เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 08:24



กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 08:24
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีผู้ที่เคยมีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีกรมตำรวจ หรือเป็นอธิบดีกรมตำรวจดังนี้

๑ หลวงรัถยาภิบาลบัญชา (เอส.เย.เบริ์ด เอมส์)

เข้ารับราชการและดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองโปลิศคอนสเตเบิลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ท่านผู้นี้จัดตั้งขึ้นในพ.ศ.๒๔๓๐ มีหน้าที่กำกับดูแลพื้นที่ที่ชาวยุโรปและคนในบังคับของกงสุลชาติต่างๆอยู่กันหนาแน่น ซึ่งทำได้อย่างเรียบร้อยเป็นอย่างดี
ในพ.ศ.๒๔๑๔ พวกอังยี่ปล่องเหลี่ยมที่คุมกุลีจีนกำเริบ วางเพลิงก่อการจลาจลทั้งในพระนครและจังหวัดระนองซึ่งมีคนจีนอพยพมารับจ้างแรงงานทำเหมืองแร่มาก แต่ในที่สุดก็ถูกทางราชการปราบปรามจนราบคาบ ในพระนครนั้นโปลิศได้มีบทบาทสำคัญภายใต้การบัญชาของกัปตันเอมซ์ เสร็จภารกิจแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงได้พระราชทานบำเหน็จให้เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา
 
นอกงานผลงานด้านการปราบปรามแล้ว หลวงรัฐยาภิบาลบัญชา ได้วางระเบียบหน้าที่ของโปลิศอันพึงปฏิบัติ วางระเบียบการรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ  ออกกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายโปลิศรักษาพระนคร ๕๓ ข้อ”  เปลี่ยนชื่อกองโปลิศเป็นกองตระเวน และรวมกองตระเวนเป็นกรมตระเวน

หลวงรัฐยาภิบาลบัญชาพ้นตำแหน่งในปีพ.ศ.๒๔๓๕ เนื่องจากเกษียณอายุ รวมเวลาที่อยู่ในราชการ๓๒ปี


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 08:26
๒ พระอนันต์นรารักษ์(ภัสดา บุรณศิริ (พระยาอรรคราชวราทร))

ท่านเป็นสามัญชนชุดแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษร่วมกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธและจ้าวนายชั้นสูงพระองค์อื่นในปี พ.ศ.๒๔๒๕ เมื่อกลับจากประเทศอังกฤษในปีพ.ศ.๒๔๓๒แล้ว เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กและเป็นเลขานุการส่วนพระองค์เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ไปเป็นปลัดกรมกองตระเวน ในกรมพระนครบาล
พ.ศ. ๒๔๓๕ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระอนันต์นรารักษ์ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมกองตระเวนแทนหลวงรัฐยาภิบาลบัญชาซึ่งเกษียณอายุ
พระอนันต์นรารักษ์อยู่ในตำแหน่งนี้จนวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใปเป็นข้าหลวงจัดราชการเมืองสมุทรปราการแลเมืองนครเขื่อนขันธ์(พระประแดง)ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเพชรชฎา

พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงวอชิงตัน และ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอรรคราชวราทร



กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ต.ค. 12, 09:17
ว่ากันว่าท่านเป็นต้นแบบของคุณหลวงอัครเทพวรากรของแม่มณีในเรื่อง "ทวิภพ"

http://men.mthai.com/infocus/5761.html

 ;D


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 09:46
^
อ้อ เหรอครับ

คงเห็นว่าหล่อแบบจะเป็นพระเอกได้


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 09:49
๓ นาย เอ.เย.ยาดีน (A.J. Jardine)

ชาวอังกฤษผู้นี้เคยเป็นผู้บังคับการตำรวจของสหราชอาณาจักรในประเทศอินเดียมาก่อน ลาออกมารับราชการในสมัยรัชกาลที่๕ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บังคับการกองตระเวน และชักชวนเพื่อนชาวอังกฤษจากอินเดียมาร่วมงานอีกหลายคน เพื่อปรับปรุงกิจการตำรวจสยามให้ก้าวหน้าขึ้นตามแนวทางของตำรวจอังกฤษที่ใช้ในการปกครองอินเดีย
ในระหว่างปฏิบัติราชการนั้น ได้มีส่วนร่วมพัฒนากองทหารโปลิศซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๑๙ สำหรับเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค ให้ยกระดับขึ้นเป็นกรมตำรวจภูธร เพื่อป้องกันปราบปรามโจรผู้ร้าย อำนวยความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ราษฎรในต่างจังหวัดให้ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

นายยาดีนได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมกองตระเวนในปีพ.ศ.๒๔๔๐ ผลงานอีกประการหนึ่งของท่านผู้นี้คือ การจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อผลิตนายตำรวจออกรับราชการตำแหน่งผู้บังคับหมวดในส่วนภูมิภาค แม้ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๔๗ จะได้ย้ายมาตั้งที่ตำบลห้วยจระเข้ อำเภอเมืองนครปฐม ก็ถือกันว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร ซึ่งตั้งขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจปัจจุบัน

นายยาดีน เกษียณอายุราชการในปีพ.ศ. ๒๔๔๗  รวมเวลาที่ปฏิบัติราชการ๗ปีเศษ หลังจากนั้นได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดีย

เสียดายที่ไม่มีรูปถ่ายของท่านผู้นี้ปรากฏเลย


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 28 ต.ค. 12, 11:21
ประวัติของ   Phraya Vasuthep: The Good Danish Soldier of Fortune


http://www.scandasia.com/viewNews.php?coun_code=th&news_id=9329


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 11:48
^
พระยาวาสุเทพเป็นคนที่๕ครับ ยังไม่ถึง


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 11:50
๔ มหาอำมาตย์โท อีริก เซ็นต์ เจ ลอร์สัน (Mr.Eric St. J. Lawson)

เกิดที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ในตระกูลแพทย์มีชื่อเสียง บิดาคือ เซอร์ จอร์ช ลอร์สัน อาจารย์สอนวิชาศัลยกรรมที่โรงพยาบาลมิดเวสท์ และเป็นจักษุแพทย์หลวงประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย

เมื่อสำเร็จการศึกษาที่วิทยาลัยเวสท์มินเตอร์แล้ว ได้สมัครเข้ารับราชการเป็นตำรวจสหราชอาณาจักรประจำการในพม่าก่อนที่จะย้ายไปอินเดีย เมืองขึ้นทั้งสองที่อังกฤษรวบเป็นประเทศเดียวกันเรียกว่าอินเดียเบอร์ม่า ในปีพ.ศ.๒๔๔๗ ได้ลาออกและเดินทางเข้ามาสยามตามคำชวนของนายยาดีน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมกองตระเวน ปฏิบัติหน้าที่แทนนาย เอ.เย.ยาดิน ซึ่งได้เกษียณอายุจากราชการ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ต.ค. 12, 12:23
นายยาดีน เกษียณอายุราชการในปีพ.ศ. ๒๔๔๗  รวมเวลาที่ปฏิบัติราชการ๗ปีเศษ หลังจากนั้นได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดีย

บางแห่งว่านายยาดีนลาออกจากราชการ (แต่ ค.ศ. น่าจะผิด)

จาก หนังสือ Constructing Order Through Chaos: A State Ethnography of the Thai Police โดย Eric James Haanstad (http://books.google.co.th/books?id=zrCYctJuJyAC&pg=PA54&hl=th&source=gbs_selected_pages&cad=3#v=onepage&q&f=false) หน้า ๕๔

 ::)


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 13:00
^
ปี๑๘๙๗คือพ.ศ.๒๔๔๐ ตรงกับปีที่นายยาดีนเข้ารับราชการครับ

ฝรั่งคงหยิบมาผิด


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 13:02
ท่านลอร์สันได้ดำเนินการปรับปรุงกิจการตำรวจหลายประการ เช่นจัดตั้งกองพิเศษให้มีระบบการทำงานคล้ายกับกองสืบสวนคดีของตำรวจลอนดอน มีการพิสูจน์วัตถุพยาน ระบบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา เป็นต้น จัดพิมพ์กฎหมายโปลิศเป็นภาษาไทย–อังกฤษ และใช้กฏหมายลักษณะคดีอาญาพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิด

ในปีพ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ตั้งโรงเรียนพลตำรวจขึ้น เมื่อทางราชการประกาศใช้ พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารทั่วประเทศ ก็อนุญาตให้ผู้ที่ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นตำรวจได้ โดยผ่านการฝึกอบรมในโรงเรียนพลตำรวจ๑ปี จบแล้วส่งไปรักษาการมีกำหนด๒ปี หากผ่านก็จะพิจารณาบรรจุเข้าในราชการต่อไป ปรากฏว่าหลักเกณฑ์นี้ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
จัดตั้งโรงเรียนนายหมวดขึ้นในบ้านพักของท่านลอร์สัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวนเอง ที่เชิงสะพานไผ่สิงห์โต ปัจจุบันคือซอยสารสิน ด้านหน้าติดถนนราชดำริ โดยจัดพื้นที่ด้านหลังบ้านซึ่งเป็นเรือนไม้๒ชั้น ๓หลังให้เป็นโรงเรียน

เมื่อทางราชการได้รวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย กรมกองตระเวน (หรือตำรวจนครบาล)จึงได้มารวมกับตำรวจภูธร เรียกชื่อใหม่ว่า "กรมตำรวจ"

โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร(ห้วยจระเข้) จึงได้รวมกับ โรงเรียนนายหมวด (หรือ ร.ร.นายตำรวจพระนครบาล)เรียกว่า"โรงเรียนนายร้อยตำรวจ"(สามพราน) จนทุกวันนี้
ในสมัยของท่านลอร์สัน มีนายตำรวจฝรั่งรับราชการหลายนาย ทำให้กิจการตำรวจเจริญรุดหน้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในภาพนี้ท่านลอร์สันนั่งอยู่ข้างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ต.ค. 12, 13:10
ต่อเรื่องของนายยาดีนอีกนิด

จาก หนังสือพิมพ์ The Straits Times, 23 September 1914, Page 8 (http://newspapers.nl.sg/Digitised/Article/straitstimes19140923.2.46.aspx) ของสิงคโปร์

ก่อนมารับราชการในสยาม นายยาดีนรับราชการที่อินเดีย และพม่ามาก่อน

 ::)


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 13:27
ฝรั่งดีอีกคนหนึ่งที่เข้ามารับราชการเป็นนายตำรวจในช่วงนี้ โดยเริ่มเป็นครูโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรที่นครราชสีมาหลายปี และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปปฏิบัติราชการพิเศษในท้องที่จังหวัดภาคใต้เพื่อปราบการทุจริต จนเป็นที่มาของประโยคสั้นๆ แต่ซาบซึ้งตรึงใจสุจริตชนเป็นอย่างยิ่ง

“เงินสกปรก...คนสกปรก...เชิญออกไป...ฉันได้รับเงินพระราชทานเงินเดือนพอกินพอใช้อยู่แล้ว ....”

เจ้าของประโยคคือ นายพันโท ออกัส ฟิคเกอร์ เฟรดเดอริค คอลส์ (A.F. Kolls)นายทหารเชื้อชาติเดนมาร์กผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ภายหลังข่าวเสียชีวิตของท่านที่จังหวัดตรังในปี๒๔๕๔ ถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าฯทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงอุทานว่า“แขนขวาฉันขาดแล้ว”
 
อ่านเรื่องของท่านผู้นี้ต่อได้ที่นี่ครับ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/03/K11895214/K11895214.html


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 13:42
ท่านลอร์สันแม้จะเป็นผู้รักษาระเบียบวินัยเคร่งครัด แต่มีความเมตตาปรานีเป็นที่รักใคร่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้การบริหารงานตำรวจเจริญรุดหน้าเป็นอันมาก จึงได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตำรวจโท ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลตระเวน ครั้งสุดท้ายได้เป็นมหาอำมาตย์โท

ท่านได้พ้นหน้าที่ราชการเมื่อพ.ศ.๒๔๕๖ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ อันสืบเนื่องมาจากข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจภายในประเทศตกต่ำ จำเป็นต้องเลิกจ้างข้าราชการชาวต่างประเทศซึ่งล้วนแต่ค่าจ้างสูงกว่าคนไทยหลายเท่า รวมเวลารับราชการของท่านได้๑๑ ปีเศษ แต่ท่านยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นที่ปรึกษากรมตำรวจจนกระทั่งปี๒๔๕๘


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 13:47
พระยาวาสุเทพเป็นราชทินนามสำหรับตำรวจ มีฝรั่งได้เป็นพระยาวาสุเทพ๒คน ระวังอย่าสับสนนะครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 12, 13:55
ยุคนี้เป็นยุคของนายตำรวจอังกฤษครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ต.ค. 12, 07:18
ขอส่งรายชื่อนักเรียนนายร้อยตำรวจที่จบการศึกษาดังนี้

นักเรียนนายร้อยตำรวจภูธร พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๖ จบการศึกษาที่จังหวัดนครราชสีมา

นักเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. ๒๔๔๗ - ๒๔๖๐ จบการศึกษาที่หัวยจระเข้ จังหวัดนครปฐม

นักเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒๔๖๓ จบการศึกษาที่คลองไผ่สิงโต กรุงเทพมหานคร

นักเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. ๒๔๖๔ - ๒๔๗๘ จบการศึกษาที่หัวยจระเข้ จังหวัดนครปฐม

นักเรียนนายร้อยตำรวจยุทธศึกษา พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๘

++++

รายชื่อนักเรียนนายร้อยตำรวจภูธร พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๕ จบการศึกษาที่จังหวัดนครราชสีมามีดังนี้

๑. เกศ สุนทรรัตน์ (พระยาอาชญาพิทักษ์)

๒. แก้ว ดุลยายน (พระยาเสนานนท์)

๓. จ่าง กะรีกุล (หลวงเสนพลกล้า)

๔. ยิ้ม นีละโยธิน (พระยาบริหารราชอาณาเขตร์)

๕. เลื่อน นวลักษณ์ (ขุนผลาญไพริน)

๖. สิงโต เปรมานนท์ (พระยาถกลสรศิลป์)

๗. เหล็ง ก๔นานนท์ (พระยาปราบไภยพาล)

๘. อิ่ม ตันตระมาล


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 08:39
๕ พลโท พระยาวาสุเทพ (กูสตาฟ เชาว์-Gustav Schau)

อ้างถึง
ความคิดเห็นที่ 21  
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า เมื่อกัปตันเอมซ์เกษียณอายุไปแล้ว ได้ทรงว่าจ้างกัปตันกูสตาฟ เชาว์ (Captain Gustav Schau)ชาวเดนมาร์กมาเป็นผู้วางโครงการต่อเพื่อขยายกิจการของกองโปลิส และเขตรักษาการกว้างขวางออกไปเป็นลำดับ เพื่อให้คุ้มครองคนไทยทั่วไปได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น มีการจัดตั้งโรงพักพลตระเวนขึ้นในพระนคร นอกพระนคร และฟากกรุงธนบุรี รวมกันทั้งหมดถึง๖๔โรงพัก บางโรงพักก็ตั้งอยู่บนแพ มีหน้าที่ลาดตระเวนรักษาแม่น้ำลำคลอง เช่น โรงพักปากคลองสาน โรงพักปากคลองบางกอกใหญ่เป็นต้น
ในต่างจังหวัดก็มีจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นด้วยในรูปทหารโปลิสในปี พ.ศ.2419 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมกองตระเวนหัวเมือง จนถึงปี พ.ศ.2440 ได้ตั้งเป็นกรมตำรวจภูธรขึ้นในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแทน โดยมีนายพลตรี พระยาวาสุเทพ (กูสตาฟ เชาว์) เป็นเจ้ากรม ใช้กฎหมายเกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจเช่นเดียวกับทหาร

เมื่อถึงรัชกาลที่หก จึงโปรดเกล้าฯให้รวมกรมตำรวจภูธรกับกรมพลตระเวนเข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” สังกัดกระทรวงนครบาลเมื่อวันที่13 ตุลาคม พ.ศ.2458

กุสตาฟ เชาว์(Gustav Schau)จบโรงเรียนนายทหารของเดนมาร์กและมียศร้อยโท แต่เลือกเส้นทางชีวิตมุ่งหน้ามาหาอนาคตในสยามเมื่อพ.ศ.๒๔๑๘ โดยขอเข้าเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทูลแนะนำตนเองขอสมัครเป็นนายทหาร พร้อมกับถวายประกาศนียบัตรให้ทอดพระเนตร จากรูปร่างที่สูงใหญ่ ผมบรอนซ์สีทองสง่างาม เสด็จนายกรมชอบพระทัยจึงทรงรับไว้ทันที และมอบหน้าที่เป็นครูฝึกทหารหน้า ที่วังสราญรมย์ ตามมาตรฐานยุโรป

พ.ศ.๒๔๑๙ เมื่อมีการปรับปรุงกิจการตำรวจ นอกจากได้ขยายงานกรมกองตระเวนนครบาลสมัยนายยาดีนเป็นอธิบดี ยังได้จัดตั้งกองทหารโปลิศ สามารถปฏิบัติการแบบทหารสำหรับเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในหัวเมือง โดยร้อยโทกุสตาฟ เชาว์ ได้ถูกมอบหมายให้เป็นผู้วางโครงการฝึก ผู้บังคับบัญชาส่วนมากก็โอนมาจากนายทหาร ต่อมาได้เปลี่ยน "กองทหารโปลิศ" เป็น "กรมกองตระเวนหัวเมือง"

กุสตาฟ เชาว์ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ยังคงเป็นนายทหารอยู่มิได้ย้ายไปไหน เมื่อพ.ศ.๒๔๓๒ได้นำทหารใต้บังคับบัญชา๓๐๐นาย สมทบกับทหารเรือ๔๐๐นายภายใต้บังคับบัญชาของกัปตันริชลิว นายทหารเรือสยามเชื้อชาติเดนมาร์กเช่นกัน เข้าปราบแก๊งค์อั้งยี่กวนเมืองที่ยกพวกตีกันเองแย่งเขตอิทธิพล แต่ทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองจนไม่มีอันจะทำมาหากิน โดยปิดล้อมย่านสำเพ็งเข้ากระชับพื้นที่ จับตายพวกที่เข้าต่อสู้ และลากตัวพวกกวนเมืองไปพิจารณาโทษจนราบคาบ ได้รับความดีความชอบมาก


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 08:41
พ.ศ.๒๔๔๐ กรมหลวงดำรงฯ เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กราบบังคมทูลและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "กรมตำรวจภูธร" ขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง จึงทรงแต่งตั้ง พันเอกกุสตาฟ เชาว์ ซึ่งตอนนั้นได้เป็นที่หลวงศัลวิธานนิเทศน์แล้ว มาเป็นเจ้ากรมกองตระเวนหัวเมืองจัดตั้งกองตำรวจภูธรตามมณฑลต่างๆ ขึ้นหลายแห่งเพื่อป้องกันปราบปรามโจรผู้ร้าย และอำนวยความร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดการขาดแคลนนายตำรวจที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ เจ้ากรมตำรวจภูธรจึงรายงานความเห็นและขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดตั้งโรงเรียนสำหรับผลิตนายตำรวจขึ้นเอง ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๔๔ จึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในบริเวณที่ราชการให้ชื่อว่า"ประตูชัยณรงค์" แต่ชาวเมืองเรียกว่า "ประตูผี" ปัจจุบันคือที่ตั้งกองบังคับการตำรวจภูธรเขต๓  รับนักเรียนผู้ที่สำเร็จประโยคประถมขณะนั้น(เทียบชั้นมัธยม๓) ผู้มีประสงค์ขอสมัครกับเจ้ากรมตำรวจภูธร เมื่อท่านเจ้ากรมดูรูปร่างหน้าตา ท่าทางกริยาวาจา เห็นสมควรก็ส่งตัวไปเรียนที่จังหวัดนครราชสีมาเลย ไม่ได้มีการประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกเหมือนทุกวันนี้

การปกครองและการฝึกอบรมนักเรียนนายตำรวจ มี ร้อยเอก ออกัส ฟิกเกอร์ เฟรดเดอริก คอลส์ นายทหารเดนมาร์คเป็นผู้ดำเนินการ ท่านผู้นี้แต่แรกรับราชการเป็นทหารบก ต่อมาโอนมาเป็นทหารเรือมีหน้าที่ฝึกสอบการยิงปืนใหญ่ นายพลตรีพระยาวาสุเทพขอโอนตัวมาเป็นครูผู้ปกครองโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรที่จังหวัดนครราชสีมาโดยเด็ดขาด
นอกจากนักเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว ทางมหาดไทยยังได้ส่งนักเรียนมหาดเล็กปีสุดท้ายไปร่วมเรียนอีกด้วย คือทางราชการต้องการให้ข้าราชการอำเภอกับตำรวจสมัครสมานสามัคคีกัน จึงได้จัดให้นักเรียนทั้งสองหน่วยนี้ได้อยู่กินเป็นเพื่อนกันแต่ต้น ครั้นออกมารับราชการแล้ว เมื่อมีโอกาสร่วมงานกันก็จะเป็นไปได้ด้วยดี
 
ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๔๗ โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรได้ย้ายที่ตั้งไปที่ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมืองนครปฐม แต่ยังถือกันว่า ต้นกำเนิดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจปัจจุบันคือที่จังหวัดนครราชสีมา


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 08:43
น่าสังเกตว่า สยามแยกกรมกองตระเวนเป็นสองกรมในสมัยนั้น ให้คนอังกฤษคุมนครบาล และให้คนเดนมาร์กคุมภูธร น่าจะมีนัยยะสำคัญแฝงอยู่ เพราะการพยายามล่าเมืองขึ้นของอังกฤษยังไม่นิ่ง ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสยามและอังกฤษตามชายแดนด้านล้านนานั้น สร้างปมปัญหาการเมืองขึ้นเสมอ ในที่สุดก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้ระหว่างมณฑลพายัพกับคนไทในรัฐฉานที่เราไปเรียกเขาว่าเงี้ยว เมื่อก่อนไปมาหาสู่กันแบบบ้านพี่เมืองน้อง พออังกฤษขีดเส้นแบ่งแดนเอาไปก็เข้ามาทำมาหากินอย่างเดิมในเขตสยามไม่ได้ ข้อขัดแย้งนี้ลุกลามเป็นเหตุการณ์ร้ายที่เรียกว่า กบฏเงี้ยว  ที่กล่าวกันแบบไม่มีหลักฐานว่าอังกฤษหนุนหลัง

พ.ศ.๒๔๔๕ กองตระเวนภูธรของนายพลตรีพระยาวาสุเทพ(กุสตาฟ เชาว์) ภายใต้บังคับบัญชาของนายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ต เยนเซ่น นายทหารเชื้อชาติเดนมาร์กเช่นกัน ได้ประกอบวีรกรรมอย่างกล้าหาญ สามารถป้องกันรักษาเมืองลำปางไว้จากการเข้าโจมตีหมายจะยึดเมืองของพวกเงี้ยวไว้ได้ แม้ตัวนายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ต เยนเซ่นจะต้องกระสุนฝ่ายกบฏเสียชีวิตก็ตาม แต่ก็ได้พิสูจน์การจัดองค์กรตำรวจที่สยามจัดตั้งไว้เช่นนั้นว่าไม่ผิด

นายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ตมีอนุสาวรีย์เล็กๆอยู่ในที่ที่เขาเสียชีวิต ผมจะกลับมานำเสนอถึงวีรกรรมของฝรั่งดีท่านนี้โดยละเอียดอีกครั้ง


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 08:49
พระยาวาสุเทพไม่มีครอบครัว ท่านจึงอุทิศตนทำงานอย่างเต็มที่ นึกอยากจะไปไหนก็ไปได้ทันที่ เมื่อเริ่มรับหน้าที่นั้น ตำรวจภูธรมีอยู่เพียง๒๕๐นาย สำนักงานเดียว ท่านได้จัดตั้งขึ้นมาทั้งหมดจนเมื่อปลายสมัยของท่านนั้นถึง๔๐๐สถานี กำลังพลทั้งหมด ๙๕๐๐นาย ท่านจึงต้องใช้เวลาในชีวิตเดินทางไปตรวจราชการโดยไม่มีกำหนดล่วงหน้า และนอนตามโรงพักโดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกินความจำเป็น

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย พระธิดาจองกรมพระยาดำรงฯทรงนิพนธ์ไว้ใน“บันทึกความทรงจำ”ตอนหนึ่งว่า

“……ตำรวจภูธรนั้นโปรดให้พระยาวาสุเทพ (ครูเชาว์ ชาวเดนมาร์ก) เป็นผู้บังคับการ เจ้าคุณผู้นี้ตรวจงานโดยไม่มีกำหนด บางทีเวลา ๒๔ น. ก็ขอติดรถไฟสินค้าไปและหยุดตามสถานีตำรวจต่างๆ และค้างคืนที่นั่น งานตำรวจภูธรจึงเรียบร้อยและเร็วเหมือนกันทุกแห่ง จนในหลวงตรัสว่า "ฉันเบื่อโรงตำรวจของกรมดำรงฯ" เพราะเหมือนๆ กัน….”

ยศสุดท้ายของพระยาวาสุเทพ(กุสตาฟ เชาว์)เป็นนายพลโท อธิบดีกรมตำรวจภูธรในรัชสมัยรัชกาลที่๖ อาจกล่าวได้ว่า ท่านผู้นี้ทำให้เมืองไทยทั่วประเทศร่มเย็นเป็นสุขขึ้นเพราะภัยจากโจรผู้ร้าย คนเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยไม่มีไอ้เสือเอาวาคอยดักปล้นจนไม่กล้านำเกวียนออกไปตามถนน วัวควายที่เมื่อก่อนปล่อยทิ้งไว้เมื่อไหร่ก็หายเมื่อนั้นได้ลดลงมาก เพราะมีกำลังตำรวจคุ้มครองอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

อย่างไรก็ดีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ พระราชโอรสในรัชกาลที่๕ที่เสด็จไปเรียนเมืองนอกต่างกลับมารับราชการในหน้าที่สำคัญๆแทนฝรั่งได้แล้ว แม้ในที่สุดในปีพ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯก็ยังต้องทรงลาออก พลโทพระยาวาสุเทพ(กุสตาฟ เชาว์)จึงขอลาออกตามเพื่อรับพระราชทานบำนาญ รวมอายุราชการทั้งสิ้น๑๘ปี
 
กุสตาฟ เชาว์เดินทางกลับบ้านที่เดนมาร์กเกือบจะมือเปล่าเมื่อเทียบกับนายทหารเดนมาร์กระดับเดียวกัน เพราะท่านไม่มีเวลาให้กับการทำธุรกิจเลย กระนั้นก็ดี บริษัทอิสท์เอเชียติกที่กรุงโคเปนเฮเกนก็ได้ตั้งให้ท่านเป็นกรรมบริษัท เพื่อตอบแทนที่ในยุคสมัยของท่าน ตลอดเส้นทางลำเลียงไม้สักจากป่าเมืองแพร่ในเขตสัมปทานของบริษัทลงมากรุงเทพยาวกว่า๘๕๐กิโลเมตรนั้นปลอดโจรภัยแทบจะโดยสิ้นเชิง
 
ท่านใช้ชีวิตแบบสมถะตัวคนเดียว และถึงแก่กรรมในปี๒๔๔๙ สิริอายุเพียง๖๐ปี


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 08:56
Phraya Vasuthep: The Good Danish Soldier of Fortune ที่คุณvisitna กรุณาโยงไว้ไว้ในคคห.๘๐ นั้น ผมอ่านแล้วแหละ แต่ให้ผมเสนอประวัติอธิบดีตำรวจที่ยังเหลืออีก๒ท่านให้ครบก่อน แล้วจะแปลมาลงครับ

น่าสนใจทีเดียว


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 15:10
๖ พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ

พระนามเดิม หม่อมเจ้าคำรบ ปราโมช เป็นพระโอรส ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ และหม่อมราชวงศ์ดวง ประสูติที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ทรงเป็นทหารบก ในขณะทรงดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ ๒ ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อพ.ศ.๒๔๕๗ ในปีต่อมาโอนย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลตระเวนภูธรแทนพระยาวาสุเทพ และในปีพ.ศ.๒๔๕๘นั้นเอง ทางราชการก็ยุบกรมพลตระเวนภูธรมารวมกับกรมพลตระเวนพระนครบาลเมื่อนายลอร์สันพ้นจากตำแหน่ง โดยพลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลตระเวนเพียงผู้เดียว

พ.ศ.๒๔๖๐ เมื่อไทยประกาศสงครามกับเยอรมนี ออสเตรียฮังการีเพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่๑ พระองค์เจ้าคำรบได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการวางระเบียบกำหนดหน้าที่ ให้นายตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาจับกุมชนชาติศัตรู
นั่นดูเหมือนจะเป็นงานใหญ่งานเดียวของท่านชายองค์นี้ตลอดที่ทรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง๑๔ปี ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะโปรดฯให้พ้นจากตำแหน่งในปีพ.ศ.๒๔๗๒ เนื่องจากสูงวัยเกิน


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 15:13
พระองค์เจ้าคำรบ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่๗ สิงหาคม ๒๔๘๒ พระชันษา๖๙ปี ๙เดือน ทรงมีพระราชโอรสเป็นอภิชาตบุตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยถึง๒คน คือม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (ยืนด้านขวา)และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช(นั่งหน้า)


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 12, 19:52
ขอแหวกช่องแจมเข้ามานิดเีดียวครับ

คุณนวรัตน์ครับ หากมีข้อมูลและถึงช่วงเวลาและโอกาส ช่วยเล่าถึงฝรั่งที่ไปปราบเงี้ยวทางภาคเหนือ แล้วไปตายโดยยังมีการระบุตำแหน่งที่เสียชีวิต (เช่น แถว อ.งาว) ด้วยครับ ดูจะมีอยู่หลายคนเหมือนกัน


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 20:05
^
ผมเตรียมจะลงอยู่แล้วครับ รอคิวอีกนิดเดียว

อ้างถึง
พ.ศ.๒๔๔๕ กองตระเวนภูธรของนายพลตรีพระยาวาสุเทพ(กุสตาฟ เชาว์) ภายใต้บังคับบัญชาของนายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ต เยนเซ่น นายทหารเชื้อชาติเดนมาร์กเช่นกัน ได้ประกอบวีรกรรมอย่างกล้าหาญ สามารถป้องกันรักษาเมืองลำปางไว้จากการเข้าโจมตีหมายจะยึดเมืองของพวกเงี้ยวไว้ได้ แม้ตัวนายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ต เยนเซ่นจะต้องกระสุนฝ่ายกบฏเสียชีวิตก็ตาม แต่ก็ได้พิสูจน์การจัดองค์กรตำรวจที่สยามจัดตั้งไว้เช่นนั้นว่าไม่ผิด

นายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ตมีอนุสาวรีย์เล็กๆอยู่ในที่ที่เขาเสียชีวิต ผมจะกลับมานำเสนอถึงวีรกรรมของฝรั่งดีท่านนี้โดยละเอียดอีกครั้ง


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 21:01
๗ พลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช)

หลุย จาติกวณิช เกิดวันเสาร์ที่ 6พฤษภาคม พ.ศ.2419 ที่บ้านตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ เป็นบุตรของนายปานและนางฮ้อ จาติกวณิช ต้นตระกูลเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งรกรากในประเทศสยาม "จาติกวณิช"เป็นนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่6 ลำดับที่ 1211แก่ พระอธิกรณประกาศ(หลุย) เจ้ากรมกองตระเวนในขณะนั้น โดยระบุว่าพระอธิกรณประกาศมีปู่คือ พระอภัยวานิช(จาด)
 
เมื่อเยาว์ศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญจนสอบไล่ได้หลักสูตรมัธยม5 แล้วจึงออกจากโรงเรียนไปทำงานเป็นเสมียนที่ห้างบอร์เนียว4ปี ก่อนสมัครเข้ารับราชการในตำแหน่งล่ามภาษาอังกฤษ กรมกองตระเวน กระทรวงนครบาล หลังจากนั้นจึงได้เลื่อนยศและตำแหน่ง ดังนี้

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ตำแหน่งล่าม เงินเดือน 50 บาท
1 มิถุนายน พ.ศ. 2442 เป็นนายเวรสรรพการ เงินเดือน 100 บาท
1 สิงหาคม พ.ศ. 2445 เป้นปลัดกรมสรรพการ เงินเดือน 200 บาท
18 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 เป็นหลวงนรพรรคพฤฒิกร
1 กันยายน พ.ศ. 2452 เป็นเจ้ากรมกองพิเศษ เงินเดือน 400 บาท
1 มกราคม พ.ศ. 2455 เป็นพระอธิกรณ์ประกาศ
31 มกราคม พ.ศ. 2458 เป็นพันตำรวจเอก
26 มีนาคม พ.ศ. 2458 เป็นผู้บังคับการกองพิเศษ เงินเดือน 500 บาท
17 ธันวาคม พ.ศ. 2458 เป็นพระยาอธิกรณ์ประกาศ
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 เป็นราชองครักษ์เวร
16 มีนาคม พ.ศ. 2462 เป็นพลตำรวจตรี
29 เมษายน พ.ศ. 2463 เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคนต่างชาติเข้าเมือง
17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลกรุงเทพฯ เงินเดือน 700 บาท
18 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงเทพฯ เงินเดือนเท่าเดิม
4 เมษายน พ.ศ. 2466 เป็นองคมนตรี
17 มิถุนายน พ.ศ. 2469 เป้นกรรมการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินทางเข้าในพระราชอาณาจักร พระราชบัญญัติค้าหญิงแลเด็ก
19 กันยายน พ.ศ. 2469 เป็นกรรมการไปประชุมข้อราชการที่เมืองปีนัง และสิงคโปร์
22 มิถุนายน พ.ศ. 2471 เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 รั้งอธิบดีกรมตำรวจ เงินเดือน 900 บาท
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เป็นพลตำรวจโท รับตำแหน่งสูงสุดเป็น อธิบดีกรมตำรวจ เงินเดือน 1,100 บาท


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 21:09
พระยาอธิกรณ์ประกาศ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจเกือบจะหยุดยั้งความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเมื่อปี พ.ศ.2475ได้ แต่เป็นเพราะชะตาฟ้าลิขิตของบ้านเมือง สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯเสนาบดีกระทรวงกลาโหมไม่ทรงเชื่อรายงานและไม่อนุมัติหมายจับในช่วงสุดท้ายก่อนเหตุจะเกิด เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วพระยาอธิกรณ์ประกาศจึงเป็นฝ่ายถูกจับเสียเอง  จนวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2475 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ปลดออกราชการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ นับอายุราชการได้33ปี 7เดือนเศษ

หลังจากนั้น ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ปลูกต้นไม้และเลี้ยงไก่พอให้ไม่ว่าง จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 โรคไตพิการกำเริบขึ้นสุดความสามารถแพทย์ จึงถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 สิริอายุได้ 78 ปี

พระยาอธิกรณ์ประกาศ มีบุตรที่มีชื่อเสียง คือ

นายแพทย์กษาน จาติกวณิช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
เกษม จาติกวณิช เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 21:17
หลังพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ กรมตำรวจมีอธิบดีอีกยี่สิบกว่าคน ผมคงไม่สาธยายเพราะถือว่าไม่ใช่ยุคก่อตั้งแล้ว


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 22:21
เรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ผมไปเจอเข้าโดยบังเอิญในหน้าเวปซึ่งลิงค์ไว้ให้แล้วข้างล่าง เป็นความเรียงของคุณ “ปิยะรักษ์” เรื่อง “ร้อยเอก เอช เอ็ม เจนเซน : ร้อยสิบปีวีรกรรม” ซึ่งผมเห็นว่า นอกจากจะเป็นข้อเขียนที่ดี มีสาระแล้ว ยังเกี่ยวกับเรื่องของตำรวจไทยชาวต่างชาติที่ผมกำลังเสนอกระทู้อยู่โดยตรง พอดีคุณปิยรักษ์อนุญาตด้วย ผมจึงขอนำข้อเขียนนี้มาลงโดยไม่ได้ตัดเติมเสริมแต่ง นอกจากจะหาภาพประกอบใส่ลงไปพอให้เข้ากับเรื่อง ท่านจะอ่านในกระทู้นี้ก็ได้ หรือจะตามไปอ่านจากต้นฉบับ ผมก็อำนวยความสะดวกไว้ให้แล้วครับ

ตอน๑

http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W12792121/W12792121.html

ตอน๒

http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W12847239/W12847239.html


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 22:22
บอกกล่าว

ต้องบอกกล่าวในเบื้องต้นก่อนว่า งานเขียนนี้เป็นการเรียบเรียงขึ้นจากเรื่องราวที่ได้อ่านมา ในลักษณะของการเล่าเรื่องให้ฟัง และไม่ได้เขียนในลักษณะของงานวิชาการที่ได้มีการเขียนอ้างอิงตามแบบแผน ยังมีเอกสารหลาย ๆ ฉบับที่เกี่ยวข้อง แต่ยังค้นไม่เจอและยังไม่ได้ไปค้นต่อ จึงอาศัยข้อมูลที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ดังนั้น จึงอาจไม่สามารถนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการได้ค่ะ

สำหรับงานเขียนนี้ ตั้งใจจะเขียนขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ตัวเองก็เพิ่งจะทราบเลยอยากเล่าให้คนอื่น ๆ ได้อ่าน ได้รับรู้เรื่องราวของบุคคลท่านนี้ด้วย

ในตอนแรก คิดว่าจะเรียบเรียงให้จบภายในตอนเดียว แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ยาวจนได้ จึงต้องตัดแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ตอนต้นและตอนจบ โดนตอนจบจะนำมาลงในถนนนักเขียนวันจันทร์หน้า เพื่อที่จะไม่ยาวเกินไปและไม่เบียดกระทู้อื่น ๆ ตกหน้าไปด้วย และตัวเองจะได้มีเวลาอ่านทบทวน รวมถึงลองไปตามหาเอกสารอ่าน ๆ เพิ่มเติม (ถ้าไม่ถูกกองงานถล่มทับก่อน ^^")

ไม่ได้เขียนอะไรทำนองนี้มานานแล้ว มีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และขอบคุณที่แวะมาอ่านกันค่ะ ^^

“ปิยะรักษ์”



กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 22:24
1. อนุสาวรีย์

จากวันแรกที่มาสัมภาษณ์งานที่พะเยา จนมาถึงวันนี้ก็ร่วมสองปีแล้วที่ฉันใช้เส้นทางเดิมเดินทางไปทำงาน และเป็นสองปีเศษที่ฉันขับรถผ่านสถานที่ที่สะดุดตา สะดุดใจฉันตั้งแต่แรกเห็น เมื่อข้ามพ้นสะพานห้วยเกี๋ยง ที่นั่นมีป้ายสีขาวขนาดใหญ่ริมทางมีข้อความว่า

“อนุสาวรีย์นายร้อยเอก เอ็ช เอ็ม เยนเซ่น”

ไม่มีคำอธิบายอะไรมากไปกว่านั้น และกว่าจะรู้ตัวว่าจุดหมายที่อยากรู้อยากเห็นนักหนาอยู่ตรงไหน ก็ขับรถผ่านไปไกลแล้ว และเมื่อลองถามใครต่อใครดู ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครให้คำตอบได้กระจ่างสักเท่าใด ครั้นตั้งใจวะแวะไปดูสักครั้งให้เห็นกับตาให้ได้ ขับผ่านไปอีกหลายครั้ง เพราะอยู่ในจุดที่สังเกตได้ไม่ง่าย ยิ่งช่วงแสงอาทิตย์เริ่มลับฟ้า บริเวณนั้นก็มืดสนิทจนแทนมองอะไรไม่เห็น

หลายเดือนผ่านไป ยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามของฉัน...

ชายชาวต่างชาติที่มียศนำหน้าอย่างทหารที่ชื่อ “ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน” หรือที่บนป้ายเขียนว่า “ฮันส์ มาร์กว๊อต เย็นเซ่น” (Hans Markward Jensen) คนนี้เป็นใครกันแน่

จนกระทั่ง วันหนึ่ง เย็นแล้ว แต่แสงยังไม่หมด ฉันหักพวงมาลัยรถเลี้ยวเข้าไปยังอนุสาวรีย์ วันนี้ ต้องรู้ให้ได้ว่า...
เขาคือใคร  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 22:26
2. ใคร

"อ้าว ตำรวจหรอกเหรอ"
เป็นคำแรกที่นึกได้ ณ แวบแรกที่เห็นแผ่นป้ายหินอ่อนสามแผ่น จารึกอุดมคติของตำรวจ ตราโล่เขน และป้ายอนุสรณ์แด่ตำรวจผู้เสียสละบนฐานอนุสาวรีย์ เพราะตั้งแต่เห็นยศร้อยเอกที่ว่า ก็เคยคิดมาตลอดว่าเขาคนนี้เป็นนายทหาร แต่สิ่งที่เคยคิดไว้ ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสียแล้ว

หลังนำรถเข้าจอดใต้ต้นสักที่เรียงแถวอยู่ในเขตรั้วอนุสรณ์สถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์... ฉันมองซ้ายมองขวาให้แน่ใจว่าไม่มีใครอื่นอยู่ที่นั่นก่อนลงจากรถ กะเวลาที่จะเดินสำรวจบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ที่แสนจะเรียบง่ายแห่งนี้ แม้จะอยู่ติดถนน แต่ก็ห่างไกลผู้คนพอดู เสียงใบสักแห้งที่ตกเกลื่อนพื้นก็ดังพอจะทำให้สะดุ้งได้อยู่เหมือนกัน

ฉันเดินตรงไปยังอนุสาวรีย์ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเสาโอเบลิสก์ หรือ เสาทรงสี่เหลี่ยมยอดแหลมทาสีแดงเลือดหมูและขาว

ที่นั่นมีคนเอาธงชาติเดนมาร์กมาวางไว้ นอกจากพวงมาลัย กระถางธูป ช้าง และม้าแล้ว สิ่งที่ทำให้ฉันอดขำไม่ได้ คือ ยังอุตส่าห์มีคนเอารูปปั้นไก่ชนตัวโตมาตั้งไว้บริเวณอนุสาวรีย์ ซึ่งฉันก็ยังนึกอะไรไม่ออกว่า ไก่ชนควรจะมาเกี่ยวกับเขาตรงไหน และเมื่อเดินไปดูที่ด้านหลังกระถางธูป ก็พบว่ามีปืนปลอม 2 กระบอก แถมด้วยเค้กกับกาแฟจากร้านสะดวกซื้อที่เปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง

ฉันอ่านประวัติของเขาที่ติดอยู่บนอนุสาวรีย์เพิ่มเติม… ไม่ยาวเท่าไหร่ คิดว่าคงใช้เวลาไม่นานสำหรับการหาคำตอบ

“ชาวเดนมาร์ก ได้รับการชักชวนจากนายพันโทพระยาวาสุเทพให้เข้ามารับราชการในกรมตำรวจภูธร เมื่อ พ.ศ. 2443 ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก ตำแหน่งครูฝึกตำรวจภูธรที่เชียงใหม่ ถึงแก่กรรมขณะไปปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามพวกกบฏเงี้ยวที่เมืองพะเยา โดยถูกพวกกบฏเงี้ยวแอบซุ่มยิงข้างทางที่บ้านแม่กาท่าข้าม เมืองพะเยา เป็นนายตำรวจไทย เชื้อสายเดนมาร์ก เกิดเมื่อ พ.ศ. 2421 เสียชีวิตเมื่อ 14 ตุลาคม 2445”

ภาพถ่ายที่ติดอยู่เหนือประวัตินั้น เป็นภาพที่ทำให้ฉันประหลาดใจ เพราะผิดคาดจากที่คิดไว้แต่เดิม และยิ่งพิศวงมากขึ้น เมื่อเห็นอายุของเขาที่ซ่อนอยู่ใต้พวงมาลัยที่มีคนนำมาคล้องไว้ที่ใต้รูป...
ยี่สิบสี่ปี... เขาตายตอนยังหนุ่มขนาดนี้เลยเหรอ...

ในขณะที่เขาอายุยี่สิบต้น ๆ นี่เอง เขาได้เป็นถึงครูฝึกตำรวจภูธร มีหน้าที่รับผิดชอบที่หนักและเป็นเรื่องใหญ่เอาการ และ ณ วันที่เขาเสียชีวิตนั้น เขาเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เพราะถูกลอบยิงโดยฝ่ายที่ทางการต้องการปราบปราม ณ ขณะนั้น
จุดที่เขาเสียชีวิตก็คือจุดที่อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่นั่นเอง

ฉันได้คำตอบแล้วว่าเขาคือใคร แต่คำตอบนั้นไม่ใช่สิ่งที่ฉันพอใจ หากกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามมากมายที่ทำให้ฉันเริ่ม ‘อยากรู้อยากเห็น’ เกี่ยวกับเรื่องของเขามากขึ้น

อะไรที่พาเขามาที่นี่ และสิ่งที่เขาทำนั้น มีอะไรมากกว่าที่ฉันได้อ่าน ได้เห็นที่อนุสาวรีย์นี้หรือเปล่า...

ในคืนที่นั้น ฉันนำภาพที่ถ่ายจากอนุสาวรีย์ของร้อยเอกเจนเซน มาลงในสื่อสังคมออนไลน์ ปฏิกิริยาของเพื่อนหลายคน ดูเหมือนจะแปลกใจกับข้อค้นพบในเรื่องนี้ แต่มีบางความเห็นที่ทำให้ฉันต้องเป็นฝ่ายแปลกใจเสียเอง
เพื่อนสมัยเรียนของฉัน ซึ่งปัจจุบันเป็นตำรวจ เขียนข้อความหนึ่งเอาไว้สั้น ๆ
“คิดอยู่แล้วว่าต้องไม่มีใครรู้จัก... รู้ไหม เขาเป็นวีรบุรุษของเรา”
เขาไม่ได้ให้คำตอบหรือเหตุผลเพิ่มเติมสำหรับคำพูดนั้น ซึ่งฉันรู้ว่า เป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องไปค้นคว้าต่อ...
สิ่งที่ฉันกับเขาเคยคุยกัน และเขาเป็นฝ่ายถามขึ้น แวบกลับมาในความทรงจำ
“รู้หรือเปล่าว่า คำว่า gendarme ที่ใช้เรียกตำรวจภูธรสมัยก่อน กับคำว่า police ที่ใช้เรียกตำรวจทั่วไปสมัยนี้ไม่เหมือนกัน”

นี่คือคำตอบแรกสำหรับคำถามว่า ทำไม ร.อ. เจนเซน ถึงมียศเป็น “ทหาร” ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นเขาเป็น “ตำรวจ”  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 12, 22:36
3. ตำรวจภูธร

ข้อมูลเกี่ยวกับยศทหารที่ใช้กับตำรวจในสมัยนั้นที่ค้นเจอเป็นหนแรก อยู่ในบทความเกี่ยวกับประวัติตำรวจภูธรเมืองลำปางที่ฉันลองค้นจากชื่อของ ร.อ. เจนเซน นั่นเอง
 
“ตำรวจภูธรเมืองลำปาง เริ่มในสมัยที่นครลำปางยังมีเจ้าผู้ครองนคร ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เหตุการณ์ สำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงกิจการตำรวจ คือ ประมาณปี พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวก่อการจลาจลขึ้นในภาคเหนือหลายจังหวัด จึงได้ปราบปราม แต่ไม่สงบเพราะกำลังคนและอาวุธเหนือกว่า จึงได้ขอกำลังทหารและตำรวจส่วนกลางมาช่วยเหลือ โดยมี ร.อ. ฮันส์ มาร์ควอร์ด เจนเซน (ขณะนั้นตำรวจภูธรใช้ยศแบบทหาร) ซึ่งเป็นตำรวจหลวงชาวเดนมาร์ค (2421-2445 ) ครูฝึกตำรวจ ผู้บังคับหน่วยกำลังของตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง ได้นำกำลังตำรวจภูธรเข้าต่อสู้กับกองโจรเงี้ยวที่เข้ามาบุกนครลำปาง จนกองโจรบาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมากและได้ล่าถอยกลับไปทางจังหวัดพะเยา ร.อ.ฮันส์ ฯ ได้ทำการออกไล่ล่าติดตามกองโจรไปอย่างกระชั้นชิด และได้ถูกกองโจรยิงจนเสียชีวิตในเขตท้องที่บ้านแม่กา ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ในปัจจุบันนี้”

คำตอบสำคัญที่อยู่ในบทความนี้ คือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ตำรวจภูธรใช้ยศแบบทหาร... แต่คำถามก็คือ แล้วทำไมถึงใช้ยศอย่างทหาร ไม่ใช้ยศอย่างตำรวจที่เราเห็นกันปัจจุบันนี้

นอกจากนี้ ที่กองตำรวจภูธรในสมัยนั้น มีคำเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Royal Provincial Gendarmerie” ซึ่งเป็นคนละอย่างกับกองโปลิศ หรือ กรมกองตระเวน ที่มีหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในเขตพระนคร

ถ้ากลับไปดูคำศัพท์ ‘Gendarmerie’ ก็จะทราบเหตุผลว่า เพราะเหตุใดตำรวจภูธรในสมัยนั้นจึงใช้ยศแบบทหาร

“A gendarmerie is a military force charged with police duties among civilian populations”
หมายความว่า กองกำลังทหารซึ่งมีหน้าที่เป็นตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่พลเรือน

“A gendarme is a soldier who is employed on police duties.”
หมายความถึง ทหารซึ่งได้รับการว่าจ้างให้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอย่างตำรวจ
สรุปอย่างสั้นที่สุด ตำรวจที่เรียกว่า ‘gendarme’ แท้จริงแล้วก็คือ ‘ทหาร’ ที่ทำหน้าที่อย่าง ‘ตำรวจ’ นั่นเอง

นอกจากนี้ เขตอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของ gendarme และ police ยังต่างสถานที่กันด้วย กล่าวคือ police จะทำงานในเมืองหลวงและเมืองขนาดใหญ่ ในเขตปริมณฑล ในขณะที่ gendarme จะทำงานในเมืองขนาดเล็กและเมืองที่อยู่รอบนอกออกไป แต่อำนาจหน้าที่ในการสืบสวนจับกุมคนร้ายและปราบปรามการกระทำความผิดนั้น มีอยู่เหมือน ๆ กัน
หากพิจารณาดูจากสภาพสังคมของเมืองอื่น ๆ ที่อยู่นอกพระนครไปทางต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือในสมัยนั้น จะก็เห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งในทางการเมืองภายในและภายนอกอยู่พอสมควร รวมไปถึงเรื่องซื้อขายทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สินแร่ต่าง ๆ ทั้งยังมีความไม่สงบบางประการเกิดขึ้น

วัตถุประสงค์หลักของการมีกองตำรวจภูธรนั้น ก็เพื่อส่งไปทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่มีความวุ่นวายหรือมีปัญหานั่นเอง ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่ทำหน้าที่ของตำรวจซึ่งต้องติดตามและปราบปรามผู้กระทำความผิด การมีกำลังคนและอาวุธที่จะใช้ในงานของตนเองด้วย การไปทำหน้าที่ของตำรวจภูธรนั้น โดยแรกเริ่มจึงมีลักษณะกึ่งทหารอยู่ด้วยนั่นเอง

ดังนี้แล้ว คงไม่ต้องแปลกใจแล้วว่า เพราะเหตุใดตำรวจภูธรสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมียศอย่างทหาร โดยการเปลี่ยนยศตำรวจภูธรจากการใช้ยศทหารมาเป็นยศตำรวจอย่างที่เป็นอยู่กันในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งยุบรวมเอากรมกองตระเวนกับกรมตำรวจภูธรเข้ามาเป็นหน่วยงานเดียวกัน และเปลี่ยนชื่อเรียกยศ เป็นนายร้อยตำรวจ นายพันตำรวจ รวมถึงใช้คำเรียกที่ทำการของตำรวจว่า สถานีตำรวจ ด้วย

เมื่อพูดถึงที่มาของตำรวจภูธรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงเลยคงไม่ได้ ก็คือ ผู้ก่อตั้งกองตำรวจภูธร และบุคคลผู้นี้ก็ได้ชักนำชายหนุ่มชาวเดนมาร์กหลายคนให้ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามายังแผ่นดินสยามเพื่อรับราชการเป็นตำรวจ ก็คือ นายพลโทพระยาวาสุเทพ หรือชื่อเดิมว่า กุสตาฟ เชา (Lieutenant General Gustav Schau, 1859 – 1919) ชาวเดนมาร์กนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่เจ้ากรมตำรวจภูธร นายตำรวจในระดับผู้นำหรือระดับครูฝึกตำรวจภูธรในสมัยแรกเริ่มนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวเดนมาร์กทั้งสิ้น นับแต่ พ.ศ. 2440 เป็นต้นมาก็ได้ขยายกำลังตำรวจภูธรออกไปประจำการใน 10 มณฑล โดยมีทั้งนายตำรวจชาวเดนมาร์กและไทยไปประจำการอยู่ ซึ่งตำรวจภูธรมณฑลพายัพ หรือ ทางภาคเหนือนั้น เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2442

นี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวของนายตำรวจชาวเดนมาร์ก ชื่อ ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 06:38
4. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน : จากเดนมาร์กถึงสยาม

ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน (Hans Marqvard Jensen หรือที่หลุมศพของเขาจารึกว่า Hans Markward Jensen) เป็นใคร มาจากไหน ในเอกสารของไทยเท่าที่หาได้ ก็มีที่มาที่ไปไม่มากมายนัก ที่มากที่สุดก็เพียงแต่บอกได้ว่า เกิดที่เดนมาร์ก เมื่อ ค.ศ. 1878 หรือ พ.ศ. 2421 เมื่อจบการศึกษาสามัญแล้ว ได้ไปเป็นทหาร และได้รับการชักชวนจากนายพันโทพระยาวาสุเทพให้มารับราชการในสยาม แต่เมื่อลองค้นจากชื่อภาษาอังกฤษของเขาแล้ว ฉันก็ได้พบบทความที่เกี่ยวกับเขาโดยตรง และในบทความนี้เอง ประวัติและที่มาของ ร.อ. เจนเซนก็ดูจะชัดเจนและจับต้องได้ยิ่งขึ้น

ในวารสาร ScandAsia ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 2009 ได้นำประวัติความเป็นมาของนายตำรวจชาวเดนมาร์กผู้นี้ และสิ่งหนึ่งในบทนำของบทความนี้ ที่ฉันชอบเป็นการส่วนตัว คือ ข้อความที่ผู้เขียน คือ Flemming Winther Nielsen เขียนไว้ในบทความ The Dane Who Save the North ว่า
“ชาวต่างชาติหรือฝรั่งที่อยู่มานาน และผู้มาใหม่มีน้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อของเขาและพูดถึงเขา หลายคนส่ายหน้า และบางครั้งก็ยักไหล่ว่าไม่รู้จัก ลองจินตนาการดูว่า เขาโดดเดี่ยวและถึงแก่ความตายในดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก ด้วยอายุเพียงแค่ยี่สิบสี่ปีเท่านั้น คำบอกเล่าเกี่ยวกับเขาส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของการคาดเดาและทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย แต่ผู้เขียนจะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฮันส์และชีวิตของเขา... เพราะเขาสมควรที่จะได้รับสิ่งนี้”

ใช่... He deserves it

ฉันคิดอย่างนั้น เช่นเดียวกันกับใครอีกหลายคนที่มีเพียงชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์ แล้วจางหายไปในกาลเวลา ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม

เมื่ออ่านบทความของนีลเซนแล้ว ฉันก็อดยิ้มด้วยความทึ่งไม่ได้ว่า นี่เขาไปค้นคว้ามาได้ถึงขนาดนี้เลยหรือ แต่ถ้าพูดอีกที คนที่เก่งพอๆกันกับคนค้นก็คือคนที่เก็บเอกสารหลักฐานเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพราะแง่มุมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่มีใครเอาใจใส่ ในบางครั้งก็เป็นแง่มุมที่น่าค้นหาอยู่ไม่น้อย ด้วยบางมุมที่แสนจะธรรมดา อย่างเขาชอบอะไร มีงานอดิเรกอะไร ใช้ข้าวของแบบไหน ก็เป็นภาพสะท้อนการใช้ชีวิตของคนในยุคนั้นได้อย่างหนึ่ง และแน่นอนว่า บางครั้ง เราก็อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับชีวิตของคนธรรมดาทั่วไปว่าเขากินอยู่อย่างไรบ้างเช่นกัน

“ต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 1902 ห่อพัสดุเล็ก ๆ ถูกส่งจากเมืองโอเดนส์ ประเทศเดนมาร์ก สู่สยาม โดยทางเรือของบริษัทอีสต์เอเชียติก... แต่ ร.อ. เจนเซนผู้รับนั้นตายเสียแล้ว ห่อพัสดุนั้นจึงถูกส่งต่อไปยังกงสุลเดนมาร์กเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน เมื่อเปิดออก ภายในมีกระป๋องโกโก้ 6 กระป๋อง และรองเท้าบู๊ตหนังคู่ใหม่หนึ่งคู่... แต่คนที่โปรดปรานเครื่องดื่มชนิดนี้และคนที่จำเป็นต้องใช้รองเท้าคู่นั้นไม่เคยได้รับ”

น่าเสียดายที่พัสดุนั้น ส่งคลาดเวลากันกับช่วงเวลาที่ผู้มีชื่อรับของนั้นยังมีชีวิตอยู่เพียงเดือนเดียว

แม้จะไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้ส่ง แต่เป็นที่แน่นอนว่า พัสดุจากเมืองโอเดนส์ดังกล่าวเป็นของที่ทางครอบครัวของเขาส่งมาให้จากบ้านเกิดเมืองนอนของเขา และสำหรับคนเป็นผู้หญิงอย่างฉัน ก็พอจะคาดเดาจากข้อมูลดังกล่าวได้ว่า คนที่รู้ดีว่าเราชอบอะไร เอาใจใส่ในเรื่องอาหารการกิน และจำได้แม้กระทั่งว่าเขาใส่รองเท้าเบอร์ไหน อย่างไรถึงจะพอดี คงจะมีแต่แม่เท่านั้น

นอกจากเรื่องของพัสดุที่ส่งมาแล้วไม่เคยไปถึงมือผู้รับ... จากการค้นคว้าของนักข่าวชาวเดนมาร์กมีข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวและการศึกษาของเขาอย่างละเอียดพอสมควรด้วย

ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี 1878 ที่เขตVindegade เมือง Odense ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของเดนมาร์ก และเป็นบ้านเกิดของนักเขียนเทพนิยายอย่างฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซนด้วย

บิดาของฮันส์ซึ่งมีอาชีพที่จดแจ้งไว้ในทะเบียนราษฎร์ว่าเป็นช่างไม้ ชื่อราสมุส เจนเซน (Rasmus Jensen) มารดาชื่อ มารี เจนเซน (Marie Jensen) เป็นแม่บ้าน มีพี่สาวหนึ่งคนไม่ปรากฏชื่อ กับแม่บ้านอีกหนึ่งคน และมีฟาร์มอยู่ในเขตชานเมืองด้วยอีกแห่งหนึ่ง

เดิมทีนั้น ฮันส์ไม่ได้เริ่มต้นศึกษาวิชาทหารเสียทีเดียว เพราะเขาเรียนมาด้านการเป็นสมุห์บัญชี แต่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร และได้สังกัด The Royal Life Guards (Den Kongelige Livgarde) กองทหารรักษาพระองค์ที่โคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก จากนั้น จึงเข้าศึกษาในสถาบันทางการทหาร และติดยศร้อยตรีเมื่อปี 1989 จนกระทั่งปี 1900 จึงได้ย้ายมารับราชการในกรมตำรวจภูธรสยาม  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 06:40
ไม่มีใครรู้ว่า อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานไกลถึงเพียงนี้...

ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินของครอบครัว มีเพียงข้อเท็จจริงว่า เขายังไม่ได้แต่งงาน และบิดาเพิ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้าที่เขาจะตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย เพราะฉะนั้น ญาติที่เหลืออยู่ที่เดนมาร์กจึงมีเพียงพี่สาวและมารดา

ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เป็นไปได้ ก็อาจเป็นเพราะโอกาสก้าวหน้าในการทำงานของชาวเดนมาร์กในกรมหรือกองทหารของไทยในสมัยนั้นมีอยู่ค่อนข้างสูง และชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลาง ไม่มีวัตถุประสงค์หรือข้อขัดแย้งในเรื่องการล่าอาณานิคม ที่เข้ารับราชการในสยามก็ต่างอยู่ในระดับของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น กุสตาฟ เชา หรือนายพันโทพระยาวาสุเทพ เจ้ากรมตำรวจภูธร เป็นต้น

สำหรับฉันแล้ว การตัดสินใจเดินทางไปในที่ที่ไม่เคยไป เพื่อทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรของเขานั้น ฉันคิดว่า ฉันพอจะเข้าใจอยู่บ้าง เพราะฉันก็เคยมีช่วงเวลาที่จะต้องตัดสินใจไปเรียนต่อในต่างประเทศ แม้จะไม่เสี่ยงภัย แต่ก็ต้องคิดมากพอสมควร

การไปเรียนต่อในเมืองที่มีคนไทยไม่เกินห้าสิบคน ทั้งมหาวิทยาลัยมีนักเรียนไทยอยู่ประมาณยี่สิบคน และฉันเป็นคนไทยคนเดียวในคณะ ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยเลย... เทียบกันแล้ว ก็คงไม่ต่างจากเขามากสักเท่าไหร่

ถ้าไม่ไปก็เท่ากับว่าฉันทิ้งโอกาสที่อยู่ใกล้แค่มือเอื้อม แต่การไปที่ว่าก็อาจเท่ากับต้องให้ใครบางคนรออยู่ข้างหลัง แต่เมื่อเงื่อนไขทุกอย่างเหมาะสม และมีบางสิ่งบอกว่า ถึงเวลาแล้ว เมื่อนั้นการตัดสินใจว่า ‘ต้องไป’ คือ การตัดสินใจเด็ดขาดที่จะเกินไปข้างหน้าโดยไม่เปลี่ยนใจอีก

ท้ายที่สุด คำพูดที่บอกตัวเองว่า ‘ยังไงก็ต้องไป’ คือคำตอบที่กำหนดชะตาตัวเองและเป็นเหตุผลของการตัดสินใจก้าวข้ามไปสู่โลกอีกใบหนึ่งที่เราเกือบไม่รู้จักเลยอย่างแท้จริง เพื่อทำอะไรสักอย่างที่เราควรจะทำ... เท่านี้เองจริง ๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น คือ คำอนุญาตจากคนในครอบครัว... ขอแค่คำว่า ‘ทำเลย’ หรือ ‘ไปเลย’ แค่นี้ การตัดสินใจที่เคยยากเย็นมากมายก็กลายเป็นง่ายดายขึ้นมาทันที

ทั้งนี้ เหตุผลของฉันกับเหตุผลของเขาอาจไม่เหมือนกันเลยก็ได้  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 06:46
ไม่ว่าจะจากเดนมาร์กมาด้วยเหตุผลใด ปลายเดือนธันวาคม ปี 1900 ร.ต. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน ก็เดินทางมาถึงสยาม และรับราชการในกรมตำรวจภูธร ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของนายพันโทกุสตาฟ เชา โดยติดยศนายร้อยโท แล้วไปประจำการที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นแห่งแรก ขณะอายุยี่สิบสองปี และโยกย้ายไปในจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ปราจีนบุรี อยุธยา มาจนกระทั่งมาประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่ในตำแหน่งครูฝึกตำรวจภูธร ในช่วงต้นปี 1902

ในส่วนของการใช้ชีวิตนั้น เฟลมมิง วินเธอร์ นีลเซน ผู้เขียนบทความและค้นคว้าเกี่ยวกับ ร.อ. เจนเซนได้บรรยายถึงสมบัติส่วนตัวที่เขานำติดตัวไปในการรับราชการแต่ละแห่งว่ามีอะไรอยู่บ้าง ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากสิ่งของส่วนตัวของแต่ละคนก็สามารถสะท้อนลักษณะการใช้ชีวิตและความสนใจของบุคคลนั้นได้อยู่เหมือนกัน

ส่วนใหญ่แล้ว ข้าวของของเขามีเฉพาะของใช้จำเป็นเท่านั้น เช่น มุ้ง เต็นท์ กล่องใส่ของสำหรับเดินทาง โต๊ะไม้แบบเรียบ ๆ ที่นอน เตาแบบพกพา สเปอร์ติดรองเท้า เครื่องครัวที่จำเป็น เป็นต้น แต่จะมีบางอย่างที่พิเศษอยู่บ้าง ก็เช่น พระพุทธรูป หนังสือแผนที่แอตลาส กล่องบุหรี่ กล่องซิการ์ และรูปถ่ายที่เข้ากรอบไว้แล้วสิบรูป ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นภาพถ่ายครอบครัวที่เดนมาร์ก

เมื่อพิจารณาแต่ละรายการแล้ว... ‘สมบัติ’ ของฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน เรียกได้ว่า ‘เรียบง่าย’ และ ‘ธรรมดา’ มากทีเดียว แทบจะไม่มีทรัพย์สินมีค่าในด้านของราคาเลย...

ในช่วงกลางค่อนไปทางปลายปี 1902 นั้นเองที่มีเหตุจลาจลสำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในมณฑลพายัพ โดยเฉพาะทางลำปาง พะเยา และแพร่ และเหตุการณ์นี้เองที่ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนได้รับคำสั่งให้ไปดูแลสถานการณ์ที่ลำปาง
เสี้ยวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผลงานสำคัญของนายตำรวจไทย เชื้อชาติเดนมาร์กผู้นี้ได้เริ่มต้นขึ้นและถูกจารึกไว้ที่นั่น...


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 08:06
5. กองโจร

สถานการณ์ที่ลำปางซึ่ง ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนได้รับคำสั่งให้ไปดูแล เป็นเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายครั้ง ในหลายจังหวัดทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ จากฝีมือของกองโจรซึ่งนำโดยพวกเงี้ยว เหตุการณ์ได้ลุกลามขยายตัวไปในหลายพื้นที่และมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งการปล้นและการฆ่าคนของทางการสยามมากมาย

คำว่า ‘เงี้ยว’ นี้ พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ (โยธิน ฐานิสโร) หัวหน้าฝ่ายวิชาการ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ ได้อธิบายไว้ว่า เป็นคำที่ชาวล้านนาสมัยก่อนใช้เรียกคนที่มาจากรัฐฉานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินของพม่า แม้จะใช้เรียกในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ชาวไทใหญ่ก็ไม่ชอบที่ถูกเรียกว่า ‘เงี้ยว’ เนื่องจากเป็นคำที่ให้ความหมายทางลบ เพราะเงี้ยวแปลว่า ‘งู’ ซึ่งเป็นสัตว์อันตราย ควรเรียกว่า ‘คนไต’ ตามที่คนไทใหญ่เรียกตัวเองจะถูกต้องกว่า

อย่างไรก็ดี คำว่า ‘เงี้ยว’ ที่ใช้หมายความถึง กลุ่มโจรที่ก่อการจลาจลในช่วงเวลานั้น มิได้หมายความเฉพาะชาวไทใหญ่แต่เพียงกลุ่มเดียว หากรวมไปถึง ผู้ร่วมก่อการที่มาจากฝั่งพม่าทั้งหมด โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นชนชาติไหน เหตุที่เรียกรวมกันไปหมดนี้ เนื่องจากรายชื่อนักโทษในเหตุการณ์ดังกล่าวที่ถูกจับได้ปรากฏว่ามีทั้ง ชาวไทใหญ่ และพม่า และ คำว่า ‘เงี้ยว’ ที่ใช้สำหรับกรณีนี้ จึงเป็นคำที่มีความหมายอย่างกลาง ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายในการอธิบายเหตุการณ์เท่านั้น

ส่วนในบทความภาษาอังกฤษของปีเตอร์ ยอร์เกนเซน (Peder Jørgensen) และเฟลมมิง วินเธอร์ นีลเซนที่เรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘The Shan Rebellion’ หรือ ‘การก่อจลาจลโดยคนที่มาจากรัฐฉาน’ นั่นเอง
ความเป็นมาของการก่อเหตุดังกล่าว ฉันยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองค่อนข้างมาก แต่ก็จะพยายามอธิบายอย่างรวบรัดและเป็นกลาง

ก่อนจะพูดถึงเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น ต้องเท้าความถึงสภาวะบ้านเมืองทางมณฑลพายัพ ณ ขณะนั้นก่อนว่า เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ดูแลในส่วนของมณฑลเทศาภิบาล และมีการส่งข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งเทียบได้กับผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันเข้ามาปกครอง โดยเจ้าผู้ครองนครเดิมต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารราชการส่วนกลาง ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการเมืองเช่นแต่ก่อน

แม้มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง เพื่อรักษาหัวเมืองล้านนาเอาไว้ไม่ให้ตกเป็นของประเทศล่าอาณานิคม เนื่องจากสยามได้สูญเสียดินแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งแต่เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ให้แก่อังกฤษ และต้องยอมเสียดินแดนที่ติดกับจังหวัดน่านให้แก่ฝรั่งเศสไปอีก แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านรูปแบบการปกครอง การเก็บภาษีรัชชูปการที่ผู้ใหญ่บ้านต้องเก็บจากชาวบ้านเพื่อส่งเข้าหลวง และการเกณฑ์แรงงานที่ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเลือกจ่ายภาษีหรือใช้แรงงานแทนกันได้เช่นแต่ก่อน ประกอบกับข้าราชการสยามบางคนได้ยกเลิกสิ่งที่คนพื้นถิ่นเคยปฏิบัติกันมา ทำให้คนท้องถิ่นไม่พอใจ แต่เจ้านายฝ่ายเหนือก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 08:09
ส่วนผลกระทบของระบบมณฑลเทศาภิบาลต่อกลุ่มเงี้ยวซึ่งอาศัยอยู่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ เรื่องการที่รัฐบาลสยามไม่ยอมออกหนังสือเดินทางให้กับชาวเงี้ยวในการเดินทางเข้าออกหัวเมืองทางเหนือและพม่าหลังจากการกำหนดเขตดินแดนใหม่ ทำให้ไม่สามารถไปมาหาสู่กันอย่างที่เคยเป็นมา

นอกจากนี้ พวกเงี้ยวยังประสบกับการเสียภาษีซ้ำซ้อน โดยในบทความของจอร์เกนเซนกล่าวว่า คนจากรัฐฉานซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษที่เดินทางมาจากพม่าก็ต้องเสียภาษีให้สยามด้วย โดยถือว่ามีที่พำนักอยู่ในสยาม แต่ กลับขอสิทธิในการอยู่อาศัยในสยามได้ยาก ซึ่งทางฝ่ายเงี้ยวเห็นว่าการกระทำนี้เป็นการลิดรอนสิทธิที่เคยมีมาของตนเอง

ทั้งยังมีประเด็นการเลือกปฏิบัติของข้าราชการสยามที่ไม่อนุญาตให้ตัดไม้ไปสร้างวัดเงี้ยวหรือพม่า แต่กลับอนุญาตให้คนไทยหรือลาวตัดไม้เพื่อการนี้ได้ ทำให้ชาวเงี้ยว พม่า และต่องสู้ที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองทางเหนือเกิดความไม่พอใจ และเคยมีจดหมายจากเฮดแมน หรือหัวหน้าหมู่บ้านชาวเงี้ยวไปร้องทุกข์กับกงสุลอังกฤษในเรื่องนี้ด้วย

อีกด้านหนึ่ง จากมองจากมุมของสยาม เห็นได้ว่า ทางสยามเองต้องการที่จะรักษาดินแดนเอาไว้ไม่ให้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและประเทศล่าอาณานิคมอื่น ๆ โดยเฉพาะดินแดนทางเหนือนั้น เป็นจุดที่มีความเปราะบางค่อนข้างสูง ล้านนากับพม่ามีความสัมพันธ์กันมายาวนาน และในขณะนั้นพม่าได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลมณฑลพายัพอย่างใกล้ชิดและดึงเข้ามาให้อยู่ในสายตาของสยามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไม่เพียงเท่านั้น จากกรณีที่อังกฤษเคยเข้ามาขอสัมปทานทำบริษัททำป่าไม้จากเจ้านายฝ่ายเหนือ และเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างคนท้องถิ่นกับคนในบังคับของอังกฤษ ทางอังกฤษก็จะอ้างสิทธิในการเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเข้ามาแทรกแซงกิจการ ทำให้ทางการสยามต้องเข้ามาแก้ข้อพิพาทหลายครั้ง และในส่วนไม่ออกใบอนุญาตข้ามแดน รวมไปถึงการอนุญาตให้คนต่างถิ่นครอบครองที่ทำกินในสยามได้ยากขึ้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ ว่าการปล่อยให้คนในบังคับของอังกฤษ ไปมาได้อย่างสะดวกหรือตั้งบ้านเรือนโดยเสรีเช่นแต่ก่อนเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของสยาม  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 08:10
ไม่ว่าต่างฝ่ายจะมีเหตุผลอย่างใด แต่การเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในคราวนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการก่อจลาจลครั้งใหญ่ในมณฑลพายัพใน พ.ศ. 2445 หรือ ค.ศ. 1902 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ทางการสยามได้ข่าวว่า มีกลุ่มโจรดักปล้นพ่อค้าชาวจีน และปล้นเงินภาษีรัชชูปการไปหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ทางนครลำปาง เมื่อทราบถึงการดักปล้นสินค้าของพ่อค้าชาวจีนและเงินหลวงก็ได้มีการจัดต้องกองสอดแนมออกสืบข่าวเกี่ยวกับกลุ่มโจรด้วยกัน 3 กอง คือ กองที่ 1 ของ พลโท เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 และพระยาอุตรการโกศล (เจ้าน้อยบุญสม ณ เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่จาง และเมืองลอง กองที่ 2 นำโดยเจ้าราชภาติกวงศ์ (คำตั๋น ณ เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่เมาะ ปางป๋วย และกองที่ 3 ของพระมนตรีพจนกิจ (พร จารุจินดา) ข้าหลวงลำปาง เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ หลวงไอศูรย์ และขุนภูธรธรานุรักษ์ ไปสืบที่เมืองต้า

ในที่สุด ก็สืบทราบว่าพวกที่ดักปล้นนั้นเป็นพวกเงี้ยว เมื่อปล้นเสร็จก็จะหนีไปอยู่ที่บ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นครลำปาง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ชาวไทลื้อ ชาวไทเขิน ชาวพม่า ชาวขมุ ชาวต่องสู้ และมีคนล้านนาบางส่วน มีผู้นำที่สำคัญ 3 คน คือ สล่าโปไชย (บางทีก็เรียกสล่าโป่จาย) พะก่าหม่อง และจองแข่ เหตุที่พวกโจรหนีรอดไปได้ทุกครั้ง เป็นเพราะชาวบ้านบางส่วนไม่กล้าบอกทางการ เพราะกลัวอันตราย แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มโจรด้วย
การปล้นอย่างอุกอาจของพวกเงี้ยวนี้ มีผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย รวมถึงนักข่าวของเดนมาร์กที่ศึกษาเรื่องนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอังกฤษด้วย


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 08:12
ปีเตอร์ ยอร์เกนเซน และแกรห์ม มอนาแกนมีข้อสันนิษฐานว่า เนื่องจากพวกเงี้ยวที่ก่อการในครั้งนี้ล้วนเป็นคนในบังคับของอังกฤษ ทางอังกฤษจึงอาจให้การสนับสนุนอย่างลับ ๆ ในรูปแบบที่เรียกว่า “covert operation” เป็นปฏิบัติการที่มีการวางแผนและสั่งการโดยผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่เปิดเผยตัว ทำให้คนเบื้องหลังปฏิเสธว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพื่อเปิดช่องทางให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงสยาม โดยอ้างเหตุว่าต้องการเข้ามาควบคุมคนในบังคับ เพราะทางการสยามไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบพยานหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้

เมื่อสืบทราบที่ตั้งของผู้ต้องสงสัยแล้ว พระมนตรีพจนกิจ ข้าหลวงเมืองลำปาง จึงนำกองกำลังทหารและตำรวจภูธรจำนวนหนึ่งบุกไปบ้านบ่อแก้ว แต่กลับถูกพวกเงี้ยว นำโดยสล่าโปไชยซุ่มโจมตี จนทางการต้องล่าถอยกลับไป ส่วนฝ่ายเงี้ยวก็ได้ยึดสัตว์พาหนะ ได้แก่ ช้าง ม้า เสบียงอาหาร อาวุธปืน และกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ไปได้

จากชัยชนะและอาวุธที่ยึดมาได้ ประกอบกับได้รับรายงานว่าทางการจะนำกำลังเข้าปราบปรามอีกครั้ง ทำให้พวกเงี้ยวซึ่งนำโดยสล่าโปไชย และพะก่าหม่อง ได้พาคนประมาณสี่ร้อยคนเข้าปล้นเมืองแพร่ โจมตีสถานีตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ทำให้ตำรวจที่ประจำการอยู่เสียชีวิตเกือบทั้งหมด และยังได้เข้าทำลายสถานที่ราชการ ฆ่าข้าราชการชาวสยามที่อยู่ในเมืองแพร่ไป 32 คน หนึ่งในนั้นมีข้าหลวงเมืองแพร่รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังปล้นเงินในคลังหลวงซึ่งมีอยู่ประมาณสี่หมื่นรูปีไปทั้งหมด ทั้งยังตั้งค่าหัวของชาวสยามเอาไว้ หัวละสามร้อยรูปีด้วย  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 08:14
หลังจากยึดเมืองแพร่สำเร็จแล้ว กลุ่มเงี้ยวก็นำกำลังประมาณ 300 คน มุ่งหน้าไปยังเมืองลำปางเป็นเป้าหมายต่อไป

ข่าวโจรเงี้ยวจะเดินทางไปบุกปล้นนครลำปาง ทำให้พระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่นครเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งให้ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน ครูฝึกตำรวจภูธร นำกำลังตำรวจจากเชียงใหม่จำนวน 50 นายเดินทางไปช่วยป้องกันนครลำปาง โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ร.อ. เจนเซนนำกำลังตำรวจเดินทางจากเชียงใหม่โดยใช้ม้าเป็นพาหนะ ใช้เวลาสี่วันจึงถึงลำปาง ในวันที่ 29 กรกฎาคม แม้จะนำกำลังจากเชียงใหม่มาสมทบ แต่เมื่อนับตำรวจภูธรลำปางรวมกับตำรวจภูธรเชียงใหม่แล้ว ก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าพวกเงี้ยวอยู่ดี

จำนวนคนที่น้อยกว่าและเวลาที่บีบคั้นเข้ามาทุกขณะมิได้เป็นอุปสรรคในการรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ด้วยเขาได้รับการสนับสนุนจากเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง และได้ไม้จากบริษัทบอร์เนียวฯ ของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ และ มร. ทอมป์สัน ซึ่งทำปางไม้อยู่ในลำปาง ในการสร้างเครื่องกีดขวางและด่านต่าง ๆ เพื่อป้องกันเมือง

ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน มีเวลาเตรียมตัวตั้งรับสถานการณ์ไม่ถึงเจ็ดวัน ก่อนที่พวกเงี้ยวจะเดินทางมาถึงลำปาง

นี่คือภารกิจสำคัญในความรับผิดชอบของนายตำรวจหนุ่มชาวเดนมาร์กวัยยี่สิบสี่ปี... หากพลาดพลั้งพ่ายแพ้ อาจหมายถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับนครลำปาง ยิ่งไปกว่านั้น อาจเป็นความเสียหายของสยามด้วยก็เป็นได้


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 12, 08:20
ขออนุญาตปรึกษาคุณนวรัตนและคุณเทาชมพูว่า น่าจะแยกกระทู้นี้ตั้งแต่หน้า ๖ เป็นอีกกระทู้หนึ่ง เสนอชื่อลำลองไว้ว่า "ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน"

 ::)


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 12, 09:07
แล้วแต่เจ้าของกระทู้จะเห็นสมควรค่ะ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 ต.ค. 12, 09:08
ขออนุญาตปรึกษาคุณนวรัตนและคุณเทาชมพูว่า น่าจะแยกกระทู้นี้ตั้งแต่หน้า ๖ เป็นอีกกระทู้หนึ่ง เสนอชื่อลำลองไว้ว่า "ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน"

 ::)

ก่อนหน้า ๖ ก็เป็น "ควาญหาป้อมฮึกเหี้ยมหาญ" ด้วยนะคุณเพ็ญฯ ... อิอิ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 09:11
อ้างถึง
ขออนุญาตปรึกษาคุณนวรัตนและคุณเทาชมพูว่า น่าจะแยกกระทู้นี้ตั้งแต่หน้า ๖ เป็นอีกกระทู้หนึ่ง เสนอชื่อลำลองไว้ว่า "ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน"

ตกลงครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 ต.ค. 12, 10:06

ทางนครลำปาง เมื่อทราบถึงการดักปล้นสินค้าของพ่อค้าชาวจีนและเงินหลวงก็ได้มีการจัดต้องกองสอดแนมออกสืบข่าวเกี่ยวกับกลุ่มโจรด้วยกัน 3 กอง คือ กองที่ 1 ของ พลโท เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 และพระยาอุตรการโกศล (เจ้าน้อยบุญสม ณ เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่จาง และเมืองลอง กองที่ 2 นำโดยเจ้าราชภาติกวงศ์ (คำตั๋น ณ เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่เมาะ ปางป๋วย และกองที่ 3 ของพระมนตรีพจนกิจ (พร จารุจินดา) ข้าหลวงลำปาง เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ หลวงไอศูรย์ และขุนภูธรธรานุรักษ์ ไปสืบที่เมืองต้า



ที่บทความข้างต้นอ้างชื่อเดิมของ พระยาอุตรการโกศล และเจ้าราชภาติวงศ์นั้นน่าจะไม่ถูก เจ้าราชภาติกวงษ์นครลำปางในเวลานั้นมีชื่อว่า น้อยพาบเมรุ  ณ ลำปาง  ภายหลังเป็น เจ้าราชวงศ์  ส่วนพระยาอุตรการโกศลนั้นมีชื่อว่า น้อยปิงเมือง (ไม่ทราบนามสกุล)
มีข้อสังเกตว่า ตำแหน่งอุตรการโกศลของเชียงใหม่นั้นเป็น เจ้าอุตรการโกศล  ส่วนที่ลำปางเป็นพระยาอุตรการโกศล  ส่วนพระมนตรีพจนกิจ ที่ระบุชื่อ พร  จารุจินดา ก็ไม่ถูกเพราะเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฤาไชย (พร  จารุจินดา) เดิมเป็นพระศิริไอยสวรรย์ สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  เมื่อย้ายมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุทัยมนตรี ข้าหลวงเมืองนครลำพูน  แล้วเลื่อนเป็นพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาชัย ข้าหลวงมณฑลพิษณุโลก  แล้วเบื่อนเป็นเจ้าพระยาคราวเป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพ  พระมนตรีพจนกิจ ในเวลานั้นมีนามเดิมว่า เทียนฮี้  สารสิน ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสารสินสวามิภักดิ์


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 11:19
6. ป้องกันลำปาง

ในรายงานอย่างเป็นทางการ การบุกเข้าโจมตีนครลำปางจนเกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังของเงี้ยวและตำรวจภูธรลำปางซึ่งนำโดย ร.อ. เจนเซนนั้นเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 4 สิงหาคม 2445 ทว่าก่อนหน้านั้นเริ่มมีการปะทะกันบ้างแล้ว

วันที่ 2 สิงหาคม ถือได้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากับพวกเงี้ยวเป็นครั้งแรก เมื่อ ร.อ. เจนเซนออกลาดตระเวนพร้อมกับพลตำรวจนายหนึ่งที่บริเวณประตูชัย ก็ได้พบกับพวกเงี้ยวจำนวนหนึ่งพร้อมอาวุธครบมือ เขาจึงเรียกให้หยุด เพื่อขอตรวจค้น แต่คนกลุ่มนั้นกลับยิงปืนเข้าใส่ จึงเกิดการปะทะกันขึ้น ท้ายที่สุด พวกเงี้ยวก็หนีไปได้ ส่วน ร.อ. เจนเซนและพลตำรวจนั้น ปลอดภัย ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
แม้จะไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสัญญาณเตือนว่า ภัยของนครลำปางใกล้จะถึงยิ่งขึ้นทุกขณะ...

ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่ 3 สิงหาคม มีข่าวลือว่าพวกเงี้ยวจะสังหารตำรวจและทหารให้หมดเช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้วที่เมืองแพร่ ทำให้ตำรวจซึ่งเป็นคนท้องถิ่น เกิดถอดใจ ถอดเครื่องแบบหลบหนี เพราะกลัวตาย ทำให้ยิ่งเสียเปรียบด้านกำลังคนมากขึ้นไปอีก คงเหลือแต่เพียง ร.ท. ชุ่ม สุวรรณสมิต ซึ่งเป็นคนของ ร.อ. เจนเซน ร.ท.เชิญ และทหารยศนายสิบอีกเพียง 20 นายเท่านั้น ที่ยังไม่ไปไหน

นอกจาก ร.อ. เจนเซนแล้ว อีกท่านหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องเมืองลำปางในครั้งนี้ด้วย คือ เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 นั่นเอง ด้วยท่านเป็นผู้ที่ร่วมวางแผนการต่อสู้และจัดกำลังคน รวมถึงช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวเมืองและตำรวจที่เหลือให้ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม

เห็นได้ว่า นอกจากจะต้องต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามของทางการแล้ว ร.อ. เจนเซนต้องสู้กับปัญหาภายในที่อาจทำให้สถานการณ์พลิกผันไปได้ตลอดเวลาและไม่อาจควบคุมได้ นั่นคือ ความไม่แน่นอนของ ‘อารมณ์’ และ ‘ใจ’ ของผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะแม้จะบอกให้ทำตามคำสั่งได้ แต่ก็บังคับใจและความรู้สึกของคนไม่ได้
นี่เอง ที่มีคนเคยบอกว่า ยามวิกฤติ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในการพิสูจน์ ‘น้ำใจคน’

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ลำปาง ก็เป็นสถานการณ์หนึ่งที่ได้พิสูจน์น้ำใจของเจ้าผู้ครองนครลำปางและนายร้อยตำรวจหนุ่มชาวต่างชาติ รวมไปถึงน้ำใจของผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีต่อผู้เป็นนายแล้วว่าเป็นเช่นไร

แม้จะได้รับคำสั่งให้ควบคุมสถานการณ์ แต่ ร.อ. เจนเซนก็ไม่ได้ตัดสินใจทำทุกอย่างแต่เพียงลำพัง หากมีการปรึกษาและทำงานร่วมกับเจ้าผู้ครองนครลำปาง รวมถึงมีการขออนุญาตจากท่านด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่รู้จักท้องที่และสถานการณ์ดีกว่าตนเอง
เดิมทีนั้น ร.อ. เจนเซนได้ขออนุญาตนำกำลังตำรวจไปตั้งรับอยู่ภายนอกด่าน แต่เจ้าบุญวาทย์ไม่อนุญาต ด้วยเห็นว่า ควรตั้งรับอยู่เฉพาะในเมือง ซึ่งแม้แนวทางการต่อสู้ของเจ้าบุญวาทย์จะแตกต่างออกไป ทว่าเขาก็ยอมรับและปฏิบัติตาม ซึ่งการไม่อนุญาตให้นำกำลังออกไปสู้รับภายนอกด่านนั้น ย่อมมีเหตุผล เนื่องจากมีตำรวจที่หนีราชการไปเป็นจำนวนมาก กำลังพลที่มีอยู่มีน้อย หากมีคนบาดเจ็บล้มตายอีก คนที่เหลือจะยิ่งเสียกำลังใจมากขึ้น การตั้งรับจากภายในเมืองจึงเป็นการรักษากำลังคนเอาไว้ได้ดีกว่า และเพื่อปลอบขวัญผู้ใต้บังคับบัญชาที่ยังเหลืออยู่ เจ้าบุญวาทย์ก็ได้ประกาศตั้งค่าหัวพวกเงี้ยวเอาไว้รายละสามร้อยรูปีเป็นแรงจูงใจเพิ่มเติมด้วย

แม้ความต่างทางเชื้อชาติและภาษา รวมถึงระยะเวลาที่จำกัดจนไม่อาจสร้างความไว้วางใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อว่า เขาจะเป็นผู้นำในการป้องกันเมืองและผู้คนได้ จะเป็นปัญหาใหญ่ที่นายร้อยเอกชาวเดนมาร์กต้องเผชิญ แต่ในเวลาเดียวกัน มีบทพิสูจน์อีกบทหนึ่งเกิดขึ้นด้วยเช่นกันว่า เมื่อคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างฐานะ และที่มาสามารถก้าวข้ามความแตกต่าง และมีเป้าหมายเช่นเดียวกันแล้ว ถึงจะมีจำนวนน้อย ถึงจะรู้ดีว่า โอกาสที่จะพ่ายแพ้นั้นมีอยู่ แต่พวกเขาก็ไว้ใจกันและยืนยันที่จะทำหน้าที่ของตนเองร่วมกันจนถึงที่สุดได้เช่นกัน  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 11:21
ในวันเดียวกันนั้น มีรายงานว่าพวกเงี้ยวยึดแม่เมาะเอาไว้ได้ และคาดว่าจะถึงเมืองลำปางในช่วงเช้าตรู่วันที่ 4 สิงหาคม... พวกเขามีเวลาเหลืออีกไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง
ช่วงเช้ามืดของวันที่ 4 สิงหาคม พะก่าหม่องและหัวหน้าเงี้ยวเมืองลองก็นำกำลังเข้ามาประชิดเมืองลำปาง และเริ่มโจมตีจากทางเหนือของเมือง จุดไฟเผาบ้านเรือนราษฎร

ด่านที่ 1 ซึ่ง ร.ท. เชิญควบคุมอยู่นั้นสามารถป้องกันพวกเงี้ยวได้ แต่สำหรับด่านที่ 2-5 ซึ่งอยู่เลียบแม่น้ำวัง ตำรวจส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นถอดใจหนีไปกันเกือบทั้งหมดหลังจากมีการปะทะกัน ทำให้เงี้ยวมุ่งตรงไปยังบ้านพักของข้าหลวงนครลำปาง ซึ่งอยู่หลังด่านที่ 5 และสามารถบุกยึดบ้านเอาไว้ได้ หากทำได้เพียงแค่ยึดสถานที่และทรัพย์สินเอาไว้เท่านั้น เนื่องจากตัวของพระมนตรีพจนกิจ รวมถึงข้าราชการสยามคนอื่น ๆ อพยพออกไปจากลำปางก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากบ้านของข้าหลวงลำปาง พวกเงี้ยวอีกส่วนหนึ่ง ยังมุ่งตรงมายังด่านที่ 9 ซึ่งวางไว้ป้องกันคุ้มเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ โดยมีนายร้อยโทชุ่ม วรรณสมิตรักษาอยู่ด้วย ตำแหน่งของคุ้มเจ้าบุญวาทย์นี้ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสถานีตำรวจภูธรลำปาง และข้างสถานีตำรวจนั้น เป็นวัดบุญวาทย์ ซึ่งเจ้าบุญวาทย์ได้สร้างขึ้น จึงถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญก็ว่าได้

บริเวณด่านที่ 9 นี้ ที่ ร.ท. ชุ่มนำกำลังตำรวจต่อสู้กับพวกเงี้ยวอย่างเต็มกำลังจนฝ่ายหลังสู้ไม่ได้ ต้องล่าถอยไปรวบรวมกำลังคนกลับมาโจมตีด่านใหม่อีกครั้ง แต่ก็ต้องล่าถอยกลับไปอีก ว่ากันว่า นอกจากกำลังตำรวจภายใต้การควบคุมของ ร.ท. ชุ่มแล้ว เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิตก็ได้ร่วมป้องกันด่านนี้ด้วย โดยกระสุนนัดแรกที่ใช้ยิงผู้บุกรุกเป็นกระสุนของเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์นี้นี่เอง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อยู่ในสายตาของ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนโดยตลอด และความสำเร็จที่ได้รับในการป้องกันด่านที่ 9 เอาไว้นี้ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะยึดด่านที่ 5 กลับมาจากพวกเงี้ยวให้ได้

ร.อ. เจนเซน นำ ร.ท. ชุ่ม และตำรวจอีก 12 นายไปยังด่านที่ 5 แต่ พวกเงี้ยวไหวตัวทัน ระดมยิงเข้ามา แม้จะไม่มีใครได้รับอันตราย แต่ตำรวจที่ได้รับคำสั่งให้ตามมาบุกยึดด่านนั้นก็ขวัญเสียจนหนีไปเกือบทั้งหมด ไม่ยอมกลับเข้ามาทำหน้าที่ คงเหลือเพียง ร.อ. เจนเซน ร.ท. ชุ่ม และพลตำรวจอีก 2 นาย รวมเป็น 4 นายเท่านั้น
แต่กำลังตำรวจแค่ 4 นายจะสู้กับเงี้ยวนับสิบนับร้อยที่มีอาวุธครบมืออย่างไรได้  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 11:22
ระหว่างที่อ่านข้อมูลถึงตรงนี้ เรื่องราวหนึ่งก็ผ่านเข้ามาในความทรงจำ พร้อม ๆ กับที่คำถามหนึ่งแวบเข้ามาในความคิด

คืนหนึ่ง ดึกมากจนฉันไม่คิดว่าจะมีใครโทรศัพท์มาหาอีก ฉันได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนสนิทที่เป็นตำรวจ แม้จะยังไม่ทันรับสาย ฉันก็พอจะเดาออกว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนกับว่าชีวิตการทำงานของเขาจะมีแต่ปัญหาที่ผ่านเข้ามาไม่เว้น และเช่นเดียวกับทุกครั้ง ฉันเป็นคนรับฟังปัญหาของเขา โดยที่ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาเช่นไร
“เวลามีคนมาขอให้เราช่วย เราก็ช่วยเขาเต็มที่ อะไรที่เราทำให้เขาได้เราก็ทำ แต่เวลาที่เราเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ บ้าง กลายเป็นว่าเขาปฏิเสธที่จะช่วยเรา หันหลังให้เรา ทำไมถึงเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้”

เขาเอ่ยด้วยเสียงธรรมดา ไม่ได้แสดงอารมณ์อะไร แต่ฉันพอจะรู้ความรู้สึกของเขา ณ ตอนนั้น
“แล้วคิดจะทำยังไงต่อ”
“ยังไม่รู้เลย แต่เรื่องมันมาถึงขนาดนี้แล้ว...”

เขาเอ่ยเพียงแค่นี้ แล้วเงียบไป แต่ฉันก็รู้ว่าเขาคงมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว หากในเวลานั้น เขาต้องการเพียงคำตอบว่า จะมีเพื่อนสักคนหรือไม่ที่จะบอกว่าเชื่อในการตัดสินใจของตัวเองไม่ว่ามันจะออกไปในทางไหนเท่านั้นเอง

ฉันไม่อาจรู้ได้เลยว่า ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนจะรู้สึกเช่นเดียวกับเพื่อนของฉันบ้างหรือไม่ เมื่อเขาต้องพบกับแรงกดดันหนักหน่วงจากการที่ลูกน้องทิ้งเขาและเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายคนอื่นไว้ในจุดเสี่ยงเพื่อเอาชีวิตรอด และทำให้ต้องรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงด้วยจำนวนคนแค่หยิบมือ ในเวลาที่ไม่เหลือทางเลือกมากนัก และผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดฝากชีวิตไว้ภายใต้การตัดสินใจของเขาเพียงผู้เดียว

เขาต้องเลือกว่า จะถอยหรือจะสู้ต่อ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 11:35
ในที่สุด อดีตนายทหารสังกัดกรมทหารรักษาพระองค์เดนมาร์ก ซึ่งเป็นหน่วยทหารราบที่เป็นแนวหน้าในการปะทะกับข้าศึกในสมรภูมิ ก็ตัดสินใจที่จะสู้ต่อด้วยกำลังตำรวจที่เหลืออยู่เพียง 4 คน เพื่อที่จะยึดด่านที่ 5 กลับคืนมาให้ได้
เมื่อปะทะกันซึ่งหน้าไม่ได้ ก็ต้องปรับยุทธวิธีใหม่ โดน ร.อ. เจนเซนนำ ร.ท. ชุ่ม และพลตำรวจอีกสองนายอ้อมไปทางวัดบุญวาทย์ เพื่อหาช่องทางในการโจมตี และเมื่อพบฝ่ายตรงข้ามที่ยืนอยู่นอกด่าน โดยไม่มีการป้องกัน เขาก็ให้สัญญาณกับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยิงออกไปพร้อมกัน และกระสุนทั้งสี่นัดของฝ่ายตำรวจนั้น ก็ทำให้เป้าหมายเสียชีวิตพร้อมกันทั้งสี่คน

ฉันอดคิดไม่ได้ว่า ความไว้วางใจที่พวกเขามีให้กันว่า สิ่งที่ทำอยู่จะต้องลุล่วง และน้ำใจที่ต่างคนต่างพิสูจน์แล้วว่าจะไม่ทิ้งกันจนทำให้ ร.อ. เจนเซนกล้าพอที่จะตัดสินใจดำเนินการต่อ ในขณะเดียวกับที่ ร.ท. ชุ่ม และพลตำรวจอีกสองนายนั้น เชื่อถือและเคารพในตัวของผู้บังคับบัญชาว่าจะเลือกในสิ่งที่ถูกต้องที่สุด คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

หลังจากประสบความสำเร็จในการทำลายขวัญตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงมือ โดยในบทความ "Hans Jensen - Hero of Thailand” ของรอย ฮัดสันในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 1978 กล่าวว่า ร.อ. เจนเซนได้ยิงใส่ฝ่ายตรงข้ามจนล้มไปทีละคน จากนั้น ตำรวจทั้งสี่นายก็ระดมยิงกลุ่มโจรที่ไม่ทันตั้งตัวจนมีทั้งคนที่ตายและบาดเจ็บจนเกิดความระส่ำระสาย ทำให้ตำรวจที่หนีไปและแอบอยู่ตามด่านต่าง ๆ ออกจากที่ซ่อน กลับมาช่วยต่อสู้อีกครั้ง

สถานการณ์พลิกผัน ฝ่ายลำปางกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบอีกครั้ง กองกำลังตำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนป้องกันนครลำปางเอาไว้ได้ในที่สุด
จากคนแปลกหน้า ผู้กองหนุ่มได้รับการยอมรับนับถือจากชาวลำปางว่าเป็นวีรบุรุษภายในระยะเวลาเพียงชั่ววัน  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 11:37
เมื่อสำรวจความเสียหายแล้ว จากรายงานภาษาอังกฤษที่ ร.อ. เจนเซน นำเสนอต่อทางการสยาม มีเงี้ยวเสียชีวิตไป 19 ราย และค้นพบผู้ตายเพิ่มเติมอีก 6 ราย และถูกจับกุมไว้อีก 26 ราย โดยหนึ่งในบรรดาเงี้ยวที่เสียชีวิตไปในครั้งนี้ มีพะก่าหม่อง หัวหน้ากองโจร รวมอยู่ด้วย ส่วนทางฝ่ายทหารตำรวจนั้น ไม่มีการสูญเสียกำลังพลไปแต่อย่างใด

ภาษาอังกฤษที่เขาใช้ในการเขียนรายงาน น่าจะเป็นคำตอบส่วนหนึ่งของข้อสงสัยที่ฉันนึกมาตลอดว่า เขาติดต่อสื่อสารกับคนอื่น โดยเฉพาะคนท้องถิ่นและผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นคนสยามได้อย่างไร

ในฐานะครูฝึกตำรวจภูธร การออกคำสั่งในการฝึกยุทธวิธีคงไม่สู้เป็นปัญหานัก เพราะเป็นคำที่ไม่ซับซ้อน เน้นที่การปฏิบัติเสียมากกว่า แต่หน้าที่ของตำรวจไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ เพราะการออกปราบปรามผู้กระทำความผิดนั้น จำเป็นต้องวางแผนและทำความเข้าใจกับผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ ด้วย จากภาษาที่เขาใช้ในการเขียนรายงาน ก็น่าเชื่อได้ว่า ภาษากลางที่ใช้สื่อสารกันระหว่างข้าราชการต่างชาติด้วยกันและใช้ติดต่อกับข้าราชการสยาม น่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

จากการที่พันโทพระยาวาสุเทพเป็นผู้ที่ชักชวนให้นายทหารชาวเดนมาร์กเข้ามารับราชการในสยาม การคัดเลือกนายทหารให้ไปประจำการในต่างประเทศเช่นนี้ ทางต้นสังกัดคงต้องเตรียมความพร้อมให้แก่คนของตนมาบ้าง จึงคาดว่า ร.อ. เจนเซนน่าจะได้เรียนภาษาอังกฤษมาพอสมควรก่อนที่จะมารับตำแหน่งครูฝึกในกรมตำรวจภูธร และน่าจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอที่จะทำงานร่วมกับข้าราชการระดับสูงของสยาม และชาวอังกฤษอย่างนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ได้เป็นอย่างดีด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ อย่างที่ฉันเคยพูดเล่นกับเพื่อนที่ว่า ไปประเทศไหน ก็ควรจะรู้ภาษาเขาพอให้ซื้อข้าวกินได้ นั่นก็คือ เมื่อมาถึงสยามแล้ว ร.อ. เจนเซนจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาไทย และอาจรวมไปถึงภาษาถิ่นให้พอสื่อสารได้บ้าง

ส่วนระยะเวลาสองปีที่อยู่ในสยามนั้น อาจจะสั้น แต่ฉันคิดว่าระยะเวลาอาจไม่ใช่ปัญหา เพราะเท่าที่เคยทำงานกับชาวต่างชาติที่มาทำงานฝึกอบรมให้กับคนไทย เขาใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็พูดภาษาไทยประโยคง่าย ๆ ได้บ้าง แม้จะฟังดูแปร่ง ๆ ก็ตาม ผิดกับคนไทยหลายคนที่เรียนภาษาอังกฤษมานาน แต่บางคนก็ยังไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเพราะกลัวพูดผิด

ในขณะเดียวกัน ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า นายตำรวจคนสนิทของเขา อย่าง ร.ท. ชุ่ม วรรณสมิตเอง ก็น่าจะพูดภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร ไม่เช่นนั้น ก็คงจะไม่เข้าใจและไม่สามารถทำงาน เคียงบ่าเคียงไหล่ กับผู้บังคับบัญชาชาวต่างชาติผู้นี้ได้เช่นกัน


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พูดมานี้ คงเป็นเพียงแต่การคาดเดาเท่านั้น  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 11:43
ย้อนกลับไปยังเรื่องที่เขานำตำรวจต่อสู้กับเงี้ยวจนได้ชัยชนะกลับมา
 
แม้จะป้องกันนครลำปางเอาไว้ได้ตามที่ได้รับคำสั่งมา และเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ก็ได้ปฏิบัติตามที่สัญญาไว้แต่ต้นว่า จะจ่ายค่าหัวให้แก่พลตำรวจภูธรที่จับตายพวกเงี้ยวได้รายละสามร้อยรูปีด้วย แต่ภารกิจของ ร.อ. เจนเซนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องด้วยพระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพได้สั่งมาด้วยว่า หากถึงคราวคับขันให้พยายามนำเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางหนีออกจากนครลำปางไปที่นครเชียงใหม่

แม้สถานการณ์จะสงบให้พอพักหายใจได้ แต่ยังวางใจอะไรไม่ได้ เพราะในช่วงเย็นของวันที่ 4 สิงหาคมนั้น ก็มีข่าวว่า พวกเงี้ยวจะนำกำลังร่วมพันคนจากแม่เมาะเข้ามาโจมตีลำปางอีกครั้ง ถึงสิ่งที่ได้รับรู้มาจะเป็นเพียงข่าว แต่เขาก็ไม่อาจเอาชีวิตของเจ้าผู้ครองนครลำปางที่ร่วมต่อสู้กับเขามาไปเสี่ยงได้อีก

นอกจากนี้ ในบทความของอภิรัตน์ รัตนชัย ได้นำเสนอข้อมูลว่า เมื่อได้รับข่าวนี้ ร.อ. เจนเซนได้ขอกำลังพลและกระสุนเพิ่มจากเชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธ หัวเมืองอื่น ๆ ก็ไม่ยอมส่งกำลังมาช่วย เนื่องจากต่างเกรงเงี้ยวจะบุกเมืองของตนแล้วจะไม่มีกำลังมาต่อสู้ หรือเมื่อให้ความช่วยเหลือไปแล้ว เงี้ยวจะกลับมารุกราญเมืองของตนคืน

ดังนั้น ร.อ. เจนเซน จึงได้ขอให้เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์เดินทางออกจากนครลำปางไปยังนครเชียงใหม่ เพื่อความปลอดภัย โดยจะจัดกำลังคุ้มกันไปส่งด้วย ซึ่งเจ้าบุญวาทย์ก็ตกลงที่จะปฏิบัติตามคำขอของ ร.อ. เจนเซน

ใจจริงแล้ว เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตเองก็คงไม่อยากไปจากลำปางนัก หากแต่ไม่อยากสร้างความลำบากใจให้กับ ร.อ. เจนเซนที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของข้าหลวงมณฑลพายัพ และไม่ต้องการให้เขาต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับการปกป้องตัวท่านเองในขณะที่ต้องวางแผนการต่อสู้ ประเมินสถานการณ์ ประเมินกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ไปด้วย

ก่อนออกจากนครลำปาง ท่านได้รวบรวมเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของหลวงไปฝากไว้ที่สำนักงานของนายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ซึ่งเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากเป็นสำนักงานของชาวอังกฤษ จึงแน่ใจได้ว่าพวกเงี้ยว ที่เป็นคนในบังคับของอังกฤษจะไม่เข้ามาแตะต้องอย่างแน่นอน

กลางดึกของวันที่ 4 สิงหาคม เจ้าบุญวาทย์พร้อมตำรวจและกำลังคุ้มกันได้ออกเดินทางจากลำปาง โดยมี ร.อ. เจนเซน และนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ขี่ม้าไปส่งถึงบ้านหางสัตว์ หรือ ห้างฉัตร ในปัจจุบัน และเดินทางไปถึงบ้านหางสัตว์ในช่วงเช้าวันที่ 5 สิงหาคม

ที่บ้านหางสัตว์ ร.อ.เจนเซนได้พบว่าตำรวจภูธร 50 นายกำลังจะเดินทางกลับเชียงใหม่ โดยมี ร.ท. ชุ่ม วรรณสมิตกับ ร.ท. อินอยู่กับพวกตำรวจที่จะเดินทางด้วย ร.ท. ชุ่มชี้แจงว่า เกรงพวกตำรวจจะถอดเครื่องแบบทิ้งอาวุธหนีไประหว่างทางอย่างที่เคยทำ จึงต้องตามมาคอยควบคุม เมื่อรับทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และเชื่อว่าสิ่งที่ ร.ท. ชุ่มนั้นบอกมาเป็นความจริง ร.อ. เจนเซน จึงแก้ปัญหาด้วยการมอบหมายงานให้ตำรวจที่จะกลับไปเชียงใหม่มีหน้าที่คุ้มกันขบวนเดินทางของเจ้าบุญวาทย์ให้ถึงปลายทาง ซึ่งโดยนัยแล้ว ก็เท่ากับอาศัยกำลังคนให้เป็นประโยชน์พร้อมกับควบคุมไม่ให้หนีไประหว่างทางไปในตัว

เนื่องจากต้องเปลี่ยนแผนการในการคุ้มกัน ทำให้ต้องพักค้างแรมที่บ้านหางสัตว์คืนหนึ่ง เช้าวันที่ 6 สิงหาคม ร.อ. เจนเซนจึงขออนุญาตเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตกลับลำปาง เนื่องจากเป็นห่วงสถานการณ์และเป็นห่วงทรัพย์สินของหลวงที่ฝากไว้กับสำนักงานป่าไม้ว่าจะมีคนดูแลเพียงพอหรือไม่ โดยนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ขอตามกลับไปด้วย ส่วนเจ้าบุญวาทย์นั้นยังคงเป็นห่วงนครลำปาง ขอพักค้างที่หางสัตว์อีกระยะหนึ่งเพื่อรอฟังข่าว  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 11:46
เมื่อ ร.อ. เจนเซนกับนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ พร้อมผู้ติดตามอีก 3 คนกลับไปถึงนครลำปางก็พบว่า ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใด ๆ เพิ่มเติมอีก นอกจากนักโทษเงี้ยวที่พยายามจะแหกคุก แต่ ร.ท. อินกับผู้คุมเรือนจำสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ส่วนที่สำนักงานของนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ซึ่งมีคนงานชาวลำปางและชาวอินเดียดูแลอยู่นั้น ยังคงปลอดภัยดี จึงได้ส่งข่าวดีนี้กลับไปยังเจ้าผู้ครองนครลำปางที่บ้านหางสัตว์

เช้าวันที่ 7 สิงหาคม เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์เดินทางกลับเข้ามาในนครลำปางอีกครั้ง พร้อมสั่งการให้เก็บกวาดบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย นายพันตรีเจ้าราชภาติกวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรนครลำปาง สั่งให้ตำรวจทุกนายกลับเข้าประจำการ ส่วนตำรวจภูธรที่เคยละทิ้งหน้าที่ไประหว่าง วันที่ 3-4 สิงหาคมนั้น ร.อ. เจนเซนทำเพียงแต่คาดโทษไว้เท่านั้น

แม้เหตุการณ์ในนครลำปางจะกลับสู่ความสงบ แต่ชาวเมืองยังไม่อาจวางใจได้และฝากความเชื่อมั่นไว้ที่นายตำรวจหนุ่มชาวเดนมาร์กเพียงผู้เดียว ผู้บังคับการตำรวจภูธรนครลำปางจึงได้ทำหนังสือถึง ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ เพื่อขอตัวนายร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนให้อยู่ช่วยราชการที่นครลำปางต่อไป


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 11:50
V_Mee

อ้างถึง
มีข้อสังเกตเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ หลายประการคือ

เหตุใดจึงก่อกบฏยึดเมืองแพร่เป็นเมืองแรก คำตอบคือการเดินทางขึ้นสู่ล้านนาในเวลานั้นมีเพียง ๒ เส้นทางคือ เดินทางบกจากอุตรดิตถ์ข้ามเขาพรึงไปเมืองแพร่ อีกเส้นทางจากเมืองตากไปตามลำน้ำปิงไปเมืองลำพูนและเชียงใหม่ตามลำดับ
การที่กบฏเงี้ยวยึดเมืองแพร่จึงเป็นการควบคุมเส้นทางการส่งกำลังจากอุตรดิตถ์ขึ้นไปสู่ล้านนา

ประเด็นต่อมาเมืองแพร่นั้นเป็นชุมทางแยกไปนครน่านและนครลำปาง เหตุไฉนพวกเงี้ยวจึงไม่ยกไปตีเมืองน่าน แต่มุ่งไปนครลำปาง ซึ่งเป็นชุมทางที่จะแยกไปเมืองงาว พะเยา เชียงราย กับอีกทางหนึ่งไปลำพูน และเชียงใหม่
คำตอบในประเด็นนี้น่าจะอยู่ที่ นครน่านไม่มีป่าไม้สัก และหากตีลำปางได้ก็ไม่ยากที่จะเลยไปตีนครเชียงใหม่

เมื่อคิดตามประเด็นเหล่านี้แล้วก็เกิดข้อสงสัยตามมาว่า พวกเงี้ยวจะวางแผนการยุทธได้เพียงลำพังหรือ? ยิ่งได้อ่านรายงานของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงษ์ (กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม) ที่กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพหลังกบฏเงี้ยวราว ๖ เดือน ที่ทรงกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ชาวอังกฤษที่รัฐบาลสยามจ้างมาจากพมานั้นล้วนทุจริตต่อหน้าที่ และหาโอกาสเอารัดเอาเปรียบพ่อค้าไม้ชาวไทยของกลุ่มกิมเซ่งหลีอยู่ตลอดเวลา ก็เลยยิ่งเชื่อว่าพวกพ่อค้าไม้ชาวอังกฤษอยูเบื้องหลังเรื่องนี้เป็นแน่


ขอย้ายมาไว้ที่นี่ครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:20
7. กระสุนสังหาร

นับจากเหตุการณ์บุกปล้นลำปางในวันที่ 4 สิงหาคม 2445 แม้ความเป็นไปในนครลำปางจะกลับคืนสู่ความสงบ แต่การต่อสู้กับเงี้ยวในพื้นที่อื่น ๆ ของมณฑลพายัพยังไม่หมดสิ้น และ นอกจากต้องปราบปรามการจลาจลที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ แล้ว ทางสยามเองก็ต้องรับมือกับข่าวลือข่าวปล่อยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับต้องคอยระวังการฉวยโอกาสแทรกแซงกิจการบ้านเมืองโดยประเทศผู้ล่าอาณานิคม

ทางพระนครได้มีการส่งกำลังสนับสนุนมาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ เจ้าพระยาอนุชิตชาญชัยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพนครลำปาง และให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพแพร่ ทำการปราบปรามความไม่สงบในพื้นที่ภาคเหนือ

จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2445 มีรายงานข่าวออกมาว่ามีชาวเงี้ยวทยอยเดินทางเข้าเมืองพะเยามากจนผิดปกติ แต่การข่าวของสยามในขณะนั้นค่อนข้างสับสน และมีเค้าลางของความขัดแย้งในแนวทางการทำงานของแม่ทัพ จนน่าเป็นห่วงว่าจะเสียนครลำปางไปอีก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอักษรถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2445 ถึงเรื่องนี้ว่า

“...เห็นว่าอานุภาพและเกียรติยศของบ้านเมืองตกอยู่ที่ปลายลิ้นของคนเสียแล้ว ถ้าเมืองนครลำปางเสียในครั้งนี้ อำนาจของเมืองไทยซึ่งปรากฏต่อสายตาคนต่างประเทศจะเป็นที่เสื่อมเสียยิ่งนัก ถ้าพระยาอนุชิตเดินแต้มคูดีๆ ใจคอกว้างขวางขึ้นอีกนิดหนึ่ง อย่าถือเขาถือเรานัก คนร้ายจะไม่กำเริบไปถึงไหน”

เนื่องมาจากในวันที่ 5 ตุลาคม เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้สั่งให้กองทหารไปปราบพวกเงี้ยวที่เชียงคำ และให้กองทหารจากลำปางตีโอบจากพะเยาลงมา ส่วนเจ้าพระยาอนุชิตชาญชัยได้สั่งให้ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน คุมกำลังตำรวจนครสวรรค์ไปปราบเงี้ยวที่พะเยาด้วยเช่นกัน และให้เจ้าราชภาติกวงศ์ นำกำลังพลและเสบียงตามไปสนับสนุน แต่ก็ใช้เวลานาน กว่าจะตามไปทันกับ ร.อ. เจนเซนที่งาว ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความดูแลของลำปางก็ล่วงเข้าวันที่ 10 ตุลาคมแล้ว จึงได้เริ่มวางแผนในการที่จะป้องกันเมืองงาว โดย ร.อ. เจนเซนเป็นผู้ออกสำรวจพื้นที่ที่จะป้องกันเมืองและวางแผนนำกำลังไปสนับสนุนที่เมืองพะเยา  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:22
ในวันที่ 13 ตุลาคม ร.อ. เจนเซนตกลงใจที่จะเริ่มออกเดินทางไปพะเยา แต่ทหารที่คุมกำลังพลมาด้วยขอว่า มีทหารบางคนกำลังป่วยและบางส่วนยังเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จึงพอพักค้างคืนที่งาวก่อน รุ่งเช้าจึงค่อยตามไป ซึ่ง ร.อ. เจนเซนเองก็ไม่ขัดข้องและให้กำลังตำรวจภูธรที่มากับตนได้พักพร้อมกับทหารด้วย แต่ส่วนตัวของเขาเองนั้น ไม่อยากเสียเวลามากไปกว่านี้อีก จึงเลือกเอา ร.ท. ชุ่ม วรรณสมิต และพลตำรวจที่เคยร่วมรบด้วยกันที่ลำปางคราวนั้น และคัดนายสิบตำรวจกับพลตำรวจฝีมือดีอีก 25 นาย พร้อมอาวุธและเครื่องกระสุนออกเดินทางล่วงหน้าไปพะเยาก่อน

ร.อ. เจนเซน พร้อมด้วย ร.ท. ชุ่ม และกำลังตำรวจเดินทางมาถึงบริเวณห้วยเกี๋ยง บ้านแม่กา ได้พบกับเงี้ยวกลุ่มหนึ่งและได้ปะทะกัน พวกเงี้ยวตายไป 10 คน ที่เหลือบาดเจ็บและหนีไป ส่วนตำรวจภูธรทุกนายไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

เมื่อเห็นว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ และไม่ต้องการให้การต่อสู้ยืดเยื้อ หรือฝ่ายตรงข้ามนำกำลังกลับมาสู้อีก ร.อ. เจนเซนจึงสั่งให้ตำรวจภูธรติดตามคนร้ายต่อไป โดยมีการยิงตอบโต้กันเป็นระยะ จนมาถึงบริเวณป่า ในขณะที่สั่งการอยู่และเคลื่อนที่เข้าใกล้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งเพื่ออาศัยเป็นที่กำบัง เงี้ยวที่ซุ่มอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้นก็ยิงเขาจนล้มลง

ณ ที่แห่งนั้น คือ สถานที่ที่นายตำรวจหนุ่มชาวเดนมาร์กสิ้นลมหายใจ  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:24
เมื่อ ร.ท. ชุ่ม วรรณสมิต ผู้ช่วยตำรวจภูธร เห็นผู้บังคับบัญชาถูกยิงเสียชีวิต จึงได้นำร่างของ ร.อ. เจนเซน กลับมาฝากไว้กับกองทหารที่บ้านแม่กาท่าข้าม แล้วจึงนำตำรวจที่เหลือออกไปสู้กับพวกเงี้ยว จนในที่สุด ฝ่ายหลังได้พากันถอยห่างออกไปจากแนวรบ แล้ว ร.ท. ชุ่มจึงส่งตำรวจไปแจ้งข่าวให้พันตรีเจ้าราชภาติกวงศ์ทราบ และได้ย้อนกลับมารับศพของ ร.อ. เจนเซนในวันที่ 15 ตุลาคมไปบำเพ็ญกุศลตามธรรมเนียมไทยที่เมืองพะเยาก่อน แล้วแจ้งให้เจ้าบุญวาทย์วงศมานิตย์ทราบต่อไป ส่วนเจ้าราชภาติกวงศ์กับทางตำรวจได้ทำการเข้าขับไล่พวกเงี้ยวออกไปจากบ้านแม่กาได้ค่ำในวันนั้นด้วย

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลอบยิง ร.อ. เจนเซนนี้ แตกต่างกันออกไปหลายทาง ในเอกสารส่วนใหญ่นั้นกล่าวว่า เขาถูกยิงเข้าที่อกซ้ายสามนัด โดยในเอกสารบางฉบับได้ระบุชื่อคนร้ายว่าชื่อ ส่างน้อย แต่ในบทสัมภาษณ์ เจ้าแม่สวน สูงศักดิ์ ในภาคเหนือนิวส์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง ฉบับพิเศษวันตำรวจไทย 13 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดทันและอยู่ในเหตุการณ์ครั้งเงี้ยวบุกปล้นเมืองลำปาง กลับได้เรื่องราวที่ต่างจากรายงานของทางการ โดยเจ้าแม่สวนเล่าถึงช่วงเวลาที่ ร.อ. เจนเซน ซึ่งเจ้าแม่สวนเรียกว่า ‘กัปตัน’ ถูกยิงจนเสียชีวิตว่า เขาถูกยิงจากทางด้านหลัง โดยฝีมือของเงี้ยวที่ถูกยิงจนขาหักซึ่งซุ่มอยู่ในกอไม้ รอจน ร.อ. เจนเซน คล้อยหลังไปแล้ว จึงยิงใส่ แต่เขาไม่ได้เสียชีวิตทันที ด้วยเมื่อถูกยิงจนล้มลงไปแล้วนั้น ร.อ. เจนเซนยังเอาปืนอานม้ามายิงเงี้ยวคนนั้นจนตายไปด้วย


ส่วนในบทความ “A Danish Hero in Chiang Mai” ของแกรห์ม มอนาแกน ได้ระบุว่า เหตุที่ ร.อ. เจนเซนสียชีวิตครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการลอบยิง แต่เกิดจากการยิงปะทะกับพวกเงี้ยวโดยตรง แต่การระดมยิงของฝ่ายเงี้ยวนั้นพุ่งเป้ามายังเขาแต่เพียงผู้เดียว กระสุนจึงถูกเข้าที่หน้าอกของเขาสามนัด โดยไม่มีตำรวจนายอื่นได้รับอันตราย

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจาก ร.อ. เจนเซนเสียชีวิต ในเอกสารฉบับไทย ฉบับของแกรห์ม มอนาแกน และฉบับของนีลเซนและยอร์เกนเซนยังมีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก โดยในขณะที่ฉบับของไทยระบุว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถนำร่างของเขาออกมาจากบริเวณจุดปะทะได้ แต่ฉบับของมอนาแกน นีลเซน และยอร์เกนเซนกล่าวว่า ร.อ. ฮาล์ฟแดน โทลเลอ (Captain Halfdan Tolle) ได้ไปตามหาร่างของเขาจนพบในวันที่ 15 ตุลาคม เนื่องจากเมื่อเขาถูกยิงนั้น ตำรวจสยามกำลังปะทะกับเงี้ยวอย่างติดพันจน แม้เงี้ยวจะเป็นฝ่ายล่าถอยไปจริง แต่ฝ่ายสยามเองก็ไม่เหลือกระสุนเอาไว้ป้องกันตัวอีก จึงต้องล่าถอยออกจากพื้นที่เช่นกัน วันรุ่งขึ้นจึงค่อยกลับไปตามหาและนำร่างของเขาออกจากจุดปะทะ โดยมีกำลังตำรวจจากลำปาง และ ร.อ. โทลเลอ นายตำรวจภูธรชาวเดนมาร์ก ซึ่งพระยาวาสุเทพแต่งตั้งให้มารับตำแหน่งแทนเมื่อได้รับแจ้งว่า ร.อ. เจนเซนเสียชีวิต เป็นผู้ค้นพบ และดำเนินการเคลื่อนย้ายไปยังเมืองพะเยา

มีข้อมูลอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในฉบับของไทยเลย แต่กลับพบอยู่ในเรื่องที่มาจากการค้นคว้าของนักข่าวชาวเดนมาร์ก และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจอยู่มากทีเดียว นั่นคือ ในบทความของนีลเซนและยอร์เกนเซนกล่าวว่า เมื่อพบร่างของฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนในที่เกิดเหตุนั้น ปรากฏว่าหัวใจของเขาถูกนำออกไปจากร่าง และสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่แน่ชัดนักว่าเป็นคนกลุ่มใด เพราะอย่างที่เล่าไว้แต่แรกนั้น กลุ่มเงี้ยวในที่นี้ มีคนหลายเชื้อชาติปะปนกันอยู่ ความเชื่อเกี่ยวกับการสะกดวิญญาณของศัตรูหรือคนที่ตนเองฆ่านั้นเป็นเรื่องที่ฉันเคยได้ยินมาบ้าง แต่เนื่องจากยังไม่มีเวลาที่จะค้นหาข้อมูลส่วนนี้ จึงไม่อยากจะยืนยันว่าจริงหรือไม่ คงเป็นเพียงเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะเล่าสู่กันฟังให้มองเห็นภาพอีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้น

ความตายของนายตำรวจภูธรชาวเดนมาร์กผู้นี้ก็ยังคงเป็นเหมือนภาพที่ยังต่อไม่เสร็จสำหรับฉันอยู่ และฉันอดคิดไม่ได้ที่เราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับนายร้อยโทชุ่ม วรรณสมิต ผู้ช่วยครูฝึกตำรวจภูธร ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เปรียบเสมือนเพื่อนตายของเขามากนัก เพราะเขาเป็นบุคคลที่ปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์เสี้ยวเล็ก ๆ ที่แทบไม่มีใครนึกถึงเรื่องนี้ ในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับ ร.อ. เจนเซนมากที่สุด ในแทบทุกเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเขา และน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่อาจบอกได้ว่า แท้จริงแล้ว ร.อ. เจนเซนเสียชีวิตเป็นอย่างไร แต่ทว่า ชื่อของเขาก็ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์หน้าใด ๆ ของสยามอีกเลย  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:26
อย่างไรก็ตาม หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ถวายรายงานเรื่องการเสียชีวิตของ ร.อ. เจนเซนที่เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์โทรเลขแจ้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อให้เรื่องที่เป็นที่ยุติ ไม่ให้มีข้อพิพาทหรือข้อสงสัยจนเป็นปัญหากันต่อไปอีก ดังนี้


“แต่ที่จริงซึ่งนายร้อยเอกเยนเซนตายนี้ เห็นจะเป็นด้วยกล้าเกินไป อย่างเช่นเคยสำแดงเดชมาเสมอ คือ ชักดาบออกวิ่งหน้าทหารอย่างทหารฝรั่ง แต่ไอ้พวกนี้มันถนัดแอบยิง ซุ่มยิง คราวก่อนข้างฝ่ายเงี้ยวเป็นผู้มาตีลงในที่แจ้ง คราวนี้อยู่ในสนามเพลาะ เราเป็นผู้ที่อยู่ในที่แจ้ง แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายเรามีผู้ใดตาย นอกจากนายร้อยเอกเยนเซนคนเดียว”

ท่ามกลางความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นและอาจทำให้สยามต้องสูญเสียลำปางที่ ร.อ. เจนเซน ร่วมกับเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง และนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์เคยพยายามปกป้องเอาไว้จนสุดความสามารถทั้งที่เสียเปรียบในทุกด้าน ยังมีชายหนุ่มชาวต่างชาติคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดและเติบโตบนแผ่นดินนี้ ยังคงมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จลุล่วงโดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศใด ๆ ที่จะได้รับ และตายเพื่อความมั่นคงของแผ่นดินสยาม

ไม่ว่ารายละเอียดของเหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไร มีเรื่องที่แน่ใจชัดเจนได้ประการหนึ่ง คือ เขาถูกยิงจนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และกรมตำรวจภูธรได้สูญเสียนายร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนไปอย่างไม่มีวันกลับ

และคงเป็นช่วงเวลานี้เอง ที่มารี เจนเซนส่งพัสดุที่มีโกโก้ 6 กระป๋องกับรองเท้าบู๊ตคู่ใหม่จากเดนมาร์กทางเรือเดินสมุทรของบริษัทอีสต์เอเชียติกมาให้ลูกชายคนเดียวของเธอ จากต้นทางที่เดนมาร์กถึงปลายทางที่สยาม โดยไม่รู้เลยว่า พัสดุนี้ไม่มีผู้รับอีกต่อไปแล้ว.
เมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของ ร.อ. เจนเซน นายพันโทพระวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา) เจ้ากรมตำรวจภูธรได้รวบรวมประวัติในการรับราชการเสนอของเขาต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอรับพระราชทานบำนาญให้แก่มารดาของ ร.อ. เจนเซนที่เดนมาร์ก โดยรายงานว่า เงินเดือนของ ร.อ. เจนเซนเมื่อครั้งรับราชการอยู่นั้น ได้รับเงินเดือนเดือนละ 500 บาท (หรือติกัล (Tical) ซึ่งเป็นหน่วยทางการเงินที่ชาวต่างชาติในสยามเรียกในสมัยนั้น โดยเงิน 1 บาทหรือ 1 ติกัล เทียบเท่ากับ 0.97 คราว์นของเดนมาร์ก)


หลังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำเรื่องราวทั้งหมดขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ทรงพิจารณา พระองค์ท่านได้มีพระราชหัตถเลขาส่งไปยังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ให้ดำเนินการเทียบเงินบำนาญแก่มารดาม่ายของ ร.อ. เจนเซน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินบำนาญแก่มารี เจนเซนเป็นจำนวน 3,000 บาทต่อปี เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินบำนาญเต็ม ร.อ. เจนเซนได้รับตามที่เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติคำนวณ โดยให้บริษัทอีสต์เอเชียติกเป็นผู้บริหารจัดการและนำส่งให้มารี เจนเซน จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1938

นอกจาก ร.อ. เจนเซนแล้ว พันโทพระยาวาสุเทพยังได้รวบรวมข้อมูลและประวัติการทำงานของตำรวจภูธรที่เสียชีวิตจากการปราบปรามพวกเงี้ยวในหัวเมืองทางเหนือต่าง ๆ เพื่อของพระราชทานบำนาญและเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของตำรวจที่เสียชีวิตด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระราชทานเงินบำนาญแก่ครอบครัวของตำรวจที่เสียชีวิตนายอื่น ๆ ด้วย โดยเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้คำนวณให้ในอัตรากึ่งหนึ่งของจำนวนบำนาญเต็มที่ตำรวจนายนั้นควรได้รับเช่นเดียวกัน  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:27
พิธีศพของ ร.อ. เจนเซนนั้น เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 ได้จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2446 เนื่องจากเหตุการณ์วุ่นวายในเมืองลำปางได้สงบลงแล้ว โดยได้รับศพของ ร.อ. เจนเซนซึ่งฝากไว้ที่วัดศรีจอมเรือง เมืองพะเยามาทำพิธีทางศาสนา ทั้งตามหลักศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธอย่างสมเกียรติ ที่ศาลาวังธาร เมืองลำปาง และนำไปประกอบพิธีฝังที่สุสานคริสเตียนเมืองลำปาง และได้รับพระราชทานป้ายจารึกบนหลุมศพจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วย ต่อมาได้มีการย้ายมาฝังไว้ที่สุสานคริสตชน จังหวัดเชียงใหม่ในภายหลัง

ช่วงเวลาที่เจ้าผู้ครองนครลำปางกับนายตำรวจภูธรหนุ่มชาวเดนมาร์กได้รู้จักกันถือว่าไม่นานนัก แต่วิกฤติการณ์ที่ผ่านพ้นมาได้ด้วยกันนั้นได้ทำให้ต่างเห็นน้ำใจและคุณค่าของกันได้เป็นอย่างดี พิธีศพที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติของวีรบุรุษผู้ปกป้องเมืองลำปางไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่เจ้าบุญวาทย์อุทิศให้ผู้ร่วมเป็นร่วมตายในยามยาก แต่ท่านยังได้เตรียมพื้นที่สำหรับทำอนุสรณ์ไว้ให้นายตำรวจผู้ล่วงลับด้วยอีกอย่างหนึ่ง และนี่เองคือ ที่มาของอนุสาวรีย์ที่แทบไม่มีใครรู้จัก...  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:35
8. อนุสรณ์

ในเวลานั้น เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้สงวนที่ดินไว้ประมาณ 1,600 ตารางวา บ้านห้วยเกี๋ยง ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นบริเวณที่นายร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนเสียชีวิต ไว้เพื่อเตรียมไว้ทำอนุสรณ์ให้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับไม่สามารถสร้างอนุสรณ์ขึ้นได้เลยโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่ดินแห่งนั้นจึงมีแต่เสาเป็นเครื่องหมายปักไว้พอเป็นที่สังเกต โดยเฟลมมิง วินเธอ นีลเซนระบุว่าเครื่องหมายที่ใช้บอกตำแหน่งบริเวณที่ ร.อ. เจนเซนเสียชีวิตนั้นเป็นเสาสูงแปดฟุต สลักข้อความบอกว่า เป็นสถานที่ที่ ร.อ. เจนเซนเสียชีวิตจากการต่อสู้กับพวกเงี้ยว เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวเริ่มเลือนหาย ชาวบ้านแถบนั้นได้รับคำบอกเล่าต่อกันเพียงว่า ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งตำรวจฝรั่งถูกเงี้ยวยิงตาย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1929 นายสไตเนอร์ ชาวเดนมาร์กได้เขียนจดหมายถึงสมาคมชาวเดนมาร์กว่าเครื่องหมายที่ใช้บอกตำแหน่งบริเวณที่ ร.อ. เจนเซนเสียชีวิตนั้นได้หักพังลงมา และได้ส่งชิ้นส่วนของเสาที่หักนั้นให้แก่สมาคมชาวเดนมาร์กให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย เพราะบริเวณนั้นจะมีการทำถนน โดยเสนอว่าควรจะมีอนุสรณ์ที่ทำจากหินซึ่งมีลักษณะถาวรเอาไว้แทนที่ และร้องขอให้สมาคมชาวเดนมาร์กเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งก็มีผู้สนับสนุนเงินในการซ่อมแซมอนุสรณ์ดังกล่าว แต่พื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกันที่เคยถูกสงวนเอาไว้สำหรับทำอนุสรณ์ก็ถูกชาวบ้านรุกล้ำเข้ามาใช้สิทธิครอบครอง ประกอบกับมีการตัดถนนพหลโยธินผ่าน บริเวณดังกล่าวจึงเหลือพื้นที่เพียง 152 ตารางวาเท่านั้น

ความพยายามในการบูรณะอนุสรณ์ของ ร.อ. เจนเซนเกิดขึ้นอีกครั้ง ประมาณ พ.ศ. 2498 เมื่อ พ.ต.อ. จง สุวรรณมณี ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ออกตรวจราชการมาถึงอำเภอพะเยา ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เกิดความสงสัยว่าสถานที่นี้มีความสำคัญอย่างไร และเมื่อได้กลับไปศึกษาประวัติของสถานที่นี้มาจนชัดเจนแล้ว พ.ต.อ. จงจึงมีความคิดที่จะบูรณะสถานที่แห่งนี้ แต่เมื่อของบประมาณไปแล้ว กรมตำรวจมิได้ตอบสนอง ต่อมา พล.ต.อ. เทพ ศุภสมิต ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 5 (ลำปาง) ได้พบเรื่องที่ พ.ต.อ. จง สุวรรณมณีเสนอขึ้นมา จึงได้นำเรื่องเสนอของบประมาณขึ้นไปอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอีก

กระทั่งในปี พ.ศ. 2513 พล.ต.ต. ชวรวย ปริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 5 (ลำปาง) ได้พบเรื่องขอสร้างอนุสาวรีย์นายร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน จึงคิดว่าหากจะให้ทางราชการจัดสร้างคงต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไม่น้อย จึงเห็นควรที่จะจัดสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเองจะดีกว่า เพราะที่ดินที่สงวนไว้ยังมีอยู่ และหากไม่สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น ที่ดินก็คงจะถูกชาวบ้านรุกล้ำอีก เมื่อตัดสินใจแล้ว จึงได้ขอแรงตำรวจที่มีฝีมือทางช่างมาช่วยกันสร้าง โดยใช้วัสดุในพื้นที่ สร้างไปเรื่อย ๆ ตามแต่มีเวลาและโอกาสอำนวยให้ในที่สุดอนุสาวรีย์อนุสรณ์ของ ร.อ. เจนเซนจึงสำเร็จ และมีพิธีเปิดอนุสรณ์ ร.อ. เจนเซนในวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 70 ปีของวันเสียชีวิตของ ร.อ. เจนเซน  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:37
9. สิ่งที่หลงเหลือ

ครั้งล่าสุด แต่คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ฉันจะแวะไปที่อนุสาวรีย์บนพื้นที่เล็ก ๆ ริมถนน ซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ แม้ป้ายบอกจะสะดุดตา แต่ก็ใช่ว่าจะหากันได้ง่าย ๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว มักจะขับรถผ่านไปกันเสียมากกว่า คือ ไม่กี่วันหลังจากเริ่มต้นเขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาเรื่องนี้

พวงหรีดจากหน่วยงานต่าง ๆ ของตำรวจและทหารซึ่งนำมาวางไว้เพื่อแสดงความคารวะ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนในวันครบรอบวันเสียชีวิตของเขาเมื่อ 14 ตุลาคมยังคงอยู่ มีใครบางคนเอาขนมและน้ำมาวางไว้ด้วยเช่นคราวก่อนที่เคยเห็น

เหมือนทุกครั้งที่แวะมา สถานที่แห่งนี้เงียบสงบและเรียบง่ายกว่าอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์ส่วนใหญ่ ที่ฉันเคยพบ แทบไม่มีเครื่องเซ่นไหว้บูชาใด ๆ ให้เห็น จนในบางครั้ง ฉันก็อดนึกแผลง ๆ ไม่ได้ว่า คนที่คิดจะมาบนบานหรือขออะไรสักอย่างจากเขาคงมีอยู่ แต่คงไม่รู้จะพูดกับเขาเป็นภาษาอะไรดี แต่ไม่ว่าด้วยเหตุใด ฉันอดโล่งใจไม่ได้ที่สถานที่แห่งนี้ไม่ถูกรบกวนจนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และแม้ว่าน้อยคนที่รู้จักหรือเห็นความสำคัญ แต่อย่างน้อยที่สุด เขาก็ไม่ได้ถูกลืมไปโดยสิ้นเชิง

ฉันไม่อาจคาดเดาได้ว่า ร.อ. เจนเซนจะรับรู้บ้างหรือไม่ว่า ตัวของเขาเองเป็นวีรบุรุษ หรือได้สร้างวีรกรรมที่มีความสำคัญมากเพียงใด หรือเพียงแต่คิดว่า เขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งมีงาน มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่เขาจะต้องปฏิบัติให้ได้จนสุดความสามารถเท่านั้น และนั่นอาจทำให้เขาไม่ได้นึกอยากจะรับเกียรติยศหรือการยกย่องใด ๆ นอกเหนือไปจากสิ่งที่เขาควรได้รับในฐานะนายตำรวจคนหนึ่งที่ทำตามหน้าที่พึงได้ตามปกติเทียบเท่ากับนายตำรวจอื่น ๆ เท่านั้น

“วีรบุรุษ คือ คนธรรมดาที่ค้นพบกำลังอันเข้มแข็งในการที่จะยืนหยัดและอดทนอดกลั้นต่ออุปสรรคที่ท่วมท้น”


คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวที่คริสโตเฟอร์ รีฟ นักแสดงที่เคยสวมบทบาทซูเปอร์แมน วีรบุรุษบนแผ่นฟิล์มเคยบอกไว้ ในช่วงเวลาที่เขาต้องประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่เคยยอมแพ้จนนาทีสุดท้ายของชีวิต และฉันคิดว่าคำกล่าวของเขาเป็นความจริง

สำหรับฉันแล้ว นายร้อยตำรวจเอกชาวเดนมาร์กที่ชื่อ ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ผู้ชายธรรมดาคนนี้ สามารถเอาชนะอุปสรรคและความกดดันครั้งแล้วครั้งเล่ามาได้ โดยไม่เคยมีคำว่ายอมแพ้หรือถอยหนี สิ่งที่เขาทำมาตลอดระยะเวลายากลำบากเหล่านั้น คือ ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ลดละ แสวงหาหนทางที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่ และไม่เคยหาข้ออ้างใด ๆ ในการที่จะปฏิเสธไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งการมีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามานี่เอง คือ เกียรติภูมิสูงสุดของเขา และเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การยกย่องนับถือยิ่งกว่าวีรกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น

ฉันไม่ได้คาดหวังว่า เรื่องราวของเขาที่เรียบเรียงขึ้นในคราวนี้จะทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นหรือมีคนแวะเวียนไปแสดงความเคารพอนุสรณ์ของเขามากขึ้น ฉันเพียงแต่เขียนเรื่องนี้ขึ้น เพื่อให้เขาไม่ถูกลืม และเผื่อว่ามีใครสักคนจะยังจำเรื่องราวของเขา รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับช่วงชีวิตหนึ่งของเขาได้บ้างเท่านั้นเอง

ฉันวางเบญจมาศสีขาวกำหนึ่งที่ตั้งใจซื้อมาให้ด้วยความรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ฉันควรจะทำ แต่ก็เป็นดอกไม้ที่มัดเป็นช่อเอาไว้ง่าย ๆ ไม่มีการจัดแต่งอะไรเป็นพิเศษไว้ตรงมุมหนึ่งของอนุสาวรีย์ และยืนอยู่ที่นั่นสักพัก

เป็นเวลานานกว่าที่อนุสรณ์แห่งนี้จะสร้างขึ้นได้ แต่กว่าจะสร้างได้นั้น เนื้อที่นับพันไร่ที่เคยถูกกันเอาไว้ถูกทอนหายไปเหลือเพียงไม่กี่ร้อยตารางวา กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ก็เมื่อตำรวจตกลงใจที่จะลงเงินลงแรงของตัวเองในการสร้างขึ้นอย่างไม่รีบร้อน และไม่ต้องอาศัยงบประมาณของแผ่นดินเลยแม้แต่น้อย

สมกับเป็นอนุสรณ์ของเจ้าของสถานที่ซึ่งดูจะรักสันโดษและมักน้อยเหลือเกิน เมื่อนึกถึงข้าวของส่วนตัวที่แสนจะธรรมดาและเรียบง่ายของเขาจากข้อมูลที่เคยได้อ่านผ่านตา

บางครั้ง ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า... ทุกสิ่งที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ เขาคงพอใจที่จะให้เป็นไปอย่างนี้และเพียงเท่านี้ก็เป็นได้  


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:39
สุดท้ายแล้ว สำหรับเรื่องนี้ อยากส่งท้ายด้วยโคลงสี่สุภาพจากลิลิตพายัพ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระยุพราชและได้เสด็จผ่านบริเวณที่ ร.อ. เจนเซนถูกยิง ซึ่งโคลงนี้ ส่วนตัวแล้วก็เพิ่งเคยเห็นเหมือนกัน

ตอนบ่ายขับม้าผ่าน      แลเห็น
ที่ตำรวจร้อยเอกเย็น     เซ่นม้วย
เพราะไล่รุกเงี้ยวเป็น     สามารถ
สนองเดชภูเบศว์ด้วย    ชีพครั้งจำเป็น

เย็นเซ่นเดนมาร์คเชื้อ    ชาติไฉน
สวามิภักดิ์ตราบบรรลัย  ชีพได้
ควรเราที่เป็นไทย         จำเยี่ยง
ผิวะเหตุโอกาสไซร้       เกิดแล้วไป่สยอง


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 12:42
อ้างถึง
คุณ  Navarat.C :
ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ ที่มาอ่าน และให้คำแนะนำ
จริง ๆ ตอนแรกก็ชั่งใจอยู่ว่า ควรจะเอาลงในห้องประวัติศาสตร์ด้วยดีไหม
แต่สำหรับเรื่องนี้ ตั้งใจเขียนลงในถนนนักเขียน และเลือกวิธีการเขียนแบบเล่าให้ฟัง
ถ้าจะนำเรื่องของ ร.อ. เจนเซนไปลงในห้องประวัติศาสตร์ คิดว่าคงจะต้องเรียบเรียงใหม่
เน้นไปที่ข้อมูลมากกว่านี้อีกหน่อย และจัดระเบียบภาพที่จะเอาไปลงอีกแบบหนึ่ง
ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจหรือมีประโยชน์อยู่ จะนำไปเผยแพร่ก็ยินดีค่ะ


ผมขอขอบคุณคุณ“ปิยะรักษ์”อีกครั้งหนึ่งครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 12, 15:58
สถานีตำรวจนครบาลที่ 1 
คำบรรยายบอกว่า เป็นสถานีตำรวจนครบาลพระราชวงศ์    หมายถึงเขตราชวงศ์ในปัจจุบันหรือเปล่าคะ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 17:42
สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังครับ

อยู่ที่ปากคลองตลาด

สมัยยุคทมิฬ๒๔๘๒ สันติบาลของหลวงอดุลจับกรมขุนชัยนาทนเรนทรมาคุมขังไว้ที่นี่


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 30 ต.ค. 12, 18:18
ขอนอกเรื่องตำรวจ

ครูเหมเคยเล่าไว้ในฟ้าเมืองไทย
ว่าบ้านที่ท่านเกิดและอยู่ตอนเด็กได้กลายเป็นสถานีตำรวจพระราชวัง
 
แต่เนื้อหาทั้งหมดไม่ได้เก็บเอาไว้
มีผู้ลอกมาให้อ่านในพันทิป
ที่จำได้คร่าวๆ บ้านที่ท่านอยู่เป็นลักษณะวัง
เป็นเรือนไทยชุด ด้านนอกทาสีแดง ภายในมีภาพเขียนฝาผนัง

ภายหลังคงเปลี่ยนมือเป็นของคนอื่น
เรือนเก่าถูกรื้อไป สร้างใหม่
สุดท้ายกลายเป็นสถานีตำรวจพระราชวัง



----------------------------------------------------


ครูเหม เวชกร เกิดที่ ตำบลพระราชวัง

(บ้านเก่าของครูเหมเคยอยู่บริเวณที่ตั้งของสถานีตำรวจพระราชวังในปัจจุบัน)

บิดาของครูเหมท่านเป็นคนรูปหล่อ หุ่นดี จึงมีชื่อว่า “นายหุ่น”(หุ่น ทินกร ณ อยุธยา)
มารดาชื่อ นางสัมฤทธิ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อันเป็นนามสกุลเดียวกับไม้ เมืองเดิม
และแม่ของครูเหม เวชกร มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ชีวิตในวัยเด็กของครูเหม เวชกร
ไม่ค่อยมีใครทราบเรื่องราวนัก เนื่องจากครูเหมจะไม่ค่อยเปิดเผยชีวิตของท่านกับใคร





ครูเหม เวชกร สิ้นอายุขัยในวัย 66 ปี เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2512
 ณ บ้านพักแหล่งสุดท้ายของท่านที่ซอยตากสิน 1 ช่วงสุดท้ายของชีวิตทั้งๆ
ที่สุขภาพไม่แข็งแรงครูเหมยังสร้างงานเขียนภาพออกมาไม่มีหยุด
ครูเหมเขียนเรื่องและภาพประกอบให้ อาจินต์ ปัญจพรรค์
ลงในคอลัมน์ “จากย่ามความทรงจำ ของ เหม เวชกร” หนังสือฟ้าเมืองไทย ได้ประมาณ 5-6 ฉบับ
 เนื้อหาของคอลัมน์จะเกี่ยวกับประวัติของนักเขียนดังๆ ที่เป็นเพื่อนสนิทกับท่าน อาทิ ไม้ เมืองเดิม และยาขอบ
   



 



กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 12, 19:29
ขอนอกเรื่องไปเหมือนกันครับ

เรื่องของเงี้ยวปล้นเมืองนี้ เรื่องราวที่รับรู้กันส่วนมากจะไปจบหรือจางหายไปเมื่อจบเรื่องที่ลำปางในปี 2445   ที่จริงแล้วเรื่องไปจบที่การจะเข้าปล้นเมืองเชียงรายแต่ไม่สำเร็จเมื่อ 2448   ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้น ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มของการอพยพของคนจากแพร่ เชียงใหม่ พะเยา เข้ามาอยู่ใเขต จ.เชียงราย ทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรของเชียงรายอย่างจริงจัง รวมทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนที่นับถือศาสนาต่างๆจนกระทั่งในปัจจุบัน       


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 19:32
^
คุณตั้งเล่าสั้นไปแล้วละครับ

ขยายความหน่อย


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 30 ต.ค. 12, 20:12
ต่อ สน.พระราชวังอีกนิด
1คือ สน.
2คือคลองคูเมืองเดิม
3คือวัดโพ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 12, 20:59
ไปเจอใน FB ย้อนอดีต..วันวาน   มีคำบรรยายว่า
High ranking Siamese Royal Police officers pose in their dress whites, on the occasion of Chulalongkorn's 1907 European return
ภาพนายตำรวจ ที่มีชั้นยศสูงในขณะนั้น ได้ถ่ายรูปหมู่ร่วมกันโดยมีฉากหลังที่เขียน โรงพักชะนะสงคราม เมื่อคราวงานฉลอง ร.5 เสด็จกลับจากยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2450


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 ต.ค. 12, 21:26
ไปเจอใน FB ย้อนอดีต..วันวาน   มีคำบรรยายว่า
High ranking Siamese Royal Police officers pose in their dress whites, on the occasion of Chulalongkorn's 1907 European return
ภาพนายตำรวจ ที่มีชั้นยศสูงในขณะนั้น ได้ถ่ายรูปหมู่ร่วมกันโดยมีฉากหลังที่เขียน โรงพักชะนะสงคราม เมื่อคราวงานฉลอง ร.5 เสด็จกลับจากยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2450


จัดแผนที่โรงพักชะนะสงครามให้ดู เป็นแผนที่ในยุคเดียวกัน ตั้งอยู่หัวมุมถนนข้าวสาร หน้าวัดชนะสงคราม บางลำพูครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 30 ต.ค. 12, 22:11
ไปอีกด้านที่อยู่ใกล้ๆกัน มีตำรวจที่รถรางหลายคน


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 12, 22:20
สนใจเครื่องแต่งกายของนายตำรวจในรูปที่นำมาลงในค.ห. 70 ว่าที่ขาของพวกเขา เป็นรองเท้าบู๊ต  หรือถุงเท้ายาวสีดำถึงเข่า หรือว่าเป็นผ้าพันแข้งสีดำ สวมกับรองเท้าคัทชู คะ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 31 ต.ค. 12, 06:38
มีทั้งรองเท้าบูต และสนับแข้งครับ
ที่เป็นรองเท้าบู๊ตจะเห็นเป็นกระบอกสูงจากข้อเท้าขึ้นไป  แต่ที่เป็นสนับแข้งนั้นมีทั้งที่เป็นแผ่นหนังหรือผ้าใบสวมทับหน้าแข้ง
ตั้งแจ่ข้อเท้าขึ้นถึงใต้เข้าในทำนองบู๊ต  แต่รองเท้าที่สวมเป็นรองเท้าหนังผูกเชือกหุ้มข้อเท้า  ถ้าเป็นสนับแข้งตัวสนับแข้งจะ
ไม่เป็นกระบอกสูงขึ้นไปเหมือนท๊อบบู๊ต  แต่สนับสนับแข้งที่เทำจากหนังจะต้องมีเชือกร้อยเพื่อรัดสนับแข้งให้กระชับกับน่อง
แต่ถ้าเป็นสนับแข้งที่ทำจากผ้าก็จะต้องมีกระดุมกลัดจากข้อเท้าขึ้นไปถึงใต้เข่าเหมือนกัน  ส่วนผ้าพันแข้งจะเห็นเป็นแนวผ้า
ซ้อนทับเป็นชั้นๆ จากข้อเท้าขึ้นไปจนถึงใต้เข่า  และผู้ที่ใช้ผ้าพันแข้งบางครั้งอาจไม่สวมรองเท้า


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: ไตรวุธ ที่ 31 ต.ค. 12, 09:40
ขออนุญาตแทรกภาพตำรวจกับกบฎเงี้ยวครับ
(http://img267.imageshack.us/img267/9603/sm02k.jpg)

(http://img401.imageshack.us/img401/5349/sm03h.jpg)


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ต.ค. 12, 10:39
เสียดาย ภาพกลายเป็นกบไปแล้วค่ะ  ต้องขอให้เซฟภาพ แล้วนำลงเป็นภาพประกอบอีกที


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 12, 19:16
คุณตั้งเล่าสั้นไปแล้วละครับ
ขยายความหน่อย

ผมทราบเรื่องอนุสาวรีย์ของฝรั่งที่มาตายในช่วงการปราบเงี้ยวที่พะเยามานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ซึ่งจะต้องเดินทางจากเชียงรายมาขึ้นรถไฟที่สถานีนครเขลางค์ เพื่อเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ รถไฟจะออกเวลาประมาณหกโมงเย็นกว่าๆ จำได้ว่าแรกๆนั้นพ่อจะตื่นตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืน ออกเดินทางตั้งแต่ประมาณตีสาม มากินข้าวตอนสายๆที่พะเยา แล้วเดินทางต่อ กว่าจะถึงลำปางก็ประมาณสามสี่โมงเย็น ระหว่างทางก็ได้ยินเรื่องต่างๆที่ผู้ใหญ่เขาคุยกัน ส่วนใหญ่ก็จะคุยกันว่าถึงสถานที่ใหนแล้ว เพื่อประเมินว่าจะเดินทางถึงลำปางทันเวลาขึ้นรถไฟหรือไม่ หนึ่งในเรื่องนั้นก็คือปากทางแยกเล็กๆที่เข้าไปยังอนุสาวรีย์นี้

มารู้เอาตอนหลังๆนี้เองว่า อนุสาวรีย์นั้นเป็นของใคร   จนกระทั่งไม่นานมานี้ เมื่อเกษียณแล้วและกลับไปดูแลที่ทางที่มีอยู่ จึงได้เริ่มศึกษาและอ่านเรื่องเกี่ยวกับเชียงรายและคนเชียงรายหลากหลายมากขึ้น ได้เกิดข้อสงสัยติดใจในหลายๆเรื่อง เช่น จากข้อมูลบันทึกของฝรั่งชาวเยอรมันที่ ร.5 ได้ทรงพระกรุณาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปสำรวจในภาคเหนือ ที่เขียนบันทึกใว้ว่าเมืองเชียงรายเป็นเมืองเล็กๆ มีประชากรอยู่อาศัยน้อยมาก และจากข้อเท็จจริงที่พบเองว่า มีคนเชียงรายเป็นจำนวนมากที่มีญาติอยู่ทาง จ.แพร่ และอพยบมาจากแพร่ และอีกหลายๆเรื่อง (เสื้อม่อฮ่อม ความต่างของการมื้อการกินข้าวเหนียวและข้าวจ้าว ฯลฯ)

แล้วก็ไปอ่านพบในหนังสือในวาระที่โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊คครบ 100 ปี การบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์บางเรื่องโดยคนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์ร่วมกับหมอบริกส์ (ผู้สร้างโรงพยาบาลนี้) กรณีเงี้ยวจะเข้าปล้นเมืองเชียงรายในปี พ.ศ.2448  สรุปความได้ดังนี้ครับ
 


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 12, 19:36
มีเงี้ยวประมาณ 200 คน มารวมตัวกันตั้งเป็นกองกำลังอยู่อีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำกก เพื่อจะเข้าปล้นเมืองเชียงราย ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่แม่น้ำกกมีระดับน้ำสูง (ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงระหว่างประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม)  ที่บริเวณหน้าเมืองในตอนนั้น มีสพานไม้ไผ่ใช้สัญจรข้ามฝั่ง (บริเวณสถานีตำรวจภูธรในปัจจุบัน)  หมอบริกส์ ซึ่งเป็นชาวแคนาดาแต่ได้รับมอบหมายให้เป็นกงสุลของอังกฤษ ได้ส่งจดหมายไปขอความช่วยเหลือกำลังทหารจากเชียงใหม่ ในขณะเดียวกันก็ได้ร่วมกันวางแผนกับข้าหลวงเมืองเชียงราย
         - จับพวกเงี้ยวที่อยู่ในเมืองไปกักตัวไว้ที่วัดพระสิงห์ เพื่อป้องกันการเป็นสายลับ (สมัยนั้นเรียกว่าพวก Fifth column)
         - ปรับสะพานไม่ไผ่ที่ใช้ข้ามน้ำแม่กก ใ้ห้เป็นสะพานกล (พราง) ใช้การรับน้ำหนักไม่ได้ เพื่อพวกเงี้ยวจะได้ตกน้ำจมน้ำตาย  
         - เอาปืนครกมาตั้ง กำหนดใ้ห้วิถีกระสุนตกลงพอดีที่สะพาน ทำลายสะพานที่เงี้ยวจะใช้ข้าม  
         - หมอบริกส์ ชักธงชาติอังกฤษที่โรงพยาบาล เพื่อแสดงว่าตัวเมืองเชียงรายนี้ อยู่ในเขตอาณาในบังคับของอังกฤษ พวกเงี้ยวจะได้ไม่กล้ายิงถล่ม  

คนในเชียงรายได้อพยพหนีไปส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เข้ามาอยู่ในอาคารของหมอบริกส์และพื้นที่รอบๆ    


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 12, 20:01
ถึงวันบุก เงี้ยวก็ตีเกราะเคาะไม่ตะโกนส่งเสียง หวังให้พวกของตนที่อยู่ในเมืองเริ่มดำเนินการภายใน แต่ไม่เป็นผลเพราะถูกเก็บตัวไปไว้ที่วัดพระสิงห์เสียหมดแล้ว เมื่อเงี้ยวเริ่มข้ามสะพานมา ข้าหลวงก็ยิงปืนทำลายสะพานเสีย พวกเงี้ยวที่เดินเลยเข้ามาแล้ว เดินข้ามสะพานต่อมาก็ตกสะพานเพราะสะพานพัง ล้มตายจมน้ำไปเป็นจำนวนมาก  ในที่สุด (ยังกับหนังฝรั่งเลย) กองทหารจากเชียงใหม่ก็มาถึงพอดี  ลุยเลย จนเงี้ยวต้องถอยหนีกระเจิงไม่เป็นกระบวนไป  เหตุการณ์ปล้นจึงจบลง (ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีเรื่องของเงี้ยวอีกจากนี้ในเวลาต่อมา)

จากนั้นเอง จึงได้มีกองทหารไปตั้งฐานอยู่ตามดอยต่างๆตั้งแต่นั้นมา ซึ่งหมอบริกส์ก็ได้รับพระราชทานยศและกลายเป็นหมอที่ต้องไปทำการตรวจเยี่ยมรักษาทหารต่างๆตามดอยต่างๆเป็นระยะๆต่อๆมา 

ผมคิดว่า กองทหารเหล่านี้คงจะตั้งอยู่ตามดอยตามริมน้ำแม่กก และน่าจะเป็นการเริ่มต้นของเส้นทางคมนาคม (ตามลำน้ำแม่กก) เชื่อมเชียงรายกับ อ.ฝาง ของเชียงใหม่ในเวลาต่อๆมา   
ที่ตั้งของคุกของ จ.เชียงรายในปัจจุบัน ก็คงจะเป็นสถานที่หนึ่งที่เป็นที่ตั้งของหน่วยทหารในอดีต โดยผมเดาเอาจากเรื่องที่ปรากฏที่ผมจำได้เรื่องหนึ่งว่า สถานที่ตั้งคุกนี้ แต่เิดิมนั้นใช้เป็นบริเวณสถานที่คุมขังแบบเปิด คุณพ่อของผมยังต้องไปเยี่ยมรักษาเป็นระยะๆ โดยต้องใช้เรือไม้ขุดถ่อทวนน้ำขึ้นไปจากตัวเมืองเชียงราย

อาจจะเป็นข้อมูลเรื่องเงี้ยวที่เชยไปแล้วนะครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 12, 21:04
ไม่เชยเลย น่าสนใจมาก

แต่อยากทราบอย่างหนึ่งว่าพวกเงี้ยวนี้ (ทราบว่าเป็นคนไทยใหญ่ หรือพวกฉาน) ทำไมมาระดมพลอะไรกันอยู่ในเมืองไทยได้มากมาย ขนาดบุกเข้าปล้นเมืองโน้นเมืองนี้ เหมือนพม่ายกทัพมาตีในสมัยก่อนเลย

เขาอยู่กันเป็นหมู่บ้านๆหรืออย่างไร คุณตั้งว่าต่อไปอีกหน่อย อย่าเพิ่งเลิก


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 12, 17:26
^

ขออนุญาตขยายขี้เท่อ เพื่อตอบสนองความกังขาของคุณนวรัตน์ โดยจะเล่าเป็นเรื่องแบบกระท่อนกระแท่นตามที่ได้เคนเห็นบ้าง ได้รู้บ้าง ได้อ่านบ้าง ประมวลเป็นข้อมูลได้ดังนี้ครับ

เมื่อสมัยเด็กวัยกะเตาะอยู่นั้น จำความได้จากการบอกเล่าและการสนทนาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า จ.เชียงรายนั้น มีชาวเขาเผ่าต่างๆอาศัยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดมากที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 45 เผ่า เชียงใหม่เองมีประมาณ 40 เผ่า เมื่อตามคุณพ่อไปเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ซึ่งจะพบชาวเขาเดินสวนทางตามเส้นทางรถหรือทางเดินคน แล้วคนที่ไปกับคุณพ่อบอกได้ว่าเป็นชาวเขาเผ่าใหน ผมก็มีความสนใจแบบเด็กๆว่า แล้วรู้ได้อย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือ รู้ได้จากลักษณะการแต่งตัว ผมเองไม่เคยเห็นหมู่บ้านบนดอยที่เขาอยู่กันในตอนนั้น ที่นึกภาพออกและพอจะจำชื่อเผ่าต่างๆได้ ก็มีพวกที่พบบ่อยๆมากที่สุด อาทิ ขมุ มูเซอดำ มูเซอแดง  ยางขาว ยางแดง ลีซอ อีก้อ เย้า เงี้ยว ลื้อ กะเหรี่ยง ลั๊วะ   พวกทีีมีคำต่อท้ายว่าขาว ดำ แดง นั้น อยู่ที่ลายสีที่ปรากฏอยู่ในเสื้อผ้าหรือผ้าโพกหัวที่ใส่กัน
 
พวกมูเซอนั้นมีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือการถือหน้าไม้ขนาดคันยาวประมาณสอกครึ่งติดตัวอยู่เสมอ
พวกขมุ คือพวกที่มีการสักแบบลายแน่นตั้งแต่เข่าข้นไปถึงเอว
พวกอีก้อ คือพวกที่ผู้หญิงใส่สนับแข้ง โพกหัวและมีเหรียญเงินประดับ
พวกเย้า คือพวกที่ใส่เสื้อผ้าสีฟ้าสดใส
พวกยาง คือพวกที่ใส่เสื้อคล้ายถุงสวมหัว ผู้หญิงใส่เป็นชุดผ้าถุงคลุมทั้งตัว เช่นเดียวกับพวกกะเหรี่ยง
พวกลีซอ คือพวกที่ใส่เสื้อผ้าสีย้อมค่อนข้างดำมาก
พวกลื้อ อยู่ป็นกลุ่มก้อนแถบ อ.เทิง ทุกบ้านจะมีกองไม้ฟืนกองเรียงอยู่ใต้ถุนบ้าน
พวกลั๊วะ จำไม่ได้ครับ

เสื้อผ้าของผู้ชายเกือบทั้งหมดจะเป็นสีย้อมคราม เข้มมากน้อยต่างกันไปแล้วแต่เผ่า ยกเว้นเฉพาะพวกเย้าที่ใช้สีฟ้าทั้งชุด ฝ่ายผู้ชายของทุกเผ่าใส่กางเกงขาก๊วย (กางเกงจีนแบบขมวดผ้าที่เอว) ยาวเพียงเข่า บางเผ่าก็เป้ากางเกงยานเกือบลากดิน เครื่องประดับที่ใส่กันตามปรกติประจำวันของผู้หญิงเกือบทั้งหมดจะมีเงินทรงเหรียญประดับ สำหรับฝ่ายชายนั้น จะใส่เครื่องประดับเงินเฉพาะพวกที่เป็นหัวหน้าชุมชน และเฉพาะในพิธีการเท่านั้น เครื่องประดับของเย้าจะเป็นแผงห้อยไปทั้งด้านหน้าอกและหลัง ลองใส่ดูแล้วหนักเอาการอยู่เลยทีเดียว    เงินเหรียญที่ใช้ในการประดับของชาวเขาเผ่าต่างๆนั้น เป็นเงินเหรีญรูปีอยู่มากพอสมควร ซึ่งคนไทยทางภาคเหนือมักจะซื้อเอามาตีเป็นขันเงินและเครื่องเงินเครื่องใช้ต่างๆ

ในปัจจุบันนี้ ไม่เห็นชื่อชาวเขาเหล่านี้ปรากฏอีก ก็ไม่ทราบว่าหายไปใหน อย่างไร หรือแปลงร่างเป็นไทยไปหมดแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะสูญไป หรือไม่ก็มีการจัดกลุ่มเรียกชื่อเสียใหม่ตามหลักวิชาการ anthropology จึงเหลือแต่ชื่ออาข่า ผมมาได้ยินชื่ออาข่าก็เมื่อทำงานการเป็นเรื่องเป็นราวแล้วสักพัก 


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 12, 18:49
เล่ามาเพื่อจะปูทางเข้าเรื่องเงี้ยวครับ

คนเงี้ยวแต่ดั้งเดิมจริงๆนั้น เป็นอย่างไร แต่งตัวอย่างไรผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าในภาคเหนือแถบงาว แพร่ พะเยา มีการใช้หมวกที่เรียกว่า หมวกเงี้ยว ซึ่งมีลักษณะคล้ายหมวกกุยเล้ยของจีน แต่ขนาดเล็กกว่า แสดงว่า เงี้ยวคงจะทิ้งเอกลักษณ์บางอย่างไว้ให้เหมือนกัน และก็มีประเพณีบางอย่างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ต่อมา คือ การฟ้อนเงี้ยว ซึ่งรู้จักและแพร่หลายอยู่แถวเขต จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย  ที่คิดว่าไม่เคยได้ยินเรื่องฟ้อนเงี้ยวเลย ก็ดูเหมือนจะเป็นในเขตแพร่ น่าน และลำปาง   และซึ่งดูเหมือนว่าจะมีชื่อเรียกขานคำว่า เงี้ยว หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเพียงเท่านี้

คำว่าเงี้ยว ถูกทดแทนด้วยคำว่าไทยใหญ่เมื่อใดก็ไม่ทราบ

ที่ตัวเมือง จ.เชียงราย มีประตูเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประตูต้นทางของเส้นทางคมนาคมเดิมระหว่างเชียงรายกับเชียงใหม่ ปัจจุบันนี้เรียกชื่อถนนสายนี้ว่าถนนสายเด่นห้า-ดงมะดะ (เส้นทางนี้ สเด้จพระนเรศวรทรงใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ) ซึ่งจะมุ่งไปหาแม่น้ำแม่ลาว เส้นทางจะทวนน้ำแม่ลาวขึ้นไป ผ่าน อ.แม่สรวย อ.เวียงป่า แยกไป อ.วังเหนือ สู่พะเยาและลำปางที่จุดนี้ หากทวนน้ำต่อไปก็จะเป็น อ.แม่ขะจาน ข้ามเขาไปลง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย แล้วก็เมืองเชียงใหม่   จากเชียงรายประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะมีบ้านท่าล้อ (ท่าเกวียน) ปัจจุบันเรียกว่าบ้านประตูล้อ ที่จุดนี้ คือจุดพักเกวียนที่เดินทางจากเชียงรายไปลำปางและเชียงใหม่ ชาวบ้านเล่าว่าเป็นจุดพักเกวียนของพวกไทยไหญ่ ซึ่งในปัจจุบันก็มีคนเชื้อสายไทยใหญ่ตั้งรกรากอยู่    เส้นทางนี้คือเส้นทางที่มีการเดินสายโทรเลขเชื่อมระหว่างเชียงใหม่กับเชียงราย ซึ่งคงจะดำเนินการไม่นานหลังกรณีเงี้ยวปล้นเมืองเชียงราย บางที่อาจจะเป็นระบบโทรเลขในท้องถิ่นห่างไกลแรกๆของไทยก็ได้

ข้อสังเกตคือ ชาวบ้านก็เรียกคนที่ใช้เส้นทางนี้ว่าเป็นคนไทยใหญ่   ผมก็เลยทึกทักเอาเองว่า คนไทยใหญ่กับเงี้ยวนั้น ก็น่าจะเป็นคนเชื้อสายไตเหมือนกัน แต่อาจจะต่างกันที่ขื่อที่ใช้เรียกสำหรับกลุ่มเชื้อสายคนไตที่เป็นคนธรรมดาหากินตามปรกติ แยกออกไปจากกลุ่มคนพวกที่เฮี้ยว

ตรงนี้อาจจะทำให้คงพอเห็นได้ว่า ในท้องที่ภาคเหนือตอนบนด้านตะวันตกบางส่วน (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และพะเยา) นั้น แท้จริงแล้วมีคนไทยใหญ่อยู่อาศัยและไปมาหาสู่กัน ทำการค้่าขายอยู่เป็นประจำกับคนเมืองอยู่นานแล้ว
 
คนไทยใหญ่บางส่วนก็อาจจะเดินข้ามเขาไปทางตะวันออกลงไปในแอ่งระหว่างหุบเขาแล้วเดินเลาะน้ำลงไปก็จะถึงบ้านบ่อแก้วของแพร่ เดินต่ำลงมาก็จะเป็น อ.วังชิ้น แล้วฮึกเหิมรวมพลปล้นเมืองแพร่เสียเลย ???  ผมเคยเดินทำงานอยู่ในแถบนี้เมื่อสัก 40 ปีมาแล้วยังพอสัมผัสได้กับสภาพที่ตกค้างอยู่ แล้วก็เคยเจอบางเรื่องด้วยตนเองอีกด้วย     

อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่พอจะตอบคุณนวรัตน์ก็ได้ว่า เหตุใดจึงมีคนเงี้ยวอยู่กระจายและสามารถรวมพลได้

โรงเรียนป่าไม้ของไทยครั้งแรกๆก็ตั้งอยู่ที่บ้านบ่อแก้วนี้แหละครับ ก็คงจะมีเหตุผลอยู่พอสมควรเลยทีเดียว



           


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 12, 18:57
ทียังผูกเรื่องไม่ได้ก็คือ คนไทยใหญ่ในรัฐฉานปัจจุบัน ใส่โสร่งสีดำลายน้ำไหล ไฉนเล่าจึงไม่ปรากฏว่ามีคนไทยใส่โสร่งแถบเชียงราย พะเยา งาว และแพร่บ้างเลย มีแต่ใส่ม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วยเป็นพื้นมาตั้งแต่โบราณ คนไทยใหญ่หรือเงี้ยวที่อยู่ในไทยคงจะแปรสภาพไปหมดแล้ว  แน่นอนว่าน่าเป็นคนไตคนละพวกคนละกลุ่มแน่นอน 

เดี๋ยวเรื่องของตำรวจจะกลายเป็นเรื่องเงี้ยวไป ครับผม


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 12, 20:38
ยังอ่านตามคิดตามอยู่ครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 พ.ย. 12, 21:11
เล่ามาเพื่อจะปูทางเข้าเรื่องเงี้ยวครับ

คนเงี้ยวแต่ดั้งเดิมจริงๆนั้น เป็นอย่างไร แต่งตัวอย่างไรผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าในภาคเหนือแถบงาว แพร่ พะเยา มีการใช้หมวกที่เรียกว่า หมวกเงี้ยว ซึ่งมีลักษณะคล้ายหมวกกุยเล้ยของจีน แต่ขนาดเล็กกว่า แสดงว่า เงี้ยวคงจะทิ้งเอกลักษณ์บางอย่างไว้ให้เหมือนกัน และก็มีประเพณีบางอย่างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ต่อมา คือ การฟ้อนเงี้ยว ซึ่งรู้จักและแพร่หลายอยู่แถวเขต จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย  ที่คิดว่าไม่เคยได้ยินเรื่องฟ้อนเงี้ยวเลย ก็ดูเหมือนจะเป็นในเขตแพร่ น่าน และลำปาง   และซึ่งดูเหมือนว่าจะมีชื่อเรียกขานคำว่า เงี้ยว หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเพียงเท่านี้

คำว่าเงี้ยว ถูกทดแทนด้วยคำว่าไทยใหญ่เมื่อใดก็ไม่ทราบ

           

คนเงี้ยว เป็นคำเรียกชาวไทยใหญ่ ครับ
ลิงค์ http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_topic.php?id=30442


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 พ.ย. 12, 21:12
กล่าวถึงพวกเงี้ยงนึกถึง

๑. เลือดเจิมฆ้อง

๒. พระเงี้ยวทิ้งปืน


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 12, 21:18
กล่าวถึงพวกเงี้ยวนึกถึง

๑. เลือดเจิมฆ้อง

๒. พระเงี้ยวทิ้งปืน

นึกถึงขนมจีนน้ำเงี้ยว ค่ะ :)

ขอออกนอกเรื่องแค่นี้นะคะ   เลี้ยวกลับเข้าเรื่องชาวเงี้ยว(ไทใหญ่)และตำรวจ ตามเดิม


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 12, 17:50
มีขนมอยู่สองอย่าง ของไทยก็มีทำกัน คือ ขนมขี้หนู และอีกอย่างหนึ่งนึกชื่อไม่ออก  ผมสงสัยว่าอยู่่ว่าน่าจะเป็นขนมที่มีต้นตอมาจากพวกไทยใหญ่หรือเงี้ยว
 
ขนมขี้หนูนั้นมีขายในตลาดสดตอนเช้าของเชียงรายและชอบกินมาตั้งแต่เด็กๆเมื่อจำเรื่องราวต่างๆได้ จนกระทั่งทำงานแล้ว (ช่วง 2512-2516) ก็ยังเห็นมีขายอยู่เป็นประจำในตลาดสดเช้าของภาคเหนือ แถวแพร่ เชียงราย พะเยา เีชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน  จำได้ว่าไม่เคยเห็นแถวน่านและลำปาง หมายถึงมีขายเป็นประจำในตลาดสดตอนเช้านะครับ จนตลาดสด (กาดเช้า) ได้เปลี่ยนไปเป็นแบบอาคารพื้นปูนดังในปัจจุบัน พวกแม่ค้ารุ่นเก๋าที่ยังใส่ผ้าถุงเกล้ามวยผมก็หายไปจากตลาดพร้อมๆกับขนมขี้หนู

ขนมอีกอย่างหนึ่ง กลับทางกันกับขนมขี้หนู คือแทนที่จะเอาแป้งมายีให้เป็นเม็ดเล็กๆ กลับเอาแป้งที่เป็นเม็ดเล็กๆนี้โรยลงในกระทะ แป้งก็จะละลายจับตัวกันเป็นแผ่น แล้วใส่งาและน้ำตาลและบางทีก็มะพร้าว ม้วนทบกัน   อันนี้เห็นในตลาดสดที่ อ.แม่สะเรียง เรื่อยขึ้นไปจนในแม่ฮ่องสอน  กระทะทำจากทองเหลือง ค่อนข้างจะแบนเส้นผ่าศุนย์กลางประมาณศอกนึง ยกขอบขึ้นมารอบๆประมาณสัก 5 ซม. คือกระทะทรงฆ้องนั่นเอง   ขนมนี้ไม่เคยเห็นมีขายเป็นประจำอยู่ในกาดเช้าของที่อื่นๆนอกจากในพื้นที่ๆกล่าวมา

 


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 12, 18:07
อ้างถึง
ขนมอีกอย่างหนึ่ง กลับทางกันกับขนมขี้หนู คือแทนที่จะเอาแป้งมายีให้เป็นเม็ดเล็กๆ กลับเอาแป้งที่เป็นเม็ดเล็กๆนี้โรยลงในกระทะ แป้งก็จะละลายจับตัวกันเป็นแผ่น แล้วใส่งาและน้ำตาลและบางทีก็มะพร้าว ม้วนทบกัน
คลับคล้ายคลับคลา    น่าจะอยู่ในกระทู้ขนมไทย  แต่ยังนึกชื่อไม่ออกเหมือนกันค่ะ

อยากจะต่อความยาวเรื่องฟ้อนเงี้ยว และขนมไทยเงี้ยว ซึ่งคงออกนอกทางโปลิศไปมากโข    แต่เกรงใจเจ้าของกระทู้ท่าน   เดี๋ยวท่านจะสะกิดพลตระเวนให้เอาผ้าขาวม้ามัดมือไปสถานีกันเสียหรอก
เลยเอารูปที่เข้ากับกระทู้มาลงให้ดู ขัดตาทัพไปก่อน    พวกนี้ไม่มีผ้าพันเท้า มีแต่ผ้าพันแข้ง


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 12, 18:11
ภาพนี้เคยลงในเรือนไทยมาแล้ว  ไปเจอในลุงกุ๊ก   มีคำอธิบายว่าเป็นบริเวณโรงพักพลตระเวนบางรักเดิม


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 12, 19:49
วกกลับมาเรื่องของเงี้ยว

ตำรวจไทยไปปราบเงี้ยวในยุคต้นๆของการเิ่ริ่มกิจการตำรวจ  ในยุคต่อมาตำรวจไทยก็ได้ไปทำอีกหน้าที่ที่กลับทางกัน คือ ช่วยบุคคลในราชวงค์ไทยใหญ่ให้รอดพ้นจากการถูกตามปองร้ายในช่วงต้นๆของพม่าเมื่อเริ่มได้รับเอกราช ไม่ขอต่อเรื่องแล้วนะครับ  :-X

ในยุคสมัยหลังๆ คำว่าคนเงี้ยวหายไปหมด เหลือแต่คำว่าคนไทยไหญ่ หรือคนจากรัฐฉาน ซึ่งชื่อและซึ่งเป็นเรื่องเหลือตกค้างที่ตำรวจไทยต้องเข้าไปยุ่งด้วย แต่ก็เฉพาะเพียงในเขตแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่เท่านั้น คงเคยได้ยินเรื่องกลุ่มคนที่เรียกว่า หนุ่มศึกหาญ ใช่ใหมครับ  

ผมเห็นว่า คำว่าไทยใหญ่นั้น คนไทยเราใช้เรียกในความหมายรวมๆถึงกลุ่มคนในรัฐฉาน เราใช้คำว่าเงี้ยวในความหมายถึงคนในลักษณะปัจเฉกบุคคลและในทางที่เรารู้สึกว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่รู้สึกสนิทใจจะคบด้วย     ที่ผมเคยสมผัสกับราชการของพม่าและคนพม่า  พม่าเรียกคนในรัฐฉานโดยรวมว่าพวกคนฉาน  คนที่คนไทยเราเรียกรวมๆว่าคนไทยใหญ่ในรัฐฉานนี้ พวกเขาเองในพม่ากลับเรียกตนเองในลักษณะไม่บอกว่าตนเองเป็นเชื้อชาติใด แต่จะบอกว่าอยู่ที่เมืองใด เช่น เป็นคนเชียงตุง พยาค ลาเสี้ยว ท่าขี้เหล็ก เป็นต้น    กลุ่มคนในรัฐฉานนี้มีหลายเชื้อชาติพอสมควร ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนจะใส่โสร่งลายน้ำไหลเหมือนๆกันทั้งหมด (ได้กล่าวมาแล้ว)  สภาพคล้ายกับว่าจะแปลงสภาพทางเชื้อชาติกลายเป็นคนไทยใหญ่เสียหมดแล้ว

ผมหมดเรื่องเงี้ยวและไทยใหญ่ที่พอจะเล่าสู่กันฟังได้แล้วครับ
 


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 12, 08:13
อ้างถึง
ในยุคต่อมาตำรวจไทยก็ได้ไปทำอีกหน้าที่ที่กลับทางกัน คือ ช่วยบุคคลในราชวงค์ไทยใหญ่ให้รอดพ้นจากการถูกตามปองร้ายในช่วงต้นๆของพม่าเมื่อเริ่มได้รับเอกราช ไม่ขอต่อเรื่องแล้วนะครับ 


บร๊ะ แหล่ว

เล่าเถิดครับ เล่าๆเลี่ยงๆ พอแก้กษัย เล่นเบรคอย่างนี้คนตามก็หัวทิ่มกันหมดน่ะซี้


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 12, 08:21
อ้างถึง
อยากจะต่อความยาวเรื่องฟ้อนเงี้ยว และขนมไทยเงี้ยว ซึ่งคงออกนอกทางโปลิศไปมากโข    แต่เกรงใจเจ้าของกระทู้ท่าน   เดี๋ยวท่านจะสะกิดพลตระเวนให้เอาผ้าขาวม้ามัดมือไปสถานีกันเสียหรอก

ถ้าเรื่องฟ้อนเงี้ยวจะเกี่ยวกับแสดงของตำรวจหญิง และขนมไทยเงี้ยว ขนมจีนน้ำเงี้ยว ฯเงี้ยวฯ ที่ขายอยู่หน้าโรงพักอะไรสักแห่ง ก็คงเข้าเรื่องอยู่มั้งครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ย. 12, 08:33
อ้างถึง
อยากจะต่อความยาวเรื่องฟ้อนเงี้ยว และขนมไทยเงี้ยว ซึ่งคงออกนอกทางโปลิศไปมากโข    แต่เกรงใจเจ้าของกระทู้ท่าน   เดี๋ยวท่านจะสะกิดพลตระเวนให้เอาผ้าขาวม้ามัดมือไปสถานีกันเสียหรอก

ถ้าเรื่องฟ้อนเงี้ยวจะเกี่ยวกับแสดงของตำรวจหญิง และขนมไทยเงี้ยว ขนมจีนน้ำเงี้ยว ฯเงี้ยวฯ ที่ขายอยู่หน้าโรงพักอะไรสักแห่ง ก็คงเข้าเรื่องอยู่มั้งครับ

ขนมจีนน้ำเงี้ยว จะให้อร่อยถึงเครื่องต้องใส่ ถั่วเน่า และ ดอกงิ้ว ถึงจะหอม ;D


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 03 พ.ย. 12, 10:25
นายตำรวจมือปราบในอดีตของนครเชียงใหม่
พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร   ณ เชียงใหม่) นายตำรวจมือปราบในอดีตของนครเชียงใหม่ (ช่วงรับราชการประมาณ พ.ศ.2445 – 2460)
 
                การปราบปรามโจรผู้ร้ายในสมัยก่อนเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองโดยตรง ต่อมาเมื่อมีการตั้งนายอำเภอหรือนายแขวง หน้าที่นี้จึงตกเป็นของนายอำเภอ และหน้าที่การปราบปราม เริ่มเป็นภาระของตำรวจเมื่อมีการเกณฑ์คนเข้ามาเป็นตำรวจ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมา นายตำรวจในยุคก่อนจะมีทั้งการรับแต่งตั้งมาจากกรุงเทพฯส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนหนึ่งแต่งตั้งโดยเจ้าครองนครเชียงใหม่ซึ่งมักเป็นเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีความรู้ความสามารถ นายตำรวจผู้หนึ่งของนครเชียงใหม่ในยุคแรกๆตรงกับรัชกาลที่ ๗ และตรงกับ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘ (พ.ศ.๒๔๔๔ – ๒๔๕๒) คือ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร ณ เชียงใหม่) หรือที่เรียกกันว่า “เจ้าน้อย” เนื่องจากผ่านการบวชเณรมาแล้ว
                คราวหนึ่ง คนบ้าวัยกลางคนคนหนึ่ง ชื่อนายบุญตัน เป็นข้าบริพารรับใช้ภายในคุ้มหลวงของเจ้าอินทวโรรสซึ่งขณะนั้นอยู่ที่กลางเวียง อันเป็นโรงเรียนยุพราชในปัจจุบันนี้ และเจ้าอินทวโรรสกำลังพิงหมอนข้างอยู่ในคุ้ม คนบ้าถือมีดเหล่าขนาดใหญ่ในมือตรงเข้าจะฟัน ขณะนั้น พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม อยู่ในคุ้มด้วย ได้กระโดดเข้าขวาง และผลักนายบุญตันล้มลง เข้าแย่งมีดได้สำเร็จ จับนายบุญตันคุมขังได้ ทำให้เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของเจ้าอินทวโรรสมาก
                คดีหนึ่ง ฝรั่งที่เข้ามาทำงานสัมปทานไม้สักถูกคนร้ายปล้นฆ่าตายในท้องที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดกล้าจับกุม เนื่องจากคนร้าย คือ หนานปัญญา เป็นผู้มีอิทธิพลอยู่ในตำบลนั้น ราษฎรยำเกรงและเกรงกลัวกันมาก อีกทั้งการจับกุมแบบจู่โจมก็มิอาจทำได้เพราะมีชาวบ้านคอยเป็นหูเป็นตา รายงานความเคลื่อนไหวของตำรวจให้คนร้ายทราบเสมอ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม รู้จักตัวคนร้ายรายนี้ดี ซึ่งเขาก็เคารพนับถือท่านอยู่มาก ท่านจึงพร้อมด้วยตำรวจ ๖ นาย เดินทางรุดไปยัง อ.ฮอดในวันหนึ่ง พอไปถึงที่ตำบลที่อยู่ของหนานปัญญา ก็ให้ ส.ต.ต.คนหนึ่ง แต่งตัวปลอมเป็นชาวบ้านลูกหาบรับจ้างหาบสัมภาระให้ตัวท่าน ผู้ซึ่งปลอมเป็นพ่อค้า เดินทางจากต่างจังหวัดมาติดต่อค้าขายในหมู่บ้าน พวกชาวบ้านก็ปลงใจ เชื่อว่าเป็นพ่อค้าจริง เมื่อย่างเหยียบเข้าไปในลานบ้านของหนานปัญญา ก็ตะโกนเรียกเจ้าของบ้านว่า “หนาน ข้าทำงานก็ไม่พอเลี้ยงตัวเอง ลูกเมียจึงออกงานมาค้าขาย ถ้าทางนี้สนุก ข้าก็อยากมาอยู่ด้วยสักคน” หนานปัญญาก็นึกระแวงทีแรก ครั้นเห็นท่าทางของผู้มาเยือนไม่มีพิรุธ จึงออกมานั่งคุยด้วย พักใหญ่ต่อมาหนานปัญญา เหลียวหลังไปมองดูทางอื่นได้จังหวะ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม ขยิบตาให้ ส.ต.ต.ลูกน้องกระโดดเข้ารวบตัวหนานปัญญาได้โดยละม่อม หนานปัญญาถึงกับทรุดตัวลงยกมือไหว้ขอชีวิต และรับสารภาพว่า ตอนที่เห็นท่านกับคณะเดินเข้าในบริเวณบ้านได้ยกปืนเล็ง ๒ ครั้ง แต่สับไกไม่ลง ไม่เช่นนั้นคงเสียชีวิตแล้ว จากการตรวจค้นที่ตัวหนานปัญญา พบปืนเบรานิงประจำตัวถึง ๒ กระบอก การปล้นฆ่าชาวต่างชาติสมัยนั้นเป็นความผิดร้ายแรง หนานปัญญาถูกประหารชีวิตโดยตัดศรีษะที่ท่าวังตาล
                คดีหนึ่งที่บ้านแม่วาง ตำบลบ้านกาด อำเภอบ้านแม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสันป่าตอง) บ้านแม่วางนี้มีเงี้ยว (ไทยใหญ่) อาศัยอยู่มาก มีเงี้ยวพวกหนึ่งรวมกำลังกันได้ ๕ คน ออกปล้นสะดมราษฎรคนพื้นเมืองจนได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ความทราบไปถึงทางการมณฑลพายัพ ส่งให้ พ.ต.อเจ้าไชยสงครามออกไปปราบปรามจับกุม ได้นำกำลังเข้าล้อมและเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น ผลสุดท้ายพวกเงี้ยวถูกยิงตาย ๓ คน ที่เหลืออีก ๒ คนยอมให้จับกุม
                อีกรายที่อำเภอสันทราย มีพวกเงี้ยวในอำเภอสันทรายวางแผนจะเข้าปล้นตลาดสันทราย แต่สายลับคนหนึ่งมารายงานให้ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงครามทราบ จึงนำกำลังตำรวจชุดหนึ่งซุ่มสกัดคนร้าย เกิดการยิงต่อสู้กัน พ.ต.อ.เจ้าไชยสงครามยิงคนร้ายเป็นเงี้ยวตาย ๑ คน แต่กระสุนนัดหนึ่งของคนร้ายเฉี่ยวขาตัวเองไปหวุดหวิด
                ด้วยวีรกรรมของ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงครามนี้เอง ทำให้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจและได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่องครักษ์ติดต่อตามอารักขาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ถึง ๓ องค์ด้วยกัน คือ พ่อเจ้าอินทวโรรส, พ่อเจ้าแก้วนวรัฐและสมเด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
                ปีพ.ศ.๒๔๖๙ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่มีการประชุมอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จะเด็จเยือนมณฑลพายัพจะต้องมีการเตรียมรับเสด็จให้สมพระเกียรติ หน้าที่สำคัญที่สุด คือ ควาญช้างพระที่นั่งจะต้องมีความชำนาญอย่างยิ่งในการควบคุมช้าง อีกทั้งต้องหาคนที่เฉลียวฉลาดรอบรู้พอที่จะตอบข้อซักถามจาก รัชกาลที่ ๗ ได้ ผลสุดท้าย ที่ประชุมเห็นชอบ และได้มอบหน้าที่นี้ ให้ พ.ต.อ. เจ้าไชยสงคราม ขณะนั้นเกษียณอายุราชการแล้ว อายุ ๖๐ ปีเศษ ซึ่งได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ เป็นที่โปรดของรัชกาลที่ ๗ ถึงกับรับอุปการะบุตรของ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม คือ เจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่, เจ้าไชยชนะ ณ เชียงใหม่ และเจ้าไชยมงคล ณ เชียงใหม่ ให้ศึกษาเล่าเรียนด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์
                เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ บุตรของเจ้าไชยสงครามเล่าว่า บิดารับราชการตำรวจก่อนที่เจ้าไชยสุริยวงศ์จะเกิดแล้ว คือ ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๓ เมื่อเจ้าไชยสุริยวงศ์อายุ ๗ – ๘ ขวบ ทางราชการกองปราบ ประมาณ พ.ศ.๒๔๖๓ ทางราชการมีคำสั่งให้เดินทางไปรับราชการเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย สมัยนั้นต้องเดินทางด้วยเท้า บิดาพาครอบครัวและลูกหาบประมาณ ๓๐ – ๔๐ คนเดินทางและต้องพักค้างคืนในป่าเขาร่วม ๗ คืนจึงจะถึงเชียงราย รับราชการอยู่เชียงรายประมาณ ๔ ปี จึงกลับมาประจำที่เชียงใหม่ ที่ทำงานอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอาคารสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองเชียงใหม่  (หลังเก่าถูกรื้อสร้างใหม่ปี พ.ศ.๒๕๑๒) ทุกเช้า จะเห็นบิดาแต่งเครื่องแบบขี่จักรยานไปทำงาน บ้านพักเป็นบ้านส่วนตัวอยู่ถนนท่าแพ บริเวณโรงแรมสุภาวดี ต่อมาขายให้กับหลวงสงวน บิดารับผอดชอบด้านงานปราบปราม นายตำรวจรุ่นเดียวกันอีกคนหนึ่ง คือ พ.ต.อ.พระยาพิทักษ์ทวยหสญ (สือ โทณวนิก) เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่ด้านระเบียบวินัยการบังคับบัญชาตำรวจ ทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทกันและรุ่นลูกก็สนิทสนมกันมาก
                เจ้าไชยสุริยวงศ์ เล่าว่า บิดาเป็นคนใจถึง นักเลง มีของขลังเป็นเสื้อยันต์เคยเห็นบิดาใช้อยู่ อาวุธปืนในสมัยนั้น คือ เป็นอาวุธปืนที่เรียกว่า “เมาเซอร์” ต่อด้ามได้ หลังจากบิดาเสียชีวิตไป นำมอบคืนให้หลวงไป
                มีคู่ชีวิตอยู่ ๒ คน คือ เจ้าหญิงศรีนวล และ แม่นายคำใส ณ เชียงใหม่ เสียชีวิตเมื่ออายุ ๗๐ ปีเศษ ในปี พ.ศ.๒๔๗๓


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 12, 21:09
พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร   ณ เชียงใหม่)


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 12, 21:16
การฝึกแถวของตำรวจสมัยรัชกาลที่ 5    ตำรวจพันแข้งสีดำ  แต่เท้าเปล่า  คงจะเดินถนัดกว่าสวมรองเท้ากระมัง?


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 12, 21:16
ภาพวาดพลตระเวน เรียกว่าพวก "หงอนแดง แข้งดำ"


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 12, 22:18
ไปเจอข้อเขียนของนายตำรวจท่านหนึ่งในอินทรเนตร ชื่อพ.ต.ท. สุพจน์ มัจฉา   เล่าเรื่องตำรวจในอดีตไว้สนุกและน่าสนใจ  คือเรื่องการหลักเกณฑ์การลงโทษตำรวจในสมัยก่อน   ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนอย่างเราๆไม่รู้กัน ถ้าไม่เปิดราชกิจจาฯ อ่าน 
เลยขอคัดบางตอนมาลงให้อ่านกันค่ะ


วันนี้่ผมจะขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับตำรวจในอดีตที่หลายท่านอาจจะหาอ่านที่ไหนไม่ได้เพราะไม่มีใครเขียนถึงมาเล่าให้ฟัง โดยเรื่องนี้ิเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษของตำรวจไทยเมื่อครั้งก่อนครับว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ท่านที่รักครับ คนเราเมื่ออยู่รวมกันมากก็ต้องมีบ้างที่ใครซักคนสองคนสามคนอาจประพฤตินอกลู่นอกแนวไปจากคนอื่นๆ คนที่ประพฤติแบบนั้นถ้าจะให้หลาบจำก็ต้องมีการลงโทษลงทัณฑ์กันเป็นธรรมดา การลงโทษนั้นก็มีอยู่หลายอย่างหลายสถานด้วยกันตามที่จะมีการกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วทีนี้ตำรวจของเราสมัยก่อนเขาทำการลงโทษกันอย่างไร

ขอบอกก่อนนะครับว่าข้อเขียนของผมนั้นทุกอย่างต้องมีหลักฐาน(ทางราชการ)อ้างอิงด้วยเพราะจะได้ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ว่าเขียนขึ้นมาเอง คิดขึ้นมาเองหรือเปล่า แล้วหลักฐานที่จะนำมาอ้างอิงก็เหมือนเดิม "ราชกิจจานุเบกษา" นั่นแหละ การค้นหาเรื่องราวในราชกิจจาฯ สมัยก่อนค่อนข้างยุ่งยากลำบาก แต่เดี๋ยวนี้สบายมากเพราะเราสามารถ search ทาง Internet ได้ แป๊บเดียวเองเรื่องที่ต้องการถ้ามีก็เจอ นี่ก็เหมือนกันครับการลงโทษตำรวจสมัยก่อนนี่ผมก็หาจากที่นี่นั่นเอง แล้วการลงโทษเนี่ยะ  สมัยนั้นเขามีการโบยกันด้วยนะขอรับ เชื่อหรือไม่ ซึ่งก็คือที่มาของจั่วหัวเรื่องวันนี้ "ตำรวจโดนโบย" การโบยเขาโบยแบบไหนและเรื่องราวเป็นอย่างไรตามผมมาเลยครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 12, 22:21
ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๒๐ ซึ่งตีพิมพ์ (ประกาศ) เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ร.ศ.๑๒๒ เรื่อง "ข้อบังคับว่าด้วยอำนาจแลกำหนดสำหรับลงโทษตำรวจภูธร" กำหนดไว้ตอนหนึ่งว่า
"ข้อ ๒ ลักษณ (สะกดตามที่ประกาศ) ความผิดด้วยข้อบังคับของตำรวจภูธรนั้น ดังนี้
(๑) เกียจคร้านแลเลินเล่อต่อน่าที่ราชการ
(๒) เมาสุราแลเครื่องดองของเมาต่างๆ
(๓) ประพฤติกิริยาแลวาจาชั่ว
(๔) กระทำการทุราจาร
(๕) ดื้อต่อผู้ใหญ่"

ทีนี้ถ้าตำรวจคนไหนกระทำผิดวินัยจะมีการลงโทษกันอย่างไร เรื่องนี้มีประกาศไว้ในราชกิจจาฯฉบับเดียวกันข้อ ๔ ดังนี้
"ข้อ ๔ ตำรวจภูธรคนใดกระทำความผิดด้วยข้อบังคับของตำรวจภูธรดังกล่าวแล้วในข้อ ๒ จะมีโทษได้ตามประเภทดังกล่าวต่อไปนี้
(๑) โบย (คืิอโบยที่ขาด้วยไม้หรือหวาย)
(๒) จำขัง (คือจำตรวน ขังตราง)
(๓) ขังเดี่ยว (คือขังในที่ควบคุมแต่ฉเภาะตัวคนเดียว)
(๔) ขังรวม (คือขังในที่ควบคุมรวมมากคนด้วยกัน)
(๕) กักยาม (คือกักตัวไว้ไม่ให้ออกพ้นไปจากเขตร์ตามที่จะกำหนดให้)
(๖) ภาคทัณฑ์ (คือแสดงความผิดของผู้ที่ทำผิดแลภาคทัณฑ์โทษไว้)"


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 12, 22:25
ข้างบนนี้ไม่ได้บอกว่าโทษทั้งหมดเรียงจากหนักลงมาเบา หรือเบาไปหนัก  แต่อ่านแล้ว สงสัยว่าโทษโบยจะหนักที่สุด  เพราะข้อ 6 คือภาคทัณฑ์นั้นเบาสุด  เรียกว่าคาดโทษไว้เท่านั้นเอง ไม่ได้ลงโทษ

มาอ่านต่อนะคะ

นี่แหละครับจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าตำรวจสมัยก่อนน่ะมีการลงโทษทางวินัยโดยการโบยด้วยแหละแล้วคงจะโดนหลายคนและหลาบจำไปนานเลยทีเดียวซึ่งก็เป็นการลงโทษลงทัณฑ์ตามยุคตามสมัยน่ะครับแต่ตอนนี้ไม่มีแล้วแม้กระทั่งนักเรียนที่ครูจะโบยจะเฆี่ยนศิษย์ไม่ได้จนทำให้เด็กๆ หลายคนกลายเป็นแบบที่ท่านๆ ได้เห็นได้รู้กันในปัจจุบันนี้

เอ้อ แล้วการโบยตำรวจที่ว่าไม่มีแล้วน่ะเขายกเลิกมาตั้งแต่ตอนไหนผมจะเล่าให้ฟังต่อครับ

การยกเลิกโทษโบยตำรวจนี้มีขึ้นเมื่อสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ครับโดยมีัหลักฐานจากราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๓๗ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

"...บัดนี้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าอาญาโบยเปนอาญาอันต่ำช้าซึ่งไม่ควรใช้ในการรักษาวินัยแก่ตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกอาญาโบยแก่ตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรตามความในกฏว่าด้วยอาญาฐา่นละเมิดวินัยตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรมาตรา ๒ ข้อ ๑๒ , ๑๓ นั้นเสีย..."

ราชกิจจาฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๘ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๓ เป็นต้นไป


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 12, 22:27
แล้วตั้งแต่นั้นจนถึงบัดนี้การลงโทษตำรวจที่กระทำผิดทางวินัยจึงไม่มีการโบยอีกเลย

ครับ นั่นก็คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของตำรวจไทยที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ซึ่งหวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านอยู่บ้างตามสมควร

http://supote2503.blogspot.com/2012/05/blog-post_3629.html


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 12, 22:30
มีรูปตำรวจจากบล็อคของท่านด้วยค่ะ     ดูจากเครื่องแบบ  ก็ยังเห็นพันแข้งดำอยู่ แต่เครื่องแบบเปลี่ยนไปจากสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว
ประมาณรัชกาลที่ ๖ และ ๗ ได้ไหม?


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 พ.ย. 12, 06:32
ภาพนายตำรวจข้างบนเป็นเครื่องแบบตำรวจยุครัชกาลที่ ๖ ต่อเนื่องรัชกาลที่ ๗ มาจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองครับ
วิธีสังเกตดูที่ครุฑเหนือบัั้งนายสิบ  เพราะคุฑนั้นเริ่มใช้เป็นตราแผ่นดินในรัชกาลที่ ๖ แล้วครับ  สมัยรัชกาลที่ ๕ ยังใช้ตราแผ่นดินที่เป็นโล่ห์อยู่


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 พ.ย. 12, 06:35
ลำดับโทษ ๖ สถานเรียงจากหนักไปหาน้อยครับ
๑. จำขัง
๒. ขังเดี่ยว
๓. ขังรวม
๔. กักยาม
๕. โบย
๖. ภาคทัณฑ์


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:02
ขอบคุณค่ะ    ถ้าเป็นงั้น ถือว่าโบย เบาเป็นอันดับ 2  คงไม่ได้โบกหนักหนาอะไร   ส่วนจำขัง แตกต่างจากขังเดี่ยวยังไง และหนักกว่าตรงไหนยังไม่ทราบ

ดิฉันสังเกตว่าเครื่องแบบตำรวจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย   เข้าไปค้นในเว็บทางการของตำรวจก็พบแต่หัวข้อ แต่เข้าไม่ได้
โชคดีไปเจอบล็อคของพ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา ท่านเข้าอีก   เล่าเรื่องนี้ไว้ จึงขอนำมาลงให้กระทู้นี้ให้อ่านกันค่ะ
http://mrsp2503.blogspot.com/2010/07/blog-post_1919.html

การแต่งกายของตำรวจภูธรในปี พ.ศ.๒๔๔๐ คือ สมัยรัชกาลที่ ๕ ตามบันทึกจากเอกสารการรายงานของพระยามหาอำมาตย์ ผู้แทนเสนาบดีเสนอพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ตอนหนึ่งระบุว่า

พลตำรวจภูธรใช้เสื้อแบบราชการสีกากี กระดุมแบบทองขาว อินทนูใช้ผ้าสักกลาดดำตัดเปนแผ่นกว้าง ๕ เซ็นติเม็ตร์พาดยาวตามบ่ากางเกงขาสั้นสีกากี หมวกทรงหม้อตาลสีกากี กระบังหน้าหนังดำสายรัดคางใช้ด้ายขาวถัก คาดเข็มขัดหนังดำนอกเสื้อ เหน็บดาบปลายปืน

นายสิบแต่งกายใช้เสื้อกางเกง หมวกอย่างเดียวกับพลตำรวจ ผิดกันแต่นายสิบตรีมีบั้งด้ายขาวถักติดแขนเสื้อเหนือข้อศอกซ้าย ๑ บั้ง นายสิบโท ๒ บั้ง นายสิบเอก ๓ บั้ง จ่านายสิบ ๔ บั้ง


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:04
นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร์ แต่งกายในเวลาปรกติ เสื้อแบบราชการสีขาวแลสีกากี กระดุมทองขาว กางเกงขายาวขาวแลสีกากี สรวมรองเท้าหนังดำหุ้มข้อเท้า หมวกทรงหม้อตาลสีขาวแลสีกากี กระบังหน้าหนังดำ สายรัดคางเงิน มีตราอาร์มแผ่นดินติดที่หน้าหมวก คาดเข็มขัดในเสื้อ เหน็บกระบี่ยาว ภู่กระบี่เงิน ส่วนอินทนูถ้าเปนฝ่ายประจำการใช้สังกะสีตัดเปนแผ่นยาวตามบ่าย่อมุม ๒ มุมทางต้นบ่า หุ้มสักลาดดำ มีแถบเงินกว้าง ๑ เซ็นติเม็ตร ขลิบริม ๓ ด้านตั้งแต่ต้นบ่ามาปลายบ่า ถ้าเปนฝ่ายพนักงานใช้สังกะสีตัดเปนแผ่นย่อมุมทั้ง ๔ มุม หุ้มผ้าสักกลาดสีดำ มีแถบเงินกว้าง ๑ เซ็นติเม็ตร ขลิบริมทั้ง ๔ ด้านติดขวางบ่า
นายร้อยตรีประจำการ จักร์ชุบทองติดบนปลายอินทนู ๆละ ๑ จักร นายร้อยตรีพนักงาน มีจักร์ชุบทองติดบนกลางอินทนูๆ ละ ๑ จักร นายร้อยโท ๒ จักร นายร้อยเอก ๓ จักร
นายพันตรี นายพันโท นายพันเอก ใช้อินทนูและติดจักร์เครื่องหมายยศวิธีเดียวกันกับนายร้อย แต่มีแถบเงินกว้าง ๑ เซ็นติเม็ตร์ทาบบนกลางอินทนูตามอินทนู
นอกจากนี้ยังแยกเป็นแต่งครึ่งยศ(เสื้อขาว กางเกงสักกหลาดดำมีแถบขาวด้านข้าง) , แต่งครึ่งยศใหญ่(เสื้อสักหลาดดำ) , แต่งเต็มยศดำ(ใช้หมวกแฮลเม็ดมีตราอาร์มแผ่นดินเงินดวงใหญ่ติดหน้าหมวก) และแต่งเต็มยศขาว(ใช้เสื้อสีขาว หมวกแฮลเม็ด)

ปี พ.ศ.๒๔๕๒ มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวทหารบกคือ
พลตำรวจใช้หมวกทรงหม้อตาลสีเทา มีตราประทุมอุนาโลมติดหน้าหมวก(เดิมพลตำรวจไม่มีหน้าหมวก) เสื้อรูปกระสอบสีเทา คอพับ กางเกงขาสั้นสีน้ำเงินแก่ อินทนูผ้าสักกะลาดสีเทา มีเลขหมายราบตามทหารบกในมณฑลนั้นๆ ติดบนปลายอินทนู คาดเข็มขัดหนังสีเหลืองนอกเสื้อ เหน็บดาบปลายปืน
นายสิบตรี นายสิบโท นายสิบเอก มีบั้งเช่นเดิม
นายตำรวจสัญญาบัตร์ เสื้อแบบราชการสีเทา คอพับ ใส่กระดุมแบนในสาบเสื้อ มีพระเกี้ยวชุบทองติดที่พับคอเสื้อข้างละ ๑ คู่หากเป็น "ประจำการ" หรือมีดอกจันทน์ชุบทองติดที่พับคอเสื้อข้างหน้า ๑ คู่ หากเป็น "พนักงาน"


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:06
ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๕๘ สมัยรัชกาลที่ ๖ จึงมีพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวตำรวจภูธรขึ้น
หมวดที่ ๒ ว่าด้วยเครื่องแต่งตัวตำรวจภูธร
มาตรา ๔ เครื่องแต่งตัวนายสิบตำรวจภูธร พลตำรวจภูธรให้มีดังนี้

หมวกทรงหม้อตาลสีน้ำตาล มีแถบดำรอบขอบหมวก สายรัดคางหนังดำ มีตราประทุมอุณาโลม เสื้อแบบราชการสีน้ำตาล กางเกงอย่างกว้าง ขาสั้นสีน้ำตาล , อินทร์ธนูรูป ๔ เหลี่ยมรีกว้าง ๕ เซ็นติเมเตอร์ หุ้มผ้าสีดำ ต้นแผ่นเปน ๓ เหลี่ยม ติดตามตรงบ่าตั้งแต่คอไปหาไหล่ ผ้าพันแข้งสีน้ำตาล , รองเท้าสีน้ำตาล
จ่านายสิบนั้น ให้ใช้หมวกทรงหม้อตาล มีกระบังดำ กับใช้เสื้อแบบราชการสีขาวได้

มาตรา ๗ เครื่องแต่งตัวตำรวจภูธรชั้นนายร้อย นายพัน ให้มีดังนี้

หมวกทรงหม้อตาลสีน้ำตาล มีกระบังสีดำ มีแถบผ้าสักกระหลาดดำ พันรอบขอบหมวก สายรัดคางหนังดำ มีตราประทุมอุณาโลมติดที่หน้าหมวก เมื่อใช้เสื้อสีใดต้องใช้ปลอกหมวกสีนั้น , หมวกกันแดดสีน้ำตาล มีตราประทุมอุณาโลม สายรัดคางหนังดำ แถบผ้าสักกระหลาดดำ พันรอบหมวก

หมวกแฮ็ลเม็ดสีน้ำตาล มียอด มีโซ่รัดคาง มีตราที่หน้าหมวกทำด้วยเงิน มีแถบสักกระหลาดดำพันรอบหมวก เสื้อแบบราชการสีน้ำตาล ปลอกคอและข้อมือสีดำ มีขลิบแถวเงินกว้าง ๑ เซ็นติเมเตอร์ที่ปลายคอ ๑ เส้น ที่ข้อมือ ๒ เส้น , กางเกงผ้าขาสั้นสีน้ำตาล กางเกงสักกระหลาดสีน้ำตาลขาสั้นหรือขายาว มีแถบสีดำกว้าง ๕ เซ็นติเมเตอร์ติดที่ตะเข็บขากางเกงข้างนอก ผ้าพันแข้งสีน้ำตาล สนับแข้งสีน้ำตาล รองเท้าสีน้ำตาลหุ้มข้อเท้า ในเมื่อเวลาใชกางเกงขาสั้นให้ใช้ผ้าพันแข้งหรือสนับแข้งสีน้ำตาลหรือจะใช้รองเท้าสูงแทนสนับแข้งก็ได้

เครื่องหมายตำแหน่งดูจากบนอินทร์ธนูที่บ่า ยศนายร้อยตำรวจตรี นายพันตำรวจตรีและนายพลตำรวจตรีมีจักร์ ๑ จักร , นายร้อยตำรวจโท นายพันตำรวจโทและนายพลตำรวจโท มีจักร์ ๒ จักร , นายร้อยตำรวจเอก นายพันตำรวจเอก นายพลตำรวจเอก มีจักร์ ๓ จักร (มาตรา ๑๒ ข้อ ๒) นอกจากนี้บนกลางอินทร์ธนูหากเป็นตำรวจหัวเมืองให้ติดเลขหมายมณฑล หากประจำการตำรวจภูธรให้ติดพระมหามงกุฎ
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๒ หน้า ๓๙ วันที่ ๔ เม.ย.๒๔๕๘)


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:06
ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๗๗ มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบตำรวจอีกครั้งหนึ่งแบ่งเครื่องแบบเป็น ๕ ประเภท คือ เครื่องปกติ , เครื่องหัด , เครื่องสโมสร , เครื่องเต็มยศขาวและเครื่องเต็มยศ เครื่องปกติ หมวกทรงหม้อตาลสีกากี กะบังหน้าหนังสีดำ มีสายรัดคางหนังสีดำ กว้างหนึ่งเซ็นติเมตร มีดุมสีดำขนาดเล็กติดข้างละหนึ่งเม็ด ที่ด้านหน้าหมวกติดตราทำด้วยโลหะสีเงินเป็นรูปอุณณาโลมอยู่กลางจักร รอบนอกวงจักรมีลายเปลวในรอบวงจักรมีอักษรว่า "พิทักษ์สันติราษฎร์" นอกจากนี้ให้มีหมวกกันแดดสีกากีและมีตราติดหน้าหมวกลักษณะดุจเดียวกับตราติดหน้าหมวกทรงหม้อตาล ให้ประกอบกับเสื้อแบบราชการสีกากีและกางเกงสีกากี แต่จะใช้เมื่อใดให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะกำหนด

นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้ใช้หมวกกันแดดสีขาวและมีตราติดหน้าหมวกดั่งกล่าวแล้วในวรรคก่อนใช้ประกอบกับเสื้อแบบราชการสีขาวและกางเกงสีขาวได้ด้วย

เสื้อแบบราชการ ผ้าหรือสักหลาดสีกากี มีดุมที่อกเสื้อเจ็ดดุม มีกะเป๋าเย็บติดภายนอกข้างขวาและข้างซ้ายข้างละสอง เป็นกะเป๋าบนและล่างอย่างละสอง กะเป๋าบนมีใบปกรูปมนชายกลางแหลม มีแถบเย็บติดตรงกึ่งกลางตามทางดิ่ง กะเป๋าล่างเป็นอย่างย่ามมีใบปกรูปตัด ทั้งสี่กะเป๋ามีรัดดุมที่ใบปกสำหรับขัดดุมซึ่งติดอยู่ตรงปาก กับมีอินทรธนูสีเดียวกันกับเสื้อเย็บเป็นแผ่นเหลี่ยมเรียวทางด้านไหล่ไปทาง ด้านคอติดอยู่เหนือบ่าทั้งสองข้าง ด้านทางไหล่กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร เย็บกับตะเข็บเสื้อ ด้านทางคอกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ปลายมนและขัดดุมด้วยวิธีเจาะเสื้อสอดก้านดุมลงไปติดควงภายในเสื้อ ดุมทั้งสิ้นที่กล่าวมาแล้วมีลักษณะกลมมนทำด้วยวัตถุสีน้ำตาล

กางเกงทำด้วยผ้าหรือสักหลาดสีกากีขายาว พับปลายขา ส่วนนักเรียนนายร้อยตำรวจ นายดาบตำรวจหรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรให้ใช้กางเกงขายาวสีขาวพับปลายขาประกอบกับเสื้อสีขาวได้ด้วย กับให้มีกางเกงทำด้วยผ้าหรือสักหลาดสีกากีชะนิดขาสั้นหุ้มเข่า ใช้ประกอบกับเสื้อแบบราชการสีกากีในเวลาขี่ม้า หรือในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะกำหนดให้ อนึ่งเมื่อใช้กางเกงสีกากีชะนิดขาสั้นดั่งว่านี้ต้องใช้ผ้าพันแข้งสีกากีหรือสนับแข้งสีน้ำตาลประกอบกับรองเท้าบู๊ตทำด้วยหนังสีน้ำตาล และถ้าเป็นนักเรียนนายอร้อยตำรวจ นายดาบตำรวจ หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร จะใช้ทอปบู๊ตหนังสีน้ำตาลก็ได้


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:08
มาดูรูปกันดีกว่าค่ะ

เครื่องแบบตำรวจประมาณพ.ศ. 2460


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:10
ภาพนี้บรรยายว่า เครื่องแบบตำรวจก่อน พ.ศ.๒๔๗๐  น่าจะเป็นพลตระเวนหรือตำรวจชั้นประทวน   เท้ายังเป็นหนังธรรมชาติอยู่เลย ไม่ได้สวมรองเท้า


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:11
เครื่องแบบตำรวจลำปางปี พ.ศ.๒๔๗๒


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:14
เครื่องแบบนายตำรวจปี พ.ศ.๒๔๘๑ 
สวมรองเท้ากันหมดแล้ว


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:17
เครื่องแบบตำรวจปี พ.ศ.๒๔๘๓
ดูไม่ออกว่ามือขวาตำรวจคนนี้หิ้วอะไรไว้นะคะ  ไหล่ซ้ายขวาก็สะพายอะไรเอาไว้ทั้งสองไหล่  เหมือนจะเดินทางไกล งั้นแหละ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:21
ภาพทั้งสองนี้บรรยายว่าเป็นตำรวจในพ.ศ. 2495 เช่นกัน  แต่ก็เพิ่งรู้ว่าตำรวจพ.ศ.เดียวกันแต่คนละเมืองแต่งเครื่องแบบไม่เหมือนกัน
ภาพซ้ายเป็นหัวหน้าจราจร กก.ภ.จว.เชียงใหม่ (มิถุนายน ๒๔๙๕)นุ่งกางเกงเหมือนทหารม้า   ส่วนภาพขวาไม่ได้บอกว่าที่ไหน แต่เดาว่าเป็นกรุงเทพ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 พ.ย. 12, 17:23
โทษจำขัง  แตกต่างจากขังรวมตรงที่เป็นการขังเดี่ยว  ตรงที่ขังเดี่ยวเป็นการแยกผู้ต้องขังไปควบคุมเป็นรายบุคคล
แต่จำขังนั้น เป็นการขังเดี่ยวที่ใส่ขื่อคาเครื่องจองจำครบ  

การโบยนั้น  ให้โบยด้วยหวายที่น่อง  ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๓๐ ที


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:25
รูปนี้เคยลงในเรือนไทยมาก่อน  คุณตำรวจจราจรที่กางแขนรำสวยคนนี้น่าจะอยู่ในช่วงทศวรรษ 2490s ไม่เกิน 2500  
กางเกงปลายรวบ ไม่ปล่อยตรงอย่างสมัยนี้


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 พ.ย. 12, 17:26
เครื่องแบบตำรวจนั้นอนุโลมตามเครื่องแบบทหารครับ  
ในสมัยก่อนนายทหารสัญญาบัตรนอกจากสวมกางเกงขายาวตามปกติแล้ว  ยังมีกางเกงขี่ม้าให้ใช้ประกอบเครื่องแต่งกายด้วย
นายตำรวจสัญญาบัตรในยุคก่อนจึงใช้กางเกงขี่ม้าประกอบเครื่องแต่งกายในบางโอกาสด้วย  แต่ส่วนจ่านายสิบ  นายสิบ และ
พลทั้งทหารและตำรวจ  เว้นแต่เหล่าม้าแล้ว  ไม่มีสิทธิ์สวมกางเกงขี่ม้าไม่ว่าในกรณีใดๆ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 12, 17:27
ขอบคุณที่เฉลยค่ะคุณ V_Mee  ดิฉันก็คิดเหมือนกันว่า จำขังน่าจะมีอะไรบวกเข้ามาอีกจากขังเฉยๆ  จึงเป็นโทษหนักสุด
ส่งท้ายด้วยเครื่องแบบตำรวจสมัยกึ่งพุทธกาล 2500


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 12, 18:26
คำถามที่คุณเทาชมพูถามในภาพ ค.ห.ที่ 114 นั้น

เดาเอาตามของใช้และวิธีการแบกขนที่เคยเห็นและจากเรื่องราวที่เคยสนทนากับตำรวจชั้นประทวนรุ่นลายคราม เป็นความจำครับ อาจจะผิดโดยสิ้นเชิงก็ได้  ดังนี้ครับ

สมัยก่อนนั้นมีป้อมตำรวจที่ตั้งอยู่ตามหมู่บ้าน เป็นเรือนไม้ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวคงจะประมาณ  2X2 หรือ 2.5x2.5 เมตร ยกพื้นสูงประมาณ 30 ซม. หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ขอทรงว่าว ปรกติตอนกลางวันจะไม่มีตำรวจประจำอยู่ แต่จะมาใช้แวะพักนอนตอนกลางคืน เรือนนี้จึงเป็นที่พักของสายตรวจ ชาวบ้านใสมัยนั้นก็ใจดี ก็จะเอาเนื้อหมูหนือเนื้อวัวที่ชำแหละกันมาแขวนไว้ให้เพื่อจะได้ทำกิน    ภาพนี้น่าจะแสดงถึงกำลังจะเดินทางไปทำงานในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ถุงยาวๆที่สะพายไว้บนบ่าขางขวา คิดว่าเป็นถุงข้าวสาร   ที่แขวนไว้บนใหล่ซ้าย คือผ้าขาวม้ามัดของใช้ส่วนตัวบางอย่างที่นำติดตัวไปด้วย กระเป๋าหนังนั้นใส่ลูกปืน อีกด้านหนึ่งคือดาบปลายปืน ส่วนของที่หิ้วอยู่นั้น ลักษณะคล้ายกับชุดไฟแกส 4-5 อันผูกรวมกันอยู่ครับ

ผมมีข้อสงสัยอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ตามปรกติ กระดุมเสื้อของเครื่องแบบของข้าราชการไทยจะมี 5 เม็ด  ในภาพชุดเครื่องแบบตำรวจเก่าเหล่านี้มี 6 เม็ด (ยังกับของเขมร) ในปัจจุบันนี้ยังเป็น 6 เม็ด หรือ เปลี่ยนเป็น 5 เม็ดไปแล้ว (ไม่ได้สังเกตสักที)     เคยได้ยินว่า เครื่องแบบที่ใช้กระดุมแบบนี้ มีต้นตอมาจากเสื้อคลุมชุดทหารสมัยนโปเลียน ซึ่งนำมาตัดลงเหลือครึ่งท่อน เหลือกระดุม 6 เม็ด ชุดของฝรั่งก็มี 6 เม็ด   แต่ของไทยเรานั้นเห็นว่า ใช้เพียง 5 เม็ดก็พอ เพราะช่วงตัวเราสั้นกว่าฝรั่ง ชุดราชประแตนของเราจึงต่างไปจากเขมรที่คงรับกระดุม 6 เม็ดเต็มอัตราแบบฝรั่ง จริงเท็จอย่างไรก็ไม่ทราบครับ     


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 พ.ย. 12, 18:38
เครื่องแบบตำรวจในภาพนั้นใช้ดุม ๗ เม็ดครับ  เสื้อชนิดนี้รับมาจากยุโรป  มีชื่อเรียกว่า "ทูนิค" (Tunic) เป็นเสื้อคอปิดต้นแบบ
ของเสื้อราชปะแตน  ต่างจากเสื้อราชปะแตนตรงที่เสื้อทูนิคนี้จะมีการต่อตะเข็บตรงเอวตรงที่เข็มขัดคาดทับ  ในขณะที่เสื้อ
ราชปะแตนไม่มีการต่อตะเข็บที่เอวครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 12, 18:54
^
อ้อ

ขอบคุณครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 12, 18:44
ตำรวจอีกอย่างหนึ่ง คือตำรวจวัง
คุณ V_Mee คงจะอธิบายให้เข้าใจได้ค่ะ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 พ.ย. 12, 19:39
แล้วขอผนวกขอคำอธิบายด้วยว่า ทำไมในเวลานำเสด็จในพระราชพิธีจึงมีเพียง  4 คนพร้อมกระบี่ ครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 12, 22:13
มาดึงกระทู้ก่อนตกจอ  รอคำตอบเรื่องตำรวจวังจากคุณ V_Mee ค่ะ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 17 พ.ย. 12, 08:38
ในภาพที่ท่านอาจารย์ยกมาข้างบนนั้นเป็นพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ครับ
พระตำรวจหลวงนี้เดิมเรียกกันว่า "พระตำรวจ" มีด้วยกัน ๘ กรม คือ กรมพระตำรวจใน ขวา ซ้าย
กรมพระตำรวจนอก ขวา ซ้าย  อีก ๔ กรมจำชื่อไม่ได้  แต่ก็แยกเป็นขวา ซ้าย เหมือนกัน
ทั้งหมดรวมขึ้นการบังคับบัญชาใน พระยาอภิชิตชาญยุทธ์ พระยาอนุชิตชาญชัย จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ขวา

กรมพระตำรวจนี้ในอดีตก่อนที่จะมีการจัดทหารอย่างปัจจุบันนั้น  กรมพระตำรวจเป็นหน่วยราชการอิสระขึ้นตรงต่อ
พระมหากษัตริย์  มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยทำนองเดียวกับทหารรักษาพระองค์ในปัจจุบัน  ในกระบวนราบซึ่งเป็น
การเสด็จพระราชดำเนินโดยพระราชยานคานหามในระยะทางสั้นๆ  พระตำรวจก็จะเข้ากระบวนถือหอกและขัดกระบี่
นำเสด็จ  แต่ถ้าเป็นกระบวนพระราชอิสริยยศในเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคและชลมารค
รวมทั้งงานพระบรมศพหรือพระศพ  พระตำรวจหลวงก็จะต้องเข้าริ้วคู่กับมหาดเล็ก  เดินแซงสองข้างพระราชยาน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีการจัดทหารแบบใหม่  มีกองพลที่ ๑ เป็นกองพลรักษาพระองค์แล้ว  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมพระตำรวจทั้ง ๘ กรมนั้นเข้าเป็น กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์  แบงเป็น ๔ หมวด
ขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์  ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าสมุหราชองครักษ์  ส่วนกรม
พระตำรวจวังที่มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในพระราชสำนักก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็น กรมวัง 

กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ถูกยุบเลิกไปภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และกลับฟื้นฟูขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน
เพื่อรักษาพระราชประเพณีเดิมไว้  โดยชั้นต้นจัดเป็นแผนกตำรวจหลวงสังกัดกรมกองวัง  สำนักพระราชวัง  ปัจจุบันยกขึ้น
เป็นฝ่ายตำรวจหลวงคงสังเดิม

ส่วนพระตำรวจ ๔ นายที่ถือกระบี่นำเสด็จนั้น  พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง  สาคาริก) อดีตเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย
ท่านอธิบายว่า เป็นหน้าที่ของ ๔ เจ้ากรมพระตำรวจ คือ เริ่มจากคู่หน้า เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ขวา  คู่ถัดมาก่อนถึง
ที่ประทับคือ เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหาเทพกษัตรสมุห และพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห
แต่ถ้าเป็นการเสด็จเป็นกระบวนใหญ่เพิ่มพระตำรวจนำเสด็จเป็น ๘ เจ้ากรมพระตำรวจเต็มตามอัตรา  นอกจากนั้นก็จะมี
พระตำรวจชั้นประทวนถือหอกเงินเดินแซงเป็นริ้ว ๒ ข้างกระบวนเสด็จ

มีภาพกระบวนราบสมัยรัชกาลที่ ๖ มีพระตำรวจเข้ากระบวนแห่มาให้ชมครับ




กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 17 พ.ย. 12, 10:54

ในภาพที่ท่านอาจารย์ยกมาข้างบนนั้นเป็นพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ครับ
พระตำรวจหลวงนี้เดิมเรียกกันว่า "พระตำรวจ" มีด้วยกัน ๘ กรม คือ กรมพระตำรวจใน ขวา ซ้าย
กรมพระตำรวจนอก ขวา ซ้าย  อีก ๔ กรมจำชื่อไม่ได้  แต่ก็แยกเป็นขวา ซ้าย เหมือนกัน
ทั้งหมดรวมขึ้นการบังคับบัญชาใน พระยาอภิชิตชาญยุทธ์ พระยาอนุชิตชาญชัย จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ขวา


กรมพระตำรวจใน   ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจนอก ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจใหญ่ ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจสนม ขวา-ซ้าย

จางวาง น่าจะเป็นที่ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตชาญชัย (ก่อนรัชกาลที่ ๔ พระยาอภัยโนฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา)


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ย. 12, 12:37
ส่วนพระตำรวจ ๔ นายที่ถือกระบี่นำเสด็จนั้น  พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง  สาคาริก) อดีตเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย
ท่านอธิบายว่า เป็นหน้าที่ของ ๔ เจ้ากรมพระตำรวจ คือ เริ่มจากคู่หน้า เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ขวา  คู่ถัดมาก่อนถึง
ที่ประทับคือ เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหาเทพกษัตรสมุห และพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห
แต่ถ้าเป็นการเสด็จเป็นกระบวนใหญ่เพิ่มพระตำรวจนำเสด็จเป็น ๘ เจ้ากรมพระตำรวจเต็มตามอัตรา  นอกจากนั้นก็จะมี
พระตำรวจชั้นประทวนถือหอกเงินเดินแซงเป็นริ้ว ๒ ข้างกระบวนเสด็จ

อาจารย์ระพี สาคริก เล่าไว้คอลัมน์ "เหตุแห่งการจับงานกล้วยไม้ของฉัน (๒)" ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ตอนหนึ่งว่า

ส่วนพ่อนั้น ตำแหน่งในราชสำนักล่าสุด ได้แก่ ขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ซึ่งอดีตคือตำแหน่งของนักรบที่ยืนอารักขาเท้าช้างศึกข้างซ้ายขององค์พระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นยศขุนตำรวจเอกก็คือ นายพันตำรวจเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจภายในราชสำนักตั้งแต่อายุ ๓๕ ปี

ฉันยังทราบอีกว่า สมัยโบราณนั้นขณะที่องค์พระมหากษัตริย์ออกศึกสงครามทำยุทธหัตถีจะประทับอยู่บนคอช้าง ส่วนตำแหน่งที่ยืนอารักขาเท้าช้างทั้ง ๔ ข้างนั้นเรียกกันว่าจตุรงคบาท จะมีทหารเอกคอยคุ้มกันอยู่ ๔ ตำแหน่งและเท้าช้างข้างซ็ายนับว่าสำคัญที่สุด เพราะข้าศึกมักปีนขึ้นมาทำร้ายองค์พระมหากษัตริย์ตรงจุดนั้น จึงต้องใช้ทหารที่มีฝีมือการรบสูงเป็นพิเศษ

ส่วนเท้าช้างอีก ๓ ข้าง ได้แก่ พระมหามนตรี พระอินทรเทพ และพระพิเรนทรเทพ

 ;D


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ย. 12, 21:52
ขอเสริมเรื่องจาตุรคบาท ครับ

หากสังเกตช้างที่เดินอยู่ กทม. ก็จะเห็นเป็นภาพปรกติที่จะมีคนเดินตามช้างอยู่ 2 เสมอ คนหนึ่งจะเดินอยู่ด้านข้างซ้าย อีกคนจะเดินตามหลัง

จากประสบการณ์การจ้างช้างบรรทุกสัมภาระในเวลาทำงานในพื้นที่ป่าเขาของผม   เมื่อจ้างช้างทำงาน นอกจากจะมีควาญช้างนั่งอยู่บนคอช้างแล้ว ก็จะต้องจ้างอีกสองสามคน คล้ายกับเป็นชุดของการจ้างช้าง 1 เชือก มิเช่นนั้น เจ้าของช้างก็จะไม่ยอมรับจ้าง หรือไม่ก็จะไม่ยอมให้เข้าป่าลึกๆต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ขึ้นไป คนที่เดินไปกับช้างเหล่านี้ ผมต้องจ้าง แต่มิใช่เพื่อให้เดินตามช้างเพียงอย่างเดียว ผมจ้างและให้ทำงานเป็นคนงานนำทาง แบกหาม และกรรมกร พร้อมกันไปด้วย

ช้างทั้งหลายถูกฝึกให้ใช้เท้าหน้าข้างซ้ายช่วยยกควาญขึ้นคอ ยังไม่เคยเห็นควาญช้างขึ้นทางด้านขวาเลย  เมื่อควาญช้างจะขึ้นขี่คอ เขาเอามีดออกจากฝักคาบไว้ที่ปาก จะเอาเท้าเหยียบที่บริเวณข้อเข่า เอามือซ้ายจับที่โคนหู พอช้างยกขาช่วยชูขึ้น เขาก็จะเอามือขวาคว้าที่หลังคอ ช่วยดึงตัวให้ขึ้นไปคร่อมอยู่บนคอช้างทันที  เหตุที่คาบมีดไว้ก็เพื่อจะให้สามารถจับได้ในทันทีเมื่อช้างเบี้ยว และกันช้างเหยียบเมื่อพลาดท่า  บริเวณที่ช้างเจ็บมากที่สุดมีอยู่สองที่ คือ บริเวณรอยต่อระหว่างเนื้อที่หุ้มเล็บเท้า กับบริเวณที่เนื้อหุ่มงา    ส่วนคนที่เดินคู่ไปกับช้างนั้นเรียกว่าตีนช้าง มักจะถือไม้เรียวอันเล็กๆ ดูเหมือนกับถือไม้เล่นๆ แต่แท้จริงแล้ว เพื่อใช้ตีที่รอยต่อเนื้อกับเล็บเมื่อเวลาช้างเบี้ยว คือช่วยควาญนั่นเอง คนที่เิดนตามหลังนั้น ก็คือพวกระวังหลัง หากไม่มีคนเชื่อใจระวังหลังให้ ช้างก็แทบจะไม่เป็นอันเดินไปข้างหน้า จะคอยหันหัวไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง คอยดูว่าจะมีอะไรมาทำมิดีมิร้ายให้      ช้างเป็นสัตว์ที่ขี้ตกใจเอามากๆ  งู กบ เขียด หรือเสียงที่ผิดธรรมชาติบางอย่าง อาจจะทำให้ช้างวิ่งกระเจิงได้ง่ายๆทีเดียว   ก็ทั้งควาญและตีนช้างทั้งสองสามคนนี้แหละครับที่จะช่วยระวังและช่วยกันกำราบความตื่นตระหนกตกใจของช้างหรือความดื้อของช้าง  ส่วนความเป็นห่วงของช้างและการระวังข้างหลังของช้างนั้น  รู้มาจากพวกคนเลี้ยงช้างว่า เป็นสัญชาติญาณของช้างที่กลัวเสือจะกระโดดขึ้นหลังครับ ทำให้ตัวเองหมดหนทางสู้ นอกจากจะใช้วิธีสะบัดให้ตกลงไปเท่านั้น การตกใจของช้างจากด้านบั้นท้ายนี้ ช้างจะวิ่งผ่ามุดเข้าไปในดงไม้เพื่อให้ไม้ช่วยครูดของที่อยู่บนหลังของมันออกไป   เรื่องของช้างและความน่ารักของเขานี้คงะต้องไปเล่าในกระทู้อื่นนะครับ

เล่ามาเพื่อจะช่วยขยายความและยืนยันว่า ช้างทรงของพระมหากษัตริย์นั้น จำเป็นที่จะต้องมีจาตุรงคบาท เป็นรั้วกรอบใน และก็น่าจะต้องมีอีกสักสี่คน ทำหน้าที่เป็นรั้วกรอบนอก  และคนที่ประจำเท้าหน้าซ้ายของช้าง ก็น่าจะเป็นคนที่สำคัญที่สุดครับ เพราะทำหน้าที่เหมือนนายทวารด่านสุดท้ายที่เข้าถึงตัวพระมหากษัตริย์ได้เลย


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 18 พ.ย. 12, 12:52
ส่วนพระตำรวจ ๔ นายที่ถือกระบี่นำเสด็จนั้น  พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง  สาคาริก) อดีตเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย
ท่านอธิบายว่า เป็นหน้าที่ของ ๔ เจ้ากรมพระตำรวจ คือ เริ่มจากคู่หน้า เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ขวา  คู่ถัดมาก่อนถึง
ที่ประทับคือ เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหาเทพกษัตรสมุห และพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห
แต่ถ้าเป็นการเสด็จเป็นกระบวนใหญ่เพิ่มพระตำรวจนำเสด็จเป็น ๘ เจ้ากรมพระตำรวจเต็มตามอัตรา  นอกจากนั้นก็จะมี
พระตำรวจชั้นประทวนถือหอกเงินเดินแซงเป็นริ้ว ๒ ข้างกระบวนเสด็จ

ฉันยังทราบอีกว่า สมัยโบราณนั้นขณะที่องค์พระมหากษัตริย์ออกศึกสงครามทำยุทธหัตถีจะประทับอยู่บนคอช้าง ส่วนตำแหน่งที่ยืนอารักขาเท้าช้างทั้ง ๔ ข้างนั้นเรียกกันว่าจตุรงคบาท จะมีทหารเอกคอยคุ้มกันอยู่ ๔ ตำแหน่งและเท้าช้างข้างซ้ายนับว่าสำคัญที่สุด เพราะข้าศึกมักปีนขึ้นมาทำร้ายองค์พระมหากษัตริย์ตรงจุดนั้น จึงต้องใช้ทหารที่มีฝีมือการรบสูงเป็นพิเศษ

ส่วนเท้าช้างอีก ๓ ข้าง ได้แก่ พระมหามนตรี พระอินทรเทพ และพระพิเรนทรเทพ

 ;D

ตามจริงแล้ว ตำแหน่งผู้รักษาเท้าช้างพระที่นั่งคือ "จตุลังคบาท" ครับ ชื่อตำแหน่งนี้มักจะเรียกผิดกันบ่อย ๆ  ส่วนว่าต้องมีฝีมือสูงเป็นพิเศษ ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะไม่จำเป็น

เพราะตามแผนผังการจัดวางกำลังรายล้อมถวายการอารักขา โดยปกติ ก็จะมีทหารประจำอยู่เป็นร้อย ๆ นายอยู่แล้ว  และยิ่งตำแหน่งผู้รักษาเท้าช้างเป็นตำแหน่งสูง เป็นเจ้ากรม ก็ต้องมีไพร่ในสังกัดของตัวเองอีกไม่น้อย เพราะฉะนั้นกองกำลังรักษาช้างพระที่นั่งจริง ๆ จึงมีมากกว่า ๔ นายอยู่แล้วครับ


ถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องสุดยอดฝีมือทางดาบ ทางมวย ในวังหลวง น่าจะต้องยกให้ "กรมทนายเลือกหอก" ทั้งซ้ายและขวาครับ  เพราะคัดมาแล้วจริง ๆ ว่า "มีฝีมือ"  

ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนจากการถวายความรู้เรื่อง มวยปล้ำ(ชื่อเรียกแต่เดิมของมวยไทย) และวิชาอาวุธแด่พระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย ในสมัยรัชกาลที่ ๔  ซึ่งผู้ที่ถวายความรู้ก็คือ คุณหลวงไชยโชกชกชนะ(อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกหอกขวา และอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยผู้ถวายความรู้ท่านเดิม ถ้าจำไม่ผิดท่านจะได้บรรดาศักดิ์สุดท้ายเป็น คุณพระไชยโชกชกชนะ ครับ



กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 18 พ.ย. 12, 13:44

ในภาพที่ท่านอาจารย์ยกมาข้างบนนั้นเป็นพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ครับ
พระตำรวจหลวงนี้เดิมเรียกกันว่า "พระตำรวจ" มีด้วยกัน ๘ กรม คือ กรมพระตำรวจใน ขวา ซ้าย
กรมพระตำรวจนอก ขวา ซ้าย  อีก ๔ กรมจำชื่อไม่ได้  แต่ก็แยกเป็นขวา ซ้าย เหมือนกัน
ทั้งหมดรวมขึ้นการบังคับบัญชาใน พระยาอภิชิตชาญยุทธ์ พระยาอนุชิตชาญชัย จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ขวา


กรมพระตำรวจใน   ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจนอก ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจใหญ่ ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจสนม ขวา-ซ้าย

จางวาง น่าจะเป็นที่ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตชาญชัย (ก่อนรัชกาลที่ ๔ พระยาอภัยโนฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา)

ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  ราชทินนามของจางวางกรมพระตำรวจที่ตรวจสอบได้บางตำแหน่งก็เปลี่ยนไปนะครับ เช่น

จางวางกรมพระตำรวจใหญ่-ซ้าย มีราชทินนามว่า  พระยาบริรักษ์ราชา  และราชทินนามนี้ภายหลังก็ปรับมาใช้กับ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย (ไม่มีคำว่าใหญ่) ด้วยเช่นกัน

ซึ่งในบางครั้ง จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ก็มีราชทินนามว่า อภัยรณฤทธิ์ เช่นกันครับ

สำหรับจางวางกระพระตำรวจขวา มีราชทินนามว่า อัศฎาเรืองเดช ก่อนจะมาเขียนใหม่เป็น อัษฎาเรืองเดช

นอกจากนี้ ยังมีกรมพระตำรวจพลพัน อีกกรมหนึ่งด้วยนะครับ 



กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 18 พ.ย. 12, 13:56

ในภาพที่ท่านอาจารย์ยกมาข้างบนนั้นเป็นพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ครับ
พระตำรวจหลวงนี้เดิมเรียกกันว่า "พระตำรวจ" มีด้วยกัน ๘ กรม คือ กรมพระตำรวจใน ขวา ซ้าย
กรมพระตำรวจนอก ขวา ซ้าย  อีก ๔ กรมจำชื่อไม่ได้  แต่ก็แยกเป็นขวา ซ้าย เหมือนกัน
ทั้งหมดรวมขึ้นการบังคับบัญชาใน พระยาอภิชิตชาญยุทธ์ พระยาอนุชิตชาญชัย จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ขวา


กรมพระตำรวจใน   ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจนอก ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจใหญ่ ขวา-ซ้าย
กรมพระตำรวจสนม ขวา-ซ้าย

จางวาง น่าจะเป็นที่ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตชาญชัย (ก่อนรัชกาลที่ ๔ พระยาอภัยโนฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา)

ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  ราชทินนามของจางวางกรมพระตำรวจที่ตรวจสอบได้บางตำแหน่งก็เปลี่ยนไปนะครับ เช่น

จางวางกรมพระตำรวจใหญ่-ซ้าย มีราชทินนามว่า  พระยาบริรักษ์ราชา  และราชทินนามนี้ภายหลังก็ปรับมาใช้กับ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย (ไม่มีคำว่าใหญ่) ด้วยเช่นกัน

ซึ่งในบางครั้ง จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ก็มีราชทินนามว่า อภัยรณฤทธิ์ เช่นกันครับ

สำหรับจางวางกระพระตำรวจขวา มีราชทินนามว่า อัศฎาเรืองเดช ก่อนจะมาเขียนใหม่เป็น อัษฎาเรืองเดช

นอกจากนี้ ยังมีกรมพระตำรวจพลพัน อีกกรมหนึ่งด้วยนะครับ 




พระยาบริรักษ์ราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช เป็นตำแหน่งจางวางกรมพระตำรวจของ "วังหน้า" มิใช่ "วังหลวง"

กรมพระตำรวจพลพัน หรือ "ตำรวจหลัง" แบ่งซ้าย ขวา เช่นกัน มีเจ้ากรมคือ พระหฤทัย พระอภัยสุรินทร์


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 พ.ย. 12, 16:15
ส่วนพระตำรวจ ๔ นายที่ถือกระบี่นำเสด็จนั้น  พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง  สาคาริก) อดีตเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย
ท่านอธิบายว่า เป็นหน้าที่ของ ๔ เจ้ากรมพระตำรวจ คือ เริ่มจากคู่หน้า เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ขวา  คู่ถัดมาก่อนถึง
ที่ประทับคือ เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหาเทพกษัตรสมุห และพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห
แต่ถ้าเป็นการเสด็จเป็นกระบวนใหญ่เพิ่มพระตำรวจนำเสด็จเป็น ๘ เจ้ากรมพระตำรวจเต็มตามอัตรา  นอกจากนั้นก็จะมี
พระตำรวจชั้นประทวนถือหอกเงินเดินแซงเป็นริ้ว ๒ ข้างกระบวนเสด็จ

ฉันยังทราบอีกว่า สมัยโบราณนั้นขณะที่องค์พระมหากษัตริย์ออกศึกสงครามทำยุทธหัตถีจะประทับอยู่บนคอช้าง ส่วนตำแหน่งที่ยืนอารักขาเท้าช้างทั้ง ๔ ข้างนั้นเรียกกันว่าจตุรงคบาท จะมีทหารเอกคอยคุ้มกันอยู่ ๔ ตำแหน่งและเท้าช้างข้างซ้ายนับว่าสำคัญที่สุด เพราะข้าศึกมักปีนขึ้นมาทำร้ายองค์พระมหากษัตริย์ตรงจุดนั้น จึงต้องใช้ทหารที่มีฝีมือการรบสูงเป็นพิเศษ

ส่วนเท้าช้างอีก ๓ ข้าง ได้แก่ พระมหามนตรี พระอินทรเทพ และพระพิเรนทรเทพ

 ;D

ตามจริงแล้ว ตำแหน่งผู้รักษาเท้าช้างพระที่นั่งคือ "จตุลังคบาท" ครับ ชื่อตำแหน่งนี้มักจะเรียกผิดกันบ่อย ๆ  ส่วนว่าต้องมีฝีมือสูงเป็นพิเศษ ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะไม่จำเป็น

เพราะตามแผนผังการจัดวางกำลังรายล้อมถวายการอารักขา โดยปกติ ก็จะมีทหารประจำอยู่เป็นร้อย ๆ นายอยู่แล้ว  และยิ่งตำแหน่งผู้รักษาเท้าช้างเป็นตำแหน่งสูง เป็นเจ้ากรม ก็ต้องมีไพร่ในสังกัดของตัวเองอีกไม่น้อย เพราะฉะนั้นกองกำลังรักษาช้างพระที่นั่งจริง ๆ จึงมีมากกว่า ๔ นายอยู่แล้วครับ


กองกำลังถวายอารักขาพระมหากษัตริย์นอกจาก ๔ เจ้ากรมพระตำรวจแล้ว  ไพร่พลในสังกัด ๔ เจ้ากรมนั้นก็คือกองกำลังพระตำรวจที่เดินเป็นริ้วแซงสองข้างพระที่นั่งหรือช้างพระที่นั่งนั่นแหละครับ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 12, 18:26
ขายหน้าจังเลย เขียนว่า จาตุรงคบาท มานาน ที่ถูกต้องเขียนว่า จตุลังคบาท

ขอบคุณครับ

คิดมานานอยู่พักหนึ่งแล้วเหมือนกันว่าจะตั้งกระทู้ ผมตกภาษาไทยครับ  เนื่องจากตนเองเขียนผิดบ้างถูกบ้างมานานแล้ว 


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 พ.ย. 12, 18:46
ตามจริงแล้ว ตำแหน่งผู้รักษาเท้าช้างพระที่นั่งคือ "จตุลังคบาท" ครับ ชื่อตำแหน่งนี้มักจะเรียกผิดกันบ่อย ๆ  ส่วนว่าต้องมีฝีมือสูงเป็นพิเศษ ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะไม่จำเป็น

ขอบพระคุณคุณ samun007 ที่กรุณาแก้ไข

จตุลังคบาท  โดย คุณปิยรัตน์  อินทร์อ่อน

ผู้ที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คงจะจำได้ว่า เวลามีการรบกันบนหลังช้าง ที่เท้าช้างทั้ง ๔ เท้า จะมีทหารถืออาวุธประจำอยู่ ทหารเหล่านี้เรียกว่า จตุลังคบาท  สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒ อธิบายว่า จตุลังคบาท คือ ทหารสังกัดในกรมพระตำรวจ (เป็นหน่วยราชการทหาร ไม่ใช่ตำรวจเหมือนปัจจุบัน) ทำหน้าที่อยู่ประจำรักษาเท้าช้างทั้ง ๔ เท้าในเวลาสงคราม ส่วนในยามปรกติ ทำหน้าที่รักษาพระองค์ใกล้ชิด
 
ในการทำสงครามสมัยก่อน ช้างเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญ เพราะใช้เป็นพาหนะในการขนส่งเสบียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ และเป็นพาหนะสำหรับทำการรบบนหลังช้าง ที่เรียกว่า ยุทธหัตถี  ในสมัยโบราณการขี่ช้างเพื่อทำการรบถือเป็นศาสตร์ชั้นสูง เรียกว่า ตำราพระคชศาสตร์ ผู้ที่จะร่ำเรียนตำรานี้ได้จะต้องอยู่ในตระกูลขัตติยะ หรือตระกูลขุนนางที่รับราชการในกรมช้างเท่านั้น
 
การรบกันด้วยกองทัพช้างนั้น ช้างทรงของจอมทัพจะต้องมีกลางช้าง ท้ายช้าง และจตุลังคบาทประจำเท้าช้าง ๔ คน ซึ่งผู้ที่จะเป็นจตุลังคบาทนี้ต้องเป็นคนที่มีความสามารถมากและเป็นนายทหารระดับสูง ตัวอย่างเช่น ช้างพระที่นั่งเจ้าพระยาไชยานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี มีจตุลังคบาท คือ พระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ประจำเท้าหน้าขวา  พระมหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ประจำเท้าหน้าซ้าย  หลวงอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ประจำเท้าหลังขวา และหลวงพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ประจำเท้าหลังซ้าย  ต่อมา เมื่อเลิกทำสงครามด้วยช้างแล้ว เจ้ากรมพระตำรวจทั้ง ๔ ไม่ต้องเป็นจตุลังคบาท แต่ยังต้องตามเสด็จและทำหน้าที่รักษาพระองค์ใกล้ชิด ซึ่งในปัจจุบันก็คือตำรวจหลวงนั่นเอง.
 
จาก เว็บราชบัณฑิตยสถาน  (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=3657)

 ;D


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 18 พ.ย. 12, 20:31
พระยาบริรักษ์ราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช เป็นตำแหน่งจางวางกรมพระตำรวจของ "วังหน้า" มิใช่ "วังหลวง"
กรมพระตำรวจพลพัน หรือ "ตำรวจหลัง" แบ่งซ้าย ขวา เช่นกัน มีเจ้ากรมคือ พระหฤทัย พระอภัยสุรินทร์

ขอบพระคุณครับ

กองกำลังถวายอารักขาพระมหากษัตริย์นอกจาก ๔ เจ้ากรมพระตำรวจแล้ว  ไพร่พลในสังกัด ๔ เจ้ากรมนั้นก็คือกองกำลังพระตำรวจที่เดินเป็นริ้วแซงสองข้างพระที่นั่งหรือช้างพระที่นั่งนั่นแหละครับ


ตามจริงแล้ว ถ้าจะนับ "ราชองครักษ์" ทั้งหมด คงไม่ได้มีแค่ ๔ กรมนี้เท่านั้นครับ แต่ยังต้องรวมอาษาทุกกรมเข้าไปด้วย ซึ่งรวมทั้งหมดได้ ๑๔ กรม  เท่าที่เคยนับคร่าว ๆ ต้องใช้กำลังพลรวม ๆ ประมาณ ๗๐๐ กว่านาย ต่อการเสด็จพระราชดำเนินหนึ่งครั้งครับ

ขายหน้าจังเลย เขียนว่า จาตุรงคบาท มานาน ที่ถูกต้องเขียนว่า จตุลังคบาท
ขอบคุณครับ
คิดมานานอยู่พักหนึ่งแล้วเหมือนกันว่าจะตั้งกระทู้ ผมตกภาษาไทยครับ  เนื่องจากตนเองเขียนผิดบ้างถูกบ้างมานานแล้ว  


ขอบพระคุณคุณ samun007 ที่กรุณาแก้ไข

ผมก็เคยเข้าใจผิดมาเหมือนท่านอาจารย์ทั้งสองท่านครับ  ;D


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 12, 15:01
เข้ามาขอบคุณค่ะ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 12, 21:17
ตามพระราชประวัติในรัชกาลที่ ๑   เมื่อทรงเข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ  ทรงได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระราชวรินทร์  กรมพระตำรวจหลวง
ส่วนกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ทรงได้เป็นพระมหามนตรี 
จากนั้น พระราชวรินทร์ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระมหามนตรี เป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางตำรวจ

กรมพระตำรวจหลวง นี้คือกรมอะไรคะ   ถ้ามีคำตอบแล้วในค.ห.ก่อนๆช่วย copy มาให้หน่อยได้ไหม   ยังหาไม่เจอ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 ธ.ค. 12, 10:08
กรมพระตำรวจหลวงนั้น  เดิมคือ กรมพระตำรวจน่าแปดกรม มีกรมพระตพรวจใน  กรมพระตำรวจนอก  กรมพระตำรวจใหญ่  กรมพระตำรวจสนมทหาร  
ซึ่งแบ่งเป็นกรมซ้าย ขวา รวมได้ ๘ กรม  กรมพระตำรวจทั้ง ๘ กรมนี้  เป็นกรมอิสระไม่ขึ้นสังกัดในเสนาบดีจตุสดมภ์กรมใดมาแต่โบราณครั้งกรุงศรีอยุธยา  
เพราะเป็นกรมทหารรักษาพระองค์จึงขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์  มีพระยาอภิชิตชาญชาญยุทธ และพระยาอนุชิตชาญชัย เป็นจางวางกำกับราชการ
กรมพระตำรวจทั้งฝ่ายซ้ายและขวารับผิดชอบตรงต่อพระมหากษัตริย์  ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ยุบรวมกรมพระตำรวจทั้ง ๘ นั้นเป็นกรมพระตำรวจหลวง
รักษาพระองค์ขึ้นสังกัดกระทรวงวัง  มีสมุหพระตำรวจหลวงเป็นผู้บังคับบัญชาในทำนองเดียวกับสมุหราชองครักษ์

ในพระราชดำรัสทรงแถลงพระบรมราชาธิบายในการแก้ไขการปกครองแผ่นดิน  ล้นเกรมพระตำรวจนี้นอกจากมีหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์ต้องนอนประจำเวร
ในพระบรมมหาราชวัง  เมื่อมีเสด็จประพาสทางบกทางน้ำในการสงครามหรือประพาสก็เป็นพนักงายแห่ห้อมประจำการในที่ใกล้พระองค์  เวลาเสด็จออก
ท้องพระโรงพระตำรวจก็มีหน้าที่เข้าเฝ้าก่อนขุนนางอื่น  และเป็นพวกเดียวที่ถืออาวุธเข้าในท้องพระโรงได้  นอกจากนั้นพระตำรวจน่ายังมีหน้าที่เป็นตุลาการ
ชำระความเหมือนพระเจ้าแผ่นดินทรงชำระเอง  เป็นพนักงานทำพลับพลาหรือการใหญ่ที่จะต้องแล้วโดยเร็ว เช่นทำพระเมรุ  รวมทั้งมักจะโปรดให้เป็นข้าหลวง
ออกไปราชการในหัวเมืองอยู่เสมอๆ


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 06:22
ผมได้ภาพเก่า ถ้าไม่ใช่สมัยปลายรัชกาลที่๕ก็ต้นรัชกาลที่๖ เกี่ยวกับกรมตำรวจไทยในอดีตมาสองรูป จึงอยากรวมไว้ในกระทู้นี้ครับ

อ้างถึง
โรงพักที่สมัยก่อนเรียกว่าโรงตำรวจพระนครบาล จัดตั้งขึ้นแห่งแรกในย่านคนจีนแถวตรอกโรงกระทะ(เดี๋ยวนี้เป็นสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์) ใช้แขกมลายูและอินเดียที่เคยเป็นลูกน้องเก่าของกัปตันเอมส์เป็นพลตระเวน เริ่มปฏิบัติงานในสำเพ็งและพาหุรัดเป็นย่านแรกเพราะเป็นท้องที่ทำมาหากินของพวกขโมยขโจรและนักฉกชิงวิ่งราว
กิจการโปลิศคอนสเตเบิ้ลในบังคับบัญชาของกัปตันเอมซ์ก้าวหน้าไปด้วยดีจนต้องขยายขนาดและย้ายโรงตำรวจพระนครบาลไปอยู่ที่สามแยกต้นประดู่ ชาวบ้านจะเรียก “โรงพักสามแยก”

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5425.0



กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 06:24
และต่อมาได้ขยายกิจการไปตั้งโรงพักอีกแห่งหนึ่งขึ้นที่บางรัก

เพิ่งรู้เหมือนกันว่าสมัยก่อนเรียกบางรักษ์ คนละความหมายกับบางรักโดยสิ้นเชิง


กระทู้: ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ต.ค. 13, 08:48
ผมได้ภาพเก่า ถ้าไม่ใช่สมัยปลายรัชกาลที่๕ก็ต้นรัชกาลที่๖ เกี่ยวกับกรมตำรวจไทยในอดีตมาสองรูป จึงอยากรวมไว้ในกระทู้นี้ครับ

อ้างถึง
โรงพักที่สมัยก่อนเรียกว่าโรงตำรวจพระนครบาล จัดตั้งขึ้นแห่งแรกในย่านคนจีนแถวตรอกโรงกระทะ(เดี๋ยวนี้เป็นสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์) ใช้แขกมลายูและอินเดียที่เคยเป็นลูกน้องเก่าของกัปตันเอมส์เป็นพลตระเวน เริ่มปฏิบัติงานในสำเพ็งและพาหุรัดเป็นย่านแรกเพราะเป็นท้องที่ทำมาหากินของพวกขโมยขโจรและนักฉกชิงวิ่งราว
กิจการโปลิศคอนสเตเบิ้ลในบังคับบัญชาของกัปตันเอมซ์ก้าวหน้าไปด้วยดีจนต้องขยายขนาดและย้ายโรงตำรวจพระนครบาลไปอยู่ที่สามแยกต้นประดู่ ชาวบ้านจะเรียก “โรงพักสามแยก”

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5425.0



โรงพักในยุคปรับปรุงกิจการตำรวจ ช่วง พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพลตระเวนยืนทั่วพระนคร และมีโรงพักตาม วัด เพื่อจะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย และถ้าจะสร้างโรงเรือนก็ให้เป็นหลังคาจาก เพราะประหยัดหาง่าย

อุปกรณ์ที่อยู่ในโรงพักที่ต้องมีทุกโรงพักคือ โต๊ะ ตู้เอกสาร เก้าอี้ ตะเกียงตาวัว หมึก ปากกา ดินสอ สมุด ถัง (กะแป๋ง)