เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: gaoth ที่ 24 ต.ค. 13, 15:10



กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: gaoth ที่ 24 ต.ค. 13, 15:10
คำว่า"ทั้งหมด" สามารถทำหน้าที่เป็นคำกริยาวิเศษณ์ วิภาคสรรพนาม และเป็นสังขยาแสดงจำนวนเฉพาะ จะทราบได้อย่างไรว่า "ทั้งหมด"
ในประโยคทำหน้าที่เป็นคำชนิด และการเปลี่ยนตำแหน่งของคำทำให้ความหมายของคำและหน้าที่ของคำยังคงเหมือนเดิมไหมคะ เช่น

1 สิ่งที่เลยกำหนดนั้นให้ยกเลิกไปทั้งหมด   "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นกริยาวิเศษณ์   
   สิ่งที่เลยกำหนดนั้นทั้งหมดให้ยกเลิกไป   "ทั้งหมด" ยังคงทำหน้าที่เป็นกริยาวิเศษณ์ไหมคะ

2 หลังเรียกขวัญปลอบใจกันพักหนึ่ง ทุกคนก็กลับมาตั้งสติได้ และรู้ว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจผิด   "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ
   หลังเรียกขวัญปลอบใจกันพักหนึ่ง ทุกคนก็กลับมาตั้งสติได้ และรู้ว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดทั้งหมด   "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นกริยาวิเศษณ์ไหมคะ

3 เรื่องทั้งหมดไม่เป็นความจริง              "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ
   เรื่องไม่เป็นความจริงทั้งหมด               "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ

4 คุณให้ต้นกาแฟกับเขาทั้งหมดเลยเหรอ              "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ


5 เมืองใหญ่ ๆ ทั้งหมด รวมเกือบหนึ่งร้อยเมือง และที่ตั้งกองทหารที่กระจายกันอยู่ทั่วโลก        "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ

6 การอุทิศตัวแบกรับเพียงลำพังของมัทนาทั้งหมดนั้นล้วนเพื่อผู้อื่นมิใช่เพื่อตนเอง       "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ

7  ผมไม่ได้มีอคติกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหมด          "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ

    ในประโยคที่"ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นกริยาวิเศษณ์  สามารถใช้คำว่า "ล้วน" มาแทนที่ได้ไหมคะ จะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรถึงจะใช้แทนได้คะ  เช่น
8 ลายเส้นขอบทั้งหมดชัดเจนมาก      เปลี่ยนเป็น ลายเส้นขอบล้วนชัดเจนมาก

     ในการใช้คำว่า "ทั้งหมด"  "ล้วน"  และ "ต่างก็" มีเงื่อนไขการใช้อย่างไรคะ
9 ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ต่างก็ชอบรายการนี้มาก
10 ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ล้วนชอบรายการนี้มาก
11  ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ทั้งหมดชอบรายการนี้มาก

     ขอบคุณค่ะ





กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 13, 15:20
ก่อนอื่น เอาพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานมาอธิบายถึงความหมายของ "ทั้งหมด"

ทั้งปวง, ทั้งผอง, ทั้งเพ, ทั้งมวล, ทั้งสิ้น, ทั้งหมด     ว. หมดด้วยกัน.
คำเหล่านี้เป็น ว. คือกริยาวิเศษณ์

คำถามของคุณมีจำนวนมากเกินไปแล้วค่ะ สำหรับการมาถามในเว็บบอร์ด   น่าจะไปถามอาจารย์ที่ปรึกษาของคุณมากกว่า
แต่จะตอบให้บางข้อก็แล้วกัน

หลังเรียกขวัญปลอบใจกันพักหนึ่ง ทุกคนก็กลับมาตั้งสติได้ และรู้ว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจผิด   
"ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ

ในประโยคนี้ เป็นคำนามค่ะ


กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: gaoth ที่ 24 ต.ค. 13, 15:35
คือว่าอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นคนจีนค่ะ ตอนนี้ก็ไม่ได้อยู่เมืองไทย
เนื่องจากว่ากำลังศึกษาเกียวกับการเปรียบเทียบคำกริยาวิเศษณ์ภาษาจีนกับภาษาไทย ก็เลยไม่ทราบจะไปถามใครดี เห็นว่าเว็บนี้มีผู้ชำนาญการด้านภาษาไทยเป็นอย่างดี ขอความเมตตาช่วยตอบหน่อยนะคะ


กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 13, 15:55
จะพยายามช่วยคุณเท่าที่จะช่วยได้ค่ะ

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อน ว่า คุณกำลังศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบคำกริยาวิเศษณ์ภาษาจีนกับภาษาไทย  คำกริยาวิเศษณ์ที่ว่านี้คือ adverb ใช่ไหมคะ   ไม่ใช่ adjective  หรือหมายถึง adjective กันแน่ ยังงงๆอยู่ ว่ากริยาวิเศษณ์ของคุณตรงกับภาษาอังกฤษว่าอะร

เพราะคำว่า "ทั้งหมด" พจนานุกรมไทย ให้อักษรย่อไว้ว่า ว.  หมายถึงจัดไว้ในคำประเภท วิเศษณ์  ซึ่งสมัยดิฉันเรียน เรียกว่าคำคุณศัพท์  ย้อนไปเปิดพจนานุกรมออนไลน์ดูอีก   ก็ให้คำจำกัดความสั้นๆไว้ว่า
คุณศัพท์   [คุนนะ-] (ไว) น. คําคุณ หรือ วิเศษณ์.
ส่วนคำ วิเศษณ์   [วิเสสะนะ, วิเสด] (ไว) น.  คําจําพวกหนึ่งที่แต่งหรือขยายคํานาม คํากริยา หรือคําวิเศษณ์เพื่อบอกคุณภาพหรือปริมาณเป็นต้น เช่น    คนดี นํ้ามาก ทําดี ดีมาก.

๑   สิ่งที่เลยกำหนดนั้นให้ยกเลิกไปทั้งหมด   "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นกริยาวิเศษณ์   
    ทั้งหมด ในประโยคนี้ ประกอบคำว่า "ยกเลิก" ซึ่งเป็นคำกริยา
๒   สิ่งที่เลยกำหนดนั้นทั้งหมดให้ยกเลิกไป   "ทั้งหมด" ยังคงทำหน้าที่เป็นกริยาวิเศษณ์ไหมคะ
    "ทั้งหมด"  ในที่นี้ ประกอบคำว่า "สิ่งที่เลยกำหนด"  ซึ่งเป็นคำนาม   ก็เป็นคำวิเศษณ์     


กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: gaoth ที่ 24 ต.ค. 13, 16:35
ขอบคุณมากนะคะที่ช่วยกรุณาตอบคำถามให้
คำกริยาวิเศษณ์ที่ว่านี้คือ adverb ค่ะ


กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 13, 19:53
ย้อนกลับไปดูประเภทของคำที่ราชบัณฑิตกำหนดไว้ด้วยตัวย่อ
อักษรย่อหน้าบทนิยาม บอกชนิดของคำตามหลักไวยากรณ์ คือ :-

     ก.   =   กริยา   ว.   =   วิเศษณ์ (คุณศัพท์หรือกริยาวิเศษณ์)
     น.   =   นาม   ส.   =   สรรพนาม
     นิ.   =   นิบาต   สัน.   =   สันธาน
     บ.   =   บุรพบท   อ.   =   อุทาน
    จะเห็นว่า พจนานุกรมกำหนดคำกริยาวิเศษณ์เป็นอย่างเดียวกับวิเศษณ์

    ส่วนในวิกิ ซึ่งอ้างตำราของอ.กำชัย ทองหล่อ ให้คำอธิบายว่า
     คำวิเศษณ์ คือคำที่ทำหน้าที่ประกอบคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น

     ในภาษาไทย คำวิเศษณ์สามารถใช้ขยายได้ทั้งนาม สรรพนาม กริยา และวิเศษณ์ ในขณะที่ในภาษาอังกฤษจะแยกคำวิเศษณ์ออกเป็นสองประเภทคือ คำคุณศัพท์ (adjective) ใช้ขยายได้เฉพาะคำนามและสรรพนามเท่านั้น และคำกริยาวิเศษณ์ (adverb) ใช้ขยายกริยา คุณศัพท์ และกริยาวิเศษณ์ด้วยกัน

     ดูจากพจนานุกรม   adverb ของภาษาอังกฤษ ก็ไม่มีในไทย  ไทยมีแต่ วิเศษณ์  ซึ่งรวมคุณศัพท์และกริยาวิเศษณ์ไว้ด้วยกัน

    คำว่า "ทั้งหมด" พจนานุกรมไทยถือว่าเป็นคำวิเศษณ์ (คือทั้ง adjective และ adverb) 


กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 13, 20:04
ขออธิบายโดยเทียบกับคำภาษาอังกฤษนะคะ

7  ผมไม่ได้มีอคติกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหมด          "ทั้งหมด" ทำหน้าที่เป็นอะไรคะ
"ทั้งหมด"   ขยายคำว่า "เจ้าหน้าที่ระดับสูง"   จึงเป็นคำ adjective ค่ะ    ไม่ใช่ adverb

หน้าที่  adverb ใช้ประกอบ  verb หรือ adjective อีกที   
เขาเดินช้า  ช้าเป็นคำประกอบคำกริยา "เดิน"  ช้า เป็น adjective     ถ้าจะเพิ่ม adverb เข้าไปคือ เขาเดินช้า มาก
คำว่า มาก ประกอบคำว่า ช้า  ไม่ได้ประกอบคำว่า  เดิน

ในการใช้คำว่า "ทั้งหมด"  "ล้วน"  และ "ต่างก็" มีเงื่อนไขการใช้อย่างไรคะ
9 ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ต่างก็ชอบรายการนี้มาก
10 ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ล้วนชอบรายการนี้มาก
11  ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ทั้งหมดชอบรายการนี้มาก

ความหมายเหมือนกันค่ะ  เงื่อนไขการใช้ คือ ต่าง ใช้แยกแยะปัจเจกบุคคล (each)
ล้วนใช้สำหรับมวลทั้งหมด (whole)
ทั้งหมด  ก็คือ whole เหมือนกัน


กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: gaoth ที่ 26 ต.ค. 13, 21:13
คำกริยาวิเศษณ์ (adverb) ใช้ขยายกริยา คุณศัพท์ และกริยาวิเศษณ์ด้วยกัน
7  ผมไม่ได้มีอคติกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหมด     
 หากว่าต้องการใช้  "ทั้งหมด"  เป็น adverb สามารถพูดเป็น ผมไม่ได้มีอคติทั้งหมดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้ไหมคะ


9 ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ต่างก็ชอบรายการนี้มาก
10 ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ล้วนชอบรายการนี้มาก
11  ผู้ชมรายการนี้ความเห็นตรงกัน ทั้งหมดชอบรายการนี้มาก
ไม่ทราบว่าในประโยคข้างต้น  "ต่าง" "ทั้งหมด" และ"ล้วน" ทำหน้าที่เป็นวิภาคสรรพนามหรือเปล่าคะ

ขอบคุณค่ะ







กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 13, 21:23
ผมไม่ได้มีอคติกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหมด     
 หากว่าต้องการใช้  "ทั้งหมด"  เป็น adverb สามารถพูดเป็น ผมไม่ได้มีอคติทั้งหมดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้ไหมคะ

ไม่ได้ค่ะ
ถ้าคุณย้ายตำแหน่งของ adverb ในประโยค ความหมายของประโยคจะเปลี่ยนไป    และหน้าที่ของคำก็เปลี่ยนไปด้วย

ผมไม่ได้มีอคติกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหมด   = ถ้ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวม  10 คน  ผมก็ไม่มีอคติกับเขาทั้ง 10 คน  ( ส่วนผมจะมีอคติแค่กับบางคน หรือผมไม่มีอคติกับใครสักคน ต้องดูบริบทคือประโยคต่อไปว่าเป็นอะไร)
ผมไม่ได้มีอคติทั้งหมดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง  =   อคติที่ผมมีอยู่กับพวกเขานั้น ไม่ใช่ทั้ง 100% แต่มีอคติเป็นบางส่วนไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น   แปลอีกทีว่าผมไม่ได้มองพวกเขาในแง่ร้ายไปเสียหมดทุกด้าน  แต่มีบางด้านเท่านั้นที่ผมยอมรับว่ามีอคติด้วย

ส่วนวิภาคสรรพนาม เป็นชนิดของสรรพนามย่อยลงไป    ดิฉันคิดว่าคุณค้นหาในกูเกิ้ลได้เองว่า ต่าง กับ ล้วน ในประโยคที่ว่า จัดเป็นวิภาคสรรพนามหรือเปล่า
ดิฉันจะไม่ค้นคำศัพท์ให้คุณนะคะ  แต่จะอธิบายความหมายของประโยคให้ฟังเท่านั้น


กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 13, 22:21
หากว่าต้องการใช้  "ทั้งหมด"  เป็น adverb สามารถพูดเป็น ผมไม่ได้มีอคติทั้งหมดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้ไหมคะ
ขอย้อนถามคุณว่า ทั้งหมด ในที่นี้ หมายถึง "อคติทั้งหมด"  หรือว่า "มีทั้งหมด" 
ถ้าคุณตอบว่า อคติทั้งหมด  คำว่า"ทั้งหมด"เป็น adjective  เพราะประกอบคำนามว่า "อคติ"   แต่ถ้าคุณตอบว่า "มีทั้งหมด" คำว่า"ทั้งหมด"เป็น adverb เพราะประกอบคำกริยา ว่า "มี"
แต่ดิฉันคิดว่าความหมายของประโยคคือ "อคติ"ทั้งหมด  หรือ  whole prejudice มากกว่าค่ะ

จำไว้ว่าการเปลี่ยนที่ตั้งของคำในประโยคภาษาไทย จะทำให้หน้าที่ของคำเปลี่ยนไป ความหมายก็เปลี่ยนไปด้วย
คำว่า "มาก" เป็น adjective  ในคำว่า    เขาเดินมาก   หมายความว่านายคนนี้แกเดินเสียจริง เดินวันละไม่รู้กี่กิโลเมตร   แต่คำว่ามาก คำเดียวกัน  เปลี่ยนเป็นคำ adverb ได้ ในคำว่า  เขาเดินช้ามาก    ประกอบคำกริยา "เดิน" หมายความว่านายคนนี้เดินเนิบนาบไม่เร็วเอาเสียเลย


กระทู้: การใช้คำว่า "ทั้งหมด"
เริ่มกระทู้โดย: gaoth ที่ 27 ต.ค. 13, 15:48
ขอบคุณค่ะ  :)