เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 มี.ค. 08, 12:35



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 มี.ค. 08, 12:35
ถ้วยชามเบญจรงค์..
เป็นศิลปะของสี อย่างหนึ่งที่รัชกาลที่ ๕ นำมาใช้กับวัดประจำรัชกาลของพระองค์
วัดราชบพิธค่ะ
ชื่อเต็มๆว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
สร้างในสมัยของพระองค์
เคยไปไหมคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 มี.ค. 08, 13:14
หากจะไปวัดนี้ ต้องหาที่จอดรถก่อนอื่น ในวันธรรมดา จอดได้ที่ประตูด้านติดกระทรวงมหาดไทย ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ ไม่ยากนัก รอบๆวัดเป็นถิ่นเก่าุยุคโรงพิมพ์รุ่งเรือง เรียกว่า ย่านเฟื่องนคร
เป็นย่านที่คนทำหนังสือยุคหนึ่งเดินขวักไขว่เข้าออกโรงพิมพ์เป็นว่าเล่น
ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งค่ะ
วัดนี้สมัยหนึ่ง เป็นที่ถ่ายทำภาพยนต์จอตู้ จักรๆวงศ์ๆ จึงมีภาพที่คุ้นเคยหลายมุม
ดิฉันจำทหารยามในชุดสีฟ้า ด้านถนนเฟื่องนครได้ดี
บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2412 (สมัยรัชกาลที่ 5) เสร็จในปี พ.ศ. 2413 แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษาอยู่ พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ร.๕ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ โดยสร้างเลียนแบบ ๒ วัดคือ วัดพระปฐมเจดีย์กับวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๔ 

โดยภายในวัดแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง
สุสานหลวงนี่หละค่ะ ที่สมัยก่อนร่มครึ้ม สวยงามเสียนี่กระไร
เดินวนไปวนมาด้วยความทึ่ง
แต่ยุคนั้น ไม่มีเอกสารหรือบอร์ดให้อ่านประกอบเหมือนวันนี้


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 มี.ค. 08, 13:39
ทหารยามหน้าคุ้นด้านนี้ ดิฉันเห็นมาตั้งแต่ปี๒๕๑๖ ไปครั้งหลังสุดนี่ก็ยังเหมือนเดิม ได้รับการบูรณะจนไม่โทรม คนเฝ้าวัดบอกว่า เพิ่งบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงฉลองกรุงเทพสองร้อยปี
เสียงเด็กประถมเล่นปิงปอง วิ่งไปวิ่งมา บรรยากาศเก่าๆคล้ายสมัยก่อน
และให้บังเอิญว่าคุณช่างภาพ เป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนนี้ แวะมานึกถึงความหลังครั้งเตะบอลหนวกหูท่านเจ้าอาวาสยุคหนึ่งด้วย
ท่านเป็นถึงพระสังฆราชค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 16 มี.ค. 08, 14:06
มาเมียงมองกระทู้ใหม่
ไม่เคยเข้าวัดราชบพิธครับ (จะเสียชาติเกิดไหมเนี่ย)

เมื่อคืนเห็นข่าวสมเด็จพระเทพฯ เสด็จวัดจันทน์กระพ้อ แถวปทุมฯ
เมรุของเขาที่ดูจากในข่าวอลังการมาก เห็นทีจะเป็นวัดมอญ
ยังนึกถึงพี่กุ้งแห้งฯ ว่าอาจจะรู้จักวัดนั้นอยู่บ้าง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 มี.ค. 08, 20:10
คุณโอมคะ ไม่เคยได้ยินชื่อวัดจันทน์กะพ้อเลยค่ะ ถ้าอยู่เมืองนนท์ เห็นท่าจะต้องไปเยือนวัดชมพูเวกก่อน มีคนชวนอยู่เหมือนกัน
..นักเขียนอย่างคุณโอม ควรจะหาเวลามาเดินสูดไอดินกลิ่นหมึก(ที่จางหายไป)และกินน้ำแข็งใสที่ริมถนนใกล้วัดนะคะ วันที่อากาศร้อน จะสดชื่นมาก เพราะร้านอยู่ใต้ต้นไม้ ร่มรื่น และลมพัดเย็น
..โรงพิมพ์ดังๆที่เรียงรายกันย้ายออกไปเหลือไม่กี่โรง เฟื่องนครสร้างเศรษฐีในวงการพิมพ์มายุคหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่ามีนักเขียนท่านใดบ้าง ร่ำรวยจากการทำหรือเขียนหนังสือ อาชีพนี้ รวยเงียบหรือไง..
วัดราชบพิธ เป็นวัดเล็กๆค่ะ การออกแบบลงตัว ไม่ได้สร้างทีละอย่างสองอย่าง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 มี.ค. 08, 20:20
ทวารบาลวัดนี้ไม่เหมือนใคร


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 มี.ค. 08, 20:22
 :-[


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 17 มี.ค. 08, 12:00
ที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของวัดนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีอิทธิพลมาจากวัดโพธิ์ในรัชกาลที่ ๓ ก็คือทั้งพระอุโบสถ เจดีย์ และพระวิหาร รวมถึงระเบียงคด ตกแต่งด้วยลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ ทุกแผ่นเขียนด้วยมือ
การวางรูปทรงกระเบื้องขนาดต่างๆลงตัวเหมาะเจาะ กลมกลืน เมื่อออกจากวัดโพธิ์แล้วมาวัดราชบพิธ จะรู้สึกถึงการปรับและถ่ายทอดอารมณ์จีนเป็นไทยที่สมบูรณ์แบบมาก ในด้านนอกของวัด
การวางพระอุโบสถ วิหาร ระเบียงวัด และเจดีย์ ทั้งสง่างาม กลมกลืน เดินง่าย ชมด้านหน้าเดินเลียบมาด้านหลัง
ศิลปะที่เด่นมากคือบานประตูพระอุโบสถทั้งหน้าและหลัง เป็นกราฟฟิคดีไซน์ชั้นครูค่ะ ดูแล้วงง เพราะโมเดิร์นมาก


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 17 มี.ค. 08, 14:37
มาเสริมครับ
...
"วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร" เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2412 โดยมีพระประสงค์ที่จะสร้างให้เป็นวัดประจำรัชกาล โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงคหริรักษ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (มรว. ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการสร้าง


     มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม" มีความหมายว่า วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ

     "ราชบพิธ" หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินสร้าง และ "สถิตมหาสีมาราม" หมายถึง พระอารามซึ่งมีมหาเสมา หรือเสมาใหญ่



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 17 มี.ค. 08, 17:02
ขอบคุณนะคะ
...
สร้างความแปลกใหม่ทั้งที ก็ต้องฝีมือถึง วัดนี้มีเอกลักษณ์คือ ภายนอกไทย ภายในฝรั่ง 


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 17 มี.ค. 08, 18:23
วัดราชบพิตรเคยไปไม่กี่ครั้งเองครับ

ไม่ค่อยชอบโต๊ะปิงปองกับตึกเรียนที่ทำให้เสียทัศนียภาพ

แต่ก็เป็นเรื่องปกติของเมืองไทย

วัดกับโรงเรียนย่อมคู่กัน


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 18 มี.ค. 08, 07:16
วัดราชบพิธค่ะ คุณกุรุกุลา
ทุกครั้งที่ไป ดิฉันกลับรู้สึกว่าเป็นวัดที่พร้อมมูลในคอนเส็ปท์วัด เพราะแบ่งแยกพุทธาวาส สังฆาวาส สุสานหลวง และโรงเรียนได้ลงตัว ไม่มีเสียงเด็กนักเรียน ก็ไม่มีชีวิตชีวา ตอนที่ไป ข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์คือคนใจบาปหยาบช้าลอกทองวัด จึงมีตำรวจอาสาเดินตรวจตราบริเวณ
มีไกด์คนที่ดิฉันเห็นประจำ ที่อธิบายคำว่าพระสังฆราชเหมือนไม่รู้จักศัพท์ว่า Patriarch
และมีพระภิกษุกวาดลานวัด กำจัดใบและกลีบลั่นทมร้อยปีที่หล่นร่วงช่วงนอกกำแพงแก้ว
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เป็นลมหายใจที่ทำให้วัดราชบพิธ คงชีวิตชีวาไว้
ยามวัดเล่าว่า มีฝรั่งได้ขโมยพระพุทธรูปในสุสานหลวงไป แล้วต้องนำมาคืน สารภาพว่า ชีวิตเขาไม่เป็นปกติเลยตั้งแต่ได้พระไปค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 18 มี.ค. 08, 11:09
 ??? เป็นภาพสมัยก่อน ..ไม่รู้วันเดือนปีที่ถ่ายครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 18 มี.ค. 08, 11:18
อิอิ

Patriarch เหมือนจะแปลว่าหัวหน้าเผ่าก็ได้นี่ครับคุณกุ้ง

ที่พม่าเขาใช้คำว่า Primate ซึ่งก็ฟังดูพิลึกๆเหมือนกัน


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 18 มี.ค. 08, 23:34
มหาสีมา  แปลว่า  สีมาใหญ่   คือเขตสีมา หรือเขตทำสังฆกรรมครับ
มหาสีมา   หมายถึง  วัดที่เป็นเขตสีมาหรือเขตทำสังฆกรรม 2 ชั้นครับ  เป็นเขตสีมาทั้งวัดภายในบริเวณอุโบสถจะเรียกว่า ขัณฑสีมา  คือสามารถทำสังฆกรรมที่ใดก็ได้ในวัด  ขณะที่วัดทั่วไปจะทำได้แต่เขตที่กำหนด  คืออุโบสถเท่านั้นครับ
วัดส่วนมากจะกำหนดเขตแค่อุโบสถ  แต่มีวัดหลวงหรือพระอารามหลวงเพียง 2 วัดที่มีชื่อลงท้ายว่ามหาสีมา  คือวัดราชบพิธ และ วัดราชประดิษฐ์  ซึ่งจะลงท้ายด้วย  มหาสีมารามเหมือนกันครับ  แต่วัดที่เป็นมหาสีมาในประเทศไทยจะมี 5 วัดครับ  1 วัดโสมนัสฯ  2วัดมกุฏฯ 3วัดราชบพิธ 4วัดราชประดิษฐ์ และ 5วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

ดูรายละเอียดได้จากเวปนี้ครับ  http://www.watsomanas.com/thai/history/history04.php


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 20 มี.ค. 08, 06:50
แวะไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดโสมฯมา ตามลิงค์คุณบานา
...


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 มี.ค. 08, 10:59
ก่อนจะไปชมยอดฝีมือทางภาพบานประตูประดับมุก ขอย้อนกลับไปสมัยอยุธยาเสียก่อน ภาพที่ถือว่างามมาก ละเอียดอ่อ่น ดีไซน์ลงตัว อ่อนช้อย และฝีมือก็งามจับตา เป็นบานประตูวัดบรมพุทธาวาสค่ะ
เดี๋ยวนี้ บานนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ และกลายเป็นตู้พระไตรปิฎกไปเสียเรียบร้อย
ไม่รู้เป็นการอนุรักษ์ หรือการปลอมแปลง  :-X
...
น่าเสียดายที่แปรสภาพ :'(
มูลค่าทางวัฒนธรรมนั้นมหาศาล
แต่ก็ยังดีที่ตอนนี้ ผู้สนใจตาสีตาสานายสมชายนางสาวมานียังสามารถไปดูได้
เพราะอยู่ในพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข สนามหลวง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 12:16
อยากรูว่า ฝีมือช่างชั้นเทพเพียงใด จะทำให้ดูครับ
ลองนึกว่า เราต้องเลื่อยเปลือกหอยเป็นแสนชิ้น ที่บางชิ้นเล็กกว่าหัวไม้ขีด
เรียงลงบนพื้นไม้ ตามตำแหน่งที่กำหนด โดนต้องไม่มีความผิดเพี้ยนแม้สักองศา
คนที่เล่นต่อรูปจิ๊กซอ คงพอนึกออกว่า ต้องใช้สมาธิเพียงใด

ให้เอาพันคูณเข้าไปครับ เพราะจิ๊กซอน่ะ ร่องมันจับกันพอดี หมุนสี่ทีก็ได้มุมแระ
ชิ้นมุกนั้น เป็นก้อนสามมิติ เรียงผิด งานจะฟ้องออกมาในทันที
เรียงครบหมดทั้งแสนกว่าชิ้น ก็เอารักเคลือบ ปิดหมด จากนั้นจึงค่อยๆ ขัดผิวไทละน้อย
จนมองเห็นเนื้อมุกแวววาว

ตรงนี้ละครับ ที่ยอดของความยาก เพราะถ้าท่านติดไม่ดี ชิ้นมุกก็เคลื่อน
เฮ้อ....แค่นึกตามนี่ ผมยังต้องกลั้นลมหายใจพิมพ์เลย

แขม่วหน้าท้องจนเกร็ง

ผมทำรูปมาให้ดูความแม่นยำของการวางลาย
ให้เขียนสดๆ ด้วยดินสอบนแผ่นกระดาษ ให้แม่นยำเป๊ะๆ อย่างนี้

ร้อยคน ผมว่าทำไม่ได้สักหนึ่งคนครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 มี.ค. 08, 13:47
ขอบคุณคุณพิพัฒน์ค่ะ เชิญอธิบายต่อเลยค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 มี.ค. 08, 15:54
เรียนถามคุณ Bana ครับ
ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า วัดบรมนิวาส ตรงยศเสก็เป็นมหาสีมาเหมือนกันมิใช่หรือครับ

ส่วนวัดราชบพิธนั้นสีมาคลุมทั้งบีเวณพุทธาวาสและสังฆาวาส  เวลาจะมีสังฆกรรม เช่นบวชพระก็ต้องปิดประตูวัดกันหมดทุกประตู  มอฉะนั้นถ้ามีพระรูปใดรูแหนึ่งผ่านเข้าไปในเวลาทำพิธี  สังฆกรรมนั้นก็เป็นอันโมฆะไปทันที 
สำหรับพระภิกษุที่ไม่ได้รับนิมนต์ร่วมสังฆกรรมครั้งนั้นถ้าอยู่ในวัดก็ต้องสวดมอบอำนาจให้พระที่จะลงสังฆกรรมนั้นไปปฏิบัติแทนด้วยครับ  ที่เล่ามานี้เป็นประเพณีที่วัดราชบพิธที่ยังคงปฏิบัติกันมาถึงทุกวันนี้


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 16:32
ขอให้ท่านจินตนาการตามนะครับ
พื้นสีดำ เกิดจากการถมเนื้อรักไว้ สีขาว คือเนื้อมุก ที่ขัดจนใสสะอาด แวววับบนพื้นดำของรัก
แต่....

เส้นรอบๆ ดวงตาพญานาค มาจากใหนครับ
เส้นนั้น คือรอยฟันเลื่อยครับ
ช่างใช้เลื่อยต่างพู่กัน ลากเส้นเข้าในเนื้อมุกชิ้นเท่าก้านธูป หรือก้านไม้หมูปิ้ง
เลื่อยผ่าเข้าไป ก็จะกลายเป็นการตัดเส้นครั้งหนึ่ง
ถ้าเป็นเส้นที่เดินระหว่างมุกสองชิ้น ก็ต้องพึ่งทั้งฝีมือเดินฟันเลื่อย บวกกับฝีมือวางให้ชิดกัน
โดยทิ้งช่องว่างไว้ ห่างเท่ากับเส้นผม เพื่อรอรักเข้าไปวุกอยู่ ขัดแล้ว กลายเป็นเส้นเดิน

อ้อ ไม่ใช่แค่เลื่อยให้ได้เส้นที่คมบาง เท่านั้นนะครับ
ปลายของลาย ทุกชิ้น ต้องสะบัดได้

บางชิ้นมีชีวิตกว่าการสะบัดด้วยพู่กันเสียอีก


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 22 มี.ค. 08, 07:18
เครื่องมุก เป็นของเจ้านาย และไม่ใช่ภาชนะที่เราๆจะใช้ในชีวิตประจำวัน ในยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกครอบงำการกินอยู่ กลายเป็นของแปลกสำหรับคนรุ่นนี้ไปเสียแล้ว แม้แต่คนรุ่นดิฉัน ยังงงกันว่าเตียบใช่ไหม หรือรุ้ง
เตียบ เป็นภาชนะใส่อาหาร
ในขณะที่รุ้ง ใช้ใส่หมวกเจ้านาย
เครื่องมุกสวยๆงามๆในภาพ เป็นของสะสมของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 22 มี.ค. 08, 15:49
ปูผ้าขาว แล้วก็กราบงามๆ สามที
นั่งพับเพียบเอี้ยมเฟี้ยม รอฟังมหัศจรรย์ อันซีน ไทยแลนด์ต่อไป


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 08, 16:43
ตู้พระธรรมใบนี้ แก๊งค์ของเรานำโดยไกด์กิตติมศักดิ์  เข้าไปชมพร้อมกัน

คุณไกด์เห็นตู้ใบนี้ทีไร ก็แสนเสียดายส่วนบานมุกที่ถูกเฉือนข้างทิ้งไป   
เพื่อให้ลงตัวกับความกว้างของด้านข้างตู้    ทำให้ลายมุกไม่เป็นวงกลมสมบูรณ์ 
ดูได้จากรูป# 16 ที่คุณกุ้งแห้งนำมาลง
ทำให้เอ่ยปากสรรเสริญที่มาของบานมุกถูกเฉือน อย่างพอไม่งาม เสียหลายประโยค

ส่วนดิฉัน ไม่มองส่วนที่หายไป   แต่มองส่วนที่เหลืออยู่  ปลาบปลื้มกับความงามน่าอัศจรรย์ที่เห็น
ทำเอาถูกต่อว่า ว่า อาจารย์ดูของพวกนี้เหมือนเป็นมรดก  เหลือตกทอดมาเท่าไรก็เห็นว่าดีเท่านั้น

ข้อนี้เป็นวิธีมองโลก ของสองมุมที่แตกต่างกันตรงกันข้าม
คุณจะมองสิ่งที่ขาดไปจากชีวิตคุณ หรือมองสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตคุณ  ก็ได้ทั้งสองแบบ
มุมมองนั้นจะมีส่วนกำหนดเส้นทางชีวิตคุณเองว่าจะเป็นไปในรูปไหน 

มองลายมุก ก็ได้ปรัชญาเหมือนกันนะคะ แถมมาจากศิลปะอันวิจิตรราวกับมิใช่มือมนุษย์สร้างขึ้นมา


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 22 มี.ค. 08, 23:23
 :'( เสียดายไม่ได้ร่วมวงสนทนาด้วยตอนนั้นครับ

ภาพนี้ ถ่ายจากวัดราชบพิธ เป็นบานประตูพระอุโบสถ ผมเข้าไปตอนเขากำลังมีพิธีบวชกันพอดี จะถ่ายแบบเอาขาตั้งกล้องไปปักก็คงไม่ดีนัก
แต่ท่ามกลางสาธุชนที่ไปนั่งร่วมในพิธีรับบุญกันแน่นวัด
ผมก็ยังอุตส่าห์ฝ่าฟันทำตัวกลมกลืนไปนั่งตรงปากประตู เพื่อให้ได้ภาพนี้มา
เนื้อๆก็คือ เป็นเครื่องราชอิศริยาภรณ์เรียงเป็นตับ ห้าชั้น ทั้งสองบานประตู เป็นซ้ายขวา
ไอเดียการดีไซน์ของใครไม่ทราบชัด ทราบเลาๆว่าเป็นหม่อมเจ้้าประวิช ชุมสาย
อินทีเรียร์ไทยมือหนึ่งของรัชกาลที่ ๕ ครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 22 มี.ค. 08, 23:55
วัดบรมพุทธาวาส มีประตู 5 คู่ครับ
ผนังด้านสะกัดหน้า มี 3 คู่ คู่หลัก 1 คู่ คู่รอง 2 คู่
ส่วนผนังด้านสะกัดหลังมีอีก 2 คู่
เท่าที่ผมเข้าใจคือวัดนี้มีประตูอย่างน้อย 2 แบบ
แบบหนึ่งคือบานกลางเป็นทางเสด็จ....(หรือประดูเทวดาผมก็ไม่แน่ใจนัก)อีก 1 คู่
ส่วนอีก 4 คู่ผมอนุมานว่าเป็นแบบเดียวกับตู้ใบในภาพของพี่กุ้งแห้ง

เสียดายผมจำได้ไม่ครบเสียแล้วว่าประตูทั้งหมด 5 คู่นั้นอยู่ที่ไหนบ้าง
คู่ที่สมบูรณ์ที่สุดคู่หนึ่งที่นึกได้คือที่วัดพระแก้ว
ส่วนอีกคู่หนึ่งคือคู่ที่ถูกตัดมาทำเป็นตู้หนังสือให้ทุกคนเสียดาย.......


แต่ที่น่าสงสารที่สุด....... ประตูบานกลางครับ
บานนี้ก็ถูกตัดเฉือนอีกเหมือนกัน..... กลายเป็นตู้อีกใบหนึ่งในพิพิธภัณฑ์
กับฉากอีกหนึ่งบาน.... และอีกหลายชิ้นที่ถูกแยกพี่แยกน้อง
ปลาสนาการไปไหนแล้วไม่ทราบได้

ตู้บานที่ว่านี่ก็ยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์เหมือนกันครับ แต่คนไม่ค่อยได้ใส่ใจดูนัก
ทั้งๆที่นายติบอว่าลายสวยกว่าบานรองๆเสียอีก......
ส่วนฉากได้ยินว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์เอกชนอีกแห่งครับ
เข้าใจว่าเพราะเจ้าของเดิมท่านคงยังรักหวงอยู่มากน่ะครับ แหะๆ




ปล. น้อยใจแทนวัดโพธิ์ครับ
ประดูประดับมุกวัดนี้สวยไม่แพ้วัดใดในราชธานี.....
แต่คนไม่ค่อยทราบกันครับ (ขนาดกรมศิลป์ยังลืมซ่อม... หรือให้เกียรติโดยการไม่ซ่อม หว่า ???)


ปล.2 พี่กุ้งฯครับ นายติบอเข้าใจว่า "ลุ้ง" น่าจะสะกดแบบนี้ครับ แหะๆ
แต่โดยส่วนตัวนายติบอไม่ได้มีความรู้เรื่องเครื่องถนิมพิมพาภรณ์เท่าไหร่
รบกวนถามพี่ Hotacunus หรือ คุณ UP น่าจะได้คำตอบที่แน่นอนกว่าครับ แหะๆ


ปล.3 ถึงคุณพิพัฒน์ครับ เนื่องด้วยนายติบอยังโง่งมนักอ่านหนังสือไม่แตก
จึงหาภาพนาคของคุณพิพัฒน์ไม่เจอ
ขออนุญาตเรียนถามคุณพิพัฒน์ว่าภาพนาคอยู่ในความเห็นไหนครับ ???


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 23 มี.ค. 08, 02:56
เอ่อ..คุณวีครับ  วัดบรมนิวาสไม่ใช่มหาสีมาครับ  และวัดที่เป็นมหาสีมามีเพียง 5 วัดตามที่ผมพิมพ์ใน คห. ครับ  ข้อมูลนอกจากที่ถามจากผู้รู้แล้วก็ตรงกันกับเวปของวัดโสมฯครับ  มีเพียง 5 วัด และทุกวัดเป็นพระอารามหลวง  สังกัดธรรมยุต ........... :o

พบรูปนี้ที่เวปคาเมร่าครับ  เป็นบานมุกที่สวยงามมาก  แต่จะระดับไหนคงต้องพึ่งท่านพิพัฒน์ช่วยวิเคราะห์แล้วล่ะครับ..... ::)



ปล.  ถึงท่านพี่  ผมนึกว่าเรียก "ตะลุ่มมุก" ซะอีก  ของใช้โบราณระดับนี้มักเรียกผิดเรียกถูกประจำครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 23 มี.ค. 08, 08:11
ซวยละซี.....ถูกจับโกหกกลางเวบ  แก้ให้ด้วยคร๊าบบ......


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 23 มี.ค. 08, 16:34
เห็นเต็มๆบานครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 23 มี.ค. 08, 16:55
ลุ้ง    น. ภาชนะใส่อาหารหรือของอย่างอื่น รูปทรงกระบอกมีฝาปิด
   สานอย่างตะกร้าหรือเครื่องเขินก็มี ทําด้วยโลหะมีทองเหลือง
   และเหล็กวิลาดเป็นต้นก็มี, ถ้าใช้ใส่อาหารมักแบ่งข้างในเป็น
   ห้อง ๆ, ถ้าใช้ใส่ชฎา ก็มีฝาเรียวรูปกรวยเพื่อครอบยอดชฎาได้;
   โลงสําหรับใส่ศพ รูปสี่เหลี่ยมปากผาย ก้นสอบ; ภาชนะดินปั้น
   ใช้ใส่อัฐิเพื่อนำไปลอยน้ำ.
นำมาฝากทุกท่านครับ
จากราชบัณฑิต
คุณกุ้งแห้งฝากกระซิบมาว่ารุ้งน่าจะถูกกว่าครับ รู้ไหมว่าทำไม เพราะเมื่อเราไปยืนอยู่ตรงนั้น ประกายของมุกเข้าตาจนออกเป็นสีรุ้งเรยย์
เธอล้อเล่นหรือเปล่านี่.. ต้องมาเล่าเบื้องหลังเสียแล้วครับ คุณกุ้งแห้งฯ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 23 มี.ค. 08, 20:13
ต้องบอกเล่าเก้าสิบก่อนค่ะ ว่าดิฉันก็ตามอาจารย์ท่านไปกับไกด์กิตติมศักดิ์ด้วย เห็นงาม จึงกลับไปอีกครั้ง ขอถ่ายรูป
ในพิพิธภัณฑ์ มีเตียบหลายอันมาก
ความที่เตียบที่หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะถ่าย มันอยู่ในตู้กระจก จะถ่ายทอดความงามทั้งทีผ่านกระจก มันก็ไม่สะใจ
เพราะแสงสะท้อนของไฟโดยรอบ ทำให้ไม่ได้ภาพงามๆ อยากจะขอเขาเปิดตู้ ก็กลัวว่า ถ้าสมบัติชาติเสียหาย จะไม่คุ้มค่ะ
มีอีกตู้หนึ่ง ซึ่งจัดเตียบใหญ่ไว้คู่กัน และท่านผู้ครอบครองเดิม ก็คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯเช่นกัน แต่ดิฉันว่างามคนละแบบ
ครั้งหลังนี่ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมพาไปอีกตู้ และมาบอกว่า ตู้ที่ดิฉันจะถ่าย ไม่ใช่เตียบนะ เป็นลุ้ง.. ซึ่งตอนนั้น ดิฉันเกิดมาไม่เคยได้ยินค่ะ
มองๆไป อ้อ คงมาจากรุ้งที่เหลือบจากประกายมุกเมื่อต้องแสงไฟกระมัง..
แต่ดิฉันก็ไม่เชื่ออยู่ดี เชื่อไกด์กิตติมศักดิ์ และตัวดิฉันเองมากกว่า ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ ต้องไปค้นรายชื่อของในพิพิธภัณฑ์ตู้นี้มา และดิฉันก็ถูกเสียด้วยสิคะ ว่าitemที่ดิฉันต้องการถ่ายน่ะ มันคือเตียบค่ะ ไม่ใช่ลุ้ง...
จึงไม่ได้สนใจ ว่า อีกอันใกล้ๆมันเขียนว่าลุ้ง หรือรุ้งกันแน่..
เลยมาปล่อยไอ้โต้งแถวนี้ ดีเหมือนกัน ได้ศัพท์ใหม่ค่ะ
...
กลับไปดูภาพกันหน่อยไหมคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 23 มี.ค. 08, 20:43
เรากลับไปวัดราชบพิธกันต่อนะคะ
รัชกาลที่ ๓ ท่านประยุกต์ศิลปะไทย กับจีน ในหลายวัดมาก นับแต่วัดโพธิ์ เป็นตัวอย่าง
รัชกาลที่ ๕ ท่านก็ให้สถาปนิก นักตกแต่งภายในของราชสำนักสยามประยุกต์ไทย กับยุโรป โดยตัวอย่างก็คือวัดประจำรัชกาลของท่านเอง
และที่นักโฆษณาเก่า โดยเฉพาะพวกที่ทำโลโกบ่อยๆจะชอบและทึ่ง ก็คือกราฟฟฟิคดีไซน์สัญลักษณ์นี้
จ.จานหมายถึงพระองค์ และใครตอบได้บ้างคะว่า อีกสัญลักษณ์ หมายถึงอะไร


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 24 มี.ค. 08, 01:33
ภาพนักศึกษากำลังลอกลายไทยบริเวณองค์พระเจดีย์วัดราชบพิธ  นี่หรือเปล่าที่ทำให้ศิลปสวยๆทรงคุณค่าต้องเสียหาย  เห็นภาพนี้ไม่ทราบว่าท่านพิพัฒน์จะว่ายังไง..... ::)

เรียกอุณาโลม หรือเปล่าครับคุณกุ้ง  เป็นยันต์กันภัย


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 24 มี.ค. 08, 12:16
ภาพทางซ้ายในความเห็นที่ ๓๑ เรียกว่า อุณาโลม หรือ มหาอุณาโลม ก็ได้ครับ  เป็นตาที่สามของพระอิศวร  ไม่ใช่ยันต์กันภัยครับ  ควาหมายคือ พระผู้เป็นใหญ่  เมื่อวางสลับกับอักษร จ ที่หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงอธิบายความได้ว่า  พระผู้เป็นใหญ่ที่ชื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  หรือพระบาทสมเด็จพระจุบจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้เป็นเจ้ากรุงสยาม

ลายปูนปั้นทั้งสองนั้น  อยู่ในแนวผนังระหว่างช่องหน้าต่างภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  เป็นการวางสลับระหว่างมหาอุณาโลม  และอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ

ไม่ทราบว่า มีท่านผู้ใดสังเกตอักษร จ.จ.จ. ในดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า  ที่บานประตูพระอุโบสถและพระวิหารกันบ้างหรือเปล่าครับ?


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มี.ค. 08, 12:41
ปฐมจุลจอมเกล้า เป็นตราที่อยู่สูงมากค่ะ ยังจับโคลสอัพไม่ถึง
แต่ด้านในของพระอุโบสถ หันกลับไปเหนือประตูใหญ่ มีตราของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕
ชาวสีชมพูจะเห็นพระเกี้ยว อยู่ด้านบนสุด
และน่าสังเกตว่า พานพุ่มดอกไม้ ที่ถวายพระ จะต้องมีสีชมพูเป็นองค์ประกอบเสมอ รวมถึงแจกันดอกไม้สดที่ประดับรอบๆฐานพระพุทธรูปสำคัญด้วย
ที่นี่ ดิฉันไม่เห็นดอกไม้ประดิษฐ์ค่ะ นับเป็นความใส่ใจอย่างยิ่งของผู้ดูแลวัด



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มี.ค. 08, 12:56
สำหรับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ การจัดดอกไม้ที่ไม่วิลิศมาหรา แต่เข้าใจโทนสี ทำให้ใจเราปิติกับความกลมกลืนเบื้องหน้าค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 มี.ค. 08, 14:06
แอบจิ๊กเพื่อนมาแจมครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 24 มี.ค. 08, 15:08
ดวงตราจุลจอมเกล้าที่บานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถ คือ ดวงที่อยู่ตรงกลางนับจากข้างบนลงมาหรือจากข้างล่างขึ้นไปก็เป็นดวงที่ ๓ ครับ  ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนว่าบานประตูและบานหน้าต่างประดับมุกนี้จะโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อไปติดตั้งที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แต่ช่างทำอักษรพระบรมนามาภิไธย จ.จ.จ.ผิดแบบ  เลยโปรดให้ย้ายมาประดิษฐานที่วัดราชบพิธฯ แทน
โปรดสังเกตอักษรในดวงตรา จุลจอมเกล้าประดับเสื้อครุยข้างล่างนี้  อักษร จ. ที่อยู่สุดท้ายจะกลับหน้าไปอีกทาง  แต่ที่บานประตูหน้าต่างพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ ดูเหมือนจะหันไปทางเดียวกันหมดครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 24 มี.ค. 08, 15:36
ชม Style Gothic ครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มี.ค. 08, 16:04
ขอบคุณคุณ V_Mee ที่มาเฉลย
คุณ V_Meeคะ ดิฉันเห็นตรานี้ ที่วัดโพธิ์ก่อน หลายแห่งมาก มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง บอกว่า ตรานี้ เป็นสัญลักษณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑ ต้นราชวงศ์จักรี ค่ะ
พอมาวัดราชบพิธ เห็นตรานี้อีก จึงคิดว่า ไม่น่าจะใช่เสียแล้ว

คุณเอลวิสภูคะ ถามจริงๆ กรุณาตอบตรงเลยว่า วัดราชบพิธฯในสายตาของคุณนั้น คุณติดใจตรงไหนเป็นพิเศษ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 24 มี.ค. 08, 18:31
ตราอุณาโลมเป็นตราประจำพระองค์รัชกาลที่ ๑ ถูกต้องแล้วครับ
สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเคยใช้ตราปทุมอุณาโลม  คือ รูปแณโลมอยู่ในกรอบคล้ายดอกบัว  เป็นตราหน้าหมวกทหารบกด้วยครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 24 มี.ค. 08, 18:59
...ความสวย ...สงบ ร่มรื่นครับ พูดตามความรู้สึก
ส่วนตัวก็คือการผสมผสานระหว่างศิลปไทยกับ Gothic และลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพประนม(มือ) เป็นองค์ประกอบที่ทำให้วัดงดงามมากครับ

วัดนี้เป็นที่ให้ความรู้..การศึกษาสมัยผมเรียนชื่อโรงเรียนวัดราชบพิธ ในช่วงที่ผมเรียน.. มีเพียงชั้นมัธยมศึกษา1 - 3 เรียนที่ศาลารายมีอยู่ 4 หลัง เวลาดูหนังสือผมก็ชอบแอบไปหลบในสุสานหลวงเพราะสงบ และเงียบมากสมัยนั้นยังเป็นที่ต้องห้ามปิดไม่ให้ใครเข้าไป

ประทับใจตั้งแต่เจดีย์องค์ใหญ่พระเจดีย์ ทราบว่ายอดพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ...
ชอบการวางตัวของพระอุโบสถกับพระวิหาร บานประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถที่มีลายไทยลงรักประดับมุก สวยครับ สมัยที่เป็นเด็กนกพิราบที่นี่เยอะมากผมกะว่าจะไปถ่ายรูปในฝูงนก ปรากฎว่าทางวัดหาวิธีไล่นกได้เพราะล้างขี้นกไม่ไหว และขี้นกก็เป็นกรดที่ทำลายทุกอย่างเช่นสีผิวกระเบื้อง กระจกสีฯ ลวดลายบานประตูเป็นกราฟฟิคเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับมุกที่บานประตูยกย่องกันว่าเป็น “ศิลปะชิ้นสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์” และที่สำคัญคือพระพุทธอังคีรส ที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิผิวเป็นทองคำทั้งองค์ ภายใต้ฐานชุกชีเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 7

ถ้าจะเจาะประเด็นให้ลึกลงไปคงด้องให้คุณ Pipat ช่วยให้ความรู้เพิ่มเติมจะเหมาะกว่าใหนๆก็เอารูปมาแจมแล้ว


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 มี.ค. 08, 21:22
จะเข้าใจปรีชาญานของวัดราชบพิธ ต้องคิดย้อนไปรัชกาลก่อนด้วยครับ
เพราะเป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกัน และแนวความคิดก็ต่อเนื่องกันด้วย

ขอเวลาไปค้นรูปทางอากาศสักหน่อยก่อนนะครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 24 มี.ค. 08, 21:46
คุณelvisbhu กล่าวถึงนกพิราบที่วัดราชบพิธแล้ว  นึกถึงภาพที่ อ.ส.ท. เอาไปเผยแพร่มีรูปหลวงปู้ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงนกพิราบ พอหลวงปู่ซึ่งสมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ  แต่ผมไม่เคยจำราชทินนามท่านได้เลย นมีหน้าที่รับผิดชอบพระอุโบสถและพระวิหาร  สำนักงานท่านอยู่ในวิหารคตมรณภาพไปแล้ว  นกพิราบก็แทบจะหายสูญไปจากวัดราชบพิธเลยทีเดียว

สิ่งที่แปลกอีกอย่างสำหรับวัดราชบพิธ คือ ถึงจะเป็นวัดกลางเมือง  แต่พอเดินเข้าประตูวัดไปกลับพบแต่ความสงบร่มรื่น


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มี.ค. 08, 22:23
นกที่วัดราชบพิธยังมีค่ะ แต่ไม่มาก สองสามตัว เกาะตามหลังคา ดิฉันไม่ทราบว่า ท่านมีวิธีจัดการอย่างไร เพราะทำมากไป วัดก็จะดูไม่สวย
ภาพที่นำมาลงคือลายรดน้ำบานประตูด้านในค่ะ แถวนี้ มีคนเรียนจิตรกรรมไทยไหมคะ
ถ้าไม่มี แต่ทราบ ก็กรุณาบอกหน่อยว่าเขาเรียกลายอะไรคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 มี.ค. 08, 23:10
ลายมั่วครับ
เป็นลายไทยที่แย่ที่สุดที่จะทำได้...เสียดายจัง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 มี.ค. 08, 00:15
แหม คุณพิพัฒน์ก็ช่างใจร้ายนะ..... ไปเอ็ดคนเขียนว่ามั่วได้ลงคอ
เดี๋ยวนี้ครูช่างในโรงเรียนช่างสิบหมู่ หรือวิทยาลัยในวังชายอะไรทำนองนั้น
เขาก็ไม่ให้ลูกศิษย์คัดลอกฝีมืองานสมัยอยุธยาไปแล้วล่ะครับ
รัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ไม่ให้ด้วย หอไตรวัดระฆัง วัดราชสิทธาราม วัดดุสิตดาราอย่าหวังไปดู
ของอะไรก่อนรัชกาลที่ 3 ขึ้นไปเขาไม่ให้ลูกศิษย์ลอกลายมาเขียนแล้ว
(นี่ยังเป็นบุญของเหล่าศิษยานุศิษย์ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์หรือวัดพระแก้ว
ยังมีของที่ซ่อมในสมัยรัชกาลที่ 3 ลงมาอยู่บ้าง..... ไม่อย่างนั้นคงถูกตัดรายชื่อออกไปอีก)


ทุกวันนี้ลายไทยจากสำนักวิชาสองสามค่ายนี้ ก็เป็นอย่างที่เห็นนี่ล่ะครับ
ขนาดครูๆเขาทำงานกันเอง ออกแบบตารปัตกันเอง เขียนสีเป็นอยุธยา
ท่านั่งก็ตัวเกร็งแข็งกระเด๊ะเป็นพระอินทร์เข้าเฝ้าพระเนมิราชของครูทองอยู่

ขนาดออกแบบลายทอผ้ายกราชสำนักสยามกันเอง....
พี่แกยังไปเอาลายผ้าลายแบบแขกมาเป็นต้นแบบลายทอผ้ายกแบบไทยเลย.... สาธุ
ผ้ายกไทยเดี๋ยวนี้เทพนมตาทั้งใหญ่ทั้งเฉียวซะยังกะมนุษย์ต่างดาว....
เห็นแล้วชวนให้สงสัยว่ามันเทพนม หรือเอเลี่ยนพนมกันแน่ว๊า.....
พูดภาษาไทยสำเนียงอังกฤษเป็นไฉน ลายไทยค่ายนี้ก็เป็นฉะนั้น

ซักพักคนเจนเนอเรชั่นหน้าก็คงแต่งตำราว่าด้วยลายไทยยุครัตนโกสินทร์ยุคนี้
ออกมาขายใหม่ได้ โดยลืมลายเก่าๆที่ลบๆเลือนไปตามเวลา.........
เหมือนสังเค็จวัดเชิงท่าที่เพราะฝีมือคนยุคนี้ อยู่ๆก็เลยลุกขึ้นมาสวยกว่าสังเค็จวัดใหญ่สุวรรณารามไปซะแล้ว....  มั้งครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 มี.ค. 08, 07:44
ฮา  :P คุณพิพัฒน์ก็เป็นเสียอย่างนี้ เหมือนเพื่อนดิฉันช่างภาพวิดิโอเลยเชียว.. >:(


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 มี.ค. 08, 07:51
เทพนมหน้าไทยกึ่งมอเดิ้ร์น(รัชกาลที่๕) รับลายดอกไม้ที่วัดราชบพิธ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 มี.ค. 08, 07:53
 :-\ วิจารณ์ไม่ถูกใจดูหลังคาไปพลางแล้วกัน :(


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 25 มี.ค. 08, 10:44
คุณติบอขี้บ่นเป็นตาแก่ไปได้

เดี๋ยวนี้อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอะ

สำคัญคือเงินๆๆๆๆๆ เงินตัวเดียวแหละ

ถ้าเขาทำแล้วได้เงิน เป็นประโยชน์โภชน์ผลของเขา

เขาก็ทำนาสิ

อิอิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: drunken beauty ที่ 25 มี.ค. 08, 13:19
ราวองค์พระวิษณุกรรมทำกล เป่าเวทย์ร่ายมนต์บรรเจิดประจักษ์แก่ตา ;D


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: drunken beauty ที่ 25 มี.ค. 08, 13:22
แบบร่างค่ะ ;D


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 มี.ค. 08, 15:39
มีอีกไหมคะ คุณdrunken beauty
....
วัดราชบพิธฯ หอระฆัง กับหอกลอง อยู่คนละด้าน หอระฆังอยู่ด้านถนนเฟื่องนคร ส่วนหอกลองจะอยู่ใกล้ๆสุสานหลวง ซึ่งคุณภูบอกว่าสมัยเด็กๆ ไปดูหนังสือที่นั่น เพราะเงียบดี และค่อนข้างรโหฐาน แต่ตอนนี้ เขาทำให้โปร่ง ดูแลง่าย มีถนนตัดฝ่ากลางเลยค่ะ ไม่ทราบดีหรือไม่ดี แถมมียามนั่งปฏิบัติการแข็งขัน ก็คงตั้งแต่ฝรั่งมาขโมยพระน่ะแหละ
ตอนดิฉันเป็นสาราณียกรคณะฯ ก็ต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียนบ้าง บ่ายบ้าง มาทำหนังสือคณะ ตรวจพรูฟ เกือบทุกวัน เป็นปีที่เกรดเฉลี่ยอุบาทว์สุดๆ บางวันต้องรอตรวจงาน ก็ไปเดินเล่นในวัด มุ่งเดินไปสุสานก่อน เพราะคิดว่า มันได้อารมณ์วิเวกวังเวง สงบ และเศร้าสร้อย
รูปจะมาในความเห็นหน้าค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 25 มี.ค. 08, 17:23
หอใกล้ๆสุสานหลวงครับ..."หอกลอง"


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 25 มี.ค. 08, 20:02
หวัดดีครับ

เข้ามารอชมสุสานหลวง

เมื่อก่อนก็ชอบไปนั่งเล่นเหมือนกันครับ มุมมองที่สวยคือมองจากตรงข้ามฝั่งคลอง

เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบให้คนไทยได้ชมกัน ตั้งแต่เขมร ไทย ไปจนถึงโกธิค



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 มี.ค. 08, 10:15
เดี๋ยวนี้ สุสานหลวงไม่ใช่ที่ๆจะไปหาความวิเวกแล้วค่ะ เพราะทั้งโปร่ง และร้อน ไม่ทราบพุ่มไม้ร่มรื่นหายไปไหนหมด พื้นที่เต็ม เหลือลานแห้งๆอยู่กระหย่อมเดียว
ทุกอย่างเปลี่ยนไปค่ะ
เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องคอยอ่านคอยเล็งว่าเป็นสุสานของท่านไหน เพราะด้านนอก มีบอร์ดและกราฟฟิคบอกไว้เสร็จสรรพค่ะ
สักรูปหนึ่งก่อนนะคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 มี.ค. 08, 10:28
สุสานของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ สมเด็จพระศรีสวรินทราฯ สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ซึ่งเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ ๕ เป็นแบบเดียวกัน เป็นแบบผสม มีเจดีย์สีทองอยู่บนยอด
สุสานของสมเด็จพระวิมาดาเธอฯและต้นราชสกุลยุคล เป็นแบบพระปรางค์สามยอดของลพบุรี ดิฉันเดาว่าเพราะรัชทายาทท่าน ทรงกรมพระนามไพเราะว่า ลพบุรีราเมศร์
สุสานของเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมบางพระองค์ดีไซน์สมัยใหม่มาก และของพระเจ้าลูกเธอชั้นเจ้าฟ้าฯบางพระองค์ก็เป็นสไตล์ก็อธธิค
เหมือนเราเดินอยู่สุสานเมืองฝรั่ง หรือถ้ำแม่พระในวัดคาทอลิกผสมผสานกัน
งามตรงคอนเซ็ปท์วัดราชบพิธ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 เม.ย. 08, 07:13
ทุกครั้งที่ดิฉันไปวัดราชบพิธ จะพบฝรั่งเพียงกลุ่ม หรือสองกลุ่มเสมอ ที่ทึ่งกับการวางผังและความงามของวัด ครั้งหนึ่งที่ไป ก็มีกลุ่มคนไทยด้วยที่เป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารกสิกรไทย ประเภทเงินฝากเต็มแบงก์ แบงก์มีการเตรียมการอย่างดี ขออนุญาตทางวัดเรียบร้อย มีหน่วยดูแลห้องน้ำมาถึงก่อนทำความสะอาดห้องน้ำ และนำธงญี่ปุ่นมาตั้งต้อนรับรายทาง จากที่จอดรถเดินเข้ามาทางสุสานหลวง และอ้อมมาด้านหน้าของพระอุโบสถ
เจ๊ๆและอาม่าที่ยังเดินไหวในสภาพเครื่องเคราเต็มพิกัด จะได้รับดอกไม้ธูปเทียนจากสาวๆที่ยืนต้อนรับ ทุกท่านเข้าไปในโบสถ์ ฟังเรื่องราวของวัดจากไกด์กิตติมศักดิ์ ทราบว่าเป็นคุณเผ่าทอง ทองเจือ แต่ไม่ทราบมาจริงหรือเปล่า
ดูบรรดาลูกค้าแบงค์ที่สนใจทัวร ๙ วัดแล้วก็ออกจะขัน ไม่ใช่ขันคุณๆพวกนี้หรอกค่ะ ขันคนจัด จัดวัด 9 วัดไม่ผิดกับการขี่ม้าชมดอกไม้ ไม่ได้มีเวลาซาบซึ้งอะไรมากมาย
แต่นับว่ายังดีกว่าจัดอย่างอื่นให้ลูกค้า
ทุกครั้งที่ไปไหนๆ ดิฉันชอบมีเวลาส่วนตัว เดินดูโน่นนี่ แม้แต่วัดที่เมืองจีนซึ่งมีการวางผังค่อนข้างตายตัว ถึงแม้จะไม่ชอบบรรดารูปปั้นน่ากลัวๆใหญ่ยักษ์ทั้งหลายนัก เพราะรู้สึกชินกับงานประณีต ละเอียดอ่อน มีรายละเอียด สีสันสดใสไม่แรง มากกว่า
ดิฉันไม่ได้ความรู้สึกนั้นเลยจากการไปวัดจีนค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 เม.ย. 08, 07:17
งานลายรดน้ำที่นี่ ที่คุณพพ.กล่าว ว่ามั่ว ไม่ได้สร้างความประทับใจเลย เมื่อเทียบกับงานกระเบื้อง และงานลายประดับมุกของวัดราชบพิธเอง ที่แม้ไปดูที่ไหนๆ ก็ยังกลับมาชื่นชมความสุดยอดของวัดราชบพิธได้ทุกครั้ง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 เม.ย. 08, 07:18
ลายที่ฝาผนังรอบฐานพระเจดีย์


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 04 เม.ย. 08, 20:11
ดูวิธีวางลาย เมื่อคั่นระหว่างองค์พระอุโบสถ และพระวิหาร ก็แตกต่าง แต่กลมกลืนดี


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 เม.ย. 08, 11:28
พบแล้วค่ะ บานประตูคู่ที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่วิหารยอด ในวัดพระแก้ว เดินผ่านปุ๊บ deja vu ทันที
นึกได้ว่าคุณติบอบอกไว้ว่าคู่หนึ่งอยู่นี่ ...เลยเก็บภาพมาฝากทั้งบาน งามเหลือใจ
ไปแปะผิดกระทู้ ขอมาแปะถูกที่นี่แล้วกันนะคะ
ยลแบบปิดพลาสติคทั้งบานไปก่อนค่ะ.. อยากชมจริงๆ ต้องไปที่พิพิธภัณฑ์


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 11 เม.ย. 08, 17:29
เห็นของที่ถูกตัดเป็นตู้พระไตรปิฎกในพิพิธภัณฑ์แล้วมาเห็นรูปนี้ ยิ่งกว่ากลุ้มอีกครับ ไม่น่าเลย... เป็นประตูที่งามสมบูรณ์แบบมาก
ต้องทำความเคารพคนทำครับ ว่างวันไหนไปวัดพระแก้วดีกว่า


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 12 เม.ย. 08, 07:24
อัญญ่าเป็นเพื่อนสาวชาวเยอรมันของดิฉัน เธอชอบศิลปะวัฒนธรรมของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงรู้สึกซาบซึ้งกับสีสันของศิลปะในวัดพระแก้ว ที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเมืองไทย
วันจักรี เป็นวันที่เปิดปราสาทพระเทพบิดร แต่กั้นบริเวณบางส่วนจึงไม่ได้ชมกินรีตัวงามด้านหนึ่ง
พระอุโบสถก็ไม่เปิดให้คนชมภายในเพราะกำลังเตรียมการรับเสด็จอยู่ อัญญ่าได้ดูจากภายนอก ก็ปลื้มใจ
หลังจากชมวัดวัง เธอสนใจจะเดินตลาดพระเครื่อง แต่ที่ทางออกวัด มีคนมาเสนอทัวร์คลอง จึงสนใจการล่องเรือ เข้าคลองบางกอกน้อย ออกบางกอกใหญ่ น่าเสียดายที่เพื่อนชาววังหลังของดิฉันว่างไม่ตรงกัน มิฉะนั้นเธอคงเป็นไกด์ในคลอง บอกได้ว่าบ้านใครเป็นบ้านใคร


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 12 เม.ย. 08, 13:24
วัดพระแก้วมีหลายมุมที่ยังสวยอยู่มากครับ
แต่อีกหลายมุมเห็นแล้วก็เศร้าใจ.....





โดยเฉพาะหอระฆัง....  :-X พูดไม่ออกที่สุดครับ
สีสันขนพองสยองเกล้าอย่างสุดจะนึกถึงได้... เหอๆ



ปล. แถวๆสนามหลวงมีเจดีย์ทรงเครื่องที่เกาแบะสวยที่สุดอยู่องค์นึง....
เป็นเจดีย์ indoor อยู่วัดเดียวกะหอระฆังสีเชอร์เบตสตรอว์เบอรี่
พี่กุ้งแห้งฯอย่าลืมแวะไปชมนะครับ อิอิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 เม.ย. 08, 18:09
วัดพระแก้วมีหลายมุมที่ยังสวยอยู่มากครับ
แต่อีกหลายมุมเห็นแล้วก็เศร้าใจ.....
โดยเฉพาะหอระฆัง....  :-X พูดไม่ออกที่สุดครับ
สีสันขนพองสยองเกล้าอย่างสุดจะนึกถึงได้... เหอๆ
ดิฉันก็ไปยืนงงอยู่ที่หอระฆังนานเหมือนกันค่ะ เพราะว่าเที่ยวก่อนที่ไป จำได้ว่ามันไม่ได้เป็นแบบที่เห็นแน่ๆ ความปรารถนาดีที่กลายเป็นประสงค์ร้ายอีกแล้ว


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 16 เม.ย. 08, 21:05
เป็นมาได้ปีกว่าๆแล้วมั้งครับพี่กุ้ง
เพราะพี่คนนึงเคยว่าให้ผมฟังซะ.... เหอ




เอาเถอะซักวันมันก็เก่า
ลูกหลานเราจะได้มีตัวอย่างศิลปะยุคเสื่อมไว้ชมอีกซักชิ้น
ช่างมันๆ....


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 18 เม.ย. 08, 22:01
ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าบริพัตร ฯ เป็นเจ้าของงานสะสมเครื่องมุกที่สวยงามของประเทศ ปัจจุบันงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ค่ะ กรอบรูปนี้ก็ละเอียดหาตัวจับยาก


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 19 เม.ย. 08, 13:26
อีกกรอบหนึ่งที่งามอยู่คู่กันในห้องมุกค่ะ
ในกรอบ เป็นภาพของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี อัครราชเทวี พระมารดาของพระองค์
ทรงเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ ๕
ที่ทำหน้าที่เลขานุการในพระองค์


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 พ.ค. 08, 16:13
น้อยคนนักที่จะสนุกไปกับการเดินชมจิตรกรรมฝาผนังในวัด หรือลายรดน้ำหรือมุกที่ประตู แต่ถ้าไปถูกวัด ก็จะรู้สึกดีด้วยซ้ำ มันเป็นอารมณ์ค่ะ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งเราจะนึกสนุกขึ้นมาแล้วจะสนุกได้ ไปผิดวัด ก็เสียเที่ยว บางวัด ไม่เหลือซาก แต่โครงสร้างก็ยังมีมนต์ขลัง ก็ต้องเลือกวัดดูกันพอสมควร
อย่างดิฉัน ไปสำนักสงฆ์ของท่านพุทธทาสครั้งแรกที่ไชยา เดินเข้าโรงมหรสพทางวิญญาณที่มีผู้ไปสร้างไว้ บอกตรงๆว่าอยากเดินออกทันที
ไม่เหมือนเวลาเดินเข้าพระที่นั่งพุทไธวรรย์ หรือวัดที่เขาวัง เพชรบุรี
วันที่ดิฉันพาสาวเยอรมันล่องเรือในคลองบางกอกน้อย ถ้ามีเวลา จะแวะวัดน่าสนใจอีกหลายวัด
มีคู่มือที่เขียนโดยอาจารย์น ณ ปากน้ำติดมือไปก็น่าจะดี

 


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 พ.ค. 08, 17:13
ความเก่งของคนไทยในเรื่องการออกแบบบ้านเรือนสมัยเก่านี่ ยอมรับว่าเรื่องแสงกับความงามอันวิจิตรหาชาติอื่นทาบติดยากค่ะ หย่องที่ตำหนักแดงทำให้ดิฉันตระหนักถึงคุณค่านี้ ว่า ลายที่ฉลุไว้ เวลาแสงส่องผ่านนี่มันสวยจริงๆ
นึกแล้วคิดถึงตอนเด็กๆ ที่ครูศิลปะให้การบ้านเลื่อยไม้เป็นลายฉลุ
รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เกิดมาเพื่อเอาดีทางนี้ ทั้งที่ชอบมากๆเลย


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 พ.ค. 08, 17:26
หุ่นกระบอกโบราณตัวนี้อยู่ใกล้ๆทศกัณฐ์ค่ะ ทำให้ดิฉันงงๆว่านางสีดาทำไมมีหนวด เสื้อผ้าหุ่นและเครื่องทรงครบเชียว ใครหนอเขียนหนวดให้ผู้หญิงได้ ต้องมีเหตุผลแน่ๆเลย ใครตอบได้บ้างคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 พ.ค. 08, 18:32
เกรงว่าจะหยิบหุ่นมาผิดตัวน่ะซี
แสงลอดหย่อง...งามนัก


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 02 พ.ค. 08, 21:07
สีดาหรอกครับ ??

ปล. ดูจากที่พี่กุ้งถ่ายรูปมา.... เหมือนหุ่นซ่อมใหม่นะครับ แหะๆ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 พ.ค. 08, 21:12
มีคนกระซิบมาค่ะ ว่าบ่ไจ้สีดา แต่เป็นรจนา... โอ๊ย คนที่งามอย่าง "นางในธรณีไม่มีเหมือน" ก็คงงามตรงมีหนวดนั่นเอง :'( :'( :'(


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 04 พ.ค. 08, 10:32
เรื่องของหุ่นกระบอกโบราณในพิพิธภัณฑ์ ดิฉันไม่อยากวิจารณ์ค่ะ มันเป็นเรื่องในรั้วในวัง เราเองก็ศึกษาไม่ทัน ที่มีการซ่อมแซมใหม่ ศิลปินท่านหนึ่งแถวหน้าพระลานเคยบ่นว่า สไตล์โบราณเขาสวย แต่คนซ่อมบางคน ไปเปลี่ยนเป็นไตล์ตัวเอง ดูแล้วไม่ใช่เลย
ดูภาพยักษ์ค่ะ สีสันเส้นสาย สดและประณีต
ส่วนภาพสีดานั้น มีคนกระซิบมาอีกว่า ลูกครึ่งยักษ์ไง.. แล้วก็ทำหน้าซื่อตาใส
เดาๆกันไป จะถือเป็นตำราวิชาการคงไม่ได้
ส่วนยักษ์ตนนี้ จะเป็นใครขอไปค้นอีกทีค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 08, 10:40
น่าจะเป็นเบญกายนะคะ คุณกุ้งแห้ง   นางในลงกาที่มีบทบาทสำคัญพอจะทำหุ่นกระบอก ก็เห็นแต่เจ้าหญิงลงกาคนนี้ละค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 04 พ.ค. 08, 11:10
ขอบคุณค่ะ อาจารย์ นางเบญกายที่แปลงเป็นสีดาใช่ไหมคะ
..
สำหรับภาพนี้ ถ่ายจากตำหนักแดงค่ะ เป็นตู้พิเศษที่รวมเครื่องถ้วยชามซึ่งท่านไกด์กิตติมศักดิ์บอกว่า เป็นผลงานการออกแบบของพระราชินีเจ้าของตำหนัก ต้องส่งไปทำถึงที่จีน เพราะจีนมีเทคนิคการเคลือบสีที่ดีกว่าเรา
ไปยืนดูแค่ศิลปะการออกแบบของท่าน ซึ่งเป็นพระบรมราชินีในรัชกาลที่สอง(กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์) ก็แสนจะทึ่งค่ะ
แต่ถ่ายโคลสอัพไม่ติดเพราะมืดมาก ท่านคงไม่อนุญาต
เท่าที่ได้มาลงเรือนไทย ก็ดีใจแล้ว
 


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 พ.ค. 08, 21:37
เรื่องหุ่นกระบอกวังหน้ามีเรื่องน่าชีช้ำอีกหลายเรื่องครับ

ระพิราพ (?) ที่พี่กุ้งส่งมา ผมเข้าใจว่าเป็นหุ่นหลวงครับ ไม่น่าใช่หุ่นกระบอก


ปล. ผมไม่รู้เรื่องหุ่นเอาเลย รอคุณพิพัฒน์มาตอบดีกว่าครับ งุงิ
แต่ถ้าใช่พระพิราพจริง.... เขาเป็นองค์เดียวกะพระอิศวรนะ สิบอกไห่
แค่คนไทยไม่เข้าใจเท่านั้นแล งุงิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 พ.ค. 08, 21:47
ขออำไพครับ
เรื่องอะไรที่เกี่ยวกะวรรณคดี โง่สนิทจริงๆ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 05 พ.ค. 08, 19:15
ตำหนักแดงนั้น เหมือนท่านไม่อนุญาตจริงๆครับ ถ่ายยากมาก ถ่ายอะไรออกมาไม่เคยชัดสักที

สินค้า "ลายอย่าง" ของไทยนี่มีหลายประเภทนะครับ ของอะไรที่เราทำเองไม่ได้ เราก็ส่งแบบออกไปให้เขาทำแทน ทั้งผ้าทั้งถ้วย

ออกมาเป็นลูกผสม ครึ่งแขกครึ่งไทย ครึ่งไทยครึ่งจีน

คิดว่าสินค้าฝรั่งก็คงมีเช่นกัน แต่ไม่ล่ำสันเท่าแขกกับจีน


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 พ.ค. 08, 23:35
ถ่ายภาพในตำหนักแดง... พอๆกับถ่ายจิตรกรรมในโบสถ์มหาอุดสีทึบๆล่ะครับ
(โชคดี โบสถ์มหาอุดส่วนมากของคนไทย พื้นหลังขาว เลยถ่ายง่ายขึ้น)
ถ้าเปิดหน้ากล้องไม่มากพอ.... ผล >>> แสงไม่พอ
ถ้าเปิดหน้ากล้องนานไปบนพื้นไม้.... ผล >>>> รูปสั่น (ถ้าช่างภาพเดิน)
ถ้าเปิดแฟลช.... ผล >>> แสงสะท้อน ครับ


ผมถ่ายไม่ประสบความสำเร็จซะที
ลองกีที่ๆก็ไม่สวย.... กลุ้มใจ
หาคุณครูหรือที่ปรึกษาด้านการถ่ายภาพอยู่
กราบเรียนขอคำชี้แนะจากทั่นพระเจ้าตาพิพัฒน์ซักนิดเถอะนะครับ



ปล. เครื่องถ้วยชุดที่งามที่สุดในวัง
เขาว่าเก็บไว้ด้านหลังพระที่นั่งอิศเรศครับ
ส่วนที่ปิดไว้ไม่ให้เข้าชม

แต่เฉพาะส่วนที่ชะโงกชะเง้อเข้าไปชมได้
นายติบอก็ว่าเครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้องที่นั่นงามจริงๆครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 พ.ค. 08, 15:36
ถ่ายภาพในที่แสงน้อยนะครับคุณติบอ
1. ตั้ง ISO ให้สูงขึ้น แต่จะมี "เม็ด" ขึ้น ต้องทำใจ ดีกว่าไม่ได้ภาพ
2. ใช้ขาตั้งกล้อง ถ้าเป็นไปได้ ใช้ร่วมกับการตั้งเวลาถ่าย จะลดการสั่นอันเกิดจากตอนที่นิ้วเรากดชัตเตอร์ได้ด้วยครับ

เลี่ยงการใช้แฟลชนะครับ สีบางชนิดจะเสื่อมเวลาโดนแสงมากๆ(เข้าใจว่าสีแดงจะเสื่อมไวมาก) เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาเก็บไว้มืดๆครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 พ.ค. 08, 16:20
พาไปนครปฐมดีกว่าค่ะ อยู่ในรั้วในวังแล้วยังไงๆอยู่
ไปดูลายปูนปั้นที่วิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์..


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 06 พ.ค. 08, 22:56
ขอบคุณ คุณ CrazyHOrse มากครับ
ผมลองปรับ ISO ขึ้นเป็น 200 หรือบางครั้งก็ 400 บ้างครับ
บางครั้งก็มีจุด (แต่บางครั้งโชคดีก็ไม่มีไปครับ)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 06 พ.ค. 08, 23:29
ออกคลองเจดีย์บูชาไปถึงพระปฐมเจดีย์แล้วหรอครับ เร็วจัง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 พ.ค. 08, 12:50
พระปฐมเจดีย์นี้ไม่ไกลจากบ้านเท่าไร ไปมาไม่กี่ครั้งเอง และไม่เคยเข้าไปเดินบนระเบียงรอบองค์พระเจดีย์เลย เรียกว่า ไปวัดไม่ค่อยเป็น วัดโพธิ์นี่หละค่ะ สอนดิฉัน
ที่จริงวัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นหนึ่งนะคะ ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา แต่สีกาหลายคนก็ไม่รู้จักควร ใส่กางเกงั้นจุ๊ดเเหมือนชุดชั้นในเดินอยู่รายรอบ บางราย ใส่ทีเชิ้ตยาวมาปิด เลยดูเหมือนหล่อนไม่นุ่งอะไรด้วยซ้ำ
วัฒนธรรมวิบัติ
แต่สาวรายนี้ เดินเฉียดใกล้มาก ยังค้อมตัวเพราะรู้มารยาท


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 พ.ค. 08, 13:53
มุมหนึ่งจากสายตาผู้ที่ไปไหว้พระร่วงฯ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 พ.ค. 08, 11:11
สาวนครปะท้มบอกดิฉันว่า ที่ดินใกล้ๆวัด เป็นที่ทำการเทศบาลเก่า เขากำลังขุด ขุดๆๆไป เจอฐานรากที่สันนิษฐานว่าเป็นพระราชวังโบราณเข้าไป เลยยกที่ให้กรมศิลป์เสียเลย ขับผ่านไปเห็นแต่รอยขุด กลัวใจชาวโบราณจริงๆ..
แล้วถ้ามันเกิดเป็นวังเก่า หรือวัดโบราณก่อนทวาราวดี จะทำไง มันน่าจะมีวิธีปฏิบัติการที่ดีหน่อย
ขอเงินยูเนสโกมาขุดหรือเปล่าก็ไม่รู้


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 09 พ.ค. 08, 16:33
เรื่องที่ดินที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครปฐมที่ใกล้ๆ วัดพระปฐมเจดีย์ที่คุณกุ้งแห้งเยอรมันหยิบยกขึ้นมาในความเห็นก่อนหน้านั้น  ได้ทราบจากชสวนครปฐมเหมือนกันครับว่า  ที่ดินตรงนั้นเดิมคือพระตำหนักปฐมนคร  เป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างไว้แต่ครั้งเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการบูรณะพระปฐมเจดีย์  อันเป็นที่มาของการขุดคลองเจดีย์บูชามาจนถึงพระตำหนักองค์นี้  และได้เสด็จฯ มาประทับที่พระตำหนักนี้เรื่อยมาตราบจนเสด็จสวรรคต

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ดูเหมือนจะพระราชทานให้เป็นที่ทำการรัฐบาลมณฑลนครไชยศรีหรืออย่างไรนี่แหละครับ  แล้วต่อมามีการรื้อพระตำหนักลงแล้วก่อสร้างเป็นสำนักงานเทศบาลเมืองนครปฐมดังที่เคยเห็นกันอยู่  จนถึงเมื่อปีที่แล้วทางเทศบาลเตรียมการจะสร้างสำนักงานแห่งใหม่  จึงได้จัดการรื้อสโมสรเสือป่าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทำเป็นสวนสาธารณะ  พร้อมๆ กันนั้นก็ได้รื้ออาคารสำนักงานเทศบาลลง  พอรื้อเสร็จมีการขุดดินเพื่อเตรียมการก่อสร้างอาคารใหม่โดยจะจัดทำที่จอดรถยนต์ใต้ดิน  ก็ให้เผอิญไปขุดพบรากฐานของพระตำหนักปฐมนครขึ้น  กลุ่มอนุรักษ์เมืองนครปฐมจึงได้ร้องเอะอะขึ้น  ขอให้ระงับการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาล  และขอให้กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดี  กรมศิลปากรก็ดีใจหายออกคำสั่งห้ามดำเนินการใดๆ  เพื่อรอขุดแต่งทางโบราณคดี  ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยมากว่า ๖ เดือน  หลักฐานทางโบราณคดีก็ตากแดดตากฝนอยู่อย่างที่คุณกุ้งแห้งเยอรมันไปเห็นมานั้นแหละครับ 
 
 
 


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 พ.ค. 08, 10:15
ดิฉันขอขอบคุณคุณV_Meeค่ะ ที่เข้ามาเสริมรายละเอียด
สาวนครปฐมถามดิฉัน ในฐานะที่ไปไหนต่อไหนมาหลายแห่งเกือบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย เพราะเราทั้งคู่ประกอบอาชีพเหมือนกัน ว่ารู้สึกอย่างไรกับบ้านเกิดของเธอ
ดิฉันเล่าว่ามานครปฐมครั้งแรกก็มาดูพระปฐมเจดีย์
ย้ำ มาดูนะคะ
รู้สึกไม่ประทับใจกับผังเมืองปัจจุบันที่ทำลายภาพงามๆของเมืองตอนมาครั้งแรก
เสียดายลักษณะของการวางคลอง สะพาน และถนนของบรรพบุรุษเรา วางได้สวยเชียว
เธอบอกว่า เป็นเมืองที่ไร้ระเบียบเรื่องการขับรถเป็นที่สุด นึกจะจอดก็จอด จะขับสวนเลนก็ขับ
และเป็นเมืองมาเฟียโดยแท้..
แต่คนที่ดิฉันนับเป็นเพื่อนสนิท ลูกน้องสนิท และรุ่นพี่ที่นับถือก็มาอยู่เมืองนี้กันหมดจนได้
เราพยายามเปรียบเทียบเมืองนครปฐมกับเมืองแปดริ้วในแง่วัฒนธรรม คน และเศรษฐกิจ
แปดริ้วมีหลวงพ่อโสธร ดึงดูดเงิน นักท่องเที่ยว และประชาชน
นครปฐมก็มีพระปฐมเจดีย์ และพระร่วงโรจนฤทธิ์ แถมเป็นเมืองโบราณสมชื่อนครปฐม.. มีมหาวิทยาลัยดังมาตั้งอยู่
แต่ทำไม ความคึกคักผิดกัน..
คืนนั้น เราได้คำตอบหลากหลายค่ะ..





กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 พ.ค. 08, 12:07
ปัญหาเชิงโบราณคดีของเมืองนครปฐมคือ การสร้างสิ่งก่อสร้างทับอยู่บนตัวเมืองเก่าครับ

ที่เป็นปัญหาเพราะว่า เป็นการเข้ามาตั้งบ้านเรือนหลังจากเมืองนี้ร้างไปแล้ว จึงกลายเป็นจะอยู่ตรงไหนก็อยู่

ปัจจุบัน จึงได้แต่ทำการสำรวจกันแต่สิ่งก่อสร้างที่โผล่ให้เห็น แต่จะขุดสำรวจก็ลำบาก เพราะติดว่าเป็นที่ดินราษฎร

จะให้ย้ายคนออก ก็ขี่ช้างจับตั๊กแตน  ;D พอๆ กับย้ายคนออกจากอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา

ในเมืองไทย การศึกษาทางโบราณคดีมักมีความสำคัญระดับท้ายๆ เสมอ เพราะรัฐบาลทุกสมัยไม่เห็นความสำคัญ ไม่มีนโยบาย เน้นหาประโยชน์ให้พวกพ้องและตนเองก่อน เป็นกันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ จนถึงท้องถิ่น เพราะโบราณคดีกินไม่อิ่ม อันนี้ว่าภาพรวมนะครับ บางชุมชนก็ตื่นตัว ตามกำลังทรัพย์ของผู้มีอันจะกินของแต่ละชุมชน

"สำรวจ" "ขุดค้น" "วิเคราะห์ข้อมูล" "สังเคราะห์ข้อมูล" และ ที่สำคัญที่สุด "เผยแพร่ข้อมูล" กระบวนการเหล่านี้ มักหยุดอยู่ที่ "ขุดค้น (เบื้องต้น)" ส่วน "การประมวลข้อมูล" แล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นการค้นคว้าใหม่ๆ นั้น น้อยมาก หรือ ถ้ามีก็เก็บไว้ในสำนักงาน ไม่เผยแพร่ ???  :-X

ได้แต่หวังว่า ในอนาคตจะดีกว่านี้ครับ  :-X


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 พ.ค. 08, 12:23
แรงศรัทธา มีคำว่าเกินพอดีไหม???


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 พ.ค. 08, 12:31
คุณHotacunusในฐานะนักโบราณคดี มองแล้วคงเข้าใจ มากกว่าปลงนะคะ เพราะการเข้าใจปัญหา เมื่อโอกาสมาถึง ก็คงจะหาวิธีแก้ไขได้ แต่คนช่างฝันอย่างดิฉันนึกถึงองค์กรประเภท นักอนุรักษ์ไร้พรมแดน เรตอราเตอร์ซองฟรองติแอร์ค่ะ ว่า มีเงินทุนหนาแค่ไหน มาทำงานนครปฐมน่าจะคุ้มค่าเงิน
รัฐบาลที่มีหัวอนุรักษ์และรู้คุณค่าประวัติตร์ไทยต้องมีหัวการตลาด ฉลาดในการทำประชาสัมพันธ์อย่างเดียวไม่พอนะคะ ต้องรู้แหล่งเงินของโลกเพื่อมาช่วยชาติด้วย
ไม่ใช่เหมือนคราวสึนามิ ที่พูดแบบนายทุนเศรษฐีสิ้นคิดว่า
ไทยไม่รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ
..เรารวยอดีตค่ะ แต่อนาคต อาจจะติดอันดับจนปัญญาก็ได้
ใครจะรู้ :-X


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 13:22
น้อยคนที่จะทราบว่า อธิบดีกรมศิลปากร มีอำนาจมากเพียงใหน
แม้แต่อธิบดีกรมนี้....หึหึ

ข้าราชการระดับอธิบดี สามารถสั่งระงับกิจการทั้งปวงได้ ในฉับพลัน
ไม่ต้องอ้างใครทั้งนั้น ใช้แค่กฏหมายโบราณสถานฉบับเดียว
สมมติว่าท่านจะสร้างสนามกบ ขนาดหมื่นล้าน
แต่ในที่ดินของท่าน มีอิฐทวารวดีฝังอยู่

อธิบดีสั่งหยุดโครงการได้ครับ
แต่โดยมาก ท่านจะสั่งตัวเองให้หยุดมากกว่า


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 พ.ค. 08, 14:24
แต่ในประเทศสาระขัน (แปลว่า มีแต่เรื่องขำๆ) นี้ อธิบดี ก็โดนเด้งแบบฟ้าผ่าได้นะครับคุณพิพัฒน์ ถ้าไปเหยียบตาปลาเจ้าพ่อ เจ้าแม่ประจำท้องถิ่นเข้า  ;D

ขนาด ผบ ตร ยังเด้งได้เลย เมื่ออยากเด้ง นับภาษาอะไรกับอธิบดีกรมอื่นๆ  :-\

======================

เรื่องข้อจำกัดในการทำงานนี้ เพื่อนๆ เคยเล่าเหมือนกันครับ เพราะว่า นักโบราณคดีมีน้อย คนเดียวทำหลายงาน โดยเฉพาะงานธุรการ ส่วนงานขั้นรายงานสรุป การวิเคราะห์ สังเคราะห์อะไรใหม่ๆ ไม่มีเวลาทำกันเท่าไหร่ครับ ผมว่าเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างบุคลากร กับอัตราตำแหน่งที่มีน้อย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก เพราะเป็นงานไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ในสายตานักการเมือง)  :'(


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 15:50
ผมเคยทำวิจัยขำขัน....ฮิฮิ
ให้ประเทศสาระเลว....เอ้ย สาระขันนี่
ว่า

เอ็ง....อุ๊บ ท่าน มีรายได้จากการท่องเที่ยว ปีละร้อยบาท
แต่ท่านจ่ายเงินบำรุงแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งในที่นี้ คือมรดกทางวัฒนธรรม
(เพราะแหล่งท่องเที่ยวอื่น เช่นป่าเขา เขามีการดูแลอีกแบบหนึ่งอยู่แล้ว)

แค่ ปีละ ....1 บาท

หรือถ้าจะคิดให้ละเอียดแบบโหดระยับ
ก็คือ ท่านจ่ายเงินแค่ปีละสองพันล้านบาท จากงบรวมปีละหนึ่งล้านล้านบาท

เอ่อ....เครื่องคิดเลขของป๋ม คิดไม่ออกอ่ะ มันน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์นะนั่น
หรือคิดให้เหี้ยมระยิบคือ
ท่านจ่ายเงินปีละแปดหมื่นล้านบาท เป็นค่าฉี่เด็ก
หึหึ เทียบให้เจ็บใจเล่น

นมกลักที่ให้น้องๆ ดื่มตอนเที่ยง(แล้วกลายเป็นฉี่ ถ้ามันไม่บูดเสียก่อน) พวกนั้นแหละ
ใช้งบปีละ 40 เท่า ของที่ให้เป็นค่าดูแลโบราณสถาน
ซึ่งถ้าคิดให้ละเอียดแบบโหดระยับเหี้ยมระยิบคือ ต้องหักหกสิบเปอร์เซนต์เป็นค่าเงินเดือน
คือเหลือเงินเนื้อๆ ในการดูแลทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ
ประมาณ 800 ล้านเอง......อยากรู้ใหมว่าเงินเดือนบวกโบนัสบอดรัดวิสาห่ากิจน่ะ คนละเท่าไร ต่อแห่ง

หรือคุณกุ้งแห้ง อาจจะบอกได้ว่า เงินแค่นี้ ซื้อโคนาของเจ็ดสีได้ปีละกี่นาที.....
ซื้อเต็มหน้าของไทรัดได้กี่หน้า


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 11 พ.ค. 08, 10:02
ราคาค่าโฆษณาเต็มหน้าสีในไทยรัฐกับหนึ่งนาทีในละครช่องเจ็ดสี เราพูดกันที่ปิคอัพดีๆคันหนึ่ง เดี๋ยวนี้อาจจะเป็นโตโยต้าคันเล็กๆแล้วค่ะ คุณพพ.
เพราะราคาสูงขนาดนี้ ทำให้ธุรกิจอย่างการสร้างEventหรือPress Conferenceลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้เมื่อหกเจ็ดปีที่ผ่านมานี่หละค่ะ
ผู้บริโภค เป็นเหยื่อไม่รู้จบ นักโฆษณา ก็ผันตัวเองเป็นนักจัดหรือที่เรียกว่า organizerกันไปตามๆ ..
..
การบริโภคงานศิลป จริงๆแล้วอิ่มกว่ากินไก่ทอดแกล้มน้ำดำและเฟรนช์ฟรายด์ เพราะเป็นความอิ่มที่คงทน ถาวร  แต่ก็ควรจะแสวงหาหน่อย เพราะศิลปะไม่ได้หาง่ายเหมือนสินค้าแดกด่วนทั่วๆไป
หาเจอแล้ว ก็ต้องเห็นค่าอีก
และชวนๆคนที่มีจิตสำนึก ช่วยกันรักษาไว้
เพื่อนๆดิฉันบางคน ไม่เป็นอย่างนั้น เขาบอกว่า มันต้องปลง เราไม่มีหน้าที่ๆจะทำอย่างนั้น
ถ้าคนที่มีหน้าที่โดยตรงไม่ทำ
มันก็ต้องปล่อยเลยตามเลย..
ดิฉันหวังว่า คนที่คิดแบบเขา มันคงจะลดจำนวนลงไปเรื่อยๆเท่านั้น


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 11 พ.ค. 08, 11:01
พระพุทธรูปงามอีกองค์ ต่างกับองค์อื่นที่ครอบตะแกรงค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 13 พ.ค. 08, 06:56
เทียบนครปฐม กับเมืองผ่านอื่นๆ ผมว่านครปฐมละเลยเรื่องการจัดการภูมิทัศน์เมือง และการท่องเที่ยวมากๆเลย ที่จริง มีมหาวิทยาลัยดัง แต่ไม่เห็นจะคึกคักเท่าบางแสน
แถมมีความรุ่งเรืองในอดีตให้ดูอีก
มันเป็นเพราะอะไรไม่ทราบ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 พ.ค. 08, 11:45
ทรงพระปฐมเจดีย์ กลายเป็นแม่แบบของเจดีย์วัดราชบพิธ และเจดีย์ในสุสานหลวง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 พ.ค. 08, 22:18
แอบค้านพี่กุ้งแห้งหน่อยครับ
ผมว่าเจดีย์วัดราชบพิธ ไม่ได้มาจากพระปฐมเจดีย์นา....


เพราะชุดฐานเป็นคนละชุดกันครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 19 พ.ค. 08, 22:54
ช่วยขยายความหน่อยค่ะ คุณติบอ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 พ.ค. 08, 19:02
อธิบายซักเท่าไหร่ดี... จะสั้น หรือยาว ดีหว่า


เอาเป็นว่าตอบสั้นที่สุดก่อนแล้วกันนะครับ
ว่าการสร้างสิ่งก่อสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ละรัชกาล
จะมีพระราชนิยมเป้นของตัวเองอย่างชัดเจน
(เว้นรัชกาลที่ 2 วักรัชกาล เพราะลูกท่านคนที่ทำงานเยอะมาครองราชย์ถัดมา)

เจดีย์แบบรัชกาลที่ 3 ก็มีพระราชนิยมแบบรัชกาลที่ 3
คือเจดีย์ทรงเครื่ององค์ผอมสูงที่ประดับประดาด้วยกระเบื้องอย่างอลังการ
(ขออนุญาตพูดถึงเจดีย์เกือบทุกองค์ที่วัดโพธิ์แล้วกันนะครับ)
พอล่วงเข้ารัชสมัยถัดมา พระราชนิยมก็เปลี่ยนครับ
เพราะท่านว่าเจดีย์ทรงเครื่องนั่นผุง่ายพังง่าย ท่านก็เลยเลิกใช้เจดีย์ไปเครื่องซะ
และเมื่อจะซ่อมหรือสร้างเจดีย์ที่ไหน ก็มักจะโปรดเกล้าให้ใช้แบบพระราชนิยม
ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงลังกา(แบบอยุธยา) แทนแม้กระทั่งกับวัดที่สร้างไม่เสร็จในรัชกาลก่อน
นายติบอลองไล่เจดีย์แบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 4 มาให้พี่กุ้งฯดู
เท่าที่นึกออก คือ พระศรีรัตนเจดีย์ พระนครคีรี และวัดราชประดิษฐ์ นะครับ



ส่วนพระปฐมเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์เดิมที่สร้างมาตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน
การซ่อมใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนรัชสมัยพระจอมเกล้า เขาว่าหน้าตาเหมือนพระปโทนเจดีย์
ถ้าใครอยากเห็นขอให้ปีนขึ้นไปชะโงกดูที่ช่องรูปกลีบบัวที่องค์ระฆังคงจะได้เห็น
(แต่นายติบอความกลัวยังมากกว่าความอยากอยู่ เลยยังไม่ขอดูจะดีกว่า)

และเนื่องมาจากเจดีย์องคืเดิมมีฐานที่ค่อนข้างกว้างและผาย
การซ่อมพระปฐมเจดีย์ก็เลยจำเป็นที่จะต้องยืดองค์ระฆังของเจดีย์ออกไปจากแบบพระราชนิยม
(ลองเทียบกับวัดราชประดิษฐ์ หรือพระศรีรัตนเจดีย์ดูได้ครับ)
ลักาณะและอัตราส่วนของเครื่องประกอบเจดีย์จึงต่างกับเจดีย์พระราชนิยมไปพอสมควร
เช่น ปล้องไฉนจะดูเล็กลงเมื่อเทียบขนาดกับองค์ระฆังที่ผายขึ้นมาก เป็นต้น
ดังนั้น.... ถ้าจะพูดว่าเจดีย์ที่วัดราชบพิธมาจากพระปฐมเจดีย์
ก็ควรจะมีลักษณะร่วมอย่างเด่นชัดที่เห็น เช่น มีชุดฐาน
หรืออัตราส่วนของส่วนประกอบต่างๆในลักษณะเดียวกันครับ





ปล. ว่าแล้วก็แอบถามพี่กุ้งอีกนิดครับ ว่าถ้าแค่ข้ามถนนไปก็มี
จะถ่ายแบบพระปฐมเจดีย์มาทำไมล่ะครับ..... อิอิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 พ.ค. 08, 20:15
คุณติบอเก่งเรื่องเจดีย์จังเลยครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 พ.ค. 08, 20:19
ส่วนพระปฐมเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์เดิมที่สร้างมาตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน
การซ่อมใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนรัชสมัยพระจอมเกล้า เขาว่าหน้าตาเหมือนพระปโทนเจดีย์
ถ้าใครอยากเห็นขอให้ปีนขึ้นไปชะโงกดูที่ช่องรูปกลีบบัวที่องค์ระฆังคงจะได้เห็น
(แต่นายติบอความกลัวยังมากกว่าความอยากอยู่ เลยยังไม่ขอดูจะดีกว่า)


ขอทำความห็นค้าน นายติบอ ครับ
ไม่ต้องถึงกับปีนขึ้นไปชะโงกดูที่ช่องรูปกลีบบัวที่ว่าก็ได้ครับ  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  ทรงให้ช่างวาดภาพไว้ให้ดูที่ผนังพระวิหารหลวงแล้วครับ  ท่านที่สนใจไปชมได้ครับ  ถ้าไปไม่ถูกก็หันหน้าเข้าพระร่วงโรจนฤทธิ์  แล้วเดินไปทางซ้าย  ผ่านอนุสาวรีย์พลเสือป่าเชื้อไปก็จะพบพระวิหารหลวง  เดินเข้าไปกราบพระปฐมเจดีย์แล้วหันหลังกลับจะเห็นภาพจำลองอยู่ที่ด้านหลังครับ  จะได้ไม่ต้องไปเสี่ยงภัยปีนป่ายที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 20 พ.ค. 08, 20:32
 :)อ่านที่คุณติบออธิบายแล้วพี่ปวดสมองค่ะ เอาเป็นว่าก็ถ่ายรูปนี้มาแล้ว แล้วก็จะมาพิจารราอีกทีค่ะ ว่าเหมือนไม่เหมือนนะคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 20 พ.ค. 08, 21:30
สถาปนิกที่สร้างวัดราชบพิธได้รับแรงบันดาลใจมากจากวัดที่เกิดก่อนคือวัดพระปฐมเจดีย์กับวัดราชประดิษฐ์
เห็นได้ชัดจากการวางระเบียงคด รับกับองค์เจดีย์
การวางตัวของพระอุโบสถกับพระวิหารเป็นแบบวัดพระปฐมเจดีย์ คือวางแนวทิศตรงกันข้าม โดยด้านข้างจะมีทางเข้าไปในรอบ ๆพระเจดีย์


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 20 พ.ค. 08, 21:33
ตุ๊กตาจีน หรืออับเฉาที่นำมาแต่งรอบๆขอบระเบียงพระเจดีย์ด้านบน ก็ให้ความรู้สึกน่ารักไปอีกแบบ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 20 พ.ค. 08, 21:52
 ;)ภาพเจดีย์ทองในวัดพระแก้วมาฝากค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 พ.ค. 08, 22:20
ขอบพระคุณ คุณ V_Mee ที่กรุณาค้านครับผม
ผมลืมภาพจิตรกรรมภาพนี้ไปซะสนิทเลยครับ


สำหรับพี่กุ้งฯ
ผมขอถามคำถามง่ายๆแบบนี้ดีกว่า

เอาภาพของพี่กุ้งมาทั้งหมด 3 ภาพ
มีเจดีย์ให้เห็นทั้งหมด 4 องค์
อยากถามพี่กุ้งฯว่า
เจดีย์องค์ไหนปลียอดต่างจากองค์อื่นครับ ?




(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2616.0;attach=2845;image)
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2616.0;attach=2859;image)
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2616.0;attach=2861;image)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 20 พ.ค. 08, 23:33
แอบค้านพี่กุ้งแห้งหน่อยครับ
ผมว่าเจดีย์วัดราชบพิธ ไม่ได้มาจากพระปฐมเจดีย์นา....


เพราะชุดฐานเป็นคนละชุดกันครับ


ตกลงจะพูดถึงฐานหรือปลียอด
ตอบด้วยภาพดีไหมคะ คุณติบอ
แล้วคุณค่อยอธิบายตามหลักวิชาการ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 21 พ.ค. 08, 11:31
ถ้าอย่างนั้นลองเทียบภาพนี้ดูครับ
ผมขโมยภาพมาจากวิกกิพีเดีย
เพราะหาภาพพระปฐมเจดีย์ที่เห็นชุดฐานชัดๆได้ไม่ง่ายนัก
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8f/Phra-Pathom-Chedi_Thailand.jpg)


ถ้าเราเทียบกับเจดีย์ที่วัดราชบพิธดู
จะเห็นว่าเจดีย์ที่สุสานหลวงวัดราชบพิธ
เริ่มชุดฐานชั้นล่างสุดจากฐานบัว 1 ชั้น
ต่อด้วยบัวมาลัยเถา
และใช้บัวคว่ำบัวหงายเป็นบัวปากระฆัง
เหมือนเจดีย์พระราชนิยมองค์อื่นๆในรัชสมัยพระจอมเกล้า
เช่นที่วัดพระแก้ว หรือวัดราชประดิษฐ์

ส่วนพระปฐมเจดีย์ถ้ามองจากระยะไกลๆ จะเห็นได้โดยง่าย
ว่าต่างจากเจดีย์พระราชนิยมองค์อื่นๆอยู่ 2 ประการ
ประการแรกอย่างที่บอกไปในความเห็นก่อนหน้าครับ คือ เจดีย์องค์นี้ปลียอดสั้น
ส่วนประการที่ 2 คือที่เหนือจากบัวมาลัยเถา และบัวคว่ำบัวหงายชั้นบนขึ้นไป
จะมีชั้นเล็กๆ เหมือนเส้นลวด แนบไปกับองค์ระฆังอีก 2 ชั้น
ซึ่งถ้าใครไม่ได้ใส่ใจดูก็อาจจะมองข้ามไปได้โดยง่าย

บางคนเรียกว่าเจดีย์องค์นี้มีบัวปากระฆังซ้อนขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง
แต่โดยส่วนตัวนายติบอไม่กล้าเรียกไปถึงขนาดนั้น
เพราะยังไม่มั่นใจว่าเส้นลวดที่ว่า ควรจะเรียกว่าหน้ากระดาน มากกว่าหรือเปล่า (?)


ปล. พี่กุ้งฯ อาจจะงงอีกรอบ คิคิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 21 พ.ค. 08, 20:42
ไม่ค่อยได้เข้าห้องเรียนศัพทาภิธานฯ กันนานแล้ว  เจอโจทย์อาจารย์ติบอเข้าไป  งงเลย  ขอไปทบทวนก่อนนะจ้ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 22 พ.ค. 08, 21:11
ถึงพี่กุ้งฯ และคุณป้ากุนครับ
เรื่องชุดฐานปล่อยเป็นเรื่องของงานวิชาการดีกว่าครับ
นายติบอมาใบ้โจทย์นิดนึงครับเวลาเรามองสถาปัตยกรรมโบราณ
ขอให้มองแค่แวบเดียว แล้วถามตัวงเองว่า "เคยเห็นที่ไหนมาก่อนมั้ย"
(ถ้าดูมามากพอ คำตอบที่ได้ส่วนมากมักจะออกมาพยางค์เดียวครับ)


เช่น สมมุติว่าคุณป้ากุนมีโอกาสได้ไปเที่ยวชมวัดนายโรง (แถวๆปิ่นเกล้า)
โดยไปกับวิทยากรขาจ้อ แล้วมัวแต่ฟังวิทยากรเลคเชอร์เรื่องประวัติวัดไม่หยุดไม่หย่อน
ว่าวัดนี้สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วก็ชี้โบ๊ชี้เบ๊ให้ดูนั่นดูนี่บ้างไปเรื่อย
(จนไม่มีเวลาชื่นชมในความงามของจิตรกรรมฝาผนัง หรือลักษณะของอาคารเลย)
แบบนี้สำหรับนายติบอถือว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" ในการไปเยี่ยมชมวัดครับ

แต่ถ้าคุณป้ากุนเข้าไปแล้วสามารถบอกตัวเองได้ตั้งแต่แวบแรว่า
"อุโบสถทรงนี้คุ้นๆนี่นาแต่จำไม่ได้ว่าเห็นที่ไหน" นายติบอจะขอให้จดเอาไว้อย่างนั้นล่ะครับ
แค่นั้นถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว.... เพราะเราสามารถกลับมาเปิดดูภาพเก่าๆที่บ้านได้
ว่าเราเคยไปเยี่ยมชมวัดอื่นที่มีอุโบสถทรงเดียวกันที่ไหนมาบ้างหรือเปล่า
แล้วคุณป้ากุนก็อาจจะพบว่ามีภาพอุโบสถทรงเดียวกัน ที่ถ่ายมาจากวัดปราสาท
ซึ่งเป็นวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย..... เราก็จะทราบว่าไอ้ที่วิทยากรบอกมาว่า "สร้าง" เนี่ยะ
ที่จริงมันแค่ "ซ่อม" เพราะลักษณะของสถาปัตยกรรม หรืองานประณีตศิลป์ เป็น "แฟชั่น" อย่างหนึ่ง
ถ้าคนยังชื่นชมกับ "ของใหม่ที่งาม" ไปเรื่อยๆ ศิลปะก็จะมีพัฒนาการต่อไปได้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
น่าเสียดายครับ พระจอมเกล้าท่านโปรดการอ้างอิงของเก่ามากไปหน่อย... ลูกหลานรุ่นถัดๆมา
เลยใฝ่หาแต่อดีตจนหาของใหม่งามๆแทบไม่เจอ.... วัดบางวัดสมัยนี้เข้าไปก็เจอแต่ภาพเก่าๆ
ชิ้นที่คนรุ่นครูเขายกให้ "เจ๋ง" ถูกจับมายำรวมๆกันจนมันคิตช์ไปทั้งโบสถ์แล้ว... สะเหร่อแป๊ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มิ.ย. 08, 21:20
วัดใหญ่ๆที่มีการหมุนเวียนของเงินนักท่องเที่ยวและผู้มาทำบุญ บางวัดเขาก็ทำการบูรณะแบบไม่ทำลายบ้าง แบบอนุรักษ์น่ะค่ะ มี แต่น้อย
แต่บางวัดบูรณะแบบเอาแต่สร้างอาคาร สร้างศาลา แต่ปล่อยวัดให้เต็มไปด้วยกลิ่นปัสสาวะ และกองตอร์ปิโดสุนัขเต็มไปหมด มิหนำซ้ำ ยังปล่อยให้ภาพเขียนฝาผนังมีเด็กที่แค่จบโรงเรียนศิลปะมา วาดใหม่ให้สดใสกว่า แต่ทำลายภาพเดิมนี่
ดิฉันเศร้าค่ะ
จะลงภาพประจานในกระทู้สักภาพ ก็มีคนท้วงว่า
อย่าเลย ถือเสียว่า มันเป็นโฟล์กอาร์ตแล้วกัน..
เห็นไหมคะ บางสิ่งบางอย่าง เรามองไม่เหมือนกัน เราคงไม่สามารถหยุดความคิดของใครได้ เราลบ เขาบวก
เราบวก เขาลบ
ดิฉันว่า ศิลปะไม่ได้เป็นเพียงความสวยงาม หรือสิ่งที่ชำระใจ..
บางทีชำระการยึดมั่นความคิดของตนของเราๆด้วยค่ะ             


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 มิ.ย. 08, 21:43
ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทิ้งท้ายแบบนี้ครับ คุณกุ้งแห้งผู้มาดมั่น
ถ้าแม้แต่ลงรูป เพื่อชี้ว่าอะไรไม่ชอบมาพากล ยังทำไม่ได้
ความถูกต้องจะเกิดได้อย่างไร

ถ้าลงรูปมาแล้ว มีผู้รู้(ดีกว่าเรา) ชี้ว่า นี่เป็นของดี....เป็นศิลปะพื้นบ้าน
อย่างนั้นเราจึงจะยอมรับครับ เราจะได้ฉลาดขึ้นบ้าง

โลกปัจจุบัน มีอาการเจ็บป่วยทางสติปัญญาค่อนข้างสาหัส และลามปามไปถึงวิจารณญานทางคุณค่าด้วย
แถมคนที่สอนหนังสือ ใช่ว่าจะเก่งกว่าคนไม่ได้สอน ข้าราชการก็เรียวลงทุกที ก็ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือแหละครับ

อีกประการหนึ่ง การแสดงความคิดเห็น ไม่น่าจะเป็นพิษเป็นภัย
เว้นแต่พวกชอบหมิ่นประมาทคนอื่น ก็ค่อยมาพิจารณากันอีกที


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มิ.ย. 08, 22:35
 :D ขอบคุณค่ะ ที่มาค้าน ฟังการอภิปรายอยู่หรือคะ
ตกลงค่ะ คุณพิพัฒน์ จะลงให้ชม เพื่อการศึกษา จะได้เห็นว่า เราคิดไม่เหมือนกันเพราะอะไร
โปรดติดตาม


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 30 มิ.ย. 08, 10:29
จากวัดท่าซุง อุทัยธานี อุโบสถเก่าสมัยอยุธยา ภาพฝาผนังสวย แต่...


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 30 มิ.ย. 08, 10:31
เชิญผู้รู้ชมไปเรื่อยๆนะคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 30 มิ.ย. 08, 10:32
ภาพนี้ อยู่ที่ฝาผนังโบสถ์ด้านใน เป็นด้านที่เผชิญหน้ากับองค์พระพุทธรูปประธานค่ะ ดิฉันว่าสวยมาก


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 30 มิ.ย. 08, 10:36
ดิฉันกับเพื่อนเดินเข้าคนละครั้ง เราออกมาด้วยความรู้สึกต่างกัน


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 30 มิ.ย. 08, 10:37
นี่ไงคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 มิ.ย. 08, 22:46
ดูมาตั้งแต่เช้าแล้วครับ ยังดูไม่ออก
ขอตัวช่วยด้วย........


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 ก.ค. 08, 20:57
สังเกตการณ์ต่อจากคุณพิพัฒน์มาอีก 18 วันแล้วครับ
ขอตัวช่วยด้วยคนครับผม


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ก.ค. 08, 10:22
จะรังเกียจไหม ถ้าดิฉันจะขอพักตรงนี้ไว้ก่อน แต่ขอเสริมข้อมูลสั้นๆว่า ภาพจิตรกรรมที่ฝาผนังโบสถ์โบราณสมัยอยุธยานี้ ได้ทำขึ้นใหม่ ที่วัดท่าซุง ดิฉันไม่สามารถหาข้อมูลที่แน่ชัดได้ว่า ภาพพุทธประวัตินี้ แต่งเติมวาดทับภาพเขียนเดิมสมัยอยุธยาหรือไม่ แต่สามารถบอกได้ว่าส่วนที่เสริมเข้ามานั้น เป็นภาพที่เขียนโดยคนเขียนพื้นบ้าน จึงมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ดีหรือไม่ ก็ขอเชิญผู้นใจไปสืบถามกันมา ช่วยให้ความกระจ่างด้วยนะคะ
..
เมื่อวันเสาร์ ดิฉันได้มีโอกาสไปทำธุระที่วัดราชนัดดาราม เคยมองโลหะปราสาทก็จากภายนอก คราวนี้ ได้ไปยลชนิดใกล้ๆเลยค่ะ
รวมถึงได้ขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ยอดปราสาทด้วย
ไม่ได้นำกล้องคู่ใจไปค่ะ จึงไม่มีภาพมาฝาก
ดิฉันดีใจที่โชคดีได้มาที่โลหะปราาทในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสมาก ทั้งที่ตอนเช้า ฝนตก ฟ้ามัวซัว แต่ก็เหมือนวันดีอีกวัน ที่ฟ้าเริ่มชำระสิ่งที่หม่นหมองออกไป เราจึงได้พบสิ่งที่ดีๆ ปลอดโปร่งหลายอย่าง โดยไม่คาดคิด
รวมถึงได้สนทนากับท่านเจ้าอาวาสที่ท่านเดินมาสนทนากับเราโดยบังเอิญ
ท่านปรารภสิ่งหนึ่งคือเรื่องโจร ซึ่งฉกฉวยทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นฝาครอบท่อระบายน้ำ และใจหยาบถึงขั้นพยายามตัดลูกกรงขโมยสิ่งสำคัญด้านบน
..ดิฉันได้เข้าไปชมพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปรัตนโกสินทร์ หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่สาม บอกตรงๆในกระทู้นี้ค่ะ ว่างามจับใจ วัดนี้ไม่มีการจัดแสงไฟนะคะ ใข้แสงจากหน้าต่างล้วนๆ องค์พระจึงงามสง่า รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังก็มีไอเดียไม่เหมือนใครค่ะ
รัชกาลที่สามท่านสร้างให้หลาน ซึ่งต่อมาคือ พระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีในรัชกาลที่สี่ เหมือนจะทรงล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคต..


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ก.ค. 08, 21:43
ขอบพระคุณสำหรับตัวช่วยของคุณกุ้งแห้งครับ
ผมดีใจมากครับ ที่ได้ทราบถึงความรู้สึกที่พี่กุ้งแห้งเล่าเอาไว้

การซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังเกิดขึ้นกับงานจิตรกรรมไทยเสมอครับ
เพราะประเทศเราเป็นประเทศเมืองร้อน อากาศค่อนข้างชื้น
แต่วิธีการเขียนงานจิตรกรรมที่ใช้สืบทอดกันมาไม่ทนชื้นเอาเสียเลย
บ่อยครั้งภาพเขียนก็เลยถูกน้ำฝนที่รั่วลงมาจากชายคาชะไปให้เสียหาย
หรือน้ำใต้ดินที่ซึมขึ้นมาจากพื้นทำให้พื้นสีที่รองไว้หลุดร่อน
ซึ่งถ้าเกิดขึ้นมาก การปล่อยเอาไว้ก็ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควรแก่ศาสนสถาน

ในลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ที่มีถึงกรมพระยาดำรงฯ
ฉบับลงวันที่ 19 ส.ค. 2548 (ผมขออนุญาตบอกวันที่นะครับ
เพราะสานส์สมเด็จแต่ละชุดอาจจะอยู่กันต่างหน้า-ต่างเล่มได้)
สมเด็จครูท่านตรัสชมเชยถึงภาพจิตรกรรมชิ้นหนึ่งเอาไว้ว่า

"แต่ก่อนมีรูปเขียนมารประจญในพระวิหารเบื้องบุรพทิศ
เป็นฝีมือดีล่ำเลิศประเสรีฐยิ่งกว่าที่ไหนหมดในพระราชอาณาจักร
มีความเสียใจที่ไม่ได้รักษา ปล่อยให้หลังคารั่วจนฝนชะลอกเสียเปนอันมาก
เหลืออยู่ดูได้เปนหย่อมๆ ครั้นซ่อมใหม่ก็เลยถูกลบซ้ำ
ฝีมืออันประเสรีฐนั้นก็สูญสิ้น น่าเสียดายเปนอย่างยิ่ง
ผู้เขียนนั้นได้ทราบชื่อว่าพระอาจารย์นาค (ภิกษุ) ฝีมือยังมีอยู่อีก
ที่ด้านอุดหลังพระอุโบสถวัดราชบุรณะ แลที่หอพระไตรปิฎกวัดระฆัง
แต่ไม่ได้ตั้งใจทำจนสุดฝีมือเหมือนมารประจญที่นี้"


ผมอยากยกข้อความตรงมาเรียนพี่กุ้งแห้งฯ เรื่องจิตรกรรมฝาผนังว่า
บ่อยครั้ง ที่ภาพจิตรกรรมที่ถึงจะงามที่สุด สวยที่สุด หรือหายากที่สุด
ก็จำต้องลบเลือนไปตามกาลเวลาครับ และถึงแม้ว่าจิตรกรรมที่ลบเลือนได้ง่าย
จะไม่ได้อยู่รับใช้นักวิชาการผู้หยิบยกรายละเอียดของจิตรกรรมมาใช้ประโยชน์ได้นาน
แต่จิตรกรรมก็ยังคงรับใช้ศาสนสถานอย่างซื่อสัตย์และเตือนเราถึงความไม่เที่ยงอยู่เสมอ

ภาพจิตรกรรม "ฝีมือบ้านๆ" บางแห่ง ก็ทรงคุณค่าโดยตัวของจิตรกรรมเองนะครับ
อย่างภาพที่พี่กุ้งแห้งฯชอบน้อยที่สุดภาพหนึ่ง ก็ได้รับเลือกเป็นภาพปกหนังสือของ
อ. วรรณิภา ณ สงขลา นักอนุรักษ์จิตรกรรมที่น่าเคารพที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทยครับ




ปล. ภาพหนายผมขออานู๊ยาดม่ายบอกนะกั๊บ อิอิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 28 ก.ค. 08, 09:38
คุณติบอคะ ถ้าคุณอยู่ใกล้ๆตรงนี้ โดนหยิกหนึ่งทีแน่ๆฐานอมพะนำ  >:( >:( >:(
คุณไม่บอกแล้วคนอ่านจะทราบได้อย่างไรล่ะคะ เราไม่ได้เขียนและอ่านกันแค่สองคนนะคะ  :( :( :(
...
เพื่อนต่างชาติดิฉันคนหนึ่ง เป็นคนที่ดูเหมือนไม่สนใจศิลปะวัฒนธรรมเท่าไหร่ มาเมืองไทยที ไม่ชอบไปวัด สนใจแต่ว่าจะหาที่ไปรับประทานอาหารอร่อยๆที่ไหน หรือไปนวดให้หายเมื่อยที่ไหนบ้าง วันดีคืนดี เจ้าประจำที่เขานวดมาตลอดก็เกิดยุบกิจการไป  ดิฉันจึงแนะนำที่ๆเพื่อนเคยไปและชมเปาะให้เขา เขาชอบมาก แต่ยังเหลือวันว่างหนึ่งวัน ดิฉันจะทำอย่างไรดี
เพื่อนแนะนำให้พาไปรับประทานกุ้งเผาที่อยุธยา ดิฉันและเพื่อนผู้หญิงจึงขับรถพาเขาไปอยุธยากัน
ดิฉันพาเขาไปแวะที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา และใช้เวลาอยู่ที่นั่นเต็มๆสองชั่วโมง
อย่าว่าแต่ต่างชาติเลยค่ะ เพื่อนคนไทยของดิฉันเกิดมาก็ไม่เคยมาพิพิธภัณฑ์ ยังประทับใจ
แม้แต่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ที่กทม. ซึ่งงดงามมาก แต่คนมองข้ามไปข้ามมา อยู่ที่สนามหลวง ดิฉันพาฝรั่งมังค่าที่เลือกแล้วว่า น่าจะเจริญด้วยสติปัญญาไป ก็ไม่ผิดหวัง
ที่โลหะปราสาทวัดราชนัดดาก็เช่นกัน ดิฉันเห็นหนุ่มสาวไทยสะพายกล้องขึ้นบันไดไปไหว้พระบรมสารีริกธาตุ ก็ปลื้ม
ฝรั่งมังค่าก็เช่นกัน หลวงพ่อเจ้าอาวาสให้ดิฉันเป็นไกด์ยืนอธิบายฝรั่งวิธีไหว้พระ ทำบุญ อธิษฐานแทนในวันนั้นพักหนึ่ง ฝรั่งระดับที่มาเที่ยววัด ก็เชื่อฟังให้ความร่วมมือเป็นอันดี
จากโลหะปราสาท เรามองเห็นมุมที่งามๆของภูเขาทอง เสาชิงช้า และกรุงเทพชั้นในได้
ถ้าไม่ขึ้นก็ไม่เห็นค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ก.ค. 08, 22:34
ส่งท้องแขนมาให้พี่กุ้งแห้งหยิกครับผม
เพราะยังอยากอมพะนำเอาไว้อีกซักกะหน่อยอยู่ดี
ก็มันแค่รูปเดียวอ่ะคับ ใครสนใจวิ่งไปห้องสมุดค้นชื่อผู้แต่ง
วรรณิภา ณ สงขลา แล้วไปไล่ปกหนังสือดู
ไม่เกินชั่วโมงเดียวรับรองครับ ว่าได้คำตอบ


เสียดายอย่างเดียว....
นอกจากเรื่องไม่คิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่สาธารณะล้ว.....
คนไทยเกลียดการเข้าห้องสมุดเป็นชีวิตจิตใจซะร้อยละ 99
(นายติบอแถม .99 ให้ด้วยเลยเอ๊า)
แต่มั่นใจว่าพี่กุ้งฯ อยู่ใน .01 ที่ไม่ใช่ครับ จิงมะกั๊บ  :)



ปล. ตั้งแต่กลับมาเป็นนักศึกษาอยู่ 2 เดือนกว่าๆนายติบอบอกเพื่อนเสมอว่า
ยกเว้นเรื่องเงินแล้ว "รับฝากทุกเรื่อง ยกเว้นการค้นหนังสือในห้องสมุด" ครับ
เพราะหนังสือเล่มข้างๆน่ะ มักจะน่าอ่านกว่าหนังสือเล่มที่เราไปหาเสมอล่ะครับ อิอิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 01 ส.ค. 08, 07:35
เรื่องพิพิธภัณฑ์ หรือแกลเลอรี่ ดิฉันไม่ผิดอะไรกับคนไทยทั่วไปมาก่อนค่ะ แม้จะเป็นคนที่ชอบเรียนประวัติศาตร์ ประเพณี ภาษาและศิลปะ แต่หลังจากได้ไปเปิดหูเปิดตาที่เมืองนอกเมืองนา เราก็แห่ตามเพื่อนฝรั่งไปพิพิธภัณฑ์ จนชอบ และรู้สึกว่า การเดินทางนั้นมีค่ามาก
ที่เคยเห็นว่าพิพิธภัณฑ์นั้นน่าเบื่อ เก่า นิ่ง โทรม ก็หักเห
อย่างพิพิธภัณฑ์เมืองร่างกุ้ง ก็ไปทุกครั้ง ใช้เวลาเป็นวัน จนจำได้ทุกมุม เพราะของน้อย และเล็กมาก แต่ก็ยังพอมีอะไรให้คิดเสมอ
ส่วนห้องสมุดน่ะ ของโปรดแต่เด็กค่ะ คุณติบอ
ตอนนี้มีห้องสมุดกูเกิ้ลแทนแล้วไงคะ ห้องสมุดสาธารณะที่เคยชอบอย่างเอยูเอ จุฬา นีลสันเฮยส์ บริทิช เคาน์ซิลไม่ได้ไปอีกเลย
แต่ถ้ายังเรียนยังสอน ก็คงมีโอกาสได้ไปบ่อยๆค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๔ "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 14 ก.ย. 08, 08:12
ย้อนกลับไปอุทัยสักนิด
จากวัดท่าซุงเข้าตัวเมืองอุทัย มองจากตลาดริมน้ำข้ามไปที่เกาะฝั่งตรงข้าม
จะเห็นวัดนี้ ที่น่าสังเกต คือตัวเจดีย์ค่ะ