เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 11, 20:08



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 11, 20:08
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/2/25/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8D.jpg/429px-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8D.jpg)

     "...ชาวยุโรปในประเทศสยามส่วนมากเรียกวังหน้าว่า "ยอร์ช" ลักษณะท่าทางของวังหน้าดูออกจะเป็นคนไทยโบราณที่สุภาพอ่อนโยน    ค่อนข้างจะทรงพระเจริญ  ทรงสูงกว่าคนไทยทั่วๆไปมาก  พระพักตร์ยิ้มแย้มแจ่มใส   พระนลาฏกว้าง พระปรางอูม  พระชนมายุอยู่ในมัขฌิมวัยประมาณ ๔๒ พรรษา"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 11, 20:51
       ย้อนหลังไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ชื่อคาร์ล บ็อก วัย ๓๘ ปี เดินทางมาถึงสยาม      ภารกิจของเขาก็คือมาสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งราชอาณาจักรสยามและลาว  บ็อกเคยสำรวจปัตตาเวียและบอร์เนียวมาแล้ว ก่อนจะเลยมาถึงสยาม
       บ็อกเข้าพบเจ้ากรมท่า  แจ้งเรื่องภารกิจของเขา และขอให้ท่านนำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลขอเฝ้าพระมหากษัตริย์แห่งสยาม   ก็ได้รับการต้อนรับจากเจ้ากรมท่าเป็นอย่างดี    นอกจากได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    เขายังโชคดีได้เข้าเฝ้าพระบรมวงศานุวงศ์ผู้มีความสำคัญรองลงมา  ในฐานะพระมหาอุปราชแห่งราชอาณาจักร   ซึ่งฝรั่งเรียกว่า The Second King  
       คำนี้  ชาวบ้านเรียกกันว่า วังหน้า  พระนามเป็นทางการของวังหน้า  คือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

        นับแต่เริ่มต้นราชวงศ์จักรีพร้อมกับการตั้งเมืองหลวง    รัตนโกสินทร์มีวังหน้ามาแล้ว ๕ พระองค์ ใน ๔ รัชกาล   มีพระองค์เดียวคือเจ้าฟ้าอิศรสุนทร  ได้ทรงเลื่อนขึ้นเสวยสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๒     อีก ๔ พระองค์ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯจนสิ้นพระชนม์     
        พระองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ ๖ ในรัชกาลที่ ๕   ทรงพระนามว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
  


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 11, 22:15
      ปีที่คาร์ล บ็อกเข้ามา    วิกฤตวังหน้า ในพ.ศ. ๒๔๑๗   อันเป็นเหตุการณ์ระทึกทางการเมืองที่ทำให้วังหน้ากับวังหลวงหวุดหวิดจะมีเรื่องปะทะกัน  และอาจลุกลามจนสยามถูกแบ่งแยกออกเป็นสยามเหนือ-สยามใต้    ได้จบลงเรียบร้อยไปแล้ว ๗ ปี   จากนั้นก็ไม่มีเรื่องราวกระทบกระทั่งอะไรกันอีก
     ช่วงเวลาที่บ็อกได้เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็น ๔ ปีก่อนเสด็จทิวงคต     ดังนั้นเหตุการณ์ที่บ็อกได้พบเมื่อเข้าเฝ้าวังหน้า  และได้เข้าไปถึงพระราชฐานฝ่ายใน  ก็เป็นบรรยากาศในช่วงปลายรัชสมัยของวัง    ซึ่งทางประวัติศาสตร์ของไทยไม่ได้เอ่ยถึงกี่มากน้อย
     บ็อกเข้ามาในกรุงเทพช่วงระยะสั้นๆ แต่ก็ไปทำความรู้จักกับฝรั่ง(ซึ่งมีอยู่หยิบมือเดียว)ได้หลายคน      ตามบันทึกของเขา พวกฝรั่งยุโรปแม้ต่างประเทศกัน  มีความเป็นมิตรระหว่างกันอย่างดี    ให้ความช่วยเหลือร่วมมืออย่างเต็มอกเต็มใจ ในการสำรวจของบ็อก      ดิฉันเชื่อว่าบ็อกเองก็คงได้พูดคุยกับมิตรใหม่พวกนี้มากพอจะได้รับการถ่ายทอดความรู้สึกที่พวกเขามีต่อราชสำนักและบุคคลสำคัญของสยามได้อย่างไม่ปิดบัง    แม้ว่าอาจไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดอะไรมากนัก
    ดังนั้นพอจะอนุมานได้ว่า ความรู้สึกที่พวกฝรั่งมีต่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  ออกไปในทางเป็นมิตรดี     การที่เจ้านายพระองค์นี้ตรัสภาษาอังกฤษได้คล่อง   ทรงมีงานอดิเรกหลายอย่างที่แสดงถึงวิชาความรู้ทางตะวันตก   เป็นทั้งกวี ศิลปินและช่าง    คล้ายกับสมเด็จพระบวรราชชนกคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทำให้ฝรั่งพวกนี้ให้การยอมรับนับถืออยู่มาก


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 11, 09:43
    กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงใช้เวลาไปในการทำอะไรบ้าง ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ  บ็อกได้ให้คำตอบ ซึ่งก็คงเป็นความรู้ที่เห็นเองส่วนหนึ่ง  และได้รับถ่ายทอดมาจากชาวต่างประเทศด้วยกันในกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่ง   เพราะตัวเขาเองอยู่ในเมืองหลวงช่วงสั้นๆ   ไม่มากพอจะเห็นรายละเอียดได้     ก่อนจะเดินทางขึ้นไปสำรวจสภาพทางภูมิศาสตร์ของภาคเหนือ
    
    "...พระองค์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองนัก    ทรงเป็นนักศึกษาเกี่ยวกับแร่ธาตุต่างๆ    และได้สะสมแร่ไว้เป็นจำนวนมาก   ทั้งยังโปรดวิชาวิศวกรรมเครื่องกล    พระองค์มีแบบจำลองของโรงงานที่ใช้เครื่องยนต์ และได้ให้ข้าพเจ้าชมเครื่องยนต์ไอน้ำ ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาเองด้วย  
     วังหน้าทรงมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพของกองทัพไทย   ซึ่งคงไม่เหมาะกับพระองค์เลย   ถ้าเกิดรบทัพจับศึกกันขึ้นมาจริงๆ"

     บ็อกบันทึกไว้ต่อไปว่า ในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๔   เขาได้เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ เพื่อรับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ   เพราะเป็นธรรมเนียมที่พระราชทานเลี้ยงในวันนี้ เพื่อการฉลองวันประสูติของพระองค์มาหลายปีแล้ว   พร้อมกับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง คือพระชนนีมีอายุ ๖๔ ปี พอดี

     ขอแยกซอยออกไปหน่อย ว่า
     ๑   กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ตามหลักฐานในหนังสือราชสกุลวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ ๖ กันยายน   แต่บ็อกบอกว่า ทรงฉลองวันประสูติในวันที่ ๒ กรกฎาคม  ซึ่งตรงกับวันครบรอบวันเกิดของเจ้าคุณจอมมารดาเอม  เจ้าจอมมารดาของพระองค์ท่าน
     ๒ จากบันทึกของบ็อก ทำให้รู้ว่าเจ้าจอมมารดาเอม เกิดประมาณวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐  
     ที่ใช้คำว่าประมาณ  เพราะทางไทยนับวันเดือนปีแบบจันทรคติ    ไม่ใช่สุริยคติแบบฝรั่ง  เพราะฉะนั้น ดิฉันก็เลยคิดมาก เผื่อไปว่า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๒๔ ที่บ็อกเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง อาจจะตรงกับวันเกิดทางจันทรคติของเจ้าคุณจอมมารดาเอม  ซึ่งในปีพ.ศ. ๒๔๒๔ มาตรงกับ ๒ กรกฎาคม   แต่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ. ๒๓๖๐  อันเป็นปีเกิดของท่าน   นับทางจันทรคติปีนั้น อาจไม่ตรงกับ ๒ ก.ค. จะเป็น ๑ ก.ค. หรือ ๓ ก.ค. ก็เป็นได้
     แต่ถ้ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงนับวันเกิดของเจ้าจอมมารดาของท่านแบบสุริยคติ ก็แสดงว่าเจ้าคุณเอมเกิดเมื่อ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๐    
      ทำให้อยากจะรู้ต่อไปว่าเมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสมัยเป็นเจ้าฟ้าน้อย ผนวชเป็นพระภิกษุ  มาพบกับท่านนั่งรอตักบาตรพระสงฆ์อยู่ที่ท่าน้ำ   จนเกิดกรณีทรงปิดฝาบาตรงับทัพพีตักข้าวของลูกสาวเจ้าของบ้าน จนทัพพีตกน้ำไป     ปีนั้นเจ้าคุณเอมอายุเท่าใด  
     สมเด็จพระปิ่นเกล้าประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๑    แก่กว่าเจ้าคุณเอม ๙ ปี    ผนวชเมื่อใดไม่ทราบ แต่น่าจะมากกว่าพระชนม์ ๒๐ หรือ ๒๑ ตามประเพณี    เพราะถ้าผนวชเมื่อพระชนม์ ๒๐ แล้วมารับบาตรที่บ้านเจ้าคุณเอม  เจ้าคุณเอมท่านก็อายุแค่ ๑๑ ขวบเท่านั้น    หรือเพิ่มอีกสักปีก็ ๑๒  คงจะเพิ่งพ้นโกนจุกใหม่ๆ      
     จึงยังไม่ได้คำตอบในข้อนี้อยู่ดี


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 11, 11:20
    บ็อกบรรยายว่าเขาเข้าเฝ้าในท้องพระโรง  เห็นจะเป็นพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์?    วังหน้าประทับอยู่บนพระเก้าอี้เท้าแขนตัวหนาเทอะทะ   มีฝรั่งชื่อมิสเตอร์เพลเกรฟ และมิสเตอร์นิวแมนประทับอยู่ทางขวาและซ้ายตามลำดับ    มหาดเล็กนำน้ำชากาแฟเข้ามาเสิฟ
มิสเตอร์นิวแมนทำหน้าที่ล่ามให้ตามเคย
    ถึงตรงนี้คงมีผู้สงสัยว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญตรัสภาษาอังกฤษได้คล่อง   เหตุใดจึงต้องใช้ล่าม      ข้อนี้บ็อกอธิบายไว้เมื่อคราวเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    เขาเล่าว่าพระเจ้าอยู่หัวตรัส เขียนและอ่านภาษาอังกฤษได้ดี     ทรงเข้าพระทัยทุกคำที่ฝรั่งพูด    แต่เมื่อตรัสตอบผู้ที่มาเข้าเฝ้า จะตรัสเป็นภาษาไทย   เพราะไม่สมควรที่พระมหากษัตริย์แห่งสยาม จะมีพระราชดำรัสเป็นภาษาอื่นนอกจากภาษาไทย
    ข้อนี้คงใช้สำหรับวังหน้าด้วยเช่นกัน

   ในฐานะนักธรรมชาติวิทยาและทำงานด้านภูมิศาสตร์  บ็อกก็เลยบันทึกสถานที่ไว้ละเอียดลออดี     เขาเล่าว่าภายนอกท้องพระโรงเป็นสวนตกแต่งแบบจีน   มีไม้ดัดเป็นรูปต่างๆ  มีอ่างปลาประดับด้วยสะพานกระเบื้องเล็กๆแบบจีน     ใบหนึ่งเลี้ยงปลาหมอซึ่งพ่นน้ำจับเหยื่อได้แม่นยำ  และมีปลากัดสีต่างๆด้วย     


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 18 ก.พ. 11, 13:02
มาลงทะเบียนเข้าเรียนในชั้นครับ  อาจารย์

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อพระชนม์ 14 พรรษา   ผนวชเมื่อพระชนม์ 21 พรรษา ที่วัดระฆังโฆษิตาราม ครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ก.พ. 11, 14:43


มารายงานตัวอีกคนค่ะ  คุณเทาชมพู

ตามอ่านประวัติเจ้าหน้าที่กงสุลอังกฤษมาบ้าง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ก.พ. 11, 08:55
เข้ามาอ่านครับ และจะรออ่านต่อไปครับ ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Khonsu ที่ 19 ก.พ. 11, 12:58
รออ่านต่อค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 09:44
สวัสดีทุกท่านค่ะ  มาปูเสื่อ วางน้ำร้อนน้ำชาหมากพลูบุหรี่บนนอกชานเรือนไทย    เพื่อเชิญร่วมวงสนทนา ตามอัธยาศัย

คุณบุ๊ค   ถ้าหากว่าสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯผนวชเมื่อพระชนม์ ๒๑     ส่วนเจ้าคุณจอมมารดาเอมอ่อนกว่าท่าน ๙ ปี  ก็แปลว่าท่านทรงพบเมื่อเจ้าคุณเอมอายุ ๑๒ เท่านั้นเอง
ดิฉันเห็นจะต้องรอข้อมูลอื่นๆมากกว่านี้ละค่ะ

ขอเชิญคุณวันดีบอกเล่าเรื่องกงสุลอังกฤษ ค่ะ
**********************
บ็อกเล่าต่อว่า เขาโชคดี ได้ตามเสด็จวังหน้าเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นใน  เพื่อไปอวยพรวันเกิดเจ้าจอมมารดาของพระองค์ท่าน  ทำให้บ็อกตื่นเต้นมาก    เขาเคยไปหลายประเทศ ที่มี "ฝ่ายใน" แต่ก็ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานที่หวงห้ามแบบนั้น
สิ่งหนึ่งที่ฝรั่งนักเดินทางมาตะวันตก ชอบบันทึกกันเอาไว้คือจำนวนพระสนมมากมายของกษัตริย์และเจ้าชายในประเทศตะวันออก     คงเป็นเพราะประเทศพวกเขาไม่มี      จึงตื่นตาตื่นใจกับเรื่องนี้ ไม่ว่าคนไหนคนนั้น
นายบ็อก เท่าที่อ่านจากบันทึก นอกจากเป็นคนละเอียดลออด้านภูมิศาสตร์แล้ว ยังน่าจะชอบเรื่องซุบซิบประเภทเบื้องหลังคนดัง        เพราะแกบันทึกเกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับจำนวนเจ้าจอมหม่อมห้ามของวังหน้าเอาไว้  ว่า

"วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสถามวังหน้าว่ามีชายาทั้งหมดเท่าไร    เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานแหวนให้คนละวง   วังหน้าไม่สามารถจะนึกจำนวนที่ถูกต้องได้ทันที   จึงทูลตอบว่ามีอยู่ราว ๕๐ คน  ซึ่งก็นับว่าเป็นการคาดคะเนที่ใกล้เคียงต่อความจริงอยู่  แต่เมื่อได้รับพระราชทานแหวน ๕๐ วง ในระยะสองสามวันต่อมาเป็นการแสดงความโปรดปราน   และวังหน้าได้นำแหวนเหล่านี้ไปวัดนิ้วประทานแก่บรรดาสนมทั้งหลายแล้ว  จึงได้ทราบว่าแหวนขาดไป ๔ วง    เลยต้องกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าพระองค์ทรงกะพลาดไปเล็กน้อย    เพราะมีชายาทั้งหมด ๕๔ องค์ด้วยกัน    ชายาอีก ๔ องค์ย่อมจะริษยาบรรดาชายาอีก ๕๐ องค์เป็นแน่   ถ้าพวกตนมิได้รับพระราชทานแหวนด้วย"


นายบ็อกไม่ได้เล่าตอนจบว่า พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแหวนเพิ่มอีก ๔ วงหรือไม่    แต่ก็คิดว่าน่าจะพระราชทานเพิ่มตามที่ทูลขอ

ฝรั่งมักอยากทราบจำนวนเจ้าจอม   หมอสมิธแพทย์หลวงประจำองค์สมเด็จพระพันปีก็เคยทูลถามเรื่องนี้เหมือนกัน    หมอได้คำตอบว่า พระพันปีก็ไม่ทรงทราบจำนวนที่แน่นอนว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีเจ้าจอมทั้งหมดเท่าไรกันแน่
ที่เราทราบจำนวนกันแน่ๆคือจำนวนเจ้าจอมมารดา  เพราะมีหลักฐานบันทึกไว้   แต่เจ้าจอมที่ไม่มีพระองค์เจ้า อาจมีมากกว่าที่คิดกันก็ได้  ในกระทู้เก่าของเรือนไทยก็เคยค้นหากันเรื่องเจ้าจอมกิมเนียว   ซึ่งคนทั่วไปไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 09:59
ขอแยกซอยหน่อย

บ็อกบอกว่าบรรดาเจ้าจอมทั้งหมดของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ มีจำนวน ๕๔ คน  ดิฉันก็เลยขอนับเจ้าจอมมารดาดูบ้างว่ามีกี่ท่าน   เปิดหนังสือราชสกุลวงศ์   นับออกมาได้ตามนี้

๑  จอมมารดาม.ล. ปริก
๒  จอมมารดา กรุด
๓  จอมมารดา เข็ม
๔  จอมมารดา ปริกเล็ก
๕  จอมมารดา เวก
๖   จอมมารดา ละม้าย
๗  จอมมารดา เลี่ยมเล็ก
๘  จอมมารดา เลี่ยมใหญ่
๙  จอมมารดา เขียวใหญ่
๑๐  จอมมารดา ปุ้ย
๑๑  จอมมารดา จั่น
๑๒  จอมมารดา ม.ล.นวม ปาลกวงศ์
๑๓ จอมมารดาป้อม
๑๔ จอมมารดาม.ร.ว.กลีบ
๑๕ จอมมารดา อิน
๑๖ จอมมารดา ต่วน
๑๗ จอมมารดา สมบุญ
๑๘ จอมมารดา สุ่นใหญ่
๑๙ จอมมารดา เขียวเล็ก
๒๐ จอมมารดา ปริกใหญ่
๒๑ จอมมารดา สุ่นเล็ก
๒๒ จอมมารดา ยิ้ม
๒๓ จอมมารดา สอาด
๒๔ จอมมารดา ม.ร.ว. เชื้อ อิศรางกูร
๒๕ จอมมารดา แข

อีก ๒๙ ท่าน ไม่มีพระองค์เจ้า


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 12:17
ที่เดาตอนแรกว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  สืบต่อจากสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ   นายบ็อกเข้าเฝ้าที่นั่น   กลับไปเช็คแล้ว น่าจะผิด
บ็อกน่าจะเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน ที่"พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส" อันเป็นสถานที่ประทับที่ทรงสร้างขึ้นมากกว่า     ส่วนทรงนำนายบ็อกไปเข้าพบพระชนนี   น่าจะเป็นส่วนที่โปรดให้เจ้าคุณจอมมารดาเอม ขึ้นมาอยู่    ตรงที่มุขตะวันออก อันเรียกว่า "พระที่นั่งบูรพาภิมุข"

คุณ siamese มีรูปหรือแผนที่ ไหมคะ?

มาดูกันต่อว่า  พระที่นั่งบูรพาภิมุข เป็นยังไง
บ็อกเล่าว่า เขาถูกนำผ่านห้องโถง ๒ ห้อง  มีผู้หญิงอยู่หลายคน  ส่วนใหญ่เป็นหญิงแก่ผมหงอก   จากนั้นก็มาถึงห้องสูงยาว หน้าตาเหมือนห้องพักผ่อน หรือห้องแต่งตัวของผู้หญิง  มีผู้หญิงอยู่ในห้องนี้หลายคน ดูอายุจะยังสาวอยู่บ้าง  มีเด็กหญิงไว้จุกปักดอกไม้กลิ่นหอมแรง (เดาว่าเป็นมะลิ หรือเขี้ยวกระแต)
ทางซ้ายมีฉากจีนเก่าแก่แต่สวยงามมาก ทำด้วยไม้สลักทาสี ปิดทองสวยงาม  บ็อกสงสัยว่ามีผู้หญิงสาวๆอยู่หลังฉากบ้างหรือเปล่า    ดิฉันคิดว่าอาจเป็นได้ที่ฉากนี้กั้นทางเดินของฝ่ายใน  เป็นระเบียงยาวหรืออะไรทำนองนั้น   ไม่ให้คนภายนอกมองเข้าไปเห็นได้
พอพ้นตรงนี้ บ็อกก็มาถึงห้องที่ตกแต่งอย่างสวยงาม   ตรงนี้เองมีหญิงชราจำนวนมากหมอบเฝ้าอยู่     แต่ไม่มีสาวๆ เพราะพวกสาวๆหลบเข้าข้างในไปเสียก่อนแล้วที่อาคันตุกะจะมาถึง
เดาว่าหญิงชราที่หมอบเฝ้าน่าจะเป็นพวกท้าวนาง หรือเจ้าจอมอาวุโสในวังหน้ารัชกาลก่อนๆ    แวดล้อมสตรีสำคัญ ๒ ท่านที่ยืนอยู่ตรงกลาง  คือเจ้าคุณจอมมารดาเอม   และพระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่ประสูติจากเจ้าคุณจอมมารดาเอม คือพระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์ พระขนิษฐาของวังหน้า
อีกด้านหนึ่งของพระที่นั่งบูรพาภืมุข ออกไปเป็นสนามกว้าง   มาถึงตรงนี้ก็เกือบจะกึ่งกลางพระราชฐานแล้ว   


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 11, 14:00
ที่เดาตอนแรกว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  สืบต่อจากสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ   นายบ็อกเข้าเฝ้าที่นั่น   กลับไปเช็คแล้ว น่าจะผิด
บ็อกน่าจะเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน ที่"พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส" อันเป็นสถานที่ประทับที่ทรงสร้างขึ้นมากกว่า     ส่วนทรงนำนายบ็อกไปเข้าพบพระชนนี   น่าจะเป็นส่วนที่โปรดให้เจ้าคุณจอมมารดาเอม ขึ้นมาอยู่    ตรงที่มุขตะวันออก อันเรียกว่า "พระที่นั่งบูรพาภิมุข"

คุณ siamese มีรูปหรือแผนที่ ไหมคะ?

   

แนบแผนผังหมู่พระวิมาน ซึ่งแสดงถึง พระที่นั่งบูรพาภิมุข ครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 11, 14:19
ปัจจุบันพระที่นั่งบูรพาภิมุข ใช้เป็นห้องจัดแสดงเครื่องดนตรีไทย

จากที่นายบ๊อก บรรยายไว้ก็ไม่ไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งมุมนี้มองออกไปด้านนอกจะเป็นสวนโปร่ง ซึ่งมีอยู่ ๒ ฝั่งของหมู่พระวิมาน รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นสระปลูกบัวนิดๆไว้




กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 11, 15:17
"ทางซ้ายมีฉากจีนเก่าแก่แต่สวยงามมาก ทำด้วยไม้สลักทาสี ปิดทองสวยงาม  บ็อกสงสัยว่ามีผู้หญิงสาวๆอยู่หลังฉากบ้างหรือเปล่า    ดิฉันคิดว่าอาจเป็นได้ที่ฉากนี้กั้นทางเดินของฝ่ายใน  เป็นระเบียงยาวหรืออะไรทำนองนั้น   ไม่ให้คนภายนอกมองเข้าไปเห็นได้"

สำหรับเรื่องฉากจีน ผมมีความเห็นต่างกับ อ.เทาชมพูครับ กระผมนึกถึงฉากสำหรับกั้นแบ่งห้อง ๑ กับ ฉากไม้ใหญ่ๆ ที่ขวางกั้นทางเดินตรงประดูทางเข้า ๑  ทำด้วยเครื่องไม้สลับการกรุกระจก ระบายสีน้ำมันลายดอกไม้ (มีตัวอย่างให้เห็นที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว)

สำหรับฉากไว้สำหรับกั้นห้องก็จะขอนำภาพหมู่พระวิมานในพระบรมมหาราชวังประกอบ เพื่อให้เห็นลักษณะของฉากยาวๆที่ขวางไว้ เพื่อแบ่งเป็นห้อง ตรงนี้เองที่นายบ๊อก อาจจะสงสัยว่า มีใครอยู่หลังฉากนี้ครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 15:35
ตอนอ่าน   ดิฉันไม่ได้นึกอย่างที่คุณ siamese ค่ะ    เมื่อบอกว่าเป็นฉากจีน ก็เลยเข้าใจว่าเป็นฉากพับ ลับแล ที่กางออกมาเต็มที่แล้วเป็นที่กั้นห้องหรือทางเดินได้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ก.พ. 11, 17:07
ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ

พยายามจะเก็บประวัติ จาก Siam Repository 1 and 2        สำหรับรายนี้ วิกิพีเดียมีอยู่พอใช้เลยค่ะ


       กระทรวงต่างประเทศอังกฤษแปลกมากที่ส่งพัลเกรฟ( Willlilam Gifford Palgrave)  มาสยามในตอนนั้น   เพราะเป็นข้าราชการฝีมือดีเยี่ยมในด้านอาหรับ

รู้ภูมิประเทศและเคยเดินทางลึกเข้าไปในดินแดนตะวันออกกลางทำงานให้องค์การทางศาสนาและจักรวรรดิฝรั่งเศส  ปลอมตัวเป็นมุสลิม

เพราะคนที่ไม่ใช่มุสลิมจะไม่สามารถผ่านทางไปได้เลย    ตอนที่อยู่ซีเรียก็ปลอมเป็นแพทย์ไซเรียน  มียาติดตัวและมีสินค้านิดหน่อย

อาจจะเป็นการสลับตำแหน่ง เพราะเมื่อ ๓ ปีก่อนเขาประจำอยู่มะนิลา  

       เป็นบุคคลมีชาติตระกูลเเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สอนศาสนาและทหารประจำการในบริติชอินเดียในตอนนั้น    บิดาเป็นเซอร์ ฟรันซิส  พัลเกรฟ  

แม่ชื่ออลิซาเบธ เทอร์เนอร์    เคยบันทึกไว้ว่าตานั้นเป็นนายธนาคาร  เรียนหนังสือจบอ็อกซ์ฟอร์ด

พัลเกรฟเป็นลูกคนที่สอง  จึงต้องมาผจญภัยต่างแดนเพื่อสร้างตัว  ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปเป็นทหาร หรือ รับใช้ศาสนา

       หลังจากเขาเดินทางกลับจากซีเรีย  เขียนหนังสือเรื่องการผจญภัยไว้เล่มหนึ่ง   ขายดีมากและพิมพ์ซำ้หลายครั้ง

ในเรื่องนี้  คงไม่มีบทบาทมาก   แต่ก็น่าสนใจอยู่ดี   ว่าในเวลานั้น  อังกฤษมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาหลายคน

       การเป็นนักเรียนล่าม  นั้น  เด็กอังกฤษที่การศึกษาครึ่ง ๆ กลาง ๆ  ก็ได้ดีกันมาหลายคน

เพราะราชการอังกฤษอนุโลมให้เรียนเพิ่มเติมและสอบเลื่อนขั้นไปเรื่อย ๆ      


      


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.พ. 11, 04:37

       กงสุลฝรั่งเศสในเมืองไทยในระยะต่อมาคือ  ดร. อาร์มองต์  ได้เสนอพระนามกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ไปยังกระทรวงศึกษาธิการและศิลปากร(Ministere  de  I'Instruction Publique et des Beaux Arts) ที่กรุงปารีส

แบะทรงได้รับประกาศนียบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖

(อ่านมาจาก  ของสวยของดีครั้งแผ่นดินพระพุทธ้จ้าหลวง  ของ ศาสตาจารย์พิเศษธงทอง  จันทรางศุ  พิมพ์ครั้งที่ ๓ (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. ๒๕๕๓  หน้า ๓๔)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 11, 09:29
^
ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ
************************
       บ็อกบรรยายไว้ว่า ห้องนี้สว่างด้วยตะเกียงน้ำมันมะพร้าวนับเป็นร้อยๆดวง   ผนังประดับกระจกอีกมากมายช่วยสะท้อนแสงให้สว่างไสว    สุดปลายห้อง จัดเครื่องแก้วตั้งไว้เหมือนเป็นที่บูชา   ตั้งตะเกียงไว้เต็ม   และบนยอดสุดตั้งพระพุทธรูปปิดทองไว้องค์หนึ่ง (คงหมายถึงโต๊ะหมู่บูชา)
      เขาบรรยายเจ้าคุณจอมมารดาเอมไว้ว่า เป็นสตรีสูงอายุท่าทีภูมิฐาน  สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตร   ส่วนอีกคนหนึ่งดูเผินๆ เหมือนเด็กหนุ่มวัยรุ่นอายุสัก ๑๔-๑๕     รูปร่างบอบบาง ผมตัดสั้น     แต่ที่จริงไม่ใช่เด็กชาย หากแต่เป็นหญิงสาว อายุน่าจะไม่ต่ำกว่า ๑๘ แล้ว  ทรงเป็นพระขนิษฐาพระองค์เล็กของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   
      สตรีทั้งสอง จับมือกับบ็อกตามธรรมเนียมตะวันตก   มีทาสถือถาดเงินวางดอกไม้มาประทานผู้เข้าเฝ้าคนละช่อ   หมอสมิธผู้เข้าเฝ้ามอบยาดมให้เจ้าคุณเอมหนึ่งขวด  ท่านก็มีท่าทีพอใจมาก   บ็อกเล่าว่าเจ้าภาพสตรีทั้งสองต้อนรับและสนทนากับเขาอย่างยิ้มแย้มเป็นมิตร  พูดคุยด้วยนาน   โดยเฉพาะเจ้าคุณเอม เป็นคนช่างพูดช่างคุย จนมิสเตอร์นิวแมนผู้ทำหน้าที่ล่าม ต้องทำหน้าที่ไม่ขาดปาก    จนกระทั่งบ็อกหิวจัด เพราะเลยเวลาอาหารเย็นไปแล้ว    ก็เลยกราบทูลลา กลับออกมาเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯซึ่งประทับอยู่ที่เดิม ไม่ได้เสด็จเข้าไปฝ่ายในด้วย
     กรมพระราชวังบวรฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำให้บ็อก บนพระตำหนักอีกหลังหนึ่ง    แต่ทรงขอพระองค์ไม่ร่วมเสวยด้วย   อาหารนั้นน่าจะเป็นดินเนอร์แบบฝรั่ง  บ็อกเล่าว่ามีมหาดเล็กรับใช้และมีวงดนตรีเล่นทั้งเพลงฝรั่งและไทยให้ฟังด้วย   
     อย่างหลังนี้   ถ้าเป็นวงมโหรีของไทย น่าจะมีการเรียบเรียงเสียงประสานดนตรีแบบฝรั่งละมัง?

      ทีนี้ลองมาดูกันว่า เราพอรู้อะไรบ้างเพิ่มเติมจากคำบอกเล่าของบ็อก
      สตรีฝ่ายในของวังหน้า อย่างน้อยก็เจ้าคุณเอมและพระขนิษฐาองค์เล็กของกรมพระราชวังบวรฯ น่าจะทันสมัย   คุ้นเคยในการรับแขกต่างชาติต่างภาษามานานปี      เห็นได้ว่าเจ้าคุณเอมซึ่งมีวัย ๖๔ ปีแล้ว  ไม่ได้มีท่าทีเงียบขรึมหรือไว้ตัวอย่างคนไม่เคยชิน  ตรงกันข้ามกลับพอใจในการพูดคุยรับรู้เรื่องต่างๆของฝรั่งเป็นอย่างดี     
       ท่านอาจจะเคยตามเสด็จสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ออกรับแขกเมืองที่มาเฝ้าในวังหน้ามาก่อนก็เป็นได้   ขนาดในวังหน้ามีโฮเต็ลรับรองแขกต่างชาติ    ก็คงมีฝรั่งมาเฝ้าไม่ขาดสาย     เมื่อมาถึงวังหน้ารัชกาลที่ ๕  เจ้าคุณเอมก็ยังคงมีมิตรสัมพันธ์กับอาคันตุกะต่างแดนทั้งหลายอยู่     เห็นได้จากท่านก็หัดพระธิดาให้ออกรับแขกฝรั่งต่างๆอย่างไม่เก้อเขินด้วยเช่นกัน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 11, 11:32
      กลับมาดูเรื่องเจ้าคุณจอมมารดาเอม กันบ้าง  
      ดิฉันไม่ทราบว่าท่านเข้าวังเป็นหม่อมของของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (หรือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)ตั้งแต่พ.ศ.ใด     แต่ท่านมีพระองค์เจ้าองค์แรกเมื่ออายุ ๑๘ ปี    พระองค์เจ้าหญิงประสูติในพ.ศ. ๒๓๗๘  คือ ๖ ปีหลังสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ลาผนวช (ในพ.ศ. ๒๓๗๒) เป็นพระธิดาพระองค์แรกในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯ
      ขอลำดับพระโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ที่ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม ดังนี้
      ๑  พระองค์เจ้าหญิง     (ไม่มีพระนาม) ประสูติพ.ศ. ๒๓๗๘  สิ้นพระชนม์
      ๒  พระองค์เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน   ประสูติ พ.ศ. ๒๓๘๑   คนทั้งหลายเรียกพระนามว่า พระองค์เจ้ายอด   ถึงรัชกาลที่ ๔  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ ว่า พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ  บวรราโชรสรัตนราชกุมาร  ต่อมาคือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
      ๓  พระองค์เจ้าชายปรีดา ประสูติ พ.ศ.๒๓๘๕
      ๔  พระองค์เจ้าชายเนาวรัตน์  กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์  ประสูติพ.ศ. ๒๓๘๘
      ๕  พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์  ประสูติพ.ศ. ๒๓๙๓

      ตอนที่บ็อกเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์   แล้วคะเนว่าท่านดูเหมือนเด็กรุ่นๆอายุ ๑๔-๑๕  ทั้งๆคงมีพระชนม์ไม่ต่ำกว่า ๑๘ นั้น   แกคาดผิดไปไกล  เพราะในปีนั้นพระองค์หญิงทรงมีพระชันษา ๓๑ แล้ว

      พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์ทรงมีพระชนม์ยืนยาวมาจนถึงรัชกาลที่ ๖   เป็นเจ้านายฝ่ายในของวังหน้าที่มีความสำคัญยิ่งพระองค์หนึ่ง     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดเกล้าฯให้พระองคเจ้าวงจันทร์ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้า แทนพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ที่สิ้นพระชนม์ไปก่อน   นับเป็นเจ้านายสำคัญฝ่ายในองค์สุดท้ายของวังหน้า  
       เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์เจ้าวงจันทร์สิ้นพระชนม์ เจ้านายข้างในของวังหน้าเหลืออยู่น้อยพระองค์ สมัครพระทัยจะเสด็จไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯทรงย้ายไปประทับในพระราชวังหลวงทั้งหมด  
       พระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังบวรฯซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯก็ชำรุดทรุดโทรม  ไม่สมควรจะเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิต่อไป จึงโปรดฯให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระอัฐิ กรมพระราชวังบวรฯทั้ง ๔ พระองค์ จากพระราชวังบวรฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ มาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารพระธาตุ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนที่วังหน้านอกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานนั้น ก็อยู่ในความดูแลของกระทรวงกลาโหมแทน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 12:24
      ดังที่บ็อกกล่าวไว้  กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงโปรดการช่างด้านต่างๆ   มีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ       งานช่างวังหน้าที่ตกทอดมาเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าถึงปัจจุบัน   มีอย่างน้อย ๒ อย่าง
      อย่างแรกคือคือเครื่องเคลือบกระเบื้องลายน้ำทอง เขียนลวดลายเรื่องรามเกียรติ์  
      กรมพระราชวังบวรฯ ทรงสั่งซื้อเครื่องถ้วยสีขาวจากต่างประเทศมาเขียนสี  และเผาเอง  เขียนสีเป็นภาพรามเกียรติ์ พระอภัยมณี เป็นชามฝา และ กระโถนค่อม สำหรับกระโถนค่อม เขียนภาพรามเกียรติ์ตอนต่าง ๆ เป็นภาพสีสอดเส้นทอง  ทรงทำประทานเจ้านายมีจำนวนไม่มากนัก   ปัจจุบัน  เป็นที่เรียกกันในหมู่นักสะสมว่า  "เครื่องกระเบื้องเตากรมพระราชวังบวร"
      ดิฉันไม่มีรูป  ถ้าใครมีกรุณานำมาลงในกระทู้ให้ชมกัน จะขอบคุณยิ่ง

      อีกอย่างหนึ่ง คือหุ่นวังหน้า
      ละครหุ่นเป็นที่โปรดปรานของเจ้าคุณจอมมารดาเอม     หุ่นวังหน้าที่ว่าจึงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เล่นละครหุ่น  ทั้งหุ่นจีนและหุ่นไทย   มีบทสำหรับการเล่นหุ่นชุดวังหน้าโดยเฉพาะ  เป็นบทพระราชนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ       ดิฉันจะนำมาให้อ่านกันท้ายกระทู้นี้
      ก่อนอื่นขอเล่าถึงความเป็นมาของหุ่นในประเทศไทยเสียก่อน  

      ประวัติการสร้างหุ่นมีหลักฐานว่ามีตั้งแต่สมัยสุโขทัย  แต่ไม่เรียกว่า หุ่น เรียกว่า "กทำยนตร" แต่เป็นหุ่นชนิดไหน ดิฉันหารายละเอียดมากกว่านี้ไม่ได้       มีบันทึกเรื่องหุ่นเป็นหลักฐานชัดเจนก็เมื่อถึงสมัยอยุธยา   อยู่ในจดหมายเหตุของบาทหลวงตาชาร์ด และลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
       จดหมายเหตุ ทั้งสองฉบับได้บันทึกถึงการเล่นหุ่นเอาไว้ตรงกัน    ทำให้รู้ว่าอย่างน้อยในสมัยสมเด็จพระ นารายณ์มหาราช  อยุธยาก็มีหุ่นแล้ว  จัดเป็นการแสดงให้ประชาชนได้ชม      และคงเป็นงานช่างที่ทำกันเป็นกิจจะลักษณะ   ถึงกับมี กรมช่างหุ่น อยู่ในกรมช่างสิบหมู่


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 13:07
      การแสดงหุ่นเป็นการละเล่นที่มีสืบเนื่องกันมาตลอดสมัยอยุธยา     วัฒนธรรมนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงสมัยธนบุรี    หลักฐานว่าเล่นหุ่นในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ปรากฎอยู่ในหมายรับสั่งหลายฉบับ เช่น พ.ศ. ๒๓๑๙ พระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระพันปีหลวง กรมหลวงพิทักเทพามาต (พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสิน) ณ วัดบางยี่เรือนอก ให้มีการแสดงโขน งิ้ว หนังกลางวัน และหุ่น
      อีกครั้งหนึ่ง  ในพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตจากนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว มาประดิษฐานในพระราชวังกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๒      มีการมหรสพสมโภชพระแก้วมรกต   ด้วยการเล่นมหรสพต่าง ๆ รวมถึงการแสดงหุ่นด้วย
      การ สร้างตัวหุ่นไทย  นิยมสร้างจำลองจากตัวละครในวรรณคดี หรือจำลองจากตัวโขนในเรื่องรามเกียรติ์ เลียนแบบตั้งแต่เครื่องแต่งกาย
เครื่องประดับ ตลอดจนลีลาท่ารำ
     บางคนอาจเคยดูการแสดงหุ่นมาแล้ว   คงแปลกใจว่าทำไมมีหุ่นใหญ่บ้างเล็กบ้าง  หรือหุ่นบางโรงก็มีให้เห็นทั้งตัวมีแขนขาครบ  บางโรงก็มีแต่ท่อนบน  ท่อนล่างเป็นผ้าคลุมเอาไว้เฉยๆ เหมือนหุ่นมือของฝรั่ง   จึงขออธิบายว่าหุ่นไทยไม่ได้มีแบบเดียว      แต่แบ่งได้ถึง ๔ ประเภท
        ๑.  หุ่นหลวง
        ๒.  หุ่นวังหน้า สมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
        ๓  หุ่นกระบอก  
        ๔.  หุ่นละครเล็ก


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 11, 13:10
เครื่องกระเบื้องเตากรมพระราชวังบวร ในภาพเขียนลายเรื่องพระอภัยมณี


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 13:11
นำรูปมาให้ดูค่ะ
  1.  หุ่นหลวง เป็นหุ่นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 1 เมตร เครื่องแต่งกายคล้ายกับเครื่องแต่งกายของโขนหรือละคร การเชิดหุ่นหลวงยืน
เชิดด้วยคนคนเดียว

 


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 13:16
ขอบคุณคุณ siamese ค่ะ ภาพประกอบมาเร็วทันใจ   :D

ดูจากเครื่องกระเบื้อง    เงือกในเรื่องพระอภัยมณี ตามความเข้าใจสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือตามความเข้าใจของวังหน้า เป็นเงือกที่ท่อนล่างเป็นปลา แบบ mermen และ mermaid  ของฝรั่ง   ไม่ใช่เงือกแบบละครรำของไทยแล้วมีหางปลาต่อออกไปทางข้างหลัง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 11, 13:26
เครื่องกระเบื้องเตากรมพระราชวังบวร ในภาพเขียนลายเรื่องพระอภัยมณี ทรงชามฝา


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 11, 13:36
กระโถนค่อม เขียนลายเรื่องรามเกียรติ์


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 11, 13:46
หุ่นหลวง วังหน้าครับ อ.เทาชมพู


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 14:57
^
๒.  หุ่นวังหน้า   ที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดฯให้สร้างขึ้น เป็นหุ่นขนาดเล็กสูงประมาณ 1 ฟุต มี 2 ชนิด คือ หุ่นจีนและหุ่นไทย
               ๑.  หุ่นจีน มีลักษณะเป็นหุ่นมือตระกูลฮกเกี้ยน  เครื่องแต่งกายเลียนแบบเครื่องงิ้ว แต่ท่อนล่างเป็นถุงผ้าสำหรับคลุมมือ มีขา
และเท้า ใช้นิ้วเชิดบังคับให้เคลื่อนไหว
               ๒.  หุ่นไทย มีลักษณะผสมระหว่างหุ่นจีนและหุ่นหลวง คือ มีขนาดเท่าหุ่นจีน แต่ใช้เครื่องแต่งกายและกลไกบังคับแบบหุ่นหลวง 
               คุณ siamese นำมาให้ดูแล้วค่ะ

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=95944

 
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun5.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 15:00
หุ่นจีนวังหน้า

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/408/8408/images/Puppet/IMG_2792.JPG)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 15:45
๓.  แบบที่สามเป็นหุ่นที่เราอาจเคยเห็นมากกว่าแบบอื่น  คือ หุ่นกระบอก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย ม.ร.ว. เถาะ  พยัคฆเสนา  ได้ประดิษฐ์ขึ้นมาเลียนแบบหุ่นของนายเหน่งที่อยู่หัวเมืองเหนือ แล้วตั้งคณะหุ่นกระบอก  ออกแสดงทั่วไป จนได้รับความนิยม
     หุ่นแบบนี้มีแกนเป็นไม้กระบอกยาวประมาณ 9 นิ้ว หัวหุ่นทุกหัวจะต้องมีแกนไม้ต่อจากคอหุ่นลงมา  สำหรับเสียบกับไม้กระบอกซึ่งเป็นลำตัวของหุ่น เครื่องแต่งกายของหุ่นคล้ายโขนและละคร   แต่ไม่ได้มีทั้งตัวอย่างหุ่นหลวงและหุ่นวังหน้า     ท่อนล่างเป็นเสื้อยาวคล้ายถุง   เคลื่อนไหวร่างกายเฉพาะท่อนบน   มีคนเชิดหลายคน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 11, 16:14
๓.  แบบที่สามเป็นหุ่นที่เราอาจเคยเห็นมากกว่าแบบอื่น  คือ หุ่นกระบอก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย ม.ร.ว. เถาะ  พยัคฆเสนา  ได้ประดิษฐ์ขึ้นมาเลียนแบบหุ่นของนายเหน่งที่อยู่หัวเมืองเหนือ แล้วตั้งคณะหุ่นกระบอก  ออกแสดงทั่วไป จนได้รับความนิยม
     หุ่นแบบนี้มีแกนเป็นไม้กระบอกยาวประมาณ 9 นิ้ว หัวหุ่นทุกหัวจะต้องมีแกนไม้ต่อจากคอหุ่นลงมา  สำหรับเสียบกับไม้กระบอกซึ่งเป็นลำตัวของหุ่น เครื่องแต่งกายของหุ่นคล้ายโขนและละคร   แต่ไม่ได้มีทั้งตัวอย่างหุ่นหลวงและหุ่นวังหน้า     ท่อนล่างเป็นเสื้อยาวคล้ายถุง   เคลื่อนไหวร่างกายเฉพาะท่อนบน   มีคนเชิดหลายคน

ขออนุญาตนอกเรื่องไปนิด แต่สืบเนื่องหุ่นกระบอกต่อมาจาก  ม.ร.ว. เถาะ พยัคฆเสนาสู่หุ่นกระบอกขอพ่อคุณยายชื้น นายเปียก ประเสริฐกุล  และคุณยายชื้น และสืบทอดด้วยหุ่นกระบอก อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 16:44
ไม่นอกเรื่องหรอกค่ะ  อยากฟังเรื่องหุ่นกระบอกของอ.จักรพันธุ์เหมือนกัน  เป็นหุ่นที่สวยจริงๆ
แต่ตอนนี้ขอต่อประเภทของหุ่นให้จบก่อน
๔  หุ่นละครเล็ก  เป็นหุ่นที่ครูแกร ศัพทวนิช สร้างขึ้นเมื่อ ๗๐ กว่าปีก่อน   ลักษณะเหมือนหุ่นหลวง แต่ว่าดัดแปลงให้สายใยน้อยลง  ตัวหุ่นสำคัญๆต้องใช้คนเชิดพร้อมกันถึง ๓ คน          ปัจจุบันผู้เชิดเป็นเหลืออยู่นับคนได้ คือ คณะสาครนาฏศิลป์ ของ ครูสาคร ยังเขียวสด หรือ "โจหลุยส์" ซึ่งยังคงสืบทอดศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอยู่ในปัจจุบันนี้

(http://cdn.learners.in.th/assets/media/files/000/031/320/original_15years7.jpg?1285450177)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 23 ก.พ. 11, 17:49
^
๒.  หุ่นวังหน้า   ที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดฯให้สร้างขึ้น เป็นหุ่นขนาดเล็กสูงประมาณ 1 ฟุต มี 2 ชนิด คือ หุ่นจีนและหุ่นไทย
               ๑.  หุ่นจีน มีลักษณะเป็นหุ่นมือตระกูลฮกเกี้ยน  เครื่องแต่งกายเลียนแบบเครื่องงิ้ว แต่ท่อนล่างเป็นถุงผ้าสำหรับคลุมมือ มีขา
และเท้า ใช้นิ้วเชิดบังคับให้เคลื่อนไหว


หุ่นจีนวังหน้า เล่นเรื่องอะไรครับอาจารย์เทา
สามก๊กหรือเปล่า ???


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 18:10
มีเรื่องซวยงัก  หลวงจีนเจ้าชู้ และสามก๊ก ค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 11, 07:32
เพิ่มเติมหุ่นจีนที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงสร้างขึ้น เพื่อเล่นเรื่องพงศาวดารจีน "ซวยงัก" ตอน กิมงิดตุด ตีเมืองลูอันจิงแตก และตอนเล็กเต็งเชือดคอตาย และเรื่องเบ็ดเตล็ดตอน หลวงจีนเจ้าชู้เกี้ยวหญิง.......จากหนังสือคุณยายหุ่นกระบอก ยายชื้น ประเสริฐกุล หน้า ๘๐

"ซวยงัก" เป็นพงศาวดารจีน ในสมัยราชวงศ์ซ้อง/ซ่ง (พ.ศ. 1503-1819) เริ่มเรื่องเมื่อเตียคังเอี๋ยนได้เป็นปฐมกษัตริย์พระนามว่า "ซ้องไทโจ๊วฮ่องเต้" และมีกษัตริย์ปกครองประเทศจีนเรียงลำดับไปดังนี้

ลำดับ

   ชื่อฮ่องเต้                    จำนวนปีที่ครองราชสมบัติ             หมายเหตุ
 
 1.ซ้องไท่จู่                             16 ปี                      ค.ศ. 960-976
  
 2.ซ้องไทจง                            21 ปี                      ค.ศ. 976-997
 
 3.ซ้องเจินจง                           25 ปี                      ค.ศ. 997-1022
  
 4.ซ้องเหยินจง                         41 ปี                      ค.ศ. 1022-1063
  
 5.ซ้องอินจง                              4 ปี                      ค.ศ. 1063-1067

 6.ซ้องเสินจง                            18 ปี                      ค.ศ. 1067-1085
  
 7.ซ้องเจ๋อจง                            15 ปี                      ค.ศ. 1085-1100

 8.ซ้องฮุ่ยจง                             26 ปี                     ค.ศ. 1100-1126  (ต้นเรื่องซวยงัก)
 
เริ่มเรื่องเมื่อ พระเจ้าซ้องฮุยจงฮ่องเต้ เสวยราชย์ (ชาติก่อนเป็นเทพารักษ์) ชอบบูชาเทพยาดาและเทพารักษ์ วันหนึ่งทำคำอธิษฐานถึง"เง็กเซียนฮ่องเต้" (ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์) เขียนผิดเป็นคำหยาบไป เง็กเซียนฮ่องเต้ขัดเคืองสั่งให้ "มังกรหนวดแดง" ไปเกิดเป็นบุตรเจ้าเมือง ไตกิมก๊ก

หลวงจีนชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งกำลังเทศนาให้เหล่าเทวดาฟัง ทันใดนั้น "ค้างคาว" เพศเมียตัวหนึ่งฟังธรรมเพลินไปจึงถ่ายอุจจาระมาถูกเทวดา "นกอินทรี" อยู่ในที่นั้นด้วย โกรธค้างคาวจึงบินไปจิกค้างคาวตาย ค้างคาวตายไปก็มีจิตอาฆาตจะไปเกิดเป็นมนุษย์คอยจองเวรนกอินทรี  

    หลวงจีนผู้วิเศษจึงสั่งให้ นกอินทรีไปเกิดเป็นมนุษย์เพื่อใช้เวรให้หมดและไปช่วยเจ้าแผ่นดินซ้องปราบมังกรหนวดแดงด้วย

   เมื่อนกอินทรีบินไปหาที่จุติ ไปพบ "มังกร" ตัวหนึ่งเล่นน้ำอยู่ที่แม่น้ำอึ้งโห จึงบินลงไปโฉบจิกเอาตามังกรบอดไปข้างหนึ่ง มังกรตัวนั้นก็มีความอาฆาตคิดจะตอบแทนนกอินทรีให้ได้

    นกอินทรีไปจุติอยู่ในท้องของนาง"เอียวสี" ภรรยา "งักหัว" เศรษฐีเมืองเซียงจิว เมื่อครบกำหนดนางเอียวสี คลอดบุตรเป็นชายได้ชื่อว่า "งักฮุย"  เมื่องักฮุยเกิด (ประมาณ พ.ศ. 1646) ได้ 3 วัน มังกรตาบอดมีความอาฆาต ก็ตามมาที่เมืองเซียงจิวทำให้ฝนตกหนักน้ำท่วมราษฎรตายกันทั้งตำบล งักหัวบิดางักฮุยก็ถึงแต่ความตาย ส่วนมารดางักฮุยนางเอียวสีอุ้มบุตรลงไปอยู่ในโอ่ง งักฮุยกับมารดาจึงรอดตาย

   เมื่อเง็กเซียนฮ่องแต่แจ้งว่ามังกรที่แม่น้ำอึ้งโหทำให้น้ำท่วมราษฎรตาย จึงสั่งให้เอาตัวมังกรไปประหาร เมื่อมังกรตาบอดจะตาย มีใจเจ็บแค้นนกอินทรี จึงไปเกิดเป็นมนุษย์เพื่อคอยล้างผลาญนกอินทรีอยู่ที่เมืองเปียนเหลียน (เมืองหลวงราชวงค์ซ้อง)

   งักฮุยพอโตขึ้นก็ได้เรียนตำราพิชัยสังคราม พระเจ้าซ้องฮุยฮ่องเต้ชราภาพลงก็มอบเวรราชสมบัติให้ไทจือปกครอง พระนามว่า "ซ้องคิมจงฮ่องเต้" (เป็นกษัตริย์ที่โง่เขลา)

   ฝ่ายพวกฮวนเมืองไตกิมก๊ก (เผ่าแมนจู) อยู่ฝ่ายเหนือนอกเขตแดนจีน ส่งสายลับมาสืบความที่เมืองเปียนเหลียน ได้ทราบความเป็นไปแล้ว ลังจู้เจ้าเมือง จึงส่งบุตรชายคนที่ 4 ชื่อ "กึมงิดตุด" (มังกรหนวดแดง) เป็นแม่ทัพมาตีเมืองจีน

   กึมงิดตุด แม่ทัพฮวน ตีเมืองหน้าด่านของจีนจนเข้ามาถึงแดนเมืองหลวง เตียปังเชียงอัครมหาเสนาบดีของจีน ขุนนางกังฉิน สมคบกับแม่ทัพฮวน เจรจาให้ พระจ้าซ้องคิมจงฮ่องเต้ยอมแพ้ แล้วส่งพระอนุชาชื่อ "เตียอ๋อง" ไปเป็นตัวประกัน โดยมีขุนนางชื่อ "ชีนไคว่" (มังกรตาบอด) ติดตามไปด้วย พอเตียอ๋องไปถึงค่ายแม่ทัพฮวน ก็ถูกทหารฮวนลากลงมาจากม้าด้วยกำลังแรงขาดใจตาย เตียปังเชียงจึงไปลวงให้ พระเจ้าซ้องคิมจง ส่งพระอนุชาอีกองค์หนึ่งชื่อ "คังอ๋อง" ไปเป็นตัวประกันแทน กิมงิดตุด ชอบใจรูปร่างของคังอ๋องอยากให้เป็นกษัตริย์แทนพระเจ้าซ้องคิมจง จึงให้เตียปังเชียงไปลวง พระเจ้าซ้องคิมจง และไทเซียงฮอง (บิดากษัตริย์คืออดีตพระเจ้าซ้องฮุยจง) ให้ออกมานอกเมืองเปียนเหลียนแล้วจึงจับตัวส่งให้ขุนนางคุมไปอยู่เมืองไตกิมก๊ก

   พอกิมงิดตุดจัดแจงเมืองเปียนเหลียนเรียบร้อยแล้ว (ขนทรัพย์สมบัติไป) จึงให้เตียปังเชียงดูแลเมืองเปียนเหลียน ส่วนตัวเองก็ยกทัพกลับไปเมืองไตกิมก๊ก

  กษัตริย์ 2 พระองค์เมื่อไปถึงเมืองฮวน ก็ถูกนำไปคุมขังไว้ในหลุมมืด ส่วนคังอ๋องนั้นได้อยู่กับกิมงิดตุดสุขสบายดี พอปีหน้าฟ้าใหม่ กิมงิดตุดก็ยกกองทัพไปตีหัวเมืองขึ้นของเมืองเปียนเหลียน คังอ๋องก็ติดตามไปด้วย

  คังอ๋อง (พระราชบุตรที่เก้าของไทเซียงฮอง) หนีกิมงิดตุดข้ามแม่น้ำไปได้ ไปอยู่ที่เมืองกิมเหลง (เมืองหลวงเก่า) ตั้งตัวเป็นกษัตริย์นามว่า "พระเจ้าซ้องเกาจงฮ่องเต้" (พ.ศ. 1670-1704) แล้วมีหนังสือประกาศไปถึงหัวเมืองทั้งปวงให้ยกทหารมาช่วยที่เมืองกิมเหลง

   ถึงตอนนี้ราชวงศ์ซ้องเริ่มตั้งแต่พระเจ้าซ้องเกาจงเมืองหลวงจะอยู่ที่เมืองกิมเหลงแล้วย้ายไปเมืองนิ่มอัน เรียกว่า น่ำซ้อง หรือซ่งฝ่ายใต้  ส่วนก่อนหน้านั้นกษัตริย์ 9 พระองค์ ครองราชย์รวม 167 ปี ตั้งเมืองหลวงที่เมืองเปียนเหลียนเป็น ซ่งฝ่ายเหนือ

ในปี พ.ศ.2410  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ฯ ได้จ้างจีนโตกับจีนแสอิมปั้นอั๋นแปลพงศาวดารในตอนนี้   เมื่อแปลแล้วได้ทั้งสิ้น 38 เล่มสมุดไทย  ต่อมาในปีพ.ศ.2412 จึงได้พิมพ์เป็นหนังสือเป็นครั้งแรก

ภาพฮ่องเต้ซ้องฮุ่ยจง ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ้อง





กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.พ. 11, 08:04

ขอเรื่องหลวงจีนเจ้าชู้เกี้ยวหญิงหน่อยค่ะ   คุณไซมีสที่รักและนับถือของสาวน้อย


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 11, 08:45

ขอเรื่องหลวงจีนเจ้าชู้เกี้ยวหญิงหน่อยค่ะ   คุณไซมีสที่รักและนับถือของสาวน้อย

ผมไม่มีข้อมูลเรื่องหลวงจีนเกี้ยวผู้หญิง ครับ  ;D ;D ;D ต้องขออภัยด้วย ถ้าผู้ใดมีก็ช่วยนำมาลงให้อ่านกันบ้างครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 11, 09:26
ตัวอย่าง บทละคร หลวงจีนเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง ค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 11, 09:26
หน้า ๒


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 24 ก.พ. 11, 09:42
ดูท่าจะเป็นพระนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญกระมั้งครับ
อาจารย์เทา

เห็นว่าทรงเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ วรรณคดีอยู่พอสมควร


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 11, 10:00
ใช่ค่ะ  ท้ายกระทู้นี้ดิฉันจะนำพระบวรราชนิพนธ์มาให้อ่านกัน  
ขอนำตัวอย่างมาให้อ่าน พอหอมปากหอมคอ


ลอยคว้างมาในกลางอัมพรพราย     ดังนารายณ์อุ้มองค์ลักษมี
กระซิกสรวลชวนองค์เทวี             พระหัตถ์ชี้ให้ชมดาราเรือง
นั่นธุวังดาราอยู่คงที่                  ประจำยอดจุฬามณีสีเหลือง
โน่นดาวโรหิณีสีประเทือง            ที่เยื้องถัดไปดาวไถธง
ดาวเต่าดาวสำเภาดาวกา            ดาวม้าขึ้นเรียงเคียงดาวหงส์
ดาวพระศุกร์สุกสีสว่างวง            โฉมยงนี่ดาวประกายพราย

หมายเหตุ  ธุวังดารา = ดาวเหนือ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 11, 10:35
ได้อ่านจดหมายเหตุราชกิจรายวัน รัชกาลที่ ๕

วันที่ ๔๓๓๙ วันจันทร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๓)

วังหน้าทำของมาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มี กล่องจันทน์ กระโถน เขียนเรื่องรามเกียรติ์ ดุมกระ สายนาฬิกากระ

จึงนำมาฝากครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.พ. 11, 10:37

กราบขอบพระคุณ  คุณเทาชมพูค่ะ

ได้เห็นก็ถือว่าบุญตัว    


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 11, 10:45
ขอบคุณ อ.เทาชมพู ที่นำบทละครหลวงจีนเจ้าชู้มาให้ชม เลยขอจัดหอยกะพง ที่มีตามท้องเรื่องมาให้ครับ นางเมงจูคงจะผัดกับเต้าเจี้ยว หรือ ใส่ซีอิ๊ว ใส่เกลือ รับประทานกันอร่อย


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 24 ก.พ. 11, 11:02
ได้อ่านจดหมายเหตุราชกิจรายวัน รัชกาลที่ ๕

วันที่ ๔๓๓๙ วันจันทร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๓)

วังหน้าทำของมาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มี กล่องจันทน์ กระโถน เขียนเรื่องรามเกียรติ์ ดุมกระ สายนาฬิกากระ

จึงนำมาฝากครับ

เกิดสงสัยครับ
ว่าพระยานรรัตน์ที่ถวายนั้น ใช่พระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) หรือไม่ (ภายหลังเป็นเจ้าพระยา)

เจ้าคุณนรรัตน์เป็นจางวางมหาดเล็กวังหลวง ทำไมต้องเป็นนายไปรษณีย์ส่งของจากวังหน้ามาวังหลวง
หรือว่าขุนนางวังหน้าไม่มีสิทธิมาก้าวก่ายในวังหลวงเลย แม้กระทั่งทูลเกล้าถวาย ยังต้องให้ขุนนางวังหลวงไปรับเอามา

ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมกรมพระราชวังถึงไม่มาทูลถวายด้วยพระองค์เองเล่า หรือช่วงนั้นมองหน้ากันไม่ติด


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 11, 12:57
เป็นขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายค่ะ     รายละเอียดคุณหลวงเล็กน่าจะอธิบายได้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 11, 13:10
ต่อ  เรื่องหุ่นวังหน้า

      หุ่นวังหน้าเรื่องรามเกียรติ์ ได้แสดงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานสมโภชช้างเผือกที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์  บันทึกไว้ในหนังสือข่าวราชการ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๙ ว่า
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พลับพลาหน้าโรง    ทอดพระเนตรหุ่นอย่างใหม่ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ทรงคิดขึ้นใหม่นั้น    ปลูกโรงลงในท้องถนนตรงหน้าพลับพลา    โรงนั้นยาวประมาณ ๑๐ วา    ตัวหุ่นนั้นสูงประมาณ ๑๐ นิ้ว ฯลฯ   เมื่อเชิดนั้นไม่เห็นตัวคนเชิด    และเจรจาหรือพากย์ก็ดี   ไม่เห็นตัวคนพากย์คนเจรจา    มีแต่ตัวหุ่นออกมาเต้นรำทำท่าต่างๆ    และในโรงนั้น รางพื้น รางเพดานเพื่อจะได้เชิดแลเหาะ"

     และใน  ราชกิจจานุเบกษา บันทึกว่า
     "ในงานทำบุญสมภพในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ครบ ๗๑ ปี    กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจัดหุ่นไปช่วยเพลา ๑"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 11, 13:59
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประชวรด้วยพระโรควักกะ(ไต) พิการ    เสด็จทิวงคตเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๘  คือ ๔ ปีหลังบ็อกเข้าเฝ้า    ในเมื่อไม่มีพระบรมราชโองการตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สืบต่อ     วังหน้าก็เริ่มร่วงโรยลงเหมือนบ้านที่ขาดเจ้าของ     
เจ้านายวังหน้าที่เป็นชาย ต่างก็เสด็จออกไปมีวังส่วนพระองค์ ตั้งแต่เจริญพระชันษา     ในวังหน้าเหลือแต่เจ้านายสตรีและเจ้าจอม   การช่างและการละเล่นต่างๆก็คงเลิกรากันไป    ขุนนางและข้าราชบริพารวังหน้าจะไปอยู่ไหนไม่ทราบ แต่เดาว่าคงจะโอนไปสังกัดวังหลวงตามประเพณี     เห็นได้จากบางตำแหน่งก็ยังมีอยู่   เช่นตำแหน่งเจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์)
หุ่นวังหน้าก็คงจะถูกเก็บเข้ากรุ  ไม่ได้นำมาเล่นอีก     หรือถ้าเล่นกันเป็นการภายใน ก็เดาว่าอาจจะหมดการแสดงไป เมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเอมถึงแก่อนิจกรรม      แต่ก็ยังดีที่ตัวหุ่นไม่ได้สูญหายไป ยังคงถูกเก็บรวบรวมเอาไว้ ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข   ตกอยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ    เพียงแต่ชำรุดผุพังไปตามกาลเวลา
โชคดีที่ล่วงมาถึงปัจจุบัน มีบุคคลหลายท่านเห็นคุณค่าของงานช่างอันล้ำเลิศชุดนี้   จึงช่วยกันบูรณะซ่อมแซมให้หุ่นวังหน้ากลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาในสภาพสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้       หัวเรี่ยวหัวแรงในงานนี้คืออ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ      ท่านเขียนเบื้องหลังการซ่อมหุ่นเอาไว้ในหนังสือ หุ่นวังหน้า   ไว้เป็นวิทยาทานแก่ผู้สนใจศิลปะแขนงนี้

หุ่นวังหน้า เล่มใหญ่มาก  จะวางคว่ำเพื่อสแกนรูปหุ่นมาลงให้ดูกันก็เกรงหนังสือจะบอบช้ำ    เลยต้องหาจากในกูเกิ้ล และถ่ายรูปมาตามเคย   สวยสู้ภาพจากในหนังสือไม่ได้ ต้องขออภัย
รายละเอียดที่อ.จักรพันธุ์ท่านเล่าไว้ก็สนุกมาก   ท่านเล่าละเอียดลออทุกขั้นตอน      คนเขียนเขียนได้คล่องเพราะเป็นศิลปินด้านวิจิตรศิลป์   เชี่ยวชาญในงานที่ทำ   แต่คนอ่านผู้มีหน้าที่ย่อยมาให้อ่าน ไม่มีความรู้ทางนี้   อ่านได้แต่ย่อยยาก  จึงต้องขอเวลาบ้าง ที่จะค่อยๆเก็บความมาให้อ่านกัน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 11, 14:14
อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นแม่แรงในการจัดซ่อมหุ่นหลวงในกรมพระราชวังบวร และผู้สนับสนุนด้านการเงินคือ บริษัทในเครือซิเมนต์ไทย เป็นผู้พลิกฟื้นวิญญาณของหุ่นในตู้กระจกเหล่านั้นให้ออกมาโลดแล่นสู่สังคมภายนอก เนื่องในวโรกาสงานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี

ผมว่าเป็นความยิ่งใหญ่ที่ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ทุ่มเทการอนุรักษ์ให้กับงานฝีมือชิ้นนี้มาก ทั้งเลื่อม ทั้งผ้า การแกะหินสบู่ งานกระจก งานปิดทอง ล้วนทำออกมาได้อย่างปราณีต


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 11, 21:24
อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต  ซ่อมหุ่นหลวง (๒๕๒๖-๒๕๒๙) และซ่อมหุ่นวังหน้า (๒๕๓๖-๒๕๔๐)

"ของสวยงามมันมีอยู่ในโลกนะ แต่ไม่มีคนทำ"  อ.จักรพันธุ์กล่าว

พ.ศ. ๒๕๒๖ จักรพันธุ์และคณะรับคำเชิญให้ซ่อม "หุ่นหลวง" ๕ ตัว เป็นหุ่นไม้ขนาดใหญ่สูงราวเมตรกว่า ทั้งหุ่นตัวพระ นาง ยักษ์ และลิง ใส่เครื่องประดับและแต่งกายเช่นเดียวกับคนสวมชุดโขนละครทุกประการ เพียงแต่ย่อส่วนให้เล็กลง

ต่อมาในปี ๒๕๓๖ จักรพันธุ์และคณะได้รับการติดต่อจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ช่วยซ่อม "หุ่นวังหน้า" ชุดรามเกียรติ์ ๑๐๐ ตัว ซึ่งคิดค้นทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นหุ่นไทยขนาดเล็ก สูงราว ๒๘-๓๗ เซนติเมตร มีลักษณะเฉพาะแขนขาเต็มตัว ตัวหุ่นทำจากไม้ มีไม้แกนกับสายใยชักส่วนต่างๆ ของหุ่นให้เคลื่อนไหว หุ่นที่ทางพิพิธภัณฑสถานฯ เก็บไว้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ชิ้นส่วนกระจัดกระจาย ศีรษะและแขนขาบางตัวถูกแมลงกิน จักรพันธุ์และคณะซ่อมหุ่นจำเป็นต้องหล่อ-เหลาขึ้นใหม่ และยังต้องหาวัสดุในการซ่อมเครื่องแต่งกายหุ่นให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ทั้งเส้นไหมทองที่ใช้ปักลาย หรือเนื้อผ้าซึ่งในช่วงเวลาที่ซ่อมนั้นหาไม่ได้แล้ว แม้ว่าหุ่นวังหน้าจะมีขนาดเล็กกว่าหุ่นหลวง ก็ต้องใช้ความประณีตในการปักเย็บไม่แพ้กัน ขนาดที่ว่าเข็มเบอร์เล็กสุดยังไม่สามารถร้อยเข้าไปในลูกปัดขนาดจิ๋วที่ประดับชุดหุ่นวังหน้าได้ จักรพันธุ์และคณะต้องใช้วิธีทากาวที่เส้นด้ายให้แข็งแล้วใส่เข้าไปในลูกปัดก่อน จึงค่อยร้อยเข็มเพื่อให้ปักได้ต่อ ทำอย่างนี้ทีละเม็ดๆ

ช่างฝีมือมีหน้าที่สร้างความสวยงาม และจักรพันธุ์เห็นว่าตนไม่ใช่ช่าง "ซ่อม" แต่เป็นช่าง "สร้าง" การจะสร้างสรรค์งานศิลปะไทย แม้ต้องเคารพตำรา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการซ่อมแซมงานดั้งเดิม) แต่เหนือสิ่งใดก็คือ ความพอใจของช่าง

"ทั้งนี้ก็สุดแต่ฝีมือของช่างจะบันดาลให้เป็นไป" จักรพันธุ์กล่าว

เมื่อใดที่จักรพันธุ์ได้รับมอบหมายให้ "ซ่อม" งานโบราณ โดยเฉพาะการซ่อมหุ่นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๖ จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางกลุ่มว่า ควรปล่อยให้งานเหล่านั้นอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่ เพราะเห็นว่าการซ่อมหุ่นรวมไปถึงภาพเขียนนางละคร "แบบจักรพันธุ์" ณ ช่วงเวลานั้นก่อให้เกิดความ "วิบัติ"

คำตอบรับที่ได้จากจักรพันธุ์คือ

"ตามที่ได้มีผู้เกิดความคับข้องใจขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูกในการซ่อมหุ่นและการเขียนรูปละครของข้าพเจ้านั้น แต่แรกคิดว่าจะไม่บอก เพราะพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง...แต่เอาเถอะ ถึงจะบอกถูกหรือบอกไม่ถูก ข้าพเจ้าก็ต้องถูกอยู่ดี"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.พ. 11, 09:16
ได้อ่านจดหมายเหตุราชกิจรายวัน รัชกาลที่ ๕

วันที่ ๔๓๓๙ วันจันทร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๓)

วังหน้าทำของมาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มี กล่องจันทน์ กระโถน เขียนเรื่องรามเกียรติ์ ดุมกระ สายนาฬิกากระ

จึงนำมาฝากครับ

เกิดสงสัยครับ
ว่าพระยานรรัตน์ที่ถวายนั้น ใช่พระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) หรือไม่ (ภายหลังเป็นเจ้าพระยา)

เจ้าคุณนรรัตน์เป็นจางวางมหาดเล็กวังหลวง ทำไมต้องเป็นนายไปรษณีย์ส่งของจากวังหน้ามาวังหลวง
หรือว่าขุนนางวังหน้าไม่มีสิทธิมาก้าวก่ายในวังหลวงเลย แม้กระทั่งทูลเกล้าถวาย ยังต้องให้ขุนนางวังหลวงไปรับเอามา

ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมกรมพระราชวังถึงไม่มาทูลถวายด้วยพระองค์เองเล่า หรือช่วงนั้นมองหน้ากันไม่ติด

เป็นขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายค่ะ     รายละเอียดคุณหลวงเล็กน่าจะอธิบายได้

ผมมาตอบเพราะได้รับการเอ่ยชื่อถึง ;D

ที่พระยานรรัตนราชมานิต(บรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) ได้ทำหน้าที่เป็นไปรษณีย์
นำสิ่งของจากกรมพระราชบวรวิไชยชาญมาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕

ทำไมต้องเป็นเจ้าคุณนรรัตนฯ  ทำไมกรมพระราชบวรวิไชยชาญไม่เสด็จมาเข้าเฝ้าถวายเอง
ข้อนี้  ผมคิดว่า  คงไม่ใช่เพราะเหตุบาดหมางระหว่างวังหน้าวังหลวง  
แต่การที่จะให้กรมพระราชบวรวิไชยชาญซึ่งเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่  และมีพระชนมายุมากกว่า
รัชกาลที่ ๕  เสด็จลงมาเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของเพียงเล็กน้อย  ดูเป็นการไม่สมพระเกียรติ
ของวังหน้า   และจะกลายเป็นที่ครหาได้   ฉะนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าคุณนรรัตนฯ  ไปรับประทาน
สิ่งของนั้นมาทูลเกล้าฯ ถวายย่อมดูเหมาะสมกว่า  

ตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า  ทำไมต้องเป็นเจ้าคุณนรรัตนฯ  ทำไมไม่โปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กคนอื่น
ไปทำการแทน   เพราะเจ้าคุณนรรัตนฯ เป็นถึงจางวางมหาดเล็ก    ผมคิดว่า  
ด้วยว่ากรมพระราชวังบวรฯ เป็นเจ้านายมีพระอิสริยยศใหญ่  
การจะโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าคุณนรรัตนฯ
ย่อมไม่สมควรและดูไม่เป็นการถวายพระเกียรติวังหน้า  

อีกประการหนึ่งเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็เป็นขุนนางที่รัชกาลที่ ๕
โปรดเกล้าฯ ให้ทำการสิ่งต่างๆ เสมอ  
โดยเฉพาะการที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์สวยงาม  
หลายคนอาจจะจำเรื่องเจ้าคุณนรรัตนฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ
ให้ออกไปจัดหาสิ่งของที่ใช้การพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
ยังมีเรื่องสร้างอาคารสถานที่อื่นๆ อีก  ให้คนอื่นเล่าดีกว่า

อนึ่ง   การที่เจ้านายผู้ใหญ่จะเฝ้าฯ พระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีพระชนมายุน้อยกว่า
ในเรื่องที่ไม่ใช่ราชการ   อย่างทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ
เท่าที่ทราบมา  จะโปรดเกล้าฯ ให้ มหาดเล็กไปเชิญของนั้นมาทูลเกล้าฯ ถวาย
ตอบอย่างนี้  ไม่รู้ว่าช่วยไขข้อข้องใจได้บ้างหรือเปล่า


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 11, 11:44
ขอบคุณคุณหลวงเล็กที่ช่วยตอบ

ขอส่งรูปลายปักเครื่องทรงของหุ่นวังหน้ามาให้ดูก่อน เป็นตัวอย่างการบ้านที่จะส่งทีหลัง    ภาพที่คร็อพมานี้จะเห็นความละเอียดลออเหลือพรรณนาของลายปัก   ยังไม่รวมเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ของหุ่น ซึ่งต้องจัดทำโดยเฉพาะให้เข้ากับตัว
เป็นงานช่างที่ล้ำเลิศ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 11, 10:37
ขอบคุณคุณหลวงเล็กค่ะ
*************
ขอกลับมาถึงเรื่องซ่อมหุ่นวังหน้า ของอ.จักรพันธุ์


เมื่อใดที่จักรพันธุ์ได้รับมอบหมายให้ "ซ่อม" งานโบราณ โดยเฉพาะการซ่อมหุ่นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๖ จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางกลุ่มว่า ควรปล่อยให้งานเหล่านั้นอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่ เพราะเห็นว่าการซ่อมหุ่นรวมไปถึงภาพเขียนนางละคร "แบบจักรพันธุ์" ณ ช่วงเวลานั้นก่อให้เกิดความ "วิบัติ"

คำตอบรับที่ได้จากจักรพันธุ์คือ

"ตามที่ได้มีผู้เกิดความคับข้องใจขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูกในการซ่อมหุ่นและการเขียนรูปละครของข้าพเจ้านั้น แต่แรกคิดว่าจะไม่บอก เพราะพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง...แต่เอาเถอะ ถึงจะบอกถูกหรือบอกไม่ถูก ข้าพเจ้าก็ต้องถูกอยู่ดี"


เห็นใจอ.จักรพันธุ์ ในเรื่องนี้มาก    เพราะคนที่ตั้งใจดีจะทำงานอนุรักษ์ของเก่า  ต้องมาเจอนักอนุรักษ์เก่ายิ่งกว่า ไม่ว่าใครก็คงหมดกำลังใจ  แต่ก็เป็นโชคดีของหุ่นวังหน้าที่อ.จักรพันธุ์ไม่ท้อถอย   เราจึงเห็นหุ่นวังหน้าบางส่วนกลับฟื้นคืนสภาพงดงามอย่างที่เห็นอยู่ในกระทู้นี้
ต้องขออธิบายว่า หุ่นวังหน้าแบ่งเป็น ๒ ส่วน  ส่วนหนึ่งตั้งโชว์อยู่ในพระที่นั่งทักษิณาภิมุข  พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ มาจนปัจจุบันนี้  อ.จักรพันธุ์ไม่ได้ไปแตะต้อง  เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นฝีมือแท้ๆของช่างสมัยวังหน้ารัชกาลที่ ๕     แต่หุ่นอีกส่วนซึ่งเก็บเอาไว้ในบนคลังอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์  นับร้อยตัว    ปิดตายพ้นจากสายตาการรับรู้ของผู้คนภายนอกนั่นต่างหาก ที่อ.จักรพันธุ์และทีมงานบุกบั่นขึ้นไปค้นหา  นำลงมาชุบชีวิตให้ฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้ง

     ห้องคลังที่ว่า เป็นห้องติดหลังคามืดๆ อับๆ ร้อนอบอ้าวเต็มไปด้วยฝุ่นผงจากศิลปวัตถุเก่าใหม่ที่นำมาเก็บไว้  วางลดหลั่นทับถมกันเต็มทุกซอกทุกมุม    อ่านแล้วก็รู้สึกว่าเป็นห้องเก็บของขนาดใหญ่เราดีๆนี่เอง     เจ้าหน้าที่เตรียมหุ่นแยกใส่ถุงพลาสติคใสเตรียมให้เลือกว่าจะเอาตัวไหนมาซ่อม   หุ่นทุกตัวไม่มีหัว  หัวเก็บแยกไว้อีกถุงต่างหาก   แขนขาก็กระจัดกระจายแยกไปอีกถุง ไม่รู้หัวใครแขนใครขาใคร
    อ.จักรพันธุ์แยกหุ่นที่ต้องตาออกมาได้ยี่สิบกว่าตัว   ส่วนอวัยวะน้อยใหญ่ที่แยกถุง ขนเอาไปหมด เพื่อจะมาปะติดปะต่อกันเข้าเป็นร่างได้ครบถ้วน    
    ท่านสรุปไว้ว่า
     " ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าหุ่นชุดนี้ชำรุดหักพังทั้งหมด     ไม่มีหุ่นตัวไหนสมบูรณ์   มีแขนขาครบ  มีแต่ชำรุดมากหรือชำรุดน้อย   หุ่นที่มีหัวติดอยู่กับตัวมีอยู่เพียง ๒-๓ ตัว   บางตัวมีแขนข้างเดียว  ครึ่งแขน  หรือไม่มีแขนเลย    ส่วนขาก็เช่นกัน
     จึงเป็นที่อุปมาเล่นกันในหมู่คณะพวกช่างซ่อมหุ่นของเราว่า   ดูไม่ผิดกับซากผู้โดยสารที่เรือบินตก   หัวไปทาง ตัวไปทาง  แขนขาไปทาง เสื้อผ้ากะรุ่งกะริ่งย่อยยับไม่มีชิ้นดี"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 11, 11:13
น่าสังเกตว่าหุ่นรามเกียรติ์ชุดวังหน้า   มิได้ทำสีเสื้อและแขนเสื้อตามสีตัวหรือสีกายหุ่น    ตามที่กำหนดเป็นแบบแผนในพงศ์รามเกียรติ์  หรืออย่างที่โขนแต่งกัน
ทศกัณฐ์แทนที่จะแต่งเขียว ก็กลับใส่เสื้อแดงเกราะม่วง แขนม่วงแดง
พระพรตน้องของพระราม  ซึ่งผิวกายสีแดงแก่ แทนที่จะสวมเสื้อแดงก็สวมเสื้อเหลืองแขนม่วง
แสดงว่าหุ่นไม่ได้แต่งตามโขน แต่ไปแต่งกายตามแบบรูปเขียนงานจิตรกรรมไทยประเพณี   หรือตามแต่ช่างสร้างหุ่นจะเห็นงาม   อ.จักรพันธุ์เชื่อว่าช่างผู้กำหนดสีเครื่องแต่งกายน่าจะเป็นช่างเขียน  เพราะเจนจัดในการวางองค์ประกอบสีให้ตัดกัน  และกลมกลืนกันได้น่าดู

การทำงานของทีมอ.จักรพันธุ์ แค่อ่านก็เหนื่อยในความอุตสาหะตั้งแต่ขั้นต้นคือผสมหุ่นให้่เป็นตัวตนขึ้นมาแล้ว      อย่างแรกคือแยกเป็นหมวดหมู่  หัวก็จัดรวมกลุ่มไว้เป็นหัวล้วนๆ    แยกเป็นหัวพระ หัวนาง หัวยักษ์ หัวลิง
ส่วนมือและขา แยกออกไปอีกกลุ่มจากกลุ่มหัว    และแยกกลุ่มย่อยลงไปอีก  มือขาที่มีกำไลของหุ่นตัวเอกๆ ก็แยกไว้ต่างหาก   มือขาของไพร่พลที่ลุ่นๆไม่มีเครื่องประดับก็แยกไว้อีกกอง
ช่างซ่อมก็มีหน้าที่ค้นหาอวัยวะที่ขนาด และสีผิวที่ซุกซ่อนในกองอวัยวะนับร้อยๆชิ้น   มาจัดให้เข้าชุดกันว่าเป็นของตัวไหนบ้าง    ซึ่งเป็นงานยากเย็นแสนเข็ญ   แต่ท่านเหล่านี้ก็อุตสาหะทำกันจนสำเร็จ   ได้หุ้นเป็นตัวเป็นตนมาครบ หรือเกือบครบ

อ.จักรพันธุ์เล่าไว้อย่างน่าขนลุก ด้วยความประทับใจ ว่า

"มีเรื่องจะต้องบันทึกไว้เป็นหลักฐาน   ก่อนที่กาลเวลาจะล่วงเลย ลืมเลือนไป   คือข้าพเจ้าและช่างทุกท่านที่ร่วมกันซ่อมหุ่นชุดนี้  มีความเห็นต้องกันอยู่ประการหนึ่ง  แม้ไม่เอ่ยออกมาเป็นคำพูด    เพียงแต่สบสายตาก๋จะรู้สึกสัมผัสได้เหมือนๆกัน
คือ  ทุกคราวที่มีการผสมตัวหุ่นที่ต้องคอยมานาน    นานหนักหนานับร้อยปี   ที่จะมีผู้ใดใครมาจัดหัวจัดตัวและอวัยวะของเขา   ที่กระจัดกระจายพิกลพิการอยู่  ให้เข้าที่เข้าทางเป็นตัวหุ่นที่สมบูรณ์งดงามอลังการอย่างที่เขาเคยเป็นมา"

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun2.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 11, 11:15
หุ่นนาง ฝีมือวาด อ.จักรพันธุ์
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun1.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 11, 14:13
หุ่นวังหน้า มีขนาดสูงโดยเฉลี่ยน ๓๗ ซ.ม. สำหรับตัวมียอด  และ ๓๘ ซ.ม. สำหรับตัวไม่มียอด  (ก็ประมาณ ๑ ไม้บรรทัดกว่าๆ)
ร่างทำด้วยไม้เนื้อเบา แกะเหลาเป็นรูปร่างคนตั้งแต่อกถึงสะโพก   ข้างในกลวงสำหรับร้อยเส้นสายในการเชิดหุ่น
หัวหุ่นทำด้วยไม้เนื้อเบา  โกลนเป็นรูปหัวและลำคอ  สำหรับเสียบกับตัว  หน้าหุ่นปั้นแต่งรายละเอียดด้วยรัก แล้วปิดด้วยกระดาษเขียนสี 
แขนแบ่งเป็น ๓ ท่อน จากต้นแขนถึงศอก  จากศอกถึงข้อมือ  และมือ
ฝ่ามือหุ่นตัวสำคัญๆเช่นตัวพระ  ช่างแกะมือแค่ฝ่ามือกับนิ้วโป้ง   ส่วนอีกสี่นิ้วเป็นลวดดัดโค้งยาวงอนปิดทอง  มีแผ่นหนังบางๆเชื่อมระหว่างฝ่ามือกับข้อมือ   ต่อแบบแกนพับ และต่อด้วยการร้อยเชือกอีกอย่าง
ขาหุ่นเป็น ๒ ท่อนจากขาถึงเข่า และเข่าถึงปลายเท้า เชื่อมด้วยแผ่นหนัง
เท้า มีทั้งสวมรองเท้าและไม่สวมรองเท้า


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 11, 14:15
หุ่นที่ประกอบเข้าเป็นตัวได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ซ่อมให้บริบูรณ์


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 11, 14:19
อวัยวะหุ่นที่ยังแยกอยู่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย    ต้องอาศัยความอุตสาหะและความประณีตของคณะอ.จักรพันธุ์ที่ค่อยๆประกอบกันกลับเข้าเป็นตัวหุ่น   ได้อย่างน่าอัศจรรย์
เป็นงานที่ควรแก่การคารวะอย่างยิ่ง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 มี.ค. 11, 14:31
เห็นภาพนางเบญกาย ที่ผ่านกาลเวลามาถึงบัดนี้ เมื่อซ่อมแล้วก็เหมือนการสร้างใหม่ การร้อยเส้นเชือกเพื่อให้หุ่นกล เกิดการเคลื่อนไหว เป็นเทคนิคที่สูญหายไป แม้ว่าในหนังสือหุ่นวังหน้า จะมีการร้อยเรียงเส้นเชือกตามกลไกเดิมก็ตาม

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ในคราวงานเทศกาลวัดอรุณ ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานดูการเชิดหุ่นหลวงที่ทางกรมศิลปากรได้จัดแสดงเรื่อง "ปล่อยม้าอุปการ" เห็นตัวหุ่นหลวงนั้นสูงใหญ่เกือบเมตร เบื้องล่างเป็นสายกลไก เรียงกันร้อยผ่านลงมายังวงแหวนทองเหลือกระทบกันกรุ๋งกริ๋ง จำนวนห่วงมากเกินนิ้วมือจะสวมร้อยได้หมด แถมยังต้องประคองน้ำหนักของตัวหุ่นซึ่งมีความหนักเอาการ แต่การแสดงหุ่นหลวงก็ติดตา ตรึงใจไม่น้อย ยิ่งตอนลีลาร่ายรำของพระลบงามสง่า นิ้วกระดกได้และงอนงาม ด้วยช่างเชิดหุ่นกระตุกสายกลไลกระดกข้อมือ พร้อมกันเสียงปรบมือดังเกรียวไม่ขาดสาย

ด้วยหุ่นหลวงเหล่านี้เมื่อได้นำขึ้นเบิกโรง ดูราวกับว่าหุ่นนั้นจะมีชีวิตโลดแล่นบอกเล่าเรื่องอดีตที่ผ่านเวลามานาน เครื่องทรง สังวาลย์ แพรวพราวฉายส่องกับแฟลตจากกล้องถ่ายภาพมากมาย กระดิ่งของม้าอุปการก็เขย่ากังวาน สะกดสายตาผู้ชมให้หลงไหลไปกับลีลาเยื้องย่างของม้า แม้ว่าเจ้าพนักงานเชิดหุ่นจะไม่เคยชินกับการเชิดหุ่นหลวงมาก่อน แต่ก็ได้ทำเต็มที่เพื่อให้หุ่นหลวงเหล่านี้มีชีวิต ลีลาอย่างน่าอัศจรรย์ครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 มี.ค. 11, 15:28
นำบทความจากหนังสือหุ่นไทย มาให้อ่านกันครับ

"เรื่องหุ่นไทยของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ"

จักรพันธุ์ โปษยกฤต เล่าอธิบายว่า นอกจากที่ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จำนวน ๕๓ ตัว คือ หุ่นตัวพระนาง ยักษ์ ลิงแล้วยังมีหุ่นที่ชำรุดอีกเป็นจำนวนมากซึ่งเก็บบรรจุไว้ในหีบไม้ขนาดใหญ่บนคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  "...หุ่นเหล่านี้แม้จะชำรุดหักพังหมดสิ้น แต่ก็ยังเห็นว่างามวิจิตรด้วยฝีมืออันประณีตในการสร้างการทำ ความฉลาดรอบรู้และวิริยะอุตสาหะของช่างแต่ก่อนอย่างที่ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือได้หมด..."

หุ่นเหล่านี้ประดิษฐ์ด้วยไม้เนื้อเบาเป็นรูปร่างคนลงมาจนถึงตะโพก ทว่าเอวนั้นมิได้มีเส้นหวายเสริมจึงเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างหุ่นหลวง มีเส้นเชือกร้อยเป็นสายไยจากแขนและขาสำหรับบังคับหุ่นให้เคลื่อนไหวได้ สายไยเหล่านี้มารวมกันออกที่ก้นหุ่นซึ่งเป็นที่เดียวกันกับที่มีแกนไม้สำหรับจับเชิดเสียบอยู่โดยมีผ้าดำบางเย็บเป็นปลอกคลุมแกนไม้และสายไยร้อยแขนขาไว้มิให้คนเห็น

"...หน้านางและหน้าพระที่เป็นหน้ามนุษย์ ไม่ได้เขียนเส้นฮ่ออย่างหน้าพระนางของหัวโขนหรือหุ่นหลวง หากทำผิวสีนวลจันทร์ เขียนสีเป็นเส้น คิ้ว เส้นตา และปากด้วยสีบางๆ ล้อด้ายเส้นทองเล็กๆ งดงามปราณีตเป็นที่สุด..."

เครื่องแต่งกายหุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ปักเย็บด้วยเลื่อมเงิน เลื่อมทองขนาดเล็กโดยมีลูกปัดแก้วสีขนาดเล็กและไหมทองตรึงตามไหวชายแครง ผ้ารัดสะเอว สนับเพลา และผ้าห่มนาง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 11, 18:47
การซ่อมเครื่องแต่งกายของหุ่น  ก็เป็นเรื่องฟังได้สนุกสนาน  ชวนตื่นเต้นในความพากเพียรของคณะซ่อมหุ่น
แค่ถอดเสื้อผ้าเก่าแก่ออกจากหุ่นก็ยากแล้ว   เพราะถอดออกเหมือนถอดเสื้อตุ๊กตาไม่ได้  ต้องใช้กรรมวิธี อย่างแรกคืออังด้วยไอน้ำ  ต้องต้มน้ำแล้วเอาหุ่นสวมเสื้อไปอังตรงไอน้ำ   ผ้าที่ทากาวไว้หนานแน่นก็จะหลุดออก 
อย่างที่สองคือเอาพู่กันจิ้มน้ำอุ่นมาแจะๆตรงกาวที่ทาติดเสื้อผ้าไว้  ใช้เวลาพอสมควรให้กาวอ่อนตัว  แล้วค่อยๆใช้คีมดึงผ้าออกมา  ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าแรงไปผ้าอายุนับร้อยปีก็จะขาดวิ่น

เมื่อดึงเสื้อผ้าออกมาได้  ก็นำไปซักแห้งในร้านซักแห้ง   ใช้ซักด้วยน้ำมัน ไม่ผ่านน้ำ จะทำให้ผ้าคงสีและรูปทรงตามเดิม   ส่วนคราบกาวที่ยังติดอยู่ก็ต้องแช่น้ำอุ่นจัดอีกทีให้อ่อนตัว
ส่วนพวกเลื่อมเม็ดลูกปัดตามเสื้อผ้าหุ่น ล้างด้วยน้ำยาฟอกเงินจนสะอาด
อ.จักรพันธุ์เล่าว่าผ้าโบราณคงทนมาก  สีสันไม่ตกเลย มีแต่คราบฝุ่นสกปรกเท่านั้นที่หลุดออกจากเนื้อผ้า
จากนั้นก็ค่อยซ่อมแซมประกอบเป็นเสื้อผ้าสมบูรณ์ สวมเข้ากับหุ่นในขั้นตอนต่อไป




กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 11, 10:52
ภาพนี้คือหุ่นพร้อมด้วยเสื้อผ้ากะรุ่งกะริ่งของเดิม  เมื่อคณะทำงานจัดการรวบรวมชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน ได้ครบเป็นตัวแล้ว แต่ยังไม่มีหัว
เรายังมองเห็นร่องรอยของผ้าจีบหน้านางที่นุ่งเข้ากับตัวอย่างประณีต เข็มขัดเล็กๆคาดเอว  มีรายละเอียดประณีตงดงาม


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 11, 10:53
หุ่นที่บูรณะซ่อมแซมเสร็จแล้ว


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 มี.ค. 11, 11:11
งดงามมากครับ  ;D

วัสดุที่หุ้มโครงไม้คือ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ซึ่งทำจากธรรมชาติ กาลเวลา ความชื้น ทำให้วัสดุเหล่านี้กรอบ คืนตัว เปื่อยยุ่ยเป็นผงไปหมด ถือเป็นโชคของหุ่นเหล่านี้ ที่ได้รับการรื้อฟื้นให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 11, 13:56
ใช่ค่ะ   พูดถึงผ้าที่ใช้ซ่อมแซมเครื่องแต่งกายหุ่น  มีผ้าเข้มขาบ  ผ้าตาด  ผ้าเยียรบับ  ผ้ายกทองเนื้อบาง  ริมผ้าส่าหรี ผ้าแพรเนื้อบาง
เสื้อผ้าหุ่นของเดิมนอกจากมีแพรไหมเนื้อบางหุ้มแขนหุ่นแทนผิวเนื้อ ก็มีผ้าไหมราคาแพงต่างๆดังที่บอกมานี้   ซึ่งคณะซ่อมหุ่นไปเสาะหามาให้ละม้ายของเดิมที่สุด   บางอย่างก็ได้รับการบริจาคจากนักสะสมผ้า

เรื่องหนึ่งที่ควรบันทึกไว้คือ  ลวดลายปักผ้าหุ่นนั้นละเอียดพิสดารเหลือหลาย  เมื่อนึกว่าตัวหุ่นโตกว่าตุ๊กตาบาร์บี้ไม่กี่มากน้อย  ผ้าปักก็ย่อมชิ้นเล็ก   ปักกันได้ขนาดนี้เรียกว่ายอดฝีมือจริงๆ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 11, 14:07
ในภาพนี้ึ  โปรดสังเกตลูกปัดแก้วเม็ดจิ๋วๆหลากสีที่ปักอยู่บนลายผ้า  เป็นลูกปัดที่หาซื้อจากร้านไหนๆไม่ได้เลย  แต่เป็นโชคดีที่อ.จักรพันธุ์เคยได้ลูกปัดแก้วมาจากซานฟรานซิสโก เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๔  คุณพันธุ์ศักดิ์ จักกะพากไปซื้อมา จากร้าน General Beads 
เป็นลูกปัดแก้วขนาดเล็กมากจนใช้ไม่ได้กับเสื้อผ้าหุ่นกระบอกของอ.จักรพันธุ์    จึงเก็บไว้เฉยๆ
ต่อเมื่อมาถึงคราวซ่อมหุ่นวังหน้า  เอาออกมาเทียบจึงเห็นว่าไม่ผิดเพี้ยนกับของเดิม  ราวกับมาจากแหล่งผลิตเดียวกัน คือทำมาจากเบลเยี่ยมและออสเตรีย

สรุปว่า หุ่นวังหน้าสมัยรัชกาลที่ ๕  มีเครื่องแต่งกายประดับด้วยลูกปัดแก้วอิมพอร์ตจากยุโรป   ที่แสนจะหายาก โก้จริงๆ
ลูกปัดแก้วอิมพอร์ตมาวังหน้าได้อย่างไร ?    เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย      คงมี "ออเดอร์" ไปโดยตรงผ่านทางกงสุลต่างๆ หรือราชอาคันตุกะที่มีไมตรีจิตเป็นอันดีกับวังหน้าตั้งแต่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เรื่อยมาจาก เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน 
เพราะคิดว่าลูกปัดแก้วเม็ดเล็กจิ๋วจนเข็มร้อยไม่เข้า  ต้องใช้กาวชุบด้ายให้แข็งร้อยเข้าไปในลูกปัด ทีละเม็ด    ไม่ใช่สินค้าดาษดื่นที่ส่งมากับเรือสำเภาแน่นอน    ต้องเป็นสินค้าที่อาจทรงดูจากแคตตาล็อก แล้วสั่งไปที่ยุโรป  ก็เป็นได้     ลักษณะมันเฉพาะเจาะจงเหลือเกินที่จะนำมาใช้ประดับเครื่องแต่งกายขนาดเล็กของตุ๊กตาหุ่น    ถ้าประดับเสื้อผ้าสตรีคงใช้เม็ดใหญ่กว่านี้  อีกอย่างฉลองพระองค์เจ้านายสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ก็ยังไม่มีเสื้อแบบยุโรปเข้ามา   ยังเป็นเสื้อแขนกระบอกคอปิดแบบไทย  จึงไม่มีการประดับประดาบนเสื้อ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 มี.ค. 11, 16:28
เห็นภาพขยายการปักเลื่อม ลูกแก้วแล้วทึ่ง และขนลุกมากกับความพยายามในฝีมือของช่างไทยเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องที่สงสัยคือ

๑. ที่ อ.เทาชมพู กล่าวไว้ว่า เม็ดลูกปัดและเลื่อมแบบนี้เป็นสินค้าที่อิมพอร์ตมาจากเมืองนอก เป็นความจริงแน่แท้ เนื่องจากการผลิตของไทยแม้จะมีฝีมือมาก แต่ก็เน้นไปยังงานฝีมือเชิงช่างมากกว่าจะทำของจิ๋วเช่นนี้ การออเดอร์สินค้า มีเรือจากล่องจากสิงค์โปร์-สยาม อยู่ตลอดเวลา เพียงวังหน้าทำหนังสือถึงกงสุลสิงค์โปร์ ให้ช่วยจัดหาให้ก็สามารถทำได้ (ทำอย่างเดียวกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหนังสือถือกงสุลเมืองสิงคโปร์ ช่วยจัดซื้อหาผ้าม่วง)

๒. เมื่อได้เลื่อมและลูกปัดมาแล้ว ถึงวิธีการขึ้นสะดึง ขึงผ้าให้ตึง ลงร้อยด้าย ใส่เข็มเป็นงานที่ไทยถนัดนัก ปักนูน ปักลายไทย เพียงแต่ อ.เทาชมพูกล่าวว่า ลูกปัดมีขนาดเล็กมาก เข็มร้อยไม่ได้ จะต้องนำด้ายมาชุบกาวให้แข็งแล้วร้อยลงลูกปัด ซึ่งฟังแล้วนึกภาพตามได้เลยว่า คงเป็นการปักที่กินเวลานานพอสมควร เนื่องจาก ปักด้ายผ่านเข็ม ๑ ถอดเข็ม ๑ ชุบกาว ๑ ร้อยลูกปัด ๑ ร้อยเข็มเข้าด้าย ๑ ปักด้ายพร้อมลูกปัดตรึงผ้า ๑ แล้วจึงเริ่มกระบวนการใหม่ ใช้เวลานานโขพอสมควร หากเป็นไปได้ผมจะขอให้ช่างสิบหมู่ ฝนเข็มให้เล็ก ฝนจนมีขนาดบางเส้นผม เพื่อจัดการร้อยลูกปัดแก้ว เพื่อให้การปักเป็นไปอย่างดีทุกฝีเข็ม

๓. อ.เทาชมพู ช่วยดูให้สักนิดว่า มีงานปีกแมลงทับในหุ่นวังหน้าไหมครับ งานปีกแมลงทับให้สีเหลือบเขียว วาว มัน คงทนเป็นร้อยปี และมีปีกแมลงทับสีทอง สีน้ำเงินครามอีกด้วย

๔. การทำวัสดุเล็กจิ๋ว ทำกันมานานแล้วในต่างประเทศ จึงไม่แปลกที่จะมีเลื่อม ลูกปัดขายในแถบยุโรป เขามี Doll House เล่นกันในหมู่ราชวงศ์ยุโรปกันมานานแสนนาน ทุกอย่างย่อส่วนตามสเกลครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 11, 17:44
อ.จักรพันธุ์ระบุว่ามีปีกแมลงทับปักผ้าหุ่นด้วย  ดิฉันก็ไม่รู้ว่ารูปไหน   
เลย ถ่ายรูปที่คิดว่าน่าจะเป็นปีกแมลงทับนำมาลง หรือถ้าหากว่าไม่ใช่  เพราะของเดิมชำรุดไปหมดแล้ว  เลยใช้วัสดุอื่นแทน  คุณ siamese อาจจะพอมองออก ว่าเมื่อก่อนปักปีกแมลงทับแบบไหน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 11, 17:46
เอาลายปักมาให้ชมกัน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 11, 17:46
.


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 11, 17:47
เสื้อผ้าชุดเดิมของหุ่นเมื่อยังไม่ได้ซ่อม


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 มี.ค. 11, 19:12
ขอบคุณครับ อ.เทาชมพูที่คัดสรรภาพมาให้ชม ยิ่งเห็นยิ่งลึกซึ้งในความงาม สำหรับปีกแมงทับที่เห็นในภาพแรก ได้ทำภาพประกอบไว้ให้แล้ว จะเห็นว่าปีกแมลงทับจะมีสีเขียวสด พื้นผิวเมื่อมองใกล้ๆจะหยาบเป็นเม็ดทราย
การตัดปีกแมลงทับไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ เคยลองทำแล้ว

๑.มีความลื่น
๒.มีความเหนียวแต่กรอบ
๓.มีความกรอบ แตกร้าวได้ง่ายหากตัดไม่ดี
๔.เลื่อมมีขนาดเล็ก แถมยังต้องเจาะรูอีก



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 มี.ค. 11, 19:27
ถ้าข้อสันนิฐานในภาพนี้ของผมถูกต้อง วัสดุท่อกลมแท่งๆนี้ ควรจะเป็น ขาที่อยู่คู่แรก ของแมลงทับ ซึ่ง ๑ ตัวสามารถนำมาใช้เพียง ๒ ชิ้นเท่านั้น เนื่องจากเท้าคู่อื่นจะไม่กลมเป็นหลอด ซึ่งเป็นทักษะการนำมาใช้ได้อย่างสุดยอด


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 มี.ค. 11, 20:01
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ ผ้านุ่งยก ผ้าพื้นสอดดิ้น เดินลายเหมาะสมกับขนาดของหุ่น

งานที่เกี่ยวเนื่องกันคือ งานรัก ปิดทอง ประดับกระจก ที่นำมาลงให้ชมเป็นการแกะหินสบู่ เพื่อนำรักเคี่ยวเหนียวมาปั้น ปั๊มลาย ทำเครื่องประดับต่างๆของตัวหุ่น


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 11, 12:27
รูปนี้เป็นเครื่องแต่งกายหนุมานที่ปักใหม่ด้วยฝีมืออ.จักรพันธุ์และทีมงาน 
ท่่านอธิบายถึงการปักซ่อมแซมไว้ว่า   ถ้าของเก่ายังเหลืออยู่ เพียงแต่ชำรุด  ก็รักษาขนาดของเดิม รูปร่าง ลวดลาย ให้เหมือนเดิมทุกประการ
ถ้าชุดไหนชำรุดน้อย ก็ค่อยๆกรึงลวดลายไหมทองเลื่อมและลูกปัดของเก่าให้แน่นหนายิ่งขึ้น   ถ้าผ้าเดิมชำรุดเป็นรูๆ ก็ชุนให้เต็มด้วยไหม หาสีให้เหมือนเดิมที่สุด  โดยมีผ้าบางเนื้อแน่นรองขึงเป็นพื้นสะดึงเพื่อให้คงทน
ส่วนที่ปักใหม่ทั้งชิ้น หรือทั้งผืน  ก็ทำต่อเมื่อของเดิมชำรุดเหลือจะซ่อมแล้ว

รูปที่นำมาลงคือเครื่องแต่งกายหนุมานที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 มี.ค. 11, 14:03
สวยงามมากครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 11, 14:14
มีมาฝากอีกค่ะ
ภาพบนซ้าย  หนังสือบรรยายว่าเป็นผ้าห่ม นางห่มเขียว
ภาพล่างซ้าย   เชิงผ้าห่ม นางยักษ์ผีเสื้อสมุทร ปักใหม่
ภาพบนขวา    เครื่องแต่งกายกันยุเวก ปักใหม่
ภาพล่างขวา   ผ้าปิดก้นกุมภกรรณ ปักใหม่

หุ่นตัวนางที่นำมาซ่อมมี ๙ ตัว นางห่มเขียวก็คือ ตัวนางที่ห่มผ้าสีเขียว  ไม่อาจบอกว่าเป็นนางตัวไหนในรามเกียรติ์ เพราะเครื่องแต่งกายไม่เจาะจงพอจะบอกบทบาทได้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 มี.ค. 11, 14:20
ผมสงสัยในฝีมือการปัก ซึ่งแน่นอนเป็นการปักจากฝีมือวังหน้า ฝีมือราชสำนัก ปราณีต วิจิตร แต่จะเป็นฝีมือการปักของบุรุษเพศ หรือ สตรีเพศ ครับ ???


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 11, 14:32
ถ้าปักกันในวัง ต้องสตรีเพศอยู่แล้วค่ะ    ถ้าหากบุรุษเพศมาปัก   อย่างใกล้วังที่สุด  ก็คือนั่งปักอยู่นอกประตูวัง  ;D

ดิฉันเข้าใจว่าฝีมือสร้างหุ่น คงจะทำมาจากช่างสิบหมู่   เกลาเป็นรูปร่าง มีหน้าตาหัวหูทำเสร็จเรียบร้อย  แต่พอถึงขั้นตอนหุ้มเสื้อผ้าเข้าไปเป็นขั้นตอนสุดท้ายก็เอาสตรีชาววังซึ่งชำนาญด้านเย็บปัก มาทำ
เพราะช่างปักสะดึงกรึงไหม เป็นหญิงอยู่แล้ว   นางลาวทองเมื่อต้องโทษเพราะขุนแผนก่อเหตุ (ตัวเธอไม่ได้ก่อ แต่ต้องมารับเคราะห์)  ก็ถูกส่งตัวไปเป็นช่างปักอยู่ในวัง ติดอยู่ตั้งหลายปีกว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ กลับออกมาพบสามีอีกครั้ง
แต่หน้าหุ่น และเครื่องประดับหุ่นเช่นพวกศิราภรณ์ทั้งหลายที่มีกระจกเกรียบประดับประดา   เป็นฝีมือช่างชาย  ไม่ใช่ผู้หญิง   งานช่างแบบนี้ไม่ใช่ฝีมือหญิงทำ

พูดถึงงานฝีมือประดับกระจกเกรียบ    มีรูปมาให้คุณ siamese ดู    เป็นท่อนหางของนางสุพรรณมัจฉา  ส่วนท่อนบนชำรุดสูญหายไป
ฝีมือเกลาแต่ละท่อนให้อ่อนไหวได้   และฝีมือประดับเกล็ดปลาด้วยกระจกเกรียบ ตัดเส้นโลหะทอง งามประณีตเหลือพรรณนา  เห็นแค่ท่อนหางก็มองเพลินแล้ว


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 มี.ค. 11, 14:49
เห็นทีไรขนลุกทุกครั้งในของโบราณที่ทำออกมาอย่างสุดฝีมือ ครั้งหนึ่งนางสุวรรณมัจฉา คงเข้าลีลาหลีกหลบกับ หนุมาน ร่ายรำลีลาหางพริ้ว แสงกระจกวับวาวออกมาด้วยความงาม นึกถึงขั้นตอนการทำหุ่นวังหน้า คงเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมๆ ผู้คนมากมาย คงต้องมีฝ่ายร่างแบบ ฝ่ายจัดซื้ออุปกรณ์ ฝ่ายปักสะดึง ฝ่ายปั้น ช่างเขียน ช่างทอง วังหน้าคงเต็มไปด้วยสีสัน ครึกครื้นนะครับ

กระจกเกรียบ เป็นกระจกของไทยแต่โบราณ หรือเรียกอีกอย่างว่า กระจกจีน เป็นกระจกที่ดาดบนแผ่นตะกั่ว ซึ่งมีความอ่อนนุ่มสามารถตัดได้ด้วยกรรไกร ในช่างสิบหมู่ มี "กรมหุงกระจก" เพื่อรับใช้งานประดับกระจกในงานไทยทุกประเภท ทางหัวเมืองเหนือก็ติดกระจกเกรียบใช้งานกันมากเช่นกัน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 11, 15:17
งานฝีมือเหล่านี้เกิดได้ในยุคที่คนไม่ต้องทำงานแข่งกับเวลา  สามารถประดิดประดอยงานฝีมือละเอียดลออได้ด้วยใจเป็นสมาธิกับงาน    ๒๔ ช.ม.ของเขาจึงเหมือนเป็น ๔๘ ช.ม.  ส่วนของพวกเราเหมือนเหลือ ๘ ช.ม. เท่านั้นในแต่ละวัน     

มาถึงรูปหัวหุ่น ที่เป็นงานปั้นของช่างสิบหมู่      ของเดิมชำรุด   มาซ่อมแซมใหม่จนสมบูรณ์ ตามรอยของเดิม  คุณ siamese คงติดตามรอยได้ว่า ฝีมือปั้นชั้นเยี่ยมขนาดไหน  เมื่อคำนึงว่า หัวหุ่นของจริงนั้นเล็กกว่าหัวโขนมาก


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 11, 15:48
มีอานม้า และตัวม้าที่ซ่อมเสร็จแล้วค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 มี.ค. 11, 15:48
งานฝีมือเหล่านี้เกิดได้ในยุคที่คนไม่ต้องทำงานแข่งกับเวลา  สามารถประดิดประดอยงานฝีมือละเอียดลออได้ด้วยใจเป็นสมาธิกับงาน    ๒๔ ช.ม.ของเขาจึงเหมือนเป็น ๔๘ ช.ม.  ส่วนของพวกเราเหมือนเหลือ ๘ ช.ม. เท่านั้นในแต่ละวัน     

ใช่ครับ ไม่ต้องทำงานดิ้นรนแข่งกับเวลา ดังนั้นศิลปะจึงออกมาได้ถึงศิลปะ ของโบราณจึงดูแล้วซึ้งตา มีอารมณ์ถึงความรู้สึกซึ่งไม่แข็งกระด้าง ช่างที่ทำได้ใส่จิตวิญญาณลงไปในชิ้นงานด้วย เหมือนเจอหุ่นโบราณสวยๆต้องก้มกราบในทักษะและฝีมือของครูโบราณที่ได้สร้างไว้

ลายกระจัง มาลัยรัด ทำออกมาย่อส่วนได้งดงาม ช่างสิบหมู่คงจิกรักเพียงปลายเล็บ แล้วปั้นให้กลม นำมาถมกดในแม่พิมพ์หินสบู่ แล้วมาติดเข้ากับหุ่นโกลน ติดรักจนรอบชั้นเป็นชั้น ต่อด้วยการปั้นหน้าหุ่น ปั้นคิ้ว ปั้นปาก ลีลาพริ้วไหว ก่อนขั้นตอนสุดท้ายงานปิดทองคำเปลว และติดกระจกเกรียบ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 มี.ค. 11, 19:39
เห็นรัดเกล้า แล้วนึกถึงการสัมภาษณ์ อ.จักรพันธุ์ จากนิตยสาร HELLO! ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 

".....และหลังจากที่ได้คลุกคลีอยู่กับหุ่นและการเล่นหุ่นมานาน คุณต๋องรักศิลปะการเล่นและการสร้างหุ่นกระบอกไม่น้อยกว่าผู้เป็นอาจารย์ เมื่ออาจารย์จักรพันธุ์ได้รับเชิญให้ซ่อมหุ่นหลวง ขนาดสูงราวเมตรกว่า 8 ตัวในช่วย พ.ศ. 2526-2529 เขาก็เป็นผู้ช่วยคนสำคัญอีก 10 ปีต่อมา อาจารย์จักรพันธุ์รับเชิญจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ช่วยซ่อมหุ่นวังหน้าขนาดสูงราว 28-37 เซนติเมตร จำนวน 100 ตัว เขาก็เป็นผู้ช่วยคนสำคัญ

เหตุประหลาดกับหุ่นกระบอก
           “เราขนหุ่นวังหน้ามากองเต็มบ้าน” คุณต๋องเล่าถึงเหตุการณ์ประหลาดเมื่อรับซ่อมหุ่นหน้าวัง “ผมฝันเห็นเด็กวิ่งเต็มบ้าน ฝันเหมือนจริงเลยฮะ เด็กตัวเล็กๆ เต็มเลย มายืนอยู่ข้างล่าง ไว้ผมจุก หันหน้ามามองเรา บ้างมายิ้มล้อเล่น ครูเจริญชัย (ต้นครองจันทร์) มานอนบ้านเราวันแรก เขาถาม อาจารย์เอากุมารทองมาเลี้ยงหรือครับ มันแกล้งผมทั้งคืนเลย นอนไม่หลับ เลยพาครูลงมาดูข้างล่าง หุ่นเรากองเต็มบ้านเลย”
           “แต่ผมไม่เคยเจอนะ” อาจารย์จักรพันธุ์บอก “ตอนเราซ่อมหุ่นหลวง เราทำพิธีบวงสรวง ตอนซ่อมหุ่นวังหน้า เราก็ต้องทำ ผู้ใหญ่แนะนำ เพราะไปเอาของท่านมาซ่อม และเราไม่ได้เอาท่านไปทำอะไรที่ไม่ดี เราไปทำให้ท่านกลับมีชีวิตขึ้นมา ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์อะไร
ตอนไปขนหุ่นวังหน้ามาซ่อม เด็กภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์เขาไม่รู้จักเรา ความจริง ผมแก่กว่า เธอก็บอก คนเอาไปเนี่ย ขี่มอเตอร์ไซค์คว่ำ หัวขาดไป และมีคนแขนหลุด ต่างๆ นานา คือหุ่นที่เก็บอยู่จะแขนขาหลุด หัวหาย เธอก็พูดเหมือนเราเอาไป ให้ระวังนะ เธอคงไม่อยากให้มีการซ่อม หรืออะไรก็ไม่ทราบ เธอก็นั่งเฝ้าอยู่ทุกวัน เราก็เฉยๆ ขนมาก็ไม่มีอะไร”
          แต่เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องบังเอิญ แต่ทำไมบังเอิญแล้วก็ช่างบังเอิญได้ถูกที่ถูกทาง ช่วยให้การซ่อมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี “ของที่ต้องใช้ซ่อม ลูกปัดเอย ผ้าเอย ที่หาสมัยนี้ไม่มีแล้ว ของมันคนละสมัยกัน เราก็หาจนได้โดยบังเอิญ ของบางอย่างบังเอิญมาอยู่บ้านเรา เหมือนมารออยู่ก่อนแล้ว อั๋น-พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก จะไปเมืองนอกทุกปี เขาไปที่อเมริกา ไปเจอมีลูกปัดเก่าๆ จากยุโรป แต่มาขายในอเมริกา พันธุ์ศักดิ์ก็โทรมาจากเมืองนอก...อาจารย์จะเอาไหม...เราก็บอกเอาๆ เขาก็เหมามาเลย พอได้มา ลูกปัดมันเล็กมา เข็มเบอร์เล็กสุดยังแทงไม่เข้า เราก็ไม่รู้จะไปใช้อะไร ก็เก็บไว้ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะต้องได้มาซ่อมหุ่นวังหน้า อีกหลายปีถึงได้มาซ่อมหุ่นวังหน้า นั่นคือลูกปัดที่ได้ใช้ หาที่อื่นก็หาไม่ได้”
          และเนื่องจากลูกปัดมีขนาดเล็กมา เข็มเบอร์เล็กสุดก็ยังมีขนาดใหญ่ไป ทางผู้ซ่อมต้องทากาวอ่อนๆ ที่ด้าย เป็นการปั้นให้ด้ายแข็งแล้วแยงลงรูลูกปัด จากนั้นจึงร้อยด้ายเข้าเข็มปักเช่นนี้ทีละเม็ดๆ
          “ตอนนั้นเราซ่อมหุ่นหลวง หุ่นหลวงจะมาในหีบ มาเป็นเหมือนศพ มีผ้ามีแขนเขินหลุด มีหน้ามาเป็นหีบ พอเปิดหีบออก มีรัดเกล้าอันเล็กนิดนึงหลงมา เราเห็นก็ เอ๊ะ รัดเกล้านี่ไม่ใช่ของหุ่นหลวง แต่เป็นของหุ่นวังหน้า ก็แยกออกมาเก็บไว้ในตู้ กลัวพัง เพราะอันเล็กนิดนึง เราก็ไปพิพิธภัณฑ์ ก็ไปดูๆ ไม่เห็นมีตัวละครตัวไหนใส่รัดเกล้า จะใส่ก็แต่มงกุฏกษัตริย์

           ในหีบยังมีกระบังหน้าละครคนอีกอันหลงมา เป็นหนังติดรักประดับกระจก เป็นกระบังหน้าของคน ไม่ใช่ของหุ่น เราก็พูดกับคนของพิพิธภัณฑ์ว่า กระบังหน้าสวยมากเลย ไม่ชำรุดเลย มาอยู่ในหีบหุ่นหลวง ผมขอเก็บเอาไว้ได้มั๊ย เพราะส่งคืนไป ถ้าเก็บไว้ไม่ดีจะเสียหาย และอาคารที่เก็บก็ร้อนมาก ทางโน้นบอกไม่ได้ ต้องคืน ถ้าจักรพันธุ์กลัวจะเสียหาย ก็ขโมย คือเอาไว้เอง ผมบอกไม่กล้าหรอก ภายหลังเราก็ส่งคืนไป แต่รัดเกล้าที่ตั้งไว้ในตู้จนกระทั่งซ่อมหุ่นหลวงเสร็จ ผมลืมไง ก็ติดอยู่ในตู้อย่างนั้น จนกระทั่ง 10 ปีต่อมา ได้มาซ่อมหุ่นวังหน้า ก็นึกถึงรัดเกล้าอันนั้น เราก็ดูๆ หุ่นที่เอามาซ่อม ไม่มีตัวนางตัวใดใส่รัดเกล้าเลย ใส่แต่ชฎา จนซ่อมจะเสร็จแล้วนะ เหลืองวดสุดท้าย ผมก็อธิษฐานนะ ขอให้เจอตัวหุ่นที่ใส่รัดเกล้าอันนี้ ผมไม่เห็นเลยนะ หุ่นที่จะใส่รัดเกล้าอันนี้
          งวดสุดท้ายที่เราไปเดินดูหุ่นบนพิพิธภัณฑ์ ทางผู้ใหญ่สั่งให้เอาหุ่นที่เหลือมาเรียงๆ ไว้บนชั้นให้ดู ผมก็ไป ก็มีแต่ตัวไพร่พล ไม่ใช่ตัวที่จะเข้ากับรัดเกล้า เดินๆ คุยๆ กำลังจะกลับ ขาไปสะดุดไม้แหลมที่ใต้โต๊ะ หยิบขึ้นมาเป็นนางเบญกาย หุ่นเจ้าของรัดเกล้า ผมหยิบขึ้นมาขนลุก รัดเกล้าคอยอยู่ที่บ้านผม เขาคอยอยู่ว่าเมื่อไหร่เขาจะมีชีวิต หน้าแทบไม่ต้องแต่งเลยนะ

          มีหุ่นหลวงพระพรตตัวหนึ่ง จัดสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และได้มีการปิดกระดาษซ่อมไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 อาจารย์จักรพันธุ์เสี่ยงล้างกระดาษที่ปิดหน้าออก เจอหน้าที่แดงที่เก่ากว่าอยู่ข้างล่าง ใบหน้าที่ลอกสวยสมบูรณ์ แม้โดนน้ำ สีที่ทาไม้ก็ไม่หลุดลอกทั้งที่เป็นเพียงสีฝุ่นโบราณ
          หุ่นทุกตัว อาจารย์จัดซ่อมอย่างประณีต ด้วยหัวใจที่รู้สึกว่า “เรานึกอยู่ตลอดเวลาว่า นี่คืองานที่เราทำไปแล้ว เรากลับมาซ่อมไง ตอนนั้นทางกรมศิลปากรบอกมีคนอยากจะซ่อมหุ่นมากมาย และขอยื่นมือเข้ามา แต่กรมศิลปากรไม่เลือก เราไม่ได้ไปเรียกร้องอะไร ก็อยู่ในรูนี้” อาจารย์ชอบเรียกบ้านตัวเองว่า “รู” “เขาก็โทรถามว่าจะมาซ่อมได้หรือยัง คือหลังจากซ่อมหุ่นหลวงแล้วเขาก็พอใจ อยากจะให้เราซ่อมหุ่นวังหน้า โทรมาบางช่วง ผมไม่มีเด็กไง พอช่วงนั้นเด็กเยอะเต็มบ้าน ช่างฝีมือดีๆทั้งนั้น เราก็รับซ่อม”


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 11, 19:46
เรื่องหุ่นนางเบญกายเป็นเรื่องที่ตั้งใจจะเล่าเป็นลำดับต่อไป  คุณsiamese เกริ่นขึ้นมาพอดี   
พรุ่งนี้  จะเอารูปและเรื่องมาเล่านะคะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 11, 12:17
        การค้นพบหุ่นเบญกาย เป็นเหตุการณ์เล็กๆ น่าตื่นเต้นเหมือนการผจญภัยของตัวเอกในหนังแอนนิเมชั่น  ที่เบญกายน้อยแสดงนำ   
           ในเดือนธันวาคม ๒๕๓๕  ที่มีการนำหุ่นจำนวนแรกมาซ่อม  อ.จักรพันธุ์พบรัดเกล้าอันเล็กๆ ๑ อันปะปนอยู่ในหัวหุ่น   สันนิษฐานว่าเป็นรัดเกล้าเปลว   เพราะมีกระจังใหญ่คล้ายกระจังปฏิญาณอยู่ตรงดอกไม้ทิศ พอเหลือให้เห็น นอกนั้นชำรุดหมด  เปลว ๒ ข้างก็ไม่เหลือ
     ลักษณะรัดเกล้าแบบนี้ต้องตั้งบนหัวนางที่ทำผมแหวกแสกกลาง  ถึงจะรับกันได้  แต่ก็ไม่มีหุ่นนางตัวใดทำผมแบบนี้    ในบรรดาหุ่นตัวนางที่ทีมซ่อมหุ่นได้มา ๙ ตัว  ทุกนางสวมเกี้ยวยอดแหลมมีกระบังหน้า ทั้งหมด รัดเกล้ากับเจ้าของจึงค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น  หากันไม่พบ
     ล่วงเลยมาถึง ๔ ปี   อ.จักรพันธุ์ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร  ขอขึ้นไปสำรวจคลังใต้หลังคาที่เก็บหุ่นอีกครั้ง   เจ้าหน้าที่บอกว่าเหลือแต่หุ่นตัวกาก  ประเภทไพร่พล  ไม่มีหุ่นตัวเอกๆเหลือแล้ว    ขนไปให้ซ่อมหมด  แต่ในเมื่อจะสำรวจ เขาก็จัดหุ่นเรียงไว้ในตู้ให้เลือกตามสะดวก
     ขอลอกที่ท่านเล่า  ให้อ่านกัน  จะได้วาดภาพตามไปด้วยได้

       " บังเอิญข้าพเจ้าเห็นก้านไม้ดำๆอย่างแกนตัวหุ่น ๑ แกน   โผล่ออกมาจากชั้นตู้ชั้นล่างสุดที่อยู่เรี่ยติดพื้นห้อง    สงสัยว่าจะเป็นหุ่นกากตัวใดหลงหูหลงตาซุกซ่อนอยู่ชั้นล่าง    ไม่ได้เห็นแต่แรก    นึกสะดุดใจจึงนั่งลง ลองดึงก้านไม้ดำนั้นออกมาดู    ปรากฏว่าเป็นหุ่นตัวนาง  เขียนผมสีดำ เป็นผมแหวกเพื่อตั้งรัดเกล้าได้    แขนและขาส่วนล่างไม่มีเหลือ    ผิวกายสีเหลืองนวล   ผ้าห่มนางเป็นตาดสีเหลือง  ผ้านุ่งสีเขียวขาดชำรุดหมด    เหลือเศษติดตัวหุ่นพออาศัยเป็นหลักฐาน   สันนิษฐานว่าเป็นหุ่นตัวนางเบญกาย
       ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นที่ยิ่ง    หากเผลอละเลยไปไม่ถี่ถ้วน มองข้ามไป    เบญกายน้อยก็คงจะต้องคอยอยู่อย่างนั้นชั่วนาตาปี   รัดเกล้าเก่ากรอบหักพักอันนิดๆนั้น  อาจสูญหายกลายเป็นวัสดุขี้ขยะดำๆ  ป่นปี้ไม่มีค่า   เช่นเดียวกับเศษศิลปวัตถุเป็นอันมากที่ไม่ทราบหายหกตกหล่นไปไหน     และไม่อาจหาให้พบได้    ถึงทำขึ้นมาทดแทนใหม่ก็ไม่เหมือน"

     ส่วนที่พิมพ์ตัวแดงไว้นั้น  เผื่อคุณ siamese จะอธิบายให้คนอ่านเรือนไทยที่เป็นเด็กรุ่นใหม่  ไม่รู้ว่าศัพท์พวกนี้หมายถึงอะไร  ดิฉันเองก็รู้เพียงคร่าวๆเท่านั้น

     ในที่สุด เมื่อรัดเกล้ากับเบญกายได้พบกันอีกครั้ง  เสื้อผ้าที่ติดหุ่นอยู่ก็เหลือพอเป็นเค้าได้ว่าของเดิมเป็นอย่างไร   เบญกายจึงได้พลิกฟื้นคืนชีวิตมาในสภาพงามสมบูรณ์อีกครั้ง   
     หวังว่าผู้ที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้คงจะดีใจกับเธอไปด้วย


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 11, 12:20
นอกจากนี้ เบญกายยังได้พบหนุมาน  พระเอกของเธอ ที่กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์เช่นกัน
ถือว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง สำหรับหุ่น ๒ ตัวนี้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 15:17
       การค้นพบหุ่นเบญกาย เป็นเหตุการณ์เล็กๆ น่าตื่นเต้นเหมือนการผจญภัยของตัวเอกในหนังแอนนิเมชั่น  ที่เบญกายน้อยแสดงนำ    
           ในเดือนธันวาคม ๒๕๓๕  ที่มีการนำหุ่นจำนวนแรกมาซ่อม  อ.จักรพันธุ์พบรัดเกล้าอันเล็กๆ ๑ อันปะปนอยู่ในหัวหุ่น   สันนิษฐานว่าเป็นรัดเกล้าเปลว   เพราะมีกระจังใหญ่คล้ายกระจังปฏิญาณอยู่ตรงดอกไม้ทิศ พอเหลือให้เห็น นอกนั้นชำรุดหมด  เปลว ๒ ข้างก็ไม่เหลือ
     ลักษณะรัดเกล้าแบบนี้ต้องตั้งบนหัวนางที่ทำผมแหวกแสกกลาง  ถึงจะรับกันได้  แต่ก็ไม่มีหุ่นนางตัวใดทำผมแบบนี้    ในบรรดาหุ่นตัวนางที่ทีมซ่อมหุ่นได้มา ๙ ตัว  ทุกนางสวมเกี้ยวยอดแหลมมีกระบังหน้า ทั้งหมด รัดเกล้ากับเจ้าของจึงค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น  หากันไม่พบ
    
     ส่วนที่พิมพ์ตัวแดงไว้นั้น  เผื่อคุณ siamese จะอธิบายให้คนอ่านเรือนไทยที่เป็นเด็กรุ่นใหม่  ไม่รู้ว่าศัพท์พวกนี้หมายถึงอะไร  ดิฉันเองก็รู้เพียงคร่าวๆเท่านั้น

    

รัดเกล้า  หมายถึง เครื่องประดับศีรษะสตรีสูงศักดิ์ในราชสํานักแต่โบราณ ซึ่งได้พัฒนามาจากมาลัยรัดผมจุก ช่างไทยได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้คลุมมุ่นผมให้สวยงาม

รัดเกล้าเปลว  หมายถึง รัดเกล้าประเภทหนึ่งซึ่งตอนบนจะติดกระจังปฏิญาณไว้ พริ้วไหวเหมือนเปลวไฟ จึงได้ชื่อตามสิ่งที่เห็นว่า รัดเกล้าเปลว

กระจังใหญ่ หมายถึง ลายไทยอย่างหนึ่งซึ่งเป็นลายพื้นฐานของลายไทย เช่น กระจังตาอ้อย กระจังฟันปลา ซึ่งลายกระจังถือกำเนิดจากการเลียนแบบสิ่งที่เห็นตามธรรมชาติแล้วนำมาเขียนลายเส้นตามที่เห็น

กระจังปฏิญาณ หมายถึง ลายไทยประเภทหนึ่งอยู่ในหมวดกระจัง ซึ่งเรียกว่ากระจังหูหรือกระจังปฏิญาณ มีทรงอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างสองส่วน สูงสามส่วน(ดูแบบ)ตอนบนมีทรงเหมือนกระจังใบเทศ แล้วต่อก้านลงมาอีกครึ่งส่วนซ้ายและขวา มีตาอ่อนหรือกระจังใบเทศห้าม แต่ภายในตอนล่างมีกาบทั้งซ้ายและขวา เช่นเดียวกับกระจังใบเทศ วิธีแบ่งตัวมีเป็นลำดับคล้ายกระจังใบเทศ ตัวโตขึ้นก็มีการแบ่งตัวมากขึ้นไป

ดอกไม้ทิศ หมายถึง ลายไทยที่ทำเป็นลายประจำยาม ตรึ่งไว้ ๔ ด้าน ทำเป็นรูปดอกไม้บ้าง มีกลีบซ้อนบ้าง
เปลว

เกี้ยว  เครื่องประดับสวมศีรษะพัฒนาจากดอกไม้รัดผมจุก เช่นเดียวกัน และพัฒนาทำด้วยทองคำ หรือ โลหะมีค่า พร้อมใส่ลายไทย ดอกไม้ไหวประกอบ ซึ่งตัวดอกไม้ไหวจะมีขายาวไว้สำหรับเสียบแทนปิ่นปักผม เพื่อให้ตรึงอยู่กับศีรษะ

พระมหาพิไชยมงกุฏ, ชฎา, มงกุฎ ต่างก็เป็นเครื่องประดับชั้นสูง ซึ่งมีการนำเกี้ยวเข้าไปประกอบ เกี้ยวยิ่งมากเท่าไร ย่อมหมายถึงลำดับแห่งศักดิ์สูงกว่า
เกี้ยวยอดแหลม ถูกพัฒนาจากเกี้ยวอีกทอดหนึ่ง ซึ่งใส่ยอดแหลมเข้าไปทำให้บ่งบอกถึงสถานภาพของผู้สวมว่า อยู่ในยศ ชั้นที่สูงศักดิ์กว่า

เกี้ยวยอดแหลม  ถูกพัฒนาจากเกี้ยวอีกทอดหนึ่ง ซึ่งใส่ยอดแหลมเข้าไปทำให้บ่งบอกถึงสถานภาพของผู้สวมว่า อยู่ในยศ ชั้นที่สูงศักดิ์กว่า

กะบังหน้า (ภาษาใหม่) ของเดิมเรียก “กรอบหน้า”  หมายถึงเครื่องประดับศิราภรณ์ฝ่ายสตรี ที่มีไว้สำหรับรวบผมไม่ให้ลงมาปรกใบหน้า ซึ่งในอดีตในสมัยรัชกาลที่ ๔ กรอบหน้าเคยเป็นหนึ่งในเครื่องราชเบญจกกุธภัณฑ์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น พระมหาพิไชยมงกุฎในระยะต่อมา

ภาพวาดสีน้ำมัน ของ อ.จักรพันธุ์ ในภาพนางละครกำลังสวมรัดเกล้าเปลว


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 15:20
กระจังปฏิญาณ  หมายถึง ลายไทยประเภทหนึ่งอยู่ในหมวดกระจัง ซึ่งเรียกว่ากระจังหูหรือกระจังปฏิญาณ มีทรงอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างสองส่วน สูงสามส่วน(ดูแบบ)ตอนบนมีทรงเหมือนกระจังใบเทศ แล้วต่อก้านลงมาอีกครึ่งส่วนซ้ายและขวา มีตาอ่อนหรือกระจังใบเทศห้าม แต่ภายในตอนล่างมีกาบทั้งซ้ายและขวา เช่นเดียวกับกระจังใบเทศ วิธีแบ่งตัวมีเป็นลำดับคล้ายกระจังใบเทศ ตัวโตขึ้นก็มีการแบ่งตัวมากขึ้นไป


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 15:23
ลักษณะหุ่นนางที่สวมกรอบหน้า


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 15:32
พระราชลัญจการ พระบรมราชโองการ (องค์ใหญ่) ที่ผูกลายเครื่องมงคล ๕ ประการ หรือ เบญจราชกกุธภัณฑ์ ใช้กรอบหน้าเป็นเครื่องหมายหลัก


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 15:34
ภาพวาดสีน้ำมัน ฝีมือ อ.จักรพันธุ์ วาดนางละคร สวมรัดเกล้ายอด


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 15:43
ลักษณะการใช้เกี้ยว รัดผม เนื่องจากหากอยู่ในวัยก่อนโกนจุก จะมีมุ่นผมขนาดเล็ก เกี้ยวจึงรัดครอบได้หมด แต่เมื่อไว้ผมยาวขึ้นก็จะเทินเส้นผมขึ้นไป หากเส้นผมยาวขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีการนำเกี้ยวรัดอีกเป็นชั้นๆ ช่างไทยจึงพัฒนากลายเป็นไม้กลึงปิดทองทำเป็นยอดแหลมไป และพัฒนาให้ใหญ่ขึ้น กลายเป็น มงกุฎ ชฎา ต่อไป แถมยังใส่ดอกไม้ไหว เพื่อให้เกิดความสวยงามเพิ่มเข้าไปอีก


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 15:49
เครื่องประดับศีรษะนางมีทั้งมงกุฎกษัตริย์ รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลวกะบังหน้าและกรอบหน้า ตามยศตำแหน่งเช่นกัน นางกษัตริย์และนางฟ้าเวลาทรงเครื่องใหญ่สวมมงกุฎกษัตริย์และเกล้าผมขึ้นหมด รัดเกล้ายอดใช้สำหรับเจ้าฟ้ามเหสีชั้นรอง นางกษัตริย์พระธิดาชั้นเจ้าฟ้ารวบผมไว้ ท้ายทอยมีเกี้ยวรัดรอบโคนผมมีเครื่องสวมมวยเป็นยอดแหลม กรรเจียกจอน ดอกไม้ทัดห้อยอุบะรัดเกล้ายอดนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศห้ามใช้ในละคอนสงวนไว้เฉพาะ เครื่องทรงเจ้านายเท่านั้น ส่วนรัดเกล้าเปลวสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ใช้สำหรับ เจ้านายชั้นต่ำกว่าเจ้าฟ้า เช่น นางเบญกายซึ่งเป็นลูกพิเภกเป็นหลานกษัตริย์คือทศกัณฐ์ (แต่ในระยะหลังดูจะใช้ทั่วไปไม่มีหลักเกณฑ์อะไร)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห้ามไว้ในประกาศฉบับเดียวกันว่าเมื่อใช้รัดเกล้าในละคอน ทรงห้ามใช้ กรรเจียกจอน ดอกไม้ทัดอย่างเจ้านายตลอดไปจนถึงทรงห้ามละคอนชายมิให้จีบโจง หางหงส์และใช้เครื่องของเป็นทอง เช่น พานหีบหมากทองหรือลงยาราชาวดีอย่าง เจ้านายชั้นสูง ทั้งนี้คือการสงวนสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์และเจ้านายมิให้นำมาเล่นให้เสื่อมเสีย แต่มาในระยะหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ก็มิได้มีผู้ใดบังคับกวดขัน จึงล้มเลิกกฎเกณฑ์ไปจนเกือบหมดใช้สับสนปะปนไปมาก ยิ่งในสมัยหลังเกิดละคอนรำรูปแบบใหม่มากขึ้น เครื่องสวมหัวเหล่านั้นก็ใช้กันตามอำเภอใจเพื่อความสวยงาม เท่านั้น


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 11, 16:22
ขอบคุณค่ะ   คุณ siamese เอามาให้ดูจนลานตาทีเดียว
เจอรูปนี้ ฝีมืออ.จักรพันธุ์
สิ่งที่นางละครถืออยู่ คือเกี้ยวยอดแหลม ใช่ไหมคะ
ส่วนนางละครที่ยืนหันหลังสวมอยู่ คงจะเป็นกะบัง หรือกรอบหน้า

(http://cdn.learners.in.th/assets/media/files/000/002/573/original_%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B8%25E0%25B8%258F.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 มี.ค. 11, 16:29
รูปในความเห็นที่ ๙๓  เป็นมวยสูง  อย่างนี้หรือเปล่า  ที่เรียกว่า  โซงโขดง
อันหมายถึงการเกล้ามวยผมสูงของสตรีชั้นสูงสมัยอยุธยาตอนต้น 
ซึ่งคงจะได้อิทธิพลเขมรมากระมัง ???


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 16:44
ขอบคุณค่ะ   คุณ siamese เอามาให้ดูจนลานตาทีเดียว
เจอรูปนี้ ฝีมืออ.จักรพันธุ์
สิ่งที่นางละครถืออยู่ คือเกี้ยวยอดแหลม ใช่ไหมคะ
ส่วนนางละครที่ยืนหันหลังสวมอยู่ คงจะเป็นกะบัง หรือกรอบหน้า


ตัวนางที่ถืออยู่ นั้นคือ ชฎานาง ครับ ส่วนที่หันหลังให้สวมกรอบหน้าครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 มี.ค. 11, 16:50
กรอบหน้าเกี้ยวยอด


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 11, 17:05
ขอแก้ตัว

(http://www.bloggang.com/data/vistapa/picture/1159277257.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 11, 17:14
เคยได้ยินคำว่า เกี้ยวหางหงส์ ค่ะ ลักษณะคล้ายรัดเกล้าเปลว ไม่ทราบว่าต่างกันตรงไหนคะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 11, 17:15
แล้วเครื่องสวมศีรษะ ในรูปทั้งสองนี้ เขาเรียกว่าอะไรคะ

(http://www.art.krusombat.com/bbs/attachments/month_1001/1001282250c6fadd94a5768e82.jpg)


ป.ล. แก้ไขรูปแล้วค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 11, 17:22
ภาพบนเป็น ปันจุเหร็จเพชร ค่ะ  เป็นเครื่องประกอบศรีษะ ใช้ในความหมายแทนผ้าโพก
มักใช้ในการแสดงเรื่องอิเหนา ตัวพระบางตัวจะสวมศีรษะด้วยปันจุเหร็จในบางตอน
เช่นตอนที่อิเหนาปลอมตัวเป็นชาวป่าและเปลี่ยนชื่อเป็นมิสาระปันหยี

ภาพล่างเพิ่งเห็นครั้งแรกค่ะ งามแบบโบราณ น่าจะเรียกว่ ปันจุเหร็จ เหมือนกันนะคะ เป็นรัดเกล้าแบบไม่มียอด


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 11, 18:10
ชิ้นนี้เรียกว่า กระบังหน้า ค่ะ
รำที่ใช้กระบังหน้า ที่เห็นบ่อยๆ ก็ ฉุยฉายพราหมณ์ ค่ะ
สวมกระบังหน้า และด้านหลังไว้ผมมวยรัดเกล้า


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 11, 18:27
สองภาพนี้ บรรยายภาพว่า เกี้ยว ค่ะ
ภาพบนเป็น เกี้ยวยอด ภาพล่างเป็น เกี้ยว ทีถอดส่วนยอดออกค่ะ


รัดเกล้า  หมายถึง เครื่องประดับศีรษะสตรีสูงศักดิ์ในราชสํานักแต่โบราณ ซึ่งได้พัฒนามาจากมาลัยรัดผมจุก ช่างไทยได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้คลุมมุ่นผมให้สวยงาม

รัดเกล้าเปลว  หมายถึง รัดเกล้าประเภทหนึ่งซึ่งตอนบนจะติดกระจังปฏิญาณไว้ พริ้วไหวเหมือนเปลวไฟ จึงได้ชื่อตามสิ่งที่เห็นว่า รัดเกล้าเปลว

เกี้ยว  เครื่องประดับสวมศีรษะพัฒนาจากดอกไม้รัดผมจุก เช่นเดียวกัน และพัฒนาทำด้วยทองคำ หรือ โลหะมีค่า พร้อมใส่ลายไทย ดอกไม้ไหวประกอบ ซึ่งตัวดอกไม้ไหวจะมีขายาวไว้สำหรับเสียบแทนปิ่นปักผม เพื่อให้ตรึงอยู่กับศีรษะ

เรียนถามท่าน siamese ว่า รัดเกล้า กับ เกี้ยว ต่างกันอย่างไรคะ สังเกตจากตรงไหนคะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 มี.ค. 11, 21:30

หนังสือ เครื่องแต่งกายละครและการพัฒนา

การแต่งกายยืนเครื่องละครในของกรมศิลปากร

พิมพ์ ๒๕๔๗  หน้า  ๑๗๙


รัดเกล้า

เป็นเครื่องประดับศีรษะ  สำหรับละครตัวนางที่ได้แบบอย่างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ซึ่งสามารถพบหลักฐานได้จากภาพเขียน  บทละครในสมัยนั้น

ปรากฎเครื่องศิราภรณ์อยู่ ๓ แบบ  คือ

๑.   มงกุฎสตรี  มีมาลากับปิ่น       ระหว่างมาลากับปิ่นบางทีมีสาแหรกยึด   บางทีไม่มี

๒.   รัดเกล้าก็คือ มาลา นั่นเอง

      มาลาคือพวงดอกไม้สด หรือดอกไม้ทองสวมศีรษะในที่ใส่มงคล  บางทีเรียกว่า"เกี้ยว"    ที่เรียกว่ากระบังหน้าคือมาลานั่นเอง

      แต่เขาทำเอียงไปเสีย  ดังนั้น  เพื่อให้เข้ากับวงหน้่งามขึ้น  แต่มีเพียงครึ่งท่อน  เพราะมีจอนหูบัง (จากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ 

      พันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ : สมภพ  จันทรประภา)



หน้า ๑๘๖

รัดเกล้าที่ใช้ในการแสดงละครในกรมศิลปากรมี ๒ แบบ คือ

๑.   รัดเกล้ายอด      ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔   ประกอบด้วย
   
      ตัวรัดเกล้า คือ มาลา และสนองเกล้า  ประกอบเข้าด้วยกัน  ประดับด้วยดอกไม้ทอง

      จอนหู หรือ กรรเจียกจอน  แต่งกุณฑลเป็นดอกไม้เพชร  ห้อยตุ้งติ้ง  ประดับดอกไม้ไหว   รัดท้ายช้อง  ทำด้วยหนังม้วนเป็นทรงกระบอก
     
      ใช้รัดปลายหางม้า  ประดับพลอย กระจก และเพชร     ใช้กับตัวละครที่สูงศักดิ์ที่เป็นตัวนาง


๒.   (หน้า ๑๘๘)   รัดเกล้าเปลว   เพิ่มดอกไม้ไหวรอบตัวมาลา  ลงรัก ปิดทอง  ประดับเพชรพลอย กระจก


      รัดเกล้าธรรมดาทำด้วยโลหะ   สูงกว่าเกี้ยว  งามกว่าเกี้ยว  มีกระจังโดยรอบ ๓ แบบ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 11, 21:45
นำรูปหุ่นนางที่ซ่อมแซมเสร็จแล้วมาโพส   เพื่อให้ดูเครื่องประดับศีรษะ 
รอคุณ siamese มาอธิบายว่าเป็นชนิดไหน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 มี.ค. 11, 21:47

คคห ๑๐๑  รูปล่าง     ปันจุเร็จเพชร  ของ ละครเจ้าคุณพระประยูรวงศ์



หนังสือ  การศึกษา และการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับ  การแต่งกายยืนเครื่องโขน - ละครรำ

ศิลปากร ๒๕๕๐    หน้า ๑๔๑


ปันจุเร็จเพชร  เกิดในสมัย ร.​๖   สันนิษฐานว่าได้นำเอาลักษณธของ "ที่คาดผมทรงมงกุฎฝรั่ง"

ถูกกำหนดให้ใช่สำหรับ อุนากรรณ และ ปันหยี  (มีเอกสารกล่าวว่า  ไกรทองก็เคยใช้/วันดี)


ปันจุเหร็จเงิน   เกิดขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕   ก่อนหน้านั้นละครกรมพระนราธิปประพันพงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ได้นำเพชรเทียมสองชนิดคือเพชรหลา(หรือเพชรแภว)  และเพชรก้นตัด(หรือพลอยกระจก)มาทำเครื่องประดับต่าง ๆ  รวมทั้งเครื่องประดับศีรษะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 11, 21:48
อีกตัวหนึ่ง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 มี.ค. 11, 22:06

       เครื่องประดับศีรษะใน คคห ๑๐๖    น่าจะเป็น เกี้ยวยอด ค่ะ

   ประกอบด้วยหุ่นที่ขึ้นด้วยกระดาษสาอัดแข็งเป็นโครงใส่ครอบศีรษะ  เป็นตัวผมปีก  ทาสีดำ  ตัดด้วยเส้นขาวเป็นเส้นแบ่งแนวผมตามลักษณะผมปีก

ส่วนที่เป็นตัวเรือนเกี้ยวยอด  คือเกี้ยวมาลาขนาดเล็ก   มี่มีฐานเป็นลายกระจังปฏิญญา ทรง "บัวคว่ำ"   เรียงแผ่รายออกรอบตัวเกี้ยว

ขอบบนของตัวเกี้ยวเป็นลายกระจังปำิญญาทรง "บัวหงาย"   เรียงตัวตามตั้งรายรอบตัวเกี้ยวเช่นเดียวกัน   ปลีบอดมีดอกไม้ไหวประดับตามกลุ่ม

ปลายเป็นยอดแหลม   

มีสุวรรณมาลา(กรอบหน้า)ที่ไม่สูงนัก       (บางเรือนอาจมีสุวรรณมาลาประดับรอบสุวรรณมาลา)  และมีกรรเจียกจรเป็นองค์ประกอบ


เกี้ยวยอดมีใช้มาจนสมัยรัตรโกสินทร์ตอนกลาง        ปัจจุบันไม่พบว่ามีการใช้ทั้งในโขนและละครรำ


(การแต่งกายยืนเครื่องโขน - ละครรำ      ศิลปากรพิมพ์  ๒๕๕๐  หน้า ๑๕๕)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 08:39
แล้วเครื่องสวมศีรษะ ในรูปทั้งสองนี้ เขาเรียกว่าอะไรคะ


ใช่ครับ เครื่องสวมศีรษะประเภทนี้ตามที่คุณ ดีดี ตอบคือ "ปันจุเหร็จ"

ปันจุเหร็จ ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นแต่ละครหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๒ เดิมใช้สำหรับแต่งเป็นปันหยี กับ อุณากรรณ ในละครเรื่องอิเหนาแทนการโพกผ้าที่ศีรษะ ภายหลังจึงนำไปแต่งทั่วไป (ภาพปันจุเหร็ด ชิ้นนี้ไปชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 09:10
สองภาพนี้ บรรยายภาพว่า เกี้ยว ค่ะ
ภาพบนเป็น เกี้ยวยอด ภาพล่างเป็น เกี้ยว ทีถอดส่วนยอดออกค่ะ


เรียนถามท่าน siamese ว่า รัดเกล้า กับ เกี้ยว ต่างกันอย่างไรคะ สังเกตจากตรงไหนคะ


รัดเกล้า ต่างกับ เกี้ยว ดังนี้ครับ

๑. ดูจากขนาด-รูปร่าง
รัดเกล้าจะมีขนาดใหญ่กว่าเกี้ยวมากครับ รัดเกล้าจะวางคลุมศีรษะ ไว้ผมแสกกลาง ส่วนเกี้ยวจะครอบบนจุก มวยผม และรัดเกล้าขอบฐานล่างจะเรียบไม่ปรากฎกระจังล้อมรอบ อย่างที่คุณ Wandee กล่าวอธิบายไว้

๒. จุดประสวค์การใช้
ในด้านการละคร การแต่งกายตัวนางที่ยืนเครื่องด้วยรัดเกล้า จะมียศศักดิ์สูงกว่า ตัวนางที่ยืนเครื่องด้วยเกี้ยว เช่น นางรจจนา, นางเบญกาย จะทรงรัดเกล้าเปลว



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 09:20
นำรูปหุ่นนางที่ซ่อมแซมเสร็จแล้วมาโพส   เพื่อให้ดูเครื่องประดับศีรษะ 
รอคุณ siamese มาอธิบายว่าเป็นชนิดไหน

หุ่นนางสองตัวนี้งดงามมากครับ สำหรับเครื่องประดับศีรษะประกอบด้วย กรอบหน้า กรรเจียกจร เกี้ยวยอด ครับ ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 09 มี.ค. 11, 09:23
กราบขอบพระคุณ คุณWandee และ คุณsiamese สำหรับคำอธิบายและภาพประกอบค่ะ
เข้าใจขึ้นเยอะเลยค่ะ ทีนี้หนูก็แยกได้แล้ว ระหว่าง รัดเกล้า กะ เกี้ยว
ขอบคุณค่ะ  ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 09:39
นางสุพรรณมัจฉา ก็ประดับกรอบหน้า เกี้ยวยอด เห็นหางปลาแล้วนึกถึงภาพหางนางสุพรรณมัจฉา ที่อ. เทาชมพูนำมาให้ชมในความงาม


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 มี.ค. 11, 10:37


รูปของคุณไซมีส งามตรึงตา

ช่างสะสมไว้มากมายจริงหนอ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 10:52


รูปของคุณไซมีส งามตรึงตา

ช่างสะสมไว้มากมายจริงหนอ

ไม่มากหรอครับ คุณ Wandee พอจะมีถูไถๆ ไปได้เท่านั้น  ;D ;D ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 มี.ค. 11, 11:04

       เหมือนนักสะสมหนังสือเลยค่ะ

       เมื่อโดนคำถาม  ก็จะพากันตอบว่า   พอมีบ้าง   พวกเราก็จะกระโดดไปรุมกันตุบตับ

ขอให้ท่านเล่าให้ฟัง   ถือว่าเมตตาที่ให้ความรู้

ผู้ใหญ่ที่แท้จริงท่านกรุณาคนที่วิ่งตามมาทุกคนค่ะ

คุณลุงสมบัติ  พลายน้อยเมื่อเจอขบวนการจากเรือนไทย  ปลื้มมาก


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 11, 11:16
เห็นปันจุเหร็จ แล้วนึกถึงทรงมงกุฏนางสาวสยาม   ในรูปซ้ายและกลาง

(http://btgsf1.fsanook.com/weblog/entry/185/926677/m2.jpg)

และรูปนี้ รูปกลางเห็นไม่ชัดนัก แต่ซ้ายขวา สวมแบบครอบรอบศีรษะ  ลงมาถึงหน้าผากด้านบน

(http://i1206.photobucket.com/albums/bb448/vnapt1/m1.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 11, 11:32
มีของงามชิ้นน้อยในหุ่นวังหน้า มาให้คุณ siamese ดูอีกชิ้น   เป็นอุปกรณ์ประกอบการเล่นหุ่น   

อ.จักรพันธุ์บรรยายว่า คือธงสามเหลี่ยมทำด้วยกระดาษปิดทองเขียนสี    ริมธงด้านหนึ่งตัดเป็นกระหนกพลิ้วอย่างธงสะบัด ที่ติดอยู่ปลายงอนรถในภาพจิตรกรรมไทยประเพณี
ด้ามธงทำด้วยหวายเหลายอดเรียว สามารถดัดให้อ่อนโค้งได้   สันนิษฐานว่าเป็นงอนรถของราชรถหุ่น   น่าเสียดายว่าราชรถสูญหายไม่เหลือร่องรอย
เห็นแค่งอนรถ  ก็พอจะวาดภาพได้ว่าราชรถในหุ่นวังหน้า จะงามวิจิตรบรรจงสักแค่ไหน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 11:37
สาวไทยสมัยก่อนประกวดกันทีได้ขันน้ำพานรอง งดงามมากครับ

สำหรับผมแล้ว ปันจุเหร็จ ได้สืบทอดมายัง "ลิเกทรงเครื่อง" ซึ่งพระยาเพ็ชรปราณี ได้จัดการนำเครื่องละครไปประยุกต์เพื่อเล่นลิเกทรงเครื่อง ซึ่งเอกลักษณ์ที่เด่นนอกจากเสื้อผ้าลิเกแพรวพราวแล้ว ยังต้องมี ปันจุเหร็จ และใส่ยอดเข้าไป ห้อยพู่ข้าง งดงามมากครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 11:45
มีของงามชิ้นน้อยในหุ่นวังหน้า มาให้คุณ siamese ดูอีกชิ้น   เป็นอุปกรณ์ประกอบการเล่นหุ่น   

อ.จักรพันธุ์บรรยายว่า คือธงสามเหลี่ยมทำด้วยกระดาษปิดทองเขียนสี    ริมธงด้านหนึ่งตัดเป็นกระหนกพลิ้วอย่างธงสะบัด ที่ติดอยู่ปลายงอนรถในภาพจิตรกรรมไทยประเพณี
ด้ามธงทำด้วยหวายเหลายอดเรียว สามารถดัดให้อ่อนโค้งได้   สันนิษฐานว่าเป็นงอนรถของราชรถหุ่น   น่าเสียดายว่าราชรถสูญหายไม่เหลือร่องรอย
เห็นแค่งอนรถ  ก็พอจะวาดภาพได้ว่าราชรถในหุ่นวังหน้า จะงามวิจิตรบรรจงสักแค่ไหน

ขอบคุณ อ.เทาชมพูที่นำงอนรถมาให้ชมเป็นบุญตา ทำให้นึกถึงเนื้อเพลงรำบำดาวดึงส์ ชมราชรถอิเหนา

"สมเด็จพระอัมรินทร์ปิ่นมงกุฎ   ทรงวชิราวุธธนูศิลป์
รักษาเทวสีมาเป็นอาจิณ       อสุรินทร์อรีไม่บีฑา
อันอินทรปราสาททั้งสาม      ทรงงามสูงเงื้อมกลางเวหา
สี่มุขหุ้มมาศสะอาดตา       ใบระกาแกมแก้วประกอบกัน
ช่อฟ้าช้อยเฟื้อยเฉี่อยชด     บราลีที่ลดมุขกระสัน
มุขเด็ดทองคาดกนกพัน      บุษบกสุวรรณชามพูนุท
ราชยานเวชยันต์รถแก้ว     เพริศแพร้วกำกงอลงกต
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด     เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
รายรูปสิงห์อัดหยัดยัน     สุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย
ดุมพราววาววับประดับพลอย     แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง
เทียมด้วยสินธพเทพบุตร      ทั้งสี่บริสุทธิ์ดั่งสีสังข์
มาตลีอาจขี่ขับประดัง     ให้รีบรุดสุดกำลังดังลมพา"

ผมไม่มีภาพราชรถวังหน้ามาให้ชม มีแต่ราชรถวังหลวงย่อส่วนมาให้ชม เป็นของพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สมิทธโซเนียน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 11, 13:34
เสียดายไม่มีรูปราชรถของหุ่นวังหน้ามาให้ดู  ในหนังสือไม่ได้ลงรูปราชรถที่ทำใหม่ไว้   แต่คิดว่าคงจะหาดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
หุ่นตัวต่อไปที่นำมาให้ดูคือหุ่นอินทรชิต ถือศรนาคบาศ  ซ่อมออกมาแล้วงามมาก   


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 13:40
งดงามอีกแล้ว อินทรชิตนั้นเห็นแล้ว นึกถึงตอน อินทรชิตชุบหอกโมกขศักดิ์ กับ อินทรชิตแปลร่างเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ไม่ทราบว่าหุ่นวังหน้าจะทำโครงร่างช้างเอราวัณหรือไม่ ซึ่งจัดตอนกระบวนทัพเทพ เทวา นางฟ้า นางสวรรค์ ต่างจับระบำรำฟ้อน ถ้ามีจริงคงอลังการน่าดูนะครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 11, 13:42
    น่าเสียดาย  ไม่มีตอนนี้ค่ะ
    นึกถึงการทำหุ่นวังหน้า คงเป็นเรื่องอลังการงานสร้างอย่างที่คุณ siamese เคยออกความเห็นไว้ก่อนหน้านี้    เข้าใจว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญคงได้ทรงออกแบบหุ่นไทยชุดนี้เอง   ลักษณะแตกต่างไปจากหุ่นวังหลวงซึ่งเป็นหุ่นใหญ่     
ความที่ทรงมีฝีมือทางการช่าง  กลไกการบังคับหุ่นชุดนี้จึงออกแบบได้ด้วยความชำนาญ  ผสมผสานกับฝีมือช่างวังหน้า  ในเมื่อเจ้านายทรงพระปรีชาทางด้านนี้  ขุนนางที่เข้ามาทำหุ่นก็คงถูกคัดเลือกมาแต่คนเก่งๆ  ยิ่งได้ทำงานละเอียดประณีตก็คงยิ่งชำนาญงานมากขึ้น

เมื่อออกแบบ ทำหุ่นเสร็จแล้ว  ส่งเข้าวังหน้าให้นางในช่วยกันตัดเย็บเสื้อผ้าและปักลวดลายบนผ้า   ถ้าย้อนเวลาไปได้ คงจะนั่งดูได้ทั้งวันไม่เบื่อ   แต่ถ้าต้องช่วยเย็บปักเอง  คงได้แค่เอาด้ายชุบกาวแล้วร้อยเข้าลูกปัดขนาดจิ๋ว    มากกว่านั้นก็หมดปัญญา
งานยิ่งเล็ก ยิ่งทำได้ยาก 


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 11, 13:54
เอารูปยักษ์ชั้นเสนามาให้ดูอีกตัว  เป็นยักษ์ขี่ม้า     ชอบฝีมือออกแบบม้า รูปร่างหน้าตาและสัดส่วนดูมีชีวิตจิตใจ   เหมือนมีชีวิตด้วยตัวของมันเอง  ทั้งๆลักษณะเป็นกึ่งม้าของเล่น กึ่งม้าจริง    
ช่างวังหน้าไม่เว้นรายละเอียดเลยไม่ว่าหุ่นระดับพญายักษ์ หรือแม้แต่ม้าของยักษ์ระดับนายกอง   สังเกตจากบังโกลนม้า  เขียนลวดลายละเอียดบรรจงทุกตารางนิ้ว  


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 09 มี.ค. 11, 14:01
พาหุ่นม้ามาให้ชมอีกตัวค่ะ ตัวนี้น่าจะมีบทแสดงเยอะนะคะ
ขาม้างอได้ทุกข้อเหมือนม้าจริงมากค่ะ
ลายที่บังโกลนก็วิจิตรบรรจงเหลือเกินนะคะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มี.ค. 11, 14:06
ดูแล้วฤทธิแรงแข็งขัน เป็นอย่างยิ่ง

เครื่องป้องกันข้างม้า เรียกว่า เสโลห์นั้นเป็นเครื่องป้องกันข้างม้า ทำด้วยโลหะกลมๆหรือแผ่นหนังครึ่งวงกลมคล้ายโล่ห์ขนาดใหญ่ แขวนไว้บริเวณชายซี่โครงม้าทั้งสองด้าน ในขณะเดียวกันก็มักประกบไว้ข้างสัปคับช้างเพื่อป้องกันกลางช้างโดนทำร้ายอีกด้วย


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 11, 17:06
รูปที่ดิฉันถ่ายมาจากหนังสือ  ไม่ค่อยชัด  จึงนำรูปจากบล็อคโอเคเนชั่น มาให้ดูแทน     อยากให้เห็นหุ่นวังหน้าที่ซ่อมเสร็จแล้ว เป็นงานศิลปะวิจิตรบรรจง  สมเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศ

หุ่นตัวพระ

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun3.jpg)

หุ่นตัวนาง

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun4.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 11, 17:11
ทศกัณฐ์

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun5.jpg)

หุ่นยักษ์ถือธง

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun9.jpg)

ถามคุณ siamese ว่า เครื่องสวมศีรษะที่ยักษ์ตัวนี้สวม เรียกว่ามงกุฏน้ำเต้าหรือเปล่าคะ?
หรือเป็นผมทรงโองโขดง(โซงโขดง) ที่มีเครื่องรัดครอบไว้อีกที?


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 มี.ค. 11, 19:04
วันนี้มีโอกาสได้คุยกับ อ.จักรพันธุ์ ได้กราบสวัสดีท่านและท่านได้ให้ไปดูของต่างๆที่มูลนิธิจักรพันธุ์ แถวเอกมัย คงต้องไปสักวันครับ

สำหรับ อ.เทาชมพูถามเรื่องเครื่องประดับศีรษะของยักษ์ ก็คือ มงกุฎทรงน้ำเต้า หรือ เทริดยอดน้ำเต้า ครับ ซึ่งองค์ประกอบที่ทำให้เป็นมงกุฎนั้น ถูกพัฒนาให้งามขึ้นจากการไว้ทรงโองโขดง(โซงโขดง) โดยมีเส้นเดินข้างให้โค้งรับกับทรงผมที่พองนูนขึ้น และทำยอดแหลมปิดท้ายไว้บนสุด ส่วนด้านล่างเป็นองค์ประกอบเดียวกันคือ ประดับด้วยเกี้ยว


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 มี.ค. 11, 19:28
การไว้ผมมวยซ้อนกันจนสูง เหมือนผลน้ำเต้า เป็นทรงดั้งเดิมก่อนช่างไทยพัฒนารูปทรงให้สวยงาม


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 11, 22:32
หาคำบรรยายไม่พบว่า ภาพนี้อาจารย์จักรพันธุ์ วาดจากวรรณคดีเรื่องไหน  เดาว่าเป็นพระลอ  กับลักษณวดี   ถ้าเป็นพระเพื่อนพระแพงคงมี ๒ คน 
ทั้งชายหญิงไว้ผมทรงโองโขดง   แต่ไม่ได้ขดเป็นมวยซ้อนเป็นชั้น   อย่างพระพุทธรูป   เหมือนตลบผมยาว รวบขึ้นไป แล้วทบผมให้เป็นทรงสูง เอาปลายผมรัดไว้อีกที


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 มี.ค. 11, 07:40
หาคำบรรยายไม่พบว่า ภาพนี้อาจารย์จักรพันธุ์ วาดจากวรรณคดีเรื่องไหน  เดาว่าเป็นพระลอ  กับลักษณวดี   ถ้าเป็นพระเพื่อนพระแพงคงมี ๒ คน 
ทั้งชายหญิงไว้ผมทรงโองโขดง   แต่ไม่ได้ขดเป็นมวยซ้อนเป็นชั้น   อย่างพระพุทธรูป   เหมือนตลบผมยาว รวบขึ้นไป แล้วทบผมให้เป็นทรงสูง เอาปลายผมรัดไว้อีกที

ผมทราบเบื้องต้นว่าภาพสีน้ำมันนี้ชื่อ "พระลอ-นางลักษณาวดี" เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นจินตนาการของ อ.จักรพันธุ์ที่ละมุนละเมียด เนียมอาย จ้องมอง จนลุ้นว่า "จะเอายังไงกันต่อ"  ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 11, 09:12
หุ่นวังหน้ามีทั้งตัวเอก เช่นพระ นาง พญายักษ์   ไปจนยักษ์ระดับรองๆเช่นแม่ทัพนายกองฝ่ายลงกา    และลงไปอีกถึงตัวประกอบ พวกไพร่พลลิงและยักษ์ เรียกว่า เขนลิง เขนยักษ์
นำมาจากโอเคเนชั่น

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun7.jpg)         (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun8.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 11, 09:14
พนักงานกั้นกรรชิง       และพระฤๅษี

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun10.jpg)       (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun11.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 11, 09:18
รูปแรก พราหมณ์ถือบัณเฑาะว์  และหุ่นสวมลอมพอก   รูปที่สองคือพรานธนู

สงสัยขึ้นมาว่าหุ่นตัวประกอบพวกนี้ อยู่ในรามเกียรติ์ตอนไหน    หรือว่าจะเป็นเรื่องอื่น?


(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun13.jpg)        (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Hun14.jpg)


รูปประกอบจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=95944


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 11, 12:31
    ก่อนจะเดินเรื่องต่อ ถึงพระนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ที่คนรู้จักกันน้อย ทั้งๆก็ทรงเป็นกวีมีฝีมือพระองค์หนึ่ง     ขอพูดถึงการซ่อมแซมหุ่นวังหน้าอีกเล็กน้อยว่า เป็นโชคดีของคนไทย ที่มีผู้มีใจรักศิลปะไทยอย่างอาจารย์จักรพันธุ์และทีมงาน อดทนสละเรี่ยวแรง เวลา ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าสายตา กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น  ตลอดจนความอดทนในการค้นหา จัดหุ่นให้เข้าชุด หาเสื้อผ้าเครื่องประกอบ   และอุปสรรคอื่นๆที่ท่านไม่ได้เล่าให้ฟัง    ต้องใช้ความอุตสาหะยาวนานเท่าใดคงไม่ต้องบอกกัน  กว่าจะเนรมิตหุ่นให้มีชีวิตกลับขึ้นมาอีกในครั้งนี้     นับเป็นคุณูปการอันควรสรรเสริญ และยากจะหาใครเทียบได้
     ดิฉันก็ไม่ทราบว่าอาจารย์และทีมงานได้ค่าซ่อมหุ่นมา ๒ แสนบาทด้วยความช่วยเหลือของภาคเอกชนนั้น ท่านได้งบประมาณจากที่อื่นมาช่วยอีกหรือไม่    ถ้าแค่นี้ก็นับว่าน้อยเหลือจะน้อย         หรือต่อให้ได้อีกสัก ๒๐ ล้าน ก็ยังถือว่าน้อยอยู่นั่นเอง  เมื่อเทียบกับบางโครงการของรัฐ  เช่นโครงการนำร่องชั่งไข่ขายเป็นกิโล ที่ว่าหมดงบประมาณไป ๖๙ ล้าน   แล้วยกเลิกไปเพราะไม่ได้ผล

     ขอยกข้อเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์ มาลงไว้ ณ ที่นี้ ด้วยความคารวะ

     " สำหรับศิลปะอันประณีตแล้ว  มีอยู่ในชีวิตและสายเลือดคนไทยในอดีต อย่างมั่งคั่ง  เหนือกว่าใครๆ ชาติใดๆ
     หุ่นของไทยเรา ๒ ชนิด  มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือหุ่นหลวง กับหุ่นเล็กของกรมพระราชวังบวรฯ    ไม่ปรากฏว่าเหมือนหุ่นของชาติไหนในโลก   ไม่ว่าจะเป็นการได้รับอิทธิพล หรือที่มาโยงใยจากชาติใดๆทั้งสิ้น   มีเอกลักษณ์จำเพาะ   และความวิจิตรงดงามเป็นทิพย์ดั่งเทพรจนาทำ
      เป็นข้อน่าอัศจรรย์ว่าในโบราณกาลที่ท่านสร้างนั้น  วัตถุดิบที่ท่านมีเพียง ๓ สิ่ง คือปัญญา ๑  ฝีมือ ๑ เวลา ๑   ความสะดวกอย่างอื่นแทบจะหาไม่ได้   เช่นการหล่อไฟเบอร์  หล่อเรซิ่น-เครื่องกลึง-เครื่องเจาะ-เครื่องเจียรไฟฟ้า    และวัสดุเครื่องทุ่นแรงต่างๆ ทุกชิ้น   ต้องทำทีละ ๑ ด้วยมือ    ทำด้วยความรักความศรัทธาอย่างบริสุทธิ์ใจต่อศิลปะ
     ความจริงหุ่นรามเกียรติ์ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญชุดนี้   เป็นสิ่งมหัศจรรย์ มิใช่ของชาติไทยชาติเดียว   แต่เป็นของโลก  ซึ่งถูกซุกซ่อนนอนแอบอยู่นับ ๑๐๐ ปี   ภายใต้ความอาภัพอัปภาคย์ของอะไรสักอย่าง   ที่ไม่รู้จะเอาผิดเอาถูกกับใคร

            ข้าพเจ้าขอบูชาคารวะกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   และเหล่าบรรดากองช่างทั้งหลาย   ที่ได้อุตสาหะพากเพียรสร้างมรดกโลกอันรวมสรรพวิชา  ควรแก่คำว่า "วิจิตรศิลป์"  คือรวมศิลปะอันวิจิตร  มีทั้ง
    จิตรกรรม ประติมากรรม  - คือการสร้างตัวหุ่นหน้าหุ่นเขียนสี
    ประณีตศิลป์    - คือการเย็บปักถักร้อยสร้างเครื่องแต่งกายและศิราภรณ์
    กลศาสตร์      - คือการคิดกลไกการเคลื่อนไหวสายชัก
    นาฏศิลป์   ดุริยางคศิลป์    -  คือการบรรเลงขับร้องในการแสดง
    วรรณศิลป์       - คือบทวรรณกรรมรามเกียรติ์ที่ใช้เล่นแสดง

    ไม่น่าเชื่อว่าตัวหุ่นเล็กๆ สูงเพียงคืบเศษ   จะเป็นที่รวมของศิลปศาสตร์แขนงต่างๆ ที่กว้างไกลลึกล้ำนับพันโยชน์  อุปมาเหมือนเมล็ดงาบรรจุขุนเขามหาสมุทรไว้ภายใน"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 11, 12:37
ตอนนี้ ขอนั่งพัก รอความเห็นท่านอื่นๆ  ก่อนจะไปสู่เรื่องพระนิพนธ์กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 มี.ค. 11, 13:41
เห็นด้วยอย่างยิ่งและเป็นที่น่าเคารพอย่างสูงสุดให้แก่ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤตและทีมงานที่สร้างสรรค์ รื้อฟื้นหุ่นวังหน้าให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง จิตวิญญาณของท่านได้หล่อหลอมในการรักศิลปะไทยมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เป็นศิลปินตั้งแต่วัยเยาว์ ดังเช่นหัวตุ๊กตาที่ท่านทำเล่นๆ สมัยอายุ ๗-๘ ขวบสร้างสรรค์ฝีมือได้ขนาดนี้

ไม่เพียงหุ่นวังหน้าเท่านั้น อ.จักรพันธุ์ยังกว้างขวางไปถึงหุ่นกระบอก ยายชื้น ประเสริฐกุล ต่อยอดพลิกฟื้นไม่ให้ศิลปะประเภทหุ่นหายไปจากแผ่นดินไทย อีกทั้งที่ผ่านมา อ.จักรพันธุ์ก็ได้สร้างหุ่นของตนเองไว้มากมาย เหลือที่จะพรรณา


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 11, 13:50
(http://www.chakrabhand.org/website/images/Cover.jpg)

อ.จักรพันธุ์ คงจะมีกุศลกรรมผูกพันเกี่ยวข้องกับหุ่น มาหลายชาติหลายภพแล้ว      ดิฉันเคยได้ยินหลายคนออกปากว่า หน้าตาอาจารย์ตอนหนุ่มๆ (หรือตอนอายุมากขึ้นก็เถอะ) งามเหมือนหน้าหุ่น    เห็นด้วยไหมคะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 มี.ค. 11, 14:21
หากความเชื่อเรื่อง ภพชาติ มีอยู่จริงจะผูกไว้ที่ "จิต" ดวงเดียว กุศลใดเคยทำ กุศลนั้นจะส่งผลต่อไป เคยทำมาอย่างไร ก็สนใจและทำต่อไป เมื่อจิตผูกพัน ตรึ่งเกี่ยวกันอยู่

เรื่องที่อ.เทาชมพูได้ยินมา ผมก็ได้ยินมาบ้าง ยิ่งมองยิ่งคล้าย ถ้าผูกพันกับหุ่นวังหน้าชาตินี้ ในส่วนอดีตก็คงเกี่ยวเนื่องไม่มากก็น้อย ผมเชื่อเช่นนั้น


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 มี.ค. 11, 14:33
ราวกับว่าชาติที่แล้วท่านอาจารย์จักรพันธุ์ได้มีส่วนในการสร้างหุ่นวังหน้าไว้ ชาตินี้จึงได้กลับมาซ่อมแซมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าเรื่องลงตัวทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น วัสดุอุปกรณ์ที่ท่านได้สะสมไว้ตั้งแต่ยังไม่เห็นประโยชน์ เพราะเล็กเกินไปสำหรับหุ่นหลวงที่ซ่อมก่อนหน้านี้ รวมถึงจังหวะเวลา กำลังคนที่มีความสามารถเหมาะสม ฯลฯ และท่านอาจารย์จักรพันธุ์ท่านก็เชื่ออย่างนั้นจริงๆ ค่ะ

จาก http://www.jobtopgun.com/content/profile/chakrabhand/cover.html  (http://www.jobtopgun.com/content/profile/chakrabhand/cover.html) ค่ะ

หุ่นทุกตัว อาจารย์จัดซ่อมอย่างประณีต ด้วยหัวใจที่รู้สึกว่า “เรานึกอยู่ตลอดเวลาว่า นี่คืองานที่เราทำไปแล้ว เรากลับมาซ่อมไง ตอนนั้นทางกรมศิลปากรบอกมีคนอยากจะซ่อมหุ่นมากมาย และขอยื่นมือเข้ามา แต่กรมศิลปากรไม่เลือก เราไม่ได้ไปเรียกร้องอะไร ก็อยู่ในรูนี้” อาจารย์ชอบเรียกบ้านตัวเองว่า “รู” “เขาก็โทรถามว่าจะมาซ่อมได้หรือยัง คือหลังจากซ่อมหุ่นหลวงแล้วเขาก็พอใจ อยากจะให้เราซ่อมหุ่นวังหน้า โทรมาบางช่วง ผมไม่มีเด็กไง พอช่วงนั้นเด็กเยอะเต็มบ้าน ช่างฝีมือดีๆทั้งนั้น เราก็รับซ่อม”


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 11, 09:59
ราวกับว่าชาติที่แล้วท่านอาจารย์จักรพันธุ์ได้มีส่วนในการสร้างหุ่นวังหน้าไว้ ชาตินี้จึงได้กลับมาซ่อมแซมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าเรื่องลงตัวทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น วัสดุอุปกรณ์ที่ท่านได้สะสมไว้ตั้งแต่ยังไม่เห็นประโยชน์ เพราะเล็กเกินไปสำหรับหุ่นหลวงที่ซ่อมก่อนหน้านี้ รวมถึงจังหวะเวลา กำลังคนที่มีความสามารถเหมาะสม ฯลฯ และท่านอาจารย์จักรพันธุ์ท่านก็เชื่ออย่างนั้นจริงๆ ค่ะ

อ.จักรพันธุ์เล่าว่านอกจากท่านกับอ.วัลลภิศร์ สดประเสริฐแล้ว  คนอื่นๆไม่เคยมีใครทำงานด้านนี้มาก่อน   หลายคนเป็นช่างเขียน ซึ่งหมายความว่าสามารถหล่อ เหลา และแกะสลักได้ด้วย   บางคนไม่ได้เป็นช่างเขียน แต่ปัก เย็บ ชุนได้  บางคนก็มาทำเฉพาะชิ้นงานที่ถนัด
ทุกคนมีงานประจำอยู่แล้ว จึงปลีกตัวมาเฉพาะวันหยุด
บางท่านก็บริจาคอุปกรณ์มาให้   อุปกรณ์บางอย่างเช่นลูกปัดแก้วหลากสีจากซานฟรานซิสโก  ไหมสำหรับทำผมสีขาวเงินจากญี่ปุ่น ซึ่งไม่สามารถใช้ได้กับงานก่อนหน้านี้    ก็นำมาใช้กับงานนี้ได้เหมาะเจาะลงตัว
จนกระทั่งงานซ่อมหุ่นวังหน้า สำเร็จบริบูรณ์


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 13 มี.ค. 11, 13:18
มีของงามชิ้นน้อยในหุ่นวังหน้า มาให้คุณ siamese ดูอีกชิ้น   เป็นอุปกรณ์ประกอบการเล่นหุ่น   

อ.จักรพันธุ์บรรยายว่า คือธงสามเหลี่ยมทำด้วยกระดาษปิดทองเขียนสี   

ส่วนตัวคิดว่า น่าจะเรียกว่า ธงสามชาย มากกว่านะครับ เพราะในตำราพิไชยสงครามเรียกอย่างนั้น


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 11, 10:27
ใช่ค่ะ    ธงสามเหลี่ยมมุมฉาก ปลายธงมี ๓ แฉก เรียกว่าธงสามชาย ถือเป็นธงมงคล ใช้นำริ้วกระบวน นำรูปเก่ามาลงให้ดูประกอบ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 11, 10:59
ใช่ค่ะ    ธงสามเหลี่ยมมุมฉาก ปลายธงมี ๓ แฉก เรียกว่าธงสามชาย ถือเป็นธงมงคล ใช้นำริ้วกระบวน นำรูปเก่ามาลงให้ดูประกอบ

เป็นภาพเก่าเนื่องในโอกาสอันใดครับ อาจารย์


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 11, 11:06
ว่าจะถามคุณ siamese อยู่นี่ละค่ะ
ไปได้มาจากในเว็บ แล้วไม่ได้จดคำบรรยายไว้
ดิฉันนำรูปไปไว้อีกกระทู้ รูปเก่าเล่าเรื่อง เมืองบางกอก แล้วนะคะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 11, 11:38
ถ้าองค์ประกอบเครื่องประดับราชรถ ธงที่ประดับอยู่เบื้องหน้าราชรถจะมี ๑ ธง หรือ ๓ ธง แล้วแต่ความใหญ่ของราชรถ เราเรียกว่า "ธงงอนรถ"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 11, 11:43
สำหรับธงสามชาย ที่ถือเป็นเครื่องสูง คือ ธงกระบี่ธุช และ ธงพระครุฑพ่าห์

ธงมีลักษณะเป็นธงสามชาย ๓ ผืน ผืนธงทำด้วย ผ้าปักไหมทองเป็นลวดลายเครือกระหนก สอดร่วมอยู่ในคันธง เดียวกันซึ่งเป็นเหล็ก และทำเป็นกิ่งแยกจากคันกลางทางด้านซ้าย และด้านขวา ปลายคันธงเป็นรูปใบหอก ที่โคนคันธงบริเวณที่สวม ต่อคันธงท่อนล่างติดรูปพระกระบี่ คือหนุมานในท่ายืนยกขาหน้า และขาหลังข้างขวาเตรียมเหาะ เรียกเต็มว่า ธงชัยราชกระบี่ธุช หรือ ธงชัยราชกระบี่ธุชใหญ่ ใช้เชิญนำหน้าพระราชยานในกระบวน พยุหยาตรา และอัญเชิญประดิษฐานในพิธีมณฑลในการพระราช พิธีต่าง ๆ เข้าคู่กับธงพระครุฑพ่าห์ โดยธงกระบี่ธุชอยู่ทางด้านซ้าย และธงพระครุฑพ่าห์อยู่ทางด้านขวา

ภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.๗ เสด็จเลียบพระนครโดยทางสถลมารค


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 11, 12:21
ว่าจะถามคุณ siamese อยู่นี่ละค่ะ
ไปได้มาจากในเว็บ แล้วไม่ได้จดคำบรรยายไว้
ดิฉันนำรูปไปไว้อีกกระทู้ รูปเก่าเล่าเรื่อง เมืองบางกอก แล้วนะคะ

ดูคล้ายกระบวนช้าง ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.๖ ครั้งที่ ๒ นะครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 14 มี.ค. 11, 18:58
ว่าจะถามคุณ siamese อยู่นี่ละค่ะ
ไปได้มาจากในเว็บ แล้วไม่ได้จดคำบรรยายไว้
ดิฉันนำรูปไปไว้อีกกระทู้ รูปเก่าเล่าเรื่อง เมืองบางกอก แล้วนะคะ

ดูคล้ายกระบวนช้าง ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.๖ ครั้งที่ ๒ นะครับ

เป็นคราวงานยุทธกีฬาในสมัย ร.๖ ครับ ราว ๆ พ.ศ. ๒๔๖๕  มีการจำลองการจัดกระบวนพยุห คราวพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามไปตีเมืองทวาย มะริด และ ตะนาวศรี ครับ


ในงานยุทธกีฬาคราวนี้ น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในแผ่นดินประเทศไทยที่มีการแสดง "ขี่ม้ารำทวน" ด้วยเช่นกันครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 11, 20:30
คุณ samun 007 มีรูปอื่นๆจากงานเดียวกันไหมคะ อยากเห็น
ถ้ามี กรุณาไปโพสในกระทู้ รูปเก่าเล่าเรื่อง-เมืองบางกอก  จะขอบคุณมาก
**************************
คุณ siamese จะเล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้วังหลวง ที่โยงไปถึงวังหน้า ไหมคะ ? ถ้าเล่าดิฉันจะได้รอ   ยังไม่เล่าถึงพระบวรนิพนธ์


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 11, 20:47
คุณ samun 007 มีรูปอื่นๆจากงานเดียวกันไหมคะ อยากเห็น
ถ้ามี กรุณาไปโพสในกระทู้ รูปเก่าเล่าเรื่อง-เมืองบางกอก  จะขอบคุณมาก
**************************
คุณ siamese จะเล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้วังหลวง ที่โยงไปถึงวังหน้า ไหมคะ ? ถ้าเล่าดิฉันจะได้รอ   ยังไม่เล่าถึงพระบวรนิพนธ์

ยินดีนำเรื่องไฟไหม้วังหลวง ครับผม  :-[


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 07:46
ก่อนเริ่มไฟไฟม้วังหลวง ขอลงภาพหัวเศียรยักษ์ ก่อน และหลังการบูรณะซ่อมแซมจนดีเลิศขึ้นมา และขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ได้มอบหนังสือหุ่นวังหน้าให้ผมได้ทำการศึกษาครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 09:08
ไฟไหม้วังหลวง ในพุทธศักราช ๒๔๑๗ เป็นบทเรียนหนึ่งที่ท้าทายพระราชอำนาจระหว่างวังหลวง - วังหน้า ไฟไหม้ได้ทำลายสถานสิ่งก่อสร้างในเขตพระบรมมหาราชวังลงไปแล้ว หากยังได้ไหม้ความสัมพันธ์ระหว่างวังหลวง - วังหน้า อันเกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่ต้นรัชกาล และไฟนั้นทำท่าจะลุกลามโหมไปถึงความมั่นคงของสยามประเทศอีกด้วย


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มี.ค. 11, 09:12
ช้าก่อน   คุณไซมีสโปรดอธิบายด้วยว่า  โรงหุงลมประทีป  คืออะไร
เพื่อประโยชน์ในการติดตามเรื่อง ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 09:35
ช้าก่อน   คุณไซมีสโปรดอธิบายด้วยว่า  โรงหุงลมประทีป  คืออะไร
เพื่อประโยชน์ในการติดตามเรื่อง ;D

เมื่อช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีนวตกรรมใหม่ในการจุดไฟ ใช้ไฟให้ความสว่างกับพระราชอาณาจักร ซึ่งสมัยดังกล่าวการให้แสงสว่างยังคงใช้การจุดเทียน ตะเกียง โคม อัจกลับ โดยอาศัยแหล่งเชื้อเพลิงเป็น ไขผึ้งและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผ่านการเผาไหม้โดยไส้ตะเกียงฝั่นด้าย

สิ่งใหม่เกิดขึ้นโดยการให้แสงสว่างโดยใช้ระบบการจุดด้วยระบบแก๊ส ซึ่งถูกนำมาใช้ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีการวางท่อเดินแก๊ส ไปที่เสาโคมไฟ ไฟเดินตามทางเดินในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งแทนการจุดเทียนไข ดังนั้น "โรงแก๊ส" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โรงหุงลมประทีป" จึงถูกก่อสร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันเป็นบริเวณที่ตั้งของหมู่พระที่นั่งบรมพิมาน)

หลังจากเกิดการไฟไหม้โรงแก๊สแล้ว ทำให้เห็นถึงอันตรายอันรุนแรงของแกส จึงย้ายโรงแก๊สออกไปตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม (บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนี้)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 09:55
หลักการทำงานของโรงหุงลมประทีป

การทำงานของโรงหุงลมประทีป ทำหน้าที่หุงลม หรือกลั่นลมขึ้นมา ก็หมายถึงการผลิตแก๊สโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ การนำแคลเซียมคาร์ไบด์ เป็นของแข็งสีเทา และทําปฏิกิริยากับนํ้าจะได้แก๊สอะเซทิลีนซึ่งจุดไฟติดได้

http://www.youtube.com/watch?v=cjuDyxmwY6Y


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มี.ค. 11, 10:19
เอ  สงสัยอีกครับ   โรงหุงลมประทีปในวังหลวงตอนนั้น   
คงมีขุนนางคนใดเป็นผู้ดูแล   เพราะเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดใหม่ 
ถ้าไม่จ้างฝรั่งมาทำหรือดูแล  ก็คงต้องมีคนไทย
ที่คอยกำกับดูแลกิจการดังกล่าว   ใครล่ะครับ

(เขาว่าเป็นขุนนางตระกูลใหญ่ด้วยสิครับ ;D)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 10:28
เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ เกิดขึ้นในวันจันทร์ เดือนอ้าย แรม ๕ ค่ำปีจอฉศก ตรงกับวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ ราวทุ่มเศษ ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ทางฝ่ายวังหน้าเมื่อเห็นเพลิงไหม้ ก็ถืออาวุธครบมือเพื่อจะเข้าไปช่วยดับไฟในวังหลวง แต่กระนั้นได้ถูกทหารวังหลวงขัดขวางไว้ ส่วนไฟที่กำลังไหม้นั้นฝ่ายวังหลวงได้ช่วยกันดับไฟสงบ

การที่เกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ต่างฝ่ายก็หาว่าอีกฝ่ายเป็นผู้จุด กล่าวคือ

- ฝ่ายวังหลวงหาว่าเป็นแผนของวังหน้า เพราะเกิดเหตุใกล้สถานที่สำคัญ ถ้าดับไม่ทันก็จะเป็นอันตรายแก่พระบรมมหาราชวังและองค์กษัตริย์

- ฝ่ายวังหน้าหาว่าเป็นแผนของวังหลวง ที่วังหลวงทำการจุดขึ้นเองเพื่อหาเหตุจับกุมตัวกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ดูเหมือนว่าไฟไหม้ครั้งนี้ เสมือนการตอกลิ่มให้เกิดความระแวงระหว่างกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งมิใช่เป็นพียงความระแวงที่เพิ่งจะเกิดขึ้น หากแต่ได้สั่งสมมาตั้งแต่เริ่มรัชกาลแล้ว

ภาพจำลองเหตุไฟไหม้ ณ ตำแหน่งที่ตั้งของโรงหุงลมประทีบ เทียบกับมุมมองที่วังหน้าเห็นในคืนนั้น


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 10:37
เอ  สงสัยอีกครับ   โรงหุงลมประทีปในวังหลวงตอนนั้น   
คงมีขุนนางคนใดเป็นผู้ดูแล   เพราะเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดใหม่ 
ถ้าไม่จ้างฝรั่งมาทำหรือดูแล  ก็คงต้องมีคนไทย
ที่คอยกำกับดูแลกิจการดังกล่าว   ใครล่ะครับ

(เขาว่าเป็นขุนนางตระกูลใหญ่ด้วยสิครับ ;D)

รบกวนคุณหลวง วานบอกด้วยขอรับ ด้วยกระผมซุกซนแต่สถานที่ มิได้ซุกซนตำแหน่งขุนนางอย่างทางคุณหลวง  ;D วันที่เกิดเพลิงไหม้ คุณหลวงคงจะทราบดีแน่ๆเลย อาจจะช่วยดับไฟอยู่ก็เป็นได้  ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 11, 10:47
รอฟังคำตอบจากคุณหลวงเล็กด้วยเช่นกัน 
ดิฉันทราบเพียงว่า ผู้เข้ามารับตำแหน่งเจ้ากรมหุงลมประทีป ในพ.ศ. 2423  คือหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) หรือฟรานซิส จิตร    แต่ไม่ทราบว่ามีขุนนางใหญ่กว่านี้กำกับอยู่หรือเปล่า


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มี.ค. 11, 11:34

รบกวนคุณหลวง วานบอกด้วยขอรับ ด้วยกระผมซุกซนแต่สถานที่
มิได้ซุกซนตำแหน่งขุนนางอย่างทางคุณหลวง  ;D
วันที่เกิดเพลิงไหม้ คุณหลวงคงจะทราบดีแน่ๆเลย อาจจะช่วยดับไฟอยู่ก็เป็นได้  ;D

วันเกิดเหตุ   ผมป่วยนอนอยู่ที่บ้าน  หาได้ไปประจำการร่วมด้วยช่วยกันดับไฟกับเขาไม่
ไม่เช่นนั้นคงได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญของชาติเป็นแน่   (ว่าไปนั่น ;D)

รอฟังคำตอบจากคุณหลวงเล็กด้วยเช่นกัน  
ดิฉันทราบเพียงว่า ผู้เข้ามารับตำแหน่งเจ้ากรมหุงลมประทีป ในพ.ศ. 2423  
คือหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) หรือฟรานซิส จิตร    
แต่ไม่ทราบว่ามีขุนนางใหญ่กว่านี้กำกับอยู่หรือเปล่า

เฉลยก็ได้ครับ  ว่า  ขุนนางในสกุล  อมาตยกุล  เคยกำกับดูแล
โรงหุงลมประทีปนี้อยู่ก่อน

รายละเอียด   อยู่นี่ครับ  (ในเรือนไทยนี่แหละครับ)

(((คัดลอกและตัดบรรทัดตามตามต้นฉบับ)))


หน้า (๗)

     พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานถวายตัวเปนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔
เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙   เมื่อเปนมหาดเล็กเปนแต่ช่วยบิดาทำ
ราชการในโรงกระสาปน์   แลการตั้งโรงแก๊ส  คือ ประทีปลม

การถ่ายรูปแลทำโคมลอยอย่างฝรั่งอันอยู่ในวิชาสำหรับสกุลนี้ในครั้ง
นั้น  ถึงรัชกาลที่ ๕  ได้พระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงพินิจจักรภัณฑ์
ปลัดกรมโรงกระสาปน์  เมื่อปีมเสง  พ.ศ. ๒๔๑๖  เปนผู้ซึ่งอยู่ใน
ชั้นหนุ่มที่ทรงใช้สอยใกล้ชิดติดพระองค์ผู้หนึ่ง   รับราชการเบ็ดเสร็จ
ในการอย่างใหม่ๆ ต่างๆ  เช่นแต่งพระที่นั่งแลตำหนักรักษาเปนต้น
ในเวลานั้น   สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ  แล
ข้าราชการที่รับราชการใกล้ชิดติดพระองค์   ได้สมาคมคุ้นเคยกับ
พระยาอภิรักษ์ฯ  มีหลายพระองค์หลายท่าน   จึงเปนมิตรสนิทสนม
ต่อมาจนตลอดอายุของพระยาอภิรักษ์ฯ  พระยาอภิรักษ์ฯ ได้พระ
ราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตรราภรณ์  ในปี
แรกที่สร้าง  เครื่องราชอิศริยาภรณ์นั้น

         เมื่อปีจอ  พ.ศ. ๒๔๑๗  ทรงสร้างสวนสราญรมย์  โปรดให้
พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน  แต่ยังเปนหลวงพินิจจักรภัณฑ์  เปนผู้ดูแล
การมาแต่แรกสร้าง   ในปีนั้นมีเหตุ  ถังที่โรงทำไฟแก๊สในพระบรม
มหาราชวัง  อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญทุกวันนี้  ลุกขึ้น  โปรด
ให้ย้ายโรงแก๊สไปสร้างใหม่ที่น่าวัดสุทัศน์  ตรงที่สร้างตลาดเสาชิงช้า
ทุกวันนี้   แลฝังท่อใช้ไฟแก๊สทั้งในพระบรมมหาราชวังแลถนนใน...




หน้า (๘)

พระนครด้วย  จึงโปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานเปนผู้บังคับการ
โรงแก๊สด้วยอิกอย่าง ๑   ได้พระราชทานเหรียญบุษปมาลาเปน
บำเหน็จในวิชาช่าง  เมื่อปีกุญ  พ.ศ ๒๔๑๘


ถึงปีเถาะ  พ.ศ. ๒๔๒๒  เกิดอุปัทวเหตุขึ้นในสกุล  บิดาแล
พี่ชายทั้งตัวพระยาอภิรักษ์ฯ  ต้องรับพระราชอาญา  พระยาอภิรักษ์ฯ
เอง  ถูกถอดจากยศบันดาศักดิแลตำแหน่ง  ไม่ได้ทำราชการอยู่  ๑๙  ปี
ในเวลาระหว่างนี้  พระยาอภิรักษ์ฯ ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ
ด้วยการต่างๆ  แต่เปนผู้มีนิไสยอยู่ในทางวิชา  จึงคิดตั้งบริษัท
ไฟฟ้าขึ้นเปนทีแรก   ซึ่งภายหลังได้โอนมาเปนบริษัทไฟฟ้าสยาม
ทุกวันนี้   ต่อมาพระยาอภิรักษ์ฯ  ตั้งโรงทำน้ำแขงขึ้นขายได้
ประโยชน์ยืดยาวมาหลายปี


มาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า
อยู่หัวทอดพระเนตรเห็นพระยาอภิรักษ์ฯ   ในโอกาศอันใดอันหนึ่ง   ทรง
พระปรารภสงสาร   จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปรับ
ราชการเปนเจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์ดังแต่ก่อน   แล้วพระ
ราชทานสัญญาบัตรเปนพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน   เมื่อปีกุญ
พ.ศ. ๒๔๔๒  ครั้นต่อมาเมื่อทรงสร้างพระราชวังดุสิต   โปรดให้
ไปดูการทำสวนในบริเวณพระราชวัง   แล้วเปนผู้จัดการโรงทำโซดา
ดุสิตมาจนตลอดรัชกาล....

อ้างถึง  http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3533.0

เราเกือบจะหลงลืมบุคคลสำคัญของประเทศไทยไปอีกหนึ่งคนแล้ว

(สหายนักอ่านหนังสือเก่าคนหนึ่งบอกว่า   ลืมท่านไม่ลงจริงๆ)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มี.ค. 11, 11:43
ฉะนั้น  โรงหุงสมประทีป  ไม่ใช่ของอันเพิ่งเกิดใหม่ในรัชกาลที่ ๕
แต่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔  ตอนปลายรัชกาล   
โดยมีพระยากระสาปน์กิจโกศล หรือนายโหมด  อมาตยกุล
เป็นผู้เริ่มตั้งการโรงแก๊สขึ้น   และพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน
(แฉล้ม  อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วยกิจการของบิดาพร้อมกับเรียนรู้
วิทยาการของชาวตะวันตกจากบิดาด้วย


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 11, 12:18
อ๋อ  มาจากกระทู้เก่าเรือนไทยนี่เอง    เดี๋ยวจะกลับไปอ่าน ทบทวนความจำอีกที


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 13:46
ขอบบคุณ คุณหลวงเล็กที่อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนายโหมด ผู้ซึ่งเรียนวิชาการทำช่างกล ได้อย่างยอดเยี่ยม

ที่อธิบายไว้ว่า ที่ตั้งของโรงหุงลมประทีบ  นั้นตั้งอยู่ใกล้กับสิ่งสำคัญหลายอย่างในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเกิดการไฟไหม้ขึ้นจึงเป็นที่เป็นห่วงว่า วัตถุสถานอะไรบ้างที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับโรงหุงลมประทีป มีดังนี้

"..ครั้นค่ำลงวันนั้นเวลาทุ่มเศษ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงแก๊สในพระบรมมหาราชวังที่โรงแก๊สซึ่งเกิดเพลิงขึ้นนั้นเป็นที่สำคัญน่ากลัวยิ่งนักคือ
- ข้างฝ่ายตะวันตกของโรงแก๊ส เป็นโรงภูษามาลา อันเป็นที่ไว้พระมหาพิไชยมงกุฎ และพระมหาชฎา  และเครื่องต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องต้นสำหรับแผ่นดินสืบมาแต่โบราณ โรงที่ไว้เครื่องต้นนี้ห่างจากโรงแก๊ส ที่เพลิงติดขึ้นนั้น ๒ วา

- หลังโรงภูษามาลาติดกับฉนวนประตูดุสิตาศาสดา ทางซึ่งจะออกไปวัดพระศรีรัตนศาสาดาราม หลังฉนวนก็ติดกับหอปริตศาสตราคม และพระที่นั่งราชฤดี ใกล้กับพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย และพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านใต้

- ด้านทิศใต้ของโรงแก๊สมีเขื่อนเพ็ชรพระราชวังชั้นใน  ห่างจากโรงแก๊ส ๑๑ ศอก หลังเขื่อนเพ็ชรก็เป็นหมู่พระพุทธนิเวศ พระที่นั่งพุทธมณเฑียรใกล้ชิดกันทีเดียว

- ด้านตะวันออกของโรงแก๊ส นั้นมีโรงพิมพ์ห่างจากโรงแก๊ส ๔ วาศอก หลังโรงพิมพ์นั้นติดกับโรงคลังสำหรับไว้ดินประสิว และ โรงแสงต้นที่ไว้อาวุธต่างๆสำหรับแผ่นดิน

- สำหรับแผ่นดินข้างเหนือก็เป็นโรงน้ำมัน ห่างโรงแก๊ส ๑๔ วา ๓ ศอก


ลองกำหนดผังสถานที่ดูเบื้องต้น หากผิดพลาดอย่างไรก็ช่วยกันดู คุณหลวงเล็กน่าจะทำงานอยู่โรงพิมพ์  ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: monologa ที่ 15 มี.ค. 11, 13:57
ผมอยากทราบมานานแล้วครับขอบคุณคับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 14:05
พื้นที่บริเวณหมู่พระที่นั่งอมริทรวินิจฉัย ต่อไปยังประตูดุสิตาภิรมย์ และฉนวนไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 14:23
ภายหลังจากเหตุการณ์สงบเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เพื่อให้ท่านกลับจากราชบุรี จะได้หาทางปรึกษาปรับความเข้าใจระหว่างวังหน้าและวังหลวงและทรงมีพระราชดำริที่จะลดอำนาจของกรมพระราชวังบวรฯ เพื่อไม่ให้เกิดความระแวงกันต่อไป

แต่การณ์กลับยังจัดการอะไรไม่เรียบร้อย ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงพาครอบครัวและข้าราชการที่ไว้วางพระทัย เสด็จออกไปอยู่ในเขตกงสุลอังกฤษ เมือ่วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๗

อะไรทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวังหลวง - วังหน้า เกิดความบาดหมางกันได้ถึงเพียงนี้  ???


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 15:10
ความสัมพันธ์ระหว่างวังหลวง - วังหน้า เกิดความบาดหมางกัน มีผลอันสืบเนื่องจากเหตุปัจจัยดังนี้

๑. การเมืองและพระราชอำนาจของวังหลวง

กล่าวคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสวยราชสมบัติ ยังทรงพระเยาว์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อำนาจทั้งหลายจึงตกอยู่ในฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรยวงศ์

"ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปี ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหล ก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อกับเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัว รักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วพระองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ...... ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในขณะนั้น เปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้วลับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตรยิ์ เหลือที่จะพรรณาถึงความทุกข์อันต้องกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎ อันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายใน ภายนอก หมายจะเอาท้งกรุงเองและต่างประเทศทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส..."
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานสอนสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร


ดังนี้การที่พระองค์จะกลับมามีพระราชอำนาจ จึงต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มต้นจากการตั้งกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นการปูทางแห่งพระราชอำนาจภายใน และออกสู่ภายนอก คือ เริ่มรับเด็กหนุ่มเข้าสังกัดและปูทางไปสู่โรงเรียนพลเรือนเพื่อเข้ารับราชการ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มี.ค. 11, 15:26
หลังจากนั้นพระองค์ก็เจริญพระชันษา และได้เวลาบรรลุนิติภาวะ ที่จะบริหารการแผ่นดินด้วยองค์เอง จึงโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นครั้งที่ ๒  และทรงเริ่มปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งฐานอำนาจทางการเมืองตกอยู่กลุ่มของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรยวงศ์ และเสนาบดีส่วนใหญ่ในตระกูลบุนนาค ซึ่งท่านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรยวงศ์ ได้เลือก กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในขณะที่พระองค์พระชนมายุ ๓๑ พรรษา ซึ่งเป็นเหตุการณ์วันเดียวกันกับการประชุมเสนาบดียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแห่งกรุงสยาม

อีกทั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรยวงศ์ ได้บัญชาให้ข้าราชการที่สังกัดวังหน้าซึ่งได้ถุกโอนเข้าวังหลวงเมื่อครั้งสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ให้กลับคืนไปสังกัดอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทำให้ฐานพระราชอำนาจของวังหน้ามีมากกว่าเดิม ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างวังหลวง-วังหน้าอย่างชัดเจน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 11, 09:33
๒. ข่าวลือ ข่าวโจมตี ทำให้เกิดความบาดหมาง

ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ แล้วได้เกิดภาวะทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยมีกลุ่มการเคลื่อนไหว ดังนี้

๑. กลุ่มสยามหนุ่ม

๒. กลุ่มสยามเก่า

๓. กลุ่มอนุรักษ์นิยม

ซึ่งทั้งสามกลุ่มมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในระยะเวลานั้น โดยเฉพาะกลุ่มสยามหนุ่ม เป็นแกนหลักที่ประกอบด้วย ขุนนางและบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอฯ ต้องการให้สยามนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ทัดเทียม ผิดกับสยามเก่าที่ต้องการยึดระบอบความมั่นคงไว้อย่างเดิม

จนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ ก่อนไฟไหม้วังหลวง เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้เขียนบทความโจมตีฝ่ายสยามเก่า ตีพิมพ์ลงในหนังสือดรุโณวาท กล่าวในเชิงต่อว่าสยามเก่า ทำงานล้มเหลว และระบุว่า คณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์จะถวายความซื่อตรงและจงรักภักดีต่อผู้ที่สืบราชสมบัติที่เป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งกระเทือนไปถึงวังหน้าโดยตรง อีกทั้งฝ่ายกรมพระราชวังบวร ได้รับหนังสือทิ้ง (บัตรสนเท่ห์) ว่าจะมีการลอบปลงพระชนม์

การณ์ดังกล่าวฝ่ายวังหน้านั้นตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ มีการระดมพลฝ่ายวังหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันจากเรื่องราวในบัตรสนเท่ห์ มีการเรียกทหารประชุม ๖๐๐-๗๐๐ คนหน้าพระที่นั่งศิวโมกข์ ความทราบถึงวังหลวง จึงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอภาณุรังษี, พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร, พระองค์เจ้ากาพย์ ไปสืบดูความจริงว่ามีการระดมพลจริงหรือไม่

ประกอบกับฝ่ายวังหน้า ก็ส่งคนมาอยู่หน้าประตูวิเศษไชยศรี ๒ คน มาคอยถามว่าทหารวังหลวงมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันซ้ำสอง ด้วยการระดมพลและสืบความเป็นไปของวังหลวง มีโทษสถานหนัก แต่กลับเป็นการไม่สมควร ที่มีเหตุการณ์สงสัยก็ควรแจ้งให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทราบ ส่วนทางวังหน้าก็กลับปกปิดหนังสือนี้และคิดสงสัยในฝ่ายวังหลวงเป็นผู้กระทำ

สถานการณ์ยิ่งตอกย้ำลงเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝ่ายวังหลวงเอง ก็ได้ระดมพลตามอย่างวังหน้า ทำให้ความตึงเครียดยิ่งลึกลงไป แต่มาเกิดเหตุไฟไหม้โรงหุงลมประทีปในพระบรมมหาราชวัง ฝ่ายวังหน้าจึงนำกำลังเข้าไปช่วย จึงได้เกิดการเข้าใจผิดกันนั่นเอง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 11, 12:32
คำยุยง

และแล้ววันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๗ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พร้อมครอบครัวและขุนนางที่ไว้ใจได้ พากันเข้าไปประทับในเขตกงสุลอังกฤษ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ กสท. ไปรษณีย์กลาง บางรัก) เนื่องจากทรงคุ้นเคยกับ เซอร์ โธมัส น๊อกซ์ แต่ในเวลานั้นมิสเตอร์ น๊อกซ์ กลับบ้านที่อังกฤษ ดังนั้นจึงให้มิสเตอร์นิวแมน เป็นผู้รักษาการแทน

การณ์ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโกรธมากและมีพระราชหัรถเลขาถึงพระยานรินทรราชเสนี ดังความว่า "...ทำการครั้งนี้....เหมือนหนึ่งเอากระดูกบิดามารดาปู่ย่ายายไปขาย..." และทรงติว่าเป็นเพราะมีผู้ยุยง คือ นายน๊อกซ์ เพราะกงสุลอังกฤษผู้นี้หวังจะถวายบุตรสาวให้วังหน้า หากวังหลวงมีอันเสด็จสวรรคตไป กรมพระราชวังบวรก็คงได้ครองราชสมบัติ บุตรสาวของนายน๊อกซ์ก็ได้เป็นราชเทวี


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มี.ค. 11, 13:38
คำยุยง

และแล้ววันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๗ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พร้อมครอบครัวและขุนนางที่ไว้ใจได้ พากันเข้าไปประทับในเขตกงสุลอังกฤษ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ กสท. ไปรษณีย์กลาง บางรัก) เนื่องจากทรงคุ้นเคยกับ เซอร์ โธมัส น๊อกซ์ แต่ในเวลานั้นมิสเตอร์ น๊อกซ์ กลับบ้านที่อังกฤษ ดังนั้นจึงให้มิสเตอร์นิวแมน เป็นผู้รักษาการแทน

การณ์ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโกรธมากและมีพระราชหัรถเลขาถึงพระยานรินทรราชเสนี ดังความว่า "...ทำการครั้งนี้....เหมือนหนึ่งเอากระดูกบิดามารดาปู่ย่ายายไปขาย..." และทรงติว่าเป็นเพราะมีผู้ยุยง คือ นายน๊อกซ์ เพราะกงสุลอังกฤษผู้นี้หวังจะถวายบุตรสาวให้วังหน้า หากวังหลวงมีอันเสด็จสวรรคตไป กรมพระราชวังบวรก็คงได้ครองราชสมบัติ บุตรสาวของนายน๊อกซ์ก็ได้เป็นราชเทวี

พอระบุได้ไหมว่า ข้าราชการครอบครัวและข้าราชการที่ไว้ใจได้ที่ตามเสด็จไปคราวนั้น
มีใครบ้าง   อยากรู้จริงๆ ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 11, 14:00
พอระบุได้ไหมว่า ข้าราชการครอบครัวและข้าราชการที่ไว้ใจได้ที่ตามเสด็จไปคราวนั้น
มีใครบ้าง   อยากรู้จริงๆ ;D

วันก่อนไม่ช่วยวังหลวงดับไฟ แล้วยังมาสืบเสาะฝ่ายวังหน้าอีกหรือ  ???

ผู้ตามเสด็จในคราวนั้น มี
๑.เจ้าคุณเอม จอมมารดา
๒. พระองค์เจ้าเนาวรัตน์
๓. พระองค์เจ้าวรจันทร์
๔. พระยาวิสูทโกษา
๕. พระยาสุรินทรราชเสนี
๖. พระยาจำนงสรไกร
๗. พระยาภักดีภูธร
๘. พระยาโยธาเขื่อนพันธ์
๙. พระยาอัศดาเรืองเดช

โดยเสด็จออกจากวังหน้าราว ๘ ทุ่มเศษ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มี.ค. 11, 14:54
วันก่อนไม่ช่วยวังหลวงดับไฟ แล้วยังมาสืบเสาะฝ่ายวังหน้าอีกหรือ  ???

ผู้ตามเสด็จในคราวนั้น มี
๑.เจ้าคุณเอม จอมมารดา
๒. พระองค์เจ้าเนาวรัตน์
๓. พระองค์เจ้าวรจันทร์
๔. พระยาวิสูทโกษา
๕. พระยาสุรินทรราชเสนี
๖. พระยาจำนงสรไกร
๗. พระยาภักดีภูธร
๘. พระยาโยธาเขื่อนพันธ์
๙. พระยาอัศดาเรืองเดช

โดยเสด็จออกจากวังหน้าราว ๘ ทุ่มเศษ

นี่แหละ  หน่วยก่อกวนความสงบตัวจริง   8) ;D :P
ขอทราบชื่อเอกสารที่ใช้อ้างข้อมูลด้วยได้ไหม
เผื่อมีผู้อ่านกระทู้คนใดสนใจอยากจะไปหาอ่านต่อ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 11, 15:32
ขอทราบชื่อเอกสารที่ใช้อ้างข้อมูลด้วยได้ไหม
เผื่อมีผู้อ่านกระทู้คนใดสนใจอยากจะไปหาอ่านต่อ


เอกสารค้นคว้าเรื่องวิกฤตวังหน้า เหตุการณ์ทางการเมืองระหว่าง ๒๔๑๑ - ๒๔๒๘, ห้องสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 11, 15:48
การแก้ไขวิกฤตวังหน้า

เหตุการณ์ดังกล่าว ผู้คนเริ่มมีปฏิกิริยาเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเรือสินค้าที่เข้ามายังสยาม มีจำนวนน้อยลง เนื่องจากมีความกังวลในเหตุการณ์ดังกล่าวว่าจะเกิดเหตุบานปลายเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับกงสุลอังกฤษ ซึ่งทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมิโปรดให้ต่างชาติเข้ามายุ่ง จึงโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์เป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เนื่องจากเห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ นั้นเข้าข้างทางวังหน้า ความเห็นของสมเด็จเจ้าพระยา คือ

- ทูลขอให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทรงออกจากตำแหน่ง กลับไปอยู่เสียที่พระราชวังเดิม และขอให้ได้รับเงินแผ่นดินตามสมควร

แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงคิดที่จะให้สมเด็จเจ้าพระยากระทำการถึงเพียงนั้น เพียงว่าให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ มียศตามสมควร คือ ให้ลดจำนวนทหารลง และถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเรียกคนก็ควรจะแจ้งให้พระองค์ทราบ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มี.ค. 11, 15:57

เอกสารค้นคว้าเรื่องวิกฤตวังหน้า เหตุการณ์ทางการเมืองระหว่าง ๒๔๑๑ - ๒๔๒๘, ห้องสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร

อ้อ  งั้นฤา  ขอบคุณ  จะได้ตามไปหามาอ่าน

ผมมีเอกสารชิ้นหนึ่งแต่งเป็นกลอนเล่าไว้ว่า

"ขุนนางลงไปเฝ้าแต่เช้าค่ำ              นอนประจำอยู่พิทักษ์ก็อักโข
ทรงปรึกษาข้อความตามเดโช          ที่มีมโนสัตย์ถวายหลายพระยา
ที่หนึ่งเนื้อเชื้อตระกูลไพบูลย์สมบัติ    ที่โทถัดนามวิสูตร์โกษา
ที่สามสุรินทร์ราชสมญา                  จัตวาจำนงสรไตรย
ที่ห้าอัศดาเรืองเดช                        พระยาประเสริฐหมอวิเศษที่หกใส่
ที่เจ็ดนี้ภักดีภูธรไซร้                       ที่แปดไว้ชื่อพระยาโยธาควร
เป็นผู้ทูลกิจจาสารพัด                     ขัตติยวงศ์ทรงดำรัสสำรวลสรวล
พอเคลื่อนคลายวายจิตต์คิดรัญจวน    ประมาณประมวลตั้งแต่มาห้าสิบวัน..."

น่าสนใจไหม  ถ้าสนใจจะคัดเอามาให้อ่านอีก ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มี.ค. 11, 15:58
จดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ (หรุ่น) บันทึกได้กระชับมาก

ของแถม

บันทีกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์วังหน้า

ณวัน ๓๑ ค่ำ รุ่งขึ้นข้าราชการต้องนอนประจำซองทุกกรม ณวัน ๖๑ ค่ำ กรมพระราชวังหนีเพลา ๘ ทุ่ม ออกจากวัง ไปอยู่กับนายห้างที่ ๒ กงสุลอังกฤษ ณวัน ๗๑ ค่ำ สมเด็จเจ้าพระยาให้เจ้าพระยาสุรวงษ์ไปเชิญเสด็จมาณจวน จึงเชิญให้เสด็จกลับวังก็ไม่กลับ ณวัน ๑๑ ค่ำ วังหลวงมีลายพระหัดถ์เชิญให้กลับก็หากลับไม่ ณวัน ๒๑ ค่ำ จึงประชุมข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันว่า ทิ้งราชสมบัติไปอยู่กับกงสุล จะชอบจะผิดประการใดให้ทำจดหมายไปยื่น ณวัน ๓๑ ค่ำ มีลายพระหัดถ์ออกมาว่าที่จะยื่น นั้นให้งดไว้ จะเชิญเสด็จกลับ ตกลงกันจะกลับ

 ::)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 11, 16:10
ครั้นแล้วสมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ ได้ให้เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ที่สมุหกลาโหมลงไปที่บ้านกงสุลเยเนราลอังกฤษ เชิญเสด็จขึ้นมาที่บ้านท่าน และเมื่อกรมพระราชวังบวรมาถึงที่บ้าน เจ้าพระยาภูธราภัย, เจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดีพร้อมกันที่อยู่ที่นั้นแล้ว

สมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์และเหล่าเสนาบดีได้กล่าวน้าวหน่วงหลายประการ ให้เสด็จกลับขึ้นมาอยู่ในพระราชวังเสียตามเดิม ท่านก็มิยอมที่จะกลับมา สมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์เห็นว่าท่านไม่ยอมขึ้นมาอยู่ที่พระราชวังแล้ว จึงได้ชวนกรมพระราชวังบวรให้พักอยู่ที่บ้านท่าน ท่านก็ไม่ยอมที่จะอยู่

"ท่านได้ไปอาศัยอำนาจคอเวอนแมนต์ (Government) อังกฤษ...ท่านจะต้องคอยฟังคอเวอนแมนต์อังกฤษว่าประการใดก่อน" ท่านกล่าว หลังจากนั้นมิสเตอร์นิวแมนก็พากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญกลับไปบ้านกงสุลเยเนราลอังกฤษ ทำให้สมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ และเหล่าเสนาบดีมีความเสียใจเป็นอันมาก ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเคลือบแคลงกันอยู่มาก

หลังจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอักษรถึงกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ "ข้อความในหนังสือชึ้แจงความในใจมิได้ทำอันตรายแก่กรมพระราชวังบวรทุกประการ และยังแจ้งว่าหากกรมพระราชวังบวรเห็นการอย่างไรที่จะให้เป็นการเรียบร้อยสิ้นสงสัยแก่กันได้ ก็ให้กรมพระราชวังบวรจดหมายชี้แจงความประสงค์ให้ทราบ " อีกทั้งยังเชิญเสด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอมีเกียรติยิ่งใหญ่ในราชตระกูล ให้ลงไปพูดจาโน้มน้าวเชิญเสด็จกลับมาอีกครั้ง ไม่นานกรมพระราชวังบวรทรงมีหนังสือกลับมา ความว่า

"ท่านได้ไปอาศัยอำนาจคอเวอนแมนต์อังกฤษแล้ว"  ด้วยข้อความสั้นๆ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 11, 16:15
กรุณาลงมาให้อ่านอีกนะครับ คุณหลวงเล็ก  ;D

จดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ (หรุ่น) บันทึกได้กระชับมากจริงๆครับ คุณเพ็ญชมพู  ;)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 16 มี.ค. 11, 17:07

"ขุนนางลงไปเฝ้าแต่เช้าค่ำ              นอนประจำอยู่พิทักษ์ก็อักโข
ทรงปรึกษาข้อความตามเดโช          ที่มีมโนสัตย์ถวายหลายพระยา
ที่หนึ่งเนื้อเชื้อตระกูลไพบูลย์สมบัติ    ที่โทถัดนามวิสูตร์โกษา
ที่สามสุรินทร์ราชสมญา                  จัตวาจำนงสรไตรย
ที่ห้าอัศดาเรืองเดช                        พระยาประเสริฐหมอวิเศษที่หกใส่
ที่เจ็ดนี้ภักดีภูธรไซร้                       ที่แปดไว้ชื่อพระยาโยธาควร
เป็นผู้ทูลกิจจาสารพัด                     ขัตติยวงศ์ทรงดำรัสสำรวลสรวล
พอเคลื่อนคลายวายจิตต์คิดรัญจวน    ประมาณประมวลตั้งแต่มาห้าสิบวัน..."


กลอนคุณหลวงบ่งบอกรายชื่อขุนนางผู้ตามเสด็จได้ครบถ้วนดี
ดูจากนามตำแหน่งแล้ว ย่อมเห็นว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับกรมพระราชวังบวร
ด้วยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในวังหน้าทั้งสิ้น

1. พระยาไพบูลย์สมบัติ จางวางกรมพระคลังสินค้า
(อาจจะเป็น พระยาไพบูลย์สมบัติ (เอี่ยม บุนนาค) บุตรสมเด็จองค์น้อย ที่กินตำแหน่งนี้มาแต่รัชกาลที่ 4)
2. พระยาวิสูตรโกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลัง
3. พระยาสุรินทร์
(เป็นได้ทั้ง "สุรินทรราชเสนี" หรือ "สุรินทรราชเสนา" แต่ข้อมูลคุณไซมีสว่าเป็น พระยาสุรินทรราชเสนี ปลัดทูลฉลองกรมกลาโหม)
4. พระยาจำนงสรไกร ไม่แน่ใจว่าดำรงตำแหน่งใดในวังหน้า
5. พระยาอัษฎาเรืองเดช จางวางกรมพระตำรวจ
6. พระยาประเสริฐ (ศาสตร์ธำรง) จางวางกรมหมอ
7. พระยาภักดีภูธร จางวางกรมรักษาพระองค์
8. พระยาโยธา (เขื่อนขันธ์) จางวางกรมล้อมพระราชวัง

แปลกอยู่อย่างที่ข้าราชการตามเสด็จนั้นไม่มีใครสักคนที่ถึงชั้นเสนาบดีวังหน้าเลย
เป็นเพียงจางวางกรม หรือปลัดทูลฉลองเท่านั้น ข้อนี้น่าสงสัยยิ่ง ???

คุณหลวง (ผู้ร่วมสมัย) น่าจะอธิบายได้ดี


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 08:00
และแล้วบุคคลที่ผมให้ความเคารพมากที่สุด คือ อ.NAVARAT.C ได้เข้ามาให้ข้อมูลที่น่าสนใจมาก โดย อ.NAVARAT.C ตั้งกระทู้ “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า  
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4297.0
และที่ http://www.monnut.com/board/index.php?topic=1725.0

อันเป็นข้อมูลหลายๆด้าน เพื่อให้ผู้อ่านได้มีมุมมองประกอบหลายๆด้าน มิใช่เพียงมิติเดียว อันจะเกิดอาการคิดเองไปเสียเปล่าๆ

จุดหนึ่งที่ท้าทายอยู่ในเรื่องราวทั้งหมดคือ "ความจงรักภักดี" ซึ่งผมได้อธิบายในมุมมองของผมแล้วในกระทู้นิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ ซึ่งเรื่องราวทั้งหลายเกิดจากอาศัยจุดอ่อนของมนุษย์ นั่นคือ "ความหวาดระแวงต่อกันและนำไปสู่การไม่พูดคุยกัน" นำมาเป็นข้อเล่นเพื่อให้กลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจทั้ง ๒ ฝ่ายเกิดแตกหักกัน และต่างชาติก็จะเข้าแบ่งพื้นที่พระราชอาณาจักรสยาม โดยมีเหตุเริ่มจาก "บัตรทิ้ง หรือ บัตรสนเท่ห์"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 08:36
ขอนำภาพสถานกงสุลอังกฤษ ที่พำนักของ มิสเตอร์น๊อกซ์ และเป็นสถานที่ๆ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เสด็จมาประทับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 09:24
ต่างชาติเข้ามามีบทบาท เจรจาแบ่งประเทศ  >:(

หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ประทับอยู่ที่บ้านกงสุลอังกฤษแล้ว มีข่าวลือสะพัดกันในหมู่ราษฎรและกลุ่มชาวต่างประเทศมากมายถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ การค้าการขายได้หยุดชะงักลง ส่วนทางกงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศส จึงได้เรียกเรือรบของตนเข้ามา โดยอ้างถึงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนในอารักขา แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ที่จริงทั้งสองประเทศต่างต้องการแทรกแซงกิจการภายในของสยาม

วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๘ กงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศส โดยมิสเตอร์นิวแมน และ มิสเตอร์การ์ยิเน ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาดังกล่าว โดยให้ความเห็นเสนอให้ไทยแบ่งประเทศออกเป็น ๓ ส่วน

ส่วนที่ ๑. ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนที ๒. ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถึง แม่น้ำแม่กลอง เป็นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์

ส่วนที่ ๓. ตั้งแต่แม่กลอง ลงไป เป็นของวังหน้า

คงจะเห็นสภาพการเจรจานี้ กลายเป็นเรื่องแบ่งดินแดนไปเสียเฉยฝ่ายไทยไม่เห็นด้วยเนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นการจะเข้าแยกดินแดนล่าเมืองขึ้น แต่ไม่วายเรื่องราวจะเงียบลง มิสเตอร์นิวแมน กลับมีใบบอกไปยังผู้สำเร็จราชการอังกฤษ ประจำสิงคโปร์ คือ เซอร์ แอนดรู ตลาก ให้นำเรือรบแล่นมาแสดงอำนาจข่มขู่ เพื่อเป็นการบีบให้วังหลวงตัดสินปัญหาตามข้อเสนอดังกล่าวนี้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 09:47
เป็นเวลาเกือบ ๑ เดือนหลังจากที่กงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๘ ท่านเซอร์ แอนดรู คลาก ก็เดินทางมาถึงสยาม โดยเรือวิจิเลนท์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ โดยให้พักที่วังสราญรมย์
การเจรจาความจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่าเป็นกรณีพิพาท “ระหว่างตระกูลซึ่งพอจะตกลงกันได้” และได้ทำสัญญาระหว่างกันในอันที่จะไม่แทรกแซงเรื่องราวภายในของสยาม และไม่เห็นด้วยที่จะมีการแบ่งแยกสยามเป็น ๓ ส่วน ซึ่งได้ถูกแบ่งตามผลประโยชน์ของอังกฤษและของทางฝรั่งเศส

หลังจากได้ทำสัญญากันเรียบร้อยแล้ว เหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างวังหน้า – วังหลวงก็ได้ยุติลง โดยเสด็จกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ กลับคืนสู่วังหน้าอีกครั้ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ ได้จัดเรือเก๋ง ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมารับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ กลับเพื่อให้สมพระเกียรติ ดังจุดยืนแห่งพระราชหัตถเลขาถึงกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ
“..ด้วยการที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการใหญ่ ไม่เคยมีเลย ฉันมีความเสียใจมาก เธอไปอาศัยอยู่บ้านกงสุลด้วยเหตุอันใด ฉันไม่ได้คิดฆ่าเธอ เธอมีความหวาดหวั่นข้อไหน เธอก็รู้อยู่เองว่าในแผ่นดินเราทุกวันนี้ ผู้ใดไม่มีความผิดที่ควรจะต้องฆ่าแล้วก็ฆ่าไม่ได้ ที่เธอมีความสะดุ้งหวาดหวั่นถึงชีวิตจะคิดการเกินไปดอกกระมัง...”


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 มี.ค. 11, 10:15
พระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึงกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 มี.ค. 11, 10:23
พระราชกำหนด ประกาศในวันเดียวกัน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 10:44
จากพระราชกำหนด ที่คุณเพ็ญชมพู นำลงมาให้อ่านกัน ลองเทียบกับข้อเสอน ๑๐ ข้อของทางกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

ข้อเรียกร้องรวม ๑๐ ประการของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ที่ทรงยื่นเสนอเพื่อยุติศึกวิกฤตการณ์ครั้งนี้ จะเห็นว่ามีสาระสำคัญดังนี้ 

 ๑.  ว่าที่ของเคยได้แลทำมาตั้งแต่ปีมะโรงสัมฤทธิศกอย่างใด  ข้อให้คงอยู่ตามเดิม  อย่าชักถอนตัดรอนลดเสีย

 ๒.  ว่าถ้ามีเหตุการณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ที่ทำให้แปลกปราดกว่าตามเคย  เป็นที่สงสัยก็ให้มีพระราชหัตถเลขาไปมาไถ่ถามให้เป็นยุติธรรม  ถ้าไถ่ถามไม่สิ้นสงสัยแล้วขอให้แจ้งความกับท่านที่มีชื่อลงในหนังสือประนีประนอมก่อน  อย่าให้ทำการเป็นที่สะดุ้งตกใจเหมือนอย่างที่ทำมาแต่หลัง

 ๓.  ว่าอย่าให้ชักผู้ถอนคนให้ข้าพลัดเจ้าบ่าวพลัดนาย  ขอให้คงอยู่ตามเดิม 

 ๔.  ว่าอย่าให้คนทั้งปวงหมิ่นประมาท  ดูถูก  ด้วยกริยาและวาจาต่างๆ ได้

 ๕.  ว่าข้าราชการในพระราชวังบวรฯ เป็นถ้อยความสิ่งใด  ขอให้ชำระโดยยุติธรรมแล้วให้ต่อว่าได้ด้วย

 ๖.  ว่าเงินภาษีอากรที่เคยได้มาแต่ก่อนนั้น  ภาษีใด อากรใด ฟ้องขาด  เงินนั้นก็ขาดลงตามเงินในพระบรมมหาราชวัง
ภาษีใด อากรใดประมูลเงินขึ้นในพระบรมมหาราชวัง  เงินภาษีอากรในพระราชวังบวรฯ  ก็หาขึ้นด้วยไม่  มีแต่ขาดไปทุกปีๆ  ขอว่าถ้าเงินภาษีอากรในพระบรมมหาราชวังขึ้นก็ขอให้เงินในพระราชวังบวรฯ  ขึ้นด้วยตามร้อยละห้า ฤๅร้อยละสาม  ถ้าเงินตกก็ตกด้วยร้อยละห้า  ฤๅร้อยละสาม  ซึ่งมีอยู่ในภาษีอากรนั้นๆ

 ๗.  ว่าเดิมเงินภาษีอากรเคยได้มาแต่เดิมนั้นก็ตัดเสียหาได้ไม่  ขอให้ได้ตามเดิม

 ๘.  ว่าเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชวังบวรฯ  เคยประทับตราตั้งเจ้าภาษีนายอากรด้วย  แต่ตัดเสียประมาณสองปีมาแล้ว บัดนี้จะขอให้ประทับตราตามเดิมจะได้รู้ตัวเจ้าภาษีนายอากรและเรียกร้องตักเตือนเงินในพระราชวังบวรฯ ได้โดยง่าย

 ๙.  ว่าปูนขาวที่ได้ส่งไปแต่พระบรมมหาราชวัง  ได้ใช้ทำการซ่อมแซมพระราชวังบวรฯ  ที่ชำรุดหักพังเป็นของสำหรับแผ่นดินปีละ  ๕๐๐-๖๐๐ เกวียนบ้าง  ก็ตัดเสียหาให้ไม่ประมาณสี่ปีมาแล้วที่นี้ขอให้ได้ตามเดิม

๑๐.  ว่าถ้าทำหนังสือประนีประนอมฝ่ายละฉบับแล้ว  ให้ท่านเสนาบดีกับกงสุล เยนเนราล อังกฤษกับกงสุลฝรั่งเศสลงชื่อเป็นพยานไว้ด้วย  แต่ความเรื่องนี้เนิ่นนานมาแล้ว มิสเตอร์ นุมัน (นิวแมน) ผู้ว่าการแทนกงสุลเยนเนราลอังกฤษได้บอกออกไปถึง คอนเวอนแมนอังกฤษได้ทราบว่า คอนเวอนแมนอังกฤษได้ตั้งให้เจ้าเมืองสิงคโปร์เข้ามาระงับการ  แต่เรื่องนี้ควรจะรอเจ้าเมืองสิงคโปร์เข้ามาก่อน  แต่บัดนี้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ขอกับมิสเตอร์ นุมัน ผู้ว่าการแทนกงสุลเยนเนราลให้บอกข้าพเจ้าขอดูคำประนีประนอมที่จะเอาอย่างไร  ข้าพเจ้าจึงได้เขียนคำประนีประนอม
ส่งขึ้นมาให้พอท่านดูเป็นสำเนา  แต่ที่จะแล้วกันนั้นจะต้องรอเจ้าเมืองสิงคโปร์เข้ามาก่อนจึงจะแล้วกันได้  แต่ความเรื่องนี้ข้าพเจ้าเขียนโดยเร็ว  หาทันได้ตรึกตรองได้ละเอียดไม่  เจ้าเมืองสิงคโปร์เข้ามาถึงเมื่อไรข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมอีกบ้าง
ความตามพระประสงค์ของกรมพระราชวังบวร เป็นเนื้อความ ๑๐ ข้อนี้ ได้ส่งมายังพระยาภานุวงศ์โกษาธิบดี เมื่อได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว โปรดให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สมเด็จเจ้าพรัยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเสนาบดีทั้งหลาย ประชุมปรึกษาหารือกัน นำคำประนีประนอมมาพิจารณาว่า ข้อความใดบ้างที่ควรจะยอมทำถวาย ตามพระประสงค์กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญได้บ้าง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 มี.ค. 11, 08:31
กลอนคุณหลวงบ่งบอกรายชื่อขุนนางผู้ตามเสด็จได้ครบถ้วนดี
ดูจากนามตำแหน่งแล้ว ย่อมเห็นว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับกรมพระราชวังบวร
ด้วยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในวังหน้าทั้งสิ้น

1. พระยาไพบูลย์สมบัติ จางวางกรมพระคลังสินค้า
(อาจจะเป็น พระยาไพบูลย์สมบัติ (เอี่ยม บุนนาค) บุตรสมเด็จองค์น้อย ที่กินตำแหน่งนี้มาแต่รัชกาลที่ 4)
2. พระยาวิสูตรโกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลัง
3. พระยาสุรินทร์
(เป็นได้ทั้ง "สุรินทรราชเสนี" หรือ "สุรินทรราชเสนา" แต่ข้อมูลคุณไซมีสว่าเป็น พระยาสุรินทรราชเสนี ปลัดทูลฉลองกรมกลาโหม)
4. พระยาจำนงสรไกร ไม่แน่ใจว่าดำรงตำแหน่งใดในวังหน้า
5. พระยาอัษฎาเรืองเดช จางวางกรมพระตำรวจ
6. พระยาประเสริฐ (ศาสตร์ธำรง) จางวางกรมหมอ
7. พระยาภักดีภูธร จางวางกรมรักษาพระองค์
8. พระยาโยธา (เขื่อนขันธ์) จางวางกรมล้อมพระราชวัง

แปลกอยู่อย่างที่ข้าราชการตามเสด็จนั้นไม่มีใครสักคนที่ถึงชั้นเสนาบดีวังหน้าเลย
เป็นเพียงจางวางกรม หรือปลัดทูลฉลองเท่านั้น ข้อนี้น่าสงสัยยิ่ง ???

คุณหลวง (ผู้ร่วมสมัย) น่าจะอธิบายได้ดี

ขุนนางวังหน้าไม่มีถึงชั้นเสนาบดีหรอกครับ  
เพราะกรมกองของวังหน้าเล็กกว่าวังหลวง
ฉะนั้นตำแหน่งสูงสุดก็คือจางวางกับเจ้ากรม  

ส่วนชื่อข้าราชการที่ถามมานั้น
เท่าที่มีข้อมูลพอบอกได้ดังนี้

๑. พระยาประเสริฐสาตรธำรง จางวางกรมหมอฝ่ายพระราชวังบวร
พระยาประเสริฐสาตรธำรง  คนนี้ ชื่อ น้อย
เป็นบุตรเจ้าเมืองเชียงคูน (คง)
เจ้าคุณประเสริฐฯ (น้อย) เข้ารับราชการ
ในกรมหมอฝ่ายพระราชวังบวร ในสมัยรัชกาลที่ ๔
ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นที่ขุนเทพโอสถ
ตำแหน่งปลัดกรมหมอ  เบี้ยหวัดปีละ ๑ ชั่ง

ต่อมาเลื่อนเป็นที่หลวงวิเศษโอสถ เจ้ากรมหมอ
เบี้ยหวัดปีละ ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จสวรรคตแล้วได้ลงมารับราชการสมทบในวังหลวง
และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระประเสริฐสาตรธำรง
ตำแหน่งจางวางกรมหมอ  เบี้ยหวัด ปีละ ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการ
ที่วังหน้าตามตำแหน่ง  ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาในราชทินนามเดิม
เบี้ยหวัด ปีละ ๕ ชั่ง  เงินกลางปี  ๑ ชั่ง  
เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตแล้ว
ได้กลับลงมาสมทบทำราชการในวังหลวง
รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๖ ชั่ง  เงินเดือนเดือนละ ๖๐ บาท
และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มงกุฏสยามชั้นที่ ๓ (มัณฑนาภรณ์)
พระยาประเสริฐสาตรธำรง (น้อย) ถึงแก่กรรม
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร,ศ, ๑๑๖  อายุได้  ๗๐ ปี
ขุนประเสริฐโอสถ ผู้เป็นบุตรเป็นผู้จัดการศพ

หมายเหตุ (ที่ดำรงเป็นพระยาประเสริฐสาตรธำรงคนต่อมา ชื่อ หนู)





กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 มี.ค. 11, 08:44
๒. พระยาจำนงสรไกร ไม่แน่ใจว่าดำรงตำแหน่งใดในวังหน้า

พระยาจำนงสรไตร หรือพระยาจำนงสรไกร  คนนี้ชื่อ รุ่ง
ดำรงตำแหน่งจางวางทหารปืนเล็กฝ่ายพระราชวังบวร 
ได้ถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
มาแต่ครั้งที่ยังประทับที่พระราชวังเดิม  ฝั่งธนบุรี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับพระบวรราชาภิเษกแล้ว
ได้โปรดเกล้าฯ นายรุ่งเป็นที่หลวงรุดรักษา 
รับราชการในกรมแสงในขวา  เบี้ยหวัด ปีละ ๑ ชั่ง
ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระจำนงสรไกร
ตำแหน่งจางวางทหารปืนเล็ก  เบี้ยหวัดปีละ  ๒ ชั่ง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕  กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญได้โปรด
ให้เลื่อนขึ้นเป็น  พระยาจำนงสรไกร  ในตำแหน่งเดิม
รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๖ ชั่ง  เมื่อวังหน้าเสด็จทิวงคตแล้ว
ได้ย้ายลงมาสมทบทำราชการในวังหลวง  คงรับเบี้ยหวัดเท่าเดิม

พระยาจำนงสรไกร (รุ่ง) ถึงแก่กรรม
เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม  ร,ศ, ๑๐๘  อายุได้  ๖๖ ปี 


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 มี.ค. 11, 09:11
๓. พระยาภักดีภูธร จางวางกรมรักษาพระองค์
 พระยาภักดีภูธร  คนนี้ชื่อ  นิล  ไม่ทราบประวัติ
ทราบแต่ว่า ท่านเจ้าคุณถึงแก่กรรม
วันที่ ๓๐ มิถุนายน  ร,ศ, ๑๒๗


๔.  พระยาโยธาเขื่อนขันธ์ ปลัดจางวางกรมล้อมพระราชวัง
พระยาโยธาเขื่อนขันธ์ คนนี้ชื่อ โต  ไม่ทราบประวัติ
ทราบแต่ว่า ท่านเจ้าคุณถึงแก่กรรม
วันที่   ๑  ตุลาคม  ร,ศ, ๑๑๗


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 มี.ค. 11, 09:25
๕. พระยาสุรินทร์
(เป็นได้ทั้ง "สุรินทรราชเสนี" หรือ "สุรินทรราชเสนา"
แต่ข้อมูลคุณไซมีสว่าเป็น พระยาสุรินทรราชเสนี ปลัดทูลฉลองกรมกลาโหม)

พระยาสุรินทรราชเสนี  คนนี้ชื่อ  ตุ้ย
ไม่ทราบประวัติ  ถึงแก่กรรมวันที่  ๑๖ มกราคม  ร,ศ, ๑๑๗


๖. พระยาวิสูตรโกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลัง
คนนี้  ชื่อ อ้น   ไม่มีข้อมูลประวัติ
ทราบว่า ถึงแก่กรรม วันที่  ๒๔ กุมภาพันธ์  ร,ศ, ๑๑๗


มีความพยายามหาข้อมูลมาตอบคุณอาร์ทได้เท่านี้
ไม่ทราบพอใจหรือไม่   ใฝครมีข้อมูลยิ่งกว่า
โปรดเอื้อเฟื้อหรือแสดงออกได้ตามอัธยาศัย


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 19 มี.ค. 11, 02:15
คุณ samun 007 มีรูปอื่นๆจากงานเดียวกันไหมคะ อยากเห็น
ถ้ามี กรุณาไปโพสในกระทู้ รูปเก่าเล่าเรื่อง-เมืองบางกอก  จะขอบคุณมาก
**************************

มีบางรูปครับ แต่ถ้ารอได้ ผมจะพยายามไปถ่ายรูปกระบวนต่าง ๆ มาให้ชมนะครับ ไม่กล้ารับปากว่านานแค่ไหนนะครับ เพราะเนื่องจากติดภารกิจงานที่ทำในปัจจุบันครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 11, 21:25
" เกาวนา" อังกฤษที่เข้ามาประนีประนอม คือ Sir Andrew Clarke  หน้าตาเป็นอย่างนี้

(http://i1015.photobucket.com/albums/af272/helaza/history-2/225px-Sir_andrew_clarke.jpg)

ส่วนหนึ่งในประวัติของเซอร์แอนดรู  กล่าวไว้ว่า

He maintained great friendship throughout his life with King Chulalongkorn of Siam whom he met when he was sent to Siam to settle a political dispute.

เขาได้ดำรงมิตรภาพอันดียิ่งยาวนานตลอดชีวิต กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม  ผู้ที่เขาได้พบเมื่อถูกส่งตัวมาสยาม เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเมือง

ท่า ทีแข็งกร้าวของนายนิวแมนที่จะเฉือนสยามแบ่งออกเป็นสองหรือสามส่วน   คงจะดำเนินการโดยพลการ    เซอร์แอนดรูถึงไม่เห็นด้วย   แต่กลับสนับสนุนให้วังหลวงและวังหน้าตกลงกันได้เอง   หลังจากนั้นเหตุก็สงบ   กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จกลับวังหน้าตามเดิม
เหมือนอย่างที่กรมหมื่นสถิตย์ฯ นิพนธ์ไว้ว่า

      นิพนธ์พจน์บอกเบื้อง        บทปฐม
บำราศที่สราญรมณ์                เร่าร้อง
ต่างประเทศมาระดม               ดับเหตุ หายแฮ
ลุสวัสดิ์กลับห้อง                  เสร็จสิ้นอวสาน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 11, 22:42
    ย้อนกลับไปถึงตอนต้นของกระทู้นี้    คาร์ล บ็อก เข้ามาในสยาม หลังวิกฤตวังหน้าจบไปแล้ว ๗ ปี      เขาบันทึกไว้ว่า
   
    "...พระองค์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองนัก    ทรงเป็นนักศึกษาเกี่ยวกับแร่ธาตุต่างๆ    และได้สะสมแร่ไว้เป็นจำนวนมาก   ทั้งยังโปรดวิชาวิศวกรรมเครื่องกล    พระองค์มีแบบจำลองของโรงงานที่ใช้เครื่องยนต์ และได้ให้ข้าพเจ้าชมเครื่องยนต์ไอน้ำ ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาเองด้วย 
     วังหน้าทรงมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพของกองทัพไทย   ซึ่งคงไม่เหมาะกับพระองค์เลย   ถ้าเกิดรบทัพจับศึกกันขึ้นมาจริงๆ"


     ก็ตีความได้ว่า เมื่อจบปัญหาลงไปแล้ว  กรมพระราชวังบวรฯ ก็วางพระองค์ห่างจากงานบ้านงานเมือง     แม้ว่ายังทรงสมาคมกับฝรั่งอยู่อย่างเดิม ก็เป็นไปเพื่อมิตรภาพล้วนๆ      พระบุคลิกภาพและกิจกรรมต่างๆที่ทรงกระทำ ก็ออกมาในลักษณะของนักวิชาการ    นอกจากนี้ยังทรงสุภาพละมุนละม่อม   นายบ็อกถึงได้พูดเต็มปากว่า ทรงไม่เหมาะกับการรบทัพจับศึก
     ส่วนสัมพันธไมตรีระหว่างวังหลวงกับวังหน้าเป็นอย่างไร  หลังพ.ศ. ๒๔๑๗ จนมาถึงพ.ศ. ๒๔๒๔  ที่บ็อกเดินทางมาถึง     ก็ได้คำตอบว่าเป็นไมตรีจิตที่ราบรื่น   เจ้ากรมข่าวลือทั้งหลายก็สลายตัวไปหมด     เห็นตัวอย่างได้จากเรื่องพงศาวดารกระซิบที่นายบ็อกเล่าต่อให้คนอ่านฟัง

     " วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสถามวัง หน้าว่ามีชายาทั้งหมดเท่าไร    เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานแหวนให้คนละวง   วังหน้าไม่สามารถจะนึกจำนวนที่ถูกต้องได้ทันที   จึงทูลตอบว่ามีอยู่ราว ๕๐ คน  ซึ่งก็นับว่าเป็นการคาดคะเนที่ใกล้เคียงต่อความจริงอยู่  แต่เมื่อได้รับพระราชทานแหวน ๕๐ วง ในระยะสองสามวันต่อมาเป็นการแสดงความโปรดปราน   และวังหน้าได้นำแหวนเหล่านี้ไปวัดนิ้วประทานแก่บรรดาสนมทั้งหลายแล้ว  จึงได้ทราบว่าแหวนขาดไป ๔ วง    เลยต้องกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าพระองค์ทรงกะ พลาดไปเล็กน้อย    เพราะมีชายาทั้งหมด ๕๔ องค์ด้วยกัน    ชายาอีก ๔ องค์ย่อมจะริษยาบรรดาชายาอีก ๕๐ องค์เป็นแน่   ถ้าพวกตนมิได้รับพระราชทานแหวนด้วย"

    เรื่องนี้จะตรงกับความจริง ๑๐๐%  หรือสัก ๗๐-๘๐   ไม่อาจทราบได้  แต่ที่แน่ใจคือแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กันฉันญาติสนิท   พระเจ้าอยู่หัวทรงมีของพระราชทานเล็กๆน้อยๆให้วังหน้า แสดงน้ำพระทัย     และทางฝ่ายวังหน้าก็สามารถจะกราบบังคมทูลขอเพิ่มได้  อย่างเป็นกันเอง   ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
     หลักฐานอีกอย่างในกระทู้นี้คือเครื่องเคลือบฝีพระหัตถ์กรมพระราชวังบวรฯ ที่นำขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัว   ก็แสดงถึงการติดต่อกันด้วยไมตรีจิตมิตรภาพทั้งสองพระองค์    ไม่มีเรื่องบาดหมางกันอีก   ตราบจนกระทั่งกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จทิวงคตในพ.ศ. ๒๔๒๘
 


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 มี.ค. 11, 23:22
แนบภาพครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 13:44
ในเมื่อเรื่องวิกฤตวังหน้า มีอีกกระทู้หนึ่งแล้ว  กระทู้นี้คงจบเรื่องวิกฤตวังหน้าไว้แค่นี้  เว้นแต่คุณ siamese อยากจะเข้ามาคุยอีก ก็ทำได้ตามสบาย

มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรฯ อีกบางเรื่อง ที่จะขอบันทึกไว้ในกระทู้นี้
- พระอัธยาศัยส่วนพระองค์ สุภาพ เป็นผู้ถ่อมพระองค์    เมื่อสมาคมกับเจ้านายวังหลวง ก็พอพระราชหฤทัยจะสมาคมคบหาพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าที่เป็นพระโอรสผู้ใหญ่ในเจ้านายต่างกรม    วางพระอัธยาศัยเป็นกันเองอย่างสนิทสนม
- ทรงมีความรู้เรื่องเล่นมายากลแบบฝรั่ง    เจ้าจอมม.ร.ว.ปริก ซึ่งในนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงเรียกว่า "น้องหญิงปริก" เล่าถวายม.จ.พูนพิสมัย ดิศกุลว่า ทรงมีคาถาอาคม สามารถเสกนกกระจอกให้บินปร๋อจากพระหัตถ์ได้   
ตอนทรงพระเยาว์ท่านหญิงพูนฯก็ได้แต่ฟังสนุกสนาน    ไม่เข้าพระทัยว่าคืออะไร  จนเจริญพระชนม์ขึ้นเห็นฝรั่งมาเล่นมายากลให้ดู  จึงเพิ่งทรงทราบว่าอะไรเป็นอะไร
- ทรงบูรณะวัดไว้หลายแห่ง เช่นวัดส้มเกลี้ยง(วัดราชผาติการาม  เชิงสะพานซังฮี้)  วัดดาวดึงส์  วัดชนะสงคราม และวัดหงส์รัตนาราม
- ทรงชำนาญด้านกวีนิพนธ์ ไม่น้อยกว่างานช่าง    มีพระบวรราชนิพนธ์ ๓ เรื่อง และบทร้อยแก้ว ๒ เรื่อง  คือ
   นิราศนครศรีธรรมราชคำฉันท์
   อิเหนาคำฉันท์
   บทละครเรื่องพระสมุท
   บทเล่นหุ่นจีน ๒ เรื่อง
   รามายณะคำฉันท์   แปลจากบทรามายณะภาษาอังกฤษของ Griffith (น่าเสียดายที่ค้นไม่พบต้นฉบับจนปัจจุบันนี้) 

 


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 14:27
สำหรับเรื่องวิกฤตวังหน้า ผู้เข้ามาอ่านทั้งสองกระทู้คงได้รับข้อมูลไปอย่างมาก ทำให้เราได้ทราบถึงข้อมูลอันสำคัญ ความเป็นมาเป็นไปในมุมมองต่างๆ ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ มิได้เป็นดังคำเล่าลือแต่อย่างใด และพระองค์ทรงเป็นนักศิลปะชั้นเลิศ ผู้สร้างสรรค์ของล้ำค่าต่างๆให้กับแผ่นดินนี้มากมาย

สำหรับวังหน้า ยังมีเรื่องราวที่ต้องค้นคว้าอีกมากครับ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๗ กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะพระอุโบสถวัดพระแก้ว วังหน้าพบพระพิมพ์ดินเผาปิดทอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น คาดว่าตกอยู่ในช่วง รัชกาลที่ ๔-๕ จึงนำมาให้ชมพระพิมพ์ดินเผาฝีมือสกุลช่างวังหน้าครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 14:59
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตเมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๔๗ (๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘) พระชนมายุ ๔๘ พรรษา พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

และเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งวังหน้า

"ฝ่ายผู้ที่อยู่ต่างประเทศก็ไม่อาจเข้าใจตำแหน่งนี้นได้ชัดเจน จึงให้เกิดเป็นที่ฉงนสงสัยต่างๆ การบ้านการเมืองซึ่งจะเป็นการเรียบร้อยเป็นคุณแก่แผ่นดินอย่างใดก็เป็นที่ขัดข้องไป หาสะดวกไม่ เป็นตำแหน่งลอยอยู่มิได้เป็นคุณแก่แผ่นดินอย่างใด เป็นแต่ต้องใช้เงินแผ่นดินซึ่งจะต้องใช้รักษาตำแหน่งยศพระมหาอุปราชอยู่เปล่าๆโดยมาก...."

จึงได้ทรงรื้อฟื้นตำแหน่งรัชทายาทที่กำหนดไว้ในมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชโอรสองค์ใหญ่ มีฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า คือ องค์รัชทายาท เพื่อให้สอดคล้องกับการสืบสันตติวงศ์ตามแบบนานาอารยประเทศ

ดังนั้นตั้งแต่วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นต้นมา ตำแหน่งวังหน้าก็ได้กลายเป็นตำนานเล่าขานกันสืบมาจนถึงวันนี้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 15:20
อยากได้รูปพระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส ที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญประทับอยู่ค่ะ  ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหรือเปล่าคะ




กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 15:38
ตั้งใจจะเล่าต่อถึงพระบวรราชนิพนธ์    แต่ขอไปตั้งหลักก่อนค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 มี.ค. 11, 15:57
เอ...ครั้งก่อนเล่าเรื่องหุ่นไทยของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญแล้ว
แต่อยากจะฟังเรื่องหุ่นจีนของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญที่ใช้เล่น
งิ้วพงศาวดารเรื่อง ซวยงัก ต่อสักหน่อย  ไม่ทราบว่า  จะขอลัดคิว
ให้เอานำเสนอก่อนได้หรือไม่ครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 16:15
ดิฉันไม่มีหนังสือเรื่องหุ่นจีน มีแต่บทเชิดหุ่นเรื่องซวยงัก  
ถ้าคุณหลวงมีหลักฐานเรื่องหุ่นจีนอยู่ในสต๊อคส่วนตัวบ้าง     พอเล่าสู่กันฟังได้ก็เชิญเล่าไปก่อนค่ะ

http://www.anurakthai.com/thaidances/thaipuppets/hoonlek/hoon_chin.asp


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 มี.ค. 11, 16:57
ดิฉันไม่มีหนังสือเรื่องหุ่นจีน มีแต่บทเชิดหุ่นเรื่องซวยงัก  
ถ้าคุณหลวงมีหลักฐานเรื่องหุ่นจีนอยู่ในสต๊อคส่วนตัวบ้าง     พอเล่าสู่กันฟังได้ก็เชิญเล่าไปก่อนค่ะ

http://www.anurakthai.com/thaidances/thaipuppets/hoonlek/hoon_chin.asp

แหะ  ๆ  ไม่มีขอรับกระผม  อยากมาขออ่านในกระทู้นี้  
เห็นมีศิลปินผู้เชี่ยวชาญอยู่คนหนึ่ง  
ไม่รู้ว่าตอนนี้ท่านว่างจากการตอบกระทู้รามเกียรติ์หรือยัง
หรือว่าท่านกำลังแวะกระทู้ทำสำรับคาวหวานอยู่ก็ไม่รู้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 17:03
ไม่รู้ว่าท่านไหน
แต่ถ้าเป็นท่านที่มาแวะกระทู้นี้บ่อยๆ  คิดว่าท่านนั้นกำลังหุงข้าวบุหรี่อินเดียอยู่ค่ะ   เสร็จ จัดใส่จานเมื่อไรคงกลับมาที่นี่

(http://www.yorwor2.ac.th/thaionline/work%20web%20page%20maker/images/img7051359.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 11, 11:24
ดิฉันไม่มีหนังสือเรื่องหุ่นจีน มีแต่บทเชิดหุ่นเรื่องซวยงัก  
ถ้าคุณหลวงมีหลักฐานเรื่องหุ่นจีนอยู่ในสต๊อคส่วนตัวบ้าง     พอเล่าสู่กันฟังได้ก็เชิญเล่าไปก่อนค่ะ

http://www.anurakthai.com/thaidances/thaipuppets/hoonlek/hoon_chin.asp

แหะ  ๆ  ไม่มีขอรับกระผม  อยากมาขออ่านในกระทู้นี้  
เห็นมีศิลปินผู้เชี่ยวชาญอยู่คนหนึ่ง  
ไม่รู้ว่าตอนนี้ท่านว่างจากการตอบกระทู้รามเกียรติ์หรือยัง
หรือว่าท่านกำลังแวะกระทู้ทำสำรับคาวหวานอยู่ก็ไม่รู้

ไม่รู้ว่าท่านไหน
แต่ถ้าเป็นท่านที่มาแวะกระทู้นี้บ่อยๆ  คิดว่าท่านนั้นกำลังหุงข้าวบุหรี่อินเดียอยู่ค่ะ   เสร็จ จัดใส่จานเมื่อไรคงกลับมาที่นี่


ยังหาหญ้าฝรั่น มาผสมในข้าวบุหรี่ อยู่  ;D

เรื่องหุ่นจีน กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ในเบื้องต้นนี้กล่าวกันว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ได้โปรดให้สร้างหุ่นแบบจีน ขึ้นทำการแสดงก่อน แล้วจึงต่อยอดสร้างไปหุ่นแบบไทยขึ้น และใช้สำหรับเล่นในวังหน้า และจัดไปตามพระประสงค์ เช่น วันสมภพสมเด็จเจ้าพระยาบรมหมาศรีสุริยวงศ์ ครบรอบ ๗๑ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ ก็จัดให้หุ่นวังหน้าไปทำการแสดง
หุ่นจีนในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ นั้นสร้างขึ้นตามแบบฉบับของจีนโดยแท้ โดยอาศัยการประดิษฐ์ให้เหมือนหุ่นกระบอกของฮกเกี้ยน (อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต กล่าวไว้) ซึ่งเป็นการเชิดหุ่นแบบใช้มือสอดเข้าไปในเสื้อ และใช้นิ้วบังคับคอ มือ ซึ่งการสร้างหุ่นจีนนี้ อ.จักรพันธุ์ได้ให้ข้อสังเกตุว่า อาจจะเป็นการร่วมมือกันทั้งช่างจีนและช่างไทยช่วยกันสร้างหุ่นชุดนี้ขึ้นมา เนื่องจาก เครื่องแต่งกายตลอดจนหน้าตา ถูกต้องตามตำแหน่งวรรณะ และมีเครื่องแต่งกายถูกต้องตามแบบแผนตัวละครในนาฏกรรมจีน

เครื่องแต่งกายของหุ่นจีน จะปักด้วยผ้าไหมทอง ตรึงลวดลายอันวิจิตร เช่น ลายมังกร ลายคลื่น และแซมด้วยไหมสีต่างๆ มีเลื่อมขนาดเล็กปักแซมบ้างประปราย ไม่มีการใช้ดิ้นโปร่งเงิน หรือ ทองแบบที่ใช้ปักเสื้อโขนละครไทยเลย

เครื่องประดับศีรษะ ทำลวดลายด้วยรักตีลาย ปิดทองและประดับกระจกเกรียบ แต่ลวดลายเป็นอย่างกระบวนจีน นอกจากจะมีมือแล้วหุ่นชนิดนี้ยังมีขาโผล่ออกมาจากชายเสื้อด้านล่าง ในบางบทบาทผู้เชิดสามารถใช้นิ้วสอดเข้าไปบังคับขาให้เคลื่อนไหวได้
มือของหุ่นจีนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทำด้วยไม้แกะ มี ๔ นิ้วกระดิกได้พร้อมกัน นอกจากนิ้วโป้งที่กางไว้อยู่เฉยๆ ฝ่ายมือที่กำอาวุธนั้นเป็นมือถาวร กระดุกกระดิกไม่ได้

ลักษณะของตัวหุ่นสูงประมาณ ๑ ฟุตเศษ ซึ่งตามบัญชีที่พระที่นั่งทักษิณาภิมุขกล่าวว่า เป็นหุ่นผ้าแต่ละตัวสูงไม่เท่ากัน ตัวใหญ่สุดสูง ๔๔.๑ เซนติเมตร ในขณะที่ตัวเล็กสุดสูง ๒๓ เซนติเมตร ส่วนใหญ่เป็นหุ่นผู้ชาย มีหุ่นผู้หญิงเพียง ๕ ตัวเท่านั้น
การแต่งกายแต่งกายแบบงิ้ว คือ สวมเสื้อยาวถึงเท้า ซึ่งทำอย่างเดียวกับหุ่นจีนที่เคยมีมา และเครื่องแต่งกายก็ประดับไว้บ่งบอกฐานะของหุ่น คือ ฮ่องเต้ ขุนนาง นักรบ คนสามัญ ตัวตลก


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 11, 11:32
แม้ว่าบรรดาหุ่นไทยและหุ่นจีนจะหยุดบทบาทลงเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ แต่ยังมีพระโอสรองค์หนึ่ง ได้สืบทอดการเล่นหุ่นต่อไป คือ “มหาอำมาตย์ตรีพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์นิภาธร” ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๑๔ ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญและเจ้าจอมมารดา หม่อมหลวงนวม ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

การเล่นหุ่นของพระองค์เจ้าสุทัศน์ฯ คงเริ่มมีบทบาทหลังปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้ตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้นและสร้างสรรค์หุ่นกระบอกตามแบบฉบับขององค์เอง แต่จะขอกล่าวเพียงเท่านี้ เพราะเกินเลยจากเรื่องหุ่นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 11, 11:43
ดีครับ   ขอบคุณมากที่เอามาให้อ่านตามคำขอร้อง ;D

เชิญคุณเทาชมพูเปิดประเด็นพระบวรราชนิพนธ์ต่อไปได้ครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 11, 18:36
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรยวงศ์ ได้เลือก กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในขณะที่พระองค์พระชนมายุ ๓๑ พรรษา ซึ่งเป็นเหตุการณ์วันเดียวกันกับการประชุมเสนาบดียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแห่งกรุงสยาม

ขอย้อนไปขยายความค.ห.เก่าที่คุณ siamese โพสไว้ในหน้า ๑๒   เพื่อดูที่มาที่ไปของความระแวงแคลงใจของวังหลวงกับวังหน้า
ดิฉันเห็นว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นเจ้านายที่น่าเห็นใจที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์     เพราะเรื่องอะไรต่อมิอะไรที่เกิดขึ้นกับพระองค์ท่าน    ท่านก็ไม่ได้ไปเสาะหามาใส่ตัว    แต่เป็นฝีมือคนอื่นกำหนดให้    โดยที่ท่านเองก็ไม่อยู่ในฐานะจะขัดขืน  เรียกว่าจำยอมอยู่กลายๆ
โดยส่วนพระองค์ ก็ทรงเป็นศิลปิน มีโลกส่วนตัวอยู่กับสิ่งสุนทรียะ  มากกว่าจะใฝ่สูงทะเยอทะยานในด้านการเมือง     เห็นได้จากพระอัธยาศัยอ่อนน้อมถ่อมพระองค์   คบหาสมาคมกับเจ้าชั้นพระอนุวงศ์อย่างหม่อมเจ้า    
ข้อนี้อาจจะทรงเลือกที่อายุอานามไล่เลี่ยกัน หรือสนพระทัยอะไรเหมือนๆกัน  มากกว่าคำนึงถึงฐานันดรศักดิ์
แต่การถ่วงดุลย์อำนาจในการเมืองสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ในพ.ศ. ๒๔๑๑  ก็ทำให้ท่านต้องถูกดึงเข้าไปมีบทบาทมากกว่าที่คิด

เรื่องในต้นรัชกาลมีอยู่ว่า   เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  มิได้ทรงมอบหมายราชสมบัติให้เจ้านายพระองค์ใด   ตอนนั้น พระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ทรงติดเชื้อไข้มาเลเรียจากหว้ากอ พระอาการหนักอยู่เช่นกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคต   สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือในตอนนั้นคือเจ้าพระยาศรีสุริยะวงศ์ ที่สมุหกลาโหม ออกคำสั่งให้หมู่องครักษ์และกรมอาสาตั้งกองล้อมวังทั้งชั้นนอกและชั้นใน    แล้วทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการสามัญชนและ พระสงฆ์ราชาคณะ มาประชุมใหญ่พร้อมกันในพระบรมมหาราชวัง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 11, 18:37
เมื่อทั้งหมดมาพร้อมกัน  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็แถลงว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ " โปรดฯให้ประชุมปรึกษาเพื่อเลือกพระราชวงศ์พระองค์ใดที่เพียบพร้อมด้วยสติ ปัญญาวัยวุฒิรอบรู้สรรพสิ่ง ปกป้องสมณะชีพราหม์ อาณาประชาราษฎร์ได้ ก็ให้ยกพระองค์นั้นขึ้นเถิด....."

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ เจ้านายอาวุโสสูงสุดได้เสนอ พระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ขึ้นครองแผ่นดินต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ   ข้อนี้ก็เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาท  แม้ไม่มีการประกาศออกมาเป็นทางการก็ตาม

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ถาม ในที่ประชุมว่าเห็นชอบ ตามที่กรมหลวงเทเวศร์ฯเสนอหรือไม่  ที่ประชุมมิได้เห็นเป็นอื่น จึงมีมติอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นสืบสันตติวงศ์

มาถึงนาทีสำคัญ  ครั้งแล้ว เจ้าพระยาก็ขอให้ที่ประชุมเสนอนามผู้ดำรงตำแหน่งอุปราช คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ใหม่
กรม หลวงเทเวศรวัชรินทร์ได้เสนอพระนามพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ  พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ    ข้อนี้ก็คงดูกันออกว่า  มีการตกลงกันเอาไว้ล่วงหน้ากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แล้ว   


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 11, 18:47
น่าสังเกตว่าในแผ่นดินก่อนๆตั้งแต่รัชกาลที่ ๑  จนถึงรัชกาลที่ ๔   ผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ถ้าไม่ใช่พระอนุชาแท้ๆของพระเจ้าแผ่นดิน ก็เป็นพระราชโอรส    มีเว้นแผ่นดินเดียวคือรัชกาลที่ ๓ ทรงตั้งพระปิตุลา หรือพระเจ้าอาขึ้นเป็นวังหน้า

ในแผ่นดินนี้  มีพระราชอนุชาพระองค์รองในเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  คือ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี  ถ้าหากมีข้อแย้งว่าทรงพระเยาว์เกินกว่าจะรับตำแหน่งวังหน้า  ก็ยังมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ระดับ "อา" ก็ยังมีอีกหลายพระองค์   แม้แต่กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์เองก็อยู่ในฐานะ "อา" เช่นกัน
พระองค์ อื่นๆ ก็ยังมีเจ้าฟ้ามหามาลา  กรมขุนบำราบปรปักษ์   พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ  และอีกหลายๆพระองค์ซึ่งอยู่ในชุมนุมครั้งนั้นด้วย

ส่วนพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ เป็นพระญาติชั้นห่างออกไป  คือเป็นลูกพี่ลูกน้อง   แตกต่างไปจากวังหน้าทุกพระองค์ในอดีต

อาจ ด้วยเหตุ นี้    กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงได้รับสั่งแย้งขึ้นมาว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตามราชประเพณี พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯแต่งตั้งด้วยพระองค์เอง
เจ้าพระยาศรีสุริย วงศ์ก็ย้อนถามกลับไปว่า " อยากเป็นเองหรือ"  คำย้อนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อย่างนี้   แสดงอำนาจของสมุหกลาโหมอย่างแจ่มแจ้ง   ว่าขณะนั้น อำนาจในการบริหารแผ่นดินนั้นอยู่ในมือใคร


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 11, 18:49
ด้วยเหตุนี้ ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ  บางเล่ม จึงเรียกสมเด็จเจ้าพระยาว่า The Kingmaker

ขอแยกซอยไปอธิบายคำนี้  ในประวัติศาสตร์อังกฤษ

ที่ มาของคำนี้ ใช้เรียกขุนนางชื่อริชาร์ด เนวิลล์  เอิร์ลแห่งวอริค ย้อนกลับไปตั้งแต่ "สงครามดอกกุหลาบ" ของตระกูลยอร์คและตระกูลลานคาสเตอร์  ตั้งแต่ยุคกลางของอังกฤษ  เนวิลล์เป็นขุนนางที่มั่งคั่งและมีอำนาจแผ่ไพศาลที่สุดในยุคของเขา จนถึงกับกล้าสนับสนุนกษัตริย์ขึ้นครองบัลลังก์ได้ถึง ๒ องค์ และโค่นลงมาได้เมื่อแตกคอกัน
ต่อมาคำนี้ใช้ในความหมายกว้าง ถึงใครก็ตามที่มีอำนาจทางการเมืองมากพอจะเข้าไปขวางระบบการสืบทอดอำนาจ  และจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของตน

   เมื่อสมุหกลาโหมย้อนแบบตีแสกหน้ากลางที่ประชุม  กรมขุนวรจักรฯก็รับสั่งว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม"   ที่ประชุมจึงลงมติอัญเชิญพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศขึ้นรับตำแหน่งกรมพระราชวัง บวรสถานมงคล    


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 11, 19:18
     กรมขุนวรจักรฯไม่ต่อความยาวสาวความยืดต่อ  เมื่อออกจากที่ประชุมก็เสด็จกลับวัง และไม่เสด็จออกจากวังอีกเลยตลอดเวลาที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีอำนาจอยู่

    เหตุการณ์นี้เป็นคำอธิบายได้อย่างดี  ถึงความหมายพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร

     “ในเวลานั้นอายุพ่อเพียง ๑๕ ปี กับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา  มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์    ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการ ถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก   ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด    ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็ก มีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น    ส่วนตัวพ่อเองยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่ … ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายใหญ่ คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคต ในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมุติกษัตริย์     เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอก   หมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส”


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 มี.ค. 11, 09:31
ด้วยเหตุนี้ ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ  บางเล่ม จึงเรียกสมเด็จเจ้าพระยาว่า The Kingmaker

ขอแยกซอยไปอธิบายคำนี้  ในประวัติศาสตร์อังกฤษ

ที่ มาของคำนี้ ใช้เรียกขุนนางชื่อริชาร์ด เนวิลล์  เอิร์ลแห่งวอริค ย้อนกลับไปตั้งแต่ "สงครามดอกกุหลาบ" ของตระกูลยอร์คและตระกูลลานคาสเตอร์  ตั้งแต่ยุคกลางของอังกฤษ  เนวิลล์เป็นขุนนางที่มั่งคั่งและมีอำนาจแผ่ไพศาลที่สุดในยุคของเขา จนถึงกับกล้าสนับสนุนกษัตริย์ขึ้นครองบัลลังก์ได้ถึง ๒ องค์ และโค่นลงมาได้เมื่อแตกคอกัน
ต่อมาคำนี้ใช้ในความหมายกว้าง ถึงใครก็ตามที่มีอำนาจทางการเมืองมากพอจะเข้าไปขวางระบบการสืบทอดอำนาจ  และจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของตน
    

เหตุการณ์นี้ก็น่าศึกษาไม่แพ้กัน สงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses; ค.ศ. 1455 - ค.ศ. 1489) เป็นสงครามกลางเมืองในการแย่งราชบัลลังก์อังกฤษระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์แลงคาสเตอร์และผู้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ยอร์ค โดยใช้สัญลักษณ์แห่งกษัตริย์อังกฤษ 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งใช้สัญลักษณ์รูปกุหลาบสีขาว อีกฝ่ายใช้สัญลักษณ์รูปกุหลาบสีแดง แย่งชิงอำนาจระหว่างกัน และท้ายที่สุดในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ทรงปราบปรามทำให้บ้านเมืองสงบได้และได้ยุบสัญลักษณ์ทั้งสองลง ยุบเป็นดอกกุหลาบที่ผสมกันระหว่างแดงและขาว เรียกว่า กุหลาบแห่งทิวดอร์ (Tudor Rose)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=vinitsiri&month=10-2009&date=05&group=11&gblog=29

ภาพวาดเหตุการณ์สงครามดอกกุหลาบนำมาจากภาพกล่องจิ๊กซอว์ และดอกกุหลาบทิวดอร์


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 มี.ค. 11, 09:44
  เมื่อสมุหกลาโหมย้อนแบบตีแสกหน้ากลางที่ประชุม  กรมขุนวรจักรฯก็รับสั่งว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม"   ที่ประชุมจึงลงมติอัญเชิญพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศขึ้นรับตำแหน่งกรมพระราชวัง บวรสถานมงคล    

อ้างถึงจดหมายเหตุเหตุการณ์ต้นรัชกาลที่ ๕ กล่าวว่า

"เรื่องตอนประชุมถวายราชสมบัติที่กล่าวมานี้ ได้ทูลถามกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรท่านตรัสเล่าให้ฟัง ด้วยเวลานั้นท่านทรงผนวชเป็นสามเณรได้ประทับอยู่ในที่ประชุม ทรงจำความที่กล่าวกันในที่ประชุมถ้วนถี่ละเอียดกว่าจดหมายเหตุที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์และเจ้าพระยามหินทรได้จดไว้ เนื้อความก็ไม่เคลื่อนคลาดกัน

ความในจดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง กล่าวถึงการเลือกกรมพระราชวังบวรฯ แต่ตอนปลาย ว่าที่ประชุมยอมพร้อมกัน เห็นแต่จะเป็นเพราะแต่งหนังสือนั้นในเวลาผู้ซึ่งเกี่ยวข้องยังอยู่ในที่ประชุมนั้น ท่านเล่าเป็นอยงที่กล่าวมานี้ ทราบด้วยกันโดยมาก

ต่อมาได้ฟังเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เล่าเมื่อก่อนจะอสัญกรรมไม่ช้านักอีกครั้งหนึ่ง ว่าการเลือกกรมพระราชวังบวรฯ ครั้งนั้น ถ้อยคำที่กรมหลวงเทเวศร์ฯ ตรัส เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จดถวาย ให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม) แต่ยังเป็นขุนสมุทรโคจร นั่งเขียนที่พระทวารเมื่อก่อนเวลาประชุม และในเมื่อปรึกษากันนั้น ในข้อจะถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ยินยอมพร้อมกันด้วยความยินดีจรง แต่เมื่องเลือกพระมหาอุปราช ท่านสังเกตุผู้ที่อยู่ในที่ประชุมไม่เห็นชอบโดยมาก ที่ยอมเป็นด้วยกลัวเจ้าพระยาศรีสุสริยวงศ์เท่านั้น"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 11, 17:54
      ดิฉันลองไล่เรียงว่าพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาชุมนุมกันพร้อมเพรียงใน พ.ศ. ๒๔๑๑   มีพระองค์ใดบ้าง  ลองนับดู  (อาจจะตกหล่นไปบ้าง กรุณานับเองอีกทีถ้าอยากตรวจสอบให้แน่นอน)
      เจ้านายชั้นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑  ไม่เหลือเลยสักพระองค์     สิ้นพระชนม์กันไปหมดแล้ว
     
      เจ้านายชั้นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒   ที่ยังมีพระชนม์อยู่ก็คือ
         - พระองค์เจ้าชายกลาง  กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์  พระชันษา ๖๓  ปี
         - พระองค์เจ้าชายนวม   กรมหลวงวงศาธิราชสนิท  พระชันษา ๖๐ ปี
         - พระองค์เจ้าชายขัตติยา   กรมหมื่นถาวรวรยศ    พระชันษา  ๕๙ ปี
         - พระองค์เจ้าชายอรุณวงศ์  กรมหมื่นวรศักดาพิศาล  พระชันษา ๕๖ ปี
         - พระองค์เจ้าชายกปิตถา  กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์    พระชันษา ๕๕ ปี
         - พระองค์เจ้าชายปราโมช  กรมขุนวรจักรธรานุภาพ  พระชันษา ๕๒ ปี
         - เจ้าฟ้ามหามาลา  กรมขุนบำราบปรปักษ์ (ภายหลังทรงเลื่อนขึ้นเป็นกรมพระยา) พระชันษา ๔๙ ปี

         เจ้านายชั้นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ที่ยังมีพระชนม์อยู่  คือ
         - พระองค์เจ้าชายคเนจร   กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์  พระชันษา ๕๓ ปี
         - พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์   กรมหมื่นภูมินทรภักดี  พระชันษา ๕๓ ปี
         - พระองค์เจ้าชายอุไร    กรมหมื่นอดุลยลักษสมบัติ พระชันษา ๔๙ ปี
         - พระองค์เจ้าชายอมฤก  กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย  พระชันษา ๔๒ ปี
         - พระองค์เจ้าชายสุบรรณ    กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล  พระชันษา ๔๒ ปี
         - พระองค์เจ้าชายสิงหรา   กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ  พระชันษา ๔๒ ปี 
         - พระองค์เจ้าชายชมพูนุท     กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ  พระชันษา ๔๑ ปี

          ทุกพระองค์ล้วนมีพระชันษาสูงกว่าพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ   ถ้านับทางสายเลือดก็ใกล้ชิดราชบัลลังก์มากกว่า เพราะเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น   แต่ไม่มีพระองค์ใดได้รับการเสนอพระนามเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

         หมายเหตุ : ไม่นับรวมพระองค์เจ้า พระราชโอรสในวังหน้าแผ่นดินก่อนๆ  และพระองค์เจ้าชั้นพระราชนัดดา  กับพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า 


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 11, 17:56

เหตุการณ์นี้ก็น่าศึกษาไม่แพ้กัน สงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses; ค.ศ. 1455 - ค.ศ. 1489) เป็นสงครามกลางเมืองในการแย่งราชบัลลังก์อังกฤษระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์แลงคาสเตอร์และผู้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ยอร์ค โดยใช้สัญลักษณ์แห่งกษัตริย์อังกฤษ 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งใช้สัญลักษณ์รูปกุหลาบสีขาว อีกฝ่ายใช้สัญลักษณ์รูปกุหลาบสีแดง แย่งชิงอำนาจระหว่างกัน และท้ายที่สุดในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ทรงปราบปรามทำให้บ้านเมืองสงบได้และได้ยุบสัญลักษณ์ทั้งสองลง ยุบเป็นดอกกุหลาบที่ผสมกันระหว่างแดงและขาว เรียกว่า กุหลาบแห่งทิวดอร์ (Tudor Rose)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=vinitsiri&month=10-2009&date=05&group=11&gblog=29

ภาพวาดเหตุการณ์สงครามดอกกุหลาบนำมาจากภาพกล่องจิ๊กซอว์ และดอกกุหลาบทิวดอร์

ถ้าไม่ลืม    จะมาเล่าเรื่องสงครามดอกกุหลาบให้ฟัง  ในห้องหน้าต่างโลก นะคะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 11, 12:17

อ้างถึงจดหมายเหตุเหตุการณ์ต้นรัชกาลที่ ๕ กล่าวว่า


 ในข้อจะถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ยินยอมพร้อมกันด้วยความยินดีจริง แต่เมื่อเลือกพระมหาอุปราช ท่านสังเกตผู้ที่อยู่ในที่ประชุมไม่เห็นชอบโดยมาก ที่ยอมเป็นด้วยกลัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เท่านั้น"

ในเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงขึ้นสู่ตำแหน่งวังหน้า ด้วยการสนับสนุนของสมเด็จเจ้าพระยาฯ     เจ้านายอื่นๆถึงไม่เต็มพระทัยก็ขัดไม่ได้  จึงไม่แปลกอะไร ถ้าจะมองว่าวังหน้ารัชกาลนี้ เหมือนถูก "โดดเดี่ยว" มาแต่แรก     
จะหามิตรสนิทจากวังไหนก็คงจะยาก    สมัยพระองค์ท่านทรงดำรงพระยศพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ก็ทรงสมาคมแต่กับหม่อมเจ้า  ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นเจ้านายชั้นผู้น้อย   ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรในการบริหารบ้านเมือง
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯท่านล้างมือในอ่างทองคำ   ปลีกตัวไปพำนักที่ราชบุรี  ก็เท่ากับท่านออกจากแวดวงการเมืองไปแล้วโดยสิ้นเชิง   กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญก็ยิ่งหาที่พึ่งที่ปรึกษาไม่ได้      เพื่อนฝูงอีกกลุ่มหนึ่งที่พอจะมีอำนาจก็คือฝรั่ง   โดยเฉพาะกงศุลน็อกซ์
ซึ่งส่งลูกสาวมาออกหน้าอยู่ในวังหน้า  เป็นข่าวซุบซิบว่าแกหวังจะได้เป็นพ่อตา    ความจริงก็อาจเป็นข่าวลือกันไปเกินเหตุ  เพราะในที่สุดแฟนนี่ก็แต่งงานไปกับพระปรีชากลการ   
ส่วนแคโรไลน์ลูกสาวคนเล็ก  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าไว้ในโครงกระดูกในตู้ว่าติดตามม.จ.ฉวีวาดไปเขมรด้วย     ข้อนี้สงสัยว่าคลาดเคลื่อน  เพราะแคโรไลน์แต่งงานไปกับหลุยส์  เลียวโนเวนส์ ลูกชายของหม่อมแอนนา   ไม่ทราบว่าเอาเวลาที่ไหนไปอยู่เขมร หรือไปช่วงสั้นๆแล้วกลับมา

อย่างไรก็ตาม    เมื่อเหตุการณ์วิกฤตวังหน้าจบลงด้วยสันติ    เราก็เห็นจากบันทึกของคาร์ล บอร์ก ว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงใช้ชีวิตอย่างสงบ  ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง      ใช้เวลาไปกับงานช่างและงานศิลปะทั้งหลาย
ซึ่งจะเล่าถึงผลงานอีกด้านที่งดงามไม่แพ้งานหุ่นวังหน้า คือพระบวรราชนิพนธ์ ที่หาอ่านได้ยากเย็นจนกระทั่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าวังหน้าพระองค์สุดท้าย เป็นกวีฝีมือเอกคนหนึ่งในรัชกาลที่ ๕
ขอเริ่มด้วย "นิราศนครศรีธรรมราช"  ซึ่งแต่งเป็นฉันท์ ทั้งเรื่อง     


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 15:31
นิราศเรื่องนี้กรมพระราชวังบวรฯ ทรงแต่งในรัชกาลที่ ๔    เมื่อพระชันษาได้ ๒๒ ปี    จากเหตุการณ์ตามเสด็จสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทางเรือ  ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลฝั่งตะวันตก เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๓
เริ่มเส้นทางจากประทับเรือรบกลไฟ "อาสาวดีรส" ออกจากกรุงเทพ   ผ่านเพชรบุรี  ปราณบุรี  ประจวบฯ  ชุมพร นครศรีธรรมราช จนถึงสงขลา
ประทับแรมอยู่ที่สงขลา ๑๐ คืน จึงเสด็จกลับมาที่นครศรีธรรมราช  นมัสการพระบรมธาตุ ประทับแรมอยู่ ๓ คืน จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ

สิ่งที่น่าทึ่งมากในนิราศเรื่องนี้ คือทรงทรงแต่งเป็นฉันท์ขนาดยาวมาก     ปกติ  ฉันท์เป็นคำประพันธ์ที่แต่งยากที่สุดในบรรดาโคลง ฉันท์ กาพย์และกลอน   เพราะถูกบังคับด้วยฉันทลักษณ์ คือคำครุลหุสลับกันในแบบต่างๆตลอดบท    กระดิกกระเดี้ยไม่ได้เลย       
คำไทยดั้งเดิมหรือไทยท้องถิ่นมีไม่มากพอจะนำมาแต่งฉันท์ได้ทั้งหมด     ก็ต้องอาศัยคำบาลีสันสกฤต ซึ่งมีครุลหุในตัวและมีคำมากมายหลายหลากมาแต่ง      คนที่แต่งฉันท์ได้จึงต้องเชี่ยวชาญภาษาบาลีสันสกฤตพอจะหยิบคำมาบรรจุลงในจังหวะคำตามบังคับให้ได้ลงตัวพอดี     และรู้วิธีแผลงคำด้วย ถ้าหากว่าเจอครุลหุในจังหวะที่ต้องแผลงคำ เพื่อไม่ให้เสียฉันทลักษณ์
บทกวีคำฉันท์ส่วนใหญ่ในสมัยอยุธยา  จึงไม่ค่อยยาวนัก  โดยมาก แต่งเพื่ออ่านในโอกาสสำคัญ เช่นในพระราชพิธีต่างๆ   จังหวะเสียงครุลหุ และถ้อยคำบาลีสันสกฤตที่เพริศพริ้ง ทำให้ออกเสียงได้สง่างามน่าเลื่อมใสเหมาะกับบรรยากาศ      มีส่วนน้อยที่แต่งเป็นเรื่องยาวๆ   อย่างสมุทรโฆษคำฉันท์ ที่แต่งด้วยกวีถึง ๓ คน จากอยุธยามาจนถึงรัชกาลที่ ๓ 

ส่วนนิราศ  เป็นขนบการแต่งบทกวีบันทึกการเดินทางไกล    จะเป็นเพราะกวีแต่งแก้เหงาฆ่าเวลา หรืออยากจะบันทึกชื่อสถานที่เอาไว้กันลืม อะไรก็ตาม  ส่วนใหญ่นิยมแต่งด้วยคำประพันธ์แบบกลอน หรือโคลง เสียมากกว่าจะบรรจงแต่งเป็นฉันท์ยากๆ
ก็เห็นนิราศนครศรีธรรมราชเรื่องนี้  ที่แต่งเป็นฉันท์ และไม่ใช่ฉันท์แบบเดียว  มีหลากหลาย ล้วนเป็นฉันท์ยาก เช่นวสันตดิลก  ๑๔   แทรกด้วยสัททุลวิกีฬิตฉันท์ ๑๙  ซึ่งยากที่สุด     นอกจากนี้ก็มีอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  และฉันท์ที่ไม่ค่อยเคยเห็นกันนัก คือโตฎกฉันท์ ๑๒  มีกาพย์ฉบังปนอยู่บ้าง

บทแรกของนิราศ  เป็นโคลงกระทู้
และต่อด้วย วสันตดิลก ๑๔


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 15:37
ขอความกรุณา  ถอดวันเดือนปีในฉันท์บทนี้ให้หน่อยนะคะ  ว่าเสด็จออกจากพระนครในวันเดือนปีอะไร

 อาสาธมาสะพุธวาร                นวกาฬปักษ์ไพ
บูลย์ศักราชยุติใน                   อติกาลกำหนดมี
ในสังวัจฉรสหสา                    พิสตาและพาวี
วานรโทศกบดี                      ศรราชเสด็จไคล ฯ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 30 มี.ค. 11, 18:15
ขอความกรุณา  ถอดวันเดือนปีในฉันท์บทนี้ให้หน่อยนะคะ  ว่าเสด็จออกจากพระนครในวันเดือนปีอะไร

 อาสาธมาสะพุธวาร                นวกาฬปักษ์ไพ
บูลย์ศักราชยุติใน                   อติกาลกำหนดมี
ในสังวัจฉรสหสา                    พิสตาและพาวี
วานรโทศกบดี                      ศรราชเสด็จไคล ฯ


อาสาธมาส      - เดือนแปด
พุธวาร           - วันพุธ
นว               - เก้า
กาฬปักษ์        - ข้างแรม
สังวัจฉระ        - ปี
สหัสสะ          - หนึ่งพัน
พิสตา           - สองร้อย
พาวี (พาวีส)    - ยี่สิบสอง
วานร            - ลิง

รวมความได้ว่า

"วันพุธ เดือนแปด แรม ๙ ค่ำ ปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๒๒๒"


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 13:10
^
ขอบคุณค่ะคุณ Art

นิราศของกรมพระราชวังบวรฯ  ทรงดำเนินรอยตามขนบการแต่งนิราศเป็นส่วนใหญ่ คือเริ่มด้วยการคารวะผู้เป็นใหญ่  จากนั้นก็เริ่มที่จุดเริ่มต้นการเดินทาง   บอกสถานที่วันเวลา  จากนั้นเมื่อเริ่มเดินทางก็เริ่มรำพึงรำพันถึงนางควบคู่กันไป   
ระหว่างเดินทาง ก็บันทึกชื่อสถานที่ที่ไปถึง  โยงเข้ากับอารมณ์เศร้าสร้อยละห้อยหานางผู้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

มีข้อสังเกตนิดเดียวว่า    ไม่มีบทไหว้พระรัตนตรัย  ไม่มีบทไหว้ครู    แต่มีบทคารวะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  แทน

ส่วนบทรำพึงรำพันถึงนาง  ทรงกล่าวไว้ยาวและละเอียดลออ   ฝีพระโอษฐ์หวานจับใจทีเดียว 

ความชำนาญบทกวีอีกอย่างหนึ่งเห็นได้จากทรงเลือกแบบคำประพันธ์ให้เข้ากับเนื้อหาได้ลงตัว      นิราศที่แต่งเป็นฉันท์ ยากเย็นกว่าแต่งเป็นโคลงกลอน เพราะชื่อสถานที่ต่างๆในสยามเกือบ ๑๐๐%  เป็นภาษาถิ่น  หรือภาษาอื่นที่ไม่ใช่บาลีสันสกฤต   เดินทางไปถึงไหนก็มีชื่อสถานที่นั้นเป็นเงื่อนตาย  ไม่สามารถจะแปลงเป็นบาลีสันสกฤตได้   ทำให้ลงคำครุลหุตามจังหวะฉันท์ได้ยากมาก
ดังนั้น กรมพระราชวังบวรฯ ท่านก็ทรงเลือกกาพย์ฉบัง ๑๖ มาใช้ตอนเอ่ยถึงสถานที่   เพราะฉบัง ๑๖ อนุโลมให้ใช้ในการแต่งฉันท์ได้    ส่วนดีคือไม่มีครุลหุ   ยืดหยุ่นให้ใช้คำบรรยายได้ง่ายกว่าบรรยายด้วยฉันท์

อย่างที่นำมาลงตอนล่างของหน้านี้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 31 มี.ค. 11, 13:29
ขอความกรุณา  ถอดวันเดือนปีในฉันท์บทนี้ให้หน่อยนะคะ  ว่าเสด็จออกจากพระนครในวันเดือนปีอะไร

 อาสาธมาสะพุธวาร                นวกาฬปักษ์ไพ
บูลย์ศักราชยุติใน                   อติกาลกำหนดมี
ในสังวัจฉรสหสา                    พิสตาและพาวี
วานรโทศกบดี                      ศรราชเสด็จไคล ฯ


อาสาธมาส      - เดือนแปด
พุธวาร           - วันพุธ
นว               - เก้า
กาฬปักษ์        - ข้างแรม
สังวัจฉระ        - ปี
สหัสสะ          - หนึ่งพัน
พิสตา           - สองร้อย
พาวี (พาวีส)    - ยี่สิบสอง
วานร            - ลิง

รวมความได้ว่า

"วันพุธ เดือนแปด แรม ๙ ค่ำ ปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๒๒๒"

เทียบเป็นวันเดือนปีตามปฏิทินทางสุริยคติ

วันพุธ เดือนแปด แรม ๙ ค่ำ ปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๒๒๒  ไม่มี
มีแต่  วันพุธ เดือนแปด แรม ๘ ค่ำ ปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๒๒๒
ตรงกับวันที่  ๑๑  กรกฎาคม   ๒๔๐๓
ถ้าเป็นแรม ๙ ค่ำ  จะตรงกับวันพฤหัสบดี  ที่ ๑๒  กรกฎาคม  ๒๔๐๓

ปฏิทินสำหรับต้นวันเดือนจันทรคติกับสุริยคติ ของกรมวิชชาการ กระทรวงธรรมการ
พิมพ์ครั้งที่ ๒  พุทธศักราช  ๒๔๗๔


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 13:35
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงรู้จักวิธีเล่นทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะ ในแต่ละวรรค   วิธีแต่งแบบนี้เป็นชั้นเชิงระดับสูงของกวี    
มองในแง่ฉันทลักษณ์   ฉันท์บังคับแค่ครุลหุและสัมผัสระหว่างวรรค   ไม่ได้กำหนดสัมผัสภายในวรรค      คนที่รู้จักสัมผัสตามบทบังคับ ถือว่าแต่งได้ถูกต้อง  แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นไพเราะก็ได้
ความไพเราะของการแต่ง อยู่ที่ถ้อยคำประกอบชั้นเชิงการแต่งที่เรียกว่า กวีวรโวหาร   การใช้ถ้อยคำที่เล่นสัมผัสสระและพยัญชนะในฉันท์เป็นโวหารกวีที่แสดงได้ยากหนักขึ้นไปอีก  มากกว่าความยากของการแต่งฉันท์โดยทั่วไป  
กวีที่แต่งโวหารได้สละสลวยระดับนี้ถือว่าเป็นกวีเอก    หายากกว่ากวีด้วยกัน

ลองสังเกตการเล่นคำในฉันท์  ที่มีทั้งสัมผัสพยัญชนะ และสัมผัสสระ

เจ็บเรียมจากรักแรมถนอม             พนิดาเดียวออม
สวาทนิราศแรมชม
แรมเชยเสวยทุกข์ระทม                ระทวยอารมณ์
กระอุอุระประปราน

สัมผัสพยัญชนะ  คำคู่
เจ็บเรียม-จากรัก
แรมชม  -แรมเชย
ระทม-ระทวย
(ก)ระอุ-อุระ


สัมผัสพยัญชนะ  เดี่ยว
รัก- แรม
(พนิ)ดา-เดียว
(นิ)ราศ-แรม
ทุกข์ -(ระ)ทม

สัมผัสสระ หรือสัมผัสคำ
สวาท-นิราศ
(อุ)ระ -ประ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 12:49
นอกจากฉบัง  บทบรรยายสถานที่ที่เรือผ่านไป   ก็ยังใช้ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ด้วย

อินทรวิเชียร์ ๑๑ เป็นฉันท์ที่มีบังคับน้อย   จึงค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับฉันท์ชนิดอื่นเช่นวสันตดิลก ๑๔ หรือสัททุล ฯ ๑๙   อินทรวิเชียร มีลหุหรือสระเสียงสั้นเพียง ๘ ตัวใน ๑ บท(๔ วรรค)    นอกนั้นเป็นครุหรือสระเสียงยาว   และมีลหุคู่บังคับเพียง ๒ คู่เท่านั้น
ทำให้สามารถใส่คำไทยที่ส่วนใหญ่เป็นครุลงไปได้ง่าย    ไม่ผิดฉันทลักษณ์    
เช่นในบทนี้ มีชื่อ คุ้งคอแหลม (บางคอแหลม?)  และชื่อผลไม้ต่างๆ เรียงเข้าด้วยกัน

ขนบการชมธรรมชาติในเรื่องนี้เป็นภาพ realistic  เป็นแบบเดียวกับนิราศเรื่องต่างๆ ก่อนหน้านี้ อย่างของนายนรินทร์ธิเบศร์และนิราศสุนทรภู่  มองเห็นต้นหมากรากไม้และป่าไม้สองข้างเจ้าพระยา เมื่อพ้นตัวเมืองหลวงออกมาแล้ว ว่าเขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ยืนต้น

มีไม้ยืนต้นบางชื่อที่ไม่คุ้นหูกันแล้วในสมัยนี้  คือทิ้งถ่อน  เป็นชื่อไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง  เป็นไม้ยืนต้นสูง  ออกดอกสีขาวกลมฟู   อย่างในรูปนี้
เมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน   สองฟากแม่น้ำคงจะมีไม้ยืนต้นอยู่มาก  

(http://www.wangtakrai.com/panmai/images/panmai/332.jpg)

อีกอย่างคือพุมเรียง หรือชำมะเลียง

(http://www.anubanutt.ac.th/garden/g_anuban/imageg1/chamariang.jpg)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 15:31
มีบทนี้มาฝากให้แปล ว่ามีสัตว์อะไรบ้าง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 15:57
มีบทนี้มาฝากให้แปล ว่ามีสัตว์อะไรบ้าง

ส่งการบ้านครับ  ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 16:06
ที่ขีดเส้นมา  ถูกเกือบหมด เว้นแต่   เวฬุภักษ์   ไม่ใช่สัตว์ค่ะ
ยังเหลืออีกหลายตัวค่ะ    เปิดโอกาสให้ท่านอื่นได้คะแนนบ้าง

;D

 


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 16:10
เพิ่มเติม

 ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 เม.ย. 11, 16:13
เท่าที่ทราบนะคะ  ;D

มิคี = นางเนื้อ
กระทิง = วัวกระทิง
เอเณยย = กวาง
โค = วัว
ลา = ลา
สุกร = หมู
พยัคฆ = เสือโคร่ง
มหิงส์ = ควาย
ฟาน = เก้ง
มฤค = กวาง เก้ง
ช้าง = ช้าง
อุโบสถ = ช้าง
คช = ช้าง
พัง = ช้างตัวเมีย

คำว่า "เวฬุภักษ์" ที่ ท่านsiamese ขีดเส้นว่าเป็นสัตว์สี่เท้า แปลว่า ต้นไผ่ที่เป็นอาหาร ค่ะ

ส่วนคำที่ไม่ทราบคำแปล "แปละ" "ปสัก"  "ทิปิ" (จำได้เลาๆ ว่า ทิปิ แปลว่าเสือ-ไม่ค่อยแน่ใจค่ะ)
รบกวนผู้รู้ ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ  ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 16:14
โหววว คุณดีๆสุดยอดมาก ปรบมือดังๆๆๆให้ ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 เม.ย. 11, 16:35
ปสัก  มาจาก ปสกฺกติ  บาลี แปลว่า ดำเนินไป เดินไป

แปละ ไม่มีในพจนานุกรม  แต่พิจารณาจากบริบท
คงจะเป็นคำขยายกริยาเดินของสัตว์ที่เอ่ยมาข้างหน้านั้น

ทิปิ มาจาก ทีปิ ทีปี หรือ ทีปิก  แปลว่า เสือเหลือง เสือโคร่ง

เอเณยย มาจาก  เอเณยฺย มีความหมายเหมือนกับ  เอเณยก  เอณิมิค เอณิ เอณ
แปลว่า  ละมั่ง  หรือ เนื้อทราย   ในบาลีมีศัพท์ว่า เอณิชงฺฆ แปลว่า
มีแข้งเรียวดุจแข้งเนื้อทราย (อันเป็นลักษณะประการหนึ่งของมหาบุรุษ)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 เม.ย. 11, 16:41
 ^ ท่านนี้สิคะถึงจะเรียกว่า "สุดยอด" ตัวจริง  ;D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 16:45
จะเข้ามาบอกว่า  รอคุณหลวงเล็ก  ไม่ทันเสียแล้ว ท่านรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม
คำถามแบบนี้เรียกว่าคำถามเช็คเรตติ้ง และเช็คคนอ่าน
ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่ามีขาประจำคนไหนของเรือนไทยเข้ามาอ่านบ้าง  ;)



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 16:59
แปละ  คำนี้ไม่แน่ใจความหมาย   และไม่รู้ว่ามาจากภาษาอะไร  ฝากไว้เป็นการบ้านต่อไปเผื่อท่านใดไปเจอเข้า

มีอีกคำหนึ่ง อยู่ระหว่าง มิคิ และ กระทิง  คือคำว่า โรหิต
ถ้าเป็นมิคิโรหิต   = กวางแดง ? คำนี้ควรเป็น โรหิตมิคิ หรือไม่  หรือว่าใช้แบบนี้ได้ เช่นตัวอย่างในนามสกุล กูรมโรหิต ซึ่งแปลว่าเต่าแดง
ถ้าเอาโรหิตไว้ข้างหน้า   ก็จะเป็น โรหิตกระทิง   ก็เป็นคำสมาสระหว่างบาลีกับภาษาอื่น    ไม่ใช้กันอีกน่ะแหละ

ฝากการบ้านไว้อีกข้อค่ะ 



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 เม.ย. 11, 17:11
โรหิต คำนี้ จะมาจากคำว่า รหิต ที่แปลว่า หายไป ได้หรือไม่คะ
แปลโดยรวมให้เห็นภาพ กระทิงวิ่งไล่ นางเนื้อวิ่งหนีหายไป ทำนองนี้ได้ไหมคะ  ???


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 11, 20:41
^
ไม่น่าจะเป็นแบบนั้นนะคะ

กลับมาเรื่องการแต่งฉันท์
ถ้าใครหัดแต่งฉันท์คงจะรู้ว่า การหาคำลหุ มาลงในแต่ละวรรค มันยากเย็นขนาดไหน     ยิ่งถ้าเป็นสัททุล ฯ ๑๙ ที่มีลหุเรียงกัน ๓ ตัวรวด ถือว่าเหงื่อตกกว่าจะผ่านไปได้แต่ละบาท        มือใหม่หัดแต่งฉันท์จึงมักจะวนเวียนอยู่กับคำซ้ำๆ เพราะหาคำใหม่ไม่ถูก  คลังคำในสมองยังไม่มากพอ      หรือไม่ก็หาได้แต่คำที่ไม่ค่อยจะมีความหมาย   เอาเป็นว่าลงตรงคำลหุได้ก็ต้องฉวยไว้ก่อน  แบบคำว่า ก็   จะ   สิ   อะไรพวกนี้

แต่ฉันท์ของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นฉันท์ที่รื่นหูและหนักแน่นในถ้อยคำที่ทรงสรรหามา       ความหลากหลายของคำยากๆเหล่านี้แสดงว่าทรงรู้ภาษาโบราณดีทีเดียว  ทั้งบาลี สันสกฤตและเขมร

     เมิลเหล่าเฉนียนศิขรภัณฑ์                 รวหลั่นชะวากผา
งอกเงื้อมชะโงกวรรตา                          วิยแก้วประพาฬแนม
     บางแห่งขจีขรติกาฬ์                        วชิราประกอบแกม
บางแห่งก็เหลืองและนิลแซม                   รุจิเรขสุโรจน์สี

     ลีลาการแต่งของกรมพระราชวังบวรฯ ทรงแต่งตามขนบของนิราศ  คือเริ่มการเดินทาง   ชมทิวทัศน์สองข้างแม่น้ำ  บันทึกสถานที่ และที่เว้นไม่ได้ก็คือบทครวญถึงนาง      สำนวนโวหารการเปรียบเทียบก็ทรงทำตามขนบ     เห็นอบเชยเหมือนเคยเชยนาง เห็นดอกเล็บมือนางเหมือนเล็บของนางฯลฯ  ขนบแบบนี้พบได้หลายแห่งในวรรณคดีสมัยรัชกาลที่ ๒ อย่างอิเหนา และขุนช้างขุนแผน
    แต่สิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง คือการใช้คำ      มีศัพท์ที่เราไม่ค่อยจะเห็นจากวรรณคดีเรื่องอื่นกันนัก   เหมือนว่าทรงเพลิดเพลินกับการเล่นศัพท์แปลกๆ เช่นคำว่าทุรัศ (= ยาก,ลำบาก)  ปฉิม( ปัจฉิม= สุดท้าย)  และทรงใช้อย่างมั่นพระทัยเสียด้วย
    อ่านแล้ว เกิดคำถามขึ้นมา ถึงพื้นฐานการศึกษาของเจ้านายพระองค์นี้   ว่าทรงมีใครเป็นอาจารย์
 



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 11, 21:13
ย้อนกลับไปนับพ.ศ. ดูพระราชประวัติ

พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ประสูติเมื่อพ.ศ. 2381  ในรัชกาลที่ 3  เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯพระราชบิดาทรงขึ้นครองวังหน้า  ในพ.ศ. 2393     พระราชโอรสพระองค์ใหญ่มีชันษาได้ 12 ปี  ถือว่าอยู่ในวัยเล่าเรียน     เราก็รู้กันจากประวัติสุนทรภู่ว่า หลังจากตกระกำลำบากไม่มีตำแหน่งขุนนางในรัชกาลที่ 3    สุนทรภู่ก็ได้เข้ามาพึ่งพระบารมีสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นถึงจางวางกรมอาลักษณ์

แต่เมื่ออ่านพระบวรราชนิพนธ์ของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่  เมื่อทรงเจริญพระชันษามากขึ้นพอจะแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนได้     ไม่มีเรื่องไหนที่พบ  มีร่องรอยกลอนตามแบบของสุนทรภู่    ไม่มีแม้แต่เรื่องที่แต่งเป็นกลอนตลาด(หรือเรียกภายหลังว่ากลอนสุภาพ) สักเรื่องเดียว  แต่ว่ามีฉันท์ถึง 2 เรื่อง  บทละครแบบละครนอก 1 เรื่อง และบทเล่นหุ่นซึ่งเป็นร้อยแก้วอีก 2 เรื่อง
ถ้าไม่นับข้อยกเว้นว่า อาจมีเรื่องแต่งเป็นกลอน  แต่กรมศิลปากรยังหาไม่เจอ     ก็จะกล่าวได้ว่า   พระบวรราชนิพนธ์นั้นบอกบ่งถึงร่องรอยพระอาจารย์ ที่ไม่ใช่สุนทรภู่     หรืออาจบอกต่อไปอีกก็ได้ว่า  สุนทรภู่ไม่ได้ถวายพระอักษร  มิฉะนั้นน่าจะมีผลงานแสดงร่องรอยความเป็นศิษย์สุนทรภู่ให้เห็นบ้าง     เพราะศิษย์สุนทรภู่ อย่างเช่นนายมี  ก็มีทางของกลอนที่เจริญรอยตามครูเห็นได้ชัด

ถ้าอย่างนั้น   เมื่อดูจากพระบวรราชนิพนธ์แล้ว มองเห็น "ทาง" ของพระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรบ้างไหม
ก็พอเห็นค่ะ  ว่า
๑   เป็นผู้เชี่ยวชาญในการแต่งฉันท์  หลากหลายชนิด 
๒   เป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ภาษาบาลีสันสกฤตและเขมร    ไม่ใช่ชำนาญเฉพาะรู้ศัพท์  แต่รู้ในการผูกศัพท์   สมาสและสนธิ ตลอดจนแผลงศัพท์ อย่างกวี    ไม่ใช่อย่างมหาเปรียญอย่างเดียว

ไม่มีหลักฐานมากกว่านี้    แต่พออ่านพระบวรราชนิพนธ์แล้ว  นึกถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ขึ้นมาทันที


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 11:08
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเชี่ยวชาญด้านฉันท์ ยากจะหาใครเทียบได้    ถึงขั้นนิพนธ์ตำราเรื่องฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ  นอกจากนี้ฉันท์ก็ยังเชี่ยวชาญโคลงจนทรงนิพนธ์ตำราโคลงกลบท คำกฤษฎี   ส่วนที่เป็นวรรณคดี ก็ทรงสร้างสรรค์วรรณคดีประเภทฉันท์ไว้หลายเรื่อง  อาทิ สรรพสิทธิคำฉันท์  สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย กฤษณาสอนน้องคำฉันท์  ฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้างพัง  ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี

ในปี พ.ศ. 2533 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2533 นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้

ย้อนกลับมาถึงกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   นอกจากนิราศเมืองนครศรีธรรมราชฉันท์   ยังมีอิเหนาคำฉันท์ เป็นเรื่องที่สอง   เข้าใจว่านิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ หลังจากทรงแต่งนิราศแล้ว   พระชนม์ไม่ถึง ๓๐ พรรษา
อิเหนาคำฉันท์ พิมพ์เป็นครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาปริก ในกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๐  

ชื่อเรื่องอาจทำให้ผู้สนใจวรรณคดี สับสนได้   กวีผู้แต่งอิเหนาคำฉันท์มี ๒ ท่าน ด้วยกัน    ก่อนหน้ากรมพระราชวังบวรฯ ก็คือเจ้าพระยาพระคลัง(หน) แต่งอิเหนาคำฉันท์ไว้ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์    แต่เนื้อเรื่องเป็นคนละตอนกับพระบวรราชนิพนธ์    
อิเหนาของเจ้าพระยาพระคลัง   เล่าถึงตอนอิเหนาลักบุษบาไปไว้ในถ้ำ    ส่วนอิเหนาของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นตอนอิเหนาเข้าห้องนางจินตะหรา


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 13:13
อิเหนาคำฉันท์ เป็นฉันท์ขนาดยาว  จับความตั้งแต่อิเหนาอยู่เมืองหมันหยากับนางจินตะหรา   ได้นางสะการะวาตีและมาหยารัศมีมาอยู่ด้วย    อิเหนาเข้าห้องนางจินตะหรา   นางสะการะวาตีและมาหยารัศมีมาถวายบังคมนางจินตะหรา   และไปจบที่ท้าวกุเรปันตอบสารท้าวดาหาเรื่องเลื่อนการอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบาออกไป  เพราะอิเหนามัวไปลุ่มหลงนางจินตะหราอยู่ที่เมืองหมันหยา

เนื้อความที่กรมพระราชวังบวรฯทรงเลือกมา  ไม่ได้เลือกเฉพาะตอน   แต่เลือกยาวหลายตอน แล้วไปจบลงตรงที่เนื้อเรื่องยังค้างอยู่ แต่ก็มีโคลงบอกไว้ตอนท้ายว่า นิพนธ์ไว้แค่นี้
เนื่องจากไม่มีหลักฐานบอกที่มาที่ไป  นอกจากบอกไว้แต่งถวายเป็นพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงบอกไม่ได้ว่าทรงแต่งขึ้นตามโจทย์ที่ใครให้มา  หรือแต่งขึ้นเพราะโปรดตอนเหล่านี้เป็นพิเศษ     มีแต่ตอนออกตัวอย่างถ่อมพระองค์ว่า ทรงมานะพยายามแต่งได้เพียงแค่นี้   

     อิดอ่อนและหย่อนวิริยมาน                  ฤสฤษดิ์สัมฤทธิความ
         สมมุติยุติวจนัง                           และลุดังพยายาม
     รังเริ่มเผดิมนิพนธทราม                      สติโยนิโสมันท์

       เมื่อพิจารณาจากคำที่ทรงใช้      กรมพระราชวังบวรฯ  ไม่ใช่กวี "อ่อนฝีมือ" แม้แต่น้อย    ตรงกันข้าม   น่าจะเคยศึกษาวรรณคดีสมัยอยุธยามาแล้วอย่างชำนาญ      ศัพท์ที่ทรงใช้ในเรื่องนี้ย้อนยุคเก่ากว่าสมัยรัชกาลที่ ๕  มาก     อย่างคำนี้

        เงื่อนดาวประดับดวง                     ศศิช่วง ณ คัคณานต์
     ไตรโลกยเล็งลาน                           ทิพลักษณขวัญตา       


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 13:17
       คำว่า "เงื่อน"   หรือ "ไตรโลกยเล็ง" เป็นคำเก่า    สมัยอยุธยาตอนกลางและถอยขึ้นไปใกล้ตอนต้น     สมัยรัตนโกสินทร์ไม่ใช้กันแล้ว   แม้แต่อิเหนาคำฉันท์ของเจ้าพระยาพระคลัง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑  ก็ใช้คำใหม่กว่านี้มาก

       คำว่า เงื่อน ใช้ในกำศรวลศรีปราชญ์ หรือกำศรวลสมุทร (เดิมเรียกว่ากำศรวล เฉยๆ)  หลายแห่ง    นอกจากนี้ก็มีใน ลิลิตพระลอ

          มุ่งเหนอรรถ้ำท่ง      ทิวเขา      
      เขาโตกอำภิลจอม      แจกฟ้า            
      สรมุทรเงื่อนเงามุข      มยงม่าย      
      ดูดุจมุขเจ้าถ้า              ส่งศรี
                                          (กำศรวลสมุทร)

           โฉมสองเหมือนหยาดฟ้า     ลงดิน
       งามเงื่อนอัปสรอินทร์                    สู่หล้า
       อย่าคิดอย่าควรถวิล                    ถึงยาก แลนา
       ชมยะแย้มทั่วหน้า                    หน่อท้าวมีบุญ
                                           (ลิลิตพระลอ)

           ส่วน ไตรโลกยเลง (หรือเล็ง)  มาจากกำศรวลศรีปราชญ์  หรือกำศรวลสมุทร

              พรายพรายพระธาตุเจ้า      จยรจนนทร แจ่มแฮ      
          ไตรโลกยเลงคือโคม      ค่ำเช้า      
          พิหารรเบียงบรร              รุจิเรข เรืองแฮ      
          ทุกแห่งห้องพระเจ้า              น่งงเนือง ฯ        


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 13:18
        กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  ต้องเคยศึกษาวรรณคดีเก่ามาอย่างจัดเจน  เข้าถึงรสของภาษา   ถึงหยิบคำโบราณมาใช้ในพระบวรราชนิพนธ์ได้อย่างไม่ขัดเขิน       ถ้าหากว่าทรงเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสก็ไม่น่าแปลกใจ      สมเด็จฯ ทรงเป็นกวีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓   จนสิ้นพระชนม์ในปลายรัชกาลที่ ๔    เป็นช่วงที่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเจริญพระชันษาขึ้นพอจะเล่าเรียนวิชาการแต่งหนังสือชั้นสูงได้พอดี

          บางท่านอาจค้านว่า ถ้าทรงเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณะฯ จริง   ก็น่าจะมีบันทึกในพระประวัติบอกไว้บ้าง  หรืออย่างน้อย เมื่อนิพนธ์งานชิ้นไหนก็น่าจะทรงเอ่ยถึงครูของท่านไว้   ไม่น่าจะเว้นไปเฉยๆแบบนี้     ข้อนี้ก็จริง เพราะอ่านจากพระบวรราชนิพนธ์แล้ว   นอกจากไม่มีบทไหว้พระรัตนตรัย  ไม่มีบทไหว้ครู   มีแต่บทคารวะพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์    ก็เป็นน้ำหนักถ่วงอยู่ได้เหมือนกันว่าท่านอาจไม่ได้เรียนจากสมเด็จ   ไม่อย่างนั้นน่าจะทรงเอ่ยไว้บ้างแล้ว      เพราะเป็นศิษย์ของกวีเอก มีหรือจะไม่ภาคภูมิใจ
         อย่างไรก็ตาม  ก็คงจะพูดได้เต็มปากว่า ไม่ว่าท่านทรงเล่าเรียนกับครูท่านไหน   หรือพอเรียนเขียนอ่านขั้นต้นจบ จากนั้นก็ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง     กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเป็นกวีเอกพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๕    ข้อนี้แน่นอน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 09:50
นอกจากฉันท์ ๒ เรื่อง  กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงแต่งละครนอกเรื่อง พระสมุท ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง
พระบวรราชนิพนธ์เรื่องนี้แต่งขึ้นเพื่อเป็นบทละครให้เจ้าคุณจอมมารดาเอมใช้เล่นละคร     จึงมุ่่งถึงการร้องและรำมากกว่าการใช้สำนวนโวหาร   แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ไพเราะ  มีตอนไพเราะที่เคยยกมาลงให้เห็นแล้ว

ละครรำของไทยมีละครใน และละครนอก  ละครในมี ๔ เรื่องคือรามเกียรติ์  อิเหนา  ดาหลังและอุณรุท   ปกติเล่นกันแต่ ๒ เรื่องแรก ในวังหลวง   ส่วนละครรำนอกจากนี้เป็นละครนอกทั้งหมด   
เดิมละครในวังเล่นกันแต่ในวัง จนถึงรัชกาลที่ ๓  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่โปรดการบันเทิงเริงรำ     แต่ก็ไม่ห้ามถ้าเจ้านายและขุนนางใหญ่น้อยจะฝึกละครเล่นกันเอง     ละครจึงออกจากวังมาอยู่นอกวัง  ขุนนางบุญหนักศักดิ์ใหญ่ก็มีคณะละครของตัวเองในบ้าน
วังหน้าก็มีคณะละครของพระองค์ท่านเองเหมือนกัน      โดยเฉพาะเมื่อเจ้าคุณชนนีท่านโปรดละคร ก็ย่อมมีนางละครเก่งๆอยู่ในวังหน้าไม่น้อย   จึงปรากฏว่ามีครูละครวังหน้าออกไปเป็นครูละครในราชสำนักเขมร

พระสมุท ที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงแต่งให้ละครวังหน้าเล่น  เป็นเรื่องจักรๆวงศ์ๆ   เป็นแนวที่นิยมกันอยู่สมัยนั้นและก่อนหน้านั้น   
คือพระเอกเป็นเจ้าชาย   มีฤทธิ์ เรียนวิชากับพระฤๅษีโยคี แล้วมีเหตุให้พบลูกสาวพระราชายักษ์   จากนั้นก็พานางหนี  พ่อตาไล่ตามมา แต่แพ้ฤทธิ์ลูกเขย   เจ้าชายก็พานางกลับเมือง
เกิดเป็นสำนวนว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่อง  "ลักลูกสาวยักษาพากันจร   แล้วย้อนกลับมาฆ่าพ่อตาตาย"

ชาติพันธุ์วรรณาของยักษ์ในละครไทย มีปริศนาอย่างหนึ่งคือ  ถ้าพญายักษ์มีลูกชาย  ลูกเป็นยักษ์เหมือนพ่อ    แต่ถ้ามีลูกสาว ร้อยทั้งร้อยเป็นนางมนุษย์ทรงโฉมโสภา  ไม่รู้ว่าได้เชื้อสายมนุษย์มาจากไหน   อาจจะมาจากแม่ ซึ่งในละครส่วนใหญ่ไม่ค่อยบอกว่าเป็นนางยักษ์หรือนางมนุษย์กันแน่

เนื้อเรื่องเมื่อตอนเริ่ม  ตัดตอนมาเฉพาะตอนพระสมุทพบนางบุษมาลี     มีการเท้าความว่าก่อนหน้านี้พระสมุทเคยมีพระมเหสี  แต่ถูกนางยักขินีพรากไป    พระสมุทมาพักอยู่ในตำหนักจันท์ ในอุทยานเมืองท้าวรณจักร พญายักษ์พ่อของนางบุษมาลี
นางบุษมาลีอยากชมสวน ก็พาสาวสรรค์กำนัลในมาเที่ยว    พระสมุทเห็นเข้าก็นึกรักนาง  จึงอุ้มนางเหาะหนีไป     ท้าวรณจักรรู้ว่าลูกสาวถูกขโมยตัวไปก็รีบยกทัพติดตามมา    ในที่สุดก็แพ้ฝ่ายพระเอก ถูกฆ่าตายไปตามระเบียบ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 13:53
อ่านพระสมุทอยู่หลายเที่ยวเพื่อแกะรอย มาเล่าให้ฟัง     ก็เกิดความเชื่อว่า พระบวรราชนิพนธ์เรื่องนี้ ยังมีต้นฉบับที่กรมศิลปากรค้นไม่พบ อยู่แน่นอน
เพราะตอนเริ่มเรื่องของฉบับนี้  มีการเท้าความไปถึงเหตุการณ์ก่อนหน้า ที่ไม่ปรากฏในเนื้อเรื่องตอนนี้  คือตอนพระสมุทพลัดกับชายาคนเก่า เพราะนางยักษ์เป็นต้นเหตุ  ซึ่งก็ไม่ได้อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น  เหมือนคนเขียนคิดว่าคนอ่านรู้กันอยู่แล้ว  ไม่ต้องเล่าซ้ำซาก
แสดงว่าต้องมีตอนก่อนตอนนี้ที่วังหน้าฯ นิพนธ์ไว้ อยู่ที่ไหนสักแห่ง    แต่อาจชำรุดสูญหายไป    หลังกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จสวรรคต     เมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเอมถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว ละครผู้หญิงของท่านก็อาจจะยุติลงนับแต่นั้น   บทละครก็กระจัดพลัดพรายสูญหายไป
ยิ่งเมื่อเจ้านายวังหน้าเสด็จย้ายไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง    นับเป็นการอพยพย้ายบ้านครั้งใหญ่   บ้านเก่ากลายเป็นกรมทหาร  เอกสารเหล่านี้อาจสูญหายไปได้อีกทีก็ตอนนั้น

จึงคิดต่อไปว่า สำหรับกวีฝีมือเอกอย่างกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   ผลงานเพียง ๕ เรื่องสั้นๆนับว่าน้อยไปสำหรับพระองค์ท่าน  น่าจะมีพระบวรราชนิพนธ์มากกว่านี้     รอเวลาแต่ว่าเมื่อไรจะมีคนค้นพบเท่านั้น


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 13:57
การเท้าความที่ว่า อยู่ในตอนต้นเรื่องค่ะ   
แต่ก็บอกไว้ลอยๆแค่นี้ ไม่มีการขยายความอีก   จึงเชื่อว่ามีการกล่าวรายละเอียดไว้ในตอนก่อนหน้าบทนี้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 20:05
ลีลาการแต่งบทละครเรื่องนี้   เป็นแนวที่ย้อนหลังไปถึงต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒    พูดถึงขนบการแต่งไปแล้ว   ตอนนี้จะพูดถึงสำนวนภาษาที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงเดินรอยตามแนวรามเกียรติ์และอิเหนา
ในละคร มีฉากซ้ำๆกันอยู่หลายฉาก  เช่นก่อนจะไปไหน  ไม่ว่าไปรบหรือไปประพาสป่า  ตัวเอกต้องอาบน้ำแต่งตัว  เรื่องนี้ก็มีอย่างเดียวกัน
อีกฉากหนึ่งคือเมื่อตัวละครกลัดกลุ้มกังวลใจ หรือโศกเศร้า  เป็นต้องเอนตัวลงนอน    ไม่มีอิริยาบถอื่น ไม่ว่าจะลงนั่งกอดเข่าหรือเดินงุ่นง่านไปมา 
เมื่อทศกัณฐ์กลุ้มกับศึกลงกา เพราะพระรามยกทัพมาราวีถึงสนามรบหน้าเมือง  ก็

เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์               ยอกรก่ายพักตร์ยักษา
ทอดถอนฤทัยไปมา                      ตรึกตราถึงสงครามรามลักษณ์

อิเหนาตอนกลุ้มใจหนักๆ ก็เหมือนกัน

เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์               จะเปลื้องเครื่องอาภรณ์ก็หาไม่

โปรดสังเกตข้างล่างว่าพระสมุททำแบบเดียวกันไม่มีผิด
ทำให้คิดว่าละครที่แสดงโดยฝ่ายในของวังหน้าในรัชกาลที่ ๕ น่าจะรักษาขนบเดิมของละครใน แม้ว่าเนื้อเรื่องเป็นละครนอกก็ตาม   ในเมื่อบทก็เดินรอยตามแบบเดิม   ท่ารำก็คงเหมือนเดิม ตามที่ถ่ายทอดกันมา    ไม่มีการประยุกต์ให้ผิดครู


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 16:14
ขอพูดเรื่องพญายักษ์ที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสร้างขึ้นมา
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ในรัชกาลที่ ๑   คนส่วนใหญ่มักไปให้ความสำคัญกับพระราม นางสีดา และหนุมาน   แต่ดิฉันกลับไปชอบยักษ์ในเรื่อง เพราะมองเห็นฝีมือกวีในการสร้างจุดเด่นให้ตัวละคร     

ยักษ์ตัวสำคัญที่สุดคือทศกัณฐ์   เป็นธรรมดาอยู่เองที่กวีต้องสร้างพญายักษ์เจ้าเมืองลงกาให้ยิ่งใหญ่อยู่แล้ว    ปกติทศกัณฐ์เวลาอยู่ในปราสาท ไม่ได้มีสิบหน้ายี่สิบมือ      แต่มีหนึ่งหน้าสองมืออย่างมนุษย์นี่เอง      เวลาโกรธหรือต้องการแผลงฤทธิ์ ถึงจะกลับไปเป็นสิบหน้ายี่สิบมือ   โดยมากจะเป็นตอนสำคัญในเรื่อง   ไม่ได้ปรากฏพร่ำเพรื่อทุกฉาก

ความเก่งของกวีในราชสำนักที่ชุมนุมกันแต่งรามเกียรติ์  คือเมื่อทศกัณฐ์ป่าวร้องขอพันธมิตรญาติวงศ์ยักษ์จากเมืองต่างๆมาช่วยรบกับพระราม     กวีก็ต้องบรรยายให้เห็นความสำคัญของพญายักษ์แต่ละตน    ว่าไม่ใช่ยักษ์ธรรมดาดาษดื่น หรือเป็นแค่ยักษ์ตัวประกอบ      ดังนั้นเครือญาติเพื่อนฝูงทศกัณฐ์บางตน อย่างสหัสเดชะ  ก็ ๑๐๐๐ หน้า ๒๐๐๐ มือ   พวกนี้ มีอาวุธวิเศษต่างๆไม่ซ้ำกัน   ทั้งพิลึกสะพรึงกลัว  และสง่าน่าเกรงขาม   
แต่ก็ไม่มีตัวละครยักษ์ตัวไหนโดดเด่นเท่าทศกัณฐ์ไปได้     

ฉากที่ประทับใจฉากหนึ่งคือเมื่อทศกัณฐ์ใกล้ตาย     กลับร่างเป็นสิบหน้ายี่สิบมือ  สิบปากก็ให้วาจาต่างๆ ไม่ซ้ำกัน  ทั้งตัดพ้อพิเภก   ทั้งสั่งเสียฝากลูกเมีย   และขออโหสิกรรมแก่กัน    อ่านแล้วรู้สึกว่าทศกัณฐ์มีสติอยู่จนลมหายใจสุดท้าย   ไม่ได้เลอะเทอะฟั่นเฟือน      และมีความสง่าสมเป็นกษัตริย์ และเป็นยักษ์เชื้อสายพรหม     น่าเสียดายที่ถูกสาป หรือสมัยนี้เรียกว่าถูกล็อคสเป็คมาจากสวรรค์ ให้ต้องมาตายด้วยฝีมือพระราม  เนื่องจากไปก่อเรื่องกับเทวดามาก่อน

ขอเชิญฟังฝีปากทศกัณฐ์ก่อนตาย

   


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 17:19
เป็นได้ว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงประทับใจในลักษณะของทศกัณฐ์   จึงทรงสร้างพญายักษ์ในละครเรื่องพระสมุท ให้มีลักษณะเดียวกัน คือท้าวรณจักรมีสิบหน้ายี่สิบมือ 
แต่การสร้างตัวละครให้มีสิบหน้า ยี่สิบมือ  กวีไม่อาจสร้างเฉยๆ แค่บอกว่ามีหน้าและมือมากกว่ายักษ์ตัวอื่น      ต้องมีบทที่แสดงบทบาทของหน้าและมือเหล่านั้นด้วย    ขัอนี้เป็นการบ้านยากขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งสำหรับกวีผู้นั้น   ถ้าเทียบกับกวีคนที่รับไปแต่งถึงยักษ์อื่นๆที่มีแค่หนึ่งหน้าสองมือ  ก็ไม่ต้องเหนื่อยคิดบทเพิ่ม
บทเพิ่มนั้นก็คือ เมื่อยักษ์แปลงร่างกลับเป็นยี่สิบมือ    กวีก็ต้องคิดหาอาวุธมาใส่ให้ครบทุกมือ   และต้องแตกต่างกันไปในแต่ละมือด้วย   ไม่งั้นไม่เห็นเดชานุภาพของพญายักษ์ที่มีมือ พิเศษกว่าตัวละครอื่น

รณจักรพ่อนางบุษมาลี  เมื่อรู้ว่าลูกสาวถูกลักตัวไปก็โกรธ   กลับร่างเป็นพญายักษ์พิเศษเต็มขั้น 
    กรหนึ่งทรงจักรแกว่งกวัด           พระหัตถ์สองทรงง้าวเฉิดฉาย
กรสามกุมคทาเพริศพราย               หัตถ์สี่น้าวสายเกาทัณฑ์
มือห้านั้นถือโตมร                        พระกรหกนั้นทรงแสงขรรค์
พระหัตถ์เจ็ดกุมจรีที่ประจัญ             กรแปดนั้นทรงตรีอันศักดา
หัตถ์เก้าถือดาบกวัดแกว่ง               กรสิบทรงพระแสงศรง่า
......................
   บางคนอาจถามว่ามียี่สิบมือ  ทำไมอาวุธแค่สิบอย่าง ไม่ใช่ยี่สิบอย่างหรือ     คืออาวุธบางอย่างต้องใช้สองมือ เช่นศรและเกาทัณฑ์     ใช้มือเดียวยิงไม่ได้     ถ้าจะบรรยายว่าอาวุธบางอย่างใช้สองมือบ้าง  บางอย่างใช้มือเดียวบ้าง  ก็จะชุลมุนวุ่นวายในการบรรยาย  ดูไม่มีระเบียบ
กวีท่านจึงตัดบทให้ใช้ ๑๐ อย่างพอ



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 20:23
ถึงมีฤทธิ์ขนาดไหนก็ตาม      ท้าวรณจักรก็เป็นฝ่ายแพ้ เพราะพระเอกมีพ่อเป็นพญายักษ์เหมือนกัน ชื่อพระยากาณุราช มาช่วยรบ    สามารถพุ่งหอกมาปักอกท้าวรณจักร แล้วสาปซ้ำมิให้ถอนออกมาได้    ท้าวรณจักรก็เลยต้องตาย   แต่ก่อนตาย   กรมพระราชวังบวรฯได้ให้ตัวละครตัวนี้ สั่งเสียกับนางบุษมาลี  ทีละปาก ทีละปาก แบบเดียวกับทศกัณฐ์
แต่ว่าน่าประทับใจกว่า   เพราะเป็นโอวาทครั้งสุดท้ายของพ่อให้ลูกสาว    ได้สั่งสอนอบรมลูกสาวที่จะต้องไปเป็นเจ้านายฝ่ายในของพระราชาอีกเมืองหนึ่งว่าต้องทำอะไรบ้าง
ลักษณะคล้ายกับกฤษณาสอนน้อง  หรือแม่ของนางสร้อยทองสอนลูกสาวเมื่อถูกส่งตัวมาเป็นพระสนมของอยุธยา  ในขุนช้างขุนแผน
สำนวนภาษาและคำที่ใช้ สุภาพสุขุมอย่างผู้ใหญ่ที่มีเกียรติอบรมธิดา   เมื่อพูดกับปรปักษ์ ก็พูดอย่างไว้ศักดิ์ศรี   

ภาษาที่ใช้ในตอนนี้  และตอนก่อนหน้านี้  ถอยหลังไปจากสมัยรัชกาลที่ ๕    เป็นภาษาเก่ากว่าภาษาที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงใช้ในพระบวรราชนิพนธ์เสียอีก     ย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๑     เพราะถ้าหากตัดตอนบางตอนในบทละครนี้ออกมา อาจจะนึกว่าเป็นพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ตอนใดตอนหนึ่งก็เป็นได้



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 20:33
พระสมุท จบลงห้วนๆเมื่อท้าวรณจักรตาย    ไม่มีตอนพระสมุทพานางบุษมาลีกลับเมือง    มเหสีอีกคนของพระสมุทที่กล่าวค้างๆไว้ตอนต้นเรื่องว่าพลัดจากกัน   ก็ไม่มีเอ่ยถึงอีกว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ก็เลยคิดว่า น่าจะมีบทพระสมุท มากกว่านี้ แต่สูญหายไป

พระสมุท เป็นบทละครนอก   เล่ากันมาว่าใช้เล่นละครผู้หญิงของเจ้าคุณจอมมารดาเอม      ส่วนหุ่นวังหน้าอันลือชื่อนั้น กรมศิลปากรไม่พบบทรามเกียรติ์วังหน้าที่ใช้เล่น     พบแต่บทของหุ่นจีน ๒ เรื่อง เป็นร้อยแก้วทั้งสองเรื่อง
เป็นได้ว่าหุ่นรามเกียรติ์วังหน้า ใช้เชิดประกอบบทละครในเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑      แต่ดิฉันขอสงสัยเป็นส่วนตัวว่า  เป็นไปได้ไหมว่าบทละครพระสมุท ก็นำมาใช้เชิดหุ่นได้เหมือนกัน       บางทีตัวหุ่นยักษ์ที่เราคิดว่าเป็นหุ่นทศกัณฐ์ แต่สวมเสื้อสีม่วงแดงผิดไปจากสีเสื้อทศกัณฐ์ในโขนและภาพผนังโบสถ์วัดพระแก้ว  อาจเป็นตัวหุ่นท้าวรณจักรก็ได้    เพราะท้าวรณจักรถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นยักษ์ลักษณะแบบเดียวกับทศกัณฐ์
ส่วนตัวพระนางอื่นๆ ที่มีมากมายหลายตัว   อาจจะเล่นทั้งรามเกียรติ์ และเล่นทั้งหุ่นเรื่องพระสมุทเป็นบางครั้งบางคราว   หรือจริงๆแล้วเล่นเรื่องพระสมุท
ข้อนี้เป็นแต่เพียงความคิดแวบขึ้นมาเมื่ออ่านบทละครพระสมุท เท่านั้น   ยังไม่มีคำตอบค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 11, 14:41
พระบวรราชนิพนธ์อีก ๒ เรื่อง ที่กรมศิลปากรรวบรวมไว้ เป็นบทหุ่นจีนเรื่องซวยงัก กับเรื่องตลกชื่อหลวงจีนเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง    เรื่องหลังเคยเล่าแล้ว    ก็ขอไม่เล่ารายละเอียดอีก
บททั้ง ๒ เรื่อง เป็นบทสั้นๆ   เรื่องซวยงักตัดตอนมาเฉพาะตอนกิมงิดตุดแม่ทัพใหญ่ของฮ่องเต้  ทำศึกตีเมืองลูอันจิว   ตีได้สำเร็จ เจ้าเมืองชื่อเล็กเต็งและภรรยาเอากระบี่เชือดคอตาย

การแปลเกร็ดพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย ทำกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑   คือเรื่องสามก๊กกับไซ่ฮั่น    ทั้งสองเรื่องนี้แปลกันเป็นโปรเจคใหญ่ระดับชาติ   เพราะไม่ได้แปลไว้อ่านเฉยๆ  แต่แปลเพื่อ" ประโยชน์ของราชการบ้านเมือง"  คือแปลเป็นตำราพิชัยสงครามกันเลยทีเดียว     ต้องตั้งกรรมการทั้งฝ่ายจีนและไทยช่วยกันแปล      ประธานก็เป็นบุคคลสำคัญ  คือสามก๊กมีเจ้าพระยาพระคลัง(หน)   และไซ๋ฮั่นมีกรมพระราชวังหลัง เป็นผู้อำนวยการแปล
ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๕   เรื่องจีนลดความสำคัญทางราชการลงไปจนไม่เหลือ    เพราะตำราพิชัยสงครามแบบยกกองทัพม้า และทัพเดินเท้ารบกันไม่มีอีกแล้ว    ศึกสงครามระหว่างอาณาจักรเพื่อนบ้านไม่มีอีก   มีแต่การจ้องฮุบสยามโดยเจ้าอาณานิคม   แต่เกร็ดพงศาวดารจีนก็ไม่ได้หายไปจากวงวรรณคดี   ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นเรื่องบันเทิงยอดนิยมของขุนนาง  
แฟนพันธฺุ์แท้ของเรื่องจีนคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์      ท่านให้ซินแสจีนแปลเอาไว้อ่านเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินหลายเรื่อง   หนึ่งในจำนวนนั้นคือซวยงัก       จีนโตกับจีนแสบั้นอั๋นแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 11, 19:16
ตอนอ่านเรื่องซวยงัก   สงสัยว่าสำเนียงจีนในเรื่องเป็นจีนอะไร  ตั้งแต่ชื่อเรื่องคือซวยงัก  กิมงิดตุด เมืองลูอันจิว  เล็กเต็ง  ฟังแปลกหู เดาว่าเป็นฮกเกี้ยน     ถ้าคุณม้าแวะเข้ามาช่วยไขข้อข้องใจหน่อยนะคะ

บทหุ่นจีน เป็นคำเจรจาทั้งหมด   ไม่มีโคลงฉันท์กาพย์กลอนเลยสักตอนเดียว   แสดงว่ามีคนพากย์บทเจรจาเป็นหลัก    ไม่มีเพลงขับอย่างละครนอก     แต่มีศัพท์อย่างหนึ่ง เรียกว่า " ร้องซอ" ประกอบ   คิดว่าหมายถึงการออกเสียงร้องแบบจีน ประกอบดนตรีจีนคลอเป็นแบคกราวน์

กิมงิดตุด  ( ออกเจรจาบอกชื่อร้องซอสองสามคำ  เจรจาเรียกคับมิชี   คับมิชีรับฮ้อ   ออกมาคำนับนั่งเก้าอี้ เจรจาร้องซอสองสามคำ )

ในบทบอกว่า นั่งเก้าอี้    หมายความว่ามีพร็อพในละครด้วย  หรือว่าทำท่านั่งเฉยๆ ก็ไม่ทราบ  เพราะไม่เคยเห็นการเล่นหุ่นจีน  


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 เม.ย. 11, 22:40
คงเขียนฉากด้วยสีฝุ่น แล้วมีเก้าอี้ โต๊ะ อย่างการแสดงงิ้ว จำลองย่อให้เล็กลงกระมังครับ  ;)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 เม.ย. 11, 09:24
เก็บคำตอบคุณ siamese  ไปคิดดู  แต่ยังมองไม่เห็นภาพ
ดิฉันเข้าใจว่าหุ่นจีนของวังหน้า เป็นหุ่นมีสายชักจากด้านล่างแบบเดียวกับหุ่นรามเกียรติ์วังหน้า       ไม่รู้ว่าเห็นตัวคนชักแบบหุ่นละครโจหลุยส์หรือเปล่า    เดาว่าไม่เห็น เพราะเวลาชักน่าจะมีผ้าบังด้านล่างของเวทีหุ่น ให้คนเคลื่อนไหวอยู่ด้านล่าง   คนดูเห็นแต่ตัวหุ่นเคลื่อนไหวเดินไปมา  ไม่เห็นตัวคนชัก
ถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าเวทีไม่มีพื้นล่าง    มีแต่ฉากหลัง  อาจเป็นฉากสีฝุ่นอย่างที่คุณบอก

เมื่อไม่มีพื้นล่าง  เก้าอี้จะวางตรงไหนล่ะคะ

จึงสงสัยว่า พร็อพ คือพวกสิ่งของประกอบฉากพวกนี้   มีอยู่ในหุ่นจีนหรือเปล่า
ถ้าเป็นหุ่นชักของฝรั่ง  มีโต๊ะเก้าอี้เตียงนอนได้เพียบ  เพราะเขาใช้สายชักจากด้านบน  ไม่ใช่ด้านล่าง  หุ่นจึงเดินบนพื้นเวที ไปนอนไปนั่งบนเก้าอี้หรือเตียงได้สะดวก


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 เม.ย. 11, 10:07
หุ่นจีนวังหน้านั้น ได้สร้างอย่างฝีมือประเพณีจีน และไทยควบกันไป แบบจีนถืออย่างหุ่นฮกเกี้ยน ซึ่งใช้คนเชิดจากด้านล่าง คล้ายหุ่นกระบอกของไทย และเพื่อให้เกิดความงามจึงได้มีผ้าคลุมบังมือไว้ ไม่มีขา แต่สำหรับบางตัวนั้นมีขาประกอบด้วยเพื่อให้มีอาการเตะขา ได้อย่างชาวจีน  เป็นเช่นนี้แล้วพื้นโรงหุ่นก็จะโล่งมีแต่อากาศ ก็คงต้องเป็นเก้าอี้จิ๋ว เสียบไม้ไผ่เชิดขึ้นไปกระมังครับ เพื่อบังคับให้ตัวหุ่นนั่งเก้าอี้ได้ หรือ ถ้าไม่ใช้คนเชิดเก้าอีก คงเสียบไว้กับหลักไม้ก็น่าจะทำได้


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 เม.ย. 11, 21:56
พอจะนึกภาพตามได้แล้วค่ะ   ถ้ามี ก็น่าจะเป็นเก้าอี้มีไม้เสียบชูขึ้นระดับสายตาคนดู    น่าเสียดายที่พร็อพพวกนี้ไม่เหลือมาให้ชมกันเลย รวมทั้งฉากด้วย

ในบท มีคำน่าสนใจ เป็นคำเก่า   คือคำว่า สุมพล  และคำว่า ออกลองฤทธิ์    เชิญมาดูบริบทกันว่า สองคำที่ว่า ในบทหุ่นจีนเรื่องนี้แปลว่าอะไร


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 เม.ย. 11, 21:59
ขยายให้อ่านชัดๆ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 11, 12:22
มีภาพ พอที่จะนำมาประกอบเรื่องหุ่นจีนของวังหน้าได้บ้าง

จากหนังสือเล่มนี้ครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 11, 12:25
หนังสือข้างต้น มีภาพหุ่นจีนเพียง๒รูป และบอกว่าหุ่นตัวอื่นๆอยู่ในสภาพที่ชำรุดมาก
ตัวแรกเป็นหุ่นนางผู้สูงศักดิ์ สวมศิราภรณ์ประดับงดงาม

ตัวที่๒ เป็นหลวงจีน ถือแซ่

แต่ไม่ปรากฏคำอธิบายว่าเป็นตัวละครในเรื่องใด


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 11, 22:27
หุ่นจีนที่ท่าน Navarat นำมาให้ดู  สวยจริงๆ  ฝีมือประณีตทั้ง๒ ตัว  หลวงจีนหน้าตามีชีวิตชีวา    ตัวนางหน้าตาจิ้มลิ้ม มีไม้เสียบยันพื้นเหมือนเป็นแกน  แต่ตัวหลวงจีนไม่มี

หลวงจีนตัวนี้  อาจเป็นดาราอยู่ในเรื่องหลวงจีนเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง หรือเรื่องอื่นด้วยก็เป็นได้       จากบทหุ่นจีนที่อ่าน  เห็นได้ชัดว่าต้องมีต้นฉบับอื่นๆที่กรมศิลปากรค้นไม่พบ หรือยังไม่ได้ชำระรวบรวมเรียบเรียง   เพราะเนื้อเรื่องละครหุ่น "ซวยงัก"  ที่พิมพ์มาเป็นเล่ม  เหมือนเริ่มจากหน้ากลางๆ ไม่ใช่หน้าต้น    จบก็จบห้วนๆ เหมือนยังไม่จบ    แต่ค้นเจอต้นฉบับแค่นี้เอง

พอเห็น  ดิฉันก็เกิดอยากรู้ว่าหุ่นจีนของวังหน้า เล่นกันอย่างไร    ดูจากประวัติ  หุ่นวังหน้าเป็นหุ่นฮกเกี้ยน   ส่วนหุ่นไหหลำนั้นคือหุ่นที่มาของหุ่นละครเล็กของม.ร.ว.เถาะ พยัคฆเสนา    สืบต่อมาเป็นหุ่นละครโจหลุยส์ในปัจจุบัน

แม้ว่าหุ่นวังหน้า ไม่มีใครรู้ว่าเล่นกันอย่างไรแบบไหนแล้วในปัจจุบันนี้     ดิฉันนึกได้ว่าทางประเทศจีนน่าจะยังเล่นกันอยู่   เลยไปหาหุ่นฮกเกี้ยนในยูทูป      พบเข้าเรื่องหนึ่ง หน้าตาน่าจะเป็นแบบเดียวกับหุ่นวังหน้า คือชักจากข้างล่างให้หุ่นขยับคอ หันหัว และแขนได้      จึงนำมาให้ชมกัน ฝากท่านผู้อ่านกระทู้ตัดสินเอาเองว่าพอจะทำนองเดียวกันกับหุ่นวังหน้าหรือไม่

http://www.youtube.com/watch?v=cabX-Tjzyu0&NR=1


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 11, 22:36
ส่วนหุ่นแบบนี้ เขาบอกว่าเป็นหุ่นของ Chengdu  หมายถึงเฉิงตู  เมืองหลวงของแคว้นเสฉวน   ลักษณะของหุ่นและลีลาการแสดงที่โชว์ทั้งหุ่นและคนเชิด   เป็นแบบเดียวกับหุ่นละครเล็ก
ไม่รู้ว่านี่คือหุ่นไหหลำหรือเปล่า   

http://www.youtube.com/watch?v=zYsZvNCLHko


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 11, 22:44
การแสดงหุ่นเฉิงตู อีกชุดหนึ่ง

http://www.youtube.com/watch?v=OdyeooyrhHE&NR=1


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 เม.ย. 11, 07:33
ขยายให้อ่านชัดๆ

อ่านแล้วเข้าใจว่า เป็นการรวมกำลังพลเหล่านักรบ ออกมาร่ายรำ กระทบดาบ หอกกัน ซึ่งเสมือนกันประลองยุทธกัน แล้วค่อยเข้าเวทีครับ


http://www.youtube.com/watch?v=jGqi0nG8jCA&feature=related


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 เม.ย. 11, 07:39
คลิปนี้น่าจะเป็นคำตอบสำหรับเรื่องการตั้งเก้าอี และอุปกรณ์ประกอบฉากได้ ซึ่งถ่ายคลิปจากหลังฉาก จะเห็นลีลาการบังคับหุ่น ซึ่งวาดพาดบนไม้กระดานครับ

http://www.youtube.com/watch?v=kVfygH1oj9A


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 เม.ย. 11, 13:12
อ่านแล้วเข้าใจว่า เป็นการรวมกำลังพลเหล่านักรบ ออกมาร่ายรำ กระทบดาบ หอกกัน ซึ่งเสมือนกันประลองยุทธกัน แล้วค่อยเข้าเวทีครับ

คำว่าสุมพล รอยอินให้ความหมายว่า ชุมนุมพล ในบทหุ่นจีน  เข้าใจว่หมายถึงกลุ่มนายทหาร    แต่คำว่า ออกลองฤทธิ์ ไม่มีคำแปล   อ่านจากบริบทเข้่าใจว่าเป็นคำกริยา  สุมพลทำอะไรสักอย่าง

ออก+ลอง+ ฤทธิ์
ลองฤทธิ์ คือประลองฤทธิ์  หรือประลองฝีมือรบ
ออก หมายถึงออกมาแสดง

คิดตรงกับคุณ siamese อธิบาย    ในฉากนี้ คงมีหุ่นอยู่หลายตัว ทั้งหุ่นตัวเอกที่ออกมาเจรจา และหุ่นตัวประกอบ  ที่ไม่มีบทพูด
แม่ทัพกิมงิดตุดคงมีแม่ทัพนายกอง เสนาธิการ ที่ปรึกษาในกองทัพ รายล้อมอยู่สัก ๔-๕ ตัว   
พอจะเข้าฉาก   พวกนี้ก็เล่นบทร่ายรำอาวุธ ประดาบโชว์ฝีมือกันก่อนเข้าฉาก    ส่วนกิมงิดตุดก็คงโชว์ฝีมือรำดาบก่อนเข้าฉากเหมือนกัน
จำได้ว่าเคยดูงิ้วตอนเด็กๆ มีการแสดงแบบนี้ คืองิ้วพูดจบก็รำดาบรำทวน  มีท่าปลายทวนกระแทกพื้นด้วย  ก่อนจะเข้าโรงไป ค่ะ

ยังหาคลิปที่ออกลองฤทธิ์ในค่ายไม่เจอ เจอแต่ออกฤทธิ์รบกันในสนามรบ  ขอให้วาดภาพเอาเองว่า ในค่าย เขาก็ซ้อมท่ากันแบบนี้

http://www.youtube.com/watch?v=xYWiQ_RnLWE&feature=related


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 เม.ย. 11, 14:48
ในแผนที่วังหน้า  มีโรงงิ้วและโรงละคร     ยังไม่มีรายละเอียดว่าเป็นงิ้วแบบไหน    มีผู้แสดงงิ้วหรือเป็นหุ่นจีน      คงต้องรอข้อมูลจากผู้รู้
ข้อมูลที่เล่าถึงศิลปะในวังหน้าของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  ก็คงจบลงแค่นี้   เว้นแต่จะมีใครมาต่อเรื่องนี้อีกก็ขอต้อนรับด้วยความยินดี

เกร็ดท้าย
สายบวรราชสกุลในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   มี 9 ราชสกุล คือ

1   วิลัยวงศ์  ณ อยุธยา  จาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลัยวรวิลาส   
2   กาญจนวิชัย  ณ อยุธยา     จาก   พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญจโนภาสรัศมี กรมหมื่นชาญไชยบวรยศ   
3   กัลยาณะวงศ์ ณ อยุธยา   จาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา   
4    สุทัศนีย์ ณ อยุธยา  จาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศนนิภาธร
5   วรวุฒิ  ณ อยุธยา   จาก  พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์
6   รุจจวิชัย ณ อยุธยา   จากพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารุจาวรฉวี
7   วิบูลยพรรณ ณ อยุธยา  จาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิบูลยพรรณรังษี
8   รัชนี ณ อยุธยา จาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
9   วิสุทธิ  ณ อยุธยา จากพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรวิสุทธิ์


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 08 ส.ค. 12, 00:49
แล้วเครื่องสวมศีรษะ ในรูปทั้งสองนี้ เขาเรียกว่าอะไรคะ


ใช่ครับ เครื่องสวมศีรษะประเภทนี้ตามที่คุณ ดีดี ตอบคือ "ปันจุเหร็จ"

ปันจุเหร็จ ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นแต่ละครหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๒ เดิมใช้สำหรับแต่งเป็นปันหยี กับ อุณากรรณ ในละครเรื่องอิเหนาแทนการโพกผ้าที่ศีรษะ ภายหลังจึงนำไปแต่งทั่วไป (ภาพปันจุเหร็ด ชิ้นนี้ไปชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ปัจจุเหร็จ อันนี้ เป็นของพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแด่ เจ้าพระยารามราฆพ หรือ พระยาอนิรุธเทวา ผมก็จำความไม่ได้แล้ว ครูของผมเคยเล่าให้ฟังเมื่อครั้งไปดูเครื่องละครใน พช. ด้วยกัน จะสังเกตุได้ว่า ด้านหน้าของปัจจุเหร็จ จะมีลายประดับรูปอักษรพระนาม "วปร" อยู่ แสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องประดับพระราชทานแก่โขน-ละครบรรดาศักดิ์ ถ้าข้อมูลผิดพลาด หรือซ้ำ ขออภัยด้วยครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 09 ส.ค. 12, 22:00
อ่านกระทู้นี้แล้วได้หลากหลายรสชาติ. แถมได้เจอความรู้ด้านอักษรศาสตร์ของแต่ละท่าน จนเด็กสายวิทย์อย่างผมสำนึกเลยว่าความรู้ภาษาไทยของตัวเองนั้นช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 12, 21:51
อ่านกระทู้นี้จบแล้ว อย่าเพิ่งเลิกค่ะ  เชิญไปอ่านอีกกระทู้หนึ่งต่อไปค่ะ

“นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4297.0



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: changnoi ที่ 16 ส.ค. 12, 03:47
อ่านเพลินอีกแล้ว  เป็นสุขเหลือเกิน นี่จะเช้าแล้ว ยังไม่ได้นอนเลย สนุกมากครับ ได้ความรู้และสาระมากมาย คอยติดตามและเป็นกำลังให้ท่านทั้งหลายได้นำเรื่องที่ดีมีคุณค่ามาให้ชมกันอีก อยากรู้นักหากพวกเด็กรุ่นใหม่ได้อ่าน ยังอยากจะเป็นเกาหลีกันอีกหรือเปล่าครับ  ซาบซึ้งจริงๆ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 09:42
เข้าไปดูกระทู้เก่าๆในห้องประวัติศาสตร์ซิคะ     อาจจะเจอหัวข้อสนุกๆถูกใจคุณ changnoi อีกก็ได้ค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ส.ค. 12, 22:56
เอามาฝากคุณเทาชมพู

http://atcloud.com/stories/100561

 ::)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 12, 14:11
คราวนี้เห็นที่มาชัดขึ้นกว่าครั้งก่อน   ว่าเอามาจากเว็บเรือนไทย 
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพู


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 13 ก.ค. 14, 21:37
หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่อ่านซ้ำหลายรอบทีเดียว และเมื่อวานก็อ่านอีก วันนี้จึงไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมาค่ะ มีรูปหุ่นจีนมาฝากนะคะ  :D


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 13 ก.ค. 14, 21:45
หุ่นจีนอีกรูปค่ะ...


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 13 ก.ค. 14, 21:52
หุ่นอยู่ในตู้ แสงไฟก็ไม่ค่อยสว่างนัก และใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ จึงไม่ค่อยได้ความคมชัดค่ะ มีอีกภาพค่ะที่ถ่ายมาเป็นหุ่นที่อาจารย์ทไม่ได้ซ่อมอยู่ในตู้ด้านในค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ค. 14, 06:44
มีพระสาทิศลักษณ์ของกรมพระราชวังบวรพระองค์สุดท้าย เขียนด้วยสีน้ำมันไม่ปรากฎชื่อผู้เขียน ประดับไว้ที่พระที่นั่งวิมาณเมฆมาอภินันทนาการด้วยครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 14 ก.ค. 14, 11:40
จากข้อเขียนของอาจารย์ สมบัติ พลายน้อย..................

รูปนี้เป็นรูปสำคัญที่หาดูได้ยากอีกรูปหนึ่ง....
หอสูงสี่หอที่ตั้งเรียงกันคือ"ระทา"
เป็นเรือนดอกไม้ไฟซึ่งจะมีเฉพาะงานใหญ่
เช่นงานฉลองวัดหรืองานพระเมรุ
ในรูปนี้เป็นงานพระเมรุกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ(ท่านเขียนอย่างนี้)เมื่อ พศ 2429
ใช้ระทาใหญ่ที่ทำขึ้นคราวฉลองวัดราชประดิษฐฯ  มาใช้ในงานนี้ 12 ระทา
นับเป็นงานทีมีระทามากที่สุด(งานฉลองวัดโพธิ์ในสมัย ร3 มีแค่ 8 ระทา)
เวลาจุดดอกไม้ไฟจะสว่างน่าดูมาก.....

เรือนโรงที่เห็นในภาพนอกจาก ระทา ... ก็เป็นโรงรำ 11 โรง  โขน 2 โรง
หุ่น 1 โรง  งิ้ว 1 โรง หนัง 4 โรง  และที่ขาดไม่ได้คือไม้ตํ่าสูง

งานพระเมรุเริ่ม  7 มิย  2429  ....ตกกลางคืนมีการสมโภช  .....
ครั้นถึงวันที่ 14 มิย 2429  เวลายํ่าคํ่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนและดอกไม้จันทร์
เครื่องขมาศพ เสด็จขึ้นไปพระราชทานเพลิงพระศพ.....

อนึ่ง  เนื่องจากในเวลานั้นมีเจ้านายสิ้นพระชนม์หลายพระองค์  จึงโปรดให้พระราชทานเพลิง
 ณ เมรุตามลำดับ คือ
กรมขุนภูวไนยนฤเบนทราธิบาล 20 มิย
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามัณยาภากร 28 มิย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณ 5 กค .....

(พิมพ์ไม่เก่งข้อความไหนที่ไม่น่าสนใจ ผมก็ใส่จุดไว้   ข้ามไป ขออภัย)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 14 ก.ค. 14, 11:45
มีภาพลายเส้นของเมรุปูน วัดสระเกศ  แสดงระทาไว้ด้วย อีกภาพหนึ่ง


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ก.ค. 14, 17:56
จากข้อเขียนของอาจารย์ สมบัติ พลายน้อย..................

รูปนี้เป็นรูปสำคัญที่หาดูได้ยากอีกรูปหนึ่ง....
หอสูงสี่หอที่ตั้งเรียงกันคือ"ระทา"
เป็นเรือนดอกไม้ไฟซึ่งจะมีเฉพาะงานใหญ่
เช่นงานฉลองวัดหรืองานพระเมรุ
ในรูปนี้เป็นงานพระเมรุกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ(ท่านเขียนอย่างนี้)เมื่อ พศ 2429
ใช้ระทาใหญ่ที่ทำขึ้นคราวฉลองวัดราชประดิษฐฯ  มาใช้ในงานนี้ 12 ระทา
นับเป็นงานทีมีระทามากที่สุด(งานฉลองวัดโพธิ์ในสมัย ร3 มีแค่ 8 ระทา)
เวลาจุดดอกไม้ไฟจะสว่างน่าดูมาก.....



ภาพนี้มีการบรรยายที่นำไปใช้หลากหลายมากๆ ซึ่งส่วนมากจะลากไปสู่งานพระเมรุ แต่ว่าผมไม่เชื่อว่าจะเป็นภาพงานพระเมรุ ซึ่งภาพนี้เป็นงานถ่ายภาพของ
ชาวต่างประเทศ และจัดทำเป็นอัลบั้มไปต่างประเทศ โดยเฉพาะถูกส่งไปยังงานนิทรรศกาลเมืองชิคาโก คิดว่าคงจะไม่นำภาพงานอวมงคลไปปนอยู่ในภาพงาน
มงคลแค่คิดว่าเป็นงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปีมากกว่าครับ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: netirut ที่ 24 มิ.ย. 15, 01:19
ขอเสนอข้อมูล ที่ไม่เป็นที่เปิดเผยและค่อนข้างหาหลักฐานอ้างอิงได้ยากสักหน่อยครับ แต่หากรับทราบไว้พอเป็นความรู้ที่ต้องพิสูจน์กันต่อไปได้หากต้องการ

"พระองค์วังหน้านั้น มีจิตใจฝักใฝ่อย่างยิ่งในทางธรรม เมื่อเยาว์วัย มักชอบเสด็จออกจากวังเพียงลำพังหลายๆวันเพื่อหลีกเร้นไปปฏิบัติธรรมด้วยองค์เอง โดยมีเพียงพระมารดาที่ทรงทราบเท่านั้นว่าจะเสด็จไปที่ใด โปรดการเจริญสมาธิภาวนาอย่างยิ่ง โปรดเรียนคาถาอาคม อักขระเลขยันต์ จนเชี่ยวชาญแตกฉานยิ่ง และมีช่วงเวลาหลายปีที่ได้เสด็จออกจากวังเพียงลำพังเพื่อตามหาครูอาจารย์ที่เก่งเลิศในแผ่นดินสยาม โดยตั้งปณิธานไว้ว่าจักเรียนวิชาให้เก่งกาจเป็นยอดของแผ่นดินให้จงได้ แต่ไปที่ใดก็พบแต่ครูอาจารย์ที่รู้พอๆกับตนเท่านั้น จนกระทั้งผ่านไปหลายปีที่ออกเดินทางเพียงลำพังไปทั่วแผ่นดิน ก็ได้พบกับครูอาจารย์ที่เป็นเลิศในแผ่นดินสมความปรารถนาของพระองค์ได้ พระองค์ทรงศึกษาเรียนสมาธิภาวนา คาถาอาคม อักขระเลขยันต์จากครูอาจารย์ตามป่าเขาอยู่หลายปี จนกระทั่งครูอาจารย์พระองค์สั่งให้เสด็จกลับวังได้แล้ว ด้วยอยู่ร่วมกับครูอาจารย์หลายปี ก็อาลัยไม่อยากจากมา แต่ก็ด้วยจำเป็นแก่กาลเวลาที่เสด็จออกมาจากวังหลายปีแล้วจึงเสด็จกลับด้วยจำใจอย่างยิ่ง ในช่วงเวลานั้นคนในวังต่างก็คิดว่าพระองค์คงสิ้นไปแล้วเป็นแน่ แต่เมื่อเห็นเสด็จกลับมาต่างก็ปิติดีใจกันที่เห็นพระองค์เสด็จกลับมา

เรื่องความเก่งกาจในทางสมาธิ คาถาอาคมนั้น พระองค์ถือได้ว่าเป็นเลิศยอดยิ่งในแผ่นดินสมความปรารถนาจริงๆ ทรงสามารถย่นย่อพระองค์ให้เล็กลงแล้วลงอาบว่านยาในแก้วน้ำได้ ทรงสามารถเสกใบมะขามให้กลายเป็นต่อแตนได้ ว่ากันว่าต้นมะขามหน้าวังนั้น แท้จริงแล้วพระองค์เป็นต้นคิดให้ปลูก ด้วยหวังว่าหากเกิดเหตุใดขึ้นก็จะสามารถเสกใบมะขามทั้งหมดนั้นเป็นต่อแตนป้องกันเมืองได้ ทรงสามารถย่นย่อระยะทางได้ ทรงคาถาอาคมให้หนังเหนียวฟันแทงไม่เข้าได้ ลิ้นของพระองค์เป็นสีดำ ทรงเชี่ยวชาญการเล่นแร่แปรธาตุโดยเฉพาะธาตุกายสิทธิ์ทั้งหลายเช่นการหุงปรอท ทรงชำนาญในกสิณ4 และกรรมฐานทุกกอง

มรดกสำคัญที่ตกทอดให้คนรุ่นหลังที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้ คือ "พระเครื่อง" ทรงโปรดการสร้างพระอย่างยิ่ง ที่เรียกกันว่า "พระวังหน้า" หรือ "พระสมเด็จวังหน้า" โดยมีการสร้างหลายวาระ แต่ครั้งแรกที่พระองค์สร้างพระนั้น คือเมื่อได้ทรงเสด็จกลับจากเรียนวิชาตามป่าเขา และได้สื่อจิตถึงครูอาจารย์ของพระองค์ เมื่อถึงกำหนดวันปลุกเสก ครูอาจารย์ของท่านก็มาปรากฏที่วังหน้าเป็นที่อัศจรรย์และเลื่องลือไปทั้งวัง เนื่องด้วยคืนนั้นมีกลิ่นหอมมะลิหอมฟุ้งตลบอบอวนทั่วทั้งวัง กระทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสถึงพระองค์ว่าได้ครูอาจารย์ดีเป็นที่เลื่องลือในเวลานั้น ต่อมาได้ทรงสร้างพระอีกหลายวาระโดยใช้ช่างวังหน้าที่ทรงอุปถัมภ์เป็นผู้ทำแบบแม่พิมพ์ และมักจะอารธนาสมเด็จฯโต มาเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์เสมอ พระวังหน้าที่สร้างบางส่วนได้แจกใช้ในวัง บางส่วนแจกแก่ทหารเพื่อใช้รบให้ฟันแทงไม่เข้า แต่ส่วนใหญ่บรรจุไว้ในวัดพระแก้วและบางส่วนได้กระจายออกไปบรรจุตามวัดอื่นๆทั่วประเทศตามโอกาสอำนวย แต่ว่ากันว่า มีพระสำคัญบางองค์ที่วังหน้าตั้งใจสร้างพิเศษเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่สมความตั้งใจ เพราะพระที่สร้างพิเศษองค์นั้นมิได้ไปถึงพระหัตถุ์ของพระองค์

ด้วยความสามารถของพระองค์วังหน้าเองนั้น ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เจ้านายผู้ใหญ่จะผลักดันให้พระองค์ได้ตำแหน่งวังหน้าทั้งที่อาวุโสน้อย และก็ไม่น่าแปลกใจเช่นกันที่ฝ่ายวังหลวงจะหวาดระแวงภัย ด้วยสมัยนั้นจะยำเกรงต่อผู้มีวิชาคาถาอาคมมาก แต่ในพระทัยของพระองค์นั้นมิเคยคิดที่จะแย่งชิงสิ่งที่มิใช่ของตนเลย หากแต่เหตุการณ์และคนรอบข้างพาไปให้เป็นเหตุ ทำให้ผู้คนเข้าใจพระองค์ผิดไปด้วยความหวาดระแวงในความสามารถของพระองค์ แท้จริงแล้วทรงมีพระทัยเบื่อหน่ายทางโลก ใฝ่ใจไปในทางธรรมโดยมาก ว่ากันว่าทรงปรารถนาเป็นสิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา ว่ากันว่า บั้นปลายของพระองค์วังหน้านั้น ทั่วไปเข้าใจว่าสิ้นเมื่อ 2428 และมีงานพระเมรุเมื่อ 2429 แต่ความเป็นจริงในงานพระเมรุครั้งนั้นเป็นการเผาใบไม้ พระองค์วังหน้าทรงหาทางออกที่เหมาะสมกับชาติบ้านเมือง เหมาะสมกับความสบายใจของคนในวัง เหมาะสมกับความอยู่รอดปลอดภัยของคนใต้ปกครองตน และเหมาะสมกับความปรารถนาที่แท้จริงของพระองค์เอง ทรงเสด็จออกผนวชในปี 2429 ตามพระอาจารย์ของพระองค์สู่ป่าเขาลำเนาไพร"

ข้อมูลข้างต้นนี้ โปรดอย่าเชื่อเพราะมันขาดหลักฐานอ้างอิง หากจะเชื่อก็ด้วยใช้ใจสัมผัสเท่านั้นครับ ว่ากันว่า.....?



กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 มิ.ย. 15, 06:04
เรื่องแนวๆข้างบนนี้ คนเขียนมโนขึ้นมาเอง หรือไม่ก็ฟังเขาโม้มา


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 15, 10:45
 คนเขียนน่าจะผสมระหว่างสมเด็จพระปิ่นเกล้า กับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
มาอย่างละนิดละหน่อย


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 15, 18:39
ขออธิบายเพิ่มเติมว่า  คนเขียนคงไม่ทราบว่า เจ้านายไม่ใช่คนที่อยากจะไปไหนก็ไปได้ตามใจชอบ    แต่มีกฎมณเฑียรบาลบังคับอยู่อย่างเข้มงวด มากกว่าชาวบ้านหลายเท่า

ในอดีต   กรุงเทพมีเสาหินปักอยู่ทั้ง 4 ทิศ จริงค่ะ    แสดงถึงอาณาเขตเมือง   มีเล่าไว้ในหนังสือ อย่าง "โครงกระดูกในตู้"ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ท่านเขียนไว้ว่า
"ในสมัยนั้น(หมายถึงรัชกาลที่ ๕)  กรุงเทพพระมหานครยังมีเสาหินปักอยู่เป็นอาณาเขตอยู่ทั้งสี่ทิศ    ผู้เขียนยังเคยเห็นเสาหินที่ปักอยู่ริมแม่น้ำทางทิศเหนือนั้นปักอยู่ใต้ตลาดขวัญลงมา    ส่วนทางทิศใต้นั้นปักอยู่ก่อนถึงพระประแดง    พระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จจากพระนครเกินเสาหินนั้นออกไปโดยไม่ได้กราบถวายบังคมลา และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตไม่ได้    ถ้าขืนเสด็จออกไปโดยพลการถือว่าเป็นโทษกบฏ"
อ้างถึง
พระองค์วังหน้านั้น มีจิตใจฝักใฝ่อย่างยิ่งในทางธรรม เมื่อเยาว์วัย มักชอบเสด็จออกจากวังเพียงลำพังหลายๆวันเพื่อหลีกเร้นไปปฏิบัติธรรมด้วยองค์เอง โดยมีเพียงพระมารดาที่ทรงทราบเท่านั้นว่าจะเสด็จไปที่ใด

เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้    ถ้าหากว่าทำจริง พระมารดาหรือเจ้าจอมมารดาของท่านนั่นแหละ จะโดนลงพระราชอาญา


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 15, 18:42
อ้างถึง
พระองค์ทรงศึกษาเรียนสมาธิภาวนา คาถาอาคม อักขระเลขยันต์จากครูอาจารย์ตามป่าเขาอยู่หลายปี จนกระทั่งครูอาจารย์พระองค์สั่งให้เสด็จกลับวังได้แล้ว ด้วยอยู่ร่วมกับครูอาจารย์หลายปี ก็อาลัยไม่อยากจากมา แต่ก็ด้วยจำเป็นแก่กาลเวลาที่เสด็จออกมาจากวังหลายปีแล้วจึงเสด็จกลับด้วยจำใจอย่างยิ่ง ในช่วงเวลานั้นคนในวังต่างก็คิดว่าพระองค์คงสิ้นไปแล้วเป็นแน่ แต่เมื่อเห็นเสด็จกลับมาต่างก็ปิติดีใจกันที่เห็นพระองค์เสด็จกลับมา

เจ้านายระดับพระราชโอรสสมเด็จพระปิ่นเกล้า จะหายตัวออกจากวังไปอยู่ตามป่าเขาหลายปีไม่ได้ ด้วยเหตุผลตามค.ห.ข้างบนนี้   ถ้าหายองค์ไปก็ต้องติดตามหากันเป็นโกลาหล  เป็นเรื่องใหญ่ต้องบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร หรือในพระราชกิจรายวันก็ต้องระบุเรื่องนี้ไว้ด้วย
ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีเรื่องท่านหลบหายออกไปจากวังตั้งหลายปี


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: DrJfk ที่ 16 พ.ย. 16, 13:43
แวะเข้ามาอ่านเก็บความรู้ใส่สมองกลวงๆ ด้านประวัติศาสตร์

ขอบคุณมาก ครับ :)


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 16, 20:44
ถ้าคุณหมอ JFK ชอบเรื่องวังหน้า และประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้
ขอเชิญอ่านอีก 2 กระทู้
คือ
หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5784.0
และ
โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5807.0
ค่ะ


กระทู้: เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 18 พ.ย. 16, 05:54
แวะมาค้นพบกระทู้นี้หลังจากมีผู้โพสต์อีกครั้ง
หลังจากอ่านไปได้ 10 กว่าหน้า ก็ตั้งใจว่าจะเขียนแสดงความรู้สึกว่า กระทู้นี้เต็มไปด้วยหลากหลายรสชาติ มีทั้งศิลปะ ประวัติศาสตร์ การเมือง วรรณกรรม
ปรากฏว่า หน้าถัดมา มีชื่อของกระผมตอบกระทู้ไปแล้ว และตอบไปอย่างที่ตั้งใจจะตอบในตอนนี้ แปลว่ากระทู้นี้เคยอ่านแล้ว แต่ลืมแล้ว ฮ่าๆๆ
มาอ่านอีกรอบก็ยังรู้สึกเหมือนเดิมครับ ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันให้ความรู้และความสนุกสนาน