เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: JibbyJ ที่ 26 ต.ค. 22, 19:45



กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: JibbyJ ที่ 26 ต.ค. 22, 19:45
สืบเนื่องจากตัวเองกำลังเขียนนิยายพีเรียดย้อนยุคเรื่องแรกในชีวิต เป็นงานที่ยากที่สุดตั้งแต่เคยทำมาก็ว่าได้ค่ะ
เพราะต้องหาข้อมูลประกอบเพื่อใช้อ้างอิงในการเขียนมากมายมหาศาล

ไหนจะต้องระวังเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาตร์ และสิ่งที่ยากที่สุดคือเรื่องภาษา
เอาง่ายๆ แค่คำว่า อิฉัน ดิฉัน กระไร อะไร... แค่นี้ก็มึนตึ๊บแล้วค่ะ แหะๆ
เพราะไม่รู้ว่าภาษาในยุคสมัย ร.6 นั้นเค้าใช้คำไหนกันแน่

เลยอยากจะรบกวนขอความกรุณาอาจารย์ช่วยชี้แนะเป็นแนวทาง บอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานเขียนนวนิยายให้ฟังค่ะ

ขออนุญาตเตรียมสมุดจด จองที่นั่งหน้าชั้นเรียนคนแรกค่ะ  ;D


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 22, 20:03
ต่อจากกระทู้นี้ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7327.msg182569;topicseen#msg182569

คุณ Anna  หายไปไหนคะ
รายนี้ไม่เคยขาดเรียนค่ะ

ก่อนอื่น  อยากถามคุณ JibbyJ ว่าทำไมถึงอยากเขียนนิยายย้อนยุคไปสมัยรัชกาลที่ 6 คะ

นักเขียนนิยายมือใหม่หลายคน เริ่มงานชิ้นแรกด้วยการเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองรู้จักดี   เช่นเอาประวัติตัวเองมาดัดแปลง  เอาเรื่องประทับใจของคนใกล้ตัวเช่นชีวิตพ่อแม่  เพื่อนรัก  รักแรก  หรือเรื่องของท้องถิ่นที่ตัวเองอยู่ตอนเด็กๆ  ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ข้อได้เปรียบคืองานเขาจะลื่น  เพราะไม่ว่าจะเขียนถึงอะไร หลับตาก็เห็นภาพชัดเจน  มือก็จะคล่องตามไปด้วย  เขียนบทแล้วบทเล่าได้ลื่นไหล จนจบ
ดิฉันไม่ได้หมายความว่าคุณจะเขียนนิยายย้อนยุคไม่ได้นะคะ  เพราะนักเขียนทุกคนในปัจจุบันก็เกิดไม่ทันรัชกาลที่ 6 กันทั้งนั้น  คุณเขียนได้ค่ะ   แต่ประเด็นคือมันคือสาเหตุของความยากค่ะ
เพราะไม่ว่าจะลงมือเขียนสักประโยคสองประโยค    คำถามก็จะเกิดขึ้นแล้วว่า...เอ! นางเอกจะพูดดิฉัน หรืออิฉัน กับพระเอก      งานฉลองเลื่อนยศเขาทำกันที่ไหน  ที่บ้านหรือมีโรงแรมให้จัดงานอย่างเดี่ยวนี้ไหม    
พอติดสิ่งเล็กๆน้อยๆพวกนี้  สมองก็เหมือนถูกกระตุกให้หยุดเป็นระยะๆ   ไม่ลื่นไหล   คุณก็จะเหนื่อยในการรวบรวมข้อมูล และรวบรวมพลังมาเขียนไปทีละบท
แต่ถ้าคุณฝ่าพันไปได้ ไม่ย่อท้อต่อความเหนื่อยยากเหล่านี้   คุณก็จะเขียนจบ   แล้วภูมิใจในตัวเองได้มากค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 22, 20:13
   ยุคของดิฉันได้เปรียบคนยุคนี้อยู่อย่างหนึ่ง คือสมัยนั้นการเรียนและการสอบในโรงเรียนไม่มีแบบปรนัย มีแต่อัตนัย   เด็กประถม 3  อย่างดิฉันเขียนต้องเรียงความเป็นเรื่องเป็นราว 1 หน้ากระดาษสมุดเรียน ส่งครู   เราต้องเขียนการบ้าน เขียนข้อสอบยาวๆ  ตั้งแต่ประถม  ก็เลยรู้จักการเขียนประโยค เขียนทั้งย่อหน้า ทั้งเรื่อง   ไม่ได้ทำแต่ติ๊กคำตอบ
   เพราะฉะนั้น  พวกเราพอขึ้น ม. 1  (สมัยนี้คือประถม 5)  เลยแต่งเรื่องอ่านกันได้  พี่ๆม. 2 ม. 3 เขาแต่งเก่งกว่าพวกเราอีก   เพื่อนหลายคนก็แต่งนิยายเรื่องสั้นได้ตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ   เสียแต่ว่าพอโตขึ้นไปเอาดีทางอื่นกันหมด ก็เลยเหลือดิฉันอยู่คนเดียว
   ถ้าคุณจะเจริญรอยตามคนรุ่นก่อน อย่างแรกคืออ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า มันจะนำไปสู่การเขียนทุกอย่างที่ขวางหน้าเช่นกัน    ยุคนี้ยิ่งสบายมาก มีกูเกิ้ลให้ค้นได้  ไม่ต้องขึ้นรถเมล์ไปหอสมุดอย่างเมื่อก่อน แถมยังต้องไต่บันไดขึ้นไปชั้นสองชั้นสามอีก   กว่าจะเจอหนังสือที่ต้องการ   บางทีคนอื่นยืมไปแล้วเราก็อด 
   ถ้าทำได้ ขอให้คุณค้นกูเกิ้ลให้มากขึ้น  คำตอบที่คุณหาได้จะฝึกทักษะคุณในการหาคำตอบค่ะ  แล้วจะทำให้จำแม่นขึ้นด้วยค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: JibbyJ ที่ 26 ต.ค. 22, 20:16
สาเหตุอาจฟังดูค่อนข้างประหลาดอยู่นิดหนึ่งค่ะอาจารย์ (แอบเขินค่ะ...แหะๆ)

คือเกิดจากการเห็นภาพวาดภาพหนึ่งแล้วหลงรักมาก จนได้แรงบันดาลใจอยากนำมาเขียนเป็นนิยายเลยค่ะ
ภาพนั้นเป็นผู้หญิงห่มผ้าแถบ มีดอกกุหลาบอยู่ด้านหลัง อยู่ๆ ก็เกิดความคิดว่าอยากจะเขียนย้อนยุคสักเรื่องหนึ่ง
โดยตัวเอกมีชื่อเป็นดอกกุหลาบค่ะ

ทีนี้เคยมีพล็อตที่วางเอาไว้นานแล้ว... ว่านางเอกเป็นช่างซ่อมหนังสือที่ย้อนเวลาไปในอดีตค่ะ
ตอนแรกกะจะให้ย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่พอมาศึกษาข้อมูลแล้วพบว่า ยุคทองของวรรณคดีไทยคือสมัยรัชกาลที่ 6
จึงเริ่มหาข้อมูลประกอบการเขียนมานับแต่นั้นค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์เป็นอย่างยิ่งสุดหัวใจเลยค่ะว่า การเขียนเรื่องอะไรที่เราไม่ถนัดและไกลตัวนั้นมันเหน็ดเหนื่อยมากจริงๆ ค่ะ
ตอนนี้เริ่มหาข้อมูลและเขียนไปได้ครึ่งทางแล้วค่ะ แต่ยังติดขัดอยู่บ้าง โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคสมัยนั้น
นอกจากซื้อหนังสือที่เกี่ยวข้องในสมัยรัชกาลที่ 6 มาอ่าน และค้นหาข้อมูลประวัติศาสตร์ในอินเทอร์เน็ตแล้ว
ก็ได้อาศัยครูพักลักจำการใช้ภาษาจากนิยายเรื่องอื่นๆ มาบ้าง แต่ก็ยังรู้สึกว่าบรรยายบทสนทนาไม่ลื่นไหลอยู่ดีค่ะ

ความรู้สึก ณ ตอนนี้ คือแบบ bittersweet ขมปนหวานเวลาที่เขียนทุกทีเลยค่ะอาจารย์ แหะๆ :-[


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: JibbyJ ที่ 26 ต.ค. 22, 20:33
   ยุคของดิฉันได้เปรียบคนยุคนี้อยู่อย่างหนึ่ง คือสมัยนั้นการเรียนและการสอบในโรงเรียนไม่มีแบบปรนัย มีแต่อัตนัย   เด็กประถม 3  อย่างดิฉันเขียนต้องเรียงความเป็นเรื่องเป็นราว 1 หน้ากระดาษสมุดเรียน ส่งครู   เราต้องเขียนการบ้าน เขียนข้อสอบยาวๆ  ตั้งแต่ประถม  ก็เลยรู้จักการเขียนประโยค เขียนทั้งย่อหน้า ทั้งเรื่อง   ไม่ได้ทำแต่ติ๊กคำตอบ
   เพราะฉะนั้น  พวกเราพอขึ้น ม. 1  (สมัยนี้คือประถม 5)  เลยแต่งเรื่องอ่านกันได้  พี่ๆม. 2 ม. 3 เขาแต่งเก่งกว่าพวกเราอีก   เพื่อนหลายคนก็แต่งนิยายเรื่องสั้นได้ตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ   เสียแต่ว่าพอโตขึ้นไปเอาดีทางอื่นกันหมด ก็เลยเหลือดิฉันอยู่คนเดียว
   ถ้าคุณจะเจริญรอยตามคนรุ่นก่อน อย่างแรกคืออ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า มันจะนำไปสู่การเขียนทุกอย่างที่ขวางหน้าเช่นกัน    ยุคนี้ยิ่งสบายมาก มีกูเกิ้ลให้ค้นได้  ไม่ต้องขึ้นรถเมล์ไปหอสมุดอย่างเมื่อก่อน แถมยังต้องไต่บันไดขึ้นไปชั้นสองชั้นสามอีก   กว่าจะเจอหนังสือที่ต้องการ   บางทีคนอื่นยืมไปแล้วเราก็อด 
   ถ้าทำได้ ขอให้คุณค้นกูเกิ้ลให้มากขึ้น  คำตอบที่คุณหาได้จะฝึกทักษะคุณในการหาคำตอบค่ะ  แล้วจะทำให้จำแม่นขึ้นด้วยค่ะ

ต้องขอบคุณที่ยุคนี้มีกูเกิ้ลและอินเทอร์เน็ตให้ค้นข้อมูลจริงๆ ค่ะอาจารย์ ตอนนี้เซฟไฟล์เอาไปใช้ประกอบการเขียนจนเต็มโน้ตบุ๊คแล้วค่ะ แหะๆ

แต่พอได้ข้อมูลมากๆ สำหรับตัวหนูเองแล้วประสบปัญหาอย่างหนึ่ง คือการ "ย่อย" ข้อมูลเหล่านั้นนำเอามาใช้ค่ะ เพราะบางทีก็เสียดายข้อมูลที่อุตส่าห์รวบรวมมา
เลยพยายามจะยัดใส่ลงไปในนิยาย แต่กลับทำให้ดูเยอะเกินไปจนเหมือนสารคดีไปแทน ต้องแก้รื้อใหม่หลายรอบเลยค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 22, 20:39
    ถ้าคุณมีความมานะจะเขียนเรื่องย้อนยุคให้จบ   ก็สนับสนุนให้ฝ่าฟันไปได้จนจบค่ะ
    มีข้อหนึ่งที่พอจะช่วยได้ คืออย่าให้เรื่องยาวนัก    มันจะบรรเทาความเหนื่อยลงไปถ้าคุณเขียนเป็นนวนิยายขนาดสั้น (novellette) ไม่ใช่ขนาดยาวอย่างของนักเขียนอื่นๆรวมดิฉันด้วย
    นวนิยายขนาดสั้นจะช่วยลดทอนรายละเอียด ฉาก ตัวละคร  เหตุการณ์ ลงไปได้มาก   แทนที่จะมีตัวละคร 20 ตัวก็เหลือ 5 ตัว   ฉาก 12 ฉากลดเหลือ 4  อะไรทำนองนี้
    ข้อสองคือตอนไปสอนหรือไปอบรมนักเขียนหน้าใหม่  จะย้ำว่า ให้หลีกเลี่ยง cliche  (อ่านว่าคลิเช่)  คำนี้หมายถึงความซ้ำซาก  อะไรที่เขารู้ๆกันแล้ว  ชินกันแล้ว  นักเขียนใหม่ควรแหวกออกไป   ไม่งั้นคนอ่านจะรู้สึกว่า เฮ้อ พล็อตนี้อีกแล้ว  เช่นพล็อตตบจูบ  เสน่หาซาตาน  พระเอกนางเอกแต่งงานกันหลอกๆ ฯลฯ
    ดิฉันดูหนังจีนอยู่ตอนนี้ เพราะอยากรู้ว่ากระแสนิยมของเขาเป็นยังไง   พบว่าใน10 เรื่อง   มีจอมยุทธเสีย 4   เรื่อง  อีก 3  เป็นนางเอกสาวยุคปัจจุบันกลับไปในอดีตสมัยราชวงศ์  เจอพระเอกฮ่องเต้หรือไม่ก็ท่านอ๋อง   กับอีก 3  เป็นหนุ่มสาวปัจจุบัน  
    ถ้าคุณจะให้นางเอกกลับไปในอดีต  ก็ขอให้คิดว่าทำยังไงจะแหวกไปจากทวิภพ  และบุพเพสันนิวาสได้สำเร็จ     ไม่งั้นคนอ่านเขาก็จะอ่านและจำได้แต่คุณทมยันตี และรอมแพง   นะคะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 22, 20:40
แต่พอได้ข้อมูลมากๆ สำหรับตัวหนูเองแล้วประสบปัญหาอย่างหนึ่ง คือการ "ย่อย" ข้อมูลเหล่านั้นนำเอามาใช้ค่ะ เพราะบางทีก็เสียดายข้อมูลที่อุตส่าห์รวบรวมมา
เลยพยายามจะยัดใส่ลงไปในนิยาย แต่กลับทำให้ดูเยอะเกินไปจนเหมือนสารคดีไปแทน ต้องแก้รื้อใหม่หลายรอบเลยค่ะ

ตอบสั้นๆ อย่าไปเสียดายค่ะ 
คนอ่านเขาอยากสนุกกับนิยาย  ไม่ได้อยากอ่านข้อมูล


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: JibbyJ ที่ 26 ต.ค. 22, 20:58
   ถ้าคุณมีความมานะจะเขียนเรื่องย้อนยุคให้จบ   ก็สนับสนุนให้ฝ่าฟันไปได้จนจบค่ะ
    มีข้อหนึ่งที่พอจะช่วยได้ คืออย่าให้เรื่องยาวนัก    มันจะบรรเทาความเหนื่อยลงไปถ้าคุณเขียนเป็นนวนิยายขนาดสั้น (novellette) ไม่ใช่ขนาดยาวอย่างของนักเขียนอื่นๆรวมดิฉันด้วย
    นวนิยายขนาดสั้นจะช่วยลดทอนรายละเอียด ฉาก ตัวละคร  เหตุการณ์ ลงไปได้มาก   แทนที่จะมีตัวละคร 20 ตัวก็เหลือ 5 ตัว   ฉาก 12 ฉากลดเหลือ 4  อะไรทำนองนี้
    ข้อสองคือตอนไปสอนหรือไปอบรมนักเขียนหน้าใหม่  จะย้ำว่า ให้หลีกเลี่ยง cliche  (อ่านว่าคลิเช่)  คำนี้หมายถึงความซ้ำซาก  อะไรที่เขารู้ๆกันแล้ว  ชินกันแล้ว  นักเขียนใหม่ควรแหวกออกไป   ไม่งั้นคนอ่านจะรู้สึกว่า เฮ้อ พล็อตนี้อีกแล้ว  เช่นพล็อตตบจูบ  เสน่หาซาตาน  พระเอกนางเอกแต่งงานกันหลอกๆ ฯลฯ
    ดิฉันดูหนังจีนอยู่ตอนนี้ เพราะอยากรู้ว่ากระแสนิยมของเขาเป็นยังไง   พบว่าใน10 เรื่อง   มีจอมยุทธเสีย 4   เรื่อง  อีก 3  เป็นนางเอกสาวยุคปัจจุบันกลับไปในอดีตสมัยราชวงศ์  เจอพระเอกฮ่องเต้หรือไม่ก็ท่านอ๋อง   กับอีก 3  เป็นหนุ่มสาวปัจจุบัน  
    ถ้าคุณจะให้นางเอกกลับไปในอดีต  ก็ขอให้คิดว่าทำยังไงจะแหวกไปจากทวิภพ  และบุพเพสันนิวาสได้สำเร็จ     ไม่งั้นคนอ่านเขาก็จะอ่านและจำได้แต่คุณทมยันตี และรอมแพง   นะคะ


ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ เรื่องนี้วางพล็อตไว้นานมากแล้วค่ะ ก่อนที่บุพเพสันนิสวาสจะเป็นกระแสค่ะ
พอนิยายและละครดัง มีนิยายแนวนี้ออกมาเพียบเลยค่ะ แอบคิดเหมือนกันว่าถ้าเราเขียนไปมันก็จะไปซ้ำกันกับคนอื่นเขา
แต่ในเมื่อลงมือเขียนไปแล้ว ก็ต้องเข็นให้เสร็จกันต่อไปค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำเรื่องจำนวนความยาวด้วยนะคะ คิดว่าจะพยายามให้สั้นลงกว่าเดิมค่ะ แต่ดันวางโครงเรื่องไว้ใหญ่มากนี่ล่ะค่ะ แหะๆ
ถ้าหากว่าเข็นจนจบเรื่องจริงๆ แล้ว จะขออนุญาตมาให้อาจารย์ช่วยชี้แนะเป็นแนวทางต่อไปนะคะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 22, 21:01
     เขียนเสร็จแล้ว  ไม่ต้องส่งให้ดิฉันอ่านค่ะ   เดินหน้าต่อ ลงเป็น e book  หรือถ้าจะรวมเล่มก็ให้บก.สำนักพิมพ์อ่านไปเลยค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: JibbyJ ที่ 26 ต.ค. 22, 21:10
ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ อาจใช้คำผิดไป
จริงๆ คือตั้งใจว่าจะส่งหนังสือให้อาจารย์ค่ะ (หากได้ตีพิมพ์ค่ะ)


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 27 ต.ค. 22, 07:41
ขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวครับ

ผมเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์ถิ่นกำเนิดและประวัติตระกูลซึ่งเฟื่องฟูในสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕
ประทับใจกับเรื่องทวิภพของทมยันตี ต่อมามีโอกาสได้ชมและอ่านเรื่องบุพเพสันนิวาสของรอมแพง
ผมเลยฟุ้ง นั่งเขียนสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่านิยายได้หรือเปล่า
เพราะผมเขียนเรื่องย้อนยุคทำนองเดียวกับทวิภพและบุพเพสันนิวาสคือคนในยุคอนาคตหลงกลับเข้าไปในอดีต
โดยเนื้อหาผมนำเรื่องราวจากเอกสารเก่าทั้งภาษาไทยและอังกฤษที่มีการพูดถึงถิ่นกำเนิดผม ผนวกเข้ากับประวัติตระกูลทั้งจากที่มีบันทึกและจาก oral history
ผสมปนเปเข้ากับความรู้ทางการแพทย์ของผม
แต่ผมเขียนเป็นเหมือนเรื่องเล่า ไม่เน้นคำพูดครับ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 08:12
ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ อาจใช้คำผิดไป
จริงๆ คือตั้งใจว่าจะส่งหนังสือให้อาจารย์ค่ะ (หากได้ตีพิมพ์ค่ะ)
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 08:14
ขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวครับ

ผมเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์ถิ่นกำเนิดและประวัติตระกูลซึ่งเฟื่องฟูในสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕
ประทับใจกับเรื่องทวิภพของทมยันตี ต่อมามีโอกาสได้ชมและอ่านเรื่องบุพเพสันนิวาสของรอมแพง
ผมเลยฟุ้ง นั่งเขียนสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่านิยายได้หรือเปล่า
เพราะผมเขียนเรื่องย้อนยุคทำนองเดียวกับทวิภพและบุพเพสันนิวาสคือคนในยุคอนาคตหลงกลับเข้าไปในอดีต
โดยเนื้อหาผมนำเรื่องราวจากเอกสารเก่าทั้งภาษาไทยและอังกฤษที่มีการพูดถึงถิ่นกำเนิดผม ผนวกเข้ากับประวัติตระกูลทั้งจากที่มีบันทึกและจาก oral history
ผสมปนเปเข้ากับความรู้ทางการแพทย์ของผม
แต่ผมเขียนเป็นเหมือนเรื่องเล่า ไม่เน้นคำพูดครับ

จะรออ่านนะคะ อาจารย์หมอ CVT


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 08:34
   ประตูบานต่อไปของความสำเร็จ คือนักเขียนต้องค้นหาตัวเองให้พบ
   นักเขียนแต่ละคนมีทักษะ หรือความถนัดประจำตัวไม่เหมือนกัน   มันไม่มีแบบพิมพ์เดียวกันสำหรับนักเขียน
   ถ้าคุณจะเขียนนิยายรัก แล้วคิดว่าต้องเดินไปตามลำดับ 1 , 2, 3,4  เหมือนเห็นจากนิยายดังๆที่อ่านมาก่อน     หากทำตามนั้น คุณจะเป็นได้เพียงนักก๊อปปี้ความสำเร็จของคนอื่น เหมือนเอาเสื้อคนอื่นมาใส่   น้อยนักจะเหมาะสมกับตัวเอง
    ทักษะที่ว่าเกิดจากอะไร   มันเกิดจากนิสัยประจำตัว   ประสบการณ์ ความสนใจ  ความชอบสิ่งต่างๆ เป็นต้น  ทั้งหมดนี้เป็นพิมพ์เฉพาะตัว 
    คนที่มีทักษะมากก็จะค้นพบตัวเองเร็ว    เช่นบางคนค้นพบว่าตัวเองเป็นคนเฮฮาสนุกสนาน เข้าวงคุยทีไรเพื่อนหัวเราะกันงอหาย  ชอบอกชอบใจคารมคมคาย หรือชอบที่หาเรื่องชำมาเล่าได้   ถ้าเขารู้จักถ่ายทอดคุณสมบัตินี้ลงในเรื่องที่เขียน  เขาก็เจอทักษะของตัวเองแล้วว่า  จูงใจคนอ่านได้ด้วยมุมมองขำๆ และมุกตลกที่นำมาใช้    เรื่องของเขาก็จะไม่ซ้ำกับนักเขียนอื่น กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
   แต่ถ้าเขาไม่รู้ทักษะของตัวเอง     อยากจะเป็นนักเขียนเรื่องชีวิตหนัก อาจจะถือว่าเท่ดี หรือเข้าใจว่ามีสิทธิ์คว้ารางวัลได้มากกว่างานเขียนประเภทอื่น   ก็ตั้งหน้าตั้งตาเค้นตัวเองให้เขียนเรื่องหนักสมอง ขมขื่น เคียดแค้น ทั้งๆตัวเองในชีวิตไม่เคยทุกข์ยากลำบากอะไรขนาดนั้น     ในเมื่อมันขัดกับตัวตนและทักษะที่มีคนละแบบ   งานเขาก็จะฝืดฝืน  คนอ่านก็จะสัมผัสได้ว่ามันไม่ลำบากจริง   หรือเป็นได้ว่าเขาเขียนไปสักพักก็หมดไฟ ไม่อยากเขียนอีก


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 27 ต.ค. 22, 08:41

จะรออ่านนะคะ อาจารย์หมอ CVT

ส่งลิงค์มาให้อาจารย์ลองอ่านครับ
บล๊อกไม่อนุญาตให้ลงแบบยาว ๆ ผมเลยทำเป็นตอน อ่านจบแต่ละตอนอาจารย์ต้องคลิ๊กลิงค์ตอนต่อไปนะครับ
ขอบคุณมากครับ

https://panthepblog.wordpress.com/2018/04/12/ล่ามข้ามภพ-ตอนที่-๑/


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 08:49
    ทีนี้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวบ้าง
    ดิฉันเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีประวัติยาวเหยียด  ย้อนหลังไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์   พ่อแม่ดิฉันเป็นคนที่จำเรื่องราวเก่าๆได้แม่นยำมาก  ชอบเล่าเรื่องเก่าๆสมัยที่ลูกยังเกิดไม่ทันให้ฟังอยู่เสมอ    เป็นรายละเอียดที่ไม่มีในตำรา พงศาวดารหรือหนังสือประวัติศาสตร์    
    มีวันคืนเก่าๆหลังจากอาหารมื้อเย็นจบแล้ว   เราพ่อลูกก็นั่งกันอยู่สองคน  พ่อก็จะเล่าเรื่องเก่าๆสมัยท่านยังเด็ก  เล่าถึงคุณปู่ และบรรพบุรุษที่ท่านเกิดทันให้ฟัง    เด็กอายุ 10 ขวบก็นั่งฟัง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่มันก็เข้าไปอยู่ในความทรงจำ เรียกออกมาใช้ได้เมื่อโตขึ้น  
    ส่วนแม่ เป็นคนที่ได้ชื่อว่าช่างจดช่างจำที่สุดในบรรดาเครือญาติ   เวลาดิฉันถามเรื่องเก่าๆกับคุณป้า(ก็ท่านผู้เป็นที่มาของคุณหญิงลอออร  นางเอกของ "มาลัยสามชาย" นั่นแหละค่ะ) คุณป้ามักจะตอบสักพักแล้วก็โยนต่อไปว่า "ถามแม่เขาซี เขาจำเรื่องราวเก่ง")  เรื่องเบื้องหลังต่างๆของสังคมในอดีต แม่ก็จำได้เยอะแยะมาก
    ดังนั้นเมื่อลงมือเขียนเรื่องย้อนยุค อย่าง "สองฝั่งคลอง"  ก็เลยลื่นมือมาก   มีคุณแม่(ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในตอนนั้น)เป็นคนตอบคำถาม    ภาพของทับทิม เจ้าคุณปู่ คุณย่า จึงมีชีวิตเหมือนเดินออกจากอดีตเล่าเรื่องให้ฟังอยู่ตรงหน้า   เราก็เพียงแค่จดปากคำของท่านลงไปเท่านั้น


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 10:21
  ข้อนี้ก็เป็นคำตอบว่า ทำไมนักเขียนที่ประสบความสำเร็จแต่ละคน จึงไม่จำเป็นต้องเขียนเนื้อหาเดียวกัน   ใครถนัดแนวไหนก็เขียนแนวนั้น     ไม่มีชีวิตของคนกลุ่มไหนหรือชนชั้นไหนสำคัญกว่าอีกกลุ่มหรืออีกชนชั้น จนต้องสนใจเขียนเฉพาะกลุ่มนี้ หรือเว้นชนชั้นนั้น   ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวของนักเชียนแต่ละคน 
  ดิฉันเป็นคนกรุงเทพ จะให้ดิฉันเขียนถึงชีวิตชาวจีนฮกเกี้ยนทางภาคใต้   ดิฉันก็เขียนสู้คุณหมอ CVT ไม่ได้  และอาจจะเขียนถึงภาคใต้ไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป   เพราะไม่มีพื้นฐานความเข้าใจ     แต่ถ้าให้เขียนถึงจังหวัดภาคกลางอย่างนครปฐม ก็เขียนได้ เพราะไปทำงานที่นั่นอยู่นานหลายปี   
   เขียนนวนิยายที่ใช้ฉากในอเมริกาทางรัฐตะวันตกได้ เพราะเคยไปเรียน  แต่จะเขียนถึงสวีเดน เดนมาร์ค หรือฟินแลนด์ก็จนปัญญาเพราะไม่เคยไปอยู่ 
   ใช่ค่ะ นักเขียนมีกรอบจำกัดในการสร้างเรื่อง   กรอบบางคนก็แคบ    บางคนก็กว้าง ขึ้นกับประสบการณ์   ประสบการณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องดูหรือเห็นด้วยตาตัวเอง  เป็นประสบการณ์ชั้นสองคืออ่านจากหนังสือ หรือรับฟังคำบอกเล่ามาอีกทีก็ได้   ดิฉันเองเกิดไม่ทันบรรพชนทั้งหลายที่เอาท่านมาเขียน  แต่เราอาศัยคำบอกเล่าของผู้รู้เห็น นำมาถ่ายทอดอีกที   ก็ไปได้จนจบเรื่องเหมือนกัน


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 27 ต.ค. 22, 10:47
   ทีนี้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวบ้าง
    ดิฉันเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีประวัติยาวเหยียด  ย้อนหลังไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์   พ่อแม่ดิฉันเป็นคนที่จำเรื่องราวเก่าๆได้แม่นยำมาก  ชอบเล่าเรื่องเก่าๆสมัยที่ลูกยังเกิดไม่ทันให้ฟังอยู่เสมอ    เป็นรายละเอียดที่ไม่มีในตำรา พงศาวดารหรือหนังสือประวัติศาสตร์    
    มีวันคืนเก่าๆหลังจากอาหารมื้อเย็นจบแล้ว   เราพ่อลูกก็นั่งกันอยู่สองคน  พ่อก็จะเล่าเรื่องเก่าๆสมัยท่านยังเด็ก  เล่าถึงคุณปู่ และบรรพบุรุษที่ท่านเกิดทันให้ฟัง    เด็กอายุ 10 ขวบก็นั่งฟัง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่มันก็เข้าไปอยู่ในความทรงจำ เรียกออกมาใช้ได้เมื่อโตขึ้น  
    ส่วนแม่ เป็นคนที่ได้ชื่อว่าช่างจดช่างจำที่สุดในบรรดาเครือญาติ   เวลาดิฉันถามเรื่องเก่าๆกับคุณป้า(ก็ท่านผู้เป็นที่มาของคุณหญิงลอออร  นางเอกของ "มาลัยสามชาย" นั่นแหละค่ะ) คุณป้ามักจะตอบสักพักแล้วก็โยนต่อไปว่า "ถามแม่เขาซี เขาจำเรื่องราวเก่ง")  เรื่องเบื้องหลังต่างๆของสังคมในอดีต แม่ก็จำได้เยอะแยะมาก
    ดังนั้นเมื่อลงมือเขียนเรื่องย้อนยุค อย่าง "สองฝั่งคลอง"  ก็เลยลื่นมือมาก   มีคุณแม่(ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในตอนนั้น)เป็นคนตอบคำถาม    ภาพของทับทิม เจ้าคุณปู่ คุณย่า จึงมีชีวิตเหมือนเดินออกจากอดีตเล่าเรื่องให้ฟังอยู่ตรงหน้า   เราก็เพียงแค่จดปากคำของท่านลงไปเท่านั้น

สุดยอดมากเลยครับ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 15:33
คุณป้าตอนสาว  สวยสมกับที่บรรยายไว้ถึงคุณหญิงลอออร ไหมคะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 15:48
 เอกลักษณ์ของนักเขียน

  คนทุกอาชีพที่ประสบผลสำเร็จ ย่อมสามารถจะเปล่งประกายเฉพาะตัว     ไม่ซ้ำกับคนอื่นๆในอาชีพเดียวกัน   เอลวิส เพรสลีย์  มาริลีน มอนโร แม้ว่าตายไปแล้ว  ก็ยังไม่มีใครมาเป็นตัวแทนของเขาและเธอได้  ทั้งๆยุคเอลวิสก็มีนักร้องร็อคแอนด์โรลเกิดขึ้นมากมาย ล้วนแต่ดังๆทั้งนั้น   ดาราสาวเซกซี่ยุคเดียวกับมาริลีนก็มีเต็มไปหมดในฮอลลีวู้ด แต่ตายไปแล้วก็ตายไปเลย   ไม่มีใครเป็นที่จดจำเท่ากับเธอ 
  นักเขียนก็เหมือนกัน   ไม่มีใครซ้ำแบบกับยาขอบ   ดอกไม้สด  ศรีบูรพา ป.อินทรปาลิต  พนมเทียน ทมยันตี จนบัดนี้
  ถ้าอยากประสบผลสำเร็จมากๆ ย้ำว่ามากๆ ก็ควรแสวงหาเอกลักษณ์ของตัวเองให้พบ    อย่าไปตามรอยคนอื่น
 แต่ถ้าไม่อยากเป็นก็อีกเรื่องหนึ่งค่ะ   แบบนั้นคือเขียนได้แค่ไหนก็พอใจแค่นั้น   ไม่ยุ่งยาก 

 ดิฉันรู้ตัวดีว่า ถ้าให้เขียนเพชรพระอุมาอย่างคุณพนมเทียน ก็คงจอดสนิทตั้งแต่หน้าแรก ไม่ถึงจบบทแรกด้วยซ้ำ   คนเกิดมาไม่เคยเข้าป่าเลยสักครั้ง จะให้นึกภาพการเดินทางในไพรมหากาฬออกได้อย่างไร   ไม่ต้องพูดถึงนิทรานครหรือมรกตนครซึ่งยากหนักเข้าไปอีก
   แต่ดิฉันก็ค้นพบสิ่งที่ตัวเองมี และมีมากเสียด้วย คือเรื่องราวในอดีตที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ฟังครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ยังเยาว์วัย
  ดิฉันได้เรียนรู้ว่าต้นตระกูลฝ่ายพ่อมาจากเมืองจีนตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์   แต่แปลกจากตระกูลจีนอื่นๆที่เราอ่านพบกันโดยมาก คือเป็นจีนที่กลายมาเป็นไทยเต็มตัว ไม่ค้าขายแต่รับราชการกันสืบมาทุกชั่วคน   ไม่ได้เก็บขนบธรรมเนียมประเพณีจีนให้ลูกหลานสืบทอดอีกเลย
     พ่อดิฉันเองก็ไม่รู้ว่าบรรพบุรุษเดิมแซ่อะไรด้วยซ้ำ  ถ้าคุณทวดไม่บันทึกไว้ ดิฉันก็ไม่รู้  ท่านเปลี่ยนมารับธรรมเนียมไทย ทำบุญแบบไทยๆมาโดยตลอด
     ความเป็นไทย มี 3 อย่างที่พวกท่านยึดถือเหนียวแน่น  คือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 
     สิ่งนี้กลายมาเป็นนิยาย "รัตนโกสินทร์"
     ส่วนบรรพบุรุษทางแม่เป็นไทยแท้  ย้อนขึ้นไปจนจนสมัยธนบุรีก็เป็นคนไทย  ไม่มีจีนหรือแขก หรือชาติอื่นปน   รับราชการกันมาทุกชั่วคนแบบเดียวกับทางพ่อ   และยังมีความผูกพันกับราชสำนักมากกว่า  เพราะหนึ่งในบรรพสตรีทางฝ่ายแม่ เป็นเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
     ทุกวันนี้เวลาทำบุญประจำปีให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว  ญาติๆฝ่ายแม่ก็ไปทำกันที่วัดโสมนัส  ถือว่าเป็นวัดประจำสกุล
     นี่คือที่มาของ "สองฝั่งคลอง"
   
     ก็ไม่รู้ว่าคนรุ่นหลังจะรู้ไหมว่า การที่คนจีนไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนแผ่นดินอื่นนั้นไม่ใช่เข้าไปอยู่ได้ง่ายๆ   ดินแดนหลายแห่งเขาก็ไม่ต้อนรับคนต่างแดน   บางแห่งก็ตั้งข้อรังเกียจเอามากๆ   บางแห่งก็กีดกันไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม    น้อยนักจะเปิดโอกาสให้เข้ามาได้อย่างสะดวก   หยิบยื่นที่ทำมาหากินให้  ยินยอมยกลูกสาวให้ ได้เป็นเขยในครอบครัวเขาได้ จนกลายเป็นเจ้าของถิ่นไปด้วยกัน  อย่างที่พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเปิดโอกาสให้แต่แรก
    ดิฉันจึงถูกปลูกฝังมาว่า พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้บรรพบุรุษได้อยู่เป็นสุขบนผืนแผ่นดินมาทุกชั่วคน   เราก็ต้องสำนึกในพระมหากรุณา   ไม่กระทำการสิ่งใดที่จะเป็นอกตัญญูต่อผู้ที่หยิบยื่นโอกาสให้ปู่ย่าตาทวดของเรามาโดยตลอด   
 
    ด้วยเหตุนี้ งานหลายชิ้นของดิฉันจึงเป็นเรื่องของอดีต   แสดงจุดยืนข้อนี้ คือความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด     กลายเป็นเอกลักษณ์ของงานของว.วินิจฉัยกุล ไปในที่สุด
   
    ใครจะยกมือซักถาม หรือออกความเห็นเพิ่มเติมก็ยินดีนะคะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 19:45
อยากทราบทึ่มาของนิยายภายใต้นาม "แก้วเก้า"


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 20:00
   นิยายในนามปากกา "แก้วเก้า" จัดอยู่ในประเภทจินตนิยาย (Fantasy)  ซึ่งรวมสารพัดชนิดไม่ว่าเรื่องผี  มนุษย์ต่างดาว  เดินทางทะลุจักรวาล    เดินทางย้อนอดีตหรือไปอนาคต  สรุปว่าเรื่องอะไรที่ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงในสังคม  แต่ขึ้นกับจินตนาการล้วนๆ  มีสังกัดอยู่ในประเภทจินตนิยาย
   ดิฉันชอบจินตนิยายมาตั้งแต่เด็กแล้ว  ตอนเล็กๆก็ชอบนิทาน โตขึ้นชอบอ่านเรื่องผี  เรื่องมนุษย์ต่างดาว  เรื่องมิติที่ 4 สวรรค์นรก   รู้สึกว่าเรื่องประเภทนี้ไม่ถูกจำกัดด้วยข้อเท็จจริง   จินตนาการของเราเป็นอิสระมากกว่า จะโลดแล่นไปถึงไหนก็ได้
   ตอนเป็นนักเขียนใหม่ของสกุลไทย  ใช้นามปากกา ว.วินิจฉัยกุล   แต่ด้วยไฟแรงอยากจะเขียนอีกเรื่อง แนวไม่ซ้ำกัน ก็เลยเสนอ "แก้วราหู" ให้บก.สกุลไทยพิจารณา   เป็นจินตนิยายย้อนยุคผสมประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย   ตอนเตรียมเขียน หาชั่วโมงว่างไปนั่งฟังเลกเชอร์ของผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์แลัโบราณคดี ชื่ออาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ในห้องเรียนร่วมกับนักศึกษา  เพื่อจะรู้เรื่องราวของพญาไสสงครามและพญางั่วนำถม ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน  อาจารย์สอนได้น่าสนใจมากค่ะ 
   พอจะลงในสกุลไทย   บก.บอกว่าต้องใช้คนละนามปากกา    ไม่งั้นจะกลายเป็นว.วินิจฉัยกุลลง 2 เรื่องซ้อน ซึ่งเขาไม่ทำกัน    นามปากกา "แก้วเก้า" จึงอุบัติขึ้นมาในฐานะนักเขียนใหม่ที่ซุ่มซ่อนตัว   ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเจ้าของเดียวกับคนเขียน "ไร้เสน่หา"   ปิดเป็นความลับอยู่ 10 ปีกว่า คนอ่านถึงค่อยๆรู้กัน
   " แก้วราหู" เป็นม้ามืดที่ได้รับการตอบรับด้วยดี  เพราะในสกุลไทยไม่มีใครเขียนแนวนี้    พอจบเรื่องนี้ บก.ก็ตกลงให้เขียนเรื่องที่ 2 ต่อ ในนามปากกานี้  "นางทิพย์" ก็ตามมา    
     ตกลงว่า "แก้วเก้า" ก็จะเขียนแต่จินตนิยายเท่านั้น  


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 20:13
  ทศวรรษที่ 70s  เป็นยุคที่อเมริกาให้ความสนใจกับประสาทสัมผัสที่ 6  หรือ sixth sense   ตอนนั้นเรียกว่า extra-sensory perception    เป็นช่วงที่ไปเรียนต่อพอดี     เข้าห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทั้งวันๆ อ่านตำราจนเบื่อก็ไปค้นหนังสืออย่างอื่นมาอ่านบ้าง   ก็เลยรู้เรื่องพวกนี้    เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้เล่นกันในวงการวรรณกรรมของประเทศไทยในยุคนั้น     จึงตื่นตาตื่นใจมาก
   sixth sense สามารถตอบโจทย์การสร้างจินตนิยายได้หลายเรื่อง    มันแตกแขนงไปสู่จินตนาการด้านอื่นด้วย เช่นเอกภพคู่ขนาน  (parallel universe)      เรื่องนี้คุณเพ็ญชมพูคงรู้จักเพราะเคยเอ่ยถึงมาแล้ว   เป็นแฟนตาซีแนววิทยาศาสตร์เรื่องเดียวที่ทดลองเขียน เพราะอยากลองเขียนแนววิทยาศาสตร์ดูบ้างว่าคนจบอักษรฯจะทำได้ไหม   ผลปรากฏว่าทำได้       แต่ทำได้จบ 1 เรื่อง แล้วไม่ได้สนใจจะเขียนแนวนี้อีก   
   เรื่องนี้ก็ไม่เลวนักหรอก   ประสบความสำเร็จ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 นิยายวิทยาศาสตร์  (จำชื่อเต็มๆ ไม่ได้แล้วและหาไม่พบในกูเกิ้ล   คุณเพ็ญชมพูจำได้ก็ช่วยบอกด้วยค่ะ)

    พูดถึงความสำเร็จ  คนอ่านชอบ "แก้วเก้า" มากกว่า ว.วินิจฉัยกุล   แต่ ว.วินิจฉัยกุล ได้รางวัลเยอะกว่า  ต่างกันตรงนี้ค่ะ
    ถ้าคุณเพ็ญชมพูถามว่ายังเขียนในนามปากกา "แก้วเก้า" อยู่ไหม คำตอบคือยังเขียนอยู่ค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 27 ต.ค. 22, 20:21
ต่อจากกระทู้นี้ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7327.msg182569;topicseen#msg182569

คุณ Anna  หายไปไหนคะ
รายนี้ไม่เคยขาดเรียนค่ะ


ลงทะเบียนตั้งแต่เมื่อวานแล้วค่ะ
ตอนนี้นั่งหลบมุมอยู่หลังห้อง กลัวโดนอาจารย์ทวงการบ้านที่ค้างส่งมานานนนนนนมากแล้วค่ะ :-[
แต่ถึงแม้จะเป็นนร.ที่แย่มาก เหลวไหลไม่ส่งงาน ทว่าตั้งใจเรียนสุดๆเลยนะคะ ;D


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 20:50
เรื่องนี้ก็ไม่เลวนักหรอก   ประสบความสำเร็จ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 นิยายวิทยาศาสตร์  (จำชื่อเต็มๆ ไม่ได้แล้วและหาไม่พบในกูเกิ้ล   คุณเพ็ญชมพูจำได้ก็ช่วยบอกด้วยค่ะ)

คงเป็นเรื่อง "แดนดาว" นั่นแล ;D

ถ้าเป็นเรื่องหลงมิติไปอยู่ใน โลกคู่ขนาน หรือ เอกภพคู่ขนาน (parallel universe)  คุณแก้วเก้าน่าจะเป็นผู้บุกเบิกคนแรกด้วยการเขียนเรื่อง "แดนดาว" (https://writer.dek-d.com/cammy/story/viewlongc.php?id=1398590&chapter=220) ๑ ใน ๘๘ หนังสือดีวิทยาศาสตร์ประเภทบันเทิงคดีจำนวน ๒๙ เล่ม  (https://th.m.wikipedia.org/wiki/88_หนังสือดีวิทยาศาสตร์ไทย)(พร้อมกับ "เมืองนิมิตร" ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน)


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 22, 21:12
 ขอบคุณค่ะ นึกแล้วว่าคุณเพ็ญชมพูต้องหาเจอ
 งั้นขอแก้ไขใหม่

  เรื่องนี้ก็ไม่เลวนักหรอก   ประสบความสำเร็จ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 29   หนังสือดีวิทยาศาสตร์ ประเภทบันเทิงคดี
 จากหนังสือดีวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 88 เล่ม  ตัดสินโดยคณะวิจัยในโครงการวิจัยหนังสือดีวิทยาศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อพ.ศ. 2544

  คุณแอนนาไม่ต้องกลัวโดนทวงการบ้านค่ะ    มาให้เห็นก็ดีใจแล้วค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 22, 09:06
     ก่อนยุคของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟน   พื้นที่ปูพรมแดงสำหรับนักเขียนคือนิตยสารต่างๆ  วางแผงอยู่มากมายหลายสิบฉบับ ดึงดูดคนอ่านด้วยนวนิยายเรื่องยาวลงเป็นตอนๆ   
    นักเขียนน้อยคนนักจะเขียนเสร็จแล้วพิมพ์รวมเล่มขายเลย  แล้วขายดีโดยไม่ผ่านตาคนอ่านมาก่อน  ส่วนใหญ่ก็คือเรื่องที่ได้รางวัลเช่นรางวัลซีไรต์  หรือรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
    เรื่องยาวที่ลงเป็นตอนๆ ได้เปรียบตรงที่เรียกความสนใจคนอ่านจำนวนนับแสนๆคนที่เป็นขาประจำของนิตยสารได้   จะเตะตาผู้ทำหนังและผู้จัดละครทีวี   จะหาสำนักพิมพ์มารวมเล่มได้ง่าย   ค่าเรื่องก็เท่ากับได้ 3 เท่าคือได้จากนิตยสาร ได้จากผู้จัดละครและได้จากสำนักพิมพ์    นักเขียนหน้าใหม่จึงพุ่งความสนใจไปที่นิตยสารมากกว่าจะเขียนเองพิมพ์เอง
     ดิฉันเคยเขียนลงในนิตยสารเก่าแก่ที่หลายคนในเรือนไทยเกิดไม่ทัน หรือทันก็ยังเด็กมาก  เช่นศรีสัปดาห์และสตรีสาร  แต่ที่มาเขียนเป็นชิ้นเป็นอันคือสกุลไทย    เขียน 2 เรื่องควบต่อสัปดาห์  บางปีไฟแรงก็แปลนิยายลงอีกเรื่อง เป็น 3 
     นอกจากนี้ยังลงในนิตยสารหญิงไทยรายปักษ์  ซึ่งอยู่เครือเดียวกับสกุลไทย   สรุปว่ามือเป็นระวิงทีเดียว

     ตอนนั้นก็ยังรับราชการอยู่ และเลี้ยงลูกอีก 2 คนซึ่งยังเล็ก    ย้อนกลับไปดูก็อัศจรรย์ใจเหมือนกันว่าเราอุตส่าห์ผ่านมาได้ 


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 22, 09:13
     สิ่งสำคัญทีทำให้ดำรงอาชีพมาได้ตลอดรอดฝั่ง คือ "วินัย"
     ทุกวันศุกร์ต้องส่งต้นฉบับให้สกุลไทย   อย่างช้าสุดคือวันจันทร์   สมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ต้องส่งไปรษณีย์ภายในพฤหัสบดี เพื่อให้ถึงสกุลไทยในวันรุ่งขึ้น  ก็ต้องอดหลับอดนอนปั่นต้นฉบับให้เสร็จ ก่อนจะไปทำงาน

      วินัย แปลว่าต้องบังคับตัวเองให้ได้    ไม่มีคำว่า " ไม่มีอารมณ์จะเขียน"  "เหนื่อยจะตาย  ขอพักสักอาทิตย์"  " ช่วงนี้ยุ่งมาก ไม่มีเวลาจริงๆ"      ถ้าหากว่าใช้แม้แต่ 1 ใน 3  บ่อยๆ  ก็คือปิดฉากอาชีพนี้ได้เลย    ไม่มีบก.คนไหนให้อภัยคุณ   เพราะการเขียนเป็นศิลปะก็จริง  แต่การทำนิตยสารเป็นธุรกิจในวงเงินหลายร้อยล้าน  เขาจะมาสะดุดเพราะคุณคนเดียวไม่ได้  เขาไล่คุณออกง่ายกว่า
       เพราะฉะนั้น   ถ้าจะเป็นนักเขียนอาชีพ  คุณจะไม่สามารถมีข้อแก้ตัวให้ตัวเองได้เลย ในการเอาอารมณ์ขึ้นมาเหนือวินัย 
        ดิฉันเคยป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ   ต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาล  ยังต้องสั่งเด็กในบ้านให้ไปเอาคอมโน้ตบุ๊คมาที่ห้องคนไข้ แล้วก็นั่งจิ้มคีบอร์ดไปทั้งๆอีกแขนยังให้น้ำเกลือ  เพื่อจะเขียนต้นฉบับให้เสร็จทันส่ง

       อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากถามว่าทำไมคุณถึงต้องทรมานทรกรรมตัวเองขนาดนั้น   ก็ขอตอบว่าเพราะดิฉันตระหนักว่าอาชีพนี้มีขึ้นมีลง   ขึ้นอยู่กับหลายอย่างเช่นสังขารคนเขียน   ค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนไป  คลื่นจากนวัตกรรมใหม่ๆซัดเข้ามา  ทุกอย่างผันแปรง่ายมาก  บทจะเปลี่ยนมันพลิกผัน 180 องศาได้ง่ายๆ
       ในวัยที่เรารู้ว่าเรากำลังถึงจุดพีคของอาชีพ  เราก็ใช้โอกาสนั้นให้เต็มที่   เมื่อมันผ่านไปแล้วจะได้ไม่มีความเสียใจว่า  "รู้ยังงี้  ฉันก็คง..."  หรือว่า "เสียดายที่ไม่ได้..."   
       ทุกวันนี้ดิฉันก็รู้สึกว่าเราได้ใช้เวลาในชีวิตคุ้มค่าแล้ว     ที่เหลืออยู่ตอนนี้และในอนาคต คือทำอะไรตามสบาย อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ     อย่างมาเขียนอะไรๆในเรือนไทยนี่ก็คืออยากทำ   มีคุณม้าแอดมินเป็นคนช่วยให้เว็บไซต์นี้อยู่ยงคงกระพันมา 23 ปี โดยไม่มีสปอนเซอร์   
          ทุกครั้งที่มีใครบอกมาว่า  ได้ความรู้จากเว็บนี้  ดิฉันก็เหมือนได้ค่าตอบแทนที่มีค่าสูงสุดค่ะ

          ต่อไปจะเล่าถึงการสร้างวินัย


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ต.ค. 22, 12:04
คั่นสั้นๆ ครับ

       เคย อ่าน ผลงาน ของอ. (ทั้งนิยายและเรื่องแปล) จากสกุลไทยที่เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ซื้อประจำ ต่อจากนั้นแล้ว
       จะเป็นการดู ผลงานที่สร้างเป็นละครออกอากาศต่อเนื่องยาวนาน,มากมายนับสิบๆ จนถึงยุคนี้ที่มีการนำกลับมารีเมคกันอีก

วิกกี้ว่า - เรื่องแปล ใช้นามปากกา วัสสิกา, รักร้อย, ปารมิตา แต่เมื่อรวมเล่มแล้วจึงเปลี่ยนมาเป็น ว.วินิจฉัยกุล
           ยกเว้นเรื่อง จันทรคราส ที่ยังคงใช้ ปารมิตา


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 28 ต.ค. 22, 13:12
     สิ่งสำคัญทีทำให้ดำรงอาชีพมาได้ตลอดรอดฝั่ง คือ "วินัย"
     ทุกวันศุกร์ต้องส่งต้นฉบับให้สกุลไทย   อย่างช้าสุดคือวันจันทร์   สมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ต้องส่งไปรษณีย์ภายในพฤหัสบดี เพื่อให้ถึงสกุลไทยในวันรุ่งขึ้น  ก็ต้องอดหลับอดนอนปั่นต้นฉบับให้เสร็จ ก่อนจะไปทำงาน

      วินัย แปลว่าต้องบังคับตัวเองให้ได้    ไม่มีคำว่า " ไม่มีอารมณ์จะเขียน"  "เหนื่อยจะตาย  ขอพักสักอาทิตย์"  " ช่วงนี้ยุ่งมาก ไม่มีเวลาจริงๆ"      ถ้าหากว่าใช้แม้แต่ 1 ใน 3  บ่อยๆ  ก็คือปิดฉากอาชีพนี้ได้เลย    ไม่มีบก.คนไหนให้อภัยคุณ   เพราะการเขียนเป็นศิลปะก็จริง  แต่การทำนิตยสารเป็นธุรกิจในวงเงินหลายร้อยล้าน  เขาจะมาสะดุดเพราะคุณคนเดียวไม่ได้  เขาไล่คุณออกง่ายกว่า
       เพราะฉะนั้น   ถ้าจะเป็นนักเขียนอาชีพ  คุณจะไม่สามารถมีข้อแก้ตัวให้ตัวเองได้เลย ในการเอาอารมณ์ขึ้นมาเหนือวินัย 
        ดิฉันเคยป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ   ต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาล  ยังต้องสั่งเด็กในบ้านให้ไปเอาคอมโน้ตบุ๊คมาที่ห้องคนไข้ แล้วก็นั่งจิ้มคีบอร์ดไปทั้งๆอีกแขนยังให้น้ำเกลือ  เพื่อจะเขียนต้นฉบับให้เสร็จทันส่ง

       อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากถามว่าทำไมคุณถึงต้องทรมานทรกรรมตัวเองขนาดนั้น   ก็ขอตอบว่าเพราะดิฉันตระหนักว่าอาชีพนี้มีขึ้นมีลง   ขึ้นอยู่กับหลายอย่างเช่นสังขารคนเขียน   ค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนไป  คลื่นจากนวัตกรรมใหม่ๆซัดเข้ามา  ทุกอย่างผันแปรง่ายมาก  บทจะเปลี่ยนมันพลิกผัน 180 องศาได้ง่ายๆ
       ในวัยที่เรารู้ว่าเรากำลังถึงจุดพีคของอาชีพ  เราก็ใช้โอกาสนั้นให้เต็มที่   เมื่อมันผ่านไปแล้วจะได้ไม่มีความเสียใจว่า  "รู้ยังงี้  ฉันก็คง..."  หรือว่า "เสียดายที่ไม่ได้..."   
       ทุกวันนี้ดิฉันก็รู้สึกว่าเราได้ใช้เวลาในชีวิตคุ้มค่าแล้ว     ที่เหลืออยู่ตอนนี้และในอนาคต คือทำอะไรตามสบาย อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ     อย่างมาเขียนอะไรๆในเรือนไทยนี่ก็คืออยากทำ   มีคุณม้าแอดมินเป็นคนช่วยให้เว็บไซต์นี้อยู่ยงคงกระพันมา 23 ปี โดยไม่มีสปอนเซอร์   
          ทุกครั้งที่มีใครบอกมาว่า  ได้ความรู้จากเว็บนี้  ดิฉันก็เหมือนได้ค่าตอบแทนที่มีค่าสูงสุดค่ะ

          ต่อไปจะเล่าถึงการสร้างวินัย

สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ จินตนาการครับ ผมทึ่งมากกับการที่นักเขียนมีจินตนาการได้ต่อเนื่อง


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 22, 16:51

    ผลงานที่สร้างเป็นละครออกอากาศต่อเนื่องยาวนาน,มากมายนับสิบๆ จนถึงยุคนี้ที่มีการนำกลับมารีเมคกันอีก

วิกกี้ว่า - เรื่องแปล ใช้นามปากกา วัสสิกา, รักร้อย, ปารมิตา แต่เมื่อรวมเล่มแล้วจึงเปลี่ยนมาเป็น ว.วินิจฉัยกุล
           ยกเว้นเรื่อง จันทรคราส ที่ยังคงใช้ ปารมิตา

   นิยายที่ทำละครทีวีไปแล้ว มี 53 เรื่องค่ะ  อยู่ในคิวตอนนี้ประมาณ 8 เรื่อง
   บางเรื่องทำซ้ำ อย่างเศรษฐีตีนเปล่า  กับปัญญาชนก้นครัว  4 ครั้ง  แต่ปางก่อน 3 ครั้ง   ไร้เสน่หา 2 ครั้ง ภาพยนตร์ 1 ครั้ง  หนุ่มทิพย์ 2 ครั้ง    วิมานมะพร้าว ละคร 2 ครั้ง  หนัง 1   อะไรอีกจำไม่ได้แล้ว
   นามปากกาที่ใช้อย่างอื่นในเรื่องแปลก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ นโยบายนิตยสารให้ตั้งนามปากกาหลากหลายกันไป  ไม่ให้ลงซ้ำกัน    แต่พอรวมเล่ม สนพ.กลัวขายไม่ออกเพราะคนอ่านไม่รู้ว่าเป็นใคร เลยต้องใช้ ว.วินิจฉัยกุล 
    รอดไปได้เรื่องเดียวคือ จันทรคราส   เพราะสนพ.ไม่ขัดข้อง ค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 22, 16:59
สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ จินตนาการครับ ผมทึ่งมากกับการที่นักเขียนมีจินตนาการได้ต่อเนื่อง

จินตนาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเขียน เหมือนร่างกายที่สูงและแข็งแกร่ง  จำเป็นสำหรับนักกีฬา 
ถ้าพูดด้วยภาษาพระ  จินตนาการคือ "ภาพนิมิต" ประเภทหนึ่ง   นักเขียนมองเห็นได้ชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป  เหมือนม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเขียนว่าตอนท่านเขียนสี่แผ่นดิน ท่านก็เห็นเรื่องราวชัดเจนเหมือนตัวละครมากระซิบบอกอยู่ใกล้ๆ 
ภาพนิมิตยิ่งชัดเท่าไหร่   เรื่องก็ออกมาโน้มน้าวอารมณ์คนอ่านได้มากเท่านั้น   โดยมีสื่อที่สำคัญอย่างยิ่งอีกอย่าง คือ "ภาษา"  ถ้าถ่ายทอดไม่ดี ภาพนิมิตก็พร่าหรือสับสน    เพราะฉะนั้นนักเขียนต้องอ่านหนังสือมากๆ เพื่อจะคล่องเรื่องภาษา  และต้องหาหนังสือที่ใช้ภาษาดีๆมาอ่านด้วย   อย่าอ่านแต่แชท  ภาษาที่ใช้คุยกัน เอาไปเป็นพรรณนาโวหารและบรรยายโวหารไม่ได้ค่ะ   


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 28 ต.ค. 22, 21:33
คุณป้าตอนสาว  สวยสมกับที่บรรยายไว้ถึงคุณหญิงลอออร ไหมคะ

คุณป้าของอาจารย์เทาชมพู งามมากครับ สมกับที่บรรยายไว้ในมาลัยสามชาย

หลายปีก่อน ผมเคยเข้าใจผิด คิดว่าต้นแบบของคุณหญิงลอออร คือคุณหญิง มณี สิริวรสาร ครับ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 22, 08:21
 หลายคนก็เข้าใจผิดแบบนั้นค่ะ    ความจริง ขอยืมมานิดหน่อย คือให้พระเอกคนที่สามเป็นแพทย์ เหมือนสามีคุณหญิงมณี   แทนที่จะเป็นวิศวกรอย่างในความเป็นจริง


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 29 ต.ค. 22, 18:49

กระทู้นี้ดีจังครับ ผู้ที่คิดจะเข้าสู่แวดวงการประพันธ์ไม่ควรพลาด
ทำให้ได้รู้จัก ว.วินิจฉัยกุล แก้วเก้า ฯ มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ทราบว่าท่านได้เคยให้สัมภาษณ์ทำนองนี้แก่นิตยสารหรือรายการใดหรือไม่
สำหรับอาจารย์เทาชมพูนั้น ผมมีความรู้สึกคุ้นเคย เพราะท่านเป็นเจ้าเรือนนี้ ยังเคยถูกท่านปราม(สุภาพมาก)เมื่อเห็นผมเริ่มจะออกนอกลู่ มีความรู้สึกว่าท่านใช้ภาษาได้อย่าง”นายภาษา”
ส่วนอาจารย์คุณหญิงวินิตา ได้พบท่านแบบไม่คาดฝันมาก่อนที่งานหนังสือฯเมื่อหลายปีมาแล้ว ท่านกรุณาเซ็นชื่อทีปกหนังสือให้ด้วย ปลื้มมากจนถึงบัดนี้


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 29 ต.ค. 22, 19:03
กระทู้นี้ดีจังครับ ผู้ที่คิดจะเข้าสู่แวดวงการประพันธ์ไม่ควรพลาด
ทำให้ได้รู้จัก ว.วินิจฉัยกุล แก้วเก้า ฯ มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ทราบว่าท่านได้เคยให้สัมภาษณ์ทำนองนี้แก่นิตยสารหรือรายการใดหรือไม่
สำหรับอาจารย์เทาชมพูนั้น ผมมีความรู้สึกคุ้นเคย เพราะท่านเป็นเจ้าเรือนนี้ ยังเคยถูกท่านปราม(สุภาพมาก)เมื่อเห็นผมเริ่มจะออกนอกลู่ มีความรู้สึกว่าท่านใช้ภาษาได้อย่าง”นายภาษา”
ส่วนอาจารย์คุณหญิงวินิตา ได้พบท่านแบบไม่คาดฝันมาก่อนที่งานหนังสือฯเมื่อหลายปีมาแล้ว ท่านกรุณาเซ็นชื่อทีปกหนังสือให้ด้วย ปลื้มมากจนถึงบัดนี้

.
ผมเห็นด้วยเลยครับ .....กระทู้นี้ มีชีวิตชีวา มีสีสรรค์เป็นอย่างยิ่ง.......
...


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 22, 19:07
   กำลังรอว่าเมื่อไรคุณ Jalito จะยกมือขึ้นพูดเสียทีค่ะ   แต่เรื่องเข้ามานั่ง น่าจะเข้ามาแบบเงียบๆสักพักแล้ว   ;D
   เคยให้สัมภาษณ์เหมือนกัน   เล่าตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ต่างกรรมต่างวาระ  ค่ะ  รวบรวมเอามาเล่ารวดเดียวเลยในกระทู้นี้

    วิธีสร้างวินัยอีกอย่างหนึ่งคือกำหนดปริมาณงานไว้เลยว่า ต้องทำวันละเท่าใด  เช่น ภายใน 7 วันต้องส่ง 1 บท  ถ้าความยาวคือ 7 หน้า ต้องเขียนให้ได้วันละ 1 หน้า ถึงจะเข้านอนได้    วันไหนไม่ได้เขียนเพราะมีเหตุอะไรก็ตาม วันรุ่งขึ้นต้องเขียน 2 หน้า  งานก็จะเสร็จทันกำหนดเวลา  วิธีนี้ เฮมิงเวย์ก็ใช้เหมือนกันค่ะ

     ย้อนไปสมัยยังรับราชการ   ต้องทำผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ   ตอนนั้นเลือกแปลหนังสือ 1 เล่มคือความพยาบาทฉบับสมบูรณ์ แปลจาก Vendetta! ของ Marie Corelli
     นับจาก "แม่วัน" หรือพระยาสุรินทราชาแปลเรื่องนี้เป็นนวนิยายแปลเรื่องแรกของไทย ในรัชกาลที่ 5 แล้วยังไม่มีใครแปลอีก  เจ้าคุณท่านแปลแบบรวบรัด  หลายบทถูกตัดออกไป   เมื่อมาแปลให้ครบเรื่องพร้อมกับทำวิจัยไปด้วย ก็เอาจำนวนหน้าหนังสือตั้งขึ้น หารด้วย 365 เพราะงานต้องเสร็จใน 1 ปี  พบว่าต้องแปลให้ได้วันละ 7 หน้า ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะไม่ออกยังไงก็ต้องให้ได้ 7 หน้า    วันไหนทำได้มากกว่านั้นก็เท่ากับงานที่รออยู่ข้างหน้าจะเบาลง  ผลก็คือทำงานเสร็จทันเวลา


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 22, 19:15
    วิธีทำงานให้ได้มากในเวลาจำกัด คือบอกตัวเองว่า  การเขียนหนังสือเป็นสิ่งยากอยู่แล้ว  ไม่ควรสร้างเงื่อนไขต่างๆกับตัวเอง ให้ทำงานได้ยากเข้าไปอีก      เช่น จะต้องเดินทางไปพักริมทะเล หรือบนภูเขาถึงจะเขียนได้ลื่น    ต้องรอให้ทุกคนในบ้านเข้านอนเสียก่อน บ้านเงียบดีถึงจะลงมือเขียน    ต้องเขียนเฉพาะวันหยุดเท่านั้น  ฯลฯ
   ถ้าอยากทำเช่นนั้น ต้องใช้วิธีเขียนให้จบก่อนแล้วค่อยส่งนิตยสาร หรือส่งรวมเล่มกับสำนักพิมพ์เลย    ซึ่งไม่จำกัดเวลาเขียน จะกี่ปีก็ได้    แต่ถ้าต้องส่งต้นฉบับทุก 7 วันหรือ 14 วัน  จะทำไม่ได้   
   เพราะฉะนั้น    ผลพลอยได้ของการฝึกตัวเองให้เขียนได้ทุกสถานที่และโอกาส ทำให้ทำงานได้มาก  เมื่อทำงานได้มากก็ไม่เครียด เมื่อไม่เครียด  ความคิดก็ไม่สะดุด   งานก็เสร็จทันเวลา 
   ถ้าเป็นคนมีครอบครัวแล้ว ไม่แนะนำให้มีห้องทำงานส่วนตัว    เพราะถ้ามี เราจะถูกงานทำให้ห่างครอบครัวตั้งแต่ตอนเย็นไปจนดึก  ไม่ได้อยู่กับพร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูก    ถ้านั่งอยู่แค่ในมุมหนึ่งของห้องแล้วทำงานไป  ลูกก็อยู่ในสายตา เขาขอให้ช่วยเรื่องการบ้านก็สอนเขาได้   พฤติกรรมของเขาเราก็เห็นโดยตลอดตั้งแต่เล็กจนโต   ส่วนเขาก็เห็นแม่ทำงาน ไม่ได้นั่งๆนอนๆอยู่เฉยๆ เท่ากับสอนเขาในตัวให้เห็นคุณค่าของการทำงานค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 22, 12:29
พูดเรื่องจินตนาการต่อ

จินตนาการของนักเขียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน  นอกจากไม่เหมือนกัน ยังไม่เท่ากันด้วย   พวกที่มีจินตนาการน้อยไม่ควรเอาดีคิดจะประกอบอาชีพนี้  แม้แต่สารคดีก็ต้องใช้จินตนาการในการบรรยายเรื่องให้เห็นภาพ  แต่ถ้าทำเป็นงานอดิเรกก็ไม่เป็นไร อาจจะเพลินๆไปได้เป็นปีหรือหลายปี
ต่อมาคือพวกที่มีปานกลาง พวกนี้เขียนได้   แต่นานเข้าอาจพบว่ามาถึงทางตัน  ทำให้ผลตอบรับไม่ดีเท่าที่หวัง จากนั้นเมื่อมีอาชีพอื่นที่มั่นคงกว่าผ่านเข้ามา  หรือมีภาระอย่างอื่นต้องดูแล ก็จะหันเหไปทำอย่างอื่นที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า 
ก็เหลือแต่พวกจินตนาการสูง ซึ่งมีไม่มากนัก    คนที่เป็นนักเขียนอาชีพได้จนตลอดรอดฝั่ง ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยกว่าคนจบปริญญาเอก

นักเขียนไม่ว่ามีจินตนาการมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นคนที่สามารถลำดับจินตนาการได้ตั้งแต่ต้นจนจบก่อนลงมือเขียน  จะเขียนเรื่องได้คล่องกว่าคนที่คิดไม่ค่อยออก  เลยใช้วิธีเขียนไปคิดไป  จบยังไงค่อยรู้กันตอนจบ   
ถ้าเปรียบ ก็เหมือนขับรถโดยไม่รู้จุดหมายปลายทาง แต่ขับไปเรื่อยๆตามถนน  มีทางให้ตรงก็ตรง  ให้เลี้ยวก็เลี้ยว  เลี้ยวไปเลี้ยวมาเลยหลงทางได้ง่าย  โอกาสที่เดาสุ่มต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง มีน้อยมาก
หรือไม่ก็เหมือนคนสร้างบ้านแบบไม่มีพิมพ์เขียว คืออยากต่อห้องตรงไหนก็ต่อ  บ้านถึงเสร็จ ก็จะออกมาไม่ได้รูปทรงสวยงามเท่าที่ควร  ดีไม่ดีส่วนที่ต่อเติมเข้าไปอาจจะพังครืนล้มลงมา  ทำให้บ้านทั้งหลังเสียหายไปด้วยค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 22, 15:33
คุณ JibbyJ คนตั้งกระทู้ หายไปเลยนะคะ

จะมาต่อเรื่อง "ภาษา" ค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 22, 19:05
    กุญแจอีกดอกที่ไขไปสู่ความสำเร็จของนักเขียน คือภาษา
    นักเขียนที่ดีต้องรู้จักใช้ภาษาได้ดี   เรื่องนี้จะเรียกว่าข้อบังคับก็ได้   ยังไม่เคยเห็นนักเขียนคนไหนประสบความสำเร็จด้วยการใช้ภาษาผิดๆถูกๆ   ภาษาที่แข็งกระด้าง  ภาษาที่ไม่สื่อความหมาย  และภาษาที่ " ไม่..." อะไรอีกหลายๆอย่าง  รวมความว่าเป็นภาษาที่อ่านไม่รู้เรื่องหรือถึงรู้เรื่องก็ไม่กระทบใจคนอ่าน

      ขอให้สังเกตความแตกต่างของภาษาใน 2 ประโยคข้างล่างนี้

      เสียงปืนถูกยิงดังปังๆๆติดต่อกัน
      เสียงปืนกัมปนาทขึ้นอย่างหูดับตับไหม้
      ความหมายเดียวกัน แต่การใช้ภาษาเป็นคนละระดับเลยทีเดียว    ประโยคแรกเขียนตรงๆทื่อๆ ไม่ให้อารมณ์ใดๆ บอกแต่ข้อเท็จจริง ว่ามีเสียงปืนยิงซ้ำๆกันหลายนัด   ประโยคที่สองมีการเลือกใช้โวหารที่เน้นให้เห็นอานุภาพของเสียงปืนดังสนั่น  รัวถี่ยิบจนหูอื้อ  เร้าอารมณ์คนอ่านให้ตื่นเต้นว่า จะต้องมีเรื่องคอขาดบาดตายเกิดขึ้นแน่ๆ

      รองเท้าของวีระเริ่มกัดจนเขาเดินไม่ถนัด แต่ก็ต้องทน   เดินไปก็ด่าไป
      วีระกัดฟันลากเท้าเดินกระโผลกกระเผลก ด้วยฤทธิ์ของรองเท้าเจ้ากรรม  เขาแช่งด่ามันเสียไม่นับทั้งๆรู้ว่าช่วยอะไรไม่ได้     
      แบบแรก  บอกเล่าเฉยๆถึงภาพที่เห็น
      แบบที่สอง นอกจากเห็นภาพ  คนอ่านจะสัมผัสถึงความเจ็บปวดของวีระ ตลอดจนอารมณ์เสียที่จำต้องทนสถานการณ์นี้โดยไม่มีทางเลือกอื่น

      ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างภาษาที่นักเขียนนวนิยายควรฝึกฝนให้มี    อันได้แก่ภาษาที่มีสำนวนโวหาร สร้างอารมณ์ให้คนอ่านได้

      ฝนตกลงมาเล็กน้อย  กับ สายฝนโปรยปรายลงมาเบาๆ  ให้อารมณ์ที่แตกต่างกัน  ทั้งๆความหมายเดียวกัน   อย่างที่สองนุ่มนวลกว่า  ให้บรรยากาศที่สวยงามมากกว่า


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ต.ค. 22, 10:59
           สำหรับคนจินตนาการไม่บรรเจิด น้ำหอมกลิ่นนี้อาจช่วย"บิ๊ว" ในการแต่งนิยายแนวภูตวิญญาณได้
           แต่ ระดับ"แก้วเก้า" แล้ว คงไม่ต้องใช้ตัวช่วยแบบนี้กระมัง,ครับ อีกอย่างคือ ระหว่างแต่งเคยเกิด
เหตุการณ์แปลกๆ อะไรขึ้นบ้าง เหมือนอย่างที่ ทมยันตี เคยเล่าตอนแต่งเรื่อง พิษสวาท
          (กลายเป็น คำถามข้ามไปอีกกระทู้จนได้ :)
         



กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ต.ค. 22, 18:55
ตอบคุณหมอ SILA
    อย่างที่เล่าไปข้างต้นกระทู้นี้แล้วว่า จินตนาการของนักเขียนก็คือภาพนิมิตประเภทหนึ่ง      เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดิฉันต้องระวังมาก ก็คือต้องมีสติเตือนตัวเองอยู่ทุกเวลาว่า  สิ่งที่เราเห็นนั้น เราเห็นจริง   แต่ตัวของมันเองนั้น-ไม่จริง
   หรือต่อให้มันเป็นเรื่องจริง   มันก็ไม่ได้นำไปสู่เส้นทางของพุทธศาสนา   ไม่ใช่ มรรค  ซึ่งเป็น 1  ในอริยสัจจ์ 4   แต่อย่างใด   กล่าวคือไม่ใช่เส้นทางของการหลุดพ้นจากทุกข์  แต่อาจทำให้เพลิดเพลินได้ชั่วคราว 
    ถึงกระนั้น ในความเพลิดเพลินที่ว่า จะต้องใช้สติกำกับอยู่เสมอ   ไม่งั้น 'หลุด' เข้าไปในวังวนได้ง่าย   เนื่องจากจินตนาการยิ่งแรงเท่าไร  ความเพลิดเพลินก็จะมากเท่านั้น  บางทีก็เพลิดเพลินจนรู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือโลก  เป็นแรงดึงดูดมหาศาลให้เข้าไปแล้วติดใจจนไม่อยากกลับออกมา   ผลคือหลงเข้ารกเข้าพงไปทางไหนก็ไม่รู้ มันน่ากลัวสำหรับตัวเองและครอบครัวมากค่ะ
    ตอนนี้ยังพูดคุยกับสมาชิกเรือนไทยรู้เรื่องอยู่ค่ะ  คุณหมอไม่ต้องห่วง 


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 22, 19:42
   ตั้งแต่เริ่มลงมือเขียนเป็นอาชีพ ก็รู้สึกเสมอว่าอาชีพนี้เหมือนเดินอยู่บนถนนสายยาว ที่ทอดผ่านกาลเวลามานานนับร้อยปี  ก็คงจะทอดยาวไปอีกนับชั่วหลานเหลน  ใครจะไปนึกว่า วันดีคืนดี คลื่นลูกใหม่ที่เรียกว่า "สมาร์ตโฟน" ซัดเข้ามาให้โครมเดียว  ถนนทั้งสายหายไปในพริบตา
   นิตยสารทั้งหลายปิดตัวลงเกือบ 100%  ในเวลารวดเร็วน่าใจหาย    มองไม่เห็นแผงหนังสือตามตลาดอีกแล้ว สำนักพิมพ์ก็ทยอยปิด  หน้ากระดาษและหมึกพิมพ์ที่คุ้นเคยหายไปอีกเช่นกัน มีแต่ตัวหนังสือให้อ่านผ่านหน้าจอ      นักเขียนกลายเป็นคนยืนงง ถ้าหมุนตัวตามโลกดิจิทัลไม่ทัน  ก็จะถูกคลื่นซัดหายไปในพริบตา
   นักเขียนยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ จิ้มคีบอร์ดอย่างชำนาญ  พากันมายืนแทนที่นักเขียนยุคเก่าที่เกิดมาพร้อมกับกระดาษและปากกา    นิยายยุคดิจิทัลอย่าง นิยายอีบุ๊ค   นิยายไลน์ และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างพรั่งพรูออกมาสู่หน้าจอ
   แล้ว "แก้าเก้า" ทำอย่างไร

  โชคดีหน่อยที่ดิฉันเคยชินกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่พ.ศ. 2535   ตัวที่ใช้พิมพ์หนังสือ ในตอนนั้นเขาเรียกว่า word processor  มีโปรแกรมให้เลือกพิมพ์ต้นฉบับ 2 แบบ คือ เวิร์ดราชวิถีกับเวิร์ดจุฬา   ส่งต้นฉบับโดยไม่ต้องใส่ซองอย่างเมื่อก่อน แต่ส่งด้วย Fax Modem  (เดี๋ยวนี้น่าจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว)    เมื่ออินเทอร์เน็ตมาถึงกรุงเทพและปริมณฑล   อีเมลก็ยิ่งทำให้ส่งต้นฉบับสะดวกกว่าแฟกซ์โมเด็ม
   ดิฉันเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตั้งแต่พ.ศ. 2542  จำค.ศ. ง่ายกว่าคือปี 1999   ช่วยได้มากในการค้นข้อมูลต่างๆ แม้ว่าตอนนั้นมีแต่ yahoo ก็ถือว่าใช้การได้ดีกว่าไต่บันไดห้องสมุดหลายเท่า
   การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นทำให้รอดตัว ไม่ตกเทรนด์ มาสัก 2 ทศวรรษได้     แต่มาถึงพ.ศ. 2565  ก็ต้องยอมรับว่า app มันเพิ่มมากมายเหลือเกินจนตามไม่ทัน    โลกไม่ใช่ที่อยู่ของคนยุค Baby Boomers อีกแล้ว   ว่ายตามกระแสเขาไม่ไหว
   แต่ก็ยังดีหน่อย  เมื่อว่ายตามไม่ไหวก็ไม่ต้องว่าย    ยังมีชายฝั่งให้หายใจได้อีกมาก    นั่นคือการบันทึกภาพสังคมที่หมดไปแล้วในความเป็นจริง  แต่ยังดำรงอยู่ในความทรงจำ 
   คนจำนวนมากแม้พอใจกับปัจจุบัน   แต่ก็ยังอยากรู้จักอดีตที่พวกเขาเกิดไม่ทัน   เราก็ทำหน้าที่กระจกเงาให้เขาเห็น  มันเป็นความได้เปรียบของคนที่เกิดมาก่อน   เพราะยังเข้าใจวัฒนธรรมและค่านิยมต่างๆในอดีตที่ปัจจุบันกลายเป็นของหายากไปแล้ว 
   อย่างเช่น มาลัยสามชาย และ  เพชรกลางไฟ เป็นต้น   
     


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 02 พ.ย. 22, 08:24
ยังพับเพียบเรียบร้อย นั่งฟังการบรรยายอย่างเงียบ ๆ ครับ

อาจารย์ทำให้ผมคิดถึงความหลังเมื่อครั้งใช้คอมพิวเตอร์ ๘ บิท ใช้เวิร์ดราชวิถีและเวิร์ดจุฬาเลยครับ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 22, 08:55
  @  อาจารย์หมอ CVT
   ตอนใช้เวิร์ดราชวิถีรู้สึกว่ามันง่ายกว่าพิมพ์ดีดไฟฟ้า  ตรงที่ลบและแก้ไขข้อความง่ายกว่ามาก   แต่พอมาใช้ window ต่างๆ มันยิ่งง่ายขึ้นอีกค่ะ  
    จนบัดนี้เปลี่ยน window มานับไม่ถ้วนแล้ว   เสียดาย Window XP  ว่าง่ายสุด ใช้อยู่หลายปีกว่าเขาจะยกเลิก  เมื่อเทียบกับ window 7 กับ 10    ซึ่งไม่ชอบเลย   แต่ก็ต้องใช้เพราะไม่มีทางเลือก
    ทำให้ยังไม่อยากเปลี่ยนเป็น 11  เกรงว่ามันจะยากกว่า 10  ต้องมาจำวิธีใช้กันใหม่อีกค่ะ  

   กลับมาเรื่องปัจจุบัน
   หลังจากคลื่นดิจิทัลซัดระบบกระดาษล่มไปเป็นจำนวนมากแล้ว   นักเขียนอย่างดิฉันก็ต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมใหม่  ตื่นขึ้นมาวันหนึ่งพบว่า ไม่มีสกุลไทยให้ต้องส่งต้นฉบับทุกวันศุกร์อีกแล้ว     นิตยสารอื่นๆที่เคยส่งงานให้อย่างพลอยแกมเพชรก็ปิดตัวไปเช่นกัน
   ผลอย่างแรกคือรู้สึกสบายมาก  ได้มีชีวิตเรื่อยๆ อยู่แบบพักผ่อนตามสบายเป็นครั้งแรก  จะเขียนก็ได้ไม่เขียนก็ได้ ไม่มีใครโทรมาทวงต้นฉบับให้สะดุ้งผวาอย่างเมื่อก่อน     ลูกๆก็โตจนทำงานไปแล้ว  หมดห่วง    
   แต่พออยู่ไปสักพัก ความเคยชินว่าไม่เคยอยู่เปล่าๆ ทำให้ชักอยู่ไม่สบายอีก   คงจะจริงอย่างที่โหรโสรัจจะเคยทำนายไว้  กล่าวคือนานหลายปีมาแล้ว  ดิฉันนัดรับประทานอาหารมื้อเที่ยงกับพี่ "มนันยา" นักเขียนและนักแปลชื่อดัง    ปรากฏว่าคุณโสรัจจะ นวลอยู่ มาร่วมวงด้วยในฐานะลูกศิษย์เก่าของพี่มนันยา   นึกสนุกเลยขอให้ดูหมอให้   โหรโสรัจจึงทำนายว่า
   " ชีวิตอาจารย์ อะไรๆก็ดี   เสียแต่ว่าในชีวิตต้องเหนื่อยมาก   เรียกว่าไม่มีวันไหนเลยที่ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสบายๆ ไม่มีอะไรทำ  จะเหนื่อยไปจนวันสุดท้ายของชีวิต"
    
    คำทำนายของคุณโสรัจจะน่าจะถุกต้อง  หลังจากนั้นอีกไม่นานดิฉันก็ได้รู้จัก  e book   เข้ามาแทนนิตยสารเล่ม   เจ้าของเว็บ e book ตกลงจะนำผลงานไปลงพิมพ์ให้อ่านกันทางหน้าจอ       ในเมื่อพิมพ์ต้นฉบับด้วยไฟล์เวิร์ดอยู่แล้วก็ง่ายมากที่จะส่งอีเมลไปให้  เขาก็นำลงพิมพ์ได้เลย
    เราก็วนกลับไปสู่ลูปเดิม  คือก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 22, 15:27
  นึกไม่ออกว่าจะเล่าอะไรอีกต่อไปแล้วค่ะ   ใครอยากทราบอะไรก็ถามมาดีกว่า
  ถ้าไม่มี จะได้จบกระทู้นี้เสียทีค่ะ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 02 พ.ย. 22, 21:25
ขอเสริมนิดนะคะ ลีลาการเล่าเรื่องก็สำคัญค่ะ
ในฐานะนักอ่าน ที่เป็นFC 'ว. วินิจฉัยกุล' กับ 'แก้วเก้า' ก็เพราะติดใจลีลาการเล่าเรื่องนี่ล่ะค่ะ
ขอยกตัวอย่างเรื่อง 'รัตนโกสินทร์' ทั้งที่มีเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หนักๆ มีความรู้สอดแทรกอยู่เพียบ
แต่เพราะลีลาการเล่าเรื่องที่สนุก ทำให้ไม่รู้สึกว่าหนักหรือน่าเบื่อเหมือนกำลังอ่านตำราเลยค่ะ 


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 22, 07:52
ลีลา หรือ style  หมายถึงวิธีการสร้างผลงานที่ดูแล้วเฉพาะตัว  เป็นเสน่ห์สำคัญของศิลปินทุกสาขา

ไม่ว่าศิลปินสาขาไหน  คนที่มี style จะโดดเด่นกว่าคนที่ไม่มี   เหมือนคนแต่งตัวแบบมี style  คนอื่นๆมองก็จะสะดุดตาว่าคนแต่งตัวธรรมดาๆกลืนไปกับคนเดินถนนคนอื่นๆ
เรื่อง style หรือลีลา เป็นเรื่องสอนกันไม่ได้  ต้องหัดพัฒนากันเอง    บางคนคิดว่าการก๊อปลีลาของศิลปินดังๆจะทำให้ตัวเองพลอยขายออกไปด้วย แต่ขอให้นึกถึงตัวอย่าง  อย่างไมเคิล แจ๊กสัน  สมัยโด่งดัง ลีลาท่าเต้นของเขามีนักร้องใหม่ๆ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเลียนแบบกันนับไม่ถ้วน   แต่ก็ไม่มีใครก้าวขึ้นสู่แถวหน้าได้สักคน  ทุกวันนี้ก็คนเหล่านี้ก็หายไปหมด เมื่อไม่มีกระแสอีกแล้ว

ลีลาของศิลปินแต่ละคนอาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือตามวัย   แต่ถ้าเขามี "ลีลา" จริง   เวลาโชว์ผลงานก็จะเห็น "ลีลา" ของเขาเสมอ   
ยกตัวอย่างคุณสุรชัย สมบัติเจริญ  ตอนหนุ่มกับตอนสูงวัยแล้ว ร้องเพลงเดียวกันแต่ไม่เหมือนกัน แต่ที่มีสม่ำเสมอคือมีลีลาที่มีเสน่ห์โดดเด่น     นั่นคือ style

https://www.youtube.com/watch?v=KXKOGmLwya8


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 22, 09:15
     ลีลาการเขียนไม่มีแบบแผนตายตัว       เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาเอง   บางคนเริ่มด้วยการเลียนแบบสำนวนภาษาของนักเขียนคนโปรด   บางคนก็คิดประดิษฐ์แนวทางขึ้นมาเอง  จะสำเร็จหรือไม่  คนอ่านจะเป็นผู้ตัดสินให้เอง   เพราะคนอ่านคือกรรมการตัดสินอาชีพนักเขียนว่าจะอยู่ยงคงกระพันในอาชีพนี้หรือไม่   
     พูดถึงคนอ่าน ก็ได้ประสบการณ์มาอย่างหนึ่ง ว่าคนอ่านไทยกับคนอ่านฝรั่งไม่เหมือนกัน   วัฒนธรรมเขากับเรามาจากคนละพื้นฐานกัน    อะไรที่ฝรั่งยกย่อง คนไทยอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้   ในทำนองเดียวกัน อะไรที่คนไทยนิยมชมชอบ ฝรั่งก็เห็นว่าไม่น่าสนใจเลยก็มี    ส่วนชาติอื่นเช่นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีนั้นดิฉันไม่รู้ เพราะไม่เคยศึกษา
     ตั้งแต่สมัยเรียน เคยอ่าน "ความพยาบาท" พระยาสุรินทราชา แปลจาก Vendetta ของ   Marie Corelli  เธอเป็นนักเขียนเบสเซลเลอร์ของอังกฤษ  โด่งดังในช่วงที่เจ้าคุณสุรินทรฯ ไปศึกษาต่อที่นั่น   ท่านก็คงอ่านแล้วชอบจึงนำกลับมาแล้วแปลลงในวารสารที่ออกใหม่ในยุคปลายรัชกาลที่ 5   กลายเป็นหนังสือสำคัญในวงวรรณกรรมไทย เพราะเป็นนิยายแปลเรื่องแรก และเป็นนิยายเรื่องแรกของไทยด้วย
    ตอนเรียนปี 1  คณะมีอาจารย์อังกฤษจบใหม่ๆจาก Oxford  มาสอน   ดิฉันอยากรู้ผลงานของคอเรลลีมากกว่านี้เลยไปถามอาจารย์หลังชม.เรียน  อาจารย์งง ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ     ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ เจออาจารย์อีกในเฟซบุ๊ค เกษียณมานมนานแล้ว  ดีใจมากที่ได้เจอบรรดาศิษย์ชาวไทยอีก   ก็ทบทวนความหลังกัน ปรากฏว่าจนบัดนี้อาจารย์ก็ยังไม่เคยได้ยินชื่อคอเรลลี     ผิดกับนักอ่านไทย โดยเฉพาะนักอ่านชาวอักษรศาสตร์ ไม่มีใครไม่รู้จักคอเรลลี เพราะแปลกันแพร่หลาย
    ก็มารู้ทีหลังว่า วงวรรณกรรมอังกฤษถือว่าคอเรลลีเป็นนักเขียนเกรด B พูดกันเหยียดๆว่า เอาไว้อ่านสำหรับชาวอาณานิคม   พวกผู้ดีมีความรู้ไม่อ่านกัน   
    พอมาถึงยุคอินเทอร์เน็ต  งานของคอเรลลีหมดลิขสิทธิ์แล้ว   นำลงในเว็บไซต์ต่างๆกันหลายเว็บด้วยกัน   บางเว็บเปิดช่องให้ออกความเห็นได้  ก็มีคนอ่านไปออกความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าอ่านสนุกมาก      พวกเขาตัดสินจากความรู้สึก ไม่ใช่จากตำรา
   


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 พ.ย. 22, 10:21
       อาจารย์งง ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ  ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษปรากฏว่าจนบัดนี้อาจารย์ก็ยังไม่เคยได้ยินชื่อคอเรลลี   
   

        ได้รู้จัก คอเรลลี จาก ดรรชนีนาง ของอิงอรที่นางเอกอ้างถึง เต็ลมา จนไปหาอ่านฉบับซิมพลิฟายด์ในห้องสมุดสมัยมัธยม
        บางคนคงโฟกัส ความสนใจเฉพาะเรื่องที่สนใจ,ที่ชอบจริงๆ ซึ่งก็มีมากมายจนไม่มีเวลาไปหาทำเรื่องอื่น
        (แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า น่าจะผ่านตา,ผ่านหูมาบ้าง)


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ย. 22, 11:15
นักเขียนที่ชื่นชมผลงานของคอเรลลี (แต่ไม่เปิดเผย) จนถึงนำมาเป็นต้นฉบับแต่งนิยาย 'เงา' และ 'พิษสวาท' จนโด่งดัง คือ โรสลาเรน หรือ ทมยันตี

ดังที่คุณหญิงวินิตาเขียนวิจารณ์ไว้ในตอนท้ายและบทสรุปของบทความเรื่อง มารี คอเรลลี กับนวนิยายและเรื่องสั้นของไทย (https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jasu/article/download/250505/170090/)


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 22, 12:31

        ได้รู้จัก คอเรลลี จาก ดรรชนีนาง ของอิงอรที่นางเอกอ้างถึง เต็ลมา จนไปหาอ่านฉบับซิมพลิฟายด์ในห้องสมุดสมัยมัธยม
        บางคนคงโฟกัส ความสนใจเฉพาะเรื่องที่สนใจ,ที่ชอบจริงๆ ซึ่งก็มีมากมายจนไม่มีเวลาไปหาทำเรื่องอื่น
        (แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า น่าจะผ่านตา,ผ่านหูมาบ้าง)

       นักอ่านไทยรู้จักมารี คอเรลลีมากกว่านักอ่านอังกฤษ รวมทั้งอาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษด้วยค่ะ
       อาจารย์อเมริกันของดิฉันที่สอนวรรณคดีอังกฤษก็ไม่รู้จักเธอค่ะ   แต่โชคดีอาจารย์หัวหน้าภาควิชา ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องงานของคอเรลลี   อาจารย์ยกหนังสือของคอเรลลีที่ใช้ในการค้นคว้าให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย    ดิฉันก็เลยมีโอกาสได้อ่านงานชิ้นอื่นๆของเธอด้วย   ไม่มีขายในไทย

       นักแปลที่แปลงานของคอเรลลีมากที่สุดคือคุณ "อมราวดี" ผู้ล่วงลับไปนานแล้ว   อีกท่านคือดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ท่านหลังนี้ ตอนดิฉันไปเยี่ยมชมบ้านของคอเรลลี่ที่ Stratford-upon-Avon  ขากลับผ่านร้านหนังสือเก่าเลยแวะซื้อมาฝาก  ปรากฏว่าเก่าสมชื่อ กระดาษกรอบจับทีแทบจะหลุดติดมือ


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 22, 12:57
   งานของคอเรลลีไม่ถูกจริตของนักวิชาการและนักวิจารณ์  แต่ไปถูกจริตของคน 2 ชนชั้นด้วยกันคือ ราชสำนัก   กับคนชั้นกลาง    FC ตัวยงของคอเรลลีคือพระราชินีนาถวิคตอเรีย  โปรดให้นางข้าหลวงอ่านถวายก่อนบรรทมทุกคืน   ถ้ามีเรื่องใหม่พิมพ์ออกมาสู่ท้องตลาดเมื่อไรก็ต้องมีคนในวังมาซื้อไปถวายทันที      นอกจากนี้ กษัตริย์ที่เป็นพระญาติพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ก็โปรดปรานงานของคอเรลลีเช่นกัน    อีกกลุ่มหนึ่งคือชนชั้นกลาง ได้แก่พวกพ่อค้าฐานะดี  มีกำลังซื้อสูง
   ทั้งสองกลุ่มนี้ชอบงานสอนใจ ประเภททำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว   ซึ่งนักวิชาการอังกฤษไม่ชอบ เห็นว่าตีกรอบวรรณกรรมเกินไป     อีกข้อคืองานของคอเรลลีมักจะเกี่ยวกับอะไรที่เหนือธรรมชาติ   บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ดูถูกอีกนั่นแหละว่าเป็นงานชั้นต่ำ เหมาะกับคนระดับล่าง    ยิ่งบางเรื่องอย่าง Barabbas  คอเรลลีดึงเนื้อเรื่องมาจากเหตุการณ์ในพระคัมภีร์  แล้วมาตีความตามที่ตัวเองคิด ไม่ได้อิงหลักทางพระคัมภีร์   ก็ยิ่งถูกมองว่าตื้นเขิน หรือไม่ก็ดราม่าเกินไป
   แต่อะไรที่พวกนักวรรณคดีไม่ชอบ   คนทั่วไปชอบ  คนไทยเองก็ชอบ  เพราะคนไทยอ่านเอาสนุก ไม่ได้อ่านเพื่อยกระดับสมองหรือเพื่อแสวงหาอุดมการณ์ในชีวิต    งานของคอเรลลีจึงถูกใจคนอ่านไทย เห็นว่าแสดงคุณค่าของชีวิต  มีหลักการที่คนไทยเข้าใจได้ 


กระทู้: รบกวนขออนุญาตอาจารย์คุณหญิงวินิตา ช่วยกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการเขียนค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 22, 09:09
  ถอยหลังไปเมื่อครั้งนิตยสารและหนังสือเล่มยังเป็นสนามการอ่านที่สำคัญสุด   พื้นที่ให้นักเขียนยืนนับว่าจำกัดและยากมาก  เพราะจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการ  ไม่ว่านิตยสารหรือหนังสือเล่ม ก็ต้องมีบรรณาธิการชี้ขาดว่าเรื่องไหนพิมพ์ได้ เรื่องไหนลงตะกร้าไป    นักเขียนใหม่แทบไม่มีโอกาส เว้นแต่จะได้รางวัลใดรางวัลหนึ่งก็เหมือนถูกล็อตเตอรี่โดยไม่คาดฝัน
  แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา ขยายพื้นที่ให้กว้างขวางได้ไม่จำกัด  ผลงานนักเขียนหน้าใหม่ก็ออกมาสู่สายตาได้ง่ายขึ้น   ต่อมาสมาร์ตโฟนเข้ามาแทนที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊ค  จนยุคนี้ที่ทุกคนมีสมาร์ตโฟน    ก็พอกล่าวได้ว่าใครๆก็เป็นนักเขียนได้ถ้าอยากเป็น   เพราะพื้นที่มีเหลือเฟือ     
   จะสร้างบล็อคของตัวเอง จะเอาลง FB จะสร้างเว็บ จะทำ e book ฯลฯ ได้ทั้งนั้น  เขียนอะไรก็ได้ ไม่มีใครมากลั่นกรองว่าใช้ได้หรือไม่ได้    แม้แต่เขียนๆไปเกิดเบื่อขึ้นมา หยุดเขียนกลางเรื่อง ก็ทำได้ อาจจะโดนคนอ่านต่อว่านิดหน่อย แล้วก็จบกันไป   ผิดกับยุคก่อนที่คุณมีหน้าที่ต้องเขียนจนจบเรื่อง  ทิ้งกลางคันไม่ได้  ไม่งั้นบก.จะไม่รับผลงานคุณอีกต่อไป
   นักเขียนใหม่มีเหมือนกันที่แจ้งเกิดในอินเทอร์เน็ต   เขียนเองเอาลงเอง   แมวมองมาเห็นเข้า เอาไปรวมเล่มขาย หรือซื้อทำละครทีวี  ก็เหมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ไปเลย
  เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ขอสรุปว่า คุณ JibbyJ โชคดีมากที่เกิดมาในยุคนี้      ทบทวนตัวเองอีกทีแล้วรู้สึกว่าคำแนะนำของดิฉันเห็นจะไม่เป็นประโยชน์เท่าใดนัก   เพราะเราเป็นนักเขียนคนละยุคเสียแล้ว