เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 01, 06:17



กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 01, 06:17
อยากให้เข้าไปอ่านกัน
ตามที่มติชนนำมาลง

target='_blank'>http://www.matichon.co.th/matichon/
/>
....".'มติชน'เปิดตำราประวัติศาสตร์พม่าละเอียดยิบ
เล่าปมทำสงครามรบพุ่งกันมาตั้งแต่สมัยกำเนิดอาณาจักรอยุธยา
โต้กษัตริย์พม่าไม่ได้ฆ่า'พระสุพรรณกัลยา'
ระบุพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์เพราะถูกยิง ไม่ใช่ทำยุทธหัตถี จวก'จอมพล
ป.'ปลุกกระแสชาตินิยม ให้คนไทยเกลียดชังพม่า"


/>
ขอลงรายละเอียดบางส่วนค่ะ


/>
'มติชน'เปิดตำราพม่าโจมตีไทย



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
หลังจากมีกระแสปรากฏข่าวว่า ทางการพม่าได้ทำตำราเรียนใหม่
ตีพิมพ์ข้อความที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับประเทศไทยและประชาชนไทยในหลายประเด็น
"มติชน" ได้ติดตามค้นหาตำราดังกล่าวจนพบ และมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษอีกทอดหนึ่ง
จึงแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย



ตำราดังกล่าวมี 5 บท
กล่าวถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
มีเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างมาก โดยในบทที่ 1 กล่าวถึงการกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา
ซึ่งไทยตั้งชื่อนี้มีความหมายว่า เมืองที่ไม่สามารถโจมตีได้ แต่พม่าเรียกว่า
"ยุธยา"หรือ "โยธยา" เพื่อให้มีความหมายตรงกันข้าม



"คนโยธยา
รักการใช้ชีวิตสะดวกสบาย ไม่ใส่ใจในการทุ่มเททำงานหนักมากนัก
และขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง พวกเขาปฏิบัติต่อ นักล่าอาณานิคมตะวันตก
อย่างผสมกลมกลืนแทนที่จะต่อสู้ขับไล่คนพวกนี้" ตำราระบุ และ
ยังโจมตีพระมหากษัตริย์ไทยต่อนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษต่อชาวต่างชาติและมหาอำนาจ
รวมทั้งโจมตีด้วยว่านโยบายของไทยเป็นนโยบายลู่ตามลม
/>
......................ฯลฯ


/>
อ่านจบแล้วขอเชิญออกความเห็น


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 01, 14:30
โหลดเว็บนี้จากมติชนค่อนข้างยาก  ใช้เวลานาน  เลยcopy มาให้อ่านกันที่นี่ค่ะ

ชูกษัตริย์หม่อง-อ้างเหตุเผากรุงศรีฯ

ขณะเดียวกันตำราพม่า ยังเชิดชูวีรกรรมของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ของพม่าว่า เป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมพระราชอำนาจ ได้ขับไล่โยธยาที่มารุกรานเมืองทวายในดินแดนของพม่า และบุกโจมตีอาณาจักรอยุธยา มีการทำศึกยืดเยื้อ โดยฝ่ายไทยมีกองทัพโปรตุเกสหนุน สุดท้ายพม่าจับตัวราชวงศ์ไทยไปเป็นตัวประกัน จนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องยอมมอบภาษีอากรในอาณาเขตตะนาวศรี,ช้างศึก 30 เชือก และ เงินหนัก 300 วิเศษ (มาตราชั่งของพม่า) เป็นเครื่องตอบแทนประจำทุกปีแลกกับตัวประกัน และจากนั้นมา "โยธยา" ก็เป็นอาณาจักรภายใต้อำนาจแห่งพม่าซึ่งต้องถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งมาถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนองก็สามารถยึดโยธยาเป็นเมืองขึ้น

ในบทต่อๆ มา ตำราพม่าก็กล่าวถึงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ที่ดำเนินไปภายใต้ภาวะสงครามที่มีการรบพุ่งต่อกัน แต่ตำราระบุว่าไม่ใช่เกิดจากการรุกรานของพม่า อย่างไรก็ตาม ตำราดังกล่าวได้ระบุถึงการเสียกรุงครั้งที่ 2 ของไทยว่า ตรงกับสมัยพระเจ้ามังระ กองทัพพม่าล้อมพระนครไว้นาน 14 เดือน ในที่สุดทหารพม่าขุดอุโมงค์ลอดเข้าไปเพื่อสุมไฟเผาป้อมค่ายของอยุธยา โครงไม้ของป้อมค่ายถูกเผาจนกำแพงป้อมค่ายทลายลง มีเพียงครั้งนี้เท่านั้น ที่ทหารพม่าบุกเข้าโจมตีอยุธยา ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นเมื่อปี 1767

"ระหว่างการโจมตีอยุธยา กองทัพจีนยกกำลังเข้าสู่พม่า พม่าไม่ต้องการทำศึก 2 ด้านในเวลาเดียวกัน ดังนั้นจึงทำลายพระนครอยุธยาเสียจนหมดสิ้น" ตำราระบุ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 01, 14:31
โต้'นันทะบุเรง'ไม่ได้ฆ่าสุพรรณฯ



ตำราระบุอีกตอนหนึ่งว่า สมัยที่พระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์โยธยา มีพระราชธิดานาม สุพรรณกัลยา ฝ่ายโยธยา กล่าวหาว่า พระสุพรรณกัลยา พระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ถูกถวายตัวกับพระเจ้าบุเรงนอง ถูกปลงพระชนม์โดยพระเจ้านันทะ (นันทะบุเรง) โดยการใช้ดาบฟัน ในความเป็นจริง พระเจ้านันทะ ไม่ได้ปลงพระชนม์พระสุพรรณกัลยา แต่เป็นเรื่องที่โยธยาแต่งขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า พม่าเป็นคนใจอำมหิต โหดร้ายและชั่วร้าย



นอกจากนี้กรณีศึกยุทธหัตถี ระหว่างพระมหาอุปราชากับสมเด็จพระนเรศวรนั้น แท้จริงแล้ว ระหว่างการศึก พระมหาอุปราช ต้องพระแสงปืนจากพลปืนฝ่ายโยธยาสิ้นพระชนม์ชีพ แต่โยธยา ยึดถือพระนเรศวร เป็นวีรบุรุษ มีการประพันธ์แสดงออกในนวนิยาย เรื่องเล่า ภาพยนตร์ และภาพจิตกรรมต่างๆ และยังยึดถือให้วันที่ 25 มกราคมของทุกปี เป็นวันแห่งกองทัพโยธยา เพื่อเป็นการยกย่องศึกดังกล่าว


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 01, 14:33
"ฝ่ายโยธยาได้ปลุกเร้าความเกลียดชังต่อพม่าอย่างเป็นระบบ ประชาชนเติบใหญ่ขึ้นในยุคสมัยนั้นพากันเกลียดชังพม่า และความเกลียดชังดังกล่าวฝังรากลึกในหมู่ประชาชนโยธยา"



จวก'จอมพล ป.'ปลุกกระแส



ตำราระบุอีกว่า ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีของไทยคือ พิบูน สงคราม (จอมพล แปลก พิบูลสงคราม) ชื่อของประเทศถูกเปลี่ยนจากสยาม เป็นประเทศไทย ความพยายามของไทยที่จะก่อตั้งอาณาจักรไทยที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นระหว่างปี 1940-1941 แต่ล้มเหลว อย่างไรก็ตามโยธยาจะยังคงพยายามดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป



"จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้พยายามส่งเสริมความรักชาติในลักษณะเดียวกับเผด็จการสุดโต่ง ดังนั้น พม่าในฐานะศัตรูในประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทย มีการดำเนินการเพื่อปลุกเร้าความเกลียดชังต่อพม่าขึ้น พิบูน (จอมพล ป.) ได้เขียนประวัติศาสตร์สงครามระหว่างพม่า-โยธยา ซึ่งยุยงส่งเสริมให้มองพม่าเหมือนกับโจรปล้นสะดมที่หยาบคายและอำมหิต ในหนังสือตำราของนักเรียนในโรงเรียน สอนไว้ว่าพม่าจะรุกรานไทยเสมอทุกครั้งที่ไทยอ่อนแอ และพระนครอยุธยาถูกทำลายเสียหายโดยพระเจ้าเซงพยูเชง(พระเจ้ามังระ) เขา(จอมพล ป.)ทำให้คนไทยเกลียดชังพม่า"



แฉไทยหนุนผู้ก่อการร้ายชายแดน



ตำรายังกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ไทยได้ให้การรับรองผู้ก่อการร้ายของพม่าตามแนวชายแดน เพื่อใช้คนเหล่านี้เป็นกันชนระหว่างไทยกับพม่า มีการรับรองทหารจีนก๊กมินตั๋ง ที่ต่อมากองกำลังนี้ให้การช่วยเหลือผู้ก่อการร้ายในรัฐฉานหลายกลุ่ม สร้างความปั่นป่วนขึ้นในพม่า นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาชาวพม่าจำนวนมากได้เข้าร่วมกับผู้ก่อการร้ายตามแนวชายแดนไทยพม่า และได้รับความช่วยเหลือจากประเทศไทย ดังนั้น กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ จึงสามารถกลายเป็น แนวร่วมนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยทั่วพม่า (เอบีเอสดีเอฟ) อยู่จนกระทั่งบัดนี้



"ในปี 1990 กองทัพพม่า ได้เปิดยุทธการเชิงรุกหลายครั้งตามแนวชายแดน ผู้ก่อการร้ายและครอบครัวหลบหนีเข้ามายังดินแดนไทยและได้รับการยอมรับให้พำนักอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย อยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัย ปัจจุบันนี้มีค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ในดินแดนไทยรวมแล้ว 31 ค่ายภายใต้การสนับสนุนของ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) และ เอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ของประเทศตะวันตก ไทยได้ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวนี้ โดยใช้เงินช่วยเหลือดังกล่าวเพื่อจัดหาอาหารให้กับผู้ลี้ภัย" ตำราระบุ และว่า พม่าจำเป็นต้องปราบปรามผู้ก่อการรายเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจพัฒนาประเทศของตนได้



ปล้นทรัพยากร-ค้ายาเสพติด



ในตอนท้ายของตำรายังกล่าวถึง การที่ไทยเข้าไปรุกน่านน้ำพม่า เพื่อลักลอบกอบโกยทรัพยากรทางน้ำ การเข้าไปหาผลประโยชน์จากการทำไม้ อัญมณี วัวควาย อย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการซื้อไม้จากผู้ก่อการร้าย ที่ประเทศไทยให้การสนับสนุน ไม้มีค่าเหล่านี้ถูกซื้อไปเป็นจำนวนหลายล้านตันในราคาถูก ทำให้ป่าไม้พม่าหมดสิ้นลงในขณะที่ทางการพม่าก็สูญเสียภาษีที่ควรได้ไป



ส่วนยาเสพติด กองกำลังจีนก๊กมินตั๋งเข้ามาปลูกฝิ่นผิดกฎหมายในพม่า เมื่อพม่ายื่นประท้วงไปยังองค์การสหประชาชาติ ก๊กมินตั๋งก็ล่าถอยออกไปจากชายแดนไทยพม่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้กองกำลังจีนก๊กมินตั๋งพำนักอยู่ในดินแดนของตนเอง พวกนี้จึงสามารถจัดสร้างโรงงานผลิตเฮโรอีนขึ้นได้



ตำราระบุว่า หลังจากปี 1980 ยากระตุ้นประสาท ระบาดจากประเทศตะวันตกมาถึงประเทศไทย และขยายตัวแพร่หลาย การค้ายากระตุ้นดังกล่าวระบาดมาถึงแนวชายแดนพม่า ยาเม็ดกระตุ้นประสาทดังกล่าวนี้ถูกผลิตและจำหน่ายโดยนักการเมืองของไทย และนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับคนเหล่านั้น ธุรกิจการค้ายาเสพติดส่วนใหญ่แล้วกระทำการโดยคนไทยและจัดจำหน่ายออกไปทั่วโลกโดยประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากการนี้



"เนื่องจากยาเสพติดเกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้าย ตราบเท่าที่ไทยยังให้การรับรองและให้ความช่วยเหลือกับบรรดาผู้ก่อการร้าย ปัญหายาเสพติดจะยังคงอยู่ต่อไป" ตำราระบุในที่สุด


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 01, 14:35
'ทักษิณ'ไม่สนคำขู่ต้อนรับไม่อบอุ่น



เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สื่อพม่าระบุว่า การเดินทางไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทยในวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ จะไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีว่า ไม่เป็นไร ตนไม่ได้สนใจรูปแบบ แต่สนใจสาระที่จะคุยกัน ที่สำคัญคือปัญหาความขัดแย้งที่ต้องการแก้ไขให้ได้ ซึ่งเท่าที่ส่วนล่างหน้ารายงานมาก็ทราบว่าได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลพม่าเป็นอย่างดี ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการร่างข้อตกลงล่วงหน้าไว้แล้วหลายเรื่อง เช่น ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาข้อพิพาทบริเวณชายแดน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น คิดว่า เมื่อตนไปแล้วความสัมพันธ์ต่างๆ น่าจะดีขึ้น"



ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดมีข่าวที่ไม่ค่อยดีออกมาในช่วงที่กำลังจะเดินทางไปเยือนพม่า พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะยังไม่เข้าใจกัน และยังไม่ได้เริ่มที่จะแก้ไขปัญหาอะไร แต่เมื่อมีการแก้ไขปัญหาแล้ว ความไม่เข้าต่างๆ จะหายไปเอง" เมื่อถามว่า มีมือที่สามอยู่เบื้องหลังในการปล่อยข่าวต่างๆ หรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น ที่จริงความไม่เข้าใจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะต่างฝ่ายต่างมีจินตนาการ ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นที่ชัดเจนหรือยังว่า พม่าจะเปิดด้านท่าขี้เหล็กต้อนรับการเดินทางไปเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คิดว่าเรื่องเปิดด่านไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะเป็นเรื่องเล็ก ยังมีเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่านี้มาก



'กอบศักดิ์'ชี้ไปพม่าทิ้งไพ่ใบสุดท้าย



นายกอบศักดิ์ ชุติกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า การเดินทางเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรี ในสภาวะที่ทั้งสองประเทศมีความตึงเครียดระหว่างกัน ในเชิงการทูตถือเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้าย โดยมีผลประโยชน์ของประเทศเป็นเดิมพัน ในฐานะคนไทยก็อยากเอาใจช่วย ให้การเดินทางครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ และมั่นใจว่าอย่างน้อยที่สุด การเดินทางเยือนครั้งนี้ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และความระแวงสงสัยที่มีต่อกัน แต่ในเมื่อเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ก็ต้องทำให้คุ้มค่ากับประเทศในระยะยาว มากกว่าการสร้างบรรยากาศที่ดีในระยะสั้นเท่านั้น เพราะการลงนามความตกลงต่างๆ ที่จะเซ็นร่วมกัน ที่ผ่านมาก็ลงนามกันหลายฉบับแล้ว ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การคมนาคม แต่เมื่อขาดการปฏิบัติและความจริงใจต่อกัน ความตกลงทั้งหมดก็เป็นเพียงเศษกระดาษ เช่นเดียวกับการเปิดจุดผ่านแดน ซึ่งเปิดได้ก็ปิดได้ทุกเมื่อ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 01, 14:37
แนะส่งคนไปพบ'ออง ซาน ซูจี'ด้วย



นายกอบศักดิ์กล่าวว่า รากฐานปัญหาระหว่างไทย-พม่า มีสองประการ คือ 1.การสู้รบภายในพม่ากับชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อชายแดนไทย 2.เรื่องทรรศนะและความระแวงสงสัย ของผู้นำพม่าที่มีต่อไทย ซึ่งต้องระวังไม่ให้ทัศนคติที่ไม่ดี แผ่ขยายเป็นความรู้สึกของประชาชนพม่าโดยทั่วไป ทางแก้ในระยะยาว ต้องสนับสนุนให้เกิดความปรองดองแห่งชาติภายในประเทศพม่า ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไปได้ รวมทั้งเรื่องสัมพันธ์ไทย-พม่าด้วย เรื่องนี้ไม่ควรมองข้าม หรือมองเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาระยะยาวได้รับผลกระทบ



"การเยือนพม่าครั้งนี้ ควรติดต่อทาบทามขอพบนางออง ซาน ซูจี โดยอาจมอบหมายรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งไปพบ เป็นการแสดงออกที่ไม่ให้ชาวพม่าไม่พอใจไทย และเป็นการปูพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาระยะยาว และการสร้างความปรองดองในชาติของพม่าเอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนทุกประเทศ ที่ไปเยือนพม่าก็ทำเช่นกัน ไม่ว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย" นายกอบศักดิ์กล่าว



วางเป้าให้ยุติความเกลียดชังต่อกัน



รายงานข่าวเปิดเผยว่า การเดินทางไปเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ การเจรจาจะมุ่งเน้นให้ยุติปัญหาความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศ จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างทหารของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงความพยายามจะยุติการกระทำอันก่อให้เกิดความเกลียดชังของประชาชน เป็นที่น่าสังเกตว่า การเจรจาครั้งนี้ฝ่ายไทยยอมโอนอ่อนตามความต้องการของพม่าเป็นส่วนใหญ่ ขอเพียงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ



นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้กำชับคณะที่จะเดินทางไปเยือนพม่าว่า ในการหารือในขั้นต่างๆ ไม่ควรนำเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสัมปทานภาคเอกชนของไทยในพม่า เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบในการเจรจาต่อรองเรื่องอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาพม่าเข้าใจว่าไทยห่วงผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพยากรธรรมชาติของพม่ามากกว่ามุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การเดินทางไปของนายกฯ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้พม่ายอมเปิดจุดผ่านแดนทุกจุด และให้ยกเลิกการกำหนดสินค้าต้องห้ามจากฝ่ายไทย 15 รายการ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 01, 14:38
เผย'บัวแก้ว'ห่วง'จิ๋ว'ทำเสียแผน



อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศพยายามยับยั้งการเดินทางไปเยือนของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่ต้องการให้เจรจาออกจากกรอบที่วางไว้



สำหรับประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ไทยเป็นแกนนำในการแก้ปัญหา คือเรื่องของยาเสพติด พ.ต.ท.ทักษิณจะมีการขอให้พม่าลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งขอให้พม่าเห็นชอบและเข้าร่วมในการปราบปรามยาเสพติด 4 ฝ่าย คือ ไทย พม่า จีน และลาว โดยในอนาคตจะมีการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมร่วมกันของทั้ง 4 ประเทศ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 18 มิ.ย. 01, 23:23
ขอบคุณคุณพี่ เทาชมพูที่กรุณายกข้อความมาให้อ่าน
นาน ๆ ที "คนไทย"จะได้ใช้กระจกมองรูปหน้าของตัวเองซะบ้าง
ถึงแม้ว่า"กระจก"ด้านตะวันตกนั้น จะถูกสร้างขึ้นอย่างบิดเบี้ยวบ้าง ไม่สะท้อนสะเทือนบ้าง แต่ก็คงจะทำให้"เห็น"
แล้วทำให้"คิด"ต่อ
กันอีกมากมายเลยทีเดียว


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: โมโน ที่ 18 มิ.ย. 01, 23:37
ผมว่ามุมมองประวัติศาสตร์ของพม่า เท่าที่อ่านคร่าวๆจากหนังสือพิมพ์ มีมุมมองที่น่าสนใจนะครับ ฟังดูมีความเป็นประวัติศาสตร์ และ วิชาการ มากกว่าแบบเรียนไทย ที่มุ่งสร้างความเป็นชาตินิยม (ตามอิทธิพลลัทธิชาตินิยม ยุค จอมพล ป.) จนบางครั้งดูเหมือนนิทานมากกว่า และ ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง รับความคิดเห็นของเพื่อนบ้าน ที่มองมาที่เรา อาจได้แง่คิดที่จะมาปรับปรุงประเทศเราให้ดีขึ้น มากกว่าที่จะมาตั้งป้อมหาว่าเขาบิดเบือน (ผมว่าแบบเรียนเราบิดเบือนมากกว่า)
อีกอย่างหนึ่ง ผมมีความเห็นว่าคนไทยในสมัยก่อนยุคชาตินิยม ไม่ได้จงเกลียดจงชังพม่ามากนะครับ สังเกตุจากวรรณคดีเรื่องลิลิตเตลงพ่าย องค์ผู้นิพนธ์มิได้กล่าวถึงฝ่ายพม่าในแง่เป็นผู้ร้ายหรือชั่วร้ายแต่อย่างไรเลย กลับมองเสมือนเป็นคู่ต่อสู้ที่มีความคู่ควรกัน ตรงกันข้าม กลับมีแสดงความเคียดแค้น ต่อฝ่ายเขมรมากกว่า ถึงขั้นฝ่ายไทยตั้งใจจะยกทัพไปตี เพื่อเอาโลหิตของเจ้าเมืองกัมพูชามาล้างเท้า


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 19 มิ.ย. 01, 00:11
เรื่องนี้ซับซ้อนครับ
ผมเคยได้ยินนักประวัติศาสตร์บางสำนักบอกว่า พม่าถูกสร้างภาพ โดยรัฐไทยบางสมัย ให้เป็นศัตรูของไทยเพื่อผลทางการเมืองภายใน เคยได้ยินมาอย่างนั้นจริงและ จอมพล ป. และคณะอาจจะสร้างกระแสชาตินิยมจริง แต่ไม่ได้สร้างจากสูญญากาศ แต่มีอะไรอยู่เป็นเชื้อเป็นเค้าอยู่

อีกประการ การที่พม่าสมัยนี้ลุกขึ้นมาสร้างภาพไทยเช่นนั้น ไม่ได้แปลว่าพม่าเองจิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นพระอรหันต์ และสิ่งที่พม่าเขียนในแบบเรียนของพม่า ต้องถูกต้องไร้อคติเสมอ เราอ่านบทเรียนพม่าได้ ตั้งข้อสังเกตหรือสงสัยบทเรียนไทยแต่เดิมก็ได้ แต่ก็ควรจะตั้งข้อสงสัยบทเรียนพม่าได้เช่นกัน ถ้าเราจะบอกว่านักการเมืองไทยในอดีตมีพฤติกรรมกำหนดบทเรียนประวัติศาสตร์ฉันใด เราจะรู้อย่างไรว่านักการเมืองพม่าเดี๋ยวนี้จะไม่มีพฤติกรรมฉันนั้นน่ะแหละเหมือนกัน

ไหนไหนเราก็พูดกันถึงประวัติศาสตร์ และจอมพล ป. ผมจำประวัติศาสตร์ยุคใกล้ได้ลางๆ ว่า จอมพล ป. นั้นท่านเป็นนายกหลายสมัยนะครับ สมัยเชื่อผู้นำนั้นก็รอบหนึ่ง ตกกระป๋องไปแล้วท่านก็กลับมาเป็นนายกใหม่ได้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วดูเหมือนจะสมัยหลังนี่แหละ ที่อูนุนายกรัฐมนตรีพม่าสมัยนั้นมาเยือนไทย แล้วก็ไปอยุธยาด้วย ใครมีรายงานข่าวสมัยนั้นลองค้นๆ ดูก็ได้ ไม่แน่ใจว่าอูนุขอโทษไทยด้วยหรือไม่ แต่ใช้คำทำนองว่า รับรู้ถึงการที่พม่าเข้ามาทำลายกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งก็เป็นธรรมดาของสงคราม ) แล้วนายก 2 ประเทศก็เข้าไปกราบพระพุทธรูป (ดูเหมือนที่วัดพนัญเชิงหรือที่ไหนไม่แน่) ด้วยกัน เป็นกันว่าลืมเรื่องเก่าเสีย มองไปข้างหน้าด้วยกัน... เป็นพุทธด้วยกันแล้วก็เป็นเพื่อนบ้านกันนี่นา

แต่การเมืองพม่านั้นซับซ้อนมาก หลังจากการที่อูนุไปเยือนอยุธยาแล้ว ซึ่งถ้าพม่าถือตามเจตนารมณ์ท่านอูนุ ก็ไม่ควรจะมีบทความหนังสือพิมพ์และตำราเรียนพม่ากระทบไทยในลักษณะที่เพิ่งมีเร็วๆ นี้ แต่ท่านอูนุก็อยู่ในอำนาจไม่ได้ตลอด ถูกท่านนายพลเนวิน บรรพบุรุษของ SPDC หรือกลุ่มทหารที่มีอำนาจในขณะนี้แหละครับทำปฏิวัติ นักประวัติศาสตร์ของทางการ SPDC ยังจำท่านอูนุได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าว่าแต่ท่านอูนุเลย ท่านอูอองซาน หัวหน้าขบวนการ "โบพะม่า"บิดาแห่งประชาชาติพม่ายุคใหม่ ผู้นำในการกู้อิสรภาพพม่าจากการยึดครองของอังกฤษ นักประวัติศาสตร์สาย SPDC ก็ไม่ทราบว่าจะจำได้แค่ไหน หรือ (กล้า) พูดถึงไว้ในตำราเรียนของตนแค่ไหน ผมก็อยากดูเหมือนกัน วีรกรรมของท่านอูอองซานนั้นมีจริงแน่ในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อลูกสาวท่านอูอองซานกลายเป็นนางอองซานซูจีอย่างนี้ ผมก็อยากจะเดาว่าครูสอนประวัติศาสตร์พม่าในพม่าคงสอนประวัติวีรกรรมของท่านอูอองซานได้ไม่ค่อยเต็มเสียงนักหรอกในเมืองพม่าสมัยนี้

เรื่องการชำระประวัติศาสตร์โดยใช้แหล่งหลักฐานที่แตกต่างกันหลายๆ แหล่ง เพื่อความเข้าใจประวัติศาสตร์จากหลายๆ มุม เป็นเรื่องดีครับ แต่การใช้ประวัติศาสตร์อย่างบิดเบือนเพื่อรับใช้การเมือง ไม่เป็นผลดีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ ใครหน้าไหนทำอย่างนั้นก็ถือได้ว่าทำผิดต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นไทย หรือฝรั่ง หรือพม่าก็ตาม


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: ส้มหวาน ที่ 19 มิ.ย. 01, 00:23
แต่บทความของพม่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรนะคะ โดยเฉพาะเรื่องที่เขาเขียนเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายที่หนีมาจากประเทศของเขา รู้สึกเขาเขียนประมาณว่าอะไรที่ไม่ได้ดังใจเขาเป็นไม่ดีและเลวร้ายไปหมด ก็โถ จะให้เราฆ่าทุกคนที่หนีมาจากทางเขาเข้ามาประเทศเราหรือคะ ทำไม่ได้หรอกค่ะ  ดูเอาเถอะค่ะ แค่เหตุการณ์ในยุคเรายังเขียนทะแม่งๆเลย ผสมความคิดของผู้เขียนเข้าไปในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างกลมกลืนจริงๆ
 แล้วเหตุการณ์เมื่อหลายร้อยปีก่อนจะเชื่อได้แค่ไหนคะ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 19 มิ.ย. 01, 00:32
ถ้าเชื่อมติชน ในตำราพม่าเองก็รับไว้เองด้วยซ้ำว่ากองทัพพม่า "ทำลายกรุงศรีอยุธยาจนหมดสิ้น"  แล้วพม่าเองจะไม่เข้าใจคนไทยบางคนที่ยังโกรธพม่าหรือ? มันเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมีจอมพล ป. เป็นผู้ร้ายก็ได้ ตั้งแต่ครั้งสมัยท่านสุนทรภู่ท่านก็สะท้อนใจตอนเห็นกรุงเก่าแล้วว่า "กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้..." สุนทรภู่คงไม่ได้อ่านตำราเรียนที่เขียนสมัยจอมพล ป. เป็นแน่

แต่ธรรมชาติของคนที่จำประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองได้นั้น ไม่จำเป็นต้องคิดครุ่นคุมแค้นอยู่ตลอดกาล ถ้าสามารถทำให้รู้สึกว่าอนาคตของเราเป็นอาคตร่วมกัน ควรมองไปข้างหน้าร่วมกัน ก็อาจจะร่วมมือกันได้โดยที่ไม่ต้องลืมประวัติศาสตร์ของแต่ละฝ่าย อย่างเยอรมันกับฝรั่งเศส หรือฝรังเศสกับอังกฤษเดี๋ยวนี้
 
พม่ากล่าวหาว่าไทยคลั่งชาตินิยมและเขียนตำราให้คนไทยคงความเกลียดชังพม่าไว้ แต่วิธีเขียนตำราของพม่าเองนั่นก็ไม่ได้มีลักษณะที่จะเอื้อให้เกิดความเข้าใจดีระหว่างประเทศทั้งสองสักเท่าไหร่เลยนี่นา วิธีเขียนบทความหนังสือพิมพ์พม่าก็เหมือนกัน

เรากำลังทิ้งไพ่ใบสุดท้าย คือต้องพูดกันให้รู้เรื่องให้ได้ จะต้องใช้ระดับนายกรัฐมนตรีก็เอามิฉะนั้นก็จะเสียด้วยกันทั้งสองข้าง เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ย้ายประเทศหนีจากกันไปไหนไม่ได้ แต่การจะพูดกันให้รู้เรื่องนั้น จำเป็นต้องมีความต้องการจะพูดให้รู้เรื่องทั้ง 2 ข้างด้วย ข้างใดข้างหนึ่งอยากคุยกัน แต่อีกข้างรวน ก็พูดไม่รู้เรื่องหรอกครับ ตบมือข้างเดียวไม่ดัง...

ผมขอให้ภารกิจของท่านนายกฯ ทักษิณประสบความสำเร็จครับ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: ส้มหวาน ที่ 19 มิ.ย. 01, 00:40
แหม คุณ นกข พูดได้ดีค่ะ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: ภาธร ที่ 19 มิ.ย. 01, 06:49
คิดอย่างที่คุณนกข.เขียน แค่ไม่สามรถเขียนอย่างที่ใจคิด  ชอบที่คุณเขียนมากโดนใจจริงๆ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 มิ.ย. 01, 07:54
ประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นอย่างบิดเบือน ถึงแม้ว่าจะเชื่อถือตามเนื้อหาไปทั้งหมดไม่ได้ แต่ถ้าพินิจพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และวิธีคิดของผู้เขียนให้ดีก็จะทำให้เข้าใจเขาได้มากขึ้น
ประวัติศาสตร์เองถูกใช้เพื่อรับใช้การเมืองมานานแล้ว ถ้าไม่พิจารณาของความบิดเบือนฝั่งไทยแล้ว ของฝั่งพม่าเองก็น่าสนใจ
ผมอ่านพบบ่อยใน webboard ทัศนคติและความรู้ของคนไทยเกี่ยวกับเพื่อนบ้านของเรานั้นแย่เอามากๆ พม่าเองที่ถูกมองว่าเป็นตัวร้าย เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น สื่อปลุกความเคียดแค้นโดยไม่ได้สนใจว่าปัจจัยของปัญหาเหล่านั้นคืออะไร
ประเด็นสำคัญคือพม่าเองประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน การรวมกันนั้นในอดีตถูกบังคับไว้ด้วยอำนาจของรัฐที่กล้าแข็ง ซึ่งในช่วงประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคยนั้นก็คือชาวพม่า จนถึงยุคจักรวรรดินิยม เมื่อพม่าเจ้าแผ่นดินในเวลานั้นพ่ายแพ้แก่อังกฤษ การรวมกันก็เป็นการรวมภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนถึงเมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษ การจัดตั้งประเทศก็อยู่ในรูปแบบของสหภาพพม่า โดยมีเงื่อนไขว่าจะค่อยๆแบ่งแยกอำนาจให้แต่ละรัฐชาติได้ปกครองตัวเอง การมาของนายพลเนวินซึ่งผูกพันกันจนมาถึงรัฐบาลทหารในปัจจุบันทำให้ข้อตกลงนี้ถูกละทิ้งไปโดยปริยาย รัฐชาติที่มีโอกาสสะสมกำลังก็จับอาวุธลุกขึ้นสู้ ทุนที่ใช้ก็คงจะมองเห็นกันอยู่ว่าจะมาจากทางไหนได้บ้าง ในเรื่องนี้มุมมองอาจจะเห็นว่า รัฐบาลทหารเป็นตัวร้ายที่ไม่ยอมให้เอกราชแก่ชนกลุ่มน้อย(ที่มีคนไม่น้อยเลย) แต่ถ้ามองอย่างยุติธรรม ไทยเราเองก็ไม่อยากให้เกิดการแยกตัวของสี่จังหวัดภาคใต้ไม่ใช่หรือ
เรื่องนี้กลับมาเป็นเรื่องแนวคิดทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งก็คงไม่มีผิดไม่มีถูก ถ้ามองฝั่งรัฐชาน(ไทยใหญ่)บ้าง เขาจะว่าเราเป็นคนไทด้วยกัน แต่ถ้ามองกลับไปในประวัติศาสตร์ ไทยใหญ่ใกล้ชิดกับพม่ามากกว่าสยามอย่างเห็นได้ชัด นี่ก็การเมืองอีก
ทั้งหมดนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นแค่ว่า มุมมองที่แตกต่างนั้น หลายๆครั้งเป็นความจงใจที่จะมองให้แตกต่างเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ ถ้าเรามองอย่างเป็นธรรม ตัดอคติออกไปได้ การแก้ปัญหาจะตรงประเด็นมากขึ้นครับ
ในเรื่องการแก้ปัญหาของท่านนายก เชื่อว่า staff ก็คงได้เตรียมข้อมูลไว้พร้อมอยู่แล้ว ที่เหลือก็คงจะเป็นเรื่องการตัดสินใจทางการเมือง ทางเลือกของเราคงมีอยู่ 3 ทางคือ หนุนรัฐบาลพม่า หนุนชนกลุ่มน้อย และวางตัวเป็นกลาง (ไม่รวมถึงวิธีใต้ดินแบบอื่นๆ) รัฐบาลที่ผ่านๆมานั้นเลือกการวางตัวเป็นกลาง ก็ได้แต่หวังว่าการไปเยือนครั้งนี้ การตัดสินใจที่ใช้จะเป็นผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อผลทางการเมืองในประเทศครับ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: ด.เด็ก ที่ 19 มิ.ย. 01, 08:51
ประวัติศาสตร์เรียนเพื่ออะไรครับ เรียนเพื่อเคียดแค้นเหตุการณ์ในอดีตเพื่อที่จะแก้แค้นในอนาคต หรือว่าเรียนเพื่อให้รู้ว่าในอดีตเคยมีอะไรต่อกัน เวลาคบหาในปัจจุบันจะได้เตือนตนให้ระมัดระวังอย่าซุ่มซ่าม หรือมีเหตุผลอื่นๆอีก
   ผมคิดว่าถ้าเราไม่รีบหาเหตุผลที่แท้จริงในการเรียนรู้ เราจะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่หวังผล ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทุกวันนี้ครับ..


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 01, 19:24
ตำราวิชาการของพม่า ไม่รู้ว่าใช้ในระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัย  แต่จะระดับไหนก็ตาม ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า มีลักษณะการปลุกเร้าและถ่ายทอด"ความเชื่อ " ไม่น้อยไปกว่าเขาประณามการเขียนตำราไทย
เป็นเรื่องแปลกมากที่การเขียนตำราเกี่ยวกับอีกประเทศหนึ่ง  ไม่ยักใช่การ survey ซึ่งมุ่งเชิงปรนัย ด้วยการยึดหลักฐานข้อเท็จจริงเท่าที่ทำได้   แต่เป็นการวิจารณ์นิสัยใจคอความรู้สึกของคนอีกชาติ

"คนโยธยา รักการใช้ชีวิตสะดวกสบาย ไม่ใส่ใจในการทุ่มเททำงานหนักมากนัก และขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง พวกเขาปฏิบัติต่อ นักล่าอาณานิคมตะวันตก อย่างผสมกลมกลืนแทนที่จะต่อสู้ขับไล่คนพวกนี้" ตำราระบุ และ ยังโจมตีพระมหากษัตริย์ไทยต่อนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษต่อชาวต่างชาติและมหาอำนาจ รวมทั้งโจมตีด้วยว่านโยบายของไทยเป็นนโยบายลู่ตามลม

ตำราไทยไม่เคยวิจารณ์นิสัยคนในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าประเทศไหนว่าบกพร่องอย่างไร แม้แต่ในตำราประวัติศาสตร์ไทย  ก็ไม่มีเล่มไหนบอกว่าพม่ามีนิสัยอย่างไร   เอ่ยถึงเพียง" การกระทำ "ในสงครามที่มีต่อไทยเท่านั้น

คนไทยที่เหลือรอดจากเสียกรุง  ก็ยังมาตั้งถิ่นฐาน มีลูกมีหลาน  คนชั่วพ่อลูกได้รบกับพม่ามาตลอดรัชกาลที่ ๑ และ ๒  จนสงบไปเมื่ออังกฤษเข้ายึดครองพม่า
ทำไมคนไทยจะไม่รู้กันว่าพม่าเป็นผู้รุกรานความมั่นคงของไทยมายืดเยื้อยาวนาน  ไม่ว่าจะศึกถลาง หรือสงครามเก้าทัพ
ไม่ใช่ว่าจอมพลป.จะมาสร้างเรื่องให้เกลียดพม่า  โดยก่อนหน้านี้ไทยก็เฉยๆกับพม่า  ข้อนี้ขอค้านว่าไม่จริงเลย
นอกจากสุนทรภู่เขียนในนิราศไว้แล้ว  แม้แต่ในตะเลงพ่าย ก็ยังบันทึกถึงความอ่อนแอของอุปราชฝ่ายพม่าเมื่อยกมารบไทย
ขนาดพ่อประณามลูกว่า " เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์"
ทั้งหมดนี้ แสดงว่าเราไม่ได้มองพม่าในแง่บวกแน่ เกือบ ๑๕๐ ปีก่อนจอมพลป.เกิด

ดิฉันมองเห็นความรู้สึกเหยียดหยามที่พม่ามีต่อไทย และการโยนความผิดทั้งหมดมาลงที่ไทย
แม้แต่เรื่องเดียวกัน  ก็มองต่างมุม
ไทยเลือกการประนีประนอมกับมหาอำนาจเพื่อการอยู่รอด  มากกว่าการแข็งข้อต่อต้านแล้วถูกยึดครองแบบพม่าโดนจากอังกฤษ
มหาอำนาจไม่เคยเข้ามารุกรานขั้นถอดถอนประมุขของไทย เนรเทศไปไว้ที่อินเดีย แบบอังกฤษทำกับพระเจ้าสีป่อ
เราอาจเสียดินแดน  เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ไม่ถูกยึดครอง  รัฐบาล( ในยุคสมบูรณาฯ ถือว่าพระมหากษัตริย์คือหัวหน้ารัฐบาล) ก็ยังอยู่รอดปลอดภัย มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและปกครองประเทศจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕
แต่พม่าไม่มีปรวัติศาสตร์ในทำนองนี้ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าสีป่อ
เขาไม่ได้เปรียบเทียบข้อนี้เลยหรือว่าเป็นนโยบายที่แตกต่างกัน ส่งผลการปกครองออกมาผิดกัน

ถ้าหากว่ามติชนแปลตำรานี้มาถูกต้องและได้ใจความใหญ่อย่างนี้นะคะ
ก็มองว่าตำรานี้เขียนขึ้นเพื่อสนองจุดมุ่งหมายของทางการ ให้เกิดความรู้สึกในทางลบต่อไทย
ขอยืนยันว่าไม่ใช่วิชาการค่ะ    และข้อเท็จจริงหลายอย่างผิด เช่นในกรณีจอมพลป.   หลักฐานทางไทยมีมากพอสมควร
ที่แสดงให้เห็นว่าชาตินิยมของจอมพล ป. วนเวียนกับการปลูกฝังความรักชาติ  ส่วนการต่อต้านศัตรูเป็นองค์ประกอบอันหลีกเลี่ยงมิได้
วีรกรรมย่อมเกิดจากสงคราม   ไม่มีสงครามก็ไม่มีวีรบุรุษ    เมื่อจะยกย่องวีรกรรมบรรพชนไทยก็ต้องเอ่ยถึงสงครามที่พวกเขาชนะหรือฮึดสู้ไปด้วยอยู่ดี
แม้แต่พม่าเองก็เถอะ    ก็เคยมีคนดีคนเก่งยืนหยัดต่อต้านอังกฤษมาแล้วเช่นกัน   เด็กอังกฤษจะกล่าวหาได้หรือว่าพม่ายุแหย่เยาวชนพม่าให้เกลียดอังกฤษ
ทางฝ่ายไทย  จอมพลป.เองก็ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับพม่า   พาผู้นำพม่าไปอยุยา มีการสักการะแสดงความเคารพต่อวิญญาณบรรพบุรุษไทยด้วย


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 มิ.ย. 01, 20:05
เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูที่ว่าความเคียดแค้นของสยามที่มีต่อพม่านั้นสะสมมาตั้งแต่หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่ได้มาเริ่มที่ยุคจอมพล ป. แต่คงต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเริ่มจากสมัยใดก็ตาม แบบเรียนของไทยในปัจจุบัน วาดภาพพม่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกอย่างนี้ แบบเรียนไทยส่วนเกี่ยวกับพม่าว่า พม่าเป็นศัตรูเป็นอาณาจักรของราชวงศ์ตองอู เป็นอาณาจักรของราชวงศ์อลองพญาผู้ทำลายกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้สอนให้รู้จักพม่าที่เป็นสหภาพพม่า เป็นดินแดนของคนหลายชาติพันธุ์ มีความขัดแย้งกันภายใน เป็นชาวพื้นเมืองของภูมิภาคนี้ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรามายาวนาน ทั้งยามที่มีไมตรีกัน และยามที่เป็นศัตรูกัน ผมไม่ได้เห็นว่าแบบเรียนพม่าเขียนได้ถูกต้อง แต่ผมก็คิดว่าแบบเรียนไทยก็ปลูกฝังความเชื่อผิดๆให้กับคนไทยเช่นเดียวกัน การปลูกฝังดังกล่าวทำให้เรามองพม่าด้วยอารมณ์ ไม่ใช่ด้วยเหตุผล ลองคิดดูให้ดี แบบเรียนของพม่าที่ว่พม่าต้องทำลายโยเดียด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องการรับศึกสองด้าน พม่าจะเขียนแบบเรียนเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมอญของพระเจ้าอลองพญาอย่างไร แบบเรียนดังกล่าวแก้ตัวให้กับชาว "พม่า" เท่านั้น ไม่ได้มีผลกับชาวยะไข่ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ฯลฯ เลย สิ่งที่อยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้คือ ชาว "พม่า" นั้นไม่ได้เป็นชนส่วนใหญ่ในประเทศเมียนมาร์ปัจจุบัน ต่างกับที่คนไทเป็นประชากรหลักในประเทศไทย (รวมไทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวสยามด้วย) ประวัติศาสตร์ของเขา ผมไม่เชื่อว่าจะปลูกฝังให้คนทั้งประเทศได้เหมือนกับของเรา แต่จุดมุ่งหมายก็เหมือนกัน คือเพื่อรับใช้การเมือง สิ่งที่ขัดกับข้อมูลทางวิชาการในแบบเรียนพม่านั้น เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ก็คงจะปฏิเสธได้ยากว่าในแบบเรียนไทยก็มีไม่น้อยกว่ากัน ในเหตุการณ์แบบนี้ ผมกลับเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะปรับแบบเรียนของเรา ให้มองเห็นเพื่อนบ้านของเราในภาพที่เป็นจริงมากขึ้น รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งไม่แพ้ครับ ดีกว่ามาโกหกคนของเราเองให้เห็นภาพบิดเบือนไป แล้วมาโวยวายเมื่อเพื่อนบ้านทำบ้าง ด่ากันไป โกรธกันไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาครับ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 01, 20:43
หลักการเขียนตำรา มีตามลำดับดังนี้
๑)จุดมุ่งหมายของตำราเล่มนั้น
๒) ขอบเขตข้อมูลที่ใช้
๓) การวิเคราะห์และเลือกใช้ข้อมูล
ตำราประวัติศาสตร์ที่ให้เด็กเรียน ส่วนใหญ่จะมุ่งด้าน survey คืออธิบายกว้างๆถึงความเป็นมาและลักษณะสำคัญในแต่ละยุค
ถ้าเป็นตำราระดับสูงกว่านั้น เอาไปขอตำแหน่งทางวิชาการ จะเจาะลึกลงไป หรือเสนอในเชิงการเมือง จิตวิทยา สังคม ปรัชญา เอามาประยุกต์ก็ได้
เนื้อความออกมาไม่เหมือนกัน แม้บนฐานข้อมูล เดียวกัน
๒) ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ได้ใช้เฉพาะพระราชพงดาวดาร แต่ใช้หลักฐานอื่นๆด้วยเช่นหลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานจากต่างประเทศ  
ปัญหาก็เลยตกมาถึงข้อที่ ๓
๓) การวิเคราะห์และการเลือกใช้ข้อมูล
ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว การบันทึกตั้งแต่อยุยามีปัญหาด้าน documentary    มาตลอด  เพราะการเก็บหลักฐานส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของตำนานและมุขปาฐะ   ผิดกับบางประเทศอย่างอังกฤษจะเก็บในรูปเอกสารละเอียดลออ  
ตำนานถ่ายทอดมาหลายๆร้อยปีก็ผิดเพี้ยนได้
เราเพิ่งจะมาเก็บเป็นระบบแบบตะวันตก ก็ราว ๑๐๐ ปีมานี้เอง  
การวิเคราะห์และการเลือกใช้ข้อมูลถึงเป็นเรื่องนักประวัติศาสตร์ยากจะลงรอยกัน   ไม่ใช่บิดเบือนหรอกค่ะ  แต่น้ำหนักในข้อมูลที่แย้งกันมันเท่าๆกัน  ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง   พอเอาอย่างนี้อีกฝ่ายก็ยกข้อมูลอีกอย่างมาโต้ได้   กว่าจะชี้ขาดได้บางครั้งต้องเอาวิทยาศาสตร์มาตัดสิน  อย่างกรณีศิลาจารึกพ่อขุนรามที้อ้างว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงทำขึ้น
ดิฉันสงสัยทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า "โกหกคนของเราให้เห็นภาพที่บิดเบือนไป"  ไม่ว่าคุณ CrazyHOrse หรือใครพูดก็ตาม
เพราะดิฉันเชื่อว่า ตั้งแต่มีการรวบรวมพงศาวดารขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มาจนปัจจุบัน    นักปราชญ์ราชบัณฑิตเหล่านั้นท่านได้รวมรวมสิ่งที่ท่าน "เชื่อ" ว่าเกิดขึ้นจริงๆ  แม้ว่าท่านไม่ได้เห็นด้วยตาเปล่า    ไม่ใช่" จงใจ" บันทึกสิ่งที่รู้ว่าไม่จริงลงไป
แต่ความเชื่อนั้นเป็นอัตนัย จนบัดนี้การเรียบเรียงก็ยังเป็นอัตนัยอยู่มาก   สลัดไม่หลุด มันเป็นเนื้อหาทางมนุษยศาสตร์ในหลายสาขาซึ่งจะออกทางอัตนัยมากกว่าทางวิทยาศาสตร์

ดิฉันมีสิทธิ์จะ"โวยวายเมื่อเห็นว่า เพื่อนบ้านบิดเบือน"   ส่วนการที่ว่าของเราเองบิดเบือนหรือไม่  ก็ไม่ได้ทำให้ประเด็น " เพื่อนบ้านบิดเบือน" กลายเป็น "ไม่บิดเบือน" ไปได้

เรื่องการปรับแบบเรียน  จนทุกวันนี้คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ก็ทำงานกันอยู่ค่ะ    แบบเรียนก็เปลี่ยนกันบ่อย  ไม่ใช่ยืนกรานกันอยู่ ๕๐ ปีแล้วยังไม่เปลี่ยน
ข้อสำคัญคือ เปลี่ยนยังไงล่ะ ถึงจะแน่ใจว่าถูกต้อง?

จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครออกมาบอกได้ว่า..ที่ถูกต้องที่สุดเป็นยังไง

ดิฉันยังไม่เข้าใจอยู่อย่าง พูดจริงๆ
ตั้งแต่เข้ามาเล่นเน็ต  เจอความเห็นบ่อยมากว่า...ประวัติศาสตร์ไทยบิดเบือน
แต่ไม่มีใครบอก คือยังหาไม่เจอว่าส่วนไหนบิดเบือน และทำไมถึงคิดว่าบิดเบือน

สมมุติว่าคุณจะเรียบเรียงเรื่องพระสุพรรณกัลยา    หลักฐานทางไทยบอกว่าถูกประหาร   ทางพม่าบอกว่าไม่ให้ประหาร
ถ้าหลักฐานทั้งสองเล่ม เป็นทุติยภูมิทั้งคู่    บันทึกขึ้นภายหลังนับร้อยๆปี   จะรู้ได้ไงว่าเล่มไหนถูกบิดเบือน
หลักฐานอื่นในลาวเขมรจีนมลายู ก็ไม่มีมาสนับสนุนเสียด้วย
ถ้าคุณจะปรับตำราประวัติศาสตร์ให้เด็กเรียน คุณจะหยิบอันไหนขึ้นมาชี้ขาดลงไป
ถ้าคุณเลือกอย่างไทย  อาจจะมีข้อแย้งว่าบิดเบือนของพม่า  ถ้าเลือกอย่างพม่า  ก็จะมีอีกความเห็นสวนมาว่าบิดเบือนของไทยเข้าให้
ลงมันทั้งสองความเห็นเลยงั้นหรือ...ยังงั้นเด็กนักเรียนจะเจอข้อมูลสองแบบนับไม่ถ้วนเลยเชียวละค่ะในประวัติศาสตร์  แล้วก็จะนำกลับไปสู่คำถามอีกนั่นแหละ ว่าอันไหนจริงคะครู
แล้วก็ย้อนกลับไปตอนต้นใหม่ค่ะ เป็นงุกินหาง


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 01, 21:07
ขอต่อประเด็นของคุณ CrazyHorse นะคะ เรื่อง
" แบบเรียนไทยก็ปลูกฝังความเชื่อผิดๆให้กับคนไทยเช่นเดียวกัน การปลูกฝังดังกล่าวทำให้เรามองพม่าด้วยอารมณ์  ไม่ใช่ด้วยเหตุผล"
ดิฉันมองว่า-
แบบเรียนไทยที่เกี่ยวกับประเทศอื่นจะมุ่งแสดงภาพ "ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอดีตของไทย" เป็นหลักใหญ่ ไม่ว่าประเทศไหน
มองจีนในฐานะแหล่งค้าขายใหญ่ของไทย   ไม่ใช่มองการเมืองภายในของจีนในแต่ละราชวงศ์
มลายู หรือลาว หรือเขมร ก็มองในส่วนเกี่ยวกับไทย
ถ้าจะมองละเอียดลึกลงไปกว่านั้น ไปเรียนในระดับปริญญาตรีตอนปลาย หรือโท
การเรียนแบบsurvey คือการมองกว้างๆเท่าที่จำเป็น    ความจำเป็นของผู้วางแบบเรียน  คือยึดสิ่งที่เกี่ยวกับไทยเป็นหลัก
เรียกว่าถ้าต้องรู้  เอาความรู้ที่เกี่ยวกับไทยไว้ก่อน
เราจึงไม่ได้เรียนระบบจักรพรรดิราขของพม่า ไม่ได้เรียนการค้าขายทางมหาสมุทรอินเดีย หรือความสัมพันธ์ของพม่ากับจีน
ในเมื่อพม่าเกี่ยวข้องกับไทยในเชิงศึกสงครามมากที่สุด  ตำราก็ออกมาทางนั้นบ่อยกว่าทางอื่น
ประเทศทำศึกกัน เห็นจะมองกันในแง่ดีได้ยาก  เหมือนลาวมองไทย  ไทยก็มองพม่า พม่าไปมองอังกฤษอีกที (ก็เป็นได้)

ระหว่างพิมพ์ ดิฉันนึกไปถึงเจ้าอนุวงศ์ที่ลาวถือเป็นวีรบุรุษของเขา  แต่เราถือว่าเป็นกบฏ
ความจริงไม่ว่าประเทศไหน  กบฎที่ฮึดสู้เพื่อความเป็นไท ย่อมเป็นที่สรรเสริญของคนรุ่นหลัง  สก๊อตแลนด์มีร็อบ รอยวัรบุรุษสู้อังกฤษ   ฝรั่งเศสมีโจนออฟอาร์ค  แต่ละประเทศเขาก็ภูมิใจของเขา
แต่จะให้อังกฤษย้อนกลับมาภูมิใจร็อบรอย คงแปลกนะคะ
เราเองก็ภูมิใจในสมเด็จพระนเรศวร    แต่เราก็รู้ว่าพม่าไม่ภูมิใจด้วยแน่
แต่จะสร้างภาพใหม่  ให้เยาวชนไทยรู้สึกค่อนไปทางพม่า หรือเฉยๆ เหมือนประเทศที่ ๓ มอง  จะดีกว่างั้นหรือคะ?

ดิฉันยกย่องสมเด็จพระนั่งเกล้า   แต่ก็ยอมรับถ้าเพื่อนชาวลาวยกย่องเจ้าอนุวงศ์  
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะให้ดิฉันไปยกย่องวีรบุรุษของเพื่อนมากกว่าของตัวเอง ดิฉันก็ทำไม่ได้  เขาเองก็คงไม่ทำเช่นกัน
เรียกว่า มองกันคนละมุม
แต่คนละมุมแบบนี้ เราก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าบางครั้งมุมมันเบียดกระทบกระทั่งกันได้    เมื่อไรไปล่วงเกินเรื่องของอีกฝ่าย ถึงขั้นประเมินผลว่าทำความเลว  ยังงี้เกิดบาดหมางกันแน่
   ต่อให้มีเหตุผลแค่ไหนก็เถอะ ยิ่งยกเหตุผลได้มากทั้งสองฝ่าย  อุณหภูมิอาจจะยิ่งสูงค่ะ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 19 มิ.ย. 01, 21:27
ใครจำได้บ้างว่าละครเรื่อง เลือดสุพรรณ ของคุณหลวงวิจิตรวาทการ ที่ว่าเป็นมือขวาของท่านจอมพล ป. ในการปลุกกระแสสร้างความรู้สึกชาตินิยมในเมืองไทยสมัยนั้น (หรือบางคนอาจจะเรียกว่ามือขวาด้านการโฆษณาชวนเชื่อของท่านจอมพลก็ได้) พูดถึงพม่าไว้อย่างไร
เรื่องนั้น ทหารพม่าเป็นพระเอก สาวชาวบ้านไทยเป็นนางเอกครับ และ- ครับ ในเรื่องนี้พม่ากับไทยรักกันครับ
ผมรับว่าหลายๆ เรื่องผมไม่เห็นด้วยกับคุณหลวงวิจิตรฯ หรือท่านจอมพล ป. เลย แต่เพื่อความยุติธรรมตามหลักฐานที่คุณหลวงเขียนไว้จริงๆ ก็ต้องบันทึกให้เครดิตไว้ว่า เฉพาะละครเรื่องนี้ ท่านผู้เขียนได้แสดงภาพของทหารพม่าอย่างชัดเจนว่าก็เป็นคนเหมือนคนไทยเรานี่เอง ไม่ใช่ยักษ์มาร มีหัวใจ มีความรัก มีทั้งคนดีคนชั่ว มีทั้งคนที่เป็นสุภาพบุรุษใจเมตตาและที่เป็นคนโหดร้าย แต่ในสภาพที่มีสงครามระหว่างกัน ปมวามขัดแย้งระหว่างความรักหนุ่มสาวกับหน้าที่ต่อชาติในใจนางเอก เป็นปมทางวรรณคดีอันหนึ่งที่คุณหลวงใช้ศิลปะการประพันธ์สร้างพล็อตผูกใจคนดู ในที่สุดเมื่อพระเอกตาย นางเอกนำหน่วยรบไทยออกรบจนตัวตายหมดทั้งหน่วย ตอนจบคุณหลวงก็ให้แม่ทัพพม่าผู้มีชัยมีบทพูดให้เกียรติความกล้าหาญของคนไทย แม้จะเป็นข้าศึกศัตรูกันก็ตาม เราได้ความรู้สึกว่า "สงคราม" ต่างหากเป็นผู้ร้าย ไม่ใช่ไทย ไม่ใช่พม่า - และทั้งหมดนี่มาจากปลายปากกาของคนที่ได้ชื่อว่าร่วมกับจอมพล ป. กระพือกระแสคลั่งชาติด้วยซ้ำ

คนที่เรียกตัวว่าเป็น "นักวิชาการประวัติศาสตร์" ของพม่า เวลาเขียนตำราที่ว่ากันว่าเป็นตำราวิชาการ เขียนได้โดยให้เกียรติเพื่อนบ้านได้เท่าครึ่งของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นมือโฆษณาชวนเชื่อ เวลาแต่งบทละครไหม?
 
ผมยืนยันอีกทีว่าผมไม่ขัดข้องเลยที่จะให้มีการปรับปรุงตำราประวัติศาสตร์ไทย และผมเชื่อว่ามีการศึกษาหลักฐานทางพม่าเอามาเทียบกับหลักฐานไทยอยู่แล้ว มีนักวิชาการไทยที่ไปค้นคว้าพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่าเอามาเทียบกับหลักฐานทางเรา และผมก็ยินดีที่จะได้ยินได้ฟังอะไรใหม่ๆ

แต่มาอ่านตำราเรียนพม่าฉบับแต่งใหม่นี่... รวมทั้งความเห็นของพม่าที่ว่าเราคลั่งชาติประกอบด้วย แล้ว อดนึกถึงคำพูดฝรั่งไม่ได้ว่า กาน้ำก้นดำหัวเราะเยาะหม้อน้ำเขม่าจับว่าหม้อเปื้อนดำ หรือไทยว่า อิเหนาเป็นเอง อย่าพูดมากดีกว่า


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 19 มิ.ย. 01, 22:02
ประเด็นเรื่องชนกลุ่มน้อยก็เป็นอีกประเด็นที่ละเอียดอ่อน

คุณ CrazyHouse ว่าไว้ถูกเลยครับว่าความเป็นมาเป็นอย่างไร ทำไมแต่ก่อนพม่าถึง เป็น "สหภาพ" พม่า แล้วรัฐบาลทหารสมัยหลังไปทำอะไรเข้าล่ะถึงได้เกิดศึกในบ้านตัวอยู่อย่างนี้ ใครกันล่ะที่ฉีกข้อตกลงเวียงป๋างโหลง หรือเวียงปางหลวง ที่รัฐบาลยุคแรกของพม่าหลังได้เอกราชจากอังกฤษให้สัญญาไว้กับเผ่าชนต่างๆ
ปัญหานี้ก็ไม่ได้เกิดมาลอยๆ จากสูญญากาศเหมือนกัน

นั่นเป็นประวัติศาสตร์ ทีนี้ในส่วนที่ว่าไทยเราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวแค่ไหน ก็แล้วแต่นโยบายเป็นยุคๆ ไป แต่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์นั้นมีอยู่ ตำราเรียนพม่าอยากจะเขียนโยนบาปให้ไทยเป็นผู้สนับสนุนกบฎของพม่าก็เขียนได้ (เหมือนกับที่โทษจอมพล ป. สถานเดียว) แต่ข้อเท็จจริงก็ยังเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า ต่อให้ไม่มีไทย กลุ่มชนเหล่านี้เขาก็มีสาเหตุของเขาข้างในเองที่จะขัดแย้งกับรัฐบาลย่างกุ้งอยู่ดี และที่พม่าเขาว่าเขาเจรจากับกลุ่มต่างๆ 15 กลุ่มใน 16 กลุ่มเกือบเจรจาได้หมดแล้ว ก็ดีแล้วนี่  แต่ประวัติศาสตร์ก็เป็นประวัติศาสตร์อยู่ดีแหละ ว่าความขัดแย้งเริ่มต้นมาทางไหน

ไทยเราเองไม่อยากให้มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางใต้ แต่เท่าที่ผมทราบตำราเรียนของเด็กนักเรียนของเราไม่เคยพูดถึงมาเลเซียว่าสนับสนุนพูโล


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: โมโน ที่ 19 มิ.ย. 01, 23:37
ขอร่วมวงด้วยครับ

กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก........ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้
ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย..........โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย

ผมว่าบทนี้สะท้อนทัศนะกวีของสุนทรภู่ ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสะทกสะท้อนใจ ต่อความอ่อนแอ ของฝ่ายไทย มากกว่าความเคียดแค้นต่อพม่านะครับ และเป็นทัศนะที่สร้างสรรค์และลึกซึ้งกว่าความแค้นนะครับ เพราะทำให้มีความรู้สึกที่จะต้องปรับปรุงตัวให้เข้มแข็งขึ้น

ส่วนทัศนะต่อพระมหาอุปราชา จากเตลงพ่าย น่าจะดูโคลงสองบทนี้ครับ

ดำเนอรพจนพากย์พ้อง........พรรณา
องค์อรรคอุปราชา...............ท่านแจ้ง
กอบเกิดขัติยมา..................นะฮึก หาญเฮย
ขับคชเข้ายุทธแย้ง..............ด่วนด้วยโดยถวิลฯ
.......................................................
อุราราญร้าวแยก................ยลสยบ
เอนพระองค์ลงทบ...............ท่าวดิ้น
เหนือคอคชซอนซบ.............สังเวช
วายชิวาตสุดสิ้น...................สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ฯ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: โมโน ที่ 19 มิ.ย. 01, 23:51
อีกประการหนึ่งที่ผมคิดว่าคนสมัยก่อน อาจไม่เกลียด พม่าอย่างที่เราคิด (ไม่ชอบแน่นอน เพราะเป็นคู่ศึกกัน) เพราะสิ่งที่พม่าทำกับอยุธยา อาจจะคล้ายๆ กับที่เรา ทำกับ เชียงใหม่ ลาว เขมร ก็ได้ และผมคิดว่าในตำราเรียน ไม่ค่อยเขียนเรื่องนี้เท่าใด
ผมไม่แน่ใจว่า ระยะเวลาที่เราทำศึกกับพม่า กับ ระยะ เวลาที่เราทำศึกกับ เชียงใหม่ ลาว เขมร อย่างไหนจะนานกว่ากัน


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: โมโน ที่ 19 มิ.ย. 01, 23:58
ที่พม่าว่าเราเป็นพวกคลั่งชาติ แต่พม่าตอนนี้กับทำตัวเป็นพวกคลั่งชาติตามเรา เสียเอง ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมาร์ (เหมือนเราเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทย)


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: ส้มหวาน ที่ 20 มิ.ย. 01, 00:33
ในตำราวิชาประวัติศาสตร์ของไทยทำให้ดิฉันทราบว่า พม่าเป็นศัตรูกับชาวไทยในสมัยอยุธยา,ธนบุรีและ รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ในตำราสังคมศึกษาทำให้ดิฉันรู้จักประเทศพม่าในปัจจุบันซึ่งไม่มีที่ใดในตำราสังคมศึกษากล่าวว่าประเทศพม่าในปัจจุบัน(เมียนม่า)เป็นศัตรูกับประเทศไทยเลยนะคะคุณCrazyHorse


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 มิ.ย. 01, 08:02
ดูว่าความสามารถในการสื่อสารในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานของผมจะสร้างปัญหาให้กับชุมชนนี้ซะแล้ว
ประเด็นของผม ไม่ได้ต้องการให้สอนว่า ยุทธหัตถีไม่เคยมี หรือไทยกับพม่าเป็นมิตรรักกันตลอดประวัติศาสตร์ แต่อยากให้นักเรียนได้ความรู้อันเป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวันมากกว่านี้ ประวัติศาสตร์ที่เคยเรียนๆกันมา ไม่ใช่ว่าควรจะถูกลบออกจากแบบเรียน แต่อยากจะให้เน้นในเรื่องที่ทำให้เห็นภาพที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากขึ้น ถ้าจะเอาแบบฟันธงก็คือ
1.ในเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน( ขอยกตัวอย่างพม่าไว้ในที่นี้) น่าจะเน้นประวัติศาสตร์ยุคใกล้คือในช่วงกลางรัตนโกสินทร์ขึ้นมามากกว่านี้ คนไทยควรจะรู้ว่าพม่าคืออะไร สหภาพพม่าคืออะไร ให้มีพื้นฐานสำหรับทำความรู้จักกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญ ไม่ใช่ว่าก็อดอาร์มี่ดอดเข้ามายึดโรงพยาบาลก็ว่าพม่ามันเลว หรือเรามีปัญหาในแนวชายแดน ก็ว่าพม่ามันเลว แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร เรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไรกันแน่
2.ในแง่ของไทยเอง อยากให้เพิ่มเนื้อหาในแง่ของความเข้าใจเกี่ยวกับคนไท และสยาม รวมทั้ง "ข้อสงสัยอื่นๆ" หลายครั้งที่ผมอ่านเจอข้อความใน webboard ที่คน post เรื่องหลายๆเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย อย่างที่หลายคนเคยผ่านตามาบ้าง เรื่องการทรยศหักหลังระหว่างเพื่อนสนิท เรื่องการสาปแช่ง ผมอ่านแล้วรู้สึกว่านี่เป็นผลของการปิดกั้น คนเดากันไปต่างๆนาๆ และให้ข้อสรุปที่ไม่ยุติธรรมกับบุคคลในประวัติศาสตร์ ผมเคยไปเที่ยวกับหลานที่เชียงใหม่ หลานถามว่าทำไมเชียงใหม่ถึงเก่ากว่าสุโขทัยได้ คุณจะตอบอย่างไรให้เขารู้ความจริงโดยทำข้อสอบอย่างถูกต้องได้ ตัวผมเองก็เคยเจอปัญหานี้ในการทำข้อสอบวิชา Civilization ของคณะอักษรศาสตร์มาแล้ว

ที่เขียนมาทั้งหลายนี้ใช่ว่าผมจะ pro พม่า ผมเคยเกลียดพม่า เคยไปเที่ยวเมืองเก่าอยุธยาพร้อมกับคิดถึงความโหดร้ายที่พม่าทำกับคนไทย (โดยหารู้ไม่ว่าความทรุดโทรมของอยุธยาไม่ได้เกิดจากการทำลายของพม่าซะทั้งหมด) เมื่อผมรู้ว่ามีบรรพบุรุษบางสายเป็นชาวมอญ ผมเริ่มศึกษามากขึ้น จากจุดเริ่มต้นของความล่มสลายของอาณาจักรมอญ ความเคียดแค้นพม่าก็ยิ่งสะสมมากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งเมื่อเข้าใจว่าโลกยุคก่อนเป็นโลกของ "ราชอาณาจักร" เป็นโลกของคนผู้มีอำนาจเพียงกลุ่มเล็กๆ ชาวบ้านธรรมดาถูกเกณฑ์ไปรบ ไปรุกรานรัฐเพื่อนบ้าน ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะมีความสุขหรอก ผมนึกไม่ออกว่าผมจะเกลียดพม่าต่อไปอีกทำไม ผมมีเพื่อนเป็นชาวพม่า ส่วนลึกของพวกเขานั้นเศร้าใจกับชะตากรรมของประเทศภายใต้รัฐบาลทหาร ผมเห็นใจเขา แต่ผมเป็นแค่คนไทยตัวเล็กๆคนเดียว การที่ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับเพื่อนบ้านคงอยู่ที่รัฐบาลซึ่งมาจากเสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งถึงวันนี้แล้วนายกรัฐมนตรีประกาศอย่างชัดเจนว่าจะผูกมิตรกับรัฐบาลที่เป็นทางการของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคงมีผลกระทบกับชนกลุ่มน้อยอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนลึกแล้วผมอยากเห็นโลกที่เป็นธรรม ชนชาติต่างๆได้มีโอกาสปกครองตนเอง รักษาวัฒนธรรมของตนเอง แต่ผมคงต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ ยุคที่คนกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวเป็นคนกำหนดความเป็นความตายของคนอื่น ถึงวันนี้แล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากครับ
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะตั้งเป็นคำถามไว้ในตอนจบคือ เมื่อมีปัญหากับพม่า คนกลุ่มหนึ่งจะบอกว่า
"บุกมันเลย ทำมันให้เหมือนกับที่มันเคยทำกับเราบ้าง"
คนเหล่านั้นเขาคิดเอาเอง หรือถูกปลูกฝัง?


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 20 มิ.ย. 01, 08:05
ประเด็นเหตุการณ์ปัจจุบันตามที่ตำราว่า ก็น่าพูดถึง แต่ขอให้ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ที่จริง ที่ว่ามาในกระทู้นี่ทั้งหมดก็ความเห็นส่วนตัวทั้งนั้นแหละ ไม่เกี่ยวกับงาน

ทั้งพม่า ทั้งไทย เป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยกัน ยอมรับนับถืออุดมคติตามหลักการของกฏบัตรสหประชาชาติและหลักมนุษยธรรมด้วยกัน ถ้าจะหาว่ากฏบัตรฯ เป็นของฝรั่ง (จริงหรือ?) แล้ว ผมพูดอีกอย่างก็ได้ว่า ไทยกับพม่าก็เป็นพุทธด้วยกัน ผู้ลี้ภัยที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น เขาต้องพบอะไรสักอย่างที่ผิดปกติหรือเป็นอันตรายในบ้านเขา เขาถึงหนีมา ตามหลักการ จะหลักพุทธหรือหลักสหประชาชาติก็ตาม ควรจะต้องพยายามช่วยเหลือเขาเท่าที่ทำได้ เราก็พยายามทำ ทำไม่ได้ 100% หรอกครับเพราะมีปัจจัยอย่างอื่นด้วย แต่เราก็พยายามช่วยเท่าที่ทำได้

UNHCR เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่คุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย เขาทำงานโดยมีอาณัติ หมายความว่า โดยได้รับมอบหมายอย่างถูกต้อง จากสหประชาชาติครับ และเท่าที่ผมทราบเขาก็อยากจะร่วมมือกับรัฐบาลย่างกุ้งอยู่ ช่วยกันแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย แต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลย่างกุ้งยอมร่วมมือกับเขาหรือยัง ไม่ได้ติดตามพัฒนาการล่าสุด

ที่ตำราว่าไทยได้ประโยชน์จากการแบกภาระรับคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นเหล่านี้ ผมว่าน่าขำครับ ผมเห็นเป็นส่วนตัวของผมเองว่า ถ้ารัฐบาลพม่าเขายอมร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและร่วมมือกับเรา ยอมรับคนของเขากลับ เราก็คงยินดีส่งกลับละมั้ง คงไม่แบกรับภาระอยู่ยังงี้หรอก แต่ว่า คงจะต้องแน่ใจว่าไม่ได้เป็นการส่งเขากลับไปตาย จะมีการจัดที่ทางในสังคมพม่าให้นักศึกษาเหล่านี้เขากลับไปสู่สังคมของเขาได้โดยสมัครใจ อย่างปลอดภัย โดยที่ได้แสดงบทบาทของเขา มีส่วนร่วมในการร่วมสร้างสังคมพม่าที่สงบสุข สามัคคีกัน เป็นประชาธิปไตย และโปร่งใส ไหมล่ะครับ ? มีทางไหม ? ถ้ามีทาง คุณเอากลับไปได้เลย ...

ถ้ารัฐบาลพม่ายังไม่พร้อมที่จะรับนักศึกษาเหล่านี้กลับ (ไม่ใช่เอากลับไปขังคุกหรือไปยิงเป้านะ) ผมก็พอจะเข้าใจเหตุผลทางการเมืองพม่า และคงไม่ว่าอะไรหรอก แต่ถ้าจะยังไม่รับกลับ แต่แล้วยังมาต่อว่า ว่าไทยเราได้ผลประโยชน์จากการที่แบกภาระเลี้ยงดูเอาไว้นี่ ขอโทษเถิด พูดออกมาได้อย่างไรครับ

แล้วผมก็ยังสงสัย ว่าตำราประวัติศาสตร์ควรเป็นอย่างนี้หรือ มันใกล้เหตุการณ์ปัจจุบันไปหน่อยและจงใจมุ่งเป้าใส่ไทยเป็นการเฉพาะเกินไปหน่อย ผมไม่คิดว่ารัฐบาลพม่าเชื่อจริงๆ ว่า UNHCR เป็นศัตรู (หรือแม้แต่เชื่อว่าไทยปัจจุบันเป็นศัตรู) แต่ที่คนแต่งตำราสร้างภาพขึ้นมาให้เด็กนักเรียนพม่าเห็นไทยและ UN เป็นยักษ์มารที่สมคบกัน เดาประสาผมว่า จะได้ปกครองง่ายๆ เป็นผลเพื่อการเมืองภายในล่ะมากกว่า เพราะถ้า UNHCR คิดร้ายทำลายพม่าอย่างนั้นจริง หรือรัฐบาลพม่าเชื่อจริงเช่นนั้น พม่าคงจะลาออกจากสหประชาชาติไปแล้ว แต่ก็เห็นยังอยู่นี่ครับ เพราะฉะนั้นผมไม่เชื่อว่าเขาเห็น UNHCR เป็นศัตรู และดูที่เขาเตรียมรับท่านนายกฯ ทักษิณ ผมก็ไม่คิดว่ารัฐบาลพม่าผู้กำหนดนโยบาย เห็นไทยเป็นศัตรูจริงๆ เขาย่อมรู้เท่าๆ ที่ไทยรู้ ว่าเราต่างฝ่ายต่างย้ายประเทศหนีไปไหนไม่ได้ เราต้องคบกันอยู่ดี

อย่างนั้นแล้วคนแต่งตำราเขียนในเชิงยั่วยุอย่างนั้นทำไม? ผมเชื่อว่าเพื่อผลทางการเมืองภายในครับ และบางทีที่เขาปล่อยให้รั่วออกมาถึงไทย ทั้งทางบทความ นสพ. และที่เป็นบทเรียนในตำรา อาจเพื่อผลทางการเมืองทวิภาคี ลองเชิงเราหวังให้เราเสียกระบวนด้วยก็ได้

เอาละ ผมว่าของผมเองว่า เมื่อรู้ว่าเป็นอย่างนี้แล้ว และจะจับเข่าคุยกันแล้ว ก็เลิกบลั๊ฟใส่กันทีเหอะ คุยกันอย่างคนโตๆ เป็นผู้ใหญ่กันแล้วด้วยกันเถอะน่า- -

ถ้าจะบอกว่า เรื่องนี้ผู้ใหญ่ไม่เกี่ยว ก็ขอให้ผู้ใหญ่ทางโน้นจับเด็กทางโน้นมาดุมาเขกหัวเสียหน่อย ให้เลิกทำอะไรยังงี้ มันไม่ดี ... ไม่ได้ประโยชน์ขึ้นมาหรอก เชื่อผมเฮอะท่าน...

จะหน่อแช้เด ยูแช้แหม่ -
- ผมรักคุณแล้ว คุณรักผมไหม? เลิกเรียกร้องความสนใจทีเถอะน่า...


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 20 มิ.ย. 01, 08:43
ผมคิดว่าส่วนตัวผมเห็นด้วยกับ คคหท. 26 หลายจุดครับ โดยเฉพาะที่ว่าคนไทยบางคนไม่ได้เข้าใจประวัติศาสตร์พม่าหรือสภาพปัจจุบันพม่าดี และเอะอะอะไรก็จะบุกมันไว้ก่อน โดยไม่ศึกษาทำความเข้าใจ ว่ามันมีกี่พวกกันแน่ เป็นยังไง

ผมเห็นด้วยว่าคนพม่าและสังคมพม่านั้นน่าเห็นใจ แต่ประเด็นที่ผมว่ามาเป็นวรคเป็นเวรมานี่ มุ่งที่คนแต่งตำราทางการพม่าเดี๋ยวนี้เป็นสำคัญ ผมยังเห็นอยู่ดีว่าตำราเรียนพม่านี้จงใจบิดเบือน (แต่ถ้าจะว่าตำราไทยก็บิดเบือนด้วยหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง) และไม่เป็นผลดีเลยต่อการทำความเข้าใจกันและกัน ประเด็นของผมอยู่เพียงว่า คนแต่งตำราพม่าต่อว่าเรา ว่าไทยเราปลูกฝังความรู้สึกเกลียดพม่า (ซึ่งอาจจริงหรือไม่ก็ได้ เป็นอีกเรื่อง - คุณ CraZyhorse อาจมีหลักฐานมาโต้ในประเด็นนี้ได้ว่าจริง แต่โดยส่วนตัวผม - ซึงก็ไม่ใช่ตัวแทนที่ดีของนักเรียนไทยเฉลี่ยหรอก - ผมเรียนประวัติศาสตร์ไทยมาแล้วก็โตขึ้นมามีเพื่อนเป็นพม่าได้เรียบร้อยดีนี่ครับ) ไม่ว่าอย่างไรก็ตามประเด็นนั้นยกไว้ ที่ผมพูดถึงก็คือ คนแต่งตำราพม่าที่ต่อว่าไทยเช่นนั้น ไม่ได้ทำตัวผิดไปจากคนที่เขาต่อว่าเลย และไม่ส่งเสริมความเข้าใจที่ดีเลยแม้แต่น้อย คือเป็นเสียเอง ซ้ำยังเป็นเสียเองหนักกว่า เพราะดูเหมือนเจตนายั่วยุเลยทีเดียว

ถ้าผมจะทะเลาะผมก็ทะเลาะกับคนแต่งตำรานั่นแหละครับ และผมคิดว่าผมพยายามจำกัดวงการทะเลาะหรือ "วิวาทะ" ไว้ในวงของประวัติศาสตร์ และการศึกษาประวัติศาสตร์ ผมไม่ได้ทะเลาะกับประชาชนชาวพม่าแน่ๆ และผมไม่อาจจะขึ้นไปทะเลาะกับรัฐบาลที่เป็นผู้บังคับบัญชาอยู่เหนือคนแต่งตำราขึ้นไปได้ด้วย เพราะเรื่องนั้นเป็นการดำเนินการระดับนโยบาย ในระดับรัฐบาล ผมต้องเคารพนโยบายของรัฐบาล คงคล้ายๆ ที่คุณ CraZyHorse ว่ามาแหละครับ

เอาละ เราเลิกพูดเรื่องประเทศเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง พูดกว้างๆ ดูแนวโน้มในประวัติศาสตร์ทั่วไปดีกว่า คุณ CrazyHorse เชื่อ ศรัทธา หรือมีความหวังเหมือนผมไหมครับว่า ในที่สุดแล้ว ในระยะยาว ระบอบใดๆ ที่ประชาชนไม่ยอมรับ จะอยู่ค้ำฟ้าไปไม่ได้ตลอดกาลหรอกครับ มันต้องวิวัฒนาการคลี่คลายเปลี่ยนไปจนได้ ดูประเทศหลังม่านเหล็กทั้งหลาย  ดูแอฟริกาใต้ ดูฟิลิปปินส์ หรือไม่ต้องดูไหนไกล ดูเมืองไทยเราก็ได้ ก็คลี่คลายพัฒนามาตั้งไกลแล้วจากสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จริงไหมครับ แต่ในระยะสั้นระยะกลาง เราจะตั้งท่าของเราอย่างไรเท่านั้น


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. (ผู้หลงรัก "ดวงจันทร์" ) ที่ 20 มิ.ย. 01, 08:57
แต่ว่ากันตามทฤษฎีประชาธิปไตยแท้ๆ ในทางทฤษฎี ไม่ว่าคุณจะตัวเล็กขนาดไหนก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้นี่ครับ นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลก็เป็นนโยบายสาธารณะอันหนึ่งนี่ คนไทยทุกคนมีสิทธิวิจารณ์ได้ รัฐบาลก็ต้องรับฟัง อย่างน้อยเอาไปประกอบการพิจารณาจากเสียงคนอื่นๆ ในสังคม
ผมอยากให้คุณ CrazyHorse แสดงความคิดเห็นต่อไปครับ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 01, 10:14
ดิฉันขอเป็นฝ่ายฟังอีกคนค่ะ
คุณโมโน จำเพลงยาวรบพม่าท่าดินแดงในรัชกาลที่ ๑  และเพลงยาวของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทได้ไหมคะ
ในนั้นพรรณนาความรู้สึกที่มีต่อพม่าเอาไว้ชัด
เพราะทั้งสองพระองค์ผ่านเหตุการณ์ตอนกรุงแตกมาด้วยตัวเอง
จะเห็นความแตกต่างกับความรู้สึกของคนรุ่นหลังอย่างสุนทรภู่และสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชโนรส


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 มิ.ย. 01, 13:06
ประเด็นเรื่องของตำราพม่า ผมขอพูดให้ชัดตรงนี้ไว้คือผมไม่ได้เห็นว่าเนื้อหานั้นเป็นไปตามจริงแต่ทุกคนก็คงเห็นตรงนั้นอยู่แล้ว ประเด็นคือว่าอำนาจการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อยู่ที่รัฐบาลทหารของพม่า คนกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวที่มีอำนาจปกครองประเทศอยู่ การที่เราเรียกร้องเขาให้เปลี่ยนแปลง ผมมองว่าคงจะยากมากถึงยากมากที่สุด ดูจากประเด็นการปิดด่านชายแดนไทย-พม่า พ่อค้าไทยเสียโอกาสขายสินค้า พ่อค้าพม่าเสียโอกาสที่จะได้สินค้าจากไทย มองในแง่พม่าแล้ว คนของเขาคงจะไม่ถึงกับไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภคใช้ เพราะยังมีแหล่งสินค้าจากจีนและอินเดียอยู่อีก แต่ที่แน่นอนคือ ราคาต้องสูงขึ้นเพราะค่าขนส่ง ประเด็นอยู่ที่ว่า รัฐบาลทหารของพม่าสนใจหรือเปล่า? ฝากไว้ให้คิดตรงนี้

สำหรับประเด็นตำราไทย ผมมองเพียงว่า เราน่าจะปรับตำราเรียนของเราให้เน้นในการทำความรู้จักกับทั้งตนเอง และเพื่อนบ้านให้มากขึ้นสักนิดหนึ่ง เพื่อผลประโยชน์ของเราเอง

ประเด็นในแง่ที่ว่าพม่าทำกับไทยไว้มากในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ คงไม่ต้องมาตั้งข้อสงสัยกันตรงนี้ ผมเห็นด้วยกับคุณเทาชมพูในแง่ของความเคียดแค้นของคนไทยต่อราชวงศ์อลองพญาในการรับรู้ของคนไทยว่า "พม่า" แต่ก็คงต้องยอมรับว่าความแค้นที่มี จางลงเมื่อกาลเวลาผ่านไป ผมอยากจะเห็นความแค้นความกลัวที่มีถูกเปลี่ยนไปในทางสร้างสรรค์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรีมาถึงร.๑ มีความพยายามเตรียมการในการป้องกันภัยจากพม่าให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งการย้ายเมืองหลวง การทิ้งเมืองเชียงใหม่ให้ร้างชั่วระยะเวลาหนึ่ง การทำ "พม่าศึกษา" ในช่วงร.๑ เหล่านี้เป็นความพยายามในเชิงสร้างสรรค์อย่างที่ผมเห็น แม้ว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บางอย่างจะมีแนวโน้มไปในทางพยายามแก้แค้น อย่างเช่นเหตุการณ์ที่ร.๑ทรงนำทัพไปทำสงครามหัวเมืองมอญ และพยายามยึดครองไว้เพื่อเป็นฐานในการโจมตีอังวะซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่าในเวลานั้น (ถ้าเป็นความจริง) แต่ในช่วงหลังจากที่กรรมพระราชวังบวรฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่เคยมีความพยายามที่จะรุกรานพม่าอีกเลย
จริงอยู่ที่การมองพม่าเป็นศัตรูยังไม่ได้จบลงที่ตรงนั้น สงครามคราวพม่าเสียเมืองให้กับอังกฤษครั้งแรกในช่วงรอยต่อ ร.๒-ร.๓นั้น ไทยก็มีส่วนร่วมกับอังกฤษอยู่บ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งถ้าจะพิเคราะห์ให้ดีแล้ว จะเห็นว่าราชสำนักสยามเองก็ยังเป็นห่วงภัยจากทางด้านอื่นมากกว่า
ยิ่งเมื่อตอนที่ร.๓ทรงสวรรคต ได้ทรงสั่งเสียให้ระแวดระวังถึงภัยจากฝรั่ง (ถึงแม้จะอ้างอิงพม่าแต่ก็ในนัยยะที่ว่าพม่าหมดพิษสงแล้ว) ยิ่งไปกว่านั้นเราเองไม่เคยได้มีการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงกับพม่าอีกเลยนับแต่พม่าเสียเมืองให้กับอังกฤษ ผมเห็นว่าความแค้นไทย-พม่าควรจะเบาบางลงไปกว่านี้แล้วถ้าทุกสิ่งเป็นไปตามครรลองของมัน ไม่มีความพยายามปลูกฝังแนวคิดว่าพม่าเป็นศัตรูอย่างต่อเนื่อง (หวังว่าคงไม่พยายามมองฝรั่งเป็นศัตรูไปด้วยตรงนี้นะครับ การไม่ประมาทเป็นสิ่งดี แต่การมองกันเป็นศัตรูไม่เป็นคุณกับใครเลย)

เรื่องของการปกครอง ผมเห็นด้วยกับคุณ นกข. เต็มที่เลยครับ ระบอบการปกครองหลายๆระบอบได้ถูกกาลเวลาพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ใช่ทางเลือกที่ดี (ในช่วงเวลาที่ผ่านมา) แม้แต่ทุนนิยมประชาธิปไตยที่ดูเหมือนว่าดีที่สุดในปัจจุบันนี้แล้ว ผมก็เห็นว่าเริ่มที่จะไม่ทำงานแล้วครับ ปัจจัยคือเรื่องของทุนที่เคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นจากการหล่อลื่นของเทคโนโลยี ทำให้ทุนไม่มีโอกาสได้มีเวลาทำงานอย่างที่ควรจะเป็น แถมยังเปิดโอกาสให้นักเก็งกำไรเข้ามาใช้กลไกนี้หาประโยชน์ด้วย ความล้มเหลวในการลดค่าเงินบาทครั้งล่าสุดเมื่อเทียบกับสองครั้งในยุคพล อ.เปรม ได้พิสูจน์แล้วว่าการดัมพ์ราคา(โดยการลดค่าเงิน)ในสมัยนี้ใครๆก็ดัมพ์ได้และเข้ามาอยู่ในกฎของ prisoners game เรียบร้อยแล้ว บางท่านอาจจะคิดแย้งว่าเศรษฐกิจก็ส่วนเศรษฐกิจ การปกครองก็ส่วนการปกครอง แต่ผมเห็นว่าประกอบกันครับ คุณว่าทุนนิยมคอมมิววิสต์ ให้ผลเหมือนกับ ทุนนิยมประชาธิปไตยไหมล่ะครับ?

ขอโทษด้วยครับที่ชักจะนอกเรื่อง ติดลมไปหน่อยน่ะครับ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 01, 14:13
เพิ่งได้สนทนากับผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ไทยท่านหนึ่งวันนี้เอง
ท่านบอกว่าเรื่องประวัติศาสตร์และสังคมพม่าปัจจุบัน  สอนกันอยู่ในสาขาที่เรียกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่ะ   ในภาควิชาประวัติศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยก็มีสอน เป็นวิชาเลือก  ไม่ค่อยจะมีใครเลือกด้วย
นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องพม่ามีหลายคนค่ะ   ถ้าสนใจจะหาอ่านก็ทำได้
๑)ดร.ชัยโชค จุลศิริวงศ์
๒)ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
๓)ดร.สุเนตร ชุตินรานนท์
๔) อ.วิทยา สุจริตธนารักษ
๕)อ.ฉลอง สุนทราวณิช
ตำราที่นักวิชาการเหล่านี้เขียน หาได้ในห้องสมุดใหญ่ๆทั่วไป
ส่วนจะบรรจุลงในตำราเรียนระดับมัธยม  เนื้อที่ไม่พอ เพราะมีหน่วยกิตน้อยต้องแบ่งเฉลี่ยกันไปกับการเรียนปวศ.และสังคมในด้านอื่นๆ
แต่ถ้านักเรียนและนศ.สนใจจะหาอ่านเอง  ท่านบอกว่าผลงานของนักวิชาการเหล่านี้มีมากพอสมควร  พอจะทำความเข้าใจกับความเป็นมาของพม่าได้  ทั้งนี้ต้องขวนขวายเอาเอง เพราะเป็นสาขาเฉพาะ
เรื่องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์   ดิฉันไปติวเข้มมาแล้ว  แล้วจะมาเรียบเรียงให้อ่านกัน


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 20 มิ.ย. 01, 16:59
ผมเคยเรียนกับอาจารย์ชัยโชค และเคยผ่านตางานของอาจารย์สุเนตรและอาจารย์ชาญวิทย์บ้าง แต่ยังไม่ได้มีโอกาสอ่านงานของท่านอย่างลึกซึ้งครับ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 01, 19:16
ตอนนี้ที่เมืองไทยมืดแล้ว   อากาศไม่ร้อนเท่าตอนกลางวันหรือไงไม่รู้   มารู้สึกว่าเรื่องตำราพม่านี่  much ado about  nothing จริงๆ
อาจจะเป็นเพราะอาจารย์ในความเห็นที่ ๓๒ ท่านบอกว่าเรื่องอะไรๆในประวัติศาสตร์ก็มาจากมนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้น  เป็นเรื่องแต่ง  จะยันเอาความจริงอะไรกันยาก  ขึ้นกับว่าใครบันทึก
เพราะฉะนั้นว่ากันไปว่ากันมา  ก็ทำแบบเดียวกันทั้งสองฝ่าย
อย่าไปยึดถืออะไรนัก

ดิฉันเคยอ่านของอ.สุเนตร พงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง ที่อาจารย์ไปถอดมาจากภาษาพม่า
ให้ภาพการทำศึกครั้งกรุงแตก  อ่านแล้วดูสง่ากว่าพงศาวดารไทย   เพราะเขาบอกว่าอยุธยาป้องกันอย่างเข้มแข็ง
พระเจ้าเอกทัศก็เก่งกว่าที่พบอยู่ในพงศาวดารไทย
แต่....เขาเข้มแข็งกว่า...เป็นงั้น


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 มิ.ย. 01, 19:53
ยังคงกลับมาที่เรื่องเดิม คือผมไม่ได้ต้องการให้ไปชำระประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง และนำมาบรรจุในแบบเรียน แต่อยากจะให้ปรับน้ำหนักให้เด็กไทยไดเห็นโลกที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด
งานของอ.ชาญวิทย์กับอ.สุเนตรนั้นน่าสนใจมาก ผมคิดว่าน่าจะได้อ่านหนังสือที่อาจารย์สองท่านนี้มาแล้วครบทุกเล่ม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์อยุธยา(ผมจำชื่อไม่ได้แน่นอน) ของอ.ชาญวิทย์นั้นผมว่าดีมากๆ แม้แต่คนที่อ่านมามาก ได้อ่านเล่มนี้แล้วเหมือนกับเขย่าเนื้อหาทั้งหมดให้ตกตะกอน มองเห็นภาพของกรุงศรีอยุธยาในอดีตชัดเจนขึ้น เชื่อว่าน่าจะยังมีขายอยู่เพราะผมเห็นพึ่งจะพิมพ์ใหม่เมื่อไม่นานมานี้เอง
สำหรับงานวิจัยพงศาวดารพม่าของอ.สุเนตรนั้น ก็ให้ข้อมูลของประวัติศาสตร์ไทยในแง่มุมของทางพม่า อยากให้อ่านเป็นแบบวิชาการ อย่าลงความเห็นว่าของเขาถูกซะทีเดียว

ก็อย่างที่คุณเทาชมพูว่านั่นแหละครับ
"เรื่องอะไรๆในประวัติศาสตร์ก็มาจากมนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้น เป็นเรื่องแต่ง จะยันเอาความจริงอะไรกันยาก ขึ้นกับว่าใครบันทึก
เพราะฉะนั้นว่ากันไปว่ากันมา ก็ทำแบบเดียวกันทั้งสองฝ่าย อย่าไปยึดถืออะไรนัก"

ได้รับรู้แง่มุมนี้ ถ้าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบันได้ก็คือ ต้องดูว่าคนพม่าที่เขารับรู้เรื่องราวในแง่มุมนั้น เขาจะมีความคิดเห็นกับคนไทยอย่างไร อย่าเถียงกันเอาถูกเอาผิดเลยครับ ไม่ได้ประโยชน์อะไร


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 20 มิ.ย. 01, 23:10
อาจารย์สุเมธให้สัมภาษณ์ว่า ที่ทางการพม่าลุกขึ้นมาแก้ตำราใหม่คราวนี้เขาจงใจ ทำเพื่อแสดงว่าเขาเหลืออด ตั้งใจโต้ตอบกับสิ่งที่เขาเห็นว่าไทยทำไม่ถูกใจเขา ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเรื่องตำราเรียนไทยเท่านั้น แต่เรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหนังไทย ละครไทย วิธีสอนประวัติศาสตร์ เพลงไทย แนวนโยบายรัฐต่อพม่าเท่าที่ผ่านมา ฯลฯ

ถ้าเป็นอย่างอาจารย์ว่า ก็เป็นอันว่าเคลียร์ว่าทางโน้น แกคงจะงอนจริงๆ แล้วก็มาออกทางตำราเด็ก เพราะว่ากันไปแล้ว เฉพาะตำราเรียนไทยอย่างเดียวยกเอามากางเทียบกัน ไม่น่าที่จะทำให้พม่ามีปฏิกิริยาได้ขนาดนั้น ขนาดที่เขียนออกมาไม่ใช่ตำราเรียนแล้ว กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้แล้ว เรียกว่าตำราวิชาด่าไทยก็คงได้ ซึ่งในตำราแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยของเรา ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาด่าพม่าขนาดนั้น (แต่ครูไทยผู้สอนจะมีส่วนปลูกฝังนอกตำราหรือเปล่าไม่ทราบ- ก็เป็นได้)

สิ่งที่พม่าเขาไม่พอใจจนปะทุนั้น หลายคนอาจจะบอกว่าเพราะนโยบายรัฐบาลเก่าของเรา เรื่องนั้นผมไม่ขอวิจารณ์ แต่มีข้อสังเกตว่า แนวนโยบายรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลปัจจุบันต่อพม่าต่างกันค่อนข้างมากจริง แต่สมัยที่ว่าความสัมพันธ์อึมครึมตึงเครียดสมัยก่อนนั้นก็ยังไม่เห็นมีการยั่วยุหรือลองเชิงกันแรงๆ อย่างนี้นี่ ก็แปลกดี เวลาหัวหน้าครอบครัวบ้านนี้เป็นคนเก่า ทำอะไรหลายอย่างที่ว่ากันว่าเขาไม่ชอบหน้า เขากลับเก็บกดเอาไว้ขุ่นๆ อยู่ข้างใน พอเปลี่ยนหัวหน้าครอบครัวเป็นคนใหม่ที่ทำท่าว่าเขาจะชอบหน้าได้มากขึ้น แทนที่จะดี เขากลับเอาก้อนหินขว้างบ้านเราในสมัยหัวหน้าบ้านคนนี้นี่แหละเสียยังงั้น เสร็จแล้วพอหัวหน้าบ้านเราเข้าไปหาก็เปลี่ยนท่าทียิ้มแย้มแจ่มใสตบหลังตบไหล่ นกแก้วนกขุนทองบ้านโน้นที่เคยด่าบ้านนี้เป็นไฟ ก็พลิกลิ้นเจรจาอ่อนหวานกับหัวหน้าบ้านเราขึ้นมาเชียว ผมงงครับ ไม่รู้จะมาไม้ไหน แต่ยิ้มแย้มกันเสียได้ก็ดีกว่าแยกเขี้ยวใส่กัน บ้านรั้วติดกันแค่นี้เอง
............................
ผมได้ข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการของเราจะพิจารณาดูตำราพม่า ถ้าเห็นว่ามีมูลคงจะติงไปผ่านทาง SEAMEO ซึ่งเป็นองค์การระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการศึกษา ซึ่งก็เป็นช่องทางที่เหมาะดี ว่าโอเค ประวัติศาสตร์มองต่างมุมกันได้จริง แต่การมองประวัติศาสตร์คนละมุม กับการจงใจเขียนตำราด่าเพื่อนบ้านนี่ มันคนละเรื่องกัน และไม่เป็นผลดีต่อการศึกษา ถ้าทางพม่าเขาจะบอกว่า เอ้า- ไทยเราก็ทำนี่ ผมก็ว่าดีเหมือนกัน ให้ SEAMEO เขาเป็นกรรมการคนกลางแล้วชำระแบบเรียนไปว่าตรงไหนของใครมีอคติ เอายังงั้นเสียเลยดีไหม

คุณครูทั้งหลายมีหน้าที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติของท่านแต่ละชาติครับ การเดินเกมโต้ตอบต่อว่ากันทางการเมือง ให้คนอื่นเขาทำเถิดครับคุณครู


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 01, 23:58
งั้นที่จะเรียบเรียงมาให้อ่านคงไม่ต้องแล้วนะคะคุณ CrazyHOrse


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 01, 00:19
เรื่องยกเอาประวัติศาสตร์ ๔๐๐ ปีมาว่าไทยคงเป็นปลายเหตุเท่านั้น  ปัญหาสำคัญน่าจะเรื่องการเมืองปัจจุบันมากกว่าค่ะ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: ฝอยฝน ที่ 21 มิ.ย. 01, 01:37
แต่ฝน  ความรู้น้อยค่ะ...คุณเทาชมพู....
ฝนอยากอ่านค่ะ ..
นี่ก็ตามอ่านมา..หลายวันแล้วนะคะ
รู้จักก็แต่ดวงจันทร์ จาก เลือดสุพรรณ  ของหลวงวิจิตรวาทการ..นะคะ


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 21 มิ.ย. 01, 06:00
Khun Taochompoo ka, I would like to read too.


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: N.K.Kh. ที่ 21 มิ.ย. 01, 06:20
My apology. I second Khun FoiFon in her request that Khun TaoChompoo post for us about the study of history. As a layman, and a non-historian,I think it is interesting to learn about the study of history, and it may be relevant to SEAMEO's decision (if we go that far). If there is a common criteria respected by historians on the proper way to study history (historiography???) then I would love to know more about it.



In my last para in #36 I only meant to say that, in my view, if you are a government and you are not happy with your neighbours, you can express your unhappiness via other channels rather than writing a textbook condemning your neighbours to be used in your classrooms, which seems to be what Myanmar teachers/educators have been doing. And I believe this is not good to education itself. It all comes back to what we (Khun CrazyHorse and me) mentioned up there, about history being used for political purposes - whether it is alright, all wrong, tolerable, wrong in principle but  is done anyway, or...?  



So I am interested in the way to study history krab, and I also join Khun Fon in requesting Khun Taochompoo to post her posting, please...


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 21 มิ.ย. 01, 08:01
ยังอยากให้คุณเทาชมพูเรียบเรียงมาเป็นวิทยาทานอยู่ดี ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับผม แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับคนในชุมชนนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ผมเห็นด้วยกับคุณ นกข. มากๆเลยในแง่ที่ว่า ปล่อยเรื่องนี้ให้ผู้มีอำนาจเขาจัดการเอาดีกว่า และก็เห็นด้วยอย่างมากกับคุณเทาชมพูที่ว่า เจตนารมณ์การเขียนแบบเรียนของพม่านั้นเพื่อรับใช้การเมืองในปัจจุบัน สิ่งนี้เกิดขึ้นมาตลอดอย่างแยกไม่ออกในการศึกษาประวัติศาสตร์ เพียงแต่เราสามารถจะแยกเอาข้อเท็จจริงออกมาได้หรือไม่เท่านั้นเอง

ผมยังอยากจะเห็นความไม่พอใจต่อพม่าในปัจจุบัน เป็นกำลังผลักดันให้เกิดการทำ "พม่าศึกษา" เหมือนที่เคยเกิดเมื่อครั้งต้นรัตนโกสินทร์ เราจะได้รับมือกับเพื่อนบ้านเจ้าปัญหารายนี้ได้ดีขึ้นครับ
:)


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 01, 10:12
ข่าวล่าสุดทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการเชิญนักวิชาการไปประชุมเรื่องนี้แล้ว
ผลออกมาว่า เป็นสิทธิของแต่ละประเทศที่จะเขียนตำราประวัติศาสตร์ของตน
คงต้องจบความเห็นคงแค่นี้ละค่ะ

ส่วนเรื่องเรียบเรียงที่ว่ามา...ดิฉันว่าไม่จำเป็นแล้วละค่ะ  ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการที่พวกเราแลกเปลี่ยนความเห็นกันในนี้  แต่ดิฉันรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์
ทฤษฎีก็ส่วนทฤษฎี  แต่ภาคปฏิบัติตอนนี้คือ...untouchable ค่ะ คำเดียว


กระทู้: เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 25 มิ.ย. 01, 18:17
งั้นต้องขึ้นเพลงไตเติ้ลตอนจบของ Loonie Toons แล้วก็บอกว่า That's all, folks!