เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 05, 13:55



กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 05, 13:55
 "ผู้ใดเกิดมาเป็นเจ้า  แต่ต้องแบกเกียรติยศ  ซึ่งเป็นภาระอันหนักยิ่งเนื่องด้วยความไม่มีทรัพย์นั้น  เป็นผู้ที่มีบุพกรรมที่ร้ายกาจที่สุด
เจ้าไม่มีศาลเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง  ในอินเดีย ในรัสเซีย ในประเทศไทย ฯลฯ  
ข้าพเจ้ารู้สึกสังเวช"เจ้า" พวกนี้มาก  และรู้สึกแค้นแทนในความทารุณและความอยุติธรรมของธรรมชาติ  
การเป็นคนจนอยู่ในหมู่ยาจกนั้น เป็นสิ่งที่อาจหาความสบายได้  
แต่ถ้าจะเป็นยาจกอยู่ในหมู่เศรษฐี หรือผู้มีเกียรติยศนั้น..
ข้าพเจ้าจะหยุดอยู่แต่เพียงนี้  อย่าให้ข้าพเจ้าเปรียบต่อไปอีกเลย"

นี่คือหนึ่งในวาทะรันทดของตัวละคร ที่หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ เจ้าชายนักประพันธ์ ทรงเสนอต่อคนอ่าน ในพระนิพนธ์ประเภทนวนิยาย เรื่อง "ผิวขาว ผิวเหลือง "
ทรงสะท้อนไว้ลึกๆถึงความตกต่ำของเจ้านายไทย ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 7  
เป็นภาพตรงกันข้ามกับท่านชายพจน์ ของ"ปริศนา"  โดยสิ้นเชิง

ขอเชิญมานั่งล้อมวงกันในกระทู้นี้ก่อนค่ะ   เพื่อจะเกริ่นถึงความเป็นมาของเจ้าชายองค์นี้ก่อน
ว่าท่านเป็นใครมาจากไหน  


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 05, 14:05
 หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ เป็นโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
เรื่องราวบางส่วนของกรมหลวงราชบุรี ฯ เล่าเอาไว้แล้วในกระทู้ เจ้าพระยามหิธร   เรื่อง" พญาระกา" หาอ่านได้ในกระทู้นั้นค่ะ

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง  ประสูติเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2448  จะครบ 100 ปีในอีก 2 เดือนครึ่งข้างหน้านี้
หม่อมมารดาของท่านคือหม่อมอ่อน

หม่อมอ่อน มีโอรสธิดากับกรมหลวงราชบุรีถึง 11 ท่านด้วยกัน   ทุกท่านมีพระนามคล้องจองกัน  ความหมายเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์  
มาจากส่วนหนึ่งของพระนาม "รพี" ของเสด็จพ่อ
คือ
หม่อมเจ้าหญิงพิมพ์รำไพ
หม่อมเจ้าชายไขแสงรพี
หม่อมเจ้าหญิงสุรียประภา
หม่อมเจ้าชายวิมวาทิตย์
หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส (อ่านเกี่ยวกับพระประวัติได้ ในกระทู้ เจ้าวังปารุสก์)
หม่อมเจ้าชายอากาศดำเกิง (พระนาม หมายถึงลูกไฟในอากาศ ก็คือดวงอาทิตย์)
หม่อมเจ้าชายเพลิงนภดล ( ไฟในอากาศ เช่นกัน)
หม่อมเจ้าชายถกลไกวัลย์
หม่อมเจ้าชายรวิพรรณไพโรจน์
หม่อมเจ้าหญิงดวงทิพโชติ์แจ้งหล้า
หม่อมเจ้าหญิงทิตยาทรงกลด

นอกจากนี้ยังหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงยังมีพระขนิษฐาต่างหม่อมมารดา อีก 2 ท่านคือ
หม่อมเจ้าหญิงคันธรสรังษี และหม่อมเจ้าหญิงรำไพศรีสอางค์


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 05, 14:09
ทั้งที่หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงกำเนิดมาในราชสกุล   มีพระบิดาเป็นเจ้านายสำคัญพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์  
กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากประเทศอังกฤษ  และได้รับการเทิดพระเกียรติว่าเป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย

แต่ถ้าเราเชื่อตามพระนิพนธ์เรื่อง ละครแห่งชีวิต  นวนิยายเรื่องราวเรื่องแรกของท่านอากาศดำเกิง   ว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับพระประวัติ
และทรงเล่าเรื่องผ่านตัวละครเอกชื่อ วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา
ก็จะเห็นว่า เจ้าชายผู้นิพนธ์ มิได้ทรงมีความสุขกับชีวิตเมื่อทรงเยาว์วัยนัก  

อย่างแรก คือทรงรู้สึกว่าเป็นลูกที่พ่อไม่รัก  ผิดกับพี่ๆน้องๆ  และอย่างที่สองคือทรงประสบกับภาวะ "บ้านแตก" เมื่อเสด็จพ่อ และหม่อมแม่แยกทางเลิกร้างกัน ทั้งที่ครองคู่กันมาถึง 20 ปีเศษ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 05, 14:20
 วิสูตร ศุภลักษณ์ฯ ตัวละครเอกของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เล่าภาวะขมขื่นบีบคั้นใจนี้ว่า

"เรื่องคุณแม่จะต้องออกจากบ้านที่ท่านเคยอยู่มาแล้วตั้ง 20ปี ไปอยู่บ้านฝั่งธน  ก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนเรื่องทั้งหลายในครอบครัวขุนนางใหญ่ๆโตๆ ในเมืองไทย
เมื่อภรรยาเป็นฝ่ายที่ชรา  หมดกำลังที่จะสนองคุณได้เช่นเคย ก็เป็นอันว่าต้องถูกปลดชรา
ส่วนสามีนั้นเล่าแม้ว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับภรรยา  แต่ยังมีกำลังวังชาและโภคทรัพย์
ก็คงแสวงหาสิ่งที่ตนไม่มีสิทธิ์ที่จะได้  แต่ก็คงหาได้สมหวัง  โดยการชอกช้ำระกำใจของภรรยาเก่าผู้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยหลายสิบปี
ถ้าภรรยาคนไหนทนได้เพราะความจำเป็น  ก็เฉยนั่งทนดูความเป็นอยู่ของสามี
ส่วนภรรยา  ในทรวงของหล่อนเล่าก็คงมีเลือดอยู่มิขาดสาย อนิจจา..นี่คือภรรยาของคนไทย...แม่ยอดหญิง
ถ้าภรรยาใดทนไม่ไหว และมองเห็นทางพอที่จะหลีกเลี่ยงก็ตัดช่องไปแต่พอตัว
ทิ้งทรัพย์สมบัติที่ตนได้ช่วยสร้างสมมาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปีให้อยู่ในความอารักขาของบุรุษผู้มีใจโลเล   เบื่อเก่าหาใหม่
ส่วนทรัพย์สมบัตินั้นๆ ในที่สุดก็ตกไปอยู่กับเด็กหญิงอะไรที่หน้าตาสวยๆ

ทิ้งให้ภรรยาเก่าและบุตรธิดาของตนก้มหน้าก้มตากินเกลือไปตามยถากรรม
ชีวิต...ชีวิต"

ขอหยุดพักแค่นี้ก่อนค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 05, 09:23
 มีเรื่องเล่าจากผู้ใกล้ชิดราชสกุล ว่าการแยกทางระหว่างกรมหลวงราชบุรีฯและหม่อมอ่อน
มีส่วนจากหม่อมด้วย ที่นิยมเล่นการพนันประเภทหวย จนกรมหลวงราชบุรีฯทรงเบื่อหน่าย

แต่ไม่ว่าสาเหตุแท้จริงจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม  ข้อเท็จจริงที่แน่ๆคือม.จ.อากาศดำเกิงทรงออกจากวัง
มาอยู่กับหม่อมแม่ที่บ้านริมคลองบางจาก  พร้อมกับพระขนิษฐา คือม.จ.หญิงดวงทิพโชติ์แจ้งหล้า  
หรือในนวนิยาย คือตัวละครที่ชื่อว่า "หนูสำรวย"

ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นแห่งแรก  แล้วย้ายมาเรียนต่อที่ร.ร.เทพศิรินทร์  
ทุกวันนี้ก็ยังทรงมีพระนามในฐานะศิษย์เก่าที่ร.ร.ภาคภูมิใจ

ความปราดเปรื่องทางการประพันธ์ เริ่มฉายแววเมื่อทรงแปลเรื่องสั้นๆลงในหนังสือของโรงเรียนเทพศิรินทร์
ชื่อ "เอนีวา ซองครัวต์" และ "ชีวิตนักรบ" ขณะพระชันษาได้ 18 ปีเท่านั้น
และเริ่มส่งเรื่องสั้นแปลอีก 2-3 เรื่องไปลงในนิตยสารศัพท์ไทยรายเดือน  โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า "วรเศวต"

ความหักเหในชีวิตเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯสิ้นพระชนม์ที่อังกฤษ    
ในพินัยกรรม หม่อมเจ้าไขแสงรพี โอรสองค์ใหญ่เป็นผู้ดูแลกองมรดกทั้งหมดเพียงผู้เดียว
หม่อมอ่อนไม่มีส่วนใดๆในทรัพย์สิน

หม่อมอ่อนได้พาโอรสธิดากลับเข้าวังอีกครั้ง   หม่อมเจ้าไขแสงรพีทรงให้ช่างปลูกเรือนให้หม่อมแม่อยู่เป็นสัดส่วน    
ท่านอากาศดำเกิงก็ได้ทรงอยู่ ณ เรือนนั้นกับหม่อมแม่


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า ที่ 01 ก.ย. 05, 19:23
 หม่อมมารดาของ หม่อมเจ้าหญิงคันธรสรังษี คือ หม่อมอะไร นามสกุลเดิมอะไร แล้วหม่อมอ่อนนามสกุลอะไรครับ แล้วพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพัทธประไพ ไม่มีโอรสธิดาหรอครับ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: ภารตี ที่ 01 ก.ย. 05, 21:24

ดิฉันเคยอ่านประวัติของพระองค์ท่านเหมือนกันนะคะ รู้สึกว่าท่านชายอากาศฯ ทรงมีชีวิตที่แสนเศร้า ด้านความรักก็ล้มเหลว  อีกทั้งทรงหมกหมุ่นกับการพนันจนสิ้นเนื้อประดาตัวด้วยใช่ไหมคะ อะไรเป็นสาเหตุให้เป็นเช่นนั้นคะ  และภายหลังรู้สึกว่าพระองค์จะฆ่าตัวตายใช่หรือไม่คะคุณเทาชมพู  


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 02 ก.ย. 05, 07:48
 ค.ห.พ.ต. 6 จะถามหรือจะเล่าซะเองครับ
เอาตอนจบมาเฉลยซะหมด   คนอ่านก็เซ็งดิครับ
รอฟังคุณเทาชมพูเล่าต่อตรับ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 05, 18:11
 สวัสดีค่ะคุณ book  
ต้อนรับกลับเรือนไทยค่ะ
ต่อนะคะ

ด้วยทุนจากองมรดก  หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงเสด็จไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่อพระชันษาได้ 19 ปี  โดยพักอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษ  
แต่โชคชะตาพัดพาให้ทรงเข้าไปคลุกคลีกับแวดวงหนังสือพิมพ์แทนกฎหมายอย่างที่ตั้งพระทัยไว้แต่แรก
เนื่องจากพระพลานามัยไม่สู้ดี ประชวรหนักจนแพทย์ให้พักการเรียนราว 1 ปี ประกอบกับไม่ได้สนพระทัยวิชากฎหมาย
จึงทรงย้ายไปสหรัฐอเมริกา   แต่ก็ไม่ได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากสถาบันใดอีกเช่นกัน
ทรงอยู่ต่างประเทศ 5 ปีก็เสด็จกลับสยาม  ไม่มีปริญญาบัตรก็จริง แต่ก็ทรงมีประสบการณ์ต่างแดนเป็นต้นทุนอย่างดี สำหรับอาชีพนักประพันธ์ที่ทำให้ทรงโด่งดังขึ้นราวกับพลุ ในปีต่อมา


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ย. 05, 09:32
 เมื่อเสด็จกลับมาประเทศไทย    ม.จ.อากาศดำเกิงทรงเข้ารับราชการที่กองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย  
ตามที่เสนาบดีมหาดไทย  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงสนับสนุน

แต่ความสนพระทัยอย่างแท้จริงอยู่ที่การประพันธ์
ดังนั้น ในพ.ศ. 2472  "ละครแห่งชีวิต "จึงออกมาสู่สายตาประชาชน  ในรูปของหนังสือเล่ม ไม่ได้ผ่านการลงเป็นตอนๆมาก่อน
ราคาแพงเป็นประวัติการณ์ถึง 2 บาท  ผิดกับหนังสือนิยายสมัยนั้นที่ราคาเล่มละ 35 สตางค์เท่านั้น

ถ้าหากว่า 35 สตางค์พอเทียบได้กับหนังสือราคา 200บาทสมัยนี้  หนังสือราคา 2 บาท ก็คือเล่มละหนึ่งพันกว่าบาท

"ละครแห่งชีวิต" กลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่  ก่อความตื่นเต้นเกรียวกราวแก่วงการหนังสือ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ขายดี หมดอย่างรวดเร็ว ทั้งที่พิมพ์ถึง 2000 เล่ม ซึ่งเป็นจำนวนมากมายเทียบได้กับหลายหมื่นเล่มในปัจจุบัน

คนอ่านไทย มองเห็นชีวิตในต่างประเทศผ่านสายตาตัวละครไทยเป็นครั้งแรก    
ไม่ใช่เรื่องแปล อย่างก่อนๆที่เคยอ่านกันมา
ท่วงทำนองการเล่า ก็ใช้ภาษาที่กินใจ    แฝงความเศร้าสะเทือนใจ  และมุม
มองแง่คิดที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม อย่างเฉียบคมตรงไปตรงมา
 
ศรีบูรพา ผู้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่ร.ร.เทพศิรินทร์ กล่าวยกย่องไว้ว่า

"เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือละครแห่งชีวิต   โดยฝีปากหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ในปีพ.ศ. 2472   สวรรค์เป็นพยานว่าข้าพเจ้าได้อ่านรวดเดียวจบ    
ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านหนังสือขนาด 500 หน้ารวดเดียวจบ  
ละครแห่งชีวิตเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้ข้าพเจ้ามีความสำเร็จในการอ่านหนังสือ  
ข้าพเจ้าจับใจในความสามารถของเพื่อนผู้นี้อย่างยิ่ง"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 05 ก.ย. 05, 22:38
 กำลังมันส์ครับ  เรียนอาจารย์ครับ แฟนๆบอกว่า แต่ละตอนขอยาวๆหน่อยได้มั้ยครับ  แบบว่าน่าสนใจอ่ะครับ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 05 ก.ย. 05, 23:34
 อาจารย์เทาฯคะ เล่าอย่างเดียวไม่พอ ช่วยวิจารณ์หรือสอดแทรก feeling หน่อยค่ะว่าเป็นเรื่องจริงสะท้อนชีวิตท่านอากาศฯหรือเปล่า ดิฉันจำได้ว่าตอนอ่านเป็นหนังสือนอกเวลามัธยม ดิฉันน้ำตาหยดแหมะ รันทดขื่นขมไปกับนายวิสูตรด้วย ทุกประโยคที่นายวิสูตรเอ่ยเอื้อน ช่างเย็นชาและเชือดเฉือน ถ้าเป็นพี่เป็นน้องท่านจะรู้สึกว่าสาวไส้ให้กากินหรือเปล่า แต่นึกอีกทีอาจเป็นแค่ fiction กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาท่านจะไม่แคร์ลูกขนาดนั้นเชียวหรือคะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 05, 14:58
 สอดแทรก feeling คืออะไรคะ?

คำถามของคุณ ที่ว่า"ละครแห่งชีวิต" เป็นชีวิตของท่านเองหรือเปล่า  มีผู้ถามกันมาก   หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงเคยทรงแบ่งรับแบ่งสู้ว่า

" มีเพื่อนฝูงวงศ์ญาติมาถามข้าพเจ้าเนืองๆ ว่าในการที่ได้เขียนและนำหนังสือ"ละครแห่งชีวิต" ออกจำหน่าย  ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจและดีใจอย่างไรบ้าง?
คำถามเช่นนี้จะมีความหมายเพียงใด  ย่อมแล้วแต่ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ถามกับข้าพเจ้า
มีหลายท่านที่ไม่สามารถจะตกลงใจได้แน่นอนว่า "ละครแห่งชีวิต" เป็นเรื่องของข้าพเจ้า-ผู้แต่ง-เอง  หรือเป็นนิยายเริงรมย์ซึ่งแต่งขึ้นโดยความคิดฝัน   มีผู้อ่านบางพวกลงความเห็นอย่างเด็ดขาดว่า  "ละครแห่งชีวิต" เป็นชีวิตของท่านอากาศ   นายวิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยาก็คือท่านอากาศฯ นั่นเอง  ไม่ใช่คนอื่น
...
บางคนที่ได้เคยรู้จักและติดต่อกับตระกูลรพีพัฒน์มาบ้างแต่ครั้งกระโน้น  เชื่อจนถึงกับบ่นว่า ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องความเป็นไประหว่างวงศ์ตระกูลให้คนทั้งโลกฟังอย่างน่าทุเรศ  ทำนองเดียวกับสาวไส้ให้กากิน"

คงจะด้วยเหตุนี้  ท่านอากาศฯ จึงทรงแถลงว่า
"ละครแห่งชีวิต" ไม่ใช่เรื่องจริง  และไม่ใช่เรื่องของท่านอากาศฯ   แต่การที่ข้าพเจ้าเขียนเรื่องของคนอาภัพ    และเรื่องหนังสือพิมพ์เมืองนอก
ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นวงจรชีวิตดวงเดียวที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็น และรู้จักดี
ข้าพเจ้าต้องการจะเขียนให้ใกล้ความจริงที่สุด   และไม่ต้องการให้ใครมาหัวเราะเยาะได้ว่าเปิ่น"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 05, 11:43
 ตามความเห็นส่วนตัว  ดิฉันคิดว่าหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงก็ทรงจะใช้ภูมิหลังของชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์ เป็นฉากในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย  อาจจะค่อนข้างมาก
เพราะผู้ใกล้ชิดราชสกุลรพีพัฒน์ เล่ากันว่าเมื่อทรงพระเยาว์ ท่านเป็นเด็กที่ค่อนข้างแข็ง  ไม่ประจบเอาใจผู้ใหญ่  
ครอบครัวในสมัยโบราณ มักมีขนาดใหญ่      ทำให้เกิดปัญหาลูกรักลูกชังได้ง่ายกว่าครอบครัวปัจจุบันที่มีลูกคนสองคน  
ลูกๆที่อยากได้ความรักจากพ่อแม่  จึงมักทำตัวให้เป็นที่โปรดปราน  พ่อแม่ก็มักชอบลูกที่ว่านอนสอนง่ายมากกว่าลูกที่ดื้อ หรือทำตัวห่างเหินพ่อแม่
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ไม่รัก

อีกอย่างคือพ่อโบราณ  มีอยู่มากที่ไม่ทำตัวใกล้ชิดเป็นกันเองกับลูก   อาจจะไม่ใช่ทุกบ้าน     แต่ก็มีบ้านที่เป็นแบบนี้เยอะกว่าปัจจุบัน
อย่างบ้านพระยาอนุมานราชธน  (เสฐียรโกเศศ)ท่านก็ไม่คลุกคลีเล่นหัวกับลูก   ท่านรัก แต่ว่ามีระยะห่างพอสมควร ให้เกิดความยำเกรง
เพราะท่านถือหลักว่า Familiarity breeds contempt
เทียบกับสำนวนไทยก็คล้ายๆกับ เล่นกับหมา หมาเลียปาก
คือความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทำให้หมดความเกรงใจ

แต่จะว่าท่านอากาศดำเกิงท่านอาภัพจนเป็นลูกชัง  ก็ไม่น่าจะใช่    ท่านก็ได้รับการอุปถัมภ์จากเชษฐาของท่านเป็นอันดี   ได้ไปเรียนทั้งอังกฤษและอเมริกาถึง 5 ปี  จากเงินมรดกของเสด็จพ่อ
แม้ว่าหม่อมอ่อนไม่มีส่วนในพินัยกรรม  เจ้าพี่ของท่านอากาศดำเกิงก็ไม่ได้ทรงเห็นว่าอนุชาจะต้องพลอยไม่มีส่วนไปด้วย
เป็นไปได้ว่ากรมหลวงราชบุรีฯ ท่านก็ตั้งพระทัยจะให้โอรสของท่านทุกองค์มีอนาคตที่ดี  ไม่ได้กีดกันท่านอากาศดำเกิงออกไปแต่อย่างใด


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 08 ก.ย. 05, 19:36

Old edition.


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 08 ก.ย. 05, 19:51

พิมพ์ครั้งที่ 20 พ.ศ. 2517


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 05, 11:49
 หน้าปกในค.ห. 14  อาจจะแก่กว่าดิฉัน
ส่วนปกในค.ห. 15  คิดว่ารุ่นราวคราวเดียวกับคุณจ้อและคุณอ๊อฟ
**************************************
เนื้อเรื่องของ"ละครแห่งชีวิต"  มีศูนย์กลางอยู่ที่ชายหนุ่มชื่อวิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา
เป็นบุตรของขุนนางสำคัญ  แต่ว่าอาภัพความรักจากบิดา ทำให้มีปมด้อยตั้งแต่เล็ก
ต่อมาวิสูตรได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ   โดยพำนักที่บ้านสามีภรรยาชาวอังกฤษคู่หนึ่ง    
เขาได้พบนักหนังสือพิมพ์สาวชาวอังกฤษซึ่งเป็นเพื่อนกับครอบครัวนี้ ชื่อ มาเรีย เกรย์  
เธอชักนำวิสูตรเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์
วิสูตรจีงมีโอกาสได้ทำงานให้หนังสือพิมพ์ "ลอนดอนไทมส์" แทนที่จะศึกษากฎหมายอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก
แต่วิสูตรก็ "รุ่ง" ในวงการได้ไม่นาน   เขาประสบอุบัติเหตุ ต้องรักษาอยู่นาน
พอฟื้นตัว ร่างกายก็ไม่อาจทนความตรากตรำของอาชีพนักหนังสือพิมพ์ได้อีก
วิสูตรจึงอำลาประเทศอังกฤษไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา     แต่สุขภาพก็บั่น
ทอนเขาจนศึกษาไม่จบ  
เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อมาเริ่มอาชีพนักประพันธ์  
ส่วนไมตรีระหว่างเขากับมาเรีย เกรย์ ก็จบลงเป็นเพียงแค่เพื่อนกันเท่านั้น  
ไม่อาจจะคืบหน้าไปมากกว่านี้ได้  เพราะอุปสรรคหลายอย่างรวมทั้งความแตกต่างกันเรื่องเชื้อชาติด้วย

ความรันทดขมขื่นของวิสูตรที่ประสบอยู่ทุกช่วงชีวิต กลายมาเป็นเสน่ห์ตรึงใจคนอ่าน ตั้งแต่บทแรกจนบทจบ  
คนอ่านสัมผัสอารมณ์เจ็บปวดของตัวละครเอก  จนพลอยรู้สึกร่วมไปด้วย
 ผู้นิพนธ์ทรงบอกเล่าความรู้สึกของวิสูตรอย่างตรงไปตรงมา    หลายตอนแสดงให้เห็นว่าทรงเรียกร้องให้สังคมปรับเข้าหาบุคคลผู้มีปัญหา  ด้วยความเมตตาเห็นอกเห็นใจ มากกว่าจะเมินเฉยหรือตำหนิติเตียน

อย่างเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ให้กำเนิดกับบุตร    ในสมัยก่อนนั้นสังคมไทยมี"ขนบ" ปลูกฝัง "หน้าที่" ของบุตร   เช่นย้ำเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดา    
ม.จ.อากาศดำเกิงทรงแหวก "ขนบ" นี้ไม่มากก็น้อย
ทรงเรียกร้องให้บิดามารดาตระหนักถึง "หน้าที่"  ของตัวเองที่มีต่อบุตร   ไม่ใช่บุตรมีหน้าที่ต่อบิดามารดาฝ่ายเดียว  
ทรงเรียกร้องอย่างตรงๆ ว่า

"  ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ท่านมีใจยุติธรรมพอที่จะให้โอกาสเด็กที่เกิดมามีกรรมอาภัพ  ให้สมกับที่เขาควรจะได้รับในฐานะที่เป็นบุตรและธิดาของท่าน  
แม้ว่าหน้าตาเขาจะไม่สวย  กิริยาท่าทางของเขาจะขวางๆ  รีๆ  ก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาทำมาได้เอง   อย่างน้อยเขาควรจะได้รับความสงสาร  
ท่านมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือเขาบ้างตามสมควร
ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้ท่านรักคนโน้นเกลียดคนนี้   เพราะความรู้สึกเช่นนี้ของท่านจะปั้นชีวิตของเด็กต่อไปภายหน้า"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: อ๊อฟ ที่ 13 ก.ย. 05, 09:30
 ยังแอบอ่านอยู่ครับ    


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 05, 13:13
 ยกโซฟามาให้นั่งแถวหน้าเลยค่ะ คุณอ๊อฟ เขยิบที่ให้แฟนด้วยนะ  
**********************************
ความคิดของวิสูตร ถ้าหากว่าเป็นสมัยนี้ก็ไม่แปลกอะไรนัก  เพราะเราคงได้ยินจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ครู ฯลฯ เรียกร้องให้พ่อแม่เข้าใจลูกกันบ่อยๆ
แต่เมื่อ เจ็ดสิบกว่าปีก่อน ในยุคก่อนประชาธิปไตย   ข้อคิดแบบนี้เป็นความแหลมคมเสียดแทงใจคนอ่านจำนวนมาก  
เพราะคนที่รู้สึกคล้ายคลึงกัน  หรือเห็นอกเห็นใจลูกอย่างวิสูตร  ก็มีไม่น้อย แต่ไม่มีใครกล้าพูดกันเปิดเผย  
ในยุคที่ถือความเคารพและความกตัญญูเป็นใหญ่  มันเหมือนกับการ ตำหนิติเตียนบุพการี  แฝงอยู่ในการเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ

เสน่ห์อีกประการหนึ่งใน "ละครแห่งชีวิต" ก็คือการใช้ชีวิตในต่างประเทศ ของตัวละครไทย   เป็นมุมใหม่ของนิยายไทยที่ไม่มีมาก่อน    
ก่อนหน้านี้ คนอ่านไทยมักมองเห็นบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ในต่างแดนจากเรื่องแปลเสียมากกว่า  
ซึ่งก็แน่นอนว่าตัวละครต่างชาติเหล่านั้น ไม่เคยรู้เห็นอะไรเกี่ยวกับสยาม ความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของพวกเขา ก็เป็นแบบคนที่อยู่คนละซีกโลกกับคนไทย
ผิดกับวิสูตรซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยสายตาคนไทย  สำนวนไทย  ความคิดอ่านแบบไทย   ทำให้คนอ่านติดตามเรื่องราวด้วยความรู้สึกจับอกจับใจ เหมือนคำบอกเล่าของคนใกล้ตัว      
นอกจากนี้ คนอ่านตื่นเต้นกับความแปลกใหม่ของฉาก เหตุการณ์ ตัวละครฝรั่ง ที่พระเอกเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิด อย่างที่คนอ่านทั่วไปไม่มีโอกาสสัมผัส
อีกอย่างก็คือ แม้มีกลิ่นอายของตะวันตกอยู่ในฉากและตัวละคร   แต่รสชาติ
ของนิยายก็ยังเข้มข้นแบบไทยๆ  
ความอาภัพของลูกชัง   ความรักที่มีกำแพงขวางกั้น ไม่อาจฝ่าฟันไปได้    ความรันทดของชายหนุ่มที่ถูกโชคชะตากำหนดให้เคราะห์ร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เป็นแนวคุ้นเคยที่คนไทยเสพได้ไม่รู้สึกแปลกแยก

ความสามารถในการผสมกลมกลืนชีวิตตะวันตกเข้ากับอารมณ์แบบตะวันออก  เป็นสิ่งที่ม.จ.อากาศดำเกิงทรงทำได้ดี    เป็นแรงบันดาลให้เกิดนวนิยายไทยรุ่นหลังๆอีกหลายเรื่อง ที่ใช้ตัวละครเอกคนไทยไปดำเนินชีวิตในต่างแดน เช่นกัน  
อย่างเช่น ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา   ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง  ของ สด กูรมะโรหิต ฯลฯ  


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 05, 11:57
 ในปีต่อมา คือ พ.ศ.  2473  มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เรื่อง เกิดขึ้นในชีวิตม.จ.อากาศดำเกิง  
เหตุการณ์แรกคือ นวนิยายเรื่องที่สอง  "ผิวเหลืองผิวขาว" ตีพิมพ์ออกมา  เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนอ่านพากันต้อนรับกันคับคั่ง  
เรื่องนี้ได้ชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องที่สองในพระนิพนธ์ทั้งหมด รองลงมาจาก "ละครแห่งชีวิต" เนื้อหาดำเนินเรื่องต่อจากเรื่องแรก

ส่วนเหตุการณ์สำคัญอย่างที่สอง คือ "ละครแห่งชีวิต" ได้รับคำวิจารณ์จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  ลงในนิตยสาร"ศรีกรุง"
ยุคนั้นการวิจารณ์เป็นของใหม่สำหรับคนไทย   เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงวิจารณ์ ก็เป็นที่ฮือฮาสำหรับคนอ่าน  

อันที่จริงพระองค์จุลฯ ท่านก็ไม่ได้ทรงเจาะจงวิจารณ์หนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะเพียงเล่มเดียว   ท่านสนพระทัยเรื่องอักษรศาสตร์  และทรงนำการวิเคราะห์วิจารณ์แบบตะวันตกมาใช้ในการวิจารณ์หนังสือต่างๆของไทย


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 05, 11:58
 "ละครแห่งชีวิต" ได้รับทั้งคำชมเชยและคำติ
ส่วนที่พระองค์จุลฯ ทรงเห็นว่าดี  อยู่ในด้านฝีมือการประพันธ์ และกลวิธีการแต่งของผู้นิพนธ์  ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่   ให้ความสะเทือนอารมณ์ได้อย่างดี

ตัวอย่างจากคำวิจารณ์
"ข้าพเจ้าชอบตอนที่บรรยายถึงสถานที่ต่างๆตลอดเล่ม   ข้าพเจ้ารู้สึกจับใจมากเมื่อได้อ่านถึงชีวิตคับแค้นแสนเศร้าโศกของตัวพระเอก ( ผู้แต่งเองใช่ไหม) เมื่อยังเยาว์อยู่...
เป็นการนิพนธ์บรรยายความรู้สึกที่จัดได้ว่าอยู่ในขั้นสูง..

ตอนที่ทรงแต่งดีอีกก็คือ เมื่อได้เล่าถึงเด็กอีกคนหนึ่งได้ถูกโบย  โดยที่มิได้ทำความผิดอะไรเลย   ความจริงพระเอกนั้นเองเป็นผู้ทำผิด    
แต่กระนั้นเพื่อนของพระเอกยังได้ยอมให้ตนถูกโบย    โดยไม่เผยความจริงเลย   ทำให้พระเอกบังเกิดความรู้สึกเป็นครั้งแรกว่าในโลกนี้มีคนดี
มีใจโอบอ้อมอารีคิดถึงคนอื่นบ้าง  แทนที่จะคิดถึงแต่ตนเอง  
และทรงลงเอยโดยประโยคเดียวว่า
"ในโลกนี้มีคนอย่างประดิษฐ์" (นั่นคือนามของมิตรผู้นั้น)
ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเข้าทีมาก  
และจนบัดนี้ สังเกตว่ายังมิได้มีผู้ใดใช้วิธีนี้มากนัก ในบรรดานักแต่งไทย"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 05, 12:03
 "การที่ทรงบรรยายอย่างละเอียดและตรงกับความจริง   ถึงความสกปรกโสโครกองเมืองท่าเรือ  เช่นโกลัมโบ และปอร์ตเสด
และความชั่วช้าคดโกงของคนพื้นเมืองที่มักจะมาคอยมุง กวนคนโดยสารอยู่ตามท่าเรือ
ก็ทรงทำได้ดีตรงกับความจริง
การที่ทรงชมเชยนายร้อยเอก และนางแอนดรูส์ ผู้สำนักอยู่ ณ เมือง เบ็กสะฮิลล์ ก็ทำได้โดยใจจริงแท้ๆ
และทำให้เห็นว่า ผู้แต่งทรงรู้จักรำลึกถึงบุญคุณของคนอื่นๆ ได้ดีอย่างน่าชมยิ่ง"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 05, 13:02
 "การที่ผู้แต่งพาผู้อ่านท่องเที่ยวไปตามเมืองหลวงต่างๆ ของทวีปยุโรป และเมืองใหญ่ๆในอเมริกา  
ย่อมจะเป็นการให้ความรู้และเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน   ซึ่งมิได้มีโอกาสเช่นเดียวกันที่จะได้ไปเห็นสถานที่เหล่านั้น
ย่อมเป็นการกระทำอันควรได้รับการสรรเสริญ

ข้อดีๆต่างๆเหล่านี้ เป็นที่พอใจแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก     และเห็นว่าผู้แต่งควรได้รับความชมเชยอย่างเต็มที่
ท่านได้เปิดหนทางซึ่งคนอื่นๆ ควรจะเดินตาม   ต้องขอยอมรับว่าได้ทรงทำดีมาก"
แต่ข้าพเจ้าเกรงว่าการชมเชยจะต้องยุติแต่เพียงนี้

ถ้าหากว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงยุติคำวิจารณ์เพียงแค่นี้ เหตุการณ์ก็คงจบเพียงแค่นี้
แต่ว่าทรงเห็นว่าคำชมเชยแค่นี้ ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์    และผู้นิพนธ์ ควรจะมองเห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของ "ละครแห่งชีวิต"
คนอ่านก็ควรได้รับความคิดเห็นด้วยเหมือนกัน
จึงทรงวิจารณ์ต่อไป     ก็เลยกลายเป็นเรื่องขึ้นมา

โปรดอดใจรอเจ้าของกระทู้ พิมพ์ต่อในสัปดาห์หน้าค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: ดารากร ที่ 18 ก.ย. 05, 18:39
 จะมารออ่านนะคะ คุณเทาชมพู    


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 05, 10:19
 มาแล้วค่ะ คุณดารากร  

ข้อเสียของหนังสือ ที่พระองค์จุลฯทรงเห็นก็คือ
"...ข้าพเจ้าออกจะสงสัยว่าท่านผู้แต่งอยากจะ "อวดฉลาด" มากเกินไปสักหน่อย...การสร้างอะไรขึ้นมา  ซึ่งจะให้เป็นของแปลกกว่าที่ใครๆเคยทำมาเสียเลยนั้น เป็นของยากนักหนา  นอกจากผู้นั้นจะเป็นปราชญ์โดยกำเนิด
แม้ข้าพเจ้าจะมีความนับถือ ม.จ.อากาศฯ เท่าใดก็ดี  ไม่สามารถจะถวายเกียรติยศว่าทรงเป็นปราชญ์โดยกำเนิดได้
ม.จ.อากาศฯทรงพยายามจะทำให้หนังสือของท่านเป็นหนังสือแปลกและอย่างใหม่  โดยที่เป็นทั้งเรื่องเริงรมย์และเรื่องจริง
ผลของการกระทำครั้งนี้ก็ลงรูปเดียวกับการพยายามที่จะทำของอันแปลกในทางศิลป โดยศิลปินผู้มีความสามารถปานกลาง
คือไม่ดีเลย  และทำความลำบากแก่ผู้วิจารณ์ด้วย
เพราะผู้วิจารณ์ไม่สามารถจะตกลงใจได้ว่า จะตัดสินหนังสือนี้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องสมมุติ"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 05, 10:21
 ดิฉันขอสรุป จะได้ไม่ต้องพิมพ์ข้อความยาวเหยียดทั้งหมดว่า  สิ่งที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเห็นว่าเป็นข้อเสียของเรื่อง

ก็คือท่านอากาศฯทรงใช้ตัวละครสมมุติและบุคคลจริงๆปะปนกันไปหมดทั้งเรื่อง    

จนกระทั่งวิจารณ์ไม่ถูกว่าอะไรจริงอะไรสมมุติ ทำให้ตัดสินลงไปยากว่าตรงไหนเป็นจินตนาการ ตรงไหนเป็นเรื่องจริง



เช่น วิสูตร์ พระเอกของเรื่องเป็นตัวละครสมมุติ   พ่อของวิสูตร์คือพระยาศุภลักษณ์เป็นตัวละครสมมุติ  

ดังนั้นเหตุการณ์ในเรื่องระหว่างพ่อกับลูกก็ย่อมเป็นเหตุการณ์สมมุติ

จะวิจารณ์ออกความเห็นก็เป็นไปตามการวิจารณ์นิยาย



แต่ท่านอากาศฯ ไม่ได้ยึดหลักสมมุติไว้ตลอดเรื่อง   เพราะท่านให้วิสูตร์ไปเจอบุคคลจริงๆมีตัวตนอยู่ในความเป็นจริง

 เช่นวิสูตรไปญี่ปุ่น เจอพระยาจำนงค์ ฯ อัครราชทูตไทยประจำประจำประเทศญี่ปุ่น  



ในเรื่อง วิสูตร์ไม่พอใจการกระทำของพระยาจำนงฯ อย่างมาก ถึงกับบรรยายไว้ว่า

" ข้าพเจ้าเป็นคนไทย   แต่เมื่อข้าพเจ้าไปถึงประเทศญี่ปุ่น เป็นการประหลาดมากที่สถานทูตไม่ประสงค์จะรับข้าพเจ้า  หรือช่วยเหลือข้าพเจ้าเลย

พระยาจำนงค์ฯ ซึ่งเป็นอัครราชทูตในครั้งนั้น 'ปิดประตู' และไม่ปรารถนาให้ข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานทูตแต่อย่างใด

ราวกับว่าข้าพเจ้าเป็นคนถูกเนรเทศ"



พระองค์จุลฯ ทรงเห็นว่า

"นี่เป็นถ้อยคำปรักปรำอย่างรุนแรงเป็นแน่แท้   ดังนั้นถ้าวิสูตร์เป็นแต่เพียงตัวสมมุติแล้ว  ก็ออกจะเป็นการปรักปรำพระยาจำนงค์ฯอย่างแรงเกินไปละกระมัง"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 05, 10:34
 พระองค์จุลฯทรงแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อไปว่า

" ถ้าวิสูตร์ซึ่งพระยาจำนงค์ฯ ได้ละเลยไม่ช่วยเหลือ   คือท่านผู้แต่งเอง    ถ้าดังนั้นทำไมเราได้ยินแต่ความผิดของพระยาจำนงค์ฯ   ถึงที่เหตุการณ์บางอย่างในชีวิตของผู้แต่งเองบางเรื่อง ทำไมไม่เห็นวิสูตร์ได้กระทำสิ่งเหล่านั้นบ้างเล่า   อย่างนี้เรียกว่ายุติธรรมหรือ"

ข้อนี้   ดิฉันตีความว่า พระองค์จุลฯทรงหมายความว่า ถ้าท่านอากาศฯขัดแย้งกับพระยาจำนงค์ฯ ในชีวิตจริง  ทำไมถึงกล่าวโทษพระยาจำนงค์ฯ ฝ่ายเดียว     โดยไม่กล่าวถึงสาเหตุหรือเล่าเหตุการณ์ออกมาทั้งหมดทุกแง่ทุกมุม ให้คนอ่านเห็น 100% จะได้รู้ว่าใครถูกใครผิด    ท่านอากาศฯ ทรงปิดบังการกระทำของวิสูตร์ แต่กลับแฉเฉพาะการกระทำของพระยาจำนงค์ฯ อย่างนี้จะเรียกว่ายุติธรรมหรือ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 05, 10:35
 " แต่ถ้าวิสูตร์ไม่มีตัวตน   อย่างนั้นการที่จะปรักปรำพระยาจำนงค์ฯว่าละเลยคนที่ไม่มีตัวจริง   ก็แปลว่าด่าพระยาจำนงค์ฯว่าไม่ได้ทำผิดอะไรเลย
ข้าพเจ้าอยากจะขอออกตัวไว้ในที่นี้ว่าไม่เคยเป็นเพื่อนกับพระยาจำนงค์ฯ    เป็นแต่เคยพบและจับมือกับท่านครั้งหนึ่งในกรุงปารีส  ก่อนถึงแก่กรรมไม่กี่วัน
การที่ข้าพเจ้าเขียนท้วงนี้   เพราะเห็นกับความยุติธรรม  ความสุภาพ และการกระทำอย่างนักกีฬา  
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อเกี่ยวข้องกับคนที่ตายไปแล้ว"

และทรงตำหนิว่า

" การที่จะถือสิทธิ์ของผู้แต่งประวัติ    ถึงเวลาจะด่าก็ด่าไม่ว่าใคร   ด่าเสียอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของมหาชนนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ผิด
ถ้ามีคนกล้าทำอย่างนั้นมากๆ ก็จะยิ่งดี   แต่ตนเองอย่าแอบอยู่หลังหน้ากากของการสมมุติสิ   และอย่าเล่นกล้ากล่าวนามจริงๆ ถึงแต่บางคนที่ตนไม่ชอบและไม่กลัว"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: นันทิ ที่ 23 ก.ย. 05, 11:54
 ขอบคุณมากค่ะ  รออ่านต่อตอนต่อไปค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 05, 09:46
 มาเล่าต่อค่ะ
พระองค์จุล ฯ ทรงเห็นว่า
" น่าเสียดายที่ถึงเวลาจะปรักปรำบิดาหรือสหายแล้ว ม.จ. อากาศฯ ก็ใช้นามแฝงปิดบังเสียให้กลายเป็นคนสมมุติไป    แต่คนอื่นๆที่ท่านเกลียดแล้ว  ท่านปล่อยนามจริงๆออกมาให้มหาชนพลอยเกลียดไปด้วย    
ถ้ามหาชนมีสิทธิที่จะทราบว่าพระยาจำนงค์ฯ เป็นราชทูตชนิดใดแล้ว   มหาชนก็มีสิทธิที่จะทราบว่าตัวละครอื่นๆนั้นเป็นใครจริงๆด้วย
แต่บางทีผู้แต่งทำการแต่งจริงกับเล่นผสมกันเช่นนี้    เพื่อจะให้เป็นของแปลก  ข้าพเจ้าได้ท้วงแล้วว่าการทำของแปลกนั้นทั้งยากทั้งอันตราย"

และรายละเอียดอีกอย่างใน "ละครแห่งชีวิต" ที่พระองค์จุลฯทรงเห็นเป็นข้อด้อยทางด้านวรรณศิลป์  ก็คือ ท่านอากาศฯ ทรงบรรยายถึงสตรีในเรื่อง โดยใช้ราชาศัพท์บรรยายรูปร่างหน้าตา  แม้ว่าสตรีนั้นเป็นสามัญชนก็ตาม  

ดิฉันขอขยายความว่า  สมัยนั้นนักประพันธ์(รวมทั้งนักแปล) นิยมใช้ราชาศัพท์กันแบบนี้ค่ะ เช่น มารดาข้าพเจ้ามีวงพักตร์เป็นรูปไข่   คือไม่ยักเขียนว่า วงหน้า หรือดวงหน้า  อย่างสมัยนี้

พระองค์จุลฯทรงประณามวิธีการบรรยายแบบนี้ว่า "วิธีนิพนธ์อย่างนักแปลชั้นเลวที่แปลไม่สู้จะเป็น  คือพูดถึงอวัยวะของสตรีเป็นต้องใช้ราชาศัพท์"

อันที่จริงก็มีข้อตำหนิในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยอีก 2-3 เรื่อง แต่ประเด็นสำคัญคือพระองค์จุลฯ ทรงไม่เห็นด้วยกับวิธีการผสมเรื่องจริงกับเรื่องสมมุติ     ทรงประเมินว่า

"หนังสือนี้คล้ายๆกับยุโรปยุคกลาง   พยายามที่จะเป็นสองอย่างพร้อมๆกัน
คือ คริสตศาสนาจักรและโรมันอาณาจักร   และผลที่สุดก็เลยเป็นดังที่นักแต่งสมัยนั้นเขาเรียกว่า
สัตว์ร้ายอันมีสองศีรษะ   หายใจออกมาเป็นความยุ่งเหยิง
หนังสือจะเป็นได้แต่เรื่องจริงหรือเรื่องสมมุติ   จะเป็นทั้ง 2 อย่างพร้อมๆกันไม่ได้"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 05, 09:48
 แต่ก็ทรง "ลูบหลัง"ไว้ในตอนท้ายว่า

" แต่ถึงกระนั้นก็เป็นหนังสือที่ควรอ่าน    เพราะนอกจากข้อผิดสำคัญนี้แล้ว   นับว่าเป็นการก้าวหน้าอย่างหนึ่งสำหรับนักอักษรศาสตร์ไทย
น่าเสียดายที่ม.จ.อากาศฯเลี้ยวทางผิด   และทำให้งานอันน่าจะเป็นชิ้นสำคัญกลับกลายมาเป็นเสียไปดังนี้

แต่ถึงกระนั้น อย่าได้ทรงท้อพระทัย    เราทุกๆคนเรียนจากการพลาดพลั้ง
ถ้าถือเป็นตัวอย่างภายหน้าได้แล้ว  อาจกลับเป็นประโยชน์
หนังสือนี้แสดงให้เห็นได้ว่าท่านเชี่ยวชาญในการผูกเรื่องสมมุติ   ม.จ.อากาศฯ ต้องทรงลองนิพนธ์ใหม่อีก"

โปรดติดตามว่าม.จ.อากาศดำเกิง ทรงตอบว่ายังไงนะคะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 05, 11:31
 เมื่อม.จ.อากาศดำเกิงทรงอ่านบทวิจารณ์นี้  ก็กริ้วพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์มาก    ความกริ้วของท่านมีมากน้อยแค่ไหน และกริ้วในเรื่องใด  เห็นได้จากบทนิพนธ์ที่โต้กลับมา

แค่อ่านย่อหน้าแรก ก็ "แรง" แล้วค่ะ



"ข้าพเจ้าอดรู้สึกขันไม่ได้   เมื่อได้อ่านคำวิจารณ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์...ข้อวิจารณ์ตลอดเรื่องไม่เป็นสาระ ไร้เดียงสาอย่างทารก   ประกอบด้วยคำกล่าวหาอย่างผิดๆ  และแถมความโม้เย่อหยิ่ง"



ท่านอากาศฯ ทรงออกตัวว่าทีแรกท่านก็ไม่คิดว่าจะตอบ   แต่บรรดาพระสหายคะยั้นคะยอให้ตอบ  เพื่อ "ต่อสู้ป้องกันงานชิ้นหนึ่งที่เหล่าสหายได้ถือว่าเป็นงานอันมีเกียรติอย่างสูงยิ่ง ที่ข้าพเจ้าได้เคยทำมาในชีวิตของข้าพเจ้า" ท่านก็เลยทรงอนุโลมตามเพื่อน  เพราะ " การทำตามใจเพื่อนคงเป็นการกระทำอันสุขุมยิ่งขึ้น  หรือช่วยให้ความเขลาลดน้อยลง  เพราะเราจะอยู่โดยไม่มีเพื่อนไม่ได้"



แล้วก็ทรงยกคำวิจารณ์ของพระองค์จุลฯ มาโต้เป็นข้อๆ    ถ้าจะลงในนี้ก็ยาวเหยียดเกินไป   ดิฉันขอยกตัวอย่างมาบางเรื่องเท่านั้น



"เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าได้ทรงแถลงกับท่าน  ว่าข้าพเจ้า 'กำลังพยายามที่จะเป็นคนฉลาด' เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องพยายามที่จะฉลาด  เพื่อจะแต่งหนังสือตั้ง 360 กว่าหน้า    ข้าพเจ้าไม่มีใจจะปฏิเสธความจริงนี้

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระองค์จุลเป็นนักศึกษาผู้เชี่ยวชาญ   และหวังว่าพระองค์คงจะพยายามฉลาด   วันหนึ่งทรงแต่งหนังสือให้บุคคลในสมัยของพระองค์ได้มีโอกาสได้รับการศึกษา"

แปลง่ายๆก็คือ ถ้าพระองค์จุลเก่งจริงก็ลองแต่งหนังสือดูบ้าง


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 28 ก.ย. 05, 20:39
 ขอเรียนถาม อ. เทาชมพูค่ะว่า ท่านอากาศฯ ได้ตรัสตอบแต่ละจุดที่พระองค์จุลฯ ทรงวิจารณ์มาบ้างไหมค่ะ เช่น

1) ประเด็นวิธีนิพนธ์อย่างนักแปลชั้นเลว ที่พูดถึงอวัยวะของสตรีเป็นต้องใช้ราชาศัพท์

2) ประเด็นที่ทรงใช้ตัวละครสมมุติและบุคคลจริงๆปะปนกันไปหมดทั้งเรื่อง
ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 05, 09:45
 คุณ Nuchan ถามถึงตอนที่เรียบเรียงยากที่สุดในกระทู้นี้

คำถามข้อแรก ขอตอบว่า ท่านอากาศฯ ไม่ได้ทรงตอบประเด็นนี้
คำถามข้อที่สอง   ท่านอากาศฯ ท่านก็ไม่ได้ตอบตรงๆอีกนั่นแหละ  แต่ท่านยกเรื่องของพระยาจำนงฯขึ้นมาตอบว่า

" ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศญี่ปุ่น 4 เดือน  รู้จักพระยาจำนงค์ฯพอที่จะรู้ว่าเจ้าคุณเป็นคนอย่างไร   เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าไม่เคยสมาคมกับเจ้าคุณเลย   เพียงแต่ได้จับมือกันอย่างเบาๆครั้งเดียวที่กรุงปารีส
ข้าพเจ้าขอชมเชยความองอาจและกล้าหาญของพระองค์อย่างเต็มใจ ที่ได้ช่วยป้องกันคนซึ่งพระองค์ไม่รู้จัก
ถึงอย่างไรก็ดี  พระยาจำนงค์ฯได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว  และหนังสือของข้าพเจ้าก็ได้ออกมาสู่โลกเพียงสองวันก่อนที่เจ้าคุณถึงแก่กรรม   มันช้าเสียแล้วที่จะไปแก้ไขอย่างหนึ่งอย่างใด
ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจอย่างลึกซึ้ง"

สรุปอีกทีก็คือท่านอากาศฯ ทรงชี้แจงว่า ท่านรู้จักเจ้าคุณจำนงค์ฯ ว่าเป็นคนอย่างไร  (หมายเหตุ: ก็คือเป็นคนที่มีอะไรบางอย่างน่าตำหนิ อย่างที่วิสูตรพูดเอาไว้ในนิยาย)  ส่วนพระองค์จุลนั้นไม่รู้จักเจ้าคุณจำนงฯ แต่ก็ยังอุตส่าห์ออกมาปกป้อง
แต่ถึงท่านอากาศฯ จะยอมรับคำวิจารณ์ของพระองค์จุลฯ ในเรื่องนี้ก็สายเกินไปที่จะแก้ไข  เพราะเจ้าคุณฯ ถึงแก่กรรมเสียแล้ว

ดิฉันก็มึนๆเหมือนกันว่าจะตีความคำตอบของท่านอากาศฯว่ายังไง     ตามความเข้าใจของดิฉัน  ท่านคงหมายความว่า บุคคลจริงๆที่ท่านเอ่ยถึงในนิยายมีพฤติกรรมยังงั้นจริงๆ ในโลกความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นถ้าพระองค์จุลฯจะสงสัยว่าวิสูตร (ซึ่งเป็นตัวละครสมมุติ) ประสบ  หรือท่าน(ผู้เป็นบุคคลจริงๆ)ประสบมากันแน่   ก็ไม่เห็นต่างกันตรงไหน  
เพราะยังไงบุคคลที่เป็นเป้าหมายนั้นก็มีพฤติกรรมน่าตำหนิ อันเดียวกัน


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 05, 09:55
 ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมท่านระบุชื่อจริงของพระยาจำนงฯ แทนที่จะสมมุติให้เข้ากับเรื่องซึ่งเป็นเรื่องแต่ง

ท่านอากาศฯให้เหตุผลว่า

" ข้าพเจ้าต้องการให้นักเรียนไทยทุกคนที่อยู่ต่างประเทศเมื่อได้อ่าน "ละครแห่งชีวิต" แล้ว  จะได้รู้จักที่ทางต่างๆที่ตนได้ไปถึง
และให้รู้จักบุคคลที่เป็นผู้แทนชาติของตนด้วยว่าเป็นผู้แทนชนิดไร
การทำเช่นนี้คงไม่เป็นความผิดทางอาชญาแน่นอน    ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าเรื่องที่ข้าพเจ้าแต่งนั้นได้กระทำไปอย่างซื่อสัตย์ยิ่ง
ข้าพเจ้าไม่มีใจร้ายต่อพระยาจำนงค์ฯเลย   เหตุผลที่ข้าพเจ้ามีแต่เรื่องบกพร่องของพระยาจำนงค์ฯมาแต่งขึ้นนั้น  ก็เพราะข้าพเจ้าต้องการที่จะทำประโยชน์"

ความเห็น: ถ้าเป็นภาษาหนังสือพิมพ์ยุคปัจจุบัน   อาจจะตรงกับพาดหัวข่าวว่า "แฉเจ้าคุณ...." อะไรทำนองนี้


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 29 ก.ย. 05, 20:16
 ขอบพระคุณ อ. เทาฯ สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมค่ะ
ดิฉันยังติดใจ 2 ประเด็นคือ เหตุผลแท้จริงที่ท่านอากาศฯใช้ราชาศัพท์กับสามัญชน และสื่อที่ท่านอากาศฯใช้โต้ตอบกับพระองค์จุล ว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้อ่านเสมอกันหรือไม่

หากจะวิเคราะห์ผู้ประพันธ์และผู้วิจารณ์ ดิฉันเห็นว่าทั้งสององค์เป็นคู่มวยที่ถูกลีก ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิที่เสมอเหมือน แต่เหตุที่ท่านอากาศฯเป็นเจ้าน้องของท่านหญิงชวลิตฯ อาจทำให้ทั้งผู้ประพันธ์และผู้วิจารณ์ มี    เพอสันแนล ฟิวด์ ติดองค์มาบ้างก็เหลือจะคาดได้ อย่างไรก็ตาม ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า
1)   ท่านอากาศฯ ทรงจำนนต่อเหตุผลว่าการปรักปรำพระยาจำนงค์ฯ ผู้ล่วงลับ เหมือนการเผด็จเป้านิ่ง เป็นการไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ท่านก็ทรงเสียทัย แต่ก็มิอาจเยียวยาได้
2)   การที่ท่านอากาศฯ “แบ่งรับแบ่งสู้” ในการใช้ร่างสมมติของนายวิสูตร เป็นตัวเดินเรื่องและพาดพิงถึงตัวตนจริงของบุคคลอื่นๆ เป็นการยอมรับโดยปริยายว่าบทวิจารณ์ของพระองค์จุลเป็นจริง
3)   จากเหตุผลหลายๆข้อที่พระองค์จุลหยิบยก เท่ากับทรงชี้เป็นนัยว่า ละครแห่งชีวิต “ยังไม่สมราคา”
ในวัย 22 พรรษา ต้องนับว่าพระองค์จุลเป็นเจ้าชายนักประพันธ์อีกพระองค์หนึ่ง ที่ทรงวิเคราะห์วรรณกรรมได้แตกฉาน ชี้ชัด และไม่ไว้หน้า “หนังสือจะเป็นได้แต่เรื่องจริงหรือเรื่องสมมุติ จะเป็นทั้ง 2 อย่างพร้อมๆกันไม่ได้”


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 05, 14:04
 คุณ Nuchan คะ  ถ้าหากเป็นนักมวย เจ้านายทั้ง 2 องค์ก็นับว่า" หมัดหนัก" ด้วยกันทั้งคู่  และปล่อยหมัดกันสุดแรง  ไม่ใช่แค่แย็บๆ ปัดๆป้องๆ
ท่านอากาศฯ  ไม่ใช่บุคคลประเภท "ขอน้อมรับคำติชมด้วยความขอบคุณ และจะนำไปปรับปรุงงานชิ้นต่อๆไปให้ดีขึ้น"
ตรงกันข้าม  ท่านสวนกลับมาด้วยความแรง( ไม่น้อยกว่าพระองค์จุลฯ หรืออาจจะมากกว่า) ตั้งแต่ต้นๆบทความแล้วว่า

"เขาได้เคยกล่าวกันไว้แล้วว่า  ซึ่งผู้ยกตนเองว่าเป็นนักวิจารณ์วรรณคดีนั้นเกิดมาเพื่อรื้อทำลายของออกเป็นชิ้นๆ   พวกนี้มิได้เห็นอะไรในธรรมชาติของมนุษย์นอกจากความผิด
ดีแต่เห็นตนเองสำคัญนั่นแหละ เป็นลัทธิที่ร้ายกาจที่พวกดำรงชีวิตบูชาอยู่
ข้าพเจ้าต้องพยายามที่จะบอกอย่างแจ่มแจ้งให้ท่านฟังว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรกับคำวิจารณ์นั้น
ดูช่างคล้ายกับการวางยาเบื่อสุนัขตามถนน   อย่างที่คนได้จัดยัดสตริคนินเข้าไปในก้อนเนื้อซึ่งน่ากิน
แล้วก็คอยจนกว่าเจ้าตัวเจ้ากรรมที่ได้เร่ร่อนอยู่  แวะเข้ามากินจากมือเช่นนั้น
ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่านั่นเป็นอุทาหรณ์ซึ่งไม่สู้งามนัก    แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะหาอุทาหรณ์ใดมาเปรียบเทียบได้เหมาะไปกว่าที่ได้ยกมาแล้ว"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 05, 14:22
ส่วนคุณภาพของ "ละครแห่งชีวิต" ท่านอากาศฯ ประเมินงานของท่านด้วยความภูมิใจ    น้ำเสียงของท่าน มีแววเชือดเฉือน อยู่ในความสละสลวยของการใช้คำ
"เสด็จนักวิจารณ์สู้อุตส่าห์กล่าวว่าหนังสือของข้าพเจ้าใช้ไม่ได้    และหาว่าข้าพเจ้าเดินผิดทาง   จึงเป็นเหตุให้งานที่สมควรได้รับความเชิดชูกลับเสียหาย
บางทีพระองค์อาจจะกล่าวถูกก็ได้
แต่"ละครแห่งชีวิต" ได้พิมพ์ออกจำหน่ายในประเทศสยามสองครั้งแล้ว  และครั้งที่ 3 ก็กำลังจะออกอยู่ไม่ช้า   ขายได้ถึงสี่พันเล่มในท้องตลอด  
เป็นสถิติใหม่ของการขายหนังสือในประเทศสยาม   ดีกว่าสถิติเก่าอย่างมากมายตั้งพันกว่าเล่ม
ถ้าหนังสือใช้ไม่ได้แล้ว  ข้าพเจ้าก็พอใจอย่างเต็มที่  
อย่างน้อยข้าพเจ้าก็ยังได้รับความปลอบใจ   และข้าพเจ้าก็สามารถกล่าวได้คล้ายๆกับท่านเชคสเปียร์ว่า
แต่เพี้ยนกันเล็กน้อย  คือท่านได้กล่าวว่า "การจากกันแม้นำความโศก  ก็เป็นความโศกอย่างหวาน"
แต่ข้าพเจ้าก็พูดได้ สำหรับเรื่องของข้าพเจ้าว่า "ความไม่สำเร็จเป็นความโศกอย่างหวาน"

ตอนท้าย  ดิฉันขอขยายความอีกนิดหน่อยค่ะ
คำพูดของเชคสเปียร์ ในตอนนี้  หมายถึงประโยคว่า Parting is such sweet sorrow มาจากเรื่อง Romeo and Juliet
ขออภัยที่ต้องเอายาหม้อใหญ่มาให้คุณ Nuchan กินอีกแล้ว
มันอยู่ในตอนที่โรมิโอปีนกำแพงสวนขึ้นไปสารภาพรักกับจูเลียตซึ่งอยู่บนระเบียงห้องนอน    เป็นฉากรักเด่นที่สุดของเรื่อง    
หลังจากรำพันฝากรักกันจนจะจบฉากแล้วก็ถึงตอนอำลา   พระเอกก็อ้อยอิ่งไม่อยากจากไปสักที  นางเอกก็เลยกล่าวอาลัยอาวรณ์ว่า
Good night, good night
Parting is such sweet sorrow,
That I shall say good night till it be morrow.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงแปลว่า
ลาก่อน  ลาก่อน  อ้า! การลานี้โศกชื่นใจ
จนน้องนี้ใคร่อยากล่ำลาจนอุษาสาง

ท่านอากาศฯ คงจะหมายความว่า หนังสือที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ดี(เทียบกับความโศก) แต่มหาชนกลับต้อนรับอย่างเอิกเกริกเป็นประวัติการณ์ (ความหวาน)  ก็คือยังมีข้อดีในความไม่ดี
แปลอีกทีก็คือ ท่านภูมิใจกับความเห็นของมหาชนที่ต้อนรับหนังสือของท่านด้วยดี  แม้ว่ามีนักวิจารณ์โจมตีก็ตาม  ถ้าเทียบกันแล้วใครผิดใครถูก สถิติการจำหน่ายย่อมประกาศได้เองในตัว


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 30 ก.ย. 05, 22:41
 อ. เทาฯ พูดถึง Romeo ตรงนี้ดิฉันก็พอนึกออกค่ะ เพราะบรรทัดที่ยกมาเป็นเพชรน้ำเอกที่มีชื่อเสียงในหมู่วรรณคดีด้วยกัน เหมือนกับ To be or not to be… ในเรื่อง Hamlet  

จำได้ว่า Romeo และนางเอก  พิรี้พิไร ร่ำลากัน กอดกันแล้วแยกจากก้น แล้วกลับไปกอดกันอีกครั้งแล้วครั้งเล่า อาจารย์ทีสอนก็ใส่แอคชั่นตอนอ่าน ส่วนดิฉันก็ภาวนาว่าเมื่อไรจะจบเสียที  ทั้งคู่ระล่ำระลักจนกระทั่ง Juliet หลุดวาทะหวานแหวว ถือว่าเป็นการพลัดพรากอย่างเจ็บปวด แต่ก็เปี่ยมสุขที่ทั้งสองได้นัดแนะ จะมาพบกันอีกในวันรุ่งขึ้น

กลับมาพินิจดูปูมหลังของท่านอากาศฯ ชีวิตที่ลุ่มๆดอนๆของท่าน สภาพบ้านแตกสาแหรกขาดของครอบครัว ความสำเร็จทางวรรณกรรมตั้งแต่แต่อยู่ในรั้วเทพศิรินทร์ แรงศรัทธาของผู้อ่าน อีกทั้งกำลังสนับสนุนของทูลกระหม่อมนครสวรรค์ฯ ที่ทรงประทานเงินทุนในการจัดพิมพ์ ทำให้ดิฉันพอเข้าใจเหตุแห่งความลำพอง ถือว่าท่านก็ทรงเป็นหนึ่งในตองอูเหมือนกัน ดังนั้น ”พระเกียรติ” ที่ได้มานี้ เป็นสมบัติชิ้นเดียวที่พอจะทดแทนส่วน  ”ขาด” ได้ จึงทรงต้องปกป้องสุดชีวิต  แต่การที่ทรงเปรียบเปรยงานวิจารณ์ของพระองค์จุลว่าเหมือนกับการวางยาเบื่อสุนัขและใจจดใจจ่อให้สุนัขมาติดกับ ดิฉันคิดว่าเป็นคำพูดที่เค้นมาจากสภาพจิตใจที่ร้าวราน เพราะในฐานะนักเขียนท่านทรงสามารถลิขิตชีวิตตัวละครจากร้ายให้กลายเป็นดี มีความสุขได้ แต่ชีวิตของตัวท่านเองทรงกำหนดไม่ได้

ตรงกันข้าม พระองค์จุลทรงมีชีวิตเหมือนจับวาง คาบช้อนเงินช้อนทองมาแต่กำเนิด ไม่ต้องหารสั้นหารยาวกับใคร ไม่มีไฟแค้นที่อัดอั้นในทรวง จะทรงวิจารณ์งานชิ้นใดก็ทำได้แบบตรงไปตรงมา เพราะในโลกเจริญที่แวดล้อมพระองค์ ไม่มีวรรณกรรมใดแตะต้องไม่ได้

ถึงตรงนี้ต้องรอให้ อ. เทาฯ เล่าต่อค่ะว่าคู่มวยเลียแผล เดินแยกย้ายกลับเข้ามุม หวังประลองแค่หอมปากหอมคอ หรือพระองค์จุลทรงรวบรวมพละกำลัง หวังปล่อยหมัดตรงตีโต้ในยกหน้า


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 05, 18:54
ขอย้อนไปถึงคำวิจารณ์ตอนท้ายๆของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  ทรงท้วงในอีกประเด็นหนึ่งของเรื่องว่า วิสูตร์ ไปเรียนที่อังกฤษเพียง 1 ปี แต่สามารถก้าวเข้าไปเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ Times
และอีกไม่ช้าก็ก้าวไปอีกขั้น คือได้เป็นคอลัมนิสต์ เขียนวิจารณ์บทละครพูด  ตีพิมพ์ใน Times
ทรงเห็นว่า "เป็นการหนักมือไปสักหน่อยกระมัง?  อยากทราบว่าหนังสือพิมพ์ ไตมส์ ได้ยินเข้าจะว่ากระไร"

และทรงติงต่อไปว่า

"ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ "ไตมส์" มาเสมอๆนานแล้ว   แต่ไม่เคยยปรากฏเลยว่ามีผู้เขียนประจำซึ่งใช้นามแฝงชนิด "บ๊อบบี้" เช่นเดียวกับวิสูตร์  
ก่อนจะแต่งถึงความภายในของหนังสือพิมพ์  ม.จ.อากาศฯ ควรจะทำพระองค์ให้คุ้นเคยแต่เพียงกับหน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์เสียก่อนจะดี"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 05, 18:55
 ข้อนี้เห็นจะต้องเท้าความอีกว่า  หนังสือพิมพ์ Times เป็นหนังสือพิมพ์สำคัญของอังกฤษ   อ่านกันตั้งแต่กษัตริย์ลงมาจนถึงสามัญชน  ปัญญาชนก็อ่านกันมาก
ดังนั้นนักข่าวหรือคอลัมนิสต์ ก็น่าจะเป็นประเภทมือระดับเซียน ถึงจะได้รับคัดเลือก
หนุ่มน้อยอย่างวิสูตร์ เพิ่งมาจากตะวันออก เรียนได้ 1 ปีในประเทศอังกฤษ จะเก่งกาจถึงขั้นเป็นนักข่าวของ Times และภาษาดีถึงขั้นเป็นคอลัมนิสต์ประจำเชียวหรือ
ถ้าหากว่าวิสูตร์เป็นตัวละครสมมุติ  สมมุติให้เป็นนักข่าว Times มันก็ไม่สมจริง
ถ้าหากว่าจะอ้างว่าเป็นเรื่องจริง  พระองค์จุลฯ ท่านก็ไม่เคยพบว่ามีนักข่าวหรือคอลัมนิสต์ชื่อ "บ๊อบบี้" หรือคล้ายคลึงกันอย่างที่เอ่ยไว้ในเรื่อง  
เพราะฉะนั้นท่านก็ไม่คิดว่าท่านอากาศฯ เป็นนักข่าวของ Times จริง ในนามบ๊อบบี้หรืออะไรก็ตาม


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 05, 18:56
 คำโต้ตอบของม.จ.อากาศฯ ในประเด็นนี้ ก็คือ
"...พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงกล่าวว่าข้าพเจ้าเขลา   ไม่รู้ละเอียดถึงเรื่องอันเป็นโครงสำคัญของหนังสือของข้าพเจ้า  คือ การจัดพิมพ์หนังสือ
เป็นการน่าสงสารมากที่เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าไม่แถลงให้พวกเราได้ทราบว่า พระองค์ทรงเข้าพระทัยหรือเปล่าว่าหนังสือพิมพ์คืออะไร
ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้พระองค์อ่านหนังสือของเซอร์ฟิลิพ กิบส์  แล้วพระองค์จะทรงรู้สึกว่าข้พเจ้าไม่เขลาอย่างที่พระองค์ได้คิดไว้

ส่วนประเด็นที่พระองค์จุลฯ ทรงชมเชย ละครแห่งชีวิต  ท่านอากาศฯก็ทรงขอบพระทัย อย่างเชือดเฉือนตามแบบของท่านอีกครั้ง
"ก่อนที่จะจบ  ข้าพเจ้าจะไม่ลืมที่จะขอบพระทัยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อย่างเต็มอกเต็มใจ ที่ได้ทรงพอพระทัยในบทรำพันภาพต่างๆ ตลอดเรื่องของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าหวังว่าพระองค์จะได้กล่าวเช่นนั้นโดยซื่อสัตย์จริงๆ"
จบ

คำถามของคุณ Nuchan ขอตอบคราวหน้าค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 09:33
 พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประหลาดพระทัยมากเมื่อได้อ่านคำตอบโต้รุนแรงของม.จ.อากาศดำเกิง
เพราะทรงเห็นว่า สิ่งที่ทรงเขียนไปก็คือคำติชม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของวัฒนธรรมการวิจารณ์หนังสือ
นักเขียนอังกฤษที่ผลิตผลงานออกมาสู่สาธารณชน  ย่อมรู้ว่ามีสิทธิ์เจอการวิจารณ์  ไม่มากก็น้อย   ถ้าไม่เจอคำชมก็เจอคำติ  หรือเจอทั้งสองอย่างในบทความเดียวกัน
ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครตอบเป็นเรื่องเอาเป็นเอาตาย  ส่วนจะไปบ่นอุบอิบหรือฟ้องเพื่อนฝูง นอกเวที นั่นก็อาจจะทำกันได้
ม.จ.อากาศดำเกิงทรงทำงานในแวดวงหนังสือพิมพ์ที่อังกฤษ และข้ามไปต่อที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มีวัฒนธรรมการวิจารณ์คล้ายคลึงกัน
พระองค์จุลฯจึงไม่ทรงนึกว่า ท่านอากาศฯมีปฏิกิริยาราวกับว่าเป็นเรื่องส่วนตัวกันระหว่างเจ้านาย 2 องค์
ก็เลยไม่ทรงกล่าวตอบอะไรอีก   เรื่องก็จบกันไป
(คืออย่างน้อยดิฉันก็ไม่พบว่าทรงวิจารณ์พระนิพนธ์ของม.จ.อากาศดำเกิงอีก)


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 09:35
 ม.จ.อากาศดำเกิง ทรงมีผลงานที่รวมเล่ม 4 เล่มด้วยกันคือ ละครแห่งชีวิต  ผิวเหลืองผิวขาว  และรวมเรื่องสั้น ชื่อ วิมานทลาย และครอบจักรวาล
นอกจากนี้มีพระนิพนธ์ภาษาอังกฤษชื่อ  East or West คาดว่าส่งไปลงในหนังสือพิมพ์อังกฤษ  แต่ตามรอยไม่พบ
ในบั้นปลาย เมื่อเสด็จไปอยู่ที่ฮ่องกง  ก็มีบทความภาษาอังกฤษอีกหลายบท   แต่กระจัดกระจาย ไม่มีผู้รวบรวม  จึงสูญหายไปตามกาลเวลา

มีประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งในพระนิพนธ์ของม.จ.อากาศดำเกิง ที่น่าสนใจ   คือภาพสะท้อน "เจ้าไม่มีศาล" ที่ปรากฏอยู่หลายครั้งในตัวละคร หรือแนวคิดต่างๆ กระจายอยู่ในผลงานหลายเรื่อง
คำนี้ หมายถึงเจ้าที่ชาติกำเนิดสูง มียศศักดิ์  แต่ว่าไม่มีเงินทองพอจะพยุงเกียรตินั้นไว้ให้สูงสมฐานะ
ความเป็นเจ้าจึงกลายเป็นภาระหนักอึ้งบนบ่า   เป็นตัวประหลาดในสังคม  เข้ากับใครไม่ได้  
จะเข้าสมาคมเจ้านายด้วยกันก็ถูกปฏิเสธว่า "ต่ำเกินไป "
จะอยู่กับสามัญชน  ก็กลมกลืนกันไม่สนิท  เพราะมีฐานะสูงศักดิ์เป็นสิ่งกีดขวางเอาไว้  
ผลคือความขมขื่นคับแค้นที่ไม่อาจลบล้างได้


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 09:37
 ถ้าจะถามว่า ทัศนะของม.จ.อากาศดำเกิง คือทัศนะของสังคมหรือว่าทัศนะส่วนตัว   ดิฉันเห็นว่าเป็นทัศนะส่วนตัวของท่าน    แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า "เจ้าไม่มีศาล" มีแต่ในความเห็นของท่านคนเดียว
เจ้านายที่ยากจน ไม่อาจดำรงฐานะให้สูงส่งได้มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว  ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าเป็นหม่อมเจ้าพระองค์เจ้าแล้ว จะต้องมีวังหรูหราเหมือนท่านชายพจน์พระเอกของ"ปริศนา" เสมอไป  เจ้านายที่ร่ำรวยโก้หรูอย่างนั้นอาจจะจำนวนน้อยกว่าเจ้าที่ไม่ร่ำรวยเสียอีก

ลองมาอ่านทัศนะของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงกล่าวถึงเจ้าที่ร่ำรวยและยากจนดูนะคะ
"เป็นธรรมดา คนชอบดูแต่ความโอ่อ่าฟุ้งซ่าน และ bluffing (สิ่งที่หลอกให้ลวงตา)ยิ่งกว่าการที่เป็นอยู่จริง
ฉะนั้น มนุษย์ที่เรียกว่า เจ้า  จึงมักจะถูกหาว่ามั่งมีนัก   และถ้าเจ้ามีแล้วก็ต้องแปลว่า ทำนาบนหลังคน
ทำไมเรื่องเจ้าจนๆ จึงไม่มีใครเอามาปาฐกถากันบ้าง?


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 09:37
 ข้าพเจ้าจะเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งที่น่าฟัง    วันหนึ่งมีผู้หญิงกระเดียดกระจาดใส่ห่อหมกเข้าไปขายหม่อมเจ้าหญิงเม้า  พระชายากรมหลวงสรรพสาตร์ฯ  
ท่านเม้าเห็นเข้าก็ตกใจ  ร้องทักออกไปว่า "ตาย ท่านแดง ทำไมท่านมากระเดียดกระจาดขายของอย่างนี้?"
หญิงคนนั้นก็โบกมือให้นิ่ง  แล้วตอบว่า
"ท่านแดงที่โกนจุกปีเดียวกับท่าน ตายนานแล้ว   คนนี้ชื่ออีแดง  ขายห่อหมก"
ท่านเม้าจึงเรียกถามเบาๆว่าเรื่องเป็นอย่างไร
ท่านแดง(nick name) ตอบว่า
" พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย  พี่น้องก็ไม่มี  จะทำอย่างไร    ฉันก็ไปบอกกระทรวงวัง ถอนบัญชีเลยว่าท่านแดงนั้นตายแล้ว  เพื่อจะมาหากินเลี้ยงชีวิตไม่ให้เสียเกียรติของเจ้า"
ท่านเม้าก็เลยให้เงินช่วย ไปเลี้ยงตั้งตัว   แต่ท่านแดงก็เลยสาบสูญไป  ไม่มีใครพบปะอีก
ป่านนี้ก็เห็นจะอยู่กับพ่อแม่ของท่านแล้วดอกกระมัง


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 05, 10:14
 คุณ Nuchan หายเงียบไป ไม่มีใครเข้ามาแจม

ดิฉันไม่ทราบว่าสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  สำนักพิมพ์คิดค่าลิขสิทธิ์ให้นักเขียนกันยังไง  
คิดหนเดียวแล้วพิมพ์กี่ครั้งก็ได้   หรือว่าคิดเป็นครั้งอย่างในปัจจุบัน
ในเมื่อไม่ทราบก็เลยตอบไม่ได้ว่า ท่านอากาศฯ ทรงมีรายได้จากการเป็นนักประพันธ์ เป็นกอบเป็นกำหรือไม่
หรือว่าเป็น "นักประพันธ์ไส้แห้ง" อย่างที่เป็นสมญาประกอบอาชีพนี้ กันมาในยุคโน้น

จะว่าไปนักประพันธ์ ถ้าทำงานสม่ำเสมอเป็นอาชีพ  ก็มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว    สามารถส่งเสียบุตรธิดาให้ได้เรียนสูงๆ  หรือบางท่านก็เรียกว่าฐานะดีทีเดียว
แต่ถ้าทำเป็นงานอดิเรก  ไม่สม่ำเสมอ   หรือว่าผลงานตีพิมพ์น้อยมาก   ก็แน่นอนว่ารายได้ไม่มากพอจะเลี้ยงชีพ  แต่ถ้าถือว่าเป็นรายได้เสริม  ก็ย่อมดีกว่าทำงานประจำจ๊อบเดียว

อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าท่านอากาศฯ ทรงมีรายได้ไม่เลวนัก  เพราะผลงานของท่านคนอ่านก็ต้อนรับอย่างดี   แม้ว่าจำนวนคนอ่านน้อยกว่าสมัยนี้มาก  แต่อย่าลืมว่าค่าครองชีพสมัยโน้นก็ต่ำกว่าสมัยนี้ชนิดเทียบกันไม่ได้  หนึ่งบาทสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจจะมีค่าเท่า 1000 บาท สมัยนี้
แต่จะให้ท่านร่ำรวยอย่างเศรษฐีก็ยังเป็นไปไม่ได้อีก     ท่านก็ยังรับราชการอยู่ระหว่างผลิตผลงาน


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 05, 10:35
 ที่เล่าเรื่องรายได้  ก็เพราะมันนำไปสู่ปัญหาใหญ่อีกหลายประการในชีวิตของม.จ.อากาศดำเกิง
ปัญหาแรกคือปัญหาหัวใจ

เชื่อกันว่า ผู้หญิงคนแรกที่ทรงรัก ก็คือหญิงสาวชาวตะวันตก ชื่อมาเรีย วันชินี ผู้กลายมาเป็น มาเรีย เกรย์ ใน "ละครแห่งชีวิต"
แต่ก็จบลงด้วยความไม่สมหวัง  เพราะความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติและวัฒนธรรม  ทำให้ไม่กล้าพามาเรียมาเผชิญชีวิตในสยาม  
ท่านก็กลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างชายหนุ่ม หัวใจยังว่าง

ริมคลองผดุงกรุงเกษม เทเวศร์  มีวังเจ้านายอยู่ใกล้ๆกัน 3 วัง คือวังของกรมหลวงราชบุรีฯ  
วังของกรมหลวงปราจีณฯ ต้นราชสกุล ประวิตร
และวังของกรมพระจันทบุรีฯ
ทั้งสามพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระโอรสธิดาต่างก็คุ้นเคยกันดี  เสด็จไปมาหาสู่เล่นหัวกันอย่างพี่ๆน้องๆ มาตั้งแต่ยังทรงอยู่ในวัยเยาว์

วังของกรมหลวงปราจีณฯ ได้ชื่อว่ามีความเป็นอยู่ทันสมัย มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6  หม่อมเจ้าธิดาของวังนี้ก็งดงาม เป็นสาวสมัยใหม่ที่เก๋และฉลาด เฉลียว
ในจำนวนนี้คือหม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร  ผู้ซึ่งต่อมานักอ่านไทยรู้จักในนาม "ดวงดาว" เจ้าของเรื่อง "ผยอง" "เคหาสน์สีแดง" "เชลยศักดิ์" ฯลฯ

เมื่อท่านอากาศฯมีพระชันษา 23  ท่านหญิงสวาสดิ์ฯ มีพระชันษา 17  กำลังเป็นสาวสวยที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น  
ท่านอากาศฯทรงโด่งดังจากผลงานประพันธ์   ท่านหญิงก็โปรดเรื่องหนังสือหนังหา    ความรักจึงก่อตัวขึ้นในพระทัย อาจจะมากกว่าครั้งแรกเสียอีก
ท่านจึงกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ผู้ที่ท่านทรงเคารพนับถือสูงสุดให้เป็นผู้ใหญ่ไปทาบทามท่านหญิงสวาสดิ์  ต่อหม่อมช้อยผู้เป็นมารดา   ในตอนนั้นกรมหลวงปราจีณฯสิ้นพระชนม์ไปหลายปีแล้ว
แต่ท่านอากาศฯ ไม่ทรงทราบว่า ท่านหญิงสวาสดิ์ฯมิได้มีพระทัยตอบสนองท่าน      คำตอบของหม่อมช้อยจึงกลับมาในลักษณะการปฏิเสธ  ไม่ให้ความหวังใดๆ
ท่านอากาศฯ ทรงอกหักถึงขั้นน้ำพระเนตรตก ทีเดียว


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 05 ต.ค. 05, 17:28
 มาต่อค่ะ...
ดิฉันอ่านละครแห่งชีวิตนานแล้ว ไปหาซื้อ ผิวเหลืองผิวขาว ที่แผงหนังสือ 2-3 แห่ง แต่ไม่มี ตอนนั้นสงสัยว่าเหตุใดท่านอากาศฯ ทรงผลิตงานออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย!

เมื่อมองดูความรักครั้งที่สองของท่านอากาศฯ  ดิฉันนึกถึงความรักของหนุ่มสาวสมัยก่อน เช่น เมื่อคุณเปรมปิ๊งแม่พลอย ก็ส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ โดยมิทันถามใจสาวเจ้าว่ามีใจให้หรือเปล่า สามสิบปีผ่านไป ท่านอากาศฯต้องพระทัยท่านหญิงสวาสดิ์ฯ ก็ทรงทูลทูลกระหม่อมหม่อมบริพัตรฯให้ไปขอ โดยมิทรงไตร่ตรองว่าท่านหญิงมีพระทัยตอบหรือไม่  สมัยก่อนเป็นอย่างนี้หรือคะ (กรณีคุณเปรมอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี เพราะว่ารูปงาม พ่อแม่ถึงแก่กรรมแล้ว (สำคัญ!)  แถมมีทองคำแท่งเรียงซ้อนกันตั้งแต่พื้นจดฟาก และยังมีเงิน 8,000 บาท ให้แม่พลอยไปไถ่บ้านคลองบางหลวง)
*****
เมื่อนึกถึงท่านอากาศฯ ดิฉันก็นึกถึงศรีบูรพาควบคู่กันไปด้วย รายได้นักเขียนสมัยนั้น ต่อให้แย่แค่ไหน ก็น่าจะทำให้  “ยืนอยู่บนลำแข้งตนเองได้” กลางปีพ.ศ. 2473 ศรีบูรพาไปยึดหัวหาดทำ “หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองใหม่” โดยส่งไม้ผลัดให้มาลัย ชูพินิจ รับดำเนินการต่อนิตยสารรายปักษ์     ”สุภาพบุรุษ” ซึ่งประกอบด้วยนักเขียนร่วมรุ่น ว่ากันว่าหนังสือสุภาพบุรุษยุคนั้น กิจการกำลังก้าวหน้าและทำรายได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นถ้าท่านอากาศฯจะร่วมกลุ่มกับเพื่อนนักเขียนร่วมสมัย ก็น่าจะเลี้ยงองค์รอด

ในขณะที่ศรีบูรพาเลือกเนรเทศตนเองไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศจีนเพราะการเมือง ความรักอย่างเดียวหรือเปล่าค่ะ ที่ทำให้ท่านตัดสินใจเนรเทศตนเองไปฮ่องกง อีกทั้งยังใจจดใจจ่อใคร่รู้ว่า หลังวัยเบญจเพสไม่นาน ชีวิตท่านเป็นไปตามวัฏสงสาร (อย่างธรรมชาติ) หรือท่านเลือก “การุณยฆาต” ตามเสียงลือค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 05, 08:40
 ดิฉันยังนึกสงสัยอยู่บ่อยๆว่า การแต่งงานสมัยก่อนโน้น ที่เจ้าสาวแทบไม่รู้จักเจ้าบ่าวเลยจนถึงวันแต่งงาน  เขาอยู่กันมาได้ยังไงยาวนานจนตายจากกัน
สมัยนี้รู้จักกันดี รักกันมาหลายปีจนได้แต่ง  แต่งไปไม่เท่าไร หย่ากันแล้ว

นึกไปนึกมา ก็คิดว่าการแต่งงานในสมัยก่อน คงเทียบได้กับการเริ่มประกอบอาชีพของผู้หญิง    การพิจารณาเจ้าบ่าวก็คล้ายๆพิจารณาบริษัทหรือหน่วยงานที่จะเข้าไปทำงาน  ว่ามีความมั่นคงแค่ไหน ก้าวหน้าแค่ไหน
ส่วนบริษัททาสีอะไร  ห้องทำงานกว้างหรือแคบ  ไม่ใช่เกณฑ์ตัดสินใจ

ความเหมาะสมกันของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ก็เหมือนเธอได้ทำงานตรงกับสาขาที่เรียนมา   ไม่ต้องปรับตัวมาก
คุณเปรม  ก็เหมือนบริษัทใหญ่  เงินเดือนสูง สวัสดิการเพียบ สำหรับแม่พลอยไงคะ  ถ้ามองในแง่นี้

ท่านอากาศฯ คงจะทรงเห็นว่าด้วยชาติกำเนิดท่านก็เหมาะสมจะเป็นเขยของวังประวิตร    
พูดถึงการงานท่านก็มีงานราชการซึ่งถือว่าเป็นหลักมั่นคง  พูดถึงชื่อเสียงท่านก็เป็นนักประพันธ์ชื่อเสียงโด่งดัง มีรายได้
ไปขอท่านหญิงสวาสดิ์ ฯ  ผู้ใหญ่ทางท่านคงไม่รังเกียจ
แต่ผลกลับตาลปัตร   ฝ่ายหญิงไม่สมัครใจจะทำงานบริษัทนี้


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 05, 08:49
 ฟังคุณ Nuchan วิเคราะห์เรื่องรายได้นักเขียน ก็นึกขึ้นได้ว่า มาลัย ชูพินิจ หรือ "แม่อนงค์" ก็ลาออกจากงานครูมาเป็นนักเขียนอาชีพ   ท่านก็มีฐานะมั่นคง เลี้ยงดูครอบครัวส่งเสียบุตรธิดาให้จบมหาวิทยาลัยได้
ก.สุรางคนางค์ ก็เขียนนิยาย มีรายได้มากพอให้ลูกๆได้รับการศึกษาอย่างดี ถึงไปเรียนต่างประเทศ
"อรวรรณ" อีกท่านหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยจากอาชีพนักประพันธ์

ถ้าหากว่าท่านอากาศดำเกิงจะยึดอาชีพการประพันธ์เป็นหลัก  รายได้ท่านก็อาจจะไม่น้อย หรือดีกว่าเงินเดือนราชการ
แต่ก็ไม่พบว่าท่านได้อำลาราชการไปทำงานด้านหนังสือเต็มตัว   อาจจะเป็นเพราะสังคมในสมัยนั้นยกย่องอาชีพราชการว่ามั่นคงและมีหน้ามีตา
ความเป็นหม่อมเจ้า ก็คงจะทำให้ท่านเห็นเกียรติของอาชีพราชการด้วย

กลับไปเล่าต่อถึงชีวิตรักของท่านอากาศดำเกิง

ความรักครั้งที่สองของท่านอากาศฯ ก่อตัวขึ้นที่วังกรมพระจันทฯ   กับหม่อมเจ้าหญิงทรงอัปษร กิติยากร
แต่คราวนี้ เป็นการใฝ่รักอย่างเงียบเชียบ   ไม่ถึงขั้นขอให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขออีก เพราะท่านอากาศฯ ก็คงจะทรงรู้ตัวว่าไม่มีหวัง
ในเมื่อท่านไม่หวัง ท่านก็ไม่ผิดหวังเมื่อท่านหญิงเสกสมรสไป   แต่จะเศร้าพระทัยหรือไม่เราก็คงเดาคำตอบกันได้


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 05, 08:50
 ความรักครั้งที่สามเป็นรักครั้งที่ร้ายแรงและมีผลต่อชีวิตบั้นปลายของท่านโดยตรง
เกิดขึ้นเมื่อท่านอากาศฯ เสด็จไปปักษ์ใต้ เรื่องราชการ    ท่านได้พบหญิงสาวผิวขาว สวย เป็นธิดาขุนนางเศรษฐี    
ได้มาพบกันอีกในกรุงเทพ ความรักก็เบ่งบานขึ้นในพระทัยอีกครั้ง  ถึงขั้นที่ท่านตั้งพระทัยจริงจังถึงกับขอหมั้นกับเธอ  

แต่แหวนเพชรที่ท่านทรงมอบให้ ก็ถูกส่งกลับคืนมา ด้วยเหตุผลว่า
"เพชรเล็กเกินไป"

การอกหักในครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าจะทำพระทัยได้อย่างคราวก่อนๆ  มันอาจจะบวกด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาอยู่ด้วย
ว่าท่านเป็นเจ้านายที่ยากจนเพราะมรดกของเสด็จพ่อตกอยู่กับเจ้าพี่องค์ใหญ่    จะแบ่งปันมาให้หรือไม่แบ่งให้ท่านเลยก็ทำได้    
ทำให้ท่านเป็นเจ้าชายผู้มีแต่เกียรติ แต่ไร้เงิน  เป็นที่รังเกียจของผู้ใหญ่ฝ่ายเธอ
นอกจากนี้อาจเป็นการตอกย้ำปมด้อยดั้งเดิมว่า ท่านเป็นผู้ที่ไม่มีใครรัก ไม่ว่าพ่อหรือพี่น้องส่วนใหญ่  แม้แต่ผู้หญิงที่ท่านรักคนแล้วคนเล่าก็ไม่มีไมตรีตอบ  ก่อให้เกิดความเชื่อฝังพระทัยว่า "ไม่มีใครรักฉันจริง"


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 06 ต.ค. 05, 10:01
 อีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันอยากเปรียบเทียบท่านอากาศฯกับศรีบูรพาก็คือความไม่ยอมแพ้ หนังสือพิมพ์ที่ศรีบูรพาทำ ถูกผู้มีอำนาจ ข่มเหงจนต้องปิดแล้วปิดอีกหลายฉบับ ถึงตกยากและถูกคุกคามเพียงใด ศรีบูรพาก็ยังไม่ยอมก้มหัวให้ความไม่เป็นธรรม กลับใช้ปากกาเป็นอาวุธต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  เป็นชายชาติเสือที่ไม่ยอมลบลายตัวเอง

แต่ท่านอากาศฯกลับแพ้ภัยตัวเองง่ายๆ  ความรักของท่านไม่ใช่สิ่งผิด ความรักเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และทำให้ชีวิตมีความหวัง ชั่วแต่ว่ามาผิดจังหวะ   อย่างไรก็ตาม เพียงระยะเวลาปีสองปี ท่านมีรักถึง 3 ครั้ง ถือว่าไม่โชคร้ายทีเดียว หากนึกถึงคำพูดที่เกิดที่ลำธารที่ภูเขามิตาเกะ   “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน...แต่ฉันก็ยังอิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 07:45
ท่านอากาศฯ ทรงมีโอกาสอ่าน "ข้างหลังภาพ" หรือเปล่าก็ไม่ทราบค่ะ  จำไม่ได้ว่าเรื่องนี้พิมพ์จำหน่ายหลังท่านสิ้นชีพิตักษัยแล้วหรือเปล่า
แต่ท่านไม่ได้มีทัศนะอย่างม.ร.ว. กีรติ  ข้อนี้แน่ใจ

มีคำกล่าวว่า Lucky in game, unlucky in love.
ท่านอากาศดำเกิงทรงเชื่อคำพูดนี้มากน้อยแค่ไหนไม่อาจเดาได้   แต่ในเมื่อท่าน unlucky in love  ท่านทรงหันเข้าหาการพนันเป็นทางออก  
ด้วยการชักนำของเพื่อนผู้หนึ่ง  พาเข้าไปเล่นในบ่อนถนนเฟื่องนคร    
 แต่แทนที่ท่านจะโชคดีเรื่องการพนันพอชดเชยกับเคราะห์ร้ายเรื่องรัก   ผลก็กลับเป็นตรงกันข้าม  

เงินทองที่ท่านหวังว่าจะเพิ่มพูนขึ้นจากบ่อน ก็กลายเป็นสูญเสียหนักขึ้นทุกที   ท่านต้องเป็นหนี้สินรุงรัง  
แม้แต่ค่าลิขสิทธิ์หนังสือทุกเล่มก็ต้องยกให้เป็นของเพื่อนผู้นั้น เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้เขา  
มีข่าวว่าท่านนำเงินหลวงในความรับผิดชอบออกมาใช้     บางทีท่านอาจจะเข้าตาจน  หรือไม่ก็คิดว่าถ้าเล่นได้ก็นำไปคืนราชการได้ทันก่อนใครจะรู้เข้า

ม.จ.อากาศดำเกิงยังคงหวังว่าจะแก้หน้าของท่านที่ถูกผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ปรามาสว่ายากจน    
ท่านจึงรับปากเธอว่าจะซื้อเครื่องเพชรราคาสูงให้ ด้วยการพาไปเลือกที่ร้านเพชรบ้านหม้อ   แล้วเซ็นเช็คไว้ให้    
ท่านอาจจะคิดว่าเจ้าพี่ คือหม่อมเจ้าไขแสงรพีผู้ดูแลมรดกคงจะแก้ไขปัญหานี้เอง เพื่อไม่ให้อื้อฉาว  
แต่ตัวเงินในบัญชีของท่านไม่มีตามที่ออกเช็ค
วันรุ่งขึ้นหลังจากออกเช็ค  ท่านก็เสด็จออกจากเมืองไทย ลงเรือไปฮ่องกงเพื่อให้พ้นปัญหายุ่งยากทั้งหมด   ปีนั้นคือพ.ศ. 2475

สภาพความเป็นอยู่ในฮ่องกงไม่ได้ดีกว่าในเมืองไทย   ท่านอากาศฯ เช่าห้องเล็กๆอยู่กับคนไทยที่ท่านพบที่นั่น ชื่อ ผล นิลอุบล
ทรงเลี้ยงชีพด้วยการเขียนบทความต่างๆลงหนังสือพิมพ์    มีความเป็นอยู่แร้นแค้น   ไร้ความหวัง
พระทัยท่านก็ยิ่งมืดมนอับจนหนักขึ้นอีก  ทรงมองหาทางออกไม่พบ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 07:47
 ม.ล. อนงค์ นิลอุบล เล่าจากคำบอกเล่าของสามี ในภายหลังว่า
" ท่านบ่นอยากตายอยู่เรื่อย   บ่นเรื่องครอบครัว  ผิดหวังจากทรัพย์มรดกทางบ้าน...อีกเรื่องท่านบ่นเศร้าใจเรื่องผู้หญิง  บอกว่าแฟนท่านไม่มีแล้ว    
คุณผลอยู่ด้วยก็เป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนกินนอนด้วยกัน  รักกันมาก เพราะลำบากด้วยกัน
วันที่ท่านฆ่าตัวตาย  คุณผลออกไปข้างนอกกลับมา  เข้าประคองท่านไว้  ตอนนั้นท่านสิ้นสติแล้วไม่รู้สึกตัว  ท่านตายในอ้อมแขนของคุณผล
อากาศที่นั่นหนาว  ใช้แก๊สเป็นเครื่องช่วยทำความอบอุ่น   ท่านเลยเปิดแก๊สตาย"
วันนั้นคือวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ท่านอากาศดำเกิงสิ้นชีพิตักษัยเมื่อพระชนม์เพียง  27 ปี
*****************************
"ความตายจะเป็นเพื่อนแท้ของข้าพเจ้าที่ปลายทาง"
จาก
"อำนาจกฎธรรมดา"(เรื่องสั้น)


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 07:51
 สาเหตุการสิ้นชีพิตักษัยของม.จ.อากาศดำเกิงเป็นเรื่องคลุมเครือ   ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าท่านสิ้นด้วยโรคภัยไข้เจ็บ    
แม้ว่า "ละครแห่งชีวิต" ยังตีพิมพ์ติดต่อกันเรื่อยมา สร้างชื่อเสียงให้เจ้าชายนักประพันธ์ได้ต่อเนื่องยาวนานมาอีกหลายสิบปี   ก็ไม่ค่อยจะมีใครเอ่ยถึงบั้นปลายของท่าน

ประมาณ พ.ศ. 2515 เกิดข่าวตื่นเต้นเกรียวกราวกันทั่วเมือง  เมื่อมีข่าวว่า ท่านอากาศดำเกิงยังมีพระชนม์อยู่  ทรงเก็บตัวอยู่เงียบๆในชนบททางใต้   แบบชายชราสามัญชนผู้หนึ่งมานานหลายสิบปี

สมาชิกราชสกุลรพีพัฒน์ต่างมาชุมนุมกันอีกครั้งเมื่อได้รับข่าวนี้   ทุกท่านให้สัมภาษณ์ว่าถ้าเป็นความจริงก็จะยินดีอย่างหาที่เปรียบมิได้
และจะต้อนรับท่านอากาศดำเกิงกลับคืนสู่ราชสกุลอีกครั้ง

ชายชราคนนั้นเดินทางเข้ากรุงเทพ   นักหนังสือพิมพ์ไปต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี  เจ้าตัวก็ยืนยันฉะฉานว่าผมคือท่านอากาศดำเกิง  
จนกระทั่งนักข่าวสยามรัฐพาไปพบ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อซักถามยืนยัน
วันรุ่งขึ้น  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็เขียนแถลงในสยามรัฐตัวโตเท่าหม้อแกงว่า
"ไม่ใช่ท่านอากาศดำเกิงครับ  ไม่ใช่"

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์รู้จักวังของกรมหลวงราชบุรีฯ ดี   เมื่อซักถามรายละเอียดหลายอย่าง เช่นชื่อจางวางของวัง  
เพราะท่านแน่ใจว่า ต่อให้ม.จ.อากาศดำเกิงหลงลืมอะไรไปมากก็ตาม แต่ย่อมไม่ลืมข้าเก่าเต่าเลี้ยงในวังที่ทรงเห็นมาตั้งแต่ประสูติ
ชายชราคนนั้นก็ตอบผิดหมดทุกข้อ  

ถามชื่อหญิงสาวเจ้าของแหวนหมั้น  ชายชราก็ไม่รู้จัก

เรื่องราวเปิดเผยออกมาว่า สมาชิกราชสกุลรพีพัฒน์หลายท่านต่างก็เคลือบแคลงสงสัย  เพราะมีหลักฐานที่บ่งถึงการสิ้นชีพิตักษัยของม.จ.อากาศดำเกิง ชัดเจนพอสมควร
เช่นภาพถ่ายพระศพ ที่ทางฮ่องกงส่งมาให้พระญาติในเมืองไทย

ชายชราผู้อ้างตัวเป็นเจ้า  ปั้นเรื่องหลอกลวงด้วยจุดประสงค์อะไร   หรือเป็นแค่คนสติเฟื่องธรรมดาๆ  สาธารณชนไม่มีโอกาสทราบ  
หลังจากวันนั้นข่าวของแกก็หายสูญไปจากการรับรู้     ไม่มีหนังสือพิมพ์ไหนติดใจตามหาข่าวนี้อีก
ถ้าใครเคยทราบข่าวมากกว่านี้ ช่วยโพสต์หน่อยจะเป็นพระคุณยิ่ง


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 07 ต.ค. 05, 08:07
 อาจารย์เทาชมพู เปิดเรือนเช้าจังนะคะ
ข้างหลังภาพ ตีพิมพ์ พ.ศ. 2477 ค่ะ ท่านอากาศฯ ทรงไม่มีโอกาสได้อ่าน
บั้นปลายท่านเศร้ามากค่ะ หักศอกจนดิฉันตกใจ ไม่ทรงมีทางเลือกจริงๆ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 07 ต.ค. 05, 08:15
 ขอโทษค่ะ ปีที่ถูกคือ 2479

ปีนั้นศรีบูรพาไปญี่ปุ่น  ได้เขียน "ข้างหลังภาพ" ส่งลงพิมพ์ในประชาชาติ วันต่อวัน เริ่มฉบับแรก 8 ธันวาคม 2479 ต่อเนื่องกันไปจนถึง 26 มกราคม  2480 จบบทที่ 12 (ตอน ม.ร.ว.กีรติกับนพพรลาจากกันที่ท่าเรือโกเบ)


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: นันทิ ที่ 07 ต.ค. 05, 11:38
 ขอบคุณทุกท่านมากๆ ค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 08 ต.ค. 05, 23:20
 น่าแปลกนะครับ ที่ว่าทำไมกลับกลายเป็นว่าท่านอากาศฯ ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เองเสียอย่างนั้น
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็ต้องเพิ่มเจ้านายผู้ทรงก่ออัตวินิบาตกรรมไปอีกหนึ่ง(ซึ่งดูไม่น่ายินดีเท่าใดนัก)ครับ
เพราะที่ผมเคยอ่านผ่านตา เขาว่าท่านอากาศฯ สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคปอดบวมที่ฮ่องกงครับ
เมื่ออ่านความเห็นที่ 54 แล้ว ผมชั่งใจว่า ทำไม ถึงแม้จะมีแรงจูงใจก็จริงอยู่ แต่ม.ล. อนงค์ นิลอุบล เล่าไว้น่าสงสัย(ถึงแม้จะเป็นตามคำบอกเล่าของสามีก็ตาม)ว่า
""...อากาศที่นั่นหนาว ใช้แก๊สเป็นเครื่องช่วยทำความอบอุ่น ท่านเลยเปิดแก๊สตาย""

ตรงคำว่า "ท่านเลยเปิดแก๊สตาย" นี้ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าจะฆ่าตัวตายนั้น ต้องใช้แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์จึงจะได้ผล เครื่องทำความร้อนไม่ได้ปล่อยแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์นี่ครับ ถึงจะเปิดแก๊สหุงต้มก็ตาม แล้วจะให้เชื่อว่าท่านปลงพระชนม์ชีพด้วยวิธีนี้หรือครับ
สรุปว่า ผมยังเชื่อเสียงคนส่วนใหญ่ครับ ถ้าผิดพลาดไปขออภัยด้วยครับ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 05, 08:02
เรื่องแก๊ส  ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยค่ะ  
ต้องขอความเห็นจากผู้รู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้

การสิ้นชีพิตักษัยของท่านอากาศฯ   ดูเหมือนใบมรณบัตรที่ทางการฮ่องกงออกให้ ระบุว่าเป็นนิวมอเนีย
แต่ก็มีการเปิดเผยจากม.ล.อนงค์ นิลอุบล ว่าเป็นการปลงพระชนม์พระองค์เอง ตามข้างบนนี้

อัฐิของม.จ.อากาศดำเกิง  ถูกนำกลับมาประเทศไทย บรรจุในสถูปของราชสกุล รพีพัฒน์ ในบริเวณสุสานหลวงดราชบพิตร

หนังสืออ้างอิง
ภาษาและหนังสือ ปีที่ 35(2547) ฉบับ "รุ่งอรุณนวนิยายไทย"
ส่วนเรื่องการสิ้นชีพิตักษัย อยู่ในบทความของคุณอรสม สุทธิสาคร เรื่อง "ละครแห่งชีวิต(จริง) ของเจ้าชายหนุ่มนักประพันธ์" เป็นชีวประวัติสั้นๆของท่าน
บทความอีกบทหนึ่งที่ดิฉันนำมาอ้างอิงในกระทู้ คือ
"พัฒนาการนวนิยายไทย กรณีหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์"
ของคุณพิเชฐ แสงทอง
และ พระนิพนธ์
"สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น"  ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 09 ต.ค. 05, 11:44
 คุณศรีปิงเวียงคะ คนเราไม่จำเป็นต้องตายด้วย คาร์บอนมอนออกไซค์ (CO) เสมอไปนะคะ ก๊าซที่มีไฮโดรคาร์บอน (C และ H) เป็นส่วนประกอบ ชนิดไหนก็ตาม สามารถทำให้เราตายได้ โดยไม่ต้องไปพูดให้เสียเวลาถึง killing gas เช่น ฟอสยีนที่ใช้ฆ่าชาวยิว  หรือ methyl isocynate ที่เมืองโบปาล อินเดีย สองอย่างหลังรู้จักกันในนามว่า  nerve gas ค่ะ

ก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอน 1 อะตอม หรือ NGV ที่มีก๊าซหลักเป็น มีเทน (CH4) [ขอโทษค่ะ พิมพ์แบบ subscript ไม่เป็น] ก็ทำให้เราตายได้ ถังบรรจุจะหนาเป็นนิ้ว เพราะต้องลดอุณหภูมิหรือเพิ่มความดันไปที่ 3000 บาร์

ก๊าชตัวที่หนักขึ้นมาและมี BP พอจะอัดให้เป็น liquid ใส่ถังได้โดยไม่ต้องลดความดันมาก คือ บิวเทนและโพรเพน ซี่งมีคาร์บอน 3 และ 4 อะตอม ตามลำดับ เราเรียกว่าก๊าซหุงต้ม (ซึ่งถังบรรจุจะบาง)

ก๊าซที่ผ่านการ crack ทำให้มี double bond เช่น เอทธีลีน (Ethylene) หรือ triple bond อะเซตีลีน (acetylene) ก็ตายได้  

กลับมาถึงเครื่องทำความร้อน หรือฮีทเตอร์ มี 2 ประเภท คือแบบที่ปล่อยมาจากส่วนกลาง (central) และแบบ individual unit  แบบแรกแน่นอนว่าเราทำอะไรไม่ได้

แต่ว่าในสมัยก่อน ค่อนข้างแน่ใจว่าฮีตเตอร์เป็นแบบยูนิตใครยูนิตมัน ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งแก๊สจะมาตามท่อ หรือมาเป็นถัง ปัจจุบันที่อเมริกา ฮีตเตอร์ระบบ gas-fired ก็ยังเป็นที่นิยมเพราะค่าแก๊สถูกกว่าไฟฟ้าครึ่งต่อครึ่ง

สิ่งที่ต้องทำก็เพียงเปิดแก๊ส โดยไม่ต้องจุด และปิดประตูหน้าต่างให้หมด มนุษย์เราก็สามารถค่อยๆตายได้อย่างไม่ทรมาน ภาษาอังกฤษ ที่รากศัพท์มาจากกรีก เรียกการตายที่เป็นสุข แบบค่อยเป็นค่อยไปว่า eu.tha.na.sia (eu=good, thanatos= death)

ในยุคที่น้ำมันราคาลิตรละเกือบ 30 บาท เวลาดิฉันขับรถไปต่างจังหวัดเส้นทางที่ไม่มีปั๊มแก๊สก็ไม่ยาก เพียงฉวยถังแก๊สหุงต้ม 15 ก.ก. ขึ้นรถพร้อมสายต่อ ถังจริงหมดที่ไหน ก็เอาถังสำรองต่อตรง ก็สามารถมานิปูเลทระบบได้


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 09 ต.ค. 05, 11:56
 ขอแก้ที่พิมพ์ผิดค่ะ ที่ถูกคือ 200 บาร์ หรือ 3000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 09 ต.ค. 05, 13:03
 บางซอร์สที่ดิฉันเคยผ่านตา ระบุว่าท่านสิ้นเพราะโรคมาเลเรียค่ะ ตรงนี้ดิฉันไม่ค่อยให้น้ำหนักเท่าไรนัก เพราะฮ่องกงเป็นเกาะ และมีป่าไม่มาก

ps.
propane = C3
       butane   = C4
       phosgene = CO+CL2 =COCL2 เมื่อเราหายใจเข้าไป CO จะไปรวมกับน้ำในร่างกายเกิด CO2 และ HCL ซึ่งตัวหลังจะทำลายเนื้อเยื่อปอด บางคนไม่เรียกฟอสยีน หรือฟอสจีน ว่า nerve gas เพราะคำจำกัดความบางอันของ nerve gas ต้องดูดซึมทางผิวหนังเพื่อไปทำลายสมองส่วนกลางทำให้เป็นอัมพาต แต่กรณีฟอสยีนจะมีพิษทางการหายใจเท่านั้น

ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนครั้งหนึ่งผู้คนก็แตกตื่น เพราะบริษัทที่ขอส่งเสริมฯจำต้องผลิตฟอสยีนเพื่อเป็นส่วนผสมในการทำโพลิเมอร์ ประเภทโพลียูรีเทน เคลือบเงาพื้นไม้  จริงๆแล้วหากไม่รั่ว ก็ไม่เป็นอะไรค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 11 ต.ค. 05, 11:36
 ขอบพระคุณคุณ Nuchan เป็นอย่างสูงครับ เพราะเรื่องสารประกอบไฮโดรคาร์บอนผมยังไม่ได้เรียนเลย
ส่วนประเด็นการสิ้นชีพิตักษัยของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงนั้น สุดปัญญาที่จะคิดแล้วครับ ครั้งนี้ถือเป็นการโพสต์ครั้งที่ 2 ยังมิได้รายงานตัวเลยครับขออภัยด้วย
มานึกได้พอดีว่า ก่อนท่านสิ้นชีพิตักษัยนี้ ท่านประชวรมาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่ ผมก็คงต้องเพิ่มในทำเนียบฯ (ที่มิอยากจะเพิ่มเท่าใดนัก) ครับ และทำไมทางฮ่องกงจึงบอกว่าเป็นเพราะโรคปอดบวม สมัยนั้นมีการชันสูตรพลิกศพหรือเปล่า หรือว่าสามีหม่อมหลวงอนงค์จะบอกกับปากของตำรวจที่นั่นครับ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 11 ต.ค. 05, 12:19
 เป็นความผิดของดิฉันเองที่เล่าข้ามชอต ใบมรณบัตรระบุไม่ผิดหรอกค่ะ

โรคปอดบวม (pneumonia) คือโรคที่เนื้อเยื่อปอดพองด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น bacteria pneumonia, chemical pneumonia, fungus pneumonia etc. อันแรกจะพบบ่อยที่สุด อันที่สองคือกรณีท่านอากาศฯ อันสุดท้ายน้อย

แม้เราสูดเอาคาร์บอนมอนออกไซค์ (CO) เข้าไป   แต่คนเรา (ultimately) ตายเพราะคาร์บอนไดออกไซค์ (CO2) นะคะ   ไม่ใช่ CO

ในร่างกายเรามีน้ำ (H2O) หากเราหายใจเอาคาร์บอน (C) ไม่ว่าจากแก๊สอะไรที่มี C ก็ตาม จะเกิดคาร์บอนไดออกไซค์ที่ขังตามเนื้อเยื่อปอด ผลคือ หมดสติ และเนื้อเยื่อปอดโป่งพอง  (swollen lung tissues)  
CO+H2O    H2+CO2

ดังนั้นโรคปอดบวมอาจเป็นปัจจุบันโรคโดยไม่ต้องมีสัญญาณเตือน
*********

สำหรับ “ ไฮโดรคาร์บอน”  เราต้องระวัง  C
แต่ในฟอสยีน  (COCL2)  เราต้องระวังทั้ง 2  ส่วน คือ ส่วนหน้าที่จะกลายเป็น CO2 และส่วนหลังที่จะเป็น HCL  
ในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีต้องใช้คลอรีนมาก วิธีผลิตเราต้องแยกคลอรีนจากเกลือ (NaCl) แต่ต้องเป็นเกลือสินเธาว์ซึ่งมีความปนเปื้อนน้อยกว่าเกลือสมุทร ปัญหาดินเค็มจากการทำเหมืองเกลือในภาคอีสานเกิดจากเจ้าของโรงคลอรีนผู้ยิ่งใหญ่นั่นแหละ

***********
การตายที่ถือว่าเป็น euthanasia อีกอย่างหนึ่ง คือการจบชีวิตนัดโทษขั้นเด็ดขาดโดยการฉีดยา  เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามที่ Amnesty International เรียกร้อง

เวลาฉีดต้องฉีด 2 เข็ม เข็มแรกเพื่อให้สลบ เข็มสองคือการปลิดวิญญาณโดยไม่ให้  choke ตัวยาโปตัสเซียมคลอไรด์ (KCL) จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้น


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 13 ต.ค. 05, 15:02
 ดิฉันใคร่ขอเรียนถามค่ะ จากหนังสือ "เลาะวัง" ที่พึ่งซื้อมา คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เล่าว่า
1. กรมหลวงราชบุรีฯ เสด็จกลับจากอังกฤษ ก็ทรงต้องพระทัยกับ ม.จ. ที่เป็นพระธิดา ของพระอนุชาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฯ ซึ่งพระองค์ท่านพอพระราชหฤทัยและทรงสู่ขอให้  แต่ภายหลังอยู่กันไม่ได้ พระองค์ทรงรับสั่งว่าเรื่องคู่ครองของใคร พระองค์ทรงไม่ประสงค์ข้องเกี่ยวอีก ถ้าเป็นเช่นนี้หม่อมแม่ของท่านอากาศฯ คือ หม่อมอ่อนหรือ ม.จ. ท่านนั้นคะ? (ดิฉันอาจสับสนเพราะเมื่อคืนครึ่งหลับครึ่งตื่น และตอนนี้ไม่มี ref ใกล้มือค่ะ)
2. คุณย่าที่เล่าเรื่องให้คุณจุลลดาฟัง คะเนอายุก็น่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ฯ อาจารย์เทาฯ พอทราบนามคุณย่าไหมค่ะ
3. ลิขสิทธิ์ ละครแห่งชีวิต ตามหนังสือที่อาจารย์อ้างอิง ได้ระบุไหมค่ะว่าตกอยู่กับท่านผู้ใด (ส้มหล่นใส่องค์ไหนน่ะค่ะ)


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 05, 08:39
1) หม่อมแม่ของม.จ.อากาศดำเกิงคือหม่อมอ่อน   ส่วนเจ้านายสตรีองค์นั้นคือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงอรพัทธ์ประไพ  พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าชายจาตุรนต์รัศมี  กรมพระจักรพรรดิพงศ์ (ต้นราชสกุล จักรพันธุ์ ฯ)
พระองค์เจ้าอรพัทธ์ประไพ เมื่อประสูติทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าอรพัทธ์ประไพ ค่ะ
2) คุณย่าของม.ล.ศรีฟ้า  ลดาวัลย์  ชื่อหม่อมห่วง   เป็นธิดาของพระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ)   ท่านเคยเป็นนางข้าหลวงในตำหนักพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎปิยมหาราชปดิวรัดา(พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์)  มาก่อนจะทูลลาออกจากวังกลับมาอยู่บ้านเนื่องจากมารดาถึงแก่กรรม ท่านต้องดูแลบ้านช่องให้บิดา  
เมื่ออายุ 18 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสู่ขอท่านต่อพระประเสริฐวานิช ให้หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์  เชษฐาในพระวิมาดาฯ   ท่านจึงเป็น"หม่อมพระราชทาน " เป็นหม่อมเอกของหม่อมเจ้าเพิ่ม  ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ด้วย

หม่อมห่วง  ไม่ได้อายุรุ่นราวคราวเดียวกับม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ค่ะ  ท่านเกิดเมื่อพ.ศ. 2421  ส่วนม.ร.ว. คึกฤทธิ์เกิดเมื่อ พ.ศ. 2454 ห่างกัน 33 ปี ท่านมีอายุคราวป้าของม.ร.ว. คึกฤทธิ์

3) ไม่ทราบชื่อ  ทราบแต่ว่าเป็นนายแพทย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของม.จ.อากาศดำเกิง   ต่อมาได้ขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้ส.น.พ. แพร่พิทยา


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 05, 08:49
 ถ้าคุณ Nuchan สนใจเรื่องราวในอดีตอย่างใน "เลาะวัง" ไปงานมหกรรมหนังสือ   น่าจะซื้อ "ชีวิตในวัง" เล่ม 1-2 ของม.ล.เนื่อง นิลรัตน  
ท่านเคยเป็นนางข้าหลวงของพระวิมาดาฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ 6   ปัจจุบันอายุเก้าสิบกว่าแล้ว ยังแข็งแรงความจำดี    ท่านเล่าเรื่องในวังเอาไว้สนุกมาก
มีขายที่บูธ ส.น.พ. ศรีสาราค่ะ   ประชาสัมพันธ์ให้ฟรีๆ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ต.ค. 05, 16:50
 ขอขอบพระคุณอาจารย์เทาฯ ที่กรุณาไขปัญหาข้างต้นคะ สามสี่วันนี้ดิฉันติดสัมมนา ตจว. พรุ่งนี้เขาจะพาไปชมพระตำหนักบ้านปืน ที่หัวหิน ซึ่งไม่ใช่ไฟท์บังคับ ก็อาจจะจะหนี แต่หากสวยเหมือนพระที่นั่งวิมานเมฆก็ไม่น่าโดดค่ะ

ดิฉันพึ่งมีโอกาสเดินงานสัปดาห์หนังสือเพียง 2 ชม. ได้เลาะวังเกือบครบเซ็ท และนิยายจีน 2 ชุด คงฟาล์วสำหรับครั้งนี้แล้วค่ะเพราะติดงานสัมมนา แต่จะฝากคนไปซื้อ ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 17 ต.ค. 05, 10:32
 ขอบพระคุณคุณ Nuchan มาในโอกาสนี้ครับ และขอถามในกระทู้นี้เลยนะครับว่า หม่อมเจ้าเพิ่ม บิดาของเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับนี้ ท่านทรงเป็นพระโอรสในกรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมอะไรครับ
ผมไม่เคยอ่านหนังสือชีวิตในวังครับ แต่เคยอ่านบทความของท่าน (จำชื่อไม่ได้) ท่านเล่าได้สนุกดีครับ และผมยังแปลกใจว่า ท่านอายุมากขนาดนี้แล้วยังมีความจำดีและกระฉับกระเฉงมากครับ (ปีที่เขียน ราว ๆ 2531)


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 05, 10:54
 ไม่ทราบชื่อหม่อมมารดาของม.จ.เพิ่ม ทราบแต่ว่าเป็นคนละท่านกับหม่อมมารดาของพระวิมาดาฯ
ม.ล.เนื่อง นิลรัตน ปัจจุบันอายุ 92 แล้ว   การเคลื่อนไหวช้าลงไปบ้างแต่ยังช่วยตัวเองได้  ความจำดีทุกอย่าง  พูดถึงชีวิตในวังเมื่อ 70-80 ปีก่อนเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีนี้เองค่ะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 17 ต.ค. 05, 12:39
 หม่อมมารดาของพระวิมาดาฯ ชื่อ จีน ดังนั้นหม่อมมารดาของหม่อมเจ้าเพิ่ม ต้องเป็นท่านอื่น

เห็นหลายๆท่านพูดถึง "ชีวิตในวัง" ว่าสนุกมาก ดิฉันคงจะต้องซื้อทางเมล์เสียแล้ว เพราะรองานมหกรรมหนังสือครั้งต่อไปไม่ไหว

คุณชุลิตา อารีย์พิพัฒนกุล บรรณาธิการพลอยแกมเพชร กล่าวถึงท่านว่า เริ่มชีวิตนักเขียนเมื่ออายุ 72 ปี เขียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันอายุ 88 ปีแล้ว ยังเขียนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด แม้ตอนนี้สายตาจะไม่ค่อยดีแล้วก็ตาม...

"ท่านช่างจำ ช่างเล่า มีมุขตลกขบขัน เด็กๆ สมัยใหม่คงไม่เคยได้เห็นว่าเด็กสมัยโน้นเขาซนกันอย่างไร น่าถูกตีขนาดไหน ใครที่ได้ใกล้ชิดท่าน จะบอกเสมอว่าท่านเป็นเด็กแก่น จนครั้งหนึ่งโรงละครกรุงเทพได้จัดกิจกรรม เล่าเรื่องเก่ากับสาวแก่น ขึ้น" นับผลงานของท่านทั้งเขียนบันทึกความทรงเรื่อง "ชีวิตที่อยู่ร่วมกันในวังสวนสุนันทา ตำหนักพระวิมาดา กรมพระสุทธาสินีนาฏ"

ตายแล้ว...อ่านถึงตรงนี้ ดิฉันต้องไปหาใบแป๊ะก้วยมากินเสียแล้ว เพราะหมู่นี้อัลไซเมอร์เริ่มรับประทาน


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ธ.ค. 22, 11:27
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เขียนถึง เหตุมรณกรรมที่ฮ่องกง ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์

ลงมติชนรายสัปดาห์ https://www.matichonweekly.com/special-report/article_251581

        เบื้องหลังฉากชีวิตของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ของอรสม สุทธิสาคร กล่าวถึง การฆ่าตัวตายด้วยแก๊ส
และมี ชีวิตหนึ่งที่ได้อยู่ข้างเคียงในวาระสุดท้าย…นายผล นิลอุบล

        ผมพากเพียรตามค้นคว้าเรื่องของนายผลอยู่หลายปี แต่พอได้มาอ่านเอกสารว่าด้วยฮ่องกงในปี ค.ศ.1932 ตามคำแนะนำ
ของวัฒนา กีรติชาญเดชา (นักศึกษาปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจค้นคว้าเรื่องยาจีนแผนโบราณ
และเรื่องฮ่องกงในอดีต) น่าแปลกที่ไม่พบการเอ่ยถึงนายผลที่ฮ่องกงเลย
        ถ้าจะมีใครที่ได้คลุกคลีกับเจ้าชายนักประพันธ์ก็น่าจะเป็นครอบครัวของ Mr. Schear ซึ่งรู้จักท่านชายในนามมิสเตอร์ซี.เอส. ลี
ส่วนคนไทยที่ได้ร่วมใช้ชีวิตกันกับท่านชายห้วงยามนั้นคือนักเรียนไทยในฮ่องกงที่ชื่อ สุมานัส ศุภศิริวัฒน์ (Sumanas Supasirivat)

(tnews)


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ธ.ค. 22, 11:30
            ข้อมูลในหลักฐานเอกสารที่เพิ่งค้นพบระบุว่า ตอนเช้าวันพุธที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1932 หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง
ได้ออกจากห้องหมายเลข 6 ตึกอาคารวิงล็อก (Winglock Building) ซึ่งเป็นที่ทรงพำนักบ่อยๆ ขณะอยู่ในฮ่องกง
โดยท่านชายเขียนโน้ตทิ้งไว้ว่าจะเดินทางไปมาเก๊า จากนั้นไปยังโฮเต็ลเซซิลล์ (Hotel Cecil) ลงชื่อผู้เข้าพักคือ ซี.เอส. ลี (C.S.Lee)
สั่งแก่รูมบอย (Room Boy) ว่าอย่าให้ใครมารบกวน
           วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.1932 เวลาประมาณ 19.30 น. รูมบอยของโรงแรมไม่สามารถเปิดเข้าห้องพักดังกล่าวได้
จึงแจ้งผู้บริหารโรงแรมและทางโรงแรมได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ
           เมื่อตำรวจฮ่องกงนำโดยสารวัตร เอ.เจ. ดับบลิว. ดอร์ลิง (A.J.W. Dorling) มาถึงห้องพักที่โรงแรม พอพวกเขาไขเปิดประตู
ด้วยกุญแจมาสเตอร์คีย์ ก็แลเห็นร่างมิสเตอร์ ซี.เอส. ลี อยู่ในสภาพย่ำแย่ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

           ครั้นนายแพทย์เอช. ดี. แมทธิว (Dr.H.D. Matthews) ตรวจดูก็พบว่าร่างนั้นอุณหภูมิเท่ากับ 103 ํF จึงสันนิษฐานและรายงานว่า
เป็นอาการมาลาเรียขึ้นสมอง หรือ Cerebral malaria
           มิสเตอร์ลีสูญสิ้นลมปราณในคืนวันนั้น ณ Government Civil Hospital สืบทราบต่อมาว่าเขาคือ Prince Akas Rabi หรือ
ที่เมืองไทยคุ้นเคยกันดีในนามหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ สารวัตรดอร์ลิงแจ้งไปยังเจ.ที. บากรัม (J.T. Bagram) แห่งกงสุลเยเนราลสยาม
ณ เมืองฮ่องกง


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ธ.ค. 22, 11:33
            ฝ่ายกงสุลจึงรีบส่งโทรเลขแจ้งข่าวไปยังรัฐบาลสยามและสอบถามเรื่องจะจัดการพระศพอย่างไร? (ก่อนหน้านี้ กงสุลก็พยายาม
ติดตามความเคลื่อนไหวของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงในฮ่องกงเพื่อรายงานให้ทางสยามทราบ)
            ทางการสยามตอบกลับมาในวันที่ 20 พฤษภาคม ว่าให้กงสุลเยเนราลสยามจัดการเผาพระศพแล้วส่งอัฐิมายังกรุงเทพฯ และ
ขออย่าให้มีการผ่าชันสูตร
            แต่กระนั้นกลับไม่ทันการณ์เนื่องจากทางโรงพยาบาลได้ลงมือผ่าชันสูตรเรียบร้อย           

            ผลการผ่าชันสูตรพระศพ นายแพทย์จอห์น เอ็ดเวิร์ด โดเวอร์ (John Edward Dover) ได้ ให้ความเห็นจากการตรวจร่างกาย
พร้อมกับผลตรวจจาก Bacteriological Institute ว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจาก Acute Pancreatitis หรือภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
และพบมอร์ฟีนในร่างกายประมาณ 1/3 เกรน นั่นเป็นไปได้ว่าก่อนหมดสติท่านชายอากาศได้ใช้มอร์ฟีน
            ข้อมูลตรงจุดนี้ พอจะยืนยันชัดเจนว่าหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงมิได้กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการรมแก๊สแน่ๆ ถ้าเป็นการฆ่าตัวตาย
ก็น่าจะใช้มอร์ฟีนมากเกินขนาด

            ขณะเดียวกัน ผมลองคิดอีกว่า บางทีท่านชายอาจจะใช้มอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บจนทำให้ถึงแก่ความตายหรือเปล่า?
มิได้ทรงตั้งใจจะฆ่าตัวตาย


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ธ.ค. 22, 11:35
             แต่ ก็ปรากฏจดหมายฉบับหนึ่งที่ชี้ชวนให้เห็นว่าท่านน่าจะเจตนาใช้มอร์ฟีน
             จดหมายฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1932 ซึ่งหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงสวมร่างทรงมิสเตอร์ ซี.เอส. ลี
เขียนถึง Mrs.Schear เนื้อความจดหมายคล้ายเผยให้เห็นความตรมตรอมที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปและตั้งใจจะเลือกหนทางหลุดพ้นทุกข์ ดังความว่า

Dear Mrs. Schear

             I have walked to the end of the path of life, the journey has been very long and wearisome.
             I am too tired to walk any further. Tonight I intend to go to sleep for ever. I need a rest.
             If I succeed, I shall cause you all sorts of inconveniences, but shall get what I want.
             As regards to what to be done with me after I have gone, you can communicate with the police.

Yours sincerely,

(Sd.) Lee.


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ธ.ค. 22, 11:37
           Mrs.Schear คือภรรยาชาวฟิลิปปินส์ของ Mr.Schear ชาวสวิสผู้เคยเป็นพ่อครัวที่ฮ่องกงโฮเต็ล (Hongkong Hotel)
และกำลังเป็นพ่อครัวที่อาคารกลูเซสเตอร์ (Gloucester Building) Mr.Schear ยังเป็นคนที่ท่านชายอากาศได้จำนำนาฬิกากับ
แหวนไว้เพื่อแลกกับเงิน 200 เหรียญ
           ทางสยามคงได้รับทราบผลชันสูตรจากทางฮ่องกงที่บ่งชี้ไปในทางที่ว่าหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงกระทำอัตวินิบาตกรรม แต่
น่าจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้กลายเป็นข่าวคราว นั่นอาจเป็นเหตุผลให้เหตุแห่งมรณกรรมของท่านชายค่อนข้างคลุมเครือในแวดวงวรรณกรรมกระมัง

          อีกข้อหนึ่งพึงใคร่ครวญก็คือ เหตุใดผู้รู้จักสนิทสนมกับหม่อมเจ้าอากาศที่เมืองไทยจึงเชื่อถือกันว่าท่านรมแก๊สตนเองที่ฮ่องกง
ผมมองว่า ความเชื่อเช่นนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดอันสืบเนื่องมาจากกรณีที่ท่านอากาศเคยเปิดแก๊สฆ่าตัวตายสมัยอยู่ที่อังกฤษ แต่ตอนนั้น
มีคนช่วยเหลือไว้ทันท่วงที


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ธ.ค. 22, 13:04
         อีกประเด็นหนึ่ง, จากวิวาทะระหว่างพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับ ม.จ.อากาศดำเกิงคือ -

(จากกระทู้เก่าของคุณปิ่น http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6337.0)

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ -

อ้างถึง
  ชื่อของเรื่องนั้น ตามที่ข้าพเจ้าได้แปลเป็นอังกฤษ (The World's a Stage) ว่าตามสำเนียงอังกฤษแล้วข้าพเจ้ารู้สึกดูจะคมคายดีกว่า
"ละครแห่งชีวิต" ซึ่งแปลตรงๆเป็นภาษาอังกฤษได้ ๒ วิธี แต่ดูไม่สู้จะเหมาะเจาะทั้ง ๒ อย่าง (Life's Play or Life's Drama) แต่ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า
เมื่อได้ตั้งชื่อหนังสือว่าอย่างนั้น ผู้แต่งได้คิดถึงถ้อยคำของท่านกวีผู้เรืองนาม คือ เชคสเปียร์ ซึ่งอยู่ในเรื่อง "ตามใจท่าน" บทละครเรื่องนี้ ได้แปลเป็น
ภาษาไทยแล้วอย่างดียิ่ง คือ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ และผู้แต่งอาจจะนำบทตอนนี้มาใช้เป็นนามหนังสือได้อย่างดี

ม.จ.อากาศดำเกิง -

อ้างถึง
  ข้าพเจ้าชอบวิธีที่เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าได้ทรงยกบทเรียนเชคสเปียร์ขึ้นมากล่าว พระองค์ทรงบอกท่านทั้งหลายว่า ความว่า
"โลกนี้คือละคร" ("All the world's a stage") อยู่ในบทละครของเชคสเปียร์ เรื่อง "ตามใจท่าน"("As You Like It") ข้าพเจ้าเห็นว่า
เสด็จนักวิจารณ์ควรเปิดหนังสือเรียนดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้แน่ว่าถ้อยคำ "โลกนี้คือเวทีละคร" อยู่จริงๆในเรื่อง "ตามใจท่าน" หรือในเรื่อง
"เวนิสวานิช" ("The Merchant of Venice")

และ จากเวนิส วานิช ที่ม.จ.อากาศดำเกิงอ้างถึง


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 22, 20:50
ม.ล. อนงค์ นิลอุบล เล่าจากคำบอกเล่าของสามี ในภายหลังว่า

" ท่านบ่นอยากตายอยู่เรื่อย   บ่นเรื่องครอบครัว  ผิดหวังจากทรัพย์มรดกทางบ้าน...อีกเรื่องท่านบ่นเศร้าใจเรื่องผู้หญิง  บอกว่าแฟนท่านไม่มีแล้ว    

คุณผลอยู่ด้วยก็เป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนกินนอนด้วยกัน  รักกันมาก เพราะลำบากด้วยกัน

วันที่ท่านฆ่าตัวตาย  คุณผลออกไปข้างนอกกลับมา  เข้าประคองท่านไว้  ตอนนั้นท่านสิ้นสติแล้วไม่รู้สึกตัว  ท่านตายในอ้อมแขนของคุณผล

อากาศที่นั่นหนาว  ใช้แก๊สเป็นเครื่องช่วยทำความอบอุ่น   ท่านเลยเปิดแก๊สตาย"

วันนั้นคือวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ท่านอากาศดำเกิงสิ้นชีพิตักษัยเมื่อพระชนม์เพียง  27 ปี

*****************************

"ความตายจะเป็นเพื่อนแท้ของข้าพเจ้าที่ปลายทาง"

จาก

"อำนาจกฎธรรมดา"(เรื่องสั้น)

น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของม.ล.อนงค์  เพราะจากคำบอกเล่าข้างบนนี้ เหมือนม.จ.อากาศดำเกิง สิ้นชิพิตักษัยในห้องพักนั่นเอง   ไม่ทันถูกส่งไปโรงพยาบาล

ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องยา  เลยขอถามคุณหมอ SILA   ว่ามอร์ฟีนที่อยู่ในร่างกายท่าน มากพอจะทำให้ตายได้ไหมคะ


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 ธ.ค. 22, 10:32
คงมีความเห็นแบบว่า "คงจะ อาจจะ ไม่น่า หรือว่า" ครับ

                 สมัย ๙๐ ปีที่แล้ว ไม่น่ามีการตรวจวัดระดับมอร์ฟีนในเลือดได้หรือได้แม่นยำ ถึงขนาดระบุเป็นจำนวนได้ ๒๐ มก.
ถ้านับเป็นขนาดยาที่ใช้เวลาฉีดเข้าเส้นก็จัดว่าสูงง หรือ
                                      จะเป็นปริมาณมอร์ฟีนที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อผ้าที่ท่านสวม
                                      มอร์ฟีนสมัยนั้นที่ฮ่องกง คงจะมีทั้งแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนังและแบบรับประทาน(tonic?)
ท่านอาจหามาได้เอง และ,หรือ เพราะป่วยด้วยตับอ่อนอักเสบไปตรวจแล้วแพทย์ให้มาบรรเทาอาการปวดท้อง (ท่านคงไม่ได้ใช้บ่อยๆ
มาก่อนจนมีภาวะการทนต่อยา) เมื่อใช้ในขนาดสูง(เท่าที่มีอยู่) ก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต                                        
                          
คุณ CVT น่าจะมีประสบการณ์ใช้มอร์ฟีนไม่น้อย,มีความสนใจประวัติการแพทย์ในอดีต โปรดสำแดงคห. เพิ่มเติม

Mrs. Winslow’s Soothing Syrup (1849) สำหรับทารกฟันเริ่มขึ้นร้องโยเย มีส่วนประกอบเป็น มอร์ฟีน 65mg/ounce
ใช้แล้วทารกไม่ร้องกวนเพราะไม่หายใจ จนได้ชื่อต่อมาว่า baby killer


กระทู้: เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 22, 11:52
ความเป็นไปได้
1  อุบัติเหตุ    ท่านอากาศดำเกิงมีอาการเจ็บป่วยจากตับอ่อนอักเสบ    เสวยมอร์ฟีนเป็นยาระงับปวดตามที่หมอให้มา  แต่เสวยเข้าไปมากเกินร่างกายรับได้   ก็เลยสิ้นชีพ
2  ฆ่าตัวตาย    ด้วยอาการเจ็บป่วยทางกายและทางใจ รุมเร้า 2 ทาง ก็เลยเสวยมอร์ฟีนเข้าไปจำนวนมาก   เพราะทรงรู้ว่ามากขนาดนี้คงจะไม่ตื่นขึ้นมาอีก
คงฟันธงไม่ได้ว่าเป็นอย่างไหน
แต่ส่วนตัว ดิฉันคิดว่าเป็นข้อ 2    เพราะจดหมายแสดงว่าท่านหมดอาลัยตายอยากในชีวิตแล้ว    ถ้ารอดจากคราวนี้ไปได้  คราวหน้าก็คงเสวยยาเข้าไปอีก จนกว่าจะบรรลุผล