เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: art47 ที่ 15 ม.ค. 11, 19:57



กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 ม.ค. 11, 19:57
ชาวต่างชาติที่เข้ามาเยือนสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งราชทูต พ่อค้า หรือแม้แต่นักสำรวจ
ไม่ว่าเขาคนนั้นจะมาอยู่ประจำในประเทศนี้ หรือเพียงผ่านมาชั่วครั้งชั่วคราว
ก็จะปฏิบัติสิ่งหนึ่งแทบทุกคน นั่นคือการเขียนบันทึกเรื่องราวที่ประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์สำคัญ นิสัยใจคอ และการดำเนินชีวิตของชาวสยามแต่บรรพกาล...
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความทรงจำสำคัญ เพราะลำพังข้อมูลที่เรามีอยู่ก็น้อยนักหนา
อย่างมากก็เพียงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นที่พอจะอนุมานออก แต่ถ้าย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว
หากขาดข้อมูลจากลาลูแบร์ ปินโต หรือวันวลิต ไซร้ ชนยุคปัจจุบันย่อมไม่อาจทราบได้ว่าคนสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีชีวิตเช่นไรเลย


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 16 ม.ค. 11, 09:02
แต่ครั้นจะสาธยายเรื่องราวจากบันทึกของชาวต่างชาติทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือนในดินแดนแห่งนี้แล้วไซร้
ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่ๆ (มีผู้ให้คำแนะนำมาว่าคงต้องอ่านหนังสือ 5 ลังทีวีถึงจะเขียนกระทู้นี้ได้)

ฉะนั้นเราจะเลือกมาเพียงหนึ่ง...
หนึ่งเดียวที่ใครๆ ก็เห็นว่า บันทึกเล่มนี้มีความละเอียดและถูกต้องมากชิ้นหนึ่ง
แม้บางสิ่งนั้นผู้เขียนจะไม่ได้ประสบ ได้ยินกับหู รู้อยู่กับตา
แต่ด้วยความใฝ่รู้ของท่าน ทำให้บันทึกเล่มนี้เป็นหลักฐานอันสำคัญ
ที่พูดถึงสังคม วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของคนในสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี

บันทึกเล่มนั้นคือ "ราชอาณาจักรสยาม" (Du Royaume de Siam)
แต่งโดย "ซีมง เดอ ลาลูแบร์" (Simon de La Loubère)
อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศส
ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ณ ประเทศสยามครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 16 ม.ค. 11, 09:14
"ราชอาณาจักรสยาม"

ลาลูแบร์ เขียนขึ้นโดยคำสั่งของมาร์กีส์ เดอ ตอร์ซี (Marqois de Torcy)
เพื่อจุดประสงค์รายงานสิ่งที่ได้ประสบพบเห็นหรือทราบมาในประเทศสยามโดยละเอียด
ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ดียิ่ง
แม้การมาราชการในฐานะราชทูตจะสั้นเพียง 3 เดือน กับอีก 6 วันเท่านั้น
แต่เขาก็มีความพยายามรวบรวมหลักฐานต่างๆ จนนำไประมวลเขียนเป็นหนังสือเล่มโตได้
และหนังสือของเขาก็ถือเป็นมาตราฐานในการศึกษาประเทศสยามของชาวยุโรปในสมัยนั้นด้วย


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 16 ม.ค. 11, 09:38
แปลครั้งแรก โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธพงศ์
แต่ยังไม่สมบูรณ์

คุณสันต์ ท. โกมลบุตร จึงได้จับมาแปลใหม่อีกครั้ง
และเป็นหนังสือที่สมบูรณ์ดังที่เราอ่านกันในสมัยนี้


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 16 ม.ค. 11, 09:49
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ทั่วไปของสยาม

ดูเหมือนไม่ว่าชาวต่างชาติผู้ใดที่เข้ามาประเทศนี้ยุคใดสมัยใดจะต้องพูดถึงเป็นอันดับแรกเลย
คือ "แม่น้ำ" (ที่เราเรียกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันนั่นแหละ)
แม้ลาลูแบร์จะพูดเพียงสั้นๆ แต่เขาก็มีภาพเส้นทางของแม่น้ำตั้งแต่ปากอ่าวขึ้นไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา
ประกอบคำอธิบายด้วย

นอกจากนี้ลาลูแบร์ยังกล่าวถึง "ทะเลสาบ" ที่เมืองเชียงใหม่
ว่าไม่เห็นมีชาวสยามคนไหนรู้เห็นว่ามันมีอยู่จริง ทั้งที่นักภูมิศาสตร์ของยุโรประบุว่าทะเลสาบแห่งนั้น
เป็นต้นของแม่น้ำ (ทำนองเดียวกับสระอโนดาตในป่าหิมพานต์กระมั้ง)
ถึงสงสัยว่าทะเลสาบนั้นไม่มีอยู่จริง
แต่เขายังปลอบใจตัวเองว่า มันอาจจะอยู่ไกลกว่าที่ชาวยุโรปคิดไว้

กรุงศรีอยุธยา
ว่าเป็นเมืองที่มีรูปร่างเป็นเกาะคล้ายๆ ถุงย่าม มีแม่น้ำใหญ่ล้อมรอบสามสาย
พระบรมมหาราชวังตั้งอยู่ด้านเหนือ ตัวเมืองกว้างขวาง แต่เต็มไปด้วยป่าและวัด
บ้านเรือนชาวพื้นเมืองปลูกด้วยไม้สร้างอาศัยกันอยู่ริมน้ำ ริมคลองที่มีมากมาย
จึงเปรียบเหมือนกับเมืองเวนิช ในอิตาลี
แต่ก็อดเปรียบไม่ได้ว่า บ้านเหล่านั้นคงอยู่ไม่สบายเพราะอากาศมันร้อนนนนน....

ลาลูแบร์มองว่าชาวสยามนั้นไม่ค่อยจะใส่ใจต่อประวัติศาสตร์ของตนมากนัก
เพราะประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยนิยาย หนังสือก็มีน้อย ถามอะไรก็ตอบไม่ได้
โกหกบ้าง ไม่รู้บ้าง...



กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ม.ค. 11, 17:23
เข้ามาบอกว่าผมตามอ่านอยู่ครับ จะได้ไม่เหงา


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ม.ค. 11, 18:05
ภาพแผนที่โลกที่ช่างแผนที่ Abraham Ortelius (April 1527 - July 1598) ชาวเบลเยี่ยม ได้ทำไว้ จะเห็นทะเลสาปขนาดใหญ่ บริเวณกลางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นกำเนิมแม่น้ำที่ไหลลงสู่ดินแดนพม่าแห่งหนึ่ง และดินแดนสยาม แห่งหนึ่ง


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 16 ม.ค. 11, 20:19
ขอบพระคุณคุณนวรัตน์ที่ติดตาม และคุณไซมีสที่นำภาพทะเลสาบเชียงใหม่ในแผนที่โบราณมาให้ชมกัน
แต่ผมมีข้อสงสัยว่า แม่น้ำสายแรกที่ไหลออกจากทะเลสาบเชียงใหม่นั้น
หากดูตามภูมิศาสตร์ปัจจุบันแล้ว น่าจะเป็นแม่น้ำพรหมบุตรหรือไม่ ??? ที่ไหลออกอ่าวเบงกอลทางบังคลาเทศ
ส่วนอีกสามสายที่เหลือ คือ อิรวะดี สาละวิน และเจ้าพระยา


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ม.ค. 11, 21:59
ขอบพระคุณคุณนวรัตน์ที่ติดตาม และคุณไซมีสที่นำภาพทะเลสาบเชียงใหม่ในแผนที่โบราณมาให้ชมกัน
แต่ผมมีข้อสงสัยว่า แม่น้ำสายแรกที่ไหลออกจากทะเลสาบเชียงใหม่นั้น
หากดูตามภูมิศาสตร์ปัจจุบันแล้ว น่าจะเป็นแม่น้ำพรหมบุตรหรือไม่ ??? ที่ไหลออกอ่าวเบงกอลทางบังคลาเทศ
ส่วนอีกสามสายที่เหลือ คือ อิรวะดี สาละวิน และเจ้าพระยา

แผนที่ลักษณะที่มีทะเลสาบเชียงใหม่ ได้ถ่ายทอดกันมาหลายรุ่นตามแผนที่เก่าๆ ก็มีการวาดแม่น้ำออกจากทะเลสาบนี้ ๔ สายบ้าง ๕ สายบ้าง โดยสายหนึ่งแยกไปคล้ายแม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำเจ้าพระยา และบางแผนที่ยังโยงออกมายังแม่น้ำโขงก็มีครับ


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 17 ม.ค. 11, 08:46
ลาลูแบร์พูดถึงต้นข่อยว่าสามารถนำเปลือกมาทำเป็นสมุดได้
แต่คุณภาพต่ำ ความหนางบางไม่สม่ำเสมอ เนื้อกระดาษและความขาวก็หย่อนน้อยกว่ากระดาษของชาวยุโรป
ลักษณะรูปเล่มก็ไม่เหมือนกัน เพราะทางนี้เป็นการพับทบไปมา ไม่ได้เย็บสันสมุดหรือม้วนเก็บ
อย่างยุโรปไม่

ดีบุก พบได้ดาษดื่นในดินแดนสยาม และชาวสยามก็รู้จักถลุงมานานแล้ว
แม้ฝีมือยังไม่ดีพอแต่สามารถสร้างรายได้ให้อย่างมหาศาล จากการค้าขายกับต่างประเทศ




กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ม.ค. 11, 13:17
เนื้อเพลงนี้อยู่ในหนังสือของลาลูแบร์

แปลเป็นภาษาไทยว่ากระำไร

ใครช่วยได้บ้าง

 ???


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ม.ค. 11, 13:25
^
เพลงสายสมร  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เคยถอดออกเป็นภาษาไทย แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่ในบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ
หรือในสาส์นสมเด็จ  (น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกมากกว่า)

เพลงนี้ขึ้นต้น  สายสมรเอย   ...ประคำซ่อนเสื้อ.....


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 11, 13:26
รู้แต่ว่าเป็นเพลงไทยเดิม ชื่อ สายสมร ค่ะ  
อ่านออกสามคำแรก  สายสมรเอย


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ม.ค. 11, 13:35
สายสมรเอย  แล้วอย่างไรต่อเอย

 ???


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ม.ค. 11, 13:49
คำร้องที่ลาลูแบร์บันทึกคำไทยเป็นอักษรโรมันกำกับไว้ กับโน้ตนั้น ขึ้นต้นด้วยคำว่า สายสมร และคำต่อๆ ไปก็ล้วนเป็นคำจำพวกเพลงขับกล่อมแบบเพลงมโหรีทั้งสิ้ น คำร้องทั้งหมดนี้ ได้พยายามถอดเป็นคำไทยกันมาหลายต่อหลายท่านแล้ว ไม่ได้ความตลอดสักที ข้าพเจ้าเองก็ได้พยายามมาหลายครั้ง ทั้งลองร้องไปกับเสียงตามโน้ตก็ไม่สำเร็จ

เมื่อได้พิจารณาแล้ว ก็เห็นว่าวิธีร้องเพลงไทยโบราณนั้น มีร้องเอื้อนซึ่งโดยมากเป็นเสียงเออหรือเอย กับแทรกสร้อยคำต่างๆ เช่น เจ้าเอย นะเอย อยู่เป็นอันมาก จึงทำให้ผู้จดบันทึกซึ่งเป็นฝรั่งเข้าใจผิด และจดพลาดพลั้งไปได้ เท่าที่ข้าพเจ้าลองถอดดูในครั้งหลังนี้ พอจะได้ความบ้าง แต่ก็คงจะยังผิดอีกหลายคำ คำร้องที่ข้าพเจ้าถอดเป็นดังนี้

สายสมรเอย ลูปประคำซ้อนเสื้อ

ขอแนบเนื้อฉอ้อน เคียงที่นอนในเอย

เพลงนี้ก็เจ้าเอยเพลงใด เพลงระบำหรือเจ้าเอย

เพลงนี้ก็เท่าเอย เพลงซอนะเอย

พี่เอยหวังละจะเชย จะเยื้องก้าวย่าง

นางช่าง จะเลี้ยวจะเดินเอย


โดยสุจิตต์ วงศ์เทศ เคยแปลไว้คราว พ.ศ. 2511


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ม.ค. 11, 13:57
คุณสุจิตต์กล่าวต่อไปว่า

ถึงคำร้องที่ข้าพเจ้าถอดนั้นจะยังผิดพลาดอยู่มาก ก็คงจะเป็นแนวทางที่ท่านผู้สนใจจะช่วยกันลองพินิจพิเคราะห์ดูต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งถ้อยคำที่ถูกต้องตามที่ท่านผู้นั้น ได้ร้องให้ลาลูแบร์ฟัง (http://www.junjaowka.com/webboard/showthread.php?t=31046)

ท่านผู้ใดมีความเห็นแย้งเรื่องเนื้อเพลงที่คุณสุจิตต์ถอดความตรงไหนบ้างเอ่ย

 ???



กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ม.ค. 11, 14:41
เพลงสายสมร นี้ พระเจนดุริยางค์เคยได้นำทำนองคัดออกมาจากหนังสือลาลูแบร์ และได้ตั้งชื่อว่า "เพลงศรีอโยธยา" ประกอบภาพยนต์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" เมื่อสมเด็จพระเจ้าจักราเสด็จออก  วงดนตรีก็จะบรรเลงเพงบทนี้เสมอถือว่าเป็นเพลงหลักของเรื่องก็ลองฟังกันดูนะครับ
http://www.youtube.com/watch?v=J_b9_IiL_RA


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ม.ค. 11, 16:50
เพลงศรีอโยธยาหรือศรีอยุธยา  พระเจนดุริยางค์ได้นำทำนองมาจากเพลงเก่าซึ่งมีโน้ตเพลงปรากฏในหนังสือ จดหมายเหตุลาลูแบร์  สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกชื่อกันว่า  เพลงสายสมร  (Siamese  Song)  เป็นเพลงสยาม  บันทึกโดยเอกอัครราชทูตลาลูแบร์ชาวฝรั่งเศส  ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานเอกสารเพลงเดียวที่มีมาแต่สมัยอยุธยาและเป็นเพลงสยามเพลงเดียวที่เหลืออยู่  ส่วนเพลงอื่น ๆ  สืบทอดกันโดยการต่อเพลง  จากคนหนึ่งไปอีกช่วงคนหนึ่ง  ไม่มีเอกสารใด ๆ

แม้ว่าเสียงเพลงจะแตกต่างกัน  เมื่อบันทึกไว้ด้วยโน้ตสากล  คนส่วนใหญ่จะอ่านเป็นทำนองสากล  เล่นด้วยเครื่องดนตรีสากล  ถ้าหากว่าอ่านด้วยบันไดเสียงไทย  เล่นด้วยเครื่องดนตรีไทย  ก็จะได้สำเนียงที่แตกต่างไปจากเสียงสากล  ซึ่งเชื่อว่าเป็นทำนองเพลงเหย่ย  ซึ่งเป็นเพลงโต้ตอบระหว่างชายหญิง  ปัจจุบันนิยมเล่นแถบกาญจนบุรี

ก่อนหน้าพระเจนดุริยางค์จะนำทำนองศรีอยุธยามาเรียบเรียงใหม่  ครูฟุสโก  (M.Fusco)  ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน  สัญชาติอิตาเลี่ยน  เป็นหัวหน้าวงดนตรีของกองดุริยางค์กองทัพเรือ ได้เรียบเรียงเพลงนี้สำหรับเปียโนมาก่อนแล้ว  ชื่อว่าเพลงพระนารายณ์หรือสรรเสริญพระนารายณ์  (Pra Narai)  ปรากฏในหนังสือ “สยามอาณาจักรแห่งช้างเผือก”  ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.  ๑๘๙๙  ตรงกับปี พ.ศ.  ๒๔๔๒  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  ซึ่งได้เสด็จประพาสยุโรป  ได้ทรงใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ระลึกเผยแพร่ประเทศสยามในเวลาต่อมา

ชื่อเพลงสายสมร  เพลงสรรเสริญพระนารายณ์  เพลงศรีอยุธยา  หรือเพลงศรีอโยธยา  เพลงที่มีชื่อแตกต่างกัน  แต่เป็นเพลงที่มีทำนองเดียวกัน  ทำนองอาจจะผิดแผกไปบ้าง  ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครผู้ที่นำเอาทำนองเพลงไปเรียบเรียงอย่างไร  เพื่อวงดนตรีประเภทไหน  แต่โดยทำนองเนื้อหาแล้ว  เพลงเดียวกัน

เพลงประกอบภาพยนตร์โดย พระเจนดุริยางค์
สุกรี  เจริญสุข  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล
http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=9&d_id=23


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 17 ม.ค. 11, 17:54
ผมไม่รู้ว่าในทางการทูตนั้นลาลูแบร์จะมีฝีปากเป็นเลิศขนาดไหน
แต่ในทางอักษรแล้ว เขาเป็นคนที่มีพรสวรรค์มากๆ
อยู่กรุงศรีอยุธยาเพียง 3 เดือนกว่าก็สามารถจดบันทึกเรื่องราวได้มากมาย
ทั้งดนตรี ภาษา ตัวเลข กฏเกณฑ์ทางดาราศาสตร์ มาตราชั่ง ตวง วัด
คนขี้คร้านและไม่ใฝ่รู้ทำไม่ได้แน่

และดูท่าทางเขาจะสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย
เพราะช่างพรรณาได้ถึงพระสงฆ์ พิธีกรรมต่างๆ พุทธประวัติ
รวมทั้งพระวินัยบัญญัติได้ละเอียดทีเดียว


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ม.ค. 11, 22:29
ลาลูแบร์ ได้บันทึกพยัญชนะไทยไว้ จึงทำให้ทราบว่า ในสมัยพระนารายณ์ มีพยัญชนะ ๓๗ ตัว ไม่มี ฮ. ตาโต  ;D


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 17 ม.ค. 11, 22:48
ลาลูแบร์ให้ความสำคัญกับภาษาไทยมาก
นอกจากจะปรากฏพยัญชนะในหนังสือแล้ว ก็ยังมีสระ ตัวเลข
รวมทั้งพยัญชนะบาลี ทั้ง 5 วรรค บวกเศษวรรค อีก 8 ด้วย

แถมยังบอกวิธีออกเสียงภาษาไทยอีกต่างหาก เช่น

"ชาวสยามมีการลั่นเสียงต่ำมากเหมือนชาวจีน เขาพูดเกือบจะเป็นร้องเพลง
และอักขระของสยามนั้นเริ่มต้นด้วย 6 ตัวอักษรที่แตกต่างกัน แต่มีค่าเท่ากับตัว ก
มากน้อยตามความหนักเบาของเสียงที่ลั่นออกมา และมีลักษณะสูงต่ำแตกต่างกันออกไป
ด้วยแม้ว่าในการออกเสียงนั้น ตามปกติแล้วจะเน้นน้ำหนักเสียงบนตัวสระ
แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงเสียงสูงต่ำไปได้ตามพยัญชนะอันเป็นตัวตั้งที่มีค่าเท่ากัน"

...นึกว่าเป็นแบบเรียนภาษาไทย ;D


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 08:36
เรื่องตัวเลข พลาดเล็กน้อย

 ;D


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 18 ม.ค. 11, 09:44
เพราะดินโคลนที่น้ำฝนชะไหลลงมาจากภูเขาเป็นสาเหตุให้ประเทศสยามเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์
โดยเฉพาะในที่ที่มีน้ำท่วมไปถึง สามารถเพาะปลูกข้าวอันเป็นผลผลิตสำคัญของชาวสยามได้

ลาลูแบร์สรรเสริญชาวสยามว่ารู้จักที่จะกะปริมาณน้ำ กะความแก่อ่อนของไฟ และกะเวลาในการหุงข้าว
ให้สุกได้โดยที่เม็ดข้าวไม่แตกแยก

เขาพูดถึงการกินอยู่และสำรับอาหารของชาวสยามว่า
ชาวสยามกินข้าวโดยการเอาปลายนิ้วขยุ้มข้าวให้เป็นคำแล้วเปิบเข้าปาก
และดื่มน้ำบริสุทธิ์ที่อบจนมีกลิ่นหอม รวมถึงชา และเหล้า (กะแช่ น้ำตาลเมา)
ส่วนสำรับอาหารนั้นนอกจากจะมีข้าวสุกแล้ว ก็อาจจะมีปลาแห้ง หรือปลาร้า
รวมถึงน้ำพริก กะปิเป็นเครื่องจิ้มด้วย
แต่ถึงจะมีสัตว์หลายชนิดในประเทศนี้ ชาวสยามกลับไม่ชอบบริโภคเนื้อสัตว์
พอใจแต่บริโภคเครื่องในของสัตว์มากกว่า
ชาวสยามชอบบริโภคผลไม้ยิ่งกว่าสิ่งอื่น สามารถกินได้ทั้งวันโดยไม่เบื่อ เช่น ส้ม กล้วย มะกรูด ทับทิม
แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ หมากและพลู ซึ่งกินกันได้ทั้งวันไม่ขาดปาก
ซึ่งผลของการกินหมาก จะทำให้คราบน้ำหมากจับกรังหนาที่ฟัน และจะกลายเป็นสีดำในที่สุด
ลาลูแบร์จึงมีวิธีวิธีย้อมฟันให้ด้วย
"การย้อมฟันให้ดำนั้น เขาใช้ซีกมะนาวที่มีรสเปรี้ยวจัดอมไว้ในกระพุ้งแก้มและที่หน้าฟันราวชั่วโมง
กล่าวกันว่าเพื่อทำให้ฟันน่วม ครั้นแล้วก็ใช้นำยางชนิดหนึ่งซึ่งทำจากรากไม้หรือจากกะลามะพร้าวเผาไฟ
ถูฟันไป เป็นเสร็จพิธี"


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 18 ม.ค. 11, 20:31
ชาวสยามรูปร่างค่อนข้างย่อมมากกว่าใหญ่โต แต่ก็ได้สัดส่วนดี
วงหน้าทั้งชายและหญิงกระเดียดไปข้างรูปขนมเปียกปูน (หรือข้าวหลามตัด) มากว่าที่จะเป็นรูปไข่
ใบหน้ากว้าง แก้มตอบ ปากกว้าง ริมปากหนาซีดๆ และฟันดำ
จมูกสั้นและปลายมน ใบหูใหญ่ ผิวหยาบ สีน้ำตาลปนแดง ผมสีดำ เส้นหยาบและละเอียด

ชาวสยามไม่ค่อยได้นุ่งห่มร่างกายให้มิดชิดนัก เพราะความร้อนและความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ
พวกเขาไปไหนมาไหนด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมหมวก ปล่อยเนื้อตัวล่อนจ้อน
เฉพาะผู้หญิงบางคนเท่านั้นที่ห่มสไบ บางทีก็ปัดชายสไบเฉียงคลุมต้นแขนไว้ หรือคาดผ้ารัดอกห่มแบบตะแบงมาน
ส่วนเด็กเล็กๆ จะไม่นุ่งผ้าจนกว่ามีอายุได้ 4 หรือ 5 ขวบ

แต่การเปลือยเปล่าหาทำให้ชาวสยามเป็นพวกไร้ยางอายไม่
ตรงกันข้าม พวกเขากลับเป็นชนชาติที่มีความตะขิดตะขวงใจอย่างยิ่งที่จะเผยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกให้ใครๆ เห็น
แม้การนอน ก็จะไม่เปลือยกาย ชาวสยามเพียงแต่ผลัดผ้านุ่งเสียใหม่เท่านั้นก่อนนอน

วิธีการนุ่งผ้าของผู้หญิงและผู้ชายไม่เหมือนกัน
ผู้ชายจะชักผ้าข้างหนึ่งซึ่งปล่อยให้ยาวกว่าอีกข้างลอดหว่างขาแล้วไปเหน็บไว้ทางด้านหลังโดยคาดสายเข็มขัดทับ
ส่วนหญิงจะนุ่งตามความยาวของผืน วงรอบตัวเช่นเดียวกับผู้ชายแต่จะปล่อยชายทางด้านกว้าง
เลียนแบบกระโปรงให้ชายตกลงมาถึงครึ่งแข้ง

ชาวสยามรักสะอาด เอาใจใส่รักษาฟันมาก แม้จะย้อมให้ดำไว้แล้วก็ตาม อาบน้ำวันละ 3 หรือ 4 ครั้ง
สระผมด้วยน้ำ และใส่น้ำมันจันทน์ ปะแป้งให้ขาวที่ยอดอกเพื่อแสดงว่าอาบน้ำมาแล้ว


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 19 ม.ค. 11, 20:24
เนื่องจากชาวสยามแต่งเนื้อแต่งตัวง่ายๆ วิถีชีวิตง่ายๆ บ้านเรือนของพวกเขาจึงเรียบง่ายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ที่อยู่อาศัยนั้นเป็นเรือนหลังย่อมๆ ชั้นเดียว ใช้จักตอกขัดแตะเป็นฝาและหลังคา
พื้นเรือนใช้ไม้ไผ่มาสับเป็นฟากเรียงไว้ มีเสาตอม่อยกสูงเพื่อให้พ้นจากน้ำท่วม

ชาวสยามไม่ใช้เก้าอี้ แต่นั่งกันบนเสื่อกก โต๊ะอาหารเป็นโตก
ไม่มีผ้าปูรอง ไม่มีผ้าเช็ดปาก ไม่มีช้อน ไม่มีส้อม ไม่มีมีด
ชามทำด้วยกระเบื้องบ้าง เครื่องดินเผาบ้าง หรือทำด้วยไม้
และกะลามะพร้าวขัดมันที่ราษฎรทั่วไปนิยมหุงข้าวในกะลากัน
ครุที่ใช้ตักน้ำก็สานด้วยไม้ไผ่อย่างประณีต

สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งานนอกจากโคกับกระบือแล้ว ก็ยังมีช้างอีกจำพวก
ช้างพังเอาไว้ใช้งานธรรมดา ส่วนช้างพลายไว้สำหรับออกศึกสงคราม
การขี่ช้างของชาวสยามง่ายดาย ขี่คร่อมคอเหมือนอย่างม้า ไม่ต้องมีเครื่องอานบังเหียนอย่างใด
มีเพียงขอทำด้วยเหล็กหรือเงินสำหรับสับหัวช้างเพื่อควบคุมเท่านั้น
แต่หากไม่ประสงค์บังคับช้าง ก็นั่งบนกูบหรือสัปคับบนหลังช้างแทน
แล้วให้คนเลี้ยงช้างเลื่อนไปนั่งคร่อมที่คอช้างทำหน้าที่เป็นผู้นำทาง
บางทีก็มีควาญท้ายช้างอีกคนนั่งท้ายช้างไปด้วย


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 11, 20:45
พูดถึงอาหารของชาวสยาม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีบันทึกไว้ในหนังสืออีกเรื่องหนึ่งชื่อ ซาฟินาอิ สุไลมานี หรือ เรือของสุไลมาน   ผู้บันทึกคืออิบน์  มูฮัมเหม็ด อิบราฮิม  เลขานุการของคณะราชทูต  ซึ่งชาห์สุไลมาน  กษัตริย์แห่งเปอร์เชีย ส่งมาเจริญพระราชไมตรี ในพ.ศ. 2228
เรื่องนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยจอห์น โอเคน

ตอนหนึ่งเขาเล่าว่า

"ชาวสยามจำกัดอาหารของเขาอยู่กับข้าวเปล่าเท่านั้น    เขาไม่ใส่เกลือ เนื้อ หรือเครื่องเทศ  แต่เขากินข้าว กับน้ำต้มและหัวปลา  ชนทุกชั้น ไม่ว่าสูงหรือต่ำ กินอาหารแบบนี้อย่างจำเจ   ถ้าเขาพบสัตว์ตายเข้าด้วยความบังเอิญ   ไม่ว่าจะเป็นสัตว์อะไร  แม้แต่ซากอีกาแก    เขาจะกินอย่างไม่ลังเล   แต่เขาจะไม่ฆ่าสัตว์เอามาบริโภคเป็นอันขาด  เพราะเขาถือว่า นั่นเป็นบาปอย่างหนัก
ถ้ามีโอกาสเป็นครั้งคราว  ชาวพื้นเมืองจะปิ้ง "แย้"(ฉบับภาษาอังกฤษใช้ว่า lizard  ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นสัตว์เลื้อยคลานมากมาย  รวมทั้งจิ้งเหลนกิ้งก่า และตะกวด   แต่ผู้แปล เลือกแปลว่า แย้  ) และงู ซึ่งมีชุกชุมในประเทศ   ในตลาดจะเห็นสัตว์เหล่านี้วางขาย  แทนที่จะเป็นไก่ฟ้าหรือแกะ   อาหารอย่างอื่นคือ "ตะพาบน้ำ" (ฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า tortoise ซึ่งอาจหมายถึงเต่าก็ได้)  และกล่าวโดยทั่วไป  เขาเว้นการบริโภคอาหารทะเล     คนบางเผ่าในสยามกินเนื้อช้าง และหมาป่า"

ข้อความทั้งหมดนี้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน คงแล้วแต่ท่านผู้อ่านจะพิจารณากัน   ดิฉันนำมาลงประกอบในกระทู้ เพราะเห็นแปลกกว่าฉบับของลาลูแบร์
เรื่องกินซากอีกา ไม่เคยเห็นวัฒนธรรมบริโภคแบบนี้ ไม่รู้ว่าเลิกกันไปตั้งแต่เมื่อไร     แย้หรือตะกวดน่าจะกินกันในภาคอีสาน   ส่วนเต่ากินกันในภาคกลาง
เนื้อช้าง เคยอ่านพบในเพชรพระอุมา ว่าชาวป่าที่พระเอกคลุกคลีอยู่ด้วย  ล้มช้างเคี่ยวเอาน้ำมันมาขายบรรจุปี๊บในเมืองหลวง ส่วนเนื้อเอาทำเนื้อเค็ม    ส่วนหมาป่า ไม่เคยได้ยิน  ได้ยินแต่คนไทยกินหมูป่า


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 20 ม.ค. 11, 20:40
ความรู้ทัง้นั้นแฮะ ขอบคุณค่ะ


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ม.ค. 11, 21:08
มาช่วยเพิ่มเติมสำรับของชาวสยาม

โยส เชาเด็น ผู้จัดการบริษัทการค้าฮอลันดา ซึ่งเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททองเป็นเวลานาน ๘ ปี บันทึกไว้ว่า…อาหารของชาวสยามไม่ฟุ่มเฟือยและมีน้อยสิ่ง ตามปกติมี ข้าว ปลา และผัก ส่วนเครื่องดื่มตามปกตินั้น เขาดื่มแต่น้ำอย่างเดียว

ส่วนนิโคลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นเวลานาน ๔ ปี ก็บันทึกไว้ว่า…ไม่มีชนชาติใดที่จะบริโภคอาหารอดออมเท่าคนสยาม สามัญชนดื่มแค่น้ำเท่านั้น แล้วก็กินข้าวหุง ผลไม้ ปลาแห้งบ้างเล็กน้อยแล้วยังกินไม่ค่อยอิ่มท้องเสียด้วย ชนชั้นสูงก็มิได้บริโภคดีไปกว่านี้ ทั้งที่สามารถซื้อหามาบริโภคได้ตามปรารถนา


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 22:08
ขอเพิ่มจากบันทึกของอิบราฮิม อีกนิดว่า เขาตั้งข้อสังเกตว่าชาวสยามไม่กินน้ำมัน    แม้มีวัวและควายอยู่มาก ก็ไม่กินนมวัว หรือควาย  ไม่รีดนมมาทำเนย  
ทำให้คิดว่าอาหารประเภททอด หรือผัดที่ต้องใช้น้ำมัน ชาวบ้านสมัยพระนารายณ์ยังไม่นิยม  เท่ากับกินข้าวกินปลา ไม่ว่าปลาร้า ปลาแห้ง หรือน้ำพริก   ส่วนเนยใสที่ทำจากนม คงไม่ทำกันแน่ๆ   เห็นได้จากจนบัดนี้เราก็ยังไม่ปรุงอาหารด้วยเนยใสอยู่ดี    แต่ว่าอาหารทำด้วยกะทินั้นมีแล้ว  ชาวบ้านก็คงมีแกงกะทิกินกันบ้าง

ที่น่าสนใจอีกอย่างจากบันทึกเรื่องนี้  คือเขาเล่าว่าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเยี่ยมพวกอิหร่านในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ทรงพระเยาว์   ทรงโปรดอาหารและเครื่องดื่มแบบอิหร่าน   และยังทรงติดอาหารแบบอิหร่านมาจนเจริญพระชันษา   ถึงกับทรงสั่งพ่อครัวมาจากอินเดียให้ปรุงพระกระยาหารให้    ก็คงจะเป็นอาหารที่หนักไปด้วยเครื่องเทศ และนมเนย
ถ้านึกถึงรายชื่ออาหารแบบเทศที่กินกันมาจนถึงรัตนโกสินทร์ เช่นแกงมัสหมั่น  ข้าวบุหรี่  ลุดตี่ อาจาด    ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า นิยมกันมาจากครัวหลวงของสมเด็จพระนารายณ์ด้วยกระมัง


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ม.ค. 11, 22:24
ส่วนบันทึกของลาลูแบร์ กลับพูดเรื่องการทานนมและชีส ว่า มีการทานนมควาย ส่วนชีสไม่ทำกันและมีการนำเข้ามาด้วยครับ


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 22:33
เนยที่นำเข้ามาจากเบงกาลีและสุรัต (ในอินเดีย) คงจะคุณภาพไม่ดีนัก กว่าจะมาถึง   เพราะอากาศร้อนจัด ห้องเย็นจะเก็บก็ไม่มี
ข้อนี้ผิดเพี้ยนจากบันทึกของทูตเปอร์เชียนิดหน่อย  ที่ระบุว่า เครื่องปรุงที่ส่งมาจากอินเดียคือน้ำมัน     น่าจะหมายถึง(น้ำมัน) เนยที่ว่านี้ก็เป็นได้


กระทู้: สยามในทรรศนะของผู้มาเยือน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 20 ม.ค. 11, 22:50
ท่าทางชาวสยามเราพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินพอสมควรนะครับ
นอกจากข้าวและปลาแห้ง อันเป็นอาหารพื้นบ้านแล้ว
ก็อาจจะมีของบริโภคบางชนิดจาก "เมืองนอก" ด้วยก็ได้
ที่ราคาถูกและมากมายจนชาวบ้านร้านตลาดซื้อหากันโดยสะดวก
คงไม่เฉพาะในรั้วในวังหรอกครับ ที่มีโอกาสใช้ของนอกเหล่านั้น

อาหารของชาวนอก ทั้งแขก ญวน มอญ พม่า ฝรั่ง
ที่ทำกินกันปกติในครัวเรือน บางทีอาจหลุดมาให้ชาวสยามชิมรสบ้างบางครั้ง
เช่นมีงานเทศกาลประจำปีอะไรเทือกนี้
(เหมือนชาวเราที่เวลามีงานก็แบ่งกันกินกระมั้งครับ)