เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: agree ที่ 22 ต.ค. 07, 09:57



กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 22 ต.ค. 07, 09:57
สมัยนี้วัยรุ่นชอบใช้ภาษาวิบัติ ขนาดเขียนคำว่าสัตว์ ก็ยังเขียนเป็นสัดเลย

สัตว์ = สัด

เธอ = เทอ

ใจ = จัย

หนู = นู๋

เห็น = เหน

เป็น = เปน

uoน = นอน

จ้า = จร้า

เป็นต้น

ภาษาไทยคนเราก้ต้องรักษาไว้สิครับ ไม่น่าจะเอามาใช้เขียนกัน >:(


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 22 ต.ค. 07, 10:09
http://suppiya.multiply.com/journal/item/8
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=609572

ภาษาวิบัติมักใช้กันใน MSN และผู้ที่ใช้มักจะเป็นวัยรุ่น


ขาดอะไรในโลกไม่โศกเศร้า
เหมือนกับเราไทยทั้งชาติขาดภาษา
คงติดขัดอัดอั้นตันอุรา
มองนัยน์ตาก็ไม่ขัดรหัสใจ

ยลศิลาจารึกนึกแน่จิต
สิ่งศักดิ์สิทธิ์มิ่งขวัญอันยิ่งใหญ่
เราคนไทยรู้คุณค่าภาษาไทย
เทิดทูนไว้คู่ชาติไม่ขาดเอย


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 22 ต.ค. 07, 10:31
คุณagreeลองรวบรวมภาษาวิบัติหน่อยดีไหมคะ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 22 ต.ค. 07, 10:37
ใคร = คัย
เทพ = inw
ให้ = หั้ย
พิมพ์ = พิม
รัก = ร๊าก
แล้ว = แร้ว
ไง = งัย

ภาษาไทยจะล่มจม เพราะความคมของภาษาวิบัติ  :(


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 22 ต.ค. 07, 11:45
ดิฉันเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกรำคาญ และขุ่น ขัดเคืองใจทุกครั้งที่ได้ยินคนออกเสียง "ฉ" เป็น sh และ "ท" เป็น th  ปัญหาอยู่ที่เหล่านักร้อง ศิลปินของค่ายเพลงทั้งหลายนั่นแหละค่ะ  ถ้าผู้รับผิดชอบทั้งหลายไม่สามารถทำให้นักร้องเหล่านั้นออกเสียงภาษาไทยให้ถูกต้อง  ต่อไปเสียง "ฉ" เป็น sh และ "ท" เป็น th จะกลายเป็นเสียงที่ถูกต้องไป เหมือนเสียง "ญ" ที่กลายเป็นเสียงเดียวกับเสียง "ย" ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาอย่างไรกัน  จะทำให้กลับไปเหมือนเดิม หรือจะยอมให้นักร้อง และค่ายเพลงเหล่านี้เป็นผู้นำทางภาษาไทยของเรา

ส่วนภาษาเขียนในmsn อันนี้แก้ยากค่ะ  เพราะปกติคนไทยอ่านหนังสือน้อยอยู่แล้ว  วัยรุ่นปัจจุบันก็อ่านดิฉันว่าอาจจะอ่านมากขึ้นแต่ก็เป็นการอ่านพวกmsn หรือเว็ปบอร์ดนี่แหละค่ะ การเห็นการเขียนที่ผิดบ่อย ๆ ก็กลายเป็นความถูกไปอีก  ดิฉันว่าหนทางที่แต่ละคนทำได้ดีที่สุดก็คือ  สำหรับตัวเองไม่ว่าจะเขียนที่ไหนก็ขอให้เขียนให้ถูกต้องสมบูรณ์ไว้  เผื่อว่าใครมาอ่านก็จะได้เห็นสิ่งที่ถูก  เด็ก ๆ รอบ ๆ ตัวก็พยายามให้เขาเขียนให้ถูก  อย่าหวังพึ่งใครเลยค่ะ  ดิฉันเคยสอนระดับมัธยมที่ต่างจังหวัด  เคยถูกจัดให้สอนภาษาไทย  ม.1 3 ห้อง ๆ ละ 35-40 คน  วิชาภาษาไทยเรียนทุกวันค่ะ  ให้การบ้านเรียงความทุกห้อง  รวมแล้วร้อยกว่าเรื่อง  อ่านทุกเรื่องแก้ทุกเรื่องตรวจไม่ทันค่ะ  เพราะวันหนึ่งมีเวลาที่ไม่ได้สอนเพียง 1 - 2 ชั่วโมงเอง  เคยสอนคณิตศาสตร์เด็กเขียนภาษาไทยมาผิดแก้ให้  ก็เป็นอันว่าตรวจไม่ทันเหมือนกัน  ครูจะสอนอย่างไรก็สู้สื่อสารมวลชนยากเหลือเกิน  ใครที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน  ช่วยเป็นปากเป็นเสียงด้วยค่ะ  ทำอย่างไรเราจะได้พิธีกรที่มีความรู้เรื่องภาษาไทยมากกว่านี้ค่ะ  นี่แค่เรื่องการออกเสียงนะคะ  ยังเรื่องลักษณนามต่าง ๆ อีก ราชาศัพท์ ดูเมื่อไหร่เป็นเจอผิดทุกที

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดิฉันรำคาญ  แก้ไม่ได้ก็เลือกไม่ดู ไม่ฟัง ค่ะ  รำค้าน รำคาญ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 22 ต.ค. 07, 14:52
ลองคิดดูกันเถิดจะเกิดผล
เพราะว่าคนไทยนี้มีปัญหา
เรื่องภาษาควรพูด "สุดเยียวยา"
ใช้ภาษาวิบัติขัดทุกกาล

เศรษฐกิจเริ่มย่ำแย่ ภาษาก็ยังไม่เว้น ยากเข็ญลำเค็ญใจ ปวดหัวกับพวกภาษาวิบัติจริง ๆ พอเตือนคนที่ใช้ (วัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่) ก็ดันมาว่าเราอีก

อินเทอร์เนตนี่เป็นตัวแพร่กระจายภาษาวิบัติที่ดีมาก เวลาพวกที่เป็นคู่แข่งก็ด่าซะ ขนาดด่ายังใช้ภาษาวิบัติ มันสุดจะเยียวยารักษา


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 23 ต.ค. 07, 09:03
มีใครทราบบ้างครับว่าภาษาเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากใคร  :(


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 ต.ค. 07, 22:41
ผมเชื่อว่าคำที่คุณ agree พูดถึงพวกนี้เป็นคำคะนองครับ
มาได้ซักพัก เดี๋ยวก็หายไปเอง
เรื่องที่ถูกแทรกสอดเข้ามาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว และไม่หยุดไม่หย่อน
อย่างที่คุณป้ากุนพูดถึง...... น่ากลัวกว่ามากครับ



อย่าถือสาหาความคนติดเนต ติดเอมเลยนะกั๊บ คุงอะกี
เหนจัยเขาโหน่ยเต๊อะ ฮิ๊วววววววววววว


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 23 ต.ค. 07, 23:21
         อืมก่อนอื่นต้องขอยอมรับล่ะครับว่าที่คุณ Agree ยกมาผมใช้ประจำครับ  เช่น  แหล่มเลย  ยัยส้ม  เส้าจัย ล้อเล่งน่าฯลฯ  และเอาบรรทัดฐานของตัวเองวิเคราะห์  ก็ต้องขอบอกว่าอยากสร้างจุดเด่น  ตามๆกันไป  หรือเรียกร้องความสนใจอ่ะครับ  แต่มันก็เป็นเพียงภาษาเขียนหรือภาษาพูดที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม  หรือเฉพาะวัย  แต่ผมก็แยกแยะนะครับ  เวลาใช้กับคนพิเศษหรือเพื่อนๆ  ก็ใช้อ่ะครับภาษาเหล่านี้  แต่เวลามาโพสที่นี่หรือใช้เป็นงานเป็นการ  ผมก็ไม่ใช้นะครับ

          แล้วถ้ามาดูกันจริงๆ  ภาษาที่เราใช้ปัจจุบันที่เราว่าถูกต้องที่สุด  ก็คงมาจากความนิยมของคนส่วนมากหรือใช้ในราชการ  แต่จะให้เหมือนกับที่เคยใช้เมื่อ 50 ปีก่อนคงไม่เหมือนทุกคำแน่ๆ  ก็คงมีแผลงมาบ้างล่ะครับ  มันอาจเป็นปกติของวัฒนธรรมแม้ในด้านของภาษา  บางคำในนวนิยายก็ยังใช้  เช่นคำว่า  นาง  แผลงเป็น  นัง   นังช้อย  นังแม้น ฯลฯ  แต่ก็เป็นการเฉพาะ  ไม่นำมาใช้กันทั่วไป  คะนองกันไปแบบคุณติบอว่าล่ะครับ  ภาษาวัยสะรุ่น (อิอิ  นี่ก็แผลง) เหล่านี้  ราบใดที่ยังไม่นำมาใช้กันผิดที่ผิดทาง  ก็คงต้องถือว่าเป็นปกติอ่ะครับ  และก็ต้องมีปรามบ้างครับแบบที่คุณ Agree เป็นห่วง  ก็จะพยายามแก้ไขครับผม   จะเขียนหรือพูดว่า  มหาวิทยาลัย  จะไม่ใช้ มหาลัย   จะใช้  อยุธยา  ไม่แผลงเป็น  ยุดยา ครับ

         ปล. ชื่อเฉพาะบางทีก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอันไหนถูกต้อง  เช่น  บางลำภู  หรือ  บางลำพู     แคราย  หรือ  แคลาย  อันนี้ไม่ทราบจริงๆครับ..... ;D


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 24 ต.ค. 07, 00:08
เห็นด้วยกะคุณกล้วย Banana เอ๊ย Bana อ่ะจ๊ะ

เรื่องยี่สิบเอ็ด เป็น ยีบเอ็ด แบบนี้อ่ะ น่ากัวก่ากั๊บ
ฤม่ะเจง..... คุงอากี


ปล. ถึงคุณ Bana ผมเอง โดยส่วนตัวเวลาเขียนงานวิชาการก็ไม่ได้ใช้คำพวกนี้
เพราะรู้ตัวและระลึกอยู่เสมอ ว่าตัวเองเขียนงานวิชาการอยู่......

แต่เวลาเล่นอินเตอร์เนต (แม้กระทั่งเข้ามาโพสต์ในเรือนไทยแบบนี้)
ผมก็ยังใช้คำคะนองบ้าง ประปรายครับ
เพราะรู้สึกว่าบ่อยครั้ง ที่ตัวเองเข้าไปอ่านกระทู้ แล้วเจอว่าแต่ละคนพูดจากันกลัวเกร็ง
ขยับซ้ายก็ไม่ไหว จะไปขวาก็ไม่ได้ ดูแล้วมันอึดอัดอย่างไรพิกล
มาอยู่เรือนไทยทั้งที ขออนุญาตซนนิดซนหน่อยนะครับ นะ นะ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 24 ต.ค. 07, 00:45
อิอิ..... กล้วย เป็นชื่อเล่นผมเองครับ  เรียกยังไงก็ได้

             21  ยีบเบ็ด  ปกติครับเป็นคำที่เรียกว่า วิบัติ หรือเปล่าไม่ทราบ  แต่ใช้กันแพร่หลายจนไม่เห็นมีใครมาติเท่าไหร่แล้วล่ะครับ  แต่เราก็ยังไม่เอามาเขียนอยู่ดี  เห็นด้วยกับคุณติบอ ทุกประการครับ  สบายๆแต่มีขอบเขตบ้างหนุกหนานบ้าง  เหมือนเวลาที่คุณครูสอนเรา  ท่านไหนที่คร่ำเคร่งเอาแต่วิชาการล้วนๆไม่ค่อยยิ้มหัว  เวลาเราเรียนงี้เกรงกันทั้งห้อง  ปากกาหล่นทีใจหายไปถึงตาตุ่ม  แต่ถ้าท่านไหนมีหยอกล้อบ้างเราจะชอบเมื่อถึงชั่วโมงนั้น  แม้ว่าจะเป็นวิชาที่ซีเรียส  ดังนั้นเรื่องภาษาแปลกๆก็ขอมีกันบ้าง  ถือเป็นน้ำจิ้มแล้วกันนะครับ  เนอะๆๆๆ   อิอิ   ล้อเล่งน่า......... :D


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 24 ต.ค. 07, 19:49
แล้วในอีกสิบปีข้างหน้า ภาษาไทยก็คงจะดีขึ้น (หรือเปล่า ???)


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 25 ต.ค. 07, 11:48
สวัสดีครับคุณ agree
เรื่องที่ว่าอีกสิบปี ภาษาไทยจะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมุมมองครับ
ถ้าจะบอกว่าเขียนถูก หรือออกเสียงเหมือนสมัยนี้ ผมก็ตอบไม่ได้ เพราะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
เช่น คำว่า ขะมักเขม้น ที่สมัยนี้มักจะอ่าน ขะ-หมัก-ขะ-เม่น (จริงๆ อ่านว่า ขะ-มัก-)
คำว่า สนุกนิ์ ก็กลายเป็น สนุก เป็นต้น
แต่อย่างน้อย ในอีกสิบปี พจนานุกรมย่อมจะมีคำใหม่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
หลายคำที่คิดขึ้นมา อาจใช้ได้เพียงระยะหนึ่ง หรืออาจใช้ได้นานๆ
ผมคิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัญหา เท่ากับการใช้วรรณยุกต์ผิด หรือออกเสียงผิดหลักไวยากรณ์ เช่น สิบเอ็ด ซึ่งออกเสียงว่า สิบ-เบ็ด ครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 07, 12:20
ไม่อยากจะทำให้คุณศรีปิงเวียงต้องงงงวยเลยค่ะ  แต่จำเป็นต้องบอกว่า ราชบัณฑิตยฯ อนุญาตให้อ่าน "ขะมักเขม้น" ได้ ๒ แบบ

ขะมักเขม้น  [ขะมักขะเม่น, ขะหฺมักขะเม่น] ก. ตั้งใจทําอย่างรีบเร่งเพื่อให้แล้ว
 เสร็จไป, ก้มหน้าก้มตาทํา, เขม้นขะมัก ก็ว่า.

http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all.asp
(ขอวงเล็บว่าเว็บราชบัณฑิตยฯ น่าจะมีบั๊คหรืออะไรสักอย่าง  ยังไม่ได้แก้ไข
พอค้นหาศัพท์ จะได้คำตอบเป็นแถวยาวเหยียดซ้อนๆกัน ว่า "คำ ...... ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่"
แต่เอาเข้าจริง ลากเม้าส์ลงไปสักพัก จะเจอคำนั้นอยู่แถวล่างๆลงไป   ต้องอดทนหน่อยนะคะเวลาค้นศัพท์)

ความจริง ขะมัก สะกดแบบนี้ ยังไงๆก็อ่านว่า "ขะหมัก" ไม่ได้   แต่ในเมื่ออ่านผิดๆกันมานาน ท่านก็เลยอนุโลมให้ถูกต้องเสียเลย   
โดยส่วนตัวแล้วขอค้านสุดฤทธิ์ว่า  เป็นการอนุโลมที่ไม่สมควร   ในเมื่อท่านเองยังผิด  เราจะไปหวังอะไรว่าเยาวชนจะอ่านถูกสะกดถูก


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 25 ต.ค. 07, 13:40
ขอค้านสุดฤทธิ์ด้วยคนครับ ค้าน ค้าน ค้าน  >:(

สรุปแล้ว ขะมักเขม้น คำอ่านที่ถูกต้อง คือ ขะ-มัก น่ะสิครับ

แล้วทำไมคนต้องพูดคำนี้ผิด ๆ กันด้วยนะ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 07, 14:00
ที่จริง ถ้าราชบัณฑิตยฯ จะอนุโลมให้อ่าน ขะมักเขม้น ว่า ขะหมักขะเม่น   ได้  ก็ต้องทำมากกว่ายอมให้อ่านผิดๆ   ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
จะให้ถูก คือต้องแก้ไขตั้งแต่การสะกดคำ    ให้เขียนว่า ขะมักเขม้น หรือ ขมักเขม้น  ก็ได้
ตัดสระอะ ออกไป คำนี้จึงอ่านได้ว่า ขะหมักขะเม่น   

แต่ท่านไม่ทำอย่างนั้น  ไปอนุโลมว่า การอ่านผิด ถ้าอ่านกันมานาน  จนชินกันไปหมดแล้วก็ถือว่ายอมรับได้  ไม่ว่าจะสะกดยังไงก็ตาม
เลยไม่ต่างอะไรกับการตั้งสินค้าบนทางเท้าสาธารณะ   ถ้าปล่อยให้ตั้งมานาน  จนไล่ไม่สำเร็จ   ก็ให้ถือว่าถูกต้อง รู้แล้วรู้รอดไป


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ต.ค. 07, 14:22
เรื่องภาษาวิบัติ เมื่อก่อนผมก็รำคาญใจเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เฉยๆแล้วครับ

เพราะมาคิดๆดูภาษามันเปลี่ยนแปลงไปตลอด ทั้งภาษาพูดภาษาเขียน ถ้าจะเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าคือการวิบัติ การวิบัตินี้ก็เกิดต่อเนื่องกันมาตลอดนานเท่าไหร่แล้วก็ไม่ทราบ และถ้ามันจะวิบัติลงไปได้จริง ป่านนี้ก็คงล้มหายตายจากไปนานแล้วครับ

๗๐๐ ปีมานี้ จากจารึกสุโขทัยมาถึงปัจจุบัน อักขรวิธีเปลี่ยนไปมาก คำศัพท์ที่ใช้หลายคำเลิกใช้ไปแล้ว และมีอีกหลายคำที่ถึงแม้ยังใช้อยู่ แต่ความหมายเปลี่ยนไปแล้ว

หรือเอาให้ใกล้กว่านี้ สมัยผมเรียนมัธยม คู่มือสอบบางเล่มยังเขียนโปรยบนปกว่า "เฉลยโดยพิสดาร" อยู่เลย สมัยนี้ขืนใครเขียนแบบนี้สงสัยขายไม่ออกแน่  ;D

สรุปว่าถ้าภาษาวิบัติคำไหนมันแน่จริง ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจนตกทอดไปถึงอนาคตได้ก็ช่างมันเต๊อะ

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็เห็นว่าใครไม่ชอบใจก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลโดยชอบธรรมนะครับ เพราะท่านก็คือฝ่ายที่ต้านกระแสการเปลี่ยนแปลง เป็นส่วนหนึ่งของผู้กำหนดอนาคตของภาษาไทยเหมือนกันครับ


มีเรื่องพิลึกๆทีี่ได้เห็นมาอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับภาษาวิบัติหรือเปล่าไม่ทราบ คือเรื่องมาตรฐาน ISO 11940
http://en.wikipedia.org/wiki/ISO_11940 (http://en.wikipedia.org/wiki/ISO_11940)
ดูแล้วข้องใจมากว่ามาตรฐานนี้กำหนดขึ้นมาเพื่ออะไร เพราะไม่ใช่มาตรฐานการถอดเสียง แต่เป็นการถอดรูป คือเขียนภาษาไทยโดยใช้อักษรโรมันที่เพิ่มตัวประหลาดเข้าไปมากมายเพื่อให้ถอดรูปอักษรไทยได้ครบทุกตัว ซึ่งฝรั่งก็อ่านไม่ออกอยู่ดี

เห็นประโยชน์อยู่ประการเดียว คือเลิกใช้อักษรไทย แล้วไปเขียนด้วยอักษรประหลาดตามมาตรฐานนี้แทน

For what?  :(


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 07, 14:46
วิวัฒนาการของภาษา กับ ภาษาวิบัติ เป็นคนละเรื่องกันค่ะ  แม้ว่าบางส่วนคาบเกี่ยวกันอยู่ก็ตาม  แต่จะเอาอย่างหนึ่งมาอ้างในการค้านอีกอย่างหนึ่ง แบบสูตรสำเร็จ  ก็คงจะไม่ได้
นักภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือภาษาที่ตายแล้ว   หมายถึงไม่มีสังคมใดใช้ในชีวิตประจำวันอีก  หยุดอยู่แค่ในตำรับตำราเก่าๆ อย่างภาษาละติน   ถ้ายังงี้ละก็ไม่มีวิบัติ   แต่ภาษาที่ใช้พูดใช้เขียนกันอยู่เป็นประจำย่อมมีการเปลี่ยนแปลง
แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนสะเปะสะปะได้ตามใจชอบ   แล้วอ้างว่าวิวัฒนาการ  มันจะต้องมีบางอย่างที่คงตัวอยู่เสมอ

อย่างหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าคงตัว ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด คือหลักเกณฑ์
เช่นหลักเกณฑ์ในตัวสะกด และการออกเสียง
ถ้าโพสในเว็บบอร์ด ว่า "อีกแระ" แทน "อีกแล้ว"  ดิฉันไม่ถือว่าเป็นภาษาวิบัติ แต่เป็นภาษาพูด 
แต่ถ้าสะกดว่า "อีกแร๊ะ" ดิฉันถือว่าผิด  เพราะ ร เป็นอักษรต่ำ  สะกดด้วยสระเสียงสั้น เป็นเสียงตรีอยู่แล้ว ไม่ต้องเติม ไม้ตรี   นี่คือผิดหลัก
ส่วนการออกเสียง    ฉ   ช   ของเรา  ออกเสียงไม่เหมือน  ch หรือ sh ของฝรั่ง  นักร้องร้องออกเสียงเพี้ยนเป็น ch หรือ sh ทีไร   ดิฉันถือว่าออกเสียงผิด  เพราะเป็นการจงใจให้ผิด   ต่างจากฝรั่งที่พยายามพูดภาษาไทยแล้วออกเสียงแบบภาษาของเขาด้วยความเคยชิน


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 26 ต.ค. 07, 00:30
             อนุโลมอ่านแบบคำพวกนี้หรือปล่าวครับ
ตำรวจ   อ่านว่า   ตำ-หรวด    ที่จริงน่าจะอ่านว่า     ตำ-รวด
กำเนิด   อ่านว่า  กำ-เหนิด    ที่จริงน่าจะอ่านว่า      กำ-เนิด
           
                ผู้รู้แถวบ้านผมว่า  มันมาจากภาษาเดิม  ที่เราแผลงจากคำว่า  ตรวจ  เป็น  ตำรวจ  เลยอนุโลมอ่าน  เหมือน เกิด  เป็น กำเนิด   อนุโลมอ่านเนื่องจากศัพท์และนิยมมาแบบนี้  อย่างนี้ควรเรียกว่ายังไงล่ะครับ  มีเหตุผลที่มาที่ไปเลยอ่านอย่างนี้  แต่ผิดหลักการอ่านที่ว่า  อักษรต่ำคำตายสระเสียงยาว  อ่านออกเสียง โท  อักษรต่ำคำตายสระเสียงสั้นอ่านออกเสียงตรี  ทำไมไม่เขียนไปเลย  ว่า  ตำหรวจ   หรือ  กำเหนิด  ถ้าอยากให้เป๊ะๆตามหลักการ  ไม่ต้องมามีข้อยกเว้นเวลาสอนเด็กๆ.. 8)


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 07, 07:17
คำที่คุณ Bana ยกมา มันมีที่มาที่ไป อธิบายได้  และมีหลักเกณฑ์ด้วย  คือเป็น"คำแผลง"
ตำรวจ แผลงจากคำว่า ตรวจ
กำเนิด แผลงจากคำว่า เกิด
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคำ เช่น
ดำริ   แผลงจากคำว่า ตริ   ต แผลงเป็น ด อีกทีหนึ่ง
ดำรู   แผลจากคำว่า ตรู   (แปลว่างาม  อย่างที่เห็นในคำว่า โฉมตรู)
คำแผลงทุกคำ รักษาเสียงวรรณยุกต์เอกจากคำเดิมเอาไว้   เป็นเค้าให้รู้ถึงกำเนิดของคำ    เพราะฉะนั้นถึงไม่ใช้หลักเกณฑ์การผันเสียงวรรณยุกต์   ก็เป็นเพราะมีหลักเกณฑ์ของตัวเอง
คนละอย่างกับ ขะมัก ที่ออกเสียงว่าขะหมักค่ะ  เอามาอ้างแทนกันไม่ได้


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ต.ค. 07, 10:31
จะว่าไปเรื่องการออกเสียง ฉ ช เป็น sh อาจเป็นเรื่องที่ "ผิด" เฉพาะคนที่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศนะครับ

คนส่วนมากอาจจะฟังแล้วแค่แปลกหู เพราะแยกแยะความแตกต่างของ ช sh ch ไม่ได้
หลายปีที่แล้วผมไปเสียบเรียบ สังเกตเห็นว่าเขาออกเสียง shop ว่า ส็อป ในขณะที่ไทยเราออกเสียง ฉ็อป ความจริงแล้วทั้งไทยและเขมรไม่มีเสียง sh ต่างฝ่ายต่างก็ออกเสียงไปตามที่หูตัวเองได้ยิน หรือจะมีใครเริ่มใช้แล้วคนอื่นใช้ต่อๆกันมาก็ไม่รู้
ผมคุยกับคนเขมรคนนึงเรื่องนี้ เขาบอกว่าคนไทยออกเสียงผิด แทนที่จะอ่าน ส็อป ดันอ่านว่า ฉ็อป ฮา...........

ในภาษาไทยเองมีร่องรอยของเสียงที่เพี้ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิมคือเสียง ฅ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรแน่ แต่อาจเป็นเสียงลงคอ (แบบเสียง h ของจีนกลาง)
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีเสียง ร และเสียงควบกล้ำ ร,ล ที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับลาว
เสียง ห ที่ทางอีสาน(และที่อื่นด้วยไหม?) ออกเสียงขึ้นจมูก
พวกนี้ก็น่าจะเกิดจากวิวัฒนาการของภาษาด้วยครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 07, 11:01
อ่านของคุณอาชาแล้วงง ไม่เข้าใจ

ถ้าคนต่างประเทศที่ภาษาของเขามีแต่เสียง ch หรือ sh ไม่มีเสียง ช  มาหัดพูดภาษาไทย    แล้วออกเสียง ช ช้าง เป็น ch sh  ตามความเคยชินแต่เดิม     ดิฉันไม่ถือว่าผิด
ที่ผิดคือคนไทยที่ออกเสียง ช ได้สบายเพราะพูดมาตั้งแต่เกิด แต่กลับไปออกเสียง ch sh ที่ไม่มีในภาษาของเรา  เวลาพูดภาษาไทย หรือร้องเพลงไทย  นี่ต่างหากล่ะคะ ผิด


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ต.ค. 07, 11:22
เรารู้ว่าผิด และผิดเพราะอะไร แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของสังคม เขาไม่รู้จักเสียง sh ch ครับ ดังนั้นในโลกทัศน์ของเขา มันก็คือเสียง ช ทั้งนั้นแหละครับ แต่แปร่งๆไปหน่อย

เหมือนกับเวลาฝรั่งมาหัดพูดไทย มันยากตรงเรื่องวรรณยุกต์ เพราะไม่มีของแบบนี้ในโลกทัศน์ของเขาเลยครับ เขาแค่รู้สึกได้ว่ามันมีอะไรแปลกๆอยู่ หลายคนอยู่เมืองไทยเป็นสิบปียังจับทางไม่ถูกเลยครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 26 ต.ค. 07, 11:47
ดิฉันว่า  การที่เสียงบางเสียงหาย หรือเปลี่ยนไปเกิดขึ้นเพราะว่าเสียงนั้น ๆ ไม่เข้ากับพื้นเสียงของภาษากลางที่เราใช้กันอยู่  ในอดีตมันเกิดขึ้นเพราะการติดต่อสื่อสารความรู้ที่มีมันไปถึงกันได้ยาก  การสื่อสารเป็นไปแบบปากต่อปาก  อันนี้ดิฉันเข้าใจ และรับได้  เสียง ค คน ก็เลยหายไป  แต่อย่างเสียง "ญ" อ่านพบว่าเป็นเสียงขึ้นจมูกแบบคำเมือง  ซึ่งถ้าเรามีโอกาสฟังดี ๆ ได้ยินคนเมืองแท้ ๆ พูด "แม่หญิง" เสียง "ญ" เป็นเสียงขึ้นจมูก  ออกเสียงยากมากสำหรับคนไม่คุ้นเคย  แต่ถ้าใส่ใจ เอาจริงเอาจัง  ก็ทำได้ค่ะ  ณ วันนี้เสียง "ญ" ยังมีอยู่  ขณะที่เรามืเครื่องมือการสื่อสารที่ดีขนาดทำให้โลกทั้งโลกสามารถรับรู้เรื่องราวถึงกันได้รวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที  เทคโนโลยี่สื่อสารมวลชนทำได้มากมาย  ทำไมเราทำความรู้แค่นี้ไม่ได้ค่ะ สมัยดิฉันเด็ก ๆ จำได้ว่า คนจำนวนมากออกเสียง H เป็น เฮช ตอนนี้ก็ไม่เห็นมีใครอ่านเป็น เฮช อีกแล้ว เราทำมาได้อย่างไรล่ะคะ  ดิฉันว่าเราไม่ควรยอมจำนนนะคะ 
ทำอย่างไรเราจะได้เสียง "ฉ" ที่ไม่ใช่ sh "จ" ที่ไม่ใช่ "J" "ท ธ" ที่ไม่ใช่ "TH" ของเรากลับคืนมา  ขณะที่เราก็ออกเสียง "shirt" ไม่ใช่ "เชิร์ต" ได้ด้วย

ขอแถมตรงนี้นิดหนึ่งค่ะ  ดิฉันชอบดูรายการ Morning talk ของช่อง 11 ค่ะ  รู้สึกดีที่พิธีกรไทยพูดคำว่า "สวัสดี" ชัด ขื่อถนน สถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นภาษาไทยก็ออกเสียงไทยชัด ไม่ด้อยไปกว่าการออกเสียงภาษาอังกฤษ

ดิฉันรู้สึกเหมือนคุณเทาชมพูค่ะ  และเข้าใจที่คุณCrazyHorse บอกว่าบางคนจับความแตกต่างไม่ได้  หรือบางคนจับได้แต่ก็ออกเสียงไม่ได้  อันนี้ก็ให้เป็นคน ๆ ไป ทำไม่ได้แต่ก็รู้อยู่ แต่คนแบบนี้ไม่ควรมาเป็นต้นแบบ  ไม่ควรนำมาเผยแพร่เป็นที่ยอมรับกันค่ะ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 27 ต.ค. 07, 00:57
                แต่แถบบ้านผม  เสียง "ช"  ออกกันลำบากมากเลยครับ  ส่วนมากจะออกเป็นเสียง "ซ"    "ช้าง"  ออกเป็น   "ซ้าง"  ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ  อันนี้คงโทษไม่ได้หรอกครับ  เหมือนปักษ์ใต้  ออกเสียง "ง"  เป็น  "ฮ"  ก็เยอะ  ถ้าภาษาพูดนะครับแถบบ้านผม  ไม่ใช่ว่าเสียง "ช"  หายไป   แต่มันไม่เคยมีเสียง "ช" เลยด้วยซ้ำ  แถบบริเวณที่ท่าน CH ยกตัวอย่างมาก็ประมาณคล้ายๆกัน  อักขระโบราณแถบนี้แม้ประเทศเพื่อนบ้าน  มีหลายตัวครับออกเสียงไม่ค่อยได้  "เรือ"  ก็ออกเป็น  "เฮือ"

                จนผมสงสัยว่าการออกเสียงแท้จริงแล้ว  ที่ถูกจริงๆแบบที่แถบภาคกลางว่าเอาเอง  แล้วยึดถือเป็นรูปแบบว่านี่ล่ะถูกที่สุดนั้น  มันจริงหรือเปล่า  แม้แต่คำที่ว่ากันว่าแผลงมาจากภาษาต่างบ้านต่างเมือง  เอาเข้าจริงไม่เหมือนของเดิมของจริงด้วยซ้ำ  ผมยังนึกถึงคำที่เคยเรียนกันว่า กัมมาจล  ตะแล๊ปแก๊บ  คงประมาณนี้กระมัง  ภาษาถิ่นต่างหากที่ยังคงอัตลักษณ์ไว้ได้อย่างยาวนาน  มีหลักฐานจากคำสวดหรือภาษาจากคัมภีร์ที่ยังใช้กันในปัจจุบัน......... ;)


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 15 ธ.ค. 07, 21:03
ปัจจุบันคำภาษาที่มักเขียนกันผิดโดยไม่เจตนาก็มีมาก ที่เห็นกันเป็นส่วนใหญ่ก็คือ "อนุญาต"

ที่เขียนกันผิดก็เพราะว่า ญาติ พ้องกับคำว่า ญาต ที่ใช้ใน อนุญาต คนไทยคิดว่าญาติเป็นคำที่ถูกต้องจึงนำมาใช้ แต่ที่จริงแล้วเป็นการเขียนที่ผิดรูปแบบ  :-X



กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ธ.ค. 07, 14:27
เรื่องสะกดผิดคงไม่เข้าข่ายภาษาวิบัติหรอกครับ เรียกว่า "ผิด" ชัดเจนกว่า บางครั้งบางหนเผลอเรอผมก็เคยพิมพ์ผิดบ้างเหมือนกันครับ

เคยหลงไปเจอเว็บไซต์บางแห่ง อ่านแล้วงง ตอนแรกนึกว่าพิมพ์ผิด อ่านไปอ่านมาเจอบ่อยจนเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องพิมพ์ผิดเสียแล้ว เป็นเรื่องของแฟชั่นใหม่ ที่น่าจะเข้าข่ายภาษาวิบัติ ซึ่งจะมีผลต่อการค้นหาข้อมูลเสียด้วย

เขาใช้ ภ แทน เ และใช้ ย แทน โ ครับ เช่นจะเขียน เลือก กลับพิมพ์ว่า ภลือก จะเขียน โดย ก็กลายเป็น ยดย อ่านแล้วเวียนหัวมากๆ คิดไม่ถึงว่าจะเล่นกันพิสดารถึงขนาดนี้ครับ

 :(


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 25 ธ.ค. 07, 20:57
ที่ง่ายๆสะกดผิดกันประจำผมเห็น คะ ค่ะ...เจ้าคะ เจ้าค่ะ :-X :-X :-X


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 27 ธ.ค. 07, 18:28
ค่ะ คะ คับ งับ อย่างเช่น มีอะไรรึเปล่าค่ะ หวัดดีงับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pazzanai ที่ 02 ม.ค. 08, 09:38
ตอนเด็ก เห็นภาษาเขียนแปลกๆ พวกนี้ จากนิตยสารวัยรุ่นค่ะ
สมัยวัยน่ารัก เธอกับฉัน ที่มักจะขึ้นชื่อดาราวัยใสยุคนั้นว่า
ยัย...อย่างนั้น   นู๋... อย่างนี้
ซึ่งเด็กๆ วัยรุ่นสมัยนั้น ก็ใช้ตามกันจนเคยชิน
รวมทั้งตัวหนังสือไทยแบบยกล้อ ก็เริ่มจะเห็นได้มาตั้งแต่ยุคนั้นล่ะค่ะ

ส่วนหนึ่งมากจากความรู้สึกอยากเลียนแบบความโก้เก๋
ซึ่งก็มาจากสื่อต่างๆ นี่เอง
ภาษาพูด กับภาษาเขียน ก็มีความแตกต่างกันค่ะในเรื่องของการวิบัติ
เวลาเห็นใครเขียนหนังสือไทยด้วยภาษาวิบัติ จะหงุดหงิดกว่าภาษาพูดเยอะเลยค่ะ
แต่ก็ไม่ชอบให้วิบัติทั้งสองอย่างอยู่แล้ว
พวกอ่านออกเสียง ส.เสือ อักเสบ
เวลาฟังในวิทยุ ก็ยังหงุดหงิดว่า ให้ผ่านใบผู้ประกาศมาได้อย่างไร
ส่วนภาษาเขียนไม่ต้องพูดถึง..
เห็นแล้วคิดว่า เรียนจบม.6 มาได้อย่างไร




กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 10 ม.ค. 08, 22:03
เว็บของวัยรุ่นส่วนมากก็มักจะใช้ภาษาพิสดาร เช่น เว็บเด็กดี ฯลฯ

นักร้องบางคนได้รับรางวัลใช้ภาษาดีเด่น ไม่รู้ว่าทำไมถึงยังได้ ขนาดใช้ภาษาผิดเพี้ยนสุด ๆ แล้วนะเนี่ย  :(

เราบอกอะไรเขาไปก็ไม่ได้ประโยชน์ เขาก็ตอบกลับมาว่า "เออน่า" อยู่นั่นแหละ

ถ้าเราปล่อยไป ภาษาไทยก็จะล่มจมหมดสิ้น แต่ถ้าไปเตือนก็โดนเหมือนบรรทัดที่ 3 บ้างก็โดนคำด่ากลับมา


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 11 ก.พ. 08, 12:32
ช่วยกันด้วยเถอะ  ดิฉันชมรายการ "เดอะสตาร์" ค่ะ  มีหลาย ๆ อย่างในรายการนี้น่าชื่นชม  ซึ่งขอยกไปชมในกระทู้อื่น  แต่ที่คิดว่าต้องช่วยกันคือ  ผู้เข้าร่วมประกวดที่นำเสนอในรายการตั้งแต่การคัดเลือกรอบแรก  ทุกภาค เกือบ 100%ออกเสียง ฉ ฉิ่ง ช ช้าง ออกเสียงเป็น sh ธ ธง ท ทหาร เป็นเสียง th ไม่เว้นแม้แต่ผู้เข้าร่วมประกวดบางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นครูสอนร้องเพลง กรรมการผู้ตัดสินทั้ง 3 ท่านได้ทำหลาย ๆ อย่างดีค่ะ  แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกพูดถึง ไม่ได้รับความสำคัญเลย  หรือเรื่องนี้เราไม่ควรสนใจ ไม่สำคัญจริง ๆ ค่ะ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 08, 13:13
สมัยก่อนดิฉันเกิด เรื่อยมาจนถึงตอนดิฉันยังเล็กๆ   ลิเกมี"ขนบ" การออกเสียงที่ไม่เหมือนชาวบ้านพูดกันทั่วไป
คือเขาออกเสียงคำที่ลงท้ายด้วยแม่ กน    เช่น กัน   สั่น   พระขรรค์   พระจันทร์  ด้วยการรัวลิ้นเป็นเสียง ลลลลล
คือ  ไปด้วยกัน   ก็ออกเสียงเป็น "ไปด้วยกัลลลลล"
แต่ก็ใช้เฉพาะบนเวที   พอเข้าโรง   หรือออกมาปะปนกับชาวบ้าน เขาก็พูด "ไปด้วยกัน" ตามปกติ

"ขนบ"ของนักร้องปัจจุบัน เห็นจะทำนองเดียวกับลิเก
พวกนี้พอกลับบ้านก็ไม่ได้ออกเสียง ช เป็น ch   ออกเสียงปกติ ชั้นก็เป็นชั้น  ไม่ใช่ เชิ้น
มันเป็นความนิยมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมานานเป็นสิบปีแล้วค่ะ  เข้าใจว่าเกิดในยุคที่เอานักร้องลูกครึ่งพูดไทยไม่ค่อยชัดมาร้องเพลงภาษาไทย   
เลยกลายเป็นความเท่ ที่นักร้องพูดไทยได้ตามปกติ  จะต้องร้องเลียนแบบคนร้องไม่ชัดกันหมด

ถ้าจะฟังนักร้องร้องภาษาไทยไม่เป็นเสียงฝรั่ง คุณป้ากุนเห็นจะต้องหันไปฟังนักร้องลูกทุ่ง  พวกนี้ออกเสียงไทยได้ชัดกว่านักร้องค่ายดัง    เพียงแต่รักษาความเหน่อเอาไว้ตามวิธีร้องดั้งเดิมของเพลงลูกทุ่ง


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 11 ก.พ. 08, 14:21
กำลังจะมาบอกเลยค่ะว่า ในบรรดาผู้เข้าประกวดทั้งหลาย  คนที่ร้องเพลงออกเสียงภาษาไทยสำเนียงไทยชัดเจนคือคนที่นำเพลงลูกทุ่งมาร้องเท่านั้นเอง  จริงอย่างที่อาจารย์บอกค่ะฟังเพลงลูกทุ่งครั้งใด ชื่นใจจริง ๆ  คิดถึงเพลงลูกกรุงที่ยังไม่มีงานใดนำคุณค่าดั้งเดิมออกมาใช้ได้เลยนะคะ

ไหน ๆ ก็เปิดประเด็นทักท้วงแล้ว  ขอท้วงเลยไปถึงโฆษณาหลอดประหยัดไฟยี่ห้อหนึ่งค่ะ  จริง ๆ ก็โฆษณาเรียบง่ายดีเลยนะคะ  แต่เธอออกเสียงคำว่า "ประหยัด" เป็น "เปียหยัด" คุณกุ้งแห้งฯค่ะเข้ามีผู้ทำหน้าที่ทักท้วงเรื่องอย่างนี้ในการผลิตงานโฆษณาไหมค่ะ  สงสัยจัง


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 11 ก.พ. 08, 16:51
เป็นไอเดียอย่างหนึ่งของคนทำโฆษณาบางคนค่ะ ที่ต้องการสร้างสิ่งผิดๆ หรือตลกๆเพื่อให้คนจดจำ จะได้ไปเลียนแบบ โฆษณาจะได้ดัง บางคนก็คิดมุขจากคำพูดเก่าๆ แล้วเอามาใช้ได้ถูกกาละเทศะ การเอาสำเนียงตจว.มาล้อบ้าง ถ้าทำได้ดูจริงใจ มันก็จะออกมาน่ารัก ..ถ้าทำแล้วจงใจ มันก็จะออกมาหลอกๆ..
ไม่ได้ดูโฆษณาค่ะ คุณป้ากุน ตอนนี้ถ้าเปิดทีวี จะดูแต่รายการช่องที่ไม่มีโฆษณา
......
มีค่ะ กระบวนการแรกเลย คือหัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ ปล่อยให้ออกมา แล้วไปขายไอเดีย ลูกค้าก็เห็นดีเห็นงามไปอีก พอทำหนังเสร็จ ส่งเซ็นเซอร์ เซ็นเซอร์สมัยนี้ใจกว้าง ก็ปล่อยให้ผ่าน เพราะเข้าใจว่า เป็นจุดให้คนจำ
รอผลกระทบจากคนดูว่าจะชอบคำนี้ไหม มันมีผลกับแบรนด์หรือไม่ ถ้าชอบก็ซื้อ ไม่ชอบก็อย่าซื้อ ..ยอดขายตกเมื่อไหร่ ทีมงานทั้งลูกค้าและคนขายไอเดียคงน้ำตาตกในเช่นกัน
...
สัจธรรมค่ะ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 12 ก.พ. 08, 00:18
ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในฐานะคนที่เคยหากินกับการร้องเพลงมาบ้างนะครับ

ผมเป็นคนนึง ที่ไม่เคยคิดอยากออกเสียงภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
แต่พอจะร้องเพลงเข้าจริงๆ เพลงบางเพลงไม่ออกเสียงแบบนี้ไมได้ครับ คุณป้ากุน




ผมขออนุญาตยก เพลง "คิดถึงเธอทุกที ที่อยู่คนเดียว"
ของคุณเจนิเฟอร์ คิ้ม เป็นตัวอย่างง่ายๆนะครับ

เพลงนี้เป็นเพลงนึง ที่ถ้าออกเสียงถูกอักขระ
จะกลายเป็นเพลงลูกกรุงที่ไม่เข้ากับพื้นหลังที่เป็นเสียงแซคโซโฟนไปทันที
คนร้องก็ต้องร้องออกมาเป็น คิดถึงเธอทุกทีที่อยู่คนเดียว แบบผิดอักขระล่ะครับ
ไม่งั้นตัวคนร้องเองก็รับกับเสียงที่ร้องออกมาเองไม่ได้จริงๆครับ แหะๆ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 12 ก.พ. 08, 02:18
ปัญหามันอยู่ที่ตอนนี้ดิฉันเองอึดอัดขัดค้องใจที่เสียง sh และ th ใช้กับเพลงปัจจุบันทุกเพลง  นักร้องรุ่นใหม่จะร้องเพลงอะไร(ยกเว้นเพลงลูกทุ่งเท่านั้นกระมั่ง)ก็กลายเป็นเสียง sh และ th ไปหมด  เมื่อไม่นานมานี้มีJazz concert นำเพลงพระราชนิพนธ์มาร้องโดยนักร้องดิฉันจำชื่อไม่ได้ เสียงดีมีความสามารถ แล้วไม่ใช้นักร้องตามค่ายเพลง  ก็ยังออกเสียง sh กับ th เลยค่ะ งานเดียวกันนี้ คุณเจนิเฟอร์ คิ้ม ก็มาร้องด้วย 1 เพลง แต่เธอร้องเป็นภาษาอังกฤษค่ะ เลยไม่รู้ว่าถ้าเธอร้องเป็นภาษาไทยจะออกเสียงอย่างไร ยอมรับเลยค่ะตัวเองสะดุดทุกทีเวลาได้ยิน  เคยมีโอกาสจัดงานเล็ก ๆ ได้เลือกเพลงของวงรุ่นใหม่เมือ 6-7 ปีที่แล้ว รู้สึกว่าจะชื่อ ละอองฟอง มาใช้ประกอบงาน  ด้วยความที่รู้จักกันเลยขอร้องว่างานนี้ขอแบบเสียงภาษาไทยเพราะงานนี้จัดให้นักเรียนดู  เขาก็ร้องกันได้นะคะ  เพลงก็ออกมาไพเราะไม่แตกต่างเลยค่ะ (ปัจจุบันวงนี้สลายตัวไปแล้วค่ะ)  ดังนั้นถ้าเป็นบางเพลงก็รับได้ค่ะ(แต่ไม่อยากเชื่อเลยว่า แค่ไม่ได้ออกเสียง ท เป็น th ก็ทำให้เสียงที่ออกมาไม่เพราะ  อยากลองฟังนะเนีย)  ทีจริงความอึดอัดขัดใจของดิฉันน่ะไม่เท่าไหร่หรอกค่ะ  ไม่ชอบก็ไม่ฟังเท่านั้น  แต่ดิฉันกังวลว่าต่อ ๆ ไปผิดจะกลายเป็นถูกเท่านั้นเอง  แล้วอยากบอกอาจารย์เทาชมพูว่า  เสียงอย่างนี้ระบาดออกมาจากเพลงแล้วล่ะค่ะ  พิธีกร ผู้ดำเนินรายการวัยรุ่นทั้งหลาย เป็นอย่างนี้ไม่ใช่น้อย

ยังมีอีกนะคะ  คำว่า ถูก กับ ได้รับ ได้ยินจากทีวีสะดุดหูหลายทีแล้ว เช่น อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ คราวนี้จะลองจดไว้เล่น ๆ ว่า ประโยคแปร่ง ๆ อย่างนี้มีอะไรบ้าง  ได้ยินจากที่ไหน


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 12 ก.พ. 08, 08:23
ผมรักภาษาไทย แต่ไม่ร้องเพลงไทยครับ
ขอร่วมวงความคิดด้วยสักนิด ปัญหาน่าจะอยู่ที่การอบรมในครอบครัวตั้งแต่เล็กๆมาเลย ตัวคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่ต้องพร่ำสั่งสอนหลานลูกให้พูดไทยให้ถูกต้อง เพื่อนผมคนหน่ง ที่บ้านของเธอไม่ว่าเด็กๆเล็กๆ หรือคุณยายพูดชัดเปรี๊ยะ
เวลาเด็กพูดผิดๆบ้าง เพราะไร้เดียงสาก็จะขำกัน
แต่บ้านนี้จะสอนว่าที่ถูกเป็นอย่างไร ไม่มีครับพวก ปาทู ... เลือหางยาว ...พะเจ้าอยู่หัว พะลาชินี
..
เอาหละ เมื่อเด็กโตขึ้น เปลี่ยนแปลงไป มีภาษาแช็ททางเน็ต ซึ่งอ่านดูแล้วประสาทกินบ้าง
เป็นแฟชั่น เป็นวิวัฒนาการอันวิบัติ
แต่อย่างน้อย เมื่อสู่ที่สาธารณะ ผมเชื่อว่า พวกเขาเหล่านี้ รู้ผิดรู้ถูก 


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 13 ก.พ. 08, 00:51
คำว่าภาษาวิบัติ  กับ  ภาษาวิวัฒน์  มันใกล้กันครับ  ที่เราบอกว่าต้องพูดแบบนี้ถึงชัดหรือถูกต้องแต่ถ้าให้คนยุคเดิมย้อนหลังฟังก็อาจแปร่งๆก็ได้  ผมคิดว่าถ้าไม่เป็นที่นิยมก็จะหายไปเองเวลาผ่านไปก็จะเลิกพูดด้วยวัยด้วยความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น  แต่ถ้านิยมก็ใช้กันแล้วก็เปลี่ยนจากของเดิมมาใช้จนเป็นปกติ  เช่นคำว่า "ขอรับ"  ก็มาใช้เป็น "ครับ"  ส่วนที่มักลงท้ายแม่ กน  ด้วยเสียง ลลล  ลูกทุ่งก็มีครับลองฟังของคุณพุ่มพวง  หรือ คุณยุ้ย ดูครับ  มีบางเพลงออกเสียงแบบนี้จริงๆ  แต่ผมเฉยๆนะครับภาพรวมเพราะดี  ยิ่งปัจจุบันเมโลดี้เป็นสำเนียงฝรั่งความขัดกันระหว่างตัวโน๊ตกับวรรณยุกต์มีเป็นธรรมดาครับ  แบบท่านติบอว่า  ถ้าออกตามวรรณยุกต์เป๊ะคงไม่ได้อรรถรส  เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเพลงหรือการแสดงอื่นๆเกี่ยวกับการร้องพอรับได้ครับ  แต่ถ้าเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการหรือผู้ประกาศใช้คำผิดหรือออกเสียงไม่ถูกต้องแบบป้ากุนว่า  อันนี้คงไม่ดีแน่ครับ......... :D


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 ก.พ. 08, 02:08
เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมครับ แหะๆ



ผมไม่ถือ และไม่ว่า เรื่องเพลง
เพราะลองยกตัวอย่างเพลงที่คิดว่าคนอ่านในนี้น่าจะได้ยินกันครบทุกท่าน
คือเพลง "รักไม่รู้ดับ" ที่นำมาประกอบโฆษณาบัตรเครดิตยี่ห้อหนึ่ง

เพลงนี้เดิมป้าตู่ร้องเอาไว้ ฟังดูถึงจะไม่ไทยจ๋า ก็ไทยพอสมควร
มาร้องใหม่คราวนี้ปรับจังหวะเร็วขึ้นจนสามารถร้องจนจบในโฆษณาได้
และปรับทำนองให้เหมือนเพลงฝรั่งมากขึ้น

คนร้องก็เลยต้องเปลี่ยนเสียงอักขระหลายคำให้เข้ากับทำนองครับ
จะ ก็กลายเป็น Ja หรือ ชั้น ก็กลายเป็น chunt
เผลอๆสาวเจ้าก็มอบ "rug" แทนที่จะมอบ "รัก" ให้แฟนหนุ่มก็มี
แต่เพลงดูเข้ากับทำนองใหม่ มากกว่าวิธีการร้องแบบเดิมเยอะนะครับ



โดยส่วนตัวผมว่าเพลงก็เป็นงานศิลปะแบบหนึ่ง
ลองยกตัวอย่างว่าถ้าจิตรกรไทยซักคนจะเขียนภาพแบบ เซน ที่ใช้พู่กันอันโตๆ สะบัดมือไวๆ เพื่อแสดงอารมณ์
แต่โดนจารีตของสังคมฝืนให้รักษารูปแบบของงานจิตรกรรมแบบรัตนโกสินทร์เอาไว้
เหมือนจิตรกรรมที่พยายามยัดเยียดขนบลงไปในรูปวาดเห่ยเฟยติดยี่ห้อในท้องตลาดทุกวันนี้

คนวาดจะปวดศีรษะกันตอนวาดหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ
แต่คนเสพงานอย่างผมน่ะปวดศีรษะกันตอนเสพงานแน่
ที่เห็นรัตนโกสินทร์วิบัติกันไปไกลเกินจะกู่กลับเสียแล้ว

บ่อยครั้งที่ผู้สร้างงานบางคนก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องลด "อัตตา" หรือ "จารีต" ลง
เพื่อปรับให้สอดคล้องกับ "วิธีการสร้างงานศิลปะ" นะครับ





ปล. ผมมั่นใจครับ ว่าตัวเองพูดภาษาไทยค่อนข้างชัด
(ถึงจะติดวิธีการออกเสียง "ส" เสียดแทรก ก็ตาม)
แต่ถึงเวลาร้องเพลงขึ้นมา....... มันก็อีกเรื่องนึงครับ

ส่วนนักร้อง นักจัดรายการวิทยุ หรือนักอ่านข่าว คนไหนร้องเพลงถูก
แต่พูดออกเสียงผิดอักขระ...... ผมว่าเขาคงอยากสร้างความเป็นตัวของตัวเอง
แต่ดันเลือกวิธีที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่มั้งครับ แหะๆ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.พ. 08, 09:11
เสียงที่เพี้ยน
การออกเสียงได้ไม่ครบคำ แม้คำสั้นๆ เช่น "ฉัน"
การไม่มีปอดของนักร้อง
ไม่มีปากของนักร้อง
ไม่มีศักยภาพพิเศษของนักร้อง

ยังจะมาแหกปากหลอนหูประชาชี
ถือว่าเป็นการประกอบอาชญากรรมทางความงาม
ท่านว่าให้เอาซิปติดปาก...ถ้าไม่หยุด จะหยอดด้วยกาวตาช้าง

นักร้องที่ออกแผ่นในปัจจุบัน ยกเว้น 2-3 คนแล้ว ที่เหลือ
จ้างให้ฟังเพลงละหมื่น ก็ยังเป็นบาปแก่หูเลยครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ก.พ. 08, 09:55

        นิดหนึ่งครับ ตุณติบอ เพลงรักไม่รู้ดับนี้นำทำนองมาจากเพลงสากล On the Sunny Side of the Street
สมัยก่อนโน้นเป็นเสียงคุณสวลี ครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 ก.พ. 08, 10:04
ขอบคุณ คุณSILA มากครับ
เพลงนี้ผมมีแต่ไฟล์เสียงของป้าตู่ครับ
เลยนึกว่าแกเป็นต้นตำรับ หน้าแตกเป็นเสี่ยงๆเลยครับ  :-X




ปล. พอนึกออกครับ ว่าถ้าเป็นคุณสวลีร้อง เพลงจะออกมาเป็นยังไง


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 13 ก.พ. 08, 10:05
รู้สึกว่าเราจะพายเรือในอ่างมาครบรอบแล้วล่ะค่ะ  ประเด็น เสียง sh และ th  และอื่น ๆ  เป็นความเปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัฒน์  ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ  พึงเข้าใจและยอมรับ  ดิฉันยังรู้สึกแย้งกับข้อสรุปนี้อยู่นะคะ

ขออนุญาตถามเพื่อน ๆ ชาวเรือนไทยนิดซิค่ะ  เผื่อใครจำได้  เจ้าเสียง sh มาระบาดในเพลงไทยช่วงไหนนะ  ช่วงที่ลูกครึ่งอย่าง ทาทายัง มานิยมในวงการบันเทิงไทยอย่างที่อาจารย์เทาชมพูตั้งข้อสังเกตหรือเปล่าค่ะ  ดูเหมือนนักร้องก่อนหน้านั้น อย่าง คุณแอม เสาวลักษณ์ ลีลาบุตร  คุณตู่ นันทิดา เองก็ไม่เป็นนะคะ  ดังนั้นดิฉันว่าเพราะเพลงพาไปก็ไม่น่าจะใช่นะคะ  อยากตรวจทานดูว่าตัวเองอคติเองหรือเปล่า


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 08, 10:09
ดิฉันเองก็เป็นนักแต่งเพลงกะเขาด้วยเหมือนกัน  เคยแต่งทั้งทำนองและเนื้อร้องให้มหาวิทยาลัย   ปัจจุบันก็ยังแต่งอยู่  ทำเป็นงานอดิเรกและการกุศล
อ่านของคุณติบอแล้ว สงสัยอะไรหลายอย่าง  
ผมขออนุญาตยก เพลง "คิดถึงเธอทุกที ที่อยู่คนเดียว"
ของคุณเจนิเฟอร์ คิ้ม เป็นตัวอย่างง่ายๆนะครับ

เพลงนี้เป็นเพลงนึง ที่ถ้าออกเสียงถูกอักขระ
จะกลายเป็นเพลงลูกกรุงที่ไม่เข้ากับพื้นหลังที่เป็นเสียงแซคโซโฟนไปทันที
คนร้องก็ต้องร้องออกมาเป็น คิดถึงเธอทุกทีที่อยู่คนเดียว แบบผิดอักขระล่ะครับ
ไม่งั้นตัวคนร้องเองก็รับกับเสียงที่ร้องออกมาเองไม่ได้จริงๆครับ แหะๆ

ที่ว่า" ไม่เข้า" คือไม่เข้ากับความรู้สึกของคน หรือว่าไม่เข้ากับเสียงโน้ตดนตรี

ตามประสบการณ์ เครื่องดนตรีฝรั่งทุกชนิดไม่ว่าเปียโน ไวโอลิน หรือแซก  มันก็เล่นไปตามโน้ตดนตรีสากล ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเปล่งเสียงแบบไทยหรือฝรั่งหรือจีน
เสียงโน้ตมันมีตายตัวของมันอยู่แล้ว

การแต่งเพลงไทย ให้เข้ากับเสียงโน้ตสากล  มีความยากอยู่ที่ว่า อักษรไทยมีเสียงวรรณยุกต์กำกับ จะเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ตามโน้ตเพลงได้จำกัดไม่กี่เสียง
ยกตัวอย่าง เสียง โด่ (ก็ในโด เร มีฯนั่นแหละ) หรือเสียง C  เวลาบรรจุคำร้องไทยลงไป  ที่จะออกเสียงได้ดี คือเสียงวรรณยุกต์เอก
อย่างคำว่า หนึ่ง   อยู่  ต่อ  หรือเป็นคำตาย ก็ เอก  อาจ  อด  ฯลฯ  
แต่ถ้าเอาเสียงสามัญบรรจุลงไปใน โด่ หรือ C  เช่นคำว่า เธอ  มา  นอน ละก็  นักร้องจะร้องออกมาเป็น เถ่อ  หม่า  หน่อน

ทีนี้คำว่า ฉัน ที่ออกเสียงแบบไทยว่า ชั้น   ปัจจุบันออกเป็น "เชิ้น"   มันเป็นเสียงวรรณยุกต์เดียวกันคือวรรณยุกต์ตรี  
ถ้าเป็นโน้ตที่ลงกับเสียงตรีได้ เช่น เสียง Me ( หรือ  E )ละก็   ร้องได้ทั้ง ชั้น และ เชิ้น ละค่ะ   ไม่น่าจะเกี่ยวกับว่าแซกเป่ายังไง


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.พ. 08, 11:17
ตอบแบบคนไม่รู้เรื่องดนตรีนะครับ
เสียง sh และ th ในภาษาไทยนี้ เป็นเสียงไม่เต็มโน๊ต
เอาว่าไม่เต็มเสียงไทยละกัน คือใช้แค่ลมผ่านปลายลิ้นก็ได้เสียงแล้ว ไม่ต้องใช้ลึกถึงโคนลิ้น ลูกคอ หรือท้อง
เป็นเสียงที่ทำง่าย เด็กเพิ่งหัดพูดก็ทำได้ ในทางดนตรี เมื่อนำมาใช้นั้น มีที่ทางให้สิงสู่อยู่ไม่มาก
ส่วนใหญ่มักจะไปอาศัยอยู่กับเพลงแจ๊ส

ในเพลงไทยนั้น เสียงครึ่งเสียงแบบนี้ ผมไม่เคยได้ยินจากนักร้องรุ่นมีครู
ลองฟังง่ายๆ อย่างรุ่นชายเมืองสิงห์เถิด แกจะบิดเสียงไปอย่างไรก็ตาม คำนั้น ต้องครบเสียง
จะไม่มีการสร้างเสียงลอดปลายลิ้นอย่าง sh... th เป็นอันขาด เพราะแกต้องร้องเพลงครบโน๊ต
คนมีครู ทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ไม่เป็นดอก

นักร้องไร้ครูนั้น มาพร้อมวงสตริง
เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว วัฒนธรรมที่น่าจะเรียกว่าสันดานแยงกี้ เข้ามาเต็มถนนเพชรบุรีตัดใหม่
พวกนี้ฟังเพลงแบบที่บ้านมัน เราก็ต้องทำเพลงแบบที่บ้านมันฟัง เอามากรอกหู
ก้อ พี่สุเทพ พี่ชรินทร์อะไรเหล่านี้ ร้องเพลงแยงกี้ม่ายเป็นอ่ะ มันก้อเลยเกิดช่องว่างทางดนตรีขึ้นมา
เด็กวัยยี่สิบตอนนั้น รวมกลุ่มกันเล่นดนตรี เอารูปแบบของวงสี่เต่าทองมาใช้
มีกีต้าร์สามตัว กลองหนึ่งชุด ก็หาเงินได้แล้ว ร้องเพลงของฝาหรั่งให้ฝาหรั่งฟัง
ก็ไม่ได้มาทำร้ายเพลงไทยอะไร

วิกฤติมาจากการประกวดวงสตริงครับ
วงที่ชนะเลิศสามปีซ้อนวงนั้นแหละครับ ที่นำเสียง sh และ th เข้าสู่หูชาวไทยอย่างเป็นทางการ
ยิ่งวงมีชื่อเสีย...เอ้ยชื่อเสียง
sh และ th ก้อกลายเป็นของเท่ การดัดเสียงไทยเข้าสเกลโน๊ตฝาหรั่ง ก็บังเกิด
เป่น ปาย ม้าย ด้าย....ท่า หาก ฉาน มี สิ่บ น่า......เหมือน ทด สะ กัน
ประมาณนี้แหละครับ

ส่วนความวิบัติที่ตามมา เพราะการที่มีอากู๋อาเฮียเข้ามาทำมาหากินกับเพลงไทยนั้น
ผมไม่ถนัด เพราะไม่ฟังเพลงไทยมาตั้งแต่สุรพลตาย ศรคีรีตาย ระพินตาย

ท่านเหล่านี้ พาเพลงไทยตายไปด้วย....ฮือๆๆๆๆๆ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 ก.พ. 08, 11:55
แจสหลายเพลง ที่ใช้ ช sh ch หรือ ส s แล้วไม่น่าฟังก็มีครับ
ส่วนมากมักจะเป็นแจสที่ใช้ภาษาค่อนข้างซับซ้อน
เช่น เพลงพระราชนิพนธ์แจสหลายเพลง
ถ้าใครซักคนมาร้อง jud tien buan suang puang teb-pha-jao
ผมว่าคงออกมาคล้ายๆแขกสวดมนต์มากกว่าเพลงแจสครับ แหะๆ

แต่ถ้าแจสฝันๆ อีกหลายเพลง อย่าง "คิดถึงเธอทุกทีที่อยู่คนเดียว" ที่ว่า
ถ้าจะร้องให้ลงอักขระจริงๆ อารมณ์ฝันๆ ของเพลงคงหายไปเยอะครับอาจารย์


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 13 ก.พ. 08, 13:06
เมื่อวันเสาร์ที่แล้วดูรายการชิงช้าสวรรค์  นักเรียนได้นำเพลงของ ชินกร ไกรลาส มาขับร้องประกวด  ครูสลาได้ให้ข้อสังเกตเป็นความรู้ไว้ว่า  จุดเด่นของ ชินกร ไกรลาส นอกจากลูกคอซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว  ชินกรยังเป็นนักร้องที่สามารถร้องเพลงได้ไม่เพี้ยนทั้งคำ วรรณยุกต์ และโน้ต  ดิฉันว่า  นักร้องที่สามารถน่าจะเป็นผู้นำพาทุกอย่างไปค่ะ ไม่ใช่ให้โน้ต หรือดนตรีพาไป ต้องลองไปหาเพลงของชินกรมาฟังเยอะ ๆ แล้วล่ะค่ะ

ดิฉันเห็นมีฝรั่งมาร้องเพลงลูกทุ่งอยู่  แต่ไม่เคยสนใจ  คราวนี้เห็นจะต้องลองหามาฟังเสียหน่อย  เผื่อจะได้อะไรใหม่ ๆ มาเป็นประเด็น


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ก.พ. 08, 00:26
ท่านศิลปินแห่งชาติ คุณชินกร ไกรลาศ  ผมยอมรับครับว่าท่านร้องได้ชัดเจนไม่เพี้ยนวรรณยุกต์ด้วย  แต่นั่นเป็นเพลงไทยแท้ๆครับทำนองจากเพลงไทยเดิม  เอาง่ายๆครับโน๊ตดนตรีไทยจะไม่มีตัวครึ่งเสียง พวกแฟลชหรือชาร์ป  ถ้าแต่งละเมียดละไมหน่อยก็ร้องได้โดยไม่ผิดสำเนียงและวรรณยุกต์ด้วยครับ  แต่ในปัจจุบันเพลงที่เราว่าเป็นแจ๊สเป็นสตริง ฯลฯ  สำเนียงฝรั่งครับ  ถ้าจะว่าแปร่งหรือเริ่มเพี้ยนตอนไหน  ผมว่าน่าจะตั้งแต่ตอนที่เอาทำนองฝรั่งมาแปลงเป็นเนื้อไทยล่ะครับ  ถ้าไม่ละเมียดละไมในการใส่คำร้องก็ผิดวรรณยุกต์ได้โดยง่ายเพราะต้องยึดทำนองเป็นหลัก  แต่ที่น่านับถือ  คือเอาท่วงทำนองฝรั่งมาบ้างแต่ยังร้องได้ชัดถ้อยใส่คำร้องได้สวยคือวงสุนทราภรณ์ครับ  หลังๆมานี่หาได้ยากยิ่งพวกR&Bยิ่งแล้วเลยครับ  ลูกทุ่งก็มีบ้างครับ  อย่างที่เอาเพลง Diana ของ Paul Anka มาร้องขึ้นต้นด้วย  "เธอลูกเสี่ยเฮง....."  ผมฟังทั้งของก็อตและของดั้งเดิม  โอ้ย ฮากก  ฮากก ฮากกาน  บ่ได้ดอก  แต่ไม่เห็นมีใครว่าอะไรนี่ครับ  ผมเห็นด้วยกับท่านติบอครับ  เพลงคือเพลงฟังได้ครับศิลปะแขนงนึง   แต่ถ้าพูดปกติมาออกเสียงเป็น  พี่แช่  พี่แช่  อันนี้แมนรับบ่ได้....... ;D


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 ก.พ. 08, 01:40
ค้านคุณกล้วยหน่อย (ในฐานะที่มีเพื่อนสนิทเล่นดนตรีไทยมาหลายคนละ)
ผมว่าในมุมกลับกัน......



คนดนตรีไทยที่หัวอนุรักษ์หลายคนกลับเรียก "เพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุง ทำนองดนตรีไทยเดิม" ว่า "ดนตรีวิบัติ" ครับ
(ไม่เว้นแม้แต่สุนทรภรณ์ ผู้เป็นต้นคิดแรกๆที่เอาเพลงไทยเดิมมาตัดลูกเล่นออกแล้วใส่เนื้อใหม่เข้าไป)
เพราะการทำเพลงลักษณะนี้ ด้วยความไม่สันทัดกรณีของนักดนตรีสากลชาวไทย
ทำให้เกิดการคงทำนองเพลงเดิม แต่เปลี่ยนจังหวะให้กลายเป็นจังหวะแบบละตินอเมริกา
หรือการลดทอนความละเมียดละไมที่เพลงควรจะมีลงไปจนแทบไม่เหลืออะไรเลย



ถ้านักดนตรีไทยรุ่นใหม่ซักคนแกะโน๊ตมาจากเพลงสุนทราภรณ์ แล้วเผลอไปเล่นให้ครูดนตรีฟัง
ก็มักจะโดนถามมาด้วยน้ำเสียงเหยียดๆว่า "นี่เธอไปเอาลูกวงโยฯที่ไหนมาเล่นน่ะ"
หรือไม่ก็ "นี่มันวงมโหรีนะ ไม่ใช่วงดนตรีหางเครื่องที่ไหน" เอาได้ง่ายๆครับ แหะๆ





ปล. ใครเคยฟังเพลงไทยเดิมจริงๆ......
ต่อให้ไปฟังจากแผ่นของหม่อมส้มแขก... เอ๊ย หม่อมส้มจีน ก็ได้
ผมเชื่อครับ ว่าหลายเพลงโดยเฉพาะเพลง 3 ชั้น น่ะ ฟังกันไม่ออกนะครับ ว่าเขาร้องว่าอะไร
เสียง พยัญชนะต้น ตัวสะกด สระ วรรณยุกต์ เพี้ยนไม่เหลือหลอครับ แหะๆ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 14 ก.พ. 08, 06:58
ขอร่วมวงสักนิด
ดิฉันเป็นแฟนสุนทราภรณ์ ก้าน แก้วสุพรรณ พร ภิรมย์ ชาย เมืองสิงห์ สุรพล สมบัติเจริญ เรียม ดาราน้อย ศรีไสล สุชาติวุฒิ พิทยา บุณยรัตพันธ์ ฯลฯ แต่มีอยู่ยุคหนึ่ง เพื่อนชอบพี่แช่มาก ดิฉันกัดฟันขอร้องคนสนิทให้ไปซื้อพี่แช่มาให้ฟังหน่อย
เทปม้วนนั้น พี่แช่เขียนเนื้อเอง ร้องเอง
เพื่อนคนนั้นร้องได้ทุกเพลง
แต่ไม่ได้ชอบตามเพื่อนหรอกค่ะ แค่อยากจะรู้เท่านั้นว่า ดีตรงไหน
เพลงรุ่นใหม่ๆได้ฟังบ่อย ทั้งสดๆ และที่วัยรุ่นเปิดให้ฟัง ฟังแล้วทำใจ
แต่ก็มีบางวง ที่พวกเขามีภูมิหลังทางดนตรีไทยไต่เต้ามาจากการประกวดตามสถานีวิทยุ ที่ให้เยาวชนขึ้นไปเล่นดนตรีประกวดกัน แล้วมีกูรูรับเชิญขึ้นมาเป็นกรรมการวิจารณ์ คัดเข้ามาเรื่อยๆจนได้วงชนะเลิศ
สร้างวงดีๆให้เมืองไทย และทำลายน้ำใจวงที่ดีๆไปพลางๆด้วยเพราะการตัดสินที่ไม่อยู่บนรากฐานของดนตรีแต่เป็นการค้าที่บังอาจใช้คำว่าการตลาด
แต่เป็นการตลาดแบบสุกเอาเผากิน
เราจึงได้นักร้องประเภทออกเสียงภาษาไทยไม่ถูกอักขรวิธี คนแต่งเพลงที่ไม่สนฉันทลักษณ์เพราะมันยากเกินกว่าที่เขาจะเข้าใจ
หรือใส่ใจ
แล้วก็กลบว่า มันไม่ทันสมัย...


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 14 ก.พ. 08, 07:04
ดิฉันเพิ่งมาเป็นแฟนดนตรีไทยจริงจัง เพราะไปนั่งดูการแสดงดนตรีไทยและเพลงไทยเดิมบ่อยๆที่มหาวิทยาลัยบูรพา
ซึ่งทำให้ชีวิตมีความสุขพอๆกับการฟังดนตรีสากลดีๆ
ชอบสินนภา สารสาส และกลุ่มอนุรักษ์ดนตรีไทยของเธอ
สินนภา ไม่ร้อง แต่แต่งเพลง ประยุกต์ไทย กับแปลงสากล
ชอบเสียงร้องเพลงไทยอันไพเราะด้วยอักขระ ที่ไม่เว่อ ของครูบาอาจารย์ชายหญิงที่นั่น
รวมถึงนักศึกษาที่บทจะให้นั่งเล่นดนตรีไทยด้วยท่าทีที่สงบ สง่า เสงี่ยมก็ได้
และเมื่อเป็นดนตรีสากลก็เล่นได้ดี ซ่า ไม่แพ้ฝรั่ง


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 14 ก.พ. 08, 07:38
นักแต่งเพลงและโพรดิวเซอร์เก่งๆ ที่มีวิญญาณไทย สไตล์ฝรั่งเช่น เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ที่ไม่ปล่อยให้นักร้องเปล่งเสียงผิดพลาดก็ล้มหายตายจากไป นักแต่งเพลงและโพรดิวเซอร์รุ่นหลังๆไม่ทราบใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานเขาก็ทำงานของเขาไป
อาจจะคิดว่า มันโก้ดีด้วยซ้ำ ถ้าจะปล่อยงานที่นักร้องร้องตัวท.ทหารเป็นตัว ที ช.ช้าง เป็น ตัวsh
ฯลฯ
ทำใจว่าเป็นเรื่องของแฟชั่น เกิดขึ้น แล้วก็เสื่อมสลาย
พวกผู้ประกาศข่าวและพิธีกร รวมถึงดารารับเชิญในทีวี และผู้ประกาศวิทยุนี่สิ
คงต้องเข้มงวดให้มากๆ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 14 ก.พ. 08, 10:24
สมัยเด็กๆ ครูภาษาไทยผม เน้นให้ออกเสียงชัด ควบกล้ำถูกต้อง    ครู ไม่ใช่ คู   เกลียด ไม่ใช่ เกียด
เพื่อนตจว หัดพูดภาษากรุงเทพ  ครูสอนให้ออกเสียงยังไงถึงไม่เหน่อ

ครูบอกว่าภาษาทุกภาษา ออกเสียงชัดเจนถูกต้องถึงจะเพราะ   ไม่เห็นภาษาไหนสอนว่าออกเสียงเพี้ยนๆดีกว่า น่าฟังกว่า
พึ่งรู้ในกระทู้นี่ว่าออกเสียงเพี้ยนถึงจะดี    ในเพลงภาษาไทยที่เอาดนตรีฝรั่งหนุนหลัง   เอ๋อรัปทานครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 14 ก.พ. 08, 11:24
ดิฉันขออนุญาตเปิดประเด็น  ทำไมเราถึงต้องอนุรักษ์เสียง และการใช้ภาษาไทยแบบเดิม ๆ ของเราไว้  ทำไมเราไม่ปล่อยให้ภาษาของเราปรับตัวไปตามกระแสของสังคม และโลก  พระพุทธเจ้าบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง  ถ้าเรายึดมั่นถือมั่น ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง นั่นแหละทุกข์ 


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.พ. 08, 12:57
เราอยู่ในกระแสของการเปลี่ยนแปลง และมีสิทธิ์เลือกที่จะให้ภาษาวิวัฒน์ไปอย่างไร แต่ถึงที่สุดจะเป็นอย่างไรก็คงฝืนไม่ได้ครับ

เฉพาะในภาษาไทยที่เราใช้อยู่ก็มีร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย เสียง ฃ, ฅ หายไปแล้ว เสียง ไ และ ใ กลายเป็นเสียงเดียวกัน(ต้องไปหาร่องรอยเอาจากภาษาอื่นในตระกูล "ไท" ด้วยกัน) เสียง ห จนป่านนี้ผมยังไม่แน่ใจว่า ห ไทยแท้ๆเป็นเสียงนาสิกหรือไม่

ไม่นับเรื่องเสียงวรรณยุกต์กรุงเทพที่เกลื่อนเข้ากับวรรณยุกต์แต้จิ๋ว ทำเอาสำเนียงกรุงเทพเพี้ยนไปจากไทยภาคกลางแต่ดั้งเดิม และในทางกลับกันก็ทำให้ลูกจีนแต้จิ๋วในไทยส่วนมากพูดแต้จิ๋วโดยมีเสียงวรรณยุกต์เหลือแค่ ๕ เสียงเหมือนไทยกรุงเทพ ทั้งๆที่แต้จิ๋วมีเสียงวรรณยุกต์ ๙ เสียงครับ

ลาวเองก็ทำ ร หายไปนานแล้ว ในขณะที่ไทยเองยังรักษาเอาไว้ได้ ก็ไม่รู้เพราะว่าใกล้ชิดกับเขมรที่ออกเสียงรัวลิ้นได้ถนัดหรือเปล่านะครับ หรืออย่างการรับคำแขกมาออกเสียงแบบไทย ผมคุ้นๆว่าเคยอ่านเจอว่า Art Linkletter แซวว่าเวียนหัวกับภาษาไทยมาก เพราะเขียนชื่อท่านผู้นำในสมัยนั้นว่า Bipul แต่ออกเสียงว่า Pibul ผมก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าบรรพบุรุษไทยของเราท่านถ่ายเสียงพวกนี้มาอย่างไร หรือเสียงภาษาไทยในสมัยโบราณก็ต่างไปจากที่เราใช้ในปัจจุบันนี้อีก (มองต่างมุม อาจจะเป็นแขกเองที่เพี้ยน  ;D)

โดยส่วนตัว ผมเองสนับสนุนการอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยแบบมาตรฐานปัจจุบัน แต่ก็ทำใจยอมรับได้ว่า ถ้ามันจะเปลี่ยนก็ต้องเป็นเช่นนั้นแหละครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.พ. 08, 14:10
พระพุทธเจ้าบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง 

ไม่เถียงครับ
แต่สงสัยว่า การกลายพันธุ์ ความมักง่าย การรู้เท่าไม่ถึงการ
เป็นความเปลี่ยนแปลงที่พึงรับได้หรือไม่

หากจะอ้างกฏธรรมชาติ เด็กสาวตัดจุกแล้ว ก็มีลูกได้ เราจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่
ผมเห็นว่า สังคมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด
แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลง แสดงถึงกำลังหนุนที่แข็งแกร่ง

การอุปสมบทนั้น ทำอย่างเดิมๆ มานานกว่า 2500 ปี
ทำไมไม่เปลี่ยนแปลงบ้างครับ คนสองเพศก็น่าจะบวชได้
บวชทางอินเตอร์เนตก็น่าจะทำได้ หรือเป็มมหายานพร้อมเถรวาท ...เอ้า ฮินดูด้วย
ในคนเดียวกัน เวลาเดียวกัน น่าจะทำได้

ความสามารถในการรักษามิให้เปลี่ยนแปลง ยิ่งเป็นพลังยิ่งใหญ่ ที่อาจจะเหนือกฏธรรมชาติ
ผมคิดว่าพุทธศาสนานั้น เหนือกว่ากฏธรรมชาติ เทียบกันไม่ได้เลย
แต่ก็ยังมีคนพยายามบอกว่าพุทธธรรมคือกฏธรรมชาติ

อันนี้ผมว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ก้าวหน้า....เหมือนเสียงเพี้ยนเป็นไพเราะ
ขอไปนั่งข้างคุณบุ๊ค...ม่ายรับประทานเหมือนกันครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 14 ก.พ. 08, 14:20
ดิฉันขอเป็นพวกอนุรักษ์นิยมในเรื่องนี้ค่ะ  และเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าจะมีใครนำเสียงและคำที่สูญหายไปจากภาษาไทยกลับมาได้ เช่น สำนักพิมพ์กะรัต และผีเสื้อ นำ ค คน กลับมาใช้ในหนังสือของเขาค่ะ ที่อนุรักษ์ไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นคนไทย  หรือว่าภาษาไทยของเราสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าภาษาใด ๆ นะคะ  แต่เป็นเพราะว่า  เราพึงเคารพต่อสิ่งที่มีมาก่อนเราเกิดค่ะ 

ความหลากหลายของภาษาก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ   เพียงแต่เรายังไม่ทราบที่มาที่ไปว่าทำไมโลกนี้ต้องมีหลายภาษา   ไก่อยู่ตรงไหนของโลกก็ขันเหมือนกัน  แต่มนุษย์เหมือน ๆ กันกลับเปล่งเสียงไม่เหมือนกันในแต่ละชนชาติ  เมื่อเรายังไม่รู้ว่าความแตกต่างนี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร  เพื่อประโยชน์อะไร  รักษาความหลากหลายไว้ก็ไม่มีอะไรเสียหายไม่ใช่หรือค่ะ  ความหลากหลายนี้รวมถึงภาษาของชนทุกเหล่า ไม่ว่าจะกลุ่มใหญ่ หรือกลุ่มน้อยขนาดไหน 

ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ชนชาติใด  เมื่อใช้ภาษาใดก็พึงเคารพและให้เกียรติแก่ภาษานั้น ๆ โดยการพยายามใช้ภาษานั้น ๆ ให้ถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้  แต่เมื่อเราเป็นคนไทยก็พึงจะใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกว่าชนชาติอื่น ๆ ที่มาใช้ภาษาของเรา

สำหรับเรื่องเพลง  ดิฉันว่า  อย่างไรเสียก็ควรจะเป็นเสียงไทยค่ะ  ลองปลี่ยนวิธีไหมค่ะ  เปลี่ยนเป็นทำเพลงหรือดนตรีให้เข้ากับเสียงไทย  หรือใช้คำไทยที่มีอยู่หลากหลายให้เหมาะกับเสียงดนตรี  หรือทำไม่ได้เพราะคนทำเพลงรู้จักดนตรี และคำ แค่นั้นเอง  หรือต้องรีบทำให้เสร็จ  ทำให้ได้ปริมาณ  มากกว่าจะมาใช้เวลาละเมียดละไมกับสิ่งที่ตัวเองทำ  ต้องขอโทษนะคะที่ดูเหมือนสบประมาท  แต่แค่อยากค้นหาความจริงเท่านั่นเองค่ะ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.พ. 08, 14:48
การนำเอา ฅ มาเขียน ฅน ของของสนพ.กะรัตและผีเสื้อ เป็นความวิบัติทางภาษานะครับป้ากุน ไม่ใช่การอนุรักษ์ เพราะโบราณไม่เคยใช้ ฅ มาเขียน คน เขาใช้เขียน ฅอ ครับ การต่อยอดความสับสนจากแบบเรียนเร็วที่ย่นย่อ ฅ ฅอคน เหลือแค่ ฅ คน จนคนเข้าใจว่า ฅ ใช้เขียน ฅน และพยายามเขียน คน เป็น ฅน จึงเป็นความวิบัติทางภาษาอย่างร้ายแรง


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.พ. 08, 15:40
เห็นด้วยกับป้ากุนเรื่องรักษาสิ่งที่มีก่อนเราเอาไว้
ไม่ต้องคิดถึงอะไรทั้งนั้นแหละ หมวกของพ่อเรา ตกทอดถึงเรา เราก็ต้องเก็บเพื่อส่งต่อลูกเรา
เรื่องง่ายๆ แค่นี้ ทำไม่ได้หรือ

ไม่เห็นด้วยกับป้ากุนเรื่องใช้ ค คน
เพราะค คน ตายไปแล้ว ....นาน ก่อนเราเกิด
จะย้อนยุคไปเอากลับมาใช้ ต้องการพลังมากกว่าสำนักพิมพ์หนึ่งยี่ห้อ ซึ่งทำไปเพื่อเหตุใด ยังนึกไม่ออก
อย่างที่เคยมีข้อเรียกร้องให้กลับประเทศเราไปใช้สยาม ผมก็ขอวางเฉย ไม่รังเกียจครับ
แต่ขอใช้พลังทำอย่างอื่นก่อน

การเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ดีขึ้น ไม่น่าทำ
กลับไปใช้ค คน แล้วทำให้ภาษาไทยรุ่งเรือง เอาเลยครับ
กลับไปใช้สยามแล้ว สำนึกความเป็นคน เพิ่มมากขึ้น เอาเลยครับ

แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงแล้วสุนทรียแห่งภาษาและเสียง พิการ

ไม่เอาครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 14 ก.พ. 08, 16:02
เห็นด้วยกับคุณพพ.ทุกประการ  การนำของเดิมกลับมาใช้  จุดมุ่งหมายอยู่ที่สร้างการความรู้ ความเข้าใจ ที่มาของภาษา  และจะได้ก้าวไปต่อด้วยความรู้ ความเข้าใจ ไม่ใช่เพราะความง่าย ความหลงผิด

คุณcrazyhorseให้ความรู้เรื่อง ค คน เพิ่มหน่อยซิค่ะ  ไม่บอกไม่รู้จริง ๆ น่ะ  เข้าใจผิดมานมนาน 


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.พ. 08, 16:58
ดูกระทู้นี้ครับป้ากุน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2184.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2184.0)



กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 14 ก.พ. 08, 21:25
ขอบคุณค่ะ คุณCrazyHorse  ผิดแล้วปล่อยปละละเลยกันมาตั้งแต่ตอนนั้น  ตอนนี้เห็นอะไรผิดก็ไม่น่าจะปล่อยกันไปอีกนะคะ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 15 ก.พ. 08, 01:12
ต้องขออภัยคุณป้ากุนอย่างแรงครับ  ที่ผมคิดว่าเราไม่สามารถไปจำกัดศิลปะให้อยู่ในกรอบได้  ไม้เว้นแม้แต่แขนงดนตรีและเพลงว่าต้องแต่งอย่างนี้ถูกอย่างนี้ไม่ได้  ยิ่งในยุคที่เค้าว่ากอบอไหล  มันจึงไหลไปไหลมาไม่มีพรมแดน  เพลงไทยทำนองฝรั่ง  แขก  จีน  ญี่ปุ่นฯลฯ  ย่อมเกิดขึ้นได้  เพลงไทยสไตล์ฮิปฮอบก็ยังมี  โด่งดังไปทั่วเมือง  ผู้ใหญ่ที่บ้านผมก็บ่นทุกทีเวลาเปิด  ผมก็ต้องบอกว่าทำใจเถอะครับห้ามไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้หรอก  ผมยังคิดว่า ภาษาก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่งเหมือนกัน  ทั้งการวาดอักษร  ประดิษฐ์เรียงร้อยคำ  ค้นหาคิดค้นหรือเกิดคำใหม่ๆ  นำเอาของภาษาอื่นมาใช้  มันก็เป็นสิ่งเร้าอารมณ์ สร้างความหมาย สร้างความรู้สึก  ในการสื่อสารเหมือนศิลปะทั่วไป  ในแต่ละวันเราก็ใช้ภาษาปนกันทั่วไปที่ทำจนเป็นภาษานิยม  ให้เรียกสิ่งนี้ว่า ทีวี (TV)  ขึ้นไปขับรถก็ต้อง สตาร์ท(start)  เวลาคับขันก็เหยียบ เบรค(brake)  กลางวันก็ไปทาน ก๋วยเตี๋ยว  บะหมี่  พูดภาษาแปลกๆเช่น  ไอ้นี่เจ๋งว่ะ  อย่าแซว  ไม่โดนเลยพี่  แหล่ม ฯลฯ  ทั้งหมดนี้ถ้าไม่นิยมจริงก็คงเลิกไปตามกาล  ถ้านิยมก็กลายเป็นคำที่ต้องบัญญัติกันไป  เหมือนคำว่า เด็กแว๊น  ก็บัญญัติและให้ความหมายกันแล้ว  แปลว่านิยมจนยอมรับกัน

ส่วนเรื่องของศาสนา  นำมาคิดในแง่นี้ไม่ได้ครับ  มันเป็นเรื่องของ วินัยบัญญัติ  เราเป็นศาสนาพุทธเถรวาท  เป็นนิกายที่รับแต่คำสอนต่อๆกันมาโดยไม่ยอมแก้ไขอะไรแม้แต่น้อย  ทั้งที่พระพุทธองค์ได้เคยทรงอนุญาตไว้กับพระอานนท์ว่าแก้ไขข้อเล็กๆน้อยๆได้  แต่นิกายเราไม่สามารถมีท่านใดให้คำจำกัดความว่าเล็กน้อยนั้นแค่ไหน  จึงไม่ยอมเปลี่ยนครับ  ศาสนาจึงนำมาคิดในเชิงศิลปะไม่ได้ครับ......... ???


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 15 ก.พ. 08, 16:09
ขอบคุณคุณBanaค่ะ  ข้อทักท้วงของคุณBana ทำให้ดิฉันกลับมาพิจารณาความคิดของตัวเองอีกรอบว่า แกนความคิดของเราอยู่ตรงไหน  แกนของความคิดของดิฉันอยู่ตรงที่  การให้ความเคารพ และให้เกียรติ เสียงภาษาไทย และดนตรีตะวันตกอย่างเท่าเทียมกัน  การที่เรายอมเปลี่ยนเสียงภาษาไทยเพื่อให้เข้ากับดนตรีตะวันตก  มีนัยยะของความไม่เท่าเทียมโดยที่เราไม่รู้ตัวไหม(แหม พอเขียนประโยคนี้แล้วนึกถึงพระราชนิพนธ์ของ ร.6 ขึ้นมาเชียวค่ะ)  ลองตั้งคำถามดูซิค่ะว่า  ทำไมเราไม่เปลี่ยนเสียงดนตรีตะวันตกให้เข้ากับเสียงภษาไทยบ้างล่ะ  ถามแบบถามจริง ๆ นะคะ  ทำไมเราถึงไม่คิดจะเปลี่ยนเสียงดนตรีตะวันตกบ้าง  อันนี้เป็นคำถามแค่ให้เราตรวจสอบค่านิยม และทัศนคติที่เรามีโดยเราไม่รู้ตัวเท่านั้นแหละค่ะ  แต่ด้วยใจจริง ๆ ของดิฉันเชื่อว่า  เราอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนทั้งภาษาไทยและดนตรีก็ได้ค่ะ  แต่เปลี่ยนคนแต่งเพลง เนื้อร้อง และคนร้องให้มีความรู้ ความสามารถมากกว่านี้  อย่างเครื่องดนตรีของไทย กับเครื่องดนตรีตะวันตก มีระดับเสียงที่ไม่เหมือนกัน  การจะนำมาบรรเลงร่วมกันได้  คนที่นำมาใช้จะต้องมีความรู้ทั้งเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีตะวันตก  คนไม่รู้เอามาใช้ก็ไปไม่รอดค่ะ

คราวนี้ดิฉันอธิบายสิ่งที่ดิฉันคิดชัดเจนขึ้นไหมค่ะ  ไม่มีเรื่องกรอบ และอะไรผิดอะไรถูกนะคะ

มีอะไรก็ทักท้วง  แลกเปลี่ยนกันด้วยความยินดีนะคะ  ดิฉันชอบที่นี่ค่ะ  ที่นี่มีสติ มีปัญญา แล้วก็มีภารโรงด้วยนะ



กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ก.พ. 08, 17:21
ภารโรงที่นี่ โปรเฟสเสอร์ยังหนาวเลย
ดุ....สุด

พวกเราทั้งหลาย น่าจะถูกสอนมาทั้งสองระบบ คือใช้ภาษาไทย ที่มีรากเง่า
กับต้องใช้ภาษาไทยนั้น เปิดรับรากเน่า....เอ้ยรากเง่าของคนอื่นเข้ามา
ปัญหาอยู่ที่ เราส่วนใหญ่ อาจจะไม่ทันนึกว่า ภาษานั้นเป็นการแฝงตัวของความสำนึก
ไพล่ไปนึกว่า ภาษาเป็นเครื่องมือ เหมือนสายไฟ เหมือนสายโทรศัพท์....เหมือนชักโครก
หาเคยคิดว่า ภาษามีอายุ แปลว่ามีชีวิต

พอไม่รู้อย่างนั้น ก็อาจจะเอาภารโรงของผม ไปขับเครื่องบิน หรือเอานักบิน มาขับแท๊กซี่
ใช้ของผิดประเภทแท้ๆ
ผมขอยกตัวอย่างเพลงที่ลูกผมชอบฟัง พวกฮิบหอบ พวกเฮฟวี่
ในเพลงจำพวกนี้ ที่ไม่ใช่การบ้าเห่อทำตาม หมายถึงจากนักร้องที่เขา"เลือก" ว่าจะเป็นนักหอบจริงๆ
พวกนี้จะสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เป็นวัฒนธรรมย่อยอยู่ใต่วัฒนธรรมใหญ่
คิดดังนี้ ผมก็ยอมรับได้ ว่าเขาเป็นเช่นนั้นจริงๆ สิ่งที่เขาสร้าง เขาต้องการมันจริงๆ
ไม่ใช่ดัดจริตเหมือนเด็กไทย ทำอะไรก็ได้ ขอแค่สนองความต้องการตัวเอง ไม่ลงทุนอะไรทั้งนั้น
ลอกเขาลูกเดียว

ผมคิดว่า ถ้าครูมีแขกท่านอยู่กับเราในพ.ศ. นี้ ใครจะไปรู้ ท่านอาจจะเป็นครูมีฮิบหอบแขกก็ได้
เพราะศิลปินที่แท้ ไม่สิ้นหนทางอยู่กลางโลกที่เปลี่ยนแปลง
แต่พานิชยศิลปินสิ ทำอะไรก็ได้ ขอแค่ตัวเองรอด
แย่กว่าพานิชยศิลปิน ก็คือพ่อค้าแท้ๆ ที่เห็นแก่เงิน แต่จับศิลปะและเพลงไทยชำเราจนได้สายพันธุ์ใหม่
เลี้ยงไว้รับใช้กระเป๋าตัวเอง

ประเด็นของผมก็คือ จะไทยชั้นเลวยังไง ขอให้เป็น "ของจริง" เหอะ
ผมเปลี่ยนใจมายกย่องได้แน่ๆ ถ้าของนั้น เป็นของจริงที่แท้
ไม่ใชของปลอมอย่างที่มีเกลื่อนประเทศ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 16 ก.พ. 08, 00:54
ขอบคุณครับคุณป้ากุน  ผมเพียงอยากหมายถึงความเป็นอนัตตลักษณ์  คือมันเป็นไปของมันโดยบังคับได้ยากครับ  ถ้าเราคิดว่ามันเป็นศิลปะแขนงนึงซึ่งมนุษย์มี  มันไม่มีทางอยู่นิ่งหรืออยู่ในที่ใดที่ควรหรือไม่ควร  เหตุผลของมันน่าจะเป็นการสะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละยุคล่ะครับ  เศรษฐกิจไม่ดีเกิดทุกข์เข็ญมนุษย์ก็มุ่งไปทางทำมาหากินหรือทางต่อสู้ศิลปะก็แสดงออกมาแบบนึง  ถ้าบ้านเมืองสงบกินดีอยู่ดีศิลปะก็ออกมาอีกลักษณะนึง  ยิ่งโลกไร้พรมแดนอำนาจการสร้างค่านิยมก็ย่อมเป็นไปแบบที่เห็นครับ  ความปนเปมีทิศทางบ้างไร้ทิศทางบ้างก็เป็นปกติธรรมดา  ลักษณะฉาบฉวยก็ย่อมมี  ยิ่งสมัยนี้การสร้างงานชิ้นนึงง่ายเหลือเกินใช้คอมดีดีตัวนึงก็ทำได้แล้วครับ  แต่ผมเชื่ออย่างนึงครับไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพาณิชยศิลป์เพียงใด  ของแท้ของจริงจะไม่มีวันตายครับจะอยู่ได้เสมอแบบที่เรามักเรียกว่า  อมตะ  ครับ  เราคงห้ามไม่ได้แต่ขอให้กำลังใจผู้ที่สร้างงานคุณภาพจริงๆโดยการอุดหนุนทำให้เค้าอยู่ได้  และให้กำลังใจถ้ามีโอกาส  แค่นี้จริงๆครับที่เราจะทำได้....... 8)


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ก.พ. 08, 01:35
ต้องขอค้านคุณบานานิดหน่อย
จริงอยู่ ที่ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันด์ ใครก็ห้ามไม่ได้
แต่การเปลี่ยนแปลงโดยเขลานั้น น่าจะห้ามได้
แม้ว่าในทางปฏิบัติ อาจจะห้ามไม่ได้ แต่ในทางอุดมคติ ไม่ห้ามไม่ได้เด็ดขาด

อุดมคติที่ว่า ภาษาดี ต้องอยู่คู่สังคม ต้องเป็นอุดมคติที่แปรให้เป็นอุดมการ
จะปล่อยอยู่แต่ในความคิดคำนึงหาได้ไม่
คุณบานาอ้างตัวอย่างชนิดที่ลอยละล่องไปตามธารแห่งกาลเวลา
ผมทราบว่า ข้อเท็จจริงเป็นดั่งนั้น

แต่เราสอนลูกหลานเพียงข้อเท็จจริงหรือ เราไม่สอนอุดมคติหรือ
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ถ้าฟันฝ่าเข้าร้องเพลงประกวดได้ ชื่อเสียงและความรวยรออยู่
ส่วนการทำเพลงออกจากคอไปสู่หูกรรมการนั้น ช่างมัน ทำแค่ที่กรรมการชอบ เป็นพอ
แล้วกรรมการเอง ก็ไม่ได้ดีไปกว่าคนเข้าประกวด สมกับยังกับผีคู่กะโลง

ข้างคนดูก็จัดตั้งกันมา บางพ่อแม่จ่ายเป็นล้าน เพื่อซื้อความสำเร็จฟองสบู่ให้ลูก
ลูกคุณใจแตกน่ะไม่เป็นไร เพราะคุณรวย
แต่ลูกคนอื่นใจแตกสิซวยครับ เพราะมันจน แถมมันยังเป็นผู้ตามเสียอีก ไม่รู้จักคิด

ทั้งหมดคือข้อเท็จจริง และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนิน
ถ้าเชื่อคุณบานา ผมก็ต้องปล่อยให้ลูกนั่งเฝ้าหน้าจอ ทำตัวสิ้นคิดเหมือนคนสิ้นคิดอีกเป็นล้าน
ปล่อยตัวไปตามโลก

ก็พระพุทธองค์มิใช่หรือ ที่เห็นว่าโลกหมุนผิดทาง พ่อก็พาไปผิดทาง
ท่านจึงสละโลก เพื่อไปเหนือโลก
เราเรียนรู้พุทธธรรมก็เพื่อเชื่อตัวเราเองมิใช่หรือ

ค้านยาว อย่าเคืองกันนา......


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 16 ก.พ. 08, 02:52
นี่แหละคุณBanaที่เราต่างกัน  คุณBanaเชื่อมั่นว่าของแท้จะไม่ตาย  แต่ดิฉันไม่เชื่ออย่างนั้นซิค่ะ  ดิฉันว่าของแท้มันจะตายและสูญหายไปอย่างอมตะ  เพราะปัจจุบันของเทียมที่มีกระบวนการทางการตลาดอย่างดีกลายเป็นเรื่องเชิดน่าชูตาไปเสียนี่


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 16 ก.พ. 08, 05:15
ขอวกกลับมาที่ ภาษาวิบัติ นะครับ  8)

ผมไม่ค่อยคุ้นกับรูปคำที่ว่า "... บ้าง อะไรบ้าง" ก็เลยไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วเรามีพูดกันมานานแล้วหรือเปล่า ? หรือ เป็นวิธีการพูดที่เพิ่งเกิดใหม่ ? เช่น

"ต้องตั้งใจเรียนบ้างอะไรบ้าง นะเพื่อน อ่านหนังสือบ้างอะไรบ้าง"

อ่านเจอครั้งแรกๆ ในเน็ตนี่แหละครับ เป็นสำนวนวัยรุ่นหรือเปล่า ? หรืออย่างไรบ้างอะไรบ้าง ???

http://www.google.fr/search?q=%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87&hl=fr&client=firefox-a&rls=org.mozilla:fr:official&hs=uOT&start=20&sa=N

ไม่รู้จะมาแนวเดียวกับ "วันนี้อากาศดีชอบมากมาย" หรือเปล่า ?

 :-X


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 16 ก.พ. 08, 08:49
เศรษฐกิจไม่ดีเกิดทุกข์เข็ญมนุษย์ก็มุ่งไปทางทำมาหากินหรือทางต่อสู้ศิลปะก็แสดงออกมาแบบนึง  ถ้าบ้านเมืองสงบกินดีอยู่ดีศิลปะก็ออกมาอีกลักษณะนึง 
.................
แต่ส่วนใหญ่คุณค่าของวรรณกรรม โดยเฉพาะตะวันตก มันจะอยู่ในยุคขุกเข้ญ เป็นแรงผลักดันให้เกิดงานเขียนดีๆเยอะมากเลย


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 17 ก.พ. 08, 00:17
โอกาสไงครับ  เป็นส่วนผลักดันอย่างยิ่งในสังคมยุคนี้  การมีแต่ยัดเยียดให้ฟังใฟ้ดูงานของกลุ่มทุนที่มีอำนาจเงินหรืออำนาจอย่างอื่น  เปิดช่องไหนหมุนคลื่นไหนก็จะได้ยินร่ำไป  ในทฤษฎีที่ว่าดีไม่ดีฟังไปเรื่อยดูไปเรื่อยๆก็ดังเอง  งานที่ได้กล่องมักไม่ได้เงินเพราะไม่ติดหูติดตา  งานบางชิ้นต้องแสวงหาถึงได้เสพสม  เวลาที่จะให้ในการทำผลงานแต่ละชิ้นก็มีข้อจำกัด  การประกวดเลือกเฟ้นคนมีคุณภาพจริงๆก็กลายเป็นธุรกิจบันเทิงเป็นเรื่องของการโหวตหาแต่คนหน้าตาดีดีหรือโดดเด่นขายได้เพื่อตอบสนองอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานเพลง  แต่ก็นั่นแหละครับของแท้ต้องไม่มีวันตาย  ของจริงต้องอยู่ได้แม้จะมีกระแสใดๆ  อย่างคาราบาวหรือไมค์ ภิรมย์พร  เหมือนความประทับใจในเพลง วิมานดิน หรือ ทรายกับทะเล  คงไม่มีวันที่ใครหรือเหตุการณ์ใดจะลบไปจากใจผมได้น่ะครับคุณป้ากุน 

แต่จะมีโอกาสที่ผลงานที่ดีจริงที่คนอยากสร้างสรรแล้วได้ออกสื่ออย่างไม่มีธุรกิจแอบแฝงมากนักนั้น  ต้องปรับปรุงองค์กรที่เรียกว่าสื่อใหม่ครับ.....อิอิ  นอกเรื่องไปหรือเปล่าครับเนี่ย........ ;D


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 17 ก.พ. 08, 01:33
ไม่ได้เข้ามาตอบกระทู้ซะหลายวันเลยครับ
กำลังอยากกล่าวขออภัยสมาชิกหลายๆท่านด้วย
ถ้าความคิดเห็นของผมขัดแย้งต่อจิตใต้สำนึกของท่าน
แต่กลัวจะกลายเป็นการ "เกาะกระแส" แบบที่คุณกล้วยว่าไว้
เลยขออนุญาตแสดงความรู้สึกผิดที่ทำให้คุณป้ากุนรู้สึกไม่ดีนะครับ


เอาเป็นว่าผมเป็นคนนึงมั้งครับ ที่ไม่ได้รู้สึกขัดหูขัดตากับรำไทยแบบเท้าบัลเลต์
หรือท่ารำยกแขนสูงเหนือศีรษะ เวลาใครซักคนจะสร้าง "ของใหม่" ขึ้นมา
(เพราะวันนี้ก็เพิ่งไปดูเขาสอบกันมาที่หอประชุมจุฬาฯ ครับ)
กับเพลงผมก็ไม่ถือไม่สาเช่นกัน แค่เวลาพูดไม่ผิดอักขระเป็นพอ
ที่เหลือผมก็แค่วิจารณ์ไปตรงๆ ว่าผมรู้สึกกับผลงานแต่ละชิ้นอย่างไรบ้าง

ยกตัวอย่างรายการพาไปเที่ยวประเทศต่างๆ ที่ดาราชายชื่อดังคนหนึ่งเป็นพิธีกรอยู่ให้หัวเด็ดตีนขาดยังไงผมก็ไม่ดู
(คนที่เล่นหนังก็แข็งประโป๊ก ร้องเพลงก็ผิดคีย์ เป็นพิธีกรก็พูดผิดอักขระทั้งไทยทั้งอักฤษ แต่ดังเพราะเป็นข่าวกับเสี่ยน่ะครับ)
เผลอกดไปเห็นทีไร..... ตกใจทุกที เหมือนรายการหน่อมแน๊มยังไงไม่รู้ครับ แหะๆ




ส่วนสมาชิกท่านไหนไม่พึงใจจะฟังเพลงผิดอักขระ ผมว่าท่านก็มีสิทธิ์ในการสร้างกระแสครับ
กระแสที่ทำให้คน "รุ่นใหม่" รู้สึกอย่างเดียวกับท่าน...... (นี่ก็ความเห็นผมเนาะ)
ต้องบอกไว้ก่อนครับ เพราะผมมิบังอาจเป็นตัวแทนเรือนไทยไปสอนสั่งผู้อ่านท่านใดดอกครับ











เอาล่ะ พล่ามมาซะนานจนผมชักพูดไม่รู้เรื่องเต็มทีแล้ว ผมขอตัวเข้านอนก่อนดีกว่าครับ แหะๆ
เริ่มเข้าใจแล้วครับ ว่าทำไมหลายคนถึงหวังกับ TPBS จัง


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 17 ก.พ. 08, 08:16
คุณติบอ  รู้สึกไม่ดี ไม่มีครับ  แต่ไม่เชื่อนะซี  ออกเสียงผิดแล้วทำให้เพลงเพราะนี่  ต้องหาทางพิสูจน์กันหน่อย


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 17 ก.พ. 08, 08:38
เมื่อวาน ผมนั่งรถรุ่นน้องไปแถวจังหวัดนอกเมือง เขาเปิดเพลงไทยให้ฟังล้วนๆ แล้วบอกว่านี่ของใครร้องบ้าง
ดา เอ็นโดฟิน ลิเดีย ใหม่ เจนนิเฟอร์ คิ้ม แพ็ท สุธาสินี ผู้ชายก็มีอีกสองสามคน เสียงคล้ายๆกัน ผมจำชื่อไม่ได้ครับ
ฟังแล้ว เจอตัวทีทั้งเพลง ทุกคน ไม่ก็ใจเป็น ชัย(แบบฝรั่ง) ..ฯลฯเต็มหู
ฟังไป ก็เลียนแบบไป ด้วยความสนุก แต่สลดใจครับ..
ผมถามตัวเองว่า ไอ้สำเนียงเหล่านี้ มันทำให้เพลงเพราะขึ้นใช่ไหม..ในความรู้สึกของคนพวกนี้
เปล่า.. แต่เขาร้องเพราะมันเป็นสไตล์ ที่สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเดิ้น
ทั้งๆที่รู้ว่าผิด..
เด็กๆทีมงานของผม เวลาเสนองานที ก็พูดอย่างนี้
ผมอยากจะล้อ อยากจะเบรค แทบแย่
โอกาสเหมาะๆ ก็โดนไปกันบ้าง บางคนทำเพราะตามกระแส ทันกระแส
เราก็แค่ หยุดและต้านกระแสครับ   


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.พ. 08, 13:30
อยากจะขอความเห็นจากท่านที่รักภาษาว่า
จู่ๆ ทำไมภาษาของเราจึ้งเพี้ยนหนักขนาดนี้

ผมหมายถึงภาษาจริงๆ นะครับ มิใช่คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมาแล้วก็ไป

ยกตัวอย่างหนึ่งคำละกัน
"นำพา"

เดี๋ยวนี้ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมืองตั้งแต่นายกลงมาถึงสามล้อ
ว่านำพาความเจริญ มาสู่.....
ผมรู้แต่ว่า นำพา กับไม่นำพา นั้น
แปลว่าใส่ใจและไม่ใส่ใจ เพลงของมัณฑนาจะใช้บ่อย

อย่างนี้วิบัติหรือยังครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 17 ก.พ. 08, 13:37
ดิฉันไปนั่งฟังรายงานงบการเงินของฝ่ายบัญชีในเครือทุกเดือน ท่านทั้งสี่ห้าคนจะขึ้นด้วย
ในส่วนของ...
แทนในหมวด... หรือในด้าน..นับแล้ว สองชั่วโมง
ในส่วนของ..
ตกประมาณเกือบร้อยครั้ง
สงสัยจะติดจากนักการเมือง :-X :-X


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 18 ก.พ. 08, 23:54
ก็แหมท่านติบอครับ  ในยุคที่ความหวังรางเลือนเต็มทีด้วยเหตุผลทางธุรกิจ(แบบที่เค้าอ้างกัน)  มันคล้ายกับเราลอยคอเดียวดายกลางน้ำ  เห็นอะไรดำๆโผล่มาก็ต้องคว้าไว้ก่อนล่ะครับ  แม้จะไม่ทราบว่าไอ้ที่กระโดดคว้านั้นเป็นตอไม้ที่มั่นคงพึ่งได้  หรือเพียงเปลือกไม้ผุๆที่ลอยผ่านมาเท่านั้นน่ะครับ  ไทยทีบีเอส  จงเจริญ..........อิอิ  ;D

นำพา  คำนี้ถ้าจำไม่ผิดผมว่าได้ยินจากเพลงนะครับ  แต่เพลอะไรตอนนี้นึกไม่ออกจริงๆครับท่าน


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: virging369 ที่ 28 ธ.ค. 09, 10:28
 :-X


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: incarity ที่ 28 ธ.ค. 09, 11:11
วิบัติ เยอะครับ ไม่ต้องห่วง เด๊ยวนี้ภาษาไทย เสียหมดแล้ว


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 28 ธ.ค. 09, 11:40
สนุกดีครับ เดี๋ยวขอไปอ่านตั้งแต่หน้า 1 ก่อนครับ ค่อยออกความคิดเห็น
มานิต


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: gmat36 ที่ 28 ธ.ค. 09, 15:20
ว่าอย่างนั้นละครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 29 ธ.ค. 09, 10:14
อ่านไล่มาตั้งแต่หน้า 1 แล้วครับ ย่อยได้บ้างไม่ได้บ้าง คงต้องอ่านอีกหลายตลบ ได้ความรู้แน่ๆคือคำว่า "ฅ" อันนี้ผมผิดมาตลอด  คำว่า "ญ" ผมก็เพิ่งทราบ เสียง" ไ "กับ "ใ " นี่ก็ไม่เคยทราบเลย ตอนแข่งกีฬาดูสถานี ลาวสตาร์ ยังคุยกับภรรยาว่า เขาใช้ถูกต้องตามที่เขียนดี เขียน "เจ้า"ก็อ่านสั้นตามการเขียน ไม่ใช่"จ้าว" "เก้า"ก็ไม่ใช่"ก้าว" อันหนึ่งที่ผมยังงงตอนที่ท่านคุยกันเรื่องเพลง คือที่กล่าวถึง "พี่แช่" พี่แช่ นี่ใครกันครับ ขอสั้นๆนิดเดียวพอครับ แล้วผมจะไปค้นต่อเองครับผม อ้อขอแถมนิดหนึ่งครับว่าเพลงที่เนื้อตามหลักภาษาต้องออกเสียงอย่างหนึ่ง แต่โนตออกมาอย่างหนึ่งคือไม่ตรงกับเสียงของการอ่าน นี่มีครับ ร้องยากมาก ผมโดนภรรยาซึงคุม QC การร้อง ดุเป็นประจำ ครับผม
มานิต


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pialpjman ที่ 29 ธ.ค. 09, 15:57
เดี๋ยวนี้ภาษาวิบัติไปเยอะเลยครับ


กระทู้: ภาษาวิบัติ
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 30 ธ.ค. 09, 10:17
พี่แช่  คุณแจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ ค่ะ  เสียงเพลงของคุณแจ้นั่นแหละค่ะที่ทำให้หลาย ๆ คนเรียกเธอว่า พี่แช่