เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: POJA ที่ 21 เม.ย. 12, 10:04



กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 21 เม.ย. 12, 10:04
อากาศร้อนมากๆ เลยค่ะ
ร้อนจนทำงานตอนกลางวันไม่ได้
เลยนึกได้ว่า ในอดีต พวกกรมกองต่าง ๆ ก็เคยทำงานในเวลากลางคืนด้วย

ขอสอบถามท่านผู้รู้ค่ะ ว่าเขาทำงานกันอย่างไร หากจะต้องติดต่อประสานงานกัน
แล้วทำกันตลอดหรือเฉพาะช่วงเวลาหน้าร้อนเท่านั้น

ขอบคุณค่ะ


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 21 เม.ย. 12, 10:57
ถ้าจำไม่ผิด เคยอ่านงานเขียนของหลวงวิจิตรฯ (กิมเหลียง)

ท่านว่าไว้ว่า สมัยตอนสึกพระมารับราชการใหม่ๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศในช่วงที่สมเด็จกรมเทววงศ์ฯ เป็นเสนาบดีนั้น
พวกข้าราชการชอบทำงานกันเวลากลางคืนกัน พระองค์เสนาบดีก็ทรงงานในเวลากลางคืนด้วย

แต่รายละเอียดอะไรก็จำไม่ได้แล้ว  :-[


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 เม.ย. 12, 11:29
ราชการสมัยก่อนต้องทำงานตอนกลางคืนนั้น  มีเหตุผลหลายประการ
แต่ไม่ใช่เหตุผลเพราะว่ากลางวันอากาศร้อน ทำงานไม่ได้
ถ้าข้าราชการคนใดอ้างอย่างนี้  ผู้บังคับบัญชาคงเอาตัวปลดออกเป็นกองหนุนหรือให้ไปนั่งเล่นที่บ้าน

เหตุผลประการหนึ่ง  หนังสือราชการหรือใบบอกสมัยก่อนจากหัวเมืองก็ดี หรือจากต่างกระทรวงทบวงกรมก็ดี
ย่อมต้องใช้เวลาเดินทางมากบ้างน้อยบ้างตามระยะทางใกล้ไกล  กว่าจะมาถึงหน่วยงานปลายทางบางทีก็เป็นวัน
และการเดินทางสมัยก่อน  ยิ่งเป็นหัวเมืองไกลปืนเที่ยงด้วยแล้ว  ย่อมใช้เวลานานเป็นหลายวันหรือเป็นเดือน
การเดินทางโดยมากก็เดินทางกลางวันเป็นหลัก  เพราะกลางคืนมืดมองเห็นทางไม่ชัดและอาจจะเกิดอันตรายได้

เมื่อหนังสือราชการเหล่านั้นมาถึงหน่วยงาน  ข้าราชการที่รับหนังสือดังกล่าวต้องนำไปรายงานแก่ผู้บังคับบัญชา
ตามลำดับชั้นให้ทราบเสียก่อน  การปฏิบัติในชั้นนี้ก็มักอยู่ช่วงเวลากลางวันตั้งแต่เช้าไปจนจดบ่ายหรือเย็น

ราชการบางเรื่องที่สำคัญต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฯ ก่อน  เสนาบดีหรือปลัดทูลฉลอง
ต้องนำไปกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติเสียก่อน  ซึ่งธรรมเนียมเดิมพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกว่าราชการ
เรียกว่า เสด็จออกขุนนาง วันละหลายเวลา  แต่โดยมากจะเสด็จออกขุนนาง เวลาบ่ายแก่ใกล้เย็นเรื่อยไปจนถึงเวลาค่ำ
ซึ่งในระยะนั้นเรื่องราชการตามกระทรวงทบวงกรมก็มักดำเนินการในชั้นต้นจนถึงมือเสนาบดีเรียบร้อยแล้ว
เสนาบดีเมื่อทำงานตามกระทรวงทบวงกรมเสร็จ  ก็จะต้องไปเข้าเฝ้าฯ ในการเสด็จออกขุนนางต่ออีก
ซึ่งบางทีก็เสด็จออกขุนนางจนดึกดื่นค่อนคืนหรือบางทีก็เกือบรุ่งสาง   

ราชการสมัยก่อนต้องทำงานถึงกลางคืนก็เพราะการเดินทางของหนังสือราชการเป็นสำคัญ
เสนาบดีหรือผู้บังคับบัญชาตามหน่วยงานก็มักจะเข้าทำงานเวลาใกล้เที่ยงหรือบ่ายไปแล้ว
เพราะหนังสือราชการดำเนินการเสร็จมาใส่แฟ้มรอให้พิจารณาอยู่ที่โต๊ะแล้ว


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 21 เม.ย. 12, 13:59
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีอรรถาธิบายเกี่ยวกับการทำงานของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยไว้ดังนี้

ในชั้นเสมียนพนักงานมีนายเวร ๔ คน รับประทวนเสนาบดี ตั้งเป็นที่ "นายแกว่นคชสาร" คนหนึ่ง "นายชำนาญกระบวน" คนหนึ่ง
"นายควรรู้อัศว" คนหนึ่ง "นายรัดตรวจพล" คนหนึ่ง ได้ว่ากล่าวเสมียนทั้งปวง นายเวร ๔ คนนั้น กลางวันมาทำงานในศาลาลูกขุนด้วยกันทั้งหมด
เวลากลางคืนต้องผลัดเปลี่ยนกันนอนค้างอยู่ที่ศาลาลูกขุน สำหรับทำราชการที่จะมีมาในเวลาค่ำคราวละ ๑๕ วันเวียนกันไป เรียกว่า "อยู่เวร"
ตำแหน่งหัวหน้าจึงได้ชื่อว่า "นายเวร" แต่หน้าที่นายเวรไม่แต่สำหรับทำราชการที่มีมาในเวลาค่ำเท่านั้น บรรดาราชการที่มีมาถึงกระทรวงมหาดไทย
จะมีมาในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ถ้ามาถึงกระทรวงในเวร ๑๕ วันของใคร นายเวรนั้นก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทำการเรื่องนั้นตั้งแต่ต้น
จนสำเร็จ


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 เม.ย. 12, 21:23
ศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง อยู่ที่พระบรมมหาราชวัง พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องลงมายังกรุงรัตนโกสินทร์ทรงปฏิบัติราชกิจเวลาตามมนูธรรมศาสตร์ กำหนดให้ ๑ วันแบ่งเป็น ๑๖ ส่วน เป็นกลางวัน ๘ ส่วน กลางคืน ๘ ส่วน

ในส่วนกลางคืน

๖ นาฬิกา ทรงฟังรายงานผู้สืบข่าว

๗ นาฬิกาครึ่ง เสวยพระกระยาหาร

๙ นาฬิกา เสด็จเข้าที่ทรงสาธยายศาสตราคม

๑๐นาฬิกาครึ่ง บรรทม

เที่ยงคืน บรรทม

๑ นาฬิกาครึ่ง ตื่นบรรทม ชำระพระองค์

๓ นาฬิกา ทรงปรึกษาราชการลับกับอำมาตย์มนตรี และดำรัสสั่งราชการ

๔ นาฬิกาครึ่ง ปุโรหิตเข้าเฝ้า ทรงบูชาเทวดา


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 เม.ย. 12, 21:37
ในส่วนของฝ่ายวังหน้า

เวลากลางคืนราว ๑ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ทรงฟังรายงานมหาดเล็กแล้วเสด็จขึ้นพระแท่น ขุนนางเฝ้าอ่านใบบอกราชการ ซึ่งมีเรื่องบอกส่งเงินส่วยเป็นพื้น เสร็จราชการเสด็จขึ้นเป็นสิ้นอุปราชานุกิจ

ในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงอุปราชานุกิจตามอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเปลี่ยนเสด็จออกที่โรงรถแทนท้องพระโรง


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 21 เม.ย. 12, 23:43
๙ นาฬิกา เสด็จเข้าที่ทรงสาธยายศาสตราคม

เรียนถามออกขุนผู้มีตำหรับตำรามากดังหอหนังสือหลวง

"ทรงสาธยายศาสตราคม"  นั้นคือพระราชกิจอันใดหรือ

โปรดอรรถาธิบายขยายความด้วยเถิด ???


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 06:59
ราชการสมัยก่อนต้องทำงานถึงกลางคืนก็เพราะการเดินทางของหนังสือราชการเป็นสำคัญ
เสนาบดีหรือผู้บังคับบัญชาตามหน่วยงานก็มักจะเข้าทำงานเวลาใกล้เที่ยงหรือบ่ายไปแล้ว
เพราะหนังสือราชการดำเนินการเสร็จมาใส่แฟ้มรอให้พิจารณาอยู่ที่โต๊ะแล้ว

หากเข้าทำงานเมื่อใกล้เที่ยงหรือบ่ายคงไม่มีปัญหาดังกรณี ร.ศ. ๑๑๒

ถ้าจำไม่ผิด เคยอ่านงานเขียนของหลวงวิจิตรฯ (กิมเหลียง)

ท่านว่าไว้ว่า สมัยตอนสึกพระมารับราชการใหม่ๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศในช่วงที่สมเด็จกรมเทววงศ์ฯ เป็นเสนาบดีนั้น
พวกข้าราชการชอบทำงานกันเวลากลางคืนกัน พระองค์เสนาบดีก็ทรงงานในเวลากลางคืนด้วย

แต่รายละเอียดอะไรก็จำไม่ได้แล้ว  :-[

เมื่อม.ปาวี ราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ดำเนินการโดยพลการ สั่งให้เรือรบทั้ง๒ลำเดินทางเข้ามาทอดสมออยู่ในปากอ่าว เตรียมพร้อมที่จะตลุยเข้ามาในกรุงเทพนั้น  ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้มีโทรเลขไปยังอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส แจ้งเรื่องเรีอรบฝรั่งเศส จะเข้ามาขู่เข็ญไทย ขอให้นำความไปร้องเรียนต่อ ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสโดยด่วน

เดอ แวลล์ตอบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้เรือรบเข้าไปในกรุงเทพ ฯ  และรับรองว่าจะถอนคำสั่งเดิมเสีย
ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เดอ แวลล์ ได้มีโทรเลขไปยังปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ มีความว่าสำคัญว่า ให้บอกแก่กองเรือฝรั่งเศสทราบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงยับยั้งไม่ให้เรือลำใดข้ามสันดอนเข้าไปก่อน โทรเลขฉบับนี้มาถึงสถานทูตฝรั่งเศส ได้รับในกรุงเทพเวลาเช้า ๑๐.๓๐น. ของวันเดียวกันนั้น

ปาวีอยู่ในกรุงเทพมานานพอที่จะรู้ระบบการทำงาน "หลับกลางวัน ทำงานกลางคืน" ของสยามดี  เขาจึงถ่วงเวลาที่จะนำโทรเลขนั้น  ไปแจ้งยังผู้บังคับการกองเรือ ที่กำลังรอปฏิบัติตามคำสั่งที่กำหนดไว้ว่า เมื่อน้ำขึ้นในตอนเย็น จะเป็นเวลาที่ลงลงมือปฏิบัติการ

อันที่จริง สำเนาโทรเลขนั้น กรมโทรเลขสยามก็ได้รับพร้อมๆกัน ไม่มีปัญหาอะไรที่เราจะให้เจ้าหน้าที่ไทย ลงเรือด่วนนำโทรเลขนั้น ไปแจ้งให้ผู้บังคับการทหารเรือฝรั่งเศสเสียเอง เพื่อยุติวิกฤต

แต่ทว่า จะหาผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายไทยที่มีอำนาจสั่งการดังกล่าวสักคน ก็หาได้ไม่  เวลาล่วงเลยจน ๑๘.๐๕ น . เรือรบฝรั่งเศสจึงวิ่งเต็มฝีจักรช้ามสันดอนเข้ามากรุงเทพ

เจ้าพระยาอภัยราชาฯ (โรลัง ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชาวเบลเยียม กล่าวไว้ในจดหมายที่เขียนถึงลูกชายเกี่ยวกับโทรเลขที่ฝรั่งเศสส่งมาไว้ว่า "ลูกอาจถามพ่อว่า ถ้าเราได้รับโทรเลขฉบับนั้นเวลา ๑๐.๓๐นาฬิกา ในตอนเช้าของวันที่ ๑๓แล้ว เหตุใดเราจึงไม่ติดต่อกับปาวีทันที โชคร้ายจริงที่เหตุผลเป็นเรื่องโง่เขลา ลูกก็ทราบนี่ว่า เสนาบดีสยามหลับตอนกลางวัน และทำงานตลอดจนประชุมกันในเวลากลางคืน เรื่องนี้ส่งผลให้เมื่อโทรเลขฉบับนั้นมาถึง จึงได้แต่รอกันเงียบๆ โดยไม่บอกให้พ่อรู้ด้วยซ้ำ จนกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงตื่นจากบรรทม ซึ่งพระองค์ทรงตื่นขึ้นตอนที่มีคนได้ยินเสียงยิงปืนใหญ่ที่ปากน้ำนั่นแล้วด้วยซ้ำ"

 :(


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 22 เม.ย. 12, 14:49
ราชการสมัยก่อนต้องทำงานตอนกลางคืนนั้น  มีเหตุผลหลายประการ
แต่ไม่ใช่เหตุผลเพราะว่ากลางวันอากาศร้อน ทำงานไม่ได้
ถ้าข้าราชการคนใดอ้างอย่างนี้  ผู้บังคับบัญชาคงเอาตัวปลดออกเป็นกองหนุนหรือให้ไปนั่งเล่นที่บ้าน

ดิฉันคงโดนปลดในไม่ช้านี้แหละคะ หากยังคงทำตัวเหลวไหลหาข้ออ้างเรื่อยไป ทั้งร้อนทั้งเย็น  :D  ;D

ศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง อยู่ที่พระบรมมหาราชวัง พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องลงมายังกรุงรัตนโกสินทร์ทรงปฏิบัติราชกิจเวลาตามมนูธรรมศาสตร์ กำหนดให้ ๑ วันแบ่งเป็น ๑๖ ส่วน เป็นกลางวัน ๘ ส่วน กลางคืน ๘ ส่วน

เรียน คุณ Siamese
อยากทราบช่วงเวลากลางวันด้วยค่ะ

แล้วธรรมเนียมนี้ เลิกไปตอนไหนคะ


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 22 เม.ย. 12, 20:20

ศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง อยู่ที่พระบรมมหาราชวัง พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องลงมายังกรุงรัตนโกสินทร์ทรงปฏิบัติราชกิจเวลาตามมนูธรรมศาสตร์ กำหนดให้ ๑ วันแบ่งเป็น ๑๖ ส่วน เป็นกลางวัน ๘ ส่วน กลางคืน ๘ ส่วน

เรียน คุณ Siamese
อยากทราบช่วงเวลากลางวันด้วยค่ะ

แล้วธรรมเนียมนี้ เลิกไปตอนไหนคะ

ออกขุนอย่าลืมพระราชกิจประจำวันของพระเจ้าอยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยนะขอรับ

กระผมเคยอ่านผ่านไวไว แต่จำไม่ได้ว่าอยู่ในหนังสือเล่มไหน

มีตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๕ เชียวแล  ;D


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 20:28
ออกขุนอย่าลืมพระราชกิจประจำวันของพระเจ้าอยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยนะขอรับ

กระผมเคยอ่านผ่านไวไว แต่จำไม่ได้ว่าอยู่ในหนังสือเล่มไหน

มีตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๕ เชียวแล  ;D

พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ตอนที่ ๙ แก้ไขระเบียบการในราชสำนัก

- จัดระเบียบพระราชานุกิจ
- พระราชานุกิจในสมัยแรก
- พระราชานุกิจสมัยตอนหลัง

 ;D


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 เม.ย. 12, 21:22
ราชการสมัยก่อนต้องทำงานตอนกลางคืนนั้น  มีเหตุผลหลายประการ
แต่ไม่ใช่เหตุผลเพราะว่ากลางวันอากาศร้อน ทำงานไม่ได้
ถ้าข้าราชการคนใดอ้างอย่างนี้  ผู้บังคับบัญชาคงเอาตัวปลดออกเป็นกองหนุนหรือให้ไปนั่งเล่นที่บ้าน

ดิฉันคงโดนปลดในไม่ช้านี้แหละคะ หากยังคงทำตัวเหลวไหลหาข้ออ้างเรื่อยไป ทั้งร้อนทั้งเย็น  :D  ;D

ศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง อยู่ที่พระบรมมหาราชวัง พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องลงมายังกรุงรัตนโกสินทร์ทรงปฏิบัติราชกิจเวลาตามมนูธรรมศาสตร์ กำหนดให้ ๑ วันแบ่งเป็น ๑๖ ส่วน เป็นกลางวัน ๘ ส่วน กลางคืน ๘ ส่วน

เรียน คุณ Siamese
อยากทราบช่วงเวลากลางวันด้วยค่ะ

แล้วธรรมเนียมนี้ เลิกไปตอนไหนคะ
ในส่วนของกลางวัน แบ่งเป็น ๘ ส่วน
๖ นาฬิกา แต่งองค์และทรงตรวจบัญชีพระราชทรัพย์
๗ นาฬิกาครึ่ง เสด็จออกพิพากษาคดี
๙ นาฬิกา เสวยพระกระยาหาร
๑๐ นาฬิกา รับของถวายและพระราชทานบำเหน็จ
เที่ยงวัน ทรงปรึกษาราชการด้วยมุขมนตรี
๑๓ นาฬิกาครึ่ง ทรงสำราญพระราชอริยาบถ
๑๕ นาฬิกา ทอดพระเนตรโยธาหาญ
๑๖ นาฬิกาครึ่ง ทรงปรึกษาราชการด้วยเสนาบดี


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 เม.ย. 12, 21:30
ธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเสมือนตารางปฏิบัติ หากแต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งรัชกาลที่ ๑ - ๓ ก็ดำเนินพระราชานุกิจของแต่ละพระองค์ที่แตกกันไป

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงกำหนดเวลาตื่นพระบรรทม ๗ นาฬิกา ให้ปลุกพระบรรทม ห้ามไม่ให้ต้ององค์อย่างหนึ่งอย่างใด ต้องทูลแต่เวลา ๑ โมงแล้ว การปลุกไม่สู้ง่าย ทูลไปตั้งแต่ ๑ โมง คงจะบรรทมตื่นราว ๒ โมง แล้วเสด็จเข้าห้องสรง แล้วทรงบาตร

หากแต่ปลายพระชนม์ชีพ ๕๐ พรรษาเศษ ทรงทนหิวไม่ได้ โปรดเกล้าฯให้ตั้งเครื่องพระยาต้นก่อน แล้วจึงทรงบาตร


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 เม.ย. 12, 21:38

ศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง อยู่ที่พระบรมมหาราชวัง พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องลงมายังกรุงรัตนโกสินทร์ทรงปฏิบัติราชกิจเวลาตามมนูธรรมศาสตร์ กำหนดให้ ๑ วันแบ่งเป็น ๑๖ ส่วน เป็นกลางวัน ๘ ส่วน กลางคืน ๘ ส่วน

เรียน คุณ Siamese
อยากทราบช่วงเวลากลางวันด้วยค่ะ

แล้วธรรมเนียมนี้ เลิกไปตอนไหนคะ

ออกขุนอย่าลืมพระราชกิจประจำวันของพระเจ้าอยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยนะขอรับ

กระผมเคยอ่านผ่านไวไว แต่จำไม่ได้ว่าอยู่ในหนังสือเล่มไหน

มีตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๕ เชียวแล  ;D
มีเวปสรุปไว้แล้ว เชิญคุณอาร์ทอ่านได้เลยครับ หนังสือจะได้ไม่ช้ำ  :-[ พระราชานุกิจ http://www1.mod.go.th/heritage/king/daily/daily.htm


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 22 เม.ย. 12, 21:46
ออกขุนตอบไปข้อหนึ่งแล้ว


แล้วอีกข้อล่ะ กระผมยังสงสัยไม่หาย  ??? 

๙ นาฬิกา เสด็จเข้าที่ทรงสาธยายศาสตราคม

เรียนถามออกขุนผู้มีตำหรับตำรามากดังหอหนังสือหลวง

"ทรงสาธยายศาสตราคม"  นั้นคือพระราชกิจอันใดหรือ

โปรดอรรถาธิบายขยายความด้วยเถิด ???


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 23 เม.ย. 12, 09:08
หน่วยงานกรมกองต่างๆ คงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการถวายงานด้วย จึงใช้เวลาล่วงเลยไปถึงกลางคืน

สงสัยว่า จะเลิกไปตอนที่มีการลงเวลาตอกบัตรกระมังคะ


กระทู้: การทำงานตอนกลางคืน
เริ่มกระทู้โดย: c136 ที่ 05 ก.พ. 18, 14:36
พวกเจ้าจะนอนกลางวัน ตื่นกลางคืนกัน  ลองไปหาบันทึกของฝรั่งหลายๆ คนดูครับ

แม้แต่โครงกระดูกในตู้ หม่อมคึกฤทธิ์ยังถูกหม่อมป้าปลุกมานั่งฟังเรื่องราวในอดีตตอนดึกๆ เลย