เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: chupong ที่ 26 ต.ค. 10, 13:40



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 26 ต.ค. 10, 13:40
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านขอรับ

   ผมคิดว่า คงจะเคยมีกระทู้เกี่ยวกับบทอาขยานประทับใจในเว็บนี้มาแล้ว ฉะนั้น หะแรก เคยคิดจะตั้งกระทู้เรื่องบทอาขยานสมัยก่อน เพื่อขอความรู้จากทุกๆท่าน ก็เลยแปรไปในอีกลักษณะหนึ่งครับ

   ผมเชื่อว่า สำหรับคนรักวรรณคดี ผูกพันกับกวีนิพนธ์ ย่อมจะท่องจำบทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ฯลฯ เอาไว้ไม่มากก็น้อย และก็คงมีหลายบทที่แต่ละท่านสมัครใจท่องเองเพราะความชื่นชอบเป็นเหตุสำคัญ ปราศจากคำสั่งจากคุณครูในทำนอง “เธอไปท่องตรงนี้มานะ” ไม่ต้องท่องเพื่อเก็บคะแนน หรือเพื่อเขียนตอบข้อสอบ บทเหล่านี้แหละครับ ที่ผมจะขอวิทยาทานจากท่าน เนื่องด้วยตัวเองก็ชอบท่องอยู่แล้ว แหละก็เห็นหิตานุหิตแห่งอาขยานมากมายหลายประการครับ

   สมัยผมเรียน ม.๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) อยู่ ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ตรงถนนพญาไท ซึ่งคิดว่าทุกๆท่านคงเคยผ่านเคยพานพบเห็นมาแล้ว ยามนั้น ท่านอาจารย์ทิพวัลย์ ดุริยางคเศรษฐ์ ท่านสอนภาษาไทยพวกเราครับ ผมโปรดปรานหนังสือทักษะสัมพันธ์มาก ถ้าได้หนังสืออักษรเบรลล์มาไว้ในมือเป็นต้องอ่านก่อนเรียนจริงเสมอ ครั้นถึงบทละครในเรื่อง รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ อันกระทรวงศึกษาธิการตัดเอาตอนทศกัณฐ์ล้มมาให้เรียน บทพรรณนารถทรงของพระรามที่ทรงขณะเสด็จฯ ไปปราบท้าวสิบเศียรนั้น คือบทอาขยานที่อาจารย์ท่านมิได้สั่งท่อง แต่ผมท่องเอง แล้วยังจำได้กระทั่งบัดนี้ครับ

   “รถเอยรถวิมาน
กงประไพแก้วประพาฬประภัสสร
ดุมทองดวงธูปอรชร
แอกงอนอ่อนงามสลวยลอย

   บัลลังก์บทลวดประกวดภาพ
เครือกระหนกครุฑกระหนาบจับนาคห้อย
บุษบกบันสะบัดจำรัสพลอย
ทวยช้อยทองช่อบราลี

   เทียมสินธพสิบเทเวศ
ลำพองล้ำเพศราชสีห์
เผ่นโจนโผนจรด้วยฤทธี
ขุนรถขับรี่ดังลมกาล

   พระลักษมณ์นั่งประณตประนมหัตถ์
เครื่องสูงแถวฉัตรธงฉาน
เสียงกลองซ้องกลบกังสดาล
พวกทหารขานโห่เป็นโกลา

   กงเลื่อนก้องลั่นพันลึก
เสียงคึกแซ่ลั่นสนั่นป่า
โบกธงบ่ายทัพยาตรา
กองหน้าเกณฑ์นำเสด็จจร”

   อีกบทหนึ่ง ตอนทศกัณฐ์กำลังจะตาย ผมเคยท่องได้ครับ แต่บัดนี้เลือนไปจากความทรงจำเสียแล้ว ระลึกได้เพียงสั้นๆว่า:

   “ปากหนึ่งว่าโอ้พิเพกเอ๋ย
ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่
ตัวเราก็จะม้วยชีวี
ในเวลานี้ด้วยศรพิษ

ปากสองว่าเจ้าผู้เป็นน้อง
ร่วมท้องสืบสายโลหิต
จะได้ผ่านลงกาสมคิด
เป็นอิศรภาพแก่หมู่มาร ฯลฯ”
   ท่านใดท่องได้ โปรดอนุกูลทวนอดีตให้ผมด้วยเถิดครับ

   สำหรับผมคงยุติเพียงนี้ เพื่อจะรอแลกเปลี่ยนกับท่านผู้การุณย์ทุกๆท่านในโอกาสต่อไป ครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



 
   


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 03:48
ดิฉันถูกสอนให้ท่องกลอนบทนี้    จำได้เป็นนกแก้วนกขุนทอง  ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน
คนแต่งคือ บราเธอร์ ฟ.ฮีแลร์

วิชาเหมือนสินค้า                อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป                 จึงจะได้สินค้ามา

จงตั้งเอากายเจ้า                 เป็นสำเภาอันโสภา
ความเพียรเป็นโยธา                  แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ

นิ้วเป็นสายระยาง              สองเท้าต่างสมอใหญ่
ปากเป็นนายงานไป              อัชฌาสัยเป็นเสบียง

สติเป็นหางเสือ                                   ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
ถือไว้อย่าให้เอียง                                 ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา

ปัญญาเป็นกล้องแก้ว                          ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา                                  เป็นล้าต้าฟังดูลม

ขี้เกียจคือปลาร้าย                             จะทำลายให้เรือจม
เอาใจเป็นปืนคม                                ยิงระดมให้จมไป

จึงจะได้สินค้ามา                              คือวิชาอันพิศมัย
จงหมั่นมั่นหมายใจ                            อย่าได้คร้านการวิชาฯ

ขอถามไว้เป็นความรู้นะคะ    หวังว่าคงไม่เป็นการละลาบละล้วง

คุณเขียนหนังสือได้ดีมาก  ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยน    ทั้งที่บทกวีที่นำลงก็อ่านยากสะกดยากทั้งนั้น  อยากทราบว่าทำได้อย่างไร   ใช้โปรแกรมอะไรในการอ่านเว็บบอร์ด
หรือว่าคุณมีผู้ช่วย  ช่วยอ่านและพิมพ์ให้?


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 03:49
บททศกัณฐ์ลาตาย   ถ้าหาโอกาสได้จะนำมาลงให้อ่านค่ะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 27 ต.ค. 10, 07:40
ขอถามไว้เป็นความรู้นะคะ    หวังว่าคงไม่เป็นการละลาบละล้วง

คุณเขียนหนังสือได้ดีมาก  ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยน    ทั้งที่บทกวีที่นำลงก็อ่านยากสะกดยากทั้งนั้น  อยากทราบว่าทำได้อย่างไร   ใช้โปรแกรมอะไรในการอ่านเว็บบอร์ด
หรือว่าคุณมีผู้ช่วย  ช่วยอ่านและพิมพ์ให้?

ผมสงสัยตั้งแต่กระทู้ตามหาหนังสือของคุณชูพงศ์แล้วครับ
แต่ไม่กล้าถามเหมือนกัน เพราะอ่านปุ๊บรู้เลยว่าคุณชูพงศ์เป็นผู้พิการทางตา


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 10, 09:07
เข้ามาช่วยคุณชูพงศ์ ถ้าคอมพิวเตอร์สามารถแปลงข้อความเป็นเสียงได้ จะดียิ่งขึ้น

บราเธอร์ ฟ.ฮีแลร์ ถึงแม้ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศส แต่ท่านก็มีความรักในเมืองไทยอย่างมาก แต่งตำราดรุณศึกษา และเรียนรู้ภาษาไทยจนแตกฉาน แต่งหนังสือเรื่อง "โกษาปานไปฝรั่งเศส" ได้อย่างดีเยี่ยม ผมเองก็ได้เรียนตำราจากบราเธอร์ ฟ.ฮีแลร์ เช่นกันครับ ดังกลอนนี้

"คนดีที่ประสงค์"

    อันคนดี  ที่ไทย  ใฝ่ประสงค์          ไม่เจาะจง  คนรวย  หรือสวยสี
ไม่ใช่คน  ปริญญา  วิชาดี                   แต่เซ็งลี้  ถึงขนาด  ที่ชาติงอม
ไม่ใช่เช่น  พุ่มพวง  ลวงประดิษฐ์          งามวิจิตร  แต่รูป  จูบไม่หอม
ไม่ใช่เช่น  ธำมะรงค์  เครื่องทรงปลอม   ที่เขาย้อม  ทองเปลว  เลวจริงจริง

    อันคนดี  ที่ไทย  ใฝ่ประสงค์            คือคนตรง  เช่นพันท้าย  นรสิงห์
หัวเรือหัก  พักให้  ใครมาติง                ขึ้นตลิ่ง  ร้องให้ฟัน  จบบัลลัย
คนเช่นนี้  มีน้อย  เหมือนพลอยเพ็ชร     แต่ละเม็ด  ค่าเท่า  ภูเขาใหญ่
ควรเชิดชู  คู่ควง  กับดวงใจ                 เพื่อชาติไทย  รุ่งโรจน์  ปราโมทย์  เอย
                                                                    ฟ. ฮีแลร์


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 09:23
ผลงานของ ฟ. ฮีแลร์ ที่คนไทยรู้จักกันดี

http://th.wikipedia.org/wiki/ฟ._ฮีแลร์ (http://th.wikipedia.org/wiki/ฟ._ฮีแลร์)


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ต.ค. 10, 10:31
เคยท่องตอนเป็นเด็กๆ ค่ะ ทำให้จำเนื้อเรื่องได้จนถึงทุกวันนี้

" ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา      คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์
  ชิ้นสองต้องขับเที่ยวเซซัง  อุ้มลูกไปยังพนาลัย
  ชิ้นสามเมื่ออยู่ด้วยยายตา  ลูกยาออกช่วยขับไก่
  ชิ้นสี่กัลยามาแต่ไพร         ทุบสังข์ป่นไปกับนอกชาน
  ชิ้นห้าปิตุรงค์ทรงศักดิ์       ให้รับตัวลูกรักมาจากบ้าน
  ชิ้นหกจองจำทำประจาน     ให้ประหารฆ่าฟันไม่บรรลัย
  ชิ้นเจ็ดเพชฌฆาตเอาลูกยา ไปถ่วงลงคงคาน้ำไหล
  เป็นเจ็ดชิ้นสิ้นเรื่องอรไท     ใครใครไม่ทันจะสงกา "

ค่ะ ละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนนางจันท์เทวีสลักชิ้นฟัก เพื่อแกงถวายพระสังข์
 พระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ช่อง 7 สี นำมาสร้างเป็นหนังจักรๆ วงศ์ๆ คนติดกันงอมเลยค่ะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 10:54
สงสัยอยู่ว่านางจันท์เทวีสลักข้อความยาว ๆ บนฟักแต่ละชิ้นได้อย่างไร

 ???


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 ต.ค. 10, 11:03
เรียน ท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนสมาชิกเรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกๆท่านครับ

   อันดับแรก ผมขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับสำหรับ “วิชาเหมือนสินค้า” ตอนผมเรียนอนุบาล ๑ ก็ได้ท่อง ทว่าปัจจุบันจำได้อย่างกระท่อนกระแท่นเต็มทีแล้วครับ ผมจะเข้ามาอ่านเรื่อยๆ เพื่อท่องฟื้นความทรงจำครับ

   เรื่องพิมพ์หนังสือเป็นตัวอักษรปกตินั้น พวกเราคนตาบอดมีโปรแกรมสังเคราะห์เสียงช่วยครับ สามโปรแกรมทำงานประสมประสานกัน ทำให้เมื่อกดตัวอักษรใดๆก็ตามบนแป้นพิมพ์ มันก็จะส่งเสียงออกมา เช่นจิ้มตัว ก มันจะร้องขานว่า “กอไก่” ครับ ฉะนั้น พอจิ้มผิด เสียงจะฟ้องทันที ทำให้สามารถถอยหลังกลับมาลบได้ทัน ผมพิมพ์ผิดบ่อยไปครับ แต่มีกฎซึ่งถือเป็นมติสำหรับตัวเองประการหนึ่งคือ ก่อนส่งข้อความขึ้นเว็บบอร์ด อันถือเป็นพื้นที่สาธารณะ จะต้องตรวจแก้ไขทุกคราครับ

   อีกประการหนึ่ง ภายหลังจากคุณน้า หรือคนตาดีท่านอื่นๆอ่านบทกวีซึ่งถูกอกถูกใจให้ฟังแล้ว จะต้องจดเป็นอักษรเบรลล์ใส่สมุดไว้อ่านก่อนนอนประจำ ผมเรียกสมุดเหล่านั้นว่า “สมุดข้างหมอน” ครับ เพราะเมื่อวางอ่านขณะอยู่ในอิริยาบถนอน มันจะอยู่เกือบชิดหมอนเลย ตอนจด ผมก็จะคอยถามผู้บอกว่า คำใดสะกดเช่นไร ถามชนิดจี้ทุกอักขระเลยหละครับ เมื่อจดบ่อยๆเข้า อ่านด้วยวิธีคลำบ่อยๆเข้า ก็เกิดความทรงจำ กระนั้น ก็ใช่ว่าจะสะกดคำต่างๆได้ถูกถ้วน ต้องอาศัยเว็บไซต์สำคัญช่วยอีกหนึ่งเว็บครับ คือ พจนานุกรมออนไลน์ ของราชบัณฑิตยสถาน เว็บนี้ ผมจะเปิดไว้ตลอดขณะพิมพ์งานครับ สงสัยคำใดก็รีบสอบค้น ถ้าคำที่เขียนไปก่อนหน้านั้นผิด ก็กลับมาแก้ใหม่ บางกรณี หากต้องพิมพ์ชื่อเฉพาะ ก็เข้า google ค้นครับ นอกไปจากนี้ ก็คือถามคนตาดีแล้วจำไว้ในสมอง ถามหลายๆหน จำหลายๆเที่ยว เวลาพิมพ์ก็อุ่นใจ ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นวิธีซึ่งผมใช้อยู่ครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 ต.ค. 10, 11:18
สวัสดีรอบสองครับ ท่านผู้มีอุปการคุณทุกท่าน

   ความรักในประเทศไทยและภาษาไทยของท่านบราเธอร์ ฟ.ฮีแลร์ น่าจะเตือนใจวัยรุ่นบางคนได้เป็นอย่างดีนะครับ ลางเหล่าที่ภูมิอกภูมิใจนักหนาว่าตนแตกฉานในภาษาต่างชาติ แต่เบื่อหน่าย มองเมิน หนักๆเข้าก็ผลักไสภาษาประจำชาติของตนไปเสีย ไม่นำพาวรรณคดี โดยอ้างว่าเชยบ้างหละ ตัวละครตกยุคบ้างหละ ทั้งๆ หากเปิดใจรับ ก็จะได้ข้อคิด คติธรรม มากล้นเกินคณนาครับผม
 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 11:18
บทกวีที่แม่ท่องให้ฟังบ่อยๆจนจำได้  คือโคลงโลกนิติ  
ที่เคยท่องให้ฟังบ่อยๆคือ

ยามจนคนเคียดแค้น          ชิงชัง
ยามมั่งมีคนประณัง            นอบน้อม
เฉกพฤกษ์ดกนกหวัง          เวียนสู่ เสมอนา
ยามหมดผลนกพร้อม         พรากสิ้นบินหนี

รักกันอยู่ขอบฟ้า               เขาเขียว
เสมออยู่หอแห่งเดียว         ร่วมห้อง
ชังกันบ่แลเหลียว             ตาต่อ กันนา
เหมือนขอบฟ้ามาป้อง         ป่าไม้มาบัง

นาคีมีพิษเพี้ยง              สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช            แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส            แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า            อวดอ้างฤทธี

งาสารฤาห่อนเหี้ยน             หดคืน
คำกล่าวสาธุชนยืน            อย่างนั้น
ทุรชนกล่าวคำฝืน            คำเล่า
หัวเต่ายาวแล้วสั้น            เล่ห์ลิ้นทรชน


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 11:33
คุณชูพงศ์ลองเข้าไปอ่านในนี้

http://th.wikisource.org/wiki/บทอาขยาน (http://th.wikisource.org/wiki/บทอาขยาน)


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 11:44

   อีกบทหนึ่ง ตอนทศกัณฐ์กำลังจะตาย ผมเคยท่องได้ครับ แต่บัดนี้เลือนไปจากความทรงจำเสียแล้ว ระลึกได้เพียงสั้นๆว่า:

   “ปากหนึ่งว่าโอ้พิเพกเอ๋ย
ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่
ตัวเราก็จะม้วยชีวี
ในเวลานี้ด้วยศรพิษ

ปากสองว่าเจ้าผู้เป็นน้อง
ร่วมท้องสืบสายโลหิต
จะได้ผ่านลงกาสมคิด
เป็นอิศรภาพแก่หมู่มาร ฯลฯ”
   ท่านใดท่องได้ โปรดอนุกูลทวนอดีตให้ผมด้วยเถิดครับ


ปากหนึ่งว่าโอ้พิเภกเอ๋ย              
ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่
ตัวเราก็จะม้วยชีวี                      
ในเวลานี้ด้วยศรพิษ

ปากสองว่าเจ้าผู้เป็นน้อง              
ร่วมท้องสืบสายโลหิต
จะได้ผ่านลงกาสมคิด                
เป็นอิสรภาพแก่หมู่มาร

ปากสามขอฝากมณโฑด้วย          
ช่วยบำรุงให้เป็นแก่นสาร
ทั้งอัคคีกัลยายุพาพาล                
ฝูงสนมบริวารทั้งนั้น

ปากสี่ว่าเจ้าจะครองยศ                      
ปรากฏเป็นจอมไอศวรรย์
จงเอ็นดูสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์                  
โดยธรรม์สุจริตประเวณี

ปากห้าจงดำรงทศพิธ                        
อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่
ตัดโลภโอบอ้อมอารี                        
แก่โยธีไพร่ฟ้าประชากร

ปากหกว่าเจ้าจงอดโทษ                      
ซึ่งกริ้วโกรธด่าว่ามาแต่ก่อน
อย่าให้เป็นเวราอาวรณ์                      
แก่เราผู้จะจรไปเมืองฟ้า

ปากเจ็ดขอฝากนคเรศ                        
อันทรงวงศ์พรหมเมศนาถา
สืบมาแต่องค์พระอัยกา                      
เมตตาอย่าให้จลาจล

ปากแปดว่าเราเลี้ยงท่าน                      
ก็ประมาณหมายใจให้เป็นผล
ตัวเราชั่วเองจึ่งเสียชนม์                    
แล้วได้ร้อนรนทั้งแผ่นภพ

ปากเก้าว่าพี่จะลาตาย                        
น้องชายเมตตาช่วยปลงศพ
อย่าให้ค้างราตรีในที่รบ                      
ไตรภพจะหมิ่นนินทา

สิบปากสิ้นฝากสิ้นเชิง                        
สิ้นกำลังสิ้นคิดยักษา
พิษศรร้อนรุ่มทั้งกายา                        
อสุรากลิ้งเกลือกเสือกไป  


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 ต.ค. 10, 12:49
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับ โคลงโลกนิติ เป็นวรรณคดีจำหลักใจผมนับแต่เรียนจนปัจจุบัน รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะได้สัมผัสครั้งแรกช่วงประฐมปลายมั้งครับ คุณครูท่านให้ท่องก็หลายบท ตัวเองจำได้ก็มี อย่างเช่นบทนี้ ท่องโดยใจสมัครครับ

   บางคาบภาณุเมศขึ้น         ทางลง ก็ดี
บางคาบเมรุบ่ตรง               อ่อนแอ้
ไฟยมดับเย็นบง-               กชงอก ผานา
ยืนสัตย์สาทุชนแล้               ห่อนเพี้ยนสักปาง

   กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เพ็ญชมพูครับ และแล้ว ความทรงจำเกี่ยวกับคำสั่งเสียของเจ้ากรุงลงกาก็ถูกปลุกขึ้นในสมองก้อนน้อยๆของผม พลัน ก็อดสงสารท่านทศเศียรขุนมารมิได้ ก็ยังดีที่อุตส่าห์สำนึกผิด สำนึกสุจริตก่อนดับลมปราณนี้แรงนัก เอ... ชักอยากรู้แล้วซีครับ ว่าวิญญาณท่านจอมอสูรจะไปสิงสถิต ณ ตำแหน่งไหน ภายหลังถูกผลาญชีพแล้ว มีบันทึกไว้หรือเปล่าครับ ท่านใดทราบ โปรดเอื้อเฟื้อข้อมูลด้วยเถิดครับ

   เมื่อวาน ผมลืมเล่าไปครับว่าเหตุไฉนถึงสมัครใจท่อง “รถเอยรถวิมาน” เหตุผล คือวรรณลีลาโดนใจผมอย่างจัง กลอนทำนองกลบทกบเต้นนี่เพริศเพราพริ้งพรายดีนักแล ความจริง มีบท “บุษเอยบุษบกแก้ว” อีกหนึ่งบทที่ผมท่องได้ครับ ท่องภายหลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว แต่เนื่องจาก กระทรวงศึกษาธิการร่างหลักสูตรใหม่ (ภายหลังผมจบมัธยมปลาย) กำหนดให้บุษบกแก้วเป็นอาขยานบทหลักของชั้น ม.๑ คือครูต้องบังคับให้ท่อง หรือเคี่ยวเข็ญให้เด็กเลือกท่องแหงๆ จึงยังไม่พิมพ์ก่อน แต่จะขอมติจากทุกท่านครับว่าเห็นควรให้พิมพ์หรือไม่ หากมติเห็นชอบแล้วไซร้ ผมจึงจะพิมพ์ขอรับ

   เอารถมาฝากอีกคันแล้วกันครับ นี่มิใช่รถทรง หาก เป็นรถซิ่งครับ

   ดังได้กล่าวแล้วในย่อหน้าก่อนว่า กลอนกลบทเชิงกบเต้นนั้นท่วงทำนองเสนาะ กวีที่จับคั้นฟั้นเฟ้นเล่นกับฉันทลักษณ์จนช่ำมือย่อมสามารถพลิกแพลงแปรงแปรไปได้ตามใจของท่าน แหละท่านคมทวน คันธนู ก็เป็นหนึ่งในกวีแถวหน้าที่แม่นยำในคำกานท์ มีบทกวีสุดแสบชิ้นหนึ่งของท่าน ชื่อ “พาราสาวัตถี” พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ “วิเคราะห์วรรณกรรม วิจารณ์วรรณกร” ครับ ผมสันนิษฐานเอาจากบริบทของข้อความว่าเห็นจะประพันธ์ประมาณ พ.ษ. ๒๕๒๘ กระมังครับ งานชุดนี้แบ่งเป็น ๑๐ ภาค ผมน่ะไม่มีหนังสือติดตัวหรอกครับ แต่โชคดี น้องเอกวิทย์ ทวีผล นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ชอบอ่านกาพย์กลอนเหมือนกันไปเจอเข้า น้องเขาตาโตตื่นเต้น พิมพ์เก็บไว้อ่านเองแล้วยังเผื่อแผ่ส่งอีเมล์มาให้ผมอ่านด้วย ผมอ่านทีไรก็ขำทีนั้นครับ

   แหม เลี้ยวลดคดค้อมอ้อมคุ้งมาตั้งไกล เข้าประเด็นดีกว่าครับ ใน “พาราสาวัตถี” มีอยู่ช่วงหนึ่ง กวีท่านจงใจประเทียดเสียดสีประดาคนมีตำแหน่งที่ชอบวางเขื่อง โดยนำเสนอด้วยลีลากลอนเชิงกลบทกบเต้น ผมอ่านไปปรบมือไปหัวเราะน้ำตาเล็ดอีกต่างหาก ส่วนท่านผู้อ่านจะขำก๊ากเหมือนผมหรือไม่ ลองอ่านกันดูเถิดขอรับ นี่อาขยานนอกตำราเรียนแท้ๆครับผม

   เบ็นซ์เอยเบ็นซ์ซิ่ง
เงาพลามงามพริ้งอภิสุข
วิ่งปราดวาดเปรียวเลี้ยวรุก
เฆี่ยนสนับขับสนุกไปทุกทิศ

   ใครแซงแข่งสู้เดี๋ยวกูเสียบ
กูเหยียบกูใหญ่กูไม่ผิด
แอบท้ายอ้ายถ่อยถอยชิด
ประกาศิตประกาศสั่งไปทั้งทาง

   ตัวไหนตัดหน้าก็ฆ่าเสีย
อะฮ้าอ้ายเหี้ยไม่มีหาง
ซัดเปรี้ยงเสียงเปรี้ยงกระหึ่มคราง
ทุกบ้านทั้งบางเป็นใบ้ดู

   มุ่งหน้ามาแนบเมียน้อย
ปากหื่นปืนห้อยมู่ฮู่
สำเริงเซิ้งรส รูรูรู
อาฮะ อู้ฮู ดาดาดา ฯ ๘ คำ ฯ






 


 
 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: Vendetta ที่ 27 ต.ค. 10, 14:40
น่าเสียดายนะครับที่เดี๋ยวนี้แม้หนังสือเรียนวรรณคดีไทยจะกำหนดวรรคทองให้นักเรียนได้ท่องกัน
แต่ก็ปรากฎว่าไม่ค่อยมีคนทำตามเท่าใหร่นัก แต่ละบทเพราะทั้งนั้นเลย  

ผมชอบบทนี้ครับ
ดูผิวสินวลละอองอ่อน  มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น
สองเนตรงามกว่ามฤคินทร์  นางนี้เป็นปิ่นโลกา
งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน  งามกรดังลายเลขา
งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า  งามยิ่งบุปฝาแบ่งบาน
ควรฤๅมานุ่งคากรอง  ควรแต่เครื่องทองไพศาล
ควรแต่เป็นยอดนงคราญ  ควรคู่ผู้ผ่านแผ่นไผท

เป็นบทชมโฉมนางศกุนตลา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 ต.ค. 10, 15:45
สวัสดีอีกคำรบครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   สวัสดีครับ คุณ Vendetta
   ผมเคยเข้าเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ได้ยินมากับหูเลยครับ มีคน (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยุวชนรุ่นใหม่) เสนอให้เอาบทอาขยานออกไปเสีย บ้างก็บ่นอุทธรณ์ว่าเซ็งวรรณคดี ไม่อยากแปลไทยเป็นไทย ผมคันไม้คันมือนัก อยากจะโพสต์ไปว่า คุณเปิดพจนานุกรมภาษาต่างด้าวคุณยังยินดีทำ
แถมกรี๊ดกร๊าดเสียด้วยถ้าหากแปลวรรณคดี บทกวีชั้นสูงของต่างชาติออก ก็แล้วทำไมกับภาษาของบรรพบุรุษเรา รากเหง้าของพวกเราแท้ๆ คุณจึงไม่สนใจ หาข้ออ้างสารพัดมากลบเกลื่อน แต่ไม่อยากมีเรื่อง เลยไม่โพสต์ครับ

   ขอต่อเรื่องอาขยานอีกนิดนะครับ วรรณคดีรามเกียรติ์ ผมยังเหลือบทอาขยานตกค้างอยู่ เกรงว่าประเดี๋ยวจะลืมเสีย จึงนำมาลงไว้ก่อนครับ

   สำหรับท่านที่เคยอ่านคำพากย์รามเกียรติ์ ตอน เอราวัณ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คงจะคุ้นเคยดีกับ
   “สามสิบสามเศียรโสภา
เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี” เป็นอันดี ผมค่อนข้างมั่นใจเสียด้วยซ้ำว่าบทนี้บังคับท่องครับ คุณน้าผมคือหนึ่งในพยานยืนยัน ท่านต้องท่องบทนี้หน้าชั้นเรียนสมัยเรียนอยู่มัธยมปลาย โรงเรียนศรีอยุธยา เพราะฉะนั้น ผมขออนุญาตข้ามไปก่อน เอาบทซึ่งผมท่องเพราะความสนเท่ห์มาลงแทนครับ

   ผมเคยฟัง (แน่หละ คนตาบอด จะดูได้ฉันใด) โขนกรมศิลปากร ตอน “เอราวัณ” ครับ ในการแสดงชุดนั้น มีกาพย์ (ยานี) อยู่ชิ้นหนึ่ง ผมไม่ทราบข้อมูลแม้แต่นิดเดียวครับว่ากวีท่านใดนิพนธ์ขึ้น ข้อความเป็นบทชมโฉมเอราวัณจำแลง คณาจารย์กรมศิลป์ ท่านขับร้องเข้ากับทำนองเพลง “กลองโยน” ต่อไปนี้ คือกาพย์อันอ้างถึง แหละผมท่องจำไว้ครับ

   “ช้างเอยช้างนิมิต
เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน
เริงแรงกำแหงหาญ
ชาญศึกสู้รู้ท่วงที

   ผูกเครื่องเรืองทองทอ
กระวินทองหล่อทอแสงสี
ห้อยหูพู่จามรี
ปกตระพองทองพรรณราย

   เครื่องสูงเรียงสามแถว
ลายกาบแก้วแสงแพรวพราย
อภิรุมสับชุมสาย
บังแทรกสู่เป็นคู่เคียง

   กลองชนะประโคมครึก
มโหระทึกกึกก้องเสียง
แตรสังข์ส่งสำเนียง
นางจำเรียงเคียงช้างทรง

สาวสุรางค์นางรำฟ้อน
ดังกินนรแน่งนวลหงส์
นักสิทธิ์ฤทธิรงค์
ถือทวนธงลิ่วลอยมา”

มิใช่แก้ตัว หาก ก็เหมือนแก้ตัวกลายๆ นั่นคือ ผมพิมพ์ตามโสตประสาทสัมผัส ได้สดับฟังกาพย์คลอไปกับปี่พาทย์ ฉะนั้น อาจมีถ้อยคำบางแห่งคลาดเคลื่อนไปบ้าง ผมขอขมาทุกท่านไว้ในที่นี้ด้วยครับ
   
   ท่านผู้มีข้อมูลว่า กาพย์นี้นิพนธ์โดยกวีท่านใด โปรดปรานีให้วิทยาทานคนปัญญาต่ำอย่างผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ





 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 10, 16:23
เรียนคุณชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
ได้เห็นกลอนชมช้างเอราวัณ แล้วอยากให้ลองฟังโขนพรหมมาศ ซึ่งจัดตอนอินทรชิตแปลงร่างเป็นพระอินทร์ ตอนนี้จัดตอนที่พระรามจัดทัพและมีขบวนพระอินทร์จำแลงมาขวางไว้
http://www.youtube.com/watch?v=DdTdWbu36x8


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 10, 16:34
คลิปตอนชมช้างเอราวัณ อันแสนไพเราะครับ
http://www.youtube.com/watch?v=b9axmXtX62U


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 ต.ค. 10, 16:59
สวัสดีขอรับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ขอบพระคุณคุณ siamese อย่างยิ่งยวดครับ สำหรับสุนทรียรสที่คุณกรุณาแนะนำให้เสพ ผมจะเข้าไปฟังครับ



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ต.ค. 10, 17:06
ขอเรียนถามคุณชูพงค์ เพื่อเป็นความรู้นะคะ

ต้องอาศัยเว็บไซต์สำคัญช่วยอีกหนึ่งเว็บครับ คือ พจนานุกรมออนไลน์ ของราชบัณฑิตยสถาน
เว็บนี้ ผมจะเปิดไว้ตลอดขณะพิมพ์งานครับ สงสัยคำใดก็รีบสอบค้น ถ้าคำที่เขียนไปก่อนหน้านั้นผิด
ก็กลับมาแก้ใหม่ บางกรณี หากต้องพิมพ์ชื่อเฉพาะ ก็เข้า google ค้นครับ

สงสัยว่าคุณชูพงค์ มีวิธีใช้ พจนานุกรมออนไลน์ และgoogle อย่างไรคะ
เวลาใส่คำค้นแล้วมันขึ้นข้อมูลมาให้ คุณชูพงค์สามารถเลือกได้อย่างไรว่าข้อมูลไหนคือข้อมูลที่ต้องการคะ
ขอโทษนะคะที่เสียมารยาทถาม แต่อยากทราบน่ะค่ะ เผื่อจะได้แนะนำท่านอื่นๆ เป็นวิทยาทานด้วยนะคะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ต.ค. 10, 11:40
ข้อมูลจากสูจิบัตรการแสดงโขนชุด "พรหมาศ" ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  วันที่ ๑๙-๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒

การแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน พรหมาศ
บทพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทางดนตรีโยธวาธิตโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์ร่วมกับ จางวางทั่ว พาทยโกศล
ทางดนตรีไทยโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

เมื่อนั้นทศพักตร์ยักษี               ออกมุขมนตรี
แลตรัสประภาษราชการ
สารันต์ทูตทูลบินาน                 สมเด็จพระเจ้าหลาน
ไปรณรงค์รามา
เสียรถเสียทศโยธา                 เสียเทพสาตรา
พระองค์ก็เสียชีวัน
ฟังข่าวผ่าวเพียงเพลิงกัลป์          เจ็บใจจาบัลย์
แล้วนิ่งคะนึงในใจ

บัดนั้น                              กาลสูรเสนีมีศักดิ์
รับสั่งบังคมทศพักตร์               ขุนยักษ์รีบเหาะระเห็จไป
ครั้นถึงโรงราชพิธี                  กาลสูรเสนีบังคมไหว้
ทูลว่าพระบิตุรงค์ทรงไชย          ให้มาทูลข่าวปัจจามิตร
แสงอาทิตย์ฤทธิรอนมังกรกรรฐ์   ไปโรมรันเสียทัพดับจิต
ขอให้พระองค์ทรงฤทธิ            ไปเข่นฆ่าปัจจามิตรให้มรณา

เมื่อนั้น                            อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา
ได้ยินบอกออกความอัปรา        โกรธาลืมเนตรเห็นเสนี
ว่าพลางทางทรงศรชัย             คลาไคลออกจากโรงพิธี
จึงตรัสสั่งรุทการชาญกำแหง      จะเปลี่ยนแปลงกายกูเป็นโกสีย์
จงให้การุณราชอสุรี                แปลงอินทรีย์เป็นคชาเอราวัณ
อันโยธาทั้งหลายให้กลายเพศ     เป็นเทเวศร์สุรางค์นางสวรรค์
ให้สำหรับขับรำระบำบรรพ์         เร่งเตรียมไว้ให้ทันฤกษ์ดี

เมื่อนั้น                             อินทรชิตชื่นชมสมประสงค์
จึงขึ้นบนแท่นสุวรรณบรรจง        จำแลงแปลงองค์อสุรา
เป็นโกสีย์ทรงเครื่องเรืองอร่าม     ล้วนแก้วเก้าเงางามวามเวหา
จับพระแสงพรมมาศยาตรา         เสด็จมาเกยสุวรรณทันใด
ขึ้นทรงคอคชาเอราวัณ             ทหารแห่โห่สนั่นหวั่นไหว
ขยายยกโยธาคลาไคล             ลอยฟ้ามาในโพยมยาน

ช้างเอยช้างนิมิต                    เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน
เริงแรงกำแหงหาญ                 ชาญศึกสู้รู้ท่วงที
ผูกเครื่องเรืองทองทอ              กระวินทองหล่อทอแสงสี
ห้อยหูพู่จามรี                         ปกตระพองทองพรรณราย
เครื่องสูงเรียงสามแถว             ลายกาบแก้วแสงแพรวพราย
อภิรุมสับชุมสาย                    บังแทรกสู่เป็นคู่เคียง
กลองชนะประโคมครึก            มโหระทึกกึกก้องเสียง
แตรสังข์ส่งสำเนียง                นางจำเรียงเคียงช้างทรง
สาวสุรางค์นางรำฟ้อน            ดังกินนรแน่งนวลหงส์
นักสิทธิ์ฤทธิรงค์                    ถือทวนธงลิ่วลอยมา


ครั้นถึงที่ประจันบานราญรอน     เห็นวานรนับแสนแน่นหนา
กับทั้งองค์พระลักษณ์ศักดา      ยืนรถรัตนาอยู่กลางพล
จึงหยุดช้างทรงองอาจ            ลอยเลื่อนเกลื่อนกลาดกลางเวหน
ให้กุมภัณฑ์บรรดาจแลงตน      ใส่กลขับรำระบำบรรพ์

บัดนั้น                             รูปนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน
สาวสุรางค์นางฟ้าเทวัญ           บังคมคัลคำนับรับบัญชา

เมื่อนั้น                           อินทรชิตยินดีจะมีไหน
เห็นข้าศึกเสียเชิงละเลิงใจ        จึงจับศรไชยขึ้นบูชา
พาดสายหมายเขม้นเข่นเขี้ยว     น้าวเหนี่ยวด้วยกำลังอังสา
สังเกตตรงองค์พระลักษณ์อนุชา  อสุราก็ลั่นไปทันใด
ลูกศรกระจายดังสายฝน          ตกถูกลิงพลไม่ทนได้
แล้วต้องพระอนุชาเสนาใน        สลบไปไม่เป็นสมประดี

บัดนั้น                             หนุมานไม่ต้องศรศรี
ยืนทะยานดาลโกรธดังอัคคี      ชี้หน้าว่าเหวยสหัสไนย
เหตุใดไปเข้าข้างพวกยักษื       มาแผลงผบาญพระลักษณ์ให้ตักษัย
กูจะล้างชีวันให้บรรลัย            ให้สาใจอินทราที่อาธรรม์
ว่าพลางเผ่นโผนโจนทะยาน      ขึ้นตีควาญท้ายคชาอาสัญ
ง้างหักคอพญาเอราวัฒ           ชิงคันศรศักดิ์มัฆวาน

ครั้นถึงสนามราวี                  เห็นพลกระบี่
พินาศดาษพื้นพสุธา
ทั้งองค์พระลักษณ์อนุชา         ศรศักดิ์ปักอุรา
พระเข้าฉุดชักศรชัย

แล้วครอบคีรีกับรี้พล              เคาะยาให้หล่นจากเขาใหญ่
ต้องพระอนุชาเสนาใน            บัดในก็ฟื้นคืนมา
 
  
 
  
 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 28 ต.ค. 10, 16:17
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ขออนุญาตตอบคำถามท่านที่สงสัยเรื่องการใช้เว็บค้นหาข้อมูลก่อนนะครับ

   วิธีใช้เว็บไซต์พจนานุกรมออนไลน์ก็ดี google ก็ดี สำหรับผม อาศัยพิจารณาจากเนื้อความที่ได้อ่านเมื่อระบบของเว็บแสดงผลครับ สำหรับพจนานุกรมออนไลน์นั้น หากพิมพ์ผิด ก็จะแสดงผลเป็นสองกรณี คือ

๑.   บอกว่าคำที่เราพิมพ์ “ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่” หน้าที่ของผมก็คือ พิมพ์ใหม่โดยเปลี่ยนแปลงตัวสะกดไปเรื่อยๆครับ จนเจอคำอันมีนิยามตามต้องการ
๒.   นอกเหนือไปจากข้อ ๑ แล้ว บางครั้ง ระบบสืบค้นในเว็บ ก็จะสุ่มคำที่มีลักษณะใกล้เคียง หรือประเมินคำที่คิดว่าน่าจะใช่มาให้เราเลือก ซึ่งบางหนก็สุ่มมาแบบห่างกันหลายสิบวาเชียวครับ หากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องลองพิมพ์ใหม่ไปเรื่อยๆ ทำเช่นเดียวกับข้อ ๑ แต่ถ้าโชคดี ระบบสืบค้นค้นคำที่ใช่ (รู้ว่าใช่เมื่ออ่านความหมายของคำนั้นครับ) ตรงกับความประสงค์ ก็เป็นอันเชื่อได้แน่ถึงความถูกต้อง
ผมขอสาธิตสักนิดนะครับ สมมุติว่า ผมจะลองค้นคำ “อัชฌาศัย” ดู จะลองพิมพ์ผิดลงไป ดูซิครับ ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

   ในช่องค้นหา ผมพิมพ์ลงไปว่า อัชชาศรัย แล้วนี่คือผลลัพธ์ครับ
คำ อัชชาศรัย ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่
เอาหละครับ ผมจะพิมพ์ใหม่ โดยมั่วเหมือนเดิม ทีนี้เป็น อัชชาสัย บ้าง ผลคือ

   
คำ อัชชาสัย ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่

-----------------------------------

คำที่คล้ายกันมีดังต่อไปนี้

อัชฌาสัย   [ไส] น. กิริยาดี; นิสัยใจคอ, ความรู้จักผ่อนปรน; ใช้ว่า อัชฌา
   ก็มี, (โบ) อัชฌาศัย. (ป.; ส. อธฺยาศย).





   สรุป คำ อัชชาสัย ไม่มี แต่คำ อัชฌาสัย มี แถมยังมีคำ อัชฌาศัย ด้วย  แล้วจะเลือกคำไหนล่ะ? ผมจะใช้วิธีถามคนตาดีครับ ว่า ตามปกติที่เห็นในหนังสือบ่อยๆ ใช้คำใดในสองคำ หากชั่งน้ำหนักแล้วพบว่า ข้าง อัชฌาศัย มีผู้เห็นใช้กันมากกว่า อัชฌาสัย ก็จะจดจำว่า หากจะเขียนคำนี้ ให้เขียน อัชฌาศัย ครับ

   ใน google ก็คล้ายๆกันครับ จะต่างกันสักนิดคือ ต้องพิจารณาบริบทของข้อความแวดล้อมด้วย เพราะพ่อเจ้าประคุณเล่นกวาดมาหมด ไม่ว่าจะเว็บใดๆก็ตาม สะกดผิดสะกดถูกมินำพาทั้งนั้น ผู้ทำการค้นก็ต้องมาไตร่ตรอง ประกอบการซักถามอีกทอดหนึ่งครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 ต.ค. 10, 17:24
ขอบพระคุณคุณชูพงค์ มากค่ะ ที่ให้ความกระจ่างในข้อสงสัย
มีอาขยานที่ยังจำได้ดี ไม่แน่ใจว่าถูกบังคับให้ท่องหรือสมัครใจท่องเอง
แต่ไพเราะและมีความหมายดีค่ะ
เป็นพระนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ค่ะ

"ผู้ใดเป็นผู้มีมิตร                             จิตคิดต้องกันหรรษา
มีความยินดีปรีดา                             ยิ่งกว่ามีสินเงินทอง

แม้มีสิ่งใดที่ข้องขัด                           มิตรช่วยกำจัดที่ขัดข้อง
ช่วยทำให้สมอารมณ์ปอง                   กิจการทั้งผองช่วยคิด
 
เต็มใจปรึกษาหารือ                         ไม่ถือเกินกล้ำคำผิด
สู้งดอดโกรธโทษนิตย์                      ผูกจิตมิตรไว้ด้วยไมตรี
 
สิ่งใดควรหย่อนผ่อนตาม                  ผ่อนให้ทุกยามถึงที่
แม้เห็นสิ่งใดไม่ดี                            ช่วยชี้ช่องธรรมนำทาง

การใดจะได้เกิดผล                         ไม่คิดถึงตนกีดขวาง
เป็นที่เชื่อใจไว้วาง                           มิได้อำพรางสิ่งใด

ยามดีสรรเสริญเยินยอ                     แต่จะสอพลอก็หาไม่
ที่ควรตำหนิติไป                             มิให้มิตรไซร้เพลี่ยงพล้ำ

ไม่เป็นเพื่อนกินสิ้นผลาญ                 ยามจนไม่พาลช่วยกระหน่ำ
คอยจ้องมองดูชูค้ำ                            อุปถัมภ์ทำชอบตอบแทน

หามิตรเช่นนี้เหลือยาก                     หาได้ลำบากยากแสน
เอาใจไว้อย่าดูแคลน                       รักแม้นพี่น้องร่วมอุทร

อุตส่าห์รักษาน้ำจิต                       ให้สนิทสามัคคีสโมสร
คงจะไม่มีอนาทร                           ไม่มีเดือดร้อนสักเวลา"

อาขยานบทนี้มอบแด่ "มิตร" ทุกท่านในเรือนไทยค่ะ  ;D


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 29 ต.ค. 10, 12:55
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   วันนี้ พอว่างจากงาน จึงเข้ามาอ่านกระทู้ขอรับ และก็ต้องขอบพระคุณอาจารย์เพ็ญชมพูอย่างยวดยิ่งครับ สำหรับข้อมูลเสริมเรื่องเอราวัณ รวมไปถึงคำกลอนไพเราะที่กรุณาพิมพ์ให้อ่านกันโดยทั่วถ้วน ผมขออนุญาตเล่าถึงประสบการณ์จากการฟังสักนิดนะครับ โขนรามเกียรติ์ ตอน เอราวัณ ซึ่งผมฟังนั้น ภายหลังจาก

   “บัดนั้น
รูปนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน
สาวสุรางค์นางฟ้าเทวัน
บังคมคัลคำนับรับบัญชา” แล้ว ผมได้ยินบทต่อไปดังนี้ครับ

   “ต่างจับระบำรำฟ้อน
ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา
ร่ายเรียงเคียงคมประสมตา
เลี้ยวไล่ไขว่คว้าเป็นท่าทาง

   ซ้อนจังหวะประเท้าเคล่าคล่อง
เลี้ยวลอดสอดคล้องไปตามหว่าง
วงเวียนเหียนหันกั้นกาง
เป็นคู่คู่อยู่กลางอัมพร”
และ

   “เมื่อนั้น
พระลักษมณ์ผู้ทรงศักดิ์เธอทรงศร
พร้อมพวกพลากร
ดูรำฟ้อนบนเมฆา

   หมายว่าพระอินทร
สุรอัปสรเธอหรรษา
พิศเพลินเจริญตา
ทั้งพลสวาวานรไพร”

ข้อกังขาก็คือ ในสูจิบัตรอันอาจารย์นำมาลง ไม่มีบทร้องเหล่านี้ ผมจึงขออนุญาตเรียนถามครับ ว่าการแสดงโขน ณ วันเวลาดังกล่าวนั้น มีการตัดต่อย่อความให้สั้นกระชับเพื่อความเหมาะสมของเวลาหรือเปล่าครับ เพราะผมไม่มีโอกาสไปนั่งฟังด้วยตนเองจึงสนใจใคร่รู้ครับ

   สวัสดีครับ คุณ :D :D

   บทพระราชนิพนธ์ในองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ บทนี้ ผมเคยอ่านครับ แต่อ่านผ่านหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชั้นประฐมศึกษา ชุดที่แม้จะยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังทิ้งความประทับใจให้ผู้เคยเรียนเคยอ่านตลอดกาล ผมกำลังหมายถึง “มานี มานะ” แหละผองเพื่อน ผลงานของท่านอาจารย์รัชนี ศรีไพรวัลย์ ครับ คลับคล้ายคลับคลาว่า บท “ผู้ใดเป็นผู้มีมิตร ฯลฯ” จะอยู่ในตอนเกี่ยวกับเด็กชายเพชรนะครับ แต่...เอ ตั้งหลายปีมาแล้ว ผมชักไม่แน่ใจแล้วซีครับ ท่านที่เข้ามาอ่าน หากจะเมตตาให้ความรู้เรียกกู่ความจำครั้งวัยเยาว์ของผมกลับคืนมา ก็จะเป็นพระคุณยิ่งครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ต.ค. 10, 14:01
มีข่าวดีมาบอกกกกกกกกกกกกกก...........!!!!
สำหรับคนที่คิดถึง มานี มานะ และผองเพื่อน ค่ะ
อีกไม่นานจะมีการ์ตูนแอนนิเมชั่น ออกมาให้ชมแล้วนะคะ
ติดตามข่าวความคืบหน้าได้ที่นี่ค่ะ
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=manamane-jung&month=07-2010&date=26&group=2&gblog=6

ส่วนท่านที่ชอบอ่านหนังสือเก่า ไปรำลึกความหลังได้ที่นี่เลยนะคะ ฮ ฮูก ดอทคอม ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเด็กไทยค่ะ
http://www.horhook.com/ebook/thai2521/index.htm
มีหนังสือ มานี มานะ และผองเพื่อน ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 ชั้นละ 2 เล่ม รวม 12 เล่ม ให้อ่านรำลึกความหลังกันจุใจเลยค่ะ
มีทั้งแบบที่เปิดอ่านด้วย Flip Viewer และแบบ pdf เปิดอ่านด้วย Acrobat Reader ค่ะ
 
อ่านแล้วรู้สึกว่า กระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยก่อน รวมถึงผู้แต่งคือ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ และคณะ
และผู้วาดภาพประกอบ คุณเตรียม ชาชุมพร  คุณโอม รัชเวช และคุณปฐม พัวพิมล
มีความสุขุมลุ่มลึกในการถ่ายทอดวิชาความรู้ การอ่านการเขียน ขนบธรรมเนียม การใช้ชีวิตในสังคม
มีการจัดหลักสูตรและเนื้อหาของแต่ละเล่มได้อย่างเหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย
เป็นการสอนที่สอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาที่มีความหลากหลาย อ่านสนุก เพลิดเพลิน
และเด็กค่อยๆ ซึมซับ คำสอนต่างๆ เข้าไปแบบไม่รู้ตัว และติดตัวมาจนทุกวันนี้....

ไม่อยากนึกถึงตำราและหลักสูตรของเด็กยุคปัจจุบันนี้เลยค่ะ....หดหู่ใจพิกล....


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 10, 14:25
เรียนคุณชูพงศ์

เว้นวิจารณ์ว่างเว้น      สดับฟัง
เว้นที่ถามอันยัง        ไป่รู้
เว้นเล่าลิขิตสัง-        เกตว่าง เว้นนา
เว้นดั่งกล่าวว่าผู้        ปราชญ์ได้ฤามี ฯ


โคลงโลกนิติ

คุณชูพงศ์มีหัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ ครบถ้วน

ความที่หายไปเป็นความผิดพลาดในการถ่ายทอดจากสูจิบัตร

ขออภัยในความผิดพลาดและขอขอบพระคุณที่นำความมาเพิ่มในส่วนที่หายไป

 ;D
 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ต.ค. 10, 15:00
คุณ ชูพงค์ มีความจำดีมากเลยค่ะ.......
พระนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 “ผู้ใดเป็นผู้มีมิตร..." อยู่ในตอนที่เกี่ยวกับเด็กชายเพชร จริงๆ ด้วยค่ะ
อยู่ในแบบเรียนภาษาไทย มานี มานะ ชั้นป.6 เล่ม 1  ตอน "เพื่อนของเพชร" ค่ะ
อ่านสนุกมากเลยค่ะ เนื้อเรื่องตื่นเต้นมีปริศนาชวนติดตาม สอดแทรกการสอนต่างๆ ไว้อย่างแยบยล
เลยเก็บมาฝากให้ได้อ่านกัน  เก็บมาเป็นภาพค่ะ คุณชูพงค์ คงต้องให้ผู้ช่วยอ่านให้ฟังนะคะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ต.ค. 10, 15:02
ต่อค่ะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ต.ค. 10, 15:03
อ่านต่อนะคะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ต.ค. 10, 15:04
...


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ต.ค. 10, 15:07
จบตอนแล้วค่ะ...สนุกไหมคะ  ;D
ถ้ายังไม่หายคิดถึง เข้าไปอ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่เลยค่ะ
http://www.horhook.com/ebook/thai2521/index.htm


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 29 ต.ค. 10, 15:39
เรียนท่านผู้อ่าน ท่านผู้มีเมตตาจิตทุกท่านครับ

   ผมเข้ามาครั้งนี้ เพื่อมาร้องไห้ครับ ฮือ ฮือ ฮือ คิดถึงมานี มานะจังเลย อาวรณ์หาปิติ ชูใจ วีระ เพชร จันทร สมคิด ดวงแก้ว เจ้าแก่ เจ้านิล เจ้าโต ฯลฯ

   ถึงใครจะว่าแบบเรียนชุดนั้นเชย ตกสมัย แต่ผมรักของผม รักเอามากมายครับ ว่าแต่... คนตาบอดจะอ่านได้อย่างไรครับเนี่ย ในเมื่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ที่คุณ :d :d กรุณาแนะนำ มันไม่สามารถอ่านได้ด้วยโปรแกรมสังเคราะห์เสียงครับ หรือจะกล่าวอีกอย่างก็คือ โปรแกรมสังเคราะห์เสียงสำหรับอ่านจอภาพเพื่อคนตาบอดยังไม่มีขีดความสามารถจะอ่านไฟล์ภาพออก ขืนแค่นข่มขู่ให้มันอ่าน ไม่ว่าจะเลื่อนลูกศร ขึ้น ลง ซ้าย ขวา มันก็จะร้องออกมาคำเดียวสั้นๆครับ เป็นคำที่ไม่มีใครในพวกเราอยากฟังเลย “blank” พุทโธ่ ตัวหนังสือมีออกพรืด ดันบอกว่าบรรทัดว่าง มิฉะนั้น ถ้าเจออักษรภาพในเว็บ พอเลื่อนลูกศร มันก็จะอ่านออกมาว่า “ขีด” โธ่เอ๋ย!

   พูดถึงเรื่อง การอ่าน กับ คนตาบอด ท่านสมาชิกเรือนไทยท่านใดเคยอ่านหนังสือเสียงบันทึกเทปหรือซีดีให้พวกเราฟังบ้างครับ ที่เรียนถาม เพราะผมจะได้ไปยืมมาฟัง ทำความรู้จักกับท่านก่อนผ่านทางเสียงอย่างไรเล่าครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ต.ค. 10, 16:13
คุณ ชูพงค์ คะอย่าเพิ่งร้องไห้ นะคะ โอ๋ โอ๋ !!!!
ลองเข้าไปดูใน youtube นะคะ มีหลายตอนค่ะ เขาทำเป็นหนังการ์ตูนค่ะ
ที่เอามาฝากชื่อตอน วัดร้างค่ะ พอให้หายคิดถึง มานี มานะ ปิติ ชูใจ เพชร และเพื่อนๆ ไปได้บ้างนะคะ

http://www.youtube.com/watch?v=Ys6XoJDwDTE


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ต.ค. 10, 16:15
ร่วมด้วยช่วยกันครับ ตามคุณสองยิ้ม ติดๆด้วยแบบเรียน เลยครับ
http://www.youtube.com/watch?v=fU4-DDPECnc


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 29 ต.ค. 10, 16:45
เรียนคุณสองยิ้ม  และคุณ siamese ครับ

   สำหรับผม การ์ตูน หรือภาพยนตร์ แม้แต่ละคร สู้หนังสือไม่ได้ครับ เพราะหลากหลายถ้อยคำอันสื่ออารมณ์ หรือสร้างจินตภาพ ใช้จิตทัศน์สนุกกว่าเยอะครับ จะวาดให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามใจเราปรารถนา มิใช่ มันต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างคนสร้างเขาประสงค์ เพราะฉะนั้น บทประพันธ์อันเป็นที่รักของผม ผมจะพยายามไม่ดูในรูปแบบอื่นครับ

   สมัยเรียน ม.๓ ผมรักนวนิยาย “หุบเขากินคน” ของท่านอาจารย์มาลา คำจันทร์ มาก พอมีการทำละครทีวี (ทั้งสองครั้งสองช่องนั่นหละครับ) ทำเอาผมเลือดขึ้นหน้า โมโหสุดขีด ทำไม จะใช้เด็กแสดงจริงๆไม่ได้หรือ ทำไมต้องเปลี่ยนจากเด็ก ป.๖ เป็นวัยรุ่นด้วย แล้วเอาเรื่องรักๆใคร่ๆแบบหนุ่มสาวมาใส่อีก โอ๊ย โกรธ โกรธ โกรธ โกรธยังไม่หายง่ายๆครับผม
 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 30 ต.ค. 10, 00:13
สวัสดีค่ะคุณชูพงศ์คะ ยินดีอย่างยิ่งที่มีคุณชูพงศ์เข้ามาให้ความรู้ในเรือนไทยค่ะ

ดิฉันเป็นคนรุ่นใกล้เคียงกับหลายท่านที่เคยเรียนภาษาไทยจากหนังสือดรุณศึกษาเช่นกัน

และก็ท่อง บทนี้ขึ้นใจเช่นกัน
อ้างถึง
วิชาเหมือนสินค้า                อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป                 จึงจะได้สินค้ามา

แต่แตกต่างจากทุกท่านที่นี่มาก และ อายคุณชูพงศ์เป็นที่สุดค่ะ  :( :-\ :-\

เพราะดิฉันเขียนภาษาไทยผิดมาก ไม่ได้เรื่องถึงขนาด สอบวิชาเขียนไทยทีไร ไม่เคยได้สักคะแนนเดียว

จนวันนี้ เวลาจะเขียนบางคำ ต้องนึกนะคะว่าสะกดอย่างไรจึงถูก จัดว่าเป็นผู้พิการทางภาษาเขียนค่ะ

แต่ก็แปลกที่รักที่จะอ่านวรรณคดี และ หลงไหลบทกลอนอันไพเราะ ทั้ง ๆ ที่ แต่งเองไม่เป็นเลยอ่ะค่ะ

มาที่นี่ ต้องมาอิงแอบ ขออาศัยอ่านคำกลอนดี ๆ จากคุณชูพงศ์นะคะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 30 ต.ค. 10, 09:24
เรียน คุณ Ruamrudee ที่เคารพยิ่งครับ

   ตัวผมปัญญาแค่กระจ้อยร่อยครับ เข้ามาที่นี่ก็เพื่อจะ “รับความรู้” ต่างหากครับ ที่เขียนไปทั้งหมด เป็นเพียงสิ่งซึ่งตนเองเคยฟังมาเท่านั้น และก็มีวัตถุประสงค์แลกเปลี่ยนเรื่องราวของคนตาบอดตัวเล็กๆคนหนึ่งให้คนตาดีมากมาย ณ เรือนหลังนี้รับรู้ เพื่อพิสูจน์ ยืนยันว่า คนพิการกับคนปกติ แท้แล้ว ยืนอยู่บนผืนดินแผ่นเดียวกัน ฉะนั้น โปรดอย่ากีดกั้นคนพิการ แบ่งแยกพวกเราจากคนร่างกายครบสามสิบสองเลยครับ 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:07
ร่วมรำลึก ย้อนอดีตอาขยาน
                   ตอนเรียนประถม ท่องอาขยานกลอนดอกสร้อย    

เริ่มด้วย

           เด็กเอ๋ยเด็กน้อย                   ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา                  เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน     จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน                   เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย ฯ

ผู้แต่ง ไม่ระบุ

         นอกจากนี้ก็มี  
              
          จิงเอ๋ยจิงโจ้
เล่นโล้ ในลำ สำเภาใหญ่
เพื่อออกแรง ออกกำลัง โดยตั้งใจ
ที่จะให้ เข้มแข็ง และอดทน

     เรานักเรียน ต้องไม่คร้าน การกีฬา
เรื่อง พลศึกษา ต้องฝึกฝน
ให้แข็งแรง ถ้วนทั่ว ทุกตัวคน
เพื่อเป็นคุณ แก่ตน และชาติเอย ฯ

เนื้อหาเป็นแบบฉบับ "ยุคท่านผู้นำ" ผู้แต่งระบุว่าคือ  หลวงวิจิตรวาทการ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:09
ตัดต่อเรื่องราวจิงโจ้จาก เน็ท พจนานุกรมและ บทความของ ส.พลายน้อย

        คำว่า "จิงโจ้" ในภาษาไทย มีความหมายได้แก่

จากพจนานุกรม ราชบัณฑิต

             ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Macropodidae ขาคู่หน้าสั้น  คู่หลังยาว
และแข็งแรง ใช้กระโดดได้ไกล ๆ หางยาวและแข็งแรงใช้เป็นอวัยวะช่วยในการทรงตัว
ตัวเมียออกลูกเป็นตัวไม่มีรกติดออกมา มีถุงที่หน้าท้องสําหรับใส่ลูก มีหลายชนิด เช่น
ชนิด Macropus rufus, M. giganteus มีถิ่นกําเนิดในทวีปออสเตรเลีย

            ชื่อแมลงพวกมวนในวงศ์ Gerridae หรือ Gerrididae ลําตัวลีบและยาว 
โดยทั่วไปยาว ๑-๒ เซนติเมตร มีทั้งพวกที่มีปีกซึ่งอาจสั้นหรือยาวหรือไม่มีปีก ขาคู่หน้าสั้น
ใช้จับสัตว์เล็ก ๆ กิน ขาคู่กลางและคู่หลังยาวกว่าลําตัวมาก ที่ปลายขามีขนละเอียดปกคลุมแน่น
สามารถวิ่งไปตามผิวนํ้าได้ อาศัยตามแหล่งนํ้าต่าง ๆ มีหลายชนิด ที่พบบ่อย ๆ ตามสระมักเป็นพวก
ที่อยู่ในสกุล Limnogonus, จิงโจ้นํ้า ก็เรียก.

          เครื่องป้องกันใบจักรเรือไม่ให้สวะเข้าไปปะกันกระทบ และกันไม่ให้เพลาแกว่ง.


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:11
            เรียกทหารผู้หญิงในวังครั้งรัชกาลที่ ๔ ว่า ทหารจิงโจ้.

อธิบายเพิ่มเติมว่า

          ลักษณะของจิงโจ้ Kangaroo มีกระเป๋าที่ท้อง สำหรับใส่ลูก ฉะนั้นที่ท้องจึงดูใหญ่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเห็นใครแต่งตัวแล้วท้องโต ก็จะทรงเปรียบกับจิงโจ้ เช่น
ในพระราชหัตถเลขา ตรัสเล่าถึงพวกแขก ไว้ตอนหนึ่งว่า
         "ขุนนางลังกา มาคอยรับ แต่งจิงโจ้ท้องโตเต็มที" คือแขกลังกาจะนุ่งผ้าหลายชั้นทำให้ท้องโตออกมา

           ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัดพวกโขลนขึ้นเป็นทหาร แต่งตัวเสื้อแดง
กางเกงแดง เสื้อมีชายยาวถึงเข่า หมวกแก๊ปสูง ในพระราชนิพนธ์ โคลงดั้น เรื่อง โสกันต์ ได้กล่าวถึงทหารจิงโจ้ว่า

      จิงโจ้ยืนเรียบร้อย      ริมถนน

เสื้อจีบชายกระจาย          สุกจ้า

ถือปืนทั่วทุกคน              พล่องแพล่ง
 
นายดาบเดินด้อมถ้า         ถ่องถนน

   ขบวนเดินเป็นระเบียบคล้อย      คลาไป

พิณพาทย์ทุกวงตี                    สนั่นก้อง

จิงโจ้เมื่อถึงใคร                      คำนับ

เสียงจิงโจ้กัดร้อง                    เร่าเร้ารุมระงม

           ทหารหญิงจิงโจ้ จัดตั้งขึ้นใน พระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งเรียกทหารหญิงครั้งนั้นว่า จิงโจ้ และได้เรียกต่อมาอีกนาน
คำสั่งที่ใช้บอกทหาร ก็แปลกกว่าทหารอื่นๆ คือแทนที่จะใช้ว่า วันทิยาวุธ ก็บอกว่า"จิงโจ้กัด" ดังที่กล่าว
ไว้ในโคลงบาทสุดท้ายข้างต้น และแทนที่จะใช้ คำว่า บ่าอาวุธ ก็ใช้ว่า "จิงโจ้หยุด" และแทนที่จะ
บอกว่า เรียบอาวุธ ก็สั่งว่า "จิงโจ้นอน" ดังนี้เป็นต้น


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:15
และความหมายที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม คือ

           เครื่องห้อยเปลให้เด็กดูเล่น ทำด้วยไม้ไผ่จักเข้าใจว่าเลียนแบบมาจากตัวแมงมุมน้ำอีกที
และ
           นกชนิดหนึ่งชื่อ จิงโจ้ ดังที่มีกลอนว่า "กะลุมพู จับกะล้อพ้อ จิงโจ้ จับจิงจ้อ แล้วส่งเสียง"       

มีคำร้องของ เด็กสมัยโบราณอยู่บทหนึ่งว่า

         จิงโจ้เอย มาโย้สำเภา หมาไล่เห่า
จิงโจ้ตกน้ำ หมาไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี.
ได้กล้วยสองหวี ทำขวัญจิงโจ้ โห่ฮิ้วๆ

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนรูป จิงโจ้โย้สำเภา ไว้ด้วยเป็นภาพปิดทองรดน้ำ ประดับอยู่ที่
เชิงบานหน้าต่าง พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

......     จิงโจ้ที่โย้สำเภา ในรูปเขียน ที่วัดพระเชตุพนฯ นั้นอยู่ทางหัวเรือ แต่ในตัวเรือ
ที่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ ก็ทำจิงโจ้ด้วยไม้ไว้ใต้ท้องเรือเป็นที่สอดเพลา ไม่ให้เพลาแกว่ง
และเมื่อมีสวะ หรือสิ่งใดครูดใต้ท้องเรือมา ก็จะปะทะกับจิงโจ้ ลอยข้ามไป ไม่ถูกใบพัด
ส่วนเรือที่ใช้หางเสือ เช่น เรือกระแชง ก็จะมีจิงโจ้ตัวเล็กๆ ติดที่ท้องเรือตรงกับปลายหางเสือ
เป็นประโยชน์กันสวะ หรือเชือก ที่จะมาทำให้หางเสือเรือหลุดได้

รูปจากคุณเพ็ญในกระทู้สัตว์ประหลาด


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:24
ดอกสร้อยประถมต้นที่ชอบที่สุดคือ

        นกเอ๋ย นกกิ้งโครง
หลงเข้าโพรง นกเอี้ยง เถียงเจ้าของ
อ๋อยอี๋เอียง อ๋อยอี๋เอียง ส่งเสียงร้อง
เจ้าของ เขาว่า น่าไม่อาย

     แต่นก ยังรู้ ว่าผิดรัง
นักปราชญ์ รู้พลั้ง ไม่แม่นหมาย
แต่ผิด รับผิด พอผ่อนร้าย
ภายหลัง จงระวัง อย่าพลั้งเอย ฯ

ชอบคำประพันธ์ของบทแรกมาก

ผู้แต่งระบุว่าคือ พระยาพินิจสารา (ทิม)

ชอบภาพนี้จากสำนักข่าว  Xinhua ครับ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:25
เมื่อโตขึ้น ดอกสร้อยที่ประทับใจจำคือ รำพึงในป่าช้า

         พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ประพันธ์จากต้นฉบับแปลของเสฐียรโกเศศ
จากบทกวีนิพนธ์เรื่อง Elegy Written in a Country Churchyard ของ Thormas Gray
กวีอังกฤษในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นกลอนดอกสร้อยจำนวน 33 บท 
เริ่มต้นอย่างเร้าอารมณ์ว่า

The curfew tolls the knell of parting day,
The lowing herd wind slowly o'er the lea,
The plowman homeward plods his weary way,
And leaves the world to darkness and to me.

   ใน answers.yahoo.com มีคนตั้งคำถามว่า วรรคแรกหมายถึงอะไร

Answer - The curfew was a bell which was rung to tell people
it was time to put their fires out (and, presumably, go to bed).
The knell is the sound of the solemn ringing of a bell
to announce a death or a funeral. Parting day meant that
the day was coming to an end. Put it all together and Gray
was saying the solemn bell was ringing and it sounded
to him as if it was announcing the death of the day.


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:27
พระยาท่านประพันธ์ว่า

๑. วังเอ๋ยวังเวง                     หง่างเหง่ง! ย่ำค่ำระฆังขาน  
ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล         ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน  
ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ      ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน  
ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล           และทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียว เอย.

       อ่านแล้วได้อารมณ์วังเวง เหงา และหวาด เพราะอยู่คนเดียวยามค่ำมืดในป่าช้า




กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:55
         มีอาขยานจำไม่ลืมอีกบทสมัยประถม เป็นสักวาสมัยเด็กที่สุดประทับใจ
ให้อารมณ์คล้ายๆ กัน คือ เหงา และหนาว แต่ไม่หวาด

ผู้แต่งระบุว่าคือ พระสุนทรโวหาร (ภู่)

        สักวาดาวจระเข้ก็เหหก
 ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
 เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว
 น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
        ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ
 ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
 สกุณา(กา)ดุเหว่าก็เร่าร้อง
 พอแสงทองส่องฟ้าขอลาเอย


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:57
          ดาวจระเข้ ของไทยตรงกับกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ของแผนที่ดาวสากล
กลุ่มดาวนี้เปล่งประกายทางทิศเหนือ ใกล้กับดาวเหนือ ประกอบด้วยดาว 7 ดวง เรียงตัวดูคล้าย
กระบวยตักน้ำ ชาวจีนเรียกกระบวยตักน้ำใหญ่ (Big Dipper) แต่ชาวกรีกเห็นเป็นหมีใหญ่
คล้ายกับไทยที่เห็นดาวเรียงตรงด้ามกระบวยเป็นหางสัตว์ ต่างตรงที่ไทยเห็นเป็นหางจระเข้

            กลุ่มดาวจระเข้จะขึ้นทางขอบฟ้าทิศเหนือ โดยส่วนหัวจระเข้หรือตัวกระบวย
โผล่ขึ้นมาทางขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
เมื่อดาวเคลื่อนที่ไปตรงขอบฟ้าทิศเหนือจะเห็นเป็นรูปกระบวย(หัวจระเข้)คว่ำลง และเมื่อใกล้จะตกลับ
ขอบฟ้า กลุ่มดาวนี้ก็หันตัวกระบวยหรือหัวจระเข้ปักลงก่อนในขณะที่ส่วนหางจระเข้ชี้ขึ้นกลางหาว


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 10:59
           ส่วนบทสุดท้าย คิดว่าเป็นอาขยานที่สมัครใจท่องเอง คุณครูไม่ได้กำหนดให้

คือ นางลอย จากรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๒ บรรยายความ
พระรามโศกเศร้าขาดสติเมื่อเห็นสีดา(แปลง)ตายลอยน้ำมา

       ว่าพี่พามาเสียชนม์           ในกมลให้กรมเกรียม
จะเกลี่ยทรายขึ้นทำเทียม           ต่างแท่นทิพบรรทมฯ
      จะอุ้มองค์ขึ้นต่างโกศ         เอาพระโอษฐ์มาระงม
ต่างเสียงพระสนม                   อันร่ำร้องประจำเวรฯ
       สาครจะต่างเมือง             สิงขรเนื่องจะต่างเมรุ
มังกรโตกิเลน                        จะต่างพาหนะยลฯ
       ดาวเดือนจะต่างเทียน        วิเชียรแก้วกลีบจงกล
เมฆหมอกในเวหน                   จะต่างพู่และเพดานฯ
       พฤกษาจะต่างฉัตร            สุวรรณรัตน์อันไพศาล
ดอกไม้ในหิมพานต์                  จะต่างพุ่มอยู่เรียงราย ฯ
      ฟากฝั่งมหรรณพ               จะวงศพเจ้าโฉมฉาย
ต่างศรีวิสูตรสาย                     สุวรรณรัตน์อันอำไพฯ
      เสียงคลื่นจะต่างกลอง         พิณพาทย์ฆ้องประโคมใน
จักจั่นและเรไร                       จะต่างสังข์และเสภาฯ
     จะเก็บพรรณไม้หอม            มารวมล้อมขึ้นบูชา
เชิญศพเจ้าสีดา                      ขึ้นวางไว้ในเพลิงรุมฯ
     จะอุ้มองค์กว่าจะม้วย            จะตายด้วยเมื่อไฟชุม
ร้อนเร่าฤทัยจุม                       พลราชเธอรำพันฯ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 10, 11:08
 เพลง วังบัวบาน ท่อนสุดท้ายมีเนื้อร้องที่คลับคล้ายกาพย์นางลอย ดังนี้

เอาวังน้ำใสเย็น นี่หรือมาเป็นเมรุทอง
เอาน้ำตกก้องเป็นกลองประโคม
เอาเสียงจักจั่น ลั่นร้องระงม
เป็นเสียงประโลมร้องต่างแตรสังข์
เพดานนั้นเอาเมฆฟ้า
ภูผานั้นต่างม่านบัง
ประทีปแสงจันทร์ใสสว่าง
อยู่เดียวท่ามกลางดงดอย

         แต่ก็มีอีกผู้รู้ว่า คลับคล้ายมหาชาติกลอนเทศน์กัณฑ์มัทรี

          จะเอาป่าชัฏนี่หรือมาเป็นป่าช้า  จะเอาพระบรรณศาลานี่หรือเป็นบริเวณเมรุทอง    
จะเอาแต่เสียงสาลิกาอันร่ำร้องนั่นหรือมาเป็นกลองประโคมใน จะเอาแต่เสียงจักจั่นและเรไร
อันร่ำร้องนั่นหรือมาต่างแตรสังข์และพิณพาทย์   จะเอาแต่เมฆหมอกในอากาศนั่นหรือมากั้นเป็นเพดาน
จะเอาแต่ยูงยางในป่าหิมพานต์มาต่างฉัตรเงินและฉัตรทอง  จะเอาแต่แสงพระจันทร์อันผุดผ่อง
มาต่างประทีปแก้วงามโอภาส  อนิจจามัทรีเอ๋ยมาตายอเนจอนาถไร้ญาติที่กลางดง.

http://www.youtube.com/watch?v=Lou_I7YP2Tw


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 30 ต.ค. 10, 14:12
สวัสดีขอรับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ผมเพิ่งกลับจากการไปทำกิจธุระข้างนอกสำนักงาน (สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย) มาครับ เข้ามาอ่านกระทู้ด้วยความเปรมปลื้มปราโมทย์เกินประมาณ เมื่อคุณ SILA กรุณานำบทอาขยานแสนเสนาะมาร่วมสมทบในกระทู้นี้ ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ

   คำพากย์รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๒ ตอนนางลอยนั้น ผมฟังแล้วตื้นตันในทรวงครับ เพราะถ่ายทอดวิญญาณของผู้ชาย ผู้พลีความรักให้ยอดอัครกัลป์ยาจนหมดทั้งชีวิต รักกระทั่งปรารถนาจะตายตามหากประจักษ์แจ้งแล้วว่านางหาชีวิตไม่จริงๆ สตรีใดได้ความรักจากบุรุษขนาดนี้ นับว่าโชคมหาโชคยิ่งกว่าพบขุมทรัพย์โกฏิล้านเสียอีก แต่... ก็นั่นแหละ รักมากก็หึงมาก แค่เห็นนางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ พระรามก็หลุดโลก สั่งพระลักษมณ์ให้นำนางไปฆ่า ผ่าหัวใจมาให้ดู ผมว่า โบราณาจารย์ท่านสอนแทรกเรื่องอัตตาไว้อย่างแนบเนียนเชียวครับ เราสำคัญสิ่งใด ยึดมั่นอะไรว่าของตู ของตู มากๆเข้า ถึงคราที่เกิดอปกติกับสิ่งที่เรายึดมั่นแน่นเหนียว ถ้าปล่อยให้โมหาทิฐิครอบงำ ทิ้งสติไป สุดท้าย ก็ต้องเดือดร้อน กว่าพระรามจะทรงประสบสุข ได้อภิเษกสมสองครองคู่กับนางสีดา ก็เล่นเอาโลหิตในพระเนตรแทบกระเด็น หลังจากนั้นแล้ว คงสร่างพระอารมณ์หึงสุดขั้วนี่บ้าง ผมหวังเช่นนั้นครับ

    คุณ SILA และทุกท่านยังจำบทนี้ได้ไหมครับ ผมคลาดเคลื่อนเลือนรางไปแล้วจากสมอง เมื่อก่อนเคยท่องเองได้ยาวครับ

   “สั่งพลางพระทางร่ำ
แต่แรกย่ำอรุณศรี
จวบจวนพระรวี
จะบ่ายเบี่ยงลงยอแสง

   พระกำลังสลดเลือด
พระพักตร์เผือดลงโรยแรง
พระวรกายก็เย็นแสยง
สยองเส้นพระโลมา

   สิ้นเสียงก็สิ้นสั่ง
แลสิ้นทั้งพระเขฬา
เหือดแห้งพระกัณฐา
พระนัยเนตรก็หลับลง

   พระเสโท ธ ซึมซาบ
ก็ไหลอาบพระทรวงทรง
เอนแอบพระองค์ลง
กับเกศแก้วกุณฑลนาง”

   บทต่อไป ผมไม่มั่นใจแล้วครับว่าจะต้องพิมพ์อย่างไรจึงจะถูกต้องทุกถ้อยกระทงความ หากคุณ SILA หรือท่านสมาชิกท่านใดเมตตาต่อให้ ก็จะเป็นพระคุณพ้นประเมินประมาณครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 10, 17:15
กาพย์นางลอย พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ดาวเดือนก็เลื่อนลับ....................แสงทองระยับโพยมหน
จวบจวนพระสุริยน.....................จะเยี่ยมยอดยุคนธร
สมเด็จพระหริวงศ์......................ภุชพงค์ทิพากร
เสด็จลงสรงสาคร......................กับองค์พระลักษมณ์อนุชา
เสนาพฤฒามาตย์......................โดยพระบาทเสด็จคลา
เกือบใกล้จะถึงสา......................คเรศที่ท้าวเคยสรงชล
พระเหลือบเล็งชลาสินธุ์................ในวารินทะเลวน
เห็นรูปอสุรกล..........................อันกลายแกล้งเป็นสีดา
ผวาวิ่งประหวั่นจิต......................ไม่ทันคิดก็โศกา
กอดแก้วขนิษฐา.......................ฤดีดิ้นอยู่แดยัน
พระช้อนเกศขึ้นวางตัก.................พิศพักตร์แล้วรับขวัญ
ยิ่งคิดยิ่งกระสัน........................ยิ่งโศกเศร้าในวิญญา
พิศพื้นศิโรโรตม์........................พระองค์โอษฐ์และนัยนา
กรแก้มพระกัณฐา......................ก็แม้นเหมือนสีดาเดียว
พิศทรวงและดวงถัน....................ในเบื้องบั้นพระองค์เรียว
ชะรอยรูปสีดาเจียว.....................ประจักษ์แล้วนะอกอา
พระเล็งลักษณเกศี......................สินีน้องจนบาทา
แทบท้าวจะมรณา.......................พินาศแนบพระศพลง
พระพิโรธพิไรรัก........................สลักลั่นพระทรวงทรง
กันแสงสะอื้นองค์.......................อรอ่อนทอดถอนใจ
จึงตรัสเรียกเจ้าร่วมรัก..................พ่อลักษมณ์เอยจะทำไฉน
เจ้าสีดามาบรรลัย.......................เสียจริงแล้วนะอกอา
ใจจิตพี่เพียงขาด........................พระเยาวราชมามรณา
โอ้โอ๋อนุชา..............................อนาถนักประจักษ์ใจ
พระลักษมณ์เล็งลานเทวษ..............พระชลเนตรเธอหลั่งไหล
โศกสองภูวไนย.........................พระหฤทัยเธอฟั่นเฟือน
พระน้องเอยเสียดายนัก.................พระวรพักตร์ดังดวงเดือน
หาไหนจะได้เหมือน.....................ไม่มีแล้วในโลกี
มาตรแม้นจะหาดวง......................วิเชียรช่วงเท่าคีรี
หาดวงพระสุริย์ศรี.......................ก็จะได้ดุจดังใจ
จะหาโฉมให้เหมือนนุช..................จนสุดฟ้าสุราลัย
ตายแล้วและเกิดใหม่...................ไม่ได้เหมือนเจ้านฤมล
พระน้องเอยฤๅน้อยจิต..................เจ้าหวนคิดกระหวัดวน
ผูกศอให้เสียชนม์.......................สิ้นชีพแล้วจึงลอยมา
ฤๅทศกัณฐ์มันโกรธ.....................พิโรธเรากระมังหนา
ว่าฆ่าโคตรวงศา.........................จึงฆ่าพระน้องให้ตายแทน
เถิดฤๅจะรื้อรบ..........................ตรลบวิ่งเข้าชิงแดน
ฟันเสียให้นับแสน.......................ให้เศียรขาดลงดาษดิน
พระดาลเดือดแล้วดับได้................กลัวเทพไทจะติฉิน
ไฉนหนอพระยุพิน......................ยุพาพี่จะคืนเป็น
พระน้องเอยแต่จากเจ้า.................ทุกค่ำเช้าและยามเย็น
ยามเสวยพี่เคยเห็น.....................ไม่เห็นเจ้าเร้าโศกา
จะประมวลเทวษไว้.....................พระชลนัยน์ที่โหยหา
ดินฟ้าและยมนา........................ไม่เท่าเทียมที่เรียมตรอม
ทุกข์ทับบ่เหือดหาย.....................พระวรกายก็ซูบผอม
ทุกข์เท่าที่พี่ตรอม......................แต่ก่อนเก่าบ่เท่ากัน
อันทุกข์พี่ครั้งนี้.........................เป็นสุดที่จะรำพัน
พ่างเพียงจะอาสัญ......................พระชนมชีพชีวา
สีดาเอยถึงจะตาย.......................จะวอดวายพระชนมา
จงเอื้อนโอษฐ์ออกเจรจา................จะจากแล้วจงสั่งกัน
เจ้าชายเนตรดูพี่บ้าง....................ให้พี่สร่างซึ่งโศกศัลย์
เราจะร่วมพระเพลิงกัน.................ในเขตขัณฑ์พระคงคา
ถ้าแต่แรกพี่รู้เหตุ.......................ว่าเยาวเรศจะมรณา
เมื่อจากศรีอยุธยา......................จะฝากไว้กับพระชนนี
พี่กับพระอนุชา.........................จะมาอยู่พนาลี
ถ้วนครบสิบสี่ปี.........................จะคืนเข้าพระเวียงชัย
สีดาเอยชะรอยกรรม...................พระเคราะห์นำเข้าดลใจ
ห้ามเจ้าสักเท่าใด.......................ไม่ฟังว่าอุตส่าห์ตาม
ทั้งพระญาติวงศา.......................พระมารดาก็ห้ามปราม
ห้ามเจ้ามิฟังความ......................เจ้าวอนว่าอุตส่าห์เดิน
ด้วยพี่เป็นเพื่อนยาก....................แสนลำบากระหกระเหิน
ในป่าพนาเนิน..........................คีรีห้วยและเหวธาร
แค้นด้วยมฤคมาศ......................ดังมัจจุราชมาตามผลาญ
ล่อลวงเจ้าดวงมาลย์....................สมรพี่ให้พี่จร
จึงทุกข์ทับอุระเรียม....................ยิ่งตรมเกรียมให้อาวรณ์
สู้ยกพลากร............................มาต่อยุทธ์ด้วยอสุรา
หมดมารพี่ผลาญสรรพ.................จึงจะรับขนิษฐา
คืนเข้าอยุธยา..........................บุรีราชเมืองเรา
ยังมิทันจะผลาญโคตร.................ให้รากโษสนั้นบางเบา
ควรฤๅพระนงเยาว์......................มาสิ้นชีพเสียกลางคัน
แม้นเจ้าม้วยในเมืองเรา................พระศพเจ้าจะเฉิดฉัน
จะโสรจสรงสุคนธ์อัน..................ตรลบกลิ่นสุมาลี
พระโกศทองจะรองรับ.................สำหรับราชเทวี
เชิญศพขึ้นสู่สี.........................วิกาแก้วอันเรืองรอง
เข้าสู่พระเมรุมาศ......................อันโอภาสด้วยเทียนทอง
แสงเพลิงจะเริงรอง....................ไปต้องสีวิสูตรพราย
อัจกลับจงกลกลีบ.....................ประทีปทองจะส่องฉาย
พู่ห้อยเพดานราย......................ระรวยรื่นรำเพยลม
พระวิสูตรจะวงวัง......................บัลลังก์ทิพบรรทม
รูปภาพจะเคียมคม.....................กินนรฟ้อนอยู่ผาดผัน
อีกพระญาติวงศา......................ก็จะมาประชุมกัน
แสนสาวพระกำนัล....................จะนอบน้อมประณมกร
ยามค่ำจะร่ำไห้........................วิเวกใจให้อาวรณ์
เสียงสังข์และแตรงอน................จะประโคมอยู่ครืนเครง
อยุธยาจะเย็นระย่อ...................ระทดท้ออยู่วังเวง
ฝูงราษฎร์จะบรรเลง..................เมื่อถวายพระเพลิงปลง
อนิจจาเจ้าเพื่อนไร้...................มาบรรลัยอยู่เอองค์
พี่จะได้สิ่งใดปลง.....................พระศพน้องในหิมวา
จะเชิญศพพระเยาวเรศ...............เข้ายังนิเวศน์อยุธยา
ทั้งพระญาติวงศา....................จะพิโรธพิไรเรียม
ว่าพี่พามาเสียชนม์...................ในกมลให้ตรมเกรียม
จะเกลี่ยทรายขึ้นทำเทียม............ต่างแท่นทิพยบรรทม
จะอุ้มองค์ขึ้นต่างโกศ................เอาพระโอษฐ์มาระงม
ต่างเสียงพระสนม....................อันร่ำร้องประจำเวร
สาครจะต่างเมือง....................สิขรเนื่องจะต่างเมรุ
มังกรโตกิเลน.......................จะต่างพาหนะยล
ดาวเดือนจะต่างเทียน...............วิเชียรแก้วกลีบจงกล
เมฆหมอกในเวหน..................จะต่างพู่และเพดาน
พฤกษาจะต่างฉัตร..................สุวรรณรัตน์อันไพศาล
ดอกไม้ในหิมพานต์.................จะต่างพุ่มอยู่เรียงราย
ฟากฝั่งมหรรณพ....................จะวงศพเจ้าโฉมฉาย
ต่างศรีวิสูตรสาย....................สุวรรณรัตน์อันอำไพ
เสียงคลื่นจะต่างกลอง..............พิณพาทย์ฆ้องประโคมใน
จักจั่นและเรไร.....................จะต่างสังข์และเสภา
จะเก็บพรรณไม้หอม................มารวมล้อมขึ้นบูชา
เชิญศพเจ้าสีดา.....................ขึ้นวางไว้ในเพลิงรุม
จะอุ้มองค์กว่าจะม้วย...............จะตายด้วยเมื่อไฟชุม
ร้อนเร่าฤทัยรุม.....................พลราชเธอรำพัน
แค้นคิดบ่รู้หาย.....................เสียดายทำสงครามขัน
ขับเคี่ยวประจำกัน..................เจียนจะสิ้งลงหลายครา
ม่คิดกายเสียดายรัก................กับเจ้าลักษมณ์อนุชา
คุมพลโยธา........................มาถมทางในวารี
หวังจะรับพระนุชคืน................ไปชมชื่นในกรุงศรี
พี่มาพบแต่ซากผี...................สีดาพี่น่าน้อยใจ
เสียแรงรู้พระเวทย์มนตร์...........ทั้งศรพลอันเกรียงไกร
เจ้าสีดามาบรรลัย..................จะทำศึกไปใยมี
คทาธรและศรขรรค์................จะหักหั่นให้ยับยี
โยนเข้าเผาอัคคี...................ให้ม้วยไหม้จะตายตาม
เจ้าลักษมณ์เอยถ้าพี่ม้วย..........เพราะตายด้วยเจ้าโฉมงาม
อย่าคิดแค้นทำสงคราม............จงคืนเข้าอยุธยา
แม้นพระแม่เจ้าทั้งสาม.............จะถามถึงพระพี่ยา
อีกทั้งเจ้าสีดา......................อย่าทูลว่าพี่บรรลัย
พระชนนีจะสร้อยเศร้า.............พระญาติเราจะร่ำไร
จงว่าพี่นี้อยู่ไพร....................ประพฤติเพศเป็นมุนี
สั่งพลางพระทางร่ำ................แต่แรกย่ำอรุณศรี
จวบจวนพระรวี....................จะบ่ายเบี่ยงลงยอแสง
พระกำลังสลดเลือด...............พระพักตร์เผือดลงโรยแรง
พระวรกายก็เย็นแสยง.............สยองเส้นพระโลมา
สิ้นเสียงก็สิ้นสั่ง...................อีกสิ้นทั้งพระเขฬา
เหือดแห้งพระกัณฐา...............พระนัยเนตรก็หลับลง
พระเสโท ธ โซมซาบ..............ก็ไหลอาบพระทรวงทรง
เอนแอบพระองค์ลง...............กับเกศแก้วกุณฑลนาง
สิ้นโสตพระนาสา..................พระวาตาก็อับปาง
เหลือแต่หทัยางค์..................ระริกริกอยู่ริมทรวง
ทึกทึกสะท้อนจิต..................นิ่งสนิทฤดีดวง
ดังหนึ่งจะสูญทรวง................สวรรคตนิคาลัย



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 30 ต.ค. 10, 21:08
กระทู้นี้ ต้องเข้ามาเสพ...ค่ะ ไม่ใช่มาอ่าน เพราะได้รับทั้งความสุข ความสวยงามของภาษา

ใครจำบทดอกสร้อยว่าด้วย แมวเอ๋ยแมวเหมียวได้บ้างคะ ช่วยกรุณานำมาลงให้ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่งค่ะ

ดิฉันเลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่ง มองหน้าเขาแล้วก็นึกถึงบทดอกสร้อยที่ท่องก่อนกลับบ้านทุกเย็นค่ะ



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 31 ต.ค. 10, 09:48
สวัสดียามสายพระพายรำเพยเย็นๆครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ขอบพระคุณอาจารย์เพ็ญชมพูอย่างอเนกอนันต์ครับ ที่ทำให้ผมได้อ่านคำพากย์นางลอย พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แบบเต็มๆ ชโย ในที่สุด ก็ได้ท่องใหม่แล้ว เป็นการท่องที่หฤหรรษ์ยิ่งครับ

   สวัสดีครับ คุณ Ruamrudee

   บทดอกสร้อยสุภาษิต ผมมีเก็บไว้ทั้งรูปเล่มหนังสือตัวอักษรปกติ และหนังสือเสียงอันบันทึกไว้ในซีดีครับ บทที่คุณถามถึงนั้นชื่อ “แมวเหมียวแยกเขี้ยวยิงฟัน” ผู้แต่ง ท่านระบุไว้ว่า “นายทัด เปรียญ” เนื้อความมีดังนี้ครับ

แมวเอ๋ยแมวเหมียว
รูปร่างปราดเปรียวเป็นหนักหนา
ร้องเรียกเหมียวเหมียวเดี๋ยวก็มา
เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู

   รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง
ค่ำค่ำซ้ำนั่งระวังหนู
ควรนับว่ามันกตัญญู
พอดูอย่างไว้ใส่ใจเอย



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ต.ค. 10, 10:04
แว่บเข้ามา 

คุณชู นำดอกสร้อยแมวเหมียวมาลงแล้ว

         ดังนั้น ขอเสนอแถมด้วยเพลงเกี่ยวกับแมวจากสุนทราภรณ์ คุณอ้อย อัจฉรา (ผู้โด่งดังจากเพลง อย่าไปเลยบางกอก)
ร้องเป็นคนแรก คุณร่วมฤดีจะนำไปร้องเล่นกับเจ้าแมวเหมียวที่เลี้ยงไว้ก็ดีนะครับ

                  น้ำใจเจ้าแต้ม 

คำร้อง ธาตรี     ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน       
 
... แมวของฉันมันตัวผู้อยู่ตัวเดียว
แม้นเราเรียกเหมียว.. เหมียว
เจ้าแต้มเที่ยวตามพลัน
เคล้าเคลียแข้งขาแหงนตามองหน้าฉัน
น่ารักมัน มันคอยหมั่นรู้ประจบประแจงดี
... ยามฉันเหงา มีแมวเฝ้าอยู่เคียงกาย
ซุกบนตักเหมือนหมาย
วอนเราให้ปรานี
น้ำใจแต้มเอ๋ย มิเคยคลายหน่ายหนี
แต้มรักเราเกินคนที่ ดีเพียงปากฝากลมลวง
... โถมันกตัญญู ที่เลี้ยงดูมันมา
เลี้ยงแต้มเพียงหัวปลา ไม่ร้างราให้ตรมทรวง
ฉันมีแมวเป็นเพื่อน ใครร้างเลือนแมวยังห่วง
เคล้าคลอแต้มกันเหงาง่วง ทุ่มเททรวงชุบชู
... มาเหมียว เหมียว มาเชียวแต้มยอดชีวา
เห็นเพียงแต้มนี้หนา
เออช่างน่าเอ็นดู
ทุกคืนแต้มหวัง ระวังคอยจับหนู
ไม่ร้างไกลไปครวญคู่ ดังคนอยู่คู่เคียงเรา 

รับฟังเสียงร้องจากสมาชิกเว็บบอร์ดพลังจิตได้ที่

http://board.palungjit.com/f188/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A1**%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-227173.html


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 31 ต.ค. 10, 11:00
ขอบคุณค่ะคุณชูพงศ์ และ คุณ Sila

กลอนบทนี้ทำให้ดิฉันยิ่งรักเจ้าเหมียวข้างกายมากขึ้นเยอะเชียวค่ะ

เป็นกลอนที่บรรยายสรรพคุณของแมวได้ดีมาก ๆค่ะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 พ.ย. 10, 09:46
สำหรับบทนี้ มั่นใจว่าทุกท่านต้องเคยท่อง ต้องเคยได้ยิน และต้องเคยแอบขอพร "พระจันทร์" กันมาแล้วแน่ๆ เลยนะคะ

"จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ขอข้าว ขอแกง   
ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า 
ขอช้าง ขอม้า ให้น้องข้าขี่
ขอเก้าอี้ ให้น้องข้านั่ง 
ขอเตียงตั้ง ให้น้องข้านอน 
ขอละคร ให้น้องข้าดู 
ขอยายชู เลี้ยงน้องข้าเถิด 
ขอยายเกิด เลี้ยงตัวข้าเอง" 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 01 พ.ย. 10, 13:51
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ขอบพระคุณคุณสองยิ้มมากๆครับ ที่เอาพระจันทร์มาฝาก ผมขอตอบแทนด้วยการนำจันทร์มามอบให้อีกดวงแล้วกันครับ

   ต่อไปนี้ คือบทกวีร่วมสมัย ชื่อ “จันทร์เจ้าขา” ของท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พิมพ์อยู่ในหนังสือ “เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว”  กวีน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากบทร้อง “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” แล้วนำมาประยุกต์ ถ่ายทอดชีวิตของเด็กผู้ยากไร้ได้อย่างมีอรรถรสยิ่งครับ

จันทร์เจ้าขา
โดย ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

   จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา
ฉันเกิดมาในเมืองหลวง
จันทร์เด่นเห็นเต็มดวง
โชติช่วงอยู่รูหลังคา

   จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย
ฉันไม่เคยได้ศึกษา
วันวันวิ่งไปมา
ขายมาลัยให้รถยนต์

   จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า
ฉันต้องเฝ้าอยู่บนถนน
แดดร้อนไม่ร้อนรน
เท่าร้อนใจไม่มีกิน

   จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา
ขอหลังคาคลุมแผ่นดิน
ขอมุ้งกันยุงริ้น
ขอผ้าห่มให้หายหนาว

   จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย
ฉันไม่เคยรู้เรื่องราว
กอไก่ขอไข่ดาว
ขอครูด้วยช่วยสอนฉัน

   จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า
ขอคนเรารักผูกพัน
ขอสิทธิ์เท่าเทียมกัน
ขอสักวันฉันมีกิน



 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ย. 10, 14:48
จันทร์เจ้าขา่ อีกดวงหนึ่ง มอบให้คุณชูพงศ์

http://www.youtube.com/watch?v=wbEWK0FFfIk

ฉันเหมือนนกบาดเจ็บ          ที่บินหลงฟากฟ้า
เมฆดำมืดมิดหนาตา           มองหาหนทางไม่มี

คนจนก็คือคนจน              ขัดสนชั่วนาตาปี
ความรู้พื้นฐานไม่ดี            อาหารจะกินไม่มี

จึงเป็นอย่างนี้                 ชั่วกัปชั่วกัลป์

จันทร์เจ้าขาอาหารไม่พอ      ครูกับหมอบ้านฉันไม่มี
จันทร์เจ้าขาช่วยฉันซักที      แก้วแหวนมณีฉันไม่ต้องการ

ขออาหารพอกินก็พอ         ครูกับหมอซักคนดีดี
จันทร์เจ้าขาช่วยฉันซักที     แก้วแหวนมณีฉันไม่ต้องการ

 :)







กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 02 พ.ย. 10, 09:27
อันนี้ไม่ใช่บทอาขยานนะคะ แต่จำได้เองไม่มีใครบังคับให้ท่องค่ะ
ใครแต่งก็ไม่ทราบค่ะ แต่ว่าฮิทกันมากในสมันนู้น...

ถึง พระลอ ลืมเลือน เพื่อน-แพง สนิท
ถึง กามนิต ลืม ยุพา วาสิฏฐี
ถึง พระนล ลืมนิยม ทมยันตี
ถึง คาวี ลืมขวัญ จันทร์สุดา

ถึง พระราม  ลืม สีดา  ให้น่าแค้น
ถึง ขุนแผน  ลืม พิม ไม่ยิ้มหา
ถึง อิเหนา ลืมนุช บุษบา
ไม่เศร้ากว่าฉันเพ้อถูกเธอลืม


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 02 พ.ย. 10, 11:58
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   เข้ามาครานี้ ขอขอบพระคุณอาจารย์เพ็ญชมพูมากๆครับ ที่นำเพลงโปรดของผมมาให้ร้องฮำในใจ เพลงนี้สะเทือนอารมณ์ทุกครั้งที่ได้ฟัง ถ้าสามารถกรอกความคิดเห็นเป็นไฟล์เสียงได้ ผมคงจะร้องแล้วนำเสียงอันห่วยๆของตัวเองมาลงให้ได้ขำขันกันทั่วทุกท่านครับ

   สวัสดีครับ คุณสองยิ้ม
   อ่านบทกวีที่คุณยกมาแล้ว อึ้งครับ โดนใจผมอย่างแรง คารมคมคายเหลือเกิน ทำเอาผมอยากรู้แล้วสิครับว่าท่านผู้ใดแต่ง ท่านสมาชิกท่านใดมีข้อมูล โปรดเมตตาเอื้อเฟื้อด้วยเถิดครับ วรรคทองแท้ๆเชียว
 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 พ.ย. 10, 10:47
จาก รำพันพิลาป ของ ท่านสุนทรภู่ ค่ะ

"เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม   เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา 
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา   ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง"

เป็นกลอนที่จำไว้เตือนใจตัวเองว่าทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง....
บายศรีก็คือใบตองนั่นเอง ตอนเขาเห็นประโยชน์ ก็ประพรมเครื่องหอมตั้งบูชา
พอหมดประโยชน์ ก็กลับมาเป็นใบตอง เหมือนเดิม
ดังนั้น ไม่ว่าชีวิตจะขึ้นจะลงอย่างไร เราก็คือเรา เป็นตัวเราอย่างที่ควรจะเป็น อย่าหลงไปกับสิ่งสมมุติต่างๆ...



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 04 พ.ย. 10, 11:35
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   สวัสดีครับ คุณสองยิ้ม
   คุณเอ่ยถึง “รำพันพิลาป” ของท่านสุนทรภู่ เสมือนกระตุกกระตุ้นรอยร้าวรานเมื่อกาลเก่าของผม ทำให้นึกขึ้นมาได้ถึงบทอาขยานที่ท่องเอง ท่องเพราะชื่นชอบ แหละ.... ท่องเพื่อตอกย้ำซ้ำพิษแผลครับ

   คนตาบอดก็มีความรักเฉกคนทั่วไป แน่หละ ในเมื่อหัวใจสี่ห้องยังสูบฉีดโลหิต ลมหายใจแห่งชีวิตยังโคจร รู้ร้อน รู้หนาว สมัยผมอกหักเมื่อมัธยมปลาย เพราะบังอาจไปรักผู้หญิงตาดีเพื่อนร่วมชั้น ก็พร่ำบ่นบทกวีต่อไปนี้อยู่ในจินตนารมณ์อันขมขื่นครับ

   “เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา
ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์
พระรำพันกรุณาด้วยปรานี

   ว่านวลหงส์องค์นั้นอยู่ชั้นฟ้า
ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้
เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ

   จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด
มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร
จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียง

   สดับคำฉ่ำชื่นจะยื่นแก้ว
แล้วคลาดแคล้วคลับคล้ายเคลิ้มหายเสียง
ทรงปักษาการเวกแฝงเมฆเมียง
จึ่งหมายเสี่ยงวาสนาอุตส่าห์คอย

   เหมือนบุปผาปาริกชาติชื่น
สุดจะยื่นหยิบได้มีไม้สอย
ด้วยเดชะพระกุศลให้หล่นลอย
ลงมาหน่อยหนึ่งเถิดนะจะประคอง

   มิให้เคืองเปลื้องปลดเสียยศศักดิ์
สนอมรักร้อยปีไม่มีหมอง
แม้นมั่งมีพี่จะจ้างพวกช่างทอง
หล่อจำลองรูปวางไว้ข้างเคียง”

   อีกบทหนึ่งที่ผมท่องเพื่อซ้ำเติมตัวเองให้มันสะใจในความไม่เจียมเงาหัว ก็คือส่วนหนึ่งของงานกวีนิพนธ์ “ลำนำภูกระดึง” โดย ท่านอังคาร กัลป์ยาณพงศ์ แต่ตอนนี้หลงเลือนเฟือนไปแล้วส่วนใหญ่ครับ (ทว่าความเจ็บครั้งนั้นยังระลึกรสชาติได้)  ท่านใดมีหนังสือเล่มนี้ในมือ โปรดช่วยสานต่ออดีตรักคุดของผมให้สมบูรณ์ด้วยเถิดครับ ที่อยู่ในหัวผมนี่ เหลือแค่เล็กน้อยเท่านั้นครับ คือ:

   “วิเวกปุยเมฆลอยสร้อยเศร้า
ราวแพรขาวมาห่มดอกเหมย
เสมือนคู่สู่สมชมเชย
เพิ่งเคยเชยชิดสนิทกัน

   อนาถแต่ข้าน้อยหงอยเหงา
เดินกับเงาเปล่าเปลี่ยวเสียวขวัญ
เออหนอดวงใจในอกนั้น
วันนี้หนีไปไหนกันจริง

   คงเที่ยวไปสุดหล้าฟ้าเขียว
โดดเดี่ยวอ้างว้างเป็นที่ยิ่ง
หนไหนอกใครให้พักพิง
ไฉนนิ่งขลาดเขลาเบาปัญญา”


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 พ.ย. 10, 11:37
อารมณ์รัก อารมณ์อกหัก ทำให้วันคืนที่ผ่านไป มีอะไรๆ มากกว่าวันธรรมดา นะคะ....
วันนี้มีกวีบทรักมาฝากค่ะ
บทนี้ก็ไม่ใช่อาขยาน แต่เป็นการนำเอาวรรคทองของกวีแต่ละท่าน มาร้อยเรียงเป็นกลอนรัก โดยท่านเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์
ความจริงจำได้เลือนๆ น่ะค่ะ เคยอ่านแล้วชื่นชมที่ท่านช่างสามารถ นำวรรคทองของกวีแต่ละท่านมาแต่งใหม่ได้อย่างเพราะพริ้ง
มาเจออีกทีในเว็ป เลยเอามาฝากค่ะ ถ้าได้เคยอ่าน วรรคทองเหล่านี้มาแล้ว จะยิ่งมีอรรถรสเพิ่มขึ้นค่ะ

 "รวมกลอนรัก"
: เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์


หัวใจรักเจ้าเอยช่างเอ่ยเอื้อน                      
แว่วแว่วเหมือนมาตามมาถามข่าว
มีน้ำอย่างหยาดแก้วกลบแววดาว(๑)            
เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง(๒)

อารมณ์รักมักให้เห็นเป็นกวี                        
ถ้อยคำรักคือวลีที่เริงรุ่ง
ถึงไม่จำแต่ไม่ลืมยังปลื้มปรุง                      
หอมแห่งทุ่งดอกไม้รักรายรอง

อ้อมกอดพี่จะสงวนไม่ด่วนเสนอ                
อ้อมตักเธอจงถนอมก่อนยอมสนอง(๓)
ทั้งคมคำคมความให้ตามตรอง                    
กระเทือนห้องหัวใจกันหลายชั้น

ดอกรักบานในใจใครทั้งโลก                    
แต่ดอกโศกบานอยู่ในหัวใจฉัน(๔)
คนเคยรักเคยร้างเคยห่างกัน                      
ยังหวั่นหวั่นหวามหวามอยู่รำไร

โอ้นกเขาเจ้าขันกระชั้นแจ้ว                    
เราโตแล้วหาตักอุ่นหนุนไม่ได้(๕)
ถ้าไม่ไปหาเขาเราเสียใจ                        
แต่ถ้าไปหาเขาเราเสียตัว(๖)

ทั้งเสียวสะแสบไส้กระไรเลย                      
อุแม่เอ๋ยเอาหัวใจออกไขทั่ว
กล้าก็กล้าใจหนอกลัวก็กลัว                      
เหมือนมายั่วมาย้ำมานำชัก

ขณะที่ปากมีไว้เพื่อให้พูด                      
เธอก็ใช้ลิ้นการฑูตพูดเสียหนัก
ส่วนหัวใจมีไว้เพื่อให้รัก                        
เธอไม่ยักใช้มัน...ฉันเสียดาย(๗)

เหมือนระย้าผกาแก้วแววระยับ                
กระทั่งกับภูผาน่าใจหาย(๘)
คือดวงแก้วแห่งรักมักวับวาย                    
มีแต่จะตกกระจายไม่วายเว้น

หนึ่งจะมีรักใหม่อย่าให้รู้                        
สองจะอยู่กับใครอย่าให้เห็น
ให้ฉันเถิดขอร้องสองประเด็น                
แล้วจะเป็นผู้แพ้ที่แท้จริง(๙)

สารพันสารพัดจะสัตย์ซื่อ                          
ความรักคือความทุกข์ถูกทุกสิ่ง
ประเดี๋ยวสุขสมหมายก็พรายพริ้ง                
ประเดี๋ยวยิ่งปวดร้าวก็เศร้าทรุด

ถ้ารักใครไม่ได้ก็ไม่รัก                          
แต่กุจักชักดาบเข้าฉาบฉุด
ดั่งโคถึกคึกคะนองลำพองรุด                  
ใครจะยื้อใครจะยุดจะฉุดใจ(๑๐)

เมื่อรักกันไม่ได้ก็ไม่รัก                          
ไม่เห็นจักเกรงการสถานไหน
ไม่รักกุกุก็จักไม่รักใคร                          
เอ๊ะ..น้ำตากูไหลทำไมฤๅ(๑๑)

ข้อยฉวยช้อนกลอนรักมาถักร้อย                  
เป็นสายสร้อยดอกไม้สร้อยลายสือ
มอบไว้เป็นของขวัญมั่นกับมือ                    
เสมอสื่อสารรู้...ใจสู่ใจ
____________________________________
วรรคทอง ของแต่ละท่าน ตามหมายเลข ดังนี้
๑  ตุลย์เทพ  สุวรรณจินดา
๒  อังคาร  กัลยาณพงศ์    
๓  สวัสดิ์  ธงศรีเจริญ
๔  เฉลิมศักดิ์  ศิลาพร
๕  นิภา  บางยี่ขัน
๖  กรรณิการ์  เฮงรัศมี
๗  รังษี  บางยี่ขัน
๘  อุชเชนี
๙  สนธิกาญจน์  กาญจนาสน์
๑๐  ขรรค์ชัย บุญปาน
๑๑  สุจิตต์ วงษ์เทศ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ย. 10, 12:01
ถ้าเป็นบทกลอนแห่งความรัก คุณ OBORO เคยรวบรวมลงไว้ในเรือนไทยหลายบทอยู่
 
(http://www.reurnthai.com/rtimages/RW2742x0.jpg)

 ;D


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 04 พ.ย. 10, 12:56
ขอบคุณคุณสองยิ้มอย่างยิ่งครับ สำหรับกลอนรักหลากรส ผลงานท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ่านไปก็เคลิ้มไป ในความคิดเห็นที่ ๖๐ ผมลืมเล่าอีกแล้วครับว่าพักหลังๆนี่ผมก็ยังใจถลำพล้ำเผลอมอบรักให้ดอกฟ้าอีกจนได้ ไม่เข็ดครับ อกหักครั้งล่าสุด แปลก ที่มันทำให้เพียงหงอยซึมงึมเซื่องครู่เดียวเท่านั้น ผมมียาขนานเอกช่วย ครานี้เป็นเพลงครับ

   เพลง “อาณาจักรความรัก” ฝีมือประพันธ์ของ ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ผมนั่งฟังแบบซึมซาบจนซึมทราบ มิใช่ฟังเพียงให้ผ่านหู แล้วมิช้า ความหดหู่ก็จรจากลาครับ

   “อันความรักแท้จริงจากใจ
ฝากไว้ในยอดยุพิน
รักทรยศเหมือนนกผกผิน
โผโบยบินจากรังลืมคู่ไปไม่คืนมา

   อันความรักแท้จริงจากใจ
แผ่กว้างไปในนภา
เหมือนนกน้อยร่อนเริงถลา
เผยอาณาจักรรักกว้างแผ่ไปถึงมวลชน

   รักชนชั้นลำเค็ญยากจน
ไร้ทรยศจากคนและชนชั้นที่ยิ่งใหญ่”



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 04 พ.ย. 10, 13:01
ขอบคุณอาจารย์เพ็ญชมพูมากๆครับ ที่กรุณานำลิงค์กระทู้เก่าซึ่งผมยังมิได้อ่านมาลงไว้ วันใดอารมณ์ระรื่น ผมจะเข้าไปละเลียดอ่านครับ



กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 พ.ย. 10, 15:59
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะ ตามลิงค์เข้าไปอ่านบทกลอนแห่งความรัก ที่คุณ OBORO รวบรวมไว้...
รู้สึกดีจังเลยค่ะ วันนี้มองอะไรก็เป็นสีชมพูไปหมด.... ;D


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 10, 02:19
                            พลังแห่งบทกวี
         
         เพราะไร้แสงแรงไฟให้ถ่ายภาพ
         จึงใช้วาบวาวแสงแห่งอักษร
         เพราะไร้เงาให้เห็นความเย็นร้อน
         จึงต้องย้อนเงาอดีตชีวิตกวี

         เพราะไร้สีสดใสจะให้เลือก
         ไร้แปรงเปลือกกระดังงาจะทาสี
         จึงใช้สีใสสดพจนี
         ใช้วลีแห่งอารมณ์พรมระบาย

         เพราะไร้เสียงเพลงร้องทำนองส่ง
         และไร้วงสังคีตดีดสีสาย
         จึงใช้เสียงแห่งภาษามาบรรยาย
         ให้พริ้งพรายสูงต่ำเป็นทำนอง

         เพราะไร้กายร่ายรำให้เริงร่า
         ไร้ปูนปั้นประติมาสง่าผยอง
         จึงใช้คำรำร่ายให้รังรอง
         ปั้นวรรคทองให้ประทับชั่วกัปกาล

         บทกวีไม่มีภาพให้จับต้อง
         แต่จับจองจับใจจับในสาร
         คือพลังแห่งชีวิตจิตวิญญาณ
         โลกร้าวรานถ้าไร้รสบทกวี

                     นภาลัย  สุวรรณธาดา

 (http://www.americanchristianhistory.com/Rose.jpg)

                            


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 09 พ.ย. 10, 10:34
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับ บทกวีของท่านอาจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา ไพเราะเหลือเกิน ผมมองไม่เห็นตั้งแต่จำความได้ แต่...น่าแปลกครับ พอได้สัมผัสกับบทกวี ภาพในมโนวิถีก็ปรากฏ จะเหมือน หรือ ใกล้เคียงกับความจริงหรือไม่ ผมมิอาจรู้ ทว่า ผมตราตรึงกับภาพนั้นครับ
 


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 พ.ย. 10, 10:24
มีเว็ปไซด์มาแนะนำคุณชูพงค์ และเพื่อนๆ นักอ่านค่ะ

http://olddreamz.com/ (http://olddreamz.com/)

เว็ปนี้มี วรรณกรรม วรรณคดี เรื่องสั้น เรื่องแปล หนังสือเก่า บทกวี และอื่นๆ อีกมากมายค่ะ
และที่สำคัญที่สุดคือ เป็น text ค่ะ ไม่ใช่ pdf
และยังมี เพลงไพเราะ มากมายให้ฟังด้วยนะคะ

คุณชูพงค์ และเพื่อนๆ ลองเข้าไปดูนะคะ ขอให้เพลิดเพลินค่ะ


กระทู้: บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 11 พ.ย. 10, 10:35
ขอบพระคุณครับคุณสองยิ้ม สำหรับเว็บไซต์ที่คุณกรุณาแนะนำ แหม ไม่เป็น pdf คนตาบอดก็รื่นรมย์ซีครับ อ่าน text ได้สบายๆอยู่แล้วครับ ผมจะนำไปบอกกล่าวป่าวร้องให้เพื่อนๆในโลกมืดด้วยกันเข้าไปอ่านดูด้วยนะครับ