เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 เม.ย. 16, 21:57



กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 เม.ย. 16, 21:57
ผมเคยอ่านเจอสักแห่งประมาณว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ทันได้เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และทรงจำได้ว่าพระองค์มีพระฉวีคล้ำมาก ซึ่งเหมือนจะพูดกันว่าเพราะพระองค์เสด็จออกทำศึกสงครามบ่อยครั้ง

อีกเรื่องหนึ่งคือกล่าวกันมาว่าพระพุทธยอดฟ้ากับพระนั่งเกล้านั้นมีพระพักตร์คล้ายกัน เพียงแต่พระนั่งเกล้าทรงพระเจริญหรืออ้วนกว่า และเพราะมีพระพักตร์คล้ายกันทำให้พระพุทธยอดฟ้าทรงโปรดพระเจ้าหลานเธอองค์นี้


เนื้อหาประมาณนี้ครับ ไม่แน่ใจว่าจำมาถูกหรือเปล่า และจำไม่ได้ว่าเคยอ่านจากที่ไหน เลยอยากสอบถามหลายๆท่านว่า มีหนังสือหรือหลักฐานที่อ้างอิงถึงคำบอกเล่าเหล่านี้หรือเปล่าครับ


ขอบคุณครับ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 16, 08:48
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จสวรรคตเมื่อ  7 กันยายน พ.ศ. 2452
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ หรือพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ประสูติเมื่อ 18 ตุลาคม 2347     
เด็กอายุ 5 ขวบ สติปัญญาปราดเปรื่อง น่าจะจำปู่ของตัวเองได้บ้างไม่มากก็น้อย  โดยเฉพาะลักษณะเด่นที่กระทบสายตา
คำบอกเล่านี้ไม่เคยได้ยิน   แต่บวกลบพศ. น่าจะมีความเป็นไปได้


ส่วนเรื่องสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระรูปโฉมคล้ายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเคยอ่านพบมาหลายครั้งแล้วค่ะ       


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 เม.ย. 16, 11:19
คุณศรีสรรเพชญลองหาของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนิพนธ์ตอนหนึ่งในเรื่องการสร้างพระบรมรูป ๔ รัชกาลดูนะครับ มีอธิบายมูลเหตุและเนื้อหาโดยละเอียดแล้วทุกประการ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 04 เม.ย. 16, 22:07
ทั้งในพระนิพนธ์เรื่องความทรงจำ กับ บันทึกรับสั่งเรื่องการสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทยของกรมพระยาดำรงฯ ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพระพักตร์คล้ายกันที่ว่าเลยครับ

ความทรงจำ

 เรื่องสร้างพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์นั้น ก็เริ่มปั้นหุ่นมาแต่ปีมะเส็ง การสร้างพระบรมรูปไม่เคยมีประเพณีมาแต่ก่อน แต่โบราณรูปที่สร้างเป็นเจดีย์วัตถุสำหรับสักการบูชาสร้างแต่พระพุทธรูป และเทวรูปหรือรูปพระสงฆ์ซึ่งมีผู้นับถือมาก แม้จะสร้างพระรูปเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินก็สร้างเป็นพระพุทธรูปดังเช่นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หรือมิฉะนั้นก็สร้างเป็นรูปพระอิศวรหรือพระนารายณ์ ยังมีอยู่ในเมืองเขมรหลายองค์ ที่จะสร้างพระรูปพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปมนุษย์แต่โบราณหาทำไม่ อะไรเป็นต้นเหตุให้ทิ้งตำราเดิม เวลาแต่งหนังสือนี้หมดตัวผู้รู้เสียแล้ว นึกเสียดายที่ไม่ได้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อยังมีโอกาสที่จะรู้ได้ จึงได้แต่สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่

คือเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ได้พระรูปพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศเข้ามาหลายองค์ เป็นพระรูปหล่อเช่นที่เอมเปอเรอนะโบเลียนที่ ๓ กับพระมเหสีถวายมาเป็นบรรณาการบ้าง เป็นพระรูปปั้นระบายสีเช่นที่ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานบ้าง ความนิยมคงจะเริ่มเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงมีผู้ส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (องค์ที่ทรงพระมาลาสก๊อต) ไปให้ทำเป็นรูปหล่อที่ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ช่างปั้นฝรั่งเศลเป็นผู้ปั้น ได้เห็นแต่ฉายาลักษณ์ จึงคิดประดิษฐ์พระรูปโฉมตามคาดคะเน แล้วหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ขนาดสูงราวครึ่งเมตร ส่งเข้ามาถวายทอดพระเนตรก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร เห็นพระบรมรูปที่ฝรั่งทำผิดเพี้ยนพระลักษณะมากนัก จึงให้บอกเลิกแล้วดำรัสสั่งให้ช่างไทย (จะเป็นใครสืบไม่ได้ความ แต่เป็นช่างปั้นฝีมือเยี่ยมอยู่ในเวลานั้น) ปั้นพระบรมรูปขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ให้ทำเป็นอย่างพระบรมรูประบายสีขนาดเท่าพระองค์
แต่การปั้นยังไม่ทันแล้วก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทำต่อมาจนสำเร็จ

เมื่อมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ขึ้นเช่นนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่าควรจะสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์เป็นพระรูปหล่อขนาดเท่าพระองค์ขึ้นไว้เป็นที่สักการบูชาเฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายท่านผู้ใหญ่ในราชการแผ่นดินก็เห็นชอบด้วย เพราะมีแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบุรพการีมหาราชเป็นเยี่ยงอย่าง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มสร้างรูปมนุษย์มาแล้ว

สันนิษฐานว่ามูลเหตุที่สร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์ เห็นจะเป็นเช่นว่ามา การสร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์นั้น โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าประกิษฐวรการอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวยการ เมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะได้แน่แต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เป็นหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้องอาศัยไต่ถามผู้ที่ได้เคยเห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้ไขไปแต่แรกจนแล้ว

ก็ในเวลานั้นผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ ๔ คน คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังองค์ ๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน ๑ กับเจ้าพระยาธรรมาฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน ๑ ปั้นพระรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อเดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในชั้นแรก


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 04 เม.ย. 16, 22:09
บันทึกรับสั่งเรื่องการสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย

ประเพณีทำโมนูเมนท์พระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้วมีมาเก่าแก่ ดึกดำบรรพ์ จะเห็นได้จากเขมรทำเป็นเทวรูป ถ้าถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมักทำเป็นพระโพธิ์สัตว์ สันนิษฐานว่าไทยได้ประเพณีนี้มาแต่เขมร ไทยกรุงศรีอยุธยามีพระเทพบิดร และรูปสมเด็จพระนเรศวรอยู่ที่โรงพระแสง พระบรมรูปทั้งสองนี้คงใช่รูปตัวแต่เป็นเทวรูป ที่ว่าเช่นนี้เพราะปรู๊พได้ เมื่อเสียกรุงนั้นปรากฏว่าพระรูปพระเทพบิดร (ว่าสร้างแทนพระองค์พระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี) อยู่ที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ไฟไหม้เชิญเอาไปไว้ที่ซุ้มจรนำวัดพุทไธศวรรย์ ชาวบ้านชาวเมืองว่าดุร้ายนัก กรมหลวงเทพหริรักษ์ขึ้นไปทำเพนียด นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงเอาลงมาหล่อเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง เอาไว้ในหอพระเทพบิดรวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาเมื่อรื้อหอเลยเก็บไว้ในปราสาทพระเทพบิดรมุขหลัง เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังคงอยู่ในนั้น (ได้คงวามว่าได้ย้ายมาไว้ในวิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ไม่ทราบว่าเป็นองค์ไหน เพราะมีอยู่หลายองค์ด้วยกัน) ส่วนที่วัดพุทไธศวรรย์เดิม ได้ปั้นเป็นพระพุทธรูปไว้แทนจนทุกวันนี้

แม้ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลต่อๆมา ก็มีการหล่อพระพุทธรูปไว้แทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๑ หล่อพระพุทธจักรพรรดิ รัชกาลที่ ๒ หล่อพระพุทธนฤมิตร เป็นทองคำทั้งพระองค์ เดี๋ยวนี้ยังอยู่ในหอพระสุราลัยพิมานทั้งสองพระองค์ แต่พระพุทธนฤมิตรนั้นโปรดฯ ให้จำลองไปไว้ที่วัดอรุณราชวรารามพระองค์หนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปสูง ๖ ศอกสองพระองค์หุ้มด้วยทองคำเนื้อ ๘ องค์หนึ่งหนัก ๖๓ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ทรงเครื่องต้นอย่างบรมกษัตริย์ ลงยาราชาวดีประดับด้วยนวรัตน์มีราคาเป็นอันมาก พระพุทธรูปสองพระองค์นี้ให้ตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม องค์ข้างเหนือถวายพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ องค์ข้างใต้ถวายว่า พระพุทธเลิศหล้าสุราลัย มาเปลี่ยนเป็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อรัชกาลที่ ๔ (เดิมเรียกรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ใช้บัตรหมายในราชการทั้งปวงอ้างนามแผ่นดินตามพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์ ไม่ให้ใช้ว่าแผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง เพราะทรงเห็นเป็นอวมงคล)

เหตุที่ทำเป็นพระบรมรูปหล่อเป็นคนมีดังนี้ ในรัชกาลที่ ๔ พระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ กับเอมเปรสด์ส่งรูปหล่อครึ่งตัวเป็นบัสทองแดงมาถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดมาก และจะต้องให้ของตอบแทน เมื่อทูตฝรั่งเศสกลับไปให้ช่างปั้นรูปมาถวายเป็นรูปเต็มพระองค์แต่ก็ไม่ตกลงกัน เป็นปัญญาว่าจะตอบแทนอย่างไรกัน อีกคราวหนึ่งเอมเปอเรอส่งตราเลยองออนเนอร์มาถวาย ดวงตรามีหัวนะโปเลียนโบนาปารต พระเจอมเกล้าฯ ให้ทำส่งออกไปบ้างเป็นรูปที่ทำได้เหมือนมาก เดี๋ยวนี้พระบรมรูปติดตรานั้นยังอยู่ที่วังฟองเตนโบล

ในเรื่องรูปปั้นนั้น ต่อมาว่าให้พระยาจินดารังสรรค์ปั้นใหม่ด้วยปูนปลาสเตอร์ ปั้นเท่าพระองค์ทรงพระมาลาสก๊อท ทรงผ้าเยียระบับ เดิมอยู่ที่หอศาสตราคม รื้อหอแล้วเอามาไว้ที่กระทรวงมหาดไทยพักหนึ่ง แล้วส่งไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งเพ็ชภูมิไพโรจน์ จังหวัดเพชรบุรี (ที่เขาวัง) กับได้จำลองไว้อีกองค์หนึ่งในปราสาททางด้านตะวันตกในวัดราชประดิษฐฯ แต่หาได้ส่งไปถวายพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ ไม่ ที่ไม่ได้ส่งไปนั้นเพราะเป็นรูปปั้นด้วยปูนน้ำมัน ยังไม่ได้หล่อ ครั้นจะหล่อต้องเข้าไฟ การเอารูปปั้นเข้าไฟนั้นถ้ายังมีพระชนม์อยู่ถือว่าเป็นอัปมงคล เลยไม่ได้หล่อจนแล้ว

มาในรัชกาลที่ ๕ เลยจับหล่อหมดทั้ง ๔ องค์ เกิดปัญหาขึ้นบ้างตอนปั้นพระพุทธยอดฟ้าฯ เพราะพระพุทธยอดฟ้าฯ หาคนรู้จักยาก นัยว่าเรียกคนที่เคยเห็นมาให้การ แล้วก็ปั้นตามคำให้การนั้น คนที่เคยเห็นพระพุทธยอดฟ้าฯ ครั้งนั้นยังเหลืออยู่สี่คนคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (โต) เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี บุรณสิริ) พระองค์เจ้าปุก (พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒) และเจ้าพระยาธรรมา (มั่ง) คนที่เคยเห็นพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้นมีมาก

พระบรมรูปหล่อมาหล่อเอาทั้งที่พระเจ้าแผ่นดินยังมีพระชนม์อยู่ ก็พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ดูไม่เป็นการรังเกียจกัน รูปแรกที่หล่อคือเหรียญเงินบาท แต่ก่อนหล่อกันแต่รูปพระเกี้ยว หากล้าหล่อพระบรมรูปไม่ เพิ่งมาหล่อในรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ถัดจากนั้นพระบรมรูปทรงม้าก็หล่อทั้งที่ทรงยังมีพระชนม์อยู่ ได้เสด็จเปิดพระบรมรูปด้วยพระองค์เองซ้ำไป.


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 06 เม.ย. 16, 17:44

ผมเข้าใจว่า คุณศรีสรรเพชญ ต้องการทราบว่า พระรูปฯ และภาพวาดที่ปรากฏ
มีความใกล้เคียงบุคคลจริง มากน้อยเพียงใด อย่างนั้นหรือเปล่าครับ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 เม.ย. 16, 18:24
เข้าใจว่า สิ่งที่คุณศรีสรรเพชญ์ต้องการคือ

หนังสือหรือหลักฐานที่อ้างอิงถึงคำบอกเล่าเหล่านี้

๑.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ทันได้เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และทรงจำได้ว่าพระองค์มีพระฉวีคล้ำมาก ซึ่งเหมือนจะพูดกันว่าเพราะพระองค์เสด็จออกทำศึกสงครามบ่อยครั้ง

๒.
พระพุทธยอดฟ้ากับพระนั่งเกล้านั้นมีพระพักตร์คล้ายกัน เพียงแต่พระนั่งเกล้าทรงพระเจริญหรืออ้วนกว่า และเพราะมีพระพักตร์คล้ายกันทำให้พระพุทธยอดฟ้าทรงโปรดพระเจ้าหลานเธอองค์นี้


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 07 เม.ย. 16, 08:30
ตามคุณเพ็ญชมพูว่าครับ ผมอยากได้หลักฐานที่กล่าวถึงจริงๆในการอ้างอิงอย่างเหมาะสม ถ้าเกิดไม่มีหลักฐานจริงๆ ผมก็จะได้ไม่เข้าใจผิดต่อไปครับ

เรื่องพระฉวีคล้ำนี้คุ้นๆเหมือนว่ามาจากคุณชายคึกฤทธิ์ แต่ไม่แน่ใจครับ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 เม.ย. 16, 09:20
พระพุทธยอดฟ้ากับพระนั่งเกล้านั้นมีพระพักตร์คล้ายกัน เพียงแต่พระนั่งเกล้าทรงพระเจริญหรืออ้วนกว่า

พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ซ้าย) และ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขวา)

พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการทรงปั้นหล่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
 
ภาพจาก หนังสือลักษณะไทย (http://www.laksanathai.com/book1/p102.aspx)


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 07 เม.ย. 16, 22:42

เราลองเริ่มจากรูปนี้ก่อนไหมครับว่าเหมือนกับรูปถ่ายจริงมากน้อยเพียงใด



กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 16, 13:27

เราลองเริ่มจากรูปนี้ก่อนไหมครับว่าเหมือนกับรูปถ่ายจริงมากน้อยเพียงใด



สำหรับพระบรมรูปล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ มีข้อมูลเบื้องได้ความว่า เดิมหลวงเทพรจนาได้เป็นผู้ปั้นขึ้นไว้แต่ติดค้างอยู่จนสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระราชดำริว่าไม่งาม จึงโปรดเกล้าให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการปั้นใหม่โดยแก้ส่สวนที่บกพร่องแล้วจึงหล่อในอิริยาบทยืน โดยให้มีลักษณะรอยย่นบนพักตร์และรอยยับภูษาโจงเหมือนธรรมชาติมากกว่าองค์อื่นๆ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 16, 13:53
สำหรับพระบรมรูปล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ มีข้อมูลเบื้องได้ความว่า เดิมหลวงเทพรจนาได้เป็นผู้ปั้นขึ้นไว้แต่ติดค้างอยู่จนสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระราชดำริว่าไม่งาม
ประวัติพระรูปนี้ได้ความว่า เมื่อครั้งปั้นพระรูปด้วยฝีมือฝรั่งไม่ทรงโปรด เนื่องจากไม่เหมือน และให้ช่างไทยได้ลองปั้นดูบ้าง ดูเหมือนว่าจะเป็นหลวงเทพรจนา เมื่อครั้นทอดพระเนตรก็โปรด แต่ติดอยู่ที่ต้องนำสุมไฟหลอมทอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นมงคล จึงได้นำหุ่นเก็บไว้ที่หอเสถียรธรรมปริตร แล้วย้ายไปหอราชพงศานุสรณ์ในรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลที่ ๗ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีจึงได้ขอพระราชทานไปประดิษฐานที่เขาวัง พระที่นั่งเวชยันตวิเชียรปราสาท ต่อมาจึงได้สร้างรูปหล่อโลหะแทน ส่วนองค์ปูนก็ย้ายมายังวัดบวรนิเวศ จนทุกวันนี้

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4979.0;attach=30259;image)


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 09 เม.ย. 16, 12:15

ผมสนใจเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะจากที่ทำการศึกษาอยู่บ้าง
ปัจจุบันเราน่าจะมีแนวทางที่ชี้แนะได้ว่า พระลักษณะของรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างไร
ส่วนรัชกาลที่ 1 นั้นยังต้องอาศัยจินตนาการค่อนข้างมาก
ตามที่คุณศรีสรรเพชญ์พยายามตามหาหลักฐานนั่นแหละครับ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 เม.ย. 16, 11:48

อย่างที่เรียนไปบ้างแล้วครับ
พระบรมสาทิสลักษณ์ ที่ปรากฏของรัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓
ถ้าเราพิจารณาจากหลักฐานที่ปรากฏอาจถือได้ว่าจิตรกรมีความสามารถวาดออกมาได้มีเค้าใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก

ตอนแรกนี้ขอนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาลงก่อนต่อไปค่อยจับแพะชนแกะกันในเรื่องทฤษฎีพันธุศาสตร์ฉบับอนุบาล และ วิธีการวิเคราะห์ภาพขั้นประถมต่อไป



กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 เม.ย. 16, 12:11

ความรู้จากโรงเรียนสอนว่าบุตรแต่ละคนจะได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมจากบิดาและมารดา
ถ้าให้ บุตร = O   บิดา = A   มารดา = B
สมมุติว่าลักษณะเด่นที่แสดงออกของบุตรมาจากบิดาและมารดาอย่างละเท่า ๆ กัน
เราอาจเขียนได้ว่า  O = 0.5A  + 0.5B

โมเดลนี้เราอาจสามารถนำมาใช้ในการทำนายลักษณะปรากฏของบุตรได้

ยกตัวอย่างบุคลสาธารณะ ครอบครัวของหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ และ หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา

เราอาจพิจารณาได้ว่าลักษณะปรากฏของหม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ O1 มีส่วนคล้ายคล้ายกับ O' ที่ได้จากโมเดล

(พิจารณาตามหลักวิชาการ เพื่อให้เป็นความรู้สาธารณะ ไม่ทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหาย
 แต่หากมีความไม่เหมาะสม ท่านอาจารย์เทาชมพูโปรดพิจารณาลบได้นะครับ)

ในทางกลับกัน ปัญหาที่ยากกว่าคือ ถ้าทราบลักษณะปรากฏบุตร จะกลับไปหาลักษณะของบิดา มารดา ได้อย่างไร  :)



กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 เม.ย. 16, 15:49

เปรียบเทียบภาพจำลอง O' กับภาพจริง O1
ของ หม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

credit : ใช้โปรแกรม FotoMorph ดาวน์โหลดได้ฟรี

ต่อไปเราจะหาวิธีการคล้ายๆกันนี้ ลองแก้ปัญหาย้อนกลับดูว่า พระบรมรูปวาดของรัชกาลที่ ๒ และ ๓
และภาพจำลองจะมีความเหมือนหรือต่างกันประการใด


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 เม.ย. 16, 18:25

การแก้ปัญหาแบบย้อนกลับ (inverse problem) จะมีความซับซ้อนมากกว่าปัญหาปกติ
และ อาจได้คำตอบที่เป็นไปได้มากกว่าหนึ่งอย่าง หรือ เป็นคำถามปลายเปิดได้
ยกตัวอย่างเช่น
ปัญหา  6+5 = X  คำตอบคือ  X = 11

แต่ถ้าจะถามว่าผลบวก  A + B = 11 แล้ว  A เป็นเท่าใด คำตอบจะเป็นไปได้หลายกรณี

คล้ายๆ กัน ถ้าเรามีกลุ่มลักษณะของบุตร แล้วยังไม่สามารถหาตรงๆ ได้ว่า บิดา-มารดา มีลักษณะอย่างใด 
จำเป็นต้องใช้ข้อสมมุติฐานเพิ่มเติม

ยกตัวอย่างเช่น กรณีครอบครัวของหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ และ หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา
ให้ บิดา = A  มารดา = B
สมมุติว่าบุตรแต่ละท่านมีลักษณะปรากฏของบิดาและมารดาในสัดส่วนที่แตกต่างกัน

O1 = (x1)A + (y1)B   เช่น  O1 = 0.5 A  + 0.5 B
O2 = (x2)A + (y2)B   เช่น  O2 = 0.6 A  + 0.4 B   
O3 = (x3)A + (y3)B
O4 = (x4)A + (y4)B

สมมุติเราหาลักษณะปรากฏบุตรเฉลี่ย
O-bar = (O1+O2+O3+O4)/4
         = (x-bar) A + (y-bar) B
ก็ยังไม่สามารถแยก A และ B ออกจากกันได้

กรณีลักษณะปรากฏ เราหาผลรวมเฉลี่ย (O1+O2)/2 ได้ แต่หาผลต่าง (O1-O2)/2 ไม่ได้
ดังนั้นเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาย้อนกลับได้ว่า A และ B เป็นเท่าใด 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาพระบรมลักษณะปรากฏ ของรัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓
กลับกลายเป็นว่ายังมีแนวทางที่พอหาทางออกได้ และเป็นลักษณะพิเศษของราชสำนักทางตะวันออก
ซึ่งเราจะได้พิจารณาวิธีการและผลที่ได้ต่อไป


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 เม.ย. 16, 18:47

เราจะพยายามหาข้อสนับสนุนว่า พระบรมรูปวาด รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓
ใน gallery of kings ของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕
มีความเหมือนจริง เป็นได้มากน้อยเพียงใด

ก่อนอื่น ลองสมมุติว่าเราเป็นจิตรกรชาวต่างประเทศ ถูกว่าจ้างให้วาด พระบรมรูปวาดดังกล่าว
เราจะต้องเตรียมตัว ทำ study อย่างไรบ้าง



กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 21 เม.ย. 16, 13:11

ขอนำภาพที่ได้จากผลการวิเคราะห์บางส่วนมาลงก่อน


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 เม.ย. 16, 13:51
พระบรมสาทิศลักษณ์รัชกาลที่ ๑ และ รัชกาลที่ ๓ ปรากฎหนังสือ ก.ศ.ร.


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 22 เม.ย. 16, 14:18
ผมเข้าใจว่าพระบรมสาทิสลักษณ์ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท น่าจะวาดโดยอาศัยพระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดรเป็นแบบนะครับ ไม่น่าจะถึงขั้นไปเอาเชื้อสายมาเป็นส่วนในการตัดสินใจ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 เม.ย. 16, 07:05

จากรายละเอียดต่างๆ ของพระบรมรูปเขียนในพระที่นั่งจัถรี
เช่น ลักษณะพระพักตร ท่ายืนประทับ เครื่องทรง เครื่องประดับ
ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ได้ใช้พระบรมรูปหล่อเป็นต้นแบบครับ
โดยเฉพาะพระบรมรูป รัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3
ส่วนรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 ใช้ถาพถ่ายเป็นแบบหลัก

จิตรกรผู้วาดภาพทั้ง 5 เป็นชาวต่างประเทศที่ปัจจุบัน
เราไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดแน่ ต้องสืบหากันต่อไป
เรื่องนี้ผมสนใจมากพอสมควรเพราะพระบรมรูปเขียน
ในพระที่นั่งจักรีเป็นต้นแบบของรูปอื่นๆต่อไปอีกมากมาย
และถูกนำไปใช้อ้างอิงพระลักษณะสามรัชกาลกันอย่างแพร่หลาย

ถ้าเรามีวิธีตรวจสอบความถูกต้องของพระลัษณะได้
ก็จะเป็นการยืนยันความแม่นตรงของพระบรมรูปเขียนในพระที่นั่งจักรีได้เป็นอย่างดี


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 เม.ย. 16, 19:27

พระบรมรูปเขียนที่ประดับในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในคราวแรกสร้างนั้น
น่าจะมีการวาดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้ง ๕ รัชกาล โดยจิตรกรชาวต่างประเทศ
ศิลปินอาจเป็นชาวอิตาลี หรือฝรั่งเศส ปัจจุบันเราไม่มีข้อมูลชัดเจน

พระรูปเขียนรัชกาลที่ ๔ ชัดเจนว่าใช้พระบรมฉายาลักษณ์เป็นแบบ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 24 เม.ย. 16, 07:49

การจัดวางองค์ประกอบของพระบรมรูปเขียนประทับยืนเป็นไปตามสมัยนิยมในขณะนั้น


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 24 เม.ย. 16, 15:25

จากรายละเอียดต่างๆ ของพระบรมรูปเขียนในพระที่นั่งจัถรี
เช่น ลักษณะพระพักตร ท่ายืนประทับ เครื่องทรง เครื่องประดับ
ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ได้ใช้พระบรมรูปหล่อเป็นต้นแบบครับ
โดยเฉพาะพระบรมรูป รัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3
ส่วนรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 ใช้ถาพถ่ายเป็นแบบหลัก



ผมพูดถึงเฉพาะ ๓ รัชกาลแรกครับ

เรื่องท่ายืนหรือฉลองพระองค์ ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นจุดที่ไม่น่านำมาพิจารณาครับ
เพราะอย่างไรเสียทั้ง ๓ รัชกาลแรกก็ไม่ได้มาทรงเอาพระองค์จริงมาเป็นแบบให้อยู่แล้ว จะวาดอย่างไรก็ได้ แค่ให้พระพักตร์และพระสรีระดูใกล้เคียง
โดยอาจจะมีผู้ที่เอาฉลองพระองค์ รวมถึงข้าวเครื่องใช้ต่างๆ มาเป็นแบบสำหรับจิตรกรแทน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ อย่างไรเสียพระพักตร์ก็ต้องเอาจากพระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดรเป็นแบบครับ เพราะเป็นพระบรมรูปเพียงหนึ่งเดียวที่สร้างจากบุคคลที่เกิดทันพระองค์ให้ข้อมูล
ส่วนอีกสองรัชกาล เท่าที่ดูเอาก็มีความใกล้เคียงอยู่ ไม่ได้ต่างมากกมายขนาดนั้น อาจจะดูต่างเพราะพระบรมรูปเป็นทองและไม่มีดวงพระเนตร อีกทั้งการคาดคะเนพระสรีระของแต่ละองค์ ก็น่าจะเอาจากพระบรมรูปเป็นต้นแบบนั่นเอง ซึ่งก็เห็นได้อยู่ว่าในพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ ๓ ทรงพีกว่ารัชกาลที่ ๑ ครับ

และการอ้างอิงพระบรมรูปน่าจะเชื่อถือได้พอสมควร เพราะก่อนจะหล่อองค์จริงก็น่าทำแบบหล่อออกมาให้เหมือนที่สุดแล้ว โดยให้ผู้รู้ช่วยกันปรับแก้ไปให้เหมือนสุด ดังในพระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ ซึ่งอีกสองรัชกาลไม่น่าจะต่างกัน


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 24 เม.ย. 16, 22:41

เรียนให้ทราบข้อสรุปของผมก่อนคือ พระบรมรูปเขียนในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ ในส่วนของพระลักษณะพระพักตรนั้นน่าเชื่อถือและใช้อ้างอิงได้

ประเด็นคือ เราจะมีแสดงวิธีตรวจสอบย้อนกลับอย่างไร
การมองว่าเหมือนหรือไม่เหมือนบางครั้งต้องใช้ความรู้สึกและจิตวิทยารอบด้านเข้ามีอิทธิพลช่วยตัดสินใจ

ลองเปรียบเทียบ พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ กับพระบรมฉายาลักษณ์
พระบรมรูปนี้หล่อในคราวเดียวกันทั้ง ๔ องค์ และ บุคคลร่วมสมัยลงความเห็นว่าเหมือนมากที่สุด
ในเวลานั้น ช่างปั้นสยามยังเพิ่งเริ่มสะสมฝีมือปั้นรูปบุคคลจริง
จะเห็นได้ว่าแม้ว่าจะปั้นอย่างสุดฝีมือแล้ว ยังมีความแตกต่างจากพระบรมฉายาลักษณ์อยู่หลายส่วน

เห็นได้ชัดว่าจิตรกรผู้เขียนพระบรมรูปเขียน ๕ รัชกาลในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีความชำนาญมากพอ
ที่จะถ่ายทอดความเหมือนจริงจากภาพถ่ายนำใส่เข้าไปไว้ในภาพวาด
เมื่อเปรียบเทียบภาพแล้วก็ค่อนข่างชัดเจนว่า จิตรกรไม่ได้ใช้พระบรมรูปหล่อเป็นแบบหลัก
ในการสร้างสรรผลงานพระบรมรูปเขียน รัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓

ส่วนกรณีพระบรมรูปเขียนรัชกาลที่ ๑ ขอยกไว้ก่อน จะขออภิปรายในภายหลัง
ช่วงนี้ขออภิปรายเรื่องพระบรมรูปเขียน รัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓ ก่อนครับ

ผมเชื่อว่าจิตรกรได้วาดพระบรมรูปเขียนนี้ใน studio ต่างประเทศ
และใช้ข้อมูลหลักฐานภาพถ่ายต่างๆ ประกอบการจินตนาการ และได้ผลงานที่งดงามในที่สุด 


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 25 เม.ย. 16, 10:36

ขยายความเพิ่มเติม
จิตรกรมีฝีมือชนิดที่ว่าสามารถวาดภาพตามแบบพระบรมรูปหล่อให้ออกมาแบบตรงๆก็ได้
แต่จากผลงานที่ปรากฏ จิตรกรเลือกที่จะสร้างผลงานให้เหมือบุนคคลจริงมากไปกว่านั้นอีก


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 27 เม.ย. 16, 22:55

เท่าที่ทราบจิตรกรชั้นครูนั้นเขามักจะพิถีพิถันในการสร้างผลงานมาก
จะต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อทำภาพร่างให้ถูกต้อง ถูกใจเสียก่อนที่จะลงมือวาดงานจริง



กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 16, 16:30
หลังจากได้มีการหล่อพระบรมรูป ๔ รัชกาลเรียบร้อยแล้ว และระหว่างการก่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่ได้เริ่มวางศิลฤกษ์ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ เวลาผ่านมาได้ ๒ ปีแล้วตามพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๒๐
ทรงระบุว่ามีการปรึกษาหารือกันเรื่องรูปเขียนในพระที่นั่ง ว่าด้วยมิสเตอร์แคสเวลเข้ามาปรึกษาเรื่องจะเขียนรูปในพระที่นั่ง และตรัสถึงช่างไทยให้ไปร่ำเรียนไว้ นี่อาจจะเป็นข้อมูลเล็กๆ ให้ค้นหาต่อไป


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 01 พ.ค. 16, 13:34
มีการจัดงานนิทรรศการที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม
ระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2551
เป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์   ผ่านงานศิลปะของ กาลิเลโอ คีนี
ซึ่งเป็นจิตรกรเอกชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ให้เขียนภาพจิตรกรรมตกแต่งภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม


กาลิเลโอ คีนิ เข้ามาสยามพร้อมช่างปิดทอง และช่างปูนปั้น 2 คน (มาทำงาน ปี 2454-2456)
คีนิ ทำหน้าที่ช่างเขียน ติดต่อประสานงาน เพื่อให้รู้และเข้าใจและเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ตามสัญญาดำเนินงาน 30 เดือน
โดยภาพเขียนในพระที่นั่งอนันตสมาคมทั้งหมด เขียนจากเหตุการณ์สำคัญในพระราชวงศ์จักรี
อาทิ ภาพเขียนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 6
ภาพรัชกาลที่ 1 เสด็จกลับจากการสงคราม และสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี
… ภาพรัชกาลที่ 5 ทรงเปิดการค้าสยามกับโลกตะวันตก การเลิกทาส และด้านหนึ่งเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคมขณะก่อสร้าง
… และภาพรัชกาลที่ 4 ในฐานะทรงมีพระราชูปถัมภกต่อพระพุทธศาสนา



ในปีสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้เรียก กาลิเลโอ คินี จากประเทศอิตาลีเข้ามาเขียนจิตรกรรมประดับท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม
ซึ่งเขาเดินทางมาถึงสยาม เมื่อเดือนกันยายน 2454
ตรงกับปีแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทันเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนธันวาคม

กาลิเลโอ คีนิ จะเห็นภาพเมืองสยามเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ซึ่งในวันนี้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
ได้เก็บภาพในอดีตผ่านปลายพู่กันและสีสันตระการตา เพื่อบันทึกบรรยากาศที่เงียบสงบ เช่น ภาพเขียนในวัด ภาพบ้านที่สงบอยู่ริมน้ำ
หรือบางครั้งก็อาจจะเต็มไปด้วยพลังแห่งความเคลื่อนไหว เช่น ภาพวันตรุษจีนในเมืองพระนคร
รวมไปถึงสีขาว-ดำ ของภาพถ่ายโบราณในชุดภาพถ่ายสะสมของคีนิอีกด้วย

ในการจัดงานครั้งนี้ เปาลา โปลีโดริ คีนิ (Paolo Polidori Chini) ทายาทคนเดียวของกาลิเลโอ คีนิ
ได้มอบสมบัติหลายชิ้นของกาลิเลโอ คีนิ ให้กับประเทศไทย
เช่น ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่ กาลิเลโอ คีนิ ได้นำไปจากเมืองสยาม

นอกจากนี้จะมีการมอบภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1
ที่กาลิเอโอ คีนิ ได้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2455
สำหรับเตรียมการเขียนภาพจิตรกรรม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ให้เป็นสมบัติของประเทศไทยต่อไปด้วย

ภาพรัชกาลที่หนึ่งทีวาดโดย คีนิ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 พ.ค. 16, 18:49
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิตให้จิตรกรชาวต่างประเทศและจิตรกรชาวไทยวาดพระบรมสาทิศลักษณ์


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 02 พ.ค. 16, 01:44

จิตรกรทั้งสองท่านในรูปคือ Cesare Ferro กับ หลวงสรลักษณ์ลิขิต


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 02 พ.ค. 16, 01:49

จิตรกรสามท่านต่อไปนี้อายุน้อยเกินกว่าที่จะเป็นผู้วาดภาพพระบรมรูปเขียน ๕ รัชกาลในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทได้
ขอตัดออกจากการพิจารณาก่อน


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 02 พ.ค. 16, 02:07

ยังเหลือทางเลือกจิตกรฝีมือระดับปรมาจารย์รุ่นใหญ่อีกเพียบ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 03 พ.ค. 16, 15:28

ในวลาดังกล่าว
ภาพถ่าย ฉลองพระองค์ และ เครื่องราชฯ ที่ใช้เป็นแบบ
รวมทั้งรูปดาบฝรั่ง และ ท่าทางชาวสยาม มีพร้อมแล้ว
เหลือ ข้อมูลประกอบการจินตนาการลักษณะพระพักตร



กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 05 พ.ค. 16, 19:48

ในการหาข้อมูลเพื่อวาดภาพบุคคลที่ไม่สามารถมาเป็นแบบได้จริง
จิตรกรอาจรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นๆ เช่น ชีวประวัติ คำบรรยายลักษณะจากผู้ที่เคยพบเห็น
ภาพถ่าย ข้อมูลสภาพแวดล้อม ครอบครัว ผู้เกี่ยวข้อง
ในกรณีนี้หากได้รวบรวมภาพถ่ายของบุตรก็อาจเป็นประโยชน์ต่อการจินตนาการประกอบการทำแบบร่างต่อไป

ดังที่ได้เรียนไว้แล้วว่า การหาลักษณะของพ่อแม่จากบุตรทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาย้อนกลับ
อย่างไรก็ตามในบางกรณีมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว

พิจารณากรณีสมมุติ ครอบครัวชาวสยามสมัยก่อน ชายคนหนึ่ง (A) มีภรรยาสี่ท่าน (B C  D และ E)
มีบุตรเกิดจาก ภรรยาแต่ละท่าน บุตรแต่ละคนจะมีลักษณะปรากฏที่ถ่ายทอดจากบิดามารดา อาจมีสัดส่วนมากน้อยต่างกัน

O1 = (x1)A + (y1)B                   O2 = (x2)A + (y2)C
O3 = (x3)A + (y3)D                   O4= (x4)A + (y4)E

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาลักษณะปรากฏของบุตรแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถแยกลักษณะเด่นของบิดาออกมาได้

O-bar = [O1 + O2 + O3 + O4]/4
           = [(x1)A + (y1)B+ (x2)A + (y2)C +  (x3)A + (y3)D + (x4)A + (y4)E]/4
           = [( (x1) + (x2) + (x3) + (x4) )/4]A  +  [ (y1)B+ (y2)C +  (y3)D + (y4)E]/4

O-bar  = [x-bar] A  +  [(y1)B+ (y2)C +  (y3)D + (y4)E]/4

ลักษณะเด่นปรากฏของบิดา (A) ยังคงปรากฏอยู่ใน ภาพจำลองลักษณะเฉลี่ยของบุตร แต่ลักษณะจากมารดาแต่ละท่านจะลดลงและอาจ “flat out” ในบางกรณี และหากมีจำนวนบุตรเยอะยิ่งทำให้การแยกลักษณะเด่นปรากฏของบิดาออกมาได้ง่ายขึ้น เราจะลองใช้วิธีนี้ในการจำลองภาพช่วยจินตนาการลักษณะเด่นปรากฏของบิดาต่อไป

สิ่งหนี่งที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าเครื่องจักรกลคือการจินตนาการ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 พ.ค. 16, 11:25

ในกรณีของพระบรมรูปเขียน รัชกาลที่ ๓
จิตรกรเมื่อรวบรวมภาพของพระราชโอรส-พระราชธิดา ของรัชกาลที่ ๓ ไว้พิจารณาแล้ว
อาจใช้จินตนาการในการดึงลักษณะเด่นของพระราชบิดา และถ่ายทอดออกมาในพระบรมรูปเขียนได้

จากโมเดลข้างต้น เราลองสร้างรูปประกอบจินตนาการ พระลักษณะของรัชกาลที่ ๓
เริ่มจากข้อมูลพระรูปถ่ายของพระราชโอรส-พระราชธิดา ๘ พระองค์
จะเห็นว่าเมื่อประสานภาพทั้งหมดเข้าด้วยกันลักษณะเด่นด้านปรากฏตามภาพซ้ายมือของแผนผังยังคงอยู่
ท้ายที่สุดเราจะได้ภาพประกอบจินตนาการว่า พระลักษณะรวมของพระราชบุตรที่มีลักษณะเด่นของพระราชบิดา เป็นอย่างไร

จากการเปรียบเทียบผมสรุปว่า จิตรกรผู้วาดต้นฉบับ มีฝีมือ และพรสวรรค์เป็นเลิศ
สามารถถ่ายทอดพระลักษณะออกมาได้อย่างสมเหตุสมผล และ พระบรมรูปเขียนในพระที่นั่งจักรีสามารถใช้อ้างอิงได้ครับ


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 พ.ค. 16, 19:33

กรณีพระบรมรูปเขียน รัชกาลที่ ๒

ใช้ข้อมูลภาพเฉลี่ยจาก พระรูปของพระราชโอรส ต่างพระมารดา จำนวน ๔ พระองค์
ได้ลักษณะเด่นปรากฏค่อนข้างชัดเจน

ได้รูปประกอบจินตนาการดังนี้ครับ
จะเห็นได้ว่าจิตรกรสามารถวาดพระบรมรูปออกมาได้อย่างดียิ่ง


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 พ.ค. 16, 12:51

กรณีพระบรมรูปเขียน รัชกาลที่ ๓

คำนวณใหม่โดยใช้ข้อมูลภาพเฉลี่ยจาก พระรูปของพระราชโอรส ต่างพระมารดา จำนวน ๔ พระองค์


กระทู้: ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 พ.ค. 16, 14:05

กรณี พระบรมรูปเขียน รัชกาลที่ ๑

ใช้วิธิที่แตกต่างออกไปเล็กน้อยในการสร้างรูปจำลองเพื่อการเปรียบเทียบ

ข้อสรุปยังคงเดิมคือ พระบรมรูปเขียนในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีความน่าเชื่อถือ
จิตรกรสามารถสร้างผลงานออกมาได้ดีเยี่ยม เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ

ผมคิดว่าได้นำเสนอข้อมูลตอบและคำถามนี้ในอีกมุมมองหนึ่งแล้ว
ท่านอื่นจะมีข้อสรุปเป็นอย่างอื่นอย่างใด ก็สุดแท้แล้วแต่การพิจารณาของแต่ละบุคคลครับ