เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 09, 21:13



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 09, 21:13
ชาติพันธุ์วรรณากระทู้ที่ ๒ ยังไม่จบ     แต่มาตั้งกระทู้ ๓  เผื่อจะมีใครอยากคุยถึงชาติพันธุ์อื่นๆนอกเหนือจากลาว 
เราก็เล่าควบกันไปทั้ง ๒ กระทู้ได้

กระทู้ที่ ๓  อยากพูดเรื่องแขกและจีน ค่ะ
สังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า อิทธิพลของจีนในขุนช้างขุนแผน แทบไม่มีเลย     ข้อนี้ก็ทำให้คิดว่า คงจะเป็นสังคมไทยก่อนรัชกาลที่ ๓
เพราะรัชกาลที่ ๓ เป็นการอพยพครั้งใหญ่ของจีน เข้ามาในไทย     มีผลต่อวัฒนธรรมไทยไม่น้อย
เสภาฉบับหอพระสมุด ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   สะท้อนการตกแต่งเรือนคหบดีไทย ที่มีอิทธิพลจีนน้อยมาก
เท่าที่นึกออก  ก็เห็นมีอ่างเลี้ยงปลาเงินปลาทอง  ปลาพวกนี้น่าจะมาจากเมืองจีน
แต่พวกไม้ดัด เป็นของไทย
เทียบกับบทละครขุนช้างขุนแผน พระนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ วังหน้ารัชกาลที่ ๓    ความหรูหราแบบจีนออกมาโชว์อยู่เต็มนอกชานเรือนขุนช้าง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 09:23
ถึงฤกษ์งามยามปลอดคลอดง่ายดาย          ลูกนั้นเป็นชายร้องแว้แว้
พี่ป้าน้าอามาดูแล                              ล้างแช่แล้วก็ส่งให้แม่นม    
ทาขมิ้นแล้วใส่กระด้งร่อน                     ใส่เบาะให้นอนเอาผ้าห่ม  
ปู่ย่าตายายสบายชม                           เรือนผมน่ารักดังฝักบัว
เอาขึ้นใส่อู่แล้วแกว่งไกว                      แม่เข้านอนไฟให้ร้อนทั่ว  
เดือนหนึ่งออกไฟไม่หมองมัว                  ขมิ้นแป้งแต่งตัวน่าเอ็นดู  
พ่อแม่ปรึกษากับย่ายาย                       จะให้ชื่อหลานชายอย่างไรปู่
ฝ่ายตาตะแกเป็นหมอดู                        คิดคูณเลขอยู่ให้หลานชาย  
ปีขาลวันอังคารเดือนห้า                        ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย  
กรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย                  มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา
ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่                 สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา  
เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา                ให้ชื่อว่าพลายแก้วผู้แววไว

ฤกษ์เกิดของขุนแผนตรงกับเมื่อพระเจ้ากรุงจีนนำเอาเพชรนิลจินดาอันมีค่ามาถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาในที่นี้คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำไปใส่ไว้ปลายยอดเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทยคือวัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งสร้างมาครั้งทรงชนะศึกเมืองหงสาวดี

ทั้งที่มาของชื่อ และฤกษ์เกิดปีขาลวันอังคารเดือนห้า

สมเป็นพระเอกจริง ๆ

 ;D





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 09:27
ในนิราศของสุนทรภู่  มองเห็นร่องรอยของคนจีนในจังหวัดต่างๆที่สุนทรภู่ไปเยือน       แต่ในขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด  ไม่มีตัวละครจีนที่มีบทบาทสำคัญ  หรือแม้แต่บทบาทรองๆ   ก็มองไม่เห็น
ขุนช้างเป็นเศรษฐีไทย    ไม่มีเลือดจีนเจือปน     ร่ำรวยจากการเป็นเจ้าของที่ดิน    ไม่ใช่จากการค้าขาย  

เท่าที่อ่านเจอ   มีการเอ่ยถึงคนจีนเป็นตัวประกอบไว้นิดหน่อย  ในบางตอนค่ะ
เช่นตอนนี้

พระพันวษาเสด็จออกว่าราชการ  ก็มีคนจีนมาร้องทุกข์

พระยารักษ์รับสั่งทูลสนอง                    ขอเดชะจีนทองให้การว่า
เดิมได้สู่ขอต่อมารดา                           ยกให้แล้วก็พาไปเรือนชาน
จีนทองเข้าหาเป็นห้าครั้ง                      อำแดงสังไม่ยอมทำหักหาญ
ครั้นเข้าปล้ำร่ำว่าด่าประจาน                  อายกับเพื่อนบ้านเป็นพ้นคิด
จึงเข้ามาฟ้องร้องฎีกา                          ให้ปรึกษาให้เห็นชอบแลผิด
ถ้าไม่สัตย์ขอถวายซึ่งชีวิต                    ขอพระองค์ทรงฤทธิ์ได้เมตตา

คดีนี้คล้ายๆกับคดีอำแดงเหมือนกับนายริด  ในสมัยรัชกาลที่ ๔   ที่พ่ออำแดงเหมือนยกลูกสาวให้ผู้ชายที่ลูกสาวไม่สมัครใจ
เพราะเธอรักอยู่กับนายริด    เธอก็เลยไม่ยอมเป็นเมียนายภู ผู้ชายที่พ่อยกให้
อำแดงเหมือนถวายฎีกาสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  ทรงตัดสินให้เธอชนะคดี  ไปอยู่กินกับนายริดได้ตามความสมัครใจ

ในคดีจีนทอง   ตัวสามีเป็นฝ่ายมาร้องทุกข์เสียเอง   พระพันวษาก็ตัดสินว่า

ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ                     ฟังจบทรงพระสรวลสำรวลร่า
เจ๊กอัปรีย์สิ้นที่จะเจรจา                       แต่เมียด่าก็มาฟ้องไม่ต้องการ
หรือเมืองจีนมันจะร้องฟ้องกันได้           ถองส่งออกไปเสียจากศาล
...................
สรุปว่ายกฟ้อง  จีนทองก็คงต้องกลับบ้านไปคิดเอาเองว่าจะชนะใจเมียได้ยังไง  หรือว่าจะเลิกกันไปรู้แล้วรู้รอด




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 09:31
ชนกันกลางอากาศ
ใช่แล้วค่ะ   เจ้ากรุงจีนเอาแก้วมาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา  เป็นที่มาของชื่อพลายแก้ว
อยู่หน้าแรกแท้ๆ   อ่านข้ามไปไม่ทันนึกว่าตรงนี้เอง 
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูมาก

เมื่ออ่านครั้งแรก สงสัยว่า
กรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย                   มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา
ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่                 สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา   
เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา     

อย่างแรกคือวัดเจ้าพระยาไทย อยู่ตรงไหนของอยุธยา

อย่างที่สอง คือ สร้างไว้เมื่อครั้งเมืองหงสา  แปลว่าอะไร    เพราะการตั้งเมืองหงสาไม่เกี่ยวอะไรกับประวัติศาสตร์อยุธยา
คุณศุภร บุนนาค สันนิษฐานไว้ใน "สมบัติกวี" ว่า อาจจะเขียนผิด  ควรเป็น เมื่อครั้งศึกหงสา      เป็นเจดีย์ที่สร้างเมื่อมีศึกกับหงสาวดี   


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 10:12
๓๕ เดนตายสหายขุนแผนออกโรงอีกครา  

ตามคำรายงานตัวมีทั้งไทย, มอญ, ลาว,จีน แถม ละว้า ให้อีกเชื้อชาติหนึ่ง (ไม่ยักมีแขก) เป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ

ขอให้สังเกตว่าคำรายงานตัวมีแบบฟอร์มเดียวกันคือ ชื่อตัว, ชื่อเมีย และโทษที่ต้องติดคุก

ต่อมาข้านี้อ้ายสีอาด                       เมียชื่ออีกงราดพระเจ้าข้า
คบไทยไล่ปล้นบ้านละว้า                  แล้วเข่นฆ่าลาวชื่อท้าวเสน
ขึ้นย่องเบาเอาบาตรผ้าพาดเณร           ทุบตาเถรแล้วซ้ำปล้ำหลวงชี

อ้ายมอญมือด่างบางโฉลง                 เมียชื่ออีโด่งเป็นชาวเหนือ
ลักถ้วนลักถี่ทั้งตีเรือ                       ครกกระบากสากกะเบือไล่เก็บครบ

อ้ายมากสากเหล็กปล้นเจ๊กกือ             เมียมันตาปรือชื่ออีเสา

อ้ายสงผัวอีคงอยู่กงคอน                   ตีชิงผ้าผ่อนฆ่ามอญเสีย

อ้ายจันผัวอีจานบ้านกะเพรา                โทษปล้นจีนเก๊าเผาโรงเจ๊ก
ยิงปืนปึงปังประดังโห่                       แล้วเอาสันพร้าโต้ต่อยหัวเด็ก

อ้ายเกิดกระดูกดำผัวอีคำด่าง               โทษสะดมกรมช้างกับหมอมั่น
ปล้นละว้าป่าดงคงกระพัน                   กระหำไขว้ไข่ดันเป็นทองแดง


เพื่อนร่วมรุ่นขุนแผนแต่ละคน มีประวัติดุเด็ดเผ็ดมัน

 ;D



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 10:46
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องตลกไว้ว่า

ตลกชาติพันธุ์และตลกชนชั้นไม่ว่าจะในวัฒนธรรมอะไร เป็นการผลักดันกลุ่มคนที่เป็นตัวตลกให้ลงไปสู่บันไดขั้นล่าง ๆ ทั้งนั้น คนที่อยู่ชั้นล่างของสังคมมักเป็นตัวตลกเสมอ และตลกเองก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของสังคมที่จะจัดให้คนเหล่านี้อยู่ข้างล่างด้วย

ตลกที่เก่าแก่ของไทยคือ ตลกตาเถนกับยายชี ถัดมาคือ ตลกเจ๊ก และปัจจุบันคือ ตลกลาว

ตลกเกี่ยวกับเจ๊กมีมากตั้งแต่รัตนโกสินทร์ลงมา ปรากฏทั้งในภาพเขียนฝาผนังไปจนถึงวรรณกรรมและการแสดง

ในเรื่องขุนช้างขุนแผนคนจีนก็ยังคงความเป็นตัวตลกอยู่

ตอนจระเข้เถรขวาดอาละวาด

คนเห็นกุมภานั้นกล้าหาญ                 ชายหญิงวิ่งพล่านทุกบ้านช่อง
ถึงแพเจ๊กจอดหน้าท่าการ้อง              ขึ้นคาบเมียเจ๊กจ๋องเจ้าน้ำมัน
อ้ายผัวร้องไอ๊หยาวิ่งมาช่วย              จระเข้ฉุดเจ๊กฉวยบั้นเอวมั่น
จนผ้าผ่อนล่อนลุ่ยจากพุงพัน             อ้ายผัวหันหน้าจ้องร้องไห้งอ
จระเข้เถรเห็นเจ๊กมันร้องไห้               นึกขันกลั้นไม่ได้ก็หัวร่อ
พอปากอ้าเจ๊กคร่าไม่รารอ                เมียก็พอหลุดได้ไม่ถึงตาย

ตลกจีนแม้แต่จระเข้ยังหัวเราะ

 ;D

 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 09, 11:02

อ้างถึง
    กระหำไขว้ไข่ดันเป็นทองแดง
     

       ตรงนี้เกี่ยวกับอยู่ยงคงกระพัน   หรือว่ากลอนมันพาไปนะคุณขา
     ช่วยบอกหน่อยข้าน้อยด้อยตำรา  ไม่รู้ไอ้ที่ว่าเป็นฉันใด


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 11:16
พอคุณเพ็ญชมพูพากลุ่มนักโทษเดนตายมาแนะนำ   ก็ตามไปดู  เลยได้ประเด็นมาอีกนิดหน่อย

ที่นั่งถัดไปอ้ายช้างดำ                              อยู่บ้านถ้ำย่องเบาเจ้าภาษี
เก็บเงินทองของข้าวบรรดามี                     ของดีดีไม่น้อยล้วนพลอยเพชร

เสภาตอนนี้ แต่งสมัยรัชกาลที่ ๓ หรือหลังจากนั้น  เพราะระบบเจ้าภาษี เริ่มในรัชกาลที่ ๓    ในรัชกาลที่ ๒ ยังไม่มี

ตอนพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาด   มีคนมาดูบนฝั่งมากมาย    คนจีนก็มีบทบาทอยู่บ้าง
ตรงนี้น่าจะยกไปถึงกระทู้ ๔ ได้ค่ะ  ว่าด้วยชนชาติอื่นๆที่เหลือในเรื่อง

ฝ่ายพวกแขกฝรั่งทั้งจีนจาม                      ก็เดินชมกันตามเพศภาษา
ไม่เคยเห็นที่ไหนแต่ไรมา                         แต่เจ๊กว่าเมืองจีนนั้นเคยมี
เมื่อครั้งเกียงจูแหยแก้กลศึก                     ก็รบกันครั่นครึกกระบวนผี
แต่เป็นการนานช้ากว่าพันปี                       เราได้เห็นครั้งนี้เป็นบุญตา

เกียงจูแหย เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายดี  ในเรื่องห้องสิน   ดิฉันดูตามหลักฐานว่าแปลในรัชกาลที่ ๒   แต่คุณวันดีสงสัยว่าไม่ใช่    ต้องเชิญคุณวันดีมาขยายความ

คำถามของคุณ N.C.  ไปเปิดหนังสือแล้ว  พิมพ์ตรงกับที่คุณเพ็ญชมพูยกมา    ส่วนความหมาย  เห็นจะต้องเชิญผู้รู้อธิบายกันเอง



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ย. 09, 11:25
กระทำการให้ ไข่สองใบ  เหลือใบเดียว     โดยกิจกรรมที่มิได้บันทึกไว้  เกรงมีผู้เอาอย่าง
เพื่อหวังว่าจะคงกระพัน

ทำไมไม่ถามเรื่องง่าย ๆอย่างสร้างควายธนูนะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 11:43
อ้างถึง
ตลกชาติพันธุ์และตลกชนชั้นไม่ว่าจะในวัฒนธรรมอะไร เป็นการผลักดันกลุ่มคนที่เป็นตัวตลกให้ลงไปสู่บันไดขั้นล่าง ๆ ทั้งนั้น คนที่อยู่ชั้นล่างของสังคมมักเป็นตัวตลกเสมอ และตลกเองก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของสังคมที่จะจัดให้คนเหล่านี้อยู่ข้างล่างด้วย

สงสัยว่าอ.นิธิหมายถึงตลกตัวประกอบ  อาจจะเห็นได้ในวรรณคดีไทยอย่างในขุนช้างขุนแผน   แต่ประเทศอื่นๆมีกี่ประเทศเป็นแบบนี้  ดิฉันไม่ทราบ
รู้แต่ว่าตัวตลกที่เรียกว่า jesterของอังกฤษ สมัยเรอเนสซองส์   ไม่ใช่คนชั้นล่างของสังคม     แต่เป็นอภิสิทธิ์ชนที่จะพูดอะไรก็ได้ โดยเฉพาะการเสียดสีล้อเลียนนาย    ยิ่งตัวตลกในราชสำนักด้วยแล้ว  ต้องเป็นคนฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณสูงมาก

แม้แต่ในไทยเอง เราก็มีศรีธนนไชย  ซึ่งแม้เกิดมาเป็นชาวบ้านธรรมดา  ก็พาตัวขึ้นมาเป็นขุนนางใกล้ชิดพระราชาได้ เรียกได้ว่าเป็นขุนนางสำคัญไม่เบาเลย
และที่สำคัญที่สุดคือ ตัวละครเอกอย่างขุนช้าง  ซึ่งเป็นชนชั้นแนวหน้าของสุพรรณ   เป็นตัวเอกของเรื่อง  เป็นคู่แข่งพระเอก  เป็นผู้ร้ายด้วยในหลายตอน     ก็เป็นตัวตลกด้วย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 11:52

ตอน ขุนช้างตามนางวันทอง

จัดแจงแต่งตัวนุ่งยก                    เข็มขัดรัดอกแล้วโจงหาง
ผูกตัวเข้าเป็นพรวนล้วนเครื่องราง       พระปรอทขอดหว่างมงคลวง
ลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร         ไข่เป็ดเป็นหินขมิ้นผง
ตระกุดโทนของท่านอาจารย์คง        แล้วอมองค์พระคะวัมล้ำจังงัง
ลงยันต์ราชะปะท้ายทอย               ยังหยอมแหยมหยอกหยอยเหมือนหอยสังข์
จับถือของ้าวก้าวเก้กัง                  ขึ้นนั่งคอช้างพลายกางพลัน

ไข่ดันทองแดงดูเหมือนจะเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่ง คิดว่าอาจจะได้มาจากสัตว์อื่นก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของเจ้าตัว

ตอนนี้ขุนช้างก็แสดงบทเป็นตัวตลกอย่างที่คุณเทาชมพูว่าเหมือนกัน

 ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ย. 09, 12:56
แขกชวา

เมื่อพลายชุมพลกับพระหมื่นศรีเข้าไปหาเถรขวาดได้แต่งเป็นแขกชวา

ทำทีเป็นแขกชวามาอยู่ไทย                                           สอดใส่สนับเพลาดูเพราตา
นุ่งยกพอปกลงถึงเข่า                                                  เจียรบาทคาดเข้างามหนักหนา
เหน็บกริชดูดีทีชวา                                                     เสื้อสวมกายาอินทร์ธนู
สอดแขนตรึงแน่นเพียงข้อศอก                                        ศีรษะพอกพันผ้ามาทั้งคู่
ไม่เพี้ยนเพศแขกชวามลายู                                            บ่าวไพร่ตามพรูสะพรั่งมา

อิทธิพลพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา แพร่หลายอยู่ในเวลานั้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ย. 09, 13:02
ของที่นำมาให้เถร คือ
น้ำตาลยา (เปรี้ยว ๆ หวาน ๆ)
กัญชา   จุดผ่านตุ้งก่า
กล้องฝิ่น และฝิ่น
เหล้าเข้ม


เถรขวาดบอกว่าไม่เคยสนุกเหมือนวันนี้   น่าจะเรียกว่าเมาสามกษัตริย์


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 13:18
อ่านเครื่องแต่งกายในขุนช้างขุนแผนทีไร   เกิดคำถามขึ้นมาทุกทีว่าสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น  เขาแต่งกันอย่างนั้นจริงๆหรือ     บางครั้งก็รู้สึกว่าตรงความจริง อย่างชุดไปฟังเทศน์มหาชาติของนางพิม  แต่บางทีก็รู้สึกเหมือนละครกรมศิลป์
ชุดแขกชวาที่คุณวันดีนำมาเล่าให้เห็นภาพ    เหมือนละคร  มีสนับเพลาและ อินทร์ธนูบนบ่าด้วย
ย้อนไปถึงชุดภาพยาซิกาแรตที่คุณ N.C. นำมาให้ชมกัน    พอเห็นก็สะดุดตาว่าเสื้อผ้าในรูป บางชุดเหมือนจะในรัชกาลที่ ๖ หรือ ๗  อย่างชุดของบัวคลี่   แต่งตัวทันสมัยกว่าต้นรัตนโกสินทร์มาก
เธอสวมเสื้อจุด  แขนยาว กับโจงกระเบน     มีผ้าคลุมไหล่ด้วย    แล้วยังไว้ผมแสกกลาง  ยาวประบ่าอีกต่างหาก   ถ้าหากว่ามีกระเป๋าหมากย่านลิเพาอีกสักใบ ก็นั่งรถม้าไปเที่ยวงานสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้เลย
เสื้อผ้าเธอเป็นแบบเดียวกับนางแว่นแก้ว  นางเอกของหลานปู่ขุนแผน    
แต่เสื้อผ้าสายทอง ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือต้นรัชกาลที่ ๕  ห่มสไบจีบกับนุ่งโจง   เว้นแต่ผมที่ไม่ได้ตัดสั้น แต่ยาวประบ่า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 พ.ย. 09, 14:15
ขอย้อนกลับที่คุณ Navarat. C ตั้งข้อสังเกต ครับ

  
อ้างถึง
กระหำไขว้ไข่ดันเป็นทองแดง

         ทองแดงเป็นแต่กำเนิด (undescended testis) คือ ภาวะที่ลูกอัณฑะของทารกในครรภ์
ซึ่งเดิมอยู่ในช่องท้อง ไม่เคลื่อนตัวผ่านช่องทาง - inguinal canal ลงสู่ถุงอัณฑะ (ดังรูป)
จึงเกิดมาเป็นเด็กชายทองแดง มีลูกอัณฑะค้างอยู่ข้างบน

ในเสภานี้ หมายความว่า    เป็นทองแดง ในภายหลังที่ลูกอัณฑะอยู่ในถุงอัณฑะแล้ว ?
จากการกระทำโดยจับ หำไขว้ แล้วก็ ดันไข่ ขึ้นไป เป็นทองแดง

           หรือ คนๆ นี้มีความผิดปกติที่อวัยวะส่วนนั้น - มีทั้งหำไขว้ และ ไข่ดันเป็นทองแดง ?

         บทความของ อ.นิธิ เรื่องตัวตลก ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่คุณเพ็ญชมพูกล่าวถึง อ่านแล้วเห็นว่า
อ.นิธิ เขียนถึงตัวตลกไม่ครบ ครับ
         อ. เขียนว่าตลกปัจจุบัน คือ ตลกลาว และ ไม่ได้เขียนถึง เพศที่สาม ที่ปรากฏเป็นตัวตลก
ทั้งในหนัง ในละครมากมาย
           ในขุนช้างขุนแผน คงไม่มีตัวสมทบ หรือตัวประกอบ ที่เป็นเพศที่สาม ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 พ.ย. 09, 15:50
เสภาขุนช้างขุนแผน  ตอนที่ ๓๗

-  ตำราข้าไม่ถึงขี้ผึ้งฝรั่ง    ที่เปื่อยพังน้ำฝาดแลดีเหลือ
เข้าลูกเบญกานีสีเสียดเจือ   เรียกเนื้อให้ชิดติดกระชับ

-  ตำราหมอฝรั่งชั่งสัประดน    ของเขาฝนไว้ทาเป็นยาฝี
ถ้าแลแผลพุพองเป็นหนองดี     ฤาจะลองดูสักทีเจ้าสร้อยฟ้า

(คัดมาให้ดูเท่านี้ คัดมากเดี๋ยวเขาว่าเอา)
มีเรื่องขี้ผึ้งฝรั่ง  แสดงว่าเสภาตอนนี้น่าจะแต่งสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีคณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ พร้อมกับเป็นหมอช่วยรักษาคนด้วยยาแบบใหม่ คนแต่งเลยเอามาใส่ไว้ในเสภา ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 16:03
อ้างถึง
อ. เขียนว่าตลกปัจจุบัน คือ ตลกลาว และ ไม่ได้เขียนถึง เพศที่สาม ที่ปรากฏเป็นตัวตลก
ทั้งในหนัง ในละครมากมาย
           ในขุนช้างขุนแผน คงไม่มีตัวสมทบ หรือตัวประกอบ ที่เป็นเพศที่สาม ?

ฉบับหอพระสมุด  ที่อ่านมายังไม่เคยเจอเพศที่สามค่ะ    เพิ่งมาเห็นจากที่คุณหลวงเล็กโพสต์เล่าถึงประวัติพลายจันทร์ พ่อของขุนแผน  ว่าพอบวชเณรก็ได้เรื่อง   ถูกเณรรุ่นพี่เกี้ยวเข้าให้ เพราะรูปหล่อถูกใจ

พิศพลางย่างเหย่าเข้าในห้อง            ร้องพ่อนั่นจันหนูจ๋า
มาพูดเล่นเปนไรไฉนนา                   เภสัชเพลาก็มีกิน
เสียแรงเรียกน้อยหรือดื้อเสียได้          ชะใจพ่อหนูจันไม่ผันผิน
ฉันนี้รักนักหนาเท่าฟ้าดิน                  จนสุดสิ้นชีวิตไม่คิดคลาย
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2935.45

แปลกใจมาก  เพราะเพิ่งเคยเจอวรรณคดีไทยที่พูดถึงเรื่อง "สวาท" หรือรักร่วมเพศชายกับชายอย่างเต็มปากก็ในเรื่องนี้ละค่ะ
ในฉบับหอพระสมุด  ยังไม่เจอ  เจอแต่หญิงกับหญิง กล่าวไว้ประปราย  
เห็นจะต้องขอแรงคุณเพ็ญชมพูช่วยหาให้ที   เผื่อหลงหูหลงตาดิฉันไปอีก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 09, 16:09
ขอบคุณคุณหลวงเล็กที่เสี่ยงกองเซนเซอร์เข้ามาตอบผมนะครับ แถมมีรูปประกอบอีกต่างหากดูเป็นวิชาการอย่างยิ่งยวด

ผมนั้น  พอเห็นลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร  เครื่องรางของขุนช้างที่คุณเพ็ญเอามาบอกใบ้ ก็เข้าใจได้ทันทีว่า ใครมีอยู่กับตัวต้องหนังเหนียว ยิงไม่ออกฟันไม่เข้าแน่  ก็เลยพลอยเดาเลยไป โบราณก็คงจะมีความเชื่อว่าคนที่มีกระหำไขว้ จะอยู่ยงคงกระพันด้วย

ตกลงน่าจะหมายความว่า อ้ายเกิด ผัวอีคำด่าง คงกระพัน (เพราะมี) กระหำไขว้ไข่ดันเป็นทองแดง
คือมีเครื่องรางสดๆนี้อยู่ในตัวถึง2อย่าง เรียกว่าดับเบิ้ลเหนียวว่างั้นเถอะ

 คงไม่ใช่อ้ายเกิดมีความสามารถพิเศษในการจับหำตัวเองไขว้แล้วดันไข่ขึ้นไป1เม็ด  อีก1เม็ดทิ้งไว้ให้เป็นไข่ทองแดง  จึงมีคิวได้รับเลือกไปในงานบู๊นี้นะผมว่า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ย. 09, 08:32
หามิได้ครับ คุณ NAVARAT.C  ข้อความที่มีรูปประกอบเรื่องไข่ทองแดงไม่ใช่ข้อความของผม

เรื่องลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร  เคยอ่านหนังสืออยุธยายศยิ่งฟ้า : ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ของคุณสุจิตต์  วงษ์เทศ  กล่าวถึงชายชาวกรุงศรีอยุธยานิยมฝังก้อนโลหะอะไรบางอย่างไว้แถวๆอวัยวะเพศ ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน เรื่องอย่างนี้ ถ้าจำไม่ผิด หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือกาญจนาคพันธ์ก็เคยเล่าไว้เหมือนกัน  การฝังโลหะตามร่างกายด้วยเชื่อถือว่าจะช่วยให้คงกระพัน คงเป็นที่นิยมของชายในดินแดนแถบนี้สมัยก่อน  เพราะเคยได้ยินว่า ทางล้านนาก็มี ทางเขมรก็มี (ดูในบันทึกของโจวตากวน)

เรื่องเล่นสวาท นอกจากเสภาประวัติพลายจันทร์ที่ได้เล่าไว้ในกระทู้ ๑ แล้ว ก็มีกล่าวไว้ในกฎหมายตราสามดวง ในส่วนกฎพระสงฆ์ (ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑)ด้วย แต่จำไม่ได้ว่าข้อไหน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 08:49
คนที่ตอบข้อข้องใจของคุณ Navarat C. พร้อมภาพอนาโตมี่วิชาการ จนไม่มีช่องทางให้เวบมาสเตอร์เซนเซอร์  คือจอมยุทธอีกคนของเรือนไทย  ชื่อ คุณ SILA ค่ะ

คุณหลวงเล็กบอกว่า
อ้างถึง
เรื่องเล่นสวาท นอกจากเสภาประวัติพลายจันทร์ที่ได้เล่าไว้ในกระทู้ ๑ แล้ว ก็มีกล่าวไว้ในกฎหมายตราสามดวง ในส่วนกฎพระสงฆ์ (ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑)ด้วย แต่จำไม่ได้ว่าข้อไหน


สนใจกฎหมายตราสามดวงและกฎพระสงฆ์    คุณหลวงเล็กจำได้ไหมคะว่าเอ่ยไว้ทำนองไหน

ขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด  ไม่มีชายกับชาย   มีแต่บทขุนช้าง ออกไปในทาง molest ขุนแผน นิดหน่อย  แต่ดูเจตนาแล้ว น่าจะเป็นประจบประแจงเอาตัวรอด  มากกว่ารู้สึกจริงจัง
กวีเขียนตอนนี้เป็นเรื่องตลกของขุนช้าง  อยู่ในตอน ๑๔ ค่ะ

อีพ่อเนื้อหอมทูลกระหม่อมแก้ว                             เขาว่าพ่อตายแล้วกลับมาได้
บุญญาธิการพ่อชาญชัย                                      เครื่องในของพ่องามดังดอกบัว
เข้าเลิกผ้าคว้าไขว่จะขอจูบ                                  เอามือลูบโน่นนี่มาขยี้หัว
หอมเป็นกระแจะปนเห็นพ้นตัว                              เขาก็ชวนกันหัวอยู่งันงัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 09:21
        บทความของ อ.นิธิ เรื่องตัวตลก ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่คุณเพ็ญชมพูกล่าวถึง อ่านแล้วเห็นว่า
อ.นิธิ เขียนถึงตัวตลกไม่ครบ ครับ
         อ. เขียนว่าตลกปัจจุบัน คือ ตลกลาว และ ไม่ได้เขียนถึง เพศที่สาม ที่ปรากฏเป็นตัวตลก
ทั้งในหนัง ในละครมากมาย

เพศที่สามปัจจุบันปรากฏเป็นเรื่องตลก แต่ในสมัยก่อนเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว

ชื่อที่ใช้เรียกเพศที่สามคือ กะเทย หรือ บัณเฑาะก์ หรือถ้าให้ทันสมัยหน่อยก็เป็น เกย์, ทอม, ดี้  ในสมัยก่อนรักร่วมเพศระหว่างชายกับชายเรียกว่า เล่นสวาท ถ้าเป็นหญิงกับหญิงเรียกว่า เล่นเพื่อน

เรื่องของรักร่วมเพศมีมานานแล้วมีหลักฐานตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในปี ค.ศ.๑๖๓๔ นายโยส สเคาเต็น อดีตเจ้าหน้าที่การค้าของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยาถูกลงโทษประหารชีวิตโดยรัฐบาลของเนเธอร์แลนด์ที่เมืองปัตตาเวียในข้อหาว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นความผิดอย่างร้ายแรงในสังคมตะวันตก นายสเคาเต็นยอมรับสารภาพและอ้างว่าได้รับแบบอย่างพฤติกรรมรักร่วมเพศมาจากคนในกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลักฐานเกี่ยวกับพฤติกรรม "เล่นสวาท" มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน จากประชุมประกาศในรัชกาลที่ ๔ ที่ได้บันทึกถึงความประพฤติของพระภิกษุด้วยข้อความที่ว่า

...บางจำพวกเป็นคนเกียจคร้าน กลัวจะเกณฑ์ให้ราชการ หลบลี้หนีเข้าบวชเป็นภิกษุ สามเณร อาศัยพึ่งพระศาสนาเลี้ยงชีวิต แล้วประพฤติอนาจารทุจริตต่างๆ จนถึงเล่นสวาทเป็นปาราชิกก็มีอยู่โดยมาก...

สำหรับพฤติกรรม "เล่นเพื่อน" มีการประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลข้อที่ ๑๒๔ กล่าวถึงโทษของการกระทำความผิดดังกล่าวไว้ดังนี้

อนึ่งสนมกำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกัน ทำดุจชายเป็นชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ศักคอประจานรอบพระราชวัง ที่หนึ่งให้เอาเป็นชาวสตึง ที่หนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ในส่วนที่ ๖ ว่าด้วยความผิดที่กระทำอนาจาร หมวดที่ ๑ ความผิดฐานกระทำอนาจารเกี่ยวกับสาธารณะ มาตรา ๑๒๔ กล่าวว่า

ผู้ใดกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือกระทำชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษติดคุกตั้งแต่ ๓ เดือนขึ้นไป จนถึง ๓ ปี แลให้ปรับตั้งแต่ ๕๐ บาทขึ้นไปถึง ๕๐๐ บาทด้วยอิกโสด ๑

แม้ว่าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพศที่สามและพฤติกรรมรักร่วมเพศไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย เป็นเรื่องที่ต้องปิด ๆ บัง ๆ แต่ก็มีบันทึกไว้ในรูปของวรรณกรรมบ้าง ที่โด่งดังมากเห็นจะได้แก่เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ ของคุณสุวรรณในสมัยรัชกาลที่ ๓

ดีที่บุคคลในเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถ้าอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ให้เสียวสันหลังแทน

 ;D




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 พ.ย. 09, 09:32
อาจารย์ครับ ยังค่อยๆ ตามอ่าน ค่อยๆ ค้น แล้วคว้า ตอนนี้เป็น องคต ครับ
 
       อ่านลีลาขุนช้างต้อนรับการกลับมาของขุนแผนแล้วจั๊ก(กะ)จี้ พิกล

       


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 10:01
ใน พระไอยการลักษณะพยาน ของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตรามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นและได้รับการตรวจชำระแก้ไขในรัชกาลที่ ๑ ได้กล่าวถึงคนที่ไม่ควรให้เป็นพยานในศาลจำนวน ๓๓ จำพวก สองจำพวกในนั้น คือ กระเทย และ บันเดาะ (เขียนตามต้นฉบับ) แสดงว่า กะเทยกับบัณเฑาะก์ เป็นคนละพวกกัน แล้วต่างกันอย่างไร คำสองคำนี้มีที่มาต่างกัน

กะเทย เป็นคำที่ไทยยืมเขมรมาใช้ คำเดิมคือ “เขฺทีย” อ่านว่า เขฺตย (ขฺเตย) ดร. บรรจบ พันธุเมธา ท่านเขียนคำนี้เป็นภาษาไทยว่า กระเทย เหมือนในกฎหมายตราสามดวง แต่ไฉนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕  และ ๒๕๔๒ เก็บเฉพาะ กะเทย ไว้ ตามพจนานุกรมดังกล่าว กะเทย หมายถึง คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาตรงข้ามกับเพศของตนเอง; ผลไม้ที่เมล็ดลีบ เช่น ลำไยกะเทย. (อะหม ว่า เทย) ถ้ายึดถือคำนิยามของราชบัณฑิตยสถานอย่างเคร่งครัด คำว่า กะเทย หมายถึงทั้งชายและหญิงก็ได้ผู้ที่มีบุคลิกภาพตรงข้ามกับเพศของตน

ส่วนคำว่า บัณเฑาะก์ มาจากภาษาสันสกฤตว่า ปณฺฑก  คำนี้มีรายละเอียดเขียนถึงในคัมภีร์ สารัตถสังคหะ  ตอนว่า “ปณฺฑกาน วิภาวนกถา” (ความว่าด้วยบัณเฑาะก์) แบ่งเป็น ๕ จำพวก  ดังนี้

๑. โอปักกมิปัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่ถูกตอน

๒. อาสิตตปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดบังเกิดควมกำหนัดยินดี มีความกระวนกระวายขึ้นแล้วแลเอาปากคาบซึ่งนิมิตต์แห่งบุรุษทั้งหลายอื่น ดูดกินซึ่งอสุจิจึงระงับดับความกระวนกระวาย

๓. อุสุยยปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดแล เห็นซึ่งการอัชฌาจารแห่งบุคคลทั้งหลายอื่นแล้ว บังเกิดมีความริษยาขึ้นมา ความกระวนกระวายของคนนั้น ก็พลอยระงับดับลงในกาลเมื่อแลเห็นนั้น

4. นปุ สกปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดหมอิตถีภาวรูปบ่มิได้ หาบุรุษภาวรูปบ่มิได้ ในปฏิสนธิกาลม บังเกิดมิได้เป็นหญิงเป็นชาย เพศหญิงชายนั้นหาปรากฎไม่ หรือ “ผู้ไม่มีเพศแต่กำเนิด

๕. อุภโตพยัญชนกปัณเฑาะก์ คือ มีสองเพศ จะเป็นหญิงก็ได้ จะเป็นชายก็ได้ มีด้วยกันทั้งสองเพศ  จะทำการรักกับชาย ปุริสนิมิตต์เพศชายก็หายไป จะทำการรักกับหญิง อิตถีนิมิตต์เพศก็หายไป

ความเห็นในเรื่องจำพวกบัณเฑาะก์ในคัมภีร์ สมันตปาสาทิกา แตกต่างไปจาก สารัตถสังคหะ เล็กน้อย จำพวกที่ ๕ ข้างต้น ถูกแทนที่ด้วย ปักขปัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่เป็นบัณเฑาะก์เฉพาะปักข์ เมื่อถึงข้างขึ้นเป็นเพศชาย เมื่อถึงข้างแรมเป็นเพศหญิง

เรื่องที่ว่าไม่ให้กะเทยและบัณเฑาะก์เป็นพยานในศาลนั้น มาจากคติความเชื่อว่า คนที่จะเป็นพยานได้ต้องไม่ใช่คนบาป แต่ในทางพุทธศาสนาดังเช่นที่กล่าวไว้ใน ไตรภูมิพระร่วง คนที่เกิดเป็นกะเทยเนื่องจากผลกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน ๆ คือ เป็นชายที่ผิดเมียผู้อื่น หลังจากไปตกนรกปีนต้นงิ้วแล้ว ยังต้องไปเกิดเป็นกะเทยอีก ๑,๐๐๐ ชาติ จึงจะพ้นกรรม ดังนั้นจึงถือว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์และควรเชื่อถือ

ข้อมูลจากหนังสือภาษาอัชฌาไศรย ภาคชายคาภาษาไทย เรื่อง กะเทย / บัณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ  โดย อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร
http://gotoknow.org/blog/thaikm/151017





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ย. 09, 11:10
กฎพระสงฆ์ ข้อที่ ๑๐ (ขอตัดเฉพะตอนที่กล่าวถึง ลูกสวาท)

...ลางเหล่าเหนชายเดกลูกข้าราชการ อาณาประชาราษฎร รูปร่างหมดหน้า ก็พูดจาเกลี้ยกล่อมชักชวนไปไว้แล้วกอดจูบหลับนอนเคล้าคลึงไปไหนเอาไปด้วย  แต่งตัวเด็กโอ่อวดประกวดกัน  เรียกว่าลูกสวาศ ลูกสุดใจ ศรียะตราหนึ่งรัด ยานัตก็มีบ้าง  ช่วงชิงกันหึงษาพยาบาทจนเกิดวิวาทตีรันกันตาย  ด้วยไม้กระบองซั่น  พิจารณาได้ตัวมารับเปนสัตย  ได้ไม้กระบองซั่นเปนหลายอัน...

คัดมาจากกฎพระสงฆ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔ จ.ศ. ๑๒๓๙ อักขรวิธีอาจจะต่างจากในกฎหมายตราสามดวงบ้าง เพราะขณะที่พิมพ์นี้ไม่มีกฎหมายตราสามดวงอยู่กับตัว 

เรื่องลูกสวาทที่เป็นคดีโด่งดังมากในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล่าวขานกันมาก คือ กรณีหม่อมไกรสร หรือ กรมหลวงรักษรณเรศ ถูกกล่าวหาว่าพระองค์มีสัมพันธ์สวาทกับชายที่เป็นตัวละครของพระองค์  รายละเอียดน่าหาอ่านพอได้ไม่ยากนัก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 12:01
ขอเลี้ยวออกนอกซอยจีนและแขกไปหน่อย  ตามไกด์ทั้ง ๓ คนที่นำทาง

กรณีหม่อมไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ เคยพูดกันมาบ้างในเรือนไทย ๓ ปีก่อนค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1614.90

ยังมีคำถามว่า ท่านเล่นสวาทจริงหรือ  หรือว่าท่านเป็นชายแท้ที่หลงรักกระเทย     
ถ้าเป็นสมัยนี้  ก็อาจเทียบว่า  ผู้ชายที่หลงใหลน้องปอย น่าจะเป็นชายแท้มากกว่าเกย์

คำเรียกลูกสวาทว่า "ศรียะตรา" (สียะตรา) เป็นไปได้ ว่ามีบททำนองนี้อยู่ในเรื่องอิเหนา   เป็นที่มาของคำนี้
เห็นพฤติกรรมที่ระเด่นมนตรีทำกับเด็กน้อยอย่างสียะตรา  สมมุติว่าเป็นบุษบา  (ตอนอิเหนาเข้าเมืองดาหา)  อ่านแล้วก็ตะขิดตะขวงใจ     ถ้าคุณเพ็ญชมพูหาเจอ  ก็ขอตัวอย่างด้วยนะคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ย. 09, 13:31
กรณีของหม่อมไกรสร  เรื่องที่ถูกกล่าวว่ามีความสัมพันธ์สวาทกับตัวละครของพระองค์ นัยว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เสริมเข้ามาสมทบกับข้อกล่าวหาว่าทรงคิดก่อการกบฏ จำไม่ได้ว่าได้อ่านจากเอกสารอะไร เขียนเกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องนี้ ว่าเรียกเอาตัวละครของพระองค์มาให้การด้วย ซึ่งตัวละครที่เรียกมาให้การก็ให้การตรงกัน  ในคำตัดสินโทษของหม่อมไกรสรจึงรวมเอาโทษเรื่องที่ทรงเล่นสวาทมาด้วย เหตุเพราะพฤติกรรมที่เสื่อมพระเกียรติแห่งพระบรมราชวงศ์   อันที่จริงกรมหลวงรักษรณเรศ เป็นเจ้านายที่รัชกาลที่ ๓ ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาก จึงได้ทรงมอบหมายให้ทรงกำกับดูแลกรมสังฆการี และกรมวัง  ถ้าอ่านในหมายรับสั่งสมัยรัชกาลที่ ๓ บางฉบับ จะได้เห็นข้อความลงท้ายว่า หากผู้รับรับสั่งมีข้อสงสัยในการปฏิบัติประการใด ให้กราบทูลถามกรมหลวง(รักษรณเรศ) เรื่องหม่อมไกรสร ขออนุญาตยุติแต่เท่านี้  แต่หากผู้ใดจะเสริมก็ได้นะครับ

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีเรื่องพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งต้องอธิกรณ์ว่า เล่นสวาท กรมสังฆการีสอบสวนได้ความจริง พระราชาคณะรูปนั้นต้องลาสึก

ถ้าเป็นเรื่องอิเหนา  คงจะเป็นตอนนี้กระมังครับ

เมื่อนั้น                      ระเด่นมนตรีเกษมศานต์
กอดประทับรับขวัญพระกุมาร    แสนสำราญภิรมย์ชมเชย
พาไปให้บรรทมบนแท่นทอง    เอนแอบแนบประคองเคียงเขนย
เสสรวลชวนพลอดกอดก่ายเกย   พระชื่นเชยชมต่างนางบุษบา

ครั้นพระกุมารหลับสนิท     พระโอบอุ้มจุมพิตขนิษฐา
โลมเล้าลูบไล้ไปมา         สำคัญว่าบุษบานารี
พิศพักตร์พักตร์ผ่องดังเดือนฉาย  พิศทรงทรงทรงคล้ายนางโฉมศรี
พิศปรางเหมือนปรางพระบุตรี    รัศมีสีเนื้อละกลกัน
ทั้งโอษฐ์องค์ขนงเนตรนาสา    ละม้ายแม้นบุษบาทุกสิ่งสรรพ์
พระกอดจูบลูบไล้เกี้ยวพัน        จนบรรทมหลับสนิทไป ฯ

เอาเท่านี้ คัดมาก เดี๋ยวเขาจะว่าเอา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 09, 14:17
ผมเพิ่งกลับเข้าบ้านมา กระทู้ก็ว่ากันไปไกลแล้ว ขอตั้งตัวเก็บไก่เข้าเล้าก่อน ปล่อยไว้ตั้งแต่เมื่อวาน
ขออภัยคุณหลวงเล็กและคุณSilaด้วยครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 14:28
คำอธิษฐาน ๑๒ ข้อของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่าคะ

1. ขออย่าให้เป็นคนชิดเจ้าคุณผู้ใหญ่...
2. ขออย่าเป็นคนใช้เจ้าพระยานครฯ
3. ขออย่าเป็นคนต้มน้ำร้อนพระยาศรี
4. ขออย่าเป็นมโหรีพระยาโคราช
5. ขออย่าเป็นสวาสดิ์พระองค์ชุมสาย 
6. ขออย่าเป็นฝีพายเจ้าฟ้าอาภรณ์
7. ขออย่าเป็นละครของแม่น้อยบ้า
8. ขออย่าให้รู้ชะตาเหมือนอาจารย์เซ่ง
9. ขออย่าเป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก
10. อย่าให้เป็นดอกไม้เจ้าคุณวัง
12. ขออย่าเป็นระฆังวัดบวรฯ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 14:50
อิเหนากับสียะตรา ผลงานคุณจักรพันธุ์ โปษยกฤต

พระบุตรายังงามถึงเพียงนี้   พระบุตรีจะงามสักเพียงไหน
ชมพลางทางชำเลืองแลไป  ดูทีท้าวไทเห็นโกรธา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 15:04
คำอธิษฐาน ๑๒ ข้อของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่าคะ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานอธิบายไว้ในหนังสือคนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก ว่า คำอธิษฐานนี้กรมหลวงประจักรศิลปาคมทรงจำไว้ได้จดประทานมา มีความหมายดังนี้

๑. "ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่"
คือ คนชิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) อธิบายว่า เพราะมักถูกเฆี่ยนหลังลายไม่เว้นตัว

๒. "ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร"
คือ คนใช้ของเจ้าพระนคร(น้อย) อธิบายว่า เพราะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ ดังเช่นเรือช้าไป ให้ฝีพายถองเรือเป็นต้น

๓. "ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี"
คือ คนต้มน้ำร้อนของพระยาศรีสหเทพ(เพ็ง) อธิบายว่า เพราะพระยาศรีฯนั้นแขกไปหาไม่มีขาด จนคนต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกจะหาเวลาพักมิได้

๔. "ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช"
อธิบายว่า พระยานครราชสีมาครั้งนั้น อยากเล่นมโหรีให้เหมือนขุนนางผู้ใหญ่ที่ในกรุงเทพฯ มีแต่พวกข่าและลาวเชลยก็เอามาหัดเป็นมโหรีไปตามแกน

๕. "ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย"
คือ มหาดเล็กตัวโปรดของกรมขุนราชสีหวิกรม อธิบายว่า ถ้าชอบทรงใช้มหาดเล็กคนไหน คนนั้นมักถูกจำโซ่ตรวนในเวลาใช้ไม่ได้ดังพระหฤทัย

๖. "ขออย่างให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์"
อธิบายว่า ฝีพายเรือที่นั่งของเจ้าฟ้าอาภรณ์นั้น ต้องขานยาวถี่กว่าเรือลำไหนๆหมด

๗. "ขออย่างให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า"
คือละครของน้อย ธิดาเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน) อธิบายว่า ละครโรงอื่นๆเขาเล่นเอาเงินโรง แต่ละครของน้อยคนนั้นถึงใครจะให้เพียงข้าวปลา หรือที่สุดจนกะปิหอมกระเทียมก็รับเล่น ได้อะไรก็เอาสิ่งนั้นมาแจกเป็นบำเหน็จแก่ตัวละคร

๘. "ขออย่างให้รู้ชาตาเหมือนอาจารย์เซ่ง"
อธิบายว่า นายเซ่งคนนั้นเป็นหมอดู ใครไปให้ดูก็มักทายว่าดวงชาตาดี จะถึงได้เป็นกษัตริย์บ้าง ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง ได้เป็นเศรษฐีบ้าง คนก็พากันหลงไปจ้างให้นายเซ่งดูชาตาลงที่สุดนายเซ่งต้องถูกลงพระราชอาญา

๙. "ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก"
อธิบายว่า ท่านผู้หญิงฟักคนนั้นชอบเล่นเบี้ย มีอุบายนอกรีตอย่างหนึ่ง เวลาเข้าไปอยู่ในบ่อนเบี้ย มักทำกิริยาให้นายบ่อนมัวหลงดูที่ตัวท่ายผู้หญิงฟัก จนเป็นช่องให้พรรคพวกลักเปิดโปดูได้ กล่าวกันว่าเป็นนักเลงรวยด้วยอุบายอันนั้น

๑๐. "ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย"
คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก อธิบายว่า เวลาเข้าเฝ้านุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียวไม่รู้จักเปลี่ยน

๑๑. "ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง"
คือ เจ้าจอมมารดาตานีรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนาฯ(บุนนาค) และเป็นเจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ อธิบายว่า เจ้าคุณวังเป็นช่างดอกไม้ ฝีมือดีอย่างยิ่งในสมัยนั้น ใครจะมีการงานก็มักไปขอดอกไม้ที่เจ้าคุณวัง เจ้าคุณวังต้องร้อยดอกไม้ช่วยงานเขาไม่ขาด จนดอกไม้ในสวนเจ้าคุณวังถูกเด็ดไม่มีโอกาสที่จะบานได้กับต้น

๑๒. "ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ"
อธิบายว่า ระฆังวัดอื่นๆโดยปรกติตีแต่เวลาจวนรุ่งกับจวนค่ำ วันละ ๒ เวลา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ โปรดให้ตีระฆังเป็นสัญญาอาณัติสงฆ์ในการอย่างอื่น เช่นตีเรียกสงฆ์ลงโบสถ์เช้าค่ำเป็นต้น ระฆังวัดบวรนิเวศในสมัยนั้นจึงต้องตีมากกว่าระฆังวัดอื่นๆ





 





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 09, 18:01
จับไก่เข้าเล้าเสร็จ พักเหนื่อยสักครู่จึงตามมาดูท่านทั้งหลายถกกันเรื่องกระเทียม  ไหลลื่นมาสะดุดตรงสุดท้ายนิดนึง เรื่องคำอธิษฐานของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้างข้อที่ว่า
"ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย"

ซึ่งมีการนำความหมายที่แปลโดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานอธิบายไว้ในหนังสือคนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก ว่า คำอธิษฐานนี้กรมหลวงประจักรศิลปาคมทรงจำไว้ได้จดประทานมา ว่ามีความหมาย คือ มหาดเล็กตัวโปรดของกรมขุนราชสีหวิกรม  อธิบายว่า ถ้าชอบทรงใช้มหาดเล็กคนไหน คนนั้นมักถูกจำโซ่ตรวนในเวลาใช้ไม่ได้ดังพระหฤทัย

ผมฟังดูชอบกลๆ อยากเป็นทนายแก้ต่างให้กรมขุนราชสีหวิกรมสักหน่อย

คำว่าสวาดิ ส่วนใหญ่ท่านมักจะใช้หมายถึงความปรารถนาของชายที่มีต่อหญิงนะครับ
ยกตัวอย่าง

พระราชนิพนธ์ นิราศฯ ท่าดินแดง ขึ้นต้นว่า

                                               แสนรักสุดรักภิรมย์สม
  ทุกอนงค์ทรงลักษณ์อันสุนทร             สถาวรพูนสวาดิสวัสดี

นั่นท่านเริ่มต้นก็รำพันถึงผู้หญิง
อีกหนึ่งตัวอย่าง ลิลิตตะเลงพ่าย  พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ซ่อนกลิ่นกลิ่นแก้วซ่อน       นาสา   เรียมฤๅ
ตาดว่าตาดพัสตรา            หนุ่มเหน้า
สลาสิงเล่ห์ ซรองสลา        นุชเทียบ   ถวายฤๅ
สวาดิดังเรียมสวาดิเจ้า        จากแล้วหลงครวญ ฯ

นี่ก็ชัดว่าครวญถึงผู้หญิงเช่นกัน

ดังนั้น คุณพุ่ม เธอเป็นสตรี  เมื่อเธออธิษฐานว่า"ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย" ก็น่าจะหมายความอย่างตรงไปตรงมาว่า เธอขอไม่เป็นกิ๊กกับท่านผู้นั้นนั่นเอง

เออหนอ หญิงใดจะคิดเลยเถิดไปถึงอธิษฐานว่า เจ้าประคู้ณ ชาติหน้าขอดิฉันอย่าเกิดเป็นตุ๊ด แล้วตุ๊ดนั้นได้ไปเป็นมหาดเล็กของท่าน เพราะท่านโหดร้ายกับตุ๊ดเหลือเกิน…เทอญ
ท่านก็ช่างตีความอย่างนี้แหละหนอ จึงได้เกิดคดีพญาระกา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 09, 18:20
พริ้วเชียว


วันดีชักชวนมิตรสหายให้ชมกระแสคลื่นในแม่น้ำอ๊ิดจี๊กัง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 12 พ.ย. 09, 19:12
ขออนุญาตเข้ามาแจมกระทู้ครับ
เพราะมีเรื่องอยากขัดอาจารย์นิธิเสียหน่อย
ผมเห็นด้วยกับวิธีคิดของอาจารย์อยู่หลายครั้ง
แต่เรื่องตลกนี่อ่านยังไงก็ไม่เห็นด้วย

ทฤษฏีจิตวิทยาว่าด้วยตลกง่ายๆ คือ "ต่างพวก"
ทำนองเหมือนข้อสอบแนว odd man out
ไม่ต้องถึงขั้นเป็นกะเทย หรือชาติพันธุ์หรอกครับ
คนที่เกิดมาแคระ หรือพิกาล เราก็เอาเขามาเป็นตลกแล้ว

ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย คือ ตลกชนชั้น
เช่น ละครทีวีที่ชนชั้นกลางดูกันติดงอมแงม ก็มักติดตลกเป็นชนต่างชั้น
ถ้าจะแขวะชนชั้นสูง ก็ติดตลกเจ้า มีตลกเป็นหม่อมราชวงศ์เข้ากับสังคมไม่ได้
หรือจะล้อชนชั้นล่าง ก็มักมีตลกเป็นคนรับใช้ทำตัวกะเปิ๊บกะป๊าบชูโรง

ส่วนอีกพวกหนึ่ง คือคนที่เกิดมาปกติ หรือแรกๆก็ปรกติ
แต่อยู่ๆไปแปลก หรือพิกาลขึ้นมา... ก็จะกลายเป็นตลกอีกเช่นกัน
(เหมือนเวลานินทากันว่าเพื่อนอ้วนขึ้น เพื่อนหน้าเหี่ยวลง อะไรทำนองนั้น)
เช่น กลอนสุนทรภู่มักเล่นตลกหัวล้าน เป็นปมจี้ใจคนแต่งเสียเองเป็นต้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 23:34
วันนี้ไปฟังสักวามาค่ะ   เลยขอซ้อมเล่นสักวาคั่นโปรแกรม

อ้างถึง
ท่านก็ช่างตีความอย่างนี้แหละหนอ จึงได้เกิดคดีพญาระกา

สักวาท่านสะดุ้งอยู่บนสวรรค์                    คารมใครแสบสันต์มันเหลือหลาย
หันไปฟ้องลูกพี่ลูกน้องชาย                     เหลนโหลนท่านมันร้ายน่าไล่ตี
คดีความแผลเก่า เลี้ยวเข้าได้                  ระคายหูระคายใจเราเต็มที่
ฟังแล้วมันน่าถองสักสองที                      ฝากทูลกรมราชสีห์ดีไหมเอย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 09, 00:35
           

          สักวาไอ๋หยาน่ากลัวครับ                    จะถูกจับทุบถองม่องเท่งแหง๋
          เกล้ากระหม่อมมิว่าใคร อย่าได้แปล        เป็นตุ๊กแกกินปูนนู่นหรือไร
          แค่ทนายแก้ต่างให้ข้างโน้น                  เพราะท่านโดนยัดข้อหาว่าสงสัย
          เป็นถึงสิงห์ชิงดาวน์เกรดเป็นเสือใบ        โปรดเห็นใจเถิดหนาเจ้าข้าเอย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 08:54
เรื่อง "ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย" ทำเอาต่อกระทู้ไม่ถูกเลย 
การตีความของคุณNAVARAT ซึ่งต่างจากการตีความของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  น่าสนใจอยู่
แต่ถ้าจะหาข้อมูลยืนยันนี่ คงจะได้แต่พวกที่เรียกว่าพงศาวดารกระซิบล่ะกระมัง
ทราบแต่ว่า พระองค์เจ้าชุมสาย ทรงเป็นนักเลง ชนิดไม่เกรงกลัวใครหน้าไหน

จำได้ว่ามีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งพระองค์เจ้าชุมสายจะเสด็จเข้าเฝ้าฯ ก็ประทับเสลี่ยงมาจะเข้าประตูพระบรมมหาราชวัง ก็บังเอิญมาเจอะกันกับขบวนเสลี่ยงเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งซึ่งว่ากันว่ามีพระอิสริยยศสูงกว่าพระองค์เจ้าชุมสาย จำไม่ได้ว่าเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือเจ้านายพระองค์ใด ซึ่งเล่ากันว่าเจ้านายในขบวนเสลี่ยงที่เสด็จมานี้ ก็ทรงเป็นนักเลงไม่ย่อหย่อนกว่ากัน  อันที่จริงขบวนของพระองค์เจ้าชุมสายต้องหลีกให้เจ้านายขบวนดังกล่าวเสด็จเข้าไปก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติ  แต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์เจ้าชุมสายไม่ทรงหลีกขบวนของพระองค์ กลับยืนยันที่จะเสด็จเข้าก่อน  เรื่องก็ลุกลามถึงขั้นทะลาะวิวาทกัน  ผลของเหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงอย่างไร จำไม่ได้ 

เรื่องเล่าของพระองค์ชุมสายเท่าที่ทราบมีเท่านี้  ถ้าจะรู้เพิ่มเติมคงจต้องไปอ่านบันทึกของพวกราชสกุลชุมสายเพื่อว่าจะมีอะไรเพิ่มเติม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 09, 10:38
เห็นด้วยกับติบอ ค่ะ

เรื่องที่คุณหลวงเล็กเล่า  เคยอ่านพบว่าเจ้านายอีกพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  จบลงด้วยพระองค์ท่านก็ลงจากเสลี่ยง มาพระราชทานพระชงฆ์(แข้ง) และพระบาทให้กรมขุนราชสีหวิกรม  ดูเหมือนจะหลายทีด้วย 
คุณ N.C. คงจะทราบรายละเอียด  เผื่อจะมาเล่าสู่กันฟังบ้างค่ะ
********************
กลับมาเรื่องจีนและแขกในขุนช้างขุนแผน
มีร่องรอยของแขกชวาปลอม ที่ไปจับเถรขวาด     แขกเชื้อชาติอื่น ออกมาเป็นตัวประกอบนิดหน่อยตอนพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาด
กวีพูดถึงคนดูริมฝั่ง

เจ๊กกับแขกมันทะเลาะกันเพราะพริ้ง                    เสียงหนุงหนิงเหนอหนาน่าเอ็นดู

เจ้าแขกว่าเมาะโมหะโยเปาะ                             เจ๊กทะเลาะอั๊วลาไหม่ไอ้มู่ทู่
พอจระเข้ขึ้นก็ตื่นพรู                                         ยัดเยียดเบียดดูริมวารี


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 09, 10:52
อ้างถึง
เรื่องที่คุณหลวงเล็กเล่า  เคยอ่านพบว่าเจ้านายอีกพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  จบลงด้วยพระองค์ท่านก็ลงจากเสลี่ยง มาพระราชทานพระชงฆ์(แข้ง) และพระบาทให้กรมขุนราชสีหวิกรม  ดูเหมือนจะหลายทีด้วย 
คุณ N.C. คงจะทราบรายละเอียด  เผื่อจะมาเล่าสู่กันฟังบ้างค่ะ

เคยอ่านเหมือนกันแต่ลืมไปแล้วว่าอ่านจากไหน  พอดีคดีนั้นไม่รับเป็นทนายแก้ต่างน่ะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 09, 11:42
กลับมาเข้าเรื่อง ที่กวีว่าไว้ว่า

อ้างถึง
เจ๊กกับแขกมันทะเลาะกันเพราะพริ้ง                    เสียงหนุงหนิงเหนอหนาน่าเอ็นดู

ผมไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าหนุงหนิงน่าเอ็นดูนั้นเป็นฉันใด
เคยแต่ได้ยินว่า

"เจ๊กปราศรัย เหมือนไทยทะเลาะกัน"

ครั้งหนึ่งนั่งเครื่องบิน อาเจ้ กับอากงคุยกัน คนหนึ่งอยู่หัวเครื่อง อีกคนหนึ่งอยู่ท้าย ถ้าหลับตาอยู่ไม่เห็นอาการยิ้มแย้มของอาเจ้แล้ว จะนึกว่าเมียจับผัวได้คาหนังคาเขาว่าพากิ๊กไปเที่ยวเมืองนอก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 14:07
ขออนุญาตย้อนไปที่เรื่องในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ว่า...มีเรื่องพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งต้องอธิกรณ์ว่า เล่นสวาท กรมสังฆการีสอบสวนได้ความจริง พระราชาคณะรูปนั้นต้องลาสึก...เพิ่งไปค้นมา  ขอเล่าก่อนเดี๋ยวลืม

เรื่องนี้เกิดในรัชกาลที่ ๒ ก่อนจะถึงเหตุการณ์ที่ว่า ต้องเล่าเท้าความเหตุการณ์ก่อนนั้นเสียก่อน
ในเดือน ๑๒ ปีชวด อัฐศก จ.ศ.๑๑๗๘ (พ.ศ. ๒๓๕๙) มีโจทก์ฟ้องว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัมหาธาตุ พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลาง และพระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุ กรุงเก่า ประพฤติผิดวินัยข้อเมถุนปาราชิกมาช้านานจนมีบุตรหลายคน  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นรักษรณเรศ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพิจารณาไต่สวนชำระได้ความเป็นจริงดังที่โจทกัน จึงมีรับสั่งให้นำพระราชาคณะทั้ง ๓ ลาสึกจากพระแล้วนำไปจำคุก  การณ์ครั้งนั้นเป้นเหตุอื้อฉาวมากที่พระราชาคณะผู้ใหญ่หลายรูปต้องปาราชิกาบัติ  รัชกาลที่ ๒ ทรงพระวิตกถึงพระศาสนามาก จึงทรงเผดียงให้สมเด็จพระสังฆราช (มี) และสมเด็จพระพนรัต (อาจ หรือ อาด) วัดสระเกศ แต่งหนังสือ โอวาทานุสาสนี แสดงข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุแจกจ่ายไปตามวัดต่างๆ เพื่อให้เป็นกฎสำหรับพระทั้งสงฆมณฑล (เหตุการณ์นี้เป็นเหตุให้ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ทรงแต่งโคลงทอดบัตรสนเท่ห์ ว่าร้ายเจ้านายทั้งสองที่ตัดสินชำระความครั้งดังกล่าวด้วย)

จากนั้นมา ปีเถาะ เอกศก จ.ศ.๑๑๘๑ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ลง  รัชกาลที่ ๒ มีพระราชดำริจะทรงสถาปนาสมเด็จพระพนรัต (อาจ) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบต่อ  ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้แห่สมเด็จพระพนรัต มาสถิตที่วัดมหาธาตุ สำหรับรอเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่การตั้งสมเด็จพระสังฆราชต้องระงับไประยะหนึ่ง เพราะเกิดโรคห่าระบาดมาก พอถึงเดือน ๑๑ ปีเดียวกัน เกิดมีโจทก์ฟ้องว่า สมเด็จพระพนรัต (อาจ) "ชอบหยอกเอินศิษย์หนุ่มด้วยกิริยาไม่สมควรแก่สมณะ" (นี่เป็นสำนวนของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถ้าเป็นสำนวนเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ขำ บุนนาค) จะใช้คำชัดเจนกว่า ว่า "ภอใจลูบคลำเล่นของที่ลับพวกสิศยที่รุ่นหนุ่มสวยๆ ") โปรดเกล้าฯ ให้ตระลาการชำระความจริงดังที่มีคำโจทก์ แต่ไม่ถึงกับปาราชิกาบัติ  กระนั้นก็ทรงเห็นว่าหมองมัวมากไม่ควรแก่สมณศักดิ์จึงให้ถอดออกจากสมณศักดิ์แล้วเนรเทศออกจากวัดมหาธาตุ 

ตกลงสมเด็จพระพนรัต (อาจ) จึงไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชทั้งๆที่ทรงมุ่งหมายจะให้เป็น  ที่ตลกร้าย ก็คือสมเด็จพระพนรัต (อาจ) เป็นผู้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนี หนังสือที่ว่าด้วยวัตรอันพระภิกษุพึงปฏิบัติ ร่วมกับสมเด็จพระสังฆราช(มี) แต่กลับมาปฏิบัติผิดพระวินัยเสียเองทั้งที่เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่  นี่เป็นตัวอย่างของคดีความเล่นสวาทสมัยก่อนที่นำมาถ่ายทอดสู่กันฟัง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 09, 15:15

อ้างถึง
ในเดือน ๑๒ ปีชวด อัฐศก จ.ศ.๑๑๗๘ (พ.ศ. ๒๓๕๙) มีโจทก์ฟ้องว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัมหาธาตุ พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลาง และพระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุ กรุงเก่า ประพฤติผิดวินัยข้อเมถุนปาราชิกมาช้านานจนมีบุตรหลายคน  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นรักษรณเรศ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพิจารณาไต่สวนชำระได้ความเป็นจริงดังที่โจทกัน จึงมีรับสั่งให้นำพระราชาคณะทั้ง ๓ ลาสึกจากพระแล้วนำไปจำคุก  การณ์ครั้งนั้นเป้นเหตุอื้อฉาวมากที่พระราชาคณะผู้ใหญ่หลายรูปต้องปาราชิกาบัติ  รัชกาลที่ ๒ ทรงพระวิตกถึงพระศาสนามาก จึงทรงเผดียงให้สมเด็จพระสังฆราช (มี) และสมเด็จพระพนรัต (อาจ หรือ อาด) วัดสระเกศ แต่งหนังสือ โอวาทานุสาสนี แสดงข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุแจกจ่ายไปตามวัดต่างๆ เพื่อให้เป็นกฎสำหรับพระทั้งสงฆมณฑล (เหตุการณ์นี้เป็นเหตุให้ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ทรงแต่งโคลงทอดบัตรสนเท่ห์ ว่าร้ายเจ้านายทั้งสองที่ตัดสินชำระความครั้งดังกล่าวด้วย)

โคลงนั้นก็คือ

ไกรสรพระเสด็จได้          สึกชี
กรมเจษฎาบดี                เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี           ไป่คลาศ
อาจพลิกแผ่นดินได้         แม่นแม้นเมืองทมิฬ

http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=603&stissueid=2428&stcolcatid=2&stauthorid=13

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ คงจะกริ้วในบาทสุดท้าย ซึ่งเป็นเสมือนแช่งบ้านเมือง โดยเฉพาะคำว่า ‘พลิกแผ่นดิน’ โปรดฯให้ค้นหาตัวผู้ทิ้งหนังสือ ได้ตัวกรมหมื่นศรีสุเรนทร์

ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๒ จดเรื่องนี้ไว้ว่า

“ครั้งนั้นกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ซึ่งเป็นศิษย์นายสี พุทธโฆษาจารย์ไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งหนังสือเป็นคำโคลงหยาบช้าต่อตระลาการกระทบกระทั่งถึงพระเจ้าแผ่นดินด้วย จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพิจารณาหนังสือทิ้ง กรมพระราชวังได้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับนักปราชญ์ที่รู้กาพย์ กลอนโคลง พิจารณาก็ลงเนื้อเห็นว่าเป็นสำนวนฝีโอษฐ์กรมหมื่นศรีสุเรนทร์แน่แล้ว จึงรับสั่งให้หากรมหมื่นศรีสุเรนทร์มาซักถามก็ไม่รับ จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนถามจึงได้รับเป็นสัตย์ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทนอาชญาไม่ได้ ก็สิ้นชีพในพิม แล้วมิได้บาดหมายให้ถอดชื่อเหมือนอย่างหม่อมเหมน ข้าราชการเพ็ดทูลลางคนก็ออกพระนามว่า พระองค์เจ้าคันธรศบ้าง ออกพระนามว่ากรมหมื่นศรีสุเรนทร์บ้าง”

หลังจากชำระความกรมหมื่นศรีสุเรนทร์แล้ว เกิดมีผู้ทิ้งหนังสือในพระบรมมหาราชวัง หยาบช้าถึงองค์พระเจ้าแผ่นดินทีเดียว ความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ว่า

“ครั้นชำระความกรมหมื่นศรีสุเรนทร์แล้ว ก็มีผู้ทิ้งหนังสือหยาบช้าในพระราชวัง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นตระลาการพิจารณาให้ค้นลายมือเจ้า แลเจ้าจอมทุกเรือนเอามาสอบกับหนังสือทิ้ง ก็ถูกลายมือพระองค์เจ้ากระษัตรี ซึ่งเป็นภคคินีของพระองค์เจ้าสุริยวงศ์ ได้ไล่เลียงไต่ถามพระองค์เจ้ากระษัตรีก็ยังหารับไม่ จึงมีพระราชดำรัสให้ลงพระราชอาญา จำไว้ที่หลังห้องพระสุคนธ์ พระองค์เจ้ากระษัตรีได้ให้โขลนที่คุมนั้นไปซื้อกระดาษดินสอมาให้ ได้เขียนหนังสือที่นั่น แล้วใช้ให้คล้ายบุตรีพระสิริโรท เอาไปทิ้งที่ท้องพระโรงอีกครั้งหนึ่ง

คล้ายคนนี้เป็นคนรำ แต่ได้พระราชทานให้เป็นบุตรของพระองค์เจ้ากระษัตรี จึงได้มาเยี่ยมเยือนพระองค์เจ้ากระษัตรี ตระลาการถามก็รับทั้งสองคน”

จากการค้นทุกตำหนักทุกเรือนเมื่อเกิดความหนังสือทิ้งของพระองค์เจ้ากษัตรี เลยจับเพลงยาวนายช้อยได้ที่เรือน หม่อมเจ้าองุ่นในกรมหลวงนรินทรรณเรศ (กรมหลวงนรินทรรณเรศ เป็นพระโอรสที่ ๓ ใน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ ในรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นราชสกุลนรินทรางกูล ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าองุ่นทิ้งหนังสือหยาบช้าซ้ำอีก

ครั้งนั้นจับเรื่องชู้สาวในพระราชวัง ผิดกฎมณเฑียรบาลได้อีกหลายราย โปรดเกล้าฯให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิต ตั้งแต่พระองค์เจ้ากษัตรี หม่อมเจ้าองุ่น และหญิงชายอีก ๘ คน เฉพาะพระองค์เจ้ากษัตรี นั้น ให้ทุบด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 15:59
ยาวล่ะครับงานนี้  จากจีนแขกในเสภาขุนช้างขุนแผน - กะเทย - เล่นสวาท - เจ้านายนักเลง - ตอนนี้กลายเป็นเรื่องทิ้งบัตรสนเท่ห์ ประหารท่อนจันทน์เสียแล้ว 

มีเสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลายที่กรมศิลปากรชำระต่อจากที่หอพระสมุดฯ ชำระ อยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงพลายยงลูกสร้อยฟ้าอาสาสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ(พระเจ้าแผ่นดินที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระพันวษา)ไปรบที่เมืองอ้ายมุ่ย (เมืองปลายอาณาเขตของจีน) และได้นางเวสิวลูกเจ้าเมืองอ้ายมุ่ยเป็นเมีย  เป็นตอนเดียวที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับจีน  ไม่ทราบว่า  ควรจะนำมาเล่าไว้ในกระทู้นี้ไหม  เพราะอาจมีคนที่ไม่เคยรู้จักหรืออ่านเสภาตอนนี้ จะได้ทราบ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 09, 16:18
ไหนๆเลี้ยวออกนอกซอย    เลยอ่าวไทยไปแล้ว ก็มุ่งหน้าไปอ้ายมุ้ยเถอะค่ะ
เมืองนี้  จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า หมายถึงเอ้หมึง

ในตอนจบ  พลายยง ถูกพลายเพชรพลายบัวฆ่าหรือเปล่าคะ   จำไม่ได้แล้ว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 16:30
เอาเป็นว่า ต้นสัปดาห์หน้า จะเริ่มเล่าเรื่องเสภาพลายยงไปรบที่เมืองอ้ายมุ่ยได้นางเวสิว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 พ.ย. 09, 13:56
มาทำตามสัญญานะครับ

ก่อนจะไปถึงเสภาตอนพลายยงอาสาไปรบเมืองอ้ายมุ่ยได้นางเวสิว  ต้องเท้าความไปถึงเสภาตอนจบของฉบับหอพระสมุดวชิรญาณก่อน  เพื่อจะได้ทราบว่าเนื้อเรื่องในภาคปลายก่อนที่จะถึงตอนที่จะเล่านี้ ดำเนินมาอย่างไร

หลังจากพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่หลวงนายฤทธิ์ มหาดเล็กแล้ว  กล่าวถึงเณรจิ๋วซึ่งเป็นศิษย์ของเถรขวาด  คอยอาจารย์เถรขวาดกลับมาอยู่นาน เป็นทุกข์อยู่  อยู่เณณจิ๋วจำวัดฝันไปว่าเถรขวาดตาย ก็ตกใจตื่นพร้อมกันนั้นก็มีลางบอกเหตุไม่ดีขึ้นมากมาย  เณรจิ๋วจึงตรวจดูยามอัฐกาล ได้ความว่า "ได้เมื่อพระยาม้ารีจตาย   ต้องสายศรทรงองค์พระราม" เณรจิ๋วเห็นท่าไม่ดีจึงออกตามหาอาจารย์มาที่กรุงศรีอยุธยา ดดยแปลงกายเป็นนกทึดทือบินมา  เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้เห็นศพเถรขวาดที่พลายชุมพลตัดศีรษะขาดกลิ้งอยู่  นกเณรจิ๋วเสียใจที่ทราบว่าอาจารย์ตรวจตายแล้ว จึงพยายามคาบเอาศีรษะอาจารย์เถรขวาดกลับเมืองเชียงใหม่ ระหว่างทางที่นกทึดทือเณรจิ๋วคาบศีรษะอาจารย์กลับเชียงใหม่นั้น เณรเกิดเหนื่อยขึ้นมาจึงแวะพักเหนื่อย  ก็วางศีรษะอาจารย์ไว้  บังเอิญมีเสือตัวหนึ่งมาคาบเอาศีรษะเถรขวาดหนีไป นกเณรจิ๋วเห็นแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงร้องไห้บินกลับเชียงใหม่ไป

กล่าวถึงพระไวยแอบไปได้นางแว่นฟ้าลูกสาวเศรษฐินีในละแวกบ้านใกล้เคียงเป็นเมีย โดยที่ไม่มีใครที่บ้านพระไวยทราบ  ระหว่างนั้นสมเด็จพระพันวษาได้พระราชทานนางสร้อยระย้า ลูกสาวเจ้าเมืองพิมาย ซึ่งเจ้าเมืองพิมายได้นำมาถวายตัวเป็นนางในแต่เล็ก แต่ยังไม่ทำราชการอันใด  ให้เป็นภรรยาของพลายชุมพล  พระไวยกับศรีมาลาจึงได้ช่วยกันจัดงานแต่งให้พลายชุมพลกับนางสร้อยระย้า  ฝ่ายพระไวยยังลอบไปหานางแว่นฟ้าอีกจนถูกเศรษฐินีผูเป็นแม่นางแว่นฟ้าจับได้ว่าพระไวยแอบมาหลับนอนกับลูกสาวตน พระไวยจึงได้ขอษมาและยินดีรับเลี้ยงนางแว่นฟ้าเป็นเมีย 

ฝ่ายนางศรีมาลามาแจ้งขุนแผนว่าพระไวยหายไปไหนไม่รู้หลายวัน  ขุนแผนจึงจับยามดู  ระหว่างนั้นมีแขกเมืองมาถวายเครื่องบรรณาการแด่สมเด็จพระพันวษา มีทูตญวนเป็นต้น  สมเด็จพระพันวษามีรับสั่งให้พระไวยกับพลายชุมพลออกตีคลีให้แขกเมืองชมเป็นขวัญตา ร้อนถึงพลายชุมพลต้องออกตามหาพระไวย จนไปพบพระไวยอยู่กับนางแว่นฟ้า  จึงแจ้งความรับสั่งให้ทราบ  นางแว่นฟ้าจึงได้รับช่วยจัดเครื่องแต่งกายสำหรับพระไวยกับพลายชุมพลแต่งตัวไปตีคลี  พระไวยพานางแว่นฟ้ามาที่บ้านพระไวย  ไหว้นางศรีมาลากับขุนแผน  นางศรีมาลากัยนางแว่นฟ้าไปดูพระไวยพลายชุมพลตีคลีหน้าพระที่นั่ง แล้วเกิดการหยั่งเชิงกันเล็กน้อย เมื่อเหตุการณ์นี้ไปแล้ว  สมเด็จพระพันวษาสวรรคต สมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นครองราชย์สืบแทน  ขุนแผน นางแก้วกิริยา ลาวทอง พระไวย พลายชุมพลตาย ส่วนนางสร้อยระย้าไม่มีลูกกับพลายชุมพลก็กลับเมืองพิมายไป (ถ้าว่ากันตามจริง เนื้อความฉบับหอพระสมุดควรจะมาสิ้นสุดตรงนี้ เพราะหลังนี้ตัวละครจะเปลี่ยนไปเกือบหมด)

..........................................................

กล่าวถึงนางสร้อยฟ้าหลังจากกลับเชียงใหม่แล้วก็คลอดลูกชื่อพลายยง เมื่อพลายยงโตขึ้น นางสร้อยฟ้าก็ดำริที่จะพาพลายยงลงมาเฝ้าถวายตัวกับสมเด็จพระจักรพรรดิที่กรุงศรีอยุธยา  นางจึงได้สั่งให้เตรียมของเดินทางมากรุงศรีอยุธยา  โดยตั้งขุนนางดูแลเมืองเชียงใหม่ระหว่างที่นางไม่อยู่  นางสร้อยฟ้านำพลายยงเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิ  พลายยงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระจักรพรรดิมาก

............................................................

เล่าเกริ่นเท่านี้ก่อน ตอนหน้าเข้าเรื่องล่ะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 09, 19:23
น่าสงสารนางสร้อยระย้า    กวีผู้ปูเรื่องให้นางมาเป็นนางเอกของพลายชุมพล เห็นจะแต่งไว้แค่ได้แต่งงานกัน   
จากนั้นเกิดชะงัก    ไม่มีเนื้อเรื่องจะพัฒนาต่อไปได้  เลยจบแค่นั้น
แทนที่จะมีลูกชายไว้สืบยี่ห้อพลายอีกคน  เอาไว้เล่นบทบาทเข้าชุดกับพลายเพชร พลายบัว   ก็ปรากฎว่าพลายชุมพลตายเอาดื้อๆ   ตั้งแต่อายุไม่ทันแก่เฒ่า  นางสร้อยระย้าเลยต้องปิดฉากเข้าโรงไป   น่าเสียดาย   


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ย. 09, 19:55
คุณเทาชมมพูคะ

เนื่องจากท่านผุ้ฟังเรียกร้อง     ท่านผู้แต่งเสภาก็ยืดไปเรื่อยๆค่ะ


ตอนที่ ๔๕  หน้า ๖๐ ว่า พลายชุมพลกับนางสร้อยระย้าไม่มีลูกด้วยกัน  นางกลับไปอยู่เมืองพิมาย




หน้า ๒๒๔

นางสร้อยระย้าเมื่อพลายชุมพลทิ้งไปนางมีท้องอ่อนๆ
นางกลับไปอยู่บ้านพาศ   แล้วคลอดลูกชายชื่อ พลายมณีนาถ 

คลอดบุตรสุดที่รักพักตร์อำไพ                              อายุนั้นก็ได้หลายปีมา
เฉิดฉายชื่อพลายมณีนาถ                                   อยู่บ้านพาดเขตแขวงตำแหน่งป่า
บวชเป็นสงฆ์ทรงศีลอภิญญา                               เรียนวิชาเป็นนักเลงแสนเก่งครัน

ไปเจอศรีมาลากับนางเวสิว     ได้ไต่ถามว่าเป็นใครมาจากไหน


ครานั้นศรีมาลายาใจ                                        ยกมือไหว้พระสงฆ์ผู้ทรงศรี
เล่าความไปตามคดีมี                                        ว่าฉันนี้พลัดบ้านนมนานมา
......................
......................
เป็นเมียพระหมื่นไวยชัยชาญ                                พี่ชายท่านพลายชุมพลเรืองศรี
ครั้งนี้มาญาติกาก็ไม่มี                                       มิรู้ที่จะไปพึ่งผู้ใดใคร ฯ


     ครานั้นพระพลายมณีนาถ                              ใจแทบขาดฟังคำก็จำได้
พลายชุมพลบิดาข้าแน่ใจ                                    ที่โยมเราบอกไว้แต่ก่อนมา
สีกาเล่าสมกับเค้าข้อลิขิต                                    แน่จิตจริงจังเหมือนดั่งว่า
ท่านพระสงฆ์นั้งลงด้วยเร็วรา                                พูดจาตอบความไปตามการ
รูปนี้แลคือบุตรพลายชุมพล                                  ............................


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ย. 09, 20:03
ขอเล่าเรื่องทางนี้รุดไปก่อนนะคะ

นางศรีมาลากับนางเวสิวก็พักอยู่กับนางสร้อยระย้าหลายปี
จนลูกนางเวสิวเกิด ชื่อพลายสุริยัน





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 09, 20:35
แม่ยกนางสร้อยระย้า เข้ามาดีใจ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ย. 09, 21:03
พลายสุริยันพบผ้าพยนต์ในถ้ำลานทอง  ได้วิชา
แล้วไปลักนางบัวทองลูกสาวหมื่นประจญ
พลายสุริยันขอโดยสารเรืออันละมัง
อันละมังคิดฆ่าพลายสุริยัน  โดยผลักตกเหว

ตอนนี้มันมากค่ะ เพราะปีศาขุนไกรและปีศาจขุนแผนมาช่วย พลายสุริยันผู้เป็น อ่า....ลืบ

ขออนุญาตนับก่อนค่ะ
ขุนไกร
ขุนแผน
จมื่นไวยวรนาถ พลายงาม
พลายเพชร
พลายสุริยัน

ถึงขุนไกรใจหาญชาญศักดา                                      ต้องอาญาโทษทัณฑ์ถึงบรรลัย
กับท่านขุนแผนแสนสะท้าน                                       วายปราณตามกรรมส่งนำให้
สองพ่อลูกผูกคิดมีจิตใจ                                           ยังห่วงใยเผ่าพงศ์วงศ์วาน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 09, 21:15
พ่อของพลายสุริยัน  ไม่ใช่พลายยงหรอกหรือคะ ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ย. 09, 21:38
พลายยงตายแล้วกลับชาติไปเกิดที่หงสา เป็น นิลมัย  ลูก ศรีเมาะตะเกิง กับนางสร้อยทอง ค่ะ



พลายสุริยันมีพี่ชายอีกคน ชื่อ พลายสังวาลทอง

เจ้าพลายเพชรผู้สำเร็จราชการ                           ได้ผ่านวังเวียงเชียงใหม่
กับเวสิวเมียรักพักตร์นวลใย                              รักใคร่แนบชมภิรมยา
มีบุตรชายชื่อพลายสังวาลทอง                           ผุดผ่องผิวหนังมังสา
บิดารักใคร่ให้วิชา                                         อายุเข้าสิบห้ากำลังดี



อ้ายตัวร้ายพลายยงที่องอาจ                             พยาบาทพลายบัวตัวกลั่นกล้า
ชีพดับกลับไปทนเวทนา                                   สิ้นกรรมมาบังเกิดในเมืองมอญ
เป็นบุตรแม่สร้อยทองผ่องพักตร์                         เมียรักศรีเมาะตะเกิงดวงสมร
ชื่อว่านิลมัยในเมืองมอญ                                 อรชรกำลังงามสิบสามปี


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 09, 21:44
ตามเรื่องไม่ทัน

พลายยงลูกชายสร้อยฟ้ากับพระไวย  ไปได้เจ้าหญิงจีนจากอ้ายมุ้ย ชื่อเวสิว   
กงจู๊เวสิวเธอก็มาอยู่ในสยาม กับศรีมาลา   ซึ่งไม่ได้เป็นญาติโยมอะไรของเธอเลย  เพราะเธอเป็นลูกสะใภ้ของสร้อยฟ้าต่างหาก
แล้วพลายยงตายเพราะอะไรคะ  ถึงไปเกิดใหม่เป็นนิลมัย

กวีก็ช่างกระไรเลย  ตั้งชื่อแม่ของนิลมัยว่าสร้อยทอง  ซ้ำกับพระธิดาเจ้าล้านช้าง  ทำเอาสับสน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ย. 09, 22:10
หลวงต่างใจ  พลายเพชร   พลายบัว  เข้าเมืองเชียงใหม่
นางสร้อยฟ้าวอนขอชีวิตรต่อพลายเพชร
ปรึกษาโทษนางสร้อยฟ้าและพลายยง
หลวงต่างใจขึ้นครองเมืองเชียงใหม่




หน้า ๑๖๒   ค่ะ

สร้อยฟ้า
จงโปรดปรานขอประทานซึ่งชีวา                                 แม่ลูกเป็นข้าจนวางวาย



     พลายยงทรงฟังสร้อยฟ้าว่า                                 ยิ่งคิดแค้นมารดาไม่เหือดหาย
เกิดเป็นตัวแล้วไม่กลัวซึ่งวางวาย                                ใครใครมันก็ตายอยู่เหมือนกัน
หรือคนอื่นจะยืนอยู่ค้ำฟ้า                                         ถึงเทวดาพรหมอินทร์ถิ่นสวรรค์
ดินฟ้าป่าเถื่อนเดือนตะวัน                                        ถึงกำหนดแล้วมันคงมรณา
ความตายอยู่กับปลายจมูกดอก                                 อย่าอ้อนวอนย้อนยอกเลยแม่ขา
................................
.................................

จึงกำทรายมาปรายลงตรงหน้า                                  เกิดมาขอให้พบกับมึงใหม่
ล้างผลาญกันทุกเม็ดทรายไป                                    จนถึงซึ่งจะได้พระนิพพาน



หน้า ๑๖๓
นางเวสิวขวัญฟ้ายอดยาใจ                                       เจ้าพลายเพชรก็ได้ไว้เป็นเมีย



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ย. 09, 22:13
เปิดหนังสือตอบยังสะดุ้งเลยค่ะ

เกรงตอบผิด


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 09, 22:35
คุณหลวงเล็กบอกไว้ในค.ห. 41 ว่า

อ้างถึง
มีเสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลายที่กรมศิลปากรชำระต่อจากที่หอพระสมุดฯ ชำระ อยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงพลายยงลูกสร้อยฟ้าอาสาสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ(พระเจ้าแผ่นดินที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระพันวษา)ไปรบที่เมืองอ้ายมุ่ย (เมืองปลายอาณาเขตของจีน) และได้นางเวสิวลูกเจ้าเมืองอ้ายมุ่ยเป็นเมีย  เป็นตอนเดียวที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับจีน  ไม่ทราบว่า  ควรจะนำมาเล่าไว้ในกระทู้นี้ไหม  เพราะอาจมีคนที่ไม่เคยรู้จักหรืออ่านเสภาตอนนี้ จะได้ทราบ

ดิฉันติดตามเรื่องที่คุณวันดีเล่า  ยังไม่รู้เลยว่าเรื่องเป็นแบบนี้หรือเปล่า เพราะไม่รู้ว่าพลายเพชรพลายบัวไปรบกับพลายยงตอนไหน
เดาว่าเรื่องเป็นอย่างนี้
พลายเพชรกับพลายบัว สมทบด้วยหลวงต่างใจซึ่งเป็นอา  คงจะไปรบกับพลายยงที่เชียงใหม่ ด้วยเรื่องอะไรไม่รู้  ยังไม่มีใครบอก
ตอนนั้นเจ้าเชียงอินทร์ผู้เป็นตา คงตายไปแล้วละมัง  ถึงไม่มีบทให้กล่าวถึง

ก่อนหน้านี้พลายยงอาสากษัตริย์อยุธยาไปรบถึงเมืองจีน ได้นางเวสิวมาเป็นภรรยา  พากลับมาเชียงใหม่  (หรืออยุธยาก็ไม่รู้)  มีลูกกันหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เดาว่าไม่มี
ทีนี้ก็เกิดศึกในเชียงใหม่   หลวงต่างใจพาหลานชายไปรบ    พลายยงรบแพ้พลายเพชรพลายบัว  แต่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ   ก็เลยตาย(เพราะถูกประหารหรือกลั้นใจตาย หรือตายเพราะอะไร ก็ไม่รู้)
พลายเพชรได้เป็นผู้สำเร็จราชการเชียงใหม่  เลยได้ภรรยาของพลายยงเป็นบำเหน็จตกทอด    มีลูกชื่อพลายสังวาลทอง
ต่อมามีลูกอีกคนชื่อพลายสุริยัน
นางเวสิวมีสามี ๒ คน แต่ลูกชาย ๒ คนไม่ใช่คนละพ่อ  เกิดจากพ่อเดียวกันคือพลายเพชร

แต่จะด้วยอะไรก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน  เปิดมาอีกฉาก คุณวันดีเล่าว่านางเวสิวกับนางศรีมาลา พเนจรกับไปสองคน จนไปเจอพลายมณีนาถลูกกำพร้าของพลายชุมพล  เกิดจากนางสร้อยระย้า
ตอนนั้นพลายเพชรพลายบัวไปไหนก็ไม่รู้  แล้วทำไมผู้หญิงสองคนนี้ไม่อยู่เชียงใหม่ ก็ไม่ทราบ

อ้างถึง
นางศรีมาลากับนางเวสิวก็พักอยู่กับนางสร้อยระย้าหลายปี
จนลูกนางเวสิวเกิด ชื่อพลายสุริยัน

นางเวสิวจะอยู่กับนางสร้อยระย้าหลายปีจนพลายสุริยันเกิดไม่ได้     อยู่ได้อย่างมากแค่ ๘ เดือน ลูกชายถึงเกิด  เพราะต้องท้องก่อนหน้านี้แล้ว
ระหว่างหลายปีนี้ พลายเพชรต้องอยู่ด้วย  ถ้าไม่อยู่ด้วย   ภรรยาจะท้องขึ้นมาได้ยังไงกัน
หรือเป็นอีกอย่างคือไปพักกับนางสร้อยระย้าไม่กี่เดือน ก็คลอดลูกชายออกมา   จากนั้นอยู่ต่ออีกหลายปี  ไม่ยักกลับไปหาสามี   หรือพลายเพชรจะตายไปแล้ว?

เป็นรายการร้อยคำถามค่ะ     โปรดอย่าเพิ่งเหนื่อยนะคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ย. 09, 22:52
คห ที่ ๔๗  ตอบพลาดค่ะ     

อยู่มาจนลูกเกืด  และอาศัยต่อมาอีกหลายปี


ที่พลัดกันเพราะเณรจิ๋วเผาเมืองเชียงใหม่ค่ะ






กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 09, 09:05
จะขอแจ้งแต่งความตามเรื่องเก่า      มีสำเนาแต่โบราณเป็นนานที่
ว่าปักกิ่งกับไทยผูกไมตรี                 ได้เป็นที่ชอบจิตไม่บิดพลิ้ว.

มาข้าจะขอกล่าวเป็นราวเรื่อง.....

กล่าวถึงเมืองตังจิ๋ว เจ้าเมืองชื่อจอจิหลัง  มีเมียชื่อนางสีจุหลีงิว  และมีลูกสาวสวยชื่อนางเวสิว  เจ้าเมืองตังจิ๋วปกครองเมืองเป็นสุขมาจนกระทั่ง เดือนสี่ปีระกา (ไม่รู้ว่าเลขศักราชอะไร)  เจ้างวนบุนเจ๋ง เจ้าเมืองอ้ายมุ่ยและกุยตั๋ง มีน้องชายชื่อจาหลีบุน  ทั้งสองคุมกำลังพลห้าพัน ขี่ม้า มีอาวุธครบมือ เข้าตีบ้านเมืองมาเรื่อยจนถึงเมืองตังจิ่ว   ก็ให้ทหารตั้งค่ายล้อมเมืองตังจิ๋วไว้   

ฝ่ายเจ้าเมืองตังจิ๋วเห็นทัพเมืองอ้ายมุ่ยกับเมืองกุยตั๋งมาตั้งล้อมเมืองอยู่ก็เป็นทุกข์ใจ  ด้วยเมืองตังจิ๋วเป็น"หัวเมืองบ้านนอกขอกนา" ที่ขึ้นกับกรุงปักกิ่ง  แต่ครั้นจะแต่งบอกไปแจ้งให้กรุงปักกิ่งทราบข่าวและยกทัพมาช่วยเมืองตังจิ๋ว  ก็ติดว่าข้าศึกมาตั้งค่ายล้อมไว้หมด  ไม่มีทางที่จะส่งม้าเร็วม้าใช้ออกไปส่งหนังสือได้  คงเหลือแต่ประตูเมืองที่ติดกับทะเล  ซึ่งเสภาแต่งว่า

ยังคงมีแต่สำเภาเข้าประตู     ปักกิ่งอยู่ไกลเถื่อนสามเดือนปลาย
นับทั้งไปทั้งมากว่าเจ็ดเดือน  ไพร่ก็เกลื่อนตายริบถึงฉิบหาย
เห้นจะไม่พ้นได้ในความตาย   ยังนารายณ์หน่อท้าวเจ้าอยุธยา
กับกรุงปักกิ่งนั้นผูกพันธมิตร   เราแจ้งกิจสารไปเห็นง่ายกว่า
ถ้าสำเภาจะใช้ใบไปมา         กำหนดท่าใกล้หน่อยได้น้อยวัน.

จอจิหลังจึงมอบหมายให้กองเกี๋ยกับกองไหลถือสารและคุมเครื่องบรรณาการลงสำเภาล่องไปกรุงศรีอยุธยา  สำเภาเมืองตังจิ๋วแล่นมาในทะเลได้ ๑๕-๑๖ วันก็ถึงกรุงศรีอยุธยา  กองเกี๋ยกับกองไหลจึงนำเรือสำเภาจอดที่ท้ายคูเมือง แล้วแจ้งกิจที่มาแก่ขุนท่องสื่อ หมื่นท่องสื่อ   ขุนท่องสื่อ หมื่นท่องสื่อ นำไปแจ้งแก่พระยาโชดึก พระยาโชดึกทราบความแล้วรีบเข้าเฝ้านำสารนั้นกราบทูลแด่สมเด็จพระจักรพรรดิทันที  ในสารนั้นเนื้อความหลักคือเมืองตังจิ๋วประสงค์จะขอกำลังเมืองอยุธยาไปช่วยตีข้าศึกเมืองอ้ายมุ่ยกับกุยตั๋งที่มาล้อมไว้

สมเด็จพระจักรพรรดิทรงทราบสารดังนั้นก็รับสั่งว่าจะให้พลายยงลูกชายของสร้อยฟ้า  นำกำลังพลไปช่วยเมืองตังจิ๋ว  ด้วยเหตุผลว่า

ด้วยมันเป็นเชื้อชาติทหารใหญ่   นอกนั้นไม่เห็นใครจะฝ่าฝืน
ถึงปู่มันพ่อมันก็ยั่งยืน               ฆ่าคนกว่าหมื่นภัยไม่มี.

(ตระกูลพลายทั้งสามรุ่นนี่  มีเหตุต้องออกอาสาไปรบเพราะความที่อยู่ในตระกูลทหารแท้ๆ กับไม่มีใครที่ทรงเห็นว่าเหมาะที่จะไปรบ)

ว่าแล้วก็รับสั่งให้ไปตามตัวพลายยงมาเฝ้า  ตำรวจหน้าได้รับรับสั่งก็ไปตามพลายยงที่ละแวกวัดซอง ? ให้รีบเข้าเฝ้า  พลายยงเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลว่ายินดีเต็มใจจะอาสานำทัพไปช่วยเมืองตังจิ๋วรบกับข้าศึก  แล้วพลายยงก็ออกกราบบังคมลามาจัดทัพไพร่พลห้าร้อยกับสัมภาระลงสำเภา พลายยงกลับมาลานางสร้อยฟ้าผู้เป็นแม่เพื่อขอพร  นางสร้อยฟ้าอวยพรและสอนว่า  เจ้าไปอย่าเห็นแก่ทรัพย์สีน (เป็นคำสอนสั้นๆ แต่ดีมากทีเดียว)  แล้วพลายยงก็นำไพร่พลลงสำเภาที่ท้ายคูเมือง  แล้วก็ได้เวลาฤกษ์ออกเดินทาง  เอากลอนมาขัดจังหวะสักหน่อย

บรรทุกเสร็จเป็ดไก่ไหว้ย่านาง      ปืนวางผางผึงตึงลั่น
แผ่งฉ่าม้าล่อถอนสมอพลัน         สำเภาตังจิ๋วนั้นรันออกมา
สายสมอช่อชักสำเภาไป            นายใบหัวท้ายผายผันหา
ร้องเพรียกลาโลโฮเฮมา             เอโลอ่ายล่าเซ็งแซ่อึง....

สำเภาเดินทางรอนแรมในทะเลมาประมาณ ๑๕-๑๖ วันก็คงถึงเมืองตังจิ๋ว

เอาเท่านี้ก่อน  พอดีมีงานด่วนเข้า  ขอไปทำงานก่อนแล้วจะเล่าให้อ่านต่อ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 09, 10:47
อ้างถึง
กล่าวถึงเมืองตังจิ๋ว เจ้าเมืองชื่อจอจิหลัง  มีเมียชื่อนางสีจุหลีงิว  และมีลูกสาวสวยชื่อนางเวสิว  เจ้าเมืองตังจิ๋วปกครองเมืองเป็นสุขมาจนกระทั่ง เดือนสี่ปีระกา (ไม่รู้ว่าเลขศักราชอะไร)  เจ้างวนบุนเจ๋ง เจ้าเมืองอ้ายมุ่ยและกุยตั๋ง มีน้องชายชื่อจาหลีบุน  ทั้งสองคุมกำลังพลห้าพัน ขี่ม้า มีอาวุธครบมือ เข้าตีบ้านเมืองมาเรื่อยจนถึงเมืองตังจิ่ว   ก็ให้ทหารตั้งค่ายล้อมเมืองตังจิ๋วไว้   


ได้กลิ่นอายของพงศาวดารจีนสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๔ ลอยมากับขุนช้างขุนแผนตอนนี้     พร้อมกับเกิดคำถาม  ให้คุณม้าหรือคุณโฮฯ หรือท่านอื่นก็ได้
ว่าสำเนียงจีนในเรื่องนี้  เป็นสำเนียงอะไรคะ

สอนประวัติการแปลอยู่    ได้ข้อสังเกตว่าพงศาวดารจีนที่มีตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - ๔  ชื่อตัวละคร สำเนียงแปลกๆ   แต่รัชกาลที่ ๕ ลงมาถึงรัชกาลที่ ๗  หลายเรื่องสำเนียงแต้จิ๋ว
ถามนักศึกษาที่รู้ภาษาจีน เขาตอบว่าบางเรื่องเป็นฮกเกี้ยน    ไม่ใช่จีนกลาง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 09, 13:29
มาเล่าเรื่องต่อครับ

ในระหว่างที่สำเภาของพลายยงจะไปถึงเมืองตังจิ๋ว  มีกลอนที่ว่าด้วยดวงดาวในการสังเกตตำแหน่งเมือง น่าสนใจดี จึงเอามาลงให้อ่านดู

ดาวข่างสว่างช่วงดวงโดด     รุ่งโรจน์ระยับจับเวหา
ดาวลูกไก่เป็นหมู่ดูจับตา       ดาวกาเก้าหมู่อยู่เคียงกัน
ดูดาวไถไรรีวิถีจร                 ดูดาวอัศดรจะเห็จหัน
ดาวเต่าเข้าทับระดับกัน         ดาวหามผีนั้นประจำเมือง
พอสำเภาเร้าใบใกล้ปากอ่าว   สังเกตดาวหามผีสีแปลกเหลือง
สีดวงช่วงจรัสจำรูญเรือง        แสงประเทืองเหมือนเยื้องบอกต้นทาง.

เมื่อสำเภาเข้ามาถึงอ่าวเมืองตังจิ๋วก็ตีม้าล่อ  ฝ่ายราษฎรเมืองตังจิ๋วได้ยินดังนั้นก็ทราบว่า กองเกี๋ยกับกองไหลกลับมาแล้วพร้อมพาพวกไทยมาด้วย ก็ดีใจกระโดดโลดเต้นกัน  กองเกี๋ยกองไหลเข้าไปแจ้งข่าวให้จอจิหลังเจ้าเมืองทราบความที่ไปกรุงศรีอยุธยามา  จอจิหลังได้ทราบดังนั้นก็ดีใจสั่งให้จัดการต้อนรับพลายยงอย่างดี  และให้เอาเกี้ยวหามไปรับพลายยงด้วย

พลายยงเตรียมแต่งตัวขึ้นบก  มาดูคนแต่งเขาพรรณนาการแต่งตัวของพลายยงหน่อย
"นุ่งยกกระหนกเพราพราย      คาดสายปั้นเหน่งประดับพลอย
ใส่เสื้อกำมะหยี่สีดำ             สังเวียนกรองทองคำดังหิ่งห้อย
ติดอินทรธนูชูลอย               กรองคอช่อช้อยสุวรรณพราย
เจียระบาดคาดเอวโอบกระหวัด   กะทัดรัดอร่ามงามเฉิดฉาย
ห้อยหน้าผ้าทิพย์เชิงชาย       กรวยกรองลองลายโสภา
ใส่แหวนเพชรเม็ดนิลจินดาดวง  มรกตรุ้งร่วงเรืองค่า
ใส่หมวกฝรั่งมาแต่เมืองลังกา     ถักทองกรองระย้าฝังพลอย
เหน็บกริชมีดตรีมีสง่า            กัลปังหาสีดำน้ำเงินห้อย
ประดับเพชรนิลรายพรายพลอย     ทหารคอยแห่ห้อมล้อมวงไป...

บรรดาเจ๊กจีนเมืองตังจิ๋วมายืนดูคนไทยแน่นทีเดียว (จีนมุง) พลายยงไปพบเจ้าเมืองตังจิ๋ว พลายยงคำนับเจ้าเมือง เจ้าเมืองเห็นพลายยงก็พยุงให้ลุกขึ้น และว่าพลายยงนี้รูปงาม  หากว่าพลายยงกู้เมืองตังจิ๋วให้พ้นมือข้าศึกได้จะยกนางเวสิวลูกสาวให้ พร้อมด้วยเรือสำเภา  พลายยงก็ตอบไปว่า ตนเองอาสามาครั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยเมืองตังจิ๋ว  ท่านอย่าได้ร้อนใจอันใด  แม้ข้าศึกจะมามากกว่าสิบเท่า ก็จะฆ่าให้ตายสิ้น  ให้พวกเจ๊กตังจิ๋วเล่นงิ้วดูงิ้วให้สนุกเถิด  พรุ่งนี้บ่ายสามโมงจะยกทัพออกไปรบกับข้าศึก เจ้าเมืองตังจิ๋วได้ฟังก็ยินดี สั่งให้จัดโต๊ะข้าวปลามาเลี้ยงดูพลายยงกับไพร่พล เรามาดูคนไทยไปกินโต๊ะเมืองจีนกัน

อ้ายเหล่าไพร่ไม่เคยจะกินโต๊ะ    โอ้โอะหยิบตะเกียบมันพลิกหัน
คีบผักไม่อยู่ชิ้นหมูมัน               ไม่ทันใจเข้าใส่เอาด้วยมือ
ชิ้นโตโย้เข้าใส่ปากเคี้ยว            หมูเหนียวติดคอร้องครางหือ
บ้างฉวยได้ขาไก่ไว้สองมือ         บ้างถือจอกเหล้าเข้าดื่มเจื๊อก
แกงร้อนหย่อนคอเข้าพอแรง       ที่เมาบ้าหน้าแดงลงนอนเสือก
ถือดาบเงื้อง่าทำตาเหลือก         ถีบเสือกไสโต๊ะโอ๊ะหกไป

เจ้าพลายยงคนดีมีกิริยา             กับจีนอ๋องเมาร่าหาพูดไม่
พอสุริยนสนธยาลงไรไร             กับจีนอ๋องเข้าไปที่นอนพลัน.

ไพร่กับนายนี่มารยาทการกินอยู่ต่างกันมากทีเดียว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 09, 13:50
ใส่หมวกฝรั่งมาแต่เมืองลังกา     ถักทองกรองระย้าฝังพลอย

ยังนึกไม่ออกว่าหมวกฝรั่งยุคไหน    ต้องไปค้นหมวกฝรั่งตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘ ดูก่อนค่ะ
แต่รู้อยู่อย่าง  กวีคนที่แต่งตอนนี้ ต้องเคยอ่านพระอภัยมณี อาจจะประทับใจขั้นแฟนพันธ์แท้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 พ.ย. 09, 14:27
สำเนียงจีนในเรื่องนี้ไม่ใช่จีนกลาง คล้ายแต้จิ๋ว แต่อาจจะเป็นฮกเกี้ยนก็ได้ครับ เพราะอยู่ในตระกูลหมิ่นหนานด้วยกัน

ชื่อเมืองอ้ายมุ่ย ชื่อนี้ผมทราบว่าเป็นเมืองเดียวกับเซี่ยเหมินในมณฑลกวางตุ้ง แต้จิ๋วจะว่า แอ่มึ้ง เปิด wiki ดูถึงได้รู้ว่าอ้ายมุ่ยที่ฝรั่งว่า Amoy นี่มาจากสำเนียงฮกเกี้ยนแถบจางโจว (เมืองข้างเคียง อยู่ทางใต้ของเซี่ยเหมิน)

ตังจิ๋ว เป็นเมืองที่ไม่รู้จักครับ จีนกลางน่าจะว่า ตงโจว ถามน้องกุ๊กดู เอ๊ะ มีจริงๆ เมืองนี้อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ติดกับฮกเกี้ยนนี่แหละครับ เข้าเค้าทีเดียว

กุยตั๋ง ก็ไม่รู้จักอีก จีนกลางคงเป็นกุ้ยตง ถามน้องกุ๊ก ไม่ผิดหวังเช่นเคย เป็นเมืองในกวางตุ้งอีก

น่าสงสัยว่ากวีผู้แต่งตอนนี้เป็นใคร ไฉนมีความรู้เรื่องบ้านเมืองจีนถึงขนาดนี้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 09, 16:06
แย่จัง  พิมพ์ได้ตั้งยาว   แต่ไม่ทันส่ง  เกิดเอ็กซิเดนต์ก่อน  ผู้ที่ติดตามอยุ่ขออภัยด้วยนะครับ  พรุ่งนี้จะมาเล่าอีก ตอนหน้าห้ามพลาดนะครับ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 09, 21:37
ตอบคุณม้า
เดาคำตอบว่ามี ๒ ทาง
๑)  คนแต่งตอนพลายยงบุกจีน เป็นหนึ่งในอาลักษณ์ที่ร่วมกับซินแส แปลเรื่องจีนเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔  หรืออย่างช้าก็รัชกาลที่ ๕
อาจจะอาศัยชื่อเมืองที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนั้น เป็นแนวทางการอ้างอิง
๒) เคยเดินทางไปถึงตอนใต้ของจีนจริงๆ    หลักฐานคือตรงนี้

พอสำเภาเร้าใบใกล้ปากอ่าว        สังเกตดาวหามผีสีแปลกเหลือง
สีดวงช่วงจรัสจำรูญเรือง             แสงประเทืองเหมือนเยื้องบอกต้นทาง.

อธิบายเหมือนเป็นประสบการณ์โดยตรงเลย   ไม่ใช่อาศัยคำบอกเล่าจากคนอื่นๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 พ.ย. 09, 21:47
ไม่แน่ใจว่าคุณหลวงเล็กเจอปัญหาอย่างที่ผมเคยเจอหรือเปล่านะครับ

ถ้าพิมพ์ด้วยเครื่องแล็ปท็อป บางทีจะเผลอไปกดถูกปุ่ม previous page ทำให้ข้อความที่พิมพ์หายไปหมด ถ้าเจออย่างนี้ลองกด next page ข้อมูลที่พิมพ์ไปอาจกลับมาอยู่ที่เดิมครับ

หรืออีกแบบหนึ่ง ถ้าพิมพ์เสร็จ กดส่ง ปรากฏว่าพิมพ์นานเกิน ล็อกอินหลุด พอล็อกอินกลับเข้ามาใหม่ กลายเป็นหน้าโล่งๆ ส่งข้อมูลไม่ได้เสียแล้ว เจออย่างนี้ กด previous page ย้อนกลับไปจนเจอหน้าที่พิมพ์ แต่อันนี้จะกดส่งไม่ได้ ต้องคัดลอกข้อความในช่องพิมพ์ข้อความไว้ แล้วค่อยไปเปิดกระทู้ กดตอบ แล้วแปะข้อความที่คัดลอกไว้ลงในช่องพิมพ์ข้อความ อย่างนี้ก็จะส่งได้ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 พ.ย. 09, 09:33
ขอบคุณคุณ CrazyHOrse ที่กรุณาแนะนำวิธีแก้ปัญหาให้นะครับ  สงสัยว่าพิมพ์นานเกิน  ล็อกอินเลยหลุด  ไม่เป็นไร จัดการพิมพ์ใหม่แล้ว  เชิญติดตามต่อได้ครับ

ความเดิมตอนที่แล้ว  จอจิหลังเจ้าเมืองตังจิ๋วได้จัดการเลี้ยงโต๊ะต้อนรับพลายยงกับกองทหารไทยที่สมเด็จพระจักรพรรดิโปรดเกล้าฯ ส่งไปช่วยเมืองตังจิ๋วสู้รบกับข้าศึกเมืองอ้ายมุ่ยเมืองกุยตั๋งที่ยกยกทัพมาล้อมเมืองตังจิ๋ว พลายยงกับจีนอ๋องกินโต๊ะเมาเต็มที่ก็เข้านอนในห้องที่เจ้าเมืองตังจิ๋วจัดไว้ให้.

เวลาดึกน้ำค้างลง  พลายยงกระสันคิดถึงคำที่เขาลือกันว่า นางเวสิวลูกสาวเจ้าเมืองตังจิ๋วนั้นงามนักหนา   ใคร่จะเห็นรูปโฉมโนมพรรณนางให้ทราบว่าอายุรุ่นราวคราวใด   คิดเช่นนี้แล้วพลายยงก็ปลุกจีนอ๋อง ล่ามภาษาจีนประจำตัวให้ตื่นแล้วชวนไปสะกดเจ้าเมืองตังจิ๋วเพื่อเข้าไปดูนางเวสิวถึงห้องนอน.  แล้วทั้งสองคนก็เดินไปยังตึกห้องนอนของนางเวสิว   เมื่อถึงตึกจุดหมาย  พลายยงร่ายคาถามหาสะกดให้บรรดาจีนในตึกนั้นนอนหลับใหล   จากนั้น พลายยงกับจีนอ๋องก็เข้าไปในตึก   ตรงนี้มีบทตลกระหว่างพลายยงกับจีนอ๋องแทรก ดังนี้

พลางเดินเข้าในไปทุกห้อง     ล้วนสาวสาวขาวผ่องละอองทั่ว
กางเกงหลุดล่อนแก่นแหงนหงายตัว    หัวเหน่ามีหนวดแพะอีแปะยาว
อ้ายจีนอ๋องมองดูหางหนูไหว    ช่างเกิดมานี่กระไรไข่ไก่ขาว
แลบลิ้นเลียปากอยากของคาว     จับเท้าอีนั่นจะหันนอน
พลายยงร้องไปอย่างไรล่า     อ้ายจีนอ๋องร้องว่านี่ขาอ่อน
พลายยงร้องยับเขาหลับนอน    อ้ายจีนอ๋องร้องย้อนคัดช้อนปลา
พลายยงว่าทำไมเลิกกางเกงเขา    นายเอ๋ยเหมือนแม่อีเม้าทีเดียวขา
พลายยงอ่านมนต์สะเดาะมา     เปิดบานทวาราเข้าห้องใน


เมื่อพลายยงเข้าไปในห้องนอนนางเวสิวก็ชมเครื่องของในห้องนอนนางเวสิวพอสังเขปแล้วก็มาชมรูปร่างนางเวสิวซึ่งกำลังนอนหลับอยู่บนเตียง  คนแต่งเสภาท่านแต่งตอนนี้ไว้ดีทีเดียว  อยากให้อ่านกันเต็มจึงคัดลอกมาทั้งหมดไม่ตัดทอนให้เสียอรรถรส (หากผู้ใดเห็นว่ายาวไป กรุณาข้ามตอนนี้ไปนะครับ)

ประจงรูดม่านกลางเห็นนางนอน   ดูฉะอ้อนดั่งจะวอนให้รักใคร่
รูปโฉมประโลมแลวิไล    ดูไประยับจับแสงเทียน
อกเอวอ้อนแอ้นแม้นกินรี    มีศรีสะอาดดังวาดเขียน
นิ้วมือกลมฉ่ำดังลำเทียน    ค่อยเพียรแก้เสื้อใส่ตั้งใจดู
เต้านมกลมตั้งดูปลั่งเปล่ง    ครัดเคร่งเต่งตั้งอยู่ทั้งคู่
ดั่งบัวหลวงพุ่งพ้นจากสินธู    แมลงภู่ยังไม่มีมาบีฑา
ผิวหน้าดั่งจันทร์เมื่อวันเพ็ง   แก้มคางปลั่งเปล่งดังเลขา
คิ้วค้อมละม่อมสุดหางตา     เกศามุ่นมวยสะสวยดี
ชะรอยจะเป็นลูกเจ้าเมืองตังจิ๋ว    ชื่อนางเวสิวหรือไรนี่
ชันษาถ้าประมาณสิบสี่ปี      เร้าฤดีร่านร้อนนอนเคียง
สวมสอดกอดชิดประสมสอง     เข้าจับต้องเตือนใจให้ใหลหลง
เอะมิผิดแล้วหรือหนอออพลายยง    วิชาคงยงยิ่งจะเสื่อมคลาย
ห้ามตัวเองแล้วก็ได้คิด     ลุกขึ้นปิดเสื้อเสียให้เสื่อมหาย
แต่กำหนัดปฏิพัทธ์กลัดกลุ้มกาย    เข้ากอดก่ายตัวสั่นอยู่รันทด
เอามือลูบจูบลองต้องนมนาง    ตัวกระด้างคางสั่นอยู่ดดดด
ดั่งน้ำตาลมาไว้ให้ใกล้มด    กะทิสดใกล้มืออยากถือมา
คิดเสียดายอาคมถมถนำ     ทำอะไรกับเมียเสียคาถา
คิดแล้วขยับกลับออกมา     ตัณหาพาป่วนซวนเข้าไป
เห็นนมอล่างแงทั้งสองเต้า   คุกเข้าคร่อมน้องจะลองใหม่
เอะการศึกยังไม่วายสบายใจ    หาควรไม่คับตัวชั่วเหลือแรง
ห้ามตัวเองว่าฮ้าพลายยง    ลุกลงจากเตียงเมียงมองแฝง
เอามือกดท้องไว้นัยน์ตาแดง      นางนี้แกล้งเราให้เย้ายวน
รูปโฉมน่าประโลมรักใคร่      อกใจกระสันให้ปั่นป่วน
กลับถอยออกมาหลับตาซวน    ชวนอ้ายจีนอ๋องย่องย่างเดิน


อ้ายจีนอ๋องเข้าชิดสะกิดบอก     ข้าเล่นนอกด้วยนายอยู่นานเนิ่น
พลายยงด่าว่าอ้ายถ่อยพลอยยับเยิน   พลางรีบเดินนิ่งนึกถึงตึกพลันฯ

อ่านตอนนี้แล้วรู้สึกอึดอัดกระวนกระวายใจแทนพลายยงจริงๆ  คนแต่งเสภาบรรยายได้ละเอียดดี  อารมณ์คนหนุ่มที่เพิ่งเคยลักหลับสัมผัสเนื้อนวลนางสาวแรกรุ่น  กว่าจะหักห้ามใจไม่ให้ทำเกินเลยก่อนเวลาอันควรแม้ว่าจะมีโอกาสก็ตาม   ช่างยากเย็นทรมานอะไรปานนี้หนอ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 10:16
อดคิดไม่ได้ว่าถ้าให้กรรมการหอพระสมุดชำระ  ฉากนี้คงถูกเซนเซอร์ไปหลายวรรค  บรรยายละเอียดเกินไป  และเปิดเผยเกินไปด้วย

มองเห็น"ขนบ" การแต่งชมโฉมนางงาม ในแนวนิยมเดียวกัน   ในสายตากวี ผู้หญิงสมัยนั้นเห็นจะเย้ายวนที่สุดก็ตอนนอนหลับ    เพราะอยู่ในภาวะไม่รู้สึกตัว  อิริยาบถตามสบาย   เปิดโอกาสให้มองนานเท่าไรก็ได้    
(จึงมีฉากขุนแผนจึงเข้าห้องแก้วกิริยา  มีฉากพลายงามเข้าวังเจ้าเชียงใหม่ไปเจอนางสร้อยฟ้า    และก็ฉากพลายยงกับนางเวสิว)
นอกจากนี้ ฝ่ายชายยังเข้าไปรุกล้ำหากำไรได้ตามถนัด อีกด้วย
    
สังเกตว่าพระเอกไทยในบทนี้ มักจะไม่ค่อยคำนึงถึงศักดิ์ศรีลูกผู้ชายเท่าใดนัก   ว่าทำตัวเหมือนผู้ร้ายมากกว่าพระเอก
ถ้าเปลี่ยนจากพลายยงเป็นขุนช้าง  คนอ่านคงไม่เคลิ้มไปด้วยเป็นแน่

นางเวสิวอายุ ๑๔   ถ้าเป็นยุคนี้  หากพลายยงไม่เบรค  เห็นจะถึงขั้นเจอคุก   ไม่ว่านางจะสมยอมด้วยหรือไม่ก็ตาม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 พ.ย. 09, 15:02
ที่คุณเทาชมพูว่า  ถ้าให้กรรมการหอพระสมุดชำระ  ฉากนี้คงถูกเซนเซอร์ไปหลายวรรค  บรรยายละเอียดเกินไป  และเปิดเผยเกินไปด้วย

เห็นด้วย  แต่ในความที่เสภาเกิดมาจากการเล่านิทานนิยายของชาวบ้านแล้วค่อยๆ แพร่หลายเข้ามาสู่ในวัง  สันนิษฐานว่า เนื้อเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนมากกว่าครึ่งหนึ่งน่าจะเป็นสำนวนคนนอกวังแต่ง(และคงเป็นผู้ชายเท่านั้น)  สำนวนที่ใช้จึงออกจะถึงพริกถึงขิง ถึงอกถึงใจคนฟัง ใส่รายละเอียดในส่วนที่คนแต่งต้องการเน้นให้คนฟังได้อรรถรส  ส่วนตอนไหนไม่สู้สำคัญก็แต่งอย่างย่นย่อ  เสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลายมีหลายตอนที่คนแต่งแต่งอย่างนี้  ถ้าหากเซ็นเซอร์ออกไปก็จะอ่านไม่ได้อรรถรสของเสภา  ถ้าเอาไปขับให้คนสมัยก่อนฟัง  เห็นทีคนฟังจะหลับหรือไม่ก็เบือนหน้าหนีกันหมด  เพราะว่าไม่ถึงใจคนฟัง

กรณีของพลายยงเข้าไปลักหลับนางเวสิว  อาจจะดีกว่ากรณีเณรพลายแก้วกับนางพิม ขุนแผนกับนางแก้วกิริยา และพลายงามกับนางศรีมาลา  เพราะอย่างน้อย พลายยงก็ยังมีสติยั้งคิด ไม่ล่วงไปถึงขั้น.....   อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติทหารไทยที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไปช่วยบ้านเมืองอื่นช่วยรบป้องกันเมืองได้

พรุ่งนี้ติดตามตอนพลายยงยกรบกับทัพเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋ง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 15:22
อ้างถึง
กรณีของพลายยงเข้าไปลักหลับนางเวสิว  อาจจะดีกว่ากรณีเณรพลายแก้วกับนางพิม ขุนแผนกับนางแก้วกิริยา และพลายงามกับนางศรีมาลา  เพราะอย่างน้อย พลายยงก็ยังมีสติยั้งคิด ไม่ล่วงไปถึงขั้น.....   อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติทหารไทยที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไปช่วยบ้านเมืองอื่นช่วยรบป้องกันเมืองได้

ระหว่างคอยคุณหลวงกลับมาเล่าต่อ    คุยเรื่องนั้นคั่นรายการไปพลางๆก่อนนะคะ

ฉากพระเอกวรรณคดีไทยเข้าห้องนาง  ตามมาด้วยบทเข้าพระเข้านาง    ลองถามตัวเองว่าพระเอกคนไหน ค่อยยังชั่วกว่าเพื่อน    ก็คงโต้วาทีกันได้ทีเดียว เพราะดูจะมีข้อเสียไม่น้อยกว่ากัน
อย่างแรกที่ต่อว่ากันได้คือ ผิดข้อหาละเมิด   ผู้หญิงเขาไม่ได้อนุญาตให้ล่วงล้ำเข้าไปในห้องส่วนตัว
จะเรียกว่า ข้อหาบุกรุก  ก็คงจะได้     
ต่อมาคือบุกรุกเพื่อกระทำการมิดีมิร้าย

พลายยงยั้งใจเอาไว้ได้ ไม่ใช่เพราะมีศีลธรรม  แต่กลัวว่าวิชาจะเสื่อม    เดี๋ยวรบแพ้  กลับไปเจอเจ้าเหนือหัวในอยุธยาเข้า อาจโดนประหารหรืออย่างเบาก็ติดคุกหัวโต

คิดเสียดายอาคมถมถนำ     ทำอะไรกับเมียเสียคาถา
คิดแล้วขยับกลับออกมา     ตัณหาพาป่วนซวนเข้าไป

ความเชื่อข้อนี้ไม่ได้มีอยู่ในตัวปู่(ขุนแผน) และพ่อ(พระไวย)    เพราะทั้งปู่และพ่อก็เข้าห้องหานางกันเป็นเรื่องธรรมดา  วิชาคาถาอาคมก็ไม่เห็นจะเสื่อม
แต่ไปตรงกับความเชื่อของแสนตรีเพชรกล้า  ขุนศึกฝ่ายล้านนา ในศึกชิงนางสร้อยทอง  ที่เขาไม่อาบน้ำและไม่อยู่กินกับภรรยา  เพื่อความคงกระพันชาตรี

แต่ถ้าถามว่า ทั้งขุนแผน พระไวย และพลายยง  คนไหนมีมารยาทรู้ขนบธรรมเนียมดีกว่าเพื่อน  ขอยกให้ขุนแผนตอนเข้าห้องนางแก้วกิริยา
ขอให้สังเกตว่า เมื่อเข้าไป ไม่รู้ว่าสาวงามคนนี้เป็นใคร  ลังเลว่าจะเป็นเมียน้อยขุนช้างหรือเปล่าก็ไม่แน่  เพราะห้องหับดูกระจอกไม่หรูหราสมเป็นเมียเจ้าของบ้าน 
ขุนแผนก็ปลุกนางขึ้นมาไต่ถาม   เพื่ออะไร?  เพื่อให้แน่ใจว่าผู้หญิงคนนี้ไม่มีเจ้าของ   ถ้าหากว่าเป็นเมียน้อยขุนช้าง  ขุนแผนก็จะเว้นไป ไม่เกี่ยวข้องด้วย
เมื่อไต่ถามได้ความว่า เป็นผู้หญิงที่พ่อเอามาขัดดอก   เท่ากับเป็นทาสของขุนช้าง     ขุนแผนก็จ่ายเงินให้ตามที่นางเป็นหนี้อยู่

แก้ห่อเงินมอบให้แล้วปลอบพลาง          อย่าระคางเคืองใจได้เอ็นดู

คือไถ่แก้วกิริยาให้เป็นไทแก่ตัว  ไม่มีเจ้าของ ในที่นี้หมายถึงมีนายถือสิทธิ์เหนืออยู่      เมื่อผู้หญิงเป็นอิสระแล้ว  ขุนแผรก็ถือว่าไม่ได้ละเมิดสมบัติของใคร


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 พ.ย. 09, 15:41
ขออนุญาตไม่อภิปรายต่อประเด็นนะครับ  เพราะนิทานนิยายที่คนแต่งแต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิง เราคงไปเอาตัวละครมาลงโทษในโลกเป็นความจริงไม่ได้  :-X


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 15:55
คุณหลวงเล็กไม่คุยเรื่องนี้ต่อ  เชิญต่อเรื่องจีนตามสะดวกค่ะ   ดิฉันคุยคนเดียวก็ได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 พ.ย. 09, 20:14
หลังจากที่ขุนแผนควักเงิน ๑๕ ตำลึงให้นาวแก้วกิริยาไปแล้ว  แถมแหวนเพชรอีกหนึ่งวง
ได้สั่งว่า

ชื่นจิตเจ้าจงคิดเพทุบาย                           ถ่ายถอนตัวเสียให้เป็นไทย


คิดว่าขุนแผนหมดตัวนะคะ




นางวันทองเมื่อตกลงกับขุนแผนให้พระพิจิตรส่งตัวมาสู้คดี  ได้คร่ำครวญว่า

ที่กรุงไกรใครเขาจะเมตตา                        อิฐผากลางถนนจะต่างหมอน
ตะรางเรือกเฝือกฟากต่างฟูกนอน                จนชั้นน้ำใครจะคอนให้อาบกิน
ญาติกาหาไหนมีใครเล่า                           จะส่งข้าวปลาหมดคงอดสิ้น
จะเป็นความถามไถ่ในบุริน                        เงินแค่เท่าปีกริ้นก็ไม่มี             


ผู้หญิงเวลาคิดล่วงหน้าคิดได้จนกระทั่งว่าใครจะตักน้ำให้
นางบุษบาได้จัดของใช้จนกระทั่งเตาเชิงกราน  หมอนมุ้งเสื่ออ่อน และเสบียงอาหาร
แถมเงินให้อีก สามชั่ง

ขุนแผนจึงเคารพพระพิจิตรและนางบุษบามาก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 พ.ย. 09, 16:29
ท่านที่ติดตามเสภาพลายยงอาสาไปรบที่เมืองตังจิ๋วตอนต่อไป  วันรุ่งนี้จะมาเล่าต่อนะครับ  วันนี้มีงานมากเลยไม่มีเวลามาเล่าให้อ่านต่อ ขออภัยในความไม่ต่อเนื่องนะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: voradejtr ที่ 20 พ.ย. 09, 12:15
สวัสดีครับ
ผม หนุ่มไทยไร้นาม จากเว็บพันทิปนะครับ
แวะมาเยี่ยมครับ

ขอทำความคุ้นเคยกับเว็บนี้สักนิดนึงก่อน แล้วค่อยคุยกันครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 พ.ย. 09, 12:42
สวัสดีค่ะ  คุณหนุ่มไทยไร้นาม ที่ นับถือ


            ดีใจค่ะ   ขอต้อนรับ         




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ย. 09, 16:25
ทิ้งไปหลายวัน  วันนี้ได้ฤกษ์มาเล่าต่อแล้วครับ

รุ่งขึ้นเช้า พลายยงกับไพร่พลทหารกรุงศรีอยุธยาทั้งห้าร้อยที่อาสาไปรบ ก็จัดแจงแต่งตัวเตรียมตัวออกรบ 
เมื่อได้เวลาเคลื่อนพลก็ลั่นฆ้องโห่เอาชัย เคลื่อนพลออกจากเมือง 
พวกจีนเมืองตังจิ๋วต่างพากันมามุงดูพวกทหารไทยพร้อมทั้งร้องอวยพรให้ได้ชัยชนะแก่ข้าศึก

ฝ่ายงวนบุนเจ๋งกับจาหลีบุนที่ยกทัพมาตั้งค่ายล้อมเมืองตังจิ๋วไว้ เมื่อได้เห็นทัพไพร่พลยกออกมาจากเมืองตังจิ๋ว
ก็รีบแต่งไพร่พลอาวุธครบมือ จำนวนเจ็ดพันคนไปประจัญหน้ากับทัพพลายยง

เมื่อทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากัน  ก็มีการประทะคารมกันเล็กน้อยก่อนจะลงมือสู้รบ 
โดยฝ่ายงวนบุนเจ๋งร้องถามไปก่อนว่า พวกไทยเหล่านี้มาแต่ไหน ตัวแม่ทัพชื่ออะไร
และไพร่พลเอามาเท่านี้คง "จะพามาจิ้มฟันมั่นแม่นแท้"   ฝ่ายพลายยงได้ยินเขาร้องถามเช่นนั้นแล้วตอบไปว่า 
ท่านไม่รุ้จักเราจงดูเอาไว้ เรามาแต่กรุงศรีอยุธยา เป็นหลานพลายแก้ว ลูกพลายงาม ชื่อพลายยง เป็นทหารใหญ่ในกรุงศรีอยุธยานั้น
เดิมเจ้าเมืองตังจิ๋วเป็นเมืองขึ้นแก้กรุงปักกิ่ง  ท่านยกทัพมาล้อมเมืองเขาไว้เยี่ยงนี้ไม่เกรงกลัวอำนาจพระเจ้ากรุงปักกิ่ง
เมืองตังจิวเห็นว่ากรุงปักกิ่งนั้นไกลนัก เมืองตังจิ๋วจึงได้ส่งสารไปกรุงไทยให้ยกทัพมาช่วยปราบพวกเจ้า
ถึงพวกเราจะมาแค่ห้าร้อยก็มีฤทธิ์มาก และว่า "ถ้ากลัวตายให้เตี่ยมาเชี้ยกู   หาไม่หัวสูจะขาดสิ้น  จะย่อยยับเป็นระดับทั้งแผ่นดิน   ตัวตีนหัวขาดเพราะฟาดฟัน"

งวนบุนเจ๋งก็โต้ว่า นี่ไม่ใช่กงการอะไรของท่าน พวกจีนกับจีนรบกัน เจ้าเมืองตังจิ๋วเป็นคนชั่ว ไม่เกรงกลัวเราผู้เป็นเมืองใหญ่ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น  จึงได้ยกทัพมาล้อมเมือง
เช่นนี้หาได้เป้นเหตุเกี่ยวข้องกับไทยไม่ แล้วก็ว่า "มิตายเพราะมือกูก็ดูเอา  จะเจ้าไปใช้กวาดตึกพลัน" จากนั้นก็สั่งให้จาหลีบุนขับม้าเข้ารบกับพลายยงและให้ไพร่พลของตนเข้าตีพวกไทยทันที

ด้านพวกไทย ก่อนจะรบกับพวกจีนเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋ง  ก็หยอกล้อกับพวกจีนเหล่านั้นดังนี้ (ติดจะทะลึ่งอยู่บ้าง)

"ทั้งห้าร้อยตัวกลั่นมั่นคง      โห่ส่งเยาะเล่นไม่เว้นตัว
หลกก้นเลิกผ้าฮ้าของพ่อ      จะมาต่อสู้ไทยอ้ายหัวตะกั่ว
ถึงมึงล้อมกูไว้กูไม่กลัว         ยิงหัวตุ๊ดตู่ของกูยาว
พวกทัพอ้ายมุ่ยถึงเจ็ดพัน      อายย่าหัวสั่นยิงฟันขาว
แลเห้นของไทยมันใหญ่ยาว   ด่าฉาวอิไนติกำพู้
ฉวยได้ปืนสั้นลั่นยิงตึง          พวกไทยยืนขึงเป็นหมู่หมู่
แหวกผ้าไพล่ขาออกให้ดู       อ้ายเจ๊กกรูเกรียวเข้าเหล่าอาแป๊ะ"

จากนั้นก้เป็นการบรรยายการรบ วึ่งพวกไทยแม้จะถูกพวกจีนเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋งยิงฟันแทงอย่างไรก็ไม่เข้าไม่มีบาดแผล 
แต่พวกจีนถูกพวกไทยแทงฟันกลับตายเกลื่อนกลาดสมรภูมิ

ฝ่ายพลายยงต่อสู้กับจาหลีบุน ถูกจาหลีบุนฟันด้วยง้าวสามทีไม่เป็นไร แต่พลายยงฟันง้าวถูกจาหลีบุนคอขาดตกม้าตาย  งวนบุนเจ๋งเห้นน้องของตนเสียท่าแก่ข้าศึกก็เข้ามาสู้กับพลายยงแต่ก็ถูกพลายยงเสกรัตคดมัดตัวเอาไว้ได้  พวกจีนเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋งเห้นนายตนถูกจับก็เสียกระบวนทัพ ถูกพวกไทยจับเป็นเชลยได้เอาเชือกผูกคอมา  เมื่อได้ชัยชนะและตามเชลยได้หมดแล้ว พลายยงก็ให้ไพร่พลเลิกทัพกลับเข้าเมืองตังจิ๋ว.



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 09, 09:00
กวีที่แต่งตอนนี้คงตั้งใจจะให้พลายยงเป็นพระเอก   รบเก่งแบบเดียวกับพ่อและปู่     คงไม่ได้นึกถึงลูกชายนางศรีมาลาที่มาปราบพลายยงได้ทีหลัง
สำนวนภาษาในตอนนี้  หนักกว่าครูแจ้งเสียอีก   เดาว่าเป็นกวีชั้นหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕
ถ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงชำระ    อาจจะทรงแต่งเสียใหม่แทน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ย. 09, 09:30
เห็นด้วยกับความเห็นของคุณเทาชมพู

พลายยงคงจะเป็นพระเอกเฉพาะตอนนี้เท่านั้น  หลังจากตอนนี้ไปแล้ว พลายยงจะกลายเป็นผู้ร้าย  เพราะนางสร้อยฟ้ายุให้พลายยงให้ไปฆ่านางศรีมาลา เพื่อชำระแค้นในอดีต พลายยงจึงส่งแสนคำอินพาพรรคพวกไปบุกฆ่านางศรีมาลาที่บ้าน โชคดี กุมารทองและโหงพรายช่วยป้องกันนางศรีมาลาไว้ได้  จึงไม่ถูกแสนคำอินและพวกฆ่าตาย แต่นางศรีมาลาก็ถูกฟันเป็นแผลฉกรรจ์ตกน้ำลอยไปติดท่าหน้าวัดเรไร  จากนั้น พลายยงกับนางสร้อยฟ้าก็รีบเดินทางพร้อมไพร่พลของตนกลับเชียงใหม่ในคืนที่เกิดเหตุนั้นทันที   และก็กลายเป็นเหตุให้พลายเพชรพลายบัวต้องเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อไปแก้แค้นให้นางศรีมาลา กลายเป็นสงครามพี่น้องต่างมารดาอีกยาว และไม่จบด้วย  ลักษณะเรื่องคล้ายๆ กับพระอภัยมณีตอนปลายที่ต่อจากฉบับหอสมุดแห่งชาติ ไม่ทราบว่าได้อิทธิพลแก่กันหรือเปล่า?

ส่วนที่ว่าสำนวนภาษาในตอนนี้  หนักกว่าครูแจ้งเสียอีก   เดาว่าเป็นกวีชั้นหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕
ถ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงชำระ    อาจจะทรงแต่งเสียใหม่แทน

คนแต่งคงเป็นเช่นที่คุณเทาชมพูเสนอ   และคงเป็นสำนวนนอกวัง
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพิจารณาแล้ว จึงไม่ทรงชำระเสภาภาคปลายต่อ   เพราะไม่เช่นนั้นคงมีภาคปลายตั้งแต่สมัยของพระองค์แล้ว  และพระองค์คงไม่ทรงพระนิพนธ์ใหม่ให้เสียเวลาหรอกครับ  เพราะนั่นเท่ากับเป็นเสภาของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งคงต้องตราหน้าปกว่า  เป็นเสภาของพระองค์ทรงพระนิพนธ์ แทนที่จะว่าเป็นฉบับหอพระสมุดฯชำระ จะกลายเป็นว่าพระองค์จะพลอยทรงถูกครหายิ่งกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ยิ่งขึ้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 09, 09:44
อ้างถึง
พระองค์คงไม่ทรงพระนิพนธ์ใหม่ให้เสียเวลาหรอกครับ  เพราะนั่นเท่ากับเป็นเสภาของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งคงต้องตราหน้าปกว่า  เป็นเสภาของพระองค์ทรงพระนิพนธ์ แทนที่จะว่าเป็นฉบับหอพระสมุดฯชำระ จะกลายเป็นว่าพระองค์จะพลอยทรงถูกครหายิ่งกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ยิ่งขึ้น

เข้าใจความเห็นของคุณหลวง     แต่ขอค้านนิดหน่อยว่า  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านก็นิพนธ์บางตอนในฉบับหอพระสมุดเหมือนกัน   ทรงเล่าไว้เองว่า

"แต่หนังสือบทนี้ได้มา ฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา   ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอสมุด   ไปจนถึงบทพลายงามชมดง  จึงต่อบทของครูแจ้งไปตลอด

ส่วนเรื่องพลายยง  สมเด็จฯท่านสรุปไว้สั้นๆว่า
" ตอนต่อไปนั้น  คือตอนพลายยงไปเมืองจีนก็ดี    ตอนพลายเพชรพลายบัวก็ดี    เห็นไม่มีสาระในทางวรรณคดี จึงไม่พิมพ์"


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 พ.ย. 09, 08:12
ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า "แต่หนังสือบทนี้ได้มา ฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา   ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอสมุด    ไปจนถึงบทพลายงามชมดง  จึงต่อบทของครูแจ้งไปตลอด" ตรงข้อความที่เน้น  แสดงว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ได้ทรงพระนิพนธ์เสภาตอนดังกล่าวเพียงลำพังพระองค์ ต้องมีผู้อื่นที่อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณร่วมแต่งเสภาตอนนี้ด้วย  แต่จะเป็นใครนั้น  ยังไม่มีข้อมูลพอที่จะสันนิษฐานได้ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 พ.ย. 09, 08:42
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านก็นิพนธ์บางตอนในฉบับหอพระสมุดเหมือนกัน   ทรงเล่าไว้เองว่า

"แต่หนังสือบทนี้ได้มา ฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา   ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอสมุด   ไปจนถึงบทพลายงามชมดง  จึงต่อบทของครูแจ้งไปตลอด

ตรงนี้มีข้อมูลจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านทรงพระนิพนธ์เสภาตอนนี้ด้วยพระองค์เอง โดยทรงตั้งพระทัยให้มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมฝรั่งสมัยวิกตอเรียอยู่ด้วย คือแหม่มสมัยนั้นเวลามีเหตุทำให้ตกใจแล้วมักเป็นลมล้มพับไปทุกที   คุณชายคึกฤทธิ์ท่านว่าวัฒนธรรมสมัยวิกตอเรียนี้แพร่เข้ามาในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เสภาตอนนี้จึงเป็นเสมือนดัชนีบอกเวลาในการแต่งเรื่องอยู่ด้วย

เมื่อพลายงามเข้าไปในห้องนางศรีมาลา เห็นนางหลับอยู่ด้วยฤทธิ์ของมนตร์สะกด จึงคลายมนตร์ แล้วกระไอให้เสียง

ครานั้นศรีมาลานารี                   รู้สึกสมประดีได้ยินเสียง
ลืมตาเห็นชายอยู่ปลายเตียง          เจ้ามองเมียงจำได้ว่าพลายงาม
นึกสำคัญในจิตคิดว่าฝัน              ไม่หวาดหวั่นยิ้มแล้วก็ทักถาม
นึกอย่างไรใจกล้าเข้ามาตาม         จะเกิดความงามหน้าพากันอาย
เจ้าพลายได้ฟังเข้านั่งอิง              นางรู้ว่าคนจริงมิ่งขวัญหาย
ตกใจเพียงจะดิ้นสิ้นใจตาย           ร้องว้ายแล้วก็ซบสลบไป

นางศรีมาลาก็ได้เป็นฝรั่งสมใจนึกตรงนี้เอง

 ;)






กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 พ.ย. 09, 11:42
พอมาถึงบทอัศจรรย์ของพลายงามกับศรีมาลา คุณชายคึกฤทธิ์สารภาพว่าไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพหรือไม่ แต่รู้สึกว่าเข้าที ตอนที่เปรียบเทียบว่าพลังความรักของหนุ่มสาวรุนแรงดุจดังพลังธรรมชาติอื่น ๆ

ทั้งหนุ่มสาวคราวแรกภิรมย์รัก           ไม่ประจักษ์เสน่หามาแต่ก่อน
กำเริบรักเหลือทนทุรนร้อน               พอร่วมหมอนก็เห็นเป็นอัศจรรย์
เหมือนเกิดพายุกล้ามาเป็นคลื่น          ครืนครืนฟ้าร้องก้องสนั่น
พอฟ้าแลบแปลบเปรี้ยงลงทันควัน       สะเทือนลั่นดินฟ้าจลาจล
นทีตีฟองนองฝั่งฝา                      ท้องฟ้าโปรยปรายด้วยสายฝน
โลกธาตุหวาดไหวในกมล                ทั้งสองคนรสรักประจักษ์ใจ

ความจริงบทรักตอนนี้ของสองหนุ่มสาวมีฉบับของครูแจ้งด้วย แต่ไม่ผ่านการเซนเซอร์จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 พ.ย. 09, 13:02
เล่าเสภาพลายยงอาสาไปรบที่เมืองตังจิ๋วต่อครับ

เมื่อพวกทหารไทยกลับเข้าในเมืองตังจิ๋ว ด้วยความหิวโซจากการสู้รบจึงเข้ายิ้อแย่งสินค้าที่พวกจีนค้าขายเอามากินเป็นที่วุ่นวายไปทั้งตลาด  (ฉากตอนนี้คล้ายกับตอนที่พวกพระท้ายน้ำวซึ่งถูกเชียงใหม่ อาละวาดที่กาดกลางเมือง) ฝ่ายพวกจีนเมืองตังจิ๋วทราบว่าพวกไทยที่ออกไปรบได้ชัยชนะก็โห่ร้องรับด้วยความดีใจเอาสิ่งของมาให้ทหารไทยมากมาย  พลายยงพาทหารไทยทั้งห้าร้อยเข้าไปที่ตึกเจ้าเมืองตังจิ๋ว  แล้วพลายยงก็รายงานการสู้รบกับพวกเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋งให้เจ้าเมืองฟังว่า

"ไปรบทัพจับงวนบุนเจ๋งมา    กับจีนไพร่ได้ห้าหกสิบคน
แต่พื้นตายก่ายกันยับนับห้าพัน   เหลือนั้นแตกไปในไพรสณฑ์
ฟันจาหลีบุนหมุนวายชนม์     เป็นน้องตนของงวนบุนเจ๋งมา"

จอจิหลังเจ้าเมืองได้ฟังดังนั้นก็ดีใจเข้ากอดจูบพลายยง  เมื่อเหลือบไปเห้นงวนบุนเจ๋งที่พลายยงจับมัดมาก็โกรธฉวยง้าวจะฟันคอให้ตายแต่ก็ยั้งไว้  แล้วให้พลายยงเอางวนบุนเจ๋งไปสอบสวนเอาความจริงก่อนเฆี่ยนแล้วส่งตัวไปเมืองไทยเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกันแก่พวกจีนทั้งหลาย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 พ.ย. 09, 08:59
คุณเพ็ญชมพูอ้างถึงข้อมูลจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์เสภาตอนพลายงามได้นางศรีมาลาด้วยพระองค์เอง ข้อมูลนี้ตรงกับที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือพระกวีนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๓๑ ความว่า

" เมื่อเสด็จพ่อทรงตรวจสอบเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  เพื่อจะพิมพ์ใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงเห็นว่าตอนพลายงามได้นางศรีมาลานั้น  เนื้อความไม่สมเหตุสมผลและกลอนในตอนนั้นก็ไม่ดีสมกับที่จะพิมพ์ขึ้นใหม่  ทั้งได้พบอีกฉบับหนึ่งที่มีผู้แก้ในตอนนี้ไว้แล้ว  แต่เผอิญสมุดขาด  ไม่จบความ  เสด็จพ่อจึงทรงแต่งขึ้นใหม่ทั้งตอนดังต่อไปนี้และตรัสว่า เสภาเขาไม่บอกตัวคนแต่งกันไว้  ถ้าใครอ่านก็เป็นรู้ได้เองว่าสำนวนของใคร  ฉบับนี้ก็จะรู้ได้ว่าเป็นสำนวนคนสมัยใหม่  เพราะผู้หญิงตกใจแล้วเป็นลม (faint) อย่างฝรั่ง? "

แต่ทั้งคำอธิบายหม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล และคำอธิบายม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช เป็นข้อมูลของคนอื่น  ย่อมไม่หนักแน่นเท่าคำของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งได้ทรงเป็นผู้ชำระเสภานี้เองที่ว่า  "แต่หนังสือบทนี้ได้มา ฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา   ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอสมุด     ไปจนถึงบทพลายงามชมดง  จึงต่อบทของครูแจ้งไปตลอด"  และในพระนิพนธ์ว่าด้วยการชำระหนังสือเสภา ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ในตอนท้ายของพระนิพนธ์นี้ มีข้อความว่า

" การตรวจชำระหนังสือเสภาฉะบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้  ตั้งแต่แรกชำระจนเวลาพิมพ์  พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา กับ ข้าพเจ้า  ได้ช่วยกันทำมากว่า ๒ ปี ...."

นั่นเท่ากับยืนยันว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงชำระเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนร่วมกับพระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา 

คำถามต่อมาคือ พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ได้ร่วมทรงพระนิพนธ์เสภาตอนพลายงามได้นางศรีมาลาหรือไม่ ? ตรงนี้มีความเป็นไปได้อยู่มาก  ด้วยเหตุผลดังนี้

๑.พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ทรงพระปรีชาด้านวรรณคดีเพราะทรงได้รับการศึกษาภาษาไทยตามแบบเก่า  ประกอบกับเคยทรงพระนิพนธ์โคลงกลอนอยู่เสมอ  เคยทรงได้รับรางวัลที่ ๑ ในการแต่งโคลงกระทู้ประกวดของหนังสือวชิรญาณหลายครั้ง  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ได้ทรงพระนิพนธ์คำฉํนท์สดุดีสังเวยในพระราชพิธีฉัตรมงคล ลาที่ ๒ รายละเอียดเกี่ยวกับเจ้านายพระองค์นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงพระนิพนธ์ในพระประวัติพระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  แล้วสามารถหาอ่านได้ 

๒.พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ในขณะที่ทรงร่วมชำระเสภาขุนช้างขุนแผนนั้นทรงดำรงตำแหน่งเลขานุการหอพระสมุด  เกือบจะพร้อมกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ  ด้วยรัชกาลที่ ๖ มีพระราชปรารภกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่า เลขานุการหอพระสมุดฯ แต่เดิมนั้นอนูโลมเอาบรรณารักษ์คนเก่าของหอพระสมุดมาเป็น แต่ทำการไม่เรียบร้อยจนต้องเปลี่ยนใหม่  จึงมีพระราชประสงค์ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ หาคนมาเป็นเลขานุการคนใหม่ที่มีคุณสมบัติสมตำแหน่งจริงๆ  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  มาเป็นเลขานุการด้วยทรงรู้จักและเคยทรงใช้พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  เป็นเลขานุการในสมัยที่ทรงรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยมาแต่ต้น  พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ได้ทรงเป็นเลขานุการหอพระสมุดฯ เป็นเวลา ๑๔ ปี ได้ทรงตรวจชำระต้นฉบับและทรงจัดการพิมพ์หนังสือมากถึง ๕๐๙ เรื่อง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือเสภาขุนช้างขุนแผน

๓.ในช่วงปี ๒๔๕๘ ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดฯ สืบต่อจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ แม้ว่าพระภารกิจราชการจะน้อยลง แต่ก็ยังต้องทรงราชการอื่นในตำแหน่งเสนาบดีที่ปรึกษาราชการอยู่  ฉะนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คงจะมีพระภารกิจอื่น  นอกจากการทรงเป็นสภานายกฯ ซึ่งต้องทรงแบ่งเวลาไปทำราชการอื่นด้วย  การที่ทรงพระนิพนธ์และทรงชำระเสภาขุนช้างขุนแผน น่าจะทรงทำได้ไม่เต็มที่ ภาระน่าจะตกแก่พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ผู้เป็นเลขานุการเป็นส่วนใหญ่  สมเด็จกรมพระยาดำรงอาจจะทรงตรวจแก้ไขและทรงกำกับการชำระ.

พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  เป็นเจ้านายที่ทรงมีส่วนอย่างยิ่งในการชำระเสภาขุนช้างขุนแผนและวรรณคดีอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่หอพระสมุดพิมพ์เผยแพร่  แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบและมักยกเรื่องการชำระวรรณคดีตลอดจนหนังสือต่างๆ ของหอพระสมุดให้เป็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไปเสียทั้งหมด  เลยกลายเป็นว่าทั้งผิดและชอบในการชำระเสภาก็พลอยเป็นของพระองค์ไปเสียทั้งสิ้น.


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 09, 09:44
น่าทึ่งการศึกษาค้นคว้าของคุณทั้งสองคน  ทำให้ต้องไปหาพระประวัติกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา มาเติมในกระทู้นี้
พบเพียงสั้นๆว่า  พระนามเดิม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายกัลยาณประวัติ (พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๗๐)พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเลี่ยมใหญ่ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นต้นสกุล กัลยาณะวงศ์   
นอกจากตำแหน่งในหอพระสมุด    ทรงเป็นบรรณาธิการคนแรกของหนังสือเทศาภิบาล     บรรณาธิการหนังสือพิมพ์วชิรญาณ,หนังสือเทศาภิบาล,บรรณาธิการจดหมายเหตุความทรงจำ, ไกลบ้าน  และ วัดราชาธิวาส

พระนิพนธ์ที่สำคัญคือหนังสืออลินจิตต์คำฉันท์,คำฉันท์สดุดีสังเวยพระราชพิธีฉัตรมงคล,และโคลงกระทู้ที่ได้รางวัล


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ย. 09, 10:37
มีเกร็ดเกี่ยวกับพิธีแต่งงานของพลายงามกับศรีมาลา จากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเองว่า

บทเดิมพอขุนแผนพลายงามขึ้นไปถึงเมืองพิจิตร พระพิจิตรก็ให้นิมนต์พระมาทำพิธีแต่งงานพลายงามกับนางศรีมาลา ทำให้เข้าใจว่าได้ขอร้องตกลงกันไว้แต่ก่อนนั้นแล้ว  บทที่แต่งประชัน เขาแต่งให้พลายงามไปเห็นนางศรีมาลาแล้วมีความรักใคร่ จึงลอบเข้าหา เห็นว่าที่เข้าแก้เป็นเช่นนี้ถูกต้องสมต้นสมปลาย เพราะเมื่อกองทัพกลับ สมเด็จพระพันวษาทรงตั้งพลายงามเป็นจมื่นไวย แล้วมีรับสั่งให้แต่งงานกับนางศรีมาลา ขุนช้างมาช่วยงานจึงเกิดวิวาทกัน ก็ถ้าแต่งงานที่เมืองพิจิตรแล้ว ทำไมจะมาแต่งงานกันใหม่อีก

ถึงคำขุนแผนกราบทูลในบทเดิมก็ว่า

เมื่อไปทัพได้กับศรีมาลา        ลูกพระยาพิจิตรบุรี    
แต่รักใคร่ยังมิได้ทำงานการ    เขาผ่อนผันนัดงานมาเดือนสี่

เห็นว่าเรื่องที่ถูกควรเป็นอย่างที่แต่งในบทประชัน  

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมีกวีแต่งหลายท่าน บางทีการต่อเรื่องก็สับสนอลหม่านเช่นนี้แล

 :D



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ย. 09, 11:13
เรื่องที่ทรงแต่งให้ศรีมาลาตกใจแล้วเป็นลมอย่างฝรั่งสมัยวิกตอเรีย คงเนื่องด้วยทรงสังเกตว่ามีหลายตอนก็ทำเช่นนั้น

มีพระนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

หนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราอ่านกันทุกวันนี้ ไม่ได้แต่งแต่เมื่อรัชกาลที่ ๒ ทั้งหมด  บทที่แต่งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ก็มีหลายตอน ข้อนี้รู้ได้ด้วยสังเกตในตัวความที่กล่าวในเรื่องเสภานั้น จะยกตัวอย่างเช่นตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม ในตอนที่ ๗ เล่ม ๑ นี้ 

กล่าวตรงขุนช้างแต่งตัวเมื่อจะไปเป็นเพื่อนบ่าวพลายแก้ว  ในเสภาว่า "คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้า  ยกทองของพระยาละครให้"  ตรงนี้เป็นสำคัญว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒  ด้วยพระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลนั้น  รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล

ต่อมาตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง  ก็สังเกตได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒  ด้วยชมเรือนขุนช้างว่า "เครื่องแก้วแพรวพรรณอยู่ก่ายกอง  ฉากสองชั้นม่านมุลี่มี"  เพราะเล่นเครื่องแก้วกันเมื่อในรัชกาลที่ ๒

ส่วนตอนที่รู้ได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๓ นั้น  เช่นตอนทำศพนางวันทอง  มีกล่าวว่า

นายแจ้งก็มาเล่นต้นปรบไก่       ยกไหล่ใส่ทำนองร้องฉ่าฉ่า       
รำแต้แก้ไขกับยายมา            เฮฮาครื้นครั่นสนั่นไป      

นายแจ้งนี้คือเสภาชั้นหลัง  ที่มีอายุอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕  เป็นคนต้นเพลงที่ดี มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๓  จึงรู้ว่าเสภาตอนนี้แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ 



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 พ.ย. 09, 11:23
พระประวัติพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา
- ประสูติเมื่อ 25 กันยายน 2414 พระนามเดิม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ
- 2434 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดบรมนิวาส
- 2431 แรกทรงรับราชการในกรมปลัดทัพบก กรมยุทธนาธิการ ต่อมาเป็นนายร้อยตรี  เลขานุการของผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (สมเด้จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
- ต่อมา เป็นนายเวรหนังสือ  แล้วเป็นนายร้อยเอก  ผู้ช่วยนายเวรใหญ่  แล้วเป็นนายเวรใหญ่
- 2435 เป็นนายเวรหนังสือลับกระทรวงมหาดไทย  (เป็นปีเดียวกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงได้ทรงย้ายจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติย้ายจากกรมยุทธนาธิการมารับราชการที่กระทรวงมหาดไทย)
- เป็นเลขานุการ แล้วเป็นปลัดกรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ ต่อมาเป็นกรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ  จากนั้นเป็นเลขานุการอีก แล้วเลื่อนเป็นปลัดกรมฝ่ายพลำภังค์
- 2442 เป็นปลัดบัญชี  2451 เป็นเลขานุการอีกครั้งหนึ่ง แล้วเป็นข้าหลวงตรวจการ กรมสรรพากรนอก
- 2453 เป็นเลขานุการหอพระสมุดวชิรญาณ (ไม่ใช่เป็นเลขานุการหอพระสมุดฯ ในปีที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นสภานายกหอพระสมุดฯ เมื่อ 2458 ขออภัยในความผิดพลาดของข้อมูล)
- 2456 รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏ สถาปนาเป็น พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  และรับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์ตรี
- 2462 - 2463 เริ่มทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นประสาทพิการ ทำให้ทรงหลงลืมและทรงมึนตึงไม่เฉียบแหลมเหมือนเช่นแต่ก่อน
- 2466 พระอาการอันเกิดแต่พระโรคดังกล่าวหนักขึ้น รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทรงออกจากตำแหน่งเลขานุการหอพระสมุดวชิรญาณ และให้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญจนพระชนมายุ  รวมเวลาราชการของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ๓๕ ปี (แบ่งเป็นราชการกรมยุทธนาธิการ ๔ ปี กระทรวงมหาดไทย ๑๗ ปี หอพระสมุดวชิรญาณ ๑๔ ปี โดย ๓๕ ปีเป็นช่วงที่ทรงรับราชการอยู่กับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ)
- ประชวรพระวาโย สิ้นพระชนม์ ณ วังถนนเจริญกรุง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2470 เวลา 11.30 น. พระชันษาได้ 56 ปี เชิญหีบพระศพไปบรรจุ ณ วัดส้มเกลี้ยง ในวันที่ 19 พ.ค. ศกเดียวกัน
- ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพพร้อมกับพระศพพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาส เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2473 ณ พระเมรุ วัดเบญมบพิตรดุสิตวนาราม โดยรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงพระศพ เวลา 17.30 น. ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศไม้สิบสองบรรจุพระศพพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติด้วย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 พ.ย. 09, 11:44
กล่าวตรงขุนช้างแต่งตัวเมื่อจะไปเป็นเพื่อนบ่าวพลายแก้ว  ในเสภาว่า "คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้า  ยกทองของพระยาละครให้"  ตรงนี้เป็นสำคัญว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒  ด้วยพระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลนั้น  รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล

ตรงนี้ต้องอธิบายนิดหนึ่งว่า พระยาละคร ในที่นี้ หมายถึง ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  สมัยก่อนคนทั่วไปมักเรียกเมืองนครศรีธรรมราชกันสั้นๆ ว่า เมืองนคร หรือเมืองละคอน ซึ่งเป็นภาษาปากที่พูดเพี้ยนไปจากว่า นคร นั่นเอง  เมืองนครศรีธรรมราชมีศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้ายกมาแต่โบราณ  นัยว่าจะได้ทอผ้ายกนี้ส่งมาเป็นเครื่องบรรณาการที่กรุงเทพฯ ด้วยในสมัยก่อน  ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ เสด็จลงไปทรงจัดการปกครองที่หัวเมืองนครศรีธรรมราชใหม่ โดยทรงชำระตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ด้วย ด้วยเหตุว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนเดิมนั้นเพิ่งถึงแก่พิราลัย  และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ นั้นมีพระมารดาเป็นธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชด้วย

ส่วนที่ว่า พระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น  รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล ขอเวลาไปตรวจเอกสารก่อนครับ  ตอนนี้ไม่มีข้อมูล :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 พ.ย. 09, 09:13
เล่าเสภาพลายยงอาสาไปรบที่เมืองจีนต่อครับ

พลายยงเอาตัวงวนบุนเจ๋งไปสอบสวนเอาเหตุที่งวนบุนเจ๋งยกทัพมาล้อมเมืองตังจิ๋ว  งวนบุนเจ๋งให้การว่า ที่ยกทัพมาล้อมเมืองตังจิ๋วไม่ได้หมายมุ่งเอาทรัพย์สมบัติ แต่ด้วยความแค้นเคืองที่ตนเองเป็นลูกขุนนางผู้ใหญ่  เจ้าจอจิหลังเจ้าเมืองตังจิ๋วกลับไม่เคารพนับถือตน  จึงได้ยกทัพหมายจะมาฆ่าจอจิหลังเท่านั้น มิได้คิดจะก่อกบฏต่อพระเจ้ากรุงปักกิ่งและกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด  ฝ่ายจอจิหลังได้ฟังคำให้การของงวนบุนเจ๋งดังนั้นก็พูดขึ้นว่า ให้งวนบุนเจ๋งเลือกเอาว่าเจ้าจะอยู่ร่วมแผ่นดินกันหรือจะให้ส่งตัวไปฆ่าที่เมืองไทย
งวนบุนเจ๋งตอบว่า ให้ส่งตนเองไปฆ่าที่เมืองไทยไม่ของ้อจอจิหลัง จอจิหลังได้ฟังก็โกรธสั่งให้ตำรวจในเฆี่ยนงวนบุนเจ๋งด้วยหวาย  งวนบุนเจ๋งถูกเฆี่ยนแต่ก็ไม่ร้องกลับกัดฟันตาเขียวร้องด่าจอจิหลังไปว่า ลำพังตัวจอจิหลังไหนเลยจะได้ตัวตนเองมา นี่เพราะไปขอพวกไทยมาช่วยรบสู้ต่างหาก มิฉะนั้นคงได้จิกหางหนูจอจิหลังลากถูในฐานะเชลยศึก

จอจิหลังได้ฟังก็สั่งให้เอางวนบุนเจ๋งไปจำใส่ใต้ดาดฟ้าสำเภา  แล้วสั่งให้จัดสำเภาขนข้าวของให้พลายยงสารพัดเป็นเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา   และยังได้ลูกสาว คือนางเวสิว ให้เป็นเมียพลายยงด้วย  เจ้าพนักงานจีนก็รีบไปจัดสิ่งของลงสำเภาทันที

จอจิหลังมาแจ้งแก่ภรรยาเรื่องที่ส่งนางเวสิวลูกสาวตนไปเป็นคู่ครองพลายยง  นางสีจุหลีงิวได้ฟังจอจิหลังแจ้งดังนั้นก็มาพูดกับลูกสาวด้วยความอาลัยไม่อยากให้ลูกสาวไปกับพลายยง นางคร่ำครวญต่างๆนานา  ส่วนนางเวสิวก็ว่า ตนเองนั้นยังเด็กไม่รู้ประสีประสา อายุเพิ่งได้สิบสี่ปี ธรรมเนียมการกินนอนอันใดก็ยังไม่เข้าใจ ลุกจะขอผัดผ่อนเลื่อนการเดินทางไปเป้นฤดูมรสุมหน้าเพื่อเรียนรู้ธรรมเนียมให้พร้อมเสียก่อน

นางสีจุหลีงิวว่า

...ลูกเอ๋ยมิเคยจำเคยนา       เจ้าจะว่าไปไยกับกินนอน
ถ้าได้ประสบพบพลายยง   จะหลงไปด้วยรสสโมสร
แล้วจะลืมบิดาแลมารดร    กินนอนใครบ่ห่อนจะสอนกัน
คงรู้ในการประเวณี           อันสิ่งนี้โบราณท่านสาปสรร
ย่อมรู้ทั่วเป็นผัวเป็นเมียกัน แต่อนันตชาติสืบสืบมา
เจ้าพลายยงฤทธิเรืองกู้เมืองไว้  จับงวนบุนเจ๋งได้ไม่เข่นฆ่า
ไปแทนคุณชาวไทยในอยุธยา    ว่าแล้วจัดแจงแต่งลุกพลัน...

ว่าแล้วก้แต่งตัวให้นางเวสิว จากนั้นพานางเวสิวมาขึ้นเกี้ยวหามไปส่งพลายยงที่สำเภาที่จอดรออยู่  พอได้เวลาก็ถอนสมอชักใบสำเภาออกเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา  เมื่ออกเดินทางนางเวสิวและข้ารับใช้ของนางก็ร้องไห้อาลัยอยู่อื้ออึง  พลายยงก็ไม่รู้จะปลอบดยนประการใด แต่ก็คิดว่า

"อันเวสิวเขาให้มาเป็นคู่    จะสมสู่ร่วมรักหาควรไม่
ถ้าถวายเจ้าฟ้าพาราไทย    จะได้เกียรติยศปรากฏจริง"

สำเภาใช้เวลาเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา ๑ เดือน (เอ! ตอนไปบอกว่าเดินทางไป ๑๕ วัน แต่ขากลับทำไมเดินทางนานเป็นเท่าตัว) เมื่อมาถึงพลายยงก็รีบเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อกราบบังคมทูลราชการทัพที่เมืองตังจิ๋วและทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องบรรณาการและถวายนางเวสิวเป็นข้าบริจาริกา

แต่สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งว่า

"กูไม่ต้องการลูกหลานเจ๊ก      เป็นเมืองเล็กน้อยนักหาควรไม่
เอ็งไปได้ยากลำบากใจ          ก็ยกให้เลี้ยงอยู่เป็นคู่ครอง"

แล้วก็มีพระราชดำรัสสรรเสริญพลายยงว่าเก่งกล้าหาญไม่มีใครเทียม แล้วพระราชทานเครื่องยศแต่งตั้งให้เป็นที่เจ้าเชียงอินทร์(เจ้าเมืองเชียงใหม่) ทรงพระนามว่า พระเจ้าสมมติวงศ์ ขึ้นไปปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเจ้าประเทศราช

พลายยงกราบถวายบังคมลาออกมาจากที่ แล้วก็ให้บ่าวไพร่ช่วยกันขนของไปที่วังแขกเมือง เมื่อถึงวังแขกเมือง พลายยงก็เล่าเรื่องที่ไปรบที่เมืองตังจิ๋วให้นางสร้อยฟ้ามารดาฟัง พร้อมกันนั้นพลายยงก็แนะนำให้นางสร้อยฟ้ารู้จักกับนางเวสิวที่เจ้าเมืองตังจิ๋วมอบให้เป็นเมียมา

นางสร้อยฟ้าก้รับขวัญพลายยงและนางเวสิวลูกสะใภ้ว่า

"เป็นบุญเจ้าทั้งสองเคยครองกัน    อย่าโศกศัลย์เสียใจเลยลูกยา
เจ้าไร้ยาติขาดมิตรมาเมืองนี้   ชนนีจะรักให้นักหนา
อุตส่าห์รักษาตัวกลัวนินทา    สิ่งใดชั่วช้าอย่าได้ทำ
ตัวแม่นี้ก็แก่เกือบชรา       เหมือนหนึ่งเข้าป่าเมื่อจวนค่ำ
เงินทองมีเท่าไรมิได้อำ    ก็นึกคร่ำว่าจะปลูกให้ลูกยา
แม้นตายหมายฝากซึ่งซากผี     เมื่อโรคมีเจ็บไข้ได้รักษา
จงอยู่กินด้วยกันอย่าฉันทา       ว่าแล้วลุกมานั่งหอกลาง"

จากนั้นนางสร้อยฟ้าก็สั่งให้บ่าวไพร่ช่วยกันจัดห้องหับให้นางเวสิว

เอาเท่านี้ก่อน.



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 09, 13:09
แค่เกร็ดเล็กๆ มาแทรกค่ะ
ในฉบับหอพระสมุด  ระบุชื่อพลายยงว่า

เจ้าเชียงใหม่ให้นามแก่นัดดา                  ให้ชื่อว่าพลายยงพงศ์นพรัฐ

คำว่า พงศ์นพรัฐ หมายถึงเชื้อสาย "นวรัฐ"     น่าจะมีที่มาจากพระนาม เจ้าแก้วนวรัฐ   เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่    ซึ่งขึ้นครองราชย์ ในพ.ศ. ๒๔๕๔ 
กวีไม่ยักบอกว่าเป็นเชื้อสาย ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) ซึ่งเป็นราชวงศ์ล้านนาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์
และไม่ระบุว่าเป็นเชื้อสาย พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระบิดาของเจ้าแก้วนวรัฐ  และไม่ใช่ เจ้าราชวงศ์มหาพรหมคำคง ณ เชียงใหม่ พระอัยกา

ถ้ากวีเรียกพลายยงว่า เป็นเชื้อสาย "เจ้าแก้วนวรัฐ" ก็ขอเดาว่าตอนนี้ แต่งขึ้นหลังจากเจ้าแก้วนวรัฐครองเชียงใหม่แล้ว คือหลังพ.ศ. ๒๔๕๔   คือแต่งสมัยรัชกาลที่ ๖

แค่เสนอความคิดเห็นค่ะ   เชิญค้านได้ตามสบาย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 พ.ย. 09, 14:45
เอ    ก่อน พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งเป็นปีที่เจ้าแก้วนวรัฐได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่  ก็มีพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ พระองค์หนึ่ง  ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกษร อันเป็นธิดาเชื้อสายเจ้าเมืองเหนือเชื้อราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เชื้อเจ้าเจ็ดตน)  พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นมีพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ  ประสูติเมื่อ ปี ๒๔๒๗  ก็พระนาม "ดิลกนพรัฐ" นี้ ก็ตรงกับคำกลอนในเสภายิ่งกว่านามเจ้าแก้วนวรัฐ  และเป็นที่รู้จักมาก่อนปี ๒๔๕๔ แล้ว   แต่นั่นก้ไม่ได้ความว่า คำว่า นพรัฐเพิ่งมารู้จักในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ เพราะคำว่า นพรัฐ หรือ นวรัฐ เป็นชื่อภาษาบาลีที่ปรากฏเป็นที่รู้จักกันมาแต่หน้านั้นแล้ว



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 09, 14:48
ถ้าอย่างนั้น คำว่า นพรัฐ หรือนวรัฐ เป็นการเรียกแคว้นล้านนา มาแต่โบราณหรือคะ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 09, 14:59
ถ้า นวรัฐ มาจาก นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ละก้อ ก็สามารถย้อนหลังไปได้ถึง พ.ศ. ๑๘๓๙ เมื่อครั้งที่พญามังรายทรงสร้างเมืองนี้ (จากหลักฐานศิลาจารึกวัดเชียงมั่น ระบุวันเวลาที่เริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่อย่างละเอียดว่า ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๑๘๓๙ เวลาประมาณ ๐๔.๔๕ น.)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 พ.ย. 09, 15:32
เล่าเสภาพลายยงต่อ ใกล้จบแล้วครับ

พอตกค่ำ พลายยงตั้งใจจะไปเข้าห้องนางเวสิวจึงเดินไปเคาะประตูห้องนางเวสิวร้องเรียกให้เปิดประตู นางเวสิวรู้ว่าพลายยงมาเคาะประตูก็แกล้งทำเป็นหลับ แล้วสั่งให้บ่าวชื่ออีมีไปเปิดประตูให้พลายยงเข้ามา  พลายยงเห็นางเวสิวนอนหลับก็แอบลักจูบลูบชมนาง  ในกลอนก็ว่ารูปร่างอะไรก็ดีหมด เว้น "เสียแต่ที่ตีนเล็กเป็นเจ๊กไป" (แสดงว่าในสมัยที่แต่งเสภานี้ ผู้หญิงจีนยังนิยมรัดเท้าให้เล็กอยู่กระมัง) แล้วพลายยงก็ปลุกนางเวสิวขึ้นว่า เพิ่งจะค่ำจะรีบนอนไปไหน นางเวสิวก็แกล้งนอนหลับอยู่หมายจะดูท่าทีพลายยงต่อไป ปรากฏว่าพลายยงก็รู้ว่นางแกล้งหลับก็เลยกอดนางลูบดลมจนนางทนไม่ได้ต้องตื่น แล้วพลายยงก็ตัดพ้อว่านางเวสิวคงโกรธเคืองพลายยง

นางเวสิวลุกขึ้นเลื่อนลงมานั่งข้างที่พื้นห้อง แล้วว่า พลายยงกล้าดีอย่างไรมาทำหักหาญ ตนไม่ใช่ลูกเมียหรือชู้จึงมาทำเช่นนี้  เดิมพ่อแม่ของนางให้นางมากับพลายยงก็เพราะตั้งใจให้มาเป็นข้าแทนคุณที่ไปช่วยรบกู้เมือง   แต่จะให้เป็นเมียนั้นคงจะรับไว้มิได้  เพราะนางเป็นคนวาสนาน้อย  แล้วก็บอกให้พลายยงออกจากห้องไป

พลายยงก็ดต้ตอบกับนางว่า  พ่อแม่ของนางเวสิวมอบนางมาให้หมายเป็นคู่ครองกับพลายยง แต่นางมากล่าวว่าจะเป็นข้ารับใช้นั้นผิดไป  ช่างใจน้อยเสียนี่กระไร  แล้วว่า

"มาตามทางนั้นเป้นกลางพระสมุทร     คิดกลัวสุดเหลือที่จะไปหา
คำโบราณท่านห้ามตามตำรา     ว่ามิให้นิทรากับนารี
ถ้าผู้ใดไม่ฟังตามสั่งสอน         ขืนหลับนอนก็จะยับลงกับที่
คงอันตรายต่างต่างกลางนที       เพราะเช่นนี้จึงไม่ได้ไปหาน้อง"

(เอ  นี่เป็นข้ออ้างของพลายยงหรือเปล่านะ)

เวสิวได้ฟังก็ตอบไปว่า

"อันตัวของน้องนี้มิใช่ไทย      หรือจะมารักใคร่ไหลหลง
ทั้งไร้ญาติขาดตระกูลประยูรวงศ์  รูปทรงไม่สำอางเหมือนอย่างไทย
เป็นเจ๊กจีนทั้งไร้สินทั้งไร้ศักดิ์   ไม่ปราดเปรื่องเยื้องยักให้รักใคร่
การปรนนิบัติก็ขัดทุกตาไป      ธรรมเนียมนั้นฉันใดก็ไม่รู้
ซึ่งนายหมายจะเลี้ยงเป็นเมียนั้น   ตัวฉันก็ขอบพระคุณอยู่
ให้พรั่นจิตคิดกลัวไม่เอ็นดู       ฉวยว่าได้เมียชู้ที่เป็นไทย
ก็จะลืมเลยลิ่วเวสิวเสีย     หน่อยจะกลับยุเมียมาด่าให้
ครั้นถุ้งเถียงทะเลาะเกาะแกะไป    ผัวก็จะขัดใจเข้าตีรัน
สำหรับก็จะยับทุกตาไป      ลงเป็นข้าคนใช้ได้โศกศัลย์
ชาติหญิงไทยนี้ใจมันดุครัน     ด่าแล้วมันขุดโคตรให้ทุกที
จงเอาบุยการุฯฉันกราบไหว้    ยอมให้ใช้ต่างข้าเป็นทาสี
จะเป็นเมียนั้นไม่ได้ภัยคงมี   เชิญพ่อจรลีครรไลไปฯ"

พลายยงก็แก้ว่า  

ถึงจะหาเมียไทยได้สักร้อย   จะให้เจ้าเป็นน้อยนั้นอย่าว่า
พี่คงให้ถือน้ำตามสัญญา      ไปจนแก่ชราอย่าปรารมภ์
อยู่ร่วมเรือนเป็นเพื่อนด้วยแก้วพี่   สักร้อยปีก็มิได้ไกลสู่สม
จะสงวนไว้ในห้องประคองชม     อย่าเตรียมตรมตรองกริ่งให้ตรอมใจ

ว่าแล้วพลายยงก็จูงน้องนางเวสิวขึ้นมา  บทต่อไปก็คงทราบกันดีเลยคัดมาให้อ่านเป็นการทิ้งท้ายเสภาตอนนี้  

ทางจูงมือน้องย่องขึ้นเตียง  ประคองเคียงลงกับหมอนที่นอนใหญ่
ค่อยขยับอกทับประทังไป     แล้วขวักไขว่ก่ายกอดพัลวัน
ประคองเคล้นเต้าเต่งเคร่งกำดัด    พึ่งรุ่นคัดเป็นไตให้ใฝ่ฝัน
นางพลิกแพลงแว้งวัดคอยปัดกัน   อย่าบีบคั้นเจ็บนักหม่อมจะตรอมตาย
เจ้าพลายน้อยค่อยว่าเป็นยาทิพย์    แล้วค่อยหยิบแย้มผ้าอ้าขยาย
กรกะหวัดรัดรึงอยู่ตึงกาย       นางโฉมฉายหลับตาไม่พาที

อัศจรรย์หวั่นไหวให้ลือลั่น     เหมือนช้างคันงาแรงแทงคนขี่
เลือดไหลออกช้างก็ล้มสิ้นสมประดี   ทั้งสองศรีสุขเกษมค่อยเปรมใจ
ด้วยหนุ่มสาวคราวกำดัดซัดจนรุ่ง   พอพวยพุ่งแดดแข็งขึ้นแสงไข
เจ้าพลายยงเยื้องย่องจากห้องใน     มาสนทนาปราศรัยกับมารดาฯ


(ส่วนเรื่องนางสร้อยฟ้าให้พลายยงไปแก้แค้นฆ่านางศรีมาลานั้นก็ต่อจากนี้ไป  สนุกดีเหมือนกัน)

อ้อขอเพิ่มเติมนิดหนึ่ง ว่า งวนบุนเจ๋งที่พลายยงพาเอาตัวมาที่กรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิมิได้มีรับสั่งให้ประหารชีวิตหรือลงโทษทัณฑ์แต่อย่างใด  แต่ให้ "...จีนงวนบุนเจ๋งที่จับมา   ตั้งเป็นเจ้าพระยามีศักดิ์ศรี   ประทานเสลี่ยงคนใช้ได้มากมี ...."  อ่านดูก็แปลกดีเหมือนกัน  เอานักโทษเชลยสงครามบ้านเมืองอื่นมาตั้งเป็นเจ้าพระยาที่อีกเมืองหนึ่ง




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: girlblack ที่ 19 พ.ค. 12, 15:29
อยากทราบเรื่องนี้ตอนจบน่ะคะ ว่าจบยังไง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 21 พ.ค. 12, 19:45
เรื่องการมัดเท้าของสตรีจีนนี้เห็นว่าเริ่มทำตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง (宋:song) พึ่งมาเลิกกันจริงๆจังๆเมื่อครั้งพรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครองประเทศจีนใน ค.ศ. ๑๙๔๙ อย่างไรก็ตาม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบจักรพรรดิราชย์เป็นสาธารณรัฐเริ่มมีการต่อต้านการมัดเท้าเช่นนี้แล้ว แต่ก็ยังคงมีการมัดเท้ากันอย่างแพร่หลาย