เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 11, 17:54



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 11, 17:54


อ่านมาจากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ

ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์

วัดเทพศิรินทราวาส

วันเสาร์ที่ ๒๗  ธันวาคม  ๒๕๒๙


       เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงอายุ ๒ - ๓ ขวบที่เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง   เรียนหนังสือกับคุณเฒ่าแก่

ไว้จุกเมื่ออายุ ๖ ขวบตามประเพณี   ถวายตัวแด่สมเด็จพระปิตุฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร

เรื่องที่น่าสนใจมากมายเช่น วิทยาลัยในพระบรมมหาราชวัง    เรื่องขำขันซุกซนเป็นเลิศของท่านผู้หญิง

การไปเล่าเรียนในประเทศอังกฤษ      เรื่องพี่น้องของท่าน    ธรรมเนียมอันเคร่งครัดที่ปกครองความประพฤติของเด็กผู้หญิง

การอบรมให้เป็นผู้ประพฤติดี  มีกตัญญู

      เรื่องราวของท่านผู้หญิงได้เคยอ่านมาหลายครั้งแล้วค่ะ   แต่ไม่มีหนังสือเป็นสมบัติ       สหายนักอ่านหนังสือเก่านำมาให้ยืมอ่าน

หลายเดือนแล้ว  และดูเหมือนจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าทิ้งหนังสือไว้

      อันที่จริงประวัติสกุลวงศ์ของท่านก็มีที่มาที่ไปอันยิ่งใหญ่   จะคุยกันก็จะได้ประโยชน์มากมาย   มิใช่จะเล่าว่าท่านเป็นลูกใคร  หลานใคร

เท่านั้นพอ

      ท่านผู้หญิงพัวเล่าเรื่องของท่านไว้อย่างสนุกสนาน  น่าอ่านมาก

      การคัดลอกมาเล่านั้นไม่อาจจะทำให้ท่านที่ทราบเรื่องมาแล้วพึงพอใจได้ทุกคน  เพราะขาดตกบกพร่อง

เป็นเพียงแต่แนะนำหนังสืออนุสรณ์ที่ดีเล่มหนึ่ง    ให้แก่ผู้ที่สนใจและหาไม่ได้แล้ว

ผิดพลาดประการใดขอเชิญท่านที่มีอุปการะคุณลงมาขยายความ   และสนทนากันให้เป็นที่พอใจ




กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 11, 18:04

แปดสิบห้าปีที่ผ่านมา

       ท่านผู้หญิงเกิดที่บ้านของคุณปู่  พระยาราชภักดี(โค  สุจริตกุล)อยู่ตรงกันข้ามกับวัดปากน้ำ  ตำบลคลองด่าน

จังหวัดธนบุรี   บิดามารดาก็อยู่ในบ้านนี้ด้วย


       เวลานั้นบิดามียศเป็นนายหัสบำเรอ  ทำงานอยู่กระทรวงยุติธรรม  เป็นเนติบัณฑิตคนแรกที่สำเร็จจากอังกฤษ

เป็นอธิบดีศาลต่างประเทศในเวลาต่อมา  และมียศเป็น พระยาพิเชตพิเศษพิไสยวินิจฉัยโกศล

ท่านได้เลื่อนตำแหน่งโดยลำดับ  จนเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม  สุจริตกุล)



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 11, 18:33


       ท่านผู้หญิงบรรยายเรื่องธรรมชาติของบ้านริมน้ำไว้อย่างน่าฟัง 

จึงขอคัดลอกมาตรง ๆ  ตามประสานักอ่านที่ดี

 
       "ด้วยเหตุที่เกิดริมน้ำจึงชอบน้ำมาก     จำได้ว่าเมื่อหน้าน้ำ  ทิวทัศน์ในคลองนั้นสดชื่นงดงามมาก         ข้าพเจ้าชอบดู

เรือขนาดต่าง ๆ บรรทุกสินค้านานาชนิด  ตลอดจนเรือจ้างบรรทุกคนโดยสารเต็มลำสวนกันไปมา   เพลินดูจนเรือบรรทุกปลา

เน่าเพื่อจะเอาไปทำปุ๋ย     บ้านเราอยู่ริมน้ำจึงมีกลิ่นต่าง ๆ โชยเข้ามา   และเมื่อเปิดหน้าต่างเรือทุกลำที่ผ่านไปมา  ถ้ามองเข้าไป  ก็จะ

เห็นภายในบ้านเรือนได้ตลอด   ในทำนองเดียวกันคนข้างในจะมองออกไปนอกหน้าต่าง  ก็จะได้ชมทิวทัศน์ในคลองได้ทั่ว  เท่าที่สายตาจะมองเห็น"




กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 11, 23:06


       "บางวันน้ำขึ้นเปี่ยมฝั่ง   คนแจวเรือต้องใช้เทคนิคช่วยในการแจว   คือเขาจะเอาเท้ากันว่องไวของเขา "ถีบ"

บานหน้าต่างที่เปิดอยู่โดยแรง  เพื่อให้เรือเหออกไปมาก ๆ  จะได้แล่นได้สะดวก   นับเป็นความสนุกอย่างหนึ่งสำหรับเด็ก ๆ

ที่ได้เห็นภาพอย่างนี้   ในเวลานั้นเรือที่แสนชอบแลสนใจมากที่สุดเป็นพิเศษคือเรือขายขนม  เพราะคนขายอยู่ในคลองถัด

ไปนั่นเอง      และบางทีบ่อย ๆ ที่ขนมของเราก็คือผลไม้สวนที่ร่วงหล่น  และลอยตามน้ำมาให้เรากิน


       สมัยนั้นคนที่อยู่ฝั่งธนบุรี   ต่างมีความคุ้นเคยกันดี  เพราะรู้จักกันทั้งนั้น  คือตั้งแต่คลองบางหลวงไปจนถึงคลอง

บางมด  คลองบางแคและคลองอื่น ๆ แถบนั้น   ตลอดจนหัวคลองท้ายคลอง  เพราะมีคลองเล็กคลองน้อย  ซอยทะลุถึง

กันหมดเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของจังหวัดธนบุรีในครั้งนั้น       เด็กที่เกิดฝั่งธนมักจะถูกหัดให้ว่ายน้ำเป็นตั้งแต่เมื่ออายุ

๕ ขวบ  หรือว่าก่อนหน้านั้นนิดหน่อยเพื่อความปลอดภัย   เพราะไม่ว่าจะไปไหน  ไปวัด  ไปโรงเรียน  หรือตามบ้านคน

ต้องใช้เรือทั้งนั้น   แม้แต่พระที่มารับบาตรตอนเช้า  ก็ต้องใช้เรือเล็ก ๆ เฉพาะนั่งคนเดียว  พายเองทั้งสิ้น   พวกพี่น้องของข้าพเจ้า

เวลาไปโรงเรียน   ก็ลงเรือสำปั้นข้ามไป  เห็นยืนกันไปไม่ได้นั่งเพราะเรือชนิดนี้ใช้สำหรับแม่ค้าบรรทุกของไปขาย"



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 11, 23:28



เนื่องจากอยากขยายความถึงประวัติบุคคลบางท่าน ที่ ท่านผู้หญิงพัว  อนุรักษ์ราชมนตรีเอ่ยถึง

จึงเตรียมหนังสืออ้างอิงไว้คือ

๑.   ลำดับสกุลสุจริตกุล  ราชินีกุลรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗
      ราชนิกุล  รัชกาลที่ ๘  และรัชกาลปัจจุบัน
      หนังสืออนุสรณ์  ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ  สุจริตกุล)
      วันที่ ๑๘ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๒๒

๒.   พระบรมราชินี และ เข้าจอมมารดา   ของ ส. พลายน้อย
      ๒๕๐๖

๓.   การตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์
      กรมศิลปากร
      ๒๕๔๕


สหายนักอ่านหนังสือเก่าถามเสียงเฉียบว่า   ใช้สุจริตกุลเล่มไหน
วันดี                                             เล่มเล็กจ้ะ
สหาย                                           ใช้เล่มของหม่อมใหญ่  เทวกุล ณ อยุธยาซิ  ดีกว่า
วันดี                                             ไม่มีจ้ะ

       สหายที่เคารพนับถือท่านใดมี หนังสืออนุสรณ์ของหม่อมใหญ่  กรุณาย่อความที่เกี่ยวข้อง

นำมาลงประกอบ          เรื่องที่กำลังคุยกันนี้ก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นค่ะ     แจ้งมาด้วยความหวังอันรำไร



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 11, 23:53


       มารดาของท่านผู้หญิง  คือ คุณเง็ก  สุจริตกุล   เลี้ยงลูกยาก    หม่อมใหญ่  เทวกุล ณ อยุธยา

ทราบเรื่องนี้แล้วก็ขอคุณพัวไปเป็นบุตรบุญธรรม  เพื่อจะเอาเคล็ดให้เด็กรอดอยู่ได้  เพราะท่านมีบุตรถึง ๑๑ คน

มีชีวิตแข็งแรงดีทุกคน         ท่านได้รับคุณพัวไปอยู่ที่วังสะพานถ่าน   และ "เคล็ดลับ" ในการเลี้ยงเด็กให้รอ  ก็คือการให้เด็กไป "ลอดท้องช้าง"

เพราะฉะนั้นท่านจึงจัดให้ได้ลอดท้องช้าง      ขอใช้ช้างที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งเป็นช้างหลวง  และได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

โดยมีโรงช้างให้อยู่ด้านนอกของพระที่นั่งจักรี        เนื่องจากการเดินทางจากวังสะพานถ่านเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทุกวัน

เป็นระยะไกลมากสำหรับเด็กเล็ก ๆ ในสมัยนั้น   ทั้งยังทำให้เหน็ดเหนื่อยด้วย   ดังนั้นคุณพัวถูกส่งให้เข้าไปอยู่ในการปกครองดูแล

ของเจ้าจอมเพิ่ม  สุจริตกุล  ผู้เป็นคุณอาคนเดียว


(เจ้าจอมเพิ่ม   ธิดาของพระยาราชภักดี(โค  สุจริตกุล)  ต่อมาเป็นท้าว วนิดาพิจาริณี
เกิด พ.ศ. ๒๔๑๒   ถึงแก่อนิจกรรม ๒๔๗๗  อ้างอิง  พระบรมราชินี และเจ้าจอมมารดา ของ ส. พลายน้อย)
 


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 ก.ค. 11, 07:42
พระยาพิเชตพิเศษพิไสยวินิจฉัยโกศล
คนในละแวกบ้านปากคลองภาษีเจริญ  ออกนามท่านเจ้าคุณท่านนี้ว่า พระยา สาม พ.  แล้วติดมาจนท่านเจ้าคุณได้รับหิรัญบัฏเป็นเจ้าพระยาแล้ว  ก็ยังเรียกละแวกบ้านท่านว่า ย่าน สาม พ.


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: ritti018 ที่ 11 ก.ค. 11, 09:36
ตอนแรก ผมนึกว่า ท่านผู้หญิงพัว เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับ พระสุจริตสุดา ซึ่งเกิดจากท่านผู้หญิงกิมไล้เสียอีกนะครับ..........


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 11:42

คุณ ritti081  เข้าใจถูกแล้วค่ะ  พี่น้องต่างมารดา

       คนโบราณระมัดระวังถ้อยคำมาก  และจะไม่นับญาติกับท่านที่มียศและบรรดาศักดิ์สูง

เพราะเกรงว่าจะโดนมองว่ากล่าวอ้างพาดพิงท่านผู้มีบุญวาสนา

ท่านผู้หญิงเมื่ออายุ ๙ ปี โกนจุกพร้อม พระสุจริตสุดา(เปรื่อง  สุจริตกุล)อายุ ๑๓ ปีค่ะ

ท่านผู้หญิงกล่าวว่าพระสนมเอกเป็นธิดาคนโตบองบิดา



การพูดเช่นนี้ในปัจจุบันยังได้ยินอยู่บ้างเมื่อสนทนากับท่านผู้มีอาวุโส  แรก ๆสะดุ้งค่ะ  คิดว่าท่านผู้ใหญ่แบ่งแยกน้องต่างมารดา

แต่หลายครั้งเข้าก็เข้าใจว่าเป็นวิธีพูดเช่นนั้นเอง


ประวัติท่านเจ้าคุณพ่อลงชื่อลูกไว้  แต่ไม่ได้ใส่ชื่อมารดาเลยค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: ritti018 ที่ 11 ก.ค. 11, 11:52
เรียน คุณ wandee ที่เคารพ

ชื่อของ ท่านผู้หญิงพัว ผมได้ยิน ได้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นอายุยังเป็นตัวเลขหลักเดียว

ซึ่งปรากฏชื่อนี้บนหนังสือเล่มนึง และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้ผมเกิดความสนใจคำว่า ท่านผู้หญิง แปลว่าอะไร

ทำไมถึงใช้คำนี้นำหน้า และทำไม นามสกุลของท่านถึงดูอลังการนัก(อนุรักษ์ราชมณเฑียร)

และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมสงสัย ณ ตอนที่เป็นเด็กๆคือ เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ ด้านหลังจะลงข่าวว่าใครถึงแก่กรรมบ้าง ทำศพที่ไหน

จะสะดุดตาเมื่อเจอชื่อยาวๆ ซึ่งชื่อที่ว่านั้นเป็นนามของภริยาบรรดาขุนนางสมัยก่อน เช่น นางนิติอรรถทะเบียนเขตต์ นางชาติตระการโกศล หม่อม...ฯลฯ

ณ ตอนนั้นไม่ทราบจริงๆว่าทำไมถึงชื่อยาวแบบนั้น แทนที่จะมีชื่อ+นามสกุลเหมือนคนทั่วไป

ด้วยความสนใจในวัยเยาว์ทำให้กลายเป็น ritti018 ณ ปัจจุบัน ในห้องเรือนไทยแห่งนี้

และที่สำคัญคือ ทำให้ผมได้กัลยาณมิตรออนไลน์ที่มากไปด้วยความรู้เช่นคุณ wandee คุณเทาชมพู และอีกมากมาย

ขอนอกเรื่องนิดนึงนะครับ คุณ wandee ที่เคารพ...


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 12:35


ความสงสัย เป็นที่มาของ การค้นหาข้อมูลค่ะ

หลายอย่างที่เคยสงสัยในประวัติศาตร์ว่าแล้วเกิดอะไรขึ้น

ก็ได้คำตอบใหม่ ๆ แล้วค่ะ     คอยให้อาจารย์ให้คะแนนก่อนแล้วจะจิ๊กรายงานของเพื่อน ๆ มาลงค่ะ

อ่านให้สหายบางคนฟัง  ร้องเป็นเสียงต่าง ๆ กันอื้ออึง

ไม่มีใครจะรู้ได้ถ้าไม่ศึกษาค้นข้อมูลเพิ่มเติมหรอกค่ะ

การคุยแบบถูกคอกัน  แก้ไขข้อมูลหรือเพิ่มเติมข้อมูลให้กันและกันเป็นสิ่งที่ดีงาม


เมื่อครู่เขียนกระทู้ไว้ค่อนข้างยาว  แล้วโพส  กระทู้หายวับไป
ตอนนี้แวะไปเล่นเสภา  ที่คุณหลวงเล็กรับไว้ในอ้อมกอดแล้ว



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 20:50


       เจ้าจอมเพิ่มนำคุณพัว  หลานอาอายุ ๒ - ๓ ขวบ ขึ้นเฝ้าเจ้านายบนพระตำหนักเทพดนัย 

ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันปีหลวง  ต่อจากพระที่นั่งจักรี   ได้เฝ้าทูลกระหม่อมเอียดน้อย (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

และได้รับพระราชทานชื่อ "พัวพันเพิ่ม"  แต่คุณพัวสมัครใจใช้แต่ตัวหน้าตัวเดียว   ในสมัยรัฐนิยมชื่อตัวเดียวเป็นเพศชาย  ท่านเลยเติม "พัวพัน"

เข้าไปใหม่

       พออายุจะเรียนหนังสือได้แล้ว  คุณอาพาไปฝากเรียนกับ คุณเฒ่าแก่ทองสุก(แมว) วิวัฒนานนท์  เพราะอยู่แถวเต๊งใกล้ ๆ กัน

"เต๊ง" คือตึกแถวสองชั้นสำหรับเจ้าจอมและพนักงานชั้นใหญ่อยู่  อาทิเจ้าจอมแป้น  พี่สาวเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี  เสนาบดี

ในรัชกาลที่ ๖  ก็อยู่ที่นั่น


(อ้่างอิงการตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์  หน้า  ๑๘๐ -  ๑๘๓
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี(ม.ร.ว. ปุ้ม  มาลากุล)  ในพระวรวง์เธอกรมหมื่นปราบปรปักษ์
แรกรับราชการในกรมมหาดเล็ก   ในรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น
นายกวด หุ้มแพร  แล้วย้ายมากรมวัง เป็นจมื่นจงภักดีองค์ขวา  แล้วเลื่อนเป็นพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร
ถึงรัชกาลที่ ๖  ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงวัง  เลื่อนเป็นเจ้าพระยา)

       


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 21:00


       วันหนึ่ง  คุณพัวซุกซนและไม่กลัวใคร   คุณครูจึงจับตัวลงโทษ  คือเอาไปไว้ใกล้ปากท่อน้ำใหญ่ทำท่าจะโยนลง

ความกลัวจะจมน้ำตาย  เพราะว่ายน้ำยังไม่เป็น   จึงตะโกนเรียกบรรพบุรุษของครู   ครูโกรธมาก  เพราะไม่เคยมีลูกศิษย์คนใดทำเช่นนี้

จึงนำตัวมาฟ้องคุณอาเพื่อให้ลงโทษ      คุณอาเอ็ดเอาว่า เด็กไม่ควรจะล่วงเกินผู้ใหญ่   และท่านให้ทำพิธี "ขอขมา"  ในวันรุ่งขึ้น

คือนำหัวหมูบายศรีไปเคารพครู   ตั้งแต่นั้นมา  ครูกับลูกศิษย์ก็เช้าใจกันดี   ตั้งต้นสอนและเรียนกันต่อไปใหม่

       หนังสือที่ใช้คือ มูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 21:46
พระที่นั่งสำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นหมู่พระที่นั่ง โดยประกอบด้วย พระที่นั่งต่างๆ ดังนี้
1. พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านตะวันออก ใช้เป็นห้องสำหรับพระราชทานเลี้ยง
2. พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านตะวันออก เดิมใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และเป็นสถานที่ทรงประกาศพระบรมราชโองการการเลิกทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระที่นั่งนี้ ตรงบริเวณที่เป็นพระตำหนักชั้นเดียวที่ทรงเสด็จพระราชสมภพ
3. พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ด้านตะวันตก ใช้เป็นห้องเครื่องลายคราม มีชื่อเรียกขานว่า "ห้องผักกาด"
4. พระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ด้านตะวันออกเป็นห้องพระภูษา
5. พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ บางครั้งใช้เป็นสถานที่รับรองแขก
6. พระที่นั่งอมรพิมานมณี เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อจากพระเฉลียงด้านหลังพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
7. พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ เป็นห้องประทับสมเด็จพระอัครมเหสี อยู่ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
8. พระที่นั่งบรรณาคมสรนี เป็นห้องทรงพระอักษร อยู่ด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
9. พระที่นั่งปรีดีราชวโรทัย เป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ต่อจากพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
10. พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร เป็นห้องสมเด็จพระราชโอรสและสมเด็จพระราชธิดา ทางด้านเหนือของพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร  

พิกัดของพระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร หากเดินเข้าท้องพระโรงกลาง  ทะลุไปย้งท้องพระโรงหลัง มุ่งหน้าไปห้องเหลือง เดินไปทางซ้ายทางพระเฉลียงตรงไปยังห้องน้ำเงิน ซึ่งพระที่นั่งดังกล่าวอยู่ติดกับห้องน้ำเงินนั่นเอง
ส่วนห้องเหลอืง เป็นสถานที่องค์เจ้าชีวิต เสด็จผ่านไปยังฝ่ายใน จะมีเข้าจอมต่าง ๆ พากันหมอบกราบเพื่อรับเสด็จ จนบังเกิดคำเย้ยหยัน "เจ้าจอมห้องเหลือง" เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึง บรรดาเจ้าจอมที่มาคอยรับเสด็จและไม่มีบุญพอที่จะได้รับใช้เจ้ามหาชีวิตอย่างใดเลย วัน ๆ พากันมานั่งหวังเพื่อจะได้ถวายการรับใช้เป็นพอ


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 11, 22:05
^
^
คำตอบสำหรับกระทู้เสภาฤๅไฉน

 ???

เอารูปมาฝากคุณวันดี


(http://www.reurnthai.com/rtimages/RW2108x58.jpg)

พระสุจริตสุดา ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร และ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในรัชกาลที่ ๖

 ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 22:56

คุณหนุ่มคงค้นสมบัติเพลินเพื่อนำมาเสนอท่านผู้อาสุโสสูงเพื่อหวังจะทำคะแนน

ไม่เป็นไรมิได้แม้แต่นิดเดียว เพราะถ้าเป็นหนังสือ  เราจะเรียกกันว่า เย็บเล่มติดกัน





กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 23:17


       คุณทรัพย์  สุจริตกุล  ญาติผู้พี่ของคุณพัว  ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ฝึกหัดอบรมให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและประเพณี

ตอนเช้าเรียนหนังสือกับหม่อมเจ้าหญิงภานี  สนิทวงศ์   เวลาบ่ายขึ้นเฝ้ารับใช้เจ้านายยเสวยกลางวัน  จะลงพระตำหนักไปได้ต่อเมื่อ

เวลาอาบน้ำและรับประทานอาหารเย็น

       เวลาเย็น  ทูลกระหม่อมหญิงจะทรงพระดำเนินไปเฝ้าเจ้านายพี่น้องตามตำหนักต่าง ๆ      เจ้านายทรงรองพระบาท   แต่พวกข้าหลวง

แม้จะมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าที่มีหน้าที่ตามเสด็จ  ก็ไม่ทรงพระบาทอย่างเจ้านาย   สมัยนั้นพวกข้าหลวงหรือคนรับใช้เจ้านายจะเดินเท้าเปล่า

ไม่สวมรองเท้าอย่างทุกวันนี้


       ขณะนั้นข้าพเจ้าไว้ผมจุก   พี่เลี้ยงมีงานเพิ่มคือต้องเกล้าจุก  กันไร  และโกนผมเป็นประจำเสมอ    จุกจะถูกดึงรูดด้วยขี้ผึ้งน้ำมัน

ปั้นกลมแข็ง  ให้แนบสนิทกับช้องเพราะคุณพัวมีผมบางต้องใช้ช้อง      เมื่อเกล้าเสร็จแล้วจะปักปิ่นมรกตเพขรของแท้    คุณพัวทำหล่นหรือเกี่ยวกิ่งไม้เป็นประจำ


       เมื่อเติบโตพอควรแล้ว   คุณพัวย้ายสังกัดไปอยู่ในความปกครองของ ม.จ. นาราวดี  เทวกุล

วันหนึ่งคุณพัวได้ไปดูโขนของกรมพระนราฯ  ซึ่งเล่นถวายในสวนดุสิต      เล่นตอนนางสัมนักขาถูกตัดใบหู   เขาเล่นเก่งมากเห็นจริงเห็นจัง

พอถึงตอนตัดใบหูก็มีเลือดพุ่งฉูดออกมา           พอเห็นเช่นนั้นคุณพัวก็เป็นลมล้มพับลง   เพื่อน ๆ ต้องอุ้มกลับไปสวนสี่ฤดู



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 23:47

       การได้ไปเที่ยวทุกครั้ง  เมื่อกลับมาต้องรายงานแก่พี่เลี้ยงว่าได้พบกับใครบ้าง  เพราะในสมัยโน้น

ท่านผู้ใหญ่ถ้าได้พบกับลูกหลานในงานนักขัตฤกษ์เช่นนี้   มักจะแจกเงินไปซื้อของเล่น  เพราะฉะนั้น

ต้องจำให้ถูกว่า  ใครให้เท่าใด


       ครั้งหนึ่งคุณพัวไปเที่ยวและได้รับแจกเงิน        โดยมีเสียงตะโกนดัง ๆ ว่า "ชาวฟากข้่างโน้น  เข้าไปรับแจกได้  ท่านกำลังแจกอยู่"

พวกข้าหลวงที่ไปด้วยเขาคลานเข้าไปรับ   คุณพัวก็คลานเข้าไปนับบ้าง   ท่านผู้แจกก็แจกโดยไม่ถามอะไรเลย   คุณพัวเองก็ไม่

ทราบว่าใครเป็คนแจก        ครั้นกลับมาได้เล่าให้พี่เลี้ยงฟัง          คราวนี้เกิดความใหญ่  หาว่าเป็นคนมักได้เพราะช่างไม่เข้าใจ

ความหมายที่เขาเรียกว่า "ก๊กฝั่งข้างโน้น"(หมายถึงพวก บุนนาค และ ชูโต)  หาใช่ชาวฟากข้างโน้นไม่



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 ก.ค. 11, 06:55
เรื่องคุณข้าหลวงไม่สวมรองเท้าเวลาตามเสด็จเจ้านายนั้น

เคยได้ยินคุณมหาดเล็กรัชกาลที่ ๖ ท่านเล่าว่า  เวลาเดินผ่าประตูวิเศษไชยศรีเข้าไปในเขตพระราชฐานท่านก็ค้องถอดแล้วหิ้วรองเท้า  เดินเท้าเปล่าเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง  ธรรมเนียมน้ีน่าจะตกทอดมาถึงรัชกาลปัจจุบัน  เพราะอดีตหัวหน้าแผนกสนมพลเรือนท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟะงว่า เมื่อท่านเริ่มรับราชการในรัชกาลที่ ๘  วันหนึ่งเดินหิ้วรองเท้าผ่านประตูพิมานไชยศรีจะไปตึกที่ทำการกรมสนมพลเรือน  มองไปทางพระที่นั่งบรมพิมานเห็นเด็กหนุ่ม ๒ คนกำลังเตะฟุตบอลหรือตะกร้อ (จำไม่ได้แน่)  เลยจะไปห้ามเพราะเกรงว่าจะรบกวนเบื้องพระยุคลบาท  พอเข้าใกล้เห็นว่าเป็นใคร  ท่านถึงกับทรุดตัวลงวางรองเท้าแล้วถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์แทน


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 07:26

คุณหนุ่มคงค้นสมบัติเพลินเพื่อนำมาเสนอท่านผู้อาสุโสสูงเพื่อหวังจะทำคะแนน


หามิได้ที่จะหวังสิ่งตอบแทนใด ๆ หากแต่วันในกาลหน้า มีผู้มาอ่านว่า ห้องหับ อยู่ตำแหน่งใดจักได้คลายปัญหาสงสัย จะได้เชิญเครื่องหมากพลูเข้าห้องได้ถูก  ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 08:21


ขอบพระคุณคุณวีมีค่ะ        เรื่องนี้เคยอ่านมาเหมือนกัน


คุณหนุ่มไซมีส   อย่าลืมนำตะไกรผ่าหมากใส่มาด้วย


คุณ ritti018 คะ    อันที่จริงประวัติของขุนนางในยุคเดียวกัน  ก็เกี่ยวพันโยงใยกันแทบทั้งนั้น
การบันทึกเป็นเรื่อง ๆ   บางทีเราก็ลืมมองไปว่า  ท่านเหล่านั้นเป็นญาติสนิทกัน  รับราชการมาด้วยกัน
รุ่งเรืองไปด้วยความสามารถและบากบั่นในราชการต่างกันบ้าง    น่าเสียดายที่การเล่าประวัติเหล่านี้
ไม่ค่อยจะมี  ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 14:21

โกนจุก

       พระยาราชภักดี (โค  สุจริตกุล)  เจ้าคุณปู่ได้ทูลลาตัวคุณพัวออกไปโกนจุก  พร้อมพระสุจริตสุดา (เปรื่อง  สุจริตกุล)

พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๖  ซึ่งเป็นธิดาคนโตของบิดา   ขณะนั้นอายุได้ ๑๓ ปี

คุณพัวอายุ ๙ ขวบ  ไปลองเสื้อที่ตำหนักเทพดนัยในพระบรมมหาราชวัง      ต้องลองอยู่หลายวันเพราะตัวเล็กมาก

ท่านใส่เครื่องประดับเพียบ   หวิดทำจี้ทับทิมเม็ดใหญ่หายเพราะปีนตู้เล่น  สายสร้อยถูกดึง  ท่านลงคลานหาแล้วกดกลับเข้าที่ได้

ท่านเล่าว่าการทำความสะอาดจุก และอบด้วยควันเทียน

       สมเด็จพระพันปีหลวงพระราชทานเงินทำขวัญ หนึ่งชั่ง



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 14:41


       ครั้งหนึ่ง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จะทรงจัดงานต้อนรับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

ซึ่งกราบบังคมลาไปเยี่ยมบ้านที่เชียงใหม่     ในการต้อนรับนี้   ได้คัดเลือกผู้ที่หน้าตาสวยและรำเก่งจากทุกตำหนัก

คุณพัวไปดูการฝึกซ้อมทุกวัน  พอได้เวลา ๑๖ นาฬิกา ก็วิ่งกลับมาสวนสี่ฤดู

เมื่อมาถึงท่าน้ำลงไปจะล้างหน้า  เมื่อยกมือขึ้นจะล้างหน้า  รู้สึกว่ากำไลทองฝังทับทิมหนักสี่บาทหลุดหายไปเมื่อไรไม่ทราบ

คุณพัวตกใจรีบขึ้นไปกราบทูล   ทูลกระหม่อมกริ้วมาก  ให้ข้าหลวงผู้ใหญ่คนหนึ่งนำตัวไปส่งคืนคุณท้่าววนิดา(เจ้าจอมเพิ่ม  สุจริตกุล)

สมัยนั้นการเดินทางไปโดยรถรางจากประตูสี่แซ่  พระราชวังดุสิต   มีรถรางวิ่งมาถึง ประตูศรีสุดาวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 15:15


       เมื่อคุณพัวมาอยู่ในพระบรมมหาราชวังครั้งที่สองนี้   คุณท้าววนิดาส่งไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเสาวภา

ต่อมาทูลกระหม่อมรับสั่งให้ไปเข้าโรงเรียนราชินี   การเดินทางไปโรงเรียนด้วยรถม้าเทศของหลวง  มารับส่งที่ประตูศรีสุดาวงศ์ทุกวัน

ต่อมาทูลกระหม่อมอัษฎางคเดชาวุธเสด็จกลับจากยุโรป   รถม้าเทศของหลวงถูกเรียกคืน      คุณพัวไปโรงเรียนด้วยรถราง 

หรือรถเจ๊กลากโดยคนจีนตามใจชอบ   มีผู้ใหญ่รับส่ง       ได้ประทานค่ารถวันละหนึ่งสลึง  ต้องไปเบิกจากคุณยายมา

(พระพี่เลี้ยงสมเด็จพระพันวัสสา)ทุก ๆ เช้า


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 22:34

ขอเสนอประวัติท่านผู้ใหญ่ในสกุล "สุจริตกุล"  เพื่อให้ท่านที่สนใจเห็นสาแหรกและความเป็นญาติของบุคคลต่างๆ


เจ้าพระยาศิริรัตนมนตรี(หงษ์  สุจริตกุล)  (อ้างอิงการตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์  หน้า ๑๖๐ - ๑๖๓)

เป็นบุตรคนโตของท้าวสุจริตธำรง (นาค)  กับ หลวงอาสาสำแดง(แตง)  เป็นพี่ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

ถวายตัวเป็นมหาดเล็กแต่ในรัชกาลที่ ๓

พอถึงรัชกาลที่ ๔  ได้เป็นนายพลพัน  หุ้มแพรมหาดเล็ก  แล้วเป็นนายจ่าเรศ

ถึงรัชกาลที่ ๕ เลื่อนเป็นหลวงนาวานุรักษ์ กรมรักษาโรงเรือ  แล้วเป็นพระยาราชประสิทธิ์เจ้ากรมพระคลังวิเศษ

แล้วเลื่อนเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี  ใน พ.ศ. ๒๔๓๗

ในรัชกาลที่ ๖  โปรด ฯ ให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี  ในวันอังคารที่ ๓ มกราคม  พ.ศ. ๒๔๕๓

ท่านเป็นพี่ของพระยาราชภักดี(โค) คุณปู่ของคุณพัว

ธิดาของท่านคือหม่อมใหญ่  เทวกุล





กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 22:52

พระยาราชภักดี (โค  สุจริตกุล)    (อ้างอิงลำดับสกุลสุจริตกุล  ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพิบูลย์ไอศวรรย์(เปรียบ  สุจริตกุล)๒๕๒๒)

มีบุตรคือ  เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ฯ (ปลื้ม)

ธิดาคือ  ท้าววนิดาพิจาริณี (เพิ่ม)  เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕




เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ฯ (ปลื้ม  สุจริตกุล)  (อ้างอิงข้่างบน)

๑.   พระยาอุดมราชภักดี (โถ)
๒.   พระสุจริตสุดา (เปรื่อง)  พระสนมในรัชกาลที่ ๖
๓.   ช.  สวาส
๔.   ท่านผู้หญิงพ้ว  ภรรยาพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร(ก๊าด  วัชโรทัย)
๕.  ช. พระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ)
๖.  ช.  ชั้น
๗.  สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี  พระวรชายาในรัชกาลที่ ๖(พระนามเดิม  ประไพ)
๘.  ญ. เพียบ
๙.  ช.  นายกวดหุ้มแพร (โต)
๑๐. ช. เกื้อ
๑๑. ญ. เล็ก
๑๒. ช. จิตติ
๑๓. ช. อั๋น
๑๔. ช. สุจินต์
๑๕. ช. ไม่มีชื่อ
๑๖. ญ. ลมหวล
๑๗. ญ. ปิ่มปลื้ม  ภรรยานายชาญ  บุนนาก
๑๘. ช. อุทัย
๑๙. ญ. สุปรีดา  ภรรยานายประนอม  วสุธาร
๒๐. ช. เปรม



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ก.ค. 11, 10:16

       ครั้งหนึ่งเมื่อโรงเรียนปิดเทอม   คุณพ่อขอทูลลาคุณพัวให้กลับไปอยู่บ้านคลองบางหลวง

ในสมัยก่อน  โรงเรียบปิดสองเทอมคือในเดือนตุลาคมและเมษายนเท่านั้น


       "เมื่อเช้าวันที่ ๒๓ เดือนตุลาคม  เจ้าคุณปู่ของข้าพเจ้า  พระยาราชภักดี  ได้รับหมายจากกระทรวงวังว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต      ทั้งท่านและคุณพ่อร้องไห้มากทำให้ข้าพเจ้าตกใจ

เพราะเกิดมาไม่เคยเห็นคนแก่ร้องไห้   ไม่กล้าไปซุกซนที่ไหน   ได้แต่นั่งเฉย ๆ     ต่อจากนั้นทางบ้านก็จัดหาเครื่องไว้ทุกข์

และนำตัวข้าพเจ้ากลับไปส่งในพระบรมมหาราชวังที่เรือนคุณอา"

       
       คุณพัวขึ้นเฝ้าทูลกระหม่อมที่พระตำหนักเทพดนัย        รับสั่งให้ออกจากนักเรียนประจำ   ให้อยู่ในความดูแล

ของหม่อมเจ้าหญิงจันทรนิภา  เทวกุล  ท่านเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนราชินี     นักเรียนทุกคนไปโรงเรียนด้วยรถยนต์สองแถวสีเขียว  เรียกกันว่ารถเขียว

ท่านหญิงจันทรนิภาเสด็จด้วยรถเดมเล่อร์สีดำ          นักเรียนแย่งกันนั่งทางท้ายเพราะมองเห็นเหตุการณ์ต่างๆตามท้องถนนได้สดวก

แต่เข้าหน้าหนาวช้างหลวงมักตกมัน   พอเห็นรถนักเรียนก็วิ่งไล่ชูงวงมาท้ายรถ   พวกที่ชอบนั่งข้างหลังก็ใจหายใจคว่ำ


       ครั้นเสร็จพระราชพิธีถวายพระเพลิงที่ท้องสนามหลวง    สมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จแปรพระราชฐานไปปีะทับที่วังพญาไท   ทูลกระหม่อมตามเสด็จ

สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้าและพระมเหสีองค์อื่น ๆ เจ้านายเจ้าจอมที่เคยประทับและอยู่สวนดุสิต  ต่างเสด็จออกจากวังหลวง

คุณพัวตามเสด็จหม่อมเจ้าหญิงจันทรนิภาไปสวนดุสิตด้วย


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ก.ค. 11, 11:08


       ในสวนหงษ์สมเด็จทรงปลูกผลไม้นานาชนิด   ทั้งดอกไม้ชนิดหอมสำหรับใช้บูชาพระ

หน้าสวนหงษ์มีต้นสะท้อนหวานอยู่สองข้างถนนตลอดสาย       คุณพัวเล่าว่าถ้าขยันหน่อยตื่นแต่เช้าออกเดินไปเรื่อย ๆ

จะพบสะท้อนเก็บมาไว้กิน   หรือผลไม้อะไรในสวนแก่ก็เก็บเอามาบ่มในท่อข้างถนน   กลับจากโรงเรียน

เปิดท่อดูก็ใช้ได้   เก็บดอกไม้ในสวนหงษ์ยังไม่พอ  เลยไปเก็บตามตำหนักเจ้านายพระองค์อื่น ๆ      เดินออกจากสวนหงษ์

ข้ามสะพานไปแล้วเลี้ยวขวา   ข้ามไปที่ตำหนักกรมหลวงทิพยรัตน์ประภา   เวลานั้นทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีโขลนภายใน

พระบรมมหาราชวัง    ทรงปลูกดอกรักเร่  โดยสั่งหัวมาจากเมืองนอกสวยงามมาก   คุณพัวเด็ดได้ดอกหนึ่งแล้ววิ่งหนีข้าหลวง

ข้ามสะพานที่เพิ่งวางแกนเหล็กไปได้


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ก.ค. 11, 12:07



       ในปี ๒๕๖๐    คุณพัวจบชั้นมัธยม ๖   สมเด็จพระพันวัสสาเลือกให้ไปเรียนพยาบาล  เนื่องด้วย

สมเด็จกรมพระยาชัยนาท  เสด็จกลับมาตั้งการสาธารณสุข  พัฒนาโรงเรียนแพทย์  โรงเรียนนางพยาบาล และโรงพยาบาลศิริราช

เสด็จไปทูลขอเด็กให้ไปเรียนพยาบาล



​       คุณพัวเล่าว่า   "ข้าพเจ้าเป็นเด็กไม่เอาถ่าน  จึงถูกให้เป็นนักเรียนในบำรุง  คือเมื่อจบแล้วต้องอยู่ทำงานให้แก่โรงพยาบาล ๑ ปี

พวกครูซุบซิบเรื่องข้าพเจ้าว่าคงจะเหลวไหลกระมัง       เป็นเหตุให้ข้าพเจ้านึกเฉลียวใจขึ้นมา   ไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนี้เมื่ออยู่โรงเรียนเดิม 

เพราะเล่นไปเรียนไปตลอดเวลา

       บังเอิญมีครูคนหนึ่งอยู่ในบ้านเจ้าคุณปู่  ได้เรียนวิชาแพทย์จบมาเป็นครูสอน     พอเข้าห้องเรียนชายผู้นั้นก็ไหว้ข้าพเจ้าทุกครั้ง

และทุกวันที่มาสอน   เป็นเหตุให้มีมานะตั้งใจเรียนขึ้นอย่างประหลาด  จนสอบปีสุดท้ายได้เป็นที่หนึ่งในชั้น   ซึ่งไม่เคยมีมาเลยตลอดเวลาที่อยู่โรงเรียนเดิม"



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ก.ค. 11, 13:49
เรียนคุณวันดี ที่นับถือ

ได้อ่านเรื่องราวอันงดงามแล้ว พาให้นำภาพมาประดับผูกติดไว้เช่นเดิม ภาพบรรยากาศพระตำหนักสวนหงษ์ ตลอดจนคลอง ต้นไม้ ผลไม้ ดอกไม้ เป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้อีกแล้ว


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ก.ค. 11, 15:51


ความงามน้ำใจของดอนราชประสงค์นั้น  ขอให้พบแต่สิ่งต้องประสงค์เสมอไปเทอญ



เรื่องราวของท่านผู้หญิง พัว  อนุรักษ์ราชมนตรีนี้  เป็นเรื่องน่าอ่านสนุกสนานใหญ่หลวง

ความสามารถมีน้อยนิด  ย่อความได้เพียงปะติดปะต่อเท่านั้น



กำลังจะนำความสำคัญในหนังสือ อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร มวม.ปช.ทจว.

ณ เมรุหน้าพลับพลาราชอิสริยาภรณ์  วัดเทพศิรินทราวาส   วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙    มาต่อเรื่อง

และแสดงสาแหรกของสกุลวัชโรทัย   และความสำคัญของสกุลตามการเล่าประทานของเจ้านาย   และความอดทนกล้าหาญของท่านเจ้าคุณ

ในช่วงหนึ่งของชีวิตที่โดนถามว่า "จะเป็นพยานหรือจะเป็นจำเลย"


หนังสืออนุสรณ์บางเล่มได้อ่านมา  แต่ไม่ได้รักษาไว้     

บางเล่มก็ต้องนำมาเล่าให้ได้เพื่อสร้างความสนใจในการอ่านหนังสืออนุสรณ์สืบไป


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ก.ค. 11, 17:20


       คุณพัวเรียนจบพยาบาล  ได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรี ฯเสด็จยุโรปเพื่อรักษาพระองค์

พอหายประชวรจะเสด็จกลับเมืองไทย  โปรดให้คุณพัวได้เรียนวิชาเลี้ยงเด็กเป็นการเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษ   คุณพัวเรียนอยู่ ๕​ ปีก็

กลับเมืองไทย         อยู่ไม่นานคุณพัวก็แต่งงานเป็นคุณหญิงอนุรักษ์ราชมณเฑียร


       ตอนที่คุณพัวเรียนอยู่ที่โรงเรียน Mother Craft ตั้งอยู่ที่ Earl's Court ใกล้กับสถานทูตไทย  มีแขกคนสำคัญ ๆ มาเยี่ยมเสมอ   


คุณพัวเล่าว่า

       "ข้าพเจ้ามักจะถูกแนะนำให้รู้จักแขกผู้มีเกียรติ  เพราะเป็นนักเรียนต่างประเทศต่างผิวมาทางไกล  นับเป็นความแปลกอย่างหนึ่ง

วันหนึ่ง  สมเด็จพระพันปีหลวง Elizabeth  องค์ปัจจุบัน (The Queen Mother) ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นดัชเชสออฟยอร์ค  ตำแหน่งสะใภ้หลวงองค์แรกได้เสด็จไปเยี่ยม

ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน  ครูใหญ่(Matron) เรียกประชุมแนะนำวิธีรับเสด็จ  บอกวิธีทำการเคารพเวลาเสด็จผ่านให้ "บ๊อบ"          ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า "บ๊อบ" คืออะไร

แต่ไม่กล้าจะโวยวาย   คิดเอาว่าจะต้องซักเอาจากเพื่อน ๆ ให้ได้       ภายหลังจึงทราบว่า "บ๊อบ คือการให้ย่อเข่าลงนิดหน่อยเท่านั้น"

ครั้นเมื่อเสด็จผ่านข้าพเข้า   Matron ก็รายงานให้ทรงรู้จัก

มีรับสั่งถามว่า ชอบโรงเรียนนี้มากหรือ

กราบทูลว่าชอบเพคะ"



กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ค. 11, 14:12
รออ่านประวัติท่านผู้หญิงพัวต่อ

โปรดให้คุณพัวได้เรียนวิชาเลี้ยงเด็กเป็นการเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษ

ท่านผู้หญิงถ่ายภาพร่วมกับครอบครัวชาวอังกฤษ


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ค. 11, 14:20
อยู่ไม่นานคุณพัวก็แต่งงานเป็นคุณหญิงอนุรักษ์ราชมณเฑียร

ท่านผู้หญิงพัว  เล่าไว้ในชีวิตสมรส  หน้า ๓๗   ว่า


     "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำสังข์   เนื่องในโอกาส  ที่ทรงประกอบพิธีสมรสพระราชทาน

ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน  ๒๔๗๐        เจ้าคุณอนุรักษ์ ฯ และข้าพเจ้าได้รับพระราชทาน เงินก้นถุงจำนวน ๑๐ ชั่ง (๘๐๐ บาท)

รูปถ่ายคู่วันที่ได้รับพระราชทานน้ำสังข์สมรส  ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐


กระทู้: ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ก.ค. 11, 14:33


อ่านต่อในประวัติท่านเจ้าคุณซิคะ  คุณเพ็ญชมพูฯ   

อ่านแล้วกระเทือนใจในความกล้าหาญของทั้งสองท่าน

ไม่ได้ตั้งใจจะเล่า หรือคัดลอกหนังสืออนุสรณ์มาทั้งหมดเพราะเกินความสามารถ

เพียงแต่นำเสนอประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งที่น่าอ่าน  น่าศึกษา

จะได้ไปหาหนังสือเก่าอ่านกัน

ขอบคุณที่กรุณานำรูปมาลง