เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 13, 10:40



กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 13, 10:40
ไปได้หนังสือมาจากงานสัปดาห์หนังสือปีนี้  บวกกับหนังสือที่ได้มาเมื่อ 2 ปีก่อนในงานเดียวกันแต่ยังอ่านไม่หมด   จากนั้นเปิดกูเกิ้ลค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ฝรั่งและไทยเขียนเอาไว้
ก็จะพอจะผสมกันเป็นกระทู้ใหม่ขึ้นมาได้อีก 1 เรื่อง
มีพระเอกชื่อแซมมวล ไวท์  ซึ่งเคยเอ่ยไว้นิดหน่อยในกระทู้โปรตุเกสเข้าเมือง   (หมายเหตุ :ไม่ประสงค์จะให้คุณเพ็ญชมพูไปค้นหาเอามาลงเป็น teaser ในกระทู้นี้  ;)) กับพระรองชื่อฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์

คิดว่าช่วงหยุดสงกรานต์คงจะหาเวลาอ่านได้จนจบ แล้วค่อยย่อยมาลงให้อ่านกันค่ะ
ระหว่างนี้ขอให้ท่านทั้งหลายที่เดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์  ได้เดินทางโดยสวัสดิภาพและเป็นสุขกับการกลับไปหาคุณพ่อคุณแม่และญาติพี่น้องที่บ้านเดิม โดยทั่วกัน

ป.ล.  เช็คชื่อตามเคย  คุณประกอบกับคุณสิริณาวดีอยู่แถวนี้รึเปล่าคะ
 


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 13, 10:54
คิดว่าเรื่อง "นายสยาม ขาว" นี้ ซายานวรัตนถนัดอยู่

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 13, 12:27
ซายาเทาฯ ก็พอจะรู้เหมือนกันจ้า


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 เม.ย. 13, 13:41
มาคร้าบบบบบ   กระทู้ช่วงนี้แนววิชาการมากหน่อยไม่ค่อยถนัดครับ ปากเสียลำบาก  เลยแอบอยู่หลังห้องอย่างเดียว  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 เม.ย. 13, 16:18
ระหว่างท่านอาจารย์เทาฯ ยังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบก็มาตั้งข้อสงสัยก่อน เพราะดูเหมือนผมน่าจะเคยซื้อและอ่านหนังสือเล่มนี้จากงานหนังสือนี่แหละหลายปีนานมากมาแล้ว แต่ความทรงจำเลือนลางเต็มทน จำได้ว่าเคยซื้อหนังสือเกี่ยวกับฝรั่งที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์นี่แหละ แต่จำชื่อฝรั่งไม่ได้ รู้แต่ไม่ใช่ฟอลคอนหรือฟอร์บัง  คุ้นๆ ว่าไวท์นี่แหละแต่ไม่แน่ใจ  ส่วนเนื้อหาในหนังสือเป็นอย่างไร ความทรงจำหายหมดสิ้นไม่หลงเหลือ

จำได้แต่ว่าหนังสือเล่มที่ว่าเป็นหนังสือเก่าปกแข็ง กระดาษไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หน้าปกเป็นรูปวาด หนาพอสมควร  ลองไปหาๆ รูปหนังสือนี้ดู แต่ถ้าเป็นเล่มนี้ อาจจะเป็นเล่มที่ผมยังไม่เคยอ่าน เพราะหน้าปกไม่ค่อยคุ้นครับ  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 เม.ย. 13, 16:36
เดินทางไปรอ ตอนนี้ตั้งค่ายอยู่ด่านเจดีย์สามองค์ พลาง ๆ ก่อน  ;D ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 13, 20:13
ตั้งใจจะลงจากเรือนไทยไปเล่นสงกรานต์  ค่อยกลับมาเล่าเรื่องแซมมวล ไวท์  แต่เห็นซายาเพ็ญมาใบ้หวยเรื่องนายสยามขาว   ดช.ประกอบนักเรียนหัวโจกวนเวียนเข้าชั้น ผิดกับที่เคยโดดเรียนประจำ   บวกคุณหนุ่มสยามเองก็แบ็คแพ็คไปรออยู่ชายแดน   เลยเกรงใจ  ต้องเก็บโปรแกรมเที่ยวไว้ก่อน  มาเริ่มอินโทรเอาไว้ไม่ให้ผิดหวัง

สำหรับท่านสมาชิกรุ่นหลังๆ    ก่อนเริ่มอ่านกระทู้นี้  ขอเชิญไปอ่านกระทู้ โปรตุเกสเข้าเมือง (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4376.0) ก่อนก็จะเข้าใจภูมิหลังของยุคสมัยมากขึ้นค่ะ   

ย้อนหลังกลับไปเมื่อคริสตวรรษที่ 17    ดินแดนทางตะวันออกคือแหล่งขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าสำหรับฝรั่งยุโรป     เดินทางได้แต่ทางเรือ กินเวลาหลายเดือนเป็นแรมปีกว่าจะไปถึงจุดหมาย  แถมยังเผชิญภัยสารพัด ทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกัน      แต่ถ้าประสบโชคจากทรัพยากรและค้าขายก็ถือว่าคุ้มแสนคุ้มสำหรับนักแสวงโชค  ดีกว่าทำงานก๊อกๆแก๊กๆ  ลำบากยากจนอยู่ในบ้านเกิดไปจนตาย

หนึ่งในชายหนุ่มที่คิดอย่างนี้ชื่อนายแซมมวล ไวท์   


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 13, 20:22
จะว่าไป แซมมวล ไวท์ก็ไม่ได้อยากจะผจญภัยขึ้นมาเพราะนึกสนุกเฉยๆ      แต่เพราะมีแรงชักจูงจากพี่ชายชื่อจอร์ช ไวท์ ซึ่งเป็นนายเรือ     เมื่อน้องชายยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ในอังกฤษ    จอร์ชเดินทางมาทำงานอยู่ที่บริษัทอีสต์อินเดีย หรือบริษัทอินเดียตะวันออก  ซึ่งฝรั่งตั้งขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในดินแดนในเอเชีย   
ในชั้นต้นจอร์ชทำงานอยู่ที่เมืองมัทราส  ในประเทศอินเดีย      ระหว่างเป็นนายเรืออยู่นั้น ได้ทำความรู้จักกับกลาสีหนุ่มเชื้อสายกรีกคนหนึ่งชื่อคอนสแตนติน เยรากี  ซึ่งทำงานเป็นเด็กรับใช้ในเรือมาก่อนจะเลื่อนขึ้นเป็นกลาสี และต้นเรือตามลำดับ      ว่ากันว่านายเยรากีเปลี่ยนนามสกุลตัวเองเป็นฟอลคอน  เพื่อมิให้พ่อแม่ญาติพี่น้องรู้และแกะรอยมาพบ       เมื่อมาเจอนายจอร์ช ไวท์ก็ผูกมิตรกัน เกิดถูกอัธยาศัย  จอร์ช ไวท์จึงจ้างฟอลคอนเป็นผู้ช่วยของตน     ต่อมาอีกพักหนึ่ง ทั้งสองก็เดินทางมาค้าขายจนตั้งทำเลอยู่ที่อาณาจักรศรีอยุธยา 

ในช่วงนี้เองที่แซมมวลเติบโตเป็นหนุ่ม  สอบได้เป็นต้นเรือ   ก็ออกเดินทางมาตะวันออกตามคำชวนของพี่ชายว่าให้มาช่วยงานกัน    พอมาถึงอินเดียก็ทราบว่าพี่ชายย้ายไปอยู่ที่อาณาจักรเล็กๆที่เขาไม่รู้จักมาก่อนชื่ออาณาจักรศรีอยุธยา      แซมมวลก็เดินทางจากมัทราสมาสมทบกับพี่ชาย


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 เม.ย. 13, 20:30

ย้อนหลังกลับไปเมื่อคริสตวรรษที่ 17    ดินแดนทางตะวันออกคือแหล่งขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าสำหรับฝรั่งยุโรป     เดินทางได้แต่ทางเรือ กินเวลาหลายเดือนเป็นแรมปีกว่าจะไปถึงจุดหมาย  แถมยังเผชิญภัยสารพัด ทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกัน      แต่ถ้าประสบโชคจากทรัพยากรและค้าขายก็ถือว่าคุ้มแสนคุ้มสำหรับนักแสวงโชค  ดีกว่าทำงานก๊อกๆแก๊กๆ  ลำบากยากจนอยู่ในบ้านเกิดไปจนตาย

หนึ่งในชายหนุ่มที่คิดอย่างนี้ชื่อนายแซมมวล ไวท์   

การค้าการเดินเรือในยุคคริสตวรรษที่ 17 เป็นการเปิดการค้าตามเมืองท่าต่าง ๆ มีนักแสวงโชคหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เป็นกระแสที่ใคร ๆ ก็สนใจ แนวคิดนี้เสมือนเป็นเทรนในยุคนั้นก็ว่าได้ รวมทั้งบรรดาบาดหลวง ก็มิวาย


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 13, 20:53
การเดินทางจากยุโรปไปอินเดียสมัยนั้นใช้เวลายาวนานมาก    เพราะยังไม่มีการขุดคลองสุเอซที่จะลัดระยะทางได้    ยิ่งเดินทางบกก็อย่าไปหวัง    ต้องเดินทางเรือลงทางใต้ อ้อมแอฟริกาเลียบชายฝั่งไปจนกระทั่งถึงอินเดีย   กินเวลานานถึง 8 เดือน   ถ้าหากว่าเป็นสามีภรรยา ผู้หญิงเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาก็อาจจะคลอดเสียก่อนถึงที่หมาย

ในเรือชื่อ ลอยัล ซัปเจค ที่นายแซมมวล ไวท์ แกเดินทางไปนี้ เผอิญเป็นเที่ยวที่มีสาวๆโดยสารเรือมาหลายคน เพื่อจะไปที่มัทราสเช่นกัน     หญิงสาวเหล่านี้เป็นคนอังกฤษ มีคู่หมั้นคู่หมายเป็นหนุ่มอังกฤษที่เดินทางไปทำงานที่อินเดีย    ผู้หญิงก็ตามมาเพื่อจะไปแต่งงานกันที่โน่น    ในจำนวนนี้มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อแมรี่ โพวีย์ (Mary Povey)  ซึ่งนายแซมมวลเกิด "ปิ๊ง" ขึ้นมาก็เลยจีบ
นายแซมมวลอาจจะรูปหล่อ หรือไม่ก็คารมเป็นต่อ    สาวเจ้าถึงใจอ่อน   พอเดินทางถึงที่หมาย ได้พบหน้าคู่หมั้นคู่หมายชื่อนายเจียซีย์    นางสาวแมรี่ก็คืนของหมั้นให้คู่หมั้นแล้วย้อนกลับมาแต่งงานกับนายแซมมวล ไวท์ โดยมีบาทหลวงฝรั่งเศสประกอบพิธีแต่งงานให้
เป็นอันว่านายแซมมวลก็ได้เนื้อคู่ในการเดินทางมาตะวันออก เป็นโชคอันดับแรก


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 เม.ย. 13, 19:17
ระหว่างท่านอาจารย์เทาฯ ยังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบก็มาตั้งข้อสงสัยก่อน เพราะดูเหมือนผมน่าจะเคยซื้อและอ่านหนังสือเล่มนี้จากงานหนังสือนี่แหละหลายปีนานมากมาแล้ว แต่ความทรงจำเลือนลางเต็มทน จำได้ว่าเคยซื้อหนังสือเกี่ยวกับฝรั่งที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์นี่แหละ แต่จำชื่อฝรั่งไม่ได้ รู้แต่ไม่ใช่ฟอลคอนหรือฟอร์บัง  คุ้นๆ ว่าไวท์นี่แหละแต่ไม่แน่ใจ  ส่วนเนื้อหาในหนังสือเป็นอย่างไร ความทรงจำหายหมดสิ้นไม่หลงเหลือ

จำได้แต่ว่าหนังสือเล่มที่ว่าเป็นหนังสือเก่าปกแข็ง กระดาษไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หน้าปกเป็นรูปวาด หนาพอสมควร  ลองไปหาๆ รูปหนังสือนี้ดู แต่ถ้าเป็นเล่มนี้ อาจจะเป็นเล่มที่ผมยังไม่เคยอ่าน เพราะหน้าปกไม่ค่อยคุ้นครับ  ;D

จะเป็นเล่มนี้ไหมครับ .. ผมมีแต่เล่มนี้




กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 13, 19:58
คอยดูเถอะ   ไม่ใครก็ใครในเรือนไทย ต้องมีเล่มนี้ด้วยแน่นอน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 13, 21:04
    ในตอนแรก แซมมวล ไวท์ ยังไม่ได้ตรงรี่จากมัทราสเข้ามารับราชการในอาณาจักรศรีอยุธยา     แต่ทำงานอยู่กับบริษัทอีสต์อินเดียในอินเดีย   เพียงแต่ได้โอกาสก็เดินทางมาเยี่ยมพี่ชายที่อยุธยา  โดยผ่านเข้ามาทางมะริด  ผ่านด่านสิงขร ข้ามเขามาที่กุยบุรีและปราณบุรี  จากนั้นก็ลงเรือข้ามอ่าวมาเข้ามปากน้ำเจ้าพระยา ขึ้นไปถึงอยุธยา
    การมาเยี่ยมพี่ชาย เป็นโอกาสให้แซมมวลได้เห็นความโอฬารตระการตาของอาณาจักรสยามที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน      เป็นอาณาจักรที่สมบูรณ์พรั่งพร้อมทั้งความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ    สาเหตุสำคัญคือชนชาวสยามเป็นชาติที่ไม่รังเกียจชนต่างชาติ    มีนิสัยรักสงบและเปิดกว้างทางการค้า   มีพ่อค้าวาณิชจากหลากหลายประเทศมาทำมาค้าขายกันหนาตา     พระราชาของอาณาจักรนี้ก็พระทัยกว้างพอจะเปิดราชสำนักรับคนต่างชาติหลากหลายชาติเข้าไปเป็นขุนนางอีกด้วย
   แซมมวลทำความรู้จักกับชาวต่างชาติซึ่งต่อมาเป็นคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสยาม ชื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน  ชายสัญชาติกรีกผู้รู้จักมักคุ้นดีกับพี่ชายเขานั่นเอง   

  ภาพของฟอลคอนตามที่มีผู้วาดไว้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 เม.ย. 13, 16:52
เด็กจอมโวยเข้ามาทวงเรื่องนายขาวต่อครับ  ;D  ;D  ;D  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 20 เม.ย. 13, 14:24
ปูเสื่อรอชมครับ ..  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 13, 17:48
โดนทวงการบ้านกลางชั้นเรียน   :o
เดี๋ยวจะเปิดภาคค่ำค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 13, 21:31
 ถึงแซมมวล ไวท์ ไม่ได้ออกปากออกมาดังๆว่า "หวานหมูตูละ"   แกก็คงคิดอะไรทำนองนี้อยู่ในใจ     พิสูจน์ได้จากเหตุการณ์หลังจากนั้นคือ  หนุ่มฝรั่งชาวกรีกหนึ่งคนและหนุ่มอังกฤษอีกหนึ่งคนต่างก็ผูกมิตรกันได้อย่างสนิทชิดเชื้อ ถูกอัธยาศัยกันเป็นอันดี      ต่างคนต่างก็รู้สึกว่าไม่มีอาณาจักรไหนในเอเชีย ที่เหมาะเจาะกับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ให้นักแสวงโชคได้ขุดทองกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองอย่างเศรษฐี มากกว่าอาณาจักรสยามอีกแล้ว
ต่างกันแต่ว่าแซมมวล ไวท์ไม่ได้ไยดีกับยศถาบรรดาศักดิ์   จึงไม่คิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในสยาม    สู้หาลู่ทางสร้างฐานะให้ได้ผล    แล้วหอบเงินกลับไปนั่งกินนอนกินเป็นเศรษฐีอังกฤษดีกว่า     ผิดกับฟอลคอนที่ทะเยอทะยานมุ่งหวังจะเป็นเจ้าใหญ่นายโตอยู่ในอาณาจักรที่ต้อนรับเขาอย่างมิตร      ตอนนี้ในวัยแค่ 29 ปี  ฟอลคอนยังไม่ได้เข้ารับราชการ  เป็นแค่พ่อค้าอยู่ในสยาม    แต่เขาก็หาช่องทางจะเป็นให้ได้มากกว่านี้

สยามในตอนนั้นไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนกระจอกๆ  แต่ว่าใหญ่โตพอๆกับลอนดอน  ในบันทึกของฝรั่งเศสเองก็ออกปากแสดงความทึ่งถึงสภาพหรูหราโอฬารของอยุธยา    พ่อค้าวาณิชเดินกันให้ว่อนทั้งในและนอกราชสำนัก       ในวังเองก็มีขุนนางทั้งชาวไทยและชาวเทศ  คอยชิงดีชิงเด่นกันอยู่เสมอ    เนื่องมาจากนโยบายเปิดกว้างทางการค้าสู่ต่างประเทศของพระเจ้าแผ่นดินมาตั้งแต่หลายรัชกาลก่อนๆนั่นเอง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 13, 21:48
    พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเป็นนักธุรกิจที่แหลมคมในสายตาพ่อค้าต่างชาติ       เมื่อใครแล่นเรือเข้ามาค้าขาย ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าสยามทำง่ายๆแบบใครซื้อมาก็ขายไป   แต่ว่าตั้งหลักรัดกุมดีทีเดียว   คือทรงตั้งพระคลังสินค้าขึ้นเป็นเอเยนต์หลวง    แล้วกำหนดสินค้าสำคัญหลายอย่างมิให้ซื้อขายโดยเสรี เช่น ช้าง ดินประสิว ดีบุก ตะกั่ว หมาก และไม้หอม      ล้วนแต่เป็นสินค้ามีค่า   ถ้าพ่อค้าต่างแดนต้องการสินค้าเหล่านี้  ก็ไม่มีสิทธิ์ซื้อจากประชาชน  แต่จะต้องซื้อจากเอเย่นต์หลวงเท่านั้น      ใครดอดไปแอบตกลงกับชาวบ้าน เพื่อซื้อขายกันโดยตรง  ชาวบ้านนั่นแหละจะถูกลงโทษหนัก ถึงขั้นประหารชีวิตก็มี   เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครกล้า
   พระคลังสินค้าไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้   แต่เป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านกับพ่อค้าต่างชาติ   ในลักษณะตัวแทนจำหน่าย    เพราะฉะนั้นเราก็คงวาดภาพได้ว่า คนกลางที่ซื้อมาด้วยราคาถูกและขายด้วยราคาแพง  เรียกได้ว่าตามสบาย เพราะไม่มีคู่แข่ง  จะมีฐานะร่ำรวยอู้ฟู่ขนาดไหน    ส่วนพระเจ้าแผ่นดินผู้ก่อตั้งพระคลังสินค้านี้ก็คือกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจเต็มนั่นเอง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 13, 09:10
   แต่การค้าขาย ก็เป็นที่รู้กันว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ อีกฝ่ายก็ย่อมเสียเปรียบเป็นธรรมดา   
   ฝรั่งที่เข้ามาค้าขายสมัยอยุธยาล้วนแล้วแต่เดินเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาครึ่งโลก     ลำบากยากเย็นแทบเอาชีวิตไม่รอด ก็อยากจะตักตวงกำไรให้คุ้มเหนื่อย   มีทางไหนกอบโกยเอารัดเอาเปรียบได้ก็เอา  จะมามัวนึกถึงอะไรแฟร์ๆอยู่มันก็ผิดวิสัย    ดังนั้นเมื่อมาเจอผู้นำอาณาจักร มีมันสมอง   ฉลาดเฉลียวรู้ทัน  แทนที่จะโง่ให้เอาเปรียบได้ตามสบาย ฝรั่งก็ฮึดฮัดขัดใจ   แล้วก็เริ่มบีบบังคับด้วยประการต่างๆแบบ "กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้"
    พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงต้องประสบความอึดอัดลำบากพระทัยกับฮอลันดาอยู่หลายครั้งในการติดต่อค้าขายด้วย      แต่จะปิดประเทศ ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น   จะสู้ก็ไม่มีกำลังพอ     จึงทรงหันไปผูกมิตรกับบริษัทอีสต์อินเดีย เพื่อหวังจะได้พันธมิตรมาเป็นกำลังคานอำนาจฮอลันดา   แต่ตอนนั้นอีสต์อินเดียตั้งใจจะค้าขายโกยกำไรอย่างเดียว  ไม่สนใจการเมือง     อยุธยาจึงไม่ได้พันธมิตรอย่างที่หวัง 
   สมเด็จพระนารายณ์ทรงเปิดรับชนต่างชาติหลายอย่างต่างภาษาโดยมิได้รังเกียจ  เพื่อผลประโยชน์ทางติดต่อค้าขายต่างประเทศ  เพราะด้านนี้สามารถเพิ่มพูนพระราชทรัพย์ได้ดีกว่ารายได้จากทำไรไถนาหรือซื้อขายของป่ากันภายในประเทศ   นอกจากฝรั่งก็ยังมีแขกอีกหลายชาติด้วย      ที่ต้องเอ่ยถึงแขกเพราะต่อไปจะเกี่ยวข้องกับอนาคตของนายสยามขาวพระเอกในกระทู้นี้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 13, 17:36
   ในอยุธยาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์    ฮอลันดาเป็นนักเลงใหญ่สุดทางทะเลอยู่แถวนั้น   เมื่ออยุธยาค้าขายเก่งถึงขั้นจัดเรือสินค้าไปขายถึงญี่ปุุ่น   ฮอลันดาซึ่งผูกขาดการค้ามาก่อน ก็โกรธที่มีคู่แข่ง   จึงใช้วิธีนักเลงโตหาเรื่องวิวาท ส่งทัพเรือมาปิดปากอ่าวไทย    เรือสินค้าหลวงที่เดินทางไปค้าขายกับจีนก็โดนจับเสียหลายครั้ง      อยุธยาไม่ทันรู้ตัวว่าจะเจอนักเลงใหญ่ ก็ตกใจ ป้องกันตัวไม่ทัน  จึงต้องยอมอ่อนข้อ ทำสัญญาค้าขายกับฮอลันดาโดยยอมประนีประนอมให้ฮอลันดาได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าตามเดิม และเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
  สมเด็จพระนารายณ์แม้ว่าทรงประนีประนอมกับฮอลันดา แต่ก็ระแวงภัยจากฝรั่งพวกนี้อยู่ไม่คลาย   จึงอยากจะคบฝรั่งที่มีอำนาจไว้อีกสักพวกหนึ่งให้คานอำนาจพวกนี้      ทรงเล็งไปที่บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ    แต่ตอนนั้นบริษัทอีสต์อินเดียไม่สนใจเรื่องการเมือง   มุ่งแต่การค้าอย่างเดียว  นโยบายของสมเด็จพระนารายณ์ก็เลยยังค้างเติ่งอยู่แค่นั้น

   นอกจากค้าขายกับฝรั่ง  สมเด็จพระนารายณ์ยังเปิดประตูรับแขกเข้ามาด้วยดี  มีขุนนางแขกจากตะวันออกกลางมารับราชการอยู่หลายคน    หนึ่งในจำนวนนั้น ชื่อ Ophra Synnoratth  หรือ"ออกพระศรีเนาวรัตน์" เดิมเป็นพ่อค้าชาวเปอร์เซียชื่ออกามูฮัมหมัด ได้มากินตำแหน่งขุนนางอยุธยา   มีหน้าที่ดูแลการค้าของหลวงให้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 13, 17:50
  ออกพระศรีเนาวรัตน์ได้เอื้อเฟื้อช่วยเหลือพวกพ้องพ่อค้าชาวเปอร์เชียด้วยกันเป็นอย่างดี    คนไหนพอจะเข้ารับราชการได้ก็ส่งเสริมให้เป็นขุนนาง  คนไหนอยากเป็นพ่อค้าต่อไปเช่นเดิม   ก็ได้รับอภิสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ  เหนือกว่าพวกอื่น      ทั้งนี้ออกพระศรีฯได้ถวายเหตุผลต่อสมเด็จพระนารายณ์ว่า นอกจากจะได้เงินทองเข้าเพิ่มพูนในท้องพระคลังมากขึ้นแล้ว   ก็มีสินค้าอื่นๆมาป้อนอยุธยานอกเหนือจากสินค้าฮอลันดา     ยังจะได้อาศัยพ่อค้ามุสลิมเหล่านี้ไว้เป็นกำลัง คอยคานอำนาจกับฮอลันดาอีกด้วย     
   ผลงานของออกพระศรีฯ นับว่าเป็นผลดีทั้งกับผู้บริโภคชาวอยุธยาและทั้งตัวพ่อค้าเอง    คือสินค้าของพ่อค้าเปอร์เชียมาขึ้นท่าที่เมืองมะริด แล้วขนมาทางบก ข้ามเขามาขายที่อยุธยาได้ในราคาต่ำกว่าสินค้าจากฮอลันดา  เพราะต้นทุนถูกกว่า      ดังนั้น  อำนาจทางการค้าของฮอลันดาก็ลดน้อยลงไปโดยปริยาย   เพราะสินค้าขายสู้ของพ่อค้าแขกไม่ได้     แต่ถึงกระนั้น ขุนนางไทยที่จับตามองนโยบายนี้อยู่ก็ไม่ค่อยจะแฮปปี้นัก   เพราะเห็นผลร้ายหลายประการที่จะตามมา
   ๑  การลิดรอนกระเป๋าของฮอลันดาในลักษณะนี้  หากว่าเกิดแตกหักกันขึ้นมาระหว่างแขกกับฝรั่ง   อยุธยาผู้ตกอยู่ตรงกลางก็เดือดร้อนอีก   เพราะพ่อค้าเปอร์เชียมีแต่เงิน  แต่ไม่มีกำลังทางทัพเรือไว้คานอำนาจทัพเรือฮอลันดาได้
   ๒  ถึงไม่เกิดเหตุข้อ ๑   ก็อาจมีผลเสียระยะยาวจากพ่อค้าแขก  ที่ทวีอำนาจทางการเงินขึ้นทุกที      พวกนี้นอกจากเห็นประโยชน์ตัวเองเป็นใหญ่ มากกว่าจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน    ก็อาจมักใหญ่ใฝ่สูง ทะเยอทะยานขึ้นกุมอำนาจในราชสำนัก และครอบครองอาณาจักรได้ในวันหนึ่ง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 13, 18:57
Ophra Synnoratth  หรือ"ออกพระศรีเนาวรัตน์"

ฟังคล้ายๆ Ophra C.Navarat เน๊าะ ชักใกล้ตัวเข้ามาแล้วละสินั่น


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 13, 19:19
    สมเด็จพระนารายณ์เองก็มิใช่ว่าไม่เห็นความเป็นไปได้ในข้อนี้   แต่ในเมื่อออกพระศรีเนาวรัตน์ยังหาเงินเข้าพระคลังให้ได้อยู่ ก็ไม่มีเหตุอันใดจะต้องปลด   จึงทรงใช้งานต่อไป  พร้อมกันนั้นก็ไม่สบายพระทัยนักที่พวกพ้องของออกพระศรีฯชักจะขยายวงกว้างออกไปทุกที      
    แต่คุณพระศรีฯ อดเป็นพระเอกในกระทู้นี้     อยู่มาวันหนึ่ง พงศาวดารก็บันทึกว่า ออกพระศรีเนาวรัตน์ถึงแก่กรรมไปแล้ว (ซะเฉยๆ)  สมเด็จพระนารายณ์ฯจึงทรงตั้งนโยบายใหม่  ไม่ใช้แขกเปอร์เชียมาควบคุมดูแลกิจการค้าขายทางทะเลด้านตะวันตกอีก   แต่จะเอาขุนนางไทยที่เชี่ยวชาญเรื่องการค้าต่างประเทศทางด้านอินเดียและตะวันออกกลางก็ยังหาไม่ได้       ด้วยเหตุนี้  เมื่อแซมมวล ไวท์เข้ามาอยู่ในสยาม   ส้มทองคำก็เลยหล่นลงมาที่เขาทั้งเข่ง

    สมเด็จพระนารายณ์ทรงหวังว่า นายเรืออังกฤษน่าจะตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีกว่าชาติอื่น     เรื่องจะเอาชาวดัทช์มาใช้งานเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว   จะเอาแขกอย่างเดิม พระองค์ก็ไม่โปรดจะให้พวกนี้มีอำนาจมากเกินไป       ทรงเห็นว่าชาวอังกฤษนี่แหละน่าจะดีกว่าเพื่อน    เพราะมีพรรคพวกน้อยมากในอยุธยา  เรื่องจะสมคบกันโกงกับพวกพ้องก็ย่อมน้อยลงไปตามส่วน       แซมมวล ไวท์มาอยู่ในอยุธยาพักหนึ่งก็เดินทางกลับไปประจำที่บริษัทอีสต์อินเดียในมัทราส     ส่วนจอร์ช ไวท์พี่ชายของเขาพ้นบทบาทในเรื่องนี้ไปแล้ว เพราะอยากกลับอังกฤษ ไม่อยากอยู่ในเอเชียไกลโพ้นอีก     หลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ ทางบริษัทอีสต์อินเดียก็ได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ขอยืมตัวแซมมวลไปเป็นนายเรือ คุมเรือค้าขายของสยาม    
   ทางบริษัทไม่ขัดข้อง ตกลงให้ยืมตัวไปทำงานเป็นเวลา 2 ปี   แซมมวลก็พาครอบครัวไปประจำการอยู่ที่มะริด ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางตะวันตกของอยุธยา    กลายเป็น Shabandar เป็นภาษาเปอร์เชียนแปลว่า "เจ้าแห่งท่า" หรือ "เจ้าท่า"  เมืองมะริด


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 13, 19:22
Ophra Synnoratth  หรือ"ออกพระศรีเนาวรัตน์"

ฟังคล้ายๆ Ophra C.Navarat เน๊าะ ชักใกล้ตัวเข้ามาแล้วละสินั่น

เอิ่ม...บทกิตติมศักดิ์ค่ะ   ไม่มีบทพูด     ออกมาค.ห. เดียว  คุณพระศรีเนาวรัตน์ก็ม้วนเสื่อเข้าโรงไปแล้ว  
ส่วนออกพระซีนวรัตนต้องบทยาวๆเป็นมหากาพย์


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 13, 20:02
ออกพระซีนวรัตน ฟังดูดีกว่าซายานวรัตนมากมาย ;D

คุณพระศรีเนาวรัตน์ก็ม้วนเสื่อเข้าโรงไปแล้ว แต่ออกพระซีนวรัตนยังรอจะออกโรงอยู่ ทว่า อย่าว่าแต่มหากาพย์เลยขอรับ เรื่องนี้ บทลูกคู่ขานรับก็ยังหาไม่เจอ 



กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 13, 20:10
ออกพระซีนวรัตน ฟังดูดีกว่าซายานวรัตนมากมาย ;D

คุณพระศรีเนาวรัตน์ก็ม้วนเสื่อเข้าโรงไปแล้ว แต่ออกพระซีนวรัตนยังรอจะออกโรงอยู่ ทว่า อย่าว่าแต่มหากาพย์เลยขอรับ เรื่องนี้ บทลูกคู่ขานรับก็ยังหาไม่เจอ 

โปรดอ่านคำอ้างอิงจากซายาเพ็ญ

คิดว่าเรื่อง "นายสยาม ขาว" นี้ ซายานวรัตนถนัดอยู่

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)

รอท่าอยู่นานแล้ว  ว่าเมื่อใดออกพระซีนวรัตนจะออกโรง     
เดี๋ยวขอเชิญนายสยามขาวขึ้นรับตำแหน่งผู้ว่าฯ เมืองมะริดก่อน  จากนั้นจะรีบส่งไม้ให้ท่านออกพระฯ เล่าต่อถึงผลงานที่แซมมวล ไวท์ฝากเอาไว้ในเมืองมะริดค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 13, 20:22
หาบทยังไม่เจอเลยครับ ไม่รู้เอาไปไว้ไหนแล้ว


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 13, 20:22
หน้าที่เจ้าท่าของแซมมวล มีหลายอย่าง  อย่างแรกคือควบคุมดูแลเรือสินค้าหลวงที่เดินทางขึ้นล่องผ่านอ่าวเบงกอล   ให้ไปมาอย่างสะดวกปลอดภัย     อย่างที่สองคือมีหน้าที่จัดหาซื้อสินค้าเข้ามาตามคำสั่งของราชสำนักอยุธยา  และขายสินค้าของพระคลังหลวงออกไป   หรือเรียกว่าซื้อไปขายมาทั้งสองอย่าง       อย่างที่สามคือเก็บรักษาภาษีผลประโยชน์จากการค้าขายต่างๆของราชการ

หน้าที่นอกจากนี้คือรับคำสั่งจากศูนย์กลางที่อยุธยา แล้วแต่ว่าพระเจ้าแผ่นดินหรือกรมพระคลังสินค้าจะสั่งให้ทำอะไร     เช่นถ้าได้รับคำสั่งให้ต่อเรือรบ ก็ต่อให้เสร็จ   เพิ่มเติมสร้างป้อมคูประตูหอรบให้แข็งแรงมั่นคง    โดยเบิกงบประมาณได้จากท้องพระคลังที่กรุงศรีอยุธยา

แต่ขุนนางสมัยอยุธยาไม่มีเงินเดือน   ลักษณะนี้ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  นายสยามขาวแม้เป็นคนอังกฤษแต่มารับราชการในอยุธยาก็เจอระบบปลอดเงินเดือนเข้าเหมือนกัน   คำถามคือแซมมวลจะเอาอะไรกินเข้าไป   คำตอบก็คือแกอาจจะได้เบี้ยหวัด  จากส่วนแบ่งจากภาษีอาการและกำไรจากการค้า     นี่คือพูดอย่างเป็นทางการ   ถ้าพูดอย่างไม่เป็นทางการก็คือแกก็ต้องหาช่องทางเม้คมันนี่เข้ากระเป๋าเอง  ราชการก็หลับตาเสียข้างหนึ่งให้แก

อินเทอร์มิชชั่น โปรดรอออกพระศรีนวรัตน พาย้อนไปสู่เมืองมะริดต่อนะคะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 13, 20:23
หาบทยังไม่เจอเลยครับ ไม่รู้เอาไปไว้ไหนแล้ว
ถ้าหาไม่ได้จริงๆ เดี๋ยวจะส่งไปให้ค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 13, 20:58
เหวอ . .   หนักแล้ว อัตโน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 เม.ย. 13, 07:49
เหวอ . .   หนักแล้ว อัตโน

โห หัวหมุนติ้ว ๆ เลยหรอครับผม  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 22 เม.ย. 13, 09:13
กำลังสนุกครับ  ท่านอาจารย์ ...  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 เม.ย. 13, 11:12
จะไม่หมุนติ้วๆได้อย่างไร (ถ้าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของกระทู้นี้)ลองเข้าไปอ่านดูละกัน

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/09/K8347518/K8347518.html

ที่เขียนไว้ในนั้นน่ะ หมดภูมิของผมแล้ว


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 13, 19:20
      ในเมื่อระบบรายได้ของขุนนางอยุธยาในสมัยนั้นเป็นอย่างที่เรียกกันว่า "จับเนื้อกินเอง"  คือหารายได้เอง   ราชการไม่มีให้ หรือมีก็ไม่พอ      เราก็พอจะเดาได้ว่านายแซมมวล ไวท์ แกไม่ได้หวังว่าศูนย์กลางที่อยุธยาจะมาอุดหนุนจุนเจืออะไรแก      แต่ว่ามะริดเป็นเมืองท่าอันเป็นศูนย์รวมของเงินทองไหลไปเทมาอยู่แล้ว   แกจะแคร์อะไรกับเมืองหลวง 
      การที่ส้มหล่นมาที่แซมมวล  ไม่ใช่เหตุบังเอิญ     สมเด็จพระนารายณ์เลือกนายเรือชาวอังกฤษรายนี้ก็เพราะมีคนส่งเสริมสนับสนุนให้ทรงเลือกเถอะพ่ะย่ะค่ะ คนนี้ละเหมาะมาก       คนแบ๊คอัพนั้นเป็นใครไปไม่ได้นอกจากฟอลคอนซึ่งหาทางส่งตัวเองเข้าเป็นขุนนางในราชสำนักได้สำเร็จแล้วในตอนนั้น      เมื่อฟอลคอนถูกอัธยาศัยกับไวท์    ไวท์ก็เลยมีเส้นขนาดก๋วยเตี๋ยวหลอดส่งตัวเขามาหาช่องทางร่ำรวยอยู่ที่นี่      และเราก็คงไม่ต้องสาธยายกันให้มากความว่า ถ้าไวท์จะรวย ก็คงไม่ใจดำ รวยอยู่คนเดียว  โดยไม่ตอบแทนฟอลคอนให้สมกับที่เกื้อหนุนมาด้วยดี

     หน้าที่ของเจ้าท่าอย่างนายสยามขาวพระเอกของเราคือทำการค้าซื้อไปขายมาให้ท้องพระคลังสินค้า       แต่มะริดนั้นก็อยู่ไกลอยุธยามากพอที่เจ้าท่าจะทำอะไรต่อมิอะไรได้  โดยไม่ต้องแจ้งอยุธยาไปเสียทุกอย่าง     ผลจึงออกมาว่าสินค้าหลวงในเรือหลวงที่ส่งไปค้าขายตามเมืองต่างๆด้านตะวันตกของสยาม  มีสินค้าของหลวงอยู่ไม่ถึงครึ่งลำเรือกระมัง      เนื้อที่ค่อนลำเรือที่เหลือนั้นเป็นสินค้าส่วนตัวของท่านเจ้าท่าทั้งสิ้น     
     ไวท์มาอยู่มะริดไม่นาน  สมบัติก็เพิ่มพูนขึ้นทันตาเห็น    พอจะทำให้ฝันหวานว่าจะกลับไปอังกฤษได้อย่างเศรษฐีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 เม.ย. 13, 21:45
ขอเข้าฉากตรงนี้ก่อนแล้วกันนะครับ

ในลิงค์ที่ผมโยงไว้ให้จะเห็นแนวทางการวิเคราะห์ของหลายท่านในพันทิปที่น่าจะสรุปได้ว่า ราชอาณาจักรไทยสมัยโน้น ทางฝั่งทะเลฝ่ายตะวันตกนี่ มีเมืองชื่อตะนาวศรี เป็นหัวเมืองสำคัญ และมีมะริดเป็นเมืองท่า

เมืองตะนาวศรีนั้นอยู่ลึกเข้าไปตามแม่น้ำสายที่มีเมืองมะริดตั้งอยู่ที่ปากอ่าว ดังเหตุผลที่คุณม้าเคยให้ไว้ว่า เมืองสำคัญนั้นจะต้องอยู่ไกลทะเลหน่อยเพื่อที่ทัพเรือของข้าศึกจะได้ไม่สามารถจู่โจมเข้าถึงตัวโดยง่าย เจ้าเมืองตะนาวศรีมีศักดิ์เป็นพระยาที่กรุงศรีอยุธยาส่งมาคุมกำลังทหารมอญชาวพื้นเมืองเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ที่มะริดก็มีเจ้าเมืองปกครองเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับพระยาตะนาวศรีอีกทีหนึ่ง ตำแหน่งสำคัญของเมืองนี้คือนายท่าผู้ดูแลการค้า หรือชาร์บันดาShabandaที่แต่ไหนแต่ไรมาคนไทยไม่ได้เป็น ที่มะริดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นชาวอิหร่าน ฝรั่งน่ะ มาทีหลัง

ผมเอ่ยถึงบทบาทของเมืองตะนาวศรีไว้ก่อนเพราะตอนท้ายประวัติของนายสยามขาวจะมีบทบู๊ ท่านจะได้เข้าใจที่มาที่ไป


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 เม.ย. 13, 21:48
ส่วนมะริดเล่า ทำไมจึงเป็นเมืองท่าสำคัญขึ้นมาได้

การค้าทางทะเลสู่กรุงศรีอยุธยา ตามเส้นทางด้านตะวันออกที่ส่วนใหญ่ค้าขายกับจีนนั้นไม่มีอุปสรรคปัญหา แต่เส้นทางเดินเรือทางตะวันตกมีพื้นที่อับลมในบริเวณที่เรียกว่า“ช่องแคบมะละกา”   ตรงนั้นในบางฤดูกาลเรือสินค้าที่ใช้ใบไม่สามารถวิ่งผ่านได้ หรือวิ่งผ่านได้แต่ช้ามาก จนถูกชาวมลายูเมืองอาเจะห์ที่อยู่บนฝั่งพายเรือยาวมาปล้นเอาได้ถึงกลางทะเล

ดังนั้น พ่อค้าจึงเลือกที่จะเดินเรือมาที่มะริด แล้วถ่ายของเก็บไว้ในโกดัง รอกระทั่งฤดูที่ลมส่งท้ายเรือให้กางใบใช้ความเร็วเต็มที่ได้ จึงขนถ่ายสินค้าใส่เรือขนาดย่อมวิ่งเข้ากรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง ส่วนคนถ้าไม่อยากอยู่รอ ก็สามารถเดินทางบกจากมะริด ผ่านตะนาวศรี ข้ามเขามาทางด่านสิงขร แล้วมาลงเรือต่อที่กุย หรือปราณบุรี เข้ากรุงศรีอยุธยาได้เลยโดยไม่ต้องมากับเรือ มะริดในสมัยที่หลังจากฝรั่งเริ่มค้นพบเส้นทางเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปมาเอเซียตะวันออกได้จึงมีความสำคัญขึ้นมาได้ฉะนี้

แผนที่เมืองมะริดซึ่งฝรั่งเศสทำไว้หลังจากนายสยามขาวหมดวาสนาไปแล้วนิดเดียวนั้น จึงเห็นอาคารยาวๆที่เป็นคลังสินค้ามากมาย ทั้งของเอกชนและของหลวง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 เม.ย. 13, 22:02
แถมอีกนิด

มะริดเจริญได้ก็เพราะการขนส่งสินค้าด้วยเรือสำเภากางใบจากตะวันตกมาเมืองไทยเท่านั้น เมื่อกลับคืนไปเป็นของพม่า การค้าตรงนี้ก็ขาด มะริดก็หมดความสำคัญไป พม่าไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ไทยเคยได้

ครั้นเรือสินค้าเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ความจำเป็นของไทยที่จำเป็นต้องมีมะริดในฐานะเมืองท่าก็ไม่เหลือแม้น้อย
(แต่ในด้านการท่องเที่ยวและเก็บเกี่ยวทรัพยากรทางทะเลนั้น พม่ารออนาคตตรงนี้อยู่)


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 เม.ย. 13, 22:06
ขอเชิญกลับไปที่บทบาท"จับเนื้อกินเอง"ของนายสยามขาวต่อครับ ท่านจขกท.


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 13, 08:49
คุณหนุ่มสยาม   เด็กชายประกอบ  คุณลุงไก่   คุณ  spyrogira และท่านอื่นๆ  มัวไปอยู่ไหน เข้ามายกป้ายเชียร์ท่านออกพระหน่อยเร้ว   เดี๋ยวท่านจะเขิลลล...

ก่อนจะลงจากเรือนไทยไปช็อปปิ้ง  ขอส่งการบ้านตามที่ออกพระศรีนวรัตนให้ไว้ เรื่อง "จับเนื้อกินเอง "ก่อนค่ะ  

ขอขยายคำว่า "จับเนื้อกินเอง"   ว่า เนื้อในที่นี้หมายถึงเนื้อทรายเก้งกวาง ไม่ใช่เนื้อหนังมังสา      อาชีพขุนนางในสมัยโน้นก็เหมือนอาชีพบางอาชีพที่ไม่ต้องอธิบายให้มาก  อาจไม่มีในประเทศไทย  แต่ยังพบได้บ่อยในประเทศสารขัณฑ์  คือถึงแม้รายได้น้อยแต่ใครๆก็อยากเป็น เพราะเป็นแล้วรวย     เนื่องจากมีช่องทางให้หารายได้เสริมได้ง่ายกว่าอาชีพอื่น   แต่ต้องขยันออกป่าจับเหยื่อกินเอง  จะมัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ในออฟฟิศอย่างเดียวไม่ได้

แซมมวล ไวท์ มาเป็นเจ้าท่าได้ไม่นานก็จับเนื้อกินเองได้เหลือเฟือ      เรือสินค้าที่ต้องผ่านไปมา หรือแวะท่ามะริดอยู่แล้ว   ลำไหนเจอแจ๊คพ็อท  ก็จะถูกท่านเจ้าท่ายึดเรือไว้   เพื่อยัดข้อหาโน่นข้อหานี่ แล้วแต่ว่าสำรวจแล้วท่านไวท์จะหาข้อบกพร่องอะไรเจอได้บ้าง    บางลำก็โดนริบสินค้า  บางลำก็เจอค่าปรับ    ถ้าไม่จ่ายให้ท่าเรือซะดีๆ ก็อย่าหวังเลยว่าจะแล่นใบไปขายสินค้าที่ปลายทางได้     นายเรือพวกนี้ส่วนใหญ่ก็ต้องกัดฟันจ่าย  เพราะยังดีกว่าถูกยึดต้นทุนหายปลายทุนหด    ลำไหนมีสินค้าแพงๆขนมามาก  อาจถูกรางวัลที่หนึ่งคือถูกยึดทั้งเรือทั้งของไปหมด


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 13, 09:03
   สรุปความว่า โดยหน้าที่แล้วนายสยามขาวก็เป็นขุนนางผู้มีเกียรติของอยุธยา   แต่โดยภาคปฏิบัติแล้ว แกก็เป็นสลัดทะเลหลวงเราดีๆนี่เอง  ควรจะเปลี่ยนชื่อจาก "สยามขาว" เป็น "ฉลามขาว" อย่างยิ่ง

     ถ้ามีใครสงสัยอยากยกมือถามว่า พฤติกรรมเลวร้ายของเจ้าท่า ไม่ถูกร้องเรียนไปถึงพระเนตรพระกรรณบ้างหรือ   คำตอบก็คือ คอรัปชั่นของไวท์ซึ่งเรียกได้เต็มปาก ว่า ทั้ง"ฉ้อราษฎร์" และ "บังหลวง" นี้  ไวท์รู้ดีว่าถ้าทำคนเดียว ก็มีหวังถูกจับได้  ไม่มีทางรอดหลักประหารไปได้แน่นอน    คอรัปชั่นถ้าให้ปลอดภัยต้องทำเป็นขบวนการ     แกจึงรอบคอบพอจะส่งส่วยไปถึงผู้มีอำนาจอยู่เหนือแกขึ้นไป    คนนั้นเราก็คงพอเดาได้ว่าเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากเพื่อนซี้ของแก  ผู้ซึ่งบัดนี้ก้าวพรวดๆขึ้นเป็นถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ขุนนางคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์
    เมื่อวิชเยนทร์ได้ส่วนแบ่งอย่างงามจากไวท์    ก็ยินดีปรีดาว่าไม่เสียแรง    เพื่อนคนนี้ได้ดีแล้วไม่ลืมเพื่อน    ดังนั้นพฤติกรรมเลวใดๆของไวท์ที่จะเล็ดรอดถึงพระเจ้าแผ่นดิน  วิชเยนทร์ก็ปัดเป่าเสียให้หนักกลายเป็นเบา และร้ายกลายเป็นดี    พระเอกและพระรองก็เลยอยู่รอดกันมาได้   แม้ว่าจะหวุดหวิดอยู่หลายทีก็ตาม

   นอกจากจับเนื้อกินเองแล้ว   ไวท์ยังค้าขายส่วนตัวโดยอาศัยเรือหลวง กะลาสีหลวง  ต้นทุนหลวง  ขนสินค้าไปขายตามเมืองต่างๆทางอินเดียตอนใต้  ข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดพิพาทกับเจ้าเมืองคนหนึ่งชื่ออาลี บีค(Ali Beague) มีตำแหน่งเป็น governor ของเมืองชื่อมาสุลิปาตัม ( Masulipatam) อยู่ทางอินเดียตะวันออก  ปัจจุบันเรียกว่า  Machilipatnam หรือ รัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย

  จากนี้ขอส่งไม้ให้ท่านออกพระซีนวรัตนค่ะ





กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 23 เม.ย. 13, 09:31
ครับ ..  ;D

... ระบบ ขอรับฉัน นี่ .. มันเกิดมาพร้อมมนุษย์เลยนะครับ ..  :-X


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 13, 10:06
ศูนย์ช็อปปิ้งยังไม่เปิดค่ะ   เลยกลับเข้ามาในเรือนไทยได้อีกหน่อย

ยังหาประวัติไม่เจอว่าคอรัปชั่นครั้งแรกในโลกเกิดขึ้นเมื่อใด   แต่เข้าใจว่าเมื่อมนุษย์ออกจากถ้ำมาตั้งชุมชน  มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน  การทุจริตก็เกิดขึ้นแล้วในตอนนั้น
ในศตวรรษที่ 17 ยุคของนายสยามขาวนี้   คอรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างเละเทะในการค้าของอังกฤษสู่เส้นทางตะวันออก    บริษัทอีสต์อินเดียเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานผูกขาดจากรัฐบาลอังกฤษ ให้มาเป็นเอเย่นต์ค้าขายทางตะวันออกอยู่เพียงผู้เดียว    จึงโกยกำไรมหาศาลโดยไม่มีคู่แข่ง
เมื่อเงินทองไหลเข้าบริษัทไม่อั้น   ก็เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงในบริษัทถือโอกาสหากินกับรายได้ของบริษัท แล้วแต่จะหาหนทางไหนได้บ้าง    จนกลายเป็นปัญหาร้ายแรง ถูกส่งเข้ารัฐสภาอังกฤษ เกิดการอภิปรายกันนับไม่ถ้วนครั้งเรื่องการติดสินบนและการทุจริต     บิ๊กๆของบริษัทถูกจับได้ไล่ทันก็กลายเป็นนักโทษถูกส่งตัวไปคุมขังไปยังหอคอยแห่งลอนดอน

รูปข้างล่างนี้เป็นหน้าปกเอกสารรวบรวมการอภิปรายของรัฐสภา  เกี่ยวกับเรื่องทุจริตในบริษัทอีสต์อินเดียค่ะ
ในเมื่อคอรัปชั่นระบาดอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา   ก็พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมลูกปูอย่างนายสยามขาวถึงไม่ได้ตะขิดตะขวงใจเลยในการเจริญรอยตามแม่ปูขาเกบ้างเหมือนกัน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 23 เม.ย. 13, 11:16
ขอบคุณครับอาจารย์ ..

..  8)

ขออนุญาตฟังเลคเชอร์อย่างเดียวครับ ..  :-X


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 13, 11:28
คุณหนุ่มสยาม   เด็กชายประกอบ  คุณลุงไก่   คุณ  spyrogira และท่านอื่นๆ  มัวไปอยู่ไหน เข้ามายกป้ายเชียร์ท่านออกพระหน่อยเร้ว   เดี๋ยวท่านจะเขิลลล...

ก่อนจะลงจากเรือนไทยไปช็อปปิ้ง  ขอส่งการบ้านตามที่ออกพระศรีนวรัตนให้ไว้ เรื่อง "จับเนื้อกินเอง "ก่อนค่ะ  


มาคร้าบ ๆ แอบนั่งกินขนมอยู่หลังห้อง  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 เม.ย. 13, 14:28
ฮิฮิ มาแย่งขนมท่านหนุ่มรอออกพระนวรัตนด้วยอีกคนครับ  8)


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 09:32
เอาขนมกับน้ำชาอังกฤษมาเสิฟเด็กๆก่อนค่ะ   รอเปิดเรียน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 25 เม.ย. 13, 20:49
  ชอบเข้ามาเรียนห้องนี้ เพราะนอกจากจะได้สาระที่ไม่เคยรู้ ก็ยังได้ชีวิตชีวาจากภาพแบบข้างบนด้วย


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 21:16
ถ้าหากว่ากระทู้นี้ยาว  ก็จะไม่เสิฟแค่ขนมน้ำยา  แต่จะถึงขั้นดินเนอร์ด้วยเลยค่ะ   ;)


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 21:17
เอาภาพวาดของสมเด็จพระนารายณ์ที่ฝรั่งวาดมาให้ดูกันพลางๆก่อน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 เม.ย. 13, 14:52
น่าจะเป็นภาพวาดในจินตนาการของฝรั่ง

เหมือนดั่ง ภาพนี้ (http://www.suanpakkad.com/h3-t.html) องค์ทางขวาพระเกศาสีทองเสียด้วย  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 13, 14:29
    ในสมัยนั้นเจ้าเมืองหรือเจ้าท่าที่เขี้ยวลากดินไม่ได้มีแต่แซมมวล ไวท์คนเดียว     อะไรที่ไวท์ทำกับคนอื่น  คนอื่นก็ทำกับเขาได้เหมือนกัน  คนที่เป็นเจ้าเมืองค้าขายทางทะเลในยุคมือใครยาวสาวได้สาวเอา   ไม่มีกฎหมายนานาชาติมาควบคุม ย่อมจะต้องเป็นอะไรทำนองก๊อดฟาเธอร์อยู่ไม่มากก็น้อย   ไม่งั้นคงกินตำแหน่งนี้ไม่ได้นาน  ไม่ถูกฝ่ายตรงข้ามโค่นก็ถูกพวกเดียวกันชิงเก้าอี้ไปจนได้
    ไวท์จึงเจอคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อกัน อันได้แก่อาลี บีค เจ้าเมืองมาสุลิปาตัม ( Masulipatam) ที่ในหนังสือบอกว่าจงใจกลั่นแกล้งไวท์ให้ได้รับความเสียหายเรื่องส่งสินค้าไปขายอยู่หลายครั้ง        ด้วยเหตุผลว่าไม่พอใจที่เมืองมะริดตกไปอยู่ในมือผู้บริหารชาวอังกฤษ แทนที่จะเป็นแขกพวกเดียวกันอย่างเมื่อก่อน     

    เมื่อสินค้ามาถึงเมืองนี้  เจ้าเมืองก็รีดนาทาเร้นเอาบ้าง แกล้งให้เกิดอุปสรรคต่างๆบ้าง    จนสินค้าจากเมืองมะริดเสียหายขาดทุน ไวท์เข้าเนื้อหนักเข้าจนโกรธแค้น ทนไม่ไหวก็คิดจะใช้กำลังปราบปรามอาลี บีคให้ราบ  โดยถือว่าอาลี บีคทำตัวเป็นปรปักษ์ร้ายแรงกับสยาม  ทั้งๆที่จริงแล้ว   สินค้าที่เสียหายมากกว่าสินค้าท้องพระคลังหลวงก็คือสินค้าของไวท์เองน่ะแหละ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 13, 14:42
   แซมมวล ไวท์ทำหนังสือราชการมาถึงกรุงศรีอยุธยา  สาธยายให้ฟังถึงปัญหา แล้วทำเรื่องขออนุมัติขอให้สร้างเรือรบออกไปเล่นงานเรือของแคว้นกอลคันดาอันเป็นแคว้นที่อาลี บีคสังกัดอยู่   จับเรือของแคว้นเป็นเชลยเพื่อขู่ให้อาลี บีคยอมจำนน  ยอมจ่ายค่าเสียหายให้สยาม     ไวท์ยังแถมไปด้วยว่าพวกขุนนางมอญที่เป็นพวกอิสลามทางตอนใต้ก็ชักจะกำเริบก่อเรื่องขึ้นมาทำนองเดียวกัน     ก็ควรจะปราบปรามเสียให้เรียบ ในทำนองเดียวกัน
   ไม่นาน ไวท์ก็ได้หนังสือตอบจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ซึ่งเป็นบิ๊กสุดอยู่ในกรุงศรีอยุธยา   ตอบมาอย่างรอบคอบด้วยชั้นเชิงนักการทูตและนักการค้าเจนจัดว่าไวท์   ว่าเรื่องนี้ในเมื่อเป็นข้อขัดแย้งระหว่างอาณาจักร ก็ต้องทำตามขั้นตอน   อย่างแรกคือทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร บรรยายต้นสายปลายเหตุ พร้อมหลักฐาน   ยื่นให้เจ้าผู้ครองแคว้นกอลคันดาอย่างเป็นทางการเสียก่อน     ว่าทางสยามเสียหายอย่างไร ขนาดไหน จากขุนนางของพระองค์      ถ้าทางพระราชาฝ่ายโน้นยอมจ่ายค่าเสียหายก็จะได้จบกันไปไม่ต้องมีเรื่อง      แต่ถ้าดื้อแพ่งไม่ยอมจ่าย   ก็ให้ดัดแปลงเรือชื่อพรอสเพอรัสซึ่งเป็นเรือปืนประจำอยู่ที่มะริดให้เป็นเรือรบ    ให้กัปตันชาวอังกฤษชื่อจอห์น โค้ตส์ เป็นผู้บังคับการเรือ    นำเรือออกไปจับเรือพ่อค้าของกอลคันดาเป็นเชลย เพื่อยึดเป็นค่าเสียหาย
   วิชเยนทร์ไม่ลืมที่จะแถมท้าย กำชับกำชาอย่างเข้มงวด ว่าการจู่โจมทางทะเลครั้งนี้อย่าได้เผลอไปแตะต้องเรือของบริษัทอีสต์อินเดียเข้าเป็นอันขาด       เพราะวิชเยนทร์รู้ดีว่า แม้บริษัทที่อินเดียไม่มีเรือรบของตัวเอง เพราะมุ่งค้าขายอย่างเดียว  จึงไม่อยากเรียกเรือรบมาประจำอยู่ให้เปลืองค่าบำรุงและค่ากลาสีเปล่าๆปลี้ๆ    แต่ถ้าเมื่อใดถูกหางเลขจากการรบกันของสยามและกอลคันดา   อันเป็นเหตุให้เสียหายถึงกำไรที่พึงได้แล้ว   บริษัทจะต้องฟ้องรัฐบาลอังกฤษ   เมื่อนั้นก็กำลังรบก็จะถูกส่งมา     เท่ากับสยามไปแหย่เสือหลับเข้าให้แล้ว


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 13, 14:51
    วัตถุประสงค์ของพระเอกและพระรองในตอนนี้เริ่มแตกต่างกัน   พระรองหรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ อยากได้กำไรจากการทำศึก แต่ไม่อยากให้อยุธยาเสี่ยงแม้แต่น้อยนิด      ส่วนพระเอกคือไวท์ไม่ได้เอาใจใส่ประโยชน์ที่จะเข้าท้องพระคลังมากกว่าเข้ากระเป๋าตัวเอง    เมื่อได้หนังสือราชการฉบับนี้    ก็เนื้อเต้น ถือว่าวิชเยนทร์เปิดไฟเขียวให้นายสยามขาวได้ทำมาหากินได้กว้างขวางเต็มเหนี่ยวกว่าก่อน 

   ไอ้เรื่องเรียกค่าเสียหายจากอาลี บีค หรือพระราชานั้น  ไวท์ไม่ค่อยอยากได้นัก  เพราะได้เงินมาก็เข้าท้องพระคลังอยุธยาไปเป็นส่วนใหญ่     สู้ได้ไฟเขียวมายึดเรือสินค้าต่างๆเป็นเชลยไม่ได้   กำไรเข้ากระเป๋ามากกว่ากันแยะ      แต่เมื่อท่านเจ้าพระยาผู้บังคับบัญชาสั่งมา   ข้าราชการอย่างไวท์ก็ทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ใครจะมาตำหนิภายหลังไม่ได้  คือให้ตัวแทนของตัวเองทำบัญชี  โก่งค่าเสียหายเสียสูงลิบ   ยื่นไปให้กอลคันดา เพื่อพระราชาและอาลี บีคเห็นแล้วส่ายหน้าว่าใครมันยอมจ่ายก็บ้าแล้ว     ระหว่างนั้น  ไวท์ก็ทุ่มงบประมาณตกแต่งเรือปืนให้เป็นเรือรบ พรั่งพร้อมด้วยปืนใหญ่และกระสุนดินดำ  เพื่อจะโจมตีทางทะเลได้ด้วยกำลังเหนือกว่าเรือพ่อค้าทั่วไป


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 13, 21:06
  แซมมวล ไวท์มีลูกน้องมือขวาเป็นคนอังกฤษเหมือนกันชื่อจอห์น โค้ทส์   ซึ่งมีนิสัยเอาแต่ได้ไม่แพ้นาย     จึงทำงานเข้าคู่กันได้ดี    ไวท์แต่งตั้งโค้ทส์เป็นกัปตันเรือรบ  เอาเรือออกทะเลไปเพื่อจะยึด(หรือพูดให้ตรงคือปล้น) เรือค้าขายในแถบทะเลอินเดียและฝั่งใต้ของพม่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้      แต่ห้ามไปแตะต้องเรืออังกฤษของบริษัทอีสต์อินเดียเป็นอันขาด     
  ในตอนแรกนี้ หน้าที่ของกัปตันโค้ทส์คือแล่นเรือตรงไปที่เมืองมัทราสก่อน เพื่อชี้แจงกับตัวแทนบริษัทที่โน่นว่า ที่มานี่ มาทำการในนามราชการสยาม     แล้วอย่าแวะเปล่าๆ ให้ถือโอกาสซื้อเสบียงอาหารและกระสุนดินดำเพิ่มเติมให้เต็มเพียบ     อย่าลืมจ้างกลาสีฝรั่งมาเป็นลูกเรือ    สรุปความว่าทำทุกอย่างเพื่อให้ปล้นสะดมในนามของอาณาจักรสยามได้ผลสมมุ่งหมาย

   เมื่อโค้ทส์พาเรือรบออกจากท่ามะริดไปแล้ว    ทางเมืองหลวงก็ส่งสารตราฉบับใหม่ไล่หลังมาเป็นการด่วน  สั่งเพิกถอนคำสั่งแรกที่อนุญาตให้ไปเล่นงานเรือสินค้าของกัลคอนดา     สาเหตุนั้นอาจเป็นได้ว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่าไม่ควรจะวู่วามทำสงครามกับอาณาจักรใกล้เคียง  ด้วยเหตุเพียงแค่นี้     หรือไม่ก็เป็นได้ว่าพ่อค้าแขกที่มะริดรู้ว่าไวท์กำลังจะไปปล้นสะดมเรือสินค้าของพวกตนที่ขึ้นล่องอยู่ในทะเลอินเดีย    ก็เลยทำเรื่องร้องเรียนไปที่อยุธยา  ขอให้ระงับทำศึกกับอาลี บิคไว้ก่อน   ไม่งั้นการค้าแถวนั้นล่มจมหมดแน่

   เหตุผลแท้จริงจะเป็นอย่างไหนก็ตาม    ไวท์ถือว่าสั่งลูกน้องมือขวาออกเรือไปคราวนี้เท่ากับพยัคฆ์ติดปีก   ยังไงเงินทองก็กองอยู่ข้างหน้าแล้วเห็นๆ   จะมาถอยเรือกลับเข้าท่า ก็หมดท่า   จึงไม่ยอมทำตามคำสั่งจากราชการ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 เม.ย. 13, 22:45
มาสุริปาตัมอยู่ในรัฐอานธรประเทศทางใต้ฝั่งตะวันออกของอินเดีย เป็นเมืองท่าที่ชาวอังกฤษมาตั้งสถานีการค้าในอ่าวเบงกอลเป็นแห่งแรกในปี1611 ตามประวัติศาสตร์ของเมืองนี้กล่าวว่าในระหว่างปี1686ถึง1756 ฝรั่งเศสและดัตช์ผลัดกันเข้ามายึดครอง สุดท้ายอังกฤษสามารถเข้ามาแย่งชิงกลับมาจากฝรั่งเศสได้อีกในปี1759 และผนวกอยู่ในเครือจักรภพจนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราช ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ไม่ได้กล่าวถึงไวท์และลูกน้องมาประกาศสงครามในนามของสยามกับที่นี่ ซึ่งระบุว่าเป็นปี1685เลย

เมืองกอลคันดายิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ด้วยอยู่ลึกจากมาสุริปาตัมเข้าไปในแผ่นดินใหญ่กว่า๓๒๐กิโลเมตร เรือรบลำเดียวจะมีสิทธิ์ไปข่มขู่อะไรเขาได้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 เม.ย. 13, 22:46
รูปเขียนของเมืองมาสุริปาตัมในปี1676 จะเห็นว่าเป็นเมืองท่าที่ดูมั่นคงกว่ามะริดมาก


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 เม.ย. 13, 22:48
ส่วนเมืองกอลคันดาเป็นเมืองป้อมขนาดใหญ่ที่สร้างไว้ป้องกันกองทัพมุสลิมที่รุกเข้ามาจากเหนือ ปัจจุบันทรากป้อมนี้ยังเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 09:21
       สงสัยว่าสมเด็จพระนารายณ์อาจจะมารู้ทีหลัง   ขุนนางแขกในราชสำนักที่เป็นพวกเดียวกับพ่อค้าคงจะทูลว่าส่งเรือรบลำเดียวไปทำสงครามกับแคว้นนี้   ก็เท่ากับส่งเรือไปเที่ยวทะเลแล้วกลับมาเท่านั้น   เสียงบประมาณเปล่าๆ  ไม่รวมกับถูกอาลี บีคหรือพระราชาหัวร่อเอางอหายอีกด้วย    แต่จุดประสงค์แอบแฝงของไวท์  สมเด็จพระนารายณ์ไม่ทรงทราบ
       ที่มะริดมีเรือใหม่อีกลำหนึ่งเพิ่งต่อเสร็จ   ชื่อว่าเรือ "โดโรธี" (Dorothy)  ไวท์ตั้งใจจะทำเป็นเรือรบอีกลำหนึ่งไว้เสริมกำลังเรือลำแรก    เมื่อมีคำสั่งจากอยุธยามาถึง ในฐานะเจ้าท่าจะทำไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้    ไวท์ก็เลยสั่งขนปืนใหญ่ติดตั้งลงในเรือโดโรธีให้เป็นเรือรบ   สั่งฝรั่งอีกคนชื่อครอปลีย์ให้ทำหน้าที่กัปตันเรือ   เอาเรือลำที่สองนี้ออกไล่หลังเรือลำแรก  ให้ไปทันกันที่มัทราส    เพื่อยื่นหนังสือให้กัปตันโค้ทส์อย่างเป็นทางการ
      เรื่องดำเนินงานนี้  พระเอกเราเล่นลูกไม้ 2 แบบคือแบบเป็นทางการก็ทำตามคำสั่งจากอยุธยาไม่มีขาดตกบกพร่อง    เมื่อมีสารตราออกมาให้ระงับยับยั้งทำศึก    เจ้าท่าก็รีบส่งข่าวไปยับยั้งกับเรือรบ     แต่แบบที่ไม่เป็นทางการคือไวท์แอบส่งจดหมายฉบับที่สองแนบไปด้วย     ในนั้นสั่งโค้ทส์ว่าไม่ต้องทำตามคำสั่งจากอยุธยา  ให้เดินหน้าดำเนินการต่อไปอย่างที่วางแผนไว้แต่แรก    ถ้าเกิดอะไรขึ้นไวท์จะรับผิดชอบเอง      โค้ทส์ไม่ต้องรับผิด    แต่ถ้าทำตามแผนได้สำเร็จคือเที่ยวยึดเรือเชลยขนถ่ายสมบัติมาเข้ากระเป๋าได้มาก     ไวท์จะแบ่งส่วนให้อย่างงาม เรียกว่าเป็นเศรษฐีกันทั้งคู่
    เราก็คงเดาได้ไม่ยากว่า เมื่อโค้ทส์อ่านข้อความหมดทั้ง 2 ฉบับแล้วจะเลือกทำอย่างสมเด็จพระนารายณ์ทรงสั่งมา หรือทำอย่างที่ไวท์บอกให้ทำ
       


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 13, 10:04
ถ้าใครอ่านเรื่องที่นายมอรีส คอลลีสเขียนชีวประวัติแซมมวล ไวท์ก็คงยากยิ่งที่จะทราบว่าตรงไหนเป็นเรื่องจริง ตรงไหนเป็นนิยาย
แต่เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นมาก ถ้าสงสัยที่ใดก็คลิ๊กหาอินทรเนตร ให้ท่านสอดส่องให้เราได้

อย่างเช่นที่ผมสงสัยว่า มะริดห่างจากมาสุริปัตนำตั้ง๑๙๐๐กิโลเมตร นายไวท์ส่งเรือลำที่สองไปตามหาเรือลำแรก ในสมัยที่มิได้มีไอโพน ไอแพดให้ติดต่อนั้น จะไปเจอกันได้ง่ายๆอย่างไร

แถมสั่งให้ไปทันกันที่มัทราช เมืองที่ไม่ใช่ทางผ่าน แต่อยู่ห่างมาสุริปัตนำไปทางใต้อีกเกือบ๔๐๐กิโลเมตร ถ้าเจอได้จริงก็คงเป็นเรื่องปาฏิหารย์


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 10:26
  ไวท์สั่งให้กัปตันโค้ทส์นำเรือลำแรกไปที่มัทราส เพื่อจะแจ้งกับบริษัทอีสต์อินเดียให้ทราบว่ามาทำราชการในนามของสยาม    เรือคงจะพักอยู่ที่นั่นหลายวันหรืออาจจะแรมเดือน  กว่าจะซื้อเสบียง กระสุนและหาลูกเรือเพิ่มเติมได้ครบ       เมื่อส่งเรือลำที่สองตามมา ก็คงกะว่าเรือลำแรกยังอยู่ที่มัทราส  ส่งสารให้โค้ทส์ได้ที่นั่น กระมังคะ

   เรื่องที่คอลลิสเขียนขึ้น  รวบรวมจากจดหมายของไวท์  บันทึกและจดหมายเหตุในยุคนั้น   ต่างก็เล่าไม่ค่อยจะตรงกัน  แล้วแต่ใครได้ยินข่าวแบบไหน หรือเจอเข้าอย่างไร     เพราะฉะนั้นตัวผู้เขียนก็คงต้องตีความใส่สีใส่ไข่เข้าไปบ้าง    ขอเชิญอ่านด้วยวิจารณญาณ  ไม่ต้องเชื่อหมดค่ะ

   ไวท์น่าจะเป็นคนมีไหวพริบปฏิภาณอยู่มาก    จึงสามารถพลิกแพลงแผนเดิมที่ทำท่าจะเจ๊งไปแล้วให้กลับเข้ารูปเข้ารอยได้    ในเมื่อตอนนี้ไม่สามารถอ้างได้ว่าพาเรือรบไปทำศึกกับอาลี บีค    แต่จะให้เอาเรือกลับมะริดก็เสียการณ์เปล่าๆ       ไวท์ก็เลยคิดแผนสองโดยสั่งว่าเมื่อเรือโดโรธีนำคำสั่งมาให้กัปตันโค้ทส์แล้วก็กลับมะริด    หมายความว่าไม่ต้องมาร่วมรับรู้แผนของไวท์กับโค้ทส์ด้วย    ส่วนโค้ทส์ ถูกสั่งให้เดินเรือต่อไปจนถึงเมืองมาดาโพลัม(โปรดดูแผนที่ของออกพระศรีนวรัตน)  ซึ่งเป็นเมืองในเขตปกครองของอาลี บิค  อยู่ในแคว้นกอลคันดา     เมืองนี้มีอาชีพหลักคือต่อเรือขาย      ไปถึงก็ให้โค้ทส์สั่งต่อเรือ 3 ลำรวด   โดยอ้างว่าทำในนามของพระเจ้ากรุงสยาม
   เมื่อสั่งต่อเรือแล้วก็ให้เร่งให้ต่อเสร็จเร็วๆ    เพราะรู้ว่าต่อเรือตั้ง 3 ลำมันเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เล่น  อู่ต่อเรือที่ไหนจะเนรมิตให้ได้ทันใจ    ไวท์ก็สั่งโค้ทส์ให้โวยวายต่อว่าต่อขานว่าทางเมืองนี้กลั่นแกล้งหน่วงเหนี่ยว   ทำให้ฝ่ายสยามเสียหาย    ต้องปรับเงิน  ถ้าไม่มีเงินให้ปรับ(ซึ่งก็แน่อยู่แล้วว่าใครจะยอม) ก็ให้ยึดเรือสินค้าที่ท่าเรือเมืองนี้   เอากลับไปมะริด   
   ค่าเสียหายที่ว่านั้นจะไปเข้ากระเป๋าใคร  ไวท์ไม่ต้องอธิบาย และกัปตันโค้ทส์เองก็ไม่โง่พอที่จะถาม


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 11:17
    โค้ทส์มีนิสัยและพฤติกรรมละโมบสมกับที่ไวท์เลือกมาเป็นมือขวา     คือพอได้ไฟเขียวจากหัวหน้าก็ไม่ยั้งคิดว่าถูกว่าผิด    คิดแต่จะเอาให้ได้มากที่สุด    จึงจัดแจงตระเตรียมเสบียงอาวุธและหากลาสีมาเป็นกำลังให้เต็มลำเรือ  แล่นใบตรงไปที่เมืองมาดาโพลัม
    ที่เมืองนั้นมีคลังสินค้าของบริษัทอีสต์อินเดียตั้งอยู่   มีหัวหน้าคลังสินค้าที่ส่งมาประจำชื่อ เวลส์    นายเวลส์เห็นโค้ทส์เป็นชาวอังกฤษด้วยกัน   พูดกันรู้เรื่อง  แถมยังอ้างว่ามาในนามของราชการสยาม ก็ต้อนรับด้วยไมตรี     โค้ทส์ก็วางท่าภูมิฐาน สั่งต่อเรือ 3 ลำในนามพระเจ้ากรุงสยาม    ทางฝ่ายอู่ต่อเรือก็ต้อนรับขับสู้แข็งขัน มิได้ระแวงอันใด    จากนั้น โค้ทส์ก็พักอยู่ที่มาดาโพลัม เที่ยวทำความรู้จักกับใครต่อใครจนกลายเป็นไฮโซอยู่ในเมือง   ในจำนวนพ่อค้าวาณิชและชาวเมืองที่โค้ทส์ตีสนิทด้วยมีพ่อค้าชาวโปรตุเกสอยู่คนหนึ่งชื่อดอน โจเซฟ ดะ เรียรเดีย (Don Joseph De Heredia) มีเรือสินค้าของตนเอง  และมีอาวุธประจำเรือด้วย  
    สองคนเกิดถูกอัธยาศัยชอบใจกัน จนสนิทสนม    นายเรียรเดียคนนี้ก็เลยกลายเป็นพวก เข้าข้างสนับสนุนโค้ทส์เมื่อป่วนเมืองขึ้นมาตามแผนที่ไวท์วางไว้

   ในช่วงนั้นเองก็มีอ้อยวิเศษลำหนึ่งลอยมาเข้าปากช้าง  ในนามของเรือสินค้าชื่อนิวเจรูซาเล็ม  (New Jerusalem)  เป็นเรือของพ่อค้าชาวอาร์เมเนียชื่อจอห์น ดีมาคอร่า (John Demarcora) มาจากเมืองมัทราส เข้ามาแวะจอดที่ท่าเรือเมืองนี้พอดี    เรือลำนี้บรรทุกสินค้ามีค่า ล้วนแล้วไปด้วยทับทิมและพลอยจากพะโค ซึ่งดีมาคอร่าได้ค้าขายอยู่กับพม่ารามัญ จนได้รับยศขุนนาง     พอโค้ทส์รู้ว่าสินค้าในเรือมีมูลค่ามหาศาลประมาณ 500,000 ปอนด์  (เป็นสมัยนี้จะกี่พันล้านปอนด์ก็ไม่อาจทราบได้)  ก็น้ำลายหกทันที


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 13, 12:23
ตรงนี้ก็น่าสงสัยไม่น้อยนะครับ พะโคคือเมืองหลวงของมอญ เอาละ กษัตริย์อาจจะมีทับทิมพม่าข้าศึกมาขายให้ฝรั่งได้ แต่ฝรั่งซื้อพลอยราคาสูงขนาดนั้นแล้วน่าจะรีบมุ่งกลับไปยุโรปอย่างด่วน เพราะตลาดที่มีกำลังซื้อมหาศาลอยู่ที่นั่น แต่นี่ออกจากพะโคก็มุ่งไปมัทราช จะไปขายให้กับบริษัทอินเดียตะวันออก(East India Company)ของอังกฤษก็พอจะฟังได้อยู่ แต่ไม่ใช่ นี่กลับเพียงแต่แวะแล้วย้อนศรขึ้นไปเมืองมาดาโพลัม ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆซึ่งบริษัทอินเดียตะวันออกไปตั้งสถานีรับซื้อผ้าลินิน ที่ใช้แรงงานราคาถูกของคนอินเดียทอขึ้นด้วยมือเอากลับไปขายในอังกฤษ ไม่รู้ว่ากัปตันจอห์น ดีมาคอร่าจะไปที่นั่นทำไม
 
และก็แปลกที่นายไวท์ สั่งลูกน้องให้ไปต่อเรือที่เมืองนี้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 12:41
ตอนที่หนังสือเล่าถึงเรือ "นิวเจรูซาเล็ม" ขนเพชรพลอยมาเต็มเพียบเรือแล้วแวะเอ้อระเหยอยู่ที่เมืองต่อเรือแห่งนี้  ยังหวาดเสียวแทนเจ้าของเรือที่ไม่ยักกลัวโดนปล้น     ทั้งๆแกก็มาลำเดียวเดี่ยวโดด       ไม่ต้องอะไรมาก    แค่จอดเรือที่นี่ตั้งหลายวัน   อย่างน้อยเจอหัวขโมยแขก ปีนเข้าเรือไปลักพลอยสักกล่องสองกล่อง ก็น่าเสียดายแทบแย่แล้ว      
หรือจะเป็นอย่างที่คุณ NAVARAT.C ว่า  ว่านายดีคอมาร่าอาจไปรับซื้อผ้าลินินส่วนที่ไม่ได้ส่งให้บริษัทอีสต์อินเดีย เอาไปขายที่บ้านเมืองตัวเองละกระมัง  
นี่คือความเห็นแบบเอาใจช่วยนายคอลลิสเจ้าของเรื่องสุดๆ

กลับมาที่เนื้อเรื่อง
ตามแผนเดิม โค้ทส์จะต้องยึดเรือสินค้าของเจ้าถิ่น เป็นการชดเชยค่าเสียหายที่ต่อเรือไม่ทันกำหนด  จะจริงหรือไม่จริง  อย่างน้อยก็พออ้างได้       แต่เรือนิวเจรูซาเล็มเป็นเรือของคนนอก  ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วย      โค้ทส์จะไปยึดเรือของพ่อค้าอาร์มาเนียนมาดื้อๆ ได้ไงจะเอาเหตุผลอะไรไปอ้างกับชาวเมืองและคนโดยรอบ
ไปๆมาๆ โค้ทส์ก็นึกถึงนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะขึ้นมาได้    ว่าถึงแม้นายดีมาคอร่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอาลี บีค  หรืออู่ต่อเรือมาดาโพลัม    แต่นายดีมาคอร่าก็ค้าขายกับพม่ารามัญซึ่งถือว่าเป็นศัตรูของอยุธยามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง    เพราะฉะนั้นถ้าจะยึดเรือนิวเจรูซาเล็ม  เพราะพ่อเอ็งกวนน้ำให้ขุ่น..เอ๊ย..เพราะถือว่าสังกัดฝ่ายศัตรู  ก็ไม่ผิดกติกาที่นายโค้ทส์แกกำหนดขึ้นมาเอง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 13:47
     พอใกล้กำหนดที่เรือ 3 ลำจะต่อเสร็จ   โค้ทส์ก็ชิงลงมือด้วยการโวยวายไปที่ผู้บริหารอู่ต่อเรือ  หาว่าทำงานล่าช้า  แกล้งดึงงานไม่ให้แล้วเสร็จ ก่อความเสียหายแก่ราชการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม  บลา บลา บลา     ทางอู่ต่อเรือไม่รู้เท่าทันก็ได้แต่ขอโทษขอโพยตามมารยาท แล้วรับรองว่าเรือใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ไม่ต้องห่วง   แต่โค้ทส์ก็เล่นบทฮึดฮัดไม่ยอมฟัง แถมยังถอยเรือพรอสเพอรัสของสยามไปจอดนอกสันดอนของเมือง      ส่วนสายตาก็เล็งไปที่เรือกำปั่นนิวเจรูซาเล็มซึ่งจอดลึกเข้ามาในแม่น้ำของเมืองนาร์สะปอร์ (Narsapore)

    วันที่ 21 พฤศจิกายน 1685    พอตกดึก      โค้ทส์ก็ส่งต้นหนและลูกเรือเดนตายทั้งหลายที่จ้างมา พกอาวุธเพียบ  ลงเรือเล็กล่องเข้าแม่น้ำตรงไปจู่โจมเข้ายึดเรือนิวเจรูซาเล็มในตอนเที่ยงคืน    โดยคนในเรือฝ่ายนั้นมัวแต่หลับสนิท ไม่รู้ตัว จึงไม่มีโอกาสต่อสู้    ก็ได้แต่ยอมจำนนอย่างงงๆ  ว่าพวกนี้เล่นอะไรของมัน  
   จากนั้นขบวนการมิชชั่น อิมพอสสิเบิ้ลของโค้ทส์ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้    ใกล้ๆกันนั้นมีเรือกำปั่นของพระราชาผู้ครองแคว้นกอลคันดาชื่อเรือเบดโคลฟ (Bedclove) จอดอยู่แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่อีกเหมือนกัน    ลูกน้องของโค้ทส์ก็เลยยึดไว้อีกลำหนึ่ง  
    จากนั้นหน่วยจู่โจมของโค้ทส์ก็ถอยเรือสินค้าทั้งสองลำนี้ออกจากแม่น้ำ เพื่อจะพาออกไปสู่ทะเล    ระหว่างถอยนั้นก็ยิงกราดเข้าไปที่ฝั่ง จะเพื่อข่มขวัญหรือป้องกันมิให้คนในเมืองแห่กันออกมาต่อสู้ก็ไม่รู้ละ   แต่ก็ทำเอาชาวเมืองขวัญกระเจิงไปตามๆกัน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 13, 13:58
พอสงสัยนายคอลลิสแล้วครั้งหนึ่งก็ให้สงสัยเรื่อยไป

ที่ว่าดีมาคอร่าเป็นชาวอาร์มาเนียนั้นนั้นก็สงสัยอีก อาร์มาเนียนั้นถือว่าโนเนมในประวัติศาสตร์การค้าขายทางทะเล เข้าไปหาแผนที่แล้วกลับพบความจริงที่หนักหนาสาหัสกว่าเข้าไปอีก อาร์มาเนียเป็นประเทศเล็กๆอยู่ระหว่างตุรกีกับรัสเซียที่ไม่มีทางออกทะเล เหมือนสวิตเซอร์แลนด์(จะเขียนว่าเหมือนลาวก็เกินไป)

ใช้อินเนตรหาแผนที่สมัยศควรรษที่๑๗ ประเทศนี้ตอนนั้นแม้จะใหญ่กว่าปัจจุบันนิดนึง ก็ไม่มีทางออกทะเลเช่นกัน แล้วมันแปลกไหมเล่าครับที่คนอาร์มาเนียจะเป็นเจ้าของเรือเดินสมุทรมาหากินโพ้นทะเลถึงถิ่นเอเซีย สมัยนั้นจะมีก็แต่เรือของมหาอำนาจเท่านั้นที่จะไปลอยลำอยู่ได้ กระนั้นก็เถอะ เผลอเมื่อไหร่เห็นชักธงต่างกันก็ยิงใส่ก่อนแล้ว ไม่แน่จริงก็ไม่รอด

ดีมาคอร่าถ้าเป็นอาร์เมเนียนจริงเป็นเจ้าของเรือสำเภาค้าขายโพ้นทะเลจริง ชีวประวัติของเขาก็น่าจะเหมือนนวนิยายที่ตื่นเต้นอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 14:25
แถมข้อสะดุดใจให้อีกเรื่อง เกี่ยวกับนายดีมาคอร่าผู้เป็นชาวอาร์มาเนีย
เรือของแกชื่อ New Jerusalem  เป็นภาษาอังกฤษสุดๆ   ค่ะ

อย่างไรก็ตาม  เรื่องราวที่โค้ทส์ก่อขึ้น  มีบอกเล่าไว้ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งนอกเหนือจากของคอลลิส  คือเรื่อง English Intercourse with Siam in the Seventeenth Century   ผู้เรียบเรียงคือนายแพทย์ JOHN ANDERSON, M.D.   พิมพ์ที่ลอนดอนเมื่อค.ศ. 1890.
รายละเอียดในเรื่องก็อย่างที่ลงในกระทู้ตอนนี้ละค่ะ คือกัปตันจอห์น โค้ทส์ไปยึดเรือของพ่อค้าชาวอาร์เมเนียนไว้ด้วย     แต่ค้นๆไปคงได้คำตอบว่า  เรื่องราวอันน่าเคลือบแคลงสงสัยตามที่คุณ NAVARAT ตั้งปุจฉาขึ้นมานั้น  มันจริง หรือใส่สีใส่ไข่มาจากไหน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 15:15
     บรรดากำนันผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่โดนหางเลขเข้าแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็ยกพวกแห่กันไปฟ้องหัวหน้าคลังสินค้าชาวอังกฤษ  ตอนนั้นเวลส์หัวหน้าตัวจริงไม่อยู่  ไปธุระที่เมืองมาสุลิปะตัม   เหลือแต่ผู้ช่วยชื่อชาร์สล์   ฟอนส์   เท่านั้นยังไม่พอ  เมื่อไม่ได้คำตอบเป็นที่พอใจเพราะโค้ทส์ตอบมาอย่างโอหังว่า ที่ยึดเรือและกราดกระสุนเข้าใส่ชาวบ้านผู้นอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น  เพราะอู่ต่อเรือให้ชักช้า     ถ้อยคำนี้ฟังแล้วก็ไม่น่าจะเรียกได้อย่างอื่นนอกจากอันธพาล    พวกชาวเมืองก็เลยร้องทุกข์ต่อไปถึงอาลีบีค เจ้าเมือง  ขอให้ส่งกำลังมาปราบปรามด่วน

     โค้ทส์ค่อนข้างกำแหงเพราะทำการได้ง่ายดาย  บวกกับได้คู่หูคนใหม่คือนายเรือชาวโปรตุเกสที่มาเข้าข้าง   ช่วยบีบคอ บังคับให้ฟอนส์ผู้ช่วยหัวหน้าคลังสินค้าอังกฤษให้จำยอมส่งปืนใหญ่มาให้ถึง 8 กระบอก    เมื่อเห็นว่าเมืองนี้ไม่มีทางป้องกันตัว   โค้ทส์ก็กำเริบเสิบสานถึงที่สุด ถึงกับประกาศว่าถ้าพระราชาแห่งกอลคันดาไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องโดยปราศจากเงื่อนไขทุกประการแล้วละก็     ก็อย่ามาหาว่าโค้ทส์ใจร้ายทำรุนแรงก็แล้วกัน    เพราะเขามีอุดมการณ์ว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาประโยชน์และพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินสยาม

     ฟอนส์เห็นเรื่องราวลุกลามไปกันใหญ่ก็ตกใจ   ส่งภรรยาของเวลส์มาเกลี้ยกล่อมโค้ทส์ให้เห็นแก่ชาวคลังสินค้าของบริษัทด้วย  เพราะพวกอังกฤษมาตั้งสาขาอยู่ที่เมืองนี้ก็เพื่อเป็นตัวกลางรับส่งสินค้าเท่านั้น   ไม่มีอาวุธยุทธภัณฑ์ตลอดจนกำลังทหารจะป้องกันตัวเอง หากว่าชาวเมืองเกิดโกรธแค้นฝรั่ง   ลุกฮือกันขึ้นมาจับฝรั่งฆ่า   เผาโรงสินค้าวายวอดกันหมด  ก็จะกลายเป็นเรื่องร้ายแรงกันไปใหญ่โต   ขอให้โค้ทส์ยับยั้งชั่งใจไว้ก่อน      
      โค้ทส์ฟังคุณนายเวลส์อ้อนวอนแล้วก็กลับหัวเราะเยาะ    ตอบเหมือนผู้ร้ายในหนังว่า
      "มันไม่ใช่กงการอะไรของผมนะ   คุณนาย   ในเมื่อบริษัทมาตั้งโรงสินค้าอยู่ที่นี่   ก็เป็นเรื่องของบริษัท  ต้องรับผิดชอบปัญหากับชาวพื้นเมืองเอาเอง     ส่วนผมเป็นข้าราชการของพระเจ้ากรุงสยาม  ทำทุกอย่างลงไปนี้ก็ในนามของสยาม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้เจ้านายตามหน้าที่"
      นับเป็นคำแก้ตัวที่แถอย่างหน้าด้านสุดๆ  คุณนายเวลส์ฟังแล้วคงจะกลืนขนมปังไม่ลงไปอีกหลายมื้อ
    


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 15:18
ดิฉันพยายามหาชื่อ John Demarcora  ชาวอาร์มาเนียน  เจ้าของเรือสินค้า New Jerusalem  เพื่อดูประวัติของเขาในเรื่องอื่นๆ แต่ยังหาไม่พบ   พบแต่ในเรื่องนี้
ต้องขอแรงนักเรียนโค่งทั้งหลายที่นั่งหลับกันอยู่หลังห้อง  ให้ช่วยหาอีกแรงด้วยค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 15:45
  เวลส์หัวหน้าคลังสินค้าซึ่งขณะนั้นอยู่ที่เมืองมาสุลิปะตัมส่งคำตอบมาด่วนในวันที่ 27  ว่าข้อเรียกร้องของโค้ทส์นั้น บริษัทจัดการอะไรให้ไม่ได้  แต่บริษัทจะผ่อนปรนตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่โค้ทส์ก่อขึ้นกับชาวเมือง เพราะถือว่าโค้ทส์ได้ติดต่อกับบริษัทมาแต่แรก       แต่ถ้าโค้ทส์จะประกาศสงครามกับแคว้นกอลคันดาในนามของสยาม     ก็ควรจะทำตามขั้นตอนคือเรียกร้องค่าเสียหายกรณีต่อเรือล่าช้า  ถ้าไม่ได้ผลอย่างไรก็ประกาศสงคราม รบพุ่งเอาชัยกันให้เห็นจะจะกันไป   ตามเยี่ยงอย่างประเพณีสงครามระหว่างอาณาจักร    ไม่ใช่มาลักลอบตีชิงเรือเหมือนโจรปล้มสะดม แถมยังทำอยู่ใกล้ๆจมูกบริษัทแค่นี้เอง
  
   คำตอบแกมตำหนิของเวลส์มีผลอย่างไร ก็ดูได้จากโค้ทส์อ่านจดหมายจบ   ก็สั่งลูกน้องยิงปืนประจำเรือกราดเข้าไปในหมู่บ้านนาร์ซาปอร์ทันที    จะถูกใครตายมั่งก็ช่างหัวมัน    จากนั้นโค้ทส์ก็สั่งให้ถอยเรือที่ยึดมาได้ทั้งสองลำออกไปลอยลำพ้นสันดอนนอกเมือง   ลอยอยู่กลางทะเล พ้นวิสัยชาวเมืองจะโจมตีได้จากทางบก

   จากนั้น  โค้ทส์ก็กระทำการที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าปล้มสะดมอย่างอุกอาจ   แต่ตัวโค้ทส์เองตะแบงเรียกว่าประกาศสงครามกับเมืองนี้อยู่ฝ่ายเดียว  คือเอาเรือติดอาวุธของตัวเองไปลอยลำ ดักทางเข้าออกอยู่นอกเมือง   เรือสินค้าลำไหนไม่รู้เรื่อง แล่นเข้าเมืองมาตามปกติ    โค้ทส์ก็ดักจับเรือ ยึดเอาสินค้ามีค่าในเรือ   ขนถ่ายลงเรือตัวเองซะให้หมด แล้วเผาเรือหรือจมเรือทิ้งเสียหลายลำ  โดยไม่เลือกว่าเป็นเรือของแคว้นกอลคันดาหรือเรือของที่อื่น

   เทวดาย่อมไม่เข้าข้างคนผิด    เมื่อไม่มีใครฮึดสู้  โค้ทส์ก็ฮึกเหิม   ยึดเรือเผาเรือเพลินไปหน่อย   จนเผลอไปทำลายเรือสินค้าของประธานบริษัทอีสต์อินเดียสาขามาสุลิปะตัมเข้า    ทั้งๆไวท์เคยกำชับนักหนาแล้วว่าอย่าไปแตะต้องกับผลประโยชน์ของบริษัทอีสต์อินเดียเข้าเป็นอันขาด


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 16:15
   การกระทำของโค้ทส์คือแหย่เสือหลับให้ตื่นขึ้นมาทันที   ก่อนหน้านี้ สิ่งที่โค้ทส์ทำคือรังควานและปล้นสะดมชาวเมือง  ทำความเดือดร้อนหวั่นวิตกให้เจ้าหน้าที่พนักงานของบริษัทอีสต์อินเดียที่ประจำการอยู่ที่นั่น      แต่ในเมื่อเขาไม่ได้ทำอะไรบริษัทโดยตรง   บริษัทอีสต์อินเดียก็พอจะหุบปากนิ่งอยู่ได้   เพราะไม่อยากมีเรื่องกับใครเกินจำเป็น     
  แต่พอโค้ทส์กำแหงไปปล้นเรือสินค้าของประธานสาขาของบริษัทเข้า   อีสต์อินเดียก็เต้นเป็นเจ้าเข้าขึ้นมาทันที     ถือว่านี่คือการเหยียบจมูกบริษัทโดยตรง   ก่อความเสียหายให้เกินกว่าจะนิ่งเฉยให้ถูกรังแกมากกว่านี้     นอกจากนี้ เหตุร้ายที่โค้ทส์ก่อยังลุกลามต่อจนมีผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัทอีกด้วย     บริษัทอีสต์อินเดียก็นิ่งเฉยต่อไปไม่ได้อีก
   เรื่องนี้ถูกแจ้งไปที่บริษัทอีสต์อินเดียสำนักงานใหญ่ที่เมืองมัทราส      คณะกรรมการบริษัททางโน้นก็ตัดสินส่งเรือรบ "โทมัส" พร้อมอาวุธปืนใหญ่กระสุนดินดำเต็มเพียบ   กางใบแล่นมารบกับเรือของโค้ทส์ทันที   
   โค้ทส์สดับตรับฟังข่าวนี้ด้วยความวิตก  เพราะเรื่องเริ่มลุกลามเกินกว่าตัวเองจะแก้ไขได้อีกแล้ว   แต่ก็ยังใจชื้นว่ากินเวลาอีกหลายวันกว่าเรือโทมัสจะมาถึง   ยังพอหาทางหนีทีไล่กลับไปอยุธยาได้ทัน
 


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 13, 16:45
คนอินเดียไม่ได้ล้าหลังในเรื่องเรือรบและสงครามทางทะเล มิฉะนั้นคงจะเดินทางมาเผยแพร่อารยธรรมในสุวรรณภูมิก่อนหน้านั้นหลายร้อยปีมิได้
ตามประวัติศาสตร์  ทหารเรืออินเดียยุคนั้นสามารถชนะทหารเรือดัทช์ในยุทธนาวีที่โคลาเชล(The Battle of Colachel in 1742 CE.)เป็นชาติแรกของเอเซียที่เอาชนะฝรั่งได้ด้วยเรือรบแบบที่เอามาให้ดูข้างล่าง แม้จะเป็นครั้งเดียวเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ทำเอาดัทช์เสียมวย ไม่บังอาจมาล่าเมืองขึ้นบนแผ่นดินชมพูทวีปได้เลย
 
จึงเป็นไปได้ยากที่เรือรบไทยที่โจรสลัดอังกฤษบังคับบัญชาอยู่ลำสองลำ จะไม่มีเรือรบของเจ้าถิ่นเข้าปะทะ ทั้งที่ในเรื่องนี้ระบุว่าเมืองดังกล่าวเป็นแหล่งต่อเรือสำเภาที่สำคัญในย่านนั้นด้วย ถ้าจริงก็ต้องมีเรือลอยลำอยู่ให้ครึ่ดไปในทะเล
 
นี่ทำไฉนจึงปล่อยให้นักเลงโตที่เพิ่งเอาเรือไปซื้อปืนและกระสุนมาจากมัทราช และรวมรวมจิ๊กโก๋แถวนั้นมาเป็นลูกเรือ จะเคยซ้อมยิงบ้างหรือยังก็ไม่ทราบ แต่บ้าบิ่นได้เกินขนาดถึงกับไปยิงถล่มบ้านเรือนชาวบ้าน แล้วประกาศสงครามกับเขาด้วยข้อพิพาทกระจิ๊ดเดียว แถมหยามน้ำหน้าคนอังกฤษชาติเดียวกับตนแบบไม่เกรงใจอะไรเลย
คิดว่าถ้าไม่ได้ปล้นเรืออังกฤษแล้ว เรื่องจะไม่ไปถึงบริษัทหรือไง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 17:28
ข้อสังเกตของท่านนวรัตนน่าสนใจมาก  ชวนให้คิดถึงประวัติของแซมมวล ไวท์   ว่าเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับโค้ทส์และเมืองมาสุลิปะตัม   เป็นส่วนหนึ่งของคำให้การของไวท์ต่อศาลอังกฤษเมื่อเขากลับไปบ้านเกิดเมืองนอกแล้ว ใช่หรือไม่      
ถ้าเรื่องเล่าของคอลลิสและแอนเดอร์สันใช้คำให้การของไวท์ต่อศาลอังกฤษเป็นเอกสารอ้างอิง  ก็เป็นได้ว่านายสยามขาวพระเอกประจำกระทู้  อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายมากกว่าพระเอก    เพราะแกอาจจะแต่งนิยายมาเล่าให้ศาลฟังเสียเพลิดเพลินไปเลยก็ได้ค่ะ

เชิญติดตามออกพระศรีนวรัตน ท่านตั้งข้อสงสัยต่อไป  อาจจะน่าสนุกกว่าเรื่องของโค้ทส์ที่กำลังเล่นบทแข่งกับ Pirates of the Caribbean  เสียอีก

มันก็น่าคิดเหมือนกันว่าเมืองที่เป็นอู่ต่อเรือแห่งนี้ ช่างไม่มีปากมีเสียงอะไรเลย   โค้ทส์ควงปืนก๋าอยู่บนเรือพรอสเพอรัส  ปล้นสะดมเรือต่างๆอย่างสนุกมือในเวลาหลายวัน   ชาวเมืองก็กลัวตัวสั่นงันงก เก็บตัวกันอยู่ในบ้านหมด   รวมทั้งพนักงานอังกฤษในบริษัทสินค้าที่นี้ด้วยก็ไม่มีใครกล้าออกมาต่อกร

จนวันที่ 2 ธันวาคม   เวลส์หัวหน้าคลังสินค้าจึงเดินทางจากเมืองมาสุลิปะตัมมาถึงพร้อมกับกรรมการบริษัทอีกคนหนึ่ง    ก็ลงเรือไปเจรจาเชิงสันติกับโค้ทส์ที่เรือใหญ่     โค้ทส์ก็ท่องคาถาเดิมกล่าวหาทางฝ่ายเจ้าถิ่น คราวนี้ขยายพื้นที่จากอู่ต่อเรือไปถึงอาลี บีคศัตรูเก่าของไวท์ว่าเป็นมือชักใยอยู่เบื้องหลัง       เวลส์และกรรมการบริษัทก็ชี้แจงว่า โค้ทส์กระทำเช่นนี้เรื่องลุกลามออกไปมากกว่าที่คิด   เพราะอาลี บีค นอกจากไม่ครั่นคร้ามแล้ว ยังใช้ไม้แข็งตอบโต้   สั่งบอยค็อตต์ชาวอังกฤษทั้งหมดรวมบริษัทอีสต์อินเดียในเมืองและที่อื่นๆทั้งหมดด้วย      เรื่องมันน่าจะไปกันใหญ่ เดี๋ยวเป็นศึกกันทั้งอังกฤษ กอลคันดาและสยาม


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 19:17
  เมื่อโค้ทส์รู้ว่าเรื่องกำลังจะไปกันใหญ่ก็ตกใจ     ก็ยอมขึ้นฝั่งไปเจรจา  เจอจอห์น ดีมาคอร่าซึ่งรออยู่ในออฟฟิศของคลังสินค้า  ดีมาคอร่าก็ขอให้คืนสินค้าในเรือนิว เจรูซาเล็มให้เขาเสึย เพราะเขาไม่ใช่คนในบังคับของพระเจ้าแผ่นดินมอญ  แต่มีภูมิลำเนาอยู่ในมัทราส   กำลังเจรจากันยังไม่ทันตกลง  ลูกน้องก็มากระซิบว่าพวกทหารแขกกำลังจะมุ่งหน้ามาที่คลังสินค้า   โค้ทส์จึงเลิกเจรจาทั้งหมด ตะลีตะลานกลับเรือ  จึงรอดมือแขกไปได้หวุดหวิด   
  จากนั้น  เรื่องก็บรรยายต่อว่าทางฝ่ายชาวอังกฤษในคลังสินค้าก็พยายามเกลี้ยกล่อมโค้ทส์  โดยสัญญาว่าโค้ทส์จะได้เรือที่สั่งต่อเอาไว้แน่นอน  พวกเขาขอรับประกัน    เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่โค้ทส์ยอมคืนสินค้าที่ยึดมา ให้ทางบ้านเมืองเอากลับไป    การเจรจาได้ผลดี    จะด้วยโค้ทส์อยากกลับบ้านเต็มทีก่อนเรือโทมัสจะมาจับตัว  หรือว่าได้รับสินบนจากคู่เจรจาอัดฉีดเข้าไปจนแน่นกระเป๋าก็ไม่ทราบ       ผลสรุปว่าโค้ทส์ยอมคืนสินค้าที่ยึดมาได้   แต่ไม่วายยักยอกทับทิมพม่าเอาไว้ห่อหนึ่ง มูลค่าประมาณ 4000 ปอนด์    โดยเจ้าของทับทิมคือนายดีมาคอร่าเกิดนับไม่ถ้วน   เลยรอดหูรอดตาแกไปได้
   ถ้าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง     โค้ทส์ยอมคายอ้อยออกจากปากช้าง ก็มีทางเดียวคือได้เงินค่าไถ่สินค้าเข้ากระเป๋าจนพอใจน่ะละค่ะ   ขนเงินกลับไปย่อมดีกว่า  และสะดวกง่ายดายกว่าขนสินค้ากลับไปเป็นไหนๆ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 20:00
มาสุริปาตัมอยู่ในรัฐอานธรประเทศทางใต้ฝั่งตะวันออกของอินเดีย เป็นเมืองท่าที่ชาวอังกฤษมาตั้งสถานีการค้าในอ่าวเบงกอลเป็นแห่งแรกในปี1611 ตามประวัติศาสตร์ของเมืองนี้กล่าวว่าในระหว่างปี1686ถึง1756 ฝรั่งเศสและดัตช์ผลัดกันเข้ามายึดครอง สุดท้ายอังกฤษสามารถเข้ามาแย่งชิงกลับมาจากฝรั่งเศสได้อีกในปี1759 และผนวกอยู่ในเครือจักรภพจนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราช ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ไม่ได้กล่าวถึงไวท์และลูกน้องมาประกาศสงครามในนามของสยามกับที่นี่ ซึ่งระบุว่าเป็นปี1685เลย

เมืองกอลคันดายิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ด้วยอยู่ลึกจากมาสุริปาตัมเข้าไปในแผ่นดินใหญ่กว่า๓๒๐กิโลเมตร เรือรบลำเดียวจะมีสิทธิ์ไปข่มขู่อะไรเขาได้


มะสุลีปะตัมเป็นเมืองท่านานาชาติของราชอาณาจักรกอลกอนดา ปกครองโดยข้าหลวงหรือนิชามซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกุตาบ ชาฮีร์แห่งไฮเดอราบัด (Qutab Shahi of Hydarabad) ประมุขของกอลกอนดา ข้าหลวงแห่งมะสุลีปะตัมจะมีกองเรือค้าขายของตนเองเพื่อประกอบการค้าระหว่างสยามกับกอลกอนดา นอกจากนี้ราชสำนักสยามก็ยังว่าจ้างเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเมืองมะสุลีปะตัม ทำหน้าที่นายหน้าคอยจัดหาสินค้าที่สยามต้องการและระบายสินค้าของสยามสู่ตลาดฝั่งตะวันตกด้วย จากมะสุลีปะตัมสินค้าจะถูกลำเลียงไปยังรัฐข้างเคียงทางแม่น้ำกฤษณา ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ที่มีสาขาแยกออกไปอีกหลายสายโดยไหลผ่านไปจนถึงพิชปูรทางฝั่งตะวันตกของอินเดีย มะสุลีปะตัมจึงเป็นเมืองท่าระบายสินค้าต่าง ๆ ของสยามรวมทั้งช้างไปสู่อินเดียภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้

จากบทความเรื่อง ช้างเป็นสินค้า ค้าช้าง ในสมัยอยุธยา  ของ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=embracingislam&group=65&page=4)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 20:26
ตามเข้าไปอ่านบล็อคของดร.จุฬิศพงศ์ตามลิ้งค์ของคุณเพ็ญชมพู      เลยเจอย่อหน้านี้

ฟอลคอนสนับสนุนการค้าของชาวอังกฤษและฝรั่งเศส โดยขัดขวางการค้าของพวกมุสลิม จนเป็นเหตุให้พ่อค้าแขกไม่พอใจ และได้ร่วมกันต่อต้านการค้าของสยามที่ผ่านทางพ่อค้ายุโรปโดยไม่ยอมช่วยเหลือกระจายสินค้าของสยามในตลาดฝั่งตะวันตกเหมือนเมื่อก่อน ทั้งยังขัดขวางการค้าของสยามไม่ให้ได้รับความสะดวกต่างๆ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระนารายณ์ภายใต้การถวายคำแนะนำของฟอลคอนจึงตอบโต้ด้วยการยึดเรือสินค้าของมุสลิมในแถบเมืองท่าของสยาม นอกจากนี้ฟอลคอนยังจัดตั้งกองเรือเพื่อปล้นสะดมสินค้าของพ่อค้าแขกและยังส่งกองเรือไปเผาทำลายเมืองท่าหลายแห่งของอาณาจักรกอลกอนดา ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นทั้งสองอาณาจักรประกาศสงครามแก่กัน ส่งผลให้การค้าระหว่างสยามกับรัฐต่างๆ ในอินเดียประสบภาวะชะงักงัน

ในนี้บอกว่ามีหลายเมือง   หนึ่งในนั้นน่าจะเป็นศึกของกัปตันโค้ทส์กับเมืองมาดาโพลัม  ที่กำลังถึงพริกถึงขิงอยู่ในค.ห.ข้างบน   แต่ว่าหลักฐานที่ดร.จุฬิศพงศ์ไปหามาได้  ยกความเลวให้ฟอลคอน  ไม่ใช่ไวท์


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 20:52
(ต่อ)

   เรือกำปั่นของลำคือเรือนิวเจรูซาเล็มและเรือเบดโคลฟ ยังถูกโค้ทส์ยึดไว้ไม่ยอมปล่อย   แต่อะลุ้มอล่วยยอมให้เรือสินค้าอื่นๆเข้าออกเมืองได้  ไม่ปิดปากอ่าวปล้นสะดมท่าเดียวอย่างตอนแรก      แต่โค้ทส์ก็ยังไม่ไว้ใจชาวเมืองอยู่ดี   จึงคุมกำลังคนจากเรือ 50 คนมาขึ้นบกอีกครั้งจะบุกเข้าไปจับตัวข้าหลวงของเป็นตัวประกัน   เผอิญชาวเมืองซึ่งไม่ไว้ใจโจรอังกฤษอยู่แล้วสร้างป้อมค่ายล้อมจวนข้าหลวงเอาไว้แน่นหนา   โค้ทส์ก็เลยมือเปล่ากลับไป
    ทางอู่ต่อเรือรีบต่อเรือให้เสร็จไป 2 ลำ   ชื่อเรือโรบินและเรือแมรี่    โค้ทส์ก็ถ่ายอาวุธจากเรือพรอสเพอรัสมาไว้ในเรือลำใหม่ทั้งสองลำ   ส่วนเรือลำเก่าที่ใช้บัญชาการรบมาตลอด  ส่งเข้าอู่ขึ้นคานเพื่อซ่อม     มาถึงตรงนี้โค้ทส์รู้ว่าคงอยู่ในเมืองได้อีกไม่นานก็คืนเรือเบดโคลฟของพระราชาแห่งกอลคันดาคืนไป     ส่วนเรือนิวเจรูซาเล็มยังถูกยึดครองเอาไว้เช่นเดิม (น่าสงสารนายดีมาคอร่า)

     ตอนนี้ยังอ่านไม่เจอว่าเรือโทมัสที่บริษัทอีสต์อินเดียส่งมาปราบโค้ทส์  มัวเดินทางไปอ้อมแหลมแอฟริกาอยู่หรือไร  จึงมาจากมัทราสไม่ถึงเมืองนี้สักที ทั้งๆก็อยู่ในอินเดียเหมือนกัน       ในหนังสือบอกว่าเวลาล่วงไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์แล้ว  โค้ทส์ก็ยังอาละวาดอยู่หน้าเมืองมาดาโพลัม   แสดงว่าไม่มีกำลังจากหน่วยไหนไม่ว่าแขกหรือฝรั่งเข้ามาช่วยชาวเมืองนี้ได้เลย   


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 20:54
     โค้ทส์ทิ้งทวนกับเมืองนี้ด้วยการเอาเรือแล่นเข้าไปตามลำแม่น้ำนาร์ซาปอร์   แล้วใช้ปืนใหญ่จากเรือยิงค่ายที่ชาวเมืองสร้างขึ้นป้องกันภัย    ระดมยิงค่ายจนเพลิงไหม้      ส่วนแขกที่เป็นทหารปืนใหญ่ประจำค่ายคงไม่เคยเรียนวิชามาก่อนจึงยิงไม่ถูกเรือ   กลายเป็นฝ่ายแพ้  เจอเพลิงไหม้ก็ต้องทิ้งค่ายหนีไปกันหมด     โค้ทส์จึงภูมิอกภูมิใจมาก  ให้ลูกน้องไปขนปืนที่เหลือจากค่ายมาลงเรือ   ถือเป็นชัยชนะที่เรือรบรบชนะบนบกได้   อันเป็นปรากฏการณ์หาได้ยากในศึกไม่ว่าไหนๆ     จากนั้นก็อาละวาดยิงหมู่บ้านสองริมฝั่งแม่น้ำจนเสียหายหลายแห่ง ก่อนจะพาเรือกลับออกปากอ่าวไปอย่างเจ้าพ่อ ไม่มีใครกล้าต่อกรด้วย

   ถ้าคุณ NAVARAT.C  ยิ่งสงสัยหนักขึ้นว่ากองกำลังทหารของอาลี บีคในเมืองมะสุลีปะตัมและกำลังทหารหลวงของเจ้าผู้ครองแคว้นหายไปไหนหมด ไม่มีสักคน    ปล่อยให้เมืองอู่ต่อเรือต่อสู้อย่างน่าสงสารเพียงลำพัง   กะอีแค่เรือโจรสลัดลำเดียวก็จัดการไม่ได้  กลับถูกยิงเอาๆ จนแตกฉานซ่านเซ็น      ดิฉันก็ตอบไม่ได้เหมือนกันค่ะ เพราะแปลกใจอยู่เหมือนกัน
   หรือว่ากำลังทหารตามค่ายริมแม่น้ำคือกองทหารที่ถูกส่งมาจากเมืองมะสุลีปะตัมแล้วแต่รบไม่เก่ง   สู้โค้ทส์กับลูกเรือที่หาตามมีตามเกิดมาจากเมืองมัทราสไม่ได้     ข้อนี้ก็ชวนให้คิดว่านายโค้ทส์นี่แกคงจะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ไม่แพ้จอห์นนี่ เด็ปป์


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 21:05
ตามเข้าไปอ่านบล็อคของดร.จุฬิศพงศ์ตามลิ้งค์ของคุณเพ็ญชมพู      เลยเจอย่อหน้านี้

ฟอลคอนสนับสนุนการค้าของชาวอังกฤษและฝรั่งเศส โดยขัดขวางการค้าของพวกมุสลิม จนเป็นเหตุให้พ่อค้าแขกไม่พอใจ และได้ร่วมกันต่อต้านการค้าของสยามที่ผ่านทางพ่อค้ายุโรปโดยไม่ยอมช่วยเหลือกระจายสินค้าของสยามในตลาดฝั่งตะวันตกเหมือนเมื่อก่อน ทั้งยังขัดขวางการค้าของสยามไม่ให้ได้รับความสะดวกต่างๆ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระนารายณ์ภายใต้การถวายคำแนะนำของฟอลคอนจึงตอบโต้ด้วยการยึดเรือสินค้าของมุสลิมในแถบเมืองท่าของสยาม นอกจากนี้ฟอลคอนยังจัดตั้งกองเรือเพื่อปล้นสะดมสินค้าของพ่อค้าแขกและยังส่งกองเรือไปเผาทำลายเมืองท่าหลายแห่งของอาณาจักรกอลกอนดา ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นทั้งสองอาณาจักรประกาศสงครามแก่กัน ส่งผลให้การค้าระหว่างสยามกับรัฐต่างๆ ในอินเดียประสบภาวะชะงักงัน

ในนี้บอกว่ามีหลายเมือง   หนึ่งในนั้นน่าจะเป็นศึกของกัปตันโค้ทส์กับเมืองมาดาโพลัม  ที่กำลังถึงพริกถึงขิงอยู่ในค.ห.ข้างบน   แต่ว่าหลักฐานที่ดร.จุฬิศพงศ์ไปหามาได้  ยกความเลวให้ฟอลคอน  ไม่ใช่ไวท์

ถ้าหากว่าสยามทำศึกทางเรือจนเอาชนะกอลคันดาได้    พิจารณาจากข้อความข้างบนนี้  ก็แสดงว่าเรือรบของสยามไม่น่าจะมีแค่เรือของโค้ทส์คนเดียว  หรือมีแค่ลำสองลำ  น่าจะมีมากกว่านั้น    เป็นกองทัพเรือกำปั่นติดอาวุธเพียบทีเดียว    จนสามารถถล่มได้ทั้งเมืองมาดาโพลัม  ถล่มกองกำลังทหารที่ถูกส่งมาจากเมืองมะสุลีปะตัม  และสามารถสกัดเรือโทมัสที่บริษัทอีสต์อินเดียส่งมาปราบปรามได้ด้วย 


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 13, 21:34
จินตนาการของฝรั่งเวลาเขียนเรื่องนี้เป็นอย่างไร เราก็เปรียบเทียบได้จากพระสาทิศลักษณ์ของสมเด็จพระนารายน์ที่ฝรั่งวาดกันไว้ สี่ภาพสี่แบบ ซึ่งฝรั่งด้วยกันดูรูปใดรูปหนึ่งแล้วก็คงเชื่อว่าเหมือน ส่วนคนไทยจะเชื่อเหมือนฝรั่งหรือไม่ก็สุดแล้วแต่

เหตุการณ์ทั้งหมดในเรื่องนี้ก็เช่นกัน มันก็คงมีมูลอยู่ดอก แต่จะวิจิตรพิศดารเหมือนกับที่บันทึกไว้แล้วนักประวัติศาสตร์ก็ลอกต่อๆกันมา โดยดัดแปลงแก้ไขเสียบ้างตามภูมิความเชื่อของแต่ละคน เราก็ควรจะตามรู้ตามดูกันไป แต่ควรจะเชื่อหรือไม่ แค่ไหนอย่างไรนั้น ท่านจขกท.ท่านก็ให้อิสระผู้อ่านที่จะต้องพิจารณาด้วยตนเองอยู่แล้ว


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 13, 21:40
จินตนาการของฝรั่งเวลาเขียนเรื่องนี้เป็นอย่างไร เราก็เปรียบเทียบได้จากพระสาทิศลักษณ์ของสมเด็จพระนารายน์ที่ฝรั่งวาดกันไว้ สี่ภาพสี่แบบ ซึ่งฝรั่งด้วยกันดูรูปใดรูปหนึ่งแล้วก็คงเชื่อว่าเหมือน ส่วนคนไทยจะเชื่อเหมือนฝรั่งหรือไม่ก็สุดแล้วแต่

เหตุการณ์ทั้งหมดในเรื่องนี้ก็เช่นกัน มันก็คงมีมูลอยู่ดอก แต่จะวิจิตรพิศดารเหมือนกับที่บันทึกไว้แล้วนักประวัติศาสตร์ก็ลอกต่อๆกันมา โดยดัดแปลงแก้ไขเสียบ้างตามภูมิความเชื่อของแต่ละคน เราก็ควรจะตามรู้ตามดูกันไป แต่ควรจะเชื่อหรือไม่ แค่ไหนอย่างไรนั้น ท่านจขกท.ท่านก็ให้อิสระผู้อ่านที่จะต้องพิจารณาด้วยตนเองอยู่แล้ว


ซ้ายมือเรา เป็นภาพลายเส้นพ่อนกเหยี่ยว นะเออ ส่วนขวาสุดเป็นภาพพระธิดาในสมเด็จพระนารายณ์


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 13, 21:55
ภาพซ้าย ผมเมาข้อมูล ขออภัย

ภาพขวา เปิดdicแล้ว Reine de Siam แปลว่า พระราชินีของสยาม ผมสีทองล่ำบึ้ดเชียว
อีกภาพนึง Chaou Haraye อากู๋ไม่ยอมแปล ก็ต้องเชื่อตามคุณเพ็ญ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 13, 22:06
องค์นี้ คนไทยส่งเข้าประกวดความเหมือน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 13, 22:26
      เมื่อมาถึงตอนนี้ โค้ทส์ก็มีเรืออยู่ในกำมือหลายลำ  นอกจากเรือพรอสเพอรัสลำเดิมที่ขึ้นคานรอซ่อมอยู่  ก็มีเรือโรบินและเรือแมรี่ใหม่เอี่ยมออกจากอู่    ในเรื่องไม่ได้บอกว่านายโค้ทส์ยอมจ่ายเงินค่าต่อเรือหรือเปล่า   แต่ดูจากพฤติกรรม   ก็คงน่าประหลาดมากถ้าแกยอมจ่าย     นอกจากนี้ทางอู่ต่อเรือก็คงไม่อยากคิดเงินแกมากไปกว่าอยากเสือกไสให้ออกจากเมืองไปเร็วๆ      ส่วนเรือลำที่สี่คือเรือนิวเจรูซาเล็มนั้น  โค้ทส์ยังยึดเอาไว้ไม่ยอมปล่อย     นายดีมาคอร่าเจ้าของเรือจะเดินทางกลับบ้านยังไงแบบไหนก็ไม่ใช่เรื่องโค้ทส์จะเก็บมาคิดให้รกสมอง      ถือว่ารอดไป ไม่ตายก็ดีเท่าไหร่แล้ว

      เมื่อถอยออกจากเมือง  โค้ทส์แบ่งเรือให้ไปกันคนละทาง  เรือนิวเจรูซาเล็มให้ลูกน้องชาวอังกฤษชื่อเลสลี เดิมอยู่ในเมืองมาดาโพลัมแล้วมาสมัครเข้าพวกด้วย  ทำหน้าที่นายเรือคุมกลับไปยังแถบชายทะเลฝั่งใต้ของมอญ   ทำตัวเป็นเรือโจรสลัดไล่จับเหยื่ออยู่แถวนั้น       เรือแมรี่ถูกส่งกลับไปมะริด   ส่วนโค้ทส์เองคุมเรือโรบิน  เดินทางร่วมไปกับเรือซานตาโรซ่าของนายเรือโปรตุเกสที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กันปล้นเมือง    เหลือเรือพรอสเพอรัสเห็นว่าชำรุดเกินกว่าจะเอาลงทะเลต่อไปได้ ก็จัดการเผาเสีย  มิให้ทางในเมืองเอาไปใช้งานได้     เชลยที่จับมาจากเรือที่ตัวเองปล้นมาได้ก็ถูกส่งตัวไปเป็นแรงงานทาสอยู่ในเรือ  เมื่อบ่ายหน้ากลับพระราชอาณาจักรสยาม


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 13, 07:21
ประวัติศาสตร์ตอนนี้เอกสารชั้นต้นเป็นอย่างไร มีใครเคยเห็นบ้าง นอกจากอ้างกันต่อๆมาว่าเป็นสำนวนฟ้องในศาลอังกฤษ  ซึ่งถึงจะเป็นอย่างนั้น ผมก็ยังงงต่อไปอีกว่า เรื่องมันออกแนวนิยายขนาดนี้ คนอังกฤษยังเชื่อได้อย่างไรว่าเป็นเรื่องจริง อยู่ๆเรือสำเภาไม่ใช่รูปแบบสำเภาสยามโผล่มา ชื่อเป็นฝรั่ง นายเรือเป็นอังกฤษ คนในเรือเป็นต่างด้าวไม่มีคนไทยสักคน คงไม่มีเครื่องแบบใดๆ แต่ชักธงสยาม(สมัยพระนารายน์หน้าตาเป็นอย่างไร ผมก็ยังไม่ทราบจริงๆ) อ้าง(เป็นภาษาอังกฤษ)ว่าเป็นเรือของพระเจ้าแผ่นดินสยาม เท่านี้ก็พอที่จะเชื่อเช่นนั้นแล้วหรือ นายเรือเป็นกุ๊ยใช้อุบายตื้นๆให้ต่อเรือให้ ครั้นไม่เสร็จดังใจก็อาละวาด ยิงปืนใหญ่ใส่บ้านเรือนผู้คนเหมือนเล่นสงครามแบบโจรสลัด ปล้นเรือและคงจะฆ่าคนด้วย แล้วก็ไม่มีทหารอินเดียเจ้าของประเทศออกต่อต้านสักคน ต้องรอเรือรบอังกฤษมาช่วยซึ่งก็รีบออกเรือมา ระยะทางน่าจะไม่เกินสองสามวันน่าจะถึงแต่นี่หลายเดือนก็ไม่โผล่

เมืองอินเดียมีแต่ตาแก่กับเด็กหรือ จึงปล่อยให้โจรลอยนวลกลับออกไปได้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 13, 07:26
องค์นี้ คนไทยส่งเข้าประกวดความเหมือน

ถึงอย่างไรก็ตาม บุคคลิกท่าทางของพระองค์นั้น มีบันทึกไว้ว่า "พระองค์นั้นรูปร่างเล็ก สมส่วนกะทัดรัด คล่องแคล่วพูดจาเฉลียวฉลาดมาก นิยมแต่กายอย่างชาวเปอร์เซีย"


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 13, 07:50
หมายถึงฉลองพระองค์เสื้อครุยหรือเปล่า ที่ฝรั่งมีโอกาสเห็น


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 13, 07:53
อ่ะ นี่รูปพระราชธิดา จัดให้คุณหนุ่ม


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 13, 08:21
หน้าตาวิชเยนทร์เป็นอย่างนี้เอง   จมูกโง้งเชียว


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 13, 09:08
เรื่องราวที่โค้ทส์ถล่มเมืองมาดาโพลัม  ดูๆก็เหมือนหนังของดิสนีย์ น่าจะเอามาฉายแข่งกับ Pirates of the Caribbean จริงๆด้วย  
เพราะผู้ร้ายเรื่องนี้บุกเมืองด้วยเรือลำเดียว   มีผู้ช่วยผู้ร้ายเป็นนายเรือโปรตุเกสคุมเรือสินค้าติดปืนใหญ่ตามประกบอีกลำ   แค่ 2 ลำพอ เท่านี้เมืองทั้งเมืองก็เสร็จเรียบร้อยโรงเรียนฝรั่ง      ฝ่ายกองทหารในเมืองใหญ่  หรือเรือรบที่บอกว่าจะมาช่วยก็ไม่รู้หายไปไหนกันหมด   เหมือนโดนผู้กำกับตัดงบประมาณตัวประกอบ เลยไม่มาเข้าฉากกันทั้งชุด

ส่วนเรื่องจริงเป็นยังไงฝากท่านผู้อ่านกระทู้นี้ไปช่วยท่านนวรัตนค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมเองนะคะ   ดิฉันขอเล่าความจากหลักฐานทางฝ่ายไวท์ไปพลางๆก่อน

ภาคแรกของ Pirates of the Indian Ocean จบไปแล้ว ด้วยชัยชนะของฝ่ายโจรสลัด   ต่อไปจะเริ่มภาค 2  ย้อนกลับมาที่นายสยามขาวพระเอกของเราที่ชะเง้อรออยู่ที่มะริด

คงจำได้ว่าไวท์ส่งเรือโดโรธีไล่หลังเรือของโค้ทส์ไปให้ทันกันที่มัทราส เพื่อส่งสารตราเรียกกลับตามระเบียบราชการ แต่แอบส่งสารลับไปว่าไม่ต้องกลับ    เรือโดโรธีทำตามคำสั่งเสร็จแล้วก็เดินทางกลับมะริด    แต่ไม่ได้กลับมาจอดทอดสมออยู่เฉยๆ   ท่านเจ้าท่าไวท์สั่งเรือลำนี้ให้เป็นเรือโจรสลัดเที่ยวอาละวาดอยู่แถวน่านน้ำหน้าเมืองมะริด    ได้สินค้ายึดสินค้า  ได้คนก็จับเป็นเชลย  ในจำนวนนี้มีชาวอังกฤษติดเรือมาคนหนึ่งชื่อเฮาส์    ไวท์ก็เลยเอาไว้เป็นพนักงานบัญชีของตน

ไวท์รู้ว่าการกระทำของตนที่ส่งโค้ทส์ไปปฏิบัติการจะต้องอื้อฉาวกลับมาถึงอยุธยาแน่นอน     ถึงสมัยนั้นการสื่อสารยังมีพรมแดนอยู่ แต่ก็มิใช่จะปิดกั้นได้สำเร็จ     ดังนั้นเพื่อปกป้องตัวเองให้พ้นผิด  ไวท์ก็ชิงรายงานส่งนายใหญ่คือตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์เสียก่อน โดยพล่ามอ้างว่ากระทำไปเพื่อรักษาพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดินสยาม   จะฟังขึ้นไม่ขึ้นก็ไม่เป็นไร  เพราะสินน้ำใจที่ไวท์แนบไปกับหนังสือราชการมีจำนวนงามมากอยู่  พอจะล้างสมองเจ้าพระยาวิชเยนทร์ให้เอออวยเห็นดีไปด้วยได้     หรืออย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาจากความพิโรธของสมเด็จพระนารายณ์


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 13, 09:18
อ้างถึง
ส่วนเรื่องจริงเป็นยังไงฝากท่านผู้อ่านกระทู้นี้ไปช่วยท่านนวรัตนค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมเองนะคะ
คงจะหายากหน่อย คนสมัยก่อน ไม่ว่าชาติใดก็จะเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้

ลองดูสำนวนพี่ไทยเรามั่ง

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ๔๐๙

เมื่อครั้งศักราช ๑๐๑๙ ปีระกา นพศกนั้น มีฝรั่งเศสนายกำปั่นผู้หนึ่ง บรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ต่อกำปั่นใหญ่ลำหนึ่ง ครั้นเสร็จ แล้วจะเอาออกจากอู่ จึ่งให้ล่ามถามฝรั่งเศสพ่อค้านั้นว่า ณ เมือง ฝรั่งเศสเอากำปั่นออกจากอู่ กระทำอย่างไรจึงเอาออกได้ง่าย ฝรั่งเศสผู้นั้นเป็นคนมีสติปัญญามาก ชำนาญในการรอกกว้าน จึ่งให้ล่ามกราบทูลพระกรุณา รับอาสาจะเอากำปั่นออกจากอู่ แล้วแต่งการผูกรอกกว้านและจักรชักกำปั่นออกจากอู่ ลงสู่ท่าได้โดย สะดวก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัส พระราชทานที่บ้านเรือนและเครื่องยศให้อยู่ทำราชการในกรุงนี้ และหลวงวิชาเยนทร์นั้นมีความสวามิภักดิ์ อุตสาหะในราชกิจต่างๆมีความชอบมาก จึงโปรดให้เป็นพระวิชาเยนทร์ ครั้นนานมากระทำการงานว่ากล่าวได้ราชการมากขึ้น โปรดในเลื่อนที่เป็นพระยาวิชาเยนทร์ อยู่มาวันหนึ่งจึ่งมีพระราชโองการตรัสถามว่า ในเมือง ฝรั่งเศสโน้นมีของวิเศษประหลาดประการใดบ้าง พระยาวิชาเยนทร์จึ่งกราบทูลสรรเสริญสรรพสิ่ง และช่างทำนาฬิกาและปืนลมปืนไฟ กล้องส่องของไกลเห็นใกล้ กระทำของวิเศษได้ต่างๆ ทั้งเงินทองก็มีมาก ในพระราชวังพระเจ้าฝรั่งเศสนั้น หลอมเงินเป็นท่อน ๘ เหลี่ยม ใหญ่ประมาณ ๓ กำ โดยยาว ๗ - ๘ ศอก กองอยู่ตามริมถนนเป็นอันมาก ประดุจท่อนเสาอันกองไว้ กำลังคนแต่ ๑๓ - ๑๔ คน จะยกท่อนเงินขึ้นมิได้ไหว ภายในท้องพระโรงนั้น ดาดพื้นด้วยแผ่นศิลา มีสีต่าง ๆ จำหลักลายฝั่งด้วยเงินทอง และแก้วต่างสีเป็นลดาวัลย์ และต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา และรูปสัตว์ ต่าง ๆ พื้นผนังก็ประดับด้วยกระจกภาพ กระจกเงา อันวิจิตรควรจะพิศวง เบื้องบนเพดานนั้นให้แผ่แผ่นทองบางดุจแผ่นทองอังกฤษ ตัดเป็นเส้นน้อย ๆ และผูกเป็นพู่พวงห้อยย้อยและแขวนโคมแก้ว มีสัณฐานต่าง ๆ สีแก้วและสีทองก็รุ่งเรืองโอภาสงามยิ่งนัก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังพระยาวิชาเยนทร์กราบทูลพรรณนาสมบัติ ณ เมืองฝรั่งเศสวิเศษต่าง ๆ มิได้ทรงเชื่อ พระราชดำริจะใคร่เห็นความจริง จึ่งมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดีว่า เราจะแต่งกำปั่นให้ไปถึงเมืองฝรั่งเศส จะได้ผู้ใดเป็นนายกำปั่นออกไปสืบดูของวิเศษ ยังจะมีจริงสมเหมือนคำพระยาวิชาเยนทร์หรือประการใด เจ้าพระยาโกษาจึ่งกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นผู้อื่น ซึ่งจะเป็นนายกำปั่นไปถึงเมืองฝรั่งเศสได้ เห็นแต่นายปาน ผู้น้องข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อาจไปสืบข้อราชการ ณ เมืองฝรั่งเศสดุจกระแสพระดำริได้ จึ่งมีพระราชโองการตรัสให้หานายปานเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสว่า ไอ้ปานมึงมีสติ ปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เป็นนายกำปั่นไป ณ เมืองฝรั่งเศส สืบดู สมบัติพระเจ้าฝรั่งเศส ยังจะสมดังคำพระยาวิชาเยนทร์กล่าวหรือจะมิสมประการใด นายปานกราบทูลพระกรุณา รับอาสาจะไปเมืองฝรั่งเศสสืบให้ได้ราชการตามรับสั่ง แล้วกราบบังคมลาออกไปจัดแจงการทั้งปวงในกำปั่น ให้เที่ยวสืบหาคนดีมีวิชา ก็ได้อาจารย์คนหนึ่งได้เรียนในพระกรรมฐานชำนาญญาณกระสินธุ์ และ รู้วิชาการต่าง ๆ แต่เป็นนักเลงสุรา ยอมจะไปด้วย นายปานมีความยินดีนัก แล้วจัดหาพวกฝรั่งเศสเป็นล้าต้า ต้นหน คนท้าย ลูกเรือ พร้อมเสด็จ ก็ให้เจ้าพระยาโกษาพาเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา ทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้แต่งพระราชสาส์น แล้วตั้งให้ นายปานเป็นราชทูต ฯลฯ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 30 เม.ย. 13, 11:28
ติดตามอย่างใกล้ชิด ..  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 เม.ย. 13, 12:54
ซ้ายมือเรา เป็นภาพลายเส้นพ่อนกเหยี่ยว นะเออ ส่วนขวาสุดเป็นภาพพระธิดาในสมเด็จพระนารายณ์

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5582.0;attach=40039;image)

พระองค์ทางขวา  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B5_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E#.E0.B8.9E.E0.B8.A3.E0.B8.B0.E0.B8.A3.E0.B8.B2.E0.B8.8A.E0.B8.81.E0.B8.A3.E0.B8.93.E0.B8.B5.E0.B8.A2.E0.B8.81.E0.B8.B4.E0.B8.88) ไม่ทรงชอบขี้หน้าคนทางซ้ายสักเท่าไร  ;)



กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 13, 16:16

อยู่มาวันหนึ่งจึ่งมีพระราชโองการตรัสถามว่า ในเมือง ฝรั่งเศสโน้นมีของวิเศษประหลาดประการใดบ้าง พระยาวิชาเยนทร์จึ่งกราบทูลสรรเสริญสรรพสิ่ง และช่างทำนาฬิกาและปืนลมปืนไฟ กล้องส่องของไกลเห็นใกล้ กระทำของวิเศษได้ต่างๆ ทั้งเงินทองก็มีมาก ในพระราชวังพระเจ้าฝรั่งเศสนั้น หลอมเงินเป็นท่อน ๘ เหลี่ยม ใหญ่ประมาณ ๓ กำ โดยยาว ๗ - ๘ ศอก กองอยู่ตามริมถนนเป็นอันมาก ประดุจท่อนเสาอันกองไว้ กำลังคนแต่ ๑๓ - ๑๔ คน จะยกท่อนเงินขึ้นมิได้ไหว ภายในท้องพระโรงนั้น ดาดพื้นด้วยแผ่นศิลา มีสีต่าง ๆ จำหลักลายฝั่งด้วยเงินทอง และแก้วต่างสีเป็นลดาวัลย์ และต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา และรูปสัตว์ ต่าง ๆ พื้นผนังก็ประดับด้วยกระจกภาพ กระจกเงา อันวิจิตรควรจะพิศวง เบื้องบนเพดานนั้นให้แผ่แผ่นทองบางดุจแผ่นทองอังกฤษ ตัดเป็นเส้นน้อย ๆ และผูกเป็นพู่พวงห้อยย้อยและแขวนโคมแก้ว มีสัณฐานต่าง ๆ สีแก้วและสีทองก็รุ่งเรืองโอภาสงามยิ่งนัก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังพระยาวิชาเยนทร์กราบทูลพรรณนาสมบัติ ณ เมืองฝรั่งเศสวิเศษต่าง ๆ มิได้ทรงเชื่อ พระราชดำริจะใคร่เห็นความจริง [/color]

ถ้าสมเด็จพระนารายณ์ทรงอยากจะเห็นของจริง    ทรงสั่งวิชเยนทร์ให้ไปติดต่อพ่อค้าฝรั่งเศส ให้ขนนาฬิกา ปืน กล้องส่องทางไกล  แท่งเงิน กระจกเงา ภาพ โคมระย้าฯลฯ ตามที่บรรยายเอาไว้ลงเรือมาขายที่ราชอาณาจักรสยาม  น่าจะง่ายกว่าส่งโกษาปานไปดูของจริงที่ฝรั่งเศส     และจะได้ทรงเห็นของจริงกันจริงๆด้วย    


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 13, 16:46
     ถ้าถามว่าคอลลิส เรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นจากเอกสารของใคร    ตอนนี้ก็ถึงเวลาจะต้องเผยโฉมผู้ให้ข้อมูล(เป็นส่วนใหญ่ของภาค 2 )ได้แล้วค่ะ
     ชายผู้นั้นชื่อฟรานซิส  ดาเวนพอร์ท (Francis Davenport)  เกิดที่บอสตัน   เป็นชาวอาณานิคมของอังกฤษ หมายถึงประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน   แต่ในปลายศตวรรษที่ 17   อเมริกายังไม่ได้ตั้งขึ้นเป็นประเทศ  เป็นแค่อาณานิคมเท่านั้น    ดาเวนพอร์ทเดินทางมาตะวันออก เพื่อจะค้าขายโดยลงเรือลำเดียวกับจอร์ช ไวท์พี่ชายของแซมมวล ไวท์    แต่หยุดอยู่แค่บริษัทอีสต์อินเดียที่มัทราส
     ต่อมา   ดาเวนพอร์ทรับหน้าที่กัปตันเรือสินค้าของบริษัท  มาค้าขายที่อาณาจักรพม่า แต่เรืออับปางลง ตัวเองรอดตายขึ้นฝั่งพม่าได้ก็ถูกจับเป็นเชลย และขายเป็นทาส    แต่ชาวอาร์มีเนียนชื่อโจเซฟ ดีมาคอร่า พี่ชายของจอห์น ดีมาคอร่า  (เจ้าของเรือนิวเจรูซาเล็ม) มาเจอ  ก็เลยไถ่ตัวให้เป็นอิสระ   ดาเวนพอร์ทเกือบจะได้กลับอินเดียอยู่แล้ว    แต่คราวเคราะห์เรือที่โดยสารมาถูกเรือนิวเจรูซาเล็มที่ตอนนี้กลายเป็นเรือโจรสลัดในกำกับของไวท์ไปแล้วปล้นสะดม     ดาเวนพอร์ทก็เลยต้องขึ้นฝั่งที่มะริด  แทนที่จะเป็นอินเดีย  เจอไวท์เข้า   ไวท์ก็เลยเกลี้ยกล่อมให้ช่วยทำงานอยู่ที่นี่ เป็นสมุหบัญชี   เพราะเฮาส์คนเก่า ทำงานไม่ได้เรื่องเลย      ดาเวนพอร์ทกำลังถังแตก  ก็จำใจทำงานอยู่ที่มะริดอีกสักพัก  กะว่าเก็บเงินเก็บทองได้ก็จะเดินทางกลับบริษัทอีสต์อินเดียที่มัทราส
    ดาเวนพอร์ทเป็นคนมีตระกูลดี ได้รับการศึกษาดีจากบอสตัน      ระหว่างทำงานอยู่กับไวท์ก็เขียนบันทึกแบบจดหมายเหตุรายวันเอาไว้     จดหมายเหตุของดาเวนพอร์ทอยู่ยั้งยืนยงมาได้ไม่สูญหาย     จนไปเก็บรักษาไว้ ณ กรมอินเดียของกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ     เป็นเหตุให้คอลลิสและพวกเราชาวเรือนไทยได้รู้เรื่องของไวท์และเมืองมะริดในช่วงนี้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 13, 22:22
      โค้ทส์เดินทางกลับมามะริดอย่างกระหยิ่มยิ้มย่อง  เดินหน้าบานเข้ามาเหมือนรอรับคำชมเชยจากลูกพี่   แต่การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม  ไวท์กลับว๊ากเข้าใส่ ว่าโค้ทส์ไปทำความวิบัติฉ.ห.กลับมาน่ะไม่ว่า    เพราะคำสั่งของไวท์คือสั่งให้โค้ทส์ไปถล่มเรือของแคว้นกอลคันดาเท่านั้น   ไม่ใช่เรือของชาติอื่นโดยเฉพาะบริษัทอีสต์อินเดีย        เรือที่ยึดได้ 2 ลำคือเบตโคลฟก็คืนเจ้าของไป   เอามาก็แต่เรือนิวเจรูซาเล็มซึ่งมีแต่เรือเปล่าเพราะดันคืนพลอยมีค่าให้เจ้าของไปด้วย      
      สรุปแล้วไปคราวนี้ ขาดทุนป่นปี้ ไม่ได้กำไรกลับมาอย่างที่หวัง     ถ้าหากว่าไปยึดสินค้าเอากลับมาได้ก็ยังพอทำเนา  เพราะจะได้เอาส่วนนี้ไปส่งส่วยให้ผู้ใหญ่ชั้นเหนือๆขึ้นไป ให้ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา   แต่นี่ก็งี่เง่าไม่ได้อะไร  เสียทั้งเวลา ต้นทุนหายปลายทุนหด  ยังงี้มันน่า...

     การที่ไวท์สวดลูกน้องเสียยับในงานนี้   เราต้องตีความระหว่างบรรทัดว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ระหว่างคนคู่นี้      เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่โค้ทส์ทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้แล้วจะกลับมามือเปล่า        กว่าโค้ทส์จะยอมออกจากเมืองมาดาโพลัมก็แปลว่าต้องปล้นทรัพย์จนเป็นที่พอใจ   อ้ายเสือถึงจะยอมถอย      แต่โดนสวดยับขนาดนี้แสดงว่าโค้ทส์ยักยอกทรัพย์ทั้งหมดหรือเกือบหมดเอาไว้เอง   อาจจะไม่ส่งให้นาย  หรือส่งให้ก็จำนวนน้อยกว่าที่ไวท์คะเนว่าควรได้รับ    
    อย่างน้อยทับทิมที่แฮ้บมาจากนายดีมาคอร่านั้น  ไวท์ไม่ได้มีโอกาสแอ้มแน่นอน    โค้ทส์คงซ่อนเอาไว้หมด  เช่นเดียวกับเงินค่าไถ่สินค้าจากพ่อค้าวาณิชในเมืองมาดาโพลัม       เหลือแต่เรือเปล่ามาส่งให้ 3 ลำ       ไวท์จึงอาละวาดด่าลูกน้องเสียไม่มีชิ้นดี   เพราะลงทุนปฏิบัติการปล้นเมืองแล้วไม่ได้กำไร  


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 13, 22:33
      เมื่อโดนหัวหน้าด่า   โค้ทส์ก็คงคิดหาทางหนีทีไล่ไว้แล้วไม่ให้นายสงสัย   เลยทำตีโพยตีพายเสียอกเสียใจจะฆ่าตัวตาย   ไวท์หลงกลลูกน้อง  ก็ตกใจหายโกรธไปครึ่งหนึ่ง    รีบปลอบโยนอย่าให้คิดมาก  แต่ก็ไม่วายบ่นอุบๆอับๆว่าเราไม่มีทางเลือกแล้ว   จะต้องไปชี้แจงให้ผู้ใหญ่ในเมืองหลวงทราบที่ไปลุแก่อำนาจ บุกเมืองมาดาโพลัม     
     พร้อมกันนั้น  ไวท์ก็ปลอบประโลมต่อไปว่า  ไม่ต้องห่วงนะ  เพราะว่าไปวิ่งเต้นใต้โต๊ะกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์เพื่อนเก่าไว้แล้ว     ขอแต่เพียงว่าโค้ทส์ไปให้ปากคำตามระเบียบราชการเท่านั้น    เรื่องอื่นเฮียจัดการแผ้วถางทางสะดวกให้เอง

      ตามธรรมเนียมของไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่       โค้ทส์ก็รับคำโดยดี เพราะรู้ว่าไม่มีทางหนีไปไหน    ตัวเองยังสังกัดราชการสยามอยู่ ก็ต้องไปให้ปากคำตามคำสั่ง       แต่เพื่อมิให้ไวท์หักหลังเอาได้   โค้ทส์ก็แอบเหน็บเอาจดหมายคำสั่งของไวท์ที่สั่งว่าไม่ต้องทำตามสารตราของสมเด็จพระนารายณ์ ติดตัวไปด้วย เมื่อเดินทางออกจากมะริดตรงไปกรุงศรีอยุธยา      เผื่อเกิดอะไรขึ้น    โค้ทส์ก็จะไม่ต้องเป็นแพะรับบาปอยู่คนเดียว     ต้องเอาหัวหน้าแพะเข้าหลักประหารไปด้วยกัน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 13, 09:21
     ไวท์ได้รับบทเรียนจากส่งลูกน้องไปปล้นสะดมในย่านห่างไกล    ไกลหูไกลตาลูกพี่จะควบคุม หรือตรวจสอบลูกน้องไม่ให้แอบชักดาบเอาเข้าพกเข้าห่อได้      ก็เลยตัดสินใจว่าหากินอยู่ใกล้ๆนี่แหละดีกว่า    ว่าแล้วไวท์ก็สั่งลูกน้องอื่นๆให้ปล้นสะดมเรือในน่านน้ำย่านเมืองมะริด    เข้ายึดเรือแล้วแต่จะยัดข้อหาอะไรได้    ยึดสินค้าได้ก็เอามาเข้ากระเป๋าส่วนตัว แบ่งให้พระคลังหลวงบ้างพอไม่ให้น่าเกลียดเกินไป
    ในจำนวนเรือที่ไวท์ยึดบวกรีดไถมีเรือชื่อซานตาครูซ ของนายโจเซฟ ดีมาคอร่า ซึ่งเคยเป็นผู้มีพระคุณไถ่ตัวดาเวนพอร์ทไว้จากเป็นทาสพม่า     ตอนนั้นดาเวนพอร์ททำหน้าที่เสมียนและพนักงานบัญชีของไวท์อยู่ จึงรู้ตื้นลึกหนาบางดีถึงพฤติกรรมของไวท์      ดาเวนพอร์ทประสงค์จะช่วยเหลือดีมาคอร่าเป็นการตอบแทนพระคุณ    ก็เลยรวบรวมหลักฐานทำเรื่องร้องเรียนไปยังเจ้าพระยาวิชเยนทร์ซึ่งเป็นนายเหนือไวท์ขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง    เพื่อหวังจะให้วิชเยนทร์ช่วยเหลือดีมาคอร่า และปราบปรามไวท์มิให้ก่อเรื่องเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอีก
    ความตั้งใจดีของดาเวนพอร์ท กลายเป็นเรื่องลอยหายไปกับสายลม      วิชเยนทร์ไม่ได้แยแสคำร้องทุกข์เรื่องนี้เลย   กลับทำหูทวนลมเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระฟังไม่ขึ้น      เหตุผลแท้จริงของวิชเยนทร์คืออะไรเราก็คงดูกันออก    นายหน้าไหนจะลงโทษลูกน้องที่ส่งส่วยให้ลูกพี่อย่างเหลือเฟือ จนอู้ฟู่กันทั้งสองคน
    ความฉลาดอีกอย่างของนายสยามขาว เจ้าท่าเมืองมะริดก็คือ    ถ้าเป็นเรือค้าขายของหลวง  ไวท์ก็ค้าขายไปตามปกติ    ดังข้าราชการที่ทำหน้าที่ตัวเองครบถ้วน  ใครจะมาว่าไม่ได้   แต่รายได้พิเศษก็ส่วนรายได้พิเศษ   ส่วนนี้กระผมถือว่าทำโอที นอกเวลาราชการ  


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 13, 22:13
    หลังจากโค้ทส์เดินทางไปเมืองหลวงได้ไม่กี่เดือน เข้าปลายฤดูมรสุม  ก็มีคนถือสาส์นจากอยุธยามาเรียกตัวไวท์ให้เข้าไปราชสำนักด่วน     วัวสันหลังหวะอย่างไวท์ใจฝ่อทันทีที่เห็น   อย่างแรกที่คิดได้คือจะต้องบ่ายเบี่ยงแก้ตัวอ้างสาเหตุว่าป่วย   ไม่สามารถจะเดินทางไปได้  ขอผัดผ่อนไปก่อน     แต่พอร่างหนังสือตอบไปเสร็จก็เจอคนถือสาส์นคนที่สองถือคำสั่งสำคัญมาเร่งให้เข้าไป   ตามมาด้วยคนที่สาม  ติดๆกันแทบหายใจหายคอไม่ทัน
    ไวท์หมดปัญญาจะบิดพลิ้ว    แต่ก็ใจชื้นอยู่หน่อยหนึ่งว่าถ้าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย  เจ้าพระยาวิชเยนทร์น่าจะมีหนังสือมาเตือนให้รู้ตัว    คงไม่ปล่อยเพื่อนรักให้เคราะห์ร้าย เพราะส่วยของไวท์ก็ประเคนไปให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่แล้ว       เพื่อความรอบคอบไวท์ก็จัดการแต่งบัญชีสินค้าของหลวงเสียใหม่     บวกลบแล้วค้าขายของหลวงได้กำไรได้มาก ก็จัดการให้มันน้อยลง   เพิ่มรายจ่ายให้มากขึ้น  โดยย้กย้ายถ่ายเทรายจ่ายจากการค้าขายส่วนตัวให้ราชการรับภาระไป     พูดง่ายๆคือจัดการแต่งบัญชีเสียใหม่ให้ตัวเองได้กำไรเพิ่ม และพระคลังสินค้าเกือบไม่มีกำไรเอาเลย
  
    ไวท์เดินทางออกจากมะริด ข้ามเขาไปกุยบุรีมุ่งตรงไปกรุงศรีอยุธยา  ระหว่างทางก็เจอคนถือสาส์นอีก 2 คน    แสดงว่าคิดถูกแล้วที่รีบมาเสียก่อน      ถ้าเจอคนที่ 6  อาจจะถือคำสั่งประหารมาก็ได้     ระหว่างทาง ความตรากตรำบวกกับกังวลใจทำให้ไวท์ป่วยเป็นไข้ป่าอย่างแรง  แต่ก็ฝืนพยุงสังขารไปจนถึงเมืองหลวง  รวมเดินทาง 12 วัน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 13, 12:39
     เมื่อไปถึงอยุธยา  ไวท์พบว่าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จแปรพระราชฐานไปลพบุรี   ก็จำต้องเดินทางตามไปที่นั่น   ทั้งๆสังขาร
ทรุดโทรมหนักจากไข้    พอถึงลพบุรีก็เจ็บหนักลุกไม่ขึ้น   ต้องนอนซมรักษาตัวอยู่ในบ้านตรงข้ามกับบ้านพักของเจ้าพระยาวิชเยนทร์       ฝ่ายเจ้าพระยาก็ฉลาดพอที่จะไม่มาเยี่ยม จนทำให้ขุนนางอื่นๆจับพิรุธได้ว่าสนิทสนมกันเป็นพิเศษ     เพียงแต่ส่งท่านผู้หญิงมาเยี่ยมไข้ตามมารยาท
  อาการไข้ของไวท์หนักมากจนเจ้าตัวเกรงว่าจะไม่รอด   ทั้งใจฝ่อจากท่าทีเฉยเมยเย็นชาของวิชเยนทร์ด้วย    ไวท์ก็เลยสั่งดาเวนพอร์ทให้เดินทางจากมะริดไปพบที่ลพบุรี   เพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์สินให้เรียบร้อย    ไวท์เป็นห่วงว่าถ้าตัวเองตายลงไป จะได้ไม่มีเรื่องยุ่งยากเรื่องมรดกขึ้นมาทีหลัง     
   โชคลาภอันเกิดจากการฉ้อราษฎร์ บังหลวง และปล้นสะดม ครบทุกอย่างที่เป็นความชั่วช้าสารเลว  บันดาลให้ไวท์ร่ำรวยขึ้นมาถึง 125,920 บาท      นอกจากนี้ยังมีแก้วแหวนของมีค่าอื่นๆราว 3320 ปอนด์    และมีหุ้นการค้ากับวิชเยนทร์คิดเป็นมูลค่าราว 4000 ปอนด์    รวมทั้งหมดประมาณ 23,000 ปอนด์    นี่เป็นสมัยปลายศตวรรษที่ 17  ล่วงมา 300 ปี  คิดเป็นเงินปัจจุบันจะกี่
ร้อยล้านก็ยังคำนวณไม่ถูกเหมือนกัน     นอกจากนี้ไวท์ยังกำเงินสดไว้ในมืออีกจำนวนหนึ่ง เอาไว้จ่ายเป็นเบี้ยบ้ายรายทางแก่ขุนนางข้าราชการ เผื่อตัวเองเข้าที่คับขันโดนข้อหาคอรัปชั่นจะได้ใช้เงินซื้อความสะดวก และผ่อนหนักเป็นเบาได้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 13, 12:57
  ไวท์สั่งให้ดาเวนพอร์ททำบัญชีขึ้น 2 บัญชี   บัญชีแรกเป็นบัญชีลับ แสดงทรัพย์สินทั้งหมดของเขาตามความเป็นจริงเพื่อส่งไปให้ผู้จัดการมรดก  เพื่อส่งต่อให้จอร์ช ไวท์พี่ชายในกรณีไวท์เกิดตายลงมา     บัญชีนี้เปิดเผยให้ใครอื่นรู้ไม่ได้  ขืนรู้เมื่อไรเจ้าของทรัพย์สินไม่แคล้วจากคุก     ส่วนบัญชีที่สองเป็นบัญชีเปิดเผย แสดงทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบตามกฎหมาย เช่นการเข้าหุ้นกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์    ซึ่งมีน้อยกว่าบัญชีแรกชนิดเทียบกันมิได้     บัญชีที่สองนี้ไวท์ใส่รวมไว้กับเอกสารอื่นๆ พร้อมจะให้ตรวจสอบ

  ในเมื่อบุญของไวท์ยังไม่หมด    เขาก็ค่อยๆฟื้นตัวจากโรคไข้ป่า จนกระทั่งหายในเวลาต่อมา    แต่ทางใจยังคงทรุดเพราะท่าทีของวิชเยนทร์ทำให้เกิดลังเลสองจิตสองใจ  ไม่รู้ว่าตัวเองกลายเป็นลูกไก่ในกำมือให้วิชเยนทร์บีบก็ตาย คลายก็รอดหรือเปล่า    ไวท์จึงเขียนจดหมายถึงเพื่อนซี้    เริ่มต้นด้วยตัดพ้อต่อว่าที่วิชเยนทร์มีท่าทีเย็นชา ไม่อินังขังขอบ   แต่ไวท์ซัดไปว่าคงมีอำมาตย์บางคนมายุแยงตะแคงรั่วให้เกิดความเข้าใจผิดในตัวเขาเป็นแน่       ตัวเขาจึงขอยืนยันว่าทำทุกอย่างด้วยความสุจริต   และจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินสยามชนิดไม่มีอะไรให้เคลือบแคลงได้เลย    สิ่งที่กระทำลงไปทุกอย่างก็เพื่อเพิ่มพูนพระบารมีและผลดีอันพึงได้ต่อสยาม   เขาภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์ยิ่งกว่าภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเสียอีก      สุดท้ายนี้ถ้าหากว่าเขาได้กระทำสิ่งใดไม่เป็นที่พอใจแก่วิชเยนทร์ เขาก็ขอประทานอภัย  และหวังว่าวิชเยนทร์คงไม่ทอดทิ้งเพื่อนผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีคนนี้     เพราะในเมื่อสร้างมากับมือ ก็ไม่ควรจะลบด้วยเท้า ฯลฯ
  ถ้อยคำของไวท์ที่พล่ามถึงความภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์แห่งสยาม อ่านแล้ววิชเยนทร์ก็คงคุ้นๆ ว่าเป็นสำนวนตามแบบฉบับของพวกหน้าไหว้หลังหลอกทั่วไป     ชั้นเชิงของวิชเยนทร์ในการตอบจดหมาย จึงน่าจะควรยกนิ้วให้ ว่าเป็นสำนวนเซียนเหนือเซียนโดยแท้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: Paddymelon ที่ 03 พ.ค. 13, 13:13
ติดตามบทเรียนตั้งแต่แรก เพิ่งได้มีโอกาสลงชื่อค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 13, 13:25
เชิญนั่งแถวหน้าค่ะ

บ่ายนี้ร้อนเหลือเกิน  เสิฟน้ำชาร้อนๆกับเค้กไม่ไหว  เหงื่อโชกแน่   ขอเปลี่ยนมาเป็นสละลอยแก้ว   กับกาแฟเย็นและโอเลี้ยงแล้วแต่จะเลือก
ขอตัวไปทำงานก่อน เสร็จแล้วตอนค่ำๆจะกลับมาเล่าถึงวิชเยนทร์ต่อค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 พ.ค. 13, 13:56
สละลอยแก้วท่าจะดับร้อนได้ดี   ;D

    ถ้อยคำของไวท์ที่พล่ามถึงความภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์แห่งสยาม

ภักดีต่อศาสนาแห่งสยามด้วยฤๅ  ???


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ค. 13, 13:57
ขอตัวไปทำงานก่อน เสร็จแล้วตอนค่ำๆจะกลับมาเล่าถึงวิชเยนทร์ต่อค่ะ

คุณฟอลคอน นี่เรื่องเยอะมาก ๆ นะขอรับ  ;)


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 13, 20:59
สละลอยแก้วท่าจะดับร้อนได้ดี   ;D

    ถ้อยคำของไวท์ที่พล่ามถึงความภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์แห่งสยาม

ภักดีต่อศาสนาแห่งสยามด้วยฤๅ  ???

ชาติ(ฝรั่ง)ศาสนา(คริสต์)และพระมหากษัตริย์แห่งสยาม   
มีไรมั้ย


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 13, 12:35
คุณฟอลคอน นี่เรื่องเยอะมาก ๆ นะขอรับ  ;)

ตั้งใจจะเล่าเฉพาะเรื่องวิชเยนทร์ที่เกี่ยวกับไวท์  ไม่งั้นจะกลายเป็นมหากาพย์ข้ามปีเล่าไม่จบ
ถ้าคุณหนุ่มสยามหรือท่านอื่นๆจะแยกกระทู้เป็นกระทู้วิชเยนทร์  หรือจะเล่าแทรกในกระทู้นี้  ก็ยินดีทั้งนั้นค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 13, 12:37
     ความเขี้ยวลากดินของเจ้าพระยาวิชเยนทร์  เห็นได้จากจดหมายตอบที่ปฏิเสธไม่รับรู้โดยสิ้นเชิงเรื่องทำท่าเย็นชากับไวท์   กลับย้อนว่า  เขาก็ปฏิบัติกับไวท์เหมือนปฏิบัติต่อคนอื่นๆ  นั่นแหละ    ไม่มีใครหน้าไหนมายุแยงตะแคงรั่ว  ไวท์พูดอย่างนี้ก็เหมือนกล่าวหาว่าเขาเป็นคนหูเบาเชื่อคำใส่ร้ายเอาง่ายๆ   วิชเยนทร์ยังลำเลิกอย่างเจ็บแสบด้วยว่า เขาเองเป็นคนตั้งไวท์เอาไว้ในตำแหน่งสูงด้วยความไว้วางใจ     เขาไม่เห็นไวท์มีศัตรูที่ไหนนอกจากตัวไวท์เองน่ะแหละ  ที่รู้ก็เพราะไวท์แสดงออกมาให้เห็นเอง

     เมื่อเริ่มต้นด้วยหมัดแย็บขนาดเบาๆแล้ว     ย่อหน้าต่อๆมา วิชเยนทร์ก็เริ่มรัวหมัดหนักขึ้นเป็นลำดับ    เขาเอ่ยถึงอาการป่วยไข้ของไวท์เหมือนจะปลอบโยน แล้วก็ตวัดปลายแส้ลงไปว่า ด้วยความห่วงใยจึงขอเตือนว่าอย่าใจร้อน  อย่าเอาแต่ใจ   ขอให้ใจเย็นๆ กระทำทุกอย่างด้วยสติจะดีที่สุด

    ส่วนเรื่องที่ไวท์พล่ามถึงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์  วิชเยนทร์ฟันกลางแสกหน้าว่า คนที่อ้างแบบนี้มีแยะ  อ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ แต่ที่แท้ก็ทำเพื่อกระเป๋าตัวเอง    ฉันเห็นมานักต่อนักแล้ว   แต่โปรดเข้าใจว่าที่พูดนี้พูดทั่วๆไป ไม่ได้เหมาว่าท่านเป็นตัวพยาธิสูบเลือดประเทศชาติแต่อย่างใด


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 13, 12:39
    ส่วนเรื่องไต่สวนนั้น ถ้าไวท์เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเอง  หายจากไข้เมื่อใดก็ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองแน่นอน   ตอนนี้ที่ยังไม่มีความคืบหน้าก็เพราะยังรอให้ไวท์หายป่วยไข้อยู่เท่านั้น    และขอเตือนว่าเมื่อถึงเวลาให้การแล้ว ก็ให้การไปอย่างชัดเจนอย่าแก้ตัว   อย่าใช้อารมณ์ เพราะไม่มีประโยชน์  มีแต่จะนำความหายนะมาสู่ตัวเอง
    ตอนท้าย วิชเยนทร์ก็หยอดว่า  ถ้าไต่สวนแล้วปรากฏว่าท่านไม่มีความผิด ฉันก็จะยินดีด้วยมาก       เพราะฉันก็ไม่อยากจะเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า กับบุคคลที่ฉันอุ้มชูทะนุบำรุงขึ้นมาเอง      แต่ในทางตรงข้าม  หากว่าสิ่งที่ฉันก่อสร้างมากับมือเริ่มทรุดเอียง ทำท่าจะนำความวิบัติมาสู่เจ้าของ   ก็ต้องชิงรื้อลงไปเสียก่อนที่มันจะพังทลายลงมาทับเจ้าของบ้าน  ทั้งหมดนี้ขอให้เข้าใจว่าเป็นนัยเปรียบเทียบตามที่ท่านได้เป็นผู้ใช้ขึ้นก่อน  แล้วก็ลงท้ายตามมารยาทว่าขอให้ไวท์หายป่วยในเร็ววัน

   ไวท์อ่านจดหมายของเพื่อนซี้จบแล้วก็ลงนอนกายหน้าผาก   เพราะข้อความในนั้นชัดเจนว่าไวท์ถูกเรียกมาเข้าเฝ้าฯ เพื่อจะถูกไต่สวนความผิดแน่นอนแล้ว       แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังใจชื้นขึ้นนิดหนึ่งว่าจดหมายของวิชเยนทร์ไม่ถึงกับประกาศตัดหางปล่อยวัดเสียทีเดียว    ก็คงจะหาทางช่วย ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้       แต่วิชเยนทร์ก็ไม่ลืมเตือนให้ไวท์ตระหนักว่า เขาเป็นถึงเจ้าพระยาผู้มีเกียรติยศสูง   ยังไงก็ไม่ลดตัวลงมาล่มจมไปกับไวท์ด้วย     มองในแง่นี้ก็แปลว่าไวท์จะต้องดิ้นรนช่วยตัวเองเพื่อให้โทษหนักเป็นเบาลงเหมือนกัน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 13, 20:23
     ในที่สุด วันที่ไวท์ถูกไต่สวนก็มาถึง    คณะลูกขุนล้วนเป็นชาวสยาม    วิชเยนทร์จึงฉวยโอกาสนี้พลิกแพลงให้เป็นผลดีแก่ไวท์ เพราะเอกสารที่ใช้ประกอบล้วนเป็นภาษาอังกฤษ     ในเมื่อวิชเยนทร์เป็นคนรู้ภาษาต่างประเทศจึงสามารถเลือกเฉพาะเอกสารที่เป็นประโยชน์แก่คำให้การของไวท์    เอกสารไหนเอาขึ้นมาถามแล้วไวท์จะเสียเปรียบ วิชเยนทร์ก็ไม่เลือกมาถาม     ผลก็เลยออกมาตามที่คาดไว้ คือคณะลูกขุนตัดสินกันว่า ไวท์ไม่มีความผิด
     เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวน    ไวท์ตั้งใจจะขอบอกขอบใจวิชเยนทร์ให้ถึงขนาดที่ช่วยเหลือตนไว้ได้  แต่วิชเยนทร์ก็สะกัดเสียด้วยความจริง   โดยบอกว่า ที่ทำไปทั้งหมดนี้เพื่อตอบแทนบุญคุณของจอร์ช พี่ชายของไวท์ที่เคยช่วยเกื้อหนุนมาก่อน      จากนั้นก็หยิบคำสั่งของไวท์ที่มีไปถึงกัปตันโค้ทส์ ที่สั่งให้เมินเฉยไม่ทำตามสารตราของหลวงที่เรียกให้เอาเรือกลับ       แสดงว่าโค้ทส์เองก็เผาหัวหน้าไว้เต็มที่ เพื่อเอาตัวรอด
    วิชเยนทร์สำทับว่า  จะช่วยเหลือไวท์ครั้งนี้เพียงครั้งเดียว    ถ้าไปก่อเรื่องขึ้นมาอีกก็อย่าหวังเลยว่าจะรอดแบบครั้งนี้อีก     นอกจากนี้บัญชีเรื่องเงินๆทองๆของพระคลังสินค้า ที่ไวท์ทำส่งมาให้นั้น  วิชเยนทร์ปล่อยให้ผ่านก็จริง แต่ก็บอกว่า ถ้ามีการตรวจสอบขึ้นมาเมื่อไหร่ละก็     คงจะเจอขยะซุกอยู่ใต้พรมอีกกองโต     สรุปว่าเพื่อนซี้ของไวท์ช่วยเพื่อนไว้ได้ก็จริง แต่ก็หวดแส้เต็มเหนี่ยวให้รู้ว่า...ถ้าทำอีกก็ไม่เลี้ยงละนะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 13, 20:33
   เราคงจะจำได้ว่ากัปตันโค้ทส์จอมกร่างถูกเรียกตัวมาไต่สวนก่อนหน้าไวท์      เอกสารต่างๆที่จะเอาผิดไวท์ วิชเยนทร์ก็กลบเกลื่อนให้ร้ายกลายเป็นดี     ดังนั้นเพื่อไม่ให้ไวท์ต้องตกที่นั่งทำผิด   โค้ทส์ก็ต้องไม่ผิดเหมือนกัน    วิชเยนทร์ก็เลยช่วยให้โค้ทส์กลายเป็นผู้ประกอบวีรกรรม  นำแสนยานุภาพ (เรือ 1 ลำ  ;))ของสยามไปแสดงให้ต่างชาติประจักษ์  เหยียบจมูกเมืองมาดาโพลัมได้ชัยชนะกลับมา     แทนที่จะเจอคุกหรืออย่างเบาก็ถูกปลด  โค้ทส์ก็เลยได้รับปูนบำเหน็จอย่างงาม เลื่อนเป็นนายพลเรือแถมยังมีเครื่องยศ   ในหนังสือบอกว่าโค้ทส์ได้แต่กล่อง   ไม่ได้เงิน เพราะเงินทองของมีค่าที่ยึดมาได้ก็ต้องส่งส่วยให้ไวท์    แต่ข้าพเจ้าคิดว่าโค้ทส์คงไม่โง่ถึงกับยอมจนกรอบ   ไหนๆอุตส่าห์ปิดเมืองปล้นมาทั้งที เรื่องอะไรจะไปให้คนอื่น    ยังไงก็ต้องสำรองเอาไว้ให้ตัวเองอยู่แล้ว
     สรุปว่าด้วยความเจ้าเล่ห์ของวิชเยนทร์   ผู้ร้ายสองคนก็กลายเป็นพระเอก  ได้ดิบได้ดีไป      ส่วนผลเสียก็ตกอยู่กับราชการคือถูกฉ้อราษฎร์บังหลวงไปเต็มๆ      ทั้งนี้สมเด็จพระนารายณ์มิได้ทรงรู้อีโหน่อีเหน่ด้วยเลย      เมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์นำความขึ้นกราบทูลว่าตั้งลูกขุนไต่สวนแล้ว   ลงมติว่าไวท์ไม่มีความผิด      พระองค์ก็ทรงรับผลสรุปมาตามนั้น มิได้ระแวงสงสัยอันใด


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 13, 21:10
   เมื่อไวท์พ้นผิดไปแล้ว   วิชเยนทร์คงเห็นว่าเอาไว้ที่มะริดเห็นทีจะก่อเรื่องขึ้นมาอีกเป็นแน่   คราวหน้าก็คงช่วยเหลือไม่ไหวแล้ว  ดีไม่ดีไฟจะลามมาถึงตัวลูกพี่คือตัววิชเยนทร์เองด้วย      จึงพูดดีกับไวท์ เกลี้ยกล่อมชวนให้เข้ามารับราชการเสียในเมืองหลวง ทำหน้าที่ผู้ช่วยของวิชเยนทร์เอง โดยมีเบี้ยหวัดจูงใจอย่างงาม      
   ส่วยไวท์ตระหนักถึงเขี้ยวลากดินของอีกฝ่าย  ว่าห่างไกลจากเป็นหมูให้ตัวเองต้มได้ง่ายๆ    ประกอบกับแว่วมาว่า วิชเยนทร์หันไปคบกับพวกฝรั่งเศสที่เป็นทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสยาม  อี๋อ๋อกันดี  จนอาจจะเลือกเอาทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อเชวาลิเยร์เดอฟอร์แบง ไปเป็นนายท่าเมืองมะริดแทน    ถ้าเป็นเช่นนั้นการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ก็มีแต่เสี่ยงให้วิชเยนทร์เหม็นหน้าขึ้นมาเมื่อใดก็ได้  อนาคตไวท์ก็คงไปอยู่ในคุกไม่มีข้อสงสัย    ไวท์จึงเกิดเบื่อหน่ายชีวิตในสยามขึ้นมาด้วยใจจริง แล้วปฏิเสธคำชวนอย่างไม่ลังเล     ใจก็คิดว่ารวบรวมเงินทองได้ก้อนโต พอจะกลับไปเป็นเศรษฐีอยู่ในอังกฤษได้สบายๆ     ก็ไม่รู้จะอยู่เสี่ยงคมหอกคมดาบในสยามต่อไปอีกทำไม     ส่วนเรื่องพล่ามถึงความจงรักภักดีอะไรนั่น บัดนี้หมดเรื่องหมดราวที่จะต้องพร่ำรำพันแล้ว   ไวท์ก็ลืมคำพูดตัวเองเสียสนิท
   เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ  ไวท์ยังมองออกว่า อนาคตของวิชเยนทร์เองก็ง่อนแง่นไม่แพ้ตน     ทุกวันนี้แม้ว่าเป็นขุนนางที่มีอำนาจมากล้นเหลือ เพราะเป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์  แต่วิชเยนทร์เองก็เข้ากับขุนนางไทยไม่ได้เลย  คบได้แต่กับฝรั่งซึ่งไม่มีกำลังมากพออยู่ดี     เมื่อใดที่สิ้นสมเด็จพระนารายณ์ วิชเยนทร์ก็หมดอำนาจ แล้วก็จะไปไม่รอด     เมื่อรู้อย่างนี้แล้วไวท์จะรอพึ่งลูกพี่อยู่ทำไม    เอาตัวรอดไปก่อนไม่ดีกว่าหรือ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 13, 21:52
   อย่างไรก็ตาม ไวท์ก็ไม่ลืมที่จะประเคนของตอบแทนบุญคุณของวิชเยนทร์ที่ช่วยให้ตัวเองรอดจากคณะลูกขุนสั่งลงโทษ   ชนิดเจ้าบุญทุ่มได้อายเลยก็ว่าได้    ในหนังสือบอกว่า มีแหวนทับทิมน้ำดีชั้นเลิศ 6 วง  นิลน้ำพิเศษอีก 2 เม็ด   ม้าอาหรับพร้อมเครื่องอีก 2 ม้า   และไม่ลืมเอาใจท่านผู้หญิงวิชเยนทร์ด้วยทับทิมงามๆ 2 เม็ด แหวนเพชร 1 วง  นาฬิกาพกชั้นดี 1 เรือน     ของทั้งหมดนี้ถึงไม่บอกก็คงเดาได้ว่าไม่ได้ซื้อหามาแน่นอน    และทับทิมบางเม็ดนั้นอาจจะบีบเค้นคอกัปตันโค้ทส์มาได้ด้วย   แต่ก็เรียกได้ว่า ไวท์ยอมสละทรัพย์ไปก้อนมหึมาทีเดียวในเรื่องนี้    

    แต่ไวท์ก็ไม่ได้ยอมเข้าเนื้อเปล่าๆปลี้ๆ   เมื่อไอให้หมูไป  ยูก็ต้องให้ไก่มา    จึงตื๊อวิชเยนทร์ให้เซ็นคำสั่งให้ตัวเองในฐานะนายท่ามะริดมีอำนาจมากขึ้นอีก  หากสามารถโยนความรับผิดชอบไปให้คณะกรมการเมืองได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือสามารถบังคับให้พวกนั้นต้องยอมลงนามในคำสั่งอะไรก็ได้ แล้วแต่นายท่าประสงค์    นอกจากนี้ ไวท์ยังเกลี้ยกล่อมของบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 4000 ปอนด์  แม้วิชเยนทร์สั่งเป็นคำขาดมิให้ไวท์เก็บภาษารีดนาทาเร้นจากชาวเมืองมะริดได้เกินปีละ 20,000 ปอนด์ก็ตาม   ข้อหลังนี้ไวท์ไม่ค่อยเดือดร้อนอะไร เพราะจะเก็บได้มากน้อยแค่ไหน  ไวท์ก็ชักภาษีเข้ากระเป๋าได้ตามใจชอบอยู่แล้ว

   ไวท์ลอยนวลกลับเมืองมะริด     จากนั้นก็รอจังหวะจะกลับอังกฤษ  เพราะว่าสมัยนั้นการออกจากสยามไม่ได้ง่ายดายเหมือนนั่งเครื่องบินหนีออกนอกประเทศอย่างสมัยปัจจุบัน       ในช่วงสุดท้ายที่ไวท์คิดว่าจะอยู่ในเมืองมะริดก่อนกลับไปเป็นเศรษฐีอยู่บ้านเกิด    เขาก็เลยไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่าๆ  แต่ว่ากอบโกยคอรัปชั่นแบบทิ้งทวนเลยทีเดียว


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 13, 12:46
   อย่างแรกคือ ไวท์เอาสินค้าของหลวงที่โอนมาเป็นสินค้าส่วนตัวของตัวเองก่อนหน้านี้แล้ว   ขายคืนกลับไปให้ราชการอีก  ด้วยวิธีอัฐยายซื้อขนมยายแบบนี้ ไวท์ก็ได้กำไรฟรีๆมาถึง 22400 บาท  โดยไม่ต้องลงทุนสักบาท   ส่วนรายจ่ายที่จำต้องมีเพื่อแสดงแก่ราชการ  ไวท์ก็สร้างชื่อบุคคลผู้ไม่มีตัวตนอีกจำนวนมากมาเป็นผู้รับ ปนไปกับบุคคลจริงๆ   เงินส่วนต่างนั้นก็เข้ากระเป๋าไวท์ไปอีกเกือบเท่าตัว  
   พฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง อย่างหน้าด้านไม่แคร์อะไร ทำเอาดาเวนพอร์ทสมุห์บัญชีของไวท์ถึงกับเหงื่อแตกนอนก่ายหน้าผาก    เพราะรู้ตื้นลึกหนาบางเกินจำเป็น    หากความแตกเมื่อใด   เขาเองก็ติดร่างแหไปด้วยอย่างไม่มีทางเลี่ยง     เขาจึงขอลาออกจากงานจะกลับไปอังกฤษ แต่ไวท์ก็หน่วงเหนี่ยวเอาไว้ไม่ยอมให้กลับไป  โดยผัดผ่อนทอดระยะเวลากลับทีละเดือนสองเดือนไปเรื่อยๆ ทำให้ดาเวนพอร์ทอึดอัดใจมาก

   อย่างที่สองก็คือ ไวท์เคยปล้นสะดมเรือสินค้าได้ผลมาก่อนหน้าแล้ว   พบว่าเป็นจ๊อบที่ทำเงินให้มากที่สุด  ไหนๆจะต้องอำลางานด้านนี้กลับไปบ้านอังกฤษ  ก็หวังโกยเงินให้หายเสียดาย   เลยตะลุยจ๊อบนี้ไม่ยั้ง   เรือสินค้าจากอินเดียลำไหนผ่านมาทางนี้ ก็สั่งลูกน้องให้จู่โจมเข้ายึดเอาสินค้าทันที   นอกจากนั้นยังส่งเรือของตัวเองอีกสองลำไปลาดตระเวนทางตอนใต้ของมอญ คอยไล่จับเรือสินค้า   ถ้าพบว่าเป็นของชาติอื่นไม่ใช่กอลคันดาคู่ปรับเก่า  ไวท์ก็ปล่อยไป โดยไม่ลืมจะเรียกค่ารีดไถตามระเบียบ  
    ด้วยความรอบคอบไวท์ก็บังคับให้นายเรือเหล่านั้นเซ็นหนังสือรับรองว่า  พวกเขาไม่ได้รับความเสียหาย  และไม่ได้ถูกกดขี่ข่มเหงใดๆ      หากว่าพวกนี้ไปร้องเรียนต่อทางกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาทีหลัง   ไวท์ก็มีหนังสือรับรองเหล่านี้เอาไว้ยืนยันความบริสุทธิ์อันแสนโสโครกของตน   แสดงว่าบทเรียนจากการตักเตือนของวิชเยนทร์ทำให้นายสยามขาวของเราเขี้ยวงอกขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 13, 08:52
      ระหว่างรอจังหวะจะหาทางกลับอังกฤษอย่างเนียนๆ   ไวท์ก็ทำแบบเดียวกับนักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลาย คือรวบรวมสมบัติที่คอรัปชั่นมาจากพระราชอาณาจักรที่ให้โอกาสเขาอย่างดีมาโดยตลอด    ไปฝากไว้นอกประเทศ   ด้วยการเอาใส่หีบสั่งลูกน้องที่ไว้ใจได้ให้เอาลงเรือขนไปฝากไว้ที่เมืองมัทราส   ที่นั่นที่พนักงานของบริษัทอีสต์อินเดียคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนฝูงกัน พอจะขอให้นำส่งไปให้พี่ชายที่อังกฤษได้อย่างปลอดภัย 
    ไวท์ได้ข่าวที่ทำให้หนาวๆร้อนๆว่า บริษัทอีสต์อินเดียเริ่มไม่พอใจพฤติกรรมของไวท์ที่ทำตัวเป็นโจรสลัดปล่้นสะดมไปหลายแห่ง   และกำลังจะส่งเรือรบมาปราบอย่างจริงจัง     ที่ใช้คำนี้เพราะผู้ติดตามอ่านกระทู้มาคงจำได้ว่า ตอนกัปตันโค้ทช์ไปอาละวาดปล้นสะดมอยู่ที่เมืองมาดาโพลัม    บริษัทอีสต์อินเดียก็ส่งเรือชื่อ "โทมัส" ติดอาวุธพร้อมมาจะปราบ   แต่เรือเจ้ากรรมไปหลงทางหรือจมเสียที่ไหนก็ไม่รู้     ในหนังสือไม่ได้เอ่ยถึงไว้อีก


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 13, 10:39
  พฤติกรรมของไวท์ที่รังควานเรือใหญ่น้อยไปทั่วในทะเลแถบใต้มะริดและในมหาสมุทรอินเดีย กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของบริษัทอีสต์อินเดียหลายครั้งหลายหนแล้ว     ทางบริษัทก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป      จึงส่งเรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธดัดแปลงเป็นเรือรบชื่อเรือเคอร์ตาน่า  มีกัปตันเป็นคนอังกฤษชื่อเวลเดิน มาที่มะริดเพื่อจะเรียกค่าเสียหายจากไวท์และราชอาณาจักรสยาม    ถ้าพบว่าหนุนหลังไวท์อยู่
   ส่วนทางนี้ไวท์รู้แล้วว่าตัวเองจะต้องเป็นคู่กรณีของบริษัทอีสต์อินเดียอย่างไม่มีทางเลี่ยง     ซ้ำร้ายคือต่อให้หนีจากสยามกลับอังกฤษได้  คดีความเรื่องนี้ก็ต้องติดตามเป็นเงาตามตัวไปขึ้นศาลอังกฤษอยู่ดี   เพราะบริษัทนี้เป็นบริษัทของอังกฤษ     ไวท์จึงตระเตรียมเอกสารเท็จไว้หลายแผ่นด้วยกัน   เพื่อเอาไว้สู้คดี

   จริงอย่างที่ไวท์คิด  ในขณะที่ยังอยู่ในมะริด   เรือเคอร์ตาน่าก็มาถึง  พร้อมด้วยกัปตันเวลเดนซึ่งไม่ได้เป็นคู่ปรปักษ์อะไรกับไวท์มาก่อน    ไวท์ก็ทำใจดีสู้เสือ  ต้อนรับเวลเดนด้วยดี    จัดการเลี้ยงรับกันใหญ่โตที่บ้านพัก   เวลเดนก็คลี่เอกสารราชการออกอ่านว่า บัดนี้มีพระบรมราชโองการจากกษัตริย์อังกฤษมาสั่งให้ชาวอังกฤษทุกคนที่มารับราชการในสยาม ได้ถอนตัวจากสยามเดินทางจากอังกฤษ  เพราะสยามก่อความเสียหายแก่บริษัทอีสต์อินเดีย     พูดง่ายๆคือให้อพยพชาวอังกฤษ(เป้าหมายคือไวท์) ออกจากมะริดกลับไป


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 13, 21:55
    จุดมุ่งหมายของไวท์คืออยากออกจากมะริดใจจะขาด เพื่อจะกลับไปเสวยสุขที่อังกฤษ      ดังนั้นประกาศที่เวลเดนอ่านจึงเข้าทางของไวท์    แต่ก็มีก้างชิ้นสำคัญติดคออยู่  คือเวลเดนมีหน้าที่ต้องเรียกค่าเสียหายที่บริษัทอีสต์อินเดียเรียกร้องมายังราชอาณาจักรสยาม และจะต้องส่งเรื่องนี้ให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์รับรู้     ไวท์จึงออกจากมะริดไปไม่ได้อยู่ดี     ระหว่างนี้ไวท์ก็ใช้นโยบายใจดีสู้เสือ  ต้อนรับขับสู้กัปตันเวลเดนอย่างดี  เอาอกเอาใจ จัดงานเลี้ยงให้เป็นเกียรติ   กินอยู่อิ่มหนำสำราญ  จนเวลเดนซึ่งชั้นเชิงอ่อนกว่าไวท์มาก  เกิดความไว้วางใจ มิได้ระแวงอย่างใดเลย

    เวลเดนขอให้กรมการเมืองนำหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายไปส่งที่เมืองหลวง     เพื่อให้แน่ใจว่าพวกนี้จะต้องทำตามแน่ๆ เวลเดนก็ทำสิ่งที่คิดว่าฉลาดที่สุดคือยึดเรือในอ่าวเอาไว้เป็นประกัน     เจ้ากรรมว่าในตอนนั้นก็ไม่มีเรืออะไรให้ยึดได้เลย นอกจากเรือสินค้าชื่อ "เรสโซลูชั่น" เพราะเรืออื่นๆไวท์เอาไปเก็บไว้ที่ตะนาวศรีหมดแล้ว     และเจ้ากรรมซ้ำสองคือสินค้าเต็มเพียบในเรือเรสโสลูชั่นหาใช่สินค้าของหลวงอย่างที่เวลเดนคิดไม่   แต่เป็นสินค้าส่วนตัวเข้ากระเป๋าของท่านเจ้าท่าไวท์เอง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 พ.ค. 13, 03:49
นั่งหลบเงียบๆ มาหลายวันมันชักจะเปรี้ยวปาก  จะผิวปากวี้ดวิ้วเรียกร้องความสนใจก็กลัวจะถูกไม้เรียว  เลยเอาเรื่องบริษัทอีสต์อินเดียมาขยายความซะหน่อยเพื่อความครึกครื้นของกระทู้


บริษัทอิสต์อินเดียคัมปะนี เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในราวๆ สมัยราชินีอลิซาเบธที่  1 โดยกลุ่มพ่อค้าลอนดอนที่ต้องการทำการค้ากับทางตะวันออกและอินเดียได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาผูกขาดตั้งกองเรือทำการค้าไปทางตะวันออกโดยได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากราชสำนัก แรกเริ่มเพื่อการค้าเครื่องเทศแข่งกับพวกโปนตุเกสและดัชท์เป็นหลัก   ต่อมาบริษัทขยายตัวมีผู้ถือหุ้นเป็นทั้งพ่อค้าและคนชั้นสูงในสังคมอังกฤษ    สินค้าหลักของบริษัทก็พวกสินค้าจากทางตะวันออกเช่นผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องเทศ ดินประสิว เกลือ คราม ฝิ่น ชา ฯลฯ


บริษัทเริ่มตั้งสถานีการค้าในอินเดียและรุกคืบขยายอำนาจมากขึ้น   ช่วงรุ่งเรืองของบริษัทนั้นบริษัทอีสต์อินเดียถึงกับมีกองทัพของตัวเองเพื่อทำสงครามและควบคุมอาณานิคมต่างๆ ในตะวันออกไกล   จนกลายเป็นครองครองพื้นที่กว้างขวางในอินเดียและปกครองอินเดียในฐานะเจ้าอาณานิคมในปี 1757 และปกครองอินเดียเรื่อยมาจนในปี 1858 อำนาจการปกครองอินเดียถูกผ่องถ่ายให้อยู่ภายใต้รัฐบาลอังกฤษแทน จนกระทั่งบริษัทล้มเลิกไปในปี 1874  


ภาพเหรียญมูลค่า 1 รูปีออกโดยบริษัทในปี 1835 บริษัทนี้เจ๋งขนาดออกเงินตราของตัวเอง



กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 13, 09:04
พักครึ่งเวลา  มีขนมมาส่งให้เด็กชายประกอบ ที่ทำการบ้านดีมาก   แบ่งให้เพื่อนๆด้วยนะคะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 พ.ค. 13, 16:12
งวดหน้าขอข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วงน้ำดอกไม้ แล้วก็ปลากริมไข่เต่าครับ  อยากกินมาหลายปีแล้ว  :'(


นอกจากบริษัทบริทิชอีสต์อินเดียคัมปะนีแล้ว ทางฮอลันดายังมีบริษัทดัชท์อีสต์อินเดียด้วยเช่นกัน (Vereenigde Oost-Indische Compagnie, VOC ) บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1602 ไล่เลี่ยกับบริทิชอีสต์อินเดีย บริษัทของดัชท์นี้ได้รับสัมปทานผูกขาดการค้ากับอาณานิคมต่างๆ ของฮอลแลนด์  เป็นบริษัทแรกของโลกที่มีการขายหุ้น บริษัทดัชท์อีสต์อินเดียนี่ที่จริงใหญ่กว่าบริทิชอีสต์อินเดียมาก  เพราะในช่วงการค้าระหว่างเกือบสองร้อยปีระหว่างปี 1602 - 1796 บริษัทส่งคนไปทำงานยังตะวันออกไกลเกือบหนึ่งล้านคน เรือสินค้ามากกว่าสี่พันลำ ขนส่งสินค้ามากกว่า 2.5 ล้านตัน   ในขณะที่บริทิชอีสต์อินเดียคู่แข่งในช่วงราวๆ สองร้อยปีเดียวกันมีกองเรือราวสองพันกว่าลำและมีการขนส่งสินค้าแค่ประมาณ 1 ใน 5 ของดัชท์เท่านั้น


ในขณะที่สำนังงานใหญ่ภูมิภาคของบริทิชอีสต์อินเดียอยู่ที่อินเดีย  แต่ของดัชท์จะอยู่ที่ปัตตาเวียหรือจาการ์ต้าในปัจจุบัน บริษัทนี้ล้มเลิกไปในปี 1800 เพราะล้มละลายเนื่องจากการคอร์รัปชั่นแบบสะบั้นหั่นแหลกจนรัฐบาลดัชท์เข้ามาครอบครองทรัพย์สินและเมืองท่าอาณานิคมต่างๆ ที่เดิมเป็นของบริษัทแทน


ในปลายสมัยพระนารายณ์มีสาขาของบริษัทอยู่ในอยุธยาด้วย  ในปลายรัชสมัยพระนารายณ์จนถึงสมัยพระเพทราชา ในขณะที่ฝรั่งเศสถูกขับไล่ไป ทางดัชท์ไม่กระทบกระเทือนเท่าไหร่ยังคงทำการค้าขายได้เพราะพวกดัชท์มุ่งเน้นการค้าขาย ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแทรงการเมืองในอยุธยามากเท่าไหร่ เลยไม่โดนหางเลขมาก

เงินเหรียญของบริษัทที่พะยี่ห้อ VOC ไว้ด้วย
 


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ค. 13, 20:04
เด็กชายประกอบทำการบ้านมาดีมาก    เลยได้รับอนุญาตให้กินขนมในชั้นเรียนได้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ค. 13, 20:07
นโยบายตีสองหน้าเป็นสิ่งไวท์ถนัดอยู่แล้ว    ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่มีอะไรดีกว่าผูกมิตรกับเวลเดนเอาไว้   เพราะถ้าหักหาญกับเวลเดนก็เท่ากับเป็นศัตรูกับบริษัทอีสต์อินเดีย   ถึงไวท์โกรธขนาดไหนที่เวลเดนยึดเรือเรสโซลูชั่นเอาไปจอดไว้เคียงเรือ  ไวท์ก็คลั่งขึ้นมาประเดี๋ยวประด๋าว  แล้วก็ระงับอารมณ์ได้   เริ่มพูดจากับเวลเดนด้วยดีต่อไป

ไวท์ยังมองการณ์ไกลอีกว่าถ้าเวลเดนทำหักหาญกับเมืองมะริดจนชาวเมืองทนไม่ได้ขึ้นมา   เกิดสู้รบกันขึ้น  จนล้มตายกันไปทั้งสองฝ่าย    บริษัทอีสต์อินเดียก็เอาผิดกับไวท์ไม่ได้ เพราะไวท์แสดงตัวว่าเป็นมิตรกับเวลเดนมาตลอด       ในขณะเดียวกันไวท์ก็เหยียบเรือสองแคมคือสั่งทางมะริดและตะนาวศรีให้เตรียมพร้อมหากอังกฤษบุกมะริดขึ้นมาง่ายๆ    ถ้าหากว่าเวลดอนเล่นไม้แข็งกับมะริด    ไวท์ก็ยังมีข้อแก้ตัวกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ว่ามิได้รู้เห็นเป็นใจกับเวลเดน

เกมทั้งหมดนี้คนที่พอจะดูออกไม่มากก็น้อย คือดาเวนพอร์ทซึ่งตอนนั้นพักอยู่ในเรือของเวลเดน      ดาเวนพอร์ทจึงพยายามเตือนเวลเดนว่าอย่าไว้ใจนายท่าเขี้ยวลากดินอย่างไวท์       แต่เวลเดนนอกจากฉลาดน้อยแล้ว ก็ยังพอใจง่ายๆกับสินบนที่ไวท์แอบเสนอให้    ดาเวนพอร์ทเตือนเท่าไหร่ เวลเดนก็ทำหูทวนลมเสีย


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 13, 23:07
   ต่อมาอีกไม่กี่วัน  เรือติดอาวุธลำที่สองชื่อเจมส์ก็มาสมทบกับเรือของเวลเดนที่เมืองมะริด     ไวท์ก็ต้อนรับขับสู้ตามเคย     ทั้งๆตอนนั้น ชาวบ้านไม่ว่าอังกฤษไม่ว่าไทยในเมืองมะริดเริ่มจะอกสั่นขวัญหายกันแล้ว   เกรงว่าวันร้ายคืนร้ายจะถูกเรืออังกฤษถล่มเมืองขึ้นมาโดยไม่มีใครป้องกันทัน
   ในเมื่อไม่ได้เอ่ยถึงชาวบ้านชาวเมืองมาก่อน    ก็อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าชาวเมืองมะริดถ้าไม่ใจเย็นเหลือขนาดก็คงงี่เง่านอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น ปล่อยให้ฝรั่งทำต้มยำกันตามใจชอบ     ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น   เหตุการณ์ตั้งแต่เวลเดนพาเรือเข้ามาข่มขู่  แสดงอำนาจตามใจชอบ  ถูกจับตามองด้วยความปริวิตกจากคณะกรมการเมืองมะริดมาแต่แรก    แต่ยังไม่สบโอกาสจะทำอะไร เพราะท่านเจ้าท่าออกหน้าไปต้อนรับขับสู้อยู่เสียก่อน  
  คณะกรมการเมืองมะริดคือใคร ( ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Council  of   Mergui)   ในการปกครองเมืองมะริด ประกอบด้วยเจ้าเมืองซึ่งเป็นชาวอังกฤษชื่อบาร์นาบี้    ไม่ได้เอ่ยถึงเพราะพี่แกไม่ค่อยจะมีบทบาทอะไรนัก จึงถูกปลดเป็นตัวประกอบ   รองลงมาคือเจ้าท่าไวท์พระเอกผู้ร้ายของเรา  นอกจากนี้มีคนไทยอีก 5 คนเรียกว่ากรมการเมืองมะริดช่วยกันปกครอง    ใน 5 คนแบ่งเป็น 3 คนประจำการอยู่ตะนาวศรี ก็เหลือแค่ 2 คนอยู่ที่เมืองมะริด      ซึ่งแน่ละว่ามีแค่ 2 เสียง   ก็คงทำตาปริบๆ ค้านไวท์ไม่ได้อยู่ดี    ก่อนหน้านี้ พวกนี้ก็ต้องหยวนๆกันเรื่อยมาตราบใดที่ไวท์ยังไม่ได้ข่มเหงรังแกชาวเมืองโดยตรง     ไวท์ก็คงรู้ข้อนี้ดี จึงเลือกแต่ข่มเหงรังแกพ่อค้าวาณิชต่างเมืองแทน  


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 13, 09:38
  ตอนนี้ กรมการเมืองมะริดชาวไทยมองสถานการณ์แล้วเห็นเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกัปตันเวลเดนพาเรือติดอาวุธเข้ายึดเมืองมะริด  โดยมีไวท์ เจ้าท่าเป็นผู้อ่อนน้อมยอมให้เขายึดเมืองไปอย่างง่ายดาย      กรมการเมืองที่มะริดจึงส่งข่าวไปบอกพรรคพวกอีก 3 คนตะนาวศรี   กรมการเมืองที่ตะนาวศรีรู้ข่าว  ก็รวบรวมผู้คน   ยกพลมาที่มะริดอย่างเงียบๆ    แล้วคบคิดกับกรมการเมืองมะริดเริ่มซ่องสุมผู้คน ตั้งค่ายรบในป่ารอบเมือง ที่เหลือก็ลงเรือเพื่อเข้าจู่โจมทางปากอ่าว      เตรียมปืนผาหน้าไม้   จัดเตรียมอาวุธระยะไกลด้วยการใช้ขวดบรรจุดินปืน เพื่อขว้างใส่แทนระเบิด       ทั้งหมดนี้ไวท์คงไม่มีกองสอดแนมอยู่ในมือ จึงไม่ได้เฉลียวใจ

 ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้วไวท์คิดอย่างไรกันแน่กับเวลเดน    ในหนังสือของคอลลิส  ได้แจกแจงความเห็นเอาไว้หลายหน้ากระดาษ (ขอบอกว่าหนังสือเล่มนี้น้ำท่วมทุ่งจริงๆ  ช้อนผักบุ้งขึ้นมาได้ยากมาก) ว่ายังไงไวท์ก็สัญชาตินักเลงจริง   ไม่ยอมแพ้แก่เรือรบอังกฤษให้เสียหน้าตัวเอง เพราะจะต้องกลับไปขึ้นศาลอังกฤษอยู่ดีเรื่องปล้มสะดมเรือ       แต่กรมการเมืองซึ่งไม่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ และมองเข้าไปไม่เห็นหัวใจนายสยามขาว     ก็เห็นแต่พฤติกรรมตำตาเช่นไวท์ก็เอาแต่เลี้ยงดูปูเสื่อกัปตันไวท์กันเป็นที่รื่นเริงอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า   กัปตันเวลเดนก็เดินระรื่นจากเรือ   มารับเลี้ยงในบ้านพักท่านเจ้าท่าโดยไม่ถืออาวุธป้องกันตัวเองสักอย่าง    แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างแน่นแฟ้น     ยังงี้ถ้าไม่ให้กรมการเมืองลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า "มันก็ไอ้พวกเดียวกัน"  แล้วจะให้คิดยังไงได้อีก



กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 13, 12:24
  ถ้ามองย้อนไปถึงความเป็นมาของไวท์ เขาก็เช่นเดียวกับวิชเยนทร์ คือเริ่มต้นชีวิตอย่างนักแสวงโชค   มือเปล่ามาจากบ้านเกิดเมืองนอน   ตุหรัดตุเหร่มาถึงดินแดนเอเชียอันไกลโพ้นโดยไม่รู้แน่ว่าตัวเองจะได้อะไรกลับไปมากน้อยแค่ไหน     แต่โชคก็ส่งให้พวกเขามาตั้งหลักได้ในพระราชอาณาจักรเล็กๆที่กษัตริย์และพลเมืองมีนิสัยโอบอ้อมอารี    ไม่รังเกียจชาวต่างชาติที่แตกต่างทั้งหน้าตาผิวพรรณและศาสนา  ผิดกับบางอาณาจักรที่เห็นคนต่างถิ่นก็ไม่ไว้ใจเสียแล้ว     ไล่ได้เป็นไล่  ฆ่าได้เป็นฆ่า  เพื่อป้องกันภัยไว้ก่อน

  แต่ทั้งวิชเยนทร์และไวท์ผู้ได้อำนาจวาสนาทำอะไรกับคนในอาณาจักรที่ให้โอกาสเขาสร้างตัว     คำตอบก็คือเขาไม่คิดเป็นมิตรกับชาวเจ้าของดินแดนเลยแม้แต่น้อย     ที่ปักหลักอยู่ ก็เพื่อกอบโกยแสวงหาความมั่งคั่งให้ตัวเอง   ไวท์แตกต่างจากวิชเยนทร์ตรงที่ไม่ทะเยอทะยานใฝ่สูงถึงขั้นกุมอำนาจในประเทศไว้     ไวท์ขอแค่วิ่งเต้นมีเส้นสายมาเป็นนายท่าเมืองท่าริมทะเลก็พอแล้ว    เพราะรู้ว่าทรัพย์สินมาจากทะเลมากกว่าบนบก   แต่เรื่องปกครองมากกว่านั้น  ไม่เอา

  ดังนั้นชาวเมืองมะริดก็ดี ชาวเมืองอื่นๆตั้งแต่ตะนาวศรีไปจนอยุธยาก็ดี   เป็นแค่"ชาวพื้นเมือง" หรือ native ในสายตาฝรั่งอย่างไวท์     คำนี้มีความหมายแฝงความดูถูกว่าเจ้าของประเทศด้อยพัฒนาป่าเถื่อนกว่าตน      จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ปรากฏว่าวิชเยนทร์ผูกมิตรกับขุนนางไทยอื่นๆ  หากแต่หันไปผูกมิตรกับฝรั่งโดยไม่เลือกเชื้อชาติ       และก็ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมไวท์จึงไม่เคยคิดสร้่างมิตรภาพกับกรมการเมืองมะริด    
  ผลคือเขาไม่รู้เลยว่า ดาบของชาวเมืองกำลังจ่อคอหอยเขาอยู่แล้ว


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 13, 22:09
   ในเมื่อฝรั่งไม่มีจิตคิดปรารถนาดีกับชาวสยาม  ก็ไม่ต้องหวังว่าชาวสยามจะมีไมตรีจิตตอบทั้งวิชเยนทร์และไวท์ ตลอดจนฝรั่งอื่นๆในเมืองมะริด      ตรงกันข้าม  การที่ไวท์กับบาร์นาบี้ข้ามหัวมาเป็นนายของชาวบ้านเจ้าของท้องถิ่นในเมืองนี้ก็เป็นสิ่งที่ชาวเมืองทั้งหลายกลืนได้ยากอยู่แล้ว   แต่จะค้านก็ไม่ได้ในเมื่อเป็นพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์แต่งตั้งมา    
    ทุกคนรู้ว่าการแต่งตั้งครั้งนี้มีวิชเยนทร์หนุนหลังอยู่     บัดนี้ไวท์ก็เข้าไปสมคบกับฝรั่งอังกฤษที่เอาเรือติดอาวุธมายื่นคำขาดกับสยามให้จ่ายค่าเสียหายมากมายแก่พวกเขา   ทั้งๆอะไรที่ไปทำความเสียหายตามอ้างนั้นชาวบ้านก็ไม่ได้ก่อขึ้นเลยสักนิด        ชาวเมืองมะริดจึงมองอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ขืนปล่อยทิ้งเอาไว้ฝรั่งพวกนี้มันฮุบเมืองไปแน่นอน     มิใช่แต่มะริด  กรุงศรีอยุธยาก็คงเสียแก่ฝรั่งเป็นลำดับต่อไป    พวกเราจะต้องกลายเป็นขี้ข้าฝรั่งตาน้ำข้าวกันทั้งอาณาจักรเป็นแน่

    ระหว่างนี้ ไวท์หาได้เฉลียวใจไม่ว่าวันดีเดย์ที่ชาวบ้านจะยกพลขึ้นเล่นงานนั้นใกล้เข้ามาแล้ว   มีแต่ดาเวนพอร์ทที่เริ่มรู้สึกรำไรว่าสถานการณ์ไม่สู้ดี     ก็เตือนเวลเดนและไวท์ว่า...เรือชาวบ้านมันมาลอยลำอยู่เต็มแถวๆหน้าเรือนท่านเจ้าท่านะท่าน   ตอนดึกๆทุกคืน  มันดูผิดปกติ     ยังไงก็อย่าชะล่าใจ  ขนชาวอังกฤษมาลงเรือให้หมดซะก่อนเถอะ ปลอดภัยกว่า
    ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า  คำเตือนของดาเวนพอร์ทก็ blowing in the wind   ลอยหายไปกับสายลมตามระเบียบ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 13, 22:26
   ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1687(พ.ศ. 2230 ) เวลเดนไปกินอาหารค่ำที่บ้านของไวท์ตามเคย  โดยหนีบเอาทหารติดตามไปด้วยกลุ่มหนึ่ง    เหลือแต่ต้นหนเฝ้าเรืออยู่  จนสามทุ่มเศษกินเสร็จก็จะกลับ   พอเดินลงบันไดบ้านมา มีไวท์เดินมาส่งอย่างมารยาทดี   ก็สะกิดใจนิดหน่อยว่าทุกคืนมีบ่าวถือไต้จุดไฟลุกโพลงคอยส่องทางให้     เพื่อจะไปลงที่ท่าน้ำ      แต่คืนนั้นไม่รู้บ่าวหายตัวไปไหน  ไต้ก็ไม่มี     เจ้าของบ้านก็ไม่รู้จะทำยังไง   ได้แต่ส่งแขก ให้เวลเดนก็เดินดุ่มฝ่าความมืดจะไปลงเรือ

   ฉับพลันเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเหมือนในหนังฮอลลีวู้ด   คนกลุ่มหนึ่งโผล่ออกมาจากเงามืดราวกับปีศาจ   ตรงเข้ากลุ้มรุมทำร้ายทหารเรืออังกฤษทั้งกลุ่มชนิดไม่ให้ตั้งตัว     คนหนึ่งพุ่งมาที่กัปตัน ใช้กระบองหรือไม้พลองอะไรสักอย่างหวดลงไปบนหัว  เวลเดนล้มฟุบลงไปทันที      พวกทหารติดตามก็ระส่ำระสายตั้งตัวไม่ติด  ใช้ปืนยิงส่งเดชเข้าไปในหมู่คนที่ตะลุยกันเข้ามา    ส่วนไวท์นั้นยืนตะลึงทำอะไรไม่ถูก   พอได้สติหันกลับเผ่นหนีเข้าบ้านก็เห็นคนออกันเต็มหน้าประตูบ้าน  ก็รู้ว่าคับขัน   ไม่มีทางอื่นนอกจากหนีลงเรือ    ก็โกยแน่บไปลงเรือพายอีกลำที่ริมน้ำ ให้ทหารฝรั่งในเรือพายออกไปส่งที่เรือโดโรธีซึ่งขณะนั้นจอดอยู่กลางทะเล

    กลุ่มทหารติดตามเวลเดนตะลุมบอนกับชาวเมืองที่จู่โจมเข้ามา    แบบน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ    จึงถูกฝ่ายที่มีกำลังเหนือกว่ารุมฟันแทง ฆ่าตายจนหมด   มีรอดไปได้คนเดียวคือเวลเดนซึ่งล้มสลบไป   ใครๆนึกว่าตายแล้ว    พอฟื้นขึ้นมาก็ค่อยๆคลานหลบใช้ความมืดกำบังออกไปจนถึงหลังบ้าน    แล้วเลาะริมฝั่งลุยโคลนไปจนพบกับเรือพายของไวท์ซึ่งถูกน้ำพัดลอยไปตามริมฝั่ง     คนบนเรือเห็นเงาตะคุ่มโซเซมาก็พายเรือมาใกล้   แล้วฉุดเวลเดนขึ้นเรือไปได้


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 13, 12:35
    ทางชาวเมืองคงไม่ได้วางกำลังสะกัดจับทางเรือเอาไว้     เรือเล็กของไวท์จึงเล็ดรอดไปจนถึงเรือเรสโซลูชั่นที่จอดอยู่บนสันดอนปากอ่าว     ไวท์พาเวลเดนขึ้นเรือไป   ตัวเองก็รีบส่งคนไปเรือเคอร์ตานาของเวลเดนที่จอดทอดสมอห่างออกไป  บอกว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้วในเมืองมะริด   ให้หมอจากเรือเคอร์ตานารีบมารักษากัปตันด่วน     แล้วถอนสมอเรือเรสโซลูชั่นออกไปพ้นสันดอน  ไปจอดเคียงเรือเคอร์ตาน่า เพื่อให้พ้นรัศมีการยินจากเมือง
   คืนนั้นเต็มไปด้วยความโกลาหลของพวกอังกฤษที่ไม่ทันตั้งตัว   เรือเคอร์ตานาเองก็ถูกยิงจากป้อมปืนใหญ่บนฝั่งในเวลา 3 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาลงมือของชาวเมือง แต่กระสุนไม่ถูกเรือ    บ้านของไวท์เริ่มถูกไฟเผา  เช่นเดียวกับเรือเจมส์ถูกยิงจนชำรุดเสียหาย  ลูกเรือตายไปหลายคน แต่กัปตันหนีรอดมาสมทบกับไวท์ได้    
   ฝรั่งอังกฤษทุกคนลงความเห็นว่าสภาพในตอนนั้นเสียเปรียบ    ไม่พร้อมจะต่อสู้กับชาวเมืองมะริด   ไหนกัปตันจะบาดเจ็บ  ไหนเรือเจมส์จะเสร็จไปแล้วลำหนึ่ง     เพราะฉะนั้นก็ต้องล่าถอย      เรือเรสโซลูชั่นและเคอร์ตาน่าจึงกางใบออกนอกอ่าวไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อปลอดภัยไว้ก่อน
   ปัญหาที่ทุกคนยังแก้ไม่ตกก็คือ   ในเมื่อหนีรอดกันออกมาได้ไม่กี่คนแค่นี้   คนอังกฤษที่เหลือตกค้างอยู่ในมะริด จะมีชะตากรรมอย่างไรกับชาวเมืองที่บ้าคลั่งบุกเข้าฆ่าฟันฝรั่งอย่างไม่ยั้ง       ไวท์เป็นห่วงคนอังกฤษในเมืองมาก  แต่มิได้คิดเลยว่าสาเหตุที่ชาวเมืองถึงจุดระเบิดนี้เกิดมาจากใครและเรื่องอะไร


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 13, 13:33
   ไวท์ออกความเห็นว่าจะส่งเรือเล็กแอบเข้าไปสอดแนมดูข่าวคราวในเมือง  เพราะคิดว่าคนอังกฤษในเมืองอาจจะถอยไปรวมกันที่บ้านของไวท์ซึ่งแข็งแรงมั่นคง พอจะต้านทานชาวเมืองได้สักระยะ      แต่ว่าบรรดาพวกลูกเรือและกัปตันที่มาสมทบก็ชี้แจงว่า บ้านของไวท์ถูกไฟเผาวอดวายไปแล้ว   คงไม่มีคนอังกฤษเหลืออยู่แถวนั้นอีก     ระหว่างนั้นศพฝรั่งก็เริ่มลอยมาติดเรือ ทำให้ความคิดจะกลับไปสอดแนมต้องล้มเลิกไป
   วันต่อมา ไวท์ให้แขกในเรือถือสารเข้าไปในเมือง เพื่อยอมแพ้และประนีประนอมด้วยการยอมเสียค่าไถ่ชีวิตคนอังกฤษในเมืองตามแต่อีกฝ่ายจะเรียกร้องมา     ไม่มีหลักฐานว่าชาวเมืองตอบไวท์หรือไม่ อย่างไร  แต่มีคำบอกเล่าจากผู้ถือสารซึ่งเข้าไปในเมือง กลับมารายงานว่าผู้ชายอังกฤษที่มีอยู่ในเมืองราว 60 คนถูกสังหารเรียบวุธ    บาร์นาบี้เจ้าเมืองเองก็ถูกฆ่าตายในบ้านพัก   มือขวาของไวท์ที่ชื่อเลสลี่ก็ถูกฆ่าตาย  แต่ชาวเมืองเว้นชีวิตพวกผู้หญิงและเด็กเอาไว้
   ก็มองได้อย่างหนึ่งว่า กรรมที่ไวท์ก่อให้มะริดมาแต่แรกด้วยความละโมบตัวเดียวแท้ๆ  กลับไปตกหนักอยู่กับชาวอังกฤษที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร   ต้องมาสังเวยชีวิตให้กับความเจ้าเล่ห์เจ้ากลของนายท่าผู้นี้
   ส่วนไวท์เองก็ใช่ว่ารอดได้แล้วจะถือว่าแคล้วคลาด   ดวงที่รุ่งมาตั้งแต่ออกจากอังกฤษมาทำมาหากินอยู่ในสยาม ก็เริ่มตก     เพราะพวกกลาสีชาวเรือสงสัยว่าไวท์อาจมีส่วนรู้เห็นกับชาวเมือง ก็อยากให้คุมขังไวท์ไว้ในฐานะนักโทษ  และยังมีเรื่องคดีกับบริษัทอีสต์อินเดียที่เป็นชนักปักหลัง ถอนไม่หลุดอีกด้วย


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 13, 16:57
  เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกถึงภรรยาของไวท์ขึ้นมา ว่าคุณนายแมรี่ ไวท์ที่พบกันในเรือโดยสารเที่ยวแรก   หายไปไหนก็ไม่รู้    ไม่มีการเอ่ยถึงในเหตุร้ายครั้งนี้เลย      ไวท์เองก็ไม่มีตอนไหนแสดงว่าห่วงลูกเมีย    เป็นไปได้ว่าภรรยาของไวท์อาจจะกลับไปอังกฤษนานแล้วก่อนหน้านี้ หรือไม่ก็ตายตั้งแต่ยังสาวด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ    ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดได้บ่อยมากกับหญิงผิวขาวที่มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองร้อน     ไวท์จึงอยู่ในมะริดโดยไม่มีครอบครัว
   เห็นได้อีกอย่างว่า ทายาทของไวท์คือพี่ชาย จอร์ช ไวท์ ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกของไวท์     จึงเป็นได้ว่าไวท์ไม่มีลูกเมีย   หรือถ้าหากว่ามีภรรยาซึ่งเดินทางกลับไปอยู่อังกฤษ และมีลูก   ก็คงมีแต่ลูกสาว  ไม่มีลูกชายเป็นทายาทสืบมรดกทรัพย์สินที่ดินต่อไป  เหลือแต่พี่ชายซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดเป็นทายาท ตามหลักการที่เรียกว่า primogeniture  ซึ่งให้ฝ่ายชายเท่านั้นรับมรดกที่ดินบ้านช่องห้องหอของผู้ตายได้
    เรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตเฉยๆ จนกว่าใครจะกรุณาหาหลักฐานมาบอกกล่าวกันได้ว่าคุณนายไวท์หายไปไหน     ตอนนี้ขอเชิญชมฉากต่อไปก่อนนะคะ

   กัปตันเวลเดนผู้เป็นพันธมิตรของไวท์มาแต่แรก เพราะประทับใจกับการต้อนรับขับสู้ และเงินใต้โต๊ะที่ไวท์อัดฉีดยัดเข้ากระเป๋าให้ก่อนหน้านี้   โดดออกมาปกป้องไวท์   คงจะบวกด้วยสำนึกบุญคุณที่รอดตายมาได้เพราะไวท์รับขึ้นเรือด้วยอีกอย่าง      เวลเดนยืนกรานว่าไวท์ไม่ได้เข้าร่วมกับชาวเมืองต่อต้านพวกอังกฤษแน่นอน   ตัวไวท์เองก็แทบเอาชีวิตไม่รอดเช่นกัน   
   เมื่อกัปตันเข้าข้างไวท์ ลูกเรือก็จำต้องราข้อ  ไวท์ก็อยู่ในเรือได้อย่างผู้โดยสารแทนที่จะเป็นนักโทษ   นับว่านรกยังอุ้มชูนายสยามขาวต่อไปทั้งๆก็เกิดเรื่องขนาดนี้แล้ว
   


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 13, 17:29
    ตามจุดมุ่งหมายเดิม   กัปตันเวลเดนจะเดินทางไปเมืองมัทราสในอินเดีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทอีสต์อินเดีย    แล้วส่งไวท์ขึ้นฝั่งที่นั่น    แต่ไวท์ก็ชาติเสือไว้ลาย  รู้ดีว่าบริษัทอีสต์อินเดียเตรียมเปิดประตูกรงขังเสือเอาไว้ที่นั่นแล้ว    เหยียบเมืองมัทราสเมื่อไร ความผิดที่เคยปล้นสะดมเรือของบริษัท ทั้งด้วยตัวเองและด้วยกัปตันโค้ทส์ผู้เป็นลูกน้องก็ต้องฉาวโฉ่ขึ้นมา     ยังไงบริษัทก็ไม่ปล่อยมือแน่นอน    หลักฐานปลอมมั่งจริงมั่งที่เตรียมไว้ก็ถูกเผาวอดวายไปพร้อมบ้านพักของนายท่า  เหลือแต่ตัวรอดมาได้     เรื่องอะไรไวท์จะเดินเข้ากรงของบริษัทง่ายๆ
    เวลเดนเป็นผู้อยู่ในอุ้งมือไวท์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว      ไวท์จึงเกลี้ยกล่อมให้เรือเรสโซลูชั่นแวะที่เมืองท่าเล็กๆชื่อเมืองปูลิกัต (Pulicat) ใกล้กับมัทราสนิดเดียว    บอกว่าขอแวะขึ้นฝั่งไปซื้อข้าวของจำเป็นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จะตามไป  พร้อมกับฝากจดหมายไปถึงประธานบริษัทอีสต์อินเดียให้เวลเดนนำไปให้อีกด้วย    เวลเดนก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ว่าไวท์พูดอะไรเชื่อหมด   ก็ปล่อยไวท์ลงที่เมืองนี้  แล้วพาเรือเดินทางต่อไปที่มัทราส
   ในหนังสือของคอลลิสบอกว่าพอไวท์ลงที่เมืองปูลิกัตได้ก็รีบจำหน่ายข้าวของที่ไม่จำเป็นต้องเอาไปอังกฤษ เปลี่ยนเป็นเงินสดพกง่าย      ฟังๆแล้วดูเหมือนไวท์ก็ยังมีสมบัติติดตัวอยู่มิใช่น้อย   ไม่สมกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไวท์รอดตายมาจากหน้าบ้านตัวเอง  ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรเหลือนอกจากเสื้อกางเกงที่สวม    เมื่อหนีลงเรือออกปากอ่าวไปแล้วจะย้อนกลับไปขนสมบัติที่บ้านก็คงเอาชีวิตไปทิ้งแน่นอน   ถ้างั้นไวท์เอาเงินที่ไหนมาอัดฉีดเวลเดนให้ปล่อยตัวลงง่ายๆ      เราต้องมาปะติดปะต่อกันเอง
   การที่เวลเดนเกิดเชื่อไวท์อย่างปัญญาอ่อนขนาดนี้ ก็แน่ๆว่าจะต้องมีเงินทองค่อนข้างมากเป็นตัวช่วยฉุดไอคิวให้ต่ำถึงขั้น       ถ้าไวท์ทำได้จริง   ก็มีทางเดียวคือสินค้าในเรือเรสโซลูชั่นที่ใช้โดยสารมานี่แหละ เป็นสินค้าเดิมของไวท์ที่แอบแฝงเข้าไปในเนื้อที่สินค้าของพระคลังหลวง   และไวท์ก็คงประเคนให้นายเรือไปเกือบหมด    เหลือติดตัวไว้พอขายเป็นค่าโดยสารกลับอังกฤษ     เวลเดนจึงยอมโดยดี


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 13, 17:50
  พอได้เงินสดมา   ไวท์ก็ไม่รอช้า ปร๋อออกจากเมืองปูลิกัตลงใต้ไปเมืองพอนดิเชอรี่ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งคลังสินค้าของฝรั่งเศส   จากนั้นก็ซื้อตั๋วโดยสารเดินทางจากพอนดิเชอรี่ไปฝรั่งเศส   เมื่อถึงฝรั่งเศสเมื่อไรจะเดินทางต่อไปอังกฤษก็ง่ายแล้วทีนี้     ไวท์ก็คงนอนยิ้มไปในเรือโดยสาร ที่รอดตายจากมะริดยังไม่พอ   ยังรอดคุกอิสต์อินเดีย  นับคืนวันเวลากลับไปเสวยสุขที่บ้านเกิด     ส่วนเรื่องคดีความ เมื่อถึงอังกฤษแล้วมีสตางค์เสียอย่างก็จ้างทนายความเก่งๆ เอาไว้สู้คดีได้  ไม่ต้องวอรี่

  ส่วนทางกัปตันเวลเดนก็เดินทางต่อไปยังมัทราส เข้าไปรายงานตัวกับประธานบริษัทอีสต์อินเดียที่สำนักงานใหญ่       แต่ประธานบริษัทไม่ได้กินสินบาทคาดสินบนกับเขาด้วย  ก็เดือดดาลว๊ากเวลเดนเป็นการใหญ่ที่ปล่อยนักโทษหลุดมือไปง่ายๆ     อุตส่าห์ส่งไปยึดมะริดเพื่อเรียกค่าเสียหายจากสยาม    ผลสุดท้ายถูกชาวเมืองไล่เปิดแน่บกลับมา  พร้อมด้วยเรือเรสโซลูชั่นซึ่งก็ไม่ใช่เรือสินค้าเอกชน   ดันเป็นเรือของหลวงของสยามเสียอีก     ที่สำคัญคือปล่อยผู้ต้องหาสำคัญอย่างไวท์หลุดมือไปง่ายๆ     ประธานบริษัทก็ยื่นคำขาดว่า จะต้องเอาเวลเดนขึ้นศาลของทหารเรือเพื่อลงโทษต่อไป  
  
   เวลเดนเองรู้ตัวดีว่าทำแบบนี้คงไม่พ้นผิด    ความผิดอื่นๆ สามารถแก้ตัวได้ว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย    ที่แก้ตัวไม่ได้มีเรื่องเดียวคือทำไวท์หลุดมือไป  ความผิดแค่นี้ก็อาจจะแค่ถูกไล่ออกจากอาชีพทหารเรือ     ตราบใดที่ยังมีเงินของไวท์รองรังอยู่ เวลเดนก็ไม่วิตกนัก    


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 13, 21:05
      ย้อนกลับมาทางเมืองมะริด   เมื่อเรือเรสโซลูชั่่นพาไวท์และเวลเดนหนีตายออกจากเมืองไปได้แล้ว    เหตุร้ายในเมืองก็เริ่มสงบลงเพราะทางฝ่ายผู้ชนะจัดการประหัตประหารฝรั่งเสียเหี้ยนเตียน    กรมการเมืองฉลองชัยชนะหมาดๆได้อึดใจเดียวก็นึกขึ้นได้ว่า สิ่งที่พวกตัวทำลงไปนี้ทางผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองหลวงหาได้รู้เรื่องด้วยไม่     เป็นการกระทำโดยพลการ       มิหนำซ้ำไวท์ก็มีเส้นขนาดใหญ่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาคือเจ้าพระยาวิชเยนทร์   ซึ่งยังมีอำนาจเต็ม สามารถสั่งประหารใครโดยอ้างพระราชโองการขึ้นมาเมื่อใดก็ได้
      ความดีอกดีใจของกรมการเมืองก็เปลี่ยนเป็นฝ่อลงกว่าเก่า   หันหน้าเข้าปรึกษากัน  ลงมติกันว่ายังไงเรื่องนี้ก็ปิดบังไม่อยู่   ก็ต้องทำเรื่องแจ้งไปที่เมืองหลวงตามระเบียบ     แต่เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ก็ต้องเขียนเสียใหม่ให้ผู้ชนะเป็นฝ่ายถูกต้อง  คือแต่งเรื่องว่าไวท์เป็นฝ่ายก่อเรื่องขึ้นก่อน   เพราะหันไปเข้าข้างนายเรืออังกฤษที่นำเรือเข้ามายึดเมือง   จนในที่สุด ใช้ปืนระดมยิงกรมการเมืองก่อน  เพื่อขู่มให้ยอมแพ้     เผอิญว่าไปเจอกรมการเมืองใจเด็ดยอมสู้ตายดีกว่ายอมแพ้ ก็เลยฮึดสู้สุดชีวิต     ผลปรากฏว่าชาวอังกฤษเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียเอง    จึงถูกฆ่าตายไปหลายสิบคน  ที่เหลือก็หนีรอดออกทะเลไป


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ค. 13, 20:48
     ใบบอกของกรมการเมืองมะริด  ถือเป็นหนังสือราชการที่มีอย่างเป็นทางการไปถึงรัฐบาลสยาม คือสมเด็จพระนารายณ์และมหาเสนาบดีวิชเยนทร์     ดังนั้นตามระเบียบราชการ รัฐบาลก็ต้องฟังรายงานนี้เป็นหลัก   ว่าสาเหตุของเหตุร้ายเกิดจากฝรั่ง ไม่ใช่ไทย   ใครจะไปสอบสาวราวเรื่องของจริงได้  เพราะคนที่จะให้การแบบตรงกันข้ามได้ก็ถูกฆ่าตายไปหมดแล้ว

     ในตอนนั้นอำนาจของอังกฤษในสยามน่าจะสูญสิ้นไปพร้อมกับชีวิตชาวอังกฤษในมะริด    วิชเยนทร์มองเห็นข้อนี้   แล้วก็รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่บริษัทอีสต์อินเดียคงไม่นิ่งนอนใจอยู่เฉยๆ   แต่ต้องเกิดศึกขึ้นมาแน่นอน   อย่างน้อยก็ต้องส่งเรือรบมาเรียกร้องค่าเสียหาย    วิชเยนทร์ก็เลยหันไปเอาใจฝรั่งเศส เพื่อหวังจะขอกำลังมาช่วยเหลือหากรบกับอังกฤษ      อย่างแรกคือส่งผู้ว่าฯ คนใหม่มาว่าราชการในมะริด เป็นหนุ่มชาวฝรั่งเศสอายุแค่ 20 ปี     
     เมื่อวิชเยนทร์เตรียมรับมือถึงขนาดนี้   ประวัติศาสตร์จึงบันทึกว่าในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์   สยามประกาศศึกกับบริษัทอีสต์อินเดียอย่างเป็นทางการ      แต่มิได้ประกาศศึกกับรัฐบลอังกฤษ
     
    ความโกลาหลเหล่านี้ไวท์ไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย   เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่เจ้าตัวลอยนวลออกจากอินเดีย  เดินทางไปยุโรปเตรียมไปเสวยสุขที่บ้านแล้ว
    ไวท์คงไม่รู้เช่นกันว่า การเมืองในสยามปั่นป่วนถึงขีดสุดเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนัก   ในตอนนั้นมะริดที่เพิ่งสงบลงไปหยกๆ  เจอฝรั่งเศสเข้ามาเป็นนายอีกหลังจากอังกฤษเพิ่งถูกกวาดล้าง    ข้าราชการและชาวเมืองก็ทนไม่ไหวที่จะให้ฝรั่งมาเป็นนายอีก    จึงพร้อมใจกันไปเข้าข้างขุนนางสำคัญชื่อพระเพทราชา  ผู้มีนโยบายแอนตี้ฝรั่ง และเกลียดชังวิชเยนทร์เข้าไส้ ด้วยเชื่อว่าฝรั่งตาน้ำข้าวนี้จะพาอาณาจักรศรีอยุธยาไปเป็นเมืองขึ้นของชาวยุโรป


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ค. 13, 21:17
      พงศาวดารไทยในช่วงนี้คงเป็นที่รู้ๆกันแล้ว  ว่าในที่สุดพระเพทราชาก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง    เจ้าพระยาวิชเยนทร์ถูกประหาร และฝรั่งเศสก็ถูกขับออกจากอาณาจักรไปตามระเบียบ      ศึกระหว่างอิสต์อินเดียกับสยามก็เจ๊ากันไป    ซึ่งจะไม่ขอเล่าในกระทู้นี้  เพราะจะออกนอกเรื่องของนายสยามขาวไปไกลค่ะ

      กลับมาที่นายสยามขาว ซึ่งหนังเหนียวและดวงดีอย่างเหลือเชื่อ      เขาเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนโดยสวัสดิภาพ ใช้เวลาเดินทางราว 8 เดือน    ไปถึง ไวท์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ  หรือลงนั่งกินนอนกินบนกองเงินกองทองอยู่เฉยๆ    เพราะยังมีห่วงผูกคออีกห่วงใหญ่เหลืออยู่      
      ไวท์ขอให้พี่ชายหาทนายความมาปรึกษาเรื่องคดีกับบริษัทอีสต์อินเดีย  เพื่อเตรียมรับมือให้พร้อมในฐานะจำเลย     ทนายความบอกให้ไวท์ใจชื้นขึ้นมากว่า   ไม่ต้องห่วง   สถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษเป็นประโยชน์แก่ทางฝ่ายไวท์     เพราะบัดนี้ อังกฤษเปลี่ยนแผ่นดินใหม่แล้ว    พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองวิค(Whig)  ซึ่งมีนโยบายต่อต้านการผูกขาด     บริษัทอีสต์อินเดียซึ่งได้สัมปทานผูกขาดจากพระเจ้าเจมส์กษัตริย์องค์เก่า มีแววว่าจะดวงตกกันในรัชสมัยใหม่นี้ละ      เพราะฉะนั้น บริษัทคงต้องดูทิศทางลมมากหน่อย   ไม่กล้าทำกร่าง เอาคดีอะไรๆขึ้นฟ้องได้ตามใจชอบ   โดยเฉพาะคดีอย่างไวท์ซึ่งทนายความดูแล้ว  เห็นว่าไวท์หาหลักฐานสู้ไว้เต็มเพียบ จึงเห็นว่าย.ห. อย่าห่วง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 11:31
   ถ้าหากว่าเป็นคนอื่น  ฟังทนายความตอบอย่างนี้ก็คงโล่งใจยิ้มออก       จากนั้น ตราบใดที่บริษัทอีสต์อินเดียยังเงียบอยู่  ไม่ฟ้องร้องขึ้นมา    ก็พอจะถือได้ว่าฝ่ายนั้นไม่เอาเรื่อง นับว่าเจ๊ากันไป    ถึงเวลาใช้ชีวิตสบายๆอย่างเศรษฐีเสียให้คุ้มเหนื่อย หลังจากผจญภัยแทบจะเอาชีวิตไม่รอดมาหลายครั้ง

   แต่ไวท์ก็ประหลาดเอาการ  ไม่ยักเหมือนชาวบ้านทั่วไป     ในหนังสือไม่ได้บอกว่าความคิดนี้ใครริเริ่มขึ้นก่อน ทนายความหัวหมอหรือว่านายลูกความสยามขาว   แต่ผลคือสองคนนี้เห็นพ้องต้องกันว่า แทนที่จะอยู่เฉยๆ ก็น่าจะทำคดีให้เป็นตัวอย่างสักคดีหนึ่ง ให้แสบสันต์แก่บริษัทอีสต์อินเดีย  เอาให้ลือลั่นไปทั่วอังกฤษ ว่าเอกชนนายหนึ่งกล้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทบิ๊กระดับอินเตอร์บริษัทนี้อย่างไม่มีใครกล้าทำมาก่อน    เป็นการล้มยักษ์ใหญ่ทางการค้า ประเดิมนโยบายต่อต้านการผูกขาด ซึ่งพรรควิค  พรรคการเมืองเสียงข้างมากในอังกฤษกำลังชูป้ายส่งเสริมอยู่    ถ้าทำได้สำเร็จ  นอกจากจะได้เงินทองไหลมาเทมาจากการฟ้องร้องแล้ว   เผลอๆไวท์จะได้เป็นฮีโร่ คนรู้จักกันทั่วประเทศอีกต่างหาก ในฐานะแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์
     
   นายสยามขาวแกคงลืมสนิทว่า  บรรดาคนอังกฤษที่ตายไปตั้ง 60 คนในเมืองมะริด  เกิดจากต้นเหตุคือใคร      จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครเหลียวแลลูกเมียพวกเขาที่ถูกทิ้งอยู่ในเมืองนั้นเลย


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 11:51
     ไวท์ให้ทนายความยื่นเรื่องราวต่อสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษที่มีพรรควิคเป็นเสียงข้างมากอยู่ตอนนั้น   ร้องเรียนการกระทำอันไม่ชอบมาพากลของบริษัทอีสต์อินเดีย  ว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ บังอาจยึดเรือสินค้าของโจทก์ไปโดยพลการ  ทำให้โจทก็ได้รับความเสียหายเป็นเงินรวมกันถึง 40,000 ปอนด์  

   ในคำฟ้อง  ไวท์ได้ระบายสีประวัติตัวเองเสียสวยหรูในฐานะขุนนางสยามที่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย      ได้เคยทำราชการมีความดีความชอบปราบเจ้าผู้ครองรัฐกอลคันดา     พูดง่ายๆว่าเป็นขุนนางระดับบิ๊กของราชอาณาจักรสยาม    
    ต่อมาเมื่อบริษัทอีสต์อินเดียกระทำการอุกอาจ ยึดเรือหลวงของสยามโดยไม่ได้ประกาศศึกสงครามกันแม้แต่น้อย   พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงแต่งตั้งไวท์เป็นราชทูตหลวงเดินทางเชิญเครื่องราชบรรณาการมาเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ   และเพื่อฟ้องร้องการกระทำของบริษัทที่ข่มเหงรังแกสยามด้วย      แต่ยังไม่ทันออกเดินทางจากมะริด   เรือเคอร์ตานาของกัปตันเวลเดนที่ได้รับคำสั่งจากบริษัทอีสต์อินเดียก็เดินทางไปจู่โจมมะริดเพื่อทำศึกเสียก่อน    ทำให้การเดินทางต้องชะงักไป    ไวท์เดินทางออกมาไม่ได้
  
    ท่านที่อ่านมาตั้งแต่แรกคงจะนึกฉงนสนเท่ห์ว่าไวท์ได้เป็นราชทูตสยามแต่ครั้งไหน ทำไมในกระทู้ไม่ได้เล่าไว้    ก็จะให้เล่าได้ยังไงในเมื่อมันไม่เป็นความจริง       ไม่ไวท์ก็ทนายความหัวหมอนั่นแหละแต่งนิยายเสริมเข้าไป  เพราะยังไงเสียรัฐสภาอังกฤษก็ไม่มีทางไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากกรุงศรีอยุธยาได้อยู่แล้วว่า เรื่องมันจริงหรือเท็จ       แต่มันก็ได้ผลทางจิตวิทยาคือเสริมน้ำหนักเรื่องเข้าไป  ขยายภาพไวท์ให้โอ่อ่าน่าเชื่อถือได้อีกมาก   ถ้าหากว่าพวกนั้นโง่พอจะเชื่อว่าจริง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 13:17
  ไวท์โยนบาปทั้งหมดให้บริษัทอีสต์อินเดียรับไปเต็มๆ ในเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองมะริด    โดยอ้างว่าการที่บริษัทส่งเรือเคอร์ตาน่าไปนั้นเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง  นอกจากขัดขวางราชการของไวท์ในฐานะราชทูตแล้ว  ยังทำให้ชาวเมืองเกิดไม่พอใจชาวอังกฤษอย่างมากจนลุกฮือขึ้นเผาบ้านพักและฆ่าคนอังกฤษตายไปเป็นเบือ      ตัวไวท์เองก็ต้องหนีจวนแจจะเอาชีวิตไม่รอด  สูญเสียสินค้าและทรัพย์สินส่วนตัวไปคิดเป็นเงินสองหมื่นกว่าปอนด์   บวกค่าเสียหายทั้งหมดที่ไวท์คิดราคาจากบริษัทเป็นเงิน 40,000 ปอนด์

  ข้ออ้างทั้งหมด ที่ทนายความของไวท์นำมามั่ว จับแพะชนแกะกันฝูงใหญ่ก็เพื่อนำไปสู่ข้ออ้างว่า  เหตุทั้งหมดเกิดจากการผูกขาดของบริษัทอีสต์อินเดียที่อยากทำอะไรก็ทำตามใจชอบในการค้าทางตะวันออก     จึงขอนำเรื่องขึ้นร้องเรียนสภาผู้แทนฯ เพื่อวินิจฉัยว่าการผูกขาดนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของอังกฤษหรือไม่
   ทั้งนี้ ไวท์ก็คงเชื่อมั่นล่วงหน้าอยู่แล้วว่าคดีของตนจะได้รับไฟเขียวจากนักการเมือง   ผู้ซึ่งกระหายเนื้อเต้นอยู่แล้วที่จะยกเลิกอำนาจนายทุนผูกขาดของอิสต์อินเดีย  เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าในหลายๆบริษัท   อันทำให้เกิดความรวยกระจายกันออกไปไม่กระจุกอยู่แต่พรรคพวกของอีสต์อินเดียเท่านั้น    พวกนี้ย่อมจะยินดีกับคดีที่ไวท์ชงลูกส่งไปให้       อาจมีการปรึกษาหารือหรือวิ่งเต้นกันลับๆแล้วว่า จะเปิดไฟเขียวให้คดีของไวท์แน่นอน   
   เมื่อเป็นเช่นนั้น  นอกจากรอดตัวไม่ถูกอีสต์อินเดียดำเนินคดี     ไวท์ก็จะเป็นฝ่ายตบทรัพย์ยักษ์ใหญ่มาได้อีกสี่หมื่นปอนด์   บวกกับเงินที่กอบโกยจากตำแหน่งหน้าที่ในมะริด    นายสยามขาวก็จะไม่เป็นเศรษฐีอีกต่อไป  แต่จะเหยียบขั้นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของอังกฤษ
 


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 13:43
   เมื่อพิจารณาจากประวัติของไวท์  คนอ่านหลายคนคงรู้สึกตรงกันว่านายคนนี้เป็นคนเลวที่ดวงดีหาตัวจับยาก     ตั้งแต่ออกจากอังกฤษเดินทางมาแสวงโชคยังดินแดนทางตะวันออก ก็มิได้ทำสิ่งใดให้ดินแดนนั้นๆได้ดิบได้ดีขึ้นมาแม้แต่น้อย      โดยเฉพาะราชอาณาจักรสยามที่อนุเคราะห์เขามาด้วยดี   ให้โอกาสเขายิ่งกว่าบ้านเกิดเมืองนอนเขาเสียอีก   เขาก็กลับสนองคุณสยามด้วยการปล้นสะดมก่อความเดือดร้อนแก่พ่อค้าวาณิชทั้งหลาย   ผลเสียหายก็ตกแก่อาณาจักรว่าเป็นแหล่งของโจรสลัด      จนเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับอาณาจักรใกล้เคียง และเรื่อยไปจนถึงบริษัทอีสต์อินเดีย

     ที่ร้ายกว่านี้คือความไม่คิดหน้าคิดหลัง มุ่งแต่จะเอาตัวรอด  ไวท์ทำให้เพื่อนร่วมเชื้อชาติอังกฤษในมะริดที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยต้องมาถูกฆ่าตายอย่างทารุณไปหลายสิบชีวิต   ส่วนตัวเขากลับแคล้วคลาดไปอย่างเหลือเชื่อ   จนได้กลับมาเสวยสุขที่บ้านเกิด  ซ้ำยังทำท่าว่าจะประสบผลสำเร็จในอาชีพ กลายเป็นเศรษฐีใหญ่    ราวกับว่าบาปที่นายคนนี้ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอดชีวิต  ถูกสวรรค์มองว่าเป็นบุญกุศลไปเสียยังงั้นแหละ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 13:47
     สวรรค์ก็คงจะมองอย่างนี้เหมือนกันว่า  ถ้านายไวท์ประสบผลสำเร็จหมดทุกอย่าง   ผู้คนก็จะมองสวรรค์ในทางผิด ๆ   แล้วอาจจะเชื่อว่าบาปบุญคุณโทษไม่มีจริง     ดังนั้น  สวรรค์ก็ลงดาบฟันฉับ ในขณะที่ไวท์กำลังฝันหวานว่าจะได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่จากบริษัทอีสต์อินเดีย    ในระยะเวลาอันไม่นานเกินรอ เงินสี่หมื่นปอนด์ก็จะลอยมาสู่มือ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นอกจากค่าทนายความ

    หนึ่งเดือนหลังจากยื่นเรื่องต่อสภาผู้แทน  ไวท์พำนักอยู่ที่เมืองบาธ  ก็ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วน    ไม่มีบันทึกหลักฐานว่าเขาป่วยเป็นอะไร   แต่ในหนังสือ  สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากเชื้อไข้ป่าที่ติดตัวมาจากสยาม เมื่อครั้งเดินทางจากมะริดไปแก้ข้อหาที่ลพบุรี    
   ไวท์ผู้ซึ่งรอดจากชะตากรรมด้วยมือมนุษย์มาได้ทุกครั้ง   ก็ไม่รอดจากมือมัจจุราช    ถูกพาตัวไปชดใช้กรรมโดยยังไม่ทันใช้เงินให้สมอยาก  เมื่ออายุได้เพียง 39 ปี     ทรัพย์สินของเขาตกเป็นของจอร์ช พี่ชาย  ผู้ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก  
   จอร์ชเองก็คงไม่อยากค้าความกับบริษัทอีสต์อินเดียต่อไป     มันไม่น่าสนุกตรงไหนที่จะเป็นคดีความ โดยเฉพาะเมื่อเขาเองไม่ได้เป็นผู้เสียหายใดๆ     ผลจึงปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานจอร์ชก็ถอนฟ้องคดีนี้  อาจจะโดยอะลุ้มอล่วยยอมความกันกับบริษัทอีสต์อินเดีย จ่ายเงินใต้โต๊ะกันบ้างก็เป็นได้   จากนั้นก็เอาเงินที่น้องชายกอบโกยมาไปดำเนินชีวิตอย่างคหบดีอย่างเงียบๆ   ไม่เป็นข่าวใดๆอีกในประวัติศาสตร์

จบเรื่องนายสยามขาวแต่เพียงนี้ค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 16 พ.ค. 13, 14:19
ขอบคุณครับอาจารย์ ....  ;D


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 10:08
มีกลอนบทหนึ่งที่คิดว่าจะเข้ากับชีวิตของนายสยามขาวได้ดี  จึงขอลงไว้ส่งท้ายกระทู้
เสียดายที่ไม่ทราบว่าใครแต่ง   บางคนบอกว่ามาจากโอวาทของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) บางคนบอกว่าเป็นของท่านพุทธทาสภิกขุ

เมื่อเจ้ามา     มีอะไร มาด้วยเจ้า
เจ้าจะเอา  แต่สุข สนุกไฉน
เมื่อเจ้ามา มือเปล่า จะเอาอะไร
เจ้าก็ไป  มือเปล่า เหมือนเจ้ามา


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ 07 ก.ค. 13, 12:00
ส่วนมะริดเล่า ทำไมจึงเป็นเมืองท่าสำคัญขึ้นมาได้

การค้าทางทะเลสู่กรุงศรีอยุธยา ตามเส้นทางด้านตะวันออกที่ส่วนใหญ่ค้าขายกับจีนนั้นไม่มีอุปสรรคปัญหา แต่เส้นทางเดินเรือทางตะวันตกมีพื้นที่อับลมในบริเวณที่เรียกว่า“ช่องแคบมะละกา”   ตรงนั้นในบางฤดูกาลเรือสินค้าที่ใช้ใบไม่สามารถวิ่งผ่านได้ หรือวิ่งผ่านได้แต่ช้ามาก จนถูกชาวมลายูเมืองอาเจะห์ที่อยู่บนฝั่งพายเรือยาวมาปล้นเอาได้ถึงกลางทะเล

ดังนั้น พ่อค้าจึงเลือกที่จะเดินเรือมาที่มะริด แล้วถ่ายของเก็บไว้ในโกดัง รอกระทั่งฤดูที่ลมส่งท้ายเรือให้กางใบใช้ความเร็วเต็มที่ได้ จึงขนถ่ายสินค้าใส่เรือขนาดย่อมวิ่งเข้ากรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง ส่วนคนถ้าไม่อยากอยู่รอ ก็สามารถเดินทางบกจากมะริด ผ่านตะนาวศรี ข้ามเขามาทางด่านสิงขร แล้วมาลงเรือต่อที่กุย หรือปราณบุรี เข้ากรุงศรีอยุธยาได้เลยโดยไม่ต้องมากับเรือ มะริดในสมัยที่หลังจากฝรั่งเริ่มค้นพบเส้นทางเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปมาเอเซียตะวันออกได้จึงมีความสำคัญขึ้นมาได้ฉะนี้

แผนที่เมืองมะริดซึ่งฝรั่งเศสทำไว้หลังจากนายสยามขาวหมดวาสนาไปแล้วนิดเดียวนั้น จึงเห็นอาคารยาวๆที่เป็นคลังสินค้ามากมาย ทั้งของเอกชนและของหลวง


เยืียมมากครับ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ 07 ก.ค. 13, 12:03
ระหว่างท่านอาจารย์เทาฯ ยังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบก็มาตั้งข้อสงสัยก่อน เพราะดูเหมือนผมน่าจะเคยซื้อและอ่านหนังสือเล่มนี้จากงานหนังสือนี่แหละหลายปีนานมากมาแล้ว แต่ความทรงจำเลือนลางเต็มทน จำได้ว่าเคยซื้อหนังสือเกี่ยวกับฝรั่งที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์นี่แหละ แต่จำชื่อฝรั่งไม่ได้ รู้แต่ไม่ใช่ฟอลคอนหรือฟอร์บัง  คุ้นๆ ว่าไวท์นี่แหละแต่ไม่แน่ใจ  ส่วนเนื้อหาในหนังสือเป็นอย่างไร ความทรงจำหายหมดสิ้นไม่หลงเหลือ

จำได้แต่ว่าหนังสือเล่มที่ว่าเป็นหนังสือเก่าปกแข็ง กระดาษไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หน้าปกเป็นรูปวาด หนาพอสมควร  ลองไปหาๆ รูปหนังสือนี้ดู แต่ถ้าเป็นเล่มนี้ อาจจะเป็นเล่มที่ผมยังไม่เคยอ่าน เพราะหน้าปกไม่ค่อยคุ้นครับ  ;D

จะเป็นเล่มนี้ไหมครับ .. ผมมีแต่เล่มนี้




หนังสือเล่มนี้ดูท่าสมัยนี้คงจะหาซื้อยากครับ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 12:16
ลองหาในกูเกิ้ลดูนะคะ อาจจะมีหนังสือมือสอง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ 20 ก.ค. 13, 13:23
ขอบคุณครับ :)


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ 20 ก.ค. 13, 13:27
รู้สึกภูมิใจนิดๆ ว่า ภาพยนตร์เรื่อง "ไพเรทส์ ออฟเดอะ แคริบเบียน" (Pirates of the Caribbean)  หนังดังของ วอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส รู้สึกจะดึงประวัติศาสตร์ตอนนี้มาใช้บางส่วน


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 13, 10:09
ดิฉันดูหนังเรื่องนี้เหมือนกัน  มีตั้งหลายภาค  คุณ คริสต์ศตวรรษที่ 17  หมายถึงตอนไหนคะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ 19 ส.ค. 13, 08:37
ภาพยนตร์วอลดิสนี่อาจจะไม่เรียนแบบเหมือนทีเดียวแต่มีบานส่วนที่ผู้แต่งได้อ่านมาแ้ล้ว ก็เชื่อว่าผู้แต่งก็ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน

โจรลัดคาริบเบียน เป็นกลุ่มโจรลสัดธงดำซึ่งเป็นชาวสเปนส่วนใหญ่จะออกปล้นในทะเลแทบคาริบเบียนซึ่งสัญลักษณ์เป็นรูปหัวกระโหลกไขว้สีขาวในแบบต่างๆ เฉพาะกลุ่มนี่คือประวัุติศาสตร์จริงที่ภาพยนตร์นำมาแต่ง

อีสต์อินเดีย คัมปานีส์   คือบริษัทอินเดียตะวันออกส่วนใหญ่จะอยู่แถบตะวันออก เพราะไม่ใช่บริษัทอินเดียตะวันตกที่จะอยู่แถบอเมริกา ในเรื่องนี้เท่าที่พอจำได้ก็มีด้วย โจรสลัดสิงคโปร์ในภาค 3 ก็อยู่แถบมะระกาแถวบ้านเรา แซมมวล ไวท์ ก็น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีส่วนในการจินตนาการของผู้แต่ง


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 13, 09:46
 ;D
ถ้าเจอเรื่องแนวนี้อีก จะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกค่ะ


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ 19 ส.ค. 13, 20:30
ดีครับชอบครับ :)


กระทู้: แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 06 มี.ค. 14, 00:37
เพิ่งจะเข้ามาอ่านกระทู้นี้ครับ

ขออภัยคุณครูทุกท่านที่ผมโดดเรียน มาช้าไปนะครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลและบทวิเคราะห์ ที่แฝงทีเด็ดๆมากๆนะครับ
 ;D ;D ;D ;D