เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 09, 21:18



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 09, 21:18
เปิดกระทู้นี้ตามคำขอของคุณหลวงเล็ก

อ้างถึง
เอ... ผมว่าคุณเทาชมพูเปิดกระทู้ชาติพันธุ์วรรณนาในเรื่องพระอภัยมณี ก็น่าจะดีนะครับ 
ท่าทางจะสนุกเหมือนชาติพันธุ์วรรณนาในเรื่องขุนช้างขุนแผน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2655.msg58370;topicseen#msg58370

ยังหาพระอภัยมณีตอนปลายไม่ได้ค่ะ    ต้องขอให้คุณหลวงเริ่มต้นบรรเลงไปก่อน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 10:16
คุณหลวงตกลงให้ดิฉันเริ่มต้นก่อน

ชาติพันธุ์วรรณาแรกในพระอภัยมณี   ขอประเดิมด้วย "พราหมณ์" 

พระอภัยมณี เริ่มต้นเรื่องด้วย "ขนบ" แบบเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ที่นิยมกัน  คือโอรสกษัตริย์ต้องจากบ้านเมืองไปเรียนวิชาในต่างถิ่น
ก่อนเรื่องนี้  แบบแผนการดำเนินเรื่องคือ  เจ้าชายทั้งหลายไปเรียนวิชากับพระฤๅษี    ก่อนเรียนและช่วงเวลาเรียน  ต้องสนุกสนานหรือลำบากลำบนยังไง ไม่มีการเอ่ยถึง
กวีจะเดินเรื่องเมื่อเจ้าชายเรียนจบแล้ว   เดินทางกลับบ้านเมือง  การผจญภัยก็เริ่มแต่นั้น
สุนทรภู่ก็จับ "ขนบ" นี้มาเหมือนกัน     ปูพื้นเรื่องในสิ่งที่คนอ่านคุ้นเคย

แต่ว่าสุนทรภู่ เขียนพระอภัยมณี เป็น "นวัตกรรม"  ดังนั้น  พระฤๅษีโยคีชีไพรทั้งหลายจึงตกอันดับไปจากความสนใจ
ครูผู้สอนวิชาของเจ้าชายในเรื่อง   ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น คือเป็น "พราหมณ์พฤฒา   ทิศาปาโมกข์"
คำบรรยายสถานที่ และลักษณะการเรียน นับว่าล้ำสมัย  คือเหมือน "คอลเลจ" เลยทีเดียว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 10:29
อันสองท่านราชครูนั้นอยู่ตึก                จดจารึกอักขราไว้หน้าบ้าน
เป็นข้อความตามมีวิชาการ                  แสนชำนาญเลิศลบภพไตร
แม้นผู้ใดใครจะเรียนวิชามั่ง                 จงอ่านหนังสือแจ้งแถลงไข
ถ้ามีทองแสนตำลึงมาถึงใจ                  จึงจะได้ศึกษาวิชาการ

เจ้าชายที่เรียนกับพระฤๅษี  ไม่เห็นมีบอกไว้ว่าต้องเสียค่าเทอม  และค่ากินอยู่   อย่างมากก็รับใช้พระเจ้าตา เก็บผลไม้มาให้ฉัน ไปตามเรื่อง
แต่พราหมณ์แห่งหมู่บ้านจันตคาม   สอนวิชาแบบมืออาชีพ   
ในเมื่อถือว่าเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญ   คอลเลจนี้ก็เข้ายากยิ่งกว่าฮาร์วาร์ด   ตั้งกำแพงค่าเล่าเรียนแพงมหาโหด   
แสดงว่าคัดเลือกนักศึกษา  ไม่ยอมให้ชาวบ้านที่ไหนมาเรียนก็ได้     
คนที่จะมีทองแสนตำลึง  ก็มีได้แต่ระดับกษัตริย์ หรืออย่างต่ำก็อภิมหาเศรษฐี   คือเป็นลูกศิษย์ที่สูงส่งมาก่อนแล้ว    จะได้ไม่เอาวิชาไปทำอะไรให้เสื่อมเสียมาถึงสถาบัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 10:59
เหตุผลหนึ่งซึ่งสุนทรภู่ใช้พราหมณ์เป็นพระอาจารย์ของเจ้าชาย คงเป็นเพราะบรรพชนของท่านก็อยู่ในตระกูล "พราหมณ์เมืองเพชร"

มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ      ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป        บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช    ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวฐานศาลสถิตย์อิศวรา            เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่          แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ

จากนิราศเมืองเพชรฉบับตัวเขียน

ทั้ง ยาย และ ย่า ของสุนทรภู่ล้วนเป็น "พราหมณ์รามราช" ที่เป็น "ชาวเพชรบุรี"

พราหมณ์รามราช หมายถึงอะไร?

ในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ว่ากษัตริย์แห่งรามรัฐ (Rammaradt) อยู่ชายฝั่งโจฬมณฑล (Coromandel) ส่งพราหมณ์มากรุงศรีอยุธยาเพื่อเผยแพร่ลัทธิพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็มีพราหมณ์จากที่ต่าง ๆ เดินทางสู่สยาม โดยเฉพาะมาจากเมืองรามรัฐและพราหมณ์เหล่านี้ได้รับความยกย่องนับถือในหมู่พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าชาย พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชน (วัน วลิต แต่ง, ศ.ดร.เดวิด เค. วัยอาจ บรรณาธิการ, วนาศรี สามนเสน แปล, ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ตรวจ, จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยสำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๖)

   


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 09, 11:59
เรื่องพราหมณ์รามราช ที่ว่ามีอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยูยาฉบับวันวลิต นั้น จำได้ว่ามีเรื่องเช่นนี้ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชด้วย 

เรื่องเชื้อสายของสุนทรภู่เป็นพราหมณ์  สงสัยว่าจะเป็นเชื้อสายฝ่ายมารดาของท่าน  ส่วนเชื้อสายบิดาของท่านท่านว่าเป็นชาวชองอยู่เมืองแกลง
พราหมณ์ที่เมืองเพชรบุรี  คงน่าจะเกี่ยวข้องกับพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชด้วย 
เพราะตำนานเมืองนครศรีธรรมราชหรือตำนานพระบรมธาตุเมืองศรีธรรมราชหรือพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช
มีข้อความกล่าวถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองเพชรบุรีก่อนจะมีกรุงศรีอยุธยา
อันที่จริงในเมืองไทยนี้มีพราหมณ์อาศัยอยู่หลายเมือง เช่นที่ ตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และเพชรบุรี เป็นต้น แต่ต่อมาค่อยๆถูกกลืนไป
แม้กระทั่งพิธีกรรมพราหมณ์ที่ได้ปฏิบัติก็เลือนไปเป็นเอาพุทธกับไสยศาสตร์พื้นเมืองมาใส่ไว้มาก

ส่วนที่สุนทรภู่ให้พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณไปเรียนวิชากับพราหมณ์นั้น อาจจะเป็นอิทธิพลจากวรรณคดีพุทธศาสนาอย่างชาดก
ตัวละครเอก(เป็นโอรสกษัตริย์)มักต้องเดินทางเดินทางไปเรียนวิชาต่างๆ ที่เมืองตักศิลา
(ถ้าเทียบปัจจุบันก็คงอยู่แถวๆทางเหนือของปากีสถานติดกับอาฟกานิสถาน) หรือไม่ก็ไปที่พาราณสี

ส่วนเรื่องค่าเรียนของพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณที่แพงนักนั้น  ตีความได้แง่หนึ่งว่า 
พราหมณ์ที่สอนหวงวิชา ไม่ปรารถนาจะให้คนทั่วไปได้ร่ำเรียนวิชานี้
ต้องการคนที่สนใจมารับสืบทอดวิชาไป เห็นความสำคัญของความรู้ที่สอนให้
และสะกัดไม่ให้คนแห่มาเรียนกับพราหมณ์มากนัก  เพราะวิชานี้ต้องสอนแบบตัวต่อตัว
สอนเยอะแบบห้องบรรยายรวมในมหาวิทยาลัยสมัยนี้ไม่ได้ 
อันนี้ก็ตรงกับการสอนดนตรีไทยอยู่เหมือนกัน  จะเล่นเป็นเพลงใดก็ต้องไปต่อเพลงนั้นตัวต่อตัวกับครู
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอนวิชากันหมดกระบวนแล้ว พราหมณ์ก็มอบค่าเรียนคืนให้ด้วย
ถ้าเป็นสมัยนี้  เห็นจะมีแต่คนมั่งมีที่จะเรียนกันได้
แต่การตั้งเกณฑ์ค่าสอนอย่างนี้ ก็เป็นผลเสียคือ บางที อาจจะไม่มีใครมาสืบวิชา วิชากับครูก็เลยตายหายสูญไปด้วยกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 15:58
ขอบคุณคุณเพ็ญและคุณหลวงที่มาร่วมวง ทุ่นแรงดิฉันไปได้มาก

ก็อย่างที่คุณหลวงพูด  คือวิชาของทิศาปาโมกข์ เก็บค่าเล่าเรียนแพง ด้วยมีจุดมุ่งหมาย

"ใช่ประสงค์ตรงทรัพย์สิ่งสุวรรณ                 แต่ป้องกันมิให้ไพร่ได้วิชา"

คือวิชานั้นมีไว้ให้ผู้สมควรจะได้เรียน     ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาเรียน    เรียกว่าเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับการศึกษาในปัจจุบัน

จุดมุ่งหมายของวิชาปี่ ก็เป็นนวัตกรรมของการเรียนยุคจักรๆวงศ์ๆทีเดียว

ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ                         จะรบรับสารพัดให้ขัดสน
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน                                            ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส                                      เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ                                  จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 16:10
สองพี่น้องเดินทาง

สิบห้าวันเดินในไพรสณฑ์                 ถึงตำบลบ้านหนึ่งใหญ่นักหนา  
เรียกว่าบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา      มีทิศาปาโมกข์อยู่สองคน

จากกรุงรัตนา (รัตนโกสินทร์) เดินทางมาถึงบ้านจันตคาม (เดาว่าสุนทรภู่น่าจะนึกให้อยู่ในเมืองเพชร  กรุงเทพ-เพชรบุรี ๑๒๓ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้า ๑๕ วัน เดินไปชมป่าหาอาหารไปวันละ ๘ - ๙ กิโลเมตร) อาจารย์ของพระอภัยมณีก็เป็นพราหมณ์รามราช พวกเดียวกับบรรพชนของสุนทรภู่

ฝ่ายครูเฒ่าพินทพราหมณ์รามราช        แสนสวาทรักใคร่มิได้หมอง
ให้ข้าไทใช้สอยคอยประคอง            เข้าในห้องหัดเพลงบรรเลงพิณ
แล้วพาไปยอดเขาให้เป่าปี่                ที่อย่างดีสิ่งใดก็ได้สิ้น
แต่เสือช้างกลางไพรถ้าได้ยิน            ก็ลืมกินน้ำหญ้าเข้ามาฟัง

เรียนหลักสูตรเร่งรัดอยู่ ๗ เดือนก็ได้ปริญญาดุริยางคศาสตร์บัณฑิต (สาขาเป่าขลุ่ย)

ประมาณเสร็จเจ็ดเดือนโดยวิตถาร       พระกุมารได้สมอารมณ์หวัง
สิ้นความรู้ครูประสิทธิ์ไม่ปิดบัง           จึงสอนสั่งอุปเท่ห์เป็นเล่ห์กล
ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ               จะรบรับสารพัดให้ขัดสน
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน                ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส           เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ         จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง

แล้วอาจารย์ก็มอบอุปกรณ์ประกอบวิชาชีพพร้อมคืนค่าเล่าเรียนให้

แล้วให้ปี่ที่เพราะเสนาะเสียง              ยินสำเนียงถึงไหนก็ใหลหลง
อวยพรพลางทางหยิบธำมรงค์           คืนให้องค์กุมาราแล้วว่าพลัน
ซึ่งดนตรีตีค่าไว้ถึงแสน                  เพราะหวงแหนกำชับไว้ขับขัน
ใช่ประสงค์ตรงทรัพย์สิ่งสุวรรณ         จะป้องกันมิให้ไพร่ได้วิชา
ต่อกษัตริย์เศรษฐีที่มีทรัพย์             มาคำนับจึงได้ดังปรารถนา
จึงคืนเข้าบุรีรักษ์นครา                  ให้ชื่นจิตพระบิดาและมารดร

ท่านอาจารย์พินทพราหมณ์รามราชมีวิญญาณของความเป็นครูโดยแท้

:D


                                                                  


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 09, 16:28
ขอบคุณคุณเพ็ญและคุณหลวงที่มาร่วมวง ทุ่นแรงดิฉันไปได้มาก :D

ถ้าคุณเทาชมพูไม่เริ่มก่อน  ผมก็เริ่มไม่ถูกเหมือนกัน   

สุนทรภู่เริ่มต้นเรื่องพระอภัยมณีด้วยการแสดงให้เห็นค่าของความรู้อย่างนี้  นับว่าแยบคายมาก  และเข้ากับยุคสมัยของท่านด้วย  เพราะรัชกาลที่ ๓ ก็ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เรื่องการรวบรวมความรู้ด้วยเช่นกัน

เอาเท่านี้ก่อน  รอคนที่เคยแลกเปลี่ยนความรู้ในกระทู้ขุนช้างขุนแผนเข้ามาร่วมวงอภิปรายให้บานปลายกว่านี้  ตอนนี้ไปอ่านพระอภัยมณีต่อก่อนครับ :)




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 16:42
ตั้งข้อสังเกตเพิ่มนิดหน่อย ว่าครูพราหมณ์ของเจ้าชาย   มีมาดโก้มาก 
นอกจากอยู่ตึกหลังใหญ่  ขนาด " ภูมิฐานเคหาโอฬารึก"   ไม่ได้อยู่เรือนฝากระดานอย่างชาวบ้าน   แล้วก็ยังนั่งเอนหลังพิงเก้าอี้ในยามว่าง  ไม่นั่งกับพื้นอย่างชาวบ้านอีกด้วย
คนไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓  ยังไม่นั่งเก้าอี้กัน   สะดวกกับนั่งบนพื้นมากกว่า   เฟอร์นิเจอร์อย่างเก้าอี้เป็นของหายากในบ้านช่องทั่วไป 
ไม่แน่ใจว่าเป็นจินตนาการของสุนทรภู่ หรือว่าท่านเคยเห็นพราหมณ์เมืองเพชร ญาติผู้ใหญ่ของท่านอยู่กันอย่างนั้นจริงๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 09, 10:15
มีกลอน ๒ วรรค ที่สะท้อนวัฒนธรรมแตกต่างไปจากไทยร่วมสมัยของสุนทรภู่  คือเมื่อศรีสุวรรณถอดแหวนให้เป็นค่าเล่าเรียน
แล้วถอดแหวนวงน้อยที่ก้อยขวา                       ให้พฤฒาทดแทนคุณสนองตาพราหมณ์เฒ่าเอาสำลีประชีรอง                     ขอดประคองไว้ในผมให้สมควร

ประชี  ก็คือแผ่สำลีออก    เพื่อรองรับแหวนไว้   แล้วขอดเก็บไว้ในมุ่นมวยผม   
วัฒนธรรมอย่างนี้ไม่มีในรัตนโกสินทร์ตอนต้น     เพราะคนไทยสมัยนั้นไว้ผมสั้นติดหนังหัวทั้งหญิงและชาย     จึงขอทิ้งคำถามไว้ว่าสุนทรภู่เห็นวัฒนธรรมข้างบนนี้มาจากของจริงที่ไหน       
ท่านเคยเห็นพราหมณ์เมืองเพชร ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายย่ายายของท่านทำหรือเปล่า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ธ.ค. 09, 11:35
อ้างถึง
แล้วถอดแหวนวงน้อยที่ก้อยขวา     ให้พฤฒาทดแทนคุณสนอง
ตาพราหมณ์เฒ่าเอาสำลีประชีรอง               ขอดประคองไว้ในผมให้สมควร

ประชี  ก็คือแผ่สำลีออก    เพื่อรองรับแหวนไว้   แล้วขอดเก็บไว้ในมุ่นมวยผม   
วัฒนธรรมอย่างนี้ไม่มีในรัตนโกสินทร์ตอนต้น     เพราะคนไทยสมัยนั้นไว้ผมสั้นติดหนังหัวทั้งหญิงและชาย     จึงขอทิ้งคำถามไว้ว่าสุนทรภู่เห็นวัฒนธรรมข้างบนนี้มาจากของจริงที่ไหน    ท่านเคยเห็นพราหมณ์เมืองเพชร ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายย่ายายของท่านทำหรือเปล่า

คิดว่า  สุนทรภู่คงเห็นจากพราหมณ์ที่กรุงเทพฯ นี่แหละครับ  เพราะธรรมเนียมพราหมณ์เมื่อได้บวชเป็นพราหมณ์โดยพิธีอุปนยายะแล้ว (จำไม่ได้ว่ามีหนังสืออะไรสักเล่ม บอกว่า พราหมณ์ไม่ได้บวชโดยพิธีอุปนยายะ แต่เป็นพิธีอย่างอื่น)  พราหมณ์นั้นจะไม่ตัดผมอีกเลย  พราหมณ์ที่เทวสถานโบสถ์ก็ยังถือธรรมเนียมเช่นนี้อยู่   พราหมณ์จึงมีผมยาวแต่ไม่ได้ปล่อยผมสยาย คงมุ่นผมเป็นมวยเอาไว้  จะปล่อยสยายก็ต่อเมื่อพราหมณ์ต้องเข้าร่วมเดินในกระบวนแห่พระศพหรือพระบรมศพเท่านั้น นัยว่าเป็นธรรมเนียมการไว้ทุกข์ของพราหมณ์มาแต่โบราณ  (ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  พราหมณ์ที่ร่วมเดินในกระบวนแห่พระโกศพระศพมาที่พระเมรุท้องสนามหลวง ก็สยายผมไว้ทุกข์เช่นกัน)  การที่พราหมณ์ไว้ผมยาวและมุ่นเป็นมวยไว้เช่นนี้  คงเป็นธรรมเนียมพราหมณ์มาแต่อินเดีย และได้ถ่ายทอดมาถึงไทยและดินแดนข้างเคียง  ซึ่งก็มีหลักฐานเป็นภาพสลักภาพวาดพราหมณ์มุ่นมวยผม

ในพุทธประวัติ หลังจากที่ได้มีการถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าแล้ว  เกิดเหตุกษัตริย์เมืองต่างๆ จำนวน ๘ เมือง พากันยกทัพมาที่เมืองกุสินารา ซึ่งเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและเป็นเมืองที่ถวายพระเพลิงพระสรีระ   ด้วยหมายจะมาขอแบ่งพระอังคารพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์มัลละ ที่ปกครองเมืองกุสินารานั้น  แต่กษัตริย์ไม่ยอมแบ่งให้  เหตุการณ์ท่าจะบานปลายก็มีพราหมณ์ชื่อโทณะมาห้ามศึกเสียก่อน  โดยโทณพราหมณ์ได้เป็นคนกลางตวงพระอังคารและพระสารีริกธาตุแบ่งให้แก่กษัตริย์โดยเท่ากันทุกเมือง   ในขณะที่โทณพราหมณ์กำลังตวงแบ่งพระบรมธาตุอยู่นั้น  พราหมณ์ได้ลักหยิบเอาพระทาฒธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)องค์หนึ่งซ่อนใส่ไว้ในมวยผมของพราหมณ์หมายจะเอาไปเป็นของตนเอง  พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ทำเช่นนั้นก็เหาะลงมาเอาพระเขี้ยวแก้วที่พราหมณ์ซ่อนในมวยผมนั้นแล้วเชิญพระเขี้ยวแก้วนั้นไปไว้ในพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  แสดงว่าการซ่อนสิ่งของในมวยผมของพราหมณ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยมีมานานแล้วครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 09, 14:01
เยี่ยมมากค่ะ อธิบายได้ชัดเจน

จบบทบาทของพราหมณ์เฒ่าแห่งจันตคามแล้วก็จริง      สุนทรภู่ก็ไม่ทิ้งพราหมณ์อยู่ดี
พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณถูกขับไล่จากเมือง  โทษฐานไปเรียนวิชาเอนเทอร์เทน และวิชา ร.ด. ไม่สมกับเป็นลูกกษัตริย์
จากนั้น สุนทรภู่ก็ปล่อยบทพราหมณ์ออกมาอีก ๓ คน  คือพราหมณ์หนุ่มชื่อโมรา สานน  และวิเชียร
พราหมณ์โมราเสกสำเภายนต์ แล่นในทะเลและขึ้นบกได้     สานนเรียกลมฝนได้  ส่วนวิเชียรยิงธนูได้ทีละ ๗ ดอก
คุณสมบัติของทั้งสาม เหมาะกับการสู้รบผจญภัย ก็เลยได้เป็นตัวละครยืนโรงไปตลอดเรื่อง  มีบทให้เล่นไม่ขาดตอน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 09, 13:53
หลังจากถูกขับออกจากวัง สองพี่น้องเดินทางกลางป่ามาเดือนเศษ ผ่านช่องสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกสู่ชายทะเลฝั่งอันดามันในพม่า (ที่ต้องเป็นฝั่งอันดามัน เพราะเหตุการณ์ต่อไปจะเกิดในทะเลอันดามันทั้งสิ้น)

แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ      ออกพ้นเขตเงาไม้ไพรสิงขร  
ถึงเนินทรายชายทะเลชโลธร            ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง
ค่อยย่างเหยียบเลียบริมทะเลลึก         ถึงร่มพฤกษาไทรดังใจหวัง
ทั้งสองราล้าเหนื่อยกำลัง                 ลงหยุดนั่งนอนเล่นเย็นสบาย

ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนออกตระเวณหาม้าคู่ใจ แล้วได้ม้าสีหมอก ก็กล่าวถึงช่องสิงขร ฝูงม้าเทศมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด แล้วต้อนฝูงผ่านช่องสิงขรไปกุยบุรี, ปราณบุรี, ชะอำ เลี้ยงไว้ที่เมืองเพชรบุรี มีกลอนเสภาว่า

มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด        ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า
กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา    ผ่านชะอำถึงท่าเพชรบุรี

พระอภัยมณีศรีสุวรรณพบสามพราหมณ์และผีเสื้อสมุทรก็ที่ชายทะเลฝั่งอันดามันนี้เอง

 :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ธ.ค. 09, 14:25
สุนทรภู่สร้างตัวละครพราหมณ์ทั้งสาม วิเชียร โมรา สานน ขึ้นมา  คล้ายๆกับว่าจะให้มาเป็นพี่เลี้ยงของศรีสุวรรณหลังจากที่ต้องพลัดพรากกับพระอภัยมณีแล้ว  พราหมณ์ทั้งสามมีส่วนช่วยให้ศรีสุวรรณได้พบรักกับผู้หญิง  จะบอกว่าช่วยเหลือแทบทุกอย่างก็ว่าได้  ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับพี่เลี้ยงทั้ง ๔ ของอิเหนา  ผิดกะพระอภัยมณี ไม่มีพี่เลี้ยงช่วยคิด ผจญภัยด้วยตนเองตลอดเรื่อง (แต่ก็ได้ลูกชายช่วยเหลือแทน)

พราหมณืวิเชียรที่ยิงธนูได้ทีละ ๗ ดอก นับว่าเป็นคนที่มีกำลังแขนดีเยี่ยม  เพราะถ้ากำลังแขนไม่ดีพอ ก็ไม่สามารถยิงธนูทั้ง ๗ ดอกออกจากคันธนูไปตกตามที่หมายได้

ส่วนพราหมณ์สานนเรียกลมฝนได้  ทำให้นึกถึงขงเบ้งตอนที่เรียกลมเผากองทัพเรือของโจโฉ ในเรื่องสามก๊ก  แต่ขงเบ้งไม่ได้ใช้มนตร์อะไร  เพียงแต่ขงเบ้งรู้จักดินฟ้าอากาศมากกว่าคนอื่นในเรื่องเท่านั้น

อ้างถึง
พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณถูกขับไล่จากเมือง  โทษฐานไปเรียนวิชาเอนเทอร์เทน และวิชา ร.ด. ไม่สมกับเป็นลูกกษัตริย์

กรณีศรีสุวรรณเรียนวิชากระบอง  คงไม่เหมือนวิชา ร.ด. วิชาร.ด.ไม่มีการเรียนกระบอง  แต่น่าจะเหมือนวิชาลูกเสือสำรองมากกว่า  เพราะลูกเสือสำรองใช้พลอง :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 09, 16:00
แผนที่แสดงตำแหน่งสถานที่ต่าง ๆ ในเรื่องพระอภัยมณี เสนอโดย "กาญจนาคพันธุ์" (ขุนวิจิตรมาตรา) เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 09, 16:29
แผนที่นี้ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เมืองผลึกถูกย้ายตำแหน่งลงมา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 09, 09:38
เชื่อหรือไม่ - Believe It or Not!

พระอภัยมณีเองก็เป็นพราหมณ์

ขออนุญาตเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง ชื่อ ปทกุสลมาณวชาดก ตอนต้นของนิทานชาดกเรื่องนี้คล้ายกับชีวิตของพระอภัยมณีตอนที่มีความสัมพันธ์กับนางผีเสื้อสมุทรจนมีสินสมุทร และได้บุตรชายคนนี้พาหนีจากแม่

ในเรื่องนี้ พระอภัยมณี คือ พราหมณ์  นางผีเสื้อสมุทร คือ ยักษิณี  และสินสมุทร คือ พระโพธิสัตว์

มีเรื่องราวเป็นเช่นนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระอัครมเหสีของพระองค์ประพฤตินอกใจ เมื่อพระราชาตรัสถามก็สบถสาบานว่า ถ้าหม่อมฉันประพฤตินอกใจพระองค์ ขอให้หม่อมฉันเป็นยักษิณีมีหน้าเหมือนม้า.

ต่อจากนั้น พระนางได้สิ้นพระชนม์ เกิดเป็นยักษิณีมีหน้าเหมือนม้า ที่เชิงเขาแห่งหนึ่งอยู่ในคูหา จับมนุษย์ที่สัญจรไปมาในดงใหญ่ ในทางที่ไปจากต้นดงถึงปลายดง เคี้ยวกินเป็นอาหาร ได้ยินว่านางยักษิณีนั้นไปบำเรอท้าวเวสวัณอยู่ ๓ ปี ได้รับพรให้เคี้ยวกินมนุษย์ได้ในที่ยาว ๓๐ โยชน์ กว้าง ๕ โยชน์.

อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์รูปงามคนหนึ่งเป็นผู้มั่งคั่งมีโภคทรัพย์มาก แวดล้อมไปด้วยมนุษย์จำนวนมาก เดินมาทางนั้น นางยักษิณีเห็นดังนั้นก็มีความยินดีจึงวิ่งไป พวกมนุษย์ผู้เป็นบริวารพากันหนีไปหมด นางยักษิณีวิ่งเร็วอย่างลม จับพราหมณ์ได้แล้วให้นอนบนหลังไปคูหา เมื่อได้ถูกต้องกับบุรุษเข้าก็เกิดสิเนหาในพราหมณ์นั้นด้วยกิเลส จึงมิได้เคี้ยวกินเขาเอาไว้เป็นสามีของตน แล้วทั้ง ๒ ต่างก็อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีตั้งแต่นั้นมา นางยักษิณีก็เที่ยวจับมนุษย์ถือเอาผ้า ข้าวสารและน้ำมันเป็นต้น มาปรุงเป็นอาหารมีรสเลิศต่างๆ ให้สามี ตนเองเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ เวลาที่นางจะไปไหนนางได้เอาหินแผ่นใหญ่ปิดประตูถ้ำก่อนแล้วจึงไป เพราะกลัวพราหมณ์จะหนี

เมื่อเขา ๒ คนอยู่กันอย่างปรีดาปราโมทย์เช่นนี้ พระโพธิสัตว์เคลื่อนจากฐานะที่พระองค์เกิด มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางยักษิณีนั้น เพราะอาศัยพราหมณ์ พอล่วงไปได้ ๑๐ เดือน นางยักษิณีก็คลอดบุตร นางได้มีความสิเนหาในบุตรและพราหมณ์มาก ได้เลี้ยงดูคนทั้งสองเป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อบุตรเจริญวัยแล้ว นางยักษิณีได้ให้บุตรเข้าไปภายในถ้ำพร้อมกับบิดาแล้วปิดประตูเสีย

ครั้นวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์รู้ว่านางยักษิณีนั้นไปแล้ว จึงได้เอาศิลาออกพาบิดาไปข้างนอก นางยักษิณีมาถามว่า ใครเอาศิลาออก เมื่อพระโพธิสัตว์ตอบว่า ฉันเอาออกจ้ะแม่ ฉันไม่สามารถนั่งอยู่ในที่มืด นางก็มิได้ว่าอะไรเพราะรักบุตร.

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ถามบิดาว่า พ่อจ๋า เหตุไรหน้าของแม่ฉันจึงไม่เหมือนหน้าของพ่อ. พราหมณ์ผู้เป็นบิดากล่าวว่า ลูกรัก แม่ของเจ้าเป็นยักษิณีที่กินเนื้อมนุษย์ เราสองพ่อลูกนี้เป็นมนุษย์. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พ่อจ๋า ถ้าเช่นนั้นเราจะอยู่ในที่นี้ทำไม ไปเถิดพ่อ เราไปแดนมนุษย์กันเถิด. พราหมณ์ผู้เป็นบิดากล่าวว่า ลูกรัก ถ้าเราหนีแม่ของเจ้าก็จักฆ่าเราทั้งสองเสีย พระโพธิสัตว์พูดเอาใจบิดาว่า อย่ากลัวเลยพ่อ ฉันรับภาระพาพ่อไปให้ถึงแดนมนุษย์.

ครั้นวันรุ่งขึ้น เมื่อมารดาไปแล้วได้พาบิดาหนี นางยักษิณีกลับมาไม่เห็นคนทั้งสองนั้น จึงวิ่งไปเร็วอย่างลม จับคนทั้งสองนั้นได้แล้วกล่าวว่า พราหมณ์ ท่านหนีทำไม ท่านอยู่ที่นี้ขาดแคลนอะไรหรือ? เมื่อพราหมณ์กล่าวว่า น้องรัก เธออย่าโกรธพี่เลย ลูกของเธอพาพี่หนีดังนี้ นางก็มิได้ว่าอะไรแก่เขา เพราะความสิเนหาในบุตร ปลอบโยนคนทั้งสองให้เบาใจแล้วพาไปยังที่อยู่ของตน. ในวันที่ ๓ นางยักษิณีก็ได้นำคนทั้งสองซึ่งหนีไปอยู่อย่างนั้นกลับมาอีก.

พระโพธิสัตว์คิดว่า แม่ของเราคงจะมีที่ที่เป็นเขตกำหนดไว้ ทำอย่างไรเราจึงจะถามถึงแดนที่อยู่ในอาณาเขตของแม่นี้ได้ เมื่อถามได้เราจักหนีไปให้เลยเขตแดนนั้น. วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์กอดมารดานั่งลง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง แล้วกล่าวว่า แม่จ๋า ธรรมดาของที่เป็นของแม่ย่อมตกอยู่แก่พวกลูก ขอแม่ได้โปรดบอกเขตกำหนดพื้นดินที่เป็นของแม่แก่ฉัน นางยักษิณีบอกที่ซึ่งยาว ๓๐ โยชน์ กว้าง ๕ โยชน์ มีภูเขาเป็นต้นเป็นเครื่องหมายในทิศทั้งปวงแก่บุตร แล้วกล่าวว่า ลูกรัก เจ้าจงกำหนดที่นี้ซึ่งมีอยู่เพียงเท่านี้ไว้

ครั้นล่วงไปได้สองสามวัน เมื่อมารดาไปดงแล้ว พระโพธิสัตว์ได้แบกบิดาขึ้นคอวิ่งไปโดยเร็วอย่างลม ตามสัญญาที่มารดาให้ไว้ ถึงฝั่งแม่น้ำอันเป็นเขตกำหนด นางยักษิณีกลับมาเมื่อไม่เห็นคนทั้งสอง ก็ออกติดตาม พระโพธิสัตว์พาบิดาไปถึงกลางแม่น้ำ นางยักษิณีไปยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ รู้ว่าคนทั้งสองล่วงเลยเขตแดนของตนไปแล้ว จึงยืนอยู่ที่นั้นเอง วิงวอนบุตรและสามีว่า ลูกรัก เจ้าจงพาพ่อกลับมา แม่มีความผิดอะไรหรือ? อะไร ๆ ไม่สมบูรณ์แก่พวกท่าน เพราะอาศัยเราหรือ? กลับมาเถิด ผัวรัก ดังนี้.

ลำดับนั้น พราหมณ์ได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว นางยักษิณีวิงวอนบุตรว่า ลูกรัก เจ้าอย่าได้ทำอย่างนี้ เจ้าจงกลับมาเถิด. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า แม่ ฉันและพ่อเป็นมนุษย์ แม่เป็นยักษิณี ฉันไม่อาจอยู่ในสำนักของแม่ได้ตลอดกาล ฉะนั้น ฉันกับพ่อจักไม่กลับ. นางยักษิณีถามว่า เจ้าจักไม่กลับหรือลูกรัก. พระโพธิสัตว์ตอบว่า ใช่ ลูกจะไม่กลับดอกแม่ นางยักษิณีกล่าวว่า ลูกรัก ถ้าเจ้าจักไม่กลับก็ตามเถิด ขึ้นชื่อว่าชีวิตในโลกนี้เป็นของยาก คนที่ไม่รู้ศิลปวิทยาไม่อาจที่จะดำรงชีพอยู่ได้ แม่รู้วิชาอย่างหนึ่งชื่อจินดามณี ด้วยอานุภาพของวิชานี้อาจที่จะติดตามรอยเท้าของผู้ที่หายไปแล้วสิ้น ๑๒ ปีเป็นที่สุด วิชานี้จักเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตเจ้า ลูกรัก เจ้าจงเรียนมนต์อันหาค่ามิได้นี้ไว้ ว่าดังนั้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ถูกความทุกข์เห็นปานนั้นครอบงำ นางก็ได้สอนมนต์ให้ด้วยความรักลูก.

พระโพธิสัตว์ยืนอยู่ในแม่น้ำนั่นเอง ไหว้มารดาแล้วประณมมือเรียนมนต์ ครั้นเรียนได้แล้วได้ไหว้มารดาอีก แล้วกล่าวว่า แม่ ขอแม่จงไปเถิด นางยักษิณีกล่าวว่า ลูกรัก เมื่อเจ้าและพ่อของเจ้าไม่กลับ ชีวิตของแม่ก็จักไม่มี แล้วกล่าวคาถาว่า :-

ลูกรัก เจ้าจงมาหาแม่ จงกลับไปอยู่กับแม่เถิด อย่าทำให้แม่ไม่มีที่พึ่งเลย เมื่อแม่ไม่ได้เห็นลูกก็ต้องตายในวันนี้.

ครั้นกล่าวแล้ว นางยักษิณีได้ทุบหน้าอกของตนเอง ทันใดนั้น หทัยของนางได้แตกทำลาย เพราะความเศร้าโศกถึงบุตร นางตายแล้วล้มลงไปในที่นั้นนั่นเอง. ขณะนั้น พระโพธิสัตว์ทราบว่ามารดาตาย จึงเรียกบิดาไปใกล้มารดาแล้วทำเชิงตะกอนเผาศพมารดา

http://www.84000.org/tipitaka/atita100/jataka500.php?s=432

สุนทรภู่คงเคยได้ยินหรือเคยอ่านนิทานชาดกเรื่องนี้บ้างแล้วนำมาผูกเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสามคน พ่อ แม่ ลูก

พระอภัยมณีก็เคยเป็นพราหมณ์ก็ด้วยหลักฐานดังนี้แล

 ;D









กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 09, 09:34
อ้างถึง
กรณีศรีสุวรรณเรียนวิชากระบอง  คงไม่เหมือนวิชา ร.ด. วิชาร.ด.ไม่มีการเรียนกระบอง  แต่น่าจะเหมือนวิชาลูกเสือสำรองมากกว่า  เพราะลูกเสือสำรองใช้พลอง


ท้าวสุทัศน์ ประณามวิชากระบี่กระบองของลูกชายตามนี้ค่ะ

อันวิชาอาวุธแลโล่เขน                    ชอบแต่เกณฑ์ศึกเสือเชื้อทหาร
ก็เลยเทียบกับร.ด.

กำลังอยากได้ตัวอย่างจากภูมิศาสตร์สุนทรภู่อยู่พอดี  คุณเพ็ญชมพูก็เอามาลงให้ :D
ดูจากแผนที่ที่สุจิตต์ ทำไว้  ยังไม่เชื่อว่า กรุงรัตนา คือรัตนโกสินทร์       เพราะอ่านจากที่สุนทรภู่บรรยาย เชื่อว่าท่านไม่มีภาพของกรุงเทพอยู่ในใจ    ผิดกับกรุงกุเรปันของอิเหนาที่จำลองกรุงเทพมาชัดๆ
ลองอ่านคำบรรยายกรุงรัตนา นะคะ

อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์                       ภูเขาโขดเป็นกำแพงบูรีศรี
เมืองหลวงทั้งอยุธยาและกรุงเทพ   ไม่มีภูเขาล้อมรอบ      มีแต่แม่น้ำ
นอกจากนี้ สังเกตว่า เมื่อพระอภัยมณีและศรีสุวรรณออกจากกรุงรัตนาไปเรียนหนังสือ   เดินป่าฝ่าดงไปตลอดทาง   ไม่มีเส้นทางน้ำเลย
ทั้งๆตอนที่สุนทรภู่ออกจากกรุงเทพ ไม่ว่าไปเมืองแกลงหรือพระประธม  เดินทางทางน้ำทั้งนั้น
กรุงรัตนาเห็นทีจะเป็นที่ดอน  มีภูเขาล้อม

เจ้าชายสององค์  ตอนออกจากเมืองไปเรียนหนังสือ ระบุว่าออกไปทางทิศบูรพา    แสดงว่าเมืองอยู่ทางตะวันตก  เพราะถ้ากรุงรัตนาอยู่ที่กรุงเทพ จะออกไปจากเมือง ไปเพชรบุรี หรือไปด่านสิงขรก็ตาม   ต้องไปทางตะวันตก ไม่ใช่ตะวันออก

เลยสงสัยว่ากรุงรัตนาในใจสุนทรภู่  โลเคชั่น น่าจะเป็นเมืองกาญจนบุรี   มากกว่ากรุงเทพ ค่ะ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 09, 11:21
มีเรื่องเล่ากันมาว่า (๑)ก่อนที่สุนทรภู่จะเขียนเรื่องพระอภัยมณีเป็นนิทานกลอนเรื่องยาวนี้ เคยเขียนเป็นบทละครมาก่อนตามการขอร้องจากเจ้าเมืองเพชรบุรีที่ต้องการให้มีละครเล่นในจวน โดยเขียนตั้งแต่ตอนต้นไปจบลงตอนผีเสื้อสมุทรพาพระอภัยไปไว้ในถ้ำ

ชื่อตัวละครและพล็อตของเรื่อง สุนทรภู่ก็เอามาจากชื่อเพื่อนที่เมืองเพชรสองคนคือนายแก้วและนายทอง นายแก้วมีความสามารถในการเป่าปี่ ส่วนนายทองเก่งทางกระบี่กระบอง ครั้งหนึ่งมีงานเลี้ยง เพื่อนของนายแก้วและนายทอง ๓ คนคือ นายหลาย นายสาย และนายเพชร มาร่วมงานด้วย เมื่อเสร็จงานเลี้ยงทั้งหมดได้พากันออกเรือซึ่งเป็นของนายหลายไปเที่ยวกัน เผอิญเกิดพายุพัดเรือล่ม นายแก้วหายสาบสูญไปในทะเล ส่วนคนอื่นรอดชีวิต

นายแก้ว คือ พระอภัยมณี  นายทอง คือ ศรีสุวรรณ นายหลาย คือ โมรา นายสาย คือ สานน และนายเพชร คือ วิเชียร

ส่วน กรุงรัตนา ก็คือ เมืองเพชรบุรี(๒)

(๑) เป็นคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เมืองเพชร กาญจนาภรณ์ เขียนไว้ในเรื่อง ที่มาของเรื่องพระอภัยมณี วิทยาสาร ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓๖ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๐๖

(๒) รัตนา กับ เพชร มีความหมายนัยเดียวกัน    อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์   ภูเขาโขดเป็นกำแพงบูรีศรี  ที่บรรยายถึงเมืองรัตนาในนิทานคำกลอน ก็มาจากคำบรรยายกรุงรัตนาในบทละคร นั่นเอง


เชื่อหรือไม่ - Believe It or Not!

;D



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ธ.ค. 09, 13:06
อ่านต้นเค้าเรื่องพระอภัยมณีที่คุณเพ็ญชมพูนำมาเล่า  เป็นลักษณะคำบอกเล่าสืบต่อกันมา อาจจะเป็นเรื่องที่มีเค้าความเป็นจริงอยู่บ้าง  แต่ถ้าจะให้พิสูจน์เห็นจะคว้าน้ำเหลวล่ะกระมัง   จริงๆ ในนิราศเมืองเพชรบุรีที่สุนทรภู่แต่งนั้น สุนทรภู่ได้เล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่สุนทรภู่ออกมาอยู่ที่เมืองเพชรบุรี  ซึ่งไม่รู้แน่ว่าเป็นเวลานานเท่าใด  แต่ก็นานพอที่จะให้เวลาสุนทรภู่ทำความรู้จักสาวเมืองเพชรบุรีได้หลายคนทีเดียว.

เรื่องเมืองรัตนา  เข้าใจว่า  สุนทรภู่คงเอามาจากความจริงและจินตนาการมาผสมกัน   ทิศทางบางทีก็ต้องเอาโดยอนุมาน กรุงรัตนาอาจจะเป็นเมืองเพชรบุรีผสมกับกรุงเทพฯก็เป็นได้กระมัง

สงสัยเรื่องหนึ่ง  คำว่า "พราหมณ์" ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ท่านใช้ในบริบทหลากหลายมากทีเดียว  จะบอกว่า พราหมณ์  หมายเอาเฉพาะชนชาติที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องเสียทีเดียว  ที่สำคัญ คนไทยสมัยนั้น เอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่งว่าใครเป็นพราหมณ์ ใครเป็นแขก อย่างไร ?? ???


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 09, 14:40
ถ้าจับเค้าประวัติสุนทรภู่เกี่ยวกับเมืองเพชร  มีกระทู้เก่า นิราศเมืองเพชร ให้หาอ่านได้
ในนั้นบอกให้รู้ว่า รู้จักเมืองเพชรมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่    สร้างตำนานกับสาวๆไว้หลายคน ขนาดพาหนีไปอยู่ในถ้ำด้วยกันก็ยังมี
อ้างถึง
คำว่า "พราหมณ์" ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ท่านใช้ในบริบทหลากหลายมากทีเดียว  จะบอกว่า พราหมณ์  หมายเอาเฉพาะชนชาติที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องเสียทีเดียว 
ช่วยขยายความหน่อยได้ไหมคะ

จะรู้ว่าใครเป็นพราหมณ์  น่ะหรือคะ?
ไม่รู้ว่าพราหมณ์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่งตัวยังไง   ถ้านุ่งขาวห่มขาวก็คงดูออกมาแต่ไกล   แต่ถ้าแต่งเหมือนชาวชมพูทวีปทั่วไปเพียงแต่อยู่ในวรรณะพราหมณ์  คงต้องทำความรู้จักมักคุ้นกันก่อนถึงจะรู้ 
ถ้าวงศ์ญาติฝ่ายย่ายายของสุนทรภู่เป็นเชื้อพราหมณ์รามราช   ก็ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่  มีศาลเทวาลัย   คงจะมีผู้ชายไว้ผมยาวเกล้ามวย  แต่งตัวตามถิ่นฐานดั้งเดิม  พูดภาษาฮินดูบ้างละมั้ง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 09, 15:14
สุนทรภู่ใช้เมืองเพชรเป็นโลเคชั่นสำหรับกรุงรัตนาตั้งแต่ยังเป็นบทละครจนมาเป็นนิทานคำกลอนเสียแล้ว  คงจะเสียดายโลเคชั่นของกรุงเทพเมืองฟ้าอมร ดังนั้นเมืองที่สองที่ระบุถึงในเรื่องพระอภัยมณีจึงเป็นกรุงเทพเต็มอัตรา

ตอนศรีสุวรรณกับสามพราหมณ์ตามหาพระอภัยมณี จนไปในเมืองรมจักร นายด่านพาชมเมือง

พราหมณ์หัวเราะรับคำที่ร่ำสั่ง                       พลางชมวังนิเวศน์ประเทศสถาน
งามปราสาทผาดเยี่ยมโพยมมาน                   ชัชวาลแก้วเก้าวะวาวตา
มีบ้านช่องสองแถวแนวถนน                        ทั้งผู้คนคึกคักกันนักหนา
มีโรงรถคชไกรไอยรา                              สนามหน้าจักรวรรดิ์ที่หัดพล
ที่ท้ายวังตั้งล้วนแต่ตึกกว้าน                        บ้างนั่งร้านสองแถวแนวถนน
นายด่านพาผ่านตลาดต้องหลีกคน                  ประชาชนซื้อหาพูดจากัน

วังนิเวศน์ประเทศสถาน งามปราสาทผาดเยี่ยมโพยมมาน ชัชวาลแก้วเก้าวะวาวตา คือ พระบรมมหาราชวังแน่นอน

ต่อไปขอให้ชมภาพข้างล่าง นำเที่ยวโดยคุณพิพัฒน์ ขออนุญาตคัดมาลงไว้

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1871.msg35280#msg35280

ประเพณีหัดแถวทหารนี่ใหม่เอี่ยมเลยนะครับ ผมไม่เคยเจอก่อนรัชกาลที่ ๔ และไม่เคยเจอว่าสนามหน้าจักรวรรดิ์ ซึ่งก็คือสนามไชย อย่างในรูปนี้ เคยเอามาใช้เป็นที่ฝึกทหาร นอกจากในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า

ตรงมุมซ้ายบน ก็คือบ้านช่องสองแถวแนวถนน
ตรงกลางคอร์ทในเขตรั้วล้อมก็ โรงรถคชไกรไอยรา  
ที่นี่ต่อมากลายเป็นราบ ๔ ทหารรักษาพระองค์ที่รับผิดชอบพระราชฐานโดยตรง น ณ ปากน้ำ เคยบอกว่าเป็นโรงม้าแซง ก็ดูเข้าเค้ากันดี

สุดท้ายตลาดท้ายวังก็เห็นทีจะเป็นตลาดท่าเตียนนั่นเอง

 ;)






กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ธ.ค. 09, 15:38
อ้างถึง
ถ้าวงศ์ญาติฝ่ายย่ายายของสุนทรภู่เป็นเชื้อพราหมณ์รามราช   ก็ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่  มีศาลเทวาลัย   คงจะมีผู้ชายไว้ผมยาวเกล้ามวย  แต่งตัวตามถิ่นฐานดั้งเดิม  พูดภาษาฮินดูบ้างละมั้ง

ที่เพชรบุรี อย่าว่าแต่เทวาลัยเลยครับ  กระทั่งเสาชิงช้าก็มี  แต่เดี๋ยวนี้หาดูไม่ได้แล้ว  คงเหลือชื่อสถานที่ เช่นวัดสนามพราหมณ์ ที่พอจะยืนยันว่ามีพราหมณ์ที่เพชรบุรีมาก่อน  

แต่ข้อที่ว่า  ผู้ชายที่มีเชื้อพราหมณ์ไว้ผมยาวนั้น เข้าใจว่าคงจะเป็นเฉพาะพราหมณ์ที่เป็นนักบวชหรือพราหมณ์ที่ประกอบพิธี  ส่วนที่มีเชื้อสายแต่ไม่ได้บวชพรตเป็นพราหมณ์ก็คงไว้ผมสั้นอย่างไทย  (อันนี้ไม่แน่ใจนัก  แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น) อันที่จริงคนที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ที่อินเดียคงไม่ได้แต่งกายแปลกกว่าคนในวรรณะอื่น  (ยกเว้นนักบวชที่มีเครื่องแต่งกายเป็นสัญลักษณ์)  บางทีถ้าเดินตามท้องถนนอาจจะดูไม่ออกว่าใครอยู่วรรณะไหน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะด้วย  พราหมณ์เองไม่ใช่ว่าจะมีฐานะดีเสมอกันทั้งหมด   พราหมณ์ที่ยากจนเป็นขอทานอย่างชูชกก็มีเหมือนกัน

ในหนังสือนางนพมาศ กล่าวถึงการจำแนกชนชาติต่างๆเอาไว้ มีการจำแนกพวกพราหมณ์แต่ละภาษาไว้ด้วย

...พราหมณ์วัยธึกภาษา๑  พราหมณ์เวรำมะเหศรภาษา๑ พราหมณ์อะวะดารภาษา๑ พราหมณ์บรมเทสันตรีภาษา๑ พราหมณ์พญารีภาษา๑ พราหมณ์พฤฒิบาศภาษา๑ พราหมณ์พาราณสีภาษา๑ พราหมณ์อรรคีคณเวศภาษา๑...

อันนี้แสดงจะว่า พราหมณ์ที่อยู่ในเมืองไทยน่ามีหลายกลุ่ม  คนสมัยก่อนท่านจึงเอาภาษาที่ใช้สื่อสารของพราหมณ์เหล่านั้นเป็นเกณฑ์ในจำแนกกลุ่มพราหมณ์ใช่หรือไม่  

เมื่อเป็นดังนั้น  พราหมณ์  นอกจากจะหมายผู้ที่เป็นนักบวชนุ่งขาวห่มขาว รักษาศีล  (จะถือพรหมจรรย์ด้วยหรือไม่ก็ตาม) น่าจะหมายถึงชนต่างเชื้อชาติที่ใช้ภาษากลุ่มหนึ่งที่ไช่ภาษาไทย  (สมัยก่อนโอการแช่งน้ำ  ที่พราหมณ์อ่านในการถือน้ำ เรียกว่า โองการแช่งน้ำภาษาพราหมณ์ ทั้งๆที่ความจริงเป็นภาษาไทยที่เขียนด้วยอักษณคฤนถ์บ้าง อักษรทมิฬบ้าง  คนไทยโดยมากอ่านไม่ออกเลยว่าเป็นภาษาพราหมณ์ไป หนักเข้าก็ว่าเป็นภาษสันสกฤตก็มี  แล้วก็มีการแต่งโองการแช่งน้ำร้อยแก้วเป็นภาษาไทยขึ้นให้อาลักษณ์อ่านคู่กันในเวลาถือน้ำ)  


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ธ.ค. 09, 15:52
อ้างถึง
ประเพณีหัดแถวทหารนี่ใหม่เอี่ยมเลยนะครับ ผมไม่เคยเจอก่อนรัชกาลที่ ๔ และไม่เคยเจอว่าสนามหน้าจักรวรรดิ์ ซึ่งก็คือสนามไชย อย่างในรูปนี้ เคยเอามาใช้เป็นที่ฝึกทหาร นอกจากในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า

สนามหน้าจักรวรรดิ  เป็นชื่อในความทรงจำของคนในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  และคุ้นเคยกับท้องสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ปราสาท  ซึ่งเป็นที่ใช้ฝึกทหารสมัยกรุงเก่า และแห่สระสนาน ตลอดจนการอื่นๆอีกมาก   พอมาสมัยรัตนโกสินทร์คนที่อพยพมาแต่กรุงเก่าก็เอาชื่อสถานที่ในพระนครศรีอยุธยามาใช้เรียกชื่อสถานที่ในพระนครที่กรุงเทพฯด้วย  ไม่ใช่มีแต่ที่สนามจักรวรรดิ  ยังมีที่อื่นๆอีก เช่น คลองมหานาค วัดพระศรี(รัตนศาสดาราม) เป็นต้น   ชื่อที่เรียกว่า ท้องสนามไชย นั้น รัชกาลที่ ๔ เพิ่งทรงออกประกาศให้เรียกเมื่อ ๒๓๙๘ พร้อมกับประกาศให้เรียกทุ่งพระเมรุว่า ท้องสนามหลวง มีประกาศยืนยันได้ แต่ก่อนนั้นเข้าใจว่าไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ธ.ค. 09, 08:16
คุณหลวงเล็ก ความคิดเห็นที่ ๒๒

ในหนังสือนางนพมาศ กล่าวถึงการจำแนกชนชาติต่างๆเอาไว้ มีการจำแนกพวกพราหมณ์แต่ละภาษาไว้ด้วย

...พราหมณ์วัยธึกภาษา๑  พราหมณ์เวรำมะเหศรภาษา๑ พราหมณ์อะวะดารภาษา๑ พราหมณ์บรมเทสันตรีภาษา๑ พราหมณ์พญารีภาษา๑ พราหมณ์พฤฒิบาศภาษา๑ พราหมณ์พาราณสีภาษา๑ พราหมณ์อรรคีคณเวศภาษา๑...

อันนี้แสดงจะว่า พราหมณ์ที่อยู่ในเมืองไทยน่ามีหลายกลุ่ม  คนสมัยก่อนท่านจึงเอาภาษาที่ใช้สื่อสารของพราหมณ์เหล่านั้นเป็นเกณฑ์ในจำแนกกลุ่มพราหมณ์ใช่หรือไม่


ชนชาติที่นางนพมาศเรียกว่า พราหมณ์ นี้ ดูเหมือนจะจำกัดว่ามาจากชมพูทวีป โดยเฉพาะอินเดียตอนเหนือ นับถือศาสนาฮินดู  ส่วนชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลามมักเรียกว่า แขก

ในหนังสือเล่มเดียวกับที่คุณหลวงเล็กอ้าง ต่อจากพราหมณ์ภาษา

แขกอาหรับภาษา ๑ แขกมห่นภาษา ๑ แขกสุหนี่ภาษา ๑ แขกมั่งกะลี้ภาษา ๑ แขกมะเลลาภาษา ๑ แขกขุร่าภาษา ๑ แขกฮุยหุยภาษา ๑ แขกมลายูภาษา ๑ แขกมุหงิดภาษา ๑ แขกชวาภาษา ๑ แขกจามภาษา ๑ แขกพฤกษภาษา ๑

ส่วนพวกที่มาจากยุโรปและอเมริกาเรียกว่า ฝรั่ง

ฝรั่งเศสภาษา ๑ ฝรั่งวิลันดาภาษา ๑ ฝรั่งอังกฤษภาษา ๑ ฝรั่งพุทะเกตภาษา ๑ ฝรั่งมะริกันภาษา ๑ ฝรั่งอิศบันหยอดภาษา ๑ ฝรั่งการะหนี่ภาษา ๑ ฝรั่งสี่ส้องภาษา ๑

พุทะเกต = โปรตุเกส  อิศบันหยอด = สเปน  ส่วนการะหนี่และสี่ส้อง นี่ชาติไหนหนอ

 ???


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 09, 09:09
มาช่วยเดา
การะหนี่  = Germany
สี่ส้อง  ยังนึกไม่ออก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ธ.ค. 09, 09:16
พอคุณเพ็ญชมพูพูดถึงพราหมณ์อินเดียเหนือ  ทำให้นึกถึงเอกสารในสมัยรัชกาลที่ ๓ ชิ้นหนึ่ง  ชื่อว่า คำให้การพราหมณ์อัจจุตนันนำ  เอกสารชิ้นนี้เคยพิมพ์หลายครั้ง ครั้งหลังๆ เปลี่ยนชื่อเป็น  เมืองพาราณสี   เป็นบันทึกคำสอบถามพราหมณ์ชื่ออัจจุตนันนำเกี่ยวกับเรื่องเมืองอินเดีย  พราหมณ์คนดังกล่าวเดินทางมาจากเมืองพาราณสีมาทางหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย   พวกกรมการหัวเมืองปักษ์ใต้จึงเชิญพราหมณ์มาให้การเกี่ยวกับเมืองอินเดียแล้วจดส่งมาที่กรุงเทพฯ  ถ้าใครได้อ่านจะรู้ว่า คนไทยสมัยก่อนมีความรู้เกี่ยวกับอินเดียจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก   ในขณะเรื่องอินเดียที่เป็นปัจจุบันแทบไม่รู้เลย  เรื่องที่คนสอบถามจากพราหมณ์ผ่านล่ามแขกจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมที่อินเดียในเวลานั้น  แต่คงเป็นเพราะการสื่อความที่เข้าใจไปคนละทางเลยทำให้คำให้การดังกล่าวดูไม่น่าเชื่อถือ  คล้ายกับว่าพราหมณ์ที่ให้การเป็นพราหมณ์ที่ไม่ค่อยมีความรู้  

แต่ พราหมณ์พฤฒิบาศภาษา  เห็นท่าจะไม่ใช่พราหมณ์อินเดียเหนือเป็นแน่  คงเป็นพราหมณ์ไทยหรือเชื้อเขมร  ที่รู้วิชาจับช้างคชกรรม  แต่แปลกว่าทำไมเอาไปรวมกับพราหมณ์อินเดียเหนือ   ส่วนพราหมณ์ชาติภาษาที่เหลืออาจจะมีพวกพราหมณ์อินใต้บ้างกระมังครับ

เรื่องชนชาติต่างๆ ที่นางนพมาศจำแนกนี้  คงต้องไปอ่านหนังสือภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ ๓ เล่ม/ชุด ของกาญจนาคพันธุ์ เพิ่มเติมแล้วล่ะครับ  ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ธ.ค. 09, 09:25
อ้างถึง
มาช่วยเดา
การะหนี่  = Germany
สี่ส้อง  ยังนึกไม่ออก

ช่วยเดาด้วยคนครับ สี่ส้อง นี่เป็นพวกฝรั่ง Saxon ได้ไหมครับ ??? :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ธ.ค. 09, 09:28
         ฝรั่งเกาะลูซอน หมายถึงฝรั่งที่อยู่เมืองมะนิลา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะลูซอน,
เกาะลูซอน เรา ออกเสียงเป็น สีส่อง แล้วเพี้ยนเป็น สี่ส้อง

จาก  guru.sanook.com/dictionary/search/ฝรั่งสี่ส้อง/  ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ธ.ค. 09, 11:29
พวกเรือแตกที่ติดตามพระอภัยมณีจากเกาะแก้วพิสดารมาช่วยราชการที่เมืองผลึก และแล้วก็ถึงเวลากลับบ้าน

พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก                    ออกเส้นนอกแหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง
ไปกึงตั๋งกังจิ๋วจุนติ๋วเชียง                        เข้าลัดเลี่ยงอ้ายมุ้ยแล่นฉุยมา
ข้างพวกแขกแยกเยื้องเข้าเมืองเทศ            อรุมเขตคุ้มสุหรัดปัตนา
ไปปะหังปังกะเราะเกาะชวา                       มะละกากะเลหวังตรังกะนู

วิลันดามาแหลมโล้บ้านข้าม                     เข้าคุ้งฉลามแหลมเงาะเกาะราหู
อัดแจจามข้ามหน้ามลายู                        พวกญวนอยู่เวียดนามก็ข้ามไป
ข้างพวกพราหมณ์ข้ามไปเมืองสาวถี           เวสาลีวาหุโลมโรมวิสัย
กบิลพัสดุ์โรมพัสดุ์ถัดถัดไป                      เมืองอภัยสาลีเป็นที่พราหมณ์

ข้างพวกไทยได้ลมก็แล่นรี่                      เข้ากรุงศรีอยุธยาภาษาสยาม
พม่ามอญย้อนเข้าอ่าวภุกาม                     ฝรั่งข้ามฝากเข้าอ่าวเยียระมัน
ที่บางเหล่าก็เข้าอ่าววิลาส                       เมืองมะงาดมะงาดามะงาสวรรค์
ข้ามเกาะเชามาลีกะปิตัน                        หาพงศ์พันธุ์พวกพ้องพี่น้องตัว

พวกแขกไปบ้านเมืองที่นับถืออิสลาม  ขอให้สังเกตชื่อบ้านเมืองของพวกพราหมณ์ส่วนมากเป็นชื่อเมืองในอินเดียมีในพระไตรปิฎกที่คนไทยสมัยก่อนคุ้นเคย

และ เยียระมันของสุนทรภู่ก็คือ เยอรมัน นั่นเอง

 :)





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 09, 11:56
ที่บางเหล่าก็เข้าอ่าววิลาส                        เมืองมะงาดมะงาดามะงาสวรรค์
ข้ามเกาะเชามาลีกะปิตัน                        หาพงศ์พันธุ์พวกพ้องพี่น้องตัว

วิลาส = อังกฤษ
ชื่ออื่นๆเดาไม่ออกเลยค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 09, 12:45
อ่านเรื่องนี้ มองเห็นความสนใจของสุนทรภู่ ต่อชาติตะวันตก      น่าจะเป็นแนวโน้มใหม่ที่เข้ามาในตอนปลายของรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔
กลิ่นอายวรรณคดีโบราณมีอยู่ในตอนเริ่มแรก คือพระโอรสไปเรียนวิชา กลับมาบ้านเมือง
แต่บรรยากาศทางทะเล ที่มีตั้งแต่พระอภัยหนีนางผีเสื้อ  เป็นของใหม่ทีเดียว     ตั้งคำถามไว้อีกข้อหนึ่งว่า สุนทรภู่น่าจะเคยเดินทางทางทะเล มากกว่าแค่ออกปากอ่าวไปเมืองแกลง   อาจจะเคยท่องเที่ยวไปถึงอันดามันด้วย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ธ.ค. 09, 13:45
วิลาส = อังกฤษ
ชื่ออื่นๆเดาไม่ออกเลยค่ะ

ขออนุญาตแก้ไขคำว่า วิลาส เป็น วิลาศ ตามพจนานุกรม

วิลาด, วิลาศ ว. ที่เป็นของยุโรป (เป็นคําที่ชาวอินเดียในสมัยก่อนเรียกชาวตะวันตกโดยเฉพาะชาวอังกฤษ) เช่น สาคูวิลาด เหล็กวิลาด ผ้าวิลาศ. (เปอร์เซีย wilayat).

เชามาลี = ชวาบาหลี ?

ไมเคิล ไรท เคยตั้งข้อสงสัยว่าสุนทรภู่จะเคยไปลังกาพร้อมพระสงฆ์เมื่อรัชกาลที่ ๒ ส่งสมณทูตไปลังกา โดยอาศัยเรือพ่อค้าช้างที่ท่าเรือเมืองตรัง แล่นลัดตัดทะเลอันดามันไปอินเดียแล้วเข้าลังกา เลยเป็นเหตุให้แต่งพระอภัยมณีได้สมจริง ไม่ว่าเรื่องคลื่นลมในทะเลอันดามัน, เรือปืนของฝรั่ง, และภูมิประเทศเมืองลังกาของนางละเวงวันฬา, ฯลฯ

 :-[




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 09, 14:50
อาจจะโดยสารไปกับกัปตันเรือสินค้าในรัชกาลที่ ๓  เมื่อท่านพ้นจากราชการแล้วก็ได้ค่ะ   ไม่จำเป็นต้องไปกับพระสงฆ์
สังเกตจากรำพันพิลาป

แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ        ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา
ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา        แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี

ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตร์ถือสัจศิล           ใส่เพชรนิลแนมประดับสลับสี
แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี                     ชาวบุรีขี่รถบทจรฯ

แล้วจะใช้ใบไปดูเมืองสุหรัด             ท่าคลื่นซัดซึ้งวนชลสาย
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย        แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์

พื้นม่วงตองทองช้ำยำมะหวาด        ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม               เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา

จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร           ชมประเภทพราหมณ์แขกแปลกภาษา
ได้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา             ไปมังกล่าฝาหรั่งระวังตระเวณ

กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว        ตลบเลี้ยวแลวิ่งดั่งจิ้งเหลน
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน     เวียนตระเวณไปมาทั้งตาปีฯ

๏ เมืองมังกล่าฝาหรั่งอยู่ทั้งแขก        พวกเจ๊กแทรกแปลกหน้าทำภาษี
แลพิลึกตึกรามงามงามดี                  ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา

ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง        ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา                     วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย

แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ                  คนซื้อร้องเรียกหาจึ่งมาขาย
ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขมาย                ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ

นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น        เป็นสวนอินทผาลัมทับน้ำหวาน
รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล        ห้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง

ถึงขวบปีมีจั่นทำขวัญต้น                  แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง
แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง                ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย

บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตะล่ง        ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย
ไปชมเล่นเช่นฉันว่าประสาสบาย        บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์ฯ  


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ธ.ค. 09, 15:29
อ้างถึง
ไมเคิล ไรท เคยตั้งข้อสงสัยว่าสุนทรภู่จะเคยไปลังกาพร้อมพระสงฆ์เมื่อรัชกาลที่ ๒ ส่งสมณทูตไปลังกา โดยอาศัยเรือพ่อค้าช้างที่ท่าเรือเมืองตรัง แล่นลัดตัดทะเลอันดามันไปอินเดียแล้วเข้าลังกา เลยเป็นเหตุให้แต่งพระอภัยมณีได้สมจริง ไม่ว่าเรื่องคลื่นลมในทะเลอันดามัน, เรือปืนของฝรั่ง, และภูมิประเทศเมืองลังกาของนางละเวงวันฬา, ฯลฯ

ผมจำบทความเรื่องนี้ของคุณไมเคิล  ไรท  ได้ ลงในศิลปวัฒนธรรม  เมื่อราวปี ๒๕๔๗-๔๘  คุณไมค์เขียนได้พิสดารมาก มีหลักฐานแวดล้อมมาเทียบเคียงพอให้เชื่อตามได้  แต่ถ้าใครเคยอ่านบทความก่อนหน้าที่คุณไมค์จะเขียนบทความนี้  จะพอจับทางแนวคิดเรื่องที่คุณไมค์เอามาวิเคราะห์เป็นแนวคิดสุนทรภู่เคยไปลังกาได้  ก่อนหน้าที่คุรจะเขียนบทความเรื่องดังกล่าว  คุณไมค์เคยเขียนบทความเล่าเรื่องที่มีนักวิชาการชาวตะวันตกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเชคสเปียร์  อาจจะเป็นชาวอิตาลี(ซึ่งมีชื่อเป็นอย่างอื่นอยู่ก่อน-ซึ่งผมจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร) ที่ต่อมาหลบลี้หนีภัยการเมืองจากอิตาลีไปอยู่ที่อังกฤษ  โดยเปลี่ยนชื่อสวมรอยคนที่ชื่อเชคสเปียร์ซึ่งตายไปแต่ไม่มีคนรู้  และมีเจ้านายราชวงศ์อังกฤษหรือผู้มีอำนาจที่อังกฤษคอยช่วยเหลือ  โดยนักวิชาการชาวตะวันตกท่านนี้มีเอกสารหลักฐานยืนยันค่อนข้างหนักแน่นทีเดียว   คุณไมค์เก็บความจากบทความนักวิชาการชาวตะวันตกมาเล่าอีกที  จากนั้น ต่อมาอีกประมาณ ๒ ปี คุณไมค์จึงเขียนบทความนี้ (อาจจะเขียนไว้นานแล้วพร้อมๆกับบทความเรื่องเชคสเปียร์เป็นชาวอิตาลี  แต่ยังไม่ได้เอาลงพิมพ์เผยแพร่)    แนวคิดที่คุณไมค์เสนอนั้นมีบางส่วนที่ไม่น่าจะเป็นไปได้  และขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหลายอย่าง  ถ้ามีโอกาสจะเอาบทความนี้มาเล่าอีกทีดีกว่า  เดี๋ยวไปหาต้นฉบับบทความก่อนครับ ;)


บางทีสุนทรภู่ไม่ต้องไปถึงลังกาก็ได้  สุนทรภู่ก็สามารถเขียนพระอภัยมณีได้เสมือนไปลังกาเอง  เพราะตอนสุนทรภู่บวชท่านน่าจะได้สนทนากับพระที่เคยไปลังกาในฐานะสมณทูต  กับสุนทรภู่ก็น่าจะรู้เรื่องแผนที่แผนทางและเรื่องเกี่ยวกับลังกาในระหว่างรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๒ มากพอสมควร  เพราะท่านทำงานเอกสารราชการมากมาย  แค่ตลอดรัชกาลที่ ๒ ก็เหลือเฟือแล้ว   ถ้าสุนทรภู่เคยไปลังกาจริง  ทำไมในรำพันพิลาปท่านไม่เอ่ยถึงไว้บ้างทั้งที่น่าจะเป็นการเดินทางที่ท่านน่าจะประทับใจมาก  เพราะคณะสมณทูตที่ไปลังกาแต่ละครั้งเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดแทบทั้งนั้น  หรือว่าท่านไม่อยากจดจารเอาไว้  (แต่ทีใครทำให้ท่านเจ็บใจระหว่างเดินทางไปเยี่ยมพ่อที่เมืองแกลงท่านทั้งจดทั้งแช่งไว้ในนิราศเสร็จสรรพ) ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ธ.ค. 09, 15:37
อ้างถึง
ฝรั่งเกาะลูซอน หมายถึงฝรั่งที่อยู่เมืองมะนิลา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะลูซอน,
เกาะลูซอน เรา ออกเสียงเป็น สีส่อง แล้วเพี้ยนเป็น สี่ส้อง

จาก  guru.sanook.com/dictionary/search/ฝรั่งสี่ส้อง/  ครับ

ถ้าฝรั่งสี่ส้องเป็นฝรั่งที่อยู่เกาะลูซอน ในฟิลิปปินส์ปัจจุบัน  ก็น่าสงสัยอยู่ว่า  ในสมัยอยุธยามีเอกสารกล่าวถึง รถที่ใช้ในพระราชสำนักอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า  รถยางโลสง  ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องการพระศพสมเด็จพระรูป  คำว่ารถยางโลสงนี้  มีท่านผู้รู้ท่านหนึ่งตีความว่า  หมายถึงรถที่มีล้อทำด้วยยาง(พารา?)มาแต่เกาะลูซอน  โลสง กับลูซอนก็ฟังใกล้เคียงกันอยู่ น่ารับฟังอยู่  ฉะนั้นที่ว่า สี่ส้อง เพี้ยนมาจาก สีส่อง ซึ่งต้นเดิมคือ ลูซอน  ก็น่าสงสัยอยู่  จะเป็นที่ชื่ออื่นได้หรือไม่  :-\


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 09, 16:06
ฝรั่งที่เคยมีอิทธิพลในประวัติศาสตร์ของเกาะลูซอน คือสเปน   ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16  เคยตั้งชื่อลูซอนว่า Nueva Castilla  หรือ the New Castile.


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 09, 09:43
ถ้าสุนทรภู่เคยไปลังกาจริง  ทำไมในรำพันพิลาปท่านไม่เอ่ยถึงไว้บ้างทั้งที่น่าจะเป็นการเดินทางที่ท่านน่าจะประทับใจมาก  เพราะคณะสมณทูตที่ไปลังกาแต่ละครั้งเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดแทบทั้งนั้น

การเดินทางของคณะสมณทูตครั้งนี้ จะลำบากยากเข็ญประการใด ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีบันทึกไว้ดังนี้

บัดนี้กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี  มีอิสระมั่นคงแล้ว แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ การพระศาสนาแลศาสนวงศ์ในลังกาทวีปจะเป็นอย่างไร ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้ จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี) วัดราชบุรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้ แลคณะเหนือจะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง สมเด็จพระวันรัตน์จัดได้พระวัดราชบุรณะ ๕ รูป คือพระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป ๑ พระพุทธโฆษาจารย์จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปรางรูป ๑ พระเซ่งรูป ๑ พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๙ รูป ครั้งนั้นพระรัตนปาละ พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์สมณฑูตไทยจะออกไปลังกาถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเป็น ๑๑ รูปด้วยกัน

เมื่อจัดพระได้พร้อมแล้ว ถึงเดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีจอ ฉศก พ.ศ. ๒๓๗๕ โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สมณทูตเข้าไปรับผ้าไตรแลเครื่องบริขารต่อพระหัตถ์  แลโปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับ เทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่ เป็นของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุ แลพระเจดีย์ฐานในลังกาทวีป แลโปรดให้จัดเครื่องสมณบริขาร ๓ สำรับ คือบาตร ฝาแลเชิงประดับมุก ถลกบาตรสักหลาดแดง ไตรแพรปักสี ย่ามหักทองขวางเป็นของพระราชทานพระสังฆนายก พระอนุนายก แลพระเถระซึ่งรักษาพระทันตธาตุ ณ เมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี แลมีสมณสาสน์ของสมเด็จพระสังฆราชไปถึงพระสังฆนายกด้วยฉบับหนึ่ง โปรดให้หมื่นไกรกรมการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นไวยาวัจกรสมณฑูต แลคุมต้นไม้เงินทองสิ่งของพระราชทานไปด้วย

สมณทูตลงเรือกรมอาสาจามไปจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ถูกลมว่าวพัดกล้าคลื่นใหญ่ เรือไปชำรุดเสียที่ปากน้ำเมืองชุมพร พระยาชุมพรจัดเรือส่งไปเมืองไชยา พระยาไชยาจัดเรือส่งต่อไป ถึงเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ไม่ทันฤดูลมที่จะใช้ใบไปลังกาทวีป สมณทูตจึงต้องค้างอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ๑๑ เดือนในระหว่างนั้นพระวลิตรภิกษุกับพระศาสนวงศ์พระลังกาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์ไทยยังค้างอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ถวายพระพรลาว่าจะกลับไปบ้านเมืองกับสมณทูตไทย เมื่อได้พระราชทานอนุญาตแล้ว ก็ตามออกไปยังเมืองนครศรีธรรมราช แต่เมื่อออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้วพระวลิตรภิกษุกับพระรัตนปาละ พระหิธายะ ที่มาบวชในกรุงเทพฯ ไปประพฤติตัวไม่เรียบร้อยต่างๆ  พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เห็นว่า ถ้าให้พระลังกา ๓ รูปนั้น ไปกับพระสงฆ์สมณทูตไทย เกรงจะไปเกิดเหตุการณ์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ จึงจัดส่งไปเกาะหมากทั้ง ๓ รูป ให้กลับไปบ้านเมืองของตนตามอำเภอใจ คงให้ไปกับพระสงฆ์ไทยแต่พระศาสนวงศ์รูปเดียว แต่เมื่อไปขึ้นบกในอินเดียแล้ว พระศาสนวงศ์ก็หลบหายไปอีก

พระสงฆ์สมณทูตไทยไปบกจากเมืองนครศรีธรรมราชไปลงเรือที่เมืองตรัง ได้ออกเรือเมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ.๒๓๕๘ ไปกับเรือที่บรรทุกช้างไปขายในอินเดีย พระยานครศรีธรรมราชมีจดหมายไปถึงสังฆนาเกนนายห้างพราหมณ์อยู่ ณ เมืองบำบุดบำดัด ซึ่งเป็นคนชอบกับเจ้าพระยานครได้เคยรับซื้อช้างกันมาเสมอทุกปี ครั้นเรือไปถึงเมืองบำบุดบำดัด สังฆนาเกนได้ทราบความในหนังสือเจ้าพระยานครแล้ว ก็ช่วยเป็นธุระรับรองพระสงฆ์สมณทูต แลให้เที่ยวหาจ้างคนนำทางที่จะไปลังกา พระสงฆ์ต้องคอยท่าอยู่อีกเดือนหนึ่ง จึงได้บลิมแขกต้นหนคน ๑ เคยมาค้าขายที่เมืองตรัง พูดไทยได้ เป็นล่ามแลนำทางไป ต้นไม้ทองเงินธูปเทียนแลเครื่องบริขารของพระราชทานนั้นบลิมก็รับไปด้วย เรียกค่าจ้างเป็นเงิน ๑๘๐ รูเปียออกเดินทางไปจากเมืองบำบุดบำบัด เมื่อ ณ เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ไป ๗๖ วันถึงท่า ข้ามไปเกาะลังกา บลิมจ้างเรือไปส่ง ไปวัน ๑ ถึงเกาะลังกา ขึ้นเดินไปจากท่าเรืออีก ๓ วัน ถึงเมืองอนุราธบุรี เมื่อ ณ วันเดือน ๘ บุรพาสาธขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวดอัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙ พักอยู่เมืองอนุราธบุรี ๓ วัน กุมารสิยูมซึ่งเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองอนุราธบุรีนั้น จัดคนนำทางส่งต่อไปเมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี เดินทางไปได้ ๑๖ วัน ถึงคลองน้ำชื่อว่า วาลุกคงคา เมื่อ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้นค่ำ ๑ ขุนนางเมืองสิงขัณฑทราบว่า พระสงฆ์ไทยไปถึงคลองวาลุกคงคา จึงแต่งให้พันนายบ้านราษฎรออกมาปฏิบัติ ทำปะรำคาดผ้าขาวให้พักอาศัยอยู่คืนหนึ่ง รุ่งขึ้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้น ๒ ค่ำ พระสงฆ์สามเณรราษฏรชาวลังกาชายหญิงออกมารับสมณทูตไทย แห่เข้าไปเมืองสิงขัณฑ ให้ไปอยู่วันบุปผาราม

เวลานั้นอังกฤษพึ่งได้เกาะลังกาเป็นเมืองขึ้นใหม่ ๆ  เจ้าเมืองอังกฤษกำลังเอาใจชาวลังกา ให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะเบียดเบียนพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ชาวลังกาเคยได้รับนิตยภัตจตุปัจจัยมาแต่เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬปกครองอย่างไรก็คงให้อย่างนั้น พระสงฆ์ไทยก็ได้รับความอุปการะเหมือนกับพระสงฆ์ชาวลังกาด้วยทุกอย่าง ฝ่ายพระสังฆนายกพระอนุนายกชาวสิงหฬ ก็ช่วยทำนุบำรุงพาสมณทูตไทยไปหาเจ้าเมืองอังกฤษ ขอลูกกุญแจมาไขเปิดพระทันตธาตุมนเทียรแลเชิญพระทันตธาตุออกไปให้นมัสการ แล้วพาไปนมัสการพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ ได้ไปเที่ยวนมัสการพระเจดียฐานที่สำคัญทุกแห่ง สมณทูตไทยอยู่ในลังกาทวีป ๑๒ เดือน จึงลาพระสังฆนายก พระอนุนายกกลับมา

พระสังฆนายก พระอนุนายก ประชุมพร้อมกันทำสมณสาสน์ตอบให้สมณทูตไทยถือเข้ามาถึงสมเด็จพระสังฆราชฉบับ ๑  ในสมณสาสน์นั้นว่า พระสังฆนายก พระอนุนายกได้ช่วยทำนุบำรุงพระสงฆ์ไทยตั้งแต่ไปจนกลับมา มีความผาสุกทุกองค์ จัดได้พระเจดีย์แก้วผลึกสูง ๘ นิ้วบรรจุพระบรมธาตุ ๕ พระองค์ พระพุทธรูปกาไหล่ทองคำ หน้าตัก ๕ นิ้วองค์หนึ่ง ฉลองพระเนตรองค์หนึ่ง ถวายเข้ามาในสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแลจัดให้พระเจดีย์กาไหล่ทองคำองค์หนึ่งสูง ๑๒ นิ้ว บรรจุพระบรมธาตุ ๓ พระองค์แว่นตาศิลาอันหนึ่งถวายสมเด็จพระสังฆราช

อนึ่งเมื่อสมณทูตไทยกลับมาคราวนั้น ได้หน่อพระมหาโพธิเมืองอนุราธบุรีเข้ามาด้วย ๖ ต้น พระสงฆ์ไทยออกจากเมืองสิงขัณฑ ณ เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลู นพศก พ.ศ. ๒๓๖๐ ขุนนางอังกฤษที่เป็นเจ้าเมืองกลัมพูเอาเป็นธุระฝากเรือลูกค้ามาส่งที่เมืองบำบุดบำดัด แล้วสังฆนาเกนเศรษฐีเสียค่าระวางให้เรือกำปั่นลูกค้ามาส่งที่เมืองเกาะหมาก ขึ้นพักอยู่ที่เมืองเกาะหมาก ๔ เดือน พระยานครศรีธรรมราชทราบว่า พระสงฆ์ซึ่งไปลังกากลับมาถึงเมืองเกาะหมากแล้วจึงแต่งเรือไปรับแลจัดส่งเข้ามา ถึงกรุงเทพมหานครเมื่อเดือน ๙ แรมค่ำ ๑ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๙ พ.ศ.๒๓๖๑ แลต้นพระมหาโพธิที่ได้มานั้น พระอาจารย์เทพขอเอาไปปลูกไว้ที่เมืองกลันตันต้นหนึ่ง เจ้าพระยานครขอเอาไปปลูกที่เมืองนครสองต้น ได้เข้ามาถวายสามต้น โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง วัดสระเกศต้นหนึ่ง แล้วทรงตั้งพระอาจารย์ดีเป็นที่พระคัมภีรปรีชา ตั้งพระอาจารย์เทพเป็นที่พระปัญญาวิสารเถร พระห่วงนั้นทรงเห็นว่าได้เรียนหนังสือรู้ภาษามคธมาก ได้ช่วยเป็นล่ามโต้ตอบกับชาวลังกา ไม่เสียรัดเสียเปรียบ เป็นคนฉลาดไหวพริบดีจึงทรงตั้งให้เป็นพระวิสุทธินี เป็นพระราชาคณะทั้ง ๓ รูป พระสงฆ์ที่ได้เป็นสมณทูตไปลังกานอกจากนั้น พระราชทานไตรปีแลนิตยภัตต่อมา เดือนละ ๘ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ทุกรูป





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 09, 11:33
จาก รำพันพิลาป   สุนทรภู่น่าจะเคยโดยสารเรือไปถึงมะละกา แล้วข้ามไปที่ชวา
แต่ในการบรรยาย เป็นเส้นทางจากชวามามะละกา  ตามรอยอิเหนา

แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม
ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา
ไปเกาะที่อิเหนาชาวชวา
วงศ์อสัญแดหวาน่าหัวเราะ

จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว
ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ
ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม

ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน
ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม
จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมาลากา

เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปทั้งตึก
แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวียะดา
ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาครฯ

๏ แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่
จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน
ร้องละครอิเหนาเข้ามาลากา

เกาะวังกัลพังหา   สุนทรภู่ก็น่าจะเคยไปเห็นด้วยตัวเอง มากกว่าจะฟังคนมาเล่าให้ฟังอีกทีหนึ่ง
มีการเก็บรายละเอียดของฉาก  เช่น เรื่องน้ำขึ้น เรื่องผลไม้ชนิดต่างๆ   เหมือนเป็นประสบการณ์โดยตรง

แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง
ไปชมละเมาะเกาะวังกัลพังหา
เกิดในน้ำดำนิลดั่งศิลา
เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน

ชะเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ
เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน
เห็นหุบห้องปล่องชลาฝูงนาคิน
ขึ้นมากินเกยนอนชะอ้อนเนิน

ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึ่งรอบ
เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน
จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน
เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล

จริงนะจ๊ะจะเก็บทั้งกัลพังหา
เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน
เบี้ยอี้แก้แลรอบขอบคีริน
ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง

สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด
ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง
จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง
เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา

จำปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น
ก้าแฝ่ฝิ่นสินธุต้นบุหงา
ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา
แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กรายฯ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ธ.ค. 09, 09:27
บทความเรื่อง "สุนทรภู่เคยไปลังกาหรือ?" ไมเคิล  ไรท์ เขียน
ลงในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๔๘  หน้า ๗๖ - ๘๑
ความโดยสรุป มีดังนี้

"เราไม่มีหลัก(Proof) เลยว่าสุนทรภู่เคยไปลังกา, แต่เรามีพยานแวดล้อม (Circumstantial Evidence) ที่ชวนให้สงสัยว่าท่านอาจจะเคยเดินทางไปลังกา,  และถ้าไปจริงก็น่าจะออกไปพร้อมคณะสมณทูตที่รัชกาลที่ ๒ ทรงส่งไปในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙   หากท่านไม่ได้ไปเอง, สุนทรภู่จะต้องเคยคบหาคณะสมณทูตนี้, สนทนากับท่านอย่างสนิทสนม, และอ่านรายงานของท่านทุกชิ้น, ซึ่งบางชิ้นอาจจะหายสาบสูญไปเหลือให้เห็นในปัจจุบัน  หลักฐานพยานเท่าที่ผมรวบรวมได้มีอยู่สามกองใหญ่,คือ ๑.ชีวประวัติสุนทรภู่, ๒.รายงานของสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ และ ๓.หลักฐานระหว่างบรรทัดในพระอภัยมณี..."

๑.หลักฐานจากชีวประวัติสุนทรภู่
๑.๑  สุนทรภู่มีเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี 
๑.๒  สุนทรภู่เกิดและโตในฐานะชาววังหลัง
๑.๓  สุนทรภู่เกิดเมื่อปี ๒๓๒๙  ดังนั้นในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ ท่านมีอายุเกือบ ๓๐ ปี ถือว่าเป็นผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์แล้ว
๑.๔  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายว่า ในรัชกาลที่ ๒ เกิดกรณีกบฏ  สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏครั้งนั้น  ท่านจึงหลบไปชั่วระยะหนึ่ง  ซึ่งว่าท่านไปหลบอยู่ในถ้ำเมืองเพชรบุรี ก็น่าจะเป็นไปได้  ในคราวเดียวกันนั้น  รัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้แต่งคณะสมณทูตไปลังกา  ซึ่งเป้นที่ทราบกันดีว่า รัชกาลที่ ๒ โปรดสุนทรภู่มาก  หากพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้สุนทรภู่พ้นอันตรายจากคดีกบฏ (ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิต)  วิธีช่วยสุนทรภู่ที่ง่ายที่สุด คือ ทำให้สุนทรภู่ล่องหนไปสักระยะ  เช่น ให้ลงเรือไปกับคณะสมณทูตที่ไปลังกาโดยไม่เปิดเผยชื่อ  ซึ่งไมเคิล  ไรท์ว่า เราไม่มีหลักฐาน แต่เป็นไปได้ไหม?

หลักฐานข้างต้นไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ แต่แสดงให้เห็นว่า ในระหว่างปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ ซึ่งรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะสมณทูตไปลังกานั้น  สุนทรภู่เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะไปเป็นทูต เหมาะทั้งด้านอายุและฐานะทางสังคม  ไมเคิล  ไรท์ เน้นว่า อย่าลืมว่าคนที่มีเชื้อพราหมณ์สมัยก่อน ไม่ได้เป็นเฉพาะพราหมณ์พระราชพิธีเพียงเท่านั้น  หากยังได้ดำรงตำแหน่งราชการสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะตำแหน่งทูตที่ติดต่อกับโลกฮินดู-พุทธ เช่นอินเดียและลังกา


๒.หลักฐานในรายงานสมณทูต
๒.๑ ในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ มีข่าวมาถึงเมืองไทยว่า อังกฤษได้ยึดเกาะลังกาทั้หมดและถอดกษัตริย์ลังกาออก  รัชกาลที่ -จึงมีรับสั่งให้สมณทูตออกไปนมัสการบูชาเจติยสถาน ฉละอาจจะให้สอดแนมดูว่าอังกฤษว่ามีนโยบายอย่างไรต่อรัฐพุทธศาสนา
๒.๒ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้วังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ทรงรับพระธุระเป็นแม่งานจัดการคน การเดินทาง และเสบียง ให้แก่สมณทูตที่จะไปลังกาครั้งนั้น
๒.๓ คณะสมณทูตที่ไปลังกาคราวนี้ มี พระภิกษุ สามเณร ๙ รูป ฆราวาส ๓๖ คน ซึ่งไม่มีชื่อสุนทรภู่เลย
๒.๔ คณะสมณทูตลงเรือออกเดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช จำพรรษาที่นั่นแล้วนั่งช้างไปที่ปากน้ำตรัง ลงเรือค้าช้างที่เกาะลิบง  แล้วเรือนั้นแล่นไปทางทิศเหนือผ่านเกาะถลางและหมู่เกาะชายฝั่งทะเลอันดามัน  จากนั้นจึงแล่นเฉียงไปทางตะวันตกข้ามอ่าวเบงกอลผ่านหมู่เกาะนิโคบาร์ (นาควารี) ถึงท่าเรืออินเดียใต้ ที่เมืองมะหมุดบันดัด (ตามสำเนียงชาวมุสลิม ซึ่งโปรตุเกส เรียกว่า Porto Novo (ท่าใหม่) ทมิฬ เรียกว่า ปะรังกิเปฏไฏ (ตลาดฝรั่ง)) เมื่อเรือขายช้างแล้ว  คณะสมณทูตเดินทางทางบกไปถึงถนนพระรามลงเรือข้ามฟากไปเกาะลังกาแล้วเดินเท้าต่อไปผ่านเมืองอนุราธปุระ สู่เมืองแคนดี เมืองหลวง
๒.๕ รายงานสมณทูตไม่ได้ระบุการเดินทางขากลับ  แต่คณะสมณทูตเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในปี ๒๓๖๑  ซึ่งคนที่ไปลังกาครั้งนั้นทั้งพระภิกษุและฆราวาสต่างได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์และบรรดาศักดิ์ ซึ่งไม่มีชื่อสุนทรภู่

หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าสุนทรภู่ไปลังกากับคระสมณทูต  ทั้งนี้ สมัยก่อนตำแหน่งบรรดาศักดิ์และราชทินนามเปลี่ยนแปลงได้เสมอ  สุนทรภู่อาจจะไปลังกาในชื่อบรรดาศักดิ์อื่น เช่น ขุนทรงอักษร หรือ หมื่นไกร (คุมดอกไม้เงินดอกไม้ทอง)  น่าสนใจคือ แม่งานที่จัดการการเดินทางของสมณทูตครั้งนี้คือวังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ซึ่งสุนทรภู่เคยเป็นข้าหลวงในพระองค์  นอกจากนั้น  รายงานของสมณทูตไปพ้องกับภูมิศาสตร์ในพระอภัยมณี ตั้งแต่ ฝั่งทะเลตะวันตกของอุษาคเนย์ หมู่เกาะในทะเลอันดามัน หมู่เกาะนาควารี ชายฝั่งอินเดียตะวันออก  และเกาะลังกา

๓ หลักฐานในพระอภัยมณี
๓.๑ ทิศทางหมู่เกาะต่างๆ ในอ่าเบงกอลกับในเรื่องพระอภัยมณี ไมเคิล  ไรท์แนะนำอ่านจากหนังสือ "สุนทรภู่เกิดวังหลัง   ผู้ดี"บางกอก"ฯ ของสุจิตต์  วงษ์เทศ  ส่วนไมเคิล  ไรท์ นำเสนอเพียงประเด็นเดียวคือ  พระอภัยมณีตอนที่เลิกทัพเรือว่า

พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก   ออกเส้นนอกแหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง
ไปกึงตั๋งกังจิ๋วจุนติ๋วเซียง        เข้าลัดเลี่ยงอ้ายมุ้ยแล่นฉุยมา

แหลมเรียว  คือ หมู่เกาะ Riao  สุดปลายแหลมมลายู ถ้ารบกันที่อ่าวไทย จะต้องให้เจ๊กจีนแล่นเรืออ้อมแหลมเรียวทำไม คงมีแต่จากทะเลอันดามันที่ต้องอ้อมแหลมนี้กับเมืองจีน  สุนทรภู่จะไม่รู้ภูมิศาสตร์ได้อย่างไร

๓.๒ ไมเคิล  ไรท ยกตัวอย่างกลอน ๓ บทในพระอภัยมณี ซึ่งกล่าวถึงทิวทัศน์ทะเล พายุในทะเล และแสงพรายทะเล  แล้วเสนอว่า สุนทรภู่น่าจะได้จินตนาการเอาเอง  แต่ท่านน่าจะได้ประสบมาแก่ตัวจึงสามารถบรรยายภาพทะเลได้ละเอียดมาสู่คนอ่าน

ในความส่งท้าย  ไมเคิล  ไรท์ ว่าพระอภัยมณีเป็นนิทาน ไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์  สุนทรภู่ไม่จำเป็นต้องออกไปลังกากับคณะสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็ได้  แต่เชื่อว่าท่านน่าจะเคยออกทะเลหลวงเป็นแน่  ที่ไมเคิล  ไรท์เสนอว่าไปกับสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ นั้นเป็นความสะดวกตามหลักฐานแวดล้อมที่ชวนให้เชื่อเช่นนั้น
 (จบ)



เชิญอภิปรายกันได้ครับ ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ธ.ค. 09, 13:28

เมืองมะหมุดบันดัด (ตามสำเนียงชาวมุสลิม ซึ่งโปรตุเกส เรียกว่า Porto Novo (ท่าใหม่) ทมิฬ เรียกว่า ปะรังกิเปฏไฏ (ตลาดฝรั่ง)

ปะรังกิเปฏไฏ =  Parangipettai = ตลาดฝรั่ง (ในภาษาทมิฬ Pettai = ตลาด  parangis = ฝรั่ง หรือ ชาวยุโรป)

ฝรั่งของไทยกับของทมิฬอินเดียน่าจะมีที่มาเดียวกัน

ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1670.0

 :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 09, 13:41
อ้างถึง
เราไม่มีหลัก(Proof) เลยว่าสุนทรภู่เคยไปลังกา, แต่เรามีพยานแวดล้อม (Circumstantial Evidence) ที่ชวนให้สงสัยว่าท่านอาจจะเคยเดินทางไปลังกา,  และถ้าไปจริงก็น่าจะออกไปพร้อมคณะสมณทูตที่รัชกาลที่ ๒ ทรงส่งไปในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙  

ยังมองไม่เห็นหลักฐานที่สนับสนุนสมมุติฐานพวกนี้ค่ะ


อ้างถึง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายว่า ในรัชกาลที่ ๒ เกิดกรณีกบฏ  สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏครั้งนั้น  


กบฏในรัชกาลที่ ๒  เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒  หลังรัชกาลที่ ๑ สวรรคตเพียง ๓ วัน คือกบฎเจ้าฟ้าเหม็น (กรมขุนกษัตรานุชิต)
ส่วนสมณทูตไปลังกา เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๘   ห่างไปอีก ๖ ปี     นานเกินกว่าจะเอามาเกี่ยวข้องกันแล้ว

เหตุใหญ่อีกครั้ง  ไม่ใช่กบฏ  เมื่อพ.ศ. 2359 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(บุญศรี)เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ  ถูกข้อกล่าวหาถึงขั้นต้องปาราชิก     ผู้สอบสวนคือกรมหมื่นรักษ์รณเรศและกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์   จากนั้นมีบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่า

ไกรสรพระเสด็จได้       สึกชี
กรมหมื่นเจษฎาบดี       เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี        ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้      แม่นแม่น เมืองทมิฬ

ผู้ต้องสงสัยคือ กรมหมื่นศรีสุเรนทร ผู้เป็นศิษย์ของสมเด็จฯ   ถึงขั้นถูกจับคุมขัง และสิ้นพระชนม์ในที่ขังนั้นเอง

ดิฉันไม่ทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เรื่องไหนว่า สุนทรภู่ถูกกล่าวหารวมไปด้วย      แต่อย่างไรก็ตาม  สมณทูตเดินทางพ.ศ. ๒๓๕๘  เหตุนี้เกิดพ.ศ.  ๒๓๕๙  


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ธ.ค. 09, 13:58
ดิฉันไม่ทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เรื่องไหนว่า สุนทรภู่ถูกกล่าวหารวมไปด้วย

พระนิพนธ์ตอนนี้มีอยู่ว่า

เรื่องประวัติสุนทรภู่ ตอนจะเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ นั้น  มีคำเล่ากันมาว่า  เมื่อคราวเกิดทิ้งบัตรสนเท่ห์กันชุกชุมใน พ.ศ. ๒๓๕๙ ที่กรมหมื่นศรีสุเรนทรต้องถูกชำระนั้น  สุนทรภู่ก็ถูกสงสัยว่าเป็นผู้แต่งหนังสือทิ้งด้วยคนหนึ่ง  ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี  ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓  กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมืองยังเป็นหนุ่มคะนองว่า  ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพชร  ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน  แล้วไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลัง  ซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพชรเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว  บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง 

 :)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ธ.ค. 09, 15:33
บทความของคุณไมเคิล ไรท์  เข้าใจว่าคงจะเขียนด้วยข้อมูลความทรงจำคลับคล้ายคลับคลาจากการอ่านหนังสือบางเล่ม  ทำให้มีช่องให้โต้แย้งได้มาก  อนึ่ง  อยากให้สังเกตว่า  คุณไมเคิล  ไรท์  ก็เขียนแบบเซฟตนเอง ไม่ฟันธงเสียทีเดียวว่าสุนทรภู่เคยไปลังกา

สำหรับผม ขอตั้งข้อสังเกตบางประเด็นในบทความของคุณไมเคิล  ไรท์ ดังนี้

1.
อ้างถึง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายว่า ในรัชกาลที่ ๒ เกิดกรณีกบฏ  สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏครั้งนั้น  ท่านจึงหลบไปชั่วระยะหนึ่ง  ซึ่งว่าท่านไปหลบอยู่ในถ้ำเมืองเพชรบุรี ก็น่าจะเป็นไปได้  ในคราวเดียวกันนั้น  รัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้แต่งคณะสมณทูตไปลังกา  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า รัชกาลที่ ๒ โปรดสุนทรภู่มาก  หากพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้สุนทรภู่พ้นอันตรายจากคดีกบฏ (ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิต)  วิธีช่วยสุนทรภู่ที่ง่ายที่สุด คือ ทำให้สุนทรภู่ล่องหนไปสักระยะ  เช่น ให้ลงเรือไปกับคณะสมณทูตที่ไปลังกาโดยไม่เปิดเผยชื่อ  ซึ่งไมเคิล  ไรท์ว่า เราไม่มีหลักฐาน แต่เป็นไปได้ไหม?

ตรงนี้  เราทราบจากพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ว่า ในรัชกาลนี้มีการก่อกบฏครั้งสำคัญ คือกบฏเจ้าฟ้าเหม็น  เมื่อ ๒๓๕๒ ก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๒ เหตุการณ์เป็นอย่างไร คงทราบกันอยู่  ส่วนกบฏอื่นๆ ในรัชกาลนี้ มีเหมือนกัน แต่เป็นกบฏตามหัวเมืองปลายพระราชอาณาเขต   นอกจากนี้ก็มี กรณีอั้งยี่กำเริบที่เมืองสมุทรสาคร  ซึ่งสุนทรภู่คงไม่น่าจะเกี่ยวข้องได้   จริงอยู่ว่ารัชกาลที่ ๒ โปรดสุนทรภู่มาก แต่ถ้าสุนทรภู่ถูกหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับผู้ก่อการกบฏไม่ว่าครั้งไหน  รัชกาลที่ ๒ ต้องมีรับสั่งให้สอบสวนเป็นการด่วน  คงไม่ทรงปล่อยไว้ให้ทรงระแวงพระทัย  เพราะกรณีกบฏถือเป็นภัยต่อพระราชบัลลังก์และพระราชวงศ์โดยตรง   ทั้งสุนทรภู่เป็นผู้ได้เฝ้าใกล้ชิดด้วย ยิ่งต้องรีบชำระ   ถ้าผิดจริงก็คงไม่ทรงปล่อยสุนทรภู่ไว้  ถึงสุนทรภู่จะเป็นกวีที่โปรดอย่างไร  เพราะถ้าเป็นอันตรายแก่พระองค์จะรักษาไว้ทำไมมี  การเอาสุนทรภู่ไปลังกา นั่นเท่ากับเอาสุนทรภู่ไปเผชิญโชคกับความตาย  ถ้าใครอ่านจดหมายเหตุสมณทูตออกไปลังกาในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งพิมพ์ในเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แล้วจะทราบว่า  แค่คณะสมณทูตเดินทางยังไม่ถึงเมืองนครศรีธรรมราช  เรือก็แตก ต้องอดข้าวปลากันหลายวัน กว่าจะมีคนมาช่วย ก็ทุกข์กันสาหัส 

๒.
อ้างถึง
รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้วังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ทรงรับพระธุระเป็นแม่งานจัดการคน การเดินทาง และเสบียง ให้แก่สมณทูตที่จะไปลังกาครั้งนั้น และ คณะสมณทูตที่ไปลังกาคราวนี้ มี พระภิกษุ สามเณร ๙ รูป ฆราวาส ๓๖ คน ซึ่งไม่มีชื่อสุนทรภู่เลย  และ น่าสนใจคือ แม่งานที่จัดการการเดินทางของสมณทูตครั้งนี้คือวังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ซึ่งสุนทรภู่เคยเป็นข้าหลวงในพระองค์ 

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ไม่มีเจ้านายที่ได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) และพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ก็มิได้ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)  ที่รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ทรงจัดการเรื่องคณะสมณทูตไปลังกา  น่าจะเป็นเพราะพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ทรงมีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  โดยเจ้าจอมมารดาของพระองค์เป็นเชื้อสายของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช  อีกทั้งทรงกำกับดูแลราชการหัวเมืองปักษ์ใต้อยู่  การที่ได้ทรงรับจัดการครั้งนี้ก็เป็นพระธุระโดยตรงของพระองค์อยู่แล้ว  ส่วนสุนทรภู่จะเคยเป็นข้าหลวงในพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ หรือไม่นั้น  คิดว่า ไม่น่าจะใช่  สุนทรภู่เคยรับราชการในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์  พระโอรสในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข   หลังจากที่พระองค์เจ้าปฐมวงศ์สิ้นพระชนม์แล้ว  สุนทรภู่อาจจะย้ายมาเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ ในสมัยที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประทับที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี  เมื่อรัชกาลที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่จึงได้ย้ายมาทำการวังหลวงในฐานะข้าหลวงเก่าในพระองค์

๓.
อ้างถึง
คนที่มีเชื้อพราหมณ์สมัยก่อน ไม่ได้เป็นเฉพาะพราหมณ์พระราชพิธีเพียงเท่านั้น  หากยังได้ดำรงตำแหน่งราชการสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะตำแหน่งทูตที่ติดต่อกับโลกฮินดู-พุทธ เช่นอินเดียและลังกา

เรื่องตั้งพราหมณ์เป็นทูต  เคยอ่านเจอแต่ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น  ส่วนเอกสารอื่นๆ ไม่เคยมีการระบุว่า ตั้งพราหมณ์เป็นทูต  ถึงสุนทรภู่มีเชื้อสายพราหมณ์ ก็น่าสงสัยว่าท่านเองทราบหรือได้ร่ำเรียนสืบทอดความรู้จากพราหมณ์บรรพบุรุษมาเพียงใด  การที่ท่านมีเชื้อพรหมณ์เมืองเพชรบุรี คงไม่ได้หมายความว่า ท่านจะรู้ทุกเรื่องของพราหมณ์



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 09, 17:25
อ้างถึง
ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี  ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓  กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมืองยังเป็นหนุ่มคะนองว่า  ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพชร  ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน  แล้วไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลัง  ซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพชรเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว  บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง 

นิราศเมืองเพชร
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2258.0


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 09, 13:17
นี่คือบทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ  กล่าวถึงประวัติของสุนทรภู่
http://www.sujitwongthes.com/2009/06/220648/

บิดาสุนทรภู่
คนเมืองเพชร หรือเมืองแกลง

เมื่อสุนทรภู่เดินทางจากบางกอกไปถึงเมืองเพชรบุรี ได้แต่งนิราศเมืองเพชร เล่าว่าไปตามหาถิ่นฐานบรรพชนซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์ เมืองเพชรบุรี มีกลอนบอกชัดเจนว่า

ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ
เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย

กลอนนิราศเมืองเพชรตอนสำคัญอีกตอนหนึ่ง สุนทรภู่แต่งบอกไว้ชัดๆว่า

เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช
ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา

พยานหลักฐานจากถ้อยคำของสุนทรภู่เถียงไม่ได้ ฉะนั้นบรรพชนของท่านต้องเป็นชาวเพชรบุรี เมื่อทั้งย่าและยายเป็นคนเมืองเพชร แล้วพ่อกับแม่จะเป็นชาวเมืองอื่นได้ไฉน? เว้นเสียแต่ย่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองระยองในภายหลัง แล้วพ่อสุนทรภู่ไปเกิดที่นั่น ซึ่งใครจะเชื่ออย่างนั้นก็ตามใจ
ในนิราศเมืองแกลง สุนทรภู่แต่งไว้ชัดเจนว่าพ่อบวชเป็นพระสงฆ์ มีสมณศักดิ์เป็นพระครู“อรัญธรรมรังษี” เจ้าอาวาสวัดบ้านกร่ำ เมืองแกลง (จังหวัดระยอง)
นี่เป็นเหตุเดียวที่ตำราประวัติวรรณคดีไทย ใช้เป็นหลักฐานว่าพ่อสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง สุนทรภู่ก็ต้องเป็นคนที่นั่นด้วย
อาจารย์ล้อมเ พ็งแก้ว ชำระสมุดข่อยพบนิราศเมืองเพชร บอกว่าสุนทรภู่           มีบรรพชนเป็นชาวเพชรบุรี แล้วเขียนอธิบาย(รวมอยู่ในหนังสือสุนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ มิถุนายน 2547) บอกว่าพ่อสุนทรภู่เป็นทหารในกองทัพกรมพระราชวังหลัง คราวสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 ครั้นปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2329 ก่อนสุนทรภู่เกิดก็“บวชแก้บน”ที่ฆ่าคน(พม่า)ตายมากในสงคราม ซึ่งเป็นประเพณีของคนยุคนั้น
กรมพระราชวังหลังรู้เห็นเป็นใจให้พ่อสุนทรภู่บวช โปรดให้“จัดตั้ง”กองกำลังอยู่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ตามเงื่อนไขการเมืองการปกครองครั้งนั้น
สุนทรภู่โตขึ้นก็เริ่มรับราชการในวังหลัง แล้วถูกใช้ให้ไป“ทำงาน”บางอย่างที่เมืองแกลง ดังท่านเขียนไว้เองว่า “แม้นเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา”  แสดงว่าไม่ได้อยากไปเมืองแกลง เพราะหนทางไปลำบากตรากตรำมาก และตัวท่านเองไม่ได้มีเลือดเนื้อเชื้อไขทางบ้านกร่ำ เมืองแกลงด้วย
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะบอกต่อไปว่าสุนทรภู่ อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย  ฝั่งธนบุรี ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมเลิก“อำ”เสียทีเถิด
(ที่มา :   มติชน ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2548 หน้า 34)


อ้างถึง
เมื่อทั้งย่าและยายเป็นคนเมืองเพชร แล้วพ่อกับแม่จะเป็นชาวเมืองอื่นได้ไฉน?
ได้ซิคะ  ถ้าปู่กับตา เป็นคนเมืองอื่น  และย่ากับยายไปอยู่กับสามีเมื่อสมรสแล้ว

ในนิราศเมืองแกลง  สุนทรภู่ระบุถึงหลานสาวสองคนที่บ้านกร่ำ ช่วยพยาบาลให้เมื่อเจ็บป่วย  ก็แสดงว่าพ่อมีญาติอยู่ที่นั่น

ทุกเช้าเย็นเห็นแต่หลานที่บ้านกร่ำ                   ม่วงกับคำกลอยจิตขนิษฐา
เห็นเจ็บปวดนวดฟั้นช่วยฝนยา                        ตามประสาซื่อตรงเป็นวงศ์วาน

ส่วนที่ว่าเป็นญาติ ก็คือตอนนี้
ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต                            ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง                      ไม่เห็นน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ธ.ค. 09, 14:11
เรื่องเชื้อสายของสุนทรภู่เป็นพราหมณ์  สงสัยว่าจะเป็นเชื้อสายฝ่ายมารดาของท่าน  ส่วนเชื้อสายบิดาของท่านท่านว่าเป็นชาวชองอยู่เมืองแกลง

ท่านที่คุณหลวงเล็กอ้างถึงคงตีความเรื่องเชื้อสายของบิดาสุนทรภู่จากนิราศเมืองแกลงตอนนี้เอง

ส่วนที่ว่าเป็นญาติ ก็คือตอนนี้
ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต                            ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง                      ไม่เห็นน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น

ดูท่าทางสุนทรภู่ท่านคงหมายความว่าชาวบ้านแถวนั้นเป็นพวกชอง ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองอยู่แถวจันทบุรี ระยอง ตราด ทั้งยังรำคาญอยู่นิด ๆ ด้วยว่าท่านคงเห็นพวกชองเป็นคนป่าคนดงไม่เจริญหูเจริญตาเหมือนคนในรั้วในวัง

http://th.wikipedia.org/wiki/ชอง (http://th.wikipedia.org/wiki/ชอง)





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 09, 14:59
เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง คือวงศ์วานสุนทรภู่มีเชื้อสายชอง   และชาวบ้านที่ท่านเข้าไปปะปนอยู่กับพวกเขา เป็นพวกเชื้อสายชอง
ถ้าเป็นอย่างแรก ก็เป็นคำอธิบายว่าทำไมพ่อถึงจากเมืองหลวง มาอยู่เสียไกลลิบ      คำตอบคือมีญาติอยู่ที่นี่ คงไม่ใช่แค่คนสองคน   แต่น่าจะอยู่เป็นหมู่   ที่เป็นพ่อแม่ลุงป้าน้าอาของม่วงและคำ
ถ้าเป็นอย่างหลัง  ก็มีคำถามว่า  คนเราถ้าไปเยี่ยมพ่อในถิ่นไกล  มีญาติพ่ออยู่แถวนั้นด้วย  คงเลือกไปพักกับญาติก่อนคนอื่น  แต่เป็นญาติบ้านนอก ไม่ได้กลิ่นอายความเจริญเมืองหลวง  เลยพูดจากันไม่รู้เรื่อง 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ธ.ค. 09, 15:25
อ้างถึง
เมื่อทั้งย่าและยายเป็นคนเมืองเพชร แล้วพ่อกับแม่จะเป็นชาวเมืองอื่นได้ไฉน?
ได้ซิคะ  ถ้าปู่กับตา เป็นคนเมืองอื่น  และย่ากับยายไปอยู่กับสามีเมื่อสมรสแล้ว

ในนิราศเมืองเพชรฉบับเขียน ซึ่งอาจารย์ล้อมได้สอบชำระไว้ มิได้กล่าวถึงเฉพาะ ย่าและยาย แต่กล่าวรวมถึง ปู่และตา ด้วย

มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ           ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป             บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช         ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวฐานศาลสถิตอิศวรา                  เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่                แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ
เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน    จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ          เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย                  ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ
แต่ตัวเราเข้าใจได้ไถ่ถาม                จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน
จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน          ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน                           
จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ               ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ
ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์                สู่สวรรค์นฤพานสำราญกาย

 ;D



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ธ.ค. 09, 15:48
ในนิราศพระบาทก็เขียนถึงบรรพชนของสุนทรภู่อยู่ด้วย

แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา               เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ
กษัตริย์สืบสุริยวงศ์ดำรงโลก            ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ
เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน       เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ

ขาด ตา ไปหนึ่งคน

การที่ปู่ย่ายายของท่านได้เล่าให้ฟังถึงกรุงศรีอยุธยาครั้งบ้านเมืองดี เล่าถึงวงศ์กษัตริย์สืบสายกันลงมา ก็ย่อมเป็นนัยให้รู้ได้ว่าบรรพชนของท่านสุนทรภู่นั้นเป็นผู้ได้รู้ได้เห็นกรุงเก่ามาก่อน และส่อนัยว่าน่าจะเป็นผู้ดีหรือผู้ใกล้ชิดเนื่องในพระราชวงศ์หรือข้าราชการผู้ใหญ่มาก่อน

อาจารย์ล้อมท่านว่าไว้อย่างนั้น

 :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ธ.ค. 09, 15:53
ตกลง ว่า สุนทรภู่ มีเชื้อพราหมณ์กี่สาแหรกกันครับ   ๒ สาแหรก (สาแหรกย่า กับสาแหรกยาย)  หรือ ๔ สาแหรก (สาแหรกปู่กับย่า และสาแหรกตากับยาย)
และข้อมูลเกี่ยวกับบรรพชนของสุนทรภู่ที่ปรากฏทั้งในนิราศเมืองแกลงและนิราศเมืองเพชร (ทั้งที่ชำระก่อนและชำระครั้งหลัง) อันน่าเชื่อถือมากกว่ากัน

หรือว่า
อ้างถึง
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ          เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย                   ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

ตรงนี้สุนทรภู่แต่งแบบกลอนพาไป ? หรือจะหมายความว่า  พอหมดปู่ย่าตายายของสุนทรภู่แล้ว  คนรุ่นหลังในเชื้อสายของท่าน  ก็ไม่ได้รู้เรื่องบรรพชนของย่ายายที่เป็นคนเชื้อสายพราหมณ์เลย  ฉะนั้น ปู่กับตาอาจจะเป็นเชื้อสายอื่นๆ ที่ไม่ใช่พราหมณ์ ก็ได้ แต่พอมาได้ย่ายายที่เป็นพราหมณ์ก็เลยได้รู้เรื่องพราหมณ์ต้นตระกูลย่ายายไปด้วย  แต่ญาติข้างปู่กับตาอาจจะไม่ได้สนใจที่อยากรู้ต้นตระกูลของคนที่มาเกี่ยวดองกับปู่และตา  และแถมเป็นคนที่มีถิ่นที่อยู่ต่างเมืองกัน ยิ่งไม่ได้ไปมาหาสู่เสมอๆ ความรู้เรื่องต้นตระกูลของแต่ละฝ่ายจึงค่อยๆ เลือนไป :-\


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ธ.ค. 09, 16:11
อ้างถึง
แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา                เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ
กษัตริย์สืบสุริยวงศ์ดำรงโลก            ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ
เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน       เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ

ถ้าหมายเอาคำว่า ปู่ย่ายาย ในนิราศพระบาทตอนที่ยกมานี้ หมายถึง ปู่ย่าและยายของสุนทรภู่เองแล้ว  ก็ชักไม่แน่ใจว่า  ตอนที่สุนทรภู่เกิดมาจนกระทั่งโตพอรู้ความรู้ภาษา  ปู่ย่ายายของสุนทรภู่จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  อีกอย่างหนึ่งสุนทรภู่ก็ไม่เอ่ยถึงปู่ย่ายายในลักษณะที่เน้นเฉพาะว่า  ปู่ย่ายายของท่านแต่ละคนได้อยู่ในความประทับใจความทรงจำของท่านอย่างไรบ้าง เช่น ยายเคยเลี้ยงเคยป้อนข้าว  ปู่สอนหนังสือให้  อะไรอย่างนี้เป็นต้น 

เมื่อยังหาหลักฐานไม่ได้  อยากให้ตีความคำว่า ปู่ย่ายาย ในนิราศพระบาท หรือที่อื่นๆ ในนิราศของสุนทรภู่ที่มีความบริบทคล้ายๆ กันนี้ว่า  ปู่ย่ายาย หมายถึง คนเก่าๆ ที่มีอายุทันเห็นความเจริญของพระนครศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียกรุงเมื่อ ๒๓๑๐ และยังจดจำความเจริญความงดงามของพระนครศรีอยุธยาได้แล้วนำมาเล่าให้ลูกหลานที่เกิดทันกรุงเก่าแต่ยังจดจำอะไรเกี่ยวกับอยุธยาไม่ได้ เพราะยังเด็กเกินไป หรือคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันได้รับทราบ

ตรงนี้ต้องนึกถึงนิสัยคนไทยด้วยว่า  คนอื่นที่ไม่ใช่ญาติเชื้อของตน  แต่คนไทยก็นิยมเรียกท่านเหล่านั้นโดยการลำดับนับญาติด้วยความเคารพนับถือ เสมือนหนึ่งคนในเชื้อสายตระกูลเดียวกัน เช่น เราเรียกคนมีอายุมากกว่าพ่อแม่ ว่า ป้าหรือลุง  ทั้งที่ไม่ใช่พี่น้องของพ่อกับแม่เลย  ถ้าอายุอ่อนกว่าพ่อแม่ก็เรียกน้าอา อย่างนี้จนกระทั่งปัจจุบัน :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 09, 16:54
ถ้าจะนับว่า ปู่ย่า ตายาย ของสุนทรภู่เป็นเชื้อสายพราหมณ์รามราช ตั้งถิ่นฐานอยู่เพชรบุรี    ก็จะได้ความอีกอย่างหนึ่งว่า  ท่านเหล่านี้อยู่ ๒ เมือง คืออยู่เพชรบุรีด้วย อยู่อยุธยาด้วย
เมื่ออยู่เมืองเพชร ก็อยู่แบบคนตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั้นมาดั้งเดิม  ไม่ใช่แค่ไปอยู่ชั่วคราว   และพออยู่อยุธยา  ก็อยู่มายาวนานพอจะเห็น "เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี"   เก็บความในอดีตมาเล่าให้หลานฟังได้
เลยไม่รู้ว่าอยู่ไหนกันแน่  จะว่าอยู่ ๒ แห่ง นานๆกันก็ไม่น่าจะเป็นได้  เพราะสมัยโบราณ เขาไม่ได้ย้ายถิ่นกันง่ายๆ 

แต่สุนทรภู่เกิดมาอย่างชาววัง แม่เป็นแม่นมพระธิดากรมพระราชวังหลัง  ในนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ก็ยังพูดถึงวังหลังที่เคยอยู่
แสดงว่าเป็นชาวกรุงเทพแต่เล็ก

แต่พ่อก็ยังไปบวชอยู่เมืองแกลง ไกลสุดกู่อีกด้วย   ไม่ยักเลือกเพชรบุรีหรืออยุธยา
 ???


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ธ.ค. 09, 12:06
สุนทรภู่เกิดมาอย่างชาววัง แม่เป็นแม่นมพระธิดากรมพระราชวังหลัง  ในนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ก็ยังพูดถึงวังหลังที่เคยอยู่
แสดงว่าเป็นชาวกรุงเทพแต่เล็ก

เรื่องนี้อาจารย์ล้อมท่านขยายความไว้ว่า

กรมพระราชวังหลังนั้นเป็นพระเจ้าหลานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ประสูติในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครั้งกรุงศรีอยุธยา เข้ารับราชการใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรพชนของท่านสุนทรภู่จะได้ฝากฝังตัวเป็นข้ารับใช้ในกรมพระราชวังหลัง กล่าวให้ชัดก็คือ บรรพชนของท่านสุนทรภู่นั้นเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มารดาของสุนทรภู่จึงได้เป็นพระนมพระเจ้าลูกเธอในกรมพระราชวังหลัง และสุนทรภู่ก็ได้ เติบใหญ่เป็นข้าวังหลังต่อมา

ก.ศ.ร. กุหลาบ เล่าไว้ในหนังสือ สยามประเภท ว่าบ้านของสุนทรภู่ก็อยู่หลังป้อมวังหลังนั่นเอง

ได้พบตัวนายพัดบุตรชายสุนทรภู่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะนั้นนายพัดอายุ ๘๖ ปี ความจำยังดีไม่หลงลืม แต่ไม่เป็นนักปราชญ์เหมือนบิดา นายพัดได้เล่าว่า ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง เป็นสะเตชั่นรถไฟสายเพชรบุรี

สุนทรภู่เองก็เล่าถึงชีวิตรักที่วังหลังครั้งวัยหนุ่มในนิราศสุพรรณ ว่า

วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า           น้องเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย                ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย                ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า           คลาดแคล้วแล้วหนอ ฯ


 :D





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ธ.ค. 09, 15:19
เอ...จำได้ว่า  สุนทรภู่มีลูกชายอีกคนหนึ่ง ชื่อ นายตาบ พอจะมีความสามารถด้านกาพย์กลอนอยู่บ้าง  มีผลงานเรื่องหนึ่ง ชื่อ เพลงยาวนายตาบ แต่งเล่าเรื่องตามเสด็จรัชกาลที่ ๕ ไปเมืองสระบุรี  เคยลงพิมพ์ในวารสารศิลปากรนานมาแล้ว  แต่โวหารไม่โดดเด่นจึงไม่ใคร่มีคนรู้จักกัน.


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ธ.ค. 09, 11:08
พราหมณ์เมืองเพชรมาอยู่ในวังหลังได้อย่างไร

อาจารย์ล้อมฟื้นอดีตให้ฟังว่า

กรมพระราชวังหลังเป็นพระโอรสของพระพี่นางองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีบิดาคือ พระอินทรักษา ซึ่งเป็นลูกชายคนใหญ่ของพระยากลาโหมราชเสนา (สาย) มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยปลายอยุธยา  พระอินทรักษาเป็นตำรวจในราชสำนักของเจ้าฟ้ากุ้งซึ่งมีเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรทางพระมารดา เมื่อเป็นดังนี้ พระอินทรักษา ก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในวังมาตลอด  เมื่อมาอยู่กรุงเทพ พระอินทรักษาก็มีบารมีพอควร บรรดาญาติที่พลัดพรากกันซึ่งรวมถึงเหล่าพราหมณ์เมืองเพชรก็มารวมกันที่วังหลัง

อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ จากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ก็เห็นคล้ายคลึงกัน โดยขยายความเพิ่มเติมในส่วนการศึกษาค้นพบของอาจารย์ล้อม ว่า ในสมัยอยุธยา มีเจ้านาย ๒ พระองค์ที่สืบเชื้อสายมาจากสกุลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี คือ กรมหลวงอภัยนุชิต ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากุ้ง อีกพระองค์หนึ่งคือ กรมหลวงพิพิธมนตรี

อาจารย์บุญเตือนมีความเห็นเกี่ยวกับประวัติมารดาของสุนทรภู่ว่า

เข้าใจว่าข้างมารดาของสุนทรภู่เป็นสกุลพราหมณ์เมืองเพชร และมารดาของสุนทรภู่อาจนับเนื่องอยู่ราชนิกูลของกรุงศรีอยุธยา คือ เป็นญาติสายเดียวกับทางเจ้าฟ้ากุ้ง

พราหมณ์เมืองเพชรจึงมาอยู่วังหลังได้ด้วยประการฉะนี้แล

ที่มา จากการเสวนาเรื่อง "สุนทรภู่ อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี" ในงาน "ชุมชนบางกอกน้อย เปิดถิ่นฐานบ้านเกิด มหากวีกระฎุมพีสยาม สุนทรภู่อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี" ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘

http://www.piwdee.net/teacher2.htm



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 10, 16:09
ความพยายามของอ.ล้อม  ที่จะโยงกันระหว่างพราหมณ์เมืองเพชรกับราชสำนักเจ้าฟ้ากุ้ง มาถึงกรมพระราชวังหลัง   ดิฉันเห็นว่ามันยังหลวมอยู่มาก   
เจ้าฟ้ากุ้ง ท่านทรงมีวังของตัวเองมาตั้งแต่โสกันต์   เมื่อเป็นวังหน้าในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ก็ยิ่งมีข้าราชบริพารมากขึ้น ให้สมพระเกียรติ 
ขุนนางวังหน้าจะเป็นสายไหนก็ได้    ปะปนกันมากมายหลายสาย   ไม่จำเป็นต้องมีสายพราหมณ์เมืองเพชร ของพระมารดา     แม้แต่พวกบุนนาคซึ่งเป็นสายแขกเทศแท้ๆก็อยู่วังหน้า

ส่วนเรื่องมารดาเป็นเชื้อสายราชนิกูล ก็เดากันล้วนๆ   จึงไม่ขอต่อในเรื่องนี้

กลับมาเรื่องพระอภัยมณี
ในช่วงชีวิตของสุนทรภู่ คือรัชกาลที่ ๑-๔  เรื่องจีนเป็นที่นิยมกันมาก      ในฐานะอาลักษณ์  สุนทรภู่คงได้อ่านพงศาวดารจีนที่โปรดเกล้าฯให้แปล     
องค์ประกอบหนึ่งของเรื่องจีน คือ มีของวิเศษ และผู้วิเศษ     ก็ประสานเข้ากับเรื่องจักรๆวงศ์ๆของไทยได้กลมกลืน ในชาดกต่างๆมีทั้งของวิเศษ และพระฤๅษี ที่อนุโลมว่าเป็นผู้วิเศษประเภทหนึ่งอยู่แล้ว
ในเรื่องพระอภัยมณี มองเห็นร่องรอยของวิเศษของจีนมากกว่าชาดก  เช่นวิชาผูกสำเภายนต์     
แต่ตัวละครประกอบกลับมีหลายตัวเป็นพราหมณ์     เมื่อพิจารณาถึงประวัติสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชร ฉบับที่อ.ล้อมค้นพบ
ก็พอจะเห็นแรงบันดาลใจว่าทำไมสุนทรภู่จึงเวียนอยู่ใกล้ๆ พราหมณ์

ถ้าหากว่าไม่มีใครเล่าถึงพราหมณ์อีก   ดิฉันจะเชิญให้คุยกันต่อถึงชาติพันธ์ที่ ๒  คือฝรั่ง    แต่ถ้าจะเล่าถึงพราหมณ์ต่อไปอีก  ก็เชิญได้ตามสบาย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ม.ค. 10, 16:19
เดี๋ยวครับ คุณเทาชมพู  พราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์ ซึ่งตอนปลายๆเรื่องพระอภัยมณี มีบทบาทในการรบมาก  จะไม่เอาออกมาอภิปรายกันสักเทื้อหนึ่งหรือครับ  หรือเอาไว้ทีหลัง ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 08:58
อย่าลืมชีเปลือยอีกคน คนนี่ก็เป็นพราหมณ์เหมือนกัน

จะกล่าวความพราหมณ์แขกซึ่งแปลกเพศ      อยู่เมืองเทศแรมทางที่กลางหน
ครั้นเสียเรือเหลือตายไม่วายชนม์              ขึ้นอยู่บนเกาะพนมในยมนา
ไม่นุ่งห่มสมเพชเหมือนเปรตเปล่า              เป็นคนเจ้าเล่ห์สุดแสนมุสา
ทำเป็นทีชีเปลือยเฉื่อยเฉื่อยชา                ไม่กินปลากินข้าวกินเต้าแตง
พวกสำเภาเลากาก็พาซื่อ                       ชวนกันถือผู้วิเศษทุกเขตแขวง
คิดว่าขาดปรารถนาศรัทธาแรง                 ไม่ตกแต่งแต่คิดอนิจจัง
ใครขัดสนบนบานการสำเร็จ                    เนื้อแท้เท็จถือว่าวิชาขลัง
คนมาขอก่อกุฎิ์ให้หยุดยั้ง                      นับถือทั้งธรณีเรียกชีเปลือย

ชีเปลือยอวดอ้างกับสุดสาครว่า

เราตัดขาดปรารถนาไม่อาลัย                  ด้วยเห็นภัยวิปริตอนิจจัง
อันร่างกายหมายเหมือนหนึ่งเรือนโรค         แสนโสโครกคืออายุกเป็นทุกขัง
เครื่องสำหรับยับยุบอสุภัง                     จะปิดบังเวทนาไว้ว่าไร
เราถือศิลจินตนาศิวาโมกข์                    สละโลกรูปนามตามวิสัย
บังเกิดเป็นเบญจขันธ์มาฉันใด                 ก็ทิ้งไว้เช่นนั้นจึงฉันนี้
ไม่รักรูปร่างกายเสียดายชาติ                  อารมณ์มาดมุ่งหมายจะหน่ายหนี

อุดมการณ์ (ปลอม) ของชีเปลือยฟังดูแล้วคล้ายกับพวกทิคัมพร (นุ่งลมห่มฟ้า) ในศาสนาเชน

 ;D






กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 10, 10:48
จริงด้วย  ลืมตัวละครสำคัญนี้ไปได้อย่างไร

เนื้อความเกี่ยวกับชีเปลือยที่คุณเพ็ญชมพูยกมานั้น  ทำให้นึกถึงบรรดาพวกลัทธิครูทั้ง ๖ ในสมัยพุทธกาล

ในบรรดาลัทธิครูทั้ง ๖ นี้  บางลัทธิ เจ้าลัทธิเป็นคนที่เคยเป็นทาสเขา  ทำความผิดถูกเขาไล่ออกจากบ้าน ไม่มีข้าวกิน ไม่มีเสื้อผ้านุ่ง  ผู้คนที่มีปัญญาน้อย เห็นเข้าก็คิดว่า  เป็นผู้ละทิ้งสมบัติทางโลกได้  เป็นพระอรหันต์  ก็พากันนับถือเคารพ  บางลัทธิ เจ้าลัทธิเป็นคนที่หนีรอดชีวิตมาจากเหตุการณ์เรือแตกกลางทะเล  เมื่อขึ้นฝั่งได้ไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งห่ม ไม่มีบ้านเรือนจะอยู่  ทำตนเป็นขอทาน  คนพากันเข้าใจว่าเป็นนักบวชที่สละทางโลกได้แล้ว เป็นพระอรหันต์ก็พากันนับถือว่าเป็นครู  เจ้าลัทธิเหล่านี้เมื่อคนมานับถือมากเข้าก็ยินดี  แต่ไม่สามารถสั่งสอนธรรมะลึกซึ้งอะไรเป็นแก่นสารได้  ด้วยไม่ใช่ผู้มีปัญญา คงสอนตามที่ผู้คนทั้งหลายนับถือตนเองว่าเป็นผู้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ นั่นเอง รายละเอียดเรื่องอย่างนี้เหมือนกับเรื่องของชีเปลือยทีเดียว  ลางทีสุนทรภู่อาจจะเอาแนวเรื่องมาจากเจ้าลัทธิ ๖ สมัยพุทธกาลก็เป็นได้   (เนื้อเรื่องละเอียดของพวกลัทธิ ๖ ต้องลองไปค้นดูก่อน  ไว้จะเอามาเล่าใหม่แล้วกัน)

ส่วนพวกศาสนาเชน นิกายทิคัมพรนั้น สมัยสุนทรภู่ไม่น่าจะรู้จัก ถึงได้ยินได้รู้มาบ้าง  ก็น่าเป็นการบอกเล่าของผู้เคยไปถึงอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง  ซึ่งคงจะไม่ละเอียดถึงเรื่องลัทธิความเชื่อ คงเรียกรวมๆ ว่าชีเปลือยโดยไม่แบ่งว่าเป็นพวกลัทธิอะไร  จำได้เลาๆ ว่ามีเอกสารอะไรสักชิ้นหนึ่งของคนไทย เรียกพวกนี้ว่า เปรต เสียด้วยซ้ำไป  

ทิคัมพร  มาจาก  ทิศฺ + อมฺพร  แปลง ทิศฺ เป็น ทิคฺ เมื่อสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ  เป็นหลักของภาษาสันสกฤต :D



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 11:31
มัวแต่พิมพ์นานมาก  เลยเข้ามาช้ากว่าคุณหลวงเล็ก
เรื่องชีเปลือย    เห็นด้วยกับคุณเพ็ญชมพู  ว่าสุนทรภู่คงจะได้ความคิดมาจากพวกทิคัมพร     ซึ่งเป็นนิกายในศาสนาเชนหรือเดียรถีย์นิครนถ์  
ศาสนาเชน มีอยู่ในยุคเดียวกับพุทธศาสนา   บำเพ็ญการหลุดพ้นสู่นิพพานคล้ายๆกัน  แต่ด้วยวิธีการต่างกัน
ศาสนาเชนเน้นหนักไปด้านบำเพ็ญทุกขกิริยา  ส่วนพุทธศาสนาเห็นว่าการทรมานตัวเองไม่ใช่การหลุดพ้น   แต่เป็นทางสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา

ประวัติของมหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนนับว่าน่าสนใจ    มีอะไรบางอย่างคล้ายพุทธประวัติ  คือเป็นเจ้าชายเหมือนกัน มีนามเดิมว่า  วรรธมานะ  ประสูติ ณ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ในภาคเหนือ ของอินเดีย  ในราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะ ได้มีการจัดงานสมโภชใหญ่โตที่นครเวสาลี  มีนักพรตและเหล่าพราหมาจารย์ มาพยากรณ์ ว่า เจ้าชายจะทรงเป็นผู้มีอนาคตยิ่งใหญ่ มีทางเลือก 2 ทาง คือ
1. ถ้าอยู่ครองฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิ
2. ถ้าทรงออกผนวช จะได้เป็นศาสดาเอกของโลก

 เจ้าชายอภิเษกับเจ้าหญิงยโศธรา มีพระธิดาชื่อ อโนชา  เมื่อพระชนมายุได้ 30 เจ้าชายวรรธมานะก็ละทิ้งกรุงเวสาลีไปเป็นนักบวช เพื่อแสวงหาการหลุดพ้น   ทรงอธิษฐานจิตว่า  “ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปี จะไม่ยอมพูดจาอะไรกับใครแม้แต่คำเดียว”
ถือปฏิญาณครบ 12 ปี เจ้าชายบรรลุธรรมขั้นสูงสุดเรียกว่า เกวัล (keval) ตำราเชนระบุว่าขณะนั้นมหาวีระอยู่ในท่านั่งยองๆ คล้ายท่ารีดนมวัว การบรรลุเกวัลตามคติของศาสนาเชนเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เป็นพระอรหันต์ เป็นสัพพัญญู เรียกว่า พระชินะ คือ ผู้ชนะ (กิเลสในใจทั้งปวง) โดยสิ้นเชิง
 เจ้าชายจึงเผยแพร่ความคิดคำสอนใหม่ของพระองค์ ทรงตั้งศาสนาใหม่เรียกว่า ศาสนาเชน แปลว่าศาสนาของผู้ชนะตนเอง  ส่วนพระองค์มีพระนามใหม่ว่า มหาวีระ

พระมหาวีระใช้เวลาในการสั่งสอนสาวก และประสบผลสำเร็จตลอดมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ เมื่อพระชนมายุได้ 72 ปี ทรงประชวรหนัก ทรงทราบว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง จึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลาย และสั่งสอนเป็นโอกาสสุดท้ายพระมหาวีระดับขันธ์ในเช้าวันต่อมา สรีระของพระมหาวีระได้กระทำการฌาปนกิจที่เมืองปาวา จึงเป็นสังเวชนียสถาน สำคัญแห่งหนึ่ง


หลักคำสอนสำคัญบางประการของศาสนาเชน
อนุพรต
 อนุพรต คือ ข้อปฏิบัติพื้นฐาน  มี 5 ประการที่สอนให้งดเว้นสิ่งที่ไม่ดี คือ
1. อหิงสา  การไม่เบียดเบียนให้คนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่น
2. สัตยะ    การไม่พูดเท็จ
3. อัสตียะ  การไม่ลักขโมย
4. พรหมจริยะ  เว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย
5. อัปริคคหะ  ความไม่โลภ

 มหาพรต
ข้อปฏิบัติสำคัญและยิ่งใหญ่
1. สัมยัคทรรศนะ  ความเชื่อที่ถูกต้อง
2. สัมยัคญาณะ  ความรู้ที่ถูกต้อง
3. สัมยัคยาริตะ  ความประพฤติที่ถูกต้อง

พิธีกรรมของศาสนาเชน
การบวชเป็นบรรพชิต  เป็นการเปลี่ยนแปลงภาวะของคนธรรมดาสู่ความเป็นนักพรต ครองผ้า 3 ผืน ต้องโกนผมด้วยวิธี ถอนผมตนเอง ฉันอาหารเท่าที่แสวงหามาได้  
ศาสนาเชนถือว่าการทรมานตนให้ได้รับการลำบากต่างๆ เช่นการอดอาหาร การไม่พูดจากับใครจะสามารถทำให้บรรลุโมกษะ
แต่พุทธศาสนาเรียกการกระทำนี้ว่า อัตตกิลมถานุโยค   คือบำเพ็ญสุดโต่งไปทางด้านทรมานตัวเอง     ไม่ใช่หนทางหลุดพ้น

จุดหมายสูงสุดของศาสนาเชน
 ศาสนาเชนมีจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร คือ นิรวารณะ หรือ โมกษะ (ความหลุดพ้น)
ผู้หลุดพันจากเครื่องผูก คือ กรรม ได้ชื่อว่า สิทธะ หรือ ผู้สำเร็จ เป็นผู้ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนต่อกลิ่น ปราศจาก ความรู้สึกเรื่องรส ไม่มีความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา ไม่มีความหิว ความเจ็บปวด ความเสียใจ ความดีใจ ไม่เกิด แก่ ตาย ไม่มีรูป  ไม่มีร่างกาย ไม่มีกรรม เสวยความสงบอันหาที่สุดมิได้
วิธีที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่เรียกว่า อนุพรต 5 จนถึงอย่างสูงที่เป็นข้อปฏิบัติอันยิ่งใหญ่และสำคัญคือ มหาพรต 3

นิกายสำคัญของศาสนาเชน
ศาสนาเชนมีนิกายที่สำคัญอยู่ 2 นิกาย
1. นิกายเศวตัมพร  นิกายนุ่งผ้าขาว  ถือว่าสีขาวเป็นสีบริสุทธิ์
2. นิกายทิคัมพร     นิกายนุ่งลมห่มฟ้า ( เปลือยกาย)

หากมีข้อสงสัยว่า ทำไมศาสดามหาวีระจึงนุ่งลมห่มฟ้า เรื่องนี้มีตำนานว่า ภรรยาของพราหมณ์ยากจนคนหนึ่งบอกให้ไปขอสิ่งของจากมหาวีระ ท่านจึงมอบผ้าห่มกายของท่านให้พราหมณ์ไปครึ่งหนึ่ง ครั้นเมื่อภรรยาของพราหมณ์นำผ้าดังกล่าวไปให้ช่างทอผ้าดู ช่างทอผ้าก็ว่า หากได้ครึ่งที่เหลือมา เขาก็จะเย็บผ้าเข้าด้วยกันเป็นผืนเดียวซึ่งขายได้หลายเหรียญทอง

พราหมณ์คนนั้นจึงได้กลับไปหามหาวีระในป่าอีกครั้ง แต่ก็ไม่กล้าเอ่ยปากขอ เดินไปได้ระยะหนึ่งผ้าพาดไหล่ของมหาวีระเกิดเกี่ยวติดพงหนามหลุดออกโดยอุบัติเหตุ พราหมณ์จึงฉวยโอกาสเก็บผ้าและรีบจากไป ส่วนมหาวีระนั้นก็ไม่ว่ากระไร เพราะตั้งใจว่าจะไม่กล่าวอะไรถึง 12 ปี นับแต่นั้นมา มหาวีระจึงไม่มีอาภรณ์ใดๆ ติดกายมานับแต่นั้น (น่ารู้ไว้ว่า ศาสนาเชนมี 2 นิกายหลัก คือ นิกายทิคัมพร ซึ่งนักบวชยึดถือการนุ่งลมห่มฟ้าแบบเคร่งครัด และนิกายเศวตามพร ซึ่งนักบวชนุ่งผ้าขาว)


อ้างอิง
๑   http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-3-43343.html
๒  http://www.bangkokbiznews.com/jud/sat/20071201/news.php?news=column_25165841.html


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 11:44
เราตัดขาดปรารถนาไม่อาลัย                  ด้วยเห็นภัยวิปริตอนิจจัง
อันร่างกายหมายเหมือนหนึ่งเรือนโรค      แสนโสโครกคืออายุกเป็นทุกขัง
เครื่องสำหรับยับยุบอสุภัง                     จะปิดบังเวทนาไว้ว่าไร
เราถือศิลจินตนาศิวาโมกข์                    สละโลกรูปนามตามวิสัย
บังเกิดเป็นเบญจขันธ์มาฉันใด                 ก็ทิ้งไว้เช่นนั้นจึงฉันนี้
ไม่รักรูปร่างกายเสียดายชาติ                  อารมณ์มาดมุ่งหมายจะหน่ายหนี

ยังสงสัยอยู่ว่า สุนทรภู่เคยเห็นพวกทิคัมพรด้วยตัวเอง หรือฟังเขาเล่าต่อกันมา       เพราะเหตุผลของชีเปลือยที่ยกมาข้างบนนี้  ฟังๆ ก็เข้าหลักของศาสนาเชนอยู่มาก
สาเหตุการเปลือยกายของพวกทิคัมพร  ตามหลักการแล้วไม่ใช่อย่างตำนานของมหาวีระ เรื่องหนามเกี่ยวผ้าหลุด     แต่เป็นการละวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง  สละทิ้ง ไม่ยึดถืออะไร แม้แต่ยึดถือเสื้อผ้าอาภรณ์เพื่อปิดบังกาย
ถ้ายังนุ่งห่มอยู่ก็หมายความว่ายังยึดมั่นอยู่ อย่างน้อยก็ยังยึดว่าร่างกายเป็นของน่าอาย  หรือเป็นของน่าทะนุถนอม ต้องปกป้องให้พ้นร้อนหนาว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 12:11
ถ้าหากว่าสุนทรภู่เคยเห็นพวกชีเปลือย หรือนิครนถ์ ด้วยตาตัวเอง  จนจุดประกายให้เอามาเขียนเป็นตัวร้ายในพระอภัยมณี   ก็ยากที่จะเชื่อว่าพวกชีเปลือยเดินทางจากอินเดียมาบำเพ็ญทุกขกิริยาถึงประเทศไทย   
จึงหมายความได้อีกอย่างว่า สุนทรภู่เคยเดินทางไปถึงดินแดนที่มีพวกนิครนถ์
ทิ้งเป็นคำถามไว้แค่นี้   เราคงไม่มีวันรู้คำตอบ    เพราะงานของสุนทรภู่ที่เขียนไว้ แต่ปลวกขึ้นกุฏิเสียหายหมดก็มีหลายเรื่อง    เรื่องที่ต้นฉบับสูญหายหาไม่พบก็มีอีก    จึงไม่รู้ว่าตลอดรัชกาลที่ ๓ ที่ท่านพ้นราชการมานั้น ท่านเคยเดินทางออกพ้นประเทศไทยหรือเปล่า

เอารูปมหาวีระมาให้ดูค่ะ   มองเผินๆ อาจเข้าใจผิดว่าเป็นพระพุทธรูป หรือภาพวาดพระพุทธเจ้า
แต่สังเกตให้ดีจะเห็นว่า ไม่นุ่งผ้า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 12:28
ศาสดามหาวีระ กับพระพุทธเจ้า ไม่เคยพบกัน  แต่ศิษย์ของมหาวีระ ชื่อสัจจกะนิครนถ์ เคยมาประลองปัญญา โต้วาทะธรรมกับพระพุทธเจ้า
แล้วสัจจกะนิครนถ์ เป็นฝ่ายจนมุมไป     เหตุการณ์ครั้งนี้ บันทึกไว้ในบทสวดพาหุง  หรือชัยมงคลคาถา  ตอนนี้ค่ะ

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
แปลว่า
พระจอมมุนี ผู้รุ่งเรืองด้วยแสงสว่าง คือ ปัญญา ได้เอาชนะ สัจจกะนิครนถ์ ผู้มีความคิดมุ่งหมายในอันจะละทิ้งความสัตย์ มีใจคิดจะยกถ้อยคำของตนให้สูงประดุจยกธง และมีใจมืดมนยิ่งนัก ด้วยการแสดงเทศนาให้ถูกใจ,
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแด่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิดฯ
 
คุณหลวงเล็กจะมาแก้ไข หรือต่อเติม อะไรไหมคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ม.ค. 10, 15:35
อ้างถึง
ถ้าหากว่าสุนทรภู่เคยเห็นพวกชีเปลือย หรือนิครนถ์ ด้วยตาตัวเอง  จนจุดประกายให้เอามาเขียนเป็นตัวร้ายในพระอภัยมณี   ก็ยากที่จะเชื่อว่าพวกชีเปลือยเดินทางจากอินเดียมาบำเพ็ญทุกขกิริยาถึงประเทศไทย   

ข้อความนี้  "ก็ยากที่จะเชื่อว่าพวกชีเปลือยเดินทางจากอินเดียมาบำเพ็ญทุกขกิริยาถึงประเทศไทย"  น่าสนใจ  เพราะนักบวชศาสนาเชนนิกายทิคัมพร ซึ่งอาจจะรวมไปถึงนิกายเศวตัมพรด้วย  มีข้อห้ามข้อหนึ่งที่ว่า ห้ามนักบวชเชนขึ้นพาหนะโดยสารเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ ช้าง ม้า วัว หรืออะไรก็ตาม จะไปไหนมาไหนให้เดินด้วยเท้าเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้เอง ศาสนาเชนจึงมีผู้นับถืออยู่เฉพาะในประเทศอินเดีย  เนื่องจากการเผยแผ่ศาสนาเชนถูกจำกัดโดยวิธีการเดินทางไปเผยแผ่คำสอน  อนึ่งหลักการของศาสนาเชนบางประการก็มีลักษณะสุดโต่งด้วย  เช่น นิกายทิคัมพรถือว่า ผู้ชายเท่านั้นที่จะบรรลุโลกุตตระทางศาสนาเชนได้  เพราะผู้หญิงไม่สามารถจะเปลือยกายเป็นนักบวชในนิกายนี้ได้  ในศาสนาเชนนิกายทิคัมพร(รวมถึงนิกายเศวตัมพรด้วยหรือไม่ ไม่ทราบได้) ผู้ชายที่จะเป็นนักบวชนั้นจะถูกถอนผม หนวด เครา และเส้นขนตามร่างกาย ด้วยมือ!!! เท่านั้น  เคยดูสารคดีที่เขาไปถ่ายทำ เห็นเขาดึงกระชากกันเลือดซิบๆ เลย   

นอกจากนี้ ในศาสนาเชนยังอนุญาตให้ผู้ศรัทธาในศาสนาเชนอย่างยิ่งสามารถอดอาหารจนตายเพื่อบำเพ็ญตนให้หลุดพ้นถึงโมกษะได้   ถ้าเป็นพุทธศาสนาถือเป็นบาป :-\


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 16:01

วัดเชนแห่งแรกในไทยตั้งเมื่อ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ชื่อ ศรี ๑๐๐๘ มหาวีระ มัณดรา
http://news.sanook.com/education/education_42502.php

มีวัดก็ต้องมีนักบวช  ข่าวไม่ได้ระบุว่านักบวชเชนเดินทางมาเมืองไทยโดยวิธีใด

???


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 10, 18:53
เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ศาสนาเชน มาถึงประเทศไทยแล้ว  เดาว่านักบวชน่าจะเป็นพวกเศวตามพร คือนุ่งขาว
อ่านพบในเว็บไหนจำไม่ได้ว่า ศาสนาเชน มักจะนับถือกันในหมู่ชนชั้นกลางของอินเดีย มากกว่าชนระดับแรงงานอย่างชาวนาชาวไร่        พวกหลังนี้ไม่สะดวกที่ปฏิบัติตามแนวทาง เพราะเชนเคร่งครัดเรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต   แม้โดยไม่ตั้งใจก็ทำไม่ได้
พวกชาวไร่ชาวนา เสี่ยงกับทำลายชีวิตสัตว์เล็กๆน้อยๆ อยู่ในชีวิตประจำวัน  เพราะแค่ไถนา พลิกดิน ก็อาจจะทำลายมดแมลงไปแล้วจำนวนมาก  ส่วนคนชั้นกลางไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาแบบนี้ จึงสะดวกมากกว่า

การโต้วาทีระหว่างสัจจกะนิครนถ์ กับพระพุทธองค์  น่าสนใจ เพราะสะท้อนความเชื่อที่แตกต่างกันระหว่างสองศาสนา  เรียกว่าแตกต่างกันใน "แก่น" เลยทีเดียว
เนื้อหาที่โต้กันนั้นมีบันทึกไว้ในจูฬสัจจกสูตร และมหาสัจจกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  เกี่ยวกับเรื่อง อัตตา (ตัวตน) และ อนัตตา ( ไม่มีตัวตน) กับเรื่องฝึกฝนกายและจิต
มีเนื้อหายาวเหยียดมาก   
ขอย่อยบางส่วนย่อๆ  ในเรื่องอัตตาและอนัตตา  ว่า ศาสนาเชนเชื่อว่า  “อัตตา” (ตัวตน) มีจริง
อยู่ในภาวะเที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็น “อนัตตา” เปลี่ยนแปลงได้และไม่มีตัวตน

เมื่อสัจจกะนิครนถ์เชื่อมั่นว่า อัตตามีจริง  เป็นของเราจริง   เที่ยวแท้แน่นอน  พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้วิธีตะล่อมถาม  ว่า “กษัตริย์ย่อมมีอำนาจในการสั่งริบทรัพย์สั่งจองจำ สั่งฆ่าผู้ที่มีความผิดในพระราชอาณาจักรได้ใช่หรือไม่
สัจจกะก็ตอบว่า ใช่   กษัตริย์ย่อมทำได้กับประชาชนในอำนาจของพระองค์
พระพุทธเจ้าก็ทรงถามต่อไปว่า กษัตริย์ทีมีอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ จะสั่งให้รูป (หนึ่งในขันธ์ ๕) ว่า จงเป็นอย่างนี้  อย่าเป็นอย่างนั้น ได้ไหม สั่งให้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จงเป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม  (คือไม่ให้แก่ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ได้ไหม)
สัจจกะตอบว่าไม่ได้
ทรงถามไปทีละข้อๆ อย่างนี้ สัจจกะก็ยอมรับว่า ไม่มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว

พระองค์ก็ตรัสสรุปว่า ที่ท่านว่าขันธ์ ๕ เป็น “ตัวตน” นั้นผิดแล้ว เพราะถ้ามันเป็นตัวตนของเราจริง เราก็น่าจะบังคับบัญชามัน และสั่งให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ความจริงขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และไม่มีตัวตน

สัจจกะจำนนด้วยเหตุผล ยอมรับว่าตนเข้าใจผิด   และยอมรับนับถือ  ถึงขั้นนิมนต์พระพุทธเจ้าไปเสวยภัตตาหาร ที่บ้านของตน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 10, 08:56
อ้างถึง
เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ศาสนาเชน มาถึงประเทศไทยแล้ว  เดาว่านักบวชน่าจะเป็นพวกเศวตามพร คือนุ่งขาว

คิดเหมือนอย่างที่คุณเทาชมพูว่านี่แหละครับ  แต่พอไปดูตามลิงก์ของคุณเพ็ญชมพูแล้ว  วัดเชนที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทยนี้  เป็นวัดเชนนิกายทิคัมพรครับ  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่นับถือนิกายเศวตัมพรจะเข้าวัดนี้ไม่ได้ เพราะว่าผู้นับถือศาสนาเชนในไทยไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน  ในเมืองไทยมีผูนับถือศาสนาเชนทั้ง ๒ นิกาย   โดยผู้นับถือนิกายทิคัมพรมีมากกว่านิกายเศวตัมพร  เข้าใจว่าวัดนี้คงจะไม่มีนักบวชประจำ  คงเป็นแต่ที่ประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาเชนของผู้ที่นับถือศาสนาเชน  และเป็นที่พบปะของผู้นับถือศาสนาเชนด้วย  วัดนี้ก่อตั้งโดยประธานองค์การเชนฑิฆัมพรแห่งอินเดีย 

นอกจากนี้ ในเมืองไทยยังมีมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยผู้นับถือศาสนาเชนด้วย ชื่อ " มูลนิธิ เดกัมบาร์ เชน " มีสำนักงานอยู่ที่เขตบางรัก กทม.  มูลนิธินี้ก่อตั้งเมื่อ ปลายปี ๒๕๔๙ 

ในเบื้องต้นนี้  เข้าใจว่า ในเมืองไทยมีแต่ผู้นับถือศาสนาเชนทั้งสองนิกาย ส่วนนักบวชเชนในเมืองไทยนั้นอาจจะไม่มี  ส่วนการเข้ามาของผู้นับถือศาสนาเชนก็เป็นเพราะคนอินเดียเดินทางเข้ามาทำมาค้าขายในประเทศไทยและตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย  เช่นเดียวกับการเข้ามาของผู้นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาซิกข์นั่นเอง

ส่วนเรื่องการโต้วาทีระหว่างลัทธิศาสนาในอินเดียนั้น  มีมาแต่ก่อนพุทธกาล  ถ้าได้อ่านหนังสือที่เล่าเรื่องอินเดียโบราณจะทราบว่า  อินเดียเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิต่างๆ มากมาย  เมืองสำคัญที่เจ้าลัทธิมุ่งหมายจะไปเผยแพร่คำสอน คือ เมืองพาราณสี  นัยว่าถ้าปักหลักที่เมืองนี้ได้  ลัทธินั้นก็จะมีผู้นับถือมากขึ้น  ยิ่งถ้าโน้มน้าวให้พระเจ้ากรุงพาราณสียอมรับนับถือคำสอนของตนได้  ยิ่งดีเพราะจะมีคนเข้าในลัทธิมาก  และสามารถเผยแผ่คำสอนไปยังเมืองอื่นๆ ได้ง่าย   พระพุทธเจ้าก็ทรงพระดำริในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนในระยะแรกอย่างเดียวกันกับเจ้าลัทธิอื่นๆ  จึ่งทรงเริ่มเผยแผ่คำสอนในวงกว้างที่เมืองพาราณสี   เมืองพาราณสีจึงเป็นเมืองแห่งเจ้าลัทธิมาแต่โบราณ  เมื่อมีเจ้าลัทธิมากๆ คนในเมืองนั้นย่อมไม่รู้จะเลือกเชื่อตามเจ้าลัทธิใดดี  เจ้าลัทธิหรือสาวกในลัทธิเหล่านั้นจึงมักจัดการท้าโต้วาทีเรื่องปรัชญาศาสนาระหว่างลัทธิอื่นๆ กันเป็นประจำ  ฝ่ายใดชนะคนก็จะแห่ไปนับถือลัทธินั้น  พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลมา ก็ต้องโต้วาทีกับบรรดาลัทธิเหล่านั้นเสมอๆ  โดยเฉพาะพวกนิครนถ์ ปริพาชก พราหมณ์ หรือแม้แต่กษัตริย์ และนักปราชญ์  อย่างปรากฏเป็นพระสูตรต่างๆ หรือคัมภีร์อื่นๆ ในพุทธศาสนา  เช่น คัมภีร์มิลินทปัญหา เป็นต้น  นอกจากการโต้วาทีระหว่างลัทธิศาสนาแล้ว  เมื่อภายหลังศาสนาเกิดแตกเป็นนิกายต่างๆ อย่างพุทธศาสนาเคยมีนิกาย ๒๐ กว่านิกาย  ก็มีการโต้วาทีระหว่างนิกายด้วย  ทั้งนี้เพราะการตีความคำสอนไม่เหมือนกันในแต่ละนิกายนั่นเอง   ลักษณะการโต้วาทีนี้ยังคงปรากฏอยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ธิเบต  มีการฝึกการโต้วาทีอยู่ในหมู่พระลามะ

ความแตกต่างระหว่างนิกายทิคัมพรและนิกายเศวตัมพรในศาสนาเชน  คงเป็นความแตกต่างของลัทธิที่นักบวชที่ทั้งสองนิกาย ;Dปฏิบัติเป็นสำคัญ  แต่โดยในระดับผู้นับถือศาสนาเชนทั่วไปคงเหมือนกัน 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 09:31
ศิษย์ของมหาวีระ ชื่อสัจจกะนิครนถ์ เคยมาประลองปัญญา โต้วาทะธรรมกับพระพุทธเจ้า
แล้วสัจจกะนิครนถ์ เป็นฝ่ายจนมุมไป     เหตุการณ์ครั้งนี้ บันทึกไว้ในบทสวดพาหุง  หรือชัยมงคลคาถา


ผู้ประพันธ์พระคาถาพาหุงยกชัยชนะครั้งนี้ยิ่งใหญ่ระดับเดียวกับชัยชนะของพระพุทธองค์ต่อพญามาร อาฬวกยักษ์ พญาช้างนาฬาคิรี องคุลิมาล นางจิญจมาณวิกา พญานาคนันโทปนันทะ และพรหมพกะ

http://th.wikisource.org/wiki/พระคาถาพาหุง (http://th.wikisource.org/wiki/พระคาถาพาหุง)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 10:01
ยังงงๆอยู่นิดหน่อยในลิ้งค์วัดเชนที่คุณเพ็ญชมพูเอามาให้ดู      เพราะเคยชินกับวัดไทยว่า สร้างวัดที่ไหน ต้องมีพระอยู่ที่นั่น  ก็เลยนึกว่า วัดเชนนิกายทิคัมพร คงมีไม่ได้เพราะจะเอานักบวชนุ่งลมห่มฟ้าที่ไหนมาประจำในไทย   จึงเชื่อว่าเป็นเศวตามพร
มาอ่านของคุณหลวงอีกที    ถึงเข้าใจว่าวัดเชนที่ว่า เป็นแค่ศาสนสถาน ที่ผู้นับถือศาสนานั้นมาพบปะชุมนุมกันตามโอกาส  ประกอบศาสนกิจกันด้วย   แต่ไม่มีนักบวช

ดิฉันสนใจเรื่องลัทธิต่างๆสมัยพุทธกาล   อยากรู้ว่าแต่ละอย่างเขามีความเชื่อและวิถีปฏิบัติอย่างใด    แต่เสียดายไม่มีความรู้เรื่องนี้มากพอ     
เท่าที่เข้าใจคร่าวๆคือการแสวงหาโมกษะ หรือการหลุดพ้น  มีมาก่อนแล้วในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู  เขาแบ่งชีวิตเป็น ๓ วัย  วัยเด็กศึกษาเล่าเรียนพระเวท   วัยหนุ่ม ครองเรือน  มีลูกเมีย  ดำเนินชีวิตอย่างชาวโลก เช่นมีบุตรชายสืบตระกูล   วัยชราคือเมื่อลูกชายโตเป็นหนุ่มแล้ว พ่อก็มอบบ้านเรือนสมบัติให้ครอบครอง  ตัวเองก็ละทางโลกไปอยู่ป่า แสวงหาโมกษะคือการหลุดพ้น    ก็กลายเป็นฤๅษีโยคีดาบส  (พวกเหล่านี้ในอินเดียไม่เหมือนกัน  แต่ในวรรณคดีไทย มาแปลเป็นอย่างเดียวกันหมด)
แต่ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ  คงไม่เดินตามขั้นตอนนี้   เห็นได้จากเจ้าชายวรรธมาน และเจ้าชายสิทธัตถะ  ละทิ้งทางโลกออกแสวงหาการหลุดพ้นตั้งแต่พระชนม์ไม่เกิน ๓๐

ในพระไตรปิฎก อธิบายถึงลัทธิอื่นๆไว้  แต่เท่าที่อ่านมาก็ยังไม่ชัดเจน     เรียกว่า เดียรถีร์ บ้าง มิจฉาทิฐิ บ้าง    ศาสนาเชน ที่พระไตรปิฎก เรียกว่านิครนถ์  ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งเอาเลยทีเดียว   
การสวดพาหุง จึงถือชัยชนะของพระพุทธองค์ที่ทรงแสดงธรรมให้ศิษย์ของมหาวีระยอมรับได้   เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ใหญ่ของมารผจญในรูปแบบต่างๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 10:27
ฤๅษีโยคีดาบส  พวกเหล่านี้ในอินเดียไม่เหมือนกัน  แต่ในวรรณคดีไทย มาแปลเป็นอย่างเดียวกันหมด

ลองเปิดพจนานุกรมดู

ฤๅษี น. ฤษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.

โยคี น. นักบวชผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ, ฤษีพวกหนึ่ง. (ป.; ส. โยคินฺ ว่า ผู้ปฏิบัติ ตามลัทธิโยคะ).

ดาบส [-บด] น. ผู้บําเพ็ญตบะคือการเผากิเลส, ฤษี. (ป., ส. ตาปส), เพศหญิง ใช้ว่า ดาบสินี. (ป. ตาปสินี), ในบทกลอนใช้ว่า ดาวบส ก็มี เช่น ไปแต่งองค์ทรงไม้เท้าของดาวบส. (อภัย).

ทุกคำแปลรวมว่า ฤษี เหมือนกันหมด

ปุจฉา ในอินเดียไม่เหมือนกันอย่างไร

 ???




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 10:33
รู้เพียงว่า คนละลัทธิกันค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 10, 11:07
อ้างถึง
เท่าที่เข้าใจคร่าวๆคือการแสวงหาโมกษะ หรือการหลุดพ้น  มีมาก่อนแล้วในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู  เขาแบ่งชีวิตเป็น ๓ วัย  วัยเด็กศึกษาเล่าเรียนพระเวท   วัยหนุ่ม ครองเรือน  มีลูกเมีย  ดำเนินชีวิตอย่างชาวโลก เช่นมีบุตรชายสืบตระกูล   วัยชราคือเมื่อลูกชายโตเป็นหนุ่มแล้ว พ่อก็มอบบ้านเรือนสมบัติให้ครอบครอง  ตัวเองก็ละทางโลกไปอยู่ป่า แสวงหาโมกษะคือการหลุดพ้น    ก็กลายเป็นฤๅษีโยคีดาบส  (พวกเหล่านี้ในอินเดียไม่เหมือนกัน  แต่ในวรรณคดีไทย มาแปลเป็นอย่างเดียวกันหมด)
แต่ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ  คงไม่เดินตามขั้นตอนนี้   เห็นได้จากเจ้าชายวรรธมาน และเจ้าชายสิทธัตถะ  ละทิ้งทางโลกออกแสวงหาการหลุดพ้นตั้งแต่พระชนม์ไม่เกิน ๓๐  

ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แบ่งช่วงวัยชีวิตคนเรา ออกเป็น ๔ ช่วงดังนี้ ครับ  เรียกว่าหลักอาศรม ๔
ช่วงที่ ๑ เรียก พรหมจารี  (ผู้ถือปฏิบัติอย่างพรหม - คือเป็นโสดและเรียนวิชาการต่างๆ) ตั้งแต่อายุ ๑-๒๕ ปี เป็นระยะที่ทุกคน (เด็กผู้ชาย)ต้องแสวงหาความรู้ไตรเพทและความรู้ทางโลก(อรรถะ)ตลอดจนเริ่มสร้างตน

ช่วงที่ ๒ เรียก คฤหัสถ์  (ผู้ครองเรือน) ตั้งแต่อายุ ๒๕  เป็นต้นไป - ๕๐ ปี โดยประมาณ เป็นระยะที่ควรมีครอบครัว แต่งงานมีลูก สร้างฐานะทางครอบครัว เพื่อจุดประสงค์คือ กามะ

ช่วงที่ ๓ เรียก วานปรัสถ์  (ผู้เข้าอยู่ในป่า)  เริ่มตั้งแต่อายุ ๕๐ ปีเป็นต้นไป หรือวัยเกษียณจากการงาน  เป็นระยะที่หมดภาระจากหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ  เพราะมีลูกหลานคอยดูแลกิจการต่างๆ แทนแล้ว  ความรับผิดชอบทางครอบครัวยังพอมีบ้าง  จึงพอมีเวลาหันเข้าหาธรรมะ  เข้าวัด เข้าป่าฝึกสมาธิ  (สมัยก่อนนักบวชมักปลีกวิเวกอยู่ตามถ้ำป่าเขา) สนทนาธรรม แต่ยังไม่ตัดขาดจากครอบครัวเสียทีเดียว ยังไปๆมาๆ อยู่  ช่วงชีวิตนี้แสวงหา ธรรมะ เป็นสำคัญ

และช่วงที่ ๔ เรียก สันยาสี (ความหมายคล้ายๆ กับผู้ออกบวชแสวงหาโมกษะความหลุดพ้น) เมื่อศึกษาธรรมะจนมีศรัทธาแก่กล้าหรือได้ปัญญาระดับหนึ่งแล้ว  ก็จะสละภาระทางครอบครัวสิ้นเชิง  ออกบวชหรือออกจาริกแสวงบุญ จุดหมายคือ โมกษะ ความหลุดพ้นนั่นเอง

ช่วงวัยทั้ง ๔ นี้ เข้าใจว่า คงเน้นปฏิบัติเฉพาะผู้ชายอินเดียบางวรรณะ มิใช่ทุกวรรณะ คือ  พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์  ส่วนศูทรกับพวกอวรรณะอาจจะไม่เป็นไปตามนี้  และช่วงวัยที่กำหนดตามหลักศาสนาพราหมณ์นั้น  เป็นการกำหนดอายุแต่ละช่วงอย่างกว้างๆ ไม่เคร่งครัดตายตัวเสียทีเดียว  ส่วนผู้หญิงคงมีที่ปฏิบัติตามนี้ได้บ้าง คงไม่ทั้งหมด

พระพุทธเจ้าและพระมหาวีระ  ก็ทรงปฏิบัติตามหลักนี้เหมือนกัน  คือ ศึกษาวิชาการต่างๆ  มีครอบครัว   ศึกษาธรรมะลัทธิต่างๆ  และบำเพ็ญเพียรออกบวชตัดขาดทางโลก  เพียงแต่ระยะแต่ละช่วงของทั้งสองพระองค์เร็วกว่าคนในสังคมฮินดูปกติ   ถ้าหันมาดูคนไทย  ก็คล้ายกับหลักอาศรม ๔  คือ แต่เด็กร่ำเรียนหนังสือ   พอเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ประกอบอาชีพมีครอบครัวสร้างฐานะ  พอทำงานจนถึงวัยเกษียณอายุ  ก็หันหน้าเข้าวัด ปฏิบัติธรรมะ  ทำบุญ    ถ้าศรัทธาแก่กล้ามากก็บวชก็มีอยู่เหมือนกัน

ส่วนเรื่องสัจจกนิครนถ์  ต้องไปอ่านหาอ่านในฎีกาพาหุงประกอบด้วย  ลำพังอ่านจากบทสวดพาหุง (ชัยมงคลคาถา) คงจะได้ความอะไรไม่ชัดเจน  ประการหนึ่ง  คาถาพาหุงก็เป็นคาถาที่แต่งขึ้นภายหลังพุทธกาลมากแล้ว  สังเกตได้จากการแต่งเป็นวสันตติลกฉันท์ที่เคร่งครัดและมีจำนวนหลายบท  (ถือเป็นฉันท์ชั้นครูทีเดียว) มีลักษณะความเชื่อออกไปทางมหายานอยู่  คล้ายๆ กับพระปริตรที่พระสงฆ์เจริญในงานมงคล

ส่วนที่ว่า ศาสนาเชน ที่พระไตรปิฎก เรียกว่านิครนถ์  ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งเอาเลยทีเดียว    
ก็คงเป็นเพราะศาสนาพุทธและศาสนาเชนมีคำสอนในลักษณะที่ค้านโต้แย้งความมีอยู่ของพระเจ้าของศาสนาพราหมณ์ (เรียกว่าฝ่าย นาสติกะ  ฝ่ายที่เชื่อว่ามีพระเจ้า เรียกว่า ฝ่ายอาสติกะ) เหมือนกัน  เพียงแต่หลักปฏิบัติของสองศาสนาที่ลักษณะสุดโต่งต่างกัน   ศาสนาเชนถือว่านักบวชต้องสละทางโลกให้เด็ดขาด  ไม่ควรมีทรัพย์สมบัติ  แม้กระทั่งเสื้อผ้าอาภรณ์ ฉันอาหารในมือด้วยมือเท่านั้น (เป็นที่มาของนิกายทิคัมพร) ไม่ฆ่าสัตว์แม้แต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในอากาศ  จะเดินไปไหนก็ต้องเอาไม้กวาดหรือแส้ปัดกวาดเสียก่อน มีผ้าปิดปากจมูก นุ่งขาวห่มขาว (เป็นที่มาของนิกายเศวตัมพร)  แต่พุทธศาสนา  ถือทางสายกลาง คือ  สละทางโลกแต่พอให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัย ๔ เน้นการปฏิบัติบำเพ็ญทางจิตให้มาก   กระนั้นหลักการก็คล้ายกันอยู่  ต่างกันแต่หลักปฏิบัติลางข้อ  ฉะนั้นจึงต้องแข่งขันมากเป็นธรรมดา  การโต้วาทีจึงเป็นการแสดงศักยภาพของแต่ละศาสนาลัทธิว่า  สามารถตอบปัญหาชีวิตและปัญหาเรื่องโลกจักรวาลได้มากน้อยเพียงใด  สามารถทำให้คำสอนแจ่มแจ้งแก่คนได้ไหม  อันนี้แสดงว่าคนอินเดียสมัยก่อนช่างสงสัย  เพียงแต่มีครูที่ตอบคำถามให้มากมายจนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี  พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงสอนหลักกาลามสูตร(เกสปุตตสูตร)ให้ว่า เราควรจะเชื่อคำสอนไหนเพราะมีหลักอะไรนั่นเองพิจารณาก่อนที่จะยอมรับเชื่อตาม ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 11:28
 :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 10, 12:00
 :-[ :-[ :) ขอบคุณครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 12:54
กลับมาเรื่องพระอภัยมณี

ลองเทียบพระอภัยมณีกับขุนช้างขุนแผน  เรื่องฉากและเหตุการณ์    สังเกตอยู่อย่างว่าในขุนช้างขุนแผน  ฉบับหอพระสมุด    พระเอกตั้งแต่พ่อถึงลูก เป็นนักรบทางบก    ไม่เคยแม้แต่เฉียดชายหาด
แต่พระอภัยมณี ตรงกันข้าม คือฉากทะเลเยอะมาก   
เริ่มเรื่อง เป็นฉากทางบกก็จริง คือเจ้าชายสององค์เดินทางบุกป่าฝ่าดงไปเรียน  แต่พอพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนจบ   กลับบ้านถูกไล่จากเมือง  ทีนี้ก็เริ่มด้วยฉากทะเล
จากนั้นก็วนเวียนอยู่กับฉากทะเลอีก  ไม่รู้ว่ากี่ฉากต่อกี่ฉาก   จนกระทั่งถึงศึกเมืองผลึกกับลังกา 

สุนทรภู่น่าจะเคยเดินเรือระยะทางไกลทีเดียว    และมากกว่า ๑ หน   ถ้าเคยนั่งเรือออกปากอ่าวไปแค่ผิวเผิน   ท่านคงไม่ประทับใจจนกระทั่งมาใส่ไว้เป็นฉากยืดยาวติดกันหลายต่อหลายตอน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 14:57
ทะเลอันดามันในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ มีหมู่เกาะอยู่แห่งหนึ่งเรียกว่า นาควารินทร์ ปัจจุบันคือ หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar  Islands) สุจิตต์ วงษ์เทศกล่าวว่าชื่อ นิโคบาร์ เพี้ยนมาจากชื่อ นาควาระ หมายถึงถิ่นนาค  นาคในที่นี้มีความหมายที่เป็นไปได้อยู่ ๒ อย่างคือ งู หรือ คนเปลือย

สุนทรภู่เอาความหมายแรกมาอธิบายถึงดินแดนนี้ตามนิยายของศาสนาพราหมณ์เรื่องนาคกับครุฑ

ฝ่ายปู่เจ้าหาวเรอเผยอหน้า          นั่งหลับตาเซื่องซึมดื่มอาหนี
แล้วว่าปู่เจ้าเขาคีรี                  ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์
ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก           ชื่อว่านาควารินทร์สินธุ์สมุทร
ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ      ถ้ายั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย

แต่แท้จริงแล้วดินแดนแถบนี้อยู่ในความหมายที่สองคือเป็นถิ่นของคนเปลือย ซึ่งสุนทรภู่ไม่ได้กล่าวถึง

แม้ในปัจจุบัน เหล่าคนเปลือยก็ยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้
http://www.andaman.org/NICOBAR/book/Shompen/Shompen.htm

 ;)



 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ม.ค. 10, 16:21
ถ้าว่ากันตามนิราศที่สุนทรภู่บรรยายความตามที่ได้เดินทางไปยังหัวเมืองติดทะเล  ก็มีนิราศเมืองแกลง ที่สุนทรภู่คงจะได้เดินทางออกทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต  และได้รับความลำบากจากการเดินทางมากทีเดียว  และนิราศเมืองเพชร ซึ่งน่าจะแต่งตอนบั้นปลายชีวิตของสุนทรภู่แล้ว  แต่จากกลอนที่สุนทรภู่บรรยายไว้ในนิราศเรื่องนี้  ทำให้ทราบว่า สุนทรภู่เคยเดินทางมาเมืองเพชรบุรีก่อนหน้าที่จะมาครั้งแต่งนิราศเมืองเพชรแล้ว  ส่วนท่านจะได้เคยเดินทางออกทะเลมากี่ครั้งนั้นไม่ทราบได้     แต่เข้าใจว่าสุนทรภู่น่าจะเดินไปหัวเมืองติดทะเลเมืองอื่นๆ ด้วย   เคยมีผู้สันนิษฐานว่า สุนทรภู่น่าจะเคยเดินทางไปเมืองถลางหรือภูเก็ตด้วย  (น่าจะเป็นอ.ล้อม เพ็งแก้ว เป็นผู้สันนิษฐาน)

แต่ถ้าพิจารณาช่วงเวลาที่สุนทรภู่จะได้ออกจากพระนครไปตามหัวเมืองได้นั้น  ก็น่าจะเป็นช่วงรัชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชกาลที่ ๒ ที่สุนทรภู่ยังไม่ได้เข้ารับราชการในวังหลวง  และช่วงรัชกาลที่ ๓ ตลอดรัชกาล  ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๔ สุนทรภู่อายุมากแล้วคงจะเพลาๆ เรื่องการเดินทางไกลๆ ลง  อีกทั้งมีหน้าที่รับราชการที่วังหน้าด้วย    อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น   :-\


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 17:08
คำบรรยายทิวทัศน์ทางทะเล เมื่อพ้นปากอ่าว    

กรุงกษัตริย์ตรัสชวนพระลูกแก้ว                          ให้ชมแถวที่ชลาคงคาใส
เหล่าละเมาะเกาะเกียนเหมือนเขียนไว้                 มีเขาไม้โขดคุ่มงุ้มชะเงื้อม
บ้างงอกง้ำน้ำท่วมถึงเชิงผา                               แผ่นศิลาแลลื่นคลื่นกระเพื่อม
เสียงดังโครมใหญ่ไม่กระเทื้อม                           เป็นไคลเลื่อมเลื่อมผาศิลาลาย
พอลมเรื่อยเฉื่อยชื่นคลื่นสงัด                             ให้แล่นตัดไปตามวนชลสาย
ชมมัจฉาสารพัดพวกสัตว์ร้าย                              เห็นคล้ายคล้ายว่าเคล้าสำเภาจร
ฝูงกระโห้โลมาขึ้นคลาคล่ำ                                 บ้างผุดดำเคลื่อนคล้อยลอยสลอน
ทั้งกริวกราวเต่าปลาในสาคร                               เที่ยวสัญจรหากินในสินธู
ฝูงฉลามล้วนฉลามมาตามคลื่น                            ฉนากตื่นชมฉนากไม่จากคู่
ปลาวาฬวนพ่นฟองขึ้นฟ่องฟู                               ทั้งราหูเหราสารพัน

ยังนึกไม่ออกว่า พ้นปากอ่าวไทยแล้ว ทะเลที่เห็นส่วนนี้น่าจะเป็นหมู่เกาะส่วนไหน    ต้องขอคุณเพ็ญชมพูสอบข้อมูลจากภูมิศาสตร์สุนทรภู่ให้หน่อยได้ไหมคะ
จากที่อ่าน เชื่อว่าเป็นการบรรยายจากภาพที่เคยเห็น  ไม่ใช่จากคำบอกเล่า    อย่างบรรยายปลาว่า "เห็นคล้ายคล้ายว่าเคล้าสำเภาจร" คือปลามันว่ายตามเรือ หรือว่ายอยู่ข้างเรือเลยทีเดียว
ส่วนปลาที่เอ่ยชื่อมา  ปลาน้ำเค็มทั้งหมดหรือเปล่าคะ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 10, 19:04
ฉากบนเรือกลางทะเล ก็ชัดเจนด้วยรายละเอียด   สุนทรภู่น่าจะเคยเดินทางกลางทะเลด้วยตัวเอง ไม่ใช่ด้วยคำบอกเล่า 

พอสุริยงลงลับพยับโพยม                                เขาจุดโคมสายระยางสว่างไสว
ฆ้องระฆังหง่างเหง่งวังเวงใจ                             พระอภัยเผยแกลแลดูดาว
เห็นเดือนหงายฉายแสงแจ้งกระจ่าง                   ต้องน้ำค้างซักสาดอนาถหนาว
น้ำกระเซ็นเป็นฝอยดูพร้อยพราว                       อร่ามราวเพชรรัตน์จำรัสราย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ม.ค. 10, 08:05
อ้างถึง
ฝูงกระโห้โลมาขึ้นคลาคล่ำ                    บ้างผุดดำเคลื่อนคล้อยลอยสลอน
ทั้งกริวกราวเต่าปลาในสาคร                               เที่ยวสัญจรหากินในสินธู
ฝูงฉลามล้วนฉลามมาตามคลื่น                            ฉนากตื่นชมฉนากไม่จากคู่
ปลาวาฬวนพ่นฟองขึ้นฟ่องฟู                               ทั้งราหูเหราสารพัน

กลอนนี้เข้าใจว่าสุนทรภู่แต่งตามขนบนิยมในวรรณคดีไทยที่มักเอาชื่อปลามากล่าวเมื่อกล่าวถึงท้องน้ำท้องทะเล  บางทีก็เอาทั้งปลาน้ำเค็มน้ำจืดมาปะปนในท้องน้ำเดียวกันได้    เพียงชื่อแรก กระโห้  ก็ไม่ใช่ปลาน้ำเค็มเสียแล้ว   และยิ่งเห็นเต่าในท้องทะเล กลางทะเล ยิ่งเป็นไปได้ยาก  ปลาราหูนี่ ไม่แน่ใจว่าใช่ปลากระเบนราหูหรือไม่  ถ้าใช่ก็เป็นปลาที่เห็นได้ยาก  และปกติก็ไม่ใช่ปลาที่ว่ายลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วย  การที่จะได้เห็นปลาชนิดนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เกิดได้บ่อยๆ   กระนั้นก็นับสุนทรภู่บรรยายความตอนนี้ได้ใกล้ความเป็นจริงอยู่บ้าง   อันที่จริงต้องเอากลอนที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ในเรื่องพระอภัยมณีมาลองเทียบเคียงด้วยว่า  สุนทรภู่แต่งตามขนบนิยมจริงหรือไม่  ลำพังกลอนตอนเดียวอาจจะตัดสินไม่ได้ทั้งหมด :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 10, 12:29
เต่า ในกลอน  ดิฉันนึกถึงเต่าทะเลตัวใหญ่ๆ  ไม่ใช่เต่าตัวเล็กตามบึงตามสระ
กลอนตอนนี้ บรรยายธรรมชาติของสัตว์ทะเล  เช่น ฉนากมาเป็นคู่  (ข้อนี้ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า)
ปลาวาฬพ่นน้ำ  (ตรงตามที่บรรยายในรำพันพิลาป)
ส่วนราหูกับเหรา ไม่แน่ใจว่าเป็นปลาทะเลจริงๆหรือว่าในจินตนาการ    ราหูอาจเป็นปลากระเบนก็ได้
ส่วนเหรา  รู้แต่ว่าเป็นลูกผสมระหว่างนาคกับจระเข้   เป็นสัตว์ในจินตนาการ   แต่ไม่รู้ว่าเป็นชื่อเรียกสัตว์ทะเลชนิดอื่นด้วยหรือเปล่า

ฉากชมทะเล  ในตอนต้นๆของเรื่อง  คือเมื่อพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อลักไป  ศรีสุวรรณออกติดตาม  นั่งสำเภายนต์ของพราหมณ์โมรา
บรรยายคล้ายๆกับบทในค.ห.ก่อนๆ คือมองเห็นเกาะ  พอตกค่ำก็เห็นฟอสฟอรัสในคลื่น และชมปลาจริงที่ปนกับจินตนาการ

พอสิ้นแสงสุริยันจันทร์กระจ่าง                        ส่องสว่างกลางทะเลพระเวหา
ต้องพระพายชายพัดกระพือมา                       สำเภาหญ้าฝ่าคลื่นมากลางชล
พระเล็งแลตามกระแสชลาสินธุ์                       สิขรินทร์เกาะแก่งทุกแห่งหน
ละลิบลิ่วทิวเมฆเป็นหมอกมน                         เห็นแต่ชลกับมัจฉาดาราพราย
เวลาค่ำน้ำเค็มก็พร่างพร่าง                             แวมสว่างวาบวับระยับฉาย
เสมอเม็ดเพชรรัตน์โมราราย                           แจ่มกระจายพรายพร่างกลางนภา
..................................
ฉนากฉลามตามคลื่นอยู่คลาคล่ำ                     ทั้งช้างน้ำโลมาและราหู
มังกร เกี่ี่ยวเลี้ยวล่องท้องสินธู                          เป็นคู่คู่เคียงมาในวารี

มังกร ในที่นี้อาจหมายถึงงูทะเล เป็นไปได้ไหมคะ   
ยังมีลักษณะเหนือจริงอยู่บ้าง   


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 10, 14:34

คำบรรยายทิวทัศน์ทางทะเล เมื่อพ้นปากอ่าว    

กรุงกษัตริย์ตรัสชวนพระลูกแก้ว                          ให้ชมแถวที่ชลาคงคาใส .......

ยังนึกไม่ออกว่า พ้นปากอ่าวไทยแล้ว ทะเลที่เห็นส่วนนี้น่าจะเป็นหมู่เกาะส่วนไหน    ต้องขอคุณเพ็ญชมพูสอบข้อมูลจากภูมิศาสตร์สุนทรภู่ให้หน่อยได้ไหมคะ


กษัตริย์ในตอนนี้คือท้าวสิลราชแห่งเมืองผลึก ส่วนพระลูกแก้วคือนางสุวรรณมาลี  ตำแหน่งของเมืองผลึกมีการตีความตำแหน่งของเมืองเป็น ๒ แห่ง ตามความเห็นของกาญจนาคพันธุ์คือตอนใต้ของพม่า ส่วนของสุจิตต์ วงษ์เทศคือเมืองถลางหรือภูเก็ต ไม่ว่าเมืองผลึกจะอยู่ที่ไหนสองแห่งนี้ แต่ไม่ได้อยู่ในอ่าวไทยแน่นอน

ออกเดินทางจากเมืองผลึกมาเจ็ดวันเจ็ดคืน

ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนเป็นคลื่นคลั่ง         เรือที่นั่งซัดไปไกลหนักหนา
จนผ้นแดนแผ่นดินสิ้นสายตา         ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด

ปู่เจ้าเขาคิรีบอกว่าตำแหน่งนี้คือทะเลแถบนาควารินทร์ (หมู่เกาะนิโคบาร์)

แล้วว่ากูปู่เจ้าเขาคิรี                   ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์
ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก             ชื่อว่านาควารินทร์สินธุสมุทร

หมู่เกาะนิโคบาร์อยู่ในอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน

 ;)




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ม.ค. 10, 15:38
อ้างถึง
ปู่เจ้าเขาคิรีบอกว่าตำแหน่งนี้คือทะเลแถบนาควารินทร์ (หมู่เกาะนิโคบาร์)

แล้วว่ากูปู่เจ้าเขาคิรี                   ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์
ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก             ชื่อว่านาควารินทร์สินธุสมุทร

หมู่เกาะนิโคบาร์อยู่ในทะเลอันดามัน

เกาะนาควารี เป็นเกาะที่คนไทยรู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว  มีหลักฐานคือ  ปรากฏภาพวาดเกาะนาควารีในสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยาและสมัยต่อๆ มา  แต่ตำแหน่งของเกาะนาควารีในสมุดภาพไตรภูมิจะวางลงในตำแหน่งทิศใต้ถัดจากเกาะลังกา  ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะสมุดภาพไตรภูมิแสดงตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ในทะเลปักษ์ใต้ลงไปถึงชวาและทะเลฝั่งอันดามันค่อนข้างสับสน  สมุดภาพไตรภูมิจะไล่สถานที่จากมลายู ภาคใต้ของไทย หัวเมืองมอญติดชายทะเล หัวเมืองพม่า  ชายฝั่งทะเลอินเดีย ลงไปถึงเกาะลังกา ซึ่งมีรายละเอียดสถานที่บุญสถานมาก  เมื่อไล่สถานที่เลียบตามชายฝั่งดังนี้  โดยไม่มีอ่าวเบงกอล  จึงต้องวางเกาะนาควารีไว้ต่อจากเกาะลังกาแทน ซึ่งความจริงเกาะนาควารี  อยู่ในอ่าวเบงกอลถึงก่อนเกาะลังกา  ในภาพเกาะนาควารีที่ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิจะมีคำบรรยายว่า  เกาะนาควารีมีคนเปลือยอาศัยอยู่  พร้อมกับมีภาพวาดผู้ชายผู้หญิง ๑ คู่เปลือยนุ่งใบไม้
ส่วนที่ว่า "ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก"   เคยได้ยินเรื่องที่เล่ากันว่า  มักมีเรือที่แล่นเข้าใกล้เกาะนาควารีแล้วรู้สึกคล้ายๆ ว่าเรือกำลังถูกดูดเข้าไปที่เกาะนั้น   จึงทำให้คนในเรือนั้นเข้าใจว่าที่เกาะนาควารีมีปรอทแร่แม่เหล็กมาก   เรื่องนี้คงเป็นเพราะกระแสน้ำทะเลแถบนั้นบวกกับกระแสลมทำให้เรือดูคล้ายถูกดูดเข้าไปที่เกาะนั้น ???


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 10, 15:53
ส่วนที่ว่า "ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก"   เคยได้ยินเรื่องที่เล่ากันว่า  มักมีเรือที่แล่นเข้าใกล้เกาะนาควารีแล้วรู้สึกคล้ายๆ ว่าเรือกำลังถูกดูดเข้าไปที่เกาะนั้น   จึงทำให้คนในเรือนั้นเข้าใจว่าที่เกาะนาควารีมีปรอทแร่แม่เหล็กมาก   เรื่องนี้คงเป็นเพราะกระแสน้ำทะเลแถบนั้นบวกกับกระแสลมทำให้เรือดูคล้ายถูกดูดเข้าไปที่เกาะนั้น ???

มีนิยายปรัมปราเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า บนเกาะนาควารีนี้มีภูเขาแม่เหล็ก ซึ่งสามารถจะดูดเอาเหล็กจากที่ต่าง ๆ เข้าไปติดที่ภูเขาได้ จึงเป็นธรรมเนียมตั้งแต่อินเดียใต้จนถึงมลายู ไทย ญวน ไปจนถึงจีนว่า การต่อเรือสำเภาต้องไม่ให้มีเหล็กเช่นตะปูหรือเหล็กพืดอะไรเป็นอันขาด ต้องต่อด้วยวิธีใช้ไม้ตลอดทั้งลำ

 :D





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ม.ค. 10, 17:22
เหรา คือแมงดาทะเลชนิดหนึ่ง มีพิษ กินไม่ได้ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 ม.ค. 10, 22:57
เรื่องเกาะแม่เหล็กนี้ ผมคุ้นๆ ว่า มีเล่าอยู่ใน "ซินด์แบดผจญภัย" คือเป็นข้อห้ามของชาวเรือว่า ห้ามต่อเรือด้วยตะปู มิฉะนั้น ถ้าแล่นผ่านเกาะนี้ เรือจะแตก เพราะเกาะจะดูดเอาตะปูออกไป

คุ้นๆ แต่ไม่ยืนยันนะครับว่า มาจากเรื่องซินด์แบด ถ้าใช่ ก็อาจเป็นตอนที่ซินด์แบดเดินทางไปเจอนกร๊อก ซึ่งเป็นนกยักษ์ประจำเกาะ มีผู้ตีความว่า นิทานกลาสีแขกเหล่านี้ มีแรงบันดาลใจมาจาก ครุฑ ของอินเดีย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 10, 19:09
ใช่ค่ะ  ในหนังสือ อาหรับราตรี ที่เสฐียรโกเศศแปลไว้  มีการผจญภัยของซินแบดหลายเที่ยวด้วยกัน
หนึ่งในจำนวนนั้นเล่าถึงภูเขาแม่เหล็ก ที่เรือแล่นเข้าไปจะถูกดูดเหล็กในเรือ เช่นตะปู ปลิวไปหมด  แล้วเรือก็จะแตก  กลาสีจมน้ำตายกันหมด   ซินแบดเป็นกลาสีดวงแข็งที่รอดตายมาได้
ในเรื่องซินแบด กล่าวถึงเกาะสรินทีป  ที่เสฐียรโกเศศ วงเล็บไว้ว่าหมายถึงเกาะลังกา   ซินแบดเป็นทูตจากแบกแดด มาเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ที่นี่ด้วย 

นกรอคที่ซินแบดเจอ   เป็นนกยักษ์ ขาแต่ละข้างเท่าเสาเรือน    ในฉบับอังกฤษสะกดว่า roc   ลองหาจากกูเกิ้ลดูก็คงทราบความเป็นมาค่ะ
รูปนี้เป็นรูปนกรอคกำลังทำลายเรือของซินแบด  ด้วยการทิ้งหินก้อนเท่าตุ่มน้ำลงมา  เพราะกลาสีในเรือฆ่าลูกมันมาย่างกิน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 ม.ค. 10, 19:43
ขอบคุณครับ อาจารย์

ผมอ่านแล้ว รู้สึกว่า การผจญภัยของซินด์แบด มักวนเวียนอยู่แถวๆ ทะเลอันดามัน

ชื่อนิโคบาร์ คือ นาควาีรี มีนัยหมายถึง เกาะงูทะเล นกร็อก จับงูทะเลเหล่านี้เป็นอาหาร (คุ้นๆ อีกแล้ว  :-[ )

สรินทีป หรือ สรนดีป เป็นสำเนียงแขกอาหรับที่เพี้ยนมาจาก สิงหลทวีป หรือ สิงหลทีป (Simhaladip) แล้วคำว่า สรัน ก็เพี้ยนต่อไปเป็นคำฝรั่งว่า ซีลอน (Cylon) ครับ

ผมเคยซื้อซินด์แบด ฉบับภาษาฝรั่งเศส ที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอาหรับ มีอยู่บางตอนที่ฉบับภาษาไทย ไม่ได้แปลไว้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นเนื้อเรื่องตอนบรรยาย สภาพภูมิศาสตร์โบราณครับ

ไปๆ มาๆ น่าสนใจเหมือนกันนะครับว่า สุนทรภู่เคยฟังนิทานเรื่องซินด์แบดผจญภัย จากพ่อค้าอาหรับหรือไม่ (ถ้าสุนทรภู่ไม่เคยออกทะเลมาก่อน) ถึงได้มีแรงบันดาลใจผูกเรื่องให้เกิดขึ้นในท้องทะเล แหวกแนวธรรมเนียมการแต่งนิทานแบบไทยๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 10, 21:01
ดิฉันเจออาหรับราตรี ฉบับภาษาอังกฤษที่เสฐียรโกเศศแปล  เลยซื้อไว้ เป็นฉบับพิมพ์ใหม่ ขายที่ Barn and Nobles  คุณโฮน่าจะสั่งซื้อได้ อาจจะยังมีเหลือ   แม้ว่าเป็นฉบับพิมพ์ใหม่  แต่ภาพประกอบยังก๊อปปี้จากของเดิม

พบว่าท่านแปลค้างไว้    ไม่จบเรื่องสุดท้ายในฉบับ อาหรับราตรี    ข้อความขาดหายไปเฉยๆกลางเรื่อง
ไม่เห็นสำนักพิมพ์แถลงว่าอะไร ที่เรื่องไม่จบ    ท่านก็ไม่ได้กลับมาแปลให้จบ  หรือต้นฉบับจะสูญหายไปก็ไม่ทราบ

ส่วนเนื้อหา เมื่อเทียบกันบทต่อบท  มีทั้งที่แปลข้ามบทไป   และแปลรวบรัดตัดความ ย่อจากต้นฉบับ
อย่างที่คุณ Ho อ่านในฉบับภาษาฝรั่งเศสค่ะ
*****************
ถ้าสุนทรภู่เคยรู้เรื่องซินแบด  เกาะงูทะเล  และภูเขาแม่เหล็ก    ไม่จำเป็นต้องรู้จากพ่อค้าอาหรับที่เดินทางมาถึงไทย  แต่อาจจะรู้จากมิชชันนารีอเมริกัน หรือคนอังกฤษที่เข้ามาทำงานและค้าขายในรัชกาลที่ ๓ ได้   
เพราะนิทานพวกนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว      อาจจะมีฝรั่งนำติดตัวเข้ามาจากสิงคโปร์   ไว้อ่านเล่นในยามว่าง     บางทีก็เล่าสู่กันฟังกับคนไทยที่สนใจ

เมื่อแปล "ตำนานพระเจ้าชาลมาญ" กับคุณนิลกังขา     เราเคยสงสัยกันว่า มีบางตอนคล้ายกับศึกลังกาและกรุงผลึก   เช่น เจ้าละมาน อาจได้แรงบันดาลใจจากชื่อ ชาลมาญ   ส่วนนางอัญชลิกาที่เป็นต้นเหตุของศึกชิงนาง  ก็คล้ายกับนางละเวงในศึกเก้าทัพ 
สุนทรภู่อาจได้ยินเรื่องนี้ ซึ่งเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษแล้วโดยชาวอเมริกันชื่อบุลฟินช์      เผลอๆหมอบรัดเลย์อาจถือติดมือมาอ่านในสยามก็ว่าได้  ;)




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 08:54
ถ้าสุนทรภู่เคยรู้เรื่องซินแบด  เกาะงูทะเล  และภูเขาแม่เหล็ก    ไม่จำเป็นต้องรู้จากพ่อค้าอาหรับที่เดินทางมาถึงไทย  แต่อาจจะรู้จากมิชชันนารีอเมริกัน หรือคนอังกฤษที่เข้ามาทำงานและค้าขายในรัชกาลที่ ๓ ได้  

สุนทรภู่อาจจะเคยได้ยินเรื่องของซินแบดเกี่ยวกับเกาะภูเขาแม่เหล็กและก็อาจเคยทราบเกี่ยวกับเรื่องของเกาะนาควารีโดยตรงก็เป็นได้

เรื่องของซินแบดเองก็น่าจะได้ข้อมูลมาจากนักเดินเรื่องอาหรับสมัยโบราณ กาจนาคพันธุ์กล่าวว่าแขกอาหรับเรียกเกาะนิโคบาร์ว่า มัลฮัน และเพี้ยนไปเป็น มนิอัล มนิยัล มนิโอลาย สันนิษฐานว่าชื่อนี้มาจากคำว่า อยัศกานต์มณี หรือ อโยมณี เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า หินเหล็กหรือแม่เหล็ก

เมื่อแปล "ตำนานพระเจ้าชาลมาญ" กับคุณนิลกังขา     เราเคยสงสัยกันว่า มีบางตอนคล้ายกับศึกลังกาและกรุงผลึก  เช่น เจ้าละมาน อาจได้แรงบันดาลใจจากชื่อ ชาลมาญ   ส่วนนางอัญชลิกาที่เป็นต้นเหตุของศึกชิงนาง  ก็คล้ายกับนางละเวงในศึกเก้าทัพ

เรื่องชื่อ เจ้าชาลมาญ ----> เจ้าละมาน  น.ม.ส. ก็มีความเห็นเช่นนี้เหมือนกัน โดยทรงเล่าไว้ในภาคผนวกสามกรุงว่า คงจะดัดเสียงเพี้ยนมาจากเจ้าชาลมาญแห่งฝรั่งเศส  แต่กาญจนาคพันธุ์มีความเห็นอีกอย่างหนึ่งคือชื่อเจ้าละมานน่าจะเอามาจาก สุละมาน หรือ สุไลมัน ซึ่งเป็นกษัตริย์โซโลมอนสมัยโบราณ เมืองสุละมานหรือเกาะสุละมานนี้ มีจดหมายเหตุจีนกล่าวว่าทั้งหญิงชายไม่นุ่งผ้า ไม่ทำนาปลูกข้าว กินแต่ปลา มันเทศ ขนุน และกล้วย ผิวเนื้อชาวเหมืองดำเหมือนน้ำรัก จดหมายแขกอาหรับก็ว่าชาวเกาะไม่นุ่งผ้า ผิวดำดุร้ายกินมนุษย์ แต่ตามปกติกินปลา กล้วย มะพร้าว และอ้อย และกล่าวว่ามีหน้าเหมือนสุนัข คือ ศีรษะ ตา และฟัน เหมือนสุนัข ทั้งเมืองนี้ก็มีบ่อทองอยู่มาก





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 09:11
กาญจนาคพันธุ์สรุปว่า ชื่อเจ้าสุละมาน -----> เจ้าละมาน

และเกาะสุละมันก็คือเกาะอันดามันซึ่งอยู่ตอนเหนือของนิโคบาร์นั่นเอง

ฝ่ายลำหนึ่งถึงละมานสถานถิ่น                      เมืองทมิฬฟันเสี้ยมเหี้ยมหนักหนา
ไม่กินข้าวชาวบุรินทร์กินแต่ปลา                     กินช้างม้าสารพัดสัตว์นกเนื้อ
ถึงเวลาฆ่าชีวิตเอามีดเชือด                          แล้วคลุกเลือดด้วยสักหน่อยอร่อยเหลือ
ทั้งน้ำส้มพรมพล่าน้ำปลาเจือ                        ล้วนเถือเนื้อดิบกินสิ้นทุกคน
จึงพ่วงพีมีกำลังเหมือนดังอูฐ                         แต่เสียงพูดคล้ายทำนองของสิงหฬ
ไว้ผมปรกปกไหล่เหมือนไฟลน                      หยิกหยิกย่นย่อย่องององอน
ใส่เสื้อแสงแต่งกายคล้ายฝรั่ง                        มีกำลังเหล็กนั้นทำคันศร
ใส่สายลวดกวดกลมพอสมกร                        ยิงกุญชรแรดควายตายทุกที
อันแดนดินถิ่นฐานทุกบ้านช่อง                       บังเกิดทองเกิดเพ็ชรทั้งเจ็ดสี
อึกทึกตึกตั้งด้วยมั่งมี                                 ชาวบุรีก็มิได้ทำไร่นา

ชาวเมืองเจ้าละมานของสุนทรภู่และชาวเมืองสุละมานตามจดหมายเหตุข้างบนเหมือนกันอย่างกับแกะ

เพียงแต่สุนทรภู่ให้ใส่เสื้อใส่กางเกงเหมือนอย่างฝรั่งเท่านั้นเอง

 ;D



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 09:13
 :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 09:28
อ่านที่ชาวเรือนไทยค้นกันมา   ยิ่งรู้สึกว่าสุนทรภู่มีความรู้รอบตัวกว้างขวางมาก    ก็กลับมาที่คำถามเดิมคือ สุนทรภู่เคย"ไปนอก" หรือเปล่า
ดูจากเส้นทางที่อธิบาย  เป็นทะเลฝั่งตะวันตกของไทยล้วนๆ   คือไปทางอินเดียและลังกา   ไม่มีฝั่งตะวันออกที่ไปเมืองจีน

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว              ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

แสดงว่าท่านเคยเดินทางลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช  และคงใช้เวลาอยู่ที่นั่น นานพอสมควร จนสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักได้
เมื่อไปถึงนครศรีธรรมราชได้  ก็อาจเดินทางไปถึงกระบี่หรือภูเก็ต  โดยสารเรือสินค้า  ออกทะเลไปได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 09:52
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว              ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

แสดงว่าท่านเคยเดินทางลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช  และคงใช้เวลาอยู่ที่นั่น นานพอสมควร จนสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักได้

เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

ถ้าจะสรุปว่าสุนทรภู่เคยไปเมืองนครด้วยข้อความตรงนี้ ด้วยตรรกะเดียวกันก็น่าจะสรุปได้อีกว่าสุนทรภู่เคยไปเขมรและลาว

ซึ่งไม่ใช่

ชื่อเสียงของสุนทรภู่ไปถึงเขมรและลาวได้อย่างไร ก็อาจจะไปถึงเมืองนครได้ด้วยวิธีเดียวกัน

 :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 10:16
"ถ้าจะสรุปว่าสุนทรภู่เคยไปเมืองนครด้วยข้อความตรงนี้ ด้วยตรรกะเดียวกันก็น่าจะสรุปได้อีกว่าสุนทรภู่เคยเป็นเขมรและลาว

ซึ่งไม่ใช่

ชื่อเสียงของสุนทรภู่ไปถึงเขมรและลาวได้อย่างไร ก็อาจจะไปถึงเมืองนครได้ด้วยวิธีเดียวกัน"

คุณเพ็ญชมพูคงตั้งใจพิมพ์คำว่า "ไป" ไม่ใช่ "เป็น"
เขมรและลาวในที่นี้     เขมรอาจหมายถึงอีสานตอนใต้  และลาว อาจหมายถึงภาคเหนือ หรืออีสานเหนือ  ไม่ใช่ประเทศเขมรและลาว ซึ่งตัวหนังสือคนละอย่างกับไทย

ถ้าเป็น ๑๐๐ ปีก่อน ชื่อเสียงแพร่หลายข้ามจังหวัดได้ เพราะมีการพิมพ์หนังสือแล้ว        แต่เวลา ๒๐๐ ปีก่อนที่ยังต้องคัดลอกหนังสือกันด้วยมือ
การที่ใครคนหนึ่งจะพูดอย่างภาคภูมิว่า  ชื่อเสียงตัวเองลือเลื่องไปถึงจังหวัดไกลๆได้   แสดงว่าคนรู้จักกันมาก      ในระดับ public หรือสาธารณะ
ไม่ใช่แค่ "ได้ยินชื่อ" อย่างหลังนี้อาจจะมีเจ้าเมืองที่เคยจ้างเขียนเพลงยาวถึงสาว เท่านั้นที่รู้จักท่าน
   
ลือเลื่องขนาดนี้ต้องฝากผลงานไว้ไม่น้อย    ผลงานที่ว่าคือเพลงยาว อย่างที่ระบุในกลอน
๒๐๐ ปีก่อน ผลงานก็จะล้อมอยู่รอบๆ   ใกล้ๆตัวเจ้าของผลงานนั่นเอง     ท่านรับจ้างเขียนเพลงยาว จนขึ้นชื่อ     คนมาจ้างก็ต้องจ้างกับตัว   ไม่มีทางจ้างข้ามจังหวัดได้
ในระยะเวลา ๒๗ ปีของรัชกาลที่ ๓  สุนทรภู่พ้นราชการ    ท่านคงเลี้ยงชีพด้วยตัวหนังสือ  ขึ้นเหนือล่องใต้และไปทางอีสาน  พักอยู่ครั้งละนานๆแล้วแต่จะมีงานมากน้อยแค่ไหน
มีโอกาสก็ลงเรือสำเภา ไปท่องทะเลด้วย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 10:33
แก้ไข เป็น ---> ไป เรียบร้อยแล้ว

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เจ้าลาว เจ้าเขมร ก็มาอยู่ในราชสำนักหลายพระองค์อยู่  คงรู้จักสุนทรภู่บ้างไม่มากก็น้อย

พูดถึงเรื่องลาว

สุนทรภู่จับเอาเจ้าละมานมารับเคราะห์กรรมแบบเดียวกับเจ้าอนุวงศ์ของลาว พ.ศ. ๒๓๗๑

ตอนพระอภัยมณีเป่าปี่สะกดทัพจับเจ้าละมานได้ใส่กรงเหล็กขังไว้ให้ชาวเมืองผลึกดู

ฝ่ายข้าเฝ้าชาวบุรินทร์สิ้นทั้งหลาย             ทั้งหญิงชายชื่นใจทั้งไอศวรรย์
เที่ยวดูเหล่าชาวละมานสำราญครัน            แต่ล้วนฟันเสี้ยมแซมแหลมแหลมเล็ก
บ้างดูท้าวเจ้าละมานชาญฉกาจ                เขาจำกราดตรึงองค์ไว้กรงเหล็ก
แขกฝรั่งทั้งพราหมณ์จีนจามเจ๊ก               ผู้ใหญ่เด็กเดินดูเป็นหมู่มุง
บ้างหัวเราะเยาะหยันพวกฟันเสี้ยม             มันอายเหนียมนั่งนิ่งเหมือนลิงถุง
จนพลบค่ำตรำตรากให้ตากยุง                 พวกชาวกรุงตรวจตราในราตรี

วาระสุดท้ายของเจ้าละมานเป็นเช่นไร เจ้าอนุวงศ์ก็เป็นเช่นนั้น

 :(


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 10, 11:10
อ้างถึง
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว              ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
แสดงว่าท่านเคยเดินทางลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช  และคงใช้เวลาอยู่ที่นั่น นานพอสมควร จนสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักได้
เมื่อไปถึงนครศรีธรรมราชได้  ก็อาจเดินทางไปถึงกระบี่หรือภูเก็ต  โดยสารเรือสินค้า  ออกทะเลไปได้

อ้างถึง
ถ้าจะสรุปว่าสุนทรภู่เคยไปเมืองนครด้วยข้อความตรงนี้ ด้วยตรรกะเดียวกันก็น่าจะสรุปได้อีกว่าสุนทรภู่เคยเป็นเขมรและลาว
ซึ่งไม่ใช่  ชื่อเสียงของสุนทรภู่ไปถึงเขมรและลาวได้อย่างไร ก็อาจจะไปถึงเมืองนครได้ด้วยวิธีเดียวกัน

ไม่ได้เข้ามาดูหลายวัน กระทู้ดูอุ่นหนาฝาคั่งขึ้นเยอะทีเดียว ;D

สงสัยว่า  สมัยต้นรัตนโกสินทร์  ถ้าคนเมืองไหนที่อยู่ไกลจากกรุงเทพฯ จะรู้จักชื่อสุนทรภู่  จำเป็นด้วยหรือว่า  สุนทรภู่ต้องเคยไปอยู่อาศัยหรือไปปรากฏตัวที่เมืองเหล่านั้น  สุนทรภู่ไปเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราชนั่นอาจจะเป็นไปได้ ทว่าก็ไม่มีหลักฐานที่จะอ้างอิง  และถ้าจะเกณฑ์ให้สุนทรภู่ไปถึงเมืองลาวและเมืองเขมรคงต้องมีหลักฐานมายืนยันอยู่บ้าง   การที่นักประพันธ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจะมีชื่อเป็นที่รู้จักไกลถึงต่างเมืองคงไม่จำเป็นต้องไปปรากฏตัวที่เมืองเหล่านั้นด้วยตนเอง   เอาแค่คำบอกเล่าของคนที่เข้ามาที่กรุงเทพฯ กับผลงานที่มีคนคัดลอกไปเผยแพร่ต่อก็น่าจะพอแล้ว  (สุนทรภู่คงไม่ได้ไปแจกลายเซ็นอย่างนักเขียนสมัยนี้)  

จากประวัติของสุนทรภู่ ในรำพันพิลาป  เท่าที่จะยืนยันการเดินทางไกลของสุนทรภู่ได้  สุนทรภู่เคยไปถึงเมืองพิษณุโลก  นั่นน่าจะเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือที่สุนทรภู่เดินทางใกล้เขตเมืองลาวมากที่สุด  ส่วนตะวันออกสุด ที่สุนทรภู่เล่าไว้ก็คือเมืองแกลง  เมื่อคราวไปหาพ่อ   ส่วนทางใต้  สุนทรภู่เคยไปเมืองเพชรบุรีและไปหลายครั้ง   กระนั้นก็ยังไม่วายบ่นไว้ในนิราศเมืองเพชรว่า  ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา  ด้านตะวันตก  ทราบว่าเคยไปถึงเมืองกาญจนบุรี บุกถึงถิ่นกะเหรี่ยง   เราต้องไม่ลืมว่าสุนทรภู่อยู่ในพระนครมานานตั้งแต่เด็กประกอบกับคุ้นเคยความสุขสบายในสังคมชาววัง   แม้จะได้เดินทางไปต่างหัวเมืองหลายครั้ง  สุนทรภู่ก็ยังติดใจอยู่กับความสนุกสบายอย่างชาววังชาวกรุง  

ถ้าจะพิจารณาจากชื่อเสียงของสุนทรภู่ที่ไปปรากฏเมืองตามกลอนในเพลงยาวถวายโอวาท    เมืองเขมร  ข้อนี้ไม่น่าจะมีปัญหา  ใครที่เคยศึกษาวรรณคดีเขมรสมัยย้ายราชธานีไปอยู่ที่กรุงพนมเปญแล้ว   จะเห็นอิทธิพลวรรณคดีไทยในวรรณคดีเขมรหลายเรื่อง   โดยเฉพาะสมัยสมเด็จพระพระหริรักษ์รามาธิบดี ( นักองด้วง ) ทางเขมรมีวรรณคดีที่แต่งด้วยบทพากย์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกลอนสุภาพของไทยทุกประการ  อยู่หลายเรื่อง  มีนืราศเรื่องหนึ่ง คือ นิราศนครวัด แต่งอย่างนิราศคำกลอนของไทย  นอจากนี้ก็มีนิทานคำกลอนซึ่งเหมือนกับนิทานคำกลอนของไทย  จริงอยู่ว่า อาจจะเจาะจงไม่ได้ว่า  เป็นอิทธิพลของผลงานสุนทรภู่   แต่พิจารณาดูว่า  ในระยะที่สมเด็จพระพระหริรักษ์รามาธิบดี ( นักองด้วง ) เสด็จมาประทับในเมืองสยามนานก่อนจะได้รับสถาปนาไปเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีนั้น  ต้องทรงคุ้นเคยกับสุนทรภู่และเคยทรงอ่านงานสุนทรภู่บ้าง  แน่นอนว่าขุนนางเขมรที่ติดตามพระองค์เข้ามาก็น่าจะรู้จักสุนทรภู่ผ่านงานเขียนของท่าน  ซึ่งระยะเดียวกันกับสุนทรภู่มีกวีที่มีฝีมือใกล้เคียงท่านไม่มาก เท่าที่ทราบคือ นายมี  หมื่นสมพัตสร  แต่นายมีก็แต่งนิราศกับกลอนสวดเป็นพื้น  และไม่ได้เป็นกวีในราชสำนักโดยตรง เป็นช่างเขียน

ที่เมืองลาว  ไม่แน่ใจว่า   สุนทรภู่ใช้คำว่าลาวนี้  หมายความถึงลาวอาณาเขตไหน แน่  จะเป็นลาวเชียงใหม่  ลาวเวียงจันท์ ลาวหลวงพระบาง  ลาวอีสาน  ลาวจำปาศักดิ์ ก็อาจจะอนุมานได้ทั้งนั้น   ถ้าเป็นลาวเชียงใหม่นั้น  สุนทรภู่คงมีชื่อปรากฏว่างานของท่านไปดังที่นั่น  เพราะมีคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีอยู่ที่นั่น และก็ยังมีพระอภัยมณีชาดกอยู่เป็นหลักฐานว่าคนล้านนาก็นิยมงานของสุนทรภู่  ส่วนลาวอื่นๆ ในเขตล้านช้างยังไม่เห็นหลักฐานที่แสดงอิทธิพลของสุนทรภู่ที่มีต่องานวรรณคดีของเขา  แต่น่าสังเกตว่า เจ้านายล้านช้างเองก็เข้ามาอยู่ในราชสำนักสยาม ย่อมน่าจะรู้จักกับสุนทรภู่  โดยเฉพาะเจ้าอนุวงศ์

ที่เมืองนคร  โดยส่วนใหญ่วรรณคดีภาคกลางภาคใต้จะเป็นเรื่องเดียวกัน  เนื้อหาอย่างเดียวกัน  อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมทางภาษาของสองภูมิภาคไม่ค่อยแตกต่าง  มีวรรณคดีลางเรื่องในภาคกลางไปปรากฏในวรรณคดีภาคใต้ เช่น เสือโค ก กา ของนายมี ก็ไปปรากฏที่ภาคใต้ ต่างกันบ้างที่ถูกแปลงคำบางคำเป็นภาษาถิ่นใต้  เป็นต้น  ชื่อเสียงและผลงานสุนทรภู่คงจะมีไปถึงเมืองนครบ้างก็ไม่น่าแปลก  อีกทั้งเจ้าพระยานคร แต่ละคนก็เคยเข้ามาอยู่ที่ราชสำนักกรุงเทพฯ  นาน ก่อนจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าพระยานครฯ

ฉะนั้นสุนทรภู่จะมีชื่อเสียงไปถึงเมืองนครก็ดี เมืองเขมรก็ดี  หรือเมืองลาวก็ดี  ก็ไม่เป็นต้องปรากฏตัวที่เมืองเหล่านั้นเสมอไป  ท่านไปแต่ชื่อเสียงในคำเล่าลือและผลงานก็น่าจะพอ  ที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่ง  ถ้าสุนทรภู่ไปเมืองเล่านั้นจริง  แต่ท่านไปโดยไม่ได้ประกาศตัวให้ใครทราบว่าเป็นใคร  จะมีใครรู้จักท่าน  ยิ่งถ้าไม่ได้แสดงฝีมืองานเขียนอย่างใดไว้  ก็คงจะไม่มีคนในหัวเมืองไกลพระนครจะรู้จักท่านว่าเป็นกวีเอกในเมืองหลวง  คงจะหาคนรู้สุนทรภู่ยากนัก ;)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 11:33
เสียงปี่เสียงกลอง ประโคมมาแต่เช้า   คุณหลวงเล็กจะไม่ขึ้นเวที  ก็ผิดที
จึงมาด้วยความคิดเห็นยาวเหยียดและเข้มข้นทีเดียว  ;D

ต้องย้อนกลับไปที่กลอนอีกครั้ง
อ้างถึง
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
ข้อนี้ระบุอาชีพสุนทรภู่ได้ไหมคะ   ที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักถึงหัวเมืองใหญ่ๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 10, 12:12
ทำอย่างไรได้ล่ะครับ   มาทีหลังเขา   ก็ต้องช้ากว่าเขาเป็นธรรมดา   กว่าจะสำแดงความเห็นได้  ต้องกลับไปอ่านความเห็นคนอื่นที่ล่วงมาหลายวันให้จบและเข้าใจก่อน

อ้างถึง
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว    เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
ข้อนี้ระบุอาชีพสุนทรภู่ได้ไหมคะ   ที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักถึงหัวเมืองใหญ่ๆ

น่าจะอนุมานว่า อาชีพของท่านสุนทรภู่ได้   งานหลักของท่านคือ รับราชการเป็นอาลักษณ์ ในกรมพระอาลักษณ์  และคงเป็นราชบัณฑิตด้วย  เพราะราชทินนามของท่านอยู่ในกรมราชบัณฑิต  แต่ข้าราชการทั้งสองกรมนี้ทำงานร่วมกัน  บางทีก็เอาราชบัณฑิตมาเป็นอาลักษณ์ด้วย   นี่เป็นทางสันนิษฐานว่า  ท่านสันทรภู่คงจะมีลายมือสวยตามแบบอาลักษณ์  ไม่ใช่นั้น ก็คงไม่แต่งสอนไว้ในเสภาขุนช้างขุนแผนว่า   ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ   เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

ส่วนงานรองในสมัยรับราชการ  หรืองานหลักในสมัยเว้นว่างการรับราชการ  ท่านก็คือ นักเลงแต่งเพลงยาว  คำว่าเพลงยาว  คงหมายถึง กลอนตลาด ทั่วไป    ว่ากันว่า  สุนทรภู่นั้นมีคนมาว่าจ้างให้แต่งเพลงยาวอยู่เสมอๆ  โดยเฉพาะบรรดาสาวๆ (อาจะเป็นสาวๆ ฝ่ายในในวังด้วย) ซึ่งมาคอยให้สุนทรภู่แต่งเพลงยาวตอบผู้ชาย   เข้าใจว่า  ผู้ชายก็คงมาวานสุนทรภู่แต่งเพลงยาวจีบสาวอยู่เหมือนกัน   (มีเรื่องเล่ากันอีกว่า  บางทีสุนทรภู่รู้ว่า  ชายแอบชอบหญิงคนใดก็เลยแต่งเพลงยาวช่วยฝ่ายชายให้ได้คู่  เพราะทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายมาให้ท่านแต่งให้  ก็สนุกท่านสิงานนี้)

อาชีพต่างเพลงยาวนี้  คงทำให้ท่านมีรายได้พอกินไม่ถึงกับอด แต่คงจะไม่ถึงกับร่ำรวยมั่งมี  กระนั้นถึงคราวไม่มีคนมาว่าจ้างแต่งเพลงยาว  ท่านก็ต้องหางานอื่นมาทำคือแต่งกลอนนิทานขายให้คนมาคัดลอกไปอ่านพอมีรายได้เลี้ยงตัว

การแต่งเพลงยาวของสุนทรภู่ คงจะเป็นเหตุให้สุนทรภู่ต้องอธิกรณ์เมื่อบวชในสมัยรัชกาลที่ ๓ ด้วยก็เป็นได้  ดังที่ท่านเล่าไว้ในนิราศบางเรื่อง  เพราะไหนจะมีหญิงสาวมาเข้าๆ ออกๆ กุฏิท่าน  ไหนจะมีของกินมาถวายเป็นค่าแต่งเพลงยาว  หนักเข้าท่านอาจจะถูกเขม่นจากผู้อื่นในวัดเดียวกัน จนอาจจะถูกร้องเรียนว่าประพฤติตนไม่บริสุทธิ์  (โลกวัชชะ) ไม่สมกับสมณเพศ  เมื่อมีการไต่สวน  ท่านคงจะเปลื้องมลทินไม่หลุด จึงถูกขับออกจากวัดไปอยู่วัดอื่น  แต่เข้าใจว่า คนว่าจ้างแต่งเพลงยาวก็คงตามไปหาท่านอีกนั่นแหละ

อันที่จริง  สุนทรภู่เคยทำอาชีพบอกบทละครด้วย  มีกลอนยืนยันอยู่ในนิราศพระบาท  แต่คงเป็นสมัยรัชกาลที่ ๑ :)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 10, 13:25
มี ๒ เสียง ต่อ  ๑  ว่าสุนทรภู่อาจไม่ได้เดินทางไกลไปหัวเมืองไกล    ด้วยตัวเอง       มีแต่ชื่อเสียงเท่านั้นที่ขจรขจายไปถึง
น่ากลัวจะแปรญัตติไม่ได้เสียแล้ว  ขาดคนยกมือสนับสนุน

ย้อนกลับมาเรื่องพราหมณ์    ถ้าหมดเรื่องชีเปลือยแล้ว  จะกลับมาพาทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์ ออกโรงได้หรือยัง
แกคอยอยู่หลังม่านมาหลายวันแล้วค่ะ

คุณหลวงหรือคุณเพ็ญ ก็ได้   กรุณาบรรเลงเพลงโหมโรงด้วย   จะขอบคุณมาก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 09:17
งานหลักของท่านคือ รับราชการเป็นอาลักษณ์ ในกรมพระอาลักษณ์  และคงเป็นราชบัณฑิตด้วย  เพราะราชทินนามของท่านอยู่ในกรมราชบัณฑิต  แต่ข้าราชการทั้งสองกรมนี้ทำงานร่วมกัน  บางทีก็เอาราชบัณฑิตมาเป็นอาลักษณ์ด้วย

ราชทินนาม สุนทรโวหาร จากทำเนียบข้าราชการวังหลัง ปรากฏอยู่กรมพระอาลักษณ์และกรมราชบัณฑิต

กรมพระอาลักษณ์

พระสุนทรโวหาร              จางวาง                    ศักดินา  ๒๕๐๐
หลวงลิขิตปรีชา               เจ้ากรม                   ศักดินา   ๑๘๐๐
ขุนสารบรรจง                  ปลัดกรมขวา             ศักดินา   ๘๐๐
ขุนจำนงสุนทร                 ปลัดกรมซ้าย            ศักดินา   ๕๐๐

กรมราชบัณฑิต

พระมหาวิชาธรรม             จางวาง                   ศักดินา    ๕๐๐
หลวงสุนทรโวหาร             เจ้ากรม                  ศักดินา    ๔๐๐
หลวงญาณปรีชา              เจ้ากรม                  ศักดินา     ๔๐๐
ขุนธรรมพจนา                 ปลัดจางวาง             ศักดินา    ๓๐๐
ขุนเมธาภิรมย์                 ปลัดกรม                 ศักดินา    ๓๐๐
ขุนอุดมปรีชา                  ปลัดกรม                 ศักดินา    ๓๐๐

ในรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่มีตำแหน่งเป็น หลวงสุนทรโวหาร ในกรมราชบัณฑิต แต่ถูกเรียกตัวมาช่วยราชการในกรมพระอาลักษณ์ จนถึงในรัชกาลที่ ๔  จึงได้เป็น พระสุนทรโวหาร จางวางกรมพระอาลักษณ์

ส่วนตำแหน่ง ขุนสุนทรโวหาร ที่มักพูดกันในประวัติสุนทรภู่ไม่ปรากฏในทำเนียบข้าราชการ

 ;)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 10:43
คุณ Sila เคยโพสต์ไว้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2669.msg51303#msg51303

เรื่องอาลักษณ์ขี้เมา ครับ

             ตั้งแต่เล็กได้รับรู้ว่าสุนทรภู่ท่านเป็นอาลักษณ์ขี้เมา จำได้จากหนังสือภาพประวัติท่านที่อ.เปลื้อง ณ นคร
เล่าไว้ตอนสุนทรภู่ทะเลาะกับแม่จัน ครูเหมวาดรูปสุนทรภู่ผู้เมามายยืนอ้าแขนเปิดอกท้าทายแม่จันที่เงื้อมีดด้วยความโกรธจัด
             ตัวสุนทรภู่ท่านแต่งกลอนว่า -  เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว   

            อาจารย์ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
แสดงความเห็นว่า
                 ที่สุนทรภู่บอกอยู่ตลอดเวลาว่า เป็นอาลักษณ์นั้น  แท้จริงแล้ว
          ตำแหน่ง ขุนสุนทรโวหาร ตามที่ปรากฏศักดินาพลเรือน ไม่ได้อยู่ในกรมพระอาลักษณ์
แต่อยู่ในฝ่ายของกรมราชบัณฑิต และมักมีผู้เอาไปสับสนกับ ตำแหน่งพระสุนทรโวหารซึ่งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์
ของวังหน้า ทั้งที่ศักดินาต่างกัน
          กรณีของสุนทรภู่ อาจเป็นได้ที่ตัวอยู่กรมหนึ่ง แต่ถูกเรียกตัวไปช่วยอีกกรมหนึ่ง เพราะปรากฏหลักฐาน
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ระบุไว้ว่าขุนสุนทรโวหาร ผู้ว่าที่พระอาลักษณ์ หมายถึงขุนสุนทรโวหาร ถูกเรียกตัวไปช่วยในกรมพระอาลักษณ์

         "ตำแหน่งนี้ปรากฏมาถึงรัชกาลที่ 4 ตามที่มีในหลักฐานว่า โปรดฯ ให้ขุนสุนทรโวหาร ผู้ช่วยราชการในกรมพระอาลักษณ์
เป็นผู้แปลพงศาวดารเขมร แสดงว่าพอถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร ถูกนำไปช่วยราชการในกรมพระอาลักษณ์ตลอด"
อาจารย์ศานติตั้งข้อสันนิษฐาน
           อาจารย์ศานติอธิบายว่า มีผลงานของสุนทรภู่ 3 เรื่อง ที่เขมรนำไปแปลเป็นกลอนภาษาเขมร คือ
เรื่อง ลักษณวงศ์ จันทโครพ และ พระอภัยมณี เรื่องหลังนี้ฉบับที่พบในปัจจุบันถึงแค่ตอนนางยักษ์ลักพาพระอภัยมณีเข้าถ้ำ
          ลักษณะกลอนของสุนทรภู่ ก็แพร่เข้าไปในเขมรเช่นกัน แต่เดิมเขมรไม่เคยเขียนกลอน แต่ปรากฏว่าในช่วงนั้น
มี "เปียะปรำปีล" เป็นบทพากษ์ 7 คล้ายรูปแบบกลอนของสุนทรภู่
          "ตำแหน่งสุนทรโวหาร ก็เข้าไปเป็นตำแหน่งในกรมอาลักษณ์ของเขมรด้วย" อาจารย์ศานติตบท้าย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 10:45
คุณเพ็ญ   ตำแหน่งของสุนทรภู่ น่าจะเป็นของวังหน้า มากกว่าวังหลังนะคะ
ในประวัติบอกว่า สุนทรภู่ไปพึ่งสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในบั้นปลายชีวิต  ในรัชกาลที่ ๔  ไม่มีวังหลังแล้ว
ตำแหน่งข้าราชการวังหลัง น่าจะโอนเข้าวังหลวงหรือวังหน้า ทั้งหมด


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 11:15
เรื่องของคุณศิลา มาจากลิ้งก์ใน # ๕๕
http://www.piwdee.net/teacher2.htm

ข้อมูลเกี่ยวชื่อตำแหน่ง ขุนสุนทรโวหาร ของอาจารย์ศานติ อ่านแล้วก็ยังสงสัยอยู่

ชื่อตำแหน่ง หลวงสุนทรโวหาร ของสุนทรภู่นั้นปรากฏร่องรอยอยู่ในคำกราบบังคมทูลฟ้องขุนพิพิธภักดี (ทิม สุขยางค์) ผู้แต่งนิราศหนองคาย เขียนโดยสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับสุนทรภู่ คือเกิดเมื่อ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๑ หลังสุนทรภู่เพียง ๒๒ ปี

ท่านเขียนไว้ดังนี้

แผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จางวางเสือ ทำหนังสือทิ้งว่าหม่อมไกรสร ท่านก็เอาโทษ  หมื่นไวย์เพ็ง นอกราชการ นายเถื่อนคางแพะ พูดจาติเตียนแม่ทัพนายกอง ท่านก็เอาโทษถึงตายทั้งนั้น และผู้ทำนิราศแต่ก่อนมา พระยายมราชกุน หม่อมพิมเสน ครั้งกรุงเก่า หลวงสุนทรภู่ ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทำไว้หลายเรื่อง หาได้กระทบกระเทือนถึงการแผ่นดินไม่ ผู้ทำนิราศฉบับนี้ว่าความก้าวร้าวมาก ด้วยการจะบังคับบัญชารักษาแผ่นดินต่อไป จะเป็นที่ชอบช้ำด้วยถ้อยคำของคนที่กล่าวเหลือ ๆ เกิน ๆ

การที่ท่านเรียกสุนทรภู่ว่า "หลวงสุนทรภู่" เพราะสุนทรภู่เป็นหลวงสุนทรโวหารอยู่เป็นเวลานาน  แม้ภายหลังได้เลื่อนเป็นพระสุนทรโวหาร ท่านจึงยังคงเรียกเป็น "หลวงสุนทรภู่" อยู่ตามเดิม




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 10, 11:17
อาจารย์ศานติอธิบายว่า มีผลงานของสุนทรภู่ 3 เรื่อง ที่เขมรนำไปแปลเป็นกลอนภาษาเขมร คือ เรื่อง ลักษณวงศ์ จันทโครพ  และ พระอภัยมณี เรื่องหลังนี้ฉบับที่พบในปัจจุบันถึงแค่ตอนนางยักษ์ลักพาพระอภัยมณีเข้าถ้ำ

เรื่องลักษณวงศ์กับพระอภัยมณี  ไม่มีปัญหา  แต่เรื่องจันทโครพ  ยังเชื่อว่าเป็นฝีมือสุนทรภู่ไม่ได้นัก  เพราะสำนวนกลอนอ่อนกว่านิทานคำกลอนของสุนทรภู่ทุกชิ้น  น่าจะเป็นผลงานของผู้แต่งคนอื่นๆ  ที่เอาอย่างลีลาสัมผัสกลอนของสุนทรภู่มากกว่า   ในสมัยสุนทรภู่ไม่ได้มีแต่สุนทรภู่คนเดียวที่แต่งกลอนเป็น  ผู้แต่งกลอนคนอื่นๆ ก็ยังมี  แต่ชื่อเสียงและผลงานของคนอื่นไม่มีมากเท่าสุนทรภู่เท่านั้น  ภายหลังเราจึงรู้จักแต่สุนทรภู่และกวีร่วมสมัยท่านอีกไม่กี่คนเท่านั้น

เรื่องราชทินนาม  สุนทรโวหาร  เข้าใจว่าอย่างนี้   เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังสถานพิมุขเสด็จทิวงคต  ข้าราชการวังหลังจะถูกโอนมาขึ้นกับวังหลวงทั้งหมด  แต่อาจจะยังคงฐานะเป็นกรมกองอย่างเดิมหรือยุบลงก็ตามแต่จำนวนคนในแต่ละกรมกอง  และเมื่อไม่มีการสถาปนาตำแหน่งวังหลังอีก  ราชทินนามของข้าราชการวังหลังก็อาจจะถูกโยกมาตั้งเป็นราชทินนามข้าราชการวังหลวงได้   เราต้องไม่ลืมว่า  ข้าราชการวังหลังและวังหน้า  ต้องได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากวังหลวงทั้งนั้น  วังหลังวังหน้าจะโปรดแต่งตั้งเองไม่ได้  

ทีนี้ถึงจะมีราชทินนามข้าราชการเหมือนในวังทั้งสาม (วังหน้า วังหลวง วังหลัง) แต่ต่างกันด้วยลำดับยศ   เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน   เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใครเป็นขุน/หลวงสุนทรโวหารรับราชการที่วังหลวงหรือวังหน้าหรือวังหลังวังใดวังหนึ่งแล้ว   ก็ไม่โปรดเกล้าฯ ตั้งใครในราชทินนามนี้ซ้ำอีก  แม้จะต่างยศกัน   เช่น  วังหลวงตั้งหลวงสุนทรโวหาร  ในช่วงนั้นวังหน้าและวังหลังจะไม่มีใครได้รับพระราชทานราชทินนาม สุนทรโวหาร เลย  จนกว่า  คนที่ได้รับพระราชทานราชทินนาม สุนทรโวหาร ของวังหลวงจะถึงแก่กรรมหรือได้รับพระราชทานเปลี่ยนราชทินนามใหม่เป็นอย่างอื่น  

อนึ่งยศในทำเนียบขุนนางนั้น  เป็นของตายตัว   ในขณะที่ความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นไปตามทำเนียบก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัย  ยศในทำเนียบอาจจะเป็นเพียงข้อกำหนดว่า  ถ้าจะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใครมารับราชทินนามดังกล่าว  จะไม่พระราชทานยศให้สูงไปกว่าที่ทำเนียบนามมีอยู่ แต่ทรงแต่งตั้งยศที่ต่ำกว่าได้   แต่ก็นั่นแหละทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัย

กรมราชบัณฑิต  ถ้าเราพิจารณาตามทำเนียบขุนนาง  ดูเหมือนเป็นกรมที่มีฐานะเทียบเท่ากันกับกรมพระอาลักษณ์   แต่ในความเป็นจริง  กรมราชบัณฑิตนั้นเป็นกรมที่ขึ้นกับกรมพระอาลักษณ์  การที่ข้าราชการกรมราชบัณฑิตจะถูกโยกมาทำราชการที่กรมพระอาลักษณ์ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดประหลาดอันใด :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 ม.ค. 10, 13:49
      อ่านกระทู้นี้แล้วก็ชวนให้นึกถึงกระทู้โน้น เมื่อนานมากแล้วที่คุณ pipat ตั้งไว้หลายกระทู้
เกี่ยวกับสุนทรภู่ ครับ

       โดยเฉพาะในกระทู้ นิราศภูเขาทอง อ่านอีกครั้งก็ยังอดยิ้มไม่ได้กับความเห็นที่คุณพพ. สวมรอย
เป็นสุนทรภู่มาตอบ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2286.0



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 10, 14:08
สนุกจริงอย่างที่หลายคนว่า   
ถ้ามาที่เรือนไทยตั้งแต่ครั้งนั้น   คงได้ร่วมวงผสมโรงอภิปรายแน่นนอน  คิดมาแล้วก็เสียดาย :'(


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 15:34
อย่าเสียดายเลยค่ะ คุณหลวง

ชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง
หรือห่วงใยอยู่กับวันวาน

จาก ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน
แปลโดย ดร.ระวี ภาวิไล

เรือนไทยมีสมาชิกใหม่ๆ และกระทู้ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเสมอ   
กระทู้เก่าจบไป กระทู้ใหม่ก็เข้ามา
คลื่นลูกใหม่ก็ทะยอยไล่หลังคลื่นลูกเก่า  เป็นธรรมดาของทะเล

ว่าแต่คุณหลวงกับคุณเพ็ญ จะได้ฤกษ์เริ่มเรื่องทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์   
หรือว่าจะคุยเรื่องอื่นไปก่อน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 10, 15:59
ถือเสียว่า  กระทู้นั้นไม่มีวาสนากับผมก็แล้วกัน   ;D

สบายใจแล้ว   บัดเดี๋ยวนี้  จะกล่าวถึงพราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  หลังจากปล่อยให้รอมานาน

- พราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  เป็นใคร ? อยู่ตอนไหนของเรื่องพระอภัยมณี ?

- พราหมณ์ทิศาปาโมกข์เป็นพราหมณ์ที่ท้าวทศวงศ์นางจันทวดีและนางเสาวคนธ์เชิญมาช่วยหาทางแก้ไขให้สุดสาครที่ต้องเสน่หืที่เกาะลังกากลับคืนเมืองการะเวก   พราหมณ์ทิศาฯ ปรากฏตัวในตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม 

- พราหมณ์ทิศาฯ มีประวัติอย่างไร ?  รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ?

- พราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  เป็นผู้วิเศษเหมือนฤาษี  อายุยืนกว่าร้อยยี่สิบปี  นิสัยซื่อสัตย์  ไม่พูดจาประจบสอพลอหรือล่อลวงใคร  ท่าทางภูมิฐานมีความรู้เรื่องโบราณมาก  พราหมณ์ได้เป็นครูสอนเหล่ากษัตริย์เมืองการะเวกมาจนกระทั่งท้าวทศวงศ์เองก็เคยได้เรียนกับพราหมณ์นี้  และว่า  เมื่อครั้งปู่ของท้าวทศวงศ์ได้ให้ตึกแก่พราหมณ์เป็นที่อยู่ในสวนหลวง  สามารถไปมาหาสู่ได้ตามปกติและเป็นยอดกว่าครูใดๆในแผ่นดิน  มีกลอนตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

ฝ่ายทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์          เป็นพราหมณ์เทศเทวฤทธิ์อิศยมภุ์
มีสมบัติพัสถานพานอุดม              แต่อารมณ์ไม่สู้รักด้วยมักน้อย
ตึกประทานบ้านตั้งหลังสวนหลวง   ทาสทั้งปวงจัดไว้พอใช้สรอย
แต่ท่านยายขายเพชรเมล็ดพลอย    อายุร้อยสิบเก้าแก่คราวกัน
ดูรูปเห็นเป็นชราแต่หน้าอ่อน          ฟันไม่คลอนเลยทีเดียวเคี้ยวขยัน
แต่ผมหงอกดอกจึงแลดูแก่ครัน       นอกกว่านั้นดีอยู่ทั้งหูตา  ฯ

เล่าความถึงพราหมณ์ทิศาฯ แต่เท่านี้ก่อน   เชิญอภิปรายกันได้ครับ :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 16:40
เป็นพราหมณ์เทศเทวฤทธิ์อิศยมภุ์
รู้เพียงสั้นๆ ว่าเป็นพราหมณ์เทศ คือมาจากอินเดีย  นับถือพระอิศวร
เรียกว่า ไศวนิกาย   (Saivism)

สัญลักษณ์พวกนี้คือใช้ขี้เถ้าสีขาวหรือสีเทา เขียนเป็นเส้นนอนตรงซ้อนกัน 3 เส้นที่หน้าผาก
พวกนี้ถือการหลุดพ้นที่เรียกว่า โมกษะ  คือเข้าถึงเอกภาพกับพระศิวะ   นิยมบำเพ็ญบารมีแบบที่พุทธเรียกว่า "อัตตกิลมถานุโยค" คือสุดโต่งไปทางด้านทรมานกาย
อยากเอารูปมาให้ดู แต่ยังหาไม่เจอค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 10, 21:16
สงสัยอยู่นิดหนึ่งค่ะ    ท่านยายขายเพ็ชรพลอยได้หรือคะ
ตอนที่ ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  ยอมเดินทางไปด้วยก็เพราะ พระสุริโยไทยกษัตริย์การะเวก  จันทวดีพระมเหสี พานางเสาวคนธ์มาหาถึงที่อยู่



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 10, 22:31
คุณวันดีสงสัยเหมือนดิฉันเลย
แต่ท่านโลกเชษฐ์ เป็นผู้ครองเรือน มีลูกเมียได้ ก็คงประกอบอาชีพได้มั้งคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 10, 22:57
พระเจ้ากรุงการะเวกรอบคอบในราชประเพณีนะคะคุณเทาชมพู



.................................​​​​​​​​​​                ด้วยพระอภัยเข้าไปอยู่ในบูรี
แต่นงลักษณ์อัคเรศอยู่เขตค่าย                เราเป็นชายไปถึงพระมเหสี
จะพูดจาปราไศยก็ไม่ดี                         ครั้นจะมิเจรจาก็น่าชัง
ซึ่งดีชั่วทั่วโลกไม่เล็งเห็น                       เกลือกจะเป็นรอยร้ายไปภายหลัง


สุนทรภู่คงทราบเรื่องไม่ดีไม่งามที่ฝ่ายในบางท่านประมาท


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 10, 23:35
การแก้ไขของพราหมณ์ผู้เฒ่า

แล้วพราหมณ์เอาทองคำทำเป็นธง                    มาเขียนลงอักขระพระศุลี
แล้วลงยันต์พระพิเนกเสกสะกด                       ดังจักรกรดพระนารายณ์ทำลายผี

มองให้หัสไชยนำไปมอบให้พระญาติที่ต้องมนต์เสน่ห์
และได้เสกข้าวตอกเป็นดอกฟ้า  ฝากไปให้นางละเวงด้วย

ธงแก้เสน่ห์นี่อ่านผาด ๆ ราวกับเรื่องจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง  จับความยังไม่แม่น
แต่ธงวิเศษที่ตัวเอกของพงศาวดารจีนถือมีอำนาจมาก  ใช้ในการสู้รบ

ธงนั้นช่วยสุดสาครกับสินสมุทรมาได้เท่านั้น

ท้างทศวงศ์ พระสัสสุระ ของ ศรีสุวรรณ  ได้พาพระญาติมาหาทิศาปาโมกโลกเชษฐ์
พราหมณ์ดีใจมากที่ได้รับเสด็จ


พราหมณ์คำนับรับเสด็จด้วยดีใจ                ถวายชัยมงคลด้วยมนต์พราหมณ์



นางสุวรรณมาลีและนางเกษรา...
ฝ่ายสองนางต่างว่าข้าพเจ้า                      จะกราบเท้าทองคำเต็มกำปั่น
คนละลำบำรุงพระคุณครัน                       ช่วยแก้กันผ่อนปรนให้พ้นภัย

นี่ยิ่งกว่าทองเท่าหัวอีกนะคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 10, 23:58
นางละเวงนำธงและดอกไม้สวรรค์ไปให้บาดหลวงดู

บาดหลวงทราบทันทีว่าเป็น คนดีมีวิชา  และคงเป็น ทิศาปาโมกโลกเชษฐ์
บาดหลวงรู้เขาดีจัง  คือการข่าวฝ่ายตรงกันข้ามแจ๋ว  แต่ฝ่ายตัวเองทำอะไรไว้ไม่ทันรู้

บาดหลวงคงรู้หลายภาษาเป็นแน่

บาดหลวงรับจับต้องมองพินิจ                    อักษรผิดลังกาภาษาสยาม
เคยเรียนครูรู้ว่าหนังสือพราหมณ์                จึงอ่านตามปริศนาว่าอย่าทำ
ใครผูกไว้ไม่แก้เป็นแม่ม่าย                       เคยนอนหงายมาแต่ก่อนจะนอนคว่ำ

สังฆราชโมโหพวกตัวเองก็โมโห  แต่อยากลองฤทธิ์พราหมณ์ขึ้นมา

คนที่นึกว่าตนเก่งอยู่คนเดียวก็แบบนี้แหละ   

แล้วร่ำบอกดอกฟ้าเขาว่าตัว                      เป็นผู้หญิงชิงผัวไม่กลัวใคร
ซึ่งแต่ก่อนนอนหงานจะกลายคว่ำ                เป็นข้อคำเยาะเย้ยเฉลยไข
มีผัวเหมือนเดือนหงายสบายใจ                  พอผัวไปจะต้องคว่ำกินน้ำตา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 10, 08:35
ในที่สุด  บุคคลที่รอคอยก็มาปรากฏตัว   หลังจากห่างหายไปนาน ;D
สวัสดีครับคุณวันดี  คงสบายดีนะครับ  ช่วงนี้มีหนังสือเก่าดีๆ เด่นๆ อะไรมาเล่าสู่กันฟังบ้างหรือเปล่า  :)

ก่อนจะเล่าเรื่องพราหมร์ทิศาฯ ต่อ  ขอวิเคราะห์ชื่อพราหมณ์ท่านนี้สักหน่อย

ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  คำว่า ทิศาปาโมกข์  เป็นคำบาลีแท้  ทิศา มาจาก ทิสา ในภาษาบาลี (ทิส ในภาษาบาลี แปลว่า ข้าศึก  ศัตรู) ตรงกับคำว่า ทิศฺ ในภาษาสันสกฤต  ส่วน ปาโมกขื แปลว่า ผู้ประเสริฐ  ผู้ยอดยิ่ง  ผู้เป็นเลิศ   รวมความ ทิศาปาโมกข์ แปลว่า  ครูผู้เป็นเลิศเลื่องลือไปในทิศทั้งหลาย   ถ้าใครอ่านชาดกหรือเรื่องเกี่ยวกับชมพูทวีปสมัยพุทธกาล มักจะได้ยินชื่อพราหมณ์ทิศาปาโมกข์บ่อยๆ  พราหมณ์นี้เป็นครูที่มีชื่อเสียงมักอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น ตักกศิลาและพาราณสี  เป็นต้น  มีลูกศิษย์มาก ยกตัวอย่างพราหมณ์ในพระมหาชนกชาดกที่รับพระมารดาของพระมหาชนกเป็นน้องสาว  บรรดาคนที่เกิดในวรรณะสูงมักนำลูกหลานไปฝากเรียนวิชาพร้อมกับปรนนิบัติรับใช้พราหมณ์ทิศาปาโมกข์  ส่วน โลกเชษฐ์  ที่เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น  มาจากคำว่า โลก + เชฺยษฺฐ  แปลว่า ผู้เป็นเลิศในโลก    สุนทรภู่ตั้งชื่อตัวละครพราหมณ์นี้ขึ้นมา ก็นับว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามลักษณะพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ในอินเดียโบราณ

สงสัยอยู่นิดหนึ่งค่ะ    ท่านยายขายเพ็ชรพลอยได้หรือคะ
ตอนที่ ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  ยอมเดินทางไปด้วยก็เพราะ พระสุริโยไทยกษัตริย์การะเวก  จันทวดีพระมเหสี พานางเสาวคนธ์มาหาถึงที่อยู่

คุณวันดีสงสัยเหมือนดิฉันเลย
แต่ท่านโลกเชษฐ์ เป็นผู้ครองเรือน มีลูกเมียได้ ก็คงประกอบอาชีพได้มั้งคะ

เคยได้กล่าวไว้ครั้งหนึ่งในกระทู้นี้ตอนต้นๆ แล้วว่า  พราหมณ์ในพระอภัยมณีของสุนทรภู่  นอกจากเป็นนักบวชนุ่งขาวห่มขาวเรียนไตรเพทแล้ว  พราหมณ์ของสุนทรภู่ยังมีลักษณะเป็นวรรณะตามอย่างสังคมอินเดียด้วย   คนวรรณะพราหมณ์ในสังคมอินเดียสามารถประกอบอาชีพได้อย่างคนวรรณะอื่นๆ  ที่เป็นพราหมณ์นักบวชมีหน้าที่ประกอบพิธีทางศาสนานั้นก็มีส่วนหนึ่ง   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของพราหมณ์แต่ละครอบครัวด้วย   พราหมณ์ที่มีฐานะยากจนเป็นขอทานก็มี  เช่น ตาพราหมณ์เฒ่าชูชก ในพระเวสสันดรชาดกไงล่ะครับ  อันที่จริง  พราหมณ์ของสุนทรภู่มีบางลักษณะที่เป็นไปตามขนบนิยมในวรรณคดีไทย  แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่เป็นตามขนบนิยมในวรรณคดีไทย  เช่น ให้พราหมณ์ออกมาสู้รบในสนามรบ เป็นต้น  (ไม่รู้ว่ามีใครเอาไปทำการศึกษาเป็นวิทยานิพนธ์บ้างหรือยัง?)   ส่วนเรื่องพราหมณ์มีลูกเมีย  ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  พราหมณ์ไทยมีลูกเมียมาแต่ไหนแต่ไร  ว่ากันว่า พราหมณ์ที่ไม่มีลูก โดยเฉพาะลูกชาย  ตายไปจะต้องตกนรกขุมปุตตะ เพราะไม่มีใครทำศราทธพรตให้หลังจากบิดามารดาตาย  ยายพราหมณี เมียพราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์ ขายเพชรพลอย  ก็คงเหมือนกับชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยสมัยปัจจุบัน   ในสังคมอินเดียโบราณที่ปรากฏในวรรณคดีอินเดียเก่าๆ  กระทั่ง ฤาษีก็มีเมียปรนนิบัติที่อาศรมได้



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ม.ค. 10, 09:08
ถ้าว่าตามคติของชาวพุทธไทยแล้ว ชื่อโลกเชษฐ์ (ผู้เลิศในโลก) นี้ดูยิ่งใหญ่มาก เช่นเดียวกับชื่อ

โลกนายก    ผู้นำของโลก
โลกประทีป  แสงแห่งโลก
โลกโมลี     โมลีของโลก
โลกนาถ      ที่พึ่งของโลก

อันหมายถึง พระพุทธเจ้า

ชาวพุทธไทยมักไม่ใคร่สบายใจ หากใครเอาชื่อที่มีความหมายถึงพระพุทธเจ้ามาตั้งเป็นชื่อตนเองหรือลูกหลาน

อาจารย์กรุณา กุศลาสัย เล่าไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ มีพระฝรั่งชาติอิตาลีชื่อ "โลกนาถ" เข้ามาชักชวนพระภิกษุสามเณรไปฝึกอบรมและเรียนวิชาธรรมทูตที่อินเดีย พระเถรานุเถระหลายองค์ของไทยเราไม่ค่อยพอใจพระฝรั่งองค์นี้ ก็ด้วยชื่อของท่านที่บังอาจตั้งฉายาของท่านว่า โลกนาถ

ชื่อ โลกเชษฐ์ นี้ ใช้เป็นชื่อพราหมณ์ก็พอว่า แต่ถ้าเอามาตั้งเป็นฉายาของพระสงฆ์อาจจะมีปัญหา

 ;)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 10, 09:46
อ้างถึง
สุนทรภู่คงทราบเรื่องไม่ดีไม่งามที่ฝ่ายในบางท่านประมาท
คุณวันดีนึกถึงเรื่องไหนอยู่หรือเปล่าคะ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 10, 09:51
ถ้าเป็นกรณีชื่อแบบเดียวกับ โลกเชษฐ์ และ โลกนาถ นี้
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หรือไม่ก็รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนแปลงนามสมณศักดิ์พระราชาคณะบางนามใหม่เพื่อไม่ตรงกับชื่อพระอริยสาวกด้วย  เสียดายว่าจำไม่ได้ว่าทรงเปลี่ยนแปลงนามสมณศักดิ์ใดบ้าง

แต่ถ้าเป็นสมัยนี้  เห็นท่าจะไม่ถือแล้วกระมัง  เพราะเห็นพ่อแม่ตั้งชื่อลูกโดยใช้ฉายาพระพุทธเจ้ากันอยู่มาก  เช่น ทศพล  ชินวร  เป็นต้น :(


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 10, 14:25
      ความแม่นยำของคุณเพ็ญชมพู และความรู้อันหนักแน่นของคุณหลวง  น่าติดตาม
ที่คุยกันเรื่องชื่อก็น่าฟัง  เพราะเป็นธรรมเนียมการตั้งชื่อของไทยอยู่แล้วที่จะไม่เลียนชื่อเทพเจ้า



ที่คุณเทาชมพูถาม  พอจะจำได้สองเรื่องค่ะ

เรื่องหนึ่ง  นายโหมดเล่าไว้ใน ๓๓๑ ปีสกุลอมาตย์ ๒๕๒๙ ปกสีชมพู มีรายละเอียดเรื่องราวตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓
ดิฉันอ่านทีไรก็เก็บประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้


ท่านเล่าว่า  ท้าววรจัน(อิ่ม) ธิดาเจ้าพระยารัตราธิเบศร์เป็นโทษในแผ่นดินพระนั่งเกล้า
"ด้วยหม่อมไกรศรแกล้งชำระว่าเป็นปาราชิกกับพระศรีสุธรรมมุนี(จุ้ย)วัดพระเชตุพน

ชำระได้ความจริงว่า  ศรีสุธรรมมุนีสึกออกมาอยู่ที่แพหน้าวัดพระเชตุพน  เมื่อจะตัดผมมหาดไทย  คุณวรจันเอาน้ำไปรดจึงได้เป็นโทษ

ครั้นพระนั่งเกล้าฯ สวรรคตแล้ว  วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน  พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้ามาพอประทับขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ   
ขุนนางพากันไปรับเสด็จ   ท่านก็รับสั่งให้ไปถอดคุณตาเจ้า(พระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ทองจีน ไกรฤกษ์ รู้สึกว่าข้อหานำข้าวลงเรือ  คือตอนนั้นห้ามส่งข้าวออกค่ะ)     
กับท้าววรจันมารับราชการไปตามเดิมอยู่ที่พลับพลาคลังศุภรัต"


 อีกเรื่องหนึ่งคือเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ สองคน  ออกไปเผาศพบิดา  แล้วแจกเงิน และถุงมะนาวทิ้งทานแก่คุณหลวงหรือคุณพระคนหนึ่ง
เจ้าจอมทั้งสองโดนลดขั้น     คุณหลวงรู้สึกจะเคราะห์ร้ายมาก   ขอเล่าย่อๆไว้แค่นี้ก่อนค่ะ
คุณเทาชมพูออกปากถามแล้ว  ต้องไปค้นค่ะ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 10, 15:10
ขอชวนคุยเรื่องสังฆราชบาดหลวงหน่อยนะคะ  เพราะมีบทบาทใน พระอภัยมณีเล่มสาม และ เล่มสี่อีกมาก

เมื่อท่านเห็นนางละเวง พร้อมด้วย ยุพาผกา สุลาลีวัน รำภาสะหรี ปรากกฏตัวบนเชิงเทินพร้อมกับสามี  สังฆราชโกรธมาก

เอ่ยออกมาว่า

พลอยขายหน้าฝรั่งทั้งประเทศ                   เสียประเภทพวกหญิงชาวสิงหล



ด่านางละเวงว่า "คบขี้ข้ามาเข้าเลี้ยงไว้เคียงตัว"

แหม!   คิดแบบคนตะวันนออกเปี๊ยบเลยนะคะ   เพราะ ยุพาผกา กับ สุลาลีวันเป็นเด็กกำพร้า   หลวงพ่อสิกคารนำมาเลี้ยง
รำภาสะหรีนั้น เป็นธิดานายด่านที่ตายในหน้าที่   ควรจะถือว่าสกุลขุนนางนายทหารมากกว่า



ปากคอของพระสังฆราชบาดหลวง  คงทำให้นักอ่านในสมัยก่อนติดใจกันมากทีเดียว

จนด่านแตกแยกย้ายล้มตายยับ             เพราะมึงกลับกลายแกล้งไปแปลงความ
จนฝรั่งลังกาเป็นข้าเขา                       เพราะมึงเข้าเพศภาษาสยาม
เป็นเมียน้อยช้อยชดช่างงดงาม             เมียหลวงตามเข้ามาหึงถึงประตู



สามนางนั้นไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ  ได้ย้อนพระสังฆราชว่า

เป็นเหตุเพราะผู้เป็นเจ้าเฒ่าชรา
ออกไปด้วยช่วยแก้ก็แพ้พ่าย
เช่นนั้นอายหรือไม่เล่าพระเจ้าข้า


สังฆราชว่า

อีแม่สื่อถือดีไม่มีอาย                      เที่ยวชักชายชักผัวให้ตัวเอง
ไม่ถึงปีมีท้องกระปองเหยาะ              ยังมีหน้ามาทะเลาะล้วนเหมาะเหมง


ทั้งสามนางต่างล้อว่าขอถาม              อยากแจ้งความอนุกูลเถิดทูลหัว
ว่ามีท้องมองเห็นมันเป็นตัว               หรือตามัวดูให้แน่อย่าแลเกิน  ฯ


สลับคำกลอนเล็กน้อยนะคะ

..............................               มึงจะลงขุมนรกหกคะเมน
เพราะสับปลับลวงกูผู้มีศีล                 ทั้งมือตีนจะต้องถ่างบนกางเขน
น้อยหรือรุมทุ่มเถียงขึ้นเสียงเกน          อีเมียเถนเทวทัต...............
(เกน  แปลว่า ตะโกนหรือร้องดัง ๆ)

ยิ่งอ่านก็ชื่นชมความรอบรู้ของ สุนทรภู่

ขออภัยที่กางใบออกอ่าวไทยไปเล็กน้อยค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ม.ค. 10, 16:21
เรื่องหนึ่ง  นายโหมดเล่าไว้ใน ๓๓๑ ปีสกุลอมาตย์ ๒๕๒๙ ปกสีชมพู มีรายละเอียดเรื่องราวตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓
ดิฉันอ่านทีไรก็เก็บประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้

เล่มนี้ เคยอ่านครับ  นายโหมดจดเหตุการณ์บางเหตุการณ์ไว้ดีมาก  เห็นทีต้องกลับไปอ่านอีก

บทบาทของสังฆราชบาดหลวงในเรื่องพระอภัยมณี  ดูจะเดินทางเดียวกับเถรขวาดและเณรจิ๋ว ซึ่งภายหลังเป็นเถรจิ๋ว 
แต่เรื่องด่าคนนี่  สังฆราชบาดหลวงกินขาด  อ่านๆ ไป นึกว่าอ่านขุนช้างขุนแผน หรือบทละครนอก

เมื่อคุณวันดีเกริ่นเริ่มเรื่องสังฆราชมาเช่นนี้   เพื่อไม่ให้ปะปนกับเรื่องพราหมณ์ 
เรียนคุณเทาชมพู  กรุณาตั้งกระทู้ว่าด้วยเรื่องฝรั่งในพระอภัยมณีเสียแต่บัดนี้ดีกว่าครับ ;D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 10, 16:24
สังฆราชปีโป เป็นตัวนำคนหนึ่งของชาติพันธุ์วรรณา ฝรั่ง    ถ้าเราจะกล่าวต่อไปถึงชาติฝรั่งลังกาในเรื่องนี้      เป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากล เอาการ  
สุนทรภู่ให้เป็นนักบวชฝ่ายร้ายของเรื่อง   ตรงข้ามกับทิศาฯโลกเชษฐ์ ก็เป็นฝ่ายดี

รอคุณวันดีค่ะ

พอจะโพสต์ เห็นค.ห.คุณหลวง
อ้างถึง
เรียนคุณเทาชมพู  กรุณาตั้งกระทู้ว่าด้วยเรื่องฝรั่งในพระอภัยมณีเสียแต่บัดนี้ดีกว่าครับ

ตั้งเป็นชาติพันธุ์วรรณา 2 นะคะ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 10, 17:02
ขอบคุณค่ะ คุณหลวงเล็ก

ขอบคุณค่ะคุณเทาชมพู  สมควรแล้วค่ะ

คุณเพ็ญชมพูคะ   


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 10, 22:40
ขอประทานโทษคุณโฮ ค่ะ         โพสผิดกระทู้ค่ะ   ตั้งใจจะไปที่ ชาติพันธุ์วรรณา ในพระอภัยมณี ๒    


ฝรั่งคนแรกที่เจอใน  พระอภัยมณี ยกเว้นพวกเรือแตก  คือ  สุหรั่ง (สงสัยแปรมาจาก สรั่ง ภาษาเปอร์เชีย ว่า หัวหน้ากลาสี)  โจรสลัดชาติอังกฤษ
ในสมัยที่ สุนทรภู่ แต่งพระอภัยมณีอยู่นั้น  ฝรั่งหลายชาติก็ผจญภัยมาหาโชคลาภข้ามโลก
ยกให้โจรสลัดเป็นสัญชาติอังกฤษก็นับว่าเหมาะสมอยู่


เรื่องความใหญ่โตของเรือนั้น รุ้สึกว่าแทบจะไม่มีใครไม่พูดถึง
จึงขอเลยไปถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในเรือ  มีช้างด้วยค่ะ   นำไปขายที่ไหนหนอ


สุหรั่งหวังรับ นางสุวรรณมาลี เป็นมาดาม  จึงมอมเหล้าสินสมุทรด้วยบรั่นดีหรือเหล้าเข้ม  แล้วย่องเข้าไปในห้องที่ให้นางสุวรรณมาลีอยู่

สำนวนการสนทนานั้นค่อนข้างแปลก  ฟังราวกับท่านขุนสั่งภริยาน้อยคนล่าสุด ว่า  "ช่วยถอนขนรักแร้พี่ทีเถิดนาง"

นางสุวรรณมาลีได้ผ่อนผัดว่า ถึงฝั่งก่อนซิคะ จะยอมเป็นเมีย      โจรเลยยอมถอยไป  เลยสั่งใครมาถอนขนรักแร้ให้ก็ไม่แน่ หนังสือไม่ได้บอก

สินสมุทรตื่นขึ้นมาจากเมาเหล้า ทราบเรื่องก็โมโห  ออกไปสู้รบ
โดยผลักสุหรั่งให้ล้ม  เหยียบอก   คงไม่ค่อยๆขึ้นไปยืน น่าจะกระโดนโครม

.....................................                                 ทะยานยุดเหยียบอกผงกหงาย
กระชากฉีกซีกโครงครากทะลาย                                    เอาศพนายตีไพร่ไล่กระพือ

         แสดงว่าสัญชาติญาณในการต่อสู้  รับมาจากแม่ผี้เสื้อสมุทรเต็ม ๆ

การเอาศพตีไพร่นั้น  มาจากพงศาวดารจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งแน่นอน มีตั้งสามสิบกว่าเรื่อง  กิ่งพงศาวดารที่คนไทยแต่งกันเองก็มีประมาณ ๒๐ เรื่อง

แล้วสินสมุทรก็ยึดเรือไว้ใช้



((   นอกประเด็น  แต่ขอเล่าไว้เป็นหลักฐาน   ))มีเรื่องอยู่นิดหนึ่งที่ สุหรั่งมากระตุ้นความคิด  ก็เรื่องกลิ่นตัว

สินสมุทรกลิ่นตัวแรงมากค่ะ

เพราะขนาดโอรสของสินสมุทร วายุพัฒน์ เกิดกับนางยุพาผกา  ตัวสีเขียว  มีเขี้ยว  ยังมีกลิ่นย่าติดตัว

   พอเวลาวายุพัฒน์ไปเที่ยวเล่น                                 กลับมาเห็นยักษ์กลัวยืนตัวแข็ง
มันเข้าใกล้ได้กลิ่นก็สิ้นแรง                                       ล้มตะแคงคุกคลานซมซานไป
ด้วยหน่อนาถชาติเชื้อผีเสื้อร้าย                                  ยักษ์ผีพรายเข็ดขามตามวิสัย


(เล่ม ๓  ตอนที่ ๖๗  หน้า ๕๒)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 08:50
แสนสงสารนางวาลีนี้ยิ่งนัก             ไร้คนรักจงจินต์ถวิลหา
เป็นเชื้อพราหมณ์ตามแต่โบราณมา     ขอเพื่อนยาช่วยบรรยายขยายความ

อยู่ภายหลังยังมีสตรีหนึ่ง                       อายุถึงสามสิบสี่ไม่มีผัว
ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคล้ำมัว                         รูปก็ชั่วชายไม่อาลัยแล
ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น                      หน้านั้นรอยฝีมีแต่แผล
เป็นกำพร้ามาแต่หล่อนยังอ่อนแอ             ได้พึ่งตายายอยู่ปลายนา
เป็นเชื้อพราหมณ์ความรู้ของผู้เฒ่า             แต่ก่อนเก่าเดิมบุราณนานหนักหนา
เป็นมรดกตกต่อต่อกันมา                      นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ
รู้ฤกษ์ผาฟ้าดินสำแดงเหตุ                     ทั้งไตรเพทพิธีคัมภีร์ไสย
ครั้นเจนแจ้งแกล้งเอาเข้าเผาไฟ               มิให้ใครพบปะพระคัมภีร์

ส่งให้คุณวันดีรับไม้ต่อไป

 ;D

ป.ล.

เรื่องความใหญ่โตของเรือนั้น รุ้สึกว่าแทบจะไม่มีใครไม่พูดถึง
จึงขอเลยไปถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในเรือ  มีช้างด้วยค่ะ   นำไปขายที่ไหนหนอ

สมัยพระยานคร (น้อย) เอาช้างไปขายที่อินเดียอยู่บ่อย ๆ ไมเคิล ไรท ยังสงสัยอยู่เลยว่าสุนทรภู่เคยขึ้นเรือที่บรรทุกช้างไปขายที่อินเดียหรือเปล่า

ยังสงสัยตามมาว่าเรือของโจรสุหรั่งได้ความคิดมาจากเรือบรรทุกช้างของพระยานครนี้หรือเปล่า

 ;)



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 10, 08:54
คุณวันดีกำลังเล่าเรื่องโจรสุหรั่งกับสินสมุทผิดใจกันเรื่องนางสุวรรณมาลีออกรส

ขออนุญาตคั่นรายการด้วยเรื่องพราหมณ์อินเดียสักเล็กน้อย  ด้วยเพิ่งไปค้นเอกสารที่ต้องการเจอ  เห็นว่าน่าสนใจจึงมานำเสนอ

เอกสารที่ว่านี้  คือ  นิราศเมืองเทศ   ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง  ทราบแต่เพียงว่าผู้แต่งน่าเป็นกรมการชาวปักษ์ใต้ที่เดินทางทางเรือไปค้าขายช้างที่เมืองบาบุดบำดัด  อินเดีย  เนื่องจากปรากฏการใช้คำภาษาไทยปักษ์ใต้ในนิราศดังกล่าวลางแห่ง  นิราศนี้แต่งในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๖๒  ดังปรากฏคำกลอนตอนต้นนิราศว่า  

                                            วันเสาร์กาฬปักษ์ดิถี
คิมหันตฤดูเดือนสี่                     ปีเถาะเอกศกนั้นไม่คลาย
เวลาเช้าสี่โมงนาที                    ฤกษ์ดีได้ล่องนาเวศผาย
ออกจากเกาะตาลิบงบรรจงราย     ด้วยหาดทรายขาวสะอาดประหลาดดี

นิราศเรื่องนี้เคยพิมพ์มาแล้ว  ๓ ครั้ง  ครั้งแรก เมื่อ ๒๔๖๒ พิมพ์แจกในงานศพนางอินทรสมบัติ (สิน   บุนนาค)    ครั้งที่ ๒  เมื่อ ๒๔๖๒ เช่นกัน  จางวางโท  พระยาอนิรุทธเทวา  (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ)  อธิบดีกรมมหาดเล็ก  พิมพ์แจกในงานพระกฐินพระราชทาน ณ วัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา   และครั้งที่ ๓  เมื่อ ๒๕๑๖  พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพนายสีนวล   นพคุณ  ณ วัดธาตุทอง พระโขนง   ๒๐  มีนาคม  ๒๕๑๖   จำนวน  ๕๐๐ เล่ม  จากนั้นมาก็ไม่ได้มีการนำมาพิมพ์อีก   ปัจจุบัน  คงจะไม่ใคร่มีผู้เคยอ่านหรือรู้จักนิราศเรื่องนี้กันมากนัก

นิราศเมืองเทศ เป็นนิราศขนาดสั้น  จำนวน  ๒๕๐ คำกลอน  เนื้อความเล่าถึงการเดินทางไปค้าช้างกับดีบุกซึ่งเป็นส่วยของหลวงที่เมืองบาบุดบำดัด  โดยเรือสินค้าของหลวง  มีเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นผู้จัดการเรื่องการค้าขายสินค้ากับอินเดีย  โดนใช้เมืองตรังเป็นเมืองท่า  เมื่อเรือไปถึงที่อินเดีย  จะมีพวกแขกเอเยนต์รับสินค้าอยู่ที่นั่น  มาคอยรับสินค้าในเรือไปขาย   เมื่อแขกนำไปขายได้เท่าไรก็นำเงินนั้นไปจัดซื้อสินค้าอินเดียที่เป็นที่ต้องการของเมืองไทย อันมีผ้าลาย อัญมณี เป็นต้น  บรรทุกเรือกลับมายังท่าเมืองตังแล้วส่งของที่ซื้อนั้นมาที่เมืองนครศรีธรรมราช  แล้วเจ้าพระยานครฯ จะจัดส่งเข้ามาที่กรุงเทพฯ  พร้อมทำรายงานต้นทุนกำไรเป็นใบบอก  อันเป็นลักษณะการค้าขายระหว่างไทยกับอินเดีย ที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในนิราศนั้นว่า จากท่าเรือเมืองตรัง ที่เกาะตาลิบงมาจนถึงเมืองอินเดียใช้เวลาเดินทาง ๗ วัน  (เจ็ดวันก็มาเห็นซึ่งนิเวศ    ขอบเขตอังกฤษมิจฉา)  เมื่อมาถึงพวกแขกเรือที่มีหน้าที่ตรวจตราเรือที่เข้าออกที่ท่าเมืองบาบุดบำดัดนั้น  ได้ซักถามจดรายละเอียดของเรือ สินค้า และจำนวนลูกเรือ ไปรายงานต่อนายด่าน  (ลักษณะเช่นเดียวกันนี้  ทางเมืองไทยก็ทำเช่นกัน  อย่างเมืองพระประแดง หรือสมุทรปราการในปัจจุบัน   ก็ต้องทำรายงานเรือเข้าออกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาส่งมาที่กรุงเทพฯ  ถ้าเป็นเรือราชทูตต่างเมืองเข้ามาต้องรีบรายงานให้ทางเมืองกรุงเทพฯทราบ  เพื่อเตรียมการต้อนรับให้สมเกียรติ)  พวกไทยในเรือเมื่อถึงก็เที่ยวซักถามหาบรรดาไทยที่ไปค้าขายที่อินเดีย   มีพวกแขกมามุงดูพวกไทยกันมากมาย  (แขกมุง)  จากนั้นก็พากันไปที่ตึกเศรษฐีที่เป็นผู้ดูแลเมืองท่า  เศรษฐีนั้นได้ไต่ถามถึงทุกข์สุขบ้านเมืองไทยตลอดจนพระเจ้าแผ่นดินไทยด้วย

ต่อจากนั้น  ก้กลับมาที่เรือเพื่อนำช้างที่บรรทุกลงเรือไปนั้นขึ้นท่า  มีพวกแขกไปดูช้างกันมากเต็มท่า  และมี "ทั้งฝรั่งอังกฤษพาอิสตรี    นั่งเก้าอี้ดูกลาดทั้งหาดทราย"  ฝรั่งก็พากันไปดูช้างเหมือนกัน  การค้าขายคงดำเนินไปเป็นเวลานาน ๕ เดือน

ระหว่างนั้นเป็นธรรมดาของคนที่ไปค้าขายต่างบ้านต่างเมืองจะคิดถึงบ้าน และคู่รักที่จากมา  ก็เลย "แล้วชวนเพื่อนเชือนเชยสัญจรเล่น     ได้คลึงเคล้นหญิงเทศเพศยา"  ::) รายละเอียดหญิงแพศยาที่อินเดียเป็นอย่างไร  คนแต่งได้เล่าไว้ละเอียดดีมาก  โปรดติดตามตอนต่อไปครับ ;D



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 10:43
นางวาลีที่เผาคัมภีร์เสียนั้น  ก็เพราะเกรงผู้อื่นจะได้ตำราไป

สมัยโบราณนั้นกว่าจะรับศิษย์สักคน  ท่านดูความประพฤติและความสามารถเป็นหลัก
ไพร่ในที่นี้ ไม่ใช่คนยากจนเสียทีเดียว   คนกำเนิดต่ำแทบไม่มีการศึกษา  อ่านเขียนไม่ได้นั้น
ถ้าได้วิชานั้นเพียงส่วนเดียว ก็ทำความเดือดร้อนได้

เรื่องที่นางเรียนด้วยตนเอง  ก็สามารถทำประโยชน์  คือรู้เรื่องภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการเพาะปลูก
ช่วยยายกับตาที่เลี้ยงมา

นางได้ใช้วิชาช่วยเหลือผู้อื่น  ได้ของกำนัลซึ่งก็เป็นพืชผลทางเกษตร


สิ่งที่นางวาลีอยากได้มากคือสามีที่มีบุญ  หนุ่ม  หล่อ  รูปร่างอ้อนแอ้น  ใบหน้าเหมือนหุ่น
รูปร่างอ้อนแอ้นพอจะเข้าใจ เพราะเป็นค่านิยมของสมัยนั้น
หนุ่มก็พอจะเข้าใจ  เพราะนางเป็นสาว
หล่อ     ก็เข้าใจอีก  มีรูปโฉมไว้ประโลมใจ
นางวาลีรู้ค่าของตนเอง  ว่าความรู้ของตนนั้นเป็นของโบราณมาจากอาณาจักรที่เจริญมาก่อน
สังคมไม่ได้ให้โอกาสนางวาลี

สิ่งที่ไม่ค่อยจะเข้าใจก็คือ นางมี สิ่งประสงค์ คือ สามีที่มีใบหน้าอย่างหุ่น
คือขาวมาก(ไม่ยาก  ทาแป้งปนปรอทของจีน)   คิ้วโก่ง(เขียนด้วยเนื้อมะพร้างวแก่เผาไฟ)  ตาดำ(ไม่ยาก  ทายาตาโตของแขก)  และปากแดง(ไม่ยาก ทาลิ้นจี่ของจีน)
คนที่ขาดสิ่งจรรโลงใจมาแต่เด็ก  เมื่อมีโอกาสได้ปลดปล่อยอารมณ์หรือแสดงความปรารถนา ก็ดูจะ ต้องการมาก


เมื่อพระอภัยประกาศหาข้าราชการ
นางวาลีเห็นว่าโอกาสผ่านมา  จะปล่อยให้ผ่านไปมิได้

นางปลื้มใจมาก   มองว่าถ้าพระอภัยไม่ต้องกับนางสุวรรณมาลีแล้ว   นางก็มีโอกาสเป็นเอก
จึงไปสมัครสอบ
(เคยเขียนเรื่องนางจงลี่ฉุนมาแล้ว  จึงขอข้่ามไปก่อนค่ะ)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 10, 10:45
รายละเอียดหญิงแพศยาที่อินเดียเป็นอย่างไร  คนแต่งได้เล่าไว้ละเอียดดีมาก  ดังนี้

"แล้วชวนเพื่อนเชือนเชยสัญจรเล่น     ได้คลึงเคล้นหญิงเทศเพศยา
แต่งกายมิได้วายเว้นเวลา                  ให้กายาโอ่เอี่ยมอรชร
เจาะหูรูรอบร้อยสุวรรณ                     ที่ถัดนั้นก็ร้อยเป็นสร้อยอ่อน
ล้วนใบสุวรรณสลับซับซ้อน                อลังกรณ์เลื่อมเหลืองอยู่ทั้งตัว
เอาสร้อยใบปลานั้นผูกคอ                  ถัดต่อมานั้นล้วนสร้อยเฝือ
สริชั้นห้าชั้นฟั่นเฟือ                          แล้วใส่เสื้อแบนกอลติดขลิบทอง
ที่เต้าถันนั้นแกล้งบรรจงหนัก              เอาตาดปักติดต่อไว้เป็นช่อง
สวมเข้าที่เต้าเหมือนทำลอง              ชักทั้งสองเต้าเต่งเคร่งครัน
ถึงคล้อยยานสัณฐานทำเหมือนสาว    จะยานยาวก็อยุ่ในเสื้อมั่น
แล้วหวีผมไว้แสกให้แยกกัน               เกล้ามวยพัวพันดอกไม้มี
ข้อมือนั้นผูกลูกปะหล่ำ                     กำไลนั้นก็ใส่ข้างละสี่
ห่มสีชมพูดูดี                                 มีขลิบติดริมพริ้มพราย
กำไลใส่เท้าล้วนหิรัญ                       ถึงสามชั้นพรวนน้อยห้อยระสาย
แหวนปลอกตอกประดิษฐ์ลาย            ใส่ในปลายนิ้วเท้าล้วนขาวดี
นุ่งผ้าถุงรูดเป็นริ้วรอบ                      แต่ประกอบแต่งกายให้สดศรี
เห็นชายเดินเมินเมียงไม่พาที             ก็เร็วรี่ร้องเรียกให้หยุดยืน


แล้วไถ่ถามเป็นความบุ้ยใบ้มา            ด้วยไม่รู้ภาษาอุส่าห์ขืน
พวกเราเหล่าคะนองลองสักคืน           เครงครืนต่อว่าราคากัน
ที่มีเฟื้องมีสลึงกลัวจะหมด                แต่อดอดมาก็สุดเต็มกลั้น
กระซิบบอกกันแต่สองลองสักวัน        นอกกว่านั้นอย่าให้อึงระทึงไป

อันเหล่าหญิงชั่วที่ตัวกลั่น                 ทรัพย์นั้นมีมากด้วยหาได้
ช่วยทาสทาสาข้าช่วงใช้                   นี่ยกไว้พอรู้เป็นเรื่องราว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 11:02
กฏหมายตราสามดวง  พระไอยการ ลักษณะผัวเมีย  ท่านว่า

   "หญิงใดทำชู้นอกใจผัว  มันเอาชายชู้นั้นมาร่วมประเวนีในวันเดียว ๒ คนขึ้นไป   ท่านว่าเปนหญิงแพศยา"
    (รักษาตัวสะกดเดิม)



พยายามไม่กระโดดออกไปนอกกระทู้
เพราะสามารถคุยเรื่องหนังสือเก่าได้โดยไม่ต้องอ้างอิงอะไรมาก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 11:13
อ้างถึง
การเอาศพตีไพร่นั้น  มาจากพงศาวดารจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งแน่นอน มีตั้งสามสิบกว่าเรื่อง  กิ่งพงศาวดารที่คนไทยแต่งกันเองก็มีประมาณ ๒๐ เรื่อง

เรื่องเอาศพไล่ตี ที่คุณวันดีเอ่ยถึง   มีอยู่ในสามก๊ก   ตอนโจโฉถูกทหารของเตี้ยวสิ้วบุกเข้ามาถึงค่าย       เตียนอุยองครักษ์ของโจโฉฟันศัตรูจนดาบหัก    ก็ฉวยศพข้างละมือมาเป็นอาวุธ  ไล่ตีทหารเตี้ยวสิ้วตายไปอีกเก้าคนสิบคน

อ้างถึง
สิ่งที่ไม่ค่อยจะเข้าใจก็คือ นางมี สิ่งประสงค์ คือ สามีที่มีใบหน้าอย่างหุ่น
หน้าอย่างหุ่น  หมายถึงหน้างาม  ตาหูจมูกปากราวกับวาดไว้    เพราะช่างเขียนหน้าหุ่นจะบรรจงเขียนหน้าตาตามแบบที่เขาเห็นว่างามรับกัน
ขอให้นึกถึงหน้าหุ่นของอ.จักรพันธุ์ดูก็ได้ค่ะ
ส่วนผู้ชายที่หน้างามเหมือนหุ่น   ดิฉันเคยเห็นอยู่คนหนึ่งคืออ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต เจ้าของหุ่น     รูปอาจารย์ตอนหนุ่มๆ  นี่แหละ  หน้าหุ่นแบบที่นางวาลีใฝ่ฝัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 11:16
คำว่า หญิงแพศยา  ใช้ในความหมายทั้งหญิงคบชู้    และหญิงโสเภณี    ส่วนการแยกศัพท์ว่ามาจากอะไรเห็นจะต้องถามคุณหลวง
มีอีกคำหนึ่งที่แปลตรงกัน แต่เรียกไพเราะมาก  คือคำว่า "อภิสาริกา"   นางอภิสาริกาคือโสเภณี  พบในวรรณกรรมของ "แสงทอง"  พจนานุกรมบาลี เก็บศัพท์นี้ไว้ด้วย 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 11:22
นางวาลีแต่งตัวไปเข้าเฝ้าโดยนุ่งผ้าสุหรัด(มาจากไหนพอทราบ  แต่เป็นอย่างไรไม่ค่อยแน่ใจค่ะ)
ห่มผ้าสีชมพูมีภู่ติด     สงสัยล้ำสมัยมาก


กว่านางวาลีจะเข้าเฝ้าพระอภัยมณีก็ต้องผ่านด่านซักถามอยู่นาน
เป็นประเพณีปฏิบัติเช่นนั้นเอง
ทูตฝรั่งมากรุงสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ต้องเจอแบบเดียวกัน
มาทำกระทืบมือกระทืบเท้าก็กลับไปได้  ไม่ต้องเฝ้า
เอกสารที่ทางไทยฝากไปด่าก็ยังมีอยู่


พระอภัยถามว่าที่มาสมัคร  ปรารถนาตำแหน่งไหน

จะเป็นพี่เลี้ยงเจ้าขรัวนาย         หรือรักฝ่ายกรมท่าเสนาใน


นางวาลีพูดว่า

แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม                 ล้วนสวยงามเคยประณตบทศรี
แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้                            ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น
........................
........................
แม้นทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท              ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี
ก็ผิดอย่างทำเนียบประเวณี                      เห็นคนดีจะไม่มาสามิภักดิ์


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 10, 11:26
หญิงผู้มีปัญญาแต่ขี้ริ้ว  จงลีฉุน กับนางวาลี

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชโองการรับสั่งให้แปลเลียดก๊กเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒

อุยอ๋องนั้นเมื่อว่างศึกมาสามปี  มีสามบ้านเมืองมานบนอบยำเกรง  น้ำใจกำเริบถือตัวว่าหาผู้เสมอเหมือนมิได้   ตั้งแต่เสพสุราทุกวันทุกเพลาไม่ขาด
ให้เสาะหญิงรูปงามจัดเข้ามาไว้   รื่นเริงไปในการสตรี

ยังมีสตรีคนหนึ่งชื่อ จงลีฉุน  บ้านอยู่นอกเมืองใกล้กันกับบ้านใหม่ของอุยอ๋อง

นางคนนี้มีปัญญาหลักแหลมนัก  แต่รูปร่างนั้นพิกล

จักษุกลมจมูกยาวหน้าผากใหญ่  คอสั้น  มือโตเท้าโต  นิ้วมือนิ้วเท้ายาว
ทั้งสูงทั้งใหญ่  สีตัวดำเหมือนทาหมึก

นุ่งกางเกงขาด  ใส่เสื้อเก่า

ออกจากบ้านเดินร้องมาแต่ไกลว่า เราจะมาหาอุยอ๋อง
ทหารทั้งปวงเห็นว่าวิปริตนัก  จึงไต่ถาม ว่าชื่ออะไร อยู่บ้านไหน มีธุระอะไร

หญิงนั้นบอกว่า อยู่บ้านบูเอียน  แขวงเมืองเจ๋
อายุ สี่สิบปี ยังไม่มีผัว
คิดอยู่ใคร่จะได้ผัว  แต่ชายผู้ใดเขาไม่ชอบใจ
ข้าพเจ้าจึ่งมายอมตัวอยู่กับอุยอ๋อง  จะขอเป็นเมียหลวง

ว่าแล้วก็ทำปริศนาใบ้ต่างๆ   คนทั้งปวงก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน

อุยอ๋องถามว่าปริศนาแปลว่าอะไร  นางขอโทษแล้วอธิบายว่า

ที่ข้าพเจ้าเบี้ยวปากขยิบตา เพราะท่านฟังแต่คนพูดไม่จริง
ข้าพเจ้ายิงฟัน  ด้วยเห็นว่าท่านพอใจเสพสุรามัวเมานัก  แล้วเพลิดเพลินลุ่มหลงด้วยสตรี
ข้าพเจ้ากอดเข่าและชี้นิ้ว  ด้วยเห็นว่าขุนนางเหล่านี้หามีกตัญญูต่อท่านไม่
ท่านชุบเลี้ยงเสียเปล่า  มิได้โอบอ้อมอาณาประชาราษฎร์
ท่านทิ้งเมืองมาดังนี้  ไม่ช้านานเท่าใดก็จะเกิดจลาจลในเมือง

ด้วยเหตุวาสนาอุยอ๋องจะยืดยาวไป ก็หายโกรธ  พิจารณาเห็นตามคำของนางจงลีฉุน
สรรเสริญนางว่ามีปัญญาหลักแหลมนัก
รับนางขึ้นเกวียนพาเข้าเมือง  ตั้งให้นางเป็นใหญ่กว่าภรรยาทั้งปวง  ยกบ้านเดิมให้เป็นส่วยด้วย
ตั้งแต่นั้นมาก็จัดแจงบ้านเมือง หาผู้มีสติปัญญามาชุบเลี้ยง

บลัดเลเริ่มพิมพ์เลียดก๊กเล่มแรกเมื่อปี ๒๔๑๓
เล่ม ๕ พิมพ์ในปี ๒๔๑๔ ปีมะเมีย โทศก


นางวาลีอายุ ๓๔  มีเชื้อสายพราหมณ์  ใบหน้าปรุ  ผิวพรรณดำ
ได้ศึกษาตำราโบราณทั้งไสยศาสตร์ กลศึก และฤกษ์์

เมื่อมาเข้าเฝ้า พระอภัยมณีถามว่าจะเลี้ยงไว้เป็นที่ปรึกษา  อยากจะเป็นพี่เลี้ยงเจ้านาย หรืออยากอยู่กรมท่า

นางวาลียืนยันว่าภักดีอยากเป็นมเหสี

พระอภัยมณีตรัสด้วยเป็นอย่างดีว่าควรพิเคราะห์ตัวเอง

จะควรเป็นมเหสีหรือมิควร  จงใคร่ครวญนึกความให้งามใจ

นางวาลีทูลว่า

แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม   ล้วนงามงามเคยประณตบทศรี
แต่หญิงมีปัญญาเช่นข้านี้    ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น
จึงอุตส่าห์มายอมน้อมประณต    ให้พระยศใหญ่ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์
บรรดาผู้รู้วิชาสารพัน    จะหมายมั่นพึ่งพาบารมี

แม้นทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท    ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี
ก็ผิดอย่างธรรมเนียมประเวณี    เห็นคนดีจะไม่มาสามิภักดิ์
ขอพระองค์ทรงตรึกให้ลึกซึ้ง    เป็นที่พึ่งแผ่ไปทั้งไตรจักร
อันรูปหญิงพริ้งเพริศล้ำเลิศลักษณ์    ดีแต่รักรอนรานการโลกีย์

นางวาลีนี้  วิชาความรู้ส่งให้งาม

ที่มาห้องสมุด พันทิป เขียนโดย หญิงผู้มีปัญญา

สุนทรภู่ครูของฉันเป็นนักอ่านที่ยิ่งใหญ่
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/06/K5548596/K5548596.html

 ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 11:42
ขอบคุณค่ะ คุณเทาชมพู


พระอภัยได้พึ่งปัญญาของนางวาลีก็ตอนสึกชี

สุนทรภู่เขียนไว้เรียบๆ  ศัพท์น่าอ่าน

พระเอื้อนโอษฐ์โปรดเรียกมาริมอาสน์                                   ตรัสประภาษพูดจาด้วยมารศรี
พี่เพลินฟังวังเวงเพลงดนตรี                                              เหมือนจะมีศุภลักษณ์ช่วยชักจูง
เจ้าเป็นใหญ่ในสุรางค์นางสนม                                          ทั้งพงศ์พรหมพราหมณ์พรุณตระกูลสูง
ย่อมพราวแพรวแววหางเหมือนอย่างยูง                                งามกว่าฝูงวิหคาบรรดามี
เอ็นดูด้วยช่วยชุบเหมือนศุภลักษณ์                                      ให้สมรักร่วมอุษามารศรี
จะผันแปรแ้ไขไฉนดี                                                       พระบุตรีจึงจะสึกช่วยตรึกตรอง

นางวาลีแนะนำว่าให้ออกบัตรหมาย  รับรองว่า นางสุวรรณมาลี สึกภายในเจ็ดวัน

คืนนั้น นางวาลีได้รับราชการฝ่ายใน

พระอภัยมีความเห็นว่า

วิชาพาให้งาม
น้ำตาลย่อมหวานมัน
นางเป็นเหมือนม้าดี   (มีดีดขบโขกกัดสะบัดย่าง)
รู้หลักสุรางค์นางสนมดีมาก



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 10, 11:48
ในนิราศเมืองเทศ  ผู้แต่งยังได้บรรยายสภาพความเป็นอยู่ในสังคมอินเดียที่ผู้แต่งได้ไปเห็นมาตามเมืองท่าที่ไปค้าขายสำเภาหลวงนั้น   ถ้าพิจารณาโดยละเอียด  จะเห็นมีลักษณะบางอย่างตรงกับเนื้อหาในกลอนเรื่องพระอภัยมณี   ต้องนับว่านิราศเรื่องนี้มีเนื้อหาในการค้นคว้าเกี่ยวกับพระอภัยมณีอยู่

กลอนที่จะยกมาค่อนข้างยาวมาก  แต่เห็นประโยชน์จึงเอาให้อ่านกัน เชิญทัศนา

อันพวกเหล่าชาวเมืองที่เนื่องหน้า                   กายากลับคล้ำไม่ขำขาว
ใส่เครื่องเรืองรองล้วนทองวาว      เหมือนหนึ่งกล่าวแต่ต้นหนหลังมา
จะออกเดินทำเมินละอายจริต      เอาผ้าคลุมตัวมิดจนเกศา
เห็นแต่ปลายเท้ากับหน่วยตา      เป็นพวกพากันเดินขาวเพิ่นไป
พอรุ่นรุ่นสะเทินอย่างเดียวกัน      กิจงานการนั้นไม่ทำได้
ด้วยเป็นหญิงขอชายไม่อายใจ      จับจ่ายทรัพย์ให้มาทำงาน
มันจึงใช้ผัวไปต่างทาส         เที่ยวจ่ายตลาดยี่สาร
น้ำท่าหาไว้ทุกประการ         ทั้งข้าวสารฟืนไฟให้ถึงมือ
อย่างนี้เป็นนิจอยู่มิขาด                      พวกพ้องห้องญาติว่านับถือ
ครั้นผัวไปไกลเหมือนว่างมือ      เปลื้องเครื่องออกซื้อจ่ายกิน


เมื่อผัวมาจัดหาให้ใหม่         เป็นเช่นนี้ไปทั้งสิ้น
ใส่เครื่องเรืองรองจะล่องบิน      มันไม่รู้ทำกินแต่สักคน
อันเหล่าพราหมณ์นี้ทรามไม่ชั่วนัก                   แต่ถ่อยสักหน้าไว้ไม่เป็นผล
ข้อมือเป็นลายจนวายชนม์      เครื่องตบแต่งตนเห็นเรืองรวย
สอดสร้อยใส่แหวนนั้นเหมือนกัน                   หวีผมใส่น้ำมันสะสวย
ผ่าแสกแยกกลางเกล้ามวย      กรระทวยสอดสวมใส่กำไล
อันทองหูนั้นดูประหลาดแสง      ด้วยพลอยแดงเขียวขาวสดใส
แวววับวาวจับกับแสงไฟ                      ที่ห้อยใต้นั้นเป็นรูปนาคิน
จมูกห้อยเหมือนหนึ่งจี้มีระย้า      เจิมหน้าแดงฉาดชาดจิ้ม
เอาเถ้าขี้โคทาผัดหน้าพริ้ม      เดินยิ้มยั่วยวนน่าชวนเชย


ครั้นยลพักตร์ความรักนั้นเสื่อมหาย                   ช่างสักดำทำลายนะพราหมณ์เอ๋ย
ถ้าหาไม่ก็จะงามหน้าทรามเชย                   นิจจาเอ๋ยต่างชาติประหลาดครัน
เพลาเช้าก็ออกเป็นแถวถ้อง      กละออมทองทูนเมินเดินเป็นหลั่น
ไปตักน้ำท่ามาเป็นนิรันดร์      เห็นคนขันเคล่าคล่องทำนองไทย
เมื่อย่างเดินไม่สะเทินสะทกจิต                   จะดุกดิกดัดจริตนั้นหาไม่
ปั่นฝ้ายทอผ้าเป็นหน้าไป                      อันผู้ชายนั้นใส่ตัวเป็นเกลียว
การงานกวดขันนี้หนักหนา      แต่ชนิดเอาผ้ามาขัดเตี่ยว
พอปิดกายไม่มีอายกันทีเดียว      อ้ายหน้าเหนียวสังเวชเหมือนเปรตจริง
กันด้านดังถ่านทาทั่ว         ไม่ทันระวังตัวออกตุ้งติ้ง
ลูกสาวหลานสาวนั้นงามพริ้ง      ใส่สร้อยสะอิ้งกำไลทอง
พรั่งพร้อมกันอยู่มากหลาย      ไม่มีความอายที่ขัดข้อง
เบียดเสียดกันไปโดยใจปอง      เป็นพวกพ้องเผ่าเปรตเวทนา

ยังชาติสปาเยนเห็นวิเศษ                   ด้วยถือเพศนั้นคล้ายพระศาสนา
มาสลัดตัดเสียซึ่งปาณา                      เนื้อปลามิได้พะพานกัน
บริโภคแต่ผลถั่วงา         กล้วยกล้ายแตงกวาทุกสิ่งสรรพ์
ยอดใบแลผลเผือกมัน         สรรพสรรพ์ชีวิตไม่คิดกิน
ข้าวโพดสาลีแลขนม         เนยนมนั้นบริโภคสิ้น
มีบุตรธิดานาริน         สาวสาวขาวสิ้นอยู่ทุกคน
รูปโฉมก็ประโลมด้วยมารยาท      แต่ต่างชาติมิได้ร่วมภิรมย์สม
เป็นชาติวงศ์เกี่ยวได้เกลียวกลม                   เยี่ยงอย่างปฐมแผ่นดินมา
ชาติอื่นต้องกายไม่ได้         ถือมั่นนี่กระไรหนักหนา
พวกเหล่าพราหมณ์ว่าเป็นรามวงศ์มา                   ครั้นพบวันทาสิ้นทุกคน ฯ

ใครว่าสตรีในสังคมอินเดียสมัยก่อนถูกกดขี่  คงต้องพิจารณาใหม่แล้วกระมัง :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ม.ค. 10, 12:03
คำว่า หญิงแพศยา  ใช้ในความหมายทั้งหญิงคบชู้    และหญิงโสเภณี    ส่วนการแยกศัพท์ว่ามาจากอะไรเห็นจะต้องถามคุณหลวง
มีอีกคำหนึ่งที่แปลตรงกัน แต่เรียกไพเราะมาก  คือคำว่า "อภิสาริกา"   นางอภิสาริกาคือโสเภณี  พบในวรรณกรรมของ "แสงทอง"  พจนานุกรมบาลี เก็บศัพท์นี้ไว้ด้วย 

ขอใช้สิทธิ์ตอบคำถาม  ในฐานะที่ถูกพาดพิงครับ (ฮา)

แพศยา  ดูรูปคำน่าจะมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า  ไวศฺย  แล้วเติม อา ท้ายคำเพื่อให้เป็นเพศหญิง  คำนี้ ไวศฺย  หรือ ที่ไทยมาแปลงใช้เป็น  แพศย์ แปลว่า พ่อค้า    แต่เป็น แพศยา  แปลว่า แม่ค้า  แต่คงไม่ใช่แม่ค้าตามคิดเห็นของเราปัจจุบัน คงหมายถึงหญิงที่ขายรูปสมบัติของตนเองให้ชายเชยชม  แม่ค้าทั่วไปที่ขายของไม่นับเป็น แพศยา ตามนัยนี้   อาชีพโสเภณี (บาลีใช้  โสภิณี แปลตรงตัวว่า หญิงงามเมือง) ของอินเดียมีความสำคัญมาแต่โบราณ  สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าก็มี  และนัยเป็นบุคคลสำคัยของเมืองนั้นๆด้วย   ในเมืองไทย  หญิงโสเภณีสร้างวัดก็หลายวัด  เช่น วัดคณิกาผล เป็นต้น 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 12:07
ขอบคุณ คุณเพ็ญเป็นอย่างสูงค่ะ


แหะ ๆ   อิฉันกำลังหาอุสาวดีคำกลอนฉบับเต็มอยู่   คงมีอยู่ที่ร้านคุณอำนวย(ผู้เขียนคำนำได้สนุกกว่าหนังสือทั้งเล่ม)


ท่านผู้ใหญ่ในวงการหนังสือเก่าเมตตามาก  ท่านว่าถ้าเจอ นิราศ...........ที่ดิฉันอยากได้สุดชีวิต     จะนำมาให้อ่าน


ได้ไปถามผู้เชี่ยวชาญวิชาป้องกันตัวของไทยว่า  การจดบันทึกบนหลังช้าง จากท้ายช้างทำได้อย่างไร
ได้ไหว้กราบไว้ก่อนแล้ว  ว่ามาขอความรู้  มิได้คิดจะลองภูมิแต่ประการใด

ท่านหัวเราะกลั้วคำพูด      แล้วว่า  
"จะไปยากอะไร   ก็กระเถิบไปติดสัปคับท่านแม่ทัพ  แล้วเขียนซี"

ฮ้า!  ทำไมเราไม่เคยคิดอะไรที่มีเหตุผลได้เลยแฮะ


ก็เลยวันทาท่านอีกที
คุยกันไม่มีใครบังอาจขัดคอเลยค่ะ    ท่านดุ   อิอิ




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 16:14
สุนทรภู่ได้ทิ้งวรรคทองผ่านนางวาลีไว้หลายประโยค



พระผ่านเกล้าเรานี้อารีเหลือ                  เหมือนดูถูกลูกเสือเบื่อนักหนา

ประเวณีตีงูให้หลังหัก                          มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง

จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง

เหมือนเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย

อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า                     ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำหรับจับใหเมั่นคั้นให้ตาย              จะทำภายหลังยากลำบากครัน

จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ


นางวาลีสิ้นชีวิตเพราะปีศาจอุศเรนเข้าสิง

นางสุวรรณมาลีขอขมา
แม้นวาลีมีทุกข์ไปทางอื่น                       ถึงทางหมื่นแสนไกลจะไปหา
นี่ขัดสนจนใจไปป่าช้า                           อนิจจาใจหายเสียดายนัก


พระอภัยมณี
แม้นกำเหนิดเกิดไหนขอให้ปะ                  ได้เป็นพระมเหสีในที่สอง
ให้รูปงามทรามสงวนนวลละออง                อย่าให้จ้องอดสูกับผู้ใด


พระอภัยมณีใช้ประโยคทอง  "รูปงามทรามสงวนนวลละออง" นี้ถึง ๓ ครั้ง คือตอนนางผีเสื้อกลายเป็นหินไป
ตอนที่ ๒   ก็ ตอนนี้
ตอนที่ ๓ ก็ตอนพระอภัยมณีครวญกับนางละเวง

หลายคนเผลอคิดว่าเป็นกลอนรักที่จะเจอกันทุกชาติไป   



จบตอนนางวาลี   กลับไปที่  คุณยายของ ท่าน ทิศาปาโมกษ์โลกเชษฐ์  เพราะมีบทสำคัญข้่ามไม่ได้



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 16:32
นางละเวงนั้นรักพระอภัยมณีมาก  สมบัติของแผ่นดินมีอะไรก็บอกหมด

ท้ายวังลังกานั้นมีสวนดอกไม้  มีเขาที่เกิดเพชรนิลจินดา

นางพราหมณ์มีอาชีพขายเพชรพลอยอยู่แล้ว  จึงทราบดีของแหล่งมหาสมบัติ
ได้กระซิบกับนางเสาวคนธ์ให้ขุดโคตรไข่เพชรที่ลักษณะเหมือนดอกบัวหิน

นางจึงถอนมา  เมื่อถอนนั้นแผ่นดินไหว  เก็บเอามาบ้าน

ทิศาปาโมกข์ได้กราบทูลว่า ยายพราหมณ์โทษถึงตายเพราะจะก่อศึกต่อไปด้วยเหตุนี้



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 10, 16:49
ทำไมสงครามจึงจบลงได้


บาดหลวงปีโปแนะนำมา

.........................                                  เกณฑ์กลับศักราชศาสนา
เกณฑ์ชมพูอยู่ที่ฉัตรวัฒนา                              เกณฑ์ลังกาหมายชะนะจะประลัย
ถ้ารบพุ่งพวกฝรั่งสิ้นทั้งหลาย                           จะล้มตายพ่ายแพ้คิดแก้ไข
ให้พวกพ้องขององค์พระอภัย                           ช่วยชิงชัยจึงจะเสร็จสำเร็จการ


ทิศาปาโมกษ์โลกเชษฐ์ เห็นว่า พระอภัยและขบวนการเขยฝรั่งหลงใหลจนออกรบกับนางฝรั่ง
จึงแนะนำให้ทหารปิดหูด้วยขี้ผึ้ง
เสกนกการวิกไว้จิกผี
เสกสาย คงกระพันให้ทหาร
แล้วขึ้นเขาไปจุดเทียนถึงพระฤาษีเกาะแก้วพิสดารให้มาห้ามทัพ

พระฤาษีก็มาสั่งสอนจนยุติการสู้รบ