เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: ดาวกระจ่าง ที่ 23 เม.ย. 21, 12:29



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 23 เม.ย. 21, 12:29
ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางหน่อยค่ะ คือดิฉันเห็นว่าคนไทยภาคเหนือ อีสาน ใต้ มีบางคำเรียกเครือญาติต่างจากคนภาคกลางอยู่ตรงนิยมนำคำที่มีอยู่แล้วมาต่อกัน แต่คนภาคกลางจะเรียกเป็นคำเดียวโดดๆไปเลย เลยอยากให้ท่านๆผู้รู้ในห้องนี้ช่วยชี้แนะหน่อยค่ะว่าเพราะอะไรคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำถึงมักเป็นคำเดียวโดดๆ ไม่นิยมนำคำมาต่อกันเหมือนภาคอื่นๆ มีที่มา มีรากศัพท์มาจากภาษาต่างชาติหรือเปล่าคะ

ขอยกตัวอย่างมาแค่บางคำนะคะ

ภาคเหนือ เช่น
ปู่ – ตา ..ภาษาเหนือจะพูดว่า..ป้ออุ้ย
ย่า-ยาย ..ภาษาเหนือจะพูดว่า..แม่อุ้ย
ทวด ..ภาษาเหนือจะพูดว่า ..อุ้ยหม่อน

ภาคอีสาน เช่น
พ่อตา เรียก พ่อเฒ่า
แม่ยาย เรียก แม่เฒ่า
พ่อผัว เรียก พ่อปู่
แม่ผัว เรียก แม่ย่า

ภาคใต้ เช่น
ปู่,ตา  โต๊ะชาย พ่อแก่
ย่า,ย่าย  โต๊ะหญิง แม่แก่


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 21, 16:36
แต่คนภาคกลางจะเรียกเป็นคำเดียวโดดๆไปเลย เลยอยากให้ท่านๆผู้รู้ในห้องนี้ช่วยชี้แนะหน่อยค่ะว่าเพราะอะไรคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำถึงมักเป็นคำเดียวโดดๆ ไม่นิยมนำคำมาต่อกันเหมือนภาคอื่นๆ
ไม่จริงนะคะ
คำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลาง ที่ไม่ใช่คำเดียวโดดๆก็มี    เช่น แม่เฒ่า พ่อเฒ่า   แม่แก่  แม่ใหญ่ พ่อปู่   พ่อลุง  ปู่ใหญ่  ปู่น้อย   ย่าใหญ่ ย่าน้อย ฯลฯ
เพียงแต่คนรุ่นนี้อาจไม่รู้จักเท่านั้น


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 24 เม.ย. 21, 09:32
ขอบพระคุณสำหรับคำตอบค่ะคุณเทาชมพู ถ้าไม่รบกวนไปหวังว่าคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆจะแนะนำเพิ่มเติมได้เลยค่ะว่าคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางที่ถูกใช้ในสมัยก่อนแล้วคนสมัยนี้ไม่ค่อยใช้กันแล้วมีคำว่าอะไรอีกบ้าง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 21, 09:56
แม่ใหญ่ = ยาย
แม่แก่   = ยาย  ย่า
พ่อปู่     = ปู่  คนแก่เฒ่าคราวปู่
คุณป๋า    =  พ่อ
ตอนนี้นึกออกแค่นี้ค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 21, 19:45
ผมมีความเห็นว่าคำเรียกเครือญาติของคนในภูมิภาคต่างๆนั้นดูค่อนข้างจะมีขอบเขตจำกัดอยู่ในวงแคบใกล้ตัว คือสืบย้อนกลับไปไม่เกินระดับ ปู่-ย่า-ตา-ยาย ของบุคคลต่างๆในครอบครัว และตามสายลงไปถึงเพียงระดับหลาน  ชื่อเรียกของเครือญาติที่จะสืบย้อนกลับไกลไปกว่าที่ได้กล่าวถึงจะเป็นการใช้วิธีการบรรยายว่าใครเป็นใคร เกี่ยวพันกันเช่นใดและอย่างไร  พวกเพลงประเภท Ballad ของภาคเหนือ(ซอ) ของภาคอิสาน(เซิ้ง ?) และของภาคกลาง(เพลงขอทาน ?) เท่าที่เคยได้ฟังมาก็ดูจะบ่งชี้ในลักษณะดังที่ได้กล่าวมา

สำหรับคนในภาคกลางนั้น มีการใช้คำเรียกเครือญาติที่มีวงกว้างกว่าและจำแนกลงไปในรายละเอียดมากกว่ามาก คือสืบย้อนไปถึงระดับ พ่อและแม่ของพ่อ-แม่ของปู่-ย่า-ตา-ยายของบุคคลต่างๆในครอบครัว ขยายวงไปถึงลูกของบุคคลในระดับหลาน  และยังขยายวงไปคนที่เข้ามาเกี่ยวดองกันทางสายโลหิตและทางการสมรส   ก็เลยมีคำต่างๆ อาทิ เทียดชาย-หญิง ทวดชาย-หญิง ย่าใหญ่-เล็ก ลูกเขยใหญ่-เล็ก สะใภ้ใหญ่-เล็ก  น้าชาย-หญิง อาชาย-หญิง น้า-อาเขย  หลานเขย-สะใภ้ เหลนชาย-หญิง ฯลฯ 

คำเรียกบุคคลที่เป็นเครือญาติของคนภาคกลางน่าจะแสดงถึงลักษณะทางสังคมอย่างหนึ่งที่ใกล้ไปในทางรูปของ clan    ต่างไปจากของคนในภาคอื่นๆที่ดูจะออกไปในทางรูปของ family ties 

ไม่ทราบว่าจะตรงประเด็นกับข้อปุจฉาหรือไม่ ครับ       


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 21, 12:49
น่าสนใจมากค่ะ กรุณาอธิบายต่อได้ไหมคะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 26 เม.ย. 21, 17:48
เรื่องความหลากหลาย ความลึกของคำดิฉันไม่ทันคิดถึงประเด็นนี้เลย อย่างไรเชิญคุณ naitang มาชี้แนะต่อได้ค่ะ

อีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันสงสัยว่าคำเรียกเครือญาติที่คนภาคกลางใช้อยู่เป็นคำไทยดั้งเดิมไหมหรือไปรับของชาติอื่นมา คุณ naitan พอจะทราบข้อมูลบ้างไหมคะ เพราะถ้าภาคกลางมีคำหลากหลายกว่าก็แสดงว่ามีรับคำจากต่างชาติมาหรือไม่คะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 21, 18:39
ขอเกริ่นไว้แต่แรกว่า ผมไม่มีความรู้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในเชิงวิชาการด้านสังคมวิทยา     เรื่องราวที่จะพยายามขยายความออกไปตามที่อาจารย์ขอมานั้น เป็นความเห็นที่ประมวลมาจากประสบการณ์ที่ได้เคยเดินทางไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้พูดคุยกับชาวบ้านทั้งที่เป็นชาวพื้นบ้านจริงๆและชาวบ้านที่อพยพย้ายถิ่น ครับ

ในภาคเหนือ คำว่า "อุ้ย" นั้น ในองค์รวมมีความหมายถึงผู้สูงวัยที่ควรแก่การนับถือเป็นอย่างสูง มิได้จำเพาะเจาะจงลงไปว่าจะต้องหมายถึงคนที่เป็น ปู่-ย่า-ตา-ยาย ของคนในครอบครัวนั้นๆ   หากเป็นการพูดคุยกันในครอบครัวหน่วยเล็ก (พ่อ-แม่-ลูก) ในสาระของเรื่องราวในระดับ ปู่-ย่า-ตา-ยาย ก็จะใช้คำว่า พ่ออุ้ย-แม่อุ้ย และเพื่อมิให้สับสนระหว่างของฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง ก็จะบวกด้วยชื่อของอุ้ยคนนั้นๆ

พ่ออุ้ย-แม่อุ้ย ยังใช้เป็นคำเรียกรวมๆและแบบหลวมๆที่หมายถึงบรรดาผู้สูงวัยในระดับ ปู่-ย่า-ตา-ยาย ทั้งหลาย  ทั้งนี้ เมื่อลงไปถึงระดับบุคคลก็จะใช้คำว่าอุ้ยนำหน้าชื่อคน นั้นๆ หากได้ยินชาวบ้านเขาเรียกบุคคลผู้ใดเช่นนั้น ก็หมายถึงผู้สูงวัยผู้นั้นเป็นบุคคลที่ชาวบ้านต่างๆเขาให้ความเคารพนับถือ จะเป็นคนดีมากน้อยเพียงใดก็สังเกตได้จากการเรียกของผู้คนต่างหมู่บ้านต่างถิ่น และในหลายกรณีก็ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับวัย (อายุ) มากนัก


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 21, 19:46
สำหรับในภาคอิสานนั้น ผมไม่ได้คลุกคลีมากนักจึงมีประสบการณ์กับชาวถิ่นพื้นบ้านน้อยมาก ได้พบแต่ผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นไปอยู่และทำมาหากินกระจายอยู่ทั่วๆไป  ซึ่งการสนทนาต่างๆที่เกิดขึ้นมิได้เป็นไปอย่างธรรมชาติบนพื้นฐานของภาษาที่เขาใช้ ด้วยที่เขาจะเลือกใช้ภาษากลาง(ภาษากรุงเทพฯ)สนทนากับเรา และถึงแม้จะใช้ภาษาอิสานและยังคงสำเนียงอยู่ ก็มิได้ใช้คำต่างๆแบบพื้นบ้านของเขา     ผมจึงจับความและมีข้อสังเกตได้แต่เพียงว่า มีลักษณะการใช้คำ(ศัพท์)ไปในทำนองเดียวกันกับของทางภาคเหนือ(โดยเฉพาะคำว่า "พ่อเฒ่า-แม่เฒ่า")   

ที่จับความได้อีกเรื่องหนึ่งจากภาษาพูด คำศัพท์ และลักษณะการใช้คำของคนอิสานก็คือ ผู้คนในอิสานมีความหลายมากมายในเชิงสังคมวิทยาเอามากๆเลยทีเดียว   ภาษาอิสานที่เราได้ยินกันในกรุงเทพฯนั้นดูจะเป็นภาษาอิสานกลางที่ใช้สนทนากันในระหว่างผู้คนที่มีพื้นเพอยู่ในภูมิภาคอิสาน  หากเราได้เดินทางไปและได้ฟังคนในแต่ละพื้นที่เขาคุยกันก็จะสังเกตเห็นความแตกต่างอยู่ไม่น้อยในเชิงของคำศัพท์และการใช้คำพูด    การแบ่งเขตการปกครองเป็นตำบล อำเภอ และจังหวัดนั้นก็ดูจะเป็นไปตามลักษณะจำเพาะดังที่กล่าวถึงและดูมีความเหมาะสมดี


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 21, 18:05
เขียนเสร็จแล้ว ส่งไม่ทันเวลา ก็เลยต้องเรียบเรียงเขียนใหม่ 

ครับ ก็ตามประสาคนแก่ที่กำลังจะเริ่มแก่จัดไปตามกาลเวลา ที่ความช้าและการหลงลืมกำลังจะเข้ามาเป็นคุณสมบัติประจำกายแบบถาวร  ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 21, 19:08
ก็มีการใช้คำเรียกในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการใช้ในกลุ่มคนในพื้นที่บางแห่งของ จ.เลย เรื่องนี้ได้รู้มาจากคนที่ทำงานมาด้วยกันหลายปี เขามีภรรยาเป็นชาว จ.เลย  ได้มีโอกาสนั่งฟังเขาคุยกันในกลุ่มพวกเขา ฟังแล้วก็สนุกดีแถมงงดีอีกต่างหาก  เขาใช้คำเรียกเครือญาติในลักษณะของการบอกว่า ผู้นั้นเป็นพ่อใคร หรือเป็นแม่ใคร และก็ยังบอกแต่เพียงว่าเป็นพ่อหรือแม่ของลูกชายตนโตที่ชื่อนั้นๆเพียงเท่านั้น   ก็เลยมีแต่คำสนทนาที่อุดมไปด้วยคำว่า พ่อไอ้...(ชื่อลูกชายคนโต) หรือแม่ไอ้...(ชื่อลูกชายคนโต) แถมชื่อลูกชายคนโตนั้นก็ยังใช้ชื่อเล่นอีก    ชื่อเดียวที่โดดเด่นออกมาของแต่ละครอบครัวนั้นๆจึงเป็นชื่อเล่นของลูกชายคนโต   จะรู้ชื่อของพ่อหรือแม่ไอ้...ของครอบครัวนั้นๆได้ก็ไปจับความเอาจากเรื่องราวความสัมพันธ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ในปัจจุบันนี้ ไม่น่าจะยังคงหลงเหลือสิ่งที่ผมเคยได้ยินมาเช่นนั้นดั่งเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว     


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 21, 19:43
แล้วก็มีการนิยมใช้คำนำหน้าชื่อว่า "น้า" ซึ่งดูจะนิยมใช้กันในพื้นที่ด้านตะวันตกของชุมชนที่เป็นเมืองในเขตพื้นที่อยุธยาลงไปจนถึงกาญจนบุรี  ทุกคนเป็นน้ากันหมด เลยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันอย่างไร    ที่น่าสนใจชวนให้คิดมากต่อไป (ผมเอง ??? ) ก็คือ ในแถบพื้นที่ราบที่ว่านี้ เป็นพื้นที่ในทางยุทธศาสตร์ทั้งด้านการเดินทัพและการส่งกำลังบำรุงตั้งแต่สมัยอยุธยาโน่น ดูจะมีอะไรๆที่เกี่ยวโยงเป็นมรดกตกทอดเล็กๆน้อยๆทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมอยู่ไม่น้อย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 เม.ย. 21, 20:05
คำเรียกนับญาติว่า "น้า" ใช้ในวงการบันเทิงมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักร้องเพื่อชีวิต น้าหงา น้าแอ๊ด น้าหมู หรือตลก ๓ น้า น้านงค์ น้าพวง น้าโย่ง และที่หลายคนกำลังเป็นห่วงอยู่ตอนนี้ คือ น้าค่อม

แต่ถ้าเป็นทหารที่เข้ามามีอำนาจในวงการเมืองอยู่ขณะนี้ ไม่เรียกว่า "น้า" แต่นิยมเรียกกันว่า "ลุง"
 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 21, 22:53
อ้างถึง
แต่ถ้าเป็นทหารที่เข้ามามีอำนาจในวงการเมืองอยู่ขณะนี้ ไม่เรียกว่า "น้า" แต่นิยมเรียกกันว่า "ลุง"

คงแล้วแต่ละท่าน    คุณเพ็ญชมพูลืม "น้าชาติ" ไปแล้ว ท่านก็เป็นนายกฯที่เป็นทหารมาก่อน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 เม.ย. 21, 09:26
เข้ามามีอำนาจ
แต่ก็อาจจะแตกต่าง
“น้า” เสียงประชาสร้าง
“ลุง” ปูทางด้วยเสียงปืน
 (http://www.reurnthai.com/Smileys/modern/shocked.gif)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 21, 09:46
น้าชาติมาจากเลือกตั้งไม่ใช่หรือคะ
ในปี พ.ศ. 2529 พลเอกชาติชายขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าชาติไทย ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในปี พ.ศ. 2531 ในชั้นต้นมีการทาบทาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ และประกาศวางมือทางการเมือง พลเอกชาติชายจึงได้รับการสนับสนุน ให้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 ของประเทศไทย


สมัยหนึ่งบุคคลอาวุโสในวงการบันเทิง มักจะได้รับคำนำหน้าว่า "พ่อ" และ "แม่"  เช่นคุณสุประวัติ  ปัทมสูตร ศิลปินแห่งชาติ   หรือ " พ่ออี๊ด"   คุณพิศมัย วิไลศักดิ์ คือ "มี้" ย่อจาก "มามี้"   คุณฉันทนา กิตติยพันธ์ุ "แม่แดง" คุณสุดา ชื่นบาน " แม่เม้า"



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 28 เม.ย. 21, 15:25
อ้างถึง
เขาใช้คำเรียกเครือญาติในลักษณะของการบอกว่า ผู้นั้นเป็นพ่อใคร หรือเป็นแม่ใคร และก็ยังบอกแต่เพียงว่าเป็นพ่อหรือแม่ของลูกชายตนโตที่ชื่อนั้นๆเพียงเท่านั้น
คล้ายๆกับประโยคนายเอที่เป็นลูกนายบี นายซีที่เป็นลูกแม่ดีหรือเปล่าคะ แบบว่าต้องมีชื่อพ่อชื่อแม่พ่วงมาด้วยในการเรียกคนนั้น

ดิฉันกลับไปดูข้อมูลอีกรอบแล้วรู้สึกว่าในภาษาภาคอีสานน่าจะมีการนำคำมาต่อกันเพื่อบอกฝั่งพ่อ ฝั่งแม่ บอกอายุของคนที่ถูกเรียก และบอกว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนที่เรียกทีเดียวเลย ไม่รู้ว่าที่ดิฉันคิดจะถูกต้องไหมคะ เช่น
ฝั่งชาย                                
ทวด (ผู้ชาย)    พ่อซ่น           
ปู่            ปู่, ตู้ปู่           
ตา            พ่อตู้, พ่อใหญ่   
ลุง            ลุง, พ่อลุง            
น้า (ผู้ชาย)   น้าบ่าว           
อา (ผู้ชาย)   อาว   

ฝั่งหญิง  
ทวด (ผู้หญิง)  แม่ซ่น
ย่า             ย่า, ตู้ย่า
ยาย             แม่ตู้, แม่ใหญ่
ป้า             ป้า, แม่ป้า
น้า (ผู้หญิง)   น้าสาว
อา (ผู้หญิง)   อา            

ซึ่งภาษาเหนือ ใต้ ดิฉันไม่แน่ใจว่าคำศัพท์บอกขนาดนั้นเหมือนภาษาอีสานไหม


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 21, 19:25
ผมคงไม่มีคำตอบ แต่มีความเห็นจากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปทำงานและคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆที่กระจายอยู่ในภาค ว่า  การใช้ภาษาของไทยของแต่ละชุมชนที่เป็นชาวถิ่นและพวกที่ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่มีลักษณจำเพาะเหล่านั้น ต่างก็มีลักษณะของการใช้ภาษาพูดและมีคำศํพท์ที่ใช้ต่างกัน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป รวมทั้งในเชิงของการออกเสียงตามอักขระวิธี       

เรียนรู้คำพูด คำศัพท์จากที่หนึ่ง นำไปใช้ในอีกที่หนึ่ง เขาก็ฟังแล้วไม่เข้าใจ เราก็เปลี่ยนการสนทนาให้เป็นการสนทนาแบบสนุกสนาน ล้อเลียนกันไปมาแต่สอดแทรกด้วยคำถามเพื่อให้ได้สาระและองค์ความรู้ใหม่ๆ ก็เลยพอจะได้ความรู้ลึกๆจากตรงนั้นเพิ่มเติมขึ้นมา   นานปีเข้าก็ทำให้พอจะปะติดปะต่อเรื่องที่ได้รับรู้นั้น ประมวลกันเป็นเนื้อหาสารัตถะได้เล็กๆน้อยๆพอสมควรในหลายๆประเด็น



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 21, 21:41
ข้อสงสัยของคุณดาวกระจ่างนั้น ดูว่าไม่น่าจะมีคำตอบที่ยุ่งยากมากนัก   แต่..สำหรับตัวผมเห็นว่า กลับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะตอบ       ผู้คนที่เราว่าเป็นคนไทย มีเชื้อชาติไทย และมีสัญชาติไทย ที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่แต่ละภูมิภาคเหล่านั้น โดยเนื้อในแล้วเป็นการอยู่ร่วมกันของผู้คนชาติพันธ์ที่ล้วนใช้ภาษาในกลุ่มภาษาไท-กะได ซึ่งหมายความว่าก็จะต้องมีแขนงของการใช้ภาษาและคำศัพท์แตกออกไปอีกมากมายตามพื้นฐานของวิถีการดำรงชีวิต ความเชื่อ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม    ภาษาและคำศัพท์ที่เป็น norm แม้จะมีเป็นมาตรฐานอยู่เหมือนๆกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีคำศัพท์ สำนวน รวมทั้ง slang ที่มีเพิ่มเข้ามาใช้เหมือนๆกันด้วย   

ตัวอย่างของการกระจายตัวของกลุ่มคนที่ใช้ภาษไท-กะได เป็นแกน แต่มีความหลากหลายในด้านการผสมผสานการใช้ภาษาและคำศัพท์กับผู้คนชาวถิ่นอื่นๆจนได้ลักษณะคำที่แตกต่างกันในหมู่คนพวกกันเองที่อยู่ต่างถิ่น (ซึ่งกลับกลายเป็นคำมาตรฐานของผู้คนในภูมิภาคนั้นๆด้วยการใช้ในเชิง quantitative)         ในภาคเหนือมีชาวโยน(โยนก)แถว อ.เชียงแสน มีไทลื้อแถว อ.เทิง จ.เชียงราย และแถว อ.สูงเม่น จ.แพร่    มีชาวยองแถวใน จ.ลำพูน และ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่   มีชาวไทเขินแถว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่    มีชาวไทพวนอยู่กระจายตั้งแต่ จ.แพร่ จนถึง จ.ราชบุรี ฯลฯ       


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 21, 19:18
ที่มีความเห็นแสดงออกไปเช่นนั้น ก็เพียงเพื่อจะกล่าวว่าที่เราเรียกว่าภาษาเหนือ ภาษาอิสาน หรือภาษาใต้นั้น  อาจจะเป็นเพียงภาษาและศัพท์ที่เราคุ้นเคยมาจากการได้ยินการใช้ที่มีกระจายมากอยู่ในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด  ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยจนทำให้เห็นว่ามันเป็นแก่นของภาษานั้นๆ   คำพูดและศัพท์ที่แปลกออกไปจากที่เราคุ้นเคยนั้นกลายเป็นเพียงการใช้กันในผู้คนกลุ่มย่อย 

ก็ขอยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาปี 2510+/- เคยถามคนเชียงใหม่ในตัวเมืองว่ามีการใช้คำว่า เกิ๋น ใหม (กระใดที่ใช้พาดปีนขึ้นลง) ซึ่งคำนี้มีการใช้กันเป็นปกติในพื้นที่ตัวเมืองเชียงราย  คำตอบที่ได้รับ คือไม่รู้จัก  แต่คำนี้กลับมีการใช้ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่       คำว่า เกิ๋น นี้ดูจะมีการใช้กันในภาคอิสานเช่นกัน ดูจะออกเสียงต่างกัน แต่จะมีการใช้มากน้อยเพียงใดก็ไม่ทราบ  แล้วก็ให้บังเอิญ(?)ว่า ดูจะไปคล้องจองกับคำว่า เกริน ซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้ในงานทางพิธีการของภาคกลาง       


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 21, 19:36
พาออกอ่าวไปเสียไกล ผิดๆถูกๆเช่นใดก็พึงพเคราะห์  ทั้งหลายนี้ก็เพียงเพื่อจะนำเสนอข้อที่พึงนำมาร่วมในกระบวนการพิจารณาการ pairing ของภาษาและคำศัพท์   

ก็คือ ย่อมต้องมีเรื่องของ assimilation และ dissemination เข้ามาเกี่ยวข้อง

   


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงที่มาคำเรียกเครือญาติของคนไทยภาคกลางบางคำหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 05 พ.ค. 21, 11:11
ขอบพระคุณสำหรับความรู้และคำชี้แนะค่ะ