เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: PAOPAI ที่ 10 พ.ค. 12, 23:51



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: PAOPAI ที่ 10 พ.ค. 12, 23:51
ทราบมาจากท่านผู้รู้ในเว๊บนี้ว่าคุณกรุ่ม เป็นนักประวัติศาสตร์, นักสะสมหนังสือคนสำคัญคนหนึ่งของไทย และถึงแก่กรรมไปแล้ว ทำให้เกิดความสนใจและอยากทราบประวัติของท่านเพิ่มขึ้นครับ โดยส่วนตัวทราบแต่เพียงว่าท่านเป็นบุตรของพระภูมิสวามิภักดิ์ (เกริ่ม) และเป็นหลานของ พระยาสุรนันทน์นิวัธน์กุล (กริ่ม)เท่านั้น


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 00:33
ผมเองอยู่กับท่าน ๓ วันสุดท้ายก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม ท่านมองตาเหมือนจะสั่งเสีย แต่ก็พูดไม่ได้แล้ว ผมได้แต่เดินน้ำตาไหลออกจากบ้านท่าน มาทราบอีกคุณกรัณฑ์น้องสาว กับพี่ปรีดา คนที่ดูแลท่านอยู่ ก็จัดการเสียศพเป็นที่เรียบร้อย และเกิดมหากาพย์ เรื่องมหาสมบัตินักสะสมตามมา ซึ่งผมก็ไปได้รู้จากคนอื่นในตอนหลัง.........

คุณกรุ่ม ตัวท่านเองเป็นนักเก็บสะสมจริงๆ .......... แต่ความจริง ต้องเรียกว่า ตระกูลนักสะสม เพราะท่านไม่ได้หาเก็บมาชั่วคนเดียว บรรพบุรุษท่านเก็บไว้นับได้ไม่ต่ำกว่า ๔-๕ ชั่วคนก่อนแล้ว ตัวท่านเองก็เก็บสะสมประวัติศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่น ทั้งหนังสือ พระเครื่อง เหรียญกษาปน์ แสตมป์ เอกสารประวัติศาสตร์ ฯลฯ นับไม่ถ้วน เวลาไปพบท่าน ท่านก็เล่า เืรื่องต่างๆ ให้ฟังมากมาย  เกี่ยวกับของที่ท่านสะสมไว้ และเรื่องในประวัติศาสตร์(จำได้บ้าง ลืมบ้างน่ะครับ จะ ๑๐ ปีล่วงมาแล้ว) ท่านมีวิธีการเก็บสะสมที่น่าสนใจและน่าเอาเป็นแบบอย่างทีเดียวครับ

ผมพยายามจะรวบรวมเรื่องการเก็บสะสมของท่าน กำลังรอเอกสารบางส่วนจากผู้ที่ได้รับซื้อเอกสารส่วนตัวของท่านไว้อยู่ ถ้ารวบรวมได้เมื่อใด จะมาเล่าสู่กันฟังครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 00:42
ลายเซ็นต์คุณกรุ่ม สุรนันทน์   


(ต้องขออภัย ผมเผลอ เติมสระ ะ ที่นามสกุลท่าน ไปในกระทู้นามสกุล พลาดอย่างไม่น่าในอภัย  :-X )


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 พ.ค. 12, 07:06
เท่าที่ได้ฟังจากปากคุณกรุ่ม หรือ "ต๋อย" ของเพื่อนๆ  ท่านเล่าว่าบรรพบุรุษของท่านได้ถวายตัวรับราชการต่อเนื่องกันมาแต่รัชกาลที่ ๑  เมื่อท่านเยาว์วัยนั้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในล้นเกล้าฯ รัชกาลี่ ๗  แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเล่าเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัย  จนจบชั้น มัธยมปีที่ ๘  รุ่นเดียวกับ หม่อมเจ้าพิริยดิศ  ดิศกุล  และหม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  แล้วไปเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื่องจากคุณกร่มท่านมิได้สมรส  จึงมีแต่เพื่อนนักเรียนวชิราวุธที่เป็นเหมือนญาติสนิท  ในบั้นปลายชนม์ชีพ หม่อมเจ้าพิริยดิศ  ดิศกุล ยังได้ทรงมอบหมายให้บุตรของท่านชายรับเป็นอุปัฏฐากดูแลคุณกรุ่มในยามที่ท่านชายสิ้นชีพิตักษัยไปแล้ว


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: PAOPAI ที่ 11 พ.ค. 12, 07:12
ลายเซ็นนี้ ใช่เลยครับ เวลาไปตามร้านหนังสือเก่า จะเจอหนังสือที่มีลายเซ็นนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยที่หนังสือแต่ละเล่มมีสภาพดีมากด้วย แสดงให้เห็นว่าเจ้าของท่านทะนุถนอมหนังสือเป็นอย่างดี น่าใจหายครับที่ต้องมากระจัดกระจายไปแบบนี้ ยังเคยสงสัยว่าจะเป็นลายเซ็นของคุณพระภูมีฯหรือเปล่า? มาทราบแน่นอนจากคุณ piyasann นี่เองว่าเป็นลายเซ็นคุณกรุ่ม ขอบพระคุณครับ

ท่านถึงแก่กรรมเมื่อปีไหนครับ คุณ piyasann


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 พ.ค. 12, 07:21
ขอยกข้อความที่ คุณ V_mee เคยลงประวัติตระกูลสุรนันทน์ไว้ที่พันทิป ดังนี้

พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน  สุรนันทน์) อดีตข้าหลวงสามหัวเมือง ณ เมืองนครเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงประวัติต้นสกุลสุรนันทน์ไว้ใน "ราชสัมภารากรชิขิต" ว่า

เมื่อกรุงแตก นายเพง  นายด้วง นายสุจ สามพี่น้องสกุลพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นมาทำธุระที่กรุงศรีอยุธยา  เมื่อผ่านมาทางเมืองเพชรบุรี  ได้พบและฝากตัวกับหลวงยกรบัตร (ทองด้วง - รัชกาลที่ ๑)  เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยา  ประจวบเวลาเสียกรุงแก่พม่า  จึงถูกพม่าจับกุมและนำตัวลงเรือล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา  มาถึงตำบลบางเขนแขวงเมืองนนทบุรี  ทั้งสามพี่น้องได้คิดอุบายฆ่าพม่าที่คุมตัวมา  จมเรือแล้วพากันขึ้นบกพร้อมครัวไทยที่พม่าเกณฑ์มา  ไปตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่บ้านวังม่วงแขวงเมืองสระบุรี

ครั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เป็นกษัตริย์  ทรงตั้งหลวงยกรบัตร(ทองด้วง) เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจ  แล้วเลื่อนเป็นพระยายมราชว่าการกรมมหาดไทย  นายเพงจึงได้ฝากตัวเข้าทำราชการ  พระยายมราชตั้งให้นายเพงเป็นขุนสุระสงครามนายกองเลกกองนอกในแขวงป่าสักตั้งแต่บ้านวังม่วขึ้นไปทั้งสิ้น  ถึงปีจุลศักราช ๑๑๓๓ (น่าจะเป็น ๑๑๔๔ หรือ พ.ศ. ๒๔๒๔) เมืองเขมรแปรพักตร์ไม่ยอมสวามิภักดิ์กรุงธนบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้พระยายมราชซึ่งได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก  และเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตรศึกคราวชนะศึกเมืองลาว  เป็นแม่ทัพยกออกไปปราบ

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตรศึกยกกองทัพออกไปรบติดพันอยู่ทีเมืองเสียมราฐ  พระยาสุริยอภัย เจ้าเมืองนครราชสีมาได้มีหนังสือลับบอกไปยังสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสัญญาวิปลาส  ราษฎรทั้งหลายได้รับความเดือดร้อน  เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทราบความแล้วก็ได้มีหนังสือตอบให้พระยาสุริยอภัยลงไปฟังเหตุที่กรุงธนบุรีก่อน  แล้วจึงจะยกกองทัพกลับตามเข้ามาภายหลัง

พระยาสุริยอภัยเมื่อลงมาถึงกรุงธนบุรีและทราบชัดว่าจะเกิดจราจลขึ้นเป็นแน่  จึงส้องสุมเสบียงอาหาร  เกลี้ยกล่อมผู้คนตั้งมั่นอยู่ที่บ้านปูนสวนมังคุต    ครั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบว่าพระยาสุริยอภัยรวบรวมผู้คนตั้งมั้นก็มีพระบัญชาให้กรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์และพระยาสรรคบุรีที่ลงมารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี  คุมไพร่พลขึ้นไปจับพระยาสุริยอภัย  

ฝ่ายขุนสุรสงครามซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่บ้านวังม่วงทราบข่าวว่า กรุงธนบุรีเกิดการจราจล  ในขฯเดียวกันกรมขุนอนุรักษ์สงครมและพระยาสรรค์ยกทัพขึ้นมารบกับพระยาสุริยอภัย  จึงได้ชักชวนนายบุนนากซึ่งเป็นผู้ใหญอยู่ที่บ้านแม่ลายกกำลังลงมาถึงจวนพระพระพิชิตณรงค์ผู้รักษากรุงเก่า  ซึ่งตั้งเร่งเงินอยู่  บุนสุรสงครามและนายบุนนากคุมไพร่พลกรูเข้าจับพระพิชิตณรงค์กับกรมการผู้ใหญ่หลายคนมัดไว้  เมื่อสอบถามว่ารู้เรื่องที่เกิดจราจลในกรุงธนบุรีหรือไม่  พระพิชิตณรงค์ก็รับว่ารู้และนิ่งเสีย  ถามว่าตัวจะมีความผิดหรือไม่  ผู้รักษากรุงก็นิ่งไม่ตอบว่ากระไร  ขุนสุรสงครามและนายบุนนากจึงให้ประหารชีวิตผู้รักษากรุงนั้น  แล้วยกทัพล่องลงมาบางกอกจะมาสมทบกับพระยาสุริยอภัย

เมื่อความทราบมาถึงกรุงธนบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีได้มีรับสั่งให้เจ้าพระยามหาเสนาและพระยารามัญวงษ์คุมทหารขึ้นไปช่วยกรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์และพระยาสรรค์ตีบ้านพระยาสุริยอภัยให้แตกแล้วรีบยกขึ้นไปจับผู้ร้ายที่ฆ่าผู้รักษากรุงเก่า  ข้างขุนสุรสงครามและนายบุนนากยกกองลงมาถึงบ้านพระยาสุริยอภัย  เห็นกำลังรบกันเป็นสามารถ  ข้างฝ่ายพระยาสุริยอภัยกำลังจะเสียทีจึงยกไพร่พลเข้าตีกระหนาบทัพกรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์และพระยาสรรค์  ไพร่พลพระยาสรรค์บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  พระยาสรรค์เห็นแล้วเกิดความท้อถอยจึงยอมเข้าวสามิภักดิ์กับขุนสุรสงคราม  ข้างฝ่ายทัพกรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ก็ถูกโจมตีจวนเจียนจะเสียที  กรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ก็ขับไพร่พลแหกด่านออกไปได้

ขุนสุรสงครามและนายบุนนากได้นำพระยาสรรค์เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระยาสุริยอภัย  และแจ้งความประสงค์ที่จะช่วยกอบกู้บ้านเมืองให้ทราบ  ข้างฝ่ายพระยาสรรค์ได้อาสากระทำการล้างโทษ  โดยรับอาสาคุมไพร่พลไปตีกรุงธนบุรีไว้ถวายแด่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริ์ศึก  พระยาสุริยอภัยจึงให้พระยาสรรค์คุมไพร่พลไปตีกรุงธนบุรีได้แล้ว  เกิดตระบัดสัตย์  หมายจะเอาราชสมบัติเสียเอง  จึงคิดกับหลวงแพ่งผู้น้องและขุนนางเก่าหลายคนให้สึกพระเจ้ากรุงธนบุรีออกพันธนาการไว้  แล้วให้ตั้งกองประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินเป็นกวดขัน  ฝ่ายพระยาสุริยอภัยทราบว่าพระยาสรรค์คืนคำก็มีใบบอกข้อราชการออกไปกราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ร เมืองนครเสียมราฐ  ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทราบข้อความตามใบบอกนั้นตลอดแล้ว  เกรงว่าสมณชีพราหมณ์ประชาราษฎรจะได้รับความลำบากจึงยกทัพหลวงกลับคืนมายังกรุงธนบุรี

ครั้นทัพหลวงกลับถึงกรุงธนบุรี  พระยาสรรค์ให้มีใจครั้นคร้ามพระเดชานุภาพยิ่งนัก  ก็ออกมากราบถวายบังคมพร้อมด้วยขุนนางข้าราชการทั้งหลายในที่ประชุม  จึงโปรดให้พิพากษาโทษผู้กระทำผิด  ประหารชีวิตเสียให้เป็นแบบอย่าง  เสร็จแล้วมุขมนตรีทั้งหลายได้พร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ  ครั้นปราบดาภิเษกเสร็จแล้ว  โปรดให้ขุนสุรสงครามเป็นพระยาสิงหราชเดโชไชย  ถือศักดินาหมื่นหนึ่ง  ภายหลังชราลงโปรดให้เลื่อนเป็นพระยารามจัตุรงค์  จางวางได้ว่าราชการทหารอาสา ๖ เหล่า ๘ เหล่า  นายด้วงเป็นพระยาสมบัติบาล เจ้ากรมพระคลังในขวา  นายสุจ เป็นจมื่นทิพรักษา ปลัดกรมตำรวจสนมขวา
    
พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน  สุรนันทน์) ผู้บันทึกเรื่องนี้เป็นบุตรคนใหญ่ของพระยาอภัยพิพิธ (เสศ  สุรนันทน์)  ซึ่งเป็นบุตรของนายพลพ่าย หุ้มแพร (เรือง  สุรนันทน์)  บุตรชายคนใหญ่ของพระยารามจัตุรงค์

ผู้ที่ประหารชีวิตพระยาสรรค์นั้นน่าจะเป็นพระยารามจัตุรงค์  เพราะดาบที่ใช้ฟันคอพระยาสรรค์นั้นได้ตกทอดมาในสายสกุลสุรนันทน์จนถึงคุณกรุ่ม  สุรนันทน์ ผู้เป็นบุตรพระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)  บุตรพระยาสุรนันท์นิวัทกุล (เกริ่ม  สุรนันทน์)  ซึ่งเป็นน้องต่างมารดาของพระยาราชสัมภารากร เป็นที่สุด  เมื่อคุณกรุม  สุรนันทน์เสียชีวิตโดยไม่มีผู้สืบสกุล  จึงไม่ทราบว่าดาบนั้นตกไปอยู่ที่ผู้ใด

ที่มา http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2011/01/K10192039/K10192039.html


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 10:10
ลายเซ็นนี้ ใช่เลยครับ เวลาไปตามร้านหนังสือเก่า จะเจอหนังสือที่มีลายเซ็นนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยที่หนังสือแต่ละเล่มมีสภาพดีมากด้วย แสดงให้เห็นว่าเจ้าของท่านทะนุถนอมหนังสือเป็นอย่างดี น่าใจหายครับที่ต้องมากระจัดกระจายไปแบบนี้ ยังเคยสงสัยว่าจะเป็นลายเซ็นของคุณพระภูมีฯหรือเปล่า? มาทราบแน่นอนจากคุณ piyasann นี่เองว่าเป็นลายเซ็นคุณกรุ่ม ขอบพระคุณครับ

ท่านถึงแก่กรรมเมื่อปีไหนครับ คุณ piyasann

ลายเซ็นต็คุณพระภูมีสวามภักดิ์ (เกริ่ม สุรนันทน์) ครับ

ลายเซ็นนี้ จะเห็นในหนังสือยุคปลายรัชกาลที่ ๕ หนังสือที่ออกในยุครัชกาลที่ ๖ และ ๗ มากมาย ท่านจะเซ็นว่า นาย เกรมิ่ คือ สระ อิ และ ไม้เอก จะไปตกอยู่แถวๆ ตัว ม ม้า   ลายเซ็นต์นี้ จะอยู่ที่ด้านบนของหน้ากระดาษ หน้าขวามือ ท่านมีวิธีจำว่า จะเขียนอยู่ที่หน้าไหน เพื่อให้รู้ว่า เป็นสมบัติของท่าน (คุณกรุ่มเคยเล่าให้ฟัง แต่ด้วยความที่เป็นเด็กอายุเพิ่งจะ ๒๐ เลยไม่ไ่ด้จดจำ)

คุณกรุ่มถึงแก่กรรม น่าจะประมาณปีพ.ศ. ๒๕๔๕- ๔๖ ครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 10:29
เรื่องดาบของพระยาสีหราชเดโช หรือขุนสุระสงครามนี้ เป็นดาบที่ถอดด้ามออกตามความเชื่อของไทย แขวนอยู่บนข้างฝาห้องพระของคุณกรุ่ม มีอยู่ ๓ เล่ม ถ้าจำไม่ผิดเป็นของขุนสุระฯ ๒ เล่ม และของบรรพบุรุษสกุลหงสกุล ๑ เล่ม เล่มบนสุดเป็นของขุนสุระฯ ที่ใช้จับตัว พระยาสรรค์  ดูแล้วไม่มีอะไรพิเศษบอกได้เลย........ ถ้าไม่สามารถสืบหาคนที่ปลดดาบออกจากที่เดิมได้ก็ไม่สามารถระบุได้ว่า เล่มไหนเป็นอะไร? ก็คงกลายเป็นดาบขึ้นสนิท เล่มหนึ่งเท่านั้น...........

อีกสิ่งหนึ่งที่ จะเรื่องราวจะสูญหายไปคือ ปั้นชา ของพระเจ้าตาก เป็นกาน้ำชาโบราณสีกะปิ เลี้ยมทองเหลือง ธรรมด๊า ธรรมดา เอง แต่กาใบนี้ มีประวัติว่า พระเจ้าตาก เคยใช้ทรงอยู่ ถูกเก็บไว้ในตู้ในห้องพระ พอออกจากตู้แล้ว ก็ไม่อาจระบุได้ครับ ประวัติศาสตร์ ที่ติดกับสิ่งของ ก็พลันสูญหายไป..........

(รูปตัวอย่าง จากเว็บไซด์ ที่เสิร์จ ได้จากกูเกิ้ล ลักษณะคล้ายกัน)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 10:30
ตัวอย่างลายมือของ คุณกรุ่ม สุรนันทน์ (เผือท่านใดเจอลายมือเช่นนี้ จะได้ทราบว่า เป็นลายมือท่าน เป็นเอกลักษณ์ จำง่าย)

ขอขอบคุณสยามบรรณาคม ที่กรุณาใ้ห้เอกสารมาเผยแพร่ครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 10:31
ตัวอย่างลายมือของ คุณพระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม สุรนันทน์) เผือท่านใดเจอลายมือเช่นนี้ จะได้ทราบว่า เป็นลายมือท่าน


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 10:44
ตัวอย่างลายมือของ พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม สุรนันทน์) เผือท่านใดเจอลายมือเช่นนี้ จะได้ทราบว่า เป็นลายมือของท่าน


เจ้าคุณสุรนันทน์ นี้ เป็นพระพี่เลี้ยง ในสมเด็จพระบรมฯ องค์ใหญ่ ,ทูลหม่อมแดง, พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช (น่าจะอีกหลายพระองค์)  

แต่องค์ที่ทรงติดท่านเ้่จ้าคุณมากคือ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ  เช่น เมื่อคราวเสด็จฯ ประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๒๖ ทรงมีจดหมายจากในเรือมาถึง ท่านเจ้าคุณฯ ขณะยังเป็นหลวงนายเดช ว่า


"คิดถึงมาก หวังใจว่า แกคงจะยังไม่ตายเสียก่อนเด็จกลับไปเปนแน่.........มาในเรือมหาจักรีเงียบเหลือเกิน ถ้าแกมาจะได้เล่านิทาน"  ลงพระนาม อุรุพงษ

ตัวท่านเจ้าคุณฯ มีชีวิต ยืนยาว ผ่านงานพระศพ เจ้านายที่ท่านเป็นผู้ดูแลทุกคน แม้แต่ คุณพระภูมีฯ บุตรท่าน ก็เสียชีวิตก่อนท่าน ต้องเรียนกว่า พระองค์อุรุพงษ์ ทรงให้พรไว้ ......


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ค. 12, 10:51


หมู่ขันครั่นคร้ามใจนัก  เมื่อเห็นท่ารำไหว้ครูของไอ้หนุ่มสวนกล้วยไม้


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 11:24
ส่วนหนึ่งของเอกสารที่ คุณกรุ่ม และบรรพบุรุษ เก็บรักษาไว้ (ผมขออนุญาตถ่ายเอกสาร ไว้อีกทีหนึ่ง ถึงเหลืออยู่แบบ ขาว-ดำ)

มีคำถามครับ คำว่า "หนังสือพิมพ์" เีริ่มมีใช้ครั้งแรกเมื่อใด ? ก่อนหน้า ร.ศ. ๑๑๒ หนังสือหรือวารสาร ที่พิมพ์ออกมา ใช้ชื่อว่า "หนังสือพิมพ์" หรือยัง?

คุณกรุ่มเล่าว่า "หนังสือพิมพ์ราชกุมาร" เจ้านายที่ทรงเีรียนโรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง ทรงช่วยกันเขียน (และเป็น บรรณาธิการ - แม่แวร ) ออกอยู่ได้ไม่นาน ก็เลิกไป เพราะเครื่องพิมพ์เสีย ดัีงเอกสารแจ้ง ........ หนังสือพิมพ์นี้เป็นหนังสือสำคัญ เพราะเจ้านายหลายพระองค์ ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ มาลงไว้ (น่าจะเป็นเรื่องนิทานทรงแต่ง สมัยยังทรงพระเยาว์ และอาจจะเป็นข่าวในพระราชสำนักสำหรับเจ้านายทีทรงพระเยาว์ เป็นต้น - อันนี้ คุณกรุ่ม ก็สันนิษฐานเอา ไม่ทราบท่านถามเจ้าคุณปู่หรือไม่ ) ท่านใดมีเอกสารนี้อยู่บ้างไหมครับ?


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: PAOPAI ที่ 11 พ.ค. 12, 15:56
ได้รับความรู้เรื่องดาบโบราณและป้านพระสุธารสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพิ่มขึ้นมาด้วย ขอขอบพระคุณคุณ piyasann และทุกๆท่านครับ
ขออนุญาตนำรูป พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล กับ พระภูมีสวามิภักดิ์ มาลงไว้ครับ สองภาพนี้ได้มาจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของท่าน
ถ้าคุณ piyasann มีรูปคุณกรุ่มและนำมาลงไว้ด้วยก็จะยิ่งดีครับ กระทู้นี้จะได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้ที่ไม่เคยมีโอกาสพบคุณกรุ่ม จะได้เห็นและเป็นเครื่องรำลึกถึงท่าน
(ถ้าหากนำไปรวมกับรูป พระยาอภัยพิพิธ (เศษ) ในกระทู้ประชุมประวัติพระยา ภาคที่ ๑ ในเว๊บนี้ ก็จะได้รูปบุคคลในตระกูลสุรนันทน์รวม ๔ ชั่วคนพอดี)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: PAOPAI ที่ 11 พ.ค. 12, 16:01
รูป มหาเสวกตรี พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม สุรนันทน์) ถ่ายเมื่อยังเป็นพระยาบำรุงราชบริพาร (ภาพนี้ท่านมอบให้พระพี่เลี้ยงหวน อนุภาณศิษยานุสรรค์ บุตรีของท่าน)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: PAOPAI ที่ 11 พ.ค. 12, 16:14
รูป เสวกโท พระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม สุรนันทน์) บิดาคุณกรุ่ม


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 พ.ค. 12, 16:15
ส่วนหนึ่งของเอกสารที่ คุณกรุ่ม และบรรพบุรุษ เก็บรักษาไว้ (ผมขออนุญาตถ่ายเอกสาร ไว้อีกทีหนึ่ง ถึงเหลืออยู่แบบ ขาว-ดำ)

มีคำถามครับ คำว่า "หนังสือพิมพ์" เีริ่มมีใช้ครั้งแรกเมื่อใด ? ก่อนหน้า ร.ศ. ๑๑๒ หนังสือหรือวารสาร ที่พิมพ์ออกมา ใช้ชื่อว่า "หนังสือพิมพ์" หรือยัง?

คุณกรุ่มเล่าว่า "หนังสือพิมพ์ราชกุมาร" เจ้านายที่ทรงเีรียนโรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง ทรงช่วยกันเขียน (และเป็น บรรณาธิการ - แม่แวร )
ออกอยู่ได้ไม่นาน ก็เลิกไป เพราะเครื่องพิมพ์เสีย ดัีงเอกสารแจ้ง ........ หนังสือพิมพ์นี้เป็นหนังสือสำคัญ เพราะเจ้านายหลายพระองค์ ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ
มาลงไว้ (น่าจะเป็นเรื่องนิทานทรงแต่ง สมัยยังทรงพระเยาว์ และอาจจะเป็นข่าวในพระราชสำนักสำหรับเจ้านายทีทรงพระเยาว์ เป็นต้น
- อันนี้ คุณกรุ่ม ก็สันนิษฐานเอา ไม่ทราบท่านถามเจ้าคุณปู่หรือไม่ ) ท่านใดมีเอกสารนี้อยู่บ้างไหมครับ?

ไม่ทราบว่า  ได้เคยอ่านหนังสืองานศพมหาเสวกตรี พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม สุรนันทน์) แล้วหรือยัง
ในหนังสือนั้นมีให้อ่าน  แต่คิดว่าคงจะพลัดหายไป หาครบถ้วนไม่  สำนวนหนังสือพิมพ์นี้  ไม่มีอะไรมาก  ข่าวสั้นมาก
ลงพระนามนายเวร ตอนต้น และลงพระนามรองเวร ตอนท้าย  อ่านแล้วนึกถึงหนังสือปกดำ พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ค. 12, 16:25
       เรื่องดาบนั้นมีคนมาเล่าให้ฟังนานแล้ว   จำได้ดี

เป็นห่วงเรื่องหนังสือสะสม  เพราะเกรงว่าแก้วเล่มใดจะตกอยู่ในมือนักสะสมที่ไม่อ่านหนังสือ  

แล้วประวัติศาสตร์การพิมพ์ของเราก็ขาดตอนไป


        ไม่นานมานี้สหายหน้าใหม่(ใหม่ที่นี่เก่ามาจากที่อื่น)  ได้เล่าให้ฟังว่า   เจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งผู้อาจหาญ

ยืมหนังสือเก่าบางเล่มไปจากคุณกรุ่ม      พอจะเอามาคืนก็เกรงว่าปกที่คร่ำคร่าจะหมองมัว  เลยนำไปทำปกใหม่

พอท่านเห็นปกใหม่ก็โมโหโกรธา  ประมาณว่าเจ้าของโรงพิมพ์เข้าหน้าไม่ติดอยู่นาน  อิอิ


       หนุ่มชาวสวนกระซิบเสียงดังลั่นมาจากสนามหลวง  ว่า  ไปอ่านหนังสือพระพี่เลี้ยงหวนก่อนซิ

        
        ของสะสมของคุณกรุ่มนั้น     ถ้าไม่บอกว่าของใคร  ก็มีค่าในตัวอยู่แล้วมหาศาล  เป็นของโบราณ   สร้างด้วยรสนิยมอันดี

สูงด้วยราคา  โลกรู้จัก    เสียดายที่อนุชนไม่ได้เห็น  ไม่ได้ยิน


       กาชาแบบนี้  เวลาจะชงต้องราดกาด้วยน้ำเดือดก่อน   เมื่อจะชง นิยมใช้น้ำร้อนแต่ไม่เดือด    ใส่น้ำเกือบเต็ม  ปิดฝา  แล้วราดน้ำร้อนอีกที    

ได้น้ำชาถ้วยเล็ก ๓ หรือ ๔ ถ้วย หลายรอบ   ถ้าใช้ถ้วยมีฝา  ก็ ประมาณสองรอบค่ะ

ที่ขายกันอยู่ทั่วไป  จะใส่กี๋   เป็นความนิยมมาจากทางญวน  


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 พ.ค. 12, 17:11
เห็นภาพคุณพระภูมีสวามิภักดิ์แล้ว  หวนรำลึกขึ้นมาได้ว่า  สมัยที่นักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์รัชกาลที่ ๖ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่นั้น  เด็กน้อยอย่างกระผมได้รับความเมตตาจากบุตรของท่านผู้เป็นทายาทของท่านที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาและพระภูมีสวามิภักดิ์ถึง ๓ ท่าน คือ

ท่านหนึ่งชื่อ พันเอก เรวัต  เตมียบุตร  บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์ (หยวก  เตมียบุตร)
ท่านที่สองชื่อ จุลันต์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์  (........  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ท่านที่สามชื่อ  กรุ่ม (ต๋อย)  สุรนันทน์  บุตรของพระภูีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

ทั้งสามท่านเล่าไว้ตรงกันว่า  พอบิดาของท่านทั้งสามได้รับพระราชทานราชทินนาม "ภูมีสวามิภักดิื" ได้ไม่นาน  ก็เป็นอันกราบถวายบังคมลาไปกันทุกคน


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 17:23
ไม่ทราบว่า  ได้เคยอ่านหนังสืองานศพมหาเสวกตรี พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม สุรนันทน์) แล้วหรือยัง
ในหนังสือนั้นมีให้อ่าน  แต่คิดว่าคงจะพลัดหายไป หาครบถ้วนไม่  สำนวนหนังสือพิมพ์นี้  ไม่มีอะไรมาก  ข่าวสั้นมาก
ลงพระนามนายเวร ตอนต้น และลงพระนามรองเวร ตอนท้าย  อ่านแล้วนึกถึงหนังสือปกดำ พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙

คงต้องรอความกรุณาแนะนำ หรือหาให้อ่านจากคุณหลวง หล่ะครับ

เมื่อก่อน คุณกรุ่มบอก "คุณ หนังสืองานศพตระกูลผมอยู่บนชั้นกลาง ตู้แรกซ้ายมือหน้าประตูห้องทำงาน อยากอ่านเล่มไหนก็ไปหยิบเอา" (ท่านนั่งอยู่ห้องรับแขกข้างล่าง แต่สามารถจำหนังสือทุกเล่ม ของสะสมทุกชิ้นได้ เพราะได้จัดไว้อย่างเป็นระบบ และสะอาดสอ้าน สภาพดีเลิศ !!!!!! )...................   หยิบให้ดูแต่หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหม่อมขาว เกษมศรี เพราะท่านอยากให้อ่านเรื่องต้นตระกูลท่าน พร้อมกับหยิบอัลบัมตอนที่ ท่านไปเยี่ยมหลุมศพต้นของต้นของต้นตระกูลที่นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นพรามหณ์ ก่อนที่จะย้ายครัวและบุตรหลานเข้าสวามิภักดิ์เจ้าพระยาจักรี .............ชะล้าใจแท้ เลยอดได้อ่าน

รูปเจ้าคุณอภัยพิพิธ (เศษ หรือ เสพ สุรนันทน์)รูปนี้ ตัดแค่ส่วนรูปภาพท่านเจ้าคุณอภัยพิพิธมา ภาพจริง จะมีแซ้อยู่ที่ด้านขวามือตั้งอยู่โดดๆ ซึ่งไม่มีจริงในเครื่องยศ แต่จิตรกรเขียนจากจินตนาการเพื่อ Balance ภาพให้เท่ากัน ..........ภาพนี้ เขียนโดยจิตรกรต่างชาติ มีความพิเศษที่ว่า มองไปที่ภาพ ก็จะเหมือนท่านมองเราอยู่ ไม่ว่าจะขยับไปมุมไหน สายตาก็จะตามเราไปด้วย สังเกตุว่าตระกูลท่านเป็นนักสะสมหนังสือจริงๆ เพราะท่านเจ้าคุณยังถือหนังสืออยู่ในมือเลย อิอิ ........ น่าจะเป็นหนังสือหมอบรัดเลย์ ครูสมิท หรือไม่ครับ คุณ Wandee  ?




กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 พ.ค. 12, 17:29
คุณกรุ่ม  ท่านเคยเล่าเรื่องบรรพบุรุษของท่านให้ฟังเยอะ  แต่จำได้บ้างไม่ได้บ้าง

ที่จำได้แม่นคือ เมื่อครั้งทูลกระหม่อมฟ้า (รัชกาลที่ ๔) ทรงผนวชในตอนปลายรัชกาลที่ ๒  ท่านเล่าว่า เมื่อพระอาการหนักมาก  ในหลวงรัชกาลที่ ๓ ส่งทหารเข้าล้อมพระบรมมหาราชวัง  คงจะเป็นทำนองจุกช่องล้อมวงตมโบราณราชประเพณี  เวลานั้นทูลกระหม่อมฟ้าประทับอยู่วัดมหาธาตุ  มีมหาดเล็กเฝ้าอยู่ ๔ คน  คืนวันหนึ่งมหาดเล็กทั้ง ๔ เกรงว่าภันจะมาถึงทูลกระหม่อมจึงกราบทูลเชิญเสด็จลงเรือแจวเลาะริมฝั่งน้ำไปประทับที่วัดราชาธิวาส  แจวหัวท้าย ๒ คน  อีก ๒ คนถือดาบคอยระวังรักษาพระองค์หน้าหลัง  ผลัดกันแจวผลัดกันถือดาบไปจนถึงวัดราชาธิวาส  เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทั้ง ๔ คนนี้ได้รับราชการเป็นพระยาหมดทั้ง ๔ คน  ท่านบอกชื่อไว้เสร็จ  แต่จำได้เฉพาะนามสกุล ๒ ท่านคือ สุรนันทน์ กับศิริสัมพันธ์  และดูเหมือนจะมีสกุล ศิริธร ณ พัทลุงอีกท่าน

อีกเรื่องที่จำได้แม่นคือ คุณกรุ่มท่านว่า เจ้าคุณปู่ของท่านนั้นเป็นพระอภิบาลในสมเด็จพระบรมฯ พระองค์ใหญ่หรือทูลกระหม่อมใหญ่  และทูลกระหม่อมแดง คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก  เมื่อทูลกระหม่อมใหญ่สวรรคต  เจ้าคุณปู้ท่านได้รับพระราชทานตุ๊กตาทหารตะกั่วของทูลกระหม่อมมาทั้งชุด  และเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จไปทรงศึกษาที่ยุโรปก็พระราชทานตุ๊กตาทหารไว้ให้อีกชุด  เวลาไปที่บ้านคุณกรุ่มท่านมักจะชี้ให้ดูตุ๊กตาทหารที่จัดเรียงไว้เป็นระเบียบในตู้กระจกเสมอๆ

เมื่อครั้งได้รับมอบหมายจากท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ให้ช่วยกันจัดทำพระบรมราชะประทรรศนีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หอวชิราวุธานุสรณ์ก็ได้รับความเมตตาจากคุณกรุ่มที่ทำให้งานนั้นสำเร็จลงด้วยดี  เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จำลองฉลองพระองค์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับประกอบพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ ๖ แล้ว  ปัญหาที่คิดไม่ตกคือ จะไปจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เป็นอันพ้นสมัยนั้นได้อย่างไร  เพราะที่สำนักนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีตัวอย่างให้ดู  มีให้ดูแต่รูปถ่าย  สุดท้ายได้ความกรุณาจากคุณกรุ่มหยิบของจริงจากที่ท่านสะสมไว้มาให้นายช่างจากกองหัตถศิลป์จำลองแบบ  ใช้เวลากดพิมพ์ทำแบบอยู่สองวันกว่าจะได้ครบตามที่ต้องการ  การจัดสร้างเครื่องประกอบฉลองพระองค์ครั้งนั้นจึงสำเร็จลงได้


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 พ.ค. 12, 17:48
ภาพคุณกรุ่ม ผมมีอยู่ ๑ ภาพ เท่านั้น หาไม่เจอว่าไปไว้ตรงไหน คงต้องรอ ท่านผู้ได้รับซื้อเอกสารส่วนตัว(บางส่วน) ของท่าน ส่งเอกสารเหล่านั้นมาให้ครับ

อ. V_Mee มหาดเล็กอีกคนน่าจะ อิศระภักดี หรือไม่ ครับ มีเกร็ดอีกนิดนึ่ง ว่า ดาบที่มหาดเล็กถือนี้ ยาวเกือบสองเมตร และ ๔ ท่านนี้ หรือไม่ครับ ที่คุณพระมหาเทพฯ เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงถามว่า ถ้าได้เป็นกษัตริย์ จะขออะไร มีท่านหนึ่งบอก ขอเป็นเจ้า พอขึ้นครองราชย์ฯ จึงต้องเปลี่ยนตำแหน่ง จมื่น เป็น เจ้าหมื่น เพื่อพระราชพร ตามที่ทรงวาจาสิทธิ์ ?

ทหารตะกั่ว ๒ ชุดนี้ใหญ่นี้ แบ่งได้เป็น ๔ หรือ ๖ ชุด จำไม่ได้ แต่ละชุดว่าด้วย การแต่งกายของทหารยุโรปประเทศต่างๆ สภาพสมบูรณ์ดุจของใหม่ สียังสดสวยอยู่ (เจ้านายท่านทรงของเล่นไม่บุบสลายเลย........ ใช่ว่าจะทรงมีเหลือล้นแล้วจะไม่รักษาของ) ทุกชุดมีกล่อง (เป็นกล่องเหล็ก ไม่แน่ใจจะเรียก "รุ้่ง"เหมือน กล่องหมวกหรือไม่) มีคนมาขอซื้อหลายราย ล้วนถูกท่านไล่ตะเพิดออกบ้านซ่ะส่วนใหญ่้ หนอยยย..... ริ มาดูถูกเจ้าของตึกแถวปากซอยวาณิชย์ ๑ สำเพ็ง ๒ ห้องรึ ค่าเช่าฉันก็กินไม่หมดแล้ววววว..........


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ค. 12, 19:57


ขอบพระคุณคุณวีมีเป็นที่สุดที่กรุณามาเพิ่มเติมความรู้

ดีใจที่คุณปิยะสารณ์ "โฉบ"  มาถึงเรือนไทย


        หนังสือของบรัดเลย์และครูสมิท  เท่าที่เห็นมาจะเป็นขนาดเล็ก  และหนามาก

หนังสือของบรัดเลย์แทบจะไม่มีปกเหลือติดอยู่เลย     อาจจะเป็นการทำปกที่มิได้ใช้วัสดุที่ดีนัก

        หนังสือในมือท่านผู้ใหญ่  ดูเป็นลายน้ำ  แต่ไม่หนามากนัก     

        บร้ดเลย์ใช้กระดาษอเมริกัน   ต่อมาวงการพิมพ์ไทยใช้กระดาษฝรั่งเศส    ก.ศ.ร. กุหลาบสามารถพิมพ์หนังสือเล่มใหญ่ได้

และจ้างบรัดเลย์พิมพ์ให้เมื่อแรกเริ่ม พิมพ์หนังสือกฎหมายของนายโหมด  สองเล่ม       ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น 

บรัดเลย์ก็พิมพ์หนังสือกฎหมายออกมา  แต่กลับเป็นเล่มเล็ก


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 พ.ค. 12, 19:59
เรื่องเปลี่ยนจากจมื่นเป็นเจ้าหมื่นนั้นน่าจะเป็นดั่งที่คุณ  piyasann ว่าไว้ครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 พ.ค. 12, 22:41
ไม่ทราบว่า  ได้เคยอ่านหนังสืองานศพมหาเสวกตรี พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม สุรนันทน์) แล้วหรือยัง
ในหนังสือนั้นมีให้อ่าน  แต่คิดว่าคงจะพลัดหายไป หาครบถ้วนไม่  สำนวนหนังสือพิมพ์นี้  ไม่มีอะไรมาก  ข่าวสั้นมาก
ลงพระนามนายเวร ตอนต้น และลงพระนามรองเวร ตอนท้าย  อ่านแล้วนึกถึงหนังสือปกดำ พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙

คงต้องรอความกรุณาแนะนำ หรือหาให้อ่านจากคุณหลวง หล่ะครับ


ผมเกรงว่า เดี๋ยวจะกลายเป็นการเอากล้วยไม้สามัญมาขายแก่ออร์คิดฟาร์มของคุณ piyasann
ในเมื่อคุณ piyasann รำดาบไหว้ครูบูชาปูชนียาจารย์ไว้อย่างงดงามเป็นการประเดิมเวทีแล้ว
ก็ควรจะรำต่อให้จบกระบวนเพลงดาบ  จะให้ผมมารับช่วงต่อนั้น  หามิได้  ด้วยฝีมือรำดาบยังด้อยกว่าคุณหลายขุม
แต่ในเมื่อคุณยังยืนยันคำเดิม  ผมขอเวลาไปเข้าคอร์สเรียนรำดาบขั้นสูงระยะสั้น
จากท่านผู้อาวุโสสักสองสามอาทิตย์  แล้วจะกลับมาสำแดงฝีมือตามคำเชิญ ควรไม่ควรประการใดเชิญพิจารณา


อันที่จริงหนังสือหน้าปกขาวมีรูปไก่โต้ง พิมพ์ปี ๒๕๓๒ (พิมพ์ที่ไหนหาบอกได้ไม่ เกรงจะผิดจรรยาบรรณ
แต่นักอ่านหนังสือทั้งเก่าใหม่ย่อมทราบดี) ก็ได้เล่าเรื่องตระกูลสุรนันทน์ไว้ดีและละเอียด
ผู้ใดสนใจย่อมหาอ่านได้....   หากว่ามีผู้สนใจ  จะเก็บความมาเล่าแต่พอสังเขป



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 12 พ.ค. 12, 00:27
คุณ Wandee ครับ มาขอเพิ่มเติมเรื่องรูป ..... รูปนี้ เขียนเสร็จทีแรก ท่านเจ้าคุณ ท่านไม่ค่อยจะพอใจ นายช่างฝรั่งจึงต้องลบแล้วเขียนใหม่ คือ วางท่ามือเสียใหม่ จะสังเกตว่า มือจะลอยๆ ออกมาหน่อย ส่วนหนังสือนั้น ใส่เข้ามาทีหลัง เพื่อวาง Position ให้ดูงดงามขึ้น และการวาดเีืครื่องยศ บนตั่ง เป็นแบบไม่ลงรายละเอียด คล้ายๆ เกือบจะว่างไม่ลงสีไว้ เป็นเทคนิกการเขียนรูปขั้นสูง เพื่อให้ภาพออกมาดูสวยงาม มีมิติ และไม่รกสายตา (ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าเีรียกว่าอะไร ท่านอธิบายต่อๆ กันมา หลายชั่วคน) ในรูปยิ่งดูยิ่งจะแปลกใจ เพราะเขียนอย่างวิธีช่างเขียนจริงๆ ที่จำได้อีกอย่างคือ "เก้าอี้อะไรมีขาไม่ครบ ๔"  ฯลฯ เป็นต้น............ส่วนหนังสือหมอบรัดเล และครูสมิท นั้น ท่านมีอยู่สองตู้ใหญ่ เรื่องนี้ ท่านเจ้าของสำันักพิมพ์ ท่านยันได้ เพราะไปขายขนมจีบอยู่เสมอๆ ก่อนเกิดกรณีพิพาท "ครูเหลียม" โดนลบเหลี่ยม(ลายเซ็นในใบรองปก)

ขอกล่าวว่า มิบังอาจครับคุณหลวง ด้วยผมนั้น เป็นเพียง เด็กวัดก้นกุฏิ ที่ท่านเอ็นดู ให้การสั่งสอนในช่วงท้ายๆ ของชีวิตท่าน เรื่องคุณกรุ่มนี้ คาดว่า ต้องมีคนที่รู้มาก และรู้ดีกว่า เพราะท่านเป็นนักสะสม และนักเลงหลายวงการ ย่อมมีเพื่อนมากมาก่อน หลายๆ ท่านอาจจะรู้จักท่านดีกว่า แต่ผมถือว่าท่านเป็นนักสะสมท่านหนึ่งที่น่าเคารพ จึงขอนำประสบการณ์อันน้อยนิด ที่ท่านได้ให้ความกรุณา มาเล่าสู่กันฟัง แลขอเชิญ ผู้ที่มีเรื่องเ่ล่ามากกว่า มาร่วมกั้นเขียนถึงท่าน หรือเรื่องเกี่ยวข้องด้วยครับ (ทำอย่ากับกระทู้เราตั้งเอง 555) .........

หนังสือปกขาวรูปไก่โต้งนี้ อ่านสนุกมากครับ และได้ช่วยไขปริศนาล้านนาบางเรื่องให้กับท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่ง เรื่องการดำเนินการการศึกษาของทางเชียงใหม่ อ่านเ่ล่มนี้ แล้วต้องไปหา ๕ รอบ พล.อ.อ. หะริน หงสกุลอ่านต่อ  ถ้าเปรียบหนังสือเป็นอาหาร ต้องเรียกว่า ปรุงโดย chef 3 michelin star โอชะอ่านสนุกเสียเหลือเกิน


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ค. 12, 01:21

ขอกล่าวว่า มิบังอาจครับคุณหลวง ด้วยผมนั้น เป็นเพียง เด็กวัดก้นกุฏิ ที่ท่านเอ็นดู ให้การสั่งสอนในช่วงท้ายๆ ของชีวิตท่าน
เรื่องคุณกรุ่มนี้ คาดว่า ต้องมีคนที่รู้มาก และรู้ดีกว่า เพราะท่านเป็นนักสะสม และนักเลงหลายวงการ ย่อมมีเพื่อนมากมาก่อน
หลายๆ ท่านอาจจะรู้จักท่านดีกว่า แต่ผมถือว่าท่านเป็นนักสะสมท่านหนึ่งที่น่าเคารพ จึงขอนำประสบการณ์อันน้อยนิด
ที่ท่านได้ให้ความกรุณา มาเล่าสู่กันฟัง แลขอเชิญ ผู้ที่มีเรื่องเ่ล่ามากกว่า มาร่วมกั้นเขียนถึงท่าน หรือเรื่องเกี่ยวข้องด้วยครับ (ทำอย่างกับกระทู้เราตั้งเอง 555) .........

หนังสือปกขาวรูปไก่โต้งนี้ อ่านสนุกมากครับ และได้ช่วยไขปริศนาล้านนาบางเรื่องให้กับท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่ง
เรื่องการดำเนินการการศึกษาของทางเชียงใหม่ อ่านเ่ล่มนี้ แล้วต้องไปหา ๕ รอบ พล.อ.อ. หะริน หงสกุลอ่านต่อ  
ถ้าเปรียบหนังสือเป็นอาหาร ต้องเรียกว่า ปรุงโดย chef 3 michelin star โอชะอ่านสนุกเสียเหลือเกิน

อ้อ  คุณpiyasann เปลี่ยนฐานะเป็นอารามบอยแล้วหรือครับ  เด็กวัดก้นกุฏิ นี่สำคัญนะครับ อย่าทำเป็นเล่นไป
ตามกุฏิพระนี่แหละแหล่งความรู้ แหล่งหนังสือเก่า หนังสือหายาก หนังสืองานศพ  (นี่ไม่ได้ชี้โพรงให้ใครไปปล้นหนังสือตามกุฏิพระนะจ๊ะ)
ครั้งหนึ่งไปราชการที่พระอารามหลวงแห่งหนึ่ง  เอาหนังสือไปส่งที่หอสมุดที่พระอารามนั้น ซึ่งเขากำลังจัดหนังสือกันใหม่
(ปัจจุบันไม่ทราบว่าจัดเสร็จหรือยัง)  พอเดินเข้าไป ก็ต้องทำตาโต  โอ้โฮ  หนังสือทั้งเก่าใหม่วางเรียงรายบนโต๊ะเป็นตั้งๆ   สภาพดีมาก
ที่ยังอยู่ในตู้ก็มีละลานตา   แหม  ถ้าวันนั้นไม่ติดว่าต้องทำธุระต่อ  จะลางานสักครึ่งวันนั่งอ่านนั่งจดให้หนำใจ
 
ผมเองเมื่อยังเป็นนักเรียนใส่กางเกงขาสั้น  เคยไปขอยืมหนังสือของพระซึ่งเป็นอาจารย์ถึงในกุฏิท่าน
ขอยืมทีก็ไม่ใช่แค่สี่ซ้าห้าเล่ม  ยืมกันเป็นหอบ  พระเณรเด็กวัดมองกันเป็นแถวเวลาผมหอบหนังสือเดินออกจากวัด
ตอนพระท่านลาสิกขา  ท่านยังสั่งให้ผมไปยกเค้าหนังสือที่ห้องท่านก่อนเป็นคนแรก  หอบหนังสือกลับบ้านหลังแอ่นกันไป
ฉะนั้น  จะให้วางใจเด็กวัดก้นกุฏิอย่างคุณpiyasann เห็นจะไม่ได้   นักเลงพระย่อมทราบดีว่า  พวกลูกศิษย์ก้นกุฏินี่แหละ
มีพระเครื่องดีกว่าคนทั่วไป   (และเก็บงำสมบัติแนบเนียนมาก)  

หนังสือตราไก่โต้งนั้น ดีจริงอย่างคุณว่ามา  ถ้าจะสนทนากันเรื่องตระกูลสุรนันทน์แล้ว  ย่อมขาดอาหารจานหลักจานนี้ไม่ได้
ท่านผู้อาวุโสของคุณก็คงทราบดี  แต่ชีวิตของผู้วายชนม์ก็เศร้ารันทดแท้  อันที่จริงสายสกุลนี้ก็ได้ทำหนังสือลำดับสกุลไว้ดีทีเดียว
ผมได้ทำสำเนาไว้   เพราะต้องสอบสวนเรื่องสายสกุลต่างๆ บ่อยๆ    แต่จะได้พูดไปถึงสกุลสุรนันทน์หรือไม่ ไม่แน่ใจ เดี๋ยวกลับไปอ่านใหม่
อายุมากแล้วชักหลงๆ ลืมๆ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ค. 12, 01:44

        ชื่นใจกระไรเลยเมื่อได้ยินว่า     คุณกรุ่ม  สุรนันท์ มีหนังสือของครูสมิทเป็นตู้      ทั้ง ๆ ที่ ครูสมิทพิมพ์หนังสือไว้มากมาย

แต่เราไม่ค่อยจะได้เห็นกันมากเท่าหนังสือของบรัดเลย์    ที่นักสะสมต่างเก็บไว้รองรังกันคนละสองสามเล่ม

ดิฉันนั้นเดินมาทางพงศาวดารจีน    เพราะไปอ่านที่ท่านผู้ใหญ่ที่มี(ห้องสมุดชื่อท่านทิ้งไว้ให้มหาวิทยาลัยในบ้านเกิด) เล่าว่าให้

หัดอ่านพงศาวดารจีนไว้ก่อน  จะได้หัดความจำ        ความจำไม่ได้ดีขึ้นมากมายหรอกค่ะ   แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรื่อง

จำได้        ไม่เข้าใจอยู่ก็ว่าเรื่องหลายตอนขาดไป     ต่อมาจึงเห็นว่าไม่มีการแปลการพิมพ์ในเวลานั้น

        
        เรื่องราวของนักอ่านนักเก็บหนังสือโดยไม่อ่านเลยและนักสะสมนั้น  เล่ากันแบบ "นินทาหน้าม่าน"  ทั่วไป  

การที่บางคนอาจจะทราบเรื่องราวพิสดารบางเรื่องก็มิใช่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้ดีกว่าผู้อื่น   เพราะวงการหนังสือเก่านั้นเรื่องราวแปลกพิสดารก็เกิด

ขึ้นได้เสมอ         ความรู้ที่ไม่หยุดค้นคว้าหลักฐานทำให้อนุชนหลายคนได้รับทราบเรื่องราวที่ถือว่าเป็นเรื่องปกปิด     ถ้าจะต้องเล่ากันจริงๆ

ก็จะต้องสังหารผู้มาอ้อนวอนขอฟังเรื่องเสียหลังจากเล่าตำนาน

            
 

        


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ค. 12, 02:07
     เรื่องราวของนักอ่านนักเก็บหนังสือโดยไม่อ่านเลยและนักสะสมนั้น  เล่ากันแบบ "นินทาหน้าม่าน"  ทั่วไป   

การที่บางคนอาจจะทราบเรื่องราวพิสดารบางเรื่องก็มิใช่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้ดีกว่าผู้อื่น   เพราะวงการหนังสือเก่านั้นเรื่องราวแปลกพิสดารก็เกิด

ขึ้นได้เสมอ         ความรู้ที่ไม่หยุดค้นคว้าหลักฐานทำให้อนุชนหลายคนได้รับทราบเรื่องราวที่ถือว่าเป็นเรื่องปกปิด     ถ้าจะต้องเล่ากันจริงๆ

ก็จะต้องสังหารผู้มาอ้อนวอนขอฟังเรื่องเสียหลังจากเล่าตำนาน


^  อือม์  ถ้าใช้เกณฑ์นี้  เห็นที  มือจะต้องเปื้อนเลือดทุกวัน   โหดจัง   ;D


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 12 พ.ค. 12, 07:49
ใบปลิว สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง .........

คุณกรุ่ม ท่านเล่าว่า หวอก็ดัง ระเบิดก็ลง แต่ด้วยใจรักในการ "เก็บ" ก็ต้องเสี่ยงปั่นจักรยาน ออกไปเก็บใบปลิว ที่ทิ้งลงจากเครื่องบินก่อนหน้า เพราะขืนรอ กระดาษได้ยับเยินกันเสียพอดี  ......


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 12 พ.ค. 12, 07:58
น่าเก็บไหมหล่ะครับ !!!!!!!!

เสียดาย ที่ผมถ่ายเอกสารเก็บไว้ไม่เยอะ เพราะส่วนใหญ่ ยังอยู่ในลังอีก ๕ ลังใต้กระได และห้องเก็บของอีกส่วนหนึ่ง ที่เมื่อท่านย้ายบ้านจากวัดมรรณ (ซึ่งเป็นนิวาสถานที่พระราชทานสกุลสุรนันทน์ มาตั้งแต่สร้างกรุงฯ) ก็ไม่ได้รื้อออกจากลังอีกเลย หวังว่ากระดาษเหล่านั้น จะได้อยู่ในมือท่านนักสะสม ไม่กลายเป็นกระดาษทดเลขหรือย่อยเป็นกระดาษชำระไปเสียฉิบ.......



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 พ.ค. 12, 08:24
อ่านเรื่องคุณกรุ่มแล้ว  อดคิดถึงเรื่องที่ท่านเล่าให้ฟัง  เรื่องที่จำแม่นมักจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะมีสาระนัก  เช่นเรื่องเฝ้าฯ ถวายตัว

เรื่องนี้ท่านเล่าว่าเมื่อครั้งถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๗ นั้น  "ครูพ้อง" พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พ้อง  รจนานนท์) ผู้ดูแลเด็กที่ในหลวงทรงเลี้ยง  จัดให้เด็กๆ ที่จะถวายตัวในวันั้นแสวมเสื้อราชปะแตนขาวนุ่งกางเกงขาสั้น  ยืนถือพานเข้าแถวเรียงกัน  เด็กๆ ชุดนั้นมีอาทิ คุณพานทอง  ทองเจือ  เจ้าบุญส่ง  ณ ลำปาง และท่านอื่นๆ อีกหลายท่าน  เวลานั้นแต่ละท่านอายุยังไม่ถึง ๑๐ ขวบ  เมื่อถูกจับให้มายืนเข้าแถวรอเฝ้าฯ ก็แกล้งกันไปมา  มีเหยียบเท้ากันบ้าง  เบียดกันบ้าง  จนได้เวลาในหลวงและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จลง  ในระหว่างที่ครูพ้องกราบบังคมทูลรายงานนั้น  พวกเด็กๆ ก็ออกลิงกันหน้าพระที่นั่ง  จนในหลวงต้องทรงกลั้นพระสรวล  เวลาที่คุณกรุ่มท่านเล่า  ท่านบอกว่าให้นึกถึงพระพักตร์ในหลวงที่ทรงไว้พระมัสสุ  พอทรงกลั้นพระสรวลพระมัสสุก็กระดก  เด็กๆ เห็นพระพักตร์ในหลวงแปลกๆ ก็พลอยกลั้นหัวเราะจนหน้าแต่ละคนออกจะประหลาด  ในหลวงก็ยิ่งต้องกลั้นพระสรวลมากขึ้น  ข้างฝ่ายสมเด็จพระบรมราชินีเมื่อทอดพระเนตรหน้าตเด็กๆ ถึงกับทรงพระสรวลออกมา  พิธีวันนั้นก็เลยเกือบจะล่มเอาเพราะเด็กๆ ออกลิงกันนี่เอง 


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 พ.ค. 12, 09:01
คุณหลวงเล็กท่านเล่าถึงหนังสือตาไก่เล่มนั้น  ถึงแม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ แต่ก็ช่วยตอบข้อสงสัยและทำให้สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของโรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพให้ชัดเจนขึ้น

เรื่องของโรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพนั้น  เบื้องต้นได้ข้อมูลมาจากทางโรงเรียนว่า ครูจำรัส  หงสกุล ซึ่งทางโรงเรียนเข้าใจว่าชื่อ นางจำรัส  หงสกุล เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสัตรียุพราชวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖
เมื่อแรกเห็นนามสกุล หงสกุล ก็เข้าใจไปว่า ครูจำรัสท่านนี้คงจะเป็นภรรยาของหลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ (เรื่อ  หงสกุล) ธรรมการมณฑลพายัพ  บัณฑิตทางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์  ซึ่งไปเสียชีวิตที่เชียงใหม่ตั้งแต่อายุเพียง ๓๐ ต้นๆ 
แต่มาหวนคิดอีกที  ภรรยาของคุณหลวงอนุภาณฯ นั้นชื่อ พระพี่เลี้ยงหวน  สกุลเดิมสุรนันทน์  ซึ่งคุณกรุ่มท่านออกนามให้ได้ยินอยู่เสมอว่า "อาหวน" มิใช่หรือ?  จึงได้วานน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกในสกุลหงสกุลให้ตรวจเช็คข้อมูลจากหนังสือลำดับสกุล หงสกุล  จึงได้ทราบว่า ครูจำรัส เป็นน้องสาวหลวงอนุภาณฯ  ที่ได้ติดตามพี่ชายขึ้นไปเชียงใหม่  และได้ช่วยงานพี่ชายจัดการศึกษาสตรีคือ จัดตั้งโรงเรียนสัตรียุพราชวิทยาลัย  ซึ่งต่อมาได้ขยายเป็นโรงเรียนสัตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย" เป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกในหัวเมือง

เมื่อเสร็จการปลงศพคุณหลวงอนุภาณฯ ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชานพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชานุเคราะห์เสร็จแล้ว  ครูจำรัสได้กลับลงมากรุงเทพฯ พร้อมครอบครัวพระพี่เลี้ยงหวน  และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย  ต่อจากนั้นได้สมรสกับข้าราชการกรมป่าไม้ที่ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอนุวัตนวนรักษ์  ได้ประวัติครูจำรัสมาแค่นี้ก็ให้ดีใจรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพทราบ  ก็ทำเอาทางโรงเรียนตืนเต้นกันใหญ่  เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ข้อมูลเรื่องครูจำรัสผู้ก่อตั้งโรงเรียน

ครั้นมาได้อ่านหนังสือตราไก่ที่คุณหลวงเล็กกล่าวถึง  จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในละแวกวัดมหรรณพ์ซึ่งพระราชทานให้เป็นที่อยู่ของสกุลสุรนันทน์ และหงสกุลนั้น  ยังมีบ้านของนายพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด  วีระไวทยะ) อีกหลัง  และเมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประสบอุบัติเหตุสมัยที่เป็นนักเรียน  สมเด็จพระพันปีหลวงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระศรีฯ เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่บ้านพระยาดำรงฯ ที่เป็นแพทย์ประจำพระองค์  สมเด็จพระศรีฯ จึงได้ทรงพระดำเนินไปโรงเรียนสนตรีวิทยาพร้อมด้วยครูจำรัสเป็นประจำทุกวัน

เมื่อประมวลความสัมพันธ์ของครูจำรัสซึ่งเป็นหลานของพระยาสุรนันทน์นิวัทธกุลทางมารดาของท่าน  รวมกับสายสัมพันธ์ทางพระพี่เลี้ยงหวนแล้ว  เลยปะติดปะต่อได้ว่า  เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ เสด็จประพาสเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้น  ครูจำรัสคงจะได้ตามเสด็จขึ้นไปด้วยในฐานะคุณข้าหลวง  และคงจะได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ เสด็จไปทอดพระเนตรโรงเรียนประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"  และโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"  ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งถนน  ในตอนนี้ประวัติของโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพระบุไว้ว่า สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพนั้นว่า "วัฒโนทัยพายัพ"  ซึ่งก็มีที่มาจากพระนามาภิไธย "สว่างวัฒนา" 

เก็บความรู้จากหนังสือตาไก่ที่คุณหลวงท่านกล่าวถึงล้ว  ก็เลยพอจะปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า  ครูจำรัสคงจะเป็นผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานมงคลนามให้แก่โรงเรียนสตรีในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนนั้น  เพราะนาม "ยุพราชวิทยาลัย" นั้น  เป็นนามที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระราชทานให้แก่โรงเรียนชายสอนหนังสือไทยประจำมณฑลพายัพ  เมื่อครูจำรัสตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นนั้นยังเป็นช่วงเริ่มจัดการศึกษาสำหรับสตรีจึงต้องฝากโรงเรียนสตรีนี้ไว้กับโรงเรียนชาย  เลยได้ชื่อว่าสตรียุพราชวิทยาลัยเรื่อยมา  เมื่อโรงเรียนตั้งขึ้นเป็นปึกแผ่นจนแยกการปกครองออกมาจากโรงเรียนชายได้แล้ว  จึงน่าจะมีชื่อเป็นของตนเองต่างหาก  ชื่อโรงเรียนสตรีวัโนทัยพายัพจึงได้เกิดขึ้น  และได้เผื่อแผ่ไปถึงโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ "คำเที่ยงอนุสสรณ์"  ซึ่งสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ได้เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนในเวลาต่อมา

   


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ค. 12, 09:19
หนังสือตราไก่นั้น  ผมเองเพิ่งได้อ่านจริงเมืองสามสี่ปีที่ผ่านมา  เคยได้ครบชุด ๒ เล่ม
แต่มหาวารีปีกลายก็ทำให้พระพี่เลี้ยงสำลักน้ำ ถึงแก่กรรมเป็นครั้งที่สอง  นี่กำลังสั่งทำสำเนาอยู่

คุณวีมีเอ่ยถึงเจ้าคุณดำรงแพทยาคุณ (ฮวด  วีระไวทยะ) ก้นึกถึงหนังสืองานศพท่าน
ซึ่งพิมพืบันทึกส่วนตัวของท่านไว้ได้  ได้เปิดบางส่วน  เห็นมีที่เป็นสาระน่าสนใจอยู่
เสียดายว่า  ทำสำเนาไม่ได้  กระดาษกรอบมาก

คุณวีมีได้เอ่ยถึงขุนนางที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิื์ "ภูมีสวามิภักดิ์" ทั้ง ๓ คน
ไม่ทราบว่า  พอจะระบุได้หรือไม่ว่า  แต่ละคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้เมื่อใด
และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์หรือถึงแก่กรรมเมื่อใด


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 พ.ค. 12, 09:33
หนังสือชุดนี้ใส่ไว้ในถุงย่ามผ้าอย่างดี ยังคงประดับไว้ที่ชั้นหนังสืออย่างสง่างามเนื่องด้วยเจ้าภาพให้มามิได้ซื้อหาแต่ประการใด

นำภาพอำมาตย์โทหลวงอรุภาณศิสยานุสรณ์ (เรื่อ หงสกุล) และพระพี่เลี้ยงหวน (สุรนันทน์) มาประกอบเรื่องครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 พ.ค. 12, 11:04
ในหนังสือตราไก่เล่าว่า คุณหลวงอนุภาณฯ นั้นได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระอนุภาณสิศยานุสรรค์ แล้ว  แต่ยังมิทันได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ก็มาด่วนถึงแก่กรรมเสียก่อน

จะว่าไปชีวิตคนเราไม่อาจฝืนชะตาลิขิตได้  เพราะเคยอ่านพบในเอกสารจดหมายเหตุว่า เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ท่านได้ขอยืมตัวพระโอวาทวรกิจ (เหม  ผลพันธิน - ต่อมาเป็นพระยา) มาเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  เมื่อกระทรวงเรียกตัวพระโอวาทฯ กลับ  ก็มีดำริที่จะส่งหลวงอนุภาณฯ มาแทน  แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ รับสั่งว่า อยากจะให้คนใน คือ ครูศร  ศรเกตุ ครูประกาศนียบัตรโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  ซึ่งเวลานั้นเป็นหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองลองทำการดู  ครูศรจึงได้เป็นครูใหญ่แล้วได้เลื่อนเป็นผู้บังคับการคนแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  จนสุดท้ายได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ  และเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง ๓๐ เศษ 

เมื่อคุณหลวงอนุภาณฯ ไม่ได้เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย  มาลากุล) จึงส่งท่านขึ้นไปเป็นธรรมการมณฑลพายัพ  เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาหนังสือไทยในมณฑลนั้นให้ทัดเทียมกับในกรุงเทพฯ  เลยทำให้ท่านไปรับเชื้อบ้างก็ว่าไข้ทรพิศม์  บ้างก็ว่าไข้ป่า  จนป่วยและเสียชีวิตที่เชียงใหม่

เรื่องเจ้าคุณและคุณพระ ๓ ท่านนั้น  ได้ฟังมาแต่คำบอกเล่าของทายาทท่านทั้งสามครับ  ไม่ได้ค้นคว้าต่อครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 12 พ.ค. 12, 13:33
ลายมือ หลวงอนุภาณฯ สันนิษฐานว่า เขียนถึง คุณพระภูมีฯ พ่อคุณกรุ่ม


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 พ.ค. 12, 09:00
เห็นภาพคุณพระภูมีสวามิภักดิ์แล้ว  หวนรำลึกขึ้นมาได้ว่า  สมัยที่นักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์รัชกาลที่ ๖ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่นั้น  เด็กน้อยอย่างกระผมได้รับความเมตตาจากบุตรของท่านผู้เป็นทายาทของท่านที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาและพระภูมีสวามิภักดิ์ถึง ๓ ท่าน คือ

ท่านหนึ่งชื่อ พันเอก เรวัต  เตมียบุตร  บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์ (หยวก  เตมียบุตร)
ท่านที่สองชื่อ จุลันต์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์  (........  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ท่านที่สามชื่อ  กรุ่ม (ต๋อย)  สุรนันทน์  บุตรของพระภูีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

ทั้งสามท่านเล่าไว้ตรงกันว่า  พอบิดาของท่านทั้งสามได้รับพระราชทานราชทินนาม "ภูมีสวามิภักดิื" ได้ไม่นาน  ก็เป็นอันกราบถวายบังคมลาไปกันทุกคน

คุณวีมีได้เอ่ยถึงขุนนางที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิื์ "ภูมีสวามิภักดิ์" ทั้ง ๓ คน
ไม่ทราบว่า  พอจะระบุได้หรือไม่ว่า  แต่ละคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้เมื่อใด
และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์หรือถึงแก่กรรมเมื่อใด

เรื่องเจ้าคุณและคุณพระ ๓ ท่านนั้น  ได้ฟังมาแต่คำบอกเล่าของทายาทท่านทั้งสามครับ  ไม่ได้ค้นคว้าต่อครับ


ประวัติสังเขปเสวกโท พระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

เป็นบุตรพระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม  สุรนันทน์)  เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๓๒
ปี ๒๔๔๘  ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กวิเศษ  
ปี ๒๔๕๓  ได้ย้ายไปรับราชการที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ปี ๒๔๕๗  ย้ายมารับราชการที่กรมมหาดเล็ก  
ปี ๒๔๕๘  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายราชภัณฑ์ภักดี และยศหุ้มแพร
ปี ๒๔๕๙  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงชาญภูเบศร  และยศจ่า  
ปี ๒๔๖๒  วันที่ ๑๔ ตุลาคม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระภูมีสวามิภักดิ์
ปี ๒๔๖๗  ได้เป็นรองหัวหมื่น
ปี ๒๔๖๘  ออกจากราชการ
ปี ๒๔๗๑  วันที่ ๑๓ ตุลาคม ถึงแก่กรรมด้วยอาการป่วยโรคหัวใจรั่ว  อายุได้ ๓๙  ปี

สรุป  นายเกริ่ม  สุรนันทน์ ได้เป็นพระภูมีสวามิภักดิ์ ตั้งแต่ปี ๒๔๖๒ จนถึงปี ๒๔๗๑

ก่อนหน้านั้น  ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ภูมีสวามิภักดิ์ คือ  ขุนภักดีสวามิภักดิ์ (ตาด  จารุศิริ)
หุ้มแพร ขุนภูมีสวามิภักดิ์ (ตาด  จารุศิริ)  ข้าราชการกรมมหาดเล็ก อายุ ๔๖ ปี
ป่วยถึงแก่กรรมด้วยโรคเหน็บชา  เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน  ๒๔๖๒

สรุป  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ภูมีสวามิภักดิ์แน่ๆ ๒ คน
คือ หุ้มแพร  ขุนภูมีสวามิภักดิ์ (ตาด  จารุศิริ)  และเสวกโท พระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

แล้วอีก ๒ คนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ภูมีสวามิภักดิ์ เมื่อไร?


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 พ.ค. 12, 09:29
เห็นภาพคุณพระภูมีสวามิภักดิ์แล้ว  หวนรำลึกขึ้นมาได้ว่า  สมัยที่นักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์รัชกาลที่ ๖ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่นั้น  เด็กน้อยอย่างกระผมได้รับความเมตตาจากบุตรของท่านผู้เป็นทายาทของท่านที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาและพระภูมีสวามิภักดิ์ถึง ๓ ท่าน คือ

ท่านหนึ่งชื่อ พันเอก เรวัต  เตมียบุตร  บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์ (หยวก  เตมียบุตร)
ท่านที่สองชื่อ จุลันต์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์  (........  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ท่านที่สามชื่อ  กรุ่ม (ต๋อย)  สุรนันทน์  บุตรของพระภูีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

ทั้งสามท่านเล่าไว้ตรงกันว่า  พอบิดาของท่านทั้งสามได้รับพระราชทานราชทินนาม "ภูมีสวามิภักดิื" ได้ไม่นาน  ก็เป็นอันกราบถวายบังคมลาไปกันทุกคน


ประวัติย่อของเสวกเอก  พระยาภูวนัยสนิธ (หยวก  เตมียบุตร)
เป็นบุตรขุนนคร  เกิดเมื่อวันที่  ๓๐  เมษายน  ๒๔๒๕
เริ่มรับราชการเป็นเสมียนตรี กองกรรมการชำระพระราชทรัพย์ค้าง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ปี ๒๔๔๐ ได้เป็นมหาดเล็ก
ปี ๒๔๔๕ รับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในตำแหน่งนายเวรกรมวัง
ปี ๒๔๕๔  ประจำกรมกรมบัญชาการมหาดเล็ก
ปี ๒๔๕๖  ประจำกรมตรวจมหาดเล็ก และรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประมาณธนสิทธิ์
ปี ๒๔๕๘ รับพระราชทานยศจ่า
ปี ๒๔๕๙  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระประมาณธนสิทธิ์
ปี ๒๔๖๑  เป็นรองหัวหมื่น
ปี ๒๔๖๒  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดรุณรักษา
ปี ๒๔๖๔  เป็นหัวหมื่น
ปี ๒๔๖๖  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภูวนัยสนิธ
ปี ๒๔๖๙  ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมตรวจ กรมพระคลังข้างที่
ปี ๒๔๗๐  วันที่ ๖ กุมภาพันธ์  ถึงแก่กรรมด้วยโรคมาลาเรียขึ้นสมอง อายุได้ ๔๖ ปี

สรุป ว่าตามข้อมูลนี้  เสวกเอก  พระยาภูวนัยสนิธ (หยวก  เตมียบุตร)
ไม่เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภูมีสวามิภักดิ์

ส่วนพระยาภูมีสวามิภักดิ์ (......  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
เท่าที่ค้นข้อมูลได้  มีแต่ รองหัวหมื่น  พระยาภูวนัยสนิธ (เจริญ  เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ)
ข้าราชการกรมมหาดเล็ก  ป่วยเป็นโรคเนื้อร้ายงอกในลำคอถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๖๖
อายุได้ ๕๗ ปี   ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากนี้  แต่ก็อนุมานได้ว่า  พระยาภูวนัยสนิธ (เจริญ  เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ)
น่าจะไม่เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภูมีสวามิภักดิ์ 


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 พ.ค. 12, 10:23
ขอบพระคุณหลวงเล็กที่กรุณาไปค้นข้อมูลมาให้ครับ  สงสัยผมจะจำผิดครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 พ.ค. 12, 17:22
ขอบพระคุณหลวงเล็กที่กรุณาไปค้นข้อมูลมาให้ครับ  สงสัยผมจะจำผิดครับ

หามิได้ครับคุณวีมี  ผมอยากทราบว่าที่ว่าพระยาและพระภูมีสวามิภักดิ์ แต่ละคนอยู่ในบรรดาศักดิ์ได้ไม่นานนั้น
ไม่นานอย่างไร  ผมเป็นคนรุ่นหลัง  มีข้อมูลน้อย  จึงค่อยคลำหาจนเจอ  คนเราจำผิดพลาดกันได้ครับ
น่าสังเกตนะครับว่า  คนเก่าถึงแก่กรรม ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ขุนนางคนอื่นครองบรรดาศักดิ์แทนในปีเดียวกัน
ถ้าเป็นสมัยรัชกาลที่ ๕ คนเก่าตายแล้วบางทีก็ต้องรออีกหลายปีกว่าจะทรงตั้งใครมาแทนคนเก่า

อันที่เรื่องบ้านมหรรณพนั้น  ก็น่าสนใจ  จำได้ว่า  คุณหรรษา กับคุณหะริน  ได้เล่าไว้ในหนังสืออะไรจำไม่ได้
มีรายละเอียดอ่านสนุกมาก  ถ้าเจอหนังสือเล่มนั้นอีกจะเอามาเล่าไว้พอเป็นสังเขป (หมายความว่า ที่เหลือไปหาอ่านเอาเอง)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 14 พ.ค. 12, 20:37
เรื่องบ้านวัดมหรรณนี้ คุณกรุ่มเคยเล่าว่า ตัวเรือนใหญ่ของเจ้าคุณปู่ (เมื่อซัก ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ยังอยู่ เคยพาคุณกรุ่มไปวนรถดู ลูกหลาน สายสุรนันทน์ และหงสกุล ก็ยังพำนักอยู่บริเวณนั้นบ้าง)  ใต้ถุนเรือนยังเป็นลูกกรงไว้ขังทาส !!!! ถึงแม้จะเลิกทาสไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แล้ว ทาสบางคนก็ยังยอมตนเป็นทาสอยู่ ท่านก็เลี้ยงไว้ เวลาทำผิด ท่านก็เอาตัวมาขังไว้ใต้ถุน 

ในบ้านนี้ มีทาสคนหนึ่ง คุณกรุ่มเรียกว่า "ไอ้หมี" (เป็นผู้หญิง แต่ไม่ทราบว่าทำไมท่านเรียกว่า ไอ้ หรืออาจจะเป็น อ้าย)  ไอ้หมี มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง(ที่เขาเรียกว่า ทาสในเรือนเบี้ย คือเกิดในระหว่างที่แม่เป็นทาส)  ทำผิดอะไรไม่ทราบ จึงถูกจับขังไว้ในกรงที่ใต้ถุนเรือนพร้อมลูกสาว  คุณกรุ่มคุ้นหน้าบ่อยๆ เพราะขึ้นลงเรือนใหญ่  ท่านเคยเห็นไอ้หมีมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กหลายปี พอโตขึ้นมา ก็ไม่เห็นไอ้หมี กับครอบครัวไอ้หมีแล้ว  ................

จากนั้นมาหลายสิบปี(หลัง พ.ศ. ๒๕๐๐) ท่านมีกิจธุระต้องขึ้นไปเชียงใหม่  มีผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวดี สง่างาม เข้ามาทักทายคุณกรุ่ม บอกว่า "จำดีฉันได้ไหมค่ะ ดีฉันเป็นลูกไอ้หมี ไงค่ะ" ทักทายกันซักพักหนึ่ง ก็ลาจากกันไป  ....... มีคนเขามาถามคุณกรุ่มว่า "รู้จักคุณหญิงด้วยหรือ?" ....... ลงท้ายท่านเล่าต่อว่า "ผมก็ไม่รู้ว่า ลูกของไอ้หมี ชื่ออะไร จะเป็นคุณหญิงของใคร แต่ชีวิตคนเราก็แปลกประหลาดจริงหนอ? จากลูกทาสในเรือนเบี้ย กลายมาเป็นคุณหญิง"  (อย่างกับนิยาย ผมคิดในใจ 555+)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 พ.ค. 12, 22:50

เรื่องคุณกรุ่มนี้   เป็นเรื่องที่นักหาหนังสือ อ่านกันโดยทั่วหน้า   ชื่นชมกันว่าสนุกตื่นเต้น   สาขาสมาคมที่ ราบ ๑๑  รายงานมาเมื่อครู่




กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 พ.ค. 12, 12:05
คุณหรรษา  บัณฑิตย์ (หงสกุล) บุตรีพระพี่เลี้ยงหวน  เล่าเรื่องเรืองตระกูลสุรนันทน์ไว้ ดังนี้

"บ้านหลังที่อยู่ใกล้ถนนใหญ่  คือบ้านบน  แบ่งออกเป็นหลายหลัง  มีเรือนเจ้าคุณตา (พระยาสุรนันทน์ฯ)
กับคุณหญิงยาย  อยู่ตรงกลางหมู่  เรือนหลังนี้เป็นเรือนไม้สักหลังใหญ่  มีนอกชานต่อกลางแล่นถึงกันกับเรือนอื่นๆ
ที่อยู่รอบๆ มีเรือนเจ้าคุณลุง  เรือนคุณพ่อคุณแม่  เรือนคุณน้าพระ และมีเรือนเก็บสัมภาะอีกหลังอยู่ใกล้เรือนเจ้าคุณตา
เรือนหลังนี้  ข้างล่างเป็นใต้ถุนทึบ  ทำด้วยไม้ซุงหนา   ผู้ใหย่ท่านเล่าให้ฟังว่า  เป็นที่เก็บทาสในสมัยรัชกาลที่ ๕
ส่วนด้านบน เรียกว่าเรือนสัมภาระ เป็นที่เก็บเครื่องใช้สอยต่างๆ ที่ใช้ทำบุญเลี้ยงพระเลี้ยงคน 
มีตะลุ่ม ถาด ถ้วยชาม พรม หม้อใบใหญ่  สามารถเลี้ยงคนมาร่วมงานได้เกินร้อยคน  ..."


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: PAOPAI ที่ 15 พ.ค. 12, 14:36
ขอเรียนถามว่าปัจจุบันบ้านวัดมหรรณ์หลัีงนี้ยังมีอยู่หรือเปล่าครับ? และถ้าถูกรื้อไปแล้วก็อยากทราบที่ตั้งของบ้านด้วยครับว่าอยู่บริเวณใดในแถบนั้น เพื่อเป็นความรู้


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 พ.ค. 12, 15:54
ข้อมูลเรื่องบ้านสุรนันทน์นั้นฟังมาไม่แน่ชัด  ดูเหมือนว่าเมื่อพระยาสุรนันทน์นิวัทธกุลถึงอนิจกรรมไปแล้ว  ทายาทได้ดัดแปลงเป็นโรงเรียนหงส์สุรนันทน์  ปัจจุบันรื้อไปแล้วและสร้างเป็นอาคารพาณิชย์  แต่บ้านพระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (กระจ่าง  หงสกุล) ในละแวกเดียวกันนั้นยังมีทายาทพักอาศัยอยู่


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: PAOPAI ที่ 15 พ.ค. 12, 20:00
บ้านหลังนี้หรือเปล่าครับ? ที่ว่าเป็นของพระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (ภาพจากเว๊บไซต์โค้กไทย) เห็นมีชื่อว่าบ้านหงสกุล

น่าเสียดายครับที่บ้านพระยาสุรนันทน์นิวัทธกุลถูกรื้อไปแล้ว


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 15 พ.ค. 12, 21:32
ผมคงจำคลาดเคลื่อนครับ .............

หลังที่คุณกรุ่มพาไปดู  น่าจะเป็นหลังนี้มากกว่า และคงไม่ใช่ตึกใหญ่ แต่จะเป็นบ้านที่ท่านเคยอาศัยอยู่หรือไม่ก็ยังสับสนอยู่ บ้านหลังนี้อยู่เลยสี่แยกวิ่งตรงไปทางถนนบุญศิริหน่อยหนึ่งด้านขวามือ ด้านขวามือที่ปัจจุบันเป็นลานจอดรถ เดิมเป็นบ้านชั้นเดียวทาสีเหลืองๆ เป็นบ้านของญาติคุณกรุ่ม ถัดไปด้านหลังคือบ้านเจ้าคุณพิทักษ์เทพมณเฑียร หันหน้าออกทางตรอกเสถียร ปัจจุบันมีตึกปลูกบังอาคารอยู่ ดังเช่นรูปที่คุณ PAOPAI โฟสไว้





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 15 พ.ค. 12, 21:34
ตอนผ่านไป ไม่ได้ลงไปดูหรอกครับ นั่งชี้อยู่ในรถ แถมรำพันถึงหลานที่ได้รับมรดก แต่ไม่รักษา และเล่าไปถึงเรื่องเมื่อหนหลัง ซึ่งคุณกรุ่ม ก็เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ หงสกุล-สุรนันทน์ มองหน้ากันไม่ติด........ จนเมื่อสิ้นคุณแม่(ถ้าจำไม่ผิดอีก) ท่านก็ต้องย้ายบ้านมาอยู่แถวถนนพิบูลย์สงคราม


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: PAOPAI ที่ 16 พ.ค. 12, 00:07
ในที่สุดก็ทราบประวัติเป็นที่แน่นอนซักทีสำหรับบ้าน 2 หลังนี้ ขอบพระคุณคุณ piyasann ครับ ผมจะได้รีบไปบันทึกภาพบ้านทั้ง 2 ไว้ก่อนที่ภายหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปอีก


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 พ.ค. 12, 08:56
มีเรื่องที่คุณกรุ่มท่านเล่าถึงในหลวงรัชกาลที่ ๗ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุด

เรื่องนี้เวลาท่านเล่ากับเพื่อนๆ ท่านแล้วต้องย้อนกลับมาตรวจสอบเหมือนคุณหลวงเลยครับ

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ครั้งสุดท้าย  เวลานั้นเป็นช่วงที่กำลังทรงขัดแย้างกับคณะราษฎรอย่างรุนแรง  เวลาเสด็จพระราชดำเนินอกจากที่ประทับ  จึงมีแต่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเพียงโรงเรียนเดียวที่ไปส่งเสด็จ  ตอนที่ไปส่งเสด็จนี่แหละครับบางท่านว่า ที่วังศุโขทัย  แต่คุณกรุมท่านว่าที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  เรื่องนี้ตรวจสอบแล้วเป็นที่พระตำหนักจิตรลดา  แต่ท่านเล่าตรงกันคือ พอรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนผ่าแถวนักเรียน  ในหลวงทรงชะโงกพระพักตร์ออกมาทางหน้าต่างรถพระที่นั่ง  ทรงโบกพระหัตถ์ลานักเรียน  แล้วที่สำคัญคือ ทุกคนสังเกตพระอัสสุชลไหลหลั่งบนพระพักตร์  เหมือนจะทรงอำลาว่าจะไม่ได้ทรงพบกับนักเรียนกันอีก  แล้วจากนั้นไม่นานก็มีประกาศสละราชสมบัติ  ถัดมาอีกหน่อยพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ  ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการก็โดนคำสั่งปลดจากตำแหน่ง  พร้อมกับมีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนายกกรรมการโรงเรียนจากรัฐมนตรีศึกษษะิการเป็นนายกรัฐมนตรี


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 พ.ค. 12, 09:18
สอบถามทายาทพระยาพิทักษ์เทพมณเฑียรแล้วครับ  บ้านในความเห็นที่ ๔๖ นั้นเดิมเป็นบ้านของพระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (กระจ่าง  หงสกุล)  ที่ตกทอดมาจนถึงรุ่นเหลนในปัจจุบัน
ท่านว่าดูจากร่องรอยเดิมแล้ว  ตัวบ้านภายนอกทาสีเขียว  ด้านในบ้านเป็นสีแดง

ส่วนบ้านอีกหลังนั้นเป็นบ้านเดิมของคุณกรุ่ม  สุรนันทน์  แต่เดิมบ้านในบริเวณนี้ต่อเชื่อมถึงกันหมด  เมื่อมีการเวนคืนตัดถนนผ่านโรงเรียนหงส์สุรนันทน์จึงทำให้บ้านในบริเวณดังกล่าวถูกรื้อถอนไปเกือบหมด  บริเวณโรงเรียนหงส์สุรนันทน์ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ถูกแปลงเป็นที่จอดรถของบริษัททนายความที่เป็นตึกเหลืองๆ ติดกับบ้านพระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 19:28
ได้รับเอกสาร เรื่อง "สุรนันทน์" และคุณกรุ่ม มาแล้วครับ แมลงเมาส์ เริ่มทำงาน.........


ก่อนอื่น ขอเล่าประวัติตระกูลสุรนันทน์ ผ่านข้อเขียนของ พระยาราชสัมภารากร(เลื่อน สุนนันทน์) และพระยาสุรนันทน์วิวัทธกุล (กริ่ม สุรนันทน์) โดยท่านทั้งสองได้เขียนประวัติตระกูลไว้เช่นกัน แต่มีรายละเอียดต่างกัน ซักเล็กน้อย  


ของเจ้าคุณราชสัมภารกรนี่ เขียนขึ้นเมื่อ จ.ศ. ๑๒๓๖ = พ.ศ. ๒๔๑๗  ส่วนของเจ้าคุณสุรนันทน์ฯ ไม่ระบุปีเขียน แต่มาคัดลอกใส่สมุดฝรั่ง เดิม น่าจะเขียนลงสมุดไทยก่อนแล้วนำมาเขียนในสมุดฝรั่ง ต้องเป็นหลัง ร.ศ. ๑๒๐ เพราะสมุดที่ใช้เขียน ระบุ ร.ศ. ๑๒..... (เป็นสมุดนักเรียนของ โรงเรียนนายร้อยทหารบก)  โดยเจ้าคุณสุรนันทน์ ลอกท่อนแรก พระภูมีฯ บุตรชาย ลอกท่อนหลัง  (- คุณกรุ่มเล่าให้ฟัง) ลักษณะของการเขียนดูตัวอย่างได้ที่ คห. ๙ และ ๑๐


ทั้งสองสำนวนนี้ สำนวนหนึ่ง ได้สอบทานกับต้นฉบับของท่านเจ้าของ แลทั้งสองนี้ ได้เคยพิมพ์ลงใน ราชสัมภารากรลิขิต อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิง หม่อมขาว เกษมศรีฯ ท.จ. ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๑ กรกฏาคม ๒๕๐๕ (ซึ่งเป็นสำนวนเดียวกันกับที่พิมพ์ เมื่อคราว ๑๐๐ ปี พระพี่เลี้ยงหวน หงสกุล)

เมื่ออ่านทั้งสองสำนวนแล้ว เห็นแง่มุมน่าสนใจดี เข้าใจว่า การบันทึกประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีการเขียนลงในสมุด เป็นการเล่า ปากต่อปาก ย่อมมีความคลาดเคลือนในรายละเอียดไปบ้าง เมื่อนำมาเทียบกันแล้ว ก็จะเิกิดการสอบทาน ทั้งความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป แม้ประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเป็น Oral History แต่ก็ให้ความรู้ ความเข้าใจเหตุการณ์ได้มากขึ้น

ที่จะนำมาเปรียบเทียบกันนี้ มิใช้หมายใจว่า ของท่านใดผิด ท่านใดถูก แต่อยากให้เกิดมุมมองในเรื่องเดียวกันจากต่างคนเล่า ต่างคนคิด เพื่อเกิดการวิจารณ์ ชนิดไม่จับผิด แลหวังใจว่าจะเกิดแง่มุมที่สร้างสรรค์ขึ้นต่อไปภายภาคหน้าครับ

ขอขอบพระคุณ คุณโกศล ช่อผกา ที่กรุณามอบเอกสารส่วนตัวของคุณกรุ่ม เรื่องตระกูลสุรนันทน์ ให้เผยแพร่ครับ..........



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 19:39
การสอบเทียบนี้ ผมขอใช้ สำนวนของ พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล ขึ้นนำก่อน โดยใช้เป็นตัวหนังสือสีแดง  และ สำนวนของพระยาราชสัมภารกร ใช้เป็นตัวปกติสีดำต่อท้ายกันไปในเนื้อความที่ใกล้เีีคียงกัน

ตามจริงแล้ว สำนวนของพระยาราชฯ น่าจะเขียนขึ้นก่อน แต่ด้วยท่านให้รายละเอียดมากกว่า ประเดี๋ยวอ่านยาวแล้วจะจืดเสียหมด และของเจ้าคุณสุรนันทน์ นั้น สั้นกระชับ เขียนอย่างมองเห็นภาพเหตุการณ์ดีกว่า จึงขอนำขึ้นต้น

โดยแต่ละสำนวน ผมได้เรียงตามเนื้อหาที่ท่านเขียนไว้ ไม่ตัดต่อ โยกย้าย หรือเปลี่ยนตัวสะกดครับ (อาจจะมีเว้นวรรค หรือย่อหน้าใหม่บ้าง เพื่อให้อ่านง่าย สบายตาขึ้น)

หลังจากจบเรื่องตระกูลสุรนันทน์ทั้งสองสำนวนแล้ว จะเป็น รายละเอียดของคนในตระกูลสุรนันทน์ ที่คุณกรุ่ม บันทึกเป็นคนๆ มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากในหนังสือ หลายๆ คนในตระกูลท่าน เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ น่านำเสนอ ตามที่คุณกรุ่มตั้งใจค้นคว้าไว้  แลตอนท้าย ก็จะเป็นเรื่องของคุณกรุ่ม ที่ผมได้รับเอกสารมา เพื่อตอบคำถามของท่าน จ.ข.ก.ท. ครับ

ขอเชิญปูเสื่อ......... seat back relax and enjoy


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 19:43
"ลำดับวงษ์ตระกูล ขุนสุรสงคราม นายบ้านๆ ม่วง แขวงกรุงเก่า คือต้นตระกูลชั้น ๑  เปนพรามณ์โหราจาริย ตั้งบ้านเรือนเคหถานอยู่ณะหลังเทวสถานพระอิศวร ในกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช มีบุตร์ ชาย๓ หญิง๑ แต่ชื่อไม่ปรากฏ แต่บุตร์ชาย ๓ คนนั้นมีอัถชาไศรยเหมือนกัน ชอบคบเพื่อนฝูงแลเที่ยวไปในที่ต่างๆ"

"ข้าพเจ้าหลวงอินทรโกษา กรมพระคลังราบการ ได้เรียบเรียงเรื่องราวลำดับกรกูณยาติ ซึ่งได้สืบทราบแต่ท่านผู้ใหญ่ต่อๆ มา หวังให้บุตรหลานเหลนหลือหลืด แจ้งความไว้จะได้เว้นสิ่งชั่วประกอบการดี และมีจิตรคิดถึงพระเดชพระคุณ ประกอบความสุจริดกระตัญู ภาคเพียนจนได้ยศศักดิทรัพย์สมบัตทั้งมวนบริวาร และทรงไว้ซึ่งกระกูณได้ต่อเนื่องลงมาจนถึงปัตยุบันนี้ ก็ควนจะเอาเปนแบบอย่างได้ แม้ผู้ใดมิได้ทรงไว้ซึ่งกระกูณให้ดำรงไปได้ก็จะเปนที่รับแห่งความติเตียนดั่งเปนผู้ไม่มีความสุจริตปราษจากกระตัญูกะตะเวธี ต่อกระกูณที่ท่านแต่ก่อนได้ภาคเพียนสั่งสมไว้ จะมีชื่อชั่วไปสิ้นกานนาร เว้นไว้แต่กำมนำสนอง ถ้าผู้ใดมีความเพียนประกอบการสุจริต ปริบัติการดีให้กรกูณถวารต่อเนื่องไปได้ด้วยตนปติบัตชอบแล้วนั้น จะเปนที่สันระเสินแก่เทพดามนุษจะมีความเจริญด้วย อายุสม วัณะ ศุข ผะละ และจะบริบูรณด้วย ยศ ทรัพย สิงฆาน บริวาร ปราษจากสรัพไภยและสัตรู เปนแท้

ข้าพเจ้าได้ทราบว่ายังมีท่านผู้กุสลอุตหนุนซึ่งเปนต้นกระกูณนี้ สามคนพี่น้องจะร่วมปิตุมารดาต่างมิได้ปรากจ ที่ ๑ ชื่อ ด้วง อายุสมศัก ๒๖ ๒๗ฯ ปี ที่ ๒ ชื่อเพง อายุสมประมาร ๒๔ ๒๕ฯ ปี ที่ ๓ ชื่อสุจ อายุสมราว ๑๘ ๑๙ ฯ ปี ได้ความว่าท่านเปนกระกูณพราหม มาแต่เมืองณครศรีธรรมราช"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 19:45
"จึงได้เที่ยวมาจนถึงเมืองราชบุรีย์ ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ในรัชกาลที่ ๑) ยังทรงดำรงตำแหน่งพระยศเปนพระปลัดอยู่ในเมืองราชบุรีย์  จึงได้เข้าถวายตัวเปนข้าไต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่ในเมืองราชบุรีย์ต่อมา จนถึงเมื่อพม่าข้าศึกยกเข้าล้อมกรุงเทพ พระมหานครบวรทวารวดีแล้ว   
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระรำพึงจะใคร่ทรงทราบ ข้อราชการเรื่องพม่าข้าศึกยกมาตีกรุงเทพพระมหานครบวรทวารวดีก็ไม่มีใครรับอาษาไปสืบข้อราชการมาถวายได้ จึงขุนสุระสงครามกับพี่น้องสองคน เข้ารับอาษาจะสืบข้อราชการมาถวายให้จงได้ จึงกราบบังคมลาออกเดินแต่เมืองราชบุรีไปถึงกรุงเทพย์ฯ เข้าไปพักอยู่ในบ้านพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าวังน่าในเวลานั้นยังทรงดำรงตำแหน่างพระยศเปน นายสุดจินดา หุ้มแพร อยู่"


"มาอยู่กรุงเทพมหาณครอมรทวารวดีศรีอยุทยา จะมาด้วยกิจสิ่งใดมิได้ปรากจ ในครั้งนั้นท่านมิได้เกี่ยวข้องในราชการ แต่เดิมเมื่อท่านจะเข้ามานั้น ท่านมาทางเมืองเพชบูรีย ท่านได้รู้จักคุ้นเคยไปมารู้จัก จึ่งได้ไปภักอยู่ที่บ้านท่านหลวงยุกรบัตเมืองราชบูรียหลายวันแล้ว จึงได้เข้ามากรุงเทพฯ "


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 19:50
"ในเวลานั้นพม่ายังหาได้ยกเข้าล้อมกรุงไม่ พอพม่ายกเข้าล้อมกรุง ขุนสุรสงครามจึงได้ติดอยู่ในกรุงจนกรุงเสียแก่พม่าข้าศึกๆ จึงได้กวาดต้อนครอบครัวไทยเชลย กับขุนสุระสงคราม แลพี่น้องลงในเรือมอใหญ่ลำหนึ่งมีทหารพม่าถือดาบ คุมไปหัวเรือคนหนึ่งท้ายเรือคนหนึ่ง มีกองทัพพม่าเดินบกคุมครอบครัวไปสองฟากฝั่งน้ำเจ้าพระยา"   

"ครั้นศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก กรุงเสียแก่พม่าฆ่าศึก ครั้งนั้นราชกระกูณโบรานและข้าราชการ พ่อค้าสมณชีพราหมนาจาร ราษฎรทั้งหลายถึงกาลพินาดฉิบหาย อดอยากล้มตายเปนอันมาก พม่ากวาดต้อนไปก็มาก และท่านทั้งสามคนพี่น้องนี้ พม่าจึงได้ให้ทหารพม่า ๒ คนคุมมาในเรือโกลนเรือลำหนึ่งกับด้วยคนหลายครัวแต่มิได้พันทนาการจองจำ ครั้นเรือล่องลงมาถึงบางเขนแขวงเมืองนนทบูรีย"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 19:54
"พม่าใช้ให้ไทยเชลยผลัดเปลี่ยนกันถ่อเรือ เมื่อถึงเวลาค่ำก็ใช้ให้นั่งยามระวังรักษากันเองมิให้ทัยหนีไปได้ ในเวลานั้นกันดาลเสบียงอาหารยิ่งนัก พวกไทยเชลยไม่มีอาหารแลเกลือจะกินได้ ความลำบากอดอยากยิ่งนัก ถ้าเห็นต้น ฝรั่ง มขาม ไทร ก็แวะเรือเข้าไปรูดเอาใบมากินต่างอาหารพอประทังชีวิตไปวันหนึ่ง

จึ่งขุนสุระสงครามจึ่งปฤกษากับพี่ชายแลน้องชายว่า เรารับอาษานายของเรามาสืบข้อราชการในกรุงเพื่อจะได้นำข้อราชการไปกราบทูลให้ทรงทราบ ก็พวกรุงเสียแก่พม่าๆ ก็กวาดต้อนเรามาเปนเชลยเช่นนี้ เพราะนั้นควรเราจะคิดฆ่าพม่าที่คุมเรามาเสีย แล้วหนีกลับไปทูลประพฤติเหตุต่อเจ้านายเรา  จึงจะสมควรที่เปนชายท่านทั้งสองจะเห็นอย่างใด"


"เวลาเช้าห้าโมงเสศ พม่าจอดเรือลงนอนหลับไปทั้งสองคน ฝ่ายนายเพงเหนอ้ายพม่านอนหลับแล้วจึงนั่งนิ่งคิดพิจารณาดูคนทั้งหลายในลำเรือที่จะปฏกษาหาฤาเป็นคู่คิดแต่สักคนหนึ่งไม่มีเลย เหนเปนแต่นั่งพูดจาหลับนอนเป็นปรกติ ให้มีจิตรเกิษความสังเวศแด่คนทั้งหลายเหล่านั้นอยิ้งนัก ดุจมีความท้อถ่อยเหนื่อยหน่ายจากความเพียนและมาณะที่จะคิดเกี่ยงแก้คนทั้งหลายให้พ้นจากภัยพม่า เปนเดชะกุสลบันดาลดลจิตรคิดกลับใจเหตุที่จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณและจะได้เปนหัวน่านำกระกูณต่อไปในเบื้องน่า"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 19:57
"ท่านผู้พี่ตอบว่าถ้าเราฆ่าพม่าผู้คุมเสียแล้วเราหนีไปกลัวจะไปพบกองทัพพม่าที่คุมเรามาสองฟากแม่น้ำเข้าก็จะจับเราทั้งสามฆ่าเสีย พี่เห็นว่าจะหนีไปไม่พ้นก็จะเปนอันตรายแก่ตัว แต่ว่าเมื่อน้องเห็นดีอย่างใดแล้วก็ตามใจ แต่ท่านผู้น้องนั้นเห็นดีด้วยขุนสุระสงคราม"

"จึงพันเอินให้มีจิตรคิดมาณะตั้งมั่นมิได้คั่นคร้ามหวาดหวั่นไหว จึ่งค่อยกระซิบปฤกษาด้วยนายด้วงผู้พี่ นายสุจผู้น้อง ว่าเวลาก็จวนเทียง ตำบลบางเขนนี้นามก็เปนไชยมงคลและเทพยดาก็บันดาลที่จะให้เราพ้นเงื้อมมืออ้ายพม่าในเวลานี้เปนแน่ จึงพันเอินเรือกองทัพมิได้ล่องลำลงมา ข้าคิดจะฆ่าอ้ายพม่าทั้งสองเสีย แล้วเราภากันขึ้นบกจะได้ไปคิดการต่อไปจะเหนอย่างไร นายด้วงผู้พี่จึงว่าซึ่งเจ้าคิดนี้ก็ชอบอยู่ แต่จะจลาจลขึ้นบัดนี้ ถ้ามิตลอดจะมิภากันตายเสียหรือ อนึ่งถ้าจะหนีขึ้นบกก็เปนทำเลท้องทุ่ง เกลือกเรือกองทัพยกลงมารู้ว่าเราทำอันตรายพม่าภาพันหนีจะจัดกันแยกกองออกก้าวสกัดติดตาม ที่ไหนเราจะหนีไปพ้นเล่า นายเพงจึงตอบว่าซึ่งพี่ว่านั้นก็ควนแล้ว แต่พี่คิดเหนการเกินไป ถ้าเราฆ่ามันได้แล้วล่มจมเรือทิ้งสภเสีย ไหนอ้ายพวกกองทัพจะรู้ว่าเราหนีขึ้นกรงไหน ถึงมาทแม้นถ้ามันจะรู้ว่าเราหนี ซึ่งจะอาจทิ้งครัวขึ้นไปติดตามเรานั้นไม่มีเปนแน่ นายสุจน้องผู้น้อยจึ่งว่าการที่พี่คิดนี้ชอบแล้ว จะให้ข้าทำประการใดก็อย่าช้าเลย มันตื่นจะทำยาก"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:01
"(ขุนสุระ)จึงได้นัดหมายกันว่าเวลาค่ำวันนี้ ให้คอยสังเกตดูถ้าเห็นพม่าผู้คุมแอบหลับสนิทแล้ว ก็ย่องเข้าไปแย่งเอาดาบที่พม่าผู้คุม ฆ่าพม่าผู้คุมเสียให้ได้ จงพร้อมกันทั้งสองคน ถ้าเห็นว่าพม่าตื่นจะทำการไม่สำเร็จก็ให้แก้ตัวว่าจะเข้าไปบอกให้รู้ว่าคนครัวหนี ครั้นนัดหมายกันเสร็จแล้วก็ต่างคนไปคอยคุมเชิงพม่าอยู่ ครั้งเวลาสองยามเศษ เห็นพม่าผู้คุมนอนหลับสนิทแล้ว ทั้งสองคนจึงค่อยย่องเข้าไปที่พม่านอนทั้งเรือแลท้ายเรือ ฉวยได้ดาบของพม่าทั้งสองคนแล้ว จึงให้สัญญาฟันพม่าลงพร้อมกันตายทั้งสอง "

"นายเพงจึ่งว่า ถ้าดังนั้นเจ้าจงไปค่างน่าเรือทำกิริยาตามอุบาย เมื่อเข้าชิดแล้วลอบชักเอาพร้าของมันให้ได้ แล้วจึ่งเลี้ยวมาให้สัญา พี่จะฆ่าอ้ายคนค่างท้ายให้พร้อมกัน ครั้นพูดนัดกันแล้วก็นุ่งผ้าคาดกระสันมั่นคง ต่างค่อยเดินกรงเข้าไปประดุจมีกิจที่จะเข้าไปแจ้งความ พวกครัวไทที่อยู่ในเรือเป็นหมู่ๆ ก็มิได้มีความสงไส ครั้นเข้าไปได้ชิดเหนอ้ายพม่าหลับสนิดสิ้นสมปรดี ต่างก็อยิบพร้ายาวที่วางไว้ค่างตัวมาได้ แล้วผินมาพยักหน้าให้สัมคัญ ต่างก็ฟันอ้ายพม่าสีสะขาดตายด้วยคมพร้า แล้วก็ถีบอาสภอ้ายพม่าตกน้ำจมไปทั้ง ๒ สภ "


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:05
"คนในเวลานั้น พวกไทยครอบครัวเห็นก็พากันตกใจร้องโวยวายขึ้น ว่าฆ่าพม่าผู้คุมทั้งสองเสียแล้ว ถ้าพม่ากองทัพรู้ก็จะฆ่าพวกไทยครอบครัวเสียทั้งสิ้นจะทำอย่างไรดี ครั้งนี้คงตายหมดทั้งสิ้นเปนแน่ "

"ฝ่ายพวกครัวไททั้งหลายที่อ้ายพม่าคุมมาในเรือด้วยนั้น ครั้นเหนนายเพง นายสุจ กระทำจุลาจลฆ่าข้าหลวงเสียดังนั้น ต่างมีความวิตกๆ ใจเปนอันมาก ครั้นจะเข้าจับกุมก็เหนเหลือกำลังมิรู้ที่จะทำประการใด ต่างก็ร้องให้บ้างก็ปฤกษาปรับทุกกันต่างๆ"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:07
"ในเวลานั้นขุนสุระสงครามจึงร้องประกาศว่า ใครจะไปกับเราก็ไป เราจะได้พาไปให้พ้นไภยพม่าข้าศึก หรือใครจะอยู่ยอมให้พม่าจับฆ่าเสียก็ตามใจสุดแล้วแต่ท่านทั้งหลายจะเห็นควร "

"นายเพงเหนการจะข้าคิดจะเอาคลครัวเหล่านั้นไว้เปนกำลังต่อไป จึงบ่าวประกาษขึ้นด้วยเสียงอันดังโดยอุบายว่า ท่านทั้งหลายจะยอมไปเกี่ยวย่าช้าง และตำเข้าให้อ้ายพม่าก็ตามเถิษแต่เราสามคนพี่น้องไม่ไปเปนฆ่าอ้ายพม่าแล้ว เราจะกลับไปทำมาหากินตามภูมลำเนาเดิมแห่งเรา ท่านทั้งหลายจงอยู่คอยรับอาญาอ้ายพม่า ณ ที่นี้เถิษ เราจะลาไปแล้ว แล้วก็สาวเชือกเรือจะขึ้นบก"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:10
"พวกเหล่านั้นจึงร้องขึ้นพร้อมกันว่าพวกข้าพเจ้าทั้งหลายยอมอยู่ในอำนาจท่านทั้งสิ้น สุดแล้วแต่ท่านจะใช้สอยสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะปรนนิบัตตามทุกสิ่งทุกอย่างมิได้ขัด ขอแต่ให้พ้นภัยพม่าข้าศึกเถิด"

"ฝ่ายชาวครัวทั้งหลายนิ่งคิดตามถ้อยคำก็เห็นจริง จิ่งวิงวอรว่าท่านจงคอยถ้า อย่าทิ้งข้าพเจ้าทั้งหลายเสียเลย ข้าพเจ้าเปนคนเขลาหมดความคิดสิ้นที่พึ่งแล้ว ขอท่านจงเปนที่พึ่งภำนักแห่งพวกตูข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิษ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอตามไปให้ท่านใช้กว่าจะสิ้นชีวิตไม่ยอมไปเปนค่าพม่าแล้ว"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:14
ภาพปก และต้นฉบับ หนังสือครับ (มีท่านผุ้การุณให้ยืมมาเผยแพร่.........)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:18
"ขุนสุระสงครามจึงร้องตอบไปว่าเมื่อท่านทั้งหลายยอมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเราแล้ว เราจะได้จัดการพาท่านทั้งหลายไปให้พ้นภัยพม่าข้าศึก คนทั้งหลายก็พากันยกมือขึ้นไหว้พร้อมกัน ขุนสุระสงครามจึงคัดคนออกเปนสามกอง คือคนชายฉกรรจ์พวกหนึ่ง คนชายชราพวกหนึ่ง คนผู้หญิงกับเด็กพวกหนึ่ง รวมเปนสามกอง ขุนสุระสงครามจึงประกาศว่าสิ่งของเครื่องภาชนใช้สอยนอกจากเสบียงอาหาร ม่อเข้าม่อแกงเครื่องนุ่งห่มเงินทองแล้ว ให้ทิ้งไว้ในเรือเถิดห้ามมิให้ใครเอาไป ให้ศพอ้ายพม่าสองคนเฝ้าไว้ เมื่อเราไปหาที่พักได้เรียบร้อยแล้วจึงค่อยมาเอาของๆ เราไป
 
แล้วขุนสุระสงครามจึงสั่งท่านพี่ชายให้คุมชายชรากับหญิงให้ช่วยกัน กระทุ้งไม้กระดานท้องเรือมอออกให้เรือจมลง แลช่วยกันขนดินขึ้นถมเรือมอแลศพพม่าทั้งสองคนเสียด้วย  ให้เร่งรีบทำให้แล้วเสร็จก่อนเวลาย่ำรุ่ง ส่วนตัวขุนสุระสงครามกับน้องชายคุมชายฉกรรจ์เข้าไปในป่าตัดไม้ต่างๆ ทำอาวุธ เปนหลาวเปนพลองบ้าง เป็นไม้ขว้างกาบ้างตามแต่จะได้ ก่อนเวลาย่ำรุ่งก็ได้อาวุธครบมือกันแลการถมเรือก็แล้วเสร็จ   ขุนสุระสงครามคุมชายฉกรรจ์เปนกองน่า ท่านพี่ชายคุมครอบครัวเปนกองกลาง ท่านน้องชายคุมชายชะราเปนกองหลัง พอจัดเสร็จก็พอเวลาย่ำรุ่ง"


"ฝ่ายนายด้วงครั้นได้ฟังคนทั้งหลายวิงวอรดังนั้น จึ่งว่าเขาทั้งหลายได้อ้อนวอรจะขอตามไปด้วย ทั้งได้ร่วมศุกร่วมทุกกันมาจงคอยถ้าภาเอาไปด้วยเถิษ นายเพงจึ่งว่าถ้าดังนั้น จงเร่งพากันขึ้นจากเรือจัดเอาแต่สิ่งของที่ดีไปภอควนแก่กำลัง สิ่งของอยาบนอกนั้นจงเอาไว้ในลำเรือ ผู้ชายหญิงที่ฉกันจงริบช่อยกันโกยดินโคลนถมถ่วงเรือจมไว้ในที่นี้ เมื่อเราไปได้ที่ภักหลักแหล่ง จึงค่อยกลับมางมเอาของๆ เรา คนทั้งหลายก็เหนด้วยช่วยกันทำตามสั่ง ครั้นเสร็จล่มจมเรือแล้วก็ขึ้นมาบนฝั่งพร้อมกันนายเพงเหนคนทั้งหลายยินยอมอยู่ในใต้บังคับแล้ว จึงพากันเดินขึ้นมาห่างตลิ่งประมาร ๔ ๕ เส้น ก็หยุดภักให้ผู้หญิงหุงอาหาร ให้ผู้ชายเที่ยวหาไม้ตับมาเซี่ยมถือเปนอาวุทครบมือกัน ครั้นกินอาหารเสร็จแล้วภอตระวันชายได้เริกตามเวลา จึ่งจัดกันออกเดินน่าห้าคนถืออาวุทครบห่างกองครัวประมาณ ๖ ๗ เส้นเสศ"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:21
"ขุนสุระสงครามจึงสั่งให้ออกเดินครอบครัวตัดตรงไปทางเขาพระฉาย เพื่อจะหลีกกองทัพพม่าด้วย ครั้นเดินมาถึงเขาพระฉาย ก็ให้ตั้งชุมนุมลงพักครอบครัวอยู่ที่หลังเขาพระฉายต่อไป ครั้นวันรุ่งขึ้นจึงให้ท่านน้อยชายไปเที่ยวสืบหาเสบียงอาหารแลครอบครัวที่ยังตกค้างอยู่ในป่า ส่วนชายชะราแลหญิงก็ช่วยกันหาหัวกลอยแลมันป่ามารวบรวมเข้าไว้เป็นกำลังต่อไป  เมื่อพบครอบครัวชายหญิงก็เกลี้ยกล่อมรวบรวมเข้าเปนพวกเดียวกัน ที่เปนชุมรุมใหญ่ไม่ยอมเข้าเปนพวกเดียวกันก็ถึงรบราฆ่าฟันกันก็มีบ้าง ต่อมาขุนสุระสงครามยกไปตีชุมรุมใหญ่ที่บ้านทางกลางชะนะชุมรุมหนึ่ง ได้ผู้คนวัวควายอาวุธเสบียงอาหารมาเปนกำลังมากขึ้น นายชุมรุมต่งๆ ก็ออกเกรงฝีมือไม่กล้ามารบกวน บายบุญนากบ้านแม่ลาก็ให้คนนำเข้าปลาอาหารมาให้ขอสบถเปนเพื่อนกัน ครั้นพม่ยกกองทัพกลับไปหมดแล้ว

   ขุนสุระสงครามจึงให้น้องชายไปเฝ้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เมื่อยังประทับอยู่ที่เมืองราชบุรีทูลประพฤตเหตให้ทรงทราบ มีรับสั่งว่าดีแล้ว ให้อุส่าห์เกลี้ยกล่อมผู้คนรวบรวมไว้เถิด แต่ที่ตั้งอยู่ที่เขาพระฉายนั้นเปนที่กันดาน ถ้ายกลงมาตั้งอยู่ที่ริมน้ำได้ก็จะดี แล้วพระราชทานเงินตรา ๒ ชั่งปืน ๔ กระบอก ดาบ ๑๐ เล่ม ทวน ๑ เล่ม เสื้อผ้าคนละผืนมาให้ขุนสุระสงคราม ครั้งขุนสะระสงครามได้รับของพระราชทานแลทราบกระแสรับสั่งดังนั้นก็มีความยินดี จึงเอาเงินที่พระราชทานนั้นแจกกันคนละสลึงทั่วกัน แต่ทวนนั้นขุนสุระสงครามเอาไว้ถือสำหรับมือกับดาบหนึ่งเล่ม เหลือนั้นก็แจกพวกพ้องที่ร่วมใจ"

"ถ้าภบบ้านภบชมรมทั้งห้าคนก็อยุดเร้นรีบแบ่งกันมาบอกก่อนทุกตำบลตามสัญา แล้วก็ภากันออกเดินตามทางหลวงล่วงมาเปนหลายตำบล ในระยะทางนั้นจะภักศักกี่ตำบลและจะเรอช้าประการใดมิได้ปรากจ ได้ความแต่ว่าถ้าถึงบ้านไดชมรมไรที่รักษามั่นคงแขงแรงก็ลัดหลีกเลยไป ที่ตำบลไรร่วงโรยมิได้รวังรักษาเปนกวดขัน ก็เข้าตีกวาดต้อนผู้คนโคกระบือบริบรวบรวมเสบียงอาหารขนต่อไป"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:24
"แล้วก็ยกครอบครัวลงมาตั้งเคหถานอยู่ตำบลบ้านม่วง ตั้งทำไร่ไถนาทำมาหากินเลี้ยงกันต่อมามิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดข่มเหง ขุนสุระสงครามก็หมั่นไปมาเฝ้าแหนอยู่เสมอมิได้ขาด ครั้นได้ทรงดำรงตำแหน่งที่เจ้าพระยาจักรีจึงพระราชทานประทวนตราตั้งเลื่อนที่ขุนสุระสงครามขึ้นเป็นหลวงสุระสงคราม กองนอกขึ้นกระทรวงมหาดไทย"

ครั้นถึงตำลนบ้านวังม่วงแคว ป่าศักแขวงเมืองสะระบุรี ฝั่งตระวันออก นายเพงสั่งให้อยุดภักพิจารณา ดูภูมถานที่มีไม้ใหญ่ เหนเปนที่ไชยภูมชอบกลจึ่งสั่งคนทั้งหลายให้ขุดสนามเพลาะปลูกทับ ปักรั้วค่ายรายขวากหนามภออาไสเปนที่มั่น แล้วให้เที่ยวชักชวนชาวบาลที่ชัดเซหนีพม่าไปซุ่มซร่อนอยู่ในดงและป่าให้กลับมาทำไร่นา ซร่องสุมเสบียงอาหารไว้เปนอันมาก แต่กิจการสิ่งไดนายเพงจะว่ากล่วสิษขาษ คนทั้งหลายเปนที่นับถือยำเกรง 

ครั้นผ่ายหลังไทยตั้งตัวได้ พระยาตากได้เปนกระสัดในพระนครกรุงธนบุรี โปรดตั้งตำแหน่งหลวงยุกรบัดเมืองราชบูรี เปนพระราชรินทร เจ้ากรมตำหรวดแล้ว เลื่อนเปนพระยายมราชว่าการในกรมมหาดไทยด้วย นายเพงจึ่งเข้าฝากตัวทำราชการ ท่านตั้งให้นายเพงเปนขุนสุรสงครามนายกองเลกกองนอก ในแขวงแควป่าศักตั้งแต่ บ้านวังม่วงขึ้นไปทั้งสิ้น แล้วพระยายมราชได้เลื่อนที่เปนเจ้าพระยาจักกรีสมุหนายก ผ่ายหลังท่านมีความชอบฉะนะศึกลาวขบด โปรดเลื่อนยศขึ้นเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากรสัตศึกพิฤกมหึมมา ครั้นศักราช ๑๑๓๓ ปีฉลูตรีศกเขมนแปรภัก มิได้มาอ่อนน้อมจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากระสัตศึกฯเปนแม่ทัพถืออายาสิทคุมพลออกไปปราบปราม เมื่อยกกองทัพออกไปตั้งประชิดติดพันกันอยู่นั้น


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:39
จากข้อความเบื่องต้น จะเห็นได้ว่า ฉบับของ พระยาสุรนันทน์ จะเรียกต้นตระกูลท่านว่า "ขุนสุระสงคราม" ตั้งแต่เริ่มสำนวน  ส่วนพระยาราชฯ จะเรียกชื่อเดิมของท่านคือ "นายเพง" ตราบจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุระสงคราม 

เรื่องชื่อเดิมของขุนสุระสงครามนี้ ต่อมาเป็นที่มาของเหตุการณ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๖  โปรดติดตามอ่านต่อไปครับ



แต่ทวนนั้นขุนสุระสงครามเอาไว้ถือสำหรับมือกับดาบหนึ่งเล่ม


ทวนนี้ ผมคลับคล้ายคลับคลาว่า ตัวไม้ทวน ทายาทไปแกะทำพระ หรือะไรทำนองนั้นซักอย่าง ส่วนตัวคมทวน ไม่เคยเห็นบนข้างฝาห้องพระ มีแต่ดาบ ดั่งที่ได้เคยเล่ามาแล้ว


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 20:43
"ครั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระจริตรับสั่งให้ข้าหลวงขึ้นไปเร่งเงินราษฎรแขวงกรุงเก่า ราษฎรได้ความเดือดร้อนระสำระสายทิ้งบ้านเรือนเสียเปนอันมาก"

"ผ่ายหลังค่างกรุงธนทบุรีพระเจ้าแผ่นดินเฟือนพระสติ ถึงสัญาวิประหลาดราษดอรทั้งหลายได้ความเดือนร้อนอยิ่งนัก บ้างอบพยบครอบครัวไปเที่ยวซรุ่มซร่อนอยู่ในแขวงหลังเมืองเปนอันมาก ฝ่ายพระยาสุริยอาภัยผู้ว่าราชการเมือนครราชสิมา ทราบว่ากรุงธนทบุรีราษดอรได้ความเดือดร้อนต่างๆ จึ่งมีนังสือลับให้คนเรวออกไปแจ้งความต่อสมเด็จเจ้าพระยามหากระสัตศึกฯ ณ กองทัพที่เมืองณครเสียมราช ทราบแล้วจึงมีหนังสือตอบเข้ามาให้พระยาสุริยอาภัยลงไปฟังปรพฤติ์เหตุ ณ กรุงธนทบุรีก่อน แล้วจึ่งจะยกกองทับกลับตามเข้ามารต่อผ่ายหลัง

พรยาสุริยอาภัยได้ทราบก็ลงมาจากเมืองณครราชสีมาถึงกรุงฯ หลายวัน ครั้นเหนว่าการจะเกิษจลาจลเปนแท้อยู่แล้ว จึ่งส้องสุมเสบียงอาหาร เกลี้ยกล่อมผู้คนตั้งเปนหมวดกองพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ รักษาอยู่ ณ บ้านปูนสวนมังคุด

ครั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบว่าพระยาสุริยอาภัยประชุมผู้คลพลทหารตั้งเปนหมวดกอง จึ่งตรัษบัฌาให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอณุรักษสงครามกับพระยาสรรคบุรีย ซึ่งลงมารับราชการอยู่ ณ กรุงฯ คุมพลไพร่ขึ้นไปจับพระยาสุริยอาภัย มาถวายจงได้ กรมขุนณุรักษสงคราม

พระยาสรรคก็กราบถวายบังคมลาออกมากรวดเกณพลทหารเข้าพระบวนเสร็จแล้วก็ยกขึ้นไปยังบ้านพระยาสุริยอาภัย ๆ ทราบว่ากรมขุนอณุรักษสงครามพระยาสรรคคุมพลทหารขึ้นมาจับ จึ่งสั่งภักพวกบ่าวไพร่ให้กระเกรียมอาวุท ออกมาตั้งรับอยู่นอกบ้าน

ครั้นกรมขุนอณรักษสงครามพระยาสรรคยกขึ้นไปถึงมีใจประหมาดเหนว่าเปนคนสำส่วน จึ่งรีบเร่งผลทหารนายไพร่เข้ารุกราบเปนสามาท ยังมิได้เลี่ยงพลำกันทั้งสองฝ่าย ครั้นสิ้นเวลาก็รารบตั้งปรชิดรอกันอยู่"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:00
"หลวงสุระสงครามจึงแต่ให้คนลงมาสืบที่กรุงธนบุรี ได้ทราบความว่าที่กรุงธนบุรี ก็ได้ความเดือดร้อนเหมือนกัน หลวงสุระสงครามจึงไปปฤกษาด้วยนายบุญนากบ้านแม่ลา ว่าบัดนี้ที่กรุงธนบุรีเกิดการวุ่นวายขึ้นเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรี เสียพระจริตราษฏรได้ความเดือดร้อนนัก ถ้าทิ้งไว้ก็เกรงจะเกิดการจลาจลขึ้นอีก ท่านกับข้าพเจ้าควรจะพร้อมใจกันยกลงไปรักษากรุงธนบุรีไว้ถวายเจ้านายของเราท่านจะเห็นอย่างไร นายบุญนาคบ้านแม่ลาก็เห็นพร้อมด้วยหลวงสุระสงคราม"

"ฝ่ายขุนสุระสงครามนายกองนอก ในสมเด็จเจ้าพระยามหากรสัตศึก ซึ่งตั้งบ้านอยู่วังม่วงแควป่าศักนั้น ครั้นได้ทราบว่ากรุงธนทบุรียเกิษจลาจผรบพุ่งฆ่าฟันกันขึ้น จึ่งให้ลงมาเชิญายบุนนาก ซึ่งเปนผู้ใหญ่อยู่ในบ้านแม่ลาขึ้นไป ณ บ้านวังม่วงแล้วจึ่งคุยนำทะระหัด เหตุที่เกิษ ณ กรุงธนทบูรีเล่าให้นายบุนนากฟัง แล้วก็พูจาเกลี้ยกล่อมชักชวนลงมารำงับจลาจลและอุตหนุนกำลังพระยาสุริยอาภัย ด้วยเหนว่ามิได้มีความผิด อนึ่งการที่คิดนี้ตลอดสำเหรสได้ ถ้าราชสมบัตควรจะถวายแด่สมเด็จเจ้าพระยามหากระสัตศึก นำทัพกลับเข้ามาการจลาจลก็จึ่งจะสงบราบคาบ สมณชียพราหมราษดอรทั้งหลายจึ่งจะอยู่เยนเปนศุก ความชอบก็จะมีเปนอันมาก นายบุนากก็เหนชอบด้วยจึ่งว่า ซึ่งจะยกลงไปนั้นก็ควรอยู่ แต่การนี้ใหญ่หลวงักผู้คนและอาวุทที่จะใช้สรอยยังน้อยนักจะทำประการได ขุนสุระสงครามจึ่งตอบว่าข้อนั้นท่านอย่าวิตกเลยไว้เปนนักงานเรา แต่ท่านช่วยเปนกำลังอีกแรงหนึ่งแล้วก็เหนมิภอเปนรัย"

เนื้อความนี้ มีตรงกับในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ (ฉบับเจ้าพระทิพากรวงศ์ ขำ บุนนาค)  (อ้างจาก หนังสือ ๑๐๐ ปี พระพี่เลี้ยงหวน)

"ในแรมเดือนสี่ ปีฉลู ตรีศกนั้น จึงนายบุนนาก นายบ้านแม่ลา แขวงกรุงเก่า กับขุนสุระ คิดอ่านกันว่า บ้านเมืองเป็นจลาจลเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่เป็นธรรม กระทำข่มเหงเบียดเบียนประชาราษฏรเร่งเอาทรัพย์สิน เมื่อแผ่นดินเป็นทุจริตดั่งนี้จะละไว้มิชอบ ควรจะชักชวน ซ่องสุม ประชาชนทั้งปวงยกไปตีกรุงธนบุรี จับเจ้าแผ่นดินผู้อาสัตย์สำเร็จโทษเสียแล้วจะถวายราชสมบัติแก่ เจ้าพระยากษัตริย์ศึก ให้ครอบครองแผ่นดินสืบไป ...."


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:03
" ครั้นนัดหมายกันเสร็จแล้วหลวงสุระสงครามก็กลับมาบ้านจึงให้ตีกลองใหญ่สำหรับบ้านขึ้นสามลา เมื่อบ่าวไพร่พวกพ้องได้ยินกลองสัญญาตีขึ้นดังนั้นก็เข้ามาพร้อมกันยังบ้านหลวงสุระสงคราม พากันถามว่าจะไปทำการที่ไหนอีกขอรับ

หลวงสุระสงครามตอบว่าเมื่อพวกท่านทั้งหลายพร้อมใจกันเปนใจเดียวกับเราแล้ว เราจะได้พาท่านทั้งหลายไปทำการข้างน่าต่อไป คนทั้งหลายก็รับขึ้นพร้อมกันว่า แล้วแต่ท่านจะใช้สรอยเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายยอมทำตามท่านทั้งสิ้น มิได้คิดแก่ชีวิตเลย"

"นายบุนนากก็เหนชอบด้วย ครั้นปฤกษาตกลงเหนพร้อมกันแล้ว ขุนสุระสงครามก็ให้ยกเครื่องบูชาออกมาตั้ง ขุนสุระสงครามกับนายบุนนากก็จุดฑูปเฑียรปูชาพรรัตนไตร และสังเวยเทพยดาแล้ว ต่างอฐีถานตั้งสัจสาบาลเปนสหายรวมทุกร่วมศุกต่อกันเสร็จแล้ว ก็เกลิ้ยกล่อมคนในเวลาเดียวได้คน เดิม ใหม่ ประมาณสามร้อย นายบุนนากก็ลาลงมารวบรวมคน ณ บ้านแม่ลาไว้คอยถ้า"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:08
"หลวงสุระสงครามจึงสั่งให้คนทั้งหลายกลับบ้านเตรียมตัวไว้ให้พร้อมตามเคย เวลาค่ำให้กลับมากินเลี้ยงที่บ้านหลวงสุระสงครามพร้อมกัน ครั้นเวลาค่ำคนทั้งหลายก็มากินเลี้ยงพร้อมกันยังบ้านหลวงสุระสงคราม ครั้นเลี้ยงกันแล้วหลวงสุระสงครามก็แจกมงคลคนละดอก เงินคนละเฟื้องทั่วกัน แล้วบอกว่าเวลาค่ำวันนี้เราจะยกไปปล้นจวนผู้รักษากรุง คนทั้งหลายก็มีความยินดีโห่ขึ้นพร้อมกัน ครั้นเวลายามหนึ่งหลวงสุระสงคราแต่งตัวสะพายกระบี่เหน็บมีด ถือทวนมายืนคอยฤกษ์อยู่ที่ท่าเรือน่าบ้าน ครั้นได้ฤกษ์จึงให้ลั่นฆ้องไชยโห่ขึ้นพร้อมกันยกพลลงเรือออกจากบ้านม่วง  ล่วงลงมายังกรุงเก่าเข้าปล้นจวนผู้รักษากรุงได้ พอนายบุญนาคมาถึงก็พอสว่าง"

"ครั้น ณ เดือนสี่ ปีฉลู ตรีศก ได้เวลาอุดมฤกษ ขุนสุระสงครามก็แต่งตัวตามวันถือทวนกริ่งยา ๔ ศอกสภายดาบเปนอาวุท คุมพลพร้อมด้วยเครื่องสรรพวุทยกเปนกระบวนสรรพนาวาล่องสงมาถึงบ้านนายบุนนากก็ออกตอนรับ แล้วก็รวมพลไพร่เข้าเปนกองเดียว กำหนดเสียงสังเปนฤกษรีบยกล่อง ลงมาไนเวลากลางคืน ถึงจวนพระพิชิตนรงผู้รักษากรุงเก่าซึ่งตั้งเร่งเงินอยู่นั้นจึ่งขุนสุระสงคราม นายบุนนาก ก็คุมไพร่มีอาวุทครบมือกรูกันขึ้นไปจับพระพิชิดนรงค์ผู้รักษากรุงกับกรมการผู้ไหญ่หลายคนมัดไว้ แล้วถามว่ากรุงธนทบุรีเกิดจลาจลต่างๆ ตัวรู้ฤไม่ ผู้รักษากรุงว่าแจ้งอยู่จึ่งถามว่าตัวรู้แล้วและนิ่งเสียนั้น ตัวจะมีความผิดฤไม่ ผู้รักษากรุงก็นิ่งอยู่มิได้ตอบประการได ขุนสุระสงคราม นายบุนนากก็สั่งให้ประหารชีวิตเสีย แล้วก็ยกจะล่องลงมาบางกอก"


"นายบุนนากกับขุนสุระ ก็ยกพวกลงมาในเวลากลางคืน เข้าปล้นจวนพระพิชิตณรงค์ ซึ่งเป็นผุ้รักษากรุงเก่า ตั้งกองเร่งเงิยชาวเมืองทั้งปวงอยู่นั้น จับตัวได้ผู้รักษากรุงเก่าทั้งกรรมการฆ่าเสีย แลกรมการ ซึ่งหนีรอดนั้นก็รีบลงมากรุงธนบุรี กราบทูลว่า กรุงเก่าเกิดพวกเหล่าร้ายเข้ามาฆ่าผู้รักษากรุง แลกรมการเสีย

ขณะนั้นพระยาสรรคบุรีลงมาอยู่ ณ กรุงธนบุรี พระเจ้าแผ่นดิน จึงดำรัสให้พระยาสรรค์ขึ้นไป ณ กรุงเก่า พิจารณาจับตัวขบถเหล่าร้ายให้จงได้ และพระยาสรรค์ขึ้นไป ณ กรุงเก่า กลับไปเป็นพวกนายบุนนาก ขุนสุระ นายบุนนาก ขุนสุระ จึงมอบให้พระยาสรรค์เป็นนายทัพยกลงมาตีกรุงธนบุรี แลจัดแจงพวกทหารให้ใส่มงคลแดงทั้งสิ้น"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:14
"หลวงสุระสงครามจึงปฤกษาด้วยนายบุญนาคบ้านแม่ลาว่า บัดนี้เราก็ได้ทำการเกินมาถึงเพียงนี้แล้ว ถ้านิ่งช้าไว้ภัยก็จะมาถึงตัวเรา ควรเราจะเร่งรีบยกลงไปตีกรุงธนบุรีเสียให้ได้อย่าให้ทันรู้ตัว แล้วรักษากรุงธนบุรีไว้ถวายเจ้านายของเราๆ ก็จะได้ความศุขต่อไปสืบบุตร์แลหลาน ท่านจะเห็นอย่างใด นายบุญนากก็เห็นด้วย

หลวงสุระสงคราจึงให้เอาเงินทองสิ่งของต่างๆ ที่ปล้นได้ ออกแจกจ่ายไพร่พลทหารแลราษฏรทั่วกันแล้ว รีบจัดให้นายบุญนากบ้านแม่ลา กับน้องชายคุมไพร่พลเปน กองน่า รีบยกลงไปตีกรุงธนบุรีก่อน แล้วหลวงสุระสงครามเกลี้ยกล่อมราษฏร เก็บรวบรวมเครื่องสาตราอาวุธเรือแพเสบียงอาหารได้แล้วยกลงไปเปนกองหนุน"


"ฝ่ายกรมการที่เรอนเคียงบ้านจึ่งลงเรือเรวรีบมาแจ้งความยังเวรมหาดไทยให้กราบทูล ครั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบจึงดำหรัดสั่งให้เจ้าพระยามหาเสนา พระยาสรรด์ตีบ้านพระยาสุริยอาภัยให้แตกโดยเรว แล้วให้ยกขึ้นไปจับผู้ร้ายที่ฆ่าผู้รักษากรุงมาจาได้ เจ้าพระยามหาเสนา พระยารามัญวงษก็กราบถวายบังคมลา คุมพลทหารรีบขึ้นไปแจ้งกระแส รับสั่งต่อกรมขุนอณุรักสงคราม พระยาสรรค์ให้ทราบทุกประการ

แล้วก็ขึ้นปันน่าที่แยกพลทหารเปน ๔ กองเร่งกระทำการรุกรบเปนกวดขันยิ่งขึ้นกว่าเก่า แล้วสั่งให้เอาเพลิงจุดเผาเรือน ราษดอร ซึ่งตั้งอยู่ต้นลม ไม่ขึ้นเปนอันมาก จวนจะถึงบ้านพระยาสุริยะอาภัยๆ ก็จุดฑูปเฑียรตั้งสัตยาธิถานภอลมหวนพัดกลับเพลิงค่อยซราลง ต่างยิงปืนโต้ตอบกันเปนสามาดมิได้ขาดเสียง พลทหารถูกอาวุทป่วยจบล้มตายทั้ง ๒ ค่างเบาบางลงแต่มิใด้ถอยผละละจากกัน

ภอขุนสุระสงคราม นายบุนนากยกลงมาถึงได้ยินเสียงปืนยิง โต้ตอบกันมิได้ขาษเสียง เหนควันเพลิงกำลังติดกรงบ้านพระยาสุริยอาภัยจวนจะเสียที เพราะตกอยู่ในที่ล้อม นายบุนนากเหนตังนั้นจึงจำเราจะรวบรวมให้พร้อมกันก่อน จึ่งยกเข้าไปด้วยพวกเรามีแต่อาวุทสั้น ท่านจะเห็นประการได ขุนสุรสงครามจึ่งว่าซึ่งจะรออยู่นั้นไม่ได้ ด้วยพระยาสุริยอาภัยจวนจะเสียทีอยู่แล้ว ฝ่ายเรามีปืนก็น้อยนัก เวลานี้กำลังเพลิงติดทั้งรบพุ่งติดพันชุลมุนกันอยู่ พวกเรากุมอาวุดสั้นเข้าทะลวงฟันตีขนาบหลังขึ้นไป ฆ่าศึกไม่ทันสังเกษ และจะกลับตัวมิทันคงเสียทีแก่เราเปนแท้

นายบุนนากได้ฟังเห็นชอบด้วย จึ่งร้องเร่งเรือทหารให้รีบเข้าให้พร้อมกัน ฝ่ายขุนสุรสงครามยืนถืออาวุทง่ามาน่าเรือเร่งให้จอดภอถึงฝั่งสั่งให้เป่าสังลั่น ฆ้องขับพลทหารโห่ร้องขึ้นทะลวงฟันตีขนาบหลังทหารด้านกรมขุนอณุรักสงครามพระยาสรรค์ตกอยู่ไนระหว่างศึกขนาบ จึ่งสั่งให้แยกพลหารออกรับทั้ง ๒ ค่าง ต่างเข้าต่อรับกันเปนช้านาน ขุนสุรสงครามนายบุนนากเหนทหารอิดโรยช้ำชอก นักภอเรือกองหลังมาถึงก็เร่งกัน เข้ารบเปนตลุมบอนถึงอาวุทสั้น

พระยาสุริยอาภัยเหนผู้คนสับสน เสียงโห่ร้องหลั่งทหารฆ่าศึกและทหารด้ารกรมขุนอณุรักสงคราม พระยาสรรค์ก็เรรวนมิได้เปนหมวดกอง จึ่งคิดว่าฉะรอยจะมีผู้มาช่วยเปนแน่ก็รีบเรียกทหารที่สำรับเฝ้าบ้านชั้นใน คุมออกไปช่วยกองน่าเร่งขับกันเข้ารบขนาบออกไปเปนสามาดมิได้ถ้อถอย ถึงอาวุทสั้นต่างต่างเข้าแทงฟันกันเปนตลุมบอน

พระยาสรรเหนเชิงเปนศึกขนาบทั้งพลทหารก็อ่อนกำลังรวนเรอิดโรยลง เหนจะสู้มิได้ ครั้นจะหนีไปก็เห็นจะมิพ้นเสียใจนัก ภอเหนขุนสุรสงครามไล่แทงทหารกองหลังแตกกรจายเข้ามาไกล้ ก็มิได้คิดต่อสู้ยอมเข้าสามิภักดี ขุนสุรสงครามก็ให้ทหารคุมตัวไว้ เล่าพลไร่ก็แตกหนีที่จับเปนได้ก็มาก ขุนสุรสงคราม นายบุนนากเร่งขับทหารเข้าโจมฟันกองกรมขุนอนุรักสงครามๆ กับทหารเข้าอยู่ในที่ล้อมอิดโรยเรรวนลงเหนจะเสียที ก็ขับทหารรบหักแหกออกไปได้

ฝ่ายพรยาสุริยอาภัยไล่พลทหารให้รีบตามจับกรมขุนอนุรักสงครามจะหนีค่ามคลองบางกอกน้อย ภอทหารพรยาสุริยอาภัยจับได้จำครบไว้แล้วให้ตราจันผู้ที่เปนนายกองคุมพลมาตีบ้าน ทหารจับได้หลายนายให้จำครบไว้

ในเวลานั้นขุนสุระสงคราม นายบุนนากก็นำพรยาสรรค์กับไพร่สาพิภักดิ์เข้าไปหาพรยาสุริยอาภัย แจงความที่คิดกันแต่ต้นจนได้รบกับพระยาสรรค์ จึ่งว่าครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ทำการแก้ตัวภอลบล้างโทษศักครั้ง๑เถิด ข้าพเจ้าจะขอาษาคุมทหารไปตีกรุงธนทบุรีไว้ถวาย ท่านจะเห็นปรการไดถ้าท่านเหนด้วย ข้าพเจ้าจะกระทำสัตยสาบานไว้ต่อท่านพระยาสุริยภัยก็ยอมให้พระยาสรรคคุมทหารไปกระทำตามคิด"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:25
ไม่รู้ มันส์ หรือมึน เพราะตัวหนังสือเยอะ ??????  ::) ::) ::)

ขอคัน ด้วยภาพ ครอบครัว ทายาท ตัวละครในท้องเรื่องที่เล่าอยู่นี้ครับ

จากซ้าย : กรุ่ม กรัด นางภูมีสวามิภักดิ์ (สุดใจ) พระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม) และ การัน


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:30
"เมื่อนายบุญนากยกลงไปนั้น ไปพบกองทัพพระยาสรรค์ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งใช้ให้ขึ้นไปจับนายบุญนาก พระยาสรรค์กลับเข้ากับนายบุญนาก ยกลงมาตีกรุงธนบุรีได้ พระยาสรรค์เข้านั่งเมือง พอสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเมื่อยังทรงดำรงพระยศเปนพระยาสุริยอภัยยกลงมาแต่เมืองนครราชสีมา พระยาสรรค์กลับคิดอยากได้ราชสมบัติ์ ครั้นเวลาค่ำรอบยกไปปล้นวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอตำบลบ้านปูน ในเวลารบกันอยู่นั้น พอหลวงสุระสงคราม ยกลงมาถึงเห็นแสงไฟสว่างอยู่ จึงสั่งให้คนลงเรือโขนรีบลงมาสืบก็ได้ความว่ามีข้าศึกมาตีวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ หลวงสุระสงครามจึงสั่งให้ไพร่พลเตรียมตัวให้พร้อม ให้ไพร่ผลที่มีปืนเปนกองน่าให้อยู่แต่ในเรือ นอกนั้นเปนกองหนุนให้คอยตามหลวงสุระสงครามขึ้นไป เมื่อยกไปนั้นอย่าให้มีปากเสียง ต่อเมื่อใดได้ยินฆ้องสัญญาแล้วจึ่งให้โห่ขึ้นพร้อมกัน ครั้นยกลงมาใกล้ตำบลบ้านปูนแสงไฟสว่างอยู่ก็แลเห็นตัวข้าศึกถนัด

หลวงสุระสงครามจึงนำไพร่พลโดดขึ้นบนตลิ่งไล่ฆ่าฟันข้าศึกเปนตลุมบอน แล้วกลับมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอๆ รับสั่งให้ตั้งกองรักษาระวังอยู่จนสว่าง ครั้นรุ่งขึ้นก็พาไพร่ผลเข้าพักอาไศรยอยู่ในวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ"

"พระยาสรรคกระทำสัจแล้วก็ลาคุมพลกลับเข้าปล้นตีเอากรุงธนทบุรีได้ แล้วกลับใจละความสัตยหมายจะเอาราชสมบัตรเสียเอง จึ่งคิดกับหลวงแพ่งผู้น้องและขุนนางเก่าหลายคนให้ศึกพระเจ้าแผ่นดินออกพันธนาไว้แล้ว ให้ตั้งกองขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินเปนกวดขัน ฝ่ายพระยาสุริยอาภัยทราบว่าพระยาสรรคคืนคายความสัตย กระทำการทุจริตคิดจะต่อสู่ดังนั้น จึ่งให้ตั้งค่ายมั่น ณ ที่บ้านเดิม บ้านปูน เหนือ สวนมังคุดซึ่งเปนที่พิไชยสวัดวัฒณนามตามพิไชยสงครามเสด็จ แล้วให้มีไบบอกชี้แจงแจ้งข้อราชการออกไปกราบเรียสมเด็จฯ ณ เมืองนครเสียมราช ครั้นได้ทราบข้อความในหนังสือบอกแล้วจึ่งคิดว่าถ้าจะช้าอยู่ สมณชีพราหมอนาประชาราษดอรจะได้ความเดือดร้อนยิ่งขึ้นไป จึ่งสั่งให้กรวดเกรียมพลธาหารในเวลานั้นเสร็จ ก็เร่งรีบดำเนินทับกลับ ครั้นถึงกรุงธนทบุรี ฝ่ายพรยาสรรคกับหลวงแพ่งได้ทราบว่าทับหลวงกลับ ให้มีใจครั่นคร้ามขามพรเดชเดชาณุภาพยิ่งนัก มิอาจตั้งตึงขงแขงอยู่ได้ ก็ออกมากราบถวายบังคมพร้อมด้วยบุนนางข้าราบการทั้งหลายในที่ประชุม จึงโปรดให้พิภากษาโทษผู้กรทำผิด ประหารชีวิตเสียให้เปนแบบอย่าง"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:33
"จนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยเสด็จเข้ามาปราบดาภิเษก เสวยศิริราชสมบัติณกรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนที่หลวงสุระสงคราม ขึ้นเปนพระบาสีหราชเดโชไชยๆ จึงยกครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ ตำบลบ้านตนาวริมถนนเฟื้องนครกับถนนศิริอำมาตย์ต่อมา

ทรงใช้สรอยเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยสนิทสนมมาก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามคราวใด ก็ได้ตามเสด็จด้วยทุกครั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้วฯ ให้เปนเจ้าพนักงานรักษาประตูค่ายน่าพลับพลาเสมอ ครั้นต่อมาทรบพระกรุณาโปรดเกล้าเลื่อนที่ขึ้นเปนพระยารามจตุรงจางวางอาษาหกเหล่า ได้พระราชทานทองกบี่ฝักทองแคร่กันยาเปนเกียรติยศ แล้วป่วยเปนลมอำมภาศถึงแก่กรรมในรัชกาลที่หนึ่ง แต่จะมีบุตร์หลานกี่คนไม่ปรากกแน่"

"เสร็จแล้วจึ่งมุขมลตรีทั้งหลายพร้อมกันกราบถวายบังคมทูลอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัรเปนหลายครั้ง จึ่งทรงรับอาราธนา ครั้นตั้งการพรราชพิธีปราดาเสร็จแล้ว จึ่งพรราชทานบำเหน็จแก่ผู้มีความชอบเปนอันมาก โดยถานาศึกสมควนแก่ความชอบจึ่งโปรดให้ขุนสะระสงครามเปนพรยาสิงหราชเดโชไชย ถือศักดิ์นาหมื่นหนึ่ง พระราชทารถาดหมาก กราโถนทองคำ ประคำทอง ดาบฝักทองจำหลัก เสื้อหมวกทรงประภาด สัปรทนโตะเงินกับข้าวของกิน คนเชลย ชาย หญิง ที่บ้านนอกกำแพงด้าน ตะวันออกริมคลองคูพรนคร แต่ช่องกุดล่างจนช่องกุดบนทีเปนสภานเหลก ถนนเจริญกรุงทุกวันนี้ ผ่ายหลังชราลงทรงเหนว่ายังไม่สมควรแก่ความชอบ จึ่งโปรดเลื่อนยศขึ้นเป็นพรยารามจัตุรงค์ จังวางได้ว่าทหารทั้ง อาษา ๖ ๘ เหล่า ศักดินาเครื่องยศเดิมพรรยาท่านชื่อท่านทองอยู่ เปนท่านผู้หญิง

ครั้นต่อมาโปรดตั้งนายด้วง ผู้พี่เปนพรยาสมบัติบาล เจ้ากราพรคลังไนขวา โปรดตั้งนาสุจผู้น้องเปนจมื่นทิพรักษา ปลัดตำหรวจกรมสนมขวา

โปรดตั้งให้นายบุนมาน้องรองท่านผู้อยิงทองอยู่ เปนที่พระยารามคำแหง เจ้ากรมอาษาแปดเหล่า

อนึ่งนายขุนทองอยู่ที่บ้านท่าช้างฝั่งตะวันตกแควป่าศักครังแผ่นดินเจ้าพระนคอรธนบุรี เจ้าพระยาจักตรี ตั้งให้เปนที่ขุนสัจาบรักษ นายกองเลข สม ทนาย เมื่อไปทัพเมืองณครเสียมราปได้ตามไปด้วย ครั้นได้ราชสมบัติโปรดยกความชอบตั้งให้เปนที่พระยาท้ายน้ำได้พระราชทานเครื่องยศถาดมาก คนโฑ กระโถน ปรคำทองคำ เครื่องทรงประพาด สัปทน ดาบฝักทอง ที่บ้านในกำแพงริมคลองแต่เชิงสภาบช้าง ถึงริมถนนเจิรญกรุงเปนสี่เหลี่ยมที่ตั้งโรงหวยทุกวันนี้ ครั้นผ่ายหลังพระยาสมบัติบาล ท่านผู้หญิงทองดีพรรยา มีบุตที่ ๑ หญิงชื่อทองคำ บุตที่ ๒ หญิงชื่อหง ทำราชการเปนเจ้าจอมอยู่งานในพระบันฑูลที่ ๒ บุตที่ ๓ ชื่อนายบุนมีพระบันฑูลที่ ๒ ตั้งให้เปนที่หลวงวิจิตรภูษา ในกรมภูษามาลา บุตที่ ๔ ชื่อนายเสือเปนหมาดเลกไนกรมพระราชวังบวรแต่บุตพรรยาน้อยจะมีอีกกี่คนมิได้ปรากจ"





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:35
แต่หน้านี้ต่อไป เป็นประวัติของบุคคลในตระกูล สุรนันทน์ ซึ่งประดิพัทธ์พัวพันกันหลายหลาก ......... จะเขียนก็เกรง จะมึนหัวปวดขมอง จึงขอยกยอด ขึ้นเรื่อง สกุล สุรนันทน์ ที่คุณ กรุ่ม ได้รวบรวมไว้ เป็นคนๆ จะเหมาะกว่า........................


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 มิ.ย. 12, 21:45
ภาพพระภูมีสวามิภักดิ์และครอบครัวนั้น  ที่มุมล่างขวาของภาพมีลายมือเชียนไว้ว่า "ราชสาทิศ"
เป็นพยานยืนยันว่า ภาพนี้เป็นภาพถ่ายที่ร้านหลวงในงานฤดูหนาว พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงฉาย


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 23:00
หน้าปก .......

ผมขอเล่าเก็บความจากในหนังสือเล่มนี้แทนการลอกมาทั้งหมดครับ สำหรับประวัติเมื่อครั้งวีระกรรมขุนสุระ หรือพระยาสีหราชเดโชไชย หรือพระยารามจัตุรงค์นี้ เห็นว่าน่าสนใจ และมีเอกสารเปรียบเทียบจึงเห็นควรนำลงให้อ่าน กึ่งฉบับ ในตอนสนุก ส่วนตอนท้าย ว่าด้วยประวัติบุตรหลาน ขอเขียนใหม่ ให้อ่านง่ายครับ ..........



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 23:17
ตามหนังสือประวัติตระกูล กล่าไว้ว่า  "สุรนันทน์" สืบเชื่อสายมาจากพราหมณ์ โหราจารย์ ในโบสถ์พราหมณ์ เทวสถานพระอิศวร เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในเมืองนครฯ (ถนนราชดำเนิน)


สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาพันธุวงศ์วรเดช ได้อธิบายสภาพของหอพระอิศวร ใน พ.ศ.๒๔๒๗ ไว้ในหนังสือชีวิวัฒน์ความตอนหนึ่งว่า (เครดิต คุณนภดล ในกระทู้เรือนไทย)
         
"...ข้างโบสถ์ด้านเหนือมีหอมุงกระเบื้องเฉลียงรอบตัวอยู่หลังหนึ่ง เป็นที่พวกพราหมณ์อาศัย ที่ลานโบสถ์นั้นมีเสาชิงช้าอันหนึ่งสูงประมาณ ๓ วา ที่เทวสถานนั้นมีพวกพราหมณ์นุ่งขาวอยู่หลายคน..."

ในจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ ของสักขี (พ.ศ.๒๔๕๘) ปรากฏความตอนหนึ่งว่า
         
"........ รูปแบบของหอพระอิศวรในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๘.๕๐ เมตร สูงจากฐานประมาณ ๙ เมตร ก่ออิฐถือปูนยกพื้นสูงเฉพาะตัวอาคารกว้าง ๔.๒๐ เมตร ยาว ๘.๙๐ เมตร ด้านหน้าก่อผนังทึบ ด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง มีหน้าต่างข้างละ ๑ ช่อง ด้านหน้าเป็นประตุเข้า ๑ ช่อง โดยรอบเป็นระเบียงลูกกรงไม้ ห่างจากผนัง ๑.๓๐ เมตร หลังคาเป็นรูปทรงไทย มุงกระเบื้องดินเผา มีหางหงส์และใบระกา ด้านหน้าเป็นมุขลดหลั่นลงมา

ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชครั้งรัชกาลที่ ๒ ระบุว่าให้มีตำแหน่ง สังกัดศาลตุลากร อย่างน้อยจำนวน ๑๖ ตำแหน่ง ถือศักดินา ๒๐๐ เป็นพนักงานปฏิบัติราชการเนื่องด้วยหอพระอิศวรและเสาชิงช้าภายใต้การกำกับของ ขุนยศโสธรณ์พญาริยศศรีนาคเทวัญ ถือศักดินา ๘๐๐

คุณกรุ่มเคยเดินทางไปตามสืบรากเหง้า ของตนที่จังหวัดนครฯ เมื่อประมาณปี ๒๕๐๐ ท่านยังพบญาติที่สืบเชื่อสายจากพราหมณ์ นครฯ และไปไหว้สุสานฮินดู ซึ่งยังเป็นสุสานของบรรพบุรุษท่านด้วย ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันสุสานนี้ยังอยู่หรือไม่?

ภาพเทวสถานพระอิศวร ในปัจจุบัน (เครดิตภาพ : http://www.panoramio.com/photo/52965284 )
 



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 20 มิ.ย. 12, 23:27
ต้นตระกูลของท่าน ชื่อ เพง มีพี่น้อง ๔ คน ปรากฏชื่อดังนี้

๑. ชื่อ ด้วง ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาราชสมบัติบาล ก็เรียก พระยาสมบัติบาล ก็เรียก ตำแหน่งเป็น เจ้ากรมพระคลังในขวา

๒. ชื่อ เพง แต่ในประวัติสำนวน พระยาสุรนันทน์ฯ ไม่เรียกท่านว่า เพง เลย (เรื่องชื่อของท่าน มีประเด็นอีกหลายประการ) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สุดท้ายที่ พระรารามจัตุรงค์ จางวางว่ากรมทหารอาสา ๖ แล ๘ เหล่า

๓. ชื่อ สุจ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น จมื่นทิพรักษา ปลัดตำรวจ กรมสนมขวา

ส่วนนาม พี่น้องผู้หญิงอีก ๑ ไ่ม่ปรากฏ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 21 มิ.ย. 12, 00:03
ก่อนจะเข้าเรื่องนายเพง ขอผ่านไปเรื่องพี่น้องท่านก่อนครับ

๑. พระยาราชสมบัติบาล หรือ พระยาสมบัติบาล

วีระกรรมของท่านคือ ร่วมกับ พระยารามจัตุรงค์ ช่วยเชลยครัวไทย ให้รอดพ้นพม่า และถวายตัวเข้าสวามิภักดิ์ ร่วมรบ ช่วยพระยาสุริยอภัย (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข - วังหลัง ) ทำศึกจนมีคุณงามความดี

เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยาราชสมบัติบาล เจ้ากรมพระคลังในขวา 

(ลองไปค้นๆ ดู ปรากฏว่า ตำแหน่ง เจ้ากรมพระคลังในขวา มีราชทินนามคือ "สมบัติธิบาล" เช่น พระสมบัติธิบาล หรือ "สมบัติยาธิบาล" เช่นพระยาสมบัติยาธิบาล (บุญเกิด อมาตยกุล สมัยกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งน่าจะเป็นตำแหน่ง "พระยาสมบัติยาธิบาล" เจ้ากรมพระคลังในขวา เก็บภาษี(บางประเภท)

พระยามีชื่อนี้ ได้ท่านผู้หญิงทองดี เป็นภรรยา มีบุตรด้วยกัน ๔ คนคือ

๑. หญิงชื่อทองคำ

๒. หญิงชื่อหง ทำราชการเป็นเจ้าจอมอยู่งานในพระบัณฑูรที่ ๒ (? น่าจะหมายถึง กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือไม่ เพราะบิดาเคยรบเพื่อพระองค์มา)

๔. ชื่อนายเสือ เป็นหมาดเล็กไนกรมพระราชวังบวร

บุตรภรรยาน้อย ไม่ปรากฏ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 21 มิ.ย. 12, 00:19
จมื่นทิพรักษา (สุจ สุรนันทน์)

ประวัติมีน้อยมาก ที่ปรากฏ คือเช่นเดียวกับพี่ชายคนโต ตาม คห. ด้านบน........

ได้รับพระราชทานรางวัลตอบแทนในการศึก เป็นที่ จมื่นทิพรักษา ปลัดตำรวจกรมสนมขวา

บรรดาศักดิ์นี้ น่าจะเป็น ปลัดกรมพระตำรวจนอกขวา (เอ๋..... กรมเดียวกันป่าวหว่า?) มากกว่าครับ ตามตำราคือ จมื่นทิพเสนา ปลัดกรมพระตำรวจในขวา, จมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย,
จมื่นทิพรักษา ปลัดกรมพระตำรวจนอกขวา, จมื่นราชาบาล ปลัดกรมพระตำรวจนอกซ้าย

กรมพระตำรวจ สมัยนั้น ก็เปรียบเหมือนราชองครักษ์ อยู่ในกระบวนเสด็จ ฯ ถวายความปลอดภัย รวมทั้งควบคุมตัวนักโทษหน้าพระที่นั่ง ฯลฯ

จมื่นทิพรักษา มีบุตรชาย ๓ คน ที่ ๑ ชื่อ พลายเพ็ช ที่ ๒ ชื่อพลายบัว บุตรที่ ๓ ชื่อ นายน่วมเรือง


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 21 มิ.ย. 12, 10:46
ต้นตระกูล "สุรนันทน์"

พระยารามจัตุรงค์

ประวัติเดิม ท่านสืบเชื่อสายมาจากตระกูลพราหมณ์ เมืองนครศรีธรรมราช ".....มีอัถชาไศรยเหมือนกัน ชอบคบเพื่อนฝูงแลเที่ยวไปในที่ต่างๆ จึงได้เที่ยวมาจนถึงเมืองราชบุรีย์ ในเวลานั้นในรัชกาลที่ ๑ ยังทรงดำรงตำแหน่งพระยศเปนพระปลัดอยู่ในเมืองราชบุรีย์  จึงได้เข้าถวายตัวเปนข้าไต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่ในเมืองราชบุรีย์ต่อมา...." 

จากหนังสือประวัติตระกูล ไม่แน่ชัดว่า ท่านกับพี่น้อง จะเดินทางขึ้นมาจากเมืองนครฯ เลย หรือพ่อ-แม่ ย้ายครัว ขึ้นมาอยู่ ณ ที่แห่งใด ก่อนที่จะหนุ่มฉกรรจ์ ท่องเทียวจนสมัครใจ ฝากตัวเป็นคนของ "ท่านหลวงยุกรบัตเมืองราชบูรีย"

จนเมื่อถูกจับเป็นเชลยเมื่อคราวเสียกรุง คิดอ่านการดี ไม่ยอมไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง เกี่ยวข้าวให้ช้าง ให้พม่า ฆ่าผู้คุม หว่านล้อม ชักชวน เชลยไทย แลรวบรวบชาวบ้านที่แตกกระเจิง รวมเป็นชุมชนตั้งอยู่บ้านวังม่วง แขวงป่าสัก จังหวัดสระบุรี  ได้รับแต่งตังจากพระยายมราช (รัชกาลที่ ๑) เป็น ขุนสุระสงคราม นายกองเลข กองนอก แขวงป่าสัก

เมื่อคราวกรุงธนบุรี เกิดจลาจล ขุนสุระฯ ได้ชักชวน นายบุนนาก บ้านแม่ลา* (เจ้าพระยาพลเทพ) ยกไพร่พลลงมายึดเอากรุงเก่า จับตัวพระพิชิตณรงค์ ผู้รักษากรุงประหาร แล้วยกพลมาช่วย พระยาสุริยอภัย (พระเจ้าหลานเธอฯ ในรัชกาลที่ ๑ - กรมพระราชวังหลัง)


ความตีรันฟันตู โปรดย้อนกลับไปอ่านในความเห็นที่ได้แสดงไว้ก่อนนี้.........


ขุนสุระฯ ทำการยุทธ ณ บ้านปูน สวนมังคุด คือที่บ้านของพระยาสุริยอภัย (ฝั่งธนบุรี ระหว่างวัดอมรินทราราม กับ วัดระฆัง - ถ้าดูตามแผ่นที่ ก็นับว่าไม่ห่างจากพระราชวังเดิมมากเท่าไหร่ คิดแล้วท่านก็ซ้องสุมผู้คนอยู่ใต้จมูกพระเจ้ากรุงธนนี่เอง !!!!!! )

เมื่อเสร็จการยุทธ จับตัวพระยาสรรค์ ซึ่งแปลพักต์ อาสาไปตีกรุงธนบุรี ( ก็บ้านพระยาสุริยอภัย ยุทธภูมิบ้านปูน ก็อยู่ข้างพระราชวังเดิม ต้องนับว่า "ไปตีข้างบ้าน" ...... คำว่า อาสาไปตีกรุงธนบุรี คงหมายถึง ยึดวัง - จับตัว พระเจ้ากรุงธน มากกว่าเข้าตี เพราะอยู่ในกรุงธนฯ อยู่แ้ล้ว ............) ในพงศาวดาร และ คำบอกเล่าของตระกูลสุรนันทน์ ว่า พระยาสรรค์จับตัวพระเจ้ากรุงธนได้ ก็คิดจะเอาบัลลังค์ไว้เอง ข้อความนี้ น่าคิดอยู่ ว่าท่านจะเอาราชสมบัติไว้เอง หรือยึดไว้ให้เจ้านายพระองค์อื่น????  ก็แหม... ท่านเจ้าคุณราชสัมภารากร เขียนว่า เมื่อทราบว่า เจ้าพระยาจักรี จะยกทัพหลวงลงมา ท่านยังเปลี่ยนใจเปลี่ยนข้าง เพราะเกรงกำลังเจ้าพระยาจักรี คงจะประมาณกำลังตนไว้แล้วว่า สู้ไม่ได้ ครั้นจะเอาราชสมบัติไว้เอง ก็คงจะแปลก .......... )

เป็นอันที่สุดว่า พระยาสรรค์ถูกประหาร พร้อมกับ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม (เจ้ารามรักษ์ - หลานเธอพระเจ้ากรุงธน) ดาบที่ใช้ประหารนี้ จะเป็นเล่มเดียวกับที่คุณกรุ่ม แขวนไว้ข้างฝา ก็ไม่อาจยืนยัน แต่ดาบนี้ ใช้ทำศึก ณ ยุทธภูมิบ้านปูนเป็นแน่


* นายบุนนาก บ้านแม่ลา นี้ เอกสารบางแห่งว่า เป็นเพื่อนกับ ขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์ เมื่อตอนการยุทธ ณ บ้านปูน ก็มีรายละเอียดชิงไหวชิงพริบ ย้ายข้างกันอุตลุด หาอ่านได้ในพงศาวดารหลายเล่ม


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 21 มิ.ย. 12, 11:54
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ หลวงสุระสงคราม เป็นที่ "พระยาศรีราชเดโชไชยอะไภรีพิรียปรากรมภาหุ เดโช" เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวา ศักดินา ๑๐๐๐๐

ได้รับพระราชทาน  (ท่านใดมีความรู้ โปรดช่วยหน่อย.............)

๑. ถาดหมาก

๒.กระโถนทองคำ

๓.ประคำลูกทองคำ (จะเป็นอย่างเดียวกับที่ ภาพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ท่านสวมประคำถ่ายภาพ และมีในภาพของกรมชัยนาทฯ หรือไม่? และมีเกณฑ์พระราชทานอย่างไร?)

๔.ดาบฝักทองจำหลักลาย

๕.เสื้อและหมวกทรงประพาส ( ขอรบกวนถามผู้รู้ครับ ในที่นี้ หมายถึง เสื้อทรงประพาส  และหมวกทรงประพาส  เสื้อทรงประพาส เป็นอย่างไร? มีหรือไม่ครับ หมวกทรงประพาส พอจะทราบอยู่ อย่างเดียวกับที่ อ้ายเสมา ใส่ออกรบนั้นแหล่ะ  เรื่องเสมา ขุนศึก ประเดี๋ยวมีความต่อไป..........)

๖.สัปทน (ร่มก้านยาว แต่ไม่ทราบชั้นไหน)

๗.โต๊ะเงินกับข้าวของกิน  ( คืออะไร ?)

๘.คนเชลย ชาย หญิง

๙. ที่บ้านนอกกำแพงด้านตะวันออก ริมคลองคูพรนคร แต่ช่องกุดล่างจนช่องกุดบน ที่เป็นสพานเหล็ก ถนนเจริญกรุงทุกวันนี้ (ตำบลกุดล่าง กุดบน อยู่ตรงไหนถึงไหนครับ?)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มิ.ย. 12, 14:30


โต๊ะเงิน  คือพานเงินปากผาย   วางชามอาหารคาวและหวาน  ซึ่งอาจจะเป็นชุดคาวสองพาน  และของหวานสองพานก็ได้


สัปทน    เป็นกระดาษหรือแพรจีนอาบขี้ผึ้ง  มีด้ามยาว
ขุนนางที่ยังไม่มียศ  ถึงจะเป็นบุตรคนเดียวของเจ้าพระยา  ก็เรียกได้เพียงว่า กั้นร่มจีนทาขี้ผึ้ง


คนเชลยชายหญิงนั้น  พระราชทานมายังผู้เป็นกำลังของแผ่นดิน
บิดาของนายโหมดเคยได้เชลยมาพันคน  ได้แบ่งไปหลายบ้าน   เชลยเหล่านี้ได้เป็นแรงงานทางเศรษฐกิจในการถมทราย  ปลูกวัด  ถมดิน  ขุดบ่อ  ตัดไม้
ปลูกบ้าน    ทำนา  ทำสวน  ทอผ้า  และอื่น ๆ




กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 25 มิ.ย. 12, 20:38
โต๊ะเิงิน แบบไทย ตามบ้านท่านผู้ใหญ่สมัยเก่า จะมีเป็นเถา และเป็นคู่เสมอ ไม่ ๒ ก็ ๔ ก็ ๘ ชุด เรียงกันจากใหญ่ ไปเล็ก มีทั้งชุดเงิน ชุดทองเหลือง ชุดมุก ชุดลายคราม

ถ้าด้านขวามือเป็นโต๊ะไทย ด้านซ้ายมือของภาพ ก็น่าจะเป็นโต๊ะฝรั่ง ใส่ช็อกโกแลตสีสวย เคียงกัน............



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 25 มิ.ย. 12, 20:45
ภาพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี สวมลูกประคำ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 27 มิ.ย. 12, 21:42

๙. ที่บ้านนอกกำแพงด้านตะวันออก ริมคลองคูพรนคร แต่ช่องกุดล่างจนช่องกุดบน ที่เป็นสพานเหล็ก ถนนเจริญกรุงทุกวันนี้ (ตำบลกุดล่าง กุดบน อยู่ตรงไหนถึงไหนครับ?)

พอจะทราบเลาๆ ว่า ที่ดิีนที่พระราชทาน พระยาสีหราชเดโชไชย ก็คือ ตั้งแต่ริมคลองหลอดถัดพระบรมมหาราชวัง ยาวไปจนถึงสะพานดำรงสถิตย์ (หรือสะพานเหล็ก สามารถตามไปดูในกระทู้ เวิ้งนครเขษม เวิ้งนครสนุก ของคุณลุงไก่ ได้ครับ )

การพระราชทานที่ดินผืนมหึมานี้ เพราะคนสมัยก่อน จำเป็นต้องมีกำลังพลไว้ใช้งาน (ดังเช่นที่พระราชทานในข้อ ๘. ) ก็ต้องเลี้ยงคน หาที่ให้อยู่มากมาย และท่านก็ต้องอพยบคนจากบ้านวังม่วง แขวงกรุงเก่า มาตั้งครัว จึงพระราชทานที่พื้นใหญ่ให้ ........

อีกข้อความหนึ่ง คุณกรุ่มเคยเล่า (แต่ผมจำไม่ค่อยได้) คือ เดิม เจ้าคุณสีหราชฯ ท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังมากนัก แต่ตอนหลัง ทายาทได้ถวายที่คืน หรือถูกเวรคืน หรือพระราชทานแลกที่ดิน ซักอย่างหนึ่ง  ทายาทต่อๆ มาก็ย้ายครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณ วัดมหรรณพาราม จนปัจจุบัน

การพระราชทานที่ดิน ขนาดใหญ่นี้ ไม่ได้พระราชทานแก่เจ้าคุณสีหราชเดโชไชย ท่านเดียว มีความปรากฏว่า พระราชทานที่ดินสี่เหลี่ยมผืนใหญ่ น่าจะถัด ต่อๆ กันมาให้แก่ เจ้ากรมคู่กัน คือ พระยาสีหราชเดโชไชยท้ายน้ำ ซึ่งท่านมีความเกี่ยวพัน จะได้เล่าต่อไปครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 27 มิ.ย. 12, 22:51
ในคราว ที่รัชกาลที่ ๑ ปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์นี้ ได้พระราชทานตำแหน่งให้แก่ ญาติ และพี่น้อง ของ ขุนสุระฯ อีกดังที่ มีบันทึกคือ

"โปรดตั้งให้นายบุนมาน้องรองท่านผู้อยิงทองอยู่ เปนที่พระยารามคำแหง เจ้ากรมอาษาแปดเหล่า"

ท่านผู้หญิงทองอยู่นี้ ก็คือภรรยาของพระยาสีหราชเดโชไชย

และ

"อนึ่งนายขุนทองอยู่ที่บ้านท่าช้างฝั่งตะวันตกแควป่าศักครังแผ่นดินเจ้าพระนคอรธนบุรี เจ้าพระยาจักตรี ตั้งให้เปนที่ขุนสัจาบรักษ นายกองเลข สม ทนาย เมื่อไปทัพเมืองณครเสียมราปได้ตามไปด้วย ครั้นได้ราชสมบัติโปรดยกความชอบตั้งให้เปนที่พระยาท้ายน้ำ ได้พระราชทานเครื่องยศถาดมาก คนโฑ กระโถน ปรคำทองคำ เครื่องทรงประพาด สัปทน ดาบฝักทอง ที่บ้านในกำแพงริมคลองแต่เชิงสภาบช้าง ถึงริมถนนเจิรญกรุงเปนสี่เหลี่ยมที่ตั้งโรงหวยทุกวันนี้"

นายขุนทอง บ้านท่าช้าง แขวงป่าสัก สระบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านวังม่วง ท่านขุนทองนี้ ก็น่าจะได้สมบทกำลังพล ร่วมรบกับ นายบุนนาก บ้านแม่ลา และขุนสุระฯ คราวเดียวกัน จึงได้ัรับบำเน็จ ความชอบ คู่กัน กับท่าน เป็นพระยาสีหราชเดโชไชยท้ายน้ำ หรือ พระยาท้ายน้ำ ซึ่งเป็นตำแหน่งคู่กันกับ พระยาสีหราชเดโชไชย (เพง) ได้รับพระราชทานรางวัล ใกล้เคียงกัน อีกทั้งที่ดิน ใกล้เคียงกันอีกด้วย


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 00:00
ว่าด้วย ผู้ได้รับพระราชแต่งตั้งเป็นเสนาบดี เมื่อรัชกาลที่ ๑ ปราบดาภิเษกคือ

๑. อัครมหาเสนาบดี นา ๑๐๐๐๐ - ๒ ตำแหน่ง


๑.๑ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน) ข้าหลวงเดิม ตามเสด็จการสงคราม มีความชอบหลายครั้ง เดิมเป็นที่ พระอักขระสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย

๑.๒ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี มารดา เป็นเชื้อสายเฉกอะหมัด?) บุตรพระยากลาโหมคลองแกลบ ตามเสด็จการสงคราม มีความชอบหลายครั้ง เดิมเป็นที่ พระยาเพชรบูรณ์ (ออกญานาหมื่น รั้งหัวเมืองชั้นโท)


๒. จตุสดมภ์ นา ๑๐๐๐๐  - ๔ ตำแหน่ง


๒.๑ เวียง (นครบาล) = พระยายมราช ฯ ( บุนนาก บุนนาค) สามีเจ้าคุณนวล ขนิษฐภคินี กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ตามเสด็จการสงคราม มีความชอบหลายครั้ง เดิมเป็นที่ พระยาอุทัยธรรม (ภายหลังรับพระราชทานเลื่อนเป็น อัครมหาเสนาบดีที่ เจ้าพระยามหาเสนา คนที่ ๓)

๒.๒ วัง = เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ ฯ ( บุญรอด เชื้อสายพราหมณ์พฤฒิบาศ) เป็นผู้คุ้นเคย รักใคร่ในพระองค์ ตามเสด็จการสงคราม มีความชอบหลายครั้ง แลรู้ธรรมเนียมการกรมวังมาก เดิมเป็นที่ พระยาธรรมาธิกรณ์อยู่ก่อนแล้ว เลื่อนเป็นเจ้าพระยาเมื่อปราบดาภิเษก

๒.๓ คลัง = เจ้าพระยาพระคลัง (สน) เป็นเจ้าพระยาพระคลังตั้งแต่กรุงธนบุรี ต่อมาสติฟั้นเฟือนถูกถอดเป็นพระยาศรีอัครราช ตั้งพระยาพิพัฒน์โกษา (หน บุญ-หลง) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง แทน ( ท่านหน เดิมคือหลวงสรวิชิต ผู้ส่งข่าวจลาจลในกรุงธนบุรีให้ เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ ๑ ทรงทราบขณะรบเขมร)

๒.๔ นา = พระยาพลเทพ (ปิ่น) ข้าหลวงเดิม เป็นกำลังช่วยกรมพระราชวังหลังปราบปรามจลาจลในกรุงธนบุรี ต่อมาได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยามหาเสนา (คนที่ ๒) และเจ้าพระยาอภัยราชา ผู้กำกับราชการ ต่อมาจึงเลื่อน เจ้าพระยาไชยพิชิต (บุนนาก บ้านแม่ลา) ผู้รักษากรุงเก่า (แทนคนเก่าที่ถูกท่านประหาร) เป็นเจ้าพระยาพลเทพแทน


๓. พระยา นา ๑๐๐๐๐ - ๖ ตำแหน่ง + หัวเมือง ๖ ตำแหน่ง

๓.๑ พระยาสีหราชเดโชไชยอภัยพิริยะปรากรมพาหุ เดโช (เพง สุรนันทน์) เจ้ากรมอาสา ๖ เหล่าขวา

๓.๒ พระยาสีหราชเดโชไชยท้ายน้ำ อภัยพิริยะปรากรมพาหุ ท้ายน้ำ ( ขุนทอง บ้านท่าช้าง) เจ้ากรมอาสา ๖ เหล่าซ้าย


๔. ขุนนางฝ่ายทหาร

๔.๑ พระรามคำแหง (บุญมา น้องเมียพระยาสีหราชฯ - เพง สุรนันทน์) เจ้ากรมอาสาขวา นา ๕๐๐๐


๔.๒ จมื่นทิพรักษา ปลัดกรมพระตำรวจนอกขวา นา ๘๐๐



๕. ขุนนางฝ่ายพลเรือน

๕.๑ พระยาสมบัดิธิบาล ( ด้วง สุรนันทน์) เจ้ากรมพระคลังในขวา นา ๓๐๐๐








กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 00:17
จากค.ห. ด้านบน จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งสำคัญ คืออัครมหาเสนาบดี และ จตุสดมภ์ แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ

กลุ่มข้าหลวงเดิมของรัชกาลที่ ๑ ได้แก่ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ, พระยายมราช (บุนนาค), พระยาพลเทพ (ปิ่น)

กลุ่มข้าราชการครั้งกรุงเก่า ได้แก่ เจ้าพระยามหาเสนา, เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์, เจ้าพระยาพระคลัง  


ส่วนกลุ่มของ นายบุนนาก บ้านแม่ลา และขุนสุระฯ ที่ร่วมรบยุทธภูมิบ้านปูน ก็ได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ แทนคุณงามความดี ไล่ตั้งแต่ เจ้าพระยาไชยวิชิต (บุนนาก บ้านแม่ลา) ครองกรุงเก่า, พระยาพลเทพ(ปิ่น) จตุสดมภ์นา, พระยาสีหราชฯ (เพง) พระยาท้ายน้ำ (ขุนทอง) พระรามคำแหง (บุนมา) คุมกรมทหารอาสาอาสา จมื่นทิพยรักษา ปลัดพระตำรวจ จะมีแต่ พระยาสมบัติบาล ที่ไปกินตำแหน่งฝ่ายพลเรือน เพียงคนเดียว

เรียกได้ว่ากลุ่มนี้ ได้คุมกองทหาร กรมใหญ่มากทีเดียว คือคุมทั้งกรมทหารอาสา ๖ เหล่า ๘ เหล่า ทั้งกรม !!!!!

(แต่ข้อสังเกตุประการหนึ่ง คือ ญาติๆ ฝ่ายพระยาสีหราช เป็นทหารตำแหน่งฝ่ายขวา คืออยู่ในการบังคับบัญชาของ เจ้าพระยามหาเสนา ซึ่งท่านที่สอง (เจ้าพระยามหาเสนา ปลี) ก็ได้ร่วมรบกันมา, แต่ไม่แน่ใจว่า ขณะนั้น ตำแหน่ง เฝ้าขวา จะคุมทหาร หรือคุมหัวเมืองฝ่ายใต้ อย่างใดกันบ้าง แม้กระทั้งตำแหน่งพระยาสมบัติบาล ก็ดูแล กรมพระคลังในขวา ....... อืออออ เวลาเฝ้า ในท้องพระโรง จะได้หมอบอยู่ฝั้งเดียวกันกระมัง ?????)







กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 00:24
เรื่องกรมทหารอาสา นี้ ขออนุญาตยก ข้อเขียนของ คุณ luanglek ในกระทู้ ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน มาอธิบายครับ

"......... ประเด็นต่อมา  เรื่องอาสาหกเหล่า ตามที่เคยทราบมา อาสาหกเหล่านี้ เป็นทหารต่างชาติที่มาอาศัยและรับราชการในเมืองไทย  มีความรู้ความสามารถการรบการใช้อาวุธบางอย่างเป็นพิเศษ  อาสาเหล่านี้ คือ ทหารอาชีพสมัยก่อนนั่นเอง มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์และผู้ชำนาญการ แต่เดิมคงจะมีอยู่หกเหล่า โดยแบ่งเป็นเหล่าตามเชื้อชาติ  เท่าที่เคยได้ยิน มีมอญเหล่าหนึ่ง พวกมอญชำนาญยุทธวิธีและการสืบข่าวทางด่านตะวันตก  จึงมีหน้าที่คอยตระเวนด่านทางแถบตะวันตก  จามเหล่าหนึ่งกับแขกมลายูชวาเหล่าหนึ่ง  สองพวกนี้ถนัดเรื่องการรบทางน้ำและการใช้เรือ จึงมีหน้าที่เกี่ยวกับกองเรือรบ  ญี่ปุ่นเหล่าหนึ่ง พวกนี้ใจเด็ดเดี่ยว ใช้ดาบเก่ง   ฝรั่งเหล่าหนึ่ง พวกถนัดเรื่องปืนไฟและปืนใหญ่  อีกพวกน่าจะเป็นลาว พวกนี้เป็นกองลาดตระเวนทางเหนือ  อาสาหกเหล่านี้ ขึ้นตรงกับพระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งเจ้ากรมแต่ละเหล่าเทียบเท่าจตุสดมภ์ทีเดียว  ถ้าจะให้ชัดต้องดูในโคลงพยุหยาตราเพชรพวงกับลิลิตกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารคและทางชลมารคประกอบด้วย  เคยได้ยินว่า อาสาหกเหล่านี้ ชำนาญเรื่องงานช่างบางอย่างด้วย ............."



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 00:25
และข้อเขียนของ คุณ เทาชมพู จากกระทู้เดียวกัน มีพูดถึงพระยาสีหราช และพระยาท้ายน้ำ ไว้น่าสนใจ ขอนำเอามาแปะไว้ เพื่ออธิบายตำแหน่งครับ (ขอบพระคุณ ทั้งสองท่าน)

".......ในหนังสือ "บันทึกเรื่องการปกครองของไทย สมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เรียบเรียงจากคำสอนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พ.ศ. ๒๕๑๖ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๙ นั้น มีกล่าวถึง "พระยาท้ายน้ำ" ไว้เล็กน้อยในหน้า ๓๖, ๕๗, ๕๙ และ ๖๐ แสดงว่าตำแหน่งนี้ไม่ใคร่จะสำคัญนัก


ในหน้า ๓๖ กล่าวถึงแต่เพียงว่า "การแบ่งเป็นทหารพลเรือนเป็นเพียงการขึ้นทำเนียบเท่านั้น แต่ลักษณะการงานไม่ต่างกันระหว่างตำแหน่งพลและมหาดไทย ตามกฎหมายกล่าวว่า ตำแหน่งพลของหัวเมืองเอก แม่ทัพกรุง คือ พระยาเดโช ส่วนพระยาท้ายน้ำเป็นผู้รั้ง"


ในหน้า ๕๗ ได้กล่าวถึงการแบ่งทหารว่า "ต่อมาการแบ่งทหารเปลี่ยนแปลงไป เพราะทหารช้าง (คชบาล) ทหารม้า (อัศวราช) ยกออกจากทหารไปขึ้นกับพลเรือนขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์เพื่อความปลอดภัยของราชบัลลังก์ เพราะมีการคิดชิงราชสมบัติอยู่เสมอ

ต่อมาแบ่งเป็นสมุหนายก สมุหพระกลาโหม

สมุหพระกลาโหมมีแม่ทัพขึ้น ๓ คน
๑. พระยารามจตุรงค์ ศักดินา ๑๐๐๐๐
๒. พระยาเดโช
๓. พระยาท้ายน้ำ (คงจะคุมฝีพาย)"

ในหน้า ๕๘-๖๐ ได้กล่าวถึงว่า
"๑. ทหารราบ แบ่งเป็น ๘ กรม ประจำการเป็นทหารอาชีพ
๑) - ๖) กรมอาสา ๖ เหล่า
๗) กรมทวนทองใน-นอก
๘) กรมเขนทองใน-นอก

พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ ดูแลบังคับบัญชาทหารอาสา ๖ เหล่า มีหน้าที่ป้องกันกรุง ไม่ใช้ออกนอกกรุงปราบกบฏในเขตประเทศ จะออกนอกประเทศได้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินยกทัพหลวง ถ้าเป็นศึกไม่สำคัญใช้ทหารเกณฑ์

นอกจากจะเป็นทหารอาชีพฝึกอาวุธแล้ว ยังมีหน้าที่ศึกษาข่าวศึก ดูแลด่านเก็บภาษี

(อีกกรมหนึ่งสำหรับสืบข่าวคือ กรมอาทมาต คนในกรมเป็นมอญสำหรับสืบข่าวด้านพม่า ยามสันติก็ใช้ในกิจการอื่น ๆ ด้วย เช่น ขุนไกรพลพ่าย ดูในทำเนียบมอญ)

ทหารหน้าเหล่านี้ในยามสันติ เมื่อเวลาเสด็จราชดำเนินไปไหน ๆ ไม่ใช้ขบวนเสด็จ แต่ใช้รายทาง ถ้าเสด็จทางชลมารค ใช้ลงเรือนำและตาม หน้าที่พิเศษออกหัวเมืองกวาดต้อนคนมาสักเลก ควบคุมการทำงานสาธารณะ"

ตามพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทหารอาสา ๖ เหล่า ๘ เหล่า ก็คือ ทหารราบ หรือทหารบก นั้นเอง 

ฉนั้น ถ้านับปัจจุบัน พระยาสีหราชเดโชชัย(เพง สุรนันทร์)  ก็น่าจะเรียกได้ว่า เป็น ผบ.ทบ. คนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ คงได้กระมังครับ?



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 00:54
พระยาสีหราชเดโชไชย (เพง) นี้ เจ้าคุณสุรนันทน์ฯ เหลนท่านได้บรรยายไว้ว่า

"...ทรงใช้สรอยเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยสนิทสนมมาก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามคราวใด ก็ได้ตามเสด็จด้วยทุกครั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้วฯ ให้เปนเจ้าพนักงานรักษาประตูค่ายน่าพลับพลาเสมอ ......."

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเลื่อนที่ขึ้นเป็นที่ พระยารามจตุรง หรือ รามจัตุรงค์ จางวางอาสา ๖ เหล่า ๘ เหล่า ได้พระราชทานกระบี่ฝักทอง แคร่กัญญาเปนเกียรติยศเพิ่มเติม (เรื่องเครื่องยศเพิ่มนี้ อยู่ในข้อเขียนของ พระยาสุรนันทน์เท่านั้น)

บรรดาศักดิ์สุดท้ายของท่านคือ "พระยารามจัตุรงค์" ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่ง "ขุนนางชั้นสูง ระดับนา ๑๐๐๐๐"  เท่ากับ เจ้าพระยาและ จตุสดมภ์ (และเท่ากับบรรดาศักดิ์เดิม แต่ตำแหน่งสูงกว่าเจ้ากรม คือเป็น "จางวาง" หรือผู้กำกับราชการ ตำแหน่งนี้ ในกฏหมายตราสามดวง ฉบับถ่ายจากเล่มจริง ของราชบัณฑิตยสภา ปี ๒๕๕๐ ไมไ่ด้ลง ศักดินาไว้ ? )

พูดถึงบรรดาศักดิ์ "พระยารามจัตุรงค์็" ตอนนี้กำลังฮิต  เพราะ ภาพยนต์ละครเรื่อง "ขุนศึก" เพิ่งจะจบลง  ไม้เมืองเดิม ก็รังสรรค์ให้ "อ้ายเสมา" สุดท้ายจบอย่างมีความสุข ในตำแหน่งบรรดาศักดิ์เดียวกันนี้ ภายหลังจากกรำศึก ทั้งรบ ทั้งรัก จนติดหน้าจองอมแงมกันแม่เอย......


นำภาพ อ้ายเสมา กับแม่หญิงเรไร ภาคเป็นละครแสดงสด ครั้งแรก ออกอากาศที่สถานีไทยโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม ปีพ.ศ. ๒๕๐๒ โดย อารีย์ นักดนตรี (แม่หญิงเรไร) กับ กำธร สุวรรณปิยะศิริ (เสมา) กำกับการแสดงโดย ทัต เอกทัต

(เครดิตภาพ วิกิพิเดีย)





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 01:03
พระยารามจัตุรงค์ (เพง) มีเอกภรรยา ชื่อ ท่านผู้หญิงทองอยู่ เป็นภรรยาตั้งแต่เื่มื่ออยู่บ้านวังม่วง สระบุรี (แขวงกรุงเก่าเดิม)

น้องท่านผู้หญิงทองอยู่มีปรากฏชื่ออยู่ ๒ คนคือ

๑. นายบุนมา รับราชการเป็นที่ พระยารามคำแหง เจ้ากรมอาสาขวา (ทำราชการกับพี่เขย)

๒. นายบุนษา  ไม่สมักลงมารับราชการ พระยารามจัตุรงค์, ท่านผู้หญิงทองอยู่จึงให้ควบคุมผู้คนทำไร่นารักษา ช้าง ม้า โค กระบือ อยู่ ณ บ้านเดิมวังม่วง


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 01:07
พระยารามจัตุรงค์ และท่านผู้หญิงทองอยู่ มีบุตร๓ คน ดังนี้

๑.  บุตรชายที่ ๑ ชื่อนายเรือง สืบตระกูลต่อมาจนปัจจุบัน

๒. บุตรชายที่ ๒ ชื่อนายสิงโต ทำราชการในกรมพระราชวังที่ ๒ โปรดให้เป็นที่จมื่นศักบริบาล ปลัดกรมตำรวจ

๓. บุตรหญิงที่ ๑ ชื่อ คล้อย ทำราชการเป็น นางละคร ในรัชกาลที่ ๑ หรือ ๒ (ท่านเจ้าคุณผู้เขียนไม่แน่ใจ) และโปรดให้เป็นเจ้าจอมอยู่งาน


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 01:23

(แต่ข้อสังเกตุประการหนึ่ง คือ ญาติๆ ฝ่ายพระยาสีหราช เป็นทหารตำแหน่งฝ่ายขวา คืออยู่ในการบังคับบัญชาของ เจ้าพระยามหาเสนา ซึ่งท่านที่สอง (เจ้าพระยามหาเสนา ปลี) ก็ได้ร่วมรบกันมา, แต่ไม่แน่ใจว่า ขณะนั้น ตำแหน่ง เฝ้าขวา จะคุมทหาร หรือคุมหัวเมืองฝ่ายใต้ อย่างใดกันบ้าง แม้กระทั้งตำแหน่งพระยาสมบัติบาล ก็ดูแล กรมพระคลังในขวา ....... อืออออ เวลาเฝ้า ในท้องพระโรง จะได้หมอบอยู่ฝั้งเดียวกันกระมัง ?????)



ต้องเป็น เจ้าพระยามหาเสนา ปิ่น ครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 11:38
ประวัติพระยารามจัตุรงค์ น่าจะจบลงแล้ว แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ !  แม่หญิงเรไร แม่หญิงดวงแข แล อ้ายสมบุญ .............


ปรากฏว่า มีประวัติ พระยารามจัตุรงค์ อีก ๒ สำนวน ที่กล่าวถึง บุคคลคนเดียวกันนี้ อีก

๑. จากหนังสือแจกงานฌาปณกิจศพ นายจันทร์ สุรนันทน์ (ไม่ทราบปีพ.ศ.)

กล่าวว่า "พระยารามจัตุรงค์ เปน ขุนสุระสงคราม นายกองสักเลขอยู่ ณ ลำแม่น้ำป่าสัก (สมัยอยุธยา) ซ่องสุมผู้คนร่วมกับ นายบุญมา (กรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ ๑ ) ร่วมมือกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ? (กรมพระราชวังบวร) กำจัดพระยาสรรค์. เปน พระยาสีหราชเดโชชัย ในรัชกาลที่ ๑. เปน พระยารามจตุรงค์ ในรัชกาลที่ ๑    บุตรชื่อเรือง ขุนสินธนรัตนะ ? (ต้นฉบับไม่ชัดเจน)  ปลัดกรมม้า


ประวัติเจ้าคุณรามจัตุรงค์ จากทายาทสายนี้ ( นายจันทร์เป็นทายาทสายของนายเคล้ัา มหาดเล็ก, อาชีพทนายความ สมัยรัชกาลที่ ๕-๖ เป็นน้องคนละแม่ ของพระยาราชสัมภารกร เป็นพี่คนละแม่ของ พระยาสุรนันทน์ ) ต่างกับสำนวนพี่-น้อง ที่รายละเอียด และความเป็นมา,  คือได้เกี่ยวข้องกับ กรมพระราชวังบวร (วังหน้า) แทนที่จะเป็นวังหลัง ซึ่งได้ยกไปช่วยปราบปรามที่ยุทธภูมิ บ้านปูน และเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นผู้ร่วมกำจัดพระยาสรรค์หรือไม่ ก็หาเอกสารอ้างอิงไม่พบ?

แต่ข้อน่าสังเกตุคือ เมื่อบ้านเมืองสงบสุขแล้ว พระยาสมบัติบาล (ด้วง) ก็ส่งบุตรสาว-บุตรชาย เข้ารับราชการ คือ

หญิงชื่อหง ทำราชการเป็นเจ้าจอมอยู่งานในพระบัณฑูรที่ ๒ (น่าจะหมายถึง กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข - วังหลัง )

ชายชื่อนายเสือ เป็นหมาดเล็กในกรมพระราชวังบวร (น่าจะหมายถึง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท - วังหน้า)

จึงเป็นที่สับสนว่า บ้านนี้ ท่านส่งบุตรหลานแยกวังกัน หรือ ข้อมูลเพี้ยนกันบ้าง.......... นี่ขนาด คนในตระกูลเดียวกัน รายละเอียดยังผิดกันเลย .... ขอเชิญดูสำนวนที่สอง ของนักประวัติศาสตร์ไทยยุคก่อนนี้ครับ..........


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 มิ.ย. 12, 14:00
บุตรชื่อเรือง ขุนสินธนรัตนะ ? (ต้นฉบับไม่ชัดเจน)  ปลัดกรมม้า
น่าจะเป็น ขุนสินพนรัตนะ ปลัดกรมม้า  มากกว่า 


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 16:01
๒. จากหนังสือ "ต้นตระกูลขุนนางไทย" โดยประยุทธ สิทธิพันธ์ (พ.ศ. ๒๕๐๕)

หน้า ๑๙๙

"วงศ์กระตูล พระยาสัมภารากร (เลื่อน)

ความเป็นมาแห่งวงศ์ตระกูลของพระยาสัมภารากร (เลื่อน) เจ้ากรมพระคลังราชการในรัชกาลพระพุทธเจ้าหลวงนี้ สืบสวนไปก็ได้ความไม่ยืดยาวนัก แต่ก็เป็นที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย ลำดับความได้ดังนี้

เดิมทีนั้น พระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) มีตำแหน่งทางราชการเป็นอธิบดีกรมมหาดไทยในพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาทในรัชกาลที่ ๑ พระยาจ่าแสนยากรมีบุตรชายชื่อกระแส ๆ ได้ถวายตัวทำราชการมหาดเล็กในวังหน้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายนรินทรธิเบศร์มหาดเล็กหุ้มแพร และในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ได้เป็นหลวงนายเสน่ห์รักษานายเวรกรมมหาดเล็ก

ครั้นถึงสมัยพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเสน่หาภูธร (กระแส) แต่บุญของท่านนี้น้อยได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนในรัชกาลที่ ๒ พระยาเสน่หาภูธร (กระแส) มีบุตรชายชื่อ กระเสพๆ ก็ได้เจริญรอยตามบรรพบุรุษคือถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในวังหน้ารัชกาที่ ๓ และมีโอกาสไปทำศึกเวียงจันทน์กับเขาด้วยผู้หนึ่ง เมื่อเสร็จศึกแล้วได้มีตำแหน่งเป็นนายปรีดาราชมหาดเล็กหุ้มแพรวังหน้า

ครั้งกรมพระราชวังบวรฯ ล่วงลับไปแล้ว ข้าราชการวังหน้าจึงลงมาสมทบทำรารการในวังหลวง นายปรีดาราชหุ้มแพร(กระเสพ) นั้นได้เลื่อนเป็นนายจ่าสรวิชิต โปรดให้ไปกำกับพระคลังในซ้ายขวา เป็นผู้ช่วยราชการตรวจตราราชการทั้งสามคลัง ต่อมาเลื่อนเป็นหลวงอินทรเกษาปลัดกรม พระคลังราชการ จนตลอดรัชกาลที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอินทรโกษา(กระเสพ) เป็นพระยาพิพัฒนโกษา ได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยยศ มีพานทอง, คนโทน้ำ, กระโถน ล้วยเป็นทองคำ ด้วยเหตุว่าพระยาพิพัฒนโกษาผู้นี้เป็นผู้ที่เคยไปมาเฝ้าแหนคุ้นเคยสนิทสนมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงผนวชประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาอภัยพิพิธ (กระเสพ)

บุตรของพระยาอภัยพิพิธ (กระเสพ) มีหลายคนด้วยกัน แต่ที่ควรกล่าวมีคนเดียวคือ นายเลื่อนๆ ได้ถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงอยู่ ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ เสร็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเลื่อนเป็นหมาดเล็กรายงานตรวจราชการพระคลัง ไม่นานก็เลื่อนเป็นนายรองสรรพวิไชยและพอถึงรัชกาลที่ ๕ ก็ได้เป็นพระยาสัมภารากร เจ้ากรมพระคลังราชการ"


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 17:37
คุณประยุทธ สิทธิพันธ์ นี้ ให้ข้อมูลว่า ต้นตระกูล สุรนันทน์ เป็นข้าหลวงวังหน้า

บรรดาศักดิ์ ตำแหน่ง พระยาจ่าแสนยากร ซึ่งเป็นตำแหน่งวังหน้า เทียบเท่าสมุหนายก (ศักดินา ๕๐๐๐) เป็นเบอร์สองรองจาก เจ้่าพระยามุขมนตรี (ศักดินา ๘๐๐๐ เพิ่มเป็น ๑๐๐๐๐ - เทียบเท่าสมเด็จเจ้าพระยา) ไปค้นๆ ดูปรากฏว่า พระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) ตามที่คุณประยุทธ กล่าว ก็มีจริงในประวัติศาสตร์ (คนก่อนท่านในสมัยปลายกรุงเก่าคือ เจ้าพระยามหาเสนา (เสน) บิดาของ เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก บุนนาค)

พระยาจ่าแสนยากรนี้ ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า ได้ออกศึกเมืองทวายมะริด (ตอนทวายเป็นกบฏ) กับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โปรดให้ต่อเรือรบอยู่ที่ ช่องสิงขร กับพระยาไกรโกษา พระยาิพิไชยบุรินทรา พระยาแก้วเการพ  ....... ตอนท้ายของพระราชพงศาวดาร บทนี้ กล่าวถึงวีระกรรมของ พระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) ว่า ".....พระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) รับพม่าแข็งแรง พม่าหาอาจล่วงเกินเข้ามาได้ไม่....." 

( - ผลการศึกครั้งนี้ ทำให้ สูญเสียเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) เป็นผลให้ เจ้าพระยาพลเทพ (ปิ่น) เจ้าพระยาไชยวิชิต (บุนนาก บ้านแม่ลา) ได้เลืี่อนขั้น เป็นเจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น)  สมุหนายก และ เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก บ้านแม่ลา) ตามลำดับ )

บุตรหลานของพระยาจ่าแสนยากร ก็รับราชการในวังหน้ามาโดยตลอด เริ่มจากบุตรของท่านทุเรียน คือท่านกระแส รับราชการในกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๒ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ) เป็นที่ พระยาเสน่หาภูธร (กระแส)

และบุตรท่านกระแส คือท่านกระเสพ รับราชการในวังหน้า รัชกาลที่ ๓ (กรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ )  เป็นที่ นายปรีดาราช หุ้มแพร วังหน้า

เมื่อสิ้นวังหน้ารัชกาลที่ ๓ มิได้ทรงตั้งวังหน้าขึ้น ข้าราชการวังหน้าทั้งปวง ก็มาสมทบกับวังหลวง นายปรีดาราช หุ้มแพร เขาทำราชการในกรมพระคลังราชการ เลื่อนเป็น นายจ่าสรวิชิต กำกับพระคลังในซ้ายขวา และหลวงอินทรเกษาปลัดกรมพระคลังราชการ พอถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาพิพัฒนโกษา และเปลี่ยนเป็นพระยาอภัยพิพิธ (กระเสพ) ในรัชกาลที่ ๕

สำหรับชื่อบุตรของท่านกระเสพ คุณประยุทธ กล่าวถึงท่านเดียวคือ พระยาสัมภารกร เจ้ากรมคลังราชการ ซึ่งที่ถูกต้องเป็น พระยาราชสัมภารกร (เลื่อน) เจ้ากรมคลังราชการในรัชกาลที่ ๕


ในบันทึกของคุณกรุ่ม สุรนันทน์ ไม่ได้ชี้ ตัดสิน ว่าท่านใดผิด ท่านใดถูกต้อง ซึ่งก็คงจะยาก เพราะอาจจะเป็นได้ทั้งสองทาง ผ่านมา ๒๐๐ ปีแล้ว เอกสารก็ตัวจริงสืบทอดต่อมา (ในวงศ์ตระกูล แลนักประวัติศาสตร์ ) ฉนั้น ท่านจึงนำเสนอและรวบรวม ข้อมูลที่มีคนกล่าวถึงไว้เท่านั้น ..........







กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 18:38
สรุป พระยารามจัตุรงค์ (ต้นตระกูล สุรนันทน์)

จากเอกสาร พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน) = เดิมชื่อเพง พี่้ชื่อด้วง น้องชื่อสุร เป็นขุนสุระสงคราม - พระยาสีหราชเดโชไชย - พระยารามจัตุรงค์ รับราชการวังหลวง, บุตรชื่อเรือง (นายพลพ่าย หุ้มแพร)

จากเอกสาร พระยาสุรนันทิวัทธกุล (กริ่ม) = เดิมชื่อสุระ พี่น้องไม่ปรากฏชื่อ เป็นขุนสุระสงคราม - หลวงสุระสงคราม - พระยาสีหราชเดโชไชย - พระยารามจัตุรงค์ รับราชการวังหลวง, บุตรไม่ปรากฏชื่อ เป็น ขุนศรีกันถัด

จากเอกสาร ทายาทนายเคล้า สุรนันทน์ = เดิมไม่ปรากฏชื่อ เป็น ขุนสุระสงคราม - พระยาสีหราชเดโชไชย - พระยารามจัตุรงค์ รับราชการวังหลวง, บุตรชื่อเรือง (ขุนสินพนรัตน์)

จากเอกสาร ต้นตระกูลขุนนางไทย = เดิมชื่อทุเรียน เป็นพระยาจ่าแสนยากร รับราชการวังหน้า, บุตรชื่อกระแส (พระยาเสน่หาภูธร)




กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 19:25
สาแหรก......


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 30 มิ.ย. 12, 07:14
สุรนันทน์ ชั้นที่ ๒

ปรากฏชื่อดังนี้คือ


บุตร พระยาราชสมบัติบาล   ๑. หญิงชื่อทองคำ ๒. เจ้าจอมหง ในกรมพระราชวังหลัง? ๓. หลวงวิจิตรภูษา (บุญมี) ๔. มหาดเล็กเสือ ในกรมพระราชวังบวร


บุตร พระยารามจัตุรงค์ และท่านผู้หญิงทองอยู่ ๑.  ชื่อนายเรือง สืบตระกูลต่อมาจนปัจจุบัน  ๒. จมื่นศักบริบาล (สิงโต) ๓. เจ้าจอมคล้อย ในรัชกาลที่ ๒


ุบุตรจมื่นทิพรักษา ที่ ๑ ชื่อ พลายเพ็ช ที่ ๒ ชื่อพลายบัว บุตรที่ ๓ ชื่อ นายน่วมเรือง


ทั้งหมดปรากฏประวัติสืบต่อมาเฉพาะนายเรือง บุตรเจ้าคุณราจัตุรงค์ เพียงคนเดียว..........





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 30 มิ.ย. 12, 08:10
นายเรือง บุตรพระยาจัตุรงค์ ดังที่กล่าวไว้แล้ว มีประวัติแตกต่างกันไปตามแต่สำนวน หลายกระแส  ขอคัดมาดังนี้

สำนวนพระยาสุรนันทน์

".....บุตรชายคนหนึ่งได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กวิเศศในรัชกาลที่หนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปน นายสนิทหมาดเล็กหุ้มแพร นายยามยามค่ำเวรศักดิ์ แต่ท่านผู้นี้เปนคนเกียจคร้านไม่ค่อยเอาใจใส่ในราชการบอกป่วยอยู่แต่บ้าน ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปน ขุนศรีกันถัด แล้วป่วยเปนลมอำมภาศถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๒....."


สำนวนพระยาราชสัมภารากร

".....โปรดตั้งนายเรืองเปนที่นายพลพ่าย หุ้มแพร่ .....ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทยอดฟ้าสวรรคด พระบาทสมเด็จพระพุทเลิศฟ้าเสวยราช นายพลภ่ายขึ้นไปทำราชการในกรมพระราชวังที่ ๒ ไปให้เปนขุนสินทพรัตณ ปลัดกรมม้าท่านป่วยเปนโรคง่อยเดินมิใคร่ได้ ออกนอกราชการ "


สำนวน ทายาทสายนายเคล้า สุรนันทน์ ว่าเป็นที่ ขุนสินทพรัตน์ ปลัดกรมม้า


สำนวน คุณประยุทธ ว่า ชื่อเดิม กระแส เป็นนายนรินทรธิเบศร์ มหาดเล็กหุ้มแพรวังหน้า, หลวงนายเสน่ห์รักษา นายเวรกรมมหาดเล็ก รัชกาลที่ ๑, พระยาเสน่หาภูธร ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์


ตามประวัติโดยรวม ที่ตรงกันที่สุดเห็นจะเป็นว่า นายเรือง อยู่กรมม้า เท่านั้น เพราะบรรดาศักดิ์

ขุนศรีกันถัด ตำแหน่งเป็น อาษาเกราะทองซ้าย นาคล ๔๐๐ อยู่ในกรมม้าต้น ตามพระอัยการนาพลเรือน กฏหมาย ๓ ดวง

ขุนสินทพรัตน์ , สินทพ แปลว่า ม้า เจ้าคุณราชสัมภารากร ว่า ไปทำราชการอยู่ในกรมพระราชวังที่ ๒ ก็น่าจะหมายถึง กรมม้าวังหน้า


เว้นแต่ ของคุณประยุทธ ที่ว่า ท่านเป็นพระยาเสน่หาภูธ จางวางมหาดเล็กวังหน้า (ก่อนหน้านี้ พระยาเสน่หาภูธร ได้แก่ พระยากลาโหมราชเสนา คนที่ ๓ (ทองอิน) หลานเธอ พระเจ้าตาก) และตำแหน่งก่อนหน้านั้นคือ นายนรินทร์ธิเบศร์ และ นายเสน่ห์รักษา เป็นตำแหน่งมหาดเล็กวังหน้า ไม่เกี่ยอะไรกับกรมม้า เลย


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 30 มิ.ย. 12, 09:27
นายเรือง บุตรพระยาจัตุรงค์  มีภรรยาปรากฏชื่อคือ "ท่านฉิมชู" บุตรพระยาท้ายน้ำ (ขุนทอง)


ว่าด้วย พระยาท้ายน้ำ

พระยาท้ายน้ำ (ขุนทอง) นี้ เดิม เป็นนายบ้าน บ้านท่าช้าง ฝั่งตะวันตก แขวงป่าสัก (อยู่ไม่ไ้กลจากบ้านวังม่วง ที่ขุนสุระฯ เป็นนายบ้้้านอยู่) ตามประวัติว่า ครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ ๑ ) ตั้งให้เป็น ขุนสัจาบริรักษ์ นายกองเลขสม เลขทนาย ได้ตามไปทัพเมืองเสียมราฐ เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยาสีหราชเดโชไชยท้ายน้ำ พระราชทานสิ่งของเช่นเดียวกับที่ พระยาสีหราชเดโชไชย (ขุนสุระสงคราม) ได้รับพระราชทาน, มีบุตรกับเอกภรรยาปรากฏชื่อคือ "ฉิมชู" ทำราชการอยู่ในวังหลวง เป็นเจ้าจอมอยู่งาน สำหรับเชิญพระแสง และมีบุตรชายกับภรรยาน้อย ชื่อกาง

ต่อมา ปีพ.ศ. ๒๓๒๘ เมื่อคราวศึก หินดาด ลาดหญ้า ในสงคราม ๙ ทัพ, พระยาท้ายน้ำต้องรับพระราชอาญาเป็นอุกฤษ


สอบทานกับ หนังสือ "ไทยรบพม่า" ของสมเด็จ กรมพระยาดำรงฯ ได้ดังนี้


".....ตอนที่ ๑  รบพม่าที่ลาดหญ้า

         กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงตั้งกองโจรให้พระยาสีหราชเดโชชัย  พระยาท้ายน้ำ  กับพระยาเพชรบุรี  คุมไปซุ่มสกัดคอยตีลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งมายังค่ายพม่าข้าศึก พระยาทั้ง ๓ ยกไปแล้วไปเกียจคร้านอ่อนแอ  ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน .......

         ครั้นกองทัพพม่าที่ลาดหญ้าแตกไปได้สัก ๗ วัน  พอกรมพระราชวังบวรฯทรงทราบว่า  กองทัพใหญ่ของพม่าถอยกลับไปทุกทัพแล้ว  ก็ดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร(๑) คุมกองทัพหน้าออกจากลาดหญ้า  เดินบกตรงลงไปเมืองชุมพร...........
 
เชิงอรรถ

ส่วนข้าราชการที่ต้องพระราชอาชญาในคราวศึกลาดหญ้า  ล้วนเป็นตำแหน่งข้าราชการวังหลวง
- พระยาสีหราชเดโชชัย  คือ หลวงสุระ  ซึ่งเป็นต้นคิดร่วมกับนายบุนนาค บ้านแม่ลา  หลวงชนะ  ปราบจลาจลกรุงธนบุรี
- พระยาท้ายน้ำ  คือ หลวงพิเรนทร์ ข้าหลวงเดิม  ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามหลายครั้ง

(๑)  ทั้งสองท่านนี้เป็นตำแหน่งข้าราชการวังหน้า  ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า  ....ตรัสเอาพระไชยบูรณ์ปลัดเมืองพระพิษุณโลกเป็นพระยากลาโหมราชเสนา  ตรัสเอาพระพลเมืองพระพิษณุโลกเป็นพระยาจ่าแสนยากร... "


จากพระราชนิพนธ์ ไทยรบพม่่า ของ สมเด็จ กรมพระยาดำรงฯ

จะมีข้อความตรงกัน และไม่ตรงกันกับ Oral History ของบ้านสุรนันทน์ พอจะสอบทานกันได้เป็นประเด็น คือ

๑. พระยาท้ายน้ำ ทำผิดอุกกฤษ ถูกประหารตรงกัน ในเชิงอรรถ ว่า เป็นข้าหลวงเดิม ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามหลายครั้ง ตรงกัน แต่บรรดาศักดิ์เพี้ยนกันเล็กน้อยคือ สุรนันทน์ ว่า เป็นขุนสัจาบริรักษ์  สมเด็จ กรมดำรงฯ ว่าเป็น หลวงพิเรนทร์

๒. ในศึกลาดหญ้า ปีพ.ศ. ๒๓๒๘ พระยาสีหราชเดโชชัยก็ถูกประหารด้วย ?  ถ้าเช่นนั้น ท่านจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นที่ พระยารามจัตุรงค์ ได้เช่นไร?

๓. พระยาจ่าแสนยากร ที่คุณประยุทธ ว่า เป็นต้นสกุล ของพระยาสัมภารากร (พระยาราชสัมภารกร - เลื่อน) ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ตามเชิงอรรถว่า "....ทั้งสองท่านนี้เป็นตำแหน่งข้าราชการวังหน้า  ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า  ....ตรัสเอาพระไชยบูรณ์ปลัดเมืองพระพิษุณโลกเป็นพระยากลาโหมราชเสนา  ตรัสเอาพระพลเมืองพระพิษณุโลกเป็นพระยาจ่าแสนยากร ตรัสเอานายทองอิน ข้าหลวงเดิมเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็ก ...." ฉนั้น

๑. พระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) ตามที่คุณประยุทธว่า  เดิมคือ ข้าหลวงเดิม ตำแหน่งพระพลเมืองพระพิษษุโลก  ของกรมพระราชวังบวร

๒. เมื่อสิ้น พระยากลาโหม คนที่ ๒ แล้ว โปรดให้ พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน หลานเธอพระเจ้ากรุงธน) ขึ้นเป็นพระยากลาโหมราชเสนาแทน ตำแหน่ง พระยาเสน่หาภูธร ก็ว่างอยู่ จึงเลื่อน นายกระแส (หลวงนายเสน่ห์รักษา) เลื่อนขึ้นเป็นพระยาเสน่หาภูธรแทน ทำราชการกับบิดา ก็ดูเป็นเหตุเป็นผล ที่พ่อจะส่งเสริมลูก และมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ....... แต่จะเป็นบรรพบุรุษ สุรนันทน์ หรือไม่ ก็ต้องค้ันคิดกันต่อไป......



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 30 มิ.ย. 12, 10:05
เมื่อพระยาท้ายน้ำ ถูกประหารชีวิตแล้ว ครอบครัว ก็ถูกริบราชบาตร ภรรยา และบุตร ตกเป็นคนของหลวง (ในสำนวนพระยาราชสัมภารกร "ตกเป็นวิเสท" คือทำราชการห้องเครื่องวิเศศ ) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นที่ ท้าวเทพภักดี ดูแล เครื่องอาหารคาว คู่กับ ท้าวทองพยศ เครื่องอาหารหวาน

ส่วน ฉิมชู รับราชการ เป็นเจ้าจอมอยู่งาน เชิญพระแสง *** โปรดเกล้าฯ ให้ลงมาเป็นพระพี่เลี้ยง พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิง นุ่ม (พระราชธิดา ลำดับที่ ๑๑ ใน รัชกาลที่ ๑ ประสูติ พ.ศ. ๒๓๒๖ ในเจ้าจอมมารดา ปุย )

(*** คิดๆ แล้วก็แปลกใจ ว่า สามีถูกตัดหัว แล้วให้ภรรยามาคุมห้องเครื่องอาหาร ให้บุตรสาวเป็นเจ้าจอมอยู่งาน เชิญพระแสง ......ถ้าท่านไม่มีพระศาสนาดับแค้นใจ คงเกิดเรื่องไม่ดีแน่ แต่เมื่ออ่านจนจบประโยคในสำนวนพระยาราชสัาภารกร คือ "โปรดเกล้าให้เป็น ท้าวเทพภักดี นายวิเสท ตามที่ได้มีความชอบมาแต่ก่อน....." ข้อความดังนี้ ก็พอจะแปลได้ว่า คุณผู้หญิงทั้งสอง อาจจะรับราชการอยู่ก่อนแล้ว ก็เป็นได้? แม้สามีจะถูกพระราชอาญา ก็ไม่เกี่ยวกัน ........คนโบราณนี้ ท่าน แน่ จริง จริง )


เรื่อง ฉิมชู เจ้าจอมอยู่งาน เชิญพระแสง นี้ มีข้อน่าสังเกตคือ ท่านเป็นเจ้าจอม (คือถวายตัวแล้ว) หรือเป็นเพียงคุณพนักงาน (นางอยู่งาน - นางพระกำนัล) เพราะต่อมา พระยารามจัตุรงค์ เห็นว่า แม่ฉิมชู เป็นบุตรผู้ดี จึงขอให้เป็นภรรยา นายพลพ่าย หุ้มแพร ผู้บุตร



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 30 มิ.ย. 12, 11:16
ประวัติของ นายเรือง บุตร พระยารามจัตุรงค์ (สุรนันทน์ ชั้นที่ ๒) มีว่า

สำนวนพระยาสุรนันทน์ - ได้เป็น นายสนิท หุ้มแพร (นา ๔๐๐) ไม่ใคร่เอาใจใส่ราชการ เมื่อผลัดแผ่ีนดิน (รัชกาลที่ ๒)
จึงถูกย้ายมากรมม้า เปลี่ยนบรรดาศักดิ์ เป็นขุนศรีกันถัด (นา ๔๐๐) แล้ว เป็นอัมพาต จนถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๒  

มีบุตรดังนี้

๑. บุตรหญิง ชื่อ น้อม ถวายตัวเป็นลคร ในรัชกาลที่ ๒

๒. บุตรชาย ชื่อ เสพ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษเวรศักดิ์ ในรัชกาลที่ ๒ ต่อมาคือ พระยาอภัยพิพิธ ผู้สืบสายสกุล สุรนันทน์

๓. บุตรชาย ชื่อ ผู้ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษเวรศักดิ์ ในรัชกาลที่ ๒ ภายหลังละทิ้งราชการ ไปตั้งทำมาหากิน ทำสวนอยู่ตำบลแจงร้อน



สำนวน พระยาราชสัมภารกร - ได้เป็น นายพลพ่าย หุ้มแพร (นา ๔๐๐) แผ่นดินรัชกาลที่สอง ย้ายไปทำราชการกับ วังหน้า เป็น ขุนสินทพรัตน์ ปลัดกรมม้า แล้วป่วยเป็นโรคง่อย เดินไม่ใครได้ ออกจากราชการ (โรคง่อย หรืออำมพาตนี้ ช่วยกันจำหน่อยครับ ประเดี๋ยว มีเล่าเรื่อง อำมพาต ต่อในชั้นหลาน)

มีบุตรดังนี้

กับ ท่านฉิมชู

๑. บุตรหญิง ชื่อ จุ้ย เป็นภรรยา พระหือฤาไทย (บุญคง) บุตรพระยาสุโขทัย [**น่าจะเป็น พระหฤไทย เจ้ากรมพลพันขวา (ในกฏหมาย ๓ ดวง เป็นหลวง) ]
            
           จุ้ย และพระหือฤาไทย (บุญคง) มีบุตรดังนี้
            
              ๑.๑ ชาย  ชื่อ รอด ตามแต่เด็ก
              ๑.๒ ชาย  ชื่อ ช้าง
              ๑.๓ หญิง ชื่อ แย้ม  ถวายตัวในรัชกาลที่ ๓ พระราชทานเป็นภรรยา เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
              ๑.๔ หญิง ชื่อ กลีบ  ถวายตัวในรัชกาลที่ ๓ (ป่วยถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๓ )
              ๑.๕ หญิง ชื่อ คลี่    ถวายตัวในรัชกาลที่ ๓ พระราชทานเป็นภรรยา พระยาเพชรปาณี (นก)
                                     มีบุตร ๓ คน คือ สุจริต นิจดี (คนโตตายแต่เล็ก)

             เจ้าจอมแย้ม กับ เจ้าจอมคลี่ หรือ หม่อมแย้ม (น่าจะเป็นหม่อม เพราะท่านเจ้าคุณ ท่านมีเมียใหญ่คือ ท่านผู้หญิงหนู
             บุตรีเจ้าพระยานครฯ อยู่แล้ว) กับ คุณคลี่่ (เดิมเป็นคุณพนักงาน ก็น่าจะใช้ "คุณ" ได้ แต่จะได้เป็นคุณหญิงหรือไม่ก็ไม่ทราบว่า
             เป็นเมียคนที่เท่าไหร่?) ต่อมาเมื่อสามี อสัญกรรม อนิจกรรมแล้ว กลับเข้ารับราชการฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๔ จนถึงแก่กรรม


๒. บุตรหญิง ชื่อ น้อย ถวายตัวทำราชการในกรมพระราชวังที่ ๒ (วังหน้ารัชกาลที่ ๒) เป็นเจ้าจอมอยู่งาน สิ้นกรมพระราชวังแล้ว มาสมทบทำราชการในพระราชวังหลวงถึง ๔ แผ่นดิน (รัชกาลที่ ๒ - ๕) ในวัยชรา กราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการ มาอยู่บ้านที่คลองผดุงฯ

๓. บุตรชาย ชื่อ เสศ  ได้เป็นพระยาอภัยพิพิธ สืบสกุล


มีบุตรกับภรรยาน้อยอีก ๖ คน เป็นชายชื่อ ตอม่อ, เน่า, สิด และ สุจ    บุตรหญิงชื่อ สระ, และแสง



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 30 มิ.ย. 12, 23:28
สาแหรก ลายมือ คุณกรุ่ม เขียนตามสำนวน พระยาราชสัาภารากร


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 09:19
สุรนันทน์ ชั้นที่ ๓  พระยาอภัยพิพิธ (เสศ หรือ เสพ สุรนันทน์)

ขุนศรีกันถัด หรือ นายพลพ่ายหุ้มแพร (เรือง) ความตามท้องเรือง ปรากฏว่า เป็นอัมพาต ทำราชการไม่ได้ เป็นเหตุให้ครอบครัวขัดสน แม้นายเรืองจะเป็นบุตรพระยา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ตอนท้ายไม่ทราบว่าเกิดเหตุอันใดขึ้น ทำให้ท่านขัดสน ส่วนภรรยาเอง บิดาก็ถูกริบราชบาตร แถมบุตรทั้งหมด ก็ถวายตัวรับใช้ ในวังจนหมดทุกคน สองท่านจึงฝืดเคือยากจนลง , บุตรคนเล็ก คือนายผู้ (เจ้าคุณสุรนันทน์ ท่านกล่าวถึงนายผู้ แต่เจ้าคุณราชสัมภารากร ไม่ได้กล่าวถึงตรงกัน?) จึงออกจากราชการ มาทำ ไร่ ทำสวน หาเลี้ยงบิดามารดา

ส่วนนายเสพ เห็นว่า ถึงจะยากดีมีจน แต่ "เกิดมาเปนตระกูลมาตย ก็ควรจะทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ไปตามสติปัญญาของตัวที่จะทำได้" จึงได้เที่ยวศึกษหนังสือ ขอม ไทย เลข ลูกคิด มวยตามสองมือ โคล ฉันท์ กาพ กลอน แลตำหรับ ตำราต่างๆ ตามแต่ที่จะเรียนได้ ในสมัยนั้น แล้วหมั่นเข้าเฝ้าทูละอองธุลีพระบาท (หมายถึงรัชการที่ ๒)เสมอมิได้ขาด .........


ท่านเจ้าคุณสุรนันทน์ ยังเล่าต่อว่า

"..... เวลาวันหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์อยู่เสด็จออกทรงธรรม ในพระที่นั่งอำมรินทรวินิจฉัย แทนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ประทับอยู่บนพระราชอาศน์ที่ทรงธรรม มีรับสั่งให้หาบรรดามหาดเล็กที่เฝ้าอยู่นั้นให้เข้าไปเฝ้าให้ใกล้ แล้วรับสั่งให้เอาคี่ผึ้งปั้นตัวหนังสือกาพโคลงถวายใครจะปั้นงานกว่ากัน ในเวลานั้นโปรดฝีมือท่านเสพว่าปั้นตัวหนังสืองามกว่าคน ตั้งแต่นั้นต่อมาเสด็จออกข้างน่าก็รับสั่งให้หาท่านเสพมาเฝ้าเสมอ

จนเสด็จออกมาประทับที่พระราชวังเดิม ก็รับสั่งให้ท่านเสพไปอยู่ด้วย เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย ในเวลานั้นมีผู้ที่โปรดปรานชอบพระราชหฤทัยอยู่สามนายคือ จางวางเสือ ๑ นายเสพหมาดเล็ก ๑ นายบัวมหาดเล็ก ๑ คนทั้ง ๓ นี้ ถ้าเสด็จทางชลมรคนายเสพกับนายบัวอยู่น่าเก๋ง จางวางเสืออยู่ท้ายเก๋งเสมอ จนถึงเวลาทรงผนวช (ที่วัดมหาธาตุ - แล้วน่าจะตามเสด็จไป ที่วัดสมอรายด้วย เพราะได้ตามเสด็จประพาสที่ต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไป)ทั้งสามนี้ก็ตามเสด็จไปอยู่วัดด้วย......."


".....ครั้งหนึ่งเสด็จประพาศเมืองเพ็ชร์บุรีย แลเขาลูกช้าง คนทั้งสามนี้ก็ได้ตามเสด็จด้วย วันหนึ่งเสด็จประภาศเขาขาดแล้วเสด็จกลับประทับแรมที่เมืองเพ็ชร์บุรีย เวลาคืนหนึ่งประทับแรมในเรือพระราชที่นั่งบรรธมไม่หลับ จึงรับสั่งถามนาย เสพ บัว ว่า หลับแล้วหรือยัง ท่านทั้งสองกราบทูลว่ายังไม่หลับ แล้วรับสั่งถามจางวางเสือวว่าหลับแล้วหรือยัง จางวางเสือกราบทูลม่อยไปนิจหนึ่ง จึงรับสั่งว่าอย่าเพ่อนอนเลยคุยกันเล่นก่อนเถิด จางวางเสือทูลว่าดึกแล้วง่วงนอนเต็มที จะทรงคุยอะไรก็ทรงไป ข้าพระพุทธเจ้าจะนอนฟัง ก้ทรงพระสรวล แล้วทรงรับสั่งว่าที่พระองค์ท่านยืนอยู่ที่น่าผาเขาขาดนั้น ถ้าพระองค์ท่านตกลงไปแกทั้งสามคนจะทำอย่างไร

นายเสพกับนายบัวกราบทูลว่าจะโดดตามลงไป แต่จางวางเสือกราบทูลว่าถ้าทรงตกลงไป ข้าพระพุทธเจ้าดาบเล่มย่ามใบหนึ่งเปิดไปเมืองพม่าทีเดียว ไม่ยอมกล้บไปติดคุกในกรุงเทพฯเลย ทรงพระสราลแล้วรับสั่งว่าถ้าพระองค์ท่านได้เปนกระษัตริย์ใครอยากจะเปนที่อะไรบ้าง นายเสพกราบทูลว่าขอให้ทรงรับสั่งด้วยเสมอๆ นายบัวกราบทูลว่าขอให้ได้เปนผู้ว่าราชการเมือง จางวางเสือกราบทูลว่าขอให้เปนผู้ชำระผู้ร้าย ครั้นต่อมาพายหลังชนทั้งสามนี้ ก็ได้สมความปรารถนา........"





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 09:46
เรื่องมหาดเล็กทั้งสามคนนี้ คุณกรุ่มเคยเล่าว่า ท่านสันนิษฐานจากปากคำของผู้ใหญ่  จางวางเสือ นั้น สืบสายต่อมาเป็นสกุล อิศรภักดี  มหาดเล็กบัว สืบสายต่อมาเป็นสกุล ศิริสัมพันธ์  มหาดเล็กเสพ ก็คือ พระยาอภัยพิพิธ  ถูกต้องเท็จจริงอย่างไร ก็ต้องหาข้อมูลกันต่อไปครับ.......


ที่คุณพระมหาเทพฯ เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงถามว่า ถ้าได้เป็นกษัตริย์ จะขออะไร มีท่านหนึ่งบอก ขอเป็นเจ้า พอขึ้นครองราชย์ฯ จึงต้องเปลี่ยนตำแหน่ง จมื่น เป็น เจ้าหมื่น เพื่อพระราชพร ตามที่ทรงวาจาสิทธิ์ ?


เคยถามเรื่อง พระราชทานพร ให้จมื่น เป็น เจ้าหมื่น ไปค้นหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ท่านบรรยายว่า (ตามภาพ)

คุณพระฯ ท่านว่า มหาดเล็กนั้นน่าจะชื่อโต จึงไม่ใช่มหาดเล็กที่ได้โดยเสด็จเมื่อคราว ทรงหนีราชภัยต้นรัชกาลที่ ๓  นายโต นี้ จะใช้ เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) ที่ทรงรัก เสมือน พระราชบุตรบุญธรรมเมื่อทรงครองราชย์ หรือไม่ ก็ต้องลองหาประวัติ  แล้วดูปีพ.ศ. ที่ท่านได้เป็น จมื่น หรือ เจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี หรือไม่......... อาจจะได้ความครับ



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 11:05
คุณกรุ่ม  ท่านเคยเล่าเรื่องบรรพบุรุษของท่านให้ฟังเยอะ  แต่จำได้บ้างไม่ได้บ้าง

ที่จำได้แม่นคือ เมื่อครั้งทูลกระหม่อมฟ้า (รัชกาลที่ ๔) ทรงผนวชในตอนปลายรัชกาลที่ ๒  ท่านเล่าว่า เมื่อพระอาการหนักมาก  ในหลวงรัชกาลที่ ๓ ส่งทหารเข้าล้อมพระบรมมหาราชวัง  คงจะเป็นทำนองจุกช่องล้อมวงตมโบราณราชประเพณี  เวลานั้นทูลกระหม่อมฟ้าประทับอยู่วัดมหาธาตุ  มีมหาดเล็กเฝ้าอยู่ ๔ คน  คืนวันหนึ่งมหาดเล็กทั้ง ๔ เกรงว่าภันจะมาถึงทูลกระหม่อมจึงกราบทูลเชิญเสด็จลงเรือแจวเลาะริมฝั่งน้ำไปประทับที่วัดราชาธิวาส  แจวหัวท้าย ๒ คน  อีก ๒ คนถือดาบคอยระวังรักษาพระองค์หน้าหลัง  ผลัดกันแจวผลัดกันถือดาบไปจนถึงวัดราชาธิวาส  เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทั้ง ๔ คนนี้ได้รับราชการเป็นพระยาหมดทั้ง ๔ คน 

เรื่อง เสด็จลงเรือ เพราะเกรงมีภัยต่อ ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ นี้ เป็นเรื่องเล่าภายในตระกูล ไม่มีบันทึกไว้ ตามที่เ่ล่าไปแล้ว ว่า แจวเรือกัน ๔ คน ทูลหม่อมพระประทับกลางเรือ คนหนึ่งถือดาบยาวเกือบ ๒ เมตร คนหนึ่งถือคบไฟ (เพราะหนี เวลากลางคืน) แจวเรืออีก ๒ คน


เหตุที่ทรงจำเป็นต้อง "หนี" ราชภัยไปจำวัด ที่อื่นนี้ เป็นด้วยเหตุ "การเมือง" แน่  แต่จะเป็นเพราะ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ผู้สำเร็จราชการตอนท้ายรัชกาล ที่ทรงกุมอำนาจราชการไว้มาก และทรงมีพระชันษา(กรมฯ เจษฏาบดินทร์ ชันษา ๓๖ - ๓๗ ทูลกระหม่อมพระ ชันษา ๒๐)   "หรือ"  เพราะเหตุการณ์ "ลูบจีวร" ของกรมหมื่นรักษ์รณเรศ กันแน่ ?

ลองมาฟังกันดูครับ


".... พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไปพอเห็นสวรรคตแล้ว ก็ทรงกันแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้ แล้วคลำดู ดูที่จีวรกลัวจะซ้อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัย รับสั่งว่า ขอชีวิตไว้อย่างฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่างกลัว ไม่มีใครทำอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทังนั้น ทำอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย .......... " (บันทึกความทรงจำ พระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล)

 เหตุนี้หรือเปล่า ? ที่มหาดเล็กเห็นว่า ไม่ปลอดภัย จึงต้อง พาทูลกระหม่อมพระ ย้ายที่จำวัด จากวัดมหาธาตุ ไปวัดสมอราย (ซึ่งก็ต้องนับว่าไกล)

กรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือหม่อมไกรสร กับรัชกาลที่ ๔ ซึ่งน่าจะ "ไม่ถูกกัน" อย่างแรง เพราะหม่อมไกรสร เองก็ยังตามไปรบกวนพระ ถึงวัด ซึ่งอาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ ต้องทรงออกธุดงค์ และย้ายวัดไปมา........  ตามด้วยเกมส์การเมือง เรื่อง พระอาจารย์ ซาย พระอาจารย์มอญของทูลกระหม่อมพระ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย !!!!!!  จนกระทั้งเกิดการ "กำจัด" หม่อมไกรสร ด้วยเรื่อง "เกย์" และ "กระทง" (เรื่องมันยาววววววว)


เรื่องหม่อมไกรสรนี้ มีเกี่ยวข้องกับ เจ้าคุณอภัยพิพิธ อยู่ด้วยนิดดดดด หน่อย จะเกี่ยวข้อง สำคัญหรือไม่ หรือจะเป็น conspiracy theory  (เอ...ดูหนังมากไปรึเปล่า? )


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 11:08


คุณพระฯ ท่านว่า มหาดเล็กนั้นน่าจะชื่อโต จึงไม่ใช่มหาดเล็กที่ได้โดยเสด็จเมื่อคราว ทรงหนีราชภัยต้นรัชกาลที่ ๓  นายโต นี้ จะใช้ เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) ที่ทรงรัก เสมือน พระราชบุตรบุญธรรมเมื่อทรงครองราชย์ หรือไม่

ขออภัย จำผิดพลาดสับสน พระราชบุตรบุญธรรมรัชกาลที่ ๔ คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เจ้าพระยานรรัตน์ฯ (โต) นี้ท่านเป็น นายจ้างของ ก.ศ.ร. กุหลาบ อ่านปนกันสองเรื่อง สับสน สับสน

 ??? ??? ???

ฉนั้น นายโต จึงไม่น่าใช่ เจ้าพระยานรรัตน์ ครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 11:24
เรื่องมหาดเล็กทั้งสามคนนี้ คุณกรุ่มเคยเล่าว่า ท่านสันนิษฐานจากปากคำของผู้ใหญ่  จางวางเสือ นั้น สืบสายต่อมาเป็นสกุล อิศรภักดี  มหาดเล็กบัว สืบสายต่อมาเป็นสกุล ศิริสัมพันธ์  มหาดเล็กเสพ ก็คือ พระยาอภัยพิพิธ  ถูกต้องเท็จจริงอย่างไร ก็ต้องหาข้อมูลกันต่อไปครับ.......


มหาดเล็ก ๓ คนนี้ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ คือ

จางวางเสือ เป็นที่ พระยาสีหราชฤทธิไกร กรมอาษาหกเหล่า แลโปรดเกล้าฯ ให้เปนกองจับชำระโจรผู้ร้าย

(ค้นในอินทรเนตร สอดส่อง ว่า พระยาสีหราชฤทธิไกร (เสือ) เป็นเจ้าของลคร มีบุตรชื่อ พระยานรานุกิจมนตรี (เปลี่ยน) ..... ค้นต่อ พระยานรานุกิจมนตรี (เปลี่ยน) เมื่อขอพระราชทานนามสกุล "ทัศนะพยัคฆ์" รัชกาลที่ ๖ ทรงลงในบาญชีว่า ปู่ชื่อนายเพ่ง มหาดเล็ก บิดาชื่อพระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ (เสือ) คราวนี้ จะเพี้ยน หรือจะคนล่ะคน ก็ไม่ทราบได้?

มหาดเล็กบัว เป็นที่ พระยาสุรินทรฤาไชย ผู้ว่าราชการเมืองเพ็ชร์บุรีย์

ส่วนมหาดเล็กเสพ คือพระยาอภัยพิพิธ



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 17:46
เมื่อรัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชฯ แล้ว ทูลกระหม่อมฟ้าพระก็คงเห็นว่า มหาดเล็กในพระองค์คงยากที่จะเจริญต่อไป จึงทรงทำนายเสพ ไปฝากทำราชการกับ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (วังหน้า ในรัชกาลที่ ๓) นายเสพได้โดยเสด็จกรมพระราชวังบวร ไปในการศึก เจ้าอนุ เวียงจันทร์ (พ.ศ. ๒๔๖๙) ในตำแหน่ง มหาดเล็กสาตราคม จดรายงานการทัพ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์มหาดเล็กวังหน้าเป็นที่ นายปรีดาราช หุ้มแพร

ครั้น กรมพระราชวังบวร ทิวงคต ก็เข้ามาสมทบทำราชการกับวังหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ไปตรวจการกราบบังคมทูล รายงานการสร้างป้อมผีเสื้อสมุท ที่เมืองสมุทปราการ รับพระราชทานบรรดาศักดิื์ เป็น นายจ่าเนตร ให้เป็นมหาดเล็กกำกับศาล แลหอวินิจฉัยไภยรีด้วย เมื่อทำราชการชำนิชำนาญดีแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงอินทรโกษา ปลัดพระคลังราชการ



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 18:02
มีเกร็ดประวัติ และแสดงผลงานของ ท่านเสพ อยู่ประการหนึ่ง ซึ่งน่าจะรวบรวมไว้ คือ

เจ้าคุณสุรนันทน์ กล่าวไว้ว่า

".....ครั้นต่อมาจึงทรงนำนายเสพไปฝากไว้ให้ทำราชการ ในพระราชวังบวรกรมศักดิ์พลเสพ ได้เปนที่นายปรีดาราช หุ้มแพร ฝ่ายพระราชวัง ได้ไปทัพเวียงจันกับกรมพระราชวังเปนมหาดเล็กสาตราคมจดรายงานการทัพ ครั้นกรมพระราชวังชีวงษคตสมทบลงมาอยู่ในพระราชบรมมหาราชวัง ได้แต่งโคลงฤาษีดัดตนประดับในวัดพระเชตุพนครั้งหนึ่ง ...."

ไปค้นดู โคลงฤาษีดัดตน ที่มีโฟสในเว็บไซด์ http://slimfastter.com ซึ่งนำมาจากจารึกวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) พบอยู่สองโคลง ที่แต่งโดย นายปรีดาราชฯ ดังจะได้รวบรวมไว้นี้ (หวังว่าจะไม่ผิดฝาผิดตัวครับ เพราะเขาไม่ได้ลงชื่อเดิมไว้ว่า นายปรีดาราชนี้ ชื่อเสพ หรือไม่? )


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 18:03
และอีกโคลงหนึ่ง.....


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 22:50
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศบรรดาศักดิ์ ให้ หลวงอินทรโกษา เป็นที่ พระยาพิพัฒนโกษา ปลัดทูลฉลอง กรมท่า

บรรดาศักดิ์ ของกรมท่านี้ เสนาบดี คือ เจ้าพระยาพระคลัง นา ๑๐๐๐๐  (ในกฏหมาย ๓ ดวงใช่ว่า ออกญาศรีธรรมราชเดชะฯ - ไม่ทราบว่าเหตุใดไม่ตั้งตามนั้น? ) พระพิพัทโกษา ราชปลัดทูลฉลอง นา ๑๐๐๐  เป็นส่วนกลาง แบ่งเป็น กรมท่าขวา พระจุลาราชมนตรี นา ๑๔๐๐ ดูแลค้าขายแขก - ฝรั่ง เปอร์เซีย  กรมท่าซ้าย หลวงโชดึกราชเศรษฐี นา ๑๔๐๐ เท่ากัน (ภายหลังเป็นพระยาเหมือนกัน) ........... อีกตำแหน่งคือ พระศรีพิพัทรัตนะโกษา นา ๓๐๐๐ ไม่แจ้งว่า ตำแหน่งอะไร?  .......ในภายหลัง ตำแหน่งพระศรีพิพัทฯ เปลี่ยนเป็น พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา จางวางกรมท่า  ส่วน พระพิพัฒน์โกษา เปลี่ยนเป็น พระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลองกรมท่า  แต่ตำแหน่งไหน จะทำหน้าที่อันใด ก็ยังไม่เข้าใจซักทีครับ ?

ปลายรัชกาลที่ ๓ ตำแหน่งเสนาบดีว่างลง แต่ไม่ทรงเลื่อนใครขึ้นมาแทน พราะมีพระราชดำริว่า "ให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ท่านตั้งเอง"

ส่วนในกรมท่า ก็ชะงัก เพราะ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ท่านว่าราชการ สมุหพระกลาโหม แต่ไม่ยอมเปลี่ยนเป็น เจ้าพระยามหาเสนา (ท่านว่า เจ้าพระยามหาเสนา มักตายไว ?????)  ท่านอื่นๆ ก็เลยถูก "ดอง" ไปด้วย จนต้นรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้เลื่อน พระพิพัฒนโกษา (บุญศรี บูรณศิริ) เป็น............. ก่อนแล้วจึงเป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี จตุสดมภ์วัง (เป็น เจ้าพระยาสุธรรมนตรี ในภายหลัง)

ปลัดพระคลังราชการ หลวงอินทรโกษา จึงเลื่อนขึ้นมาแทน เป็นพระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลอง ( เทียบเท่าปลัดกระทรวงการคลังควบต่างประเทศ ปัจจุบัน ได้หรือเปล่านา แต่ก็น่าจะใหญ่อยู่........... )




กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 01 ก.ค. 12, 23:05
พระยาพิพัฒน์โกษา ได้รับพระราชทาน

พระยาสุรนันทน์ ว่า

"...... ได้รับพระราชทานพาน   ๑. หมากทองคำใหญ่     ๒. คนโททอง    ๓.กระโถนทอง     ๔. แคร่คนหามแคร่     ๕. ที่บ้านแลตึก แลที่ตลาดกับภรรยา ๑ คน ๖. ทาสชายหญิงสี่ครัว "


สำนวนพระยาราชสัมภารากรว่า


ได้รับพระราชทานตอนครองราชฯ - ๑. คนโทบังกะสี    ๒. คนระบาทหม่อมไกรสร ๓. ภรรยานายทั่งกันบท ๑ กับ บุตรชาย ๑


ได้รับพระราชทานพร้อมสัญญาบัตรพระยา ๑. โต๊ะทองคำรองล่วม    ๒. คนโทน้ำทองคำ    ๓. กะโถนทองคำ    ๔. สมปักปูมโคมเพชร ๒ 


ได้รับพระราชทาน บำเน็จเพิ่ม ๑. เจ้าจอมวัณ บุตพระอินทรเดชะ (นิ่ม) ซึ่งเปนเจ้าจอมอยู่งานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มาเป็นภรรยา


๒. เครื่องอิสริยศเหรียญทองคำใหญ่ มีตราแผ่นดินดวงหนึ่ง สำหรับติดเสื้อ    ๓. พานหมากทองคำเหลี่ยมไม้สิบสองมีเครื่องกินครบ    ๔. คนโทกะโถนทองคำ

๕. ถมปักสายสมปักปูมเขมร   ๖. เสื้อเข้าขามอย่างน้อย    ๗. ส่านแหวนพิรอด ทองคำแงหนึ่ง หนัก หกตำลึง    ๘. ได้พระราชทานที่บ้าน

ที่ปากคลองผดุง แต่ท่าวัดแก้วฟ้าถึงริมแม่น้ำ    ๙. เบี้ยหวัดปีละ ๗


ที่ทำตัวหนา (Bold) คืออะไรหรือครับ ?





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.ค. 12, 00:09
ในภายหลัง ตำแหน่งพระศรีพิพัทฯ เปลี่ยนเป็น พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา จางวางกรมท่า 
ส่วน พระพิพัฒน์โกษา เปลี่ยนเป็น พระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลองกรมท่า  แต่ตำแหน่งไหน จะทำหน้าที่อันใด ก็ยังไม่เข้าใจซักทีครับ ?

ปลายรัชกาลที่ ๓ ตำแหน่งเสนาบดีว่างลง แต่ไม่ทรงเลื่อนใครขึ้นมาแทน เพราะมีพระราชดำริว่า "ให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ท่านตั้งเอง"


ปลัดพระคลังราชการ หลวงอินทรโกษา จึงเลื่อนขึ้นมาแทน เป็นพระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลอง
( เทียบเท่าปลัดกระทรวงการคลังควบต่างประเทศ ปัจจุบัน ได้หรือเปล่านา แต่ก็น่าจะใหญ่อยู่........... )



ตำแหน่งจางวางในกรมต่างๆ ในระบบราชการสมัยก่อน  มีหน้าที่แตกต่างกันไปตามกรมที่สังกัด
ถ้ากรมใด มีเจ้ากรมเป็นผู้บังคับบัญชา  ตำแหน่งจางวางในกรม คือ ตำแหน่งที่ปรึกษาราชการในกรมนั้นๆ
โดยมากก็คือ ขุนนางที่เคยเป็นเจ้ากรมมาก่อน  เมื่อเจ้ากรมมีอายุมากขึ้นจะรับราชการต่อไปได้ไม่เต็มที่
(นัยว่า  โรคภัยเบียดเบียน  ร่างกายอ่อนแอ) ในหลวงจะโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้พระยา จางวาง
เพื่อที่จะเลื่อนปลัดกรมขึ้นมาเป็นเจ้ากรมต่อไป  ข้าราชการหัวเมืองก็เป็นอย่างเดียวกัน  เจ้าเมืองชราภาพมาก
ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้เลือนเป็นพระยาหรือเจ้าพระยา จางวางกำกับราชการเมืองนั้นๆ

แต่ในราชการบางหน่วย  มีจางวางเป็นผู้บังคับบัญชาแทนเจ้ากรม  เช่น  กรมมหาดเล็ก  เป็นต้น

ส่วนปลัดทูลฉลอง  เป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่ถือหนังสือราชการใบบอกเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลแทนเจ้ากรม
รวมไปถึงเป็นผู้ทำหน้าที่กราบบังคมทูลเบิกนำข้าราชการหัวเมืองในสังกัดกรมนั้นๆ เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าแผ่นดิน
อนึ่งในกระทรวงใหญ่  อย่างกระทรวงมหาดไทย  กระทรวงพระกระลาโหม  ปลัดทูลฉลอง จะมีชื่อเรียกพิเศษขึ้นว่า ราชปลัดทูลฉลอง

การไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใครเป็นเสนาบดีแทนในตำแหน่งที่ว่างลง ในปลายรัชกาลนั้น
เป็นเพราะว่า  พระเจ้าแผ่นดินอาจจะทรงเล็งเห็นว่า  ถึงไม่ทรงตั้งใครเป็นเสนาบดี  ปลัดทูลฉลองก็สามารถทำการว่าที่แทนได้
ที่ไม่ทรงตั้งใครในปลายแผ่นดินนั้น  มีอีกเหตุผลหนึ่งว่า  ธรรมเนียมราชการสมัยก่อน  หากสิ้นแผ่นดินรัชกาลใดแล้ว
ขุนนางที่ทำการอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใด  จะกลายเป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งนั้นทันที  และรักษาราชการนั้นไปจนกว่า
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ในการพระราชพิธีนั้น  จะมีพระราชดำรัส
อยู่องค์หนึ่งที่ว่า  ข้าราชการที่เคยรับราชการอยู่ในตำแหน่งหน้าที่มาแต่เดิมในแผ่นดินรัชกาลก่อน  ก็ขอให้ทำราชการนั้นต่อไป
(ถ้าตำแหน่งว่างอยู่ก็จะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง) ในหลวงบางรัชกาลทรงเห็นว่า  จะดำรงพระชนมชีพต่อไปได้ไม่นานนัก
ก็จะไม่โปรดเกล้าฯ ใครขึ้นมาดำรงตำแหน่งราชการใหญ่ที่ว่างอยู่  เพราะหากตั้งไปแล้ว  เกิดเปลี่ยนรัชกาลแล้ว 
ขุนนางผู้นั้นอาจจะถูกโยกหรือพระเจ้าแผ่นดินใหม่อาจจะโปรดเกล้าฯ ผู้อื่นที่ทรงไว้พระราชหฤทัยมาทำการแทน

กรมท่านั้น  นอกจากทำหน้าที่พระคลัง  และการต่างประเทศแล้ว  ยังมีหน้าที่กำกับราชการหัวเมืองชายทะเล
(อยากรู้มีเมืองอะไรบ้าง  ก็หาดูเอาเถิด) ด้วย  หน้าที่เท่ากับปลัดกระทรวงอย่างน้อย ๓ กระทรวงในปัจจุบัน


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.ค. 12, 08:48
พระยาพิพัฒน์โกษา ได้รับพระราชทาน

พระยาสุรนันทน์ ว่า

สำนวนพระยาราชสัมภารากรว่า

  ๘. ได้พระราชทานที่บ้าน

ที่ปากคลองผดุง แต่ท่าวัดแก้วฟ้าถึงริมแม่น้ำ  


ที่ทำตัวหนา (Bold) คืออะไรหรือครับ ?





ที่วัดแก้วฟ้า เดิมตั้งอยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านใต้ ดังนั้นการได้รับพระราชทานที่ดิน ก็น่าจะจะกินบริเวณในพื้นที่สีฟ้า ซึ่งเป็นระยะจากท่าน้ำวัด ออกมายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตรงหัวมุมปากแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมากลายเป็นที่ตั้งของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ที่วัดแก้วฟ้าตั้งอยู่หลังธนาคารดังกล่าว (ภายหลังวัดได้โอนที่ย้ายไปตั้งลึกเข้าไป เป็นวัดแก้วแจ่มฟ้า) จึงได้แนบแผนที่ ร.ศ. 121 และภาพถ่ายทางอากาศวิลเลี่ยมฮันท์ 2489 ประกอบ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 03 ก.ค. 12, 22:15

๒. เครื่องอิสริยศเหรียญทองคำใหญ่ มีตราแผ่นดินดวงหนึ่ง สำหรับติดเสื้อ   


ผมคิดว่า น่าจะเป็นเหรียญ "ดาราช้างเผือก" น่ะครับ

ภาพจาก หนังสือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ปกแดง


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 03 ก.ค. 12, 22:27
ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็น จางวาง กรมท่า( เจ้าคุณสุรนันทน์ ว่า ท่าขวา เจ้าคุณราชฯ ว่าท่ากลาง ?) เปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยพิพิธ แล "....ดิปโปลมาว่ามีความชอบที่ทำราชการมาจลชรามิได้มีความผิด....." พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้

๑. ทุติยจุลจอมเกล้าฯ

๒. ภัทราภรณ์ (มงกุฏไทย) แล มัณฑนาภรณ์ (มงกุฏไทย)

๓. เหรียญตรา ต่างประเทศ


และโปรดให้เป็น ข้าหลวงใหญ่ออกไปสักเลขหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก ประมารสามปีเศษ จึงได้กลับเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ

จนอายุได้ ๗๒ - ๗๓ ปี ป่วยเป็นโรคชราถึงแก่กรรม


ภาพเจ้าคุณสุรนันทน์ มีอยู่ในกระทู้นี้ แล้ว โปรดย้อนกลับไปชมครับ นำภาพ มัณฑนาภรณ์ มาให้ชม จากหนังสือปกแดง เช่นกัน........


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 03 ก.ค. 12, 22:44
เรื่องเจ้าคุณอภัยพิพิธ มีเกร็ดประวัติอยู่นิดนึงครับ .......


ทายาทท่านเล่าว่า เจ้าคุณทวด เกือบจะได้เป็น "เจ้าพระยา" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ไมไ่ด้เป็นเจ้าพระยาด้วยเหตุใด ก็นึกไม่ออก......  (ท่านเล่าแล้ว แต่ผมลืมจริงๆ ทายาทในตระกูลตัวจริง อาจจะทราบเป็นได้ โปรดเล่าด้วยเจ้าขา............. :'()


นิสัยส่วนตัว เจ้าคุณอภัยพิพิธ จากปากคำทายาท ท่านเดียวกัน ท่านเป็นคนรักวิชา มาก นอกจากจะเป็นมีวิชา รำดาบ กระบี่ กระบอง เป็นเลิศ (ซึ่งตกทอดมาถึง เจ้าคุณผู้บุตร) ความที่ท่านเป็นผู้ใผ่ความรู้ ดังเ่ช่น เมื่อยังเยาว์ ก็ขนขวาย ศึกษาหนังสือ แล วิชา ต่างๆ (รวมทั้ง ศึกษาภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีบ้าง และส่งเสริมให้บุตร เรียนภาษาต่างประเทศด้วย แต่เหมือนมรดกหนังสือท่าน ผมไ่ม่ยักกะเห็นหนังสือภาษาอังกฤษเลย,- อาจจะอยู่ในลัง) นับเป็นผู้ที่มีภูมิความรู้ดีมากคนหนึ่งในยุครัชกาลที่ ๔ และ ๕ ตอนต้น


นอกจากนั้น ท่านยัง เป็นนักอ่าน นักเก็บสะสม อีกด้วย  ดังเช่น ท่านสะสมหนังสือ ของ หมอสมิท หมอบลัดเลย์ ราชกิจจานุเบกษา และมีสมุดไทย หลายร้อยเล่ม ตกทอดเป็นมรดก ให้ลูกหลาน  (ส่วนหนึ่งผมยังคิดเล่นๆ เผลอๆ ท่านอาจจะได้หนังสือของ หม่อมไกรสร มาบ้าง จากตอนได้รับพระราชทาน คนระบาท )



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 03 ก.ค. 12, 23:14
ภรรยา และบุตร - ธิดา

๑. สมัย รัชกาลที่ ๓ เมื่อเป็น นายปรีดาราช ได้ท่านน้อย บุตรี พระยารัตนมณเฑียร (เนียม) เป็นภรรยา ตั้งครอบครัวอยู่ที่ตรอกศาลเจ้าครุฑ (อยู่ตรงไหนครับ ? ขอพึ่งใบบุญ คุณ Siamese โปรดเฉลยด้วย คนบ้านนอกไม่ถนัด ถนนกรุง ........) มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คนโต ชื่อ ฟ้อน เป็นภรรยา ขุนอินทรักษา (บุตร) อีก ๒ คน ตายตั้งแต่ยังเด็ก  ท่านน้อย เสียชีวิตที่ บ้านอีร้า ในระหว่างเดินทางกลับจาก นมัสการพระพุทธบาท สระบุรี

             นางฟ้อน และขุนอินทรักษา (บุตร) มีบุตร ๓ คน  บุตรหญิงคนโตถวายตัวเป็นละครรัชกาลที่ ๔ แล้วถึงแก่กรรม บุตรชายคนโตชื่อ
             น้อม โปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ยศตั้งแต่ นายสิบตรี จนถึงนายร้อยเอก แล้วถึงแก่กรรม
             มีบุตรชื่อ เหนียง เนา หน่อง และหนอม

            
             ผู้น้องชื่อ ว่าง เป็นนายรองพินิจราชการ แล้วเลื่อนไปเปนจ่าเขมงสัตรียาอุทร ได้ไปเป็นข้าหลวงผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่รักษาเมืองนคร
             เชียงใหม่ กลับลงมา   โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระศรีพิทักษ์ เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารขวาฝ่ายพระราชวังบวร
             แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปเปนข้าหลวงรักษาราชการเมืองกุขันฑ์ เลื่อนขึ้นเป็นพระราชวรินทร เจ้ากรมพระตำรวจขวา แล้วเป็น
             ข้าหลวงรักษาราชการเมืองสระบูรี จนถึงแก่กรรม มีบุตรหญิง ๒ ชื่อแจว และ อั้ว




กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ค. 12, 07:35
ภรรยา และบุตร - ธิดา

๑. สมัย รัชกาลที่ ๓ เมื่อเป็น นายปรีดาราช ได้ท่านน้อย บุตรี พระยารัตนมณเฑียร (เนียม) เป็นภรรยา ตั้งครอบครัวอยู่ที่ตรอกศาลเจ้าครุฑ (อยู่ตรงไหนครับ ? ขอพึ่งใบบุญ คุณ Siamese โปรดเฉลยด้วย คนบ้านนอกไม่ถนัด ถนนกรุง ........) มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คนโต ชื่อ ฟ้อน เป็นภรรยา ขุนอินทรักษา (บุตร) อีก ๒ คน ตายตั้งแต่ยังเด็ก  ท่านน้อย เสียชีวิตที่ บ้านอีร้า ในระหว่างเดินทางกลับจาก นมัสการพระพุทธบาท สระบุรี


ตรอกครุฑ ตั้งอยู่ที่ถนนอัษฎางค์ครับ เป็นตรอกที่ศาลเจ้าพ่อครุฑตั้งอยู่ ซึ่งที่มานั้นทราบเพียงว่า ครุฑไม้ได้ลอยน้ำมายังบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านก็เลยนำขึ้นจากน้ำ เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ ครับ ตรอกเจ้าพ่อครุฑนี่ในแผนที่สมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ยังเป็นคลอง ดังนั้นแนวตรอกครุฑคือการถมคลองเก่าครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ก.ค. 12, 08:19
ปัญหาว่า ท่านเจ้าคุณเป็นจางวางกรมท่าขวาหรือท่ากลางนั้น  พอจะวินิจฉัยปัญหาได้ว่า
กรมท่าซ้าย  ค้่าขายกับสำเภาจีน  จางวางและเจ้ากรมจึงมักจะเป็นคนจีน
กรมท่าขวา  ค้าขายกับเมืองแขก  จางวางและเจ้ากรมจึงมักจะผูกขาดอยู่กับบุคคลในสกุลบุนนาค  ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาจุฬาราชมนตรี
กรมท่ากลาง  ค้าขายกับฝรั่ง  ประกอบกับพระยาราชสัมภารากรผู้บุตรเคยไปราชการเป็นข้าหลวงศาลต่างประเทศที่เมืองนครเชียงใหม่
ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อกับกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่  ฉะนั้นท่าคุณอภัยพิพิธจึงน่าจะเป็นจางวางกรมท่ากลาง


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.ค. 12, 16:08
        เรียนคุณปิยะสารณ์

        มาช่วยตอบเรื่องหนังสือของกรมหมื่นรักษ์รณเรศค่ะ       ก.ศ.ร. เขียนไว้หลายครั้งความต่อกัน

        ขอเล่าแบบย่อ ๆ ด้วยสำนวนของดิฉันเองดังต่อไปนี้


        วังท่านอยู่ตรงสวนสราญรมย์   ในวังมีสระใหญ่    เมื่อเป็นคดีแผ่นดินท่านคงทราบอนาคต  จึงทิ้งสรรพตำราลงใน

สระใหญ่  ความบางตอนบอกว่าถมจนเต็ม     หม่อมเจ้าชายที่เอ่ยชื่อไว้มีหม่อมอำพน   หม่อมกรุง  หม่อมเผือก

หม่อมสุวรรณ และหม่อมนก ก็โดนจำไว้ในทิมแถวข้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามแต่จำชั้นเดียว  โซ่มิได้พันผ้าขาว    ระหว่างนั้น    

หม่อมกรุงไปตามเก็บหนังสือที่ลอยตัวอยู่มารักษาไว้จำนวนหนึ่ง   แล้วนักสะสมคนหนึ่งที่ชอบเก็บหนังสือก็ได้ไป  คงจะเป็นตัว ก.ศ.ร. นั่นแหละ


        เรื่องที่น่าเล่ามีต่อว่า   อยู่ต่อมาวันหนึ่ง  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรช่างที่ทำ

พระเบญจาทองคำสำหรับตั้งพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราช  ที่หน้าโรงช้างเผือก(หน้าพระที่นั่งจักรี)   ทอดพระเนตรเห็น

หม่อมอำพนกับหม่อมกรุงจึงทรงมีพระราชปฎิสันฐาน

        
        "พี่น้องของเจ้ายังทีอยู่อีกกี่คน     ให้พากันเข้ามาหาข้า     ข้าจะชุบเลี้ยงในฐานะเป็นราชตระกูล

แต่ข้าไม่พยาบาทพ่อเจ้า   พ่อเจ้ากับข้าเกลียดชังกันเหมือนขมิ้นกับปูน   แต่ข้าไม่ถือโทษ  จะเลี้ยงพวกเจ้า"

        หม่อม ๕ รายนี้ก็จัดดอกไม้ธูปเทียนเข้าเฝ้า   ได้มีรายชื่อในสมุดท้ายบัญชีเบี้ยหวัดเจ้านายฝ่ายราชตระกูล

ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานพระคลังค้นดูบาญชี      แลตัวพรรณผ้านุ่งผ้าห่มของหม่อมไกราีที่ริบราชบาทว์

มานั้น   พระราชทานคืนให้แก่บุตรชายหลายคนของหม่อมไกรสรไป

        มีพระบรมราชดำรัาว่า    "ถ้าหม่อมไกรสรไปบังเกิดเป็น  เทวดาอารักษ์หรืออสุรกายประการใด   ก็จะมี

ความรักใคร่หายเกลียดชังในตัวข้า    ที่ข้าชุบเลี้ยงลูกเต้าเขา   และข้าไม่มีความพยาบาทอาฆาตลูกเต้าเขาเลย

ข้าคิดว่าหม่อมไกรสรจะเกลียดชังพระนั่งเกล้ายิ่งมากกว่าชังข้าเสียอีก"


(หม่อมไกรสรนั้นได้ว่ากระทรวงสำคัญๆ   มีอำนาจบารมีเป็นล้นพ้น   ละคอนตัวโปรดนุ่งห่มด้วยผ้าราคาหลายชั่ง  และเมื่อโดนห้าม
ก็ทรงสั่งผ้าจากเมืองจีนเข้ามาใช้เอง)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 00:35
ขุนอินทรักษา  (บุตร หรือ บุด ) สามี นางฟ้อน บุตรีคนแรกของ พระยาอภัยพิพิธ กับ ท่านน้อย นี้ คือ "นายบุด หงสกุล" นายบุด เป็นลูกของ หลวงวิสูทรโยธามาตย์ หรือ พระวิสูตรโยธามาตย์ (กุหลาบ หงสกุล)  ซึ่งเป็นทายาทชั้นที่ ๓ ของหงสกุล สืบจากเจ้าพระยาเพชรพิไชย (หงส) สมัยรัชกาลที่ ๑ (เรื่องหงสกุล - สุรนันทน์ จะไปแสดงไว้อีกที ตอนท้าย เพราะปฏิพัทธ์พัวพันกันหลายตอน)

นายบุด ถวายตัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้เป็นมหาดเล็กรายงาน แล้วเป็นขุนอินทรักษาในรัชกาลที่ ๔  ภายหลัง ....... "บริโภคของต้องห้าม ต้องถอดจากตำแหน่ง โปรดให้ไปอยู่กับ เจ้าพระยานครราชสีมา (แก้ว) ผู้่น้า"

ฉนั้น บุตรของ ขุนอินทรักษา (บุด) ก็ต้องเป็น นายร้อยเอก น้อม หงสกุล  และ พระราชวรินทร (ว่าง หงสกุล) เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา, ข้าหลวงรักษาราชการเมืองสระบุรี ในรัชกาลที่ ๕






กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 00:51
นายบุด ถวายตัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้เป็นมหาดเล็กรายงาน แล้วเป็นขุนอินทรักษาในรัชกาลที่ ๔  ภายหลัง ....... "บริโภคของต้องห้าม ต้องถอดจากตำแหน่ง โปรดให้ไปอยู่กับ เจ้าพระยานครราชสีมา (แก้ว) ผู้่น้า"


จากข้อความด้านบน เหตุใด นายบุด ถึงมีน้าเป็น เจ้าพระยานครราชสีมา (เจ้าพระยายมราช - แก้ว สิงหเสนี)


เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กับ สกุล หงสกุล เกี่ยวพันกันอย่างไร ?  แล้ว หงสกุล เกี่ยวพันกับราชสกุลใด ? อย่างไรบ้าง ?


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 12, 10:09
^ คำตอบของคุณปิยะสารณ์หาตอบยากไม่  เนื่องมีผู้อาวุโสท่านหนึ่งได้มอบมรดกเป็นเอกสารต้องห้ามในวงวิชาการมาให้ชุดหนึ่ง
เอกสารชุดดังกล่าวมีข้อมูลตามที่คุณปิยะสารณ์ต้องการอยู่พอดี  แต่ครั้นจะคัดลอกมาทื่อๆ ตามต้นฉบับเอกสาร  ก็เห็นว่า
ไม่น่าสนุก  จึงจะตัดเอาพลความออก สรุปเอาแต่ใจความมาตอบดังนี้

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง/สิงห์) ต้นสกุล  สิงหเสนี มีบุตรธิดาหลายคน บ้างก็ว่า ๒๓ คน บ้างก็ว่ามากกว่านั้น
เจ้าคุณบดินทรฯ จะมีบุตรธิดาคนก็แล้วแต่  แต่จะขอกล่าวถึงบุตรลำดับที่ ๗ เกิดแต่ท่านผู้หญิงเพ็ง ซึ่งเป็นหญิง ชื่อ เกสร/เกษร
นางเกสรนี้ต่อมาได้ทำการวิวาหมงคลแต่งงานขันหมาก กับพระวิสูตรโยธามาตย์ (กุหลาบ) บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (เกด)
คุณหญิงเกษรมีบุตรเกิดกับพระสูตรโยธามาตย์หลายคน

เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีบุตรกับท่านผู้หญิงเพ็ง เป็นลำดับที่ ๘ คือ เจ้าพระยายมราช (แก้ว  สิงหเสนี)
ท่านผู้นี้ ก่อนที่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาล ในสมัยรัชกาลที่ ๔
ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาคำแหงสงครามรามภักดี ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 19:17
คุณหลวงท่านช่างแม่นยำ เสียจริง ขอบพระคุณที่แบ่งปันครับ,



แต่ยังเหลืออีกข้อ ๑ คือ มีราชสกุลหนึ่งที่มาเกี่ยวพัน กับหงสกุล ...........ขอเฉลยครับ


พระวิสูตรโยธามาตย์ (กุหลาบ) มีบุตรีอย่างน้อย ๔ คน ชื่อ ป้อม ปุ้ย ปริก และเปี่ยม

๓ ท่านแรกนี้ บิดา ถวายเป็นเจ้าจอมของ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า ร.๕)  มีพระโอรส - ธิดา คือ

พระองค์เจ้าหญิงฉายรัศมีหิรัญพรรณ (พ.ศ. 2414-2471) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปุ้ย

พระองค์เจ้าชายไชยรัตนวโรภาส (พ.ศ. 2419-2440) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปริก (ปริกใหญ่)

เจ้าจอมมารดา ปริก นี้ เป็นใหญ่อยู่ในวังหน้า ท่านว่า "มีอำนาจวาสนามาก!!!!" แต่มีพระโอรส เจริญพระชันษา เพียงปีเดียว คือพระองค์เจ้ารัตน ก็เกิดเหตุ "เรือล่ม" จมน้ำตายและสิ้นพระชนม์ ทั้งสอง...... ขรัวตา พระวิสูตรโยธามาตย์ จึงไม่มีเนื่องด้วยราชสกุล วังหน้า..........


ส่วน เปี่ยม ถวายตัว เป็นหม่อมใน พลเรือโท พระวรวงศ์เธอ ฯ กรมหมื่นปราบปรปักษ์  เป็นหม่อมคนแรก และเป็นหม่อมคนเดียวในขณะนั้น ของในกรมฯ ปราบ

แต่เมื่อคลอดบุตรชายได้ ๗ วันก็เสียชีวิต ........... หม่อมเจ้าหญิงใหญ่ มาลากุล (ป้า) ทรงเลี้ยงดูแทนหม่อมมารดา, หม่อมเจ้าหญิงปุก มาลากุล (อา) ทรงสอนหนังสือ และโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ก่อนเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุลาบ


โอรสของกรมฯ ปราบกับหม่อมเปี่่ยม ก็คือ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล)


แม้ หงสกุลจะไม่ได้เป็นเชื้อสายต้นราชสกุลใดดังกล่าว แต่ก็นับเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งในราชสกุล "มาลากุล" สายเจ้าพระยาพระเสด็จฯ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 20:14
ย้อนกลับมาเข้าเรื่อง พระยาอภัยพิพิธต่อ....

เมื่อ ท่านน้อย ภรรยา คนแรก เสียชีวิตลง , ทูลกระหม่อมพระ จึงพระราชทานข้าหลวงให้เป็นภรรยา คือ ท่านพุ่ม บุตรีพระอินทรอาไภย

พระอินทรอาไภย หรือ พระอินทรอำไพ คือ อดีตสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าทัศไภย พระโอรส องค์ที่่ ๑๔ ในพระเจ้ากรุงธนบุรี กับ กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่) ราชธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู)

เรื่องของพระอินทรอาไภย สามารถหาอ่านได้ มากมาย จากเว็บไซด์ และ หนังสือ เช่น ลำดับสกุลเก่า บางสกุล ภาคที่ ๔ เชื่อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี เป็นต้น

นายปรีดาราช และ ท่านพุ่ม ย้ายบ้านมาอยู่ตรงถนนใหม่ หน้าวัดมหรรณพาราม มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ นายเลื่อน ภายหลังเป็นพระยาราชสัมภารากร ส่วนบุตรอีกคน คลอด ๗ วันก็ตาย ส่วนท่านพุ่ม อายุได้ ๓๕ เป็น ลมมหาสดมภ์ เสียชีวิต


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 22:06
เมื่อท่านพุ่ม เสียชีวิตแล้ว พระยาอภัยพิพิธ (เสพ)  มีภรรยาและบุตร ต่อมาคือ

ภรรยา

- ท่านน้อย (บุตรใครไม่แจ้ง) ย้ายมาอยู่บ้าน ณ ที่เป็นโรงหวย อยู่กันได้ปีเศษ ก็แยกกัน ด้วยไม่ชอบอัฌาศรัย

- ท่านจั่น บุตรหลวงเพ็ชร์อินตรา ข้าหลวง ทูลกระหม่อมพระ (รัชกาลที่ ๔) ย้ายบ้านมาอยู่ ณ ข้างบ้านบาตร ข้างใต้, มีบุตรชาย ๑ คนตายแต่เล็ก อยู่ด้วยกัน ๒ ปีเศษ ท่านจั่น เป็นวัณโรคที่ถันประเทศ ตาย

- เจ้าจอมวัน เจ้าจอมอยู่งาน รัชกาลที่ ๓  บุตรพระอินทรเดชะ (นิ่ม)  รัชกาลที่ ๔ พระราชทาน


บุตรกับภรรยา อื่นๆ

๑. หญิง ชื่อ มะละกอ  มารดาชื่อ เงิน

๒. หญิง ชื่อ แดง      มารดาชื่อ เงิน

๓. ชาย  ชื่อ คล้ำ     มารดาชื่อ ขำ

๔. ชาย ชื่อ เคล้า     มารดาชื่อ ขำ

๕. หญิง ชื่อ ผง       มารดาชื่อ พ่วง

๖. หญิง ชื่อ แอ๋       มารดาชื่อ พ่วง

๗. ชายชื่อ กริ่ม       มารดาชื่อ เปลี่ยน  (ภายหลังคือ พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล)

๘. ชายชื่อ แกร่ง      มารดาชื่อ เปลี่ยน

๙. ชายชื่อ ปลาย      มารดาชื่อ ส้ม


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 22:22
คุยเรื่อง คุณกรุ่ม สุรนันทน์ มาตั้งนานนนนนนนน ...........คุณ PAOPAI คงอยากชมรูปคุณกรุ่ม ตามที่เคยถามมา ขอนำภาพเก่ามาให้ชมครับ

ภาพนี้ คงถ่ายเมื่อ คุณพระภูมีสวามิภักดิ์ เสียชีวิตแล้ว

นั่งเก้าอี้ : นางสุดใจ ภูมีสวามิภักดิ์, ยืนด้านซ้าย : นางสาวการัณฑ์,  ยืนด้านหลัง : นางกรัด สุรนันทน์-หงสกุล, นั่งพื้น : นายกรุ่ม, ยืนด้านขวา : เด็กชาย เกริก


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 22:51
สุรนันทน์ชั้น ๔, ๕ และบุตรหลาน

สำหรับ สุรนันทน์ ชั้นต่อๆ ไปนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน จะขอแยกเป็นสายๆ ในรุ่นบุตร ของพระยาอภัยพิพิธ ครับ คือ

๑. นางฟ้อน หงสกุล

๒. พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันทน์)

๓. นายเคล้า สุรนันทน์

๔. นางแอ๋

๕. พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม สุรนันทน์)

๖. นายแกร่ง สุรนันทน์

๗. นายปลาย สุรนันทน์




กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 23:00
ขอกล่าวถึง ท่านที่มีประวัติสั้นๆ ก่อนครับ

สายที่ ๓. นายเคล้า (บุตรชายที่ ๒)

ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานเหรียญจักรพัรรดิมาลา ภายหลัง ลาจากราชการ ออกมาเป็นทนายความในสมัย รัชกาลที่ ๕-๖  ท่านผู้นี้เกิดเมื่อกำลังบิดาบริบูรณ์ไปด้วยยศศักดิ์สมบัติ จึงได้เพลิดเพลินไปด้วยการสนุกต่างๆ จนไม่เป็นราชการ ได้ความลำบากเมื่อเวลาแก่ชราลง มีบุตรกับนางสมบุญ คือ

๓.๑ นายจันทร์ สุรนันทน์ แต่งงานกับ นางผิน มีบุตรธิดาคือ  นายเจือ, จุล, นางวิทยาวุฒิ (ประชิต ชัยรัตน์) ภรรยาขุนวิทยาวุฒิ (นวม ชัยรัตน์) ครูใหญ่ โรงเรียนวัดราชบพิตร และ นางพยุง สิริสุข

๓.๒ นางเจริญ หัสดิเสวี ภรรยา พระดิษฐการ (?)

๓.๓ นายแป๊ะ

๓.๔ พ.ต.ต. หลวงศรีสารวัตร (แต้ม สุรนันทน์)



สายที่ ๔. นางแอ๋ (บุตรหญิงที่ ๒)

เป็นภรรยานาย...ไม่ปรากฏชื่อ.... เป็นมหาดเล็ก มีบุตรชาย ๓ คนที่ ๑ และ ๒ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ , คนที่ ๑ ชื่อ กือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่นายรองไชยขรรค คนที่ ๒ ชื่อเกี่ยว คนที่ ๓ ชื่ออุ่น


สายที่ ๖. นายแกร่ง สุรนันทน์

บุตรชายคนรองสุดท้าย คนในตระกูล บ้างก็ว่าชื่อกร่าง ท่านเห็นว่า บิดายากจน จึงได้อพยบไปอยู่ ณ ตำบลแจงร้อน จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วไม่เคยได้ข่าวอีกเลย


สายที่ ๗. นายปลาย สุรนันทน์ - ไม่มีประวัติแจ้งไว้


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 06 ก.ค. 12, 00:07
สายที่ ๑. นางฟ้อน

ได้กล่าวไว้แล้วใน ค.ห. ๑๒๕ แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมครับ

มารดารนางฟ้อน คือท่านน้อย บุตรี พระยารัตนมณเฑียร (เนียม)  นามสกุล หงสกุล แต่สืบค้นไม่ได้ว่า เป็นหงสกุลสายไหน อย่างไร ?


นางฟ้อน และขุนอินทรักษา (บุด) มีบุตร ๓ คน  บุตรชายคนโตชื่อ ร้อยเอก น้อม ,
           
ร้อยเอก น้อม หงสกุล มีบุตร ที่น่าสนใจสองคนคือ  นายเนา หงสกุล สมรสกับ นางนิ่ม, นางนิ่ม เป็นบุตรของ ขุนท่องสือ กับนางเปลี่ยน สุรนันทน์ !!!!!
(เรื่องนางเปลี่ยน ยกยอดไปเล่าไว้ ตอนพระยาสุรนันทน์กับพระภูมีฯ)


นายเนา กับนางนิ่ม มีบุตร ชื่อหน่วง กับ ถนอม , ถนอม คือ คุณหญิง ถนอม พิทักษ์เทพมณเฑียร ต.จ. ภรรยา พระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (กระจ่าง หงสกุล) 

........ และพระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (น่าจะคนเดียวกัน เพราะชื่อ กระจ่าง หงสกุล เหมือนกัน) มีภรรยาชื่อ คุณหญิง บุนนาค บุตร พระยาสุรนันทน์ฯ กับนาง แฝง หงสกุล บุตรี พระยารัตนมณเฑียร (เนียม) !!!!!!!

เท่ากับว่า นางฟ้อน เป็น ทวดของภรรยา และ ลูกพี่ลูกน้องของภรรยา พระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร !!!!!! ......


นี่แหล่ะครับ คือความปฏิพัทธพัวพัน กันของ หงสกุล และสุรนันทน์ (แค่เริ่มต้น)



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 12, 08:20
สายที่ ๑. นางฟ้อน

ได้กล่าวไว้แล้วใน ค.ห. ๑๒๕ แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมครับ

มารดารนางฟ้อน คือท่านน้อย บุตรี พระยารัตนมณเฑียร (เนียม)  นามสกุล หงสกุล แต่สืบค้นไม่ได้ว่า เป็นหงสกุลสายไหน อย่างไร ?


ในเอกสารว่าด้วยลำดับตระกูลทั้งสาม (หงสกุล-เกตุทัต-บุษปะเกศ)
ได้ลำดับให้ พระยารัตนมณเฑียร (เนียน หรือ เนียม) เป็นสายสกุลชั้นที่ ๒
จึงอนุมานได้ว่า  พระยารัตนมณเฑียร (เนียน หรือ เนียม) น่าจะเป็นบุตรคนหนึ่งของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (หง) ต้นสกุลหงสกุล

พระยารัตนมณเฑียร (เนียน หรือ เนียม) มีภรรยาแต่ไม่ปรากฏชื่อ มีบุตรคือ
พระยาอร่ามมณเฑียร (โหมด)
และคุณน้อย  ภรรยาพระยาอภัยพิพิธ (เสพ  สุรนันทน์)
ทั้งสองคนนี้  เป็นสายสกุลชั้นที่ ๓

พระยาอร่ามมณเฑียร (โหมด  หงสกุล) มีภรรยาไม่ปรากฏชื่อ มีธิดา คือ
คุณหญิงแฝง  ภรรยาพระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม  สุรนันทน์)

ส่วนคุณน้อย ซึ่งได้สามีคือพระยาอภัยพิพิธ (เสพ  สุรนันทน์) มีธิดา คืิอ
คุณฟ้อน  ภรรยาขุนอินทรรักษา (บุด/บุศ หงสกุล)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 06 ก.ค. 12, 09:16
เจ้าพระยาเพชรพิไชย (หงส์) ชั้น ๑. หงสกุล    .........   พระยาสีหราชเดโชไชย (เพง) ชั้น ๑. สุรนันทน์            

พระยารัตนมณเฑียร (เนียม) ชั้น ๒. หงสกุล    .........   ขุนศรีกันถัด (เรือง) ชั้น ๒. สุรนันทน์

พระยาอร่ามมณเฑียร (โหมด) ชั้น ๓. หงสกุล  .........   พระยาอภัยพิพิธ (เสพ) ชั้น ๓. สุรนันทน์


ถ้าสมมุติว่า พระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (กระจ่าง)  เป็นบุตร หรือ ชั้นเดียวกับบุตร พระยาอร่ามมณเฑียร  ก็จะเป็นชั้น ๔. เช่นเดียวกับ พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม)


เจ้าคุณสุรนันทน์ฯ เกิด พ.ศ. ๒๔๐๔ มีบุตร กับคุณแฝง เมื่ออายุ ๑๙  ( = พ.ศ. ๒๔๒๓ ) คุณบุนนาค จึงน่าจะเกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๓++


พระยาอภัยพิพิธ (เสพ) ได้ท่านน้อย เป็นภรรยา ในสมัยรัชกาลที่ ๓  ตามประวัติ เมื่อท่านน้อยเสียชีวิตแล้ว ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่(ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) พระราชทาน คุณพุ่ม เป็นภรรยา ฉนั้น ท่านน้อยต้องเสียชีวิต ในรัชกาลที่ ๓ มีบุตรคือ ร.อ. น้อม ก็ต้องเกิดในรัชกาลที่ ๓ แต่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ และถึงแก่กรรม ในรัชกาลที่ ๕ (ตามบันทึกคุณกรุ่ม)

บุตร ร.อ. น้อม คือ นายเนา ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ ถึงแก่กรรม ในรัชการที่ ๕

คุณหญิงถนอน บุตร นายเนา ก็ควรจะกำเนิด ในรัชกาลที่ ๕.............. (แต่รัชกาลนี้ ตั้ง ๔๐ กว่าปี )


ฉนั้น คุณหญิงบุนนาค น่าจะเป็นเอกภรรยาก่อน คุณหญิงถนอม แต่ท่านทั้งสอง น่าจะอายุไม่ห่างกันหลายสิบปี ดังเช่นชั้นเชื้อสายที่ คุณหญิงบุนนาค สืบสาย หงสกุล ชั้น ๕  และคุณหญิงถนอม เป็น หงสกุล ชั้น ๗


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 07 ก.ค. 12, 19:39


ถ้าสมมุติว่า พระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (กระจ่าง)  เป็นบุตร หรือ ชั้นเดียวกับบุตร พระยาอร่ามมณเฑียร  ก็จะเป็นชั้น ๔. เช่นเดียวกับ พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม)





อ่านพบในหนังสือ ไก่ขาว ว่า พระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (กระจ่าง หงสกุล) เป็นพี่ชาย ร่วมสายโลหิตของ หลวงอนุภาณศิสยานุสรรค์ (เรื่อ หงสกุล)

ถ้านับเจ้าพระยาเพชรพิไชย เป็นชั้น ๑ ท่านเจ้าคุณพิทักษ์ฯ จะเป็น หงสกุล ชั้น ๕ สายพระวิสูตรโยธามาตย์ (กุหลาบ)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 07 ก.ค. 12, 19:45

สายที่ ๖. นายแกร่ง สุรนันทน์

บุตรชายคนรองสุดท้าย คนในตระกูล บ้างก็ว่าชื่อกร่าง ท่านเห็นว่า บิดายากจน จึงได้อพยบไปอยู่ ณ ตำบลแจงร้อน จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วไม่เคยได้ข่าวอีกเลย


เรื่องของนายแกร่งนี้ ในตระกูลสุรนันทน์ ท่านว่าไม่ได้ทำราชการ อพยพไปอยู่สุพรรณบุรี ไม่เคยได้ข่าวอีกเลย...... มาจากสมุดบันทึกของคุณกรุ่ม เล่มดังกล่าว ในหัวข้อของคุณ เปลี่ยน มารดา พระยาสุรนันทน์ ฯ (กริ่ม)


แต่เมื่อสอบทานกับ "จดหมายเหตุ สยามสไมย" ของครูสมิท แล้ว ในเล่ม ๒ แผ่น ๖ วัน พุฒ เดือน ๑๑ แรม ค่ำ ๑ ปี มะแม เบญจศก ๑๒๔๕ หน้า ๔๓ ปรากฏความว่าดังนี้

เชียงใหม่

มี ข่าว ว่า ความไข้ ใน เมือง นั้น ชุก ชุม นัก บางตำบล คนตาย หมด บ้าน บ้าง    นาย แกร่ง น้อง พระยาราช สมภารกร ถึง แก่ อนิจกรรม ณวัน อาทิตย เดือน สิบ ขึ้น แปด ค่ำ   พี่ชาย ก็ มี ความ ทุกข์ โทมนัศ เบน อัน มาก   เคย อาไศรย น้อง ชาย ภอ เปน ล่าม ภาษา อังคริษ   พวก พ้อง อยู่ กรุง เทพ ครู พลอย มี ความ ทุกข์ เปน อัน มาก ด้วย นาย แกร่ง คน นี้ เปน ลูก สิศ สำนักนิ์ เรียน หนั้งสือ แล ภาษา อังคริษ กับ แหม่ม สมิท  ที่กรุงเทพ เปน คน ปัญญา ดี เรียบ ร้อย  คาด ว่า คงเปน กำลัง แก่ ราชการ แ่ผนดิน บ้าน เมือง ......."

เป็นอันว่า ข้อมูลจากยุคนั้น ซึ่งลงข่าวหนึ่งเดือนเศษ หลังจากนายแกร่งเสียชีวิตที่เชียงใหม่ (ซึ่งคงเพราะตามพระยาราชฯ พี่ชาย ไปเป็นข้าหลวงฯ ที่เชียงใหม่) และครูสมิท ก็สรรเสริญว่า ได้เรียนหนังสือมากับ แหม่ม สมิท เป็นคนปัญญาดี ซึ่งถ้ารับราชการ อาจจะมีชื่อเสียงต่อมาก็เป็นได้


เป็นข้อมูลเพิ่มเติม ที่น่าสนใจ (สำหรับคนในตระกูลสุรนันทน์) ประการหนึ่ง นึกๆ แล้วก็น่าแปลกใจ เพราะหลังจากนั้น อีก ๓๔ ปีต่อมา สามีของพระพี่เลี้ยงหวน ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานอา ก็ไปเรียชีวิตที่เชียงใหม่เช่นกัน ........

ขอขอบพระคุณ คุณ Wandee ที่กรุณาแนะนำให้อ่าน สยามสไมย จึงได้ข้อมูลนี้มาโดยบังเอิญ  :)


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 07 ก.ค. 12, 20:49
๔.๒ พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันทน์)

บุตรพระยาอภัยพิพิธ (เสพ) และท่านพุ่ม บุตรคุณไภย (เจ้าฟ้าทัศไภย)

เป็นข้าหลวงเดิม รัชกาลที่ ๔ (คือถวายตัวตั้งแต่ยังทรงผนวชในรัชกาลที่ ๓) จึงได้ศึกษาเล่าเรียน ในสำนักวัดบวรนิเวศนวิหาร

เมื่อรัชกาลที่ ๔ ครองศิริราชสมบัตร แล้ว ทรงพระกุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น นายสรรพวิไชยหุ้มแพร นายยาม, พระแสงเวรเดช กับได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงสอนวิธีถวายพระแสง หอก ง้าว ให้ด้วย



เมื่อถึงอายุสมควรแก่การบวช จึงกราบถวายบังโคมลาบวช ในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัศวิหาร

ครั้นสึกออกมาถวายพระราชกุศลแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงอินทรโกษา ปลัดกรมพระคลังราชการ (บรรดาศักดิ์ เดียวกับเจ้าคุณบิดา) รับราชการต่อมาจนถึง แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณตะติยานุจุลจอมเกล้าสืบตระกูลพระยาอภัยพิพิธ


แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระยาราชสำภารากร เจ้ากรมคลังราชการ



เป็นข้าหลวงใหญ่รักษาราชการ ณ เมืองนครเชียงใหม่ ได้รับพราราชทานโต๊ะทอง กาทองเป็นเครื่องยศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ ในตำแหน่ง ข้าหลวง กำกับ ชำระความต่างประเทศ คือไปเป็นตัวกลาง ติดต่อกับฝรั่ง นั้นเอง 

ด้วย......." ถ้าไม่โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปกำกับ เมือง นครเชียงไหม่ จะวางพระราชหฤไทย ไว้.........ไม่ได้ จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ด้วยลาว(หมายถึงภาคเหนือของไทยในที่นี้) ไม่รู้่จักขนบธรรมเนียมราชการกับชาวต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ทรงพระราชดำริห จัดการ รักษาทางพระราชไมตรีกับอังคริษ ดั่งนี้ โดยพระราชปรีชาอันประเสริฐ ชาวยุโรป ทั้งหลาย ภา กัน สรรเสริญเป็นอันมาก"



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 07 ก.ค. 12, 22:08
ในขณะที่ท่าน ดำรงตำแหน่ง เป็นข้าหลวง สามหัวเมือง ณ ศาลต่างประเทศ เมืองนครเชียงใหม่ พระยาราชสัมภารากร ปฏิบัติภาระกิจสำคัญ คือ


".......พระเจ้านครเชียงใหม่แจ้งความแก่ข้าพุทธเจ้าว่า พระเจ้านครเชียงใหม่ มีบุตรหญิงผู้เดียวอายุศม์ก็สมควรที่จะทำการตัดจุกอยู่แล้ว แต่การตัดจุกในเมืองนครเชียงใหม่ยังไม่เคยมีเลย ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนธุระจัดการด้วย ......" (ตัดตอนจากใบบอก พระยาราชสัมภารากร เข้ามากรุงเทพฯ)

ความในที่นี้ หมายถึง การโกนจุก พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระธิดา พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ฺ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือพระองค์แรกและพระองค์เดียว ที่ไว้จุก, มีพิธีโสกันต์ ซึ่งตรงกับในหนังสือ จดหมายเหตุสยามไสมย ดังนี้


" โสกันต์ ที่ เมือง เชียงใหม่

ณวัน เสาร์ เดือน สิบสอง ขึ้นสิบเอ็ด ค่ำ   จุลศักราช ๑๒๔๕ ปี มะแม เบญจศก     มี การ โสกนต์ พระราช ธิดา ทรง พระนาม ดารารัศมี บุตร เจ้า เชียงใหม่   เปนการ โต ใหญ่ ทำ งาม ดี ที่สุด    พระยา สัมภารกร เปน เจ้า พนักงาน จัด แจง ลำดับ การ    ให้คล้าย เคียง กับ การ เช่น เคย มีี ใน กรุง เทพ  ท่าน ผู้ หลัก ผู้ ใหญ่ ท่าน เจ้าเมือง ลาว ต่างๆ  ในแขวง เมือง เชียงใหม่ ประชุม พร้อม กัน  ช่วยการ โสกันต์ พระราช ธิดา เจ้า เชียงใหม่ "

ความทราบฝ่าละอองธุรีพระบาท ว่า เจ้าอินทรวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพเกสร จะทำการโกนจุกพระราชชายา รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน  "ตุ้มหูระย้าเพชร คู่หนึ่ง" ไปเป็นของทำขวัญเช่นเดียวกับที่พระราชทานบุตรหลานข้าราชการ(แต่คงมากกว่าหน่อยหนึ่ง เพระปกติพระราชทานเงิน) โดยเมื่้อพระราชหัตถเลขา และตุ้มหูดังกล่าว มาถึงนครเชียงใหม่ี พระยาราชสัมภารากร ก็เป็นผู้เชิญ ไปถวาย มีเนื้อเรื่องปรากฏดังนี้

เวลาถวาย พระยาราชสัมภารากร ได้จัดให้เจ้าดารารัศมี ผันหน้าลงไปทางกรุงเทพฯ "...ส่งตลับต้มหูระ้าเพชรคู่หน่งให้เจ้าดารารัศมี ๆ มีความยินดีรับไปเปิดหีบตลับตุ้มหูออกเหน็บกลัดทั้งสองข้างแล้วกราถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง......" (อ้างจากหนังสือ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ศรีแห่งนครเชียงใหม่ โดย วรชาติ มีชูบท)

(***ซึ่งการพระราชทานตุ้มหูเพชรครั้งนี้ บางก็ว่า เป็นของที่รัชกาลที่ ๕ ทรง"จัดการ"โกนจุกเจ้าดารา และตู้มหูนี้ เป็นของหมั้น ซึ่ง จากหนังสือดังกล่าว แสดงเอกสารว่า "ไม่ใช่" )

และเมื่อถึงคราวโกนจุก พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพเกสร ได้เชิญท่านเจ้าคุณราชสัมภารากร เป็นผู้โกนจุก ๑ ใน ๓ จุก ตามประเพณี ประกอบด้วย พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระบิด เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ๑ ปอย เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน เจ้าผู้ครองนครลำพูน ๑ ปอย พระยาราชสัมภารากร ๑ ปอย  นับเป็นเกียรติประวัติ ของพระราชราสัมภารากร เป็นอย่างเอนกอนันต์.......





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 07 ก.ค. 12, 22:12

เรื่องของนายแกร่งนี้ ในตระกูลสุรนันทน์ ท่านว่าไม่ได้ทำราชการ อพยพไปอยู่สุพรรณบุรี ไม่เคยได้ข่าวอีกเลย...... มาจากสมุดบันทึกของคุณกรุ่ม เล่มดังกล่าว ในหัวข้อของคุณ เปลี่ยน มารดา พระยาสุรนันทน์ ฯ (กริ่ม)


พิมพ์สับสน นางเปลี่ยน ภรรยา พระยาสุรนันทน์ ครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 07 ก.ค. 12, 22:47
ผลงานของพระยาราชสัมภารากร ด้านกวีนิพนธ์ ก็มีปรากฏอยู่จนปัจจุบัน คือ

๑. เมื่อคราว ฉลอง ๑๐๐ ปีพระนคร รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ทำการบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนัง รอบระเบียงพระอุโบสถ วัดพระแก้ว และทรงพระนิพนธ์โคลงประกอบภาพ รามเกียรติ์ ไว้ส่วนหนึ่ง และทรงให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ โดยเสด็จฯ พระนิพนธ์ และแต่งโคลงถวายร่วมด้วย

พระยาราชสัมภารกร ก็ได้ร่วมแต่งบทโคลงประกอบ ถวายในการนี้ เช่น


ห้องที่  ๔๖ พระรามให้จองถนนข้ามไปกรุงลงกา หนุมานรบกันนิลพัทเรื่องรับก้อนหิน พระรามขับนิลพัทไปรั้งเมืองขีดขิน

ห้องที่  ๔๗ ทศกัณฐ์สั่งนางสุพรรณมัจฉาให้นำบริวารทำลายถนน หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉาได้

ห้องที่  ๕๒ มัยราพณ์มาเฝ้าทศกัณฐ์ กับตั้งพิธีหุงยาสะกด

ห้องที่  ๕๓ หนุมานอาสาอมพลับพลาพระราม และมัยราพณ์สะกดทัพ

ห้องที่  ๕๔ หนุมานหักด่านต่างๆ ของไมยราพเพื่อติดตามพระรามกลับคืน รวมทั้งได้พบมัจฉานุลูกชาย

ห้องที่  ๕๕ หนุมานพบกับนางพิรากวนพี่สาวไมยราพ ซึ่งกำลังถูกลงโทษ ออกอุบายจนเข้าในเมืองได้ นางพิรากวนบอกที่ขึงพระราม หนุมานฆ่าไมยราพตาย



ห้องที่ ๕๓ ตอนหนุมานอมพลับพลา เป็นบทที่เราเห็นภาพจิตรกรรมกันบ่อย (ฮิตมาก) จึงขอยก ภาพมาประกอบ ส่วนท่านใดสนใจ รามเกียรติที่ท่านประพันธ์ สามารถหาอ่านได้ ใน วิกิซอซ และอื่นๆ มากมาย





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 08 ก.ค. 12, 14:37
คุณ Piyasann เล่าประวัติพระยาราชสัมภารากรไว้ตอนหนึ่งว่า

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสัมภารากรขึ้นไปรับราชการในตำแหน่ง ข้าหลวง กำกับ ชำระความต่างประเทศ คือไปเป็นตัวกลาง ติดต่อกับฝรั่ง นั้นเอง 

ด้วย......." ถ้าไม่โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปกำกับ เมือง นครเชียงไหม่ จะวางพระราชหฤไทย ไว้.........ไม่ได้ จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ด้วยลาว(หมายถึงภาคเหนือของไทยในที่นี้) ไม่รู้่จักขนบธรรมเนียมราชการกับชาวต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ทรงพระราชดำริห จัดการ รักษาทางพระราชไมตรีกับอังคริษ ดั่งนี้ โดยพระราชปรีชาอันประเสริฐ ชาวยุโรป ทั้งหลาย ภา กัน สรรเสริญเป็นอันมาก"

เรื่องการตั้งข้าหลวงสามหัวดเมืองไปประจำที่เชียงใหม่นั้น  มีนักวิชาการล้านนาบางท่านกล่าวว่า เป็นจุดเริ่มของการที่สยามคิดจะผนวกดินแดนล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วข้าหลวงสามหัวเมืองนี้เกิดขึ้นเพราะคดีพิพาทระหว่างเจ้านครเชียงใหม่กับญาติวงศ์กับพ่อค้าชาวอังกฤษและสับเยกอังกฤษ  เป็นคดีความนับร้อยคดี
เมื่อมีคดีความเกิดขึ้นเจ้านายล้านนาก็ตัดสินความโดยถือเอาประโยชน์ของตน  หาได้ตัดสินกันด้วยหลักฐานพยาน  (ดูไปแล้วก็คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน)
พ่อค้าอังกฤษก็เลยนำคดีความนั้นลงมาฟ้องร้องต่อกงสุลของตนที่กรุงเทพฯ  กงสุลอังกฤษจึงมาเรียกร้องให้รัฐบาลสยามในช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ จัดการชำระความ
ให้ความเป็นธรรมแก่คนของตน  การพิจารณาสะสางคดีคั่งค้างนี้ดำเนินมาหลายปีตั้งแต่ปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ครองนครเชียงใหม่  จนล่วงมาถึง
สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์จึงสะสางคดีเก่านั้นแล้วเสร็จ 

เมื่อชำระคดีค้างเก่าแล้วเสร็จในตอนต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ แล้ว  อังกฤษก็ยื่นคำขาดกับรัฐบาลสยามให้จัดการแก้ปัญหาคดีพิพาทเรื่องสัมปทานป่าไม้อย่าให้เป็นปัญหาขึ้นอีก
ฝ่ายรัฐบาลสยามในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่เห็นว่า  หัวเมืองประเทศราชล้านนานั้นเป็นเมืองสวามิภักดิ์  มิใช่ประเทศราชที่สยามไปตีชิงมา
เหมือนเมืองลาว  เมืองเขมร  ฉะนั้นสยามไม่ควรจะไปยุ่งวุ่นวายในเรื่องที่เป็นเรื่องภายในของบ้านเมืองเหล่านั้น  อังกฤษจึงอาศัยหลักกฎหมายนานาประเทศมาเล่นงานรัฐบาลสยาม
เพราะตามหลักกฎหมายนานาชาตินั้น  ประเทศราชนั้นไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการต่างประเทศได้ด้วยตนเอง  ประเทศราชจะติดต่อกับต่างประเทศได้ก็แต่โดยการติดต่อแผ่นดินแม่
ที่มีอำนาจเหนือประเทศราชนั้น  หากสยามปฏิเสธไม่รับรู้การกระทำของประเทศราชของตนอังกฤษก็จะถือโอกาสเข้าแทรกแซงดำเนินการเสียเอง  ด้วยเหตุนี้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕
จึงต้องเสด็จอินเดียและทรงตกลงกับรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจัดทำสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ ๑ ขึ้น  สัญญานี้มีอายุ ๑๐ ปี

เมื่อตกลงทำสัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกขึ้นแล้ว  จึงมีการจัดตั้งศาลต่างประเทศที่เชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ หน้าที่ข้าหลวงใหญ่ ณ ศาลต่างประเทศเวลานั้น คือ การตรวจลงทะเบียน
สัญญาสัมปทานป่าไม้ระหว่างเจ้านายฝ่ายเหนือกับพ่อค้าขาวต่างชาติ  และพิจารณาพิพากษคดีที่ชาวต่างประเทศฟ้องชาวพื้นเมืองเป็นสำคัญ  แต่ธรรมดาของมหาอำนาจ  เมื่อได้คืบ
ก็ต้องเอาศอก  พอมีสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ ๑ แล้วยังไม่ำอใจ  ใกล้จะครบอายุสัญญาฉบับแรก  นอกจากจะขอต่ออายุสัญญาแล้วยังขอแถมตั้งรองกงสุลไปประจำที่เชียงใหม่อีก
โดนรุกคืบขนาดนี้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ จึงต้องทรงปรับกระบวนทัพรับศึก  โดยโปรดให้ข้าหลวงที่รู้ภาษาอังกฤษและคุ้นเคยกับการติดต่อค้าขายกับคนอังกฤษขึ้นไปเป็นข้าหลวง
สามหัวเมืองประจำศาลต่างประเทศที่เชียงใหม่  แล้วต่อมาจึงส่งข้าหลวงที่สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษขึ้นไปประจำที่เชียงใหม่มาเป็นลำดับ 


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 08 ก.ค. 12, 17:00
๒. โครงนิราศระยะทางเมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๒๖

เมื่อพระยาราชสัมภารากร ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นข้าหลวงสามหัวเมือง ประจำ ณ นครเชียงใหม่ ในระหว่างท่านเดินทางขึ้นไปได้ประพันธ์ นิราศพรรณนาเรื่องราวต่างๆ ระหว่างทาง โดยในตอนต้นของนิราศ ไปจนถึงนครลำปาง ท่านประพันธ์โดยใช้ภาษาไทยภาคกลาง และ จากนครลำปาง ไปจนนครเชียงใหม่ ได้เริ่มใช้คำภาษาล้านาเข้ามาแทรกด้วย (ข้อมูลจาก โครงนิราศระยะทางเมืองนครเชียงใหม่ ปริวรรต โดยสนั่น ธรรมธิ) ตัวอย่างเช่น

   “ถึงประตูบุเรศเขา        นครลัม- พางคแฮ
    ทวารชื่อเชียงฮายฅํา    ฟูฮอง
    เตียวตวยมัคคฤาสํา-    ฮาญสัก หยาดเลย
    คนหนานําดาดฆอง      หึ่งสะทานทางเวียง
    (เชียงฮายฅํา = เชียงรายทอง ฟูฮอง = เรียกวา  เตียวตวย = เดินตาม สําฮาญ = สําราญ )
 
    ชาวเมืองเนืองฟงทั้ง    หญิงชาย
    ขนกอเจดียทราย       สาดน้ํา
    เรียมผกผอชนหลาย    หลากงืด
    กอยบหันนุชซ้ํา        จิ่มเศรา เสริมใจ
    (ฟง = รีบ ผกผอ = แอบดู  หลากงืด = แปลกใจ กอยบหัน = มองหาไมเห็น  จิ่ม = ดวย, กับ  )
 
    ลางเหลาเอาดอกไม    อยองขัน
    ปงสุทกสลุงสัน         สูเจา
    สระสรงปูบาปน         พรผอน หื้อเอ
    บางหมูทานครัวเขา     ตุซองสัพพี
    ( อยอง = วาง สลุง = ขันเงิน  ปู = ชายมีอายุ ปนพร = อวยพร  หื้อ = ให ตุ = พระสงฆ )

โคลงนี้ แสดงให้เห็นว่า ท่านเข้าเมืองลำปาง ขณะมีเทศกาลสงกรานต์  ทำให้เห็นหลักฐาน ประเพณีการก่อพระเจดีย์ทราย การเล่นน้ำสงกรานต์ ของชาวจังหวัดลำปาง (และภาคเหนือ) และยังแสดงให้เห็นว่า ข้าราชการสมัยก่อน เมื่อขึ้นมาทำราชการที่หัวเมือง เชียงใหม่ ก็มักจะต้องเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นไว้ด้วย ดังเช่นนี้ ระหว่างเดินทาง ท่านคงได้เรียนภาษาเหนือ กับคนติดตามในขบวนเป็นการเตรียมตัวไว้ก่อน แล้วเน้ออออออ...........

( ผมก็คงจะไปตามหา ว่า ประตู เชียงฮายฅํา นี้ อยู่ตรงไหน ?)



กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 08 ก.ค. 12, 17:08
เรื่องราวที่คุณ Vee_Mee นำมาลง น่าสนใจมากครับ ขอถามว่า ข้าหลวงสามหัวเมือง ณ ศาลต่างประเทศ นครเชียงใหม่ มีใครบ้างครับ

ทราบแต่ว่า เปลี่ยนพระยาราชเสนา (?) ลงมาแล้วส่งเจ้าคุณราชสัมภารากร ขึ้นไป  ภายหลัง เป็นกรมพิชิตปรีชากรฯ  .........

แน่นอนหล่ะครับ ไปติดต่อกับฝรั่ง ก็ต้องพูดภาษาอังคริษ ได้ดี แน่นอน


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 08 ก.ค. 12, 17:24
นอกจากพระยาราชสัมภารากร จะแต่งโคลงรามเกียรติ์ และนิราศระยะทางเมืองนครเชียงใหม่แล้ว  ท่านยังได้คัดลอก วรรณกรรมล้านนา ๒ เรื่อง กลับลงมาด้วย ซึ่งทายาท ได้จัดพิมพ์ลงในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมขาว เกษมศรี บุตรีของท่าน เป็นเอกสารอ้างอิงในการศึกษาวรรณกรรมล้านนา อีกสำนวนหนึ่งของไทย

"น่าต้น โคลงหริภุญชัย เปนนิราศไปไหว้พระสุเทพหนานเจาแต่ง แปรตามโวหาร ความเหน" พระยาราชสัมภารากร ได้คัดลอก นิราศเรื่องนี้ ซึ่งแต่งขึ้นเป็น คำเมือง (ภาษาเหนือ) ตั้งแต่สมัยอยุธยา และมีผู้แปลเป็นภาษาไทยภาคกลางไว้ โดยท่านเจ้าคุณได้แต่งตอนท้ายเพิ่มเติม ๒ บท ว่า

     โคลงยวนแยงถ่องถ้อง    แถมฉงน จิ่มเอ

มคธพาคยขอมชวนปน         เบือกเคล้า

สกฏะสยามสน                 สูตรม่าน เมงหน่า

หวันเจตรจำเคิงเม้า            โบ่มแก้ว กุมแมน


     เมิลโคลงมองมิ่งกั้ง       แกมผัน

เพียรพากยฮ่ายจองหวัง       จิบช้าย

เวรลุนเยียยักตัน               งวมงืด

ปวะเล่ห์ไบ้แบบบ้าย            ฮ่ามฮื้อ คำสนอง

พร้อมกันนั้น ท่านยังทำคำอธิบาย ความหมายของคำเมือง ให้ผู้่อ่านภาคกลาง เข้าใจได้ด้วย.......





กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 08 ก.ค. 12, 17:35
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ ประทุมสังกา ซึ่งเป็นโคลงบทอัศจรรย์ (บทอีโรติก !!) ของล้านนา

ว่าด้วยกษัตริย์ ไปทายชื่อนางที่เกิดจากดอกบัว ซึ่งพระฤษีเลี้ยงดู ถ้าทายถูกก็จะยกให้ เนื้อเรื่องมีน้อยนิดมาก แต่บทพิศดารนี้ ถึงพริกถึงขิง เหลือเกิน !!!!!!!!

ท่านเจ้าคุณท่านเขียนบทนำว่า

"บัดนี้ ข้าพเจ้าจะนำเรื่อง ประทุมสังกา ซึ่งข้าพเจ้าขึ้นไปได้มาแต่นครเชียงใหม่ ที่ผู้่รู้ฉลาดในหมู่โยนกเรียบเรียงเปนเรื่องไว้ มาลอกลงในเล่มนี้ด้วย ภอเปนที่ยินดีแด่ท่านผู้ประสงค์สดับในเรื่องต่างๆ แลสำนวนโวหารแปลกๆ พระยาคราวแต่งต้นเรื่องประทุมสังการแต่นี้" และมีต่อตอนท้ายว่า

     ตั้งบดน้อมเกล้ากราบ     ทูลถวาย

สดับกลอนยาดยังยาย         กราบท้าว

เอกโทเค้าคำปลาย            ถมบาด โคลงเอ

กรบำรุงน้อมน้าว               กราบท้าวเจ้าคุณฯ

     เทาสัตะทัศหกแส้ง       ดำนาร

กลอนกล่าวคำโคลงสาร       สืบอ้าง

เปนสุดเรื่องปราณ             โยนเยื่อง แปงเอ

เสาะมุ่งจำรุงส้าง               ส่ายไว้เปนอุเปนฯ


ไปค้นๆ ดู มีผู้ทำวิจัย วิเคราะห์เรื่องประทุมสังกาไว้อยู่น่าสนใจดีครับ หรือเวลาใครพูดถึงเรื่องประทุมสังกา ก็มักจะยกบทอัศจรรย์ บนหลังช้าง ซึ่งวาบหวามมมมม...มากกกกกกกกก เป็นตัวอย่าง

ท่านใดอยากทราบ โปรดหาอ่านตามห้องสมุดได้ครับ เพราะโป๊ เหลือใจ ไม่กล้านำลง .........


กระทู้: อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 08 ก.ค. 12, 18:16
ตำแหน่งข้าหลวง ณ เมืองเชียงใหม่นั้น  มีทั้งข้าหลวงพิเศษ  ข้าหลวงสามหัวเมือง ณ ศาลต่างประเทศ  ข้าหลวงห้าหัวเมือง ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ  อุปราชและมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ  ท่านใดดำรงตำแหน่งช่วงใดรวบรวมมาได้ดังนี้ครับ

รายพระนามและรายนามข้าหลวง
ที่ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้ขึ้นไปประจำปฏิบัติราชการที่เมืองนครเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๑๘ – ๒๔๗๖
***************
ข้าหลวงพิเศษจัดระเบียบปกครองสามหัวเมือง
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
พ.ศ. ๒๔๒๖ – ๒๔๒๗

ข้าหลวงพิเศษจัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางเมืองเชียงใหม่ที่ต่อกับยางแดงและเงี้ยว
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต
พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๔๓๓

ข้าหลวงพิเศษจัดการปกครองเมืองนครเชียงใหม่
เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม  ศรีไชยันต์)
พ.ศ. ๒๔๓๓ – ๒๔๓๕
**********

ข้าหลวงสามหัวเมือง
พระนรินทรราชเสนี / พระยาเทพประชุน (พุ่ม  ศรีไชยันต์)
พ.ศ. ๒๔๑๗ – ๒๔๒๓
พระยาราชเสนา (ชุ่ม  พยัฆนันทน์)
พ.ศ. ๒๔๒๓ – ๒๔๒๕
พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน  สุรนันท์)
พ.ศ. ๒๔๒๕ –  ๒๔๒๗

ข้าหลวงห้าหัวเมือง
พระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น  บุนนาค)
พ.ศ. ๒๔๒๗ – ๒๔๓๐
พระยาเพชรพิไชย (จีน  จารุจินดา)
พ.ศ. ๒๔๓๐ – ๒๔๓๒
พระราชวรินทร์ / พระยามหาเทพกระษัตริ์สมุห  (บุศย์  บุณยรัตพันธุ์)
พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๔๓๓
พระยาไกรโกษา  (เทศ  ภูมิรัตน์)
พ.ศ. ๒๔๓๓ – ๒๔๓๖

ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง / มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ / มณฑลพายัพ
พระยาทรงสุรเดช (อั้น  บุนนาค)
พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๔๒
พระยานริศรราชกิจ  (สาย  โชติกสถียร)
พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๔๔๖
พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์  / เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร)
พ.ศ. ๒๔๔๖ – ๒๔๕๘

อุปราชมณฑลภาคพายัพ  และสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพายัพ
มหาเสวกโท เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร)
๒๔๕๘
นายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช  กฤดากร
พ.ศ. ๒๔๕๙ - ๒๔๖๕
มหาเสวกโท เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาชัย (พร  จารุจินดา)
พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๖๘

สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพายัพ
มหาอำมาตย์โท พระยาราชนกูลวิบุลยภักดี (อวบ  เปาโรหิต)
พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๔๗๑
มหาอำมาตย์โท นายพลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์
พ.ศ. ๒๔๗๑ – ๒๔๗๕
มหาอำมาตย์ตรี พระยากัลยาณวัฒนวิสิษฐ์ (เชียร  กัลยาณมิตร)
พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๗๖