เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: siamese ที่ 07 ส.ค. 12, 09:41



กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ส.ค. 12, 09:41
เพื่อนผมในพันทิปห้องวิทยาศาสตร์ ตอนนี้เกิดสนใจอดีตแห่งบรรพบุรุษของตนเองขึ้นมาอย่างผิดปกติ ด้วยตัวเองเป็นชนกำเนิดพื้นเพเป็นชาวโคราช แถบอำเภอปากช่อง

วันหนึ่งด้วยแรงกระตุ้นจากการสนทนา เพื่อนท่านนี้ได้บุกไปยังบ้านสายต้นตระกูลของตนเองและพบว่า "ปู่ทวด" ของตนมีหน้าตาแบบนี้ นามสกุลเดียวกันกับเจ้าตัว

แต่สิ่งที่ทำให้เขาแปลกใจคือ "คำนำหน้า" คือ ม.ล. จริงหรือ ?

กระผมจึงต้องอาศัยแรงเพื่อน ๆ และอาจารย์ในเรือนไทยทำเรื่องราวให้กระจ่างกับ "ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ - มรณะ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓"

ขอขอบคุณทุกท่านแทนเพื่อนผมมา ณ ที่นี้


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 12, 09:51
เข้ามาเกริ่นหน้าม่าน
เห็นรายชื่อผู้ที่จะตอบคำถามเจ้าของกระทู้  เป็นบัญชียาวเหยียด   อันดับแรกคือคุณ siamese
ต่อๆมา(ไม่ได้เรียงตามลำดับอาวุโสหรือตัวอักษร นึกชื่อไหนก่อนได้ชื่อนั้น) คือคุณ V_Mee  คุณนวรัตน  คุณหลวงเล็ก คุณ art47 คุณ Werachai  คุณวันดี ฯลฯ

ส่วนตัวเองขอถามว่า เป็นไปได้ไหมว่าจะมีราชสกุลที่ขาดรายชื่อไปจากหนังสือราชสกุลวงศ์  และจากนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗

ป.ล.ขออนุญาตเอ่ยชมว่าคุณทวดในภาพ แม้ชราแล้วก็มีหน้าตาบุคลิกสง่างามมาก  สวมเสื้อราชปะแตนเหมือนข้าราชการ  มีสง่าราศีผิดจากชาวบ้านทั่วไปในสมัยนั้น


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 10:14
ขอเดาครับ

จากคำถามว่าเป็นไปได้ไหมว่าจะมีราชสกุลที่ขาดรายชื่อไปจากหนังสือราชสกุลวงศ์  และจากนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ ผมมั่นใจว่าเป็นไปไม่ได้ครับ

แต่คราวนี้ หม่อมหลวงท่านนี้จะ(บังเอิญ)มีนามสกุลดังกล่าวได้อย่างไร

จากประสพการณ์ที่เคยเจอเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฏร์ของอำเภอมาหลายสมัย หลายครั้ง เชื่อว่าข้าราชการเหล่านั้นท่านไม่ค่อยแม่นในเรื่องข้อกำหนดกฏเกณฑ์เกี่ยวกับราชสกุลนัก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่นานๆจะมีคนในราชสกุลโผล่มาทำโน่นทำนี่สักที อย่างไรก็ดี การจดทะเบียนนามสกุลเด็กเกิดใหม่นั้น ถ้าบิดาไม่ใช่เชื้อพระวงศ์แล้ว ยากที่ข้าราชการกองทะเบียนจะพลาดง่ายๆ

ยกเว้น ผู้ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ อย่างในกรณีย์นี้เป็นหม่อมหลวง มาแจ้งเปลี่ยนนามสกุลเพื่อใช้นามสกุลของมารดา เอาละซี ท่านเกิดมาเป็นหม่อมหลวง แล้วจะไปถอดท่านออกได้อย่างไร ท่านไม่มีความผิด
หากท่านข้างบนนี้เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เสียงดัง มาดเข้มด้วยแล้ว ท่านว่าอย่างไรผู้น้อยก็ว่าตามท่านเป็นอันแล้วกัน

ส่วนท่านอยากจะเปลี่ยนนามสกุลเพราะโกรธพ่อ หรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้ผมไม่ทราบ ต้องให้ลูกหลานท่านลองสืบๆดู ทำไมหม่อมหลวงถึงไปมีเชื้อสายอยู่แถวโคราช


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 12, 10:20
ข้อสันนิษฐานที่ ๑
- เป็นหม่อมหลวงในราชสกุลใดราชสกุลหนึ่งจริง  แต่ไม่ประสงค์จะใช้ราชสกุลของบิดา  เลยมาใช้นามสกุลมารดาซึ่งเป็นสามัญชน แต่ยังคงคำนำหน้าหม่อมหลวงโดยกำเนิดเอาไว้  เพราะท่านมิใช่ "นาย"
แปลได้อีกอย่างว่า ม.ล.ชุ่มท่านลาออกจากราชสกุลของพ่อ จะด้วยเหตุอะไรก็ตาม  แต่ท่านมิได้ลาออกจากการเป็นเชื้อพระวงศ์


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 10:21
อ้อ ถ้าลูกหลานท่านไม่มี ณ อยุธยา ต่อท้าย เป็นอันว่าที่ผมเดาคงถูก

อำเภอคงเอาหม่อมราชวงศ์หม่อมหลวงหญิง ที่เปลี่ยนนามสกุลตามสามี มาประยุกติใช้น่ะครับ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ส.ค. 12, 10:26
เข้ามาเจิมกระทู้ตนเอง  ;D

เพื่อนผมท่านนี้ ชื่อ นามสกุลเป็นคนธรรมดา ไม่มี ณ ต่อท้ายครับผม ใครเล่นพันทิปห้องวิทยาศาสตร์คงคุ้นกับ "สมภพ เจ้าเก่า" ซึ่งผมเองก็เคยบอกไปว่า "เป็นเจ้าสายไหนเนี่ย" แม้กระทั่งเพื่อนคนนี้ก็ยังไม่เชื่อว่าเขาจะมีเชื้อสายเจ้าแม้แต่นิดเดียว  ;D


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 12, 10:34
ตอนนี้ก็ได้แต่เดาเท่านั้นละค่ะ คุณ siamese  เพราะหลักฐานนอกจากรูปถ่ายนี้ไม่มี    
การเดาของดิฉันถ้าทำให้เพื่อนของคุณในห้องวิทยาศาสตร์ขุ่นเคืองอย่างใดก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ว่าไม่มีเจตนาทำให้เสียหายแต่อย่างใด
นอกจากกรณีที่ท่าน NAVARAT.C สันนิษฐานไว้ข้างบนนี้  มีอีกกรณีหนึ่งที่ดิฉันเคยเห็นตัวอย่างมาจากสกุล ทองเจือ    ก็เลยลองคิดว่าจะซ้ำรอยแบบเดียวกันได้ไหม
กล่าวคือคุณปู่ทวด ม.ล.ชุ่มนี้เป็นบุตรของม.ร.ว.ท่านหนึ่งจริงๆ  โดยสายเลือด    แต่เกิดความผิดพลาด  ไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ  เช่นม.ร.ว.ผู้พ่อมารับราชการอยู่แถวโคราชแล้วมีภรรยาทางนี้ เกิดบุตรขึ้นมา  ใครๆแถวบ้านก็รู้กัน   แต่ว่าพลาดพลั้งไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร   ด้วยเหตุนี้เมื่อคุณพ่อถึงแก่กรรมไป  ครอบครัวทางกรุงเทพไม่ได้รับรู้เรื่องนี้ด้วย  ท่านจึงไม่มีสิทธิ์ใช้ราชสกุลของพ่อ  แต่ท่านก็ยังถือว่าตัวเองเป็นม.ล.โดยกำเนิด   พ่อแม่ตายายก็รับรู้มาโดยตลอด   เจ้าหน้าที่อำเภอที่อาจจะรู้จักทางแม่และตายายดี ก็รับรู้มาแต่แรก  จึงจดทะเบียนให้ตามนี้


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 10:53
ถ้าหมายถึงว่า บิดาที่เป็นหม่อมราชวงศ์ตัวเป็นๆ นำลูกไปจดทะเบียนนามสกุลอื่นที่ไม่ใช่นามสกุลตน แต่ให้เป็นหม่อมหลวง ก็ลักปิดลักเปิดแปลกๆอยู่นะครับ จะปิดทั้งทีก็ให้เป็นด.ช.ไปเลยเนียนกว่า เป็นหม่อมหลวงก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือชาวบ้านอย่างไร เอาไว้ให้เขาถามให้เป็นปมด้อยเปล่าๆว่าทำไมลูกจึงไม่นามสกุลเดียวกับพ่อ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ส.ค. 12, 11:15
โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่นานๆจะมีคนในราชสกุลโผล่มาทำโน่นทำนี่สักที

ตามที่มี บันทึก (http://school.obec.go.th/termsaengkhai/person/history.html) ไว้

ที่ปากช่องมีโรงเรียนหนึ่งชื่อว่า โรงเรียนเติมแสงไขปากช่องวิทยา  ซึ่งได้นามตามชื่อของหม่อมราชวงศ์หญิงเติมแสงไข กรรณสูตซึ่งยกที่ดินให้สร้างโรงเรียนเกือบ ๑๒ ไร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘

อ้างไว้เพราะเกี่ยวกับความเห็นของคุณนวรัตน

แต่ไม่น่าเกี่ยวกับคำถามของคุณหนุ่ม

 :D


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: สมภพ เจ้าเก่า ที่ 07 ส.ค. 12, 13:59
เด๋วช่วยตอบข้อมูลพื้นฐานบางอย่างเกี่ยวกับผมนะครับ ผม นายสมภพ ขำสวัสดิ์
คือเกิดที่โคราช(ปากช่อง)ก็จริง  แต่พ่อมาจากกรุงเทพฯตั้งแต่ผมยังไม่เกิดครับ และปู่ก็คนกรุงเทพ(แต่เสียแล้ว)

นามสกุลพระราชทานมั้ย? อันนี้เคยถามจากปู่เองสมัยที่ผมยังเด็ก  ก็ได้รับคำยืนยันจากปู่เลยว่า  เป็นนามสกุลพระราชทานครับ แต่ไม่ทราบ ร.๖ หรือ ร.๗
แต่ปู่ไม่ได้บอกว่าเป็น ม.ล. หรือไม่อย่างไรครับ

ญาติอีกสายที่เป็นเจ้าของรูป(รู้จักกันในเฟชบุ๊ค จักรภพ ขำสวัสดิ์) ทำให้ผมเห็นคำว่า ม.ล. นำหน้าชื่อทวดเป็นครั้งแรก  เค้าบอกว่าทวดชุ่มเคยทำงานพระราชวังสนามจันมาก่อนครับ คือเป็นคนนครปฐมมาก่อน  แล้วต่อมา(อย่างไรไม่แน่ใจ) มาอยู่สถานีรถไฟมักกะสัน  ซึ่งกรณีรถไฟมักกะสันนี้  ทางสายของผมก็ยืนยันเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะพี่น้องปู่บางคนก็ทำงานที่นั่น(แต่ก็ล้มหายไปแล้ว)


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ส.ค. 12, 14:09
^
ยินดีต้อนรับคุณสมภพ เจ้าเก่า หวังว่าท่านคงเข้ามาให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ความรู้ต่าง ๆ ให้กับเรือนไทยเยอะนะครับผม


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ส.ค. 12, 15:16


ยินดีต้อนรับคุณสมภพค่ะ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 07 ส.ค. 12, 15:51
เข้ามาทักทายคุณสมภพ ด้วยคนครับ
 :D :D :D

ห้องนี้ถกกันเรื่องประวัติศาสตร์
บางประเด็น คุณสมภพอาจจะหาคำตอบมาร่วมอภิปรายด้วยก็จะดีอย่างยิ่งนะครับ

เรื่องหม่อมหลวงชุ่มและ เรื่องนามสกุลพระราชทาน คุณครูหลายๆท่าน ในห้องนี้คงจะให้คำตอบได้ครับ


ปล.ผมยังประทับใจในการสัมภาษณ์สิ่งศักดิ์สิทธิหลายๆที่ของคุณสมภพอยู่เลย
 ;D ;D ;D


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ส.ค. 12, 15:54
อือม์ :-\ ??? :-\ ??? :-\ ??? :(


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 15:55
คุณสมภพ สวัสดีครับ

นามสกุลขำสวัสดิ์ถ้าถือหลักฐานตามหนังสือเล่มนี้แล้ว หาไม่เจอครับ



กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 15:56
รัชกาลที่๖ นามสกุลพระราชทานหมวด ข. มีเพียงเท่านี้ครับ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 16:02
สมัยรัชกาลที่ ๗ มีตามที่เห็น


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 16:06
สุดท้าย


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 16:08
คราวนี้คุณสมภพต้องถามญาติๆเองว่า นอกจากรูป ที่คุณปู่เขียนชื่อเองแล้ว ยังมีหลักฐานที่เป็นหนังสือราชการ บัตรประจำตัว ฯลฯ อีกบ้างไหม ที่แสดงว่าคุณปู่ของคุณเป็นหม่อมหลวง


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 07 ส.ค. 12, 16:29
มาเพิ่มเติมครับ
ผมขออนุญาตรวบรวมข้อมูลจากในเรือนไทยนี่แหละครับ เกี่ยวกับรามสกุลพระราชทานใน รัชกาลที่ ๗
ประมาณ ๓๘​ นามสกุล แยกได้เป็น
พระราชทานแก่หม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๕ และพระอนุวงศ์ในรัชกาลที่ ๒ ๓ และ ๔ ที่ยังไม่ได้รับพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่ ๖ รวม ๒๔​ ราชสกุล
๑ กิติยากร ณ อยุธยา   
  ๒ คัคณางค์ ณ อยุธยา
๓ งอนรถ ณ อยุธยา       ๔ จักรพงศ์ ณ อยุธยา
๕ จิรประวัติ ณ อยุธยา      ๖ จุฑาธุช ณ อยุธยา
๗ ฉัตรชัย ณ อยุธยา        ๘ บริพัตร ณ อยุธยา
๙ ประวิตร ณ อยุธยา   ๑๐ พรหมเมศ ณ อยุธยา
๑๑ เพ็ญพัตร ณ อยุธยา    ๑๒ มรกฎ ณ อยุธยา
๑๓ มหิดล ณ อยุธยา         ๑๔​ ยุคล ณ อยุธยา
๑๕ รพีพัฒน ณ อยุธยา      ๑๖ รังสิต ณ อยุธยา
๑๗ ลำยอง ณ อยุธยา  ๑๘ วิบูลพรรณ ณ อยุธยา
๑๙ วิสุทธิ ณ อยุธยา       ๒๐ วุฒิชัย ณ อยุธยา
๒๑ สุธารส ณ อยุธยา       ๒๒​ สุริยง ณ อยุธยา
๒๓ อาภากร ณ อยุธยา   ๒๔ อุไรพงศ์ ณ อยุธยา

พระราชทานแก่สามัญชนที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน ๑๔ นามสกุล
๑ กงสุวรรณ         ๒ จุฬารัตน     
๓​ ตันติลีปิกร        ๔ ตันสุหัช
๕ เทวานุเคราะห์    ๖ ประภาวิวัฒน์
๗ พรหมนารท         
๘ มณีลดา         ๙ มหาณรงค์
๑๐ หิรัณยเลขา    ๑๑ วรรณโกมล   
๑๒ วัฒนสุทธิ      ๑๓ วิเศษสุมน
๑๔​ ธันวารชร

(เรียงลำดับตามตัวอักษร นะครับ ข่้อมูลของคุณครู V_Mee และคุณชัชวาล จากกระทู้ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4267.0 )


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ส.ค. 12, 17:11
นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๗  เท่าที่เคยเห็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา เข้าใจว่ามีเท่านั้น
แต่ยังมีนามสกุลพระราชทานที่ไม่ได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกจำนวนหนึ่ง
ไว้มีโอกาสจะได้นำมาเผยแพร่ในเรือนไทยกันต่อไป

ส่วนนามสกุลพระราชทานในรัชกาลปัจจุบัน   มีการรวบรวมไว้เป็นสมุดบัญชี
และกำลังจะ...ในโอกาสอันเหมาะสม   ทราบว่ามีจำนวนมากเช่นกัน

อนึ่ง  นามสกุลอีกจำพวกหนึ่งที่ยังไม่มีใครรวบรวมไว้  คือนามสกุลที่เจ้านายต่างๆ
พระราชทานหรือประทานแก่บุคคลต่างๆ  นามสกุลเหล่านี้ เข้าใจว่าจะมีไม่น้อย
เท่าที่ทราบ  อย่าง ธีมากร เป็นนามสกุลที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ประทาน
ตะละภัฏ เป็นนามสกุลที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระราชทานแก่เจ้ากรมหลี (หลวงสงขลานครินทร์)

ไม่แน่ว่า  บางทีนามสกุล ขำสวัสดิ์  อาจจะเป็นนามสกุลที่เจ้านายประทานก็ได้

ทราบว่า ม.ล.ชุ่ม  ขำสวัสดิ์ เคยรับราชการอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์
แล้วย้ายไปรับราชการอยู่สถานีรถไฟมักกะสัน  ถ้าเคยรับราชการอย่างนี้
น่าจะหาข้อมูลได้ไม่ยากนัก   ยังพอมีความหวัง (แต่...) 
 ;D


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 17:20
ยังพอมีความหวัง แต่......ต้องรออ่านภาคสองในตอนต่อไป    ;D
 


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 12, 18:59
เด๋วช่วยตอบข้อมูลพื้นฐานบางอย่างเกี่ยวกับผมนะครับ ผม นายสมภพ ขำสวัสดิ์
คือเกิดที่โคราช(ปากช่อง)ก็จริง  แต่พ่อมาจากกรุงเทพฯตั้งแต่ผมยังไม่เกิดครับ และปู่ก็คนกรุงเทพ(แต่เสียแล้ว)

นามสกุลพระราชทานมั้ย? อันนี้เคยถามจากปู่เองสมัยที่ผมยังเด็ก  ก็ได้รับคำยืนยันจากปู่เลยว่า  เป็นนามสกุลพระราชทานครับ แต่ไม่ทราบ ร.๖ หรือ ร.๗
แต่ปู่ไม่ได้บอกว่าเป็น ม.ล. หรือไม่อย่างไรครับ

ญาติอีกสายที่เป็นเจ้าของรูป(รู้จักกันในเฟชบุ๊ค จักรภพ ขำสวัสดิ์) ทำให้ผมเห็นคำว่า ม.ล. นำหน้าชื่อทวดเป็นครั้งแรก  เค้าบอกว่าทวดชุ่มเคยทำงานพระราชวังสนามจันมาก่อนครับ คือเป็นคนนครปฐมมาก่อน  แล้วต่อมา(อย่างไรไม่แน่ใจ) มาอยู่สถานีรถไฟมักกะสัน  ซึ่งกรณีรถไฟมักกะสันนี้  ทางสายของผมก็ยืนยันเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะพี่น้องปู่บางคนก็ทำงานที่นั่น(แต่ก็ล้มหายไปแล้ว)
มาต้อนรับคุณสมภพเช่นเดียวกันค่ะ

แกะรอยจากคำบอกเล่าของคุณปู่คุณที่ได้รับคำบอกเล่าจากคุณทวดชุ่ม
๑   นามสกุลขำสวัสดิ์   ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว (หรืออย่างน้อยก็ประทานจากเจ้านาย) ก็ต้องนับเป็นนามสกุลทางสายบิดาของคุณทวดชุ่ม
๒   คุณทวดชุ่มเคยทำงานที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม  น่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ ๖  ไม่น่าจะเป็นก่อนหน้านั้น เพราะพระราชวังสนามจันทร์รุ่งเรืองเฟื่องฟูในรัชกาลที่ ๖
๓  คุณทวดชุ่มถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๓  เกิดเมื่อใดไม่แจ้ง  แต่ดูจากในรูปท่านอยู่มาจนชรา  รูปนี้ถ่ายก่อนท่านถึงแก่กรรมกี่ปีก็ไม่ทราบ   แต่ขอเดาว่าอายุท่านคงไม่ต่ำกว่า ๗๐ ปี     ถ้าอย่างนั้นท่านก็คงจะเกิดเมื่อรัชกาลที่ ๕ ครองราชย์ได้สัก ๑๐ ปี
๔  ต่อมาท่านมาทำงานที่สถานีรถไฟมักกะสัน  มีความเป็นไปได้ว่าท่านอาจทำงานที่สถานีรถไฟสนามจันทร์มาก่อน  เพราะข้าราชการทั่วไป โดยเฉพาะข้าราชการหนุ่มเริ่มทำงานได้ไม่นาน  มักทำงานหน่วยงานไหนก็หน่วยงานนั้น ไม่ถูกย้ายข้ามกรมหรือกระทรวง
๕ คุณปู่ของคุณสมภพเป็นคนกรุงเทพ   แสดงว่าคุณทวดชุ่มอาจเริ่มมีครอบครัวเมื่อย้ายมาทำงานที่กรุงเทพ   หรือหอบหิ้วบุตรเล็กๆมาจากนครปฐมแล้วมาปักหลักอยู่กรุงเทพ  ไม่กลับไปอีก
๖ คุณทวดชุ่มมีเชื้อสายราชสกุล แต่ท่านมิได้ให้บุตรและหลานของท่านใช้ ณ อยุธยาต่อท้าย    และไม่ได้บอกเล่าเก้าสิบให้รู้ด้วยว่าท่านมีเชื้อสาย  ไม่งั้นคุณปู่และคุณพ่อของคุณสมภพคงรู้เรื่องไปนานแล้ว  
๗ แม้ว่าคุณทวดชุ่มรับราชการอยู่สถานีรถไฟมักกะสัน  ลูกท่านบางคนก็ทำงานที่นี่ (คือบรรพบุรุษสายของคุณจักรภพ ขำสวัสดิ์)  แต่ท่านไม่มีบรรดาศักดิ์   จะว่าท่านไม่ทันได้รับบรรดาศักดิ์เพราะเลิกล้มกันไปก่อนก็ไม่ใช่  คำนวนจากอายุแล้วท่านน่าจะรับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ หรืออาจจะปลายรัชกาลที่ ๕   จะว่าท่านถึงแก่กรรมก่อนก็ไม่ใช่เพราะท่านอยู่มาจนพ.ศ. ๒๔๙๓   การแต่งกายในรูปที่เป็นเสื้อราชปะแตนก็แสดงว่าท่านน่าจะมีความเป็นอยูู่ที่สูงกว่าชาวบ้านธรรมดา   อาจจะรับราชการมาจนชราก็ได้
๘  ไม่มีการเอ่ยถึงพี่น้องท้องเดียวกันกับคุณทวดชุ่ม ว่าเป็นม.ล.หรือไม่     คุณปู่ของคุณสมภพคงไม่มีลุงไม่มีอาให้เห็นเลยตั้งแต่จำความได้   ไม่งั้นคงมีลูกพี่ลูกน้องใช้ ณ อยุธยากันบ้างแล้ว
๙  คุณจักรภพผู้เป็นเจ้าของรูป  ย่อมมีพ่อและปู่ที่รู้ว่าคุณทวดของตนเป็นม.ล.  แต่ตัวคุณจักรภพเองก็ไม่มี ณ อยุธยาต่อท้ายนามสกุล   แปลว่าพ่อและปู่ของคุณจักรภพก็ใช้ "ขำสวัสดิ์" เฉยๆเหมือนกับคุณสมภพ
 ??? ??? ???


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 07 ส.ค. 12, 22:58
เพิ่งกลับมาจากต่างจังหวัด  เบยเพิ้งจะมาเห็นกระทู้นี้วิ่งฉิวไปไกลพอสมควร
ในความเห็นส่วนตัว  ขอเรียนยืนยันว่าสกุลนี้มิใช่ราชสกุลหรือนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ หรือที่ ๗
แต่อักษรย่อ ม ล หน้าชื่อ ผมกลับแปลความหมายว่า น่าจะเป็น "มหาดเล็ก" ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งมหาดเล็กสำรอง
หรือมหาดเล็กวิเศษ  ซึ่งเป็นยศมหาดเล็กที่เทียบเท่าว่าที่นายร้อยตรี หรือนายร้อยตรี
ท่านผู้นี้อาจจะได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ ๖  จึงอาจจะได้รับพระราชทานยศดังกล่าว
เพราะในรัชกาลที่ ๗ มีการยุบรวมกรมมหาดเล็กเข้ากับกระทรวงวังจึงเลิกยศมหาดเล็กไปด้วยเลย


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ส.ค. 12, 23:08
น่าสนใจมาก

เคยมีมหาดเล็กผู้ใดใช้อักษรย่อเช่นนี้หรือครับ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ส.ค. 12, 23:45


เมื่อบ่ายวันนี้มีสหายมาเร่งรัดให้ช่วยกันคิดเรื่องนี้  เพราะคุณสมภพก็เป็นที่นับถือ

คิดวาบถึงคำว่า  มหาดเล็ก

ถามไปที่ที่ปรึกษา    ที่ปรึกษาเอ่ยว่า  น่าคิดอยู่เหมือนกัน

ตั้งแต่บัดนั้นก็อ่านหนังสือมหาดเล็กไป ๓ เล่ม  คือ ตำนานทหารมหาดเล็ก  กรมทหารราบที่ ๑  มหาดเล็กรักษาพระองค์ เล่มสีแดง

ข้อราชการในกรมมหาดเล็ก อนุสรณ์ของพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน(ม.ล. วราห์  กุญชร) ๒๕๐๐   

และตำนานกรมทหารราบที่ ๑    มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ลิขสิทธิ์กระทรวงกลาโหม ๒๔๔๔
พิมพ์ ๒๔๖๔

ไม่พบคำว่า  ม.ล. นำหน้า

ในหนังสือเก่ามีคำว่า       นายโก  มหาดเล็ก     นายศล  มหาดเล็ก  เป็นต้น

ม.ร.ว. หนึ่งท่านก็รับใช้ขนต้นไม้ เลื่อนกระถางหนัก ๆ ในพระบรมมหาราชวังในวัยหนุ่ม   จนความทราบถึงทูลละอองธุลีพระบาท  จึงให้นำเฝ้า
ถวายตัวรับราชการมีเบี้ยหวัด  จนเลื่อนตำแน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ

มีพระราชดำรัสว่า  "ลูกหลานของข้าทั้งนั้น"


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 09:14
^
ก็จริงของพระองค์ท่าน
อดีตมหาดเล็กยกกระถาง  เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) สืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช ต้นราชสกุลอิศรเสนา ณ อยุธยา

ถ้าคุณทวดชุ่มไม่ได้มาจากราชสกุล  เพราะท่านไม่ได้ให้ลูกหลานใช้ ณ อยุธยากันสักคน  ม.ล. สำหรับท่านอาจหมายถึงมหาดเล็กหลวง ก็เป็นได้


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 08 ส.ค. 12, 11:30
น่าสนใจมาก

เคยมีมหาดเล็กผู้ใดใช้อักษรย่อเช่นนี้หรือครับ

เคยอ่านพบในเอกสารจดหมายเหตุครับ  แต่จำไม่ได้ว่าเป็นใตร
สมัยก่อนมักจะใช้อีกษรย่อเพียง ๒ ตัว เช่น หมาอมราชวงศ์ ใช้ ม.ว.
ฉะนั้น มล ที่สับสนกันอยู่นี้น่าจะมาจากยศ มหาดเล็กวิเศษ  เพราะใช้นำหน้าชื่อ
แต่ถ้าเป็นผู้ที่ถวายตัวแล้ว  ยังไม่ได้รับพระราชทานยศจะใช้คำว่า มหาดเล็กต่อท้ายชื่อ
เช่น ม.ล.ทศทิศ  มหาดเล็ก  ต่อเมื่อได้รับพระราชทานยศแล้ว  ใช้ยศนำหน้าชื่อก็จะตัด
คำว่ามหาดเล็กที่ท้ายชื่อออก


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ส.ค. 12, 11:41
หมาอมราชวงศ์ ;D

งงอยู่๓วินาที


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 08 ส.ค. 12, 13:21
รีบตอบเลยพิมพ์ผิด  ขอประทานโทษครับ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: สมภพ เจ้าเก่า ที่ 08 ส.ค. 12, 15:53
ทะเบียนบ้านปู่ ที่มีชื่อทวดชุ่ม แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ระบุคำนำหน้าชื่อนะครับ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 08 ส.ค. 12, 17:29
ในเมื่อข้อมูลระบุชัดว่า คุณทวดชุมของคุณสมภพเคยรับราชการที่พระราชวังสนามจันทร์ก็ไม่ต้องไปค้นต่อแล้วครับ
เพราะสามารถระบุได้ว่า คุณทวดชุ่มท่านนั้นรับราชการกรมชาวที่ประจำกรมรักษาพระราชวังสนามจันทร์  เมื่อรัชกาลที่ ๖
สวรรคตแล้ว  พระราชวังสนามจันทร์ถูกโอนไปให้กระทรวงมหาดไทยใช้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลนครไชยศรี  ตำแหน่งราชการ
กรมรักษาพระราชวังสนามจันทร์จึงถูกยุบเลิกไปเมื่อเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพในเดือนมีนาคม  ๒๔๖๘
และเมื่อถูกดุลย์จากราชการใน พ.ศ. ๒๔๖๙  จึงทำให้ท่านได้ย้ายไปรับราชการที่กรมรถไฟเช่นเดียวกับข้าราชการ
กรมมหาดเล็กจำนวนมากที่ถูกดุลยภาพในคราวเดียวกันนั้น  ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ม ล นั้นคือยศ มหาดเล็กวิเศษ
ไม่ใช่ฐานันดร หม่อมหลวงครับ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 17:39
ทะเบียนบ้านปู่ ที่มีชื่อทวดชุ่ม แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ระบุคำนำหน้าชื่อนะครับ
หลักฐานทะเบียนบ้านของคุณปู่คุณสมภพ ที่มีชื่อคุณทวดชุ่มเป็นบิดา  เขียนชื่อเฉยๆ ไม่มีคำนำหน้า  ก็แสดงว่าคุณทวดชุ่มเป็น "นาย" ค่ะ
ดิฉันเห็นด้วยกับคุณ V_Mee ว่า ม.ล.น่าจะหมายถึงยศมหาดเล็กวิเศษนะคะ  บุคลิกหน้าตาคุณทวดชุ่มก็ดูเหมาะสมจะเป็นชาววังมาก่อนเมื่อตอนหนุ่มๆ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: สมภพ เจ้าเก่า ที่ 08 ส.ค. 12, 20:02
ขอบคุณทุกคนมากครับ ได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มากมาย
กระทู้นี้ไม่คาดหวังจะได้คำตอบในสองสามวันครับ  ถ้ามีหลักฐานหรือคำบอกเล่าเพิ่มเติมก็จะมานำเสนออีก  ซึ่งจะทำให้กระทู้เด่งขึ้นมาด้านบนอีกครั้ง ^_^

จุดมุ่งหมายของสมภพคือ? จะเขียนประวัติต้นตระกูลขำสวัสดิ์ครับ แหะแหะ  คือเราเรียนประวัติศาสตร์ประเทศกันแล้ว  ก็เกิดสงสัยในประวัติศาสตร์ตระกูลของตัวเองขึ้นมาบ้าง
แต่กว่าจะมาเป็นเราทุกวันนี้ คงต้องหลายสายมารวมกัน ทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย  และทวดอีก 8 คน(มัง) แล้วจะเน้นไปทางสายไหนดี?
ก็การกำหนดนามสกุลถือตามฝ่ายชาย  ก็เลยได้กรอบให้คิดไปง่ายๆ ว่าควรจะพุ่งไปทาง พ่อของพ่อของพ่อ ฯ  พุ่งไปไกลแค่สมัยตั้งนามสกุลคงพอครับ  จะได้ทราบว่าใครใช้นามสกุลนี้เป็นคนแรก?
เพื่อให้เป็นที่ศึกษาของเหล่าทายาทนั่นเองครับ ^_^ และก็อยากให้ท่านๆมีชื่อจารึกในอินเตอร์เน็ตหาพบโดย google (เหมือนกระทู้นี้) แต่เหล่าทายาทคงต้องช่วยกันเขียน  ซึ่งคงต้องพึ่ง google หา ขำสวัสดิ์ แล้วติดต่อเท่าที่จะติดต่อได้

ทวดชุ่มมีภรรยาสองคนครับ (คงไม่มากไม่น้อยไปสำหรับคนสมัยนั้นนะครับ แหะแหะ) ปรากฎว่า สมภพ และ จักรภพ มาจากภรรยาของทวดคนละคนกันครับ

เรื่องนามสกุล ณ อยุธยา  คุณจักรภพ บอกว่า  เป็นนามสกุลเก่าของย่าเค้าครับ  แต่ย่าในที่นี้คงหมายถึงภรรยาของปู่ ซึ่งเป็นลูกของทวดชุ่ม  ดังนั้นย่าคุณจักรภพคงเกี่ยวข้องกับทวดชุ่มในฐานะลูกสะใภ้ครับ

สำหรับข้อสันนิษฐานเรื่อง ม.ล. นั้น ดูกระทู้นี้จะเป็นที่สรุปได้แล้ว  แต่ไม่ทราบว่าสามารถดูได้จากมรดกตกทอดได้หรือไม่(พวกทรัพย์สินหรือที่ดิน) เพราะปรากฎว่าปู่ผมไม่ได้มีมรดกตกทอดอะไร และมีการย้ายถิ่นฐานจากพญาไท(ใกล้มักกะสัน) มาอยู่แถวบางเขนตามทะเบียนบ้านดังกล่าว
ช่วยตอกย้ำข้อสันนิษฐานว่าท่านเป็นสามัญชนมากขึ้น?


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 20:52
ถ้าถามว่าใครใช้นามสกุลขำสวัสดิ์เป็นคนแรก   ดิฉันเชื่อว่าเป็นคุณทวดชุ่ม   เพราะบวกลบอายุโดยประมาณแล้ว  ท่านน่าจะเกิดในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นสมัยคนไทยยังไม่มีนามสกุล    ก็แสดงว่าคุณเทียดของคุณสมภพซึ่งน่าจะเป็นคนสมัยรัชกาลที่ ๔  ไม่เคยใช้นามสกุลแน่นอน
คุณทวดชุ่มทำงานที่พระราชวังสนามจันทร์ในรัชกาลที่ ๖   ท่านคงได้รับนามสกุลในช่วงที่คนไทยทุกคนต้องมีนามสกุล  ท่านก็ย่อมเป็นคนแรกที่ใช้นามสกุลขำสวัสดิ์     

ถ้าคุณทวดชุ่มเป็นเจ้าของที่ดิน(และบ้าน)ก็ต้องมีชื่อในโฉนด    ลองสืบจากทางคุณจักรภพได้ไหมคะ ว่าปู่ของเขาได้มรดกจากคุณทวดชุ่มเป็นที่ดินบ้างหรือเปล่า   อาจมีหลักฐานเป็นชื่ออยู่ในโฉนดเก่าแก่ใบนั้นก็ได้


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ส.ค. 12, 20:59
ถ้าถามว่าใครใช้นามสกุลขำสวัสดิ์เป็นคนแรก   ดิฉันเชื่อว่าเป็นคุณทวดชุ่ม   เพราะบวกลบอายุโดยประมาณแล้ว  ท่านน่าจะเกิดในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นสมัยคนไทยยังไม่มีนามสกุล    ก็แสดงว่าคุณเทียดของคุณสมภพซึ่งน่าจะเป็นคนสมัยรัชกาลที่ ๔  ไม่เคยใช้นามสกุลแน่นอน
คุณทวดชุ่มทำงานที่พระราชวังสนามจันทร์ในรัชกาลที่ ๖   ท่านคงได้รับนามสกุลในช่วงที่คนไทยทุกคนต้องมีนามสกุล  ท่านก็ย่อมเป็นคนแรกที่ใช้นามสกุลขำสวัสดิ์     

ถ้าคุณทวดชุ่มเป็นเจ้าของที่ดิน(และบ้าน)ก็ต้องมีชื่อในโฉนด    ลองสืบจากทางคุณจักรภพได้ไหมคะ ว่าปู่ของเขาได้มรดกจากคุณทวดชุ่มเป็นที่ดินบ้างหรือเปล่า   อาจมีหลักฐานเป็นชื่ออยู่ในโฉนดเก่าแก่ใบนั้นก็ได้

ถ่ายสำเนาหลังโฉนดมาดูกันด้วยนะครับ คุณสมภพ เจ้าเก่า  ;D ;D


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 21:06
ในเมื่อข้อมูลระบุชัดว่า คุณทวดชุมของคุณสมภพเคยรับราชการที่พระราชวังสนามจันทร์ก็ไม่ต้องไปค้นต่อแล้วครับ
เพราะสามารถระบุได้ว่า คุณทวดชุ่มท่านนั้นรับราชการกรมชาวที่ประจำกรมรักษาพระราชวังสนามจันทร์  เมื่อรัชกาลที่ ๖ สวรรคตแล้ว  พระราชวังสนามจันทร์ถูกโอนไปให้กระทรวงมหาดไทยใช้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลนครไชยศรี  ตำแหน่งราชการกรมรักษาพระราชวังสนามจันทร์จึงถูกยุบเลิกไปเมื่อเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพในเดือนมีนาคม  ๒๔๖๘ และเมื่อถูกดุลย์จากราชการใน พ.ศ. ๒๔๖๙  จึงทำให้ท่านได้ย้ายไปรับราชการที่กรมรถไฟเช่นเดียวกับข้าราชการกรมมหาดเล็กจำนวนมากที่ถูกดุลยภาพในคราวเดียวกันนั้น  ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ม ล นั้นคือยศ มหาดเล็กวิเศษ  ไม่ใช่ฐานันดร หม่อมหลวงครับ

คำตอบของคุณ V_Mee น่าจะตอบโจทย์ได้อีกข้อว่าทำไมคุณทวดชุ่มไม่มีบรรดาศักดิ์   ท่านเป็นมหาดเล็กในระดับต้นที่ยังไม่มีบรรดาศักดิ์     ถูกดุลย์ในพ.ศ. ๒๔๖๙  มาเริ่มต้นใหม่เป็นข้าราชการกรมรถไฟ  ก็เท่ากับท่านต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้งในหน่วยงานใหม่   ทำได้ ๖ ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ๒๔๗๕  ราชการยกเลิกบรรดาศักดิ์ ไม่มีเพิ่ม ไม่มีเลื่อน   คุณทวดชุ่มจะมีตำแหน่งสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหนก็ตาม  ถ้าไม่มีบรรดาศักดิ์มาแต่แรกแล้วก็เป็นอันว่าไม่มี   


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: สมภพ เจ้าเก่า ที่ 08 ส.ค. 12, 21:27
การดุลย์ หรือ ดุลยภาพ  นี่คืออะไรเหรอครับ ^_^

ว่าแต่ปู่ผมเกิดปี 2453  ก่อนตั้งนามสกุลเหมือนกัน  อย่างงั้นคงได้นามสกุลพร้อมๆทวดใช่มั้ยครับ ความน่าเชื่อถือถึงที่มานามสกุลจึงอาจสูง  แต่อายุปู่ตอนนั้นอาจเป็นเลขหลักเดียวอยู่


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 21:38
ความหมายของดุลยภาพ
 
   เริ่มรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก    รัฐบาลต้องตัดทอนรายจ่ายของบ้านเมืองที่เห็นว่าไม่จำเป็นออกไปมาก  เช่นยุบหน่วยงานสมัยรัชกาลที่ 6  ออกไปหลายหน่วย      ปลดข้าราชการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนมาก จัดการยุบมณฑลต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ประกาศยุบจังหวัด งดจ่ายเบี้ยเลี้ยงข้าราชการ    เพื่อปรับงบประมาณประจำปีให้สมดุลย์กับรายรับรายจ่ายของประเทศ
   ดุลยภาพก็เลยมีความหมายสำหรับข้าราชการสมัยนั้นว่า ถูกให้ออกจากงานโดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ  ทั้งๆไม่มีความผิด   ทั้งนี้เพื่อปรับดุลย์ให้รายจ่ายลดลงพอกับรายรับของประเทศ     ถ้าเรียกสั้นๆเป็นภาษาพูดก็เรียกว่า ถูกดุลย์
   ถ้าจะขอให้อธิบายโดยละเอียดเห็นจะต้องถามคุณ V_Mee ค่ะ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 21:40

ว่าแต่ปู่ผมเกิดปี 2453  ก่อนตั้งนามสกุลเหมือนกัน  อย่างงั้นคงได้นามสกุลพร้อมๆทวดใช่มั้ยครับ ความน่าเชื่อถือถึงที่มานามสกุลจึงอาจสูง  แต่อายุปู่ตอนนั้นอาจเป็นเลขหลักเดียวอยู่
พอคุณทวดมีนามสกุลแล้ว   ภรรยาและลูกของท่านก็ได้ใช้นามสกุลไปด้วยทั้งครอบครัวโดยอัตโนมัติค่ะ 


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ส.ค. 12, 22:02
ความหมายของดุลยภาพ
 
   เริ่มรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก    รัฐบาลต้องตัดทอนรายจ่ายของบ้านเมืองที่เห็นว่าไม่จำเป็นออกไปมาก  เช่นยุบหน่วยงานสมัยรัชกาลที่ 6  ออกไปหลายหน่วย      ปลดข้าราชการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนมาก จัดการยุบมณฑลต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ประกาศยุบจังหวัด งดจ่ายเบี้ยเลี้ยงข้าราชการ    เพื่อปรับงบประมาณประจำปีให้สมดุลย์กับรายรับรายจ่ายของประเทศ
   ดุลยภาพก็เลยมีความหมายสำหรับข้าราชการสมัยนั้นว่า ถูกให้ออกจากงานโดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ  ทั้งๆไม่มีความผิด   ทั้งนี้เพื่อปรับดุลย์ให้รายจ่ายลดลงพอกับรายรับของประเทศ     ถ้าเรียกสั้นๆเป็นภาษาพูดก็เรียกว่า ถูกดุลย์
   ถ้าจะขอให้อธิบายโดยละเอียดเห็นจะต้องถามคุณ V_Mee ค่ะ
หากรายรับและรายจ่ายไม่สมดุลกันก็กำไรหรือไม่ก็ขาดทุน ซึ่งก็คือการทำให้เข้าสู่สมดุลกันคือ balance


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ส.ค. 12, 22:04
จะถามว่ามีบรรดาศัดกิ์ไหม เพราะไปหารายนามข้าราชการรถไฟ 2475 ไม่มีชื่อท่าน หรือว่าลาออกไปก่อนหน้า


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 09 ส.ค. 12, 06:57
ดุลยภาพคือ การปรับรายจ่ายให้สมดุลกับรายรับ
การดุลยภาพข้าราชการในพระราชสำนักมีขึ้น ๓ ด้วยกัน ๓ ครั้ง
ครั้งแรกเมื่อเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๖  เหตุผลที่อ้างกันคือ เพราะปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑
แต่เหตุผลที่แท้คือในตอนปลายรัชกาลที่ ๖ มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในพระราชสำนัก  จนต้องโปรดให้องคมนตรีตรวจตัดรายจ่าย  และ
ในตอนปลายรัชกาลได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกส่วนราชการในพระราชสำนักที่ตั้งในหัวเมือง เช่น กองพันที่ ๓ กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.
ที่นครศรีธรรมราช (สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท)  ยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่  ที่จังหวัดเชียงใหม่

การปรัลดค่าใช้จ่ายในพระราชสำนักเพิ่งเริ่มดำเนินการได้ไม่นาน  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ก็เสด็จสวรรคต  เมื่อรัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้น
ครองราชย์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ลดเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายรัชกาลที่ ๖ จากปีละ ๙ ล้านบาท เหลือเพียง ๖ ล้านบาท  และโดยที่ค่าใช้จ่าย
สำหรับส่วนราชการกระทรวงวังและกรมมหาดเล็กล้วนเบิกจ่ายจากเงินส่วนที่รัฐบาลจัดถวายนี้  เมื่อเงินลดลงจึงทำให้ต้องปรับลด
ส่วนราชการในพระราชสำนักลง  มีการปรับลดอัตรากำลังกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.จาก ๒ กองพันๆ ละ ๔ กองร้อยลงเหลือเพียง
๒ กองร้อย  ยุบเลิกกรมศิลปากร  กรมมหรสพ  กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์  กรมศิลปากร ฯลฯ  เมื่อปรับลดส่วนราชการลง
บรรดาข้าราชการก็ต้องถูกปลดออกรับพระราชทานเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญกว่า ๑,๘๐๐ คน  เรียกกันว่า "ดุลยภาพ"

แต่การดุลยภาพคราวนั้นจะว่าไปแล้วเป็นเพียงการผ่องถ่ายข้าราชการในพระราชสำนักในส่วนที่ไม่เป็นที่ต้องการหรือเป็นผู้ที่ผู้เป็นใหญ่
ในรัชกาลที่ ๗ ท่านไม่ปรารถนา  จึงปรากฏว่า กรมศิลปากรถูกยุบเลิกไปไม่นานก็มีการจัดตั้งศิลปากรสถานขึ้นเป็นส่วนราชการใน
สังกัดราชบัณฑิตยสถาน  และเปลี่ยนให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร  กฤดากร มาเป็นผู้อำนวยการศิลปสถานแทนอธิบดีกรมศิลปากรเดิม
ยุบเลิกกรมมหรสพ  แล้วตั้งกรมพิณพาทย์หลวงเป็นส่วนราชการใหม่นอกพระราสำนัก  ยุบกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์  และ
มีความคิดที่จะยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนพรานหลวงทั้งหมด  แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
พระยาบรมบาทบำรุง และพระราชธรรมนิเทศ ถวายฎีกาคัดค้่นว่า ถ้ายุบโรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็เท่ากับยุบพระอารามหลวงประจำ
รัชกาลที่ ๖  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบโรงเรียนพรานหลวง  และรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น
โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย  เมื่อยุบรวมโรเรียนแล้วโปรดให้ตั้งโรงเรียนเยาวกุมารขึ้นที่สวนจิตรลดา  และโปรดให้ครูที่ถูกปลดจากโรงเรียน
มหาดเล็กหลวง เช่น พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พ้อง  รจนานนท์) ไปสอนที่โรงเรียนเยาวกุมาร

ข้าราชการที่ถูกดุลยภาพคราวนั้น  เมื่อออกจากราชการในพระราชสำนักแล้ว  ส่วนหนึ่งได้ไปรับราชการที่กรมรถไฟหลวง  บางส่วนก็ไป
ศึกษาต่อแล้วกลับมารับราชการตามกรมกองต่างๆ  หรือประกอบการค้าขายตามความถนัด

การดุลยภาพรอบที่สองเกิดขึ้นในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ข้าราชการในกระทรวงวังถูกดุลยภาพออกรับพระราชทานเบี้ยหวัดบำเหน็จ
บำนาญอีกครั้ง  เพราะเหตุ "เป็นพวกเจ้า" ที่คณะราษฎรไม่ไว้วางใจ  ปลดแล้วคณะราษฎรก็ส่งคนของตนเข้ามาทำหน้าที่แทน  จนเกิด
กรณีสวรรคต  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ  ทวีวงศ์) ย้ายมา
ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวังแล้ว  จึงได้มีการดุลยภาพคนของคณะราษฎรออกไปแล้วเรียกข้าราชการเก่าที่ถูกดุลยภาพออกไปใน
ตอนต้นรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นผู้รู้ขนบประเพณีในพระราชสำนักเป็นอย่างดีกลับมารับราชการอีกครั้ง  แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟู
พระราชพิธีสำคัญต่างๆ ขึ้นมาอีกครั้ง
ไม่ชอบหน้า


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ส.ค. 12, 07:11
เยี่ยมครับ นี่..V_Meeของแท้


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: took154 ที่ 10 พ.ค. 14, 05:05
ดิฉัน ได้อยู่บ้าน มล ชุ่ม นี้เองค่ะ
โดยเป็นทวดของคุณพ่อสามีค่ะ

วันนี้ได้เสิจหา นามสกุลขำสวัสดิ์ เลยได้มาเจอ เคยได้ยินสามีเล่าว่า
มีปู่ทวดเป็นหม่วมหลวงเชียวนะ แล้วบ้านหลังนี้อยู่ก็อยู่มาเปนร้อยปี
สามี ชอบเล่าติดตลกให้ฟัง ว่าเรามีเชื้อเจ้า
ดีใจที่ยังมีคนอยากเขียนประวัติขำสวัสดิ์นะคะ
ไม่แน่ใจว่ายังมีรูปอยู่รึปล่าว เด๋วพรุ่งนี้จะไปดูที่หิ้งบรรพบุรุษ นะคะ

เราน่าจะเป็นญาติกันจริงๆ ปัจจุบันบ้านหลังนี้ยังอยู่ที่พญาไท ใกล้ทางรถไฟสายแปดริ้ว
ครอบครัวเราอยู่เป็นรุ่นสุดท้าย ที่ใช้นามสกุลขำสวัสดิ์ ปัจจุบันได้ขายให้คนอื่นไปแล้วค่ะ

พรุ่งนี้ จะเอารูปไปให้คุณแม่สามีดูคงดีใจ เท่าที่ฟังประวัติ ท่านเป็นคนดุมาก และไม่ได้ย้ายกลับไปบางเขนนะคะ
ท่านเป็นคนหวงบ้าน และเสียชีวิตที่นี่ ไม่แน่ใจว่าประวัติจะตรงกันไหม
แต่เท่าที่ฟังความดุของท่าน และคุณแม่สามีเล่าให้ฟังว่า ตอนท่านเสียไม่มีใครกล้าผ่านบ้าน
เพราะตอนมีชีวิตอยู่ท่านดุมาก และอายุค่อนข้างยืนนะคะ จำได้คร่าวๆ ว่าอายุเกือบร้อยปี

พรุ่งนี้รอคุณแม่สามีตื่น จะถามมาให้นะคะ ดีใจที่เจอคนนามสกุลเดียวกัน มีญาติคนเดียวกัน
แต่ดันเจอตอนตี5 ขออนุญาต ไปถามคุณแม่สามีพรุ่งนี้นะคะ
สวัสดีค่ะ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: ืnoon ที่ 10 พ.ค. 14, 18:25
รวมราชสกุล ค่ะ http://www.pantown.com/group.php?display=content&id=34455&name=content10&area=3
ถ้าเป็นราชสกุล รุ่นต่อจากหม่อมหลวง ก็ต้องมี ณ อยุธยา ค่ะ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: ืnoon ที่ 10 พ.ค. 14, 21:46
โพสเองแล้วก็นึกได้เองว่า มีลูกของม.ล. ที่ไม่ใช้ ณ อยุธยา อยู่เหมือนกัน
อย่างเช่น ลูกของ พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ใช้นามสกุล อนิรุทธเทวา ไม่มี ณ อยุธยา
คือ พลเอก เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา

ดูจากรูป ม.ล.ชุ่ม ลายมือนั้นเขียนเมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้ว
เป็นไปได้ไหมคะว่า ท่านเป็นม.ล. แต่ว่า มาตั้งนามสกุลใหม่เอง เหมือนกับอนิรุทธเทวา
พอรุ่นลูกหลานเขียนชื่อท่าน ก็ใช้นามสกุลใหม่ จึงไม่มีในทะเบียนราชสกุล

สำหรับคำว่า ม.ล. มหาดเล็ก ไม่คิดว่าท่านจะยังใช้อยู่ถึงตอนที่อายุมากแล้ว เพราะมหาดเล็กทั่วไปท่านอื่นๆ ก็ไม่เห็นใช้กันหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ค่ะ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: took154 ที่ 11 พ.ค. 14, 02:56
คิดว่าไม่น่าใช่ หม่อมหลวงนะคะ จากหลักฐาน ที่พวกพี่ๆให้ไว้ ดูแล้วน่าจะเป็นมหาดเล็ก
ปู่ของสามีเป็นลูก ท่านชุ่ม และทุกคนก็เสียชีวิตหมดแล้ว เลยถามใครไม่ได้เลยค่ะ เหลือแต่ชุดที่ท่านใส่ ยืนถ่ายรูปสมัยหนุ่มๆ
ถ่ายกับเก้าอี้เหมือน เจ้าสมัยเก่ๆาเหมือนกัน หนูลงรูปไม่ได้อะค่ะ เล่นจากมือถือ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: took154 ที่ 11 พ.ค. 14, 03:00
ขอแก้ไขที่บอกว่า ปู่ทวด ชุ่ม ดุนะคะ ที่ดุคือปู่เฉลิม ปู่ของสามี
ที่เป็นลูกของ มล ชุ่ม น่ะค่ะ ปู่เฉลิม คุณพ่อสามี สุวัช ขำสวัสดิ์
เสียชีวิตที่บ้านพญาไท ของ ปู่ทวดทุกคนค่ะ


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ค. 14, 18:52
โพสเองแล้วก็นึกได้เองว่า มีลูกของม.ล. ที่ไม่ใช้ ณ อยุธยา อยู่เหมือนกัน
อย่างเช่น ลูกของ พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ใช้นามสกุล อนิรุทธเทวา ไม่มี ณ อยุธยา
คือ พลเอก เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา

ดูจากรูป ม.ล.ชุ่ม ลายมือนั้นเขียนเมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้ว
เป็นไปได้ไหมคะว่า ท่านเป็นม.ล. แต่ว่า มาตั้งนามสกุลใหม่เอง เหมือนกับอนิรุทธเทวา
พอรุ่นลูกหลานเขียนชื่อท่าน ก็ใช้นามสกุลใหม่ จึงไม่มีในทะเบียนราชสกุล

สำหรับคำว่า ม.ล. มหาดเล็ก ไม่คิดว่าท่านจะยังใช้อยู่ถึงตอนที่อายุมากแล้ว เพราะมหาดเล็กทั่วไปท่านอื่นๆ ก็ไม่เห็นใช้กันหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ค่ะ

เคยพูดกันเรื่องนี้ในกระทู้ตอนต้นๆค่ะ     
อนิรุทธเทวาเป็นราชทินนาม  สมัยหนึ่งมีการใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล  บุตรบางท่านของพระยาอนุมานราชธน ก็ใช้ราชทินนามของคุณพ่อแทนนามสกุลพระราชทาน "เสฐียรโกเศศ"
แต่ "ชุ่มสวัสดิ์" ไม่ใช่ราชทินนาม   จึงไม่เข้าเหตุผลนี้


กระทู้: ม.ล. ชุ่ม ขำสวัสดิ์ (จริงหรือ ?)
เริ่มกระทู้โดย: ืnoon ที่ 16 พ.ค. 14, 18:02
ขอบคุณค่ะ