เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:14



กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:14
จากลิงค์ที่คุณไตรวุธนำมาให้ชาวเรือนไทย ซึ่งผมได้ตามเข้าไปดูและต่อไปยังลิงค์อื่นๆ จนได้เจอภาพที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้เห็นมาก่อน เพราะเป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอาณานิคมดัตช์ ในอินโดนีเซียถ่ายไว้เมื่อปี ๒๔๙๑ ก่อนที่จะยอมถอนตัว มอบเอกราชคืนแก่เจ้าของประเทศ

รูปถ่ายดังกล่าวมีอยู่เพียง๔รูป (และไปได้ในเวปอื่นอีก๑รูป) ระบุว่าเป็นรูปพิธีการส่งพระศพ “เจ้าชายบริพัตรแห่งสยาม” กลับสู่มาตุภูมิ

จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งต่อไปผมจะขอเรียกพระนามอย่างสั้นว่า “ทูลกระหม่อมบริพัตร” มีอันต้องนิราศจากเมืองไทยคราวที่เกิดปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏรเมื่อปี๒๔๗๕ ผมจะไม่ขอเล่ารายละเอียดเรื่องนี้ซ้ำเพราะอยู่ในมหากาพย์การเมืองไทยยุคต้นที่ผมเขียนไว้แล้ว หากท่านใดยังไม่เคยอ่านและสนใจ โปรดคลิ๊กเข้าไปตามลิงค์ข้างล่าง ตั้งแต่ คคห.ที่๙ เป็นต้นไปครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:20
ทูลกระหม่อมบริพัตรประสูติเมื่อวันพุธที๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที๓๓ ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  ทรงมีพระเชษฐภคินีร่วมพระชนนีเพียงพระองค์เดียวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์

เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้๘พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาภาษาไทย ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และวิชาภาษาอังกฤษกับ นาย โรเบิร์ด มอแรนด์ ที่โรงเรียนพระราชกุมารในพระบรมมหาราชวังร่วมกับเจ้านายพระองค์อื่น ๆ
หลังพระราชพิธีโสกันต์เมื่อพระชนม์ได้๑๓พรรษา ก็โปรดเกล้าฯให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในยุโรป ในตอนแรกทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้น๒ปีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในวิชาการทหารที่ประเทศเยอรมนี

พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงจบการศึกษาพระราชทานยศ Fhnrich (ร้อยตรี) จากสมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์มที่๒ ในโอกาสนี้ กองทัพบกไทยได้ขอพระราชทานยศร้อยตรี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ถวายแด่พระองค์ด้วย ทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกเยอรมนี และเข้าเรียนในวิทยาลัยการสงคราม  ทรงได้รับการเลื่อนยศเป็นนายร้อยโท และจบหลักสูตรในเดือนสิงหาคม ด้วยระดับคะแนนยอดเยี่ยม ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรชมเชยเป็นพิเศษจากสมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์อีกด้วยในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๖  หลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศทั้งหมดรวมแล้วกว่า๙ปี
ขณะดำรงพระยศเป็นนายร้อยเอก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะปรับปรุงกองทัพบกสยาม จึงโปรดเกล้าฯให้ทูลกระหม่อมบริพัตรเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์เพื่อกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายทหารกองทัพบกเยอรมนี และเสด็จกลับประเทศในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๕


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:33
ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหารตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เช่น ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  หลังจากนั้น ยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ พระองค์แรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นอภิรัฐมนตรี และผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แน่นอนว่า พระองค์เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของบ้านเมืองพระองค์หนึ่งในยุคนั้น

ขณะเกิดปฏิบัติการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงถูกผู้ก่อการระดับทหารเสือ๑ใน๔คนหนึ่ง คนๆนี้พระองค์ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กวัดอยู่ต่างจังหวัด ให้ศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้ทุนไปเรียนจนจบจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมัน กลับมารับราชการก็ได้ดิบได้ดีจนได้เป็นนายทหารใหญ่ ยังสนองพระคุณท่านด้วยการนำรถถังชนประตูวังบางขุนพรหมเข้าไปเอาปืนจี้ บังคับเชิญเสด็จไปประทับในฐานะตัวประกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม รวมแล้ว ๙ วัน
หลังจากเหตุการณ์คลี่คลาย คณะปฏิวัติได้ยื่นคำขาดให้เสด็จออกจากประเทศสยามอย่างถาวร และต่อรองให้ลงพระนามมอบวังบางขุนพรหมไว้เป็นของรัฐบาลด้วย เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ก็ยินยอมให้เสด็จกลับมาที่วังเพียงวันเดียวเพื่อเตรียมพระองค์ รุ่งขึ้นวันที่ ๓ กรกฎาคม เวลา๑๑.๐๐น. ก็ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ซึ่งกำหนดจะวิ่งตลอดไม่มีหยุดพักจนกว่าจะถึงปลายทางที่ปีนัง


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:35
ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงมีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง ๑๒ ชั่วโมง ก่อนที่จะต้องทิ้งวังและปล่อยให้ข้าราชบริพารร่วม ๔๐๐ ชีวิตดูแลตัวเอง โดยทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไป ๙,๐๐๐ บาทสำหรับอนาคตของทั้งครอบครัวที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปประสพอะไร  คณะผู้ก่อการได้จัดขบวนรถถังและรถหุ้มเกราะห้อมล้อมรถ นำเสด็จจากวังบางขุนพรหมไปยังสถานีหัวลำโพง บนรถไฟที่ประทับยังมีตำรวจอีกสองกองร้อย ตามเสด็จไปควบคุมพระองค์จนถึงชายแดนไทย

ตรงนี้ต้องขอให้อ่านที่พระองค์เจ้าอินทุรัตนาบริพัตร พระธิดาของทูลกระหม่อมบริพัตรเอง ทรงนิพนธ์ไว้ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก งานพระราชทานเพลิงศพ นายสง่า ณ ระนอง
 
       ในที่สุด พวกเขาปล่อยพ่อ ท่านแม่ และหม่อมแม่ออกมากลับวัง หลวงประดิษฐ์ มาแจกหนังสือเดินทางพร้อมลายเซ็น เราก็เตรียมตัวกันจะออกจากประเทศ ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปไหน
       เจ้าคุณประดิพัทธ์หอบกระเป๋าเดินทางมา พาลูกชายรุ่นๆมาด้วย ร้องไห้กันทั่วหน้า เจ้าคุณว่า “ขอตามเสด็จ จะพาไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนัง”
       พ่อว่า “ทางคณะราษฎร์ประกาศว่า ใครมาติดต่อสนิทสนมกับพวกตระกูลบริพัตร จะถูกจับกุม ไต่สวนปลดออกจากตำแหน่งราชการ เจ้าคุณอย่ามากับฉันเลย”
       ท่านเจ้าคุณตอบว่า “พวกเกล้ากระหม่อมเป็นจีน ได้พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์จักรีชุบเลี้ยง พระราชทานนามสกุล สุขสบายกันอยู่ในประเทศไทย ก็จะขอตอบแทนพระคุณในครั้งนี้ มันจะฆ่า ก็ไม่เสียดายชีวิต”
       พ่อว่าเจ้าคุณมากับเรา แต่พวกลูกหลานในตระกูล ณ ระนอง ยังอยู่ในเมืองไทยกัน เขาจะลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง เจ้าคุณประดิพัทธ์ท่านตอบว่า
       “ใต้ฝ่าพระบาทไม่ต้องเป็นห่วง เกล้ากระหม่อมก่อนจะมานี่ ได้เรียกพวกคนในตระกูล ณ ระนอง มาประชุมบอกแล้วว่าจะตามเสด็จ แล้วถ้าเขาจะมาแกล้งก็ทนรับ เขาจะมาฆ่าก็ยอมตายกัน ตอบแทนผู้มีพระคุณ”
เราจึงได้ไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง บนภูเขา อากาศดี สบายมาก การต้อนรับก็เป็นแบบเหมือนญาติสนิทกัน
       แต่ปีนังใกล้เมืองไทย ไปมาสะดวก เป็นที่นิยมของคนไทย ทุกครั้งที่รถเข้าเรือเข้า จะมีคนไทยมา พวกอยากมาดูสำหรับเอากลับไปลือคุยกัน พวกนักข่าว และพวกรับจ้างให้มาฆ่าพ่อของเรา
       ครั้งหนึ่งพ่อพาเรานั่งรถไฟลงไปในเมือง ขากลับขึ้นมา มีผู้ชายตัวดำล่ำมานั่งตรงข้ามพ่อในรถไฟฟ้าและจ้องหน้า ฉันได้ยินผู้ใหญ่พูดกันว่า มีการจ้างคนมาฆ่าพ่อ ฉันเลยนึกกลัวพ่อจะถูกฆ่า เพราะดูที่กระเป๋ากางเกงของเขาคล้ายจะมีปืน ฉันก็เลยลุกไปนั่งตักพ่อ เอาตัวบังไม่ให้เขามองพ่อ พอถึงสถานีบนภูเขาเราก็ลง รีบเดินกลับบ้าน ฉันเห็นคนนั้นยืนมองตามเราอยู่ห่างๆ เพราะตามสถานีจะมีเจ้าหน้าที่แลตำรวจ เราขอให้เขาดูแลให้
       แต่พ่อไม่สบายใจ เราก็ไม่สบายใจ พ่อเลยตัดสินพระทัยย้ายไปอยู่บันดุง เมืองที่รัชกาลที่ ๕ เคยโปรด และสมัยนั้นไม่ค่อยมีคนไทยไปเกาะชวา บันดุงไกลจากจาร์กาต้า สมัยนั้นมีถนนดีมากจากจาร์กาต้าผ่านปาจั๊ก ไปบันดุง มีโรงแรมเล็ก สะอาด อาหารอร่อย มีเครื่องบิน KLM บินระหว่างจาร์กาต้ากับบันดุง
       ในที่สุด ทูลกระหม่อมบริพัตรก็ได้พบและอยู่ที่ที่เย็นสบาย สะดวก และสงบร่มเย็น ปลอดภัยจริงๆ เราเริ่มก็อยู่บ้านเช่า ปีแรกก็ยากจนกัน เพราะคณะราษฎร์ไม่อนุญาตให้ทางเมืองไทยส่งเงินของพ่อไปให้พ่อ เราไม่มีคนใช้ เราก็จัดระบบกันเช่นนี้
       เด็จย่า (กรมหลวงทิพยรัตน์) พ่อ ท่านแม่ และเจ้าคุณประดิพัทธ์ห้ามทำงานบ้าน ส่วนพี่ห้าองค์และหม่อมแม่จัดเวรกันเป็น ๓ ชุด ชุดละ ๒ คน ผลัดกัน ชุดหนึ่งไปจ่ายกับข้าว อีกชุดทำกับข้าว อีกชุดทำความสะอาดบ้าน หมุนเวียน น้องชายกับฉันยังเล็กอยู่ก็วิ่งรับใช้ทั่วไป กุ(หรือนายสง่า ณ ระนอง ลูกชายพระยาประดิพัทธภูบาล)รับใช้ดูแลพ่อของกุ และบางครั้งก็มาช่วยยกของหนักๆ บางวันก็ช่วยพ่อตัดต้นไม้
       น้องชายของฉันเรียนภาษาดัทช์๖ เดือน (จากไม่รู้เลยสักคำ) ก็เข้าโรงเรียนฝรั่งใกล้บ้าน เดินไปเดินกลับ อยู่บ้านก็ทำการบ้านและวิ่งรับใช้ทั่วไป
       ท่านเจ้าคุณแนะนำปรึกษากับพ่อว่า อยู่อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรวบรวมเข้าทุนกิจการอะไรที่ทำรายได้สักอย่าง พอดีทางเมืองไทยเกิดอนุมัติให้ส่งเงินของพ่อมาให้บ้าง พ่อมีเพื่อนแล้วเป็นคนดัทช์ ออสเตรียน เยอรมัน และอเมริกัน ก็ปรึกษากัน
       วันหนึ่ง พ่อกับฉันเดินเล่นผ่านร้านและเอเย่นต์ขายจักรยาน พ่อว่าใครๆ แนะให้พ่อเข้าหุ้นกับบริษัทขายรถยนต์ แต่ดูแล้ว คนที่นี่ขี้เหนียว ถึงรวย มีรถยนต์ ถ้าจะไปไหนที่พอถีบจักรยานไปไหว ก็เก็บรถยนต์ไว้ในโรงรถ ใครจะมีตำแหน่งสูงแค่ไหนก็ใช้จักรยาน คนจนก็ใช้จักรยาน พอดีเจ้าของกิจการเดินออกมา เห็นพ่อเข้าก็จำได้ว่าเป็น Prins van Siam (เจ้าฟ้าแห่งสยาม) เขาเชิญพ่อเข้าไปคุยในออฟฟิศ ต่อมาพ่อก็ลงทุนกับเขา และทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีกันมาตลอดชีวิต


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:39
พระยาประดิพัทธภูบาล ผู้กตัญญู ชื่อเดิม คอ ยู่เหล ณ ระนอง เป็นบุตรของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอ ซิมก๊อง) เกิดที่ปีนัง จบการศึกษาเนติบัณฑิตอังกฤษ จึงชำนาญทั้งภาษาอังกฤษ ไทย จีน และมลายู เริ่มรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตสยามในลอนดอนก่อนที่จะบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ  เมื่อเป็นหลวงสุนทรโกษา ได้ติดตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ ไปต่างประเทศแทบจะทั่วโลก

เมื่อครั้งสยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๓๖ ทางราชการให้ท่านเป็นอัยการฟ้องคดีพระยอดเมืองขวาง
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ได้เป็นพระยาประดิพัทธภูบาล ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ และปีนัง ในเครือจักรภพอังกฤษ

ท่านรอดจากวิบากกรรมทางการเมืองของไทยมาได้จนถึงที่สุดแห่งชีวิต โดยถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่ออายุ ๙๖ ปี


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:54
สรุปว่าที่ปินัง พระยาประดิพัทธภูบาล ได้นำเสด็จทูลกระหม่อมบริพัตรไปประทับที่บ้านของตระกูล ณ ระนองอยู่ได้ ๑๘ วัน ก็ทรงตัดสินพระทัย เสด็จต่อไปเมืองเมดานในเกาะสุมาตรา อาณานิคมของดัตช์  ก่อนจะเสด็จปัตตาเวีย ซึ่งเป็นเมืองหลวง ต้องประทับอยู่โรงแรมที่นั่นประมาณ๑เดือน จึงทรงหาบ้านเช่าสำหรับคนทั้งครอบครัวใหญ่ได้ ปีหนึ่งต่อมาจึงทรงตัดสินพระทัยซื้อที่ดินบนเนินเขานอกเมืองบันดุง เพื่อทรงปลูกตำหนัก “ประเสบัน” สำหรับประทับส่วนพระองค์ ตำหนัก “ปันจาระกัน” สำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ซึ่งทรงเป็นพระขนิษฐคินีในพระสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี ตำหนัก “ดาหาปาตี” สำหรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้านิภานพดล กรมขุนอู่ทองเขตรขัติยนารี ซึ่งเจ้านายเหล่านี้ตามเสด็จมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นานทั้งสิ้น ในอาณาเขตพระตำหนักทั้งสามมีสวนไม้ดอกไม้ใบที่ประทานชื่อว่า “สะตาหมัน” ถนนหน้าพระตำหนักนี้มีลักษณะเป็นวงเวียน ชาวบันดุงจึงเรียกว่า Bandarun Siam แปลว่าวงเวียนสยาม ซึ่งยังคงเรียกกันอยู่จนทุกวันนี้

 ต่อมาได้ทรงซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรที่ตำบลปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตราอีกแปลงหนึ่ง เพื่อทรงปลูกผลไม้เมืองหนาว เช่น สตรอเบอรี่ และไม้ประดับ ตลอดจนกล้วยไม้ ทรงโปรดสวนเกษตรนี้มากประทานชื่อว่า “สวนสวรรค์”



กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:56
ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงดำรงพระชนม์ชีพปลอดจากการเมืองโดยสิ้นเชิง  โปรดที่จะทรงพระอักษรทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ทรงศึกษาภาษาชวา จนสามารถทรงพระนิพนธ์แปลอิเหนาจากภาษาชวามาเป็นภาษาไทยได้   นอกจากนั้น ยังทรงนิพนธ์เพลงไทยเดิมไว้ถึง๑๗เพลง ที่กินใจมากบทหนึ่งนั้น ประทานชื่อว่า “สุดถวิล”

เพราะทรงโปรดดนตรีไทยเป็นชีวิตจิตใจนี่เอง ในโอกาสที่เจริญพระชันษาครบ ๖๐ ปี พระโอรสธิดาจึงได้จัดให้นักดนตรีจากวังบางขุนพรหม นำโดยนายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศลและคุณหญิงไพฑูรย์กิตติวรรณไปบรรเลงถวายเป็นของขวัญ  ทูลกระหม่อมบริพัตรจะทรงดนตรีอย่างมีความสุขกับนักดนตรีวงนี้ทุกวันตลอดช่วงเวลาที่พำนักอยู่ ตั้งแต่เช้าไปจนถึงบ่าย และบางครั้งถึงค่ำหากว่าไม่ทรงมีพระธุระที่ใด ระยะนั้นทรงพระสำราญมากถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า ได้เล่นพิณพาทย์สนุกจริงๆสมกับที่อดอยากมานาน แต่แล้วก็ทรงปรารภว่า เห็นจะเป็นคราวสุดท้าย พระองค์แก่แล้วโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนมากขึ้น คงจะอยู่ไปได้ก็คงอีกไม่เท่าใด

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อคณะนักดนตรีกลับกรุงเทพไม่นานนัก ทูลกระหม่อมบริพัตรก็เริ่มประชวรด้วยพระโรคพระวักกะและพระหทัยเรื่อยมา จนทรงมีพระอาการหนักขึ้นๆ ทรงปวดตั้งแต่พระพาหาลงมาที่พระกรและพระอุระ แพทย์ต้องถวายยาฉีดแก้ปวดตลอด บางครั้งถึงกับบรรทมราบไม่ได้ ต้องประทับบนเก้าอี้โซฟาเอนจึงบรรทมหลับ สุดท้าย ประชวรหนักอยู่ประมาณ ๗ วันเท่านั้น ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๘๗  พระชันษา๖๓ ปี กับ ๗ เดือนเศษ


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:59
ก่อนสิ้นพระชนม์ทรงมีพระประสงค์จะให้ประดิษฐานพระศพ ณ “สวนสวรรค์” ที่ทรงสร้างไว้ที่เกาะสุมาตรา แต่ในเวลานั้นสงครามประกาศเอกราชของอินโดนีเซียที่นั่นอยู่ในขั้นรุนแรง ไม่ปลอดภัยที่จะนำพระศพไป สมาชิกราชสกุลบริพัตรจึงซื้อที่ดินที่สุสานเทศบาล ทำแท่นประดิษฐานพระศพทูลกระหม่อมบริพัตรเป็นการถาวร ต่อมาเมื่อสงครามขยายตัวมาถึงเกาะชวา ส่งผลกระทบมากขึ้น พระชายา พระโอรสธิดา ตลอดจนเจ้านาย และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ปรึกษากันแล้ว เห็นว่าสถานการณ์ในเมืองไทยดีขึ้นมากแล้ว สมควรจะกลับกรุงเทพก่อน พระศพทูลกระหม่อมบริพัตรจึงตกค้างอยู่ในบันดุง เป็นเวลาถึง ๔ ปี


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 08:07
เมื่อสงครามโลกครั้งที่๒สงบลง บ้านเมืองคืนสู่สันติสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นการถาวร มีผู้เสนอความคิดต่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาได้รับสนองพระบรมราชโองการ ประสานงานไปยังรัฐบาลอาณานิคมของฮอลันดาที่จะอัญเชิญพระศพทูลกระหม่อมบริพัตรกลับสู่มาตุภูมิ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษบริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต พระโอรสองค์ใหญ่เป็นผู้แทนพระองค์ พร้อมด้วยพระราชองค์รักษ์และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เป็นผู้ไปอินโดนีเซียเพื่อปฏิบัติภารกิจในการอัญเชิญพระศพกลับประเทศไทย


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 08:19
คณะผู้แทนพระองค์เสด็จถึงเมืองบันดุงในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๙๑ รัฐบาลอาณานิคมฮอลันดาได้จัดเจ้าหน้าที่ประสานงานและได้เริ่มขุดพระศพในวันรุ่งขึ้น โดยถ่ายพระอัฐิจากหีบพระศพเดิมลงใส่ในหีบพระศพทองใบเล็ก แล้วถวายพระเพลิงหีบพระศพเก่าที่สุสาน จากนั้นอัญเชิญหีบพระศพทองใบเล็กมาประดิษฐานในหีบใบใหญ่สีดำ คลุมด้วยธงชาติไทยแล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กองบัญชาการทหารอาณานิคมฮอลันดา ประดับประดาด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม หน้าหีบพระศพทอดพระคทาจอมพลและพระมาลาถวาย มีทหารดัตช์กองเกียรติยศ ๔ นาย ยืนเฝ้ามุมทั้ง๔ของหีบพระศพ

ต่อมาในตอนเช้าของวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๑ เป็นกำหนดการที่จะเคลื่อนพระศพทูลกระหม่อมบริพัตรมายังประเทศไทย

รัฐบาลอาณานิคมฮอลันดา ถวายพระเกียรติยศในฐานะจอมพล จัดขบวนแห่พระศพประกอบด้วยแตรวงนักเรียนและทหารจำนวน ๕๐ นาย มีนายทหารชั้นนายพล ๑๒ นายร่วมอัญเชิญหีบพระศพมาในรถ ซึ่งมีทหาร๔ นายเดินนำ  สองข้างทางที่พระศพผ่านไปขึ้นเครื่องบินนั้นมีแถวทหารกองพลพิเศษ ๕๐๐ นาย แถวทหารพลร่ม ๑๐๐ นาย และแถวทหารพิเศษอีก ๗๐๐ นายส่งเสด็จ อัญเชิญพระศพขึ้นเครื่องบินของบริษัท เค แอล เอ็ม

เมื่ออัญเชิญพระศพขึ้นไปแล้ว จึงอัญเชิญหีบทองเล็กออกจากหีบสีดำ ประดิษฐานบนพระแท่นที่จัดไว้มีดอกไม้ประดับงดงาม เมื่อเครื่องบินขึ้นแล้วได้บินวนรอบสนาม ๑ รอบ แล้วจึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ประเทศไทย  เครื่องบินกองทัพอากาศฮอลันดา๘ลำตามส่งเสด็จถึงชายแดน


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มิ.ย. 12, 08:25
พระศพทูลกระหม่อมบริพัตรมาถึงกรุงเทพในเย็นวันนั้น  เจ้าหน้าที่อัญเชิญหีบพระศพไปยังพระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร ถ่ายพระศพซึ่งเหลือเพียงพระอัฐิลงในพระโกศทองน้อยแล้วตั้งประดิษฐานบนพระแท่นประดับฉัตร๕ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวาย

ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทูลกระหม่อมบริพัตร ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๓ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว  ออกพระเมรุครั้งนั้น ได้พระราชทานพระโกศทองใหญ่สำหรับพระศพเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุด  

หลังจากพระราชทานเพลิงแล้ว ได้อัญเชิญพระอัฐิทูลกระหม่อมบริพัตรขึ้นประดิษฐานบนพระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ณ ที่เดียวกับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 มิ.ย. 12, 08:42
เมื่อสงครามโลกครั้งที่๒สงบลง บ้านเมืองคืนสู่สันติสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นการถาวร มีผู้เสนอความคิดต่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาได้รับสนองพระบรมราชโองการ ประสานงานไปยังรัฐบาลอาณานิคมของฮอลันดาที่จะอัญเชิญพระศพทูลกระหม่อมบริพัตรกลับสู่มาตุภูมิ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษบริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต พระโอรสองค์ใหญ่เป็นผู้แทนพระองค์ พร้อมด้วยพระราชองค์รักษ์และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เป็นผู้ไปอินโดนีเซียเพื่อปฏิบัติภารกิจในการอัญเชิญพระศพกลับประเทศไทย

ขอบินเข้ามาเกาะดู ๆ และเพิ่มข้อมูลให้ดังนี้

บริเวณตำหนักที่บันดุง นั้นด้านหน้ามีวงเวียนตั้งอยู่ บรรดาพ่อค้าประชาชนต่างพากันขนานามวงเวียนแห่งนี้ว่า "บุนดะรันเซียม" แปลได้ว่า "วงเวียนไทย"

และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๘๗ พระประยูรยาญาติได้ซื้อที่ดินบรรจุพระศพอย่างถาวรที่สุสานเทศบาล ถนนปันดู "ตามพระประสงค์"

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ที่เกาะชวายังไม่ได้พระราชทานเพลิงตามประเพณี ในฐานะพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ จึงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพกลับพระนคร และเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ก็ประดิษฐานพระศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 มิ.ย. 12, 09:02
ทหารยามเนเธอร์แลนด์ยืนเฝ้าพระศพที่สนามบินในระหว่างอัญเชิญพระศพขึึ้นเครื่องบิน


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 มิ.ย. 12, 09:15
ความลำบากที่บันดุง

เมื่อคราวสงครามโลกคร้้งที่สองเกิดขึ้น บรรดาทหารญี่ปุ่นก็ต่างเข้าครอบครองบ้านหลังต่าง ๆ ไว้โดยการใช้กองกำลังเข้ายึด พวกเราก็ได้แต่เจรจาว่าเราเป็นสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่น เราเป็นชาวสยาม แต่ก็ไม่เข้าใจ อธิบายภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็แล้วก็ไม่เข้าใจ สุดท้ายมาจบที่ภาษาจีน "ไทยกั๋ว" ทหารญี่ปุ่นจึงได้ถอยกลับไป

หลังจากนั้นพี่น้องก็พากันมารวมอาศัยกันที่ตำหนักใหญ่ ปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นเข้าไปอาศัยตำหนักที่ว่างนั้น อยู่จนสงครามสิ้นสุดลง พวกเราเข้าไปสำรวจพบว่า มีกองสาหร่ายทิ้งมากมาย คาดว่าเกิดจากการที่นำมาประกอบอาหารและทิ้งไว้ บรรดาเครื่องใช้ภายในบ้านล้วนสกปรก ห้องน้ำขึ้นหนอน และตราญี่ปุ่นของพ่อ ทหารญี่ปุ่นไม่รู้จักก็ได้ถูกทำลายเอาบางส่วนไป

บ่อยครั้งที่ท่านชาย พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ถูกทหารญี่ปุ่นเรียกตัวไปกรมทหารไปสอบสวน และถามเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองไทย ซึ่งท่านชายก็ได้ปฏิเสธไปว่าพูดไม่ได้เพราะผิดกฏหมายเรื่องการเมือง เข้ามาตราที่ ๑๑ แห่งรัฐธรรมนูญไทย ห้ามไม่ให้เจ้าพูดเรื่องการเมือง

(ส่วน Chapter 11 ทางอเมริกาเป็นกฏหมายเรื่องการกันไม่ให้ล้มละลาย)


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: ดีเจกบ ที่ 05 มิ.ย. 12, 11:51
เวลาผ่านไปทางวังบางขุนพรหมทีไร ก็อดคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาไม่ได้ ยึดของท่านมาสุดท้ายแล้วก็หาทำประโยชน์อะไรได้ไม่
 :-X


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 12, 01:07
วังบางขุนพรหม


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 12, 01:35
ชะตากรรมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นเรื่องน่าเศร้าเรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย    เพราะเรื่องต่างๆที่เข้ามากระทบกระเทือนมิได้เกิดจากพระองค์เองแม้แต่น้อย   เป็นผลจากการกระทำของบุคคลภายนอกทั้งสิ้น
อย่างในสมัยรัชกาลที่ ๖  เมื่อเยอรมันเรืองอำนาจ จนก่อสงครามโลกครั้งที่ ๑   ก็ทรงถูกเพ่งเล็งว่ามีกลุ่มถือหางเยอรมันจะหนุนพระองค์ท่านขึ้นเป็นใหญ่   เอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไรในกอไผ่   แต่ก็ทรงถูกระแวงและถูกจับตาอยู่นาน

ชะตากรรมทางการเมืองเมื่อปี ๒๔๗๕ ก็เป็นอีกเรื่องที่บุคคลภายนอกก่อขึ้นโดยตรง    มิหนำซ้ำผู้ลงมือก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากผู้ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้วางพระทัยมาเอง     แต่ถึงกระนั้น เมื่อเสด็จลี้ภัยจากสยามไป   เวลาที่เหลือจากนั้นก็ทรงสร้างสรรค์งานคีตศิลป์และวรรณศิลป์ไว้เป็นสมบัติของชาติอีกมากด้วยกัน

ขอพูดทางด้านดนตรีก่อนค่ะ
เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์โปรดดนตรีไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์  ทรงซออู้ร่วมบรรเลงดนตรีมาตั้งแต่พระชนม์น้อยนิดเดียว  ก่อนที่จะเสด็จไปศึกษาในทวีปยุโรปเสียอีก
ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษและเยอรมัน ได้ทรงใช้เวลาว่างศึกษาดนตรีเป็นส่วนพระองค์  จนแตกฉานถึงขั้นอ่านเขียนโน้ตสากล และแยกเสียงประสานดนตรีได้
หลังจากทรงศึกษาจบวิชาทหารในประเทศเยอรมันแล้ว เสด็จกลับมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๖   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงไปควบคุมงานที่กระทรวงทหารเรือ    จึงทรงปรับปรุงกองแตรวง และวงดนตรีไทยของกองทัพเรือ จนรุ่งเรื่อง  โปรดฯให้ จางวางทั่ว  พาทยโกศล และนางเจริญ  พาทยโกศล เข้าไปเป็นครูต่อทางเพลงทั้งบรรเลงและทางร้องเป็นประจำ    ส่วนพระองค์เองก็ทรงแยกเสียงประสานประทานแก่กองแตรวงทหารเรือ  ทำให้วงดนตรีของกองทัพเรือ ได้ทางดนตรีของบ้านฝั่งธนบุรีของบ้านจางวางทั่วไปทั้งหมด  และยังคงใช้บรรเลงขับร้องมาจนทุกวันนี้



กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 12, 01:37
  เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ทรงมีนายทหารมหาดเล็กที่มีความรู้ทางดนตรีชื่อ เรือตรีสุทธ์  ศรีชญา (ต่อมาย้ายไปรับราชการในกองทัพบก ได้เป็นพันตรีหลวงประสานดุริยางค์)  เป็นผู้รับกระแสรับสั่งลงมาจัดการทั้งหมด เข้าใจว่าในปลายรัชกาลที่ ๕  ได้ทรงนิพนธ์เพลงฝรั่งขึ้นหลายเพลง อาทิ เพลงวอลซ์ประชุมพล เพลงจังหวะโปลก้า ชื่อมณฑาทอง เพลงมาร์ชบริพัตร เพลงวอลซ์เมขลา วอลซ์ปลื้มจิต แต่ไม่ทราบวันเดือนปีที่ทรงไว้แน่นอน

    และแล้ว ก็มาถึงเพลงไทยเดิมสำคัญที่สุดเพลงหนึ่งในพระประวัติ  คือ แขกมอญบางขุนพรหม ที่นักดนตรีไทยเดิมย่อมจะรู้จักกันดี
    ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จไปควบคุมงานก่อสร้างพระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี   ระหว่างที่ควบคุมการก่อสร้างนั้น
ได้ทรงนิพนธ์เพลงแขกมอญบางขุนพรหมขึ้น โดยทรงบอกทำนองเพลงประทานให้เรือโทขุนประสานดุริยางค์ (สุทธิ์) จดลงเป็นโน้ตสากลไว้จนครบเป็นเพลงเถา เมื่อเสด็จกลับมา ได้ประทานให้กองแตรวงทหารเรือบรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ โดยมีนางเจริญ  พาทยโกศล
เป็นผู้เลือกบทและสร้างทางขับร้อง   นางเจริญจึงเป็นผู้ขับร้องเพลงนี้เป็นคนแรก
     สำหรับทางบรรเลงปี่พาทย์นั้น จางวางทั่วเป็นผู้ปรับทางจากโน้ตสากลทางแตรวง มาบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์และมโหรี
   
     ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๑  วงดนตรีวังบางขุนพรหมได้บันทึกแผ่นเสียงไว้กับห้างสุธาดิลกเป็นแผ่นเสียงตราพาโลโฟน มีเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เพลงตับมโหรีของเก่าหลายตับ เช่น เพลงตับพระนาละ เพลงตับนางลอย ตับนาคบาศก์ และตับพรหมมาศตร์  ตับแม่งู เพลงสมโภชน์พระเศวตคชเดชดิลก (ช้างเผือกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ฯลฯ )ที่สำคัญได้ประชันวงกับวงดนตรีวังอื่นๆ อาทิ วงวังบูรพาภิรมย์  วงวังบางคอแหลม วงหลวง ฯลฯ ดังปรากฏบันทึกการประชันในปี พ.ศ. ๒๔๖๖  และที่วังลดาวัลย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓     
   
     โน้ตต้นฉบับเพลงแขกมอญบางขุนพรหมทางที่หนึ่ง  ซึ่งยังไม่ได้ใส่เสียงประสานอย่างสมบูรณ์นั้น ยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่กองดุริยางค์ทหารเรือ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๔  เรือเอกสราญ  เรืองณรงค์ได้นำมาบรรเลงในงานบันทึกเสียงฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี พระชนมายุ (บันทึกเสียงที่ศาลาดุสิดาลัย)


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 12, 01:38
http://www.youtube.com/watch?v=tFETCvxQG-g


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มิ.ย. 12, 06:37
จากเวปของกองดุริยางค์ทหารเรือ


ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาการทหาร ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศจึงทรงสนับสนุนให้มีวงดนตรีเพื่อการเดินสวนสนามของทหาร ตามแบบตะวันตกและในปีพ.ศ.๒๔๒๑ได้มีการก่อตั้งหน่วยดุริยางค์ของทหารเรียกว่า"กรมแตรมะรีน"เป็นแตรวงสำหรับทหารเรือฝ่ายบกของกรมแตรมะรีน มิได้มีหน้าที่บรรเลงให้หน่วยของทหารเรือฝ่ายบกอย่างเดียว ยังได้บรรเลงบนเรือรบในพิธีการสำคัญเช่น เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งแรกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีเมื่อ ปีพ.ศ.๒๔๔๐ การไปราชการในครั้งนั้นได้มี "ร้อยเอกฟุสโก"เป็นผู้บังคับบัญชากองดุริยางค์ทหารเรือ

ได้มีการบรรจุในอัตรากำลังของกองทัพเรือเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ มีชื่อว่า "กองแตร" ขึ้นการบังคับบัญชากับกรมทหารเรือฝ่ายบกมีเรือเอกหลวงพิมลเสนี ผู้บังคับกองแตร ซึ่งในขณะนั้น จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็น ผู้บัญชาการกรมทหารเรือพระองค์ทรงโปรดการดนตรีและสนพระทัยวงดนตรีทหารเรือมากได้ทรงวางรากฐานในด้านต่างๆจนทำให้กองแตรเจริญก้าวหน้า และพัฒนาขึ้นอย่างมากเป็นผลมาถึงปัจจุบันทรงนิพนธ์เพลงไทยไว้หลายเพลง ทรงกำหนดหลักสูตรการศึกษาวิชาการดนตรี เรียกว่า"วิชาการแตร" เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ ซึ่งนับว่าดนตรีของทหารเรือ ได้เจริญขึ้นอย่างมากสมดังพระประสงค์ของพระองค์ท่าน ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งวงดุริยางค์ มีชื่อว่า "วงเครื่องสายฝรั่งหลวง"สังกัดกรมมหรสพ กระทรวงวัง หลังจากนั้นมาวงดนตรี ประเภทวงดุริยางค์เริ่มเป็นที่สนใจของคนไทยทั่วไป ในปีพ.ศ.๒๔๗๘ วงดนตรีของทหารเรือ ซึ่งเดิม ชื่อว่า "กองแตร" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "หมวดดุริยางค์ทหารเรือ" ขึ้นการบังคับบัญชา กับสถานีทหารเรือกรุงเทพมีการขยายอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้นแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๒ส่วนคือ แผนกแตรวง และแผนกซอวงซึ่งแผนกซอวงก็คือวงดุริยางค์ราชนาวี

กองดุริยางค์ทหารเรือได้พัฒนาปรับปรุงให้เจริญก้าวหน้า ตลอดเวลาทั้งในด้านองค์บุคคลและองค์วัตถุได้จัดตั้งโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อรับบุคคลพลเรือนเข้ามารับการฝึกหัดเป็นนักดนตรีทหารเรือต่อมาสามารถจัด วงดุริยางค์ซิมโฟนี่ แสดงในรูปแบบคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๒ และจัดตั้งวงดนตรีไทยเดิม วงหัสดนตรีนักร้องประสานเสียง เพื่อปฏิบัติภารกิจทั้งในงาน พระราชพิธี รัฐพิธี และงานบรรเลงต่างๆ จนได้รับคำชมเชย และสร้างชื่อเสียงให้กองทัพเรือ


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มิ.ย. 12, 06:50
บางตอนจาก บันทึกความทรงจำบางเรื่อง ของ หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร ในทูลกระหม่อมบริพัตร


เหตุที่ข้าพเจ้าคิดจดความจำนี้ขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้เชิญพระศพทูนหม่อมมาจากเกาะชวา ตั้งพระศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๑ กองทัพเรือได้บำเพ็ญกุศลถวาย เป็นเวลาที่ข้าพเจ้าสบาย จึงได้ไปในงานพิธีนี้ด้วย เมื่อได้เห็นนายทหารเรือทั้งกองขึ้นไปบนพระที่นั่ง ก็ไม่รู้จักใครเลยสักคนเดียว ข้าพเจ้าขอบใจมากที่กองทัพเรือยังไม่ลืมทูนหม่อม แต่รู้สึกเศร้าใจอย่างไรพิกล เมื่อเสร็จพิธีกุศลแล้ว หลวงสินธุ์สงครามชัย แม่ทัพเรือ ได้ถามลูกชายว่าทูนหม่อมได้ทรงทำการสิ่งใดในทหารเรือบ้าง ลูกชายบอกว่า "ถามแม่คงจะตอบได้ดี" หลวงสินธุ์ฯ จึงได้ลุกมาหาและสอบถามข้าพเจ้าถึงเรื่องทูนหม่อมทรงงานสิ่งใดระหว่างทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ข้าพเจ้ากำลังตื้นตันไปด้วยความเศร้าเลยบอกปฏิเสธไปว่าไม่ทราบ เขาได้ถามถึงเรื่องเพลงต่างๆ ที่ทรงแต่งประทานแตรวงทหารเรือ หลวงสินธุ์ฯ ได้ถามถึงร่าง ข้าพเจ้าได้ตอบว่าไม่มี หลวงสินธุ์ฯ ได้พูดต่อไปว่าคงจะสูญหายตอนสงคราม ภายหลังข้าพเจ้าฟังวิทยุ ได้ยินแตรทหารเรือบรรเลงเพลงแขกมอญบางขุนพรหม และดอกไม้ไทรที่ทูนหม่อมทรงแต่ง หลวงสินธุ์ฯ คงจะไม่ทราบว่าเป็นเพลงของทูนหม่อม หลวงสินธุ์ฯ คนนี้ข้าพเจ้าเคยเห็นครั้งแรกเมื่อพระยาราชวังสันพี่ชายพาไปทูลลาทูนหม่อมเพื่อไปศึกษาวิชาทหารเรือยังต่างประเทศ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ได้เห็นและได้พูดด้วย หลวงสินธุ์ฯ ปรารภว่าจะพิมพ์หนังสือแจกในงานถวายพระเพลิงพระศพทูนหม่อม ข้าพเจ้าแนะนำให้วานพระยาศราภัยฯ แต่งจะได้เรื่องละเอียดดี เพราะเขาทำงานใกล้ชิดกับทูนหม่อมอยู่หลายปีตลอด จนออกจากทหารเรือ

ภายหลังข้าพเจ้ามานึกเสียใจที่ได้ปฏิเสธหลวงสินธุ์ฯ ไป เพระแท้จริงเรื่องที่เสด็จไปทรงงานทหารเรือ บัดนี้ไม่มีใครค่อยทราบกันแล้วว่าได้ทรงทำอะไรบ้าง เพราะผู้ที่ทำงานร่วมกันกับท่านครั้งนั้นก็เป็นคนผู้ใหญ่ทั้งนั้น เวลานี้ก็ล่วงลับไปหมดแล้ว เมื่อแรกเสด็จไปทรงงานพระชันษายังไม่เต็ม ๒๓ ปี ข้าพเจ้าอายุ ๑๗ ปีเศษ ผู้ที่ทำงานร่วมกับท่านมามากคือ มหาแสง นนทสุต (พระแสงสิทธิการ) ซึ่งเป็นเสมียนประจำพระองค์ ภายหลังได้เป็นนายเวร เป็นผู้ร่างคำสั่งและข้อบังคับต่างๆ บัดนี้ก็ถึงแก่กรรมไปแล้ว

ฯลฯ


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 12, 08:36
     หม่อมเจ้าประสงค์สม พระชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงอยู่ในราชสกุลไชยันต์  เป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  หม่อมมารดาคือหม่อมกลีบ ชูกะวิโรจน์
    ทรงมีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระบิดาและมารดา 2 องค์ คือ
    หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงษ์ ไชยันต์ (2426-2483) เสกสมรสกับ หม่อมหลวงคลอง สนิทวงศ์
    หม่อเจ้าหญิงประดับศักดิ์ ไชยันต์ (2434-2526)

   ทรงมีพระโอรสและธิดา 8 พระองค์ ซึ่งพระโอรสและธิดาทุกพระองค์แรกประสูติเป็น หม่อมเจ้า และได้รับการยกขึ้นเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ทุกพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (5 ธันวาคม พ.ศ. 2447 - 15 กันยายน พ.ศ. 2502) เสกสมรสกับ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล)
    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงศิริรัตนบุษบง (4 มกราคม พ.ศ. 2449 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2533) เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล
    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุทธวงษ์วิจิตร (16 มีนาคม พ.ศ. 2450 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546)
    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย (21 กันยายน พ.ศ. 2451 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517) เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าโกลิต กิติยากร
    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตนศิริมาน (21 ธันวาคม พ.ศ. 2452 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543) เสกสมรสกับ พลตรี หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล
    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจันทรกานตมณี (24 กันยายน พ.ศ. 2455 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2520) เสกสมรสกับหม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์
    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงน้อง (12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2462)
    พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายปรียชาติสุขุมพันธุ์ (4 มิถุนายน พ.ศ. 2463 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2465)

หม่อมเจ้าพูนพิสมัยทรงบันทึกว่าหม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร มีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์  ประชวรอยู่เป็นประจำ  แต่ก็มีพระชันยายืนยาวถึง 70 ปี    สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2499  


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 มิ.ย. 12, 09:12
ขออนุญาตจบเรื่องทหารเรือ

ทุกวันที่ ๒๙ มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติของทูลกระหม่อม กองทัพเรือจะจัดงานวันบริพัตรขึ้นทุกปี เพื่อเทิดพระเกียรติ และเพื่อเป็นการสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ โดยปกติจะจัด ณ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ในระหวางที่ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือเป็นเวลาประมาณ ๑๗ ปีนั้น พระองค์ได้ทรงวางรากฐานแห่งความเจริญด้านต่างๆให้กองทัพเรือในปัจจุบัน เช่น การจัดระเบียบราชการใน ทร. การจัดทำข้อบังคับสำหรับทหารเรือ การจัดตั้งโรงเรียนนายเรือ สร้างอู่ต่อเรือ จัดให้มีพระธรรมนูญศาลทหารเรือและกรมพระธรรมนูญทหารเรือ ปรับปรุงการสหโภชน์และตั้งโรงเรียนสูทกรรม กองดุริยาค์ทหารเรือ ตั้งคลังแสงทหารเรือ ปรับปรุงการแพทย์ทหารเรือให้เจริญ สนับสนุนการก่อตั้งราชนาวิกสภา กำหนดรูปแบบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี ปรับปรุงบทเห่เรือ และสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่ เป็นต้น
 
จากการที่ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงวางรากฐานแห่งความเจริญด้านการศึกษาให้กับนายทหารเรือไว้อย่างสำคัญดังกล่าวแล้ว เมื่อกองทัพเรือได้จัดตั้งสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง เพื่อฝึกและให้การศึกษาด้านวิทยาการทหารเรือแก่นายทหารชั้นสัญญาบัตร สอดคล้องกับพระกิจที่ทรงกระทำต่อทหารเรือในอดีต กองทัพเรือจึงพิจารณาให้ประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ของจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตไว้ ณ สถานที่แห่งนั้น





กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 12, 12:51
     หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475   ประเทศต่างๆทั้งใกล้และไกลสยาม  กลายเป็นที่ประทับของเจ้านายสยาม ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร  เพื่อลี้ภัยการเมือง   
พ.ศ. 2480   พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงตัดสินพระทัยพาพระธิดาไปรับการรักษาพระพลานามัยในประเทศอังกฤษ    แต่ก่อนหน้านั้น    ทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซียเพื่อให้ทรงคุ้นเคยกับการเดินทางไปต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อเฝ้าเยี่ยมสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ด้วย
   ทั้งสองพระองค์เสด็จถึงเมืองบันดุง  เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ ที่นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตและพระธิดา ได้ทรงจัดการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ ทั้งยังทรงนำเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา ไปทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ในเมืองบันดุงด้วยพระองค์เอง
    พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองศ์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดา ได้ทรงบันทึกถึงเหตุการณ์ตอนนี้ ไว้ว่า
        “สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา เคยได้เฝ้าพ่อบ้างแล้วที่กรุงเทพฯ      ครั้งนี้สนิทสนมมากทรงเกาะพระพาหาพ่ออยู่เรื่อย
ดูเหมือนจะทรงรู้สึกว่าขาดพ่อ ฝ่ายพ่อก็ทรงสงสาร  และรับสั่งว่าสงสารพ่อที่ไม่ทันเห็นลูกโต”


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 มิ.ย. 12, 13:12
รูปหมู่งานแซยิดจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ บันดุง อินโดนิเซีย


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: somchaisuriya ที่ 10 ก.ค. 12, 19:25
เข้ามาอ่านแล้วได้รับความรู้มากเลยครับ

ขอบพระคุณมากๆ เลยครับ  ;D

ปล.ยังตามอ่านกระทู้  ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0) ตั้งแต่เช้า ยังไม่จบเลยครับ


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 12, 20:09
ยินดีครับ

ขอบคุณมากที่แจ้งให้ทราบ


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: somchaisuriya ที่ 12 ก.ค. 12, 17:03
ยินดีครับ

ขอบคุณมากที่แจ้งให้ทราบ

เพิ่งอ่านกระทู้ พระยาทรงฯ จบวันนี้ครับ สนุกและได้ความรู้มากครับ

ว่าจะขอไล่กระทู้ของคุณ Navarat ที่มีโพสต์ไว้อีกนะครับ

ขอบพระคุณมากครับ ;D


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 13:32
ไปดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง  เพราะระหว่างไปหาหนังสือเล่มหนึ่งจะมาตั้งกระทู้  ก็กลับไปเจออีกเล่มหนึ่ง  (เหตุการณ์แบบนี้เกิดเป็นประจำ)
หนังสือเล่มที่เจอโดยบังเอิญ  มีพระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงษวิจิตร     เรื่อง "ชีวิตลำเค็ญที่บันดุง  ประเทศอินโดนีเซีย"อยู่ในเล่มด้วย
ในนั้นเล่าถึงอาการประชวรและสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ไว้ค่อนข้างละเอียด  จึงขอนำมาลงในกระทู้นี้สำหรับผู้สนใจค่ะ

พ่อไม่ทรงสบายกระเสาะกระแสะมานานแล้ว   ในตอนที่ญี่ปุ่นยึดครองนี้(หมายถึงยึดครองอินโดนีเซีย) ประชวรมากด้วยโรคพระหทัยหลายครั้ง    และมีโรคไตพิการอีกด้วย    ระหว่างนี้หมอไม่ค่อยมี   เพราะถูกจับเข้าแค้มป์   ยาหายากด้วย แต่ไม่ถึงขาดแคลนทีเดียว     พ่อนั้นแม้จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุดแล้ว   ก็สู้โรคไม่ไหว   และสิ้นพระชนม์ลงในระยะที่อินโดนีเซียอยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่นนี้เอง    เป็นอันว่าท่านไม่ต้องผจญกับชีวิตลำบากยากแค้น  ตอนที่ชาวอินโดนีเซียลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออิสรภาพนั้นเลย   


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 13:56
  เมื่อพ่อสิ้นพระชนม์แล้ว   พวกเรายิ่งเศร้า และรู้สึกว้าเหว่ขึ้นอีกเพียงไร  ผู้อ่านคงพอเดาได้    ฉะนั้นจึงจะไม่พรรณนาให้ยาวความ    แต่มีข้อที่น่าชื่นใจอยู่อย่างหนึ่งที่ในการเชิญพระศพไปฝังนั้น     งานได้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติที่สุดสำหรับเวลาตกยากในเวลานั้น    ท่านชาย(หมายถึงพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์) ยังมีอายุน้อยเพียง ๒๐ ปีเท่านั้น   แต่ได้แสดงความสามารถในการเป็นลูกชายของครอบครัวได้อย่างดี   ท่านชายและท่านน้อย(หม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์) ช่วยกันไปหาที่สำหรับบรรจุพระศพ   และเลยตกลงกันว่าจะเชิญไปบรรจุที่ฝังศพสำหรับฝรั่ง  ซึ่งศพศศิพรรณ(ม.ร.ว.ศศิพรรณ สวัสดิวัตน์  พระธิดาในพระองค์เจ้าจันทรกานตมณีและหม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ )บรรจุอยู่ที่นั่นแล้ว  แต่คนละทางกัน
ที่ฝังศพนี้เป็นธรรมเนียมของเขาที่จะขายเนื้อที่ให้พอเฉพาะฝังแต่ละศพเท่านั้น     และเมื่อศพฝังอยู่ในที่นั้นๆครบ ๒๐ ปีแล้วก็ต้องถูกขุดขึ้น   เอาไปฝังรวมๆกันไว้ทางอื่น   เพื่อให้มีที่พอสำหรับศพที่มาใหม่ต่อไป     เราเห็นกันว่าถ้าจะซื้อที่เพียงแต่เฉพาะเช่นนั้น   ที่บรรจุพระศพพ่อจะไม่งาม    และต่อไปอาจมีศพใครมาฝังเคียงข้างอยู่ก็ได้      พวกเราคนไทยในเวลานั้นมีอยู่ราว ๒๐ คน จึงเลยขอซื้อที่ฝังศพเตรียมไว้สำหรับ ๒๐ คน  แล้วใช้ที่ทั้งหมดสำหรับพระศพพ่อพระองค์เดียว    จึงมีเนื้อที่กว้างขวางพองาม   


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 14:55
     ตอนเชิญหีบพระศพไปนั้น  มีรถยนต์มาสำหรับเชิญ ๑ รถ    พวกที่ตามพระศพขึ้นรถม้าเช่าตามไป   นอกจากพวกเราเองแล้ว ยังมีมิตรสหายฝรั่งขึ้นมาตามไปอีกหลายคัน   ดูงดงามดีเกินความคาดหมาย    เมื่อหย่อนหีบพระศพลงหลุมแล้ว  มีการใส่ดินกลบกันเป็นพิธี     แหม่มครูของท่านชายคนหนึ่งและมหาดเล็กชาวอินโดนีเซียก้มลงกราบอย่างไทย    ซึ่งทำให้เกิดการตื้นตันใจแก่เรามาก     เสร็จพิธีแล้ว  ท่านชายได้กล่าวขอบใจผู้ที่มาช่วยงานเป็นภาษาฮอลันดา   ซึ่งทำได้ดีมากสำหรับเด็กหนุ่มขนาดนั้น
    ภายหลังเราได้จัดการก่อเป็นศาลาเล็กๆ  ขึ้นเหนือหลุมพระศพนั้น     และปรับปรุงสถานที่ให้งดงาม    ในเวลาต่อมา  เราต่างคนต่างไปเฝ้า และนำดอกไม้ไปถวายที่พระศพเนืองๆ ตามแต่ใครจะมีเวลาไปเมื่อใด   
    เมื่อบรรจุพระศพแล้ว  เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงซึ่งเป็นคนจีน  นับถือศาสนาพุทธ และถือศีลกินเจ    มีนายองชูอั้นเป็นหัวหน้าครอบครัวมาขอสวดมนต์ถวายที่บ้าน    เขามากันทั้งผู้ชายผู้หญิง แต่งขาวทั้งนั้น  ส่วนการสวดมนต์นั้นฟังไม่เหมือนที่พระไทยสวด    เราเดาว่าคงเป็นพุทธศาสนามหายาน และสวดกันแบบจีน
    นอกจากนี้นายองชูอั้น   ยังมีการนั่งทางในและเล่าให้เราฟังว่า  เห็นทูนกระหม่อมประทับอยู่อย่างมีความสุข กำลังเสวยน้ำชา   แม้เราจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องราวของเขานัก   แต่ก็รู้สึกขอบคุณในความหวังดีของเขา


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 15:10
  ส่วนที่เก็บพระศพนั้น   หลายปีต่อมา  เมื่อองค์ชาย (หมายถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมพฏพงศ์บริพัตร  กรมหมื่นนครสวรรค์วรพินิต) และองค์ใหญ่ (หมายถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง) ออกไปเชิญพระศพกลับเข้าเมืองไทย   ก็ได้บริจาคที่ดินที่ซื้อไว้สำหรับ ๒๐ ศพ   แต่ยังไม่ได้ใช้ครบกำหนด ๒๐ ปีนั้นให้เทศบาลไปเป็นกุศล


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: lantum ที่ 31 ก.ค. 12, 19:59
ติดตามอ่านมาหลายกระทู้แล้วคะ ขอบคุณท่านผู้รู้ทั้งหลายที่แบ่งปันความรู้คะ

เข้ามาบอกเพื่อเป็นกำลังใจแก่ คุณเทาชมพู และ NAVARAT.C คะ

กระทู้เก่าๆของท่านทั้ง2 ดิฉันกำลังไล่ตามอ่าน มีความสุขในการอ่านเรื่องราวมากคะ


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 21:03
^
ยินดีครับ

ขอบพระคุณ


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 21:10
ขอบคุณค่ะ ขอเชิญร่วมวงในกระทู้อื่นๆ ด้วยนะคะ


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: takae ที่ 04 ส.ค. 12, 22:47
สวัสดีครับ.. ;D

ขอฝากรูปงามๆให้ชม ไว้ในกระทู้นี้ครับ :D



กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 04 ส.ค. 12, 23:12
รูปในความเห็นที่ 35
ใช่ พระยาประดิพัทธภูบาล หรือไม่ครับ?


กระทู้: การพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: takae ที่ 04 ส.ค. 12, 23:42
ใช่ครับ... ;D