เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: KoKoKo ที่ 08 ก.ย. 07, 16:07



กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 08 ก.ย. 07, 16:07
ก่อนอื่นผมขออนุญาตแนะนำตัวเอง และที่มาที่ไปนิดนึงนะครับ

เผอิญว่าผมเซิร์จหาบทแปลกลอนภาษาอังกฤษเป็นกลอนภาษาไทยเรื่อง "คือหัตถาครองพิภพ" น่ะครับ
เลยหลงเข้ามาในหน้าภาษาและวรรณคดี หลงจนออกไปไหนไม่ได้เลยครับ ฮิๆๆ

ต้องขอขอบพระคุณคุณ pipat ที่ตั้งกระทู้ "สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท" และบทตอบกระทู้ที่ดุเดือด เผ็ดมัน
เหมือนเรื่อง รหัสลับดาร์วินชี่ ทั้งคุณ CrazyHOrse, คุณเทาชมพู, คุณBana, คุณหนอนบุ้ง และท่านอื่นๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ
ความใคร่รู้ให้กับผู้เริ่มศึกษา อันยังผลให้เกิดความสนใจอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์ วรรณคดี และงานวิชาการ ไม่แพ้นักวิชาการมืออาชีพเลยทีเดียว ข้อเด่นคือการสนทนาได้ปรับเข้าสู่ยุคแห่งอินเตอร์เน็ต โลกแห่งความเสรี และการแสดงออกทางตัวตนอย่างเปิดเผย

เข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ

ผมได้มีโอกาสศึกษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นน่ะครับ สาขาที่ศึกษาอยู่ก็ไม่ได้เกียวข้องภาษาวรรณคดี, ประวัติศาสตร์เลยสักนิดเดียว
แต่ทว่า รถไฟสายสำคัญของญี่ปุ่นที่วนเป็นวงกลมรอบมหานครโตเกียว "Yamanote line" มีภาพเมืองไทย ติดโฆษณาหลาเชียว
ทั้งวัด วา อาราม ทั้งมวยไทย ฯลฯ เลยคิดว่าน่าจะมีอะไรพิเศษ รวมทั้งจัดเทศกาลไทยหลายที่กว่าปรกติทุกปี
รวมถึงการสานสัมพันธ์วัฒนธรรมที่มีมากเป็นพิเศษ อธิ การเล่นมโนราห์ร่วมกับเทพธิดาฮาโกโรโมะ เป็นต้น
เลยถึงบางอ้อว่า ครบรอบความสัมพันธ์ ไทย-ญีปุ่นทางการฑูต 120 ปี

ใครทราบประวัติบ้างครับว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมาอย่างไรบ้างน่ะคับ
คำถามค่อนข้างกว้างเพื่อให้ทุกท่านตอบได้ทุกแง่ทุกมุม

แต่ที่ผมขอสอบถามเป็นพิเศษคือ อยากให้ลองเปรียบเทียบการปรับตัวสู่ยุคเอเชียใหม่ของทั้งไทย และญี่ปุ่นน่ะคับ
วอนท่านผู้รู้และผู้สนใจทุกๆท่านนะครับ

ขอขอบคุณล่วงหน้านะครับ

ด้วยความเคารพ
KoKoKo



กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 07, 16:30
สวัสดีค่ะ  ขอต้อนรับสู่เรือนไทยค่ะ
หากลอนที่ว่าได้แล้วใช่ไหมคะ  มีอยู่ในกระทู้เก่าของเรือนไทย
เสียใจจริงๆที่ไม่ค่อยจะจำอะไรได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น  ต้องอาศัยค้นเอาในเน็ต   
หวังว่าต่อไปอาจจะพอเรียกหน่วยความจำกลับมาได้บ้าง

ตอนนี้อ่านไปพลางๆก่อน
http://www.thaiembassy.jp/120jt/content/view/18/45/lang,th/
ประวัติความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น                                                                   
            ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยก้บประเทศญี่ปุ่น สามารถนับย้อนหล้งไปเป็นเวลาถึงก่วา 600 ปี โดยความสัมพันธ์ในระยะแรกเริ่มต้นจากการติดต่อทำการค้าระหว่างพ่อค้าของไทยกับพ่อค้าชาวเกาะโอกินาวา (Okinawa) ในประเทศริวกิว (Ryukyu) ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นระบุว่า เรือพาณิชย์จากโอกินาวาได้เดินทางมาค้าขายกับประเทศต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 14 ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยของไทย ในขณะที่เรือจากไทยได้เดินทางไปยังเกาะโอกินาวาในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 14 สินค้าที่ไทยนำขาจากญี่ปุ่นในยุคนี้ ได้แก่ ผ้าไหมและสิ่งท้อ เครื่องปั้นดินเผาของจีน ดาบญี่ปุ่น ส่วนสินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย ส่วนใหญ่ได้แก่ ไม้สำหรับทำสีย้อมผ้า เครื่องปั้นสังคโลก เครื่องเทศ และสุรา ฯลฯ

            ตัวอย่างของสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยก้บประเทศญี่ปุ่นในยุคแรก ได้แก่ เครื่องปั้นสังคโลก ซึ่งในปัจจุบันยังคงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในหมู่ชาวญี่ปุ่นที่นิยมเครื่องปั้นดินเผา หรือผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับพิธีชนชาแบบญี่ปุ่น ที่ยังมีการใช้ถ้วยชามหรือภาชนะสังคโลกประกอบในพธี นอกจากนี้เหล้าอาวาโมริ (Awamori) ซึ่งเป็นเหล้าพื้นเมืองของชาวโอกินาวา ก็สันนิฐานว่าได้รับการถ่ายทอดวิธีการผลิตเหล้าโรงของไทยและวัตุดิบที่ใช้ผลิตเหล้าอาวาโมริก็เป็นข้าวของไทยหรือข้าวเม็ดยาวในตระกูล Indica ซึ่งต่างจากเหล้าสาเกโดยทัวไปของญี่ปุ่นที่ผลิตจากข้าวญี่ปุ่นซึ่งเป็นข้าวเม็ดสั้นในตระกูล Japonica

            เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาการติดต่อค้าขายระหว่างไทยกับญี่ปุ่นขยายตัวออกไปถึงภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่น โดยรัฐบาลโชกุนโตกุงาวา (Tokugawa) ได้เริ่มใช้ระบบการออกใบอนุญาตให้แก่เรือญี่ปุ่นที่เดินทางมาค้าขายในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 17 และได้ออกใบอนุญาตให้กับเรือที่มาค้าขายกับประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1604 (พ.ศ. 2147)

            มีหลักฐานว่าจำนวนเรือญี่ปุ่นที่เดินทางมาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยามีจำนวนมากก่วาที่ไปค้าขายกับประเทศใดๆ ในยุคนั้นในขณะที่เรือสินค้าของไทยก็เริ่มเดิงทางไปถึงเมืองนางาซากิ (Nagasaki) ซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1612 (พ.ศ. 2155) สินค้าที่ญี่ปุ่นซื้อจากไทยในช่วงนี้มีความหลากหลายขึ้น เช่น หนังกวาง งาช้างและเขาสัตว์ ตลอดจนแร่ดีบุก และตะกั่ว การขยายตัวของการค้าระหว่างกันในช่วงนี้ ทำให้มีพ่อค้าญี่ปุ่นเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านญี่ปุ่น กล่าวกันว่าไนยุคเฟื่องฟูมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในหมู่บ้านตัวกล่าวสูงสุดถึงประมาณ 1,500 คน

            ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้านญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ดัแก่พ่อค้าคนกลางในการซื้อขายสินค้าต่างๆ และผู้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งอพยพหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลโชกุน ซึ่งมีนโยบายจำกัดสิทธิเสรีภาพในด้านศาสนา นอกจากนี้ยังมีบางส่วนเป็นอดีตซามูไรที่พ่ายแพ้การต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในและสูญเสียผู้นำกลุ่มของตน จนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้เป็นผู้มีความรู้ในด้านอาวุธและการรบและต่อมาได้กลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการช่วยราชการทหาร "กรมอาสาญีปุ่น" โดยมี ยามาดา นางามาสา (Yamada Nagamasa) เป็นหัวหน้า

            ยามาดา นางามาสา ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าทรงธรรมเป็นอันมาก จนได้รับความความดีความชอบเป็นพระเสนาภิมุข มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น มีศักดินา 1,000 ไร่ ก่อนที่จะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "ออกญาเสนาภิมุข" ในเวลาต่อมา แต่หลังจากสิ้นแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ออกญาเสนาภิมุขก็ได้รับคำสั่งให้ไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และเสียชีวิตจากการปราบกบฎที่เมืองปัตนานี ในปี ค.ศ. 1639 (พ.ศ.2173) อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นบางส่วนระบุว่า ออกญาเสนาภิมุขถูกลอบสังหารโดยผู้ที่มีความริษยา โดยมีสาเหตุจากความขัดแย้งเกี่ยวกับการแย่งชิงราชบัลลังก์ของไทย

            ภายหลังการเสียชีวิตของออกญาเสนาภิมุข หมู่บ้านญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาก็เข้าสู่ยุคถดถอย จำนวนชาวญี่ปุ่นเริ่มลดน้อยลง แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาพำนักในหมู่บ้านญีปุ่นเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลโชกุนโตกุงาวาได้ประกาศห้ามคนญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศในปี ค.ศ. 1639 (พ.ศ.2182) แล้ว ก็ส่งผลให้คนญี่ปุ่นไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาจึงมีจำนวนลดลงโดยลำดับ จนกระทั่งหมู่บ้านญี่ปุ่นสลายไปในที่สุด

            แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะยังคงเป็นความสัมพันธ์ด้านการค้าเป็นหลัก แต่ก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อได้ว่า ไทยกับญี่ปุ่นเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในสมัยนี้โดยโชกุนโตกุงาวาได้ส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1606 (พ.ศ.2149) ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ส่งคณะทูตซึ่งปรากฏชื่อตามหลักฐานของฝ่ายญี่ปุ่นว่า วิสูตรสุนทร และ พิพัฒนสุนทร ไปเจริญสัมพันธไมตรี กับประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1616 (พ.ศ. 2159) แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางของคณะทูตในครั้งนั้นมากนัก

             ต่อมาคณะทูตของไทยซึ่งนำโดย ขุนพิชัยสมบัติ และขุนปราสาท ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลโชกุนอีกในปี 1621 (พ.ศ. 2164) โดยในครั้งนี้มีหลักฐานว่า คณะทูตของไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะโชกุนในวันที่ 1กันยายน ณ ปราสาทเมืองเอโดะ (กรุงโตเกียวในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานว่าในปี ค.ศ. 1623 (พ.ศ. 2166) คณะทูตของไทยนำโดย หลวงท่องสมุทร และขุนสวัสดิ์ ได้เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อขอความร่วมมือจากรัฐบาลโชกุนมิให้ญี่ปุ่นสนับสนุนกัมพูชาในการรบกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในขณะนั้นมีชาวญี่ปุ่นไปตั้งรกรากอยู่ในกัมพูชาและทำหน้าที่ทหารอาสาในลักษณะเดียวกับที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน

              ภายหลังการเยือนในครั้งนี้ ยังปรากฏหลังฐานเกี่ยวกับการเยือนของคณะทูตทั้งสองฝ่ายอยู่เป็นระยะจนกระทั่งญี่ปุ่นปิดประเทศ และกรุงศรีอยุธยาเริ่มเกิดปัญหาศึกสงครามกับพม่า การติดต่อระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่ายจึงหยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 200 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาระหว่างนั้นยังคงมีการติดต่อค้าขายระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านพ่อค้าชาวฮอลันดาในเมืองนางาซากิ ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่รัฐบาลโชกุนให้ติดต่อการค้ากับต่างประเทศได้


โดย   สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์
จากวารสารวิทยุสราญรมย์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 14 มกราคม - มีนาคม 2545


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 07, 16:36
ลองเข้าไปที่นี่ดูค่ะ
http://www.thaiembassy.jp/120jt/

มีเพิ่มเติมที่นี่
http://www.thaiembassy.jp/120jt/content/view/35/45/lang,th/

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต     
                หลังจากที่รัฐบาลโชกุนดำเนินนโยบายปิดประเทศในปี ค.ศ. 1639 (พ.ศ.2182) ประเทศญี่ปุ่นก็ตัดขาดจากการติดต่อกับโลกภายนอกจนกระทั่งประเทศตะวันตกเริ่มล่าอาณานิคมและพลจัตวา แม็ทธิว เปอรี่ ของสหรัฐ นำเรือเข้าปิดปากอ่าวอุรางะ (Uraga) ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2396) รัฐบาลโชกุนจึงจำเป็นต้องเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดการล่มสลายของระบบโชกุนในที่สุด และจักรพรรดิญี่ปุ่นเริ่มกลับมามีอำนาจอย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าสู่สมัยเมจิ (Meiji) ในปี ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสมบัติ

             ประเทศญี่ปุ่นในสมัยเมจิกับประเทศไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความคล้ายคลึงกันโดยบังเอิญในทางประวัติศาสตร์หลายๆด้าน โดยนอกจากพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปีเดียวกันแล้วพระชันษายังใกล้เคียงกัน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพหลังจักรพรรดิเมจิ 1 ปี และเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ก่อนหน้าจักรพรรดิเมจิสวครรต 2 ปี

            ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างต้องเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก ภารกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริ์ทั้งสองพระองค์จึงเหมือนกันคือ การดำเนินวเทโศบายที่ชาญฉลาดเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ ในขณะที่ต้องเร่งพัฒนาประเทศ ประเทศให้เจริญรุดหน้าตามแบบตะวันตก และเป็นในสมัยของพระมหากษัตรย์ทั้งสองพระองค์นี้ที่ประเทศทั้งสองเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันอีกครั้งหนึ่ง

             อย่างไรก็ตาม กว่าที่รัฐบาลของประเทศทั้งสองจะเริ่มติดต่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ต่อกันก็ต้องอาศัยเวลาถึง 20 ปีหลังจากที่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เนื่องจากในระยะแรก นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยและญี่ปุ่นยังต้องมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาอำนาจตะวันตก จึงทำให้ทั้งสองประเทศไม่มีโอกาสติดต่อกับประเทศในเอเชียด้วยกันมานัก จนกระทั่งเมื่อทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญากับมหาอำนาจตะวันตกต่างๆแล้ว จึงเริ่มมีการติดต่อระหว่างกัน ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายมีนโยบายสอดคล้องกันที่ต้องการแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคที่มีต่อตะวันตก และต้องการหาพันธมิตรในเอเชียด้วยกัน

             ในปี ค.ศ. 1887 ( พ.ศ. 2430) ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีการต่างประเทศเสด็จกลับจากทรงร่วมพิธีเฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติครบ 50 ปี ของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่กรุงลอนดอน ได้เสด็จเยือนประเทศต่างๆในยุโรปและสหรัฐฯ และได้ทรงแวะประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนั้นฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการตามระบบสากลแบบใหม่ จึงได้มีการลงนามในสัญญาทางไมตรีและพานิชย์ระหว่างกัน เมื่อ 26 กันยายนค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) ที่กรุงโตเกียว ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ญี่ปุ่นทำสัญญาในลักษณะนี้ด้วย แม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นเพียงเอกสารสั้นๆที่ระบุเพียงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายว่าจะมีการทำสนธิสัญญาเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนทางการทูตและส่งเสริมการพานิชย์และการเดินเรือระหว่างกันต่อไปก็ตาม แต่ก็ถือว่าการทำสัญญานี้เป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น

            รัฐบาลญี่ปุ่นได้แต่งตั้งให้ นายมันจิโร อินางากิ (Manjiro Inagaki) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยคนแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) จากนั้นได้มีการลงนามในสัญญามิตรภาพพาณิชย์ การเดินเรือและการทูต ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) ที่กรุงเทพฯ และในปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเชษฐ์ ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นเป็นคนแรก และในปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เปิดสถานอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวขึ้นเป็นสถานอัครราชทูตแห่งที่ 5 ของไทยในต่างประเทศและนับเป็นสถานอัครราชทูตแห่งแรกของประเทศไทยในทวีปเอเชีย

           ต่อมาในปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ประเทศไทยได้ทำความตกลงกับประเทศญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนผู้แทนการทูตระดับเอกอัครราชทูต สถานอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว จึงยกระดับจากสถานอัครราชทูต(Legation) เป็นสถานเอกอัครราชทูต (Embassy) และพระยาศรีเสนา (ฮะ สมบัติศิริ) ซึ่งดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ก็ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม( Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary) ณ กรุงโตเกียว นับเป็นการเปิดสถานเอกอัครราชทูตแห่งแรก และเป็นการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มรายแรกของประเทศไทย

          นับตั้งแต่ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างน่าพอใจในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยลำดับ นับตั้งแต่การเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ.2474) ซึ่งเป็นการเสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทย

          ต่อมาได้มีการเสด็จฯ เยือนในระดับพระประมุขอีกหลายครั้ง กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) ต่อจากนั้นเจ้าชายอากิฮิโต (Akihito) มกุฏราชกุมารญี่ปุ่นและเจ้าหญิงมิชิโกะ (Michiko) พระชายา ได้เสด็จฯ แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต (Hirohito) และสมเด็จพระจักรพรรดินี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นการตอบแทนในเดือนธันวาคมปีต่อมา และหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต สวรรคตเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) และมกุฏราชกุมารอากิฮิโต ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแล้ว ก็ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่เสด็จฯ เยือนภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ และเป็นประเทศในทวีปเอเชียประเทศแรกที่พระจักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯ เยือนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น นอกจากนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนการเสด็จเยือนซึ่งกันและกันของพระบรมวงศานุวงศ์ในระดับต่างๆ อยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีงานเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญของอีกฝ่ายหนึ่ง

           ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในด้านอื่นๆ ภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระยะแรก เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและวิชาการจากฝ่ายญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเร่งพัฒนาประเทศอยู่นั้น ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องจ้างชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวญี่ปุ่นรวมอยู่ไม่น้อย เช่น นายฟูจิโยชิ มาซาโอะ (Fujiyoshi Masao) ที่ปรึกษาด้านกฏหมายของรัฐบาลไทยระหว่างปี ค.ศ. 1897-1913 (พ.ศ. 2440-2456) ซึ่งต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) และ นางเท็ตสึ ยาสุอิ (Tetsu Yasui) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่รัฐบาลญี่ปุ่นส่งมาช่วยเหลือในด้านการปฏิรูปการศึกษาของไทย และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งโรงเรียนราชินีขึ้นในปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ด้านการเลี้ยงไหม การแพทย์ วิศวกรรมและศิลปหัตถกรรม ฯลฯ

           ความสัมพันธ์ด้านการเมืองเป็นอีกด้านหนึ่งที่ไทยกับญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดมาโดยตลอด อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองประเทศมีนโยบายด้านการเมืองระหว่างประเทศที่สอดคล้องกันมานับตั้งแต่เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน โดยในช่วงของการต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกนั้น ญี่ปุ่นพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของตนในภูมิภาคเอเชียเพื่อคานอำนาจกับมหาอำนาจตะวันตกเหล่านั้น ในขณะที่ไทยก็พยายามใช้ประโยชน์จากญี่ปุ่นเพื่อการแก้ไขภาวะเสียเปรียบที่มีอยู่กับมหาอำนาจตะวันตกดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น เมื่อที่ประชุมสันนิบาตชาติ ที่นครเจนีวา เมือวันที่ 24 กุมภาพันธ์1933 (พ.ศ. 2476) ลงมติให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกจากแมนจูเรีย ไทยเป็นชาติเดียวที่งดเสียง ซึ่งญี่ปุ่นตีความว่าเป็นการแสดงออกถึงท่าทีที่เป็นมิตรต่อญี่ปุ่น

          นอกจากนั้นเมื่อญี่ปุ่นประกาศสงครามกับประเทศพันธมิตรในสงครามมหาเอเชียบูรพา แม้ว่าในระยะแรกไทยจะเป็นกลาง แต่เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยและไทยต้องเข้าร่วมรบเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น ไทยก็ได้ใช้โอกาสดังกล่าวในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้เปรียบเจรจาให้อังกฤษและฝรั่งเศษคืนดินแดนที่เคยเป็นของไทยกลับคืนมา ซึ่งแม้ว่าหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามและไทยต้องสูญเสียดินแดนเหล่านั้นไปอีกครั้งหนึ่งก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นท่าทีชัดเจนของทั้งสองฝ่ายที่มีต่อลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันไทยกับญี่ปุ่นยังคงมีความร่วมมือกันด้านการเมืองอย่างใกล้ชิด โดยไทยสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทั้งสองประเทศเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันและกล่าวได้ว่าเป็นสาขาที่มีความสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจในระยะแรกเป็นความสัมพันธ์การค้าเป็นหลัก โดยพ่อค้าญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาเปิดกิจจการร้านค้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) มีธุรกิจด้านอื่นๆ รวมทั้งธนาคารเข้ามาดำเนินกิจการ ในเวลาต่อมามีคนญี่ปุ่นพำนักอยุ่ในประเทศมากขึ้น และได้มีการตั้งสมาคมญี่ปุ่นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456)

โดย สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์
จากวารสารวิทยุสราญรมย์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 14 มกราคม - มีนาคม 2545 


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 07, 16:40
 http://www.thaiembassy.jp/120jt/content/view/19/45/lang,th/
หนังสือปฏิญาณ
ว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในรหว่างประเทศสยามกับประเทศยี่ปุ่น

สมเดจพระเจ้ากรุงสยามฝ่ายหนึ่ง กับสมเดชพระเจ้ากรุงยี่ปุ่นอีกฝ่ายหนึ่งนั้น มีพระราชประสงค์พร้อมกัน ที่จะให้มีทางพระราชไมตรีติดต่อกัน แลจะให้ความคุ้นเคยอันสนิทซึ่งได้มีมาแล้วแต่ปางก่อนนั้น คงคืนมีขึ้นถาวรสืบไป ในรหว่างสองพระนคร แลเพื่อประโยชน์ที่จะได้เข้าใจกันไว้เปนหลักถาน ใจความในการซึ่งจะได้ทำหนังสือสัญญากันต่อไปภายน่านั้น จึงได้ตั้งผู้มีอำนาจเตมในการทำหนังสือสัญญาทั้งสองฝ่าย คือ

ฝ่ายสมเดชพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศวโรประการ เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับเครื่องบรมราชอิศรยยศอันเปนของโบรณที่นับถืออย่างยิ่ง ชื่อนพรัตนราชวราภรณ์ เครื่องราชอิศริยยศอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง ชื่อมหาจักรกรีบรมราชวงษ เครื่องราชอิศรยยศสำหรับตระกูลอย่างสูงสุด ชื่อปฐมจุลจอมเกล้า เครื่องราชอิศริยยศสำหรับความชอบอย่างสูงสุด ช้างเผือกสยามชั้นที่หนึ่ง ชื่อมหาวราภรณ์ แลเครื่องราชอิศรยยศสำหรับเกียรติคุณอย่างสูงสุด มงกุฏสยามชั้นที่หนึ่ง ชื่อมหาสุราภรณ์

ฝ่ายสมเดชพระเจ้ากรุงยี่ปุ่น ท่านผู้มียศอันประเสริฐ มีตำแหน่งยศที่สืบตระกูลชั้นที่ ๓ ชื่อตัวว่า ชุสสัมมิ เซียวโซ ชื่อตระกูลว่า เอากี่ ผู้เปนรองเสนาบดี ว่าการต่างประเทศ ได้รับตราเครื่องราชอิศริยยศ ชื่ออาทิตยอุไทยชั้นที่ ๒ เครื่องราชอิศริยยศของปรุสเซียชื่ออินทรียแดงชั้นที่ ๑ เครื่องราชอิศริยยศของปรุสเซีย ชื่อมงกุฎชั้นที่ ๑ แลเครื่องราชอิศริยยศของวิลันดา ชื่อราชสีหชั้นที่ ๑

ผู้มีอำนาจเตมทั้งสองฝ่ายนั้น ได้สำแดงหนังสือมอบอำนาจให้ดูซึ่งกันแลกันทั้งสองฝ่าย แลได้เหนว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นถูกต้องสมควรตามแบบแล้ว จึงได้ยินยอมพร้อมกันทำคำปฏิญาณดังนี้

คำปฏิญาณว่า
ตั้งแต่วันซึ่งสมเดชพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่าย ได้ทรงตรวจแก้ไขคำปฏิญาณนี้ว่าเปนอันใช้ได้แล้ว จะได้มีความสงบเรียบร้อย แลมีทางพระราชไมตรีเปนนิจนิรันดรในรหว่างสองพระนครที่ทำสัญญานี้ แลในรหว่างคนในบังคับของประเทศนั้นทั้งสองฝ่ายด้วย


พระนครทั้งสองที่ทำสัญญากันนี้ ต่างเมืองต่างรับนับถือว่ามีอำนาจเหมือนกัน ในการที่จะตั้งทูตผู้แทนเมืองไปตั้งอยู่ณสำนักนิ์เมืองหลวงด้วยกันทั้งสองฝ่าย แลในการที่จะตั้งกงซุลเยเนอราลก็ดี กงซุลก็ดี ฤากงสุลาเอเยนต์ ณที่ท่าเรือแลที่ในเมืองทั้งหลายของสองพระนครนั้นได้ ในที่ซึ่งได้อนุญาตให้ผู้รับการแทนต่างประเทศของชาติอื่นซึ่งได้รับผลประโยชน์มากที่สุดนั้น อาไศรยอยู่

พระนครทั้งสองที่ทำสัญญากันนี้ รับสัญญากันอีกต่อไปว่า จะอุสาหที่จะช่วยแลอุดหนุนตามกำลังที่จะทำได้ในการค้าขาย แลในการเดินเรือในรหว่างคนในบังคับแลพระราชอาณาเขตรของพระนครนั้นๆ

แต่ในประจุบันนี้ ก่อนเวลาที่จะได้ทำสัญญากันให้บริบูรณ์นั้น คนในบังคับของพระนครซึ่งทำสัญญานี้ ฝ่ายหนึ่งจะเข้าไปในพระราชอาณาเขตรอีกฝ่ายหนึ่ง เพียงตำบลซึ่งได้เปิดให้แก่คนต่างประเทศ ที่ได้โปรดอนุญาตให้อย่างมากที่สุดไปค้าขายแล้วนั้น จะเปนเพื่อประโยชน์การค้าขายก็ดี ฤาเพื่อประโยชน์ที่เปนธรรมก็ดี ตัวผู้นั้นแลทรัพยสมบัติของผู้นั้น จะได้พ้นอันตรายไม่มีใครข่มเหง แลจะประฟฤติต่อนั้นทุกอย่างโดยความตรงแลความไม่ลำเอียง

ข้อความพิศดารในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องด้วยการเหล่านี้ จะงดไว้จัดการต่อไปในการที่จะทำสัญญาในรหว่างสองพระนครในภายน่า

คำปฏิญาณนี้ จะได้ตรวจแก้ไขกัน แลหนังสือตรวจแก้ไขว่าใช้ได้นั้น จะได้แลกเปลี่ยนที่เมืองโตกิโยโดยเรวที่สุดที่จะทำได้อย่างช้าที่สุดภายในสี่เดือน ตั้งแต่วันที่ได้ลงชื่อในหนังสือนี้

ในการที่จะทำให้เปนสำคัญมั่งคงนั้น ผู้รับอำนาจเตมทั้งสองฝ่าย ได้ลงชื่อแลประทับตราไว้สองฝ่ายด้วย

หนังสือนี้ได้ทำที่เมืองโตกิโย วันจันทร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ ชื่ออัศยุชมาส ในปีกุนนพศก๒๐
ศักราชโหรสยาม ๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๒๖ เดือนที่ ๙ ศักราชเมชีปีที่ ๒๐ ตรงกับวันที่ ๒๖ เดือนเซบเตมเบอ คฤสตศักราช ๑๘๘๗
 ***********************
ถ้าหากว่าต้องการรายละเอียดด้านไหนเพิ่มขึ้น  ตั้งคำถามทิ้งไว้ อาจมีผู้รู้แวะมาให้คำตอบมากกว่าข้างบนนี้ค่ะ
 


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 08 ก.ย. 07, 16:48
แหม คุณเทาชมพูนี่เร็วปานวาสิฎฐีสาวเชียวนะครับ (มีรึเปล่าหว่าวลีนี้ เหอๆๆ) ขอบคุณมากนะครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 08 ก.ย. 07, 19:48
ขอสอบถามเพิ่มเติมอีกสักนิดนะครับ

ญี่ปุ่นปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกกันว่า 明治維新(Mejiishin) พร้อมๆ กับที่ไทยก็ถูกปูทางสู่ความสมัยใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่๓ ตามบันทึกหมอบรัดเลย์

ไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายกันโดยบังเอิญ (หรือไม่ก็ตาม) ตามที่คุณเทาชมพูได้กรุณาเซิร์จหามาให้อ่านนั้น แต่ที่แน่ๆ ประเทศทั้งสองต่างพยายามทำตัวให้ทันสมัย
ปรับทั้งโครงสร้างการบริหารงานแผ่นดิน, ปรับโครงสร้างศาสนา, การศึกษา, ระบบการเงินการคลัง, ระบบขนส่ง, ระบบสื่อสารมวลชน แทบเรียกได้ว่าปฎิวัติวัฒธรรมเลยก็ว่าได้

ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ค.ศ. 1853 (ตามข้อมูลที่คุณเทาฯกรุณาหามาให้) 明治維新 เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1868 วิทยาการและวิทยาศาสตร์ได้บ่มประเทศอยู่ระยะหนึ่ง ทันใดนั้นเองญี่ปุ่นก็ปรับตัวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด กล่าวคือช่วงปี 80-90 ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เร็วอย่างน่าใจหายจากนโยบายก๊อปปี้ฝรั่ง จนปฏิรูปประเทศได้อย่างสง่าผ่าเผย เมื่อมั่นใจว่าตนเป็นประเทศที่ทันสมัยแล้ว จึงหวนย้อนมองกลับสู่แนวความคิดมาตุภูมิ เกิดเป็นปรัชญาสาย Kyoto School ที่มีแนวคิด วกกลับสู่วัฒนธรรมธรรมเอเชีย อันเป็นข้ออ้างสู่การทำสงครามมหาเอเชียบูรพานั่นเอง (อ้างอิง เรื่องเกี่ยวกับปรัชญาญี่ปุ่นต้นศตวรรรษที่ ๒๐
สาระสังเขป กระบวนทัศน์ทางความคิดเกียวโตสคูล, เรียบเรียง: สมเกียรติ ตั้งนโม, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ทางกลับกัน แล้วประเทศไทยล่ะครับ ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมหายไปไหน ทั้งๆที่เดินมาพร้อมๆ กัน ไทยสร้างเรือกลไฟเอย รถไฟเอย แล้วอยู่ๆ ยุคปฏิวัติอุตสหกรรมก็หายไป อยู่ๆ ก็โผล่ช่วงปฏิวัติประชาธิปไตยไปเลย

ช่วงรอยต่อแห่งความแตกต่างนี้ ความสัมพันธ์ของไทย กับญี่ปุ่นเป็นแบบไหนกันครับ แล้วฝ่ายไทยไหง กลายเป็นตามไม่ทันไปซะล่ะครับ
ท่านผู้รู้ช่วยอรรถาธิบาย ตลอดถึงช่วงวิกฤตแห่งการเปลี่ยนแปลงยุคสำคัญของโลก กับการเปลี่ยนแปลงของไทยซักนิดได้หรือไม่ครับว่า
พระมหากษัตริย์ไทยท่านได้วางแผนเรื่องอุตสาหกรรมไว้อย่างไร

ส่วนตัวผมรู้สึกงงๆ นิดหน่อยนะครับว่า ทำไมช่วง ร.๖ ถึงมีความรุ่งเรื่องด้านวรรณกรรมในระดับนึง ทั้งๆ ที่การคลังน่าเป็นห่วงมิใช่หรือครับ
(คือมีความเข้าใจว่า งานทางด้านศิลปะน่าจะอยู่ในยุคที่ประเทศมั่งคั่ง เพราะเป็นงานด้าน Entertainmentซะมากกว่า) และประเทศน่าจะเป็นช่วง
ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยหรือเปล่านะครับ สงสัยน่ะครับว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้นครับ



กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 07, 21:48
คนตอบคำถามได้น่าจะเป็นนักรัฐศาสตร์
มีสมาชิกบางท่านของเรือนไทยน่าจะตอบคำถามได้  แต่ระยะนี้เห็นว่างานยุ่ง  ดิฉันส่งเมล์ไปหาแล้ว
ถ้ามีเวลาว่างพอ ก็อาจจะเข้ามาให้ความกระจ่างได้
ระหว่างนี้ก็รอท่านอื่นที่แวะเข้ามา   อาจจะมีผู้รู้เข้ามาตอบก็ได้ค่ะ  ดิฉันก็อยากอ่านเหมือนกัน


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 09 ก.ย. 07, 05:56
ขอบคุณมากจริงๆ ครับ คุณเทาชมพู ที่กรุณาเป็นกัลญานมิตรในสังคมแห่งการเรียนรู้และเป็นเครือข่ายอันทรงพลังในโลกวิชาการนี้

ด้วยความจริงใจ
KoKoKo


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 09 ก.ย. 07, 08:24
ถ้าจำไม่ผิด สมัยพระเรศวรเอง ญี่ป่นยังไม่ครอบครองหมู่เกาะทั้งหมด
ริวกิวทำหารค้ากับสยาม แล้วถูกญี่ป่นรังแก ปล้นสดมภ์
พระเรศวรมีหนังสือแจ้งไปทางหมิงว่าจะยกทัพไปรบกับญี่ปุ่น เพื่อรักษาริวกิว
แต่สุดท้ายริวกิวผนวกไปกับญี่ปุ่น เลยต้องเปลี่ยนมาทำการค้ากับญี่ป่น(ผ่านจีน) แทน

 :) :) :)


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ก.ย. 07, 12:42
เอ... ผมจำเป็นว่า ตอนนั้นฮิเดโยชิบุกเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศราชของจีน

ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ริวกิวน่าจะอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่นเรียบร้อยไปก่อนหน้านั้นแล้วนะครับ

 ???


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 09 ก.ย. 07, 14:53
ก่อนปี 2113 ริวกิวและเกาหลียังทำการค้ากับสยามอยู่ครับ
แต่หลังปีนี้ ริวกิวเลิกติดต่อกับสยาม ไปทำการค้ากับญี่ปุ่นแทน

ยึเปิ่นตีฉาวเสี่ยน (เกาหลี) แตก ปี 2135
ปีนี้เชื่อว่าพระเรศวรขอจีนไปทำศึกกับญี่ปุ่นที่มารุกรานเกาหลีของจีน แต่ไม่ได้รับอนุญาต

กัมพูชาส่งราชสาส์นถึงอิเอยัตสุ แจ้งกองเรือโจรญี่ป่นเข้ามาปล้นสดมภ์ ปี 2153

จดหมายของราชวงศ์หมิง บันทึกไว้ว่า ริวกิวมีอ๋อง 3 คน ความสัมพันธ์อันดีกับจีน ยึเปิ่นเขาปล้นริวกิวปี 2155

เรือสำเภาสยามเดินทางไปค้าขายญี่ป่นแทนริวกิวครั้งแรกในปี 2155

แถมภาพเรื่อรบญี่ป่นครับ



กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ก.ย. 07, 15:39

    เคยเป็นนักนิยมญี่ปุ่นแบบเป็นๆ หายๆ เป็นช่วงๆ ครับ ช่วงหลังๆ ห่างๆ ไปไม่ค่อยได้ติดตาม, สนทนากับศิษย์เก่าหรือชาวญี่ปุ่นในไทย
     เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่นึกถึงขึ้นมาทันที คือความประทับใจจากข่าวการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิ
เมื่อปีที่แล้ว ครับ 
     อาจไม่ตรงประเด็นของกระทู้  แต่ขอนำมาแสดงไว้เผื่อบางท่านได้รำลึก ได้ประทับใจ ครับ 
 
            ซูกูทาโร ทานิโน โฆษกส่วนพระองค์ในสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเล่าด้วยความปลาบปลื้มว่า
๒ ราชวงศ์ไทย-ญี่ปุ่นมีความสนิทแน่นแฟ้นเพียงไหน เพราะไม่สนิทขนาดนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิคงจะไม่ "break the rules"
หรือฝ่าฝืนกฎระเบียบปฏิบัติมานานที่ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิจะไม่เสด็จเยือนประเทศไหนอย่างเป็นทางการ หรือ 'สเตท วิสิต' (State Visit)
๒ ครั้ง แต่ของไทยนั้นเป็นประเทศแรกที่ทรงทำเช่นนี้ หลังจากเคยเสด็จเยือนไทยเป็นประเทศแรกหลังทรงขึ้นครองราชย์แล้วเมื่อราว ๑๕ ปีที่แล้ว
ไม่นับรวมการเสด็จเยือนไทยอีกหลายครั้งสมัยที่ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร
       ความสนิทนี้ ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเล่าให้นายทานิโนฟังถึงความประทับใจไม่ลืมเลือนเมื่อครั้งเสด็จไปเชียงใหม่
ระหว่างสมัยเป็นมกุฎราชกุมาร และได้ทรงชมโครงการหลวงเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและชาวเขาหลายโครงการ
       อีกเรื่องหนึ่งที่ทรงปลื้มก็คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ
จักรพรรดิและจักรพรรดินีเป็นการส่วนพระองค์ก่อนเสด็จกลับ ...

     ....... คืนวันที่ ๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานเลี้ยงเป็นการส่วนพระองค์ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิฯ และพระจักรพรรดินี
ที่พระตำหนักสิริยาลัย ตรงข้ามวัดไชยวัฒนาราม อยุธยา เก้าอี้ที่โต๊ะเสวยมีเพียง ๖ พระองค์เท่านั้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระจักรพรรดิ พระจักรพรรดินี สมเด็จพระเทพฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เท่านั้น
      ระหว่างเสวย พระจักรพรรดิฯ ได้ย้อนรำลึกถึงอดีตเมื่อได้ทรงรู้จักกันใหม่ ๆ กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตอนนั้นพระชนมายุเพียง ๓๐ พรรษา
โดยตอนหนึ่งที่ทรงประทับใจคือว่า

        มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่เสวยพระกระยาหารร่วมกันบนโต๊ะนี่แหละ ได้รับสั่งถึงความชอบดนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระจักรพรรดิรับสั่งว่า โปรดเพลง jazz มาก
ขณะนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เอื้อมหัตถ์ลงไปใต้พระเก้าอี้ และทรงหยิบ clarinet ออกมา เป่าเพลง "Memory of You" ประทาน
สมเด็จพระจักรพรรดิรับสั่งว่าช่วงเวลานั้น เป็นความทรงจำที่แสนดีของพระองค์ (fond memory)


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 07, 16:32
คุณนิลกังขา นักรัฐศาสตร์หนึ่งในสองที่ดิฉันเมล์ไปขอให้เข้ามาตอบ(อีกคนคือคุณ B) เกิดทำกุญแจบ้านหาย เพราะไม่ได้เข้ามาเสียนาน
ขอวานเวบมาสเตอร์ช่วยส่งกุญแจไขเข้าบ้านให้หน่อยนะคะ

คุณนกข.ฝากมาตอบตามนี้ค่ะ
************************
เรียนอาจารย์ครับ
ยังไม่ได้เข้าเรือนไทยเลยครับ เพราะว่า ทำกุญแจบ้านหายไปแล้ว...
 
กระทู้เรื่องนี้น่าสนใจครับ แต่ผมสงสัยว่า อาจจะต้องปรึกษานัก ปวศ. เศรษฐกิจไทยด้วย
เพราะเป็นอะไรที่นักรัฐศาสตร์คงจะไม่ค่อยแม่นข้อมูลตัวเลขเท่าไหร่
 
คำถาม แยกได้เป็นหลายแง่ ซึ่งผมก็ได้คุยกับคุณ B บ้างแล้ว  เป็นนักรัฐศาสตร์สองคนคุยกันในเรื่องที่ตัวเองต่างก็ไม่ค่อยรู้
คือประวัติศาสตร์ ศก. ไทย แต่พอสรุปมั่วๆ ได้ (โดยอาจไม่ตรงใจผู้ถามมากนัก) ว่า
ผมสงสัยว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมคืออะไร
กระบวนการเหมือนที่เกิดในยุโรปและญี่ปุ่นนั้นอาจไม่เคยเกิดในไทยเลยก็ได้
หรืออาจจะกำลังดำเนินอยู่ช้าๆ วิ่งไล่ตามญี่ปุ่น (เกาหลี สิงคโปร์ ...) อยู่
จนถึงเดี๋ยวนี้ก้อาจจะยังถือว่าไม่เสร็จสมบูรณ์ในไทยก็ได้มั้ง
นัยหนึ่งผมกำลังสงสัยว่า เราอาจจะมีแต่ industrial evolution ไม่ทันมีindustrial revolution และยังไม่มีซักกะทีจนเดี๋ยวนี้? (เพราะถ้ามี เมืองไทยคงเป็นประเทศอุตสาหกรรมไปแล้ว การที่เรายังไม่เป็น แม้แต่ NIC  ก็เป็นอย่างกะพร่องกะแพร่งนั้น
ถือได้ไหมว่าแปลว่าเรายังไม่ได้ปฏิวัติเข้าสู่อุตสาหกรรมเต็มรูปสมบูรณ์?
ซึ่งไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ดี
เพราะแม้ว่าครั้งหนึ่งอุดมคติของการพัฒนาประเทศหรือแม่แบบการพัฒนาประเทศตามความคิดของแบงก์โลกสักสมัย 1950 เห็นว่าประเทสหนึ่งๆ ต้องเปลี่ยนจากระบบ ศก.เกษตรไปเป็นอุตสาหกรรมเท่านั้น เป็นนิพพานทางเศรษฐกิจหรือเป้าหมายสุดท้าย
สมัยนี้เราไม่ถือยังงั้นแล้ว

เราเห็นว่ามีวิถีทางการพัฒนาและตัวแบบการพัฒนาที่มากกว่าแค่มุ่งสู่การเป็น ปท.
อุตสาหกรรม เช่น เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นทางเลือกหนึ่ง)
 
แต่ว่าสมัยโน้น (ซักราวๆ พ.ศ. 2500 ต้นๆ ในเมืองไทย และก่อนนั้นขึ้นไป) ไม่มีตัวแบบหรือทางเลือกการพัฒนาอื่น นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเสรีนิยม/ทุนนิยม(นักเศรษฐศาสตร์สายสังคมนิยมไม่นับ) จะบ่งชี้เลยว่า
มีทางเลือกทางเดินอย่างเดียว ถ้าเธอต้องการให้บ้านเมืองของธอ "เจริญ" หรือ
"พัฒนา" ก็คือ ต้องกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมซะ ละทิ้งเกษตรกรรมเสีย
มีเหตุผลทางวิชาการ ศก. สนับสนุนมากมายในสมัยโน้น เช่น การ fluctuate
ของสินค้าเกษตร เทียบกับกำไรที่คงที่กว่าของสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าเพิ่มมากกว่า การขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงที่คนคุมไม่ได้ (เช่น ดินฟ้าอากาศ)
น้อยกว่า การมีประสิทธิภาพกว่า และ ฯลฯ
นักเศรษฐศาสตร์สมัยหนึ่งจึงสั่งสอนกันว่า จงพยายามเป็นประเทศอุตสาหกรรมเถิด
สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า sustainable development
 
ถามว่าในกระแสการพยายามจะพัฒนาประเทศให้ "เจริญ" ของรัฐไทย เมื่อเทียบกับรัฐญี่ปุ่น ทำไมถึงไม่มีขั้นตอนการ industrialization?
ทำไมข้ามไป? ผมก็ตอบไม่ได้ครับ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภาอาจจะตอบได้ ผมมองว่า อาจจะยากที่จะกำหนดว่า ไทยเรามีการปฏิวัติอุตสาหกรรมรึเปล่า ถ้ามี เริ่มตรงไหน
เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปมาเรื่อยๆ
อาจจะเรียกได้ว่าเป็น การ "วิวัฒนาการ" อุตสาหกรรมมากกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมจริงๆ ลองมองย้อนไป กระบวนการนี้อาจถือได้ว่าเริ่มตั้งแต่อย่างน้อยก็ สนธิสัญยาเบาริ่ง ซึ่งเปลี่ยน landscape ของการผลิตในระบบเศรษฐกิจไทยในสมัยนั้นไปไม่น้อย
ต่อมา   การปฏิวัติหรือปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยก็มาแฝงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการทำประเทศให้ทันสมัย  ในสมัยร. 5 (ตรงกับการทำประเทศให้ทันสมัยของจักรพรรดิญี่ปุ่น) 
อีกหลักไมล์หนึ่งอาจจะเป็นการเขียน "ทรัพยศาสตร์" ที่มีคนบอกว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของเมืองไทย โดยพระยาสุริยานุวัตร เกิด บุนนาค (เข้าใจว่าในช่วง ร. 6) ... สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่ลุมพินี
ถ้าเป็นไปตามที่ในหลวง ร. 6 ท่านทรงคิดไว้ ก็อาจจะเป็นแรงกระตุ้นอุตสาหกรรมในเมืองไทยได้ แต่ในหลวง ร. 6สวรรคตก่อนที่จะจัดเอ็กซโปสิชั่นอันนั้น
 
ยาวแล้ว ขอตัดส่งก่อนครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 07, 16:35
เรียนอาจารย์ (ต่อ) ครับ

หมุดหมายอีกอัน อาจจะเป็นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.
ท่านพยายามจะส่งเสริมคนไทยให้ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจ 3 ประการ
เพื่อพึงตนเองให้ได้ทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของท่าน (เพราะท่านกลัวเจ๊ก
ในขณะที่ครูเทพหรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีท่านไม่กลัว
ท่านเรียกคนเชื้อจีนในเมืองไทยว่า "ไทยพันธ์เจริญ" เพราะเชื่อมั่นว่าสังคมไทยจะ
assimilate คนจีนได้เข้ามาเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไป .. แต่นี่นอกเรื่อง)
จอมพล ป. ก็เลยยุ ดูเหมือนอยู่ในรัฐนิยมข้อหนึ่งด้วยซ้ำหรือเปล่า ให้คนไทยขยันขันแข็งประกอบการ กอุพากรรม  เป็นศัพท์พิเศษผูกขึ้นในสมัยนั้น
ซึ่งผมเองเห็นว่าเป็นภาษาวิบัติ .. กอุพากรรม คือ กสิกรรม +อุตสาหกรรม+
พาณิชยกรรม สามอย่าง มีอุตสาหกรรมอยู่ด้วย เข้าใจว่าเป็นนโยบายของรัฐที่จะส่งเสริมเรื่อง (3เรื่อง) นี้
อาจจะไม่ใช่สมัยท่านจอมพลเป็นนายกครั้งแรก คือไม่ได้อยู่สมัยเดียวกับรัฐนิยม
แต่เป็นนโยบายสมัยท่านเป็นนายกฯ ครั้งหลัง ผมไม่แม่น
 
เอาเข้าจริงแล้วผมคิดว่าหมุดหมายหลักที่แสดงถึงการเริ่มทะยานขึ้นของการอุตสาหกรรมในเมืองไทยจริงๆ
มันตกเข้ามา 2500 แล้วครับ สมัยคุณสฤษดิ์  เมื่อประเทศไทยเราคลั่งคำว่า
พัฒนาๆๆๆ มีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ มีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1
และสอดรับกับแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญ ธ. โลก
และความช่วยเหลือจากทุนนิยมสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ถึงตอนนั้น 2500 กึ่งพุทธกาล  กลุ่มทุนไทย (เชื้อสายจีน) ที่ได้ค่อยๆ
สะสมทุนและความชำนาญในอุตสาหกรรมกษตร (เช่น โรงสีข้าว) และการ deal กับ ตปท. มาก่อนแล้ว
ถึงตอนนั้นก็มีการสะสมทุนในระดับเพียงพอที่จะขยายฐานการผลิตไปเป็นอุตสาหกรรมได้ บวกกับ FDI หรือ forieign direct investment เข้ามา
(ส่วนหนึ่งมาจากญี่ปุ่น)
มันก็เลยคงเพิ่งจะปรับเป็นเศรษฐกิจระบบอุตสาหกรรมบางส่วนกันเป็นเรื่องเป็นราว
สมัยแผนฯ 1 มาแล้วนี่เอง และจนถึงบัดนี้ ศก. ไทยก็ยังไม่เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งระบบ (ตอนหลังๆอาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้เลือกอย่างนั้นด้วย เรามีทางเลือกอีก)
 
คำถามของผู้ตั้งกระทู้ว่า ทำไมถึงข้ามหายไปมาโผล่เอา 2500
ผมยังกำลังนึกอยู่ครับ
คำถามอีกข้อว่า แล้วช่วงนั้นรัฐไทยสัมพันธ์กับรัฐญี่ปุ่นยังไง ก็ต้องขอนึกๆ
ค้นๆ ดูก่อนครับ
 
นกข.


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 11 ก.ย. 07, 05:47
ผมขอขอบคุณทั้งคุณเทาชมพู และคุณนิลกังขา อีกครั้งนะครับ ที่ท่านกระตือรือร้นในการแสวงหาคำตอบ อันเป็นทานปัญญาอันดีเลิศ

ผมลองอ่านกระทู้ย้อนไปย้อนมา แล้วนึกๆดูถึงแนวทางการพัฒนาและการปรับประเทศสู่ความเป็นสมัยใหม่ในทุกรัชกาล
ผมกลับรู้สึกว่ามันมีนัยสำคัญมากกว่าแค่ฉันต้องการได้ชื่อว่า "โมเดิร์น" นะครับ หรือไม่ก็ พอฉัน "โมเดิร์น"แล้ว ฉันจะยังคงเอกราชไว้ได้ ผมว่ามันมากกว่านั้น

แน่นอนว่าคงไม่มีชนชาติใหนในโลกชอบการถูกดูแคลน และที่แน่ๆ หากถูกดูถูกดูแคลนว่า"ไร้อารยธรรม" เป็นอะไรที่เจ็บปวดเกินรับได้
แต่ลองถามความรู้สึกในใจของพวกเราซิครับ ผมว่าถ้าเป็นผม "ผมกลัวนะ" ผมไม่ได้อาย แต่ผมกลัว

ถามว่ากลัวอะไร แน่นอน พ่อ แม่ พี่ น้อง วงศาคณาญาติ ของเราอยู่ที่เมืองไทย แล้วอยู่ๆ ฝรั่งก็เข้ามา
ใช้เทคโนโลยีเอย ใช้จักรกลอะไรก็ไม่รู้เอย แต่ที่รู้ๆ คือมันอันตรายไม่น้อย  และอาจมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา
หากฝรั่งมาวางอำนาจบาตรใหญ่ ญาติโกโหติกาเราจะอยู่กันอย่างไร จะถูกทารุณขมขืนขมเหงหรือเปล่า จะต้องเป็นทาสหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่ากลัวมิใช่หรือ

คนญี่ปุ่นก็กลัวไม่น้อยไปกว่าเรา พวกเขาไว้ใจกันเองมากกว่าไว้ใจคนต่างชาติ (ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น ให้ตายเถอะ"การไว้ใจกันเอง"มันเป็นชาตินิยมโดยธรรมชาติจริงๆ)

ถามว่าแล้วพวกเราทั้งหลายจะทำอย่างไรดีล่ะ
แน่นอนคำตอบมีไม่กี่ทาง ทางแรก ยอมแพ้ซะเถอะ ทางที่สอง ฉันต้องพัฒนาเทคโนโลยีอย่างน้อยก็เพื่อป้องกันตัวเอง เลี้ยงตัวเอง พัฒนากองกำลังทหาร พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของครอบครัว และนั่นน่าจะเป็นแรงขับเคลือนสู่การปรับประเทศสู่อุตสหกรรม และความเป็นสมัยใหม่ ทั้งระดับชาติ และระดับปัจเจกชนเลยก็ว่าได้

ลองนึกเบื้องหลังของการที่คนในกรุงดูถูกคนบ้านนอกสมัยที่เกิดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทอย่างมหาศาลดูซิครับ ทำไมนะ"ถึงต้องดูถูก"

ผมว่าการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่มันมีนัยยะทางชีววิทยา คือความต้องการการอยู่รอดแห่งเผ่าพันธุ์ การรักษาพันธุกรรมของพวกเราไว้ในโลกนี้เลยทีเดียว

อ้าว!!! แล้วมันเกียวกันอย่างไรกับการปฏิวัติอุตสหกรรมล่ะ แน่นอนเลยทีเดียวนะครับ เมื่อเราเปิดประเทศหมายความว่า สินค้ามีการไหลเข้าออกทั่วโลก
ถ้าเรายังใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ต้นทุนการผลิตจะสูง สูงขนาดไหนน่ะเหรอ ก็สูงขนาดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มันถูกกว่าทำเองน่ะซิ...
แล้วเวลาการผลิตก็จะยาวนานกว่า นานขนาดไหนน่ะเหรอ ก็นานกว่าเรือเดินสมุทรจากต่างประเทศจะมาถึง
ทั้งหมดทั้งปวงเราเลยต้องปรับวิธีการผลิตทั้งสายห่วงโซ่แห่งอุปทานเลยทีเดียว ซึ่งนั่นเอง สำหรับผมแล้ว ผมเรียก "การที่ 'อุปทานทั้งสาย' ปรับการผลิตเพื่อให้ลดต้นทุน ย่นเวลา โดยใช้เทคโนโลยี" มันคือการปฏิวัติอุตสาหกรรม

คุณเทาชมพู และคุณ นิลกังขา ครับ มันจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าสยามสมัยนั้น อุปสงค์ในประเทศยังไม่มากพอที่จะผลิตเป็นอุตสาหกรรมได้ครับ เพราะมันไม่ใช่แค่
การผลิต มันเกียวกับการบริโภคด้วย หรืออย่างไร


ส่วนเรื่องที่คุณนิลกังขา กล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นทางเลือกใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องปฏิวัติอุตสาหกรรม ผมขอแย้งในเรื่องนี้ครับ
เศรษฐกิจพอเพียง กับอุตสาหกรรม มันไม่ได้ขัดกันเลยซักนิดเดียว

พระราชดำรัส กล่าวไว้ว่า "การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง"

แน่นอนการที่ญี่ปุ่นปรับตัวเข้าสู่ประเทศอุตสหกรรม ก็เพราะไม่ต้องการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ ต้องการพึ่งพาตนเอง มีพอเพียงกับตัวเอง
ที่สำคัญวิทยาการเป็นศาตราวุธที่ทรงพลังที่สุด และพลังของมันจะปกป้องประเทศเขตขัณฑ์ได้เหนือกำลังมนุษย์หลายเท่านัก

จนปัจจุบัน เทคโนโลยีของญี่ปุ่น มีเลี้ยงตัวเองพอเพียงแล้ว แต่ทว่าผลิตผลทางการเกษตรกับต้องพึ่งพาต่างประเทศอย่างน่าใจหาย
และคุณเชื่อหรือไม่ครับ พวกเขากำลังปรับโครงสร้างการเกษตรด้วย
ปัจจุบันอัตราการพึ่งพาตัวเองด้านเกษตรของญี่ปุ่นต่ำมากจนเป็นหัวข้อสำคัญในหัวเมืองต่างๆ และสภาไดเอท
เผอิญว่าวันก่อนผมเดินทางไปเกียวโต พบเอกสารรณรงค์เรื่องการพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรด้วยตนเอง รณรงค์อยู่ดาษดื่น
ผมว่าคงไม่นานญีปุ่นคงลดการนำเข้าเนื้อไก่ กุ้งแช่แข็ง ตลอดจนผัก และผลไม้ จากเมืองไทย เพราะตัวเองผลิตเองได้แล้ว ด้วยการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพอากาศหนาวได้ พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย ถามว่าทำไมอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ขอให้ทุกท่านที่อ่านหันมองไปรอบๆตัวคุณขณะนี้เลยซิครับ หันซ้าย หันขวา ครับอย่างงงน้านแหละ
เจอเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือส่วนประกอบของมันวางอยู่หรือเปล่า แน่นอน เจอตรงหน้าท้องของเรานิดหน่อย กับก้อนโปรตีนที่ประกอบเป็นร่างกาย
นอกจากนั้นก็ต้องเดินไปหาในครัว ความจริงก็คือว่า รอบๆตัวเราล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมมิใช่หรือครับ ที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ รถยนต์
แล้วถามว่าเราพึ่งพาตัวเองได้หรือยัง...เรามีพอกิน แต่มีไม่พออยู่

อันนี้เริ่มเบียงประเด็นเล็กน้อย
แต่สิ่งที่ผมต้องการถามยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือ ผมเห็นว่าอุตสาหกรรม เทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญ(แม้ว่าอนาคต งานด้านบริการอาจสำคัญกว่า)
เกษตร และอุตสาหกรรม เป็นรากฐานของประเทศ และทำให้เราพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เราไม่ต้องกลัวกลับต่างชาติ และประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระตือรือร้น

เมื่อทั้งหมดมีความสำคัญขนาดนี้ แล้วบรรพชนของเราท่านคิดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างไร?
เมื่อเราตอบคำถามได้แล้วว่าท่านพยายามเต็มที่แล้ว เมื่อมาถึง Generation ของเรา ก็ควรคิดคำนึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าท่าน
หรือถ้าท่านไม่ได้สนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีนัก ก็แน่นอน คงหนีไม่พ้น Generation ของเราอีกเช่นกันที่ต้องเป็นผู้ลงมือทำอย่งจริงจัง มิใช่หรือครับ

จริงๆที่ผมอยากรู้เรื่องนี้มากเป็นพิเศษนอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางการฑูตไทย-ญี่ปุ่น 120 ปีเป็นต้นเหตุแห่งความสนใจแล้วนั้น
ผมยังมีความอยากรู้เชิงเปรียบเทียบถึงแนวทางการพัฒนาประเทศของทั้งสองประเทศเหมือนพิมพ์เดียวกันทั้งจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลง สภาพสังคมอุปภัมป์ ตลอดจนนิสัยความอ่อนน้อมถ่อมตน ของคนในชาติที่คล้ายคลึงกัน แล้วอยู่ๆ ก็เกิดความแตกต่างอย่างลิบลับ

ประมาณว่า ความเป็นอยู่ของเราห่างจากเขาอย่างต่ำก็ห้าสิบปี หกสิบปี เลยทีเดียว (สังเกตจากความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้สูงอายุที่นี่เทียบได้พอๆกับวัยรุ่นบ้านเรา สังเกตจากการคมนาคมขนส่งที่นี่วิวัฒน์ไปก่อนประเทศเรา สังเกตุจากระดับคุณภาพชีวิต เช่นการศึกษา สาธารณสุข สังเกตจากโครงสร้างของบริษัท
สังเกตจากมาตรฐานงานวิจัย ฯลฯ)

สุดท้ายผมขอขอบคุณล่วงหน้านะครับ สำหรับปัญญาทาน ที่ท่านจะนำเสนอยิ่งๆขึ้นไปในหัวข้อนี้ และท่านอื่นๆ ที่จะร่วมอ่าน และวิเคราะห์ตามความเห็นของตนเอง อันเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาตนเองอย่างดียิ่ง สู่สังคมที่อุดมด้วยปัญญาแบบที่เป็นรูปธรรมที่สุดนะครับ

ด้วยความเคารพ
KoKoKo







 


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 13 ก.ย. 07, 15:45
เรียนสอบถามคุณ วรณัย

จากการตอบกระทู้ที่ว่า "พระเรศวรมีหนังสือแจ้งไปทางหมิงว่าจะยกทัพไปรบกับญี่ปุ่น เพื่อรักษาริวกิว แต่สุดท้ายริวกิวผนวกไปกับญี่ปุ่น เลยต้องเปลี่ยนมาทำการค้ากับญี่ป่น(ผ่านจีน) แทน"

ผมมีความสนใจน่ะครับ ว่าทำไมพระนเรศวรท่านถึงกล้าจะยกทัพไปรบกับญี่ปุ่น คือประมาณว่า ท่านมีความสามารถทางการรบทางเรือขนาดนั้นเลยเหรอครับ

ผมเคยได้ยินคุ้นๆ เมื่อนานมาแล้วเหมือนกันจากการตีความพงศาวดารจีน แต่รู้สึงงุนงงนิดหน่อย ว่าผู้บันทึกมีความเข้าใจผิดอะไรหรือเปล่า
ถ้าบอกว่าเพื่อนบ้านแถวเวียดนามเอย  แถวตังเกียเอย อะไรเทือกๆนั้น จะออกไปรบญี่ปุ่นอันนี้ยังฟังยากแต่ก็ฟังได้ แต่ถ้าอยุธายาจะเดินทางไปรบไกลขนาดนั้น คงต้องมีระบบโลจีสติกส์ขนทหาร ขนเสบียงที่ดีระดับแนวหน้าเลยทีเดียว ว่ามั๊ยครับ

ลองนึกถึงโจโฉตอนพ่ายศึกทางเรือดูซิครับ เพราะความไม่ถนัดการรบทางเรือ เลยกลายเป็นหายนะซะเลย ผมเลยจินตนาการไม่ค่อยออกน่ะครับ
ว่าทำไมท่านจึงมั่นใจขนาดนั้น

อย่างไรก็ตาม ผมอยากอ่านบทความเรื่องนี้มากกว่านี้น่ะครับ ช่วยกรุณาอธิบายได้หรือไม่ครับ หรือไม่ก็แนะนำหนังสื เวปไซต์
ตอนนี้ผมกำลังพยายามหางานวิจัยประวัติศาสตร์โอกินาวาของญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน (เป็นงานอดิเรกน่ะครับ)

ด้วยความเคารพ
KoKoKo


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 03 ต.ค. 07, 15:33
ความสงสัยยังไม่คลายในเรื่องอุตสาหกรรมในรัชกาลที่๖ มีโอกาสผมก็เที่ยวถามคนโน้นทีคนนี้ที
มีเพื่อนบางคนตอบมาว่า ท่านคงไม่ถนัดอุตสาหกรรมนักหรอก....

ผู้ใดรู้วานบอก


<< ขออนุญาตเซ็นเซอร์ข้อความที่ไม่เหมาะสมนะครับ :CrazyHOrse >>


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 03 ต.ค. 07, 17:10
มีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ศิลปหัตถกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งคุณ kokokoko (ขอประทานโทษ ผมไม่แน่ใจว่ากี่โค จำไม่ได้จริงๆ) และหลายท่านอาจยังไม่ทราบ หรือถึงทราบก็ทำเฉยๆ เพราะ "เลือก" ที่จะไม่เชื่อ

อาจจะง่ายเกินไปสักหน่อยที่ผมจะตอบด้วยวิธีการยกลิ้งก์ขึ้นมาจากเว็บไซต์เว็บหนึ่งมาตอบ แต่ผมเห็นว่าค่อนข้างจะครอบคลุม คุณโคฯ ลองอ่านดูนะครับ แล้วมาคุยกัน ดูซิว่ามีประเด็นเห็นด้วยหรือขัดแย้งอย่างไรหรือไม่

http://www.geocities.com/Tokyo/Shrine/6611/ar06.htm

แต่ก่อนอื่น ก่อนจะตัดสินใจอะไรต่อไป  อาจะต้องขอความกรุณาคุณโคฯ ให้ลดอคติ หรือสลัดภาพที่คุณเลือกจะเชื่อออกไปแล้ว สักพักหนึ่งได้หรือไม่ จริงอยู่ว่าเรื่องเหล่านั้นมันสนุกปาก เข้าทำนองเม้าธ์มันๆ หรือเรื่องแนวนี้อาจจะมีรสจับจิตจับใจอะไรคุณโคฯ เข้า ผมก็ไม่อาจจะหยั่งทราบ แต่ภาพเหล่านั้นอาจเป็นเพียงมายาหรือกระจกบางด้านที่คนบางกลุ่มใส่สีสร้างไว้ เพื่อสร้าง "พระเอก" และ "ตัวร้าย" บนหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้บุคคลคนหนึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกนินทาว่าร้ายไปโดยเกินจริง

ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง ผมเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานด้านอื่นๆ ไว้อย่างมหาศาล นอกเหนือจากอักษรศาสตร์ และนาฏศิลป์ครับ เพียงแต่พระราชกรณียกิจเหล่านั้นถูกบดบังหายไปอย่างน่าเสียดาย ...ลองคิดดูว่าทรงมีเวลาเพียง ๑๕ ปีในการทรงงานเท่านั้นเองนะครับ แต่งานด้านการพัฒนาประเทศที่ประมวลไว้ในเว็บไซต์ข้างต้น มีมากเท่าไหร่ ลองค่อยๆ อ่านดูด้วยใจเป็นธรรม

ผมไม่คิดว่า "การพลิกแผ่นดินในเชิงอุตสาหกรรม" (โดยเฉพาะในบ้านเมืองที่มีวัฒนธรรมความอืดฉืดเฉื่อยชาเป็นอาจิณ อุดมด้วยทรัพยากร ไม่มีภัยธรรมชาติร้ายแรง ขอประทานโทษถ้าจะพูดแบบเหมารวม คือคุณโคฯ ลองมองประเทศที่อยู่แถบๆ เส้นศูนย์สูตรสิครับ ว่ามีบ้านไหนเมืองไหนไม่เป็นโรค "เฉื่อยแฉะ" กันบ้าง) จะสามารถทำให้สำเร็จได้ในภายใน ๑๕ ปีครับ ผมคิดว่าแผนที่ทรงวางไว้ ยังค้างๆ คาๆ อยู่อีกมาก

ถ้าจะพูดในแง่ลบก็บอก "..โธ่..ทำได้แค่เนี้ย มหาลัยก็ตั้งได้แค่มหาลัยเดียวเองเหรอ..พรบ.ประถม ได้แค่ประถมเองเหรอ..โธ่ สร้างทางรถไฟได้แค่นี้เองเหรอ ...ตั้งโรงเรียนไว้แค่สิบกว่าโรงเองเหรอ ...สร้างโรงพยาบาลไว้สองสามโรงเท่านั้นน่ะรึ ...โรงปูน ธนาคาร สภาเศรษฐกิจ สภาวิจัย โรงประปา สร้างแค่เนี้ย โอ้ย..แถมยังส่งกองทัพไปชนะสงครามโลกจนทำให้ค่อยๆ แก้สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมได้ ...ทำได้แค่เนี้ยเหรอ มีเวลาตั้ง ๑๕ ปี"

เฮ่อ...ถ้าจะประเมินคุณค่างานในรอบ ๑๕ ปีของคนคนหนึ่งว่าต่ำต้อยด้อยค่า จนเห็นเพียงแค่ว่าคนคนนั้นเป็นคนแต่งหนังสือ ร้องรำทำเพลงคนหนึ่งเท่านั้น ...ผมว่าก็เกินไปหน่อยล่ะ

สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดๆ จากพระราชกรณียกิจ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะพัฒนาอุตสาหกรรม นั่นคือ รถไฟ สะพาน ถนน เขื่อน ชลประทาน และงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะรถไฟที่โปรดให้ทำสะพานพระราม ๖ เชื่อมเส้นทางรถไฟสายเหนือสายใต้ สร้างรถไฟสายใต้ลงไปจรดใต้สุด สร้างอุโมงค์ขุนตาน สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของการลำเลียงวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมทั้งสิ้นครับ และเป็นวิธีขนถ่ายสินค้าเข้าออกที่คุ้มค่าที่สุดด้วยเพราะขนได้มากแต่ค่าใช้จ่ายน้อย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร อย่างไรก็ดี ในสมัยนั้นอาจจะยังไม่มีคำว่า "อุตสาหกรรม" คุณโคฯ เวลาอ่านอาจจะต้องตีความสักนิด ว่าส่วนใด แง่ใดที่อาจจะเข้าทางอุตสาหกรรมได้บ้าง

อ้อ...คุณโคฯ อย่าลืมดูเรื่องสภาเผยแผ่พาณิชย์ด้วยนะครับ นั่นก็คือหน่วยงานกำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่ได้เกี่ยวกับพาณิชย์อย่างเดียวตามชื่อนะครับ

ด้านวัสดุก่อสร้างสาธารณูปโภคจำเป็นสำหรับประเทศ ได้ทรงตั้งโรงปูนซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ไว้ครับ ยิ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็ทรงนำทฤษฎีงบประมาณขาดดุลซึ่งหลายคนในยุคนั้นไม่เข้าใจ และคิดว่าทรงดำเนินแผนงานทางเศรษฐกิจผิดพลาด ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องตรงกันข้าม เมื่อประสบปัญหาเศรษฐกิจ ก็ทรงพยายามสนับสนุนให้สินค้าไทยแพร่หลายสู่สายตาชาวโลก ทรงพระราชดำริจะจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ณ สวนลุมพินีอันเป็นที่ดินส่วนพระองค์ เพื่อแสดงสินค้าไทย ทำนองเดียวกันงานเวิลด์แฟร์ หรืองานเอ็กซโปสิชันของต่างประเทศ แต่น่าเสียดายที่เสด็จสวรรคตก่อนงานนี้จะได้จัดขึ้น คงเหลือแต่สวนลุมพินีซึ่งทรงพระราชดำริไว้แต่ต้นว่าเมื่อเสร็จงานแล้วจะพระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน

การจะประจักษ์ผลของงานด้านนี้ต้องใช้เวลาครับ ไม่เหมือนงานเขียนหนังสือหรือเล่นละคร ซึ่งปรากฏผลให้โลกได้รับรู้ทันตาเห็นเดี๋ยวนั้นทันทีที่หมึกแห้งแล้วยื่นใส่มือคนอ่าน หรือเมื่อเปิดม่านแล้วเปิดตามอง ยิ่งถ้างานด้านนี้ไม่ได้รับการสานต่ออย่างจริงจัง เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ที นโยบายก็เปลี่ยนที อคติคนโน้นที ทิฐิคนนี้ที มันก็ต้องขลุกขลักติดขัดเป็นธรรมดา

ท้ายสุดของความเห็นนี้ ขอเชิญพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อปี ๒๔๕๗ มาให้อ่านกันครับ

“...ถึงของที่พวกเราทำได้นั้นจะยังสู้ของเขาไม่ได้หรือแพงไปสักนิด ถ้าเราตั้งใจช่วยกันอุดหนุนแล้วก็เป็นทางที่จะให้ของๆ เราดีขึ้นพอทัดเทียมกับของเขาได้ ในเวลาปกติพวกเราย่อมแลเห็นได้ยากว่าเหตุไรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องบำรุงวิชชาหัตถกรรมและศิลปกรรมของเราเองให้พอเพียง ต่อเมื่อไรมีเหตุสำคัญซึ่งของใช้ของเราจะส่งมาจากต่างประเทศไม่ได้ เมื่อนั้นแหละจึงเป็นเวลาที่เราต้องรู้สึกตัวและเสียใจเองว่า เราทั้งหลายได้รามือราตีนเสียหมดแล้ว ช่วยตัวเองก็ไม่ได้เสียแล้ว

...เราจะต้องช่วยกันคิดอย่างไรให้บ้านเมืองเราเลี้ยงตัวเองได้ ถึงของของในเมืองไทยจะยังทำไม่ได้ดีเหมือนเขาก็ให้พอใช้ได้และมีเพียงพอแก่ความต้องการของเรา ...ถ้าจะพูดกันตามตรงแล้ว ก็ต้องรับว่าเดี๋ยวนี้เรายังต้องอาศัยให้ชาวต่างประเทศเลี้ยงตัวเราอยู่ทุกคน เช่นนี้เราไม่อายเขาหรือ

เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันบำรุงศิลปหัตถกรรมแห่งบ้านเมืองเราให้เจริญขึ้น เราจะปล่อยให้ความบกพร่องมีอยู่เช่นนี้ไม่ได้ต่อไปเป็นอันขาด เราต้องนึกถึงว่าเงินทองที่เรามีพอจะจับจ่ายใช้สอยนั้น ทำอย่างไรจึ่งจะได้ใช้ตั้งแต่สตางค์เดียวขึ้นไป ให้เป็นประโยชน์แก่คนไทย...”

ผมคิดว่าคำว่า "วิชชาหัตถกรรมและศิลปกรรม" ที่ทรงหมายถึงนั้น จริงๆ แล้วก็คืออุตสาหกรรมนั่นแหละครับ ทรงตั้งพระราชหฤทัยสนับสนุนให้ทำได้มาก ได้มีคุณภาพ และให้มีใช้ได้ไม่ขาดแคลน ซึ่งก็คือการพยายามทำให้หัตถกรรมและศิลปกรรมของเรากลายเป็นอุตสาหกรรมให้จงได้นั่นเอง


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 07, 18:26
คุณโค คะ   
คุณไม่รู้จริงๆว่ารัชกาลที่ 6 ท่านทรงพัฒนาอุตสาหกรรมกี่มากน้อย  เลยมาถามในนี้
หรือว่าคุณอยากจะจิกตีผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่มีโอกาสมาชี้แจงด้วยตัวเอง  โดยอ้างเรื่องอุตสาหกรรมบังหน้า
ดิฉันก็ไม่ทราบ
แต่คำถามของคุณที่โยงเรื่องสองเรื่องเข้าด้วยกันอย่างไม่มีตรรกะเลยนั้น     ไม่เนียนเลยค่ะ

เสียดายที่คุณเริ่มต้นมาด้วยดี   ดิฉันและสมาชิกหลายท่านที่มาตอบ ก็เต็มใจต้อนรับคุณมาตั้งแต่แรก  ไม่น่าจะจบลงแบบนี้เลย


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 03 ต.ค. 07, 18:43
แหม โดนเข้าแล้วซิครับผม ด้วยความโง่บริสุทธิ์ของผมน่ะซินะคับ ไม่มีการบังหน้าแต่ประการใดทั้งนั้นครับ คุณเทาชมพู
ในฐานะที่ผมก็จบจากมหาวิทยาลัยที่ท่านเป็นผู้สถาปนา ที่เดียวกันกับคุณเทาชมพู ผมก็เคารพท่านแม้แต่อยู่ในญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยนี้คนที่นี่รู้จักดีเลยทีเดียว เลยได้อานิสงค์ผลบุญในการเรียนต่อโดยปริยาย

เผอิญว่าผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนที่อยู่อเมริกาทางเอ็มเอสเอ็น ผมก็คุยกันเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อทำเป็นรายงาน
เพื่อนก็พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ผมเลยสงสัยนิดหน่อยว่า แล้วมันยังไงกัน ทำไมถึงกล้าพูดกันถึงขนาดนั้น
ตัวผมเองก็ไม่มีความรู้แนวนี้สักเท่าไร ฟังแค่สนุกปาก สนุกหู ไม่ประเทืองปัญญา ก็ไม่ใช่วิธีของผมซะด้วยซิครับ

ก็เลยกล้าถามตรงๆ อย่างที่ถูกบอกมาอย่างนั้น ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ขอวอนกรุณาอธิบายเพื่อผมจะได้แก้ข้อต่างแทนได้นะครับ

จะเป็นพระคุณอย่างสูง






กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 07, 19:00
ทำไมคุณโค ไม่ถามเพื่อนคนนั้นล่ะคะ ว่าเขารู้อะไรแค่ไหนทั้งเรื่องอุตสาหกรรมและเรื่อง............
ถึงแม้ว่าคุณไม่รู้คำตอบ  แต่การซักไปซักมาก็อาจจะทำให้คุณดูออกว่าเพื่อนคนนั้นเขารู้หรือไม่รู้อะไรเลย
แค่วิธีการโยงเรื่องสองเรื่องเข้าหากัน  ก็น่าจะบอกคนที่เรียนจบปริญญาตรีมาได้แล้วว่า มันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันแค่ไหน
และมันบอกถึงสติปัญญาคนพูดได้มากน้อยแค่ไหนบ้าง  ตลอดจนบอกถึงอคติ หรือนิสัยบางประการ ก็อาจจะได้ด้วย
ดีกว่าเก็บถ้อยคำของเพื่อนมาถามต่อในนี้  แบบไม่ได้กลั่นกรองเอาเสียเลย

เรื่องอุตสาหกรรม คุณ UP ได้ตอบไปแล้วพร้อมทั้งทำลิ้งค์ให้ด้วย   คิดว่าคงจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อคุณไม่มากก็น้อย
ส่วนเรื่อง...............ถ้าสนใจประวัติของท่าน ก็หาได้ในกูเกิ้ลได้ไม่ยาก

เรื่องคำที่คุณอุตส่าห์พิมพ์ด้วยตัวสีน้ำเงินให้เห็นว่าสำคัญ นั้น   ถ้าถามดิฉัน  ดิฉันก็จะตอบว่า เป็นเรื่องโกหกมดเท็จ  เม้าธ์เล่าลือกันอย่างไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงใดๆมายืนยัน  ยิ่งต่อเติมเสริมต่อกระจายกันออกไปเท่าไรก็ยิ่งเสื่อมเสียแก่ผู้เกี่ยวข้องมากเท่านั้น
ในเรือนไทยนี้  สมาชิกประจำที่ดิฉันรู้จัก และตัวดิฉันเองก็ไม่ได้เป็นญาติโยมอะไรกับท่านผู้นั้นหรอก   แต่ลูกหลานเครือญาติของท่านผู้นั้นก็มีอยู่หลายสิบคน    และสามารถจะเข้าอินเทอร์เน็ตมาเจอเมื่อไรก็ได้   ก็ขอให้นึกเผื่อถึงใจพวกเขาบ้าง   
จึงอยากจะถามคุณโคและฝากถามไปถึงเพื่อนเอ็มเอสเอ็นของคุณด้วยว่า  ถ้ามีใครกล่าวขวัญถึงบรรพชนของคุณด้วยคำนี้บ้าง  คุณจะรู้สึกอย่างไร และจะตอบอย่างไร   
เอาเวลาในชีวิตไปศึกษาเรื่องที่มีสาระ และมีตำราให้ค้นคว้าได้อีกมากมาย  จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมากกว่า


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 03 ต.ค. 07, 19:31
ว่าแล้วก็เลยถามศาสตราจารย์กุ๊กเกิลซะ ได้เรื่องราวในกระทู้พันธ์ทิพย์เมามันไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันซักเท่าไรนะครับคุณเทาชมพู

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3664087/K3664087.html

นี่ตัวอย่างน่ะครับ

"เวอร์จิเนีย ทอมป์สัน ได้แสดงความเห็นไว้ในหนังสือ Thailand the New Siam ว่า ความใกล้ชิดและพระเมตตากรุณาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อข้าราชบริพารของพระองค์กลายเป็นเครื่องมือในการแวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องของข้าราชบริพารและยังความเสียหายให้แก่ประเทศทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างกว้างขวาง สร้างความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการอื่นๆที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเลวจากข้าราชบริพารที่เพิ่งได้มีใหม่ๆเหล่านี้ ให้แพร่หลาย ราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง ทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น และถูกล้อเลียนเยาะเย้ยตำหนิติเตียนทั่วไปในขณะนั้น ในด้านความหรูหรา ฟุ่มเฟือย และมีแต่ข้าราชบริพารที่ประจบสอพลอ ข้าราชสำนักที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดคือ กลุ่มมหาดเล็ก"

แล้วจะด้นปักเนาเย็บ ต่อยังไงดีละครับอาจารย์เทา

หรือจบกระทู้นี้แต่เพียงเท่านี้ดีกว่า ก่อนที่จะฉาว เกินเลยความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น




กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 03 ต.ค. 07, 19:31
ผมยังไม่ได้ตอบคำถามเก่าของคุณ KKK แต่ที่จริงผมจำได้ว่าเคยบอกไปแล้ว ว่าผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ผมเป็นนักรัฐศาสตร์ แต่เท่าที่ผมจำได้ ผมคิดว่าผมยังมีสิทธิที่จะยืนยันว่า ครั้งหนึ่ง ตามทฤษฎีตัวแบบการพัฒนาอันหนึ่ง คุณอยากเจริญคุณต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่มีวิถีทางการพัฒนาอื่น แต่สมัยนี้ มีทฤษฎีและตัวแบบการพัฒนามากขึ้นแล้ว และก็มีการพูดกันมากเกี่ยวกับผลร้ายของการพัฒนาแต่อุตสาหกรรมตะพึดตะพืออย้างเดียวแล้ว ผู้ตัดสินใจหรือกำหนดนโยบายจึงมีทางเลือกมากขึ้น อย่างน้อยในทางวิชาการ ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไปในทางอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ไม่ได้แปลว่าปฏิเสธอุตสาหกรรม เพียงแต่ว่า มีทางที่จะพัฒนาประเทศได้หลายแนวทางเท่านั้น แล้วจะเลือกแนวพัฒนาผสมผสานกันก็ยังได้ ในหลวงท่านก็ทรงย้ำหลายหน ว่าการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นยังงั้นไปทั้งระบบเศรฐกิจ จะใช้เพียงส่วนหนึ่งก้ได้ คุณก็อ่านของผมไม่ละเอียดเองนี่ครับ

อันที่จริงแนวทางการพัฒนาที่ไม่ต้องก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมนั้น ว่าไปแล้วมันก็มีอยู่นอกตำราเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (แบบทุนนิยม) มาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่ตอนนั้นฝรั่งผู้เชี่ยวชาญธนคารโลกยุคสัก 1950 มองไม่เห็นเองเท่านั้นแหละ ไม่ต้องเป็นอุตสาหกรรมอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่า ต้องไม่เป็นอุตสาหกรรม ครับ ต่อให้ญี่ปุ่นก็เถิด พัฒนาอุตสาหกรรมเต็มที่แล้ว แล้วในที่สุดทิ้งภาคเกษตรไหม? เอาเข้าจริงก้ไม่กล้าทิ้ง ปกป้องภาคเกษตรของเขาถึงขนาดที่ว่าปิดตลาดไม่ให้ไทยส่งข้าวเข้าไปขายเลยทีเดียว

เรื่องการมุมานะพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยในญี่ปุ่นและไม่ยักเป็นใน ปวศ. ไทย คือการที่ญี่ปุ่นถูกเรือดำลำยักษ์ของนายพลเปอรี่บังคับให้เปิดประเทศแล้วก็ตกใจ กลัว และอาจจะเสียเหลี่ยมลูกกำนันจนถึงผูกใจเจ็บฝรั่งด้วย ที่บังอาจมาลูบคม จึงลุกขึ้นพยายามทำทุกวิถีทางที่จะไล่ตามฝรั่งให้ทัน และเอาชนะฝรั่งให้จงได้ แก้เผ้ด เริ่มจากเรียนหรือเลียนฝรั่งก่อน แล้วก็พัฒนาตนเองขึ้นมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นที่ประสบผลสำเร็จ เป็นรากฐานอันหนึ่งที่นำไปสู่การเผชิญหน้าและรบกับรัสเซีย จนปราบฝรั่งรัสเซียลงได้ แล้วก็นำต่อไปสู่การที่ญี่ปุ่นจะเป็นมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมเหมือนฝรั่งมั่ง จนนำไปสู่วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา และในที่สุดก้ไปถุงฮิโรชิมาและนางาซากิจนได้ซิน่ะ

ไทยเราเจอความเจ็บช้ำน้ำใจทำนองเรือปืนอเมริกามาขู่เหมือนกัน ที่เห็นชัดคือวิกฤตการณ์ปากน้ำ รศ 112 ที่ฝรั่งเศสเอาเรือรบเข้ามากลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมเข้าใจเอาเองว่า เราตื่นตัวเพราะเหตุการณ์นั้นและลุกขึ้นปฏิรูปประเทศเพื่อหนีภัยลัทธิล่าเมืองขึ้น โดยในหลวง ร. 5 ทรงนำ เหมือนที่จักรพรรดิเมจิทรงกระทำในญี่ปุ่น แต่ไทยจะมีนิสัยอ่อนโยนกว่าญี่ปุ่นหรือยังไงไม่รู้ ผมคิดว่าแรงขับดันของเราคือแค่เอาตัวของเราให้รอดเท่านั้นพอแล้ว ไม่นึกเลยไปถึงว่าต้องล้างเจ็บล้างอายไล่ให่ทันและขึ้นหน้าแซงฝรั่งไปให้จงได้ อย่างญี่ปุ่น ดังนั้น ความตั้งใจมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาให้จงได้เพื่อเป็นฐานในการแผ่ขยายอิทธิพลทางอื่นออกไป ในไทยจึงไม่แรงเหมือนในญี่ปุ่น ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม อาจผิดหรือถูกก็ได้


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 03 ต.ค. 07, 19:45
ส่วนอีกประเด็นที่ทำท่าจะหลุดประเด็นเดิมของกระทู้ไป ผมไม่ขอออกความเห็นดีกว่าครับ ไม่เกี่ยวกับเรื่องไทยญี่ปุ่น และไม่เกี่ยวกับเรื่องประวัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทยด้วย

ต่อไปนี้เป็นคำถามสำหรับคุณ UP

ผมเองเป็นคนบอกไว้เองว่า ในหลวง ร. 6 นั้นท่านทรงคิดเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม มีพระราชดำริเรื่องสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ปรากฏอยู่แต่ยังไม่ทันทำได้สำเร็จ คุณ UP มาเล่าต่อเรื่องพระราชกรณียกิจด้านอื่นๆ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมด้านต่างๆ การสร้างโรงปูน ฯลฯ ซึ่งก็เกี่ยวกับการพัฒนาทำนุบำรุงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมครับ แต่ผมสงสัยหน่อยหนึ่ง ผมเคยอ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์ไทย จำไม่ได้เสียแล้วว่าของใคร แต่คงไม่ใช่ยายเวอร์จิเนียนั่น ในงานเขียนนั้นอ้างพระราชดำรัส ร. 6 ไว้ ไม่ทราบว่ารับสั่งที่ไหนอย่างไร หรือว่ารับสั่งไว้จริงรึเปล่าด้วยซ้ำ แต่ผมอ่านแล้วยอมรับว่ารู้สึกแปลกอยู่ เขาอ้างว่าท่านรับสั่งว่า ตั้งพระทัยที่จะไม่ทนุบำรุงบ้านเมืองให้ร่ำรวยเจริญทางสมบัติ หรือพูดอย่างเราว่าเจริญทางเศรษฐกิจ เพราะถ้าเจริญในทางนั้นมากไปโดยยังไม่มีกำลังทหารไว้ป้องกันตัวเพียงพอ ก็จะกลายเป็นที่หมายปองของอริราชศัตรู เป็นภัยเสียเปล่าๆ ฟังคล้ายกับว่าทรงจัดลำดับความสำคัญโดยทรงให้น้ำหนักในการดำเนินพระราชรัฏฐประศาสโนบาย ไปในทางที่จะบำรุงความเข้มแข็งของประเทศ หรือภาษาสมัยนี้เรียกว่าให้ความสำคัญกับมิติด้านการเมืองและความมั่นคงแห่งชาติเป็นสำคัญ สำคัญเสียยิ่งกว่า มิติการพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ นี่ผมตีความเอง

เป็นยังงั้นจริงหรือครับ

เรารู้กันดีว่า ในรัชสมัยของท่านที่สืบต่อลงมาจากในหลวง ร. 5 นั้น ภัยจากฝรั่งล่าเมืองขึ้นยังเป็นของจริงแท้แน่นอนที่คุกคามไทยอยู่จริงๆ และเราก็รู้ว่า ในหลวง ร. 6 ท่านทรงให้ความสำคัญ สนพระราชหฤทัยด้านการทหาร การเสือป่า การปลุกใจชาวไทยให้รักชาติ จริงๆ เหมือนกัน แต่จะว่าอะไรควรจะสำคัญกว่าอะไรก็พูดยากอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นคนสมัยนี้เอาไม้บรรทัดของเราไปวัดท่านในสมัยโน้น แต่ถึงกระนั้นผมก็เห็นแปลก คือถ้าผมเป็นคนใต้ปกครองของรัฐบาลไหน ผมคงจะคาดหวังว่ารัฐบาลนั้นจะใส่ใจทั้งการทหารและการพัฒนา เพราะด้านที่สองมันปัญหาปากท้องผมน่ะ (gun กับ butter ของแท้เลย) แล้วว่าที่จริง ดูแล้วท่านก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ (แม้ว่าผมเชื่อว่าสมัยนั้นยังไม่ทันมีคำว่าเศรษฐกิจในภาษาไทย) อยู่ไม่น้อย มากเชียวล่ะ ซึ่งดูเหมือนจะขัดๆ กับที่อ้างว่าเป็นกระแสพระราชดำรัสองค์นั้นอยู่ งงๆ ครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 07, 20:27
คุณโคมีคำตอบอยู่ในใจแล้วนี่คะ 
Erotic กะ corrupted คุณคิดว่าเป็นคำเดียวกันหรือไงคะ  หรือว่าคำไหนก็ได้ เท่ากันน่ะแหละ
ตอนคุณตั้งคำถาม คุณคิดว่าเรือนไทยจะเป็นแหล่งตอบคำถามแรกของคุณว่า จริงค่ะ ถูกต้องค่ะ ใช่ค่ะ งั้นหรือคะ
คุณก็รู้ว่าไม่ใช่     แต่คุณไม่ยอมหยุดเพราะอะไร   

เรื่องนี้ออกนอกความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นไปมากแล้วค่ะ   อยากจะขอร้องให้ยุติเพียงแค่นี้   ถ้าจะคุยกันต่อก็ขอให้เป็นความสัมพันธ์ไทย- ญี่ปุ่น หรือเรื่องอุตสาหกรรมที่ยังค้างอยู่ ดีกว่า
ถ้าคุณโคยังข้องใจ หรือไม่พอใจคำตอบของดิฉัน กรุณาส่งข้อความมาถามเป็นส่วนตัว  ในเว็บนี้มีให้ส่งได้
ดิฉันจะตอบทุกอย่างที่ถาม
บางทีเราสื่อสารกันทางตัวอักษร ไม่ได้ยินน้ำเสียง ไม่เห็นท่าที   อาจจะทำให้ตีความผิดไปก็ได้

ป.ล. หนูหนอนบุ้ง ถ้าจะเข้ามาตอบ  ขอความช่วยเหลือจากหนูก่อน  กรุณารวบรวมเรื่องรัชกาลที่ ๖ ในกระทู้เก่าๆมาลงในกระทู้นี้ได้ไหมคะ    ดิฉัน search ไม่เจออีกแล้ว
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ต.ค. 07, 21:19
อยากให้คุณ kokoko ตั้งสติให้ดีนิดนึงครับ เรื่องนี้สำคัญ เพราะเกี่ยวกับการใช้สามัญสำนึกในการประเมินหลักฐานที่เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับคนทำงานวิจัย ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม

เรื่อง..มีบทบาทมากในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องส่วนตัวที่เล่าลือกันนั้นก็อีกเรื่อง
หากคุณตอบว่าไม่จริง  ลองตอบคำถามข้อต่อไปว่า
"ถ้าไม่จริงลองหาหลักฐานมาหักล้างดูซิ?"

หากจะเคืองผม ขอให้ลองย้อนกลับไปอ่านดู ที่ยกมานี่คือคำถามที่คุณถามเองทั้งสองข้อเลยนะครับ

ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ จะให้ตอบอย่างไรดี

ไม่น่าจะเอาเรื่องเล่าลือแบบตลาดๆมามาร่วมอภิปรายเชิงวิชาการอย่างนี้ เพราะมันจะกลายเป็นสัมมนาขยะไปนะครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 04 ต.ค. 07, 02:28
คุณนกข.ครับ ผมก็เคยอ่านมาอย่างนั้นเหมือนกัน ต้องขอประทานโทษที่จะตอบอย่างไม่กระจ่าง เพราะไม่มีหนังสืออ้างอิงอยู่ในมือ แต่ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็น "คำบอกเล่า" มากกว่า "พระราชดำรัส" ที่รับสั่งลงไปชัดเจนในวันเดือนปีใดๆ หรือเป็นอัญพจน์ที่เชื่อถือได้ ทำนองเดียวกันแหละครับ จนป่านนี้ผมก็ยังหาต้นตอและหลักฐานยืนยันไม่พบว่า พระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสเรื่องการจะให้ "ลูกวชิราวุธ" พระราชทาน "คอนสติติวชั่น" ไว้อยู่ตรงไหน นอกจากเป็นคำบอกเล่าปากต่อปากเท่านั้นเองว่าเป็นพระราชดำรัสในการประชุมเสนาบดี

หรือถึงจะรับสั่งดังนั้นจริง ผมก็มองว่าเป็นพระราชโวหาร เพราะพระราชกรณียกิจที่ปรากฏ เห็นได้ชัดว่าไม่ได้ทรงละเลยงานด้านเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการพัฒนาเลย โดยเฉพาะในปลายรัชสมัย ซึ่งปัญหากรุ่นๆ ในเรื่องความมั่นคงได้คลี่คลายไปพอสมควรแล้ว

คุณโคฯ ครับ ผมฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้อีกอย่างหนึ่ง

ตอนที่เพื่อนคุณกับคุณคุยกันเรื่องนี้นั้น บรรยากาศและลักษณะการสนทนาเป็นอย่างไร หากว่าเป็นการก็อสสิปกันเพลินๆ ในวงสนทนาประสาเพื่อนสองสามคน ผมก็พอจะเข้าใจ ไม่ว่าจะใส่ไข่หรือไม่ใส่ไข่เขาก็จะนำมาพูดกันเพื่อให้สนุกปาก แต่ถ้าหากว่าเป็นการพูดจาวิชาการกันจริงจัง หรือสนทนากันในเรื่องความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น แล้วโยงเรื่องก็อสสิปพรรค์นี้มาผสมโรงอย่างเป็นจริงเป็นจัง ผมออกจะเสียดายที่ทำให้การสนทนาที่ (อาจ) มีคุณค่าอย่างนั้นเสียน้ำหนักไป และที่สำคัญคือ การนำก็อสสิปซุบซิบจากปากใครก็ไม่รู้ มาพูดขยายเป็นเรื่องที่ฟังดูเหมือนว่าจะเป็นวิชาการ ในสถานที่หรือกระทู้ที่มีไว้เพื่อพัฒนาสติปัญญาในทางวิชาการ นั้น ด้วยความนับถือ ผมเกรงว่าจะไม่เหมาะควร ต่อให้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติก็เถิด ผมว่าถ้าคุณโคฯ สนใจเรื่องทำนองนี้จริงๆ ก็ไปหาสนทนาในวงซุบซิบดีกว่า รับรองว่าจะถึงอกถึงใจพระเดชพระคุณคุณโคฯ มากกว่ามาหาหลักฐานอะไรยืนยันในนี้ แต่คุณอาจจะได้ความจริง ความจริงที่บิดเบือน หรือความเท็จ หรืออะไรก็แล้วแต่ อันนั้นสุดแต่บุญแต่กรรมของคุณครับ

มีบทสรุปตอนหนึ่งซึ่งอาจจะให้คำตอบแก่คุณโคฯ ได้เป็นอย่างดีว่าเหตุใดในรัชกาลที่ ๖ นั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมจึงเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก แต่กระนั้น ก็ยังทรงพยายามจะทำ

"การพัฒนาอุตสาหกรรม

สภาวะแวดล้อมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจะทำให้ยากจะเริ่มต้นกิจการอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นได้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยวิธีใด ๆ ไม่สามารถทำได้เลยเพราะติดขัดด้วยสนธิสัญญาการค้า ไม่ว่าเป็นการตั้งกำแพงภาษีขาเข้า การจำกัดโควต้า หรือการห้ามนำเข้าสินค้าใด ๆ ก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น อัตราภาษีขาเข้ายังถูกกำหนดไว้ตายตัวที่อัตราต่ำเพียงร้อยละ 3 ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศซึ่งประสิทธิภาพการผลิตสูงเพราะเชี่ยวชาญการผลิตทางอุตสาหกรรมมาก่อน สามารถส่งเข้ามาตีตลาดภายในประเทศได้โดยสะดวก โดยที่อุตสาหกรรมในประเทศซึ่งประสิทธิภาพย่อมจะต่ำกว่าในช่วงเริ่มต้นพัฒนาการผลิตขึ้นใหม่ จะไม่มีโอกาสแข่งขันได้นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องเงินทุน และการขาดผู้มีความรู้ด้านการผลิตและบริหารอุตสาหกรรม ตลอดจนการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตเช่นไฟฟ้า ถนนเพื่อการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคนั้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอุปสรรคนี้ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจการของคนไทยเพราะมีคนไทยเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นราวร้อยละ 75 ก็สามารถเติบโตและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้โดยราบรื่น ทั้งนี้โดยเป็นผลจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีอุตสาหกรรมของคนไทยเกิดขึ้น จึงได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นำเงินพระคลังข้างที่เข้าร่วมทุนในการก่อตั้งในฐานะผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ และยังพระราชทานเงินให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กู้ยืมไปเพื่อลงทุนร่วมหุ้นในการก่อตั้งอีกด้วย บริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่ก่อตั้งขึ้นนี้จึงเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของคนไทยที่มีความสำคัญยิ่ง และดำรงความสำคัญเรื่อยมาจนปัจจุบัน

นอกจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วยการเข้าไปร่วมลงทุนแล้ว ในระยะต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศาลาแยกธาตุขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นหน่วยงานค้นคว้าวิจัยสำหรับหาลู่ทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยใช้ทรัพยากรภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะวัตถุดิบจากผลผลิตการเกษตรต่าง ๆ เพื่อให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้"

อ้างอิง http://www.geocities.com/Tokyo/Shrine/6611/ar05_07.htm

ผมคิดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงตระหนักดีถึงปัญหานี้นะครับ สิ่งแรกที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำ จึงได้แก่การทำอย่างไรจะให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิเพียงพอ มีสิทธิมีเสียงที่จะร้องขอแก้ไขเจรจาสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม ที่ขวางความก้าวหน้าของบ้านเมืองไว้ให้จงได้ และ "ธงคำตอบ" ในพระราชหฤทัยนั้น ก็ทรงสามารถฟันฝ่าหาทางไปถึงได้จนประสบความสำเร็จเป็นเบื้องต้นในรัชสมัยของพระองค์ และการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม ก็ค่อยๆ ดำเนินต่อไปจนลุล่วงในราวรัชกาลที่ ๘ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ของง่ายๆ นะครับ ใช้เวลากี่ปีกี่รัชสมัยล่ะ อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่างานแบบนี้ หากจะมองประสิทธิผล ต้องใช้เวลา

เมื่อเสร็จสิ้นมหาสงครามโลก (ครั้งที่ ๑) แล้ว เราจึงมองเห็นได้ว่า พระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ก็ทวีบทบาทเด่นชัดขึ้น

วิธีแก้ปัญหาอาจต้องเดินข้ามขวากหนามเป็นช่วงๆ ไปครับ ถ้าใครคนหนึ่งมองเพียงจุดหมายอันสวยหรูแล้วกระโจนพุ่งตัวไปทันทีโดยไม่ค่อยๆ แผ้วถางขวากหนามตรงหน้าเพื่อให้เป็นทางที่โล่งเตียนและมั่นคงเสียก่อน ผมว่านายคนนั้นถ้าไม่หัวคะมำปักหนามตาย ก็คงไม่มีวันไปถึงจุดหมายในชาตินี้


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 04 ต.ค. 07, 15:16
นั่นก็แสดงว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจไทย ที่ยังไปไม่ถึงดวงดาว ไม่ใช่ในช่วงเวลาที่ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นสินะครับ

สำหรับประเด็นรัชกาลที่๖ ผมไม่คิดว่าไร้สาระนะ และไม่คิดด้วยว่าความเป็นวิชาการจะเสียไป เรื่องราวในอดีตที่เป็นเรื่องพูดเล่าต่อๆ กันมา ไม่ว่าเรื่องราวจะมาจากไหน พูดล้อเล่น พูดจริงจัง นิทานพื้นบ้าน พงศาวดาร วงก๊อซซิป หรือการ์ตูนขำขัน งานวิจัยชิ้นห่วยที่สุด หรืองานวิจัยชิ้นโบแดง ผมยังไม่ได้เชื่อแต่มันเป็นข้อมูลที่รับมาแล้วแสลง และควรมีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายปมประวัติศาสตร์นั้น

งานวิจัยทางประวัติศาสตร์ก็ตาม ทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อปรัชญาของกาดาเมอร์ คืองานทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีอคติของผู้เขียนแฝงเข้าไป และมันเป็นการเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์ของผู้เขียนขณะเดียวกันมันก็เป็นการเรียนรู้ผู้เขียนไปในตัว คัมภีร์ไบเบิลทั้งเก่า และใหม่ สำหรับผมแล้วจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ผมได้เรียนรู้ว่าคนเขียน ว่า เขาคิด เขาเชื่อ เขามีแรงบันดาลใจอะไร แล้วเราจะเรียนรู้จากเขา ผมว่ามันมีคุณค่ามากเกินกว่า ปีพศ. ที่บรรจุเข้ามาในงานประวัติศาสตร์เสียอีก และก็เป็นคุณค่าเชิงรูปธรรมของงานด้านประวัติศาสตร์ อีกอย่างหนึ่ง

ประเด็นเรื่องความชอบ ความโปรดปราน ความรู้สึก ความคิดเห็น ความเชื่อ และข้อเท็จจริงที่บรรจุอยู่ในสมองของเจ้าของประวัติศาสตร์ และมันส่งผลต่อการกระทำใดๆ อันส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ ผมว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุด แต่น่าเรียนรู้มากเช่นกัน น่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์โดยพฤติกรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ

ดังนั้นประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมจะทำตามคำแนะนำของคุณเทาชมพู คือจะส่งคำถามหลังไมค์นะครับ (เพราะคิดว่า มีประโยชน์ดีออก)

จะอย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ผมก็เห็นความพยายามของทุกท่านในบอร์ดพยายามปกป้องชื่อเสียงของผู้อื่น ที่อาจรู้จักหรือไม่รู้จัก อันเป็นลักษณะที่บัณฑิตพึงจะทำ และหาได้น้อยมากในบอร์ดใดๆ ในโลกอินเตอร์เน็ต โลกแห่งเสรีภาพสูงที่สุดเท่าที่ทฤษฎีจะมีได้ ไม่ใช่ว่าเรื่องไม่เกี่ยวกับฉันแล้วฉันจะผ่านไป หรือหากคำถามล่อแหลมก็ลบทิ้งโดยไม่มีเหตุผล แต่ทุกท่านในที่นี้ก็ไม่ได้กระทำดังนั้น ชี้แจงอย่างละเอียด ทั้งเรื่องความควรไม่ควร ทั้งเรื่องการเลือกมอง เลือกเชื่อ
ก็คงต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ คบบัณฑิตถือเป็น มงคลชีวิต ประการหนึ่ง

KoKoKo





กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 04 ต.ค. 07, 17:36
ผมคิดว่าทุกสังคมมีกฎเกณฑ์ มีบรรทัดฐาน มีความนิยมนับถือ เป็นการจำเพาะครับ ตราบเท่าที่สังคมนั้นๆ ยังเห็นว่าสมาชิกมีพฤติกรรมอยู่ในรีตในรอยไม่เบี่ยงเบนออกจากกลุ่ม สมาชิกก็จะยังดำรงอยู่ได้ต่อไปอย่างผาสุก ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกไม่มีสิทธิคิดเห็นแตกต่างไปจากกระแสหลัก ตรงกันข้าม การคิดทวนกระแสหลายครั้งก็ก่อให้เกิดภูมิปัญญาขึ้น อย่างไรก็ดี การทั้งนั้นก็ต้องไม่กระทบกระเทือนหรือรุนแรงเกินเลยเพดานของกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และความนิยมนับถือของคนหมู่ใหญ่ หรือหมู่หลักผู้ทรงอธิปัตย์ในสังคมนั้นๆ

สมาชิกผู้มีสติปัญญาและมารยาทอย่างจริงใจ ย่อมเป็นที่ยินดีต้อนรับ ผมเชื่อว่าคุณโคฯ เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้มีคุณสมบัติเช่นว่า

หวังว่ากระทู้นี้จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นอันน่าสนใจต่อไป ส่วนผมคงหมดธุระเพียงเท่านี้ก่อนเพราะไม่มีความรู้เรื่องไทย-ญี่ปุ่นเอาเสียเลย

รู้จักแต่สนามกีฬากับสะพาน!


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 07, 19:28
ถ้าคุณโคมีอะไรอยากจะถาม กรุณาคลิกที่ "ข้อความส่วนตัว" ได้ค่ะ   
แต่อย่าส่งอีเมล์ เพราะอีเมล์ของดิฉันรับได้เฉพาะชื่อใน  contact list  ถ้าเป็นชื่อภายนอกมันจะลบทิ้งอัตโนมัติ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 09 ต.ค. 07, 05:19
ตามที่คุณ Up โพสต์ไว้ว่า
อ้างถึง
เคยอ่านในจดหมายเหตุการเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร โดยวิถีรอบพิภพ ซึ่งพระยาศรีวรวงศ์ (หม่อมราชวงศ์จิตร สุทัศน์) เรียบเรียง จำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เคยเสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ไว้ที่วัดพุทธในญี่ปุ่นวัดหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้แล้วว่าวัดอะไร เมื่อเร็วๆ นี้ยังเห็นภาพในอินเทอร์เนตว่าต้นไม้ต้นนั้นยังอยู่ดี มีป้ายปักบอกประวัติไว้ด้วย แต่ตอนนี้หาภาพนั้นไม่เจอเสียแล้ว หากคุณ KoKoKo พอจะสืบหาและถ่ายภาพมาให้ชมได้บ้าง ก็จะเป็นพระเดชพระคุณมาก

วันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นวันหยุด ตั้งใจไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะไปตามรอยวัดที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เคยเสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ไว้ โดยหากอ้างอิงจาก เวปไซต์สถาณฑูตไทย

"修好条約成立から120年の間、タイ王室と日本皇室は常に交流を続けてきました。ラーマ6世、7世、そして現ラーマ9世のプミポン・アドゥンヤデート国王陛下はそれぞれ1902年、1931年、1963年に日本を御訪問されています。ラーマ6世、7世は鎌倉市の高徳院に植樹をなされました。"

จากข้อความนี้ก็คงเป็นวัด高徳院(โคโทะคุอิน) ณ 鎌倉(คามะกุระ) ที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตอันมีชื่อเสียงของญี่ปุ่น สถานที่ที่ ร.๖, ร.๗ ท่านได้ทรงปลูกต้นไม้ (植樹) เอาไว้

ตั้งใจอย่างเต็มที่ว่าจะไป เพราะอยู่ไม่ไกลจากโตเกียว (เพราะว่าใกล้เลยยังไม่ได้ไป แฮ่ะๆ) แต่ปรากฎว่าเจอฝนหน้าใบไม้ร่วงเข้าหน่อยเลยจอด ขอไปวันหลังดีกว่าคับ



กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 09 ต.ค. 07, 05:34
อ่านข่าวสถานฑูตไปเพลินๆ ก็เลยเจอข่าวนี้น่ะคับ ไม่ใหม่เท่าไร แต่ผมคิดว่าน่าจะตอบคำถามกระทู้นี้ได้ดี เลยหยิบมาใส่ไว้เผื่อใครมีหนังสือที่อาจารย์ท่านเขียนเอาไว้ ขอความกรุณาหยิบมาแบ่งปันกันบ้างน่ะครับ



กึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา ของศาสตราจารย์โยะเนะโอะ อิชิอิ  
   
(http://www.thaiembassy.jp/rte0/images/stories/activities2007/Interview/ishii/IMG_0025.JPG)

       ในแวดวงวิชาการไทยศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์โยะเนะโอะ อิชิอิ นับได้ว่าเป็นปรมาจารย์ที่ได้ทำคุณประโยชน์นานัปการในการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในสังคมญี่ปุ่น และต่อความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่นในภาพรวม
       ศาสตราจารย์อิชิอิได้เข้ารับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 รวมทั้งคณะอักษรศาสตร์ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ศาสตราจารย์อิชิอิกับกึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา" โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการได้เข้าร่วมฟังการอภิปรายและปาฐกถาเกียรติยศในโอกาสดังกล่าว

       พร้อมกับเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการแปลหนังสืออัตชีวประวัติ "กึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา" ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์โยเนโอะ อิชิอิ ซึ่งเป็นหนังสือที่มีคุณค่าน่าศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น

       สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและสัมภาษณ์ ศ. อิชิอิ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 เกี่ยวกับชีวิตและผลงานที่น่าสนใจของ ศ. อิชิอิ

       ศ. อิชิอิเริ่มเรียนภาษาไทยเมื่อสมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศ เนื่องจากได้รับคำแนะนำว่าถ้าจะศึกษาภาษาในประเทศเอเชีย ก็ควรเลือกภาษาที่ยังไม่ค่อยมีผู้ศึกษาน่าจะเป็นประโยชน์กว่า จึงตัดสินใจเลือกเรียนภาษาไทย เพราะภาษาไทยมีตัวอักษรเป็นของตัวเอง ซึ่งน่าสนใจกว่าภาษาที่ใช้อักษรโรมัน และโดยที่ ศ.อิชิอิสนใจที่จะฟังภาษาไทยจากคนไทยแท้ๆ จึงได้ตัดสินใจเดินทางไปที่เมืองไทยในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีพ.ศ.2500

       ก่อนจะเดินทางไปเมืองไทย ศ. อิชิอิทราบแต่เพียงว่าเมืองไทยอากาศร้อนมาก และไม่ได้สนใจเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับเมืองไทยเลย เพราะมัวแต่ตื่นเต้นที่จะได้สัมผัสกับภาษาไทยจริงๆ นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่ ศ. อิชิอิได้ศึกษาเกี่ยวกับภาษาไทยและประเทศไทย

       ผลงานของ ศ. อิชิอิในด้านไทยศึกษานั้นเป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั้งจากนักวิชาการชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีผลงานวิจัยที่โดดเด่น อาทิ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์กับรัฐและสังคมไทย และบทบาททางประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษา "กฎหมายตราสามดวง" และอุปกรณ์ช่วยการค้นคว้า/ดัชนีค้นคำ วัฒนธรรมและนิเวศวิทยาของสังคมเพาะปลูกข้าวของไทย ประวัติศาสตร์การค้าทางทะเลระหว่างญี่ปุ่นกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22-23 (สมัยอยุธยา) และผลงานร่วมกับ อ. โยชิกาวะ โทชิฮารุ ในการเขียนหนังสือ 600 ปีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น

       ศ. อิชิอิกล่าวว่าขณะนี้ กำลังมีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องของรัชกาลที่ 4 กับบาทหลวงคาทอลิก และในอนาคตอยากจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมไปถึงหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาอีกด้วย

       ศ. อิชิอิมีความเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นมาโดยราชการนั้นอาจจะไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงก็ได้ จึงเกิดความคิดที่อยากเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งอาจจะแตกต่างจากประวัติศาสตร์ที่คนไทยได้เคยเรียนมา

       และปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย - ญี่ปุ่น ศ. อิชิอิได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าทุกคนจะเน้นให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการเมืองมากเกินไป โดยอาจลืมใส่ใจในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้หรือด้านวัฒนธรรม

       ศ. อิชิอิได้ให้ข้อคิดว่าการรักษาความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่นให้ดีต่อไป ทั้งสองประเทศจะต้องมีความสัมพันธ์กันในฐานะมิตรประเทศที่มีความเท่าเทียมกัน ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในซึ่งกันและกัน ขณะที่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายต้องการ นี่คือกุญแจสำคัญที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

       ศ. อิชิอิเป็นผู้ที่มีความผูกพันกับเมืองไทยมาเป็นเวลากว่ากึ่งศตวรรษ และเห็นความเปลี่ยนแปลงของไทยมาโดยตลอด ทุกคนมักพูดว่าปัจจุบันเมืองไทยเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่นั่นเป็นการเติบโตที่รวดเร็วเกินไปและเป็นเพียงความเจริญทางวัตถุ หรือเป็นเพียงการเลียนแบบต่างชาติ

       ศ. อิชิอิกลับเห็นว่าเมืองไทยสมัยก่อนนั้นมีเสน่ห์และมีบรรยากาศของความเป็นไทยมากกว่าปัจจุบัน และเป็นเมืองไทยที่คิดถึงและอยากย้อนเวลากลับไป ทุกครั้งที่ ศ. อิชิอิเดินทางไปเมืองไทย สถานที่ที่จะต้องแวะไปก็คือบ้านพักที่เคยอาศัยอยู่ในย่านสามเสน ที่บ้านหลังนั้นคงเต็มไปด้วยความทรงจำที่ดีๆ ระหว่างที่อาศัยอยู่ที่นั่น และทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับไปยังเมืองไทยในอดีตอีกครั้งหนึ่ง

       นอกจากในปีนี้จะเป็นปีฉลองครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย - ญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นปีที่ ศ. อิชิอิได้รับพระราชทานปริญญาบัตรอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งคงเป็นกรณีที่มิได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับหรับชาวต่างชาติ นี่คงเป็นผลมาจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการศึกษาค้นคว้าด้านไทยศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างสูงกับ ศ. อิชิอิมา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง  

อ้างอิงเวปไซต์ http://www.thaiembassy.jp/120jt/content/view/64/1/lang,th/



 


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 09 ต.ค. 07, 14:05
แล้วจะรอภาพและเรื่องจากวัดหลวงพ่อไดบุทสึนะครับคุณโคฯ หวังว่าต้นไม้สองสามต้นนั้นจะยังอยู่ดี


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ต.ค. 07, 12:26
เรื่องปัญหาเศรษฐกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแทรกอยู่ตรงนี้  ถ้าไม่แวะเวียนมาดูก็คงผ่านเลยโดยไม่ได้ชี้แจง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มักจะทรงถูกกล่าวหาว่า ไม่ทรงสนใจบริหารราชการบ้านเมือง  ดีแต่ทรงเล่นโขนเล่นละคร  คำกล่าวนี้มาจากที่ไหนในเวลานี้พอจะหาที่มาได้  แต่ขออนุญาตไม่กล่าวถึงเพราะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนตัวโดยอาศัยพื้นฐานจากการอ่านเอกสารหลายๆ ฉบับ

เหตุที่มีคำกล่าวเช้นว่านั้น  คงจะเป็นข้อเปรียบเทียบจากพระราชานุกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งหากศึกษาพระราชจริยาวัตรในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ จะเห็นว่า ทรงบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะที่สมัยนี้เรียกกันว่า "แบบเถ้าแก่"  เหตุที่ต้องทรงควบคุมราชการน้อยใหญ่ด้วยพระองค์เองนั้นเพราะในรัชสมัยนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบเก่ามาสู่ระบบใหม่  ในขณะท่ข้าราชการทั้งหมดล้วน้ป็นคนรุ่นเก่าที่ชำนาญแต่ราชการแบบเก่า  เมื่อทรงปฏิรูปการปกคอง พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น  คงมีแต่พระเจ้าน้องยาเธอที่มีโอกาสได้เล่าเรียนมาพอที่จะทำราชการแบบใหม่ได้  ก็ทรงใช้พระเจ้าน้องยาเธอให้ดำรงตำแหน่งบริหารในราชการสมัยใหม่  แต่ต้องทรงควบคุมการปฏิบัติราชการด้วยพระองค์เอง  เพราะยากที่จะหาคนที่รู้งานได้อย่างแท้จริง  แต่พอถึงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ายาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ และนักเรียนไทยที่ทรงส่งออกไปศึกษาที่ต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามารับราชการ  ในช่วงนี้จึงเริ่มทรงผ่อนงานราชการต่างๆ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ คือ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงรับไปปฏิบัติแทนพระองค์

เมื่อถึงรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  บรรดาผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศนั้นได้เจริญก้าวหน้าในราชการถึงเป็นเสนาบดี  มีความชำนาญในราชการกันเป็นอย่างดี  ในรัชกาลนี้จึงทรงบริหารราชการอย่างฝรั่ง  กล่าวคือ ทรงมอบหมายให้เสนาบดีแต่ละกระทรวงรับพระบรมราโชบายไปปฏิบัติให้บรรลุผล  สาวนพระองค์เงนั้นทรงกำกับแต่นโยบาย  ถ้าเสนาบดีไม่สามารถสนองพระบรมราโชบายได้ก็ทรงเปลี่ยนตัวเสนาบดี  เมื่อทรงคุมแต่นโยบายจึงทรงมีเวลาว่างที่จะไปทรงเล่นโขนละคร  ซึ่งการเล่นโขนละครนั้นนอกจากจะเป็นการทนุบำรุงศิลปะแขนงนี้มิให้เสื่อมสูญไปเพราะการหลั่งไหลของอารยธรรมตะวันตกแล้ว  ยังทรงใช้โขนละครนี้เป็นเครื่องสอนพสกนิกรของพระองค์ไปในตัว  ดังเช่น ในละครเรื่องหัวใจนักรบ  ก็ทรงแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของเสือป่า  และในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ทรงกล่าวถึงว่า ข้าศึกกำลังจะยกมา "ซ่องฮอย"  ความหมายของคำนี้ คือ ซ่อง = ไซ่ง่อน  ฮอย = ฮานอย

ในด้านเศรษฐกิจที่มีการกล่าวโจมตีโดยอ้างอิงคำพูดของนายวิลเลียมสัน ที่ปรึกษาการคลังในเวลานั้นว่า รัชกาลที่ ๖ สวรรคตเสียได้ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากความล่มจม  เมื่อที่ปรึกษาการคลังซึ่งประสบปัญหาจากการทำงานที่อินเดียจนต้องหลบมาอยู่ที่ประเทศไทยกล่าวอ้างไว้เช่นนี้  คนไทยเราก็เชื่อฝรั่งโดยไม่ลืมหูลืมตา

เรื่องเศรษฐกิจนี้ผมเคยพบลายพระราชหัตถ์ฉบับหนึ่งที่พระราชทานไปยังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย  และเสนาบดีทุกกระทรวง เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงทุกกระทรวงตรวจตัดรายจ่ายที่ซ้ำซ้อนของแต่ละกระทรวง  แล้วนำเงินที่ตรวจตัดได้นั้นมาใช้เป็นงบลงทุน  ทรงพระราชดำริว่า ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้ต้องมีการลงทุน จากนั้นก็โปรดให้ตั้งบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย  เป็นอุตสาหกรรมแรกของคนไทย  แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ทรงถูกโจมตีมากนั้นมาจากน้ำท่วมใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่เรียกว่า "น้ำท่วมปีมะเส็ง"  ต่อด้วยฝนแล้งติดต่อกันสามปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๖๓  ทำให้ต้องจำกัดการส่งออกข้าว  ประกอบกับการเลิกหวย ก ข. ที่ทำให้ขาดรายได้จากอากรการพนันไปอีกหลายล้านบาท  จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของชาติครั้งใหญ่  โปรดให้กู้เงินมาวางระบบชลประทานลุ่มเจ้าพระยา  มีการขุดคลองส่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาสู่แม่น้ำป่าสัก  มีการสร้างเขื่อนพระราม ๖ เป็นเขื่อนทดและส่งน้ำเข้าสู่คลองซอย คือ คลองรังสิตหลายสิบคลองที่ขุดขึ้นในยุคนั้น

การลงทุนด้านชลประทานดังกล่าวต้องใช้เงินจำนวนมาก  ในขณะที่รัฐบาลเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย  จึงต้องทรงกู้เงินจากต่างประเทศมาปิดงบประมาณ  ทำให้เกิดการทำงบประมาณขาดดุล  แต่เวลานั้นทั่วโลกยังไม่ใครรู้จักงบประมาณขาดดุล  จนเกิดวิกฤตการณ์เงินปอนด์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงเกิดมีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค  และนำเสนอวิธีการงบประมาณขาดดุลขึ้น  ทีนี้ทุกประเทศก็ทำงบประมาณขาดดุลไปตามๆ กัน  แต่ในหลวงของเรากลับถูกโจมตีว่า ทรงพาประเทศชาติไปสู่ความหายนะ 

เรื่องการทรงกู้ยืมเงินมาลงทุนนี้  ท่านที่สนใจโปรดอ่านวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ของอาจารย์พรพรรณ  ฮั่นตระกูล  ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว อาจารย์พรพรรณ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทรงแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณจนเหลือหนี้เงินกู้จากต่างประเทศเพียง ๓ ล้านบาท  ซึ่งหากสวรรคตช้ากว่านั้นอีกเพียง ๑ - ๒ ปี  ก็คงจะชำระหนี้เงินกู้จำนวนนั้นได้ทั้งหมด  เพราะทรงพระราชดำริที่จะจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ หรืองาน Expo ครั้งแรกของภาคพื้นเอเซียเพื่อส่งเสริมการส่งออกอันจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาลไว้แล้ว

หลายๆ ท่านกล่าวถึงงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ไว้  ก็ขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมตามความเข้าใจของผม

สืบเนื่องจากการที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและอสเตรีย-ฮังการี  เมื่อวันที่  ๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๖๐  พอครบหนึ่งปีที่ประกาศสงครามก็ทรงเปิดให้จับจองพื้นที่ "ดุสิตธานี" ที่พระราชวังดุสิต  เมื่อวันที่ ๒๑ - ๒๕  กรกฎาคม  ๒๔๖๑  แล้วจึงโปรดให้ตั้งดุสิตธานีขึ้นที่พระราชวังดุสิต

แนวพระราชดำริที่ทรงตั้งดุสิตธานีนี้  เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทรงเตรียมการที่จะพระราชทานประชาธิปไตยแก่ปวงชนชาวไทย  และการที่ทรงเลือกช่วงเวลานี้น่าจะทรงพระราชดำริไปว่า ถ้าสงครามสงบลงแล้วโดยประเทศสยามเป็นฝ่ายชนะแล้ว  ก็จะทรงใช้ผลของสงครามครั้งนี้ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  และเรื่องการปกรองในระบอบประชาธิปไตยก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องถูกหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อรองควบคู่ไปกับการตราประมวลกฎหมาย  แต่โดยพระราชจริยวัตรของล้นเกล้าฯ นั้น  เมื่อจะทรงลงทุนทำอะไร  จะต้องทรงได้รับผลตอบแทนที่คุ้มต่า  ดุสิตธานีจึงกำเนิดขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย

เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่  ๒๐  ตุลาคม  ๒๔๖๒ แล้ว  ก็โปรดให้รื้อย้ายพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวงไปปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  พร้อมกันนั้นก็โปรดให้ย้ายดุสิตธานีจากพระราชวังดุสิตมาอยู่ที่พื้นที่ด้านหลังพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวงที่พญาไท  และโปรดให้สร้างพระราชวังพญาไทขึ้นแทนที่พระตำหนักที่โปรดให้รื้อย้ายไป  ในขณะเดียวกันก็โปรดให้กรมรถไฟหลวงจัดสร้างโรงแรมรถไฟขึ้นที่หัวหิน  เมืองตากอากาศแห่งแรกของประเทศไทย  การก่อสร้างพระราชวังพญาไท และโรงแรมรถไฟแล้วเสร็จพร้อมกันในปี พ.ศ. ๒๔๖๕  พระราชวังพญาไทคงเป็นที่ประทับเกือบจะถาวร  ส่วนโรงแรมรถไฟนั้นโปรดให้กรมรถไฟหลวงบริหารงาน  โดยมีคุณหญิงเดชานุชิต (เบอร์ธา  บุนนาค) เป็นแม่บ้านใหญ่  กรมรถไฟหลวงบริหารงานโรงแรมรถไฟประสบความสำเร็จได้รับความนิยมจากชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก

ถึงเดือนกันยายน ๒๔๖๘ มีพระราชกระแสให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เฝ้าฯ ที่พระราชวังพญาไท มีพระบรมราชโองการให้กรมรถไฟหลวงไปศึกษาว่า หากจะพระราชทานพระราชวังพญาไทเป็นโฮเต็ลหรือโรงแรมแล้ว  จะสามารถบริหารงานให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายได้หรือไม่  ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงได้กราบบังคมทูลขอเวลาคำนวณ ๑ เดือน  แต่ใช้เวลาจริงถึง ๒ เดือน  เมื่อคำนวณเสร็จยังไม่ทันนำความกราบบังคมทูลก็พอดีประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้กรมรถไฟหลวงเข้าบริหารพระราชวังพญาไทเป็นโฮเต็ลพญาไทตามแนวพระชดำริในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช

ทีนี้ขอย้อนมากล่าวถึงรูปแบบของพระราชวังพญาไทและโรงแรมรถไฟ  จากการศึกษารูปแบบการวางผังห้องต่างๆ ในพระราชวังพญาไท  รวมทั้งเรือนพักข้าราชบริพารในพระราชวังพญาไทแล้ว พบว่า มีการจัดวางรูปแบบเป็นรัสอร์ทเช่นเดียวกับโรงแรมรถไฟ  จึงชวนให้เชื่อว่า ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดงานสยามรัฐพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ครบรอบหนึ่งปีของการประกาศสงครามในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว  แต่การที่จะจัดงานขนาดใหญ่เช่นนั้นต้องใช้เวลาเตรียมการและเตรียมความพร้อมจึงทรงดำเนินการเป็นลำดับขั้น  เมื่อทุกอย่างพร้อมจึงทรงประกาศที่จะจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ที่สวนลุมพินี  มีกำหนดจัดงานราว ๑๐๐ วัน  เริ่มจากวันพระบรมราชสมภพ ๑  มกราคม  ๒๔๖๘  ไปจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ๑  เมษายนต่อท้ายด้วยงานสงกรานต์

ในการเตรียมงานสยามรัฐพิพิฑภัณฑ์ครั้งนั้น  จะเห็นได้ว่า เริ่มจากทรงสร้างเมืองจำลองดุสิตธานีแล้ว  ทรงสร้างพระราชวังพญาไทเพื่อเตรียมเป็นโฮเต็ลไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศสยาม  เพื่อมาเที่ยวชมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์และจะตามเข้ามาขายในโอกาสต่อไป  การที่ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเมืองไทยก็จะต้องมาพักอย่างน้อย ๑ สัปดาห์ก็ทรงเตรียมดุสิตธานีซึ่งเป็นของแปลกยังไม่เคยมีที่ไหนในโลกไว้ให้ชม  ในขณะเดียวกันก็ทรงเตรียมโรงแรมรถไฟไว้ให้พักผ่อนตากอากาศ  แต่ก่อนที่จะพระราชทานพระราชวังพญาไทซึ่งสร้างด้วยเงินส่วนพระองค์ไปเป็นโฮเต็ลก็ทรงให้กรมรถไฟหลวงไปทดลองบริหารโรงแรมรถไฟให้เกิดความชำนาญเสียก่อน  เมื่อมาบริหารโฮเต็ลพญาไทจะได้ไม่เกิดการขาดทุนอันจะกระทบต่อเงินแผ่นดิน  พร้อมกันนั้นก็พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จัดเป็นสวนลุมพินีสำหรับเป็นสถานที่จัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์  เสร็จงานนั้นแล้วก็ทรงตั้งพระราชหฤทียที่จะพระราชทานสวนลุมพินีให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับพระนคร  และเป็นพระบรมราชานุสรณ์สำหรับพระองค์สืบไปชั่วกาลนาน 

เรื่องสถานที่ตั้งสวนลุมพินีนี้ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นแนวพระราชดำริที่ทรงแฝงเร้นไว้  กล่าวคือ  ถ้าเราไปยืนที่ริมถนนพระรามที่ ๔  หันหน้าเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ซึ่งทรงชักชวนพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้น) แล้ว  ทางซ้ายมือคือ สถานเสาวภา ซึ่งทรงสร้างถวายเป็นพระราชินยานุสาวรีย์ในสมเด็จพระพันปีหลวง  และสวนลุมพินี ที่เป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระองค์แล้ว  จะเห็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งความรักของทั้งสามพระองค์ คือล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕  สมเด็จพระพันปีหลวง และล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  ทั้งหมดนี้มิได้ใช้เงินแผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียว  และถ้ามองอีกมุม  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยเจ็บ  ที่มีสถานเสาวภาเป็นสถาบันวิจัยทางการแพทย์ที่สนับสนุนงานของโรงพยาบาล  ในขณะเดียวกันคนไข้ก็ได้รับอากาศบริสุทธิ์จากสวนลุมพินี  นอกจากนั้นยังเกี่ยวโยงไปถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่โปรดพระราชที่ดินส่วนพระองค์ในบริเวณที่ติดกันไว้อีกเกือบ ๑,๔๐๐ ไร่  ทำให้พื้นที่แถบนี้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์พร้อมทั้งบ้านเรือนราษฎร  วัดสระปทุม  และโรงพยาบาลพร้อมสรรพ

ที่บรรยายมานี้คือแนวพระราชดำริในการบริหารราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร  โดยไม่เคยทรงประกาศให้สาธารณชนได้ทราบ  ต่างจากนักฉวยโอกาสสมัยนี้ที่เงินก็เงินแผ่นดินแต่เอาชื่อตัวไปติดหรา  ช่างไม่นึกกระดากกันบ้าง


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 07, 13:04
ขอต้อนรับคุณ V_Mee อีกครั้งค่ะ ที่แวะกลับมาเยือนเรือนไทย
ขอบคุณสำหรับคำอธิบายค่ะ   น่าสนใจมาก  คุณโคมาอ่านคงจะได้ประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 15 ต.ค. 07, 20:16
ขอบคุณมากนะครับ คุณV_Mee เมื่อพูดถึง"ดุสิตธานี" พูดถึง "สยามรัฐพิพิธภัณฑ์" 
 
1. ทำไมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ถึงไม่ทำต่อล่ะครับ

2. งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่งานเดียวกันกับงานแสดงพานิชย์และเกษตรที่คุณ pipat กรุณานำมาโพสต์ไว้ ในเกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 นะครับ  Exhibition of Agricultural & Commerce  "Report of the First and the Second Exhibition of Agricultural & Commerce, Bangkok 1910, 1911"
 
3. สมัยนั้นผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างครับดุสิตธานี หลังจากนั้นไม่มีกิจกรรมเรียนรู้ประชาธิปไตยต่อเหรอครับ จู่ๆ ประชาธิปไตยก็กลายเป็นประชาธิปไตยของคนจบนอกฯไปซะงั้น ไพร่ฟ้าหน้าใส ตาสีตาสาไม่เห็นเขารับรู้กันซะเท่าไรเลยน่ะครับ แล้วจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้หรือไม่ล่ะครับ นั่นหมายความว่าผลของดุสิตธานีใช้ได้ผลเหรอครับ

4. ในดุสิตธานีน่ะครับผมเคยจำๆ มาว่าทรงสร้างดุสิตธานีเพื่อเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็ไม่ทราบเลยครับว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ในนั้นทำอะไรกันบ้าง มีกิจกรรมอะไร(เคยเรียนมาว่ามีการเลือกตั้ง: เขาทำกันอย่างไรน่ะครับ) ดุสิตธานีเคยตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอนนี้หายไปไหน ทำไมหายไป


ขอแอบกระซิบบ่นระบบการศึกษา :-\
     นักเรียนที่ไม่เกียวข้องกับประวัติศาสตร์ โรงเรียนคงให้คำตอบได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วก็ท่องจำไปเพื่อตอบคำถามวิชาสังคมศึกษา แต่ "เรื่องราว", " ความเป็นมา", และ "ความเป็นไป" ของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นนักเรียนไม่ได้ฝึกให้คิดแบบเป็นลำดับขั้นตอนเลย!!!!! จนแม้ปัจจุบัน การนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์เอย โทรทัศน์เอย นำเสนอไปแปล๊บๆ ฉาบฉวย แล้วก็หายไป ไม่มีความเป็นมาเป็นไป ให้คนในสังคมประติดประต่อเรื่องราว ตั้งแต่ต้นจนจบ และเห็นวิวัฒนาการกันบ้าง น่าเสียดายนะครับ

วันหยุดวันสำคัญของชาติ ก็ได้ดูรายการเกมส์โชว์ กับคอนเสิร์ตซะ จะทำรายการประวัติศาสตร์ดีๆ น่าสนุก น่าตื่นเต้น ไม่น่าเบื่อเหมือนประวัติวิสาขบูชา มานำเสนอให้เยาวชนดูสักรายการสองรายการ จะมีโอกาสทันเห็นมั๊ยนะครับเนี่ย

เปรียบเที่ยบรายการโทรทัศน์ที่ญี่ปุ่น เหตุการณ์หนึ่งๆ จะมีลำดับเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ เช่นประวัตินักฟุตบอลคนหนึ่ง มีเรื่องราวตั้งแต่เด็กเล็กๆ มีภาพ มีวิดีทัศน์ ประกอบ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ดูแล้วทึ่งมากๆ
ข่าวๆ หนึ่ง เช่น แม่ฆ่าลูก จะมีลำดับขั้นตอน วิเคราะห์กันละเอียดยิบ และมีตอนต่อไปให้ติดตาม ชาวบ้านชาวช่องที่ไม่มีเวลาไปหาข้อมูลเอง ก็ได้เรียนรู้ จากสื่อสารมวลชน ได้คิดแบบเป็นระบบ เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่งมิใช่หรือ

ปล.
   วอนคุณ V_Meeผู้คร่ำหวอดในเรื่องราวของร.๖เหมือนเคยทำงานในแวดวงของท่านก็มิปาน และท่านอื่นๆ โปรดกรุณาให้ทานปัญญาและคลายความสงสัยแก่เยาวชนรุ่นหลัง จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 07, 20:29
อ่านเรื่องย่อๆเกี่ยวกับดุสิตธานีได้ที่นี่ ค่ะ

http://www.vcharkarn.com/reurnthai/dusit_thanii.php

มีบทความให้อ่านอีกหลายเรื่อง ลองคลิกหัวข้อทางซ้ายมือ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 15 ต.ค. 07, 20:46
ขอบคุณมากนะครับ คุณเทาชมพู สนุกดีนะครับ

ป.ล.
ถ้าของเล่นพวกคาราโอเกะ แต่งกลอน นิยาย เล่นได้ ผมขอลองด้วยคนคร๊าบ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 17 ต.ค. 07, 23:29
ขอตอบเรียงที่ละประเด็นนะครับ

1. ทำไมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ถึงไม่ทำต่อล่ะครับ
    เพราะเหตุว่า เป็นงานที่จัดขึ้นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพบรมมหาอัยยิกาธิราช (ปู่ทวด)  แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน


2. งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่งานเดียวกันกับงานแสดงพานิชย์และเกษตรที่คุณ pipat กรุณานำมาโพสต์ไว้ ในเกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 นะครับ  Exhibition of Agricultural & Commerce  "Report of the First and the Second Exhibition of Agricultural & Commerce, Bangkok 1910, 1911"
    งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Kingdom of Siam Exhibition โดยความหมาย คือ งานแสดงสินค้านานาชาติ  ที่มุ่งเน้นการส่งออกและส่งเสนิมการท่องเที่ยวประเทศสยาม  แต่งานแสดงพานิชย์และเกษตรที่คุณ pipat กรุณานำมาโพสต์ไว้ ในเกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ที่ใช้ชื่อว่า  Exhibition of Agricultural & Commerce ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๕๔ นั้นเป็นการส่งเสริมกิจการพาณิชยกรรมและกสิกรรมภายในประเทศ  เป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายต่างกัน

3. สมัยนั้นผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างครับดุสิตธานี หลังจากนั้นไม่มีกิจกรรมเรียนรู้ประชาธิปไตยต่อเหรอครับ จู่ๆ ประชาธิปไตยก็กลายเป็นประชาธิปไตยของคนจบนอกฯไปซะงั้น ไพร่ฟ้าหน้าใส ตาสีตาสาไม่เห็นเขารับรู้กันซะเท่าไรเลยน่ะครับ แล้วจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้หรือไม่ล่ะครับ นั่นหมายความว่าผลของดุสิตธานีใช้ได้ผลเหรอครับ
    เรื่องการทดลองประชาธิปไตยในดุสิตธานีนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ทรงพระราชวิจารณ์ว่า คณะผู้การ ร.ศ. ๑๓๐ นั้น เพียงแต่รู้เรื่องคอนสติวตูชั้นกันอย่างงูๆ ปลาๆ ก็จะมาคิดอ่านเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และเพราะเห็นพวกเก๊กเหฒ็ง (พรรคก๊กมินตั๋ง) สามารถล้มระบอบกษัตริย์ในประเทศจีนได้แล้ว  ก็คิดว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นจะนำมาใช้กับเมืองไทยได้  ทั้งที่สาเหตุการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในจีนนั้นเกิดจากปัญหาที่สุกงอมจนราษฎรไม่สามารถที่จะทนอยู้กับระบอบกษัตริย์ที่ไม่ยึดมั่นในทศพิธราชธรรมอีกต่อไป  ด้วยเหตุนี้จึงได้ทรงพระชวิจารณ์เรื่องระบอบการปกครองไว้ในสมุดจดหมายเหคุรายวันส่วนพระองค์ว่า  ระบอบบอลเชวิค (ตอมมิวนิสต์) นั้นเป็นเรื่องเพ่อฝันที่ไม่อาจเป็นไปได้จริง  ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างตกเป็นของรัฐแล้ว  ย่อมไม่เกิดแรงจ฿งใจให้เกิดการผลิต  และจะพาให้ระบบนี้ต้องล่มสลายโดยตัวเอง  ซึ่งเวลานี้ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นดังพระราชวิจารณ์  ส่วนระบอบประชาธิปไตยนั้นทรงพระราชวิจารณ์ว่า ถ้าคนมีเงินหรือมีอิทธิพล  แล้วใช้อำนาจเงินหรืออิทธิพลที่มีอยู่โน้มน้าวผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนให้เลือกพวกตนเข้าไปในสภา  ก็เท่ากับมอบอำนาจของปวงชนนั้นให้แก่ผู้มีเงินหรือมีอิทธิพลนั้น  เมื่อได้อำนาจบริหารประเทศแล้ว  คนเหล่านั้นย่อมคิดถึงแต่เงินหรืออิทธิพลที่ได้ลงทุนไป  จึงมักจะคิดถึงประโยชน์ของกลุ่มตนก่อนประโยชน์ของประเทศชาติ  สุดท้ายผู้ที่รับกรรมคือ ประชาชนผู้ที่เลือกคนเหล่านั้นเข้าไป  สำหรับประเทศไทยทรงพระราชดำริว่า ระบอบที่เหมาะสมที่สุด คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  และมีทศพิธราชธรรมเป็นเครื่องกำกับการใช้พระราชอำนาจ  ยามใดที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม  ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน  ประชาชนก็จะพร้อมกันถอดพระมหากษัตริญ์พระองค์นั้น  แล้วเชิญบุคคลที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ดังมีความปรากฏในพระราชพงศาวดารแต่ก่อนมา
    ถึงแม้จะมีพระราชวิจารณ์ดังว่า  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตระหนักดีว่า  ถึงวันหนึ่งประเทศไทยจะต้องเป็นประชาธิปไตย  ดังจะเห็นได้ว่า ได้ทร.สึกษาเรื่องประชาธิปไตยมาตั้งอต่ประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ  ทรงจัดตั้ง The New Republic ขึ้นกับพระสหายชาวอเมริกัน  เมื่อเสด็จฯ กลับเมืองไทยก็ทรงเล่น "เมืองมัง" ที่พระตำหนักจิตรลดา  ครั้นเสด็จขึ้นครองราชย์ฯ แล้วก็ทรงเล่น "เมืองทราย" ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ  จนมาเกิดเป็นเมืองจำลองดุสิตธานี  ท่านผู้นใจเรื่องนี้ขอได้โปรดหาหนังสือเรื่อง ประชาธิปตยแบบต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ของหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล มาอ่าน  จะทราบแนวพระราชดำริที่พัฒนามาตั้งแต่ประทับทรงศึกษาที่อังกฤษตราบจนเสด็จสวรรคต
     
4. ในดุสิตธานีน่ะครับผมเคยจำๆ มาว่าทรงสร้างดุสิตธานีเพื่อเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็ไม่ทราบเลยครับว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ในนั้นทำอะไรกันบ้าง มีกิจกรรมอะไร(เคยเรียนมาว่ามีการเลือกตั้ง: เขาทำกันอย่างไรน่ะครับ) ดุสิตธานีเคยตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอนนี้หายไปไหน ทำไมหายไป
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสร้างดุสิตธานีเป็นเมืองจำลอง  ประกอบไปด้วยอาคารขนาดเล็กความสูงประมาณ ๓๐ - ๖๐ เซนติเมตร แต่บางหลังก็สูงกว่านั้น  อาคารบางหลังจำลองมาจากอาคารจริงในอัตราส่วน ๑ : ๒๐ หรือ ๑ : ๒๕  เช่น พระที่นั่งไพชยน์มหาปราสาท จำลองมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  พระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ จำลองมาจาก พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (ปัจจุบันคือ พระที่นั่งบรมพิมาน)  อาคารในดุสิตธานีมีหลากหลายสถาปัตยกรรม  ผู้สนใจเข้าไปชมได้ที่ http://www.krama6.su.ac.th/tour/tour00.htm 
   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพลเมืองคนหนึ่งของดุสิตธานี  ทรงใช้พระนามแฝงว่า "นายราม  ณ กรุงเทพ"  มีอาชีพเป็นทนายความ  และอีกสถานะหนึ่งทรงเป็น "พระรามราชมุนี" เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย  โปรดสังเกตชื่อวัด  ซึ่งทรงเน้นคำว่า "ธรรมาธิปไตย"  หรืออธิปไตยที่มีธรรมเป็นเครื่องกำกับ  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลง  พระรามราชมุนีได้แสดงพระธรรมเทศนาปรารภเหตุแห่งธรรมในการบพเพ็ญกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนั้น  และอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการบำเพ็ญกุศลให้ นายจ่ายวด (ปาณี  ไกรฤกษ์) มหาดเล็กคนหนึ่งที่ประอุบัติเหตุถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง ๒๑ ปี
    เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรกในดุสิตธานี  ทวยนาคร (คือ พลเมือง) ของดุสิตธานีได้พร้อมกันไปเชิญท่านราม  ณ กรุงเทพ ซึ่งเป็นนักเรียนนอก  เคยเห็นฝรั่งลือกตั้งมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งคนแรกของดุสิตธานี  ท่านรามได้จัดการเลือกคั้งในดุสิตธานีจนสำเร็จเรียบร้อยไม่มีบัตรผี  ไพ่ไฟ เช่นในยุคต่อมา  ในการเลือกตั้งครั้งที่สองท่านรามมีธุระไม่สามารถมาจัดการเลือกตั้งได้  แต่ได้แนะนำให้ไปเชิญพระยาสุนทรพิพิธ (เชย  มัฆวิบูลย์) จากกระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งแทน  การเลือกตั้งก็เป็นไปโดยเรียบร้อย  และท่านรมก็ไม่เคยมาอำนวยการเลือกตั้งอีกเลยจนดุสิตธานียุบเลิกไป 
    การเลือกตั้งในดุสิตธานีมีทั้งแบบทวยนาครเลือกนคราภิบาล (คือ นายกรัฐมนตรี) โดยตรง  และเลือกเชษฐบุรุษ หรือผู้แทนของอำเภอให้ไปเลือกนคราภิบาล  ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมอีกวิธีหนึ่ง  นคราภิบาลคนแรก คือ พระยาอุดมราชภักดี (โถ  สุจริตกุล) ซึ่งเป็นมหาดเล็กผู้ใหญ่  การเลือกตั้งในเวลาต่อมามีการแบ่งเป็นพรรคแพรแถบสีแดง และแพรแถบสีน้ำเงิน  มีการส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันกัน  ดุสิตธานีมีการเลือกตั้งหลายครั้ง  ครั้งสุดท้ายได้นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์  บุนนาค) ลูกเสือไทยคนแรก เป็นนคราภิบาลที่มีอายุน้อยที่สุด  และอยู่ในตำแหน่งนานที่สุด  จนถึงแก่กรรมเมื่ออายุกว่า ๘๐ ปี  ข้อสังเกตเรื่องนคราภิบาล คือ โปรดให้ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยได้มีโอกาสแสดงความสามารถ  ซึ่งในสถานการณ์จริงผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งก็อาจมีได้ทั้งผู้ใหญ่และผู้ที่อายุยังน้อย 
    ในดุสิตธานีนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสก็จไปในฐานะพระมหากษัตริญเพียง ๒ ครั้ง คือ เมื่อคราวเสด็จไปทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตราชธานี  ซึ่งในครั้งนั้นมีพระราชกระแสว่า วิธีการใดๆ ในธานีเล็กๆ แห่งนี้  ก็หวังใจว่าจะได้นำไปใช้กับประเทศสยามต่อไป  และอักคราวหนึ่ง คือ การเสด็จไปทรงวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ทหารอาสาในดุสิตธานีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ จบลง
    วิธีการปกครองในดุสิตธานีนั้น  มีรูปลักษณะการปกครองท้องถื่น  เน้นเรื่องสุขอนามัยเป็นหลัก  มีการเก็บภาษีและเบี้ยปรับต่างๆ  รวมทั้งมีการออกหนังสือดุสิตสมิตโดยทุนส่วนพระองค์  แต่รายได้จากภาษีและค่าปรับรวมตลอดทั้งค่าเช่าบ้านของพระคลังข้างที่และรายได้จากหนังสือดุสิตสมิตโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดไ ทั้งสิ้น  ล้วนถูกส่งไปสมทบซื้อเรือหลวงพระร่วงและบำรุงการกุศลสาธารณะ เช่น สภากาชาด เป็นต้น
 
   แต่คำตอบสุดท้ายสำหรับพระราชกรณียกิจต่างในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  น่าจะจบลงตรงกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระอุทร  ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย  ดิศกุล ทรงบันทึกไว้ในสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นว่า  "สวรรค์ให้ฉันมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินเพื่อจะล้มล้างสิ่งที่รัชกาลที่ ๖ ทำเอาไว้"  กระแสพระราชดำรัสดังกล่าวเป็นเครื่องพิสูจน์กระแสพระราชดำรัสในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า  "กว่าคนเขาจะรู้ว่า ข้าทำอะไรไว้แก่แผ่นดิน ข้าคงตายไปหลายสิบปีแล้ว" 


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 17 ต.ค. 07, 23:40
 นักเรียนที่ไม่เกียวข้องกับประวัติศาสตร์ โรงเรียนคงให้คำตอบได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วก็ท่องจำไปเพื่อตอบคำถามวิชาสังคมศึกษา แต่ "เรื่องราว", " ความเป็นมา", และ "ความเป็นไป" ของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นนักเรียนไม่ได้ฝึกให้คิดแบบเป็นลำดับขั้นตอนเลย!!!!! จนแม้ปัจจุบัน การนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์เอย โทรทัศน์เอย นำเสนอไปแปล๊บๆ ฉาบฉวย แล้วก็หายไป ไม่มีความเป็นมาเป็นไป ให้คนในสังคมประติดประต่อเรื่องราว ตั้งแต่ต้นจนจบ และเห็นวิวัฒนาการกันบ้าง น่าเสียดายนะครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นข้างต้นครับ  ประเด็นเรื่องดุสิตธานีนี้ลูกผมเคยนำไปถกในชั้นเรียนกับครูสอนวิชาสังคมศึกษาสมัยเรียนมัธยมปลาย  ลูกผมเขาหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่ผมเคยคุยให้ลูกฟังถึงเรื่องดุสิตธานี  แต่คำตอบที่ได้รับคือ ลูกผมเพ้อฝันไป  เรื่องดุสิตธานีนีนักวิชาการชื่อดังคนหนึ่งเป็นรุ่นพี่ของผมเอง  เคยทำวิจัยไว้ว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงของเล่นชิ้นหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  หาได้ทรงมุ่งหวังจะให้เป็นจริง  จากนั้นมาเมื่อ้อ่ยถึงดุสิตธานีก็จะมีการอ้างอิงถึงผลงานวิชาการฉบับนี้มาตลอด  ทั้งที่ในเวลาต่อมานักวิชาการท่านนี้กลับมาส่งเสริมการศคกษาเรื่องดุสิตธานี ว่าเป็นเรื่องการวางรากฐานประชาธิปไตยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แล้ว  แต่ข้อเขียนของท่านในทางตรงข้ามก็ยังถูกอ้างอิงอยู่เสมอ  ย้อนกลัยมาเรื่องลูกผม  ภายหลังจากที่อภิปรายกับครูผู้สอนแล้ว  สุดท้ายคำตอบที่ครูบอกลูกศิษย์คือ เธอตอบมาอย่างที่เธอเข้าใจก็ได้  แต่ครูไม่มีตะแนนให้เธอ  ลูกมาเล่าให้ผมฟัง  ผมก็เลยฝากไปเรียนอาจารย์ว่า ขอเวลาให้ผมในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปชี้แจงเรื่องนั้ให้ครูและนักเรียนได้ทราบโดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น  คำตอบคือเงียบไปกับสายลม  นี่แหละครับคือปัญหาของระบบการศึกษาไทย  สอนให้จำแต่ไม่สอนให้คิดวิเคราะห์  ถ้าระบบการศึกษาของเรายังเป็นอยู่เช่นนี้อนาคตของชาติไทยเราจะเป็นเช่นไร  คิดแล้วเศร้าจริงๆ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ต.ค. 07, 02:03
ตามลิ้งค์เรื่องดุสิตธานี ที่คุณวีให้ไว้ รู้สึกชื่นชม และขอบพระคุณที่มาแนะนำครับ

แต่เนื่องจากคุณวีเป็นผู้แนะนำ ก็เลยขอบ่นฝากไปยังผู้จัดทำว่า ในหน้า "ประวัติ"
http://www.krama6.su.ac.th/history/history00.htm

เห็นลงไว้แต่พระราชประวัติของพระองค์ ถ้าเช่นนั้น หน้านี้ สมควรเปลี่ยนจ่าหน้า เป็น
"พระราชประวัติ"
จะไม่ถูกต้องกว่าละหรือ
โรงเรียนนี้เพิ่งถูกกล่าวหาว่าออกข้อสอบอุบาทว์ เอ้ย อุตริ
หมิ่นเหม่แก่การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ด้วย


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 18 ต.ค. 07, 05:04
> เอาเข้าจริงก้ไม่กล้าทิ้ง ปกป้องภาคเกษตรของเขาถึงขนาดที่ว่าปิดตลาดไม่ให้ไทยส่งข้าวเข้าไปขายเลยทีเดียว

คนภายนอกอาจดูเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ น่าชม ในนโยบายปกป้องเกษตรกร แต่ความเห็นของคนญี่ปุ่นบางคนที่รู้จักเขาให้ไว้ว่า
"ก็แค่เป็นการรักษาฐานเสียงนั้นแหละ "
 ;)

เป็นข้อมูลให้พิจารณาครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 18 ต.ค. 07, 06:47
มีกระทู้หนึ่งอยากให้คุณโคฯ และทุกท่านได้อ่าน ถึงจะไม่ได้เกี่ยวกับดุสิตธานีโดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3777448/K3777448.html

อีกไม่นาน "ดุสิตธานี" คงจะกลับมาสู่สายตาสาธารณชนอีกครั้ง เพราะมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังดำเนินการจัดนิทรรศการถาวรเรื่องดุสิตธานี: เมืองประชาธิปไตย ใกล้จะแล้วเสร็จ ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ได้รวบรวมอาคารเล็กอาคารน้อยไว้พอสมควรตามที่จะหาได้ และมีผู้บริจาคมา อีกที่หนึ่งซึ่งอาจจะพอเป็นรูปเป็นร่างได้ในอนาคต คือที่พระราชวังพญาไท (บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของดุสิตธานี ก่อนที่จะผุพังและถูกถากไถรื้อถอนไปอย่างน่าเสียดายด้วยฤทธานุภาพของท่านผู้ไม่เห็นคุณค่าบางท่าน ถึงขนาดว่าหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มหาดเล็กท่านหนึ่งในรัชกาลที่ ๖ มายืนมองแล้วน้ำตาไหลพราก

จนต้องขออนุญาตยืมคำคุณพิพัฒน์จากกระทู้แถวๆ นี้มาปรารภว่า "คนที่กล้าไถอดีตทิ้ง ทั้งที่ตายแล้ว และที่ยังมีชีวิต เพื่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งการงานให้ตนเอง ในความเห็นของผม ก็มีราคาไม่สูงกว่าเดียรัจฉานสักกี่มากน้อย"

พลโทคุณหมอโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ท่านหนึ่งท่านศรัทธาในแนวพระราชดำริและรักดุสิตธานียิ่งนัก และกำลังพยายามจะก่อร่างสร้างเมืองประชาธิปไตยให้กลับมามีชีวิตใหม่ในที่เดิม อาจจะไม่เหมือนเดิมทุกประการ แต่จะพยายามใช้สถานที่ที่มีกลิ่นอายแห่งการฝึกประชาธิปไตยแห่งนี้ ให้เป็นที่เพาะสติปัญญาแก่เยาวชนในทางประชาธิปไตยที่เหมาะสม ให้เด็กๆ จากโรงเรียนต่างๆ เข้ามาลอง "เล่นดุสิตธานี" กัน แต่โครงการดึงอดีตกับปัจจุบันมาบรรจบกันเช่นนี้ก็คงต้องใช้สตุ้งสตางค์และระยะเวลาอีกพอสมควร

เมื่อพูดถึง "The New Republic" แนวพระราชดำริทดลองประชาธิปไตยที่ปรากฏเป็นรูปธรรมครั้งแรกของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ผมอยากจะขอเสริมไว้สักนิดว่า บทบาทสมมติที่ทรงเล่นในแผนสาธารณรัฐใหม่นี้ก็น่าสนใจนะครับ คือทรงเล่นเป็น "ประธานาธิบดี" และยังทรงเป็นหัวหน้าฝ่าย "ซ้าย" อีกด้วย ทรงแสดงแนวพระราชดำริอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการยุบสภา การเลือกตั้ง พรรคการเมือง การตั้งรัฐบาล และความสัมพันธ์ทางการทูต แสดงให้เห็นว่าทรงพยายามนำพระองค์เองไปเสด็จอยู่ใน "สถานภาพ" ที่ตรงกันข้ามกับพระราชสถานะของพระองค์ เพื่อจะได้ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงความรู้สึกนึกคิดของคนทุกฝ่าย

ความเสมอภาค อันเป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของประชาธิปไตยก็ปรากฏในน้ำพระราชหฤทัยตั้งแต่ปีแรกที่เสวยราชย์

ความตอนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงแสดงพระราชประสงค์ให้มีการจัดเก็บภาษีจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ความว่า “...บัดนี้ หม่อมฉันมาไตร่ตรองดูเห็นว่า ทรัพย์สมบัติของหม่อมฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัว ก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดหม่อมฉันจึงจะมาเอาเปรียบแก่คนทั่วไป ซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย ส่วนของๆ ผู้อื่นจะเก็บเอากับเขา ของตัวเราเกียดกันเอาไว้... ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของหม่อมฉันที่ได้จากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้างแล้ว หม่อมฉันก็มีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติและบ้านเมืองอย่างคนสามัญด้วยเช่นกัน...”

เรื่องดุสิตธานี และแนวพระราชดำริปลีกย่อยอื่นๆ ในเรื่องประชาธิปไตย นั้นมีอีกมาก เห็นจะแยกเป็นกระทู้ใหม่ได้เลยทีเดียว


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 ต.ค. 07, 07:45
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระราชนิยมในการทรงละครอยู่ประการหนึ่ง คือ ไม่โปรดที่จะเล่นบทพระเจ้าแผ่นดิน  ด้วยมีรับสั่งว่า ข้าเล่นบทพระเจ้าแผ่นดินอยู่ทุกวัน  เบื่อเต็มที  ขอเล่นบทอื่นบ้าง  ดังเช่นทรงละครเป็นนายมั่น  ปินยาว ในเรื่องพระร่วง  ถึงบทที่นายมั่นจะต้องกราบนางจันทร์ซึ่งเป็นมารดาของพระร่วง  เมื่อคราวอัญเชิญพระร่วงขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  ก็ทรงก้มลงกราบท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี (กิมไล้  สุจริตกุล) ซึ่งรับบทเป็นนางจันทร์  โดยไม่ได้ทรงถือพระองค์แต่คนดูไม่กล้าดูกันทั้งโรงละคร


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 20 ต.ค. 07, 09:11
ได้ติดตามบทความ ในเวป ม.เที่ยงคืนด้วยน่ะครับ เลยเอาอันนี้มาฝาก

การใช้วัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ของเกาหลีใต้: บทเรียนของประเทศไทย
KOCCA: เกาหลีกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า
ธเนศ เจยเสนานนท์ : เขียน

หยิบ บทสรุป มาแปะไว้นะครับ

ภายหลังจากความสำเร็จของเกาหลีใต้ในหลายๆ ด้านทำให้เกาหลีใต้ก้าวขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป ความสำเร็จของเกาหลีใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้วัฒนธรรมเชิงพาณิชย์นั้น จัดได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมองค์ความรู้ได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่เพียงแค่หารายได้เข้าประเทศเท่านั้น ยังสามารถนำวัฒนธรรมเข้าไปครอบงำวัฒนธรรมของหลายๆ ชาติได้อีกด้วย เกิดกระแส Korean Fever ขึ้นในหลายๆ ประเทศที่นิยมความเป็นเกาหลี เช่น รูปแบบการแต่งตัว อาหารการกิน หรือแม้กระทั่งภาษา ประชาชนจากหลายประเทศในเอเชียหันมาเรียนภาษาเกาหลีกันมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเข้ามาของธุรกิจด้านวัฒนธรรมของเกาหลีนั่นเอง

ซึ่งเบื้องหลังของความสำเร็จดังกล่าวมาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลผ่าน KOCCA องค์การมหาชนที่เข้ามาแปลงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ให้เป็นวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมโดดเด่นและหลากหลาย ก็เป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่ได้รับกระแสเกาหลีใต้ด้วย จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าทำไมเกาหลีใต้ ประเทศที่มีวัฒนธรรมไม่โดดเด่นนักจึงได้กลายมาเป็นประเทศที่ใช้วัฒนธรรมของตนสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศได้อย่างรวดเร็ว แล้วประเทศไทยจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่

บทเรียนที่ได้รับจาก KOCCA จึงน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง หากประเทศไทยจะนำวัฒนธรรมของตนเข้าสู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์แล้วจะต้องทำอย่างไร ดังนั้นบทความนี้ได้เสนอทางออกเชิงนโยบายเอาไว้อย่างคร่าวๆ แล้ว โดยการกระตุ้นให้ภาครัฐเห็นความสำคัญกับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมมากขึ้น และส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่น การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน การสร้างองค์กรที่เข้มแข็ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ และ การใช้รัฐบาลเป็นสื่อกลาง

อย่างไรก็ดีข้อเสนอแนะนี้อาจยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของไทย ดังนั้นจึงต้องอาศัยการระดมความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อมาร่วมมือกันใช้วัฒนธรรมของไทยสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ

แหล่งข้อมูล http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999551.html

จะดีไม่ดีอย่างไร ท่านผู้อ่านลองคิดพิจารณานะครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 20 ต.ค. 07, 12:12
แฮ่ะๆ ตอบผิดกระทู้อ่ะครับ ทำอย่างไรดีล่ะครับ
อ.เทาชมพู เจ้าของเรือน โปรดกรุณาลบได้มั๊ยครับ หรือไม่ก็ย้ายไปไว้ใน  "ประวัติศาสตร์มีคุณค่า หรือ มีราคา"
ขออภัย  :'( :'(


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ต.ค. 07, 22:03
คุณ kokoko ไปโพสต์ใหม่ในกระทู้ที่ถูกต้องได้เลยครับ เสร็จแล้วแจ้งมาให้ลบ เดี๋ยวจัดการให้ครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: KoKoKo ที่ 02 ม.ค. 08, 18:36
แล้วจะรอภาพและเรื่องจากวัดหลวงพ่อไดบุทสึนะครับคุณโคฯ หวังว่าต้นไม้สองสามต้นนั้นจะยังอยู่ดี

หลังจากหายหน้าหายตาไปหลายเดือน ช่วงวันปีใหม่ได้มีโอกาส (ซักที) ไปคามะกุระ
กลับมาคราวนี้เอาของฝากมาฝากคุณ Up

(หมายเหตุ ในกรณีที่ภาพไม่แสดงอาจเกิดจากปัญหาของเวปโฮสต์ Geocities ที่ผมใช้อัพโหลดรูป ขณะนี้กำลังพยายามแก้ไขอยู่ครับผม)

ที่วัดหลวงพ่อไดบุทซึ
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0226.jpg)
กรณีที่รูปไม่แสดงคลิ๊กที่นี่นะครับ
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0226.jpg

เราเดินถอยออกมาหน่อย ก็จะเห็นต้นสนอยู่ข้างๆ ลานหน้าพระ
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0241.jpg)
กรณีที่รูปไม่แสดงคลิ๊กที่นี่นะครับ
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0241.jpg

ต้นสนต้นนี้เอง
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0245.jpg)
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0250.jpg)
กรณีที่รูปไม่แสดงคลิ๊กที่นี่นะครับ
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0245.jpg
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0250.jpg

เราเข้าไปดูใกล้กันเถอะ จะเห็นป้ายเขียนเอาไว้ดังรูปนะครับ
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0231.jpg)
กรณีที่รูปไม่แสดงคลิ๊กที่นี่นะครับ
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0231.jpg

และต้นนี้ ที่เห็นต้นไม้เอียง ก็เพราะต้นไม้เบนเข้าหาแสง (ไม่ใช่เพราะฝีมือช่างกล้องนะค๊าบบ อิๆ)
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0251.jpg)
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0259.jpg)
กรณีที่รูปไม่แสดงคลิ๊กที่นี่นะครับ
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0251.jpg
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0259.jpg

แล้วก็ต้นนี้ ถ่ายยากนิดหน่อยเพราะอยู่ถัดเข้าไปด้านใน
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0244.jpg)
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0243.jpg)
กรณีที่รูปไม่แสดงคลิ๊กที่นี่นะครับ
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0244.jpg
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0243.jpg

เอาของแถมที่ 八幡宮(HACHIMANGUU) มาฝากคนเยอะมากส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่นที่มาไหว้พระวันปีใหม่ (初詣)
(http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0215.jpg)
กรณีที่รูปไม่แสดงคลิ๊กที่นี่นะครับ
http://www.geocities.com/kokolee43/DSCF0215.jpg


สุขสันต์วันปีใหม่ทุกๆ ท่านนะครับ
KoKoKo


กระทู้: อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 07 ม.ค. 08, 00:19
ขอบคุณคุณโคฯ ที่บากบั่นไปถ่ายรูปมาให้ชม

ดีใจที่เห็นต้นสนทั้งสามต้นเจริญงอกงามดีครับ โดยเฉพาะต้นที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงปลูก ดูมั่นคงใหญ่โตดี

วันปีใหม่ที่ญี่ปุ่นเขาทำอะไรกันบ้าง เห็นผู้คนล้นวัด

สวัสดีปีใหม่นะครับ