เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 10
  พิมพ์  
อ่าน: 20928 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กับงานบุกเบิกทางการทูตของสยามในยุโรป
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 05 เม.ย. 16, 08:42

นายเวอร์นีย์กลับมารายงานว่าตนได้รับการต้อนรับจากท่านรัฐมนตรีอย่างฉันท์มิตร และบอกว่าพระเจ้าKarlที่ ๘ กษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ในช่วงนั้นมิได้เสด็จอยู่ในเมืองหลวง แต่จะกลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งท่านรัฐมนตรีจะจัดการให้ท่านอัครราชทูตสยามเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและตราตั้งโดยเร็วที่สุดหลังจากนั้น

ส่วนในเรื่องภาษีสุรา ท่านรัฐมนตรีเห็นว่ายุติธรรมแล้ว และจะพยายามเร่งเรื่องอย่างดีที่สุดเพื่อให้เสร็จทันเวลา เพื่อจะได้มีการลงนามกันได้หลังจากท่านทูตเสร็จจากการเข้าเฝ้าแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 05 เม.ย. 16, 09:17

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้เสด็จไปพบรัฐมนตรีต่างประเทศของสวีเดนตามนัดหมาย เพื่อนำสำเนาพระราชสาส์นและตราตั้งให้ท่านเป็นอัครราชทูตสยามประจำสวีเดนไปมอบให้ ซึ่งท่านได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม

เมื่อพระเจ้าKarlที่ ๘ เสด็จกลับกรุงสตอกโฮล์มตามกำหนดการ ท่านรัฐมนตรีก็ได้ประสานงานให้ท่านได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าถวายพระราชสาส์นและตราตั้งอย่างสมพระเกียรติในวันศุกร์นั้นเอง
ทรงมีบันทึกว่า
“สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ทรงมีพระกรุณาเป็นล้นพ้น ทรงต้อนรับด้วยพระราชอัธยาศัยที่เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระองค์ก็เช่นเดียวกับท่านรัฐมนตรีต่างประเทศที่เป็นมิตรมาก ไม่มีอะไรจะประเสริฐไปกว่านี้ได้สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง
ในวันจันทร์ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศได้เชิญข้าพเจ้าไปในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อแนะนำให้รู้จักกับรัฐมนตรีท่านอื่นๆในคณะรัฐบาล และหลังจากงานเลี้ยงแล้ว ก็ได้มีพิธีลงนามในกรอบข้อตกลงในเรื่องภาษีสุราฉบับใหม่ต่อกัน ซึ่งข้อความทุกตัวอักษรก็เหมือนกับที่สยามลงนามกับรัฐบาลอังกฤษไปแล้ว”

เหตุการณ์อันน่าประทับใจนั้นเกิดขึ้น ณ วันที่ ๑๖ กรกฏาคม ๑๘๘๓
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 06 เม.ย. 16, 07:56

จากสตอกโฮล์มท่านราชทูตได้ประทับรถไฟมุ่งต่อไปยังเดนมาร์ก และได้พบกับ อองเดร ดู ปริชีส์ เดอ ริเชอลิเยอร์ ท่านที่ติดตามข้อเขียนของผมคงจะจำ “ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม” ได้นะครับ ทรงคุ้นเคยกันสมัยท่านทรงจบการศึกษาใหม่ๆแล้วเสด็จกลับไปเยี่ยมบ้าน มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบนเรือพระที่นั่งเวสาตรีที่ฝรั่งเดนมาร์กนี้เป็นกัปตัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านอยู่บนเรือนั้นด้วยกันหลายวัน  

ริชลิวเพิ่งจะได้รับโปรดเกล้าให้เป็นปลัดกรมแสง และถึงเทอมที่เขาจะได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด การพบกันบนรถไฟเช้าวันนั้นเป็นเรื่องบังเอิญ ไม่มีพระราชกระแสรับสั่งอะไรมาเป็นพิเศษเพื่อช่วยเหลือหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ขอประทานโทษ ถึงพ.ศ. นี้ท่านเป็นพระองค์เจ้าแล้วละครับ เป็นตั้งแต่กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์  อัครราชทูตสยามประจำอังกฤษองค์ใหม่ได้เชิญพระสุพรรณบัตรที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมามอบให้ท่านที่กรุงลอนดอน แต่ภาษาอังกฤษยังใช้คำว่า prince ตามเดิม ผมก็แปลเพลิน เมมโมรี่หมู่นี้ก็ไม่ค่อยทำงานตามปกติ สะกดอะไรจากความจำก็ผิดๆถูกๆ สงสัยอะไหล่จะหมดอายุ

ริชลิวเป็นไก้ด์นำทางไม่ต้องเสียเวลาอ่านป้ายตามสถานีรถไฟ จาก Malmö ซึ่งเป็นเมืองท่าของสวีเดน ทั้งหมดได้ต่อเรือข้ามช่องแคบ Øresund ไปยังโคเปนเฮเกนเลยทีเดียว บ๋ายบายกับริชลิวแล้ว ท่านและเลขาก็เข้าพักในโรงแรม Angleterre ในภาพข้างล่าง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 06 เม.ย. 16, 08:24

และเช่นกัน เมื่อนายเวอร์นีย์นำหนังสือขอเข้าพบของท่านราชทูตสยามไปให้รัฐมนตรีต่างประเทศในวันรุ่งขึ้น ท่านรัฐมนตรีก็แจ้งว่าท่านไม่มีอะไรจะขัดข้องทั้งนั้น แม้แต่จะกระทำสัญญากันในภาษาอังกฤษ
เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เสด็จไปพบท่านรัฐมนตรีตามนัดหมายในบ่ายวันเดียวกัน พอยื่นสำเนาร่างกรอบข้อตกลงในเรื่องภาษีสุราให้ ท่านก็บอกว่าได้อ่านแล้ว กัปตันริชลิวได้นำมามอบให้เมื่อวาน
 
ริชลิวท่านนี้เป็นลอบบี้อิสต์ตัวฉกาจระดับโลก เรื่องแค่นี้จิ๊บๆ ท่านยอมกลับไปถึงบ้านช้าเพียงเพื่อนำสำเนาที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มอบให้ตอนคุยกัน ไปเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศก่อนล่วงหน้าเป็นการกรุยทางให้ คงจะแย้มๆบ้างละว่าท่านนั้นไม่ใช่ทหารเรือธรรมดานะขอรับ แต่เป็นคนของพระเจ้าคริสเตียนที่ส่งไปทำงานในราชสำนักสยามเลยเชียวละ ขอแรงท่านรัฐมนตรีช่วยดูแลเรื่องนี้ให้เป็นพิเศษด้วย

ไม่แปลกที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงทรงได้รับการต้อนรับระดับปูพรมแดงในเดนมาร์ก ซึ่งผมจะได้เล่าต่อไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 07 เม.ย. 16, 09:34

วันจันทร์ที่ ๒๓ กรกฏาคม ๑๘๘๓ คณะของท่านราชทูตสยามซึ่งมีผู้ติดตามนอกจากนายเวอร์นีย์เลขานุการแล้ว นาวาเอก อองเดร ดู ปริชีส์ เดอ ริเชอลิเยอร์ แห่งราชนาวีสยามยังทำหน้าที่นายทหารคนสนิท เดินทางเดินทางไปยัง Christianborg Palace เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ เพื่อถวายพระราชสาส์นและตราตั้ง เป็นอัครราชทูตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประจำราชอาณาจักรเดนมาร์ก

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถูกจัดให้เข้าเฝ้าตามลำพังพระองค์เดียวก่อน นอกจากจะเป็นระเบียบพิธีการเช่นนั้นแล้วก็น่าจะเป็นโอกาสที่พระเจ้าคริสเตียนจะทรงมีพระราชดำรัสกับท่านทูตสองต่อสอง ซึ่งท่านมิได้กล่าวถึง แต่หลังพิธีการนั้นแล้ว ชาวต่างด้าวทั้งสองจึงได้รับพระราชานุญาตให้เข้าสมทบ บรรยากาศขณะนั้นเต็มตื้นไปด้วยความประทับใจ

สุดท้ายในช่วงเช้านั้น พระเจ้าคริสเตียนทรงบอกกับคณะว่า เวลาบ่ายห้าโมงวันนี้ขอเชิญไปงานเลี้ยงกันต่อที่ My cottage นะ แล้วเจอกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 07 เม.ย. 16, 09:37

อย่าเข้าใจผิดว่าจะทรงนัดไปเสพย์สุราฮะกึ้นแถวซอยทองหล่อหรืออะไรนะครับ ในพระราชตำหนักอันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวัง Christianborg มีห้องที่ทุกวันนี้ยังเรียกว่าห้องส่วนพระองค์ของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ซึ่งทรงเรียกว่า My cottage ไม่ใช่กระท่อมน้อยแบบชนบทตามมโนภาพ

คืนนั้น พระราชวงศ์ที่อยู่ในโคเปนเฮเกนทุกพระองค์ ตั้งแต่พระราชาธิบดีและพระราชินี พระมกุฏราชกุมารและพระชายา เจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าชายจอห์น ได้เสด็จมาร่วมงานที่พระราชบิดาโปรดให้จัดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับท่านราชทูตจากสยาม รัฐมนตรีต่างประเทศและขุนนางหลายท่านก็ได้รับเชิญด้วย รวมโต๊ะเสวยทั้งหมด ๒๑ ที่นั่ง

พระเจ้าคริสเตียนโปรดที่จะรับฟังท่านราชทูตกราบบังคมทูลเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัว และทรงปฏิสันถารในเรื่องทั่วๆไปของสยามอยู่ตลอดเวลา ในตอนท้ายหลังเสวยพระกระยาหารแล้วเสร็จ ทรงมีพระราชดำรัสว่าทรงยินดีที่ได้รับพระราชหัตถเลขาที่ทรงได้รับเป็นการส่วนพระองค์ และทรงทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญดี ทรงยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะราชทูตสยามที่มาเจริญทางพระราชไมตรีในครั้งนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 08 เม.ย. 16, 12:20

วันรุ่งขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก ท่านอัครราชทูตสยามได้เข้าพบท่านรัฐมนตรี เพื่ออ่านและลงนามในกรอบข้อตกลงเรื่องภาษีสุราระหว่างทั้งสองประเทศ โดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อย
ระหว่างนั้นทรงได้รับแจ้งว่ารัฐมนตรีสงครามจะสั่งการให้ทหารที่ป้อมปราการป้องกันชายฝั่งแห่งหนึ่ง ซ้อมยิงปืนใหญ่ให้ชมเป็นพิเศษ โดยจะส่งรถมารับในตอนบ่าย น่าเสียดายมากที่ท่านทูตมีกำหนดจะต้องเข้าเฝ้าพระมกุฏราชกุมารและพระชายาในช่วงเวลาเดียวกัน จึงพลาดโอกาสนั้นไป

รุ่งขึ้นเช้า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้เสด็จออกจากเดนมาร์กเพื่อไปเบลเยียมตามที่ได้นัดหมายล่วงหน้า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 09 เม.ย. 16, 10:09

กัปตันริชลิวได้มาส่งท่านที่สถานีรถไฟกรุงโคเปนเฮเกน บ่ายสามโมงวันนั้นรถไฟมาถึงเมือง Korsor พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต้องเปลี่ยนขบวนรถมุ่งไปยังแฮมเบิร์ก กว่าจะถึงก็สี่ทุ่มเข้าไปแล้ว นาย Paul Pickenpack มารอรับแล้วนำไปขึ้นขบวนรถ แต่แทนที่รถไฟจะไปถึงบรัสเซลส์ตามที่มุ่งหวัง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กลับค้นพบว่าท่านไปลงที่สถานีโคโลญ จากที่นั่น ทรงต้องจับรถไฟอีกขบวนหนึ่งแล้วเดินทางตลอดคืนไปเช้าที่บรัสเซลส์ แทบจะไม่ได้หลับสักงีบ

นายเวอร์นีย์ผู้ถูกสั่งให้เดินทางมาก่อนล่วงหน้าเพื่อติดต่อเตรียมการไว้ได้มารอรับที่สถานีรถไฟอย่างรู้งาน และพาท่านไปยังโรงแรม de Belle Isle
ผมชอบหาภาพโรงแรมที่ท่านทรงพักในเมืองต่างๆ แต่คราวนี้ไปพบ คงจะเลิกกิจการไปแล้ว เอารถไฟที่ให้บริการในยุโรปในค.ศ.นั้นมาให้ชมก็แล้วกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 09 เม.ย. 16, 10:14

ท่านอัครราชทูตแทบจะไม่มีเวลาเตรียมพระองค์เพราะต้องรีบไปพบรัฐมนตรีต่างประเทศตามที่นายเวอร์นีย์นัดไว้ให้ และได้ผลเช่นเคย ท่านรัฐมนตรีทูลว่าหาเหตุผลที่จะคัดค้านไม่เจอ แต่เลือกที่จะใช้ร่างฉบับภาษาฝรั่งเศสโดยขอแก้สองสามคำซึ่งมิใช่สาระที่สำคัญอันใด แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่มีเวลาสำหรับที่จะประชุมเรื่องนี้กับคณะข้าราชการ จึงขอเลื่อนว่าจะทรงกลับไปลอนดอนก่อน ให้ทางเบลเยียมแก้ตามที่ว่าไว้เลย เมื่อเสร็จแล้วจะทรงย้อนมาอีกเพื่อกระทำการลงนาม

ดังนั้น ในวันที่ ๔ สิงหาคม ๑๘๘๓ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้เสด็จมายังกรุงบรัสเซลส์เพื่อเข้าเฝ้าพระราชาธิบดีที่พระราชวังหลวง ซึ่งในวันนั้น ทรงแนะนำท่านราชทูตกับพระราชินีด้วย
เมื่อมีพิธีการลงนามในกรอบข้อตกลงเรื่องภาษีสุราระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเรียบร้อยแล้ว จึงเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันที่ ๕ สิงหาคม ๑๘๘๓


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 13 เม.ย. 16, 06:11

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้เสด็จออกจากลอนดอนไปเสปญและปอร์ตุเกต และทรงกระทำหน้าที่อัครราชทูตตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายสำเร็จทั้งสองประเทศ King Alfonso XII พระราชาธิบดีแห่งเสปญ และ King Luís I พระราชาธิบดีแห่งปอร์ตุเกต ทรงตอนรับอัครราชทูตสยามอย่างดี การกระทำกรอบข้อตกลงเรื่องภาษีสุรากับทั้งสองประเทศก็เป็นไปโดยไร้ปัญหา

ในขาเสด็จกลับ ทรงแวะปารีสเพื่อเจรจาในเรื่องเดียวกัน ฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียวที่ไม่จบลงโดยง่าย

ในปีที่ผ่านมา ทรงเข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสมาแล้ว แม้การต้อนรับจะเป็นมิตร แต่คำกล่าวที่ว่าฝรั่งเศสมีความยินดีที่จะเห็นความก้าวหน้าของสยาม และต้องการส่งเสริมสัมพันธภาพที่มีต่อกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงปรารถนาที่จะเห็นการเชื่อมโยงระหว่างอินโดจีนฝรั่งเศสกับสยามทั้งทางสายโทรเลขและทางรถไฟ การเฉไฉเรื่องออกไปจากการแก้ไขข้อตกลงภาษีสุราเช่นนี้ คือตัวปัญหาที่ฝรั่งเศสดึงเรื่องไว้ ยังไม่ให้คำตอบ
ผ่านไปหลายเดือน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้เสด็จไปพบกับผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพาณิชย์ เพื่อทวงถามเรื่องที่ไปติดค้างอยู่ที่นั่น นาย Calvary ก็บอกว่าตนยังยุ่งอยู่ ไม่มีเวลาที่จะพิจารณาเรื่องนี้เลย ท่านจึงจำต้องกลับลอนดอนมือเปล่า

ในครั้งที่สอง ในโอกาสที่ไปร่วมงานฉลองปีใหม่ที่ประธานาธิบดีจัดขึ้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงถือโอกาสไปพบนาย Calvary อีกเพื่อถามความคืบหน้า เขาก็บอกว่ายังไม่มีเวลาเช่นเคย แต่ขอให้ท่านเสด็จกลับไปใหม่หลังปีใหม่แล้วจะมีคำตอบให้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 13 เม.ย. 16, 08:09

เหตุที่รัฐบาลฝรั่งเศสใช้เวลายาวนานไม่ลงตัวกับเรื่องคำขอของสยาม มาจาก Count Kergaradec กงสุลใหญ่ฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ที่เสนอให้รัฐบาลเรียกร้องขอสิ่งตอบแทน โดยสยามต้องให้สิทธิ์แก่คนฝรั่งเศสเท่านั้น ที่จะเป็นผู้รับเหมาวางสายโทรเลขจากกรุงเทพไปไซ่ง่อน และขอสัมปทานสิทธิการประมงในทะเลสาปเขมรที่พระตระบอง ซึ่งเวลานั้นยังอยู่ในพระราชอาณาเขตขอบขัณฑสีมาแต่เพียงผู้เดียว

เรื่องโทรเลขนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยเด็ดขาดแล้วที่จะไม่ให้สายโทรเลขผ่านไปทางไซ่ง่อนก่อนที่จะมากรุงเทพ เพราะฝรั่งเศสจะดักฟังข่าวสารต่างๆได้หมด เวลานั้นสยามกับฝรั่งเศสเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูมากกว่ามิตร ดินแดนเขมรส่วนใหญ่นั้น พระเจ้าแผ่นดินเขมรนำไปยกให้ฝรั่งเศส ขอเป็นเมืองขึ้นของเขาแทนถวายเครื่องราชบรรณาการมาสยามไปแล้ว และฝรั่งเศสก็กำลังเหล่ๆที่จะผนวกส่วนที่เหลือ รวมทั้งลาวไปรวมเป็นอินโดจีนฝรั่งเศสด้วย

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลสยามเคยจ้างบริษัทฝรั่งเศสทำงานดังกล่าวบางส่วน แต่ไม่สามารถจะควบคุมการกระทำบางอย่างได้ เมื่อสั่งการใดๆก็จะปฏิเสธ หรือไม่ก็ปฏิบัติอย่างเลว หรือกระทำหยาบช้ากับคนไทย สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีเสนาบดีว่าการโทรเลขและไปรษณีย์เองก็ไม่ทรงสามารถบังคับสัญญาได้ เพราะเคานต์ เคอกาลาเดกจะเข้าแทรกแซง หรือประท้วงอย่างรุนแรงแทนทุกครั้ง
ข้อที่ใช้อ้างเสมอคือ บุคคลในบังคับฝรั่งเศสจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกงสุลเสมอตามสนธิสัญญาปี ๑๘๕๖
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 13 เม.ย. 16, 08:40

ยกตัวอย่างลูกจ้างรัฐบาลสยามคนหนึ่ง เป็นชาวฝรั่งเศสชื่อนาย Edel นายคนนี้ได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจแนวเส้นทางทางกาญจนบุรี แต่มักไปก่อเรื่องทะเลาะและทำร้ายเจ้าของร้านขายเหล้าเป็นประจำด้วยฤทธิ์เมา แถมยังชอบลวนลามชาวบ้านแถวนั้นด้วย จนถูกเจ้าเมืองกาญจน์จับตัวมาปรับครั้งหนึ่ง แต่กงสุลฝรั่งเศสประท้วงว่าไม่ได้ดำเนินคดีผ่านศาลกงสุล รัฐบาลสยามจะลงโทษคนของเขาโดยพลการไม่ได้ เมื่อเรื่องจบลงไปครั้งนั้นแล้วนาย edel ก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีทรงระอาเต็มทีจึงเลิกจ้างนายคนนี้โดยยอมจ่ายค่าจ้างที่เหลือจนกว่าจะหมดสัญญาให้ไป

เมื่อกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว นาย edel ก็ยังไม่จบเรื่อง ได้ขอเข้าพบพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามอีกหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องว่าตนเสียหายจากเหตุถูกเลิกสัญญา ฉะนั้นรัฐบาลสยามควรจะจ่ายเงินชดเชยให้มากกว่าที่ให้ตนมาแล้ว สงสัยหมอนี่จะหางานทำไม่ได้เพราะประวัติไม่ดี หรือเข้าไปพบใครก็เอากลิ่นเหล้าหึ่งเข้าไปด้วย จึงเดือดร้อนสาหัส
ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีจึงสาปส่งคนฝรั่งเศส ทรงตรัสว่าจะไม่ให้มาเกี่ยวข้องกับงานของพระองค์อีกต่อไป

และเรื่องนี้เองที่เป็นอุปสรรค พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงยืนหยัดปฏิเสธข้อเสนอที่ฝรั่งเศสจะรวมเอาเรื่องโทรเลขและสัมปทานอื่นๆมารวมกับข้อตกลงเรื่องสุรา โดยทรงขอให้แยกเป็นกรณีย์ๆไป จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลฝรั่งดองเรื่อง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 13 เม.ย. 16, 08:45

อย่างไรก็ดี หลังปีใหม่แล้วได้เสด็จกลับไปกระทรวงต่างประเทศอีกครั้งตามนัดหมาย เวลานั้นนาย Armand Fallières (ภาพล่าง) ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ท่านอาจจะเห็นว่าทุกประเทศได้ตกลงลงนามกับสยามไปหมดแล้ว ถ้าประวิงต่อไปจะเสียภาพพจน์หมาป่าผู้การุณหมด หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า Count Kergaradec กงสุลใหญ่ประจำกรุงเทพย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว กระแสคัดค้านจึงไม่มี ดังนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ตกลงยอมลงนามในกรอบข้อตกลงเรื่องภาษีสุราในคราวที่เสด็จไปครั้งนี้

เป็นอันว่าภารกิจเรื่องแก้ภาษีสุรากับนานาประเทศของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้สำเร็จเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 13 เม.ย. 16, 08:48

หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย กับกองเอกสารใต้สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงปารีส


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 14 เม.ย. 16, 07:04

งานด่วนต่อไปคือเรื่องข้อตกลงสัญญาเรื่องการโทรเลข

ฝรั่งเศสมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงสายโทรเลขกับกรุงเทพจากไซ่ง่อนผ่านทางพนมเปญ และได้ช่วยเหลือสยามในการวางสายโทรเลขจากกรุงเทพไปยังพระตะบอง โดยส่งคนฝรั่งเศสหลายคนมาช่วย หนึ่งในนั้นที่สมควรกล่าวถึงคือ ม.ปาวี ผู้ที่คนไทยไม่เคยลืม
ฝรั่งเศสหวังจะได้เป็นผู้ที่ดำเนินการเรื่องโทรเลขให้สยามแต่ผู้เดียว เพราะคนไทยทำไม่เป็นจะต้องจ้างต่างชาติมาทำงานให้อยู่แล้ว ข้อแลกเปลี่ยนในการช่วยเหลือนี้คือ สถานกงสุลฝรั่งเศสจะได้ใช้บริการโทรเลขฟรี และมีสิทธิได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องที่กล่าวนั้น

อังกฤษก็จำเป็นจะต้องเชื่อมโยงประเทศในจักรภพของตน จากอินเดียเข้าพม่า ผ่านสยามไปปีนัง มลายูและสิงคโปร จึงได้วางสายโทรเลขจากทวายมายังกรุงเทพให้ เวลานั้นการก่อสร้างของทั้งสองมหาอำนาจใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังจะใช้งานไม่ได้หากสยามยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์โทรเลขสากล เรื่องนี้จึงตกเป็นหน้าที่ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่จะต้องเป็นตัวแทนของสยามไปสมัครเข้าเป็นสมาชิก โดยยื่นความจำนงผ่านรัฐบาลอังกฤษในฐานะตัวแทนของสหพันธ์


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.141 วินาที กับ 19 คำสั่ง