เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงแก่ ที่ 20 พ.ย. 00, 06:00



กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงแก่ ที่ 20 พ.ย. 00, 06:00
จากกระทู้ลำดับ ๑๗๓ ความเห็นที่ ๙ คุณพระนาย ขอทราบที่มาของตราบัวแก้ว สัญลักษณ์ของกระทรวง
การต่างประเทศ พอดีมีบทความประวัติเรื่องตราบัวแก้วนี้อยู่ ก็จะขอคัดบางส่วนมาเสนอ ดังนี้

     เรื่องราวของตราบัวแก้ว ในชั้นเดิมมีมาอย่างไร ไม่เหลือหลักฐานโดยเฉพาะไว้ให้ทราบ จึงเป็นเหตุ
ขัดข้องในการทำความเข้าใจอยู่โดยมาก ดังมีตัวอย่างกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง พระราชลัญจกรและตรา
ประจำตัวประจำตำแหน่ง ซึ่งรวบรวมโดยพระยาอนุมานราชธน ว่า
     "ตราบัวแก้วเสนาบดีคลังนี้เหลือแปล จะเป็นตราดอกบัวทำตามบุญตามกรรมอย่างนั้นหรือประการใด
หรือจะหมายเป็นกมลาสน์ ถ้ากระนั้นทำไมไม่นั่งไม่ทำพรหมนั่งบนดอกบัว นี่เอาเทวดาหน้าเดียวบรรจุลงใน
เกษรบัว จะเป็นกมลาสน์ไม่ได้ และถ้าเป็นดอกบัวเปล่าก็ดี หรือเป็นกมลาสน์ก็ดี จะควรเป็นเครื่องหมาย
พนักงานคลังได้อย่างไร ตกลงยังแลไม่เห็นในตราดวงนี้"
(กมลาสน์ - น. ผู้มีดอกบัวเป็นที่พึ่ง คือ พระพรหม : ปทานุกรมฉบับนักเรียน พ.ศ. ๒๔๗๒)
(กมลาสน์ - กมล : บัว + อาสนะ : ที่นั่ง : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๕)
     ในการตรวจสอบค้นหาประวัติของตราดวงนี้ จำเป็นต้องพิเคราะห์ถึงคำเรียกชื่อตรา, รูปดวงตรา
และนามบันดาศักดิ์กำกับตรา เป็นต้น ดังต่อไปนี้

     (๑) คำเรียกชื่อตรา
     (ก) ในเรื่องเก่าซึ่งว่าด้วยพระบรมราชูทิศกัลปนาสงฆ์ แก่วัดในเมืองพัทลุงเรียกชื่อตราว่า "ตราเทพดา
อยู่ในดอกบัว" อีกตอนหนึ่งระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. ๒๑๕๘ เรียกว่า "ตราเทพดานั่งในดอกบัว" ส่วน
พระบรมราชูทิศในรัชชกาลสมเด็จพระเพทราชา พ.ศ. ๒๒๔๒ เรียกว่า "ตราบัวแก้ว"
     (ข) ในกฏหมายพระธรรมนูญเก่า ตราในศักราช ๑๕๕๕ (ถ้าเป็นมหาศักราชเทียบตรง พ.ศ. ๒๑๗๖)
เรียกว่า "ตราบัวแก้ว" (กฏหมายตราสามดวง ฉบับหมอบรัดเลย์พิมพ์ เล่ม ๑ หน้า ๔๙)
     (ค) ในกฏหมายศักดินาพลเรือน ตราในศักราช ๑๒๙๘ (ถ้าเป็นมหาศักราชเทียบตรง พ.ศ. ๑๙๑๙)
เรียกว่า "ตราบัวแก้ว" (กฏหมายตราสามดวง เล่ม ๒ หน้า ๑๓๔)
     (ฆ) ในกฏหมายลักษณะอาญาหลวง ตราใน พ.ศ. ๑๙๗๖ เรียกว่า "ตราบัวแก้ว" (กฏหมายตราสามดวง
เล่ม ๒ หน้า ๑๙๓)
     หมายเหตุ - คำเรียกชื่อตราเป็น ๒ อย่าง สำหรับอย่างแรกที่เรียกว่า "ตราเทพดาอยู่ในดอกบัว" หรือ
"เทพดานั่งในดอกบัว" ไม่ปรากฏอยู่ในทำเนียบกฏหมาย แต่ก็ไม่ใช่คำเรียกที่เลื่อนลอย เพราะนอกจาก
ความหมายของคำเรียกซึ่งตรงกับรูปของดวงตราแล้ว คำเรียกนั้นยังมีเค้าเงื่อนไปตรงกับรูปของ
"สุขาวดี" ตามลัทธิพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ส่วนคำเรียกชื่อตราใน (ข( (ค) และ (ฆ) ว่า "บัวแก้ว" หมายถึง
วัตถุในหัตถ์ของพระโพธิสัตว์ มีในลัทธิมหายานเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น คำเรียกทั้งสองอย่างจึงนับว่า
ไม่ขัดกัน

     (๒) รูปดวงตรา
     เอกสารเท่าที่มีตราบัวแก้วประทับ ซึ่งพอจะหาตรวจสอบได้ในหอหนังสือแห่งชาติปัจจุบันนี้ คือ
     (ก) พระบรมราชูทิศกัลปนาสงฆ์แก่วัดในเมืองพัทลุง ภาษาไทยฉบับหนึ่ง ภาษาขอม อักษรเฉียง ฉบับหนึ่ง
เป็นสมุดโผจีน ลง พ.ศ. ๒๒๔๒ ประทับตราบัวแก้วดวงเล็กที่กลางขนบ รูปไม่ค่อยชัด เพราะชาดซึมพร่า
ในกระดาษเสียมากแล้ว
     (ข) กฏหมายตราสามดวง สมุดไทยขาว เส้นหมึก พ.ศ. ๒๓๔๗ ประทับตราคชสีห์  ตราบัวแก้วขนาดใหญ่
รูปชัดเป็นส่วนมาก ขนาดของตราบัวแก้ววัดผ่าสูญกลาง ๒ นิ้ว ย่อมกว่าตราอัครมหาเสนาธิบดีทั้งสองดวง
นั้นครึ่งนิ้วฟุต ลวดลายในดวงตราบัวแก้วมีดังนี้
     (๑) เส้นรอบนอกมี ๒ เส้น (น้อยกว่าของตราอัครมหาเสนาธิบดี ๑ เส้น
     (๒) บัวถัดเส้นรอบนอก เป็นรูปปลายกลีบบัวซ้อนเพียง ๒ ชั้น
     (๓) มีลวดรองปลายกลีบบัวเป็นวงใน ๓ เส้น
     (๔) รูปเทพดาประทับบนแท่นในดอกบัว มีเกษรบัวรายสองข้าง ทำปลายเกษรเป็นรูปกนกเปลว
     (๕) หัตถ์เทพดา ข้างขวาทรงดอกบัว ข้างซ้ายทรงอาวุธรูปสายฟ้า
     รูปตราตามลักษณะดังกล่าวมานี้ ให้ถือเป็นแบบสืบมาว่าถูกต้องชอบด้วยราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในหมายเลข (๕) "ดอกบัวต้องอยู่ข้างขวา อาวุธรูปสายฟ้าต้องอยู่ข้างซ้าย"

     (๓) ..........

     (๔) ..........

     (๕) สรุปความ
     อาศัยข้อความอิงหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวมาตามลำดับแล้ว พอจะเก็บย่อแต่ในความสำคัญได้ว่า
     (ก) รูปตราบัวแก้ว มีความสำคัญอยู่ในรูป ๒ อย่าง คือ เป็นรูปเทพดานั่งในดอกบัวเป็นประการแรก
และเทพดาถือดอกบัวข้างขวา ถือรูปสายฟ้าคือวัชระข้างซ้ายเป็นประการที่ ๒ ความสำคัญทั้งสองประการนี้
ไปตรงกับเรื่องราวในลัทธิมหายาน ที่กษัตริย์ศรีธรรมราชทรงยกย่องนับถือตั้งแต่สมัยศรีธรรมราชยัง
เรืองอำนาจที่สุด ดังกล่าวไว้ในจารึกหลักที่ ๒๓
     (ข) .....
     (ค) .....
     (ฆ) ในการที่เรียกชื่อตราโกษาธิบดีว่า บัวแก้ว คงเรียกโดยหมายเอาวัตถุในหัตถ์เทพดาทั้งสองข้าง
รวมกัน คือข้างขวาเป็นดอกบัว เรียกว่าบัว ข้างซ้ายเป็นวัชระ เรียกว่า แก้ว เพราะว่าวัชระ หมายถึงอาวุธ
อย่างที่เรียกว่า วชิราวุธ ครั้งโบราณเคยแปลวชิราวุธว่า พระแสงแก้ววิเชียร ดังปรากฏคำแปลอยู่ในเรื่อง
วิธุรชาดกที่ ๘ ในมหานิบาต
     (ง) ถ้าข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับรูปดวงตราบัวแก้วนี้ถูกต้อง รูปเทพดาในดวงตรานั้นก็ควรเข้าใจว่าเป็น
เทวโพธิสัตว์ หาใช่เทพดาสามัญไม่.
 
ที่มา : นายปรีดา ศรีชลาลัย เรียบเรียงเรื่อง "ตราบัวแก้ว" ถวายแด่หม่อมเจ้าวงศ์ษานุวัตร เทวกุล ปลัด
กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๕


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 18 พ.ย. 00, 12:56
ขอบคุณครับ คุณลุง อ่านดูแล้วก็ทำให้งงว่า เทวดาที่อยู่ในดอกบัว เป็นเทวดาองค์ไหน
หรือว่าเทวดาที่ถือดอกบัวข้างหนึ่ง แล้วถือวัชระอีกข้างหนึ่งนี่ยังไง เพราะเท่าที่ทราบ วัชระ วชิระ คือสายฟ้าซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร์
หรือ ซีอุสของเทวดากรีก แต่ไม่เห็นบอกว่าเทวดาสององค์นี้จะถือดอกบัวยังไง


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงแก่ ที่ 19 พ.ย. 00, 06:12
ผมไม่มีความรู้เรื่องเทวดาฝรั่งเลยครับ ต้องขออภัย
รู้จักแต่พระวิษณุ ที่เป็นคราประจำสถาบัน ว่าท่านมีสี่กร
เท่านั้นแหละครับ แล้วจะค้นมาตอบให้ทราบครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 20 พ.ย. 00, 15:56
ผมเคยมีบทความว่าด้วยตราบัวแก้วอยู่ที่ไหนสักแห่ง ขอค้นก่อนครับ
ส่วนที่ว่าเทวดาในตราเป็นเทพองค์ไหนนั้น ตามที่คุณลุงแก่คัดมาก็เห็นทางสันนิษฐานได้ว่า เป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายพุทธมหายาน มากกว่าจะเป็นเทพฮินดูครับ ดังนั้น ไม่ใช่ทั้งพระอินทร์และซูส Zues ด้วย (แหม- ยังไงๆ ก็ต้องไม่ใช่ซุสอยู่แล้ว คุณพระนายก็ ตรากรมท่าสยามนะครับไม่ใช่กระทรวงต่างประเทศกรีก)

ผมเดาส่งว่า จะเป็นพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ พระโพธิสัตว์องค์นี้ทรงอาวุธเป็นแก้ว คือวัชระเหมือนกัน และโดยที่เป็นโพธิสัตว์ อีกมือจะถือดอกบัวก็ไม่แปลกทางสายพุทธมหายานสร้างคติเรื่องโพธิสัตว์ขึ้นมาใหม่เพื่อแย่งศรัทธาคน แข่งกับคติเทพของฮินดู จึงเห็นได้ว่าโพธิสัตว์มหายานหลายองค์มีฤทะมีเดชมีอะไรคล้ายๆ ทางเทวดาฮินดู อย่างพระวัชรปาณีก็ถอดแบบไปจากพระอินทร์เลย ทรงวชิราวุธเป็นสายฟ้าด้วยกัน (เหมือนอีกองค์ คือซูส) เออ- แล้วถ้าพระอินทร์ทรงวชิราวุธเสียแล้ว รามสูรจะขว้างอะไรล่ะครับ...
เครื่องหมายวชิราวุธ คือสายฟ้านี้ เราคงจะคุ้นกับสายฟ้าที่ฝรั่งวาด หงิกๆ เหมือนรูปไฟฟ้า มากกว่าสายฟ้าของพระอินทร์หรือพระโพธิสัตว์ หรืออาจจะนึกภาพเป็นขวานรามสูรก็แล้วแต่ แต่สายฟ้าของพระอินทร์และพระโพธิสัตว์มหายานนั้น เป็นรูปอาวุธ 5 แฉกด้ามสั้นครับ ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง เอาเป็นว่า รูปตราโรงเรียนวชิราวุธนั้นแหละ (เพราะมาจากพระนาม ร.6) นั่นคือสายฟ้าในจินตนาการแขก ทางพุทธมหายาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายย่อยคือวัชรยานของพวกลามะทิเบต ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญมาก มีความหมายโดยนัยว่าเป็นการบรรลุหรือรู้แจ้งโดยฉับพลัน เครื่องมือในพิธีของพระลามะ มีทำเป็นรูปวัชระ หรือประดับตกแต่งด้วยลวดลายวัชระมากมายหลายชิ้น


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 20 พ.ย. 00, 18:06
โทษครับนิ้วกระดิกผิดไป ท้าวยุปีเตอร์เทวาธิบดีโรมัน (นมส. ทรงเรียกไว้ยังงั้น) นั้น ข้างกรีกเรียกว่า ซูส - Zeus ไม่ใช่ Zues ตามที่เขียนไว้ครับ
พระโพธิสัตว์มหายานอีกองค์ คือพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี นั่นท่านถือดอกบัวในพระหัตถ์เลยแหละครับ ตามชื่อท่านเลย
เรื่องตำแหน่งกรมท่า โกษาธิบดี ที่ถือตราบัวแก้วนี่ ปกติก็แปลชื่อตำแหน่งว่าเป็นอธิบดีแก่พระคลัง แต่มีข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ผมเคยอ่าน แปล โกษ ว่า โลก แล้วเลยแปล โกษาธิบดี ว่า ผู้เป็นใหญ่ในโลก (แปลว่ารู้ world affairs?) ซึ่งถ้าอย่างนั้นจะถือตราพระโพธิสัตว์ก็คงได้ แล้วผมจะค้นมาให้ครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 13:28
 กระทู้เก่าอีกกระทู้หนึ่งครับ สมาชิกเรือนไทยรุ่นโน้นคือ คุณลุงแก่ก็ไม่อยู่แล้ว คุณพระนายก็ไม่อยู่แล้ว ออกจะคิดถึง

เมื่อหลังวันสงกรานต์ คือวันที่ 14 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นวันครบรอบการสถาปนากระทรวงการต่างประเทศครบรอบ 131 ปี ผมก็เลยขอถือโอกาสเอาเรื่องของตราบัวแก้วตามหลักฐานของกระทรวงการต่างประเทศที่เขาบันทึกไว้เป็นทางการเพื่อใช้อบรมข้าราชการแรกเข้าในปัจจุบัน มาให้อ่าน เนื้อความหลายส่วนเหมือนกับที่คุณลุงแก่เคยคัดมาแล้ว ดังนี้ครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 13:32
ตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นรูปเทพยดานั่งในดอกบัว ถือดอกบัวข้างขวา ถือวชิระข้างซ้ายนั้น ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตราบัวแก้วเป็นตราซึ่งเจ้าพระยาพระคลังใช้ประทับในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาต่างๆ ทั้งนี้ เอกสารเหล่านี้จะมีตราสามดวงประทับอยู่ คือ ตราบัวแก้ว ตราราชสีห์ และตราคชสีห์ เนื่องจากมหาดไทย กลาโหมและกรมท่า เป็นเพียงสามกรมที่มีอำนาจบังคับบัญชาทางศาล

ในปี พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกราชการด้านการคลังออกจากกรมท่า ตราบัวแก้วจึงกลายเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ กรมท่า และต่อมาเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดระบบราชการใหม่ โดยแบ่งเป็น 12 กระทรวง ตราบัวแก้วจึงเป็นตราประจำเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และเมื่อได้มีการยกเลิกการประทับตราในเอกสารราชการเมื่อปี พ.ศ. 2475 ตราบัวแก้วจึงกลายมาเป็นตราประจำกระทรวงการต่างประเทศจนทุกวันนี้


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 13:34
รูปดวงตรา
เอกสารเก่าที่มีตราบัวแก้วประทับ ซึ่งพอจะหาตรวจสอบได้ในหอสมุดแห่งชาติปัจจุบันนี้ คือ
(ก) พระบรมราชูทิศกัลปนาสงฆ์ วัดในเมืองพัทลุง ภาษาไทยฉบับหนึ่ง ภาษาขอมอักษรเฉียงฉบับหนึ่ง เป็นสมุดโผจีน ลง พ.ศ. 2242 ประทับตราบัวแก้วดวงเล็กที่กลางขนบ รูปไม่ค่อยชัดเพราะชาดซึมพร่าในกระดาษ
(ข) กฎหมายตราสามดวง สมุดไทยขาว เส้นหมึก พ.ศ. 2347 ประทับตราราชสีห์ ตราคชสีห์ ตราบัวแก้วขนาดใหญ่ รูปชัดเป็นส่วนมาก ขนาดของตราบัวแก้ววัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ย่อมกว่าตราอัครเสนาบดีทั้งสองดวงนั้นครึ่งนิ้ว ลวดลายในดวงตราบัวแก้วมีดังนี้
(1) เส้นรอบนอกมี 2 เส้น (น้อยกว่าตราของอัครมหาเสนาบดี 1 เส้น)
(2) บัวถัดเส้นรอบนอก เป็นรูปปลายกลีบบัวซ้อนเพียง 2 ชั้น
(3) มีลวดรองปลายกลีบบัวเป็นวงใน 3 เส้น
(4) รูปเทพยดาประทับบนแท่นในดอกบัว มีเกสรบัวรายสองขาง ทำปลายเกสรเป็นรูปกนกเปลว
(5) หัตถ์เทพยดา ข้างขวาทรงดอกบัว ข้างซ้ายทรงอาวุธรูปสายฟ้า

รูปตราตามลักษณะดังกล่าวมานี้ ได้ถือเป็นแบบสืบมาว่าถูกต้องชอบด้วยราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมายเลข (5) ดอกบัวต้องอยู่ข้างขวา อาวุธรูปสายฟ้าต้องอยู่ข้างซ้าย


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 13:51
ต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเอง
ข้อแรก ผมค่อนข้างเชื่อเป็นส่วนตัวว่า บางทีรัฐบาลสมัยกรุงศรีอยุธยาจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ อาจได้อิทธิพลของพระโพธิสัตว์มหายาน แต่ภายหลังเลือนไปเลยเรียกว่าเป็นเทวดา เพราะที่จริงพระโพธิสัตว์พุทธมหายานนั้น เดิมก็คิดขึ้นมาเพื่อแข่งกับเทพของฮินดู และเผอิญมีพระโพธิสัตว์อยู่สององค์จริงๆ คือ พระปัทมปาณีและพระวัชรปาณี องค์หนึ่งทรงสายฟ้าในพระหัตถ์ องค์หนึ่งทรงดอกบัวในพระหัตถ์ โพธิสัตว์วัชรปาณีนั้นออกจะเห็นได้ไม่ยากว่าลอกมาจาก (และแต่งเรื่องใหม่ให้มีฤทธิ์มากกว่า) พระอินทร์ของทางฮินดู ซึ่งทรงสายฟ้าเหมือนกัน แต่ทำไมช่างไทยและทางการกรุงศรีอยุธยาจึงจับโพธิสัตว์สององค์นี้มารวมกัน กลายเป็นเทพที่ถือสายฟ้ามือหนึ่ง ถือดอกบัวมือหนึ่ง อันนั้นผมไม่รู้

มีหลักฐานว่าก่อนที่เราจะรับพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่องรอยการนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานอยู่ทั่วไป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์ที่ขุดพบที่ไชยา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นปฏิมากรรมโบราณที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งที่ค้นพบในเมืองไทยนั้น ก็เป็นพระโพธิสัตว์มหายาน


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 14:07
 ข้อที่สอง เหตุผลที่หลักฐานของกระทรวงฯ ให้ไว้นั้นเป็นอันอธิบายได้ว่า ทำไมตราสามดวงที่ประทับในกฏหมายตราสามดวง จึงต้องเป็นสามดวงนี้ คือราชสีห์ คชสีห์และบัวแก้ว (รวมทั้งประทับในสนธิสัญญากับต่างประเทศด้วย) ก็เพราะว่า "3 กรมนี้เป็นกรมที่มีอำนาจทางศาล"

ตัวผมเองเคยอธิบายไว้ (ตามความเข้าใจของคนสมัยใหม่ที่เรียนรัฐศาสตร์) ไว้ที่อื่นอีกที่หนึ่งว่า ตราสามดวงแทนอำนาจ 3 ประการของรัฐไทย หรืออำนาจรัฐ 3 ด้าน ตามที่แบ่งในสมัยนั้น คืออำนาจด้านการทหาร อำนาจด้านการปกครองฝ่ายพลเรือน (หรือมหาดไทย) และอำนาจด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการเศรษฐกิจ แต่ที่อธิบายไว้ในที่นี้ก็เข้าที แม้ว่าผมจะสงสัยอยู่บ้างก็ตามว่า ถึงแต่เดิมมาอาจจะเป็นอย่างนั้น คือกลาโหมมหาดไทยก็มีศาล กรมท่าก็มีศาล มี 3 กรมที่มีศาลของตัวเอง แต่ผมเข้าใจว่าตอนหลังส่วนราชการอื่นๆ ก็มี อย่างนครบาลก็มีศาล กรมวังก็มีศาล (เว้นแต่จะถือว่าทั้งนครบาลและกรมวังนั้นรวมอยู่ในจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ซึ่งอยูใต้สมุหนายกอยู่แล้ว)

สมัยโน้นไทยเราไม่ได้ใช้ระบบ 3 อำนาจอธิปไตย - บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ อย่างทีเราหันไปใช้ตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ฝรั่งเดี๋ยวนี้ครับ อำนาจอธิปไตย 3 ด้านนี้ รวมๆ กันอยู่ ถ้าจะแยกก็แยกโดยวิธีอื่นไม่ใช่แยกโดยสาขาของอำนาจอธิปไตย

ต้องบันทึกไว้อีกว่า ต่อมาการประทับตราก็เปลี่ยนธรรมเนียมไป ไม่ใช่ว่าใช้ตรา 3 ดวงนี้อยู่ตลอด เช่นพระราชสาสน์ถึงกษัตริย์ต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ตรา 3 ดวงนี้ ใช้พระราชลัญจกรดวงอื่นประทับ เช่น หงสพิมาน มหาโองการ มหาโลโต อะไรก็ว่าไป


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 18 เม.ย. 06, 14:14
 พอเห็นชื่อเจ้าขอกกระทู้เป็นลุงแก่ก็ตกใจ รีบแวะเข้ามาดู
ที่แท้คุณนกข. มาขุดกระทู้เดิมที่เคยเข้ามาแสดงความเห็นเพิ่มเติมไว้ เมื่อปี43นี่เอง
ดีนะครับกระทู้เก่าๆพวกนี้ มีเนื้อหาสาระเข้มข้นควรรู้อยู่ไม่น้อย เอาออกมาปัดฝุ่นอ่านสักหน่อยก็ดีครับ
ก็มาลงชื่ออ่านตามระเบียบครับผม.


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 14:27
 ข้อที่สาม อันนี้เป็นความคิดส่วนตัวของผมเองเลยแหละ เพิ่งคิดได้หรือตีความใหม่ได้เดี๋ยวนี้ปีนี้ ทั้งๆ ที่ทำงานที่นี่มาก็หลายปี เห็นตราบัวแก้วมาหลายๆๆๆๆ หนแล้ว

คือผมมองๆ ดูท่านเทวดาตรากระทรวง แล้วก้เพิ่งเกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาเองว่า จะถือว่าท่านเทวดาเป็นเทพองค์ไหนก็ช่างเถิด สาระสำคัญตามข้อเท็จจริงก็คือ ท่านถือดอกไม้ (ดอกบัว) ในมือข้างหนึ่ง ถืออาวุธหรือตะบองไฟฟ้าในมืออีกข้างหนึ่ง - นั่นเอง

ตีความอย่างสมัยนี้ ก็เรียกได้ว่า "carrot and stick" หรือไม้นวมไม้แข็ง หรือ Good Cop - Bad Cop ซึ่งเป็นกลยุทธสำคัญในการเจรจาต่อรองทางการทูต และการเจรจาต่อรองด้านอื่นทุกๆ ด้านนอกจากการทูตด้วย

ไม่รู้ว่าที่ผมเดามั่วอยู่นี้จะตรงกับเจตนาของท่านผู้ออกแบบตราตั้งแต่ร้อยๆ ปีที่แล้วครั้งกระโน้นหรือเปล่า สงสัยว่าเป็นแค่ความบังเอิญมากกว่า แต่เป็นความบังเอิญที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจดีครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 14:47
ขอบคุณครับคุณหมูฯ ที่สนใจ

ตราบัวแก้วเดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้ในทางราชการอีกแล้ว (เพราะหนังสือราชการทั้งหมดของรัฐบาลไทยเปลี่ยนมาใช้ตราครุฑทั้งหมด รวมทั้งถ้าจะต้องประทับตราก็ประทับเป็นตราครุฑด้วยมานานหลายสิบปีแล้ว) เหลือแต่เป็นตราสัญลักษณ์กระทรวงที่ไม่เป็นทางราชการ และเป็นตราประจำสโมสรสราญรมย์อันเป็นสโมสรของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องหมายบอกสังกัดของข้าราชการกระทรวงนี้เวลาต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนเท่านั้น


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 14:53
 "สายฟ้า" ในมือเทวดานั้นดูๆ แล้วหน้าตาไม่เป็นวชิราวุธ ในรูปตรานั้นเป็นเปลวๆ เหมือนเปลวกระหนกลายไทย จะให้ถือว่าสายฟ้าหรือไฟฟ้า ในสายตาช่างไทยโบราณ เป็นไฟอย่างหนึ่งก็คงได้


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 15:10

ลองแปะรูปตราบัวแก้วครับ ขอให้ติด เพี้ยง!


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 เม.ย. 06, 15:14

ตราเล็กไปหน่อย ขยายให้ดูของในหัตถ์เทวดาชัดๆ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 เม.ย. 06, 21:27
 อ่านแล้วเห็นด้วยกับความเห็นข้อ (ง) ในกระทู้ของลุงแก่ครับ

เท่าที่ผมเคยค้นเรื่องพุทธศาสนาในภาคกลางของประเทศไทย ก่อนการรับพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เข้ามา
พุทธศาสนาเดิมที่คนไทยนับถือ มีอยู่หลายนิกายด้วยกัน แต่ส่วนมากเป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน
ซึ่งมีอยู่ 2 นิกายสำคัญที่เชื่อเรื่องเทวดานั่งอยู่บนดอกบัวครับ คือ สัทธรรมบุณฑริกนิกาย และ สุขาวดีนิกาย

ทั้งสองนิกายนี้นับถือพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง คือ พระอมิตภะพุทธเจ้า (องค์นี้ส่วนมากจะสร้างเป็นพระพุทธรูปองค์ซ้ายในหมู่พระประธาน 3 องค์ของวัดจีนครับ)
เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าองค์นี้ประทับอยู่บนสวรรค์ริมฝั่งแม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลอยู่บนฟ้า
ชื่อว่าสวรรค์ชั้น "สุขาวดี" มีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและนางปรัชญาปรมิตตาประทับอยู่สองข้าง
และเหล่าเทวดาบนสวรรค์ชั้นนี้ จะเกิดขึ้นและประทับอยู่บนดอกบัว
(ถ้าใครนึกไม่ออกไปอ่านกามนิตภาคสวรรค์ดู นั่นล่ะครับสวรรค์ชั้นสุขาวดี)

งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในยุคนั้นจึงมีรูปเทวดาครึ่งท่อนประทับบนดอกบัวแทรกอยู่บ้าง เช่น ลายประดับในเสมาทราย หรือกระเบื้องเชิงชายครับ (เท่าที่จำได้ ถ้าเป็นของสมัยอยุธยา เทวดาในกระเบื้องเชิงชายจะถือพระขรรค์กับดอกบัวครับ)

แต่หลังจากการเปิดรับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ของอาณาจักรสุโขทัย พุทธศาสนาฝ่ายมหายานพวกนี้ก็เสื่อมความนิยมลงไปจนแทบไม่เหลือเค้าในปัจจุบันแล้ว แต่เราก็ยังเห็นรูปเคารพที่เป็นเทวดาครึ่งท่อนประทับอยู่บนดอกบัว หรือเทวดาครึ่งท่อนรูปดอกบัวแทรกอยู่ในงานศิลปะไทยหลายอย่างนะครับ เช่น ลายเทพนม ไงครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 10:47

รูปวัชระ (สี่แฉกหรือสี่ด้ามต่อกัน) ตามความเชื่อของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน หรือนิกายลามะในทิเบตครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 10:49

วัชระทิเบตหน้าตาไม่ต่างกันมากกับวชิราวุธ อันเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 6

ส่วนอันนี้เป็นสายฟ้าในมือเทวดาในตราบัวแก้ว ขยายให้ดูครับ เห็นได้ว่ารูปร่างไม่เป็นวชิราวุธ เป็นเหมือนเปลวไฟมากกว่า


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 10:59

ส่วนอันนี้เป็นตราวชิราวุธซึ่งเคยใช้เป็นเครื่องหมายประจำทบวงมหาวิทยาลัย เพราะถือว่า กิจการอุดมศึกษาในเมืองไทยนั้น ในหลวง ร. 6 พระราชทานกำเนิด โดยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศนั้น สืบมาจากแนวพระราชดำริ ดังนั้นต่อมาเมื่อมีการตั้งทบวงมหาวิทยาลัย จึงขอพระราชทานอัญเชิญพระราชสัญลักษณ์วชิราวุธมาเป็นเครื่องหมายทบวงฯ

เดี๋ยวนี้ทบวงมหาวิทยาลัยถูกยุบไปเสียแล้ว โดยผลของการปฏิรูปการศึกษา กลายสภาพไปเป็นคณะกรรมการการอุดมศึกษาขึ้นอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ แต่ผมไม่แน่ใจว่าตราทบวงฯ เดิมนั้น ได้เอาไปใช้เป็นตราของคณะกรรมการการอุดมศึกษาต่อหรือเปล่า


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 11:20

ตรา กทม. เป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มือถือวชิราวุธชูขึ้นครับ

สงสัยน่าจะตั้งได้อีกกระทู้ ว่าด้วยรูปวัชระหรือสายฟ้าทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏในเมืองไทย


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 11:27

ส่วนตรานี้เป็นตราของกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก็เป็นรูปพระอินทร์อีก แต่ทางกรมนั้นเขามีศัพท์เรียกเฉพาะว่า พระพลบดี แปลว่าจอมพลัง เอ๊ย เจ้าแห่งพละกำลัง

ตรากรมพละฯ คล้ายตรา กทม. มาก พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมือถือวชิราวุธเหมือนกัน เป็นแต่พระพลบดีหรือพระอินทร์ของกรมพละฯ นั้น วชิราวุธเป็น 2 ด้าน 2 คม และช้างเอราวัณมี 3 เศียร แต่พระอินทร์ของ กทม. วชิราวุธมีด้านเดียว และช้างก็มีหัวเดียว

ขอบคุณคุณติบอที่เข้ามาแจมครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 11:29
 บางทีวชิราวุธ 2 ด้านของพระอินทร์ หรือพระพลบดีองค์ที่อยู่ประจำกรมพลศึกษานั้น อาจจะทำหน้าที่เป็นดัมเบลด้วยก็ได้กระมัง?


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 11:38

ฮึบ... สู้โว้ย - !

อิอิอิ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 12:11

พูดกันถึงตราสามดวง ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งมีรูปตราบัวแก้วอยู่ด้วยแล้ว เลยขอเอาตราราชสีห์กับตราคชสีห์มาลงไว้ด้วย

ตราราชสีห์ ประจำตำแหน่งสมุหนายก ว่าราชการฝ่ายพลเรือน ส่วนตราคชสีห์หรือสีหะที่มีงวงเหมือนช้างนั้น เป็นตราของสมุหกลาโหม ผู้ว่าราชการฝ่ายทหาร ปัจจุบันตราราชสีห์ก็ยังเป็นตราประจำกระทรวงมาหดไทยอยู่ครับ และต่อเนื่องไปจากตราราชสีห์ของมหาดไทย บรรดาคณะวิชาภาควิชาต่างๆ ที่สอนวิชารัฐศาสตร์ในเมืองไทย (และผลิตบัณฑิตออกไปเป็นปลัดอำเภอ) ก็เลยมีตราประจำคณะเป็นสิงห์เสียเป็นส่วนมากด้วย เช่นสิงห์ดำของจุฬาฯ สิงห์แดง มธ. สิงห์ขาว มช. สิงห์เขียว เกษตรศาสตร์

ตราราชสีห์มหาดไทยเป็นยังงี้ครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 12:29

ส่วนอันนี้เป็นตราคชสีห์ ของฝ่ายกลาโหมสมัยโน้น ซึ่งเดี๋ยวนี้กระทรวงกลาโหมไม่ได้ใช้แล้ว เห็นได้ว่าเป็นสีหะเช่นเดียวกับราชสีห์ แต่มีงวงเป็นช้าง


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 12:35

ในราชการไทย คชสีห์ยังเหลืออยู่ที่เดียวในตราประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรูปราชสีห์คชสีห์คู่กันรักษารัฐธรรมนูญ เพราะ "สมุหนายก" หรือนายกรัฐมนตรีสมัยนี้ ท่านมีอำนาจบังคับบัญชาทั้งราชการฝ่ายกลาโหมและพลเรือน ถือว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

เอาตราสำนักนายกฯ มาให้ดูครับ เป็นตราประจำคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นส่วนราชการย่อยอยู่ในสำนักนายกฯ แต่ใช้ตราเดียวกัน มีตัวอักษรบอกไว้เท่านั้นว่าเป็นของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตัวทางขวามือของเราเวลาเราหันหน้าเข้ามองตรา คือคชสีห์ครับ มีงวงนิดๆ ตัวทางซ้าย (ซ้ายมือเราผู้ดู) คือราชสีห์


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 12:38
 มีท่านผู้ใดในที่นี้ที่เป็นเด็ก O.V. เก่า จะช่วยผมหาตราประจำโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมาลงได้ไหมครับ ขอบคุณล่วงหน้า


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 เม.ย. 06, 17:10

ขออภัย ราชสีห์คชสีห์ยังมีอยู่อีกที่หนึ่งที่ยังใช้อยู่ในราชการ คือที่หน้าหมวกตำรวจไทยครับ ตราหน้าหมวกตำรวจไทยนั้นเคยเป็นตราแผ่นดินของสยามสมัย ร. 5 แต่ต่อมาในสมัย ร. 6 ตราแผ่นดินเปลี่ยนเป็นตราครุฑ (ซึ่งใช้มาจนเดี๋ยวนี้) ดังนั้นตราเก่าทางตำรวจก็อัญเชิญเอาไปไว้ใส่หน้าหมวกตำรวจแทน จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ตราแผ่นดินสยามอันเดิมนั้น มีราชสีห์คชสีห์ประคองตราสองข้างเหมือนกันครับ รูปนี้เห็นไม่ชัดนัก คือสัตว์ในนิยายหน้าตาแปลกๆ ที่ยืนถือฉัตรอยู่สองข้างตรานั่นแหละ ในรูปนี้มีสีแดงตัวหนึ่ง สีขาวตัวหนึ่ง ผมพยายามเพ่งว่าตัวไหนราชสีห์ไหนคชสีห์ ก็ดูยากเหลือเกิน


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 21 เม.ย. 06, 02:02
 น่าสังเกตอยู่เหมือนกันนะครับคุณนิลกังขา ว่าเทพดาในตราบัวแก้วตามความเห็นที่ ๑๕ นั้น เทพดาประทับขัดสมาธิขาซ้ายทับขาขวา ปกติเรามักเห็นพระพุทธรูปและเทวรูปประทับขัดสมาธิขวาทับซ้ายมากกว่าซ้ายทับขวา

เลยเกิดข้อสงสัยขึ้นมาเล่นๆ ว่าตราที่ติดอยู่ตามรั้วกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนที่อื่นๆ ในกระทรวงฯ เทพดาท่านนั่งขัดสมาธิขาไหนทับขาไหนครับ

ตะกี้ ผมลองไปเปิดตำราประวัติศาสตร์กฎหมายดู สังเกตเห็นว่าตราบัวแก้วที่ประทับบนกฎหมายตราสามดวงนั้น เทพดาประทับขัดสมาธิขวาทับซ้าย ตรงข้ามกับของกระทรวงครับ

หรืออาจจะเป็นความมึนของผู้แกะตรา ที่เวลาแกะจะต้องกลับซ้ายเป็นขวาขวาเป็นซ้ายภาพเหมือนมองกระจก เลยทำให้เทพดาท่านขัดขาซ้ายทีขวาที (เคยได้เห็นพระตราของเจ้านายบางพระองค์ แกะสลับกันแปลกๆ ด้วยความมึนงงของผู้แกะแบบนี้อยู่บ้างครับ พอประทับออกมาเลยกลับข้างกันยุ่งไปหมด)

หรือเทพดาท่านจะทรงเมื่อยเองก็ไม่ทราบ    


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 21 เม.ย. 06, 02:14

ผมไม่ใช่ O.V. ครับ แต่ขอนำภาพตราประจำโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรูปวชิระคมคู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎและเลข ๖ มาลงตามที่คุณนิลกังขาขอไว้ในความเห็นที่ ๒๗

อย่างไรก็ดี ลัญจกรประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นั้นคือ ตรา "พระมนูแถลงสาร" ครับ ซึ่งเป็นอดีตไปแล้ว ดูภาพพระมนูฯ ได้ตามลิ้งก์นี้ครับ

 http://www.vajiravudh.ac.th/Pramanu/page01.htm  


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 21 เม.ย. 06, 08:46
 ขอบพระคุณคุณ UP ครับ

ผมตก "สิงห์ทอง" ตราของคณะรัฐศาสตร์รามคำแหงไปคณะหนึ่ง ขออภัยลูกพ่อขุนทุกท่านครับ

ผมไม่เคยสังเกตว่าเทวดานั่งขัดสมาธิข้างไหนเลยครับ เห็นจะต้องลองสังเกตดู บางทีนั่งนานๆ ท่านเมื่อยหรือเป็นเหน็บ ท่านอาจจะพลิกเปลี่ยนขาเองก็ได้ !

ยังดีที่มีการกำหนดไว้ชัดเจนตายตัวว่า วชิระต้องอยู่ในมือข้างไหน ดอกบัวต้องอยู่ในมือข้างไหน มิฉะนั้นก็คงมีการแกะหรือวาดรูปตราบัวแก้วกันได้แปลกๆ เทวดาคงจะเมื่อยมือและสลับมือถือด้วยนอกจากที่ได้เมื่อยขามาแล้ว


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 06, 10:57
 ฟังคุณนกข.และคุณ UP อภิปรายเรื่องเทวดาห้อยขาซ้ายบ้างขวาบ้างแล้ว  ทำให้นึกออกนอกเรื่องไปได้อีกเรื่องหนึ่ง
ว่าใครเคยสังเกตบ้างไหม ว่าตรา รูปปั้น สัญลักษณ์ ของพระคเณศ หรือพระพิฆเนศวร์ ที่หน่วยงานหลายแห่งของไทยนำไปเป็นเครื่องหมาย หรือรูปเคารพนั้น
ท่านเสียงาข้างไหนกันแน่

ภาพนี้เสียงาข้างขวา


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 06, 11:02

ภาพนี้เสียงาข้างซ้าย


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 06, 11:06

ภาพนี้เสียงาข้างขวา


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 06, 11:06

ภาพนี้เสียงาข้างซ้าย


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 06, 11:07

ภาพนี้เสียงาข้างซ้าย


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 21 เม.ย. 06, 14:07
 ในเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง "รำฉุยฉาย" ได้กล่าวไว้ว่า

"ปรศุรามเจ้าแห่งพราหมณ์์ทะนงตัวว่าเป็นที่โปรดปรานของพระอิศวร คิดจะเข้าเฝ้าในโอกาสที่ไม่สมควรพระคเณศได้ห้ามปราม ในที่สุดเกิดการวิวาท ปรศุราม ขว้างขวานโดนงาซ้ายพระคเณศหักสะบั้นไป"

 http://www.culture.go.th/knowledge/dance/ram4.htm

สรุปว่า งาซ้าย

เว็บนี้คงถือเอาตามบทละครเบิกโรงดึกดำบรรพ์ เรื่องพระคเณศเสียงา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 21 เม.ย. 06, 17:01
กำลังจะอ้างถึงพระคเณศเสียงาเหมือนกันครับคุณ UP ใจตรงกันพอดี

ผมจำกลอนบทละครไม่ได้หรอกครับ แต่คิดเอาเองตามสามัญสำนึกว่า ถ้างานี้หักขณะต่อสู้กับปรศุราม และถ้าปรศุรามถนัดขวาเหมือนคนทั่วๆ ไปส่วนใหญ่ เวลาหันหน้าเข้าสู้กันแล้วปรศุรามโกรธจามขวานวิเศษพระศุลีมา แล้วคเณศกุมารไม่สู้ (เพราะเห็นว่าเป็นขวานของพ่อ) เอางารับ ก็ควรจะเป็นงาข้างซ้ายคือข้างที่ตรงกับมือขวาของปรศุราม

ยกเว้นเสียแต่ว่าปรศุรามเผอิญถนัดซ้ายเท่านั้นแหละ ก็เป็นอันจนใจ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 22 เม.ย. 06, 04:13
 จริงของคุณนิลกังขาครับ

หากปรศุรามถนัดขวา แล้วพระคเณศเกิดให้งาขวารับขวาน ก็เกิดอาการที่พระคเณศหันหลังให้คนดู ซึ่งดูจะขัดหลักการแสดงนาฏศิลป์ไทยอยู่มาก ผมว่าต้องใช้งาซ้ายรับแหละครับ ทั้งปรศุราม และพระคเณศ ก็จะหันหน้าให้คนดูเห็นชัดๆ ว่าทำอะไรอยู่ทั้งคู่


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เจ้าสำราญ ที่ 23 เม.ย. 06, 09:07
 พูดถึงเรื่องตราหรือสัญลักษณ์ประจำหน่วยงานราชการแล้ว
ทำให้อยากทราบว่าตราประจำกระทรวงวัฒนธรรมคือตราอะไร และมีความหมายอย่างไรครับ
เคยเข้าไปในเว็บของกระทรวงฯ แต่ปรากฏว่าค้นไม่เจอ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 23 เม.ย. 06, 11:54
 ตอบคุณเจ้าสำราญครับ,

ตราสัญลักษณ์กระทรวงวัฒนธรรม

ตราสัญลักษณ์เป็นรูปดวงประทีปภายในบุษบก เหนือหมู่ลายเมฆหมอก หมายถึง ปัญญาซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรม (กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ โดยศึกษาจากรูปแบบตราสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ และนำมาดัดแปลง ปรับรูปแบบให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น)

 http://www.m-culture.go.th/culture01/information/information-detail.php?information_id=1&lang=th  


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 06, 08:50

.


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 06, 08:58

ที่ดิฉันถามว่าพระคเณศเสียงาข้างไหน เพราะตามหลักฐานข้างบนนั้น
บางรูปก็เสียงาซ้าย บางรูปก็เสียงาข้างขวา ค่ะ
ทำนองเดียวกับเทวดานั่งขัดขาขวาบ้างซ้ายบ้าง

รูปนี้ก็เสียงาข้างขวา


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 เม.ย. 06, 12:40
 ผมเองเข้าใจว่าเพราะเป็นตำนาน คนเล่าหลายคน เล่าไม่ตรงกัน สกุลช่างก็มีหลายสกุล ปั้นรูปวาดรูปไม่เหมือนกัน จึงมีรูปพระคเณศงาหักข้างซ้ายบ้างขวาบ้างครับ (และเข้าใจว่ารูปที่งาไม่หักเลยบริบูรณ์ดีทั้งสองข้างก็ดูเหมือนจะเคยเห็น)

ถ้าเรายึดตำนานที่ว่าที่พระคเณศเสียงานั้น เสียไปเพราะปรศุรามใช้ขวานที่ได้จากพระอิศวรฟันเอาเป็นเหตุ ก็อธิบายได้ว่า สมมติว่าไปเจอรูปพระเคเณศเสียงาข้างซ้าย ก็คงเดาอธิบายได้ว่าเพราะปรศุรามในเรื่องนั้นถนัดขวา ฟาดขวานด้วยมือขวา แต่ถ้าไปเจอรูปพระคเณศเสียงาข้างขวา ก็เดา (ฮี่ๆ -) ได้ว่าคงเป็นเพราะปรศุรามในเรื่องนั้นถนัดซ้ายกระมังครับ...


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 เม.ย. 06, 12:45
 พยายามหารูปตรากรมศิลปากร ซึ่งเป็นรูปพระคเณศ แต่หาที่โตๆ ไม่เจอเลย อันที่มีในเว็บก็เล็กนิดเดียว มองไม่เห็นว่าพระคเณศของกรมศิลป์งาหักข้างไหนนะครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 06, 12:49
 ไหนๆจะเละกันแล้วก็มาช่วยผสมโรงเละด้วยอีกแรง

คุณนกข.อย่าลืมข้อสันนิษฐานอีกอย่างสิคะว่า  เราก็ไม่รู้ว่าพระคเณศท่านถนัดข้างซ้ายหรือขวา
ถ้าท่านถนัดขวาท่านก็อาจจะหันงาข้างขวารับ  หรือท่านถนัดซ้ายก็อาจจะเอางาข้างซ้ายรับก็ได้

หรือไม่ปรศุรามถนัดซ้ายแต่พระคเณศท่านถนัดขวา ก็อาจจะหันข้างขวารับ แต่ว่าปรศุรามถนัดซ้ายเลยพลาดไปโดนงาซ้าย
หรือปรศุรามถนัดขวาแต่พระคเณศท่านถนัดซ้าย ก็อาจจะหันข้างซ้ายรับแต่ว่าปรศุรามถนัดขวาเลยพลาดไปโดนงาขวา

เอาแปะฮวยอิ๊วไปดมตอนพักครึ่งเวลาไหมคะ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 เม.ย. 06, 12:51
นึกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ตราบัวแก้วสัญลักษณ์กระทรวงผมนั้น เมื่อย่อส่วนเป็นเครื่องหมายสังกัดติดคอเสื้อข้าราชการแล้ว ไม่ได้นั่งขัดสมาธิขาไหนทับขาไหนทั้งสิ้นครับ กลายเป็นเทวดาครึ่งองค์โผล่ขึ้นมาจากแท่นไป ซ้ำกลีบบัวที่เป็นวงกลมก็หายไปอีก น่าจะเป็นเพราะคนปั๊มเข็มบัวแก้วขายสะเพร่ามากกว่าอื่น เทวดาเลยไม่มีขา หมดเรื่องไป

แต่กลีบบัวที่เป็นวงกลมรอบนั้นหล่นหายไปโดยระเบียบราชการ คือ ระเบียบที่กำหนดให้เข็มตราบัวแก้วเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบราชการนั้นไม่ได้กำหนดให้ใช้ตราบัวแก้วเดิม แต่ให้เอาวงกลีบบัวออกเสีย เอาออกทำไมผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เข็มตราบัวแก้วจึงไม่ใช่ตราเทวดานั่งในดอกบัวอย่างตรากระทรวงแท้ๆ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 06, 12:56
 เดี๋ยวต้องไปกราบขอขมาพระคเณศ ที่เอาท่านมาล้อเพลินไปหน่อย

เครื่องหมายของมหาวิทยาลัยศิลปากร ค่ะ
พระคเณศเสียงาข้างขวา


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 เม.ย. 06, 13:48
 อ้าวแล้วกัน ..ตรามหาวิทยาลัยศิลปากร พระคเณศเสียงาขวา

หากคุณเทาชมพูจะกรุณา ช่วยไขข้อข้องใจของผมทีเถิดครับว่าพระคเณศบนเทวาลัยคเณศร์ ที่พระราชวังสนามจันทร์นั้น ท่านเสียงาข้างไหน ผมหารูปชัดๆ ในเนตเท่าไรก็ไม่พบครับ มีแต่ถ่ายไกลๆ องค์ดำทะมึนและประดิษฐานอยู่สูง มองไม่ออกเลย


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 06, 09:44
 ดิฉันมีหนังสือขนาดใหญ่อยู่ ๒ เล่มเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๖ และพระราชวังสนามจันทร์
แต่เจ้ากรรม รูปอื่นใหญ่หมดเว้นแต่เทวาลัยพระคเณศ ถ่ายระยะไกล  เล็กกว่าเขาเพื่อน  
เทวรูปมีทองปิดเสียอีก  เลยมองไม่เห็นว่าท่านเสียงาซ้ายหรือขวา

เท่าที่เพ่งมองจนปวดตา  น่าจะข้างขวา
คุณเฟื่องแก้วจำได้ไหมคะว่าข้างไหน


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 06, 09:54
 ตราของกรมศิลปากร  
ในเว็บเล็กนิดเดียว ดิฉันมาขยายให้ดู
คิดว่าพระคเณศเสียงาข้างขวานะคะ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 06, 10:26
 พระคเณศเสียงาข้างขวา

พระพิฆเนศวร หรือ คณปติ สำริด ศิลปะภาคใต้
พุทธศตวรรษที่ 21-22 ขนาดสูง 46.5 เซนติเมตร
แหล่งที่พบ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เลขทะเบียน 9/2515
    พระพิฆเนศวรองค์นี้ ประทับยืนมี 4 กร ทรงถือบ่วงบาศในพระหัตถ์ซ้ายบน พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือขนมโมฑก พระหัตถ์ขวาบนทรงถือผลวิลวา ( มะนาวชนิดหนึ่ง ) ในพระหัตถ์หน้าขวาทรงถือส่วนของงาช้าง ทรงสวมมงกุฎ
มีงูพันต่างสายยัชโญปวีต ทรงผ้านุ่งยาวใต้พระชานุ คาดผ้ารอบเอว ประดับองค์ด้วยพาหุรัดทองพระกรและกำไลข้อพระบาท พระพิฆเนศวรยืนนี้ มักจะอัญเชิญเป็นประธานในพิธีคล้องช้างที่เพนียด หรือพระราชพิธีรับและขึ้นระวางช้างสำคัญ ซึ่งเป็นพิธีหลวง
 http://www.thailandmuseum.com/nakhon_si_thammarat/collection3.htm  


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 06, 10:31
 เว็บเดียวกัน
องค์นี้(น่าจะ)เสียงาข้างขวา
พระคเณศ สำริด ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18
ขนาด ฐานสูง 13.2 เซนติเมตร
ขุดพบที่ ตำบลนาสาร  อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เลขทะเบียน 11/2515

พระคเณศองค์นี้มี 2 พระกร ถืองาไว้ในพระหัตถ์ ทรงมงกุฎและเครื่องประดับแบบศิลปะลพบุรี
******************
คนที่น่าจะให้คำตอบได้คือคุณพิพัฒน์  ไม่ทราบว่าทำไมไม่แวะกระทู้นี้จนแล้วจนรอด  


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 เม.ย. 06, 17:03
 ถูกอาจารย์เทาเรียกตัวมาปล่อยไก่ที่นี่ มาอย่างไม่เต็มใจเลยครับ เรื่องประติมาณวิทยานี่เป็นวิชาที่ผมรู้น้อยที่สุดวิชาหนึ่ง
สมัยก่อน ผมมีกล่องวิเศษในวิชานี้ สงสัยอะไร ป้อนคำถามเข้าไป เดี๋ยวเดียวก็ได้คำตอบ บัดนี้ท่านพี่ผู้นั้นลาลับโลกไปแล้ว ความอยากรู้เรื่องนี้ก็เหือดหายไป ตำหรับตำราที่มี แจกชาวบ้านไปหมดแล้วครับ
ข้างบนคือคำแก้ตัวที่อ่านแต่กระทู้นี้ แต่ไม่เข้าร่วมเลย ทนคิดถถึงเพื่อนไม่ไหวครับ

ผมช่วยได้แต่เพียงว่า ท่านใดสนใจ ลองพิมพ์คำว่า ganapati ดูนะครับ หรือจะเติม iconography ด้วยก็ได้ search engine ทั้งหลายคงช่วยให้ท่านที่สนใจอิ่มอร่อยไปนานเชียวแหละตรับ

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมดู UBC หนังอินเดียเรื่องประวัติคณะปะติ(หรือคณบดี หมายถึงบดี แห่งคณะ -คือเทพชุดหนึ่ง) แล้วเกลียดพระศิวะไปเลย มีอย่างที่ใหน รบกับเด็กที่เฝ้าห้องน้ำเมีย พอเอาชนะไม่ได้ พี่เล่นบั่นเศียรเจ้าหนูเฉยเลย

พี่ผู้ล่วงลับสอนผมไว้สองสามเรื่อง คือ คเณศชอบแดนส์ ตะกระ ชอบกินขนมต้มแดงต้มขาว วันหนึ่งกินจนอิ่มหนูวิ่งผ่าน แกหกล้มท้องแตก เลยเอางูมัดพุงไว้ พระจันทร์เห็นเข้าอดหัวเราะไม่ได้ เลยถูกจับมาทัดเศียร ส่วนหนูกลายเป็นวาหะนะ คือแท็กซี่ประจำพระองค์ไป

พระครูวามเทพมุนีท่านเคารพเทพองค์นี้มาก ใครนับถือ ลองหาโอกาสไปที่โบสถ์พราหมณ์ โชคดีอาจได้มาบูชา
แต่ถ้าชอบของเทศ ไปที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี สีลม ผมเคยเห็นมีงามๆหลายแบบ แต่ถ้าต้องการงามจริงๆ แนะนำว่าที่อินเดียตอนใต้ ยังรักษาฝีมือการสร้างได้เหมือนสมัยคุปตะ หรือปาลละไม่ผิดเพี้ยน แถมราคาถูกกว่าที่สีลมด้วย

ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร มีรูปคเณศขนาดมหึมาอยู่ที่ห้องทวารวดี น่าจะใหญ่ที่สุดในโลกโบราณเชียวละครับ เป็นท่ายืนตริภังค์(คือหักสามส่วน) ถ้าสมบูรณ์ คงจะงามเลิศในปฐพีเทียวครับ

ส่วนเรื่องงาข้างใหนหักกันแน่ ก็ขอเรียนว่า เขาเถยงกันมาร่วมสองพันปีแล้วครับ มีสี่ถึงห้าทฤษฏีไม่ซ้ำกัน รวมทั้งมีแบบงาไม่หักด้วย

รายงานได้แค่นี้ละครับ ไม่รู้อาจารย์ท่านจะให้กี่แต้ม
ตอนนี้ ขอตัวไปหาขนมต้มแดงต้มขาวรับประทานซะหน่อย


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 เม.ย. 06, 20:27
 ทุกคำตอบเกี่ยวกับคเณศ หาได้จากที่นี่ครับ
 http://ganapati.club.fr/anglais/aformes.html  


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 06, 08:22
 อ่านแล้วก็อึ้งๆไปหน่อย เพราะนึกไม่ถึง    เสียใจด้วยค่ะเรื่องเพื่อนรุ่นพี่ของคุณ

ดิฉันยังไม่เคยเสียเพื่อนที่รัก  จนเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ  ไม่อยากแตะแม้แต่วิชาที่เขาถนัด
แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ   จะมองว่า สิ่งใดที่เพื่อนรักเป็นชีวิตจิตใจ แต่เขาไม่สามารถอยู่ทะนุบำรุงได้อีกแล้ว
เรายังอยู่  ก็ช่วยทะนุบำรุงต่อไป  ไม่ว่าจะทำได้มากหรือน้อยแค่ไหน
ก็น่าจะเป็นกุศลแก่เพื่อน   โดยเฉพาะเมื่อทำเป็นวิทยาทาน
เพราะถ้าเขาอยู่  เขาก็คงทำเช่นกัน  


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 06, 08:30
 ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ คุณพิพัฒน์
จะได้เลิกถกเถียงกันเสียทีว่าพระคเณศเสียงาข้างไหนกันแน่  


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 09:08
 จะรับคำสั่งไว้ปฏิบัติตามครับ
ขออุทิศบุญกุศลใดๆ ที่มาจากวิชาความรู้ของอาจารย์เพ็ญพรรษ์ผู้ล่วงลับ จงสนองตอบต่อผู้เกี่ยวข้องในชุมชนวิชาการเล็กๆ แห่งนี้ ให้ได้ทำสิ่งที่ชอบที่ควรตลอดไป


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 06, 09:32
 สาธุ
ป.ล. ทำไมชอบพูดว่าดิฉัน"สั่ง" เรื่อยเลยล่ะคะ  
เป็นการแสดงความเห็นเท่านั้นเอง


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 09:41
 อันนี้ dose ใหญ่นะครับ
 http://www.religiousworlds.com/mandalam/texts.htm
text ทางฮินดูที่ดาวน์โหลดได้ จะได้ไม่ต้องพึ่ง sacre books of asia แพงเหลือเกิน เสียดายไม่มีที่ปรึกษาเสียแล้ว

ประติมาณวิทยานี้ เป็นหลุมดำทางปัญญาครับ ถ้าได้ครูไม่ดีแล้วเละลูกเดียว ขนาดครูดียังเลอะเลยครับ ภัตตราจารย์แกถึงต้องเขียน "ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม" (ท่านสุภัทรดิศ ทรงแปล) เพื่อแก้คำผิดให้เซแดส ปกติผมจะพึ่งพาตำราของกุมารสวามีเป็นหลัก เพราะอ่านรู้เรื่อง
ถ้าต้องการศาลฎีกา ก้อนี่เลยครับท่าน Elements of Hindu Iconography by T. A. Gopinath Rao

อ่านแล้วมาเล่าสู่กันฟังด้วยละกัน


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 06, 10:01
 ดิฉันคนหนึ่งละค่ะที่ไม่มีความรู้เรื่องประติมาณวิทยา (Iconology) ต้องพวกเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ โน่น
เข้าไปตามลิ้งค์ที่คุณพิพัฒน์ทำให้    แค่เห็นชื่อหัวข้อก็ขนลุกแล้ว
ถอดจากสันสกฤตเทียบเป็นไทยก็ไม่ต้องมีเวลาทำสิ่งอื่นใดกันแล้ว

ขอถอยออกห่างเส้นทาง ให้ผู้รู้เข้ามายืนแทน

แต่ถ้าจะเล่าถึงเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์(ระดับผิวเผิน) พอได้
ถ้าคุณพิพัฒน์จะตั้งกระทู้ขึ้นมา   ดิฉันก็จะไปแจม ไม่ให้คอแห้งอยู่คนเดียว


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 เม.ย. 06, 11:38

ขอบพระคุณคุณ pipat ครับ สรุปว่าเป็นอันสรุปไม่ได้ เพราะทฤษฎีเรื่องงาพระคเณศมีหลากหลายนัก

ส่วนภาพพระคเณศที่ เทวาลัยคเณศร์ ณ พระราชวังสนามจันทร์ นั้น ผมเพิ่งได้รับมาจากปิยมิตรท่านหนึ่ง เลยขอส่งมาให้ชมครับ รูปเล็กนิดเดียว แต่ผมเพ่งแล้ว พบว่าพระคเณศองค์นี้เสีย "งาขวา" ครับ

ความรู้ใหม่อีกประการหนึ่งคือ พระคเณศองค์นี้ได้ถูกปิดทองอร่ามไปทั้งองค์แล้ว คราวที่ไปสนามจันทร์ครั้งล่าสุดยังเห็นท่านองค์ดำอยู่เลย


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: ออเด้ะ ที่ 27 เม.ย. 06, 16:29
 ขออนุญาตแก้ไขนะครับ
คห ที่28 ไม่ใช่ตราหน้าหมวกของตำรวจนะครับคุณนิลกังขา
แต่เป็นตราโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าครับ สำหรับตราหน้าหมวกจะมีประกายที่ยอดมงกุฎนะครับ เหมือนใน คหที่30
ครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: ออเด้ะ ที่ 27 เม.ย. 06, 17:04
 ตราราชสีห์คชสีห์ยังมีใช้อยู่กับกรมป่าไม้และโรงเรียนนายร้อยด้วยไม่ใช่หรือครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 28 เม.ย. 06, 14:21
 ขอแก้ไขครับ ...ปิยมิตรท่านที่ส่งภาพพระคเณศมาให้ ส่งหลังไมค์มาแจ้งข่าวว่าเป็นการเข้าใจผิดครับ ภาพพระคเณศที่ผมนำมาลงในความเห็นที่ ๖๒ นั้นไม่ใช่ที่เทวาลัยคเณศร์ครับ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 29 เม.ย. 06, 16:32
 เพิ่มเติม ค.ห. 54 ค่ะ

อาจารย์กรุณา กุศลาสัยเล่าว่า ลักษณะพระคเณศตามปกติมี 4 กร แต่จะมีหกกร แปดกร หรือ 2 กร
(ตามอย่างพระคเณศของไทยและจีน) สีกายโดยปกติเป็นสีแดง แต่จะเป็นเหลืองแดงหรือเหลืองขาวก็ได้

มีงาข้างเดียว โดยปกติเป็นงาข้างซ้าย แต่เป็นข้างขวาก็เคยมี ที่มีครบสองงาก็เคยมีแต่รูป สิ่งที่ทรงตามปกติ
คือ ขอช้าง บ่วงบาศก์ งาหัก และขนมโมทก (ขนมต้ม) ที่ทรงขอช้างและบ่วงบาศเพราะนับถือเป็นบรมครูของช้าง

เรื่องพระจันทร์แหว่งนั้น คือเมื่อพระจันทร์หัวเราะเยาะ พระคเณศโกรธ เอางาขว้างขึ้นไปติดพระจันทร์แน่น
ทันใดความมืดก็บังเกิดแก่โลก ร้อนถึงพระอินทร์และเทวดาพากันไปขอโทษ จึงยอมถอนงาออก แต่พระจันทร์
ยังต้องรับโทษแหว่งอยู่ต่อไปตลอดครึ่งเดือน


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 04 พ.ค. 06, 04:34
 คุณUP คะ เห็นรูปแล้ว ดิฉันก็คล้อยตามโดยง่าย
ว่าเป็นพระคเณศที่สนามจันทร์ค่ะ
ดิฉันเคยมีไว้บูชาองค์หนึ่งหน้าตาคล้ายรูปนี้เลยค่ะ
ตอนนี้ กำลังหาอีกสักองค์ที่หน้าตาน่ารักถูกใจ
ไปหาถึงบาหลี ก็ไม่มีที่ถูกโฉลกเลยสักองคฺ์เดียว

สงสัยต้องกลับไปหาแถว ๆ สนามจันทร์อีกรอบค่ะ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 04 พ.ค. 06, 07:18
 ครับคุณเฟื่องแก้ว ..เรื่องพระคเณศที่เทวาลัยคเณศร์นั้นผมไม่แน่ใจเลย เพราะท่านอยู่สูงนัก จะตะกายขึ้นไปก็เกรงจะโดนเทวทัณฑ์ พลัดตกลงมางาหัก..เอ๊ย คอหักเสียก่อน

จะมีที่ผมสงสัยอยู่นิดหน่อย เชื่อว่าคุณเฟื่องแก้วและหลายๆ ท่านในที่นี้น่าจะตอบได้ คือในห้องชั้นล่างของเทวาลัยคเณศร์ที่มีประตูสีแดงปิดอยู่นั้นมีอะไรอยู่เหรอครับ

กลัวว่าจะเป็นที่เก็บสัมภารกแบบอนุสาวรียประชาธิปไตย เคยอ่านประวัติอนุสาวรีย์ กล่าวว่าผู้ออกแบบตั้งใจจะให้เป็นที่เก็บรักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แต่แล้วผมเคยซุกซนไปเปิดดู พบว่าเป็นที่เก็บไม้กวาด กระป๋องโกยผง และกระบุงโกยทั้งหลาย อืมม..หรือนี่คือนิมิตแห่งประชาธิปไตยในบ้านเรา?


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 04 พ.ค. 06, 07:22
 ส่วนภาพในความเห็นที่ ๖๒ หากจะให้ผมเดา ผมขอเดาว่าเป็นพระคเณศที่หน้าห้างอิเซตันครับ ดูทรงพ่วงพีและปิดทองอร่ามแบบนี้แหละ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 04 พ.ค. 06, 20:34
 คุณ UP คะ เฟื่องจนใจจริงๆค่ะ คำถามนี้
ตอบไม่ได้ค่ะ ไม่เคยทราบเลยว่าคืออะไร
ใจเฟื่องก็คิดเหมือนกันว่าคงเป็นที่เก็บสัมภารกนั่นแหละ

ขำความซน (แบบน่ารัก) ของคุณ UP  ด้วยค่ะ
เพราะตัวเองก็เคยคิดตอนเด็กๆ ว่าตรงฐานนั่น
จะต้องเป็นที่เก็บรักษาธรรมนูญเหมือนกันนี่คะ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: ornyupa ที่ 15 พ.ค. 06, 18:22
 ได้พระคเณศองค์จำลองจากม.ศิลปากรมาบูชาเสียงาข้างขวาคะ


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: พระยาสุเรนทร์ ที่ 02 มิ.ย. 06, 15:35
 ขอเสริมเรื่องตราสิงห์ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างนะครับ
สิงห์แดง-ธรรมศาสตร์
สิงห์ดำ-จุฬา
สิงห์เขียว-เกษตร
สิงห์ขาว-เชียงใหม่
สิงห์ทอง-รามคำแหง
สิงห์เงิน-มศว.
อีก 2 ที่ถ้าจำไม่ผิดนะครับ
สิงห์น้ำเงิน-มอ.(สงขลานครินทร์)
สิงห์ฟ้า-ราชภัฏสวนดุสิต


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 ธ.ค. 06, 11:16
ในฐานะนักเรียนเก่าฯ ขออนุญาตแก้ไขความเห็นที่ ๓๐ เรื่องตราโรงเรียนวชิราวุธครับ

ตราเดิมที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้เป็นตราประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น คือตราพระมนูแถลงสารรูปวงกลมมีลายกนกอย่างที่มีลิงค์ไปที่เวบไซด์ของโรงเรียน  ตรานั้นเป็นตราพิเศษ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖.๕ เซนติเมตร  สำหรับหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีลักษณะเป็นงาแกะสลักใช้ประทับในเอกสารสำคัญของโรงเรียน เช่น ประกาศนียบัตร  ส่วนตาที่ใช้ทั่วไปเป็นตรารูปพระมนูแถลงสารลอยตัว  ไม่กรอบวงกลมและกนกรอบ  ใช้เป็นตราหัวกระดาษจดหมายและแบบเรียนตลิดจนสมุดต่างๆ สืบมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและเปลี่ยนเป็นวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว  ก็ยังคงใช้ตราพระมนูแถลงสารรูปวงกลม  ทีคำว่าวชิราวุธวิทยาลัยที่ขอบรอบสืบมาจนมุกวันนี้

สส่วนตราพระมหาวชิรมงกุฎที่คุณ Up ยกมาแสดงไว้นั้น เดิมเป็นตราหน้าหมวกของกรมมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งนักเรียนวชิราวุธยีงใช้แระดับที่หมวกมาจนถึงทุกวันนี้ ในสมัยที่พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) เป็นผู้บังคับการ  ได้เริ่มนำตราพระมหาวชิรมงกุฎมาปักเป็นเครื่องสามารถการกีฬาติดที่อกเสื้อเบลเซอร์  แล้วต่อมาในสมัยที่ผมเป็นนักเรียนคณะกรรมการอำนวยการฯ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตได้เริ่มนำมาพิมพ์สีตามคณะลงที่กระเป๋าเสื้อนักเรียน ตรานี้จึงเป็นที่รู้จักมากกว่าตราพระมนูแลงสารมาแต่บัดนั้น


กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ต.ค. 07, 15:41
เรื่องห้องที่มีประตูสีแดงที่ใต้เทวาลัยพระคเณศร์ที่พระราชวังสนามจันทร์นั้น  เป็นห้องเก็บของครับ  ปัจจุบันเป็นห้องว่างๆ ครับ

สำหรับรูปพระคเณศร์ที่เทวาลัยนั้น  เพิ่งได้รับมาเหมือนกันครับ  ขอนำมาให่ได้ชมครับ



กระทู้: ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ต.ค. 07, 18:54
ภาพไม่ขึ้น  แก้ตัวครับ