เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 14, 10:20



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 14, 10:20
   ชีวิตจริงของลอร่าเมื่อนิยายชุด "บ้านเล็ก" ตอนสุดท้าย คือ "ปีทองอันแสนสุข" -These Happy Golden Years จบลง  เป็นชีวิตที่หนักหนาเท่าที่สาวชาวนาคนหนึ่งจะประสบได้     
   ตามธรรมเนียมของอเมริกัน    งานที่ผู้หญิงทำมีอยู่น้อยมาก    ถ้าเป็นครูพอแต่งงานแล้วก็ต้องเลิก เพราะสมัยนั้นครูผู้หญิงมีแต่สาวโสดเท่านั้นที่ทำได้     เมื่อแต่งงานแล้วหน้าที่ก็คือทำงานบ้านและเลี้ยงลูก  ไม่ต้องทำงานในไร่นา    งานในเมืองก็มีแต่งานเย็บผ้าหรือเป็นพนักงานเสิฟในโรงแรม      แต่ทำไร่ทำนาต้องอาศัยทั้งแรงงานและแรงเงิน   เพื่อประหยัดเงินค่าจ้างลูกมือ  ลอร่าจึงต้องละเมิดบทบาท  ทำงานในนาเสียเอง   เธอช่วยเขาไถนา ถือคันไถเทียมด้วยม้าหกตัว ลากไปตามทุ่งนาเพื่อปลูกข้าวสาลี     เธอเลี้ยงไก่ไว้เอาไข่  ปั่นเนยเอง    เมื่อมีเหลือเกินต้องการเธอก็ให้แอลแมนโซเอาไปขายในเมือง  แต่พบว่าชาวเมืองต่างก็เลี้ยงไก่เอาไข่และปั่นเนยเองทั้งนั้น
   แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตหนักนี้ก็ไม่ได้ขาดความสุข  ทุกวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดงาน   แอลแมนโซกับลอร่าออกไปขี่ม้าเล่น   เธอหัดขี่ม้าโดยใช้บังเหียนและอานเหมือนโคบาลหญิง   และควบม้าได้เร็วกว่าสามีเสียอีก   บางวันเธอกับสามีก็นั่งรถม้าไปเยี่ยมพ่อแม่และน้องๆ
   เวลาล่วงมาจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ปี 1886 เมื่อดอกกุหลาบป่า ดอกไม้โปรดของลอร่าเริ่มคลี่ดอกสีชมพูบานเต็มท้องทุ่ง  ลอร่าก็ออกไปควบม้าแข่งกับสามีไม่ได้ตามเคย  เพราะเธอพบว่ากำลังตั้งครรภ์     เมื่อสามีปรารภว่าจะได้ลูกชายหรือลูกสาวก็ไม่รู้  ลอร่าก็ตอบอย่างแน่ใจว่า
    "เป็นลูกสาว   ฉันจะตั้งชื่อแกว่า "โรส" "


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 14, 21:05
  ในฤดูร้อนปี 1886   ข้าวสาลีเริ่มจะสุก   เป็นข้าวที่งามได้ผลดีเลิศจนแอลแมนโซคำนวณได้ว่าจะขายได้ราคาประมาณ 3000 ดอลล่าร์   เงินจำนวนนี้ต่อให้จ่ายภาษี  จ่ายค่าเครื่องไม้เครื่องมือทำนา  จ่ายค่าสร้างบ้าน ฯลฯ ก็ยังมีเงินเหลือพอกินพอใช้อย่างสบายทั้งสองคน   
   แต่พอล่วงมาถึงเดือนสิงหาคม  ใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวเต็มที   จู่ๆวันหนึ่งเมฆดำทะมึนก็เคลื่อนมาเต็มฟ้า    จากนั้นพายุลูกเห็บก็กระหน่ำลงมาอย่างหนัก     แอลแมนโซกับลอร่าได้แต่ตะลึงมองจากหน้าต่างบ้านโดยไม่รู้จะทำอะไรดีกว่านั้น     กว่าพายุจะสงบ  ไร่ข้าวสาลีก็พังพินาศไม่มีเหลือ    เงินก้อนใหญ่ละลายหายไปในอากาศ
   เมื่อไม่มีรายได้เข้ามา  แต่รายจ่ายยังคงที่  ทั้งสองก็ต้องหาเงินและจำกัดรายจ่ายลงเท่าที่จะทำได้     อย่างแรกคือเอาบ้านไปจำนองธนาคาร  เพื่อได้เงินมาเป็นทุนปลูกข้าวในปีต่อไป      แต่ธนาคารกำหนดให้ลูกหนี้ต้องพำนักอยู่ในที่ดินของตัวเอง ไม่ให้ย้ายไปที่อื่น  แอลแมนโซจึงซ่อมเพิงเก่าแก่ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน    แล้วย้ายไปอยู่ที่นั่นแทน
   ลูกสาวคนแรกของลอร่าถือกำเนิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม    แม่มาช่วยดูแลให้สองสามวันก่อนจะกลับบ้าน   ต่อจากนั้นก็มีแต่พ่อแม่และลูกน้อยอยู่กันลำพัง 3 คนตลอดฤดูหนาว

  เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่า เมื่อลอร่าแต่งงานไปแล้ว  เกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่และพี่น้องทางบ้านของเธอ  เรื่องนี้ไม่ได้เล่าไว้ในหนังสือค่ะ

   โรส ไวล์เดอร์ ในวัยเยาว์


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 14, 10:52
   ย้อนกลับไปทางบ้านเก่าของลอร่า
   ชาร์ลส์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่เขาจับจองเอาไว้เป็นเจ้าของแล้ว หลังจากลอร่าแต่งงานไปได้ 1 ปี    แต่หลังจากนั้นอีก 2 ปี  เขาก็พบว่าแม้ที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะกับปลูกข้าวโพดข้าวสาลี  แต่ลมฟ้าอากาศและศัตรูธรรมชาติอย่างอื่นไม่เป็นใจเอาเสียเลย    บางปีก็เจอนกดำลงมากินข้าวจนเกลี้ยง    บางปีก็เจอพายุลูกเห็บ   บางปีอากาศก็เกิดแห้งแล้ง แดดจัดแผดเผาต้นข้าวจนเกรียมไม่ออกรวง    ทำไร่ทำนาไปก็มีแต่ขาดทุน   อย่าว่าแต่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลย แม้แต่ประคองตัวเองไม่ให้เป็นหนี้สินก็ไม่ไหวแล้ว
   ในค.ศ. 1887  ชาร์ลส์มีอายุ 51 ปี    ชราเกินกว่าจะทำงานหนักในไร่นาอีกต่อไป   เขาเป็นผู้ชายคนเดียวของครอบครัว  ไม่มีลูกชายจะแบ่งเบาช่วยแรงงาน     มีแต่ลูกสาวซึ่งยังเรียนหนังสือกันอยู่ทั้งสามคน     เขาก็เลยตัดสินใจ-ด้วยความเห็นชอบของแคโรไลน์  ขายที่นา เลิกทำฟาร์ม  แล้วอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองเดอสเม็ตแทน
   ชาร์ลส์ปลูกบ้านในที่เล็กๆ ริมถนนสายที่สามในเมือง  เป็นทำเลที่เหมาะมาก เพราะอยู่ใกล้โบสถ์และใกล้ร.ร. ที่แครี่และเกรซจะเดินไปได้สบายๆ     เขาสร้างบ้านด้วยตัวเอง   เป็นบ้านสองชั้น น่าสบาย มีห้องหลายห้อง สร้างอย่างดีมั่นคงแข็งแรง  จึงอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้
   นักท่องเที่ยวก็ยังแวะเข้าไปชมบ้านหลังนี้  ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์และร้านขายของที่ระลึก
  


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 14, 12:43
ย้อนกลับไปที่ลอร่า   
หลังจากพ่อขายที่นาแล้วไปตั้งต้นอาชีพใหม่ในเมือง  ลอร่ายังคงอยู่ที่เพิงกลางนากับแอลแมนโซ  เขาพยายามปลูกพืชผลอีกครั้งอย่างไม่ท้อถอย    แต่โชคนอกจากไม่เข้าข้างแล้ว เคราะห์ยังกระหน่ำซ้ำเติม   ลอร่ากับแอลแมนโซล้มป่วยลงด้วยโรคคอตีบ (Diphtheria) ในยุคนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
ส่วนโรสรอดพ้นไม่ติดเชื้อจากโรคนี้  เธอต้องถูกแยกจากพ่อแม่ไปอยู่กับตายายในเมืองชั่วระยะหนึ่ง   พ่อกับแม่ก็ต้องอยู่ที่เพิงกลางนา มีลุงรอยัลพี่ชายของแอลแมนโซเป็นคนดูแล
ลอร่าโชคดีกว่าสามีตรงที่หายป่วย รอดตายมาได้  ส่วนแอลแมนโซแม้ว่ารอดตายจากโรคนี้เช่นกัน  แต่เขามีอาการแทรกซ้อนจากติดเชื้อ ทำให้ประสาทอักเสบ (neuritis)
ถ้าท่านใดทราบว่าคืออะไร  กรุณาอธิบายเพิ่มเติมจะขอบคุณมากค่ะ
ผลจากอาการแทรกซ้อนทำให้ขาของแอลแมนโซพิการเดินไม่ได้ไปชั่วคราว    แม้ว่าหายแล้วก็ยังไม่กลับมาดีเท่าเดิม  เขาต้องใช้ไม้เท้าพยุงกาย   เดินกระโผลกกระเผลกไปตลอดชีวิต   
ร่างกายที่เคยหนุ่มแน่นแข็งแรงกลายเป็นร่างกายกึ่งพิการ  อ่อนแอเกินว่าจะหว่านข้าว ปลูกและไถข้างสาลี ได้อย่างเมื่อก่อน   บวกกับภัยธรรมชาติคือลมฟ้าอากาศแห้งแล้งหลายปีติดต่อกันในรัฐดาโกต้าใต้  ทำให้ลอร่าและแอลแมนโซแทบจะหมดเนื้อหมดตัว  เป็นหนี้สินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 14, 09:31
เคราะห์ร้ายไม่ได้มาหนเดียว-อย่างที่โบราณว่ากัน     ลอร่าตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สองในต้นปี 1889  ซึ่งเป็นปีที่อากาศร้อนและแห้งแล้วจนต้นข้าวสาลีถูกแดดแผดเผาตายทั้งๆยืนต้นอยู่ในนา      ในเดือนสิงหาคม เธอคลอดบุตรชายหน้าตาเหมือนพ่อ  แต่หนูน้อยอยู่ได้เพียงสองสัปดาห์ก็หมดลมหายใจไปเฉยๆ
ความเศร้าโศกของลอร่ามีมหาศาล ไม่แพ้แม่ของเธอเมื่อสูญเสียลูกน้อยเฟรดดี้    ในตระกูลนี้ สามชั่วคนเต็มๆที่ลูกชายไม่รอด  แคโรไลน์เสียเฟรดดี้  ลอร่าเสียลูกชายที่เธอยังไม่ทันตั้งชื่อ    และต่อมาเมื่อโรสโตเป็นสาว แต่งงานมีบุตรชาย ลูกน้อยของเธอก็สิ้นชีวิตหลังคลอดเช่นกัน     ไม่มีใครทราบว่าเป็นกรรมพันธุ์ที่สืบทอดกันมาหรืออย่างไร

ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือสุขภาพของแอลแมนโซ     งานในไร่นาเป็นงานหนัก ชาวนาต้องมีร่างกายแข็งแรงบึกบึนจึงจะทำงานไหว  มาบัดนี้เขากลายเป็นคนกึ่งพิการ นอกจากเดินเหินไม่ถนัด  นิ้วเขาก็ยังแข็งขัดหยิบจับอะไรไม่ได้    ลอร่าต้องช่วยเขาทุกอย่าง    รวมทั้งเทียมม้าให้ลากไถ    ที่ดิน 320 เอเคอร์ที่มีอยู่ก็กลายเป็นใหญ่เกินไปเสียแล้วสำหรับสองคน   เขาก็เลยต้องขายครึ่งหนึ่งออกไป เก็บไว้เพียงครึ่งเดียว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 14, 11:50
หลังสูญเสียลูกชาย ลอร่าตกอยู่ในภาวะเศร้าซึม ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร   โรสซึ่งขณะนั้นอายุเกือบสามขวบแล้ว  พอจะช่วยแม่ทำงานบ้านได้   หน้าที่เธอคือขนฟืนหญ้าแห้ง(หญ้าแห้งที่บิดและมัดเป็นท่อนยาวๆจนแข็งเหมือนฟืน) มาใส่เตาผิง      แต่วันหนึ่งหญ้าแห้งใส่เตานั้นติดไฟ ลามมาถึงหญ้าแห้งที่โรสกำลังใส่เข้าไปในเตา    โรสสะบัดหญ้าแห้งทิ้งลงบนพื้น   ไฟก็เลยลุกพรึ่บไปตามพื้นไม้กระดาน    ลอร่ามีเวลาเพียงฉวยตัวโรสวิ่งออกจากบ้าน   พร้อมด้วยข้าวของสองสามชิ้น     ส่วนบ้านทั้งหลังมอดไหม้ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้อื่นๆทั้งหมด
 
เมื่อสิ้นเนื้อประดาตัว   แอลแมนโซกับลอร่าก็ไม่มีทางอื่นนอกจากตัดสินใจอพยพออกจากดาโกต้าไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเขาชั่วคราวที่มินเนโซตา  เพราะที่นั่นพ่อทำฟาร์มได้ผลดี  ต้องการลูกมือช่วยงาน     ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมลอร่าไม่หาทางไปอยู่ในเมืองกับพ่อแม่ของเธอ  คำตอบคือพ่อเองก็ใช่ว่าจะมีเงินทองพอจุนเจือลูกได้     เมื่อเลิกทำฟาร์ม เขาก็ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวต่อไปอีกเช่นกัน     สุขภาพของแอลแมนโซก็อ่อนแอเกินกว่าจะทำงานในเมืองได้นาน

ด้วยเหตุนี้ หลังจากสี่ปีที่แต่งงานกัน  ลอร่า แอลแมนโซและโรสก็ออกเดินทางไกลไปมินเนโซตา    ชีวิตช่วงนี้ เธอไม่ได้เล่าเอาไว้ในนิยายของเธอ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 14, 15:04
  พ่อกับแม่ของแอลแมนโซต้อนรับลูกชาย ลูกสะใภ้และหลานตัวน้อยๆด้วยเมตตาจิต      ลอร่าจึงอาศัยอยู่ในมินเนโซตายาวนานถึงหนึ่งปีเศษ      เธอสังเกตว่าสุขภาพของสามีฟื้นตัวช้ามาก    มีคนแนะนำว่าอากาศที่มินเนโซตาหนาวจัด  ถ้าหากว่าเขาย้ายไปในที่อากาศอุ่น สุขภาพจะแข็งแรงขึ้น     ประกอบกับลูกพี่ลูกน้องของลอร่า คือปีเตอร์   ไปแต่งงานและตั้งถิ่นฐานอยู่ในฟลอริดาในเวลานั้น  เขียนจดหมายมาชวนให้ไปอยู่ที่นั่น      เธอจึงปรึกษากับสามี  ไปตั้งหลักใหม่ในรัฐฟลอริดาที่อากาศอบอุ่น และชุ่มชื้นมากกว่ามินเนโซตาหลายเท่า    เมื่อปรึกษาแอลแมนโซ ตกลงกันได้  เขาก็ขายสัตว์เลี้ยงและเครื่องมือเครื่องใช้   เก็บเสื้อผ้าลงหีบ  พาภรรยาและลูกสาวนั่งรถไฟจากมินเนโซตาไปฟลอริดา
   ชีวิตที่ฟลอริดาไม่เป็นสุขอย่างที่คาดหวัง    อย่างแรกคือลอร่าไม่ถูกกับอากาศร้อนชื้นของรัฐนี้    อย่างที่สองคือบรรดาเพื่อนบ้านและแม้แต่ภรรยาของปีเตอร์ก็ไม่เป็นมิตรด้วย     ทุกคนมองลอร่าเป็น "สาวรัฐเหนือ" ที่หัวสูงเพราะเธอไม่เข้ากลุ่มสุมหัวกับพวกเพื่อนบ้าน   ข้อหลังนี้ก็พอเข้าใจได้  เพราะชีวิตที่ลอร่าคุ้นเคยคือชีวิตในทุ่งกว้างที่ชาวนาต่างคนต่างทำงานตัวเป็นเกลียวเกินกว่าจะมีเวลาสังสรรค์กันบ่อยๆ     ในที่สุด เมื่อทนต่อไปไม่ไหว  ลอร่าก็ตัดสินใจอีกครั้ง ขอกลับบ้านที่รัฐดาโกต้าใต้  ทั้งๆยังอยู่ฟลอริดาได้ไม่ถึงปี
   ประสบการณ์ในช่วงนี้คงไม่มีอะไรดีสำหรับลอร่า   เธอจึงไม่คิดจะถ่ายทอดเป็นนิยายให้เยาวชนได้อ่านกันเลย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 14, 15:14
ลอร่าเขียนบันทึกเอาไว้ถึงฟลอริดาตอนหนึ่งว่า
" เป็นที่ๆต้นไม้กระซิบกระซาบต่อกัน...ผีเสื้อตัวใหญ่มหึมาบินโฉบไปมา   พืชพันธุ์ที่กินแมลงเจริญงอกงามอยู่ในอากาศชุ่มชื้น   จระเข้อาศัยอยู่ในน้ำไหลเอื่อยตามแม่น้ำ"
เคยไปฟลอริดามาหนหนึ่งในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิเข้าฤดูร้อน    อากาศที่นั่นทำให้นึกถึงประเทศไทย   คือตอนกลางวันอากาศสบายๆพอกับตอนเช้าของไทย  มีแดดอุ่นและชุ่มชื้น  ข้างไฮเวย์มีป่าไม้เบญจพรรณหรืออะไรที่ทำให้นึกถึงป่าเบญจพรรณ เพราะมันเป็นไม้ยืนต้นเขียวสดขึ้นเป็นแนวหนาแน่น   เหมือนป่าภาคกลางในยุคก่อนจะถางป่ากันจนเตียนอย่างเดี๋ยวนี้
บ้านเพื่อนที่ไปพักเป็นหมู่บ้านมีทะเลสาบหลังบ้าน  คล้ายๆบ้านจัดสรรชั้นดีในบ้านเรา     เพื่อนกำชับว่าต้องปิดประตูด้านหลังให้ดี  ไม่งั้นจระเข้ในบึง(ซึ่งเป็นบึงเปิดต่อกับทะเลสาบภายนอก) จะคลานขึ้นมากินแมวในบ้านได้     มีเพื่อนบ้านเปิดประตูหลังไปจ๊ะเอ๋กับไอ้เข้ไอ้โขงมาแล้ว
พออ่านถึงตอนนี้ก็เลยไม่สงสัยว่าทำไมลอร่าตื่นตาตื่นใจกับฟลอริดามากเมื่อแรกเห็น  มันแทบจะตรงข้ามกับดาโกต้าใต้และมินเนโซตาราวกับอยู่กันคนละประเทศ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 23 ม.ค. 14, 19:39
ลอร่าโชคดีกว่าสามีตรงที่หายป่วย รอดตายมาได้  ส่วนแอลแมนโซแม้ว่ารอดตายจากโรคนี้เช่นกัน  แต่เขามีอาการแทรกซ้อนจากติดเชื้อ ทำให้ประสาทอักเสบ (neuritis)
ถ้าท่านใดทราบว่าคืออะไร  กรุณาอธิบายเพิ่มเติมจะขอบคุณมากค่ะ
ผลจากอาการแทรกซ้อนทำให้ขาของแอลแมนโซพิการเดินไม่ได้ไปชั่วคราว    แม้ว่าหายแล้วก็ยังไม่กลับมาดีเท่าเดิม  เขาต้องใช้ไม้เท้าพยุงกาย   เดินกระโผลกกระเผลกไปตลอดชีวิต   
ร่างกายที่เคยหนุ่มแน่นแข็งแรงกลายเป็นร่างกายกึ่งพิการ  อ่อนแอเกินว่าจะหว่านข้าว ปลูกและไถข้างสาลี ได้อย่างเมื่อก่อน   บวกกับภัยธรรมชาติคือลมฟ้าอากาศแห้งแล้งหลายปีติดต่อกันในรัฐดาโกต้าใต้  ทำให้ลอร่าและแอลแมนโซแทบจะหมดเนื้อหมดตัว  เป็นหนี้สินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ไม่ได้อ่านกระทู้นี้ เพราะไม่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้
แต่มีคนไปตามมาให้ช่วยอธิบาย neuritis ตามคำขอของอาจารย์เทาชมพู

คำว่า neuritis หรือประสาทอักเสบ เป็นคำรวมๆ ที่หมายถึงการที่มีการอักเสบของเส้นประสาท
สาเหตุของประสาทอักเสบมีได้ตั้งแต่จากการบาดเจ็บโดยตรงในบริเวณเส้นประสาท หรือเกิดจากเนื้องอก เกิดจากการติดเชื้อ
อาการแสดงก็ขึ้นกับว่าเส้นประสาทนั้นทำหน้าที่อะไร
ถ้าเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว (motor function) ก็ทำให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวอวัยวะ
ถ้าเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมการรับรู้การสัมผัส (sensory function) ก็จะทำให้มีอาการปวด หรือชา

Diphtheria หรือโรคคอตีบ เกิดจากเชื้อ Corynebacterium diphtheriae ซึ่งทำให้เกิดผลแทรกซ้อนคือประสาทอักเสบหลายเส้น รวมทั้งเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนขา
จึงเป็นเหตุให้แอลเมนโซเกิดอาการขาอ่อนแรงเดินไม่ได้ครับ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 09:40
ขอบคุณทั้งคนที่ไปตาม และขอบคุณอาจารย์หมอ CVT ค่ะ ที่อธิบายเรื่องอาการของแอลแมนโซให้เข้าใจ  ทีแรกก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมคอตีบทำให้แข้งขาพิการไปได้  ตอนนี้เข้าใจแล้ว
สงสารพระเอก ที่เกิดก่อนมีการค้นคิดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ    จึงได้รับผลให้ต้องเดินขาเขยกๆไปตลอดชีวิต   

กลับมาที่เรื่องจริงเบื้องหลังชีวิตลอร่า
เมื่อเธอกลับมาที่รัฐดาโกต้าใต้   ลอร่าและแอลแมนโซเหลือแต่ตัว     บ้านนาและที่ดินที่เคยจับจองถูกขายไปหมดแล้ว   ทั้งคู่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆในเมือง  ดิ้นรนหารายได้   ทั้งๆร่างกายไม่แข็งแรงนักแอลแมนโซก็รับจ้างเป็นช่างไม้ทั่วไปแล้วแต่ใครจะจ้าง     เป็นลูกมือในร้านขายอาหารสัตว์ของรอแยลพี่ชาย   ส่วนชาร์ลส์พ่อของลอร่าเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดทั่วไป    บางครั้งเขาก็เอาสินค้าใส่รถม้าตระเวนไปขายชาวไร่ชาวนาในรอบนอกของเมือง    แอลแมนโซก็ทำหน้าที่ผู้ช่วยพ่อตา    ส่วนลอร่าไปรับจ้างเย็บผ้าตั้งแต่เช้าถึงเย็นได้เงินวันละ 1 ดอลล่าร์ 
โรสเริ่มโตพอจะอ่านเขียนได้แล้ว  ตอนกลางวันเมื่อพ่อแม่ไปทำงาน เธอก็ไปอยู่กับคุณยายแคโรไลน์  และป้าๆน้าๆ    คุณยายสอนหนังสือโรสให้ที่บ้าน ก่อนเข้าร.ร.   เมื่อโรสไปเรียนหนังสือ ครูก็แปลกใจมากที่เธออ่านหนังสือได้แตกฉานกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน

ชีวิตช่วงนี้ ลอร่าไม่ได้บันทึกไว้  แต่โรสบันทึกไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ On the Way Home



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 12:02
     ดูเผินๆ  ชีวิตที่นี่ก็ไม่มีสิ่งใดยากลำบากไปกว่าที่ผ่านมา  อย่างน้อยก็มีงานทำ มีรายได้ มีที่อยู่อาศัย    แต่ลอร่ากับแอลแมนโซไม่อยากทนมีชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบไร้อนาคตต่อไปได้ในเมืองเดอสเม็ต       ทั้งสองยังไม่ละทิ้งความฝันที่จะมีฟาร์มเล็กๆของตัวเอง ในดินแดนที่อากาศเป็นใจสุขภาพของแอลแมนโซดีขึ้น   
     หลังจากทำงานหนัก เก็บหอมรอมริบอยู่หลายปี   วันนั้นก็มาถึง
     ในค.ศ. 1894    เมื่อลอร่าอายุ 27 ปี โรสอายุ 8 ขวบ  แอลแมนโซและลอร่าได้ยินข่าวว่าทางตอนใต้ของรัฐมิสซูรี่ ณ พื้นที่ที่เรียกว่า เทือกเขาโอซาร์คส์    บริษัทที่ดินเข้าไปพัฒนาที่ดิน  ชักชวนชาวบ้านให้ไปทำไร่ทำนาตั้งบ้านเรือนที่นั่น    เพื่อนบ้านคนหนึ่งในเมืองเดอสเม็ตเดินทางไปดูลาดเลา  แล้วกลับมาด้วยแอบเปิ้ลสีแดงสดลูกใหญ่ที่สุดเท่าที่ลอร่าเคยเห็น    เขาบอกว่าที่นั่นปลูกแอปเปิ้ลได้ผลดีมาก   
     พอเห็น  ลอร่ากับแอลแมนโซก็รู้ว่าควรจะออกจากดาโกต้าใต้ที่แห้งแล้งในฤดูร้อนและหนาวจัดในฤดูหนาว ไปตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ที่ใด
   
ภาพ: เทือกเขาโอซาร์คส์ ในรัฐมิสซูรี่


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 25 ม.ค. 14, 18:06
จบ "ปีทองอันแสนสุข" ก็นึกว่า ชีวิต ลอรา จะ Happy Ending เหมือนกับชื่อตอนจบของซีรีส์ ชุดนี้
ปรากฏเจอความยากลำบากกว่าเยอะเลยนะคะ
นึกแปลกใจว่า ตอนที่ลอรา เรียบเรียงความทรงจำตั้งแต่ บ้านเล็กในป่าใหญ่
เธอจะมีภาพสะดุดของความยากลำบากช่วงหลังแวบเข้ามาหรือไม่ แล้วสามารถกำจัดไปได้อย่างไรเพื่อไม่ให้รบกวนการเขียนย้อนประวัติ
เพราะในชุด"บ้านเล็ก" มีแต่มุมมองที่รื่นรมย์ไปกับชีวิตทั้งนั้นเลย

ชีวิตเกษตรทุกที่เหมือนกันไปหมด เจอแต่ความยากลำบาก
อนาคตผูกกับความเป็นไปของธรรมชาติ(และระบบตลาดในตอนหลัง)
ไม่ทราบมีประวัติศาสตร์ช่วงไหนที่เปลี่ยนแปลงสถานะของเกษตรกรให้ยืนตาอ้าปากได้

อย่างในญี่ปุ่น ชาวนาเริ่มมีฐานะดีขึ้นเมื่อมีการปฏิรูปที่ดิน (ดูจากภาพยนตร์ญี่ปุ่น โอชิน น่ะค่ะ)

มิสซูรี่เป็นรัฐพื้นที่ราบใหญ่ อากาศอุ่น
เหมาะสำหรับเกษตรกรรมขนาดใหญ่
คงเป็นสถานที่พักฟื้นกำลังกายและกำลังใจของแอลแมนโซได้ดี

วนอุทยานโอซาร์ค (ชื่อเป็นอินเดียนแดงมาก) เคยไปค่ะ
เป็นที่พักผ่อนฤดูร้อนของชาวมิซซูล่า ( เขาเรียกชาวมลรัฐตัวเองด้วยคำๆนี้)


เอากำลังใจช่วยครอบครัวไวล์เดอร์นะคะ ;)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 20:08
คุณ Kulapha ถามอย่างเดียวกับดิฉันอยากถามลอร่าอยู่เหมือนกันค่ะ
ลอร่าน่าจะเป็นคนที่คิดอย่างเพลง The Way We Were ตอนที่ว่า

What's too painful to remember we simply choose to forget
So it's the laughter we will remember

เธอเลือกที่จะไม่เขียนสิ่งที่เจ็บปวดเกินกว่าจะอยากจำ  แต่เลือกจำแต่สิ่งดีๆ    โดยเฉพาะในนิยายตอนแรกที่เขียนเพื่อเด็กชั้นประถม   เด็กในวัยนี้สมควรได้รับการปลูกฝังในทางดี เพื่อเขาจะเติบโตขึ้นโดยไม่ขมขื่นและมองโลกในแง่ร้าย    แต่ในนิยายหลังๆอย่าง The Long Winter  ซึ่งเหมาะกับเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก  เธอก็บันทึกถึงความลำเค็ญของชีวิตชาวไร่ชาวนาตั้งแต่ต้นจนจบ ให้รู้ว่าชีวิตก็ไม่ได้สวยงามตลอดไป
เห็นอยู่อย่างหนึ่งว่าไม่ว่าสุขหรือลำบาก ลอร่าไม่มองโลกในแง่ร้าย      แม้ว่าบางครั้งชีวิตร้ายกาจเกินกว่าจะมองในแง่ดี   อย่างตอนที่เธอสูญเสียลูกชาย บ้านไฟไหม้  ปลูกพืชไม่ได้ผล   เธอก็เขียนบันทึกเอาไว้   แต่เธอไม่เอามาเรียบเรียงและตีพิมพ์ ตลอดเวลาที่เธอมีชีวิตอยู่


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 20:20

ชีวิตเกษตรทุกที่เหมือนกันไปหมด เจอแต่ความยากลำบาก
อนาคตผูกกับความเป็นไปของธรรมชาติ(และระบบตลาดในตอนหลัง)
ไม่ทราบมีประวัติศาสตร์ช่วงไหนที่เปลี่ยนแปลงสถานะของเกษตรกรให้ยืนตาอ้าปากได้

ไม่ทราบจริงๆข้อนี้ เพราะไม่เคยไปทางรัฐตะวันออกนอกจากไปเที่ยวไม่กี่วัน    แต่ในโคโลราโดเหนือ  เท่าที่เคยเห็นเจ้าของฟาร์มที่นี่รวยกันทั้งนั้นเลยค่ะ    เวลามาจ่ายของในซุปเปอร์ก็ขับรถคาดิลแลคกันมา

กลับมาที่พระเอกนางเอกของเรา

พ่อแม่ของแอลแมนโซไม่เห็นด้วยที่ทั้งสองจะไปตั้งรกรากใหม่ในดินแดนที่ไม่มีญาติพี่น้องอยู่    แต่ก็ขัดไม่ได้   ส่วนพ่อแม่ของลอร่าไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว   แม้ว่าอาลัยลูกสาวมาก    ในวันสุดท้ายก่อนเดินทาง  พ่อแม่จัดเลี้ยงอาหารเย็นให้ลอร่า แอลแมนโซและโรส  จากนั้นพ่อก็สีซอไวโอลินเพลงต่างๆให้ฟัง อย่างยาวนาน    
ทั้งพ่อและลูกรู้ดีว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน  ลอร่าจะกลับมาเยี่ยมพ่อได้อีกหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้   จึงขอเล่นเพลงให้ฟังเป็นครั้งสุดท้าย
จากนั้น  พ่อออกปากว่า เมื่อพ่อตาย  ขอยกไวโอลินนี้ให้ลูกสาวคนนี้

ลอราเริ่มออกเดินทางจากดาโกต้าใต้ไปมิสซูรี่ในฤดูใบไม้ผลิ โดยเกวียนประทุนอย่างที่พ่อของเธอเคยเดินทาง    ใช้เวลาเจ็ดสัปดาห์ถึงเมืองแมนสฟิลด์   ซึ่งเป็นเมืองที่แอลแมนโซตั้งใจว่าจะตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ที่นี่

รูปนี้พ่อพาแม่และลูกสาวทุกคนไปถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกพร้อมหน้ากัน ในปี 1894  ก่อนลอร่าออกเดินทางไปมิสซูรี่
สังเกตว่าลอร่าเอามือวางบนบ่าพ่อ    เธอรักพ่อมากเป็นพิเศษ และลอร่าเองก็น่าจะเป็นลูกคนโปรดของพ่อด้วย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 14, 12:04
เทือกเขาโอซาร์คส์ความจริงไม่ใช่เทือกเขา เนินเขา  หรือทุ่งราบอย่างดาโกต้า     แต่เป็นหุบเขา  ตรงขอบหุบเขาอยู่ระดับเดียวกับขอบฟ้าพอดี เบื้องล่างมีลำธารไหลเซาะไปในระหว่างหินปูนไลม์สโตน    มีพุ่มแบล็คเบอรี่ป่าขึ้นอยู่หนาทึบ   ลอร่าชอบที่นี่มาก  เช่นเดียวกับชอบการเดินทาง   เธอเขียนบรรยายถึงการเดินทางในจดหมายส่งไปให้พ่อแม่พี่น้องอ่าน และอีกฉบับหนึ่งส่งไปให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอสเม็ตนิวส์
บก.นำจดหมายเธอลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์    แม่อ่านพบก็ตัดส่งมาให้ลูกสาว  ลอร่าเก็บเอาไว้ด้วยความภูมิใจ เธอเขียนไว้ตรงขอบกระดาษว่า
"งานชิ้นแรกที่ตีพิมพ์"

แอลแมนโซกับลอร่าเที่ยวสำรวจที่ดินใกล้เมืองแมนสฟิลด์ ที่จะจับจองทำฟาร์มที่นั่น    ลอร่าไปเจอที่นาที่ถูกทิ้งร้างไปแล้วที่หนึ่ง พื้นดินเป็นดินปนหินขรุขระ  เนื้อที่ 40 เอเคอร์  มีกระท่อมไม้ซุงไร้หน้าต่างปลูกอยู่หลังหนึ่ง      และของแถมคือกล้าแอปเปิ้ลจำนวน 400 ต้นที่เจ้าของเดิมไม่ต้องการแล้ว แถมมากับที่ดินด้วย    ราคาที่ดินผืนนี้คือ 400 เหรียญ  ตกเอเคอร์ละ 10 เหรียญ
แอลแมนโซไม่เห็นด้วยในตอนแรก  เพราะที่ดินตรงนี้เป็นดินมีหินเกะกะอยู่ทั่วไป  ไม่ใช่ผืนดินโดดๆปลูกพืชผลง่ายอย่างที่ดินในทุ่งกว้าง   แต่ลอร่าปักใจจะเอาที่ตรงนี้เสียแล้ว    สามีก็ต้องตามใจเธอ
ทั้งสองวางเงิน 100 ดอลล่าร์ที่เก็บหอมรอมริบไว้ให้ธนาคาร เป็นเงินดาวน์  ผ่อนชำระอีก 300 ดอลล่าร์ทีหลัง   จากนั้นก็ย้ายเข้าไปอยู่ในกระท่อมไม้ซุง คล้ายกับที่ลอร่าเคยอยู่ในป่าใหญ่วิสคอนซินเมื่อเธอยังเล็ก

ภาพข้างล่างคือแอลแมนโซ และลอร่าในวัย 37 และ 27 ตามลำดับค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 14, 13:15
บ้านไม้ซุงไม่มีหน้าต่างที่แอลแมนโซและลอร่าย้ายเข้าไปอยู่ในตอนแรก   มีลักษณะแบบนี้ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 14, 10:11
    พื้นที่ในที่ดินใหม่แห่งนี้ มีแนวหินเป็นสันอยู่ด้วย     ลอร่าจึงตั้งชื่อฟาร์มของเธอว่า Rocky Ridge Farm   ในปีแรก ทั้งคู่ต้องหักร้างถางพง ปราบพื้นให้เรียบ ด้วยการตัดต้นไม้เล็กใหญ่ในบริเวณนั้นให้เหลือที่ว่างพอจะปลูกพืชไร่ได้     ลอร่าตั้งใจจะทำสวนแอปเปิ้ลจากกล้าแอปเปิ้ล 400 ต้น    เลี้ยงวัวนม และเป็ดไก่    เธอขนเอาแม่ไก่ใส่กรงห้อยท้ายเกวียนมาด้วยเพื่อจะมีไข่สดกินระหว่างทาง  มันอยู่รอดมาถึงที่หมายโดยปลอดภัย     ต้นไม้ที่โค่นล้มแล้วก็นำมาทำรั้วไม้ซุงรอบบ้าน     
    ลอร่าเป็นผู้หญิงที่ทำงานแข็งเท่าๆกับผู้ชาย   เพราะฝึกมาตั้งแต่เล็ก     แอลแมนโซมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นก็จริง แต่เขาก็ยังเดินเขยกๆอยู่เพราะเท้ายังใช้งานไม่ได้เท่าเดิม    เธอตัดธรรมเนียมอเมริกันที่ว่าผู้หญิงจะต้องทำงานอยู่แต่ในบ้านออกไป  ออกไปช่วยเป็นลูกมือสามีทุกอย่างแม้แต่เลื่อยไม้ โค่นต้นไม้ในป่ารอบบ้าน   เพราะทั้งสองไม่มีเงินพอจะจ้างแรงงานได้   ถ้าลอร่ารับงานนี้เสียเองก็ตัดปัญหาไป     
    แอลแมนโซตัดไม้ เลื่อยไม้มาทำฟืน  ขนใส่เกวียนเอาไปขายในเมืองได้กองละ 75 เซนต์ บวกกับไข่สดที่ลอร่าใส่ขึ้นเกวียนไปด้วย  เงินจำนวนน้อยนิดนี้เมื่อสะสมกันก็พอจะซื้อของชำและน้ำมันก๊าดเติมตะเกียงได้       ตอนนั้นโรสอายุ 8 ขวบ ไปโรงเรียนแล้ว   กลับมาเธอก็ช่วยแม่เก็บไข่ที่แม่ไก่แอบไปไข่ซุกซ่อนตามที่ต่างๆ   ช่วยแม่ปลูกพืชผลสวนครัว  และเก็บลูกฮัคเกิลเบอรี่และแบล็คเบอรี่ป่าไปขายในเมือง แกลลอนละ 10 เซ็นต์
   พ่อแม่ลูกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง   ล่วงมาถึงฤดูใบไม้ผลิปีต่อมา  ที่ดินสี่สิบเอเคอร์ก็ถูกหักร้างถางพงไปได้ครึ่งหนึ่ง คือ 20 เอเคอร์    บ้านไร่ในฝันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 27 ม.ค. 14, 12:19
ติดตามอยู่ค่ะ

/แอบคุยหน่อย  ดิฉับชอบดูรูปภาพสมัยโบราณ  ดูภาพผู้คน ภาพชีวิตสมัยก่อน  บางทีดูๆ แล้วก็คิดอยู่ว่าขณะที่คนๆ นั้น ถ่ายภาพ  เขาจะรู้บ้างไหมว่าชีวิตข้างหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร 

ดิฉันดูรูปของลอร่าแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าเธอดูเหมือนเต็มไปด้วยพลังความมุ่งมั่นมาตั้งแต่เด็กๆ  ดูแววตาของเธอน่ะค่ะ  ดูบึกบึน ไม่ย่อท้อ

หนังสือบ้านเล็กเล่มสุดท้าย These Happy Golden Years  ฉากจบที่คู่สมรสใหม่นั่งเคียงข้างเฝ้ามองดวงจันทร์งดงามในยามค่ำคืนฤดูร้อน  ดูสวยสงบงดงาม  แต่ในความเป็นจริงเส้นทางชีวิตที่ขรุขระยังทอดรออยู่อีกยาวไกล


ถ้าจบเรื่องนี้คุณเทาชมพูนำเที่ยวบ้านเรือนชาวอเมริกันยุคบุกเบิกด้วยนะคะ  ดูรูปบ้านแล้วสงสัยจริงๆ  เพราะจากที่อ่านเหมือนจะหลังเล็กนิดเดียว  บางหลังไม่มีหน้าต่าง  ตั้งเตียงเข้าไปก็เต็ม  ทำครัวก็ทำกันหน้าเตียงเลย  แล้วห้องน้ำล่ะคะ  สรุปเอาเองจากที่ลอร่าบรรยายว่าเช้าๆ จะแค่ล้างหน้าล้างตา  อาบน้ำกันเฉพาะวันอาทิตย์ที่จะไปโบสถ์ใช่ไหมคะ 

ดูแม่จะเข้มงวดเรื่องกิริยามารยาทของลูกสาว  จำได้คลับคล้ายว่าในเล่มฤดูหนาวที่ยาวนาน  ลอร่าจะลงมาทั้งในชุดนอนได้เมื่อพ่อออกจากบ้านไปแล้ว  เวลาทานข้าวจะมาครึกครื้นหัวเราะกันก็ไม่ได้  อันที่จริงแม่ก็ท่าทางไม่ค่อยเห็นด้วยที่ลอร่าต้องออกไปทำงานนอกบ้าน  แต่คงไม่มีทางเลือกอื่นเพราะครอบครัวไม่มีลูกชาย



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 14, 08:49
คำแนะนำของคุณ tita  ทำให้เขียนเป็นกระทู้ได้อีกเรื่องหนึ่งทีเดียวค่ะ    ดิฉันเคยไปดูกระท่อมไม้ซุงของจริงที่เขาแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง     เห็นแล้วกลุ้ม มันอึดอัดเหมือนเข้าไปอยู่ในห้องเก็บของ    ไม่มีอะไรสวยงามอย่างในหนัง

จะเก็บคำถามของคุณ tita เรื่องการดำเนินชีวิตของคนอเมริกันยุคบุกเบิกไว้เป็นเนื้อหาในกระทู้ใหม่ เมื่อกระทู้นี้จบแล้ว  ว่าเขากินอยู่ อาบน้ำเข้าส้วมกันยังไง   
ถ้าดิฉันลืม กรุณาเตือนด้วยนะคะ

เห็นด้วยค่ะ ลอร่าเป็นผู้หญิงตัวเตี้ยนิดเดียว (สูงประมาณ 150ซ.ม.)  แต่ความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจของเธอมีมากกว่าสามี   ดูๆเธอน่าจะเป็นผู้นำแอลแมนโซมากกว่าผู้ตาม อย่างแม่เป็นฝ่ายตามใจพ่อ

**************************
     ชีวิตใหม่ที่แมนสฟิลด์ มิสซูรี่มีผลดีต่อโรสมาก    ในวัย 8 ขวบ เธอเป็นนักเรียนที่เก่งที่สุดในชั้นเรียน เพราะมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งมาจากการสอนหนังสือของยายและป้าแมรี่    โรสอ่านหนังสือแตกฉาน   สะกดคำศัพท์เก่งจนกระทั่งได้ยืนอยู่หัวแถวในการแข่งขันตัวสะกดทุกวันศุกร์    เธอชอบเข้าห้องสมุดเล็กๆของโรงเรียน  แล้วยืมหนังสือดีๆในนั้นกลับมาอ่านในแสงตะเกียงน้ำมันที่บ้าน
   
     ตอนค่ำเป็นเวลาพร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูก อย่างสุขสงบเหมือนอย่างที่ลอร่าเคยมีเมื่ออยู่พร้อมหน้าพ่อแม่     แอลแมนโซนั่งพักผ่อนจากงานหนักตลอดวัน  โรสทำการบ้าน   ลอร่าทำให้เวลาผ่านไปอย่างเพลิดเพลิน ไม่เงียบเหงา  ด้วยการอ่านหนังสือออกเสียงดังๆให้พ่อและลูกให้ฟังด้วย ล้วนเป็นหนังสือวรรณกรรมดังๆที่ยืมมาจากห้องสมุด    นอกจากนี้ เธอยังอ่านเรื่องนิยายสนุกๆที่ลงพิมพ์เป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์ให้ฟังอีกด้วย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 14, 09:39
โรสติดนิยายที่ลงเป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์เดอสเม็ตนิวส์แอนด์ลีดเดอร์ ชื่อ The Rockanock Stage   อย่างงอมแงม     เมื่อคุณยายแคโรไลน์อ่านหนังสือพิมพ์ให้ป้าแมรี่ฟังดังๆจบแล้ว  ก็จะส่งหนังสือพิมพ์ทางไปรษณีย์มาให้หลานสาวที่มิสซูรี่อ่านเป็นประจำ     มีอยู่สัปดาห์หนึ่ง  หนังสือพิมพ์เกิดไม่มา จะด้วยอะไรก็ไม่รู้      โรสเขียนถึงคุณยายทันที    ร้อนถึงน้าเกรซต้องออกตระเวนตามบ้านเพื่อนบ้านตลอดถนนสายที่สามเพื่อดูว่าใครยังเก็บหนังสือพิมพ์เก่าฉบับนี้ไว้บ้าง  จนกระทั่งเจอก็ส่งมาให้หลานที่รอคอยอยู่

ภาพข้างล่างคือสำนักงานหนังสือพิมพ์เดอสเม็ตนิวส์ เมื่อรวมเข้ากับหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งในปี 1891   ผู้หญิงแต่งชุดดำซ้ายสุดคือแครี่ น้องสาวของลอร่าที่ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์นี้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 14, 09:49
หลังจากความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรัฐดาโกต้าใต้     ชีวิตของลอร่าและแอลแมนโซก็เริ่มลืมตาอ้าปากได้ในมิสซูรี่     ผลจากทำงานตัวเป็นเกลียว  เก็บเล็กผสมน้อยทุกเหรียญทุกเซ็นต์ตลอด 1 ปี พืชผลที่ปลูกก็ส่งผลให้ครอบครัวเล็กๆเริ่มมีเงินพอจะจ่ายค่าที่ดินให้ธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ย 8% ด้วย
ปีที่สอง ทั้งสองมีเงินพอจะซื้อที่ดินเพิ่มอีก 6 เอเคอร์ด้วยเงิน 18 ดอลล่าร์   ซื้อแม่วัวและหมูมาเพิ่มในโรงนา   เมื่อมีนมวัว ลอร่าก็ปั่นเนยเอาไปขายในเมืองปอนด์ละ 10 เซ็นต์  สวนครัวที่ลอร่าปลูกไว้ข้างบ้านเริ่มงาม มีผักสดให้เอาไปขายในเมืองสำหรับชาวเมืองที่ต้องการผักสดมากเพราะในเมืองไม่มีที่ปลูกของตัวเอง
ลอร่ามองเห็นอีกอย่างว่า ที่ดินตรงนี้เหมาะจะปลูกผลไม้   กล้าแอปเปิ้ลบัดนี้เติบโตเป็นต้นแอปเปิ้ลให้ลูกมากพอจะเอาไปขายได้แล้ว  เธอก็เลยปลูกสตรอเบอรี่และราสเบอรี่เพิ่มขึ้นด้วย     ส่วนที่ดินที่หักร้างถางพงบัดนี้ก็กลายเป็นไร่โอ๊ต ข้าวโพดและข้าวสาลีที่เจริญเติบโตให้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย   จนแอลแมนโซออกปากเมื่อมองเห็นไร่นาเขียวสดล้อมรอบเขาอยู่ว่า ไม่อยากเชื่อว่าที่แห่งนี้เป็นที่เดียวกับพื้นดินรกเป็นป่า มีแต่หินขรุขระอย่างที่เคยเห็นเมื่อมาถึงที่นี่ครั้งแรก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 14, 16:13
  ในปีที่สอง  แอลแมนโซสร้างบ้านใหม่ขึ้น มีห้องหับเพิ่ม ใส่หน้าต่างกระจกให้บ้านสว่างน่าอยู่ รวมทั้งก่อเตาผิงใหม่จากหินที่อยู่ในที่ดินนั่นเอง    ส่วนกระท่อมไม้ซุงเก่าเก็บเอาไว้เป็นโรงนาสำหรับวัวและไก่ที่เลี้ยงไว้     แต่ถึงกระนั้นรายได้จากฟาร์มก็ยังน้อยอยู่ดีกว่าจะเห็นผลเป็นกอบเป็นกำ
   แอลแมนโซจตัดสินใจไปเช่าบ้านเดือนละ 5 ดอลล่าร์ในเมือง    เพราะที่นั่นมีหนทางหาเงินได้มากกว่าอยู่ในฟาร์ม   เขาทำงานเป็นคนขนส่งสินค้าจากสถานีรถไฟ   และเปิดบ้านเป็นร้านอาหารเล็กๆ มีลอร่าเป็นแม่ครัว  โรสก็ได้เข้าเรียนในเมืองจนอายุ 11  เมืองแมนสฟิลด์ไม่มีโรงเรียนชั้นมัธยม   ถ้าโรสเรียนจบจากร.ร.นี้แล้ว  เธอก็รู้ว่าพ่อแม่ไม่มีเงินพอจะส่งลูกไปเรียนสูงกว่านี้ได้    แต่เธอก็ไม่ย่อท้อต่อการเรียน    โรสอ่านหนังสือเก่งมาก  เพื่อนบ้านคนหนึ่งมีตู้หนังสือล้วนแต่หนังสือดีๆ  โรสก็ขอยืมมาอ่านจนหมดทั้งตู้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 12:21
 หลังจากมาอยู่ที่แมนสฟิลด์ได้ 4 ปี   พ่อแม่ของแอลแมนโซก็เดินทางมาเยี่ยมเป็นครั้งแรก    เราคงจำได้ว่าลอร่าและแอลแมนโซเคยไปอยู่มินเนโซต้ากับพ่อแม่ของเขามาครั้งหนึ่งแล้ว   ก่อนอพยพไปฟลอริดาและกลับไปดาโกต้าใต้      ตอนนี้พ่อแม่เป็นฝ่ายอพยพบ้าง  พร้อมกับลอร่าลูกสาวคนโต
สาเหตุที่อพยพทั้งๆพ่อของแอลแมนโซอายุปาเข้าไป 85 ปีแล้ว  เกิดจากลูกชายคนเล็กที่เป็นน้องชายของแอลแมนโซ ชื่อพาร์ลีย์ และพี่สาวชื่ออีไลซ่า ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ที่รัฐหลุยเซียน่าคะยั้นคะยอให้พ่อขายฟาร์มที่เดิม แล้วมาสร้างฟาร์มใหม่อยู่ใกล้ๆเธอ    ตอนนั้นเธอแต่งงานแล้วกับเจ้าของไร่ผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง     
อีไลซ่าอยากให้พ่อแม่พี่น้องทุกคนย้ายมาอยู่รวมกันที่หลุยเซียน่าทั้งหมด    แต่รอยัลพี่ชายของแอลแมนโซซึ่งไปเอาดีทางค้าขายไม่อยากจะเปลี่ยนถิ่นฐานจากมินเนโซต้า     ส่วนพ่อเสียแรงรบเร้าจากลูกสาวไม่ได้ ก็เลยขายฟาร์มเดิมได้เงินมาหลายพันดอลลาร์ แล้วอพยพพาภรรยาและลูกสาวคนโตเดินทางไปหลุยเซียน่า   ผ่านมาทางมิสซูรี่ก็แวะเยี่ยมลูกชายและสะใภ้กับหลานสาว เพื่อชวนไปอยู่หลุยเซียน่าด้วยกัน
แอลแมนโซปฏิเสธ  เขาบุกเบิกที่นาที่นี่ ลงทุนลงแรงไปถึง 4 ปีแล้ว ไม่อยากจะไปเริ่มต้นใหม่     อยู่ที่เมืองแมนสฟิลด์ถึงต้องดิ้นรนทำงานตัวเป็นเกลียว แต่รายได้ตอบแทนก็ดีพอจะมองเห็นอนาคต       ดีกว่าไปหาที่ใหม่ลมๆแล้งๆในรัฐใหม่ที่เขาเองก็ไม่รู้จัก  อีกอย่างแอลแมนโซก็ไม่อยากพาลอร่าไปอยู่ใกล้ๆพี่สาว  เพราะรู้ว่าเธอไม่ชอบอีไลซ่า มาตั้งแต่อีไลซ่ามาเป็นครูอยู่ที่เมืองเดอสเม็ต
เหตุการณ์ขัดแย้งกับระหว่างครูกับนักเรียนสาว ลอร่าเล่าเอาไว้ใน เมืองเล็กในทุ่งกว้าง Little Town on the Prairie
พ่อแม่มาพักด้วยระยะหนึ่งก่อนเดินทางต่อ    แต่ก่อนไป พ่อก็ 'เซอร์ไพร้ส์' ลูกชายด้วยการซื้อบ้านที่เขาเช่าอยู่ที่เมืองแมนฟิลด์ แล้วโอนโฉนดให้ลูกชายเรียบร้อย 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 12:32
  เมื่อพ่อแม่ของแอลแมนโซไปปักหลักใหม่อยู่ที่หลุยเซียน่า ถ้าเป็นตอนจบของนิยายก็เป็นตอนจบที่น่าเศร้า   ลอร่าไม่เคยเขียนถึงตอนนี้เลย   เพราะปรากฏว่าการปลูกข้าวในที่นาใหม่ไม่ดีอย่างที่อีไลซ่าคุยเอาไว้    พ่อสูญเงินไปแทบสิ้นเนื้อประดาตัวกับการลงทุน  แล้วพ่อเองก็ตรอมใจคิดถึงบ้านเดิมที่ขายไปแล้ว    อยู่หลุยเซียน่าได้ไม่กี่เดือนพ่อก็ถึงแก่กรรม  ส่วนแม่ของแอลแมนโซอยู่มาอีก 6 ปีก็จากไปอีกคนหนึ่ง

   ข้างล่างนี้คือภาพพ่อแม่ของแอลแมนโซ ที่เล่าไว้ในตอน Farmer Boy   ส่วนบ้านหลังโอ่อ่านี้คือบ้านนาของพ่อแม่ที่สปริงแวลลีย์ รัฐมินเนโซต้า    ที่พ่อจำใจต้องขายตามคำเกลี้ยกล่อมของอีไลซ่า
  ลอร่ากับแอลแมนโซเคยพาโรสไปอยู่ที่นี่ด้วย ปีกว่าๆ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 21:46
ย้อนกลับมาเล่าถึงพ่อแม่ของลอร่าบ้าง  ว่าชีวิตในเมืองเดอสเม็ตเป็นอย่างไร หลังจากลอร่าย้ายไปอยู่มิสซูรี่แล้ว

พ่อของลอร่าเมื่อเลิกทำฟาร์มเด็ดขาดเพราะทนความล้มเหลวติดต่อกันหลายปีไม่ไหว  ก็กลายมาเป็นชาวเมืองเต็มตัว    ทำงานหลายอย่างทั้งเปิดร้านค้า เป็นตุลาการท้องถิ่นและขายประกัน      แม่มีความสุขที่ได้มาอยู่ในเมือง ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานอีก    แมรี่เรียนจบหลักสูตร 7 ปีจากวิทยาลัย กลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่    เธอใช้เวลาว่างอ่านหนังสือเบรล เล่นออร์แกน ทำงานฝีมือ อย่างมีความสุขตามอัตภาพ    ส่วนแครี่และเกรซก็เติบโตขึ้นเป็นสาว ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแทนพี่สาวทั้งสอง

แครี่ยึดอาชีพครูต่อจากลอร่า  เธอสอบเอาประกาศนียบัตรครูได้  สอนอยู่ชั่วระยะหนึ่งเพื่อเอาเงินเดือนมาจุนเจือทางบ้าน    แต่พบว่าเธอไม่ชอบอาชีพนี้  แครี่ก็เลยหางานใหม่ สมัครเข้าทำงานเป็นช่างเรียงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น   ต่อมาก็ย้ายไปทำงานในหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับในรัฐอื่นๆ
ในนิยายชุดบ้านเล็ก  ลอร่าเขียนถึงน้องสาวคนนี้ว่าเป็นเด็กบอบบาง ขี้โรค ได้รับผลกระทบกระเทือนจากฤดูหนาวเลวร้ายในรัฐดาโกต้าใต้ในตอน The Long Winter ยิ่งกว่าใครๆ    แครี่มีโรคประจำตัวคือไซนัส(โพรงจมูกอักเสบ)และหอบหืด ทำให้เธอทนอากาศหนาวจัดไม่ได้    เมื่อโตขึ้นเป็นสาว แครี่กลายเป็นสาวทำงาน   และกล้าเสี่ยง   เธอเดินทางไปพำนักอยู่หลายรัฐเพื่อแสวงหาอากาศที่อุ่นกว่า ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ   แต่ในที่สุดก็กลับบ้านที่เดอสเม็ตอีก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 21:47
แมรี่ ในวัยสาว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 21:50
ห้องรับแขกในบ้านของพ่อแม่ที่เมืองเดอสเม็ต   
เห็นภาพพ่อบนผนังห้องไหมคะ
สตรีในภาพคือแม่ของลอร่า เมื่อเข้าสู่วัยชรา ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ม.ค. 14, 14:19
  ถึงแม้ว่ามีโรคประจำตัว แครี่ก็เป็นสาวแกร่ง  เธอเดินทางตามลำพังไปพำนักอยู่กับญาติที่วิสคอนซิน  มินเนโซตา  แวะเยี่ยมลอร่าที่แมนสฟิลด์  ไปโคโลราโด และย้ายไปไวโอมิง   ไม่มีรายละเอียดว่าแครี่ไปทำงานอะไรบ้างแต่ก็สันนิษฐานว่าเป็นงานหนังสือพิมพ์ที่เธอถนัด
  เมื่อกลับมาดาโกต้า  แครี่จับฉลากได้ที่ดินจับจองแห่งหนึ่งใกล้ๆเมืองท็อปบาร์ ทางเหนือของเมืองฟิลลิป    เธอไปปลูกเพิงเล็กๆอยู่ที่นั่นปีละ 6 เดือนตามกฎหมายของรัฐที่กำหนดให้ผู้จับจองต้องอยู่บนผืนดินของตัวเองปีละอย่างน้อย 6 เดือน  ส่วนอีก 6 เดือนก็กลับมาอยู่บ้านในเมืองเดอสเม็ต  ทำงานในสำนักงานหนังสือพิมพ์มาตลอด
   งานหนังสือพิมพ์ทำให้แครี่ต้องย้ายเมืองจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง  แล้วแต่ว่านายจ้างจะส่งไปที่ไหน  ในที่สุดก็ไปลงที่เมืองคีย์สโตนเมื่ออายุ 41 ปี  คีย์สโตนเป็นเมืองเหมืองแร่   ที่นี่เธอพบพ่อม่ายเจ้าของเหมืองชื่อเดวิด สวอนซีย์  มีลูกติดสองคนอายุ 8 ขวบ กับ 6 ขวบ  ปีต่อมาแครี่ก็แต่งงานกับเขา    เธออำลาชีวิตทำงานมารับหน้าที่แม่บ้านเพื่อดูแลเด็กสองคนนั้นเหมือนลูกเธอเอง    เพราะแครี่แต่งงานเมื่ออายุมากแล้ว เธอจึงไม่มีบุตรธิดา  เธออยู่กับครอบครัวที่เมืองคีย์สโตนจนถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 76 ปี
   แครี่มีอายุยืนยาวพอจะทันเห็นความสำเร็จของพี่สาวในฐานะนักเขียนลือชื่อ    เธอตื่นเต้นมากที่ได้อ่าน บ้านเล็กในป่าใหญ่  เมื่อลอร่าเขียนเรื่องตอนต่อๆมา  แครี่ก็ช่วยอย่างเต็มที่  ทบทวนเหตุการณ์วัยเยาว์กับพี่สาวเพื่อเพิ่มข้อมูลให้ละเอียดสมจริง   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 14, 10:50
  เกรซน้องคนสุดท้องเจริญรอยตามพี่สาวทั้งสอง คือเป็นครู     เกรซมีโอกาสเล่าเรียนมากกว่าลอร่า อาจจะเป็นเพราะในช่วงที่เธอเติบโตขึ้นมา พ่อและพี่สาวมีรายได้สม่ำเสมอพอจะส่งลูกสาวคนเล็กไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเรดฟิลด์  เกรซเรียนหลักสูตรวิชาครูก่อนจะกลับมาสอนในโรงเรียนหลายแห่งในถิ่นเดิม
   เมื่อเกรซไปสอนที่ร.ร.ห่างจากเดอสเม็ตไปราว 7 ไมล์ เธอพบเจ้าของฟาร์มหนุ่มใหญ่ชื่อเนท  ดาว  ต่อมาก็แต่งงานกันเมื่อเกรซอายุ 24  และเจ้าบ่าวอายุ 42 ปี   ทำพิธีแต่งงานกันอย่างเรียบๆง่ายๆในบ้านของพ่อแม่นั่นเอง    จากนั้นเกรซก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านฟาร์มของเนท     สามีเธอมีโรคประจำตัวคือหอบหืดและภูมิแพ้หลายชนิดจนทำงานในฟาร์มไม่ได้    ต้องจ้างลูกมือมาทำงานแทน   
   ปัญหาเรื่องโรคประจำตัวของเนททำให้เกรซต้องอุทิศเวลาทั้งหมดดูแลเขา    ทั้งคู่หาทางออกหลายอย่างรวมทั้งย้ายจากดาโกต้าไปอยู่คาลิฟอร์เนีย  ด้วยหวังว่าอากาศร้อนและแห้งจะทำให้อาการเขาดีขึ้น    แต่ก็ไม่ได้ผล  ก็เลยต้องกลับมาอยู่ที่เดอสเม็ตตามเดิม   
   ชีวิตของเกรซไม่ค่อยจะมีอะไรให้เล่าถึงนักค่ะ     เธอกับสามีไม่มีลูกด้วยกัน     เมื่อพ่อตาย เธอเคยคิดจะพาแม่กับแมรี่ไปอยู่ด้วยกันที่ออเรกอน แล้วขายฟาร์มที่อยู่  แต่ก็ล้มเลิกความคิด
  เมื่อแม่ถึงแก่กรรม  เหลือแมรี่อยู่คนเดียวในบ้าน  เกรซกับสามีก็ย้ายมาอยู่ในบ้านเพื่อจะดูแลแมรี่     จนแมรี่ถึงแก่กรรมเมื่อไปเยี่ยมและพักอยู่กับแครี่    เกรซอยู่มาจนอายุ 64  ก็ถึงแก่กรรม   

เกรซกับสามีเมื่อสมรสกันใหม่ๆ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 14, 10:51
เกรซกับสามีเมื่อสูงวัย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 14, 10:51
เกรซในวัยรุ่นสาว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 14, 19:41
     มาถึงชีวิตบุคคลสำคัญที่สุด 3 คนในครอบครัวของลอร่า คือพ่อ แม่และแมรี่ พี่สาวที่สนิทที่สุดของเธอ
     เมื่อลอร่าย้ายไปอยู่มิสซูรี่อย่างถาวร   ชาร์ลส์ อิงกัลส์ก็ยังปักหลักอยู่ที่เดอสเม็ตตามเดิม  ไม่ย้ายไปไหนอีก เพราะถึงเวลาที่ลูกๆโตพอจะได้รับการศึกษาเล่าเรียนกันแล้ว       นอกจากอาชีพช่างไม้ที่ทำเป็นงานประจำ  ชาร์ลส์ยังได้รับความเชื่อถือจากชาวเมืองให้ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่างเช่นเป็นตุลาการท้องถิ่น  เป็นผู้ช่วยนายอำเภอ  และเป็นกรรมการโรงเรียน  อีกด้วย
     แม้ว่าลูกสาวคนโปรดต้องไปตั้งถิ่นฐานอยู่ไกล  ชาร์ลส์ก็ไม่ว้าเหว่ เพราะมีภรรยาและลูกสาวอีกสามคนอยู่ด้วย  ต่อมาแครี่โตเป็นสาว ย้ายออกจากบ้านไปทำงานในรัฐอื่น    เกรซก็แต่งงานไป   พ่อก็ยังมีแม่และลูกสาวคนโตอยู่เป็นเพื่อนกัน
     หนึ่งปีหลังเกรซแต่งงาน       และแปดปีหลังจากลอร่าย้ายไปอยู่มิสซูรี่    วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ปี 1902เธอก็ได้รับจดหมายจากทางบ้านให้กลับไปด่วน   เพราะพ่อป่วยหนัก    ลอร่าทิ้งแอลแมนโซไว้กับโรสซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กสาวอายุ 15    ตัวเธอขึ้นรถไฟจากมิสซูรี่ไปตามลำพัง  ต่อจากสายนั้นไปสายนี้จนกระทั่งถึงเมืองเดอสเม็ต
    เมื่อไปถึงบ้าน   ไม่มีเสียงซอไวโอลินและเสียงหัวเราะของพ่อคอยต้อนรับเธออยู่อีก     แต่ลอร่าก็ทันกลับไปดูใจพ่อ   พี่น้องทุกคนและแม่กลับมารวมกันอีกครั้ง  จนถึงวาระสุดท้ายของพ่อในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1902   อายุได้ 67 ปี 5 เดือน

    ในพิธีศพของพ่อ  เพลงสวดที่ร้องกันในพิธีคือเพลงโปรดของพ่อชื่อ Sweet By and By   ลอร่าอดคิดไม่ได้ว่าในวันหนึ่งเมื่อเธอสิ้นใจ   พ่อคงจะมารออยู่พร้อมด้วยซอของพ่อ  เล่นเพลงนี้ให้เธอฟัง

     http://www.youtube.com/watch?v=tvagoD8T0u4


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 14, 19:43
ในหนังสือไม่ได้บอกว่าพ่อป่วยด้วยโรคอะไร    บอกแต่ว่าล้มป่วยลง อาการหนักอยู่หลายสัปดาห์  จนสิ้นใจด้วยอาการหัวใจล้มเหลว

ภาพนี้คือหลุมศพของพ่อในสุสานเมืองเดอสเม็ต


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 14, 15:39
   เมื่อพ่อจากไปแล้ว  แครี่กับเกรซก็แยกบ้านออกไป   บ้านจึงเหลือแคโรไลน์และแมรี่อยู่เป็นเพื่อนกันสองคน      ทั้งสองหารายได้เล็กๆน้อยๆเพิ่มเติมด้วยการให้เช่าห้องชั้นบน เพราะบ้านนี้มีห้องนอนถึง 5 ห้อง    ห้องของแมรี่อยู่ชั้นล่างมาแต่แรกแล้ว     หลังบ้าน มีเชือกขึงเอาไว้เป็นเส้นทาง เพื่อแมรี่จะได้เดินออกไปและกลับเข้าบ้านได้สะดวก
   แมรี่เรียนจบหลักสูตรจากวิทยาลัย โดยใช้เวลา 8 ปี  มีอยู่ปีหนึ่งที่เธอว่างเว้นการเรียนไป อาจจะเจ็บป่วยหรือมีเหตุขัดข้องทางบ้าน    เป็นนักเรียน 1 ใน 8 ของรุ่นที่เรียนจบ    เมื่อกลับมาบ้าน แมรี่ไม่ได้อยู่เปล่าๆ  เธอหารายได้ด้วยงานฝีมือที่ฝึกฝนมา  คือถักผ้าห่มคลุมม้า  ถักเปลตาข่ายขาย     วันอาทิตย์เธอก็ไปสอนพระคัมภีร์ไบเบิ้ลให้เด็กๆในเมือง   
   เพื่อนบ้านในเมืองยังจดจำภาพคุณนายอิงกัลส์กับลูกสาวเดินเกาะแขนไปด้วยกันเวลาไปโบสถ์   อย่างใกล้ชิดสนิทสนม   แม่ลูกมีชีวิตเงียบๆแต่ผาสุก    ตัวแคโรไลน์เองเป็นคนเก็บตัว ไม่ใคร่ชอบออกไปสุงสิงกับชาวบ้าน แต่เธอก็เป็นคนเคร่งครัดในด้านศาสนา ไปโบสถ์และสวดมนตร์ประจำ    สาเหตุที่ไม่ออกไปไหนอาจเป็นจากโรคภัยไข้เจ็บ  คือเมื่ออายุมากขึ้นแคโรไลน์เป็นโรคข้ออักเสบ อาจเกิดจากข้อเสื่อม    แม่ลูกจึงต้องไปไหนมาไหนด้วยกันประจำ
   แมรี่เคยพูดว่า "แม่เป็นดวงตาให้ฉัน   ฉันก็เป็นเท้าให้แม่"

  ผ้าห่มม้าคล้ายๆกับที่แมรี่ถักขาย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 14, 15:39
แมรี่ในวัยสาว และวัยสูงอายุ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 03 ก.พ. 14, 20:27
พ่อของลอร่า ถ้าอยู่บ้านเราคงได้เป็นประมาณประธานอบต.
เพราะรู้สึกชอบอาสาทำงานท้องถิ่นไม่รู้เหนื่อย
เสียดายอายุสั้น
อาจเป็นเพราะชีวิตที่กรากกรำทำงานหนักตั้งแต่หนุ่ม เจอโรคภัยต่างๆสะสม
แต่เพราะกำลังหนุ่ม มีพลังต้านเชื้อโรคเหล่านั้นได้
ต่อเมื่อหมดพลังก็เลยต้องพ่ายไป

ครอบครัวทางอิงกัลล์ส์ก็เลยไม่มีผู้สืบสกุลฝ่ายชายเลย

ไปๆมาๆแครี่น้องน้อยที่เคยบอบบางและขี้โรค
กลับกลายเป็นผู้หญิงเก่งแบบ Indy
ชีวิตผู้สื่อข่าวนักหนังสือพิมพ์หญิงสมัยนั้น
น่าจะถือเป็นอาชีพที่ก้าวหน้ามากสำหรับผู้หญิง
อีกทั้งต้องทำงานอึดเยี่ยงบุรุษและอยู่ในแวดวงของสังคมชายทั้งนั้น

เพลงสวดส่งพ่อลอร่าเพราะมากค่ะ

ติดตามต่อนะคะ ;)



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 14, 21:11
เห็นด้วยมากๆทุกอย่างค่ะ     พ่อของลอร่าเป็นคนที่มีคุณสมบัติพิเศษหลายอย่าง อย่างน่าอัศจรรย์     และเชื่อว่าลอร่าไม่ได้เขียนเกินจริง
เขาเล่นไวโอลินได้เก่งมากโดยไม่ปรากฏว่าเรียนที่ไหน    ชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือราชการได้   สะกดศัพท์ได้ชนะคนทั้งเมืองแม้แต่ครูโรงเรียน  ทำงานได้ทุกชนิด   ตั้งแต่ทำไร่ ทำนา ล่าสัตว์  งานช่างไม้  ขายของ ขายเนื้อ   เข้มแข็งพอจะโอบอุ้มครอบครัวมาได้ตลอดรอดฝั่ง   ไม่ว่ายากจนแค่ไหนก็ไม่เคยกินเหล้าเมายา ไม่แตะการพนัน  เป็นพ่อที่ฉลาดพอจะสอนลูกสาวสี่คนให้เก่งและอดทนต่ออุปสรรคทุกชนิด   เป็นพ่อบ้านที่รักเมียและลูกเป็นแก้วตา
บ้านของเขาถึงยากจน และลำบากลำบนขนาดไหน   ก็ไม่เคยขาดเสียงหัวเราะของพ่อ และเสียงเพลงจากไวโอลิน   คลอด้วยเสียงร้องของลูกๆ
น่าเสียดายที่เขาเกิดในสถานที่ห่างไกลเมืองใหญ่   ไม่มีโอกาสจะเอาทักษะที่มีติดตัวมาแต่เกิดไปใช้ในวงกว้างกว่านี้  ชาร์ลส์ อิงกัลส์ก็เลยเป็นได้แค่ชาวบ้านธรรมดา   เกิดและตายไปอย่างเงียบๆในวัยไม่มากนักด้วยซ้ำ
แต่สวรรค์ก็ยังมีตา  จึงบันดาลให้ชื่อและชีวิตของเขาอมตะมาจนบัดนี้   โดยเจ้าตัวไม่มีโอกาสรู้ตัวว่าชื่อเขาแพร่หลายไปหลายสิบประเทศทั่วโลกไม่เฉพาะแต่อเมริกาเท่านั้น


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 14, 12:52
   แคโรไลน์มีชีวิตยืนยาวกว่าสามีมาก   เธออยู่มาอีก 22 ปี  จนอายุ 84  จึงถึงแก่กรรมในค.ศ. 1924  หลังจากป่วยกะทันหันแล้วก็จากไปในชั่วเวลาสั้นๆไม่กี่วัน     ลอร่าในวัย 57  อยู่ที่มิสซูรี่  ไม่มีโอกาสกลับมาดูใจแม่อย่างที่เคยกลับมาดูใจพ่อ   จริงๆก็คือลอร่าไม่ได้กลับมาที่เดอสเม็ตอีกเลยหลังพ่อจากไป
   บ้านที่แม่กับลูกสาวคนโตเคยอยู่กันสองคนอย่างสบาย  แม้ว่ามีคนเช่าอยู่ชั้นบน กลับเป็นบ้านที่อ้างว้างเมื่อไม่มีแม่อยู่อีก   เกรซกับสามีซึ่งอาศัยอยู่ที่ฟาร์มนอกเมืองตัดสินใจย้ายมาอยู่ในบ้านเพื่อเป็นเพื่อนของแมรี่    เพราะพี่สาวคนโตไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้   แต่แมรี่ก็ไม่ได้เก็บตัวเงียบเหงาอยู่กับบ้าน   เธอเดินทางคนเดียวไปเยี่ยมเพื่อนฝูงต่างเมือง  วันอาทิตย์ก็ไปเล่นออร์แกนในโบสถ์ และสอนพระคัมภีร์ให้เด็กๆ  รวมทั้งเขียนบทกวีลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นด้วย  
   แมรี่เคยเดินทางไปไกลถึงชิคาโกหนหนึ่ง เพื่อรับการผ่าตัดรักษาโรค neuralgia ( อาการปวดตามเส้นประสาท โดยเฉพาะบริเวณหน้า/ศีรษะ)   มาถึงตรงนี้ก็ต้องฝากคำถามไว้ให้คุณหมอ CVT หรือผู้รู้ท่านอื่นๆว่าโรคนี้คืออะไร และผ่าตัดรักษาได้หายขาดหรือไม่
เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันเกี่ยวข้องกับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่แมรี่เป็นเมื่ออายุ 14  ทำให้สายตาเธอมัวลงจนมืดสนิท 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 14, 12:53
ตัวอย่างบทกวีที่แมรี่เขียนลงหนังสือพิมพ์เดอสเม็ตนิวส์  บรรยายถึงเสียงเพลงจากซอไวโอลินของพ่อ    แมรี่เองก็รักเสียงเพลงจากฝีมือของพ่อเท่าๆกับลอร่าเหมือนกัน

     My Father's Violin"
Sweeter by far to my loving heart
Than minstrels of cultured art
Was music from those mystic strings
My father's hand to give it wings.

The Old Home  เป็นอีกบทหนึ่งที่แมรี่เขียนถึงทุ่งกว้างที่เธอจดจำไว้แม่นยำจากวัยเยาว์  ที่เคยท่องเที่ยวไปในทุ่งหญ้ากับน้องสาว

The prairie rose is blushing
The sun's kiss on her cheek:
The wind with glee is rushing
In merry hide-and-seek.

The tiger lily's stalking
The gaudy goldenrod,
The meadowlark is talking
Of shadows on the sod .


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 14, 13:06
    สี่ปีหลังจากแม่จากไป   แมรี่ไปเยี่ยมแครี่ในเมืองที่น้องสาวอาศัยอยู่ ไม่ห่างจากเดอสเม็ตนัก    ระหว่างพักที่บ้านน้องสาว  เธอมีอาการหลอดเลือดสมองอุดตัน  (stroke)   และเสียชีวิตที่นั่น 
    มรณกรรมของแมรี่เป็นไปอย่างเงียบเชียบ     หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลงข่าวเพียงสั้นๆในหน้ากระดาษส่วนที่แจ้งถึงการเกิดการตายของชาวเมืองว่า  มิสแมรี่ อิงกัลส์ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1928  ศพฝังในสุสานของเมืองเดอสเม็ต   นอกจากน้องสาวสองคนแล้วก็ดูเหมือนกับว่าผู้คนจะลืมเลือนเธอไปในเวลาไม่นาน
   แต่สี่ปีให้หลัง  เมื่อนิยาย "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ตีพิมพ์ออกมา    ชื่อของแมรี่ อิงกัลส์ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งที่จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์และวรรณกรรมเยาวชนของอเมริกา   ยั่งยืนอยู่จนปัจจุบัน

   แมรี่ไม่เคยเศร้าโศกตีโพยตีพาย หรือแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจที่เธอกลายเป็นคนสายตาพิการ   จนไม่มีโอกาสหลายๆอย่างในชีวิตอย่างคนตาดีทั้งหลาย   ในจดหมายที่เธอเขียนถึงน้องสาว สะท้อนทัศนะต่อชีวิตของเธอไว้อย่างน่าชมเชย

     "How good it is to be alive!" she exclaimed in a letter to Laura in 1914. "Let us be thankful that we were born. Let us fold away our fears and put by our foolish tears through the coming year and just be glad."
     


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 14, 13:09
ห้องนั่งเล่นในบ้านของพ่อแม่  ที่แมรี่นั่งอยู่ประจำ  เล่นออร์แกนที่พ่อและลอร่าเก็บเงินซื้อให้
บนผนังคือรูปของพ่อกับแม่


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 14, 13:10
รูปของแม่บนผนังในห้องนั่งเล่นในบ้าน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 14, 13:16
ใครที่เป็นแฟนหนังสืออย่างเหนียวแน่นคงจำได้ว่า แม่ของลอร่ามีของรักของหวงอยู่ชิ้นหนึ่งคือตุ๊กตากระเบื้องทำเป็นรูปหญิงเลี้ยงแกะ   เธอคงได้มันมาตั้งแต่วัยเยาว์ก่อนแต่งงาน     แม่เก็บทะนุถนอมตุ๊กตากระเบื้องไว้อย่างดี  ไม่ว่าเดินทางโยกย้ายไปกี่ร้อยไมล์ มันก็จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย  ไม่แตกหัก   
เมื่อลงหลักปักฐานในบ้านใหม่เรียบร้อย  สิ่งแรกคือแม่จะคลี่ผ้าที่ห่อหุ้มออกเอานางเลี้ยงแกะกระเบื้องมาวางบนหิ้งวางของที่พ่อทำให้  เป็นสัญลักษณ์ว่า บ้านใหม่เข้ารูปเข้ารอยเรียบร้อยแล้ว

หลังแครี่ถึงแก่กรรม    มีผู้ค้นพบตุ๊กตากระเบื้องเก่าแก่ตัวนี้ในบรรดาข้าวของส่วนตัวของเธอ     ลอร่าเคยเขียนถึงแฟนหนังสือเด็กๆของเธอที่ถามเรื่องตุ๊กตากระเบื้องว่า "แครี่เป็นคนได้ไป"    เป็นไปได้ว่าแม่ได้ยกตุ๊กตานี้ให้เป็นสมบัติของแครี่  เมื่อแม่ถึงแก่กรรม แครี่ก็เก็บรักษาไว้จนเธอถึงแก่กรรม
ปัจจุบัน ตุ๊กตากระเบื้องถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกถึงแครี่ อิงกัลส์ สวอนซีย์


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 14, 08:38
  ชีวิตของคนอเมริกัน  เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มสาวก็เหมือนนกบินจากรัง ไม่หวนกลับมาอีก    แม้ว่าลอร่ารักพ่อแม่พี่น้องเธอมากเพียงใดก็ตาม  เมื่อถึงเวลาจะต้องอพยพโยกย้ายไปรัฐอื่น ด้วยความจำเป็นเรื่องหาเลี้ยงชีพ    เธอก็เหมือนว่าวที่ขาดลอยไป   ติดต่อกับพี่น้องเพียงทางจดหมายเท่านั้น   
  ครั้งสุดท้ายที่เธอกลับมารวมกันพร้อมหน้าพี่น้องคือเมื่อพ่อป่วยหนัก     ตอนที่แม่ตายเธอก็ไม่ได้กลับมา  เช่นเดียวเมื่อแมรี่ เกรซ และแครี่ทยอยกันจากไป
   เมื่ออายุแปดสิบกว่า     ลอร่าเคยเขียนเล่าเรื่องครอบครัวให้แฟนๆหนังสือฟังว่า
   Pa, Ma and my sisters are all gone. Of the family I alone am left.

   ถึงแม้ว่าลอร่ากับแอลแมนโซต้องทำงานหนักอยู่ในเมืองแมนสฟิลด์ โดยมิได้ร่ำรวยขึ้น  แต่ก็เรียกได้ว่าชีวิตดีกว่าสมัยอยู่ในดาโกต้าใต้    เมื่อพ่อซื้อบ้านในเมืองให้แอลแมนโซ เขาก็เอาบ้านให้คนเช่าแล้วย้ายกลับไปอยู่ที่ฟาร์มร็อคกี้ริดจ์ตามเดิม    ผลผลิตจากฟาร์มทั้งไร่ข้าวสาลี  ผลไม้และวัวนม ทำให้มีเงินเหลือพอจะจ้างลูกมือมาช่วยได้
   โรสเติบโตเป็นสาวรุ่นอายุ 16     ฐานะทางบ้านไม่ดีพอจะส่งเธอไปเรียนต่อในวิทยาลัย  หรือแม้แต่ร.ร.มัธยมในเมืองใหญ่   นายไปรษณีย์โทรเลขในแมนสฟิลด์ช่วยฝึกวิธีเคาะและส่งโทรเลขให้  โรสก็เห็นเป็นโอกาสดีที่จะฝึกงานที่นี่ จนกระทั่งมีตำแหน่งพนักงานโทรเลขให้สมัครได้ในเมืองแคนซัสซิตี้    มีรายได้สัปดาห์ละ  2.50 ดอลล่าร์  หรือเดือนละ 10 ดอลล่าร์  ซึ่งมากพอจะเลี้ยงตัวเองได้     โรสก็อำลาบ้านนาโบยบินออกสู่โลกกว้างเมื่ออายุ 17 ปี

โรสในวัยสาวรุ่น เริ่มออกทำงานเลี้ยงตัวเอง
   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 14, 09:16
    ลอร่ากับแอลแมนโซใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแมนสฟิลด์เป็นเวลาถึงสิบกว่าปี  จนลอร่าอายุ 40 และแอลแมนโซ 50  ทั้งคู่จึงขายบ้านในเมือง  กลับไปตั้งหลักอยู่ในฟาร์มร็อคกี้ริดจ์ที่เดียว      ทั้งสองให้เช่าบ้านเล็กๆสองห้องในฟาร์มนั้นมาก่อน   บัดนี้บ้านก็คับแคบไปเสียแล้ว  ลอร่าตั้งใจจะสร้างบ้านใหม่ด้วยสมองและสองมือ     ในป่าหลังบ้านมีต้นไม้ใหญ่ที่จะโค่นนำมาเลื่อยเป็นไม้กระดาน   มีหินในที่ดินที่จะนำมาเรียงเป็นปล่องไฟ  ไม่ต้องซื้อหาทั้งสองอย่าง เพียงแต่ต้องทุ่มเทแรงงานลงไปด้วยตัวเอง
    ลอร่าเป็นคนร่างแบบบ้านเองในสมุด ด้วยดินสอดำ     เธอออกแบบบ้านสองชั้น มีห้องรวม 10 ห้อง  มีห้องใต้หลังคา พร้อมด้วยเฉลียงด้านหน้า   มีปล่องไฟและเตาผิงก่อด้วยหิน    แอลแมนโซเป็นผู้บันดาลแบบบ้านให้เป็นจริงขึ้นมา  เขาจ้างช่างไม้และช่างเรียงอิฐมาทำงานขั้นพื้นฐาน จากนั้นสองคนสามีภรรยาก็ค่อยๆต่อเติมไปทีละอย่างจนครบสมบูรณ์
   ทีแรก แอลแมนโซไม่อยากจะก่อปล่องไฟและเตาผิงด้วยหิน   เขาอยากจะจ้างช่างมาเรียงอิฐอย่างบ้านอื่นๆ จะได้สวยงามเรียบร้อยและง่ายดีด้วย    แต่ลอร่าไม่ยอม  เธอทั้งปลอบทั้งขู่ ทั้งอ้อนวอนถึงขั้นฟูมฟายน้ำตา จะเอาเตาผิงหินให้ได้     ในที่สุด..ผลก็อย่างที่รู้ๆกันคือ แอลแมนโซก็ต้องยอมก่อเตาผิงตามแบบที่ภรรยาต้องการ

   ในที่สุดบ้านในฝันของลอร่าก็เสร็จสมบูรณ์   เป็นความภูมิใจของเธออย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อมีแขกมาเยือน    บ้านหลังนี้กลายเป็นบ้านนาสวยงามเป็นหน้าเป็นตาหลังหนึ่งในถิ่นโอซาร์คส์

เห็นปล่องไฟและเตาผิงเรียงจากหินในพื้นที่ดินไหมคะ   ถ้าต้องเรียงเองก็พอเข้าใจว่าทำไมแอลแมนโซไม่อยากทำ   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 14, 09:31
พวกเราที่อยู่มาจนศตวรรษที่ 21  เห็นบ้านเศรษฐีสร้างกันอลังการมามาก ดูบ้านนาของลอร่าแล้วก็คงรู้สึกเฉยๆ  ไม่เห็นมีอะไรน่าทึ่งสักนิด มันก็แค่บ้านไม้ทางสีขาวธรรมดาๆ
แต่ในต้นศตวรรษที่ 20   นอกจากอเมริกาไม่ได้รวยอย่างสมัยนี้  ชีวิตในเมืองชนบทสมัยนั้นยังยากจนกันอยู่มาก     ยิ่งในเมืองแล้ว เนื้อที่คับแคบ  ชาวบ้านมีได้แต่บ้านหลังเล็กๆ ติดถนน  สนามไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเนื้อที่เหลือเฟือกันขนาดนั้น  อย่างมากก็มีที่ว่างหลังบ้านเอาไว้นิดหน่อย
บ้านของลอร่าจึงเป็นบ้านนาที่โอ่อ่าเป็นหน้าเป็นตาของเมืองมากทีเดียว

เอารูปตัวอย่างบ้านในตัวเมืองสมัยนั้นมาให้ดูกันค่ะ  
บ้านที่เปิดเป็นร้านค้า  ครอบครัวก็อาศัยอยู่ชั้นบนถ้ามีสองชั้น  หรืออาศัยอยู่ในห้องด้านหลังบ้านถ้ามีชั้นเดียว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 14, 10:41
 แอลแมนโซกับลอร่าสนุกกับชีวิตในฟาร์มกันมาก    ผลผลิตไม่ว่าข้าวสาลีและข้าวโอ๊ต  แอปเปิ้ล แพร์และพีชให้ผลผลิตอย่างงาม    เขาสังเกตเห็นน้ำใสในลำธารและหญ้าเขียวสดที่ขึ้นมาแทนหญ้ารกเรื้อเป็นป่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน   สองอย่างนี้เป็นอาหารอย่างดีของวัว  เขาจึงเลี้ยงแม่วัวพันธุ์เจอซี่  เพื่อรีดนมเอาไปส่งให้ลูกค้าในเมือง   
ส่วนลอร่าก็ภูมิใจกับไก่เล็กฮอร์นทั้งฝูงที่เธอซื้อหามา   เธอออกแบบโรงเลี้ยงไก่อย่างดีให้สะอาดและมีอากาศถ่ายเท    เพื่อไก่จะได้แข็งแรงไม่ป่วยง่าย      ให้อาหารสัตว์จากพืชผลในฟาร์มนั่นเอง ไม่ต้องไปซื้อหามาจากร้านอาหารสัตว์ในเมือง  นอกจากทุ่นรายจ่ายแล้วอาหารสดๆ ยังทำให้แม่ไก่ไข่ดกมาก  แม้แต่ในฤดูหนาว หิมะตก  อากาศหนาวจัดจนแม่ไก่ของชาวบ้านไม่ออกไข่   ฟาร์มร็อคกี้ริดจ์ก็มีไข่สดๆไปขายในเมืองได้เสมอ   เป็นหน้าเป็นตาแก่เจ้าของ

เพื่อนบ้านของลอร่าทึ่งกับความสำเร็จของร็อคกี้ริดจ์มาก   ลอร่าจึงได้รับเชิญเสมอให้ไปพูดเวลาเจ้าของนาทั้งหลายนัดชุมนุมพบปะกัน   เล่าถึงเคล็ดลับในการเลี้ยงไก่ได้ผลสำเร็จ       มาถึงตรงนี้  ลอร่าในวัย 40 เศษก็ยังไม่เคยนึกฝันว่าเธอจะได้เป็นอะไรยิ่งไปกว่าเจ้าของฟาร์มที่โชคดีคนหนึ่ง

ภาพนี้ แอลแมนโซกำลังไถนาบนที่ดินของเขา


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 14, 10:46
ครั้งหนึ่ง ลอร่าเกิดติดธุระไปพูดไม่ได้    เธอก็เลยเขียนเรื่องที่เธอเตรียมไปพูดเป็นข้อเขียน ให้คนนำไปอ่านแทน     ปรากฏว่าในบรรดาผู้เข้าฟังเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อจอห์น แคช   เขาชอบข้อเขียนนี้มาก จึงติดต่อขอเชิญเธอให้เขียนบทความอย่างนี้อีกในหนังสือพิมพ์ของเขา  เขาจะลงตีพิมพ์ให้
ลอร่าประหลาดใจ   แต่ก็ดีใจมาก   เธอเจียมตัวอยู่เสมอว่าเธอเป็นคนเล่าเรียนมาน้อย ไม่จบแม้แต่มัธยมปลาย   เพียงแต่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และชอบเขียนนั่นเขียนนี่นิดๆหน่อยๆเมื่อมีโอกาส  เช่นเขียนจดหมายและบันทึก    เธอก็เต็มใจส่งให้หนังสือพิมพ์ เป็นบทความเล็กๆเกี่ยวกับชีวิตชาวไร่ชาวนา 
บทความแรกชื่อว่า "Favors the Small Farm Home"

ตรงนี้เองคือจุดเริ่มต้นของอาชีพนักเขียน เมื่อลอร่าอายุ 44 ปี


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 14, 08:25
  ข้อเขียนของลอร่านำมาจากประสบการณ์จริงรอบๆตัวเธอ    เธอสัมภาษณ์ชาวไร่ชาวนาคนอื่นๆ เอามาเขียน    เธอเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดในฟาร์มร็อคกี้ ริดจ์ ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่เธอกับสามีลงมือทำด้วยตัวเอง    ภาษาของเธอง่ายและน่าอ่าน   แนวคิดที่นำเสนออย่างเสมอต้นเสมอปลายก็คือ "ชีวิตของชาวนานั้นเป็นสุข"
   จดหมายคนอ่านเริ่มทยอยกันเข้ามาชื่นชมข้อเขียนของมิสซิส เอ.เจ.ไวลเดอร์  อย่างที่บก.หนังสือพิมพ์เรียกเธอในตอนนั้น   ในที่สุดบก.ก็ตั้งคอลัมน์ให้เธอเขียนประจำ  ในตอนแรกชื่อ The Farm House  และต่อมาเปลี่ยนเป็น As a Farm Woman Thinks  ค่าเรื่องไม่มากนัก แค่ 5 ดอลล่าร์ และต่อมาขึ้นเป็น 10 ดอลล่าร์  แต่มันก็ช่วยเพิ่มรายได้ของสองสามีภรรยาได้ดีมาก
   ลอร่าส่งข้อเขียนของเธอไปลงในหนังสือพิมพ์อื่นๆในรัฐ   ทั้งบทความและโคลงกลอนอย่างที่แม่เคยปลูกฝังให้เธอตอนเด็กๆ  ก็ได้รับการตอบรับจากบก.ด้วยดี   ถึงกระนั้นเธอก็ไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่าเขียนถึงสิ่งที่เธอรัก  มีรายได้นิดๆหน่อยๆมาเป็นกำลังใจ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 14, 08:32
 ขอกลับมาทางโรส
 หลังจากออกจากบ้านไปทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ แคนซัส ซิตี้เมื่ออายุ 17     โรสทำงานเป็นพนักงานโทรเลขของบริษัทเวสเทิร์น ยูเนียน     เธอไม่ได้จับเจ่าอยู่ในที่เดียว หากแต่ย้ายไปไกลถึงซานฟรานซิสโก  ที่นี่เองโรสพบชายหนุ่มชื่อกิลเลต เลน  ทั้งสองแต่งงานกันเมื่อโรสอายุ 23 ปี
  สามีภรรยาหนุ่มสาวย้ายกลับมาปักหลักที่แคนซัส ซิตี้     โรสเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์แคนซัส ซิตี้ โพสต์   เลือดของศิลปินและการฝึกฝนเรื่องการเขียนการอ่านมาแต่เด็กเริ่มออกแววในตอนนี้    แต่โรสก็ยังไม่ได้จับงานนี้จริงจังนัก     เธอหันไปหาอาชีพอื่นช่วยสามีหารายได้ที่ดีกว่า คือเป็นนายหน้าค้าขายที่ดินร่วมกัน
  โรสกลับมาเยี่ยมบ้านตามคำชวนของแม่    ลอร่ากับแอลแมนโซเข้ากับลูกเขยได้ดี      ชีวิตทำท่าจะไปด้วยดีด้วยกันทุกฝ่ายถ้าไม่ถูกคั่นจังหวะด้วยเรื่องน่าเศร้าสลดเรื่องหนึ่งคือ โรสตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย แต่เด็กน้อยก็เสียชีวิตหลังคลอด  เช่นเดียวกับบุตรชายของลอร่าเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน  และน้องชายของลอร่าเมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว 
  จากนั้นโรสก็ไม่มีบุตรอีกเลย

โรสในวัยสาว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 14, 10:23
     โรสรับถ่ายทอดนิสัยชอบเดินทางมาจากคุณตาชาร์ลส์และแม่เต็มตัว   อยู่แคนซัสซิตี้ไม่นานเธอก็เดินทางไปคาลิฟอร์เนียอีกครั้ง  เพื่อจับธุรกิจเป็นเอเยนต์ค้าขายบ้านและที่ดินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน    กิลเลต เลนก็ทำธุรกิจนี้เช่นกัน  ทั้งทำร่วมกับภรรยาและแยกกันเป็นอิสระ  แต่ว่าโรสขายเก่งกว่าสามีเธอเสียอีก
    อาชีพของโรสดำเนินไปด้วยดีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1  เริ่มฉายเงาขึ้นมาในยุโรป   มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอเมริกาด้วย  ธุรกิจบ้านและที่ดินก็เริ่มซบเซา      ในตอนนี้เองเพื่อนคนหนึ่งของโรสชวนเธอไปทำงานใหม่ คือเป็นนักหนังสือพิมพ์ในซานฟรานซิสโก   มอบหมายให้เขียนคอลัมน์และสัมภาษณ์คนดังๆ   ตอนนี้เองโรสได้ใช้ทักษะที่เธอเคยเก่งสมัยเรียนอย่างเต็มที่   ไม่นานเธอก็ประสบความสำเร็จในฐานะคอลัมนิสต์คนดังของหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโกบุลเลทิน  

     โรสเขียนจดหมายถึงแม่  เล่าถึงความสำเร็จในอาชีพใหม่    เธอแน่ใจว่าแม่ผู้มีฝีมือทางนี้เช่นกันไม่ควรที่จะทำงานจำเจเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่อย่างนี้ไปจนตาย   เธอจึงแนะนำให้แม่หาคนงานมาช่วยเลี้ยงไก่  แม่จะได้เอาเวลาไปเขียนหนังสือได้มากกว่านี้  และควรเขยิบขั้นจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปยังหนังสือพิมพ์สำคัญ เพื่อรายได้และชื่อเสียงที่ดีกว่า
    ลอร่าประทับใจกับความสำเร็จของลูกสาวมาก    ลูกน้อยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนบัดนี้ก้าวขึ้นไปถึงขั้นได้สัมภาษณ์บุคคลดังๆระดับชาติอย่างเฮนรี่ ฟอร์ด เจ้าของบริษัทรถยนต์ฟอร์ด   ชาลี แชปลินยอดดาราตลก และนักบินผาดโผนอย่างอาร์ท สมิธ     เธออยากจะรู้ว่าโรสมีเทคนิคการเขียนยังไงแบบไหนถึงทำได้ขนาดนี้     ดังนั้นในปี 1915  เมื่อโรสชวนแม่ไปเที่ยวซานฟรานซิสโก เพื่อชมงานสินค้าโลก  ลอร่าก็ตกลงเดินทางจากมิสซูรี่ไปทันทีตามลำพัง   แอลแมนโซอยู่เฝ้าบ้าน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 14, 10:27
โรสในวัยทำงาน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.พ. 14, 10:36
   ลอร่าใช้เวลาอยู่ในคาลิฟอร์เนียกับลูกสาว 2 เดือน    ก่อนหน้าเดินทาง หนังสือพิมพ์ขอให้เธอเก็บประสบการณ์จากการชมนิทรรศการงานสินค้าโลกกลับไปเขียนลงในคอลัมน์  เธอก็ตกลง     เธอเขียนจดหมายถึงสามีอย่างสม่ำเสมอ เล่าถึงทุกอย่างที่เห็น  แอลแมนโซเก็บจดหมายไว้ทุกฉบับ     หลังจากลอร่าถึงแก่กรรมไปแล้ว มีผู้พบจดหมายเหล่านี้ในทรัพย์สินส่วนตัวของเธอจึงนำมาตีพิมพ์รวมเล่มในปี 1974   ให้ชื่อว่า West from Home

   โรสชวนพ่อแม่มาอยู่ด้วยกันในซานฟรานซิสโก   คาลิฟอร์เนียมีอากาศอบอุ่น และเจริญมากกว่าเมืองเล็กๆอย่างแมนสฟิลด์    แต่ลอร่าปฏิเสธ  เธอไม่ยอมแลกชีวิตในฟาร์มกับที่แห่งใดอีกทั้งสิ้น     ตอนนี้ฟาร์มร็อคกี้ริดจ์ขยายพื้นที่ออกไปถึง 200 เอเคอร์ จากน้ำพักน้ำแรงและการเก็บออมเงินของสามีภรรยา     ทั้งคู่ทำงานกันอย่างไม่หยุดยั้ง ผลตอบแทนจากบ้านนาก็นับว่าน่าชื่นใจ แม้ไม่ทำให้รวย  แต่ก็มีกินมีใช้ ไม่ยากจน
  ส่วนโรสไม่เห็นด้วยเลย  เธอคิดว่าพ่อแม่อายุมากแล้ว ทำงานหนักตรากตรำเกินไป  น่าจะขายฟาร์มแล้วไปซื้อบ้านเล็กๆในชนบท  ใช้ชีวิตอย่างสบายๆ อยู่ที่ไหนสักแห่ง   แต่ลอร่าบอกว่า
  "ก็พ่อกับแม่อยู่ในชนบทแล้วไง"  


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: Singing Blue Jay ที่ 10 ก.พ. 14, 18:45
เข้ามาตามอ่านต่อเนื่องนะคะ ชอบลอร่ามาตั้งแต่เด็กเหมือนกันค่ะ เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆทุกครั้งที่หยิบหนังสือชุดนี้ขึ้นมาอ่าน เก็บมาหลายเวอร์ชั่นค่ะ หายบ้าง ตามเก็บไม่ครบชุดบ้าง จนล่าสุดซื้อเก็บของอมรินทร์ไว้อีกชุดเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว...กันเหนียว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 14, 09:23
เรื่องนี้อ่านกี่หนก็ประทับใจค่ะ   ชอบความอบอุ่นในครอบครัว  และมองโลกในแง่ดีของลอร่า   อ่านแล้วเกิดกำลังใจ ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก

ในช่วงที่โรสดำเนินชีวิตอย่างสาวเมืองใหญ่ ประสบความสำเร็จในฐานะนักเขียนคอลัมน์คนดัง   ลอร่าก็ประสบความสำเร็จตามแบบของเธอ   นอกจากเขียนในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจนเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว   เธอยังทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมกับสมาคมพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐมิสซูรี่  ซึ่งเน้นทางด้านสวัสดิการให้ชาวไร่ชาวนา      ต่อมาก็ร่วมก่อตั้งสโมสร The Athenians ซึ่งเป็นกลุ่มทำงานเพื่อพัฒนาพวกผู้หญิงชาวไร่   ผลงานของลอร่าออกมาในรูปการก่อตั้งห้องสมุดสาธารณะให้พวกนี้มีหนังสืออ่าน  มีหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ เพื่อเปิดหูเปิดตาบรรดาเมียชาวนา แทนที่จะอยู่แค่ทำงานในไร่ไปวันๆ

ในสโมสรอะธีเนียน  ลอร่าตั้งกลุ่มพบปะสังสรรค์กันด้านวรรณกรรมเดือนละครั้ง   นำวรรณกรรมดังๆเช่นงานของเชคสเปียร์ ดิกเกนส์ มาร์ค ทเวน มาอ่านและวิจารณ์และเปลี่ยนความเห็นกัน      แอลแมนโซขับรถม้ามาส่งเธอในเมืองเวลานัดสังสรรค์  ส่วนตัวเขาก็ไปเล่นหมากรุกฆ่าเวลากับเพื่อนๆผู้ชายด้วยกัน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 14, 09:12
   ลอร่าได้รับถ่ายทอดนิสัยจากพ่อมาเต็มตัว     เธอเป็นคนสร้างความสุขให้ตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุภายนอก   สำหรับเธอ งานหนักในฟาร์มหมายถึงความสำเร็จรออยู่เบื้องหน้า   ไม่ได้หมายถึงความทุกข์ยากลำเค็ญที่จะต้องดิ้นรนหลีกหนี     เธอกับแอลแมนโซเป็นสุขที่ค่อยๆพลิกพื้นดินรกร้างจำนวนมากขึ้นมาเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์    สุขที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติห่างไกลจากความแออัด  ได้เห็นดวงอาทิตย์ทอแสงในยามเช้า และตะวันตกดินในยามใกล้ค่ำ   ได้ยินเสียงนกร้องบนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่าง    แค่นี้ก็เป็นสวรรค์บนดินสำหรับสองสามีภรรยา   ไม่จำเป็นต้องย้ายไปอยู่อย่างสะดวกสบายในเมืองใหญ่แห่งไหน

  ด้วยความสันโดษ และพอใจกับชีวิต   ลอร่าจึงมีความสุขกับชีวิตเจ้าของฟาร์มและกิจกรรมสังคมที่เธอทำอยู่ เป็นเวลานานหลายต่อหลายปี   เธออายุห้าสิบกว่าแล้วในเวลานี้   แต่ก็ยังสนุกกับงานโดยไม่คิดจะถอยหลังไปรอวัยเกษียณ     เมื่อเจ้าของฟาร์มรวมตัวกันตั้งกองทุนกู้ยืมเงินสำหรับเกษตรกร โดยมีธนาคารในมิสซูรี่เป็นแหล่งเงินกู้  ลอร่าก็ได้รับตำแหน่งเหรัญญิกของกองทุน  มีเงินเดือนประจำตำแหน่งด้วย 

  ขณะที่แม่ประสบความสำเร็จอยู่ในชนบท   โรสก็ประสบความสำเร็จในเมืองใหญ่ ในฐานะนักเขียนชื่อดังคนหนึ่ง     ชีวิตสมรสของเธอกับสามีเริ่มขรุขระ เพราะงานทำให้ทั้งคู่ต้องแยกกันอยู่ห่างไกลออกไปทุกที   ในที่สุดก็ลงเอยด้วยการหย่าขาดในค.ศ. 1912  โรสกลับมาเยี่ยมพ่อแม่บางครั้ง      หนังสือพิมพ์ลงข่าวเธอในฐานะวี.ไอ.พี.  เป็นหน้าเป็นตาให้พ่อแม่ได้มากมาย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 14, 09:42
โรสหย่าขาดจากสามีเมื่ออายุ 32 ปี  สมัยนั้นเรื่องหย่าร้างไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนักในสังคม   เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่แต่งงานเพื่อไปเป็นแม่บ้าน  สามีเป็นฝ่ายหาเลี้ยง   แต่โรสเป็นผู้หญิงทำงานที่ประสบความสำเร็จมากกว่าสามีหลายเท่า    ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเขา
กิลเลต เลนกับเธอแยกกันอยู่มาหลายปีก่อนตัดสินใจหย่าขาดจากกันในที่สุด


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 13 ก.พ. 14, 15:12
- ยังติดตามอ่านอยู่นะคะ

- โรสสวยนะคะ  สวยหวานมาก  รูปด้านข้างใน คห. 43  เห็นแล้วอิจฉาจมูกโด่งๆ นั่นมากมาย

   จะว่าไปลูกสาวบ้านนี้สวยๆ ทั้งนั้น  ลอร่าสวยเข้ม แครี่สวยเก๋  เกรซสวยหวานละมุน  แมรี่รูปตอนรุ่นสาวก็สวยเย็นตา  ถ้าเธอไม่มีปัญหาสายตาอาจดูแลรูปโฉมได้ดีกว่านี้ 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 14, 08:50
เอารูปโรส ที่มองเห็นจมูกโด่งชัดเจนอีกรูปมาให้คุณ tita ดูค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 14, 09:35
  ดวงของโรสพุ่งแรงในช่วงค.ศ. 1920   เธอเดินทางไปยุโรป ทั้งตะวันตกและตะวันออก   เขียนบันทึกเรื่องราวจากประสบการณ์ลงเป็นหนังสือตีพิมพ์จำหน่าย นอกจากเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้วยังมีรายได้งามพอจะส่งเช็คมาให้พ่อแม่ได้ถึงปีละ 500 ดอลล่าร์เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในฟาร์ม
   โรสใช้เวลาเดินทางรอบโลกอยู่ 4 ปีก่อนจะกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ที่ร็อคกี้ริดจ์   พักระยะยาวอยู่ที่นั่น  มีเพื่อนฝูงที่เป็นคนมีชื่อเสียงในแวดวงวรรณกรรมมาเยี่ยมเป็นระยะ   ตัวเธอเองก็เขียนเรื่องสั้นและหนังสือสารคดีชีวประวัติอยู่ไม่หยุดยั้ง     เป้าหมายของเธอก็คือหาเงินให้มากพอที่จะทำให้พ่อแม่เลิกทำงานหนัก อยู่ได้สบายๆเสียที   ของขวัญราคาแพงชิ้นแรกที่โรสซื้อให้พ่อแม่คือรถยนต์ยี่ห้อบูอิคสีน้ำเงินรุ่นปี 1923 สั่งตรงจากนิวยอร์ค   เธอหัดให้พ่อขับรถคันนี้ แม่เองก็หัดขับด้วย แต่ยกหน้าที่โชเฟอร์ให้พ่อทำแทน
   โรสเริ่มฝึกหัดให้แม่เขียนหนังสืออย่างจริงจังแทนที่จะเขียนบทความเล็กๆน้อยๆอย่างเมื่อก่อน    ลอร่าได้รับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของลูกสาว ให้อยากเขียนหนังสือเป็นเล่มขึ้นมาบ้าง   โรสคิดว่าถ้าแม่มีรายได้อย่างงาม  เธอก็จะได้สบายใจหมดห่วงเสียที  จากนั้นก็จะได้ย้ายไปพำนักอยู่ในประเทศอัลบาเนีย ซึ่งเป็นประเทศที่เธอชอบมากที่สุด  ตามที่วางแผนเอาไว้

 รถบูอิคสีน้ำเงินอย่างคันที่โรสซื้อให้พ่อแม่


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 14, 11:05
   ล่วงมาจนถึงปี 1928   แอลแมนโซอายุ 71 อาการเดินเขยกๆไม่ถนัดก็ชักจะมากขึ้นทุกที  จากเท้าขึ้นไปสู่ขาจนทำให้เคลื่อนไหวได้ช้ามาก    ลอร่าก็ปาเข้าไป 61   โรสเห็นว่างานในฟาร์มหนักเกินไปสำหรับพ่อแม่เสียแล้ว   ทั้งสองควรได้อยู่สบายๆสมกับที่เหนื่อยมาตั้งแต่หนุ่มสาว     ประกอบกับเธอขายลิขสิทธิ์เรื่องได้เงินมาถึงหนึ่งหมื่นดอลล่าร์    ซึ่งเป็นเงินก้อนโตในยุคนั้น     เธอก็เลยสร้างบ้านใหม่ให้พ่อแม่อยู่ในเนื้อที่ของฟาร์มร็อคกี้ริดจ์นั่นเอง
  บ้านหลังใหม่เป็นบ้านแบบอังกฤษ ห้าห้องนอน ก่อด้วยหินสีน้ำตาลเหลือบอ่อนแก่หลายสี     เป็นแบบบ้านที่โก้และแปลกตาไม่ซ้ำกับบ้านนาแถวมิสซูรี่ จึงเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของชาวบ้านมาก    ขนาดยังสร้างไม่เสร็จ  เจ้าของยังไม่ทันย้ายไปอยู่   ก็มีคนเข้ามาขอชมแล้ว
  เมื่อสร้างเสร็จ  โรสสั่งเครื่องเรือนใหม่ทั้งหมดมาจากเมืองสปริงฟิลด์    ติดไฟฟ้าให้แทนตะเกียงน้ำมันอย่างเมื่อก่อน   ส่งกุญแจบ้านให้แม่เป็นของขวัญวันคริสต์มาส      ส่วนเธออยู่ในบ้านนาสีขาวหลังเดิม   บัดนี้ทาสีใหม่  ติดไฟฟ้าสว่างไสวเช่นกัน    มีเพื่อนฝูงในแวดวงหนังสือมาเยี่ยมเยียนและพำนักอยู่ด้วย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 14, 11:08
  ในปีที่ลอร่าและแอลแมนโซย้ายมาอยู่บ้านใหม่ คือครบรอบปีที่ 35  ที่เธอย้ายมาอยู่ที่มิสซูรี่พอดี    เธอจ่ายค่าผ่อนชำระที่ดินงวดสุดท้ายที่กู้ยืมแบงค์มาเสร็จสิ้น    ฟาร์มร็อคกี้ริดจ์ตกเป็นของเธอและแอลแมนโซโดยสมบูรณ์
   มันก็น่าจะเป็นตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งของลอร่า   เธอก้าวล่วงเข้าสู่วัยปลายอย่างเป็นสุข     ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรกับสามี  มีลูกสาวคนเดียวก็รุ่งโรจน์ในอาชีพอย่างน่าปลื้มใจ  แถมยังเป็นลูกกตัญญูอีกด้วย  เป็นชีวิตที่จบลงอย่างสวยงามเหมือนฝัน
   แต่พระเจ้าไม่ยอมให้ชีวิตของลอร่าจบเพียงแค่นี้         ในวัยหกสิบกว่า เธอเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 14, 10:59
กระท่อมแบบอังกฤษที่โรสสร้างให้พ่อแม่  (ภาพใหญ่)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 14, 11:55
ภาระต่างๆถูกปลดเปลื้องลงไปจากบ่าของสามีภรรยา   เมื่อไม่ต้องผ่อนธนาคาร และแอลแมนโซก็ขายฝูงแกะรุ่นสุดท้ายไป ได้เงินมาอีกก้อนหนึ่ง  สามีภรรยาก็ค่อยสบายขึ้น   มีเวลาว่างมากขึ้นกว่าเก่า   แอลแมนโซมีเวลาไปสังสรรค์กับชาวบ้านมากขึ้น  ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก  แค่ฆ่าเวลาด้วยการไปเล่นพูลในเมืองบ้าง แนะนำชาวบ้านเรื่องการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มบ้าง  ตามประสาผู้สูงอายุที่ไม่มีห่วงเรื่องทำมาหากินอีกแล้ว

ส่วนลอร่าเมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น   เธอเริ่มย้อนนึกถึงอดีตในวัยเด็กที่ไม่เหลือร่องรอยอีกแล้วในชีวิตของคนยุคนี้   หลังสงครามโลกครั้งที่ 1   เทคโนโลยี่ใหม่ๆเกิดขึ้นมาก  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถยนต์ ไฟฟ้าตามบ้านเรือน   เมืองขยายใหญ่ขึ้น   วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมากมาย     แต่ความทรงจำในเรื่องดีๆเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนยังแม่นยำอยู่ในใจ     เธอก็เลยไม่อยากให้ชีวิตในอดีตเหล่านั้นสูญหายไปกับกาลเวลา

ลอร่าหยิบสมุดนักเรียนที่ซื้อมานมนานแล้วขึ้นมาเปิด  เหลาดินสอ แล้วเริ่มเขียนต้นฉบับอย่างบรรจง  ถ่ายทอดชีวิตของเธอตั้งแต่เริ่มจำความได้ที่บ้านในป่าใหญ่รัฐวิสคอนซิน   โยกย้ายอพยพไปหลายแห่งจนลงเอยที่เมืองเดอสเม็ต  เมื่อเธอเป็นสาวและได้แต่งงานกับแอลแมนโซ
เธอตั้งชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่า Pioneer Girl


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 14, 12:12
    โรสช่วยแม่อ่านและตรวจสอบแก้ไข เพราะเธอเคยทำหน้าที่บรรณาธิการมาก่อน    จนกระทั่งต้นฉบับแก้ไขปรับปรุงจบบบริบูรณ์  เธอพิมพ์ต้นฉบับเป็นตัวพิมพ์ดีดทั้งเล่ม  แล้วนำไปเสนอสำนักพิมพ์ต่างๆ    แม้ว่าบรรณาธิการหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องราวชีวิตของลอร่าน่าสนใจมาก แต่ก็ไม่มีที่ไหนรับซื้อเพื่อตีพิมพ์รวมเล่มอยู่ดี   

    เหตผุลสำคัญ  หนังสือเล่มนี้แน่นเอี้ยดไปด้วยรายละเอียดข้อเท็จจริง จนกลายเป็นสารคดีอัตชีวประวัติมากกว่ามีรสชาติสนุกสนานอย่างนวนิยาย   ลอร่าเน้นการบันทึกเหตุการณ์เสียมากกว่าจะสร้างพัฒนาการของตัวละคร     หลังจากต้นฉบับถูกส่งกันไปมาอยู่หลายแห่ง   เพื่อนในวงวรรณกรรมของโรสก็ออกความเห็นว่า เจ้าของเรื่องน่าจะดัดแปลงเสียใหม่ ให้เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กจะอ่านง่ายกว่า และสนุกดีด้วย

   ลอร่าเอาต้นฉบับกลับมาแก้ไขอีกครั้ง    เธอตัดตอนออกเหลือแต่ชีวิตวัยต้นที่ป่าใหญ่ในรัฐวิสคอนซิน    เขียนถึงชีวิตของชาวบ้านสมัยนั้นที่ดำเนินไปในแต่ละรอบปี  เริ่มจากฤดูหนาวที่ต้องหาและกักตุนอาหารไว้กินตลอดฤดูหนาว     ฤดูใบไม้ผลิที่เด็กๆเริ่มออกมาเล่นนอกบ้านได้  กับไปพบปะญาติๆในงานเต้นรำตามบ้าน     ฤดูร้อนที่เพื่อนบ้านไปมาหาสู่กัน  และฤดูใบไม้ร่วงที่เก็บเกี่ยวพืชผลเพื่อเตรียมสะสมไว้กินในฤดูหนาวอีกครั้ง
  สำนักพิมพ์ Harper&Brothers ตกลงรับพิมพ์เรื่องนี้ในค.ศ. 1931    ทั้งตัวบรรณาธิการและลอร่าเองก็ไม่คิดว่าหนังสือเล็กๆเขียนขึ้นสำหรับเด็กวัยประถมอ่านกันเล่มนี้ จะเป็นหนังสือที่เลื่องลือไปทั่วโลก   พาเอาชีวิตชาวนาจนๆครอบครัวหนึ่งที่ไร้ความสลักสำคัญใดๆ สมัยเขายังมีชีวิตอยู่ กลายเป็นบุคคลอมตะในที่สุด


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: หลงลืม ที่ 19 ก.พ. 14, 22:55
ขอบคุณ อ.เทาชมพูมากๆค่ะ เคยอ่านชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น และซื้อเก็บไว้ย้ายบ้านหลายครั้งหอบหิ้วมาตลอด จนลูกโตเป็นสาววัยรุ่น เลยหยิบมาอ่านอีกครั้ง แต่การอ่านครั้งนี้มีความรู้สึกว่าเหมือนไม่จบ อยากรู้จักครอบครัวลอร่ามากกว่านี้ พยายามค้นหาข้อมูลก็ได้มาเพียงเล็กน้อย จนมารู้จักเรือนไทย มาเจอหัวข้อนี้ ดีใจมากค่ะ เหมือนคนกินข้าวเต็มกระเพาะ   ;D ;D


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 14, 10:46
ดีใจมาก ที่เจอคนชอบหนังสือเรื่องเดียวกัน
กระทู้นี้ทำให้รู้ว่าแฟนหนังสือของลอร่าในประเทศไทยมีไม่น้อยเลยค่ะ    เห็นได้จากค.ห.ที่โพสเข้ามา  และจากสถิติคนอ่านที่ขึ้นไปเรื่อยๆทุกวัน   

ย้อนกลับไปที่ลอร่า เมื่อหนังสือเล่มแรกของเธออยู่ระหว่างตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์   ในค.ศ. 1931  เธอกับแอลแมนโซก็ตัดสินใจจะเดินทางกลับไปสู่ความหลัง  ด้วยการขับรถบูอิคสีน้ำเงินที่โรสซื้อให้  ออกจากมิสซูรี่ไปตามเส้นทางที่ทั้งสองเคยนั่งเกวียนอพยพกันมาเมื่อ 37 ปีก่อน   ย้อนกลับไปเมืองเดอสเม็ต  อันเป็นที่ที่พ่อตั้งหลักแหล่งอยู่เป็นครั้งสุดท้าย
ลอร่ากลับไปเดอสเม็ตครั้งสุดท้ายเพื่อดูใจพ่อ   หลังจากนั้นเธอไม่ได้กลับไปอีกเลย  แม้แต่ตอนที่แม่และแมรี่ถึงแก่กรรม   ทั้งสองป่วยกะทันหันและสิ้นลมหายใจไปในเวลาไม่กี่วัน   ก่อนที่แครี่และเกรซจะทันส่งข่าวถึงพี่สาว      บัดนี้ก็เหลือแต่น้องสาวสองคน อยู่กันคนละเมืองในรัฐดาโกต้าใต้

ลอร่ากลับไปถึงเมืองเล็กที่เธอเคยอยู่ตั้งแต่เห็นเมืองก่อตัวขึ้นกลางทุ่งกว้าง  พ่อเป็นผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานคนแรก   บัดนี้ก็ยังเป็นเมืองเล็กไม่ต่างจาก 37 ปีก่อนที่เธอจากที่นี่ไป    อากาศในฤดูร้อนยังคงร้อนและแห้งแล้งเช่นเก่า    เพื่อนนักเรียนและเพื่อนบ้านบางคนยังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม   แต่หนุ่มสาววัยเดียวกันในสมัยโน้นกลับกลายเป็นคนแก่ในวัยเกษียณกันหมดแล้ว   แปลกตาจนลอร่าต้องบันทึกเอาไว้ในสมุดความจำของเธอ ว่า ทุกคนที่เธอรู้จักกลายเป็นคนชรากันไปทั้งหมด

เดอสเม็ตในปัจจุบันยังคงทิ้งร่องรอยเมื่อลอร่าเคยอยู่  แม้ว่าเกวียนและรถม้า กลายเป็นรถยนต์  ถนนก็ขยายกว้างขึ้นแทนที่จะเป็นถนนดินปนฝุ่นของเดิม


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 20 ก.พ. 14, 11:11
ดูภาพเก่าในอเมริกาที่นี่มีภาพเยอะมาก คมชัด

http://www.shorpy.com/


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 14, 11:39
^
เข้าไปดูแล้วค่ะ ภาพสวยน่าทึ่งมาก
ถ้าจะตั้งกระทู้เล่าถึงบ้านเมืองของอเมริกาในยุค 1950s หรือก่อนนั้น  ใช้ภาพประกอบในเว็บนี้เว็บเดียวก็พอ

กลับมายังลอร่าในเดอสเม็ต
เธอแวะไปเยือนสถานที่ต่างๆในอดีต    ขับรถออกนอกเมืองไป 7 ไมล์เพื่อเยี่ยมเกรซที่เมืองแมนเชสเตอร์  เธอย้ายจากบ้านเดิมของพ่อไปอยู่ที่บ้านฟาร์มของสามีนับแต่แมรี่ถึงแก่กรรม     
ลอร่าแวะไปเยือนที่ดินเคยจับจองไว้  ไม่มีเพิงหรือบ้านเดิมเหลืออยู่ กลายเป็นที่ดินว่างๆ ต้นไม้เหลือไม่กี่ต้น   บ้านเพิงที่เคยอยู่ตอนโรสเกิดก็กลายเป็นนาข้าวสาลี  ทำให้ลอร่าคิดถึงคนเก่าๆจับใจ     เวลาผ่านไป 37 ปี   พ่อ แม่ แมรี่  สามีภรรยาโบ๊สต์ที่เป็นเพื่อนสนิทของครอบครัว และแค้ป การ์แลนด์ล้วนจากไปหมดแล้ว    แครี่ก็อยู่ห่างไกล  มีแต่เกรซเท่านั้นที่ยังอยู่ในละแวกบ้านเดิม

ลอร่ากลับไปที่บ้านเดิมในเมืองที่พ่อสร้างไว้     เมื่อเกรซย้ายออกไปอยู่บ้านนาของสามี ก็ให้บ้านนี้เช่า พร้อมกับขนข้าวของเครื่องใช้เดิมขึ้นไปเก็บไว้ในห้องใต้หลังคา  ลอร่าเสียดายมากพบว่าของใช้หลายอย่างหายสูญไป


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 14, 11:43
บ้านที่พ่อสร้างไว้ในเมือง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 14, 11:45
มีคำบรรยายว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของลอร่าในเมืองเดอสเม็ต  แต่ดูหน้าตาแล้วเป็นคนละหลังกับบ้านข้างบนนี้  เป็นไปได้ไหมว่าเป็นบ้านที่ลอร่ากับแอลแมนโซเคยมาเช่าอยู่ หลังจากขายฟาร์มไปแล้ว แต่ยังไม่ได้อพยพไปมิสซูรี่


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 14, 20:43
  หลังจากไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงเก่าๆที่ยังเหลืออยู่ในเมืองเดอสเม็ต   ลอร่ากับแอลแมนโซก็เดินทางไปที่เมืองคีย์สโตน ใกล้เชิงเขารัชมอร์  เพื่อไปเยี่ยมแครี่กับสามี   น้องสาวของลอร่าแต่งงานกับพ่อม่ายเจ้าของเหมือง อาศัยอยู่ที่นั่น     เธอพาพี่สาวพี่เขยท่องเที่ยวไปในละแวกนั้นจนกระทั่งถึงเวลาลอร่ากลับไปมิสซูรี่
  ลอร่าเรียกรัฐดาโกต้าใต้ว่า "ดินแดนแห่งอดีตที่ไม่คืนกลับมา"  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเคยรู้จักและผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านฟาร์ม  บ้านในเมือง พ่อ แม่ พี่สาวคู่ใจ  เพื่อนสนิทมิตรสหาย ล้วนแต่ลับหายไปกับกาลเวลา     เดอสเม็ตที่ยังอยู่ก็กลายเป็นบ้านอื่นเมืองอื่น ไม่เกี่ยวกับอดีตของเธออีกต่อไป      เธอจึงโล่งใจเมื่อถึงเวลาเดินทางกลับมาแมนสฟิลด์  มาสู่บ้านในปัจจุบันของเธอ

   ไม่กี่เดือนต่อมา พอถึงค.ศ. 1932    "บ้านเล็กในป่าใหญ่ "นิยายเรื่องแรกในชีวิตของลอร่าก็ตีพิมพ์เสร็จสมบูรณ์ ออกวางจำหน่าย      ลอร่าดีใจมากที่เห็นผลงานของตัวเองปรากฏเป็นจริงขึ้นมา   แม้ว่าเธอไม่ได้คาดหวังมากนัก  เพราะมันก็เป็นเพียงหนังสือเด็กเล่มเล็กๆเรื่องหนึ่งเท่านั้น     แต่เธอก็ภูมิใจที่ทำให้ชีวิตของพ่อ แม่ แมรี่และแครี่น้องสาวพลิกฟื้นขึ้นมาอีก จากอดีตในป่าใหญ่วิสคอนซินเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน

" บ้านเล็กในป่าใหญ่" ฉบับพิมพ์ครั้งแรก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 14, 20:52
  1932  เป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำของอเมริกา  ธนาคารล้ม โรงงานปิด ผู้คนตกงาน  ทำให้การจำหน่ายหนังสือออกจะฝืดเคืองอยู่บ้าง  แต่ถึงกระนั้นก็ตาม   นิยาย"บ้านเล็ก" กลับเป็นที่ต้อนรับอย่างดีตามโรงเรียน ห้องสมุด และร้านหนังสือ     หนังสือเล่มนี้ถูกนำไปอ่านประกอบในวิชาประวัติศาสตร์ของอเมริกาเมื่อเรียนถึงยุคบุกเบิก    สถิติการจำหน่ายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆไม่หยุดยั้ง   
   ลอร่ารับเช็คครั้งแรกเป็นจำนวนกว่า 500 ดอลล่าร์ด้วยความสุข    แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นก็คือ จดหมายจากเด็กๆเริ่มหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ    กระหายอยากจะอ่าน และอยากจะรู้ถึงชีวิตหนูน้อยในกระท่อมไม้ซุงมากกว่านี้อีก

  ในวัย 65 ปี ที่คนทั่วไปเกษียณจากงาน เริ่มพักผ่อนรอรับบั้นปลายชีวิตกัน     ดาวประจำตัวของคุณยายชาวนาคนหนึ่งในมิสซูรี่ก็เริ่มฉายแสงขึ้นสว่างไสวในฟากฟ้าวรรณกรรมของอเมริกา


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 14, 11:14
     ในเมื่อส้มทองคำหล่นลงมาทั้งเข่งในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ  สำนักพิมพ์ Harper&Brothers จึงไม่ยอมให้โอกาสทองผ่านมือไปง่ายๆ   แต่เสนอให้ลอร่าเขียนวรรณกรรมเด็กเรื่องต่อไป เกี่ยวกับชีวิตในยุคเดียวกันเช่นเดียวกับเล่มแรก      ลอร่ายังนึกไม่ออกว่าเธอจะเขียนตอนต่อไปในชีวิตวัยเยาว์อย่างไร  ก็เหลียวซ้ายแลขวาไปเจอชีวิตของสามีเข้าก่อน
    แอลแมนโซเคยเป็นเด็กชาวนามาอย่างเดียวกับเธอ   ชีวิตวัยเด็กของเขาสมบูรณ์พูนสุขอยู่ในเมืองมาโลน  รัฐนิวยอร์ค    เขาเคยเล่าถึงชีวิตประจำวันให้เธอฟัง ประกอบกับลอร่าเองก็เป็นชาวนามาตลอดชีวิต  เธอจึงเข้าใจวิถีชีวิตของชาวนาเจ้าของฟาร์มอย่างดี   เสียแต่แอลแมนโซเป็นคนขี้อายและถ่อมตัว  เขาก็เฝ้าแต่ตอบคำถามภรรยาว่า "ชีวิตฉันไม่มีอะไร"  " ก็ไม่เห็นมีอะไรต้องเล่านี่"
   แต่ผู้หญิงอย่างลอร่าก็ไม่ยอมแพ้     เธอไม่เล่า ฉันเล่าแทนเธอก็ได้
    ผลก็คือ  นิยายเล่มที่สอง Farmer Boy หรือ "เด็กชายชาวนา"  เปิดตัวสู่โลกวรรณกรรมในปีต่อมาคือปี 1933   ได้รับการต้อนรับอย่างดีเช่นกัน สำหรับเด็กๆทั่วอเมริกาที่กระหายอยากรู้จักชีวิตเมื่อหกสิบปีก่อน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 14, 20:16
      โรสเองก็ขะมักเขม้นผลิตงานวรรณกรรมในช่วงนี้    เธอเขียนเรื่องที่ใช้ฉากยุคบุกเบิก ส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของแม่เมื่อวัยเยาว์ ลงเป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์ชื่อ Let the Hurricane Roar  (สุคนธรสแปลเป็นไทยว่า "ไม่ระย่อมรสุม" )   กลายเป็นหนังสือดังอีกเล่มหนึ่งของวงวรรณกรรม     ส่วนลอร่าเอง ความสำเร็จของหนังสือสองเล่มเป็นกำลังใจให้เธอมุมานะจะเขียนเล่มที่สามขึ้นมาจนสำเร็จ   เธอยังเลือกเนื้อเรื่องจากชีวิตวัยเด็กของเธอ ตามคำร้องขอทั่วสารทิศจากเด็กๆและผู้ใหญ่   
      บ่อยครั้งเธอตื่นขึ้นในตอนดึก  สมองเต็มไปด้วยความคิดที่จะเขียนตอนใหม่ๆในหนังสือเล่มใหม่    เธอก็จะลุกจากเตียงอย่างเงียบกริบ ลงมาเขียนหนังสือด้วยดินสอ ลงในสมุดนักเรียนราคาถูกๆที่เธอซื้อมาจากร้านในเมือง   เมื่อจบตอนลงไปเธอก็ส่งให้ลูกสาวอ่าน และแก้ไขขัดเกลา    แต่โรสก็จะให้กำลังใจแม่เสมอว่า
     "แม่เขียนอะไรก็น่าอ่านทั้งนั้นละจ้ะ"

     เมื่อเขียน "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ลอร่าไม่ได้คิดว่าจะมีภาค 2   ชีวิตของหนูน้อยลอร่าในป่าใหญ่จบลงอย่างผาสุก เมื่อฤดูหนาวเวียนมาอีกครั้ง   ในฉากสุดท้ายเธอเข้านอนพร้อมกับแมรี่และน้องน้อยแครี่   เมื่อไฟยังลุกอบอุ่นอยู่ในเตา  แม่นั่งถักไหมพรม  พ่อสีซอไวโอลินขับกล่อมลูกน้อยด้วยเพลง Auld Lang Syne   ซึ่งหมายถึง "เวลานมนานมาแล้ว"    แต่เมื่อเสียงเรียกร้องระดมกันมาหนักเข้า   เธอก็ตัดสินใจเล่าถึงชีวิตช่วงต่อไป เมื่อพ่อแม่พาลูกๆอพยพจากป่าใหญ่ไปตั้งถิ่นฐานในรัฐแคนซัส
    เรื่องนี้คือ Little House on the Prairie  บ้านเล็กในทุ่งกว้าง   ต่อมาเป็นชื่อที่แพร่หลายที่สุดในชุด "บ้านเล็ก"

    ซ้ายคือฉบับพิมพ์ครั้งแรก  ขวาคือฉบับพิมพ์ปัจจุบัน
 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: หลงลืม ที่ 24 ก.พ. 14, 08:43
เข้ามาลงชื่อให้ อ.เทาชมพูทราบว่า ยังติดตามทุกวันค่ะ  :-[ :-[


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 10:44
ขอเสิฟกาแฟกับเค้ก แบบอเมริกันย้อนยุคให้แฟนกระทู้ทุกคน  ระหว่างติดตามค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 11:12
   เมื่อเริ่มเขียน  Little House on the Prairie  ลอร่าไม่ได้ใช้แต่ความทรงจำวัยเยาว์อย่างที่เขียนเล่มแรกและเล่มที่สอง   เธอพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกขั้น คือลงมือค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง      เมื่อครอบครัวอิงกัลส์อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนอินเดียนแดงในรัฐแคนซัส   เธอก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์ค้นคว้าในห้องสมุดจนพบชื่อหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง ชื่อ โซลด้าต์ ดู แชน ที่ช่วยคนขาวทั้งหมดเอาไว้ไม่ให้อินเดียนแดงเผ่าอื่นๆฆ่าตาย    และเธอเคยเห็นเขาด้วยตัวเอง
   สามปีนับแต่หนังสือเล่มแรก   ลอร่าตระหนักว่าเธอไม่ได้เขียนแค่หนังสือเล็กๆเล่มหนึ่ง   แต่เธอเขียนวรรณกรรมที่บรรณารักษ์ยินดีซื้อเข้าห้องสมุดเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิง    ครูประวัติศาสตร์ใช้ประกอบการสอน    เด็กนักเรียนพากันอ่านในฐานะเรื่องราวบันทึกอดีต   เพราะฉะนั้นเธอจะต้องรักษาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องตรงความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้       นอกจากค้นคว้าแล้ว เมื่อเขียนต้นฉบับเสร็จ    เรื่องของเธอถูกส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ยุคบุกเบิกของอเมริกันตรวจสอบอีกขั้นตอนหนึ่ง ก่อนจะตีพิมพ์
   นับเป็นความรับผิดชอบเท่าที่นักเขียนคนหนึ่งจะทำได้ต่อสังคม

    


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 11:13
หลังลอร่าถึงแก่กรรมไปแล้วสี่สิบกว่าปี   ไมเคิล แลงดอน ดาราหนุ่มที่ดังมาจากหนังทีวีชุด Bonanza  ในยุค 1960s  เริ่มสร้างหนังชุดทางทีวีเรื่องใหม่ในปี 1974  โดยเขาทั้งกำกับเองและแสดงนำเอง   เขาเลือกชีวิตของครอบครัวอิงกัลส์มาเป็นพื้นฐานของเรื่อง    จับตอนที่พ่อแม่พาลูกๆไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในมินเนโซต้า     แต่ว่าเขาเลือกชื่อหนังทีวีจากนิยายเล่มที่สาม คือตอนที่ครอบครัวนี้อยู่ในแคนซัส ชื่อ  Little House on the Prairie
   หนังทีวีชุดนี้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม   ออกอากาศถึง 8 ปี ตั้งแต่ 1974-1982  หลังจากนั้นก็ยังมีตอนพิเศษออกมาชื่อ Little House: A New Beginning ในปี 1982-1983     ตอนพิเศษอื่นๆก็คือ  Little House on the Prairie: A Look Back to Yesterday (1983), Little House: Bless All the Dear Children (1983), and Little House: The Last Farewell (1984).


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 12:51
  ถึงตรงนี้ ลอร่าในวัย 70  ผมขาวเป็นสีเงินไปหมดแล้วทั้งหัว  เริ่มมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตขึ้นมา คือเธอจะเขียนนิยายชุดยาว ที่เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์สำหรับเยาวชน  เล่าถึงทุกอย่างเกี่ยวกับดินแดนยุคบุกเบิกของอเมริกา    เพื่อเด็กๆจะได้เข้าใจชีวิตในยุคก่อนโน้นโดยไม่ต้องอ่านแต่ตำราอย่างเดียว     โดยใช้แกนของเรื่องคือชีวิตครอบครัวอิงกัลส์ของเธอเองเป็นตัวละครหลัก

  ห้าปีหลังจาก "บ้านเล็กในป่าใหญ่"  ลอร่าก็จบนิยายเรื่องที่ 4  คือ On the Banks of Plum Creek    เป็นชีวิตของพ่อแม่ลูกเมื่อเดินทางจากดินแดนอินเดียนแดงในแคนซัสมาตั้งถิ่นฐานที่ริมห้วยพลัมครี้กในรัฐมินเนโซต้า   
   หนูน้อยลอร่าในตอนต้นเรื่องเติบโตขึ้นเป็นเด็ก 8 ขวบ  เข้าโรงเรียน  รู้จักชีวิตในเมือง และรับรู้เรื่องภัยธรรมชาติไม่ว่าจากตั๊กแตน  พายุหิมะ ความแห้งแล้ง ที่ชาวนายุคบุกเบิกต้องผจญกัน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 13:07
     รายได้จากวรรณกรรมสำหรับเด็กทั้ง 4 เล่ม ซึ่งตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก  มากพอที่ลอร่าจะดำเนินชีวิตได้อย่างสบายโดยไม่ต้องพึ่งผลิตผลในฟาร์มอย่างเมื่อก่อน     โรสก็ถือว่าหมดภาระที่จะต้องอุดหนุนจุนเจือพ่อแม่      เธอตัดสินใจย้ายจากร็อคกี้ริดจ์ฟาร์มไปทำงานค้นคว้าวิจัยให้มหาวิทยาลัยมิสซูรี่    จากนั้นก็ไปซื้อบ้านใหม่อยู่ในรัฐคอนเนคติคัท 
    ลอร่าคิดถึงบ้านนาที่เธอกับแอลแมนโซสร้างขึ้นด้วยมือ  แม้ว่ากระท่อมอังกฤษหลังใหม่สวยงามกว่า แต่ก็ไม่อบอุ่นเหมือนบ้านเก่าอยู่ดี    เธอก็เลยย้ายกลับมาอยู่ที่ร็อคกี้ริดจ์ฟาร์มอีกครั้ง   คราวนี้ไม่โยกย้ายไปไหนอีกเลย      เธอวางแผนไว้ว่าจะเขียนงานอีก 3 เรื่องให้ครบชุดวรรณกรรม "บ้านเล็ก" ให้สำเร็จก่อนเธอตาย

    ลอร่าในนิยายเติบโตขึ้นจากเด็กหญิงวัยแปดขวบในเรื่องที่สี่  มาเป็นเด็กสาววัย 13 ในเรื่องที่ห้า  ลอร่าตั้งชื่อว่า ริมทะเลสาบสีเงิน  By the Shore of Silver Lake   เมื่อครอบครัวอิงกัลส์ย้ายจากมินเนโซต้ามาปักหลักในดินแดนดาโกต้าใต้      นิยายเรื่องที่ห้านี้เป็นตอนแรกที่เล่าถึงแมรี่ พี่สาวคู่ใจของลอร่าว่าประสบชะตากรรมเลวร้ายถึงขั้นป่วยและตาบอด      ในตอนที่เริ่มเขียน  โรสแนะนำให้เอาตอนนี้ออกจากหนังสือ  เธอไม่อยากเอาเรื่องเศร้าสลดหดหู่มาให้เด็กอ่าน     แต่ลอร่าไม่ยอม   พี่สาวของเธอจะต้องมีตัวตนอยู่ในหนังสือตามความเป็นจริง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 14, 13:40
       เมื่อเขียน On the Banks of Plum Creek   ลอร่าก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง   นอกจากเป็นนักเขียนยอดนิยมในระยะแรก เธอก้าวขึ้นสู่ระดับรางวัลใหญ่ คือรางวัลนิวเบอรี่  (Newbery Award) ซึ่งเป็นรางวัลที่สมาคมห้องสมุดจากบรรณารักษ์ทั่วประเทศมอบให้วรรณกรรมเยาวชนของอเมริกันที่ดีเด่น  มี 2 แบบคือ ชนะเลิศ กับเกียรติยศ      นิยายของลอร่าได้รางวัลเกียรติยศ   เป็นกำลังใจให้เธอมุมานะจะผลิตตอนต่อมาให้ดีเยี่ยมไม่แพ้ตอนก่อนๆ    คือตอน   By the Shores of Silver Lake

     ลอร่าทำได้ตามมุ่งหมาย   By the Shores of Silver Lake ได้ Newbery Honor Award ในค.ศ. 1940       เรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของครอบครัวอิงกัลส์เมื่ออพยพมาสู่รัฐดาโกต้าใต้   ปักหลักอยู่โดดเดี่ยวตลอดฤดูหนาวในบ้านพักของช่างรังวัดทำทางรถไฟ ริมทะเลสาบที่แคโรไลน์แม่ของเธอตั้งชื่อให้ว่า "ทะเลสาบสีเงิน"    ในตอนนั้นเมืองเดอสเม็ตยังไม่เกิด    เรื่องนี้เล่าถึงกำเนิดของเมือง  และการจับจองที่ดินครั้งสุดท้ายของพ่อ

     


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 14, 14:11
      อุดมการณ์ของลอร่าที่จะเขียนหนังสือเล่าประวัติศาสตร์ของอเมริกาในยุคบุกเบิกให้เด็กๆรุ่นหลังได้อ่าน  มาถึงตอนยากที่สุดในชุด "บ้านเล็ก" คือตอนที่ลอร่าอายุ 14 เต็ม    พ่อจับจองที่ดินอยู่นอกเมืองเดอสเม็ตในปลายค.ศ. 1880      เป็นครั้งแรกที่คนอเมริกันอพยพมาอยู่ในแถบนี้ของรัฐดาโกต้าใต้    จึงไม่มีใครรู้พิษสงของอากาศฤดูหนาวที่นี่ว่าร้ายแรงขนาดไหน     คนที่รู้ฤทธิ์ของมันคือชาวอินเดียนแดงที่เคยอยู่แถบนี้มาก่อน    ในตอนต้นเรื่อง ลอร่าจึงเล่าถึงคำทำนายของอินเดียนแดงชราคนหนึ่งที่เดินทางผ่านมาเมืองนี้  ว่าทุกๆ 7 ปีอากาศจะหนาวจัด   และเมื่อครบ 3 รอบของเจ็ดปีก็จะหนาวอย่างทารุณที่สุด   ปี 1880 ต่อกับ1881  เป็นปีครบสามรอบของเจ็ดปีพอดี    
     เมื่อลงมือ   ลอร่าตั้งชื่อหนังสือว่า The Hard Winter    ขณะที่กำลังเขียนๆอยู่  เธอก็คิดถึงบ้านเก่าที่เดอสเม็ตขึ้นมาจับใจ   ในที่สุดเธอตัดสินใจกลับไปเยี่ยมดาโกต้าใต้อีกครั้ง  มีแอลแมนโซขับรถจากมิสซูรี่ไปกันสองคน      เธอไปเยี่ยมเพื่อนฝูงเก่าๆที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมือง  ไต่ถามกันถึงเรื่องในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน  เพื่อรวบรวมข้อมูลมาเขียนในนิยายเล่มใหม่      เธอไปเยี่ยมน้องสาวและน้องเขย   เมื่ออยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง  พี่น้องทั้งสามคือลอร่า เกรซและแครี่คุยกันถึงชีวิตวัยเยาว์ที่มีพ่อ แม่ แมรี่ ยังอยู่พร้อมหน้า  เกรซกับแครี่ก็ช่วยกันจดจำรำลึกรายละเอียดในอดีตให้พี่สาว เพิ่มขึ้นจากที่เธอจดจำได้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 14, 14:16
        ทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจแรงกล้าให้ลอร่าเขียนนิยายเรื่องใหม่ได้จนจบ       เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สุดของเธอ ในการพรรณนาฤดูหนาวที่แสนหนาวจัด  ทารุณและอดอยากยากแค้นแทบจะอดตายกันทั้งเมือง      ฝีมือของลอร่าอยู่ที่เธอสามารถบรรยายรายละเอียดของพายุหิมะและสภาพความหนาวทุกอย่างได้แจ่มแจ้งตรงตามความจริง  แม้แต่นักประวัติศาสตร์เองก็ยังพิศวงกับความถูกต้องด้านข้อมูลที่ลอร่าให้ไว้ในเรื่องนี้   ส่วนที่ดีที่สุดคือกำลังใจในครอบครัวอิงกัลส์ที่ทำให้ทุกคนฝ่าฟันมาได้ถึงฤดูใบไม้ผลิในตอนจบ
        เรื่องนี้เมื่อถูกส่งถึงสนพ.   ทางสนพ.ขอเปลี่ยนชื่อจาก The Hard Winter เพราะว่าฟังหดหู่ไปสำหรับเด็กๆคนอ่าน   เป็น The Long Winter   ลอร่าก็ตกลงโดยดี
        เรื่องนี้ได้รับรางวัล Newbery Honor Award ประจำปี 1941 อีกครั้ง   ลอร่ากลายเป็นนักเขียนใหญ่ระดับประเทศไปแล้ว

        แต่ความเศร้าโศกก็มาคั่นจังหวะความสุขของลอร่าในช่วงนี้    พร้อมๆกับ The Long Winter ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม    เกรซน้องสาวคนเล็กก็ป่วย และถึงแก่กรรมก่อนที่จะทันเห็นผลงานของพี่สาวเล่มถัดไป   เหลือเพียงแครี่คนเดียวเป็นพยานรับรู้ถึงชีวิตของครอบครัวอิงกัลส์


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 14, 10:25
       ฤดูหนาวปลายปี 1880 ข้ามมาถึงปี 1881  เป็นฤดูหนาวประวัติการณ์ครั้งหนึ่งของรัฐดาโกต้าใต้    เรียกกันว่า The Snow Winter มีพายุหิมะกระหน่ำถึง 35 ครั้ง จากปลายเดือนตุลาคม ปี 1880 ไปจนถึงปลายเดือนเมษายน ปี 1882   พายุแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 3 วัน  มีช่วงพายุสงบคั่นกลางอยู่ประมาณ 2 วันครึ่ง      การคมนาคมไม่ว่าเส้นทางเกวียนหรือรถไฟถูกตัดขาดหมด  เมืองเล็กๆอย่างเดอสเม็ตถูกทิ้งไว้โดดเดี่ยวในทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา   ให้ชาวเมืองผจญความอดอยากกันไปตามยะถากรรม    แต่ก็ด้วยความกล้าหาญของแอลแมนโซและแค้ป การ์แลนด์  ไปเสาะหาข้าวสาลีจากชาวบ้านนอกเมืองมาประทังชีวิตให้ชาวเมืองได้ จึงรอดตายกัน
      สำหรับพวกเราที่อยู่กันในเมืองร้อน เขตศูนย์สูตร อาจนึกไม่ออกว่าพายุหิมะเป็นเรื่องโหดร้ายขนาดไหน    แต่คนที่เคยเห็นย่อมรู้ว่าหิมะตกกับพายุหิมะ (Blizzard)  ไม่เหมือนกัน    หิมะตกก็เหมือนฝนตก เพียงแต่เปลี่ยนจากหยดน้ำเป็นละอองน้ำแข็งฝอยๆ  ลงมาเป็นกองขาวบนพื้นดิน ทำให้อากาศหนาวเจี๊ยบ  แต่ก็ยังพอเดินย่ำหิมะไปไหนมาไหนได้ ไม่ลำบาก    แต่ว่าพายุหิมะคือพายุน้ำแข็งกระหน่ำหนัก มีแรงลมที่หนาวเฉียบพัดแรงทุกทิศทุกทาง  พร้อมกับฝอยน้ำแข็งหมุนคว้างๆตรงหน้า  ทำให้อากาศขาวไปหมดเหมือนกางผ้าขาวกระพือบังหน้า   หากว่ายื่นมือออกไปก็จะมองไม่เห็นปลายมือเสียด้วยซ้ำ    ทำให้หลงทางได้แม้แต่เดินไม่กี่ก้าว  นี่ยังไม่รวมว่าอาจจะแข็งตายได้ต่างหาก



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 14, 10:31
ภาพบันทึกประวัติศาสตร์
รถไฟติดอยู่ในหล่มหิมะ ทำให้ขนส่งสินค้าไปตามเมืองต่างๆไม่ได้   ติดอยู่อย่างนี้ตลอดฤดูหนาว  รถไถหิมะก็ไถไม่ได้เพราะหิมะผสมกับผิวดินจับแน่น  คนงานต้องใช้พลั่วขุดด้วยมือลงไปทีละฟุต เพื่อเอารถไฟออกมาจากหล่ม


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 01 มี.ค. 14, 20:53
เป็นบันทึกช่วงเดียวที่ แคโรไลน์ แม่ของลอร่า
อารมณ์หงุดหงิดใส่สามีค่ะ  :P


เลยขออนุญาตเอาบทความทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับ หนังสือชุดนี้ มาลงในกระทู้เลยนะคะ
น่าจะเข้ากันได้ดี

บทความนี้ นำเสนอในคอลัมน์ สหัสวรรษประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับหนึ่ง เมื่อปี 2540 หรือหลังจากนั้น
ขณะที่บ้านเรากลายเป็นต้มยำชามใหญ่ให้คนต่างชาติซดกิ่นอย่างเอร็ดอร่อย อิ่มหมีพีมัน


สหัสวรรษใหม่ประเทศไทย

ฤดูหนาวอันแสนนาน

พาดหัวสหัสวรรษใหม่ประเทศไทยคราวนี้ อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านหลายคนเลิกคิ้วแกมฉงน
เอ๊ะ   คนเขียนคงถูกพิษภัยเศรษฐกิจเล่นงานจนชักจะเพี้ยนๆไปแล้วหรืออย่างไร       
อากาศต้นเดือนกันยายนทั้งชื้นทั้งเฉอะแฉะ บางวันก็แดดจัดจ้านตั้งแต่เช้า
พอบ่ายคล้อยเมฆดำทะมึนก็แผ่กระจายวงกว้าง แล้วฟ้าก็อุ้มฝนฉ่ำไปทั่ว
มองเหนือขึ้นไปก็ไม่เห็นจะมีวี่แววเลยว่า หน้าหนาวจะมาถึงเมื่อไร
โดยเฉพาะในกรุงเทพเมืองฟ้าอมรนี่นะหรือจะมี  “ฤดูหนาวอันแสนนาน”

เปล่าเลย ท่านผู้อ่านที่เคารพ  ขณะที่ใครๆกำลังเห่ออ่านหนังสือเด็กเล่มดัง Harry Potter ทั่วทุกหนแห่ง
ตั้งแต่บนเครื่องบินยันรถไฟฟ้า ตัวเองกลับไปพลิกๆดูหนังสือเด็กชุด บ้านเล็ก (Little House)
ประพันธ์โดย ลอร่า อิงกัลล์ ไวล์เดอร์ แปลเป็นบทภาษาไทยที่สละสลวยโดย สุคนธรส 
ทั้งชุดประกอบด้วยหนังสือเล่มต่างๆเรียงลำดับต่อไปนี้  คือ บ้านเล็กในป่าใหญ่  เด็กชายชาวนา
บ้านเล็กริมห้วย ริมทะเลสาบสีเงิน เมืองเล็กในทุ่งกว้างและปีทองอันแสนสุข 

เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นการบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ ของบรรพบุรุษชาวอเมริกันในยุคบุกเบิกมุ่งสู่ภาคตะวันตกเพื่อจับจองที่ดินทำกิน 
พวกเขาต้องผจญภัยกับภยันตรายต่างๆ และหาหนทางเพื่อเอาชนะและดำรงชีวิตอยู่ได้
ด้วยวิถีที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาลและวิกฤตแปรปรวนตลอดเวลา 
สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมวิญญาณนักสู้รุ่นบรรพชนให้มีจิตใจหาญกล้า
และพร้อมจะเผชิญกับสิ่งท้าทายอย่างไม่ท้อถอย  พี่งพาตนเอง
อันเป็นแก่นเรื่องหลักที่เราได้รับจากการอ่านหนังสือชุดนี้

ในฤดูหนาวอันแสนนาน  ลอร่า อิงกัลล์ ไวล์เดอร์ ได้เล่าเรื่องบันทึกความไว้ว่า
ภายหลังที่บิดาของเธอได้จับจองกรรมสิทธิ์ที่ดินในทุ่งกว้าง ที่เมืองเดอสะเม็ต ในรัฐตอนกลางของอเมริกา 
ก็เริ่มทำการเกษตรกรรมแบบชาวท้องถิ่นคือปลูกข้าวโพด ข้าวสาลีไว้บริโภคภายในครัวเรือน
ส่วนที่เหลือก็เตรียมนำส่งขายในเมือง 

หากปีนั้นแล้งเร็วกว่าปกติทำให้ธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวไม่เพียงพอสำหรับการยังชีพในช่วงฤดูหนาว 
แต่ทุกคนยังพออุ่นใจว่าถึงจะขาดแคลนอาหารเพียงไร  รัฐบาลลุงแซมก็คงจะไม่ใจดำทอดทิ้งพวกเขา 
คงจะเตรียมส่งขบวนรถไฟบรรทุกเสบียงมาให้ทันความต้องการ
และเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง พวกเขาก็สามารถเริ่มต้นเพาะปลูกได้ใหม่ 

หากสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึงก็คือ 
ปีนั้นเป็นปีที่จะหนาวรุนแรงที่สุดตามคำบอกเล่าและความเชื่อของชาวอินเดียนแดงชาวพื้นเมืองผู้เคยชินกับสภาพภูมิอากาศมาเก่าก่อน
กล่าวคือจะหนาวจัดเป็นระยะเวลาที่พระจันทร์เต็มดวง จันทร์แรมและเต็มดวง ซ้ำใหม่อีกหลายๆครั้ง ร่วม ๗ เดือน 
ทุกคนได้เตรียมตัวต้อนรับความหนาวเหน็บอย่างเต็มที่   :-[


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 01 มี.ค. 14, 20:58
เริ่มตั้งแต่ครอบครัวของลอร่าเองได้ อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองพร้อมกับครอบครัวคนอื่นๆ
เพราะกระท่อมไม้กลางทุ่งกว้างไม่สามารถให้ความอบอุ่นกับเธอและพี่น้องได้หากอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว 
บิดาของลอร่าเก็บเกี่ยวธัญญพืชทุกชนิดอย่างเร่งด่วน
ไม่ลืมเตรียมหญ้าแห้งสำหรับเป็นอาหารตลอดฤดูหนาวแก่คอกวัวและปศุสัตว์ของตน

และแล้วฤดูหนาวก็เริ่มขึ้น  พร้อมกับพายุหิมะที่หวีดครางส่งเสียงกรีดแหลมแทรกเข้าไปในหัวใจของทุกคน
แต่แรกพายุยังปรานี พัดมาเป็นระลอกๆครั้งละสองถึงสามวันแล้วก็หยุดให้ชาวเมืองออกมาปฏิบัติภารกิจกลางแจ้งได้ตามปกติ 
หากยิ่งนานวัน ดูเหมือนพายุจะแกล้งทดสอบความอดทนของพวกเขาด้วยการยืดเวลาความเย็นทรมานออกไปอีกคราวละสี่ห้าวัน
นานเป็นอาทิตย์  จนกระทั่งไม่ยอมหยุดเลย 

โรงเรียนต้องปิด เพราะไม่เหลือถ่านหินในชั้นเรียนที่จะให้ความอบอุ่นระหว่างเรียนอีกแล้ว
ไม่มีใครอยากจะเสี่ยงกับการถูกหิมะกัดตลอดการเดินไปกลับ
ยิ่งแย่กว่านั้น หากนักเรียนคนใดคนหนึ่งถูกพายุกระหน่ำซัดเซหลงทางหลุดเขตเมืองออกไปในทุ่งกว้างนับเป็นร้อยๆตารางเอเคอร์
ก็คงไม่มีชีวิตกลับมาได้แน่ 

ตลอดช่วงพายุหิมะครอบครัวของลอร่าต้องทนอยู่กับภัยสีขาวหนาวเหน็บ 
เสบียงอาหารนับวันก็ร่อยหรอ  รถไฟก็ถูกหิมะทับถมจนไม่สามารถแล่นมาได้
แม้จะมีคนงานรถไฟมาช่วยขุดหิมะออก เพียงวันสองวันหิมะใหม่ก็ถล่มซ้ำพอกพูนยิ่งกว่าเดิม
จะหวังเนื้อสัตว์มาบริโภคหรือ กวางฝูงสุดท้ายเพิ่งอพยพออกไปจากทุ่งกว้างอย่างไร้ร่องรอย
ราวกับสัตว์เหล่านี้รู้ตัวล่วงหน้าว่าช่วงเวลาวิกฤตของมันใกล้เข้ามาแล้ว
ควรอพยพไปอยู่ในที่ๆอบอุ่นและปลอดภัยกว่า

ไม่มีการเดินไปมาหาสู่ระหว่างบ้านแม้จะอยู่ถนนตรงข้ามแค่นี้เอง
วันในฤดูหนาวของครอบครัวชาวเมืองเดอสะเม็ต จ่อมจมอยู่กับความมึนซึม ง่วงงุน ปวดร้าว หิวโหย และเย็นยะเยือก
 
หากกระนั้นพวกเขาก็ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองแข็งตายไปกับพายุหิมะ 
มีการคิดค้นเชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ๆเพื่อทดแทนน้ำมันก๊าดและถ่านหินที่หมดไป
เช่น การทำตะเกียงกระดุม ด้วยการเอากระดุมเสื้อมาหุ้มด้วยผ้าหนาๆชุบขี้ผึ้งและจุดไฟ
ก็จะได้ความสว่างอบอุ่นขี้นมาบ้าง
การทำเชื้อเพลิงจากฟ่อนหญ้าแห้งซึ่งลอร่าต้องใช้มือมัดเกลียว
และขดให้เส้นหญ้าแห้งให้แน่นที่สุดเพื่อปะทุความร้อนได้ดีที่สุด
การโม่แป้งทำขนมปังดำเพื่อประทังชีวิตวันต่อวัน กินจิ้มกับเกลือและพริกไทย
มีน้ำชาร้อนๆให้ดื่มกล้ำกลืนคล่องคอ 

มาถึงตอนนี้ทุกคนในเมืองเล็กๆมองตากันอย่างวิตกกังวล 
เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่มีรถไฟให้พึ่งพา  ไม่มีสัตว์ป่าหลงเหลือให้ล่า
พวกเขาต้องพึ่งกันเองอีกนานจนกว่าฤดูหนาวจะสิ้นสุด 
 
แล้วไคลแม็กซ์ของเรื่องก็มาถึง เมื่อไม่มีเสบียงอาหารเหลืออีกเลยในเมืองเล็กๆนี้
ร้านค้าเพียงแห่งเดียวที่เป็นศูนย์กลางจำหน่ายเครื่องบริโภคคว่ำถังทุกถังลง
แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่จะบริโภคได้อีกแล้ว 

ชาวเดอสะเม็ตและเด็กๆทุกคนกำลังจะอดตาย
ครอบครัวของลอร่าซึ่งมีพ่อ แม่ พี่สาวชื่อแมรี่ ตัวเธอและน้องๆอีกสองคนคือแครี่และเกรซ
กำลังจะทิ้งชีวิตนักผจญภัยและตายอย่างทรมานด้วยความหนาวและหิวโหย ณ เมืองเล็กๆกลางทุ่งหิมะร้างแห่งนี้ :( 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 01 มี.ค. 14, 21:08
โชคดีที่พระเอกของเรื่องคือ แอลแมนโซ ไวด์เดอร์ โผล่ขึ้นมาและแสดงบทบาทอันกล้าหาญ  ;D

 
ความจริงพ่อหนุ่มแอลแมนโซ ก็ไม่ใช่ใครอื่น
เป็นเด็กหนุ่มนักบุกเบิกที่หวังสิทธิ์ในการจับจองที่ดินทำกันในทุ่งกว้างนี้เช่นกัน
และร่วมอยู่ในชะตากรรมเฉกเช่นชาวเมืองคนอื่นๆ

แต่สิ่งที่เขาแตกต่างจากคนอื่นก็คือ ความกล้าหาญถึงขั้นบ้าบิ่น
 
แอลแมนโซและชาวเมืองระแคะระคายว่า
มีแหล่งข้าวสาลีที่เก็บไว้อย่างดีในทุ่งกว้างแห่งหนึ่งไกลออกจากไปถึง ๒๐ ไมล์ 
ไปกลับก็เป็นระยะทางสี่สิบไมล์พอดิบพอดี
เขาและสหาย แค้ป การ์แลนด์ ตัดสินใจเทียมม้าและเลื่อนออกเดินทาง
ในวันที่อากาศเลวร้ายที่สุดด้วยอุณหภูมิสี่สิบองศาต่ำกว่าศูนย์
เพื่อเสาะหาแหล่งข้าวสาลีซึ่งไม่มีใครรับรองได้ว่าจะมีจริงหรือไม่ หรือจะเจอได้อย่างไร
โดยทั้งนี้ไม่มีการคิดค่าจ้างเสี่ยงตายแม้แต่สักเซนต์เดียว

แอลแมนโซและสหายกำลังประเดิมชีวิตบนมือมัจจุราชสีขาว 
บนทุ่งกว้างเวิ้งว้างที่ถมทับหนาด้วยหิมะชาวโพลน
เบื้องล่างล้วนเต็มไปด้วยหนองน้ำยะเยือกซึ่งพร้อมจะให้สิ่งมีชีวิตตกลงไปและแข็งตายได้ตลอดทุกฝีก้าว 

แอลแมนโซต้องเผชิญกับหลุมพรางหนองน้ำแข็งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า 
จนในที่สุดเขาและสหายก็ดั้นด้นมาจนถึงกระท่อมหนึ่งและตกลงซื้อข้าวสาลีทั้งหมดด้วยราคาที่ถูกโก่งจนสูงผิดปกติ
หากทั้งคู่ก็ยอมเพราะเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยชีวิตชาวเมืองที่รอคอยอย่างมีความหวัง 
และบรรทุกข้าวสาลีทั้งหมดนักถึง ๖๐ บูเชิล ( หนึ่งบูเชิลเท่ากีบ ๒ ปี๊บ)กลับ เดอสะเม็ต อย่างสะบักสะบอม
จนเกือบแทบจะเอาชีวิตไม่รอดในไมล์สุดท้าย

เมื่อได้ข้าวสาลีมาจำนวนหนึ่ง ชาวเมืองได้ชุมนุมหารือพร้อมจัดสรรปริมาณที่แต่ละครอบครัวควรจะได้รับไปอย่างจำกัดจำเขี่ย
แต่อย่างน้อยทุกคนก็พอใจที่ไม่อดตายและรอจนกว่าพายุจะผ่านพ้นไปในที่สุด
ขวัญ กำลังใจเริ่มกลับมา  ชาวเมืองทุกครอบครัวพยายามรวมตัวกันเป็นกลุ่มหนาแน่นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยพายุ
ด้วยการถ่ายทอด เสนอความคิดริเริ่มใหม่ๆในการดำรงชีวิตที่แสนอัตคัด ปราศจากรถไฟ
พร้อมเป้าหมายในใจว่า จะต้องไม่มีใครพ่ายแพ้ให้แก่พายุวิกฤตครั้งนี้

ในที่สุดชัยชนะก็เป็นของชาวเมืองเล็กในทุ่งกว้าง
เมื่อคืนวันหนึ่งเสียงลมชีนุค ซึ่งเป็นลมฤดูไบไม้ผลิได้แทรกเข้ามาท่ามกลางเสียงพายุหวีดหวิว
และแรงขึ้นๆจนเกิดเป็นละอองฝนตกลงมา หิมะเริ่มละลาย ใบไม้ใบหญ้าค่อยๆผลิก้านเขียวอ่อนเป็นหย่อมๆ




กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 01 มี.ค. 14, 21:11
ดูเหมือนเรื่องราวจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้วครับ
แต่ถึงกระนั้นรถไฟก็ยังไม่ยอมมา เพราะรัฐบาลลุงแซมไม่ยอมสั่งการให้คนงานรถไฟเริ่มต้นทำงาน 
ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันออกเดินทางไปโกยหิมะเพื่อปล่อยรถไฟแล่นมาได้
ท้ายสุดพวกเขาได้รับรางวัลชีวิตด้วยการเฉลิมฉลองคริสตมาสในเดือนพฤษภาคม 
สมกับน้ำอดน้ำทนตลอด ๗ เดือนที่ผ่านมา


ฤดูหนาวอันแสนนาน ผ่านพ้นไปแล้ว  พวกเขายังอยู่กันครบทุกคน
ไม่มีใครตายหรือสูญหาย จะมีบ้างที่อ่อนแอ เจ็บป่วย ซูบผอมลง
เพราะขาดแคลนอาหารที่เพียงพอในการยังชีพ 
แต่จิตใจนั้นเล่ากลับแกร่งและกล้ามากขึ้น 
ทั้งนี้เป็นผลมาจากปณิธานในใจ
พวกเขาไม่มีวันยอมจำนนกับโชคชะตาเป็นอันขาด

หันกลับมามองบ้านเราบ้าง 
ประเทศไทยโชคดีมหาศาลที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม
ภัยธรรมชาติร้ายแรงสุดๆแทบจะไม่เคยกล้ำกรายเข้ามาถึงเลย
ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว พายุหิมะถล่ม  ภูเขาไฟระเบิด คลื่นความหนาวเหน็บ
ถึงกระนั้นเราก็ไม่วายที่จะถูกภัยอย่างอื่นมากระทบ 
โดยเฉพาะภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจ

คลื่นความหนาวของพายุครั้งนี้ ไม่ทราบว่าจะทรมานยาวนานอีกสักเท่าไร 
อีกกี่จันทร์แรม อีกกี่จันทร์เพ็ญ  ไม่มีใครคาดเดาได้ 
ที่ผ่านมาทุกคนฝากความหวังไว้กับรัฐบาล
ซึ่งเปรียบเสมือนรถไฟในเรื่อง  คอยเท่าไรก็ดูเหมือนจะเดินทางมาไม่ถึงเสียที
จะติดหล่มหรือตกรางที่ไหน ก็ไม่อาจประเมินได้
พระเอกคนกล้าบ้าบิ่นที่จะฝ่าหิมะดั้นด้นไปตายเอาดาบหน้าก็คงจะหาได้ยาก
 
แต่ในท่ามกลางความมืดมน  ก็มีบางสิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่แค่ภาวนาหรือร้องขอ
แต่ควรเริ่มดำเนินทันที นั่นก็คือการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง   
วางฐานรากแห่งการเรียนรู้ให้แน่นหนาเสียแต่เบื้องต้น 
สร้างปราการทางความคิดให้แข็งแกร่ง  เสริมเกราะแห่งปัญญาให้แจ้งกระจ่าง 
เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไม่สิ้นสุด
รู้เขา รู้เรา โดยไม่เสียเปรียบ   

ภูมิคุ้มกัน เหล่านี้แหละครับ จะทำให้พวกเรารอดพันจากพายุที่มาถาถมระลอกแล้วระลอกเล่า 
ตั้งสติให้มั่น สำรวจแขนขาองคาพยพว่าอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมดีหรือไม่ 
แล้วเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันภัยกันตั้งแต่บัดนี้ 
   
ทุกคนยังต้องเผชิญกับ ฤดูหนาวอันแสนนาน อีกนานครับ :D



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 14, 21:15
เขียนดีมากค่ะ  เป็นบทความของใครคะ
มองออกว่าเจ้าของบทความชอบนิยายชุด "บ้านเล็ก" จริงๆด้วย

เป็นบันทึกช่วงเดียวที่ แคโรไลน์ แม่ของลอร่า
อารมณ์หงุดหงิดใส่สามีค่ะ  :P

แม่ของลอร่าช่างเป็นผู้หญิงที่อดทนและสำรวมกาย วาจา ใจได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงอย่างน่าสรรเสริญ     ต่อให้ชีวิตลำบากลำบนยังไงเธอก็ไม่เคยหลุดอารมณ์เสียออกมา   
จนกระทั่งเจอพายุหิมะกระหน่ำถึงเดือนที่ ๗  เธอจึงหลุด เอ็ดสามีไปหนหนึ่งให้หยุดสบถสาบานด่าพายุ 
ถ้าเป็นคนอื่น คงหลุดตั้งแต่แต่งงานกับผู้ชายที่เอาแต่อพยพไม่หยุดไม่หย่อนแล้วละค่ะ     


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 01 มี.ค. 14, 21:18
อืมม์... :)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 14, 11:41
   หนังสือเล่มต่อไปของลอร่าคือ เมืองเล็กในทุ่งกว้าง Little Town on the Prairie   เล่าถึงชีวิตช่วงลอร่าเติบโตเป็นสาวน้อยวัยสิบห้า   เรื่องนี้วางตลาดเมื่อค.ศ. 1941   รางวัลนิวเบอรี่ออนเนอร์ก็ลอยมาสู่มือเธออีกครั้งหนึ่ง   แฟนหนังสือทั่วประเทศกระหายที่จะรู้ตอนต่อไป  เพราะตอนนี้ แอลแมนโซ หนุ่มนักบุกเบิกใจกล้าในตอน The Long Winter  เริ่มโชว์ความเป็นพระเอกขึ้นมารำไรแล้วเมื่อเขาแวะรับสาวน้อยลอร่าขึ้นรถม้าไปส่งที่โรงเรียน   จากนั้นก็เดินจากโบสถ์มาส่งเธอที่บ้าน   
    สาวน้อยก็แสนจะซื่อไม่ประสีประสา  ไม่เข้าใจว่าชายหนุ่มคนนี้เดินตามอารักขาเธอทำไม   ในเมื่อพ่อแม่ก็เดินมาด้วย   แต่ด้วยมารยาทเธอก็พยายามหาหัวข้อเรื่องมาคุยกับเขาจนได้ ตลอดทาง

   ลอร่าเขียนหนังสือเล่มสุดท้ายในชุด "บ้านเล็ก" คือ These Happy Golden Years   ออกวางตลาดในค.ศ. 1943แครี่น้องสาวคนเดียวที่เหลืออยู่ตื่นเต้นกับหนังสือของพี่สาวมาก   พี่น้องเขียนจดหมายถึงกัน  ส่งข่าวคราวและเล่ารายละเอียดในอดีตสู่กันฟัง    จดหมายจากแฟนหนังสือหลั่งไหลมาที่ร็อคกี้ริดจ์ฟาร์ม  จนแอลแมนโซต้องสร้างตู้รับจดหมายขนาดใหญ่มหึมาไว้รองรับจดหมายจากเด็กๆทั่วอเมริกา    ลอร่าตอบจดหมายแฟนหนังสือเสมอ ไม่ทำให้ใครผิดหวัง
   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 14, 11:41
    หนังสือเล่มสุดท้ายเล่าถึงชีวิตเมื่อลอร่าในวัยสิบห้า เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว  ทั้งๆยังเรียนไม่จบเธอก็สอบประกาศนียบัตรครู ไปสอนหนังสือในโรงเรียนเล็กๆใกล้เมืองเดอสเม็ต เพื่อหารายได้มาช่วยส่งเสียพี่สาวให้เรียนจนจบวิทยาลัย     เธอเรียนรู้ที่จะชนะความกลัวจากผู้หญิงคุ้มดีคุ้มร้ายที่เธอจำต้องไปพักอยู่ด้วย     ชนะอุปสรรคในการสอนนักเรียนที่อายุมากกว่าเธอ    เมื่อความรักเข้ามาเยือน ลอร่าก็เอาชนะสาวคู่แข่งที่พยายามจะมาแย่งความสนใจจากแอลแมนโซจนได้   จบลงด้วยพิธีสมรสง่ายๆ แต่เต็มเปี่ยมด้วยความรักและความเข้าใจ ในตอนจบของเรื่อง
 
  ไม่ต้องบอกก็เดาได้  เรื่องนี้ได้รางวัล Newbery Honor Award  อีกครั้งหนึ่งค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 14, 12:40
    บัดนี้ลอร่าอายุ 76  เธอขะมักเขม้นทำงานมา 11 ปีเต็มๆ    เธอทำให้พ่อ แม่ พี่ๆน้องๆ ยืนยงอยู่เป็นอมตะในหน้าหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ได้รางวัลนิวเบอรี่ถึง  4 รางวัลติดต่อกัน     ก็ถึงเวลาที่จะวางปากกาเสียที     
    แฟนหนังสือทั่วประเทศ  สำนักพิมพ์ และเพื่อนฝูงของเธอต่างเรียกร้องให้ลอร่าเขียนหนังสือต่อ    แต่เธอก็ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า   เธอขออยู่ชื่นชมกับเวลาปัจจุบันของเธอให้เต็มอิ่ม หลังจากเดินย้อนกลับไปในอดีตนานพอแล้ว    ในวัย 76 และแอลแมนโซ 86  เธอยังแข็งแรงดี  ส่วนเขาเองแม้ว่าเริ่มมีโรคภัยเบียดเบียนบ้าง แต่ก็ยังช่วยตัวเอง ไปไหนมาไหนและทำงานเล็กๆน้อยๆในฟาร์มเองได้   นับเป็นชีวิตวัยทองที่สงบสุข จนลอร่าไม่อยากจะแลกกับสิ่งอื่นแม้แต่ชื่อเสียงเงินทองที่จะไหลมาเทมา

   สงครามโลกครั้งที่ 2  ลามจากยุโรป ส่งผลกระทบถึงสหรัฐอเมริกาโดยตรง    เมื่อญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาเบอร์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941   อเมริกาทั้งประเทศก็ตกอยู่ในภาวะสงคราม   พวกผู้ชายถูกเกณฑ์ทหารไปรบนอกประเทศ    เชื้อเพลิงกลายเป็นของขาดแคลน  ทำให้ลอร่าและแอลแมนโซกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมไม่ได้อีก    ส่วนอาหารการกินไม่เป็นปัญหา เพราะเธอปลูกผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์เองในฟาร์ม จึงไม่กระทบกระเทือนในด้านนี้
     สามีของแครี่ถึงแก่กรรม    แครี่จึงค่อนข้างว้าเหว่    เธอก็เป็นอีกคนที่ได้นิสัยชอบเดินทางมาจากพ่อ    ในค.ศ. 1944 เธอเดินทางจากดาโกต้าใต้มาพักกับพี่สาวระยะหนึ่งที่มิสซูรี่  บัดนี้พี่น้องเหลือกันอยู่แค่สองคนเท่านั้น  ทั้งสองตกลงกันว่าซอไวโอลินที่เป็นมรดกตกทอดจากพ่อ  ควรจะเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์มากกว่าเก็บเป็นสมบัติส่วนตัว    ลอร่าจึงบริจาคซอให้พิพิธภัณฑ์ในเมืองเดอสเม็ต    ซอก็ยังอยู่มาจนทุกวันนี้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: จูลิน ที่ 03 มี.ค. 14, 22:45
อ่านมาตั้งแต่เด็ก จำรายละเอียดไม่ได้เลยค่ะ เมื่อโตขึ้นมาคิดจะซื้อหนังสือมาอ่าน ยังไม่ได้ซื้อ แต่ตอนนี้มี ebook โหลดไว้ใน kindle แล้ว ครบทุกตอนมาหลายปี ยังไม่ได้เริ่มอ่านเลยค่ะ มาอ่านกระทู้นี้แล้วรู้สึกอยากอ่านกระทันหัน ขอบคุณนะคะ

เมื่อขับรถไปเที่ยวผ่านแถวนั้นเห็นป้ายข้างทางถึง Laura Ingalls แต่ไม่ได้แวะเข้าไปเที่ยวเสียดายจังค่ะ เพราะถนนเส้นนั้นคงไม่ได้ขับผ่านกันง่ายๆ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 14, 09:36
มีกระทู้เกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่องนี้อีกหลายกระทู้ในเรือนไทย  เล่าถึงอาหารการกินใน "บ้านเล็ก"  มีรูปประกอบชวนน้ำลายไหลอย่างยิ่งค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5439.0
อาหารการกินใน "บ้านเล็ก" (2)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 14, 11:15
     ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   ลอร่ากับแอลแมนโซใช้ชีวิตในร็อคกี้ริดจ์อย่างสงบ  ภัยสงครามไม่ได้กระทบกระเทือนบ้านไร่เล็กๆ เพราะอาหารการกินทุกอย่างหาได้จากพื้นที่ของตัวเอง   เหมือนอย่างที่พ่อกับแม่เคยทำสมัยตั้งถิ่นฐานนอกเมืองเดอสเม็ต
    ลอร่าปลูกผักกับผลไม้ไว้เหลือเฟือ    ใส่รถเอาไปขายในเมืองได้สม่ำเสมอ   แอลแมนโซเลี้ยงวัว  ฟาร์มนี้จึงมีนมสดๆจากแม่วัวเอาไว้ทำเนยแข็ง และเนย  เหลือกินก็เอาไปขาย   ลอร่าเลี้ยงไก่เอาไว้กินไข่ และขายไข่สดเช่นเดียวกับนมวัว    และยังมีเนื้อไก่ให้กินได้อีกด้วย   คำว่า "อดอยาก" จึงไม่แผ้วพาน  แม้ว่าสงครามดำเนินอยู่ยาวนานถึง 6 ปีก็ตาม
    สิ่งเดียวที่ขาดแคลนก็แต่เชื้อเพลิง ทำให้เธอไม่สามารถเดินทางกลับไปดาโกต้าใต้ได้ง่ายๆอีก     ลอร่าจึงไม่ได้กลับไปดูใจน้องสาวคนเดียวที่เหลืออยู่   เมื่ออายุมากขึ้น แครี่ป่วยเรื้อรังด้วยโรคเบาหวาน   มีอาการแทรกซ้อนจนถึงแก่กรรมในค.ศ. 1946   หลังสงครามโลกสงบลงปีเดียว  อายุได้ 75 ปี
    ก่อนหน้านี้ 5 ปี เกรซน้องสาวคนสุดท้องก็ล่วงหน้าไปก่อนแล้วด้วยโรคเบาหวานเช่นเดียวกัน   

    รูปนี้คือแครี่เมื่อสูงวัยขึ้นค่ะ
   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 14, 11:39
       น้องสาวคนเดียวที่เหลืออยู่ก็จากไปแล้ว    ลอร่าตระหนักว่าเธออายุย่างเข้า 80  ส่วนสามีก็ใกล้ 90     วันเวลานับถอยหลังอย่างกระชั้น   เธอจึงวางแผนรับมือกับชีวิตบั้นปลายอย่างรอบคอบรัดกุม     ก่อนหน้านี้ เธอขายกระท่อมแบบอังกฤษที่โรสสร้างให้พ่อแม่ไปแล้ว  เพราะเห็นว่าแม้เป็นบ้านสวยงามมาก แต่ในเมื่อเธอกับแอลแมนโซไม่ได้อยู่อาศัยอีกต่อไปก็ไม่ควรเสียดาย   มีแต่จะเป็นภาระ เสียแรงและเสียภาษีเปล่าๆปลี้ๆ         เธอจึงขายพร้อมที่ดินโดยรอบ    ได้เงินมาอีกก้อน  และไม่ต้องเปลืองค่ารักษาดูแลอีกด้วย
      อีกเรื่องหนึ่งคือเธอรู้ว่าโรสไม่มีวันกลับมาใช้ชีวิตที่ฟาร์มร็อคกี้ริดจ์       ลูกสาวเธอชินกับการใช้ชีวิตอย่างชาวเมืองใหญ่มาหลายสิบปี   ก็คงจะอยู่ในเมืองใหญ่ตลอดไป      เธออยากรักษาฟาร์มอันเป็นที่รักไว้ แทนที่จะปล่อยไปตามยะถากรรม  จึงบอกขายให้สามีภรรยาคู่หนึ่งที่เธอคุ้นเคย   เชื่อว่าเขาสองคนจะรักษาฟาร์มและดูแลบ้านของเธอด้วยดี   โดยมีเงื่อนไขว่าเขาจ่ายผ่อนส่งค่าซื้อให้เธอเป็นรายเดือน เดือนละ 50 เหรียญ  เธอกับแอลแมนโซมีสิทธิ์จะอยู่ไปจนสิ้นชีวิต  หลังจากนั้นบ้านและที่ดินจึงจะตกเป็นของผู้ซื้อ      สองคนนั้นก็ตกลงตามเงื่อนไข   ก็เป็นอันหมดห่วงเรื่องฟาร์มร็อคกี้ริดจ์ไป

   ภาพนี้คือลอร่าในวัย 80  และแอลแมนโซถ่ายกับหลานชายเมื่อเขาอายุ 81 ปี
   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 14, 20:13
    ชื่อเสียงของลอร่าที่แพร่หลายไปทั่วประเทศมานานปี  ก้าวขึ้นสู่อีกระดับหนึ่งคือระดับนานาชาติ
    หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง  วรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" เกิดไปกระทบสายตานายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ ผู้บัญชาการรบภาคพื้นแปซิกฟิก ในสมัยสงครามและเป็นผู้ทำให้ญี่ปุ่นยอมลงนามพ่ายแพ้แก่ฝ่ายพันธมิตร       เขาติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกาให้แปลเป็นภาษาเยอรมันและญี่ปุ่น   แมคอาเธอร์มีความเห็นว่านิยายของลอร่าให้ภาพที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของชีวิตชาวอเมริกัน     ดังนั้นถ้าแปลเป็นภาษาเยอรมันและญี่ปุ่นได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ชาวประเทศทั้งสองที่จะเข้าใจชีวิตคนอเมริกันดีขึ้น
     "บ้านเล็ก" จึงมีทั้งภาษาเยอรมันและญี่ปุ่น นับแต่นั้น

     เมื่อออกไปสู่สายตาชาวโลก     "บ้านเล็ก" ก็เหมือนติดจรวด   หลายประเทศแปลวรรณกรรมเด็กเรื่องนี้เป็นภาษาของตน   ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างชาติต่างภาษาได้เรียนรู้ถึงชีวิตของครอบครัวอิงกัลส์   จนกลายมาเป็นแฟนคลับเพิ่มขึ้นจากแฟนคลับทั่วอเมริกา  จดหมายต่างภาษาก็หลั่งไหลมาสู่ตู้จดหมายของร็อคกี้ริดจ์


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 14, 21:04
"บ้านเล็ก" ที่แปลเป็นภาษาต่างๆ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 08 มี.ค. 14, 08:20
     แมรี่เคยเดินทางไปไกลถึงชิคาโกหนหนึ่ง เพื่อรับการผ่าตัดรักษาโรค neuralgia ( อาการปวดตามเส้นประสาท โดยเฉพาะบริเวณหน้า/ศีรษะ)   มาถึงตรงนี้ก็ต้องฝากคำถามไว้ให้คุณหมอ CVT หรือผู้รู้ท่านอื่นๆว่าโรคนี้คืออะไร และผ่าตัดรักษาได้หายขาดหรือไม่
เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันเกี่ยวข้องกับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่แมรี่เป็นเมื่ออายุ 14  ทำให้สายตาเธอมัวลงจนมืดสนิท 

จากอาการที่บอกว่าแมรี่ปวดศีรษะอย่างรุนแรง จนตามัวมืดสนิท แสดงว่าแมรี่น่าจะเป็นโรคที่มีชื่อว่า Trigerminal neuralgia
Trigerminal nerve เป็นเส้นประสาทคู่ที่ ๕ ที่ออกจากสมองโดยตรง แบ่งเป็น ๓ แขนงจึงเรียกว่า Trigerminal
แขนงที่ ๑ ไปเลี้ยงบริเวณใบหน้าด้านบน ตา
แขนงที่ ๒ ไปเลี้ยงที่แก้ม ฟันบน เหงือกบน
แขนงที่ ๓ ไปเลี้ยงที่คาง ฟันล่าง เหงือกล่าง

ส่วนโรค Trigerminal neuralgia เกิดจากการที่มีอะไรไปกดเส้นประสาทนี้ โดยมากจะเป็นเส้นเลือดที่คู่ไปกับเส้นประสาทมีการโป่งพองผิดปกติจนกดเส้นประสาท
คนไข้จะมีอาการปวดแบบมีอะไรแทง ปวดมากตามแรงที่กดทับ
เรามักจะได้ยินคนรุ่นเก่าบอกว่าเวลาปวดฟันอย่าไปถอน เพราะจะปวดมากจนตาย
มันเกิดจากโรคนี้ อาการปวดฟันไม่ได้มาจากฟันผุ แต่เป็น Trigerminal neuralgia แล้วคิดว่าปวดจากฟันผุ จึงถอนฟัน
หลังถอนฟันก็ยังไม่หายปวด มีแต่จะปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Trigerminal neuralgia จึงมีชื่อเรียกกันว่า Suicide disease เพราะคนไข้ปวดมากจนทนไม่ได้ ถึงกับตัดสินใจฆ่าตัวตายหนีความเจ็บปวด

การรักษามีตั้งแต่กินยา จนกระทั่งผ่าตัดไปแก้ไขการกดทับเส้นประสาท แต่ผลการรักษามักจะไม่ค่อยดีครับ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 14, 19:19
ขอบคุณมากค่ะ คุณหมอ CVT
เมื่อรู้แล้วก็ยิ่งสงสารแมรี่มากขึ้น      ในนิยายเรื่องนี้   ลอร่าอยู่ในยุคที่การแพทย์ไม่เจริญมากนัก  เธอจึงบอกว่าเมื่ออยู่ที่พลัมคริ้ก   ครอบครัวอิงกัลส์ พ่อแม่และเกรซรวมทั้งแมรี่ป่วยด้วยโรค Scarlet fever    แมรี่มีอาการหนักกว่าเพื่อน ไข้ขึ้นที่ตา ทำให้ตาบอด 
แต่ในประวัติบอกว่าเมื่ออายุมากขึ้น แมรี่เดินทางไปรับการรักษาโรค  neuralgia   เป็นได้ว่าเป็นความเข้าใจผิดของคนสมัยนั้นเอง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 08 มี.ค. 14, 22:22
ขอบคุณมากค่ะ คุณหมอ CVT

ด้วยความยินดีครับอาจารย์
ต้องขออภัยที่มาตอบช้า เพราะผมไม่ได้ติดตามกระทู้นี้ครับ ต้องรอคนไปตามมาตอบ
หากอาจารย์หรือสมาชิกท่านอื่นๆ มีคำถามเกี่ยวกับการแพทย์ หรือเรื่องอะไรก็ตามที่คิดว่าผมช่วยได้ ส่งข้อความถึงผมจะเร็วกว่าครับ ไม่ต้องเกรงใจครับ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 14, 22:39
ขอรบกวนอีกสักครั้ง
Scarlet fever คืออะไรคะ    ปัจจุบันยังมีอยู่หรือเปล่า
ไข้ขึ้นที่ตาทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ จริงไหมคะ
ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 09 มี.ค. 14, 08:19
Scarlet fever คืออะไรคะ

Scarlet fever หรือไข้อีดำอีแดง ในอดีตเป็นโรคที่รุนแรงมาก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเสตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ
เป้นโรคที่พบในเด็กอายุ ๕-๑๕ ปี มักจะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จึงแพร่กระจายโดยการหายใจ ไอ จาม
ในรายที่รุนแรงอาจจะเกิดการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด หรือติดเชื้อที่ผิวหนังและลุกลามเร็ว
อาการคือไข้สูง เจ็บคอ ตรวจพบคอแดง ลิ้นมีสีแดง ต่อมรับรสที่ปลายลิ้นบวมแดง ลักษณะของลิ้นเหมือนผิวของผลสตรอเบอร์รี ตามตัวจะมีผื่นขึ้น คลำดูสากๆเหมือนกระดาษทราย และตรงข้อพับที่แขนทั้งสองข้าง เห็นเป็นรอยคล้ำกว่าบริเวณอื่นๆ
การรักษา ให้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลิน
ปัจจุบันพบน้อย เข้าใจว่าเกิดจากการที่คนเรามีภูมิต้านทานต่อเชื้อเสตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ มากขึ้น
ผลแทรกซ้อนของโรค คือทำให้เกิดโรคไข้รูมาติก เกิดลิ้นหัวใจอักเสบ
โรคนี้ไม่มีผลกับตาโดยตรงครับ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 14, 09:47
ขอบคุณอีกครั้งค่ะ    ถ้างั้นก็เหมือนที่ผู้ศึกษาเรื่องของลอร่า ได้แสดงความสงสัยไว้  ว่าแมรี่ไม่ได้ตาบอดเพราะโรค Scarlet fever  อย่างที่เล่าไว้ในหนังสือ   แต่ว่าเธอป่วยเป็นโรคนี้แทรกซ้อนเข้ามาด้วย เมื่อเป็นโรค  neuralgia   
แมรี่อาจมีอาการปวดเรื้อรังมาตลอดชีวิต  จนอายุ 64  จึงถึงแก่กรรมที่บ้านของแครี่ด้วยโรคเส้นโลหิตในสมอง   ก็คือโรคเดิมของเธอนั่นเอง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 14, 13:21
  14 ปีหลังจากวรรณกรรมเรื่องแรก "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ได้ตีพิมพ์  เกียรติยศต่างๆก็ยังหลั่งไหลมาสู่ลอร่าไม่ขาดสาย   ในปี 1948  เธอได้รับข่าวดีอีกข่าวหนึ่ง คือห้องสมุดสาธารณะของเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน  กำลังขยายสาขาตั้งห้องสมุดใหม่ขึ้นอีกแห่ง     ทางผู้บริหารห้องสมุดต้องการจะตั้งชื่อห้องสมุดใหม่นี้เป็นเกียรติแก่เจ้าของหนังสือ "บ้านเล็ก" ว่า  ห้องสมุดลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์    เป็นครั้งแรกในเมืองดีทรอยต์ที่ตั้งชื่อห้องสมุด เป็นชื่อของสตรี  และเป็นสตรีที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย   นับเป็นปรากฎการณ์ใหญ่ของวงการ

  ลอร่าตื่นเต้นกับข่าวนี้มาก   ทางห้องสมุดเชิญเธอไปร่วมพิธีเปิดห้องสมุด   แต่เธอไปไม่ได้ เพราะในวัย 91  แอลแมนโซเริ่มมีสุขภาพอ่อนแอลงกว่าเก่ามาก    เธอไม่อาจทิ้งเขาเอาไว้ตามลำพัง ส่วนตัวเองก็เดินทางไปต่างเมือง       เธอทำได้เพียงเขียนสุนทรพจน์ให้ผู้จัดงานไปอ่านในวันเปิดห้องสมุด     และส่งต้นฉบับเรื่อง "The Long Winter" กับ "These Happy Golden Years "  ไปแสดงในนิทรรศการงานนี้

   แอลแมนโซประคับประคองตัวเองมาได้อีกปีหนึ่งจนอายุ 92  ก็มีอาการหัวใจวายในช่วงเดือนกรกฎาคม   แต่ว่ารอดมาได้    ลอร่าไม่ออกจากบ้านไปไหนอีก  เธออยู่เคียงข้าง พยาบาลเขาอย่างเต็มกำลังเท่าที่วัย 82 จะเอื้อให้ได้    มีเพื่อนบ้านแสนดีมาช่วยดูแลและออกไปซื้อของใช้จำเป็นให้     
    แอลแมนโซมีอาการค่อยดีขึ้นจนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1949   แต่พอถึงวันที่ 23 เขาก็มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันก่อนที่ใครจะพาไปรักษาพยาบาลทัน      สามีผู้เป็นคู่ทุกข์คู่สุขกับลอร่ามาถึง 64 ปี   เป็นหนึ่งในชาวเมืองเก่าแก่ยุคบุกเบิกของแมนสฟิลด์  และเป็นชายที่ผู้อ่านหลายสิบประเทศรู้จัก   จากไปอย่างสงบ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 14, 13:27
Wilder Library‎
7140 E 7 Mile Rd
Detroit, MI 48234


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 14, 09:20
   เมื่อแอลแมนโซจากไป บ้านไร่ร็อคกี้ ริดจ์ก็เหลือลอร่าอยู่คนเดียว      โรสและเพื่อนบ้านพากันเป็นห่วงว่าลอร่าจะอยู่อย่างไรตามลำพังในวัย 82 ปี   ในบ้านที่มีตั้ง 10 ห้อง   ตั้งอยู่โดดเดี่ยวนอกเมือง  แม้ว่ามีเพื่อนบ้าน แต่เราก็คงวาดภาพออกว่าไม่ใช่เพื่อนบ้านอย่างทาวน์เฮาส์ติดกัน   แต่เป็นเพื่อนบ้านที่เป็นเจ้าของฟาร์มหรือบ้านอยู่ห่างออกไปนอกเขตฟาร์ม  ตะโกนเรียกกันไม่ได้ยิน

   ถึงตรงนี้ขออธิบายแทรกว่าฝรั่งอเมริกันเขาไม่เหมือนคนไทยเราที่นิยมอยู่กับลูกๆหลานๆ  เด็กอเมริกันอยู่กับพ่อแม่จนอายุ 18 ปีก็บินออกจากรังไปเผชิญชีวิตกันแล้ว   ไม่กลับมาอีก   ปีหนึ่งเจอพ่อแม่หนเดียว  ถ้าไม่ใช่เทศกาลคริสต์มาสก็แธ้งส์กิฟวิ่ง    เมื่อลูกบินออกจากรังไปหมด    พ่อแม่ในวัยกลางคนก็อยู่กันสองคนด้วยความสุขที่วางภาระลงจากบ่าเสียที    ถ้าไม่หย่ากันเสียก่อนก็อยู่กันไปจนแก่ชรา   เมื่อคนใดคนหนึ่งจากไป อีกคนก็อยู่ตามลำพัง    ก็มีอยู่มากเหมือนกันที่คุณตาคุณยายวัยทองแต่งงานใหม่ เพื่อมีเพื่อนมาอยู่แก้เหงาด้วยกัน
   ถ้าถามว่าทำไมโรสไม่กลับมาอยู่เป็นเพื่อนแม่  หรือรับแม่ไปอยู่ด้วยกับเธอ  คำตอบคือนั่นไม่ใช่วิถีของคนอเมริกัน      ทั้งแม่และลูกต่างก็ไม่ต้องการเช่นนั้น   ลอร่าเองก็ไม่เคยคิดจะย้ายจากร็อคกี้ริดจ์ไปอยู่ที่ไหน   เมื่อเพื่อนฝูงขอให้เธอย้ายจากฟาร์มไปหาบ้านเล็กๆอยู่ในเมือง เพื่อสะดวกแก่การดูแลและไปไหนมาไหน  เธอก็ปฏิเสธ     เธออยากอยู่ในบ้านที่เธอสร้างมากับมือมากกว่าจะไปหาที่อยู่ใหม่ที่เธอไม่คุ้นเคย   ความเหงาไม่ใช่สิ่งน่ากลัวสำหรับลอร่า


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 14, 10:29
       วรรณกรรม "บ้านเล็ก" ดึงดูดแฟนวัยเยาว์ทั่วทุกทิศมาหาลอร่า     จดหมายจากต่างแดนหลั่งไหลกันมาเต็มตู้ไปรษณีย์    ส่วนบ้านนาของเธอก็กลายเป็นแหล่งที่เด็กๆอยากจะมาเห็นคุณยายเจ้าของเรื่อง    บางครั้งมีนักท่องเที่ยวมากดกริ่งหน้าบ้านตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า เพราะต้องรีบเดินทางต่อ  เพื่อจะได้ถึงปลายทางตามกำหนด   ลอร่าก็ต้อนรับทุกคนด้วยดี     ไม่ได้รังเกียจว่าทำความลำบากลำบนให้เธอ     เธอไม่อาจปฏิเสธเด็กน้อยที่กระตือรือร้นอยากจะเห็นลอร่า อิงกัลส์ตัวจริง     ลอร่าชอบมีเด็กๆมาแวดล้อมเธอโดยเฉพาะเวลาเธอได้รับเชิญไปแจกลายเซ็น
     ปีถัดมาหลังจากแอลแมนโซถึงแก่กรรม    ห้องสมุดเมือง Pomona ในรัฐคาลิฟอร์เนียก็ให้เกียรติตั้งชื่อห้องวรรณกรรมเด็กในห้องสมุดว่า "ห้องไวลเดอร์"  ลอร่ามอบของขวัญชิ้นสำคัญให้ที่นี่ คือต้นฉบับลายมือเขียนด้วยดินสอ เรื่อง "เมืองเล็กในทุ่งกว้าง" Little Town on the Prairie  ให้เป็นสมบัติของห้องสมุด      ห้องสมุดโปโมน่าแห่งนี้เป็นแห่งแรกที่เริ่มจัดงานฉลองวันเกิดให้ลอร่าทุกปี  ในงานมีขนมปังขิงสูตรของลอร่าแจกในงาน และมีผู้มาเล่นซอเพลงเก่าๆของพ่อที่ปรากฏอยู่ในหนังสือให้แขกที่มาร่วมงานได้ฟัง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 14, 11:53
    ในวันเกิดครบรอบปีที่ 84 ของลอร่า  บัตรอวยพรและของขวัญถูกส่งมาที่บ้านร็อคกี้ริดจ์กว่า 1000 ชิ้น     ในจำนวนนี้มีโทรเลขอวยพรวันเกิดจากแฟนหนังสือเหนียวแน่นคนหนึ่งของเธอ  คือพลเอกดักลาส แมคอาเธอร์  แม่ทัพและวีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ 2
    เมืองแมนสฟิลด์ถือโอกาสนี้มอบของขวัญสำคัญให้ลอร่าเช่นกัน    เธอเคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงก่อตั้งห้องสมุดเล็กๆในเมืองนี้เพื่อบรรดาแม่บ้านและเด็กๆในเมืองจะได้มีหนังสืออ่าน      วรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" ของเธอก็เป็นหนังสือสำคัญของห้องสมุด    ดังนั้นห้องสมุดนี้จึงได้รับชื่อว่า "ห้องสมุดลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์" เป็นเกียรติแก่เธอ
   ลอร่าเป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมตัว  แม้ว่ามีชื่อเสียงแพร่หลายไปในระดับนานาชาติ  เธอก็ยังดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะ  ไม่เคยทำตัวฟู่ฟ่าเอิกเกริก     เมื่อสามียังอยู่เธอก็เลือกที่จะอยู่ดูแลเขาใกล้ชิดมากกว่าออกไปเปิดหูเปิดตา หรือทำกิจกรรมสังคมเพื่อชื่อเสียงตัวเอง    แต่งานนี้เธอตกลงไปเพื่อเห็นแก่เพื่อนๆชาวเมืองที่ตั้งใจจัดงานให้เป็นเกียรติแก่เธอ
   ลอร่าไปถึงงานในชุดเสื้อกระโปรงกำมะหยี่สีแดงแก่   ประดับกล้วยไม้ที่กรรมการจัดงานติดให้เธอบนบ่าเสื้อ    เธอเป็นสุขมากในงานนี้  เมื่อเห็นผู้คนทุกเพศทุกวัยพากันมาต้อนรับเธอด้วยรอยยิ้มชื่นชม    เมื่อเธอเดินเข้าไปในห้องประชุม  เด็กๆในโรงเรียนเมืองแมนสฟิลด์ก็ขับร้องเพลงประสานเสียงต้อนรับ  วงดุริยางค์บรรเลงเพลง  เธอได้รับเชิญให้ขึ้นยืนบนแท่นเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ขอบใจชาวเมือง
    ลอร่าพูดได้เพียงสั้นๆว่า "ขอบคุณทุกท่าน  จากใจของดิฉัน  ขอบคุณค่ะ"


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 14, 15:51
      เกียรติยศยังคงพรั่งพรูมาสู่ลอร่าโดยไม่เสื่อมถอยไปอย่างสังขาร      เมื่อเธออายุได้ 87 ปี  สมาคมห้องสมุดแห่งชาติตกลงจะสร้างรางวัลวรรณกรรมเยาวชนขึ้นใหม่รางวัลหนึ่ง   ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เธอว่า "รางวัลลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์" มอบให้กับนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนผู้สร้างผลงานสำคัญและมีคุณค่ายาวนานแก่เยาวชน  
     ลอร่ายังคงใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังในวัยใกล้จะเก้าสิบ     โรสเป็นฝ่ายเดินทางมาพักอยู่กับแม่ปีละหลายๆเดือน  เพื่ออยู่เป็นเพื่อนกัน   เธอประสบความสำเร็จกับอาชีพนักเขียนด้วยดี     ลอร่าเป็นฝ่ายไปเยี่ยมลูกสาวบ้างเมื่ออายุ 87  เธอนั่งเครื่องบินไปถึงเมืองแดนเบอรี่ที่โรสอยู่   พักอยู่ด้วยระยะหนึ่งก่อนกลับมาบ้านร็อคกี้ริดจ์เพราะทนคิดถึงบ้านไม่ไหว
     ลอร่าเป็นคนไม่ยอมท้อถอยต่อชีวิต     เธอใช้เวลาแต่ละวันอย่างกระปรี้กระเปร่า ทำงานบ้าน  คุยกับเพื่อนบ้านที่แวะมาเยี่ยม  คุยกับเด็กๆที่มาหา    เหนื่อยเข้าเธอก็ลงนอนพักจนกระทั่งพอมีแรงลุกขึ้นใหม่     เธอตั้งใจจะอยู่จนอายุ 90 ให้ได้เช่นเดียวกับแอลแมนโซ   ชีวิตดำเนินไปอย่างง่ายๆเรียบๆในแต่ละวัน   เธอเองก็พอใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น   เธอไม่อยากจะไปอยู่ที่อื่นนานๆแม้แต่บ้านของโรส เพราะที่ร็อคกี้ริดจ์ ลอร่ามีเพื่อนคือแมวที่เลี้ยงไว้ และเต่าอีกหลายตัวที่คลานมาหน้าประตูครัวทุกเช้าเพื่อจะกินขนมปังกับนมที่เจ้าของบ้านหามาเลี้ยง 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 14, 15:59
     ลอร่ามีชีวิตต่อมาจนอายุ 89  ถึงวันแธงส์กิฟวิ่ง  โรสนั่งเครื่องบินมาเยี่ยมแม่ก็พบว่าสุขภาพแม่เริ่มทรุดลง  หมอพบว่าเธอป่วยเป็นเบาหวาน จนต้องเข้าโรงพยาบาล
     สามวันหลังจากวันเกิดปีที่ 90  ลอร่าก็จากไปอย่างสงบเช่นเดียวกับแอลแมนโซจากไปแปดปีก่อนหน้านี้

     มรณกรรมของลอร่าเป็นข่าวไปทั่วอเมริกา   หนังสือพิมพ์ทั้งในรัฐและต่างรัฐต่างลงเป็นข่าวสำคัญไว้อาลัยสุภาพสตรีชราผู้สร้างผลงานอมตะสำหรับเยาวชน   ทุกคนเห็นพ้องกันว่าแม้ลอร่าจากไป  ผลงานเธอก็ยังคงยั่งยืนไม่ดับสูญ    เป็นงานที่จะตกทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งตลอดไป


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 14, 20:36
ในที่สุด ในสุสานของเมืองแมนสฟิลด์  ลอร่ากับแอลแมนโซก็ได้พบกันอีก     และไม่พรากจากกันอีกเลย
ยังมีคนแวะเวียนไปเยี่ยมเยือน และรำลึกถึงในโอกาสครบรอบต่างๆจนทุกวันนี้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 11 มี.ค. 14, 20:37
อ่าน ปีทองอันแสนสุขจบ
ก็คิดว่า ชีวิตของลอร่าจากนี้ไปเต็มไปด้วยความสุขอันรื่นรมย์
ที่ไหนได้ หลักไมล์แห่งความทุกข์ยากเยื้องกรายเข้าหักเหชีวิตของเธอครั้งแล้วครั้งเล่า
เหมือนไม่รู้จักพอ เดี๋ยวจะสมหวัง แล้วก้อผิดหวัง เดี๋ยวเกือบดี และแล้วก็ร้าย :'(

ชีวิตคู่ของคนทั้งสอง น่าจะเป็น คู่ทรหด นะคะ
อดทน บากบั่นกับเส้นทางระหกระเหินมาถึงขนาดนี้
เป็นคู่อื่นคงเซย์กู้ดบายกับวิถีชีวิตชาวไร่ไปนานแล้ว

แต่เพราะความมุ่งมั่นและมองโลกในแง่บวก
ทำให้ลอร่ามีชีวิตอย่างคุ้มค่าจนถึงบั้นปลายสุดท้าย
แถมอายุยืนกว่าพี่น้องคนอื่นๆเสียอีก :D

ตอนดูเป็น Series โทรทัศน์
เนื้อเรื้องรวบรัดและไม่ค่อยเหมือนในหนังสือ
แมรี่ ตาบอด แต่ก็ได้เป็นคุณครูและแต่งงานกับอาจารย์หนุ่มซึ่งตาบอดเหมือนกัน
ทั้งคู่สอนหนังสือให้นักเรียนตาบอด(อีก)

ขอบคุณอาจารย์เทาชมพูนะคะ ที่เปิดโลกกว้างสำหรับ บ้านเล็ก ภาคต่อเนื่อง ชีวิตที่ถูกทดสอบ

(http://1.bp.blogspot.com/-rkwftJeznGc/T798eqmKMfI/AAAAAAAAD84/3CFWXSiPgtk/s640/folk+LITTLE+HOUSE+prairie+girls.jpg)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: Ladycamelia ที่ 11 มี.ค. 14, 21:53
ติดตามอ่านกระทู้ด้วยความอิ่มเอม และมีความสุขทุกครั้งเลยค่ะ ความฝันตั้งแต่ยังเด็กคือไปเยี่ยมลอร่าที่บ้านร๊อกกี้ริดส์  (อ่านตั้งแต่อยู่ในวัยเดียวกับลอร่า จนคิดว่าเป็นเพื่อนกันค่ะ อิ อิ) และยังไม่ทิ้งความฝันนั้น  สักวันคงมาถึง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 14, 22:18
เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของลอร่า จบแล้วค่ะ   แต่ต่อจากนี้คือนั่งล้อมวงสนทนากัน
ดิฉันมีความประทับใจหลายอย่างเกี่ยวกับหนังสือเด็กชุดนี้   อ่านได้หลายครั้งในหลายวัย     ยิ่งอ่านก็ยิ่งสนุกกับสาระที่แฝงไว้ระหว่างบรรทัด
แต่วันนี้ขอพักก่อน  พรุ่งนี้ถ้าว่างจะเข้ามาคุยให้ฟังต่อนะคะ

ดิฉันเคยไปมิสซูรี่ แต่น่าเสียดายมาก ไม่สามารถจะไปถึงเมืองแมนสฟิลด์ได้    โอกาสนั้นหมดไปแล้ว ได้แต่เปิดยูทูปดูปลอบใจตัวเองไปพลางๆ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: หลงลืม ที่ 11 มี.ค. 14, 23:53
ขอบคุณ อ.เทาชมพูมากค่ะ ที่นำเสนอประวัติของลอร่าจนจบ ตอนนี้เหมือนกินข้าวเต็มกระเพาะแล้ว หลังจากท้องโหวงๆมานาน  :P :P


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 14, 08:51
พาเที่ยวบ้านไร่ร็อคกี้ริดจ์ที่ปัจจุบันนี้ยังเมืองแมนสฟิลด์ยังเก็บรักษาไว้  เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้     ภาพทั้งสองนี้คือโต๊ะเขียนหนังสือที่ลอร่าใช้เขียนต้นฉบับ  กับห้องครัวที่รวมโต๊ะอาหารเล็กๆสำหรับเธอและแอลแมนโซรับประทานอาหารด้วยกัน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 14, 09:03
โรสถึงแก่กรรม เมื่อ ค.ศ. 1968  ร่างของเธอฝังอยู่ในสุสานเมืองแมนสฟิลด์เช่นเดียวกับพ่อและแม่
หลังจากหย่าขาดจากกิลเลต เลนแล้ว โรสไม่ได้แต่งงานใหม่     เธอถึงแก่กรรมโดยไม่มีบุตร   มีแต่ "หลานบุญธรรม" ชื่อโรเจอร์ แม็คไบรด์  ผู้เป็นทั้งผู้จัดการทรัพย์สินทางปัญญาของเธอ และเป็นนักเขียนด้วย     เขาใช้ความคุ้นเคยกับโรส เรียนรู้ชีวิตวัยเยาว์จนเขียนนิยายชุด "บ้านเล็ก" ในช่วงลอร่ากับแอลแมนโซย้ายไปมิสซูรี่แล้ว  มีโรสเป็นตัวเอก
    รวมเป็นหนังสือชุด  คือ
    Little House on Rocky Ridge (1993)
    Little Farm in the Ozarks (1994)
    In the Land of the Big Red Apple (1995)
    On the Other Side of the Hill (1995)
    Little Town in the Ozarks (1996)
    New Dawn on Rocky Ridge (1997)
    On the Banks of the Bayou (1998)
    Bachelor Girl (1999)

    ดิฉันอ่านเล่มแรกแล้ว ไม่ติดใจ   ก็เลยไม่ได้แนะนำใครให้อ่านอีกค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 14, 09:07
 :D


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 14, 22:00
      เคยถามตัวเองว่าเสน่ห์ของวรรณกรรม "บ้านเล็ก" อยู่ที่ตรงไหน     คำตอบคืออยู่ที่ความสุข ความอบอุ่นและความหวัง ที่แฝงอยู่ระหว่างบรรทัดในทุกตอนของนิยายชุดนี้        เรื่องนี้ ผู้เขียนไม่ได้ระบายสีชีวิตที่สุขสบายสวยหรูตรงไหนเลยตั้งแต่บทแรกจนบทสุดท้ายของหนังสือทั้ง 8 เล่ม
     แต่ในความลำเค็ญของชีวิตเมื่อปลายศตวรรษที่ 19   ของชาวบ้านในถิ่นห่างไกลความเจริญ   ลอร่าก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ชีวิตที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งวัตถุฟุ่มเฟือยใดๆเกินปัจจัย ๔    แค่มีที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า อาหารและยารักษาโรคง่ายๆของพื้นบ้าน  ก็พอแล้ว    สิ่งที่เป็นสีสันงดงามที่สุดของชีวิตคือความรักและความดีงามที่พ่อแม่มอบให้ลูกๆ  แม้ว่าไม่สามารถจะมอบความสมบูรณ์พูนสุขทางกายได้  แต่ทางใจ  ครอบครัวอิงกัลส์มีเต็มเปี่ยม
    ถ้าวัดความสำเร็จในชีวิตกันอย่างที่เขานับกันทุกวันนี้    ชาร์ลส์ อิงกัลส์ก็เรียกได้ว่าล้มเหลว    เขาไม่สามารถจะพาครอบครัวไปได้ดีกว่าตอนเริ่มต้น    ไม่ว่าจะอพยพไปที่ไหน ชีวิตก็ไม่เคยดีขึ้นกว่าเดิม  มีแต่ลำบากขึ้นและยากจนลง  แม้แต่ที่ดินที่จับจองเอาไว้ก็ต้องขายไปในที่สุด     เขาไม่มีลูกชายที่จะช่วยแรงงานพ่อแม่ ลูกสาวคนโตพิการไม่สามารถหารายได้เข้าบ้าน   ลูกสาวคนรองแบกภาระเกินวัย ตั้งแต่ยังเด็ก    ลูกสาวคนที่สามและที่สี่ก็เช่นกัน      แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ทำให้เรามองเห็นว่าชาร์ลส์เป็นพ่อที่ดีที่สุดเท่าที่พ่อคนหนึ่งจะเป็นได้    ถึงลำบากยากจนอย่างไร  เขามีความสามารถน่าอัศจรรย์ที่ทำให้ลูกๆมีความสุข ความรักและประทับใจในอดีตวัยเยาว์ จนทำให้ชื่อของชาร์ลส์เป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ 
   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 14, 13:31
     อีกคนหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาร์ลส์ ก็คือแคโรไลน์ภรรยาของเขา     ลอร่าบรรยายแม่ของเธอด้วยความจำที่ชัดเจนแจ่มใส แม่นยำในรายละเอียด   คนอ่านมองเห็นแคโรไลน์ตั้งแต่ยังเป็นแม่บ้านสาวสวยวัยไม่ถึง 30 ปี มีลูกเล็กๆ 3 คนในบ้านเล็กในป่าใหญ่     ไปจนเป็นหญิงวัยกลางคนพร้อมลูก 4 คน  ผ่านงานหนักประจำวันชนิดไม่มีวันหยุดพัก
    แม่บ้านยุคปัจจุบันที่บ่นเหนื่อยกับงานนอกบ้านและยังต้องกลับมาทำงานในบ้านอีก  ลองนึกภาพแคโรไลน์ดูก็ได้ว่า เธอจะต้องตื่นก่อนสว่างทุกวัน  หอบฟืนหรือกิ่งไม้มาติดไฟในเตาผิง เพื่อเตรียมหุงหาอาหารเช้าให้คน 6 คนในบ้าน     อาหารทุกจานบนโต๊ะต้องผ่านมือเธอตั้งแต่ยังเป็นของดิบ ไม่ว่าจะเป็นขนมปังที่ต้องตวงแป้งผสมเกลือและผงฟูมาทำเองทุกก้อน   เนยต้องปั่นเองจากนมวัว  เนยแข็งก็ต้องทำเองจากนมทุกขั้นตอน    เนื้อสัตว์ก็ต้องล่าจากในป่าเอง หรือเข้าเมืองไปซื้อเองมาเก็บไว้กินนานๆ ทีละหลายเดือน    จะกินผักก็ต้องปลูกผักสวนครัวเอง   พรวนดิน รดน้ำ  ตลอดจนถอนขึ้นมาล้างเอง หั่นเอง ปรุงเป็นอาหารเอง
   ในสมัยนั้นน้ำก๊อกยังไม่มี    น้ำต้องโพงขึ้นมาจากบ่อที่ขุดเองทีละถัง   หรือไม่ก็หิ้วถังไปตักน้ำในลำธาร    จะล้างจานหรือซักเสื้อผ้า ต้องหิ้วน้ำกันทั้งนั้น    การอาบน้ำก็เช่นกัน หน้าร้อนอาบน้ำในลำธาร  หน้าหนาวต้องตักน้ำใส่ถังใบเล็ก   หิ้วมาต้มในถังไม้ใบใหญ่ แล้วอาบอยู่ในครัวหน้าเตาผิง เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ไม่หนาวเย็นจนเป็นหวัดได้ง่าย
  นอกจากนี้ แคโรไลน์ยังต้องตัดเย็บเสื้อผ้าทุกชุดเอง   เสื้อเก่าๆทุกตัวไม่มีการทิ้ง   แม้แต่เสื้อขาดสวมไม่ได้แล้ว  เหลือแต่ผ้าก็ต้องเก็บเอาไว้ เพื่อเอามาตัดเป็นเสื้อเล็กๆให้ลูก  หรือปะติดปะต่อกันเป็นผ้านวม patchwork 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 14, 13:34
  พูดถึงอาบน้ำ  ว่าสมัยโน้นเขาอาบกันยังไง  คำตอบคืออาบในถังใหญ่ค่ะ   อย่างในรูปข้างล่างนี้   ไม่มีห้องน้ำ   ถังถูกยกเข้ามาหน้าเตาผิงซึ่งใช้เป็นครัว   เอาเก้าอี้วางพาดผ้าเช็ดตัวไว้   กั้นพอเป็นส่วนสัด ให้มิดชิดไม่ประเจิดประเจ้อ 
  เมื่อลูกๆยังเล็ก  แคโรไลน์ก็อาบน้ำให้ลูก  พอลูกโตพอแล้วก็อาบน้ำเอง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 14, 13:36
ถ้าถามว่าถังไม้ใบใหญ่ๆพอที่คนลงไปนั่งได้ มีเอาไว้อาบน้ำอย่างเดียวหรือ   คำตอบคือไม่ใช่   เครื่องใช้ไม้สอยสมัยนั้นมีประโยชน์ใช้สอยหลายอย่างในตัว   เพื่อให้คุ้มกับที่มีไว้ประจำบ้าน
ถังไม้อาบน้ำปกติใช้เป็นถังซักผ้า  มีไม้กระดานสำหรับรองรับผ้าเวลาถูให้สะอาด  ต้องซักมือทีละตัว  ไม่มีเครื่องซักผ้าอย่างสมัยนี้
งานทั้งหมดนี้แคโรไลน์ทำอยู่คนเดียวในช่วงเวลาที่ลูกยังเล็กๆ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 14, 14:36
ไหนๆก็เล่าถึงการอาบน้ำแล้ว ก็พูดต่อถึงอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องขับถ่าย   สมัยโน้นในเมื่อไม่มีห้องน้ำ ไม่มีชักโครก หรือแม้แต่ส้วมซึม  ชาวบ้านเขาทำกันอย่างไร
คำตอบคือใช้กระโถน   เรียกว่า chamber pot  เพราะว่าเก็บไว้ในห้องนอน  โดยมากเก็บไว้ใต้เตียง
ก็เป็นหน้าที่ของแม่บ้านอย่างแคโรไลน์นั่นแหละ   จะต้องหิ้วออกไปเทและล้างทำความสะอาดทุกเช้า


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 14, 15:35
     นอกจากทำหน้าที่แม่บ้าน  แคโรไลน์ยังต้องทำหน้าที่ "พ่อบ้าน" ด้วยในยามจำเป็น    เพราะชาร์ลส์ชอบเดินทางอพยพโยกย้ายไปอยู่ในแดนเถื่อนที่ไม่ค่อยจะมีผู้คน      หมายถึงว่าต้องผจญภัยรอบด้าน   อยู่ในแคนซัสก็ต้องเจออินเดียนแดง หมาป่า และสัตว์ร้ายอื่นๆในทุ่งกว้าง     อยู่ที่ทะเลสาบสีเงินก็เจอคนงานก่อจลาจล    เมื่ออยู่มินเนโซต้าเจอตั๊กแตนลงทำลายพืชผล  ชาร์ลส์ต้องทิ้งบ้านไปเป็นแรมเดือน เพื่อหางานทำ    เขาเดินทางถึงสามร้อยไมล์กว่าจะได้งาน   ทางนี้แคโรไลน์อยู่กับลูกสาวเล็กๆ 3 คน  เท่ากับเธออยู่ตัวคนเดียว ไม่มีผู้ใหญ่ให้พึ่งพาได้เลยไม่ว่ายามเจ็บไข้หรือว่าเจอปัญหา
     ลอร่าเล่าว่า แม่ยิงปืนได้  ใช้ปืนได้คล่องเท่ากับพ่อ   แต่ก็น่าคิดว่าถ้าเกิดเรื่องร้ายแรง ไม่ต้องอะไรมาก สมมุติว่าชาร์ลส์เกิดปุบปับตายลงไป แคโรไลน์จะทำอย่างไร   ลูกเล็กๆสามคนเป็นภาระหนัก ไม่ให้เธอหางานทำนอกบ้านเอารายได้มาเลี้ยงครอบครัวที่ขาดพ่อบ้าน   ก็นับว่าสวรรค์ยังปรานีอยู่บ้างที่เหตุร้ายขนาดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตอนแคโรไลน์ยังสาว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 14, 16:48
ขอแถมท้ายเรื่องกระโถนอีกหน่อยค่ะ  
ถ้าในบ้านไฮโซสมัยนั้น เขาก็มีเก้าอี้อาร์มแชร์ (คือมีเท้าแขน) ให้นั่งอย่างสบาย  พร้อมกระโถนรองข้างล่าง   ก่อนพัฒนามาเป็นม้านั่งชักโครกอย่างปัจจุบัน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 14, 11:07
ส่วนส้วมคือหน้าตาแบบนี้   เป็นส้วมหลุม  ทำเอาไว้นอกตัวบ้าน เข้าได้ในทุกฤดูยกเว้นฤดูหนาว 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 14, 12:07
       สิ่งสำคัญที่ทำให้วรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" เป็นที่ประทับใจกันมาทุกยุคทุกสมัย คือความจริงใจที่ผู้เขียนมีต่องานของเธอ    ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ    นักเขียนหลายๆคนประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวในผลงาน ก็อยู่ที่คำว่า "จริงใจ" นี่เอง    เมื่อลงมือเขียน "บ้านเล็กในป่าใหญ่"   ลอร่าไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเพื่อหาชื่อเสียง   เพื่อหาเงินสักก้อนมาใช้จ่ายสบายๆ   หรือแม้แต่จะอวดลูกสาวว่าแม่ก็เขียนได้เหมือนกันนะ    แต่เธอมีความเชื่อมั่นโดยสุจริตใจว่าชีวิตในวัยเยาว์ของเธอ เป็นความสุขที่ยากจะลืมเลือน    เธอไม่อยากให้วันเวลาที่อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้องต้องสูญหายไปกับกาลเวลา     เธอจึงขอบันทึกเอาไว้
     ความจริงใจที่มีต่อเรื่องในอดีตนี้เองแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดทุกบรรทัด จนคนอ่านสัมผัสได้ถึงความรักที่ครอบครัวนี้มีต่อกัน     สัมผัสความสุขตามประสาเด็กน้อยที่ไม่ยึดถือเรื่องวัตถุนิยมมากไปกว่าจิตนิยม      ลอร่าไม่เคยรู้สึกว่าพ่อแม่ยากจน จนเป็นเหตุให้เธอขาดไร้สิ่งสมบูรณ์พูนสุขในชีวิต       แม้เธอพบเพื่อนที่รวยกว่าอย่างเนลลี่ ออลิสัน (ในตอน On the Banks of Plum Creek) มีเสื้อผ้าสวยๆ รองเท้าดีๆ  ตลอดจนตุ๊กตาราคาแพงที่ลอร่าไม่มีวันมี    เธอก็ไม่เคยเอาสิ่งนี้มาเปรียบเทียบจนเป็นปมด้อย    ตุ๊กตาเศษผ้าที่แม่ทำให้เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ มีคุณค่ามากกว่าตุ๊กตาราคาแพงจากร้านค้ามากนัก
    ลอร่าทำให้คนอ่านรู้สึกว่าความยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ที่พ่อแม่ดลบันดาลบ้านใหญ่ๆ    ของกินของใช้อย่างดี ตลอดจนความสะดวกสบายให้ลูก    แต่อยู่ที่ว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความรัก และเสียสละ   พ่อแม่ทำงานหนักทุกอย่างเพื่อลูก ๔ คน โดยไม่เคยปริปากบ่น    พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกให้มีศรัทธาในศาสนา ยอมรับความทุกข์และความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิตโดยไม่ปริปากบ่น     แมรี่รู้สึกว่าการที่เธอต้องสูญเสียดวงตาไปนั้นคือการที่พระเจ้าทดสอบความอดทนจากเธอ  และวันหนึ่งพระองค์ก็จะประทานรางวัลให้     คำตอบก็มาจริงๆในรูปของวิทยาลัยคนตาบอดที่พ่อแม่และลอร่าทำงานหนักจนส่งแมรี่ไปเรียนได้จนสำเร็จการศึกษา  ตามความใฝ่ฝันแต่วัยเด็กที่แมรี่อยากเล่าเรียนศึกษามาแต่ไหนแต่ไร


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 14, 11:52
  ถ้าถามว่าความจริงใจเป็นเรื่องสำคัญไหม  คำตอบก็คือสำคัญมากในลำดับต้นๆของงานเขียน     วรรณกรรมที่ประสบผลสำเร็จมักจะเขียนขึ้นโดยความเชื่อถือศรัทธาของนักเขียนที่มีต่อประเด็นในเรื่อง    เมื่อเป็นความรู้สึกอันแท้จริงของผู้เขียนต่อเรื่องที่เขียน   สิ่งที่เขาหยิบยกมาเสนอก็จะสอดคล้องกลมกลืนกันอย่างราบรื่นสมจริง  ไม่สะดุดติดขัดอย่างคนที่คิดอย่าง แต่เขียนอีกอย่าง  
  ในเมื่อลอร่ารู้สึกจริงๆว่าชีวิตในบ้านไม้ซุงในป่าใหญ่ของเธอเป็นชีวิตแสนสุข  ทุกสิ่งที่เธอมองเห็นก็สะท้อนออกมาในแง่ดี     เริ่มบทแรกเปิดฉากใกล้ฤดูหนาวที่พ่อแม่จะต้องสะสมอาหารการกินเอาไว้ในบ้าน เพราะสภาพแวดล้อมในฤดูหนาวไม่เอื้อให้ทำไร่ไถนาหรือล่าสัตว์ได้   การเตรียมอาหารก็เป็นเรื่องสนุกของเด็ก    การแล่เนื้อกวางกับหมูป่ารมควันหรือแล่ปลาแช่เกลือไว้กิน  การเก็บผักผลไม้  การทำเนย ฯลฯ ล้วนเป็นความตื่นเต้นสนุกสนานของเด็กน้อย
    แต่สมมุติว่าเราเดินทางย้อนกาลเวลากลับไปอยู่กับลอร่าได้   เราอาจไม่สนุกกับชีวิตที่ไม่มีตู้เย็น ไม่มีตลาดติดแอร์ให้ซื้อของ  จะกินจะใช้ก็เหน็ดเหนื่อยลำบากลำบนฯลฯ    จะให้เราเขียนออกมาว่ามันสนุก ก็ฝืนกับความรู้สึก  ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเขียน  ถ้อยคำก็กลายเป็นสนุกอย่างแกนๆ หรือปรุงแต่งเสียจนจับได้ว่าไม่สมจริง
   การปรุงแต่งเสียจนเว่อไม่สมจริงนี้ มีศัพท์ทางวรรณกรรมเรียกว่า melodrama  ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้งานเขียนจำนวนมากไม่อาจไต่ระดับขึ้นสู่งานชั้นดีได้     วรรณกรรม "บ้านเล็ก" ไม่มีลักษณะดังกล่าว  เพราะลอร่าไม่ได้ปรุงแต่งชีวิตยุคบุกเบิกใส่สีใส่ไข่เสียเป็นภาพลวง   เธอเขียนบรรยายตามความจริงอันเรียบง่าย  และเป็นความเรียบง่ายที่สวยงามจับใจทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่อ่าน
  


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 17 มี.ค. 14, 20:26
อ่านความเห็นของอาจารย์เทาชมพูแล้ว  อิ่มเอมใจจังค่ะ
ในมุมมองของนักเขียนด้วยกัน คงเข้าใจหัวอกของการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวอักษรที่เรียงร้อยอย่างงดงาม
ผูกเป็นเรื่องราวที่ชวนติดตาม ประทับใจ

ดิฉันขอเสริมอีกมุมมองหนึ่งในแง่ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจของอเมริกัน

หนังสือชุดบ้านเล็ก เขียนภายหลังที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือที่รู้จักกันในชื่อ The Great  Depression
(ปลายปี 1930 ลากไปถึงกลางปี 1940 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 )

ตลาดหุ้น Wall Street ลูกโป่งแตกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1929 รู้จักกันในชื่อ Black Tuesday อังคารทมิฬ
และกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆติดตามมา รวมทั้งความตกต่ำด้านราคาพืชผลการเกษตรด้วย
(เพราะถือเป็น ตลาดโภคภัณฑ์ Commodity)

การล่มจมของตลาดการเงิน ในกรุงนิวยอร์คกระเทือนไปถึงบ้านไร่ที่แมนสฟิลด์ของลอร่า ได้อย่างไร

พันธบัตรต่างๆ ทรัพย์สินที่ครอบครัวของเธอสะสม เก็บหอมรอมริบแลกจากหยาดเหงื่อ แรงกาย ฝ่ามือที่หยาบกร้าน
สูญมลายไปสิ้น (หากไม่สูญก็แทบจะด้อยค่าลงทันที)

หลายครัวเรือนอเมริกันชน สูญเสียความมั่งคั่งและมั่นคงในชีวิต
ไปกับตลาดการเก็งกำไรปั่นมูลค่าทรัพย์สินและเงินตราตลอดจนตลาดตราสารล่วงหน้า

แต่เพราะลอร่า และแอลแมนโซ เป็นชาวไร่ ชาวนาที่ผ่านบททดสอบจากธรรมชาติมาหลายครั้งหลายคราแล้ว
จนเกิดภูมิต้านทานและเลือดนักสู้ประมาณว่า ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา

ในเมื่อตลาดเงินที่ล่มจมใน Wall Street ไกลออกไปนับพันๆไมล์
เป็นสิ่งที่ครอบครัวชาวไร่อย่างเธอควบคุมไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป

แต่สิ่งที่เธอควบคุมได้ก็คือ บ้านไร่ของไวล์เดอร์ยังมีอาหารการกินที่สมบูรณ์พร้อม  
แถมยังสามารถเจือจุนเพื่อนบ้านข้างเคียง ได้อย่างสบายๆ

นี่แหละหนา  คือสิ่งที่เรียกว่า  เงินทองเป็นของมายา  ข้าวปลาซิเป็นของจริง

การเขียนบันทึกชุดบ้านเล็ก เหมือนกับเป็นการเตือนกลายๆให้เห็นหายนะของบริโภคนิยม
และถอยกลับไปสู่ความฝันของอเมริกันในแบบฉบับดั้งเดิม
อันหอมอวลกลิ่นอายของอเมริกันสปิริต ( ด้วยตัวอย่างที่ชัดเจนจากผู้เป็นพ่อ)

อเมริกันชนทุกคนมีอิสระเสรีที่จะแสวงหาวิถีที่ดีกว่า ด้วยความกล้าหาญ บากบั่น อดทน สู้งาน
ทุกคนได้รับสิทธิจากพระเจ้าเท่าๆกัน เพียงแต่ใครจะขวนขวายหาความก้าวหน้าได้มากกว่าขึ้นอยู่กับความขยันอุตสาหะ
แต่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามครรลอง และไม่เอาเปรียบพรรคพวก

ผลผลิตของแรงงานคือความภูมิใจที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้ตามอัตถภาพ

การเก็งกำไร  ปั่นค่าเงิน  นั่งคำนวณแต่ตัวเลขโดยมิได้ออกแรงกายหรือลงแรงเพื่อสร้างผลผลิต
ไม่ใช่รูปแบบการใช้ชีวิตอย่างอิสระชนที่ควรจะเป็น

ลอร่าค่อยๆเรียงลำดับความคิดเพื่อเสนอด้านมุมของชีวิตชาวอเมริกันในความฝันดั้งเดิม
เพื่อปลุกปลอบและให้กำลังใจกับผู้คนซึ่งสิ้นหวังกับภาวะขณะนั้น

เราจะเห็นว่า  บันทึกทุกเล่มล้วนนำคนอ่านย้อนกลับสู่วิถีที่เรียบง่ายของบรรพบุรุษผู้สร้างสรรค์ชุมชนด้วยจิตวิญญาณมุ่งมั่น
ในความรื่นรมย์ของทุกช่วงชีวิต ทุกคนมีความสุขกับการทำงานที่เห็นเป็นกอบเป็นกำ
จะพลาดบ้าง พลั้งบ้างด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  
(ต้องทิ้งที่ดินและบ้านเล็กในทุ่งกว้างให้กับรัฐเพื่อกันเป็นเขตสงวนของอินเดียนแดง)
หรือสภาพธรรมชาติ ที่ไม่เป็นใจ แต่ก็ไม่มีใครยอมแพ้  สู้ครั้งใหม่อีกจนชนะ
( คราสงครามตั๊กแตนที่แห่ลงมากินพืชไร่ของครอบครัวลอร่าตอนอยู่บ้านเล็กริมห้วย
จนในที่สุด พ่อเธอยอมแพ้ อพยพไปดินแดนใหม่ ริมทะเลสาบสีเงิน เพื่อหาลู่ทางเพาะปลูกอีกครั้ง)

กะแค่สงครามการเงินที่มีแต่ตัวเลขขึ้นๆลงๆ  จะหนักหนาเท่าหิมะ 7 เดือนที่ทำให้ชาวเมืองเดอะสะเม็ตแทบอดตาย
ก็ให้รู้ไปซิน่า

ฉะนั้น เมื่อผู้คนที่กำลังจิตตกกับเงินทอง มูลค่าสินทรัพย์ที่ลดถอยลงทุกวัน
ได้มีโอกาสย้อนอดีตดูปูมหลังของบรรพชนที่สร้างชาติขึ้นมาด้วยความยากลำบาก
ก็น่าจะมีมุมมองของโลกสวยขึ้นบ้าง
ลุกขึ้นมา ตั้งต้นชีวิตใหม่ ทำงาน ทำการที่เห็นเป็นผลผลิตที่แท้จริง 8)
 




กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 17 มี.ค. 14, 20:40
เพื่อให้เกิดภาพเปรียบเทียบชีวิตของคนที่ใกล้จุดศูนย์กลางการเงินและรับผลกระทบชัดเจน
ขอเอาบทความบทหนึ่งของเด็กผู้หญิงที่ชือคล้ายๆกันคือ Clara Hancox

When Father took my piggy bank :The Depresssion's darkest days
หรือที่แปลเป็นไทยพาดหัวว่า "เมื่อพ่อเอาเงินทั้งหมดในกระปุกออมสินฉันไป"
เป็นหน้าบันทึกที่อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนา "The Century"
ซึ่งเป็นการรวบรวมหน้าประวัติศาสตร์ของคนมะกันในรอบ 100 ปี ตั้งแต่1901-1999
โดย Peter Jennings อดีตผู้ประกาศข่าวและบรรณาธิการคนดัง
ABC New's World News Tonight รายการข่าว Prime Time ของช่องโทรทัศน์ Rating ติดดาว
( เสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2005 ด้วยโรคมะเร็ง อายุ 67 ปี)
และ Todd Brewster อดีตบรรณาธิการ LIfe Magazine

หน้าตาหนังสือเป็นอย่างนี้ค่ะ

(http://ecx.images-amazon.com/images/I/617TN0GCCWL._SL500_AA300_.jpg)

Clara Hancox เกิดปี 1918 ในละแวก Bronx
จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Iowa ในปี 1939
เคยเป็นนักเขียนคอลัมนิสต์ใน Daily News Record
หลังเกษียณแล้ว หันมามุ่งมั่นงานเขียนนิยายอย่างเดียว
 

   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 17 มี.ค. 14, 20:41
บันทึกของหนูน้อย Clara Hancox จับใจความได้ดังนี้

"พ่อแม่ของฉันอพยพจาก Ukraine สู่มหานครนิวยอร์คในปี 1916
แรกเริ่มมาอาศัยในเขตสลัมทางฝั่งตะวันออก
แม้จะไม่ใช่ถิ่นพำพักที่ดูดีมีระดับ ออกจะซอมซ่อด้วยซ้ำ
แต่พวกเราก็ไม่เคยสิ้นหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น..สักวันหนึ่ง

ด้วยความบากบั่น อดทน หนักเอา เบาสู้ตามแบบฉบับของคนงานอพยพทั่วไป
พ่อได้ก่อร่างสร้างตัวจนสามารถประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจทำพื้นอาคาร (Flooring Business)
มีงานรับผิดชอบการปูพื้นอาคารตึกใหม่ๆซึ่งแข่งกันสร้างรองรับเมืองที่กำลังขยาย

ตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดอะไรในเวลาต่อมา

พ่อเริ่มมีเงินเก็บและลืมตาอ้าปากได้ จึงโยกย้ายไปพำนักถิ่นที่อยู่ที่ดีขึ้น
คือเขต Bronx ซึ่งอยู่นอกเมืองออกมา
อพาร์ทเม้นท์ 4 ห้องของเราเริ่มดูเป็นรูปเป็นร่าง
ด้วยเฟอร์นิเจอร์งานฝีมือและการตกแต่งอย่างมีรสนิยม
ทั้งนี้พ่อฝันเสมอว่าอยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีฐานะ
เพื่อชดเชยกับความยากลำบากครั้งเก่าก่อน

วันหนึ่งพ่อกลับมาพร้อมกับผืนพรมสีแดงเชอรี่ นุ่มสวยจนแทบจะชวนให้เกลือกกลิ้งทั่วผืน
แม่ถามว่าพ่อจ่ายไปเท่าไหร่ พ่อตอบว่า 250 เหรียญ แม่บอกให้เอาไปคืน
แต่พรมเชอรี่ก็ยังอยู่ที่พื้นอพาร์ตเม้นท์เรามาตลอด

ธุรกิจของพ่อยิ่งนานวัน ก็ยิ่งดีขึ้นตามลำดับ
พอๆกับการขยายตัวของตึกสูงระฟ้าที่แข่งพุ่งทะยานไม่หยุด
พ่อไปที่แบ็งก์เพื่อขอกู้เงินสำหรับซื้อวัสดุ สิ่งของที่เอามาใช้งานปูพื้น

แต่ไม่ทันจะได้เริ่มงาน ตลาดหุ้นก็ถูกถล่ม :(


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 17 มี.ค. 14, 20:42
พวกเราผู้ห่างไกลจากวงจรของ Wall Street
ไม่เคยสนใจตลาดหุ้น ไม่เคยแม้แต่คิดจะซื้อจะขายด้วยซ้ำ
เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นขณะนั้น

มันเหมือนเมืองทั้งเมืองถูกถล่มด้วยระเบิดลูกแล้วลูกเล่า
เพียงชั่วข้ามคืน โศกนาฎกรรมปรากฏทั่วทุกครัวเรือน
จากหายนะหนึ่งไปสู่อีกหายนะหนึ่ง
เหมือนเกมส์โดมิโนที่ล้มกลิ้งไปสู่ถนนอเวจี
 
คนที่จ้างให้พ่อทำงานปูพื้น สูญเสียเงินทั้งหมด ไม่สามารถจ่ายเงินพ่อได้
พ่อเองก็ติดหนี้ร้านค้าวัสดุก่อสร้างท่วมท้น
อีกทั้งติดหนี้เงินกู้จากแบ็งก์ก้อนใหญ่ซึ่งตามทวงไม่ลดละ
พูดอีกนัยหนึ่ง พ่อล้มละลาย และน่าเสียดาย ไม่ได้ฟื้นกลับมาอีกเลย

สะพานจอร์ช วอชิงตัน ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ
ปกติจะเป็นสถานที่เดินเล่นชมวิวของชาวมหานครที่อยากจะหลีกลี้ใต้เงาตึกสูงใหญ่
แต่ ณ วินาทีคือสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์สำหรับจบชีวิตของบรรดาผู้คนที่เกี่ยวข้องกับ Wall Street
พวกคนที่เล่นหุ้นด้วย Margin และไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้

Margin คืออะไรนะ เป็นศัพท์ใหม่ที่เราเพิ่งเคยได้ยินในตอนนั้น
ใครๆก็พูดกันหนาหูมาก เขาคนนั้น คุณคนนี้ตายเพราะมาร์จิ้น
มันร้ายแรงเหมือนโรคระบาดชนิดหนึ่งหรือเปล่านะ

หลายคนที่ไม่อาจอยู่สู้หน้าใครได้อีก
ก็เลือกหนทางสุดท้ายคือ ฆ่าตัวตาย
ด้วยหวังว่าอย่างน้อยก็พอมีเงินประกันสักก้อนหนึ่ง
จ่ายให้ภรรยาและลูกๆที่อยู่ข้างหลังได้
ไม่น่าเชื่อ การจบชีวิตเยี่ยงนี้
กลายเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง สมเกียรติ
ในสังคมและอารมณ์ของผู้คน ณ ห้วงเวลานั้น

นักธุรกิจผู้เคยมีหน้ามีตาในสังคม
เดินแบกตะกร้าขายผลแอปเปิ้ลสีแดงก่ำตามท้องถนนลูกล่ะ 5 เซนต์
ช่างเป็นเรื่องหดหู่เสียจริงๆ

และที่หดหู่ยิ่งกว่าก็คือ
แม้แต่เงิน 5 เซ็นต์ เราก็ยังไม่มีเลย :'(


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 17 มี.ค. 14, 20:45
ฉันมีกระปุกออมสินอยู่ใบหนึ่ง สะสมเศษเหรียญมากกว่า 5 ปี
ใส่ทั้งเหรียญนิคเกิ้ล เพ็นนีและไดม์ปะปน
ทุกครั้งที่หยอดกระปุกเสร็จ ฉันมักจะเขย่าๆ
เพื่อฟังเสียงเหรียญกระทบกันหนักแน่น
ฟังซิ เสียงแห่งความมั่งคั่งในอนาคต
ฉันไม่รู้หรอกว่า จำนวนเหรียญเล็กเหรียญน้อยที่อยู่ในกระปุกนั้นมีเท่าไหร่
หากอยากรู้ก็ต้องแคะให้เหรียญตกลงมาทีละเหรียญๆ
หรือไม่ก็ทุบกระปุกออก

วันหนึ่งฉันกลับมาถึงบ้าน
ตรงไปหยิบกระปุกขึ้นมาเขย่า ปรากฏว่าเบาโหวง
เกิดอะไรขึ้นกับกระปุกออมเงินของฉัน
เหรียญทั้งหมดถูกแคะไปเกลี้ยง

ขณะที่ฉันนั่งตะลึงแล้วร้องไห้
แม่เดินมาที่ประตู บอกว่า พ่อขอยืมเงินในกระปุกไปทั้งหมด
เพื่อใช้เป็นค่าเดินทางออกไปหางานทำในเมือง
ฉันถามว่า เงินทั้งหมดมีเท่าไหร่ แม่ตอบว่า สิบดอลล่าร์
โอ้โฮ พ่อเอาเงินจากกระปุกออมสินของฉันไปหมดตั้ง 10 ดอลล่าร์เลยเชียวหรือ
“ เมื่อพ่อกลับมา อย่าพูดอะไรทั้งสิ้น แค่นี้พ่อก็เสียใจมากพอแล้ว” แม่กำชับ

พ่อกลับถึงบ้าน รอยหมองคล้ำเต็มดวงหน้า ตาแห้งอิดโรย ปากสั่นซีดเซียว
พ่อสัญญาจะคืนเงินที่เอาจากกระปุกให้ฉันทั้งหมด
แต่จนแล้ว จนเล่า พ่อก็ไม่ได้คืน

เป็นช่วงวันคืนที่เลวร้ายที่สุดของครอบครัวเรา
เป็นช่วงวิกฤตแห่งชีวิตของคนผู้เป็นพ่อ
ที่ไม่สามารถนำแสงสว่าง ความอบอุ่น
ไม่สามารถนำครอบครัวฝ่าความหิวโหยออกไปได้

พ่อทำผิดอะไรหรือถึงต้องมาประสบชะตากรรมแบบนี้



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 17 มี.ค. 14, 20:46
ไม่มีใครอยู่นิ่งเฉย พ่อออกเดินไปหางานทำทุกวัน
แม่ก็เช่นกัน ฉันเองก็หางานพิเศษทำ
รับเล่นเปียโนที่โรงเรียนสอนเต้นรำด้วยค่าจ้าง ชั่วโมงล่ะ 50 เซนต์
เศษตังค์ที่เหลือติดก้นกระเป๋าเพียงพอที่เราจะไปตลาดตอนวาย
ซื้อมันฝรั่งแคะแกร็นหรือแคร็อทที่เริ่มนิ่มเอามาต้มกินเป็นมื้ออาหาร
ซื้อข้าวบาร์เลย์มาต้มเป็นน้ำซุปอิ่มได้ 3-4 มื้อ
พอประทังความอดอยากให้ผ่านพ้นไปทีละวัน

วันหนึ่งฉันกลับจากโรงเรียน
เห็นเฟอร์นิเจอร์รูปลักษณ์คุ้นตาวางเรียงรายข้างทางเดิน
จึงรู้ว่า เราถูกไล่ออกจากอพาร์ทเม้นท์
ไม่มีแล้วบ้านที่คุ้มหัวอีกต่อไป
สายตาที่ปวดร้าวของพ่อ แม่ ขณะดูพวกเขายกเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นออกมา
ทำให้ฉันไม่กล้าแม้แต่จะสบตาท่าน

เราย้ายมาอยู่ร่วมกับอีกครอบครัวหนึ่งซึ่งมีอพาร์ทเม้นท์อยู่ 2 ห้อง
พวกเขาอยู่ห้องเดิม พวกเราอยู่รวมกันในห้องนั่งเล่น พร้อมเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือนเก่า
ซึ่งหลายชิ้นถูกขโมย สูญหายระหว่างการเคลื่อนย้าย
หากชิ้นหนึ่งที่ยังความสว่างสดใสแก่ห้องเล็กๆก็คือ พรมเชอรี่สีแดงผืนนั้น

ไม่เป็นไรหรอกค่ะ พ่อ ถึงเงินในกระปุกไม่อยู่แล้ว
แต่เรายังอยู่
อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันครบทั้ง 3 คน  :'(

ก็หวังว่า คลาร่าได้มีโอกาส อ่านหนังสือชุดบ้านเล็ก ของลอร่า
แล้วฮึดสู้ขึ้นมาใหม่อีกครั้งนะคะ  ;)
 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 17 มี.ค. 14, 20:57
So sad.

สมัยเรียนประวัติศาสตร์  พอถึงการเกิด Great Depression  เราก็จะไม่เข้าใจว่า  เหตุการณ์นี้มันร้ายแรงอย่างไร  ทำไมหุ้นตกคนถึงต้องฆ่าตัวตาย  ทำไมเศรษฐกิจจึงเซซวนล้มพังพาบทั้งระบบ  ทั้งประเทศ  และทั้งโลก

จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นั่นแหละค่ะ  จึงเข้าใจถึงความรุนแรงนั้น

ขอบคุณทั้ง อจ. เทาชมพู และคุณ kulapha นะคะ  สำหรับกระทู้ที่เปี่ยมไปด้วยข้อมูลนี้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 14, 12:29
ขอบคุณค่ะคุณ tita   
ทุกท่านที่แวะเข้ามาส่งเสียงทักทาย ทำให้ดิฉันไม่เซ็งที่คุยอยู่คนเดียวค่ะ

ขอต่อนิดหนึ่ง เมื่อได้อ่านข้อเขียนของ Clara Hancox

คุณ Kulapha    ได้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างลอร่ากับคลาร่าไหมคะ
ทั้งสองเขียนถึงความลำบากยากแค้นของครอบครัว ที่ประสบภัยจากเศรษฐกิจเหมือนกัน      แตกต่างกันแต่ว่า หนูน้อยคลาร่าเขียนถึงความลำบากยากแค้นด้วยน้ำเสียงขมขื่นเป็นทุกข์   
ส่วนลอร่าเขียนถึงความลำบากยากแค้นด้วยน้ำเสียงเป็นสุข   แม้แต่ในบางตอนที่ประสบภัยพิบัติเกินกว่าจะสุขได้ น้ำเสียงที่เล่าเรื่องก็ไม่ขมขื่นเจ็บปวดจนบีบคั้นอารมณ์คนอ่าน

นี่คือความแตกต่างระหว่างนักเขียนที่ประสบผลสำเร็จกับนักเขียนทั่วไปค่ะ     นักเขียนที่ประสบความสำเร็จมองเห็นอะไรบางอย่างที่คนทั่วไปไม่เห็น  แล้วสามารถเสนอออกมาได้ตามนั้น
พ่อของลอร่าเจอหนักกว่าเศรษฐกิจตกต่ำ    หลายต่อหลายครั้ง เขาล้มเหลว  ในแคนซัส เขาต้องทิ้งบ้าน เงินและแรงงานที่ลงไปมากมายในทุ่งกว้าง เดินทางออกจากแคนซัสด้วยเกวียนและข้าวของเท่าเดิมที่เดินทางเข้าไป    ในมินเนโซต้า เขาสูญหมดทั้งพืชผลและบ้านช่องทั้งๆปักหลักอยู่หลายปี    ในดาโกต้าใต้ เขาสูญที่ดินที่จับจองเพราะเพาะปลูกไม่ได้ผลติดๆกันหลายปี  ลอร่าเป็นพยานรู้เห็นเรื่องทั้งหมด   พ่อของเธอไม่เคยหยิบยื่นความสมบูรณ์พูนสุขให้ครอบครัวได้เลย
แต่เธอก็ทำให้คนอ่านมองเห็นได้ว่าชีวิตของเธอพร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้องเป็นชีวิตที่เป็นสุข    ความสุขนั้นไม่ได้เกิดจากเงินทองหรือความสำเร็จ แต่เกิดจากเสียงซอของพ่อ รอยยิ้มของแม่   น้ำเสียงอ่อนหวานที่คนในครอบครัวพูดกัน  ความห่วงใยผูกพันระหว่างพี่น้องทุกคน   ไม่ว่าจะเป็นพี่สาวตาบอด น้องคนรองที่ขี้โรคบอบบางอย่างแครี่ และน้องเล็กจอมยุ่งอย่างเกรซ   
 
ที่สำคัญคือลอร่ารู้สึกเป็นสุขจริงๆ เธอจึงถ่ายทอดออกมาได้เสมอต้นเสมอปลาย     ถ้าหากว่าใจจริงลอร่ารู้สึกขมขื่นบีบคั้นไม่แพ้คลาร่า แต่แสร้งทำเป็นเขียนในมุมดีเพื่อให้สนุกถูกใจคนอ่าน   มันก็คงมีอะไรหลอกๆ (fake) แทรกให้แปร่งปร่าอยู่ในตอนใดตอนหนึ่งหรือหลายตอนใน 8 เล่มให้คนอ่านจับได้อยู่ดีละค่ะ   เรื่องนี้ก็คงไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 มี.ค. 14, 14:44
เข้ามาส่งเสียงครับว่าหลังอยู่หลังห้องทุกวัน เพียงแต่ไม่ได้ส่งเสียงเพราะกำลังเคลิ้มกับเรื่องราวและไม่มีความเห็น เมื่อคุณครูไม่ได้เรียกตอบ เลยเลือกเงียบไว้ก่อนตามประสานักเรียนไทยชั้นดี  ;D


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 14, 15:22
อนุญาตให้หยิบกินแก้ง่วงได้ค่ะ

กระทู้คงจบแค่นี้  ถ้าท่านใดอยากจะสนทนาต่อก็เชิญออกความเห็นตามอัธยาศัย
กระทู้ใหม่ยังนึกไม่ออกว่าจะเล่าเรื่องอะไรดี   ต้องไปค้นกรุก่อนนะคะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 มี.ค. 14, 19:24
คุณครูคับ กระทู้ต่อไปอยากทราบเรื่องศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ครับ ชื่อนี้เห็นตามพิพิธภัณฑ์และหนังสือตำราน่าง่วงบ่อยๆ หลายเล่ม  ผลงานการอ่านหรือแปลจารึกต่างๆ ที่ถูกอ้างถึงของแกเยอะมาก แต่ด้านชีวิตส่วนแก เช่นเป็นสายลับหรือไม่ มีครอบครัวไหมหาไม่ได้เลย  ที่พอหาได้ก็แค่ประวัติสั้นๆ และประวัติการทำงานอย่างย่อเท่านั้น เมื่อเทียบกับชื่อที่เห็นบ่อยแต่เรื่องราวส่วนตัวกลับไม่เป็นที่รู้จักเล่าขานมากนัก ท่านผู้นี้มีคุณูปการแค่ไหน สมควรควรจะถูกยกย่องจดจำหรือไม่ผมไม่ทราบเลย ทราบแต่ว่าชื่อคุ้นมากและเจอบ่อยมาก


ถ้าท่านอาจารย์พอจะรู้จักเล่าสู่กันฟังได้บ้างจะเป็นพระคุณยิ่งครับ ชั้นเรียนที่นี่ นักเรียนสั่งการบ้านให้คุณครูเรียบร้อยเลย  ;D  ;D  ;D


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 14, 19:40
 :-\


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 14, 12:31
ในเมื่อคุณชายรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์ กำลังทำปริญญาเอกใบที่ห้าอยู่   เพราะฉะนั้นการบ้านเล็กๆแค่นี้    ขอสั่งกลับให้เอาไปทำเองแล้วกันค่ะ

http://en.wikipedia.org/wiki/Georges_Coed%C3%A8s


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 มี.ค. 14, 14:45
ฮิฮิ  อ่านแล้วครับอันนั้น ทั้งตัวภาษาไทยภาษาอังกฤษ แถมมีแบบประวัติสั้นๆ เป็น pdf ไฟล์ด้วย แต่รู้สึกไม่รู้จักพอ  เหมือนเคยอ่านที่ไหนนานมาแล้วว่ามีการสงสัยว่าแกเป็นสายลับด้วย  ไม่เป็นไร ไว้กลับไทยจะลองไปค้นคว้าดู เผื่อได้ตั้งกระทู้ใหม่ รออีกซักปีสองปีนะคร้าบบบ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 14, 15:02
ไม่เป็นไร ไว้กลับไทยจะลองไปค้นคว้าดู เผื่อได้ตั้งกระทู้ใหม่ รออีกซักปีสองปีนะคร้าบบบ

จะคอยขวัญใจ

http://www.youtube.com/watch?v=FIZM3mizgGw

จะคอย จะคอย จะคอย จะคอย ขวัญใจ   จะช้าอย่างใด จะนานเท่าไร ไม่หวั่น

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 14, 15:21
ใครจะเข้าคิวรอ   เชิญมาลงชื่อค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 19 มี.ค. 14, 20:50
น้อมรับข้อสังเกตของอาจารย์เทาชมพูค่ะ  ช่วยชี้แสงสว่างให้อีกแล้วค่ะ

คลารา เป็นเด็กที่ ขาดในสิ่งที่(เคย)มี
ก็เลยเปรียบเทียบช่วงชีวิตที่สุขสบายกับช่วงชีวิตที่ขัดสน
แสดงความคับแค้นใจแบบเด็กๆ

ส่วนลอรา เป็นเด็กที่มีในสิ่งที่ขาด และก็พอใจในสิ่งที่ได้มา
รื่นรมย์กับสิ่งที่ได้รับไม่ว่าเป็นของขวัญคริสตมาสมือสอง
หรือของกระจุกกระจิกที่ผ่านการ Recycle แล้ว
หนังสือพิมพ์ที่ล้าสมัยแล้ว ก็ยังนับเป็นเรื่องทันสมัยสำหรับชีวิตบ้านนอก
หากถึงแม้จะไม่ได้รับเลย ลอร่าก็ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ

อันนี้คงเปรียบเหมือนกับการเลี้ยงเด็กนะคะ

การค่อยๆเติมในสิ่งที่เขาไม่มี ให้เขาเติมเองบ้าง เราช่วยเติมบ้างหรือแนะบ้าง
จะทำให้คนรับเห็นคุณค่ามากกว่า
กับการที่มีพร้อมทุกอย่าง ใครๆก็เติมให้ไม่อั้น
แล้ววันหนึ่งก็ถูกฉวยดึงออกไปทีล่ะอย่างๆ :-X

ไหนๆอาจารย์เคยเสนอเรื่องอาหารในบ้านเล็กแล้ว
ลองดู ของขวัญคริสตมาสในบ้านเล็กดีมั้ยคะ
เพราะตอนอ่านหนังสือชุดนี้จะมีความสุขที่สุดคือช่วงคริสตมาส
ที่มีอาหารพื้นบ้านแบบอเมริกัน แล้วก็ช่วงเวลามอบของขวัญซึ่งกันและกัน
ดูเหมือนจะเป็นของขวัญทำมือทั้งนั้นเลย สมัยนี้คงจะพบเห็นยาก

อักสักกระทู้หนึ่งค่ะ
อาจารย์เทาชมพูสนใจเรื่อง Little Women มั้ยคะ
ท่วงทำนองการเขียนก็เป็น Series เหมือนกัน
เน้นความรักความผูกพันของพี่น้องในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรนัก
แถมตัวละครเอกของเรื่อง โจ มาร์ช ก็มีบุคลิกที่โดดเด่นจับตา
จนหลายๆคนอดฝันที่จะเป็นแบบเธอไม่ได้ :-[


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 14, 21:03
ไหนๆอาจารย์เคยเสนอเรื่องอาหารในบ้านเล็กแล้ว
ลองดู ของขวัญคริสตมาสในบ้านเล็กดีมั้ยคะ
เพราะตอนอ่านหนังสือชุดนี้จะมีความสุขที่สุดคือช่วงคริสตมาส
ที่มีอาหารพื้นบ้านแบบอเมริกัน แล้วก็ช่วงเวลามอบของขวัญซึ่งกันและกัน
ดูเหมือนจะเป็นของขวัญทำมือทั้งนั้นเลย สมัยนี้คงจะพบเห็นยาก

อักสักกระทู้หนึ่งค่ะ
อาจารย์เทาชมพูสนใจเรื่อง Little Women มั้ยคะ
ท่วงทำนองการเขียนก็เป็น Series เหมือนกัน
เน้นความรักความผูกพันของพี่น้องในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรนัก
แถมตัวละครเอกของเรื่อง โจ มาร์ช ก็มีบุคลิกที่โดดเด่นจับตา
จนหลายๆคนอดฝันที่จะเป็นแบบเธอไม่ได้ :-[

1  ได้เลยค่ะ ของขวัญในบ้านเล็ก  เดี๋ยวจะตั้งกระทู้ใหม่
2  ดิฉันอ่าน Little Women ที่อ.สนิทวงศ์ แปล ให้ชื่อว่าสี่ดรุณี  ตั้งแต่ดิฉันขึ้นม. 2  ก็เท่ากับประถม 6 สมัยนี้   อ่านจนจำได้หมดว่าเป็น series ติดต่อกันหลายเล่ม คือ Little Women(สี่ดรุณี) Good Wives, (เมียขวัญ)Little Men(สี่ดรุณ) และ  Jo's Boys(สี่ดรุณีภาคพิเศษ) เป็นเรื่องสุดท้าย
แสดงชีวิตของสี่พี่น้องตั้งแต่รุ่นสาวไปจนวัยปลาย  มีเด็กรุ่นลูกเข้ามาเป็นตัวเอกหลายคน
แต่ขอบอกนะคะว่า เรื่องตอนหลังๆไม่สนุกเลย   ฝีมือคนแต่งตกลงไปเยอะเมื่อเทียบกับเรื่องแรก 
   ดิฉันไม่ได้เอ่ยถึงสี่ดรุณีในเรือนไทยเพราะรู้สึกว่าได้รับความนิยมน้อยกว่า "บ้านเล็ก"   คนอ่านรุ่นปัจจุบันแทบไม่รู้จักแล้วค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 14, 21:37
ไปขึ้นกระทู้ใหม่แล้วค่ะ

ของขวัญคริสต์มาสในวรรณกรรมชุด"บ้านเล็ก" (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5940.msg131807;topicseen#msg131807)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ก.ค. 18, 11:40
สัปดาห์ก่อนมีข่าว การเปลี่ยน,ถอนชื่อรางวัล ลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ กรณี 'บ้านเล็กในป่าใหญ่' มีการเหยียดสีผิว

คิดว่าน่าจะนำมาลงที่กระทู้นี้, อย่างน้อยเพื่อเป็นการบันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในวันนี้ที่มีต่อวรรณกรรมวันวาน

แบบยาวจุใจจาก โตมร สุขปรีชา ที่ https://goo.gl/ZcWcCu

และ สั้นๆ ที่  https://prachatai.com/journal/2018/06/77604


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 18, 15:32
ขอบคุณคุณหมอ SILA ค่ะ
ตั้งใจจะโพสเรื่องนี้พอดี   ถือเป็นเรื่องสะเทือนใจแฟนพันธุ์แท้ "บ้านเล็ก" อย่างดิฉันมาก

แปลกใจว่ากรรมการ ALSC ทั้ง 12 คนที่โหวตคว่ำบาตรรางวัลนี้ อ่านนิยายชุดนี้ไม่ละเอียดหรืออย่างไร  จึงยกมาแต่คำที่ตีความได้ว่าเป็นการเหยียดชาติพันธุ์     แต่มองข้ามส่วนที่ลอร่า ผู้ประพันธ์ แสดงความรู้สึกดีๆเป็นมิตรต่อคนต่างผิวเอาไว้ตั้งหลายตอน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.ค. 18, 19:23
https://youtu.be/9PgahaNUzZc


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 18, 21:55
  มันก็เป็นเรื่องของมุมมองที่แตกต่างกัน     คนอเมริกันหลังยุค 1960s อ่อนไหวในเรื่องแบ่งแยกผิว  มากกว่าเมื่อก่อนหน้านี้   ความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในแต่ละทศวรรษที่ผ่านมา  จนเดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า เรื่องอดีตหรือปัจจุบัน เขาไม่เอามาแยก  แต่คละปนกันไปหมด
  อีก 100 ปีข้างหน้า   อาจมีการย้อนมาเซนเซอร์ละครทีวีไทยในยุคนี้และก่อนหน้านี้ทั้งหมด  ในข้อหาแบ่งแยกชนชั้นอย่างรุนแรงเพราะทุกบ้านในเรื่องมีนายกับคนใช้
  ลอราไม่ได้มีเจตนาจะดูถูกเหยียดหยามคนดำหรืออินเดียนแดง    เธอเห็นอินเดียนแดงเป็นยังไง  เจอมาแบบไหนเธอก็บันทึกไปแบบนั้น    แม่ของเธอเกลียดและกลัวอินเดียนแดง ก็เป็นสิทธิ์ของแม่ที่จะคิด  เพราะในเรื่องก็บอกว่าแม่กลัวถูกทำร้ายจากพวกนี้มาก  ในเมื่อเคยได้ยินข่าวสู้รบฆ่าฟันชนิดล้างบางกันมาเยอะแล้ว      แต่พ่อและลอร่าก็ไม่ได้เกลียดอินเดียนแดงอย่างแม่     พ่อยังพูดด้วยซ้ำว่าได้เรียนรู้วัฒนธรรมหลายอย่างจากพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน หรือการเตือนภัยธรรมชาติล่วงหน้า  พ่อก็ย้ำว่าอินเดียนแดงที่ดีก็มี    แต่กรรมการกลับเอาคำพูดของแม่มาเป็นเหตุผลหลัก โดยข้ามคำพูดของพ่อที่ค้านแม่ ไปซะงั้น
  ถ้ากรรมการเห็นว่า ตัวละครไม่มีสิทธิ์ที่จะแสดงอคติส่วนตัวต่อบุคคลบางคนหรือบางกลุ่ม    ตัวละครจะต้องพูดดี ทำดี ยุติธรรม ไม่ลำเอียง ไม่ผิดไม่พลาด  ไม่มีความคิดแบ่งแยกชนชั้น  ทำอะไรถูกต้องหมด 100% จนหาช่องโหว่ไม่ได้เลย      เรื่องนั้นมันก็คงน่าเบื่อจนไม่มีใครให้รางวัลอะไรทั้งนั้น   จึงไม่มีความจำเป็นต้องมาถอดชื่อรางวัลกันทีหลัง