาลี สันสกฤต ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เลยถามปัญหาที่เรากำลังสงสัยกันอยู่ ก็ได้ความอย่างนี้นะคะ
 ราชา มาจากรากศัพท์ ว่า ราชฺ  แปลว่า to reign ,rule over,govern,shine
  Glitter
 ส่วน รช   ที่แปลว่า กำหนัด หรือยินดีนั้นมาจาก รากศัพท์คนละตัวกันคะ คือ รญฺชฺ  อ้างอิงจาก
www.sanskrit-lexicon.uni-koeln.de ซึ่งเป็นเว็บของมหาวิทยาลัยในเยอรมัน (wabsite ของ Uni. Koeln )
 โดย Monier Williams,Sir.A Sanskrit English Dictionary. (หน้า 872)


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 09 ก.ย. 12, 23:42
ไม่ทราบว่าข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์หรือไม่นะคะ
วันนี้ได้มีโอกาสพบกับอ.นาวิน  อรรณเวช ซึ่งสอนภาษาบาลี สันสกฤต ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เลยถามปัญหาที่เรากำลังสงสัยกันอยู่ ก็ได้ความอย่างนี้นะคะ
 ราชา มาจากรากศัพท์ ว่า ราชฺ  แปลว่า to reign ,rule over,govern,shine
  Glitter
 ส่วน รช   ที่แปลว่า กำหนัด หรือยินดีนั้นมาจาก รากศัพท์คนละตัวกันคะ คือ รญฺชฺ  อ้างอิงจาก
www.sanskrit-lexicon.uni-koeln.de ซึ่งเป็นเว็บของมหาวิทยาลัยในเยอรมัน (wabsite ของ Uni. Koeln )
 โดย Monier Williams,Sir.A Sanskrit English Dictionary. (หน้า 872)

ตกลงว่า ราช มาจาก "รากศัพท์" ที่แปลว่า พึงพอใจ (ตามที่ท่านพุทธทาสรจนาไว้) หรือ ปกครอง (rule over) ครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 10 ก.ย. 12, 10:43
rule over คะ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 10 ก.ย. 12, 17:53
ตัวอย่างการผันในบาลีได้แจก ราช ศัพท์ด้วยวิภัตติดังนี้  ในรูปเอกพจน์และพหูพจน์(ตามบาลี เอกวจนะ พหุวจนะ) (ราช ศัพท์ เป็น ทฺวิลิงค์ คือเพศชายและเพศหญิง;ปุงลิงค์และอิตถีลิงค์)  ในตัวอย่างนี้เป็นการผันปุงลิงค์
                                           เอก                              พหุ
                     ป.                  ราชา                          ราชาโน
                     ทุ.                  ราชานํ                        ราชาโน
                     ต.                  รญฺญา                         ราชูหิ    ราชูภิ
                     จ.                  รญฺโญ    ราชิโน           รญฺญํ    ราชูนํ
                     ปญ.               รญฺญา                          ราชูหิ    ราชูภิ
                     ฉ.                  รญฺโญ   ราชิโน            รญฺญํ    ราชูนํ
                     ส.                  รญฺเญ    ราชินิ              ราชูสุ
                     อา.                 ราช                             ราชาโน

วิภัตติในที่นี้เป็นวิภัตติสำหรับคำนาม เพื่อให้รู้หน้าที่ว่าเป็นประธาน กรรม เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ประกอบ(เช่น กินข้าวด้วยช้อน  ช้อนเป็นอุปกรณ์) ... เมื่อจะสลับเปลี่ยนตำแหน่งของศัพท์ไปอยู่กลางหรือท้ายประโยค ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลง เพราะถูกกำหนดไว้แล้วด้วยวิภัตติ (ภาษาไทยความหมายเปลี่ยนเมื่อตำแหน่งของคำศัพท์เปลี่ยน เช่น คนกินข้าว:ข้าวกินคน)
ส่วน ป. ท. ต. .. คือ ปฐมา ทุติยา ตติยา ... (ประธาน, กรรม, เป็นเครื่องมือซึ่งในคำแปลจะมีคำว่า โดย ด้วย, เป็นกรรมรอง, เป็นที่มาของกิริยา,เป็นเจ้าของ,เป็นสถานที่ ตามลำดับเมื่อแปลเป็นภาษาไทยจะมีคำประกอบเช่น โดย ด้วย จาก แก่ แห่ง ของ เป็นต้น) ส่วนลำดับที่ อา. เป็นคำร้องเรียก เช่น ดูก่อน หรือข้าแต่พระราชา

จะเห็นว่าศัพท์มาจากคำว่า ราช
แล้วจะมาต่อความเห็นเพิ่มเติมให้ครับ ขอเวลานอกสักครู่


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 10 ก.ย. 12, 17:58
ขอบพระคุณท่านนิลนนท์เป็นอย่างสูง
ดูการผันอย่างที่แสดงแล้ว มีวามรู้สึกคล้ายภาษาเยอรมันหรือภาษาละตินเลยนะครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 10 ก.ย. 12, 18:06
คำว่า ราชา ตามศัพท์โดยทั่วไปเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน (แต่ผมว่าในความหมายในปัจจุบันควรรวมไปถึงผู้ปกครอง หรือผู้บริหารด้วย เพราะว่าสืบทอดอำนาจในการดูแลประชาชนต่อมาจากพระมหากษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ธรรมะต่าง ๆ สำหรับพระราชา เช่นทศพิธราชธรรม ก็เป็นธรรมะที่ผู้บริหารราชการแผ่นดินต้องรู้จักและควรนำไปใช้) แต่ดูเหมือนตอนนี้คุณ sujittra กำลังสงสัยคำว่า ราช

ในภาษาสันสกฤต ศัพท์ที่แปลว่า พระราชา (หรือเจ้าชายก็ได้) มีด้วยกันมากมาย เช่น นฺฤปติ ปารฺถิว เทว ราช เป็นต้น แต่ศัพท์ที่เราคุ้นกันมากที่สุด น่าจะเป็น ราช นี้แหละ คำนี้มีใช้ในภาษาไทยด้วย ก่อนจะกล่าวถึงคำไทย ขอกล่าวถึงคำสันสกฤตเสียก่อน


ขอยกบทความของอาจารย์ ธ.วัชชัยดุลยสุจริต
“   'ราช' คำนี้ มีรูปคล้ายๆ กันโดยทั่วไป 3 ศัพท์คือ “ราช” (rāja) “ราชนฺ” (rājan) และ “ราชฺ” (rāj)  โปรดสังเกตนะครับว่า แต่ละคำนั้นต่างกันตรงเสียงท้าย

ราช (rāja, राज)  เป็นคำสองพยางค์ พยางค์แรกประสมสระอา พยางค์หลังสระอะ

ราชนฺ (rājan, राजन्) มาด้วยกันสองพยางค์ พยางค์หลังมี น เป็นตัวสะกด (น มีจุดข้างใต้) อาจเขียนแบบไทยๆ ว่า ราชัน

ราชฺ (rāj, राज् ) คำพยางค์เดียว มี ช เป็นตัวสะกด (ช มีจุดข้างใต้) คำนี้เขียนแบบไทยก็ได้ว่า ราช เหมือนกัน (แต่ไม่น่าจะมีการใช้คำนี้ในภาษาไทย)

“ราช” และ “ราชัน”
คำเหล่านี้ที่พบมาก ก็คือ ราช และ ราชนฺ การใช้นั้นแตกต่างกันในการผันรูป เป็นคำเพศชาย (ปุลลิงค์, masculine) มาดูกันว่า เวลานำไปใช้ต่างกันอย่างไร

1) เมื่อใช้เป็นคำร้องเรียก เช่นเมื่อกราบทูล ก็อาจกล่าวว่า “ข้าแต่ พระราชา” อย่างนี้ ในภาษาสันสกฤต จะใช้วิธีการผันรูป “ราช” ก็เป็น “ราช” เหมือนเดิม, ส่วนคำว่า “ราชนฺ” ก็จะกลายเป็น “ราชนฺ” เช่นเดิม แบบนี้ก็ง่ายเลยใช่ไหมครับ
2) ทีนี้ เมื่อพระราชาเป็นประธานของประโยค รูป “ราช” จะกลายเป็น “ราชะ”  ส่วนรูป “ราชนฺ” นั้น กลายเป็น “ราชา”
3) เมื่อพระราชาเป็นกรรมของประโยค ราช กลายเป็น “ราชํ”, ส่วน ราชนฺ กลายเป็น “ราชานํ” แค่เติม อํ เข้าไปเท่านั้นเอง
ในการผันรูปของ ราชนฺ บางครั้งจะมีเสียง ญ เข้ามาแทนที่ น เช่น ราชฺญิ, ราชฺญะ
         คำทั้งสองพบได้ทั่วไปในวรรณคดีสันสกฤต บางเรื่องอาจใช้ ราชนฺ มากกว่า บางเรื่องอาจใช้ ราช มากกว่า แล้วแต่กวีจะนิยมอย่างไร

“ราชฺ”
สำหรับคำว่า ราชฺ นี้พบได้น้อยกว่า คำนี้พิเศษหน่อย ตรงที่เป็นนามเพศชายก็ได้ เพศหญิงก็ได้นะครับ (แจกรูปเหมือนกัน) ส่วนมากจะปรากฏในคำประสม (ที่เรียกว่า คำสมาส นั่นเอง) เช่น ธรฺมราชฺ (หมายถึง พระยม หรือ ยมราช) ซึ่งพระนามนี้ยังมีอีกรูป คือ ธรฺมราช (ไม่มีจุด ที่ ช)
การผันรูป ราชฺ นั้น อาจจะงงเล็กน้อย เพราะต้องสนธิมากกว่าสองคำแรก เช่น

1) เมื่อเป็นคำร้องเรียก ราชฺ ก็กลายเป็น ราฏฺ (มีจุดใต้ ฏ)
2) เมื่อเป็นประธาน ก็เป็น ราฏฺ (มีจุดใต้ ฏ)
3) เมื่อเป็นกรรม ก็เป็น ราชํ
คำนี้เมื่อนำไปใช้ในสมาส จะใช้รูป ราฏฺ- ไม่ใช่ ราชฺ- นะครับ

ราช, ราชนฺ และ ราชฺ แต่ละรูป เมื่อนำไปผัน อาจจะสับสนอีนุงตุงนังได้ เช่น “ราชะ” อาจมาจาก “ราช” ที่เป็นประธาน หรือมาจาก “ราชฺ” ที่เป็นคำแสดงความเป็นเจ้าของก็ได้ ผู้เรียนจะต้อง “แม่น” สักหน่อย ไม่งั้นอ่านผิดจากดำเป็นขาวแน่ๆ
ในภาษาไทย เรามีคำว่า ราช  ราชา และราชัน  ไม่ทราบว่าเรารับจากคำไหน เข้าใจว่าน่าจะรับจากคำว่า ราช แล้วนำมาแผลง มากกว่าจะรับคำ ราชนฺ มาแจกรูป หรือรับเอารูป ราชา ที่แจกรูปมาแล้วก็ได้ ส่วน ราชฺ นั้นไม่ปรากฏว่าเรานำมาใช้ในรูปแบบใดๆ"

แล้วจะพาไปดูความหมายในพจนานุกรมที่คุณพวงแก้วอ้างอิงต่อครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 10 ก.ย. 12, 18:16
นักภาษาศาสตร์ พบว่าภาษาบาลีสันสกฤตมีโครงสร้างทางภาษาคล้ายกับภาษาละตินมากและมีรากศัพท์อย่างเดียวกัน ในกะทู้แถวนี้ก็มีการเปรียบเทียบเรื่องตัวเลขไปแล้วลองหาดูพลาง ๆ ก่อนละกันครับ นอกจากการผันคำนามแล้ว ก็ยังมีการผันกิริยา รวมถึง tense ด้วยครับ เขาเลยจัดให้มีต้นกำเนิดทางภาษาร่วมกันเป็น Indo-uropian language ภาษาละตินก็เป็นต้นกำเนิดของภาษาต่าง ๆ แถบยุโรป บาลีสันสกฤตก็เข้ามาทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านทางศาสนาและวรรณคดี ส่วนภาษาไทยไปมีความใกล้ชิดกับทางภาษาจีนมากกว่าครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 10 ก.ย. 12, 19:13
เมื่อสักครู่จะตอบเพิ่มเติม ปรากฏว่าหมดเวลา log in ที่พิมพ์ไว้เลยหายหมด ขอเวลานอกไปหาเสบียงก่อนนะครับ แล้วค่อยมาตอบต่อ :-\


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 10 ก.ย. 12, 20:35
ขอพาไปที่คำว่า ราชา ราชัน(ย์) ก่อนครับ
ผมขอตัดตอนคำอธิบายศัพท์ในพจนานุกรมเพื่อดูง่ายไม่สับสนซึ่งทำให้อ่านยากมาก แต่ไม่ได้แปลงหรือเปลี่ยนความหมายศัพท์นะครับ

rāja
     rājan1 , a king , sovereign , chief or best of its kind         MBh. Ka1v. &c (ภารตะ)

rājan
     rājan 1    a king , sovereign , prince , chief (often applied to gods e.g. to varuṇa, to indra )   RV. &c (ฤคเวท)
     rāján 2     government , guidance       RV. x , 49 , 4. (ฤคเวท)

จะเห็นว่าความหมายทั้งสองคำบ่งชี้ไปที่ king กษัตริย์หรือผู้มีอำนาจสูงสุดหรือหัวหน้า หรือคณะผู้ปกครอง โปรดสังเกตว่าการให้ความหมายเหล่านี้มีการอ้างอิงคัมภีร์ภารตะและฤคเวท ซึ่งฤคเวทเป็นพระเวทสมัยเก่าของพราหมณ์ที่พระอินทร์ พระวรุณ พระอาทิตย์ หรือเทวดาต่าง ๆ ตามธรรมชาติยังเป็นใหญ่ ก่อนจะถูกลดบทบาทลงเมื่อเปลี่ยนแปลงมาเป็นฮินดู ฤคเวท เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดมีมาก่อนสมัยพุทธกาลนับพันปี เขาว่ามีมาก่อนคริสตกาล 3000 ปี
ไปดูกันต่อที่คำว่า ราช  ซึ่งมีศัพท์อยู่สองคำจะเห็นว่าความหมายก็คือปกครอง
 (a แทนเสียงสระ อะ, ā หรือ A แทนเสียงสระ อา, j แทนเสียว ช(ในภาษาไทย), g แทนเสียง ค

rāj
     rāj 1   (prob. originally two roots ; cf. √raj rañj , ṛñj) 
                to reign , be king or chief , rule over, direct , govern    RV. &c  (ฤคเวท)
                to reign , rule        AV. MBh. (atharva-veda และมหาภารตะ)

     rā́j 2   (nominative. rā́ṭ -  เมื่อเป็นประธานสะกด ราฏฺ) a king , sovereign , chief    RV. &c

ให้สังเกตที่รากศัพท์ √raj rañj , ṛñj ซึ่งในนี้บอกว่าน่าจะมีที่มาจากรากคำ 2 คำดังกล่าว
และคำต่อไป ราคะ ซึ่งมีได้หลากหลายความหมาย ความหมายที่เข้าใจกันทางกามารมณ์มีตั้งแต่ ปิติยินดี ไปจนถึงชอบหลงใหลที่เต็มไปด้วยตัณหา

rāga
  rāga  (from √ rañj ) the act of colouring or dyeing  colour , hue , tint , dye , (esp.) red colour , redness          MBh. Ka1v. &c
    any feeling or passion , (esp.) love , affection or sympathy for , vehement desire of , interest or joy or delight in (loc. or comp.)     Up. Mn. MBh. &c
    loveliness , beauty (esp. of voice or song)     S3ak. Pan5cat.
เช่นเดียวกันรากคำของคำนี้คือ √ rañj
ในขั้นตั้นนี้ก็คงพอมองเห็นความเชื่อมโยงเลา ๆ ของคำว่า ราช หรือ ราคะ ในแง่ที่มาของรากคำแล้วนะครับ
ซึ่ง ราชา มีต้นศัพท์มาจากคำว่า ราช (rAj, rAja, rAjan)
ส่วน ราช จะมีรากคำต้นกำเนิดอย่างไร ในพจนานุกรมเล่มนี้ ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้
ส่วนคำว่า รช ที่ท่านพุทธทาสกล่าวจะหมายถึงคำ raja หรือ √raj หรือ √ rañj นี้ก็สุดปัญญาผมแล้วละครับ

 raja    
    dust
    the pollen of flowers ,     Prasan3ga7bh.
    the menstrual excretion (also n.) L.
    emotion , affection L. : the quality of passion    Un2. iv , 216 Sch.

แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากอ่านอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าท่านพุทธทาสไม่ได้ตีความหรือรจนาขี้นมาเองลอย ๆ แต่ท่านอ้างอิงถึงพระสูตรในพระไตรปิฎก
อีกอย่างหนึ่งจะเห็นว่าการให้ความหมายของคำหรือรากคำ √raj ที่หมายถึงปกครองได้มาจากการอ้างอิงในคัมภีร์ทั้งสิ้นเพราะศัพท์เหล่านี้ใช้มานานนับพันปี ไม่ใช่เป็นการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเองของคนเขียนพจนานุกรม หากสังเกตถึงที่มาแล้วคัมภีร์เหล่านี้เป็นคัมภีร์ของพราหมณ์สอนเรื่องวรรณะทั้ง 4
บอกหน้าที่ของวรรณะ บอกให้รู้ว่าวรรณะกษัตริย์ทำหน้าที่ปกครอง เป็นชั้นชนนักรบ ยกวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ขึ้นสูงและสืบต่อกันมานานก่อนพุทธกาลเป็นพันปี ผมเชื่อว่าในสมัยพุทธกาลก็รู้ว่า ราชา มาจากคำว่า ราช และหมายถึงการปกครอง แต่พระพุทธเจ้าซึ่งถือกำเนิดจากวรรณะกษัตริย์เช่นกันมองไปถึงต้นกำเนิดของการเกิดชนชั้นวรรณะ และตรัสบอกสามเณรให้เข้าใจที่มาของวรรณะต่าง ๆ
แล้วเดี๋ยวจะมาต่อด้วยพจนานุกรมซึ่งอ้างอิงคัมภีร์ในพุทธศาสนาครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 10 ก.ย. 12, 20:51
ผมยังไม่ได้เอาข้อความจากพจนานุกรมมาให้เพราะยาวเหยียดมาก กลัวจะเบื่อกันไปก่อน
ขอคัดข้อความท่านพุทธทาสที่ท่านกล่าวถึงการแปลความหมายหรือบอกถึงที่มาของการเกิดคำว่า ราชา ในยุคแรก ๆ ที่เริ่มมีการรวมกันเป็นชุมชมสังคม อาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นถึงจุดมุ่งหมายที่ท่านตีความหมายของคำนี้ที่ต่างไปจากความรับรู้โดยทั่วไป
 
       "ก่อนจะจบเทศนานี้ อาตมาใคร่จะขอร้องให้เราทุกคนทำความสนใจในคำว่า " ข้าราชการ " ทั้งอาตมา
เองและท่านทั้งหลายที่นั่งฟัง ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ กับคำ ๆ นี้ และทั้งธรรมเทศนาในวันนี้ ก็
เป็นธรรมเทศนาชนิดที่เรียกว่า ทำการอบรมข้าราชการ เราจึงควรทำความสนใจ ในคำว่า ข้าราชการ กันเป็น
พิเศษ   บางท่าน อาจจะกำลังนึกหัวเราะเยาะอาตมา อยู่ในใจว่า จะเอามะพร้าวอะไรมาขายสวน ? เพราะท่าน
อยู่ในฐานะ ที่เป็นข้าราชการ อย่างเต็มที่อยู่แล้ว เป็นประจำวัน ความจริงก็เป็นดังนั้น แต่ว่าอาตมา อยากจะ
ระบุอุดมคติของคำว่า " ข้าราชการ " ให้ชัดเจนและเป็นอย่างพุทธบริษัทแท้
          คำว่า ข้าราชการ นี้ ทำอย่างไรเสีย ก็ต้องแปลว่าผู้ที่ทำ " งานของพระราชา " อย่างที่ใครจะเถียงไม่ขึ้น
แต่ครั้นมาถึงคำว่า " ราชา " คืออะไร ท่านคงจะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน และบางคนอาจกำลังงงอยู่ก็เป็นได้
แต่เผอิญเป็นโชคดี ที่พุทธภาษิต อธิบายคำ ๆ นี้ ไว้อย่างชัดแจ้ง ในบาลีอัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ๑๑ / ๘๗/ ๕๑ 
เราที่เป็นพุทธบริษัท จึงไม่ต้องลำบาก ในการที่จะตีความหมาย ของคำ ๆ นี้ แต่เราจะถือเอาตาม พระ
พุทธวจนะนั้น ทีเดียว เมื่อเราทราบคำว่า  ราชา แปลว่าอะไร จนทราบได้ดีว่า อุดมคติของคำ ๆ นี้ หมายถึงอะไรแล้ว
เราก็จะทำงานของพระราชา ได้อย่างถูกต้องบริสุทธิ์ ผุดผ่อง โดยไม่ต้องสงสัยเลย จึงขอให้ช่วยกันสนใจ ในคำ ๆ นี้ เป็นพิเศษ
ซึ่งเมื่อเราทำได้ดีแล้ว งานในหน้าที่ของเรา จะไม่เป็นเพียงงานอาชีพ แต่จะกลายเป็น งานการกุศล อันประเสริฐ ไปด้วยในตัว..."
 ( จากหนังสือ " ภูตผีปีศาจ ในตัวคน ข้าราชการ และนักการเมือง " ของท่าน พระพุทธทาส ภิกขุ )
ท่านพทธทาสได้แสดงแก่ข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมและศาลในกรุงเทพฯ  ๒๐  ก.ย.  ๒๔๙๔

ส่วนข้อความต่อจากนี้อาจารย์เพ็ญชมพูได้แสดงไว้แล้ว


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 10 ก.ย. 12, 21:10
ขอคัดบทย่อของท่านพุทธทาสโดยคุณ ภูริพัฒน์ พงษ์อักษร
พระราชาทางฝ่ายโลก  ก็ทำความความยินดีอย่างโลก ๆ ให้เกิดในหัวใจคน  แต่ยังมีพระราชาอีก
ประเภทหนึ่งซึ่งทำความยินดีทางฝ่ายธรรมะให้แก่ประชาชน  เช่น  พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ ทรงเรียก
พระองค์เองว่าเป็น "ธรรมราชา" อยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก  (โดยเฉพาะเช่น  บาลีเลสสูตร  มัชฌิม
นิกาย  ๑๓/๕๕๔)  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจาก็ทรงเป็นพระราชาดวยเช่นนี้แล้ว  พระภิกษุสงฆ์
ทั้งหลายก็พลอยเป็นข้าราชการไปด้วย คือเป็นข้าราชการของพระธรรมราชา มีหน้าที่ืทำงานให้เกิด
ความยินดีในทางธรรมขึ้นในหัวใจของเพื่อนมนุษย์ หากภิกษุสงฆ์รูปใดไม่ทำหน้าที่ของตน  เขาก็
หาเป็นพระภิกษุได้ไม่


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 10 ก.ย. 12, 23:38
........แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากอ่านอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าท่านพุทธทาสไม่ได้ตีความหรือรจนาขี้นมาเองลอย ๆ แต่ท่านอ้างอิงถึงพระสูตรในพระไตรปิฎก
อีกอย่างหนึ่งจะเห็นว่าการให้ความหมายของคำหรือรากคำ √raj ที่หมายถึงปกครองได้มาจากการอ้างอิงในคัมภีร์ทั้งสิ้นเพราะศัพท์เหล่านี้ใช้มานานนับพันปี ไม่ใช่เป็นการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเองของคนเขียนพจนานุกรม หากสังเกตถึงที่มาแล้วคัมภีร์เหล่านี้เป็นคัมภีร์ของพราหมณ์สอนเรื่องวรรณะทั้ง 4
บอกหน้าที่ของวรรณะ บอกให้รู้ว่าวรรณะกษัตริย์ทำหน้าที่ปกครอง เป็นชั้นชนนักรบ ยกวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ขึ้นสูงและสืบต่อกันมานานก่อนพุทธกาลเป็นพันปี ผมเชื่อว่าในสมัยพุทธกาลก็รู้ว่า ราชา มาจากคำว่า ราช และหมายถึงการปกครอง แต่พระพุทธเจ้าซึ่งถือกำเนิดจากวรรณะกษัตริย์เช่นกันมองไปถึงต้นกำเนิดของการเกิดชนชั้นวรรณะ และตรัสบอกสามเณรให้เข้าใจที่มาของวรรณะต่าง ๆ
แล้วเดี๋ยวจะมาต่อด้วยพจนานุกรมซึ่งอ้างอิงคัมภีร์ในพุทธศาสนาครับ

ต้องยอมรับว่าผมชื่นชอบกับคำตอบของท่านนิลนนท์มาก
มิใช่เพราะตรงกับที่ผมคิด (เพราะผมไม่มีปัญญาไม่มีภูมิความรู้ที่จะคิดเรื่องของรากศัพท์บาลี สันสกฤต) แต่เพราะคำตอบนั้นไปยังที่ "ราก" จริงๆ จนยากที่ใครจะปฏิเสธได้
ต้องนับว่าท่านนิลนนท์เป็นเอคฑัคคะในด้านนี้จริงๆครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 15 ก.ย. 12, 10:43
ที่ยกคำศัพท์มาใน คห.ที่ 14 ผมนำมาจากพจนานุกรม  Monier Williams,Sir.A Sanskrit English Dictionary
ต่อไปจะขอพูดถึงพจนานุกรมแปลภาษาบาลีของ Rhys Davids แต่ขอสรุปตัดทอนให้อ่านง่าย (มีการยกข้อความจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาประกอบแต่ละความหมายที่ให้ไว้)

   Rāga [cp. Sk. rāga, fr. raj: see rajati] 1. colour, hue; colouring, dye
                                                          2. excitement, passion
   Rajjati [cp. Sk. rajyati, raj or rañj, Med. of rajati]     to be excited, attached to
 
 Sk. หมายถึง ภาษาสันสกฤต,  fr. - from,  Med. - medium
      raj  rañj และ rāga(ราคะ)   มีความหมายเกี่ยวข้องกับความกำหนัด ยินดี

      Rajja (nt.) [Sk. rājya, fr. rāj] kingship, royalty, kingdom, empire; reign, throne
         nava rajja : new kingship  (นว + rajja)

    Rājañña [fr. rājā, cp, Vedic rājanya] "royalty"; a high courtier, a khattiya(ขัตติยะ)    (Vedic พระเวท  บาลี ราชัญญ,  สันสกฤต ราชันย)
   
     คำว่า ราชา ในพจนานุกรมได้พูดถึง  ศัพท์ Indogermanic ว่า Reg, ในภาษาละตินใช้ rego
           Vedic rājā,  To root *reg, as in Latin rego (to lead, di--rect)
           Old Irish     rī king
           Gallic  ใช้ rīx ต่อท้ายหมายถึง king
           reiks (Gothic) = rīhhi (old high german) = rich or reich
         (ภาษา german reich หมายถึง kingdom)
และให้คำหมายหนึ่งของ  Rājā ว่า  king, a ruling potentate ยังมีความหมายและคำแปลที่ไม่ตายตัวอื่น ๆ แล้วแต่ที่ใช้ในคัมภีร์ต่าง ๆ กินความมากกว่า king หรือผู้มีอำนาจสูงสุด ขอยกเป็นบางตัวอย่าง
          1 ในแง่ของ sovereignship : We find it used as a designation of "king" in the sense of an elected or successory (crowned) monarch, but also in the meaning of a distinguished nobleman, or a local chieftain, or a prince with var. attributes characterizing his position according to special functions.
          2. ยังใช้ในแง่ของความหมาย ขุนพล เจ้าพนักงานของกษัตริย์   smaller kings, knights or royals(royalists) i.e. officers of the kings or "the king's Guards". It is here used as a term of warning or frightening "get up, robber, so that the kings (alias ʻpolicemanʼ) won't catch you" : uṭṭhehi cora mā taŋ gahesuŋ rājāno
     ในพจนานุกรมนี้ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของศัพท์โดยอ้างอิง ทีฆนิกาย The fanciful etymology at D III.93= Vism 419 is "dhammena pare rañjetī ti rājā" : he gladdens others with his righteousness.-- At the latter passage the origin of kingly government is given as the third stage in the constitution of a people, the 2 preceding being mahā--sammata (general consent) and khattiya(the land--aristocrats). ผมได้นำบางส่วนของพระสูตรมาลงในกระทู้แล้ว

             เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติ ดังนี้แล อักขระว่า มหาชนสมมติ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก
             เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลาย ดังนี้แล อักขระว่ากษัตริย์    กษัตริย์จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง
             เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า ราชา ราชาจึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม
  จาก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร ท่านใช้คำว่า อักขระ คือตามตัวอักษรเลยทีเดียว



กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 15 ก.ย. 12, 10:54
ที่ยกคำศัพท์มาใน คห.ที่ 14 ผมนำมาจากพจนานุกรม  Monier Williams,Sir.A Sanskrit English Dictionary
ต่อไปจะขอพูดถึงพจนานุกรมแปลภาษาบาลีของ Rhys Davids แต่ขอสรุปตัดทอนให้อ่านง่าย (มีการยกข้อความจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาประกอบแต่ละความหมายที่ให้ไว้)

   Rāga [cp. Sk. rāga, fr. raj: see rajati] 1. colour, hue; colouring, dye
                                                          2. excitement, passion
   Rajjati [cp. Sk. rajyati, raj or rañj, Med. of rajati]     to be excited, attached to
 
 Sk. หมายถึง ภาษาสันสกฤต,  fr. - from,  Med. - medium
      raj  rañj และ rāga(ราคะ)   มีความหมายเกี่ยวข้องกับความกำหนัด ยินดี

      Rajja (nt.) [Sk. rājya, fr. rāj] kingship, royalty, kingdom, empire; reign, throne
         nava rajja : new kingship  (นว + rajja)

    Rājañña [fr. rājā, cp, Vedic rājanya] "royalty"; a high courtier, a khattiya(ขัตติยะ)    (Vedic พระเวท  บาลี ราชัญญ,  สันสกฤต ราชันย)
   
     คำว่า ราชา ในพจนานุกรมได้พูดถึง  ศัพท์ Indogermanic ว่า Reg, ในภาษาละตินใช้ rego
           Vedic rājā,  To root *reg, as in Latin rego (to lead, di--rect)
           Old Irish     rī king
           Gallic  ใช้ rīx ต่อท้ายหมายถึง king
           reiks (Gothic) = rīhhi (old high german) = rich or reich
         (ภาษา german reich หมายถึง kingdom)
และให้คำหมายหนึ่งของ  Rājā ว่า  king, a ruling potentate ยังมีความหมายและคำแปลที่ไม่ตายตัวอื่น ๆ แล้วแต่ที่ใช้ในคัมภีร์ต่าง ๆ กินความมากกว่า king หรือผู้มีอำนาจสูงสุด ขอยกเป็นบางตัวอย่าง
          1 ในแง่ของ sovereignship : We find it used as a designation of "king" in the sense of an elected or successory (crowned) monarch, but also in the meaning of a distinguished nobleman, or a local chieftain, or a prince with var. attributes characterizing his position according to special functions.
          2. ยังใช้ในแง่ของความหมาย ขุนพล เจ้าพนักงานของกษัตริย์   smaller kings, knights or royals(royalists) i.e. officers of the kings or "the king's Guards". It is here used as a term of warning or frightening "get up, robber, so that the kings (alias ʻpolicemanʼ) won't catch you" : uṭṭhehi cora mā taŋ gahesuŋ rājāno
     ในพจนานุกรมนี้ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของศัพท์โดยอ้างอิง ทีฆนิกาย The fanciful etymology at D III.93= Vism 419 is "dhammena pare rañjetī ti rājā" : he gladdens others with his righteousness.-- At the latter passage the origin of kingly government is given as the third stage in the constitution of a people, the 2 preceding being mahā--sammata (general consent) and khattiya(the land--aristocrats). ผมได้นำบางส่วนของพระสูตรมาลงในกระทู้แล้ว

             เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติ ดังนี้แล อักขระว่า มหาชนสมมติ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก
             เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลาย ดังนี้แล อักขระว่ากษัตริย์    กษัตริย์จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง
             เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า ราชา ราชาจึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม
  จาก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร ท่านใช้คำว่า อักขระ คือตามตัวอักษรเลยทีเดียว



ได้อ่านที่ท่านนิลนนท์บรรยายมาทั้งหมด ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ ท่านนิลนท์ต้องเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอนเลยครับ


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 15 ก.ย. 12, 11:03
ผมว่าเป็นเรื่องปกติเมื่อเราใช้ศัพท์ใดไปนาน ๆ เราจะลืมความหมายดั้งเดิมหรือไม่รู้ต้นกำเนิดของศัพท์นั้น แต่จะคุ้นเคยกับความหมายใหม่แทน และยิ่งมีการสร้างคำใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกมากมายจากศัพท์คำนั้น ความหมายยิ่งเลือนหายไปเร็ว ขณะที่พระพุทธเจ้าท่านยกคำนี้ขึ้นมาท่านบอกว่าแต่ โบราณ ก็ไม่รู้ว่าย้อนหลังไปอีกกี่ร้อยกี่พันปี ผมอ่านกระทู้มีการถามถึงที่มาของ สำเพ็ง ก็ยังไม่รู้เหตุที่มาที่ไปของคำนี้ทั้งที่เวลาผ่านไปไม่กี่ร้อยปีเท่านั้นเอง แม้คำว่ากษัตริย์หรือขัตติยะ ก็มีคนแปลว่านักรบไปเสียแล้ว ซึ่งไม่ใช่ความหมายตามตัวอักษร (กษัตริย์-เกษตร  ขัตติยะ-เขต)


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 15 ก.ย. 12, 11:10
คุณ sujittra ครับ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดครับ ผมเพียงแต่ถอดความมาจากพจนานุกรมเท่านั้นเองครับ ยังไม่อาจหาญสามารถตีความได้เองครับ  :D


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 15 ก.ย. 12, 11:16
   ผมคุยกับเพื่อนคนนึง บอกเขาว่าราชานอกจากหมายถึงกษัตริย์แล้วยังมีความหมายว่า ผู้ทำให้มีความสุขโดยธรรม เขาไม่รู้มาก่อนแต่ฟังแล้วเขาพยักหน้าตอบรับทำท่าคิดแต่ไม่ได้พูดอะไร  ถามเขาว่าไม่สงสัยหรือ เขาบอกว่า เขากำลังนึกถึงในหลวง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง สิ่งที่พระองค์ทรงเป็นและสิ่งที่พระองค์ทรงทำ เป็นภาพตัวอย่างคำอธิบายที่ชัดเจนมาก
   ผมทบทวนดูแล้วก็ชัดแจ้งแก่ใจตัวเอง พระองค์ทรงเป็น'ราชา'ที่แท้จริงในใจผม ไม่ใช่เพราะว่ามหาชนสมมติ หรือเพราะท่านทรงมีอำนาจใหญ่ แต่เพราะผมอิ่มเอมใจในพระราชจริยาวัตรอันงดงามและสิ่งที่ท่านทำมาโดยตลอด ก็เลยกระจ่างในคำหมายของ ราชา
    "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"


กระทู้: "ราชา" แปลว่าอะไร?
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 12, 11:36
^