เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 21:40



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 21:40
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมได้รับหนังสือเป็นกระดาษพิมพ์โรเนียว เย็บขอบจากคุณอาคนหนึ่งของผม อ่านแล้วก็เก็บไว้ เพราะไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจเท่าไหร่ ที่ดูเหมือนว่า บรรพบุรุษของผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่เป็นมงคลนักของวังหน้าองค์สุดท้ายของสยาม ในฐานะที่ท่านเป็นน้องชายร่วมชนกชนนีคนเดียวของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ประวัติศาสตร์ตอนนี้จะได้รับการชำระอย่างไรก็สุดแล้วแต่  และที่ถูกนักเขียนสารคดีนำไปใส่ไข่เติมสีให้ผู้อ่านตื่นเต้นเกินจริงก็มี เป็นเรื่องธรรมดา แม้ในความเป็นจริงแล้ว บุคคลในราชตระกูลที่สืบสายจากวังหน้าทั้งหลาย จะมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทยกลุ่มอื่นใดก็ตาม ทว่าในเรื่องนี้ เมื่อถูกเขากล่าวหาว่าเป็นพวกก่อกวนความสงบ ก็คงต้องก้มหน้าอ้าปากไม่ออก

ขณะนี้กระทู้ “เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย” กำลังออกรสอยู่ในวิกข้างๆ ผมจำเป็นต้องเอาหนังสือของคุณอาออกมาปัดฝุ่น เรื่องหนึ่งในนั้นเป็นนิพนธ์ของพระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ในรูปแบบของนิราศ ที่มิได้ทรงให้ชื่อว่านิราศอะไร คุณเอนก นาวิกมูลเคยคัดเอานิราศบทนี้ไปจากหนังสืองานศพบุคคลในราชสกุลนวรัตนท่านหนึ่งไปพิมพ์ แล้วตั้งชื่อเอาเองว่านิราศวิกฤตวังหน้า ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าชื่อดังกล่าวไม่ค่อยจะเป็นนิราศนัก ขอตั้งชื่อใหม่ส่งเข้าประกวดมั่งตามสิทธิ์ ว่า “นิราศกรมหมื่นสถิตย์ ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า”  ก็แล้วกัน

นิราศกรมหมื่นสถิตย์ เป็นเรื่องที่ท่านผู้นิพนธ์ ทรงประสงค์จะเล่าให้ลูกหลานได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในครั้งนั้น ท่านผู้อ่านจะถือว่าเป็นคำชี้แจง หรือคำแก้ตัวก็ได้ ผมปรารถนาจะให้ท่านอ่านควบคู่กันไปกับกระทู้ในวิกข้างๆ แบบเฉลี่ยข้อมูลกัน ส่วนท่านที่เขียนอยู่ทางโน้น จะเข้ามาเขียนทางนี้ หรือเอาเรื่องทางนี้ไปเขียนทางโน้น ก็ไม่ผิดกติกาอันใด ขอเชิญตามอัธยาศัยครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 21:43
ผมต้องขออภัยที่มิได้คัดลอกมาด้วยการพิมพ์เอาใหม่ แต่ใช้วิธีสแกนจากหนังสือ และหนังสือของคุณอาก็เก่าคร่ำคร่า ตัวอักษรไม่สวยเท่าหนังสือที่คุณเอนก นาวิกมูลนำเรื่องนี้ไปพิมพ์ไว้  ก็ขออนุญาต ณ ที่นี้ที่จะใช้เป็นต้นฉบับ เอามาถ่ายทอดลงในกระทู้นี้อีกทีหนึ่ง
 
อนึ่ง ผมได้ถือวิสาสะ ที่จะแก้บางถ้อยคำ บางตอน ที่ผมเชื่อว่ามีการคัดลอกมาผิดๆ ตั้งแต่เดิม เพราะไม่ได้สัมผัสตามฉันทลักษณ์ หากว่าสิ่งที่ผมทำลงไปนี้ทำให้นิราศกรมหมื่นสถิตย์ด้อยค่าลง ก็กราบขอขมาท่านผู้นิพนธ์และขออภัยต่อท่านผู้อ่านด้วย


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 21:44
เริ่มเรื่อง


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 21:52
อ่านตอนนี้ก็ดูเหมือนว่า เมื่อเกิดไฟไหม้ในพระบรมมหาราชวังขึ้นแล้ว ทางวังหลวงจะเป็นผู้เริ่มระดมพล และเริ่มเข้ามา”แมวมอง”ทางวังหน้า ในขณะที่ทางกระทู้โน้น มีเอกสารระบุว่า ทางวังหน้าเป็นฝ่ายเริ่มขึ้นก่อน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 22:06
ความตอนนี้มีนัยสำคัญว่า กรมพระราชวังบวรนั้น กำลังประชวรด้วยโรคเก้าท์ นอนโอดโอยต้องประคบต้องนวดอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนเกิดเมื่อเกิดอัคคีภัย เรื่องนี้หมอฝรั่งในบางกอกตอนนั้นรู้ดี สังคมชาวตะวันตกจึงไม่เชื่อว่า วังหน้า ที่เกือบจะพิกลพิการด้วยโรคเกาท์กำเริบ จะคิดก่อการกบฏ และเริ่มD-dayด้วยการวินาศกรรมโรงไฟฟ้าของวังหลวง ในขณะที่ตนจะไปไหนมาไหน ยังต้องใช้คนพยุงคนหามเช่นนั้น

ส่วนพระองค์เจ้าเนาวรัตน์เล่า เป็นที่ทราบกันว่าท่านเป็นฝ่ายบุ๋น และท่านเองก็บอกว่า ท่านนอนป่วยอยู่ ไม่ทราบว่าเป็นอะไร อาจแค่ปวดหัวตัวร้อนธรรมดา แต่การที่ไม่ได้เป็นทหาร จึงไม่มีพิษสงทางการเมืองกับใครทั้งสิ้น


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 22:36
คือเมื่อได้รับข่าวมาว่า พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเอาโทษพระองค์เรื่องอัคคีภัย ก็คิดเสด็จหนีไม่ได้คิดสู้ โดยทรงพาเอาพระชนนี และพระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์ พระขนิษฐาร่วมพระชนกชนนีไปพึ่งกงศุลอังกฤษด้วย

ขณะที่เกิดเรื่องนี้ นายน๊อกซ์(มิศหนอก) กงศุลตัวจริงก็มิได้อยู่ แต่กลับไปราชการที่เมืองเกิด หากนายน๊อกซ์รู้เห็นเป็นใจด้วยในแผนการณ์ ตามที่มีผู้ตั้งข้อกล่าวหา  มีหรือที่จะทิ้งเรื่องสำคัญ คอขาดบาดตายเช่นนี้ไว้กับผู้ช่วยหนุ่มที่ชื่อนายนอร์แมน(มิศนุแมน)

การที่วังหน้าท่านหนีตายไปพึ่งอังกฤษนั้น  เพราะท่านทรงมีความรู้ว่าเรื่องอย่างนี้ ฝรั่งเขามีความเป็นอารยะที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง และเหตุที่มิได้ทรงมุ่งไปที่สถานกงสุลชาติอื่น เพราะนายน๊อกซ์เป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของพระราชบิดาของพระองค์ มีความมักคุ้นกันอยู่แล้วก่อนที่จะได้ดิบได้ดี รัฐบาลอังกฤษแต่งตั้งให้เป็นถึงกงศุลในสยาม ส่วนที่กล่าวว่า นายน๊อกซ์มีมักใหญ่ใฝ่สูง พยายามยัดเยียดลูกสาวของตนให้ เพื่อหวังว่าวันหนึ่งวังหน้าจะได้เป็นกษัตริย์นั้น ….ก็ว่ากันไป

ส่วนผู้ติดตามทั้งหกที่ตามเสด็จ แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี(ความจริงคือกึ่งอุ้มกึ่งหามกรมพระราชวังบวรฯ ลงเรือวิ่งไปสถานกงศุล) ก็ถือเสมือนว่าไปตายเอาดาบหน้าเหมือนกัน เพราะหากถูกจับภายหลัง ก็คงไม่พ้นพระราชทัณฑ์ คนคณะนี้ ถ้ามีแผนการใหญ่จะกบฏก็ไม่น่าจะรีบหนีอย่างทุลักทุเลเช่นนี้ ถ้าจริงตามที่ถูกกล่าวหาถึงขนาดเป็นฝ่ายลงมือก่อน เท่ากับชักดาบออกจากฝักแล้ว ไฉนไม่ประดาบดูสักครั้งให้รู้กันไป


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 23:11
ทรงมีรับสั่งให้เรือกลับไปรับพระองค์เจ้าเนาวรัตน์ ท่านมิได้ประทับอยู่ในวังหน้า แต่อยู่ที่ตำหนักริมถนนพระอาทิตย์ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบัน ASTV เช่ากับทายาทราชสกุลปราโมชใช้เป็นที่ทำการอยู่

เสียงเรือปลุกให้ท่านตื่นบรรทม และรีบลงเรือมาแต่ตัวพระองค์เดียว เพื่อสมทบกับแม่และพี่น้องที่สถานกงศุลอังกฤษ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 23:17
ผมอ่านไม่เห็นอย่างอื่น นอกจากความทุกข์


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 23:35
ระหว่างนั้นก็มีการเจรจา และการปรึกษาหารือควบคู่กันไป กงศุลของชาติต่างๆได้รับเชิญมา เพื่อให้รับฟังว่า นายนิวแมน(เด็กเมื่อวานซืน)กระทำการเกินเหตุ ให้ความคุ้มครองเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของสยามและดึงรัฐบาลอังกฤษมาแทรกแซงกิจการภายใน แต่เรื่องนี้ กงศุลอเมริกันชี้แจงว่า กงศุลมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาการควรมิควรในเรื่องดังกล่าว


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 11, 23:41
รายละเอียด การเสนอเงื่อนไขประนีประนอม และเบื้องหน้าเบื้องหลังของความบาดหมาง ผมจะละเว้นที่จะกล่าวถึงก่อน โดยขอlinkให้ท่านเข้าไปอ่านเอาเองจากกระทู้นี้

http://www.monnut.com/board/index.php?topic=1725.0


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 00:06
นานวันเข้าก็มีผู้คนมาสมทบ มาเยี่ยม มาถือหางให้กำลังใจมากขึ้น

พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ท่านอดที่จะค่อนขอดพฤติกรรมของคนไทยด้วยกันในเรื่องความสกปรกมักง่ายไม่ได้ เรื่องบ้วนน้ำหมากใส่บ้านเขาก็อย่างหนึ่ง คนสมัยนี้คงนึกภาพไม่ออก ผมยังพอทันเห็นคนที่นึกอยากจะบ้วนน้ำหมากสีแดง ปริ๊ดไปบนถนน หรือผนังตึกในที่สาธารณะเมื่อใดก็ได้ นึกถึงเรื่องนี้แล้วขนลุก

ส่วนเจ้านายก็เฝ้าคอยคนของรัฐบาลอังกฤษ ที่จะเข้ามาเป็นหลักค้ำประกันความปลอดภัยหลังข้อตกลง


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 00:09
อ้อ นารีแปลก ท่านทรงหมายถึงแหม่มน่ะครับ

นารีแปลกทั้งสองศรี คือแหม่มสองคน ที่เป็นแม่บ้านผู้ให้การรับรองการมาพำนักของอาคันตุกะสำคัญคณะนี้


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 00:24
ยิ่งนานวันเข้า เจ้ากรมข่าวลือทั้งหลายก็เริ่มสนุกปาก ยิ่งสร้างความสับสนและหวาดผวา คงมีคนเขียนหนังสือมาด่าว่าแบบไม่ลงชื่อด้วย สิ่งเหล่านี้ใครโดนเข้าก็คงจิตตก

อังกฤษนั้นส่งเรือรบล่วงหน้ามาก่อน นายนิวแมนอาจขอร้องไปให้ส่งมาคุ้มกันสถานกงศุล ก่อนที่รัฐบาลอังกฤษจะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับกรณีย์พิพาทภายในของสยามนี้


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 00:30
ท่อนนี้ยาวหน่อยนะครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 00:52
เหตุการณ์นี้แม้จะตึงเครียด แต่ก็ไม่มีอะไรรุนแรง กินเวลาไปประมาณ๕๐วัน สิงคโปรก็ได้คำตอบชัดเจนจากลอนดอน ผู้สำเร็จราชการได้เดินทางมาถึงกรุงเทพ และพระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี การเข้าเฝ้าเจรจาดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยอังกฤษก็มิได้แทรกแซงยื่นข้อเสนอที่น่ารังเกียจแก่สยาม ในการแก้ปัญหาภายในของสยามเอง พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงมีพระราชดำรัสรับรองความปลอดภัยของกรมพระราชวังบวรฯ ให้อังกฤษเบาใจว่าจะไม่มีสงครามกลางเมืองระหว่างกันให้เดือดร้อนการทำมาหากินของคนอังกฤษ เรื่องก็จบลงด้วยดี


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 00:58
กรมพระราชวังบวรฯนั้น พอทางอังกฤษทูลว่าไม่มีอะไรแล้ว ท่านก็รีบเสด็จกลับวังทันที คงจะทรงเป็นห่วงมาก


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 01:13
รับสั่งให้เรือกลับมารับพระชนนีและพระขนิษฐา


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 01:16
คำปรารภขององค์ผู้นิพนธ์


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 01:18
ท่อนจบ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 07:37
ขอบคุณครับ อ.NAVARAT.C ที่นำมาให้อ่านได้รับทราบถึงนิราศฉบับนี้ ซึ่งเป็นมุมมองทางฝั่งของวังหน้า ซึ่งผมได้อ่านและดูในเอกสารจากทางวังหลวง ทราบดีว่าฝ่ายวังหน้านั้นมิได้มีการกระทำอย่างที่เล่าลือกัน

ซึ่งดูจากเอกสารต่างๆที่ตอบโต้กันของวังหลวงนั้นจะมีมากกว่าทางวังหน้า ผู้คนต่างๆจึงเอนไปทางนี้เสียมากกว่า แต่วิเคราะห์ดูแล้วเกิดจาก

๑. ความไม่เข้าใจกันในการได้เจรจา พูดคุยด้วยประการหนึ่ง
๒. เกิดการพบบัตรสนเท่ห์ จุดนี้เองธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้เกิดความระแวง ทำให้เหตุแห่งข้อ ๑. หยุดชงักลง
๓. เมื่อฝ่ายหนึ่งระวังตัว เพิ่มกำลังกองทหารขึ้น อีกฝ่ายก็สอดแนมตาม แล้วไปรายงาน ทำให้เกิดความสงสัยได้หลายประการ ซึ่งล้วนจากมิได้พูดคุยอธิบายกัน
๔. ดังเห็นได้ชัดว่า เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น มีการอ้างถึงแต่ละฝ่ายไม่ตรงกัน
         ๔.๑ ฝ่ายวังหลวงระบุว่า วังหน้าถืออาวุธครบมือเข้ามา (ทั้งที่เจตนาจะมาช่วยดับไฟ) แต่ทางวังหลวงไม่ยอมให้เข้า (เลยกลายเป็นเรื่องคิดร้ายผุดเข้ามา และต่อด้วยข้อหาความผิดไม่ช่วยดับไฟ ซึ่งตรงกับคำกลอนในนิราศฯ)
๕. การที่วังหน้านั้นกระทำการไปอาศัยกงสุลอังกฤษนั้น ฝ่ายวังหลวงก็มีมุมมองอย่างหนึ่ง ฝ่ายวังหน้าก็มีมุมมองอีกอย่างหนึ่ง (ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันอย่างมาก)


ทั้งนี้เองจากหนังสือต่างๆที่เป็นพระราชหัตถเลขาถึงกรมพระราชวังบวรฯ ก็แสดงเจตนาว่ามิได้มีการบาดหมางกันมาก่อน มิเคยคิดร้ายต่อกัน ผมเชื่อได้ว่าเหตุการณ์ก่อนเพลิงไหม้ในวังหลวงนั้น จะต้องมีกลุ่มบุคคลที่คอยยุยงให้ทั้งสองฝ่ายแตกหักกัน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 07:47
อ้างถึงลิงค์ http://www.monnut.com/board/index.php?topic=1725.0

ข้อความตรงนี้น่าสนใจมากครับ

"หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ได้เขียนลงในคอลัมน์ตอบปัญหาประจำวันในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันเอาไว้เมื่อวันที่  ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒  โดยกล่าวถึงหม่อมเจ้าฉวีวาดผู้มีศักดิ์เป็นป้าของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช ว่า  หม่อมเจ้าฉวีวาด ได้สมรสกับ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ผู้เป็นอนุชาของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  จึงได้ไปฝักใฝ่อยู่ทางวังหน้า  และโดยเหตุที่หม่อมเจ้าฉวีวาดเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูงและขาดสติสัมปชัญญะ  จึงคิดที่จะยกย่องกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญให้ขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน  โดยคิดกำจัดหรือลดพระราชอำนาจพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงไป  ในการนี้หม่อมเจ้าฉวีวาดได้คบคิดกับกงสุลใหญ่ของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่ง  ซึ่งฝักใฝ่อยู่ข้างวังหน้าและมีนโยบายจะเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น  หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากกงสุลผู้นั้น  คิดแผนการร้ายขึ้นร่วมกับบุคคลอื่นๆอีกหลายคน  รอบจุดไฟเผาพระราชวังบริเวณใกล้กับตึกที่เก็บดินดำ  ประสงค์จะให้ดินดำนั้นระเบิดขึ้น  เมื่อกระทำการไม่สำเร็จ  หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงหลบลี้หนีราชภัยไปอยู่เมืองเขมร   เป็นเหตุให้พระองค์เจ้าคำรบ พระบิดาของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ต้องตกระกำลำบาก  เพราะมารดาซึ่งชราภาพแล้วถูกริบราชบาตร  หากไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ  รัชกาลที่ ๕ ทรงชุบเลี้ยงไว้ ก็คงไม่อาจจะเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ยืนยันว่า  เรื่องราวทั้งหมดนี้มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี  (หม่อมราชวงศ์ ปุ้ม  มาลากุล )   ที่ได้รับมาจากกรมหมื่น ปราบปรปักษ์ผู้เป็นพระบิดาอีกต่อหนึ่ง"


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 08:50
ขอบคุณคุณหนุ่มสยามที่เข้ามาเยี่ยมแต่เช้า

ผมมีความคิดเดียวกันว่า วิกฤตวังหน้าครั้งนั้น เป็นฝีมือของพวกอยู่ไม่สุข บ้านเมืองดีๆอยู่เป็นไม่ได้ ต้องสอพลอ ยุแยงตะแคงรั่วเจ้านายของตนให้มีเรื่องกับคนอื่น เพื่อจะเปิดช่องให้ตัวเองได้ประโยชน์ คนประเภทนี้ทุกวันนี้ได้กลายพันธุ์ไปบ้าง แต่ยังมีสันดานเหมือนเดิม การบ้านการเมืองไทยจึงไม่เคยอยู่นิ่งตามธรรมชาติของมัน

ส่วนข้อเขียนของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผมขออนุญาตที่จะไม่เชื่อเรื่องที่ท่านเล่าไว้ข้างบน โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าอัคคีภัยที่เกิดขึ้นที่โรงแกส เป็นอุบัติเหตุตามธรรมชาติของกระบวนการผลิตแกสชนิดนี้ การขาดการบำรุงรักษาหลังการใช้งาน บวกกับความหย่อนวินัยของคนทำงาน เป็นที่มาของการรั่วไหลของแกส แล้วติดไฟขึ้นจนระเบิด เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ผู้รับผิดชอบโดยตรงก็พยายามหาแพะมารับบาปที่ตนบกพร่องในหน้าที่ เพ็ดทูลใส่ร้ายคนอื่นให้ตนพ้นผิด

ที่ว่าหม่อมเจ้าฉวีวาด(ผู้หญิงนะเนี่ย)สมคบกับกงสุลใหญ่ประเทศมหาอำนาจ ลอบจุดไฟหวังวินาศกรรมวังหลวง ถึงไม่เอ่ยตรงๆก็เข้าใจได้ว่า กงสุลผู้นั้นคือนายน๊อกซ์ ท่านผู้เล่าคงแกล้งลืมว่าขณะที่เกิดเหตุโรงแกสระเบิดนั้น ตัวนายน๊อกซ์อยู่ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ยิ่งหากจะนิยามว่า เป็นผู้มักจะขาดสติสัมปัชชัญญะด้วยแล้ว ถ้าโรงแกสหลวงยังดีๆอยู่ ยิ่งไม่มีทางจะเล็ดลอดเข้าไปสุมไฟให้ถังแกสระเบิดได้เลย เหลือเชื่อครับ

ส่วนที่ว่าหม่อมเจ้าหญิงองค์นี้ ทรงหนีราชภัยไปอยู่เขมรนั้น ผมไม่มีความเห็น จะไปจริงหรือไม่ ไปด้วยสาเหตุอะไร ไม่ทราบ ไม่ขอติดตาม ถ้าเรื่องเหล่านี้มีมูล ทำไมพวกผู้ก่อการกบฏ เมื่อคิดว่าตนจะต้องลี้ภัย ทำไมไม่ไปรวมกันที่กงศุลอังกฤษ ที่ตอนนั้นเปิดให้คนเข้านอกออกในได้ตามสะดวก


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 09:08
ส่วนข้อเขียนของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผมขออนุญาตที่จะไม่เชื่อเรื่องที่ท่านเล่าไว้ข้างบน โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าอัคคีภัยที่เกิดขึ้นที่โรงแกส เป็นอุบัติเหตุตามธรรมชาติของกระบวนการผลิตแกสชนิดนี้ การขาดการบำรุงรักษาหลังการใช้งาน บวกกับความหย่อนวินัยของคนทำงาน เป็นที่มาของการรั่วไหลของแกส แล้วติดไฟขึ้นจนระเบิด เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ผู้รับผิดชอบโดยตรงก็พยายามหาแพะมารับบาปที่ตนบกพร่องในหน้าที่ เพ็ดทูลใส่ร้ายคนอื่นให้ตนพ้นผิด


ในเบื้องต้นเมื่อผมทำภาพกราฟฟิค กลุ่มควันลอยขึ้นจากโรงหุงลมประทีปนั้น ผมก็นึกก๊าซอะเซทิลีน ซึ่งเกิดจากการหยดน้ำลงไปยังก้อนแคลเซียมคาร์ไบน์ ทำให้เกิดกลุ่มก๊าซอะเซทิลีน (ซึ่งได้นำภาพตัวอย่างทางวิทยาศาตร์มาลงไว้ในกระทู้เจ้าชายยอร์ช วอชิงตันฯ) ทั้งนี้เองในความคิดแรกมองถึงปัญหาถึงการระเบิด ซึ่งถ้าก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์ อยู่ภายนอก มีน้ำหยด ก็จะฟุ้งกระจายไป แต่ไม่มีน้ำหยด เนื่องจากเกิดในเดือน ธันวาคม ไม่มีฝนตก ???

ดังนั้นก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์จึงต้องอยู่ในหม้อความดันพร้อมมีหยดน้ำ หยดตลอดเวลา จึงเกิดกลุ่มแก๊สอัดแน่นในหม้อความดันและไม่ได้ระบายออกทางท่อ จึงน่าจะเกิดระเบิดขึ้น (หาดูการระเบิดได้ในคลิปยูทิวป์)

สำหรับการวางเพลิงก็ไม่ควรตัดประเด็นออกไป ลองคิดเล่นๆว่า การวางเพลิงนั้นทำกันอย่างไร ใช้น้ำมันพร้อมไฟ หรือปล่อยหม้อให้ระเบิดตายตกไปตามกัน เมื่อจุดไฟแล้ว วิ่งหนี้ไปทางไหน มีใครเห็นตัว เข้ามาได้อย่างไร น่าคิดอีกเช่นกัน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 09:14
แถมอีกนิด

พระองค์เจ้าคำรบ(เดิมหม่อมเจ้า) ท่านบิดาของม.ร.ว. เสนีย์ และม.ร.ว. คึกฤทธิ์นั้น มิได้ตกระกำลำบากมั้ง ท่านได้รับพระราชทานวังของกรมหมื่นสถิตย์ หลังจากพระองค์เจ้าเนาวรัตน์สิ้นพระชนม์ แบบได้เป็นสิทธิ์ขาดมิได้ต้องคืนให้หลวง มีโฉนดสามารถตกทอดสู่ทายาทได้ด้วย จนถึงรุ่นหม่อมหลวงทุกวันนี้ได้ค่าเช่าเดือนละหลายแสนบาท (แต่เอ๊ะ..อาจได้มั่ง ไม่ได้มั่ง กระมั๊ง..ตอนนี้)


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 10:06
อ้างถึง
ดังนั้นก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์จึงต้องอยู่ในหม้อความดันพร้อมมีหยดน้ำ หยดตลอดเวลา จึงเกิดกลุ่มแก๊สอัดแน่นในหม้อความดันและไม่ได้ระบายออกทางท่อ จึงน่าจะเกิดระเบิดขึ้น (หาดูการระเบิดได้ในคลิปยูทิวป์)

สำหรับการวางเพลิงก็ไม่ควรตัดประเด็นออกไป ลองคิดเล่นๆว่า การวางเพลิงนั้นทำกันอย่างไร ใช้น้ำมันพร้อมไฟ หรือปล่อยหม้อให้ระเบิดตายตกไปตามกัน เมื่อจุดไฟแล้ว วิ่งหนี้ไปทางไหน มีใครเห็นตัว เข้ามาได้อย่างไร น่าคิดอีกเช่นกัน

ผมก็คิดเล่นๆเช่นกันว่า ระบบป้องกันโรงไฟฟ้า คงมีการทำตามแผนแบบ ทั้งการจัดเวรยามไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปในจุดอ่อนได้ และการออกแบบทางวิศวกรรมที่กำหนดความแข็งแรงของส่วนต่างๆ ตัวถังปฏิกริยาและถังเก็บนั้น แน่นอนว่าต้องแข็งแรงเป็นพิเศษ การระเบิดส่วนนี้น่าจะยากยิ่ง ที่ว่าจะเข้าไปวางเพลิงแบบเอาไฟไปสุม ยากครับยาก เรื่องถังแกสนั้น มีRPGยังยากเลย บุ่มบ่ามไป ทหารยิงกระเจิง

แต่จุดอ่อนที่แกสจะรั่วไหลง่ายกว่าก็คือ ท่อ โดยเฉพาะรอยต่อที่ต้องทนแรงดันเป็นพิเศษ พวกนี้ต้องหมั่นตรวจตรา เพื่อบำรุงรักษา และซ่อมแซมเป็นระยะ

เอาเป็นว่า ผมไม่เชื่อวินัยของคนไทยสมัยโน้น ในเรื่องที่ไม่ใช่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเรื่องนี้ คงไม่๑๐๐% ฝีมือช่างเชื่อมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซ่อมแล้ว จะเหมือนฝรั่งซ่อมหรือไม่ ผมสงสัย

พอแกสรั่ว ก็ง่ายที่จะจุดระเบิด ต้นเพลิงอาจมาจากที่ใดก็ได้ แม้กระทั่งจากก้นบุหรีของพวกอวดดี ไม่เชื่อป้ายเตือนห้ามสูบในที่ห้าม ทุกวันนี้ บางทีผมยังเคยเห็นคนบางคน สูบบุหรี่ในปั๊มLPGเลย



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 11, 20:37
เพิ่งจะนึกขึ้นได้อีกประการหนึ่งนะครับว่า เมื่อโรงแกสในพระบรมมหาราชวังระเบิดแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปสร้างใหม่แถวหน้าวัดสุทัศน์ เพียงให้ไกลรัศมีที่จะเป็นอันตรายแก่พระบรมมหาราชวัง หากระเบิดขึ้นอีกเท่านั้น

อันนี้แสดงว่า น่าจะทรงทราบว่าการระเบิดเป็นเพราะอุบัติเหตุ หากชัดเจนว่าเป็นเพราะการก่อวินาศกรรม ก็หน้าจะย้ายไปอยู่ในสถานที่ซึ่งจะสามารถคุ้มกันได้แน่นหนากว่า เช่นกรมทหารที่อยู่แถวนั้น  เป็นต้น


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 11, 20:59
มีคำถามค่ะ

๑   กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพาเจ้าจอมมารดาเอม  พระขนิษฐาและพระอนุชา(ซึ่งอยู่อีกวัง) ไปสถานกงศุล   แล้วบรรดาเจ้าจอมหม่อมห้าม กับพระราชโอรสธิดา  ท่านมิได้พาไปด้วยสักพระองค์เลยหรือคะ ?  หรือว่าตามเสด็จกันไปทีหลัง

๒  ทำไม คืนนั้น  กรมพระราชวังบวรฯ ถึงไม่ตรงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์    หรือว่ามีคำตอบว่าสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น  ไม่อาจแน่พระทัยได้ว่าจะทรงถูกจับกุมหรือไม่  จากนั้น มีอะไรเป็นเหตุผลที่ไม่ทรงออกจากสถานกงศุล  เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงโดยเร็ว
 
๓  การที่ทรงให้คนไปเชิญเสด็จกรมหมื่นสถิตย์ฯเป็นการรีบด่วนในคืนนั้น เพื่อเข้าสถานกงศุลไปอีกพระองค์    แต่เจ้านายวังหน้าพระองค์อื่นๆที่เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเช่นกัน  ไม่มีพระองค์ไหนถูกตามเลย      จะหมายความได้ไหมว่า เจ้านายวังหน้าที่มีความสำคัญลงมาจากกรมพระราชวังบวรฯคือกรมหมื่นสถิตย์ฯ     ตอนนั้นท่านทรงกำกับกรมสำคัญอะไรอยู่หรือเปล่า


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มี.ค. 11, 21:03
ในบันทึกของหมอบรัดเลย์กล่าวว่า นาย ร.ศ. สกอตต์ เจ้าของห้างสกอตต์แอนด์โก ได้นำไฟแกสเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ โดยตั้งโรงที่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๗ เกิดโรงแกสระเบิด จึงมาสร้างโรงแกสที่บริเวณเสาชิงช้า มีกำแพงทึบ ๔ ด้าน ด้านหน้าตรงกับวัดสุทัศน์เป็นประตูใหญ่ ข้างในขุดเป็นสระใหญ่เลี้ยงจรเข้ให้คนเข้าไปดูได้ ...จากคลองบางหลวง กาญจนาคพันธุ์


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 11, 23:12
ส่วนข้อเขียนของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผมขออนุญาตที่จะไม่เชื่อเรื่องที่ท่านเล่าไว้ข้างบน โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าอัคคีภัยที่เกิดขึ้นที่โรงแกส เป็นอุบัติเหตุตามธรรมชาติของกระบวนการผลิตแกสชนิดนี้ การขาดการบำรุงรักษาหลังการใช้งาน บวกกับความหย่อนวินัยของคนทำงาน เป็นที่มาของการรั่วไหลของแกส แล้วติดไฟขึ้นจนระเบิด เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ผู้รับผิดชอบโดยตรงก็พยายามหาแพะมารับบาปที่ตนบกพร่องในหน้าที่ เพ็ดทูลใส่ร้ายคนอื่นให้ตนพ้นผิด

ที่ว่าหม่อมเจ้าฉวีวาด(ผู้หญิงนะเนี่ย)สมคบกับกงสุลใหญ่ประเทศมหาอำนาจ ลอบจุดไฟหวังวินาศกรรมวังหลวง ถึงไม่เอ่ยตรงๆก็เข้าใจได้ว่า กงสุลผู้นั้นคือนายน๊อกซ์ ท่านผู้เล่าคงแกล้งลืมว่าขณะที่เกิดเหตุโรงแกสระเบิดนั้น ตัวนายน๊อกซ์อยู่ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ยิ่งหากจะนิยามว่า เป็นผู้มักจะขาดสติสัมปัชชัญญะด้วยแล้ว ถ้าโรงแกสหลวงยังดีๆอยู่ ยิ่งไม่มีทางจะเล็ดลอดเข้าไปสุมไฟให้ถังแกสระเบิดได้เลย เหลือเชื่อครับ

ส่วนที่ว่าหม่อมเจ้าหญิงองค์นี้ ทรงหนีราชภัยไปอยู่เขมรนั้น ผมไม่มีความเห็น จะไปจริงหรือไม่ ไปด้วยสาเหตุอะไร ไม่ทราบ ไม่ขอติดตาม ถ้าเรื่องเหล่านี้มีมูล ทำไมพวกผู้ก่อการกบฏ เมื่อคิดว่าตนจะต้องลี้ภัย ทำไมไม่ไปรวมกันที่กงศุลอังกฤษ ที่ตอนนั้นเปิดให้คนเข้านอกออกในได้ตามสะดวก

เรื่องราวของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ปราโมช มีรายละเอียดอยู่ในเรื่อง "โครงกระดูกในตู้" ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช     เป็นโครงกระดูกโครงใหญ่ทีเดียวในสายตาของท่านผู้เขียน
ประเด็นที่ว่าหม่อมเจ้าหญิงองค์เดียวอาจหาญถึงกับวางแผนระเบิดโรงแกส  ก็น่าสงสัยเช่นเดียวกับที่คุณ Navarat.C บอกข้างบนนี้ ว่าทำได้อย่างไร   ไม่ต้องดูเหตุผลอื่น  ดูข้อเดียวว่า มีบารมีแค่ไหนถึงวางแผนสั่งคนทำได้ขนาดนั้น   ก็ไม่คิดว่าท่านจะทำได้เสียแล้ว

    ถ้าดูข้อเท็จจริงอื่นๆประกอบ ม.จ.ฉวีวาดน่าจะเป็น "แกะดำ" ตัวใหญ่ของวังหลวง   คือท่านเป็นเจ้านายสตรีฝ่ายในของวังหลวงองค์เดียวที่ไปเสกสมรสกับเจ้านายฝ่ายชายของวังหน้า  ซึ่งยุคนั้นไม่มีใครทำกัน   ผลคือท่านหญิงฉวีวาดจะต้องไม่ป๊อบปูล่าร์เอามากๆในสายพระเนตรของเจ้านายวังหลวงทั้งหลายไม่ว่าฝ่ายหน้าหรือฝ่ายใน
    นอกจากนี้ ท่านก็ยังไปสนิทสนมกับแคโรไลน์ลูกสาวคนเล็กของกงศุลน๊อกซ์    ซึ่งเจ้านายสตรีฝ่ายในก็ไม่มีใครทำกันอีก  ในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ก็ทรงระบุไว้ชัดว่า
   "ลูกสาวสองคนนี้คนต่างประเทศไม่มีใครนับถือเลย   ไม่มีใครจะเอาเป็นภรรยาเลยเป็นแน่"
   การกระทำของม.จ.ฉวีวาด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงชุบเลี้ยงอุปถัมภ์อย่างมีเกียรติ เท่ากับพระเจ้าลูกเธอ จนชาววังเรียกว่า "ลูกเธอปลอม"  คงเป็นที่ไม่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เอามากๆ    แต่ม.จ.ฉวีวาดก็หัวแข็งเอาการ  ก็ยังแสดงว่าทรงฝักใฝ่ฝ่ายวังหน้าอยู่  แต่เราก็คงพอเดาได้ว่า ทรงรู้สึกกดดันอยู่ไม่น้อย  
    เมื่อเกิดไฟไหม้โรงแกสวังหลวง เป็นจุดระเบิด   วังหน้าเสด็จลี้ภัยในสถานกงศุล    ชวนให้คิดว่าต้องแตกหักกันแน่ระหว่างวังหลวงกับวังหน้า     ม.จ.ฉวีวาดรู้ว่าภัยมาถึงตัวแน่แล้วท่านก็หนีออกนอกสยามไปลี้ภัยในเขมร     เรื่องนี้พิสูจน์ได้ว่าจริง  เพราะมีพยานคือพระองค์เจ้าพานคุลี  โอรสของท่านที่ประสูติจากพระเจ้าแผ่นดินเขมรเป็นหลักฐานอยู่ว่าท่านไปถึงราชสำนักเขมรแน่ๆ
    ในเรื่องโครงกระดูกในตู้     ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไม่ได้เล่าว่าพระสวามีของม.จ.ฉวีวาด  คือพระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์  กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร   พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทบกระเทือนมากน้อยแค่ไหนจากการกระทำของพระชายา    ในวิกฤตวังหน้าไม่มีการเอ่ยถึงเจ้านายพระองค์นี้เลย   เจ้านายสำคัญของวังหน้าที่ตามเสด็จ หรือพูดให้ถูกว่าถูกตามให้ตามเสด็จกรมพระราชวังบวรฯเข้าสถานกงศุลคือกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์พระองค์เดียว    
    ทางราชสกุลปราโมชของม.จ.ฉวีวาดถูกริบราชบาตร   เดือดร้อนกันไปทั่วแม้แต่เด็กอย่างม.จ.คำรบ ปราโมชก็ตกระกำลำบากต้องไปเดินเร่ขายพุดซา      แต่ดิฉันไม่ทราบว่าทางพระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ท่านทรงโดนริบราชบาตรหรือถูกลงโทษบ้างหรือไม่  คิดว่าคงไม่โดน    อาจเป็นได้ว่าท่านทรงแยกทางกับม.จ.ฉวีวาดมานานแล้ว   ตอนม.จ.ฉวีวาดหนีจากสยาม ขนละครผู้หญิงไปทั้งโรง จึงไม่มีพระสวามีร่วมทางไปด้วย
    นานหลายปีต่อมา  พระองค์เจ้าเฉลิมฯได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร   เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๖   แล้วมาสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 11, 05:39
^
เสียดายจริงๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมเป็นศิษย์คนหนึ่งของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ วันเกิดของท่านปีนั้นมีงานใหญ่ที่บ้านซอยสวนพลู ใครไปร่วมงานจะได้รับแจกหนังสือเล่มหนึ่งเป็นของชำร่วย คือ"โครงกระดูกในตู้" ผมได้รับกับมือทีเดียวละครับ ตอนนั้นก็อ่านแบบสนุกๆไปเหมือนอ่านนิยาย ไม่ได้อ่านเอาความเท่าไร

ต่อมาย้ายบ้านหลายครั้ง พอนึกขึ้นมาได้ ก็หาหนังสือเล่มนี้ไม่พบเสียแล้ว

ตอบคำถามท่านอาจารย์เทาชมพู

อ้างถึง
๑   กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพาเจ้าจอมมารดาเอม  พระขนิษฐาและพระอนุชา(ซึ่งอยู่อีกวัง) ไปสถานกงศุล   แล้วบรรดาเจ้าจอมหม่อมห้าม กับพระราชโอรสธิดา  ท่านมิได้พาไปด้วยสักพระองค์เลยหรือ ? หรือว่าตามเสด็จกันไปทีหลัง

เท่าที่ผมทราบ ไม่มีครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 11, 06:39
อ้างถึง
๒  คุณหม่อมพอจะนึกคำตอบออกไหมว่า   ทำไม คืนนั้น  กรมพระราชวังบวรฯ ถึงไม่ตรงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์    หรือว่ามีคำตอบว่าสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น  ไม่อาจแน่พระทัยได้ว่าจะทรงถูกจับกุมหรือไม่

เป็นที่รู้กันโดยเปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯสมัยที่ท่านทรงเป็นยุวกษัตริย์ภายใต้การกำกับของสมเด็จเจ้าพระยานั้น ทรงอึดอัดคับแค้นพระทัยแค่ไหน เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ สมเด็จเจ้าพระยาชิงแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้า แทนที่จะเว้นไว้ รอพระมหากษัตริย์ให้ทรงเป็นผู้แต่งตั้งเองตามพระราชประเพณี กรมพระราชวังบวรฯเลยพลอยถูกเขม่นไปด้วย น่าสงสารท่าน วังหน้าพระองค์นี้ก็ไม่มีพระบารมีในฐานะกษัตริย์พระองค์ที่๒เยี่ยงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล่าฯ แต่ยังมีภาระหน้าที่ยังต้องดูแลรักษากำลังทหาร ทั้งทัพเรือและทัพปืนใหญ่ เพื่อเป็นทัพหน้าของชาติเวลาเกิดศึกสงคราม เพียงแต่ว่าขนาดของกำลังทหารของพระราชบิดาดูเหมือนจะเกินพระองค์ไปมาก การที่จะหาเงินงบประมาณมารักษาไว้ จึงเป็นเหตุกระทบกระทั่งกับฝ่ายวังหลวงอยู่เสมอ
 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯท่านพ้นจากความเป็นเด็กเข้าสู่วัยหนุ่ม มีเจ้าพี่เจ้าน้องวัยเดียวกันหลายพระองค์เกาะกลุ่มสามัคคีกัน บางองค์ก็เลือดร้อน ต้องการเรียกคืนพระราชอำนาจจากใครก็ตามที่ขวางทาง กรมพระราชวังบวรฯถูกมองว่าเป็นตุ้มน้ำหนักตัวหนึ่งในฝั่งตรงข้ามของดุลย์แห่งอำนาจ ย่อมต้องโดนแรงกดดันอยู่เสมอๆ

แรงกดดันดังกล่าวดำเนินมาหลายปี ระหว่างนั้น ใครจะเพ็ดทูลยุแหย่ให้ทรงบาดหมางกันทั้งสองฝ่ายนั้น ต้องมีแน่นอน จนความตึงเครียดถึงขีดสุดเมื่อโรงแกสของวังหลวงระเบิด ทหารวังหน้าจะไปช่วยดับไฟแล้วทหารวังหลวงไม่ให้เข้า เกิดปะทะกันด้วยวาจาจนจะลุกลามเป็นการปะทะด้วยอาวุธ

อันที่จริง หน้าที่ดับเพลิงในพระมหานครเป็นของทหารวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงออกไปบัญชาการเองด้วยซ้ำ คืนเกิดเหตุ กรมพระราชวังบวรฯท่านก็ควรเสด็จไปเอง แต่เผอิญนอนเจ็บเพราะโรคเกาท์(หรือรูมาติซั่มไม่ทราบ ขออภัยที่อาจผิด) เลยเป็นดีไป มิฉะนั้นคืนนั้นจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

กระนั้นก็ดี ท่านได้ถูกกล่าวหาในฐานะจำเลยทันที คืนที่เสด็จหนีนั้น ผมไม่ทราบว่าใครมาทูลอะไร ทำให้กรมพระราชวังบวรทรงต้องตัดสินพระทัยด่วน ให้เขาอุ้มหนีตายอย่างทุลักทุเลไปพึ่งเอกสิทธิ์ทางการทูตของอังกฤษ แทนการขอเข้ามอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ เรื่องนี้ผมเดาว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเข้าไปมอบตัวแล้วจะได้ออกมาง่ายๆ  ข้อหากบฏนั้น แค่ให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยวิธีจารีตนครบาล ไม่ตายคาเขียง ก็มาตายคาเตียง
การลี้ภัยทางการเมือง ถ้าสามารถที่จะกระทำได้ ก็ดีกว่าถูกคณะลูกขุนสอบสวนแน่นอน



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 11, 07:11
อ้างถึงว่า ทำไมวังหน้าต้องมาช่วยบัญชาการดับไฟทุกครั้ง

"ในรัชกาลที่ ๓ จุลศักราช ๑๒๐๖ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ศฉก ณ แรม ๑ ค่ำ เวลา ๕ ทุ่มเศษ ฝนตกหนัก อสุนีบาทตกถูกหน้ามุขห้องเครื่องหลังพระมหามณเฑียร เปลวไฟนั้นพุ่งออกมาทั้งหน้าบัน เวลานั้นเสด็จออกว่าราชการอยู่ ข้าราชการพร้อมกันเข้าดับเพลิง ตักน้ำฝนที่กลางชลาลึกเพียงเข่าส่งขึ้นไปบ้าง โกยเอาโคลนที่อ่างบัวส่งขึ้นไปทางบันไดที่ขึ้นเพดาน เก็บครุที่เรือนเจ้าจอมจดหมด ช่วยกันทั้งหญิงชาย ดับลงได้เมื่อเวลา ๗ ทุ่มเศษ ตรั้นนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้เห็นเพลิงติดสว่างขึ้นก่อน รีบร้อนเสด็จเข้ามาในพระบรมมหาราชวังเป็นแม่กองดับเพลิงและเมื่อได้เสวยบวรราชสมบัติแล้ว ก็ทรงถือว่าเป็นพระราชกิจที่สำคัญ"

ลำดับระยะเวลา

แต่ไฟไหม้วังหลวง ๒๔๑๗ ครั้งนี้เกิดเวลาทุ่มเศษ ... ๗ ทุ่มฝ่ายวังหลวงให้ข้าราชการดับไฟ นอนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง....๘ ทุ่ม วังหน้าเสด็จออกวัง.....๓ โมงเช้า มีการประชุมเสนาบดี

วังหน้ามีเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ชั่วโมงในการทราบข่าวใช่หรือไม่ครับ หรือว่า ทราบหลังจากไฟดับแล้ว เมื่อเวลา ๗ ทุ่มครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 11, 07:49
^
ตรงนี้ ผมไม่ทราบจริงๆ
แต่ไฟไหม้ตั้งแต่ทุ่มเศษ เจ็ดทุ่มถึงจะเริ่มเกณฑ์คนมาดับไฟหรือครับ

อ้างถึง
จากนั้น มีอะไรเป็นเหตุผลที่ไม่ทรงออกจากสถานกงศุล  เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงโดยเร็ว
ก็ทรงยังเป็นห่วงความปลอดภัยของพระองค์เองน่ะซีครับ ทรงอยากให้บุคคลที่๓ ในที่นี้คือ ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษเข้ามารับรู้ เป็นสักขีในคำรับรองของพระเจ้าอยู่หัวในคำขอประนีประนอม

ผมเชื่อว่า กรมพระราชวังบวรฯท่านมิได้มีส่วนรู้เห็นกับการที่นายนิวแมนกับนายการ์ยิเนได้เข้าเฝ้าเสนอความเห็นให้แบ่งสยามออกเป็น๓ส่วน ให้พระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรฯ และสมเด็จเจ้าพระยา ปกครองกันคนละส่วน ซึ่งเป็นการทะลึ่งเกินหน้าที่มาก
ที่ผมเชื่อว่ามิได้ทรงรู้เห็นเพราะหากว่าอยู่ในความคิดของพระองค์แล้ว ก็น่าจะจับแนวได้จากข้อเรียกร้อง๑๐ประการที่ทรงตอบการขอประนีประนอม ปัญหาของท่าน ล้วนเป็นที่ทรงคับพระทัยอยู่เดิมๆทั้งนั้น ไปๆมาๆก็เวียนไปเรื่องเงินที่ไม่พอใช้เลี้ยงดูทหารและข้าราชการวังหน้า มีข้อ๑๐ข้อเดียวที่ท่านกล่าวถึงอังกฤษ ที่จะขอให้เขาเป็นคนกลางในข้อประนีประนอม๙ข้อข้างบน  ไม่ใช่มาหนุนท่านแยกแผ่นดิน

เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงแก้ไขที่ต้นเหตุได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ทรงถือโอกาสปฏิรูปกองทัพของสยามใหม่ เลิกระบบทหารวังหน้า วังหลวง (วังหลังเลิกไปนานแล้ว) มาจัดใหม่เป็นกองทัพแห่งชาติขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว เป็นการตัดเชื้อของสงครามกลางเมืองที่เคยมีมาตลอดในประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อลดภาระทางการเงินออกไป วังหน้าก็ไม่เดือดร้อนในรายได้ซึ่งถึงแม้จะน้อยลงมากเมื่อเทียบกับแผ่นดินก่อน แต่ยังพอที่จะทรงบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรสนิยมของพระองค์ กระทู้โน้นจึงคุยกันเรื่องหุ่นกระบอกวังหน้าซะครึ่งค่อนเรื่อง

เรื่องที่นายนิวแมนกับนายการ์ยิเนเข้าไปเฝ้าเสนอให้แบ่งแยกแผ่นดินนี้ น่าจะไม่ได้ถูกเปิดเผยในสมัยโน้น นอกจากวงในจริงๆแล้วคงจะไม่มีใครทราบเลย ขอประทานโทษ ผมไม่มีเวลาไปศึกษาว่าเรื่องดังกล่าว ใครเป็นผู้นำมาเปิดเผย และเมื่อไหร่ อย่างไรก็ดี ผมยอมรับว่าเนื้อหานี้แหละที่เปิดแผล ทำให้กรมพระราชวังบวรฯดูไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป คล้ายๆกับว่าท่านเกือบทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสใช้อำนาจถือโอกาสแบ่งแยกสยาม เพื่อจะได้ฮุบทีหลังได้ง่ายเข้า เข้าข่ายขายชาติทีเดียว

ความจริงทั้งนายนิวแมนกับนายการ์ยิเนเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ทูลเสนอความเห็นส่วนตัวโดยพลการ ผมคิดว่าถ้าทั้งรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสทราบและสั่งให้กงศุลกระทำไปดังกล่าว คงจะต้องแสดงพลังอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งหนุนด้วย มิฉะนั้นฝ่ายไทยก็จะเพียงแต่ปัดข้อเสนอตกโต๊ะไปอย่างที่ปรากฏนั้น เสียหน้ามหาอำนาจทั้งสองประเทศยับเยินแน่ๆ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 11, 07:52
 ::) ไม่ใช่ครับๆๆๆ ทุ่มเศษไฟไหม้ จนดับไฟเสร็จเป็นเวลา ๗ ทุ่ม ฝ่ายวังหลวงให้ข้าราชการที่เข้ามาช่วยดับไฟให้นอนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ต้องออกไปเพื่อคอยระวังเหตุไว้  ;D


อ.ครับ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จออกจากวังหน้า - เสด็จกลับวังหน้า เป็นระยะเวลารวมนานเท่าไรหรือครับ ถึงจะเสด็จกลับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 11, 07:57
^
ประมาณ๕๕วันครับ

อ้างถึง
 
๓  การที่ทรงให้คนไปเชิญเสด็จกรมหมื่นสถิตย์ฯเป็นการรีบด่วนในคืนนั้น เพื่อเข้าสถานกงศุลไปอีกพระองค์    แต่เจ้านายวังหน้าพระองค์อื่นๆที่เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเช่นกัน  ไม่มีพระองค์ไหนถูกตามเลย      จะหมายความได้ไหมว่า เจ้านายวังหน้าที่มีความสำคัญลงมาจากกรมพระราชวังบวรฯคือกรมหมื่นสถิตย์ฯ     ตอนนั้นท่านทรงกำกับกรมสำคัญอะไรอยู่หรือเปล่า


ก็สำคัญที่เป็นน้องแท้ๆ(อาจถูกจับเป็นตัวประกันได้ดี)กระมังครับ ผมไม่ทราบว่าท่านกำกับกรมใดในวังหน้า ทราบแต่ว่า ท่านทำงานหลัก ในหน้าที่ปฏิคมของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งตั้งอยู่ในวังหลวง แต่ตั้งแต่เมื่อใดผมไม่ทราบ ทราบแต่ว่าทรงทำงานที่นั่นจนสิ้นพระชนม์


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 11, 09:40
อ้างถึง
แต่ไฟไหม้วังหลวง ๒๔๑๗ ครั้งนี้เกิดเวลาทุ่มเศษ ... ๗ ทุ่มฝ่ายวังหลวงให้ข้าราชการดับไฟ นอนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง....๘ ทุ่ม วังหน้าเสด็จออกวัง.....๓ โมงเช้า มีการประชุมเสนาบดี

วังหน้ามีเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ชั่วโมงในการทราบข่าวใช่หรือไม่ครับ หรือว่า ทราบหลังจากไฟดับแล้ว เมื่อเวลา ๗ ทุ่มครับ
^
ตรงนี้ ผมไม่ทราบจริงๆ

แต่ไฟไหม้ตั้งแต่ทุ่มเศษ เจ็ดทุ่มถึงจะเริ่มเกณฑ์คนมาดับไฟหรือครับ
ไม่ใช่ครับๆๆๆ ทุ่มเศษไฟไหม้ จนดับไฟเสร็จเป็นเวลา ๗ ทุ่ม ฝ่ายวังหลวงให้ข้าราชการที่เข้ามาช่วยดับไฟให้นอนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ต้องออกไปเพื่อคอยระวังเหตุไว้
 


คุณหนุ่มสยามครับ ผมมาตรึกตรองดู การที่วังหลวงมีคำสั่ง เมื่อเวลา๗ทุ่ม สั่งให้ข้าราชการที่มาดับไฟ(ก็คือทหารนั่นแหละ)นอนในพระบรมราชวังไม่ต้องกลับบ้าน ภาษาสมัยนี้คงเรียกว่า “มีคำสั่งเตรียมพร้อม100%) พอสายข่าวของวังหน้าทราบ แล้วรายงานตรงไปยังนาย กรมพระราชวังบวรฯคงได้รับการทูลแนะนำให้รีบเสด็จหนีเถิดพระเจ้าข้า ทางโน้นสั่งทหารเตรียมพร้อมแล้ว เดี๋ยวคงบุกมา
ท่านจึงมีเวลาเตรียมพระองค์น้อยมาก พาแม่กับน้องสาวไปด้วยกันก่อน มีหมอกับข้าราชบริพารสี่ห้าคนที่ถวายงานอยู่ ตามไปรับใช้ด้วย น้องชายถ้ายังไงๆ เดี๋ยวค่อยส่งเรือมารับ

ถ้ามีเวลาตั้งห้าหกชั่วโมง คงไม่ทุลักทุเลขนาดนี้ อย่างน้อยพระองค์เจ้าเนาวรัตนคงจะไม่ถูกปลุกขึ้นมาให้ตามเสด็จลี้ภัยเอาตอนใกล้รุ่ง



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 11, 10:05
การหนียามวิกาล

นึกถึงสภาพการตัดที่วังหน้าจะตัดสินใจออกจากวังหน้า นั่งเรือจากฉนวนน้ำวังหน้า ยังไงก็ต้องล่องผ่านพระบรมมหาราชวัง ผ่านไปปลุกพระองค์เจ้าเนาวรัตน ที่ตำหนักริมถนนพระอาทิตย์ เห็นภาพการหนีราชภัยครั้งนี้ไม่รู้ว่าได้ตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ คว้าได้คว้า ฉวยได้หยิบลงหีบหรือเปล่านะครับ และเมื่อเรือแล่นไปถึงสถานกงสุลอังกฤษด้วยแล้ว ทางกงสุลก็คงงงกับเหตุการณ์ในเบื้องต้น ถึงจะเริ่มตั้งสติพูดจาความ สืบถามความเป็นไป...ต่อด้วยการทำจดหมายต่างๆตามออกมา..

ผมว่าถ้าเป็นมุมมองของนักฉวยโอกาสที่จะยึดสยามเป็นเมืองขึ้นนั้น จุดตรงนี้ก็น่าคิด น่าจะนำจุดนี้มาเป็นประโยชน์ได้มากอยู่นะครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 11, 10:05
^
ขอบคุณที่กรุณาอธิบายอย่างละเอียดค่ะ

การลี้ภัยการเมืองของกรมพระราชวังบวรฯ กับหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด แตกต่างกันเห็นชัด
กรมพระราชวังบวรฯ ท่านทรงลี้ภัยแบบฉุกละหุกมาก     เหมือนทรงรู้นาทีไหน ก็หนีกันเดี๋ยวนั้นเลย   ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จก็คือคนที่เข้าเฝ้าอยู่ในคืนนั้น       จึงเป็นคำตอบว่าทำไมไม่มีขุนนางระดับบิ๊กเวียงวังคลังนาของวังหน้ารวมอยู่ด้วยเลยสักคน    เจ้าพระยาและพระยาเหล่านั้นกว่าจะรู้ก็คงวันรุ่งขึ้น    เจ้านายเสด็จเข้าสถานทูตไปเสียแล้ว

ส่วนกรณีหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด    ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เล่าว่า

"เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว  รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งท่านป้าฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาหนึ่งลำ ขนทรัพย์สมบัติลงเรือ   แล้วนำละครของเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งตกมาถึงท่านนั้นลงเรือทั้งโรง พร้อมทั้งเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์รวมเป็นคนหลายสิบคน     ท่านลงเรือที่แม่น้ำใกล้ๆวังหน้าตอนใกล้ค่ำ แล่นเรือไปทั้งคืน     พอเช้ามืดก็ออกปากน้ำ     ท่านเหลียวไปดูทางท้ายเรือ  เห็นเรือกลไฟจักรข้างของหลวงแล่นตามมาลำหนึ่ง   แสดงว่าทางกรุงเทพฯ รู้แล้วว่าท่านจะหนี  จึงส่งเรือหลวงออกมาตามจับตัว     เรือหลวงคงจะออกตอนดึกจึงมาทันที่ปากน้ำ  
ท่านเล่าว่าท่านยกมือนมัสการพระสมุทรเจดีย์แล้วอธิษฐานว่า  หากบุญญาบารมีท่านยังมีอยู่แล้ว  ขอให้เรือสำเภาใช้ใบของท่่านออกทะเลหลวงไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง      ท่านบอกว่าพอท่านอธิษฐานเสร็จ   เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดี   ต้องทอดสมออยู่กลางน้ำ   เรือของท่านก็ใช้ใบไปจนถึงเมืองเขมร"


ดูตามรูปการณ์   หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดน่าจะเตรียมแผนในการออกทะเลมาล่วงหน้าแล้ว    ถ้าท่านไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน  มีเวลากะทันหันไม่ถึง ๒๔ ช.ม. จะหาเรือสำเภาขนาดใหญ่  ออกทะเลได้ ที่ยังทอดสมอว่างอยู่เฉยๆ มาจากไหน     เรือสำเภาไม่ใช่แท็กซี่ว่าง จะได้เรียกได้ง่ายจากข้างถนน    
แล้วยังต้องเรียกชุมนุมนางละครกับนักดนตรีหลายสิบคนจากบ้านช่อง ให้ทิ้งพ่อแม่ลูกเมียลงเรือไปทันทีทันเวลา  ไม่มีใครขัดขืนเลยสักคน  พรึ่บเดียวลงเรือไปหมด    เสบียงกรังก็มีพร้อมในเรือ  
มันน่าจะบอกถึงการเตรียมล่วงหน้ามาเป็นเดือนแล้ว   อีกอย่างอาจจะมีการสื่อสารกันกับพระเจ้าแผ่นดินเขมรล่วงหน้าแล้ว    ถึงไปอย่างมั่นใจว่าทางโน้นต้อนรับแน่   และรู้ด้วยว่าจะต้องเอาอะไรหรือใครไปบ้างจึงจะเป็นที่ต้อนรับ  อาจจะเป็นออเดอร์จากทางโน้นเสียด้วยซ้ำไป

ในเมื่อเป็นกันคนละอย่างแบบนี้ ก็น่าจะเห็นได้ว่า ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกัน     ส่วนท่านหญิงฉวีวาดคิดการใหญ่ด้วยตัวเองหรือรู้เห็นเฉยๆ  หรือว่าเป็นแผนประจวบเหมาะ   ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 11, 22:06
    ความฉุกละหุกในคืนนั้นมีมากแค่ไหน คงพอนึกออก   อย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ต้องทรงทิ้งพระโอรสธิดา    พาหนีไปด้วยไม่ทัน  พาหนีทันแต่เจ้าจอมมารดาเอม  พระอนุชาและพระขนิษฐา  แค่ ๓ ท่านเท่านั้น
    ไปหาว่าพระองค์เจ้าที่ทรงจำต้องทิ้งไว้เบื้องหลัง    มีพระองค์ใดบ้าง  พบว่า มีอยู่ ๑๓ พระองค์

    ๑  พระองค์เจ้าหญิงปฐมพิสมัย  พระชันษา ๑๒ ปี
    ๒ พระองค์เจ้าชายวิลัยวรวิลาศ  พระชันษา ๖ ปี
    ๓ พระองค์เจ้าชายกาญจโนภาสรัศมี  พระชันษา ๔ ปี
    ๔ พระองค์เจ้าหญิงภัททาวดีศรีราชธิดา พระชันษา ๓  ปี
    ๕ พระองค์เจ้าชายกัลยาณประวัติ  พระชันษา ๓ ปี
    ๖ พระองค์เจ้าหญิงธิดาจำรัสแสงศรี   พระชันษา ๓ ปี
    ๗ พระองค์เจ้าหญิงฉายรัศมีหิรัญพรรณ  พระชันษา ๓ ปี
    ๘ พระองค์เจ้าหญิงกลิ่นแก่นจันทนารัตน์  พระชันษา ๒ ปี
    ๙ พระองค์เจ้าชายสุทัศนนิภาธร  พระชันษา ๒ ปี
    ๑๐ พระองค์เจ้าชายวรวุฒิอาภรณ์ พระชันษา ๑ ปี
    ๑๑ พระองค์เจ้าชายโอภาสไพศาลรัศมี  พระชันษา ๑ ปี
    ๑๒ พระองค์เจ้าอับสรศรีราชกานดา พระชันษา ๑ ปี
    ๑๓ พระองค์เจ้าชายรุจาวรฉวี  พระชันษา ๕ เดือน

        เจ้านายเล็กๆทั้งหมดนี้ มีพระองค์แรกพระองค์เดียวคือพระองค์เจ้าหญิงปฐมพิสมัย ที่เจริญพระชนม์มากพอจะโกนพระเมาลี(จุก)แล้ว    ก็เรียกว่าโตพ้นวัยเด็ก     ส่วนอีก ๑๒ พระองค์ยังเล็กๆอยู่ทั้งสิ้น  บางพระองค์ก็ยังเป็นทารกแบเบาะ บางพระองค์เห็นจะเพิ่งหัดตั้งไข่     เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นมากลางดึก    พระราชบิดาทรงรวบรวมพาไปด้วยไม่ทันแน่   ก็จำต้องทิ้งไว้ข้างหลัง   
       ส่วนหัวอกคนเป็นพ่อที่ต้องทิ้งลูกเล็กๆไม่ประสีประสาไว้ที่บ้าน  ไม่รู้ว่าลูกจะโดนอะไรเข้าบ้าง    ใจคอจะทุกข์ร้อนห่วงหน้าพะวงหลังสักแค่ไหน ใครมีลูกก็คงจะเข้าใจ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 11, 22:08
       หลักฐานเล็กๆที่ยกมานี้ เพิ่มเติมเข้ากับหลักฐานอื่นๆก่อนหน้า ในกระทู้นี้  ทำให้ดิฉันเห็นว่าไฟไหม้โรงแกสเป็นฝีมือใครหรืออุบัติเหตุก็ตาม   แต่ไม่สมเหตุสมผลว่าเป็นการวางแผนของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ     
        ถ้าหากว่าทรงรู้เห็นกับแผนนี้ ก็น่าจะมีการวางทางหนีทีไล่ให้รัดกุมไว้ล่วงหน้า  อย่างน้อยลงมือเมื่อไร  ครอบครัวต้องปลอดภัย   อาจต้องโยกย้ายไปไว้ในสถานที่หลบภัยได้มิดชิด ซึ่งเตรียมไว้ล่วงหน้า     ตั้งกองกำลังจู่โจมวังหลวงและอีกส่วนหนึ่งต้องคุ้มกันรักษาวังหน้าเอาไว้   ไม่ให้ทหารวังหลวงบุกเข้าถึงพระองค์และพระโอรสธิดาได้
       แต่นิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ บอกให้รู้ว่าไม่รู้พระองค์ล่วงหน้าเลย      ขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้าเฝ้าอยู่ก็ไม่มี  มีแต่หมอและข้าราชบริพารสนิทในวังเท่านั้น   พระอนุชาก็อยู่แยกออกไปต่างหากในวังของท่าน  ถูกปลุกขึ้นมาให้หนีไปพระองค์เดียว   ก็ต้องทรงทิ้งหม่อมและหม่อมเจ้าเล็กๆ เอาไว้ข้างหลังเช่นกัน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 11, 22:17
ความรู้สึกของกรมหมื่นสถิตย์ฯ  ที่มีต่อหม่อมเจ้าซึ่งล้วนแต่ยังเล็กๆในวัง  ก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   
ก็ในเมื่อเป็นหัวอกพ่อด้วยกัน

          ยืนรำพึงตลึงลานสงสารบุตร         จะยากแค้นแสนสุดระทมถม
          ยังน้อยนักแต่สักคนไม่พ้นนม         จะล่มจมฉันใดไม่แจ้งความ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 11, 22:35
ไม่มีใครทราบเกี่ยวกับข้อความใน "บัตรทิ้ง" ซึ่งเป็นข้อความที่ลอบปลงพระชนม์ เคยได้อ่านตัวอย่างบัตรทิ้งสมัยรัชกาลที่ ๖ มีผู้ทำบัตรสนเท่ห์กล่าวว่าจะประทุษร้ายวิธีการที่ ๑ ทำอย่างไร บุคคลที่ ๒ จะจัดการอย่างไร บุคคลที่ ๓ จะจัดการอย่างไร โดยละเอียด มีเวลาประกอบ แต่ไม่ระบุวันที่ ซึ่งมีการระบุถึงการผูกระเบิดซุยซายด้วย

บัตรทิ้งเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็คงดุเดือดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าไร ถึงได้มีการระวังเรียกทหารเพิ่มเติม จดหมายต้องอ่านใจความแล้วคงจะหมายถึงหน่วยงานใดส่งมา ถึงได้เกิดปักใจเชื่อว่ามาจากฝ่ายวังหลวง เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง จึงได้รีบเสด็จหนีโดยองค์เองไปก่อน เนื่องจากเป็นเป้าหมายอันดับ ๑ ไปพึ่งบุคคลที่ ๓ ไว้ก่อนเป็นหลัก พระโอรส พระธิดาไม่เกี่ยวกับเรื่องการลอบทำร้าย จึงมิได้อยู่ในเป้าหมายของจดหมาย จึงมิต้องนำพระโอรสและพระธิดาติดตามไปทั้งหมด ก็เป็นไปได้


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 11, 22:39
อ้างถึง
พระโอรส พระธิดาไม่เกี่ยวกับเรื่องการลอบทำร้าย จึงมิได้อยู่ในเป้าหมายของจดหมาย จึงมิต้องนำพระโอรสและพระธิดาติดตามไปทั้งหมด ก็เป็นไปได้

คุณ siamese ลืมเรื่องริบราชบาตรแล้วหรือคะ    มีสิทธิ์โดนทั้งวังละค่ะ ถ้าหากว่าถึงขั้นแตกหักกัน
สิ่งที่ดิฉันเห็นก็คือ  วิธีหนีราชภัยของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กับหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด  มาจากสาเหตุเดียวกัน คือไฟไหม้โรงหุงลมประทีป
แต่วิธีของเจ้านายทั้งสอง แตกต่างกันมาก    สะท้อนถึงเจตนาที่เป็นคนละเรื่องกันเลย

หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดหนีแบบมีแผนรัดกุม  รู้ทางหนีทีไล่   สามารถหอบละครหญิงทั้งโรงบวกนักดนตรีหลายสิบชีวิตลงเรือสำเภาใหญ่ ซึ่งอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมออกทะเล    แล่นเรือออกนอกปากอ่าวไปทันในวันรุ่งขึ้น    มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าจะไปไหน   เสบียงกรังก็พร้อมด้วย     ข้อนี้บอกให้รู้ว่ามีการเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้า
ส่วนกรมพระราชวังบวรฯทรงลี้ภัยแบบไม่มีแผนล่วงหน้าเลย     พาพระญาติพระวงศ์ไปได้แค่ ๓ ท่าน      ส่วนพระโอรสธิดานั้นจะว่าไม่เกี่ยวเลยไม่พาไป นั้นไม่ใช่แน่      ราชภัยย่อมรวมการริบราชบาตร หรือแม้แต่โทษหนักกว่านั้นที่จะตกถึงพระโอรสธิดา ก็มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้  ขึ้นอยู่กับพระบรมราชโองการว่าจะหนักถึงขั้นไหน        กรมพระราชวังบวรฯ ท่านจะไม่ห่วงลูกท่านบ้างเลยหรือ   
ถ้าพาไปได้ทำไมจะไม่พา     แต่นี่พาไปอีก ๑๓ พระองค์บวกเจ้าจอมมารดาของแต่ละพระองค์อีก  ปาเข้าไปเท่าไร ไม่รวมพี่เลี้ยงนางนมด้วย  ทำกันฉุกละหุกแค่กลางดึกคืนเดียวไม่ทันแน่


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 11, 22:42
อ้างถึง
พระโอรส พระธิดาไม่เกี่ยวกับเรื่องการลอบทำร้าย จึงมิได้อยู่ในเป้าหมายของจดหมาย จึงมิต้องนำพระโอรสและพระธิดาติดตามไปทั้งหมด ก็เป็นไปได้

คุณ siamese ลืมเรื่องริบราชบาตรแล้วหรือคะ    มีสิทธิ์โดนทั้งวังละค่ะ ถ้าหากว่าถึงขั้นแตกหักกัน


 :-[ :-[ :-[


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 11, 22:49
อ้างถึง
นั่งเรือจากฉนวนน้ำวังหน้า ยังไงก็ต้องล่องผ่านพระบรมมหาราชวัง ผ่านไปปลุกพระองค์เจ้าเนาวรัตน ที่ตำหนักริมถนนพระอาทิตย์

เข้ามาขัดจังหวะแป๊บเดียวครับ ขออภัยคุณหนุ่มสยามด้วย เส้นทางลี้ภัยไปกงศุลอังกฤษของกรมพระราชวังบวรฯต้องผ่านวังหลวงก็จริง แต่มิได้ผ่านวังของพระองค์เจ้าเนาวรัตน ด้วยเหตุว่าถนนพระอาทิตย์อยู่ต้นน้ำเหนือขึ้นไปสักกิโลเมตรนึง ดังนั้นเรือจึงต้องย้อนกลับมาปลุกบรรทมในอีกเที่ยวหนึ่งให้ท่านตามไป
และผมยังอยากจะคิดว่า น่าจะเป็นรับสั่งของเจ้าคุณพระชนนี ที่ให้พระโอรสองค์ใหญ่ส่งเรือไปรับพระโอรสองค์เล็กด้วยซ้ำ

อนึ่ง ต้องบันทึกไว้ด้วยว่าทางวังหลวงก็มิได้มีแผนการณ์ใดๆที่จะจัดการกับวังหน้าในคืนนั้นตามที่ลือกัน เพราะหากมี ก็คงไม่ปล่อยให้ปลอดการระวังภัยด้านแม่น้ำ เป็นที่ทราบกันดีว่าทางวังหน้ามีกองเรือรบ ติดปืนใหญ่หลายลำ ถ้าปะทะกันจริงศึกทางน้ำก็จะเป็นศึกหนัก เมื่อวังหลวงไม่มีการวางเวรยามลาดตระเวนใดๆ เรือของวังหน้าจึงวิ่งขึ้นล่องผ่านไปมาถึง๒เที่ยวได้อย่างตลอดปลอดโปร่ง


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 มี.ค. 11, 23:10
การเข้าไปพึ่งกงสุลอังกฤษ นี่หมายรวมถึง ต้องยอมให้ตนเองเข้าสังกัดเป็นคนในบังคับอังกฤษ ด้วยหรือไม่ครับ อ.NAVARAT.C  หากมีกรณีพิพาทก็ต้องขึ้นศาลอังกฤษ เสมือนตนเองเป็นคนอังกฤษ

ตัวอย่างใบลงทะเบียนการเข้าเป็นคนในบังคับอังกฤษ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 11, 23:24
ผมไม่อยากจะเดาหรอกครับ พอดีพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงตัดสินพระทัยอย่างรวดเร็วที่เสนอการประนีประนอมโดยทันที เรื่องจึงไม่เลยเถิดจนกรมพระราชวังบวรฯต้องทรงถลำลึกลงไปกว่าขั้นที่มาขอลี้ภัยชั่วคราว และขอให้อังกฤษช่วยไกล่เกลี่ย ประกันความปลอดภัยของพระองค์ท่าน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 11, 08:53
โดยส่วนตัว  คิดว่าไม่ ค่ะ 
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีการศึกษาดีทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก สมาคมกับฝรั่งมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ท่านย่อมรู้ดีว่าลี้ภัยการเมือง ก็คือพาตัวเองไปอาศัยชั่วคราวในที่ปลอดภัย     จบเรื่องแล้วก็กลับออกมาได้โดยไม่ต้องมีอะไรผูกมัดต่อกัน    แต่เข้าไปเป็นคนในบังคับอังกฤษคือเอาคอเข้าไปอยู่ในบ่วงของเขา  ดิ้นไม่หลุด  เปลี่ยนจากอันตรายจากวังหลวงมาเป็นอันตรายจากอังกฤษ  ซึ่งหนักพอๆกัน หรือมากกว่า
การเปลี่ยนเป็นคนในบังคับอังกฤษ เท่ากับท่านสละความเป็นคนไทย   ต่อให้อังกฤษทำศึกชนะวังหลวง  และยกท่านขึ้นเป็นใหญ่ ท่านก็จะได้ชื่อว่ายกแผ่นดินสยามให้เป็นเมืองขึ้นต่างชาติ     ตัวเองก็เป็นข้าของต่างชาติ     เหลนทวดของรัชกาลที่ ๑ คงไม่ทำเช่นนั้น

กรมพระราชวังบวรฯลี้ภัยอยู่ในสถานกงศุลนานเกือบ ๒ เดือน   จากการเจรจากันไปมากับทางฝ่ายวังหลวงและสมเด็จเจ้าพระยา จะเห็นว่าสิ่งที่ท่านกังวลคือความปลอดภัย และสถานภาพของวังหน้า ที่จะถูกบีบหรือลิดรอนอย่างไรต่อไปก็ไม่รู้      ถ้าสองอย่างนี้ มีคำรับรองให้เชื่อถือได้ ว่าไม่มีอะไรน่าห่วง   ท่านก็ขอแค่นั้น 
แต่ก็ยังอ่านไม่พบว่า มีเงื่อนไขต่อรองในทำนอง...ถ้าวังหลวงไม่ยอมอย่างที่ข้าพเจ้าเสนอไปละก็   ข้าพเจ้าจะ...  ยังไม่เห็นมีนะคะ



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 11, 09:05
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อค่อยๆเอามาแยกแยะวิเคราะห์กันละเอียดอย่างที่ทำกันอยู่   ก็พอมองเห็นได้ว่า ในเมื่อวังหลวงก็ไม่ได้คิดร้ายต่อวังหน้า  วังหน้าก็ไม่ได้คิดร้ายต่อวังหลวง    ก็ต้องมีบุคคลที่สามมาทำให้เรื่องที่ไม่ควรเกิด เกิดกันขึ้นมาจนเป็นเหตุใหญ่
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดอาจเป็นผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ    ถึงได้เผ่นหนีไปแบบวางแผนล่วงหน้าไว้แล้ว    แต่ว่าถึงขั้นลงมือทำเองนั้นคงไม่ใช่  อย่างแรกคือเป็นผู้หญิงซึ่งสังคมสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ยังไม่ได้ยกย่องสตรีเป็นผู้นำถึงขนาดนั้น  อย่างที่สอง  ในฐานะหม่อมของพระองค์เจ้าวังหน้า ซึ่งไม่มีบทบาททางการทหารหรือเศรษฐกิจ  ท่านไม่มีบารมีขนาดก่อแผนวินาศกรรม ล้มสถาบันได้แน่นอน

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17588;image)

ก็ขอทิ้งคำถามถึง"ไอ้โม่ง" ไว้เฉยๆ   ดิฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีตัวตนหรือไม่   อาจเป็นแค่ความเข้าใจผิด และมีเจ้ากรมข่าวลือซึ่งเก่งในทางทิ้งบัตรสนเท่ห์ให้ปั่นป่วนกันไปเล่นๆ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 11, 21:21
" เกาวนา" อังกฤษที่เข้ามาประนีประนอม คือ Sir Andrew Clarke  หน้าตาเป็นอย่างนี้

(http://i1015.photobucket.com/albums/af272/helaza/history-2/225px-Sir_andrew_clarke.jpg)

ส่วนหนึ่งในประวัติของเซอร์แอนดรู  กล่าวไว้ว่า

He maintained great friendship throughout his life with King Chulalongkorn of Siam whom he met when he was sent to Siam to settle a political dispute.

เขาได้ดำรงมิตรภาพอันดียิ่งยาวนานตลอดชีวิต กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม  ผู้ที่เขาได้พบเมื่อถูกส่งตัวมาสยาม เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเมือง

ท่าทีแข็งกร้าวของนายนิวแมนที่จะเฉือนสยามแบ่งออกเป็นสองหรือสามส่วน   คงจะดำเนินการโดยพลการ    เซอร์แอนดรูถึงไม่เห็นด้วย   แต่กลับสนับสนุนให้วังหลวงและวังหน้าตกลงกันได้เอง   หลังจากนั้นเหตุก็สงบ   กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จกลับวังหน้าตามเดิม
เหมือนอย่างที่กรมหมื่นสถิตย์ฯ นิพนธ์ไว้ว่า

      นิพนธ์พจน์บอกเบื้อง        บทปฐม
บำราศที่สราญรมณ์                เร่าร้อง
ต่างประเทศมาระดม               ดับเหตุ หายแฮ
ลุสวัสดิ์กลับห้อง                  เสร็จสิ้นอวสาน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 11, 22:55
ในหนังสือ "โครงกระดูกในตู้"  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงวิกฤตวังหน้าไว้ในตอนหนึ่งว่า

"พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ กลับเข้ามาจากเมืองราชบุรีที่ท่านไปตั้งบ้านเรือนอยู่นั้นโดยด่วน    และมีพระราชกระแสเล่าเรื่องราวให้ฟังทั้งหมด     สมเด็จเจ้าพระยาฯ   ท่านก็ออกมาจากที่เฝ้าแล้วตรงไปสถานกงศุลอังกฤษ   จะเข้าไปเจรจาว่ากล่าวอย่างไรก็ไม่ทราบได้     แต่ท่านสามารถนำพระองค์พระบัณฑูรกลับคืนมายังพระราชวังบวรได้   เหตุการณ์ที่คาดกันว่าจะรุนแรงต่อไปนั้นก็สงบลง"

ดิฉันก็เข้าใจอย่างนั้นมาตลอดว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญออกจากสถานกงศุลกลับมาได้   จะด้วยเจรจาประนีประนอมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง       ก็เพิ่งมาได้อ่านนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชั้นที่ ๑ (primary source) เพราะบันทึกจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง      ว่า

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17599;image)
 
กรมพระราชวังบวรฯ ท่านทรงปฏิเสธ  ว่า "จะขอคอยเกาวนาเข้ามาก่อน"  สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เลยต้องกลับไปตามลำพัง   ไม่ได้เชิญเสด็จกลับไปด้วยอย่างที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เข้าใจ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 11, 10:53
โดยส่วนตัว  คิดว่าไม่ ค่ะ 
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีการศึกษาดีทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก สมาคมกับฝรั่งมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ท่านย่อมรู้ดีว่าลี้ภัยการเมือง ก็คือพาตัวเองไปอาศัยชั่วคราวในที่ปลอดภัย     จบเรื่องแล้วก็กลับออกมาได้โดยไม่ต้องมีอะไรผูกมัดต่อกัน    แต่เข้าไปเป็นคนในบังคับอังกฤษคือเอาคอเข้าไปอยู่ในบ่วงของเขา  ดิ้นไม่หลุด  เปลี่ยนจากอันตรายจากวังหลวงมาเป็นอันตรายจากอังกฤษ  ซึ่งหนักพอๆกัน หรือมากกว่า
การเปลี่ยนเป็นคนในบังคับอังกฤษ เท่ากับท่านสละความเป็นคนไทย   ต่อให้อังกฤษทำศึกชนะวังหลวง  และยกท่านขึ้นเป็นใหญ่ ท่านก็จะได้ชื่อว่ายกแผ่นดินสยามให้เป็นเมืองขึ้นต่างชาติ     ตัวเองก็เป็นข้าของต่างชาติ     เหลนทวดของรัชกาลที่ ๑ คงไม่ทำเช่นนั้น

กรมพระราชวังบวรฯลี้ภัยอยู่ในสถานกงศุลนานเกือบ ๒ เดือน   จากการเจรจากันไปมากับทางฝ่ายวังหลวงและสมเด็จเจ้าพระยา จะเห็นว่าสิ่งที่ท่านกังวลคือความปลอดภัย และสถานภาพของวังหน้า ที่จะถูกบีบหรือลิดรอนอย่างไรต่อไปก็ไม่รู้      ถ้าสองอย่างนี้ มีคำรับรองให้เชื่อถือได้ ว่าไม่มีอะไรน่าห่วง   ท่านก็ขอแค่นั้น 
แต่ก็ยังอ่านไม่พบว่า มีเงื่อนไขต่อรองในทำนอง...ถ้าวังหลวงไม่ยอมอย่างที่ข้าพเจ้าเสนอไปละก็   ข้าพเจ้าจะ...  ยังไม่เห็นมีนะคะ


ตอบเพลิดเพลินไปจนจบค.ห. ไปแล้วหลายวัน     เพิ่งกลับไปอ่านโครงกระดูกในตู้ใหม่อีกครั้ง  พบประโยคว่า

"พระบัณฑูรเสด็จออกจากวังหน้าไปประทับในกงสุลอังกฤษ   และประกาศว่าพระองค์อยู่ใต้บังคับของรัฐบาลอังกฤษ   สุดแล้วแต่อังกฤษจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไร...."

ก็เลยอยากถามคุณ siamese ว่าเคยเจอเอกสารที่ลงนามว่ากรมพระราชวังบวรฯ ท่านทรงลงพระนามเป็นสัปเยก (subject) ของอังกฤษบ้างหรือไม่    ดิฉันขอเดาล่วงหน้าว่าไม่มี      เพราะขั้นตอนยังไปไม่ถึงตอนนั้น  คือแค่ไปลี้ภัยการเมือง ไม่ใช่ไปตกลงเป็นสัปเยกเรียบร้อย ขาดจากเป็นชาวสยามในบังคับสยาม 
ถ้าจะสันนิษฐานจากข้อเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์   ก็คือ ท่านไม่ได้หมายความว่ากรมพระราชวังบวรฯ ทรงบอกหรือลงพระนามกันโต้งๆว่าอยู่ใต้บังคับอังกฤษ     แต่การที่ไม่ยอมเสด็จออกจากสถานกงสุล ทั้งที่มีพระบรมราชโองการ  แต่ทรงรอจนกว่าเกาวนาอังกฤษมาชี้ขาด ก็เป็นที่เข้าใจของทางวังหลวงว่าทรงเลือกอยู่ใต้บังคับของอังกฤษ

ป.ล.  เกาวนา = governor


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 11, 11:23
ในเอกสารบางฉบับดุร้อนกว่านี้อีกครับผม อ้างถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เล่ม ๑ หน้า ๘๐๑ : ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม

"..เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบปะกับเซอร์ แอนดรู คลาก เรียบร้อยแล้วและได้ทำสัญญาว่าจะช่วยเจรจาเรื่องนี้ให้เรียบร้อย และจะไม่ยอมเข้าแทรกแซงเรื่องนี้ พร้อมกับวิจารณ์การกระทำของมิสเตอร์ นิวแมน ว่าให้ความเห็นใจแก่วังหน้ามากเกินไป เป็นการฟังความข้างเดียว ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งประเทศออกเป็น ๓ ส่วน...นอกจากนี้แล้ว เซอร์ แอนดรู คลาก ยังได้บีบบังคับให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญยอมรับข้อเสอนของวังหลวงอีกด้วย เพราะถ้าไม่ยอมจะถูกไล่ออกจาก "....ธงอังกฤษ..."

และอีกทั้งในเอกสาร "The Politics of Reform in Thailand, David K. Wyatt, Page 50-62" กล่าวไว้ทำนองว่า "มิสเตอร์นิวแมน ให้ความมั่นใจแก่กรมพระราชวังบวรฯ ว่าทางอังกฤษจะส่งเรือรบเข้ามาช่วยและขณะนี้เรือรบกำลังเดินทางมาถึงเกาะฮ่องกงแล้ว" ทำให้เบื้องต้นทรงไม่ฟังคำขอร้องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ดูๆแล้วมิสเตอร์ นิวแมน ก็น่ากลัวมิใช่น้อยเลยนะครับที่พยายามในหลายๆเรื่อง และที่มีความกล้าหาญมากคือ "เจรจาแบ่งประเทศสยามเป็น ๓ ส่วนต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ถึงเพียงนี้"


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 11, 12:12
ถ้างั้นเราจะมองได้ไหมว่า การที่เหตุการณ์พลิกผันกลับตาลปัตรไปนั้น เพราะเซอร์แอนดรู คลาค ไปเข้าข้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คือไม่ประสงค์จะแบ่งสยามออกเป็น ๓ ส่วน  ตามที่นายนิวแมน รองกงศุล  ทำตัวเจ้ากี้เจ้าการ     
แต่นายนิวแมนคิดเองเออเอง หรือรับนโยบายมาจากกงสุลน็อกซ์มาอีกทีนั้นไม่รู้   

ลองกลับไปแกะรอยจากนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯอีกครั้ง   เกี่ยวกับนายนิวแมน(หรือนูแมนอย่างที่ทรงเรียก) ก็ได้ความว่าแกมีอำนาจในการตัดสินใจเต็มร้อย

มิสหนอกมอบไว้ในว่าแทน                  การประเทศเขตแคว้นในร่มธง
มีอาญานุภาพสิทธิ์ขาด                      ไทยไม่อาจทำตามความประสงค์
เขารับรองป้องกันมั่นคง                     ...........................

นายนิวแมนคงไม่ได้คิดแผนแบ่งแยกสยามขึ้นมาอย่างปุบปับในช่วงไม่กี่วัน    น่าจะเป็นความคิดที่มีกันมานานแล้ว  รู้กันกับกงศุลน็อกซ์
ก็อาจจะมองได้อีกทางว่า  ถ้าแบ่งแยกกันได้เมื่อใด    กรมพระราชวังบวรฯ ก็จะทรงอยู่ในฐานะ "นอมินี" ของกงศุลอังกฤษ   เรื่องราวคงจะไม่จบกันได้ง่ายๆ
ก็นับว่าเป็นโชคของทางฝ่ายสยาม ที่เซอร์แอนดรู คลาค ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 11, 15:24
คัดจากหนังสือ Studies in Southeast Asian art: essays in honor of Stanley J. O'Connor - หน้า137, Cornell University
ระบุเหตุการณ์วิกฤตวังหน้าไม่กี่บรรทัด แต่ท้ายสุดเซอร์แอนดรู คลาคได้สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 11, 15:26
แสดงเนื้อความไปในทางเดียวกันว่าเซอร์แอนดรู คลาค  สนับสนุนทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ   ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกสยามออกเป็น ๒ หรือ ๓ ส่วน

Even his father failed to negotiate.... ???
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จสวรรคตไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๔   ในที่นี้คนเขียนเข้าใจผิดว่ายังมีพระชนม์อยู่ หรือเข้าใจว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯคือพระราชบิดา ก็ไม่ทราบ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 11, 15:55
ฉบับเต็มข้อความครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 11, 17:25
อ่านความเต็มๆ แล้ว  ก็ยังเข้าใจเท่าเดิมค่ะ   :-\

กลับไปอ่านนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ อีกครั้ง  เผื่อจะแกะรอยบรรยากาศหรืออะไรอย่างอื่น ระหว่างวรรคได้   ก็ได้ความมาว่า

๑ (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17595;image)
   (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17596;image  )

เจ้านายในยุคนั้นบรรทมดึกมากเกือบรุ่งเช้า   เพราะใช้เวลากลางคืนแทนกลางวัน   เมื่อเรือของวังหน้าไปเชิญเสด็จ ท่านเพิ่มจะเข้าบรรทม   ถูกเร่งให้รีบลงเรือแต่ลำพัง   เพราะใกล้รุ่ง
   น่าสังเกตว่าในท้องน้ำ  ยังสัญจรกันไปมาตามปกติ   ทางวังหลวงไม่ได้สั่งระวังใครเดินเรือผ่านพระบรมมหาราชวังแต่อย่างใด   ท่านจึงเสด็จลงเรือจากท่าน้ำแถว ASTV  ผ่านวังหน้า วังหลวง ไปถึงสถานกงศุลที่อยู่ลงไปทางใต้ได้อย่างปลอดโปร่ง
   พอไปถึง ทรงพบเจ้าจอมมารดา พระเชษฐาและพระขนิษฐา ล้วนแต่ "ยังไม่สร่างโศกาด้วยอาลัย" แสดงว่าแต่ละพระองค์ล้วนแต่กำลังอยู่ในอารมณ์ทุกข์โศก   ต่างก็ทรงรู้ว่าโทษฐานกบฏ หนักหนาสาหัสขนาดไหน

ป.ล.  ผิดพลาดทางเทคนิค  คำที่โพสตกหายไปทั้งย่อหน้า เพิ่งเห็นเลยเข้ามาแก้ไข


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 11, 20:34
นอกจากนี้แล้ว เซอร์ แอนดรู คลาก ยังได้บีบบังคับให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญยอมรับข้อเสนขอองวังหลวงอีกด้วย เพราะถ้าไม่ยอมจะถูกไล่ออกจาก "....ธงอังกฤษ..."

มิสหนอกมอบไว้ในว่าแทน                  การประเทศเขตแคว้นในร่มธง
มีอาญานุภาพสิทธิ์ขาด                      ไทยไม่อาจทำตามความประสงค์
เขารับรองป้องกันมั่นคง                     ...........................

ผมตีความว่า “ในร่มธงอังกฤษ”  คือ เขตที่เป็นอังกฤษมีเอกสิทธิ์ ตามสญธิสัญญาทางการทูตอันเป็นที่ยอมรับระหว่างนานาประเทศ สถานทูต หรือสถานกงสุลถือเป็นเขตที่รัฐบาลต่างชาติเข้ามาตั้งทำการอยู่ สามารถชักธงชาติ ประกาศการเป็นเจ้าของครอบครองสถานที่นั้น รัฐบาลเจ้าของประเทศไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่าย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ทำให้ตัดสินพระทัยนำครอบครัวและบริวารเสด็จไปขอลี้ภัยทางการเมืองสถานกงศุลอังกฤษตามนัยดังกล่าว เป็นการชั่วคราว ไม่มีตรงไหนระบุว่า ทรงถลำไปขอเป็นสัปเยก ยอมสละสัญชาติไทยไปอยู่ใต้บังคับของรัฐบาลอังกฤษ   สุดแล้วแต่อังกฤษจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไร.
  


"พระบัณฑูรเสด็จออกจากวังหน้าไปประทับในกงสุลอังกฤษ   และประกาศว่าพระองค์อยู่ใต้บังคับของรัฐบาลอังกฤษ   สุดแล้วแต่อังกฤษจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไร...."

ตรงนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ไส่ไข่ให้ท่าน หรือเอาความมาจากที่เล่าเติมเสริมแต่งกันทางฝ่ายผู้ชนะ มาเล่าต่ออีกที โดยไม่สนใจที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อความเป็นธรรมต่อฝ่ายผู้แพ้


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 21 มี.ค. 11, 20:41
มีประวัติการรับราชการของมิสเตอร์วิลเลียม เฮนรี่ นิวแมน (Mr. William Henry Newman) นิดหน่อย
จึงขอลงเพื่อเติมเต็มความรู้ครับ

-วันที่ ๑๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๐๑                                      นักเรียนล่ามสถานกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๕                                         ผู้ช่วยล่ามชั้นที่ ๒ กองสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๕                                    ผู้ช่วยล่ามชั้นที่ ๑ กองสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๘ ถึง วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๔        ทำหน้าที่แทนล่าม
-วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๕    ทำหน้าที่แทนกงสุลใหญ่
-วันที่ ๑๕ มีนาคม ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕                    ทำการแทนล่าม
-วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ ถึงวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๘    ทำการแทนกงสุลใหญ่
-วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ ถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓       ทำการแทนกงสุลใหญ่
-วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๙                                          รองกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-วันที่ ๑๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๒๗                                      กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๓                                      เกษียณอายุราชการ

(ที่มา-รายงานการประชุมเสนาบดีสภา ร.ศ. ๑๑๓)


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 11, 21:14
ต่อจากค.ห. 57

ได้ช่วยกันผันผ่อนอพยพ    มาระคนสมทบไว้ตามควร

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17602;image)

     กลอนนี้ระบุว่ามีคนไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯในสถานกงศุลมิได้ขาด   ก็คงเป็นทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในของท่าน  บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามคงพากันไปทั้งหมด   กรมหมื่นสถิตย์ฯ ถึงทรงเปรียบเปรยว่า  ร้องไห้ฟูมฟายน้ำตาตักได้เป็นขันสองขัน      
     ทำให้ดูออกว่า ยังไม่มีพระบรมราชโองการให้จับกุมคุมขัง หรือริบราชบาตรพระบวรวงศานุวงศ์ทั้งในวังหน้าและวังอื่นๆทั้งสิ้น    ทุกองค์และทุกคนสามารถจะไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯได้เหมือนปกติ     ไม่มีใครขัดขวางห้ามปราม
     ผิดกับทางฝ่ายหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด   ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถ่ายทอดจากคำบอกเล่าของท่านพ่อ ม.จ.คำรบ ปราโมช อีกที  ว่า  เมื่อม.จ.ฉวีวาดหนีออกนอกพระราชอาณาจักร  เป็นโทษอุกฤษฎ์   ทางราชการก็ไปจับตัวญาติสนิทมาลงโทษแทนถ้าจับผู้ต้องหาไม่ได้
คนที่โดนเข้าคือหม่อมแม่ของม.จ.ฉวีวาด  ซึ่งเป็นมารดาของม.จ.คำรบ  ถูกเฆี่ยนหลัง ๓๐ ที จำสนม (คือถูกคุมขัง) และริบทรัพย์สินบริวารที่เรียกว่าริบราชบาตร
     ตอนนั้นม.จ.คำรบอายุ ๘ ขวบ  ตื่นขึ้นมาตอนดึก เจ้าพี่ผู้หญิง ๔ องค์ และหม่อมแม่รีบเก็บข้าวของกันอลหม่าน   ตอนเช้าเจ้าพี่ทุกองค์ก็ทรงย้ายจากตำหนัก  เข้าไปอยู่ในวังหลวง พึ่งพระบารมีพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ (พระวิมาดาเธอฯ)  บ่าวไพร่ก็หลบหนีไปหมด  ไม่มีใครเอาใจใส่เด็กอายุ ๘ ขวบ    
     ท่านถูกทิ้งนั่งร้องไห้อยู่องค์เดียวจนเที่ยง  หม่อมยายคือหม่อมของหม่อมเจ้าทับทิมในกรมพระราชวังหลัง ก็เข้ามา   พอเห็นก็อุ้มท่านออกจากตำหนักไปอยู่ที่วังของท่านตาซึ่งเป็นบ้านหลังเล็กๆ  อยู่ติดกับวัดราชนัดดา
     ท่านตาหม่อมเจ้าทับทิมสิ้นชีพิตักษัยไปนานแล้ว  เหลือหม่อมยายซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมขาย   มีบ่าวออกเดินเร่ขาย  ชีวิตลำบากยากจน กินอยู่อดๆอยากๆ      ท่านยายสอนให้หลานชายเก็บพุทราหน้าบ้านใส่กระทงไปเดินขายหารายได้   กระทงละอัฐ    ท่านก็ไปเดินขายหน้าโรงบ่อนโรงหวย  ได้เงินมาก็เอามาให้ยาย  ส่วนหม่อมแม่ก็ไม่ได้ข่าวคราวเลย  รู้แต่ว่าติดสนมหรือถูกคุมขัง
     บรรดาคนที่ซื้อพุทรา  ไม่มีใครรู้เลยว่าเด็กน้อยเดินเร่ขายพุทรานั้นเป็นถึงหม่อมเจ้า  พระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 11, 21:27
    ก็ยังนับว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และพระบวรวงศานุวงศ์ยังโชคดีอยู่มาก ที่มิต้องเผชิญชะตากรรมขนาดหนักอย่างแบบข้างบนนี้     ในกลอนบอกว่า
    อันอาการกายานั้นผาสุก              แต่ใจทุกข์ยิ่งอย่างปางปฐม

   กายสุข แต่ใจทุกข์    ทุกท่านก็คงจะหวาดวิตกทุกข์ร้อน ไม่น้อยกว่ากันในช่วงเวลาเกือบ ๒ เดือนที่เกิดวิกฤตวังหน้า   มีข่าวดีเข้ามาก็ค่อยสบายใจ   มีข่าวร้ายเข้ามาก็หดหู่เศร้าหมองกันไปอีก  ก็คงอกสั่นขวัญแขวนกับอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะลงเอยกันอย่างไร

     แม้ฟังความงามดีค่อยคลี่คลาย                 แม้ข่าวร้ายใครมาเล่าก็เศร้าทรวง

    ข่าวลือในสมัยนั้นคงแพร่สะพัดกันอลหม่านไม่รู้ว่าข่าวไหนเป็นข่าวไหน   ในเมื่อขุนนางวังหน้าและข้าราชบริพารสามารถเข้าสถานกงศุลได้ตามสะดวก ไม่ถูกห้ามปราม   ก็คงมีข่าวมาทูลเจ้านายทุกวัน   ดีบ้างร้ายบ้าง จริงบ้างลือบ้าง  จะไม่ฟังก็ไม่ได้เพราะต้องรู้ข่าวคืบหน้า  แต่ฟังแล้วก็ยิ่งร้ายเข้าไปอีก
     
      (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17603;image)


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 11, 22:38
ต้องขออธิบายเพิ่มว่า  หม่อมเจ้าฉวีวาดท่านไม่ได้โดนข้อหากบฏในพระราชอาณาจักรตรงๆ      ถ้าอย่างนั้นโทษอาจจะหนักกว่าริบราชบาตร   ความผิดของท่านที่กระทำแบบจับได้คาหนังคาเขา  คือท่านเสด็จออกไปเกินเขตเสาหินทั้งสี่ของพระนคร 
สมัยนั้นกรุงเทพฯยังมีหลักเขตสี่ทิศ  คือมีเสาหินปักอยู่เหนือใต้ออกตก เป็นเครื่องหมายสุดเขตเหมือนเสาหินปักเขตที่ดินสมัยนี้
พระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จไปไหนตามพระทัยชอบในพระราชอาณาจักรไม่ได้    ถ้าเสด็จออกพ้นเสาหินดังกล่าวต้องกราบถวายบังคมลา และได้รับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน  ไม่งั้นเจอโทษหนัก ถือว่าเป็นโทษกบฎ
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดละเมิดกฎข้อนี้อย่างชัดเจน    เสด็จลงเรือหนีออกนอกเขตสยามไปถึงเขมร  ถือว่าทำผิดเห็นๆ  โดยไม่ต้องไต่สวนสืบสาวเรื่องราวให้เยิ่นเย้อยืดยาว   

กฎข้อนี้   เจ้านายในชั้นหลังเช่นพระนางเจ้าสุว้ทนาในรัชกาลที่ ๖ ยังทรงรักษาเคร่งครัด     เมื่อเสด็จไปประทับพักร้อนที่หัวหิน ก็ต้องมีหนังสือกราบบังคมลาพระเจ้าอยู่หัวทุกครั้งไป    เรื่องนี้ขอให้คุณ V_Mee เล่ารายละเอียดจะดีกว่า


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 22 มี.ค. 11, 02:56
รบกวนสอบถาม อ.navarat.c ครับว่า ในนิราศนี้ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ มจ. ฉวีวาด หนี บ้างหรือเปล่าครับ หากสาเหตุเกิดจาก มจ. ฉวีวาด เรื่องวังหลวงกับวังหน้าคงไม่จบง่ายๆแน่  ส่วนที่ท่านหนี เป็นไปได้ไหมครับว่า มจ.ฉวีวาดท่านก็สร้างโจทย์ไว้เยอะ หลักๆ ก็ กรมพระพิชิต เรื่องขันหมาก  จนท่านต้องไปอยู่วังหน้า  และกรมขุนวรจักรก็เพิ่งสิ้น วังหน้าก็หนีไปอยู่กงศุล หากท่านอยู่ก็คงต้องโดนแน่ๆ อาจจะละครไปหน่อยนะครับ แต่เป็นความเห็นเล๊กๆครับ  และระดับ ท่านคึกฤทธิ์ จะผ่านเรื่องนิราศกรมหมื่นสถิตย์ ไปเขียน โครงกระดูกในตู้ได้อย่างไร หรือมีสาเหตุใดครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 07:10
ตัวอย่างเสาหิน หลักเขตแดนสยาม


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มี.ค. 11, 07:34
อ้างถึง
รบกวนสอบถาม อ.navarat.c ครับว่า ในนิราศนี้ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ มจ. ฉวีวาด หนี บ้างหรือเปล่าครับ หากสาเหตุเกิดจาก มจ. ฉวีวาด เรื่องวังหลวงกับวังหน้าคงไม่จบง่ายๆแน่  ส่วนที่ท่านหนี เป็นไปได้ไหมครับว่า มจ.ฉวีวาดท่านก็สร้างโจทย์ไว้เยอะ หลักๆ ก็ กรมพระพิชิต เรื่องขันหมาก  จนท่านต้องไปอยู่วังหน้า  และกรมขุนวรจักรก็เพิ่งสิ้น วังหน้าก็หนีไปอยู่กงศุล หากท่านอยู่ก็คงต้องโดนแน่ๆ อาจจะละครไปหน่อยนะครับ แต่เป็นความเห็นเล๊กๆครับ  และระดับ ท่านคึกฤทธิ์ จะผ่านเรื่องนิราศกรมหมื่นสถิตย์ ไปเขียน โครงกระดูกในตู้ได้อย่างไร หรือมีสาเหตุใดครับ

คุณnatadolครับ

นิราศกรมหมื่นสถิตย์มีเนื้อความเท่าที่เห็น และผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครที่ไม่ใช่ลูกหลานของท่านจะได้อ่าน เพราะท่านไม่ได้เขียนแล้วนำออกเผยแพร่ตีพิมพ์ นอกจากประสงค์จะให้เชื้อสายที่เกิดหนหลังจะได้ทราบความจริงของบรรพบุรุษ

สมัยนั้นหรือสมัยนี้ก็คงเหมือนกัน ความเชื่อบางเรื่องเมื่อคนปักใจแบ่งฝ่ายแล้ว ต่อให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวร้ายจะชี้แจงอย่างไร  ก็ยากที่อีกฝ่ายหนึ่งจะเชื่อ จนเมื่อไรเปลี่ยนยุค อคติของคนเปลี่ยนไปจนใจเป็นกลางเพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรแล้ว ข้อเท็จจริงต่างๆจึงจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ดังนั้นเมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯพระราชทานอภัย เรื่องจบลงแล้วก็ควรจบ ไม่ควรรื้อฝอยหาตะเข็บให้ระคายใจต่อกันอีก กรมหมื่นสถิตย์ท่านจึงเอานิราศของท่านใส่ตู้ตีตรา จวบจนสิ้นพระชนม์ลูกหลานจึงได้เห็น และคัดลอกกันเอาไว้   สมัยหลัง ปลายๆรุ่นหม่อมราชวงศ์ซึ่งเป็นหลานปู่  จึงพิมพ์แจกกันวงแคบๆในวันฉลองอายุบ้าง (ดังฉบับที่ผมได้ไว้) ลูกเอาไปพิมพ์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพแม่บ้างดังที่คุณเอนก นาวิกมูลได้ไว้ แม้ว่าคุณเอนกจะเอาไปพิมพ์ต่อในหนังสือแนวตำนานประวัติศาสตร์ เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้แพร่หลายมากนักอยู่ดี ผมจึงคิดว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่น่าจะได้อ่านนิราศฉบับนี้มาก่อน

เรื่องของหม่อมเจ้าฉวีวาด ถ้าถามผม ถ้าพิจารณาข้อมูลจากเรื่องโครงกระดูกในตู้ว่าท่านยกครัวเรือนที่เป็นละครหลายสิบคน ลงเรือหนีไปเขมรในวันรุ่งขึ้นของคืนที่กรมพระราชวังบวรฯเสด็จหนี ก็เชื่อได้ว่าเป็นแผนที่เตรียมไว้นานแล้วว่าจะย้ายสัมโนครัวไปเขมรกันด้วยเหตุอะไรก็ตาม แต่ไม่เกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรฯ เป็นเรื่องบังเอิญที่มาพ้องกันพอดี เป็นเหตุง่ายที่นักเล่าทั้งหลายจะเอาเข้ามาผูก เพื่อเพิ่มน้ำหนักทางร้ายให้แก่วังหน้า แล้วโพทนาต่อๆกันไป (ตอนนั้นก็มีสงครามข่าวสารเช่นในสมัยนี้เหมือนกันแหละครับ ข่าวอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ก็ปรุงความเท็จลงไปให้มีสีสรรน่าเชื่อถือหนักแน่น เพื่อจะได้ใจจากพวกที่ยังไม่ตัดสินใจจะเข้าข้างใคร) เมื่อวิกฤตการณ์ยุติลง เจ้านายวังหน้าก็ก้มหน้าปิดปากไม่ต่อคำใครอีก และไม่มีใครทางวังหน้าได้รับพระราชอาญาจากคดีนี้  การที่หม่อมเจ้าฉวีวาดโดนเข้าไปเต็มๆ ผมก็เชื่อเหมือนกันว่ามาจากการพาลครหนีไปเขมร สมัยนั้นเรื่องน่าจะจบ คนก็ลืมๆไปแล้ว เผอิญท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านไปเอาโครงกระดูกในตู้ของตระกูลท่านมาปัดฝุ่น เรื่องก็เลยฟุ้งขึ้นมาอีก


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มี.ค. 11, 07:38
ผมไม่มีเวลาจะช่วยท่านเป่าฝุ่นให้ฟุ้งต่อ ถ้าไล่พ.ศ.ว่าเขมรยังคงเป็นเมืองขึ้นของไทย หม่อมเจ้าฉวีวาดอาจจะไปทำให้ราชสำนักเขมรอยู่ไม่สุข สยามคงไม่เคารพในสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของเขมรเหมือนกงศุลชาติต่างๆในกรุงเทพ น่าจะกดดันอะไรไปบ้าง และอาจเป็นน้ำหนักอีกประการหนึ่งที่เขมรหันไปเสนอตัวให้ฝรั่งเศสที่ได้ญวนเป็นเมืองขึ้นไปแล้ว คุ้มครองตน โดยจะขอส่งส่วยให้ฝรั่งเศสแทน เวลาพระเจ้านโรดมเสด็จไปเยือนไซ่ง่อน ได้รับการต้อนรับเฉกเช่นพระราชา ประทับนั่งเก้าอี้ ยืนข้างเคียงฝรั่งโดยไม่ต้องหมอบคลานเหมือนกับมาราชสำนักสยาม

เราจึงต้องเผชิญหน้ากับฝรั่งเศส แล้วบานปลายมาจนถึงการเสียค่าปรับ เสียดินแดนของเราแท้ๆในที่สุด


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 08:47
จะขอหยิบยกเหตุการณ์วังหน้าที่กล่าวไว้ใน Life of Lieutenant General the Honorable Sir Andrew Clarke โดย Robert Hamilton Vetch ซึ่งพูดในทำนองเดียวกันอย่างที่เราเข้าใจกัน โดยเนื้อหาจากมิสเตอร์นิวแมน ระบุถึงความขัดแย้งวังหลวง-วังหน้า และโทรเลขไปยัง Sir Andrew Clarke ให้นำเรือรบมาช่วยแก้ปัญหา และข้อความยังระบุว่า มิสเตอร์นิวแมนเข้าข้างวังหน้าเกินไป พร้อมด้วยพระราชหัตถเลขาทางโทรเลขอธิบายเหตุการณ์เบื้องต้นว่า วังหลวงไม่มีการคิดร้ายใดๆต่อวังหน้าเลย


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 08:56
การเข้าเฝ้ากินเวลากว่า ๓ ชั่วโมง ตามเนื้อความ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุจอมเกล้าฯ ได้ทรงอธิบายเรื่องจำนวนทหารในวังหน้าประกอบด้วย


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 09:09
พระราชหัตถเลขาถึง Sir Andrew Clarke เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับวังหน้า


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 09:30
รบกวนสอบถาม อ.navarat.c ครับว่า ในนิราศนี้ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ มจ. ฉวีวาด หนี บ้างหรือเปล่าครับ หากสาเหตุเกิดจาก มจ. ฉวีวาด เรื่องวังหลวงกับวังหน้าคงไม่จบง่ายๆแน่  ส่วนที่ท่านหนี เป็นไปได้ไหมครับว่า มจ.ฉวีวาดท่านก็สร้างโจทย์ไว้เยอะ หลักๆ ก็ กรมพระพิชิต เรื่องขันหมาก  จนท่านต้องไปอยู่วังหน้า  และกรมขุนวรจักรก็เพิ่งสิ้น วังหน้าก็หนีไปอยู่กงศุล หากท่านอยู่ก็คงต้องโดนแน่ๆ อาจจะละครไปหน่อยนะครับ แต่เป็นความเห็นเล๊กๆครับ  และระดับ ท่านคึกฤทธิ์ จะผ่านเรื่องนิราศกรมหมื่นสถิตย์ ไปเขียน โครงกระดูกในตู้ได้อย่างไร หรือมีสาเหตุใดครับ

ดิฉันก็นึกอย่างคุณ natadol ว่าม.จ.ฉวีวาดคงโจทย์แยะ     รู้องค์ว่าอยู่ในสยามไม่ได้นาน จึงเตรียมแผนหนีไปพึ่งเจ้านายใหม่นอกประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว  รอแต่ว่าจะหนีเมื่อใดเท่านั้น   
ก็คงกำหนดวันไว้ในระยะเดียวกัน  พอดีเกิดวิกฤตวังหน้า ท่านก็ไปตอนนั้นพอดี
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านบอกไว้ชัดเจนว่าความผิดของม.จ.ฉวีวาด ไม่ใช่ถูกจับได้ว่าก่อกบฏ  แต่เป็นเพราะออกนอกพระราชอาณาเขตพ้นหลักเสาหิน   ขอลอกมาให้อ่านนะคะ

" ในสมัยนั้น กรุงเทพพระมหานครยังมีเสาหินปักเป็นอาณาเขตอยู่ทั้งสี่ทิศ     ผู้เขียนยังเคยเห็นเสาหินที่ปักอยู่ริมแม่น้ำทางทิศเหนือนั้นปักอยู่ใต้ตลาดขวัญลงมา     ส่วนทางทิศใต้รั้นปักอยู่ก่อนถึงพระประแดง      พระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จจากพระนครเกินเสาหินเหล่านั้นออกไปโดยไม่ได้กราบถวายบังคมลา และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตไม่ได้     ถ้าขืนเสด็จออกไปโดยพลการถือว่าเป็นกบฏ
ท่านป้าฉวีวาดท่านเป็นเจ้านายข้างใน   ซึ่งมีจารีตคุ้มครองหนักหนากว่าเจ้านายฝ่ายหน้าอยู่แล้ว    เมื่อท่านมิได้ไปเพียงนอกเสาหิน โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต   แต่ล่วงเลยออกนอกพระราชอาณาจักรไปถึงเมืองเขมร   โทษของท่านก็เป็นโทษอุกฤษฏ์โดยมิต้องพิจารณาแต่อย่างใดเลย"


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 09:37
แม้ว่า Sir Andrew Clarke จะกลับไปที่สิงคโปร์เรียบร้อยเพื่อเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ที่ประเทศอินเดีย และ Sir Andrew Clarke ยังมีจดหมายถึง Lady Clarke หลังจากมีการเจรจาเรื่องวังหน้าเสร็จสิ้นลง กล่าวชมในความฉลาดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชสาส์นไปยัง Sir Andrew Clarke ซึ่งแสดงถึงมิตรภาพระหว่างกัน ในเนื้อความจดหมายแสดงความขอบพระทัยและ สยามกำลังจะส่งของเข้าร่วมงานนิทรรศกาลที่สหรัฐ และจะส่งของไปให้ท่านเซอร์ด้วยเช่นกัน และยังพระราชทานของที่ระลึกระหว่างกัน ตอนข้อความด้านล่างทรงนำชมชุดเชี่ยนหมากทองคำประดับอัญมณี ส่วนวังหน้าพระราชทานหีบบุหรีให้ Sir Andrew Clarke  และสำหรับ Lady Clarke ได้รับพระราชทานชุดเครื่องพระสำอางค์

สำหรับบุคคลนี้หมายถึงใครครับ "he sent him some of the ashed of his Queen, who died a few months before" ซึ่ง Queen ในที่นี้จะหมายถึงเจ้าจอมท่านใดครับ  ??? เนื่องจากในระหว่างการมาเยือนของ Sir Andrew Clarke ท่านได้กล่าว่า สมเด็จเจ้าพระยานั้น นำท่านไปชมงานพระศพของ Daugther-in-Law ซึ่งเสียชีวิตไป ๒ เดือนที่ผ่านมา



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 10:12
ของที่ระลึกพระราชทานเซอร์แอนดรู คลาค คือหีบหมากทองคำฝังเพชร(อาจจะมีพลอยด้วย) ค่ะ คุณ siamese ไม่ใช่ "นำชมเชี่ยนหมากอัญมณี"
คือพระองค์ท่านก็ทรงทราบว่าฝรั่งไม่กินหมาก   แต่พระราชทานหีบหมาก พร้อมด้วนคำอธิบายว่าจะได้นำไปให้เพื่อนฝูงชม ในฐานะงานฝีมือของช่างทองหลวงแห่งสยาม   และในฐานะของที่ระลึกจาก "มิตรผู้ซื่อตรงของท่าน"  
ทรงกล่าวเหตุผลได้ไพเราะ   น่าภูมิใจแก่ผู้รับจริงๆ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 10:24
ของที่ระลึกพระราชทานเซอร์แอนดรู คลาค คือหีบหมากทองคำฝังเพชร(อาจจะมีพลอยด้วย) ค่ะ คุณ siamese ไม่ใช่ "นำชมเชี่ยนหมากอัญมณี"
คือพระองค์ท่านก็ทรงทราบว่าฝรั่งไม่กินหมาก   แต่พระราชทานหีบหมาก พร้อมด้วนคำอธิบายว่าจะได้นำไปให้เพื่อนฝูงชม ในฐานะงานฝีมือของช่างทองหลวงแห่งสยาม   และในฐานะของที่ระลึกจาก "มิตรผู้ซื่อตรงของท่าน"  
ทรงกล่าวเหตุผลได้ไพเราะ   น่าภูมิใจแก่ผู้รับจริงๆ

ขอบคุณครับ อ.เทาชมพู กระผมก็พลอยนึกถึงชุดพระศรีทั้งชุดประดับอัญมณี เคยผ่านตามาก่อน  :-[ หีบหมากพระราชทานคงงดงามมากนะครับ ตัวอย่างให้ชมสักเล็กน้อยๆพองาม


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 10:52
^
ถ้าเป็นหีบหมากทำนองนี้  ฝรั่งต้องตื่นเต้นกับฝีมือช่างทองหลวงของสยามเป็นแน่

แต่อย่างไรก็ตาม    ยังไม่ได้พระราชทานของชิ้นนี้ในเวลานั้นค่ะ    เพราะจากที่ทรงเท้าความ   เข้าใจว่าคงมีกฎระเบียบอะไรสักอย่างของอังกฤษที่ห้ามข้าราชการของเขารับของกำนัลมีราคาจากต่างชาติ   เป็นสมบัติส่วนตัว  ข้อนี้คงจะเพื่อป้องกันคอรัปชั่น
(ระเบียบข้อนี้ประธานาธิบดีของอเมริกาก็อยู่ในเงื่อนไขนี้เหมือนกัน    ถ้าได้ของอะไรแพงๆ มาจากประมุขรัฐอื่น  ต้องตกเป็นของรัฐ  เก็บไว้ในทำเนียบขาว   ไม่ใช่ของส่วนตัว ที่จะหอบกลับไปใช้ที่บ้านได้)   

พระองค์ท่านจึงทรงกล่าวว่าน่าเสียดายที่พระราชทานได้แต่ของเล็กๆน้อยๆ  แต่วันไหนที่เซอร์แอนดรูพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเกาวนาแห่งสิงคโปร์แล้ว    กงศุลสยามจะนำของที่ระลึกพระราชทานคือหีบหมากทองคำฝังเพชรไปมอบให้
ข้อความในเชิงอรรถคือการอธิบายเพิ่มเติม     หมายเหตุให้รู้ว่าเป็นของที่เซอร์แอนดรูได้รับในภายหลัง   คงจะอีกหลายปีต่อมาเมื่อเกษียณราชการแล้ว   ส่วนพระเถ้าอัฐิของ Queen  ที่ว่ามา    ดิฉันเข้าใจว่าหมายถึงเถ้าพระอัฐิพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือพระนางเรือล่ม ที่สิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๔๒๓


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มี.ค. 11, 11:06

อ้างถึง
ส่วนพระเถ้าอัฐิของ Queen  ที่ว่ามา    ดิฉันเข้าใจว่าหมายถึงเถ้าพระอัฐิพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือพระนางเรือล่ม ที่สิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๔๒๓
^
ตรงนี้ฟังดูหม่างๆอยู่

ตามธรรมเนียมไทย ไม่มีใครเที่ยวเอาอัฐิอังคารของบุคคลที่ตนรัก ไปเที่ยวมอบให้ผู้ที่มิใช่ญาติสนิทของผู้ตาย ฝรั่งคงจะเข้าใจอะไรผิดสักอย่าง อ่านเอกสารฝรั่งแล้วจึงไม่สามารถจะเชื่อทุกอย่างได้


ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไป ผมพยายามทำใจให้เป็นกลางที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยสรุป
 
เหนือสิ่งอื่นใด กรณีย์วิกฤตวังหน้านี้ ผมขอกราบถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าฯแทบพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในพระปรีชาสามารถสมเป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ที่ทรงใช้ความสุขุมคัมภีรภาพ ทั้งอ่อนทั้งแข็ง แก้ไขวิกฤตการณ์ที่มาจากต่างประเทศและในประเทศอย่างสุขุมคัมภีรภาพ สยบข้อขัดแย้งทั้งปวงลงโดยทิ้งความร้าวฉานไว้น้อยที่สุด ส่งให้เกิดพระบารมีจนผู้ใดในแผ่นดินมิอาจทัดทาน และเป็นพลานุภาพให้ทรงปฏิรูประบบระบอบอันล้าสมัยของสยาม ให้เทียมเท่าบรรดาอารยะประเทศได้เป็นอย่างบรรลุผลในรัชสมัยของพระองค์

ในด้านผู้แพ้นั้น ผมเห็นว่า ไม่ว่าจะผิดอย่างใด กรมพระราชวังบวรท่านก็มีเหตุผลรับฟังได้ ในการเลือกที่จะหนีตายไปพึ่ง”ร่มธงอังกฤษ” ในยามที่สถานการณ์เฉพาะหน้าบังคับนั้นไปทีหนึ่งก่อน  แต่เรื่องที่มิอาจปฏิเสธได้ คือท่านได้ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการที่มหาอำนาจจะฉวยเป็นโอกาสปล้นเอกราชของชาติ โดยใช้ตัวท่านนั่นแหละเป็นเหยื่อ

โชคดีที่อังกฤษยังไม่พร้อม เพราะกำลังอยู่ในระหว่างศึกยืดเยื้อกับพม่า และต้องรีบปิดเกมก่อนที่ฝรั่งเศสซึ่งพร้อมกว่า จะเข้ามาหาเหตุแทรกแซง เรื่องร้ายจึงยุติลงอย่างที่เราทราบๆกัน

เหตุการณ์ในระหว่างความตึงเครียด นายนิวแมนจะเล่นเกมการเมืองข้างนอกกงศุลอย่างไร กรมพระราชวังบวรฯจะทรงทราบหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ผมก็ไม่อยากเดา จากนิราศ ก็เห็นได้ว่า นายนิวแมนก็มิได้บอกอะไรทั้งหมด จนฝ่ายที่หิวข่าวรู้สึกได้ว่ามีอะไรที่ดูเหมือนเสแสร้งอยู่เหมือนกัน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มี.ค. 11, 11:08
เมื่อพิจารณาข้อเรียกร้อง๑๐ข้อของกรมพระราชวังบวรฯต่อพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็เป็นเพราะไม่เข้าพระทัยพระบรมราโชบายที่จะปฏิรูปการปกครองของประเทศจากระบบที่ล้าสมัย ซึ่งวังหน้าก็เป็นความล้าสมัยประการหนึ่งด้วย เท่าๆกับระบบอำมาตยาธิปไตยของสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อไม่แจ่มแจ้งในพระบรมราโชบายที่คงจะไม่มีการประชุมชี้แจงใดๆมาก่อน จึงเห็นว่าเป็นความอยุติธรรมที่ทรงถูกรอนสิทธิ์ ในขณะที่สมเด็จเจ้าพระยาประกาศแขวนนวมไปปลีกวิเวกอยู่ราชบุรี เพื่อหลีกทางให้กลุ่มสยามหนุ่ม วังหน้าจึงเป็นเป้าของการยั่วยุในขณะนั้น จนเหตุการณ์นำไปสู่จุดวิกฤตที่เราคุยกัน

ข้อต่อรองที่เห็นได้ชัดของกรมพระราชวังบวรฯคือความต้องการจะรักษาสถานภาพของพระองค์ไว้ดังเดิม แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธอย่างชัดเจน และพระราชวินิจฉัยดังกล่าว คนกลาง คือเซอร์แอนดรู คลากเห็นว่าชอบแล้ว ท่านก็หมดทิษฐิมานะที่จะดันทุรัง ยอมรับคำวินิจฉัยโดยอารยะ ตอนจะกลับวังยังได้เสด็จไปลาและขอบพระทัยเซอร์แอนดรู คลาก ที่เข้ามาช่วยให้ทุกอย่างจบลงไปอย่างดีที่สุด และถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งพระองค์เองและโครตตระกูลจวบจนชีวิตหาไม่



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 11, 11:17
ข้อความในเชิงอรรถคือการอธิบายเพิ่มเติม     หมายเหตุให้รู้ว่าเป็นของที่เซอร์แอนดรูได้รับในภายหลัง   คงจะอีกหลายปีต่อมาเมื่อเกษียณราชการแล้ว   ส่วนพระเถ้าอัฐิของ Queen  ที่ว่ามา    ดิฉันเข้าใจว่าหมายถึงเถ้าพระอัฐิพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือพระนางเรือล่ม ที่สิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๔๒๓

จะห่างกันถึง ๕ ปีเลยหรือครับผม ดังพระราชสาส์นลงปี ค.ศ. ๑๘๗๕ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๘ ส่วนพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๔๒๓
ในเบื้องต้นพูดถึง Queen ก็สังสัยเช่นกัน แต่ด้วยระยะเวลาคงไม่ใช่กระมังครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 11:36
อย่างที่คุณ Navarat.C ว่า คือเรื่องเถ้าพระอัฐิของเจ้านายฝ่ายใน   คงไม่พระราชทานไปให้ฝรั่งเป็นแน่     เรื่องนี้อาจเข้าใจผิดอะไรกันสักอย่าง
ส่วนระยะเวลา ไม่เป็นปัญหาค่ะ  ข้อความในเชิงอรรถเขียนเพิ่มเติมทีหลังจดหมาย   เป็นคำอธิบายของผู้เขียนหนังสือ เพิ่มเติมขยายความในตอนหลัง  ไม่ใช่คำอธิบายของเซอร์แอนดรู  เพราะในเชิงอรรถเรียกเซอร์แอนดรูในฐานะบุคคลที่ 3   
เชิงอรรถนี้เขียนห่างจากปี 1875 นานเท่าใดก็ได้ไม่จำกัด -( แก้ไขเพิ่มเติม โดย เทาชมพู)

มีข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งจากนิราศของกรมหมื่นสถิตย์ฯ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17603;image)

กลอนบทนี้บอกให้รู้ว่า การหนีเข้าสถานกงศุลที่ยืดเยื้อไปตั้งห้าสิบกว่าวันนั้นไม่ใช่กำหนดที่คิดกันมาแต่แรก    แต่เวลายืดเยื้อไปเพราะเกาวนาฝรั่งยังไม่เข้ามาสักที      ฝ่ายรอก็รอกระวนกระวายอยู่นั่นแล้ว  หวังว่าจะให้เรื่องจบๆลงไปเสียที
ดิฉันเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่กรมพระราชวังบวรฯ ไม่อาจจะเสด็จกลับออกมาจากสถานกงศุลได้  ก็เพราะแรงเหนี่ยวรั้งจากนายนิวแมน ที่หวังว่าเซอร์แอนดรู คลาค จะมาทำให้แผนการใหญ่เกินตัวของแกเป็นจริง    นายนิวแมนเองก็อ้ำๆอึ้งๆปิดๆบังๆเอาไว้หลายเรื่อง  ไม่ได้บอกกันหมด   แสดงว่าแกก็ไม่ปล่อยให้วังหน้าได้รู้เรื่องทั้ง ๑๐๐ %

เมื่อเรื่องจบลงได้    กรมพระราชวังบวรฯ ก็มิได้ทรงมีทิฐิสิ่งใดอีก  เสด็จกลับบ้านอาจจะอย่างโล่งพระทัยเสียด้วยซ้ำ ที่มิได้กระทบกระเทือนมากกว่านี้     กลอนนิราศที่เป็นไดอารี่บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ให้ลูกหลานรู้ความจริงก็ถูกเก็บเงียบ ไม่ให้เป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บขึ้นมาอีก
หลังจากนั้นเมื่อมีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง     กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จมาทรงกระทำสาบานอย่างราบรื่นเรียบร้อย    และปลีกพระองค์จากการเมืองนับแต่นั้นเป็นต้นมา  
ทรงหันไปสนพระทัยกับงานช่าง งานศิลปะ    ซึ่งคงทำให้สบายพระทัยมากกว่าเรื่องการเมืองหลายเท่าตัว     จากบันทึกของคาร์ล บ็อกก็พอจะเห็นได้ว่า ทรงรักษาไมตรีกับฝรั่งไว้ได้อย่างสนิทสนมเหมือนเดิม   ไม่มีการห้ามปรามกวดขันจากวังหลวง  แต่อย่างใด


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 13:01
สำหรับบุคคลนี้หมายถึงใครครับ "he sent him some of the ashed of his Queen, who died a few months before" ซึ่ง Queen ในที่นี้จะหมายถึงเจ้าจอมท่านใดครับ  ???
เนื่องจากในระหว่างการมาเยือนของ Sir Andrew Clarke ท่านได้กล่าว่า สมเด็จเจ้าพระยานั้น นำท่านไปชมงานพระศพของ Daugther-in-Law ซึ่งเสียชีวิตไป ๒ เดือนที่ผ่านมา

ลูกสะใภ้ของสมเด็จเจ้าพระยา   ไม่ใช่เจ้านาย  จึงไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ว่าพระศพ   
เจ้าคุณแพ ท่านเป็นชั้นหลานปู่ของสมเด็จเจ้าพระยา   ถ้าชั้นลูกสะใภ้ก็ต้องถือว่าแก่กว่าสมเด็จพระจุลจอมเกล้ามาก    และในเมื่อเป็นสะใภ้ก็น่าจะมาจากสกุลอื่น ไม่ใช่สกุลบุนนาค


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 13:12
       ในวิกฤตวังหน้า  มีพระราชหัตถเลขา ๒ ฉบับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีถึงกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโดยตรง    เห็นว่าควรอัญเชิญมาลงไว้ให้อ่านกัน  เพื่อประจักษ์ถึงน้ำพระราชหฤทัยและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกรมพระราชวังบวรฯ
    ร. ที่  ๑๖๕                                                                             สมมุติเทวราชอุปบัต
                                                                                             วัน ๓ ฯ ๑ ค่ำ ๑๒๓๖

ถึง  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

                     ด้วยการเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการใหญ่ไม่เคยมีเลย  ฉันมีความเสียใจมาก  เธอไปอาศัยอยู่ที่บ้านกงสุลอังกฤษนี้ด้วยเหตุใด  ฉันไม่ได้คิดจะฆ่าเธอๆ มีความหวาดหวั่นข้อใด  เธอก็รู้อยู่เองว่าในแผ่นดินเราทุกวันนี้ ผู้ใดไม่มีความผิดใหญ่ที่ควรจะต้องฆ่าแล้ว ก็ฆ่ากันไม่ได้  ด้วยอาศัยความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง  ที่เธอมีความสะดุ้งหวั่นหวาดถึงชีวิต  จะคิดการเกินไปดอกกระมัง  หรือมีความผิดใหญ่อยู่ในใจจึงได้มีความร้อนระแวงกัน  นี่ก็ไม่มีความสำคัญเลย ไม่ควรจะเป็น  ฉันไม่ได้โกรธเธอๆ มาโกรธฉันข้างเดียวฉันเสียใจนัก  เธอทำการถึงเพียงนี้จะพาให้เสียชื่อติดแผ่นดินไปทั้งสองฝ่าย  ก็เธอจะคิดต่อไปอย่างไรจึงจะเป็นการดีการชอบ  อย่าให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนหวั่นหวาดต่อไป  การที่เป็นไปนี้ฉันก็ไม่ทราบชัด  ต่อเจ้าคุณมาบอกว่า เธอกลัวฉันจะฆ่าเธอ  การนี้ฉันไม่ได้คิดเลย  ถ้าเธอคิดเห็นการอย่างไร  จะเป็นการเรียบร้อยสิ้นสงสัยเลิกแล้วเป็นการดี  จงมีหนังสือเป็นสำคัญมาให้รู้ด้วย

                                                                                            Chulalongkorn  R.S.    

     ฉบับที่สอง
     เมื่อปัญหายุติลงแล้ว  มีพระราชหัตถเลขามาพระราชทานกรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดเรือพระที่นั่งมารับเสด็จจากสถานกงศุลกลับไปวังหน้า ให้สมพระเกียรติยศ

          ร.ที่ ๒๑๒                                                                                       สมมุติเทวราชอุปบัต
                                                                                                              วัน ๕ฯ๓ ค่ำ ๑๒๓๖
          ถึงกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

                    ด้วยฉันได้ทราบว่า เจ้าคุณท่านจัดจะให้มาเรือเก๋ง บัดนี้ฉันมีความยินดี ได้จัดเรือเก๋งที่นั่งของฉัน
         ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชคุมมา ขอให้เธอลงเรือนั้นไป จะได้สมควรแก่เกียรติยยศ
                                                                                                               จุฬาลงกรณ์               


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 11, 21:16
     ท่านเจ้าของกระทู้ อาจจะจบกระทู้ของท่านแล้ว      ส่วนดิฉันในเมื่อไปเริ่มเรื่องม.จ.ฉวีวาดเอาไว้    ก็เลยต้องต่อจนจบ ไม่งั้นคนดูอาจจะนึกว่านางเอกหนีไปเขมร  แล้วก็สาบสูญไปไม่ได้ข่าวคราวอีก
     ตามประวัติ  เขมรในตอนนั้นมีสมเด็จนโรดมเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร   พระเจ้านโรดมเคยอยู่ในสยามมาตั้งแต่เล็ก  รู้ภาษาไทยและขนบธรรมเนียมศิลปวัฒนธรรมไทยดี    ตอนอยู่ในกรุงเทพก็มีวังของตัวเอง     รู้จักมักคุ้นกับเจ้านายไทยเป็นอย่างดี
     เมื่อมีเจ้านายไทยหนีไปพึ่งพระบารมี  สมเด็จนโรดมก็รับท่านไว้เป็นฝ่ายใน   และรับละครในของไทยไว้ด้วยความยินดีพระทัยมาก   ในที่สุด  ก็มีพระองค์เจ้าด้วยกัน ๑ องค์ชื่อพระองค์เจ้าชายพานคุลี   
    อย่างไรก็ตาม ม.จ.ฉวีวาดไม่ได้อยู่ในเขมรจนสิ้นพระชนม์อย่างที่บางคนอาจเดากัน    แต่ท่านกลับมาสยามในรัชกาลที่ ๖   เพียงลำพัง      ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่ได้เล่าว่าทำไมท่านถึงกลับ    บอกแต่ว่ากลับมาท่านก็มาบวชชี จนสิ้นชีพิตักษัยเมื่อพระชนม์ได้ 80 ปี   ส่วนพระองค์เจ้าพานคุลียังอยู่ในเขมร แต่เคยเสด็จมาเยี่ยมท่านแม่หนหนึ่งในรัชกาลที่ 6
 


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มี.ค. 11, 10:39

ด้วยความใคร่รู้เรื่องราวของหม่อมเจ้าฉวีวาดต่อ ทำให้ผมต้องค้นหนังสือเกี่ยวกับราชวงศ์เขมรในอดีตมาพลิกๆดู ไม่เจอเรื่องของหม่อมเจ้าฉวีวาด หรือแม้นแต่ชื่อพระองค์เจ้าชายพานคุลี แต่ไปเจอเรื่องของนางสาวแพน เรืองนนท์นางละครคนไทยอีกคนหนึ่ง ที่เผอิญชีวิตพลิกผัน ได้ไปเป็นเจ้าจอมคนโปรดคนหนึ่งในราชสำนักเขมรของพระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ (Preah Bat Sisowath Monivong)
เรื่องของเธอ มีอยู่เยอะแยะ หาอ่านได้ไม่ยากจากเวป ผมจึงไม่ขอฉายซ้ำ แต่จะขอแนะนำเวปนี้ให้ท่านเข้าไปอ่านกันเอง

http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=9328

กระทู้ดังกล่าวโปรยหัวไว้ดังนี้

เจ้าจอมที่ถูกลืมของกษัตริย์กัมพูชา - โศกนาฏกรรมสยาม
กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน


สุภัตรา ภูมิประภาส : นักวิชาการอิสระ
นักวิชาการอิสระที่สนใจในประเด็นสิทธิสตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


บทความนี้ได้รับมาจากผู้เขียน ซึ่งเคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๒
เป็นเรื่องความผันผวนของชีวิตนางละครไทยซึ่งเคยก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิต
ในราชสำนัก แต่ภายหลังคืนกลับสู่สามัญชน ด้วยเหตุผลทางการเมืองอันลึกลับซับซ้อน
ทั้งในส่วนของราชสำนักและการเมืองในเอเชียอาคเนย์สมัยอาณานิคม


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มี.ค. 11, 10:40
รูปประกอบของนางสาวแพน ในวัยหกสิบ ที่คุณเอนก นาวิกมูลถ่ายไว้นี้ ดูเหมือนจะเป็นภาพเดียวของเธอ ที่เผยแพร่อยู่ในหนังสือภาษาไทย และเวปต่างๆ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มี.ค. 11, 10:44
ผมได้เจอรูปเข้ารูปหนึ่งในหนังสือ Picture Postcards of Cambodia 1900-1950 ที่ลงทุนซื้อไว้นานแล้ว เป็นรูปที่บรรยายภาพว่า On the reverse it states that this is an image of a Siamese wife of King Sisowath. November 1905.(ด้านหลัง บรรยายว่านี่คือภาพของพระชายาชาวสยามของกษัตริย์สีสวัสดิ์ พฤศจิกายน ๒๔๔๘)


เมื่อเห็นแล้ว ก็อดที่จะนำมาบรรณาการท่านผู้อ่านกระทู้ของผมในเรือนไทยมิได้ และขอนำลงที่นี่เพื่อแสดงความขอบคุณห้องสมุด “เรือนไทย” ด้วย


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มี.ค. 11, 10:45
พระฉายาลักษณ์ของพระบาทสีสวัสดิ์


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มี.ค. 11, 10:48
ความจริงถ้าจะเขียนเรื่องละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร คุณเพ็ญชมพูและอีกหลายท่านคงช่วยกันเขียนได้ยาว น่าจะแยกกระทู้ออกไปนะครับ (ถ้ามีคนสนใจจะอ่าน)

ส่วนผม ขอจบเพียงเท่านี้แหละครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มี.ค. 11, 11:32
ความจริงถ้าจะเขียนเรื่องละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร คุณเพ็ญชมพูและอีกหลายท่านคงช่วยกันเขียนได้ยาว น่าจะแยกกระทู้ออกไปนะครับ (ถ้ามีคนสนใจจะอ่าน)

ส่วนผม ขอจบเพียงเท่านี้แหละครับ

สนใจใคร่รู้เรื่องราวด้วยครับ การถ่ายทอดของศิลปะการรำ สยาม-กัมพูชาครับ
แนบภาพนางรำในราชสำนักกัมพูชา วาดโดยชาวยุโรปสมัยรัชกาลที่ ๖


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 11, 09:05
                                                                                          
     ฉบับที่สอง
     เมื่อปัญหายุติลงแล้ว  มีพระราชหัตถเลขามาพระราชทานกรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดเรือพระที่นั่งมารับเสด็จจากสถานกงศุลกลับไปวังหน้า ให้สมพระเกียรติยศ

          ร.ที่ ๒๑๒                                                                                       สมมุติเทวราชอุปบัต
                                                                                                              วัน ๕ฯ๓ ค่ำ ๑๒๓๖
          ถึงกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

                    ด้วยฉันได้ทราบว่า เจ้าคุณท่านจัดจะให้มาเรือเก๋ง บัดนี้ฉันมีความยินดี ได้จัดเรือเก๋งที่นั่งของฉัน
         ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชคุมมา ขอให้เธอลงเรือนั้นไป จะได้สมควรแก่เกียรติยยศ
                                                                                                               จุฬาลงกรณ์  
            

พระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึงกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4248.0;attach=17618;image)

 ;D


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 10:15
เชิญอ่านต่อได้ในกระทู้นี้ค่ะ

ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4316.msg81046#msg81046


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 เม.ย. 11, 18:46
ขอบันทึกท้ายกระทู้  แก่ผู้สนใจศึกษา  คือพระนามหม่อมเจ้า พระโอรสธิดาในพระองค์เจ้าเนาวรัตน์  กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์
ราชสกุล นวรัตน

1 หม่อมเจ้าหญิงประไพพิศ
2 หม่อมเจ้าหญิงสถิตย์สถาพร (หม่อมเจ้าหญิงสถิตย์ถาวร) นวรัตน
3 หม่อมเจ้าชายอาภรณ์ธราไภย  นวรัตน
4 หม่อมเจ้าหญิงแจ่มใสฉวี  นวรัตน
5 หม่อมเจ้าชายปรานีเนาวบุตร  นวรัตน
6 หม่อมเจ้าหญิงขนิษฐนารี  นวรัตน
7 หม่อมเจ้าชายนพมาศ ( หม่อมเจ้าชายสุขศรีนพมาศ )  นวรัตน
8 หม่อมเจ้าชายอัมพร  นวรัตน
9 หม่อมเจ้าชายธำรงวรวัฒน์ ( หม่อมเจ้าชายธรรมรง )  นวรัตน
10 หม่อมเจ้าชายบุตรารัตนานพ ( หม่อมเจ้าชายบุตรรัตนานพ )  นวรัตน
11 หม่อมเจ้าประสบภูลเกษม  นวรัตน
12 หม่อมเจ้าหญิงกมลเปรมปรีดา ( หม่อมเจ้าหญิงกมลเปรมปรี)  นวรัตน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 13:41
       ขณะที่วิเคราะห์ การเล่าเรียนของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในอีกกระทู้หนึ่ง      พบว่าท่านไม่น่าจะเป็นศิษย์สุนทรภู่ เพราะลีลาการแต่งบทกวีไม่มีวี่แววกลอน โคลง หรือกาพย์ในแบบสุนทรภู่แม้แต่น้อย   ก็นึกสงสัยต่อไปว่า  สุนทรภู่มีโอกาสถวายพระอักษรพระราชโอรสพระองค์อื่นๆของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯบ้างหรือเปล่า
      จึงย้อนกลับมากลอนของกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ อีกครั้ง

      วิเคราะห์จากกลอนนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ    ก็พบว่าลีลาการแต่งไม่ใช่แนวของสุนทรภู่        สุนทรภู่และศิษย์อย่างนายมี    มีสัมผัสนอกที่เคร่งครัดอยู่อย่างคือ คำสุดท้ายของวรรคส่ง  จะสัมผัสกับคำที่สามของวรรครับ

      แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์                                มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
      ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด                              ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

     ไม่ข้ามไปสัมผัสกับคำที่ห้าและหก  อย่างในกลอนนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ


    พันสองร้อยสามสิบหกศักราช                                แถลงเรื่องที่บำราศนิวาสถาน
ไว้อ่านดูรู้เล่นเป็นนิทาน                                           เยี่ยงอย่างปางโบราณไม่เคยมี   


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 15:33
กลอนเริ่มเมื่อใดไม่ทราบ  แต่สมัยปลายอยุธยามีการแต่งกลอนกันแล้ว  อยู่ในรูปของเพลงยาว ของกวีหลายคนด้วยกัน รวมทั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ด้วย  กลอนบทละครของเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ    กลอนกลบทของหลวงศรีปรีชา ฯลฯ
กลอนพวกนี้ มีจำนวนคำแต่ละวรรค ตั้งแต่ ๗-๙ คำ   สัมผัสก็ลงที่คำที่สองบ้างที่สามบ้าง    ไม่ตายตัว      แต่เมื่อสุนทรภู่ทำให้กลอนตลาดแพร่หลายขึ้นในรัชกาลที่ ๓    กลอนที่มีสัมผัสนอกสัมผัสในเคร่งครัดตายตัวก็กลายเป็นที่นิยม  แต่ละวรรคมีสัมผัส ๒ คู่ ทั้งคู่หน้าและคู่หลัง   ส่วนใหญ่มักเน้นสัมผัสในคู่หลัง
       ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย               ยังไม่เคยชมชิดพิศมัย
       ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย                        จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

       จนกลายเป็นว่าถ้ากวีคนไหนแต่งกลอน ก็จะเดินรอยตามแนวของสุนทรภู่เสียส่วนใหญ่

      แม้แต่ล่วงมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง   พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  พระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  ก็ทรงแต่งกลอนตามแบบกลอนตลาดของสุนทรภู่  ซึ่งมาเรียกกันทีหลังว่า "กลอนสุภาพ"  เห็นตัวอย่างได้จากพระนิพนธ์ "สามกรุง"  ตอนที่ทรงบรรยายถึงสวรรค์ชั้นกวี

      ย้อนกลับมาถึงรัชกาลที่ ๑-๔   กวีอื่นๆร่วมสมัยกับสุนทรภู่ ที่ไม่ใช่ลูกศิษย์   ส่วนใหญ่คือพวกขุนนางสังกัดกรมอาลักษณ์  แต่งกลอนตามแนวโบราณ  คือ ๗-๘ คำ    เห็นตัวอย่างได้จากกลอนเสภาขุนช้างขุนแผน    ไม่เคร่งครัดเรื่องสัมผัสใน  บางวรรคก็ไม่มี   และถ้ามี ก็อาจเป็นคู่หน้าหรือคู่หลังในแต่ละวรรคก็ได้
        กลอนแบบนี้ละค่ะ คือกลอนแบบของกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์

         สละบุตรบริจาเอ้กาสกล                      ลงไปในชลวิถี
     โปร่งปลอดตลอดท้องนที                 เหตุภัยไม่มีมาปะปน

        จึงเห็นว่า นอกจากกรมพระราชวังวิไชยชาญแล้ว   พระอนุชาคือกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ก็ไม่ได้เรียนกลอนแบบของสุนทรภู่เช่นกัน
        (ยังมีต่อ)


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 เม.ย. 11, 15:56
กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ทรงมีผลงานด้ายกวีนิพนธิ์ทิ้งไว้ประปราย ลูกหลานไม่ค่อยจะทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้าง สักสิบกว่าปีมาแล้วผมไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์วังเจ้าฟ้า ห้องชั้นบนที่นั่นแสดงภาพเขียนสีน้ำมันแบบฝรั่ง มีโคลงบรรยายภาพประกอบตามเนื้อหาในพระราชพงศาวดาร งานดังกล่าวเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดให้สร้างขึ้น จำนวนทั้งหมด๙๒ภาพ เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว โปรดเกล้าฯให้ติดแสดงให้ประชาชนชม ในงานออกพระเมรุเจ้านายฝ่ายในหลายครั้ง
 
ปัจจุบันภาพชุดดังกล่าวอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง และถูกนำแยกไปติดตั้งยังสถานที่ต่างๆหลายแห่ง ส่วนที่แสดงอยู่ที่วังท่าพระมีสักสิบกว่าภาพ หนึ่งในนั้นผมแลเห็นภาพหนึ่งปรากฏพระนามของท่านทรงเป็นผู้ประพันธ์โคลงประกอบ จึงได้พยายามจะขอถ่ายภาพโดยรับรองว่าจะไม่ใช้แฟรช แต่ยังไงๆพนักงานที่เฝ้าอยู่ก็ไม่ยอม

หลายปีต่อมาจึงได้หนังสือที่กรมศิลปากรพิมพ์ขึ้น มีทั้งภาพและโคลงบรรยายดังกล่าว ขออนุญาตนำมารวมไว้ในกระทู้นี้ด้วยครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 16:27
รอท่าน NAVARAT  เล่าถึงพระนิพนธ์ในกรมหมื่นสถิตย์ฯ ให้จบก่อน แล้วจะมาเล่าถึงฝีพระหัตถ์ที่เห็นได้จากกลอนพระนิพนธ์

สังเกตว่าใต้ภาพใช้คำว่า พระเจ้าบวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์     ไม่ได้ใช้คำว่า พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ     ไม่เคยได้ยินคำนำหน้าพระนามคำนี้มาก่อน
ไปถามคุณกู๊ก  เธอตอบมาว่า

"คำนำพระนามว่า ‘พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ’ นี้ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕
จนถึงรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดฯ ให้พรองค์เจ้า พระราชโอรสธิดา ๔ รัชกาล แต่ก่อนมา ใช้คำนำพระนามว่า ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ’ และให้ใช้ชั้น ๑ ๒ ๓ ๔ กำกับให้ทราบว่าในรัชกาลใด
ส่วนคำนำพระนามพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ ว่า ‘พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ’ นั้น โปรดฯ ให้ยกไปเป็นคำนำพระนาม พระราชโอรสธิดาฝ่ายวังหน้าตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๔"

โดยส่วนตัวชอบคำว่า พระเจ้าบวรวงศ์เธอ มากกว่า  เพราะอ่านก็เข้าใจทันทีว่าเป็นเจ้านายพระองค์เจ้าของวังหน้า     เพราะวังหลังนั้นหมดพระองค์เจ้าไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ แล้ว


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 เม.ย. 11, 11:01
มีของมีค่าที่ผู้เคารพนับถือในเวปนี้ เมตตาสำเนามาให้ผม เก็บไว้นานแล้วไม่มีความสามารถจะใช้ประโยชน์อันใดจากสิ่งนี้ได้

ขอเอามาฉายเป็นตัวอย่างเพียงสักหน้าสองหน้า ส่วนทั้งหมดจะส่งต่อให้ท่านอาจารย์เทาชมพู เพื่อสกัดออกมาเป็นองค์ความรู้แก่ผู้สนใจต่อไปครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 เม.ย. 11, 11:07
หนังสือนี้เรียกโดยย่อว่า ว.น. (วังหน้า?)

เป็นประหนึ่งพจนานุกรม ศัพท์แสงต่างๆที่เจ้านายวังหน้าสองพี่น้องท่านใช้ในกวีนิพนธ์ของท่าน
มีทั้งหมด๑๘๐หน้า

ขออนุญาตท่านผู้ให้แล้ว ที่จะต่อประโยชน์เพื่อการศึกษา ท่านอนุญาตและอนุโมทนา


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 เม.ย. 11, 11:08
เชิญท่านอาจารย์เทาชมพูต่อเลยครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 11, 12:38
ได้ไฟเขียวแล้ว ก็ขอต่อ  :D

กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ทรงเล่าเรียนกับครูบาอาจารย์ท่านไหนก็ตาม   ครูคนนั้นต้องสอนลูกศิษย์ให้แต่งบทกวีได้เก่ง    และโดยส่วนพระองค์  คงต้องโปรดหนังสือหนังหาอยู่มาก      ถึงได้ทรงทำงานในหอสมุดวชิรญาณมาตลอดพระชนม์ชีพ

นิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ บอกถึงความเป็นกวีของเจ้านายพระองค์นี้ได้หลายอย่าง    อย่างหนึ่งคือมีคนกี่คนที่เวลาบันทึกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานอ่าน  จะเลือกบันทึกเป็นกลอน  แทนที่จะเป็นไดอารี่ หรือจดหมายธรรมดาๆ ที่เขียนง่ายกว่า   ใส่รายละเอียดก็สะดวกกว่า  และเขียนได้ยาวกว่าอีกด้วย
คนที่เลือกทำแบบนี้ มีแต่กวีที่จัดเจนงานกวีมาก่อน  ไม่ใช่หัดแต่ง   หรือนานๆแต่งที     ท่านเชื่อมือตัวเองว่าเรียบเรียงเหตุการณ์ยากๆ เป็นกลอนได้โดยไม่ผิดพลาด  เป็นคนมีใจรักด้านกวีนิพนธ์ พอจะฝากทั้งข้อเท็จจริงและฝากฝีมือไว้ให้ลูกหลานอ่าน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 11, 12:38
ภาษาที่ใช้ มีสัมผัสยากๆหลายคำ  พระองค์ท่านทรงใช้ไม่ติดขัดเลย    บางวรรคเห็นชัดว่า  ถ้าจะเลี่ยงลงท้ายวรรคด้วยเสียงสัมผัสง่ายก็ได้   แต่ก็ไม่ทรงเลี่ยง  ใช้สัมผัสที่ยากกว่าอย่างไม่เกรงจนมุม   
อย่างวรรคท้ายที่ลงด้วยเสียง  อืน    คนแต่งกลอนจะรู้ว่าเป็นคำหาสัมผัสยาก  คำง่ายที่สุดคือคำลงด้วยสระ อา  ต่อมาคือ สระอี 
ตัวสะกดคำตายถือเป็นคำยาก  เขียนให้เพราะก็ยาก    ตัวสะกดคำเป็นหาง่าย  แต่คำเป็นก็มีเสียงยากง่ายต่างกัน  เช่น  คำที่ลงเสียง อืน  เป็นคำยากกว่าคำลงเสียง อัน 

ทหารปืนเล็กใหญ่ทั้งไพร่นาย               มากมายเพิ่มขึ้นทุกวันคืน

ถ้าทรงเปลี่ยนเป็น ทุกคืนวัน    จะหาคำมาสัมผัสในบทต่อไปได้ง่ายขึ้น  แต่ก็ทรงลงด้วย เสียงอืน   และหาคำเสียงอืน อื่นๆมาสัมผัสอย่างไม่จนคำ  ไม่มีคำซ้ำ   และยังได้ความหมายครบถ้วน   ไม่มีการลากคำมาใส่ลงไป  สักแต่ว่าให้รับกัน   

กองตระเวนตรวจกระทั่งถึงวังหน้า           เสียงรถมาลั่นพิลึกจนดึกดื่น
ทั้งคนขี่พาชีมีดาบปืน                        เที่ยวเดินยืนรอบราชวังบวร



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 11, 21:12
นิราศเรื่องนี้ยากกว่านิราศอื่นๆตรงที่ว่า นิราศส่วนใหญ่นั้นเป็นการบันทึกอารมณ์ส่วนตัว จะเขียนมากเขียนน้อยอย่างใดก็แล้วแต่ใจกวี   ไม่มีอะไรมาบังคับ     จะแสดงลูกเล่น คารม โวหารอย่างใดก็ทำได้ตามใจชอบ   อย่างนายนรินทร์ธิเบศร์ก็เพลิดเพลินกับการเล่นอธิพจน์ หรือ hyperbole เสียเกือบทุกบทที่ครวญถึงนาง  แบบเดียวกับศรีปราชญ์ผู้เป็นต้นแบบ  
แต่นิราศเรื่องนี้  กวีถูกจำกัดกรอบด้วยถูกต้องของเหตุการณ์   เพราะวางจุดมุ่งหมายไว้ว่าบันทึกให้ลูกหลานอ่านข้อเท็จจริง ก็ต้องมุ่งไปทางนี้    ซ้ำข้อเท็จจริงที่ว่าก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน   บอกมากไปภัยอาจมาถึงตัว   บอกน้อยไปก็คลุมเครือไม่ชัดเจน    
ข้อกำหนด ที่ทรงวางกรอบไว้   ทำให้เห็นฝีมือกรมหมื่นสถิตย์ฯ ว่าทรงสามารถเรียบเรียงเรื่องราว ทั้งที่ไปที่มาได้ชัดเจน  ลำดับเหตุการณ์ในแต่ละโมงยามได้เป็นระเบียบ     รายละเอียดที่จำเป็นท่านก็เลือกใส่มาได้อย่างเห็นภาพ   เช่นอาการประชวรของกรมพระราชวังบวรฯในคืนนั้น     หรือการลำดับการลี้ภัยที่วังหน้าเสด็จไปก่อน  แล้วจึงส่งคนมาตามท่านไปทีหลัง  
อ่านแล้วก็เห็นถึงความฉุกละหุกและอกสั่นขวัญหายในคืนนั้น     ตัวท่านเองก็คงพระทัยหาย แต่ด้วยขัตติยะมานะ จะมัวละล้าละลังอยู่ไม่ได้  ก็ต้องสะกดกลั้นอารมณ์   ไม่รำพี้รำพันออกมามากมาย   แต่คำไม่กี่คำนั้นก็ทำให้รู้ว่าทรงเป็นทุกข์ห่วงลูกห่วงเมียขนาดไหน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 11, 22:17
เป็นเพราะจุดมุ่งหมายคือเล่าข้อเท็จจริงให้ลูกหลานฟัง     นิราศเรื่องนี้จึงใช้ถ้อยคำเรียบๆ  ไม่เล่นโวหารพริ้งพราย อวดฝีมือกวีอย่างนิราศโดยมาก      แต่การเรียบเรียงคำและความก็แสดงความจัดเจนในการแต่ง   กลอนของท่านลื่นไหลไม่มีตะกุกตะกัก  ไม่มีการใส่คำไร้ความหมายเข้าไป เพียงหาสัมผัสให้ได้ และเรียบเรียงเรื่องได้เนื้อถ้อยกระทงความจนกระทั่งตอนจบ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17612;image)

แต่ก็ยังไม่วายถ่อมพระองค์ ตามขนบของกวีตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์    ว่ามิใช่นักปราชญ์  นักปราชญ์ในที่นี้หมายถึงผู้เชี่ยวชาญหนังสือรวมทั้งแต่งกวีนิพนธ์ได้ด้วย    ไม่ได้หมายถึงนักปรัชญาอย่างโสเครตีส

ในเมื่อทรงแต่งกลอนได้จัดเจน  ก็เชื่อว่าทรงมีผลงานไว้ที่อื่นแน่นอนนอกจากนิราศเรื่องนี้    ก็ได้คำตอบมาจากท่าน Navarat

กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ทรงมีผลงานด้ายกวีนิพนธิ์ทิ้งไว้ประปราย ลูกหลานไม่ค่อยจะทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้าง สักสิบกว่าปีมาแล้วผมไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์วังเจ้าฟ้า ห้องชั้นบนที่นั่นแสดงภาพเขียนสีน้ำมันแบบฝรั่ง มีโคลงบรรยายภาพประกอบตามเนื้อหาในพระราชพงศาวดาร งานดังกล่าวเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดให้สร้างขึ้น จำนวนทั้งหมด๙๒ภาพ เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว โปรดเกล้าฯให้ติดแสดงให้ประชาชนชม ในงานออกพระเมรุเจ้านายฝ่ายในหลายครั้ง
 
ปัจจุบันภาพชุดดังกล่าวอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง และถูกนำแยกไปติดตั้งยังสถานที่ต่างๆหลายแห่ง ส่วนที่แสดงอยู่ที่วังท่าพระมีสักสิบกว่าภาพ หนึ่งในนั้นผมแลเห็นภาพหนึ่งปรากฏพระนามของท่านทรงเป็นผู้ประพันธ์โคลงประกอบ จึงได้พยายามจะขอถ่ายภาพโดยรับรองว่าจะไม่ใช้แฟรช แต่ยังไงๆพนักงานที่เฝ้าอยู่ก็ไม่ยอม

หลายปีต่อมาจึงได้หนังสือที่กรมศิลปากรพิมพ์ขึ้น มีทั้งภาพและโคลงบรรยายดังกล่าว ขออนุญาตนำมารวมไว้ในกระทู้นี้ด้วยครับ



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 11, 22:21
ขอขยายโคลงพระนิพนธ์ให้อ่านกันชัดๆ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 11, 22:37
สิ่งที่มองเห็นจากโคลงนี้ ก็คือกรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงรู้จักใช้ภาษาได้หลายระดับ   ภาษาในนิราศ กับภาษาในโคลง  เป็นคนละระดับกัน   
นิราศเขียนด้วยภาษาเรียบๆ  มีศัพท์ไม่มากนัก  บรรยายให้อ่านเข้าใจง่าย  เป็นระดับภาษาในชีวิตประจำวันในสมัยนั้น      เหตุผลก็อย่างที่ว่าแล้วคือท่านเขียนให้ลูกหลานอ่านในราชสกุลของท่าน    ไม่ได้แต่งเพื่อประกวดประขันหรือแต่งเป็นตำรับตำราอะไร   ก็ไม่ต้องใช้ภาษาวิจิตรพิสดาร

แต่เมื่อมาแต่งโคลงประกอบภาพวาดจากพระราชพงศาวดาร    งานนี้ไม่ธรรมดา  ทำถวาย ฉลองพระเดชพระคุณเจ้านายสูงสุด  และยังมีกวีเด่นๆมาประชันแสดงฝีมือกันอีกไม่รู้ว่ากี่คน     กรมหมื่นสถิตย์ฯ ท่านได้รับคัดเลือกให้แต่ง ก็แสดงว่าท่านต้องมีผลงานก่อนหน้านี้เป็นที่ประจักษ์กันอยู่  จะเขียนอะไรเรียบๆ อย่างไรได้    ดีไม่ดีกลายเป็นจืดสนิทเมื่อเทียบกับฝีมือกวีอื่น    ท่านก็เลยเลื่อนระดับภาษาของท่านขึ้นมาให้เห็นชัด    ให้รู้กันว่า แต่งแบบนี้ไม่น้อยหน้าใคร
โปรดสังเกตคำ

ภูบาลนฤเบศรเบื้อง                รามัญ
เถลิงคชกระโจมสุวรรณ           เวียดล้อม

รามัญ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่ามอญ  แต่หมายถึงพม่า    เรามาใช้ควบกันว่า พม่ารามัญ      เถลิงคช แปลว่าขึ้นช้าง    ถ้าถามว่าเปลี่ยนจากเถลิงคชเป็นขึ้นช้างให้เข้าใจง่ายๆไม่ได้หรือ   คำตอบคือได้ แต่ไม่เพราะ     เพราะว่าโคลงเป็นคำประพันธ์ที่มีจำนวนคำน้อยมาก  โดยลักษณะแล้วบังคับให้รวบรัดอยู่ในตัว บรรยายยืดยาวไม่ได้    กวีผู้แต่งโคลง จึงต้องพิถีพิถันเลือกศัพท์ เพื่อให้โคลงฟังบรรเจิด    คำที่นิยมกันว่าไพเราะก็คือคำศัพท์ที่ต้องแปล  จะเป็นบาลีหรือสันสกฤตหรือเขมรก็ตาม    ไม่ใช่คำง่ายๆอย่างคำไทย
ส่วน เวียดล้อม คือแวดล้อม    กรมหมื่นสถิตย์ฯ ท่านก็ไม่ใช้ภาษาประจำวันในคำนี้อีกนั่นละค่ะ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 11, 17:04
    ศรเพลิงแผลงพลุ่งเปรี้ยง             ปรึงยุทธ
ถอนถีบท้ายเรือทรุด                       ซัดเต้า
สูงส่งกระสุนสดุด                           สเดาะกิ่ง โพธิ์แฮ
ฉินท์เฉียดคเชนทรเจ้า                     เจิดหล้าแหล่งเตลง

ตัวหนังสือสีแดง ที่ทำไว้  เพื่อให้เห็นว่าโคลงสี่สุภาพบทนี้ กรมหมื่นสถิตย์ฯท่านทรงเล่นคำเพิ่ม  คล้ายโคลงกลบท    คือมีอักษรเดียวกันสองตัวซ้อนในบาทที่ ๒ ๓ และ ๔  คือแสดงฝีมือที่แต่งยากหนักขึ้นไปกว่าโคลงธรรมดา     ในแต่ละบาท มีอักษรเดียวกัน ๒ ตัว  และมีเสียงเดียวกัน ๓ เสียงทุกบาท
   บาทที่ ๑    เพลิง แผลง พลุ่ง   เสียง PL
   บาทที่ ๒    ถอน ถีบ  ท้าย      เสียง T
   บาทที่ ๓    สูง ส่ง  (กระ)สุน   เสียง S      สดุด สเดาะ   เสียง SD
   บาทที่ ๔    ฉินท์ เฉียด  (ค)เชนทร        เสียง Sh
  
   กวีที่กล้าเล่นคำ เล่นเสียง ทั้งๆไม่มีข้อกำหนดให้เขียน  คือกวีที่เชี่ยวชาญด้านแต่ง  เคยแต่งบทมามาก    จนกระทั่งรู้สึกว่าถ้าเขียนแบบธรรมดาๆ ไม่มีบังคับอะไรเพิ่มจากบังคับหลัก  รสชาติก็จะงั้นๆ      จึงต้องพลิกเพลงเพิ่มเติมให้มีลูกเล่นพิเศษขึ้นมา  ถือเป็นรสชาติของกวีนิพนธ์


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 11, 21:12
ในร่ายนำของโคลงภาพพระราชพงศาวดาร  ระบุไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชโองการ ให้เลือกจินตกวี ที่ "รู้ถ้วนถ่องทางกลอน  เชิงอักษรเปรื่องปราด"  มาแต่งบทกวีประกอบภาพพระราชพงศาวดาร
กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงได้รับคัดเลือกให้แต่งโคลงถึง ๔ ตอน  แต่ละตอนมีบทโคลงประมาณ ๔-๖ บท     ถือว่าเป็น "การบ้าน" ที่หนักหนาเอาการ  แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงพระปรีชาทางด้านกวีนิพนธ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตในสมัยนั้น


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 11, 21:50
        ก็เพราะว่างานนี้ชุมนุมกวีในรัชกาลที่ ๕     กรมหมื่นสถิตย์ฯ ท่านจึงสำแดงฝีพระหัตถ์เต็มที่    แต่งโคลงมีชั้นเชิง มีโวหาร เล่นศัพท์แพรวพราว  เห็นได้ว่าท่านตั้งพระทัยมากที่จะให้โคลงของท่านเป็นเพชรน้ำงาม  ในกลุ่มเพชรด้วยกัน
         ศัพท์ที่ทรงเลือกมา หลายคำเป็นศัพท์โบราณเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องอดีตหลายร้อยปีก่อน   ศัพท์บางคำจึงย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง  สมัยรัชกาลที่ ๕  เขาไม่แต่งกันแล้ว   อย่างคำว่า"โทรมศราคนี"  ในโคลงข้างล่าง     โทรม คือ รุมหรือระดมยิง     ศราคนี หรือ  ศร + อคนี แปลว่าธนูไฟ     
      คำว่าโทรมที่แปลว่ารุม  คนรุ่นหลังไม่รู้จัก    รอยอินเองก็ไม่เก็บความหมายนี้เอาไว้    เหลือร่องรอยอยู่ในศัพท์กฏหมายอาญา  เป็นคำซ้อน  คือคำว่า  "รุมโทรม" 
       คำนี้สมัยอยุธยา  พบในลิลิตพระลอ  ตอนพระลอกับพระเพื่อนพระแพงต้องธนู สิ้นพระชนม์ทั้งสามองค์
 
            เขาอยู่แต่ไกลบมิใกล้      ให้โทรมยิงสามกษัตริย์     ธ  ก็เอาดาบวัดกระจัดกระจาย


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 11, 22:47
ลักษณะโคลงของกรมหมื่นสถิตย์ฯ ที่มีลักษณะเฉพาะ นอกเหนือจากใช้ศัพท์โบราณ คือโปรดการเล่นศัพท์
ทรงแทรกศัพท์แปลกๆเอาไว้ในโคลงพระนิพนธ์     ศัพท์บางตัวน่าจะเป็นการผูกศัพท์ขึ้นมาเอง  อย่างคำว่า  "เวฬุพ่วง"   เวฬุแปลว่าไม้ไผ่  พ่วง ก็คือโยง อย่างในคำว่า เรือพ่วง     รวมความแล้ว คือไม้ไผ่ผูกโยงเข้าด้วยกัน  ก็คือแพ นั่นเอง

โคลงข้างล่างนี้ทรงบรรยายภาพ ตอนพระมหาธรรมราชาปล่อยแพไฟ    คือปล่อยแพจำนวนมาก ที่จุดไฟไว้  ไปทำลายทัพศัตรู     ทรงระบุว่าเป็นวันขึ้นสิบค่ำ เดือนสี่ ก็ทำแพเสร็จ    แพนั้นราดเชื้อเพลิงจนชุ่ม   พอถึงคืนเดือนมืดไม่มีพระจันทร์ก็จุดไฟที่แพต่อเนื่องกัน แล้วปล่อยตามน้ำไปเผาทำลายทัพเรือของข้าศึก   
ลวก คือ ไหม้จากไฟหรือความร้อน   ก็ยังใช้กันอยู่   อย่าง บาดแผลจากไฟลวก



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 เม.ย. 11, 08:21
     ศัพท์ที่ทรงเลือกมา หลายคำเป็นศัพท์โบราณเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องอดีตหลายร้อยปีก่อน   
ศัพท์บางคำจึงย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง  สมัยรัชกาลที่ ๕  เขาไม่แต่งกันแล้ว   
อย่างคำว่า"โทรมศราคนี"  ในโคลงข้างล่าง     โทรม คือ รุมหรือระดมยิง     ศราคนี หรือ  ศร + อคนี แปลว่าธนูไฟ


ศราคนี  น่าจะแปลว่า  ลูกกระสุนปืนไฟคือปืนคาบชุดมากกว่า
ถ้าพิจารณาจากภาพและยุคสมัยแล้ว   คำว่าปืนของคนไทยสมัยก่อน
หมายถึง ธนู หรือหน้าไม้   เช่น  พระนารายณ์ทรงปืน
ก็คือ พระรามทรงธนู  เป็นต้น  ครั้นต่อมาเมื่อมีปืนฝรั่งเข้ามาใช้ในสยาม
เราก็เรียกปืนฝรั่งนั้นว่า  ปืนไฟ  ด้วยเหตุว่าใช้ไฟจุดชนวนยิงกระสุนออกจากกระบอกปืน
ต่างจากปืนที่มาแต่เดิมที่ใช้แรงจากสายธนูหรือหน้าไม้ดีดส่งกรสุนหรือศรออกไป

คำที่มีความหมายว่า ปืนไฟ หรือ ศรไฟ ที่หมายถึง ปืนไฟของฝรั่งนี้
ยังใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  โดยเฉพาะในการตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางทหาร
ที่อยู่ประจำกรมกองที่ใช้ปืนไฟด้วย


ทราบว่ากรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ทรงเป็นนักเลงกลอนเพลงและสักวาด้วย
คุณเทาชมพูอย่าลืมเอามาลงด้วยนะครับ 
เพลงยาวพระนิพนธ์กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ รวมอยู่ในหนังสือประชุมเพลงยาวภาคที่ ๔
 :)


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 11, 11:26
กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงใช้คำว่า ศร ในโคลงอีกแห่งหนึ่ง  ในรูปที่ ๑๘  พระเจ้าหงษาวดีให้ถมถนนข้ามน้ำ
เสียดายไม่มีรูป   ไม่งั้นคงเห็นว่าเป็นปืนหรือธนู


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 เม.ย. 11, 11:30
^
เจอคำโบราณคำนี้ แปลว่าอะไรครับ อ.เทาชมพู  "เฉนียน"

ถ้าตามกลอนแล้ว "แผลงมหัคนีศร" แผลงใช้กับการโก่งธนู + มหัคนี (ลูกไฟ) + ศร คงแบบนี้ คือ การยิงด้วยธนูไฟ ซิครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 11, 15:03
กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงใช้คำว่า "ศร" ในฐานะอาวุธที่ใช้รุมยิงศัตรูอยู่ ๒ ครั้งในพระนิพนธ์   ครั้งที่ ๒ มีคำว่า "แผลง" ประกอบ  ซึ่งไม่ได้แปลว่าปืนเป็นแน่  เป็นธนูไฟอย่างที่คุณ siamese เข้าใจค่ะ

เฉนียน  มาจากภาษาเขมร  แปลว่า ฝั่ง  หรือฝั่งน้ำ ค่ะ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 11, 15:16
ท่าน NAVARAT.C   ให้การบ้านดิฉันมา 181 หน้า ไม่รวมปก      เป็นต้นฉบับหนังสือ  พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ดีดแบบโบราณ  ซึ่งพิมพ์จากต้นฉบับสมุดไทย   พื้นดำตัวดินสอขาว  หน้าตาทำนองนี้

(http://media.thaigov.go.th/Sitedirectory/471/1786/26218_images.jpg)

มีความเป็นมาว่า เดิมเป็นของพระองค์เจ้าวงจันทร์  พระขนิษฐาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญและกรมหมื่นสถิตย์ฯ   ตกทอดมาถึงกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) พระโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ 
พระองค์เจ้าวงจันทร์ทรงเก็บสมุดไทยและสมุดฝรั่งรวบรวมไว้เป็นจำนวนหลายพันเล่ม  ตกทอดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   โดยมากเป็นสมุดของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  บทละครของเจ้าจอมมารดาเอม  และมีสมุดของกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์รวมอยู่บ้าง

สมุดนี้ถ้าไม่ใช่ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงใช้เวลาแต่งกาพย์กลอน   ก็คงจะเป็นของกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ทรงใช้ในเชิงกวีเหมือนกัน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 เม.ย. 11, 15:37
^
ไว้รอติดตามอ่านด้วยนะครับ  ;)


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 11, 16:02
คุณ siamese  จะช่วยดิฉันทำการบ้านไหมคะ   ;D

ตั้งแต่หน้า ๓ - ๑๒๑ แต่ละหน้าเป็นการรวบรวมศัพท์ในวรรณคดี  จดลง แล้วบอกความหมายของศัพท์     การเรียงศัพท์ไม่ได้เรียงตาม ก.-ฮ.  แต่ก็เห็นได้ว่าบางตอนรวบรวมศัพท์ ที่ตัวอักษรตัวต้นเหมือนกันมารวมไว้เป็นกลุ่ม
น่าเสียดายว่า ไม่รู้ว่าส่วนไหนของสมุดเล่มนี้  ระบุว่าเป็นของกรมพระราชวังบวรฯ และส่วนไหนเป็นของกรมหมื่นสถิตย์ฯ  ก็ได้แต่อ่านไปเดาไป

อย่างแรกคือถามว่าศัพท์พวกนี้มีไว้ใช้อะไร
ดูจากวิธีรวบรวมศัพท์แล้ว   ผู้เขียน (จะเป็นเจ้านายพระองค์ไหนในสองพระองค์นี้ก็ตาม)ทรงศึกษาวรรณคดีหลายเล่มด้วยกัน    แล้วทรงรวบรวมศัพท์ในวรรณคดีเหล่านั้น จดลงพร้อมกับความหมายของศัพท์     จุดมุ่งหมายคือเพื่อจะได้จดจำว่าศัพท์เหล่านี้แปลว่าอะไร    ไม่ได้ลงลึกถึงขั้นว่าศัพท์นี้มาจากบาลีว่าอะไร    ผูกขึ้นมาจากคำอะไรบ้าง  
ดูๆคล้ายเด็กนักเรียนที่จดศัพท์ในหนังสือลงตามที่ครูสอน     ครูบอกไปก็จดไป     แต่เด็กนักเรียนจดคำแปลศัพท์ลงในหนังสือเลยทีเดียว   ส่วนพระองค์ท่านนั้นคงเรียนหนังสือในสมุดไทย ซึ่งไม่สามารถจดลงบนต้นฉบับได้  ก็เลยต้องแยกมาต่างหาก   อาจจดลงในกระดานชนวนก่อน  แล้วมาเรียบเรียงลงในสมุดไทยที่คัดโดยอาลักษณ์อีกที

ศัพท์เหล่านี้คงไม่ได้ทรงจดรวดเดียวหมด   คงจะสะสมไว้นานปี ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนกระทั่งเจริญพระชันษาขึ้น แต่ก็ยังทรงศึกษาวรรณคดีอยู่   จึงจดศัพท์ไว้มากมายนับเป็นร้อยหน้า    เราได้เห็นเล่มเดียว   ของเดิมที่ตกทอดจากพระองค์เจ้าวงจันทร์มาถึงกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เฉพาะที่จดศัพท์แบบนี้ น่าจะมีหลายเล่ม รวมแล้วหลายพันหน้า


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 11, 19:46
     พยายามจะถอดรหัสว่าศัพท์พวกนี้มาจากวรรณคดีเรื่องอะไร    อย่างแรก มีศัพท์ทางด้านพุทธประวัติ   ก็น่าจะทรงจดจากวรรณคดีศาสนาเล่มใดเล่มหนึ่ง (หรือหลายเล่ม)     แต่ไม่ได้มีศัพท์ทางพุทธศาสนาอย่างเดียว   มีศัพท์เทพเจ้าของพราหมณ์ด้วย
จนหน้า ๕ ถึงดูออกว่า มีการอ้างถึงโองการแช่งน้ำ   ในคำแปลคำว่า แผน    คือคำว่า
      ขุนแผนแรกเอาดินดูที่


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 11, 19:55
ศัพท์ที่มาจากโองการแช่งน้ำ   พบอีกหลายคำในหน้า ๑๗   เช่่น ผาหลวง ผาเผือก  ผาหอมหวาน   ศัพท์เหล่านี้เป็นการเรียกชื่อภูเขาต่างๆ  ที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์      ท่านก็ทรงแปลไว้ด้วย  ผาหลวง คือภูเขาใหญ่สุด    ได้แก่เขาพระสุเมรุ   ผาเผือกหรือผาขาว คือเขาไกรลาส    ผาหอมหวานคือเขาคันทมาทย์
อย่างน้อยก็แกะรอยได้ว่า เจ้านายที่รวบรวมศัพท์นี้เคยอ่านโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยต้นอยุธยามาก่อนแน่ๆ
ส่วนศัพท์อื่นๆ มาจากวรรณคดีเรื่องอื่น หลายเรื่อง   ส่วนใหญ่นับแต่อยุธยาตอนกลางลงมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีศัพท์พวกนี้อยู่มาก    จึงไม่แน่ใจว่ามาจากเรื่องไหนกันแน่  หรืออาจจะหลายๆเรื่องรวมกันไป


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 11, 20:43
พอมาถึงหน้า ๒๖ - ๒๘  เป็นการรวบรวมศัพท์ในความหมายคล้ายๆกันมาไว้ด้วยกัน    คราวนี้คงไม่ใช่จากวรรณคดีเรื่องหนึ่งเรื่องใดอีกแล้ว แต่เป็นการจดลงเป็นหมวดหมู่
คำที่ทรงรวบรวมไว้คือศัพท์ที่มีความหมายว่าผู้หญิง    โดยเฉพาะหญิงสาว  บางคำก็หมายถึงผู้หญิงเฉยๆ บางคำก็ชี้เฉพาะลงไปว่าเป็นหญิงงาม
คิดว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์  ทรงรวบรวมศัพท์เหล่านี้ไว้ เพื่อประโยชน์ในการแต่งกวีนิพนธ์   ไม่ใช่จดแบบนักเรียนจดศัพท์จากตำรา   เพราะมีการรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ค้นหาง่าย    ก็แสดงว่ารวบรวมไว้เพื่อใช้ในงานประพันธ์
กาพย์กลอนโคลงฉันท์ต้องอาศัยศัพท์ที่มีความหมายเดียวกัน แต่หลากหลายคำ        เพราะการแต่งบทกวี ไม่นิยมใช้คำซ้ำๆซากๆ    นอกจากไม่เพราะ  ยังแสดงว่ากวียังรู้ศัพท์ไม่กว้างขวางพออีกด้วย  นับเป็นความอ่อนด้อยฝีมือแบบหนึ่ง
ดังนั้นถ้าเอ่ยถึงนาง    เอ่ยว่า พนิดา  หนหนึ่งแล้ว  หนที่สองกวีจะไม่เรียก"พนิดา" ซ้ำซากอยู่อีก   แต่จะใช้ศัพท์อื่นที่แปลว่านางเหมือนกัน เช่นนงราม กัลยา ยุพดี   ฯลฯ   วิธีนี้ใช้กับศัพท์อื่นๆเช่นกัน อย่างคำว่าพระฤๅษี  ในรามเกียรติ์เรียกหลากหลายเป็นพระมุนี  พระโยคี พระนักสิทธิ์   

ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดกวีจึงต้องรวบรวมศัพท์เอาไว้มากๆ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 เม.ย. 11, 20:46
เมื่อได้อ่านเอกสารชิ้นนี้  ผมนึกถึง "คำฤษฎี"  
พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
และเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ทรงพระนิพนธ์ร่วมกัน)

คำฤษฎี เป็นหนังสือประเภทอภิธานศัพท์(ไม่ใช่พจนานุกรม เพราะไม่ได้เรียงตามลำดับพยัญชนะ)
ที่เรียบเรียงโดยอาศัยรูปแบบอย่างคัมภีร์อภิธานทีปิกา  คัมภีร์อภิธานศัพท์ภาษาบาลี
ซึ่งอาศัยรูปแบบการเรียบเรียงมาจากคัมภีร์อมรโกศที่แต่งด้วยภาษาสันสกฤต
คัมภีร์อภิธานศัพท์บาลีสันสกฤต   เป็นคัมภีร์ที่รวมรวมคำศัพท์ที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกันไว้ด้วยกันเป็นกลุ่มๆ
เช่น  กลุ่มคำศัพท์พระพรหม  พระพุทธเจ้า  ภูเขา  น้ำ  ไฟ  ฯลฯ
นอกจากนี้ยังรวบรวมคำศัพท์ที่มีหลายความหมายไว้ตอนท้ายด้วย  (แต่ในคำฤษฎีไม่มีส่วนนี้)

คำฤษฎีน่าจะได้รูปแบบการเรียบเรียงจากคัมภีร์อภิธานทีปิกาและหรือคัมภีร์อมรโกศ
(มีหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๓ คัมภีร์เหล่านี้มีอยู่ในประเทศไทยแล้ว)
อันที่จริงก่อนจะมีคำฤษฎี   เรามีอักษรศัพท์ในจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี
ที่มีลักษณะการเรียบเรียงอย่างเดียวกัน  แต่ยังไม่ได้แยกเป็นหนังสือต่างหาก

ถ้าถามว่าคำฤษฎีและหนังสือวังหน้าเล่มนี้  ทำขึ้นไว้ทำไม  
สันนิษฐานว่า  ผู้แต่งคงจะเรียบเรียงขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการอ่านวรรณคดี
และการแต่งหนังสือ  ผมคิดว่าดีไม่ดี  หนังสือวังหน้าเล่มนี้อาจจะคือคำฤษฎีก็ได้

เมื่อพระยาศรีสุนโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร)แต่งตำราภาษาไทย
ก้ได้รับเอาอิทธิพลจากคำฤษฎีมาด้วย แสดงว่าในหมู่เจ้านายขุนนางสมัยรัชกาลที่ ๕
คงจะรู้จักหนังสือคำฤษฎีกันและคงได้ใช้กันแพร่หลาย



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 11, 23:21
การรวบรวมศัพท์ในช่วงนี้ของเล่ม      เป็นการรวบรวมโดยไม่จัดระเบียบแยกแยะที่มาของคำว่า เป็นบาลี สันสกฤต หรือเขมร     แต่ปะปนกันไปในหน้าเดียว   ไม่เรียงตามอักษร  และการรวมกลุ่มก็มีมากบ้าง น้อยบ้าง   ลักษณะไม่ใช่งานวิชาการ   แต่น่าจะไปทางด้านรวบรวมศัพท์เพื่อเป็นความรู้สำหรับเจ้าของสมุด
ชวนให้คิดว่าศัพท์น่าจะมีที่มาหลายแหล่ง   จากหนังสือวรรณคดีหรือตำราหลายเล่ม      ศัพท์บางคำก็ลงไว้เฉยๆ  ไม่มีคำแปล   เหมือนท่านผู้รวบรวมทรงเจอเข้าในหนังสือไหนสักเรื่อง  แต่ยังหาคำแปลไม่ได้   ก็ทรงทิ้งเอาไว้อย่างนั้นก่อน
เช่นคำว่า พรรณทาษี   และ  อำไพรู
บางคำก็อาจจะแค่จดลงไว้  แล้วยังไม่ได้หาคำแปล อย่างสองคำท้ายในหน้านี้    คือไฉไล และลาวัน    เพราะดูๆแล้วไม่ใช่ศัพท์ยากอะไร   แต่อาจเป็นศัพท์ใหม่    ดิฉันไม่คิดว่าในรามเกียรติ์ อิเหนา และขุนช้างขุนแผนมีคำชมโฉมผู้หญิงว่า ไฉไล หรือลาวัณย์

มีศัพท์แปลกๆหลายคำ นอกจากสองคำข้างบนนี้   ไม่เคยเห็นในที่อื่น  เช่นคำว่า  นงถนิมกาม   นงถนิมเมือง    สองคำนี้มาจากภาษาเขมร   แต่กลายพันธุ์เป็นเสียงไทยไปแล้ว   คำว่า นง ท่านแปลว่า นาง  ถนิม แปลว่า ฟ้า หรือ ประดับ
คำ นงถนิมกาม กับ นงถนิมเมือง   ทรงจัดเรียงอยู่ในกลุ่มคำ ๓ คำ ที่แปลว่า หญิงแพศยา หรือนางนครโสภินี (สะกดด้วย น. ภายหลังเรามาสะกดด้วย ณ)  ซึ่งถูกต้อง    นงถนิมกาม คือนางผู้เป็นเครื่องประดับกามตัณหา    ส่วนนงถนิมเมือง คือนางผู้เป็นเครื่องประดับของเมือง ตรงกับความหมายของ นางนครโสเภณี   หรือนครโสภิณี
 นครโสภินีเป็นคำเต็มของโสเภณี แปลว่าหญิงงามแห่งนคร    เพราะในสมัยพุทธกาล   เมืองบางเมืองเช่นกรุงอุชเชนี  ก็มีโสเภณีเป็นนางงามแห่งนคร  ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาแก่เมืองนั้น   ไม่ได้ถือว่าต้องปราบปรามจับกุมอย่างสมัยนี้ค่ะ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 11, 23:30
ยังไม่จบค่ะ   เอาตัวอย่างหน้าต่อไปมาให้ดู ก่อนจะย่อยให้ฟัง


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 11, 20:52
การอธิบายศัพท์  อย่างในตัวอย่างข้างบนนี้  อธิบายมากบ้างน้อยบ้าง    ไม่เสมอกัน    เหมือนกับว่าท่านทรงได้คำตอบจากผู้รู้หรือจากหนังสือที่ทรงค้นคว้าหาคำตอบมาได้     ก็ให้อาลักษณ์เขียนลงสมุดไทยรวบรวมไว้       แต่ไม่ได้จัดระเบียบมากกว่านั้น
บางคำ ถ้าปรากฏอยู่ในวรรณคดีเล่มไหนก็บอกตัวอย่างจากเรื่องนั้นเอาไว้เป็นที่มาของคำ    เช่นคำว่า บรรเจิด    ก็ทรงจดโคลงลงไว้ทั้งบาท     ว่า
        สิงหาสน์ปรางค์รัตน์   บรร เจิดหล้า  
แต่ไม่ได้บอกชื่อว่ามาจากนิราศนรินทร์    คำว่า รางชาง ก็เช่นกัน   จดโคลงลงทั้งบาท แต่ไม่บอกที่มาว่าหนังสืออะไร    เห็นจะเป็นด้วยว่าไม่จำเป็นสำหรับท่าน  ความประสงค์คือต้องการศัพท์ไว้ใช้งาน    มากกว่าต้องการจดจำว่ามาจากเรื่องอะไร

     ที่ดิฉันคิดว่าทรงรวบรวมศัพท์ไว้ใช้งาน  เห็นได้ในหน้า ๓๑  ทรงรวบรวมศัพท์ที่แปลว่า อ่อน ไว้หลายคำ  
     ชด    = อ่อน   อ่อนในที่นี้คือ งุ้ม น้อม  
     ช้อย   =  อ่อนยิ่งกว่าชด
     เราเอาคำสองคำนี้มารวมเป็นคำเดียว เป็น ชดช้อย   ใช้ในความหมายเดียวกัน   ไม่เคยได้ยินว่า ช้อย เทียบกันแล้ว หมายถึงสิ่งที่อ่อนกว่าชด
เพิ่งเห็นเจ้านายวังหน้าเจ้าของสมุดเล่มนี้ ทรงแจกแจงถึงขั้นละเอียดลออว่า ช้อย อ่อนกว่า ชด    ก็มองเห็นได้อย่างเดียวว่า  ที่ต้องแจกแจงยิบย่อยลงไปขนาดนี้   ก็เพื่อจะได้ใช้คำได้ถูกต้องพอดิบพอดี   ในการแต่งคำประพันธ์ร้อยกรอง พวกโคลงฉันท์กาพย์กลอน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 เม.ย. 11, 21:08
"ชด" ที่จำได้ในเนื้อร้องระบำดาวดึงส์ ตอนหนึ่งว่า

"ราชยานเวชยันต์รถแก้ว      เพริศแพร้วกำกงอลงกต
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด     เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
รายรูปสิงห์อัดหยัดยัน         สุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย"




กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 11, 21:14
หน้าถัดมา รวบรวมคำที่มีความหมายว่า อ่อน อีกหลายคำ    อย่างคำว่า โอน ท่านก็ทรงบอกความหมายไว้ว่า  อ่อน  ยิ่งกว่าชดช้อย     ปัจจุบันเราใช้ในคำว่า โอนอ่อนผ่อนตาม 
ลมุน ลไม ลม่อม พวกนี้แปลว่า อ่อน ทั้งหมด แต่อ่อนกันคนละแบบ    ลมุน ลไม เป็นอ่อนชนิดอ่อนงามเรียบร้อย  อ่อนพอดี (สะกดว่า ภอดี) ส่วนลม่อมนั้นอ่อนนุ่ม อ่อนกลมกล่อม
ลำเภา กับลำยอง ก็อ่อนเหมือนกัน แต่ต่างกันไปอีกแบบ  เชิญอ่านในหน้าที่สแกนไว้ข้างล่างนี้

หน้าต่อๆไป เป็นการรวบรวมคำในแบบเดียวกันนี้ มากบ้างน้อยบ้าง   ไม่ได้เรียงตามอักษร หรือเรียงตามความหมาย 



กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 เม.ย. 11, 21:30
เมื่อได้อ่านเอกสารชิ้นนี้  ผมนึกถึง "คำฤษฎี"  
พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
และเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ทรงพระนิพนธ์ร่วมกัน)

คำฤษฎี

คำนำ
โดยพระดิฐการภักดี เมื่อพิมพ์ครั้งแรก
ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๔

"ข้าพเจ้าได้พบศัพท์ภาษามคธและภาษาอื่นบ้าง  ซึ่งแปลเป็นภาษาไทย  เป็นของพระเจ้าบรมไอยกาเธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร  และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์  ช่วยกันทรงไว้  ข้าพเจ้าจึงได้นำมาให้โรงพิมพ์บำรุงนุกุลกิจเรียบเรียงโดยถูกต้องตามฉบับเดิม  เพื่อจะให้เห็นว่าเป็นของเก่าๆ ของท่านทำไว้เช่นนั้น

หนังสือคำมคธแผลงเป็นสังกฤษแลคำมคธตรง  คำเขมร คำลาว คำโบราณ เก็บมาเรียบเรียงไว้  เพื่อจะให้ชายผู้รักรู้ในการกาพย์ โคลง ลิลศ ฉันท์ เข้าใจจำเป็นแบบอย่างคล้ายกันกับอถิธานศัพท์"


รายละเอียดเข้าไปอ่านได้ในลิ้งก์ข้างล่าง

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5115945/K5115945.html#170 (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5115945/K5115945.html#170)

ตั้งแต่ความคิดเห็นที่ ๑๗๐ เป็นต้นไป

 ;D


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 11, 21:44
คุณเพ็ญชมพูเคยเอาศัพท์จากคำฤษฎี มาลงไว้ในกระทู้เว็บ pantip ก่อนนี่เอง       มีความเห็นเกี่ยวกับพระนิพนธ์วังหน้าเล่มนี้อย่างไรบ้างล่ะคะ

มีศัพท์บางคำในตอนต้นๆ  ลอกมาจากคำฤษฎีแน่นอน   แต่มีไม่มาก    ศัพท์อื่นๆน่าจะทรงรวบรวมมาจากที่อื่น    มีการอธิบายเพิ่มจากคำฤษฎีด้วย เช่นลงโคลงหรือคำร้อยกรองที่มาของศัพท์นั้น   ในคำฤษฎีไม่มี
 
จากที่อ่าน  คิดว่าหนังสือวังหน้าเล่มนี้ พิมพ์ขึ้นจากสมุดไทยหลายเรื่อง  เอามารวมกัน   ไม่ใช่เรื่องเดียว   เพราะวิธีรวบรวมศัพท์มีมากกว่า ๑ แบบ 
เดิมคงจะเป็นสมุดไทยที่เก็บรวมรวมเอาไว้ในที่เดียวกัน    เมื่อนำมาพิมพ์จึงพิมพ์รวมกันไปเป็นเล่มเดียว


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 เม.ย. 11, 22:03
คุณเพ็ญชมพูเคยเอาศัพท์จากคำฤษฎี มาลงไว้ในกระทู้เว็บ pantip ก่อนนี่เอง     

เรื่อง "คำฤษฎี" นี้ คุณกัมม์เขาฝากไว้ในความคิดเห็นที่ ๑๖๙ คงหวังเผยแพร่ให้ผู้สนใจใช้ศึกษา

กลับมาค้นหนังสือ  ได้เรื่อง "คำฤษฎี" 
พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร กับกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
แต่อาจจะไม่ถูกหลักของท่านเดี๋ยวนี้  บอกว่าเป็นคำเก่า เป็นกุญแจไขวรรณคดีไทยของเราเอง   
และอาจจะมีประโยชน์กับผู้ชอบการประพันธ์ฉันทลักษณ์ต่างๆ 
กระทู้ของคุณ เพ็ญชมพู นี้  คงได้เก็บในคลังกระทู้อย่างแน่แท้
จึงขออนุญาตคัด "คำฤษฎี"  ฝากไว้ในห้องสมุดด้วยนะครับ


 ;D


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 11, 22:06
อ้าว ผิดคน  ไม่เป็นไร  ขอบคุณที่ลิ้งค์ให้อ่าน


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 11, 14:57
ในเมื่อเจ้านายวังหน้าผู้รวบรวมศัพท์เหล่านี้ นำศัพท์บางคำมาจาก คำฤษฎีของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ  คำถามต่อไปก็คือ ทรงนำมาในฐานะใด
ดิฉันสันนิษฐานว่า ทรงนำมาในฐานะนักเรียน  เมื่อทรงอ่านคำฤษฎี   หรือเรียนกันตัวต่อตัวกับอาจารย์ผู้ถือคำฤษฎีเป็นตำรา

ดิฉันเคยเล่าไว้ในกระทู้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญว่า  ฉันท์พระนิพนธ์วังหน้า แสดงให้เห็นแนวการศึกษาของพระองค์ท่าน ที่ไม่ใช่มาจากแนวเขียนของสุนทรภู่   แต่มีร่องรอยว่ามาจากแนวของกรมสมเด็จฯ ท่านมากกว่า     
ท่าน NAVARAT ช่วยบวกลบพ.ศ. ให้   แจ้งมาว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิต สิ้นพระชนม์เมื่อพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระชันษา 15 ปี   ส่วนพระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์  พระชันษาเพียง 11 ปี      พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ถ้าทรงศึกษาเป็นศิษย์ก็เห็นจะทันเรียนฉันท์ และวรรณคดียากๆที่ศัพท์ปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์    ส่วนพระองค์เจ้าเนาวรัตน์เห็นจะทรงเรียนไม่ทัน  ยังโตไม่พอ

ดิฉันไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับสำนักวัดโพธิ์ ว่าเมื่อสิ้นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯแล้ว   ใครเป็นผู้สืบทอดการสอนวิชากาพย์กลอน  ตลอดจนได้สมุดไทยของพระองค์ท่านไปสอนลูกศิษย์ต่อ     ได้แต่เดาว่าเป็นสมเด็จในวัดที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้  สืบทอดต่อไปได้   จึงถวายพระอักษรเจ้านายวังหน้า

สิ่งที่พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศทรงศึกษาจากพระอาจารย์ ก็ทรงจดลงเอาไว้ อาลักษณ์เขียนลงในสมุดไทย  เก็บเอาไว้จนทรงขึ้นเป็นวังหน้า   ก็ใช้เป็นตำราประกอบการแต่งกาพย์กลอนโคลงฉันท์ในเวลาต่อมา 
การคิดคำลงในบทกวี ทรงละเอียดลอออย่างยิ่ง  ขนาดคำที่แปลว่า อ่อน  ยังแยกแยะรายละเอียดว่า อ่อนอย่างไรแบบไหน

ศัพท์ในสมุดนี้คงไม่ได้มาในคราวเดียว  อาจจะทยอยได้กันมา   บางคำก็มีอาจารย์อธิบายศัพท์ให้   บางคำอาจทรงไปเจอในสมุดไทยเก่าๆ เข้า  ทรงเห็นแปลกก็รวบรวมไว้  แต่ยังหาความหมายที่ชัดเจนไม่ได้ จึงทรงทิ้งว่างไว้   อย่างในหน้าที่ยกมาข้างล่างนี้
มีคำว่า  เลียมสาร และ  มนิมนา


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 11, 16:47
ความสนุกในการอ่านพระนิพนธ์เล่มนี้ อย่างหนึ่งคือเรียนรู้ศัพท์แปลกๆ  ไม่เคยเห็นที่อื่น     คิดว่าเจ้านายวังหน้าก็คงสนพระทัยในนัยยะนี้เหมือนกัน   ทุกหน้าจึงมีศัพท์แปลกให้เห็นอยู่เสมอ  
ขอยกเอามาหน้าละคำสองคำ   มีคำแปลบ้าง ไม่มีบ้าง

หน้า ๓๓  ลำนักโฉมสวรรค์    ทรงแปลว่า เหมือนโฉมสวรรค์     คือสวยเหมือนนางฟ้า
            รุหาร       ทรงแปลว่า เหมือน
หน้า ๓๔  ประเลห์          ทรงแปลว่า คล้าย   แล้วทรงขยายว่า นักรู้บางแห่งเอาตัว ลอ (หมายถึง ล.) ขึ้นหน้าใส่ไม้เอก เป็นเล่ห์
            (คำว่าเล่ห์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเล่ห์กล   แต่หมายถึงคล้าย หรือเหมือน  เช่นเดียวกับคำว่า เพี้ยง     ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕  เรื่องลิลิตนิทราชาคริต  ทรงใช้สองคำนี้ควบกันไป ว่า "ดำสนิทนิลแล้    เล่ห์เพี้ยงขุนมาร)
            เตรียบ         ทรงแปลว่า เคียง
หน้า ๓๖   มึคำว่า โพรงพราย   ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร  แต่ดูจากบริบทแล้วน่าจะแปลว่า สว่าง    ปัจจุบันมีคำว่า พร่างพราย ซึ่งความหมายเดียวกัน   ใช้ประกอบคำว่า สว่าง


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 11, 19:59
ศัพท์แปลกๆมีอยู่อีกมาก     เช่น
กำนฎ  มาจาก กฎ   
ทำนูล จาก ทูล   
จำโนท มาจาก  โจท   
คำแบบนี้เราเรียกว่าแผลงศัพท์   

นอกจากนี้ความหมายของศัพท์บางคำในรัชกาลที่ ๕  ก็ไม่เหมือนกับความหมายปัจจุบัน
เฉลย  จำเลย        =  ผู้แก้
แก้ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า แก้เชือก หรือแก้เสื้อผ้า   แต่หมายถึงแก้ข้อกล่าวหา   
ที่แปลกคือ คำว่า บริหาร  แปลว่า ผู้แก้ เช่นกัน

(ยังมีต่อ)


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 14:30
       การรวบรวมศัพท์เป็นหมวดหมู่แบบที่่ว่ามา  มีอยู่ต่อเนื่องกันไปแต่ละหน้า    มีหลากหลายตั้งแต่ราชาศัพท์เกี่ยวกับฉลองพระองค์และเครื่องประดับ  ศัพท์ที่แปลว่าช้าง  ม้า พาหนะ    ศัพท์แปลกๆที่เราไม่เห็นในปัจจุบันก็มีให้เห็น เกือบทุกหน้าก็ว่าได้
      อันขยม           =    อัน แปลว่าข้า  ขยม แปลว่าข้า   รวมความว่า ข้าพระเจ้า (หมายถึงข้าพเจ้า)
      ขยมหญิงชาย    =  ข้าหญิงชาย
      ฝ้า                =   ฟ้า   ( ยังเหลือร่องรอยอยู่ในคำว่า "ฝ้าเพดาน"
      ถ้าจะยกมาก็กินเนื้อที่กระทู้ไปอีกมาก   ขอรวบรัดว่าเป็นอย่างนี้ไปจนหน้า ๑๒๑  จึงจบเรื่อง 
      คิดว่าสมุดไทยที่รวมรวมไว้ด้วยกัน  คงจบชุดลงแค่ ๑๒๑ หน้า       ส่วนหน้าต่อมา เป็นข้อคิดเห็นเกี่ยวกับศัพท์ในหนังสือ  ทำขึ้นในภายหลัง    ผู้ที่เขียน ได้ออกความเห็นเกี่ยวกับศัพท์พวกนี้ ในรูปของคอมเม้่นท์เรื่องตัวเขียนว่าชัดไม่ชัด  คล้ายกับท่านทำหน้าที่บรรณาธิการตรวจต้นฉบับ
     อาจจะเป็นกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงออกความเห็นเพิ่มเติมกับต้นฉบับก็เป็นได้   
     ลักษณะที่เขียนแสดงว่าเป็นคนละคนกับผู้รวบรวม   


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 14:42
การอธิบายศัพท์ในลักษณะนี้ไปจบลงในหน้า ๑๓๑  จากนั้นเป็นอนุกรม   ซึ่งเห็นได้ว่าทำขึ้นเพื่อสะดวกในการค้นศัพท์ในหน้าต่างๆ ก่อนหน้านี้  เรียงตามอักษร ก. ถึง ฮ.   ซึ่งก็คงทำขึ้นทีหลังสมุดไทย   
คนทำอาจเป็นเสมียนหรือเลขาฯ  ไม่จำเป็นว่าเจ้าของสมุดไทยต้องทำเอง   สังเกตว่าน่าจะทำขึ้นในระยะหลังเมื่อสมุดไทยของเดิมนำมาพิมพ์เป็นตัวพิมพ์แล้ว

จากต้นฉบับที่ท่าน NAVARAT ให้มานี้     เดิมเป็นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหรือกรมหมื่นสถิตย์ฯ ยังฟันธงลงไปไม่ได้ เพราะทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นกวี   พระชนม์ห่างกันไม่กี่ปี    ก็คงจะทรงเล่าเรียนมาจากสำนักเดียวกัน     ซึ่งเดาว่าเป็นสำนักวัดโพธิ์  เพราะแนวทางการแต่งฉันท์ของกรมพระราชวังบวรฯ ออกมาคล้ายคลึงกับแนวของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส     
ถ้าเรียนกับท่านไม่ทันจบ เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์ไปก่อน     ก็คงจะทรงเรียนกับพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญรูปอื่น ที่สอนเรื่องการกวีได้เช่นกัน        ทั้งกรมพระราชวังบวรฯ และกรมหมื่นสถิตย์ฯ จึงแต่งบทกวีได้    ทรงรู้ศัพท์บาลีและศัพท์โบราณยากๆ ได้ไม่ผิดพลาด


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 22:34
พระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ เท่าที่คุณเอนก นาวิกมูลรวบรวมเอาไว้  มี ๕ เรื่อง
๑   เรื่องลอยกระทงแข่งกับเรือราษฎร  ลงในวชิรญาณวิเศษ
๒   เรื่องขับร้อง   ลงในวชิรญาณวิเศษ
๓   พระราชพิธีฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล
๔   นิราศเรื่องที่เป็นหัวข้อกระทู้นี้
๕   ตำราเล่นหนังในงานมหรสพ   เรื่องนี้ คุณเอนกไม่แน่ใจว่าเป็นพระนิพนธ์ของท่าน หรือของพระองค์เจ้าโตสินี  พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงรู้ตำราเล่นหนังเหมือนกัน

    เรื่องลอยกระทง เป็นบทความสั้นๆประมาณ ๒ หน้า   ทรงบรรยายถึงภาพการลอยกระทงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไว้อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา   ให้รายละเอียดถึงสิ่งเล็กสิ่งน้อยเช่นกระทง ว่ามีรูปอะไรบ้าง    เช่นทำด้วยดอกบัวบานบ้าง   จีบพลับพลึงบ้าง  ทำเป็นเรือหยวกบ้าง    เอาใบตองมาเย็บเป็นกระทงเจิม   มีกระจังและรูปภาพเล็กน้อย   มีธูปเทียนดอกไม้หมากพลูอยู่ในกระทงลอยบูชา


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 11, 09:26
พระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ เท่าที่คุณเอนก นาวิกมูลรวบรวมเอาไว้  มี ๕ เรื่อง
๑   เรื่องลอยกระทงแข่งกับเรือราษฎร  ลงในวชิรญาณวิเศษ
๒   เรื่องขับร้อง   ลงในวชิรญาณวิเศษ
๓   พระราชพิธีฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล
๔   นิราศเรื่องที่เป็นหัวข้อกระทู้นี้
๕   ตำราเล่นหนังในงานมหรสพ   เรื่องนี้ คุณเอนกไม่แน่ใจว่าเป็นพระนิพนธ์ของท่าน หรือของพระองค์เจ้าโตสินี  พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงรู้ตำราเล่นหนังเหมือนกัน

    เรื่องลอยกระทง เป็นบทความสั้นๆประมาณ ๒ หน้า   ทรงบรรยายถึงภาพการลอยกระทงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไว้อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา   ให้รายละเอียดถึงสิ่งเล็กสิ่งน้อยเช่นกระทง ว่ามีรูปอะไรบ้าง    เช่นทำด้วยดอกบัวบานบ้าง   จีบพลับพลึงบ้าง  ทำเป็นเรือหยวกบ้าง    เอาใบตองมาเย็บเป็นกระทงเจิม   มีกระจังและรูปภาพเล็กน้อย   มีธูปเทียนดอกไม้หมากพลูอยู่ในกระทงลอยบูชา

ผมได้คัดลอก "เรื่องลอยกระทงแข่งกับเรือราษฎร" มาให้อ่านกัน หวังว่าคงจะได้ประโยชน์กับผู้สนใจไม่น้อยครับ


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 11, 09:33
ต่อไป.


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 11, 09:37
ต่อไป...


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 08:57
พระนิพนธ์บทความเรื่องนี้ กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงเรียบเรียงลงในวชิรญาณวิเศษ   น่าจะเป็นพระประสงค์ของเจ้านายผู้ทรงทำหน้าที่บรรณาธิการ   ที่จะให้มีผู้รู้ช่วยเขียนเรื่องลงในวารสาร  หมุนเวียนกันไป   
ที่มาก็คือก่อนหน้านี้มีพระราชนิพนธ์เรื่องลอยพระประทีปกระทงหลวง       จากนั้นก็คงลงความเห็นกันว่า มีเรื่องพระราชพิธีหลวงแล้ว ก็น่าจะเขียนเล่าต่อไปว่า ประชาชนเขาลอยกระทงกันอย่างไร      กรมหมื่นสถิตย์ฯ คงจะได้รับคำขอ หรือไม่ก็ได้รับคัดเลือกให้เขียน  ท่านก็เลยทรงเล่าไว้ในหน้าแรก    เก็บความจากประสบการณ์ส่วนพระองค์  และสอบถามผู้รู้ถึงที่มาด้วย

กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงเล่าแบบง่ายๆ เป็นกันเอง เหมือนทรงชวนคุยให้ฟัง    สมกับเป็นเรื่องของราษฎร   เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆถี่ถ้วน เช่นกระทงของชาวบ้านทำด้วยอะไรบ้างก็ทรงแจกแจงให้เห็น  กระทงดอกบัวยังมีอยู่จนทุกวันนี้ แต่วัสดุคงไม่เหมือนกันอีกแล้ว  สมัยนั้นใช้วัสดุจากธรรมชาติ  เพราะมีเหลือเฟือ    กระทงพลับพลึง คิดว่าทำจากกาบพลับพลึง ไม่ใช่ดอก   ดอกมีกลีบเรียวเล็กเป็นเส้น คงไม่เหมาะจะทำอะไร    กระทงหยวกกล้วยยังเคยเห็น เพราะมันเบาลอยน้ำได้   กระทงใบตองก็ยังเคยเห็น  แต่ที่ทำเป็นกระทงเจิม มีกระจังยังนึกภาพไม่ออก  อาจจะต้องขอผู้ที่เคยเห็นมาอธิบาย

ตำนานยกเสาแขวนโคม  ก็เป็นความเชื่อที่แพร่หลาย ว่าเป็นการบูชาพระรัตนตรัยในพรหมโลกและเทวโลก  บูชาพระเกตุธาตุที่เจดีย์จุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์   เช่นเดียวกับการลอยกระทงเพื่อขอขมาลาโทษแม่พระคงคา ที่ได้ใช้น้ำ และถ่ายเทของเสียลงน้ำมาตลอดปี
กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงรวบรวมความเชื่อของชาวบ้านมาลงไว้ในบทความ  ก็คงสดับฟังมาจากหลายแห่ง    ข้างบนนี้คือความเชื่ออย่างที่รู้ๆกัน  แต่ก็มีตำนานหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ยินกันนัก คือความเชื่อว่ายักษ์คอยเฝ้าดูว่าพระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพานหรือยัง    ถ้ายังก็ยังเห็นพระรัศมีสว่าง   ถ้านิพพานแล้วก็จะมืดไปทั่ว   จึงต้องจุดประทีปโคมไฟหลอกยักษ์ที่ขึ้นมาดูในคืนนี้   อ่านแล้วก็นึกขำความไม่ประสีประสาของยักษ์     ความเชื่อแบบนี้ก็คงจะเป็นเรื่องเล่าสืบต่อๆกันมา   ไม่ได้เป็นแก่นสารอะไรมากมาย แต่ก็ทำให้สนุกสำหรับชาวบ้านจะจุดโคมไฟสว่างไสวไปทั่วเมือง    ก่อบรรยากาศรื่นเริงบันเทิงของหนุ่มสาวอย่างที่ทรงเล่าไว้ในลำดับต่อไป


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 17:16
    บรรยากาศงานรื่นเริงในวันลอยกระทงที่ประทีปจุดสว่างไสวกันทั้งเมือง มีการบรรยายไว้สั้นๆในตอนท้ายบทความ  แต่ก็๋ทรงเก็บภาพได้ใจความละเอียดลออดี   อ่านแล้วสนุกไปด้วย
    กรมหมื่นสถิตย์ฯทรงมีวังอยู่ริมแม่น้ำ   ตรงที่เป็น  ASTV ถนนพระอาทิตย์ในปัจจุบัน   วังเจ้านายไทยก็ไม่ได้ห่างไกลจากบ้านเรือนชาวบ้าน    ท่านจึงทรงเห็นราษฎรชายหญิงข้างนอกวัง "...แต่งกายอย่างสุภาพบ้าง แต่งกายอย่างวิปลาศให้แปลกให้ขันบ้าง" พวกนี้ก็ลงเรือเก๋ง เรือนาง เรือเป็ด เรือสำปั้นใหญ่น้อย    มาเที่ยวงาน  ซึ่งถ้าเป็นการชุมนุมกันก็ต้องไปที่วัดริมแม่น้ำ  ซึ่งมีอยู่หลายวัดด้วยกัน   หรือลึกเข้าไปคลองต่างๆก็มีวัดใหญ่น้อยอีกมาก
   การสัญจรในรัชกาลที่ ๕ ยังใช้ทางน้ำอยู่เป็นส่วนใหญ่   ถนนที่ตัดในรัชกาลที่ ๔  มีจริงแต่ก็น้อย  แค่ไม่กี่สาย    สภาพเมืองหลวงในต้นรัชกาลที่ ๕ จนถึงตอนกลาง จึงมีชีวิตชีวากันที่ริมแม่น้ำลำคลอง    ลึกเข้าไปในฝั่งก็เป็นสวนปนป่าเสียเป็นส่วนใหญ่  อย่างที่บรรยายไว้ในประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์       
   ส่วนประกอบอีกอย่างของความรื่นเริงสนุกสนาน มาจากเสียงเพลง ทั้งเสียงร้องเสียงเล่น   กรมหมื่นสถิตย์ฯท่านทรงเก็บเสียงมาให้ได้ยินกันหลากหลาย มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
   เสียงดนตรี
    "...แอ่วลาวเป่าแพนตีฆ้องโหม่ง   กลองโทนรำมะนาฉิ่งกรับ"
   เสียงร้อง
    " ขับร้องลำนำเพลงดอกสร้อยสักระวา  เพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่  เพลงเรือ เพลงตวันตกตวันออกโต้ตอบกัน"
     ไม่เคยได้ยินเพลงครึ่งท่อน และเพลงตวันตกตวันออก   สมัยนั้นคงเป็นที่นิยมไม่แพ้เพลงแบบอื่น  จึงทรงกล่าวถึงไว้ด้วย

    ชาวบ้านไกลๆก็เดินทางมาแต่วัน  แวะไปมาหาสู่กับญาติมิตรบ้าง  บางคนไม่ได้เอาของกินติดเรือมาด้วย ก็แวะซื้ออาหารตามเรือตามแพกินกัน     กรมหมื่นสถิตย์ฯทรงบอกละเอียดถึงขั้นว่า ซื้อเมล็ดบัวถั่วยะสง (ถั่วลิสง)อาหารคาวหวาน     ท่านคงจะได้เคยเสด็จลงเรือ   ผ่านไปท่ามกลางชาวบ้านชาวช่องทั้งหลายในวันลอยกระทงมาแล้ว     จึงทรงสังเกตได้ว่าซื้อขายของกินอะไรกันบ้าง    แสดงว่าชีวิตเจ้านายไทยในสมัยนั้นก็ไม่ได้ห่างไกลจากราษฎร  ทั้งบ้านช่องที่อยู่อาศัย  และการดำเนินชีวิต
    ท่านทรงเล่าจนกระทั่งว่าวันงานรื่นเริงแบบนี้ก็เป็นโอกาสที่หนุ่มๆ จะได้พายเรือไปดูสาวๆที่ออกจากบ้านมาเที่ยวงาน     เพราะตามธรรมดา โอกาสจะพบสาวๆเป็นเรื่องยาก     ผู้หญิงมักจะถูกเก็บตัวอยู่กับบ้าน     งานรื่นเริงต่างๆจึงเป็นโอกาสดีจะสานสัมพันธ์กัน

ก็คงจะจบเรื่องพระนิพนธ์แต่เพียงแค่นี้ค่ะ

   
 
 


กระทู้: “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ค. 11, 18:02
ขอบคุณมากครับที่นำมาลง