เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 21, 15:15



กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 21, 15:15
ด้วยความอนุเคราะห์ของคุณหมอ CVT  ค้นเอกสารประวัติของท่านทั้งสองมาให้ได้   จึงสามารถตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาได้ค่ะ
ต้องขอขอบคุณคุณหมอ CVT  เป็นอย่างสูง

เริ่มต้นจากกระทู้ก่อนหน้านี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6914.0
ซึ่งมีกระทู้ ไฮโซโบราณ ก่อนหน้านี้นำหน้ามาอีก

ก่อให้เกิดปริศนาว่าสตรีปริศนาผู้นี้เป็นใคร บัดนี้ก็ได้คำตอบแล้วว่า ท่านคือคุณหญิงอนุชิตชาญชัย (อิง สวัสดิ์-ชูโต)
จากนั้น  ก็นำไปสู่การเล่าประวัติของท่าน และประวัติของเจ้าคุณอนุชิตชาญชัย   ซึ่งดราม่าไม่แพ้ละครย้อนยุคเรื่องใดเลย

การเล่าเรื่องนี้ขอเล่าด้วยความคารวะต่อท่านทั้งสองค่ะ



กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 21, 15:19
พระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต)


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 21, 15:34
   สกุล "สวัสดิ์-ชูโต"  เป็นสายหนึ่งของสกุล "ชูโต" แต่แยกมาใช้นามสกุลของตนเองตั้งแต่รัชกาลที่ 6   เช่นเดียวกับ "แสงชูโต"   ส่วนชูโตซึ่งเป็นบรรพบุรุษ นับเป็น "ราชินิกุล" คือสกุลฝ่ายพระราชินี   อันได้แก่สกุลเดิมของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 
  พระชนกชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีเป็นคหบดีชาวบางช้าง จ.สมุทรสงคราม    มีบุตรธิดาด้วยกัน 10 คน ในจำนวนนี้ บุตรคนที่สามเป็นชาย ชื่อคุณโต เป็นต้นสกุล "ชูโต" ส่วนคนที่สี่เป็นหญิง คือสมเด็จพระอมรินทรฯ
  สกุลชูโตมีทายาทสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย  จนถึงรัชกาลที่ 5  สมาชิกคนหนึ่งของสกุลคือพระยาสุรนารถเสนี (เป๋า) มีบุตรธิดาหลายคน  หนึ่งในจำนวนนั้นชื่อ พงษ์ เกิดจากภรรยาชื่อท่านขาบ 


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 21, 10:27
   เมื่อยังเยาว์ เจ้าจอมมารดาเยื้อนได้นำตัวคุณพงษ์เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  จนเจ้าฟ้าเสด็จไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ทางนี้ เด็กชายเข้าเรียนที่ร.ร.อัสสัมชัญและไปต่อที่ร.ร.สวนกุหลาบ จนถึงมัธยม 6  ก็ลาออกไปรับราชการในกองล่าม กระทรวงนครบาล ตอนนั้นอายุ 18 ปี
    ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จกลับจากอังกฤษ ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  คุณพงษ์ก็เปลี่ยนมารับราชการเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม  ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นลำดับ  ได้เป็นนายเวรมหาดเล็กกองตั้งเครื่องและหัวหน้าห้องพระบรรทม  ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 21 ด้วยซ้ำ
   เมื่ออายุครบ 21 ปี  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  ได้พระราชทานพระราชอุปการะให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง จำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ   ต่อมาเม่ื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผนวช ณ วัดบวรนิเวศ  ประทับที่พระตำหนักปั้นหย่า  พระภิกษุพงษ์ก็ได้เข้าไปจำวัด ณ ที่นั้นด้วย   บวชจนครบ 1 พรรษา สอบได้นวกเอก แล้วก็ลาบวชกลับมารับราชการตามเดิม


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 10 ก.ค. 21, 11:32
ตามมาจากกระทู้โน้น ตามที่อาจารย์ชี้ทาง
ได้ที่นั่งที่แรกเลยหรือนี่ ยังไม่มีใครเลย!



กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 21, 12:13
อพยพหนีโควิดกันหมดแล้วมังคะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 21, 17:23
คุณพงษ์ก้าวหน้าในราชการด้วยดี  หรือจะเรียกว่าดีเยี่ยมคงจะถูกต้องกว่า   ดังเรียงลำดับได้ดังนี้

อายุ  23  ปี  เป็นนายเวรขวา  เงินเดือน 160 บาท
อายุ   24   ปี  เป็นรองจางวางกรมรถม้า ควบตำแหน่งนายเวรขวา  เงินเดือน  180    บาท
อายุ 26  ปี เป็นนายวรกิจบรรหาร  หุ้มแพรวิเศษ  ผู้บังคับกองรถ ในกรมอัศวราช เงินเดือน 200 บาท
อายุ 27  ปี  เข้าเป็นเสือป่า  ยศหมู่เอก ในกองเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ 
ปีเดียวกันนั้นได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงปราบพลแสน  ปลัดกรมพระอัศวราช เงินเดือน 250 บาท จนถึง 400 บาท  และเลื่อนเป็นพระปราบพลแสนในปีเดียวกัน   ส่วนยศทางเสือป่าเลื่อนเป็นนายกองโท

ทางด้านส่วนตัว เมื่ออายุ 28 ปี  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ขอพระราชทานนางข้าหลวงของสมเด็จพระพันปี ชื่อนางสาวอิง ศุภมิตร  ธิดาของเจ้าพระยาราชศุภมิตร(อ๊อด ศุภมิตร)ให้เป็นภรรยาพระปราบพลแสน
พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ประกอบพิธีสมรส ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน   ทรงเจิมและพระราชทานน้ำสังข์แก่คู่บ่าวสาว  แล้วพระราชทานเงินรับไหว้ 400 บาท กับเข็มพระบรมนามาภิไธยทองคำประดับเพชรชั้น 1  แก่เจ้าสาว
สมเด็จพระพันปีหลวง พระราชทานเงินรับไหว้อีก 400 บาท 
ในปีเดียวกันนี้เอง  พระปราบพลแสนได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยพาห  จางวางกรมอัศวราช เงินเดือน 700 บาท

สรุปว่าท่านเป็นพระยาเมื่อยังหนุ่มมาก อายุ 28 ปีเท่านั้นเอง   คุณอิงก็ได้เป็นคุณหญิงเมื่ออายุ 25 ปี
อีก 3 ปีต่อมาเมื่ออายุ 30 ปี ก็ได้เป็นอธิบดีกรมอัศวราช
อายุ 32 ท่านได้เป็นองคมนตรีที่ปรึกษา

เมื่ออายุ 34  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็นพระยามหามนตรีศรีองครักษสมุห เจ้ากรมพระตำรวจในขวา  ส่วนยศทางเสือป่าได้เป็นนายกองใหญ่เสือป่า
เมื่ออายุ 36  ได้เป็นพระยาอนุชิตชาญชัย จางวางกรมพระตำรวจขวา  เลื่อนเป็นผู้ช่วยสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์  ยศพระตำรวจโท  ส่วนเงินเดือนขึ้นไปสูงถึง 1100 บาท


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 21, 18:30
พยายามคิดว่าเมื่อ 100 ปีก่อน ค่าของเงินเดือน 1100 บาทเท่ากับเท่าไรสมัยนี้ 
ไปเจอในเว็บนี้ค่ะ
https://aommoney.com/stories/tarkawin/%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99-1000-%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97-%E0%B9%83%E0%B8%99-100-%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99/20799#kqxoql0431


เงินเดือนสุดท้ายของพระยาบริหารราชมานพ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงระดับเจ้ากรมชั้นที่ 1 เดือนละ 600 บาท (อ้างอิงจากจดหมายเหตุวชิราวุธ)

คิดโดยเงินอัตราเงินเฟ้อ 6% เป็นเวลา 100 ปี = 203,581.25 บาท
คิดโดยการอ้างอิงราคาทองคำกับค่าเงิน USD 647.92 เท่า 100 ปี = 388,752 บาท

เงินเดือนเจ้าคุณประมาณแปดแสนบาทได้ไหมคะ?


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 21, 10:07
ขอกล่าวถึงประวัติของคุณหญิงอิง อนุชิตชาญชัยบ้างค่ะ

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 22   กรกฎาคม พ.ศ. 2430 อ่อนกว่าเจ้าคุณ 3  ปี
เป็นบุตรีเจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร)มารดาชื่อท่านทรัพย์  มีพี่น้องร่วมบิดา 2 ท่านคือมหาเสวกตรี พระยาสมบัติบริหาร (เอื้อ) และคุณวิมลา ภรรยาคุณประจวบ บุรานนท์
และมีน้องชายร่วมมารดาอีกคนชื่อนายคาด สมัครไทย

ตระกูลศุภมิตรนี้เป็นสายแยกจากตระกูลบุนนาค  กล่าวคือมีบรรพบุรุษคนเดียวกัน อันได้แก่เจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค)ในรัชกาลที่ 1    
ต่อมาเมื่อมีการพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่ 6  โปรดเกล้าฯพระราชทานให้เชื้อสายของเจ้าพระยามหาเสนาและเจ้าคุณนวล ภรรยาเอกผู้เป็นน้องสาวของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ว่า "บุนนาค"  
ดังนั้นบุนนาคจึงนับเนื่องเป็นราชินิกุล คือสกุลฝ่ายพระราชินีของพระราชวงศ์จักรี

จากนั้น ก็เกิดปัญหาตามมาว่า เจ้าพระยามหาเสนาท่านมีภรรยาหลายคนตามธรรมเนียมโบราณ  ดังนั้นบุตรหลานเหลนที่ไม่ได้มีเชื้อสายเจ้าคุณนวล   ก็ไม่ใช่ราชินิกุล   จะใช้นามสกุลบุนนาคได้อย่างไร  พระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามสกุลแก่ลูกหลานเหล่านี้ แยกออกไปต่างหากอีกหลายตระกูล ศุภมิตรก็เป็นตระกูลหนึ่ง   อีกตระกูลหนึ่งก็คือบุรานนท์


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 21, 10:09
กลับมาที่คุณหญิงอิง

คุณหญิงมีโอกาสทางการศึกษาดีกว่าเด็กหญิงในยุคเดียวกัน คือได้ศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ต่อมาก็ได้ไปเป็นข้าหลวงรุ่นจิ๋วอายุ 7 ขวบในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  สมเด็จฯทรงพระกรุณาส่งเด็กหญิงเข้าเรียนที่โรงเรียนสุนันทาลัยซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนราชินีในปัจจุบัน    ในร.ร.มีทั้งครูไทยและครูต่างประเทศ
คุณหญิงได้เรียนหนังสือกับมจ.มณฑารัพ กมลาสน์ และมจ.พิจิตรจิราภา เทวกุล

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ทรงตั้งร.ร.ราชินีขึ้น   คุณหญิงก็ได้เข้าศึกษารุ่นแรกเมื่อพ.ศ. 2447  ได้เลขประจำตัวนักเรียนหมายเลข 1
การศึกษาสมัยนั้นนอกจากเรียนหนังสือแล้ว ก็ยังได้เรียนเย็บปักถักร้อยและประดิษฐ์ดอกไม้เทียม    เรียนมาจนสมเด็จฯทรงเห็นว่าโตเป็นสาว อายุพอสมควรแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้ออกจากโรงเรียน กลับไปรับราชการฝ่ายในเป็นนางข้าหลวงตามเดิม



กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 21, 11:35
    เมื่อมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างดี  คุณหญิงก็อ่านเขียนได้คล่อง   ได้ทำหน้าที่อ่านหนังสือถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ พระพันปีหลวงเวลาเสด็จเข้าที่พระบรรทมเป็นประจำ    นอกจากนี้ยังรับหน้าที่สอนหนังสือเจ้านายเล็กๆชั้นหม่อมเจ้าที่อยู่ในพระอุปการะ และยังไม่ได้เข้าโรงเรียนอีกด้วย
    เรื่องนี้ทำให้คุณหญิงปรารภกับครอบครัวเสมอว่าเป็นโชคดีที่ได้เป็นนางข้าหลวงของสมเด็จพระพันปี ผู้ทรงเห็นการณ์ไกลเรื่องการศึกษาของสตรี   ทำให้ท่านผู้เข้ามาอยู่ในวังหลวงกลับมีโอกาสดีกว่าสตรีรุ่นเดียวกันที่อยู่นอกวัง  คือได้เล่าเรียนเขียนอ่านมีความรู้ติดตัว

    เมื่ออายุ 25 ปี  ท่านได้สมรสกับพระยาอนุชิตชาญชัย  ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระปราบพลแสน

    เนื่องจากคุณหญิงเป็นนางข้าหลวง รับราชการฝ่ายในอยู่กับสมเด็จพระพันปี   การแต่งงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย  แค่ผู้ใหญ่พูดจาสู่ขอตกลงกัน    แต่มีขั้นตอนซับซ้อนมากกว่่านั้น
    กล่าวคือพระปราบพลแสนต้องทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่่หัว ขอพระราชทานคุณข้าหลวง อิง สวัสดิ์-ชูโต ธิดาเจ้าพระยาราชศุภมิตรมาเพื่อสมรส   
    พระเจ้าอยู่หัวก็ต้องทรงขอพระราชทานจากสมเด็จพระพันปีอีกทีหนึ่ง
   ในการนี้ พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ส่งพระยาบำเรอบริรักษ์(สาย ณ มหาชัย) จางวางมหาดเล็ก ไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระพันปีอีกต่อหนึ่ง   
    เมื่อสมเด็จฯทรงมีพระบรมราชานุญาตแล้ว  จึงประกอบพิธีสมรสได้


 


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 11 ก.ค. 21, 15:07
ตามมาจากกระทู้โน้น ตามที่อาจารย์ชี้ทาง
ได้ที่นั่งที่แรกเลยหรือนี่ ยังไม่มีใครเลย!



เมื่อวานผมมาแอบหลังห้อง แต่ไม่ได้รายงานตัวครับ  ;D ;D ;D


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: ภศุสรร ที่ 11 ก.ค. 21, 15:59
เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลยครับท่านอาจารย์ ต้องขอกราบสวัสดีท่านอาจารย์และสมาชิกทุกท่านด้วยนะครับ ว่าแต่โรงเรียนสวนกุหลาบในสมัยนั้นคงจะต้องถือว่าเป็นโรงเรียนอันดับชั้นต้นของประเทศเลยกระมังครับ ถึงสมัยนี้ก็หยังคงอันดับต้นได้ไม่เปลี่ยนแปลง โรงเรียนอมตะจริงๆครับ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 21, 16:49
     จ้าคุณกับคุณหญิงถือได้ว่าเป็นคู่ "กิ่งทองใบหยก"   ได้รับสมรสพระราชทาน    พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำสังข์ให้ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อ 23 สิงหาคม 2455
     คุณหญิงได้รับพระราชทานเข็มพระบรมนามาภิไธย "วชิราวุธ" ทองคำฝังเพชรล้วน ชั้นที่ 1  และเงินก้นถุงอีก  5  ชั่ง  มีเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงเป็นผู้ปูที่นอนแก่คู่บ่าวสาว    สมเด็จพระพันปี ก็ได้พระราชทานเงิน 5 ชั่งให้เช่นกัน

      ต่อมาเจ้าคุณได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ   พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯชั้นตติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแก่คุณหญิงด้วย
คุณหญิงอนุชิตฯจึงเป็นคุณหญิงทั้งในฐานะภรรยาเอกของพระยา  และเป็นเพราะได้รับพระราชทานเครื่องราชฯจุลจอมเกล้าอีกด้วย

      เจ้าคุณกับคุณหญิงมีธิดาด้วยกัน 4 คน  ได้รับชื่อพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวทั้งหมด คือศุจิกา  มณฑนา  อุษา และนันทกา
     คุณอุษา ธิดาคนที่สาม ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 11 เดือนค่ะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 21, 16:50
เข็มเพชรพระราชทาน


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 21, 20:37
เข็มเพชรพระราชทาน


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 ก.ค. 21, 21:38

มีรูปอื่นอีกไหมครับที่จะใช้เปรียบเทียบรูปหน้าได้


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 21, 09:05
มีแต่รูปนี้ค่ะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ก.ค. 21, 09:17
ตัดจาก pdf ได้แค่นี้ครับ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 21, 09:24
ขอบคุณค่ะคุณหมอ CVT เทียบดูนะคะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 21, 09:29
เปรียบเทียบเข็มเพชรพระราชทานใน 2 รูป  รูปซ้ายคืออันที่ประดับบนผมสตรีปริศนา  อันขวาประดับบนอกเสื้อคุณหญิงอนุชิตชาญชัย


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 21, 09:38

ในค.ห. 15 คุณเพ็ญชมพูไปคร็อปภาพเข็มเพชรพระราชทานมาจากภาพคุณหญิงเนื่อง สุรินทราชา   ไม่ใช่ภาพเข็มเพชรบนเรือนผมสตรีปริศนา
ถ้าดิฉันยกภาพของคุณมาอ้าง ว่านี่ไงเป็นเข็มเพชรอันเดียวกับที่ประดับบนอกเสื้อคุณหญิงอนุชิตชาญชัย  แสดงว่าสตรีปริศนาคือคุณหญิงอนุชิต    คุณก็จะตอบได้ว่า เป็นเข็มเพชรของคุณหญิงเนื่องต่างหาก
เข็มเพชรแบบนี้มีสตรีมากกว่า 1 ที่ได้รับพระราชทาน   เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ข้อยุติว่าสตรีปริศนาคือคุณหญิงอนุชิตชาญชัย

ีดีค่ะ ช่วยกันทดสอบถึงที่สุด


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 12 ก.ค. 21, 14:03
หนีโควิดมาเรียนออนไลน์ในเรือนไทย ปลอดภัยดีค่ะ ;D
ช่วงนี้มีเวลาว่างมากด้วยค่ะ ขออาจารย์ช่วยชี้แนะว่ามีวิชาไหนในเรือนไทยที่น่าเรียนอีกมั้ยคะ
ประเภทประวัติบุคคลน่าสนใจแบบนี้น่ะค่ะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 21, 18:51
ที่แถวหน้ายังเหลือค่ะ   นั่งได้ตามสบายเลยค่ะ
คุณ Anna หายหน้าไปนาน  คิดถึงนะคะ  ตอนนี้โควิดปิดโอกาสไม่ให้เจอหน้ากันได้อีกแล้ว ต้องเจอกันในเรือนไทยแทน

ลองเข้าไปในห้องประวัติศาสตร์ไทยดูซิคะ  มีประวัติบุคคลน่าสนใจหลายท่าน

กลับมาเรื่องคุณหญิงอนุชิตชาญชัย
ในเมื่อคำตอบจากท่านผู้หญิงเหมือนจิต ภิรมย์ภักดี อาจจะทำให้สมาชิกเรือนไทยบางท่านยังข้องใจอยู่  ล่าสุด  ดิฉันไปหาบุคคลที่คิดว่าน่าจะรู้จักคุณหญิงอนุชิตชาญชัย    ยังหาพวกสวัสดิ์-ชูโต ไม่ได้   ต่อให้หาได้ก็ไม่น่าจะเกิดทันเห็นท่าน   ก็เลยเบนเข็มไปทางฝ่ายศุภมิตร   
ล่าสุดได้รับคำตอบจากท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร  เมื่อเห็นรูปสตรีปริศนาที่ลูกสาวท่านนำไปให้ดู    ท่านบอกว่าใช่คุณหญิงอนุชิตชาญชัยค่ะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 21, 19:03
    ธิดา 3  ท่านของเจ้าคุณและคุณหญิง  มีประวัติสั้นๆดังนี้
    คนแรก อาจารย์ศุจิกา เป็นอาจารย์ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา สอนภาษาฝรั่งเศส ในสมัยที่ดิฉันเรียนอยู่ก็รู้จักท่านดี แต่ท่านไม่ได้สอนห้องดิฉัน    อาจารย์ศุจิกาสมรสกับคุณวิชา เศรษฐบุตร อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
    คนที่สอง อาจารย์มณฑนา นวรัตน์ ณ อยุธยา  สมรสกับม.ร.ว.ปราณเนาวศรี นวรัตน์
    คนสุดท้อง  คุณหญิงนันทกา  สุประภาตะนันทน์  สมรสกับนายธวัช สุประภาตะนันทน์
    คุณหญิงนันทกาเป็นผู้หญิงเก่งแถวหน้าของประเทศในยุคของท่าน   มีตำแหน่งเป็นปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังไม่เคยมีผู้หญิงคนไหนได้เป็น   และยังทำงานให้สภาสตรีในการผลักดันด้านสิทธิสตรีในรัฐธรรมนูญ  ท่านมีอายุครบ 100 ปีเมื่อปี 2561  ตอนนี้ก็ 103 ปีแล้วค่ะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: ภศุสรร ที่ 12 ก.ค. 21, 21:23
น่าสนจริงๆครับ ท่านพระยาอนุชิตฯ ท่านคงจะมีความสามารถมากเป็นแน่แท้ ท่านรับราชการจึงได้เลื่อนขั้นได้ไวดั่งสายฟ้าแล้บ คุณหญิงท่านก็คงจะเป็นสตรีที่มีความสามารถมากเช่นเดียวกัน นับเป็นกิ่งทองไบหยกโดยแท้เลยนะครับ ไม่ทราบว่าเงินก้นถุง400บาทในสมัยนั้นจะเทียบได้กับเงินสมัยปัจจุบันนี้เป็นเท่าไหร่ครับ?


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 08:11
ไม่ทราบว่าเงินก้นถุง400บาทในสมัยนั้นจะเทียบได้กับเงินสมัยปัจจุบันนี้เป็นเท่าไหร่ครับ?

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๗  ราคาอาหารฟาส์ตฟู้ดของไทย (ก๋วยเตี๋ยว, ข้าวแกง) ชามละ ๑ อัฐ*

มาตราเงินในสมัยนั้นคือ
 
๑๐๐ เบี้ย     =   ๑ อัฐ
     ๒ อัฐ     =   ๑ ไพ
     ๔ ไพ     =   ๑ เฟื้อง
     ๒ เฟื้อง  =   ๑ สลึง
     ๔ สลึง   =    ๑ บาท
     ๔ บาท   =   ๑ ตำลึง
    ๒๐ ตำลึง =   ๑ ชั่ง

คำนวณแล้ว ๑ อัฐ = ๐.๐๑๕ บาท  ข้าวแกงปัจจุบันราคาขั้นต่ำน่าจะประมาณ ๓๐ บาท แพงขึ้นประมาณ ๒,๐๐๐ เท่า ถ้าใช้ราคาข้าวแกงเป็นดัชนีชี้วัด เงิน ๕ ชั่ง หรือ ๔๐๐ บาทใน พ.ศ. ๒๕๓๗ (๑๘ ปีก่อนวันสมรสพระราชทานของท่านเจ้าคุณและคุณหญิงใน พ.ศ. ๒๔๕๕) จะเท่ากับประมาณ ๘,๐๐,๐๐๐ บาททีเดียว  ;D

* จาก เรื่องสนทนากับคนขอทาน โดย  จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (https://writer.dek-d.com/bird711/story/viewlongc.php?id=524172&chapter=299)  นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๖๙๖ ปีที่  ๕๒ ประจำวัน  อังคาร ที่  ๒๐ มิถุนายน  ๒๕๔๙


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: ภศุสรร ที่ 13 ก.ค. 21, 09:35
ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เพ็ญชมพูด้วยครับ สำหรับคำตอบ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 11:03
   ชีวิตรุ่งโรจน์เหมือนดวงตะวันยามเที่ยงของพระยาอนุชิตชาญชัยดำเนินไปจนถึงพ.ศ. 2467  หนึ่งปีก่อนสิ้นรัชกาลที่ 6  ก็ประสบความผันผวนอย่างไม่มีใครนึกถึง   แม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่รู้ล่วงหน้าว่าตะวันจะลับฟ้าได้ภายในเหตุการณ์เดียว
   เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์และแหลมมลายูเพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรี  ระหว่างวันที่ 21 กันยายน ถึง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2467  เจ้าคุณอนุชิตได้ตามเสด็จด้วย

   ขอยกข้อเขียนของพันเอก เรวัติ เตมียบุตร อดีตนักเรียนมหาดเล็กหลวง บันทึกไว้ใน “เรื่องจริงในอดีต” ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจ นายประวิตร บัณฑุรัตน์ ความว่า
.
“...ในวันที่ผู้ว่าราชการสิงคโปร์ทูลเชิญเสด็จเสวยที่ “แรฟเฟิลโฮเต็ล” พร้อมด้วยข้าราชบริพาร เขาได้ทำการ์ดชื่อวางไว้ที่โต๊ะและจัดรถไปรับ เจ้าพระยารามราฆพบอกให้พระวิเศษพจนกร (ต่อมาเป็นพระไผทสถาปิต) เป็นผู้บอกชื่อให้ฝรั่งจด
.
บังเอิญลืมบอกไปเสีย ๖-๗ คน คือ ๑. พระยาอนุชิตชาญชัย ๒. พระยาอิศรา ๓. จมื่นเสมอใจราช ๔. นายจ่าเรศ (ในรัชกาลที่ ๗ เป็นพระนายสรรเพ็ชร) ๕. นายขันหุ้มแพร (ม.ร.ว.มานพ) ๖. นายเสนอหุ้มแพร (ในรัชกาลที่ ๗ เป็นพระมหาเทพ) ๗. พระดรุณรักษา ทั้ง ๗ คนจึงไม่มีชื่อนั่งโต๊ะและไม่มีรถมารับ
.
เพราะรถเขาก็แขวนป้ายบอกชื่อคนนั่งด้วยเหมือนกัน เป็นอันว่าท่านทั้ง ๗ คนไม่ได้ไปแน่นอน จึงปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันว่าไปหาอะไรกินเองและเที่ยวกันดีกว่า
.
ในหลวงทรงพระพิโรธด้วยทรงคิดว่า ที่มิได้ทรงเห็นบุคคลดังกล่าว ทรงคิดว่าไม่มีความจงรักภักดีและคงไปเที่ยวหาผู้หญิงกันหมด อ้ายพวกนี้อาศัยการตามเสด็จมาเที่ยวเตร่กัน
.
ณ ที่โต๊ะเสวย ทันใดนั้นเจ้าพระยาธรรมาฯ ก็ได้กราบทูลว่า
.
“เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรป ได้เคยมีมหาดเล็กตามเสด็จและประพฤติเช่นนี้ พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงโปรดให้ส่งกลับเมืองไทย มีมาแล้วเป็นตัวอย่าง”
.
ในหลวงจึงรับสั่งอย่างทันทีว่า "นั่น ! ต้องเอาอย่างนั้น”
.
แล้วรับสั่งให้เจ้าพระยาธรรมาฯ จัดการส่งมหาดเล็กทั้ง ๗ คนนั้นกลับกรุงเทพฯ
.
วันรุ่งขึ้น มหาดเล็กที่จะต้องถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ ได้พากันเข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษ โดยให้เจ้าคุณอนุชิตชาญชัยเป็นหัวหน้านำ เจ้าคุณอนุชิตฯ และมหาดเล็กเข้าไปรออยู่ในห้องพระบรรทม เห็นว่านานนักจึงขึ้นไปบนพระที่ เจ้าคุณอนุชิตฯ ก็ปลุกพระบรรทมและกราบทูลความจริงที่ไม่ได้รับเชิญจึงไม่ได้ไปนั่งร่วมโต๊ะเสวย พระองค์ไม่ทรงเชื่อ ดังนั้น ต่างก็กราบถวายบังคมลากลับ
.


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 11:05
ว้นแต่พระดรุณรักษายังหมอบเฝ้าและขอพระราชทานอภัยโทษจนได้ ประจวบเหมาะกับเวลานั้นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จมาถึงทรงทราบเรื่องราว ได้ช่วยกราบทูลขอให้ทรงยกโทษ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่งกลับซึ่งมีเจ้าพระยาธรรมาฯ พระยาปฏิพัทธ์ภูบาลได้ดำเนินไปตามพระกระแสรับสั่งเสียแล้ว จึงเป็นอันว่าท่านทั้ง ๗ ต้องถูกส่งกลับกรุงเทพฯ
.
ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว พระยาอนิรุทธเทวาได้บอกให้บรรดา ๗ สหาย ที่ถูกส่งกลับจากสิงคโปร์เข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษเสียให้แน่นอน
.
เวลานั้นนั่งอยู่พร้อมเฉพาะพระพักตร์แล้ว เพียงแต่ลุกจากเก้าอี้เข้าไปกราบพระบาทกราบทูลขออภัยโทษก็เพียงพอแล้ว พระดรุณรักษาได้เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นไปเฝ้าตามคำแนะนำของพระยาอนิรุทธฯ ต่อๆ มาก็พระยาอิศราฯ เจ้าหมื่นเสมอใจราช นายจ่าเรศ นายขันหุ้มแพร และนายเสนอหุ้มแพร ตามกันไปเป็นลำดับ
.
พระยาอนุชิตชาญชัยคนเดียว ไม่ยอมไปขออภัยนั่งสูบไป๊เฉยอยู่ ต่อให้ใครๆ ไปบอกก็ไม่ยอมเชื่อ พร้อมกับพูดว่า
“ผมไม่มีความผิด จะไปขอโทษทำไม?”
.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นว่าเจ้าคุณอนุชิตฯ ดื้อไม่ยอมขอโทษ ก็ทรงพระพิโรธถึงกับรับสั่งว่า จองหอง ไม่ขอเห็นหน้า ห้ามไม่ให้เข้าเฝ้าอีกต่อไป
.
พระยาอนุชิตฯ ก็ได้ลงกราบถวายบังคมลา แล้วฉวยหมวกออกเดินไปขึ้นรถยนต์กลับบ้านเลย และโดยไม่แยแส ไม่มาเฝ้าอีกต่อไป...”
.
จากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลด พระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) ออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นกองหนุน ตาม มาตรา ๒ (ก.) ของพระราชบัญญัติกองหนุนข้าราชการในพระราชสำนัก ร.ศ. ๑๓๑ เพื่อเป็นการลงโทษให้ลดทิฐิมานะส่วนตัวลงเสียบ้าง
.
ซึ่งพระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) น่าจะทราบพระราชประสงค์ในข้อนี้ดี แม้จะไม่ได้เข้าเฝ้าถวายงานรับใช้ใกล้ชิดอีก แต่ยังมีความจงรักภักดีอย่างไม่เสื่อมคลาย
.
จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรใกล้สวรรคต ก็ได้มาเฝ้าฟังพระอาการและนอนค้างที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณทุกคืนดังเช่นข้าราชบริพารใกล้ชิดคนอื่นๆ จนกระทั่งเสด็จสวรรคต


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 11:19
อ่านดูแล้ว   ขอแยกประเด็นดังนี้

1  เจ้าภาพทูลเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัว และคณะผู้ติดตามไปงานดินเนอร์ที่ “แรฟเฟิลโฮเต็ล”
2  เขาติดต่อมาขอรายชื่อคนไปงานทั้งหมด เพื่อจัดที่นั่งและจัดรถมารับตามรายชื่อ
3  คนที่จัดการเรื่องนี้ทางฝั่งไทย คือ เจ้าพระยารามราฆพ   เป็นคนบอกให้พระวิเศษพจนกร (ต่อมาเป็นพระไผทสถาปิต) จดรายชื่อแจ้งทางเจ้าภาพ
4  เจ้าพระยารามราฆพลืมชื่อข้าราชบริพารไป 7 คน   คือ
     1. พระยาอนุชิตชาญชัย
     2. พระยาอิศรา
     3. จมื่นเสมอใจราช
     4. นายจ่าเรศ   
     5. นายขันหุ้มแพร (ม.ร.ว.มานพ)
     6. นายเสนอหุ้มแพร (ในรัชกาลที่ ๗ เป็นพระมหาเทพ)
     7. พระดรุณรักษา
     เรียกว่าพวกนี้ตกสำรวจ
5   เมื่อไม่ได้ไปงาน เพราะไม่อยู่ในรายชื่อผู้ได้รับเชิญ    ท่านทั้ง 7  ก็เป็นอันว่าว่างในค่ำนั้น
6   เมื่อว่าง  ไม่มีใครจัดอาหารให้รับประทาน  ท่านก็ต้องไปหามื้อค่ำรับประทานเอาเอง  ก็เลยออกจากโฮเต็ลที่พักไปหาอาหารในเมือง และเที่ยวเมืองไปในตัว
7   พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในงานเลี้ยงที่แรฟเฟิลโฮเต็ล    เห็นข้าราชบริพารหายหน้าไปเป็นกลุ่มใหญ่  ก็กริ้วว่าคงละเลยหน้าที่ เพื่อหนีเที่ยวกัน
8   เจ้าพระยาธรรมาฯ ทูลว่าการละเลยหน้าที่ต้องถูกส่งตัวกลับ  ดังที่เคยมีมาก่อนในรัชกาลที่ 5  พระเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาธรรมาฯส่งตัวทั้ง 7 คนกลับกรุงเทพทันที
 


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 11:55
  9  วันรุ่งขึ้น ทั้ง 7 คนที่จะต้องถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ ได้พากันเข้าเฝ้า  มีเจ้าคุณอนุชิตชาญชัยเป็นหัวหน้านำ
  10 เจ้าคุณอนุชิตฯ และมหาดเล็กเข้าไปรออยู่ในห้องพระบรรทม เห็นว่านานนักจึงขึ้นไปบนพระที่
  11 เจ้าคุณอนุชิตฯ ปลุกพระบรรทมและกราบทูลความจริงที่ไม่ได้รับเชิญจึงไม่ได้ไปนั่งร่วมโต๊ะเสวย
  12 พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเชื่อ
  13  ทั้ง 7 คนก็ต้องถวายกราบบังคมลากลับ

   นี่คือประเด็นแรก
   


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 12:00
    ถ้ารายละเอียดข้างบนนี้เป็นความจริงทั้งหมด  ไม่ได้มีข้อผิดพลาดตรงไหน   ก็มีคำถามข้อหนึ่งที่ยังไม่มีคำตอบ คือ เจ้าพระยารามราฆพได้กระทำอะไรเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดที่ทำรายชื่อข้าราชบริพารตกหล่นไปถึง 7 คน  ในจำนวนนั้นเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ระดับพระยาถึง 2 คนคือพระยาอนุชิตและพระยาอิศรา
     ดูจากเหตุการณ์   ในงานดินเนอร์ที่แรฟเฟิลโฮเต็ล  เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารหายไปถึง 7 คน   ก็ไม่มีใครกราบบังคมทูลอธิบายว่่าเป็น "อุบัติเหตุ " เกิดจากฝ่ายไทยไม่ได้แจ้งรายชื่อให้ครบ
     จนมีพระบัญชาให้ส่งทั้ง 7 คนกลับกรุงเทพเป็นการด่วน  ซึ่งถือเป็นความบกพร่องร้ายแรงในหน้าที่  ก็ยังไม่มีใครพูดถึงการทำรายชื่อตกหล่นอยู่นั่นเอง 
   เวลาล่วงไปจนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อพระยาอนุชิตนำเพื่อนร่วมงานเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว  ทูลชี้แจงให้ทราบว่า ไม่ได้หนีเที่ยว แต่ไม่มีสิทธิ์จะเข้าไปร่วมงานเลี้ยงเพราะไม่มีรายชื่อ   แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเชื่อ
   ไม่ทรงเชื่อเพราะอะไร?
   ก็มีคำตอบได้ 2 ข้อคือ ไม่มีใครพูดเรื่องรายชื่อตกหล่นให้ทรงทราบ   หรืออีกข้อคือ  มีการปฏิเสธว่าไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ  พวกนี้ไม่มางานเอง โดยไม่ทราบสาเหตุ
.


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 13:01
(ต่อ) พันเอก เรวัต เตมียบุตรได้เล่าไว้ใน "เรื่องจริงในอดีต" ต่อมาว่า

ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว พระยาอนิรุทธเทวาได้บอกให้บรรดา ๗ สหาย ที่ถูกส่งกลับจากสิงคโปร์เข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษเสียให้แน่นอน เวลานั้นนั่งอยู่พร้อมเฉพาะพระพักตร์แล้ว เพียงแต่ลุกจากเก้าอี้ เข้าไปกราบพระบาทกราบทูลขออภัยโทษก็เพียงพอแล้ว พระดรุณรักษาได้เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นไปเฝ้าตามคำแนะนำของพระยาอนิรุทธฯ      ต่อๆ มาก็พระยาอิศราฯ เจ้าหมื่นเสมอใจราช นายจ่าเรศ นายขันหุ้มแพร และนายเสนอหุ้มแพร ตามกันไปเป็นลำดับ

   พระยาอนุชิตชาญชัย คนเดียว ไม่ยอมไปขออภัยนั่งสูบไป๊เฉยอยู่ ต่อให้ใครๆ ไปบอกก็ไม่ยอมเชื่อ พร้อมกับพูดว่า

   “ผมไม่มีความผิด จะไปขอโทษทำไม?”

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นว่า เจ้าคุณอนุชิตฯ ดื้อไม่ยอมขอโทษ ก็ทรงพระพิโรธถึงกับรับสั่งว่า จองหอง ไม่ขอเห็นหน้า ห้ามไม่ให้เข้าเฝ้าอีกต่อไป

    พระยาอนุชิตฯ ก็ได้ลงกราบถวายบังคมลา แล้วฉวยหมวกออกเดินไปขึ้นรถยนต์กลับบ้านเลย”  

จากนั้น  พระยาอนุชิตชาญชัยก็พ้นตำแหน่งในราชสำนัก  ออกเป็นกองหนุน แต่ยังได้รับพระราชทานเบี้ยเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองหนุนข้าราชการในพระราชสำนัก รัตนโกสินทรศก ๑๓๑
  


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 13:44
ปัญหาเรื่องนี้ ดิฉันเห็นว่าแยกได้เป็น 2 ประเด็น
1  ละทิ้งงานในหน้าที่
2  ไม่ทูลขอพระราชทานอภัยโทษ

ทั้ง 2  เรื่องนี้เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน  คือถ้าทิ้งงานในหน้าที่จริง ก็ต้องขอพระราชทานอภัยโทษ (คือพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานอภัยโทษให้หรือไม่ก็ตาม  ก็สมควรขออยู่ดี)
แต่ถ้าไม่ได้ทิ้งงานในหน้าที่   ก็ไม่มีความผิด   เมื่อไม่มีความผิดก็ไม่ต้องขอพระราชทานอภัยโทษ

พระยาอนิรุทธเทวาแนะนำให้ข้าราชบริพารทั้ง 7 คน กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ   มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พ้นจากพระราชอาญา  
เพราะเป็นที่รู้กันว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาแก่ผู้กระทำผิด   แม้แต่ผู้ก่อการกบฎ ก็ยังทรงเว้นพระราชอาญาประหารชีวิต เพียงแต่คุมขังเอาไว้ไม่ให้ออกมาก่อเหตุอีก

ข้าราชบริพาร 6 คนก็คงเห็นพ้องกันว่าเป็นเรื่องผ่อนหนักให้เป็นเบา    คือตัวเองจะผิดหรือไม่ผิดไม่สำคัญ ขอเพียงแต่พระเจ้าอยู่หัวหายกริ้วเท่านั้นพอ
ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงคล้ายกับจำเลยในศาลที่รู้ว่าตัวเองไม่ผิด   แต่ในเมื่อศาลไม่เชื่อพยานหลักฐาน  ก็ยอมสารภาพผิดเพื่อบรรเทาโทษ ดีกว่าจะถูกตัดสินประหาร
ส่วนพระยาอนุชิตชาญชัยเป็นบุคคลประเภทเสียชีพอย่าเสียสัตย์   คือเมื่อตัวเองไม่ผิด  ก็จะไม่มีวันสารภาพว่าทำผิด เพื่อบรรเทาโทษ    
 ถ้าท่านทำอย่างเพื่อนๆอีก 6 คน ก็เท่ากับยอมรับว่าละทิ้งหน้าที่ หนีไปเที่ยวอย่างที่พระเจ้าอยู่หัวเข้าพระทัยเช่นนั้น   ถึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ประวัติท่านก็ด่างพร้อยไปแล้ว  
 การยืนกรานไม่ขอพระราชทานอภัยโทษ คือข้อพิสูจน์ว่าท่านไม่ได้ทำผิดในหน้าที่ของท่าน  แม้จะต้องแลกด้วยอนาคตของท่านก็ตาม


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 15:57
 ในประวัติของพระยาอนุชิตชาญชัย ที่พิมพ์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ  ระบุถึงนิสัยของท่านว่า
 " พระยาอนุชิตชาญชัยมีอุปนิสัยเป็นคนตรง   และถ้าหากแน่ใจว่าตนอยู่ในที่ถูกแล้ว จะไม่ยอมโอนอ่อนให้ผู้ใดที่เป็นคนผิด แม้ว่าคนผู้นั้นจะกอปรด้วยวาสนาบารมีเพียงใดก็ตาม   อุปนิสัยข้อนี้ของพระยาอนุชิตชาญชัยเป็นที่ทราบกันดีในวงการราชสำนักของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายเรื่องเป็นตัวอย่างของความจริงข้อนี้ "

ไปเจอภาพท่านถ่ายกับคุณหญิงอิง อีกภาพหนึ่งค่ะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 16:56
ขอพักเผื่อท่านทั้งหลายที่เข้ามาอ่าน จะแสดงความคิดเห็นบ้างค่ะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 17:52
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์คณะข้าราชการที่ตามเสด็จฯ และบุคคลในตระกูล ณ ระนอง ร่วมถ่ายภาพบริเวณสุสานพระยาดำารงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๕๒ ในคราวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำารงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๔๕๒
มีรายชื่อบุคคลดังนี้ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แถวยืนจากซ้าย
๑. และ ๒. ไม่ทราบชื่อ ๓. พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)
๔. พระยาดำารงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ๕. ไม่ทราบชื่อ
๖. พระยาราชวัลภานุสิษฐ์ (เจ้าพระยาราชศุภมิตร - อ๊อด ศุภมิตร)
๗. หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พระยาสุรินทรราชา - นกยูง วิเศษกุล)
๘. นายร้อยเอก หลวงประสิทธิ์ราชศักดิ์ (ชัย บุนนาค)
๙. นายพันตรี หลวงอาจสรศิลป์ (พระยาราชมานู - ถั่ว อัศวเสนา)
๑๐. พระยาเทพทวารวดี (พระยาบำาเรอบริรักษ์ - สาย ณ มหาชัย)
๑๑. พระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์สวัสดิ - ชูโต) ๑๒. พระยาภูวนัยสนิท (อุ่น ไชยาคำา) ๑๓. ไม่ทราบชื่อ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 17:54
ภาพลงสีพระตำรวจโท พระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ-ชูโต) แต่งกายชุดพระตำรวจหลวง ประดับเหรียญตราและเครื่องราชอิสริยาภรณ์

จาก ฉายานิทรรศน์ (https://m.facebook.com/1451876605112634/posts/1988852688081687/)


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 21, 22:55
ถ้าดิฉันเป็นเจ้าของภาพนี้ จะขออัญเชิญโคลงพระราชนิพนธ์มาบรรยายภาพว่า

     มโนมอบพระผู้             เสวยสวรรค์
แขนมอบถวายทรงธรรม์        เทอดหล้า
ดวงใจมอบเมียขวัญ            และแม่
เกียรติศักดิ์รักข้า                มอบไว้แก่ตัว



กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 21, 08:44
    พระยาอนุชิตฯยังจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าไม่เสื่อมคลาย    ปีต่อมาเมื่อได้ข่าวว่าทรงพระประชวร  ก็ตรงเข้าวัง นอนเฝ้าอยู่ในพระที่นั่งตามอย่างที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิตราชการของท่าน   ตราบจนวันสวรรคต

    ความซื่อตรงจงรักภักดีของพระยาอนุชิตฯ น่าจะเป็นที่ประจักษ์กันอยู่มาก    หนึ่งในบุคคลที่เห็นคุณค่าของท่านคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่    เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์    จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาอนุชิตฯ เป็นองคมนตรีที่ปรึกษา     ตามตำแหน่งที่ท่านเคยได้รับมาก่อนหน้านี้ เมื่อพ.ศ.  2459   
    ต่อมาในปี 2469  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงยกเลิกพระราชบัญญัติกองหนุน ทำให้เบี้ยหวัดที่เจ้าคุณเคยได้รับยุติลง   พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้พระยาอนุชิตไปรับเบี้ยหวัดทางองคมนตรีแทน


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 21, 10:02
เจ้าคุณกับคุณหญิงมีธิดาด้วยกัน 4 คน  ได้รับชื่อพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวทั้งหมด คือศุจิกา  มณฑนา  อุษา และนันทกา  คุณอุษา ธิดาคนที่สาม ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 11 เดือนค่ะ

ก่อนพระยาอนุชิตชาญชัยสมรสกับคุณหญิงอิง ท่านมีภรรยาอีกคนหนึ่งคือ คุณถนอม โลหนันทน์ มีบุตร ๑ คนคือ พันโทพงษ์นารถ สวัสดิ์-ชูโต

จาก แผนสกุล สวัสดิ์-ชูโต ราชินีกูลบางช้าง พ.ศ. ๒๕๔๖ (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/27/สวัสดิ์-ชูโต.jpg)


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 21, 10:04
พันโทพงษ์นารถ สวัสดิ์-ชูโต เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ ก่อนการสมรสกับคุณหญิง ๑ ปี


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 21, 10:21
ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ  ระบุว่าคุณถนอม นามสกุล โลหะนันทน์   ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2455 ค่ะ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 21, 10:48
พันโทพงษ์นารถ สวัสดิ์-ชูโต เกิด ณ บ้านเลขที่ ๒๐ ปากคลองบางลำพูบน พระนคร เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีกุน เวลา ๐๒.๔๐ น. เมื่ออายุได้ ๘ เดือน มารดาได้ถึงแก่กรรม พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) ซึ่งเป็นตาได้รับไปอุปถัมภ์

จากหนังสือ ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันโท พงษ์นารถ สวัสดิ์-ชูโต (https://www.moomnangsue.com/product/18776/ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์-โต-อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ-พันโท-พงษ์นารถ-สวัสดิ์-ชูโต)


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 21, 09:21
   แม้ว่าพ้นจากราชการแล้ว  พระยาอนุชิตฯก็ยังทำงานให้สังคมต่อไป ไม่หยุดอยู่กับบ้านเฉยๆ   ท่านได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการควบคุมวิทยุกระจายเสียง   ประมาณพ.ศ. 2474  ต่อมาคณะรัฐมนตรีตั้งท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้ จนกระทั่งกรรมการทั้งชุดถูกยกเลิกไป
   ในด้านส่วนตัว พระยาอนุชิตฯเป็นผู้มีใจรักทางศิลปะ ทั้งด้านดนตรีและการแสดง    ท่านชอบขับร้องเพลงไทยเดิม ได้เป็นลูกศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์(ครูแปลก)  เมื่อมีเวลาว่างก็รวบรวมประวัติเพลงไทยและรวบรวมเพลงไทยแทบทั้งหมด เขียนขึ้นเป็นเล่ม   เคยเขียนบทความด้านเพลงไทยออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงหลายครั้ง

  ทางด้านการแสดง ท่านก็ได้แสดงฝีมือไว้เป็นจำนวนมาก ในการแสดงละครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6  ทั้งละครพูดและละครร้อง  เช่น วิวาหพระสมุทร  หัวใจนักรบ มิตร์แท้  เจ้าข้าสารวัตร และพระร่วง เป็นต้น  ในการแสดงท่านใช้นามแฝงว่า นายพันธุม มหาดุลย์  ซึ่งเป็นนามแฝงพระราชทาน มีความหมายใกล้เคียงกับชื่อและนามสกุลของท่าน คือพงษ์ สวัสดิ์-ชูโต

หมายเหตุ พันธุม = เผ่าพันธุ์ = พงษ์     มหา =โต   ดุลย์ = balance = ตราชู
 


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 21, 11:33
เมื่ออายุ 34  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็นพระยามหามนตรีศรีองครักษสมุห เจ้ากรมพระตำรวจในขวา  ส่วนยศทางเสือป่าได้เป็นนายกองใหญ่เสือป่า

นายกองเอก พระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต)
 
ภาพจาก ฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ โดยคุณวีมี (อาจารย์วรชาติ มีชูบท) (https://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_54.htm)


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 21, 15:15
   ในบั้นปลายชีวิต  เจ้าคุณอนุชิตและคุณหญิงพำนักอยู่บ้านของลูกสาวคนเล็ก คือคุณหญิงนันทนา สุประภาตะนันทน์ ที่ถนนสุขุมวิท   
   คุณหญิงเริ่มป่วยเมื่ออายุ 84 ปี  ในพ.ศ. 2514   ได้เข้ารักษาตัวที่วชิรพยาบาล   เนื่องจากอายุมากแล้ว อาการของท่านทรุดลงจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่  14  สิงหาคม ปีเดียวกัน 
   เมื่อคุณหญิงถีงแก่กรรมไปก่อน  เจ้าคุณปรารภกับลูกหลานว่าท่านคงมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกไม่นาน  เพราะภริยาคู่ทุกข์คู่ยากที่อยู่ร่วมกันมานานกว่า 50 ปีได้จากไปแล้ว     ก็เป็นความจริง เจ้าคุณอยู่ต่อมาอีก 2 ปีกว่า ก็ป่วยและถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่  3  เมษายน 2517   อายุ 89 ปีเศษ


กระทู้: พระยาอนุชิตชาญชัย(พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) และคุณหญิงอิง
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 19 ก.ค. 21, 11:53
ที่แถวหน้ายังเหลือค่ะ   นั่งได้ตามสบายเลยค่ะ
คุณ Anna หายหน้าไปนาน  คิดถึงนะคะ  ตอนนี้โควิดปิดโอกาสไม่ให้เจอหน้ากันได้อีกแล้ว ต้องเจอกันในเรือนไทยแทน

ดีใจจัง เหลวไหลขาดเรียนไปนานอาจารย์ยังจำลูกศิษย์คนนี้ได้ คิดถึงอาจารย์เช่นกันค่ะ
จบศึกโควิดเมื่อไร คงมีโอกาสได้พบกันบ้างนะคะ