เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 18 เม.ย. 10, 22:26



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 เม.ย. 10, 22:26
ข้อมูลเรื่อง  แฟนนี น้อกซ์   หาได้ไม่มากนัก  มีอยู่กระเซ็นกระสาย


เนื่องจากได้อ่านประวัติของ นายโหมดมาพักหนึ่งแล้ว 
ท่านพิมพ์หนังสือกฎหมายเล่มแรกของไทย ๖๐ เล่ม แล้วบรัดเลยกแท่นไปพิมพ์ต่อ ๓๖๐ เล่ม     


เรื่องของพระปรีชากลการ(สำอาง) ก็เป็นที่สนใจของมวลมิตร


จึงขอรวมงานที่อ่านมาเกี่ยวกับ  ยอร์ช  ทอมมาส น้อกซ์ และครอบครัวมาลงให้อ่านกันอย่างบันเทิง
เล่าจากมุมมองของนักอ่าน  จะไม่ลงลึกในเรื่องของ   คดีพระปรีชากลการ เพราะท่านทั้งปวงก็คงคุ้นอยู่แล้ว
จะเล่าเรื่องที่เกี่ยวพันกับแฟนนี เท่านั้น



เรื่องราวทั้งหมดอ่านมาจาก

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน  เล่มปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑

หนังสือของ คุณ ณัฐวุฒิ  สุทธิสงคราม  เรื่อง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์,  เรื่องพระนางเรือล่ม

พระประวัติและงานสำคัญ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ามหามาลา  คุรุสภา ๒๕๑๔

 the Peerage.com 

วิมลพรรณ  ปีตธวัชชัย  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  ๒๕๔๗

ประมวลจดหมาย ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ๒๕๓๔

สมบัติ  พลายน้อย  เล่าเรื่องนักเขียนในอดีต  สำนักพิมพ์ ฅอหนังสือ  ๒๕๔๖ (ต้นฉบับของซันฟลาวเว่อร์มีครบ)



เรื่องยังขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง  เพราะเราไม่มีข้อมูลของ แฟนนีมากนัก

จะพยายามเล่าเท่าที่อ่านมา  โดยมิได้อ่านนวนิยายใดๆเลย  อาจจะใช้ข้อมูลชิ้นเดียวกันบ้าง เพราะได้รับฟังจากวงการนักอ่านจุดตะเกียงลาน


เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย(ที่จริงมาก)

ผิดพลาดประการใด  ถ้าท่านผู้ผ่านมาอ่านมีข้อมูลที่ลึกซึ้ง  ขอน้อมเชิญออกความคิดเห็น


หากข้อมูลเป็นที่ขัดอกขัดใจ  ขอเรียนว่าอยู่อ่านก่อนเถิดนะคะ



สำหรับท่านที่เคยติดต่อขอไฟล์    เรียนว่าไม่เคยมีไฟล์หรือคาบิเนทอะไรทั้งสิ้น
อ่านไป  ก็เล่าไปเรื่อยๆ  เปิดหนังสืออ่าน


เมื่อคุณเพ็ญชมพู และคุณหลวงเล็ก แวะมา แหะๆ...แยม(พูดฝรั่งออกเสียงโบราณ)  แล้ว  ดิฉันก็เขียนใหม่ได้เรื่อยๆ


ถือว่าเล่าสู่กันฟัง




กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 เม.ย. 10, 22:52
Thomas George Knox


       มีการเข้าใจผิดว่า  น้อกซ์ เป็นผู้ดี         ไม่ใช่แน่นอน(ดูจากความประพฤติที่ไร้มารยาท)
เป็นคนชั้นกลางระดับอ่า...ตำ่กว่ากลางด้วยซ้ำไป  (วัดทางเศรษฐกิจ)

พระปรีชากลการเสียอีกเป็นผู้ดีมาหกเจ็ดชั่วคน  ไม่เห็นนายโหมดท่านจะคุยอะไรที่หรูหรา


ขืนน้อกซ์มีท่านลอร์ด หรือดุ้คสักคนในสายสกุล      ป่านนี้มิช่วยปกครองอินเดียไปแล้วรึ
ลอร์ดซอลส์เบอรี่  Salisbury   ที่เขย่าคอนายน้อกซ์    คงโดนนายน้อกซ์เลิกคิ้วใส่  แล้วพูด "We see no fun."



พ่อของน้อกซ์เป็นนักบวช ชื่อ Reverend James Spencer      ปู่ชื่อ  Rev.Hon. William Knox     ย่าชื่อ แอน สเปนเซอร์

แม่ชื่อ คลารา บาร์บารา  Beresford       ตาชื่อ  Hon. จอห์น  Beresford


สมบัติคงไม่ค่อยมีเหลือ  เพราะไม่เห็นพี่ชายคนไหนได้สืบตระกูล     เห็นแต่ไปเป็นทหารบ้าง หรือ  นักบวชบ้าง




กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 เม.ย. 10, 23:14
พี่น้องของนายน้อกซ์

Barbara Ann
Clara Elizabeth
Isabella  Louisa Georgina
Francis Harriet

Thomas George

Reverend Charles Beresford
George Beresford


เกิด            พ.ศ.  ๒๓๖๗
ตาย            พ.ศ. ๒๔๓๐

อายุ            ๖๓


        น้อกซ์ออกผจญชีวิต ไปเป็นทหารราบที่  98th Regiment  เข้าไปสับเปลี่ยนกำลังสมัยกบฎนักมวยในเมืองจีน  และ 65th Regiment อยู่ในอินเดีย

ตำแหน่งก็คงเป็นแค่นายสิบ   ทำไปทำมาหัดแถวทหารใหม่  ก็ได้เลื่อนเป็นนายทหาร  นายพันคนไหนจะใจจืดให้นายสิบผิวขาววิ่งตากแดดทั้งวันลงคอ 


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 เม.ย. 10, 23:27
นายทหารอังกฤษที่มาจากครอบครัวนักบวช  ไม่มีสตางค์ไปซื้อตำแหน่ง

วันๆ ก็ เล่นการพนัน(และโหมโรงด้วยสุรา)
กามโรคสมัยนั้นรักษายาก    ไม่ว่าจะในลอนดอนหรือในอินเดีย
สำนักโสเภณีก็เป็นที่ห้ามสัญจร   
การพนันนั้นน่าจะเป็นไพ่มากกว่าม้า  เพราะม้าคือกีฬาพระราชามิใช่หรือ


นานเข้าก็เป็นหนี้การพนันมากมาย  สุดที่จะดำรงชีพอยู่ได้ เพราะหนี้การพนันเป็นหนี้เกียรติยศ


น้อกซ์ได้ยินว่า ร้อยเอก อิมเป(เคยเห็นรูปถ่าย ดูว่าน่าจะเป็น คนในบังคับอังกฤษมากกว่า) ที่อยู่เมาะลำเลิง
หางานทำในเมืองไทยได้ เมื่อ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีกุน  พ.ศ. ๒๓๙๔

น้อกซ์ก็แจ้นมาบ้าง  เดินเข้ามาจากอินเดียเลย


ข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับอิมเปคือ เป็นคนที่พ้นราชการแล้ว(เกษียณ หรือ ลาออก)    ครูอิมเปมาอยู่เมืองไทยหนึ่งปีแล้วก็จากไป
บอกว่าไม่ได้งานที่เหมาะสมกับเกียรติ   ลูกศิษย์ครูมีอยู่สามคนมั๊ง

มีครูเล็ก  ครูกรอบ  ครูเชิงเลิง  หนังสือประวัติกองทัพไทยมีเอ่ยบ้างเหมือนกัน


อิมเป  กับ น้อกซ์  อาจรู้จักกัน  เพราะเป็นทหารราบด้วยกัน
อิมเปอยู่ที่พม่า   ที่เมาะลำเลิงตอนนั้นเป็นเมืองทหารทั้งเมือง
น้อกซ์อยู่อินเดีย




กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 00:10
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจ้างน้อกซ์ไว้เป็นครูฝึก

หนังสือฝรั่งบอกไว้ชัดว่า ฐานะของน้อกซ์นั้น  สิ้นไร้ไม้ตอก   

มีตำแหน่งเพียงมหาดเล็กรับใช้  หรือครูฝึกเท่านั้น

ใครจะเป็นครูฝึกทหารนี่ต้อง เสียงดัง   ตวาดก้อง  ฮึดฮัด  ไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา
นิสัยเลวๆอย่างนี้ก็ติดตัวไปจนมีตำแหน่งใหญ่โต  เผลอไปขู่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เข้าหลายครั้ง



ได้ประทานข้าหลวงของพระธิดามาคนหนึ่ง  ชื่อ ปราง  มีบันทึกว่าเป็นละคร
เอกสารรุ่นหลังหน่อยแจ้งว่าชื่อ ประจง

นักอ่านคุยกันจุ๊กจิ๊กแล้วตกลงกันแบบไมตรีจิตมิตรภาพอันซาบซึ้งว่า นางปรางนี่ก่อนเข้าวังมาหัดละคร อาจชื่อประจงมาก่อนก็ได้


บิดาของนางปราง จดไว้ว่าชื่อ พระไวย  แม่ชื่อ เย็น
ไม่มีเอกสารเรื่องขุนนางวังหน้า  จำได้ว่า ไม่น่าจะมีพระไวยวรนารถ หรือพระไวยของนางศรีมาลาแต่อย่างใด


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 00:25
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๕  เดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม  กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และ
เจ้าพระยายมราชยกไปตีเชียงตุง

น้อกซ์ได้ตามเสด็จในราชการสงคราม



โคลงลิขิตมหามกุฏราชคุณานุสรณ์  พระนิพนธ์ ของเสด็จในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์   ตอนหนึ่ง  ลงว่า


     สมัยนั้นท่านมิสเตอร์                            เซอร์ธอมมัสน๊อกซ์เหี้ยม
นายสิบทหารคลานเตี้ยม                            พึ่งเจ้าเราผงม   แลนา

     สมเด็จอนุราชเลี้ยง                              เพี้ยงมหาดเล็กรับใช้
ตรัสสั่งโดยเสด็จให้                                  พี่เจ้าวงศา ฯ   สนิทเอย

     ยาตร์แสนยายุธะพยุง                           ตีเชียงตุงเมื่อนั้น
แผลงฤทธิ์ผิดเชิงชั้น                                  โชคชั้นหลังฉุน   เฉียวรา

     เป็นกงสุลเยเนอราล                             อังกฤษหาญเห่อฟุ้ง
คนละคนกละกลุ้ง                                     ติดก้ามมังกร    ขันโวย


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 06:47
ตำแหน่งและยศของ พ่อ แม่ปรางนั้น  นักเขียนหลายคนสับสน  นักอ่านไม่สับสน
 

บางคนเขียนว่าเป็น ดุ๊กแห่งสามโคก(ดุ้กน่ะระดับพระเจ้าน้องยาเธอนะคะ)

ตำราสกุล บอกว่า  Phwia
ไม่ทราบว่าคุณเพ็ญชมพู  คุณหลวงเล็ก และท่านที่นับถือทั้งปวงจะคิดอย่างไร
ขออนุญาตใช้ว่าพระไวย ไปก่อน


ลูกของ น้อกซ์ กับ ปราง มี ๓ คน

แฟนนี
คาโรไลน์  แต่งงานกับ หลุยส์  ลีโอโนเวนส์
โทมาส (เกิด  พ.ศ. ๒๔๐๒    ถึงแก่กรรม  ๒๔๖๖)


เอกสารของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ บันทึกไว้ว่า แฟนนี เป็น  natural daughter   ของ น้อกซ์
(จดหมายของลอร์ดซอลซ์เบอรี่ถึงควีนวิคตอเรีย)


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 07:15


พระราชหัตถ์เลขา ถึง เสด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ (หน้า ๘๓๕ - ๘๔๑ ใน หนังสือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)  มีว่า

     "ลูกสาวสองคนนี้  คนต่างประเทศไม่มีใครนับถือเลย
ไม่มีใครเอาเป็นภรรยาเป็นแน่

ไปมานอนค้างอยู่ในวังจนคนพูดว่ากงสุลถวายวังหน้าก็มีมาแต่ก่อน 
แต่พูดกันแต่ไทย ๆ  คนฝรั่งไม่พูด

มาในครั้งนี้เขาว่าเมื่อไปกาญจนบุรีนี้ออกหน้ามาก
ไปตามเสด็จวังหน้านั่งที่ไหนก็นั่งเคียงกัน

แลในบางกอกก็มีเถ้าแก่รับส่งเป็นเวลาขึ้นไปนอนวัง

ประทานเข้าของแต่งตัวมากนัก


แต่คำที่คนฝรั่งพูดกันนั้นเป็นการเยาะเย้ยกันมาก
ด้วยเขาไม่นับถือในตัวผู้หญิง
และก็ผิดธรรมเนียมในศาสนาเขามาก"



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 07:32
เรื่องการศึกษาของ แฟนนี นั้น  ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด



ตามที่อ้างข้างบน
"ลูกเขานั้นคนใหญ่ที่ไปเรียนหนังสือเมืองนอกคนเดียวเขาจะให้เป็นฝรั่ง
แต่ลูกนอกนั้นตามแต่ภรรยาเขาจะให้มีผัวไทยก็ตาม"


คาโรไลน์นั้นหน้าตาสวยงามคมคาย
รู้และเขียนภาษาอังกฤษถึงญาติ  เป็นภาษาระดับคนมีการศึกษา

แสดงว่าน้อกซ์ก็คงได้หาครูมาสอนให้ที่บ้าน



แฟนนีคงได้ไปใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะน้อกซ์เจ้าออกเมืองไทย ๒ ครั้ง ตอนที่ยังเป็น ล่าม และ รองกงสุล
เมื่อเธอหอบบุตรเลี้ยง ๒ คน  หนูสเปนเซอร์  และ สาวใช้ ไป ต่างประเทศ(พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ บันทึกไว้)
หาบ้านอยู่  หาครูมาสอนพิเศษให้ลูกเลี้ยงที่บ้าน  เธอก็สามารถทำได้


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 10:45
ครอบครัวน็อกซ์ดูจะสนิทกับครอบครัว ก.ศ.ร.กุหลาบมาก ดังที่คุณวันดีเคยเล่าไว้ว่าในงานบวชของ ก.ห.ชาย มี ชาวยุโหรปหญิง  คือ แมดำ  เดอร์ฟรางค์  ภรรยาราชทูตฝรั่งเศส  และ บุตรี, มิศซิด การะโด, มิศซิดแฟนิน๊อก  ธิดาราชทูตอังกฤษ น๊อก และหญิงชาวยุโหรปอีก สี่ นาง

มีข้อมูลของ แฟนนี่ น็อกซ์ อีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะผิดเพี้ยนไปมากเช่นนั้น คือในหนังสือ ก.ส.ร.กุหลาบ ของคุณมนันยา ว่ากันตั้งแต่ชื่อของบิดาคือ โรเบิร์ต น็อกซ์ มีลูกสาวกับคุณปราง ๒ คน คนโตชื่อ มาจอรี่ ได้รับการอบรมอย่างฝรั่ง บิดาส่งไปศึกษาที่อังกฤษ ส่วนแฟนนี่เป็นลูกสาวคนเล็ก คุณมนันยาเล่าว่ามารดาอบรมให้เป็นคนไทย หมอบกราบคล่องแคล่วและพูดไทยได้ แฟนนี่ไปมาหาสู่กับครอบครัวของ ก.ศ.ร.กุหลาบที่บ้านท่าวาสุกรีเป็นประจำ  และได้สอนวิธีทำอาหารให้ลูกสาวของ ก.ศ.ร.กุหลาบหลายชนิด

หลังจากที่พระปรีชากลการถูกตัดสินประหารชีวิต แฟนนี่กับบุตรชายที่เพิ่งคลอดต้องเดินทางไปอังกฤษ และในบั้นปลายของชีวิต แฟนนี่ได้กลับมาเมืองไทย จนได้มี่โอกาสเผาศพ ก.ศ.ร.กุหลาบ ด้วย

วานคุณวันดีช่วยกรุณาพิจารณา นอกจากชื่อบิดาและพี่สาว มีอข้อมูลอื่นผิดเพี้ยนไปอีกบ้างหรือเปล่า

 8)







กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 11:10
คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ เล่าไว้ในหนังสือสตรีสยามในอดีต ว่า แฟนนี่นั้นถูกส่งไปศึกษาเล่าเรียนในประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุน้อยกว่าจะกลับมาเมืองไทยก็เป็นสาวเต็มตัวแล้ว เธอเป็นคนสวยงามผิดตาและมีนิสัยร่าเริงน่ารัก ชอบพูดคุย ร้องเพลง เล่นเปียโน เป็นที่ต้องตาต้องใจของชายหนุ่มในสมัยนั้น ทั้งคนต่างชาติและเจ้านายไทย กล่าวกันว่าในจำนวนผู้ชายที่มาติดพันเธอนั้น คนหนึ่งคือ นายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ลูกชายของ นางแอนนา เลียวโนเวนส์ สตรีอังกฤษที่เคยสอนหนังสืออยู่ในพระราชวังของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ อีกคนหนึ่งเป็นหลานชายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อัครมหาเสนาบดี และผู้สำเร็จราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕

แฟนนี่สวยงามขนาดไหน เชิญพิจารณา

 ;D



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 11:59
โอ...เรื่องชื่อคงค้นมาถูกแล้ว  เพราะใช้    Burke's Peerage and Baronetage 107th edition



เรื่องกลับมาเมืองไทยเป็นไปได้  แต่ไม่มีหนังสืออนุสรณ์ของคุณจำรัสสเปนเซอร์

เมื่อคุณตระกูล  และคุณอรุณ กลับเมืองไทยเมื่ออายุประมาณ ๑๘ หรือ ๑๙    เมื่อคุณอาไปราชการต่างประเทศแวะไปรับ
คุณตระกูลเข้าเฝ้าพระพันปี และมีหน้าที่เป็นล่ามและรับใช้งานเอกสาร สั่งรถยนต์เข้ามาพระราชทานข้าราชสำนัก
สมรสกับพระยาภูบาลบันเทิง(ประยูร)  ลูกพระยาเพชรพิไชย(เจิม)และ คุณหญิงถนอม

พระยาเพชรพิไชย(เจิม) คือ น้องแท้ๆ ที่คลานตามกันมาของ นายสำอาง(พระปรีชากลการ)





ก.ศ.ร. บันทึกไว้ว่าเคยเข้าพบ พระยากสาปน์กิจโกศล(โหมด) เมื่อกุหลาบอายุ ๒๘ ปี   นายเจิมพาไปพบ

ก.ศ.ร. ยังเขียนเรื่อง   สกุลอมาตยกุล ยาวเหยียดใน สยามประเภท  พิมพ์ออกมาจำหน่ายนานก่อนที่นายโหมดจะเขียนความทรงจำของข้าพเจ้าหลายสิบปี

เมื่ออ่าน ความทรงจำของนายโหมด   ดิฉันรู้สึกคุ้นเคย  และโยงใยสายสกุลได้ทันทีเพราะอ่านมานานมากแล้ว


ก.ศ.ร. เคารพ พระยากสาปน์กิจโกศลมาก  ได้พิมพ์หนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง  คำนำเขียนว่า แด่เจ้าพระยากสาปน์กิจโกศลผู้โดนปล้นตำแหน่ง
ในเล่มรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่าไร  เพราะจำไม่ได้ค่ะ

เซียนๆ มาตรวจสอบกับดิฉันว่า พระยากสาปน์กิจโกศล  ได้เป็นเจ้าพระยาหรือไม่
ไม่อุกอาจจะวิจารณ์อะไร  คิดเองว่าท่านก็คงเข้าแถวคอยเวลาอยู่  เพราะเวลานั้น สกุลอมาตยกุลก็เป็นพระยากันหลายคน  และ นายโหมดก็ร่ำรวยมหาศาลจากมรดกของคุณน้าพระกลิ่น
ที่เป็นต้นเหตุให้นายโหมดต้องพิมพ์ หนังสือกฎหมายเล่มแรกของประเทศไทย    

ก.ศ.ร. พิมพ์กฎหมายนายโหมด ฉบับสมบูรณ์  ๖๐ เล่ม    และ บรัดเลพิมพ์ต่อจากแท่นที่ไม่ได้รื้อ อีก ๓๖๐ เล่ม
มีชื่อเสียงมากมายว่าพิมพ์หนังสือกฎหมายของไทยถึง ๑๐ หรือ ๑๑ ครั้ง
ก.ศ.ร. จ้างโรงพิมพ์ของบรัดเลพิมพ์ค่ะ  ด้วยขออนุญาตจากนายโหมด  คำนำเขียนไว้ชัดเจน






คุณตระกูลมี บุตร ๓ คน
คือ

คุณหญิงวลี  แต่งงานกับพระยารักษาเทพ

เด็กหญิงไม่มีชื่อ ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก

คุณหญิงเสมอ  แต่งงานกับพระยาจินดารักษ์



สนใจคุณหญิงเสมอมานานแล้วเพราะท่านเป็นนักแปลสตรีคนแรกของเมืองไทย
คุณหญิงตระกูล ภูบาลบรรเทิง นั้นพูดอ่านเขียนอังกฤษและฝรั่งเศสได้ เพราะ แฟนนีได้ให้การศึกษาอย่างกุลสตรีแก่คุณตระกูล

คุณเสมออ่านหนังสือฝรั่งที่บ้าน เพราะสุขภาพไม่ดี ป่วยประจำ
เธอเป็นสตรีที่งามเก๋   ในงานฤดูหนาวมี่วัดเบญจมบพิตร   คุณเสมอคาดหน้าเพชรปักขนนก
พระยาจินดารักษ์เล่าว่า  งามเด่น
(คงมีโอกาสได้เขียนเรื่องงานแปลของคุณ เสมอ หรือ ซันฟลาวเว่อร์ เพราะได้ตามเก็บงานของเธอไว้หมดแล้ว
รวมทั้งเรื่องไข่มุกด์ที่มีค่า   The Pearl of Great Price   อันเป็นบทความสอนใจที่ดีที่สุด  ไม่ใช่นวนิยาย
นักเขียนลอกต่อกันมาว่าเป็นนวนิยาย)



คุณอรุณ ต่อมาได้เป็นพระยาพิศาลสารเกษตร สมรสกับคุณหญิงเยาวเรศร
เช้า ๆ ท่านดื่มช้อคโคเล็ทร้อนเสมอ
นักอ่าน วรรณกรรมฝรั่งโบราณจะเข้าใจทันทีว่า เป็นอาหารเช้าของ เด็กๆ และ หญิงสาวในตระกูลผู้มีอันจะกิน
แสดงว่า มารดาเลี้ยง  ได้เลียงดูท่านอย่างดีด้วยความรักและเอาใจใส่


แฟนนี คงรัก คุณสำอาง ด้วยใจจริง


ข้อเขียนบางตอน เล่าว่า แฟนนีรักบุตรเลี้ยงทั้งสองมาก เพราะกำพร้าขาดมารดา และต่อมาก็ขาดบิดาอีกด้วย


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 12:07
ไม่มีหลักฐานว่า แฟนนีได้ไปเรียนหนังสือในประเทศอังกฤษค่ะ

เรื่องมีเปียนโนนั้น  มีหลักฐานว่าแฟนนีส่งคนไปเก็บเปียนโนมาจากปราจิณ

สหายคนหนึ่งสงสัยว่า มิชชันนารีคนไหนสอนนะ ........แล้วขนเปียนโนกันอย่างไร.......น้อกซ์ซื้อให้มั๊ง
(มีเพื่อนนักอ่านขี้สงสัยปานนี้)


หลุยส์นั้นเป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน  รำ่ลือมานานแล้ว
เป็นนักผจญโชค


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 เม.ย. 10, 13:23
นายทหารอังกฤษที่มาจากครอบครัวนักบวช  ไม่มีสตางค์ไปซื้อตำแหน่ง
วันๆ ก็ เล่นการพนัน(และโหมโรงด้วยสุรา)
กามโรคสมัยนั้นรักษายาก    ไม่ว่าจะในลอนดอนหรือในอินเดีย
สำนักโสเภณีก็เป็นที่ห้ามสัญจร   
การพนันนั้นน่าจะเป็นไพ่มากกว่าม้า  เพราะม้าคือกีฬาพระราชามิใช่หรือ
นานเข้าก็เป็นหนี้การพนันมากมาย  สุดที่จะดำรงชีพอยู่ได้ เพราะหนี้การพนันเป็นหนี้เกียรติยศ
น้อกซ์ได้ยินว่า ร้อยเอก อิมเป(เคยเห็นรูปถ่าย ดูว่าน่าจะเป็น คนในบังคับอังกฤษมากกว่า) ที่อยู่เมาะลำเลิง
หางานทำในเมืองไทยได้ เมื่อ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีกุน  พ.ศ. ๒๓๙๔

น้อกซ์ก็แจ้นมาบ้าง  เดินเข้ามาจากอินเดียเลย


ข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับอิมเปคือ เป็นคนที่พ้นราชการแล้ว(เกษียณ หรือ ลาออก)    ครูอิมเปมาอยู่เมืองไทยหนึ่งปีแล้วก็จากไป
บอกว่าไม่ได้งานที่เหมาะสมกับเกียรติ   ลูกศิษย์ครูมีอยู่สามคนมั๊ง
มีครูเล็ก  ครูกรอบ  ครูเชิงเลิง  หนังสือประวัติกองทัพไทยมีเอ่ยบ้างเหมือนกัน
อิมเป  กับ น้อกซ์  อาจรู้จักกัน  เพราะเป็นทหารราบด้วยกัน
อิมเปอยู่ที่พม่า   ที่เมาะลำเลิงตอนนั้นเป็นเมืองทหารทั้งเมือง
น้อกซ์อยู่อินเดีย


หมอบรัดเล ได้ทำจดหมายเหตุเกี่ยวกับฝรั่งที่เข้ามาในกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ ๔ ๕  ต่อมามีการแปลลงพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๒   มีข้อความดังต่อไปนี้

๑๘๕๑ (๑๒๑๓/๒๓๙๔) ตุลาคม ที่ ๑๑  (ปีแรกในรัชกาลที่ ๔) กัปตันอิมเป เปนนายทหารอังกฤษ เดินบกเข้ามาจากเมืองเมาะลำเลิง  เข้ามารับราชการเปนครูทหารวังหลวง  เปนครูของครูเล้กครูกรอบครูเชิงเลิง ที่เปนครูทหารเมื่อแรกรัชกาลที่ ๕ 

๑๘๕๒ (๑๒๑๔/๒๓๙๕) ธันวาคม  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง

เสียดายว่า  หาบันทึกตอนที่นายนอกซ์เข้ามาเมืองไทยไม่พบ  สงสัยว่าหมอบรัดเลไม่ได้จดไว้กระมัง

๑๘๖๖ (๑๒๒๗/๒๔๐๘) มกราคม ที่ ๓๐  เรือรบอังกฤษ ชื่อ โคเคต  พาทอมัส  ยอช  นอกส์  เปนกงสุลเยเนอราลอังกฤษเข้ามาถึง   (นายนอกส์ คนนี้เดิมเปนนายทหารอังกฤษ  รับราชการอยู่อินเดีย   ละราชการทหารอังกฤษมาเมืงไทยเมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๑  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จ้างไว้เปนครูทหารวังน่า  จน ค.ศ. ๑๘๕๗  กลับรับราชการอังกฤษเปนล่ามที่ ๑  ในสถานกงสุล)  (คำในวงเล็บนี้สงสัยเป็นคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ)

นอกจากนี้ หมอบรัดเลยังได้บันทึกไว้อีกว่า   มีช่วงหนึ่งที่นายนอกส์เดินทางออกไปทำธุระที่อังกฤษ  จึงต้องให้นายอาลบาสเตอร์ทำหน้าที่รักษาราชการกงสุลแทนนายนอกส์   และท้ายๆ บันทึกจดหมายเหตุนี้ มีข้อความว่า  นายอาลบาสเตอร์วิวาทกับนายนอกส์ด้วย

 8)


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 13:41
ขอเล่าเรื่อง สำอาง  หรือพระปรีชากลการ ในเรื่องส่วนตัว



คุณสำอาง เกิด พ.ศ. ๒๓๘๔

ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑

ได้ไปศึกษาต่อในเรื่องวิศวกรรมเหมืองแร่ในสกอตแลนด์
ได้พยายามตรวจสอบรายชื่อจากสมาคมนักเรียนเก่าของวิทยาลัยเหมืองแร่ในสกอตแลนด์  ไม่พบ
ได้ค้นจากชื่อ   Maud  ด้วย  เพราะ แฟนนีเมื่อแต่งงานกับพระปรีชากลการใช้ชื่อนี้  เชื่อว่าคือชื่อ นาย โหมด บิดา

นางปราง  ลูกนางเย็น   ยังใช้ชื่อ ปราง เย็น




ภรรยาแต่งงานคนแรกคือ คุณพลับ  ธิดาพระครูมหิธร  บ้านอยู่ในสำเพ็ง  แต่งกัน ๒๔๐๓
มีลูกชื่อประเสริฐ  ตายตอนเด็ก


ภรรยาคนที่สองที่แต่งงานคือ คุณลม้าย  ธิดาพระอินทราธิบาล(สุ่น) กับ คุณ แจ่ม  แต่ง ๒๔๑๕
คุณอรุณ และ คุณตระกูลเป็นลูกคุณลม้าย


ภรรยาคนที่ ๓  ชื่อเหลี่ยม
มีบุตรชื่อกอน หรือมังกร  ต่อมาเป็นพระยาวินิจวิทยากร
ชาย ชื่อ สำเนียง
หญิงชื่อ อบ  เป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ


ภรรยาชื่อสิน     บุตรเป็นชายชื่อใย


บุตรกับจีน  ชื่อประจักษ์


ภรรยาชื่อหลี    บุตรเป็นชายชื่อส่าน
หลีนี่เป็นญาติเกี่ยวดองหลายชั้น เป็นลูกผู้น้อง


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 14:09
ได้พยายามตรวจสอบรายชื่อจากสมาคมนักเรียนเก่าของวิทยาลัยเหมืองแร่ในสกอตแลนด์  ไม่พบ
ได้ค้นจากชื่อ   Maud  ด้วย  เพราะ แฟนนีเมื่อแต่งงานกับพระปรีชากลการใช้ชื่อนี้  เชื่อว่าคือชื่อ นาย โหมด บิดา

Maud ไม่พบ  Maude ก็ไม่น่าพบ เพราะใกล้เคียงกัน

ข้อมูลจาก
http://thepeerage.com/p33215.htm#i332146


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 14:27

สนใจคุณหญิงเสมอมานานแล้วเพราะท่านเป็นนักแปลสตรีคนแรกของเมืองไทย
คุณหญิงตระกูล ภูบาลบรรเทิง นั้นพูดอ่านเขียนอังกฤษและฝรั่งเศสได้ เพราะ แฟนนีได้ให้การศึกษาอย่างกุลสตรีแก่คุณตระกูล

คุณหญิงตระกูลเป็นภรรยาพระยาภูบาลบรรเทิง (ประยูร) บุตรพระยาเพชรพิไชย (เจิม)  คุณหญิงตระกูลได้ไปอยู่ต่างประเทศกับแฟนนี่ ภายหลังที่พระปรีชากลการถูกประหารชีวิต คุณหญิงตระกูลสามารถพูดได้หลายภาษา กลับมาเมืองไทยได้ทำหน้าที่เป็นล่ามสตรีคนแรกของกรุงสยาม

ในหนังสือ Fanny and the Regent of Siam (ตัวจึงตายเพราะได้เมียฝรั่ง-จุมพนันท์) แต่งโดย R.J. Minney ได้เขียนเล่าชีวิตตอนปลายของแฟนนี่ไว้ว่า เธออยู่ในกรุงเทพฯ อย่างยากจน ลูกติด ๒ คนของพระปรีชากลการ (คุณตระกูลและคุณอรุณ)ได้ส่งกลับคืนให้ครอบครัวตระกูลอมาตยกุลนำไปเลี้ยงดูต่อไป ส่วนลูกชายที่ชื่อสเปนเซอร์นั้นเป็นคนอายุสั้น ถึงแก่ความตายเมื่ออายุเพียง ๒๑ ปี เธอจึงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ผู้เดียว เพราะเซอร์โทมัส น็อกซ์ บิดาของเธอก็ได้เดินทางกลับไปประเทศอังกฤษและตายที่นั่น ส่วนแคโรไลน์น้องสาวนั้นแต่งงานกับ หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ลูกของนางแอนนา และไปดำรงชีพที่เชียงใหม่ เอาคุณปรางมารดาไปอยู่ด้วย


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 15:04
เรื่องย่อจาก  Fanny and the Regent of Siam  โดย R.J. Minney

Fanny Knox was the daughter of an English diplomat and his aristocratic Siamese (Thai) wife. When she grew up, she had a number of suitors for her hand. One was Louis Leonowens, whose mother, Anna, worked at the royal court and wrote the books that inspired the novel Anna and the King of Siam, by Margaret Landon. He eventually married her sister Caroline. In addition, Si Suriyawongse, Regent for the young King Chulalongkorn, wanted Fanny to marry his grandson Nai Dee. Fanny, however, had fallen in love with another Siamese aristocrat, Phra Preecha, and married him in defiance of the Regent, who struck out at the young couple in his wrath. This is more of a biographical novel than a true biography.

น่าสนใจมาก  นายดี หลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นใครในตระกูลบุนนาค?
แต่เรื่องนี้เป็นนวนิยายอิงชีวประวัติเสียมากกว่าจะเป็นชีวประวัติจริงๆ  ก็คงใส่สีใส่ไข่ลงไปบ้าง


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 15:26
หนังสือที่น่าอ่าน และมีหลักฐาน  คือ จดหมายเหตุ พระราชกิจรายวัน ปีเถาะ  จุลศักราช ๑๒๔๑


เหมือนอย่างที่เรียนคุณเพ็ญชมพูไว้แล้ว  ว่าดิฉันหาเรื่องแปลกๆ  จากหลักฐาน ที่อ่านแล้ว เข้าใจความสัมพันธ์ ของ ผัวเมียคู่นี้ ที่อยู่ด้วยกันไม่กี่เดือน


หน้า ๙

ร.ที่ ๔/๔๑             มีพระราชหัตถ์สั่งให้ลงพระอาญาว่า พระปรีชากลการประพฤติการกำเริบหมิ่นประมาทหนักไม่มีความยำเกรงต่อผู้ใหญ่
                         ให้พระพิเรนทรเทพย์เอาตัวออกมาเฆี่ยนสียยกหนึ่ง ๓๐ ที
                         อย่าให้ข้าราชการประพฤติตามสืบไป

๕/๔๑                   ได้เอาตัวลงพระราชอาญาที่หน้าโรงทอง


หน้า ๒๓               รับริโปตพระพิเรนทร   ซึ่งพระปรีชาต้องจำ
                         บ่าวมาหา   ว่าแฟนนีใช้ให้มาดู   เขาลือกันว่าพระปรีชากินยาตาย
                         พระปรีชาให้ไปบอกว่า  อย่าตกใจเลย   แล้วเขียนหนังสือไปด้วย
                         ยาใส่แผลที่ให้มาใหม่ดูวันนี้เห็นจะถูกสบาย              

หน้า ๒๖               พระยาภาษจดหมายไปรเวตถวายด้วยเส้นดินสอเข้ามาฉบับ ๑
                         ว่าเมื่อคืนนี้   มีเรือโบตเก๋ง ๔ แจว      ผู้หญิงอยู่ในนั้น  ร้องสักรวา  แจวขึ้นข้างบน
                         ตั้งแต่ปากคลองโอ่งอ่าง  ไปจนหน้าบ้านเจ้าพระยามหินทร
                         แล้วกลับมาอีก           แล้วล่องลงไปล่าง
                         ผู้ฟังเขาจำไว้ได้

                          สงสัยว่าจะเป็น Caroline บุตรสาวมิสเตอร์นอกซ์

                          ความว่า

                          สักรวาวันนี้พระปรีชา
                          ต้องรับอาญาพระเจ้าอยู่หัว
                          กำเริบจิตรคิดการห่ามเกินตัว
                          ทั้งพันพัวราชทรัพย์ก็นับพัน
                          กลับออกไปก็มิได้บังคมบาท
                          ถืออำนาจผู้ใดกระไรนั่น
                          ทรงการุณชุบเลี้ยงถึงเพียงนั้น
                          หรือหมายมั่นพึ่งใครให้ว่าเอย

     นักประวัติศาสตร์ก็มิได้บันทึกที่มาที่ไปของสักรวาเรื่องนี้ไว้


หน้า ๘๓

๕ ตุลาคม ๒๔๒๒

อนึ่ง  วันนี้ได้ข่าวว่า อีแฟนนี คลอดบุตรเป็นชายเช้านี้ ๓ โมง


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 15:42
ทรงการุณชุบเลี้ยงถึงเพียงนั้น
หรือหมายมั่นพึ่งใครให้ว่าเอย

มีนัยยะสำคัญนะคะ วรรคสุดท้ายนี้
ทำไมคุณ Caroline  ถึงต้องทำอย่างนี้ด้วยล่ะคะ  ฟังน้ำเสียง ราวกับเป็นปรปักษ์กับพระปรีชา

จำได้รางๆถึงลูกสาวกงสุลน็อกซ์ที่ลือกันว่าเป็นหม่อมห้ามของวังหน้า   คนไหนกันแน่ พี่สาวหรือน้องสาว


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 15:49
เมื่อคณะทูตที่พระยาภาสกรวงศ์เป็นหัวหน้าราชทูต ไปเจรจาความกับรัฐบาลอังกฤษ กลับมาได้ ๘ วัน



จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑
หน้า ๑๑๔   วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๓๒๒        
บันทึกไว้


         "เวลายามหนึ่ง       สั่งให้จำไอ้สำอาง ปรีชา ๕ ประการเต็มที่

เวลาสองยาม  เจ้าพระยามหินธร   พระยามหามนตรี   พระยารองเมือง   และนายพธามรงค์ทหาร
เอาตัวไอ้สำอางไปออกประตูรัตนพิศาล  แลประตูสุนทรทิศ   พาไปออกประตูลงท่าพระ

ลงเรือหาญหักศัตรู

เวลาออกเรือยิงปืนหาญหักศัตรู  ต่อสู้ไพรีทั้งสองลำ   กับเรือราชสีห์ลำหนึ่ง

ผู้ที่ไปนั้น   เจ้าพระยามหินทร   พระยารองเมือง   พระพิเรนทรเทพ   จมื่นวิไชยยุทธ   พระศักดิเสนี
หลวงสุริยามาตย์   นายพธำรงค์   ตำรวจ  ทหาร มาก


เมื่อลงเรือ  เจ้าพระยามหินธร  พระยารองเมืองขัดดาบด้วย



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 15:52
หน้า ๒๓               รับริโปตพระพิเรนทร   ซึ่งพระปรีชาต้องจำ
                         บ่าวมาหา   ว่าแฟนนีใช้ให้มาดู   เขาลือกันว่าพระปรีชากินยาตาย
                         พระปรีชาให้ไปบอกว่า  อย่าตกใจเลย   แล้วเขียนหนังสือไปด้วย
                         ยาใส่แผลที่ให้มาใหม่ดูวันนี้เห็นจะถูกสบาย      

จดหมายจากพระปรีชากลการถึงแฟนนี่

"...ด้วยตัวฉันเป็นคนไทย ในหลวงกริ้วลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้ว ก็จะค่อยคลายกริ้วลงทุกที อย่าให้เเฟนนี่วุ่นวายไป ธรรมเนียมไทยก้บธรรมเนียมฝรั่งไม่เหมือนกัน จะเอาเหมือนธรรมเนียมฝรั่งไม่ได้ จะภาฉันมีความผิด ฉันเห็นใจแล้วว่าแฟนนี่รักฉันมาก...."

 :(


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 16:20
เรียนคุณเทาชมพู      เรื่องนายดี



จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปีเถาะ  จุลศักราช ๑๒๔๑

หน้า ๑๓ 
(หน้า ๑๒ ลงไว้ว่า ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๒)

ท้าวแพถวายคำพระยาจำนงษรไตรย    มาแจ้งกับสมเด็จเจ้าพระยา  เรื่องมิศนอกซ์ไปวังหน้า   ว่าด้วยเรื่องพระปรีชา


แล้วแกทูลเรื่องให้ทราบว่า  มิศนอกซ์จะคิดแก้การเรื่องนี้

ด้วยจะให้พระองค์กมลาศแต่งงานกับลูกสาวคนเล็ก            จะให้ขออนุญาตก่อน

สมเด็จเจ้าพระยาท่านให้ทูลว่า    ควรจะยอมให้แต่ง

ด้วยความเรื่องเราทำนี้  จะได้สูงขึ้นเพราะไม่ขออนุญาต


ทรงพระราชดำริว่าควรยอมจริง     แต่เห็นเสียอยู่สองอย่าง

จะล้วงไส้ในวังแห่งหนึ่ง       พวกฟากขะโน้นขอแต่งจะลำบาก    จึงจะให้ทรงมีข้อบังคับ ๓ ข้อ


ร.ที่ ๗/๔๑   มีพระราชหัถต์ถึงสมเด็จเจ้าพระยา   ถึงเรื่องที่จะยอมให้พระองค์กมลาศแต่งงาน  แต่ต้องออกประกาศความ ๓ ข้อ



ความ ๓ ข้อนั้น  จำได้ผ่านตาว่า(ความอาจไม่สมบูรณ์)
เมียและลูกต้องเป็นคนในบังคับไทย
ขุนนางต้องลาออก
เจ้านายต้องไม่รับเงินปี  ห้ามเดินทางไปต่างจังหวัด

เรื่องนี้ก็สงบไป

อยากได้กันเหลือเกิน   ลูกสาวนอกสมรสของ กงสุลเยเนอราล


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 เม.ย. 10, 16:22

ข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับอิมเปคือ เป็นคนที่พ้นราชการแล้ว(เกษียณ หรือ ลาออก)    ครูอิมเปมาอยู่เมืองไทยหนึ่งปีแล้วก็จากไป
บอกว่าไม่ได้งานที่เหมาะสมกับเกียรติ   ลูกศิษย์ครูมีอยู่สามคนมั๊ง

มีครูเล็ก  ครูกรอบ  ครูเชิงเลิง  หนังสือประวัติกองทัพไทยมีเอ่ยบ้างเหมือนกัน


อิมเป  กับ น้อกซ์  อาจรู้จักกัน  เพราะเป็นทหารราบด้วยกัน
อิมเปอยู่ที่พม่า   ที่เมาะลำเลิงตอนนั้นเป็นเมืองทหารทั้งเมือง
น้อกซ์อยู่อินเดีย


ประวัติเพิ่มเติม นายร้อยเอก อิมเปย์ (Impay) จากหนังสือพระราชนิพนธ์ ตำราปืนใหญ่ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ เมื่อ ๒๕๐๕ แจกในงานไหว้ครู ที่บ้านพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์  (จากหมายเหตุผนวก  ตำราปืนใหญ่)  

นายร้อยเอกอิมเปย์ เป็นนายทหารนอกราชการของกองทัพอังกฤษ  ประจำการที่อินเดีย   ได้ทราบว่ารัชกาลที่ ๔ โปรดขนบธรรมเนียมฝรั่ง  จึงได้เดินทางเข้ามาเป็นครูฝึกทหาร  รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จ้างนายร้อยเอกอิมเปย์ไว้  และมอบให้ฝึกทหารในกองอาสาลาวและเขมรในวังหลวง   แต่เพราะครูไม่สันทัดภาษาไทย   การจัดและระเบียบการฝึก เช่น การเรียกชื่อตำแหน่งภายในหน่วย  ยศ  คำบอกแถวได้ใช้เป็นภาษาอังกฤษตลอด   คนภายนอกเรียกทหารหน่วยน้ว่า  ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป  หรือ ทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง    ทหารที่ได้รับการฝึกในคราวนั้นมีมาก  พอจะจัดเป็นกองทหารประจำพระองค์ได้  ๒ กอง คือ  กองทหารรักษษพระองค์ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิม   กับ   กองทหารหน้า   การจัดหมวดหมู่  มีลักษณะอย่างกองทหารปัจจุบัน  กองทหารเหล่านี้  รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าที่ปันเวนกันรักษาพระราชฐาน  เป็นอย่างทหารรักษาพระองค์อย่างกษัตริย์ในยุโรป     พร้อมกันนนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงทหารรักษาการณ์ขึ้นในวังด้วย

ส่วนนายร้อยเอกโทมัส  ยอร์ช  นอกส์  (Thomas George  Knox)  ซึ่งได้เข้ามาอาสารับราชการเป็นครูฝึกทหารภายหลังนายร้อยเอกอิมเปย์นั้น  รัชกาลที่  ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยุ่หัวทรงรับไปเป็นครูฝึกทหารวังหน้า   ซึ่งกองทหารวังหน้านั้น  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกำกับดูแลมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว  การฝึกทหารของนายร้อยเอกที่วังหน้าก็เหมือนกับของวังหลวง   แม้แต่เพลงที่ใช้คำนับพระเจ้าอยู่หัว ก็ใช้เพลงก็อดเซฟเดอะคิง

การฝึกทหารในระยะนั้นได้ดำเนินมาระยะหนึ่ง  พอถึงปี ๒๓๙๕ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมกองทหารที่ฝึกนั้นจัดเป็นกองทหารใหม่ ๒ กอง  คือ กองรักษษพระองค์อย่างยุโรป (จากกองทหารรักษษพระองค์ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิมป  กับกองปืนใหญ่อาสาญวน  ญวนพวกนี้เป็นญวนนับถือพุทธ มีบ้านเรือนแถวคลองผดุงกรุงเกษม  กองทหารนี้จัดตั้งขึ้นแทน กองอาสาญวน ผเข้ารีต) ที่โอนไปอยู่กับวังหน้า เมื่อนายร้อยเอกนอกส์ เข้ามารับราชการเป็นครูฝึกที่วังหน้า   ทหารทั้ง - หน่วยนนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเดิมเป็นผู้บังคับบัญชา มีชื่อที่พอค้นได้ คือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง  เพ็ญกุล)  กับพระยาพิชัย (ดิศ)  


อนึ่ง  นายร้อยเอกนอกส์นั้นได้มีโอกาสนำทหารที่ฝึกแบบใหม่นี้ไปร่วมเข้าตีเมืองเชียงตุง เมื่อ ๒๓๙๕  ในบานะหน่วยพิเศษ  ได้ทำการรบเพื่อช่วยเหลือกำลังส่วนใหญ่ในตอนถอยทัพออกจากเมืองเชียงตุง  กองทหารอย่างใหม่นี้ยังได้ทำหน้าที่อย่างตำรวจในการปราบปรามอั้งยี่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในมณฑลปราจีนและเมืองชลบุรีด้วย



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 16:33
ค.ห.ที่ 22 ของคุณวันดี  ดิฉันยังอ่านไม่รู้เรื่องค่ะ
นายดีเกี่ยวอะไรด้วยกับพระองค์เจ้ากมลาส และการแต่งงาน
ลูกสาวนอกสมรสของกงสุล คือใคร?


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 16:39
ขอบคุณคุณเพ็ญเรื่องจดหมายค่ะ

นึกอยากได้อยู่พอดี   เหมือนรู้ใจกัน


หนังสือของ วิมลพรรณ  ปีตธวัชชัย เรื่อง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  หน้า ๘๑
สรุปความไว้เหมาะสม

(ชอบคุณติ๋ม วิมลพรรณมากเพราะเธอทำงานละเอียด   เขียนง่าย กระจ่าง  ภาษาไทยดี ไม่เยิ่นเย้อ และมีข้อมูลมหาศาล)



"แต่การแสดงอำนาจบาตรใหญ่โดยแอบอ้างอำนาจของรัฐบาลอังกฤษมาข่มขู่รัฐบาลไทย

และความยะโส  อวดดี  ไม่รู้ที่ต่ำที่สูงของกงสุลน็อกซ์       ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง  ที่ทำให้คดีพระปรีชา ฯ  ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ      

และในท้ายที่สุด   คดีทุจริตกับคดีฆ่าคนตายก็ได้กลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่การพิจารณาพิพากษาประหารชีวิตพระปรีชากลการ

แฟนนีและบุตรชาย  เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๒๒"


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 16:49
ใน คคห ที่ ๑๗   นวนิยาย เล่าว่า     นายดี อยากแต่งงานกับลูกนอกซ์

ดิฉันก็ยก จดหมายพระชกิจรายวันมาว่า  สมเด็จเจ้าพระยา อยากให้แต่งกับพระองค์กมลาส



ลูกสาวของนอกซ์ทั้งสองคนนั้น  กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ  ถือว่า นอกสมรส  จะเอ่ยถึงยังกระมิดกระเม้น เพราะเป็นเรื่องไม่สมควรกราบบังคมทูลควีนวิคตอเรีย
ถ้าไปบันทึกการสมรสในโบสถ์เสีย  เหมือนฝรั่งทั้งปวงเขาทำกัน ใน เมาะลำเลิง  ทั้งเกิด ตาย และ แต่งงาน  เรื่องนี้ก็จบ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 17:14
ความ ๓ ข้อ

สมเด็จเจ้าพระยา/ณัฐวุฒิ/ หน้า ๙๖๖ - ๙๖๘


"ฉันต้องขอเจ้าคุณแลท่านเสนาบดี    ช่วยตริตรองการซึ่งฉันจะว่าไปข้างล่างเพื่อรักษาอำนาจ 
แลป้องกันอันตรายแผ่นดินในการคราวนี้  แลการต่อไปภายหน้าให้ตกลงตลอดไปตามความที่ฉันคิดก่อน   
ฉันจึงจะยอมรับให้แต่งงานได้"


(ย่อความเล็กน้อย)

๑.   ต้องแจ้งให้ฉันแลเสนาบดีทราบก่อน  เมื่อเห็นว่าไม่เป็นการขัดข้องกับการแผ่นดิน  ยอมให้แต่งจึงแต่งได้
ถ้าเห็นเป็นการขัดข้อง  จะห้ามเสียก็ห้ามได้

๒.   รับราชการต้องออก
เจ้านายเข้าเฝ้าได้ตามบรรดาศักดิ์
ผลประโยชน์จากราชการ  ต้องขาด
ขุนนางต้องออกจากบรรดาศักดิ์

๓.  แต่งแล้วก็เป็นคนในบังคับ สยาม  ลูกเมียก็เป็น    ผิดก็รับโทษตามกฎหมายสยาม


"ความสามข้อนี้  จะต้องตั้งเป็นกฎหมายสำหรับแผ่นดิน  เหมือนกฎหมายสัญญาปับลิก  สัญญาไปรเวตที่ได้ตั้งไว้แล้ว   

ต้องให้กงสุลต่างประเทศทราบด้วย


ฉันเห็นการดังนี้  เห็นว่าจะบังคับไปได้ตลอด         ด้วยประเพณีบ้านเมืองอื่น ๆ  ก็มีอยู่ด้วยกันโดยมาก


ขอให้ท่านเจ้าคุณแลท่านเสนาบดีตริตรองดูเภิด

ควรจะเพิ่มเติมแก้ไขประการใดบ้างก็ตาม



ถ้าการนี้พูดไปไม่ตลอด   ฉันจะยังยอมไม่ได้"




กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 17:17
เข้าใจแล้ว

ในค.ห. ๑๗  นวนิยายไม่ได้บอกว่านายดีอยากแต่งงานกับแฟนนี่  แต่บอกว่า  สมเด็จเจ้าพระยาอยากให้แฟนนี่แต่งงานกับหลานปู่ของท่าน คือนายดี  
แต่ในพระราชกิจรายวัน บอกคนละอย่าง ว่ากงสุลน็อกซ์จะให้พระองค์เจ้ากมลาศแต่งงานกับลูกสาวคนเล็ก    ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาท่านไม่ขัดข้อง เห็นว่าควรจะยอมให้แต่ง
แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย   ความไม่เต็มพระทัยเห็นได้พระราชหัตถเลขา  ทรงตั้งเงื่อนไขในทำนองขัดขวางเอาไว้หลายอย่าง  จนเรื่องนี้ยกเลิกไปเอง



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 10, 17:31
นายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้น  เวลากราบทูลควีนวิคตอเรีย   มิได้กล่าวว่า

กงสุล เยเนอราลของเรา หรือของอังกฤษ     ประจำสยาม

เอกสารเขียนไว้ว่า    กลสุล เยเนอราลของยัวมาเจสตี้

อ่านดูก็ขบขันในสำนวนกระทบกลาย ๆ


     เจ้าสำนวนประจำใจคือ วินสตัน เชอรชิลล์      เมื่อได้ปลุกใจทหารให้ออกไปรบแล้ว
เขอรชิลล์ถอนหายใจว่า  ลูกชายของแม่อังกฤษกี่คนจะได้กลับมากอดแม่ของเขาอีก
เก็บหนังสือของเชอร์ชิลไว้หลายเล่ม  ไม่ทราบว่าจะมีเวลาได้ถอดความหรือไม่

     


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 เม.ย. 10, 05:10
ประมวลจดหมายของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ราชทูตองค์แรกของไทยประจำทวีปยุโรป
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย  พิมพ์ ๒๕๓๔

หน้า ๑๒๔ - ๑๒๕



29 August 1884

กราบทูล กรมหมื่นเทววงษ์ ฯ

     ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานโทรเลขฝ่าลอองพระบาท   ซึ่งทรงมีประทานออกมาวันนี้
มีความข้างต้นว่าด้วย   เรื่องไอ้สำอาง  รายที่อีแฟนนี(ไอ้และอี  เป็นคำนำหน้าของนักโทษผู้ต้องคดี/นักอ่าน)     
เอาไปยักยอกไว้ที่ห้างยุเกอร์ ซิกกัมปนี
ซึ่งโปรดเกล้าให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดแจงชำระเสียให้เสรจที่กรุงปารีส     
อย่าให้ต้องส่งความเข้าไปชำระที่กรุงเทพ ฯ นั้น     
ได้ทราบเกล้าทุกประการแล้ว

     การเรื่องนี้  ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลมาในเมลวันที่ ๒๒ เดือนนี้แล้วว่า   
มองซิเออร์มาเลิบปฎิเสศหมด       ว่ามิศเตอร์ซิกเปนผู้รู้แต่ผู้เดียว     
แลมิศเตอร์ซิกเอง  ก็ไม่ยอมที่จะใช้เงินที่ปารีศ         จะขอไปชำระกันที่กรุงเทพ .................
ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าว่า  การนั้นก็จำเปนไปตกลงกันที่กรุงเทพ
เพราะยุเกอร์เปนหัวหน้าก็อยู่กรุงเทพ         
ที่เขาจะขอให้ไปเสร็จกันที่กรุงเทพ ฯ นั้น  ก็เป็น ธรรมดาอยู่แล้ว

มิศเตอร์ซิกมาพูดไม่แข็งแรงอย่างใด
เปนแต่ว่า       ใคร ๆ บ้างก็ต้องคิดทำอย่างนั้น         เพราะสงสารกับบุตรผู้ตาย

แต่เงินรายนี้  เขามิได้ปฎิเสธว่าไม่ใช่เงินหลวง (ราย ๒๔๐๐๐ เหรียญ)

ถ้าใครมีใบรับไปให้เขา ๆ ก็จะให้กับผู้นั้น




12 September 1884
กราบทูลกรมหมื่นเทววงษ์ ฯ

       ด้วยเรื่องแฟนนีนั้น     ข้าพระพุทธเจ้ามีความเสียใจเป็นล้นเกล้า ฯ  ที่การล่วงเลยไปเสียแล้ว
หาได้ทราบเกล้า ฯ ตามพระดำริห์ที่จะให้อลุ่มอล่วยตนถึงกับไม่ได้เงินก็ไม่เปนไร
คิดด้วยเกล้าว่าเปนโอกาสอันใหญ่ที่จะได้พระราชทรัพย์คืน

     แต่การเรื่องนี้  มิศเตอร์ซิก  ก็ได้รับอยู่ว่า  มีเงินของเกาเวอนเมนต์อยู่ที่เขาจริง
จะเอาเมื่อใดเขาก็จะให้
ถ้าแฟนนีไม่อ้างว่าเปนของเขาแล้ว  เกาเวอนเมนต์ทำใบรับไปให้เวลาใด   ก็จะให้เวลานั้น
จะให้แล้วกันที่นอกนั้นเขาไม่ยอม
เพราะการเรื่องนี้เกิดขึ้นที่กรุงเทพ   แลยูเกอร์อยู่ในกรุงเทพด้วย
เขาขอไปทำกันที่กรุงเทพ

     แต่เงินรายอื่น ๆ นั้น    ไม่รับออกมาตรง ๆ ว่า เกาเวอนเมนต์ได้ไปหมดแล้ว

     การเรื่องนี้      จำเปนต้องไปแล้วกันที่กรุงเทพ       ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้สำเนาบาญชีรับเงิน
แลกอเรศปอนเดนซ์ฉบับเดิมซึ่งแฟนนีมามอบให้ไว้ทูลเกล้าถวายพร้อมกับหนังสือทั้งปวงด้วยแล้ว

     ควรมิควรสุดแล้วแต่จะโปรดเกล้า

     หนังสือเขียนกรุงปารีศ ..................


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 เม.ย. 10, 05:51
วันที่ ๒๖ เซบเตมเบอร์  คฤสตศักราช ๑๘๘๔

ทูล กรมหมื่นเทวะวงษ์


   (กล่าวถึงเงินสำอางที่มีอยู่กับห้าง มาเลิบยุเลียน)


     อนึ่งแฟนนีได้มาพูดขอให้ข้าพระพุทธเจ้า       ส่งตัวแลบุตรเข้าไปกรุงเทพ ฯ
ว่าตัวและบุตรเปนไทย      ข้าพระพุทธเข้าต้องเปนธุระ

     ข้าพระพุทธเจ้าได้ตอบว่า       บุตรสำอางทั้งสองนั้น        ข้าพระพุทธเจ้ารับส่งกรุงเทพ ฯ ได้

แต่ตัวแฟนนีกับบุตรของเขาแลอุ่นคนใช้ที่มาด้วยนั้น      ข้าพระพุทธเจ้ารับส่งไม่ได้
ด้วยยังไม่ทราบแน่ว่าเกาเวนเมนต์อังกฤษจะว่าเขาเปนไทยหรือไม่            ถ้าแฟนนีได้หนังสือสำคัญมาว่า
ตัวเธอมิใช่สับเยกต์อังกฤษแล้ว              ข้าพระพุทธเจ้าจะส่งเปนคนไทย

แฟนนีให้ข้าพระพุทธเจ้า  มีหนังสือไปถามที่เกาเวอนเมต์อังกฤษ
แต่ข้าพระพุทธเจ้าบอกว่ามิใช่ธุระกงการของข้าพระพุทธเจ้า
เขาต้องถามตัวเขาเองถึงจะถูก
มิฉะนั้นต้องถามราชทูตที่ลอนดอน


     ครั้นไม่ตกลงกันแล้ว      แฟนนีจะขอยืมเงินทดลองใช้       ว่ากลับกรุงเทพ ฯ แล้ว         จะส่งเงินมาใช้
และขอให้ข้าพระพุทธเจ้ามีหนังสือมากราบทูลให้ฝ่าพระบาททรงทราบว่า         เขาคิดจะมากรุงเทพ
ตั้งใจจะมาพึ่งพระบารมี          ข้าพระพุทธเจ้าก็เฉยเสียทั้งสองอย่าง
แต่นั้นมาก็หายกวนไป


     แต่บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ความว่า      แฟนนีจะกลับกรุงเทพ       ในอาทิตย์หน้านี้
จะพาบุตรคนเล็กกับหญิงคนใช้กลับเข้าไป

แต่บุตรสำอาง ๒ ตนนั้น     จะให้อยู่สกูลไปก่อน


ข้าพระพุทธเจ้ามีความรังเกียจเปนล้นเกล้า ฯ  ที่แฟนนีจะกลับเข้ามากรุงเทพ
ด้วยเป็นคนสอพลอประจบประแจงช่างพูดนัก

เหนด้วยเกล้า ฯ จะมาก่อความให้ได้ก็ตามต่อไป

แต่ตัวเขานั้นก็ต้องจำใจกลับกรุงเทพ ฯ  ด้วยสิ้นริดสิ้นทุนอยู่ไม่ได้ต่อไปแล้ว
เงินทองที่มีมาเท่าใด      ก็ทำฉิบหายด้วยการเผอเรอเสียหมด

     ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ขอเดชะ





(หนังสือเล่มนี้ ราคาเต็ม ๑๒๐ บาท
ตะครุบมาในราคา ๘๐ บาท  ถือว่าไม่ถูกไม่แพง
อ่านได้หลายครั้งยังไม่เบื่อ)


เรื่องราวต่อมาของแฟนนี  ไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถืออ้างอิงได้

ชีวิตจริง....บางที  ยิ่งกว่านวนิยาย


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 เม.ย. 10, 09:10

พระราชหัตถ์เลขา ถึง เสด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ (หน้า ๘๓๕ - ๘๔๑ ใน หนังสือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)  มีว่า

     "ลูกสาวสองคนนี้  คนต่างประเทศไม่มีใครนับถือเลย
ไม่มีใครเอาเป็นภรรยาเป็นแน่

ไปมานอนค้างอยู่ในวังจนคนพูดว่ากงสุลถวายวังหน้าก็มีมาแต่ก่อน  
แต่พูดกันแต่ไทย ๆ  คนฝรั่งไม่พูด

มาในครั้งนี้เขาว่าเมื่อไปกาญจนบุรีนี้ออกหน้ามาก
ไปตามเสด็จวังหน้านั่งที่ไหนก็นั่งเคียงกัน

แลในบางกอกก็มีเถ้าแก่รับส่งเป็นเวลาขึ้นไปนอนวัง

ประทานเข้าของแต่งตัวมากนัก


แต่คำที่คนฝรั่งพูดกันนั้นเป็นการเยาะเย้ยกันมาก
ด้วยเขาไม่นับถือในตัวผู้หญิง
และก็ผิดธรรมเนียมในศาสนาเขามาก"

มีอีกตอนที่น่าสนใจ

....มีผู้ที่ควรจะเชื่อได้ ทราบความมาว่าเขากะสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นแน่ว่าหม่อมฉันคงจะตายในเร็ว ๆ นี้เป็นแน่ ด้วยผอมนัก วังหน้าคงได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ถ้าวังหน้าได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้วเหมือนกับลูกเขา ๆ สงสารจะต้องอุปถ้มภ์ช่วยว่าการงานทุกอย่าง ลูกเขานั้นคนใหญ่ที่ไปเรียนหนังสือเมืองนอกคนเดียวเขาจะให้เป็นฝรั่ง แต่ลูกนอกนั้นตามแต่ภรรยาเขาจะให้มีผัวไทยก็ตาม สมเด็จเจ้าพระยาฯ พลอยเห็นจริงด้วย ได้บอกมอบฝากบ้านเมืองถ้าสิ้นท่านแล้ว วังหน้าจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้เขาช่วยทะนุบำรุงบ้านเมือง และฝากบุตรหลานของท่านด้วยเถิด การเป็นดังนี้สมกับคำที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ พูดอยู่เสมอว่า หม่อมฉันคงตายในปีนี้ ๆ หลายปีมาแล้ว ว่าวังหน้าคงมาเป็นเจ้า คำนี้ท่านพูดอยู่ดัง ๆ กับบุตรหลานนั้นก็ให้มาฝากตัวอยู่ที่กงสุลอังกฤษจริง เป็นการสมกับที่คำพูด แต่คำที่ฝ่ายภรรยามิสเตอร์น็อกซ์กงสุลพูดนั้นว่า ถ้าวังหน้าเป็นเจ้าแล้ว ลูกสาวจะเป็นสมเด็จพระนาง ผัวจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถ้ามีหลานจะให้เป็นเจ้าแผ่นดินต่อไปด้วย.....


พระราชหัตถเลขานี้บ่งบอกความขัดแย้งระหว่างวังหลวงและวังหน้าโดยมีนายน็อกซ์และสมเด็จเจ้าพระยาฯสังกัดอยู่ฝ่ายหลัง

ข้อสังเกตอีกขัอหนึ่งคือ

คุณปรางเธอใฝ่สูงอยู่มิใช่น้อย

 ;)


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 เม.ย. 10, 10:30
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑
หน้า ๑๑๔   วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๓๒๒        
บันทึกไว้


         "เวลายามหนึ่ง       สั่งให้จำไอ้สำอาง ปรีชา ๕ ประการเต็มที่

เวลาสองยาม  เจ้าพระยามหินธร   พระยามหามนตรี   พระยารองเมือง   และนายพธามรงค์ทหาร
เอาตัวไอ้สำอางไปออกประตูรัตนพิศาล  แลประตูสุนทรทิศ   พาไปออกประตูลงท่าพระ

ลงเรือหาญหักศัตรู

เวลาออกเรือยิงปืนหาญหักศัตรู  ต่อสู้ไพรีทั้งสองลำ   กับเรือราชสีห์ลำหนึ่ง

ผู้ที่ไปนั้น   เจ้าพระยามหินทร   พระยารองเมือง   พระพิเรนทรเทพ   จมื่นวิไชยยุทธ   พระศักดิเสนี
หลวงสุริยามาตย์   นายพธำรงค์   ตำรวจ  ทหาร มาก


เมื่อลงเรือ  เจ้าพระยามหินธร  พระยารองเมืองขัดดาบด้วย

มีข้อมูลเพิ่มเติมจากจดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ (หรุ่น) เกี่ยวกับวันประหารพระปรีชากลการดังนี้

ปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๔๑ ณวัน ๕๕ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมงเศษ จับนายสำอางเปนที่พระปรีชา ลงเหล็กจำไว้ณคลังวิเศษ ว่าฉ้อเงินฉ้อทองหลวง ว่าเปนขบถ ณวัน ๗๑ ค่ำ เพลา ๑๑ ทุ่มเอานายสำอางลง เรือไฟไปเมืองประจิม ณวัน ๒๑ ค่ำ ถึงเมืองประจิมเพลาเช้า ๔ โมง เพลาบ่าย ๔ โมงสำเร็จโทษนายสำอาง ณวัน ๔๑ ค่ำ เพลา ๔ ทุ่มเศษเรือไฟมาถึง กรุงเทพ ฯ

เรื่องปีและเวลาพอเข้าใจ แต่เรื่องวันนี้ต้องให้คุณหลวงเล็กช่วยอธิบายว่ามีรหัสในการตีความอย่างไร

อ่านจากประวัติพระปรีชาฯ ณ วันสำเร็จโทษ ๒๑ ค่ำ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๔๑ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๒

 8)


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 เม.ย. 10, 10:52
จดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ (หรุ่น) บันทึกได้กระชับมาก

ของแถม

บันทีกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์วังหน้า

ณวัน ๓๑ ค่ำ รุ่งขึ้นข้าราชการต้องนอนประจำซองทุกกรม ณวัน ๖๑ ค่ำ กรมพระราชวังหนีเพลา ๘ ทุ่ม ออกจากวัง ไปอยู่กับนายห้างที่ ๒ กงสุลอังกฤษ ณวัน ๗๑ ค่ำ สมเด็จเจ้าพระยาให้เจ้าพระยาสุรวงษ์ไปเชิญเสด็จมาณจวน จึงเชิญให้เสด็จกลับวังก็ไม่กลับ ณวัน ๑๑ ค่ำ วังหลวงมีลายพระหัดถ์เชิญให้กลับก็หากลับไม่ ณวัน ๒๑ ค่ำ จึงประชุมข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันว่า ทิ้งราชสมบัติไปอยู่กับกงสุล จะชอบจะผิดประการใดให้ทำจดหมายไปยื่น ณวัน ๓๑ ค่ำ มีลายพระหัดถ์ออกมาว่าที่จะยื่น นั้นให้งดไว้ จะเชิญเสด็จกลับ ตกลงกันจะกลับ

 ::)


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 เม.ย. 10, 11:27
รองอำมาตย์โท หลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ เอนกบุณย์) ได้บันทึกเหตุการณ์ก่อนการประหารชีวิตพระปรีชากลการให้เราทราบ ดังนี้

...พระปรีชาฯ เอาผ้าขึ้นเช็ดหน้า แล้วทิ้งลงดิน พูดออกมาอย่างน่าสงสารว่า โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่ง ตัวจึงตาย...

 :(



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 เม.ย. 10, 13:27
ค้นเจอพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ เกี่ยวกับแฟนนี่  ฉบับหนึ่ง  แต่ยังไม่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่ออธิบายว่า  แฟนนี่ มาเกี่ยวข้องอะไรกับพวกจีนอั้งยี่  ได้อย่างไร?   




ที่   ๒๔/๕๕๔
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

                
วันที่   ๑๐   กุมภาพันธ์   รัตนโกสินทร  ศก ๒๘ ๑๑๔

ถึง   กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์

        ด้วยได้รับหนังสือเธอที่   ๔๐/๒๖๓๕๗   ลลงวันวานนี้    ซึ่งว่าด้วยเรื่องแฟนนียื่นหนังสือขออนุญาตประชุมพวกจีนเข้าอั้งยี่     เธอได้ตอบไปไม่ยอมให้ประชุมการนี้    ส่งสำเนาหนังสือแฟนนีมีมาและที่เธอตอบไปมาให้ดูด้วยนั้น   ได้ทราบแล้ว   เห็นว่าตามที่เธอทำนี้ถูกต้องแล้ว

สยามินทร



หรือว่า แฟนนีในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ จะไม่ใช่ แฟนนี่ นอกซ์ ??? ???


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 เม.ย. 10, 14:20
แฟนนี่เดินทางออกจากเมืองไทยหลังการเสียชีวิตของสามีเพียง ๒ วันคือในวันพุธที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๒ โดยนำสองพี่น้องลูกภรรยาเก่าของพระปรีชาฯไปด้วย เมื่อกลับมาเมืองไทยสองพี่น้องอายุประมาณ ๑๗ ปี ดังนั้นแฟนนี่น่าจะจากเมืองไทยไม่เกิน ๑๖ ปี ราว พ.ศ. ๒๔๓๘ = ร.ศ. ๑๑๔

หมอวิบูล วิจิตรวาทการได้บรรยายการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ของแฟนนี่ไว้ว่า

แฟนนี่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ทำงานสังคมช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบเคราะห์กรรมถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งกดขี่ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยและอังกฤษ ชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวย เจ้านายและชาวบ้านพลเมือง โดยมีจุดหมายให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวต้องการแก้ไขความไม่ยุติธรรมในระบบสังคมแห่งกรุงสยาม จนกระทั่งวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี จึงตายอย่างเงียบ ๆ โดยไม่ผู้ใดสนใจเหลียวแล

แฟนนี่คงมีโอกาสได้สัมผัสพวกอั้งยี่บ้างหรอก

 8)



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 10, 14:26
ใครมีโอกาสเห็นบทความของแฟนนี่บ้างไหมหนอ?


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 เม.ย. 10, 14:29

มีข้อมูลเพิ่มเติมจากจดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ (หรุ่น) เกี่ยวกับวันประหารพระปรีชากลการดังนี้

ปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๔๑ ณวัน ๕๕ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมงเศษ จับนายสำอางเปนที่พระปรีชา ลงเหล็กจำไว้ณคลังวิเศษ ว่าฉ้อเงินฉ้อทองหลวง ว่าเปนขบถ ณวัน ๗๑ ค่ำ เพลา ๑๑ ทุ่มเอานายสำอางลง เรือไฟไปเมืองประจิม ณวัน ๒๑ ค่ำ ถึงเมืองประจิมเพลาเช้า ๔ โมง เพลาบ่าย ๔ โมงสำเร็จโทษนายสำอาง ณวัน ๔๑ ค่ำ เพลา ๔ ทุ่มเศษเรือไฟมาถึง กรุงเทพ ฯ

เรื่องปีและเวลาพอเข้าใจ แต่เรื่องวันนี้ต้องให้คุณหลวงเล็กช่วยอธิบายว่ามีรหัสในการตีความอย่างไร
 
อ่านจากประวัติพระปรีชาฯ ณ วันสำเร็จโทษ ๒๑ ค่ำ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๔๑ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๒

 8)

ถ้าอ่านตามที่คุณเพ็ญไปคัดลอกมาอย่างนี้   บอกได้คำเดียวคือ งง   เพราะเลขวัน  ข้างขึ้นข้างแรม และเดือนจันทรคติ ดูไม่ออกเลย   เป็นต้นฉบับที่ใช้ยาก   ต้องเอาฉบับพิมพ์มาสอบ  ถึงจะอ่านรู้เรื่อง

ขอปรับแก้เป็น  


ปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๔๑ ณวัน ๕ฯ๕ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมงเศษ จับนายสำอางเปนที่พระปรีชา ลงเหล็กจำไว้ณคลังวิเศษ ว่าฉ้อเงินฉ้อทองหลวง ว่าเปนขบถ ณวัน ๗ฯ๑ ค่ำ เพลา ๑๑ ทุ่มเอานายสำอางลง เรือไฟไปเมืองประจิม ณวัน ๒ฯ๑ ค่ำ ถึงเมืองประจิมเพลาเช้า ๔ โมง เพลาบ่าย ๔ โมงสำเร็จโทษนายสำอาง ณวัน ๔ฯ๑ ค่ำ เพลา ๔ ทุ่มเศษเรือไฟมาถึง กรุงเทพ ฯ


ณวัน ๕ฯ๕ ค่ำ ปีเถาะ  ยัง จ.ศ. ๑๒๔๐ (วัน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๒๒)  เพลาบ่าย ๔ โมงเศษ จับนายสำอางเปนที่พระปรีชา ลงเหล็กจำไว้ณคลังวิเศษ ว่าฉ้อเงินฉ้อทองหลวง ว่าเปนขบถ ตรงกันกับข้อความในพระราชกิจรายวัน  ว่า  "...ตำรวจไปหาตัวพระยากระสาปน์พระปรีชาเข้ามาในวัง..."

ณวัน ๗ฯ๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๑ (วัน ๗  ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑ ตรงกับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๒๒ )  เพลา ๑๑ ทุ่มเอานายสำอางลง เรือไฟไปเมืองประจิม ปีเถาะ   ตรงกับความในพระราชกิจรายวัน

ณวัน ๒ฯ๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๑ (วัน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑  ตรงกับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๒๒) ถึงเมืองประจิมเพลาเช้า ๔ โมง เพลาบ่าย ๔ โมงสำเร็จโทษนายสำอาง  ตรงกับข้อความในพระราชกิจรายวันว่า  "...วันนี้ที่เมืองปราจิณประหารชีวิตร  อ้ายสำอาง ปรีชา..."

ณวัน ๔ฯ๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๑ (วัน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑ ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๒๒) เพลา ๔ ทุ่มเศษเรือไฟมาถึง กรุงเทพ ฯ ตรงนี้ไม่ตรงกับในพระราชกิจรายวัน  เข้าใจว่า คนเขียนจดหมายเหตุเขียนตามข้อเท็จจริงที่เรือขุนนางที่ไปจัดการประหารอ้ายสำอางที่ปราจีนกลับมาถึง  แต่พระราชกิจรายวันคงจดวันตามที่ขุนนางที่ไปนั้นได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานการประหารอ้ายสำอางในวันรุ่งขึ้นหลังจากเดินทางกลับมาถึงแล้ว  คือ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๒๒ (วัน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑ จ.ศ.๑๒๔๑)

ฉะนั้นหลักฐานทั้ง ๒ ไม่ขัดกันแต่อย่างใด  ใช้ได้ทั้งสองเล่ม  (เอาไดอะรี่ปกหนังไปคืนพี่ที่ดูแลจัดเก็บก่อนได้) ;D


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 เม.ย. 10, 14:30
เรื่องคดีพระปรีชากลการ  ยังมีเรื่องที่นักอ่านทั้งปวงหาอ่านศึกษาเพิ่มเติมเพิ่มเติมได้อีกมาก



สำอางไม่ได้ตายเพราะมีเมียฝรั่ง  สำอางตายเพราะความโลภของตนและละเมิดกฎหมายไทย ฆ่าคน

แฟนนีต่างหากขาดทุน  หาสามีได้คนหนึ่งก็อยู่กันได้เพียงสามเดือน
กุหลาบอังกฤษปนมอญก็กลีบกระจาย     วิ่งเก็บสมบัติเสียเหนื่อย




สกุลอมาตยกุลสายกสาปน์ก็ล่มสลายลงในครั้งนี้

ผู้ที่พิมพ์กฎหมายเล่มแรกของประเทศสยามก็โดนริบราชบาตร

ประวัติศาสตร์และรูปถ่ายรุ่นแรกของประเทศไทยก็ต้องระบาด   หายไปเข้าตู้ใครก็ไม่มีทางทราบ

อ้างอิง  จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน จุลศักราช ๑๒๔๑ (ที่หาอ่านยากเพราะไม่ได้พิมพ์ตั้งนาน)  หน้า ๑๑๕
"พระยามหามนตรีถวายบาญชี เมีย ทาษ โหมดกระสาปน์ "




นักประวัติศาสตร์บางคนก็บรรยายว่าแฟนนีกับสำอาง   อยู่ด้วยกันปีกว่า  ครองรักอยู่ด้วยกันปีกว่า  หอบท้องไปนอก  เขียนกันได้เมาหมัด
บางรายยังยกย่องว่านอกซ์มีบุญคุณกับเมืองไทย  กำเนิดสูง  การศึกษาสูง
นักอ่านขัดใจมาก เพราะนักผจญโชค  ฝึกทหารหันซ้ายหันขวาน่ะหรือ มีบุญคุณกับประเทศ

ทราบหรืออ่านหรือค้นกันบ้างไหมว่า น้อกซ์ น่ะตีรวนข้าราชการไทยปฎิบัติการในพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขนาดไหน
เจ้าหน้าที่กงสุลสมัยนั้นมาแรง
กูลด์ก็ไม่มีมารยาท  ไพรวี่เคาซิลประชุมกัน  บุกไปฟังได้ลงคอ



แฟนนีคงไม่เคยคิดว่าตนเองต้องลำบากถึงปานนี้  ท้องอ่อนก็ต้องวิ่งตามเรื่องช่วยเหลือนายสำอางที่ติดคุก
หล่อนน่าจะไปปลูกหับเผยอยู่หน้าคุกส่งเสียสามีเหมือนนางแก้วกิริยา


น้อกซ์กลับไปอังกฤษ    ไปด้วยความล้มเหลว        คงโดนเจ้านายผู้บังคับบัญชา เฉือดเฉือนเสียยับเยินแทบจะเดินถนนไม่ได้
นโยบายอังกฤษที่จะเขยิบขยับเข้า โปรเทค เมืองไทย  ก็ต้องปรับแก้กันใหม่
เพราะลูกขาย...หรือลูกเขยเจ้าน้อกซ์ทีเดียว      ซู่ซ่านัก    สร้างเรือซันบีมจนชายชราอยากได้



เรื่องอั้งยี่ในสมัยโน้น  เป็นการเลี้ยงโต๊ะของ ชาวจีน เพื่อช่วยเหลือกันและกันในอาชีพ
แฟนนีคงยื่นมือเข้ามาช่วยบิดาทำงาน
ยังไม่ได้เป็นสมาคมลับอะไร
ข้อมูลของคุณหลวง แปลกมากค่ะ


น้อกซ์น่ะอาสัญเพราะบุตรดังกล่าวมา


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 เม.ย. 10, 14:47

เพราะลูกขาย...หรือลูกเขยเจ้าน้อกซ์ทีเดียว      ซู่ซ่านัก    สร้างเรือซันบีมจนชายชราอยากได้


อะฮ้า...ไม่ธรรมดา   อย่ากล่าวลอยๆ เลยครับ   สำแดงหลักฐานมาให้กระจ่างเถิด ;)


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 เม.ย. 10, 05:21
เรือระบาดนั้นไม่ได้มีลำเดียว    เรือลำอื่นก็มีหลายท่านอยากได้อยู่


เรือของพระปรีชากลการที่สร้างขึ้นที่ปราจีณนั้น ยาวประมาณ ๑๕๐ ฟุต  เป็นที่สนใจมีเอ่ยไว้ในบันทึกราชการ
หลายครั้ง  ชื่อไทย ชื่ออัษฎางค์

เรือลำนี้พระปรีชากลการพาแฟนนี น้อกซ์ไปเที่ยวบางปะอิน  ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ฟุ้งซ่านนัก
หนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มบอกว่าไปเสพมธุจันทร์รส(ภาษาโบราณ)
มีเรื่องที่อ่านมาว่า ที่จริงภรรยาสองคนของพระปรีชากลการอยู่ในเรือด้วย
แต่ถ้าจะคิดอย่างสิวิไลซ์  หญิงสองคนนั้นไม่มีเกียรติหรือวัยหรือสกุลสูงพอที่จะเป็นชาเปอโรนของธิดากงสุล


พระปรีชากลการ คงอยากมี ภรรยาที่สาวสวยและเด่นดัง ธิดาของผู้มีอำนาจ  แถมเก๋ เพราะเป็นแหม่ม

เรื่องเปียนโนที่คุณนายแฟนนีเธอดีดกระหึ่มอยู่ในเรือนไม้นั้น  นักอ่านสงสัยว่าเล่นเพลงประเภทไหน
สหายนักอ่านที่ตอนนี้ สพายย่ามหนังสือร่วมยุคติดตัว     หัวเราะขบขันว่าสนใจอะไรมาก
พ่อเธอคงซื้อให้  และหามิชชันนารีมาสอน


นักอ่านผู้ได้รับการสั่งสอนอบรมมาจากชมรมนักอ่านมหากาฬ(แปลว่าอ่านมาเยอะไม่ได้พาดพิงถึงสีผิว) ว่า ถ้าไม่มีหลักฐานอย่าเชื่อ
ไม่เคยเห็นที่ไหนว่า แฟนนีไปเรียนที่อังกฤษ
ตำแหน่งกงสุล เยเนอราลนั้นก็มิใช่ว่ารุ่มรวย  มรดกนั้นคงเป็นมรโกร๋น เพราะไม่มีมรดก
ไม่เห็นมีการเลหลังเปียนโนที่ไหนสมัยนู้น

(เมื่อคุณหญิงของอาลาบาสเตอร์ เลหลังสมบัติ เธอบอกขายกระทั่งกระป๋องน้ำในสวน
อ้างอิง สยามไสมย ไม่เล่มใดก็เล่มหนึ่ง มี ๔ เล่มเอง)


มีคำให้การของภรรยาคนหนึ่งของพระปรีชากลการว่า  พระปรีชากลการกับแฟนนีรักกันที่ปราจิณ  พี่น้องก็ถูกกัน
(อ่านมาจากเล่มอื่นว่า    ตอนนั้นนอกซ์พาลูกไปเที่ยวและพักอยู่กับพระปรีชากลการ  ถ้าจำไม่ผิดเป็นเวลาสองอาทิตย์)




บันทึกราชการมีอยู่สั้นๆว่า  ทรงถามถึงเรือระบาด  ปรากฏว่าท่านผู้ใหญ่มาขอยืมไปใช้แล้ว



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 เม.ย. 10, 05:43
"โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว  เพราะได้เมียฝรั่งตัวจึงตาย............)

อันที่จริงมีต่อไปอีกว่า


"แดดร้อนดังนี้ทำไมจะได้สติ        เมื่อตายแล้ว  เราจะไปอยู่ที่หลังคาแดงโน้น"

หนังสืออนุสรณ์ คุณหลวงบำรุงรัฐนิการ ๒๔๘๓   ที่คุณณัฐวุฒิ อ้าง


"คุณพระปรีชากลการ  พูดแล้วสักครู่หนึ่ง  ก็เผอิญมีก้อนเมฆลอยมาบังพระอาทิตย์
กระทำให้บริเวณเหล่านั้นร่มครึ้ม  ปราศจากแสงแดด      มีละอองน้ำโปรยลงมาจากอากาศเป็นฝอยเยือกเย็นไปทั่ว"             




สงสัยว่า พระปรีชากลการ นั่งเหยียดขา หรือขัดสมาธิ
แล้วนายตำรวจที่เข้าไปนั่งตักตามข้อบังคับ     คือใคร

คิดไปคิดมา    คงนั่งเหยียดขามากกว่าเพราะจำครบ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 เม.ย. 10, 06:12

       ในปี ๒๔๒๑  เมื่อพระยาภาสกรวงศ์ ราชทูต   จมื่นสราภัยสฤษดิการ เป็นอุปทูต

ออกไปเจรจาการเมืองด้วยเรื่องนี้ ณ ประเทศอังกฤษนั้น

ได้เข้ากราบถวายบังคมลา ณ ออฟฟิศใน  บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานน้ำมหาสังข์และทรงเจิม



ให้ทำพระราชพิธีตัดไม้ข่มนามด้วย


     ไม่ทราบว่าจะไปอ่านได้ที่ใดว่า  ใช้ไม้อะไรในครั้งนั้น





การที่เลือกจมื่นสราภัยนี้ก็เพราะท่านจมื่นคุ้นเคยกับเจ้าคุณภาสดี ราวกับ ควาน

จะเลือกท่านผู้อื่นคงไปโดนท่านเจ้าคุณอาละวาดฟาดงวงและงา

พี่ท่านที่เลี้ยงท่านมาท่านยังไม่เว้น

ความจงรักภักดีไม่เป็นที่สงสัยใด ๆ ทั่งสิ้น



เท่าที่ติดตามงานของท่านมาก็สนใจมาก  เพราะท่านมีบุคคลิกส่วนตัวเด่น

เถียงแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ แช้บ ๆ    ปากก็ร้าย   เหตุผลก็แปลกใหม่สดไม่ซ้ำกัน

เสียดายที่ไม่ได้เก็บงานสำคัญ ๆ ของท่านไว้เท่าที่หวัง

เนื่องจากป่วยจากโรคทรางจั๊บ(ขออภัยที่ใช้ภาษาไม่สุภาพ)



(แฟนนานุแฟนที่อยู่ต่างประเทศ ไม้ต้องโทรศัพท์มาถามความหมาย  แปลว่า  no money  ค่ะ)


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 เม.ย. 10, 09:07
เรือของพระปรีชากลการที่สร้างขึ้นที่ปราจีณนั้น ยาวประมาณ ๑๕๐ ฟุต  เป็นที่สนใจมีเอ่ยไว้ในบันทึกราชการ
หลายครั้ง  ชื่อไทย ชื่ออัษฎางค์

เรือลำนี้พระปรีชากลการพาแฟนนี น้อกซ์ไปเที่ยวบางปะอิน  ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ฟุ้งซ่านนัก
หนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มบอกว่าไปเสพมธุจันทร์รส(ภาษาโบราณ)
มีเรื่องที่อ่านมาว่า ที่จริงภรรยาสองคนของพระปรีชากลการอยู่ในเรือด้วย
แต่ถ้าจะคิดอย่างสิวิไลซ์  หญิงสองคนนั้นไม่มีเกียรติหรือวัยหรือสกุลสูงพอที่จะเป็นชาเปอโรนของธิดากงสุล

...

มีคำให้การของภรรยาคนหนึ่งของพระปรีชากลการว่า  พระปรีชากลการกับแฟนนีรักกันที่ปราจิณ  พี่น้องก็ถูกกัน
(อ่านมาจากเล่มอื่นว่า    ตอนนั้นนอกซ์พาลูกไปเที่ยวและพักอยู่กับพระปรีชากลการ  ถ้าจำไม่ผิดเป็นเวลาสองอาทิตย์)

ในหนังสือลูกท่านหลายเธอ ของคุณศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย พูดถึงเรื่องนี้ในอีกทางหนึ่ง

คุณศันสนีย์เธอว่าทั้งสองชอบกีฬาขี่ม้าเหมือนกัน วันหนึ่งในเวลาเช้า ฝ่ายชายอยู่ในกลุ่มข้าราชบริพารที่ทรงโปรดปราน  ขี่ม้าตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝ่ายหญิงก็ขี่ม้าเล่นกับบิดา แม้ว่าฝ่ายชายจะมีภรรยาและบุตรชายหญิงอยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสรู้จักกันครั้งแรกจึงอยู่ในฐานะมิตรสหาย ต่อมาเมื่อภรรยาฝ่ายชายถึงแก่กรรม ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนจึงพัฒนาเป็นความรักในที่สุด

ส่วนเรื่องเหตุการณ์ที่บางปะอิน คุณศันสนีย์เธอเล่าว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนการแต่งงาน มิใช่ไปเพื่อเสพมธุจันทร์รส (honeymoon) ไม่ ครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๑ พระปรีชากลการได้พาแฟนนี่นั่งเรือส่วนตัวไปในงานแลองพระราชวังบางปะอินและค้างแรมด้วยกันบนเรือ มีบ่าวไพร่อยู่บนเรือด้วยกันหลายคน แต่ทั้งคู่มิได้อยู่ร่วมห้องกัน และกลับกรุงเทพฯในขณะที่งานฉลองยังไม่เสร็จสิ้น โดยไม่ได้กราบบังคมทูลลาให้ทรงทราบ

เหตุการณ์ที่บางปะอินจึงเป็นเหตุให้ทั้งสองต้องจัดงานแต่งงานโดยเร็วเพื่อกันข้อครหา

คุณวันดีมีความเห็นอย่างไรในข้อมูลข้างต้น

 ???


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 เม.ย. 10, 11:17


ดิฉันสนใจ ความทรงจำของนายโหมดมานาน
สนใจก.ศ.ร. ด้วยค่ะ
สุดจะสนใจกฎหมายที่พิมพ์เล่มแรกของประเทศไทย 


หนังสือที่ใช้ในการเล่าเรื่องแฟนนีเหล่านี้     กองเรียบร้อยอยู่ในตู้ฝากระจกเป็นเวลาหลายสิบปี
นำออกมาอ่านเรื่อยๆ
ประสม ผูกพัน เข้าด้วยกัน



ภรรยาคนอื่น ๆ ของ พระปรีชากลการ  ได้ให้การไว้ ในเรื่องคดี

คนหนึ่งให้การว่า นายโหมดและลูก เอาเงินไปฝากมิสซิสไว้  สี่หมื่นชั่ง
คนหนึ่งก็เข้าไปพึ่งแฟนนีในบ้านนอกซ์
คนหนึ่งยังให้การว่านายโหมดและลูกนำเงินที่เหลือจากโรงกสาปน์มาบ้าน
สอบสวนว่าเป็นเงินที่แข็งค้างในเบ้า
เป็นเอกสารทางการทั้งสิ้น
แต่บางเล่มก็หายากสักหน่อย เพราะไม่มีการพิมพ์เพิ่มเติม


คดีประหารพระปรีชากลการนั้น หนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์ลงก่อน
แล้วหนังสือพิมพ์ในอเมริกาเอาไปลง  ตื่นเต้นมาก เพราะอ้างว่า เงินของนายโหมดที่โดนราชบาตรไปนั้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ
ดิฉันไม่กล้าใช้ข้อมูลจากหนังสือนวนิยาย  หรือหนังสือที่ไม่มีอ้างอิง
เพราะดิฉันเป็นเพียงนักอ่าน  ไปอ่านมาจากเล่มอื่น ๆ  ก็ต้องอ้างอิงเต็มที่


ที่จริงชีวิตของแฟนนีนั้น ยังเป็นที่สนใจของชาวโลกอยู่ 
มีผู้คนเขียนจดหมายไปถามนักประพันธ์หรือเว็บของนักประพันธ์ ขอข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ


ดิฉันสนใจในความรักของคนทั้งสองที่โลกรับรู้     ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาเท่าไร สามเดือนหรือหกเดือน
ดูจากวันที่ลูกเกิดก็ได้

พระปรีชาพึ่งแฟนนีมาก  คิดฝากชีวิตไว้กับเธอ      อือม์นี่หนอที่เราเรียกว่า คู่ชีวิต



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 เม.ย. 10, 11:50
คุณนวรัตนเคยนำข้อมูลด้านการเงิน Fanny@Paris มาแสดง

ชีวิตดั่งนิยาย-พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังพระปิยะมหาราช?
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html#11

แฟนนีได้ไปหาหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ที่ปารีสในฐานะอัครราชทูต แล้วไขความลับว่า สามียังมีเงินฝากอยู่ในประเทศอังกฤษอีก ๒ บัญชี ตนเองถอนออกมาไม่ได้ เพราะถูกรัฐบาลไทยอายัตไว้ แต่ถ้าราชทูตมีหนังสือไปแจ้งธนาคารว่ายินยอมให้ถอน ก็คงจะถอนได้ แล้วเอาเงินออกมาแบ่งกัน

ท่านราชทูตจึงรีบเรียกพนักงานมาเป็นพยาน แล้วบันทึกคำให้การของแฟนนี อย่างตรงไปตรงมา หลังจากปรึกษานายธนาคารที่รับฝากเงินไว้ ได้ความว่า ถ้ารัฐบาลไทยทำหนังสือเรียกเงินมา ก็จะจ่ายให้ตามสัญญา จึงทำหนังสือรายงานไปทูลเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และเสนอความเห็นขอพระมหากรุณาธิคุณให้ลูกแฟนนีที่ยังเล็ก ก็โปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชานุญาตให้ตามที่ขอ

มีรูปนี้แถมมาด้วย

รูปเครื่องแต่งกายแฟนซีล้อเลียนนายนอกซ์กับนางปรางนี้ ทรงแต่งในวันฉลองปีใหม่ปี๒๔๑๙ในวัง เมื่อทรงกลับมาเมืองไทยหลังจากเรียนจบใหม่ ๆ

 ;D



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 เม.ย. 10, 12:37
ในหนังสือของคุณณัฐวุฒิ/สมเด็จเจ้าพระยา/ หน้า ๑๐๖๖ - ๑๐๖๙


ร. ที่๒๒/๔๑
ถึงเจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน


       ด้วงกงสุลมาหาฉันวันนี้

.....................................
.....................................


     เขาว่า  ได้มีหนังสือออกไปถึงคอเวอนเมนต์อังกฤษฉบับหนึ่งแล้ว         พรุ่งนี้จะมีไปอีก
จึงมาถามเสียก่อน

การเรื่องนี้เป็นการดูถูกเขาใหญ่นัก       ซึ่งคนทั้งปวง   มาพูดกับฉันว่า  มิสเตอร์นอกซ์อินเตอเฟีย
ไม่ได้นั้นเป็นการไม่ถูก

การเรื่องนี้เขามีอำนาจที่จะอินเตอเฟียได้         เพราะเมืองไทยไม่เป็นเมืองซิวิไลซ์เหมือนเมืองทั้งปวง
ถ้าจะทำโทษแก่คนผิด ๆ  เขาก็อินเตอเฟียได้

เหมือนหนึ่งการในเมืองพม่า  มิสเตอร์นอกซ์เอาหนังสือพิมพ์ให้มิสเตอร์กูลด์อ่าน

หนังสือนั้นเป็นอัลติเมตัม  ซึ่งเรซิเดนซ์อังกฤษยืนต่อคอเวอนเมนต์พะม่า        ที่อ่านนั้นอู้อี้   ไม่ค่อยจะได้ยินถนัด
ให้แปลก็ไม่แปล         อ่านเป็นภาษาอังกฤษ       ในข้อใจความนั้น ๓ ข้อ

หนึ่ง   เรสิเดนต์อังกฤษ  มีอำนาจที่จะอินเตอร์เฟียการในบ้านเมืองได้

หนึ่ง   การที่คอเวอนเมนต์พะม่าจะทำต้องปรึกษาเรสิเดนต์ก่อน

หนึ่ง  เรสิเดนต์มีเวลาที่จะเข้าเฝ้าแอดไวซ์ได้


อ่านไปได้หน่อยหนึ่งก็หยุดเสีย           มิสเตอร์นอกซ์จึงว่า  นี่เป็นการในบ้านเมืองยังอินเตอร์เฟียได้

การครั้งนี้เป็นการอินซัลต์ใหญ่แก่เขาด้วย


คอเวอนเมนต์อังกฤษคงต้องเอาเป็นธุระด้วยเป็นแน่



     ฉันถามว่า  ความประสงค์ของกงสุลเดี๋ยวนี้  จะเอาอย่างไร

     ก็พูดเอะอะไปทีละข้อ       คงความอยู่กับสามข้อ         คือให้ขอโทษให้ชัดเจน

ข้อ ๑        ให้พระปรีชาพ้นโทษ       เป็นขาดตอนในความอินซัลต์เสียชั้นหนึ่ง

ข้อ ๑         ที่จะชำระความต่อไป      ขอให้เลือกตลาการที่เป็นยุติธรรม

ความสามข้อนี้    ถ้าไม่ได้เต็มตามที่ขอ   จะยังเป็นอันไม่พอใจเขา       แล้วบอกว่าอีกสองสามวันเรือรบเห็นจะมาถึง
แลพูดการอื่น ๆ ต่อไปอีกยืดยาวมาก  แต่ไม่เป็นการสำคัญอันใด



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 เม.ย. 10, 12:49
ขอบคุณคุณเพ็ญมากเลยค่ะ

     คิดถึงคุณนวรัตน์ ซี.      ท่านเป็นผู้ที่มีจุดยืนเข็มแข็ง   ให้เหตุผลคล่องแคล่ว

จุดธูป   จุดธูป    จุดธูป      ไหว้ด้วยแฮมเสปนหมูขาดำของคุณน้องเทียนทองผ่องใส

ไวน์ไม่มี (แพง ต้องเก็บสตางค์ไว้ซื้อหนังสือ)


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 เม.ย. 10, 13:23
ลองเปลี่ยนบรรยากาศดูสักหน

สักวาน้องคนงามนามดวงแข
คงเพราะแม่อยากให้เป็นไทยหนา
แต่ดวงจิตพันผูกลูกแอนนา
ฝรั่งจ๋ามีชีวิตจิตสบาย

ส่วนแฟนนี่ไร้ชื่อไทยหมายเป็นหรั่ง
ต้องผิดหวังมีผัวไทยแม่ใจหาย
ที่สำคัญพูดให้ช้ำย้ำก่อนตาย
ชีพต้องวายได้เมียหรั่งนั่งปลงเอย

 ;D



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 เม.ย. 10, 14:07
ร. ที่ ๒๙๔/๔๑

ถึง เจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

     ด้วยพระยาภาษกรวงษ  มี เตเลเกรฟ  มาถึงเจ้าพระยาพระคลัง ๓ ฉบับ   เป็นไซเฟอ ๒ ฉบับ
คำตรง ๑ ฉบับ          ถึงเทวัญ ๒ ฉบับ   ถึงภรรยา ๑  ฉบับ


     ที่ปลายเทเลแกรฟฉบับนี้    ที่ว่า แฟนนีรักษ

คำที่ว่ารักษนี้   ดูในภาษาอังกฤษก็ว่าลอย ๆ     สงสัยว่าคำที่ว่ารักษนี้จะผิดตัว   เมื่อบอกเตเลแกรฟ


     ถ้าคิดไปอย่างหนึ่งว่า        ในการเรื่องที่รักษของแฟนนี คือ  พระปรีชา      หรือการที่แฟนนีรักใคร่กับพระปรีชา
เพราะทำเนียมอังกฤษเขายังไม่รับแมเรช             จะเรียกว่าเป็นผัวแฟนนียังไม่ได้นั้น

ถ้าไปต่อความกับที่ว่าจะไว้จัดต่อทีหลัง   แลจะเอาเป็นโปรเตกชันอังกฤษ  ก็เห็นผิดกับความในข้ออื่น ๆ
ซึ่งว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการของไทยทั้งปวงหมด              แลพระยาภาษก็รู้ได้รู้เสียอยู่

ถ้าเขาจะเอาพระปรีชาเป็นโปรเตกชัน        พระยาภาษคงไม่ว่าแสติสแฟกตอรีเป็นการดีอยู่เปนแน่


มิสเตอร์อาลบาสเตอ  เห็นว่า  คำว่าลอฟนี้เป็นคำผิด
แต่ที่ยังไม่ว่ากล่าวในเวลามีครรภ์นั้น  อังกฤษเคยถืออยู่

แต่คำที่ว่าจะเอาไว้เป็นโปรเตกชันอังกฤษนั้นจะจริง        ด้วยคำที่ในหนังสือว่าไปว่าอยากจะรู้ว่าแฟนนี เป็นสับเยกต์ไหน
เขาจึงคิดอ่านเรื่องนี้ว่า      จะเอาเปนสับเยกต์อังกฤษ     แต่ยังไม่ว่าออกมาก่อน



ความข้อนี้  เป็นแต่พระยาภาษประมาณเห็นเอาเอง           ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่หน่อยหนึ่ง









ตอนติดคุก  พระปรีชากลการก็เขียนจดหมายถึง       แฟนนีรักษ์   เห็นเธอแต่คนเดียว  ขอให้ช่วยเหลือให้เต็มมือหน่อย



                ที่ว่ารักรักนั้นฉันใด


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 เม.ย. 10, 14:20
ลูกสาวสองคนของแหม่มปรางนั้น  ถ้าคิดว่าชีวิต เกียรติยศ และความสุข สามารถแลกกับความรัก

สองสาวก็ขาดทุนย่อยยับ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: tian ที่ 21 เม.ย. 10, 14:53
ขอบคุณคุณเพ็ญมากเลยค่ะ

     คิดถึงคุณนวรัตน์ ซี.      ท่านเป็นผู้ที่มีจุดยืนเข็มแข็ง   ให้เหตุผลคล่องแคล่ว

จุดธูป   จุดธูป    จุดธูป      ไหว้ด้วยแฮมเสปนหมูขาดำของคุณน้องเทียนทองผ่องใส

ไวน์ไม่มี (แพง ต้องเก็บสตางค์ไว้ซื้อหนังสือ)

อย่าพูดถึงซิคะ หิว


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 เม.ย. 10, 15:02
แหม่มปราง ?

 ;D

สำหรับแฟนนี่อาจเป็นดั่งที่คุณเทาชมพูว่า

แต่สำหรับดวงแขแล้ว ดูเธอมีความสุขกับหลุยส์มาก

จดหมายของเอวิสพี่สาวของหลุยส์ถึงเพื่อนคนหนึ่ง

...วานนี้ แม่ (แหม่มแอนนา) ได้รับจดหมายจากลูกสะใภ้ทางกรุงสยาม เล่ามาว่าลูกน้อยของเขาเกือบจะเสียชีวิตเพราะปอดบวม เด็กป่วยมาหกอาทิตย์แล้ว แต่ตอนนี้อาการเริ่มดีขึ้น หลุยส์เห่อลูกมาก เขาชอบเปลี่ยนเสื้อผ้าให้และเอาแกเข้านอน ว่างเมื่อไรเป็นต้องมาขลุกอยู่กับลูกซึ่งได้ชื่อแล้วว่า โทมัส จอร์จ ตามชื่อของคุณตา คือกงสุลน็อกซ์

เรามีภาพประทับใจจากจดหมายของแคโรลีนว่า เธอคงเป็นสตรีที่อ่อนโยนน่าคบหา ภาษาอังกฤษของเธอก็ไม่มีที่ติ ทั้ง ๆ ที่เกิดและโตในสยาม....

จดหมายฉบับนี้มีอีกข่าวสำคัญอีกข่าวหนึ่งบันทึกไว้ด้วย คือ ข่าวการถึงแก่กรรมของแม่ปราง

งานศพของแม่ปรางเป็นไปอย่างสมเกียรติ แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่คาดฝัน ทำให้แคโรลีนทั้งโกรธและเสียใจ คือพวกนักเลงจีนยกพวกมาตีกันในงาน

ภายหลังงานศพของแม่ปราง หลุยส์ได้พาดวงแข-แคโรลีนมาเชียงใหม่ ผู้คนได้พบเห็นความ "สวีท" ระหว่างหนุ่มสาวคู่นี้จนเจนตา

แล้วความตายได้พรากดวงแขจากหลุยส์ เธอเสียชีวิตด้วยโรคไต ร่างของเธอถูกฝังไว้ ณ สุสานโปรเตสแตนต์ ภายใต้แท่งหินอ่อนมีคำจารึก ดังนี้

Caroline Isabella Leonowens
Born 26 May 1857. Died 17 May 1893.
Blessed are they that mourn for they shall be comforted.
Bleesed are the poor in spirit for they shall see God.

 :(

จาก ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ - จิระนันท์ พิตรปรีชา เรียบเรียงจาก Louis and The King of Siam - W.S.Bristowe

 



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 10, 15:25
ยังสะดุดใจกับเรื่องชายหนุ่มของแฟนนี่    นอกจากนายดี ที่ปรากฏอยู่ในนิยายอิงชีวประวัติแล้ว  ก็มีพระนามพระองค์เจ้ากมลาศ  แทรกเข้ามาด้วย
เคยพูดถึงเจ้านายพระองค์นี้บ้างในเรือนไทย แต่จำรายละเอียดไม่ได้  ไปค้นก็ได้คำตอบว่าเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   พูดอีกทีคือเป็นพระราชอนุชาในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระนามเต็มว่าพระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร   ทรงกำกับกรมช่างหล่อ
ประสูติ จ.ศ. ๑๒๑๘    พระราชหัตถเลขาที่กล่าวถึงการแต่งงานกับแฟนนี่ลงว่าปี จ.ศ. ๑๒๔๑   พระชนม์ก็ ๒๓ กำลังเป็นหนุ่มพอดี

อ้างถึง
แล้วแกทูลเรื่องให้ทราบว่า  มิศนอกซ์จะคิดแก้การเรื่องนี้
ด้วยจะให้พระองค์กมลาศแต่งงานกับลูกสาวคนเล็ก       จะให้ขออนุญาตก่อน
สมเด็จเจ้าพระยาท่านให้ทูลว่า    ควรจะยอมให้แต่ง

ข้อความนี้ ชวนให้คิดว่าคนเจ้ากี้เจ้าการจับคู่ให้ลูกสาว คือกงสุลน็อกซ์ มากกว่าจะเป็นพระประสงค์ของพระองค์เจ้ากมลาสเอง   
มิฉะนั้นท่านก็คงกราบถวายบังคมทูลเองเสียมากกว่า     เพราะท่านก็ไม่ใช่ใคร เป็นพระราชอนุชา   มีโอกาสจะทูลเป็นส่วนพระองค์ได้ง่าย
ตัวพระองค์เจ้ากมลาสอาจจะเอออวยไม่ขัดข้อง  หรือถูกจับแต่งก็ไม่รู้ละ   แต่ถ้อยคำนี้เหมือนกงสุลน็อกซ์จะเจ้ากี้เจ้าการออกหน้า   ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาก็เหมือนจะสนับสนุนให้ท้ายด้วย
ถ้างั้นเรื่องนายดี อาจจะคลาดเคลื่อน   เป็นพระองค์เจ้ากมลาสก็เป็นได้นะคะ

คำถามที่เกิดขึ้นคือ  มันก็ดูแย้งๆกับพระราชหัตถเลขาชอบกล

พระราชหัตถ์เลขา ถึง เสด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ (หน้า ๘๓๕ - ๘๔๑ ใน หนังสือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)  มีว่า

     "ลูกสาวสองคนนี้  คนต่างประเทศไม่มีใครนับถือเลย  ไม่มีใครเอาเป็นภรรยาเป็นแน่
ไปมานอนค้างอยู่ในวังจนคนพูดว่า กงสุลถวายวังหน้าก็มีมาแต่ก่อน    แต่พูดกันแต่ไทย ๆ  คนฝรั่งไม่พูด
มาในครั้งนี้เขาว่าเมื่อไปกาญจนบุรีนี้ออกหน้ามาก   ไปตามเสด็จวังหน้านั่งที่ไหนก็นั่งเคียงกัน
แลในบางกอกก็มีเถ้าแก่รับส่งเป็นเวลาขึ้นไปนอนวัง   ประทานเข้าของแต่งตัวมากนัก
แต่คำที่คนฝรั่งพูดกันนั้นเป็นการเยาะเย้ยกันมาก      ด้วยเขาไม่นับถือในตัวผู้หญิง
และก็ผิดธรรมเนียมในศาสนาเขามาก"

พี่น้องสองสาวโดนติฉินนินทา รวมกันไปทั้งสองคน  ไม่ได้แยกระหว่างคาโรลีนกับแฟนนี่     ไม่รู้ว่าคนไหนที่กงสุลถูกข้อหาว่านำขึ้นถวายวังหน้า   ตามเสด็จวังหน้าที่ไหนก็นั่งเคียงกัน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อสองสาวยังเป็นโสดอยู่

ก็ยังสงสัยว่า ในเมื่ออื้อฉาวขนาดนี้แล้ว พระองค์เจ้ากมลาสท่านจะรับเป็นหม่อมออกหน้าทีเดียวหรือ
แล้วน็อกซ์เอง  ถ้าคิดถวายลูกสาวให้วังหน้า เพราะตัวเองจะได้เป็นใหญ่เป็นโตแน่ๆ  จะเลี้ยวออกนอกแผนไปจัดการแต่งกับพระองค์เจ้ากมลาสทำไม      เจ้านายองค์นี้ก็ทรงกำกับกรมช่างหล่อ  ไม่ใช่กำกับกรมอะไรที่มีอำนาจทางการปกครอง


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 10, 15:27
พระรูปพระองค์เจ้ากมลาส  กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร จากวิกิ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 10, 17:19

ได้กลิ่นเครื่องเซ่นมีคนมาจุดธูปเรียก เลยจำต้องเข้ามาเยี่ยมสักหน่อย ได้รูปติดมือมาฝากด้วยหนึ่งรูปครับ

แถวนั่งขวาสุด กงสุลอังกฤษ โธมัส ยอร์ช น๊อกซ์  หรือที่คนวังหน้าเรียกมิศหนอก พ่อของแฟนนี่และแคโรไลน์ ถ่ายภาพร่วมกับ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่นั่งกลาง ท่านถัดมาคือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวรวงศาธิราชสนิท ส่วนแถวยืนคนกลางคือเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์) สมุหนายก


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 15:33
คุณนวรัตนมาแล้วไปไม่ย้อนกลับ

อธิบายภาพเพิ่มเติม

คนยืนทางซ้าย คือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ( ขำ บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการในกิจการต่างประเทศ นักเขียนพระราชพงศาวดาร

ส่วนคนยืนทางขวาใครทราบบ้างว่าคือใคร

 ???


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 29 เม.ย. 10, 21:07
มิทราบว่าใช่ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)  หรือไม่


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 21:54
รูปนี้ ลงตีพิมพ์ในหนังสือ สกุลบุนนาค  หน้า ๙๓
แถวนั่ง จากซ้ายไปขวา
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท   สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์   กงสุลน็อกซ์
แถวยืน จากซ้ายไปขวา
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ส่วนคนขวาสุดที่เป็นปริศนา
หนังสือระบุว่า "ไม่ทราบนาม"
แต่ดูเค้าโครงหน้า  น่าจะเป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ราชทูตไทยคนแรก    ตำแหน่งสุดท้ายคือสมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ    ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๔๗ ปีเท่านั้นเอง


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 10, 16:50
ขออนุญาตแยกกระทู้ตั้งแต่มีเรื่องพระยามนตรีฯ เข้ามานะคะ    เพราะเรือออกอ่าวอังกฤษ ไกลมิศแฟนนีไปทุกทีแล้ว
ติดตามเรื่องพระยามนตรีสุริยวงศ์ ได้ที่นี่
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3272.15


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 10, 08:42
คุณนวรัตนได้ค้นคว้าทำให้เราทราบว่าเกิดการผิดพลาดครั้งใหญ่

ขอประทานโทษ ฝรั่งในรูปนั้น คำบรรยายบอกว่าคือราชทูตจากปรัสเซีย นายกอนต์ เอวเลนเบิก (Friedrich Albrect zu Eulenburg) ผู้เข้ามากรุงเทพระหว่างวันที่๒๓ พฤศจิกายน คศ ๒๘๑๖ (คุณนวรัตนแก้ไขภาพหลังเป็น ค.ศ. ๑๘๖๑) ถึง ๓๐ มกราคมปีถัดไป ถ่ายร่วมกับเสนาบดีผู้ใหญ่ฝ่ายไทยระหว่างการเยี่ยมคำนับ

เอาละซี ข้อมูลเดิมที่เคยได้มาว่าฝรั่งที่ว่าเป็นนายน๊อกซ์ กงสุลอังกฤษ (รวมทั้งในเวปต่างๆที่ลอกกันต่อๆมาด้วย) เลยสร้างความเพี้ยนกันใหญ่

หนังสือสกุลบุนนาคเห็นทีจะต้องปรับปรุงคำบรรยายใหม่ก็ด้วยหลักฐานนี้แล

 ;D



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 10, 09:01
เพื่อไม่ให้ลงเรือออกอ่าวไปปรัสเซียไกลเกินเรื่องของแฟนนี่แลบิดา ขออนุญาตเสนอเรื่องของ เฟรียดริช อัลเบรชต์ กราฟ ฟริส ซู ออยเลนเบอร์ก” (Friedrich Albrecht Graf Fritz zu Eulenburg) ทูตพิเศษ และอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มของ ปรัสเซีย และในนามของสหภาพเยอรมัน (German Customs Union) กับโทรคมนาคมแรกเข้าสู่สยาม ในรูปของลิงก์ข้างล่างนี้

http://www.torakom.com/article_index.php?sub=article_show&art=190

แต่ดูเถอะครับ รูปนายมิศหนอกอดีตครูผึกแถวทหารวังหน้านี่ก็คล้ายกับท่านทูตปรัสเซียเสียด้วย เพียงแต่เครายาวกว่าหน่อยนึงเท่านั้น

ซ้าย - มิศหนอก  ขวา - ท่านทูตปรัสเซีย


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 10, 21:33
ผมมั่นใจว่าเคยมีหนังสือที่เล่าเรื่องของแฟนนี นีอกซ์อยู่ในบ้านมากกว่าหนึ่งเล่ม แต่ก่อนหน้านี้นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าเรื่องอะไรอยู่ที่ไหน อยู่ๆวันนี้ไปหยิบขึ้นมาโดยบังเอิญ เป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมชื่อ “ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้ แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด” โดยไกรฤกษ์ นานา เป็นรวมเล่มของสารคดีหลายเรื่องหลายบท และมีเรื่องของพระปรีชากลการและเมียแหม่มที่ชื่อแฟนนีนี่อยู่2บท ให้ชื่อว่า “ฟื้นปริศนาคดีประวัติศาสตร์ นางแฟนนี น็อกซ์แก้ต่างความผิดให้พระปรีชากลการ”

ผมจะทะยอยเอารูปประกอบมาลงไว้พอเป็นหนังตัวอย่าง ท่านที่สนใจกรุณาตามไปหาหนังสือดังกล่าวมาอ่านเอาเองแล้วกันนะครับ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 10, 21:37
อาจารย์ไกรฤกษ์ นานาเขียนเล่าว่าไปได้หนังสือเล่มนี้ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนอังกฤษ ชื่อในภาคภาษาไทยคือ “แฟนนีและผู้สำเร็จราชการแห่งสยาม” ในเนื้อเรื่องที่นักประพันธ์ชาวอังกฤษเขียนขึ้นนี้ เป็นเรื่องจริง75เปอร์เซนต์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่อีก25เปอร์เซนต์นั้น เป็นข้อมูลสำคัญที่สุดที่คนอังกฤษไม่รู้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่นางแฟนนีนำไปเล่าให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ฟังในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นอัครราชทูตอยู่ที่ปารีส เพราะหวังว่ารัฐบาลสยามจะสนใจติดตามเงินที่พระปรีชากลการยักยอกหลวงไปลงทุนไว้ในบริษัทฝรั่ง แล้วถูกหุ้นส่วนใช้เล่ห์เหลี่ยมเบียดบังไปเป็นของตนอีกต่อหนึ่ง นางหวังว่าหากนางชี้ช่องให้ทางราชการสามารถติดตามเงินก้อนใหญ่นี้คืนมาได้ นางคงจะได้รับส่วนแบ่งบ้าง

เรื่องดังกล่าวนี้ฝรั่งไม่รู้เพราะเป็นความลับทางราชการอยู่ในหนังสือรายงานที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทูลถวายมายังเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ฝรั่งจึงเขียนเฉพาะเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นราวกับนิยาย พระเอกนางเอกแหวกม่านประเพณีมารักใคร่แต่งงานกัน จึงถูกคู่แข่งทางการเมืองหาเรื่องไปเพ็ดทูลด้วยความริษยา ทำให้พระเอกได้รับพระราชอาญาถึงประหารชีวิตด้วยการถูกตัดคอด้วยดาบ ส่วนนางเอกก็ต้องหนีตายระหกระเหินไปแผ่นดินพ่อ ผู้แม้จะเป็นถึงกงสุลของประเทศอันยิ่งใหญ่อย่างอังกฤษ ก็ยังช่วยชีวิตบุตรเขยไม่ได้


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 10, 21:53
แฟนนีมีน้องสาวร่วมบิดามารดาอีกคนหนึ่งชื่อแคโรไลน์ มีรูปถ่ายซะด้วย เธอผู้นี้แต่งงานกับนายหลุยส์ โธมัส ลีโอโนแวนส์ ลูกชายนางแอนนา
ผมดูรูปของเธอแล้ว ตรงลูกตาน่ากลัวชะมัดทั้งแม่ทั้งลูก
แต่นายหลุยส์คงไม่กลัวมั้ง ตามประวัติหมอนั่นเป็นเพลย์บอยตัวฉกาจ ขนาดมีฮาเร็มอยู่ที่เชียงใหม่แน่ะ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 10, 22:05
จวนของพระปรีชากลการสมัยเป็นเจ้าเมืองปราจีน คุมงานทำเหมืองทองที่ในหลวงรัชกาลที่ห้าทรงเชื่อพระทัยลงทุนให้ทำเป็นเงินมหาศาลอยู่ที่กบินทร์บุรี พระปรีชาเองก็เจ้าชู้ไม่เบาหรอก ก่อนนางแฟนนีก็มีภรรยามาแล้วไม่ต่ำกว่า4คน นางแฟนนีจะมาใช้จวนนี้เป็นเรือนหอได้สักเท่าไรกันเชียว ตามเรื่องว่าแต่งงานกันต้นเดือนมีนาคมพอถึงกลางเดือนพระปรีชาก็ถูกจับแล้ว


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 10, 22:49

เรื่องเกิดที่ปราจิน ก็ต้องไปจบที่ปราจีน

พระปรีชากลการ ถูกนำออกจากที่จองจำในกรุงเทพแต่เช้า ลงเรือล่องไปจนถึงปราจีนบุรีในเวลาบ่ายแก่ๆ และจัดการประหารในเย็นวันนั้น
เมื่อตายแล้ว ชาวบ้านได้ตั้งศาลให้ ใหญ่โตไม่ธรรมดา

ปัจจุบันศาลได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม สถานที่ตั้งกลายเป็นด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรประจำจังหวัด ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรมของปราจีนบุรีบันทึกไว้ว่า
"เจ้าพ่อสำอาง คือ พระปรีชากลการ เดิมชื่อ สำอาง อมาตยกุล เมื่อปี พ.ศ. 2419 ได้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี ได้ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน จังหวัดปราจีนบุรี เช่น การสร้างถนน สถานที่ราชการ อาคารต่างๆ โรงงานเครื่องจักรสำหรับ ทำทอง บูรณะและสร้างอุโบสถวัดหลวงปรีชากูล และถึงแม้ว่าดวงชะตากรรมของท่าน จะต้องโทษทัณฑ์ด้วยการถูกประหารชีวิต แต่ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรีก็ยังเคารพบูชา จนถึงทุกวันนี้"


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 10, 23:17
เมื่อพระปรีชากลการต้องพระราชอาญาถึงประหารนั้น ถูกริบราชบาตร ทรัพย์สินเงินทองต้องตกเป็นของหลวงด้วย รวมทั้งบ้านที่ตนอยู่ในกรุงเทพหลังนี้

อาคารไปรสะนียาคาร เป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศสยามเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426 เดิมคือบ้านของพระปรีชากลการดังกล่าวสร้างเมื่อพ.ศ.2414  ต่อมาในพ.ศ.2525 ถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้า

อาคารหลังปัจจุบันในรูปเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์

ดูจากภาพทั้งสองแล้ว สมควรทึ่งว่าพระปรีชากลการร่ำรวยถึงขนาดนี้ได้อย่างไร นี่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงทรัพย์สินที่นางแฟนนีเปิดเผยกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นเงินสกุลยุโรปอีกหลายหมื่นปอนด์นะครับ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ค. 10, 09:59
อ้างถึง
คุณนวรัตนเคยนำข้อมูลด้านการเงิน Fanny@Paris มาแสดง

ชีวิตดั่งนิยาย-พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังพระปิยะมหาราช?
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html#11

แฟนนีได้ไปหาหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ที่ปารีสในฐานะอัครราชทูต แล้วไขความลับว่า สามียังมีเงินฝากอยู่ในประเทศอังกฤษอีก ๒ บัญชี ตนเองถอนออกมาไม่ได้ เพราะถูกรัฐบาลไทยอายัตไว้ แต่ถ้าราชทูตมีหนังสือไปแจ้งธนาคารว่ายินยอมให้ถอน ก็คงจะถอนได้ แล้วเอาเงินออกมาแบ่งกัน

ท่านราชทูตจึงรีบเรียกพนักงานมาเป็นพยาน แล้วบันทึกคำให้การของแฟนนี อย่างตรงไปตรงมา หลังจากปรึกษานายธนาคารที่รับฝากเงินไว้ ได้ความว่า ถ้ารัฐบาลไทยทำหนังสือเรียกเงินมา ก็จะจ่ายให้ตามสัญญา จึงทำหนังสือรายงานไปทูลเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และเสนอความเห็นขอพระมหากรุณาธิคุณให้ลูกแฟนนีที่ยังเล็ก ก็โปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชานุญาตให้ตามที่ขอ

เรื่องราวข้างบนผมเขียนมาจากการรวบรวมพระประวัติของพระองค์เจ้าปฤศฎางค์ ก่อนได้อ่านหนังสือของอาจารย์ไกรฤกษ์  ใหญ่ๆแล้วก็ไม่มีอะไรผิดหรอกครับ
เรื่องของเรื่องก็คือ พระปรีชากลการ เป็นผู้ที่มีเชื้อสายดี มีความสามารถในเชิงวิศวกรรมเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว ท่านบิดาเป็นนายโรงกระสาปน์พระปรีชาจึงได้ไปช่วยงานที่นั่นด้วย และคงมีข้อมูลอยู่บ้างว่าแหล่งแร่ที่จะมาทำเหรียญในเมืองไทยนั้นมีอยู่ที่ใดบ้าง เมื่อสำรวจแล้วพบว่าแหล่งทองคำที่กบินทร์บุรีน่าจะมีปริมาณพอที่จะลงทุนเปิดเหมืองเป็นเรื่องเป็นราว เอาทองคำมาผลิตเหรียญเป็นสมบัติของแผ่นดินได้ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อตามนั้น จึงโปรดเกล้าให้พระปรีชาไปเป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี เพื่อดำเนินการเปิดเหมืองทองคำดังกล่าว
แต่วันเดือนปีผ่านไป ความสำเร็จมิได้เกิดตามที่ทุกคนหวัง พระปรีชาเบิกเงินหลวงไปแล้ว15500ชั่ง แต่ส่งทองคำได้เพียง110ชั่งเท่านั้น


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ค. 10, 10:04
ผู้ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาสอบสวนคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ระหว่างนั้นก็ยังฟันธงมิได้ว่ามีการกระทำทุจริตจริง ก็เกิดประเด็นขึ้นแทรกซ้อน ไม่ทราบว่าพระปรีชาจะพยายามหาภูมิคุ้มกันตัวหรือเปล่าที่ไปสร้างรักกับนางแฟนนี ลูกสาวนายน้อกซ์ กงสุลใหญ่อังกฤษ ทั้งๆที่ตนเองมีเมียคนไทยตั้งหลายคนอยู่แล้ว นางแฟนนีเองก็คงจะเห็นว่าพระปรีชาเป็นบุคคลระดับอภิมหาเศรษฐีคนหนึ่ง น่าจะคุ้มค่าเนื้อค่าตัวอยู่กระมัง เลยเออออห่อหมกกันไปโดยมีพ่อตาเข้ามาเอี่ยวด้วยอย่างน่าผิดสังเกตุ

การแต่งงานของพระปรีชากับแฟนนีเป็นการท้าทายพระราชอำนาจอย่างโฉ่งฉ่างจนเกินไป พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงไม่ชอบหน้านายน็อกซ์เอามากๆอยู่ เพราะทรงเห็นว่านายน็อกซ์เคยใช้อิทธิพลของอังกฤษ พยายามจะผลักดันวังหน้าให้ขึ้นเป็นกษัตริย์มาแล้วในต้นรัชกาล แต่ไม่สำเร็จ พระปรีชากลการจึงถูกจับจากจวนที่ปราจีนบุรี มาเข้าคุกที่กรุงเทพในข้อหายักยอกฉ้อโกงพระราชทรัพย์ และเป็นไปดังคาด นายน็อกซ์ได้เข้าแทรกแซงข่มขู่พระองค์ โดยกล่าวหาว่าทรงเชื่อสมเด็จเจ้าพระยาจนเกินไปในเกมการเมืองที่พวกบุนนาคพยายามบั่นทอนบารมีของพวกอมาตยกุล ด้วยการยัดข้อหาการกระทำอันเป็นทุจริตให้พระปรีชา แต่ยังหาหลักฐานพิสูจน์ไม่ได้

ผมขอแทรกความเห็นส่วนตัวหน่อยนะครับ การลงทุนทำเหมือง แม้ในปัจจุบันที่ทีเทคโนโลยีสูงกว่าสมัยก่อนมากมาย แต่ก็ยังเสี่ยงที่ขุดไปแล้วไปเจออย่างอื่นที่ไม่ใช่แร่ที่ต้องการอยู่ดี ยิ่งในสมัยโน้น โอกาสที่จะประเมินผิดประเมินถูกมีอยู่มาก การที่ทุนทรัพย์จะละลายไปในดินเป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะต้องทำใจกับลูกน้องในข้อผิดพลาดโดยสุจริต(แน่ะ ใช้ศัพท์ทันสมัยซะด้วย)
ฝรั่งตั้งข้อสังเกตุว่า ระบบราชการไทย(ก่อนร.5ท่านจะทรงปฏิรูป) ข้าราชการไม่มีเงินเดือน แต่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานสิทธิ์ในการทำมาหากิน (ระบบศักดินา) ให้ข้าราชการไปหาเงินเลี้ยงชีพและครอบครัวเอาเอง บ้างก็ให้เป็นนายอากร เก็บเงินชาวบ้านแล้วมาแบ่งให้พระคลังตามที่ตกลงไว้ พระปรีชาเบิกเงินหลวงไปทำกิจการ ก็มีสิทธิ์เอาไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวด้วยเพราะไม่มีเงินเดือน จะเอาผิดได้อย่างไร


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ค. 10, 10:59
นายน็อกซ์ได้บังอาจข่มขู่พระองค์ด้วยว่า หากทรงเชื่อสมเด็จเจ้าพระยาเกินไป จะไม่มีฝรั่งผู้ใดสนับสนุนพระองค์อีก  ทรงตีความว่านายน็อกซ์หมายความว่าจะหันไปสนับสนุนวังหน้าให้ขึ้นมาแทนพระองค์ หนำซ้ำ เพื่อเร่งรัดคดีพระปรีชาจะให้จบเร็วๆตามที่ตนต้องการ นายน็อกซ์ได้ทำรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ ขอเรือรบFoxhoundเข้ามาจอดลอยลำอยู่หน้ากงสุลในกรุงเทพ

พระเจ้าอยู่หัวท่านปริวิตกกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ยิ่งกว่าคราวเกิดวิกฤตวังหน้าสี่ห้าปีก่อนมาก หลังจากปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาผู้โชกโชนในประสพการณ์แล้ว ทรงดำเนินวิเทโศบายด้วยการส่งอัครราชทูตไปอังกฤษเพื่อร้องเรียนว่ากงสุลใหญ่นำเรื่องส่วนตัวมาเป็นเหตุ หาเรื่องแทรกแซงกิจการภายในของสยาม ซึ่งเหตุผลนี้ฟังขึ้น รัฐมนตรีต่างประเทศได้เรียกกงสุลกลับไปอังกฤษ และมิได้ส่งกลับมาอีก


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ค. 10, 11:01
ส่วนคดีพระปรีชา ก็ใช้ข้อกล่าวหาทางการเมืองเอาผิด ไม่ต้องใช้คดีทุจริตที่พิสูจน์กันยาวกว่าจะตัดสินคดี จำเลยถูกตัดสินประหารชีวิต และดำเนินการอย่างรวดเร็วก่อนการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษด้วยซ้ำ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 10, 18:13
อ้างถึง
รองอำมาตย์โท หลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ เอนกบุณย์) ได้บันทึกเหตุการณ์ก่อนการประหารชีวิตพระปรีชากลการให้เราทราบ ดังนี้

...พระปรีชาฯ เอาผ้าขึ้นเช็ดหน้า แล้วทิ้งลงดิน พูดออกมาอย่างน่าสงสารว่า โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่ง ตัวจึงตาย...

คุณพระโทษว่าสาเหตุคือได้แฟนนี่เป็นภรรยา   ไม่ได้โทษตัวเองว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง    เงินมหาศาลที่เอาไปฝากไว้ในยุโรปนั่นแหละคือหลักฐาน
ไม่น่าเป็นพระเอกได้เลย  ทั้งๆชีวิตก็ดราม่าสุดๆ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ค. 10, 10:30
หลังจากพระปรีชาโดนประหารเพียง2วัน นางแฟนนีก็หอบลูกเต้าข้าวของลงเรือไปยุโรปพร้อมเงินสดที่สามีนางโอนไว้ให้ทั้งหมด คนทั้งปวงคิดว่านางคงจะไปหานายน็อกซ์ผู้พ่อที่อังกฤษ แต่ผิด นางไปลงที่ฝรั่งเศสอย่างมีจุดมุ่งมั่น การจะได้เงินบัญชีลับของพระปรีชามาใช้บ้างนั้น นางต้องเริ่มต้นที่ปารีส

เงินก้อนใหญ่ พระปรีชาเอาเงินจากที่ไหนไม่ทราบไปลงทุนกับฝรั่งยิวชาวสวิส ที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพเป็นเงินรวมกันถึง 38000 เหรียญสหรัฐ ในลักษณะหุ้นกู้มีดอกเบี้ยรายเดือนๆละ 500 ปอนด์อังกฤษ รายละเอียดมากมายอยู่ในเอกสารข้างล่าง



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ค. 10, 10:34
ผมเข้ามาต่อเรื่องช้าเพราะเอาชื่อฝรั่งเหล่านั้นไปหาข้อมูลต่อในเวปเพลิดเพลินอยู่ นายSiggนั้นคือนายเฮนรี่ ซิกก์ เข้ามากรุงเทพแล้วจดบริษัทชื่อ Sigg & Son หาช่องทางขายเรือเดินทะเลมือสองให้รัฐบาล ในพ.ศ.2425ได้ร่วมกันก่อตั้ง ห้างยุคเกอร์ ซิกก์ แอนด์โก กับนายอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ ซึ่งหลังจากนายซิกก์ตายแล้ว ในพ.ศ. 2467 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก

ในช่วงเวลาที่มีเรื่องนี้ ห้างยุคเกอร์ ซิกก์ แอนด์โกได้ลงทุนจะทำโรงสีโดยจดบริษัทขึ้นชื่อMalherby, Jullian & CO. ที่พระปรีชาเอาเงินไปลงด้วย ถ้าท่านผู้อ่านงงๆว่าเขาทำอะไรกันทำไมหลายบริษัทนัก ก็อยากจะเรียนให้ทราบว่า นี่เป็นวิธีการปกติของฝรั่งในการทำธุรกิจ ถ้าธุรกิจไหนมีอันเป็นไปก็จบกันที่บริษัทนั้น  เจ้าหนี้ไม่มีทางสาวถึงผู้ที่ควรจะต้องรับผิดในหนี้สินคงค้างอื่นๆ

การลงทุนของพระปรีชาน่าจะมีปัญหากับนายซิกก์มานานแล้ว เพราะเอกสารของแฟนนีอ้างถึงมร. กูลด์ (นายคนนี้เป็นรองกงสุลใหญ่อังกฤษลูกน้องของพ่อ)ว่าเป็นทนายให้ตน แสดงว่าเกิดความกันแล้วแต่นายซิกก์คงจะเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ ทนายจึงแนะนำให้ยอมทำนิติกรรมตามข้อเสนอของนายซิกก์ ผมไม่แจ้งเบื้องหลังว่าอยู่ๆบริษัทได้เอาใบหุ้นของพระปรีชาออกไปขายทอดตลาดได้อย่างไร เพราะนิติกรรมใหม่ก็เป็นการฟอกตัวให้นายซิกก์ที่เข้าไปช้อนซื้อหุ้นของพระปรีชาเสียเอง สมัยนี้เขาเรียกว่าผิดธรรมาภิบาลในฐานะเป็นผู้บริหาร  แต่สัญญาที่ได้มาเป็นแต่เพียงกระดาษ ตัวเงินจริงๆยังไม่ได้ และดูแล้วไม่ใช่ง่ายๆที่จะได้ นายซิกก์ขณะนั้นอยู่ที่ยุโรป ไปๆมาๆระหว่างฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ นางแฟนนีจึงตามมาทวงหนี้ หวังจะจบได้ที่ปารีสโดยต้องได้ความร่วมมือกดดันจากรัฐบาลไทยด้วย


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ค. 10, 10:37
ผมอ่านหนังสือรายงานที่ท่านทูตทรงรายงานเข้าไปกรุงเทพแล้ว ก็มึนในความเขี้ยวของฝรั่ง ผมเข้าใจเลยว่าเหตุใดพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงตัดสินพระทัยปล่อยเลยตามเลย ไม่ติดตามเงินก้อนนี้กลับคืน

แต่ผมคิดเอาเองว่า หลังจากมีเรื่องที่ปารีส และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเชิญให้นายซิกก์มาพบแล้ว นายซิกก์คงจะต้องจ่ายอะไรให้นางแฟนนีบ้าง มิฉนั้นนางอาจจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เงียบไปง่ายๆหลังจากนั้น


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 11:39
เป็นไปได้ไหมว่า เงินที่ขโมยมาก็ถูกขมายไปอีกต่อ       แฟนนีจึงกลับมาสยาม ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างลำบากยากจน จนถึงแก่กรรมไปเงียบๆ  แทบไม่มีใครรู้เห็น


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ค. 10, 13:19
เป็นไปได้แน่ๆครับ

และดูเถิดครับ
นายเฮนรี่ ซิกก์ มีชีวิตหลังจากนั้นต่อมาไม่นานก็ตาย ลูกชายที่ทำงานกับพ่อในห้างSigg & Son ก็ไม่ทราบว่าไปไหน ปล่อยให้นายอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ เข้าครอบครองหุ้นเอาห้างยุคเกอร์ ซิกก์ แอนด์โก ไปแต่ผู้เดียว แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก วันนี้ห้างนี้ชื่อนี้ยังอยู่แต่เปลี่ยนเจ้าของไปไม่ทราบว่ากี่ตลบ

ส่วนแฟนนีหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ นอกจากเรื่องว่ากันว่าที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เช่น ตอนหนึ่งในสูจิบัตรละครเรื่อง King and I ที่อเมริกาโน่น เชิญอ่านเอง

According to R.J. Minney, Fanny Knox fell in love with a Siamese, Phra Preecha, a member of a prominent family which was not friendly to the Kralahome. The latter is portrayed in a very bad light. He wanted Fanny to marry one of his grandsons and, when she married Phra Preecha, Chulalongkorn's friend, he took his vengeance on them both. The bridegroom was arrested on trumped up charges and executed. Fanny stayed in Siam where she lived alone in one room and had few friends among the other Europeans. She devoted her life to good works and was instrumental in some reforms of education and in the formation of trade unions. One of her students helped organize the coup d'état of 1932.. However, much in this book must also be taken with a grain of salt. According to Minney, it was Anna who taught the King English when he had actually learned it many years before. She also got many of the facts about Louis's career in Siam wrong.

Please credit Lyric Opera San Diego when using this material.


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 14:24
    Fanny stayed in Siam where she lived alone in one room and had few friends among the other Europeans. She devoted her life to good works and was instrumental in some reforms of education and in the formation of trade unions. One of her students helped organize the coup d'état of 1932.

    น่าสังเกตว่าแฟนนี่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ อย่างพ่อและเครือญาติฝ่ายพ่อ      แต่ว่ากลับมาอยู่ในสยาม  ทั้งๆก็ไม่เห็นว่ามีอะไรดีกว่าให้เลือก     เป็นไปได้ว่าความเป็นลูกครึ่งทำให้เธอประดักประเดิดที่จะอยู่ในอังกฤษ  ในต้นศตวรรษที่ 19  กระแสการแบ่งผิวและเชื้อชาติแรงกว่าสมัยนี้
     ในสยาม เธอยังมีลูกสาวที่แต่งงานไปกับขุนนาง  ก็อาจจะช่วยเหลือแม่ได้บ้าง    แต่แฟนนี่ก็ไม่ได้ไปอยู่ร่วมบ้านกับลูกเขยอยู่ดี    ที่น่าสังเกตคือไม่ป๊อบในหมู่ฝรั่งในสยามด้วย
     ส่วนลูกศิษย์ที่อยู่ในคณะราษฎร์  คนไหนก็ไม่รู้   แต่น่าจะมีสายเลือดเกี่ยวกับสามีเธอบ้างละมัง


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 พ.ค. 10, 14:57

แวะมาเรียนท่านที่นับถือและสหายที่เคารพรักว่า

       มีผู้สอบถามหาหนังสือเรื่องแฟนนี พระปรีชากลการ และ นายโหมด กันมากหน้าหลายตาในเวลานี้
โดยเฉพาะเรื่องแฟนนี


แหล่งข่าว   คุณ น.น. แห่งโกดังราบ ๑๑
              เขามีร้านขายหนังสือมือสอง(ขายดีเป็นที่ ๑)และมีโกดังลึกลับ
              ดิฉันเพิ่งไปเยี่ยมเขาเป็นครั้งแรกเมื่อวานซืน
              โกดังแคบมากต้องเดินตะแคงตัวเข้าไปเหมือนปู

              เลยเก็บหนังสือมาสองกระสอบ

คุณ น.น. เปรยๆว่า มิน่าเล่า  มีคนมาถามจังหมู่นี้  คิดอยู่เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น

ได้เล่าไปว่า คุณเพ็ญชมพูได้ให้ลิ้งค์ของสยามประเภทเล่ม ๑ และ ๒ ด้วย
คุณ น.น. (ตัวจริงเป็นผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่สองบริษัท) ร้องโอ๊ย !?!!
ไม่ได้สนทนากันมากเพราะเวลาหาหนังสือเป็นเวลาที่มีค่าเหนืออื่นใด



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ค. 10, 10:16
มา: วิบูล วิจิตรวาทการ (น.พ.). สตรีสยามในอดีต. (พิมพ์ครั้งที่สี่). กรุงเทพฯ: บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด. (2543).

           แฟนนี่เองนั้นเต็มไปด้วยความขมขื่นอาฆาตพยาบาท ถึงแม้เธอจะมีเลือดไทยอยู่ครึ่งหนึ่ง ก็ประกาศตัวตัดขาดจากกรุงสยาม เข้าพบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศอังกฤษ แนะนำยุยงให้อังกฤษส่งกองทัพบกและเรือเข้าโจมตีประเทศไทย เมื่อรัฐบาลอังกฤษไม่แสดงความสนใจที่จะมาตีกรุงสยาม เพราะในขณะนั้นก็ได้ครอบครองแหลมมลายูไว้ในอำนาจของตนแล้ว แฟนนี่จึงเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส พยายามหาโอกาสใกล้ชิดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของฝรั่งเศส ยุยงให้ประเทศฝรั่งเศสรุกรานจากเขตญวนและเขมรเพื่อชิงประเทศไทยเป็นเมืองขึ้น เมื่อความพยายามนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะทางรัฐบาลฝรั่งเศสไม่คิดว่าเธอมีความสำคัญพอที่จะรับฟัง แฟนนี่จึงเดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทย
             
              ในหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง แต่งโดย R.J. Minney ชื่อ Fanny and the Regent of Siam ได้เขียนเล่าชีวิตตอนปลายของแฟนนี่ไว้ว่า เธออยู่ในกรุงเทพฯ อย่างยากจน ลูกติด 2 คนของพระปรีชาฯ นั้นได้ส่งกลับคืนให้ครอบครัวตระกูลอมาตยกุลนำไปเลี้ยงดูต่อไป ส่วนลูกชายที่ชื่อสเปนเซอร์นั้นเป็นคนอายุสั้น ถึงแก่ความตายเมื่ออายุเพียง 21 ปี เธอจึงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ผู้เดียว เพราะเซอร์ ทอมัส นอกซ์ บิดาของเธอก็ได้เดินทางกลับไปประเทศอังกฤษและตายในเมืองนอก ส่วนแคโรไลน์น้องสาวนั้นแต่งงานกับ หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ลูกของนางแอนนา และไปดำรงชีพที่เชียงใหม่ เอาคุณปรางมารดาไปอยู่ด้วย

              แฟนนี่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ทำงานสังคมช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบเคราะห์กรรมถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งกดขี่ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยและอังกฤษ ชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวย เจ้านายและชาวบ้านพลเมือง โดยมีจุดหมายให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวต้องการแก้ไขความไม่ยุติธรรมในระบบสังคมแห่งกรุงสยาม จนกระทั่งวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2468 เมื่ออายุได้ 69 ปี จึงตายอย่างเงียบๆ โดยไม่ผู้ใดสนใจเหลียวแล
             
            ชีวิตของแฟนนี่ นอกซ์ คิดดูแล้วก็น่าสงสาร เพราะเคราะห์กรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นต่อเธอนั้น มิได้มาจากความผิดของเธอเอง หากโชคชะตาโหดร้ายหลอกให้เธอเดินเส้นทางผิด ถึงแม้จะมีผู้สูงอำนาจวาสนาทั้งอังกฤษและไทยมารักใคร่ติดพัน เธอกลับเลือกแต่งงานกับพระปรีชากลการ ฝืนคำตักเตือนของบิดามารดา กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เซอร์ ทอมัส นอกซ์ โกรธถึงกับในวันแต่งงานของเธอนั้น ไม่ยอมเข้าร่วมพิธีด้วย การดื้อดึงปล่อยตนไปตามอารมณ์รักของชีวิตสาว ทำให้ต้องประสบเคราะห์กรรมใหญ่หลวง สามีถูกลงพระราชอาญาประหารชีวิต และตั้งแต่นั้นต่อไป ชีวิตของเธอก็ดับมืด ประทังอยู่ในความขมขื่นพยาบาท หวังร้ายต่อกรุงสยาม ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน เมื่อไม่สามารถแก้แค้นแทนสามีได้ ก็ต้องอยู่แบบคนที่ไร้ความหมายจนกระทั่งสิ้นชีพ
           เรื่องของ แฟนนี นอกซ์ สาวสยามครึ่งอังกฤษครึ่งไทย ผู้มีชีวิตรุ่งโรจน์อยู่เพียงระยะเวลาอันสั้น จึงจบลงเพียงเท่านี้

ผมไม่เชื่อบทสรุปข้างบนนี้  Fanny and the Regent of Siam เป็นเพียงนิยายสารคดีอิงประวัติศาสตร์ ผู้เขียนมีอิสระที่จะแต่งเรื่องราวที่ตนพอใจเพื่อไม่ให้เรื่องจืดชืดได้ ดูเรื่อง Anna and The King เป็นตัวอย่าง

เรื่องที่นางแฟนนีจะไปยุยงรัฐบาลอังกฤษให้นำกองทัพบกและเรือเข้าโจมตีประเทศไทยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่คนสำคัญใดๆจะให้เข้าพบ  พ่อของเธอเป็นกงสุลใหญ่แท้ๆไปรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศแล้วยังถูกปลดออกจากตำแหน่งไปเลย และที่ว่าเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส พยายามหาโอกาสใกล้ชิดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของฝรั่งเศส ยุยงให้ประเทศฝรั่งเศสรุกรานจากเขตญวนและเขมรเพื่อชิงประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นก็คงไม่ใช่อีก คงระแคะระคายเรื่องที่นางพยายามหาโอกาสใกล้ชิดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสยามเพื่อหาทางที่จะได้เงินของพระปรีชามาใช้บ้างมากกว่า แล้วเอามาดัดแปลงปะติดปะต่อ

ยิ่งเรื่องที่กลับมาเมืองไทยแล้ว ทำงานสังคมช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบเคราะห์กรรมถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งกดขี่ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยและอังกฤษ ชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวย เจ้านายและชาวบ้านพลเมือง โดยมีจุดหมายให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวต้องการแก้ไขความไม่ยุติธรรมในระบบสังคมแห่งกรุงสยาม ยิ่งเป็นเรื่องที่ผมเห็นว่า ฝรั่งโม้ขึ้นเองเพื่อให้นางสมกับเป็นนางเอกของเรื่อง หลักฐานใดๆในเรื่องนี้ฝ่ายไทยไม่เคยมีใครกล่าวถึงเลย
สังคมในกรุงเทพเป็นสังคมเล็กๆ ในระดับปัญญาชนที่เขียนเรื่องสังคมการเมือง พระเจ้าอยู่หัวจะทรงรู้จักทุกคน และมักจะทรง”วิพากษ์”กลับไปบ้างเป็นครั้งคราว ในสมัยรัชกาลหก พระองค์มีพระทัยกว้างมากในการรับฟังความเห็นที่ใครจะเขียนลงหนังสือพิมพ์ บางครั้งจะทรงลงมาตอบเสียเองด้วยโดยใช้พระนามแฝง นางแฟนนีเป็นคนเคยดัง ถ้ามีบทบาทเช่นที่หนังสือเขียนไว้ มีหรือจะหายต๋อมไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยไปเฉยๆชนิดหาร่องรอยไม่เจอ

จนกว่าจะมีกูรูในเรือนไทยไปค้นบทความใน The Bangkok Times หรือ The Siam Observer หรือ The Siam Free Press สักเรื่องหนึ่งที่พอจะเข้าเค้าว่าจะเขียนโดยนางแฟนนี ผมจึงจะปลงใจเชื่อครับ

บังเอิญเมื่อสองวันก่อนนั่งรถข้ามสพานพระปกเกล้าฯ มองเห็นอดีตบ้านพระปรีชาเด่นอยู่แต่ไกล เลยเอารูปสมัยนั้นมาให้ดูอีกทีว่าพระปรีชานั้นเป็นเศรษฐีระดับไหน


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 10, 20:38
ฝรั่งมักจะเขียนนิยายที่มีตัวละครเป็นฝรั่ง ให้เป็นพระเอกนางเอก    ถ้าใช้ฉากตะวันออก พวกชาวตะวันออกก็เป็นฝ่ายผู้ร้าย   หรือต่อให้เป็นฝ่ายดี ก็ต้องด้อยพัฒนากว่าฝรั่งอยู่ดี
จึงต้องอ่านอย่างนิยาย คือเป็นเรื่องสมมุติ    เพียงใช้ชื่อตัวละครจากคนจริงๆ  ดัดแปลงเนื้อเรื่องจากเรื่องจริง  แต่ไม่ใช่เรื่องจริงอยู่ดี

แฟนนี่เป็นลูกครึ่งเอเชีย     ในศตวรรษที่ ๑๙  ลูกครึ่งอังกฤษกับอินเดียมีอยู่เป็นจำนวนมาก   พวกนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากคนอังกฤษว่าเท่าเทียมกัน       ยิ่งฝรั่งเศสแล้ว ก็ยิ่งทะนงว่าตัวเองศิวิไลซ์กว่าอังกฤษในหลายๆเรื่อง      ลูกครึ่งอังกฤษ-เอเชียอย่างแฟนนี่จะลอยนวลเข้าไปคบหานักการเมืองระดับชาติ  คงไม่มีทาง

ชีวิตของแฟนนี่ ที่ดิฉันมองจากข้อเท็จจริง คือเป็นหญิงสาวลูกครึ่งที่อาภัพ  เข้าสังคมกับฝรั่งในสยามก็ไม่ได้  เข้าสังคมสาวผู้ดีในสยามด้วยกันก็ไม่ได้       แต่งงานโดยพ่อไม่เห็นชอบ  ไม่ได้เข้าโบสถ์  ซึ่งแสดงว่าเธอไม่ได้แต่งงานอย่างถูกกฎหมายตามหลักศาสนา   และไม่ได้รับพรจากพระเจ้าผ่านทางนักบวชผู้ประกอบพิธี 
เคราะห์ร้ายอย่างที่ผู้หญิงน้อยคนจะเจอคือแต่งได้ไม่กี่วันสามีก็ถูกประหาร  แถมก่อนประหารยังโทษว่าภรรยาเป็นสาเหตุเสียอีก     เงินทองซึ่งเป็นอย่างเดียวที่เธอจะยึดเหนี่ยวได้  ก็หลุดมือไป เพราะได้มาโดยมิชอบก็มีอันเป็นไปโดยมิชอบ    บั้นปลายก็ไม่ได้อยู่กับพี่สาวและแม่ซึ่งเป็นครอบครัวที่เหลืออยู่   ต้องตายไปอย่างลำบากยากจน   
ชีวิตเธอไม่ได้เป็นดราม่า แต่เป็นโศกนาฏกรรม


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 มิ.ย. 10, 23:00

ภายใต้ความรักของแม่แฟน

เขียนโดยคุณหญิงเสมอใจ จินดารักษ์(หรือ ซ้นฟลาวเว่อร์ นักแปลสตรีคนแรก)ธิดาของ คุณ ตระกูล อมาตยกุล(ต่อมาเป็นคุณหญิงภูบาลบรรเทิง)


เล่าโดย ลาวัณย์  โชตามระ  ในหนังสือ


รัดเกล้า  แพร่พิทยา พิมพ์  ๒๕๐๖  ราคา ๓๐ บาท   และ

แก้วชิงดวง  รวมสารคดีเรื่องเยี่ยม  จัดพิมพ์โดย แพร่พิทยา   ไม่ได้แจ้งปีพิมพ์  ราคา  ๓๗ บาท


คุณลาวัณย์ ไม้ได้เล่าว่าเธอพบข้อเขียนของคุณหญิงเสมอใจ จากหนังสือเล่มใด        แต่เธอเคยได้ไปสนทนากับคุณหญิงภูบาลบรรเทิงที่บ้านพัก มากกว่าหนึ่งครั้ง


ขออนุญาตเล่าเรื่องของคุณตระกูล สำหรับ ท่านที่สนใจ   ถ้ามีโอกาสก็จะคุยกันในเรื่อง ซันฟลาวเว่อร์ นักแปล ต่อไป เพราะเก็บงานของท่านไว้ได้ครบแล้ว



     แม่แฟน  ได้พาลูกเลี้ยงทั้งสองไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส ที่ วิลา เดส์ลอเรีย  ที่เมืองเบียร์ริตซ์  อันเป็นเมืองชายทะเลทางทิศใต้ของประเทศฝรั่งเศส

เมื่อมาอยู่ฝรั่งเศส  ก็ต้องเรียนภาษา   จะส่งเข้าโรงเรียนก็ยังเล็ดเกินกว่าโรงเรียนจะรับไว้   ภาษาฝรั่งเศสพื้นเมืองก็ยังรู้ไม่กี่คำ     มาดามแฟนนีจึงจ้าง

Miss Gertrude Bindeloaa  มาเป็น  governess  ให้ คุณ ตระกูล กับ คุณ อรุณน้องชาย     

ในที่นี้ใช้คำว่า ครูพี่เลี้ยง


ในขณะเดียวกัน  มาดามก็สอนภาษาฝรั่งเศสให้ด้วย


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 มิ.ย. 10, 23:14

     ไม่เคยเห็นเอกสารที่ยืนยันว่า ลูกสาวสองคนของน้อกซ์นั้น  ใครได้ส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษกันแน่

มีแต่เล่าต่อกันมาว่า  เมื่อแฟนนีกลับมาเมืองไทย  มีงานต้อนรับใหญ่โต            การเล่าต่อกันมานี้เป็นเรื่องน่ากลัวมากเพราะสามารถทำลายความมั่นใจของนักอ่านได้ง่าย ๆ

เท่าที่เห็นจดหมายที่น้องสาวแฟนนีเขียนถึงแม่ผัว   ก็ดูงดงามและใช้ภาษาอังกฤษระดับดีมาก



      มาดามยังจ้างครูมาสอนภาษาลาตินให้เป็นเวลาถึงสามปี


     เมื่อมาดามจะกลับมาเยี่ยมเมืองไทย  จึงนำคุณตระกูลไปเช้าโรงเรียนประจำที่กรุงปารีส






กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 มิ.ย. 10, 23:30

แฟนนีดูแลลูกเลี้ยงทั้งสองอย่างดี  เพราะสงสารที่เป็นกำพร้าขาดมารดามาแต่เล็ก  และยังมาขาดบิดาอีกด้วย

เธอได้จัดให้เด็กเด็กผู้หญิงไทยคนหนึ่ง ชื่อ อุ๊น ผู้ต่อมาได้เป็นมารดาบุญธรรมของ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร  มาเป็นเพื่อนเล่นพูดภาษาไทยกับคุณตระกูลและคุณอรุณ

คุณ อุ๊น ต่อมาคือ คุณหญิง มหิบาลบริรักษ์(สวัสดิ์  ภูมิรัคน์) อัครราชทูตสยามประจำพระราชสำนักเซนต์ปีเตอร์เบริก


     แสดงว่าแฟนนีเป็นคนละเอียดอ่อนพอใช้   ในการที่ดูแลให้ลูกเลี้ยงทั้งสองไม่ลืมภาษาไทย

ไม่มีเอกสารใดที่กล่าวถึงการเงินของแฟนนีในระยะนี้  เพราะค่าเล่าเรียนของนักเรียนประจำต้องจ่ายเป็นปี 


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 มิ.ย. 10, 23:39

     ในปี ๒๔๒๙๙   อาของคุณตระกูลและคุณอรุณ  ได้ไปกราบทูลเสนาบดีต่างประเทศ  พระยศในขณะนั้น

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ  ผู้เสด็จไปงาน Gold Jubilee  ของ ควีนวิคตอเรียให้ส่งหลานทั้งสองกลับประเทศไทย

คุณตระกูลและคุณอรุณ กลับมาเมืองไทยในเดือนกันยายน ๒๔๓๐



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 มิ.ย. 10, 00:08

     เมื่อกลับถึงเมืองไทย  ญาติผู้ใหญ่จัดการให้คุณตระกูลเข้าทูลเกล้าฯถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี

ทำหน้าที่ล่ามพาหมอฝรั่งไปตรวจเจ้านายฝ่ายใน  ตลอดจนบรรดาเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕  จนเป็นที่สนิทสนมคุ้นเคยกับทุกท่านโดยทั่วหน้า


คุณตระกูลทำราชการฝ่ายในอยู่ระหว่าง ๒๔๓๐ - ๒๔๓๓  ก็กราบลามาแต่งงานกับ คุณประยูร  อมาตยกุล  บุตรเจ้าคุณเพชรพิไชยและคุณหญิงถนอม

ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเธอเอง


คุณวลี  ธิดาคนโต  แต่งงานไปกับพระยามหาเทพ(เชาวน์  อมาตยกุล)

คุณ เสมอ  แต่งงานกับ พระยาจินดารักษ์(จำลอง  สวัสดิ์ชูโต)

คุณหญิงภูบาลบรรเทิง  อายุยืนยาวมาจนถึง ย่าง ๘๑   ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๙๕



คุณอรุณ  รับราชการและได้เป็นพระยาพิศาลสารเกษตร

ถึงแก่กรรมในปี ๒๔๘๓


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มิ.ย. 10, 06:38
อ่านแล้วรู้สึกว่า ที่เขียนๆไปนั้นผมจะประเมินค่าของคนต่ำไปแล้ว เพราะการอ่านเรื่องราวแต่ฝ่ายเดียวจากฝ่ายที่บันทึกไว้โดยมีอติต่อแม่แฟน (ตอนแรกงงกับศัพท์นี้อยู่ครู่นึง นึกว่าคือแม่ย่า หรือแม่ยายของใครสักคนนึง อ้าว..กลายเป็นแม่แฟนนีไป)

แสดงว่า การศึกษาอบรมที่เธอได้รับแต่เมื่อเยาว์วัยนั้นเป็นการศึกษาชั้นเลิศที่ให้เธอทั้งความรู้และคุณธรรม สมกับที่เติบโตอยู่ในรั้วในวังหน้า

เธอได้เลี้ยงดูบุตรของสามีเก่าเป็นอย่างดี ที่สำคัญ ยังทำให้เขาเหล่านั้นกลับมากู้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลในบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้อย่างมีศักดฺิ์ศรี มิกลายเป็นโรบินฮู้ดร่อนเร่เป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ในยุโรปไปเลย

ผมต้องขอคารวะเธอ และขอบคุณคุณวันดีสำหรับข้อมูลอันมีค่ายิ่งนี้ครับ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 มิ.ย. 10, 07:45

คุยกับคุณ​ NAVARAT.C    แบบไม่มีอ้างอิงนะคะ  เพราะ จดเรื่องที่เกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาเอมไว้หลายสาย  ยังไม่สมบูรณ์

ท่านเคยพูดกับนายโหมดว่า "พ่อกับฉันเป็นญาติกัน"

หาเจ๊สัวได้หลายคนและหลายชั้น  แต่ โยงยังไม่ได้ค่ะ



แม่ปรางแม่ของแฟนนีนั้น  เป็นข้าหลวงของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์  อาจจะเป็นตัวละครด้วย

พระองค์เจ้าวงจันทร์ มีละครที่รับมรดกมาจากเจ้าจอมมารดาเอม  และเก็บหนังสือสำคัญของวังหน้าไว้มาก(อ่านมาจากหลายแห่ง ไม่มีอ้างอิง  แต่ได้เห็นเอกสาร ๑ ฉบับ วงการนักสะสมเมตตาให้ชม)



ในบันทึกของหลวงเอนกฯในกรณี พระปรีชากลการ  เล่าว่า  เมื่อแฟนนีไปเที่ยวที่ปราจิณบุรี   ตัดผมสั้น  นุ่งผ้าลาย  และใส่บาตรในตอนเช้า


อ้าว!   เคยอ่านมาว่าเมื่อแฟนนีจะเข้าวังนั้น  วังหน้าส่งวอและคุณเฒ่าแก่มารับ  ดิฉันก็เห็นภาพ มิสน้อกซ์นุ่งกระโปรงบานเสื้อแขนยาวผ้าป๊อบลินลายดอกไม้เล็กๆ แบบแหม่มแต่งในเมืองร้อน

แสดงว่า แม่ปราง มีอิทธิพลในการเลี้ยงดูบุตรสาวทั้งสองอยู่เหมือนกัน       ในเรื่องนี้ไม่มีหนังสือฉบับใดเล่าไว้



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มิ.ย. 10, 08:56
กูรูท่านใดมี หรือเคยเห็นรูปท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอมบ้างไหมครับ

อีกชื่อหนึ่งของท่านคือ เจ้าคุณพระชนนี

สายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอาจจะมี

ผมอยากเห็นมาก เคยไปค้นในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้วไม่พบครับ



กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มิ.ย. 10, 08:56
อ้างถึง
ในหนังสือ Fanny and the Regent of Siam (ตัวจึงตายเพราะได้เมียฝรั่ง-จุมพนันท์) แต่งโดย R.J. Minney ได้เขียนเล่าชีวิตตอนปลายของแฟนนี่ไว้ว่า เธออยู่ในกรุงเทพฯ อย่างยากจน ลูกติด ๒ คนของพระปรีชากลการ (คุณตระกูลและคุณอรุณ)ได้ส่งกลับคืนให้ครอบครัวตระกูลอมาตยกุลนำไปเลี้ยงดูต่อไป ส่วนลูกชายที่ชื่อสเปนเซอร์นั้นเป็นคนอายุสั้น ถึงแก่ความตายเมื่ออายุเพียง ๒๑ ปี เธอจึงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ผู้เดียว เพราะเซอร์โทมัส น็อกซ์ บิดาของเธอก็ได้เดินทางกลับไปประเทศอังกฤษและตายที่นั่น ส่วนแคโรไลน์น้องสาวนั้นแต่งงานกับ หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ลูกของนางแอนนา และไปดำรงชีพที่เชียงใหม่ เอาคุณปรางมารดาไปอยู่ด้วย


ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ลูกเลี้ยงทั้งสองคนของแฟนนี่ ก็มีหน้ามีตาในสังคม  สามีก็ก้าวหน้าเป็นถึงพระยา
ทำไมถึงปล่อยแม่เลี้ยงผู้มีอุปการคุณ ให้อยู่ในกรุงเทพอย่างโดดเดี่ยวและยากจน
คำตอบเป็นได้หลายทาง
๑    หนังสือเล่มนี้ ใส่สีใส่ไข่เพลินไปหน่อย  สร้างภาพอาภัพให้ตัวนางเอก เพื่อเรียกน้ำตาคนอ่าน  ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
๒    เป็นความจริงว่าแฟนนี่อยู่คนเดียวและไม่มีทรัพย์สินอะไรติดตัว    เพราะเธอไม่สามารถจะพึ่งลูกเลี้ยงได้มากกว่านี้
๓   แฟนนี่เลือกอยู่คนเดียวแบบผู้หญิงฝรั่งแก่ๆเขาทำกัน     คือต่อให้ลูกหลานใหญ่โตมีฐานะแค่ไหน  คุณย่าคุณยายแก่ๆของเมืองนอกก็เลือกจะอยู่เป็นอิสระคนเดียวเสมอ


กระทู้: ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 มิ.ย. 10, 09:10

     มีเบาะแสว่า


     คุณมาลัย  ชูพินิจ   มีรูปเก่าของเจ้านายสมัยที่คุณ ​NAVARAT.C  ถามค่ะ    นักประพันธ์ท่านหนึ่งเล่าไว้

แต่พอจะกลับไปดูอีก  คุณมาลัยก็จากไปเสียแล้ว