เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Nuchana ที่ 23 ธ.ค. 05, 13:12



กระทู้: อักษรธรรมอีสาน
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 23 ธ.ค. 05, 13:12
 ได้รับ sms จากคุณ sound engineer เห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ และสมาชิกที่นี่หลายคน จะช่วยกันตอบได้ค่ะ
*****
ผมอยากทราบถึงที่มาที่ไปของอักษรธรรมน้อย (ผมเป็นคนอิสาน) เพราะได้ยินว่ามีอยู่ยุคหนึ่งที่
ราชการท่านให้เผาทำลายทิ้งเสีย (จำไม่ผิดน่าจะเป็นสมัยร.4) ไม่ทราบผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่
ผู้เฒ่าผู้แก่เคยบอกว่า ใบลานในวัด ส่วนใหญ่เป็นอักษรธรรมน้อยทั้งสิ้น รบกวนให้ความกระจ่างด้วยครับ


กระทู้: อักษรธรรมอีสาน
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 23 ธ.ค. 05, 13:18
 อักษรธรรมเป็นอักษรที่คนโบราณอีสานใช้จารึกหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
ขนบธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่น ประวัติของอักษรโบราณอีสานนั้น
นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ในการทำสังฆายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ณ ชมพูทวีป เมื่อประมาณ พ.ศ. 300 ได้มีการจารึกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
เป็นลายลักษณ์ครั้งแรก อักษรที่ใช้จารึกในครั้งนั้นเรียกว่า อักษรพรหมีและอักษรนี้
เป็นแม่บทของอักษรเทวนาคี และอักษรปัลลวะ ซึ่งอันหลังนี้ นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า
เป็นต้นแบบของอักษรชาติต่างๆ ในแหลมทอง

ชาวอีสานโบราณใช้อักษรประจำถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ที่นิยมกันมากมี 3 ชนิด คือ

1) อักษรไทยน้อย ใช้ในราชการบ้านเมือง และจารึกวรรณกรรมที่ปราชญ์โบราณอีสานแต่งขึ้นเอง
2) อักษรธรรม ใช้จารึกเรื่องราวที่เป็นจริยวัตรของพระพุทธเจ้าและสรรพวิชาการต่างๆ
3) อักษรขอมใช้จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าล้วนๆ เช่น พระไตรปิฎก

รอคุณ Hotacunus และท่านผู้รู้อื่นๆมาช่วยค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
.
 http://www.isangate.com/alphabet.html  


กระทู้: อักษรธรรมอีสาน
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 24 ธ.ค. 05, 22:06
 ก็ขอตอบตามที่ผมทราบนะครับคุณ Nuchan

โดยปกติแล้ว แว่นแคว้นโบราณของประเทศไทยปัจจุบันนี้ จะมีรูปอักษรใช้กัน ๒ ชนิดครับ คือ "อักษรธรรม" ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา กับ "อักษรสามัญ" ใช้เขียนบันทึกทั่วๆ ไป

ภาคเหนือ
อักษรธรรม : อักษรธรรมล้านนา
อักษรสามัญ : อักษรฝักขาม (สมัยต่อมามี ไทยนิเทศ ด้วย)

ภาคอีสาน
อักษรธรรม : อักษรธรรมอีสาน
อักษรสามัญ : อักษรไทยน้อย

ภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัยและเมืองใกล้เคียง)
อักษรธรรม : อักษรขอมสุโขทัย
อักษรสามัญ : อักษรไทยสุโขทัย

ภาคกลาง (และภาคใต้ ?)
อักษรธรรม : อักษรขอมอยุธยา (ต่อมา พัฒนาเป็น ขอมธนบุรี และขอมรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น อักษรของไสยศาสตร์ไปเสียแล้ว พบเห็นได้ตาม ยันต์ ต่างๆ ครับ เพราะคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ปัจจุบันเราหันมาใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลีแล้วนั่นเอง)
อักษรสามัญ : อักษรไทยอยุธยา (ซึ่งพัฒนาการเป็นลำดับมาเป็นอักษรไทยปัจจุบัน)

----------------------------------------------

ต่อข้อถามว่า อักษรธรรมอีสาน มาจากไหน ก่อนอื่นขอแก้คำว่า "อักษรธรรมน้อย" ก่อนนะครับ คำนี้ผมไม่เคยได้ยิน เข้าใจว่า คุณ Sound engineer คงหมายถึง "ธรรมอีสาน" และ "ไทยน้อย"

อักษรธรรมอีสาน มีกำเนิดมาจากรูปอักษรขอม แต่ว่าจะดัดแปลงมาจาก ธรรมล้านนา หรือ ขอมสุโขทัย อันนี้ผมจำไม่ได้เสียแล้ว (ตำราไม่มีใกล้ตัวเช่นเคย อิอิ) คงต้องขอให้ผู้รู้ท่านอื่นมาช่วยอีกแรงครับ

อักษรไทยน้อย มีกำเนิดมาจากรูปอักษรไทยสุโขทัย แต่ว่าจะดัดแปลงมาจาก ฝักขาม หรือ ไทยสุโขทัย อันนี้ ก็จำไม่ได้อีกเช่นกัน อิอิ

สงสัยต้องรบกวนคุณศศิศ ด้วยอีกคนครับ

เรื่องนี้ก็ได้ข้อสังเกตอย่างกว้างๆ อยู่ว่า ในสมัยโบราณมีการจำแนกรูปของอักษรไว้อย่างชัดเจน คือ อักษรธรรมไว้เขียนธรรมะ อักษรสามัญ ไว้บันทึกเรื่องทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแต่เดิมสุโขทัยรับอิทธิพลทางศาสนามาจากเขมร จึงใช้อักษรขอม เขียนเรื่องราวทางศาสนา และถือว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์

ต่อมา เมื่อรับพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามา ความยืดถือว่า อักษรขอมเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ก็ยังมีอยู่ จึงนำมาเขียนพระไตรปิฎกด้วย

ถึงแม้ว่าต่อมาได้เกิดอักษรไทยสุโขทัยขึ้นมาก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยนิยมนำมาใช้จารึกพระธรรม แต่จะนิยมใช้เขียนบันทึกทั่วไป เรื่องพระธรรมนั้นก็ยังคงยกให้อักษรขอมอยู่ครับ โดยได้พัฒนารูปแบบให้เขียนง่ายขึ้นจึงกลายเป็น "ขอมสุโขทัย" และธรรมเนียมดังกล่าวคงแพร่ไปยังแคว้นอื่นๆ ด้วยครับ จึงเกิดเป็นการใช้รูปอักษร ๒ แบบ ในสมัยเดียวกัน

ตรงนี้ก็สังเกตได้ว่า เมื่อก่อนนี้ "การเข้าถึงพระไตรปิฎก" ถูกตัดขาดจากคนทั่วไป เพราะคนทั่วไปจะไม่มีสิทธิ์รู้ได้เลยถ้าอ่านตัวธรรมไม่ออก ดังนั้น คนทั่วไปจึงต้องเชื่อ "พระสงฆ์" ที่สั่งสอนอย่างเถียงไม่ได้ ไม่ว่าจะสอนถูกหรือผิด และยังเขียนเป็นภาษาบาลีอีกต่างหาก ไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย จึงเหมือนถูก lock ๒ ชั้น แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นการปกป้องพระธรรมจากผู้ไม่หวังดีเหมือนกันครับ คือไม่สามารถนำคำสอนมาบิดเบือนได้

---------------------------------------------


กระทู้: อักษรธรรมอีสาน
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 24 ธ.ค. 05, 22:18
 ผมไปเจอแผนภูมินี้เข้าครับผม จากเว็บไซด์นี้ครับ ที่  http://ubon.obec.go.th/school/swws/tham/kongkaew.doc  


กระทู้: อักษรธรรมอีสาน
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 24 ธ.ค. 05, 22:21

และนี่เป็นตัวอย่างอักษรไทน้อย ซึ่งอ่านได้ว่า (ผมไม่ได้อ่านเองหรอกครับผม อิอิ เอามาจากเว็บไซด์นี้ครับ  http://ubon.obec.go.th/school/swws/thainoi/tnhome.htm )


...นมอนถางถินคับซวงคายดีไดมากมุนฯ มือฮวงเฮายากอซอนซูซายแหมองพักวาไปแคนดาย
บอหมานตัวนอยฯ ดีทอ        ปุนปองปำสมคามฮบฮอไดหมูซอยเซางองึดกัวยาซาสานปุม
แปงลายจักมีตัวกั            ดปองฮูฮอยยำ หมอหมายหามกอทำกานทูกสีง มือเตาเส็ดนันเพิ
อนปาวไหโซนตอสกคามทังบวงนบมอบมือเลยไหว สาวสนมเนิอนัวละสีดีนดันหมอไหปองสาวสอยสง...


กระทู้: อักษรธรรมอีสาน
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 24 ธ.ค. 05, 22:25
 เห้ยยยย... ภาพออกมาแค่นั้นเอง... ขอโทษด้วยนะครับผม 555 ที่ทำอะไรไม่เรียบร้อยเท่าไร

อย่างไรก็เข้าไปชมได้ตามลิงค์ที่ผมทิ้งให้ไว้ละกันครับผม

ส่วนอักษรธรรมอีสาน ผมมักจะเข้าไปอ่านที่เว็บไซด์นี้เป็นประจำครับผม

http://ubon.obec.go.th/school/swws/tham/thamhome.htm

ทั้งแบบอักษร อักขรวิธี และรวมถึงที่มาของอักษรแต่ละประเภทด้วยครับผม หากสนใจลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมได้นะครับผม


กระทู้: อักษรธรรมอีสาน
เริ่มกระทู้โดย: นิธิณัช สังสิทธิ ที่ 30 ก.ย. 06, 10:05
 เนื่องด้วยปัจจุบันมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ มากขึ้นนะครับ ผมเลยจัดทำฟอนต์อักษรโบราณของไทยขึ้น ที่นี่ครับ
 http://nitinatsangsit.atspace.com
นอกจากนี้ยังมีฟอนต์อักษรธรรมอีสานกับไทยน้อย ของอุบลราชธานี และฟอนต์อักษรธรรมล้านนากับฝักขาม ของเชียงใหม่ด้วยครับ แต่ผมลืมลิงค์ไปแล้ว (ทำฟอนต์มา ๒ อันโปรโมตซะใหญ่โต ของผมกำลังจัดทำไปเรื่อย ๆ ถ้าเสร็จหมดก็เยอะเลยหละครับ)


กระทู้: อักษรธรรมอีสาน
เริ่มกระทู้โดย: thawankesmala ที่ 30 ก.ย. 06, 12:31
 ใครมีหนังสือธรรม ผูกปัญญาบารมีบ้าง จะหาได้ที่ไหน